http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2553)

จังหวัดอุทัยธานีกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย

นายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี แจ้งว่า สถานการณ์ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายในปัจจุบันได้ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการจังหวัดอุทัยธานี ได้กำหนดราคาและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและป้องกันการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด โดยให้ผู้จำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย ในเขตจังหวัดอุทัยธานี จำหน่ายไม่สูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.50 บาท น้ำตาลทรายขาว เกรด 1 และเกรด 2 กิโลกรัมละ 22.00 บาท และน้ำตาลทรายขาย เกรด 3 (น้ำตาลทรายสีรำ) กิโลกรัมละ 21.50 บาท ส่วนการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีการบรรจุถุงปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัม ที่ปิดผนึกแน่นหนาและมีฉลากระบุชื่อ ชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต ให้จำหน่ายปลีกในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาที่กำหนดและให้คิดค่าภาชนะบรรจุได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 0.75 บาท

สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีการบรรจุถุงปริมาณน้ำตาลทรายสุทธิหนึ่งกิโลกรัม ที่มีลักษณะการบรรจุแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว ให้จำหน่ายปลีกในราคาที่กำหนด โดยให้คิดค่าภาชนะบรรจุได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 0.50 บาท หากผู้จำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุทัยธานี โทรศัพท์ 0-5697-0144-5 ในวันเวลาราชการ

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 30 เมษายน 2553

โรงงานแฉพาณิชย์ผิดเงื่อนไข เมินจ่ายค่าส่งน้ำตาลทราย โควตาพิเศษแก้ขาดตลาด

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานยืนยันว่าพร้อมจะส่งมอบน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนให้กับ 11 บัญชีรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา แต่ที่มีการจัดส่งในปริมาณที่ต่ำ โดยล่าสุดส่งมอบไปเพียง 17,000 กระสอบ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ คือ จะให้ส่งมอบก่อนโดยไม่ยอมโอนเงินเข้าบัญชี และอีกส่วนได้ระบุสถานที่ให้ขนไป แต่ไม่ยอมจ่ายค่าขนส่งให้ ดังนั้นการที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่าจะลงโทษฐานไม่ยอมส่งมอบน้ำตาลให้ ก็ควรจะต้องดูเหตุผลจากฝ่ายโรงงานประกอบด้วย

ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า สอน.อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรม พาณิชย์ และเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบการประกาศบัญชีจัดสรรครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มโควตาน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ(โควตา ก.) อีก 1 ล้านกระสอบ จากเดิมกำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวเพิ่มเติม

"น้ำตาลที่จัดสรรดังกล่าวจะนำมาขึ้นงวดในงวด 51 และ 52 เพื่อชดเชยกับที่ดึงมาจัดสรรให้กับโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำตาลตึงตัวก่อนหน้านี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเสนอชื่อลูกค้าให้กับโรงงาน 11 ชื่อ เพื่อขอจัดสรร และมีข่าวว่าไม่คืบหน้า และโรงงานจะขอคืนนั้น เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์และโรงงานจะต้องตกลงกันเอง ก่อนที่จะเสนอมาที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)" นายประเสริฐ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 เมษายน 2553

น้ำตาลพาณิชย์โฉ่จ้องงาบ3บาท/กก.

น้ำตาลโควตาก.พิเศษกว่า 800,000 กระสอบป่วน วงในทิ้งบอมบ์เบื้องหลังพาณิชย์รับบริหารจัดการเอง คิดค่าดำเนินการ 3 บาท/กิโลกรัม ร่วม 200-300 ล้านบาท ไหลสู่กระเป๋านักการเมืองคนไหน ล่าสุดน้ำตาลค้างเติ่งอยู่บนกระดานไม่มีใครซื้อ เดือดร้อนถึงร้านโมเดิร์นเทรดที่เริ่มหมดสต๊อก ชี้เคยร้องพาณิชย์แต่ถูกเมิน ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเตรียมเสนอพาณิชย์ปลดล็อกหลังเม.ย.นี้

แหล่งข่าวจากวงการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลโควตาก. พิเศษ สำหรับบริโภคในประเทศในสัดส่วนพิเศษ(นอกเหนือจากโควตาปกติ)จำนวน 806,000 กระสอบ ที่อนุมัติตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้บริหารโดยการดึงน้ำตาลงวดที่ 52 และงวดที่51 ปี2552/2553 ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลบริโภคในประเทศขาด โดยจัดสรรผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายกระทรวงพาณิชย์ให้กับผู้ค้าน้ำตาลจำนวน 11 ราย เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายย่อยและผู้ใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมรายย่อย ในพื้นที่เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดนั้น

++3 บาทเข้ากระเป๋านักการเมือง ขณะนี้เริ่มมีปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว เมื่อวงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ดึงน้ำตาลโควตาก. พิเศษออกมาบริหารจัดการเองจำนวน 806,000 กระสอบนั้น แท้จริงแล้วต้องการจะเก็บเงินค่าดำเนินการ 3 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นเงินส่วนต่างที่นอกเหนือจากราคาขายน้ำตาลตามราคาปกติ ในราคา 19-20 บาท/กิโลกรัม(น้ำตาลขนาดปริมาณ 50 กิโลกรัม/กระสอบ)นั้น ก็เพื่อเอื้อต่อนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังกระทรวงพาณิชย์ใช่หรือไม่ เพราะหากขายน้ำตาลโควตาพิเศษนี้ออกไปได้จนหมด ก็จะมีเงินค่าดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 240-300 ล้านบาท

"ในประเด็นนี้มีส่วนทำให้ข้าราชการน้ำดี 2 ท่าน คือนางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายในและ นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ต้องถูกย้ายเข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการไปแล้วก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะถ้ายังนั่งอยู่ที่เดิมอาจจะทำให้แผนปฏิบัติการนี้สะดุดลงได้ ประกอบกับไม่รู้ว่าการเมืองจะถูกยุบสภาลงเมื่อใด"

++ยังเหลือค้างกระดานอีกตรึม แหล่งข่าวระบุอีกว่า ขณะนี้น้ำตาลโควตา ก. พิเศษที่กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการได้ดำเนินการผ่านไปเป็นเดือนแล้ว แต่เพิ่งขายน้ำตาลได้เพียง 10,000 กระสอบเท่านั้น ยังเหลือน้ำตาลค้างกระดานอยู่อีกเกือบ 800,000 กระสอบ โดยสาเหตุหนึ่งที่น้ำตาลส่วนนี้ยังขายไม่ได้ เนื่องจากเวลานี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ผู้ค้า 11 รายที่ซื้อผ่านกระทรวงพาณิชย์มองว่าไม่ควรซื้อของแพงเพื่อไปขายถูก และมีการตั้งข้อสังเกตว่าจากที่มีการขายน้ำตาลโควตาก. พิเศษไปก่อนหน้านั้นประมาณ 10,000 กระสอบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่ม และอาหารใน 11 รายที่กระทรวงพาณิชย์ขายผ่าน ที่ซื้อน้ำตาลเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มผู้ค้าน้ำตาลที่ซื้อมาขายไปอย่างยี่ปั๊วบางรายขณะนี้แทบจะไม่มีรายใดมาซื้อผ่านกระทรวงพาณิชย์ตามโควตาพิเศษนี้ ทั้งที่มีชื่ออยู่ใน 11 ราย ที่ได้รับสิทธิ์ซื้อน้ำตาลด้วย ทำให้ยังมีโควตาน้ำตาลในการจำหน่ายถูกล็อกไว้โดยยังค้างกระดานอยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาล 800,000 กระสอบนี้จะเท่ากับปริมาณน้ำตาลที่จะจำหน่าย 2 งวด แปลว่ายังมีน้ำตาลที่ค้างกระดานอยู่จำนวนมากแต่ขายไม่ได้ คือมีน้ำตาลอยู่แล้วแต่ขายไม่ได้เพราะถูกกระทรวงพาณิชย์ล็อกไว้

++โมเดิร์นเทรดหวั่นน้ำตาลขาดช่วง สอดคล้องกับที่กลุ่มโมเดิร์นเทรดบางราย เปิดเผยว่า เป็นที่น่าแปลกใจมาตั้งแต่แรกแล้วว่าใน 11 รายที่เป็นผู้ซื้อน้ำตาลโควตาก.พิเศษนั้น กลายเป็นว่าครึ่งหนึ่งเป็นยี่ปั๊ว ทั้งที่น่าจะมีการขายผ่านโมเดิร์นเทรดด้วย ซึ่งก่อนหน้านั้นกลุ่มโมเดิร์นเทรดได้แสดงความจำนงไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอโควตาส่วนนี้ด้วยแต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นในเวลานี้ถ้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดอยากจะซื้อน้ำตาลส่วนนี้ ก็ซื้อลำบาก เพราะต้องบวกส่วนต่างเข้าไปเพิ่มอีก 3 บาท/กิโลกรัม ทำให้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณน้ำตาลในสต๊อกและในชั้นวางของเริ่มขาดตอนแล้ว เนื่องจากโมเดิร์นเทรดมีความต้องการน้ำตาลจำนวนมากขึ้น หาซื้อจากโรงงานน้ำตาลก็ไม่มีให้ เพราะถูกกันไว้สำหรับเป็นโควตาก. พิเศษที่บริหารโดยกระทรวงพาณิชย์

"ปริมาณน้ำตาลโควตาก. ตามโควตาปกตินั้นไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ขณะนี้มีลูกค้าของโมเดิร์นเทรดซื้อน้ำตาลมากขึ้น จึงต้องการจะใช้น้ำตาลโควตาก.พิเศษจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย แต่ถ้ามีบวก 3 บาท/กิโลกรัมเข้าไปด้วยก็รับไม่ไหว"

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่า ด้วยปริมาณน้ำตาลที่ถูกกักตุนทั้งเพื่อการเก็งกำไรและการส่งออก สร้างกระแสให้ผู้ผลิตรายย่อยหันมาซื้อน้ำตาลในปริมาณที่มากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคทั่วไปต่างตระหนกว่าปริมาณน้ำตาลอาจจะขาดแคลน และมีการปรับราคาน้ำตาลให้สูงขึ้น จึงกว้านซื้อน้ำตาลในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อเป็นการกักตุนสินค้าผ่านทางร้านค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรด ทั้งที่ในความเป็นจริงน้ำตาลที่วางจำหน่ายในตลาดมีปริมาณเพียงพอแก่การบริโภค หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตยังคงส่งสินค้าให้กับโมเดิร์นเทรดตามปริมาณการสั่งซื้อที่โมเดิร์นเทรดได้ประมาณการไว้

++ร้องพาณิชย์แล้วแต่ถูกเมิน แหล่งข่าวโมเดิร์นเทรด กล่าวย้ำว่า การกักตุนน้ำตาลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำตาลทรายในโมเดิร์นเทรดเข้าสู่ภาวะขาดแคลนตลอด 7-8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโมเดิร์นเทรดเริ่มออกกฎจำกัดปริมาณการซื้อของผู้บริโภค เพื่อกระจายสินค้าให้มีจำหน่ายกับผู้บริโภคอื่นๆ อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันพบว่าโมเดิร์นเทรดเอง ได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ดูแล นำน้ำตาลในสต๊อกออกมาจำหน่ายเพื่อเป็นการช่วยผ่อนคลายภาวะการขาดแคลนน้ำตาลในตลาด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ซึ่งหากน้ำตาลยังอยู่ในภาวะขาดแคลนเช่นนี้ ในระยะสั้นจะส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น โรงงานขนม โรงงานน้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น

++เสนอปลดล็อกให้รง.ขาย เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลอีกรายหนึ่งที่กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะมีการเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ปลดล็อกน้ำตาลประมาณ 800,000 กระสอบ(ขนาด 100 กิโลกรัม/กระสอบ)ที่ค้างกระดานอยู่ นำออกมาให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ขาย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงงานน้ำตาลต่างมีความพร้อมในการจำหน่ายน้ำตาลโดยขณะนี้มีลูกค้าจากกลุ่มโมเดิร์นเทรดอย่างห้างโลตัส แม็คโคร บิ๊กซี รอซื้ออยู่ ต่อเรื่องนี้นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า ขณะนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลจะให้บทบาทกระทรวงพาณิชย์ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2553 หลังจากนั้นหากยังมีปริมาณน้ำตาลค้างกระดานอยู่อีกมาก จะทำให้โรงงานน้ำตาลเดือดร้อนแน่ เพราะนับวันราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะถูกลง หลังจากนั้นก็ต้องเชิญบรรดาโรงงานน้ำตาลมาร่วมกันหาทางออกว่าจะปลดล็อกปัญหานี้อย่างไรต่อไป

อนึ่งเมื่อต้นปี 2553 มีการประกาศราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ส่งมอบเดือนมีนาคม 2553 พุ่งไต่ระดับ 29 เซ็นต์/ปอนด์(คิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 21 บาท/กิโลกรัม) ทำให้น้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ(โควตาก.) เกิดความปั่นป่วนมากขึ้น เนื่องจากมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลโควตาก.ไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า กัมพูชา ลาว เนื่องจากผู้ค้าที่ลักลอบส่งออกนอกระบบจะขายได้โดยมีส่วนต่างของราคาที่สูงกว่ากันตั้งแต่ 2-5 บาท/กิโลกรัม โดยราคาขายปลีกน้ำตาลโควตาก. ในประเทศอยู่ที่ 23.50 บาท/กิโลกรัม เปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลโควตาก.ที่ถูกลักลอบส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาตั้งแต่ 25-27 บาท/กิโลกรัม ทำให้ลูกค้าที่เคยซื้อน้ำตาลโควตาก. มีการซื้อในปริมาณที่มากกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว

ขณะที่ลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่เคยซื้อน้ำตาลโควตาค. (น้ำตาลส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) ก็หยุดซื้อ บางรายก็ซื้อในปริมาณที่ลดลง แล้วหันไปซื้อน้ำตาลตามรอยตะเข็บชายแดนแทน ด้านโรงงานผลิตอาหาร ขนมและเครื่องดื่มเพื่อการส่งออกที่เคยใช้น้ำตาลโควตาค.ก็ไม่มาใช้สิทธิ์ตามโควตาที่ได้รับ แต่กลับหันไปใช้น้ำตาลโควตาก. แทน เพราะราคาถูกกว่ากัน จากปัญหานี้ทำให้กระทรวงพาณิชย์ ตัดสินใจลงมาบริหารน้ำตาลโควตาก.พิเศษเองจำนวนกว่า 800,000 กระสอบและกลายเป็นประเด็นร้อนถึงความไม่ชอบมาพากลในการขายน้ำตาลโควตาก.พิเศษที่มีส่วนต่างของราคาพ่วงอยู่ด้วย 3 บาท/กิโลกรัมโดยอ้างว่าเป็นเงินค่าดำเนินการ

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 29 เมษายน 2553

'พาณิชย์'งัดก.ม.ฟันโรงงาน เมินจ่ายน้ำตาลยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว

"พาณิชย์" เล็งงัดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฟันโรงงานน้ำตาลทรายรายใหญ่ หลังปฏิเสธขายโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กับโรงงานน้ำตาลทรายรายใหญ่ 1-2 ราย เพราะมีพฤติกรรมกักตุน และปฏิเสธการขาย หลังจากที่ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวง ไปขอเบิกจ่ายน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จากโรงงานดังกล่าว แต่ไม่ยอมจ่ายให้ โดยอ้างว่า ไม่มีน้ำตาลทรายเพราะได้ทำสัญญากับลูกค้าของโรงงานไปจนหมดแล้ว

นอกจากนี้ โรงงานดังกล่าวยังได้ข่มขู่ยี่ปั๊ว ซาปั๊วของกระทรวงอีกว่า หากมาเบิกจ่ายน้ำตาลโควตาพิเศษแล้ว จะลดโควตาที่เคยขายตามปกติให้กับยี่ปั๊วซาปั๊วรายนั้นๆ ทันที ส่งผลให้ยี่ปั๊วซาปั๊วไม่กล้าไปขอเบิกน้ำตาลทราย เพราะวิตกว่าการค้าตามช่องทางปกติจะหายไป ทำให้จนถึงขณะนี้ ปัญหาการหาซื้อยาก หรือเกิดภาวะตึงตัวและราคาขายสูงขึ้นจนเกินราคาเพดานในบางพื้นที่ ยังไม่คลี่คลายลง

“ตอนนี้ เรามีหลักฐานหมดแล้วว่า โรงงานใดที่ปฏิเสธการขาย หรือปล่อยของออกช้า ทั้งๆ ที่ตอนที่ กอน.อนุมัติโควตาพิเศษให้เรานั้น ก็แจ้งรายชื่อโรงงานมาหมดว่า รายใดมีน้ำตาลอยู่เท่าไร แต่พอไปซื้อจริง กลับอ้างว่าไม่มี ทำสัญญาขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญ ยี่ปั๊ว ซาปั๊วของเราให้ข้อมูลมาหมด รวมทั้งห้างค้าปลีกรายใหญ่ด้วย คาดว่าจะดำเนินการตามกฎหมายได้ในเร็วๆ นี้” นายยรรยง กล่าว

นายยรรยง กล่าวต่อถึงสาเหตุที่โรงงานน้ำตาลทรายปฏิเสธการขาย ให้ยี่ปั๊วซาปั๊วของกระทรวงพาณิชย์ว่า น่าจะมาจากเหตุผลที่ กระทรวงเข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของโรงงานน้ำตาล ที่เคยเรียกเก็บจากยี่ปั๊วซาปั๊ว ส่วนกรณีที่โรงงานน้ำตาลทราย กำหนดให้กระทรวงต้องเบิกจ่ายน้ำตาลทรายโควตาพิเศษให้หมด 1 ล้านกระสอบภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้นั้น ไม่ใช่มติของ กอน.ดังนั้น กระทรวงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากโรงงานจะขอโควตาคืน ก็ต้องไปหารือกับ กอน.เอง

ส่วนกระแสข่าวที่ว่า กระทรวงเรียกรับเงินจากยี่ปั๊วซาปั๊วเป็นค่าดำเนินการกิโลกรัมละ 3 บาทนั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อไปเบิกน้ำตาลทราย ก็ต้องจ่ายให้ตามราคาขายหน้าโรงงานอยู่แล้ว และใครจะยอมจ่ายให้ เพราะจะทำให้ขาดทุนมาก

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 เมษายน 2553

น้ำตาลเหลือค้างกระดาน ยี่ปี๊ว/ซาปั๊วเมินโควตาพิเศษขายไม่ออก

กระทรวงอุตสาหกรรม แฉยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว เพิ่งมาขอรับน้ำตาลทรายตามโควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ขอจัดสรรแค่ 15,000 กระสอบ จากจำนวนที่ค้างกระดานอยู่ถึง 800,000 กระสอบ ไม่ทราบทำไมไม่ยอมมารับน้ำตาลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาภาวะน้ำตาลทรายภายในประเทศขาดแคลน โดยในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นงวดน้ำตาลทรายภายในประเทศ (โควตา ก.) เป็นกรณีพิเศษ 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์นำไปจัดสรรให้กับยี่ปั๊ว/ ซาปั๊ว 11 ราย ปรากฏล่าสุดมียี่ปั๊วขอซื้อน้ำตาลจากโรงงานเพียงแค่ 15,000 กระสอบเท่านั้น

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิตการจำหน่ายและการขนย้ายน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์ได้ขึ้นงวดน้ำตาลทรายที่กระทรวงพาณิชย์ขอจัดสรรเป็นกรณีพิเศษไว้แล้ว 2 งวดจำนวนรวม 800,000 กว่ากระสอบ แต่มียี่ปั๊ว/ซาปั๊วมาขอซื้อน้ำตาลจำนวนเพียง 15,000 กระสอบเท่านั้น "ผมก็ไม่ทราบสาเหตุ" เพราะหน้าที่การจัดสรรหรือการกระจายน้ำตาลในส่วนนี้ กระทรวงพาณิชย์เป็นคนดำเนินการ ส่วนศูนย์มีหน้าที่การควบคุมน้ำตาลออกจากโรงงานเท่านั้น

"ในความเป็นจริงถ้าหากสถานการณ์น้ำตาลในประเทศเกิดการขาดแคลน กระทรวงพาณิชย์ ผู้เสนอตัวเข้ามาดูแลปัญหา ก็ควรจะเร่งให้น้ำตาลส่วนที่ขอนั้นออกสู่ตลาดเร็วที่สุด แต่ก็ไม่ทราบว่า ทำไม ยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว 11 รายที่กระทรวงพาณิชย์ จัดสรรน้ำตาลให้นั้น ไม่มาขอซื้อน้ำตาลออกจากโรงงานเพราะ 800,000 กระสอบที่ขึ้นงวดไว้นั้น หากออกสู่ตลาด ก็จะแก้ปัญหาขาดแคลนได้อย่างมาก" นายบุญถิ่นกล่าว

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำตาลขาดแคลน กล่าวว่า การที่ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วมาซื้อรับซื้อน้ำตาลจำนวนน้อย สาเหตุอาจจะเป็นเรื่องของการขนส่ง โรงงานน้ำตาลอาจจะไกลจากสถานประกอบการของยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว ซึ่งส่วนนี้โรงงานก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้ อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถจัดสรรน้ำตาลจำนวนดังกล่าวได้หมด โรงงานก็อยากขอคืนให้น้ำตาลเข้าสู่ระบบการจำหน่ายปกติของโรงงาน

นายมนัส สร้อยพลอย รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงได้เบิกจ่ายน้ำตาลปริมาณ 36,000 กระสอบจากจำนวนน้ำตาลที่ได้รับจัดสรร 1 ล้านกระสอบที่ได้รับจัดสรรในโควตาพิเศษจากโควตา ก. โดยน้ำตาล 35,000 กระสอบถูกกระจายผ่านยี่ปั๊วไปทางจังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะนครสวรรค์เป็นหลัก และอีก 1,000 กระสอบจัดสรรให้กับโรงงานอุตสาหกรรมรายย่อยที่จำเป็นต้องใช้น้ำตาลทราย และยังได้รับจัดสรรในส่วนที่นำมาจำหน่ายให้กับประชาชน ภายในงาน ธงฟ้าที่ จ.สุราษฎร์ธานี อีก 45 ตัน จ.ภูเก็ต 45 ตัน และที่อิมแพ็ค อีก 75 ตันได้รับแล้ว

โดยภายในสัปดาห์นี้จะต้องหารือข้อสรุปร่วมกับโรงงานน้ำตาลทราย เกี่ยวกับปัญหาการรับมอบน้ำตาลทรายที่ยังล่าช้าอยู่ โดยเดิมทางโรงงานน้ำตาลขอให้รับมอบให้เสร็จภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ ดังนั้นส่วนที่เหลือจะต้องประสานให้โรงงานจัดหาให้โดยเร็วเพื่อกระจายให้กับผู้บริโภคตามแนวทางที่วางไว้ 3 ส่วน ประกอบด้วยการกระจายสู่ผู้บริโภคทั่วไปจำนวน 700,000 กระสอบ หรือ 70% ของปริมาณที่ได้รับจัดสรรมา เพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยจำนวน 156,000 กระสอบ หรือ 15% และ ส่วนสุดท้ายกระทรวงพาณิชย์จะนำมาขายเองจำนวน 150,000 กระสอบ หรือ 15% อย่างไรก็ตาม มองว่าปัญหาการจัดสรรน้ำตาลล่าช้าจะไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ เพราะน้ำตาลส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3.6% ของน้ำตาลทรายทั้งหมด

"สาเหตุต้องเชิญโรงงาน 3 กลุ่มมาหารือก็เพราะโมเดิร์นเทรดร้องเรียนมาว่า ได้รับจัดสรรน้ำตาลที่ซื้อในระบบปกติลดลงเหลือเพียง 30-40% ซึ่งก็ต้องคุยกันว่าเป็นเพราะอะไรและขอให้โรงงานจัดสรรให้กับยี่ปั๊ว/ ซาปั๊ว 11 รายของกระทรวงพาณิชย์โดยเร็ว"

ผมยืนยันว่ายี่ปั๊ว/ซาปั๊ว 11 รายไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน ไม่ว่าจะให้จ่ายเป็นเงินสดหรือเครดิต ก็ให้ดำเนินการตามระบบที่เคยดำเนินการกันมาก่อนหน้านี้ แต่มิได้แจ้งว่ายี่ปั๊ว-ซาปั๊วบางรายโดนโรงงานขู่ หากมารับน้ำตาลตามโควตาพาณิชย์จะถูกตัดน้ำตาลปกติ จนทำให้กลุ่มนี้ไม่กล้ามารับน้ำตาล ดังนั้นจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนตัวยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว ผู้รับน้ำตาลใหม่

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 เมษายน 2553

ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเศรรฐกิจการคลัง ระบุ การใช้พลังงานทางเลือกในภาวะโลกร้อน สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ระบุการใช้พลังงานทางเลือกในภาวะโลกร้อน สามารถทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.คณิต แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่สัมผัสได้ในตอนนี้คือ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และเนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำบริเวณขั้วโลกลดลง ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ทั่วโลก และจะเห็นได้จากปริมาณน้ำของประเทศจีนมีปริมาณลดลงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนน้ำในประเทศไทยยังมีปริมาณมากอยู่ ซึ่งมาจากพายุ จนประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้า

การเกษตรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะหากการจัดการน้ำในประเทศดี สินค้าเกษตร การเกษตร จะมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งจะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตให้กับประเทศมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย และสิ่งสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือการใช้พลังงานทางเลือก เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล ซึ่งความต้องการของสินค้าส่วนนี้ก็จะไปกระตุ้นสู่การผลิต น้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องมีความสมดุลที่ดีระหว่าง อาหารคน อาหารสัตว์ และเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ การบริหารจัดการประเทศและการบริหารจัดการทรัพยากร ควรเป็นสิ่งที่ต้องให้มีความสมดุลควบคู่ไปด้วยกัน และการรักษาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าไม่สามารถจัดการนโยบายขอเราให้เป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า คาดว่าการที่จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจก็เป็นไปได้ยาก

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 28 เมษายน 2553

โรงงานใกล้ยึดคืน น้ำตาลโควต้าพิเศษ เหตุพาณิชย์อืดอาด แก้ขาดตลาดล่าช้า

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลนในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า ตามที่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ได้มีมติจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 100,000 ตัน หรือ 1 ล้านกระสอบ ให้กระทรวงพาณิชย์ นำไปแก้ไขปริมาณน้ำตาลตึงตัว โดยปริมาณน้ำตาลทรายดังกล่าวได้ขึ้นงวดไปแล้วประมาณ 80,000 ตัน แต่ล่าสุดมีการจัดสรให้ 11 โรงงานที่กระทรวงพาณิชย์เสนอรายชื่อให้เป็นผู้นำไประบายลงสู่ตลาดเพียง 15,000 ตันเท่านั้น ถ้าภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ ยังมีปริมาณน้ำตาลเหลืออยู่ ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะขอนำ ไปบริหารจัดการเอง

"ขณะนี้น้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดสัปดาห์ละ 40,300 ตัน หรือประมาณ 400,000 กระสอบ มีการจำหน่ายออกไปจนหมด ชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำตาลตึงตัวจริง เมื่อทางเลือกที่ให้กระทรวงพาณิชย์ไปบริหารเพื่อไม่ให้น้ำตาลทรายตึงตัวแล้วแต่ยังไม่ได้ผล โรงงานขอนำมาจำหน่ายเองแล้วจะได้รู้ว่าวิธีใดจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า" นายชลัช กล่าว

 จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน 2553

ชาวไร่อ่วมหนอนรุมกินยอดอ้อยซ้ำเติมภัยแล้ง

ชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งไร่อ้อยที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งจะเกิดปัญหาหนอนกินยอดอ้อย ส่งผลให้มีผลผลิตน้อยมากเมื่อเทียบกับที่มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น...

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ไร่อ้อยที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งเกิดปัญหาหนอนกินยอดอ้อย ถ้าไม่มีฝนตกลงมาในช่วงนี้ก็จะสร้างความเสียหายให้กับชาวไร่อ้อยมาก และอาจเห็นปริมาณผลผลิตอ้อยปี 2553/2554 อยู่ที่ระดับ 50 ล้านตัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไขระเบียบกองทุนฯเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดของโครงการ และสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน พ.ค.นี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 28 เมษายน 2553

กองทุนอ้อยฯ ปล่อยสินเชื่ออุ้มชาวไร่แก้ปัญหาภัยแล้ง-ขาดแรงงานตัดอ้อย

กองทุนอ้อยและน้ำตาลตั้งคณะทำงานกำหนดรูปแบบสินเชื่ออุ้มชาวไร่ 2 โครงการ วงเงิน 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% แก้ปัญหาภัยแล้ง-แรงงานขาดแคลนช่วงตัดอ้อย

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ว่า กท.ได้ตั้งคณะทำงานกำหนดรูปแบบการปล่อยสินเชื่อของกองทุนจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อเพื่อจัดการแหล่งน้ำให้ชาวไร่อ้อย วงเงิน 2,000 ล้านบาท และ 2.โครงการสินเชื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ปัญหาไฟไหม้อ้อย วงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 3,000 ล้านบาท

"การปล่อยกู้ดังกล่าวจะใช้เงินกองทุนที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งคณะทำงานจะเสนอรายละเอียดให้กองทุนพิจารณาในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยการปล่อยกู้ทั้ง 2 โครงการ จะคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ผ่านทางโรงงานน้ำตาลไปสู่ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน" นายกำธร กล่าว

ทั้งนี้คณะทำงานจะกำหนดรูปแบบการปล่อยสินเชื่อแหล่งน้ำ โดยนำรูปแบบจากโครงการสินเชื่อจัดหาแหล่งน้ำให้ชาวไร่อ้อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาพิจารณา ซึ่งปัจจุบันชาวไร่อ้อยมีปัญหาภัยแล้ง เกิดปัญหาหนอนกินยอดอ้อย หากปัญหาภัยแล้งนานไปถึงเดือนพฤษภาคม ก็จะส่งผลต่อปริมาณอ้อยฤดูผลิตปี 2553/2554 อาจจะลดลงราว 30% จากฤดูผลิตปีก่อนหน้า ที่มีปริมาณอ้อย 68 ล้านตัน

ส่วนโครงการปล่อยกู้จัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ปัญหาไฟไหม้อ้อย และขาดแคลนแรงงานช่วงตัดอ้อยนั้น ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ก็ดำเนินโครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยไปแล้ว แต่ไม่คืบหน้าเรื่องอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนจึงต้องการให้กองทุนปล่อยกู้แทน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 28 เมษายน 2553

โรงงานบี้พาณิชย์-กอน.แก้น้ำตาลตึงตัว

โรงงานน้ำตาลยอมรับน้ำตาลตึงตัวจริง ขึ้นงวดทุกสัปดาห์ขายเกลี้ยง เผยส่งมอบน้ำตาลโควตาพิเศษให้พาณิชย์แทบไม่คืบ ล่าสุดมารับแค่ 1.5 หมื่นกระสอบ ขีดเส้น 30 เม.ย.รับไม่หมดขอคืนมาขายเองพร้อมพิสูจน์ฝีมือ ไล่บี้กอน.ไม่ยอมจัดสรรน้ำตาลโควตาก. เพิ่มอีก 1 ล้านกระสอบ

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลนในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ได้จัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 100,000ตัน (1 ล้านกระสอบ) ให้กระทรวงพาณิชย์บริหารเพื่อแก้ไขปริมาณน้ำตาลตึงตัว ว่า ปริมาณน้ำตาลทรายดังกล่าวได้ขึ้นงวดไปแล้วประมาณ 80,000 ตัน (800,000กระสอบ) แต่การจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายให้กับ 11 รายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมาล่าสุดมีเพียง 15,000 กระสอบเท่านั้น ดังนั้น หากภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ปริมาณน้ำตาลที่เหลือทั้งหมด ทางโรงงานน้ำตาลทรายจะขอนำไปบริหารจัดการเอง

“ยอมรับว่าขณะนี้น้ำตาลทรายที่ขึ้นงวดสัปดาห์ละ 40,300 ตัน (400,000 กระสอบ) มีการจำหน่ายออกไปจนหมด บ่งชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำตาลตึงตัว เมื่อมีทางเลือกที่ให้กระทรวงพาณิชย์ไปบริหารเพื่อไม่ให้น้ำตาลทรายตึงตัวแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล โรงงานขอนำมาจำหน่ายเอง แล้วจะได้รู้ว่าวิธีใดจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า”นายชลัสกล่าว

นอกจากนี้ เห็นว่ากอน.ควรจะมีการเร่งจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายโควตาก. (บริโภคในประเทศ) ที่ได้จัดสรรเพิ่มอีก 100,000 ตัน (1 ล้านกระสอบ) จากเดิมกำหนดไว้ 2,100,000 ตัน (21 ล้านกระสอบ) เป็น 2,200,000 ตัน (22 ล้านกระสอบ) โดยเร็ว เพราะเชื่อว่าปริมาณน้ำตาลทรายที่จัดสรรเพิ่มดังกล่าว จะเพียงพอกับการบริโภคพอดี แต่ที่ผ่านมา กลับไม่คืบหน้า ซึ่งคาดว่าจะติดปัญหาข้อสรุปเกี่ยวกับการยกเว้นการนำเงินส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.)

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธานวานนี้ (27เม.ย.) ว่า ที่ประชุมไม่มีวาระการพิจารณาเกี่ยวกับการยกเว้นการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ 5 บาทต่อก.ก.ในส่วนของปริมาณน้ำตาลทรายโควตาก. 100,000 ตัน ที่จัดสรรเพิ่มแต่อย่างใด โดยที่ประชุมใช้เวลาส่วนใหญ่พิจารณาโครงการเร่งด่วน คือ โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและโครงการสินเชื่อเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยซึ่งจะนำมาสรุปอีกครั้งวันที่ 10 พ.ค.

ทั้งนี้ โครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง กองทุนฯ จะปล่อยสินเชื่อสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยไปจัดหาแหล่งน้ำเร่งด่วนวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอัตรา 2% ต่อปี ขณะที่โครงการสินเชื่อเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทเดิม มติครม.กำหนดให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับกระทรวงการคลังในรายละเอียดโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ 2% ต่อปี และให้รัฐรับภาระดอกเบี้ยส่วนเกิน 3% ที่เหลือแต่ไม่คืบหน้า ทางกองทุนฯ จึงเห็นว่าจะนำมาดำเนินการเอง โดยใช้เงินกองทุนฯ บริหารจัดการ

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการ ครม.ได้อนุมัติในหลักการแล้ว โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) สนับสนุนวงเงินสินเชื่อโดยโครงการสินเชื่อด้านน้ำระเบียบทางปฏิบัติค่อนข้างมากหากดำเนินการผ่านกองทุนฯจะง่ายกว่า ส่วนโครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยมีปัญหาข้อสรุปเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่ประชุมจึงต้องขอคำตอบจากกระทรวงการคลังให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนที่จะนำมาดำเนินการเองทั้งหมด

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 เมษายน 2553

ก.วิทย์ฯ สนับสนุนภาคเอกชนพัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบ สนองความต้องการให้กับเกษตรกร พร้อมช่วยลดต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนภาคเอกชนพัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบ สนองความต้องการให้กับเกษตรกร พร้อมช่วยลดต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศ

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (กรอ.วท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรอ.วท.ได้มอบหมายให้โครงการวิศวกรรมย้อนรอย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบที่เหมาะสมกับชาวเกษตรกรไร่อ้อยในประเทศไทย ด้วยฝีมือคนไทย เพื่อลดการนำเข้ารถตัดอ้อยจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท ให้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ ส่วนผู้ผลิตเครื่องจักรต้นแบบได้มอบหมายให้สมาคมเครื่องจักรกลไทยดำเนินการ โดยรถตัดอ้อยขนาดกลางที่พัฒนาขึ้นมาเองนี้มีต้นทุนถูกเพียง 3 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนนำเข้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง 10-15 ล้านบาทต่อเครื่อง ซึ่งเครื่องนี้มีคุณสมบัติมีกำลังการตัดอ้อยได้ 60 ตันต่อวัน ทำงานได้เหมาะกับสภาพแปลงปลูกอ้อยของประเทศไทย พร้อมทั้งสามารถตัดอ้อยสด อ้อยล้ม อ้อยมีความหนาแน่นและสามารถแยกยอดอ้อยกาบใบอ้อยออกทิ้งได้ สามารถขนอ้อยที่ตัดแล้วขึ้นรถบรรทุกอ้อยได้โดยตรง รวมทั้ง ตัดอ้อยได้ชิดดินโดยไม่ทำให้ตอใต้ดินแตกและตอถูกถอน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือนในการพัฒนารถตัดอ้อยต้นแบบให้แล้วเสร็จ โดยมั่นใจว่าจะเสร็จทันให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยที่จะออกในฤดูกาลนี้ประมาณเดือนพฤศจิกายน นี้ นอกจากนี้ ได้ตั้งเป้า 3 ปีจะพัฒนารถตัดอ้อยฝีมือคนไทยอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรได้ใช้ไม่ต่ำกว่า 300 คัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 27 เมษายน 2553

‘แมลงนูนหลวง’ศัตรูอ้อย

ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูก "อ้อย" ในจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี กำลังเดือดร้อน เนื่องจากมี "แมลงนูนหลวง" ระบาดอย่างรุนแรง...

นายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บอกกับ "หลายชีวิต" ว่า...การระบาดของแมลงดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานนับสิบปี โดยอยู่ในช่วง ปลายฝนถึงช่วงแล้ง ของทุกปี ซึ่งทางสำนักวิจัยพัฒนาฯได้ส่งทีมนักวิชาการออกไปตรวจสอบแล้ว พบว่า การระบาดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไร่อ้อย แต่ยังลุกลามสร้างความเสียหายแก่พืชชนิดอื่น อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด มันแกว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ไม้ผล รวมทั้ง ต้นยูคาลิปตัส

สำหรับ "แมลงนูนหลวง" เป็นด้วงปีกแข็ง มักพบการระบาดในสภาพดินทรายที่มี pH 6-6.5 และสภาพดินที่มีอินทรียวัตถุ 0.56-0.84% การเข้าทำลายอ้อย มักปรากฏเป็นหย่อมไม่แพร่กระจาย พื้นที่ใดค่อนข้างลุ่มเมื่อมีฝนตกน้ำขัง ตัวหนอนของแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายได้น้อย แต่ถ้าอ้อยปลูกในที่ดอนมักถูกหนอนเข้าทำลายที่ บางครั้ง "ตายทั้งกอ"

...โดยสังเกตได้จาก ไข่ ที่มันปล่อยทิ้งไว้ตามพื้นดิน ซึ่งมีลักษณะสีขาวค่อนข้างกลม คล้ายไข่จิ้งจก เปลือกแข็ง ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กว้าง 4 มิลลิเมตร หรืออาจพบ ตัวหนอน ซึ่งลำตัวมีสีขาวนวลโดยตลอดและมีรูปโค้ง หัวกะโหลกเป็นสีน้ำตาลมีขนาดใหญ่และแข็ง ปากมีเขี้ยวใหญ่แข็งแรง

ขา เจริญเติบโตดีมองเห็นได้ชัดเจน แต่มักไม่ ค่อยใช้เดิน โตเต็มที่มีขนาด 65-70 มิลลิเมตร กว้าง 20-25 มิลลิเมตร หัวกะโหลกกว้าง 10 มิลลิเมตร พวกมันจะมุดลงดินลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร ก่อนเข้าสู่ดักแด้ ซึ่งมีลักษณะสีขาวนวลหรือสีครีม แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงออกเป็น ตัวแก่ ลักษณะสีน้ำตาลเข้ม หนวด ขา ปีกติดอยู่ข้างลำตัว เห็นได้ชัดเจน

...ในช่วงตัวเต็มวัยปีกจะแข็งค่อนข้างใหญ่ ขนาดยาวประมาณ 32-40 มิลลิเมตร กว้าง 15-20 มิลลิเมตร ส่วนท้ายของปีกมีจุดสีขาวด้านละจุด ตัวผู้ มีสีน้ำตาลดำตลอดลำตัว ส่วน ตัวเมีย มีสีน้ำตาลปนเทา สีอ่อนกว่าตัวผู้ทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว หลังออกจาก ดักแด้พอเข้าสู่ช่วงเวลาพลบค่ำ พวกมันจะบินว่อนเพื่อจับคู่ ใช้เวลาผสมพันธุ์ประมาณ 15-30 นาที จากนั้นอีก 14-25 วัน ตัวเมียจะบินลงสู่พื้นเพื่อวางไข่ลงดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ต่อเนื่อง 3 วัน จำนวน 15-28 ฟอง

ใช้ระยะฟักไข่ 15-28 วัน จึงฟักออกมาเป็น ตัวหนอน ซึ่งอาหารของมันในวัยนี้ก็คือรากอ้อยใต้ผืนดิน เมื่ออ้อยไม่มีรากหาอาหาร จึงส่งผลให้ยืนต้นตายยกกอ ส่วนหนอนจะลอกคราบ 3 ครั้ง ในวัยสุดท้ายประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งระยะนี้หนอนจะเจริญเติบโตรวดเร็ว กินจุมาก เป็นระยะที่สร้างความเสียหายให้แก่รากอ้อยได้มากที่สุด

และเพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าวเกษตรกรควรใช้แนวทางการผสมผสาน ทั้งไถพรวนดินหลายๆครั้ง รวมทั้งจับตัวเต็มวัย ที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้กันว่า สามารถนำมาประกอบอาหาร "เปิบ" ได้อร่อยแท้...

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 เมษายน 2553

การเมืองล้วงลูก ก.พาณิชย์สุดช้ำ "พรทิวา" เด้งฟ้าผ่า ย้ายอธิบดีเป็นว่าเล่น

กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การกำกับดูแลของ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีหญิงจากพรรคภูมิใจไทย "ร้อนแรง" ไม่แพ้กระแสการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ในขณะนี้ นับจากการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ก็เกิดรายการ "เกาเหลา" กับนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ในข้อกล่าวหาที่ว่า ถูกล้วงลูกในกรมที่ดูแลรับผิดชอบ

ติดตามมาด้วยคำสั่งโยกย้ายข้าราชการด้วยเหตุผลที่ว่า "ข้าราชการต้องสามารถทำงานได้ทุกกรม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม" ส่งผลให้มีข้าราชการอาวุโสที่ได้สัมผัสความรู้สึก "3 เดือนไม่ผ่านโปร" จากรัฐมนตรีหญิงผู้นี้ เริ่มตั้งแต่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงท้ายของการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งได้สร้างความงุนงงถึงชนวนเหตุการโยกย้ายแบบสายฟ้าแลบ เพราะตามระยะเวลาการทำงานแล้ว นางอภิรดีจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2552 ด้วยเหตุผลคลาสสิกของฝ่ายการเมืองที่ว่า "เพื่อความเหมาะสมในการทำงาน" ซึ่งถือเป็น คำตอบยอดนิยมที่ข้าราชการการเมืองสั่งโยกย้ายข้าราชการประจำมาทุกยุคทุกสมัย

แต่เบื้องหลังการย้ายครั้งนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ระยะเวลา 3 เดือนครึ่งก่อนถูกย้าย นางอภิรดีเป็นหนึ่งในผู้ที่คัดค้านเรื่องตั้งราคารับจำนำข้าวสูง และการไม่ยอมเปิดประมูล เพื่อระบายสต๊อกข้าวสารของรัฐบาลในขณะนั้น และยังขวางโครงการระบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสต๊อกรัฐบาล จากโครงการแทรกแซงปี 2551/52 จำนวน 450,000 ตัน ที่เปิดประมูลตั้งแต่ วันที่ 5 มีนาคม 2552

หลังจากนั้นไม่นาน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก็ถูกย้ายไปแทนตำแหน่งนางอภิรดี ขณะเดียวกันได้โยก นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ มารับตำแหน่งอธิบดี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แทน เป็นการพลิกบทบาทการทำงานในจังหวะที่ น.ส.ชุติมากำลังมีภารกิจเร่งด่วนในการ เตรียมงานประชุมสุดยอดอาเซียน+3 และ +6 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายน 2552 ส่วนนางอภิรดีก็อยู่ในภารกิจเตรียมประชุมไรซ์ คอนเวนชั่น ระหว่าง 14-15 กรกฎาคม 2552

ผู้รับเคราะห์คนต่อมาจากนโยบายข้าราชการต้องสามารถทำงานได้ทุกกรม ก็คือ นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ ถูกโยกย้ายจากตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในทางปฏิบัติทราบกันดีว่า ถือเป็นการลดชั้นและ "หักหน้า" กันอย่างรุนแรงจนยากที่เจ้าตัวจะยอมรับได้ เมื่อ "ลูกน้อง" กลายมาเป็น "นาย" นำมาซึ่งการตัดสินใจ "ลาออก" ทั้ง ๆ ที่นายคณิสสรยังเหลืออายุราชการอยู่อีก 1 ปี

จากเหตุผลที่ว่า มีคำสั่งย้าย นายบรรยง ลิ้มประยูรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ขึ้นมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แทน จากเดิมที่นายบรรยงเคยเป็นรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในสมัยที่นายคณิสสรอยู่ในตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2543 ก่อนที่จะย้ายมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2550 จนถึงปี 2552

ล่าสุดในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมานี้ นางพรทิวาก็สร้างประวัติศาสตร์การโยกย้ายนอกฤดูกาลขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยทำเรื่องแจ้ง ครม.ให้ย้าย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร จากอธิบดีกรมการค้าภายใน มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้ นางวัชรี วิมุกตายน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน แทน แถมพ่วงด้วยการโยกย้าย นายวิจักร วิเศษน้อย จากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้ นายมนัส สร้อยพลอย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นอธิบดีกรมการค้า ต่างประเทศ ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในอดีต เป็นเหตุให้นายวิจักรซึ่งเหลืออายุราชการ ไม่ถึง 6 เดือน ตัดสินใจยื่นใบลาออกทันที เช่นเดียวกับที่นายคณิสสรเคยกระทำมาแล้ว โดยอ้างถึงเหตุผลทางสุขภาพ

มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงสาเหตุการโยกย้ายครั้งล่าสุด เป็นผลมาจากความ "ไม่พอใจ" ในภารกิจดูแลราคาสินค้า ซึ่งนางพรทิวามองว่า นางวัชรีเหมาะสมจะมาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน เพราะผ่านการทำงานภายในกรมนี้มานานร่วม 30 ปี เข้าใจงานด้านสินค้าเกษตรและการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นอย่างดี ส่วนการให้นายมนัสไปเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เพราะต้องการให้มีการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก เนื่องจากนายมนัสเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงเห็นว่าเหมาะสม ?

ความจริงก่อนหน้านี้มี "สัญญาณ" บอกเหตุแห่งความไม่พอใจในการบริหารงานของกรมทั้ง 2 มาแล้ว ตั้งแต่การเปิดประมูลข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาลที่ "ไม่ผ่านฉลุย" ครั้งแล้วครั้งเล่าของกรมการค้าต่างประเทศเหมือน "ทำไม่เป็น" ไปจนกระทั้งถึงการแก้ปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว เมื่อ รมว.บอกว่าน้ำตาลขาด แล้ววิ่งไปขอโควตาพิเศษมาบริหารเอง แต่อธิบดีกรมการค้าภายในกลับสวนควันปืนที่ว่าน้ำตาลไม่ขาด แต่มีการกักตุน เรื่อยมาถึงราคาสินค้า ที่ดูเหมือนจะถูกฝ่ายการเมืองล้วงลูกมาโดยตลอด นับตั้งแต่มาตรการขอความร่วมมือห้ามขึ้นราคาสินค้าสิ้นสุดลง จนมีการกล่าวหากันขึ้นมาว่า การขึ้นราคาสินค้าสมัยนี้ จำเป็นต้องดูต้นทุน เพราะเป็นเรื่องทำกันได้ แต่มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองว่า "ใคร" ควรจะได้ขึ้น และได้ขึ้นแล้ว ต้องแลกมาด้วยอะไรมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า ทั้งนายมนัสและนางวัชรีเคยทำงานร่วมกันมาก่อนกับ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน ในสมัยที่นายยรรยงเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งครั้งนี้ คาดว่าเพื่อให้การสั่งงานในระดับนโยบายเป็นเรื่องที่เข้าใจกันง่ายขึ้น ว่าฝ่ายการเมืองต้องการอะไร โดยประเพณีการย้ายล้างบางแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะระดับข้าราชการซี 10 เท่านั้น แต่ยังถูกล้วงลูกไปจนถึงข้าราชการระดับซี 9 ลงไปถึง ซี 6 ทั้งตำแหน่งรองอธิบดี-ผู้อำนวยการสำนัก-ผู้อำนวยการกองด้วย

ส่วนเรื่อง "ขวัญ" และ "กำลังใจ" ของข้าราชการในกระทรวง ขณะนี้กลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว เมื่อเกิดการแต่งตั้ง "เด็กเมื่อวานซืน" ข้ามหัวขึ้นมาเป็นใหญ่แบบผิดที่ผิดทาง โดยขึ้นอยู่กับว่า "ใคร" เป็น "เด็ก" ของใคร และจะทำ "ประโยชน์" ให้ฝ่ายการเมืองได้มากน้อย แค่ไหน

 จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 เมษายน 2553

อ้อยแล้งพังหมื่นล้าน ขอเงินกู้ขีดเส้นตาย

บอร์ดกองทุนอ้อยเร่งร่างระเบียบปล่อยสินเชื่อหาแหล่งน้ำ 27 เม.ย. สู้ภัยแล้ง ขีดเส้นตาย 2 เดือน เสียหายหนักกว่าหมื่นล้านแล้ว กฟผ.ย้ำ น้ำ 3 เขื่อนหลักเข้าขั้นวิกฤติ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อรับรองร่างระเบียบการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำวงเงิน 2 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% เป็นการเร่งด่วน เพราะหากไม่เร่งดำเนินการอาจกระทบต่อผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 53/54 ลดต่ำกว่าผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 52/53 ที่อยู่ระดับ 68 ล้านตัน ซึ่งล่าสุดมีการลงพื้นที่ตรวจพบความผิดปกติมาก เนื่องจากสภาพอากาศแล้งทำให้อ้อยในหลายพื้นที่มีอาการใบห่อแล้ว หากปล่อยไว้ก็จะตาย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบหนักสุด

ทั้งนี้ ในฤดูกาลผลิต 52/53 มีผลผลิตอ้อย 68 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 100.7 ตันต่อไร่ และได้ปริมาณน้ำตาล 1.7 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ต่ำกว่าปริมาณที่คาดการณ์ไว้ที่ 71.4 ล้านตัน และผลผลิต 108 ตันต่อไร่ ส่งผลให้รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง 10% หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ด้านนายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักๆ ขณะนี้รวมกันทั้งสิ้น 39,179 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53% ของความจุอ่าง โดยเขื่อนที่อยู่ในขั้นวิกฤติ คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก 4,983 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 37% ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ 3,692 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39% ของความจุอ่าง และเขื่อนอุบลรัตน์เหลือ 29% ของความจุอ่าง โดยปริมาณน้ำยังเพียงพอที่จะผ่านหน้าแล้งนี้ แต่หากฝนยังไม่มาในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค.นี้ จะทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในปีหน้าเกิดวิกฤติได้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 26 เมษายน 2553

ชาวไร่อ้อยกาฬสินธุ์ประสบปัญหาอ้อยตายแล้ง

เสียหายไปแล้ว 5 หมื่นไร่ เป็นมูลค่า 500 ล้านบาท หลังฝนไม่ตกมานาน จากปัญหาผลกระทบภัยแล้ง ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายให้กับชาวไร่อ้อยในทุกอำเภอ จนมีการคาดการณ์ ว่า ในปีนี้ผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานจะไม่เพียงพอ ที่จะยังส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนอย่างหนัก

นายไพฑูรย์ ประพาธโร ผู้อำนวยการด้านการปลูกอ้อย บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในการดูแลของบริษัทขณะนี้จำนวน 250,000 ไร่ และตั้งเป้าอ้อยฤดูกาล นี้ไว้ 2,400,000 ตัน แต่คงจะไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากชาวไร่อ้อยทุกพื้นที่ กำลังประสบปัญหาอ้อยตายนั้น เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนานประกอบกับแหล่งน้ำแห้งขอด เพราะจากการสำรวจพบว่า อ้อยแห้งตายไปแล้วจำนวน 50,000 ไร่ สร้างความเสียหายเป็นเม็ดเงินประมาณ 500 ล้านบาท ทั้งนี้หากฝนยังไม่ตกลงมาภายใน 1-2 สัปดาห์ คาดว่าอ้อยของเกษตรกรจะแห้งเหี่ยวตายลงไปอีกจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้ช่วยเหลือด้วยการแจกน้ำเบื้องต้น และแนะนำให้เกษตรกรนำต้นอ้อยที่เหลือแต่ตอไว้ เพื่อคงสภาพเพื่อไม่ให้แห้งเหี่ยว นอกจากนี้ทางบริษัท ยังประสานความช่วยเหลือไปยังสำนักฝนหลวงจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอให้ทำฝนเทียมช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 เมษายน 2553

ชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู ประสบภัยแล้งอย่างหนัก ต้องขุดเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาใช้ป้องกันผลผลิตเสียหาย

ชาวไร่อ้อยจังหวัดหนองบัวลำภู ประสบภัยแล้งอย่างหนัก ต้องขุดเจาะบ่อบาดาลสูบน้ำขึ้นมาใช้ป้องกันผลผลิตเสียหาย เพิ่มต้นทุนการผลิตมากขึ้น

นายมิตรชัย เขื่อนสูงเนิน เกษตรกรบ้านสำราญสุข ต.หนองแก อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ปีนี้สภาพพื้นที่ทำการเกษตรในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ต่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยเฉพาะอ้อย และยางพารา ที่ปลูกไว้ทั้งของตนเองและเพื่อนบ้านต่างได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้แห้งเหี่ยวตายไปจำนวนมาก โดยเฉพาะอ้อยจะมีการแห้งเหี่ยวและส่วนปลายของยอดหลุดเน่าบริเวณคอดิน สร้างความเสียหายให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยใหม่อายุ 3-4 เดือนเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำด้วยการเจาะบ่อบาดาลสำหรับสูบน้ำไปรดอ้อย ซึ่งราคาตามขนาดของท่อขนาด 3-4 นิ้ว ตั้งแต่ 15,000 -20,000 บาท ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าเจาะบ่อบาดาลและค่าน้ำมันในการใช้เครื่องสูบน้ำใส่แปลงอ้อย แต่ก็ต้องยอมลงทุนเพราะหากปล่อยทิ้งไว้อ้อยอาจจะตายหมด ซึ่งคาดว่าในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงน่าจะมีไร่อ้อยได้รับความเสียหายประมาณ 1,000 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีต้นยางพาราของเกษตรกรบางรายที่มีอายุ 4-5 ปีแล้ว มีอาการใบเหลืองแห้งเหี่ยวตายไปจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากฝนทิ้งช่วง

 จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 25 เมษายน 2553

สุราษฎร์แล้ง13อำเภอ-กาฬสินธุ์อ้อยตาย5หมื่นไร่

ผู้ว่าฯสุราษฎร์เร่งช่วยเกษตรกรเจอแล้ง 13อำเภอ ไร่อ้อยกาฬสินธุ์แล้งตาย 5หมื่นไร่สูญกว่า 500ล้านบาท เชียงใหม่พายุเข้าเสียหายกว่า 60หลัง

นายดำริห์ บุญจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้มีประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ก.ช.ภ.จ.) เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งประจำปีงบประมาณ 2553 ให้เกิดความรวดเร็วและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

จากรายงานสถานการณ์ของหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ขณะนี้สุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ประภัยแล้งแล้ว 13 อำเภอ 67 ตำบล 531 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนแล้ว 41,160 ครัวเรือน รวม 126,554 คน นอกจากนี้ เกิดไฟป่า 8 อำเภอ 16 ตำบล 16 หมู่บ้าน 36 ครัวเรือน เดือดร้อน 65 คน มีผู้เสียชีวิต 1คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 14,195,000 บาท

ส่วนด้านการช่วยเหลือ นายดำริห์ระบุว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรไปแจกจ่ายให้กับราษฎรแล้วเกือบทุกพื้นที่ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง แม้บางพื้นที่เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำฝนยังค่อนข้างเบาบาง

อ้อยกาฬสินธุ์ตายแล้ง 5หมื่นไร่

ที่วัดป่านาคำ บ้านโคกกลาง ต.จุมจัง อ.กุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จัดทำโครงการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงงานน้ำตาลกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งออกให้คำแนะนำดูแลรักษาอ้อยช่วงหน้าแล้ง โดยมีนายวีระศักดิ์ ภูครองหิน นายอำเภอกุฉินารายณ์ หัวหน้าส่วนราชการด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนเข้าร่วมกว่า 500 คน

นายอาณัติ ยศปัญญา ผู้อำนวยการโรงงานภูเขียวไบโอ-เอ็นเนอร์ยี จำกัด กล่าว่า บริษัทนำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ประสงค์จัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงงานนำตาลกาฬสินธุ์ ซึ่งจะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน จึงได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปประกอบรายงานและเสนอคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร รองผู้อำนวยการด้านการอ้อย บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ฯ กล่าวถึงพื้นที่ปลูกอ้อยในการดูแลของบริษัทฤดูกาลนี้มีทั้งหมด 2.5 แสนไร่ ฤดูกาลเปิดหีบปี 2553 บริษัทตั้งเป้าไว้ 2.4-2.5 ล้านตัน แต่คงจะไม่ได้ตามเป้า เพราะขณะนี้ชาวไร่อ้อยทุกพื้นที่ประสบปัญหาอ้อยแห้งตายแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน แหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด สำรวจปัจจุบันอ้อยเหี่ยวแห้งตายโดยสิ้นเชิงแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 50,000 ไร่ เสียหายเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท ถ้าฝนยังทิ้งช่วงภายใน 1-2 สัปดาห์อ้อยจะแห้งเหี่ยวตายอีกจำนวนมาก

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ทางบริษัทได้ช่วยเกษตรกรโดยนำรถบ่อลอยออกไปสูบน้ำมารดอ้อย ตั้งจุดสูบน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ออกแนะนำให้เกษตรกรตัดต้นอ้อยให้เหลือแต่ตอไว้ เพื่อคงสภาพต้นอ้อยไว้ไม่ให้เหี่ยวเฉาตาย และขอความช่วยเหลือไปยังสำนักฝนหลวงจ.ขอนแก่น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 เมษายน 2553

สะกิดนายกฯจัดระเบียบ "เจ๊วา"

"ปานปรีย์" จี้นายกรัฐมนตรีจัดระเบียบ "พรทิวา" หลังเด้งข้าราชการน้ำดีกระทรวงพาณิชย์คนแล้วคนเล่า ย้อนรอยกรณี "คณิสสร-อภิรดี" มาจนถึงคดีล่าสุด "ชุติมา-วิจักร" เจ้าตัวมั่นใจไม่ซีเรียสแม้โดนด่า...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวภายหลังที่คณะรัฐมนตรีมีมติโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ 4 คน ว่า การโยกย้ายในครั้งนี้เป็นการโยกย้ายที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติและเป็นการฉกฉวยโอกาสโยกย้ายข้าราชการในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังมุ่งแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ในการกระชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 4 คน ตามที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์เสนอ ได้แก่ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร จากอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้นางวัชรี วิมุกตายน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน นายวิจักร วิเศษน้อย จากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้นายมนัส สร้อยพลอย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแทน ส่งผลให้ต่อมาวันเดียวกัน นายวิจักรได้ยื่นหนังสือลาออกทันที

นายปานปรีย์กล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปดู ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก เมื่อปีที่แล้วนายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ถูกลดตำแหน่งจากอธิบดีไปเป็นผู้ตรวจราชการ เพียงอีกไม่กี่เดือนก่อนเกษียณ ซึ่งสุดท้ายก็ขอลาออกไป อีกกรณีเป็นนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำองค์การการค้าโลก หรือ WTO เป็นอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อปีที่แล้ว โดนย้ายสองครั้งไปเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงฯไม่กี่เดือนก่อนเกษียณ

ส่วนในครั้งนี้ นายวิจักร วิเศษน้อย ถูกลดตำแหน่งจากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ไปเป็นผู้ตรวจราชการ ซึ่งที่สุดก็ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกแล้ว ส่วนนางสาวชุติมา บุณยประภัศร ซึ่งเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการเจรจาการค้าเสรีมาหลายกรอบหลายคู่เจรจา ปีที่แล้วก็ถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และย้ายไปเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ก่อนที่ครั้งนี้จะถูกลดตำแหน่งเหลือเพียงผู้ตรวจราชการ

"ข้าราชการเหล่านี้เป็นข้าราชการอาวุโสที่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีประวัติด่างพร้อย การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมจึงบั่นทอนกำลังใจ เมื่อไม่สนองนโยบายที่สร้างความเสียหายให้บ้านเมือง กลับต้องถูกฝ่ายการเมืองลงโทษ วันนี้ผมขอให้ รมว.พาณิชย์กลับไปทบทวนดูว่าการโยกย้ายของท่านได้แก้ไขปัญหาบ้านเมืองจริงหรือไม่ หรือเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการที่ทุ่มเททำงานให้กับบ้านเมืองมากกว่า"

นายปานปรีย์กล่าวด้วยว่า วันนี้ขอฝากไปยังนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเข้ามากำกับดูแลการดำเนินการของกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิด ทั้งกรณีการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการเร่งตรวจสอบประเด็นข้อกล่าวหาต่างๆที่ไม่โปร่งใสของกระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่ทุกอย่างจะเสียหายไปมากกว่านี้

ด้านนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ยอมรับว่ากรณีนางสาวชุติมามีปัญหาการทำงาน ก่อนหน้านี้มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้เสนอทางเลือกให้นางสาวชุติมามาช่วยงานสำนักงานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) หรือสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ตนมองว่าอยู่ที่พาณิชย์ต่อดีกว่า เพราะเมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลง ก็อาจได้กลับมาเป็นอธิบดีได้อีก

"เมื่อไรที่มีการปรับเปลี่ยนก็ย่อมโดนด่า แต่ไม่ซีเรียส เพื่อให้งานเดินหน้า โดนด่าก็ยอม กรณีถูกนายปานปรีย์วิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ย่อมว่ารัฐบาลอยู่แล้ว"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการปลดฟ้าผ่า นางสาวชุติมาในครั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการที่ นางสาวชุติมาเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เพียงคนเดียว ที่ออกมายืนยันว่าปริมาณน้ำตาลไม่ขาดตลาด ซึ่งที่สุดกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้จัดสรรน้ำตาลโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ ให้กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปจำหน่ายแก้ปัญหาการขาดแคลนตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ณ วันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า 11 ยี่ปั๊วที่กระทรวงพาณิชย์ส่งชื่อมาให้เป็นผู้มารับมอบน้ำตาลดังกล่าวไปจำหน่าย มีเงินสดมาจ่ายให้โรงงานน้ำตาล เพื่อรับมอบน้ำตาลออกไปจากโกดังได้เพียง 9,000 กระสอบเท่านั้น จึงเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นชัดว่าปริมาณน้ำตาลในท้องตลาดไม่ได้ขาดแคลนตามที่พาณิชย์กล่าวอ้าง เพราะหากขาดตลาดจริง นางพรทิวาควรจะเร่งแก้ไขปัญหาไม่ให้น้ำตาลเหลือค้างโควตา ควรรีบจัดสรรออกไปสู่ตลาดให้เร็วที่สุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 เมษายน 2553

ย้ายฟ้าผ่าตงฉิน บิ๊กพาณิชย์ ไม่สนองการเมือง

ครม.ไฟเขียวย้ายฟ้าผ่าบิ๊กพาณิชย์ เหตุไม่สนองการเมือง "พรทิวา" อ้างตาใสเพื่อความเหมาะสม ด้าน "วิจักร" ถอดใจยื่นใบลาออกแล้ว ขณะที่ "ชุติมา" ก้มหน้ารับกรรม แฉเหตุเด้งตามใบสั่งการเมือง...

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (20 เม.ย.) ที่ประชุมเห็นชอบโยกย้ายข้าราชการระดับสูง 4 คน ตามที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์เสนอ ได้แก่ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร จากอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้นางวัชรี วิมุกตายน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน นายวิจักร วิเศษน้อย จากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และให้นายมนัส สร้อยพลอย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศแทน ซึ่งหลังจากที่ ครม. มีมติ ล่าสุดนายวิจักรได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทันที

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การโยกย้ายตำแหน่งอธิบดีทั้ง 2 กรม สาเหตุเพื่อความเหมาะสม และต้องการให้เกิดความกระตือรือร้น และแข่งขันในการทำงาน อย่ามองว่าเป็นความขัดแย้งหรือเป็นประเด็นทางการเมือง และไม่ใช่ช่วงเวลาผิดปกติที่มีการโยกย้ายเกิดขึ้นในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค. เพราะในเดือน ต.ค. จะมีข้าราชการระดับสูงเกษียณอายุราชการ ก็ต้องมีการโยกย้ายตามความเหมาะสมอยู่แล้ว สำหรับกรณีนายวิจักรนั้น เคยมาขอมาลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 3-4 เดือนก่อน เพราะปัญหาเรื่องสุขภาพ

"อย่ามองว่าเพิ่งทำงานไม่กี่เดือนแล้วโยกย้าย ต้องมองประโยชน์ที่จะได้รับ และเป็นผลดีต่อองค์กร เชื่อว่าต่อไปนี้ข้าราชการจะทำงานอย่างกระตือรือร้นมากขึ้น เพราะการโยกย้ายย่อมเกิดขึ้นได้อีก อยู่ที่ช่วงจังหวะที่เหมาะสม" นางพรทิวากล่าว

ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ย้ายนายวิจักร เกิดขึ้นหลังจากที่นายวิจักรได้เปรยๆกับคนใกล้ชิด รวมทั้งตน และนางพรทิวาก่อนหน้านี้ว่าต้องการพักผ่อนแล้ว เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ และเหลืออายุราชการอีกเพียง 6 เดือนก็จะเกษียณ เหมือนกับหมดไฟในการทำงานแล้ว จึงทำให้บางนโยบายของนางพรทิวาไม่ได้รับการขับเคลื่อนเท่าที่ควร โดยเฉพาะนโยบายการระบายสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาล ทั้งข้าว และมันสำปะหลัง ทั้งที่นางพรทิวาได้สั่งการให้ดำเนินการนานแล้ว ส่วนการโยกย้ายนางสาวชุติมา เพราะมีบางนโยบายที่มีความเห็นขัดแย้งกัน แต่ไม่รุนแรงตามที่เป็นข่าว

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลของการถูกโยกย้ายและไม่ได้รับเกียรติจากระดับนโยบายเรียกมาคุย ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเพราะการทำงานไม่ถูกใจ หรือไม่เป็นไปตามนโยบาย แต่ยืนยันว่า ที่ผ่านมาทำงานเต็มที่ โดยเป็นข้าราชการก็ยอมรับ การตัดสินใจ และไม่คิดถอดใจลาออก ซึ่งมีผู้ใหญ่ หลายท่านโทร.มาให้กำลังใจในการทำงานต่อไป

"ไม่ได้มองว่าถูกทำโทษ เพราะไม่ใช่การลดซี ผู้ตรวจฯก็ยังเป็นซี 10 เหมือนเดิม เป็นสิทธิในการโยกย้ายของ รมว.พาณิชย์ หากมองว่าทำงานไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงนโยบายก็ต้องย้าย สำหรับงานที่อยากฝากให้อธิบดีคนใหม่ได้สานต่อคือ การผลักดันกฎหมายแข่งขันทางการค้า และแยกงานชั่งตวงวัดออกเป็นหน่วยงานเฉพาะด้าน รวมถึงเร่งดูแลในเรื่องราคาข้าวที่ตกลงต่อเนื่อง"

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สาเหตุของการโยกย้ายครั้งนี้ เพราะเห็นว่านายวิจักรทำงานล่าช้า และไม่ สามารถสนองนโยบายได้ตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะแผนการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งทำให้นางพรทิวาไม่พอใจ จึงต้องการให้นายมนัส ซึ่งเป็นคนสนิทของนายยรรยงไปดำเนินการตามนโยบายแทน รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำตาลทราย เพราะโดยตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะเป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ด้วย ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำตาลทรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งก่อนหน้านี้ นายมนัสได้รับการแต่งตั้งจากนายยรรยงให้ดูแลการแก้ปัญหาน้ำตาลทราย และดูแลการกระจายน้ำตาลทรายในโควตาที่ได้รับจากการจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) 1 ล้านกระสอบ

ส่วนสาเหตุการย้ายนางสาวชุติมา เพราะเกิดความขัดแย้งในการทำงาน โดยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. นางสาวชุติมาได้อนุมัติให้สินค้าทินเพลต และน้ำปลาขึ้นราคา ทั้งที่อยู่ในช่วงขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า ทำให้นางพรทิวาไม่พอใจมาก รวมถึงนางสาวชุติมาออกข่าวเสมอว่าน้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน แต่นางพรทิวาต้องการให้บอกว่าขาดแคลน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขอน้ำตาลทรายโควตาพิเศษจาก กอน.มาบริหารจัดการเอง และล่าสุด นางสาวชุติมาไม่เห็นชอบกับการผลักดันของนางพรทิวาให้ข้าราชการคนหนึ่งในสำนักชั่งตวงวัด ซึ่งเป็นญาติกับนางพรทิวา ขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักฯ เพราะไม่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว จนเป็นที่มาของความขัดแย้งอย่างรุนแรง และนำมาซึ่งการโยกย้ายครั้งนี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 เมษายน 2553

'วังขนาย'จับมือโตโยต้า ทูโร

ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในจังหวะผันผวนหนัก โดยมีกองทุนเฮดจ์ฟันเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาน้ำตาล ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาสูงเกินจริง เมื่อกองทุนเฮดจ์ฟันยังเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาน้ำตาลขึ้น-ลงไม่เป็นปกติ ประกอบกับความต้องการใช้น้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการผลิตน้ำตาลรวมยังอยู่ในภาวะขาดแคลน โดยตลาดโลกยังขาดน้ำตาลอยู่ประมาณ 2-3 ล้านตัน จากที่ตลาดโลกจะมีสต๊อกน้ำตาลอยู่ประมาณ 8 ล้านตัน และในตลาดโลกมีความต้องการใช้น้ำตาลรวมกันประมาณ 160 ล้านตัน ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยที่ยืนอยู่ในอันดับ 2 ของโลกในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ ต้องปรับตัวโดย 5-6 ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำตาลแต่ละค่ายต่างปรับตัวโดยเพิ่มผลผลิต/ไร่ให้สูงขึ้น พัฒนาพันธุ์อ้อยให้มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้ค่าความหวานสูงเกิน10 ซีซีเอส แต่ในที่สุดก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อประเทศไทยและทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ฝนตกไม่ตรงฤดู ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่ทำให้บรรดากูรูวงการน้ำตาลต่างประมาณการผลผลิตน้ำตาลพลาดเป้าไปเป็นแถว

++วังขนายเปิดตลาดน้ำตาลออแกนิค เช่นเดียวกับกลุ่มน้ำตาลวังขนายที่ก่อนหน้านั้นใช้เวลาศึกษาการปลูกอ้อยและน้ำตาลออแกนิคมาเป็นเวลา 5 ปีเต็ม และน้ำตาลออแกนิคจะเริ่มขายได้ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ มีขนาดเริ่มต้นที่ 2,000-3,000 ตัน ที่จะส่งออกไปยังยุโรป และขายในประเทศ หลังจากนั้นในเดือนมกราคม 2554 จะเริ่มส่งออกไปญี่ปุ่น โดยราคาน้ำตาลออแกนิคเมื่อเทียบต่อกิโลกรัมราคาจะสูงกว่าน้ำตาลทรายขาวถึง 3 เท่า โดยการซื้อขายจะเป็นราคาตลาดโลกบวกค่าพรีเมียม

ล่าสุดนายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กลุ่มวังขนายได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่นฯ หนึ่งในบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของญี่ปุ่น เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับกลุ่มวังขนายทั้งระบบ หวังนำจุดแข็งของโตโยต้า ทูโชฯมาใช้พัฒนาองค์กรโดยช่วงแรกจะใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี โดยในระยะ 3 ปีแรก ต้องศึกษาระบบการทำงานซึ่งกันและกันก่อน โดยมีสัญญาผูกพันการลงทุนว่าถ้าจะมีการมาลงทุนในเรื่องน้ำตาลในประเทศไทย หรือในประเทศต่างๆ ที่เราตกลงกัน กลุ่มวังขนายกับโตโยต้าจะเดินไปด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าเราจะไปจำหน่ายน้ำตาลในประเทศญี่ปุ่น เราจะต้องผ่านทางโตโยต้าเป็นเจ้าแรก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่วังขนายจะร่วมมือกับ TOYOTA TSUSHO ประกอบด้วย 1. การบริหารจัดการ เพื่อแลกเปลี่ยนระบบการทำงานซึ่งกันและกัน โดยเปิดเผยให้ ศึกษาทั้งระบบภายใน 3 ปี 2. การซื้อขายน้ำตาล คือ TOYOTA TSUSHO มีเป้าหมายที่จะซื้อน้ำตาลจากกลุ่มวังขนาย โดยวังขนายต้องเน้นสินค้าที่มีการตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิตได้ Trace ability โดยเฉพาะกับการส่งน้ำตาลให้ TOYOTA TSUSHO สามารถรู้ได้ว่าน้ำตาลที่ส่งให้ญี่ปุ่นมาจากโรงงานใด ใครเป็นคนปลูก ใช้อ้อยพันธุ์อะไร, ปุ๋ยอะไร, มียาฆ่าแมลงหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่ง Trace ability หรือ Food Safety ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก แต่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญ

++ตั้งเป้าส่งไปญี่ปุ่น 30% นายบุญญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มวังขนายมีเป้าหมายว่าการส่งออกน้ำตาลไปยังญี่ปุ่นโดยผ่านโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ทั้งสิ้น 250,000 ตัน แบ่งเป็นการส่งออกเป็นน้ำตาลออแกนิคจำนวน100,000 /ปี จะเริ่มส่งออกในเดือนมกราคมปี 2554 ที่เหลือส่งออกเป็นน้ำตาลทรายดิบ

ทั้งนี้ในส่วนของน้ำตาลออแกนิคจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การปลูกอ้อยออแกนิค ที่พันธุ์อ้อยจะต้องไม่มีเชื้อรา ไม่มีโรค ดูแลสภาพดิน เปลี่ยนการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และจะต้องมีรางอ้อยพิเศษ ไม่รวมกับกระบวนการผลิตแบบปกติ โดยน้ำตาลออแกนิคจำนวน 100,000 ตัน จะต้องใช้ปริมาณอ้อย 1 ล้านตัน ใช้พื้นที่ปลูกอ้อยจำนวน 100,000 ไร่ ส่งเสริมเกษตรกร 10,000 คน จาก 6,000 ครัวเรือน โดยการผลิตน้ำตาลออแกนิคจำนวน 100,000 ตัน จะต้องใช้อ้อย1 ล้านตัน นั้น จะทำให้เกิดผลพลอยได้ที่ออกมาเป็นกากน้ำตาลออแกนิคออกมาประมาณ 50,000 ตัน ที่กลุ่มวังขนายจะส่งออกไปยังยุโรป

"ที่ผ่านมาเราผลิตน้ำตาลโดยไปแข่งกันเรื่องโวลุ่มกันมาก ต่อไปเราจะหันไปเน้นในเรื่องแวลูมากกว่า และการผลิตน้ำตาลออแกนิคจะทำให้กลุ่มวังขนายมีรายได้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มวังขนายตั้งเป้าว่าในปี 2554 จะส่งออกน้ำตาลโดยผ่านบริษัท โตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น สูงถึง 30% หรือ 100,000ตัน/ปี (น้ำตาลดิบ)จากที่กลุ่มวังขนายมีการส่งออกรวมทั้งสิ้น 300,000-350,000 ตัน/ปี เป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณน้ำตาลจากกลุ่มวังขนาย โดยส่งออกไปยังเซาธ์ อีสต์ เอเชีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เกาหลี ตะวันออกกลาง

ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย กล่าวถึง สถานการณ์ราคาน้ำตาลในขณะนี้ว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบลงมาอยู่ที่ 16-17 เซ็นต์/ปอนด์ ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว จากก่อนหน้านี้ราคาไต่สูงตั้งแต่ 28-30 เซ็นต์/ปอนด์ โดยเพราะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาถือว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงเกินจริง เพราะมีกลุ่มเฮดจ์ฟันซื้อขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า และตอนนี้เฮดจ์ฟันหันมาเก็งกำไรในตลาดหุ้นแทนทำให้ ราคาน้ำตาลในช่วงนี้อ่อนตัวลงมา แต่ก็เป็นราคาที่สมเหตุสมผลเพราะเมื่อตีกลับมาเป็นราคาอ้อยบวกค่าความหวาน(ซีซีเอส)แล้วก็ยังได้ค่าอ้อยประมาณ 1,000 บาท/ตันอ้อย ซึ่งล่าสุดราคาน้ำตาลในตลาดโลกเปรียบเทียบกับราคาน้ำตาลในประเทศฐานราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกันแล้วทำให้การลักลอบส่งออกและลักลอบนำเข้าน้ำตาลมีเกิดขึ้นไม่มาก "แต่ที่ต้องระวังคือการใช้สิทธิ์น้ำตาลโควตาค.ของโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารเพื่อการส่งออกที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหามักจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการควบคุม เช่นกรณีที่ก่อนหน้านี้น้ำตาลหายไปแล้ว1 ล้านกระสอบ แต่กติกาให้ให้เว้นวรรคใช้สิทธิ์โควตา ค. 5 ปีเพิ่งจะมีผล"

++ญี่ปุ่นสนผลิตน้ำตาลแตกต่าง ด้านนายโยชิกิ มิอุระ ผู้บริหารบริษัทโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าบริษัทเป็นเทรดดิ้ง นำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆของญี่ปุ่น ที่ผ่านมามีสินค้าหลากหลายประเภท แต่ปัจจุบันกำลังหันมาสนใจในเรื่องอาหาร โดยจะให้ความสำคัญเรื่องน้ำตาลเนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นมีการบริโภคน้ำตาลมากถึง 3.5 ล้านตัน/ปี โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้นำเข้า หรือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลจากประเทศไทยรายใหญ่

ดังนั้นการมองหาแหล่งวัตถุดิบ หรือแหล่งผลิตที่เป็นของตัวเองจึงเป็นสิ่งจำเป็นและกลุ่มวังขนายก็มีการทำ Trace ability กับผลิตภัณฑ์ คือสามารถตรวจสอบกลับไปหาผู้ผลิตได้ ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศญี่ปุ่น เพราะTrace ability คือเรื่อง food Safety ที่ต้องระบุว่าใช้วัตถุดิบอะไรในการผลิต สำหรับน้ำตาลยิ่งต้องแจ้งลงไปถึงเรื่องการใช้ปุ๋ย, ใครเป็นคนปลูก

สาเหตุที่บริษัทสนใจเลือกกลุ่มวังขนาย เพราะมีการผลิตน้ำตาลที่แตกต่าง มีการผลิตอ้อยออแกนิค ไร้สารพิษ ซึ่งสอดคล้องกับญี่ปุ่นที่ใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร โดยมองเห็นศักยภาพ ตลอด 5-6 ปี ที่ผ่านมา ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของวังขนายที่เริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตน้ำตาลเฉพาะชนิด มีการคัดเลือก ให้ความแตกต่าง

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 22 เมษายน 2553

พรทิวาเชือด2บิ๊กพาณิชย์ "วิจักร"ถอดใจยื่นลาออก

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ตามที่ได้เสนอ โดยสลับตำแหน่งให้นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ตรวจราชการ และให้นางวัชรี วิมุกตายน ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน รวมถึงให้นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้ตรวจราชการ ให้นายมนัส สร้อยพลอย ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

"เป็นการสลับตำแหน่งกันเพื่อความเหมาะสม ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาทำงานไม่ดี แต่อยากให้คล่องตัวมากขึ้น" นางพรทิวากล่าว

ด้านนางสาวชุติมากล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลของการถูกโยกย้าย แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำงานเต็มที่ ซึ่งการเป็นข้าราชการก็ยอมรับการตัดสินใจและไม่คิดถอดใจลาออก และมีผู้ใหญ่หลายคนโทรศัพท์มาให้กำลังใจในการทำงานต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า นายวิจักรจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ แต่ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ช่วงเช้าวันที่ 20 เม.ย. ก่อนจะมีมติ ครม.ออกมา โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพและตั้งใจจะลาออกตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีภารกิจที่ต้องสะสางให้เสร็จ

การโยกย้ายครั้งนี้ น่าจะมีสาเหตุจากที่นางพรทิวาไม่พอใจนางสาวชุติมากรณีการอนุมัติให้สินค้าทินเพลตขึ้นราคาโดยไม่แจ้งให้ทราบและการออกมายืนยันสวนทางกับรัฐมนตรีว่า น้ำตาลทรายไม่ขาดแคลน ส่วนกรณีนายวิจักรน่าจะเป็นการเชือดแพะกรณีมีการปล่อยข่าวรัฐบาลจะระบายสต็อกข้าว 2 ล้านตัน จนทำให้ราคาลดลงอย่างหนัก.

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 เมษายน 2553

พาณิชย์พิจิตรยันน้ำตาลไม่ขาดตลาด

พาณิชย์พิจิตรออกตรวจสอบร้านค้าน้ำตาลทราย‏ ยืนยันยังคงเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แนวโน้มราคาจะกลับสู่ปกติ 26-28 บาท

วันนี้ (20 เม.ย.) นายประธาน นรรัตน์ พาณิชย์จังหวัดพิจิตร ได้ออกตรวจสอบการจำหน่ายน้ำตาลทราย พร้อมทั้งแก้ปัญหาน้ำตาลทรายขาดตลาด หลังมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าร้านค้าในจังหวัดพิจิตรขาดน้ำตาลทรายจำหน่ายกว่าสัปดาห์แล้ว ซึ่งพบว่าขณะนี้ยังคงมีน้ำตาลทรายจำหน่ายอยู่ ยกเว้นในส่วนของห้างสรรพสินค้าเท่านั้นที่ไม่มีน้ำตาลทรายวางจำหน่าย เนื่องจากสำนักงานใหญ่ขาดสต๊อก จึงไม่สามารถนำมาส่งตามสาขาย่อยได้

นอกจากนี้ พาณิชย์จังหวัดพิจิตรยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบออกตรวจสอบผู้ค้าส่งและค้าปลีกน้ำตาลทราย รวมถึงตามห้างสรรพสินค้าของ จ.พิจิตร ว่ามีการกักตุนสินค้าหรือขายเกินราคาหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ ว่าจะมีน้ำตาลทรายจำหน่ายตามปกติ ซึ่งหากพบว่ามีร้านค้าใดที่จำหน่ายน้ำตาลทรายเกินราคา 26-27 บาทต่อกิโลกรัม สามารถร้องเรียนได้ที่ โทร.1569 ซึ่งจะมีโทษปรับ 1.4 แสนบาท และจำคุกไม่ เกิน 7 ปี

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 20 เมษายน 2553

ยืดล้างหนี้กองทุนอ้อย กรอ.ตั้งบอร์ดศึกษา-ควัก2พันล้านแก้ภัยแล้ง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ(กรอ.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน เห็นชอบให้มีคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งรัดการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภายหลังครบกำหนดการชำระหนี้ของกองทุนฯ

โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายรายงานภาระหนี้ของกองทุนฯว่าคงเหลือ 14,000 ล้านบาท คาดจะชำระหนี้ได้ภายใน 14-17 เดือน ขณะที่ตามแผนเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)คาดว่า จะชำระหนี้ได้หมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆเพื่อขยายเวลาชำระหนี้ของกองทุนฯออกไป

ด้านนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขระเบียบกองทุนฯเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วน เนื่องจากถ้าไม่เร่งดำเนินการจะส่งผลให้ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2553/2554 ตกต่ำลงได้

"กองทุนฯจะจัดสรรเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นสินเชื่อให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คาดว่า จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2% เบื้องต้นจะให้โรงงานน้ำตาลของคู่สัญญาชาวไร่อ้อยเป็นฝ่ายค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดของโครงการ คาดว่าไม่เกินเดือนเมษายนนี้ จะได้ข้อสรุป และสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้" นายกำธร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 เมษายน 2553

กรอ.เบรกเลิกส่งเงินกองทุนอ้อยฯอ้างต้องจ่ายหนี้1.4หมื่นล.

กรอ. เบรกงดส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ กก.ละ 5 บาท อ้างต้องจ่ายหนี้กองทุนฯ 1.4 หมื่นล้านบาทให้หมด เผยหากยกเลิกส่งเงินก็ควรลดราคาน้ำตาลด้วย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วานนี้ (19 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการยกเลิก หรือลดอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 5 บาท แต่นายกฯ และกรรมการหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันกองทุนอ้อยฯ ยังมีหนี้สะสมอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้คงเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ ในอัตรา กก.ละ 5 บาทต่อไป จนกว่าจะสามารถชำระหนี้กองทุนฯ หมด โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้หรือต้นหน้าปีหน้าจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รายงานภาระหนี้ของกองทุนอ้อยฯ เหลือทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะชำระหนี้ทั้งสิ้นได้ภายใน 14-17 เดือน

นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า กรอ.มอบให้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ อาทิเช่น หลังจากกองทุนอ้อยฯ ปลอดหนี้แล้ว จะยังคงเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราอย่างไร และเงินที่เก็บไว้จะนำไปใช้อย่างไรบ้าง อาทิเช่น นำเงินไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือกันเงินบางส่วนสำรองไว้ใช้ในช่วงราคาน้ำตาลตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแนวทางเรื่องนี้ กรอ.มองว่าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อาทิเช่น หากยกเลิกการส่งเข้ากองทุนอ้อยฯ ควรจะพิจารณาลดราคาน้ำตาลทรายไปพร้อมกันด้วย

ด้านนายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมจะมีหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เพราะกองทุนฯ จะชำระหนี้หมดในเดือน พ.ย. 2553 โดยเห็นว่าควรเตรียมสมาคมจึงเห็นว่าควรเตรียมการเรื่องนี้ให้เสร็จก่อน คาดว่าจะส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมหลังเทศกาลสงกรานต์แล้ว

"การขึ้นราคาน้ำตาลเดือน เม.ย. 2551 เพื่อให้กองทุนฯ นำเงินไปใช้หนี้จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท เมื่อกองทุนฯ ชำระหนี้หมดแล้วก็ควรกำหนดแนวทาง ยกเลิกส่งเงินเข้าฯ เพราะผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมยอมรับภาระดังกล่าวมา 2 ปี ซึ่งการยกเลิกดังกล่าว อาจจะแบ่งเงิน 5 บาท เป็น 3 ส่วน คือ 1. แบ่งเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ตามต้นทุนผลิตน้ำตาลและการปลูกอ้อย โดยภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะเพิ่มราคาน้ำตาลหน้าโรงงานให้สอดคล้องต้นทุนแท้จริง 2. แบ่งให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเก็บไว้ใช้รักษาเสถียรภาพหรือพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 3.ปรับลดราคาน้ำตาลลง เพื่อลดภาระผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม"

ทั้งนี้ ในการกำหนดตามแนวทางดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน เพราะต้องฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าหากกระทรวงอุตสาหกรรมรอให้ถึงเดือน พ.ย. 2553 จึงตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุน จะทำให้ภาระของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมไม่ลดลงทั้งที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชำระหนี้หมดแล้ว โดยเห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมควรเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการยกเลิกส่งเงินเข้ากองทุนตามที่มติ ครม.กำหนดไว้

นายประจวบ กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยที่จะไม่ปรับราคาน้ำตาล หลังกองทุนอ้อยฯ ชำระหนี้หมดแล้ว โดยเฉพาะการนำเงินที่ได้จากการขายน้ำตาล กก.ละ 5 บาท มาเข้าในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานน้ำตาล เพราะผิดหลักการในการขึ้นราคาน้ำตาลที่มีเจตนารมณ์เพื่อชำระหนี้แทนชาวไร่อ้อย ซึ่งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ก็กล่าวชัดเจนว่าหากกองทุนใช้หนี้หมดแล้วควรดูแนวทางว่าจะปรับการจ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างไร โดยช่วงนี้ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามปกติไปก่อนจนกว่าจะใช้หนี้หมด

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 เมษายน 2553

เร่งกำจัด-ภัยหนอน"กออ้อย"

ราชบุรี - นางทองพูน อัยยะวรากูล เกษตรและสหกรณ์ จ.ราชบุรี เผยว่า ได้รับแจ้งจากนายณรงค์ศักดิ์ โพธิ์ไพฑูรย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.ราชบุรี ให้เร่งเตือนไปยังเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยว่า ระยะนี้เกษตรกรที่จะปลูกอ้อยโดยใช้พันธุ์อ้อยใหม่ หรือปลูกอ้อยเอาไว้ตอ ต้องระวังการระบาดของหนอนกออ้อย โดยผีเสื้อหนอนกอจะวางไข่ในเวลากลางคืนบริเวณใบอ้อย หลังจากฟักออกเป็นหนอนจะคลานมาเจาะที่ยอดอ้อยห่างจากที่วางไข่ ประมาณ 1 ปล้อง และเจาะเข้าไปอยู่ในลำต้นอ้อยทั้งหมด โดยเข้าไปรูเดียวกัน จากนั้นจะทำลายอยู่ข้างในลำต้นทำให้ยอดเหี่ยวแห้งไม่สามารถเจริญเติบโต ถ้าระบาดมากๆ ทำให้อ้อยสูญเสียทั้งน้ำหนักและความหวาน ถ้าระบาดในระยะอ้อยเป็นลำจะทำให้อ้อยเสียหายมากที่สุด

วิธีการป้องกันและกำจัดนั้นเกษตรกรควรสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ใช้พันธุ์มาร์กอสคิว 130 ให้ระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นพันธุ์ที่หนอนกอชอบมาก ถ้าพบหนอนกอระบาดให้ตัดอ้อยทิ้งและหากพบตัวหนอนให้จับทำลายทิ้งหรือนำหนอนมาประกอบอาหารได้ หากพบเปอร์เซ็นต์การทำลายไม่เกิน 5% ให้ใช้แมลงหางหนีบปล่อยในอัตรา 500 ตัวต่อไร่ เพื่อทำลายไข่และตัวอ่อนของหนอนกอ หรือจะใช้แตนเบียนไข่ตริกโครแกรมม่าในอัตรา 12,000-20,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง เพื่อควบคุมปริมาณไข่หนอนกอให้ลดลง โดยปล่อย 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7-15 วัน ปล่อยหลังจากตัดอ้อยประมาณ 1 เดือน และในฤดูถัดไปไม่ควรเผาใบอ้อย เพราะจะเป็นการทำลายศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ แตนเบียน เป็นต้น

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 20 เมษายน 2553

8 โรงงานน้ำตาลรุมยำ"นิวกรุงไทย" ขอทบทวนมติ"กอน."ให้เปิดหีบอ้อยพร้อมกัน2โรง

วิจารณ์กันทั่ววงการอ้อย-น้ำตาล หลังคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ทดลองเครื่องจักรใหม่ที่ อ.บ่อพลอย แถมให้โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา หีบอ้อยต่อไปได้ อ้างไม่ผิด พ.ร.บ.โรงงาน สุดท้าย 8 โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ใกล้เคียงทำหนังสือถึง "วิฑูรย์ สิมะโชคดี" ประธาน กอน. ขอให้ทบทวนมติ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีผู้แทนโรงงานน้ำตาลจำนวน 8 บริษัทที่อยู่ในเขตพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยร่วมลงนามในหนังสือ ถึงนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ขอให้ทบทวนมติการอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยทดลองเดินเครื่องจักรที่ อ.บ่อพลอย

โดย 8 โรงงานน้ำตาลที่ยื่นหนังสือ ประกอบไปด้วยบริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำตาล จำกัด, บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด, บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด, บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด, บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ให้เหตุผลของการขอให้ทบทวนมติดังต่อไปนี้

1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยต้องย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกา ไปยัง อ.บ่อพลอย พร้อมกับได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตจาก 8,385 ตันอ้อย/วันเป็น 20,400 ตันอ้อย/วัน แต่จะต้องปิดโรงงานเดิม (โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา) ก่อน และถึงจะเปิดหีบโรงงานใหม่ได้ เนื่องจาก "ใบอนุญาต" มีเพียงใบเดียว หากหีบ 2 โรงพร้อมกันด้วยการอ้างว่า เพื่อทดลองผลิต เท่ากับกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยจะมีถึง 28,785 ตันอ้อย/วัน เกินกว่าที่อนุมัติไว้

2) การจะเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะต้องออกประกาศจัดสรรน้ำตาลทรายให้โรงงานที่จะเปิดหีบ โดยโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยเดิมที่ อ.ท่ามะกา ได้รับจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. ข. และ ค.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่โรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอยยังไม่ได้รับจัดสรร ประกอบกับจะต้องโอนใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับโรงงานใหม่ที่ อ.บ่อพลอย จึงจะถือว่าโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ได้รับโอนโควตาจัดสรรจากโรงงานเดิม จึงมีเพียงโรงงานเดียวที่รับจัดสรร ก่อนเปิดหีบต้องตรวจสอบความพร้อมของโรงงานกับระบบการวัดค่าซื้อขายอ้อยก่อนที่จะอนุญาตเปิดหีบ แต่โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทยแห่งใหม่ยังไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้

และ 3) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 สามารถทดลองเครื่องจักรได้ แต่หากใช้อ้อยทดลองเดินเครื่องจักรจะต้องเป็นไปตามประกาศ/ระเบียบอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แต่เมื่อ กอน.ไม่มีการจัดสรรอ้อยและน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ย้ายไป ก็ไม่สามารถผลิตหรือทดลองผลิตน้ำตาลได้ ทั้งนี้การทดลองเดินเครื่องจักรโดยไม่มีอ้อยเข้าหีบสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทโรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ในกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ที่ย้ายโรงงานจาก อ.ท่ามะกาไปยัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี สามารถทดลองเดินเครื่องจักรหีบอ้อยไปพร้อม ๆ กับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิมที่ท่ามะกาต่อไปด้วย เท่ากับในฤดูการผลิต 2552/2553 นี้มีโรงงานน้ำตาลที่หีบอ้อยได้ทั้งหมด 48 โรงงาน ในขณะที่มติ กอน.เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้กำหนดโควตาจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลไว้ 47 โรง

สำหรับรายละเอียดของมติดังกล่าว ได้อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลกรุงไทยที่ อ.บ่อพลอย ทดลองเดินเครื่องจักรได้ โดยใช้ปริมาณอ้อยทั้ง 180,225 ตันจำนวน 15 วัน โดย สอน.จะควบคุมดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหากโรงงานใดมาขอในลักษณะนี้ก็จะต้องนำเสนอ กอน.พิจารณาเป็นรายกรณี โดยใช้ปริมาณอ้อยเท่ากับกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตของโรงงานใหม่ ลบด้วยกำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตเดิม คูณด้วย 15 วัน ในการทดลองเดินเครื่องจักรผลิตน้ำตาล

การอนุญาตข้างต้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6 เกี่ยวกับการขออนุญาตทดลองเครื่องจักร ซึ่งโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ย้ายมาตั้งยังที่ใหม่สามารถทดลองเครื่องจักรได้ โดยโรงงานเดิมไม่ต้องหยุดเดินเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม การย้ายที่ตั้งโรงงานและการขอทดลองเครื่องจักรโรงงานใหม่ ควบคู่ไปกับการเดินเครื่องจักรโรงงานเดิม สำหรับ "โรงงานทั่วไป" สามารถกระทำได้ แต่สำหรับกรณีของโรงงานน้ำตาล ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2534 เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายแดง ระบุไว้ชัดเจนว่า หากโรงงานน้ำตาลมีกำลังการหีบอ้อยเกิน 300 ต้นอ้อย/วัน จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527

โดย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระบุไว้ว่า โรงงานน้ำตาลก่อนที่จะเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายได้นั้น กอน.จะต้องมีมติออกระเบียบกำหนดโควตาการจัดสรรปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายให้โรงงานแต่ละโรงผลิตเสียก่อน ซึ่งมติ กอน.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ได้กำหนดบัญชีจัดสรรโควตาน้ำตาลให้กับ 47 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ รวมถึงโรงงานการนิวกรุงไทยที่ อ.ท่ามะกา ซึ่งเป็นโรงงานเดิมที่ได้รับการอนุญาตและจัดสรรปริมาณอ้อย จึงยังคงเปิดหีบอ้อยได้ แต่สำหรับโรงงานใหม่ที่ย้ายไปยัง อ.บ่อพลอยไม่ได้รับการจัดสรรปริมาณอ้อย จึงเท่ากับว่า การทดลองเดินเครื่องจักรด้วยการเปิดหีบอ้อยในครั้งนี้เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ

จาก http://www.prachachat.net  19 เมษายน 2553

ขอนแก่นโต้ "อ้อยใครอ้อยมัน"

ทางด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและสายงานผลิตและเทคนิค กลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย ไม่ใช่โรงงานแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้โรงงานน้ำตาลเอราวัณที่ขอแยกกำลังการผลิตจากโรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม ที่จังหวัดอุดรธานี มาตั้งที่จังหวัดหนองบัวลำภู ก็ได้รับอนุญาตให้ทดลองเครื่องจักรเช่นกัน

"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ ถึงโต้แย้งประเด็นนี้ ทั้ง ๆ ที่ก็เคยกระทำการในลักษณะนี้มาก่อน และอ้อย ที่นำมาทดลองเครื่องจักรของเราที่ อ.บ่อพลอยก็เป็นอ้อยที่บริษัทส่งเสริมการปลูกไปตั้งแต่ต้น ไม่ได้ไปแย่งอ้อยกับโรงงานน้ำตาลของใคร ซึ่งหากโรงงานนิว กรุงไทยไม่สามารถทดลองเครื่องจักร อ้อยที่บริษัทได้ส่งเสริมไปก็คงต้องไปเข้าหีบให้กับโรงงานน้ำตาลอื่นที่อยู่ใกล้เคียงแทน ส่วนน้ำตาลที่ออกจากโรงงานนิวกรุงไทยก็เป็นน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งต้องส่งไปรีไฟน์ที่โรงงานเดิมที่ อ.ท่ามะกา ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะที่สุดแล้วก็เป็นน้ำตาลที่ได้รับจัดสรรจาก กอน.นั่นเอง" นายชลัชกล่าว

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า มติ กอน. ที่อนุญาตให้ทดลองเดินเครื่องจักรดังกล่าว ปรากฏ กอน.ได้ส่งให้คณะที่ปรึกษากฎหมาย ที่ กอน.แต่งตั้งพิจารณาอีกครั้งว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ การย้ายโรงงานจากอำเภอท่ามะกาไปที่อำเภอบ่อพลอย เนื่องจาก ปัจจุบันที่อำเภอท่ามะกามีโรงงานน้ำตาล อยู่หลายโรง อาทิ โรงงานน้ำตาลท่ามะกา, โรงงานน้ำตาลประจวบอุตสาหกรรม, โรงงานน้ำตาลกาญจนบุรี เป็นต้น ประกอบกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่บางส่วน เลิกปลูกอ้อย ทำให้ปริมาณอ้อยในบริเวณดังกล่าวลดลง บางเวลาถึงขั้นเกิดการแย่งซื้ออ้อยเพื่อเข้าหีบโรงงาน ในขณะที่พื้นที่บริเวณอำเภอบ่อพลอย ยังไม่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ อีกทั้งพื้นที่การปลูกอ้อยยังมีอยู่มาก ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้เข้าส่งเสริมการปลูกในพื้นที่อำเภอบ่อพลอยแล้วประมาณ 200,000 ไร่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะทำให้มีอ้อยเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลได้มากขึ้นแล้ว ยังประหยัดต้นทุนการขนส่งจากไร่อ้อยสู่โรงงานได้อีกด้วย

ซึ่งโรงงานน้ำตาลที่ย้ายไปอยู่ที่อำเภอบ่อพลอยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากการหีบอ้อยวันละประมาณ 8,300 กว่าตัน เป็นวันละประมาณ 20,000 กว่าตัน โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนสร้างโรงงานครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน 2,000 ไร่ ตั้งแต่โรงงานน้ำตาล, โรงาน เอทานอล, โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สไปถึงโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์

จาก http://www.prachachat.net  19 เมษายน 2553

น้ำตาลเมืองพิจิตรขาดแคลน

น้ำตาลทรายขาว ขาดตลาดเมืองพิจิตร หลังผู้ผลิตและพนักงาน หยุดงาน เทศกาลสงกรานต์

นางบัวเขียว สิงหะ ผู้ค้าน้ำตาลทรายขาวขายส่ง รายใหญ่ของตลาดเมืองพิจิตร เปิดเผยถึงความเดือดร้อนของสภาวะการขาดแคลนน้ำตาลทรายขาว ว่า ขณะนี้ ว่าเข้าขั้นวิกฤตมาเกือบ 15 วันแล้ว โดยไม่มีสินค้าจำหน่าย

สาเหตุแรกอาจเกิดมาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์มีวันหยุดรวมกันเกือบ 10 วัน ทำให้คนงานการขนส่งสินค้า ต้องหยุดทำการ รวมถึงโรงก็ปิดตลาดการซื้อขายน้ำตายทราย ทำให้สินค้าหมดสต๊อก แม้แต่ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ ของเมืองพิจิตร ก็ไม่มีน้ำตาลทรายวางจำหน่ายแม้แต่ถุงเดียว เดิมเคยรับน้ำตายทรายขาวจากโรงงาน น้ำตาล อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก แต่ปัจจุบันก็บอกไม่มีสินค้าขายให้แล้ว จึงต้องไปขอแบ่งออเดอร์จากโรงงานน้ำตาล จ.อยุธยา ซึ่งมีค่าขนส่งและค่าบรรทุกสูง แล้วนำมาจำหน่ายขายปลีกสูงถึง ก.ก.ละ 18-30 บาท แต่ขณะนี้ 10 วันผ่านมาแล้ว น้ำตายทรายขาวขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตไม่มีขายเลย ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนกันไปตามๆ กันทั่วหน้า โดยภาคราชการต่างจนแต้มในการจัดหาสินค้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค

จาก http://www.innnews.co.th/  18เมษายน 2553

ไทยติดท็อปเทนผลิตพลังงานทดแทน

สามารถขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสูงที่สุดของโลก (ร่วมกับประเทศสเปน) โดยถือเป็นอันดับ 2 ของประเทศในทวีปเอเชีย...

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้รับทราบรายงานจากคณะกรรมการเครือข่ายพลังงานทดแทนเพื่อศตวรรษที่ 21 (REN 21) ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาพลังงานทดแทนขององค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ โดยผลของการจัดอันดับประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากทั่วโลกกว่า 63 ประเทศ พบว่าประเทศไทยสามารถขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสูงที่สุดของโลก (ร่วมกับประเทศสเปน) โดยถือเป็นอันดับ 2 ของประเทศในทวีปเอเชียหรือเป็นรองแค่ประเทศมหาอำนาจ อย่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น

"ประเทศไทยมีการส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 พบว่ามียอดการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการผลิตเอทานอลที่ระดับ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลอยู่ที่ระดับ 1.8 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นชาติที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของเอเชียและเป็นอันดับ 5 ของโลก มีการผลิตเอทานอลที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลมีการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน"

ทั้งนี้ ประเทศที่เป็นมหาอำนาจด้านการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา พบว่ามีการผลิตเอทานอลได้สูงถึง 34,000 ล้านลิตรต่อปี ไบโอดีเซล 2,000 ล้านลิตรต่อปี รองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ ประเทศบราซิล อันดับ 3 ประเทศฝรั่งเศส อันดับ 4 ประเทศเยอรมนี ส่วนอันดับ 6 และ 7 ได้แก่ประเทศอาร์เจนตินาและแคนาดาตามลำดับ

นายทวารัฐกล่าวว่า ตามเป้าหมายของการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของกระทรวง จะมีการผลิตเอทานอลได้ 9 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลมีการผลิต 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ภายในปี 2565 ซึ่งมั่นใจว่าหากประเทศไทยสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เชื่อว่าอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเข้าไปติดอยู่ภายใน 5 อันดับแรกของโลก และมีโอกาสจะรักษาแชมป์ที่เป็นประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอันดับ 1 ในอาเซียน นำหน้าผู้ผลิตหน้าใหม่ เช่น มาเลเซียได้ต่อไปในอนาคต.

 จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 เมษายน 2553

ทวงคืนน้ำตาล โวย"พาณิชย์" กระจายชักช้า

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่าหากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายน้ำตาล 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) ซึ่งได้รับจัดสรรพิเศษให้หมดภายในเดือนนี้ โรงงานน้ำตาลจะทำหนังสือไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอคืนมาบริหารเองทั้งหมด เนื่องจากช่วงฤดูร้อนมีความต้องการน้ำตาลมากจึงเป็นจังหวะที่ดีในการระบายน้ำตาล เพราะถ้าน้ำตาลเหลือค้างก็ไม่รู้ว่าจะเป็นน้ำตาลค้างกระดานหรือเป็นของกระทรวงพาณิชย์

ล่าสุดโรงงานยังไม่ได้รับการติดต่อจากยี่ปั๊วทั้ง 11 รายของกระทรวงพาณิชย์ จึงต้องการความชัดเจนและขอให้มารับน้ำตาลภายในวันที่ 30 เม.ย. เพราะการเก็บมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่วนที่มารับไปแล้ว 3,000 กระสอบเป็นการติดต่อจากกระทรวงพาณิชย์มายังกลุ่มไทยรุ่งเรือง "โรงงานต้องการขายน้ำตาลเอง ถ้าวันนี้ต้องการแก้ปัญหาขาดแคลนจริงก็ไม่ควรมียี่ปั๊วพิเศษทั้ง 11 ราย เพราะทุกคนต้องการน้ำตาลเท่าเทียมกันไม่ใช่แค่ 11 รายและหากให้โรงงานกระจายน้ำตาลออกสู่ระบบก็คงถึงมือผู้บริโภคไปแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

 แหล่งข่าวกล่าวว่าปกติการขึ้นงวดน้ำตาลอยู่ที่งวดละ 4.03 แสนกระสอบ และเหลือค้างกระดาน 2-3 แสนกระสอบ ถ้าโรงงานนำมากระจายเองและเหลือค้างกระดานเท่าปริมาณปกติก็จะตรวจสอบได้ว่าโรงงานสามารถบริหารน้ำตาลได้ นอกจากนี้ยังห่วงศูนย์บริหารจัดการน้ำตาลทรายในสถานการณ์พิเศษของกระทรวงพาณิชย์จะตั้งขึ้นมาถาวรหรือช่วยเหลือชั่วคราว เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีความชัดเจนซึ่งการเอาน้ำตาลไปขายถือเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับเอกชนที่ต้องลงทุนมาก จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณา.

จาก http://www.thaipost.net  8 เมษายน 2553

โรงงานน้ำตาลกินแห้ว US.โควตาเพิ่มแค่ 1,117 ตัน

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ที่ประชุม กอน.ได้รับทราบให้มีการจัดสรรน้ำตาลที่ส่งออกไปยังสหรัฐ หรือที่เรียกว่า "US.โควตา" เดิม ในจำนวน 14,000 ตัน ปรากฏใน ปี 2553 สหรัฐได้เพิ่มโควตาให้กับไทยอีก 1,117 ตัน จากที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลเสนอจัดสรรเพิ่มให้ได้ถึง 50,000 ตัน ซึ่งโควตาที่ปรับเพิ่มขึ้นจะจัดสรรให้กับ 47 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตามสัดส่วนการผลิตของแต่ละโรงงาน และจะไม่มีผลผูกพันไปในปีต่อไป

โดยประเด็นดังกล่าวเป็นผลมาจากกรณีที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ทำหนังสือถึง สอท.เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับข้อมูลการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายดิบที่ไทยจะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐตามโควตาเดิมหรือไม่ และหากสหรัฐจะขอเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายดิบประเทศไทยจะสามารถจัดสรรได้เท่าใด ซึ่งในส่วนน้ำตาลทรายดิบที่ขอเพิ่มจะมีผลเฉพาะปีงบประมาณ 2553 (1 ตุลาคม 2552-30 กันยายน 2553) เท่านั้น โดยจะไม่มีผลผูกผันในปีถัดไป

การที่สหรัฐทำหนังสือขอซื้อน้ำตาลทรายดิบจากไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณโควตาเดิมที่กำหนดไว้ เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในสหรัฐขาดแคลนจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตข้าวโพด, อ้อย และหัวบีทรูต ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาลของสหรัฐลดลง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก หรือบราซิล ผลผลิตก็ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้สหรัฐต้องมีการขอซื้อน้ำตาลจากประเทศผู้ผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น

จากการหารือร่วมกับ 47 โรงงานได้ข้อสรุปว่า โรงงานสามารถจัดสรรเพิ่มให้ได้ถึง 50,000 ตัน โดยขอให้สหรัฐกำหนดเป็นโควตาถาวรในปีต่อ ๆ ไปด้วย สุดท้ายสหรัฐก็ขอปรับเพิ่มโควตาเพียง 1,117 ตัน พร้อมระบุว่าจะไม่มีผลในปี ถัดไปด้วย ทั้งนี้ "US.โควตา" เป็นสิ่งที่โรงงานน้ำตาลต้องการมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในสหรัฐและจำหน่ายได้ในราคาสูงถึง 30 เซนต์/ปอนด์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 เมษายน 2553

ผลผลิตอ้อยลดคำนวณยีลด์พลาด ชาวไร่-รง.วัดดวงราคาขั้นสุดท้ายสูง/ต่ำกว่าขั้นต้น

คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ยอมรับประมาณการผลผลิตอ้อยปี 2552/2553 ต่ำกว่าเป้าเหลือแค่ 68 ล้านตัน แถมยีลด์น้ำตาลยังลดได้ 100.7 ก.ก./ตันอ้อย ส่งผลปริมาณน้ำตาลลดลง 10% สูญรายได้ 15,000 ล้านบาท แต่ระบุไม่กระทบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย เหตุราคาตลาดโลกดี คำนวณออกมาแล้วไม่ต่ำกว่าราคาอ้อย ขั้นต้น พร้อมเห็นชอบให้กองทุนอ้อยฯ จ่ายชดเชย 500 ล้านบาทเข้าระบบแบ่งปันแทนหักเงิน 5 บาท/ก.ก. จากน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ 1 ล้านกระสอบ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการ กอน. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1) สถานการณ์การผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2552/2553 กับ 2) การจัดการเงิน 5 บาท/ก.ก.ในส่วนของน้ำตาลจำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) พิเศษที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) จาก 21 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ

โดยสถานการณ์การผลิตและน้ำตาลทรายในฤดูการผลิตปี 2552/2553 ได้ลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้จาก 71.74 ล้านตันอ้อย เหลือเพียง 68 ล้านตันอ้อย อีกทั้งปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยีลด์ น้ำตาล) ก็ลดลงจากที่คำนวณ 108 ก.ก./ ตัน อ้อยเหลือ 100.7 ก.ก./ตันอ้อย ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลงไปประมาณ 10% คิดเป็นรายได้ที่สูญเสียไปประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ระบบจะสูญเสีย รายได้จากผลผลิตอ้อยที่ลดลง แต่จะไม่ทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2552/2553 "ต่ำกว่า" ราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลใน ตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูงสุดไปเกือบ 30 เซนต์/ ปอนด์ ซึ่งทางโรงงานสามารถขายล่วงหน้าไป 90% ในราคาเฉลี่ยที่ 20-22 เซนต์/ ปอนด์

ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต ปี 2552/2553 ประกาศไว้ที่ 965 บาท/ตัน โดยคำนวณน้ำตาลตลาดโลกไว้ที่ 17-18 เซนต์ปอนด์ ดังนั้น ราคาตลาดโลกที่สูง ขึ้นจึงมีผลให้รายได้ของระบบเพิ่ม ขึ้น "มากกว่า" ที่คำนวณไว้และครอบคลุมกับรายได้ที่หายไปจากผลผลิตอ้อยที่ ลดลง

"จากการประเมินรายได้เบื้องต้นที่เข้ามาในระบบอ้อยและน้ำตาล เมื่อนำไปคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย คิดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น แต่ราคาอาจจะใกล้เคียง ไม่ต่างกันมากนัก คงไม่น่ามีปัญหาเหมือนฤดูการผลิตปี 2549/2550 ที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น จนต้องให้กอง ทุนอ้อยและน้ำตาลทรายหาเงินมาชดเชยโรงงานแทนชาวไร่" นายประเสริฐกล่าว

สำหรับประเด็นการจัดการเงิน 5 บาท/ ก.ก. ในส่วนของน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ เพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอไปจัดสรรเอง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาล ซึ่งเดิมมติ กอน. เห็นชอบตามข้อเสนอของ 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทรายให้ "ยกเว้น" หักเงิน เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสำหรับปริมาณน้ำตาล 1 ล้านกระสอบที่เพิ่ม ขึ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท โดยให้นำส่งเงินจำนวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบมาแบ่งปันผลประประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาล (สัดส่วน 70 : 30) แทน แต่ต้องดำเนินการแก้ไขมติ ครม.เดิม ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีการอนุมัติขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศ กิโลกรัมละ 5 บาท โดยให้นำเงินที่ได้จากการขึ้นราคาส่งเข้ากองทุนอ้อยฯเพื่อชำระหนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเห็นว่า กระบวนการขั้นตอนที่จะต้องเข้า ครม.นั้น "ยุ่งยาก" ประกอบกับสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองเช่นนี้ อาจจะทำได้ลำบาก

ดังนั้น จึงได้ทำข้อเสนอใหม่ให้ใช้กลไกของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย แทน โดยกองทุนอ้อยฯนำรายได้ในส่วน ของการ "ยกเว้น" ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือรายได้จากการรักษาเสถียรภาพมาจ่ายชดเชยเป็นรายได้เข้าระบบ ซึ่งการประชุม กอน. ครั้งล่าสุดนี้ก็เห็นชอบในหลักการตามที่ 3 สมาคม โรงงานน้ำตาลทรายได้เสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุน(กท.) ที่มีนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการ กอน. เป็นประธาน ไปหารือทบทวนหลักเกณฑ์/ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่สามารถทำได้

ขณะที่นายชลัช ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลน ในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า แม้ในบางฤดูการผลิตจะมีการปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. และโรงงานไม่ได้ขอ "ยกเว้น" การเก็บเงินเข้ากองทุน หรือ ให้กองทุนจ่ายชดเชยในส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากฤดูการผลิตปี 2552/2553 เพราะโควตา ก.ที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาจำหน่ายน้ำตาลในประเทศยังสูงกว่าราคาส่งออก ดังนั้น จึงไม่ทำให้รายได้ของ ระบบลดลง จึงไม่จำเป็นต้องขอยกเว้น การเก็บเงินเข้ากองทุน หรือให้กองทุนชดเชย

แต่ในฤดูการผลิตปี 2552/2553 ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น โรงงานเห็นโอกาสและได้มีการจำหน่ายน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ไปล่วงหน้าเกือบหมดแล้ว ดังนั้น หากมีการปรับเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. โรงงานต้องมีต้นทุนในการซื้อน้ำตาล คืนจากที่ได้ขายล่วงหน้าไปแล้ว ประกอบกับการปรับเพิ่มโควตา ก.ในครั้งนี้ ราคาจำหน่ายในประเทศเมื่อหักเงินเข้ากองทุน 5 บาท/ก.ก. จะอยู่ที่ 14-15 บาท/ก.ก. ซึ่ง "ต่ำกว่า" ราคาต่างประเทศ น้ำตาลโควตา ก.ที่เพิ่มขึ้น จึงมีผลทำให้รายได้ ของระบบลดลง ชาวไร่และโรงงานไม่ได้ประโยชน์

"การยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุน หรือให้กองทุนชดเชยเงินในส่วนของโควตา ก. เป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะโรงงานต้องมีต้นทุนในการซื้อน้ำตาลคืนจากที่ขายล่วงหน้าไป ประกอบกับชาวไร่ก็ได้รับประโยชน์ด้วย เพราะเงินที่ชดเชยจะเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งเงินชดเชยนี้จะไม่ใช้ รายได้ของกองทุนในส่วนที่หักเงิน 5 บาท/ ก.ก. แต่ใช้รายได้จากการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและค่ารักษาเสถียรภาพอ้อยแทน" นายชลัชกล่าว

 จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 เมษายน 2553

สอน.บี้ระบายน้ำตาลล้านกระสอบ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงงานน้ำตาลยังไม่จ่ายน้ำตาลให้กับผู้ซื้อทั้ง 11 รายของกระทรวงพาณิชย์ที่มาขอโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) เพื่อนำไปแก้ปัญหาขาดแคลนว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ได้นำข้อมูลมาคุยกันว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งปัญหาหลักๆ คือยังเข้าใจไม่ตรงกันในกระบวนการรับจ่ายน้ำตาลระหว่างโรงงานน้ำตาลกับผู้ซื้อ 11 ราย ขณะนี้แจ้งเรื่องไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว พร้อมกันนี้จะส่งหนังสือไปยังโรงงาน น้ำตาลขอให้เร่งกระจายน้ำตาลไปยังผู้ซื้อ 11 ราย คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะสามารถเบิกจ่ายน้ำตาลที่ขึ้นงวดไปแล้ว 8 แสนกระสอบได้หมด จากขณะนี้เบิกจ่ายน้ำตาลไปได้เพียง 3,000 กระสอบเท่านั้น

นอกจากนี้ที่ประชุมกอน.ยังรับทราบถึงผลผลิตอ้อยและน้ำตาลฤดูการผลิตปี"52/53 ที่มีเพียง 68 ล้านตันลดลงจากที่คาดไว้ 71.4 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงเหลือ 100.7 ก.ก.ต่อตันอ้อยจากเดิมที่เคยอยู่ 108 ก.ก.ต่อตันอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลเหลือเพียง 6.84 ล้านตันหรือลดต่ำกว่าเป้าหมาย 10% หรือคิดเป็นรายได้ที่ระบบสูญเสียไปประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ผลผลิตอ้อยที่ลดลงนี้เกิดจากปัญหาภัยแล้งในช่วงเพาะปลูก แต่ช่วงการตัดอ้อยฝนตกทำให้เกิดความสกปรกกับอ้อยที่ส่งเข้าโรงงาน ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จึงลดลงจากปีที่แล้วมาก ซึ่งรู้สึกกังวลกับปริมาณอ้อยที่ลดลง เพราะแต่ละปีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนำเงินเข้าประเทศปีละ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

จาก http://www.khaosod.co.th  6 เมษายน 2553

พณ.เล็งขอเพิ่มโควตาน้ำตาลอีกแสนตันอ้างไม่พอ

"พาณิชย์" เล็งขอเพิ่มน้ำตาลทรายจาก "สอน." อีก 1 แสนตัน หลังให้มาแล้ว 1 แสนตัน อ้างอาจไม่เพียงพอคลี่คลายปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว เตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อก ส่งดำเนินการตาม กม. ...

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยังคงเห็นชอบมอบโควตาจัดสรรน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบ ( 100,000 ตัน) ให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล เพื่อลดภาวะตึงตัว และราคาสูงเกินจริง หลังกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายตึงตัว และความเดือดร้อนของประชาชน และผู้ประกอบการอิสระที่หาซื้อน้ำตาลทรายไม่ได้ เช่น โรงงานขนม และขอให้ สอน.เร่งรัดโรงงานน้ำตาบจัดสรรให้ยี่ปั๊วซาปั๊ว ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอชื่อไป เพื่อกระจายน้ำตาลทรายสู่ระบบโดยเร็ว และไม่เห็นด้วยที่โรงงานเสนอจัดสรรในงวดต่อไป ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะสู่ตลาด อาจทำให้ภาวะตึงตัวรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทีมงานของกระทรวงพาณิชย์กำลังตรวจสอบสต๊อก และรายละเอียดการจัดส่งน้ำตาลทรายของโรงงานและยี่ปั๊วซาปั๊วว่า มีพฤติกรรมกักตุนหรือประวิงการขายหรือไม่ คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 7 เม.ย.นี้ หากพบว่ามีการประวิงการส่งมอบจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลทรายจัดสรรน้ำตาลทรายในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับ จัดสรรจากสอน.เพียง 3,600 กระสอบเท่านั้น

"คาดว่า 100,000 ตันอาจไม่เพียงพอ ก็จะเสนอเพิ่มอีก 100,000 ตัน ซึ่งเดิมนั้นเคยเสนอ สอน.ไว้แล้ว และจะเพิ่มช่องทางการกระจายน้ำตาลที่เข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วขึ้น" รมว.พาณิชย์ กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th  6 เมษายน 2553

วังขนายจับมือโตโยต้า ทูโช ส่งน้ำตาลป้อนตลาดญี่ปุ่น

กลุ่มน้ำตาลวังขนายจับมือบริษัทโตโยต้า ทูโช ร่วมมือแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต วังขนายหวังส่งออกน้ำตาลป้อนตลาดญี่ปุ่น เผยญี่ปุ่นสนใจอ้อยปลอดสารพิษ นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย เปิดเผยหลังเซ็นสัญญาความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท TOYOTA TSUSHO CORPORATION ว่ากลุ่มวังขนายได้ตกลงที่จะร่วมมือกับกลุ่มบริษัทโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งทำธุรกิจด้านเทรดดิ้ง นำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ของญี่ปุ่น ปัจจุบันหันมาสนใจเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เพื่อเข้ามาศึกษาเรียนรู้ระบบการทำงานร่วมกันทั้งระบบ พร้อมเผยแพร่เทคโนโลยีหรือเรื่องที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีให้กันและกัน เช่น เรื่อง MARKETING, PRODUCTION ซึ่งกลุ่มวังขนายมีความเชี่ยวชาญ ส่วนทางโตโยต้า ทูโชฯ จะนำเรื่อง COST MANAGEMENT, REPORTING และ OPERATION CONTROL เข้ามาช่วยเสริมในการปรับปรุง และการซื้อน้ำตาลจากไทยเข้าไปญี่ปุ่น ต้องผ่านความร่วมมือจากกลุ่มวังขนายเท่านั้น

สาเหตุที่โตโยต้า ทูโชฯ เลือกกลุ่มวังขนาย เนื่องจาก 5-6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มวังขนายได้สร้างน้ำตาลให้มีความแตกต่าง รวมถึงการผลิตอ้อยออร์แกนิคไร้สารพิษซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นสนใจ ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจเรื่อง TRACE ABILITY หรือเรื่อง FOOD SAFETY อย่างมาก โดยสินค้าเพื่อบริโภคทุกอย่างต้องสามารถตรวจสอบที่มาได้ ทั้งในเรื่องแหล่งผลิต วิธีการผลิต ตัวเกษตรกรผู้ปลูก วัตถุดิบ ปุ๋ยต่างๆ ที่ใช้

ด้านนายโยชิกิ มิอุระ ผู้บริหารของบริษัท TOYOTA TSUSHO CORPORATION กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทประกอบธุรกิจเทรดดิ้ง นำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ของญี่ปุ่น ที่ผ่านมามีสินค้าหลากหลายประเภท แต่ปัจจุบันหันมาสนใจเรื่องอาหาร ส่วนน้ำตาล บริษัทได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นผู้นำเข้า หรือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลจากประเทศไทยรายใหญ่ ดังนั้นการมองหาแหล่งวัตถุดิบ หรือแหล่งผลิตที่เป็นของตนเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 จาก http://www.bangkokbiznews.com/  6 เมษายน 2553

กอน.ขอ 14 วัน งดเก็บ5บาทเข้ากองทุนอ้อยฯ

กอน.อนุมัติยกเว้นเงินเข้ากองทุนอ้อย คาดได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ โรงงานน้ำตาลย้ำขั้นตอนต้องชัดเจนป้องกันหนี้สูญ จี้ "ยี่ปั๊ว" จ่ายเงินสดงดเครดิต ขู่พาณิชย์จัดสรรไม่หมดภายใน เม.ย. ต้องคืนโควตา ให้โรงงานขายระบบปกติ ชี้ภัยแล้งฉุดผลผลิตอ้อยน้ำตาลต่ำกว่าเป้า นายประเสริฐ ตปณียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่าที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการเรื่องการยกเว้นการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาท เพราะเป็นน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ ที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในประเทศ ซึ่งโรงงานน้ำตาลต้องซื้อกลับจากโควตา ค. จึงต้องการให้กองทุนเข้ามาช่วยเหลือ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะหารือเพื่อไม่ให้ขัดระเบียบระเบียบกองทุน ภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อมีความชัดเจนจะทำให้โรงงานน้ำตาลส่งมอบน้ำตาลให้ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) จำนวน 11 ราย ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่น้ำตาลโควตา ก.พิเศษ ยังไม่เข้าสู่ระบบเพราะโรงงานน้ำตาลต้องการความมั่นใจและวิธีการจำหน่าย เพราะมูลค่าน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบ มีมูลค่าขั้นต่ำ 1,900 ล้านบาท จึงต้องระมัดระวัง "กระทรวงพาณิชย์อาจยังไม่เข้าใจระบบการค้าน้ำตาล ที่โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งจะผลิตน้ำตาลหลายชนิด กระทรวงพาณิชย์ควรแจ้งโรงงานน้ำตาลให้ชัดเจนว่าต้องการน้ำตาลชนิดใดและปริมาณเท่าใด"

นอกจากนี้ ยี่ปั๊วที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งเป็นผู้ค้าส่งรายใหม่ เมื่อยี่ปั๊วติดต่อเข้ามาที่โรงงานน้ำตาลต้องจ่ายเป็นเงินสดจึงจะส่งมอบน้ำตาลให้ได้ ปกติการค้าน้ำตาลจะเป็นเงินสดยกเว้นผู้ซื้อรายใหญ่ก็จะให้เครดิต ประมาณ 15 วัน

นายชลัช กล่าวว่า โรงงานต้องการให้ขั้นตอนการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ มีความชัดเจน ก่อนที่จะปล่อยน้ำตาลออกไป ถ้าแก้ไขไม่ได้และมาขอเพิ่มโควตา ก.อีก 1 ล้านตัน คงไม่มีให้อีกแล้ว และ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ต้องการให้การส่งน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ เสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ เพราะไม่ต้องการให้น้ำตาลมากองอยู่ในโรงงาน หากยี่ปั๊วไม่สามารถซื้อน้ำตาลได้ ควรคืนโควตาให้โรงงานนำไปจำหน่ายในระบบปกติ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทราย คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตอ้อย 68 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ตันอ้อยละ 100.7 กิโลกรัม ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีผลผลิตอ้อย 71.4 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ตันอ้อยละ 108 กิโลกรัม เนื่องจากเกิดปัญหาแล้ง ส่งผลให้รายได้เข้าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายลดลง 10% ที่ประชุมรับทราบการเพิ่มโควตาน้ำตาลทรายดิบของสหรัฐ ปกติให้โควตากับโรงงานน้ำตาลไทยปีละ 14,743 ตัน ปีนี้สหรัฐเพิ่มโควตาให้อีก 1,117 ตัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com/  6 เมษายน 2553

กรมอนามัย ลดวิกฤตคนไทยติดน้ำตาล สร้างทางเลือกขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือผู้ประกอบการผลิตขนมไทยจังหวัดพชรบุรี สร้างทางเลือกขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค หวังลดพฤติกรรมติดหวานและปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนลงพุงในคนไทย

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการรณรงค์ขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม สร้างทางเลือกสุขภาพให้กับผู้บริโภค ในการสัมมนาสื่อมวลชน เรื่องขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม ณ ร้านเค้กสวนปริก จังหวัดเพชรบุรี ว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลเกินกว่ามาตรฐานกำหนด 3 เท่า คือ บริโภคน้ำตาลสูงถึงคนละ 29.6 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 20 ช้อนชา ขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดให้บริโภคได้ไม่เกินคนละ 10 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 6-8 ช้อนชาเท่านั้น โดยคนไทยบริโภคน้ำตาลทางตรงคือ การเติมน้ำตาลลงในอาหารประเภทต่างๆ ขณะเดียวกันการบริโภคน้ำตาลทางอ้อมก็เป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มสำเร็จรูปอย่างน้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพรรสหวานจัด รวมถึงขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ และอาหารอื่นๆ ด้วย

ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ถือว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลแบบฟุ่มเฟือย ซึ่งน้ำตาลเป็นอาหารที่ไม่มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการ มีประโยชน์เพียงให้พลังงานสูงเท่านั้น ที่สำคัญร่างกายไม่จำเป็นต้องได้พลังงานจากน้ำตาล เพราะมีอาหารอื่น ๆ สามารถให้พลังงานทดแทนได้ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เป็นต้น ปริมาณน้ำตาลที่บริโภคเกินความต้องการของร่างกายนั้น เมื่อใช้พลังงานไม่หมดจะเป็นพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายสะสมให้เป็นไขมัน ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงได้ ซึ่งจากข้อมูลสำนักโภชนาการกรมอนามัยในปี 2551 พบภาวะอ้วนลงพุงในคนไทย 22 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชาย 8 ล้านคน หรือร้อยละ 34 และเพศหญิง 14 ล้านคน หรือร้อยละ 58 ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาขั้นวิกฤตที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสุขภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ภาวะอ้วนลงพุง ยังเป็นตัวการทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรควิถีชีวิตตามมา เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน พบว่ามีคนไทยป่วยสูงถึง 10 ล้านคนเช่นกัน

ดร.นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้พยายามแก้ปัญหาการบริโภคน้ำตาลสูงของคนไทยมา โดยตลอด โดยร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการรณรงค์ เช่น แผนงานโภชนาการเชิงรุก โครงการคนไทยไร้พุง โครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งผลการดำเนินงานในภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากสามารถลดพฤติกรรมการบริโภคหวานจัด เค็มจัด และมันจัด ลงได้ระดับหนึ่ง แต่การรณรงค์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกด้วย ดังนั้น ในช่วงปี 2552 กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสงคราม ผลิตขนมไทยสูตรดั้งเดิม แต่ลดน้ำตาลลงเพื่อให้ขนมไทยเป็นขนมที่ดีต่อสุขภาพ โดยเริ่มต้นการพัฒนาสูตรขนมไทยให้ลดปริมาณน้ำตาล เกลือ กะทิ (หวาน มัน เค็ม) ลงร้อยละ 25 หรือในปริมาณที่เหมาะสมตามแต่ละประเภท โดยขนมยังคงอร่อยและคงตัวเหมือนเดิม

“ในปี 2553 นี้ กรมอนามัยได้ขยายความร่วมมือในการผลิตขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนับเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายขนมไทยใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยมีร้านที่ให้ความร่วมมือแล้วจำนวน 16 ร้าน ซึ่งทุกร้านจะลดปริมาณน้ำตาล เกลือ กะทิ จากสูตรขนมดั้งเดิมลงร้อยละ 15-20 อาทิ ขนมหม้อแกง ขนมบ้าบิ่น ขนมอัลลัว ขนมทองม้วน ขนมข้าวตู ขนมข้าวเม่ามะพร้าวอ่อน เป็นต้น” ดร.นพ.สมยศ กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขนมไทยลดหวาน มัน เค็ม จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่นิยม ขนมหวานแต่ไม่ทำลายสุขภาพ ซึ่งหลักสำคัญคือควรบริโภคในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังลดช่วยลดปัญหาติดหวาน ลดเสี่ยงการเกิดโรคอ้วน ลงพุงและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้

จาก ผู้จัดการออนไลน์  6 เมษายน 2553

ตรังน้ำตาลขาดตลาดยี่ปั๊วปรับขึ้นราคารายวัน

ตรัง – สภาวะน้ำตาลขาดตลาดส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ในตลาดสดเทศบาลนครตรัง ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากมีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลแบบรายวัน ด้านโรงงานผลิตน้ำตาลอ้างรัฐบาลกักส่งขายต่างประเทศจำนวนมากทำให้ขาดตลาด แต่ออกประกาศสั่งห้ามกักตุนน้ำตาล

วันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เดินทางไปสำรวจบรรยากาศการชื้อขายน้ำตาล บริเวณร้านค้าต่างๆ ในตลาดสดเทศบาลนครตรัง หลังจากมีกระแสข่าวออกมาเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำตาลขาดตลาด ซึ่งต่างก็บ่นกันเป็นเสียงเดียวว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะมีการแอบปรับขึ้นราคากันแบบรายวัน แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐออกมาประกาศสั่งห้ามไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม

นางมยุรี มานะภาพ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านวิจิตร ตั้งอยู่เลขที่ 80/2 ถนนตลาด ตำบลทับเที่ยง ในตลาดสดเทศบาลนครตรัง ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การทำขนมหวาน และเบเกอรีในจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในช่วงนี้น้ำตาลปรับขึ้นราคาแบบรายวัน โดยที่ไม่มีการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าเลย บางครั้งขึ้นราคาถึงกระสอบละ 10-15 บาท ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความหวาน เช่น น้ำตาลปี๊ป น้ำตาลไอซ์ซิ่ง น้ำหวานเข้มข้น ต่างทยอยกันปรับขึ้นราคาตามมา จนทำให้ในช่วงนี้น้ำตาลเริ่มที่จะขาดตลาดบ้างแล้ว

ทั้งนี้ สังเกตได้จากการที่ร้านรายย่อยในต่างจังหวัด ได้สั่งน้ำตาลไปยังผู้ประกอบรายใหญ่ที่กรุงเทพฯแล้ว แต่ไม่ได้จำนวนสินค้าครบตามจำนวนที่ต้องการ หรือบางครั้งทางร้านสั่งน้ำตาลไป 20 กระสอบ แต่ทางโรงงานสามารถส่งมาให้ได้ แค่กระสอบเดียวเท่านั้น เมื่อสอบถามไปทางโรงงานก็บอกกลับมาว่า เนื่องจากช่วงนี้จำนวนน้ำตาลที่ทำการสำรองไว้มีไม่พอต่อความต้องการ จึงจำเป็นต้องเฉลี่ยส่งให้กับร้านค้ารายใหญ่ให้ได้ครบทุกรายก่อน

พร้อมกันนั้น ทางโรงงานยังอ้างว่า เนื่องจากทางรัฐบาลได้ส่งน้ำตาลไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำตาลที่กักไว้จำหน่ายในประเทศไทย มีไม่พอต่อความต้องการ จึงทำให้ร้านค้ารายย่อยในต่างจังหวัดไม่ได้รับจำนวนน้ำตาลตามที่สั่งไว้ ถึงแม้ทางรัฐบาลจะออกมาประกาศแล้วว่า ไม่ให้มีการกักตุนน้ำตาลเกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังทำให้เกิดภาวะน้ำตาลขาดตลาด ถึงแม้สถานการณ์จะไม่รุนแรงมากนักก็ตาม

จาก ผู้จัดการออนไลน์ 6 เมษายน 2553

กอน.ไฟเขียวยกเว้นนำส่งเงินน้ำตาลโควตาพิเศษเข้ากองทุน

นายประเสริฐ ตปณียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการเรื่องการยกเว้นการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาท เพราะเป็นน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ ที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวในประเทศ ซึ่งโรงงานน้ำตาลต้องซื้อกลับจากโควตา ค. จึงต้องการให้กองทุนเข้ามาช่วยเหลือ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะหารือเพื่อไม่ให้ขัดระเบียบระเบียบกองทุน ภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อมีความชัดเจนจะทำให้โรงงานน้ำตาลส่งมอบน้ำตาลให้ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) จำนวน 11 ราย ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดได้

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่น้ำตาลโควตา ก.พิเศษ ยังไม่เข้าสู่ระบบเพราะโรงงานน้ำตาลต้องการความมั่นใจและวิธีการจำหน่าย เพราะน้ำตาลทราย 1 ล้านกระสอบ มีมูลค่าขั้นต่ำ 1,900 ล้านบาท จึงต้องระมัดระวัง นอกจากนี้ ยี่ปั๊วที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งเป็นผู้ค้าส่งรายใหม่นั้นต้องจ่ายเป็นเงินสดจึงจะส่งมอบน้ำตาลให้ได้ โดยปกติก็จะยกเว้นผู้ซื้อรายใหญ่ที่ให้เครดิตประมาณ 15 วัน โดยโรงงานต้องการให้ขั้นตอนการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ มีความชัดเจน ก่อนที่จะปล่อยน้ำตาลออกไป

จาก http://www.komchadluek.net  5 เมษายน 2553

น้ำตาลหายวูบ 5 แสนตัน สัญญาณเตือนภัยรับมือโลกร้อน

ช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ทั้งบราซิลต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนัก อินเดียเผชิญกับภาวะภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายออกสู่ตลาดโลกลดต่ำและนำมาซึ่งราคาตลาดโลกพุ่งสุดเป็นประวัติการณ์ ภาวะโลกร้อนจะมีผลมายังอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยหรือไม่ ASTVผู้จัดการรายวันจึงขอนำบทสัมภาษณ์พิเศษ ”นายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล” ประธานคณะทำงานด้านนโยบายและบริหารอุตสาหกรรม บริษัทไทยซูการ์มิลเลอร์ จำกัด และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เพื่อเปิดมุมมองในเรื่องดังกล่าว

-ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลปี52/53

ตอนนี้ใกล้จะปิดหีบดูแล้วผลผลิตอ้อยน่าจะอยู่ประมาณ 68.4 ล้านตันถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจของวงการอ้อยและน้ำตาลของไทยมากเพราะมันผิดจากที่เราประเมินกันไว้ค่อนข้างมาก อย่างสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)มองไว้ที่ 71 ล้านตัน และหลายฝ่ายดูแล้วยังมองเลยไปถึง 72-74 ล้านตันด้วยซ้ำไป และปกติแล้วเฉลี่ยการผลิตน้ำตาลจะได้ 104-105 กิโลกรัม(ก.ก.) ต่อตันอ้อยแต่ปีนี้เฉลี่ยอยู่แค่เพียง 100 ก.ก.ต่อตันอ้อยเท่านั้นดังนั้นน้ำตาลทรายที่ผลิตได้จะอยู่ราว 6.85 ล้านตันหรือหายไปจากที่เราคาดกันไว้เฉลี่ยถึง 5 แสนตัน แต่ที่เสียหายกว่าคือเราขายน้ำตาลล่วงหน้า

-มีการขายล่วงหน้าของฤดูใหม่หรือยัง

โรงงานได้บทเรียนก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นเราจึงห่วงปัญหาภาวะภัยแล้งจึงยังไม่กล้าและบริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย(อนท.) เองล่าสุดก็ทำราคาล่วงหน้าไปแล้วเพียงแค่ 10% โรงงานเองคงไม่เสี่ยงทำราคาเยอะๆ เพราะที่ผ่านมาผลผลิตที่ลดต่ำลงกว่าเป้าหมายที่วางไว้มันเสียหายจึงมีข่าวลือช่วงราคาน้ำตาลโลกสูงว่าบางโรงงานต้องไปซื้อในราคาแพงกลับมา

-สาเหตุมาจากเปิดหีบเร็วหรือไม่

ผมมองว่าอาจมีส่วนบ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเวลานี้มีหลายทฤษฎี เปิดหีบเร็วก็ถูกพูดถึง แต่หากเทียบกับวันที่เปิดหีบเร็ว อย่างภาคเหนือเปิดหีบเร็วกว่าปีก่อนเพียง 1 วันเท่านั้นและหากดูคุณภาพอ้อยของวันเดียวกันที่ตัดคุณภาพก็ต่างกันมาก นอกจากนี้ยังมีคนมองในเรื่องของชาวไร่ใส่ปุ๋ยยูเรียที่เป็นไนโตรเจน(N) เพื่อดูดน้ำอ้อยจะหนักลำต้นแข็งแรงแต่ไม่มีน้ำตาลเนื่องจากเห็นว่าอ้อยราคาดีแต่ผมเองก็ไม่เชื่อว่าชาวไร่จะใส่เหมือนกันหมด ดังนั้นผมมองไปที่อากาศ อากาศที่เย็นกลางคืนอุณหภูมิ 20 องศาเซนเซียส กลางวัน 31-32 องศาเซลเซียสอ้อยจะมีการสร้างน้ำตาลที่สูง แต่ปีนี้ฤดูหนาวมาเร็วแล้วก็ร้อนเร็วมากทำให้ความหวานอ้อยลดต่ำพอสมควร

-ภาวะภัยแล้งปีนี้มองอย่างไร

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมองเรื่องนี้มา 3-4 เดือนแล้วเราเชิญผู้อำนวยการจากกรมอุตุนิยมวิทยามาหารือและก็เชื่อว่าเอลนินโญน่าจะกระทบไทยแล้ว เพราะแรกสุดเลยได้ทำฝนตกหนักที่บราซิลเป็นลานินญา และมาแล้งต่อที่อินเดีย เราก็เลยมองว่า Step ต่อไปคงจะแล้งและเป็นไทยที่ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งในฤดูการเพาะปลูกอ้อยปี 2553/54 ซึ่งเราเองก็กังวลกับชาวไร่ใหม่ๆที่เข้ามาเป็นผู้เพาะปลูกอ้อยที่อาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอเขาจะได้รับผลกระทบมาก

-หาวิธีรับมือกับปัญหาภัยแล้งหรือยัง

ยอมรับนะว่ามันก็ยากจะไปบอกว่าให้ลงทุนระบบน้ำหากไม่แล้งขึ้นมาก็อาจโดนด่าได้ ซึ่งช่วงฤดูหีบธ.ค.52 –ม.ค.53 มีฝนตกลงมาประปรายตอนนั้นก็อุ่นใจว่าจะไม่แล้ง สภาพอ้อยตอช่วงต้นจึงมีผลดี แต่ก.พ.มาจนถึงปัจจุบันร้อนเร็วมากเริ่มเห็นชัดแล้วว่าแล้งจริงๆ โรงงานจึงเริ่มหามาตรการช่วยเหลือชาวไร่โดยเฉพาะรายใหม่ก็เลยมองไปที่สินเชื่อเพื่อการจัดหาน้ำหรือที่เรียกว่า เกี้ยวน้ำ ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ที่มีงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทจัดสรรให้โรงงานไปดำเนินการแห่งละประมาณ 20 กว่าล้านบาทเพื่อนำไปขุดบ่อบาดาล ขุดสระ หรือต่ออุปกรณ์จากแหล่งน้ำที่มี ฯลฯ คิดว่าปีนี้น่าจะมีคนใช้เยอะจากที่ผ่านมาบางรายต้องคืนเงินเพราะไม่มีใครใช้ แต่ผมมองว่าขั้นตอนราชการมันช้าไปหน่อย ดังนั้นโรงงานเองก็จะต้องดูแลชาวไร่คู่สัญญาตัวเองด้วย

-รัฐมีนโยบายขยายการผลิตน้ำตาล

ส่วนตัวแล้วผมมองว่าระบบเสรีการตั้งโรงงานหรือย้ายและขยายกำลังผลิตเพิ่มไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่สำคัญที่จะต้องส่งเสริมการปลูกอ้อยเพิ่มด้วยเพราะเวลานี้โรงงานที่มีอยู่ 47 แห่งแต่เปิดจริง 46 แห่งก็ยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่เลยถ้าการเกิดใหม่แล้วมาแย่งอ้อยกันคงไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้แน่นอน ซึ่งใจผมอยากให้โรงงานมีสัญญากับชาวไร่อ้อยไปเลยว่าแปลงนี้จะป้อนรายไหนเพราะเวลานี้ชาวไร่อ้อยทำสัญญาหลายโรงงานมากเพราะกลัวว่าถ้าผูกขาดรายเดียวจะเกิดปัญหาซึ่งแนวทางนี้ก็เลยทำให้โรงงานก็ไม่กล้าไปส่งเสริมชาวไร่เพราะกลัวว่าส่งเสริมไปแล้วจะไม่นำอ้อยมาป้อนมันก็เลยเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้

-ปีนี้จะยังคงเป็นปีทองอยู่หรือไม่

ฤดูการผลิตปี 2553/54 เดิมมองว่าน่าจะสดใสกว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมาโดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2552/53เฉลี่ยที่ 10 ซี.ซี.เอส จะไม่ต่ำกว่า960-980บาทต่อตันแต่เฉลี่ยซี.ซี.เอส.ส่วนใหญ่จะประมาณ11 กว่าซี.ซี.เอส ก็จะได้รับค่าอ้อยมากกว่า 1,000 บาทต่อตันตอนนี้ผมมองว่าคงจะไม่ใช่ปีทองอีกแล้วแต่เฉลี่ยก็จะไม่ได้ย่ำแย่ยังถือเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งเนื่องจากมองว่าราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกก็ยังน่าจะเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 15 เซ็นต์ต่อปอนด์เพราะแม้โลกจะมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นแต่สต็อกเดิมที่มีอยู่ก็น่าจะใช้หมดลงแต่ก็จะต้องดูส่วนที่เข้ามาเก็งกำไรด้วย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงก็เชื่อว่าทุกฝ่ายคงจะผลักดันไม่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่นี้ต่ำกว่า 900 บาทต่อตัน

จาก ผู้จัดการรายวัน  5 เมษายน 2553

ผู้ค้าปลีกโวยพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาน้ำตาลทราย

หลังจากที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานผลิตมาน้อยกว่าปกติมาก ทางผู้ค้าปลีกก็จะไม่มีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการจำหน่าย.....

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนมาจากผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่รายหนึ่งที่ได้ร้องขอให้ทางกระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับด้านตลาดน้ำตาลทราย หลังจากที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานผลิตมาน้อยกว่าปกติมาก และหากว่ายังไม่ได้รับการส่งมอบน้ำตาลมาตามจำนวนปกติภายในระยะเวลา 3 วัน ทางผู้ค้าปลีกก็จะไม่มีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการจำหน่าย พร้อมทั้งยังได้รับการร้องเรียนในลักษณะเดียวกันนี้ มาจากผู้ประกอบการขายอาหารที่จะต้องใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ โรงงานผลิตน้ำหวาน นมข้นหวาน เพื่อที่จะนำน้ำตาลทรายมาเป็นส่วนผสม

ทั้งนี้ จากรายงานภาวะราคาและการจำหน่ายน้ำตาลทรายของกรมการค้าภายในจังหวัด 75 จังหวัด พบว่า มีอยู่ 20 จังหวัด ที่ยังหาซื้อน้ำตาลทรายได้ยากและมีราคาสูง อาทิ กาญจนบุรี นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม ตรัง พังงา เชียงใหม่ น่าน ลำปาง และขอนแก่น เป็นต้น ส่วนอีก 50 จังหวัด ถึงแม้ว่าจะมีการหาซื้อได้ง่าย แต่ราคายังสูงกว่ากำหนดมาก โดยราคาเฉลี่ยรายปลีกน้ำตาลทรายขาวธรรมดา ณ 29 มีนาคม 2553 ภาคเหนืออยู่ที่ กก.ละ 25ถึง30 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 23 ถึง28 บาท ภาคกลาง กก.ละ 23ถึง28 บาท ภาคใต้ กก.ละ 24ถึง29 บาท ซึ่งเทียบเดือนมกราคมสูงขึ้นร้อยละ 6.15 ถึง9.96 บาทต่อกก.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 5 เมษายน 2553

น้ำตาลทรายขาด อีกสามวัน จี้พณ.เคลียร์ปัญหา

โมเดิร์นเทรด ส่งซิกอีก 3 วันน้ำตาลไม่มีขายในห้าง หลังโรงงานจัดส่งให้น้อย จี้ “พาณิชย์” เคลียร์ปัญหา พร้อมปูดโรงงาน อม 8 แสนกระสอบ ที่พาณิชย์ได้รับจัดสรรจาก “กอน.” ทำหลายพื้นที่หาซื้อยาก ราคาพุ่งไม่หยุด...

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2553 นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) รายหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยเหลือ หลังโรงงานน้ำตาลทรายจัดสรรน้ำตาลทรายให้น้อยลง หากไม่ได้รับการจัดสรร ภายใน 3 วันนี้ อาจทำให้ห้างไม่มีน้ำตาลวางจำหน่าย และในที่สุด อาจกระทบกับผู้ผลิตอาหาร เช่น นมข้นหวาน น้ำหวาน และ ประชาชนได้ ขณะเดียวกัน ยังได้รับรายงานว่า ผู้ใช้น้ำตาลทรายอิสระบางราย เช่น โรงงานทำขนม ยังได้รับการจัดสรรน้อยเช่นกัน

“กระทรวงจะทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนำตาลทราย (สอน.) เพื่อเร่งรัดให้โรงงานกระจายน้ำตาลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมกันนี้ จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้า และ บริการ พ.ศ. 2542 ออกตรวจสอบโรงงานน้ำตาล ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ว่ากักตุน หรือ ประวิงเวลาจำหน่ายหรือไม่ หากพบพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิด ตามมาตรา 29 เพราะมีการกักตุน หรือจงใจทำให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลภายในประเทศเกิดความปั่นป่วน มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ” นายยรรยงกล่าว

สำหรับ สถานการณ์น้ำตาลทรายขณะนี้ ในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว และ หาซื้อยาก เพราะโรงงานไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้กับผู้ค้าตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไป ภายใต้ โควตาน้ำตาลทราย 800,000 กระสอบ ที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยโรงงานน้ำตาลทรายอ้างว่า ไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหาร ทั้งที่ สอน. มีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายส่งมอบน้ำตาล ตามการจัดสรรของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ เพิ่งจัดสรรให้เพียงแค่รายเดียว หรือ 3,600 กระสอบ หรือ 300 กว่าตัน จาก 800,000 กระสอบเท่านั้น

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 5 เมษายน 2553

สมาคมน้ำตาล ดึงกองทุนอ้อย อุ้มโลละ5บาท

นายประเสริฐ ตปณียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี เป็นประธาน ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ จะมีการหารือเรื่องการขอยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาท ในส่วนของปริมาณน้ำตาลที่ถูกจัดสรรเพิ่มเติมมา 1 ล้านกระสอบ (1 แสนตัน) จากเดิมที่ กอน. มีมติให้นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งน้ำตาลจำนวนดังกล่าวโรงงานต้องไปซื้อกลับคืนมาจากที่ส่งออกไปแล้ว

ทั้งนี้กลุ่ม 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลมีความเห็นว่าไม่ต้องนำเข้าพิจารณาใน ครม. เนื่องจากใช้เวลานาน แต่ให้นำเงินของกองทุนฯ มาจ่ายแทนการเก็บจากโรงงาน โดยวิธีหักตัวเลขทางบัญชีของกองทุน ทำให้กองทุนไม่ต้องจ่ายเงินจริงซึ่งมีวงเงินประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบจึงถือเป็นหน้าที่ของกองทุนอยู่แล้วและสามารถทำได้ในทางกฎหมาย

นอกจากนั้นจะหารือในเรื่องการขึ้นงวดน้ำตาลทรายล่วงหน้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เพื่อให้มีน้ำตาลทรายเพียงพอโดยขอขึ้นงวดน้ำตาลในวันศุกร์แทนวันจันทร์ 2 งวด นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ต้องรอดูข้อเสนอก่อนซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้กองทุนซื้อน้ำตาลที่จะส่งออกกลับคืนมาขายให้ประชาชนได้อยู่แล้วและการนำเงินของกองทุนเข้าช่วยเหลือ 500 ล้านบาท จะไม่กระทบกับการชำระหนี้ของกองทุน..

จาก http://www.thaipost.net     วันที่ 5 เมษายน 2553

สอน.ออกระเบียบ"อ้อยไฟไหม้" เงินเหลือหัก400ล้านแจกชาวไร่

นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้มีมติปรับปรุงระเบียบการหักและเพิ่มเงินค่าอ้อยไฟไหม้และอ้อยสดที่เข้าโรงงานให้แก่ชาวไร่ โดยให้หักเงิน 20 บาท/ตันสำหรับอ้อยไฟไหม้ และเพิ่มเงินให้กับอ้อยสดอีกเป็น 70 บาท/ตัน จากระเบียบเดิมที่เพิ่มให้ 50 บาท/ตัน ซึ่งระเบียบที่ปรับปรุงนี้จะใช้ฤดูการผลิต 2552/2553 เท่านั้น

โดยระเบียบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยเข้าหีบโรงงานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันชาวไร่ส่วนใหญ่ 60-70% จะเผาอ้อยก่อน ทาง กอน.จึงได้หาแนวทางเพื่อสนับสนุนให้มีการตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยได้เริ่มออกระเบียบตั้งแต่ฤดูการผลิต 2549/2550 กล่าวคืออ้อยที่เข้าหีบโรงงาน หากเป็นอ้อยไฟไหม้จะต้องถูกหัก 20 บาท/ตัน แต่หากเป็นอ้อยสดให้เพิ่มเงินอีก 50 บาท/ตัน

ผลปรากฏปริมาณอ้อยไฟไหม้ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 60% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ทำให้ตั้งแต่ฤดูการผลิต 2549/ 2550 ถึงปัจจุบัน เมื่อคิดจากจำนวนเงินที่หักจากอ้อยไฟไหม้ ลบกับเงินที่จ่ายเพิ่มให้สำหรับอ้อยสด ทำให้เงินเหลืออยู่ประมาณกว่า 400 ล้านบาท โดยในระเบียบได้ระบุไว้ให้นำเงินส่วนที่เหลือไปจัดทำโครงการ ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งแต่ปัจจุบันเงิน 400 ล้านบาท ถูกเบิกจ่ายมาใช้ประโยชน์น้อยมาก

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เงินเหลือค้างเพิ่มอีก คณะกรรมการบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (กบ.) จึงได้เสนอให้ กอน.ปรับปรุงระเบียบ โดยเพิ่มเงินให้กับอ้อยสดในฤดูการผลิต 2552/2553 มากขึ้นจาก 50 บาท/ตัน เป็น 70 บาท/ตัน หมายความว่าจากราคาอ้อยเฉลี่ยที่รัฐบาลประกาศทั่วประเทศที่ 965 บาท/ตัน ถ้าหากเป็นอ้อยสดจะเพิ่มเป็น 1,035 บาท/ตัน ส่วนอ้อยไฟไหม้หัก 20 บาท/ตัน จะเหลือ 945 บาท/ตัน

แต่ถ้าหากเขตพื้นที่ปลูกอ้อยใดมีปริมาณอ้อยไฟไหม้จำนวนมาก แม้จะนำไปเพิ่มเงินให้กับอ้อยสดแล้ว แต่เงินยังเหลืออยู่ก็ให้นำเงินจำนวนที่เหลือนั้นหารเฉลี่ยคืนให้ชาวไร่ทุกราย ไม่กำหนดว่าเป็นอ้อยไฟไหม้หรืออ้อยสด ซึ่งระเบียบที่ปรับปรุงใหม่ครั้งนี้จะใช้ในฤดูการผลิต 2552/2553 เท่านั้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 เมษายน 2553

ห้างขู่ฟ่อ3วันน้ำตาลขาด พาณิชย์โยนรง.ตั้งแง่เงินมาน้ำตาลไป

"พาณิชย์" โวยลั่น โรงงานน้ำตาลเบี้ยว ปล่อยน้ำตาลแค่ 3,600 กระสอบ จากโควตาพิเศษที่ตกลงกันไว้ 800,000 กระสอบ แถมโดนห้างขู่ 3 วันไม่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลขาดตลาดแน่ ด้านโรงงาน โต้กลับ ผู้ได้รับจัดสรรทั้ง 11 รายเป็นใครก็ไม่รู้ หากต้องการน้ำตาลต้องจ่ายเงินสดก่อน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายในหลายพื้นที่ของประเทศยังอยู่ในภาวะตึงตัว สาเหตุเกิดจากโรงงานน้ำตาลทรายไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้กับผู้ค้าน้ำตาลทรายตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไป (11 ราย) ภายใต้โควตาน้ำตาลทรายพิเศษ 800,000 กระสอบ ที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยทางโรงงานน้ำตาลทรายอ้างเหตุที่ไม่ส่งมอบว่า "ไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหาร"

"แม้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายส่งมอบน้ำตาลตามการจัดสรรของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งมีการจัดสรรน้ำตาลทรายแค่ 3,600 กระสอบ (ประมาณ 300 ตัน) ให้กับผู้ค้าน้ำตาลรายเดียวเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึง สอน.เพื่อเร่งรัดโรงงานน้ำตาลให้กระจายน้ำตาลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงตัวดังกล่าว" นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า ขณะนี้มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) รายหนึ่งได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ให้ช่วยเหลือเรื่องการตลาด เพราะได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานน้อยลง และหากไม่ได้รับการจัดสรรภายใน 3 วันนี้อาจทำให้ห้างไม่มีน้ำตาลวางจำหน่ายในห้างได้ รวมถึงกลุ่มโรงงานที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบก็ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายน้อยลง จนอาจกระทบกับผู้ผลิตอาหาร เช่น นมข้นหวาน น้ำหวาน ในที่สุด

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานแก้ไขน้ำตาลขาดแคลนในคณะกรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวกับ "ประชา ชาติธุรกิจ" กรณีโรงงานน้ำตาลไม่สามารถส่งมอบน้ำตาลได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งนั้น เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ 1) กระบวนการจำหน่ายน้ำตาลที่กระทรวงพาณิชย์ยังไม่เข้าใจ เมื่อมีการจัดสรรขอซื้อน้ำตาลจากโรงงานต่าง ๆ ปรากฏบางโรงงานก็ไม่ได้ผลิตน้ำตาลตามที่จัดสรร ต้องมีการโอนโควตาการจัดสรรให้กับโรงงานที่ผลิตได้ โดยโรงงานได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อความเข้าใจแล้ว และ 2) เนื่องจากผู้ประกอบการทั้ง 11 รายที่กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าเป็นยี่ปั๊ว/ ซาปั๊ว และเสนอรายชื่อจัดสรรมานั้น ถือเป็นลูกค้ารายใหม่ที่ไม่ได้ติดต่อซื้อขายน้ำตาลกับโรงงานมาก่อน ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในการจำหน่ายน้ำตาลโควตาพิเศษนี้ จึงขอให้ทางผู้ซื้อจ่ายเป็น "เงินสด" แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการโอนเงินมาให้กับโรงงานตามที่ขอซื้อแต่อย่างไร

"การผลิต-จำหน่ายน้ำตาลมีระบบ ขั้นตอนของมันอยู่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ในส่วนของคณะทำงานชุดพิเศษจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่จัดสรรแล้วโรงงานจะต้องส่งมอบได้ตามต้องการ อีกส่วนหนึ่งก็คือ หากมีการ ส่งมอบน้ำตาลไปก่อน ยังไม่มีการชำระเงิน ใครจะเป็นผู้รับประกันว่า จะไม่เป็นหนี้สูญ โรงงานต้องทำธุรกิจ มีค่าใช้จ่าย ต้นทุนการผลิต ต้องจ่ายเงินค่าอ้อยให้ชาวไร่เหมือนกัน" นายชลัชกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 เมษายน 2553

กนอ.ถกเลิกเก็บเข้ากองทุน5บาท/กก.

กนอ. ถกหาแนวทางยกเว้นเก็บเงินเข้ากองทุนและน้ำตาลทราย จากโควตา ก. พิเศษกิโลกรัมละ 5 บาท สำหรับน้ำตาลจัดสรรพิเศษให้พาณิชย์ 1 ล้านกระสอบ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันนี้ (5 เม.ย.) โดยจะหารือถึงแนวทางการยกเว้นการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายราคาน้ำตาลเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาท ของน้ำตาลที่จัดสรรพิเศษให้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว 1 ล้านกระสอบ เนื่องจากน้ำตาลดังกล่าวโรงงานน้ำตาล ต้องไปซื้อน้ำตาลกลับคืนมาจากน้ำตาลที่ส่งออกไปแล้ว โดยราคาน้ำตาลส่งออกจะมีราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ

นายประเสริฐ กล่าวว่าน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนกิโลกรัมละ 5 บาท แต่น้ำตาล 1 ล้านกระสอบ เป็นการจัดสรรโควตา ก. เพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว ซึ่งทำให้สามสมาคมโรงงานน้ำตาล ได้ส่งหนังสือมายัง สอน. ว่าไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนเพราะจะใช้เวลานาน

โดยโรงงานน้ำตาลเห็นว่าควรให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย นำเงินของกองทุนส่งเงินเข้ากองทุน แทนการเก็บจากการน้ำตาลที่จำหน่ายออกสู่ตลาดที่กิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งจะเป็นวิธีการหักตัวเลขทางบัญชีของกองทุนเอง ส่งผลให้กองทุนไม่ต้องจ่ายเงินจริง รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ถือเป็นหน้าที่ของกองทุนอยู่แล้ว โดยกองทุนต้องหักตัวเลขทางบัญชีในวงเงิน 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมดังกล่าวจะเชิญผู้แทนสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เข้ามาหารือด้วยว่า มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพราะกองทุนยังมีหนี้อยู่ ปัจจุบันกองทุนมีหนี้ 11,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 การปรับราคาน้ำตาลขึ้นเพื่อใช้หนี้ให้กองทุน ขณะนั้นกองทุนมีหนี้อยู่ถึง 24,000 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่าน้ำตาลโควตา ก. ที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านกระสอบ มีการขึ้นงวดแล้ว แต่ยังไม่มีการส่งมอบให้กับผู้ค้า เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 5 บาท ทำให้สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวในบางพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ถ้าได้ข้อสรุปและมีการส่งมอบน้ำตาลแล้วเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นอกจากนี้ จะหารือเกี่ยวกับการขึ้นงวดน้ำตาล เพื่อให้มีการขึ้นงวดน้ำตาลล่วงหน้าให้เร็วขึ้น 2 งวด โดยปรับการขึ้นงวดน้ำตาลจากวันที่ 5 เม.ย. 2553 เป็นวันที่ 2 เม.ย. และปรับการขึ้นงวดวันที่ 12 เม.ย. เป็นวันที่ 9 เม.ย.นี้ เพราะในช่วงนี้จะมีวันหยุดมากและมีวันหยุดยาว จึงควรเร่งขึ้นงวดให้มีน้ำตาลเข้าตลาดเร็วขึ้น โดยปัจจุบันมีการขึ้นงวดน้ำตาลสัปดาห์ละ 403,000 กระสอบ

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ต้องรอดูข้อเสนอที่จะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้กองทุนสามารถเข้าไปซื้อน้ำตาล ที่จะส่งออกกลับคืนมาขายให้ประชาชนได้อยู่แล้ว เชื่อว่าแนวทางที่โรงงานเสนอมาจะดำเนินการได้

โดยแนวทางดังกล่าวจะทำให้ไม่ต้องการเสนอเรื่องเข้า ครม.ซึ่งการนำเงินของกองทุนเข้าไปช่วยเหลือ 500 ล้านบาท คงไม่กระทบกับการชำระหนี้ของกองทุน เชื่อว่ากองทุนจะชำระหนี้ได้ตามแผน เพราะการประเมินตามแผนการชำระหนี้ไม่ได้รวมเงินที่จะเข้ากองทุนจากจำหน่ายน้ำตาลในประเทศเพิ่มอีก 1 ล้านกระสอบ

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 เมษายน 2553

ล่ายี่ปั๊ว-โรงงานกักตุนน้ำตาล

พาณิชย์แฉโรงงานมุบมิบน้ำตาลทราย 8 แสนกระสอบ ทำหลายพื้นที่ตึงตัว ราคาพุ่ง ห้างเดือดร้อน ขู่ไม่มีสินค้าขาย "ยรรยง" เร่ง สอน.จัดสรร ลั่นออกตรวจหาคนกักตุน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำตาลทรายในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว สาเหตุเกิดจากโรงงานน้ำตาลทรายไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้กับผู้ค้าน้ำตาลทรายตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไป ภายใต้โควตาน้ำตาลทราย 8 แสนกระสอบที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยทางโรงงานน้ำตาลทรายอ้างเหตุที่ไม่ส่งมอบ เพราะไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหาร

"แม้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายส่งมอบน้ำตาลให้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. แต่จนถึงขนาดนี้เพิ่งจัดสรรเพียงแค่รายเดียว หรือ 3,600 กระสอบ หรือ 300 กว่าตันเท่านั้น จากทั้งหมด 8 แสนกระสอบ" นายยรรยงกล่าว

ทั้งนี้ ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) รายหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยเหลือเรื่องการตลาด เพราะได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานน้อยลง และถ้าไม่ได้รับการจัดสรรภายใน 3 วันนี้ อาจทำให้ห้างไม่มีน้ำตาลวางจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม จะทำหนังสือถึง สอน.เพื่อให้เร่งรัดโรงงานน้ำตาลทรายกระจายน้ำตาลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมกันนี้จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกตรวจสอบโรงงานน้ำตาลยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ว่ามีการกักตุนน้ำตาลหรือประวิงเวลาจำหน่ายหรือไม่ หากพบพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดตามมาตรา 29 มีการกักตุนหรือจงใจทำให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลภายในประเทศเกิดความปั่นป่วน จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 3 เมษายน 2553

รง.น้ำตาลเมินส่งสินค้าพื้นที่ขาดแคลน

น้ำตาลหลายพื้นที่ตึงตัว เหตุมาจากโรงงานน้ำตาลทรายไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้แก่ผู้ค้าน้ำตาลทรายตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอได้

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำตาลทรายในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว สาเหตุมาจากโรงงานน้ำตาลทรายไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้แก่ผู้ค้าน้ำตาลทรายตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไป ภายใต้โควตาน้ำตาลทราย 8 แสนกระสอบ ที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยโรงงานน้ำตาลทรายอ้างว่าไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหาร

"แม้ว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายส่งมอบน้ำตาล ตามการจัดสรรของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งจัดสรรเพียงแค่รายเดียว หรือ 3,600 กระสอบ หรือกว่า 300 ตัน จาก 8 แสนกระสอบ" นายยรรยง กล่าว

ส่งผลให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) รายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือเพราะได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานน้อยลง หากไม่ได้รับการจัดสรรภายใน 3 วัน อาจทำให้ห้างไม่มีน้ำตาลทรายวางจำหน่ายได้ รวมถึงผู้ใช้น้ำตาลอิสระ ที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายน้อยลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตอาหาร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึง สอน. เพื่อให้เร่งรัดโรงงานน้ำตาลทรายกระจายน้ำตาลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงตัว พร้อมกันนี้จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. 2542 ออกตรวจสอบโรงงานน้ำตาลยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ว่ามีการกักตุนน้ำตาลหรือประวิงเวลาจำหน่ายหรือไม่ หากพบพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดตามมาตรา 29 มีการกักตุนหรือจงใจทำให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลภายในประเทศเกิดความปั่นป่วน จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาน้ำตาลทราย พบมีอยู่ 20 จังหวัด ที่น้ำตาลทรายหาซื้อยาก และราคาจำหน่ายสูง ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ น่าน พิษณุโลก แพร่ ลำปาง สุโขทัย ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สกลนคร กาญจนบุรี นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สระบุรี ตรัง และ พังงา

ขณะที่อีก 50 จังหวัด หาซื้อน้ำตาลทรายง่ายแต่ราคาสูง เช่น กำแพงเพชร เชียงราย ตาก พะเยา พิจิตร แม่ฮ่องสอน นครพนม นครราชสีมา เลย จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ราชบุรี ลพบุรี อ่างทอง กระบี่ ชุมพร พัทลุง ภูเก็ต โดยราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราคาเฉลี่ยตั้งแต่กิโลกรัมละ 24-30 บาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 เมษายน 2553

จัดสรรน้ำตาลวุ่นโรงงานยื้อส่งผู้ค้า

กระจายน้ำตาล 8 แสนกระสอบอืด ห้างค้าปลีกยักษ์ร้องไม่ได้รับจัดสรรใน 3 วันไม่มีขาย พาณิชย์จี้ สอน.เร่งโรงงานส่งตามรายชื่อที่ได้รับ

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีมติให้โรงงานน้ำตาลทรายส่งมอบน้ำตาลตามการจัดสรรของกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้เพิ่งจัดสรรได้เพียงแค่รายเดียว หรือจำนวน 3,600 กระสอบ จากจำนวน 8 แสนกระสอบ โดยโรงงานน้ำตาลอ้างว่าไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารทำให้ไม่สามารถจัดส่งน้ำตาลให้แก่ผู้ค้าน้ำตาลตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไป จึงทำให้น้ำตาลทรายในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะตึงตัว

"ขณะนี้มีห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรดรายหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอช่วยเหลือ เพราะได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายจากโรงงานน้อยลง หากไม่ได้รับการจัดสรรภายใน 3 วัน อาจทำให้ห้างไม่มีน้ำตาลวางจำหน่ายได้ รวมถึงผู้ใช้น้ำตาลอิสระ ที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลทรายน้อยลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตอาหาร" นายยรรยงกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะทำหนังสือถึง สอน. เพื่อให้เร่งรัดโรงงานน้ำตาลทรายกระจายน้ำตาลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ตึงตัว พร้อมกันนี้จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ออกตรวจสอบโรงงานน้ำตาล ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ว่ามีการกักตุนน้ำตาลหรือประวิงเวลาจำหน่ายหรือไม่ หากพบพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดตามมาตรา 29 มีการกักตุนหรือจงใจทำให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลภายในประเทศเกิดความปั่นป่วน จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จังหวัดที่มีปัญหาน้ำตาลทรายพบว่ามีอยู่ 20 จังหวัด ที่น้ำตาลทรายหาซื้อยาก และราคาจำหน่ายสูง เช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ น่าน พิษณุโลก แพร่ ลำปาง สุโขทัย ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด สกลนคร เป็นต้น ขณะที่อีก 50 จังหวัด หาซื้อน้ำตาลทรายง่ายแต่ราคาสูง เช่น กำแพงเพชร เชียงราย ตาก พะเยา พิจิตร แม่ฮ่องสอน นครพนม นครราชสีมา เลย จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ราชบุรี ลพบุรี อ่างทอง กระบี่ ชุมพร พัทลุง ภูเก็ต โดยราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ราคาเฉลี่ยตั้งแต่กิโลกรัมละ 24-30 บาท

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 2 เมษายน 2553

'พาณิชย์' สั่งสอบเส้นทางขายน้ำตาลใหม่ทั้งระบบหลังพบพิรุธ

“พาณิชย์” พบพิรุธขายน้ำตาลทรายซ้ำอีก หลังมีผู้แอบอ้างเป็นยี่ปั๊วซาปั๊วขอซื้อจำนวนมาก แต่หลังเช็คประวัติแล้วไม่มีตัวตน สั่งสอบเส้นทางการจำหน่ายใหม่ทั้งระบบ...

31 มี.ค. นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากรายงานผลการตรวจสอบปริมาณและราคาน้ำตาลทราย ที่มีนางปราณี ภาษีผล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าทีม พบความผิดปกติการจำหน่ายตลาดทรายในตลาดขณะนี้ โดยมีผู้แอบอ้างเป็นยี่ปั๊วซาปั๊วขายส่งน้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาต และมีตัวตนจริง ซึ่งพบพิรุธมากถึง 50% จึงสั่งการให้ตรวจสอบเส้นทางการจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่

“ได้รับการร้องเรียนจากยี่ปั๊วซาปั๊วถึงการได้รับปริมาณน้ำตาลทรายที่น้อยกว่าปกติ ต้องไปดูเส้นทางการส่งน้ำตาลกันใหม่ เพราะโรงงานยืนยันว่าส่งให้ครบและมีปริมาณเพียงพอ ซึ่งกระทรวงฯไม่ได้นำน้ำตาลทรายมาดูแลเอง แต่อาศัยช่องทางระบายที่โรงงานทำอยู่” นายยรรยง กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2553

พรทิวาการันตีบริษัทประมูลโควตาน้ำตาลโปร่งใส

"พรทิวา" ออกโรงการันตีบริษัทประมูลโควตาน้ำตาลมีศักยภาพแน่นอน อ้างนำรายชื่อบริษัทต่างๆมาจากสอน. ย้ำ หายังมีเรื่องร้องเรียนว่าไม่กระจายน้ำตาลเอกชนที่ได้โควต้าจะถูกดำเนินคดีแน่นอน

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีการตรวจพบข้อมูลว่าบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโควตาจัดสรรน้ำตาลทราย ของกระทรวงพาณิชย์ 6 ราย จากทั้งหมด 11 ราย เป็นกลุ่มบริษัทเดียวกัน ว่า การคัดเลือกเน้นไปที่เรื่องของศักยภาพบริษัทว่ามีเพียงพอที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการกระจายน้ำตาลในพื้นที่ที่เกิดปัญหาขาดแคลนได้หรือไม่ รวมถึงกำลังเงินด้วย เนื่องจากการเข้ามารับน้ำตาลต้องใช้เงินสดเข้าไปซื้อ ซึ่งเอกชนที่ปรากฏรายชื่อตามที่สื่อมวลชนนำเสนอก็พบว่ามีศักยภาพครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ และที่สำคัญรายชื่อบริษัทเหล่านี้ก็นำมาจากบัญชีของสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าจากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทกลุ่มนี้ พบว่าบางบริษัทแจ้งจดทะเบียนทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องเครื่องเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายน้ำตาลทรายแต่อย่างใด นางพรทิวา กล่าวว่า การจดทะเบียนทางธุรกิจสามารถแจ้งการจำหน่ายสินค้าได้หลากหลาย ไม่จำเป็นระบุเฉพาะเจาะจงเรื่องการจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างเดียว

เมื่อถามย้ำว่า ปรากฏข้อมูลว่าบริษัทเอกชนจำนวน 6 ราย เป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน รวมโควตาที่ได้รับการจัดสรรอยู่กว่า 400,000 กระสอบ คิดเป็นจำนวนเกินครึ่งของโควตาน้ำตาลทรายทั้งหมด ที่มีอยู่ 800,000 กระสอบ จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการผูกขาดหรือไม่ และขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่าบริษัทเอกชนบางแห่งลักลอบนำน้ำตาลทรายส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ นางพรทิวา กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่าตรวจสอบได้ไม่ยากเพราะหลังจากที่มีการให้โควตาไปแล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้วางระบบที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ ว่ามีการกระจายน้ำตาลเข้าสู่พื้นที่หรือไม่ หากพบว่าพื้นที่กำหนดไว้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลน มีการร้องเรียนเข้ามาว่าไม่มีการกระจายน้ำตาลจริง เอกชนที่ได้รับโควตาไปจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างหนักแน่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 เมษายน 2553

น้ำตาล"โควตาพิเศษ"กระจุกตัว โรงงานหวั่นพาณิชย์ขอเพิ่มอีก

กระทรวงพาณิชย์ยันขนน้ำตาลโควตา ก.พิเศษ 1 ล้านกระสอบ ออกจากโรงงานหมดภายในเดือนเมษายนนี้ ด้านโรงงานน้ำตาลกังวลผู้ได้รับการจัดสรรทั้ง 11 รายเป็นใครก็ไม่รู้ หวั่นน้ำตาลกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว แก้ปัญหาขาดแคลนไม่ได้ สุดท้ายก็จะมาขอโควตาพิเศษกันอีก ระบุ สถานการณ์น้ำตาลยังตึงตัวต่อไป สังเกตค้างกระดานน้อยเพียง 200,000 กระสอบเท่านั้น

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังการหารือร่วมกับนายมนัส สร้อยพลอย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะทำงานจัดสรรน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัวว่า จากการจัดสรรน้ำตาลทรายให้กับยี่ปั๊วซาปั๊ว 11 ราย ปริมาณรวม 801,000 กระสอบ ทาง กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า จะสามารถ ขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงานให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายนนี้

ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ผู้ได้รับการจัดสรรทั้ง 11 รายจะต้องโอนเงินชำระค่าน้ำตาลมาก่อน ต่อจากนั้นโรงงานก็พร้อมจะส่งมอบน้ำตาลให้ทันที และภายหลังจากที่มีการขนย้ายน้ำตาลออกจากโรงงานแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ควบคุมให้มีการกระจายน้ำตาลสู่ตลาดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการขาดแคลนหาซื้อน้ำตาลไม่ได้

"สิ่งที่โรงงานน้ำตาลเป็นห่วงก็คือ ผู้ได้รับการจัดสรรทั้ง 11 ราย ความจริงเป็นใครกันแน่ เป็นกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า (4 ใน 11 รายที่ได้รับการจัดสรรน้ำตาลกว่า 400,000 กระสอบ มีผู้บริหารชุดเดียวกันหรือมีสถานที่ตั้งบริษัทเลขที่เดียวกัน) ถ้าเป็นกลุ่มเดียวกันน้ำตาลทรายที่ได้รับการจัดสรรไปก็จะไปกระจุกตัว ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำตาลตึงตัวไม่เป็นผล ยังคงเป็นปัญหาอยู่ และสุดท้ายกระทรวงพาณิชย์ก็จะมาขอเพิ่มน้ำตาลภายในประเทศ (โควตา ก.) พิเศษเอาไปจัดสรรเองอีก ซึ่งจากการหารือกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ผู้ได้รับการจัดสรรทั้ง 11 ราย สามารถกระจายน้ำตาลทรายได้ทั่วประเทศ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ยืนยันว่า จะไม่มาขอเพิ่มน้ำตาลโควตา ก. พิเศษอีก" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้เดิมฤดูการผลิต 2552/2553 กำหนดน้ำตาลโควตา ก.อยู่ที่ 21 ล้านกระสอบ แต่เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 30 เซนต์/ปอนด์ ทำให้มีการลักลอบนำน้ำตาลภายในประเทศไปส่งออก โรงงานที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบหันมาแย่งซื้อน้ำตาลโควตา ก.แทนที่จะใช้สิทธิซื้อน้ำตาลโควตา ค.เพราะราคาถูกกว่า ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลภายในประเทศเกิดภาวะตึงตัว หาซื้อยาก กระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพิ่มน้ำตาลโควตา ก.อีก 1 ล้านกระสอบ เป็น 22 ล้านกระสอบ มาให้กระทรวงพาณิชย์จัดสรร ซึ่งน้ำตาลโควตาที่เพิ่มขึ้นนี้โรงงานต้องซื้อน้ำตาลคืนจากที่ได้มีการขายส่งออก (โควตา ค.) ล่วงหน้าไปแล้ว ถ้าหากจะมีการปรับเพิ่มก็ต้องมีการซื้อคืนกลับมาอีก ซึ่งโรงงานก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำตาลปัจจุบัน ถ้าไม่นับปริมาณน้ำตาลโควตา ก.พิเศษที่ได้มีการขึ้นงวดไว้แล้วอยู่ประมาณ 800,000 กระสอบ เป็นการขึ้นงวดจำหน่ายน้ำตาลปกติ ล่าสุดมีเหลือค้างกระดานยังไม่จำหน่ายอยู่ประมาณ 200,000 กระสอบ รวมกับขึ้นงวดใหม่ใน วันที่ 29 มีนาคม 2553 อีก 400,000 กว่ากระสอบ รวมเป็น 600,000 กว่ากระสอบ ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่เหลือค้างกระดาน 200,000 กว่ากระสอบนี้ยังถือว่าสถานการณ์น้ำตาลภายในประเทศยังอยู่ในภาวะตึงตัว เพราะจากปกติน้ำตาลจะเหลือค้างกระดานอยู่ 1-2 งวด (งวดละ 400,000 กว่ากระสอบ) จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า แม้ราคาน้ำตาลตลาดโลกจะลดลงเหลือ 17 เซนต์/ปอนด์ แต่ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำตาลภายในประเทศเพิ่มขึ้นกลับสู่ภาวะปกติ

ด้านแหล่งข่าวจากยี่ปั๊ว-ซาปั๊วรายหนึ่งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้น้ำตาลทรายค่อนข้างหาซื้อยาก ราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 24 บาท/กิโลกรัม จากที่เคยซื้ออยู่ที่ 21-22 บาท/กิโลกรัม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์มาสอบถามถึงความต้องการซื้อน้ำตาล เพื่อกระทรวงพาณิชย์จะจัดสรรให้ อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยในแวดวงยี่ปั๊ว-ซาปั๊วเห็นว่า โควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์จัดสรรให้ผู้ประกอบการทั้ง 11 รายนั้น อาจจะต้องซื้อในราคาที่สูงกว่าปกติ หมายถึงราคาสูงกว่าการซื้อหน้าโรงงาน เนื่องจากน้ำตาลปริมาณดังกล่าวมี "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการจัดสรรโควตาก่อนที่จะมาถึงมือยี่ปั๊ว-ซาปั๊วตัวจริง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 1 เมษายน 2553