หยุดใช้สารเคมีกำจัดหนอนกออ้อย

          ขณะนี้ชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะในภาคอีสาน กำลังประสบปัญหาการระบาดของหนอนเจาะลำต้น และโรคใบขาวอ้อย ถึงขนาดคณะกรรมการอ้อย ต้องออกประกาศกำหนดเขตระบาด ของหนอนเจาะลำต้นอ้อย ออกมาถึง 3 ฉบับแต่ยังไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าใดนัก สำหรับหนอนที่สำคัญและเป็นศัตรูอ้อยในประเทศไทย มีอยู่ 5 ชนิดคือ หนอนกออ้อยสีขาว หนอนกออ้อยสีชมพู หนอนกออ้อยลายแถบ หนอนกออ้อยลายจุดเล็ก และหนอนกออ้อยลายจุดใหญ่ โดยการทำลายอ้อย เกิดจากการเข้าไปกัดกินภายในลำต้นอ้อยตั้งแต่ยอดอ้อย ปล้องอ้อย โคนอ้อยและตออ้อย การระบาดในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไป

            ในความเป็นจริงหนอนกออ้อยเหล่านี้ มีการระบาดประปรายมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยกันมากมาย เมื่อมีการระบาดรุนแรงขึ้นในบางพื้นที่ เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็ใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งไม่สามารถกำจัดหนอนกอได้ เพราะหนอนกอกัดกินภายในลำต้น แต่ยาฆ่าแมลง กลับไปทำลายศัตรูธรรมชาติของหนอนกออ้อยคือ ตัวห้ำตัวเบียนต่าง ๆ ทั้งแตนเบียนไข่และแตนเบียนตัวหนอนให้หมดไป ทำให้การระบาดของหนอนกออ้อยรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ชาวไร่อ้อยก็ปล่อยปละละเลย ไม่ตรวจสอบไร่อ้อยว่า มีหนอนกออ้อยปรากฏหรือไม่ ถ้ามีจะมีการระบาดเพียงไร เพื่อการหาแนวทางควบคุมที่ถูกต้อง และไม่รู้ว่าช่วงปลูกอ้อยนั้น หนอนกอเหล่านี้ สามารถเจริญครบวงจรชีวิตได้ถึง 3-4 ช่วงชีวิต และในบางช่วงหนอนกอเหล่านี้ สามารถจำศีลอยู่ในตออ้อย คอยไปทำลายอ้อยปลูกใหม่หรืออ้อยตอใหม่ได้

            การใช้ยาแมลงฆ่าแมลงใส่ลงดิน ถึงจะเป็นยาชนิดดูดซึม ก็ไม่สามารถควบคุมหนอนจำศีล หรือหนอนกอที่กัดกินอยู่ภายในได้ ยาฆ่าแมลงที่จะไปฉีดพ่นยิ่งทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่สามารถดูดซึมเข้าไปในลำต้น ได้แต่จะไปทำลายแมลง ที่เป็นประโยชน์คือแมลงตัวห้ำตัว เบียนต่าง ๆ เท่านั้น ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ ต้องมีการตรวจสอบไร่อ้อยว่า มีหนอนกอชนิดใดระบาดมากน้อย แค่ไหน หรือถ้ามีเพียงเล็กน้อย ก็ควรมีการเลี้ยงแตนเบียน นำไปปล่อยในระยะต้น และนำไปปล่อยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ตลอดระยะยาว ตลอดฤดูการปลูกอ้อย ลดการทำอ้อยตอ หรือไถอ้อยตอทิ้งทำให้หนอนกอขาดวงจรชีวิต อาจมีการใช้กับดักไฟฟ้า จับตัวเต็มวัยให้ลดลง ตลอดจนการบำรุงรักษาอ้อยปลูกใหม่ ควรพรวนหน้าดิน 1-2 ครั้ง เพื่อทำให้อ้อยแข็งแรง และทนทาน ต่อการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย และจะต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเด็ดขาด.

ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืช โดยชีวินทรีย์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จาก www.dailynews.co.th/  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2544