เอธานอล-โครงการเพื่อเกษตรกรและอนาคตพลังงานไทย
โดย อลงกรณ์ พลบุตร ประธานโครงการเอธานอล
กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยมีโจทย์ที่ต้องแสวงหาคำตอบอยู่ 4 ประเด็น
1.ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำจาการผลิตล้นตลาดและต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ
2.ปัญหาราคาน้ำมันแพงและต้องพึ่งพาต่างประเทศโดยนำเข้ากว่า 90%
3.ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากก๊าซคาร์บอนมอน็อกไซด์ ฝุ่นละอองและควันดำ รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อนจาก ปรากฎการณ์เรือนกระจก อันมีผลมาจากก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์
4.ปัญหาการไม่มีเสถียรภาพทางพลังงานของประเทศ
ในฐานะรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเกษตร ปัญหาพลังงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังรุมเร้าประชาชนของเราและผลิตแอลกอฮอล์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากพืช เช่น มันสำประหลัง อ้อย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมันและพืชอื่นๆ
ความเป็นมาเริ่มต้นจากเมื่อเดือนกันยายน 2542 ดร.องอาจ ผ่องลักษณ์ ผู้อำนวยการองค์การสุราปรึกษาผมเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่อง การเปิดเสรีแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตจากพืชเรียกว่าเอธานอล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่มุ่งมั่นใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นของประกายความคิดของโครงการนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังและพืชอื่นๆ (โครงการเอธานอล) ในเดือนมกราคม 2543
อันที่จริงก่อนการเสนอโครงการนี้ ผมเองได้ศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นว่ามีตามเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดและมีโจทย์มากมายที่ต้องการคำตอบเพราะในอดีตมีโครงการ ที-อีเธอนัลของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุลเมื่อ 20 กว่าปีก่อนและดูเหมือนเงียบหายไปจากความสนใจของสาธารณชนโดยไม่ทราบว่าสำเร็จหรือล้มเหลว อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบโดยสังเขปก็เกิดความมั่นใจว่า น่าจะทำได้และมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ กล่าวคือโครงการนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันซึ่งปีหนึ่งสูญเสียเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท เรียกว่า ยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว เลยทีเดียว
หลังจากคณะกรรมการโครงการเอธานอลซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการจนถึงบัดนี้ ปรากฏว่า ความเป็นไปได้ของโครงการสูงมาก และจะสามารถสรุปรายงานเสนอกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไปได้ภายในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมนี้เป็นอย่างช้าที่คณะกรรมการฯ มั่นใจ เนื่องจากโจทย์ 3 ข้อที่ตั้งเป็นปุจฉาไว้ได้รับการวิสัจชนา ได้แก่
ข้อ 1. ด้านเทคนิคและเทคโนโลยีในการแปรรูปพืชเป็นน้ำมันเอธานอล
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตแอลกอฮอล์อยู่แล้วถึงกว่า 22 โรง กำลังผลิตรวมกัน 525 ล้านลิตรหรือวันละ 1.6 ล้านลิตร ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อทำเป็นสุรา เวชภัณฑ์และเครื่องสำอางแต่ยังไม่ได้ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะติดปัญหาด้านภาษีและการผูกขาดของภาครัฐ นอกจากนี้ก็มีโรงงานต้นแบบผลิตเอธานอลจากมันสำปะหลังของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไย (วท.) ของกรทรวงวิทยาศาสตร์กำลังผลิตวันละ 1,500 ลิตร
สำหรับในต่างประเทศมีการผลิตเอธานอลจากข้าวโพด อ้อย ข้าวบาเลย์ หัวบีทรูธ ต้นไม้ ฟางข้าว เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย แอฟริกาใต้ สวีเดน ฯลฯ รวมการผลิตทั่วโลกประมาณ 31 พันล้านลิตรต่อปี
ข้อ 2. ด้านการใช้เอธานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงกับเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาดำเนินการศึกษาวิจัยการใช้แอลกอฮอล์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ทางสถาบันวิจัยและเทคโนโลยีของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงสนองพระดำริทำการวิจัยทดลองและทดสอบเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินทั้ง 2 จังหวะและ 4 จังหวะทั้งรถขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในห้องปฏิบัติการและในท้องถนนโดยผสมแอลกอฮอร์ในน้ำมันเบนซินและดีเซล 15% ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีโดยทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายงาน การพัฒนาการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสมแอลกอฮอล์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 นอกจากนี้ ปตท. ยังทดลอจำหน่ายน้ำมันผสมแอลกอฮอล์ให้กับผู้ใช้รถโดยทั่วไปได้รับคำชมว่าทำให้อัตราเร่งดีขึ้นเพราะแอลกอฮอล์มีอ็อคเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน 15%
ในต่างประเทศ ผมไปดูงานที่สหรัฐอเมริการ่วมกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ระหว่างวันที่ 13 19 พฤษภาคม 2543 และประชุมร่วมกับริษัทฟอร์ดมอเตอร์ที่มลรัฐมิซิแกนนับว่าเป็นประโยชน์ต่อโครงการของเรามาก เนื่องจากขณะนี้ในมลรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาใช้เอธานอลผสม 10% ในน้ำมันธรรมดา ยิ่งกว่านั้นบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ได้แก่ ฟอร์ดมอเตอร์ , เยอเนรัลมอเตอร์, เดทเลอร์และมาสด้าได้พัฒนาระบบเชื้อเพลิงของรถยนต์รุ่นต่างที่ผลิตออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2536 ให้ใช้ได้ทั้งน้ำมันธรรมดาและน้ำมันเอธานอล (Ethanol 85 E 85) โดยเรียกรถยนต์ประเภทนี้ว่า Flexible Fexible Fuel Vehicle หรือเรียกย่อๆว่า FFV ทำให้ปั๊มน้ำมันต้องเพิ่มหัวจ่าย E 85 ในสถานีบริการน้ำมันเช่นเดียวกับหัวจ่ายเบนซินและดีเซล ที่น่าดีใจคือบริษัทฟอร์ดมอเตอร์เสนอที่จะร่วมกับคณะกรรมการโครงการเอธานอลของเราจัดสัมนาและสาธิตรถยนต์ฟอร์ดที่ใช้เอธานอลเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่กรุงเทพราวเดือนสิงหาคมหรือกันยายนนี้
ในสวีเดนบริษัทสแกเนียปรับปรุงเครื่องยนต์ดีเซลของรถโดยสารในกรุงสต็อกโฮมให้เปลี่ยนจากการใช้ดีเซลเป็นเอธานอลเกิน 95% ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้วเพื่อลดมลพิษในเมืองหลวงเพราะเอธานอลเผาไหม้ได้หมดจดกว่าดีเซล
ในบราซิล ประเทศผู้นำการผลิตเอธานอลของโลกกำหนดให้ผสมเอธานอลในน้ำมันอย่างน้อย 24% และมีรถยนต์ประมาณ 4 ล้านคันที่ใช้เอธานอลเป็นเชื้อเพลิง 100%
ข้อ 3. ด้านวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตของเอธานอล
เกษตรกรไทยยอดเยี่ยมในการปลูกพืช เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกเป็นแชมป์โลกหลายชนิด ดังนั้นวัตถดิบที่จะใช้ผลิตเอธานอลจึงมีเหลือเฟือและมีปัญหาผลิตล้นจนราคาตกต่ำ เช่น มันสำปะหลังปลูกปีละ 18 ล้านตันมากที่สุดในโลก(มีปัญหา) อ้อยปลูกปีละ 50 ล้านตันเป็นอันดับ 3 ของโลก (มีปัญหา) ข้าวนาปี 19 ล้านตัน นาปรัง 4 ล้านตันรวม 23 ล้านตันส่งออกมากที่สุดในโลก (แต่ก็มีปัญหา) เช่นเดียวกับยางพาราและปาล์มน้ำมัน
วัตถุดิลเหล่านี้นำมาผลิตเอธานอลได้ทุกชนิดและใช้ชนิดละหลายล้านตันซึ่งเป็นปริมาณมากพอที่จะทำให้ช่วยยกระดับราคาพืชเหล่านี้ให้สูงขึ้น เช่น หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ผสมเอธานอลในน้ำมัน 10% เหมือนในประเทศต่างๆเท่ากับว่า จะเกิดความต้องการเอธานอลวันละ 7 ล้านลิตร ดีเซล 50 ล้านลิตรรวมกัน 70 ลันลิตรต่อวัน) หรือปีละกว่า 2.5 พันล้านลิตร หมายความว่าต้องใช้วัตถุดิบคือ มันสำปะหลัง 4 ล้านตัน อ้อย 10 ล้านตันและข้าว 3 ล้านตันในการผลิตเอธานอล ปริมาณการใช้หลายล้านตัน จะช่วยยกระดับราคาและรายได้ให้กับเกษตรกรและยังลดการนำเข้าน้ำมัน 10%
ส่วนคำถามใหญ่สุดคือต้นทุนการผลิตต่อลิตรเป็นเท่าไหร่ ขอตอบสั้นๆว่า ปัจจุบันเราส่งออกแอลกอฮอล์ไปญี่ปุ่นลิตรละ 8 บาท ใกล้เคียงกับบราซิลที่ส่งออกลิตรละ 9 บาท ลองพิจารณาดูว่าต้นทุนผลิตต่อลิตรจะเป็นเท่าไหร่
ยิ่งกว่านั้นยังมีความเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่น่าสนใจสำหรับโครงการเอธานอลในประเทศไทยดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (อีพีเอ.) โดยนางแคโรล บราวเนอร์ ผู้อำนวยการอีพีเอ. และนายแดน กลิคแมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรของรัฐบาลกลางสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 ว่าจะใช้ MTBE.เป็นสารเพิ่มอ็อกเทนในน้ำมันเชื้อเพลิงโดยสนับสนุนการใช้เอธานอล หรือ ETBE (ผลิตจากเอธานอล) แทนโดยได้ส่งข้อบัญญัติเกี่ยวกับกฏหมาย Clean Aiir Act. และแนวปฏิบัติให้รัฐสภาสหรัฐเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพรา MTBE. ก่อนอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงเพราะกระทบต่อคุณภาพของ Clean Air และ Clean Water
MTBE. เป็นสารเพิ่มอ็อกเทนในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทั่วโลกใช้แทนสารตะกั่ว ประเทศไทยเลิกใช้สารตะกั่วผสมน้ำมัน แล้วใช้ MTBE.เช่นกัน กล่าวคือใช้ในอัตราร้อยละ 5.5 - 11 ของน้ำมันเบนซินซุปเปอร์ (ในปี 2542มีการนำเข้า MTBE. เป็นมูลค่า 2,085 ล้านบาท หรือ 2.21 แสนตัน) คาดว่า ประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังดำเนินการแนวทางเดียวกับรัฐบาลสหรัฐเช่นใน ยุโรปมีการก่อสร้างโรงงานผลิต ETBE และ เอธานอลที่สเปนและอีกหลายประเทศ หากประเทศไทยดำเนินการโดยให้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดห้ามใช้ MTBE. ภายในประเทศเช่นที่เคยดำเนินการกับสารตะกั่ว การลงทุนสร้างโรงงานที่จะผลิต ETBE. และเอธานอลจะทำได้ทันทีและสามารถผลิตเพื่อส่งออกในตลาดเอเชีย ยุโรปและอเมริกาได้อีกด้วย เฉพาะการผลิตเอธานอลหรือ ETBE. แทน MTBE. 1.5 ล้านลิตรต่อวันเรามีโอกาสที่จะผลิตเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่แคลิฟอร์เนียที่ผมไปประชุมกับคณะกรรมการพลังงานแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียที่เมืองซาคราเมนโต้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาก็ยินดีนำเข้าจากไทยหากราคาสู้เจ้าอื่นได้ (ต้นทุนวัตถุดิบของไทยในการผลิตเอธานอลถูกกว่าสหรัฐ ยุโรปและบราซิล
ล่าสุดรัฐบาลเยอรมันและนครนิวยอร์คประกาศห้ามใช้ MTBE. แล้ว ส่วนทางการออสเตรเลียประกาศริเริ่มการผลิตเอธานอลเพื่อใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
2. รายงานเรื่อง The New Petroleum
ของ วุฒิสมาชิกริชาร์ด ลูการ์ ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและป่าไม้ของวุฒิสภาสหรัฐ และนาย อาร์ เจมส์ วูลซีย์ อดีตผู้อำนวยการ ซีไอเอ.วิเคราะห์ความมั่นคงด้านพลังงานของสหรัฐว่า น้ำมันใหม่ของสหรัฐคือ เอธานอล พลังงานชีวภาพ (Bio-EnergyX) ซึ่งผลิตจากพืช และจะทดแทนน้ำมันปิโตรเลียมเดิมซึ่งจะค่อยหมดไปโดยรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL ENERGY ORGANIZATIONIEA) ระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปีและการผลิตน้ำมันเพื่อให้ทันความต้องการจะถึงจุดสูงสุดใน 10 ปีข้างหน้าหลังจากนั้นการผลิตน้ำมันจะมี ปริมาณลดลงไม่พอต่ออุปสงค์ที่ขยายตัวและน้ำมันสำรองของโลกค่อยๆร่อยหรอหมดไปภายใน 50 ปี หรือกว่านั้นเล็กน้อย สรุปคือ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยุคของราคาน้ำมันถูกจะไม่มีอีกแล้วผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมันของไทยล่าสุดที่มีผลจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันควบคุมปริมาณการผลิตต่ำกว่าอุปสงค์เพียง 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวันโดยประมาณก็ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศขยับสูงกว่า 15 บาทสำหรับเบนซินและกว่า 12 บาทสำหรับดีเซล ดังนั้น The New Petroleun
ของสหรัฐก็คือ เอธานอล (Ethanol) ซึ่งผลิตจากข้าวโพดและต้นไม้ใบหญ้า(เอธานอลหรือแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถผลิตจากพืชได้ทุกชนิดรวมทั้งเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทุกอย่างโดยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Cellulosic Technology )รายงานดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห้นทิศทางของอนาคตพลังงานโลกเป็นอย่างดีเพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีน้ำมันสำรองติดอันดับสูงสุดของโลกประเทศหนึ่งยังตระหนักถึงความสำคัญของเอธานอล
ผมได้นำเสนอข้อมูลปละรายงานต่อรัฐมนตรีหลายท่าน และได้รับการสนับสนุนในอย่างดี โดยเฉพาะนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งดูแลด้านภาษีก็ยืนยันสนับสนุนเต็มที่เพราะหากขาดความเห็นชอบของท่านก็ยากที่จะผลิตเอธานอลเป็นเชื้อเพลิงเพราะภาษีแอลกอฮอล์ผลิตสุราตกลิตรละ 100 บาท ถ้าใช้เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และอื่นๆลิตรละ 6 บาท ซึ่งหากผลิตเท่ากับน้ำมันเชื้อเพลิงจะเก็บภาษีแพงเหมือนสุราหรืออุตสาหกรรมอื่นไม่ได้ ขอเพียงคิดภาษี Denatyrant ผสมเพื่อไม่ให้นำมาใช้ผลิตสุราเหมือนที่ทั่วโลกทำ เราก็เริ่มโครงการผลิตเอธานอลได้ทันที ผมเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยเกษตรกรได้แบบมั่นคงยั่งยืนรวมถึงลดการนำเข้าพลังงานแถมยังช่วยลดปัญหามลพิษในอากาศอีกด้วย
จาก คณะกรรมการผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังและพืชอื่นๆ
มิถุนายน 2543