http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2559)

'กรมทรัพยากรน้ำ' ทุ่มงบ 300 ล้าน แก้น้ำท่วม-เก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง

กรมทรัพยากรน้ำ เข้าพัฒนาระบบคูคลองสาขาเชื่อมแก้มลิงและแม่น้ำยมในเขต อ.บางระกำ ใช้งบ 301 ล้านบาท พัฒนา 5 ลำคลองหลัก ระยะเวลา 3 ปี คาดเสร็จเดือน พ.ค.59 นี้ ช่วยระบายน้ำหลากช่วงน้ำท่วม กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ 4.6 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.59 กรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรดูงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่บางระกำ (พื้นที่แก้มลิงลุ่มน้ำยม) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่กรมทรัพยากรน้ำ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลัก ในการเข้ามาพัฒนาพื้นที่แก้มลิงบางระกำ ขุดลอก 5 ลำคลองสาขาหลัก ที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำยม และแก้มลิงขนาดใหญ่ของ อ.บางระกำ ในงบประมาณ 301 ล้านบาท ดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา และจะแล้วเสร็จโครงการในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยวันนี้ได้นำสื่อมวลชนพิษณุโลก ชมการพัฒนาคลองอิงั่วและประตูระบายน้ำ ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่ และคณะกรรมการบริหารลุ่มน้ำยม

กรมทรัพยากรน้ำ พาสื่อมวลชนดูการอนุรักษ์น้ำ ที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่บางระกำ

นายวันเสด็จ จันทร์สุวรรณ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทรัพยากรน้ำ ผู้ควบคุมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแหล่งน้ำธรรมชาติกระจายทั่วพื้นที่ และมีคลองเชื่อมต่อระหว่างแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายเส้น เช่น คลองโพธิ์ คลองตะโม่ คลองดีงั่ว เป็นต้น ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำน่าน แม่น้ำยม และบึงตะเคร็ง และคลองต่างๆ อยู่ในสภาพตื้นเขิน กรมทรัพยากรน้ำจึงเห็นความจำเป็นต่อการเร่งรัดการฟื้นฟูสภาพคลองเหล่านี้ พร้อมสร้างอาคารบังคับน้ำประกอบตรงจุดบรรจบกับแม่น้ำยม โดยดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 56 ถึง พ.ค. 59 วงเงิน 301 ล้านบาท ในการขุดลอกคลอง ทำท่อลอด ประตูระบายน้ำใน 5 คลองสาขา ได้แก่ คลองยางแขวนอู่ คลองเก้ารัง คลองโพธิ์ คลองอิงั่ว และคลองสาขาเชื่อม ในช่วงฤดูน้ำหลากจะสามารถระบายน้ำที่ท่วมขังในเขต อ.บางระกำ ผ่านคลองสาขาลงสู่แม่น้ำยมได้เร็วขึ้น และยังสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีก 4.63 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลย มีพื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ 5,587 ไร่ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขต อ.บางระกำได้ 28,913 ครัวเรือน

พระครูวิจิตรธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดหนองป่าตอสามัคคีธรรม ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลุ่มน้ำยม เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งด้านอุทกภัยและภัยแล้งของชาวลุ่มน้ำยมได้ สภาพแม่น้ำยมเมื่อถึงฤดูน้ำหลากเชื่อมโยงถึงกันหมดระหว่าง จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย หากปีใดน้ำท่วม ระบบการระบายน้ำที่ท่วมขังในเขต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ส่งผลต่อการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน หรือยังเป็นที่ที่ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ เพื่อไม่ให้ไหลไปท่วมพื้นที่ จ.พิจิตร เร็วเกินไป

การพัฒนาคลองอิงั่วและประตูระบายน้ำ

นายประสิทธิ์ วีทอง กำนันตำบลบางระกำ เปิดเผยว่า แต่เดิมไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการน้ำได้เลย เมื่อน้ำท่วมก็ท่วมขัง เมื่อมีการสร้างระบบเครือข่ายคูคลอง ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ เพราะคูคลองสาขาเหล่านี้ เชื่อมโยงกับแม่น้ำยม และมีประตูระบายน้ำสามารถเปิดปิดบริหารจัดการได้ ซึ่งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย

สำหรับคลองอิงั่ว จุดที่กรมทรัพยากรน้ำพาสื่อมวลชนมาดูโครงการนั้น เชื่อมต่อกับแม่น้ำยมในเขต ต.บางระกำ ได้สร้างอาคารระบายน้ำ มีประตูเปิด-ปิดน้ำ ทั้งสามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำยม และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะที่สภาพปัจจุบันนั้น น้ำในแม่น้ำยมบริเวณนี้ อยู่ในสภาพแห้งขอด มีเพียงน้ำขังเป็นแอ่งเล็กๆ เท่านั้น

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานฯตั้งศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรม 

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลเห็นชอบโรดแมปการจัด การขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรการเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายและส่งเสริมการก่อสร้างโรงงานบำบัด/ กำจัด/ รีไซเคิลเพิ่มเติม ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558-2562 กำหนดยุทธศาสตร์รองรับภารกิจตามนโยบาย ดังกล่าว เพื่อให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบบริหารจัดการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยล่าสุดใน ปี 2558 การดำเนินงานได้เริ่มดำเนินการตามแผนไปแล้วร้อยละ 25 มีโรงงานลงทะเบียนเข้าสู่ระบบอนุญาตทางอิเล็ก- ทรอนิกส์ เพิ่มจากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 75 หรือกว่า 51,000 โรงงาน ส่งผลให้มีกากอุตสาหกรรม เข้าสู่ระบบจำนวน 27.37 ล้านตัน หรือร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับปริมาณกากฯ ที่ประเมินไว้ 37.42 ล้านตัน โดยกากฯ ที่เข้าระบบนี้ เป็นกากฯ อันตราย จำนวน 1.32 ล้านตัน และกากฯ ไม่อันตราย จำนวน 26.05 ล้านตัน

          ดร.อรรชกา กล่าวต่อว่า เพื่อให้กากอุตสาหกรรมได้มีการจัดการเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการศึกษาพื้นที่รองรับ สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการในอนาคต อีก 20-30 ปีข้างหน้า โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุต- สาหกรรมและพลังงานใหม่ (NEDO) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม  โดยพบว่า มีจำนวน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ลำปาง ลำพูน ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา ขอนแก่น ภาคตะวันออก ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ภาคกลาง สมุทรสาคร สระบุรี ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา มีความเหมาะสมในการจัดตั้งศูนย์ฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว และได้ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมโรงงานอุตสาหกรรมนำผลการศึกษาเชิญชวนเอกชนให้มาลงทุนพัฒนาศูนย์จัดการฯ หรือนิคมฯ ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นความคืบหน้าของผลการดำเนิน การตามแผนจัดการกากอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งพัฒนาอุต- สาหกรรมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมปลายท่อและให้เกิดการจัดการของเสียที่ได้มาตรฐานและครอบคลุมทุกภูมิภาค

จาก สยามธุรกิจ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : ‘เกษตรอินทรีย์’วิถีเกษตรที่ยั่งยืน

การทำการเกษตรของไทย แต่เดิมเป็นการเพาะปลูกที่อาศัยธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า การปลูกพืชตามฤดูกาล ซึ่งผลผลิตที่ได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกเพียงใด จากนั้นก็เริ่มมีการนำเอาสารเคมีเข้ามาใช้ในการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรสมัยนั้นเห็นว่าผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจอีกทั้งยังสามารถให้ผลผลิตได้ทั้งปี จึงนำมาสู่การใช้สารเคมีร่วมกับการปลูกพืชเรื่อยมา จนกระทั่งมีการตรวจพบว่า มีผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดมีสารตกค้างและเกษตรกรบางรายมีสุขภาพที่แย่ลงซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเหตุผลให้หลายฝ่ายออกมาร่วมรณรงค์ให้มีการปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมีประกอบกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น และเน้นการบริโภคอาหารที่ได้จากการปลูกพืชระบบอินทรีย์

โดยในเรื่องนี้ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า นโยบายการทำการเกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่เหมาะกับภาคการเกษตรของไทยเนื่องจากอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักที่มีมาแต่โบราณประกอบกับในปัจจุบันที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายจะเป็นครัวของโลก จึงต้องมีการใส่ใจด้านการผลิตอาหารที่เน้นถึงความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ “การปลูกข้าวระบบอินทรีย์” ซึ่งเป็นระบบการปลูกข้าวที่มีประโยชน์ในหลายด้าน ไม่ส่งผลเสียต่อดินและสภาพแวดล้อม ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและมีความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง การปลูกข้าวระบบอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด เช่น ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลงศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย

นายสาคร ทองปาน หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านหว้าใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การปลูกข้าวแต่ก่อนนั้นจะใช้สารเคมีเกือบทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเพาะไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งผลผลิตที่ได้ออกมานั้นก็ดีในระดับหนึ่งแต่ก็สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพตนเองที่เริ่มแย่ลง เนื่องจากสารเคมีตกค้างในร่างกายและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงศึกษาการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ในเรื่องของปลูกข้าวระบบอินทรีย์ที่กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาให้ความรู้ในพื้นที่ รวมทั้งแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมฯร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 เป็นต้น จากนั้นจึงได้ทดลองปลูกข้าวระบบอินทรีย์ โดยผลที่ได้ออกมาเป็นที่น่าพอใจมาก คือสามารถลดต้นทุน การผลิตได้จริงอีกทั้งยังส่งผลถึงสุขภาพที่รู้สึกดีขึ้นด้วย

การผลิตข้าวระบบอินทรีย์มีขั้นตอนการปฏิบัติเช่นเดียวกับการผลิตข้าว โดยทั่วไปแต่จะแตกต่างกันตรงที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในทุกขั้นตอนการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูก ควรจะเลือกพื้นที่ที่ไม่เคยมีการใช้สารเคมีมาก่อน ไม่ควรเลือกพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก ควรเลือกพันธุ์ข้าวที่ทนต่อโรคและแมลง อีกทั้งสามารถให้ผลผลิตสูง แม้ในสภาพดินที่มีความอุดมสมบรูณ์ค่อนข้างต่ำ วิธีการปลูกข้าวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการผลิตข้าวอินทรีย์ คือ การปลูกข้าวแบบปักดำ เพราะการเตรียมดิน ทำเทือก การรักษาระดับน้ำขังในนาจะช่วยควบคุมวัชพืชได้ และการปลูกข้าวลงดินจะช่วยให้ข้าวสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ ส่วนการดูแลรักษาความอุดมสมบรูณ์ของดิน ควรมีการดูแลอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เผาตอซัง ฟางข้าวและเศษวัสดุอินทรีย์ในแปลงนาเพราะเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ในดิน เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่วในที่ว่างในพื้นที่นา ตามความเหมาะสม และถ้าจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยก็ให้หลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมี แต่ให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติแทน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น

นอกจากนี้การปลูกข้าวอินทรีย์นั้น ควรปลูกเพียงปีละครั้ง โดยเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมกับข้าวแต่ละพันธุ์ และปลูกพืชหมุนเวียนโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วก่อนและหลังการปลูกข้าว เพื่อเป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ ของดิน ทำให้การปลูกในปีต่อไป มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าการผลิตข้าวอินทรีย์เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิด แต่หันมาใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด และการไถกลบ ตอซังแทนซึ่งสามารถลดต้นทุนและปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 

เงินบาทแข็งค่าหลุด35 บาท

Breaking-Newsสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด ประกอบกับอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้สิ้นเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าทะลุระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายๆ สัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย เนื่องจาก 1) ผลการประชุมเฟด ที่ยังคงตอกย้ำว่าไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และ 2) ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่สร้างความผิดหวังให้กับตลาดด้วยการไม่ประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม ซึ่งทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินเยน

สำหรับในวันศุกร์ (29 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 34.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.01 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 เม.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.75-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณที่อาจบ่งชี้ถึงจังหวะเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนมี.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะรอจับตาข้อมูล PMI ภาคการผลิตของหลายๆ ประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากความผิดหวังเกี่ยวกับการที่ BOJ ไม่ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,404.61 จุด ลดลง 0.44% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 19.65% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 38,245.48 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 524.89 จุด ลดลง 0.37% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์จากแรงขายทำกำไร ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร สอดรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ รวมทั้ง แรงหนุนจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับลดในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงขายทางเทคนิค หลังดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม สร้างความผิดหวังให้กับตลาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในวันศุกร์  โดยมีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มสื่อสาร

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-4  พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,390 และ1,380 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,412 และ 1,423 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วยเครื่องชี้ภาคการผลิต (ISM Manufacturing) และเครื่องชี้ตลาดแรงงาน อาทิ อัตราการว่างงาน และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่การรายงาน ดัชนี PMI ในเยอรมนี ยูโรโซน และญี่ปุ่น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 

ปัจจัยลบศก.โลกถล่มไทย คลังยอมหั่นเป้าจีดีพี-คู่ค้าอาการหนักฉุดภาคส่งออกเดี้ยงอีกปี

คลังยอมจำนน เศรษฐกิจไทยยังเข็นไม่ขึ้น หั่นเป้าอัตราขยายตัวลงเหลือ 3.3% เหตุความเสี่ยงสารพัดรูปแบบเข้ารุมถล่ม ทั้งศก.โลกที่อ่อนแอ ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ผันผวน ประเทศคู่ค้าอาการย่ำแย่ จากการส่งออกของไทย ดิ่งเหวต่อเนื่องอีกหนึ่งปี กก.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตร เตือนผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ ทั้งทำตลาดเชิงรุกพร้อมกับลดต้นทุนผลิต

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี)ลงเหลือ 3.3% ต่อปี จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนม.ค.คาดขยายตัว 3.7% ต่อปี เป็นผลมาจากการส่งออกของไทยในปีนี้ยังคงมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าสินค้าการส่งออกในปีนี้หดตัวติดลบ 0.7% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้เป็นบวก 0.1%

“การประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน” นายวโรทัย กล่าว

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาการที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า สศค.ได้ปรับสมมุติฐานหลายด้านโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายที่ 3.49% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 3.56% เป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐในไตรมาสแรกแผ่วตัวลง และประเทศฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่ภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่องรวมถึงประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและเศรษฐกิจเวียดนามโตต่ำกว่าคาด นอกจากนี้เครื่องชี้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรแผ่วลง และได้รับความเสี่ยงจากการโหวตออกจากกลุ่มยูโรโซน

สำหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้คาดการณ์ว่าจะอ่อนค่าลง 3.6% อยู่ที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมคาดไว้เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่าจะอยู่ที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และรายจ่ายภาคสาธารณะปรับลดลงเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามได้ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติขึ้นจากเดิมคาด 33 ล้านคน เป็น 33.8 ล้านคน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง และทำให้รายได้เข้ามาในประเทศมากขึ้น หลังจากในไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึง 15.5%

 ขณะที่สมมุติฐานตัวอื่นๆอย่างราคาน้ำมันดิบดูไบ สศค.คาดว่ายังคงราคาเฉลี่ยในปี 2559 ไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ยังคงอัตราไว้ที่ 1.50%

“สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 3% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งการที่จะทำให้จีดีพีทั้งปีโตได้ตามเป้า 3.3% ในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวมากกว่า 3% โดยตัวเลขที่แท้จริงทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะแถลงในวันที่ 16 พ.ค.นี้” น.ส.กุลยา กล่าว

ด้านนายธนิต โสรัตน์ อนุกรรมาธิการและเลขานุการ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเกษตร สภาขับเคลื่อนประเทศไทย (สปท.) และรองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวในสัมมนา Trade Expert Forum 2016 “เจาะลึกเทคนิคการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อธุรกิจส่งออก” ว่า การที่เศรษฐกิจโลกมีการผันผวนและมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย การที่จะไปเปิดตลาดใหม่ในช่วงจังหวะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำได้ง่าย เพราะการส่งออกของไทยส่วนใหญ่อิงอยู่กับตลาดเพียงไม่กี่ประเทศซึ่งอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่ตลาดใหม่ล้วนกระจายอยู่ใน 20 กว่าประเทศมีสัดส่วนที่ต่ำมากและแต่ละประเทศล้วนชะลอตัว ดังนั้นปี 2559 จึงเป็นอีกปีหนึ่งที่การส่งออกมีความเสี่ยง จำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการประเมินสถานะธุรกิจ การปรับแผนกลยุทธ์ รวมถึงการทำตลาดเชิงรุกพร้อมไปกับการลดต้นทุนการผลิต

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปี 2559 การส่งออกมูลค่าเชิงเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเป็นบวก 0.9%เป็นการขยายตัวครั้งแรกในช่วง 5 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่เมื่อหักการส่งออกทองคำซึ่งขยายตัว 234.8% การส่งออกของไทยยังคงอยู่ในช่วงถดถอย -2.7% สะท้อนถึงสถานะประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจยังอยู่ในความเสี่ยงจากการฟื้นตัว

 ทั้งนี้สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักส่งออกยังคงอ่อนแอ สะท้อนจากตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ติดลบ -1.4% สหภาพยุโรป ติดลบ -1.8% ญี่ปุ่น ติดลบ -6.1% จีนติดลบ -5.4% และกลุ่มประเทศ CLMV ติดลบสูงถึง -6.9% แสดงถึงอุปสงค์ความต้องการสินค้าของโลกยังไม่ฟื้นตัว เป็นความท้าทายต่อตัวเลขส่งออกในไตรมาส 2 ดังนั้นคาดว่าการส่งออกปี 2559 ยังอยู่ในสภาวะความเสี่ยงสูงโอกาสถดถอยค่อนข้างสูง หน่วยงานต่างๆ มีการคาดการณ์การขยายตัวส่งออก ในทิศทางค่อนข้างต่ำ

“ปัจจัยซึ่งมีผลต่อการส่งออกของไทยเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในสภาวะอุปสงค์ หรือการบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งการนำเข้าในไตรมาสแรกของจีนยังติดลบ ปริมาณหนี้ครัวเรือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.37 เท่าของจีดีพี ซึ่งเป็นปัญหาความเสี่ยงด้านการเงินและจะทำให้ผู้บริโภคชะลอตัวเรื้อรัง นอกจากนี้การที่หนี้ครัวเรือนสูงทำให้มีความยุ่งยากในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านสินเชื่อต่างๆ และ การส่งออกของไทยไปประเทศจีนและฮ่องกงในปี 2558 มีสัดส่วนรวมกัน 16.6% ถือเป็นลูกค้าที่มีมูลค่าสูงสุด รองลงมาคือสหรัฐฯและญี่ปุ่น ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจึงมีผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 

เตือนเอกชนรับความผันผวน ธปท.ใช้นโยบายการเงินตอบโจทย์ประเทศไทย

“วิรไท” ระบุจะใช้นโยบายการเงินไม่ตามก้นธนาคารกลางหลักๆของโลกชี้ดอกเบี้ยติดลบไม่ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเสมอไป เตือนทำนโยบายเศรษฐกิจการเงินต้องคำนึงเสถียรภาพด้วย อย่าต้องไปนั่งแก้ปัญหาในอนาคตแนะเอกชนลงทุนวันนี้ ดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ต่ำมากแล้ว

 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยและค่าเงินบาทจะยังคงเกิดขึ้นไปอีกระยะหนึ่งตามปัจจัยการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน และความผันผวนของตลาดการเงินโลก ทำให้นักลงทุน นักธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทต้องติดตามสถานการณ์ และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ปิดความเสี่ยงลดการ ขาดทุน เนื่องจากค่าเงินบาทในขณะนี้ยังสามารถที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วทั้ง 2 ทาง โดยปัจจัยหลักมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินใหม่ๆของธนาคารกลางประเทศหลักๆของโลก สภาพคล่องที่มีสูงในโลกทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งส่วนนี้จะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ซึ่งทุกปัจจัยกระทบกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศให้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย แม้ว่าจะเห็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเข้ามาในไทยต่อเนื่อง แต่มองว่าจะเป็นการลงทุนระยะสั้นๆและสามารถไหลออกได้เร็วเช่นกันเมื่อมีปัจจัยใหม่ๆจากต่างประเทศเข้ามากระทบ ซึ่งในส่วนของการลงทุนโดยตรง แม้ว่าจะมีการลงทุนใหม่ หรือการขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ในภาวะที่การลงทุนซบเซาทั่วโลก เงินทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทยก็จะน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน ขณะที่เงินทุนที่ล้นอยู่ทั่วโลกและกำลังวิ่งแสวงหาผลตอบแทนที่สูง จะเป็นตัวที่จะมีผลกระทบต่อการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนมากกว่า

“ธปท.จะดูแลค่าเงินและความผันผวนของค่าเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยดูแลให้สอดคล้องและแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งค่าเงินบาทในขณะนี้มีความผันผวนอยู่ในระดับกลางๆของภูมิภาคนี้ และตัวราคาก็ไม่ได้อ่อนสุดโต่ง หรือแข็งสุดโต่ง ซึ่งยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้น การที่เรามีทุนสำรองทางการระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง 3 เท่า เมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และปีนี้คาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น สัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติไม่สูงอยู่ที่ 8% สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นที่ลดลงเหลือไม่เกิน 30% ของมูลค่าตลาดรวม ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนใหม่ที่ยังไม่มาก ช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในโลกที่ผันผวนไม่มากเท่าหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะทุนสำรองและดุลบัญชีเดินสะพัดที่เหมือนเป็นกันชนให้เรา”

ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้กล่าวถึงนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยด้วยว่า ในช่วงที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศมีการปรับนโยบายการเงิน อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมากขึ้น หรือการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น นโยบายการเงินของ ธปท.ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ต้องทำตามใคร เพราะนโยบายการเงินควรที่จะตอบโจทย์ของประเทศตัวเองและเศรษฐกิจตัวเองเป็นหลัก นอกจากนั้น นโยบายการเงินเป็นนโยบายที่ต้องมองไปข้างหน้า แต่หากจะใช้นโยบายการเงินในการตอบโจทย์เศรษฐกิจในระยะสั้นๆมากเกินไปถือว่าไม่ดี เพราะอาจจะเป็นการสะสมความเปราะบางให้กับระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมได้

“ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่อาจจะมีปัจจัยอื่นๆมากระทบ เช่น โรคระบาด หรือความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ การมีพื้นที่เก็บกระสุนของนโยบายการเงินไว้ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนั้น หากมองไปยังประเทศที่ใช้การอัดฉีดสภาพคล่องมากๆ หรือใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จเสมอไป เช่นกรณีญี่ปุ่นที่ยิ่งอัดฉีดสภาพคล่องค่าเงินเยน ญี่ปุ่นกลับแข็งค่าขึ้น หรือกรณีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งแทนที่จะทำให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น กลับทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในอนาคต กลายเป็นยิ่งออมมากขึ้นไม่ยอมใช้จ่ายลงทุน ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินในยุคใหม่นี้ต้องมองผลข้างเคียงอื่นๆด้วย”

นายวิรไทกล่าวต่อว่า ในขณะนี้การใช้นโยบายการคลังก็ทำหน้าที่ได้ดี และตามประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ ธปท.คาดว่าจะเติบโต 3.1% ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นการฟื้นตัวอยู่ ทั้งนี้ นโยบายที่น่าเป็นห่วงคือนโยบายที่จะก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพในอนาคต ไม่ใช่ว่าอีก 3 ปีข้างหน้าเราต้องมานั่งแก้ไขปัญหาจากนโยบายที่เราทำวันนี้ หรือเป็นนโยบายที่ไปเร่งสร้างฟองสบู่ ซึ่งเท่าที่มองในขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบายแบบนี้ออกมา ส่วนฟองสบู่นั้น อาจจะเห็นฟองสบู่เล็กๆในบางภาคเศรษฐกิจที่มีการแสวงหาผลตอบแทนสูงๆอยู่บ้าง แต่เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่น่าเป็นห่วง

“หลายคนอยากรู้ว่า อัตราดอกเบี้ยซึ่งธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับลดอัตราเงินกู้ลง เป็นดอกเบี้ยที่ต่ำสุดหรือยัง ส่วนนี้คงตอบไม่ได้ แต่ที่รู้คือ เศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง มีเงินเพียงพอในการกู้ยืมและเป็นเงินที่ต้นทุนต่ำมาก ยิ่งเป็นการกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ดังนั้น หากภาคเอกชนต้องการลงทุนเพื่อธุรกิจในอนาคต เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน ในต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ”.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

ปฏิบัติการฝนหลวงพิชิตภัยแล้งช่วยเหลือเกษตรกร

          เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง และการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ ภายหลังประสบปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วงและวิกฤติภัยแล้งที่รุนแรง

          ปฏิบัติการ "R-Square Project" หรือ "โครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวัฏจักรน้ำพื้นที่โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์" เป็นการร่วมมือบริหารจัดการน้ำจาก ชั้นบรรยากาศสู่น้ำท่าผิวดิน โดยนำร่องที่เขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์เป็นเขื่อนแรก วัตถุประสงค์ เพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำของชลประทาน ตลอดจนสำรวจและประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยใช้การสำรวจระยะไกล เช่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ประสบภัยแล้งในเขตพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม

          นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ร่วมกับกรมชลประทานดำเนินโครงการ "อาร์-สแควร์ โปรเจกต์" (R-Square Project) ที่ผ่านมา สามารถเติมน้ำลงในเขื่อนได้แล้วกว่า 11 ล้านลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 จะย้ายฐานปฏิบัติการฝนหลวงจากจ.นครสวรรค์ มาที่จ.ลพบุรี ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถเติมน้ำลงในเขื่อนป่าสักฯได้ ไม่น้อยกว่า 10 ล้านลบ.ม. และเดือนมิถุนายน มีเป้าหมายขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำลงเขื่อนเพิ่มอีก 46 ล้านลบ.ม. หรือประมาณ 50-60 ล้านลบ.ม. ภายใน 2 เดือนข้างหน้า

          "สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง มากขึ้น ทำให้เกษตรกรและประชาชนจาก 304 อำเภอใน 56 จังหวัด ร้องขอฝนหลวง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก เฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งกรมฝนหลวงฯได้เตรียมความพร้อมเครื่องบิน จำนวน 30 ลำ รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์และสารเคมีที่จะใช้ทำฝนหลวง เช่น ยูเรีย น้ำแข็งแห้ง พร้อมแล้ว" นายเลอศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

ก.โรงงานฯคุมเข้ม'ระบบน้ำทิ้ง' จับตา24ชม. ป้องกัน'ไม่พอใช้'

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ได้ติดตามและช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ด้วยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปันน้ำทิ้งจากโรงงานช่วยเหลือภาคเกษตรกรและระบายน้ำช่วยชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหาร ที่ปล่อยน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และติดตั้งอุปกรณ์พารามิเตอร์ที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online pollution monitoring system : OPMS) ของกรมโรงงานฯ

"คาดว่าปริมาณน้ำจากโรงงานที่จะปล่อยสู่ภาคการเกษตรจะมีปริมาณเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้  กรมโรงงานฯ ยังประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ โรงงานอุตสาหกรรม นำหลัก 3R มาใช้ เช่น การใช้น้ำซ้ำ การใช้น้ำหมุนเวียนในโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง" นายพสุ กล่าว

ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำ ศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพน้ำผ่านระบบออนไลน์ OPMS ซึ่งระบบจะตรวจวัดคุณภาพน้ำที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และจะมีการรายงานผลทุก ๆ 30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะตรวจวัดค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบบำบัดน้ำ ค่าปริมาณการปล่อยทิ้งของน้ำต่อวัน และค่าปริมาณความสกปรกของน้ำที่ปล่อยทิ้ง (BOD/COD) โดยค่าดังกล่าวต้องมีค่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด มีค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์(BOD) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตรในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความสกปรกในรูปสารอนินทรีย์ (COD) ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลิตรในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร หากพบค่ามลพิษเข้าใกล้หรือเกินมาตรฐานระบบจะส่งสัญญาณเตือนทันที หลังจากนั้นกรมโรงงานฯ จะแจ้งเตือนไปยังโรงงาน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบทันที

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

‘หมอดิน’เร่งรณรงค์ปลูกหญ้าแฝก ชี้รักษาความชุ่มชื้นให้ดิน-ช่วยทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการเกษตรที่ปลูกพืชไร่และไม้ผลเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนที่มักประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ การแก้ไขปัญหา ต้องใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและการเก็บรักษาความชื้นไว้ในดินให้มากที่สุด การปลูกและใช้หญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรม นับเป็นเทคโนโลยีแบบง่ายๆ เพราะหญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์แห่งการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่มีระบบรากลึกยาว 1.5-3 เมตร แพร่กระจายในดินโดยตรง เป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ช่วยในการยึดเกาะดิน ป้องกันการชะล้างพังทลาย ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันได้ดี โดยหญ้าแฝกขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ไม่เป็นอุปสรรคหรือแย่งธาตุอาหารพืชที่ปลูกข้างเคียง

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชนต่างๆ รณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำพร้อมส่งเสริมให้ปลูกหญ้าแฝกในทุกพื้นที่ เพราะช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้สามารถปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน โดยแนวกอหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จะช่วยกักเก็บตะกอนดินที่ถูกน้ำพัดพามาช่วยลดความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ช่วยให้น้ำซึมลงไปในดินได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกหญ้าแฝกเป็นแถบขวางความลาดเทหรือตามแนวระดับ เพราะแถบพืชที่แน่นทึบจะช่วยกระจายน้ำไหลบ่า และลดความเร็วของน้ำ ในขณะที่แถบพืชจะช่วยกรองตะกอนดินไว้

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า เกษตรกรสามารถขอพันธุ์กล้าหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่การเกษตรของตนเอง หรือปลูกบนพื้นที่สองข้างทางรอบขอบคลองชลประทาน อาทิเช่น อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ขอบตลิ่ง คอสะพานไหล่ถนน เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน นอกจากนี้ เมื่อหญ้าแฝกเจริญเติบโตเต็มที่ ก็ควรมีการตัดใบไปใช้ประโยชน์ในการคลุมดินหรือโคนต้นไม้ผล เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำจากผิวดินทำให้ดินมีความชุ่มชื้น เป็นประโยชน์ต่อพืชหลักที่ปลูก ทั้งนี้การตัดใบอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันมิให้หญ้าแฝกออกดอก และจะทำให้หญ้าแฝกแตกหน่อเพิ่มขึ้น จนชิดติดกันเป็นกำแพงแน่นทำหน้าที่กรองตะกอนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานฯ คุมเข้มระบบเฝ้าระวังน้ำทิ้งออนไลน์ 24ชม.แนะโรงงานใช้น้ำอย่างประหยัด

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทีมงานเฝ้าตรวจสอบคุณเข้ม ระบบตรวจสอบมลพิษทางระยะไกล OPMS (Online Pollution Monitoring Systems) เรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกนอกโรงงาน

โดยการตรวจสอบดังกล่าวเป็นผลจากการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปันน้ำทิ้งจากโรงงานช่วยเหลือภาคเกษตรกรและระบายน้ำช่วยชุมชน พร้อมกันนี้  กรมโรงงานฯ แนะโรงงานบริหารจัดการน้ำตามหลัก 3Rs เพื่อรณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมประหยัดการใช้น้ำ ป้องกันขาดแคลนน้ำในอนาคต

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ได้ติดตามและช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ด้วยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปันน้ำทิ้งจากโรงงานช่วยเหลือภาคเกษตรกรและระบายน้ำช่วยชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง โดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหาร ที่ปล่อยน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และติดตั้งอุปกรณ์พารามิเตอร์ที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยระบบตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ (Online pollution monitoring system : OPMS) ของกรมโรงงานฯ

โดยคาดว่าปริมาณน้ำจากโรงงานที่จะปล่อยสู่ภาคการเกษตรจะมีปริมาณเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้  กรมโรงงานฯ ยังประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ โรงงานอุตสาหกรรม นำหลัก 3R มาใช้ เช่น การใช้น้ำซ้ำ การใช้น้ำหมุนเวียนในโรงงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

ดร.พสุ กล่าวต่อว่า  กรมโรงงานฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำ ศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม (Industrial Environment Monitoring Center : IEMC) ณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพน้ำผ่านระบบออนไลน์  OPMSซึ่งระบบจะตรวจวัดคุณภาพน้ำที่จุดระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และจะมีการรายงานผลทุก ๆ 30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะตรวจวัดค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบบำบัดน้ำ ค่าปริมาณการปล่อยทิ้งของน้ำต่อวัน และค่าปริมาณความสกปรกของน้ำที่ปล่อยทิ้ง (BOD/COD)

โดยค่าดังกล่าวต้องมีค่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด มีค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์(BOD) ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตรในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อลิตร มีค่าความสกปรกในรูปสารอนินทรีย์ (COD) ไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลิตรในโรงงานทั่วไปและโรงงานที่ได้รับข้อยกเว้นสามารถระบายได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร หากพบค่ามลพิษเข้าใกล้หรือเกินมาตรฐานระบบจะส่งสัญญาณเตือนทันที หลังจากนั้นกรมโรงงานฯ จะแจ้งเตือนไปยังโรงงาน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบทันที 

สำหรับผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม โทร. 02 202 4100หรือสอบถามข้อมูลโครงการส่งเสริมอื่น ๆ โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

เร่ง RCEP เสร็จก่อน TPP

ก่อนที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในวันที่ 29 เมษายนนี้ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน จะชี้ชะตาการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ในอีกด้านหนึ่ง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลง หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) ระหว่างอาเซียนและ 6 ประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา RCEP ถือเป็นความตกลงที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า TPP

สำหรับการประชุม RCEP-TNC ครั้งนี้ จัดขึ้นที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เตรียมหารือประเด็นการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุน หลังจากที่สมาชิกแต่ละประเทศได้ยื่นรายการสินค้า และบริการที่จะเปิดตลาดระหว่างกันไปแล้ว โดยสมาชิกยังต้องเจรจาในรายละเอียดสินค้า บริการ และการลงทุน ซึ่งแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายต้องการให้มีการเปิดเสรีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยก่อนหน้านี้ RCEP ตกลงลดภาษีสินค้ากลุ่มแรก 65% ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันทั้งหมดประมาณ 8-9 พันรายการ เหลือภาษี 0% ทันที และอีก 20% จะลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี ส่วนอีก 15% ที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว จะมีการเจรจาให้มีการแนวทางการลดภาษีต่อไป

ส่วนครั้งนี้มุ่งเจรจาขยายการเปิดเสรีภาคบริการ มากกว่า 80% ของเซ็กเตอร์บริการที่มีการค้าภายในอาเซียน และมีเป้าหมายจะขยายการเปิดเสรีให้มากที่สุดถึง 100% และต้องพิจารณารายละเอียดในรายการสินค้าที่เปิดเสรีระหว่างกันว่าเป็นรายการใด เป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันหรือไม่ และจะได้รับประโยชน์จากการเจรจามากน้อยเพียงใด

ขณะที่ภาคการลงทุนกำหนดให้ยื่นเปิดเสรีแบบ Negative List ในสิ่งแต่ละประเทศไม่ต้องการเปิดเสรี ซึ่งจำเป็นต้องเจรจาตารางข้อสงวนอย่างรอบคอบ กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักการเจรจา Negative List ของ RCEP จำเป็นต้องนำกฎระเบียบต่าง ๆ ลงไปด้วย รวมถึงมาตรา 44 มาบรรจุไว้อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งหมายถึง เขียนครอบคลุมไปถึงกฎหมายความมั่นคงของประเทศ เช่น รัฐบาลสามารถดำเนินการอะไรบ้างดังต่อไปนี้ เพราะในอนาคตไม่รู้ว่าในด้านความมั่นคงอนาคตจะกำหนดอะไร จำเป็นจะต้องเขียนระบุลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนมาฟ้องร้องไทย ซึ่งแม้ว่าประเด็นนี้จะเป็นหลักการทั่วไปในองค์การการค้าโลก (WTO) แต่จำเป็นต้องเขียนลงรายละเอียดให้ชัด เช่น หากเกิดการเผาสถานที่ นักลงทุนฟ้องได้ ถ้ารัฐชดเชยความเสียหายธุรกิจท้องถิ่นดีกว่านักลงทุนจาก RCEP เป็นต้น

ดังนั้นต้องระบุว่าชดเชยความเสียหายแบบไหนในการเวนคืนที่ดิน หรือประเด็นอื่น ๆ เช่น เวนคืนเพื่อความมั่นคงเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องได้ หรือการประกาศมาตรการฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งหลังจากเจรจาได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการ RCEP ไม่ได้ชักช้า แต่เป็นเพราะสมาชิก 16 ประเทศ มีประเด็นการเจรจาจำนวนมาก เพราะสมาชิกกลุ่มหนึ่งไม่เคยเปิดเสรีการค้าระหว่างกันมาก่อน จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในปี 2559 จากนั้นจึงจะมีการดำเนินการเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ในลำดับถัดไป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

นักวิชาการ-หน่วยงานรัฐหนุนพีพีพี แต่โอดติดขัดขั้นตอนปฏิบัติ

นักวิชาการ-หน่วยงานรัฐชี้โครงการพีพีพีเป็นเรื่องดี แต่ขั้นตอนปฏิบัติล่าช้าติดระเบียบข้อกฎหมาย ทำให้โครงการล่าช้า ร.ฟ.ท.แย้มเตรียมเสนออีกหลายโครงการ

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์(นิด้า)และสมาคมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ “แนวคิดและหลักการในการดำเนินโครงการ PPP ให้ประสิทธิภาพและรวดเร็ว” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

นายประดิษฐ์ วิธิศุภกร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยขีดความสามารถในการแข่งขัน สำนักวิจัย นิด้าฯ กล่าวว่า ความร่วมมือภาครัฐ - ภาคเอกชน หรือ พีพีพี ถือว่าเป็นโครงการที่ดีกับประเทศไทย เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ที่สำคัญสถานการณ์ด้านสภาพคล่องทางการเงินของประเทศไม่เป็นปัญหาสามารถจัดหาเงินมาดำเนินการได้ไม่ยาก หากโครงการนั้นๆ เป็นโครงการที่มีความน่าเชื่อถือ สถาบันการเงินก็พร้อมให้การสนับสนุน หรือสามารถจัดตั้งกองทุนหรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แต่การลงทุนพีพีพีก็ไม่ควรแค่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ควรมองในสินทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถพัฒนาได้ให้มีมูลค่าได้

"การส่งเสริมพีพีพีผมว่ารัฐบาลมาถูกทาง ในเชิงนโยบายถูกต้อง เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น เพื่อลดภาระของรัฐบาลเนื่องจากเอกชนบริหารงานและบริการเงินได้มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ยอมรับว่าในขั้นตอนของการปฏิบัติติดขัดอยู่พอสมควร ในระเบียบหรือข้อกฎหมาย เพราะกว่าจะผ่านโครงการได้ใช้เวลานาน แต่อย่างไรก็ดีเรื่องเหล่านี้น่าจะสามารถหาทางแก้ไขได้ในลำดับต่อไป แต่รัฐบาลต้องยอมรับแนวคิดล่างขันบน (bottom up) จากเดิมที่มักมองจากบนลงมา"นายประดิษฐ์กล่าว

ด้านนายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐต่างๆเร่งโครงการลงทุนพีพีพีเป็นเรื่องดีแต่การที่หน่วยงานที่ถูกเร่งรัดจากหน่วยเหนือมาแล้ว แต่เมื่อไม่มีโครงการจะเสนอ อาจจะหันไปหยิบการจ้างงานตามปกติที่เคยทำมาไปเสนอเป็นโครงการพีพีพีก็เป็นได้ ซึ่งอาจทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของพีพีพีได้ ซึ่งในส่วนของร.ฟ.ท.เองก็เตรียมโครงการพีพีพีที่จะเสนออยู่หลายโครงการเพราะมีที่ดินอยู่เยอะต้องเอามาใช้ประโยชน์ หลายโครงการที่ศึกษาไม่ใช่งานหลักของร.ฟ.ท.แต่สามารถร่วมกับหน่วยงานอื่นพัฒนาได้

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

ผลิตอ้อยพันธุ์สะอาดสู้โรค นวัตกรรมปลดแอก 'ใบขาว'

ทำมาหากิน : ผลิตอ้อยพันธุ์สะอาดสู้โรค นวัตกรรมปลดแอก 'ใบขาว' : โดย...ดลมนัส กาเจ

                    ในอดีตเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมักจะประสบปัญหาการระบาดของ “โรคใบขาว” ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้แก่ผู้ปลูก รวมถึงการผลิตอ้อยของไทย ที่ระบาดทั่วทุกพื้นที่ แต่ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นมีทางออกด้วยการผลิต “พันธุ์อ้อยสะอาด” และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น เพื่อขยายและเพิ่มปริมาณต้นกล้าอ้อยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเร่งกระจายสู่แปลงพันธุ์อ้อยสะอาดในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศได้แล้ว

                    ศพิษา สังวิเศษ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร บอกว่า โรคใบขาวอ้อยระบาดเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา (Phytoplasma) มีเพลี้ยจักจั่นหลังขาวและเพลี้ยจักจั่นปีกลายเป็นแมลงพาหะนำโรค เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคใบขาวจะติดไปกับท่อนพันธุ์อ้อยและแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว พันธุ์อ้อยที่ปลูกมานานมีโอกาสสะสมโรคมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกในแหล่งที่มีโรคระบาดรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาและไม่มีพันธุ์อ้อยที่ต้านทานโรคใบขาว วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ที่จะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคใบขาวอ้อยได้

                    ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่นได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อยพันธุ์สะอาดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้แก่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น เพื่อขยายและเพิ่มปริมาณต้นกล้าอ้อยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเร่งกระจายสู่แปลงพันธุ์อ้อยสะอาดในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครราชสีมา และอำนาจเจริญ เพื่อจะได้นำต้นกล้าไปปลูกขยายพันธุ์ในแปลงพันธุ์ต้นแบบ และจะได้ผลิตท่อนพันธุ์อ้อยสะอาดรองรับความต้องการของชาวไร่อ้อยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2559 นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่นมีแผนผลิตต้นกล้าอ้อยสะอาดพันธุ์ขอนแก่น 3 จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 4-6 หมื่นต้น เพื่อกระจายต้นกล้าให้แก่ศูนย์ต่างๆ ศูนย์ละ 2,000 ต้น

                    “ต้นกล้าอ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสามารถแตกกอได้ดีมาก ฉะนั้นการปลูกต้องห่างพอสมควร ระยะระหว่างต้น 80-100 ซม. ระหว่างแถว 120-150 ซม. ที่สำคัญต้องจัดการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก การจัดการระบบน้ำในแปลงพันธุ์ การใส่ปุ๋ย และการกำจัดวัชพืช เป็นต้น หากมีระบบการจัดการแปลงพันธุ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะสามารถผลิตพันธุ์อ้อยสะอาดได้ 8,000-10,000 ลำต่อไร่ แต่ถ้าสภาพอากาศแห้งแล้งการให้ผลผลิตจะลดลงเหลือ 6,000-8,000 ลำต่อไร่ จากนั้นสามารถใช้เทคนิคขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว หรือเทคนิคการ “ชำข้อ” เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยสะอาดได้ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าต้นพันธุ์อ้อยด้วย” ศพิษา กล่าว

                    สำหรับราคาต้นกล้าอ้อยสะอาดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นละ 10-15 บาท พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า จำนวน 1,700-2,000 ต้น ค่าต้นพันธุ์จะอยู่ที่ 2.5-3 หมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรควรปลูกขยายพันธุ์ก่อน ในปีที่สองก็ใช้เทคนิคการชำข้อเพื่อเพิ่มปริมาณท่อนพันธุ์สะอาด เพื่อนำไปปลูกในแปลงเพื่อการค้าต่อไป

                    ด้าน สรรเสริญ เสียงใส นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น กล่าวว่า หากเครื่องมือและอุปกรณ์มีความพร้อมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่นมีความสามารถที่จะผลิตอ้อยพันธุ์สะอาดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ถึง 6 หมื่น-1 แสนต้นต่อปี ขณะนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความต้องการใช้อ้อยพันธุ์สะอาดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากสามารถลดปัญหาเรื่องโรคใบขาวอ้อยแล้ว ยังได้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 15-18 ตันด้วย

                    นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกในปัจจุบัน หากเกษตรกรสนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น โทร.0-4326-1504

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

แนะเลิกแข่งลดค่าเงิน

“ศุภชัย” แนะชาติอาเซียนเลิกแข่งลดค่าเงิน ควรมุ่งรักษาเสถียรภาพ สร้างเติบโตระยะยาว

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยได้รับผลกระทบที่น้อยที่สุด จากสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียนเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง เพราะภูมิภาคนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา เป็นตลาดใหม่ การลงทุนจึงยังมีสูง ซึ่งการรวมตัวของประเทศในอาเซียนยังสร้างความแข็งเกร่งและเป็นผลดี หากสามารถรวมกันเป็นหนึ่งได้จริง พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ไม่กีดกันทางการค้า และสร้างเส้นทางคมนาคมที่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกันเป็นหลัก

“ปัญหาหลักในอาเซียน คือ การแข่งกันลดค่าเงินดึงดูดการลงทุน ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะทำให้ค่าเงินไม่มีเสถียรภาพ ที่ผ่านมาไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5% ซึ่งพึ่งพิงอยู่กับเศรษฐกิจของจีน และเศรษฐกิจโลก ทำให้ได้รับผลกระทบ” นายศุภชัยกล่าว

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย มี 3 แนวทางคือ 1.สหรัฐอเมริกาไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงิน 2.จีนไม่ควรลดค่าเงินหยวนเพราะจะส่งผล

กระทบในวงกว้าง และ 3.อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สามารถระดมเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เทียบเท่ากับจีน ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลสูง หากรักษาความเป็นเอกภาพไว้ได้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่พื้นตัว จากอัตราการว่างงานในยุโรปที่มีถึง 10% และยังเป็นภูมิภาคที่ใช้เงินในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มากที่สุด แต่กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เล็กน้อย คาดว่าสิ้นปีนี้ตัวเลขการเติบโตจะลดลงอยู่ที่ 2.8% จากเมื่อต้นปีคาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง

ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมของเอเชียฟื้นตัวตั้งแต่ในปี 2552 เป็นต้นมา แต่กลับมาทรุดตัวอีกครั้งในปี 2558 จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งการค้ากับภูมิภาคอื่นนอกเอเชีย 45% และเป็นการค้าในเอเชียด้วยกันเอง 55% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลกเอเชียได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนเศรษฐกิจโดยรวมของจีน ปัญหาหลักคือภาวะหนี้สินของประเทศ และการลดลงของเงินสำรองในคลังภายใน 1-2 ปี ลดลงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การที่จีนผลักดันให้สกุลเงินหยวนเข้าระบบเอสดีอาร์ (Special Drawing Rights) ของไอเอ็มเอฟ ทำให้สามารถลดต้นทุนทางการค้าระหว่างประเทศของจีนได้ซึ่งเป็นผลดี และจีนต้องปรับตัวมากขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญในประเทศจีนคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังสูง

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

ผัน500ล้าน โซลาร์เซลล์ สูบน้ำเกษตร

บอร์ดอนุรักษ์ฯ ไฟเขียวงบปี 2559 เพิ่ม 4,200 ล้าน อัด 500 ล้าน สร้างระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพลังงาน มีมติเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 30 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 4,275 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการตามแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 17 โครงการ 3,107 ล้านบาท และ 2.โครงการตามแผนงานพลังงานทดแทน 13 โครงการ 1,168 ล้านบาท

สำหรับแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการเครื่องมือทางการเงินสนับสนุนการลงทุนปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในโรงพยาบาลของรัฐแบบ Matching Fund การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน โครงการสนับสนุนหลอดประหยัดพลังงานแอลอีดีในหน่วยงานราชการและสถานศึกษาของรัฐ โครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น

ขณะที่แผนงานด้านพลังงานทดแทนมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานรูปแบบต่างๆ 500 ล้านบาท โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง 520 ล้านบาท โดยจะทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น 900 ระบบ กำลังการผลิตรวม 2,250 กิโลวัตต์ สำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ 12 เขตของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลไว้แล้ว โดยจะเข้ามาทดแทนระบบเดิมที่มักจะใช้น้ำมันและไฟฟ้าในระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร

รายงานข่าวระบุว่า รายได้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะมาจากการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันทุกประเภทในอัตรา 25 สตางค์/ลิตร และ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2559 กองทุนมีเงินคงเหลือสุทธิ 3.68 หมื่นล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้ามีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อใช้ในปีงบ 2559 จำนวน 1.01 หมื่นล้าน

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 

ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้'น้ำหยด'แทน'มัน-อ้อย'รายได้มั่นคงกว่า

                    จากการที่ประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้กรมหม่อนไหมหันมาส่งเสริมเกษตรกรให้มาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรมทดแทน เน้นใช้ระบบน้ำหยด พร้อมดึงเอกชนมาร่วมทำเกษตรแบบพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เพื่อรับซื้อรังไหม ในราคาประกัน สร้างรายได้รายละกว่า 1.1-1.5 หมื่นบาทต่อเดือน

                    นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม บอกว่า ภัยแล้งปีนี้กระทบโดยตรงต่อเกษตรกร รวมถึงผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังด้วย เนื่องจากขาดแคลนน้ำ กรมหม่อนไหมจึงส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหันมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในระบบอุตสาหกรรมทดแทนพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมาก โดยประสานกับเอกชนให้มาสนับสนุนการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อรับรังไหมระหว่างเกษตรกร เบื้องต้นมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 40 ราย

                    ส่วนชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งที่ จ.กาญจนบุรี หันเปลี่ยนมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบ 100 ราย พื้นที่ 600-800 ไร่ โดยเน้นให้ใช้ระบบน้ำหยดถือว่าประหยัดน้ำมากที่สุด แทนการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องแปลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด เพราะสามารถประหยัดน้ำได้กว่า 50%

                    สำหรับพันธุ์หม่อนที่ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรปลูก เป็นพันธุ์สกลนคร ที่ให้ผลผลิตใบต่อไร่สูงเฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,000 กิโลกรัมต่อปี ทั้งยังมีความทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งและทนทานต่อเพลี้ยไฟพอสมควร หากกระทบแล้งจะทิ้งใบช้ากว่าหม่อนพันธุ์อื่น นอกจากนี้ยังเป็นหม่อนที่ให้ใบใหญ่ ใบหนา และมีระยะระหว่างข้อถี่ ซึ่งเหมาะต่อการนำไปเลี้ยงไหมระบบอุตสาหกรรม หลังจากปลูกได้ 6 เดือน เกษตรกรก็จะเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายรังไหมได้แล้ว

                    ด้าน นางพรไสว ชุ่มบุญชู ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ กาญจนบุรี กรมหม่อนไหม บอกว่า พันธุ์ไหมที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ทุ่งกระเบา อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี คือ พันธุ์จุล 6 และพันธุ์จุล 2 โดยมีบริษัท จุลไหมไทยฯ จะส่งมอบไหมวัย 3 ที่มีอายุ 3-4 วัน ให้เกษตรกรที่อยู่ภายใต้ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งนำไปเลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยงไหมวัยอ่อนให้แก่เกษตรกรและช่วยลดอัตราการตายของไหมวัยอ่อนด้วย หลังจากเกษตรกรรับไหมวัย 3 ไปเลี้ยง ประมาณ 15-20 วัน ก็สามารถจำหน่ายรังไหมได้ บางรายรายได้ตกเดือนละ 1.1-1.5 หมื่นบาท

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

ธปท.รับบาทแข็งค่า/ผันผวนขึ้น ลั่น!พร้อมเข้าดูแลหากกระทบการฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติ ระบุเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3% จากต้นปี สอดคล้องภูมิภาค แต่พร้อมดูแลใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบภาคเศรษฐกิจ ระบุแนวโน้มธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับดอกเบี้ยสู่ภาวะปกติ เตือนผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางของค่าเงินบาทในปัจจุบันว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยล่าสุดเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเคลื่อนไหวที่ 34.80 ถึง 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯตาม sentiment ของตลาดที่ดีขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปดัชนีค่าเงินบาท จะเห็นว่าได้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากไปกว่าเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งของไทย ขณะที่ความผันผวนเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.5% ก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์ (Portfolio Inflows) สุทธิประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเข้าตลาดหุ้นประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเข้าตลาดพันธบัตรอีกประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น โดยภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน

แม้ในระยะนี้สถานการณ์ของตลาดการเงินโลกจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่ในอนาคตก็ไม่ได้มีอะไรที่รับประกันได้ว่าจะไม่มีความผันผวนเกิดขึ้น เพราะหนทางข้างหน้า ทุกคนก็ยังคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องปรับให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังควรต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในส่วนของ ธปท. ก็จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท. ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของแต่ละสกุลเงินในภูมิภาคเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯนับจากสิ้นปี 2558 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2559 ส่วนใหญ่สะท้อนการแข็งค่า

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559 

ธุรกิจส่งออกรับมืออย่างไร เมื่อการค้าโลกยุคใหม่ไม่ได้มีแค่ภาษี?

บทวิเคราะห์โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ 

แม้ว่าภาษีศุลกากรจะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ผู้ส่งออกคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่กลายเป็นปัญหาหลักในการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff measures: NTMs) เพราะทำให้ธุรกิจต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดสูงกว่าภาษีถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ การปฏิบัติตามเงื่อนไข NTMs ยังไม่ได้เป็นการรับประกันว่าธุรกิจจะสามารถทำกำไรและเจาะตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ อีไอซีจึงแนะเคล็ดลับให้ผู้ประกอบการปรับตัวมุ่งสู่การผลิตด้วยมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า รวมไปถึงประเมินความสามารถของตนเองในการทำตามเงื่อนไขต่างๆ และเลือกส่งออกสินค้าให้ตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด

สิ่งที่ผู้ประกอบการในตลาดการค้าระหว่างประเทศกำลังเผชิญและยิ่งทวีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTMs (non–tariff measures)

ในอดีตอุปสรรคหลักของผู้ประกอบการที่ค้าขายกับต่างประเทศคือ ภาษีศุลกากร เนื่องจากทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และลดความสามารถในการทำกำไร อีกทั้งยังอาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในตลาดเป้าหมายหรือจากประเทศอื่นๆ ได้ แต่ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้พยายามจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free-trade Area Agreements: FTAs) ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อลดหย่อนภาษีนำเข้าระหว่างกัน หรือกำจัดให้เหลือ 0% อย่างไรก็ดี องค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) เปิดเผยว่าสิ่งที่กลายมาเป็นอุปสรรคหลักในตลาดการค้าโลกยุคใหม่กลับเป็นมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพราะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดมากกว่ามาตรการทางภาษีถึง 2 เท่า โดยประเทศที่มีระดับรายได้สูงและปานกลางมักนำ NTMs มาใช้มากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ

มาตรการทางเทคนิค เป็น NTMs ที่พบบ่อยที่สุด และสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ สินค้าเกษตรและอาหาร

แม้ว่า NTMs จะมีอยู่หลายประเภท เช่น การจำกัดปริมาณ การควบคุมราคา และเงื่อนไขการชำระราคาสินค้าแต่มาตรการทางเทคนิคซึ่งรวมถึงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเป็น NTMs ที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด (รูปที่ 2) เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชากรจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าสินค้าเกษตรและอาหารจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าประเภทอื่น ยกตัวอย่างเช่น เนื้อวัวแช่เย็นของออสเตรเลียถูกจีนระงับการนำเข้าเป็นเวลา 9 เดือนระหว่างปี 2013-2014 เพราะไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ในขณะที่ข้าวไทยก็ถูกหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ตรวจหาสิ่งปนเปื้อนจำพวกเชื้อรา มอด และข้าวเปลือก รวมไปถึงผักและผลไม้สดของไทยหลายชนิด เช่น ลำไย มะม่วง มะละกอและกะเพรา ยังถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดหรือห้ามนำเข้าโดยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันโรคพืช ศัตรูพืช และสารพิษตกค้างที่อาจติดมากับผลิตผลดังกล่าว

ยังมีสินค้าอีกหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบจาก NTMs ประเภทอื่นๆ  

เช่น อินโดนีเซียที่ใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าผ้าบาติก โดยผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย และสามารถนำเข้าจากท่าเรือและท่าอากาศยานเพียง 4 แห่งเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน และ อาเซียน-จีน ทำให้ผ้าบาติกที่นำเข้าจากจีนและมาเลเซียมีราคาถูกกว่าผ้าบาติกที่ผลิตในประเทศ ผู้ประกอบการของอินโดนีเซียซึ่งมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงถูกแย่งตลาดเพราะไม่สามารถแข่งขันราคาได้ ในขณะที่สินค้าไทยก็ได้รับผลกระทบจาก NTMs เช่นเดียวกัน อาทิ การส่งออกโทรทัศน์ไปอินเดียภายใต้กรอบการค้าเสรีไทย-อินเดียซึ่งติดเงื่อนไขแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin: ROO) ในสัดส่วน 40% ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยบางรายไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เพราะในระยะหลังมีการใช้ส่วนประกอบจากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี เงื่อนไข ROO ได้ถูกผ่อนปรนลงหลังจากที่มีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ทำให้ไทยสามารถใช้วัตถุดิบภายในประเทศและวัตถุดิบนำเข้าจากประเทศภาคีรวมกันในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 35% ผู้ประกอบการจึงมีความยืดหยุ่นในการจัดหาชิ้นส่วนมากขึ้น

ผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบจาก NTMs ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการกระจายสินค้า อีกทั้งยังไม่สามารถคาดการณ์การใช้มาตรการได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าเกษตร เพราะต้องควบคุมดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกเพื่อให้ปลอดจากศัตรูพืช โรคพืช และสารเคมีต้องห้าม จนไปถึงขั้นตอนการทำความสะอาดผลิตผลก่อนบรรจุลงหีบห่อและตรวจสอบคุณภาพก่อนขนย้าย ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นและใช้เวลาดำเนินการมากกว่าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศยังจำกัดจำนวนท่าเรือที่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรได้ เช่น อินโดนีเซียที่อนุญาตให้ไทยส่งผักและผลไม้สดผ่าน 4 ท่าเรือเท่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ห่างจากกรุงจาการ์ตานับพันกิโลเมตร ทำให้ผลผลิตของไทยใช้เวลาขนส่งนานกว่าจะไปถึงมือผู้บริโภคและอาจส่งผลต่อคุณภาพของสินค้าได้ นอกจากนี้  ในบางเวลาอาจมีการระงับการนำเข้าชั่วคราวหากสุ่มตรวจเจอสินค้าที่มีปัญหา หรือพบการนำเข้าในปริมาณที่มากเกินไปจนกระทบผู้ผลิตในประเทศ เช่น กรณีของอินโดนีเซียที่ระงับการนำเข้าพืช ผัก และผลไม้ 13 ชนิดจากไทยเป็นเวลา 6 เดือนในปี 2013 เนื่องจากเป็นช่วงที่อินโดนีเซียมีผลผลิตออกมามาก ทำให้ชาวสวนและผู้ส่งออกผลผลิตดังกล่าวของไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละประเทศ แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุน เวลา การเข้าถึงข้อมูล

นอกจากปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติตามเงื่อนไข NTMs แล้ว ผู้ประกอบการยังต้องรับมือกับความยุ่งยากในกระบวนการผลิตด้วย เช่น ผู้ส่งออกกุ้งที่ต้องควบคุมโรคกุ้งและการใช้ยาปฏิชีวนะให้สมดุลกัน รวมไปถึงต้มกุ้งให้สุกด้วยอุณหภูมิและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเงื่อนไขของแต่ละประเทศมักแตกต่างกัน ทำให้ต้องวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับความท้าทายด้านเวลา เพราะกว่าที่สินค้าจะถูกนำเข้าไปยังตลาดเป้าหมายได้ต้องผ่านกระบวนการมากมาย อาทิ การขออนุญาตนำเข้า การพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งบางประเทศมีตัวแทนดำเนินการเพียงแห่งเดียวจึงยิ่งใช้เวลานานกว่าปกติ ทำให้ต้องเผื่อเวลาล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถถนอมสินค้าได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดี การเข้าถึงข้อมูล NTMs ของแต่ละประเทศเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะมีรายละเอียดมากมายและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น ข้าวไทยที่ส่งออกไปจีนต้องทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ เพราะขนาดตัวอักษรบนฉลากไม่ตรงตามเงื่อนไขใหม่ที่จีนกำหนด ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น ใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น และอาจส่งผลถึงคุณภาพของข้าวที่บรรจุไปก่อนหน้านี้ด้วย

หลายประเทศจะมีแนวทางร่วมกันเพื่อลด NTMs แต่การรักษาเสถียรภาพของตลาดภายในประเทศยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเห็นพ้องกันว่า NTMs เป็นอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อราคาและปริมาณของสินค้า อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเสียโอกาสในกรณีที่เกิดความล่าช้าหรือไม่สามารถค้าขายสินค้าบางชนิดได้ นอกจากนี้  NTMs บางมาตรการ เช่น ROO ยังลดทอนประสิทธิภาพการผลิตเพราะได้กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ระบุไว้เท่านั้น ส่งผลให้ NTMs ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นเจรจาในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เช่น อาเซียนที่สร้างกรอบความตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน และร่วมกันเจรจา FTAs กับประเทศอื่นๆ เพื่อลดข้อจำกัดเรื่อง ROO ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบร่วมกันภายในภูมิภาคได้ อย่างไรก็ดี หลายประเทศมีความจำเป็นต้องปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ NTMs หลายมาตรการอาจถูกกำจัดได้ไม่ง่ายนัก เช่น การกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวเพื่อควบคุมปริมาณการนำเข้าหรือยืดระยะเวลาในการลดหย่อนภาษี รวมไปถึงการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการกระจายของสารพิษและโรคระบาดจากนอกประเทศ

NTMs ยังขยายขอบเขตไปยังประเด็นใหม่ๆ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและเตรียมกลยุทธ์รับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ในระยะหลังพบว่าหลายประเทศได้นำเอามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎระเบียบควบคุมระดับมลพิษและลดภาวะโลกร้อน เช่น ระเบียบสําหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับปริมาตรและน้ำหนักของสินค้า การใช้วัตถุดิบที่มาจากกระบวนการรีไซเคิล และการใช้ไฟฟ้าหรือทรัพยากรอื่นๆ ตลอดอายุของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังมีมาตรการฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น Eco Label และ Carbon Label เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดการชิ้นส่วนที่เหลือหลังการใช้งาน โดยอีไอซีคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สังเกตได้จากความพยายามในการบรรลุข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อหาวิธีต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมไปถึง FTAs ฉบับใหม่ๆ ที่ยกเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในการเจรจา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจับตาสถานการณ์และเตรียมปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะได้สามารถรับมือกับ NTMs ยุคใหม่ซึ่งนอกจากจะมีความเข้มงวดมากขึ้นแล้ว ยังมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนและครอบคลุมประเด็นที่กว้างขึ้นด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559 

การค้าไทยสู่เออีซี ต้องเร่งสางอุปสรรค

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

หลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี 2559 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักอาเซียน กระทรวงพาณิชย์ ระบุมูลค่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 อยู่ที่ 8,965.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 3.5% ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 8,661.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการส่งออกรวมของไทยไปทุกประเทศอยู่ที่ 0.7%

ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทันทีที่ไทยเข้าสู่เออีซีอย่างเต็มตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ เชื่อว่ามีหลายฝ่ายที่ได้ติดตามพร้อมตั้งคำถามถึงสิ่งที่จะ

เกิดขึ้นหลังจากเปิดประชาคมอาเซียน (อาเซียน คอมมูนิตี้) โดยเฉพาะในแง่มูลค่าการค้าว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้คงต้องอธิบายในภาพรวมให้เข้าใจร่วมกันก่อนว่า ก่อนที่จะเข้าสู่เออีซีนั้น ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ มาก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว

เปรียบเสมือนน้ำในเขื่อนที่ค่อยๆ ปล่อยออกไป ไม่ได้เก็บกักไว้ทีเดียว ทำให้ไม่เกิดการล้นทะลักออกไปครั้งเดียวในปลายปี 2558 ที่เริ่มเข้าสู่เออีซีแล้ว ซึ่งทำให้ไม่เห็นการเปิดเป็นภาพแกรนด์

โอเพนนิ่ง ของเออีซีออกมา

สำหรับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำอะไรต่อจากนี้หลังสมาชิกอาเซียนเกิดการรวมตัวกันแล้ว ทั้งจากอัตราภาษีสินค้าบางรายการที่ได้ปรับทยอยลดเหลือ 0% ในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 6 ไปตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่สินค้าอ่อนไหวบางรายการอาจยังไม่ปรับลดภาษีลง และจากการเปิดอาเซียนรอบใหม่ก็ได้มีการปรับลดอัตราภาษีลดเหลือ 0% ไปแล้วอีกขยักหนึ่ง

“แม้จะไม่มีกำแพงภาษีสินค้านำเข้าบางรายการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้า แต่ก็ยังมีเรื่องของอินเตอร์เนชั่นแนล สแตนดาร์ด มาตรฐานระหว่างประเทศในแต่ละกลุ่มสินค้าของในแต่ละประเทศที่คุ้มครองอยู่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าระหว่างชาติอาเซียนในปัจจุบัน” ศิรินารถ กล่าว

ขณะที่การนำเข้าของไทยไปอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 มีมูลค่า 5,792.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.8% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากทำให้การค้ารวมของไทยกับอาเซียนลดลงจาก 15,303.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อช่วงเดียวกันเมื่อปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 14,758.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีนี้หรือลดลง 3.7%

ศิรินารถ กล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหยิบขึ้นมาพิจารณาในการประชุมเชิงเศรษฐกิจอาเซียนที่ผ่านมาตามกรอบที่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2559 จัดทำขึ้นคือการกำหนดแนวทางนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ของแต่ละประเทศสมาชิกชาติอาเซียน ที่พบว่าปัจจุบันมี SEZ อยู่ในภูมิภาคนี้ไม่ต่ำกว่า 80-100 แห่ง ซึ่งแต่ละประเทศต่างกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของตัวเอง ซึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ก็อาจเป็นหนึ่งอุปสรรคทางการแข่งขันการค้าการลงทุนเช่นกัน

รวมถึงอีกหนึ่งแผนงานของ สปป.ลาว “มาสเตอร์ แพลน ฟอร์ ซีแอลเอ็มวี ดีเวลอปเมนต์” (Master Plan for CLMV Development) แผนพัฒนากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งทางฝั่งตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาได้มีการพูดถึงว่าหากจะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนี้ด้วยกัน ก็ควรที่จะต้องมีตัวที (T) ซึ่งหมายถึงประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสอดคล้องกับที่ สมคิด จาตรุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกันนี้ไว้ก่อนหน้าต่อการนำประเทศไทย หรือตัว T เข้าร่วมในกลุ่ม CLMV ด้วย

แนวทางดังกล่าวในปีนี้เป็นเพียงแผนงานบางส่วนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนในการดึงดูดการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศร่วมกัน เพื่อทำให้อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกได้

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559 

เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : เตือนศก.โลกโตต่ำ มีความเสี่ยงสูง-ยืดเยื้อ : โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

                    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ยกเว้นประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยไอเอ็มเอฟสนับสนุนการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม คือ 1.กระตุ้นความต้องการสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และความต้องการออกหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนเพื่อนำไปสู่การใช้จ่ายลงทุนและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ 2.อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงยังทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้ขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.สัดส่วนหนี้เสียลดลง 4.ต้นทุนการตั้งสำรองของธนาคารลดลง และ 5.ธนาคารได้กำไรจากการถือครองตราสารหนี้

                    อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่ยังคงต้องติดตาม คือ กำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลง และผลกระทบของธุรกิจประกันภัยและกองทุนบำเหน็จบำนาญที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันภัยลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ให้คงที่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเสถียรภาพการเงิน

                    ไอเอ็มเอฟสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีภาระหนี้รัฐบาลในสัดส่วนที่สูง แต่ไอเอ็มเอฟมองว่าการใช้นโยบายการคลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ยังพอมีความสามารถเพื่อกระตุ้นการเติบโตและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อหลุดพ้นจากสภาวะการชะลอตัวในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังควรลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น แต่เน้นใช้จ่ายในส่วนที่ส่งผลให้เกิดศักยภาพในการเติบโต เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

                    ความเสี่ยงที่ไอเอ็มเอฟกังวลคือ ความผันผวนในตลาดการเงิน เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าคาด รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองและก่อการร้าย โดยความผันผวนในตลาดการเงินอาจส่งผลต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่และอาจกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ เช่นเดียวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลกระทบไปยังการค้าโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติมอีกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การก่อการร้ายและปัญหาผู้อพยพในยุโรป

                    อีไอซีว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกทั้งสินค้าและบริการที่ชะลอลงทำให้การส่งออกของไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยภายในประเทศคือ การบริโภคครัวเรือนที่ชะลอตัวจากผลของภัยแล้ง และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังต่ำ

                    อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีจุดแข็งที่สามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ โดยไอเอ็มเอฟระบุว่าปัจจัยที่ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่รับมือกับความผันผวนของเงินทุนไหลออกได้ดีกว่าประเทศอื่นคือ 1.มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง 2.มีหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศต่ำ และ 3.มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ซึ่งปัจจุบันไทยมีปัจจัยทั้ง 3 ด้านอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยขับเคลื่อนหนึ่งที่ไอเอ็มเอฟมองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และเป็นการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559 

พด.ดันหมอดินอาสา กลไกช่วย‘เกษตรกร’ ‘ลดต้นทุนการผลิต’

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมบูรณาการกันทำงาน ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้น มีหมอดินอาสาที่ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรดินท้องถิ่น ทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกรร่วมกับเจ้าหน้าที่

โดยปัจจุบัน กรมพัฒนาที่ดิน มีหมอดินอาสา 82,424 ราย แบ่งเป็นหมอดินอาสาประจำจังหวัด 76 ราย ประจำอำเภอ 896 ราย ประจำตำบล 7,213 ราย และประจำหมู่บ้าน 74,238 ราย ซึ่งได้รับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับวิชาการพัฒนาที่ดินทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการนำความรู้ไปใช้จนประสบผลสำเร็จในอาชีพ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณผลผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการทำงานเชิงรุก กรมพัฒนาที่ดิน จึงให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด เร่งทำการฝึกอบรมหมอดินอาสาทั้งหมด โดยฟื้นความรู้เดิมเพิ่มเติมองค์ความรู้นวัตกรรมเกษตรแนวใหม่ พัฒนาทักษะ เพื่อลงปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ในทิศทางเดียวกัน ให้การทำงานเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถตอบสนองนโยบายได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2559 

ผถห. KBS อนุมัติปันผลเป็นเงินสด 0.05 บ.-เคาะจ่าย 19 พ.ค.นี้ มั่นใจผลงานปี”59 พลิกกลับมามีกำไร-อานิสงส์ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกฟื้น 

          ผู้ถือหุ้น บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) ไฟเขียวจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.05 บาท/หุ้น กำหนดจ่ายวันที่ 19 พ.ค.นี้ "ทัศน์ วนากรกุล"มั่นใจผลงานปี'59 พลิกกลับมามีกำไร อานิสงส์ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว วางเป้าปีนี้รายได้โต 7-8% ปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มเป็น 2.6 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 2.2 ล้านตัน

          นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.05บาท/หุ้น จากกำไรสะสม โดยกำหนดจ่ายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 นี้

          "ผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากปีที่ผ่านมาค่าเงินบราซิลอ่อนค่าลงมาอย่างแรง และตอนนี้เริ่มแข็งค่าขึ้นแล้ว อีกทั้งความต้องการน้ำตาลยังมีมากกว่าปริมาณที่ผลิตออกมาได้ ทำให้ราคาน้ำตาลเริ่มทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรามองว่าราคาน้ำตาลทรายดิบปีนี้จะสูงกว่า 15 เซนต์/ปอนด์ ในปีก่อน" นายทัศน์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯยังเริ่มผลิตของไลน์ซีที่มีกำลังการผลิต 12,000 ตันอ้อย/วัน ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมในปีนี้ 35,000 ตันอ้อย/วัน ประกอบกับการปิดหีบอ้อยของบริษัทฯในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน จากปีก่อนที่ 2.2 ล้านตัน คาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทฯที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 7-8% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 6.73พันล้านบาท

          ในส่วนของแผนการลงทุนของบริษัทฯ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) กล่าวว่า บริษัทได้รับอนุมัติ ให้ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งบริษัทฯคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเรื่อง EIA และศึกษาแผนการจัดหาเงิน (Financing) เพื่อสนับสนุนโครงการ ซางในเบื้องต้นมีสถรบันการเงินหลายแห่งให้ความสนใจในการสนับสนุนโครงการ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

Gossip News: BRR ศึกษาความเป็นได้ลงทุนโรงงานน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจน้ำตาลทราย 

          แม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ BRR กลับมองการณ์ไกลไปกว่านั้น เมื่อ'อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ' ผู้บริหาร บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ซุ่มทำโปรเจคใหญ่กับการศึกษาความเป็นไปได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูง ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมเฉพาะทาง หวังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจน้ำตาล เบื้องต้นนั่งเคาะงบลงทุนกว่าพันล้านบาท งานนี้เจ้าตัวการันตีความมั่นใจ หากโปรเจคนี้แล้วเสร็จ จะสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้แก่ BRR ได้ในระยะยาวแน่นอน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

ประชารัฐชูไบโอฮับ คลื่นศก.ลูกใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มอ้อย-มัน

ในการประชุมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ นัดพิเศษมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของทั้ง 12 คณะให้ที่ประชุมรับทราบไปแล้ว โดยเฉพาะคณะทำงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้นำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี เพื่อพัฒนาสู่ปิโตรเคมีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญใช้ในการดึงดูดนักลงทุน โดยได้มีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเสนอโครงการลงทุนในเขตพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และศรีราชา จังหวัดชลบุรี เข้ามาแล้ว มีมูลค่ารวมประมาณ 3.8 แสนล้านบาท

สร้างฐานศก.จากอ้อย-มัน

ที่สำคัญคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดัน โครงการ Bioeconomy ขึ้นมาเป็นคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่เพิ่มมูลค่าฐานเกษตรกรรม โดยใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่อง ในการสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่นำไปสู่การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยมีรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน ควบคู่กับนโยบายประชารัฐ ที่นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่

โดยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4-5 ชุด เพื่อมาผลักดันในเรื่องนี้แล้ว และวางกรอบการดำเนินงานไว้ 10 ปี(2559-2568) ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าตัว สร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 6.5-8.5 หมื่นบาทต่อปี มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 แสนครัวเรือน และใน 20 ปี จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากกว่า 30 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และต้องการใช้เงินลงทุนขับเคลื่อนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

วางโรดแมปเริ่มที่พลังงาน

 นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ชี้ให้เห็นว่า การผลักดัน Bioeconomy ให้เกิดขึ้นได้นี้ มีการตั้งคณะทำงานที่มาจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ขึ้นมา 4-5 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการร่วมหารือระดมสมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว เพื่อนำไปสู่การวางโรดแมป ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรต้นน้ำอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง ตลอดจนของเหลือจากการเกษตร เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล กากมันและน้ำเสีย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับโรดแมปที่ว่านี้ได้มีการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Bio-based energy จะมีการผลักดันอย่างเร่งด่วนก่อน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้เอทานอลในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการส่งออก ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลให้แข่งขันได้ และมีการใช้เอทานอลในหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบอ้อยในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านลิตรต่อปี เป็น 2 พันล้านลิตรต่อปี รวมถึงการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 320 ล้านลิตรต่อปี เป็น 506 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ จะมีเจ้าภาพหรือผู้ลงทุน เช่นบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และกลุ่มมิตรผล คาดจะใช้เงินลงทุนราว 2.63 หมื่นล้านบาท และมีกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นรถขนส่งสินค้าของปตท.และเอสซีจี ที่จะมีการนำเอทานอลมาผลิตเป็นดีโซฮอล์ นอกจากจากการใช้เป็นแก๊สโซฮอล์เท่านั้น

แต่ทั้งนี้ การจะเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลขึ้นได้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนหรือจูงใจ ที่จะกำหนดเป็นนโยบายไว้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งการแก้กฎหมายให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้ โดยไม่ต้องผ่านพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

ทำโรงไฟฟ้าประชารัฐ

ขณะที่การเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ เช่น ชานอ้อย และกากมัน จะดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าประชารัฐ หรือนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น1.8 พันเมกะวัตต์ รวมถึงการนำกากมันมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วจึงนำไปผลิตไฟฟ้าได้ 336-500 เมกะวัตต์ จากที่ไม่เคยผลิตได้มาก่อน โดยจะมีทางปตท.และกลุ่มมิตรผล รับเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโรงงานชีวมวลจากชานอ้อย ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จะมีทั้งกลุ่มมิตรผล ไทยวา ชลเจริญ เอี่ยมเฮง สงวนวงศ์ และปตท. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.485 แสนล้านบาท

ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับว่า การรับซื้อไฟฟ้านั้น จะต้องอยู่ในระดับราคาที่ 4.24 บาทต่อหน่วย และในระยะ 8 ปีแรกจะต้องบวกราคาสูงกว่าปกติอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมทั้งเพิ่มโควตาในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการผลักดันให้เกิดการผลิตก๊าซซีบีจีในประมาณ 1.3 หมื่นตันต่อปี เพื่อใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากที่ไม่เคยผลิตได้มาก่อน โดยมีเป้าหมายนำมาใช้กับรถบรรทุกของกลุ่มปตท.และเอสซีจี รถบรรทุกสินค้าของภาคเอกชน ซึ่งจะต้องมีผู้ลงทุนตั้งโรงงานต้นแบบขึ้นมา พร้อมทั้งให้การอุดหนุนการรับซื้อในรูปแบบ Adder ขึ้นมา เป็นต้น

ดันเป็นฮับไบโอพลาสติก

สำหรับกลุ่มที่ 2 จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพพีแอลเอ แบบย่อยสลายได้ ที่จะช่วยให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นมา โดยจะมีการสร้างโรงงานผลิตไบโอพลาสติกขึ้นมา ซึ่งจะมีกลุ่มมิตรผลและพีทีทีจีซี เป็นผู้ลงทุน ใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการใช้ โดยเลือกทำตลาดผ่านกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์แช่แข็งเป็นต้น

แต่ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่มีการตั้งโรงงาน พร้อมอุดหนุนราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ พร้อมทั้งลดหย่อนภาษี 300 % สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยครอบคลุมถึงการใช้จ่ายในต่างประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนและการทำตลาด

ขณะที่กลุ่ม 3 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบรับกระแสการดูแลสุขภาพของประชากรทั่วโลก ที่กำลังก้าวสู่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จะมีการพัฒนาต่อยอดจากอาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาล ขึ้นมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารที่มีผลในเชิงรักษาโรค ซึ่งมีกลุ่มมิตรผลเป็นเจ้าภาพที่จะลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มมิตรผลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

ต่อยอดไปถึงการผลิตยา

ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และวัคซีนขั้นสูง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมด้านนี้ภายในเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตและเพิ่มการส่งออกเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากเดิม 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยส่วนหนึ่งทางกลุ่มมิตรผล จะเป็นผู้ลงทุน และจะมีการเชิญชวนให้บริษัทยาจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การจะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาคนี้ได้ ภาครัฐจะต้องบรรจุผลิตภัณฑ์เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงการบรรจุเขาในบัญชีกองทุนยาที่เบิกจ่ายได้ ซึ่งการลงทุนจะต้องขยายระยะเวลาปลอดภาษีจาก 8 ปี เป็น 15 ปี รวมถึงการตั้งกองทุนพัฒนายาแห่งชาติวงเงินไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนแก่ภาคเอกชน

โดยโรดแมปที่วางไว้ทั้งหมดภายใต้ Bioeconomy หากได้รับการผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริง คณะทำงานประชารัฐดังกล่าว มีความหวังว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ที่จะช่วยตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันการเพิม่ ผลผลติ ด้านการเกษตรกรรม ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดความเหลื่อมลํ้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

2เดือนAECส่งออกไทยโต3.5% แต่ภาพรวมค้าอาเซียนยังติดลบ/พณ.ลุยเปิดFTA เพิ่ม

2 เดือนเปิดเออีซี ส่งออกไทยไปอาเซียนโต 3.5% ขณะภาพรวมการค้ายังติดลบ “อภิรดี”ชี้ระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นผล แต่ในระยะกลาง-ยาวการค้า ลงทุนอาเซียนจะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ขณะสั่งลุยเปิดเจรจาเอฟทีเอเพิ่ม พ.ค.นี้ถกตุรกี เป้าหมายช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไทยในภาพรวมอีก 0.3% เล็งใช้เป็นเกตเวย์เจาะตลาดอีก 4 ภูมิภาค พร้อมอัพเดตเอฟทีเอไทยทุกกรอบยังเคลื่อนไหวตลอด

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมเปิดเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศตุรกี โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าโดยรวมของไทยอีก 0.3% จากเดิมเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับกับ 17 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนการค้ารวมของไทยอยู่ที่ 59% และเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา มีสัดส่วนการค้ารวม(ไม่รวมอาเซียน+6) อยู่ที่ 14%

ทั้งนี้ไทยเตรียมจัดประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้การทำเอฟทีเอกับตุรกีจะเป็นการขยายโอกาส และลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ไทยไปยังตลาดใหม่ โดยสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูการค้า(เกตเวย์) ไปยุโรป ตะวันออกกลาง CIS และแอฟริกาเหนือได้

ส่วนเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งไม่รวมอาเซียน+6 เช่น เอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกง กระทรวงกำหนดให้สรุปผลภายในปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมไปแล้ว 6 รอบในภาพรวมการเจรจามีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะการค้าสินค้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปรูปแบบการลดภาษีสินค้าของอาเซียน7 (สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม) ส่วนไทยอยู่ระหว่างแลกเปลี่ยนข้อมูลพิกัดอัตราศุลกากรกับฮ่องกง ส่วนการค้าบริการและการลงทุน การเจรจาข้อบทมีความคืบหน้ากว่า 50% แต่การลงทุนยังมีประเด็นคงค้างสำคัญ ได้แก่ คำนิยามเรื่องบุคคลธรรมดา ประเด็นมาตรการข้อยกเว้น และการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างสำหรับเวียดนาม

ส่วนเอฟทีเอ ไทย-ปากีสถานมีการเจรจาแล้ว 2 รอบ โดยเป็นการเจรจาเฉพาะการค้าสินค้าก่อน มีเป้าหมายเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ทั้งนี้ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคมที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะที่เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู)นั้น ได้มีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ ปัจจุบันยังไม่มีกำหนดวันเจรจาในรอบต่อไป เช่นเดียวกับเอฟทีเอ ไทย-เอฟต้า ที่การเจรจาหยุดชะงักลง หลังฝ่ายเอฟต้าแจ้งว่ายังสนใจการทำ เอฟทีเอ กับไทยในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ส่วนการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)อย่างเป็นทางการมีมูลค่ารวม 1.47 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้แยกเป็นการส่งออกของไทยไปอาเซียนมีมูลค่า 8.965 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% ส่วนการนำเข้าจากอาเซียน มีมูลค่า 5.792 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 12%

“ในระยะสั้นจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดของการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียน แต่ในระยะปานกลาง-ระยะยาว ทิศทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียน มีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งคาดว่าสัดส่วนการค้าของไทยกับอาเซียนหลัง AEC จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนโดยตรงของไทยในอาเซียนจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว”นางอภิรดีกล่าว และว่า

ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่รัฐบาลได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงที่ให้มองประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม)เป็นเสมือนตลาดในประเทศ ด้วยกลยุทธ์เจาะตลาดอาเซียนเชิงรุก บุกตลาดระดับเมือง (city focus) เน้นส่งเสริมสินค้าที่มีแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ พร้อมภารกิจใหม่ คือ การสนับสนุนการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศโดยเน้นประเทศในกลุ่ม CLMV

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

'บิ๊กตู่' มอบ 'รอยล' ศึกษาแนวทางแก้ภูเขาหัวโล้น

"บิ๊กตู่" มอบ "รอยล" ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น และปัญหาทำกินบนภูเขาและไร่อ้อยทั้งระบบ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2559 ในวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม ในช่วงท้ายของการประชุมในวาระอื่นๆ พลเอกประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ที่มีนายรอยล จิตรดอน เป็นผู้อำนวยการสสนก. ไปศึกษาวิธีการแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นคือ คือ 1. ภูเขาหัวโล้นและการปลูกพืชไร่บนภูเขา อย่างเช่นกรณีที่เกิดที่จังหวัดน่าน 2.การอุปโภคบนภูเขา และ3. ปัญหาไร่อ้อยทั้งระบบ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

อุตฯเร่งแก้พรบ.โรงงานพ.ค.นี้ 

          กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ พ.ร.บ.โรงงาน เอกชนเสนอ 50 แรงม้าขึ้นไป ต้องขออนุญาต เสนอ ครม.เดือน พ.ค.นี้

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในงานมหกรรม คิวซีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 30 ว่า กระทรวงอยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. … เรื่องการกำหนดจำนวนแรงม้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) โดยกิจการที่มีจำนวนแรงม้าไม่สูงมากไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กรอ. แต่ให้เป็นการควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

          "ปัจจุบันโรงอบขนมปัง โรงเย็บผ้าที่ใช้เครื่องจักรขนาด 5 แรงม้าก็จัดเป็นโรงงานที่ต้องขออนุญาตจาก กรอ. แต่การแก้ พ.ร.บ.เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ รายที่ไม่ได้ใช้เครื่องจักรใหญ่ก็แจ้งท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กำลังหาข้อสรุปที่เหมาะสมว่าควรจะเริ่มที่ 25 แรงม้าขึ้นไปให้มาขออนุญาต หรือ 50 แรงม้าขึ้นไปจึงจะเหมาะสม" นางอรรชกา กล่าว

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาและหาข้อสรุปให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ คือ ช่วงกลางเดือน พ.ค.และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบการด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ยื่นข้อเสนอแก้ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ไปยัง กรอ.เรื่องการกำหนดนิยามคำว่า "โรงงาน" ให้มีกำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป และหรือมีคนงาน 50 คนขึ้นไป ขณะที่เปิดโอกาสให้กระทรวงมีอำนาจดูแลตรวจสอบโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าที่มีความสุ่มเสี่ยงประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งในประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องกำหนดจำนวนแรงม้าและแรงงานคน ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนแห่ง เป็นประเภท ที่ 3 ขนาด 75 แรงม้าขึ้นไป ที่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มีประมาณ 8 หมื่นแห่ง หากกำหนดนิยามใหม่ตามที่กรมโรงงานเสนอที่ 25 แรงม้า จะทำให้มีโรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาต 6 หมื่นแห่ง แต่หากกำหนดตามที่ ส.อ.ท.เสนอจะมีโรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาต 1 แสนแห่ง

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

ปัญหาเกษตร ที่นี่มีคำตอบ : โลกร้อนกับการเกษตร

คำถาม ภาคเกษตรกรรมมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นอย่างไรครับ ให้ความรู้ด้วยครับ

ธวัชชัย พงศธรกุล

อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

คำตอบ ภาวะโลกร้อน การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์  ซึ่งก๊าซเรือนกระจก ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับความร้อนเอาไว้ไม่ให้ออกไปจากโลกได้

นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่าก๊าซหลักๆ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัส และก๊าซมีเทน ฯลฯ มีความเข้มในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ หรือเชื้อเพลิง

 ฟอสซิล จากการเผาป่า เกษตรกรรมเคมีและการย่อยสลายชีวมวล มีส่วนเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ทั้งหมดเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ รวมทั้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การทำลายป่า การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ประเภทเดียวแบบหนาแน่น ก็เป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การเกษตรมีส่วนทำให้โลกร้อน ภาคเกษตรมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการปล่อยก๊าซมีเธน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ตามธรรมชาติของแบคทีเรียบางชนิด ในสภาวะไม่มีอากาศ ในการทำนาข้าวแบบน้ำขัง การย่อยอาหารของสัตว์ และปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติในดินและมูลสัตว์ กระบวนการหายใจของพืชก็ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็มีการดูดกลับไปใช้ด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสง และการไถพรวนเปิดหน้าดิน หรือการหักร้างถางพงพื้นที่ป่า เพื่อทำการเกษตรเป็น เหล่านี้ เป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศทั้งสิ้น

ระบบเกษตรอุตสาหกรรม ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ส่วนใหญ่อยู่ในระบบเกษตรอุตสาหกรรมเคมี

 ที่เน้นการผลิตเชิงปริมาณ และใช้ปัจจัยเคมีเพื่อเร่งผลผลิตอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีทางการเกษตร เป็นการเพิ่มการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ และปศุสัตว์อุตสาหกรรม ก่อให้เกิดก๊าซมีเธนจำนวนมาก การใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อการผลิตปุ๋ยและสารเคมี เพื่อการขนส่ง ในกิจกรรมการเกษตร ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การใช้สารเคมีทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป ก่อให้เกิดการสะสมของปุ๋ยที่เหลือในดิน และเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน สร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำดื่ม ปนเปื้อนปริมาณไนเตรทสูง สามารถทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพของคนได้ สาเหตุจากการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก และการใช้สารเคมีอื่นๆ ของภาคเกษตรกรรม เป็นสาเหตุจากฝีมือมนุษย์ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน ทรัพยากรการน้ำ

ในขณะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสุขภาพของคน รวมถึงผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลเชิงลบต่อความสามารถในการปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกร เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกเป็นส่วนมาก ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง จึงทำให้เกษตรกรปรับตัวได้ช้า เมื่อต้องเผชิญภาวะภัยพิบัติ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝน ระดับน้ำทะเล และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพืช สัตว์ และมนุษย์

การทำลายป่า การทำลายหน้าดิน เพื่อเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่การเกษตร จะทำให้ลดคุณภาพดินลง โดยไปทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำลายสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ในดิน

แนวทางบรรเทาปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ตลอดจนวิธีการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อน ทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง ระดับน้ำใต้ดินต่ำ ควรจัดสร้างแหล่งน้ำในไร่นา และปลูกพืชคลุมดิน ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก บางพื้นที่ที่มีฝนตกชุกเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม ต้องมีการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อชะลอการไหลบ่า

 ของน้ำ ในบริเวณพื้นที่ลาดเท เกษตรกรต้องหยุดการตัดไม้เผาป่า ต้องไม่เผาทำลายฟางข้าวหรือใบอ้อย เพราะเป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และควรลดการใช้ปุ๋ยเคมีตามความจำเป็น แล้วหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2559 

เงินบาทผันผวน ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐและญี่ปุ่น

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/04) ที่ 35.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/04) ที่ระดับ 35.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นแม้ว่าจะมีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาในทิศทางที่ไม่ค่อยดีคือ ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ออกมาอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.9 จุด โดยต่ำกว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 51.5 จุด นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตาการประชุมนโยบายทางการเงินของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 เมษายนนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม (0.25%-0.50%) และคาดว่าจะมีการบรรยายเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น เพื่อเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ไทยมีการเผยตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. มีมูลค่า 1.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2559 ขยายตัว 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.08-35.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น ในวันนี้ (25/04) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1232/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/04) ที่ 1.1279/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยมีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจคือ ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ออกมาอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.8 จุด และต่ำกว่าเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ในขณะที่ตัวเลชดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ ออกมาอยู่ที่ระดับ 53.2 จุด ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 53.3 จุด ซึ่งสูงกว่าเดือนที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด นอกจากนี้ยังมีการประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศเยอรมนีออกมาอยู่ที่ 106.6 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 107.1 จุด และต่ำกว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 106.7 จุดโดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1213-1.1262 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1248/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (25/04) เปิดตลาดที่ระดับ 111.25/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/04) ที่ระดับ 110.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินเยนอ่อนค่าลง ตอบรับข่าวที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังพิจารณาเรื่องการนำอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้ในโครงการปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม ซึ่งททางธนาคารกลางญี่ปุ่นมีกำหนดประชุมในวันที่ 27-28 เมษายนที่จะถึงนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.00-111.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.25/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ (25/04), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (26/04), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหรัฐ (26/04), ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (26/04), ตัวเลขดุลการค้าของประเทศนิวซีแลนด์ (26/04), ดัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของโตเกียว (27/04), อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ (274/04) อัตราดอกเบี้ยเงินสดของประเทศนิวซีแลนด์ (27/04), นโยบายการเงินของประเทศญี่ปุ่น (27/04),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +2.95/+3.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.60/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ เผย เอกชนสหรัฐฯ หนุนไทยร่วม TPP จ่อชงกนศ. พิจารณา 29 เม.ย.นี้

พาณิชย์ เผย ยูเอสทีอาร์ แจงรายละเอียดข้อตกลงทีพีพีให้ฟังชัดเจน พร้อมแนะไทย เร่งปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าฯ-ทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสากล ด้าน เอกชนสหรัฐฯ หนุนไทยเข้าร่วมด่วน เหตุ ก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าได้จีเอสพี จ่อชง กนศ.พิจารณา 29 เม.ย.นี้...

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.59 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึง ผลการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งสหรัฐฯ อธิบายถึงเนื้อหาสาระของความตกลง และรายละเอียดต่างๆ โดยไทยได้สอบถามถึงประเด็นที่ไทยมีความกังวล เช่น สิทธิบัตรยา ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ ได้ชี้แจงอย่างชัดเจน

"ยูเอสทีอาร์ แนะนำเราว่า ถ้าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงทีพีพี ขอให้เร่งปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ทางการค้า การลงทุน และทรัพย์สินทางปัญญาให้ทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น เพราะบางอย่างยังล้าสมัย โดยข้อตกลงทีพีพี มีความเข้มข้นมาก"

ขณะเดียวกัน จากการหารือกับสภาหอการค้าสหรัฐฯ ได้ยืนยันที่จะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมทีพีพี เพราะปัจจุบัน แม้ไทยยังคงได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากสหรัฐฯ และไม่เสียเปรียบ 12 ประเทศที่เป็นสมาชิกทีพีพีแล้ว แต่ในอนาคต สหรัฐฯ อาจตัดสิทธิ์ไทย และอาจเกิดความไม่มั่นคงในการส่งออกได้ ต่างจากการเข้าร่วมทีพีพี จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านการค้า และการลงทุนมากกว่า พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำให้ไทย ชี้แจงทำความเข้าใจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ทั้งนี้ จะเสนอรายละเอียด ข้อดี ข้อเสีย การเข้าร่วมข้อตกลง ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาในวันที่ 29 เม.ย.นี้

สำหรับการหารือกับผู้ผลิตเครื่องหนัง และเครื่องเดินทาง รวมถึงเครื่องกีฬาชั้นนำของสหรัฐฯ ได้แก่ Coach, Michael Kors และ Under Armor นั้น ทั้ง 3 รายมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าที่ผลิตในไทย และมีแผนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เพื่อผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ หากไทยได้รับจีเอสพีสินค้าดังกล่าวจากสหรัฐฯ โดยไทยได้หารือกับยูเอสทีอาร์แล้ว เพื่อขอขยายรายการสินค้าอีก 27 รายการให้ได้รับจีเอสพี ซึ่งภาคเอกชนทั้ง 3 แบรนด์ยืนยันจะช่วยเจรจากับสภาคองเกรส เพื่อให้ไทยได้รับสิทธิด้วย

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559 

ประชันวิชัน 3 เจ้ากระทรวง ผนึกพลังบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน

บรรยากาศภายในงาน “ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สู่ความยั่งยืน” ดำเนินไปอย่างชื่นมื่น โดยมีแม่งานอย่างสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเกษตรกรอย่างยั่งยืน” ระหว่าง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) และ สภาเกษตรกรแห่งชาติ รวมถึงการรับมอบแผนที่น้ำระดับตำบล 150 ตำบลของ สสนก.ให้แก่สภาเกษตรแห่งชาติ

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ ได้เห็น 3 ผู้นำกระทรวงใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเปิดวิสัยทัศน์เรื่องการบริหารจัดการน้ำได้อย่างน่าสนใจ

 เร่งบูรณาการแก้ปัญหาน้ำ

เริ่มจากเจ้าของฉายา “บิ๊กนมชง”พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า กระทรวงเกษตรฯมีความเข้าใจในประเด็นและปัญหาเรื่องน้ำ และเมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง และทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่ซึ่งช่วงนี้ลงพื้นที่ทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรซึ่งทุกครั้งที่จะเกิดความรู้สึกทั้งเจ็บใจ และแค้น ทำไมประเทศไทยถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมประเทศไทยถึงมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่

ทั้งย้ำกับตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมงานหลายร้อยคนด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เล็งเห็นเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดได้มอบหมายให้ตนเองเป็นประธาน จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 6 มิติ อาทิ น้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เป็นต้น ครอบคลุมทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปเมื่อกลางปี 2558 และในวันที่ 20 เมษายน นี้ “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” (กนช.)ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นจะมีการประชุมเรื่องน้ำ

“วันนี้สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องทำ และจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การบูรณาการทำงานร่วมกัน บนฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งงานของกระทรวงเกษตรฯนั้นได้จัดทำแผนที่การทำการเกษตรเชิงรุก จากข้อมูลทั้งหมดจะสามารถระบุแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดว่า พื้นที่ใดไม่เหมาะสมกับการทำเกษตรที่ทำอยู่เดิม และพื้นที่ใดเหมาะสม”

ก่อนให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ภาพรวมของประเทศมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรแบบเดิมอยู่ประมาณ 67% ขณะที่อีก 33% เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำการเกษตร ซึ่งล่าสุดได้นำข้อมูลทั้งหมดมาต่อยอด โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่เจาะลึกลงรายละเอียดเป็นรายจังหวัด และรายอำเภอ พร้อมทางเลือกกรณีพื้นที่นั้นๆไม่เหมาะสมกับการเกษตรแบบเดิม อาทิ ปลูกพืชประเภทอื่นหรือทำปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำระยะ 10 ปี

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่มีอยู่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เราต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำ เกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ที่นอกจากจะมีค่าแรงถูกกว่าของไทยแล้ว ยังมีสินค้าเกษตรที่คล้ายคลึงกันด้วย โดยได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดดำเนินการควบคู่กัน นั่นคือ การทำเกษตรผสมผสาน รวมถึงการนำหลักการแนวทฤษฎีใหม่มาใช้ควบคู่กันด้วย

  ก.ทรัพย์ทุ่มแก้วิกฤติน้ำ1หมื่นล้าน

ด้าน “บิ๊กเต่า”พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เจ้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่าในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯนั้น ได้ชี้แจงกับข้าราชการว่า ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้ชี้นำ ควบคุม สั่งการ ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุน ขณะที่ภาคประชาชนเองต้องมีองค์ความรู้ที่แม่นยำ มีพื้นฐานที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมาและโปร่งใสจึงจะไปด้วยกันได้ ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนหากได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็จะเกิดความเสียหายและไม่เกิดความยั่งยืน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำนั้น รัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้าเรื่องนี้โดยเห็นว่า พล.อ.ฉัตรชัย เป็นรองนายกฯที่ดูแลเรื่องน้ำอยู่แล้ว ซึ่งตนเองได้ส่งอธิบดีกรมน้ำ และอธิบดีกรมบาดาล เข้าหารือกับพล.อ.ฉัตรชัย เป็นประจำ อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำจะเกิดประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยข้อมูลที่แม่นยำ ซึ่งนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงทรัพยากรฯ วันแรก สิ่งที่ทำ คือ ขอข้อมูลเรื่องน้ำมาดู เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปพบว่า แหล่งน้ำบางแหล่งเก็บกักน้ำได้ แต่นำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างยาก เพราะขาดระบบการสูบน้ำและกระจายน้ำ

“เสนอแนะว่า สภาเกษตรกรฯและกระทรวง ต้องร่วมกันออกแบบให้เกิดเป็นรูปธรรม ต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านการทำงานให้เกิดขึ้นให้ได้ ขณะที่รัฐบาลนี้มีระยะเวลาการทำงานอีกระยะเวลาหนึ่ง จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ที่รัฐมนตรีไม่สังกัดพรรคการเมือง ทุกคนสามารถรับเรื่องทุกกระทรวง และสามารถนำไปชี้แจงกับ ครม.ได้ทุกคน โดยปีนี้เฉพาะกระทรวงทรัพยากรฯใช้งบประมาณเรื่องน้ำไปกว่า 1 หมื่นล้านบาท”

พร้อมกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า โดยส่วนตัวอยากเห็นข้อมูลจริงที่สามารถนำมาใช้ได้ ไม่ใช่ข้อมูลจากความรู้สึก อาทิ แล้งมาก แล้งที่สุด ซึ่งแย้งกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่ระบุว่า ไม่แล้ง อย่างไรก็ดี ได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลกลุ่มจังหวัดได้ 18 กลุ่มจังหวัด จากข้อมูลพบว่า จังหวัดนครสวรรค์แล้ง ทั้งๆที่อยู่บริเวณปากน้ำโพ ไม่ใช่ปริมาณน้ำน้อย แต่มีปริมาณการใช้มาก จึงแล้ง ขณะที่อีสานบางพื้นที่ไม่แล้ง เนื่องจากใช้น้ำน้อย ดังนั้น การดำเนินการเรื่องน้ำจึงไม่อาจมองจากความรู้สึก แต่ต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรฯยินดีสนับสนุน สภาเกษตรกรฯ ในเรื่องเหล่านี้ ฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า หลังจากวันนี้ไปจะเดินหน้าและขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปได้อย่างไร

  ย้ำใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ขณะที่ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าความร่วมมือครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ว่า การมีแผนภาพใหญ่ของประเทศเรื่องน้ำ จะต้องเดินไปพร้อมกันกับการปฏิบัติในระดับล่าง ระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งวันนี้มีเครือข่ายที่เป็นต้นแบบอยู่ประมาณ 60 เครือข่ายที่จะเป็นต้นแบบให้กับสังคมได้ พร้อมกระจายลงพื้นที่ได้ 600 หมู่บ้าน

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการบริหารจัดการน้ำแล้ว จากต้นแบบที่เห็นไม่ควรที่จะหยุดอยู่เพียงแค่เรื่องของการบริหารจัดการน้ำ หลังจากนี้ควรมีกิจกรรมที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนได้อีก โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงวิทย์มีหน่วยงานอื่นๆที่จะสนับสนุนงานของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงทรัพยากรฯได้ในมิติอื่นๆ ด้วย มองว่า เรื่องของเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องมองในภาพรวมหรืออยู่ในเศรษฐกิจใหญ่เท่านั้น แต่สามารถทำประโยชน์ให้กับชุมชนได้ นอกจากนี้กระทรวงวิทย์ยินดีที่จะสนับสนุนงานทางการเกษตร สามารถมาเลือกดูงานวิจัยบนหิ้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแปลงนาได้เลย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 24 เมษายน 2559

รัฐเร่งแก้ข้อจำกัดอาเซียน

โดย...ทีมข่าวอาเซียนโพสต์ทูเดย์

นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 จนถึงวันนี้ เกือบ 4 เดือนของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งหลายๆ คนคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมโยงกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทว่าในความเป็นจริงแล้วกลับไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน นอกเสียจากการเชื่อมโยงกันทางเส้นทางคมนาคมขนส่งและการค้าระหว่างประเทศอาเซียนที่ดูจะคึกคักหลังจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 มีมูลค่า 8,965.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกโดยรวมทุกประเทศขยายตัว 0.7% หรือมีมูลค่า 34,704.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าของไทยในอาเซียนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 5,792.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ทำให้การค้าโดยรวมของไทยและอาเซียนลดลง 3.7%

มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงมากทำให้การค้ารวมของไทยกับอาเซียนลดลงจาก 15,303.1ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันเมื่อปี 2558 เป็นมูลค่า 14,758.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 หรือลดลง 3.7%

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลังเข้าสู่เออีซี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนที่เห็นการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ตามภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (ซีแอลเอ็มวี) ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่เติบโตสูง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นศูนย์

สิ่งที่ อัทธ์ มองว่าทุกสิ่งอย่างยังคงเหมือนเดิมนั้น ดูจากระเบียบการค้าชายแดนระหว่างกันที่ยังใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ของแต่ละประเทศเหมือนเดิม ไม่มีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการค้าชายแดน การขนถ่ายสินค้าระหว่างกันยังไม่มีการเชื่อมโยงกัน การขนส่งสินค้าผ่านในแต่ละประเทศก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการผ่านแดนเช่นเดิม

ยกตัวอย่างกรณีการขนส่งสินค้าข้ามแดนที่ด่านเชียงของที่จะต้องผ่านสปป.ลาว เข้าสู่ประเทศจีนนั้น สินค้าจากไทยก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขนถ่ายสินค้าผ่านแดนชายแดนทั้งในส่วนของ สปป.ลาว และจีนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการเจรจากับทาง สปป. ลาว เพื่อให้รวมเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าเดียวกับไทยแล้วก็ตาม

ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้การค้าระหว่างกันติดขัด เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการคุยกันในระดับประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งเห็นว่าไทยจำเป็นที่จะต้องคุยกับเพื่อนบ้านแบบไตรภาคีทั้งในส่วนของไทย-สปป.ลาว-จีน และไทย-เมียนมา-จีน ขณะที่สปป.ลาว และจีนมีการเจรจาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างกันแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสิทธิของเพื่อนบ้านที่จะบริหารจัดการบริเวณชายแดน เช่น สปป.ลาว เปรียบเสมือนทางผ่านสินค้าจากไทยเข้าไปจีน จึงทำให้ต้องมีจุดพักสินค้าเพื่อให้ได้ค่าธรรมเนียมในการขนถ่ายสินค้า ซึ่งจุดนี้เองที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดสำคัญในการสร้างให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง

“เท่าที่มองตอนนี้ หลังเข้าสู่เออีซีไปแล้วก็ยังเหมือนเดิมกับตอนก่อนเข้าสู่เออีซี เพราะแต่ละประเทศยังกั๊กๆ กันอยู่ ยังไม่มีการนั่งโต๊ะเจรจากันอย่างจริงจัง ภาพรวมที่ออกมาเลยดูเหมือนไม่เคลื่อนหรือคืบหน้าไปเท่าที่ควร” อัทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการร่วมมือและเชื่อมโยงกันในอาเซียนน่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากกฎเกณฑ์กติกาการค้าชายแดนที่รัฐบาลแต่ละประเทศเจรจากันและเชื่อว่าจะคลี่คลายและคืบหน้าไปเองตามธรรมชาติ จากการที่ สปป.ลาว และเมียนมามีการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของประเทศตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งคงต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ การที่จีนเข้ามามีบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณด่านการค้าชายแดนของทุกประเทศและในทุกๆ กิจการ ทั้งกิจการโลจิสติกส์ สินค้าเกษตร การท่องเที่ยวและโรงแรม ก็น่าจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนด้วยกันมากขึ้นเช่นกัน

“ตอบยากที่จะบอกว่าจะเห็นการเชื่อมโยงกันของอาเซียนอย่างแท้จริงได้เมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่ที่แต่ละประเทศว่าจะพัฒนาแค่ไหน แต่ก็หวัง (ลึกๆ) ว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ จะเห็นการเปิดกติกาของอาเซียนมากขึ้น โดยเหตุผลที่มั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการลงทุนในซีแอลเอ็มวีที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้กฎกติกาการค้าระหว่างกันเปิดเสรีมากขึ้น ซึ่งเมื่อนั้นก็จะเห็นความร่วมมือและความเชื่อมโยงกันของอาเซียนที่ชัดเจนขึ้น” อัทธ์ กล่าว

ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้คือ การจัดทำมาตรฐานระดับสากล และมาตรฐานระหว่างประเทศในแต่ละกลุ่มสินค้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้สินค้าบางรายการจะลดอัตราภาษีลง แต่มาตรฐานสินค้าในแต่ละประเทศที่ยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้การค้าไม่สะดวกเท่าที่ควร

รวมถึงการจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (เนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์) แบบไร้เอกสาร หรือการใช้เอกสารเพียงชุดเดียวในการดำเนินการ ที่แต่ละประเทศจะต้องจัดทำระบบดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์ ด้วย ซึ่งได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้อีก 10 ปีข้างหน้า หรือ วิชั่น 2016-2025 ไว้แล้ว เพื่อจัดทำกฎระเบียบที่สอดคล้อง และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างชาติอาเซียน

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ แนวนโยบายเขตเศรษฐกิจของแต่ละชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศมีเขตเศรษฐกิจของตัวเอง และกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาอุปสรรคสำคัญในการค้าระหว่างชาติอาเซียนในอนาคต

กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ในส่วนงานของกรมศุลกากร คือ มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกด้านการค้าให้มากที่สุด ซึ่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามงาน โดยเฉพาะเรื่องเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างกัน ที่ลงนามไปแล้ว คือ มาเลเซีย และกัมพูชา ที่กำลังจะลงนามเร็วๆ นี้ คือ ลาว และเมียนมา รวมถึงการจัดตั้งเขตปลอดภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

จับตา8แผนความร่วมมือปี'59

สำหรับการดำเนินการภายในอาเซียนปี 2559 ซึ่ง สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ได้นำเสนอประเด็นสำคัญต่อที่ประชุม AEM Retreat เมื่อต้นเดือน มี.ค. มีจำนวน 8 เรื่องที่จะต้องเร่งผลักดัน

1.อาเซียน เทรด ฟาซิลิเทชั่น เฟรมเวิร์ก หรือเอทีเอฟเอฟ (ASEAN Trade Facilitation Framework : ATFF) มุ่งการดำเนินการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีอยู่ภายใต้อาเซียนครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการขนส่ง ความโปร่งใสของกฎระเบียบ และกระบวนการค้าด้านการค้า การสร้างมาตรฐาน กฎเกณฑ์และความสอดคล้องทางเทคนิค และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

2.อาเซียน ฟู้ด เซฟตี เรกูลาทอรี่ เฟรมเวิร์ก (ASEAN Food Safety Regulatory Framework) ซึ่งจะเป็นเอกสารกรอบแนวทางพื้นฐานร่วมสำหรับสมาชิกอาเซียนในการจัดตั้งระบบกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกันในอาเซียน ซึ่งกรอบนี้จะต้องพิจารณาให้การรับรองร่วมกัน โดยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจด้านสุขภาพและด้านเกษตร โดยขณะนี้คณะกรรมการด้านสาธารณสุขและด้านการเกษตรกำลังจัดทำร่างเอกสาร

3.ดราฟต์ อินสติตูชั่นแนล เฟรมเวิร์ก ออน แอกเซส ทู ไฟแนนซ์ ฟอร์ เอ็มเอสเอ็มอี (Draft Institutional Framework on Access to Finance for MSMEs) กำหนดกรอบการดำเนิน การในการเข้าถึงแหล่งทุนของ MSMEs ของอาเซียน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิสาหกิจขนาดขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2025 (พ.ศ. 2568)

4.การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบด้วย รีพอร์ท ออน สตาร์ทติง อะ บิซิเนส (Report on Strating a Business) มีเป้าหมายหลัก คือการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงระบบการเริ่มต้นธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเอกสารได้ศึกษาภาพรวมการเริ่มต้นธุรกิจของสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ และ ทาริฟฟ์ ไฟน์เดอร์ (Tariff Finder) เป็นฐานข้อมูล เพื่อการค้นหาอัตราภาษีของสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา

5.ดราฟต์ ไกด์ไลน์ ฟอร์ เอสอีแซด ดีเวลอปเมนต์ แอนด์ คอลลาบอเรชั่น (Draft Guidelines for SEZ Development and Collaboration) เป็นเอกสารซึ่งแนวทางเบื้องต้นในการกำหนดนโยบายเรื่อง SEZ ว่าครอบคลุมเรื่องใดบ้าง โดยเป็นกรอบแนวทางกว้างๆ ซึ่งในการดำเนินการต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก

6.ปฏิญญาเวียงจันทน์ เรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการพิจารณา)

7.รางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียน (คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์) และสุดท้าย

8.มาสเตอร์แพลน ฟอร์ ซีแอลเอ็มวี ดีเวลลอปเมนต์ (Master Plan for CLMV Development) รวบรวมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรือซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในกรอบต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภาค และจะนำเสนอต่อรัฐมนนตรีเศรษฐกิจและผู้นำ CLMV ต่อไป http://www.posttoday.com/analysis/report/428304

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 24 เมษายน 2559

ย้ำ!บาทแกร่ง-หุ้นปิดรูด13จุด

รมว.การคลังยันบาทไทยยังมั่นคงสุดฤทธิ์ รับผันผวนบ้างหลังทุนนอกไหลเข้า เหตุเฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่น่าเป็นห่วง ด้านหุ้นไทยปิดลบ 13 จุด รายย่อยซื้อกลุ่มเดียว 2 พันล้านบาท

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้เงินบาทของไทยมีความมั่นคงอย่างมาก มีความผันผวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงยังไม่มีประเด็นอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนัก

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจมีกระแสการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยังไม่มีความชัดเจนด้วยว่าจะดำเนินการเรื่องนี้เมื่อไร เป็นผลทำให้เงินทุนที่มีอยู่ในระบบไหลเข้าไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นหลัก และทำให้ค่าเงินบาทของไทยในเดือนที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น

สำหรับภาพรวมอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2559 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1% แม้ว่าในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาจะมีการขยายตัวติดลบ แต่เป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันเป็นหลัก แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น เงินเฟ้อของไทยก็ขยับตัวขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องเป็นห่วงเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยวันนี้เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน เป็นไปตามตลาดภูมิภาค รวมถึงมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2559 ที่ประกาศออกมา ซึ่งมีตัวเลขหนี้เสียปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่

โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,410.81 จุด ลดลง 13.09 จุด หรือ -0.92% มูลค่าการซื้อขาย 39,488.05 ล้านบาท จุดสูงสุดอยู่ที่ 1,425.76 จุด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 50.30 ล้านบาท กองทุนขายสุทธิ 1,401.83 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 607.38 ล้านบาท และรายย่อยซื้อสุทธิ 2,059.51 ล้านบาท.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 23 เมษายน 2559

พีทีทีจีซียื่นขอบีโอไอ9หมื่นล้าน เร่งลงทุนคลัสเตอร์ปิโตรเคมีดันเพิ่มมูลค่าอ้อย/มัน4แสนล้าน

คลัสเตอร์ปิโตรเคมีเดินหน้า พีทีทีจีซี ประเดิมยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท สนองนโยบายเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล ตามกรอบการลงทุนของภาคเอกชนที่เสนอมา 3.8 แสนล้านบาทภายในระยะ 5 ปี ขณะที่ “ประเสริฐ” ดัน ” Bioeconomy” สร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยและมันสำปะหลังช่วง 10 ปี ลงทุน 4 แสนล้านบาท มีกลุ่มปตท.และมิตรผล รับเป็นเจ้าภาพ

แผนการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีระยะ 5 ปี

แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ที่พยายามเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้น

โดยขณะนี้พบว่า มีนักลงทุนได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอแล้วกว่า 10 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นการลงทุนปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพของกลุ่มบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ได้มีการวางแผนการดำเนินงานไว้แล้ว และเพื่อเป็นการสนองต่อนโยบายของภาครัฐในการเร่งรัดลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ที่บีโอไอจะให้สิทธิประโยชน์สูงสุด หากมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้ จะเปิดดำเนินการภายในปี 2560

ทั้งนี้ การยื่นขอรับการส่งเสริมดังกล่าว ถือว่าอยู่ในกรอบหรือแผนงานที่นักลงทุน ได้มีการหารือเบื้องต้นกับคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปแล้ว ที่จะมีการลงทุนในปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในช่วง 5 ปี(2559-2563) งบลงทุนราว 3.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 2559-2560 ประมาณ 1.26 แสนล้านบาท ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพ 8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน 4.52 หมื่นล้านบาท และเป็นการลงทุนจากปี 2561 เป็นต้นไปอีกประมาณ 2.56 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปิโตรเคมีและพลาสติกชีวภาพ 1.06 แสนล้านบาท และลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานอีก 1.49 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ เนื่องจากคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายามที่จะผลักดันให้มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนให้ได้ทั้งหมดภายในเดือนดังกล่าว เพื่อที่ทางบีโอไอจะได้มีเวลานำเสนอบอร์ดบีโอไออนุมัติการลงทุนและนักลงทุนได้มีเวลาในการวางแผนที่จะเริ่มก่อสร้างโครงการและเปิดให้ทันภายในปี 2560

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด(มหาชน) พีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เปิดเผยว่า ทางคณะทำงานได้รายงานความคืบหน้าในการทำงานให้ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมีในระยะ 5 ปี งบลงทุนประมาณ 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวน่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะส่วนหนึ่งได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานบริการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีองค์กรเฉพาะขึ้นมาดูแลการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวก

ด้านการลงทุนมากยิ่งขึ้นในขณะที่บีโอไอ ก็ได้ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดหากเร่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปีนี้ นอกจากนี้ ทางคณะทำงานฯ พยายามที่จะเร่งผลักดันให้เกิดการสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มจากพืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้วอย่างอ้อยและมันสำปะหลังหรือ Bioeconomy เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการทำงานไว้ 5-10 ปี ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็น 6.5-8.5 หมื่นบาทต่อปี และภายใน 20 ปี จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานชีวภาพมากกว่า 30 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบโดยขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนแล้ว และมีผู้เสนอตัวที่จะมาลงทุน เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และกลุ่มมิตรผล เป็นต้น และคาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนราว 4 แสนล้านบาท เช่น การผลิตเอทานอล ใช้เงินลงทุนราว 2.63 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าประชารัฐ 1.48 แสนล้านบาท สร้างโรงงานผลิตไบโอเคมิคัล หรือไบโอพลาสติก เงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุและวัคซีนขั้นสูง ใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯคลอดแผนเพาะปลูก เน้นใช้น้ำฝนเป็นหลัก-เร่งกักเก็บน้ำเข้า

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและ สหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามรายงานของกรม อุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากร น้ำและการเกษตร คาดว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้นเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

          สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 11,117 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2559 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอใช้ตลอดฤดู รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า นอกจากนี้จะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน

          ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ลบ.ม. ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุดและสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน

          การจัดการน้ำท่าแยกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ 1.4 ล้านไร่ ให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนพื้นที่ดอน 6.2 ล้านไร่ ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

          สำหรับพื้นที่โครงการชลประทาน อื่นๆ ขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) แต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุม จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติกลางเดือนกรกฎาคม ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งฤดูฝนต่างจากภาคอื่น ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

สุพรรณบุรีนำร่องขับเคลื่อนปฏิรูป ประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกรแก้วิกฤติภัยแล้ง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the trainers” เพื่อขับเคลื่อนการประกันภัยพืชผล ครั้งที่ 2 โดย จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง เนื่องจาก จ.สุพรรณบุรี มีพื้นฐานด้านการเกษตรเป็นหลัก มีผลผลิตทั้งข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง แต่ที่ผ่านมาผลผลิตจากข้าวจะมีจำนวนสูงกว่าพืชชนิดอื่นๆ

ดังนั้นการจัดอบรมในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ หลักการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย โดยเฉพาะเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี การรับประกันข้าวนาปี ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง อาทิ เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตลอดจนเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ.ภาค จังหวัด ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกลไกเรื่องอัตราเบี้ยประกันต้องเป็นธรรม การจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม การสร้างผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งซึ่งจะส่งผลให้ระบบประกันภัยเข้าถึงประชาชนและประชาชนทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างแท้จริง

ด้านนายพิภพ บุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จ.สุพรรณบุรี มีโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการคนดีศรีสุพรรณ ตามหลัก 11 ประการ ที่สามารถผลิตคนที่มีความรู้ความเข้าใจ กระทั่งเกิดตำบลคนดีศรีสุพรรณเป็นประจำทุกปี

ดังนั้นจึงเชื่อว่า ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ จะช่วยกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรให้เป็นเอกภาพอย่างเป็นรูปธรรม ใช้ระบบประกันภัยแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรแก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

เร่งพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทานเปิดแผน3ปี3หมื่นล้าน362โครงการ

กรมชลประทานเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง เผยแผน 3 ปีทุ่มงบประมาณกว่า 31,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 362 โครงการ มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1.4 ล้านไร่ มั่นใจช่วยสร้างความสมดุลการใช้น้ำ และเพิ่มความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศ

นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางมากขึ้น เนื่องจากสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีผลกระทบไม่มากนัก และใช้งบประมาณก่อสร้างไม่สูงมาก โดยในงบประมาณปี 2558-2560 มีแผนที่จะดำเนินการทั้งหมด 362 โครงการ แบ่งเป็น โครงการจัดการน้ำชลประทาน 21 โครงการ โครงการจัดการแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 204 โครงการ และ โครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ 137 โครงการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 31,435.82 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ มากกว่า 1.47 ล้านไร่ และสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 877.9 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมทั้งยังจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนอีกด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางในช่วงที่ผ่านมา จะเน้นการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำไว้ค่อนข้างมาก แต่ยังขาดระบบส่งน้ำ ดังนั้นในปี 2559 กรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบส่งน้ำมากขึ้น เพื่อให้น้ำกระจายเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ตลอดจนการอุปโภค-บริโภคให้กับชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมีโครงการระบบส่งน้ำสำคัญๆ เช่น ระบบส่งน้ำคลองโพธิ์ ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ จ.นครสวรรค์ ระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบอ่างเก็บน้ำห้วยผาก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระบบส่งน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง และ ระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มพื้นที่ชลประทานยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญโดยแต่ละปีจะต้องเปิดพื้นที่ชลประทานใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30,000-50,000 ไร่

“ปริมาณน้ำท่าของประเทศไทยแต่ละปีมีค่อนข้างมาก เพียงพอความต้องการใช้น้ำของประเทศ แต่ยังขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำท่าที่มีมากในฤดูฝนไหลทิ้งลงทะเลเป็นส่วนใหญ่ การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ๆ ไม่สมดุลกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนาน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานพยายามที่จะเร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่จะเสร็จภายในปีนี้ มีโครงการที่สำคัญๆ เช่น อ่างเก็บน้ำพระสะทึง จ.สระแก้ว สามารถกักเก็บน้ำได้ 60 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย สามารถกักเก็บน้ำได้ 37.5 ล้านลบ.ม. เป็นต้น ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่สำคัญๆ จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยศอก จ.เลย กักเก็บน้ำได้ 30 ล้านลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วยท่าพล จ.เพชรบูรณ์ กักเก็บน้ำได้ 13 ล้านลบ.ม.” ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทานกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

เกษตรฯคลอดแผนเพาะปลูก l เน้นใช้น้ำฝนเป็นหลัก-เร่งกักเก็บน้ำเข้าเขื่อน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร คาดว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้นเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 11,117 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2559 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอใช้ตลอดฤดู รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า นอกจากนี้จะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดว่า ณ วันที่ 1

 พฤษภาคม ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ลบ.ม. ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุดและสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน

การจัดการน้ำท่าแยกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ 1.4 ล้านไร่ ให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนพื้นที่ดอน 6.2 ล้านไร่ ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ ขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) แต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุม จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติกลางเดือนกรกฎาคม ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งฤดูฝนต่างจากภาคอื่น ให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : วิเคราะห์วางแผนใช้ที่ดินระดับแปลงเกษตรกร

การวิเคราะห์ความเหมาสมด้านกายภาพของพื้นที่ เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินนั้น จะนำข้อมูลต่างๆ ที่กล่าวนำมาวิเคราะห์พิจารณาร่วมกันโดยมีขั้นตอนการวิเคราะห์ในประเด็นหลักที่สำคัญ ดังนี้ ขนาดแปลง สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ความเหมาะสมของพื้นที่ เป้าหมายการผลิต วิถีของเกษตรกร การบริหารจัดการ สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ทั้งนี้การวิเคราะห์กายภาพของดิน นอกจากความเหมาะสมของที่ดินแล้ว การวางแผนใช้ที่ดินรายแปลง หรือการบริหารจัดการแบ่งสัดส่วนแปลงก็มีความสำคัญ ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญว่าสภาพภูมิประเทศเป็นอย่างไร การใช้ที่ดินเหมาะสมกับภูมิอากาศหรือไม่ เช่น บางบริเวณเป็นที่ลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ก็ควรพิจารณาปลูกข้าวเป็นหลัก ขณะที่บางบริเวณเป็นที่ดอนควรที่จะปลูกพืชไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น ในกรณีถ้าเป็นแปลงขนาดเล็ก เกษตรกรควรพิจารณาใช้แนวทางบริหารจัดการดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถพึ่งพาตเองได้เป็นลำดับแรก

โดยทั่วไปเกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินค่อนข้างจำกัดหรือมีน้อยมาก อาจกล่าวได้ว่ามีที่ดินทำกินและเพื่ออยู่อาศัย เฉลี่ยเพียง 10-15 ไร่ เท่านั้น สำหรับเกษตรกรรายใหญ่ อาจวางแผนการเกษตรในเชิงพาณิชย์เพื่อการแข่งขันและส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงการเลือกพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของดินต่อการปลูกพืชและกิจกรรมการเกษตรนั้นๆ เป็นหลัก ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อยมีที่ดินค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมีที่ดินทำกินน้อย ทำให้มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องบริหารจัดการโดยแบ่งที่ดินทำกินออกเป็นส่วนๆ คือ ประการแรกที่ดินทำกิน ควรแบ่งที่ดินสำหรับทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ไม้ผล พืชสวน พืชผัก ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณากิจกรรมใดเป็นหลักประการที่สอง แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นความสำคัญอันดับแรกของการทำการเกษตร ถ้ามีที่ดินอยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน แหล่งน้ำ หรือสระน้ำควรที่จะสามารถเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด หรือหาน้ำมาเติมสระได้ เพื่อใช้ได้ตลอดปี แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่ชลประทานก็มีศักยภาพสูงกว่าสามารถที่จะหาน้ำมาเติมได้ตลอดปี

ดังนั้นจึงควรมีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก กล่าวคือ ขุดสระเอง หรือสร้างแหล่งน้ำเอง หรือถ้ามีแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้แปลงที่ดิน หรือสามารถนำน้ำมาใช้เพาะปลูกพืชได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในด้านน้ำต้นทุนทางการเกษตร นอกจากเรื่องแหล่งน้ำแล้ว ลักษณะของดินก็มีความสำคัญในการพิจารณา ถ้าแปลงของเกษตรกรดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นดินร่วน และดินเหนียว และอยู่ในเขตชลประทาน จะเป็นเขตทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว จะเป็นเขตเกษตรที่มีศักยภาพปานกลางเพราะสามารถปลูกพืชได้เพียงฤดูเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเขตที่ดินมีปัญหาต่างๆ ก็จะต้องเป็นเขตเร่งรัด มีศักยภาพทางการเกษตรต่ำ ต้องมีการจัดการดินทีเหมาะสม และต้องลงทุนปรับปรุงดิน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

กนช.ลุยลงทุนน้ำ ผุด8โครงการใหญ่ 

          - กนช.ไฟเขียวกรมชลฯ เดินหน้าลุยศึกษาโครงการน้ำ "พล.อ.ฉัตรชัย" ปรับแผนเพาะปลูก

          นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แถลงผลการประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช.เห็นชอบในการอนุมัติให้ปรับ แผนเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพิจารณาโครงการผันน้ำ การบรรเทาอุทกภัย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการสำคัญที่ กนช.เร่งรัดดำเนินการ ได้แก่ การประสานกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าไปศึกษาพื้นที่ โครงการผันน้ำหลากลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โครงการระบายน้ำบางบาล-บางไทร โครงการขยายคลองระบายน้ำชัยนา-ป่าสัก-อ่าวไทย โดยพัฒนาศักยภาพคลองระพีพัฒน์ออกทะเลที่อ่าวไทย และโครงการคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวน โดยให้ศึกษาร่วมกับกรมทางหลวง

          ทั้งนี้ มีรายงานว่าโครงการที่เข้าเงื่อนไขมาตรา 44 ในคำสั่งที่ 9/2559 นั้น กรมชลฯ มีประมาณ 8 โครงการ ที่ต้องขอเข้าใช้พื้นที่ของกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อที่จะสามารถประกวดราคาหรือก่อสร้างได้

          นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. แต่ทั้งนี้ขอให้เกษตรกรฟังการประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของกรมอีกครั้งก่อนลงมือเพาะปลูก เพื่อลดความเสี่ยง แต่หลังจากนั้นฝนจะทิ้งช่วงไปถึงเดือน ก.ค. จึงจะเข้าสู่ภาวะฝนปกติ

          ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ไปประชุมใหม่อีกครั้งในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี และออกคำแนะนำให้กับประชาชนรับทราบเพื่อวางแผนในการผลิตต่อไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 เมษายน 2559

คอลัมน์ เกาะติดภัยแล้ง: อุตุฯพยากรณ์พ.ค.ฝนตก 'เกษตร'เล็งปรับแผนเพราะปลูกรองรับ 

           ส่ง11ผู้ตรวจฯลงพื้นที่ 68 จังหวัด ติดตามผล ช่วยเหลือเกษตรกร

          กรมอุตุฯคาดหลังหมดอิทธิพลเอลนีโญ ฝนจะ กลับมาตกตามฤดูกาลราวกลางเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ เร่งนัดประชุมด่วน ปรับแผนรับฤดูฝนที่จะมาเร็วกว่าคาดการณ์เดิมในเดือน ก.ค. พร้อมส่ง 11 ผู้ตรวจฯ ลงพื้นที่สแกนปัญหา-อุปสรรคในการช่วยเหลือเกษตรกร

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 11 คน นำทีมลงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยแล้งในลักษณะ ปูพรมครอบคลุมพื้นที่ 68 จังหวัด 311 อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่อย่างเร่งด่วน

          โดยการลงพื้นที่แต่ละครั้งจะมีการกำหนดแผนงาน เช่นมาตรการภัยแล้ง 8 มาตรการได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไร

          ทั้งนี้ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรคาดการณ์ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค.นี้ โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.-ต้นเดือนก.ค. จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. คาดว่าในช่วง ปลายฤดูฝน อาจมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทย"เกษตร"ปรับแผนพร้อมรับฝนตก

          โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประชุมคณะทำงานฯ ที่มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ  เป็นประธาน เพื่อหารือแนวทางดำเนินการให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศที่จะมีฝนตกในเดือนพ.ค. นี้

          สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้11,117ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กรณีที่ไม่มีฝนตกลงมา ปริมาณน้ำดังกล่าวจะสามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนก.ค. ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี2559เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ มีเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูฝน2559 รวมทั้ง เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ส่ง11ผู้ตรวจตามผลงานสู้ภัยแล้ง

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดการณ์ว่า วันที่ 1 พ.ค. ปริมาณน้ำต้นทุนจาก4เขื่อนหลัก คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้เพียง1,750ล้านลบ.ม.

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่าการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งได้จำแนกพื้นที่เป็น 2 กลุ่มคือ พื้นที่ที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวัง  40จังหวัด132 อำเภอ และอีกกลุ่มหนึ่งคือ พื้นที่เสี่ยงภัยใกล้วิกฤติ  28 จังหวัด 76 อำเภอ โดยกำหนดแผนการแผนการติดตามงานระหว่างวันที่ 19-30 เม.ย.นี้

          ทั้งนี้คณะผู้ตรวจราชการ จะรวบรวมปัญหาความต้องการที่พบในพื้นที่ นำเข้าสู่เวทีการแก้ไขปัญหาระดับชาติ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปอุตุฯเตือนร้อนแตะ44องศา

          ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าอีก 1-2 วัน จากอิทธิพลของมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเคลื่อนมาปกคลุมภาคเหนือ จะส่งผลให้อุณหภูมิลดลง จากนั้นหลังวันที่ 21 เม.ย.เมื่ออิทธิพลดังกล่าวผ่านพ้นไป อุณหภูมิจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือน เม.ย.

          "ผมยังคงยืนยันคำพยากรณ์เดิม คือเอลนีโญ ยังคงมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศ และกำลังจะหมดไปช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยยังคงส่งผลให้มีเมฆน้อย

          ขณะที่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติมีต้นไม้น้อย อุณหภูมิที่สูงจึงยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ ในพื้นที่ จ.ลำปาง อุตรดิตถ์ เลย สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์  และเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิอาจแตะระดับ 43-44 องศาคาดหมดเอลนีโญฝนกลับมาปกติ

          ด้านปริมาณน้ำฝน  ด้วยอิทธิพลของเอลนีโญ ที่ยังคงอยู่จะทำให้ฝนตกน้อย และพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้น ยังไม่เป็นผลดีกับพื้นที่การเกษตรหรือปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อน เนื่องจากลักษณะฝนของพายุฤดูร้อน จะเกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงไม่กระจายพื้นที่เหมือนฝนที่ตกจากลมมรสุม

          ส่วนการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในปีนี้ ยังคงคาดการณ์ว่า หลังหมดอิทธิพลเอลนีโญจะเข้าสู่ฤดูกาลปกติ ประมาณกลางเดือน พ.ค. หรือสัปดาห์ที่ 3  โดยใช้ปรากฏการณ์การก่อตัวของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นสัญญาณแจ้งการเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนการเพาะปลูกของเกษตรกรในการทำนาปรังนั้น คงต้องมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนศภช.เตือน14จังหวัดเสี่ยงพายุ

          ส่วนสถานการณ์พายุฤดูร้อน วันเดียวกันนี้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.) แจ้งว่าในวันที่ 20 - 21 เม.ย. จะเกิดพายุฤดูร้อนในภาคเหนือ บริเวณ จ.พะเยา จ.น่าน จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ร้อยเอ็ด จ.อำนาจเจริญ จ.สุรินทร์ ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี จ.สระบุรี ภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอยู่ในการเฝ้าระวังและติดตามข่าวสาร

          พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)  แสดงความเป็นห่วงวาตภัยที่ทำประชาชนเดือดร้อน พร้อมสั่งหน่วยทหารเข้าดูแลทุกครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทันที ส่งทหารซ่อมบ้านถูกพายุพัด

          ขณะที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแจ้งให้หน่วยทหารในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมกำลังพล เพื่อเข้าคลี่คลายสถานการณ์ในทันทีหาก เกิดเหตุ

          ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหน่วยทหารของกองทัพบกได้เข้าสำรวจความเสียหายและเข้าซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในเบื้องต้นแล้วในหลายพื้นที่เช่น มณฑลทหารทหารบกที่ 37 เข้าช่วยเหลือที่ อ.เมือง อ.พาน อ.แม่สรวย จ.เชียงราย มณฑลทหารทหารบกที่ 32 อ.เกาะคา จ.ลำปาง ส่วนที่ อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี มณฑลทหารทหารบกที่ 22 เข้าช่วยซ่อมแซมบ้าน กรมทหารพรานที่ 23 และ กรมทหารราบที่16 เข้าช่วยดูแล ผู้ประสบวาตภัยใน อ.กัณทรลักณ์ และอ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ

          ส่วนที่อ.อรัญประเทศ และ อ.เมือง จ.สระแก้ว มณฑลทหารบกที่ 19 ได้เข้าดูแลประชาชนแล้วเช่นกัน "ชัยภูมิ"พายุพัดบ้านพัง120หลัง

          ขณะที่ จ.ชัยภูมิ มีรายงานตัวเลขบ้านเรือนราษฎรพังเสียหายหนักเกือบทั้งหลังหนักสุดใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บำเหน็จณรงค์ บ้านเสียหาย 28 หลัง อ.เกษตรสมบูรณ์ เสียหาย 4 หลัง อ.เทพสถิต บ้านเสียหาย 63 หลัง อ.หนองบัวแดง  8 หลัง และอ.ภักดีชุมพล  21 หลัง รวมเบื้องต้นมีบ้านเรือนราษฎรพังเสียหายรวมแล้วไม่น้อยกว่า 120 หลัง

          รวมทั้งในส่วนของตัวเมืองชัยภูมิ บริเวณถนนสายบูรพายาวไปตลอดทั้งสายกว่า 1 กิโลเมตรที่มีบ้านเรือนราษฎร และจวน ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้รับความเสียจากแรงพายุที่ทำให้เสาไฟฟ้าขนาดใหญ่หักล้มลงมาทับรถยนต์และบ้านเรือนเสียหาย "มุกดาหาร"พายุถล่มบ้าน50หลัง

          ด้านนายกิจกรรม เชื้อคำฮด นายก อบต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าเกิดลมพายุพัดถล่มบ้านพังแดง หมู่ 1 บ้านมะนาว หมู่ 2 และ บ้านติ้ว หมู่ 3 ต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร นานกว่า 20 นาทีส่งผลให้บ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหายจำนวนมากจึงประสานฝ่ายปกครอง อำเภอดงหลวงให้นำเจ้าหน้าที่ร่วมเข้าสำรวจตรวจสอบความเสียหาย

          จากการสำรวจเบื้องต้น พบมีบ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย 50 หลังคาเรือน ไฟฟ้าดับทั้งหมู่บ้าน ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ชาวบ้าน ส่วนหนึ่งต้องไปอาศัยพักที่วัดในหมู่บ้านรอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 เมษายน 2559

สมคิดชี้ศก.ไทยเริ่มฟื้นหลังส่งออกดัชนีเชื่อมั่นเพิ่ม

รองนายกฯ "สมคิด" มองเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากสัญญานการส่งออก และดัชนีภาคอุตสาหกรรม พร้อมจับตาเศรษฐกิจจีน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกลุ่ม Innovation & Startup โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจเข้าร่วม โดยได้กล่าวว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยดูได้จากภาคความเชื่อมั่นดัชนีอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการส่งออกที่ปรับตัวขึ้นและอาจเป็นบวกได้ ในเดือนมีนาคม ดังนั้น โครงการที่รัฐบาลมีอยู่ในขณะนี้ และโครงการใหญ่ที่จะมีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์การเมืองด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและไม่อยากให้เศรษฐกิจไทย พึ่งพาการส่งออกมากจนเกินไป โดยเมื่อเศรษฐกิจจีนดีขึ้น การส่งออกในเอเชียก็จะเพิ่มขึ้นตาม ดังนั้น จะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมในภาคธุรกิจการสร้างธุรกิจกลุ่ม Startup ซึ่งได้มอบหมายให้ทางด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นตัวหลักในการสร้างกลุ่ม Startup โดยให้หาวิธีสร้างกลุ่ม Startup ให้แข้มแข็ง พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่เป็นอุปสรรคและปัญหาต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีนด้วย

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 21 เมษายน 2559

4 เขื่อนหลัก น้ำเหลือต่ำกว่า 2,000 ล้านลบ.ม.

4 เขื่อนหลัก น้ำลดลงต่อเนื่อง เหลือต่ำกว่า 2000 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ขณะเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำก้นอ่างใช้แล้ว 29 ล้าน

กรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในเขื่อนหลัก ๆ วันที่ 21 เมษายน 2559 ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 479 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 8% ด้านเขื่อนสิริกิติ์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 998 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 15% ส่วนเขื่อนแควน้อยฯ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 232 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 26% เขื่อนป่าสักฯ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 266 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 28% ถ้ารวมทั้ง 4 เขื่อนเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 1,975 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 11% ในขณะที่เขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาตรน้ำใช้การ -29 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 12% (มีการนำน้ำก้นอ่างออกมาใช้แล้ว 29 ล้านลูกบาศก์เมตร) เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 4%

ทั้งนี้ ปภ. ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 27 จังหวัด 136 อําเภอ 614 ตําบล 4,911 หมู่บ้าน

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 21 เมษายน 2559

ตั้งเขตศก.3จังหวัด ปั้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกรับลงทุนซูเปอร์ไฮเทค 

รัฐบาลไฟเขียว 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รับลงทุนซูเปอร์ไฮเทค

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานของคณะทำงานการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกานต์ ตระกูลฮุน เป็นประธาน ซึ่งนำเสนอแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะนำร่องในพื้นที่ 3 จาก 7 จังหวัดในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

          ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ชื่อการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด ว่า "ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" (Eastern Economic Corridor) โดยหลังจากได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก คบพ.แล้ว ต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) อนุมัติและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

          อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว และสามารถที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาในอนาคต โดยที่ประชุมได้หารือถึงความพร้อมของพื้นที่ ซึ่งจากการประเมินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พบว่าใน 3 จังหวัดมีพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุนได้ประมาณ 2.6 หมื่นไร่ โดยเน้นการดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมซูเปอร์ไฮเทค

          สำหรับแนวทางในการพัฒนานั้น คณะทำงานที่มีนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. และภาคเอกชนประกอบด้วย นายกานต์ ตระกูลฮุน นายคณิศ แสงสุพรรณ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าทีมนั้น ได้นำเสนอว่าจะต้องให้สิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดการลงทุนสูงสุด ซึ่งจะไม่เป็นการทับซ้อนกับสิทธิประโยชน์ในซูเปอร์คลัสเตอร์ ที่สำนักงานบีโอไอประกาศให้ไปก่อนหน้านี้ เพราะบีโอไอให้สิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรม แต่ที่คณะทำงานเสนอต่อ คบพ.และได้รับอนุมัติในหลักการนี้จะเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ กล่าวคือนอกจากให้สิทธิประโยชน์สูงสุดของบีโอไอแล้ว ยังจะมีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ ที่กระทรวงการคลังกำลังเสนอ การปลดล็อกประเด็นที่เป็นอุปสรรคการลงทุน เช่น กรณีของกฎหมายผังเมือง กฎหมายการถือครองหุ้นในกิจการบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมการบิน กิจการเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่ปัจจุบันติดเงื่อนไขว่าต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

          นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาไปถึงว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะต้องมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ชัดเจนทั้งการลงทุนของภาครัฐ และการลงทุน ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการนำโครงการต่างๆ เข้ามาพิจารณาให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนด้วย

          "คณะทำงานเสนอว่าในการบริหารงานและขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกอาจจะต้องมีความจำเป็นที่จะออกกฎหมายเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่นี้โดยเฉพาะ รวมทั้งจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่นี้โดยเฉพาะเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะต้องมีการนำไปพิจารณาต่อไป" นาง อรรชกา กล่าว

          อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ ข้อกฎหมาย แนวทางในการดำเนินการนี้ คณะกรรมการขอเวลา 1 เดือนในการรวบรวมข้อมูลก่อนจะกลับมารายงานต่อที่ประชุมทราบ แต่ในเรื่องนี้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีความชัดเจนในปีนี้ เพื่อให้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออกให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน

          นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ ในคณะกรรมการบริหารการพัฒนา พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กล่าวว่า พื้นที่บริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญที่จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามซูเปอร์คลัสเตอร์ที่มีการส่งเสริมเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ (New-S-Curve) ของประเทศ โดยขณะนี้ในพื้นที่นี้มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ ซูเปอร์คลัสเตอร์อยู่แล้ว 6-10 สาขา ซึ่งต่อไปจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นพิเศษ (High-High Value Added) ซึ่งต้องมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ รวมทั้งการเพิ่มมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติ เช่น การจัดโซนให้นักลงทุนชาติเดียวกันอยู่ใกล้กันเพื่อให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เป็นต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 เมษายน 2559

‘หมอดิน’เดินหน้าแผนโซนนิ่ง พบพื้นที่ไม่เหมาะสม42ล.ไร่-แนะเปลี่ยนการผลิต

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำแผนที่เขตพื้นที่ความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอและระดับจังหวัดรายพืช รวมทั้งจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประกอบการใช้แผนที่และคำแนะนำสำหรับการปลูกพืช ซึ่งการกำหนดพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับประเทศแล้ว และพบว่ามีพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม จำนวน 42 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 32 ของพื้นที่เกษตรกรรมรวม 130 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

สำหรับพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว ควรพิจารณาโดยการศึกษาข้อมูลว่าสามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืช หรือปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินไปเป็นประเภทอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น การปศุสัตว์ การประมง หรือเกษตรผสมผสาน เป็นต้น ซึ่งหากเกษตรกรตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิตหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ทางรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนทางวิชาการ เทคโนโลยีการผลิต ผ่านการฝึกอบรม และสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เช่น กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามที่กำหนดไว้ในมาตรการการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ระดับจังหวัด

นอกจากนี้ หากเกษตรกรตัดสินใจทำการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อย หรือพื้นที่ไม่เหมาะสม หน่วยงานภาครัฐก็ให้การช่วยเหลือในการผลิตตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานเช่นกันเพราะรัฐได้มีนโยบายกำหนดมาตรการสนับสนุน จูงใจ ให้ข้อมูลและคำแนะนำทางวิชาการและเทคโนโลยี แก่เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเป็นความสมัครใจของเกษตรกร ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เอง ไม่เป็นการบังคับแต่อย่างใด โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และความพึงพอใจของเกษตรกร เป็นหลัก แต่ก็จะให้คำแนะนำด้านการปรับปรุงแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของที่ดินและของพื้นที่ ให้มีความเหมาะสมเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการจัดการดินในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2559

แจงสี่เบี้ย : การวางแผนการใช้ที่ดิน ในพื้นที่เกษตรกรรายแปลง

การทำเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ต้องใช้ต้นทุนสูงแต่ได้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดี การใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จึงมีความสำคัญเป็นลำดับแรก กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีภารกิจหลักด้านการกำหนดนโยบายและวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสิ่งที่ต้องทราบลำดับแรกเพื่อวางแผนการใช้ที่ดินรายแปลงของเกษตรกรรายย่อยคือ

1.ที่ตั้งและสภาพพื้นที่ แปลงที่ดินทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนั้น การใช้ที่ดินก็จะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ถ้ามีเนื้อที่น้อยกว่า 20 ไร่ ถือว่าเป็นแปลงเล็ก ถ้า 20-50 ไร่ขึ้นไป ถือเป็นแปลงขนาดกลาง ถ้ามากกว่า 50 ไร่ ถือว่าเป็นแปลงใหญ่ ดังนั้น ถ้ามีพื้นที่ทำกินไม่มากนัก

 เกษตรกรควรพิจารณาการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2.สภาพภูมิอากาศ ต้องทราบว่าแต่ละพื้นที่อยู่ในเขตภูมิอากาศแบบใด มีปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเป็นอย่างไร เพื่อวางแผนการผลิตพืชให้เป็นไปตามสภาพภูมิอากาศด้วย

3.ลักษณะของดินในแปลงเกษตรกรเป็นอย่างไร หรือมีข้อจำกัดต่อการทำเกษตรอย่างไรบ้าง รวมทั้งปัญหาต่างๆ เช่น ดินตื้น ดินปนกรวด ดินที่มีหินโผล่ ดินเค็ม เพื่อแก้ไขปรับปรุงบำรุงดินให้พร้อมปลูกพืช

4.แหล่งน้ำ แปลงทำเกษตรจะต้องมีแหล่งน้ำในการเพาะปลูกเป็นอย่างไร อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝนหรือเขตชลประทาน ถ้าอยู่ในเขตชลประทานจะเป็นพื้นที่เกษตรที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูการเพาะปลูก ถ้าพื้นที่ใดสามารถนำน้ำมาช่วยเสริมในฤดูเพาะปลูกฤดูแล้งได้ก็จะเป็นข้อได้เปรียบ เช่น การเจาะบ่อน้ำตื้น การสูบน้ำใต้ดินมาใช้ และการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น

5.ป่าไม้ ในที่นี้จะพิจารณาถึงป่าชุมชน ทำเลสาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์ประจำชุมชนที่เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้ กล่าวคือ ในบริเวณที่ทำกินของเกษตรกรถ้าอยู่ใกล้ทำเลเลี้ยงสัตว์ หรือป่าชุมชน ก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเสริม หาของป่าหรือใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ได้อีกทาง

6.การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยทั่วไปพืชพรรณหลักที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ก็จะสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตการทำการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ

7.สภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร สภาพเศรษฐกิจสังคมของเกษตรกรจะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ การวางแผนที่ดินทำกินก็ควรพิจารณาวิถีชีวิตของเกษตรกรและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2559

ชี้ปัจจัยภายนอกซัดบาทผันผวน

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางของค่าเงินบาทในปัจจุบันว่า ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในขณะนี้นั้น มาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยล่าสุดเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเคลื่อนไหวที่ราว 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตามบรรยากาศของตลาดที่ดีขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปดัชนีค่าเงินบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกจากค่าเงิน จะเห็นว่าได้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากไปกว่าเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง ขณะที่ค่าความผันผวนเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.5% ก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของภูมิภาคเช่นกัน ทำให้เห็นว่าค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่าง มีเสถียรภาพ

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่ามีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์ สุทธิประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเข้าตลาดหุ้นประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเข้าตลาดพันธบัตรอีกประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น โดยภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน

“ในส่วนของ ธปท.จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2559

รัฐงดส่งน้ำต้นฤดูปลูก ตุนรับแล้ง 

 รัฐคาดปีนี้ฤดูฝนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ไม่สามารถส่งน้ำปลูกข้าวช่วงต้นฤดูได้ เหตุต้องสำรองน้ำรับแล้งปีหน้า

          นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ประเมินว่าสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปีนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นกรมชลประทานจะเร่งกักเก็บน้ำไว้ในอ่าง เพื่อสร้างความมั่นคงและเตรียมพร้อมรับมือสำหรับช่วงฤดูแล้งปีหน้า

          "แม้จะเข้าสู่ช่วงหน้าฝนปกติ แต่กรมชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ในช่วงต้นฤดูได้ และจะรายงานเรื่องนี้ให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พิจารณา ก่อนประกาศให้เกษตรกรเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกใหม่" นายเลิศวิโรจน์ กล่าว

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,010 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และทั้ง 4 เขื่อนยังคงอัตราการระบายสูงสุดไม่เกินวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ ณ วันที่ 1 พ.ค. 2559 ซึ่งเข้าสู่ช่วงการเพาะปลูกจะเหลือน้ำใช้การได้ 1,700 ล้าน ลบ.ม. แต่กรมจะต้องรักษาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคไปถึงเดือน ก.ค. จึงไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้

          "เขตนาลุ่ม 1.4 ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด จะยังทำนาได้ตามปกติ โดยคาดว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศแจ้งการเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. ส่วนนาดอน 6.2 ล้านไร่ คาดว่าจะสามารถทำนาได้ประมาณปลาย มิ.ย. หรือกลาง ก.ค.ไปแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว" นายสุเทพ กล่าว

          ด้าน นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2559 มีโครงการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรได้รับอนุมัติ ส่งเสริมการลงทุน 78 โครงการ มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท และเมื่อโครงการทั้งหมดเปิดดำเนินการ ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากมูลค่าการใช้วัตถุดิบในประเทศ 8.44 หมื่นล้านบาท/ปี

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 20 เมษายน 2559

'ฝนหลวง'ปรับแผนเติมน้ำเขื่อน 

          "กรมฝนหลวง"ปรับแผนปฏิบัติการ 1 พ.ค.นี้ เน้นเติมน้ำ 2 เขื่อนหลัก "ภูมิพล-สิริกิติ์"ช่วยเหลือเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระบุพายุฤดูร้อน ช่วยเสริมการทำฝนเทียม

          หลังจากที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เริ่มเปิดปฏิบัติการทำฝนหลวง ใน 9 พื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นมา และมีการปรับแผนปฏิบัติการไปเมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งส่งผลให้มีความชื้นในอากาศเหมาะสมกับการทำฝนเทียม จึงได้มีการปรับแผนปฏิบัติการอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ค.นี้

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมการฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยวานนี้(19 เม.ย.) หลังเข้าขั้นวิกฤติรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติงานและการปรับแผนต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ว่าผลการปฏิบัติการฝนหลวง ที่เริ่มอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. จนถึง 18 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง  46 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดอัตราความสำเร็จ เท่ากับ 80.6%

          โดยมีการขึ้นปฏิบัติงาน 653 เที่ยวบิน หรือ 924 ชั่วโมง 40 นาที มีปริมาณการใช้สารฝนหลวงแล้ว 557.9 ตัน พลุซิลเวอร์ ไอโอไดด์ จำนวน 35 นัด มีจังหวัดที่มีรายงาน ฝนตกรวม 43 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสม รวม 59.27 ล้าน ลบ.ม.

          อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพอากาศปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกำลังได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็น จากประเทศจีนแผ่ปกคลุม ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าว มีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ตามช่วงของฤดูกาล ที่จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน และอาจมี ปริมาณฝนส่วนหนึ่งไหลเข้าอ่างเก็บน้ำบางแห่ง

          กรมการฝนหลวงฯ จึงจำเป็นต้องปรับแผนปฏิบัติการเพื่อให้การเติมน้ำในอ่างกักเก็บ มีปริมาณน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในขั้นวิกฤติ แม้จะมีปริมาณฝนตกในช่วงนี้บ้าง แต่ปริมาณไม่มากพอ ที่เกษตรกรจะนำไปเพาะปลูกได้ เพราะพื้นดินยังต้องการปริมาณน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื้น

          จากแผนเดิม ที่เริ่มปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อ 1 มี.ค. โดยตั้งศูนย์การบินใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จ.เชียงใหม่ พร้อมเครื่องบิน 2 ลำ 2.จ.นครสวรรค์ พร้อมเครื่องบิน 3 ลำ 3.จ.กาญจนบุรี เครื่องบิน 2 ลำ 4.จ.พิษณุโลก เครื่องบิน 3 ลำ 5.จ.อุดรธานี เครื่องบิน 3 ลำ 6.จ.นครราชสีมา เครื่องบิน 1ลำ 7. จ.จันทบุรี เครื่องบิน 3 ลำ 8.อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เครื่องบิน 3 ลำ และที่ 9.จ.สุราษฎร์ธานี เครื่องบิน 1 ลำ

          มีการปรับแผนการปฏิบัติงาน ไปเมื่อ วันที่ 13 เม.ย. โดยตั้งศูนย์การบินเพิ่ม 2 จังหวัด ที่ขอนแก่น พร้อมเครื่องบิน 2 ลำ และสงขลา เครื่องบิน 1 ลำ เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมาจากนั้นในวันที่ 1 พ.ค.ตามแผนปฏิบัติงานใหม่ จะยุบศูนย์การบินที่จ.นครสวรรค์ แล้วนำฝูงบิน ไปตั้งศูนย์การบินที่ จ.ลพบุรี เพื่อเร่งการเติมน้ำลง เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ที่ยังอยู่ใน ภาวะวิกฤติ

          "ปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ เป็นเพียงให้ความชุ่มชื้นแก่พื้นดินแต่ยังไม่สามารถคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งเกษตรกรในเขตลุ่มเจ้าพระยา ยังคงน่าเป็นห่วง"

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

ขยายผล'แผนที่น้ำตำบล'ดับวิกฤติแล้ง ดันชุมชนวางแผนบริหารจัดการตามแนวพระราชดำริ   

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ "สารสนเทศเพื่อบริหารจัดการน้ำโดยเกษตรกรอย่างยั่งยืน" ทั้งนี้สืบเนื่องจาก คณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการน้ำ การป้องกัน และแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีการเสนอแผนงานโครงการและ มาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจากหน่วยงานของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาในยามวิกฤติ ซึ่งคณะกรรมการได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ พ.ศ.2558-2569 ระยะเวลา 10 ปี 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2.การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิต 3.การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ หน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลรับผิดชอบด้านทรัพยากรน้ำ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ

          ด้าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรได้ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ศึกษาพบว่า มีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

          น้อย ประชาชนมีความเดือดร้อนไม่มาก เพราะได้ปฏิบัติตามแนวพระราชดำริ โดยนำแผนที่น้ำมาวางแผนเพื่อบริหารจัดการน้ำของชุมชน เช่น ชุมชนบ้านหนองปิ้งไก่ จ.กำแพงเพชร ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต จ.ขอนแก่น ชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ ชุมชนศาลาดิน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นแบบอย่างที่สมควรขยายผลสู่ชุมชนอื่นทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนในรูปแบบประชารัฐในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะช่วยขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดความมั่นคง ทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต และด้านเศรษฐกิจชุมชน และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีเอกภาพมากขึ้น

          ในส่วนของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้มอบข้อมูลสารสนเทศแผนที่น้ำระดับตำบล 150 ตำบล ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อนำไปขยายผลในการบริหารจัดการร่วมกันของเกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของสภาเกษตรกรทั่วประเทศ ดังนี้ 1.ลุ่มน้ำชี 15 ชุมชนในจังหวัดชัยภูมิ 2.ลุ่มน้ำปิงตอนบน 9 ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ 3.ลุ่มน้ำสาขาตรัง 15 ชุมชนในจังหวัดตรัง 5 ชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช 4.ลุ่มน้ำน่าน 10 ชุมชนในจังหวัดน่าน 5.ลุ่มน้ำปราจีนบุรี 28 ชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรี 1 ชุมชนในจังหวัดนครนายก 2 ชุมชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา 6.ลุ่มน้ำสาขาอิง 7 ชุมชนในจังหวัดพะเยา 7.ลุ่มน้ำสาขาทะเลน้อย 15 ชุมชนในจังหวัดพัทลุง 8.ลุ่มน้ำสาขาลำเซบาย 14 ชุมชนในจังหวัดยโสธร 2 ชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ 9.ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 8 ชุมชนในจังหวัดสระบุรี 10.ลุ่มน้ำตาปี 7 ชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 11.ลุ่มน้ำสาขาลำเซบก 12 ชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี

          อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ แผนที่น้ำตำบลจะถูกนำไปสู่ชุมชนเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ตามแนวทางของชุมชนที่สามารถจัดการได้สำเร็จ รวมถึงสามารถใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่า จัดการน้ำได้เมื่อน้ำมาก จนน้ำกับชีวิตของเกษตรกรไปด้วยกันได้อย่างพอดีตามแนวพระราชดำริ และสนับสนุนการมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความเข้าใจของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของประเทศ ตลอดจนบูรณาการสั่งงานด้าน การบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาในยามเกิดวิกฤติ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

เตือนโรค-แมลงศัตรูพืชถล่ม‘สละ’ l กรมวิชาการฯแนะเฝ้าระวัง-วิธีแก้ไขปัญหาก่อนเสียหาย

กรมวิชาการเกษตร ประกาศแจ้งเตือนว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงหน้าร้อน โดยบางครั้งมีฝนตก อากาศร้อนชื้น จึงขอให้สวนสละเฝ้าระวังการระบาดของด้วงเจาะผลสละ มักพบในระยะต้นสละออกดอกและติดผล ซึ่งเกษตรกรจะไม่สามารถสังเกตการเข้าทำลายของด้วงเจาะผลสละจากภายนอกได้ จึงควรป้องกันการทำลายโดยการห่อผลสละด้วยถุงผ้ามุ้ง ถุงปุ๋ย หรือถุงพลาสติกที่เคลือบสารคลอร์ไพริฟอส 1% และเริ่มห่อผลสละตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือพ่นด้วยสารพิริมิฟอส-เมทิล 50% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโคลไทอะนิดิน 16% เอสจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นตั้งแต่ผลสละอายุ 6 เดือน จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ทุก 15 วัน

สำหรับโรคที่พบในช่วงนี้ คือ โรคใบจุด และโรคผลเน่า ซึ่งโรคใบจุดจะมีอาการเริ่มแรกเกิดจุดแผลสีเหลืองออนขนาดเท่าหัวเข็มหมุด และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีวงสีเหลืองลอมรอบแผลขยายออกลักษณะคอนขางกลม หากพบโรคเริ่มระบาดให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง อาทิ สารโพรพิโคนาโซล อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน+ไดฟีโนโคนาโซล 20%+12.5% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน

นอกจากนี้ เกษตรกรควรติดตามเฝ้าระวังโรคผลเน่า มักพบโรคในช่วงที่มีความชื้นสูง เปลือกผลสละจะมีสีน้ำตาล เกิดเชื้อราเส้นใยสีขาวหรือขาวอมชมพู โดยเส้นใยจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผลสละ ทำให้เปลือกเปราะ แตก เนื้อด้านในผลสละเน่า และผลร่วง หากเชื้อราเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปล่อยสปอร์แพร่กระจายไปสู่ผลสละทลายอื่นๆ ได้

หากพบการระบาดของโรคผลเน่า ให้เกษตรกรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เก็บเศษซากพืชและผลร่วงใต้ต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และควรตัดแต่งทางใบแก่หมดสภาพที่อยู่ด้านล่างๆ ให้อากาศถ่ายเท เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและความชื้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีมากเกินไป และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง อาทิ สารไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้ง พ่นครั้งแรกก่อนการเก็บเกี่ยวผลสละ 2 เดือน และพ่นครั้งที่ 2 ห่างกัน 7 วัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

ธปท. เผย ค่าเงินบาทแข็งค่า 3% จากต้นปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผย ค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 3% จากต้นปี ระบุมีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์สุทธิประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น จากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยล่าสุดเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเคลื่อนไหวที่ราว 34.80 – 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐตามสภาพของตลาดที่ดีขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปดัชนีค่าเงินบาท จะเห็นว่าได้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากไปกว่าเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งของไทย ขณะที่ความผันผวนเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 ก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์ สุทธิประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเข้าตลาดหุ้นประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าตลาดพันธบัตรอีกประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น โดยภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะนี้สถานการณ์ของตลาดการเงินโลกจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่ในอนาคตก็ไม่ได้มีอะไรที่รับประกันได้ว่าจะไม่มีความผันผวนเกิดขึ้น เพราะหนทางข้างหน้า ทุกคนก็ยังคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องปรับให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังควรต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในส่วนของ ธปท. ก็จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท. ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

ปลายเดือนพ.ค.เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ยังเจอทิ้งช่วงในปลายเดือนมิ.ย. กรมชลฯประเมินกลาง ก.ค. เพาะปลูกได้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน และต้นเดือนกรกฎาคม 2559 จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูฝน จากนั้นจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และคาดว่าในช่วงปลายฤดูฝน อาจมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ในปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 11,117 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนลุ่มเจ้าพระยา มีน้ำประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. หากต่อจากนี้ไปฝนไม่ตกเลย ก็ยังขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำดังกล่าวจะสามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ล้านลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝนที่จะถึงนี้จะให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักไปก่อน โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน ในการจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแยกได้ 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1.4 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนพื้นที่ดอน ที่มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ จากการจำลองสถานการณ์ฝน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา จะมีปริมาณน้ำมากพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

ครม.กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ที่854.25บาท/ตันอ้อย

ที่ประชุม ครม. กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ 854.25 บาท/ตันอ้อย จากเดิม 900 บาท/ตันอ้อย ตามที่ กอน. เสนอ

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ในวันนี้ว่า ที่ประชุมครม.มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 2557/2558 เป็นรายเขต 9 เขต โดยราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราดันอ้อยละ 854.25 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่กำหนดที่ 900 บาท ต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 51.25 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย เท่ากับ 366.11 บาทต่อตันอ้อย ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. เสนอ

ทั้งนี้ ได้กำหนดว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงาน 7,862.39 ล้านบาท จากปริมาณผลผลิตอ้อยจำนวน 105,959,078.45 ตัน ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

อุตฯจับมือ'ผาแดง'ตั้งรง.กำจัดกากขยะ 

          ผาแดงฯผนึกยุโรป-ญี่ปุ่นตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอุตฯ 2 จังหวัด 1.5พันล้าน

          กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือ "ผาแดงฯ" ศึกษาตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่จ.ตาก-ระยอง รองรับขยะปีละ กว่า 8 หมื่นตัน ป้องกันปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตราย เล็งพื้นที่15 จังหวัด ตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่ม

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการลงนาม ความร่วมมือกับ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมที่จ.ตาก และจ.ระยอง ว่าจากที่รัฐบาลเห็นชอบ แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตรายและส่งเสริมการก่อสร้างโรงงานบำบัด กำจัด และรีไซเคิลเพิ่มเติม

          ทั้งนี้ ได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562 กำหนดยุทธศาสตร์รองรับภารกิจตามนโยบายดังกล่าว เพื่อให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบบริหารจัดการได้ไม่น้อยกว่า 90% ภายในระยะเวลา 5 ปี

          ทั้งนี้ เพื่อให้กากอุตสาหกรรมได้มี การจัดการกากเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น ต้องศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม สำหรับการพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการในอนาคตอีก 20-30 ปี  โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับองค์การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและพลังงานใหม่ (NEDO) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม แห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม พบว่า มี 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ลำปาง ลำพูน ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมาขอนแก่น ภาคตะวันออก ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว ภาคกลาง สมุทรสาคร สระบุรี และภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา มีความเหมาะสม ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม

          นายอาสา สารสิน ประธานกรรมการบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจะลงทุนธุรกิจบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจรที่ จ.ตาก และโรงงานรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรมที่ จ.ระยอง บริษัทได้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการกำจัด กากอุตสาหกรรม และรีไซเคิล จากยุโรป และญี่ปุ่น มูลค่าลงทุน 1-1.5 พันล้านบาท โดยผาแดงถือหุ้น 51%

          ทั้งนี้ โรงงานจัดการกากอุตสาหกรรม ครบวงจรที่ จ.ตาก เป็นโรงงานกำจัด กากอุตสาหกรรมที่ครบวงจรแห่งแรกของไทย  จะมีการรีไซเคิล การฝังกลบ และการเผาทำลายกากอุตสาหกรรม รองรับกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกได้ปีละ 3-5 หมื่นตัน โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ตาก บนพื้นที่ 250 ไร่ อยู่ในพื้นที่โรงงาน ถลุงแร่สังกะสีของบริษัท

          ส่วนโรงงานรีไซเคิลที่ จ.ระยอง จะมีพื้นที่ 50 ไร่ สามารถรีไซเคิลฝุ่นจากโรงหลอมเหล็ก (ฝุ่นแดง) และของเสีย ที่มีโลหะและพลาสติกเป็นองค์ประกอบ โดยจะนำมาผ่านกระบวนการที่ใช้อุณหภูมิสูงมากเป็นพิเศษ  รองรับ กากอุตสาหกรรมได้ปีละ 5 หมื่นตัน คาดว่า โรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ จะช่วยจัดการกากอุตสาหกรรมได้ปีละ 8 หมื่นตัน ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า

          "โรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ  และก่อสร้างโรงงานไม่ต่ำกว่า 2 ปี คาดจะเปิดดำเนินงานได้ปี2562 ซึ่งจะช่วยให้ลดปริมาณขยะอุตสาหกรรม และทำให้ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น" นายอาสา กล่าว

          นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรม โรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เร่งผลักดัน ตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ได้ตาม แผนที่วางไว้ 6 แห่ง ใน 6 ภูมิภาค เพื่อรองรับ ขยะอุตสาหกรรมได้ทั่วประเทศ  ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ที่เหลืออีก 3 ภูมิภาค เพื่อตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม

          "ปัญหาที่สำคัญของการตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมก็คือการหาสถานที่ที่เหมาะสม การที่มีผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่แล้วเข้ามาร่วมโครงการก็จะช่วยผลักดันให้การตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทำได้เร็วขึ้น" นายจุลพงษ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ถกสหรัฐปลดล็อกการค้าลงทุน ขอขยายสิทธิGSPเพิ่มช่องทางการส่งออก

รมว.พาณิชย์นำทีมหารือขยายการค้า การลงทุนกับสหรัฐ ครั้งแรกในรอบ 13 ปี ด้านแบรนด์ดังCoach, Tumi, Michael Kors และ Under Armour หนุนไทยขอขยายสิทธิจีเอสพี สินค้าเครื่องเดินทางเพิ่มเติม รองรับแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมาไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2559ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะมีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐระดับรัฐมนตรี(TIFA) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ13 ปี โดยการประชุมจะหารือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือเพื่อขยายการค้าระหว่างกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่ไทยขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐ เพิ่มเติมในสินค้าเครื่องเดินทาง และน้ำมะพร้าว และหารือเรื่องความร่วมมือต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ที่สหรัฐต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อดึงดูดนักลงทุน การจัดสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารแก่ผู้ประกอบการไทยโดยทางด้านสหรัฐ จะมีนายไมเคิล บี ฟรอแมน (Michael B. Froman) หัวหน้าผู้แทนการค้าสหรัฐ(USTR) เป็นตัวแทนในการหารือครั้งนี้

“ที่ผ่านมามีการคุยกันผ่านวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ตลอด และครั้งนี้จะเป็นการหารือกับแบบพบปะหน้ากันครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยจะเป็นการหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นจากเดิม เพราะตอนนี้สหรัฐถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จึงน่าจะมีโอกาสเพิ่มการค้า การลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น”

อีกทั้งจะมีการหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP) เพื่อให้ไทยเข้าใจในเชิงลึกมากขึ้นและจะมีการแจ้งสหรัฐให้รับทราบถึงผลความคืบหน้าการแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เช่น การแก้กฎหมาย การตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลต่อการพิจารณาจัดอันดับของสหรัฐ ที่ได้ประกาศให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามมาตรา 301พิเศษ กฎหมายการค้าสหรัฐ รวมถึงชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของไทยด้านต่างๆ อาทิ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การกำหนดการเลือกตั้ง Ease of Doing Business อาเซียนซิงเกิลวินโดว์ส(ASW) เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะมีการหารือร่วมกับสภาหอการค้าสหรัฐและนักธุรกิจผู้นำเข้ารายใหญ่ของสหรัฐ ในการหาโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะจะพบกับผู้นำเข้าสินค้าเครื่องเดินทาง รายใหญ่ของสหรัฐ เช่น Coach, Tumi, Michael Kors และ Under Armour ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้ไทยขอรับสิทธิGSP เพิ่มเติม เพื่อขยายลู่ทางการลงทุนในไทยร่วมกัน เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมาไทย

ทั้งนี้สหรัฐเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และอาเซียนและรายใหญ่คู่ค้าอันดับ 3 ของไทย และตลาดสหรัฐอยู่ในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ซึ่งในปี 2558 ไทย-สหรัฐ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,922 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 24,058 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 13,864 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกิดดุลการค้าในแง่สินค้า 10,194 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งนี้สหรัฐ ก็ยังมีการส่งออกด้านบริการด้วย สำหรับในปี 2559 ไทยตั้งเป้าขยายการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

ก.เกษตรฯย้ำชัดปิดอ่างเก็บน้ำ เตือนผู้เพาะปลูกเก็บน้ำฝนสำรอง

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศและปริมาณน้ำฝน ว่าขณะนี้น้ำในเขื่อนหลักยังมีปริมาณน้อย กรมชลประทานจะไม่ส่งน้ำ ให้ภาคเกษตรในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงในเดือนพฤษภาคมนี้

ด้าน สุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่าช่วงต้นฤดูฝนต้องเร่งกักเก็บน้ำฝนเพื่อเติมน้ำในเขื่อนให้เกินเกณฑ์ขั้นต่ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้า ดังนั้นเกษตรกร โดยเฉพาะในที่ดอน ที่เตรียมจะทำนาปี ต้องวางแผนให้ดี หากปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนมีเพียงพอ ก็พร้อมจะช่วยเหลือ จึงขอให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกหลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วเพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

"น้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำ เรายืนยันว่าเราไม่สามารถที่จะส่งไปสนับสนุนให้กับเกษตรกรได้นะครับ ดังนั้นในช่วงของการวางแผนการเพาะปลูก ในปีเพาะปลูก 59 นี้ ก็คงจะต้องใช้น้ำฝนเป็นหลักในพื้นที่เพาะปลูกเกือบทุกๆที่เลย ฉะนั้นก็ต้องมาดูว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าฤดูฝนเมื่อไหร่ เราคงจะแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกหลังจากกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง"อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ขณะที่กรมกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ และจะเริ่มตกในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

เกษตรกรเฮ! ปุ๋ยสำหรับปลูก “ข้าว-ปาล์ม-ยาง-ข้าวโพด-มัน” รวม 11 สูตร ลดราคาลง 5-15%  

         “พาณิชย์” เผยผู้ผลิตปุ๋ยเคมียอมปรับลดราคาปุ๋ย 11 สูตรใช้สำหรับปลูกข้าว ปาล์ม ยาง ข้าวโพดและมันสำปะหลังลง 5-15% มีผลทันทีถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 59 โดยปรับลดกระสอบละ 10-30 บาท คาดช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร

                น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยว่า สมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิก 44 บริษัท ครอบคลุมผู้ค้าปุ๋ยเคมีประมาณ 70% ของทั้งประเทศ ได้ยินดีให้ความร่วมมือปรับลดราคาปุ๋ยเคมี (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกพืชเกษตรจำนวน 11 สูตร ถือเป็นการปรับลดราคาลงเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งรับลดราคาตั้งแต่ 5-15% มีผลตั้งแต่บัดนี้ จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2559 โดยราคาที่ปรับลดเป็นราคาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่หากเป็นจังหวัดที่ห่างไกลออกไป ต้องบวกเพิ่มค่าขนส่งตามระยะทาง ไม่เกินกระสอบละ 10-30 บาท

                “การลดราคาครั้งนี้เป็นการปรับลดครั้งที่ 3 หลังจากที่ปรับลดมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ลดลงเฉลี่ยอีกกระสอบ ละ 10-30 บาท หากรวม 2 ครั้งก่อนหน้านี้ จะลดลงถึงกระสอบละ 45-100 บาท ซึ่งถือเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล”

                สำหรับปุ๋ยเคมีทั้ง 11 ชนิด เป็นปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าว 4 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 ปรับลด 30 บาทต่อกระสอบ (50 กิโลกรัม) หรือลดลง 15.03% เหลือกระสอบละ 565 บาท สูตร 16-20-0 ลดลง 10 บาท ต่อกระสอบ หรือลด 8.63% เหลือกระสอบละ 635 บาท สูตร 16-16-8 ลดลง 10 บาท หรือลด 9.52% เหลือกระสอบละ 665 บาท สูตร 16-8-8 ลดลง 10 บาท หรือลดลง 11.57% เหลือกระสอบละ 535 บาท

                ปุ๋ยยางพารา 3 สูตร ได้แก่ สูตร 18-4-5 ลดลงกระสอบละ 10 บาท หรือลดลง 7.89-10.08% เหลือกระสอบละ 525-535 บาท สูตร 14-4-9 ลดลง 10 บาท หรือลด 7.89-10.34% เหลือกระสอบละ 520-525 บาท สูตร 15-7-18 ลดลง 10 บาท หรือลด 7.53-7-89% เหลือกระสอบละ 675-700 บาท

                ปุ๋ยปาล์ม 2 สูตร ได้แก่ สูตร 21-0-0 ลดลงกระสอบละ 10 บาท หรือลด 12.20-12.50% เหลือกระสอบละ 350-360 บาท สูตร 0-0-60 ลด 15 บาท หรือลด 8.02-8.39% เหลือกระสอบละ 655-745 บาท

                ปุ๋ยที่ใช้กับพืชชนิดอื่นๆ ได้แก่ ข้าวโพดและมันสำปะหลัง จำนวน 2 สูตร ได้แก่ สูตร 15-15-15 ลด 10 บาท หรือลด 5.05-6.10% เหลือ กระสอบละ 770-940 บาท และสูตร 18-8-8 ลด 10 บาท หรือลด 8.06% เหลือกระสอบละ 570 บาท

                นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการปรับลดราคาปุ๋ยเคมีลงมาตามต้นทุนที่ลดลง เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนให้กับเกษตรกร และหวังว่าเกษตรกรจะเพาะปลูกให้มีผลผลิตดีขึ้นตามต้นทุนที่ลดลง

                ส่วนปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ยอดขายปุ๋ยเคมีปรับลดลงแล้ว 30% จากเดิมมีการนำเข้าเฉลี่ย 5 ล้านตันต่อปี มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 ล้านตันต่อปี มีมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่มูลค่านำเข้าลดลงมาจากราคาต้นทุนที่ลดลงจากผลกระทบราคาน้ำมัน โดยเชื่อว่าหลังการปรับลดราคา จะทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่ต้องขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศประกอบด้วย เพราะหากยังมีปัญหาภัยแล้งรุนแรง เชื่อว่าความต้องการใช้ปุ๋ยจะยังคงลดลง 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

จับตาเจรจา TIFA ไทย-สหรัฐ ครั้งแรกรอบ 13 ปี

อภิรดี บินถก TIFA กับสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 13 ปี แก้ปมปัญหาการค้า หวังดันยอดส่งออกปี 59 โต 3%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่. 20-22 เมษายนนี้ จะนำคณะเดินทางร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ(TIFA) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 13 ปี ซึ่งจะนำประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือ เพื่อขยายการค้าระหว่างกัน

โดยไทยมีกำหนดจะหารือร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งสหรัฐคงสอบถามถึงความกังวลของไทย เพราะขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเตรียมรวบรวมข้อมูล เพื่อเข้าร่วมการเจรจา โดยคาดว่าจะสรุปผลการหารือเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ทันที่จะมีการประชุมในวันที่ 29 เมษายนนี้

"สหรัฐฯทราบว่าไทยสนใจร่วมการเจรจา TPP ซึ่งการเจรจานี้ก็ไม่ต่างจากการเจรจากรอบอื่นๆ ซึ่งจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีใครได้ 100% หรือเสีย 100% แต่ไทยต้องการจะรู้ว่าสหรัฐฯซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมเจรจาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร"

ในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ไทยจะทำความเข้าใจเรื่องการป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนที่สหรัฐฯจะทบทวนผลการพิจารณาสถานะเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าพิเศษ 301 ประจำปี 2559 หลังจากปีที่ผ่านมาไทยยังถูกจัดอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ทั้งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยมีการแต่งตั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งยังมีการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ กฎหมายสิทธิบัตร แต่สหรัฐกลับไม่ค่อยรับทราบข้อมูลผลการป้องกันและปราบปรามปัญหาการละเมิด

"ในการหารือประเด็นทางการเมืองไม่เกี่ยวกับการค้า ซึ่งไทยจะบริหารงานภายใต้รัฐบาลทหาร แต่การค้ากับการเมืองแยกออกจากกันชัดเจน ไทยคงให้ข้อมูลว่ารัฐบาลชุดนี้มีกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการปฏิรูป มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมที่วางไว้ในปี 2560 แน่นอน"

สำหรับประเด็นที่ไทยจะเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนขยายระบบการขนส่งรถไฟผ่านเส้นทางเมียนมา-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม และเส้นทางรถไฟสายเหนือ-ใต้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนหลายด้าน เช่น การร่วมความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้องค์การการค้าโลก การปรับระบบสู่ระบบอาเซียนซิงเกิลวิลโดว์

ส่วนประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ นางอภิรดีกล่าวว่า ยังต้องติดตามผลของการเลือกตั้งผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงและจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต่างๆหรือไม่ แต่การเลือกตั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าภาพรวมระหว่างกัน ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัว โดยคาดว่าในปีนี้ได้การส่งออกไปยังสหรัฐให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% จากปีที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ไทยเตรียมขอให้สหรัฐฯ พิจารณาขยายการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับน้ำมะพร้าว และสินค้าเรื่องเดินทาง ซึ่งเป็นรายการสินค้านอกเหนือจากที่สหรัฐฯ ได้ให้สิทธิ GSP ต่อเนื่องกับสินค้าไทยไปถึงปี 2017  ซึ่ง ในโอกาสนี้ไทยมีกำหนดจะพบกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ (USCC) และบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าเครื่องหนัง เช่น Coach Tumi ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่สนับสนุนการต่ออายุ GSP สินค้าเครื่องเดินทางของไทย และให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับ 3 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมาประมาณ 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมากกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยยังได้ดุลการค้า

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะไม่มีการหารือในประเด็นการทบทวนสถานะประเทศที่ใช้แรงงานค้ามนุษย์ (Tier) ร่วมกับสหรัฐฯ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯสนองนโยบายคสช.เร่งประเมินประสิทธิภาพการทำงาน   

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 เมษายน 2559 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งสรุปและ รวบรวมข้อมูลการประเมินงานด้านมาตรฐาน การปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะนำเสนอสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ภายในวันที่ 22 เมษายน 2559 นี้ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ในการประเมินการทำงาน ของข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการดังกล่าว เป็นไปตามคำสั่งของ คณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพัฒนา ประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการและสนับสนุน ศักยภาพนักบริหาร

          สำหรับองค์ประกอบในการประเมินงาน ของกระทรวง จะให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายคลัสเตอร์ โครงการ เอสเอ็มอี การเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุน จากการอนุญาตประกอบกิจการในอุตสาหกรรม เป้าหมาย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ อาหาร และยาง เป็นต้น

          ทั้งนี้ การประเมินประสิทธิภาพ แบ่งเป็น การประเมินส่วนราชการและนักบริหาร ระดับสูง โดยการประเมินส่วนราชการนั้น จะเน้นประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นฐาน งานประจำ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การดำเนินงานตาม ยุทธศาสตร์ บูรณาการกับท้องถิ่น มีประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการ และพัฒนานวัตกรรมในการจัดการ รวมถึงมีศักยภาพในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศ เป็นต้น

          ส่วนการประเมินนักบริหารระดับสูง จะเน้นประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหน้าที่หลัก แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วน การบูรณาการงานท้องถิ่น ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามหลักความรู้ความสามารถ และศักยภาพในการเป็นนักบริหารเพื่อพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นต้น

          "ในการประเมินนั้น ปลัดกระทรวงจะประเมิน รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดีทุกกรม ส่วนรัฐมนตรีจะประเมินปลัดกระทรวง โดยการประเมิน การทำงานของข้าราชการกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด เบื้องต้นพบว่า 60-70% อยู่ในระดับมาตรฐาน ขณะที่ 20-30% อยู่ในระดับดี และอีก 10% อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงบางส่วน ซึ่งจะต้องมีการหารือเพื่อยกระดับการทำงานร่วมกัน" นายอาทิตย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

ทำเองได้หายจน: ระดมหมอดินอาสาลงพื้นที่   

          การทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่การเกษตรของตนเอง รวมถึงสภาพภูมิอากาศ ภูมิ ประเทศ และนำเรื่องของความต้องการของพืชเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยดูว่าสภาพพื้นที่นั้น ๆ มีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใดบ้าง และทำการจำแนกออกมาเป็นพื้นที่เหมาะสม

          กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ภายใต้การนำของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งดำเนินโครงการโซนนิ่งเกษตร พร้อมได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด ร่วมบูรณาการกันทำงาน

          และจะเริ่มเดินหน้าลดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร 42 ล้านไร่ หรือประมาณ 32% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 130 ล้านไร่ ตั้งแต่ปีการผลิต 2559 หรือตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยจะทยอยลดพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมลงให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

          แต่ไม่กำหนดระยะเวลาว่าต้องเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะมาตรการที่นำมาใช้จะไม่ใช่มาตรการบังคับ โดยแผนที่ดังกล่าวจะมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของดินและแหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและในอีก 10 ปีข้างหน้าตามแผนการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรรับทราบจะดำเนินการผ่านศูนย์การเรียนรู้ 882 แห่งทั่วประเทศ

          ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรฯ ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ซึ่งเป็นเรื่องของการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยดูว่าสภาพพื้นที่นั้น ๆ มีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใดบ้าง และทำการจำแนกออกมาเป็นพื้นที่

          เหมาะสมมาก (S1) เหมาะสมปานกลาง (S2) เหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N)

          ซึ่งขณะนี้ทางกรมพัฒนาที่ดินได้เร่งให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านทางหมอดินอาสา โดยมีทั้งหมด 82,424 ราย โดยมีหมอดินจังหวัดทั้งหมด 76 ราย หมอดินประจำอำเภอทั้งหมด 896 ราย หมอดินประจำตำบล 7,213 ราย และหมอดินหมู่บ้าน 74,238 ราย

          ณ วันนี้หมอดินอาสาได้ลงไปให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องของการโซนนิ่งเกษตรว่าแปลงเกษตร ของตนเองนั้นเหมาะกับพืช หรือพื้นที่ของตนเองเหมาะกับทำการประมงหรือการปศุสัตว์ และหากเกษตรกรเลือกปลูกพืชตามความเหมาะสมกับแปลงเกษตรฝึกปฎิบัติของตนเองจะสามารถลดต้นทุนได้อย่างมาก.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : ภาวะโลกร้อนและผลกระทบ

คำตอบ ภาวะโลกร้อนเกิดจากอะไร เป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลก และน้ำในมหาสมุทร อย่างต่อเนื่อง เกิดจากการที่มีก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมากเกินไป การเพิ่มขึ้นของก๊าซที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้ฤดูกาลทั่วโลกเปลี่ยนไป และก๊าซที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกไปสู่บรรยากาศ จึงเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกและมหาสมุทรสูงขึ้น

ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอะไร จากเอกสารวิชาการต่างๆ ได้รายงานว่า เป็นปรากฏการณ์ที่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลก เกิดการสะท้อนกลับแบบไม่สมดุลตามธรรมชาติ เพราะก๊าซต่างๆ ที่สะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งอยู่เหนือพื้นผิวโลกขึ้นไปเรียกว่า บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ได้รวมตัวกันเป็นเกราะกำบัง ทำหน้าที่คล้ายกระจกในเรือนกระจก กล่าวคือ ยอมให้ความร้อนผ่านลงมายังพื้นโลกได้ แต่จะกักเก็บความร้อนบางส่วนเอาไว้ มิให้สะท้อนกลับออกไปสู่ชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงขึ้นไป ปัจจุบันเกราะกำบังนี้ ได้มีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้สามารถกักเก็บความร้อนได้มากขึ้น เพราะกลุ่มก๊าซเหล่านี้ จะดูดซับรังสีความร้อนไว้ รังสีความร้อนที่ลงสู่โลกเป็นรังสีคลื่นสั้น ความถี่สูง แต่ตอนสะท้อนกลับเป็นรังสีคลื่นยาว ความถี่ต่ำ ทำให้กลุ่มก๊าซสามารถดูดซับรังสีความร้อนไว้ได้มาก โลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก๊าซเหล่านี้ ได้แก่

1) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซชนิดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุด ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ เป็นตัวการสำคัญที่สุดของปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ เพื่อผลิตไฟฟ้า เกิดจากกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า และกสิกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เชื้อเพลิงจากซากอินทรียวัตถุ เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการเผาป่าไม้ เป็นตัวการทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมในชั้นบรรยากาศมาก เนื่องจากต้นไม้ที่มีชีวิตจะดูดซึม และใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการสังเคราะห์แสง การทำลายต้นไม้แต่ละต้น ก็จะทำลายตัวดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปด้วย

2) ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากการเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิต การเลี้ยงปศุสัตว์ ของเสียจากสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ฯลฯ การทำนาที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การถมขยะ การบำบัดน้ำเสีย การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากอินทรียวัตถุ การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ การทำเหมืองถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

3) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการใช้ปุ๋ยไนเตรทในไร่นา การขยายพื้นที่เพาะปลูก การเผาไหม้ เผาหญ้า การเผาป่ามูลสัตว์ที่ย่อยสลาย และเชื้อเพลิงถ่านหินจากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในขบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมี หรืออุตสาหกรรมพลาสติก เกิดจากการใช้ปุ๋ย การเผาซากพืชหลังการเก็บเกี่ยวการใช้เชื้อเพลิงจากซากอินทรียวัตถุ คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

4) ก๊าซคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน เป็นก๊าซที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในเครื่องทำความเย็นชนิดต่างๆ เป็นก๊าซขับดันในกระป๋องสเปรย์ และเป็นสารผสมทำให้เกิดฟองในการผลิตโฟม เป็นต้น มีผลกระทบรุนแรงต่อบรรยากาศ ทั้งในด้านทำให้โลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และทำลายบรรยากาศโลกจนเกิดรูรั่วในชั้นโอโซน

นอกจากนี้ ยังมีก๊าซไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้แทนคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน ซึ่งถูกห้ามใช้ เนื่องจากทำลายชั้นโอโซน โดยเป็นสารทำความเย็นในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น ใช้เป็นก๊าซขับดันในผลิตภัณฑ์สเปรย์ ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน เป็นผลิตผลพลอยได้ของการหลอมอะลูมิเนียม และใช้ในการผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า มีศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนมาก มีอายุยาว ควรเลิกใช้อย่างเร่งด่วน และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์เป็นก๊าซโพพิแลนต์ ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ ไม่ไวต่อปฏิกิริยา ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลาย นิยมใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่งที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณและรูปแบบการเกิดฝนจะเปลี่ยนแปลงไปผลกระทบที่เกิดจากปรากฏการณ์โลกร้อน ได้แก่ การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญเสียพันธุ์พืชและสัตว์ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

ค่าเงินบาทแข็งค่า ผลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสถานการณ์ค่าเงินบาท จากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประจำวันอังคารที่ 19 เม.ย. 2559 ระบุว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากการปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18 เม.ย.) ที่ระดับ 35.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (9.40 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ 34.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทวันนี้ มาจากดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง 0.6% ส่งผลให้ตลาดมองภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐยังดูไม่ดีขึ้นนัก ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยระบุว่า กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ แต่ภายในสัปดาห์นี้มีสิ่งที่ตลาดจับตามอง ได้แก่ การประชุมของสหภาพยุโรป และตัวเลขการขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2559 

"มิตรผล" จับมือ "ซีพี" ต่อยอดเอทานอล "ยีสต์" กลุ่มธุรกิจอนาคต

การที่ธุรกิจหนึ่งจะฝ่าคลื่นลม เติบโตขึ้นมาได้อย่างมั่นคงจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมกับปีกอันแข็งแกร่งที่จะโบยบินต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว แต่วันนี้ "กลุ่มน้ำตาลมิตรผล" ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วในระดับหนึ่ง ในโอกาสครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งในปีนี้ จากจุดเริ่มต้นเพียงโรงงานน้ำตาลที่กำเนิดจากคนใน "ตระกูลว่องกุศลกิจ" มาถึงวันนี้กำลังก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจ "ไฮเทคโนโลยี" ที่ไปไกลกว่าน้ำตาลที่ให้ความหวาน และมีการจ้างนักบริหารระดับมืออาชีพเข้ามาทำงานอย่างเป็นระบบ

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล ได้ฉายภาพแผนการลงทุน 50,000 ล้าน ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ กลุ่มมิตรผลได้มีการปรับวิชั่นในการบริหารงาน โดยนำเรื่อง New S-curve มาทำก่อนที่รัฐบาล คสช.จะนำมาใช้ โดยเฉพาะเรื่อง Biochemical เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในอีก 10 ปีข้างหน้าของกระทรวงอุตสาหกรรม

5 ปีทุ่ม 5 หมื่นล.แตกไลน์ธุรกิจ

ภาพรวมการลงทุน 50,000 ล้านบาทของกลุ่มมิตรผลระยะ 5 ปี แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจน้ำตาล 28,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 45% ของการลงทุนในกลุ่มมิตรผล 2.กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 15,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22% 3.กลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% 4.กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ 3,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% และ 5.กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ 800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2%

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ที่ผ่านมามีการซื้อโรงงานผลิตไม้ยางพารา STA กรุ๊ปที่หาดใหญ่ด้วยการนำเศษไม้ยางพารามาทำแผ่นปาติเกิลบอร์ด ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และ MDF ล่าสุดมีแผนขยายโรงงานMDF ใหม่อีกแห่งที่ จ.สมุทรสาคร ลงทุน 2,500 ล้านบาททำไม้บางอย่างเดียวขนาด1.5 มิลลิเมตร เป็นเทคโนโลยีใหม่จากเยอรมัน โรงนี้เพิ่งวางแผน ประมาณปี 2017 เริ่มลงมือผลิต

ต่อยอด "ไบโอเบส"

 กลุ่มมิตรผลเริ่มสนใจนำธุรกิจหลักมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยการวิจัยและพัฒนามากว่า 3 ปีแล้ว ด้วยการต่อยอดมาจากส่วนของธุรกิจในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ซึ่งใน 5 ปีมีงบฯลงทุนขยายโรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้า รวมถึงการต่อยอดวิจัยพัฒนาด้าน Biochemical

ล่าสุด "Fodder Yeast" คือ ความสำเร็จก้าวแรกที่เริ่มนำออกมาขายเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

"Fodder Yeast" เป็นยีสต์ที่ได้จากการผลิตเอทานอล ซึ่งตามปกติขั้นตอนการผลิตเอทานอล จะต้องเลี้ยงยีสต์ขึ้นมาเพื่อที่จะเอามากินน้ำตาลที่เหลืออยู่ และเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ หรือโมลาส พอมันหมักเสร็จ ก็ฆ่ามัน แต่วันนี้กลุ่มมิตรผลดึงมันออกมา และทำให้บริสุทธิ์ และกลายเป็นแหล่งโปรตีน 42% ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งโปรตีนในอนาคต ที่สามารถนำไปทดแทนโปรตีนของอาหารสัตว์ทั้งปลาป่น และกากถั่วเหลืองได้ ซึ่งงานวิจัยของมิตรผลถือว่ามาตอบโจทย์หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจปศุสัตว์ หลังจากผู้ประกอบการในวงการปศุสัตว์ต่างประสบปัญหาเรื่องการใช้วัตถุดิบจากปลาป่น ซึ่งถูกผูกโยงไปสู่เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ของสหภาพยุโรป ทำให้ "Fodder Yeast" กลายเป็นพระเอกที่มาตอบสนองให้ผู้ประกอบการปศุสัตว์ได้ในจังหวะที่พอเหมาะพอดี

จับมือซีพีวิจัย "เบต้ากลูแคน"

นอกจากผลสำเร็จของ "Fodder Yeast" แล้ว ล่าสุดได้มีการต่อยอดงานวิจัย โดยนำยีสต์มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ด้วยการแยกเซลล์ออกมา และพบว่ามี เบต้ากลูแคน (Beta Glucan) ประมาณ 7-8% ปัจจุบันเบต้ากลูแคนกิโลกรัมละประมาณ 2,000 บาท โดยเบต้ากลูแคน ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร เป็นทั้งอาหารเสริม เป็นทั้งวิตามินใช้ในการเพิ่มภูมิต้านทานของสัตว์ได้

ล่าสุดได้จับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการทดลองทั้งในสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก ทั้งสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์ยีสต์ดังกล่าวไปให้แล็บของบริษัทซีพี และเบทาโกรร่วมทดสอบด้วยกัน ผลปรากฏว่า สัตว์ทดลองที่กิน "Fodder Yeast" เข้าไป คุณค่าของภูมิคุ้มกัน หรือ Immunology ให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นในทุกแล็บ ทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถขาย Fodder Yeast ในราคาพรีเมี่ยมได้มากกว่าปลาป่นในเกรดเดียวกัน

จากนี้ไปมิตรผลจะเดินหน้าเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี ผสมกันหลายที่ โดยมีการดีไซน์ตัวเครื่องจักร และให้ทางบริษัทฝรั่งเศสเป็นคนออกแบบและก่อสร้าง แต่หลังจากนี้จะดำเนินการเลี้ยงยีสต์ขึ้นมาจริงจัง โดยการให้อากาศ ให้วิตามิน ประมาณ 2 : 1 เพื่อให้ได้เป็นตัวยีสต์ เพียงแต่วันนี้การใช้เทคโนโลยีอาจจะต้องการพันธมิตรต่างชาติที่มีความรู้มากกว่านี้เข้ามาร่วมทุน

ปัจจุบันโรงงานผลิตยีสต์จากเอทานอลมีโรงงานเพียง 1 แห่งที่มิตรภูเขียว จากกำลังผลิตเอทานอล 5 แสนลิตรต่อวัน ผลิตยีสต์ได้ 9,000 ตันต่อปี และปี 2560 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 ตัน เพราะตอนนี้โปรตีนในอาหารสัตว์กำลังเป็นที่ต้องการมาก หลังก่อสร้างขยายกำลังการผลิตที่กาฬสินธุ์เสร็จ จะไปทำโรงแยกยีสต์ที่กาฬสินธุ์ต่อ และอนาคตต่อไปทุกโรงงานที่มีการผลิตเอทานอลสามารถทำโรงแยกยีสต์ได้ในอนาคต

ยีสต์กลุ่มธุรกิจอนาคต

นอกจากนี้กลุ่มมิตรผลอยู่ระหว่างศึกษาผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว ได้แก่ 1.Lactic Acid มุ่งไปสู่ส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง ใช้ในเบียร์ ใช้ในการรักษาเรื่องของค่าความเป็นกรด ด่าง ในปีนี้มีตัวอย่างให้ลูกค้านำไปเริ่มทดลอง ทั้งในไทย และลูกค้าในเอเชียแล้ว 2.เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็น Sugar Alcohol คือ น้ำตาลที่ให้แคลอรีต่ำ รสชาติให้ความหวานเหมือนน้ำตาล คนเป็นเบาหวานกินได้ แต่ความอร่อยสู้น้ำตาลไม่ได้

3.Micro Crystalize Cellulose เป็นวัตถุดิบตัวหนึ่ง ใช้ในอุตสาหกรรมยา และอาหาร ใช้ให้อาหารมีเทกซ์เจอร์ที่ข้นขึ้น ตอนนี้กำลังทำการทดลองแล้ว Micro Crystalize Cellulose เป็นเซลลูโลสที่เกิดขึ้นในชานอ้อย เป็นวัตถุดิบที่ดีที่สุดในการผลิตเซลลูโลสที่มีความบริสุทธิ์สูง ตอนนี้กำลังศึกษาว่า ถ้าเราทำให้ได้เป็น Micro Crystalize Cellulose เป็นผลึกเล็กเลย จะมีคุณสมบัติไปยึดเหนี่ยวโมเลกุลของอาหาร ให้มีความคงตัวมากขึ้น โดยเทรนด์อาหารสุขภาพจะเป็นสินค้าเหล่านี้ รวมถึงการผลิตเอทานอลผลิตเป็นบิวทานอล (Bio-Butanol) เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ดีกว่าเอทานอล รวมถึงการผลิต Modified Starch และการผลิต Bio-Chemical ในอนาคตซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2020 จะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559 

ระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของไทย

ในอดีตเกษตรกรจะเคยชินกับการปล่อยให้น้ำไหลไปตามท้องร่องซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำมาก ยังทำให้หญ้าวัชพืชเกิดขึ้นได้ง่ายตามท้องร่อง ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงได้เข้าส่งเสริมเกษตรกรหันมาใช้ระบบน้ำหยดโคนต้นแทน ไม่เพียงจะช่วยให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ยังช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเงินและเวลาในการกำจัดวัชพืชอีกด้วย

ดังนั้น ในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังจากผลการวิจัยสู่เกษตรกรที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ กรมวิชาการเกษตรจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้มีการเปิดตัวแปลงต้นแบบระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับระบบน้ำหยดในแปลงมันสำปะหลังเป็นแห่งแรกของประเทศ จากที่กรมวิชาการเกษตรได้วางเป้าไว้ ที่จะพัฒนาโมเดลต้นแบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับระบบสูบน้ำระบบให้น้ำพืชแบบประหยัดจำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 6 โมเดล ซึ่งมีทั้งลักษณะการใช้แหล่งน้ำบาดาลการใช้แห่งน้ำผิวดินและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับแนวคิดในการพัฒนาแปลงต้นแบบระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เกิดจากการเดินสายสัมมนาเรื่องความต้องการใช้เครื่องจักรกลเกษตรของเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ 7 ครั้งของกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปจัดทำเป็นแผนแม่บทด้านเกษตรวิศวกรรมให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรในช่วงเดือนธ.ค.58 -ม.ค.59 ที่ผ่านมา ผลจากการเดินสายสัมมนาพบว่าเกษตรกรจากทุกภาคต้องการระบบและอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัดและถูกต้องตามหลักวิชาการของพืชแต่ละชนิดที่ปลูก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตพืช

ภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกษตรกรทั่วประเทศประสบอย่างหนักหน่วงในมาหลายเดือน เป็นภาวะเร่งด่วนที่กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถฝ่าวิกฤติภัยแล้งในปี 2559 ไปได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบการให้น้ำพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถให้น้ำได้แบบประหยัด สอดคล้องกับความต้องการน้ำของพืชแต่ละชนิด ออกแบบเหมาะสมกับแหล่งน้ำและสภาพพื้นที่ที่ปลูก รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณต้นทุนการผลิตที่สามารถหาจุดคุ้มทุนหรือลดต้นทุนและให้ผลตอบแทนได้

 “พื้นที่ไหนไม่มีน้ำผิวดินจำเป็นต้องเจาะบ่อบาดาลแต่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง การเดินสายไฟฟ้าไปยังแปลงปลูกต้องใช้เงินทุนสูงดังนั้นควรนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้สูบน้ำมาเก็บไว้ในตุ่มสำรองพักน้ำ แล้วต่อท่อจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบน้ำหยด พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 120,000 บาท สามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี เพราะการให้น้ำแบบนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไร่ละ 3 ตัน เป็น 6-8 ตัน” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า แปลงของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) กาฬสินธุ์นับเป็นแห่งแรกของโครงการดังกล่าวที่กรมวิชาการเกษตรได้ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในแปลงของตนเอง เพื่อบริหารจัดการน้ำในหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ

สำหรับแปลงโมเดลต้นแบบที่ ศวพ. กาฬสินธุ์แห่งนี้ เป็นแปลงที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกแบบโดยระดมความคิดจากวิศวกรและนักวิชาการพืชของกรมวิชาการเกษตร หัวใจสำคัญคือการช่วยให้เกษตรกรก้าวหน้าผ่านภาวะภัยแล้ง โดยวิธีการออกแบบและการแบ่งโซนการให้น้ำที่ถูกต้อง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบที่ติดตั้งได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามศักยภาพของระบบพลังงานแสงอาทิตย์และการเลือกใช้โอ่งเป็นถังพักน้ำเพื่อส่งต่อไปยังแปลงน้ำหยด ด้วยการออกแบบติดตั้งระบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจสำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ที่ต้องการเรียนรู้และนำไปใช้ในแปลงของตน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก และราคาไม่แพง เกษตรกรสามารถหาซื้อมาเป็นเจ้าของได้ง่าย โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสมผสานให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้ต้นทุนต่ำสุด

เป้าหมายของโครงการนี้จะสามารถตอบโจทย์สำคัญของเกษตรกร 2 ประการ คือกรณีสถานการณ์ปกติที่มีน้ำ เกษตรกรต้องใช้น้ำเท่าไหร่เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีที่สุด เกิดผลผลิตสูงสุด และจะจัดการน้ำอย่างไรเพื่อให้สามารถใช้น้ำได้อย่างพอเพียง คุ้มค่า ประหยัดน้ำได้ในขณะเดียวกันกรณีที่มีน้ำจำกัดเช่น เกิดวิกฤติภัยแล้ง เกษตรกรต้องให้น้ำน้อยที่สุดเท่าไหร่หรือประหยัดเพียงไร เพื่อประคับประคองให้พืชที่ปลูกไม่ชะงักการเจริญเติบโตและสามารถข้ามผ่านสภาวะแล้งนั้นไปได้

ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับการติดตั้งระบบน้ำที่กรมวิชาการเกษตรทำเป็นแปลงต้นแบบระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลังที่ ศวพ. กาฬสินธุ์ คือ เราจะสามารถปลูกมันสำหลังให้ผ่านในช่วงหน้าแล้งได้ เนื่องจากแต่เดิมเกษตรกรจะเริ่มปลูกมันในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มันสำปะหลังไม่ต้องการน้ำมากในช่วงเริ่มต้นของการปลูก แต่เมื่อมันสำปะหลังอายุ 3-4 เดือน ซึ่งต้องการใช้น้ำมากแต่เป็นช่วงหมดฤดูฝน ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนในการหาน้ำมาให้มันสำปะหลัง จากปัญหาดังกล่าว ถ้าเราสามารถเลื่อนการปลูกมันสำปะหลังมาปลูกในช่วงก่อนฤดูฝน เช่น ในช่วงสามเดือนแรกของปี โดยมีระบบน้ำหยดช่วยในการเจริญเติบโตช่วงสามเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำไม่มากนัก จะส่งผลให้มันสำปะหลังมีระบบรากที่ดีหัวและใบมีการเจริญเติบโตดี ทำให้สามารถลดปริมาณวัชพืชได้ (เพราะมีใบมันสำปะหลังคลุมแปลง) โดยไม่ต้องใช้ยาและสารเคมีในการกำจัดวัชพืช ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ประหยัดน้ำ ได้ระบบที่เอื้อต่อการให้ปุ๋ยทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และมันสำปะหลังสามารถรับน้ำตลอดฤดูฝนได้อย่างเต็มที่ และสุดท้ายคือจะต้องได้ผลผลิตมันสำปะหลังที่คุ้มทุน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

โมเดลแปลงระบบน้ำหยดแห่งนี้เป็นแปลงต้นแบบให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ซึ่งเน้นการออกแบบที่ง่าย ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัด ซึ่งอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่สามารถมาเรียนรู้และนำโมเดลต้นแบบของกรมวิชาการเกษตรไปประยุกต์ใช้ขยายผลในแปลงของตนต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2559

พาณิชย์บีบผู้ค้าปุ๋ย ลดราคา‘รอบ3’หลังสงกรานต์

พาณิชย์เตรียมเรียกผู้ประกอบการปุ๋ยให้ลดราคาปุ๋ยลงอีก พร้อมใช้โครงการธงฟ้า และ “หนูณิชย์...พาชิม” เข้าช่วยค่าครองชีพประชาชน

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมจะเชิญผู้ประกอบการปุ๋ยมาหารืออีกครั้งในช่วงกลางหรือปลายเดือนเม.ย.นี้ เพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีลงจากเดิมอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่จะมีการเพาะปลูกข้าวในช่วงหลังจากนี้ แต่ก็ยอมรับว่าอาจปรับลดราคาลงได้ไม่มากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ปรับลดราคาลงมาแล้ว 2 ครั้ง รวมถึงกรม จะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้คงราคาปุ๋ยเอาไว้จนถึงปลายปี จากเดิมที่การตรึงราคาจะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.นี้

“กรมจะคุยกับผู้ประกอบการปุ๋ยอีกครั้งหลังจากสงกรานต์ เพื่อหารือการปรับลดราคาปุ๋ยรอบที่ 3 แต่การปรับลดราคาครั้งนี้อาจลดได้ไม่มากนัก แต่จะมีการขอตรึงราคาปุ๋ยไว้จนถึงปลายปี”

ส่วนการปรับลดราคายางรถยนต์ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม อีกทั้งตอนนี้ราคายางพารา และราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้นมาบ้างแล้ว และเบื้องต้นในตอนนี้ทราบว่า ผู้ประกอบการก็มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ส่งเสริมการขายอยู่บ้าง

ทั้งนี้ กรม ยังได้เตรียมจัดงานธงฟ้า รถธงฟ้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง ซึ่งจะเป็นการช่วยดูแลค่าครองชีพของเกษตรกรอีกทาง รวมถึงจะมีการจัดงานธงฟ้าครั้งใหญ่ในเดือนส.ค. 2559 นี้ เพื่อช่วยดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงในการดูแลค่าครองชีพยังโครงการหนูณิชย์...พาชิมที่กรมฯ จะขยายร้านหนูณิชย์ให้ได้ 10,000 ร้านในเดือนพ.ค. 2559 นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนทั่วๆ ไปได้เลือกซื้ออาหารในราคาประหยัดอีกทั้งในเดือนมิ.ย.จะมีการจัดงาน อิ่มท้องทั่วไทย ไปกับหนูณิชย์ เพื่อเป็นการยกระดับ และโปรโมทร้านหนูณิชย์

นอกจากนี้กรมยังมีแผนนำตลาดต่างๆ ที่กรมได้เปิดโครงการตลาดต้องชมเข้ามาไว้ในงานธงฟ้า เพื่อเป็นการโปรโมทตลาดต้องชมให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดเงินหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้เปิดตลาดต้องชมไปแล้ว 30 กว่าแห่ง และในสิ้นเดือนเม.ย.นี้จะเปิดได้ 42 แห่งและภายในปี 2559 นี้จะสามารถเปิดตลาดต้องชมได้ถึง 77 แห่ง อีกทั้งยังตั้งเป้าขยายตลาดให้ได้ปีละ 77 แห่ง รวม 3 ปี จะมีตลาดถึง 231 แห่ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

อุตฯส่งผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตชิงเลขาฯเอพีโอคนใหม่

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้เสนอ นายสันติ กนกธนาพร ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (เอพีโอ) เนื่องจากเลขธิการเอพีโอคนปัจจุบันคือ นายมาริ อมาโนะ จะหมดวาระในเดือนกันยายน 2559 ทั้งนี้กคัดเลือกเลขาธอการเอพีโอคนใหม่จะมีการคัดเลือกระหว่างวันที่ 19-20 เมษายน 2559 ในการประชุมใหญ่ของเอพีโอ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยเอพีโอเป็นองค์การพัฒนาระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการรวมตัวขององค์กรและหน่วยงานเพิ่มผลผลิตของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2504 (ค.ศ.1961) สำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์ช่วยขับเคลื่อนผลผลิตของประเทศในเอเชีย ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น และแข่งขันได้กับภูมิภาคต่างๆของโลก มีสมาชิกจำนวน 20 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิหร่าน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา

“ที่ผ่านมาเอพีโอได้ประกาศแจ้งให้ประเทศสมาชิกเสนอผู้แทนเพื่อสมัครเข้าคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนใหม่วาระ 3 ปี ซึ่งช่วงแรกประเทศญี่ปุ่นได้เสนอชื่อนายอมาโนะ เข้าชิงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แต่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 นาย Keizo Takewaka รองอธิบดีสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ได้มาเข้าพบหารือกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนที่จะเดินทางไปร่วมประชุมเอพีโอ ที่กรุงจากาตาร์ อินโดนีเซีย พร้อมแจ้งว่าญี่ปุ่นจะไม่ส่งตัวแทนลงสมัคร และเห็นว่าเอพีโอซึ่งเป็นองค์กรสำคัญแต่บทบาทลดลงในช่วงหลายปี ดังนั้นเห็นควรปรับปรุงให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”นายอาทิตย์กล่าวและว่าหากนายสันติได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการเอพีโอคนใหม่ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีภูมิภาค และสร้างเครือข่ายการส่งเสริมพัฒนาร่วมกันของสมาชิก 20 ประเทศ สนับสนุนการพัฒนาไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : เร่งขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรฯสู่การปฏิบัติ

จากนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ที่มีนโยบายขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยอยู่ 6 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่การทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและธนาคารสินค้าเกษตร ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อให้นโยบายต่างๆ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีอยู่ 6 เรื่อง ได้ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งทุกนโยบายได้มีการขับเคลื่อนมาเป็นลำดับ แต่เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงแนวทางในการปฏิบัติงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และ Single Command หรือ SC ทุกจังหวัดอีกครั้ง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรไทยภายใน 6 เดือนต่อจากนี้

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำ เรื่องบทบาทของ Single Commandว่ามีหน้าที่อำนวยการให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ได้บูรณาการขับเคลื่อนภารกิจไปในทิศทางเดียวกันภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่แยกหน่วยงานเหมือนที่ผ่านมา ประการต่อมาคือ การลดต้นทุนเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ไม่ใช่แค่ลดต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ถูกลงเพียงเท่านั้น ต้องเพิ่มผลผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ โดยการใช้เทคโนโลยีการเกษตร การบริหารจัดการที่ดีและมีตลาดนำการผลิต

ส่วนเรื่องการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ อาศัยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ได้แก่ เกษตรกรในพื้นที่ หน่วยงานราชการคือกระทรวงเกษตรฯ และ SC รวมถึงภาคเอกชน คือ หอการค้าร่วมกับพาณิชย์จังหวัด หรือหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการตลาดในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มอำนาจต่อรองรวมถึงมีการเชื่อมโยงตลาด โดยเฉพาะจะยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการรับรองมาตรฐาน GAP และก้าวเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 ศูนย์ จะต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยให้กรมต่างๆ ร่วมบูรณาการในศูนย์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้จัดฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกรกว่า 200,000 ราย จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พอดีกับช่วงฤดูกาลผลิตใหม่ ถ้าเกษตรกรได้นำ

 ความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมีโอกาสเสี่ยงสูง

 ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสานมาใช้ เช่น ปลูกพืชแซมสวนยาง จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และอาชีพที่มั่นคงขึ้น

นางสาวจริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประการที่สำคัญคือ ต่อไปจะมีการใช้แผนที่การเกษตร (Agri Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกของทุกจังหวัด ซึ่งแผนที่การเกษตรนี้จะมีรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ทั้งแผนที่ชุดดิน แผนที่แหล่งน้ำ ระบบโลจิสติกส์ และข้อมูลเชิงเศรษฐกิจต่างๆ ของจังหวัดนั้นๆ ในส่วนของ สศก. รับผิดชอบด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เหมาะสม ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณผลผลิต ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม รวมถึงระบบโลจิสติกส์ ข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ เป็นต้น

โดยข้อมูลเหล่านี้ ทาง สศก.ได้มีการศึกษาวิเคราะห์รวบรวมไว้ทั้งหมดแล้ว สามารถนำไปบูรณาการกับข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที ซึ่งแผนที่การเกษตรจะต้องเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 77 จังหวัด ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตรให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ที่สำคัญสอดคล้องความต้องการของตลาดมากขึ้น ก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

ชี้ช่องบุกตลาดเออีซียุคดิจิทัล

                    ในปี 2016 นี้ เป็นปีที่คาดว่าจะเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนสำคัญของชาติอาเซียน ที่มีไทยเป็นสมาชิก โดยเฉพาะการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งเป็นหลักกิโลเมตรสำคัญของการไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคครั้งยิ่งใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ของบรรดาชาติอาเซียนทั้งหมด จะเติบโตไปอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภูมิภาคนี้รวมกันทุกชาติมีศักยภาพพอที่จะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2030

                    นายนิค ลิม รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียเซาท์ บริษัทซีเอ เทคโนโลยี กล่าวว่า นอกเหนือจากข้อตกลงด้านการค้าเสรีที่มีแล้ว ผลของการรวมเศรษฐกิจในระดับลึกขึ้นจะช่วยเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น และมีจำนวนผู้บริโภคมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งทิศทางใหม่ๆ ของโลกดิจิทัลอย่าง บิ๊กดาต้า Internet of Things คอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ โซเชียลมีเดีย และโมไบลอินเทอร์เน็ต กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิงรวมทั้งกำหนดขอบเขต ของแต่ละบริษัทองค์กรธุรกิจได้ยากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีของระบบดิจิทัลทั้งหมดนี้มีศักยภาพที่จะสร้าง และผลักดันการเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจสำหรับชาติต่างๆ ในเออีซีอย่างมากมาย

ระบบโมไบล์ คือตัวเร่งสำคัญ

                    ทุกวันนี้โลกกำลังบ่ายหน้าไปสู่เทคโนโลยีเครือข่ายโมไบล์ความเร็วสูงแบบบรอดแบนด์ และสมาร์ทโฟน โดยเริ่มเห็นผลแล้วในหลายประเทศและหลายตลาด ส่งผลช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถประหยัดต้นทุนและเวลา รวมทั้งเพิ่มคุณภาพของสินค้าและบริการ ที่น่าสนใจก็คือภายในช่วง 4 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจะมี 70% ของผู้คนในโลกของเรา จะใช้งานเทคโนโลยีโมไบล์ระดับสูงและพื้นที่ 90% ของโลกจะครอบคลุมด้วยเครือข่ายบริการอินเทอร์เน็ตโมไบล์แบบบรอดแบนด์ความเร็วสูง โดยตลาดที่เกิดใหม่อย่างชาติประชาคมอาเซียนจะเป็นตัวผลักดันที่สำคัญของการเติบโตนี้

                    ขณะที่กลุ่ม Gen-M หรือ Millennial Generation ได้เติบโตมา และคุ้นเคยกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันและคนกลุ่มนี้จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันต่อไป โดยเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่สำคัญพบว่า ในอนาคตจะมีประชากรมากกว่า 50 ล้านคนจากภูมิภาคอาเซียนจะเข้าสู่ตลาดแรงงานภายในช่วงปี 2010 ถึง 2020

                    นอกจากนี้ ถ้าดูการคาดการณ์ขององค์กรแรงงานสากล (International Labour Organization-ILO) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB), ซึ่งระบุว่า ภายในปี 2025 การรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะเพิ่ม GDPให้สูงขึ้น 7% และแรงงานต่างๆ ในระบบจะเป็นพวกกลุ่ม Gen-M หรือ Millennial Generation ที่เป็นเจเนอเรชั่นแรกของโลกที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริง

ระบบเศรษฐกิจยุคแอพพลิเคชั่น

                    ในโลกปัจจุบันระบบเศรษฐกิจ แอพพลิเคชั่น ได้กลายสภาพเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงทั้งสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค โดยทุกธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ธุรกิจดิจิทัลไม่มากก็น้อย ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกขับเคลื่อนด้วย ระบบโมไบล์และ แอพพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็นการค้าปลีก ข่าวสารข้อมูล โลกบันเทิง การเงินการธนาคาร การศึกษา งานบริการสาธารณะภาครัฐ และการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในทุกวันนี้ก็คือ ลูกค้าแต่ละรายมีแนวโน้มที่จะผ่านประสบการณ์การติดต่อกับแบรนด์ของสินค้าแต่ละอย่าง มีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจผ่านซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น มากกว่าจะได้ติดต่อกับพนักงานที่เป็นบุคคลจริงๆ

                    องค์กรธุรกิจต่างๆ ต่างเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆรวมทั้งการติดต่อสื่อสาร เพื่อเปลี่ยนแปลงแง่มุมธุรกิจสำคัญๆ ของตน ให้มีความพร้อม สำหรับการก้าวสู่ยุคดิจิทัลต่อไป

                    “แอพพลิเคชั่นที่ใช้งานทั้งเดสก์ท็อปและโมไบล์ ได้กลายมาเป็นสมรภูมิใหม่ของการช่วงชิงแบรนด์ลอยัลตี้ ในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้ บริษัทและองค์กรใดที่ ไม่สามารถนำเสนอ ประสบการณ์การใช้งาน แอพพลิเคชั่นที่ดีได้ ก็ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียฐานลูกค้า ไปอย่างน้อย 1 ใน 3 จากที่เคยมี ซึ่งความภักดีต่อแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญและจะทำสำเร็จอยู่เมื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้บริโภค และตัวแปรต่างๆในการใช้งานอย่าง เช่น การโหลดได้เร็ว ฟังก์ชันการใช้งานง่าย มีการยืนยันมั่นใจเรื่องการรักษาความปลอดภัย เรื่องทั้งหมดนี้ต่างมีส่วนสำคัญทั้งสิ้น”

                    ตัวแอพพลิเคชั่นต่างๆ จะเริ่มกลายมาเป็นช่องทางหลักสำหรับผู้บริโภคในการติดต่อกับตัวธุรกิจ และสิ่งที่สร้างความแตกต่างได้สำคัญอย่างแท้จริงก็คือการสร้างแอพพลิเคชั่น ที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการของแต่ละบุคคล มีระบบการรักษาความปลอดภัย ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดีรวมทั้งต้องมีรูปแบบที่สะดวกและใช้งานง่าย

                    ชาติประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่มีช่องทางการเข้าถึงตลาดครองผู้บริโภคกว่า 630 ล้าน รายจะเปิดโอกาส อย่างดีในทางธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ จะส่งผลให้มีการแข่งขันในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากกว่าครึ่งมีอายุน้อยกว่า 30 ปี ที่มีความอดทนน้อยมาก หรือไม่มีความอดทนเลยต่อความล่าช้าหรือเวลาดาวน์ไทม์ของระบบ ในการที่เข้าถึงแต่ละแบรนด์สินค้าผ่านแอพ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2559

เผยต้นทุนการผลิตปี59 แนวโน้มลดลงตามราคาปัจจัยการผลิต

เลขาฯ สศก. เผยต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจปี59 แนวโน้มลดลงตามราคาปัจจัยการผลิต-มาตรการนโยบายรัฐ

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ประมาณการต้นทุนการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญปี 59 (รอบไตรมาส 1/59) ในภาพรวม พบว่า ค่าจ้างค่าแรงในภาคการผลิตเกษตรยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี สารเคมี รวมทั้งค่าเช่าค่าใช้ที่ดิน ค่าจ้างบริการเครื่องจักรกลเตรียมดินและเก็บเกี่ยวเริ่มมีแนวโน้มลดลงบ้างแล้ว

สำหรับสาเหตุที่ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรปี 59 มีแนวโน้มลดลงหลายชนิด นอกจากปัจจัยการผลิตหลายตัวที่มีราคาลดลงแล้ว ยังเกิดจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยเหลือลดภาระต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในหลายมาตรการ เช่น นโยบายที่ขอความร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการลดค่าบริการเครื่องจักลการเกษตรในการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งเรื่อง Motor Pool ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิตลดลง ตลอดจนนโยบายแปลงใหญ่ นโยบายเรื่องลดราคาเมล็ดพันธุ์ และการควบคุมดูแลในเรื่องค่าเช่าที่ดินทางการเกษตร ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.59 โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลเรื่องค่าเช่าที่ดินให้มีความยุติธรรมได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เกษตรกรเองยังได้มีการปรับตัว โดยพยายามที่จะลดต้นทุนของตนเองด้วยการปลูกพืชให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีสารเคมีหรือใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ปุ๋ยอินทรีย์สารอินทรีย์ทดแทน ซึ่งนอกจากลดต้นทุนแล้ว ยังปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภคอีกด้วย

ด้านนายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า จากราคาปัจจัยการผลิตหลายตัวที่ลดลง ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตหลายชนิดมีต้นทุนต่อไร่ลดลงไปด้วย ซึ่งเมื่อแยกตามกลุ่มชนิดพืช พบว่า กลุ่มข้าว (ข้าวนาปี ปี 59) ต้นทุนรวมต่อไร่ ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีการปรับตัวและภาครัฐมีนโยบายช่วยลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตในเรื่องราคาปุ๋ย ราคาค่าบริการเครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยว และดูแลเรื่องค่าเช่าที่ดินทางการเกษตรให้มีความเหมาะสม ประกอบกับราคาปุ๋ยเคมี สารเคมี และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ในขณะที่การพยากรณ์ผลผลิตต่อไร่ช่วงก่อนต้นฤดูการผลิต คาดว่าส่วนผลผลิตต่อไร่จะไม่ต่ำกว่าปีก่อน ถ้าผลกระทบจากภัยแล้งไม่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนต่อหน่วย (ตัน) ของข้าวนาปีปีเพาะปลูกที่จะถึงนี้ ลดลงจากปีก่อน

กลุ่มพืชไร่ ต้นทุนต่อไร่ และต้นทุนต่อหน่วยลดลง ยกเว้นมันสำปะหลังที่ต้นทุนหน่วยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยซึ่งเป็นผลจากช่วงระยะการเติบโตกระทบแล้ง ส่วนกลุ่มถั่วมีต้นทุนต่อไร่ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลง กลุ่มไม้ผล ต้นทุนรวมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว และดูแลรักษาเพิ่มขึ้น ยกเว้น ลองกอง ส้มโอ และส้มเขียวหวานที่ต้นทุนรวมต่อไร่ลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลง จากการที่เกษตรกรขาดความมั่นใจในด้านราคา และปัญหาภัยแล้ง ส่วนต้นทุนต่อหน่วย (ตัน) ลดลงจากปีก่อนทุกชนิด เฉลี่ยลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

กลุ่มไม้ยืนต้น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา มีต้นทุนรวมต่อไร่ลดลงจากปีก่อน จากราคาปัจจัยการผลิตที่ลดลง ในขณะที่ยางพารามีการดูแลรักษาน้อยลงเนื่องจากราคาไม่จูงใจ สำหรับต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากปีก่อน ทั้งปาล์มน้ำมัน และยางพารา และ กลุ่มพืชผัก กล้วยไม้ตัดดอก หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม มันฝรั่ง และกล้วยไม้ตัดดอก มีต้นทุนต่อไร่ลดลง ส่วนต้นทุนต่อหน่วย ก็ลดลง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ราคาปัจจัยการผลิตที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดี

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 เมษายน 2559

วันอนุรักษ์น้ำ

ใกล้เทศกาลสงกรานต์ของคนไทยเข้ามาทุกที ก็ต้องขอย้อนกลับไปพูดถึง วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” กันสักนิด วันนี้ เขาจัดขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และจากวิกฤติภัยแล้งซึ่งเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปีที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศกว่า 84 ล้านบาท เพราะฉะนั้น การตระหนักรู้ และเริ่มต้นอนุรักษ์น้ำ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

ช่วงที่ผ่านมา เราได้ยินอยู่แล้วว่ารัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างประหยัด ขณะเดียวกันเกษตรกร อย่างผู้ปลูกข้าวก็ต้องหาวิธีการปลูกข้าวแบบใหม่ที่ใช้น้ำน้อยลง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำขั้นวิกฤติ

 “ดร.ทิม เพ็ทซินน่า” ประธานบริษัท เฮงเค็ล ประเทศไทย จำกัด ซึ่งได้รับการฝึกอบรมให้เป็นผู้แทนด้านความยั่งยืน และได้ให้ความรู้กับนักเรียนเรื่องการลดการใช้ ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ และในครั้งนี้ เขาได้นำเสนอบทความเรื่อง “ทำให้ทุกวันเป็น…”วันอนุรักษ์น้ำ” ” เพื่อชี้แนะและให้ความรู้กับคนไทย

เขาได้พูดถึงการอนุรักษ์น้ำ สำหรับประชาชนทั่วไปว่า สามารถเริ่มต้นด้วยการตั้งมั่นที่จะเลือกจากทำสิ่งหนึ่งทุกๆ วัน เช่น การใช้เวลาอาบน้ำให้สั้นลง การอาบน้ำ 10 นาทีโดยเฉลี่ย จะใช้น้ำมากกว่า 60 ลิตร ดังนั้น หากคนกรุงเทพฯแต่ละคนลดเวลาในการอาบน้ำแต่ละครั้งให้เหลือเพียง 5 นาที จะสามารถช่วยกันประหยัดน้ำได้ถึง 255 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะเดียวกัน เด็กๆ สามารถช่วยส่งเสริมการประหยัดน้ำ ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกเขาเมื่ออยู่ที่บ้าน พร้อมทั้งโน้มน้าวให้สมาชิกในครอบครัวนำวิถีชีวิตแบบยั่งยืนมาปรับใช้มากขึ้น ปีที่ผ่านมา โครงการผู้แทนด้านความยั่งยืนสำหรับโรงเรียนของเฮงเค็ล ด้วยการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้ความรู้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในเขตกรุงเทพฯ กว่า 470 คน เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน กิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการนี้ คือ การสนับสนุนให้เด็กๆ มีส่วนร่วมกับพ่อแม่พี่น้องในการนำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติจริงภายในบ้านของพวกเขา พวกเขาซ่อมก๊อกน้ำรั่ว ปิดก๊อกน้ำในขณะที่แปรงฟัน และซักผ้าคราวละมากๆเพื่อประหยัดน้ำ เด็กๆเหล่านี้ปรับใช้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันได้เป็นอย่างดี และพวกเขายังแบ่งปันแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้กับครอบครัว ภายในปี 2563 เฮงเค็ลมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงเด็กๆ 200,000 คนทั่วโลก ด้วยความคิดริเริ่มในการให้การศึกษาด้านความยั่งยืน

ส่วนภาคธุรกิจ สามารถอนุรักษ์และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เฮงเค็ลเองเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต ลดการใช้น้ำให้สัมพันธ์กับผลการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี 2548 – 2558 เฮงเค็ลลดการใช้น้ำได้ 58%ต่อตันของปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ รวมทั้งบริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดการใช้น้ำให้น้อยลงอีก โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้น้ำลงให้ได้ถึง 30%ต่อตันของผลิตภัณฑ์ภายในปี 2563 โดยเทียบกับปี 2553

สำหรับโรงงานที่ชลบุรี มีการใช้มิเตอร์ควบคุมการใช้น้ำและสามารถป้องกันการรั่วไหลของน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มองไม่เห็น นอกจากนี้ ยังคงใช้น้ำให้น้อยลงโดยปรับปรุงกระบวนการการผลิตของเราอย่างต่อเนื่อง และยังใช้น้ำรีไซเคิลสำหรับรดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดห้องน้ำ และใช้ในระบบทำความเย็น

“ดร.ทิม” ทิ้งท้ายว่า หากทุกคนดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น เราจะสามารถทำให้คนรุ่นอนาคต มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีบนโลกใบนี้ได้ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่บัดนี้ ด้วยการลดการใช้น้ำ และสนองตอบกับการเรียกร้องของรัฐบาล ที่ขอให้ทุกคนใช้น้ำอย่างฉลาด มุ่งมั่นที่จะใช้น้ำให้น้อยลงและร่วมกันอนุรักษ์น้ำในทุกๆ วัน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 เมษายน 2559

ปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยสร้างแหล่งน้ำในไร่นาช่วยสมาชิกสู้วิกฤติแล้ง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการสนับสนุนเงินกู้ให้กับสหกรณ์แบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อให้สหกรณ์นำไปให้สมาชิกกู้สร้างแหล่งน้ำในไร่นาแบบปลอดดอกเบี้ย ให้มีน้ำอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรในฤดูแล้ง รวมทั้งสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ โดยกรมได้สนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จำนวน 3 ล้านบาท ให้ 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองเรือ จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านฝาง จำกัด สหกรณ์การเกษตรเขาสวนกวาง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรแวงใหญ่ จำกัด นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรจังหวัดขอนแก่น ยังได้สนับสนุนทุนของสหกรณ์เอง เพื่อให้สมาชิกนำไปขุดบ่อบาดาลฟรี จำนวน 5 บ่อ เป็นเงิน 115,000 บาท

นายวิณะโรจน์กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ ยังได้เปิดการสัมมนาการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ เพื่อเป็นการสนองนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในบทบาทหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน และเกษตรกร โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดระดับชั้นสหกรณ์ เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาสหกรณ์แต่ละระดับ ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดระดับความเข้มแข็งสหกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามแผนพัฒนาความเข้มแข็งสหกรณ์ ปี 2559-2560

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 12 เมษายน 2559

ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาบนฐานความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ปัญหาต่าง ๆ ลดลงและเพื่อเป็นกรอบกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างมีเหตุมีผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557-2560ด้วย

ที่ผ่านมาการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้นั้น ยังขาดการบูรณาการ ทั้งนี้จะไม่ดำเนินการเฉพาะภาคการเกษตรเท่านั้น โดยในแผนยุทธศาสตร์ จะประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ย่อยซึ่งยุทธศาสตร์แรก เป็นเรื่องของการเกษตรและชนบท โดยสำนักงาน กปร.ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการทำหน้าที่ประสานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนเพื่อการดำเนินงานดังกล่าวโดยจะมีการต่อยอดอย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่การผลิต แปรรูป ขนส่ง และการตลาด ไปจนถึงการเชื่อมโยงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เนื่องจากเป็นปรัชญาที่สามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานได้ในทุกระดับของทุกกิจการและทุกกิจกรรม เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เรื่องการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่สามารถน้อมนำมาปฏิบัติใช้ได้ครอบคลุมในทุกเรื่องทุกมิติหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนว การดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับภาครัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ซึ่งความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน“ในแผนการกำหนดยุทธศาสตร์ส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความคิดในแนวเดียวกันเพื่อเป็นพื้นฐานร่วมกันในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นธงนำ ในการวางแผนจัดทำโครงการต่าง ๆ และเอื้อต่อการดำเนินงานแบบบูรณาการจากทุกภาคส่วน” รองเลขาธิการ กปร. กล่าว

ทั้งนี้ จะเน้นให้ประชาชนมีกระบวนการคิดเองทำเองบนพื้นฐานของความรู้ พร้อมนำหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการพัฒนาและปฏิบัติ โดยจะต้องพิจารณาความพร้อมและความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นการสั่งการจากข้างบนลงไป ในที่นี้ให้สอดคล้องกับหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การระเบิดจากข้างใน และเป็นการพัฒนาตามลำดับขั้นตอน จากระดับครัวเรือน ไปสู่หมู่บ้าน ชุมชน และประเทศชาติ

“กลไกในการทำงานที่จะใช้มีอยู่ 2-3 ประการ เช่น บัญชีครัวเรือน การลดต้นทุนการผลิต การผลิตเพื่อบริโภค เหลือแบ่งขาย สร้างรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวพระราชดำริ หากชุมชนมีความพร้อม ประชาชนมีความรู้ ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตลอดไป” นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการ กปร. กล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 12 เมษายน 2559

ธนาคารโลกหั่นจีดีพีไทยคาดปีนี้โต2.5%

ธนาคารโลกห่วงวิกฤตเศรษฐกิจจีนพ่วงการเมืองในประเทศทำพิษ กดจีดีพีไทยเติบโตต่ำ ปีนี้โตแค่ 2.5%....

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะเติบโตเพียง 2.5% และในปี 2560 จีดีพีจะขยายตัว 2.6% ลดลงกว่าในปี 2558 ที่เศรษฐกิจเติบโต 2.8%

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำคือ หากเศรษฐกิจจีนหดตัว จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดในด้านการค้าและการเงิน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าที่มีสัดส่วนถึง 12 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และลงทุนทางตรงคิดเป็น 8% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของไทย

นอกจากนี้ หากการปฏิรูปทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ มีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะรุนแรงขึ้นและอาจนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนนหน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ และมีผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน

 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่รวมจีนด้วย ลงมาอยู่ที่ 6.3% ในปีนี้ และลดลงอีกเหลือ 6.2% ในปีหน้า หลังจากเคยคาดการณ์เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะเติบโตที่ 6.4% ในปีนี้ และ 6.3% ในปีหน้า

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 12 เมษายน 2559

เปลี่ยนวิถี!!จากเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงาน สู่การปลูกขายท่อนพันธุ์ ได้ราคาดีกว่าเท่าตัว

ตัวอย่างเกษตรกรที่เลือกใช้อ้อยสายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากให้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้คุ้มค่ากับทุนและแรงที่ลงไปแล้ว สายพันธุ์ที่ดีก็ยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอีกด้วย อย่างคุณสรวิชญ์ ศรีพิมานวัฒน บ้านเลขที่ 381 หมู่ 13 ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี (โทร 08-1858-9961) จากที่ทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลมานานปี ได้เปลี่ยนวิถีมาเป็นปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายพันธุ์ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิมกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

“ก่อนหน้านี้ปลูกอ้อยส่งให้โรงงานเหมือนเกษตรกรทั่วไป แต่ทว่าประสบปัญหาเรื่องของผลผลิตตกต่ำ ทั้งเปอร์เซ็นต์ความหวานไม่ได้ตามที่โรงงานต้องการ ตลอดจนบางช่วงมีปัญหาทั้งโรคและแมลงรบกวนด้วย จึงได้เสาะหาอ้อยสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตดีมาปลูกทดแทนพันธุ์เดิม ก็ทำให้มีโอกาสรู้จักกับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จึงได้นำมาทดลองปลูก”

คุณสรวิชญ์บอกว่า เริ่มนำอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 มาปลูกเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ครั้งแรกได้ท่อนพันธุ์มาปลูกเพียง 1 งานเท่านั้น แต่ด้วยเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี จึงขยายท่อนพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันในแปลงปลูกขนาดกว่า 80 ไร่ ได้ใช้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ทั้งหมด จากนั้นก็ได้เปลี่ยนจากจำหน่ายอ้อยให้โรงงานน้ำตาล มาเป็นการจำหน่ายท่อนพันธุ์ให้เกษตรกร เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั่นเอง

“อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ปลูกที่ระยะห่าง 1.8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตตอแรกประมาณ 15 ตัน แต่ตอที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งอ้อยมีขนาดลำใหญ่และสูงกว่าเดิม รวมทั้งแตกกอกันแน่นมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 25 ตัน/ไร่ หลังจากนั้นผลผลิตที่ได้จะค่อยๆ ลดลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลและสภาพของดินด้วย หากดูแลดีก็สามารถปล่อยไว้ได้หลายตอ หากเห็นว่าผลผลิตลดลงจนไม่คุ้มค่า ก็รื้อเพื่อปลูกตอให้อีกครั้ง”

จาก http://www.khaosod.co.th    วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

หาวิธีลดต้นทุนผ่านเทคโนฯ 'ปุ๋ยสั่งตัด'

ท่องโลกเกษตร : สภาวิจัยผนึกเครือข่ายช่วยชาวนาไทย หาวิธีลดต้นทุนผ่านเทคโนฯ 'ปุ๋ยสั่งตัด' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                    เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นอีกทางรอดของเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวที่กลุ่มภาคีเครือข่ายเจ้าพระยา-ป่าสัก ทำสำเร็จมาแล้ว ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) สโมสรโรตารีและมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน โดยมีทีมสุดยอดนักวิชาการด้านปฐพีของเมืองไทย ได้แก่ ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม จากภาควิชาปฐพี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน และแกนนำเครือข่ายลุมเจ้าพระยา-ป่าสัก อย่างผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในพื้นที่นาข้าวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) โดยจัดตั้งเป็นโครงการคลินิกดิน ปุ๋ยสั่งตัด รวมทั้งสิ้น 36 แห่งใน 14 จังหวัดทั่วไทยเพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน แนะนำปุ๋ยและจำหน่ายแม่ปุ๋ยเพื่อแก้ปัญหาทั้งปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพงและการใช้ปุ๋ยผิด

                    “ท่องโลกเกษตร” ตามคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดยรองเลขาธิการรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) “สุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ” ลงพื้นที่จัดเวทีคลินิกดินสรุปบทเรียนการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ณ อบต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี  ทันทีที่ไปถึงบริเวณงานคลาคล่ำไปด้วยเกษตรกรจากทั่วสารทิศที่เป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จัดรวมพลครั้งใหญ่กว่า 300 ราย ทำให้พื้นที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการ อบต.โคกสะอาด แคบไปถนัดตา

                    ต่อมาเวลาประมาณ 09.30 น. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีได้เดินทางมาถึงโดยมีผู้ว่าฯ สระบุรี วิเชียร พุฒิวิญญู กล่าวต้อนรับ จากนั้นสุกัญญากล่าวรายงานการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดในช่วงที่ผ่านมา หลังจากที่ วช.ได้สนับสนุนมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชนดำเนินโครงการคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” มาตั้งแต่ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จังหวัดละ 5 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงราย พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ให้เป็นแหล่งการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) ทั้งการวิเคราะห์ดิน การแนะนำปุ๋ยและการจำหน่ายแม่ปุ๋ยเพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพงและใช้ปุ๋ยผิดและยังเป็นการปฏิรูปการใช้ปุ๋ยโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกรสร้างการเรียนรู้ในการลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ไปแล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง ได้แก่ สระบุรี 5 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 5 แห่ง และเชียงราย 6 แห่ง และทั้ง 16 แห่งสามารถช่วยลดค่าปุ๋ยลงเฉลี่ยร้อยละ 39 ลดยาฆ่าแมลงเฉลี่ยร้อยละ 74 ขณะที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 14

                    จากนั้นประธานในพิธีได้กล่าวเปิดการเสวนา ความตอนหนึ่งว่าปุ๋ยสั่งตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตให้แก่ชาวนา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บูรณาการดำเนินการอย่างเร่งด่วนพร้อมกับการวางกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศในระยะยาว 20 ปี โดยแบ่งยุทธศาสตร์ออกเป็น 12 กลุ่มงานดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำผลงานวิจัยมใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                   “ที่ผ่านมาพี่น้องเกษตรใช้ปุ๋ยแพงรัฐบาลเข้าใจ แต่ก็พยายามหาทางช่วยผ่านทางหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จังหวัด อบต.ต้องมาดูว่าดินของเราที่ผ่านการปลูกพืชมาหลายสิบปีนั้นปัจจุบันมันมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไรในการที่จะปลูกพืชอย่างไร ต้องการที่จะใส่ปุ๋ยส่วนใดมาเพิ่มเติมบ้าง ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ศัตรูพืช แมลงเข้ามากัดกิน เรื่องของผลผลิตทำให้อย่างไรให้เพิ่มขึ้น การนำปุ๋ยสั่งตัดเข้ามาใช้ก็จะช่วยในการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายลงเพิ่มผลผลิตแล้วก็มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของดินมากขึ้น เพราะเรามีคลินิกดิน เรามีปราชญ์ชาวบ้าน เรามีหมอดินที่มีความรู้เข้ามาช่วยดูในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าการเสนาวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น” พล.อ.อ.ประจิน กล่าวย้ำ

                    หลังประธานกล่าวเสร็จก็มีการเปิดเวทีเสวนาผลจากการใช้ปุ๋ยสั่งตัด โดยวิทยากรที่พูดเป็นแกนนำเกษตรกรจากภูมิภาคต่างๆ อาทิ ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสร็ฐ ประธานเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก สนธยา ปรีสุทธิผล เกษตรกรจาก จ.พระนครศรีอยุธยา สมพงศ์ ตานัง เกษตรกรจาก จ.เชียงราย ประสิทธิ แก้วโพธิ์งาม เกษตรกรใน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด โดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน เป็นผู้ดำเนินการเสวนาและยิงคำถามเดียวกันให้ทุกคนตอบถึงวิธีการใช้ปุ๋ยในนาข้าวก่อนและหลังการใช้ปุ๋ยสั่งตัด พร้อมทั้งการสร้างเครือข่ายในชุมชนว่าเป็นอย่างไร

                    สนธยา ปรีสุทธิผล เกษตรกรจาก จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า เดิมใช้ปุ๋ยตามร้านค้าทั่วไปใช้ไปเฉลี่ย 35-45 กิโลกรัมต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต ต่อมาเมื่อมารู้จักคลินิกดินก็เริ่มจากทดลองทำเป็นแปลงเล็กก่อน ไม่กล้าทำแปลงใหญ่เพราะความเคยชินที่ผ่านมา เห็นข้าวไม่งามก็ใส่ปุ๋ยซ้ำอย่างเดียว เมื่อใส่มากๆ ก็เกิดโรคระบาด แก้ปัญหาโดยการฉีดยาฆ่าแมลง แต่เมื่อมารู้จักปุ๋ยสั่งตัดก็ได้นำดินไปตรวจวิเคราะห์โดยมีเจ้าหน้าที่มาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ดินทำให้การใช้ปุ๋ยลดปุ๋ยลงมามาก ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วย

                    “ตอนนี้แปลงนาของผมใส่ปุ๋ยสั่งตัดเกือบหมดแล้วกำลังขยายผลไปสู่แปลงของญาติๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง” สนธยา กล่าว

                    ขณะที่ผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ประธานเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก บอกว่า ก่อนจะมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดก็ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรทำนาอยู่แล้ว รวมตัวกันซื้อปุ๋ยเฉพาะนาปีมีสมาชิก 89 รายมีพื้นที่ประมาณ 3,400 ไร่ มีค่าใช้จ่ายซื้อแม่ปุ๋ยประมาณ 1.7 ล้านบาท แต่หลังมาใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ทำให้ค่าปุ๋ยลดลงเหลืออยู่ที่ 5.4 แสนบาท ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 50% พร้อมเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาลองใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดในนาข้าว เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้มากทีเดียว ในสภาวะราคาข้าวและราคาปุ๋ยกลับสวนทางกัน  

                    นับเป็นการรวมพลครั้งใหญ่ของเกษตรกรชาวนาอีกครั้งในการพบปะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญดินและปุ๋ยของเมืองไทยเพื่อร่วมกันหาทางออกในลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยการนำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

เกาะติดภัยแล้ง: ฝนหลวง-กรมชลฯเติมน้ำเขื่อนป่าสักช่วยกู้ภัยแล้งกทม. 

          "ฉัตรชัย"เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์น้ำ เล็งเริ่มฤดู เพาะปลูกปี 59 เดือนพ.ค.นี้ ขณะที่กรม ฝนหลวง-ชลประทาน ลงนามความร่วมมือ เติมน้ำเข้าเขื่อนป่าสัก แก้ปัญหาน้ำกิน-ใช้ น้ำทะเลรุก ให้คนกทม.และปริมณฑล ขณะที่พายุฤดูร้อนพัดถล่มภาคเหนือ ตอนบน สร้างความเสียหายบ้านเรือนประชาชนนับร้อยหลัง รวมทั้งสถานที่ราชการ อุตุฯเตือนเสี่ยงถล่มซ้ำอีกระลอก 16-17 เม.ย.นี้

          วานนี้ (10 เม.ย.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พร้อมกับขึ้นเฮลิคอปเตอร์บิน ตรวจสภาพความ แห้งแล้งในพื้นที่  โดยพล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงสถานการณ์ ภัยแล้งที่กระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะเตรียมการวางแผนปลูกพืชฤดูใหม่ช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งตนได้สั่งการให้ประชุมทุกหน่วยงานประเมินสภาพอากาศ นำข้อมูลทั้งในและต่างประเทศมาพยากรณ์ให้ชัดเจนว่าการเพาะปลูกควรจะเริ่มเมื่อไหร่ ไม่ใช่เห็นฝนตกก็ทำเกษตรทันที จะเกิดความเสียหายได้ ควรให้เข้าฤดูฝนเต็มที่ก่อนค่อยลงมือปลูก ซึ่งคาดว่าเดือน พ.ค.นี้ ฝนจะมาตามปกติ

          สำหรับน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ขณะนี้เหลือ 285 ล้านลบ.ม. ซึ่งต้องระวัง ยังดีที่ได้น้ำจากฝนหลวงมาเติมให้ ช่วยดูแลคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีน้ำใช้ได้จนถึงเดือน ก.ค. ไม่เกิดวิกฤติ และตนได้สั่งการให้เร่งปฏิบัติการทำฝนหลวงต่อเนื่องในช่วงที่สภาพอากาศอำนวย

          "ขอเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวัง ช่วงนี้ฝนยังมาไม่เต็มที่ อย่าเพิ่งรีบร้อนลงมือเพาะปลูก คาดว่าต้นเดือนพ.ค. จะมีความชัดเจนในการประกาศการเพาะปลูกปี 59 ส่วนการเลื่อนนาปีหรือไม่ยังประเมินไม่ได้  ถ้าไม่มีฝนมาก็ไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกได้"

          ฝนหลวง-กรมชลฯเติมน้ำเขื่อนป่าสัก

          ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวง กับกรมชลประทาน ทำข้อตกลงร่วมมือเติมน้ำในเขื่อนป่าสักฯ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญในใช้น้ำอุปโภคบริโภคของคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล และปล่อยน้ำไล่น้ำเค็ม จึงร่วมใช้ข้อมูลเรดาร์ตรวจกลุ่มเมฆ ใช้เทคโนโลยีการดัดแปลงสภาพ ที่ผ่านมาได้ตั้งหน่วยปฎิบัติการ เคลื่อนที่เร็ว จ.นครสวรรค์ สามารถเติมน้ำเขื่อนป่าสักฯ ได้ 14 ล้านลบ.ม. เห็นว่าขณะนี้การปฎิบัติฝนหลวงมีความเหมาะสมช่วงวันที่ 8 เม.ย.เป็นต้นไป สามารถทำฝนหลวง ระดมได้เต็มที่ทั่วประเทศเติมน้ำเขื่อนใหญ่ ยังช่วยสร้างความชุ่มชื้นและลดสภาพอากาศร้อนจัดด้วย ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด"

          ส่วนราชการลำปางพายุฤดูร้อนถล่มยับ

          ด้านสถานการณ์พายุฤดูร้อน นายคมสัน สุวรรณอัมพา ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรงและมีลูกเห็บตก เนื่องมาจากพายุฤดูร้อน เมื่อ 9 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น พบว่าความเสียหายในจ.เชียงใหม่ มีอยู่หลายพื้นที่ด้วยกัน ทั้งสถานที่ราชการต่างๆ ได้รับความเสียหายจากต้นไม้หักโค่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

          ขณะที่อ.แม่วาง ต.แม่วิน ม.6,9,11,15, ที่ อ.หางดง ต.หารแก้ว ม.3 ต.ขุนคง ม.6 อ.แม่อาย ต.บ้านหลวง และ อ.แม่ริม ต.ดอนแก้ว มีบ้านเรือนกว่า 83 หลัง ได้รับความเสียหาย ขณะที่โรงพยาบาลก็ได้รับความเสียหายบ้างบางส่วน เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ พบต้นไม้ล้มทับรถยนต์ง

          ด้านสถานที่ท่องเที่ยว ที่บริเวณห้วยตึงเฒ่า เพิงร้านขายอาหารกว่า 200 ซุ้ม พังเสียหาย ล่าสุด ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33(มทบ.33) ได้จัดกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชน เก็บกวาดเศษ ซากปรักหักพักและซ่อมแซมความเสียหายทรัพย์สินของประชาชนเป็นบางส่วนแล้ว

          เตือน16เม.ย.พายุฤดูร้อนถล่มอีกรอบ

          ด้านนางพรนภา ทองเทพ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ เปิดเผยว่าพายุฤดูร้อนที่พัดถล่ม จ.เชียงใหม่ และภาคเหนือบางพื้นที่  เป็นพายุที่เกิดจากลมตะวันตกเบียดตัวปะทะเข้ากับลมตะวันออก ทำให้เกิดอากาศอบอ้าว ประกอบกับความชื้นในอากาศมีมาก ส่งผลให้มวลไอน้ำเกาะกลุ่มกันเป็นมวลเมฆขนาดใหญ่ เกิดเป็นพายุฤดูร้อน จะมีทั้งฝนและลูกเห็บในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ จากที่เคยคาดการณ์ว่าพายุลูกนี้จะเกิดตั้งแต่วันที่ 7-10 เม.ย. มีการคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 16-17 เม.ย.นี้ อาจมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนอีกครั้งหนึ่ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ระมัดระมัดเรื่องวาตภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

          ขณะที่ จ.น่าน ได้เกิดพายุฝนพัดต้นไม้หักโค่นและสายไฟฟ้าขาดในถนนสาย 101 น่านท่าวังผา ช่วง กม 482 - 484 บ้านผาสิงห์ หน้าแขวงทางหลวงน่านที่ 2 ต้นไม้กว่าสิบต้นที่หักโค่น กีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงน่านที่ 2 ต้องเร่งเคลียร์เส้นทาง ท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร บ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 10 หลังคา เสาไฟฟ้าหน้าแขวงการทางน่านที่ 2 - อบต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน ที่หักโค่นและสายไฟฟ้าขาดทั้งสองฝั่งถนน ส่งผลกระทบไปถึง อ.ปัว ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเร่งตัดกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย

          พายุฤดูร้อนพัดอุบลฯบ้านพัง120หลัง

          ขณะเดียวกันในภาคอีสาน ที่ จ.อุบลราชธานี นายชาลี ก้อนหิน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่10 ต.นาโพธิ์ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เปิดเผยผลการออกสำรวจความเสียหายจากพายุฤดูร้อนที่พัดผ่านหมู่บ้าน  พบว่าเบื้องต้นมีบ้านเรือนใน 5 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1,หมู่ 2,หมู่ 7 หมู่ 9 และหมู่ 10 เสียหายมากกว่า 120 หลังคาเรือน โดยเฉพาะ หมู่1 และหมู่10 เสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้ประสานข้อมูลไปยังฝ่ายอำเภอพิบูลมังสาหาร ดำเนินการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์

          ขณะที่เหล่ากาชาด จ.อุบลราชธานี ได้เตรียมถุงยังชีพมามอบให้ครัวเรือนผู้ประสบภัย และเตรียมจัดกำลังทหารกองพัน 2 กรมกรมทหารราบที่ 6 อุบลราชธานี เข้ามาขนย้าย เศษวัสดุบ้านเรือนที่เสียหาย และซ่อมแซมบ้านเรือนแล้ว

          ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 กล่าวว่า ระหว่างการสำรวจพื้นที่ ชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า เป็นพายุหมุนลมแรง ซึ่งมีระยะเวลาเกิดเหตุการณ์เพียง 20-30 นาทีเท่านั้น แต่สามารถทำให้บ้านเรือนเสียหายมากเป็นจำนวนมาก ต้นไม้  ไฟฟ้าดับภายในหมู่บ้าน แต่โชคดีไม่มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

วช.จัดเวทีสรุปการขยายผล ถ่ายทอดเทคโนโลยี ‘ปุ๋ยสั่งตัด’

การลงพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่อบต.โคกสะอาด อ.หนองแซง จ.สระบุรี เพื่อจัดเวทีสรุปการขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดต่างๆ : บทเรียนการขับเคลื่อนเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานเมื่อเร็วๆ นี้ ร่วมด้วยนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สร้างความดีอกดีใจให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการให้ความรู้แก่พี่น้องชาวเกษตรกรโดยตรง อันเป็นผลมาจากการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่ดร.รุ่งโรจน์ พิทักษ์ด่านธรรม จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการถอดบทเรียนองค์ความรู้เรื่อง “ปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งต่อมาได้ขยายผลสู่มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ดำเนินโครงการคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ดินและปุ๋ยของชุมชน แก้ปัญหาให้กับเกษตรกร

โดยมีทีมคณะนักวิจัย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้มีการจัดตั้งคลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” จังหวัดละ 5 แห่งในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เชียงราย และสระบุรี เพื่อวิจัยและพัฒนาคำแนะนำปุ๋ยที่มีความแม่นยำ ใช้ปุ๋ยที่ตรงกับชนิดดินและตามความต้องการพืช ช่วยให้ลดค่าปุ๋ยเคมีได้ 50% ลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิต ลดปัญหาสุขภาพ และการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการวิจัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพล.อ.อ.ประจินยังได้กล่าวถึงบทบาทของวช.ว่า วช. ถือว่าเป็นร่มใหญ่ของการวิจัยของประเทศทั้งหมด มีหน้าที่ทำยุทธศาสตร์ เป้าหมายเป็นวาระแห่งชาติต่อยอดไป เรามีทั้งบุคลากร งบประมาณ ลงไปสู่นักวิจัย วิจัยออกมา ขบวนการทั้งหมดมี 9 ขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องนโยบายจนถึงการนำมาใช้งาน

“ผมได้ให้นโยบายว่าขณะนี้รัฐบาลต้องการให้งานวิจัยนำไปสู่การนำไปใช้สู่ผลสัมฤทธิ์เนื่องจากขั้นตอนการจะมีประเด็นวิจัย ต้องตรงกับความต้องการไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ นำไปสู่การแก้ปัญหา ถือว่าตอบรับกับความต้องการ(Demand) ซึ่งเราก็จะจับคู่กัน ประชาชนเอามาช่วย นักธุรกิจเอามาช่วย มหาวิทยาลัยเอามาช่วย ประชาชนเอามาช่วยแล้วมาดูว่ามีงานอะไรเป็นงานเร่งด่วน สนับสนุนงบประมาณก่อน มีผลงานวิจัย ติดตาม ประเมินผล เมื่อเสร็จก็จับคู่กันกับผู้ประกอบการ เสร็จแล้วจึงพัฒนาสู่รูปแบบการผลิตให้มีรายได้กลับเข้ามา” รองนายกฯ กล่าว

“ผมได้ขอให้ทั้ง 12 กลุ่มสายงานวิจัยช่วยไปค้นหามาว่าเป้าหมายที่ควรเร่งดำเนินการในช่วงปี 2559-2561 เอา 3 ปีนี้ก่อนมีเป้าหมายอะไรบ้าง แล้วเราจะมาบรรจุทั้งหมดเป็นกรอบยุทธศาสตร์ 5 ปี 4 ครั้ง รวม 20 ปี โดยจะมีการปรับแก้ทุก 2 ปี”

พล.อ.อ.ประจิน ยังบอกอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตว่า เรื่องของงานวิจัยนี้มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง เช่น หน่วยงานกระจัดกระจาย การลงทุน นักวิจัยมีน้อย ใช้ประโยชน์ได้น้อย งานวิจัยขึ้นหิ้ง เราจะมาแก้ปัญหากัน ก็ขอเวลาอีกไม่กี่เดือนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ทิศทางการเดิน โครงสร้างงานวิจัย ผลงานวิจัย การนำไปใช้ประโยชน์ จะให้มีการปฏิรูปอย่างชัดเจน

เมื่อถามถึงความคาดหวังของรัฐบาลต่อบทบาทงานวิจัย พล.อ.อ.ประจิน ยืนยันว่า ต้องกำหนดหน่วยงานชัดเจนในการกำหนดนโยบาย โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่าใน 3 ปี 5 ปี เราจะมีงานวิจัยที่ควรเน้นเร่งด่วน 1 2 3 4 แต่ละด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง อาหาร ยา การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ฯลฯ มีอะไร เพื่อผลักดันตรงนั้นและจะดูว่า Process ของการดำเนินการเพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ต้องเป็นรูปธรรมแท้จริง ที่สำคัญต้องมีเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ในการทำแพ็กเกจจิ้งที่มีรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งตอนนี้ทำอยู่แต่จะเอามาขยายผล และทำให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นลักษณะของประชารัฐ

“เรื่องงานวิจัยถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก สมมุติเราพูดถึงเรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้นน้ำก็อย่างที่เราพูดถึงกันวันนี้ก็คือเรื่องวิจัยพันธุ์พืช วิจัยดิน วิจัยปุ๋ย นี่คือต้นน้ำ เมื่อเราวิจัยเรียบร้อยแล้วเราก็นำไปสู่ภาคปฏิบัติก็เอาไปปลูก ดูแลการปลูกให้เขาเจริญเติบโต ดูแลเรื่องแมลง เก็บเกี่ยว จนมาถึงช่วงกลางน้ำไปสู่ปลายน้ำคือการแปรรูปไปสู่สินค้า มีแพ็กเกจที่สวยงาม น่าสนใจ เช่น เก็บได้ในซองสุญญากาศ ทำให้คนชอบ ขายได้ราคาดี”

ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำถึงประโยชน์ของการวิจัย ซึ่งจะช่วยให้เกิดวิทยาการใหม่ๆ มากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งสามารถใช้แก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

เตรียมประกาศแผนเพาะปลูกปี’59 เกษตรฯคาดชัดหลังสงกรานต์/ฟุ้งพื้นที่แล้งน้อยกว่า3ปีก่อน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ว่า จากการสำรวจการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 ปรากฏว่าในปี 2559 มีพื้นที่ลดลง คือ มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพียง 27 จังหวัด ครอบคลุม 4,200 หมู่บ้าน ด้านสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 2,269 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออาจถึงกลางเดือนสิงหาคม ส่วน 2 เขื่อนหลักลุ่มแม่กลอง ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีปริมาณน้ำใช้การถึง 3,120 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีน้ำสำรองจาก Dead Storage ใช้ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม และเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การ 67 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณการระบายน้ำ 4.8 แสนลบ.ม./วัน คาดว่ามีน้ำใช้จนถึงเดือนสิงหาคม และสถานการณ์น้ำเค็ม ไม่น่าเป็นห่วง ล่าสุดวัดค่าความเค็มที่คลองสําแล จ.ปทุมธานี มีความเค็ม 0.15 กรัม/ลิตร ซึ่งยังใช้ผลิตน้ำประปาได้

ส่วนปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 34 วัน 457 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 43 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 12 จังหวัด ภาคอีสาน 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคใต้ 4 จังหวัด มีพื้นที่ฝนตกรวม 42 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 13 เขื่อน รวม 47 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและเติมน้ำในเขื่อนได้

นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.6 ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยวอีก 0.34 ล้านไร่ และมีการพยากรณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 7-22 เมษายนนี้ อาจมีฝนตกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยในวันที่ 7-14 เมษายน จะมีฝนตกภาคเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ปิง น่าน และในวันที่ 15-22 เมษายน จะมีฝนตกบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน

“ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการวางแผนการเพาะปลูกในฤดูกาลปี 2559 ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการประกาศให้พี่น้องเกษตรกรทราบและสามารถวางแผนการผลิตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นที่ผ่านมา คาดว่าจะเร่งดำเนินการและประกาศให้ทราบทั่วกันในช่วงหลังสงกรานต์นี้” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

เผย15จังหวัด เหมาะตั้งศูนย์กำจัดกากอุตฯ 

อุตฯ ชงผลการศึกษาให้ ครม.ทราบ เผย 15 จังหวัดมีศักยภาพเหมาะสมตั้งศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรม

          แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดหาพื้นที่สำหรับจัดตั้งศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรมแบบบูรณาการ ภายใต้แผนการจัดการกากอุตสาหกรรม ปี 2558-2562 เพื่อรองรับการกำจัดกากอุตสาหกรรมในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า โดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่ง ที่ตั้งของโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาห กรรม และโรงงานในกลุ่มผู้รับกำจัดกากอุตสาหกรรมในช่วงปี 2557

          ทั้งนี้ ผลการศึกษา พบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์จัดการกากอุตสาหกรรม มี 15 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำปาง และลำพูน ภาคตะวันตก ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.นครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว ภาคกลาง ได้แก่ จ.สมุทรสาคร สระบุรี และภาคใต้ ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช และสงขลา

          กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2558 โรงงานทั่วประเทศส่งกากอุตสาหกรรมไปกำจัดนอกโรงงาน 27.37 ล้านตัน เป็นกากอันตราย 1.32 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 26.05 ล้านตัน แต่โรงงานผู้กำจัดกากอุตสาหกรรมมีกำลังผลิตเพื่อบำบัด กำจัด หรือรีไซเคิลเพียง 20.1 ล้านตัน/ปี ภาครัฐจึงจำเป็นต้องส่งเสริมการตั้งโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่ม

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559 

กรมชลฯเผย152อ.เฝ้าระวังแล้ง!! เตรียม'รถน้ำ'4.8พันคันช่วยปชช.

ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดสัมมนา "ฝ่า...วิฤกตน้ำ" โดยสถาบันอิศรา ร่วมกับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 6 โดยมี นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) , นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน , นายระวี รุ่งเรือง นายกสมาคมเครือข่ายชาวนาไทย และนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรอ.) เข้าร่วม

โดย นายทองเปลว กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในการดูแลของกรมชลฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ดูแล มี 33 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้ 22% หรือประมาณ 1 หมื่นล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปีที่แล้ว 5 พันล้าน ลบ.ม.ถ้าใช้ตามแผนระบายวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.จะไม่มีปัญหามีน้ำใช้ถึง ก.ค.แน่นอน ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ได้เริ่มนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้เหมือน ปี 36 - 37 ได้เคยนำใช้มาแล้ว ในส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานน่าเป็นห่วง ซึ่งมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 27 จังหวัด หากสิ้นเดือน ก.ค.ถ้าไม่พอหาน้ำมาเติม เช่น จ.นครราชสีมา บึงสีไฟ กว้านพะเยา ระดมหาน้ำบ่อบาดาลมาช่วย เตรียมรถบรรทุก 4,832 คัน ไม่ให้ประชาขนขาดน้ำกินน้ำใช้ไม่ได้โดยเด็ดขาด เป็นนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้ 152 อำเภอ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังใกล้วิฤกต

"ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเคยเกิดเหตุการณ์แล้งแบบนี้ในปี 37 น้ำมี 2 พันล้าน ลบ.ม.มีการปลูกนาปรัง 1.8 ล้านไร่ ในปีนี้ปลูก 1.9 ล้านไร่ อย่างก็ตามการคาดการณ์ทุกสถาบันอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก มากว่า 30 สถาบัน ประเมินว่าภาวะฝนทิ้งหรือแอลนิโญ่คลายตัวเดือน พ.ค.เชื่อว่าปลายเดือน พ.ค.ฤดูฝนจะมา ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ ได้สั่งทุกกรมเกี่ยวข้องร่วมกันวางแผน หากมีปริมาณน้ำเขื่อนเหลือ 1.6 พันล้าน ลบ.ม.ในช่วงดังกล่าวจะไม่พอแน่สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งปี 53 เคยเลื่อนทำนาปีไปถึงปลายเดือน ก.ค.แต่ปีนี้ ต้องรอกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์อีกครั้งช่วง 30 เม.ย.นี้" นายทองเปลว กล่าว

ด้าน นายระวี กล่าวว่า การประกาศภัยแล้งมีทุกเดือน แม้ในปีปกติ ในพื้นที่แล้งซ้ำซากมีทุกปี ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรปรับตัวได้มาตลอด ทำนารอบเดียว แล้วมารับจ้างในเมือง หรือขับแท็กซี่ ส่วนเกษตรกรในเขตชลประทาน มีอาชีพทำนาปลูกได้หลายรอบ เกิดไม่มีน้ำขึ้นมาสะดุดเลยเพราะไม่มีอาชีพเสริม และมีปัญหาเรื่องราคามาโดยตลอด รัฐบาลต่างๆ ก็เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนี้มาเสมอ แต่สุดท้ายแล้วข้อมูลในพื้นที่กับรัฐบาลไม่ตรงกัน ซึ่ง 8 มาตรการที่รัฐช่วยเหลือ เช่น ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขุดลอกคูคลอง กระทรวงเกษตรฯ ก็ทำมาทุกปี ผ่านมากี่ปีก็ทำแบบนี้ ทางจังหวัด อบต.คิดอะไรไม่ออกก็ใช้งบมาเสริมถนน สร้างศาลา เพราะข้าราชการส่วนภูมิภาค กับส่วนกลางมั่วมาก เร่งรีบทำแผนมาตลอด เกิดปัญหาความต้องการในพื้นที่ไม่เคยตรงกับแผน จริงๆ เพราะไม่เคยทำแผนล่วงหน้าไว้ ตนมองว่ารัฐบาลต้องการกระจายเงินลงพื้นที่ เติมเงินกองทุนหมู่บ้าน ตั้งศูนย์เรียนรู้ เปิดทั่วไปหมดทั่วประเทศ จนหาวิทยากรไม่ได้แล้วตอนนี้ ทุกกระทรวงก็ทำศูนย์เรียนรู้เหมือนกันหมด ให้ชาวนาให้เกษตรกรไปเรียนได้ค่าจ้างเรียนวันละ 200 บาท สุดท้ายคือรัฐบาลต้องการแจกเงิน เช่น โครงการชะลอข้าวไว้ในยุ้งฉาง 2 หมื่นล้านบาท แต่ใช้ได้แค่ 6 พันล้านบาท เพราะข้าวไม่ได้อยู่ในมือชาวนาแล้ว ซึ่งเงินไม่ได้ตกกับชาวนา ทั้งหมดมาจากนโยบายต่างๆ ที่ช่วยเหลือไม่เคยสำรวจความต้องการจริง

นายจักรรัฐ กล่าวว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 1.5 แสนไร่ เทียบการเกษตรมี 150 ล้านไร่ ถือว่าพื้นที่นิคมน้อยมาก มีโรงงาน 1.5 แสนโรงทั้งประเทศ การลงทุน 5.9 ล้านๆ บาท สำหรับตัวนิคมมีแผนการบริหารจัดการน้ำ มีการน้ำในนิคมไว้ 5 แสน ลบ.ม.และน้ำจากบ่อบาดาล 9 แสน ลบ.ม.และมีแหล่งน้ำสำรองไว้รอบบริเวณ 3 - 4 ล้าน ลบ.ม.ไม่ต้องกังวลว่าจะไปแย่งน้ำชาวบ้าน

ขณะที่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ประเด็นการจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญต้องวางแผนระยะยาว ขณะนี้เราพึ่งสองอย่าง จากส่วนกลาง กับพระสยามเทวาธิราช จะปล่อยอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ ยิ่งตอนนี้การหาแหล่งน้ำแพงขึ้นและมีความขัดแย้งมากในพื้นที่ ซึ่งการจัดการน้ำในเขื่อนจะไม่เป็นปีต่อปีไม่ได้ จะเป็นอันตรายมาก รวมทั้งระบบสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจมีปัญหามากตลอด มีน้ำเยอะก็ปล่อยทิ้ง ยิ่งมีโครงการจำนำข้าว ทำให้น้ำลดลงอย่างมากตลอด 4 ปี จนทำให้ปีนี้น้ำต่ำสุดในรอบ 40 ปี เรื่องน้ำกลายเป็นประเด็นความอ่อนไหวต่อการแทรกแซงการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นของนักการเมือง จนทำให้เหตุการณ์ปีนี้ย่ำแย่มาก เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะปลูกลดลง ผลผลิตต่อไร่ลดลง ทั้งข้าวโพด อ้อย ข้าว ลดลง 37% มีความสูญเสียพืชเศรษฐกิจรวม 8.7 หมื่นล้านบาท การบริโภคลดลง 5% จีดีพีภาคเกษตร 6.6 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 8 มาตรการ ก็เห็นกันอยู่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน อีกทั้งมาตรการปรับปรุงแหล่งน้ำบาดาล และน้ำประปา ใช้เงิน 2 พันกว่าล้าน ทำมา 2 ปีแล้ว ซึ่ง รมว.เกษตรฯ บอกว่าพื้นที่ภัยแล้งลดลง ก็ควรลดเพราะทำไปมากล่วงหน้าแล้ว ถ้าไม่ลดแสดงว่าไม่มีประสิทธิภาพเลย

ทั้งนี้ ขอให้กรมชลฯ ทำตัวเลขปริมาณน้ำให้คนทั่วไปดูเข้าใจง่ายขึ้น ตนประเมินว่าปริมาณน้ำที่เหลืออีก 2 พันล้าน ลบ.ม.น่าจะไช้แค่ 84 วัน จะไม่ถึง 30 มิ.ย.หากต้นฤดูฝนเดือน พ.ค.ทุกคนแห่ทำนาปี ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปลายฤดูฝน อาจต้องชิงปลูกก่อน ถ้าฝนไม่มา กรมชลฯ จะเอาน้ำที่ไหนให้ชาวนา เพราะนาปีเป็นเรื่องชีวิตของเกษตรกร แต่มาดูสถานการณ์สภาพอากาศปีนี้ยังโชคดีที่ภาวะแอลนิโญ่ คลี่คลายเดือน พ.ค.แต่ภาวะฝนยังต่ำกว่าระดับปกติ ประมาณ 4 - 4.5 มิลลิเมตรต่อวัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9  เมษายน พ.ศ. 2559

ลุ้นประยุทธ์เคาะไทยร่วมTPP พณ.ชงข้อมูล 29 เม.ย./ กกร.ยันคำเดิมต้องเกาะขบวน

เอกชนลุ้น “ประยุทธ์” ประกาศท่าทีชัด ไทยร่วมวง TPP หลัง ก.พาณิชย์ ดีเดย์ เตรียมชงข้อมูลเพื่อพิจารณา 29 เม.ย.นี้ ยันจุดยืนเดิม ด้านเอกชน 3 สถาบันเห็นควรเข้าร่วมเพื่อรักษาขีดแข่งขันส่งออก ดูดเม็ดเงินต่างชาติลงทุนไทยเพิ่ม “สมคิด” สั่งพาณิชย์ตั้งคณะทำงานศึกษาเชิงลึกรายกลุ่มสินค้าถึงผลกระทบและมาตรการเยียวยา พร้อมให้กำหนดกรอบทำงานแต่ละเรื่องให้ชัด

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)ได้เชิญภาคเอกชนเข้าไปหารือถึงผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำว่ามีความคิดเห็นอย่างไรนั้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯได้แสดงจุดยืนไปแล้วว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP รวมถึงในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)สมาชิกส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่ไทยควรจะเข้าร่วม

ทั้งนี้เหตุผลหลักคือไทยต้องแข่งขันกับหลายประเทศในเรื่องการค้า หากไทยมีสิทธิพิเศษทางด้านภาษี การค้าที่เสรีขึ้นจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงจะช่วยจูงใจให้นักลงทุนที่ลงทุนในไทยและมีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกของTPP (12 ประเทศประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม) เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกมากขึ้น ขณะที่เวลานี้ภาคการส่งออกของไทยมีปัญหาการส่งออกที่ลดลง หากมีการขยายการลงทุนของต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยเพื่อใช้ประโยชน์จาก TPP ก็น่าจะช่วยให้ไทยส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้น

“ตลาดหลักของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่เป็นสมาชิก TPP ถ้าไทยไม่เข้าร่วม เราเองอาจจะเสียเปรียบประเทศที่เขามีสิทธิพิเศษอยู่ก็ได้ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตใหญ่อยู่ในเมืองไทยในหลายอุตสาหกรรม เช่นรถยนต์ก็รอความชัดเจนจากรัฐบาลไทยว่าจะมีทีท่าอย่างไร เพราะเราเองก็เชิญเขาเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม แต่ถ้าเราไม่มี TPP หรือเอฟทีเอตัวนี้อาจจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นลังเลชั่งใจว่าจะมาลงทุนเพิ่มหรือไม่ “นายวัลลภกล่าว และว่า

หากไทยเข้าร่วม TPP ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับหลายภาคส่วนเช่นกัน เช่นภาคเกษตร สิทธิบัตรยา หรือพันธุ์พืช แต่รัฐบาลเองก็มีมาตรการเยียวยา เช่นมีกองทุนเอฟทีที่จะให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเหมือนที่ผ่านมาอยู่แล้ว

ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการเดินทางมาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์(4 เม.ย.59) ว่า ได้การสอบถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเข้าร่วม TPP ของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ระบุว่าไทยน่าจะเข้าร่วมมากกว่าการไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกและจะเป็นประโยชน์กับไทย ทั้งนี้ได้ให้นโยบายให้ไปศึกษาในรายละเอียดในภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบว่ามีอย่างไรบ้างและจะเยียวยาอย่างไร เพื่อไม่ให้ได้รับความเสียหายในอุตสาหกรรมนั้นๆ

อย่างไรก็ตามยังได้ให้กระทรวงพาณิชย์ไปตั้งคณะทำงานภายในกระทรวงในการเข้ามาดูแลแต่ละภาคส่วน เช่น เรื่องเกษตรอาจจะต้องเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ไปพูดคุยกับเกษตรกร เพื่อให้รู้สึกว่าเขามีส่วนร่วม หรือเรื่องยาต้องไปคุยกับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)ที่ดูแลในเรื่องนี้แล้วดึงข้าราชการหรือคนที่เกี่ยวข้องที่เคยทำงานในเรื่องเหล่านี้มาเป็นที่ปรึกษา เพราะไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบกับคนในประเทศ

“ในวันที่ 29 เมษายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งได้ให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อสรุป เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา โดยรายละเอียดที่เสนอจะต้องมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละเรื่อง และคาดว่าจะมีความชัดเจนในการประกาศท่าทีของไทยต่อการเข้าร่วม TPP เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศกำลังรอฟังท่าทีของไทยอยู่”

อนึ่ง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร เผยถึงสินค้าส่งออก 5 อันดับดับแรกของไปยังกลุ่ม TPP ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ , เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ , อัญมณีเครื่องประดับ,ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

ผลผลิตอ้อยต่ำกว่าคาด หลุดระดับ100ล.ตันครั้งแรกรอบ4ปี

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2558/2559 ได้ปิดหีบลงแล้วเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 เบื้องต้นปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ 94.06 ล้านตัน ลดลง 14.06 ล้านตัน จากที่ประมาณการไว้ 109 ล้านตัน และลดลงจากฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา 11.94 ล้านตัน จากการผลิต 106 ล้านตัน เนื่องจากอ้อยประสบภาวะภัยแล้งช่วงปลายฤดู อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามการผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/2560 ที่จะเปิดหีบช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 อาจจะลดต่ำกว่าฤดูการผลิตนี้ลงอีก เนื่องจากขณะนี้ภาวะภัยแล้งค่อนข้างยาวกว่าที่ผ่านมา

“ผลผลิตอ้อยล่าสุดเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ไม่ถึง 95 ล้านตัน โดยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยที่ 103 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยทำให้เบื้องต้นปริมาณน้ำตาลทรายจะอยู่ประมาณกว่า 9.7 ล้านตัน จากปีก่อนที่ได้น้ำตาล 11 ล้านตัน สิ่งที่เราห่วงคือขณะนี้แทบไม่มีฝนตก ซึ่งภาวะแล้งปีนี้จะหนักมากย่อมกระทบต่อปริมาณอ้อยมากขึ้น ผลผลิตฤดูการผลิตปี 2559/2560 อาจจะลำบากนอกจากแล้งแล้ว ราคาอ้อยก็ยังไม่ดีนัก ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังแทนบ้างแล้ว” นายบุญถิ่น กล่าว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าผลผลิตอ้อยปีนี้ไม่ถึง 95 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ต่ำสุดรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2553/2554 ที่อยู่ระดับ 95.35 ล้านตัน และยังเป็นระดับปริมาณที่ต่ำกว่า 100 ล้านตัน เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ฤดูผลิตปี 2555/2556 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตามประเมินว่าฤดูการผลิตปี 2559/2560 หากฝนไม่ตกหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ มีแนวโน้มว่าอ้อยจะลดต่ำกว่าฤดูการผลิตปีนี้อย่างแน่นอนและอาจต่ำเพียง 80 ล้านตัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

ภัยแล้งพ่นพิษ!ฉุดผลผลิตอ้อยปี’58/59ต่ำสุดรอบ6ปี  

         เผยปริมาณผลผลิตอ้อยปี 58/59 ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการชัดเจนแตะระดับเพียงกว่า 94 ล้านตันอ้อยไม่ถึง 95 ล้านตันอ้อยต่ำสุดรอบ 6 ปีและยังหลุดระดับ 100 ล้านตันครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 55/56 แล้งหนักปี’59/60 ส่อลดหนักมากขึ้น

                นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 ได้ปิดหีบลงแล้วเมื่อวันที่ 7 เม.ย.เบื้องต้นปริมาณอ้อยเข้าหีบอยู่ที่ระดับ 94.06 ล้านตันโดยลดลง14.06 ล้านตันจากที่ประมาณการไว้ 109 ล้านตันและลดลงจากฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา 11.94 ล้านตันจากการผลิตระดับ 106 ล้านตัน เนื่องจากอ้อยเจอภาวะภัยแล้งช่วงปลายฤดู อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามการผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 59/60 ที่จะเปิดหีบช่วงพ.ย. 59 อาจจะลดต่ำกว่าฤดูการผลิตปีนี้ลงอีกเนื่องจากขณะนี้ภาวะภัยแล้งค่อนข้างยาวกว่าที่ผ่านมา

                “ผลผลิตอ้อยล่าสุดเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าไม่ถึง 95 ล้านตัน โดยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยที่ 103กิโลกรัม(กก.)ต่อตันอ้อยทำให้เบื้องต้นปริมาณน้ำตาลทรายจะอยู่ประมาณกว่า 9.7 ล้านตันจากปีก่อนที่ได้น้ำตาล 11 ล้านตัน สิ่งที่เราห่วงคือขณะนี้ยังแทบไม่มีฝนตกซึ่งภาวะแล้งปีนี้จะหนักมากย่อมกระทบต่อปริมาณอ้อยมากขึ้นผลผลิตฤดูการผลิตปี 59/50 อาจจะลำบาก นอกจากแล้งแล้วราคาอ้อยก็ยังไม่ดีนักทำให้เกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกมันสำปะหลังแทนบ้างแล้ว “นายบุญถิ่นกล่าว

                นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานกล่าวว่า ผลผลิตอ้อยปีนี้ไม่ถึง 95 ล้านตันอ้อยซึ่งถือเป็นปริมาณอ้อยที่ต่ำสุดรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 53/54 ที่อ้อยอยู่ระดับ 95.35 ล้านตันและยังเป็นระดับปริมาณอ้อยที่ต่ำกว่า 100 ล้านตันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ฤดูผลิตปี 55/56 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตามประเมินว่าฤดูการผลิตปี 59/60 หากฝนไม่ตกหลังเทศกาลสงกรานต์นี้มีแนวโน้มว่าอ้อยจะลดต่ำกว่าฤดูการผลิตปีนี้อย่างแน่นอนและอาจอยู่ระดับต่ำเพียง 80ล้านตันก็เป็นได้

                “ปกติเมื่อเราตัดอ้อยก็จะบำรุงตออ้อยและในเดือน 3 หรือมี.ค.ก็จะมีฝนลงมาบ้างแต่ปีนี้ไม่มี อ้อยปลูกใหม่เมื่อต.ค.58 ขณะนี้ยังไม่มีน้ำเลย ถ้าหลังสงกรานต์ฝนไม่มาอ้อยบางส่วนจะตายแน่นอนปลูกใหม่ก็ไม่ทันฤดูหีบที่สุดชาวไร่ก็ต้องหันไปปลูกมันสำปะหลังเพราะทนแล้งและยังให้ผลผลิตเร็วมาทดแทน ปีหน้าอ้อยจะลดลงแต่ปัญหาที่จะตามมาคือมันสำปะหลังก็จะมากและจะฉุดราคาอีก”นายธีระชัยกล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

เช็กความพร้อมเขตศก.พิเศษ เร่งหาทางแก้ดึงดูดนักลงทุน

เขตเศรษฐกิจพิเศษในส่วนที่เหลืออีก 5 พื้นที่ คือ จังหวัดหนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจระยะที่ 2 ตามเป้าหมายของรัฐบาล

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา “ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” ได้นำเสนอข้อสรุปรายงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษในระดับพื้นที่ ที่ถูกตั้งขึ้นตามคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กนพ. เพื่อรับหน้าที่ลงไปสำรวจเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 10 พื้นที่ บริเวณชายแดน เพื่อให้รู้ว่า ณ ปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นมีความคืบหน้าอย่างไร รวมไปถึงปัญหาอีกหลายอย่างที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ได้

 หาก...ต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นในไทยได้อย่างสมบูรณ์หลังจากที่นำเสนอ 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา ไปแล้ว สัปดาห์นี้จึงขอหยิบยกพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในส่วนที่เหลืออีก 5 พื้นที่ คือ จังหวัดหนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจระยะที่ 2 ตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่พยายามเดินหน้าทำต่อเนื่อง หลังจากดันเขตเศรษฐกิจระยะแรกจนเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเรียบร้อยเตรียมพื้นที่สถานีรถไฟเริ่มจากเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย

ล่าสุด...จังหวัดได้รายงานข้อมูล โดยระบุว่า มีพื้นที่เหมาะสมให้เอกชนและหน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 3 แปลง คือ สถานีรถไฟนาทา เนื้อที่ 219 ไร่ สถานีรถไฟหนองคาย เนื้อที่ 152 ไร่ และสถานีรถไฟหนองคายเก่า เนื้อที่ 600 ไร่ ซึ่งจังหวัดได้รับการประสานงานจากสถานีหนองคาย โดยมีผู้ยื่นขอเช่าพื้นที่บริเวณสถานี 12 ไร่ เพื่อทำตลาดสดและโรงเรือนเก็บสินค้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ในการดูแลของ รฟท.ทั้ง 3 แปลงที่สำคัญ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 58 กนพ.มีมติให้พื้นที่ทั้ง 3 แปลง ต้องใช้เป็นจุดขนถ่าย และกระจายสินค้า รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับคนเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับผลศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นของสถานีขนส่งสินค้าคอนเทเนอร์เพื่อจัดการโลจิสติกส์ ที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ของกระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้

ดังนั้นจึงให้จังหวัดได้แจ้งข้อมูลให้ รฟท.ทราบเพื่อสงวนพื้นที่ทั้ง 3 แปลงไว้ใช้ประโยชน์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายใช้แรงงานเวียดนามด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสำคัญที่เชื่อมต่อกับสปป.ลาว ขณะนี้จังหวัดต้องการให้รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม นอกเหนือจากสัญชาติสปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา

เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีทักษะ มีความอดทนสูง รวมทั้งสามารถเดินทางมาทำงานได้ด้วยรถประจำทาง นอกจากนี้ยังเห็นสมควรด้วยว่า ในกรณีที่รัฐบาลจะให้นำผลไม้จากไทยส่งขายไปเวียดนามและจีนผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 นั้นยังไม่สามารถทำได้ เพราะจีนอ้างว่ายังไม่มีพิธีสาส์นต่อกันขอปรับปรุงด่านแม่สายขึ้นมาเหนือสุดที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย

เมื่อไม่นานมานี้ทางจังหวัดได้ทำหนังสือถึง “สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ใหม่ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด่านพรมแดนแม่สายจากรัฐบาล รองรับการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะสะพานดังกล่าวตอนนี้มีอายุการใช้งานเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2510 รวมทั้งเกิดการชำรุดเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และอุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 57 ซึ่งตอนนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ได้มอบหมายให้ประสานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.รับไปพิจารณาไม่นานนัก สศช.ได้แจ้งกลับมาว่า สะพานที่ว่านั้น กรมทางหลวงได้รับงบประมาณในกิจกรรมฟื้นฟูทางหลวงที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ วงเงิน 6.7 ล้านบาท ไปซ่อมแซมแล้ว

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเข้าพื้นที่ทำงาน ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด่านพรมแดน อยู่ระหว่างการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในงบกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 ขณะที่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ใหม่นั้น กรมทางหลวงได้รับไว้พิจารณาความเหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์กรมหาชน) หรือเนด้า ได้บรรจุโครงการก่อสร้างปรับปรุงสะพานข้ามแม่น้ำสายบริเวณด่านท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองท่าขี้เหล็ก ภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ปี เริ่มจากปี 59-61 เพื่อดำเนินงานตามขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อย

เนื้อหอมเชื่อมทวายขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี ที่เวลานี้เรียกได้ว่า เศรษฐกิจมีความคึกคักเป็นอย่างมากเพราะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ของประเทศเมียนมา โดยทางรถไฟสายท่าเรือแหลมฉบัง–ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดย รฟท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้

ล่าสุด...อยู่ระหว่างดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ อีกงานรับผิดชอบโดยกรมทางหลวง ได้เร่งรัดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อชายแดนไทย–เมียนมา บริเวณบ้านพุน้ำร้อน โดยการเชื่อมต่อเส้นทางมอเตอร์เวย์กับด่านพุน้ำร้อนต่อไปส่วนงานของกรมศุลกากร ได้จัดทำแบบรายละเอียดการพัฒนาด่านศุลกากรบริเวณจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับดำเนินการจำนวน 800 ไร่ และจะประสานกับประเทศเมียนมา เพื่อพัฒนาด่านศุลกากรทั้ง 2 ประเทศให้มีรูปแบบสอดคล้องกัน และกรมศุลกากรจะขอรับการจัดสรรงบกลางปี 59 ต่อไป

แนะยกที่ดินให้เอกชนเช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นราธิวาส ที่มีข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ คือ ให้ยกที่ดินเปล่าให้เอกชนลงทุน โดยกำหนดเวลาการลงทุน หากไม่ลงทุนตามเวลาที่กำหนด ได้ให้รัฐยึดที่ดินคืน แต่หากรัฐจะเก็บค่าเช่าให้เก็บอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมบานา จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้มอบหมายสำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดนราธิวาส ศึกษารายละเอียดอยู่ และอีกไม่นานน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจังหวัดนราธิวาสจะรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปเสนอรัฐบาล โดยมีเหตุผลว่า เงินลงทุนของเอกชนมากกว่าราคาที่ดินที่รัฐจัดซื้อ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ประชาชนมีรายได้ ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับบริบทของคนในพื้นที่ ที่ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น

สำหรับการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 10 พื้นที่ ยังมีการบ้านที่รัฐต้องคอยแก้อีกมาก ดังนั้น...จึงต้องติดตามกันต่อไปอีกว่า นับจากนี้ กับเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปีครึ่ง รัฐบาลจะสามารถผลักดันนโยบายอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจไทยได้ประสบความสำเร็จหรือไม่?.“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

เอกชนอัดเงินลงทุน1.13แสนล. ลดคนหันซื้อเครื่องจักรอัพเทคโนโลยีพัฒนาสินค้า

 “กรมโรงงาน” เผยไตรมาสแรกยอดเปิดโรงงานและขยายกิจการมีมูลค่ากว่า 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% คาดทั้งปีโตไม่น้อยกว่า 5% ระบุแนวโน้มความต้องการจำนวนแรงงานลดลง แต่แรงงานมีทักษะมีความต้องการสูงขึ้น หลังจากเอกชนเริ่มลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ หวังเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขึ้น

นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย ยอดการเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการไตรมาสแรก มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,181 โรงงาน เพิ่มจากช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่1,096 โรงงาน หรือ เพิ่มขึ้น 7.75.% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 113,613 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 93,663 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 21%

มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเนื่องจากอาจมีการลงทุนเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่าย รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับคู่แข่งอีกทั้งภาครัฐมีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆในการกระตุ้นการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นและมีการเดินทางโรดโชว์ตามประเทศต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมถึงการให้รายละเอียดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ยอดการเปิดกิจการใหม่ในเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวน 378 โรงงาน เพิ่มขึ้น 6.47% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา(355 โรงงาน) มูลค่าการลงทุน 22,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% เมื่อเทียบกับปีก่อน (21,717 ล้านบาท) มีการจ้างงาน 9,060 คน ลดลง 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (10,001 คน) ส่วนการขยายกิจการในเดือนมีนาคม มีจำนวน 70 โรงงาน เพิ่มขึ้น 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(66 โรงงาน) ขณะที่ยอดเงินลงทุน 19,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(12,480 ล้านบาท)

ทั้งนี้เมื่อรวมการเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการในเดือนมีนาคม พบว่า มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 448 โรงงาน เพิ่มขึ้น 6.41 %จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (421 โรงงาน) มูลค่าการลงทุนรวม 42,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.77% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (34,197 ล้านบาท) โดยอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่มูลค่ามากที่สุดในเดือนมีนาคม 2559 ได้แก่ อุตฯอาหาร มูลค่าการลงทุน 1,489 ล้านบาทอุตฯเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มีมูลค่าการลงทุน 1,443 ล้านบาท อุตฯผลิตภัณฑ์โลหะ 1,430 ล้านบาท เป็นต้น

“ในเดือนมีนาคมยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการมีการเติบโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจมาจากการผลักดันนโยบายคณะกรรมการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว หลังจากเริ่มมีการวางนโยบายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งการออกสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในปีนี้ แต่ที่น่าจับตามอง คือ จำนวนแรงงาน เริ่มมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันและมีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีการใช้แรงงานที่ลดลง แต่แรงงานที่มีทักษะจะมีความต้องการมากขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้มีแรงงานด้านทักษะมากขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ” นายพสุกล่าว

นายพสุ กล่าวว่า จากเดิมที่กรมโรงงานตั้งเป้ามูลค่าเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท คงได้ตามเป้าอย่างแน่นอน และมั่นใจว่าจะเพิ่มกว่าปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากปัจจุบันประเทศอยู่ในบรรยากาศน่าลงทุน รวมทั้งปัจจุบันกรมโรงงงานกำลังแก้ปัญหาเรื่องผังเมือง ซึ่งหากเสร็จเรียบร้อยจะส่งผลดีต่อโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตฯ อ้อยและน้ำตาลที่ติดปัญหาอีกกว่า 10 โรงงาน และส่วนใหญ่ช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงที่มีการลงทุนของผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของโรงงานที่ขอเลิกกิจการในเดือนมีนาคมมีการยื่นขอเลิกกิจการไปแล้ว 647 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เลิกกิจการ 203 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 218% มีมูลค่าลงทุน 8,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 240% และมีแรงงานที่ต้องว่างงาน 16,427 คน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 5,969 คน หรือเพิ่มขึ้น 175%

โดยโรงงานที่ขอเลิกกิจการมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุตฯยานพาหนะและส่วนประกอบ2.อุตฯเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยางหรือโลหะอื่นๆ 3.อุตฯแปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 4.อุตสาหกรรมโลหะ 5.อุตสาหกรรมพลาสติก 6.อุตสาหกรรมอโลหะ 7.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 8.อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

“ยอดปิดโรงงานที่มีเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องมาจากทางกรมโรงงานเริ่มเก็บข้อมูลให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีการเข้าไปตรวจโรงงานที่หยุดกิจการไป รวมถึงผู้ประกอบการบางรายเริ่มมีการแจ้งเลิกกิจการเข้ามา” นายพสุกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ปี59พื้นที่แล้งลดต่ำสุดรอบ3ปี 'ฝนหลวง'เติมเขื่อน47ล.ลบ.ม.

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า ล่าสุดจากการสำรวจการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งย้อนหลัง 3 ปี ในวันที่ 7 เมษายน ตั้งแต่ปี 2556-2558 ปรากฎว่าในปี 2559 มีพื้นที่ลดลง คือมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพียง 27 จังหวัด ครอบคลุม 4,200 หมู่บ้าน

ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 2,269 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ หรืออาจถึงกลางเดือนสิงหาคม ส่วน 2 เขื่อนหลักลุ่มแม่กลอง ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีปริมาณน้ำใช้การถึง 3,120 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ ยังมีน้ำสำรองจาก Dead Storage ใช้ได้จนถึงเดือนกรกฎาคม และเขื่อนลําตะคอง มีปริมาณน้ำใช้การ 67 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณการระบายน้ำ 4.8 แสนลบ.ม./วัน คาดว่ามีน้ำใช้จนถึงเดือนสิงหาคม และสถานการณ์น้ำเค็ม ไม่น่าเป็นห่วง ล่าสุดวัดค่าความเค็มที่คลองสําแล จ.ปทุมธานี มีความเค็ม 0.15 กรัม/ลิตร ซึ่งยังใช้ผลิตน้ำประปาได้

ส่วนปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน รวม 34 วัน มีปฏิบัติการฝนหลวงรวม 457เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 43 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ภาคกลาง 12 จังหวัด ภาคอีสาน 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคใต้ 4 จังหวัด มีพื้นที่ฝนตกรวม 42 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 13 เขื่อน รวม 47 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินและเติมน้ำในเขื่อนได้

ทั้งนี้ ในส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จํานวน 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.6  ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยวอีก 0.34 ล้านไร่ และมีการพยากรณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 7-22 เมษายนนี้ อาจมีฝนตกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยในวันที่ 7-14 เมษายน จะมีฝนตกภาคเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ปิง น่าน และในวันที่ 15-22 เมษายน จะมีฝนตกบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน

"กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการวางแผนการเพาะปลูกในฤดูกาลปี 2559 ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการประกาศให้พี่น้องเกษตรกรทราบ และสามารถวางแผนการผลิตได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นที่ผ่านมา คาดว่าจะเร่งดำเนินการและประกาศให้ทราบทั่วกันในช่วงหลังสงกรานต์นี้ สุดท้ายนี้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขอให้พี่น้องประชาชนใช้ช่วงเวลานี้ร่วมรักษาประเพณีอันดีงาม และช่วยกันประหยัดน้ำ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

กนง.คาดเงินทุนไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ประเมินเศรษฐกิจโลกเบ้ไปด้านตํ่ามากขึ้น

บอร์ดกนง.ประเมินความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวศก.โลกเบ้ไปด้านต่ำมากขึ้นจากความเปราะบางของภาคการเงินในยุโรปเป็นสำคัญ/คาดความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินอาจส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่อง

รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 2/2559 วันที่ 23 มีนาคม 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ณ วันที่ 5 เมษายน 2559 กรรมการที่เข้าร่วมประชุม นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน นายจาลอง อติกุล นายปรเมธี วิมลศิริ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายอภิชัย บุญธีรวรโดยคณะกรรมการ(บอร์ดกนง.) ประเมินภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจโลกกับปริมาณการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากจากในอดีต โดยปริมาณการค้าเติบโตต่ำกว่าแนวโน้มเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อภาคการส่งออก ของเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทย และความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเบ้ไปด้านต่างมากขึ้นจาก ความเปราะบางของภาคการเงินในยุโรปเป็นสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงจากภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียในระยะต่อไป

ด้านภาวะตลาดการเงิน บอร์ดกนง. คาดว่าทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่แตกต่างกัน (monetary policy divergence) จะยังส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ของไทยมีความน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับความผันผวนของค่าเงินบาทอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่อง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศในระยะต่อไป บอร์ดกนง.ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงโน้มไปด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่มี ความเปราะบาง รวมถึงภัยแล้งที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด (ปรับลดประมาณการจีดีพีลงมาอยู่ที่ 3.1%จากเดิม 3.5% พร้อมประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 0.6%จากเดิมอยู่ที่ 0.8% และปรับลดประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานเป็น 0.8% จากเดิมอยู่ที่ 0.9%) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาต่ำกว่าคาดในช่วงปลายปี 2558 เป็นสำคัญ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคือราคาน้ำมันโลกที่ยังเคลื่อนไหวผันผวน ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของสาธารณชนยังคงใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อแม้จะมีแนวโน้มลดลงบ้าง ซึ่งในระยะข้างหน้าบอร์ดกนง.จะติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง จากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนในภาคเกษตรและธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่มีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวล่าช้า ในขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่า ต้นทุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำซึ่งอาจไม่สะท้อนค่าความเสี่ยงที่แท้จริง (underpricing of risk) จึงเห็นควรให้ติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายระยะต่อไป บอร์ดกนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

อนึ่ง บอร์ดกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ โดยเห็นความสำคัญของการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ในยามจำเป็นในระยะข้างหน้าซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัจจัยเสี่ยง เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจล่าช้ากว่าคาด รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ กรรมการส่วนหนึ่งประเมินว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลบวกจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ อย่างไรก็ดี กรรมการเห็นพ้องว่า ที่ผ่านมามีบางช่วงที่เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ก.เกษตรประชุมวางแผนเพาะปลูกปี59

กระทรวงเกษตร ประชุมวางแผนเพาะปลูกปี 59 หวังให้เกษตรกรรับมือ ป้องกันความเสียหาย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการวางแผนการเพาะปลูกในฤดูกาลปี 2559 ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประกาศให้ทราบช่วงหลังสงกรานต์นี้ เพื่อให้มีการประกาศให้พี่น้องเกษตรกรทราบและสามารถวางแผนการผลิต เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 2 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.6 ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยวอีก 0.34 ล้านไร่ และมีการพยากรณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 7 – 22 เมษายนนี้ อาจมีฝนตกครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยในวันที่ 7 – 14 เมษายน จะมีฝนตกภาคเหนือบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ปิง น่าน และในวันที่ 15 – 22 เมษายน จะมีฝนตกบริเวณลุ่มแม่น้ำมูล ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง จากการสำรวจการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งย้อนหลัง 3 ปี ในวันที่ 7 เมษายนตั้งแต่ปี 2556 – 2558 ปรากฏว่าในปี 2559 มีพื้นที่ลดลง คือมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพียง 27 จังหวัด ครอบคลุม 4,200 หมู่บ้าน

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

แก้ปัญหาภัยแล้ง พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ไม่ใช่แค่จัดการน้ำอย่างเดียว

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510, 2511, 2515, 2520 และ พ.ศ. 2522

ภัยแล้งครั้งที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เกิดจากฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝนยาวนานกว่าปกติ คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ปริมาณฝนรายปีต่ำกว่าค่าปกติในทุกภาค บริเวณที่ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง คือ ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางทั้งหมด ด้านเหนือและด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางตอนบนของภาคใต้ฝั่งตะวันออก

ทำให้เกิดความเสียหายและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งต้องอาศัยผลผลิตทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะขาดน้ำกินน้ำใช้และกระแสไฟฟ้า พืชผลที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วได้รับความเสียหายมากมาย

หลังจากปี 2522 ก็เกิดสภาวะฝนแล้งในปีต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง ปีที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เช่น ปี พ.ศ. 2529, 2530, 2533, 2534, 2535, 2537, 2542, 2548 และล่าสุด พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะภัยแล้งในปี พ.ศ. 2537, พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2558 เป็นปีที่เกิดภัยแล้งเป็นบริเวณกว้างในเกือบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ต้องมีการจัดสรรปันส่วนน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์

สาเหตุใหญ่ของภัยแล้งเกิดจากภัยธรรมชาติ ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานในฤดูฝน และการกระทำของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ การบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การขยายตัวของชุมชน และพื้นที่การเกษตร เป็นต้น

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เป็นบริเวณที่มีพื้นที่ประมาณ 99.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30.85 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นเป็นลุ่มน้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วย 8 ลุ่มน้ำสาขาหลัก คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เทือกเขาแหล่งต้นน้ำลำธาร มีที่ราบตามหุบเขาและริมน้ำ ตอนกลางพื้นที่

ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ น้ำท่วมขัง การใช้พื้นที่ในลุ่มน้ำ กล่าวได้คือพื้นที่ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 45.63 เป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร รองลงมาเป็นการใช้ที่ดินประเภทป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 45.30 และพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 5.35 ที่เหลือเป็นการใช้ที่ดินประเภทอื่น ๆ และแหล่งน้ำ ร้อยละ 2.09 และร้อยละ 1.64 ตามลำดับ

แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบันของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นลุ่มน้ำที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม โดยมีพื้นที่การเกษตรที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการพัฒนาโครงการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในปัจจุบัน มีโครงการทุกประเภทรวม 48,917 โครงการ พื้นที่ชลประทานและพื้นที่รับประโยชน์รวม 20.865 ล้านไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 27,356.58 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาตรเก็บกักน้ำของโครงการขนาดใหญ่ที่มีความจุอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 11 โครงการ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 25,987.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นความจุอ่างเก็บน้ำใช้งาน 19,186.04 ล้าน ลบ.ม.

ความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันและอนาคต

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่เป็นแหล่งผลิตอาหารด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว มีความต้องการใช้น้ำเป็นปริมาณมาก รวมทั้งมีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีปริมาตรความจุอ่างเก็บน้ำมากกว่าทุกลุ่มน้ำในประเทศ เมื่อพิจารณาความต้องการใช้น้ำในรายลุ่มน้ำสาขาหลัก แยกเป็นกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความต้องการน้ำด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศวิทยาท้ายน้ำ

ในปัจจุบันลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความต้องการใช้น้ำรวม 30,583 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 36,550 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าโดยเป็นความต้องการใช้น้ำภาคการเกษตรร้อยละ 82

จากการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำและปริมาตรน้ำเก็บกักในลุ่มเจ้าพระยา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ในขณะที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ชะลอตัวลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฤดูฝนช่วงน้ำหลากขาดแหล่งเก็บน้ำหลากเพื่อการบรรเทาอุทกภัย จากแผนงานที่คาดการณ์ไว้ในการพัฒนาโครงการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในอนาคตแล้ว จะเป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้งอีกประการหนึ่ง นอกจากนั้นโครงการผันน้ำที่ได้มีการศึกษาเพื่อการพัฒนาก็จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ความไม่สมดุลจากการพัฒนา

ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการพัฒนานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่การขุดคลองเพื่อการคมนาคมทางน้ำ การระบายน้ำหลากท่วม และการปรับปรุงคลองต่าง ๆ มาเป็นคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร การเริ่มสร้างฝาย และเขื่อนทดน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ฝายแม่แฝก เขื่อนพระรามหก และเขื่อนเจ้าพระยา เป็นต้น

จากการเริ่มแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการพัฒนาเขื่อนเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน การคมนาคมขนส่ง ชุมชนเมือง การเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว มีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น เป็นแหล่งเก็บน้ำ ทำให้มีการพัฒนาระบบชลประทาน ทำให้มีการขยายตัวของพื้นที่การเกษตร การใช้พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีการใช้น้ำมากกว่าปริมาณน้ำต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาในปีน้ำน้อยเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทุกปี

การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง

พื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงการเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่ชลประทานกว่า 7 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพราะมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ รวมทั้งเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก

แต่บางปีไม่มีการวางแผนและควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งให้เหมาะสม กับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดการแย่งกันใช้น้ำของเกษตรกร โดยเฉพาะในปีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ยิ่งมีปัญหารุนแรงมาก เพราะน้ำแล้งมาก

การแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีแนวโน้มการใช้น้ำเป็นปริมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และกลุ่มผู้ใช้น้ำต่าง ๆ ต้องมาทำความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการแก้ไขปัญหาภัยแล้งไม่ใช่เป็นการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ หรือเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น การแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นภารกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมาดำเนินการร่วมกัน

ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง โดยกำหนดแนวทางต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ต้องวางแผนจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและผลผลิตในพื้นที่ชลประทาน โดยจัดกลุ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อจัดการน้ำในระดับคลองสายหลัก หรือโครงการส่งน้ำให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ควบคุมการใช้พื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งให้เท่าเทียมกัน จัดพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะกับดินและน้ำ และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้ง 3.การเพิ่มอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ 4.การผันน้ำ คือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำให้เขื่อนภูมิพล

ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยานับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทั้งนี้เพราะการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตร จำเป็นต้องมีการจัดการด้านการใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยควรจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ดังนี้ 1.การวางแผนจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในแต่ละกิจกรรม 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและผลผลิตในพื้นที่ชลประทาน 3.การเพิ่มอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ 4.การผันน้ำคือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล

พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ประสบปัญหาภัยแล้งมาหลายครั้ง เห็นได้จากปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ในปีที่ต้นเดือนมกราคมมีปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานของทั้งสองเขื่อนน้อยกว่า 4,000 ล้าน ลบ.ม. เช่น ปี 2523, 2537 และ 2542 ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการใช้น้ำในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง

ในต้นปี 2558 ปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวม 5,378 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าค่าต่ำสุดของปีน้ำปกติ คือ 6,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มากกว่าปริมาตรน้ำเก็บกักใช้งานของทั้งสองเขื่อนในเดือนมกราคมของปี 2523, 2537 และ 2542 แต่ก็เกิดปัญหาวิกฤตน้ำอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ขาดการวางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองเขื่อน เพื่อการใช้น้ำจากกิจกรรมต่าง ๆ อย่างจริงจัง ประกอบกับที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกในช่วงต้นฤดูฝน ทำให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น สภาวะวิกฤตในช่วงปลายฤดูฝนแต่ละปี จะต้องพิจารณาถึงปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนทั้งสองเขื่อนว่าปริมาตรน้ำใช้งานเท่าไร จะได้วางแผนการจัดสรรน้ำและควบคุมการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

และเพื่อให้การดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งได้ผลอย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐต้องมีการวางแผนร่วมกัน และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรือการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

เกษตรกรกาฬสินธุ์อ่วม! ซื้อน้ำรดอ้อยสู้วิกฤติแล้ง

สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำให้แหล่งน้ำบนดินใต้ดินแห้งขอด พืชผลทางการเกษตรเริ่มขาดน้ำแห้งตาย พืชทนแล้งอย่างอ้อยทยอยเหี่ยวตายหลายร้อยไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้องบรรทุกน้ำไปราดรด เพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำการเพาะปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

กาฬสินธุ์/ จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าได้ส่งผลกระทบรอบด้านกับประชาชน ทั้งภาวการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และพืชผลขาดน้ำแห้งตาย เนื่องจากแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินแห้งขอดหมดไป ทั้งนี้ทางจังหวัดฯ โดยนายวินัย วิทยานุกูล ผวจ.กาฬสินธุ์ และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ได้ปล่อยคาราวานแจกจ่ายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม พบว่าวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบถึงพืชผลทางการเกษตร ที่เริ่มขาดน้ำแห้งตายได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

นายอุทัย ใจธรรม อายุ 30 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อยบ้านเลขที่ 94 หมู่ 9 ต.ห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูแล้งปีนี้นับเป็นวิกฤติแล้งรุนแรงมาก ทำให้ไร่อ้อยอายุ 3 เดือนที่ปลูกไว้ 5 ไร่ ขาดน้ำและเริ่มทยอยตายลงเรื่อยๆ เพื่อลดความสูญเสียจึงได้ลงทุนซื้อทั้งถังบรรจุน้ำ แล้วบรรทุกน้ำมาราดรดให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งซื้อพันธุ์อ้อยทำการปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายไป โดยน้ำที่ซื้อมารดอ้อยบรรจุถัง 2,000 ลิตร ราคา 200 บาท ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้เพิ่มทุนการผลิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุนเป็นอย่างมาก แต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นอาชีพ

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ขณะนี้มีปริมาณทั้งหมดที่ 474 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24 ระดับน้ำใช้การได้ที่ 374 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 จากความจุอ่างที่ 1,890 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำปาวได้ระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ยื่นตั้งโรงงานพุ่ง21%

ยอดยื่นขอใบ ร.ง.4 ไตรมาสแรกปีนี้มูลค่าลงทุนเพิ่มขึ้น 21% สะท้อนบรรยากาศลงทุนในประเทศดีขึ้น

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ไตรมาสแรกปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งในแง่ปริมาณโรงงานและมูลค่าลงทุนทุนอยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าลงทุน 9.36 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21%

สำหรับยอดคำขอใบ ร.ง.4 เพื่อตั้งโรงงานใหม่ในเดือน มี.ค. 2559 พบว่ามีจำนวน 378 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ก่อนที่มียอดคำขอ 355 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 6.47% ขณะที่มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าลงทุน 2.17 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.65% ส่วนยอดยื่นคำขอขยายกิจการเดือน มี.ค. มีจำนวน 70 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มียอดยื่น 66 โรงงาน หรือเพิ่มขึ้น 6.06% และมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1.99 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มียอดลงทุน 1.24 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 59.77%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายอดยื่นคำขอใบ ร.ง.4 พบว่าอุตสาหกรรมที่มียอดยื่นคิดเป็นมูลค่าลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อาหาร มูลค่าลงทุน 1,480 ล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี มูลค่าลงทุน 1,440 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์โลหะ 1,430 ล้านบาท

นายพสุ กล่าวว่า ในปีนี้ กรอ.คาดว่าจะมียอดยื่นคำขอตั้งกิจการใหม่และขยายกิจการที่ระดับ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยยังดีอยู่ และหาก กรอ.สามารถร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาผังเมืองกรณีการจัดตั้งโรงงานอ้อยและน้ำตาลทรายได้เรียบร้อยก็จะส่งผลดีต่อการตั้งและขยายโรงงานอ้อยและน้ำตาลกว่า 10 โรงงาน

 “การขยายตัวของการลงทุนส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับคู่แข่ง สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ขณะที่ภาครัฐได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่จะกระตุ้นการลงทุน โดยมีการเดินทางโรดโชว์ตามประเทศต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ให้ข้อมูลรายละเอียดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้นักลงทุนเข้าใจมากยิ่งขึ้น”

นายพสุ กล่าว นายพสุ กล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลผลักดันนโยบายพัฒนาการลงทุนอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์ และการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในปีนี้ แต่มีความเป็นห่วงว่าแรงงานที่มีทักษะอาจมีไม่เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

“ภัยแล้ง” แก้ได้ด้วย “ชุมชน” ลุกขึ้นมา “บริหารจัดการน้ำ” ด้วยตนเอง

  จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2559 ข่าวคราวที่ออกมาทางสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทั้งการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน และในการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จากรายงานสถานการณ์น้ำ ทำให้เห็นสถานการณ์น้ำอย่างชัดเจนว่ามีความวิกฤติเพียงใด ถึงเวลาแล้วที่ “คนรุ่นใหม่” หรือ “คนเมือง” จะลุกขึ้นมามีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมแก้ไขสถานการณ์นี้

2 นักศึกษาได้แก่ น.ส.สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกุล หรือ เนตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ น.ส.กชรัตน์ วิชิตนาค หรือแนท มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network) พร้อมทั้ง อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร ข้าราชการบำนาญผู้ริเริ่มแนวคิดการฟื้นป่า บ้านธารมะยม เชิงเขาแม่กระทู้ ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ ซึ่งปัจจุบันชุมชนธารมะยมสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง ได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

  อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร ร่วมสะท้อนว่าภัยแรงปีนี้ ทำให้เห็นภาพสะท้อนกลับไปที่ชุมชนว่า..บางครั้งชุมชนก็ลืมไปว่าในอดีตตนเองมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเหลือเฟือได้อย่างไร มีที่เก็บน้ำตื้น บ่อปูนซิเมนต์ อย่างไร แต่พอวันนี้ มาได้รับความสะดวกสบายเรื่องการใช้น้ำ มีน้ำประปาเข้ามา มีหน่วยงานเข้ามาแจกน้ำ ก็ลืมบ่อน้ำเก่าๆ ในชุมชนของตนเองไป “บางพื้นที่ก็กลบไปหมดแล้ว ทำให้เกิดสภาวะน้ำใช้ในครอบครัวไม่มี เพราะเราอาศัยแต่น้ำตามธรรมชาติ พอมีคนเพิ่มขึ้น ก็ใช้น้ำเพิ่มขึ้น น้ำก็ไม่เพียงพอ เราก็ไม่ได้มีวิธีการจัดการน้ำที่ดีด้วยในปัจจุบัน คือเราไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อนเลยว่าจะเกิดภัยแล้งขนาดนี้...”

  แต่ที่ชุมชนบ้านธารมะยม ที่อาจารย์ณรงค์ ได้นำร่องวิธีการจัดการน้ำอย่างได้ผล ทำให้ปีนี้ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้“ชุมชนธารมะยมได้เริ่มทำเรื่องนี้มากว่า 10 ปี พอเริ่มเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ เรามองเห็นว่าเรามีพื้นที่เป็นภูเขา เราก็ไปทำฝายชะลอน้ำให้กักน้ำเอาไว้ให้น้ำซึมเข้าไปอยู่ในภูเขา จากนั้นเราขุดลอกคลอง ในคลองมีการสร้างฝายเว้นช่วงไว้ประมาณกิโล-2 กิโล แบ่งพื้นที่น้ำของชุมชน พื้นที่น้ำของครอบครัว เราก็เก็บน้ำเอาไว้ในช่วงฤดูแล้ง แต่อย่างไรพวกเราก็ใช้น้ำอย่างประหยัด...ภัยแล้งปีนี้ ชุมชนต้องตื่นตัวมาดูแลบ้านตัวเอง และผู้นำชุมชนต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านเขาอย่านิ่งดูดาย ให้มาช่วยกัน มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ 1.ก่อนเข้าฤดูฝนเราต้องเตรียมอะไรไว้บ้าง เรามีสระน้ำ คู คลอง ในพื้นที่ชุมชน ก็ขุดลอกเอาไว้เลย และ 2.ให้ช่วยกันปลูกป่าเติมเอาไว้ในชุมชน และมาช่วยกันคิดว่าตรงไหนที่เป็นแหล่งต้นน้ำจะทำอย่างไร ให้เอาน้ำไปสู่ชุมชนให้ได้ ส่วนไหนเก็บในพื้นที่ชุมชน ตรงไหนในพื้นที่ส่วนตัว ถ้าหากไม่มีความรู้ก็ลองดูหมู่บ้านใกล้ๆ เขาทำอย่างไรก็ได้ หรือมาถามผมก็ได้ยินดีให้ความรู้

  น.ส.สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกุล หรือ เนตร เผยว่าจากการได้เข้าโครงการฯ นี้ทำให้ได้มีโอกาสได้ลงเรียนรู้ในพื้นที่จริงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ชุมชนบ้านธารมะยม จ.นครสวรรค์ กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำให้เข้าใจสถานการณ์ภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น “ดูข่าวปีนี้ รู้สึกว่าสถานการณ์หนักขึ้นทุกปี แต่ก็เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เขายังช่วยเหลือและยังให้ความสนใจอยู่ และหนูก็รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เขาก็เริ่มมองเห็นเรื่องพวกนี้มากขึ้นแล้ว แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเห็นหรือตระหนักในสิ่งพวกนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า บางทีสถานการณ์ก็ยังไม่มากระทบความรู้สึก หรือยังไม่เห็นว่ามาถึงตัวเอง ก็ยังไม่เกิดภาวะที่ว่าเราต้องช่วยกันปิดไฟแล้วนะ หรือแปรงฟันแล้วไม่เปิดน้ำทิ้ง เรามองข้ามเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ถ้าเราทุกคนมองข้ามกันหมด สุดท้ายมันก็กระทบต่อโลกอยู่ดี...แต่การที่ได้มาพักที่บ้านธารมะยม ที่นี่ทำให้เราเห็นคุณค่าของน้ำมากขึ้น เพราะอยู่ในเมือง มีเงินซัพพอร์ทจะใช้อย่างไรก็ได้มีเงินจ่าย ไม่ต้องหาเอง ไม่ต้องขุดบ่อ ตักน้ำขึ้นมา คนที่นี่เขาต้องทำแบบนี้ เขาถึงรู้ว่ากว่าจะได้น้ำมายากแค่ไหน ป่าที่ปลูกกว่าจะโตมา ใช้เวลาไม่ใช่น้อยๆ มันต้องหมั่นทำๆ การจะใช้จึงรู้คุณค่า จุดเริ่มต้นที่ทำแต่ละครั้งถ้าหากใช้หมดไปเราก็ต้องเหนื่อยอีกนะ โลกก็ต้องเหนื่อย

น.ส.กชรัตน์ วิชิตนาค หรือแนท ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน ดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชนบ้านน้ำช้างและชุมชนบ้านบวกหญ้า ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นชุมชนตัวอย่างในการนำรูปแบบ “ดอยตุงโมเดล” ไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนจนได้ผล หลังกลับจากพื้นที่ “แนท” ได้ร่วมสะท้อนว่า ปีนี้ภัยแล้งดูรุนแรงกว่าทุกปี

“...หนูเคยตั้งคำถามว่าน้ำมาจากไหน ทำไมบางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง น้ำหายไปไหน หรืออะไรที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลว่า ถ้ามีป่า ก็จะมีน้ำ ที่น่านเป็นป่าต้นน้ำ ถ้าเราดูแลรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ได้ไปทำลายมัน เราก็จะมีน้ำสม่ำเสมอ น้ำจะไม่แล้ง หรือจะไม่ท่วม มีน้ำพอใช้ ถ้าเราดูแลป่าเป็นอย่างดี ก็เป็นข้อมูลที่หนูคิดว่าทุกๆ คนรู้กันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราใช้น้ำ แต่เราไม่ได้ดูแลป่า คิดว่าคนที่มีหน้าที่ดูแลป่า คือหน้าที่ของคนต่างจังหวัด หรือคนที่อยู่ใกล้ป่า หลังลงพื้นที่ทำให้ความคิดหนูเปลี่ยนว่า ตอนนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของคนแค่กลุ่มเดียว หรือคนๆ เดียวที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล...เห็นคนในพื้นที่เหนื่อยมาก เพราะพวกเขาต้องหาเลี้ยงครอบครัวและยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือทำให้หน้าที่ดูแลไม่ให้มีการเผาป่า เขาไม่ได้เป็นคนเผา แต่เขาต้องเป็นคนไปดับ..หนูคิดว่าบางที่เราอยู่ในเมือง เราอาจจะมีโครงการอะไรที่ช่วยเหลือได้ ตัวเงินก็อาจจะไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้เขาได้ ตอนนี้ได้รับความรู้ จิตสำนึกมา ทำให้ฉุกคิดตลอดว่าถ้าทำอะไรต้องนึกถึงพื้นที่ที่เราไปเจอมา เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันดูแลรักษา...และหนูได้คำตอบว่าการใช้ทรัพยากร การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้เลย ถ้าเราจัดการไม่ได้ จะมีปัญหาตามมา เราหมายถึงทุกคนที่ต้องกินต้องใช้ ต้องฉุกคิดนิดหนึ่งว่า น้ำที่ใช้ไป ได้ประโยชน์มากพอไหม ไม้ที่ตัดได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าไหม..ถ้าหนูเป็นตัวแทนชาวขุนน่านได้ หนูอยากจะบอกคนเมืองให้เขาตระหนักคิด คือทุกอย่างที่ใช้มันมีที่มา และระหว่างทางเราต้องคิดว่าเราจะดูแลรักษามันอย่างไรให้อยู่นานๆ และในฐานะคนเมืองก็อยากจะขอบคุณ ชาวขุนน่านที่เขามีส่วนช่วยในการดูแลรักษาให้พวกเราค่ะ..”

มุมมองและการสะท้อนความคิดเห็นตัวแทนคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์มาร่วมแนะแนวทางการจัดการน้ำอย่างถูกวิธีนี้ อาจจะกระตุกให้ฉุกคิดกันได้บ้าง “ภัยแล้ง” วันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวกันอีกต่อไป ทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนบอกว่าไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง คงไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น แต่ต้องถูกนำมาปฏิบัติกันจริงจังเสียที ก่อนที่ในอนาคตคนไทยจะไม่เหลือน้ำให้ใช้กันสักหยด

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ: วิกฤติภาคเกษตรไทย 

          อนันต์ ดาโลดม

          นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

          ตั้งแต่คณะ คสช. ได้เข้ามาบริหารประเทศ หลังจากการเข้ายึดอำนาจโดยการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้การสนับสนุน คสช. และรัฐบาลที่ได้มีการแต่งตั้งโดย คสช. ในการเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งในระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤติของประเทศก่อนหน้าที่จะมีการยึดอำนาจได้มากมายหลายประการ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ปราศจากการเดินขบวนหรือการปะทะกันจากความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองต่างๆ การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาทางด้านการบิน ปัญหาด้านการประมง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่หมักหมมมาช้านาน

          แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในยุคของ คสช. ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา ด้อยโอกาส มีชีวิตอยู่ในชนบท ต้องทำงานอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก ซึ่งก็คือ พี่น้องเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งนับว่าเป็นโชคที่ไม่ดีของภาคการเกษตรในยุค คสช. เพราะประสบทั้งปัญหาราคาพืชผลเศรษฐกิจหลักตกต่ำพร้อมๆ กันเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และวิกฤติความแห้งแล้ง ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูก มีผลกระทบ ต่อการลดผลผลิตต่อไร่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการเกษตรไทย เท่าที่ผมเคยมีประสบการณ์ทำงานในภาคเกษตรมามากกว่า 40 ปี แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหากระทบต่อราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ของประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออกถึง 70% บวกกับปัญหาอันเกิดจากภัยธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ยากต่อการควบคุม เพราะเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่หากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดผิดพลาดจะยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมให้ภาคการเกษตรตกอยู่ในสภาพวิกฤติยิ่งขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดจากนโยบายดังกล่าว

          ผมกำลังจะพูดถึงนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 10 ล้านไร่ มีผลผลิตมากกว่า 100 ล้านตัน เป็น 16 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณผลผลิตกว่า 180 ล้านตัน พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ปลูก มันสำปะหลังจาก 8 ล้านไร่ เป็น 8.5 ล้านไร่, เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด จาก 7 ล้านไร่ เป็น 7.4 ล้านไร่ และเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จาก 4.5 ล้านไร่ เป็น 7.5 ล้านไร่ ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง "กระทรวงพาณิชย์ : กำลังปฏิรูปโครงสร้างการผลิตการเกษตร" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 คัดค้านนโยบายนี้มาแล้ว

          ผมเชื่อว่า การเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 พืชดังกล่าว ต้องเกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกที่ประกอบด้วยเจ้าของโรงงานน้ำตาลอ้อย โรงงานอาหารสัตว์ เจ้าของลานมันและโรงงานมันเส้น แป้งมันสำปะหลัง โรงงานสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องการให้มีวัตถุดิบเยอะและราคาถูก

          เมื่อ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านก็ได้ผลักดันนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง และทำได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

          นอกจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด ซึ่งเดิมก็ผลิตเกินความต้องการของการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว ที่เหลือที่ต้องส่งออกก็ยังเจอปัญหาราคาที่ตกต่ำ ยังไม่พอรัฐบาลยังปล่อยให้มีการนำเข้ามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย น้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบโดยผิดกฎหมาย เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรไทย จากการปล่อยปละละเลยของผู้ที่เกี่ยวข้อง

          ท่านรัฐมนตรี ควรจะต้องทบทวนนโยบายการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชทั้ง 4 ชนิด ท่านต้องหยุดทำร้ายเกษตรกรเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนเหล่านี้ และบางคนก็ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลอีก ท่านทราบหรือไม่ว่า โรงงานน้ำตาลบางแห่งหยุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

เตือนไทยเร่งหาพลังงานสำรอง คาดปี2040ยอดใช้ทะยาน86%

นายอาทิตย์ ทิพย์พิชัย นักวิจัยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ได้นำข้อมูลผลจากการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานของ 21 ประเทศในกลุ่มเอเปก ที่มีสมมุติฐานในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานดังกล่าว โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากธนาคารโลก (World Bank) มาใช้ในแบบจำลอง หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งได้มีการประมาณการว่าในอีก 20-30 ปี

 ข้างหน้า ประเทศไทยยังคงมีการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2040 แต่แหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศจะมีปริมาณลดลง และจะมีการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 78%

“จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตประเทศไทยยังคงต้องดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ประสิทธิภาพสูง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงภาคขนส่งเป็นพลังงานทดแทน แทนน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนเปลี่ยนโหมดสู่การใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และรถสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ฯลฯ โดยแนวทางต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยทำให้การใช้พลังงานภาคขนส่งลดลงได้” นายอาทิตย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

รายงานสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 ประจำที่ 7 เมษายน 2559

1. สภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยตอนบน มีอากาศร้อนโดยทั่วไปและมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง

2. สภาพน้ำท่า

สถานการณ์น้ำ: ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก มีแนวโน้มทรงตัวคุณภาพน า3. สภาพน้ำในแหล่งน้ำ

3.1 สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 12,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 9.21 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 73.18 ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำ

ใช้การได้รวม 2,269 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 1.25 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 17.84ล้าน ลบ.ม.ห3.2 สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำอื่นๆ

1) แหล่งน้ำอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

– แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ทั้งประเทศ จ้านวน 352,528 บ่อ ความจุรวม 352.53 ล้าน ลบ.ม.

มีปริมาตรน้ำ 127.73 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36.23 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 30 มีนาคม 2559)

– อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งประเทศ จ้านวน 4,789 แห่ง ความจุรวม 1,816.08 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาตรน้ำรวม 941.11 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51.82 ของความจุทั้งหมด (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559)

2) แหล่งน้ำที่ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559)

– โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ จ้านวน 14,091 แห่ง ความจุรวม 1,161.07 ล้าน ลบม. มีปริมาตรน้ำรวม 323.22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27.84 ของความจุทั้งหมด

3) ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559)

– แหล่งเก็บน้ำอื่นๆ ได้แก่ แหล่งน้ำในและนอกเขตชลประทาน สระน้ำในไร่นา น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ความจุรวม 1,037.39 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาตรน้ำรวม 421.17 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40.60 ของความจุทั้งหมด

3.3การจัดสรรน้ำ

แผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 (วันที่ 1 พ.ย. 2558 – 30 เม.ย. 2559) ณ วันที่ 1 พ.ย. 2558 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ จ้านวน 20,035 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจ้านวน 11,420 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 3,200 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล 900 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,800 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 200 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 300 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึง ปัจจุบันใช้น้ำแล้ว 9,400 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพลสิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) วันนี้ใช้น้ำไป 17.84 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึง ปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 2,638 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนจัดสรรน้ำ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ค่าเงินบาทแข็งค่า จากตลาดคาดเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ย เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 7 เม.ย. 2559 จากธนาคารกสิกรไทยระบุว่าค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 35.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการปิดตลาดเมื่อวันอังคารที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมาที่ระดับ 35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบัน (10.20 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น มาจากเมื่อคืนนี้ ทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด มีการรายงานการประชุมของเฟดที่อัพเดตจากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พูดเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน เม.ย. ว่าภายใต้ความเสี่ยงของโลกที่ยังไม่ลดลง หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดให้แก่ตลาด ดังนั้นทำให้ตลาดคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน เม.ย. ปรับลดลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุล

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันไว้ที่ 35.10-35.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ได้แก่ การขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ส่วนของจีนจะมีการประกาศตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ทั้ง 2 ตังเลขไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินมากนัก

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

รง.น้ำตาลเกษตรผลเปิดรับความเห็นชาวบ้านก่อนขยายกำลังผลิต 3 หมื่นตัน 

         อุดรธานี - โรงงานน้ำตาลเกษตรผลจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนเตรียมขยายกำลังการผลิตน้ำตาลเป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน พร้อมสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 140 เมกะวัตต์ ด้านชาวบ้านเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็น

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 เม.ย.) บริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 140 เมกะวัตต์ ของบริษัท เกษตรผล เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ซึ่งจัดโดยบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด ผู้แทนจากจังหวัด ผู้แทนจากอำเภอ และประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบเขตโรงงาน ในตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมประชุมที่บริษัท โรงน้ำตาลเกษตรผล จำกัด

                ทั้งนี้ สืบเนื่องจากบริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ได้รับอนุญาตก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีกำลังการผลิต 12,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งกำลังผลิตไม่ทันต่อผลผลิตที่ชาวไร่นำมาส่งขายให้โรงงาน ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด ดำเนินการขยายกำลังการผลิตได้เป็น 30,000 ตัน อ้อยต่อวัน ทางโครงการจึงมีแผนงานที่จะดำเนินการในระยะแรก คือ การติดตั้งชุดเครื่องจักรในสายการผลิตใหม่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตให้เป็น 18,000 ตัน และขยายกำลังการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ จากเดิม 500 ตันต่อวันเป็น 1,500

                ส่วนระยะที่ 2 โครงการจัดทำการปรับปรุงชุดเครื่องจักรในสายการผลิตเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยทำการติดตั้งชุดเครื่องจักรใหม่ทดแทนชุดเครื่องจักรเก่าโดยยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 12,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวเมื่อรวมกับการปรับปรุงระยะที่ 2 แล้วจะมีกำลังการผลิตเป็น 30,000 ตัน อ้อยต่อวัน

                จากการที่บริษัท น้ำตาลเกษตรผล จำกัด มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตจาก 12,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 30,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไอน้ำและไฟฟ้าจึงมีแผนการก่อตั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 140 เมกะวัตต์จากเชื้อเพลิงซากอ้อยขึ้นภายใต้ชื่อบริษัท เกษตรผล power plant จำกัด เพื่อเป็นแหล่งต้นกำลังในการจ่ายไอน้ำและไฟฟ้าให้แก่โรงงานน้ำตาล ในส่วนไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานจะส่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าต่อไปในอนาคต จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ภาครัฐและประชาชนได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ ไปพิจารณาป้องกันผลกระทบ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนเพื่อความยั่งยืนต่อไป

                ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยประชาชนที่เข้ามารับฟังทุกคนต่างเห็นด้วย 

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

‘บิ๊กฉัตร’เร่งแผนปฏิรูปภาคเกษตร เรียกถก‘ซิงเกิลคอมมานด์’77จังหวัด/ย้ำเห็นผลใน6เดือน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูง และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ หรือซิงเกิลคอมมานด์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อน 6 นโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ศูนย์เรียนรู้ การเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ การทำเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (โซนนิ่ง) เกษตรอินทรีย์ และธนาคารสินค้าเกษตร หลังจากได้เคยได้มอบนโยบายให้แก่ Single Command ไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ซึ่งหากประเมินผลการดำเนินการในภาพรวมของทั้ง 77 จังหวัด ที่นำเสนอผ่านนิทรรศการในวันนี้และการรายงานผลการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด พบว่า มีความเข้าใจ และนำไปสู่การปฏิบัติได้กว่า 60%

แต่หลังจากนี้ซิงเกิลคอมมานด์ทุกจังหวัด ต้องเร่งผลักดันแนวนโยบายต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรของไทยภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศูนย์เรียนรู้ ศพก. 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยให้กรมต่างๆ ร่วมบูรณาการในศูนย์ การใช้แผนที่การเกษตร (Agri Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกของทุกจังหวัด เน้นสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตร สนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการเชื่อมโยงตลาด โดยอาศัยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ได้แก่ เกษตรกรมีการปรับตัว ภาครัฐสนับสนุนองค์ความรู้ นวัตกรรม และงบประมาณที่จำเป็น โดยมีภาคเอกชน ช่วยเหลือในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการและด้านการตลาด ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะมีส่วนสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

“ทั้งหมดข้างต้นถือเป็นการปฏิรูปภาคการเกษตร ที่นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะกำหนดให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน การปฏิรูปภาคเกษตร ผนวกกับการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรผสมผสานมาใช้ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าการปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติของ ซิงเกิลคอมมานด์ จะยังพบ

 ปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะต้องปรับการทำงานจากลักษณะที่ต่างหน่วยงานต่างทำตามภารกิจมาบูรณาการในพื้นที่เดียวกันเพื่อ

 พัฒนาอย่างครบวงจร เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในระดับจังหวัดทั้งหมด ต้องให้ความร่วมมือกับซิงเกิลคอมมานด์ ในการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร และสร้างรากฐานการพัฒนาการเกษตรของประเทศให้เกิดขึ้นโดยเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

ส่องเกษตร : รีไซเคิลน้ำ(1)

เรื่อง“น้ำ”ท่ามกลางสถานการณ์ภัยแล้งที่วิกฤติหนักและสิ่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนของสังคมในเวลานี้ ยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันมองหาหนทางที่จะดูแลแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ให้ผ่านไปปีๆ แล้วก็ต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาซ้ำซากหรือเผชิญปัญหาที่ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพการณ์ของโลกที่นับวันจะยิ่งเปลี่ยนไปในทางที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ”ค่ำวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า“เราต้องทำให้คนไทยทุกคนรู้คุณค่าของน้ำมากกว่าเดิมว่า น้ำทุกหยดที่เรามีอยู่นั้น มีคุณค่ามหาศาล อย่าทิ้งแม้แต่หยดเดียว บางคนทิ้งทั้งขัน ทิ้งเป็นตุ่มอาบน้ำเหลือเฟือ ปลูกพืชใช้น้ำล้นจนเกินจำเป็น อันนี้ทำให้น้ำลดลง วันหน้าลดลงอีก เราต้องเตรียมการเรื่องจัดโครงการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้ว น่าจะต้องเริ่มต้นปีนี้ให้ได้ สามารถรีไซเคิลน้ำให้ได้ประมาณ 20-30% ทุกกิจการ”

น่าสนใจยิ่งกับสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงเรื่อง “รีไซเคิลน้ำ” และไม่ใช่พูดเฉยๆ แต่ท่านสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมทั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ไปวิจัยและพัฒนา ร่วมพิจารณาให้ได้ผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว โดยให้ดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์-อิสราเอล และอีกหลายประเทศทำอย่างไร เราต้องเตรียมการตั้งแต่บัดนี้

ความจริงการ“รีไซเคิลน้ำ” เพื่อนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่นั้น หลายประเทศที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำจืด น้ำสะอาดได้ดำเนินการกันมานานแล้ว ในขอบเขตใหญ่โตระดับประเทศ จนประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะสิงคโปร์และอิสราเอลที่พล.อ.ประยุทธ์ยกเป็นตัวอย่าง ขณะที่หลายๆประเทศก็ทำกันเป็นบางส่วนตามความจำเป็น แม้กระทั่งในไทยเอง ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนก็มีการรีไซเคิลน้ำมาใช้ในบางกิจกรรม หรือล่าสุดที่รัฐบาลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกมาตรการช่วยบรรเทาภัยแล้งภาคการเกษตร โดยผ่อนผันให้นำน้ำเสียจากโรงงานบางประเภทที่ผ่านกระบวนการบำบัดจนคุณภาพน้ำได้มาตรฐาน ให้นำไปใช้ในภาคเกษตรกรรมได้ ก็ถือเป็นการรีไซเคิลน้ำเช่นกัน

แต่ถ้าจะทำกันจริงจังทั้งระบบทุกภาคส่วนเพื่อรองรับปัญหา “น้ำ” ในอนาคตอย่างยั่งยืน ให้สามารถรีไซเคิลน้ำใช้ได้

 20-30% ในทุกกิจการ แบบที่พล.อ.ประยุทธ์ว่า ก็จำเป็นจะต้องวางแผนกันในระดับชาติอย่างจริงจังและอย่างที่ท่านนายกฯบอก จะต้องถอดบทเรียนจากประเทศที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จมาเป็นแบบอย่างจริงๆ ไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาคือ ไปดูงานเขามาแล้ว ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ไม่มีความคิดอะไร นำมาใช้แก้ไขปัญหาของไทยเลย

ดูตัวอย่างของสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของอาเซียน แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆปริมาณน้ำมีจำกัด จึงเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำจืด จนต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำจากมาเลเซียมาหลายสิบปี กลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงด้วย จำเป็นต้องดิ้นรนพัฒนาเรื่อง“น้ำ”ให้มีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศอย่างไม่ย่อท้อ

และด้วยวิสัยทัศน์ผู้นำประเทศที่ตั้งเป้าหมายให้สิงคโปร์จะต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำของตัวเองให้ได้เพียงพอ ก่อนที่ข้อตกลงสั่งซื้อจากมาเลเซียฉบับล่าสุดจะหมดอายุลงในปีพ.ศ.2604 หรืออีก 45 ปีข้างหน้า จึงทำให้สิงคโปร์เอาจริงเอาจัง ทุ่มเทกับการดำเนิน

 โครงการโรงงานรีไซเคิลน้ำ ด้วยระบบที่ทันสมัย กระทั่งกลายเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการด้านน้ำในภูมิภาคนี้ โดยเปิดใช้โรงงานรีไซเคิลน้ำแห่งแรกเมื่อปีพ.ศ.2546 น้ำที่ผลิตได้ใช้ชื่อว่า NEWater ถูกนำไปผสมกับน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ก่อนส่งผ่านระบบประปาไปยังผู้บริโภค ซึ่งน้ำประปาสิงคโปร์ได้ชื่อว่าปลอดภัย สามารถดื่มจากก๊อกได้เลย

ปัจจุบันสิงคโปร์มีโรงงานรีไซเคิลน้ำและโรงงานผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอีกหลายแห่ง ด้วยกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ ทะเล ซึ่งสามารถผลิตน้ำจืดได้ราวร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำ 340 ล้านแกลลอนที่โรงงานอุตสาหกรรมและพลเมืองทั้งหมด 5 ล้านกว่าคน ของสิงคโปร์ ใช้บริโภคในแต่ละวัน นอกจากนี้ เขื่อนที่อยู่ใจกลางเมืองยังสามารถผลิตน้ำสนองการบริโภคได้อีก ร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือได้จากอ่างเก็บน้ำต่างๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ต้องอาศัยน้ำที่นำเข้าจากมาเลเซียอยู่ ดังนั้นจึงยังเดินหน้าตั้งโรงงานรีไซเคิลน้ำเพิ่ม

แต่แค่โรงงานรีไซเคิลน้ำ ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของสิงคโปร์ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ควรจะเป็นบทเรียนสำหรับไทยด้วย ผมคงต้องไปว่าต่อในสัปดาห์หน้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

น้ำตาลทรายไทย เตรียมจัดประชุม Bangkok Sugar Conference ส่งเทียบเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนหารือเข้าร่วมกลุ่ม ASEAN Sugar Alliance

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กำหนดจัดประชุม Bangkok Sugar Conference ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยเทียบเชิญภาคธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าร่วม พร้อมจัดประชุมภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศสมาชิกอาเซียน หารือตั้ง ASEAN Sugar Alliance หรือ ASA หวังส่งเสริมด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน และร่วมมือด้านเทคนิควิชาการระหว่างกัน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของอาเซียนให้เข้มแข็ง

          นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะทำงานประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลก จึงมีแนวคิดเชิญชวนประเทศต่างๆ

          ในอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนหรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลในอาเซียน และร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอ้อยและน้ำตาล หวังช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในอาเซียน

          ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย จะใช้เวทีการประชุม Bangkok Sugar Conference และงาน Sugar Dinner ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2559 นี้ โดยคาดว่า จะมีผู้แทนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 250 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าน้ำตาลของไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ โดยในโอกาสนี้ไทยจะจัดประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน(ASA) และเชิญผู้แทนภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และ สปป.ลาวเพื่อร่วมมือจัดตั้ง ASA และรวมพลังกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลของสมาชิกอาเซียน เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลก โดยมั่นใจว่าการประชุมในครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศสมาชิก หลังจากที่อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว

          "เรามีแนวคิดต้องการให้ทุกประเทศในอาเซียนร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Sugar Alliance เพื่อเป็นการเปิดประตูความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และการค้าน้ำตาล ตลอดจนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคนิควิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิก" นายเชิดพงษ์ กล่าว

          ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย มีการส่งออกน้ำตาลไปยังภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด โดยมีปริมาณการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวสูงถึง 45% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมดในแต่ละปี โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งหวังว่า ความร่วมมือกันภายใต้ ASA จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมน้ำตาลในอาเซียนมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

23จังหวัดวิกฤตแล้งเขื่อนแห้งขอดประปาภูมิภาคลดแรงดันน้ำ-ยืดเวลาใช้อีก60วัน 

           กก.แก้ปัญหาภัยแล้งสรุป 97 อำเภอ 3,411 หมู่บ้าน 23 จังหวัดภัยแล้งกระหน่ำหนัก "เขื่อนอุบลรัตน์" ต้องขอดน้ำก้นอ่างประทังรอฝน ด้านประปาภูมิภาค 26 สาขาลดแรงดันน้ำ-จ่ายเป็นเวลาเพื่อยืนระยะให้ได้อีก 60 วัน

          คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน สรุปพื้นที่ประสบภัยแล้งล่าสุดมี 23 จังหวัด 97 อำเภอ 421 ตำบล 3,411 หมู่บ้าน ในจังหวัด คือ เชียงใหม่-อุตรดิตถ์-พะเยา-สุโขทัย-พิจิตรนครสวรรค์-น่าน-นครราชสีมา-นครพนมมหาสารคาม-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ขอนแก่นกาญจนบุรี-เพชรบุรี-ชัยนาท-สระบุรี-สระแก้ว- จันทบุรี-ชลบุรี-ตราด-สตูล และกระบี่

          ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่มีผลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีน้ำใช้การได้เหลือแค่ 2,387 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% ขณะที่เขื่อนอุบลรัตนสถานการณ์น้ำวิกฤตสุด เหลือน้ำใช้การได้แค่ 4 ล้าน ลบ.ม.หรือ 0% เขื่อนลำตะคองกับเขื่อนลำแชะ ที่ส่งน้ำมายังจังหวัดนครราชสีมาเหลือน้ำ 68 กับ 66 ล้าน ลบ.ม.หรือ 23-25% ตามลำดับ

          นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำเขื่อน อุบลรัตน์ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่มีน้ำใช้ การเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคมที่จะเข้าฤดูฝนว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ 585 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำกักเก็บ 24% (ใช้การได้จริง 4 ล้าน ลบ.ม.หรือ 0%) กรมชลฯ ประเมินว่าที่ผ่านมา (ปี 2537) ที่เกิดภัยแล้ง-ขาดแคลนน้ำก็เคยนำน้ำ Dead Storage (น้ำก้นอ่าง) มาใช้ถึง 240-246 ล้าน ลบ.ม. "โดยไม่ต้องสูบ" ดังนั้นหากเขื่อนอุบลรัตน์ยังคงใช้น้ำในอัตราปัจจุบัน (ปริมาณน้ำระบาย 0.80 ล้าน ลบ.ม.) น่าจะ มีน้ำเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคม"

          ในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาค ได้บริหารจัดการน้ำด้วยการ "ลดแรงดันน้ำ" กับ "ลดอัตราการจ่ายน้ำ" 18 สาขาแล้ว อาทิ บ้านบึง, พนัสนิคม จ.ชลบุรี, จันทบุรี, คลองใหญ่ จ.ตราด, ขลุง จ.จันทบุรี, พิมาย จ.นครราชสีมา, บ้านหมี่ จ.ลพบุรี, สวนผึ้ง จ.ราชบุรี, ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี, ชุมแพ จ.ขอนแก่น, อุดรธานี, สว่างแดนดิน จ.สกลนคร, แม่ริม จ.เชียงใหม่, พะเยา, เด่นชัย จ.แพร่, ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และนครไทย จ.พิษณุโลก ฯลฯ แต่จนกระทั่งถึงบัดนี้ยังไม่มีสาขาใดหยุดจ่ายน้ำ

          นายเฉลิมชัย ชละธาร นายอำเภอภูเวียง หนึ่งในพื้นที่ที่ กปภ.ต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา กล่าวว่า กปภ.หน่วยบริการภูเวียง ไม่มีน้ำดิบในการผลิตประปาแล้ว ทั้งแหล่งน้ำดิบเดิมคือ สระโสกขุมปูน กับแหล่งสำรองอย่างโสกรวก แห้งขอด ใช้วิธีรถขนน้ำประปาจากเทศบาลตำบลดอนโมง อ.หนองเรือ มาเติมใส่ท่อแจกจ่ายผู้ใช้น้ำในเขตราว 1,300 ครัวเรือน วันละ 1 ครั้งช่วง 18.00-21.00 น. ล่าสุดจะลดเวลาลงเหลือ 2 ชั่วโมงคือ 18.00-20.00 น. รวมถึงมีน้ำจากบ่อบาดาลที่เทศบาลขุดเพิ่มอีก 7-8 จุดและประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอยืมรถบรรทุกน้ำ อีก 4-5 คัน คันละ 10,000 ลิตร เพื่อ ไปขนน้ำมาเพิ่ม

          ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่าแล้งปีนี้โชคดีเพราะมีการเช็กปริมาณการใช้น้ำสม่ำเสมอ การใช้น้ำที่ผ่านมายังไม่เสียหาย ประชาชนให้ความร่วมมือ มีการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำรองรับประชาชนทั้ง 60,000 หมื่นหลังคาเรือนได้ไม่มีปัญหา ปัจจุบันเทศบาลใช้น้ำวันละ 100,000 ลบ.ม. มีสต๊อกน้ำ 800,000 ลบ.ม.

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สอบถามไปยังนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ถึงสถานการณ์น้ำเค็ม/น้ำกร่อยจนสถานีสูบน้ำประปา สำแลลดกำลังการผลิตนั้น ปรากฏ กปน.จะลดกำลังผลิตถึงวันที่ 1 เมษายนนี้เท่านั้น "ผมขอเรียนว่า เราไม่หยุดผลิตน้ำประปา แม้ช่วงนี้น้ำทะเลหนุนทำให้ค่าความเค็มสูงก็ยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ทุกวันตามเกณฑ์เฝ้าระวังค่าความเค็มอยู่ที่ 0.25 แต่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.5" นายธนศักดิ์กล่าว

          ทั้งนี้น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯจะเค็มหรือไม่อยู่กับ 2 ปัจจัย 1) ปริมาณน้ำที่ระบายออกจาก 4 เขื่อนหลักที่ 18 ล้าน ลบ.ม.เพื่อผลักดันน้ำเค็มพอเพียงหรือไม่ 2) ภาวะน้ำเค็มหนุนขึ้นสูงสุด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร 86 ลบ.ม./วินาที จากปริมาณน้ำระบายออกเขื่อนเจ้าพระยา 75 ลบ.ม./วินาที ทำให้ค่าความเค็มน้ำวัดได้ที่สถานีสูบน้ำสำแล ปทุมธานี (96 กม.จากปากน้ำเจ้าพระยา) อยู่ที่ 0.27 กรัม/ลิตร, ที่สะพานพระนั่งเกล้า (71 กม.จากปากน้ำ) 2.24 กรัม/ลิตร, ท่าน้ำนนทบุรี (67 กม.จากปากน้ำ) 2.98 กรัม/ลิตร และกรมชลประทานสามเสน (60 กม.จากปากน้ำ) 5.03 กรัม/ลิตร

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 5 เมษายน 2559

‘สมคิด’สั่งพณ.ส่งผลศึกษาเข้าร่วมTPP29เม.ย.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ว่า ได้มีการติดตามความคืบหน้าการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของไทย ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาของสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ระบุว่าไทยควรจะเข้าร่วม TPP เพราะไทยจะได้รับประโยชน์มากกว่า โดยได้กำชับให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ไขในอนาคต

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด เป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม และขอให้กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในวันที่ 29 เมษายน 2559 เพื่อให้ไทยสามารถเริ่มต้นเจรจากับสมาชิก TPP ได้ในต้นปี 2560 ซึ่งคาดว่านักลงทุนต่างชาติก็กำลัง

 รอฟังท่าทีของไทยอยู่

อย่างไรก็ตาม ตนยังได้มาติดตามงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยได้มอบหมายไป โดยเฉพาะเรื่องตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการค้า เรื่องอี-คอมเมิร์ซ ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งทำงานให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเร็ว ให้ระบบมาช่วยพัฒนาการค้าขายของไทยและต้องดึงธุรกิจโลจิสติกส์เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้การค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซทำได้ครบวงจร

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งปรับปรุงหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่การทำงานต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ก็ทำงานได้ดีแล้ว แต่จากนี้ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยภายในเดือนสิงหาคม 2559 นี้คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัยมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

กกร.หั่นเป้าส่งออกปี’59เหลือแค่0-2% แนะรัฐเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลก

กกร. ประกาศลดเป้าส่งออกปี’59 เหลือแค่ 0-2% เหตุเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง การค้าข้ามชาติชะลอตัว เศรษฐกิจในประเทศทรงตัว พร้อมเสนอปรับบทบาท สมอ. เป็นผู้กำกับดูแล ส่วนการออกใบอนุญาตให้องค์กรเอกชนดูแล ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีสากล

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. ประจำเดือนเมษายน 2559 ว่า ที่ประชุมได้สรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่า ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคส่งออกที่พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ยังคงไม่ได้บ่งบอกถึงสัญญาณฟื้นตัวของภาคส่งออกอย่างชัดเจน เนื่องจากมีสาเหตุจากปัจจัยชั่วคราวจากการส่งออกทองคำและรายการพิเศษเท่านั้น

ทั้งนี้ กกร. ประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกยังคงได้รับแรงกดดันจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 2559 ขยายตัว 0-2% ต่ำกว่าจากเดิมคาดการณ์เป็นบวกกว่า 2% สอดคล้องกับทิศทางที่ชะลอลงของการค้าโลก นอกจากนี้ กกร. เห็นว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกเป็นประเด็นที่สำคัญที่จะหนุนการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะยาว

นายสุพันธ์กล่าวว่า แรงหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐผ่านงบประมาณกลางปี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมารวมทั้งการเร่งรัดผลักดันแผนลงทุนในเมกะโปรเจกท์ และแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้กกร.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวได้ในกรอบประมาณการณ์เดิมที่ 3-3.5% ภายใต้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระดับต่ำ เฉลี่ยที่ 0-1%

กกร. จะนำเสนอภาครัฐให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีสากลได้มากขึ้น รวมทั้งเสนอกรมสรรพากรในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการนำรายได้จากการประกอบธุรกิจในต่างประเทศกลับมาประเทศไทย

นายสุพันธุ์กล่าวว่า เร็วๆ นี้กกร.จะเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เพื่อเสนอให้มีการปรับบทบาทสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ หรือ Regulator โดยมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้ามาในไทย รวมทั้งปรับมาตรฐานสินค้าในประเทศไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนการออกใบอนุญาตต่างๆ นั้นเสนอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน หรือองค์กรเอกชนที่ได้รับความเชื่อถือเป็นผู้ออกใบอนุญาตแทน

ทั้งนี้เนื่องจาก ปัจจุบันสมอ.อาจมีเจ้าหน้าที่หรือความคล่องตัวในการดำเนินการช้าหากเทียบกับเอกชนดำเนินการ รวมทั้งปัจจุบันเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆมีความทันสมัยมากขึ้นหากไม่รีบปรับแก้บทบาทของ สมอ. โดยเร็วอาจจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการลดลง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.ต้องการให้ภาคเอกชนไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การลงทุนขยายกิจการ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก อีกทั้งเป็นการหนุนภาคส่งออกไทยให้ฟื้นตัวในระยะยาว เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยมีการผลิตในสัดส่วนเพียง 65.7% หากทำได้ 80-90% จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เมื่อต้นทุนการผลิตลดก็สามารถลดราคาและสร้างลูกค้าเพิ่ม นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำ และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ที่กำหนดให้อย่างมหาศาล จึงเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่เอกชนโดยเฉพาะเอสเอ็มอีควรลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กิจการตัวเอง โดยกกร.จะจัดทำแผนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ออกเผยแพร่แก่สมาชิกภายในเดือนพฤษภาคมนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

สศก.ร่วมเวที‘SBSTA’เยอรมนี ถกนานาชาติปมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. จะเป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเข้าร่วมประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ 44 (Subsidiary Body on Scientific and Technological Advice : SBSTA 44) ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระหว่างวันที่16-26 พฤษภาคม ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับด้านเกษตรที่จะนำเข้าพิจารณาหารือ มี2 หัวข้อ ได้แก่ 1.การกำหนดมาตรการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร และ 2.การกำหนดและประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านเกษตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในรูปแบบของการประชุมเชิงปฏิบัติการ(in-session workshop) ซึ่งที่ประชุมSBSTA ได้เชิญประเทศภาคีสมาชิกและองค์กรสังเกตการณ์ส่งข้อคิดเห็นด้านเกษตร (submission) เพื่อนำเข้าพิจารณาหารือในการประชุมดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมงานดังกล่าว สศก.ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคเอกชน ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จนได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างข้อคิดเห็นด้านเกษตรอย่างเป็นทางการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรแล้วในลำดับต่อไปจะต้องนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการประสานท่าทีการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตามลำดับ

กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังให้การเสนอข้อคิดเห็นด้านเกษตรครั้งนี้ ก่อเกิดผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งในการส่งสัญญาณความต้องการ เพื่อขอรับการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนเทคโนโลยีและความช่วยเหลืออื่นๆ ต่อภาคการเกษตรของไทยในเวทีการเจรจาระดับโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากยิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559

เอ็ตด้า(ETDA) เดินหน้าพัฒนากลไกการยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) หนุนการเชื่อมต่อรองรับการค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

          สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที เดินหน้าเตรียมทดสอบให้บริการการยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) พร้อมการลงลายมือชื่อดิจิทัลบนเครือข่ายไร้สาย (Wireless Digital Signing) ภายในไตรมาส 3 ตามกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) ภายใต้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015) สนับสนุน อีคอมเมิร์ซและการนำเข้า-ส่งออกตามการค้าเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ตามแผนงานรัฐบาลต้องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้ดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้า-การลงทุน กระตุ้นการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก โดยกระทรวงได้มอบหมายให้เอ็ตด้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลงานด้านการพัฒนา Soft Infrastructure เป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างและพัฒนารากฐาน ตลอดจนกลไกด้านความมั่นคงปลอดภัยและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับหน่วยงาน องค์กร และประชาชน ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

          "ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การบริหารจัดการ หรือการดูแลระบบโครงสร้างหลังบ้าน หรือที่เรียกว่า Soft Infrastructure ถือเป็นหัวใจหลักในการช่วยให้การทำงาน การขยายการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจ และธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งนี่คือพันธกิจของเอ็ตด้าที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯ ในกรณีของการสร้างรากฐานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เอ็ตด้ายังเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย หรือ Thailand NRCA ซึ่งสำคัญต่อการยืนยันตัวตนบนออนไลน์ (e-Authentication) ตามกรอบแนวทางการยืนยันตัวตน Intra-ASEAN Secure Transactions Framework เพื่อการเชื่อมต่อและการทำการค้าตลอดจนธุรกรรมต่างๆ บนอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน ภายใต้แผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 เพื่อประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุด นอกเหนือจากนั้น เอ็ตด้ายังช่วยดูแลงานด้านมาตรฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ และงานด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ไปจนถึงด้านข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy) เพื่อการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมอีกด้วย" ดร.พันธ์ศักดิ์ กล่าว

          สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า เอ็ตด้าในฐานะผู้ดูแลการพัฒนา Soft Infrastructure เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ เตรียมที่จะนำข้อกำหนดและกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) เพื่อการยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication) มาเริ่มต้นใช้ และทดลองให้บริการในปี 2559 นี้

          ทั้งนี้ e-Authentication คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการสร้างและยกระดับความน่าเชื่อถือ และความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมในระดับประชาชน องค์กรธุรกิจ อาทิ การค้าระหว่างประเทศ และการค้าออนไลน์ จนถึงธุรกรรมระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ผ่านระบบ National Single Window ของประเทศที่เชื่อมต่อเข้าสู่ ASEAN Single Window ในระดับภูมิภาค โดยการพัฒนากลไกด้าน e-Authentication เกิดขึ้นตามข้อกำหนดขององค์กรการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่ออำนวยความสะดวก (Trade Facilitation) ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อยืนยันการมีตัวตนของบุคคล และองค์กรในการติดต่อ และทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการก่อนิติสัมพันธ์ใดที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อความมั่นคงปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการแอบอ้างตัวตนของบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ ในทางมิชอบ

          "จากข้อมูลสถิติโดยหน่วยงาน ThaiCERT ในปี 2558 ภัยคุกคามจากการหลอกลวงบนไซเบอร์มีสูงถึง 1,100 กรณี หากเปรียบเทียบสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นไล่ตามการเติบโตของการทำธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าตัวตนของบุคคล หรือหน่วยงานที่ติดต่อ และทำธุรกรรมด้วยบนออนไลน์ จะเป็นบุคคล หรือหน่วยงานนั้นๆ มีจริง ดังนั้น การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Authentication จึงเป็นรากฐาน และกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ในการสร้างการเติบโต และความเชื่อมั่นให้กับทั้งการทำธุรกิจระหว่างประเทศภายในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ทั้งในประเทศ และในภูมิภาค " สุรางคณา กล่าว

          จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังระบุการทำธุรกรรมการเงินบนอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 825,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน จากผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยของเอ็ตด้า มีมูลค่าสูงถึง 2.03 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นมูลค่าที่รวมทั้งมูลค่าขายจาก B2B , B2C และ B2G ซึ่งรวมไปถึงมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐด้วย และในปี 2558 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยยังมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.65 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียน จะเติบโตและมีมูลค่าสูงถึง 34,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ยิ่งทำให้ระบบการยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมบนออนไลน์ หรือ e-Authentication ทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

          ในปี 2559 นี้ เอ็ตด้า เตรียมเปิดทดสอบให้บริการ "ระบบการยืนยันตัวตนกลาง" แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในขั้นต้นจะเริ่มเชื่อมต่อกับหน่วยงานด้านการส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศ อาทิ หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตในการส่งออก ใบรับรองสินค้าต่างๆ เป็นกลุ่มแรก ซึ่งในส่วนนี้ ทางสพธอ. ได้เริ่มโครงการนำร่องในการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นแกนกลางในการยืนยันตัวตนเพื่อ เชื่อมโยงผู้รับบริการเข้ากับผู้ให้บริการ (Service Provider) ผ่านทางออนไลน์ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการทดสอบเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2560 และพร้อมที่ขยายไปยังสินค้าและอุตสาหกรรมอื่นที่มีศักยภาพต่อไป

          พร้อมกันนั้น เอ็ตด้าเตรียมร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่าย และธนาคาร ในการนำ"ระบบการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์" (Wireless Digital Signing) เข้ามาพัฒนาและทดสอบการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยผู้ใช้จะสามารถใช้มือถือเป็นอุปกรณ์ (token) ในการสร้างชุดรหัสเพื่อยืนยันการเข้าทำธุรกรรม และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความปลอดภัยระดับสูงในการป้องกันการปลอมแปลงลายมือชื่อและการลักลอบขโมยหรือแก้ไขข้อมูลในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามกรอบการทำงานด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภายในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transactions Framework) ภายใต้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียน 2015 (ASEAN ICT Masterplan 2015)

          สำหรับการพัฒนา e-Authentication นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีก 9 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ก็จะเริ่มดำเนินการตามข้อกำหนดของกรอบการทำงานระหว่างกันต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

'พล.อ.ฉัตรชัย'เร่งปฏิรูปเกษตรใน6เดือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตรย้ำให้เกิดผลใน 6 เดือน นำ Single Command ดำเนินการ หวังลดต้นทุนเพิ่มโอกาสแข่งขัน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าและมอบโนบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตรในช่วง 6 เดือนถัดไป ว่า จากนี้การปฏิรูปภาคการเกษตร ต้องนำแนวคิดระบบ Single command มาใช้ในการบริหารจัดงานให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งสร้างความเข้าใจให้ทุกหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการดำเนินการลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมถึงการบริหารจัดการและการตลาด ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเกษตรกรรมในพื้นที่แปลงใหญ่ พัฒนาให้เกิดศักยภาพ เช่น การรวมกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ภาครัฐ โดยใช้ศักยภาพของเอกชนเข้าร่วมดำเนินการ เกิดการประสานการทำงานร่วมกันในแนวทางประชารัฐ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดผลสำเร็จตามกรอบแนวนโยบาย 6 เดือนจากนี้ 

นอกจากนี้ ต้องการยกระดับสินค้าเกษตรของไทยให้เป็นเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐานสากล GAP (Good Agricultural Practice) ต้องนำจุดเด่นจากองค์ความรู้ ปราชญ์ชาวบ้านของไทยพัฒนาต่อยอด ให้สามารถแข่งขัน ยกระดับสินค้า โดยไทยจะเข้าสู่สินค้าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นจุดเด่นด้านการตลาดในอนาคต รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกของเกษตรกร เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน ไม่พึ่งพาการปลูกพืชหลักเพียงอย่างเดียว อาทิ การปลูกยาง เกษตรกรจะต้องปลูกพืชชนิดอื่นเสริมเพื่อรองรับสภาวะราคาตกหรือไม่มีความเสถียรด้านราคา และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย แรงงานและสร้างโอกาสทางการเเข่งขัน

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ไทยร่วมมืออาเซียนผลักดันใช้วิทยาศาสตร์บริหารจัดการน้ำ

สสนก.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน

วันนี้( 4 เมษายน 2559) ที่โรงแรมคอร์ทยาร์ด บายแมริออท กรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Application of Science and Technology in Disaster Risk Resilience Water Management Workshop) ขึ้น เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน มาร่วมประชุม

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการ สสนก. กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมเชิงปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เรื่อง ระบบการบริหารจัดการน้ำของอาเซียน (STI Workshop on ASEAN Water Resource Management System) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 ภายใต้การประชุมคณะกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology หรือ ASEAN COST) ครั้งที่ 69 ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ เป็นเจ้าภาพ

โดยผลจากการประชุมดังกล่าว กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเห็นร่วมกันให้จัดตั้งเครือข่ายการทำงานด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับความเสี่ยงของระบบบริหารจัดการน้ำของอาเซียน (ASEAN Application of Science and Technology in Risk Resilience Water Management) เพื่อกำหนดกรอบการทำงานร่วมกัน และสร้างความร่วมมือด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ป้องกันและปรับตัวต่อภัยพิบัติที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ได้มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาใน 3 ประเด็นหลัก คือ พัฒนาระบบข้อมูล (Data System) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน สร้างขีดความสามารถบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา (Capacity Building) ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยสนับสนุนทุนการศึกษา กำหนดงานวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และสร้างตัวอย่างความสำเร็จ (Program Best Practice) ด้านการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนในกลุ่มประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องสำคัญที่นานาประเทศต่างมุ่งมั่นที่จะเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะภัยด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะร่วมกันนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ทั้งนี้ผลสรุปจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปรายงานในงาน ASEAN-EU STI Days ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และการประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 71 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2559 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อผลักดันความร่วมมือให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว “

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

ไทย-รัสเซียกระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจ

 พาณิชย์เผยรัสเซียพร้อมสนับหนุนการทำเอฟทีเอไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนคาดมีข่าวดีช่วงนายกฯไทยเยือนรัสเซียเดือนพ.ค.นี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมานายอเล็กซี ลีคาชอฟ รมว.พัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย พร้อมคณะผู้แทนระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนของรัสเซีย เข้าพบหารือความร่วมมือด้านการค้า และเตรียมความพร้อมสำหรับการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงเดือน พ.ค. นี้

ทั้งนี้จากการเยือนรัสเซียของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายพ้องร่วมกันที่จะผลักดันเป้าหมายมูลค่าการค้าเป็น 5 เท่าใน 5 ปี โดยฝ่ายไทยเสนอให้จัดทำจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงในระดับรองนายกรัฐมนตรี เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายให้เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัสเซียเห็นด้วยและเตรียมประกาศการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงดังกล่าวในช่วงการเยือนของนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันทั้งฝ่ายไทยเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเรื่องการซื้อขายสินค้าเกษตร เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มพูนและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยรัสเซียได้เสนอให้ขยายความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบด้านการค้าด้วย โดยทั้งสองฝ่ายจะเร่งหารือเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนการเยือนของนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเตรียมที่จะร่วมจัดกิจกรรมความร่วมมือของภาคเอกชนในช่วงการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีด้วย"รัสเซียแจ้งว่าพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการจัดทำความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซัคสถาน อาร์มีเนีย และคีร์กีซสถาน โดยรัสเซียอยู่ระหว่างการโน้มน้าวกับประเทศสมาชิกที่เหลือ เพื่อให้สนับสนุนแนวคิดการจัดทำเอฟทีเอกับไทยด้วย โดยคาดหวังว่าจะสามารถประกาศเจตนารมณ์การจัดทำเอฟทีเอในช่วงการเยือนรัสเซียของนายกรัฐมนตรีในเดือนพ.ค.นี้"“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

กกร.ร่วมถกภาวะเศรษฐกิจ

ที่ประชุมภาคเอกชน 3 สถาบันร่วมถกสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี59หลังจากแนวโน้มการส่งออกไม่เป็นตามเป้าและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 4 เม.ย. นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), หอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย จะมีการประชุมประจำเดือน โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. ในฐานะประธานกกร. จะมีนำเสนอให้ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจปี 59 หลังที่มีหลายๆหน่วยงานได้มีการประกาศปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพราะมีปัจจัยเสี่ยงจำนวนมากโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

"ก่อนหน้านี้นายสุพันธุ์ คาดว่าจีดีพีน่าจะอยู่ในกรอบเดิมจาก 3-3.5% แต่ความน่าจะเป็นน่าจะใกล้เคียงในระดับ 3% มากกว่าที่จะอยู่ใกล้เคียงในระดับ 3.5% เพราะการส่งออกที่อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ฟื้น เป็นต้น"“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

เกษตรบูรณาการ : 124ปีเกษตรฯเปลี่ยนโครงสร้างได้หรือยัง

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน 2559 เป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครบรอบ 124 ปี ในการก่อตั้งกระทรวงเกษตรฯเมื่อย้อนหลังไปดู ประวัติศาสตร์ ด้านการเกษตร เมื่อเทียบกับอารยประเทศ ต้องบอกว่า วันนี้เกษตรกรของไทย ความเป็นอยู่และรายได้ ยังคงเหมือนเดิม และที่ซ้ำร้าย เมื่อเทียบรายได้จากราคาสินค้าเกษตรและค่าครองชีพดูเหมือนตกต่ำต่อเนื่อง

ต้องถามท่านรัฐมนตรีเกษตรฯ  “ฉัตรชัย สาริกัลยะ” ในฐานะ เจ้ากระทรวงฯ ว่าวันนี้ท่านยังพอใจ การพัฒนาการเกษตรอยู่หรือไม่ และถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงเกษตรฯที่อ่อนแอ เพื่อให้เดินหน้าพัฒนาการเกษตรไทยได้หรือยัง หรือจะปล่อยให้คนเขามองว่าล้าหลัง ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาภาคการเกษตรให้กับประเทศชาติต่อไป

นั่นไม่รวมถึงการตั้งคำถามถึงปลัด ที่ข้ามห้วยมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่าง “ธีรภัทร ประยูรสิทธิ” ว่าจริงใจแค่ไหนกับกระทรวงเกษตรฯ วันนี้ต้องบอกว่าการทำงานช่างล้าหลังไปทุกที และในที่สุดก็มีแต่กลิ่นอายแห่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาภาคการเกษตรมาต่อเนื่อง จนถูกสังคมสะท้อนว่า การแก้ปัญหาภาคการเกษตรล้มเหลว จากผลโพลล์ที่ออกมา แต่นั้นมันยังไม่ทำให้กะเทาะใจท่านปลัด “ธีรภัทร” คิด แต่กลับบอกว่า ผลสอบถาม คนถามดันถามไม่ถูกหลักหากมองลึกเข้าไปสังคมและคนกระทรวงเกษตรฯ ก็น่าจะเห็นอะไรลางๆ จากท่านปลัดผู้นี้ว่า จะนำพากระทรวงเกษตรฯ ไปได้หรือไม่

ถามดังๆ ว่าถึงเวลาประเมินตนเองได้หรือยังว่าที่ผ่านมา ภาคการเกษตรของไทยยังล้าหลังเพราะอะไร ว่ากันว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ถูกครอบงำโดยนักการเมืองมานานหลายปีดีดัก และดูเหมือนเป็นสมบัติผลัดกันชม  ผลัดกันเข้ามาหากิน ซึ่งผู้บริหารระดับสูง เท่าที่ฟังมาดูเหมือนเป็นแค่ตรายางให้นักการเมืองประทับเท่านั้น ไม่มีแม้อำนาจต่อรอง เพราะแม้แต่การแต่งตั้งโยกย้าย ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่งนักการเมืองทั้งสิ้น ส่งผลให้ล้มเหลวตั้งแต่ตั้งคนมาทำงาน

วันนี้ไม่ใช่จะไม่มีเรื่องดี เพราะหลังจากรัฐบาลทหารเข้ามา ก็มีความพยายามวางระบบการทำงาน แบบซิงเกิลคอมมาน ที่ศูนย์กลางการบริหารงานในจังหวัด ด้านการเกษตรฯโดยตรง จึงถือว่ามาถูกทางเลยทีเดียว เพราะจะได้วางแนวทางการทำงานร่วมกันในจังหวัด แต่งานนี้ สงสัยกันจริงๆ ว่า ทำไมคิดกันไม่จบไม่สุดครึ่งๆ กลางๆ ในเรื่องการให้อำนาจไปยังจังหวัด ยังไง

 ว่างๆ ไปศึกษาดูว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยเขาทำกันอย่างไร คำว่าปลัดกระทรวงทั้งสองกระทรวงถึงศักดิ์สิทธิ์

กระทรวงเกษตรฯ วันนี้กับซิงเกิลคอมมานถือว่ามาถูกทางที่ถือว่าวางแนวทางการทำงานดูคล้ายกับกระทรวงสาธารณสุขหากแต่ต้องให้อำนาจกับทางจังหวัด เป็นผู้ดูแลโดยตรง โดยเฉพาะเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานปลัด กระทรวงต้องมีอำนาจชัดเจน ที่จะต้องดูแลภาพรวมในตัวจังหวัดทั้งหมด รวมทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรด้วย ไม่ใช่ให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ดูแล เหมือนที่เกิดขึ้นขณะนี้ และหากเกิดปัญหา ปลัดก็สามารถสั่งตรงยังจังหวัด เท่ากับปลัดมีอำนาจสั่งตรงในการแก้ปัญหา ขณะที่กรมต่างๆ มีหน้าที่ดูแลแผนงาน ส่งตรงแผนงานการส่งเสริมให้กับพื้นที่ตามภาระหน้าที่ที่ควรจะเป็นเท่านั้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

‘อียู’ ชงเองฟื้นถกFTAไทย พณ.เตรียม 4 เรื่องคุยปลายปี

พาณิชย์เตรียม 4 ประเด็นถกนำร่องเอฟทีเอไทย-อียูรอบใหม่ในระดับเจ้าหน้าที่ปลายปีนี้ หลังเชื่อมั่นไทยเดินตามโรดแม็ปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า เป้าหมายสู่การเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียูในลำดับถัดไปด้านสมาชิกรัฐสภายุโรปอ้างผลดีช่วยดึงลงทุน และปรับกฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล

การค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหภาพยุโรป (28ประเทศ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้สอบถามถึงทิศทางการเข้าร่วมเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทย ภายหลังรัฐบาลชุดปัจจุบันมีโรดแมปจัดการเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทางอียูได้เสนอให้มีรื้อฟื้นจัดทำเอฟทีไทย-สหภาพยุโรปขึ้นมาใหม่ โดยในระหว่างนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ของ 2 ฝ่ายมีการหารือกันในประเด็นทางเทคนิคต่างๆ เช่นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและภายใต้ข้อบทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น เรื่อง สิทธิมนุษยชน แรงงานและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ว่างเว้นการเจรจาในประเด็นต่างๆ กับอียูไปปีกว่าแล้ว และไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ไปจำนวนมาก

“คาดการณ์เริ่มต้นกลับมาคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ของ 2 ฝ่ายน่าจะเริ่มขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยทางอียูมีนโยบายที่จะเดินหน้าทำเอฟทีเอ กับประเทศในอาเซียนแบบรายประเทศก่อน เพื่อให้ได้ จำนวนประเทศเยอะมากพอ ก่อนที่จะเริ่มเจรจาทำเอฟทีเอ อาเซียน –อียูต่อไป”

สำหรับการเจรจาทำเอฟทีเอระดับทวิภาคีของอียูกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะนี้อียูมีการทำความตกลงไปแล้วกับเวียดนาม และสิงคโปร์ และกำลังจะเริ่มเจรจากับอินโดนีเซีย ส่วนมาเลเซีย การเจรจาหยุดชะงักไป ขณะที่อียูได้ให้น้ำหนักกับการเจรจาเอฟทีเอกับไทย เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค และจะนำไปสู่การจัดทำเอฟทีเอ อาเซียน –อียูในอนาคตได้

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ทางไทยอาจจะหยิบยกมาหารือกับอียูในการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ช่วงปลายปีนี้ เช่น 1.การผลักดันให้มีการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียูในระดับเทคนิค เนื่องจากรัฐบาลในชุดปัจจุบันได้มีนโยบายที่จะสานต่อนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยจะเน้นบริหารระบบเศรษฐกิจเสรีที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี การลงทุนจากต่างประเทศและขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ รวมทั้งสานต่อนโยบายการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในระดับพหุภาคีและทวิภาคี และจากการหารือกับประเทศสมาชิกอียูหลายประเทศ ก็ไม่ขัดข้องที่จะเจรจาเอฟทีเอกับไทย โดยให้มีการเริ่มเจรจาทางเทคนิคก่อนเพื่อไม่ใช้เสียเวลาและเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากเลิกตั้งก็สามารถเดินหน้าสรุปผลได้ทันที

2. การเจรจาความตกลงเอฟทีเออาเซียน-อียู เนื่องจากไทยสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-อียู โดยความตกลงเอฟทีเอจะต้องสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมจากการเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนมีท่าทีการเจรจาที่คล้ายคลึงและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

3.การดำเนินการของไทยสู่ประชาธิปไตย โดยทางไทยได้ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยยังยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานตามโรดแมปและ4. การแก้ไขปัญหาไอยูยูเกี่ยวกับประมง แรงงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ ซึ่งทางไทยเองได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามาโดยตลาดและจริงจัง โดยถือเป็นวาระแห่งชาติมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าประมงไม่ได้มาจากประมงที่ผิดกฎหมาย

ด้านนายเดวิท มาติน สมาชิกรัฐสภายุโรป กล่าวว่า การเจรจาเอฟทีเอกับอียูถือเป็นความท้าทายเนื่องจากการเจรจาดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่ลดภาษีแต่ประกอบไปด้วยประเด็นใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงการค้าและประเด็นด้านสังคมไว้ด้วยกัน เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งในการมีส่วนร่วม ซึ่งหากการเจรจาสรุปผลลงน่าจะช่วยดึงการลงทุนและช่วยให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

กลุ่มมิตรผลทุ่ม 5 หมื่นล้านลงทุนแผน 5 ปี สยายปีกระดับโลก

กลุ่มมิตรผลเผยแผนลงทุนระยะ 5 ปี โดยใช้งบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท หวังเติบโตครองความเป็นผู้นำในระดับโลก...

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ยังอยู่ภายใต้ความท้าทาย ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทย และที่สำคัญคือ ภาวะภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรของไทย แนวทางการสร้างการเติบโตทางธุรกิจจึงต้องมุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนา การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงการจัดการแบบบูรณาการมาพัฒนาระบบการผลิตและการจัดการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหัวใจสำคัญของการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำให้แก่ธุรกิจของกลุ่มมิตรผล รวมถึงเป็นการร่วมสนับสนุนวาระแห่งชาติตามแนวนโยบายสานพลังประชารัฐ ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมั่นคงในระยะยาว

ทั้งนี้ แผนการลงทุนระยะยาว 5 ปีของกลุ่มมิตรผล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาล และ Bio-Based สอดคล้องกับนโยบาย New S-Curve ของรัฐบาล ด้วยงบประมาณ 50,000 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักดังนี้ 1. ลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระดับโลกของกลุ่มมิตรผล และคงความเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาลและ Bio-Based

2. ลงทุนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และ 3. การลงทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากตามแนวนโยบายสานพลังประชารัฐ 

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับที่ 1 ของไทย และอันดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลรายใหญ่อันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าแผนการลงทุนนี้จะช่วยผลักดันการเติบโตของกลุ่มมิตรผลให้สามารถครองความเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำตาลและ Bio-Based ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

อย่างไรก็ตาม เหนือสิ่งอื่นใดภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ทั้งในด้านการลงทุนและการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนและชุมชน รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาลเพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นปณิธานภายใต้แนวคิดสร้างคุณค่า สร้างอนาคต ที่กลุ่มมิตรผลยึดมั่นเสมอมา.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2559 

กรอ.หนุนโรงงานใช้น้ำหลัก3Rช่วยภัยแล้ง

กรอ. เร่งเสริมโรงงานใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพตามหลัก 3R พร้อมติดตามคุณภาพการปล่อยน้ำทิ้งโรงงาน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบและรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคการเกษตร และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้น้ำรวมอยู่ที่ร้อยละ 5 - 6 หรือประมาณ 8,000 - 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งมีโรงงานจำนวน 1,131 โรงงาน ทั้งนี้ กรอ. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการบริหารจัดการน้ำตามหลัก 3R คือ ลดการใช้น้ำ ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ พร้อมกันนี้ กรอ. มีระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล (Online Pollution Monitoring Systems : OPMS) สำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้งของโรงงานกว่า 279 โรงงาน ที่มีการปล่อยน้ำมากกว่าวันละ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ปล่อยจากโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติและปลอดภัยในการนำไปใช้ประโยชน์

นายพสุ  ยังเปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโรงงานอุตสาหกรรมที่นำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรช่วงภัยแล้งของบริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด จ.ปทุมธานี ว่า ปัจจุบันมีโรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวนกว่า 2,300 โรงงาน ที่มีประสิทธิภาพในการปล่อยน้ำทิ้งโรงงานที่มีมาตรฐานผ่านการบำบัดเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำเกษตรสู้ภัยแล้ง ซึ่งจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรกว่า 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทั้งนี้ ล่าสุดมีโรงงานขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวน 13 โรงงาน ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรบรรเทาภัยแล้งได้กว่า 6,000 - 7,000 ไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่ช่วยภาคเกษตรขณะนี้กว่า 68,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมที่จะเจรจากับกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมัน ที่มีโรงงานกว่า 100 โรง ในการปล่อยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรในระยะยาว ซึ่งจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเพิ่มได้อีกกว่า 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ทั้งนี้จะต้องมีการแก้กฎหมายให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพในการปล่อยน้ำทิ้งตามมาตรฐานสามารถปล่อยน้ำได้เป็นการถาวร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและชุมชนรอบโรงงาน โดยจะนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมแป้งมัน

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 

จับตาทุนเคลื่อนย้ายกระทบบาท ธปท.มั่นใจจีดีพีไทยไม่ติดหล่ม ยันเศรษฐกิจปีนี้ยังโตได้อยู่!

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน มี.ค.ว่า จากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ระบุว่าการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาในอัตรา 3.1% ของ ธปท.นั้น คาดว่าจะเป็นอัตราที่เศรษฐกิจจะขยายตัวค่อนข้างเป็นได้จริง แม้จะยังมีความเสี่ยงด้านต่ำลงอยู่บ้าง

โดยภายหลังการปรับลดประมาณการลงดังกล่าว ธปท.คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ จะขยายตัวต่ำลงจากการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.8% จากเดิมที่คาดจะขยายตัวได้ 2.8% ขณะที่ปรับการลงทุนภาคเอกชนลงเหลือขยายตัว 2.4% จาก 3.9% ในการประมาณการครั้งก่อน ลดการใช้จ่ายภาครัฐลงเหลือขยายตัว 3.3% จาก 3.4% แต่ได้เพิ่มการประมาณการของการลงทุนภาครัฐขึ้นมาเป็นระดับ 10.7% จากที่คาดว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้น 8.8% รวมทั้งเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้ขึ้นเป็น 32.4 ล้านคน จาก 30.4 ล้านคน

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีกว่าที่คาด และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นตัวขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดย 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 ได้มีการก่อหนี้ผูกพันไปแล้วทั้งสิ้น 54.6% ของงบลงทุนรวมและมีเงินทยอยออกมาตามการเบิกจ่าย ขณะที่การส่งออกยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เช่นเดียวกับการจ่ายและลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

“การชะลอตัวของคู่ค้า และเศรษฐกิจโลกที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะนี้ เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาของ กนง.ว่าจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในช่วงต่อไปหรือไม่ เพราะแม้ว่าในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐจะดีกว่าที่คาด แต่ปัจจัยลบจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทั้งการชะลอตัวที่อาจจะมากขึ้นของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักอื่น เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินบาทก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนมาตรการกระ ตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐนั้น จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปดีขึ้น โดยในการประมาณการครั้งนี้ ธปท.ได้รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ออกมาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 

จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดิน เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ

จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน

 นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหรือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร กรรม เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ

คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง ปศุสัตว์ และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน

อันจะแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ใน การเพาะปลูกพืชของแต่ละจังหวัด ว่ามีความเหมาะสมกับชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ชนิดพืชหรือไม่ หากไม่มีความเหมาะสมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตได้ สามารถช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ซึ่งได้นำเสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับปรุงด้านข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้ภายในเดือน เม.ย. 2559 นี้ และกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก คือ 1. การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2. กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร 3. กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร4. การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ 5. การติดตามประเมินผลซึ่งระยะแรกได้ดำเนินการในมาตรการแรกเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยการประชา สัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในวงกว้างสู่สาธารณะและเกษตรกร ถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในภาพรวมของประเทศและท้องถิ่น

โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและรับทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยผ่านกระบวนการประชุมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอส่วนมาตรการที่สองและที่สาม เป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไปพร้อมกันโดยในมาตรการที่สอง เป็นการกำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมาตรการที่สามกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัด ทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดิน

สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศและระดับจังหวัดรายชนิดพืช สำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพาราทั้งนี้ได้จัดส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอ รายชนิดพืชให้กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั้ง 76 จังหวัด เป็นจำนวน 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ต่อไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th    วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559