http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนเมษายน 2562)

ผวา 3 สารเคมีเกษตรทะลัก‘ตลาดมืด’ถูกจำกัดนำเข้าสกัดเก็งกำไร

กรมวิชาการเผยคิกออฟแจกโควตา 182 ราย จำกัดนำเข้า 3 สารเคมีอันตรายมาตั้งแต่ปี 2561 คุมเข้ม ห้ามสั่งเกินยอดขาย สกัดเก็งกำไร บิ๊กยางผวาของเถื่อนทะลักซื้อขายตลาดมืด จับตาเกษตรกร 1.5 ล้านคนอบรมไม่ทันทำป่วน! ไม่มีสิทธิ์ซื้อ “ไทยแพน” ให้ยึดมติแบนนำเข้าสิ้นปี 2562

จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 5 ฉบับเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหลังวันประกาศ แต่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาก่อนแล้วนั้น

นายศรัณย์ วัธนธาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้จำกัด/ควบคุมการนำเข้า 3 สารเคมี ข้างต้นตั้งแต่ปี 2561 (กราฟิกประกอบ) โดยผู้นำเข้า 182 รายจะสั่งมาเก็งกำไรล่วงหน้าไม่ได้ หรือสั่งเกินกว่ายอดที่ขายได้ภายในประเทศก็ไม่ได้ และมาตรการจะเข้มข้นมากขึ้นหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เริ่มอบรมวิทยากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร 240 คน และเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)สำนักงานอ้อยและนํ้าตาลทราย จำนวน 2,000 คน เพื่อสร้างวิทยากรไปให้ความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 1.5 ล้านคนในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และสำหรับผู้รับจ้างพ่น 5 หมื่นคน จะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตรส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 7.99 หมื่นคนจะใช้วิธีการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คาดจะเสร็จทันในระยะก่อนกฎหมายบังคับใช้

นายศรัณย์ กล่าวอีกว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว คนซื้อ คนขาย จะเชื่อมกันด้วยระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยพื้นที่การใช้จะเป็นไปตามข้อมูลทะเบียนของเกษตรกร จำนวนไร่ อัตราการใช้สาร จะมีสูตรคำนวณแล้วไม่สามารถที่จะซื้อเกินกว่าจำนวนพื้นที่ได้ โดยในส่วนของพาราควอตและไกลโฟเซตจะมีสินค้า 6 ชนิดที่ควบคุม ได้แก่ อ้อย ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล

“หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก จำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ ถ้าไม่มีหลักฐานก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะซื้อ เช่นเดียวกับผู้นำเข้า เมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องแจ้งปริมาณที่นำเข้า กระจายไปร้านใดบ้าง จำนวนเท่าไร ขายให้ใคร จะเชื่อมออนไลน์ทั้งหมด

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและจำกัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กล่าวว่า การจำกัดการนำเข้าจะยิ่งทำให้สถาน การณ์เลวร้ายลง จะมีของเถื่อนลักลอบหนีภาษีเข้ามา มีการซื้อขายในตลาดมืดเพิ่มขึ้นแล้วนำไปใช้ไม่มีการควบคุมจะหนักยิ่งกว่าเดิมอีก อย่างชาวสวนยางจะไปนั่งถางหญ้าเป็นไปไม่ได้ เพราะค่าแรงแพง ต้องใช้สารเคมี

เช่นเดียวกับนายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า เป็นห่วงเกษตรกรจะทำได้หรือไม่ เพราะจำนวน 1.5 ล้านคนที่จะต้องมีใบรับรองผ่านการอบรมเกรงว่าจะไม่ทัน หากกฎหมายบังคับใช้หวั่นจะวุ่นวาย และเกิดผลเสียหายกับเกษตรกร เพราะฤดูกาลผลิตเริ่มแล้ว

ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) กล่าวว่า มติกระทรวงสาธารณสุขควรจะยกเลิกนำเข้า 3 สารเคมีในสิ้นปี 2562 แต่สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อ้างว่าจะยกเลิกในเงื่อนไขคือเร่งรัดขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นแค่วาทกรรมไม่เกิดขึ้นได้จริง

จาก www.thansettakij.com วันที่ 30 เมษายน 2562

พาณิชย์เตรียมทบทวนเป้าส่งออกปี 62

พาณิชย์ยอมรับเป้าส่งออกร้อยละ 8 ทำได้ยาก เตรียมประเมินร่วมกับทูตพาณิชย์สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อทบทวนเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

ในการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกของปี 2562 นำโดยนายสนั่น  อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ย้ำว่าสถานการณ์การส่งออกขณะนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งจากการประเมินกับผู้ส่งออกภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยรวมแล้วยังคงขยายตัวแต่อยู่ในระดับต่ำ จากสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ส่วนยางพารา น้ำตาล จะขยายตัวได้เล็กน้อยเนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ราคาลดลง รวมถึงสินค้ากลุ่มอาหารที่ยังไปได้ดี โดยรวมทั้งปีคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรจะขยายตัวร้อยละ 1.6 เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมที่แต่ละรายการจะขยายตัวได้ในระดับต่ำ ทั้งปีน่าจะโตร้อยละ 2.3 

ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดปี 2562 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 เท่านั้น มูลค่ารวม 257,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยเฉลี่ยต่อเดือน หลังจากนี้จะต้องมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 21,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยอมรับว่าเป้าหมายผลักดันการส่งออกที่ร้อยละ 8 ทำได้ยาก เนื่องจากในช่วง 9 เดือนที่เหลือจะต้องมีมูลค่าส่งออกสูงเกิน 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการทบทวนตัวเลขการส่งออกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าระหว่างประเทศระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นกลไกรับฟังความคิดเห็น เพื่อจะได้หยิบยกประเด็นปัญหาหากเกี่ยวข้องระดับนโยบายให้สามารถมาแก้ไขได้ทันที

ส่วนสถานการณ์ส่งออกช่วงที่เหลือ มองว่าไทยยังมีปัจจัยบวกทั้งจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่และมีความชัดเจนในเรื่องของนโยบายที่จะส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้ปรับตัวดีขึ้น

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 30 เมษายน 2562

ไฟเขียวงบกลาง 1.2 ล. แก้ภัยแล้ง

ครม. อนุมัติงบกลางปี 1,226 ล้าน เดินหน้าแผนงานเร่งด่วนรับมือภัยแล้ง 32 จังหวัด ผ่าน 144 โครงการ หวังเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและน้ำต้นทุน ช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชน 85,474 ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม. อนุมัติงบกลางปี 2562 ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 ในพื้นที่ 32 จังหวัด กว่า 144 โครงการ รวม วงเงิน 1,226 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 5 จังหวัด 14 อำเภอ ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี ทำให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้มอบหมายในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ให้ สทนช. วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมในช่วงปลายฤดูแล้ง

หลังจากที่ สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้วจึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 หน่วยงานเพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 และมีหน่วยงานที่เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยโครงการที่เสนอขึ้นมานั้นต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ประสบปัญหา สามารถดำเนินการได้ทันทีและต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ภายหลังการวิเคราะห์ กลั่นกรอง แผนงานโครงการที่ตรงวัตถุประสงค์ข้างต้น

สำหรับโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนรายพื้นที่ ได้แก่ 1.โครงการในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 5 จังหวัด 34 โครงการ 2.โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ใน 13 จังหวัด 51 โครงการ 3.โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ใน 2 จังหวัด รวม 14 โครงการ และ4.โครงการในพื้นที่แล้งซ้ำซาก และหาน้ำยาก ใน 13 จังหวัด รวม 45 โครงการ

“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ใน 32 จังหวัด รวม 144 โครงการ รวมวงเงิน 1,226 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 28.12 ล้าน ลบ.ม. โดยมีเกษตรกร และประชาชนได้รับประโยชน์ 85,474 ครัวเรือน”ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 30 เมษายน 2562

รายงานพิเศษ : กษ.ชูMega Farmต่อยอดแปลงใหญ่ หนุนรวมตัวลดต้นทุนผลิตตามตลาด

วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega farm enterprise) ต่อยอดระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สู่วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ หรือ Mega Farm Enterprise (MFE) ให้เป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย ภายใต้แนวคิด ใช้ศักยภาพทุกภาคส่วนมาสนับสนุนการผลิตภาคการเกษตรให้สอดคล้องเชื่อมโยง เพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรม

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยใช้กลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเพื่อลดต้นทุน การผลิต เป้าหมายสำคัญคือ ให้เกิดแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ มีองค์ประกอบสำคัญคือ การวางแผนการผลิตทางการเกษตรทั้ง พืช ปศุสัตว์และประมงให้เป็นไปตามความต้องการตลาด ภายใต้การบูรณาการของภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ในการบริหารจัดการแปลงใหญ่ให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรจะลดต้นทุนเกิดผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน

“นโยบายบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ เป้าหมายเพิ่มพูนรายได้เกษตรกร เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตจนกระทั่งมีผลผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มีศักยภาพก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันและแข่งขันในตลาดโลกได้ มีเป้าหมายพื้นที่การเกษตรได้รับการพัฒนาสู่การเกษตร ในรูปแบบธุรกิจเกษตรแปลงใหญ่รวม 10 แปลง ในส่วนขั้นตอนดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและแนวทางบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตร พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมกลุ่มเกษตรกรตั้งเป็นนิติบุคคลองค์กรเกษตรกรแปลงใหญ่ คัดเลือกผู้จัดการแปลงจากเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่มีศักยภาพหรือบุตรหลานเกษตรกรเจ้าของที่ดิน รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ แผนการผลิต การลงทุน และการตลาดที่เหมาะสม พร้อมทำสัญญาร่วมทุน/สัญญาซื้อขาย เริ่มลงทุนและเตรียมการ ก่อน ระหว่างและหลังการผลิตสู่การบริหารจัดการตลาดแบบครบวงจร นอกจากนี้ พื้นที่รวมกัน 1,000 ไร่ขึ้นไป พื้นที่ไม่จำเป็นต้องติดกัน สำหรับพืชผัก/สมุนไพร/ไม้ดอกไม้ประดับ ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ ทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลง

สำหรับพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาต้องมีพื้นที่ส.ป.ก.ที่มอบให้เกษตรกร, พื้นที่ตามโครงการจัดที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.), พื้นที่ซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน, พื้นที่ที่ทำเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้วหลายแปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน และพื้นที่ที่มีศักยภาพผลิตสินค้าเหมาะสมสอดคล้องกับ Agri-MAP

สำหรับพื้นที่เป้าหมายพัฒนาทั้งหมด 10 แปลงได้แก่ พื้นที่ดำเนินการโครงการฯ 10 แปลง 9 จังหวัด ประกอบด้วย 1. แปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขตจ.ฉะเชิงเทรา 2.แปลงอ้อยโรงงาน อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี 3.แปลงสับปะรด อ.เมือง จ.ลำปาง 4.แปลงพืชอาหารสัตว์ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ 5. แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 6.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี 7.แปลงยางพารา กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด ต.ช้างให้ตก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 8. แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง 9.แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี 10. แปลงโคนม สหกรณ์การเกษตรไพรนกยูง จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท

“วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มพูนรายได้ จะช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเกษตรกรรมของประเทศไทยจากเกษตรกรรายย่อยเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการเกษตรกรรม ร่วมกันแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนด้วยการประหยัดจากขนาด (Economy

of Scale) จากพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ เกษตรกรสามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง ปลูกพืชสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เกษตรกรผู้สูงอายุได้รับประโยชน์จากที่ดินทำกินว่างเปล่า เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นในการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิต และเกษตรกรจะมีรายได้ 2 ทาง ที่มั่นคงกว่าเกษตรแปลงย่อยคือ ขายผลผลิตและค่าจ้าง (กรณีทำงานให้วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่เกษตรกรเป็นสมาชิก) ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี สามารถเพิ่มศักยภาพแข่งขันสินค้าเกษตรและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และมีผลตอบแทนคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

ก.พลังงานเร่งแผนใช้บี10 ดันเป็นน้ำมันพื้นฐาน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าแผนส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี10 ว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รับมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งรัดการ่วมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยกระทรวงพลังงานเร่งส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซลบี10 และบี20 ซึ่งกรมฯได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าตจะสามารถประกาศมาตรฐานบี10 เร็วๆนี้ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันบี20 ปรับเพิ่มขึ้น รวมอยู่ที่ 1.3-1.4 ล้านลิตรต่อวัน

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานแจ้งว่าในอนาคตจะประกาศน้ำมันบี10 เป็นมันพื้นฐาน จากปัจจุบันเป็นน้ำมันทางเลือกที่เปิดจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมฯ ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่ากการะทรวงพลังงาน ซึ่งมีการสอบถามปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการไบโอดีเซล

โดยจากการสอบถามสมาชิกฯพบว่าโรงงานผลิตน้ำมันบี 100 มีประมาณ 5-6 โรง กำลังการผลิตรวม 3 ล้านลิตรต่อวัน จากทั้งหมด 13 โรง กำลังการผลิตรวม 7.7 ล้านลิตรต่อวัน สามารถผลิตบี100 เพื่อนำไปผสมเป็นบี 10 ตามมาตรฐานสมาคมยานยนต์ญี่ปุ่น(JAMA) ที่ต้องปรับมาตรฐานไขมัน (WAX) ในส่วนของโมโนกลีเซอร์ไรด์ปรับลดจากไม่เกิน 0.7% เป็นไม่เกิน 0.4% และโรงกลั่นน้ำมันต้องปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซล เรื่องค่าน้ำ (Water Content) จากเดิมเป็นไม่เกิน 300 ppm เป็นไม่เกิน 200 ppm 

“ขณะนี้สมาคมฯกำลังรวบรวมความคิดเห็นของทุกโรงงาน ว่าจะหากทำตามมาตรฐานที่ JAMA กำหนดต้องลงทุนเพิ่มมากน้อยเพียงใด โดยจะต้องลงทุนเพิ่มในส่วนของระบบของเสีย ระบบพลังงาน และสารเคมี บางโรงงานต้องลงทุนสร้างหอกลั่น 100-200 ล้านบาท หากต้องลงทุนเพิ่มเบื้องต้นทางเอกชนก็ต้องการเห็นว่าภาครัฐต้องกำหนดให้บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานถาวร”นายศานินทร์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 29 เมษายน 2562

กรอ.เล็งออก รง.4 ผ่านระบบออนไลน์ คาดเกิดเป็นรูปธรรมปี 63

กรมโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบออนไลน์พิจารณาออกใบ รง.4 ผ่านอี-ไลเซนส์ คาดเป็นรูปธรรมปี 63 สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ชี้ พ.ร.บ.ใหม่ โรงงานขนาดเล็ก 7 หมื่นแห่งยังถูกตรวจสอบสิ่งแวดล้อมเข้มงวดเหมือนเดิม

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.อยู่ระหว่างการพัฒนาจัดทำระบบออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ไลเซนส์) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ซึ่งเป็นระบบการออกใบอนุญาตแบบออนไลน์ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ และสร้างความโปร่งใสในการบริหารงาน คาดว่าระบบอี-ไลเซนส์จะสามารถนำมาใช้เป็นรูปธรรมได้ภายในปี 2563

“อดีตที่ผ่านมาการพิจารณา รง.4 จะใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ปัจจุบันนี้ได้พัฒนาและลดขั้นตอนที่รวดเร็ว หากเอกสารครบและถูกต้อง จะใช้เวลาการพิจารณาไม่เกิน 30 วันและหากนำระบบอี-ไลเซนส์มาใช้ก็จะยิ่งรวดเร็วและตรวจสอบได้ง่ายอีกด้วย” นายทองชัยกล่าว

ปัจจุบันการขอใบอนุญาต รง.4 มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-23 เม.ย. 2562 มียอดประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มสูงถึง 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือกว่า 60,000 ล้านบาท ขณะที่การจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 5,000 คน โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงในช่วงดังกล่าว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอาหาร

สำหรับความคืบหน้า พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับใหม่) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนี้ยังเกิดความคลาดเคลื่อน เช่น ระบุว่าอาจเกิดผลกระทบจนทำลายระบบสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นของโรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรกำลังต่ำกว่า 50 แรงม้าและมีคนงานต่ำกว่า 50 คนประมาณ 70,000 แห่ง ไม่ถือเป็นโรงงาน และจะทำให้ไม่มีการเข้าควบคุม ดูแล กวดขัน เฝ้าระวัง ตรวจติดตามตามกฎหมายอีกต่อไป ขอชี้แจงว่าโรงงานขนาดเล็กในปัจจุบันก็ยังอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายอื่นๆ อีกมาก เช่น กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ขณะที่การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) นั้น ถือว่าเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการเฉพาะที่อยู่ในข่ายที่ต้องทำรายงานดังกล่าวก่อนจึงจะสามารถอนุญาตตามกฎหมายอื่นได้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 เมษายน 2562

เกษตรกรเตรียมตัว! ก.อุตฯ ดันเอกชนลงทุนไบโอฮับ 3 จังหวัดเพิ่มเติมกว่า 9.6 หมื่นล้าน

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ล่าสุดเอกชนปักหมุดลงทุนไบโอฮับเพิ่มเติมใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เงินลงทุนกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท หวังเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้เกษตรกรทั่วประเทศ เร่งเครื่องดันไทยศูนย์กลางภูมิภาค

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพหรือ Bio Hub ในภูมิภาคอาเซียนโดยเร็ว ซึ่งล่าสุดทางภาคเอกชนจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัด (จ.) ฉะเชิงเทรา จ.อุบลราชธานี และ จ.ลพบุรี คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนรวมประมาณ 96,990 ล้านบาท ซึ่งแนวทางการพัฒนาและความคืบหน้าทั้งหมดได้มีการรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 รับทราบการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570

“รัฐบาลต้องการพัฒนาการต่อยอดสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มที่สอดรับกับเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) โดยเฉพาะอ้อย มันสำปะหลัง โดยนำร่องในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้ได้เกิดมูลค่าการลงทุนแล้ว 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ และกำแพงเพชร) ที่คาดว่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่นครสวรรค์ 41,000 ล้านบาทในปี 2564 และเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น)” นายสมชายกล่าว

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนได้ขยายผลมาตรการในเชิงพื้นที่ในส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดฯ และจัดทำโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเกษตรเป็นสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้แก้ไขปรับสีผังเมืองของพื้นที่โรงงานจากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น อาหารทางการแพทย์ สารสกัดจากพืช ผัก และสมุนไพรอินทรีย์ และกำลังผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,313 ไร่ 215 ตารางวา มูลค่าการลงทุน 2,990 ล้านบาท ใน ต.นากระแซง อ.เดชอุดม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ส่วนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ของภาคเอกชน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ขนาด 998 ไร่ มูลค่าการลงทุน 12,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ และ 2) โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ขนาด 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม มีแผนการลงทุนผลิต Bio Energy, Bio Refinery, Pharmaceutical & Cosmetics, Food & Feed for future, Social Enterprise and Tourism, R&DInnovation Center รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการปลูกมันสำปะหลังแบบครบวงจรพร้อมตลาดโรงงานอุตสาหกรรมรองรับ (BioMatlink) เพื่อรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกร ผ่านศูนย์รวบรวมรับซื้อ ตรวจสอบคุณภาพ แปรรูป เก็บสต๊อก และกระจายสินค้า

จังหวัดลพบุรี กระทรวงฯ เร่งผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรจัดทำแผนการลงทุนโครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ขนาด 2,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.หนองเมือง ต.ดอนดึง อ.บ้านหมี่ มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอลจากน้ำอ้อย เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลกติก ยีสต์และเอนไซม์ต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดการเกษตรขั้นสูง เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรโดยสนับสนุนหลักการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 28 เมษายน 2562

เกษตรกรไทย เริ่มใช้ IT ทำเกษตรแล้ว!!

               นายภุชพงค์ โนดไธสง   ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ   เปิดเผยผลการสำรวจครัวเรือนเกษตรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนถึงการใช้เทคโนโลยีฯเพื่อการเกษตรของครัวเรือนเกษตรในรอบปีที่ผ่านมา โดยได้สอบถามผู้ถือครองทำการเกษตรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีฯเพื่อการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตรที่เป็นตัวอย่างของโครงการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตร พ.ศ. 2561 รวม 1,200 หมู่บ้าน (เขตแจงนับ) จำนวน 58,939 ราย ซึ่งกระจายตามรายภาคต่างๆดังนี้ ภาคกลาง 12,474 ราย ภาคเหนือ 16,493 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,857 ราย และภาคใต้ 15,115 ราย โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2561 พบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเกือบทุกภาคมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามข่าวสารด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นภาคกลางที่ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับเกษตรกรคนอื่นๆ โดยครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน (smart phone) เป็นอุปกรณ์หลัก เมื่อพิจารณาตามกิจกรรมทางการเกษตรพบว่า ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีสัดส่วนสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 36.32 โดยสัดส่วนต่ำสุดคือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ คิดเป็นร้อยละ 20.04

                   สำหรับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำแนกตามภาคพบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อพิจารณาตามกิจกรรมทางการเกษตรพบว่า ผู้เลี้ยงปศุสัตว์มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 90.28  รองลงมาคือ  ผู้เพาะปลูกพืช คิดเป็นร้อยละ 87.04  โดยสัดส่วนต่ำสุดคือผู้เลี้ยงปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  คิดเป็นร้อยละ 76.85

จาก  www.thansettakij.com วันที่ 28 เมษายน 2562

กรมชลฯ เกาะติดสถานการณ์แล้ง 6 จังหวัดลุ่มน้ำโขง

"กรมชลฯ" เกาะติดสถานการณ์แล้ง 6 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ส่งน้ำช่วยผลิตประปา จ.เลย อุดรฯป้องขาดน้ำกินใช้ คุมเข้มการบริหารจัดการ เร่งเพิ่มน้ำต้นทุน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนหรือลุ่มน้ำโขงตอนบน 6 จังหวัด คือ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย สกลนคร และบึงกาฬ โดยบอกว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ น้ำเพื่อการเกษตรไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลน ซึ่งได้วางแผนให้ปลูกพืชฤดูแล้งไม่ว่าจะเป็นการทำนาปรัง พืชไร่ พืชผัก มันสำปะหลัง อ้อย จำนวนรวม 152,670 ไร่ แต่ปลูกจริงประมาณ 138,820 ไร่เท่านั้น ทำให้มีน้ำเพียงพอที่จะใช้เพื่อการเกษตรไปจนถึงสิ้นฤดูแล้งอย่างแน่นอน แม้ฝนอาจจะมาล่าช้าไปบ้างก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ที่จะต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษคือ น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และผลิตน้ำประปา พบว่า อาจมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำบางจุด เช่น อ.เมืองเลย เขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ต.บ้านแวง จ.อุดรธานี เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทานได้ลงพื้นที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ป้องกันภัยจังหวัด (ปภ.) ท้องถิ่นจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ล่วงหน้าแล้ว

โดยในส่วนของ อ.เมืองเลย ปกติจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานเป็นน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา แต่ปีนี้มีความเสี่ยงที่น้ำจะไม่เพียงพอ กรมชลประทานจึงระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำน้ำเลยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ภูหลวง ลงมาตามลำน้ำเลย วันละประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และสูบเก็บในสระเก็บน้ำของการประปาจังหวัดเลย ซึ่งขณะนี้อ่าง ฯ ห้วยน้ำหมานมีปริมาณน้ำใช้การ 9.2 ล้านลบ.ม. เพียงพอเพื่อผลิตน้ำประปาได้ตามปกติตลอดฤดูแล้งนี้

ส่วนเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ซึ่งจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการผลิตน้ำประปาเดือนละ 200,000 ลบ.ม. ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งสิ้น 500,000 ลบ.ม. มีความเสี่ยงที่น้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้ทำการสูบน้ำจากสระภูพานทองมาเติมจำนวน 100,000 ลบ.ม. ทำให้มีน้ำเพียงพอผลิตน้ำประปาไปได้จนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 อย่างแน่นอน

สำหรับพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขง เช่น อ.ท่าบ่อ อ.โพธิ์ตาก และ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นต้น จะมีน้ำใช้ไม่ขาดเนื่องจากมีประตูระบายน้ำห้วยโมง ช่วยกักน้ำในลำห้วยโมงเพื่อราษฎรสองฝั่งลำห้วยสามารถนำน้ำไปใช้ได้ตลอดปี และส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์อีก 54,000 ไร่ อีกทั้งยังมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าริมน้ำโมง สามารถดำเนินการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเติมในลำห้วยโมงในฤดูแล้งเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และประปาหมู่บ้าน

โดยได้ทำการสูบมาตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562จ นถึงปัจจุบัน คิดเป็นปริมาณน้ำจำนวน 13 ล้านลบ.ม. รวมทั้งพื้นที่ในบริเวณแก้มลิงหนองหมัด อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ก็จะมีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งเช่นกัน เนื่องจากกรมชลประทานได้ไปดำเนินการสร้างฝายหนองหมัดเพื่อกักน้ำไว้ในแก้มลิงหนองหมัด พร้อมทำการขุดลอกใหม่ทำให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 3.8 ล้านลบ.ม. และยังจะดำเนินการขุดลอกจนกระทั่งเก็บน้ำได้ถึง 6.2 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร การประมง อุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน

“ขณะนี้กรมชลประทานได้ทำงานประสานกับส่วนท้องถิ่น จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อสนับสนุนภารกิจเฝ้าระวังภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทานไปจนกระทั่งเข้าฤดูฝน หากราษฎรมีข้อติดขัดด้านการใช้น้ำสามารถติดต่อหน่วยงานของกรมชลประทานในพื้นได้ หรือ ที่ ศูนย์ดำรงธรรม หรือ 1460 สายด่วนชลประทาน ซึ่งพร้อมจะออกไปให้การช่วยเหลือตลอดเวลาทุกพื้นที่” นายทองเปลว กล่าว

จาก  www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 เมษายน 2562

มหาดไทยประเดิมออกประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งปีนี้ 5 จังหวัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ในฐานะประธานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะทำงานเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ศกนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยได้รายงานพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 5 จังหวัด และมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อที่ประชุมประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด 2 อำเภอ จังหวัดศรีสะเกษ 4 อำเภอ จังหวัดชลบุรี 1 อำเภอ จังหวัด นครราชสีมา 3 อำเภอ จังหวัดตราด 3 อำเภอ ในขณะที่ปีที่ผ่านมาไม่มีการประกาศ ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือแก้ปัญหาในระยะสั้น ส่วนใหญ่จะสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อส่งน้ำไปผลิตน้ำประปา การใช้รถบรรทุกน้ำประปาไปแจกจ่ายตลอด 24 ชั่วโมง การมอบน้ำดื่มและการขุดเจาะน้ำบาดาลช่วย ขณะที่การแก้ปัญหาระยะกลางส่วนใหญ่จะเน้นการขุดลอกคลองส่งน้ำและแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนรับกับภัยแล้งที่ยาวนาน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้งอีกหลายจังหวัด บางจังหวัดซ้ำกับพื้นที่จังหวัดที่กระทรวงมหาดไทยประกาศเป็นเขตภัยแล้งไปแล้วข้างต้น เช่น จังหวัดนครราชสีมาที่จะมีอีกหลายอำเภอประสบภัยแล้งตามมาอีก ที่เหลือคือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เลย ชัยภูมิ ราชบุรี และกาญจนบุรี

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า ในที่ประชุมยังมีความเป็นห่วงภาวะเอลนีโญที่อาจจะทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ของไทย อาจทำให้ประชาชนเดือดร้อนต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ทาง สนทช.จะเสนอเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งที่อาจจะยาวนานไปจนถึงเดือน ก.ค.-กลาง ส.ค.ศกนี้ ต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอใช้งบกลาง 1,200-1,300 ล้านบาท จัดทำ 144 โครงการเร่งด่วนแก้ภัยแล้งให้แล้วเสร็จภายใน 80-90 วัน หาก ครม.อนุมัติโครงการ ซึ่งจะมีโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26 แห่งวงเงิน 100 ล้านบาทเศษรวมอยู่ด้วย

“พายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้บรรเทาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง อาทิ ปริมาณน้ำใช้การได้ของเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะเป็นศูนย์ในวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ยืดออกไป ซึ่งกรณีเขื่อนอุบลรัตน์ หากยังเกิดภัยแล้งต่อเนื่อง จะมีการนำน้ำในสต๊อกสำรองประมาณ 80 ล้านลบ.ม.ออกมาใช้ ส่วนการประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะประกาศวันที่ 22-23 พ.ค.ศกนี้ ล่าช้าประมาณ 1 สัปดาห์ และคาดว่าปริมาณฝนปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 26 เมษายน 2562

สอน.พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรฯ ตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการช่วยเหลือของทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 6,500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกิน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย ซึ่งขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณรอบแรกเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลืองวดที่ 1 ในวันที่ 26 เมษายน 2562 ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของชาวไร่อ้อยโดยตรง ซึ่งมีชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิ์ จำนวน 134,465 ราย ปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่โรงงานเปิดหีบจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 จำนวน 61,460,684 ตัน รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,073,034,245 บาท

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่ชาวไร่อ้อย อย่างโปร่งใส ถูกต้อง และครบถ้วนตามสิทธิ์ที่ขอรับการช่วยเหลือ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายสอน.ชาวไร่อ้อยช่วยเหลือเกษตรกรปลูกอ้อยเงิน

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 26 เมษายน 2562

กรมส่งเสริมการเกษตรจัด 3 โครงการ ลุยลดพื้นที่การเผาและลดปัญหาหมอกควัน

กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษด้านหมอกควัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาคการเกษตร สั่งลุย 3 โครงการเร่งด่วนลดการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตร

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทย พบว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง มีผลทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งรัดดำเนินการเพื่อลดพื้นที่การเผาและลดปัญหาหมอกควัน ใน 3 โครงการ ดังนี้

การดำเนินการเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และสมาคมผู้ค้าพืชไร่ ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ฤดูการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559/60 รณรงค์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า เนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรการของประเทศต่าง ๆ มีนโยบายไม่รับซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงจากอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบจากการปลูกในพื้นที่ป่า รวมทั้งได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และผู้ประกอบการของสมาคมในการไม่นำเมล็ดพันธุ์ไปวางขายในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า มีการสร้างระบบฐานข้อมูลเว็บ Corn Service เพื่อให้บริการแก่พ่อค้าและผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สามารถเข้าใช้ข้อมูลออนไลน์ในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งจากการดำเนินการมาเป็น เวลา 2 ปี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลง

โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ 26 จังหวัด โดยในปี 2557 – 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหารุนแรงใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับในปี 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการเผาสูง จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี ผลการดำเนินการ (ภาพรวมของโครงการ ตั้งแต่ปี 2557 – 2562) เกิดการสร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผาเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชน จำนวน 7,710 ราย ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เป็นเกษตรกรปลอดการเผา 64,250 ราย ในพื้นที่รวม 1,374 ตำบล มีพื้นที่เกษตรปลอดการเผา รวม 1,374,000 ไร่ และจำนวนจุดความร้อนสะสมรวม ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 ลดลง

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2562 มีดังนี้ 1) กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตรที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการฯ ต้องควบคุมไม่ให้เกิดจุดความร้อนอย่างเด็ดขาด 2) กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสร้างโมเดลการพยากรณ์สภาพอากาศ ล่วงหน้าทุก 7 วัน ในรูปแบบแผนที่อินโฟกราฟิก เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง โดยออกประกาศแจ้งเตือน จำนวน 5 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน 2562 3) ให้สำนักงานเกษตรทุกจังหวัด ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาซากพืช และเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : COO) เน้นมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุ โดยใช้ ศพก. 16 แห่งในพื้นที่ 10 จังหวัด 150 ตำบลเป็นเครือข่ายดำเนินการ โดยได้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา จำนวน

15,720 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. 62) 4) เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ ระหว่างเดือน มกราคม – ปัจจุบัน 5) รณรงค์ให้เกษตรกรทำกิจกรรมการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยจัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาตามบริบทของชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง 6) รณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ จัดงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (Field Day) จำนวน 29 ครั้ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พุทธศักราช 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มาดำเนินการถ่ายทอดความรู้แก่ เกษตรกร จำนวนไม่น้อยกว่า 26,460 ราย โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้การเกษตรให้เกิดมูลค่า ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น ทางเลือกที่ 2 นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทางเลือกที่ 3 นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค ทางเลือกที่ 4 นำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็น

เชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ ทางเลือกที่ 6 นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย” ทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และทางเลือกที่ 8 จำหน่ายวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้กากปาล์ม กากมัน ซัง ข้าวโพด เศษไม้ ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล (Biomass) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 – พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรมั่นใจว่าจากการดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตรได้อย่างแน่นอน

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 26 เมษายน 2562

สอน.จับมือพันธมิตรหนุนไร่อ้อยสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง

สอน.จับมือ 3 พันธมิตร เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไร่อ้อย เพื่อยกระดับสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง  

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จับมือ 3 องค์กร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS  และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาทางด้านวิชาการ การพัฒนาด้านพันธุ์อ้อยและพัฒนาบุคลากร โดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในพิธีลงนาม

นายพสุ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงครั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 4 จะร่วมดำเนินการในช่วง 5 ปีนับจากนี้ โดย สอน. สนับสนุนงบประมาณดำเนินการภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือจะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ บริษัทเกษตรไทยฯ จะสนับสนุนด้านสถานที่ ข้อมูลการนำไปทดสอบใช้ ขณะที่สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์สนับสนุนด้านข้อมูลและร่วมกันประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่อไป

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สอน.เริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่บริหารจัดการไร่อ้อยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 โดยเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ซึ่งได้พัฒนาระบบสารสนเทศรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบันทึกข้อมูลพร้อมกับการเห็นพื้นที่ไร่ของตนเองผ่านอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน สำหรับแก้ปัญหาการบริหารจัดการไร่อ้อยที่มีพื้นที่แปลงขนาดใหญ่ ตลอดจนมีการสาธิตการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในการเตรียมและปลูกอ้อยตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการจัดการไร่หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตผ่านเว็บแอพลิเคชั่น  https://thaismartfarming.com  และได้ดำเนินการต่อเนื่องปีงบประมาณ 2562 โดยขยายผลการดำเนินงานไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ไม่น้อยกว่า 30 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,000 ไร่ได้ใช้งานระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบเว็บแอพพลิเคชั่นและสามารถเป็นต้นแบบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการดำเนินการบริหารจัดการย่อยแปลงใหญ่ตามแนวคิดสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือเรื่องของโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวม 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถตัดอ้อยแร๊พเตอร์  เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อยเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 25 เมษายน 2562

เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน

เงินบาททะลุ 32 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน ชี้ปัจจัยภูมิภาค-การเมืองยังอาจกดดันต่อระยะข้างหน้า

เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.02-32.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ วันนี้ (25 เม.ย.) ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 และยังเป็นการอ่อนค่าลงประมาณ 1.5% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าว สอดคล้องกับภาพการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวังของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญของตลาดการเงินไทยที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดหลังการเลือกตั้ง คือ สถานการณ์ทางการเมืองและความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้ว นับว่าเงินบาทยังอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มไปกับทิศทางของสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน   

สำหรับระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ซึ่งอาจต้องติดตามเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากปัจจัยการเมืองในประเทศ คือ บรรยากาศของตลาดสกุลเงินในภูมิภาค เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่าแนวโน้มของสกุลเงินเอเชียบางสกุล อาทิ เงินวอนของเกาหลีใต้ เงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินรูปีของอินเดียที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากในระยะนี้ ล้วนถูกกดดันจากความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการส่งออก ปัจจัยเฉพาะทางการเมืองภายใน และความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่อง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อาจจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งในช่วงข้างหน้า ทำให้ผู้ประกอบการควรที่จะศึกษาและเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้สามารถลดทอนผลกระทบและปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากโอกาสที่เงินบาทจะผันผวนตามกระแสของสกุลเงินในภูมิภาคได้

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 25 เมษายน 2562

KTIS ผนึก 3 หน่วยงานมุ่งพัฒนาชาวไร่อ้อยมั่งคั่งยั่งยืน

กลุ่ม KTIS เซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือทางวิชาการ 3 หน่วยงาน ผนึก สอน.-มจพ.-สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ มุ่งพัฒนาชาวไร่อ้อยตามโครงการ Smart Farming

กลุ่ม KTIS ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ 3 หน่วยงาน ผนึก สอน. – มจพ. และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ เดินหน้าพัฒนาชาวไร่อ้อยตามโครงการ Smart Farming สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เผยเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ชาวไร่อ้อยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกครบวงจร มั่นใจช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต เพื่อให้ได้อ้อยพันธุ์ดีมีคุณภาพสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกลุ่มKTIS ที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้ชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน

นายณัฎฐปัญญ์ศิริวิริยะกุลรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) เพื่อร่วมกันขยายขอบข่ายความร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาทางวิชาการ การพัฒนาด้านพันธุ์อ้อย และการพัฒนาบุคลากร ภายใต้โครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยมุ่งสู่ Smart Farming”

สำหรับโครงการ Smart Farming เป็นโครงการที่ สอน.กำหนดแนวทางสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยชาวไร่อ้อยในการบริหารจัดการไร่ ทั้งกระบวนการปลูกอ้อยตั้งแต่การเตรียมดิน ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และแนะนำการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นโครงการที่เข้าถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างแท้จริงผ่านกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว กลุ่ม KTIS จะร่วมดำเนินโครงการในฐานะโรงงานน้ำตาลซึ่งมีระบบการส่งเสริมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มเกษตรกรรายย่อย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ5 ปี

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า ทั้ง 4 ฝ่ายจะร่วมกันภายใต้กรอบกิจกรรม 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อสร้างบุคลากรในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการสนับสนุนด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว และความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมความรู้ด้านวิชาการ เทคโนโลยีด้านการจัดการในไร่อ้อยและพันธุ์อ้อยพันธุ์ดี

ทั้งนี้ กลุ่ม KTIS จะให้การสนับสนุนด้านสถานที่ ข้อมูล การนำไปทดสอบใช้ รวมถึงการส่งเสริมและการประชาสัมพันธ์ ขณะที่สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ จะสนับสนุนด้านข้อมูล รวมถึงประชาสัมพันธ์สู่ชาวไร่อ้อย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์และห้องปฏิบัติการ โดย สอน.จะสนับสนุนด้านงบประมาณ

“กลุ่ม KTIS มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากสอดคล้องกับปณิธานของกลุ่ม KTIS “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง” ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนด้านความรู้ เทคโนโลยี และอื่นๆ ซึ่งมั่นใจว่า โครงการ Smart Farming ภายใต้การผลักดันของ สอน. จะทำให้ชาวไร่อ้อยสามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับการเพาะปลูกอ้อยในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ รวมถึงสามารถจัดทำแผนที่เพาะปลูกและคำนวณต้นทุนการเพาะปลูกได้ผ่านระบบ Web Application ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Farmer อย่างแท้จริง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 25 เมษายน 2562

สอน.ผนึกกำลัง 3 องค์กร ลงนาม MOU เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไร่อ้อย

สอน.ผนึกกำลัง 3 องค์กร ลงนาม MOU เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไร่อ้อย ยกระดับชาวไร่อ้อย สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยในระยะยาว

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.62 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาทางด้านวิชาการ การพัฒนาด้านพันธุ์อ้อย และพัฒนาบุคลากร

 นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย มั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการในไร่อ้อย การพัฒนาพันธุ์อ้อย การยกระดับงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการ และเทคโนโลยี (Smart Farming) รวมถึงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

 ซึ่งบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ หน่วยงานทั้ง 4 จะร่วมกันดำเนินงาน เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานภายใต้โครงการการเพิ่มศักยภาพการผลิตอ้อยมุ่งสู่ Smart Farming, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จะสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการ, บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนด้านสถานที่ ข้อมูล การนำไปทดสอบใช้ และสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 นครสวรรค์ จะสนับสนุนด้านข้อมูล และร่วมกันประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อให้ดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวบรรลุตามเป้าประสงค์.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 25 เมษายน 2562

ก.เกษตรนำ AI ร่วมขับเคลื่อน'เกษตรอัจฉริยะ'

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคงและก้าวทันความเปลี่ยนแปลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการดูแลและสนับสนุนให้เกษตรกรกว่า 6.6 ล้านครัวเรือน มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ 149 ล้านไร่ ให้สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิตโดยนำแนวคิด "เกษตรอัจฉริยะ" หรือ "SMART AGRICULTURE" มาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับสังคมเกษตรกรรมดั่งเดิม ไปสู่สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่หรือเกษตรกรรม 4.0         

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของระบบเกษตรอัจฉริยะต่อสังคมเกษตรกรรมไทย ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ โดยมีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนา และขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีความเห็นชอบร่วมกันในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะโดยดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 3 ด้าน ในปี 2562 ประกอบด้วย         

1. การจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิต ใน 6 พืช ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด และมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ พร้อมทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำ Big Data ด้านเกษตรอัจฉริยะสำหรับการประมวลผล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ และช่วยกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต         

2. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยขับเคลื่อนการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในกระบวนการผลิต เชื่อมโยงเข้าสู่การจัดทำ Big Data ทางการเกษตร และประมวลผล ณ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเกษตร (War room) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต และประสานความร่วมมือจากนักวิชาการด้านต่าง ๆ ตลอดจนนักคอมพิวเตอร์ เพื่อออกแบบและการจัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องภายในแปลงเรียนรู้จากระบบเทคโนโลยี IoT ที่ติดตั้งอยู่ในระบบเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการบันทึกข้อมูลโดยนักวิจัยให้เชื่อมโยงเข้าสู่การจัดทำBig Data ทางการเกษตร เพื่อจัดทำ index library สำหรับเป็นดัชนีฐานข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะต่อไป โดยในปี 2562 มีแผนดำเนินการระยะเร่งรัด (Quick Win) ด้าน Big Data 3 แผนงาน ดังนี้ แผนงานแรก : พัฒนาข้อมูลปริมาณผลผลิตและพื้นที่เพาะปลูก แบบ near real time ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณและพื้นที่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด แผนงานที่สอง : พัฒนาข้อมูลโรคพืชและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับการตรวจสอบโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแผนงานที่สาม: พัฒนา IoT Platform เชื่อมโยงข้อมูลจากการตรวจวัดของเซนเซอร์ต่าง ๆ เช่น เซนเซอร์วัดธาตุอาหารพืชในดินและในน้ำ เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพอากาศ เซนเซอร์ดักจับแมลง เป็นต้น ในโรงเรือนปลูกมะเขือเทศ มายังจอแสดงผลแบบ real time เพื่อใช้ในการบริหารจัดการผลิตพืชอย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ         

และ 3. การจัดทำแผนแม่บท หรือ Roadmap ขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดการทำเกษตรอัจฉริยะ คือ การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือPrecision Farming) โดยเป็นการทำเกษตรที่มีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ (Productivity) โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ ควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน เช่น การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การใช้ Agri-Map เพื่อตรวจสอบคุณภาพดิน การใช้เครื่องจักรจัดการแปลง การควบคุมปริมาณแสงและอุณหภูมิ การกำหนดปริมาณสารอาหารและน้ำที่เหมาะสม การใช้ระบบเซ็นเซอร์เพื่อการบริหารจัดการแปลงและโรงเรือน การกำจัดศัตรูพืช โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยสนับสนุน รวมทั้งการวางแผนและตัดสินใจทำการเกษตรบนฐานข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง โดยการพัฒนา Big Data Platform ด้านเกษตรอัจฉริยะเพื่อให้เกิดความแม่นยำในการผลิต ซึ่งผลลัพธ์ของการทำเกษตรอัจฉริยะนั้นเป็นการช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี น้ำ และการใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มปริมาณคุณภาพผลผลิตและรายได้เกษตรกร สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ เพื่อสนับสนุนด้านการตลาด และช่วยในการวางแผนการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำหนดตลาดล่วงหน้า อันจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรได้

"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแนวทางในการสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยนอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะผ่านการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดทำแปลงเรียนรู้แล้ว ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร เกษตรกร และคนรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Officers, Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถทำหน้าที่เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดวิทยาการสมัยใหม่ ควบคู่กับการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมในรูปแบบแปลงใหญ่ (Mega Farm) โดยเฉพาะการทำวิสาหกิจแปลงใหญ่ มีความเหมาะสมในการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่ได้รับการทดสอบจากแปลงเรียนรู้ที่นำไปใช้ จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสังคมเกษตรกรรมของไทยในระยะต่อไป ซึ่งเป็นระบบที่ยั่งยืนที่หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ต้องบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ผมยินดีที่จะมีการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เห็นเป็นรูปธรรม มีการพัฒนา Big Data เกษตรอัจฉริยะ อย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทหรือ Roadmap " นายกฤษฎา กล่าว         

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดจัดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ในวันที่ 24 เมษายน 2562 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ "การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย" "บทบาทของ GISTDA กับการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย" "การเกษตรอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น" "IoT และเซนเซอร์ทางการเกษตร" เป็นต้น สำหรับภาคบ่ายมีการเสวนาเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย ระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 25 - 26 เมษายน 2562 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนา Big Data รวมถึงการระดมความคิดจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนายกร่าง Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ตลอดจนยังมีนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะโดยหน่วยงาน บริษัทเอกชน และผู้ประกอบการ Start up ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system เป็นต้น

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 25 เมษายน 2562

ชป.วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกิน-น้ำใช้อย่างยั่งยืน

             กรมชลประทาน บูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อผลิตประปา ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ ยันอีสานกลางมีปริมาณน้ำเพียงพออุปโภคบริโภค วอนทุกฝ่ายช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

                  ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้มีการพิจารณาถึงมาตรการแก้ไขปัญหาและรับมือความเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2561/62 ได้แก่ ด้านการอุปโภค-บริโภค ด้านการรักษาระบบนิเวศ ด้านการเกษตร และด้านการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ได้ให้กรมชลประทานประสานกับการประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาลดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งให้ติดตามและเฝ้าระวังเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำดิบเพียงพอสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ นั้น

                ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 6 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดอีสานกลาง ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ ได้มีการวางมาตรการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก โดยบูรณาการร่วมกับ ศูนย์ป้องการและบรรเทาสาธารณะภัยเขต 6 สำนักงานป้องการและบรรเทาสาธารณะภัย และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 22 สาขา พบว่าปริมาณน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ดังกล่าว มีเพียงพอในการผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ มีเพียง 1 สาขาเท่านั้น ที่มีความเสี่ยงว่าปริมาณน้ำดิบจะมีไม่เพียงพอ คือ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุวรรณภูมิ หน่วยบริการเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด กรมชลประทาน ได้สนับสนุนรถแบ็คโฮสำหรับขุดร่องชักน้ำ และติดตั้งเครื่อง สูบน้ำ 10 เครื่อง ทำการสูบน้ำมาเติมลงบริเวณด้านหน้าโรงสูบน้ำดิบหน่วยบริการเกษตรวิสัย โดยเริ่มดำเนินการสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 61 - 20 เม.ย. 62 รวมปริมาณน้ำกว่า 239,200 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำดิบบริเวณด้านหน้าฝายเล้าขาว มีอยู่ประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้ผลิตน้ำประปาตลอดจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

        ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 25 เมษายน 2562

รมว.เกษตรฯนำทัพเปิดแปลง'เกษตรอัจฉริยะ'นำร่อง6พืชหลัก

รมว.เกษตรฯนำทัพเกษตรแผนใหม่ “เกษตรอัจฉริยะ”เปิดแปลงนำร่องใน 6 พืชหลัก ระดมเครื่องมือไฮเทคมาเพียบ ยุคเกษตร4.0ทำน้อยได้มาก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงได้จัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการทำเกษตรกรรม ร่วมมือกับหน่วยงานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงภาคเอกชน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นซึ่งนำงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วย ประสานความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ

ล่าสุดได้จัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ของพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรดในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละ 10 -20 ไร่ต่อชนิดพืช รวมถึงการทำโรงเรือนมะเขือเทศโดยใช้ IoT และ Sensors ทางการเกษตร ตรวจวัดสภาพดิน น้ำ การเจริญเติบโตของพืช เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกรอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้

นายกฤษฎากล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตลอดแลกเปลี่ยนประสบการในการทำการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยระหว่างผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย

นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้แก่ การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้แก่ แทรกเตอร์ต้นกำลังซึ่งมีระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช เครื่องเก็บเกี่ยวและเครื่องนวดที่มีระบบบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการผลิต เป็นตัน

“มีเป้าหมายนำเกษตรอัจฉริยะมาทำในโครงการแปลงใหญ่ โดยเอกชนร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี มี Smart Farmers และ Young Smart Farmers ดูแลแปลง ซึ่งจะสามารถลดการใช้แรงงานคน ใช้ปุ๋ยตามความเหมาะสมของค่าดิน ตลอดจนเก็บผลผลิตได้สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งเมื่อผลผลิตต่อไร่มากขึ้นและคุณภาพผลผลิตดีขึ้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร เป็นลักษณะการทำเกษตรแบบ ทำน้อย ได้มาก” นายกฤษฎา กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน 2562

'ภัยแล้ง'ลามหนัก! 211เขื่อนน้ำลดต่ำกว่า30% ประสาน'ฝนหลวง'เติมน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ ขณะนี้มีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง และขนาดกลาง จำนวน 191 แห่ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งแล้ว โดยกรมฝนหลวงได้รับการประสานขอความร่วมมือในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเร่งภารกิจเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 4 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี และนครราชสีมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.นครราชสีมา รวมถึงสามารถยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ อ.ฮอด อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 64% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.6 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.นายายอาม จ.จันทบุรีและ อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 57% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 37% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.6 หน่วยฯ จ.ลพบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการ ภารกิจที่ 1 โจมตี บริเวณ อ.มวกเหล็ก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และภารกิจที่ 2 โจมตี บริเวณ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ห้วยคต อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา ด้านหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งต่อไป

พื้นที่ภาคเหนือ ในหลายจังหวัดเริ่มมีทิศทางที่ดีมาก โดยคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ประกอบกับจุดความร้อนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีเพียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่สภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ จ.เชียงราย อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สำหรับผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 65% (ร้องกวาง) 79% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 69% (ร้องกวาง) 54% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (ร้องกวาง) -4.5 (อมก๋อย) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณพื้นที่ อ.เชียงดาว - อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณพื้นที่ อ.เมืองลำปาง - อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง รวมถึงพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ได้วางแผนปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณทิศตะวันออก อ.ศรีสำโรง - ทิศตะวันออก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.อุตรดิตถ์ และ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บพื้นที่เป้าหมาย จ.เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศ จ.ขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 61% (บ้านผือ) 53% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 46% (บ้านผือ) 45% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.7 (บ้านผือ) -2.1 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา และหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30%

และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 52% (พนม) 50% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 59% (พนม) 43% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.2 (พนม) -3.7 (ปะทิว) หน่วยฯ จ.สงขลา หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี และหน่วยฯ หัวหิน ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป โดยเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน 2562

รมว.เกษตรฯเล็งยกเลิก 3 สารพิษที่ใช้ในการเกษตรฯในปี'63

เกษตรฯเล็งเลิกนำเข้า 3 สารพิษต้องห้ามที่ใช้ในการเกษตรในปี'63 สั่งหั่นนำเข้าเหลือ 50% พร้อมให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯตรวจสต๊อกเอกชนภายใน15 วัน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ออกกฏกระทรวง 5 ฉบับ จำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย ใช้ในการเกษตรกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช 3ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันหลังจากนี้

ทั้งนี้ จะมีการจำกัดการนำเข้าสารเคมีลดลงประมาณครึ่งของที่เคยนำเข้าตัวละอยู่ระหว่าง 2-3 ตันต่อปีจากเดิมอนุญาตให้นำเข้า 4-6 ตันต่อปี ซึ่งในปี 2562 จำกัดการนำเข้าตามมาตรการโดยจำกัดการนำเข้าตามชนิดพืช เช่น พาราควอต 2 หมื่นตัน ไกลโฟเซต 4.8 หมื่นตัน คลอร์ไฟริฟอส 1,150 ตัน พร้อมกันนี้ได้สั่งการหน่วยงานในเรื่องการสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ให้นำไปใช้อย่างถูกวิธี จึงจะเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ ผู้ผ่านอบรมการใช้จึงนำใบอนุญาตไปซื้อขาได้

นอกจากนั้น ได้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดของกระทรว งและอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นเลขานุการเร่งสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายว่า มีอยู่เท่าไร ต่อไปจะต้องแจ้งปริมาณสต๊อกสินค้าทุก 15 วัน โดยระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไปในพื้นที่ด้วยน

" ได้กำหนดชนิดพืช อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และไม้ผล ที่ใช้สารพาราควอต และไกลโฟเซต ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งขณะนี้ให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการ หรือสารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งคณะอำนวยการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก 3 เดือน หากทำได้ตามที่กำหนดไว้ทั่วประเทศ จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันที" นายกฤษฎากล่าว

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 24 เมษายน 2562

อาเซียนเร่งดัน 13 ประเด็นเศรษฐกิจ จับมือรุกปฏิรูป WTO  สร้างเชื่อมั่นนักลงทุน

พาณิชย์ เผยผลสำเร็จการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25  อาเซียนเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดัน 3 ด้านรวม 13 ประเด็น ตามที่ไทยเสนอ พร้อมหนุนแสดงบทบาทเชิงรุกของอาเซียนเพื่อปฏิรูป WTO หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า  ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของอาเซียนครั้งแรกของปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้เห็นชอบประเด็นที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันเพื่อให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ (Priority Economic Deliverables) ทั้ง 3 ด้าน 13 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย ด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และด้านการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ รวมทั้งมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน

สำหรับประเด็นด้านการปฏิรูปองค์การการค้าโลก(WTO) อาเซียนเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกมีบทบาทเชิงรุกใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.การธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี 2.ความจำเป็นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทางการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน และ 3. ความเร่งด่วนในการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกการทำงานของ WTO จะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนผลการเจรจาและประเด็นคงค้างสำคัญของการเจรจา RCEP อาเซียนจะต้องร่วมกันหาท่าทีในประเด็นที่ยังไม่มีท่าทีร่วมให้ได้ในช่วงการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือประเด็น RCEP อีกครั้งในช่วงก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเสนอเป็นท่าทีต่อประเทศคู่เจรจา ก่อนพบกับคู่เจรจาในการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป ครั้งที่ 26 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมิถุนายน 2562

ทั้งนี้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13%  โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุล 22,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วน 27%  ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

จาก www.thansettakij.com วันที่ 24 เมษายน 2562

สอน.พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยรอบแรก ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. 26 เม.ย. 62

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เผยจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 6,500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกิน 50 บาทต่อตันอ้อย   รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณรอบแรก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยจะเริ่มจ่ายรอบแรก ในวันที่ 26 เมษายน 2562 นี้ ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาแต่ละรายโดยตรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่โรงงานเปิดหีบจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 จำนวนกว่า 61 ล้านตัน

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยเฮ!! รอรับเงินช่วยเหลือล็อตแรก 26เม.ย. นี้

สอน.เตรียมจัดสรรเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยผ่านบัญชีธ.ก.ส. งวดแรก 1.34 แสนราย วงเงิน 3 พันกว่าล้านบาทคาดฤดูกาลปี 61/62 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 131 ล้านตัน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 6,500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกิน 50 บาทต่อตันอ้อย รายละไม่เกิน 5,000 ตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอ ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณรอบแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้จะเริ่มจ่ายรอบแรก ในวันที่ 26 เมษายน 2562 นี้ ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาแต่ละรายโดยตรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่โรงงานเปิดหีบจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 จำนวน 61,460,684 ตัน

สำหรับจ่ายให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่ขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิ์ จำนวน 134,465 ราย เป็นเงิน จำนวน 3,073,034,245 บาท และจะดำเนินการจ่ายเงินรอบถัดไปตามปริมาณอ้อยที่เข้าหีบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงวันสุดท้ายของการหีบอ้อย ซึ่งคาดว่าในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 131 ล้านตัน และในขณะนี้ยังมีโรงงานน้ำตาลที่ยังไม่ได้ปิดหีบ จำนวน 7 โรงงาน คาดว่าจะปิดหีบทั้งหมดภายในวันที่ 30 เมษายน 2562

อย่างไรก็ตามสอน. จะกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต อย่างโปร่งใส ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริงสำหรับบัญชีธนาคารที่ใช้ในการโอนเงินให้ชาวไร่อ้อย ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องจาก ธ.ก.ส. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

กรมชลฯยันแล้งนี้ภาคตอ.พ้นวิกฤติ คลอด5แผนหลักเพิ่มน้ำต้นทุนรับEEC

นายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก ว่า เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยฤดูแล้งปีนี้มีปริมาณน้ำในต้นทุนในแหล่งกักเก็บ 61 แห่งและน้ำใช้จากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและแหล่งน้ำอื่นๆ รวม 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยจัดสรรน้ำไว้ใช้ทุกกิจกรรมรวม 2,000 ล้านถึง 30 มิถุนายน ที่เหลืออีกประมาณ 700 ล้านลบ.ม. สำหรับไวัใช้ต้นฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ได้คาดการณ์ว่าฝนปี 2562 จะน้อยกว่าปีปกติ กรมฯจึงมีมาตรการประหยัดน้ำเพิ่มเติม โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนลดใช้น้ำ 10% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นมา ทำให้ประหยัดน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 100 ล้านลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าแม้ฝนจะขาดไปจนถึงเดือนกันยายน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และท่องเที่ยวของทางภาคตะวันออกจะมีน้ำใช้ ไม่ประสบปัญหาภัยแล้งแน่นอน

“แม้ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนในภาคตะวันออกจะเพียงพอกับความต้องการก็ตาม แต่ในอนาคตความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น กรมร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)ประเมินว่า ปี 2569 ทั้ง 8 จังหวัด ภาคตะวันออกต้องการน้ำประมาณ 2,530 ล้านลบ.ม. และปี 2579 จะเพิ่มเป็น 2,675 ล้านลบ.ม. และโดยเฉพาะการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันต้องการน้ำประมาณ 1,313 ล้านลบ.ม จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,705 ล้านลบ.ม.ในปี 2569 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จำเป็นต้องจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นให้ได้อีกไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม.ภายใน 20 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)อยู่แล้วประมาณ 1,440 ล้านลบ.ม.

สำหรับแผนจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.ปรับปรุงแหล่งน้ำ 7 แห่งที่มีอยู่เดิมเก็บน้ำได้เพิ่ม 102 ล้านลบ.ม. 2.สร้างแหล่งเก็บน้ำใหม่ลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี 4 แห่งได้ความจุน้ำรวม 309 ล้านลบ.ม. เพื่อจะผันน้ำมารองรับพื้นที่ EEC 100 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเสร็จแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำดำเนินการแล้วเสร็จ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างฯคลองประแกด อ่างฯคลองพะวาใหญ่ และอ่างฯคลองหางแมว สำหรับ อ่างฯวังโตนด มีความจุ 100 ล้านลบ.มอยู่ในขั้นตอนศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถผันน้ำได้ภายในปี 2566

3.การปรับปรุงสถานีสูบน้ำพานทอง เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมอ่างฯ บางพระ 50 ล้านลบ.ม. ต่อปีคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเดือนมิถุนายน 2562 และระบบผันน้ำ อ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อการบริหารจัดการร่วมกับการผันน้ำจากลุ่มวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ และการสูบน้ำกลับท้ายอ่างฯ จากคลองสะพาน-อ่างฯ ประแสร์ 4.สูบน้ำกลับท้ายอ่างฯ 1โครงการคือ ก่อสร้างระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างฯ ประแสร์ จะทำให้มีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นอีก 50ล้านลบ.ม. และ5.การหาแหล่งน้ำสำรอง และบริหารจัดการความต้องการน้ำของเอกชน ซึ่งจะได้น้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 77 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ กรมฯน้อมนำศาสตร์พระราชาเรื่องอ่างพวงมาใช้ในภาคตะวันออก โดยก่อสร้างระบบผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำที่สำคัญเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการเกษตรมีน้ำสมบูรณ์พอ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

ตั้งกก.ขับเคลื่อนเดินหน้าเกษตรอัจฉริยะ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมียุทธศาสตร์สำคัญเรื่องพัฒนาขีดความสามารถใหม่ให้เศรษฐกิจไทย โดยภาคการเกษตรมีแนวทางที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิตในภาคเกษตร คือ “เกษตรอัจฉริยะ” ในส่วนกระทรวงเกษตรฯมีแนวทางสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ โดย นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผน ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรฯโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะในอนาคต เน้นงานในรูปแบบประชารัฐ ตลอดจนบูรณาการหน่วยงานภายในและนอกประเทศ รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ได้ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ มุ่งเน้นการจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด ในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละไม่น้อยกว่า 10 ไร่ (รวม 20 ไร่/พืช) รวมถึงการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการได้ขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจัง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 กระทรวงเกษตรฯทำ MOU ความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA และ Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะจากภาคเอกชนของญี่ปุ่น ผู้ซึ่งนำผลงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วยสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะในประเทศไทย ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้เดินทางประสานความร่วมมือที่จีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่ชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยยินดีสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT และ Sensors ทางการเกษตร เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกร โรงเรือนมะเขือเทศ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ดร.วราภรณ์กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ จึงกำหนดจัดสัมมนาเกษตรอัจฉริยะวันที่ 24 เมษายน เพื่อสร้างความเข้าใจการเรียนรู้การเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานเกษตรอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง จัดการฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 25 - 26 เมษายน มี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนา Bug Data รวมถึงการระดมความคิดจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศพัฒนายกร่าง Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

จุดจบ! 3 สารเคมีพิษสิ้นแผ่นดินไทย

รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งเร่งดำเนินการตามแผนมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด หลังประกาศกระทรวงฯ 5 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอมีผลบังคับใช้ ก่อนสิ้นปี 63 หากปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมเป็นแบบอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยได้ทั้ง 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ เลิกใช้ทั้ง 3 สารทันที!

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"  ว่าจากประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 62 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหลังวันประกาศ แต่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามที่กรมวิชาการจัดทำ 6 มาตรการ แล้วคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการมาก่อนแล้ว ซึ่งได้รับรายงานว่า ในวันนี้ (24 เมษายน) จะเริ่มอบรมวิทยากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร 240 คน จากนั้นวันที่ 25 เมษายนอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย 2,000 คนเพื่อสร้างวิทยากรไปให้ความรู้แก่เกษตรกร 1,500,000 คนในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน สำหรับผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน จะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 79,988 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะอบรมผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศในช่วงระว่างเดือนมิถุนายน 2562

ตามประกาศกระทรวงฯ ชนิดพืชที่ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชให้ใช้ในอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด

นอกจากนี้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดของกระทรวงและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นเลขานุการเร่งสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายว่า มีอยู่เท่าไร ต่อไปจะต้องแจ้งปริมาณสต็อกสินค้าทุก 15 วัน โดยระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไป

“สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การเร่งรัดขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในเดือน 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้ให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการหรือสารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งคณะอำนวยการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก 3 เดือน หากทำได้ตามที่กำหนดไว้ทั่วประเทศ จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันที” นายกฤษฎากล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

ราชกิจจาฯประกาศจำกัดใช้3สารเคมีวัตถุอันตรายในการเกษตร

ราชกิจจาฯประกาศจำกัดใช้ 3สารเคมีวัตถุอันตรายในการเกษตร กฏกระทรวง5ฉบับมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด180วัน ควบคุมเข้มข้นทันทีทั้งเกษตรกร ผู้ใช้พ่นยา ผู้ขาย ผลิต นำเข้า ห้ามใช้พื้นที่ต้นน้ำ

กรมวิชาการเกษตร ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 23 เมษายน 2562  เรียบร้อยแล้ว โดยทั้ง 5 ประกาศจะบังคับใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ประกอบด้วย 1.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 สาระสำคัญก็คือ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกรควบคุมการขายวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ต้องการผ่านอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดและต้องเข้าอบรมทุกๆ 3 ปี ต้องใช้เครื่องวัตถุอันตรายดังกล่าวกับพืชและพื้นที่ตามที่แสดงหลักฐานการซื้อขาย ผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะต้องจัดให้มีบุคลากรเฉพาะในขณะที่การขายวัตถุอันตราย ต้องแยกออกจากวัตถุอันตรายอื่นๆ และมีป้ายแสดงข้อความว่า “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” อย่างชัดเจน

ส่วนฉบับที่ 2.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย ที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 สาระสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ให้จำกัดการใช้วัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ในกรณีอยู่นอกพื้นที่ข้างต้น ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มนทำมัน มันสาปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ส่วนผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าวัตถุอันตรายเกี่ยวกับไกลโฟเซต ต้องแสดงข้อความในฉลากวัตถุอันตรายเพิ่มเติมจากที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2538

ฉบับที่ 3.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย ที่เกี่ยวกับคลอร์ไพริฟอส ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 การใช้วัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับคลอร์ไพริฟอสในไม้ผล ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นเท่านั้น

ฉบับที่ 4.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย ที่เกี่ยวกับพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562เพื่อประโยชน์ในการควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคลสัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ให้จากัดการใช้วัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับพาราควอตโดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ ในกรณีอยู่นอกพื้นที่ข้างต้น ให้ใช้เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสาปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ทั้งนี้ ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าวัตถุอันตรายเกี่ยวกับพาราควอต ต้องแสดงข้อความในฉลากวัตถุอันตรายเพิ่มเติมจากที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2538

ฉบับที่ 5.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เฉพาะวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2562 ให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยผู้ดำรงตาแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีอานาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้วัตถุอันตราย ตามมาตรา 54 (1) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ได้แก่ 1. ผู้ใหญ่บ้าน 2. กำนัน 3. ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

สยามคูโบต้าผนึกภาครัฐ รณรงค์เกษตรปลอดเผา

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดตัวโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ส่งเสริมเกษตรกรทำการเกษตรปลอดภัยไร้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และสร้างรายได้เพิ่มจากการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติค่าฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาคือ การเผาในที่โล่ง บริษัทฯจึงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวในภาคการเกษตร จึงร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ตั้งเป้าทำพื้นที่ภาคการเกษตรของไทยที่มีกว่า 140 ล้านไร่ ให้ปลอดการเผา 100% ภายใน 3 ปี

โครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” เป็นโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำเกษตรที่ไม่เผาวัสดุเหลือใช้หลังเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย และใบข้าวโพด เพื่อให้ภาคการเกษตรเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดฝุ่นควัน PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน โดยสยามคูโบต้าพร้อมหน่วยงานพันธมิตรจะลงพื้นที่ให้ความรู้และสนับสนุนการทำเกษตรปลอดการเผาด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรกับเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลัก ได้แก่ ข้าว อ้อยและข้าวโพด ในพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของอินทรีย์วัตถุในดินและการรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสยามคูโบต้าได้คิดค้นพัฒนาและทำวิจัยในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชเศรษฐกิจของไทยมาตั้งแต่ปี 2560 โดยนำองค์ความรู้ส่วนหนึ่งในช่วงการเก็บเกี่ยวและบำรุงพืช มาเป็นองค์ความรู้ให้เกษตรกรในโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ซึ่งจะจัดกิจกรรมลงพื้นที่การเกษตรจริง เพื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการเดือนเมษายนนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

เดินแผนทำฝนหลวง เติมน้ำเขื่อน 203 แห่ง วิกฤติหนัก!! 

อธิบดีฝนหลวงฯ วางแผนทำฝนเติมน้ำเขื่อน 203 แห่ง น้ำน้อยวิกฤติมีน้ำต่ำกว่า 30% ระทมภัยแล้งหนัก 5 จังหวัดระบุหน่วยฝนหลวง 8 ศูนย์ ทำฝนตก 23 จังหวัดลดฝุ่นพิษ ยับยั้งพายุลูกเห็บ ช่วยพื้นที่เกษตร

เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผย เมื่อวานนี้ (22 เม.ย. 2562) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.ลำพูน ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี ราชบุรี เพชรบุรี บริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.กาญจนบุรี นครราชสีมา มหาสารคาม พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำกระเสียว และช่วยบรรเทาปัญหา ฝุ่นละอองทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.ลำพูน รวมถึงช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงพายุลูกเห็บทำให้มีฝนตกในบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ชัยภูมิ ขอนแก่น และสกลนคร

ด้านพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ พื้นที่ภัยแล้งจำนวน 5 จังหวัด (13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี รวมถึงสถานการณ์น้ำจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาต(สทนช.) วันนี้ (23 เม.ย.2562) พบว่ามีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 14 แห่ง เช่น เขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 187 แห่ง เป็น 189 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงฯจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทุกวันและจะขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 23 เมษายน 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงที่ จ.สระบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 49% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความชื้นสัมพัทธ์เข้าเกณฑ์ปฏิบัติการฝนหลวง จะปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทันที

พื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 32% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.3 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรีและกาญจนบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำ ใช้การต่ำกว่า 30%

พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-ดี เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังมี่บริเวณ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากยังพบจุดความร้อนกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนืออยู่รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ด้านผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 58% (ร้องกวาง) 78% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 42% (ร้องกวาง) 53% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.2 (ร้องกวาง) -1.9 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จ.ตาก

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศหลายจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ จ.เลย อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 40% (บ้านผือ) 56% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 50% (บ้านผือ) 47% (พิมาย)และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.1 (บ้านผือ) 0.1 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสม จะปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทันที

และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 49% (พนม) 46% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 45% (พนม) 35% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.3 (พนม) -2.5 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สงขลา และ จ.สุราษฎ์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวันเพิ่มเติม หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของ จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี รวมถึงบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.ภูเก็ต

“อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

อุตฯจ่อเสนอครม. ใช้มาตรการจูงใจ ชาวไร่ลดเผาอ้อย

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการนำเสนอ ครม.เห็นชอบมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่เกิดจากการเผาเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ จะมีการเสนอให้ออกระเบียบให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปี 2562/63 ให้รับอ้อยไฟไหม้เขาหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน ส่วนปี 2563/64 กำหนดรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และปี 2564/65 ไม่มีการรับอ้อยไฟไหม้

สำหรับการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ จะมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คัน ในปี 2565 จากปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน โดยออกเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกรปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยที่เหลือประมาณ 3-4% รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมกันนี้จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถตัดอ้อยในไทย เป็นต้น

นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) กระทรวงจะช่วยเหลือลงไปสู่รายเล็ก หรือ ไมโคร เอสเอ็มอี มากขึ้นโดยจะโยกเงินจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐที่มีวงเงินเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท จะโยกมาให้ไมโคร เอสเอ็มอี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

กรมส่งเสริมการเกษตรจัด 3 โครงการ ลุยลดพื้นที่การเผาและลดปัญหาหมอกควัน

กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษด้านหมอกควัน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาคการเกษตร สั่งลุย 3 โครงการเร่งด่วนลดการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตร

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทย พบว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง มีผลทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศสูงเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งรัดดำเนินการเพื่อลดพื้นที่การเผาและลดปัญหาหมอกควัน ใน 3 โครงการ ทั้งลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า การหยุดเผาในพื้นที่เกษตร และสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการใน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) การดำเนินการเพื่อลดการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และสมาคมผู้ค้าพืชไร่ ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ฤดูการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559/60 รณรงค์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรไม่ให้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า เนื่องจากเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงมาตรการของประเทศต่าง ๆ มีนโยบายไม่รับซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เลี้ยงจากอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบจากการปลูกในพื้นที่ป่า รวมทั้งได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และผู้ประกอบการของสมาคมในการไม่นำเมล็ดพันธุ์ไปวางขายในพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ป่า มีการสร้างระบบฐานข้อมูลเว็บ Corn Service เพื่อให้บริการแก่พ่อค้าและผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สามารถเข้าใช้ข้อมูลออนไลน์ในการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ปลูกในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ โดยมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุกปีซึ่งจากการดำเนินการมาเป็น เวลา 2 ปี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่ามีแนวโน้มลดลง

2. โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ 26 จังหวัด โดยในปี 2557 – 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่ประสบปัญหารุนแรงใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ สำหรับในปี 2562 ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการเผาสูง จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และจังหวัดอุดรธานี ผลการดำเนินการ (ภาพรวมของโครงการ ตั้งแต่ปี 2557 – 2562) เกิดการสร้างวิทยากรเกษตรปลอดการเผาเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรในชุมชน จำนวน 7,710 ราย ถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร เป็นเกษตรกรปลอดการเผา 64,250 ราย ในพื้นที่รวม 1,374 ตำบล มีพื้นที่เกษตรปลอดการเผา รวม 1,374,000 ไร่ และจำนวนจุดความร้อนสะสมรวม ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 ลดลง

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ในปี 2562 มีดังนี้ 1) กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตรที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการฯ ต้องควบคุมไม่ให้เกิดจุดความร้อนอย่างเด็ดขาด 2) กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสร้างโมเดลการพยากรณ์สภาพอากาศ ล่วงหน้าทุก 7 วัน ในรูปแบบแผนที่อินโฟกราฟิก เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง โดยออกประกาศแจ้งเตือน จำนวน 5 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมีนาคม – เมษายน 2562

3) ให้สำนักงานเกษตรทุกจังหวัด ดำเนินการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาซากพืช และเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่เกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : COO) เน้นมาตรการ “4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ” รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุ โดยใช้ ศพก. 16 แห่งในพื้นที่ 10 จังหวัด 150 ตำบลเป็นเครือข่ายดำเนินการ โดยได้ถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา จำนวน 15,720 ราย (ข้อมูลตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. 62)

4) เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรในช่วงวิกฤตหมอกควันภาคเหนือ ระหว่างเดือน มกราคม – ปัจจุบัน 5) รณรงค์ให้เกษตรกรทำกิจกรรมการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยจัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาตามบริบทของชุมชน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง 6) รณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ จัดงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ (Field Day) จำนวน 29 ครั้ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

3. โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พุทธศักราช 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มาดำเนินการถ่ายทอดความรู้แก่ เกษตรกร จำนวนไม่น้อยกว่า 26,460 ราย โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน

สำหรับทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้การเกษตรให้เกิดมูลค่า ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น

ทางเลือกที่ 2 นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทางเลือกที่ 3 นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค

ทางเลือกที่ 4 นำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน

ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ ทางเลือกที่ 6 นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย”

ทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

และทางเลือกที่ 8 จำหน่ายวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้กากปาล์ม กากมัน ซัง ข้าวโพด เศษไม้ ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล (Biomass) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 – พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรมั่นใจว่าจากการดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการเผาและลดปัญหาหมอกควันในพื้นที่การเกษตรได้อย่างแน่นอน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

เปิดฉากประชุม รมต.เศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ

กระทรวงพาณิชย์จัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือเออีเอ็ม (AEM Retreat) ระหว่างวันที่ 22 – 23 เม.ย. นี้ที่โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ต ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของอาเซียนครั้งแรกของปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนร่วมกับสมาชิกอาเซียนเพื่อเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ“ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ 1.การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย

2.ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การผลักดันเงินสกุลท้องถิ่น การจัดทำแผนการท่องเที่ยว 3.การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนใ(เออีเอ็ม)ห้การรับรอง ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเห็นชอบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซพ(RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ และ 6 คู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในบางเรื่องที่ยังติดขัด ซึ่งอาร์เซพ ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งใน 13 ประเด็นที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องการให้เสร็จภายในปีนี้ โดยจะมีการพูดคุยการหารือในที่ประชุมเพื่อขจัดอุปสรรคที่เป็นปัญหา เพื่อให้สมาชิกอาเซียนสามารถมีข้อสรุปร่วมกันเพื่อไปพูดคุยกับประเทศคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประเทศไทยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับอินโดนีเซียในฐานะประเทศผู้ประสานงาน เพื่อจัดตั้งการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีการค้าในปีเพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงตามแผน

 “หากอาร์เซ็ปจบได้ก็ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นทั้งด้านการค้า การลงทุน ทั้งนี้อาร์เซ็ปจะเป็นตัวช่วยสำคัญในด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและผลจากสงครามการค้า” นางอรมน กล่าว

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า จนถึงขณะนี้อาร์เซปสามารถบรรลุข้อตกลงได้ใน 7 บทจาก 20 บท ส่วนที่เหลือ 13 บท เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน และบทกฎหมาย เป็นต้น จะดำเนินการหาข้อยุติจะเสร็จทันภายในปีนี้ก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ผู้นำอาเซียนจะเห็นชอบ จากนั้นแต่ละประเทศก็กลับไปทำรายละเอียดแเละจะสามารถลงนามได้ในปีหน้า

ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ พบว่า เมื่ออาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ ผลิตภัณฑ์มวลหรือจีดีพีของไทย จะเติบโตอีก 13.5% ในขณะที่การส่งออกจะเพิ่มขึ้นอีก 14.5% และการนำเข้าจะขยายตัวอีก 13.3%

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯ ลุยเปิดตัว "เกษตรอัจฉริยะ" นำร่องใน 6 พืชสำคัญ

              เกษตรฯ ลุยเปิดตัว "เกษตรอัจฉริยะ" มุ่งวางรากฐานองค์ความรู้ให้เกษตรกรไทย จับมือหน่วยงาน  ทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเกษตรนำร่องใน 6 พืชสำคัญ

              นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยในภาคการเกษตรมีแนวทางที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในด้านการผลิตในภาคเกษตร คือ "เกษตรอัจฉริยะ" ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางในการสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จะมาช่วยพัฒนาและสนับสนุนให้ลูกหลานเกษตรกรที่ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ เข้ามาช่วยเชื่อมต่อระหว่างองค์ความรู้สมัยใหม่กับเกษตรกร พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยในเรื่องการเพาะปลูกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะในอนาคต เน้นการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ

             ทั้งนี้ จากการดำเนินงานขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตพืช ได้มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย  มันสำปะหลัง และสับปะรด ในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละไม่น้อยกว่า 1๐ ไร่ (รวม 2๐ ไร่/พืช) รวมถึงการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้

            ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจังโดยมีการประชุมเตรียมความพร้อมหารือความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำ MOU ความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA และ Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งนำผลงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วยสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะในประเทศไทย ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้เดินทางประสานความร่วมมือ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยยินดีสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT และ Sensors ทางการเกษตร เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกร โรงเรือนมะเขือเทศ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

         ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ จึงกำหนดจัดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ในวันที่ 24 เมษายน 2562 โดยมี         นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ตลอดแลกเปลี่ยนประสบการในการทำการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ "การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย" "เซนเซอร์ทางการเกษตร" เป็นต้น สำหรับภาคบ่ายมีการเสวนาเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย ระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย        

        นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 25 - 26 เมษายน 2562 โดยมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนา Bug Data รวมถึงการระดมความคิดจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนายกร่าง Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ตลอดจนยังมีนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะโดยหน่วยงาน บริษัทเอกชน และผู้ประกอบการ Start up ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system เป็นต้น 

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 22 เมษายน 2562

ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่เลิกอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนไม่เกิน 7 ปี

ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่จ่อบังคับใช้ วงเงินจัดเก็บแค่ 4 หมื่นล้านบาทดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและแอลพีจี เข้มใช้เงินอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนไม่เกิน 7 ปี ด้านผู้ผลิตเอทานอลงง รอขอความชัดเจนรบ.ใหม่

นายชวลิต พิชาลัย ประธานกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ…. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และรอลงในราชกิจจานุเบกษา ว่า เมื่อลงราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศประมาณ 120 วัน สาระสำคัญของเนื้อหากำหนดให้มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินบริหารจัดการไม่เกิน 40,000 ล้านบาทและเงินดังกล่าวจะนำไปรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)เป็นหลัก ส่วนการอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนกำหนดเป็นบทเฉพาะกาลชั่วคราว ให้เวลาอุดหนุนได้อีกเพียง 3 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้งครั้งละ2 ปี จากนั้นจะยกเลิกทั้งหมด

“สาเหตุที่ต้องมีร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯเพราะที่ผ่านมาใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีในการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาสะสม เวลานี้จึงควรพ.ร.บ.มารองรับให้ถูกต้อง ส่วนแหล่งที่มาของเงิน อาทิ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น, เงินเพิ่มที่ส่งเข้ากองทุนจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ได้รับสัมปทานก๊าซปิโตรเลียม , เงินกู้ ที่มีวงเงินไม่เกิน 2หมื่นล้านบาท, เงินบริจาค”นายชวลิตกล่าว

นายชวลิตกล่าวว่า โครงสร้างการบริหารจะยุบสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) และให้โอนลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ไปเป็นเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีคณะกรรมการบริหารตามพ.ร.บ.ใหม่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านรวมคณะกรรมการทั้งหมดจะมีประมาณ 14-15คน และบอร์ดชุดนี้จะทำหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ส่วนการสรรหาผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันฯ ยังมีความล่าช้าเนื่องจากเมื่อประกาศให้ยื่นเข้าสมัครแข่งขันมีผู้เสนอตัวมาเพียง 1 คน และเมื่อขยายระยะเวลาเปิดรับสมัครก็ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ จึงรายงานไปยังคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน(กพม.)เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมแทนโดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้ตัดสินใจและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อเห็บชอบต่อไป ซึ่งระหว่างนี้นางพูนทรัพย์ สกุณี จึงยังคงทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันฯต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯที่กระทรวงพลังงานจัดทำได้อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซล และเอทานอล เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่จะนำไปผสมกับน้ำมันพื้นฐานทั้งดีเซล และเบนซิน แต่สนช.เห็นว่าที่ผ่านมาการอุดหนุนไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงจึงมีระยะเวลาให้ปรับตัวในช่วง 3 ปีแรก และหากจำเป็นก็ต่อมาตรการได้อีก 2 ครั้งครั้งละ 2 ปีเท่านั้น โดยเห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องไปปรับตัวในเรื่องของต้นทุนให้ต่ำลงและมองว่าแนวโน้มต่อไปรถยนต์ส่วนหนึ่งจะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ทางสมาคมฯเตรียมหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อสอบถามแนวนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการอุดหนุนราคาเอทานอลภายใต้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่ว่าเป็นอย่างไรแน่ เพราะขณะนี้ภาคเอกชนเองมีความเป็นกังวลมากกับประเด็นที่กองทุนน้ำมันจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งภาคเอกชนเข้าใจ แต่เชื้อเพลิงหลักๆของไทยมี 2 ชนิดคือ เอทานอลที่ผสมเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ และปาล์มน้ำมันบริสุทธิ์ 100% หรือบี 100 ที่ผสมดีเซล และปัจจุบันกองทุนฯเก็บเงินจากคนที่ใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอล หรือ บี 100 ต่ำๆ มาอุดหนุนราคาน้ำมันที่ผสมเอทานอลและบี100 สูงๆอยู่แล้ว เพราะเอทานอลเป็นน้ำมันสะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหลักการนี้คล้ายกับภาษีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว

“กรณีที่มองว่าไม่ถึงมือเกษตรกรก็ต้องดูอย่างรอบด้าน เพราะปัจจุบันเอทานอลจากโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอล จะใช้คำนวณราคาอ้อยอยู่แล้ว ส่วนบี 100 ก็มีส่วนต่อการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบให้สมดุล จึงแปลกใจว่าเหตุใดร่างพ.ร.บ.น้ำมันฯจึงออกมาเช่นนี้”นายเจษฎากล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 22 เมษายน 2562

ผู้ผลิตเอทานอลจ่อถกรบ.ใหม่

นายเจษฏา ว่องวัฒนะสิน  อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ทางสมาคมเตรียมหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อสอบถามแนวนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการอุดหนุนราคาเอทานอลภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่ว่าเป็นอย่างไรแน่ ขณะนี้ภาคเอกชนเองมีความเป็นกังวลมากกับประเด็นที่กองทุนน้ำมันจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งภาคเอกชนเข้าใจ แต่เชื้อเพลิงหลักๆ ของไทยมี 2 ชนิดคือ เอทานอลที่ผสมเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ และปาล์มน้ำมันบริสุทธิ์ 100% หรือบี 100 ที่ผสมดีเซล และปัจจุบันกองทุนฯเก็บเงินจากคนที่ใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอล หรือบี 100 ต่ำๆ มาอุดหนุนราคาน้ำมันที่ผสมเอทานอลและบี100 สูงๆ อยู่แล้ว เพราะเอทานอลเป็นน้ำมันสะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหลักการนี้คล้ายกับภาษีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว

“กรณีมองงว่าไม่ถึงมือเกษตรกรต้องดูอย่างรอบด้าน เพราะปัจจุบันเอทานอลจากโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอล จะใช้คำนวณราคาอ้อยอยู่แล้ว ส่วนบี100 ก็มีส่วนต่อการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบให้สมดุล จึงแปลกใจว่าเหตุใดร่าง พ.ร.บ.น้ำมันฯ จึงออกมาเช่นนี้” นายเจษฎากล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 22 เมษายน 2562

‘กรอ.’จี้โรงงานประหยัดน้ำ ชูนโยบาย‘3อาร์’ฝ่าวิกฤติภัยแล้ง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงาน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

โดยการนำนโยบาย 3 อาร์ (รีดิวซ์-Reduce, รียูส-Reuse, รีไซเคิล-Recycle) มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ ลดปริมาณการใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น การหมุนเวียนใช้น้ำซ้ำ การบำบัดเพื่อนำน้ำมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

“ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าแล้ง ปริมาณน้ำมีน้อย อยากให้ผู้ประกอบการช่วยกันดูแลการประกอบกิจการไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนประชาชนหากพบเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับโรงงานที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อ

สิ่งแวดล้อม สามารถร้องเรียนได้ที่กรม หรือที่สายด่วน 1564 โดยกรมยินดีที่จะออกไปตรวจสอบและดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย” นายทองชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรมยังมีการเผยแพร่คู่มือเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านเว็บไซต์ของกรม พบว่ามีโรงงานจำนวนมากให้ความร่วมมือ นำข้อมูลจากคู่มือไปปฏิบัติ ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในโรงงาน

โดยเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ พบว่าโรงงาน 92 ราย มีปัญหาเรื่องน้ำเสียที่เกิดจากการประกอบกิจการ กรมได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 91 ราย เหลืออีก 1 ราย ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ส่วนในปี 2562 พบว่ามีปัญหาเรื่องน้ำเสีย 21 ราย และปัจจุบันกรมได้สั่งดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว 17 ราย เหลืออีก 4 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน 2562

เร่งปั้นวิทยากรแจงแผนจำกัดใช้3สารเคมี เริ่มเดินสายอบรมเกษตรกรทั่วปท.24เมย.

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมอบให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน

หลังประกาศฯทั้ง 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องผ่านการอบรม และหรือทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรม 240 คน แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายน ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกร กำหนดจัดอบรมเพื่อสร้างวิทยากรดังกล่าวระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งวิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดต้องไปอบรมให้ความรู้เกษตรกร 1.5 ล้านคน ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา อ้อย และไม้ผล กำหนดจัดอบรมเกษตรกรระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 สำหรับผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ ยังอบรมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 79,988 คน เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ เดือนมิถุนายน 2562

สำหรับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอสให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งกำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรเตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรฯเพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืช ตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร

“มาตรการขั้นต่อไป กระทรวงเกษตรฯจะเร่งสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง สร้างระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่วนผู้รับจ้างพ่นก็ต้องผ่านการอบรมเช่นเดียวกัน โดยต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่น” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน 2562

“พาณิชย์”รับมือBrexiดูกรอบการค้าWTO

กระทรวงพาณิชย์ รับมือ Brexit เร่งหารือ สหราชอาณาจักร- สหภาพยุโรป แก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบ WTO

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามความคืบหน้าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ซึ่งล่าสุดผู้นำสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาให้สหราชอาณาจักร ออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อให้มีเวลาในการเจรจาจัดทำความตกลงรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป ใหม่ หรือ ที่เรียกว่า ความตกลงการถอนตัว โดยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ส่งผลระยะสั้นต่อภาคการเงิน และค่าเงินปอนด์ รวมถึงชะลอการตัดสินใจลงทุนเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และหากเกิดกรณี Brexit แบบไม่มีข้อตกลง คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และ สหภาพยุโรป

ทั้งนี้ สำหรับการคาดการณ์ผลกระทบของ Brexit มีผลกระทบระยะสั้นที่เกิดจากค่าเงินปอนด์ อาจทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และความต้องการซื้อสินค้าไทยที่ลดลง สำหรับในระยะยาว คาดว่าไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แม้สหราชอาณาจักร จะเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สัดส่วนการค้ามีไม่มากนัก

และเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างเจรจากับทั้ง สหภาพยุโรปและสหรัฐอาณาจักร ในเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบองค์การการค้าโลก หรือ WTO สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง  ที่ไทยเคยได้รับโควตาจาก สหภาพยุโรป และจะต้องมีการจัดสรรแบ่งโควตาใหม่ภายหลัง Brexit โดยมีเป้าหมายในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวมที่ไม่น้อยกว่าเดิม

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 22 เมษายน 2562

แล้งหนักมาก! 145เขื่อนน้ำน้อย กรมชลฯเร่งประสานฝนหลวงขึ้นบิน

ภัยแล้ง ฝนหลวง กรมชลประทาน เอลนีโญ สุรสีห์ กิตติมณฑล น้ำน้อย แห้งแล้ง

แล้งหนักมาก! เขื่อน145แห่งน้ำน้อยต่ำกว่า30% กรมชลฯเร่งประสาน"ฝนหลวง"ขึ้นบินเติมน้ำทำฝนตกหลายพื้นที่ ชี้ภาวะ"เอลนีโญ"ส่งผลแห้งแล้งระยะยาว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ล่าสุด กรมชลประทานได้ประสานขอความร่วมมือจากกรมฝนหลวงฯ เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ ซึ่งขณะนี้มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จำนวน 145 แห่ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อีกทั้งในปีนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มเกิดเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญในลักษณะที่อาจส่งผลกระทบระยะยาว

ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 6 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี หัวหิน และสุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี นครศรีธรรมราช และลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง รวมถึงสามารถบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองทำให้มีฝนตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำวันที่ 21 เม.ย.62 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น.พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงบางสถานีที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 55% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 55% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -6.5 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง

ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 36% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 38% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี และหน่วยฯ จ.ลพบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งต่อไป

พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากพบจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 73% (ร้องกวาง) 55% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 46% (ร้องกวาง) 30% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.6 (ร้องกวาง)

-0.4 (อมก๋อย) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (เสริมการก่อตัว) บริเวณพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่, ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (เสริมการก่อตัว) บริเวณพื้นที่ อ.แม่สรวย - อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย, ภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ภารกิจที่ 4 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย - อ.แม่จัน จ.เชียงราย และภารกิจที่ 5 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ - อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน และพื้นที่การเกษตร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ได้วางแผนปฏิบัติการโดยร่วมมือกับหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการต่อเนื่องในขั้นตอนของการโจมตี บริเวณ อ.เมือง จ.ตาก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.ตาก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศ จ.ขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 73% (บ้านผือ) 55% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 45% (บ้านผือ) 37% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.8 (บ้านผือ) -2.9 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา และหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที โดยเฉพาะภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30%

และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 30% (พนม) 60% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 28% (พนม) 50% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.7 (พนม) -2.4 (ปะทิว) หน่วยฯ จ.สงขลา หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี และหน่วยฯ หัวหิน ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2562

กษ.เร่งโชว์ผลงานปี'62 มอบ2รมช.เกษตรฯลุยตรวจแผนงาน

กษ.เร่งโชว์ผลงานปี'62 มอบ2รมช.เกษตรฯลุยตรวจแผนงานต้องคุ้มค่างบ-เกษตรกรเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งบริหารน้ำแก้ภัยแล้ง ปฏิรูปนมโรงเรียน จำกัดใช้3สารพิษ วิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ จัดที่ส.ป.ก.แจกผู้ยากไร้ จ่ายเยียวยาชาวประมง ขู่ฟันทันทีพบขรก.ทำงานบกพร่อง-ทุจริต

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้ รมช.เกษตรฯ และผู้บริหารทุกหน่วยงาน เร่งรัดการปฎิบัติงานและตรวจติดตามนโยบายในปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรให้มีความเจริญก้าวหน้า และเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเกิดผลรูปธรรม พร้อมกับเร่งแผนปฏิบัติงานในช่วงไตรมาสที่ 3 - 4 ของปีนี้

โดยมอบหมายให้ รมช.กษ.ทั้ง 2 ท่าน มีอำนาจตรวจติดตามงานของ กษ.ได้ทุกหน่วยงานที่มีแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ แล้วนำไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยไม่จำกัดการตรวจติดตามเฉพาะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับตามคำสั่งของ กษ.แต่อย่างไร และผู้ตรวจราชการทุกเขตเพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจติดตามงานในพื้นที่ให้มากกว่าระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเตือนและเร่งรัดให้ข้าราชการและบุคลากรของ กษ.ในพื้นที่ได้เร่งปฎิบัติงานต่างๆ ให้เป็นผลสำเร็จทั้งคุณภาพ ปริมาณงาน และความคุ้มค่าของงบประมาณ ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติ

ทั้งนี้ ให้ปลัดกระทรวงฯ , รองปลัดฯ และหัวหน้าผู้ตรวจราชการ ได้ไปประชุมหารือร่วมกับเลขานุการ รมต.กษ.เพื่อกำหนดรูปแบบการตรวจติดตามการปฎิบัติราชการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน เช่น การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น หน่วยงานของ กษ.สามารถดำเนินการได้เป็นผลสำเร็จหรือไม่ มาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ในการเกษตรกรรม ตามประกาศ กษ.รวม 5 ฉบับนั้น หน่วยงานผู้ปฎิบัติสามารถดำเนินการได้ผลเป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ การบริหารจัดการระบบเกษตรแปลงใหญ่หรือวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ที่ให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรในการผลิตและประสานงานกับภาครัฐและเอกชนให้มารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ให้ต่อเนื่องนั้น สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่อย่างไร

รวมทั้งการบริหารจัดการนมโรงเรียนตามระบบใหม่ที่มอบอำนาจให้จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค เป็นหน่วยดำเนินการนั้น สามารถแก้ไขปัญหารการส่งนมไปยังโรงเรียนไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่มีคุณภาพได้หรือไม่ รวมทั้งระบบใหม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการจำหน่ายนมโรงเรียนหรือไม่อย่างไร การบริหารจัดการที่ดินตามโครงการจัดที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และหรือโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่าเกษตรกรในโครงการที่ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้หรือไม่ ในโครงการมีการจัดระบบสาธารณูปโภคพร้อมหรือไม่ รวมทั้งเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรกรรมตามโครงการได้หรือไม่อย่างไร และการจ่ายค่าเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรภาครัฐปี 2558 มีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาจ่ายค่าเยียวยาที่กำหนดไว้หรือไม่

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า หากพบว่าในการปฏิบัติงานมีความบกพร่อง เนื่องจากไม่ตั้งใจในการปฎิบัติงานหรือมีเจตนาทุจริตในการปฎิบัติงานนั้น ขอมอบอำนาจให้ให้ รมช.เกษตรฯ ทั้ง 2 ท่าน มีอำนาจสั่งการแทน รมว.เกษตรฯ ในการดำเนินการตามมาตรการทางปกครองและหรือทางวินัยแก่ข้าราชการและบุคลากรในสังกัด กษ.ได้ทันที แล้วรายงานให้ รมว.เกษตรฯ ทราบต่อไป

สำหรับ ผต.กษ.ให้รีบรายงาน ปล.กษ.เพื่อสั่งการอธิบดี/หัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่า ดำเนินการได้ด้วย และในกรณีเป็นรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัด กษ.ให้แจ้งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยและประธานคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนนั้นทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายต่อไปด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน 2562

กรอ.ตรวจเข้มโรงงานปล่อยน้ำเสีย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงาน พบ ปี 62 ล่าสุด มีปัญหาน้ำเสีย 21 ราย ปรับปรุงแล้ว 17 ราย ขู่ เกินเกณฑ์มาตรฐาน สั่งปิดกิจการ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2561 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบโรงงาน พบว่า โรงงาน 92 ราย มีปัญหาเรื่องน้ำเสียที่เกิดจากการประกอบกิจการ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 91 ราย เหลืออีก 1 ราย ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ส่วนในปี 2562 พบว่า มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย 21 ราย และปัจจุบัน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแก้ปัญหาแล้ว 17 ราย เหลืออีก 4 รายอยู่ระหว่างการตรวจสอบและติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแผนในการเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด และให้ความรู้กับโรงงานโดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันทางกรมฯ ได้จัดทีมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานเกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก็จะสั่งการให้โรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หากกรณีที่เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงจะให้โรงงานหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เมื่อครบกำหนดแล้วพบว่าโรงงานยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข จะสั่งให้หยุดประกอบกิจการอย่างถาวรพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ขอฝากถึงประชาชนด้วยว่า หากพบเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับโรงงานที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถร้องเรียนได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 เมษายน 2562

เปิดตัวโครงการ “Zero Burn ชูการทำเกษตรปลอดการเผา” ลดฝุ่นพิษ ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดตัวโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรปลอดภัยไร้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และสร้างรายได้เพิ่มจากการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางอากาศที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาคือการเผาในที่โล่ง บริษัทฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในภาคของการเกษตร จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ตั้งเป้าทำพื้นที่ภาคการเกษตรของไทยที่มีกว่า 140 ล้านไร่ ให้ปลอดการเผา 100% ภายในระยะเวลา 3 ปี

โครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” เป็นโครงการที่จะรณรงค์ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำเกษตรที่ไม่เผาทำลายวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย และใบข้าวโพด เพื่อให้ภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยลดฝุ่นควัน PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน โดยสยามคูโบต้าพร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร จะลงพื้นที่ในการให้ความรู้ และสนับสนุนการทำเกษตรปลอดการเผาด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรกับเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลัก อันได้แก่ ข้าว อ้อย และข้าวโพด ในพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ พร้อมทั้งการให้ความรู้ในการเพิ่มรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร และส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของอินทรีย์วัตถุในดินและการรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสยามคูโบต้าได้คิดค้นพัฒนาและทำวิจัยในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชเศรษฐกิจของไทย มาตั้งแต่ปี 2560 โดยนำองค์ความรู้ส่วนหนึ่งในช่วงของการเก็บเกี่ยวและบำรุงพืช มาเป็นองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในโครงการ “Zero Burn เกษตรปลอดการเผา” ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 ปี ซึ่งจะจัดกิจกรรมลงพื้นที่การเกษตรจริงเพื่อเปิดโครงการอย่างเป็นทางการภายในเดือนเมษายนนี้

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562

รายงานพิเศษ : เอกชนจับมือชาวไร่ตัดอ้อยสดลดเผาสู้ฝุ่นพิษ เพิ่มทางเลือกใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร

จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่ปกคลุมบางจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ พบว่ามีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง 54% อุตสาหกรรม 17% การขนส่ง 13% การผลิตไฟฟ้า 8% และที่พักอาศัย 7% มีผลทำให้ผู้ที่มีโรคระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ และระยะยาวยังส่งผลต่อการทำงานของปอด จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองรวมถึงมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหานี้อยู่ในความสนใจจากประชาชน รัฐบาลและฝ่ายเอกชน

คุณศราวุธ ภูนาสี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐานหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับบทบาทภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลขอความร่วมมือทุกโรงงานกำหนดมาตรการแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2561/62 เพื่อให้เกิดการร่วมกันแก้ปัญหาแบบบูรณาการสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม จึงร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำโครงการรณรงค์ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร” เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน กระตุ้นให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด มีทางเลือกเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร

คุณธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายให้ความสำคัญลดมลพิษทางอากาศมาต่อเนื่อง โดยปีการผลิต 2561/62 กลุ่มวังขนายประกาศนโยบายเป็นปีรณรงค์ ตัดอ้อยสด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน เริ่มตั้งแต่ 1.ลงพื้นที่ประชุมสัญจรชี้แจงชาวไร่อ้อยเข้าใจ รับทราบปัญหา ผลกระทบจากการตัดอัอยไฟไหม้ อ้อยมีสิ่งปนเปื้อน ที่มีผลต่อโรงงานและตัวชาวไร่ที่ต้องถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท อ้อยยอดยาวและอ้อยปนเปื้อนตันละ 20 บาท 2.ติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงงานและทุกสถานีขนถ่ายชี้แจงบทลงโทษและผลกระทบที่เกิดขึ้นของมลพิษทางอากาศ 3.ตั้งคณะทำงานตรวจสอบคุณภาพอ้อยหน้าโรงงานและสถานีขนถ่ายทุกแห่งในเขตส่งเสริม หากพบอ้อยปนเปื้อนจะมีมาตรการตัดราคาจนถึงขั้นปฏิเสธรับซื้อ 4.จัดทำโปรโมชั่นพิเศษให้ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานโดยสะสมบิลรับอ้อยสดนำมาแลกของสมนาคุณ ซึ่งจากผลดำเนินงานปีการผลิต 2561/62 มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 15% และวางเป้าหมายปี 2562/63 ให้มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง 30%

สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 กลุ่มวังขนายร่วมมือกับภาครัฐและบริษัท สยามคูโบต้า จำกัด จัดทำโครงการตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร สร้างความเข้าใจในมาตรการแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบบูรณาการ วางแนวทางส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้เกษตรกรมีทางเลือกเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนให้เกษตรกรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมลดปัญหามลพิษยั่งยืน

คุณสมบูรณ์ จินตนาผล ที่ปรึกษา-สำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่งบนพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และลดเวลาตัดอ้อยส่งโรงงานให้ทันกำหนด เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สยามคูโบต้าจึงร่วมสนับสนุนการทำเกษตรแบบไม่เผา ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรในไร่อ้อย พร้อมทำเกษตรแบบไม่เผาด้วยวิธี KAS เกษตรครบวงจรเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า เพื่อเสนอเป็นทางเลือกบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมืออาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ทำเกษตรไม่เผา ช่วยลดมลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่องค์กรเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง อีกทั้ง สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอินทรีย์วัตถุในดินและรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

สำหรับชุดเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า สำหรับการทำเกษตรแบบไม่เผาในไร่อ้อยแบบครบวงจร ในขั้นตอนสำคัญๆ โดยเฉพาะขั้นตอนเก็บเกี่ยว ได้แก่ จัดการใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องสางใบอ้อย รุ่น SLR110H ทำหน้าที่สางใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว โดยตีใบอ้อยให้ละเอียดด้วยชุดโรลเลอร์ 4 ชุด ที่มีรอบหมุนเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้ได้ลำอ้อยที่สะอาด เกษตรกรเข้าไปตัดอ้อยสดได้ง่ายขึ้น การตัดอ้อยสด ด้วยเครื่องตัดอ้อย รุ่น SCR100 ทำหน้าที่เก็บเกี่ยวอ้อยสด ประกอบด้วย ระบบชุดสางใบอ้อย ถูกออกแบบให้ชุดโรลเลอร์ ตัดยอดอ้อยสดได้ตั้งแต่ 1.5-4 เมตร ปรับระยะความสูงและองศาการตัดของใบมีดให้เหมาะสมกับแปลงอ้อยและโคนต้นอ้อยได้สม่ำเสมอ การจัดการใบอ้อย ด้วยเครื่องอัดฟาง รุ่น HB135 จะทำหน้าที่อัดใบอ้อยหลังเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการเผาใบอ้อยก่อนเตรียมดิน เป็นตัวช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น เช่น จัดการใบอ้อย ด้วยผานสับคลุก สำหรับไถสับคลุกใบอ้อยเพื่อเตรียมดินก่อนเพาะปลูกครั้งต่อไป การเตรียมดิน ด้วยเครื่องพ่นสารอเนกประสงค์ สำหรับฉีดพ่นสารอินทรีย์ช่วยย่อยสลายใบอ้อยและบำรุงรักษาด้วยเครื่องฝังปุ๋ยแบบมีชุดใบตัดที่ด้านหน้า เพื่อตัดใบอ้อยที่อยู่บนดิน ทำให้ชุดฝังปุ๋ยทำงานได้ถึงแม้จะมีใบอ้อย ผู้สนใจทำเกษตรแบบไม่เผา ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรในไร่อ้อย ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์สยามคูโบต้า โทร. 0-2909-1234

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562

เพิ่มค่าใบอ้อย ลดเผาหยุดฝุ่นควัน

การเผาอ้อยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยก่อปัญหาฝุ่นควัน...แม้จะมีผลเสียมากมาย แต่เกษตรกรยังคงนิยมทำกัน เพราะสะดวกในการตัดอ้อย ประหยัดค่าแรงงานตัด หีบอ้อยได้ทันตามฤดูกาลผลิต

ครั้นจะส่งเสริมให้ใช้รถตัดอ้อย แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี เพราะมีแค่เกษตรกรรายใหญ่เท่านั้นที่เข้าถึงเครื่องจักรราคาหลายล้าน แถมอ้อยส่วนใหญ่ปลูกกันแบบเน้นปริมาณ ไม่มีการปรับพื้นที่ให้รถตัดอ้อยเข้าไปทำงานได้

จึงยังมีพื้นที่แค่ 40% ที่ไม่ต้องเผาอ้อย...อีก 60% เผาเหมือนเดิม

จึงเกิดการประสานความร่วมมือระหว่าง สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม โรงงานน้ำตาลวังขนาย และ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำโครงการรณรงค์ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร”

“นอกจากจะต้องเปลี่ยนความคิดเกษตรกร ต้องสร้างแรงจูงใจเพิ่มด้วย เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ชี้แจงให้ชาวไร่รับทราบถึงผลกระทบ โดยเฉพาะกับตัวเกษตรกรเอง เพราะหากพบอ้อยไฟไหม้จะถูกหักราคาตันละ 30 บาท เจออ้อยยอดยาวหรืออ้อยปนเปื้อนไฟไหม้หักเงินตันละ 20 บาท เพื่อเอาไปเพิ่มให้คนที่ตัดอ้อยสด และใครส่งอ้อยสดเข้าโรงงาน จะให้คูปองไว้สะสมแลกของสมนาคุณ”

ธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย บอกถึงแรงจูงใจในการลดเผาอ้อย...นอกจากนั้นยังให้คิวพิเศษกับรายที่ตัดอ้อยสด ติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงงานและทุกสถานีขนถ่าย ชี้แจงบทลงโทษและวางแนวทางส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยี ใหม่ ตลอดจนให้เกษตรกรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน

“ที่สำคัญเราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อยที่มีไร่ละ 1.5-2 ตัน เบื้องต้นนอกจากเกษตรกรจะปล่อยส่วนหนึ่งไว้คลุมดิน รักษาความชื้น ลดการงอกของวัชพืช ใช้บำรุงดิน และทำปุ๋ยหมักแล้ว เรายังเพิ่มทางเลือกในการนำมาหมักทำอาหารสัตว์ มีสหกรณ์โคนมในพื้นที่รับซื้อ กก.ละ 2.5 บาท หรือนำไปขายให้กับผู้ผลิตเอทานอลในราคาไร่ละ 700-1,000 บาท และหากใครพอมีทุนซื้อเครื่องอัดฟาง จะมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลรับซื้อ กก.ละ 1 บาท เฉลี่ยแล้วเกษตรกรจะมีรายได้เสริมจากใบอ้อยไร่ละ 1,000-2,000 บาท เป็นอย่างน้อย”

สำหรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร สยามคูโบต้า ได้แนะนำนวัตกรรม เครื่องสางใบอ้อย เพื่อให้แรงงานเข้าไปตัดอ้อยได้โดยไม่ต้องเผา สามารถเก็บใบไปขายได้ต่อ

และหากพอมีทุนสามารถซื้อเครื่องตัดอ้อยมาทุ่นแรง โดยอุปกรณ์เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแทรก-เตอร์ได้ทันที...การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย นอกจากช่วยลดมลพิษ ร่นระยะเวลาทำงานให้เร็วขึ้นอีก 3 เท่า ลดการใช้แรงงาน 10-20% ยังไม่รวมราคาที่ได้เพิ่มจากโรงงาน และรายได้เสริมจากการขายใบอ้อย

ณ วันนี้ จึงเหลือแค่เกษตรกรต้องเลือกเอง...จะเผาอ้อยหรือตัดสด เพิ่มรายได้.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562

ไทยรื้อโควตา”ดับเบิลยูทีโอ” ถกอังกฤษ-อียูปมเบร็กซิท ต้องได้โควตาไม่ต่ำกว่าก่อน “เบร็กซิท”

“พาณิชย์”เดินหน้าเจรจาอังกฤษ-อียู หวังโควตาลดภาษีสินค้า 31 รายการตามข้อผูกพันดับเบิลยูทีโอไม่กระทบ ห่วงเบร็กซิททำไทยสูญโอกาสย้ำท่าทีชัดเจนภาพรวมโควตาต้องได้ไม่ต่ำกว่าที่ไทยเคยได้ เร่งถกเอกชนเฟ้นข้อมูลการค้าที่ชัดเจน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับทั้งสหภาพยุโรป(อียู) และสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) เรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาในกรอบองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ เช่นมันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากอียู จะต้องมีการจัดสรรแบ่งโควตาใหม่ภายหลังการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิท

สำหรับท่าทีของไทยที่เจราจาทั้งกับอียูและอังกฤษมีความชัดเจนว่าไทยต้องได้โควตาไม่ต่ำกว่าเดิมที่เคยได้รับก่อนเบร็กซิทซึ่งไม่ว่าอียูหรืออังกฤษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องให้โควตาไทยมากกว่าแต่เมื่อมารวมกันแล้วไทยต้องได้ไม่ต่ำกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม การเจรจาต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุด แต่ขณะนี้พบปัญหาว่าไทยไม่มีตัวเลขการส่งออกไปอังกฤษที่ชัดเจนเนื่องจากการเป็นสหภาพยุโรปทำให้การนำเข้าของอังกฤษนำเข้าสินค้าไทยาจากยุโรปอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น จึงประสานกับเอกชนผู้ส่งออกรวมถึงผู้นำปลายทางเพื่อเฟ้นหาข้อมูลส่วนนี้มาให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์การเจรจาที่ขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 2-3 ครั้ง ที่สำนักงานดับเบิลยูทีโอ ที่เจนีวา คาดว่าจะให้เจรจาได้ข้อสรุปภายใน 31 ต.ค.นี้ ก่อนเส้นตายที่อียูให้กับอังกฤษว่าจะออกไปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบมีเงื่อนไข แบบซอฟเอ็กซิท หรือฮาร์ดเอ็กซิทก็ตาม

“ทั้งอียู และอังกฤษก็เข้าใจความต้องการของไทยและเข้าใจว่าขั้นตอนการเจรจาเป็นเรื่องปกติที่สมาชิกดับเบิลยูทีโอต้องเจอ แต่ระหว่างอียูกับอังกฤษจะเข้าใจกันหรือไม่อันนี้เราก็ไม่รู้ได้ แต่คิดว่าภาพรวมจะสามารถตกลงกันได้ไม่น่าจะต้องไปฟ้องหรือให้ดับเบิลยูทีโอมาทำอะไรเพราะเราก็เจรจาที่นั้นอยู่แล้ว ดับเบิลยูทีโอก็เหมือนกรรมการกำลังดูการเจรจาอยู่”

นางอรมน  กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ร่วมกันอังกฤษในอนาคต ภายหลังเบร็กซิทส่วนภาพรวมผลกระทบจากเบร็กซิทในทางตรงข้าม ไทยน่าจะได้รับผลเชิงบวกจากการที่กฎกระเบียบดด้านการค้าการลงทุนของอังกฤษภายหลังเบร็กซิทจะมีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่าของอียูเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

โดยอังกฤษเคยประกาศจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดภายหลังเบร็กซิทต่อสินค้าของไทย 4 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ตาข่ายใยแก้ว รถลากพาเล็ท และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียวและจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางการค้าใหม่ ตามนโยบาย Global Britain ทำให้ไทยน่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับอังกฤษเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เบร็กซิทได้ส่งผลระยะสั้นต่อภาคการเงิน และค่าเงินปอนด์ของอังกฤษรวมถึงชะลอการตัดสินใจลงทุนเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และหากเกิดกรณีเบร็กซิทแบบไม่มีข้อตกลง (no deal) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของอังกฤษและอียู

เนื่องจากอียูเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่1ของอังกฤษมีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 5.8 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% ของการค้าทั้งหมดของอังกฤษและอังกฤษจะเสียสิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ที่เคยมีกับอียูหากมีกำแพงภาษีระหว่างกันทำให้การออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลงน่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากท่าทีของอังกฤษตามมติของรัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา และอียูเองคงไม่อยากให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯเตรียมอบรมเกษตรกร จำกัดใช้สารเคมีอันตราย3ชนิดเริ่ม24เม.ย.นี้

เกษตรฯ เตรียมอบรมกลุ่มเป้าหมายตามจำกัดการใช้ 3 สาร เริ่ม 24 เม.ย.นี้ จับมือ 3 หน่วยงานสร้างวิทยากรเดินสายอบรมเกษตรกร และผู้รับจ้างพ่นทั่วประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน โดยภายหลังจากประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 240 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายน ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน นี้ เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกร โดยมีกำหนดจัดอบรมเพื่อสร้างวิทยากรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งวิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะต้องไปอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจำนวน 1.5 ล้านคน ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิดได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา อ้อย และไม้ผล โดยเนื้อหาที่อบรมประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้/อันตรายจากการใช้ ความเป็นพิษต่อร่างกาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม /การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยกำหนดจัดอบรมเกษตรกรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2562 สำหรับผู้รับจ้างพ่น จำนวน 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 79,988 คน โดยจะจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศในช่วงระว่างเดือนมิถุนายน 2562

สำหรับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งได้กำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืช ตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร

"มาตรการขั้นต่อไป กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมที่เข้มข้น และการสร้างระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่วนผู้รับจ้างพ่นก็จะต้องผ่านการอบรมเช่นเดียวกัน โดยต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่น" นายอนันต์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

รายงานพิเศษ : สศก.ชี้ภัยแล้งไม่รุนแรงเท่าปี’58 ตั้งเป้าจีดีพีเกษตรขยายตัว2.5-3.5%ต่อปี

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มส่งผลกระทบบางพื้นที่ หลายหน่วยงานวิเคราะห์ว่าภัยแล้งปีนี้จะค่อนข้างรุนแรงนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรวิเคราะห์แล้วพบว่าภัยแล้งปีนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2558

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเรื่องนี้ว่า การวิเคราะห์ของ สศก.พบสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548-2562 รุนแรงที่สุดในปี 2558 ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ทำให้จีดีพีเกษตรติดลบถึง 6.5% ขณะที่ปีนี้ภัยแล้งส่งผลให้จีดีพีเกษตรไตรมาสแรกขยายตัวอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำที่ 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 แสดงว่าผลผลิตการเกษตรบางส่วนโดยเฉพาะสาขาพืชได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามและแก้ปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เฝ้าระวังอาจขาดแคลนน้ำช่วงเพาะปลูกพืชอยู่ 2 จังหวัดได้แก่ ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ ซึ่งเกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง หอมแดง ประมาณการพื้นที่ติดตามตลอดระยะเวลาปลูกพืชถ้าฝนน้อยหรือขาดแคลนน้ำอาจเสียหายประมาณ 2.9 แสนไร่ ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทยเตรียมเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรพร้อมรับมือ ขณะเดียวกันพยายามจัดหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว

สศก.วิเคราะห์พื้นที่ใช้ประโยชน์เพาะปลูกและปริมาณน้ำฝนหรือน้ำต้นทุน สามารถนำมาประมวลผลเพื่อหาพื้นที่เฝ้าระวังที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้ทันที อย่างไรก็ดี จากข้อมูลน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตคาดการณ์ว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งรักษาสมดุลของระบบนิเวศ แต่ส่วนภาคเกษตรนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิด เนื่องด้วยอากาศแปรปรวน และอากาศร้อนจัด เกษตรกรต้องปรับตัวโดยเฉพาะหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น ข้าวนาปรัง ใช้น้ำมากประมาณ 1,200-1,400 ลบ.ม.ต่อไร่ ขณะที่พืชใช้น้ำน้อยอย่างพืชผัก หรือพืชที่กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมให้ปลูกทดแทนข้าวนาปรังอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือพืชตระกูลถั่ว ใช้น้ำประมาณ 500-700 ลบ.ม.ต่อไร่

ขณะเดียวกันเกษตรกรควรมีสระน้ำในไร่นา เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ และบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญต้องวางแผนผลิตพืชเพื่อลดความเสี่ยง นอกจากนี้ ปัญหาที่มาพร้อมฤดูแล้งคือ โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งและโรคระบาดที่มาพร้อมฤดูแล้ง หากประสบปัญหาให้แจ้งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป

นางสาวจริยากล่าวเพิ่มเติมว่า สศก.จะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เบื้องต้นยังไม่ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากภัยแล้ง เนื่องจากทุกฝ่ายพยายามช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่เสี่ยงอยู่ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตรและยังรักษาเป้าหมายการขยายตัวของจีดีพีเกษตรในอัตราบวกที่ 2.5-3.5% ต่อปี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

“ปลัดเกษตรฯเอาจริง! อัดยาแรงห้ามเกษตรกรพ่อค้า ซื้อขาย 3 สารเคมี พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์โพริฟอส หากไม่มีใบอนุญาต”

กรมวิชาการเกษตร เคลียร์แผนอบรมกลุ่มเป้าหมายใช้สารเคมี พาราควอท ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส อย่างถูกต้องและปลอดภัย ดีเดย์อบรมครูรุ่นแรก 24 เมษายนนี้ ผนึกกำลัง 3 หน่วยงานสร้างวิทยากรเดินสายอบรมเกษตรกร และผู้รับจ้างพ่นทั่วประเทศ พร้อมดึงมหาดไทยเข้ามีส่วนร่วมเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายกว่า 7 หมื่นคน

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดและคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 5 ฉบับซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจากนุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน

ภายหลังจากประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่น ผู้ขาย ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 240 คน โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายน นี้ ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกร โดยมีกำหนดจัดอบรมเพื่อสร้างวิทยากรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562

ทั้งนี้ วิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะต้องไปอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจำนวน 1.5 ล้านคน ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา อ้อย และไม้ผล โดยเนื้อหาที่อบรมประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้ / อันตรายจากการใช้ ความเป็นพิษต่อร่างกาย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม / การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยกำหนดจัดอบรมเกษตรกรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2562 สำหรับผู้รับจ้างพ่น จำนวน 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 79,988 คน โดยจะจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด และบทบาทหน้าที่ ความสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ในช่วงระว่างเดือนมิถุนายน 2562

อย่างไรก็ดี หากดูตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด นั้นได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล เท่านั้น มีเพียงคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งได้กำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืช ตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร

ทั้งนี้ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่วนผู้รับจ้างพ่นก็จะต้องผ่านการอบรมเช่นเดียวกัน โดยต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่นเท่านั้น

“ยอมรับว่าค่อนข้างเครียด กังวลในมาตรการสร้างการรับรู้ คือ การจำกัดการใช้ เพราะจะทำได้เลยก็หวั่นว่าจะกระทบเกษตรกรในทันที แต่เราอยากจะขับเคลื่อนแนวทางนี้มานานแล้วด้วยซ้ำไป ดังนั้นต่อจากนี้ตัวผู้ใช้คือเกษตรกรต้องผ่านการอบรม ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้คณะกรรมการเห็นชอบให้ กำกับ การใช้ทั้งระบบ ทุกคนต้องมีใบอนุญาต ผ่านการกลั่นกรอง ต่อไปเกษตรกรจะเดินเข้าร้านวัสดุการเกษตรแล้วซื้อได้เลยไม่ได้อีกต่อไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ในส่วนการนำเข้านั้น ภายหลังจากมีมาตรการห้ามใช้ดังกล่าวก่อนหน้านี้ มีกระเเสผู้ประกอบการได้มีการขอนำเข้ามากขึ้นเพื่อกักตุนสินค้าช่วงปีที่ผ่านมา แต่มาตรการการข้างต้นจะส่งผลให้การนำเข้าลดลง และคาดการณ์ตั้งเป้าปี 2562 อาทิ พาราควอทจะลดลงกว่า 20,000 ตัน จากกว่า 40,000 ตั้นในปี 60 (ตามตาราง)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

เปิดฉากประชุม ‘AEM Retreat ‘ นัดแรก เตรียมลงนามความตกลงสำคัญ 2 ฉบับ ‘ATISA-ACIA’

เปิดฉากประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ‘AEM Retreat ‘ นัดแรก เตรียมลงนามความตกลงสำคัญ 2 ฉบับ ‘ATISA-ACIA’ ดันเปิดเสรีลงทุน-ค้าบริการ พร้อมตามความคืบหน้า 3 เรื่อง 13 ประเด็น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงฯจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM Retreat ครั้งที่ 25 ในวันที่ 22 – 23 เมษายน 2562 ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า ภูเก็ตซึ่งจะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของอาเซียนครั้งแรกของปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

โดยหลังจากจบการประชุมในวันที่ 23 เมษายน 2562 คาดว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีการร่วมลงนามความตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ซึ่งจะมาบังคับใช้แทนความตกลงด้านการค้าบริการฉบับเดิม (AFAS) เพื่อยกระดับมาตราฐานการด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเช่น บริการด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร เป็นต้น 2. พิธีสารฉบับที่4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ

นอกจากนี้ จะหารือเพื่อหาท่าทีร่วมของอาเซียนในการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สามารถหาข้อสรุปได้ในปีนี้ตามที่วางแผนไว้ และจะมีการพบกันของรัฐมนตรี 10 ประเทศ ซึ่งจะเป็นการพบกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อการดำเนินงานของอาเซียน

ทั้งนี้ การประชุม AEM จะเป็นการติดตามความคืบหน้าเรื่องที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น คือ 1. การเตรียมอาเซียนรับมือในอนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล ด้านนวัตกรรม แนวทางพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับรอง 4IR และการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยในการใช้ดิจิทัล 2. ความเชื่อมโยง เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็คทรอนิกส์ ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

3. การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การทำประมงยั่งยืน การพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน อีกทั้งยังจะมีการหารือ เรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือกับ 4IR ของอาเซียน และการเจราจาความตกลงการค้า ได้แก่ ประเด็นด้านแรงงาน สิงแวดล้อม การค้าดิจิทัล พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ การทบทวนการทำงานขององค์กรรายสาขาภายใต้ AEC ให้มีความทันสมัยสอคคล้องกับประเด้นเสรษฐกิจใหม่ๆ และลดความซ้ำซ้อนของการทำงานเชิงรุกของอาเซียนเรื่องการปฏิรูป WTO

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

บาทเปิด 31.79/83 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาด 31.79/83 บาทต่อดอลลาร์ คาคเคลื่อนไหวไม่มากตลาดยังเปิดไม่เต็มที่หลังหยุดยาว มองกรอบ 31.75-31.85 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.79/83 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.77 บาท/ดอลลาร์

วันนี้คาดว่าเงินบาทจะยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เช่นเดียวกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากสัปดาห์นี้อาจจยังเปิดทำการกันไม่ครบจากช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับไม่มี flow เข้า-ออกที่ชัดเจนนัก

"week นี้คงคล้ายกับ week ก่อน ที่กรอบคงไม่กว้างมาก เพราะตลาดยังเปิดไม่เต็มที่ ส่วนเมื่อวานที่บาทอ่อนลงไปน่าจะมาจากที่มี flow ออกไปบ้างหลังช่วยหยุดยาว"

นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.75 - 31.85 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 18 เมษายน 2562

ลุย 12 โมเดลเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพตีตลาดโลก

“กฤษฏา” ขาลุยของจริง เปิดตัวเดือนพ.ค. บิ๊กโปรเจกท์ ดันต้นแบบ 12 โมเดลเกษตรแปลงใหญ่ชั้นนำของประเทศไทย เป้าทำผลผลิตคุณภาพโกอินเตอร์ตีตลาดโลก

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนบิ๊กโปรเจกท์ “Mega Farm Enterprise” เพื่อยกระดับระบบเกษตรกรรมไทย โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต ภายใต้แนวทาง การจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร(Agricultural Production Plan) และ โครงการเกษตรแปลงใหญ่(Mega Farm Project) ซึ่งมีเกษตรกรและภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่

“เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมของไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของภาครัฐและเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายแปลงใหญ่ 12 แปลง ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ และประมง พื้นที่ไม่จำเป็นต้องติดกัน รวมกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ ขึ้นไป สำหรับ พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จากการผลิต ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมลดลง เพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้เห็นผลชัดเจน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ การคัดเลือกจากพื้นที่ทุกภูมิภาคเช่นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มอบให้เกษตรกร พื้นที่ตามโครงการจัดทำที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน พื้นที่ที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้วรวมกันอยู่หลายๆ แปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน

ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานเดินหน้าระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยใช้กลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าด้วยกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่ง รมว.เกษตรฯได้กำหนดนโยบายให้จัดทำ แผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตร ทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง ตามความต้องการของตลาด หรือกำหนดโควตาทำเกษตรกรรม ให้เหมาะสมว่าจะทำเกษตรกรรมอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรสมดุลกับความต้องการของตลาด

สำหรับโครงการแปลงตัวอย่าง 12 แปลง โดยคัดเลือกจากสินค้าเกษตรที่ประสบปัญหาด้านการตลาด หรือเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพด้านการผลิตแต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และหากเป็นสินค้าที่มีปัญหาด้านการตลาด เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้คัดเลือกพื้นที่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นทดแทนหรือปลูกพืชอื่นผสมด้วย ได้แก่ 1.แปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัย จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,488 ไร่ เกษตรกร 53 ราย พัฒนาระบบน้ำหยดเพื่อใช้สำหรับปลูกมันสำปะหลัง สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตมันสำปะหลังเส้นสะอาดส่งโรงงาน ส่งเสริมให้มีการผลิตมันอินทรีย์ 2.แปลงอ้อยโรงงาน อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ 1,717 ไร่ เกษตรกร 42 ราย เพิ่มคุณภาพโดยการเลือกใช้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่รับน้ำ 3) แปลงสับปะรด อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง พื้นที่ 1,016 ไร่ เกษตรกร 159 ราย พัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์จากสับปะรดโรงงานเป็นบริโภคผลสดแบบเกษตรปลอดภัยและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า 4.แปลงพืชอาหารสัตว์ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 3,056 ไร่ เกษตรกร 244 ราย ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชอาหารสัตว์ และส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์หลังนา 5.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (ผัก โคนม ไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 1,024 ไร่ เกษตรกร 85 ราย เป็นพื้นที่ คทช. 1,024 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 510 ไร่ (จัดสรรให้เกษตรกรรายละ 6 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 1ไร่ และพื้นที่ทำกิน 5 ไร่) โดยพัฒนาตามแนวทางแผนแม่บทชุมชนทั้งหมด 14 แผนแม่บทที่ได้ร่วมกันวางแนวทางไว้

6.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี (ผัก ผลไม้ สมุนไพร) พื้นที่ 1,160 ไร่ (เป็นพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 726 ไร่ สระน้ำ 200 ไร่) เกษตรกร 121 ราย พัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เชื่อมโยงตลาด พร้อมปรับปรุงดิน 7.ยางพารา กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด ต.ช้างให้ตก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พื้นที่ 1,881 ไร่ เกษตรกร 556 ราย พัฒนาเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มสินค้าที่เป็นอาชีพเสริม และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำยางสด 8.แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง พื้นที่ 5,075 ไร่ เกษตรกร 370 ราย พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการรวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปยาง 9) แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 22,792 ไร่ เกษตรกร 1,214 ราย ส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากกลุ่มผู้ปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน และ 10.แปลงโคนม สหกรณ์การเกษตรไพรนกยูง จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท เกษตรกร 63 ราย แม่โครีดนม 630 ตัว พัฒนาโดยปรับโครงสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้สามารถรับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรได้ พัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ยังมีแปลงใหญ่ข้าวอีก 2 แปลง โดยจะเริ่มดำเนินการลงมือต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 17 เมษายน 2562

อุตฯกำชับรง.ป้องกันไฟไหม้ กำหนดโซนห้ามเผาไร่อ้อยสกัดฝุ่นฟุ้ง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้นายจุลพงษ์ ทวีศรี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง กำชับอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง แจ้งให้โรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียตรวจตราและดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ (Anaerobic Processes) และโรงงานที่มีการกักเก็บกากตะกอนชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียทั้งแบบเติมอากาศ และไร้อากาศ (Aerobic & anaerobic process sludge) เป็นเวลานานมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ซึ่งมีผลผลิตเป็นก๊าซที่ติดไฟได้และเป็นพิษ เช่น มีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย ฯลฯ

สำหรับในไตรมาสที่ผ่านมา (มกราคม–มีนาคม 2562) กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือเตือนและออกตรวจโรงงานที่มีน้ำเสียที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 50 ลูกบาศ์กเมตรต่อวัน จำนวน 3,211 โรง และที่มีการระบายอากาศเสีย จำนวน 7,700 โรง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานคร ให้ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้พร้อมทำงานบำบัดมลพิษให้ได้ตามมาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

ส่วนปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 ที่ผ่านมาได้หารือแผนร่วมกันกับหน่วยงานรัฐในการดูแลการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม่ให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมกำหนดโซนหรือ พื้นที่ห้ามมีการเผาอ้อยอย่างเด็ดขาด และนำเครื่องจักรรถตัดอ้อยเข้าไปใช้อย่างครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยจะนำร่องในจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีการนำรถตัดอ้อยมาใช้ในหลายพื้นที่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในฤดูกาลปี’63 และจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นก่อนที่จะขยายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562

กรมชลฯเผยฤดูแล้งใช้น้ำแล้วทั่วประเทศ20,049ล้านลบ.ม.

อธิบดีกรมชลฯเผยฤดูแล้งใช้น้ำแล้วทั่วประเทศ20,049ล้านลบ.ม. ส่วนลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำ103%เกินแผนจัดสรรน้ำ จากแผน8พันล้านลบ.ม.พุ่ง8.2พันล้านลบ.ม.ดึงน้ำแม่กลองมาช่วย พร้อมระดมสูบน้ำให้พื้นที่ขาดน้ำกินใช้-เกษตรนอกเขตชลประทาน40จว.เริ่มนำน้ำก้นเขื่อนอุบลรัตน์มาใช้20เม.ย.

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 44,439 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 58 เป็นปริมาตรนํ้าใช้การได้ 20,514 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 39 น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 4,602 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จํานวน 25.51 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำระบายจํานวน 123.88 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

ได้วางแผนการใช้น้ำวันที่ 1 พ.ย.61 - 30 เม.ย.62 จากปริมาตรนํ้าต้นทุน สามารถใช้การได้ จํานวน 39,570 ล้าน ลบ.ม.โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจํานวน 23,100 ล้าน ลบ.ม.ตามความสำคัญ เช่น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม.รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม.เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม.และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.จากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ 6,500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน 400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 400 ล้าน ลบ.ม.และลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม.แยกเป็น เพื่อการอุปโภค - บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม.เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม.และเพื่อการเกษตร 5,410 ล้าน ลบ.ม.

"ผลการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 20,495 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และลุ่มนํ้าแม่กลอง โดยวันนี้ระบายไป 41 ล้าน ลบ.ม.รวมใช้น้ำไปแล้ว 8,237 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนจัดสรรน้ำ โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง เกินแผน 5.5 แสนไร่ จากแผนจัดสรรน้ำ 5.30 ล้านไร่ มีพื้นที่ปลูกแล้วรวม 5.85 ล้านไร่ นอกจากนี้ จากแผนปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 8.03 ล้านไร่ ปลูกเกิน 8.74 ล้านไร่ อยู่ระหว่างเก็บเกี่ยว 5.40 ล้านไร่ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกนาปรังต่อเนื่อง เพื่อไม่นำน้ำสำรองฤดูหน้ามาใช้" นายทองเปลว กล่าว

กรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปีนาปรัง อุปโภคบริโภค พืชไร่ ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 จํานวน 1,851 เครื่อง ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือตามพื้นที่ จํานวน 198 เครื่อง ในส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปี พืชไร่ 9 จังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ พิจิตร พะเยา ลำปาง น่าน ตาก บุรีรัมย์ เลย พื้นที่ปลูกนาปรัง 22 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ นครราชสีมา อุดรธานี ศรีสะเกษ นครพนม หนองคาย ยโสธร อุบลราชธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ระยอง สุพรรณบุรี ราชบุรี และช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เช่น สุโขทัย เชียงราย แพร่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย นนทบุรี ปทุมธานี ชัยนาท

นายทองเปลว กล่าวว่า ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 8 เขื่อน เช่น เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำใช้การ 21% เขื่อนอุบลรัตน์ 1% เขื่อนลำปาว 22% เขื่อนลำพระเพลิง 23% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 23% เขื่อนทับเสลา 15% เขื่อนกระเสียว 6% เขื่อนขุนด่านปราการชล 23% โดยมติคณะกรรมการร่วมใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ให้ดึงน้ำก้นเขื่อนมาใช้อุปโภคบริโภค ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.

"ยืนยันว่าในพื้นที่เขตชลประทานจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน แม้จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบให้ฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ได้ถูกจัดสรรอย่างเพียงพอไปจนถึงเดือน พ.ค.62 และยังเพียงพอสำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย" นายทองเปลว กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562

ตีตลาดโลก! กษ.จ่อเปิดตัวบิ๊กโปรเจกต์ ดันต้นแบบ12โมเดลเกษตรแปลงใหญ่

"กฤษฎา"เปิดตัวบิ๊กโปรเจกต์เดือนพ.ค. ดันต้นแบบ12โมเดลเกษตรแปลงใหญ่ชั้นนำของประเทศไทย เป้าทำผลผลิตคุณภาพโกอินเตอร์ตีตลาดโลก

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนบิ๊กโปรเจกต์ "Mega Farm Enterprise" เพื่อยกระดับระบบเกษตรกรรมไทย โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต ภายใต้แนวทางการจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร (Agricultural Production Plan) และโครงการเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Project) ซึ่งมีเกษตรกรและภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่

"เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมของไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของภาครัฐและเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายแปลงใหญ่ 12 แปลง ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ และประมง พื้นที่ไม่จำเป็นต้องติดกัน รวมกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ ขึ้นไป สำหรับพืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จากการผลิต ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมลดลง เพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้เห็นผลชัดเจน" นายกฤษฎา กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า คัดเลือกจากพื้นที่ทุกภูมิภาคเช่นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มอบให้เกษตรกร พื้นที่ตามโครงการจัดทำที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน พื้นที่ที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้วรวมกันอยู่หลายๆ แปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน

ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานเดินหน้าระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยใช้กลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าด้วยกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายให้จัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ตามความต้องการของตลาด หรือกำหนดโควตาทำเกษตรกรรม ให้เหมาะสมว่าจะทำเกษตรกรรมอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรสมดุลกับความต้องการของตลาด

สำหรับโครงการแปลงตัวอย่าง 12 แปลง โดยคัดเลือกจากสินค้าเกษตรที่ประสบปัญหาด้านการตลาด หรือเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพด้านการผลิตแต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และหากเป็นสินค้าที่มีปัญหาด้านการตลาด เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้คัดเลือกพื้นที่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นทดแทนหรือปลูกพืชอื่นผสมด้วย ได้แก่

1.แปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัย จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,488 ไร่ เกษตรกร 53 ราย พัฒนาระบบน้ำหยดเพื่อใช้สำหรับปลูกมันสำปะหลัง สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตมันสำปะหลังเส้นสะอาดส่งโรงงาน ส่งเสริมให้มีการผลิตมันอินทรีย์

2.แปลงอ้อยโรงงาน อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ 1,717 ไร่ เกษตรกร 42 ราย เพิ่มคุณภาพโดยการเลือกใช้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่รับน้ำ

3.แปลงสับปะรด อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง พื้นที่ 1,016 ไร่ เกษตรกร 159 ราย พัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์จากสับปะรดโรงงานเป็นบริโภคผลสดแบบเกษตรปลอดภัยและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า

4.แปลงพืชอาหารสัตว์ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 3,056 ไร่ เกษตรกร 244 ราย ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชอาหารสัตว์ และส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์หลังนา

5.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (ผัก โคนม ไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 1,024 ไร่ เกษตรกร 85 ราย เป็นพื้นที่ คทช.1,024 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 510 ไร่ (จัดสรรให้เกษตรกรรายละ 6 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และพื้นที่ทำกิน 5 ไร่) โดยพัฒนาตามแนวทางแผนแม่บทชุมชนทั้งหมด 14 แผนแม่บทที่ได้ร่วมกันวางแนวทางไว้

6.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี (ผัก ผลไม้ สมุนไพร) พื้นที่ 1,160 ไร่ (เป็นพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 726 ไร่ สระน้ำ 200 ไร่) เกษตรกร 121 ราย พัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เชื่อมโยงตลาด พร้อมปรับปรุงดิน

7.ยางพารา กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด ต.ช้างให้ตก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พื้นที่ 1,881 ไร่ เกษตรกร 556 ราย พัฒนาเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มสินค้าที่เป็นอาชีพเสริม และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำยางสด

8.แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง พื้นที่ 5,075 ไร่ เกษตรกร 370 ราย พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการรวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปยาง

9.แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 22,792 ไร่ เกษตรกร 1,214 ราย ส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากกลุ่มผู้ปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน

10.แปลงโคนม สหกรณ์การเกษตรไพรนกยูง จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท เกษตรกร 63 ราย แม่โครีดนม 630 ตัว พัฒนาโดยปรับโครงสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้สามารถรับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรได้ พัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง

ทั้งนี้ ยังมีแปลงใหญ่ข้าวอีก 2 แปลง โดยจะเริ่มดำเนินการลงมือต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในเดือน พ.ค.นี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562

วิจัยอ้อยทดแทนน้ำมัน

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลก กำลังได้รับผลกระทบจากการรณรงค์ให้บริโภคน้ำตาลน้อยลง

เมื่อความต้องการลด แต่ผลผลิตยังคงที่หรือเพิ่มขึ้น เกษตรกรรวมถึงโรงงานอ้อย จึงได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ให้อ้อยและน้ำตาลมีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากกว่าทำน้ำตาลทรายเอทานอลหรือเอาส่วนที่เหลือทิ้ง อย่างเส้นใยและกากชานอ้อยไปแปรรูปผลิตกระแสไฟฟ้า หรืออื่นๆ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย จึงได้ร่วมกับ สถาบันจีโนม (Genome Institute) สหรัฐอเมริกา วิจัยการแก้ไขยีนในอ้อยเป็นครั้งแรก เพื่อปรับแต่งต้นอ้อยให้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพใช้ทดแทนน้ำมันฟอสซิล และพลาสติกชีวภาพได้ดีขึ้น

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาใกล้ที่จะไขความลับดีเอ็นเอของอ้อย เพื่อนำศักยภาพของดีเอ็นเอนี้มาผลิตเชื้อเพลิงสีเขียว (green fuel) คาดว่าจะสำเร็จภายในปี 2563

Robert Henry ผู้อำนวยการพันธมิตรเพื่อการเกษตรและนวัตกรรมด้านอาหารแห่งรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่า เรากำลังมองหาแนวทางการใช้อ้อยแทนน้ำมัน เพื่อทดแทนวัตถุดิบทางเคมีที่เราได้รับจากน้ำมันแบบดั้งเดิม ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้ทดแทน

นอกจากจะได้พลังงานสะอาดจากอ้อยทดแทนน้ำมันที่ใช้กันทุกวันนี้ ผลพวงที่น่าจะได้ตามมาคือ พลาสติกชีวภาพ 100% ชิ้นส่วนรถยนต์ จากเส้นใยและกากอ้อย หรือส่วนเหลือทิ้งอื่นรวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนขึ้น

บ้านอื่นเมืองอื่นเขาคิดกันไปไกล แต่บ้านเราปาล์มน้ำมันที่สามารถนำมาแปรรูปใช้แทนน้ำมันปิโตรเลียมได้สารพัดอย่าง...ยังไม่กล้าคิดขยับให้ไปไกลเกินกว่า ทำเป็นน้ำมันเจียวไข่.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 15 เมษายน 2562

สอน. ลงพื้นที่ราชบุรี ติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการลดการเผาอ้อยไฟไหม้

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการของโรงงานน้ำตาล และการบริหารจัดการอ้อยไฟไหม้ ในช่วงฤดูหีบอ้อย ประจำปีฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ โรงงานน้ำตาลราชบุรี ตำบลเบิกไพร อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการลดอ้อยไฟไหม้ รวมถึงกิจกรรมที่โรงงานได้สนับสนุนชาวไร่อ้อยให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงาน

 “สอน.ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก คือการขอความร่วมมือให้โรงงานต่างๆ ช่วยรับอ้อยสดประมาณร้อยละ 60 ของอ้อยที่หีบได้ในแต่ละวัน โดย 90% ของโรงงานให้ความร่วมมือดีมาก ขั้นตอนต่อมา คือ การหารือกันในเรื่องของมาตรการการเงินซึ่งปัจจุบันอ้อยไฟไหม้มีระเบียบโดยอยู่ประมาณตันละ 30 บาท ซึ่งต้องมาหารือว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด มีแรงจูงใจให้ตัดอ้อยสดเพิ่มมากขึ้น ประการสุดท้ายเรื่องของการขอสินเชื่อ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาต่อวงเงินสินเชื่อระยะยาว และก็จะหารือว่าภายใน 5 ปี เราจะลดอ้อยไฟไหม้ลงให้เหลือ 0%” นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ กล่าว

ด้านนายจิรวัฒน์ เทิดพิทักษ์พงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายภาคที่ 1 กล่าวว่า การลงพื้นที่การตัดอ้อยที่จังหวัดราชบุรี เนื่องจากว่าจังหวัดราชบุรี มีการตัดอ้อยสดมากที่สุดในประเทศ ส่วนอ้อยไฟไหม้ตั้งใจลดลงให้น้อยกว่า 40% ซึ่งทางจังหวัดราชบุรีมีอ้อยสดถึงเกือบ 70%

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 15 เมษายน 2562

สร้างไร่อ้อย “Big Data” ปั้นต้นแบบเกษตร 4.0

 “เกษตรกรรม” เป็นอีกกลไกเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งในแง่ของการใช้พื้นที่กว่า 40% ของประเทศ รวมถึงเม็ดเงินราว 10% ของ GDP แต่กลับมีการใช้เทคโนโลยีน้อย เหตุจากความไม่มั่นใจและไม่คุ้นเคยการสร้าง “ต้นแบบ” จึงเป็นแนวทางที่ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) กลุ่มมิตรผล และ IBM ตั้งเป้าวิจัยเพิ่มผลผลิตอ้อย โดยใช้ AI IOT และ data analytics

“ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช. เปิดเผยว่า เกษตรกรไทยไม่ถึง 10% ที่ใช้เทคโนโลยี ยิ่ง “data” ยิ่งใช้น้อย

“ความร่วมมือครั้งนี้มีโอกาสสูงจะพัฒนาต้นแบบสมาร์ทฟาร์มให้เกษตรกรเปิดใจ เพราะมิตรผลเป็นรายใหญ่ มีข้อมูลเยอะ สวทช.ทำงานด้าน AI big data มานาน ทั้งมีข้อมูลระดับประเทศ ขณะที่ IBM มีข้อมูลและเทคโนโลยีระดับโลก เป้าหมายคือจะทำนาย จำนวนผลผลิต ความหวานของอ้อย โรคพืชโรคแมลง”

“ปฐมา จันทรักษ์” รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ IBM ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย-แปซิฟิก ที่ใช้ IBM Watson กับเกษตร เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นครัวของโลก เป้าหมายจึงเป็นการนำข้อมูลเชิงลึกมาเป็นเครื่องมือ พลิกโฉมสู่ก้าวใหม่สมาร์ทฟาร์มเมอร์

ปัจจุบันนักวิจัย IBM กำลังพัฒนา “agronomic insights assistant” โดยใช้แพลตฟอร์ม IBM Watson สำหรับการเกษตร ร่วมกับ IBM PAIRS Geoscope ผสานข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร โดยใช้โมเดลการพยากรณ์ที่แม่นยำจาก The Weather Company กลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความชื้นของดิน ภาวะการขาดน้ำและอาหารที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิตและดัชนีคุณภาพความหวานของอ้อย

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ เกษตรกรจะเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยประเมินและจัดการความเสี่ยง วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเฉพาะเจาะจงพื้นที่ ลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต “ข้อมูลทุกอย่างดูได้ผ่านสมาร์ทโฟน จุดสำเร็จคือสเกลไปใช้กับพืชอื่น ๆ ได้”

ด้าน “รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต” Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล ระบุว่า ประเทศไทยได้เปรียบด้านการเกษตร มีอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายเป็นอันดับ 8 ของโลก ขณะที่ “อ้อย” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีบทบาทสำคัญในการป้อนน้ำตาลสู่ตลาดโลก ส่วนแบ่งตลาด 9.4% ในปี 2560 ทั้งคาดว่าปี 2561-2562 จะผลิตน้ำตาลได้ 14.1 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า

บทบาทของมิตรผลคือ เป็นภาคปฏิบัติ โดยใช้ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลกว่า 63 ปี จึงสามารถรวบรวมข้อมูลมาให้วิเคราะห์ได้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดให้ยั่งยืน โดยใช้พื้นที่ทดสอบ 2,000 ไร่

“การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้แค่ช่วยมิตรผล แต่เป็นประโยชน์ต่อวงการเกษตรกรไทย ที่ผ่านมาเรามีข้อมูลจำนวนมากที่ไม่เคยนำมาใช้เลย จึงต้องการ big data และใช้ AI มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรมีรายได้ยั่งยืน เมื่อโครงการสำเร็จองค์ความรู้ต่าง ๆ จะถูกเผยแพร่สู่ชุมชน”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 เมษายน 2562

ก.อุตฯ กำชับโรงงานดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย ป้องกันเกิดอัคคีภัย

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายจุลพงษ์ ทวีศรี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง กำชับอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่งทั่วประเทศ แจ้งให้โรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียตรวจตราและดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ ให้มีความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ และโรงงานที่มีการกักเก็บกากตะกอนชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียทั้งแบบเติมอากาศ และไร้อากาศ เป็นเวลานานมากกว่า 1-2 สัปดาห์ ซึ่งมีผลผลิตเป็นก๊าซที่ติดไฟได้และเป็นพิษ อาทิ มีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ แอมโมเนีย โดยโรงงานต้องดูแลระบบระบายก๊าซและจำกัดการเข้าถึงบริเวณที่เป็นอันตราย เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตบุคคลและป้องกันการเกิดอัคคีภัยในช่วงฤดูกาลที่มีอากาศร้อนและการย่อยสลายของเสียเกิดก๊าซขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

“ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2562) กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือเตือนและออกตรวจโรงงานที่มีน้ำเสียที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 50 ลูกบาศ์กเมตรต่อวัน จำนวน 3,211 โรง และที่มีการระบายอากาศเสีย จำนวน 7,700 โรง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานคร ให้ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้พร้อมทำงานบัดมลพิษให้ได้ตามมาตรฐานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำทิ้งโรงงานในช่วงฤดูแล้งและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจังและต่อเนื่อง หากพบการกระทำที่ฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ซึ่งมีโทษปรับหรือให้หยุดประกอบกิจการตามกฎหมายโรงงานทุกราย”นายพสุกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 15 เมษายน 2562

‘พาณิชย์’ ประชุมเห็นพ้อง FTA อาเซียน-แคนาดา

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ที่ผ่านมา ณ สปป.ลาว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำ FTA ร่วมกันในอนาคต ถึงแม้ยังมีระดับความคาดหวังต่างกันในบางประเด็น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนกับแคนาดา ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน ที่ผ่านมา ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่าที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ในเชิงเทคนิคระหว่างผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในประเด็นต่างๆ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน รัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น รวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ ชนกลุ่มน้อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ในอนาคต

การหารือครั้งนี้ อาเซียนและแคนาดา ยังมีระดับความคาดหวังและมาตรฐานในการจัดทำเอฟทีเอที่ต่างกันในประเด็นต่างๆ เช่น การเปิดตลาดการค้าสินค้า รูปแบบการเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุน และขอบเขตการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น รวมถึงประเด็นใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แรงงาน สิ่งแวดล้อม และรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น โดยในช่วงที่ผ่านมา อาเซียนมีการปรับตัวเปิดรับประเด็นใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อเร่งยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคต่างๆ โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง อาเซียนจึงพร้อมหารือกับแคนาดาในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมความเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-แคนาดา เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา พิจารณาในเดือนกันยายนนี้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่สมาชิกอาเซียนและแคนาดาจะได้รับ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559 – 2561) การค้าระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ  โดยปี 2561 การค้าระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มีมูลค่า 19.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 8.41%  และในปี 2560 แคนาดามีการลงทุนในอาเซียนมูลค่า 863.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 เมษายน 2562

"กฤษฏา"ดันกฏกระทรวงจำกัดใช้เคมี

"กฤษฏา"ดันกฏกระทรวง 5 ฉบับมาตรการจำกัดใช้ 3 สารเคมี เข้มผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย เกษตรกร คนรับจ้างพ่นสาร ทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าคอร์สติวเข้มภายในเดือนมิ.ย.นี้

                   นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีวัถตุอันตราย กำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส 

                   โดยบอกว่ามาตรการจำกัดการใช้มี 6 มาตรการ ซึ่งผ่านเห็นชอบจาก คณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งมาตรการทางกฏหมายเป็นประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ การอบรม การสร้างการรับรู้ การศึกษาผลกระทบ การวิจัยหาสารเคมีชนิดอื่น และการสร้างระบบฐานข้อมูล ขณะนี้อยู่ที่เลขาธิการครม.แล้ว ซี่งกฏกระทรวงดังกล่าวออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน

                   ทั้งนี้เว็บไซส์ของกรมวิชาการเกษตร เผยแพร่ว่าเมื่อประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 5 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ใช้ ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ผู้ขาย ผู้นำเข้า หรือผู้ผลิต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้ เกษตรกรผู้ที่จะใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น จะต้องผ่านการอบรม หรือผ่านการทดสอบความรู้ ตามหลักสูตรที่กำหนดขึ้นสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะเสียก่อน เพราะเวลาจะไปซื้อสารเคมีเหล่านั้นไปใช้ เกษตรกรจะต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม หรือผ่านการทดสอบการใช้สารเคมีที่ถูกต้องก่อน นอกจากนี้ยังจะต้องแจ้งชนิดพืชที่ปลูก และจำนวนพื้นที่ปลูกให้ผู้ขายทราบด้วย เพื่อจะได้คำนวณปริมาณสารเคมีที่จะใช้กับพืชนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง

                    สำหรับผู้รับจ้างพ่นสารเคมี จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการพ่นสารทั้ง 3 ชนิด ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่นสารเคมี และผู้รับจ้างพ่นสารเคมี ไม่สามารถจะซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ ได้หากไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ปลูกพืชที่กำหนดให้ใช้กับสารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว

                   ด้านผู้จำหน่ายสารเคมี จะต้องขออนุญาตมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อขาย โดยต้องระบุชื่อสารเคมี 3 ชนิดนั้น ซึ่งแต่เดิมไม่ต้องระบุชื่อ นอกจากนี้ยังต้องผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมการขายวัตถุอันตราย ซึ่งจะต้องอบรมทุกๆ 3 ปีด้วย จากเดิมที่ต้องอบรมทุก ๆ 5 ปี รวมทั้งผู้จำหน่ายสารเคมี 3 ชนิดนี้ จะต้องแจ้งปริมาณ สต๊อกสินค้าสารเคมี 3 ชนิดนี้ ทุก 15 วัน ต้องขายสารเคมี 3 ชนิดนี้ ให้เฉพาะเกษตรกรที่แสดงหลักฐานผ่านการอบรม หรือผ่านการทดสอบ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานชนิดพืชที่ปลูก และจำนวนพื้นที่ปลูกเท่านั้น รวมทั้งต้องต้องจัดทำป้ายแสดงข้อความว่า “วัตถุอันตรายที่จำกัดการใช้” ไว้อย่างชัดเจน และจัดวางสารเคมี 3 ชนิด แยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่นๆ                

                    สำหรับผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตจะต้องแจ้งปริมาณสต๊อกสินค้า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทุก 15 วัน โดยต้องระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไป

                   ในส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้ 3 สาร จะมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าว ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

                   นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดชนิดพืชที่อนุญาตให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ ดังนี้ ให้ใช้พาราควอต และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล ให้ใช้คลอร์ไพริฟอส เฉพาะเพื่อกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผลพื้นที่ห้ามใช้สารทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พื้นที่ปลูกผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะต้องมีการกำหนดข้อความในฉลากที่จะติดบนภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น ด้วยข้อความ 3 ข้อความคือ วัตถุอันตรายจำกัดการใช้ ,ห้ามใช้วัตถุอันตรายในพื้นที่ปลูกพืชผัก หรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ และ ผู้ใช้วัตถุอันตรายต้องป้องกันไม่ให้วัตถุอันตรายแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น

                   ซึ่งเกษตรกรจะต้องเข้ารับการอบรมและผ่านการทดสอบว่าเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมี 3ชนิด เพื่อนำเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมี มาใช้ได้ สำหรับวิธีการฝึกอบรมผู้รับจ้างพ่น ต้องเข้ารับการอบรม และต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จึงจะได้รับการรับรองว่าผ่านการทดสอบ นำไปเป็นหลักฐานในการรับจ้างพ่นสารเคมี 3 ชนิดนี้ต่อไปได้

                   กรมวิชาการเกษตรจะสร้างวิทยากร  คือ วิทยากรครู ก ไปทำการอบรม ผู้รับจ้างพ่นสารเคมี พนักงานเจ้าหน้าที่ และ เจ้าหน้าที่อีกกลุ่ม คือ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สมาคมที่เกี่ยวข้อง เป็น วิทยากรครู  โดยจะต้องสร้างวิทยากรและอบรมทุกกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ที่ระบุถึงการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัย ในพืชแต่ละชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ยางพารา และไม้ผล

จาก www.komchadluek.net วันที่ 13 เมษายน 2562

หวั่นแล้งรุนแรง! โรงงานน้ำตาลลงพื้นที่ช่วยชาวไร่อ้อยรับมือ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลได้เตรียมการเพาะปลูกอ้อยสำหรับปี 2562/63 โดยการจัดส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือชาวไร่ในการเพาะปลูกอ้อยข้ามแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานและมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมให้ดำเนินการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย หลังจากมีความกังวลว่า ภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีถัดไป และคาดว่าจะมีปริมาณลดลงกว่าปีนี้

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปี 2561/62 เริ่มเปิดรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปีนี้ พบว่า มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว รวม126.14 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 125.81 ล้านตัน และผลิตผลน้ำตาลได้แล้ว 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.80 ล้านตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.60 ซี.ซี.เอส. ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.52 ซี.ซี.เอส. โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 110.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้น 0.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 109.68 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า เห็นสัญญาณที่ดีจากปริมาณอ้อยไฟไหม้ พบว่า ฤดูการผลิตปีนี้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน เหลือ 60% จาก 65% เป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อ้อยไฟไหม้ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 เมษายน 2562

"บางระกำโมเดล"ต้นแบบแก้ปัญหาน้ำ จากเหนือตอนล่างสู่12ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา 

              “แต่เดิมนั้นในฤดูนาปี กว่าจะได้เริ่มทำนาก็ต้องรอน้ำฝน เดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ถ้าเพาะปลูกไปแล้วเกิดฝนทิ้งช่วงก็เสียหายพอ ใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณเดือนสิงหาคมหรือกันยายน น้ำหลากมาท่วมเสียหาย พอมาถึงฤดูนาปรัง เกษตรกรจะทำนาได้เฉพาะบางพื้นที่ มีที่นาอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือมีบ่อบาดาล แต่ทำนาไปแล้วก็มีความเสี่ยงน้ำมีไม่เพียงพออีกเป็นอย่างนี้มานาน พอมีโครงการบางระกำโมเดลเกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็ไม่มีอีกเลย "

              สมศักดิ์ บ่องเขาย้อย กำนันต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวถึงการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ในระหว่างที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร พร้อมทั้งได้เปิดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูนาปี 2562 เป็นการเริ่มการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ปี 2562

               “โครงการบางระกำโมเดล” นั้น เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2560 ในช่วงที่ พล.อ.ฉัตรชัย ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ได้แก่ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 23 หน่วยงาน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ร่วมกันวางแผนการปลูกพืชและบริหารจัดการน้ำในรูปแบบประชารัฐ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องของแก้มลิงมาใช้ในการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม

                ในครั้งนั้นใช้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” หรือ “โครงการบางระกำโมเดล 60” โดยการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มแม่น้ำยมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก และ สุโขทัย เป็นพื้นที่รวม 265,000 ไร่ ให้สามารถเพาะปลูกข้าว และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก เพื่อจะได้ใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากแม่น้ำยม ตัดปริมาณน้ำส่วนเกินออกจากลำน้ำยม ทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมเขตชุมชนและสถานที่ราชการจังหวัดสุโขทัย

                 จากความสำเร็จของการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล 60 กรมชลประทานได้ขยายผลมาดำเนินงานโครงการในปี2561 และดำเนินการต่อเนื่องในปี 2562 โดยในปี 2561 ได้มีการขยายพื้นที่โครงการเพิ่มขึ้น จากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิมรับน้ำได้เพียง 400 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการดำเนินโครงการในปี 2562 ยังมีพื้นที่ดำเนินการเท่ากับปี 2561 เนื่องจากเต็มศักยภาพแล้ว แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

                ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล เป็นการปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตข้าวจะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ในส่วนของภาครัฐก็ได้รับประโยชน์ที่สามารถประหยัดงบประมาณที่จะจ่ายเงินชดเชยค่าความเสียหายจากน้ำท่วมอีกด้วย และที่สำคัญหลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย ตลอดจนเป็นการหน่วงน้ำรอการระบายไม่ให้เกิดผลกระทบกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อีกด้วย

                 "บางระกำโมเดลยังจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ และการปล่อยน้ำให้ท่วมนาในช่วงนี้ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีอาหารปลาที่สมบูรณ์ เพราะเมล็ดข้าวที่ล่วงหล่น หรือ เกิดขึ้นมาใหม่ จะเป็นอาหารของปลาอย่างดี ปลาจะชุกชุมมากเป็นพิเศษ สร้างรายได้เสริมจากอาชีพประมงให้กับเกษตรกร รวมทั้งน้ำที่เก็บกักไว้ยังสามารถนำมาบริหารจัดการใช้เป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตโครงการและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างอีกด้วย

                    อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่าสำหรับ"โครงการบางระกำโมเดล เกิดขึ้นเนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นเพียงลุ่มน้ำเดียวของลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ในการเก็บกักน้ำ ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำยม ในเขตจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย เป็นประจำ รวมทั้งยังส่งผลต่อเนื่องทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ระหว่างที่รอโครงการชลประทานขนาดใหญ่และสำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการบางระกำโมเดลขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อที่จะบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว”

                  อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำในทุ่งบางระกำ ในปี 2562 นั้น กรมชลประทานได้วางแผนเตรียมการส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลอง ตั้งแต่วันที่ 15-31 มีนาคม 2562 และส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 และสิ้นสุดการส่งน้ำวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จากนั้นตั้งแต่เดือน สิงหาคม – พฤศจิกายน 2562 จะเป็นช่วงเวลาหน่วงน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำหลากจากอุทกภัยลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขา รวมทั้งปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่

                   นอกจากนี้จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการบางระกำโมเดล ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการขยายผลมาดำเนินการในพื้นที่ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ใต้ จ.นครสวรรค์ ซึ่งประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก จ.สิงห์บุรี ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งป่าโมก จ.อ่างทอง ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิตใต้ จ.ปทุมธานี รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1.15 ล้านไร่ สามารถรองรับน้ำหลากได้ 1,533 ล้าน ลบ.ม. โดยจะให้เกษตรเริ่มการเพาะปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน ก่อนที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากเช่นเดียวกับทุ่งบางระกำ จะทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ถึงประมาณ 2,033 ล้าน ลบ.ม. หรือ เท่าๆกับปริมาณความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์รวมกัน                                  

“เหนือ”ได้ฤกษ์เดินเครื่อง8โครงการปี2563

            พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวงระหว่างนำคณะลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอย่างเร่งด่วน พร้อมเตรียมผุด 8 โครงการสำคัญในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ และ กำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร

            ทั้งนี้จากการตรวจสอบพื้นที่ล่าสุดพบว่า จ.พิษณุโลกและสุโขทัย มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนในเขตการบริการของการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) และจ.นครสวรรค์ มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำต้นทุนนอกเขตการบริการของ กปภ. ในขณะที่การปลูกพืชฤดูแล้งโดยเฉพาะข้าวนาปรังในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าว ปลูกเกินแผนที่กำหนดไว้ประมาณ 300,000 ไร่ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ปลูกข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ และห้ามทำนาปรังรอบที่ 2 อย่างเด็ดขาด เพราะจะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ อาจทำให้การใช้น้ำในภาคส่วนอื่นๆได้รับผลกระทบด้วย

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เผยว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในทุกภาคของประเทศ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยปี 2557 - 2561 ในพื้นที่ภาคเหนือมีการดำเนินโครงการทั้งหมด รวม 12,247 โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการการขนาดเล็กใช้งบประมาณรวม 60,648 ล้านบาท มีพื้นที่รับประโยชน์ 4.84 ล้านไร่ ส่วนในปี 2562 มีการดำเนินโครงการ ในพื้นที่ภาคเหนือ รวม 2,458 โครงการ งบประมาณรวม 14,182 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 270,065 ไร่ เพิ่มน้ำได้ 40.90 ล้าน ลบ.ม.

          นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 – 2565 รัฐบาลมีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ 8 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสร้างความยั่งยืน และ มั่นคง ได้แก่ 1.โครงการแผนหลักฟื้นฟูบึงราชนก จ.พิษณุโลก เริ่มดำเนินการปี2563 โครงการแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เริ่มปี2563 โครงการผันน้ำยวม-ภูมิพล เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนน้ำกิ จ.น่าน เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนน้ำกอน จ.น่าน เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนแม่คำมี จ.แพร่ เริ่มปี 2564 โครงการเขื่อนแม่คำ จ.เชียงราย เริ่มปี 2565 และโครงการผันน้ำกก-อิง-สิริกิติ์ เริ่มปี 2565

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 10 เมษายน 2562

ชง ครม. ออกระเบียบ "เลิกเผาอ้อย" หมดใน 3 ปี

ก.อุตฯ เตรียมนำเสนอ ครม. พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเป็นระบบ ตั้งเป้า 3 ปี ตัดอ้อยสด 100% พร้อมระบุ โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อย เริ่มจ่ายเงินรอบแรกภายในเดือน เม.ย. นี้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในภาพรวมทั้งระบบ ประกอบด้วย มาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการออกระเบียบให้ทันในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปีนับจากนี้

ทั้งนี้ การดำเนินการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนรถตัดอ้อย ซึ่งได้ดำเนินการเสนอโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562–2564) โดยจะนำเสนอให้ ครม. เห็นชอบอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการได้

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย

"ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังได้มีมาตรการด้านการบริหารจัดการ โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 เป็นจังหวัดปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย และอุตรดิตถ์"

นายพสุ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อ ซื้อปัจจัยการผลิต (50 บาทต่อตันอ้อย) ขณะนี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณในรอบแรกสำหรับอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตั้งแต่ต้นฤดูกาล จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2562 โดยมีปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 64 ล้านตัน เป็นเงิน 3,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 150,000 ราย โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือรอบแรกภายในเดือน เม.ย. 2562

จาก www.thansettakij.com วันที่ 9 เมษายน 2562

อาเซียนถกทำแผนรับมือหุ่นยนต์

ไทยเสนอให้ที่ประชุมซีออมผลักดันให้อาเซียนเตรียมความพร้อมรับซื้อกับการเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม-บริการ              

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (ซีออม) ครั้งที่ 2/50 ระหว่างวันที่ 4-5 เม.ย.62 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า   ประเทศไทยได้ผลักดันให้อาเซียนเตรียมความพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4ไออาร์) เพื่อรับมือการเข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการของระบบออโตเมชั่น หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์   โดยกรมฯ จะร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนกิจกรรมให้ความรู้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ในวันที่ 21 มิ.ย.62 ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของอาเซียนมาร่วมหารือ โดยผลการหารือจะใช้ประกอบการยกร่างคู่มือการเตรียมทรัพยากรมนุษย์รับมือ  4 ไออาร์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนก.ย.62 ต่อไป

 ทั้งนี้ อาเซียนยังได้เห็นชอบการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน ซึ่งเป็นประเด็นที่ค้างมานาน โดยอาเซียนได้ตกลงที่จะจำกัดขอบเขตของสินค้าผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในความตกลงดังกล่าวให้ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ผลิตภายในอาเซียนเท่านั้น พร้อมทั้งมอบให้คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานคุณภาพของอาเซียน และคณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์และยานยนต์จัดทำถ้อยคำทางกฎหมายสรุปต่อไป และตั้งเป้าให้มีการลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 ที่จะจัดขึ้นในเดือนก.ย.62 เช่นกัน

ส่วนการเชื่อมต่อระบบการแลกเปลี่ยนเอกสารนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างอาเซียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้เชื่อมต่อระบบดังกล่าวแล้ว ขณะที่บรูไน กัมพูชา และฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ ส่วนเมียนมา และสปป.ลาว อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ ซึ่งได้แจ้งว่าจะดำเนินการเชื่อมต่อระบบกับอาเซียนอื่นให้เสร็จภายในปีนี้ โดยในเดือนเม.ย.62 สปป.ลาว จะเปิดตัวระบบอย่างเป็นทางการ และในเดือนมิ.ย.62 เมียนมาจะเริ่มเชื่อมต่อและทดสอบระบบกับประเทศในอาเซียน

สำหรับประเด็นการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ)  ที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนควรมีบทบาทเชิงรุกในเรื่องการปฏิรูปดับเบิ้ลยูทีโอ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่กลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าที่ใกล้จะหยุดชะงัก ซึ่งหากการหารือที่นครเจนีวาเพื่อปฏิรูปการทำงานของดับเบิ้ลยูทีโอ และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่คืบหน้า จะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ช่วยกำกับดูแลการค้าโลกในปัจจุบัน จึงขอให้อาเซียนหารือในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 เมษายน 2562

'บิ๊กตู่'แนะเกษตรกรงดทำนาปรังน้ำในเขื่อนลด 10 กว่าแห่ง

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.เวลา 13.10 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงสถานกาณ์ภัยแล้งว่า  ครม.รับทราบการประกาศพื้นที่ภัยแล้งใน 2 ภาคคือภาคตะวันออกเฉียงเหรือและภาคตะวันออก รวม 4 จังหวัดได้ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ตราด ชลบุรี สิ่งที่กังวลในตอนนี้คือปัญหาเรื่องน้ำ เป็นปรากฎการณ์เอลนีโญ ฤดูฝนสั้นลง ฝนตกน้อยลง ซึ่งต้องรอกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินสภาพอากาศในฤดูฝนหน้า ตรงนี้เราต้องเตรียมการถ้าไม่เตรียมการเราก็ลำบาก อันดับแรกคือน้ำอุปโภค บริโภค น้ำประปาไม่เพียงพอ ได้ให้ขุดบ่อบาดาลเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมาเราทำมาเยอะแล้ว แต่ยังไม่พอ ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีขึ้นกว่าเดิม       

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า  เรื่องน้ำเพื่อการเกษตรปัญหาเยอะ เพราะน้ำ 10กว่าเขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยลง ขณะเดียวกันภาคเกษตรยังไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการ กำหนดพื้นที่เพาะปลูกนาปรังจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีการปลูกเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ไปอีก เพราะราคาข้าวดีขึ้น เกษตรกรจึงเร่งปลูกโดยไม่ได้คิดว่าจะเอาน้ำมาจากไหน ต้องสร้างความเข้าใจกันเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการเพิ่มเติมต่อไป แก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน แต่ขอร้องการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ถ้าไม่มีฝนในปีหน้าก็จะลำบากอีก เพราะฉะนั้นต้องรับฟังรัฐบาลบ้าง  สิ่งที่จะต้องมีปัญหาต่อไปคือ ปริมาณน้ำที่เราจะปล่อยน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ถ้าไม่มีน้ำเพียงพอจะทำอย่างไร ดินจะเค็มมากขึ้น ตรงนี้จึงสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราต้องหามาตรการหลายๆอย่างมาดูแลการเกษตรให้มากที่สุด อาจจะเรียกว่ามากกว่าอย่างอื่นด้วยซ้ำไป แต่ก็ต้องเห็นใจว่าพื้นที่ชลประทานของเราทำได้จำกัด มีปัจจัยหลายอย่าง จึงอยากให้เกษตรกรเข้าใจ หากเกษตรกรไม่ปรับตัวปัญหาก็จะเกิดขึ้นแบบนี้

“ช่วงนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง พื้นที่น้ำน้อย ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง ถ้าฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าปล่อยหมดวันหน้าก็เดือดร้อนหมด ต้องมีมาตรการปล่อยน้ำอย่างสมดุล บางทีมันก็ปล่อยไม่ได้ ถ้าปล่อยหมดก็ไม่มีน้ำใช้อย่างอื่นอีก นี้มัน

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 9 เมษายน 2562

ชาวไร่ต้องฟัง! ฤดูผลิต 62/63 รง.น้ำตาลเข้มเกณฑ์รับอ้อยไฟไหม้แค่ 30% ต่อวัน ก.อุตฯมั่นใจลดปัญหาเผาอ้อยใน3ปี

กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือโรงงานน้ำตาล ร่วมแก้ปัญหา “อ้อยไฟไหม้” กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวันเริ่มปีการผลิต 62/63 คาดภายใน 3 ปี ไม่มีเผาอ้อย พร้อมอัดเงินช่วยซื้อรถตัดอ้อย 6,000 ล้าน และเตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาท/ตัน จ่ายรอบแรก เม.ย.นี้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้เตรียมนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในภาพรวมทั้งระบบ ประกอบด้วยมาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการออกระเบียบให้ทันในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0-5% ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปีนับจากนี้

และยังมีมาตรการสนับสนุนให้ชาวไร่ใช้รถตัดอ้อย โดยมีสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562 – 2564)

โดยจะนำเสนอให้ ครม.เห็นชอบอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินการได้

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย

“ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ยังได้มีมาตรการด้านการบริหารจัดการโดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 เป็นจังหวัดปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์

สำหรับความก้าวหน้าเกี่ยวกับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อ ซื้อปัจจัยการผลิต (50 บาทต่อตันอ้อย) ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในรอบแรกสำหรับอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตั้งแต่ต้นฤดูการจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 โดยมีปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 64 ล้านตัน เป็นเงิน 3,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 150,000 ราย โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือรอบแรกภายในเดือนเมษายน 2562 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 เมษายน 2562

ชงครม.เคาะมาตรการคุมอ้อยไฟไหม้ อุตฯตั้งธงจัดการหมดภายใน3ปี

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในภาพรวมทั้งระบบให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ทันฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลสามารถรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเหลือเพียง 0-5% ต่อวัน ทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปีนับจากนี้

“กระทรวงฯ ร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ตั้งเป้าหมายเป็นจังหวัดปลอดการเผาอ้อย โดยให้มีการตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย และอุตรดิตถ์”นายพสุ กล่าว

เบื้องต้น กระทรวงได้เสนอโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) อัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตรา 4% ต่อปี และ ธ.ก.ส.

รับภาระในอัตรา 2% ต่อปี สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้ด้วย

ส่วนทางด้านความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อ ซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อยนั้น ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในรอบแรกสำหรับอ้อยที่เข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ตั้งแต่ต้นฤดูการจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2562 โดยมีปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวนทั้งสิ้น 64 ล้านตัน เป็นเงิน 3,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 150,000 ราย โดยจะเริ่มทำการจ่ายเงินช่วยเหลือรอบแรกภายในเดือนเมษายน 2562

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 เมษายน 2562

พาณิชย์มั่นใจปีนี้ไทยยังคงสถานะ WL ต่อ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย USTR ออกรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 62 ชื่นชมไทยป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างดี ทำสถานการณ์ละเมิดคลี่คลาย คาดปีนี้คงสถานะไทยในบัญชี WL ต่ออีกปี สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าของสิทธิ์สหรัฐฯ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้เผยแพร่รายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2562 (2019 National Trade Estimate Report) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-สหรัฐฯ เช่น นโยบายการนำเข้าสินค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

โดยในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รายงานฯ ระบุว่า สหรัฐฯ และไทยมีความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กรอบความตกลงการค้าการลงทุนสหรัฐฯ–ไทย (TIFA) ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อีกทั้งสหรัฐฯ ยังตระหนักถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทั้งในส่วนของการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบสิทธิบัตร , การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีกระบวนการแจ้งเตือน และนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบอินเทอร์เน็ต (Notice & Takedown System) และการบรรจุผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเพื่อแก้ไขปัญหางานจดทะเบียนค้างสะสม

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังชื่นชมการทำงานในเชิงบูรณาการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยที่ได้ปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ตผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการตรวจตราพื้นที่และการจับกุมผู้ละเมิดอย่างจริงจัง และการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

“กรม จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่อไป ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย”นายทศพลกล่าว

นายทศพลกล่าวว่า ผลจากการที่สหรัฐฯ พอใจกับการดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ทั้งการป้องกัน โดยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการปราบปรามการละเมิด ซึ่งน่าจะส่งผลให้การทบทวนสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ที่สหรัฐฯ จะประกาศผลสิ้นเดือนเม.ย.2562 ไทยจะยังคงอยู่ในสถานะเดิมที่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ต่อเนื่องอีกปี หลังจากปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เลื่อนสถานะไทยให้ดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มานานนับ 10 ปี

”ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ทั้งเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรส่วนใหญ่เสนอแนะให้ USTR คงสถานะไทยไว้ที่เดิม คือ WL เพราะปีที่ผ่านมา ไทยทำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาเยอะมาก ทั้งการป้องกัน และการปราบปราม ส่งผลให้การขายสินค้าละเมิด ทั้งในตลาดทั่วไป และตลาดออนไลน์ ลดลง และยังมีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ละเมิดภาพยนตร์ เพลงอีก จนทำให้สหรัฐฯ พอใจไทย”นายทศพลกล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 8 เมษายน 2562

“พาณิชย์”ไม่ห่วงเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น

อธิบดีกรมการค้าภายใน ไม่ห่วงเงินเฟ้อ เชื่อราคาสินค้าปรับขึ้นช่วงสั้นตามฤดูกาล ประสานเชื่อมโยงตลาด มีสินค้าเพียงพอสำหรับประชาชน

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงนี้ซึ่งใกล้เข้าสู่หน้าแล้ง ส่งผลทำให้ปริมาณสินค้าที่ออกสู่ตลาดลดลงมีผลต่อราคาสินค้าทำให้ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แต่อย่างไรก็ตามทางกรมการค้าภายใน ได้มีการส่งทีมออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างใกล้ชิด โดยพื้นที่ใดสินค้าขาดแคลนทางกรมฯ จะมีการประสานเชื่อมโยงตลาด ให้มีการจัดส่งสินค้ากระจายออก ในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่สูงขึ้น ในภาวะที่ปริมานสินค้าน้อยลง

โดยไม่ห่วงสถานการณ์ราคาสินค้าจะเป็นปัจจัย ผลักดันทำให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยมั่นใจเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นนั้นจะเป็นเพียงช่วงสั้นตามฤดูกาล ไม่น่าจะส่งผลกระทบยาวนาน

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 8 เมษายน 2562

ก.อุตฯตื่นรับมือซากแผงโซลาร์หมดอายุ 7.9 แสนตัน ใน 20 ปีจากนี้

ก.อุตฯจี้ กรอ.ดูลู่ทางผุด รง.ซ่อม/รีไซเคิล รับมือแผงโซลาร์เซลล์จ่อหมดอายุใช้งานภายใน 3 ปี ป้องกันขยะพิษมหาศาล 6.2-7.9 แสนตันในอนาคต

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้หาแนวทางลดปัญหามลพิษก่อนกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังจะทยอยหมดอายุการใช้งานในปี 2565-2601 หลังจากประเทศไทยมีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2545 คิดเป็นซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมสูงถึง 6.2-7.9 แสนตัน

“ขณะนี้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าเมื่อแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งานแล้วจะกำจัดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมและควบคุมกำกับดูแล ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย จะได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ศึกษาความเป็นไปได้และหาแนวทางในการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างยั่งยืนต่อไป”

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผงที่ยังใช้ได้ และสนับสนุนการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อรองรับแผงโซลาร์เซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือชำรุดจนไม่สามารถซ่อมแซม เป็นโรงงานลำดับที่ 106 (ประกอบกิจการ เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมกากอุตสาหกรรม)

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าในเชิงคุณภาพแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังคงผลิตไฟฟ้าได้อยู่เพียงแต่จะมีประสิทธิภาพลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือหมดอายุทางการสร้างความคุ้มค่าทางการเงิน แต่ยังคงสร้างความคุ้มค่าด้านพลังงานได้ ดังนั้น จึงกำหนดแนวทางดำเนินงานไว้ 3 แนวทาง คือ 1.การรับคืนแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ 2.การเปิดโรงงานรียูสซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์ช่วยต่ออายุการใช้งานได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี และ 3.การรับซากแผงโซลาร์เซลล์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล และมีแนวคิดให้มีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมแผงโซลาร์เซลล์และโรงงานรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์

นายสุรพลกล่าวว่า กระทรวงมีเป้าหมายจัดตั้งโรงงานใน 10 จังหวัดปริมณฑลและตามหัวเมืองในแต่ละภูมิภาค จังหวัดละ 10 แห่งในช่วงแรก คาดจะมีโรงงานซ่อมแซมและรีไซเคิลทั้ง 2 ประเภทรวมกันประมาณ 100 แห่ง และจะทยอยอนุญาตให้จัดตั้งในแต่ละจังหวัดต่อไป โดยอย่างน้อยต้องมีโรงงานประเภทดังกล่าวจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อรองรับการซ่อมแซมและรีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าจะช่วยลดปัญหาการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ที่จะเกิดขึ้นได้ถึง 90% คิดเป็น 5.6-7.1 แสนตัน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 8 เมษายน 2562

อุตฯชงครม.เลิกอ้อยไฟไหม้3 ปี

ก.อุตฯชง ครม. เคาะมาตรการคุมอ้อยไฟไหม้ ตั้งเป้า 3 ปีตัดอ้อยสด 100% ดีเดย์เงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อยภายในเม.ย.นี้                   

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ในภาพรวมทั้งระบบให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ทันฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลสามารถรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน สำหรับฤดูการผลิตปี 2563/2564 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเหลือเพียง 0-5% ต่อวัน ทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปีนับจากนี้

“กระทรวงฯ ร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตั้งเป้าหมายเป็นจังหวัดปลอดการเผาอ้อย โดยให้มีการตัดอ้อยสด 100% ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ เลย และอุตรดิตถ์”นายพสุ กล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้เสนอโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) อัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตรา 4% ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตรา 2% ต่อปี สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ย 1% ต่อปี

นอกจากนี้ จะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้ด้วย

นายพสุ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อ ซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อยว่า ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในรอบแรกสำหรับอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ตั้งแต่ต้นฤดูการจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2562 โดยมีปริมาณอ้อยที่ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 64 ล้านตัน เป็นเงิน 3,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 150,000 ราย โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือรอบแรกภายในเดือนเม.ย.นี้

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 เมษายน 2562

รง.เอทานอลหยุดผลิต ปริมาณล้นตลาด-จี้รัฐกระตุ้นใช้แก๊สโซฮอล์

ผู้ประกอบการเอทานอลจากมันสำปะหลังอ่วม ต้นทุนขึ้นต้องหยุดผลิต แข่งขันราคายาก “สมาคมเอทานอลฯ” เตรียมหารือรัฐบาลใหม่เดินหน้าส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 20 ถ่างส่วนต่างเพิ่มเป็น 4 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันห่างแค่กว่า 2 บาทต่อลิตร

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง 9 ราย รวมกำลังผลิต 2.08 ล้านลิตรต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งประเทศที่ใช้กากนํ้าตาลรวมอยู่ที่ 5.8 ล้านลิตรต่อวัน กำลังประสบปัญหาจากปริมาณเอทานอลที่ล้นตลาดอยู่ในเวลานี้ ส่งผลให้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงมาเหลือ 40-50% ประกอบกับต้นทุนเอทานอลจากมันสำปะหลังสูงกว่าเอทานอลจากกากนํ้าตาล 2-3 บาทต่อลิตร จึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ และส่งผลให้บางโรงงานหยุดเดินเครื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการผลิตจากกากนํ้าตาลเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น นับจากช่วงฤดูหีบอ้อยเมื่อปลายปี 2561

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้หารือกับทางภาครัฐไปแล้ว แต่ทางกระทรวงพลังงานเห็นว่าราคามันสดยังอยู่ในระดับสูงที่ 2.40-2.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาอ้อยก็มีเงินชดเชย ดังนั้นในช่วงนี้กระทรวงพลังงานจึงต้องการเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ผลิตปาล์มนํ้ามันก่อน ดังนั้น หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ สมาคมจะเข้าพบรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เร่งรัดส่งเสริมการใช้เอทานอล ตามแผนบริหารจัดการนํ้ามัน (Oil Plan) ที่เดิมกำหนดส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์อี 10 ต่างจากอี 20 อยู่ที่ 4 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2.74 บาทต่อลิตรเท่านั้น โดยส่วนต่างที่แคบลงทำให้ผู้ใช้รถหันมาใช้แก๊สโซฮอล์อี 10 มากขึ้น

“ปัจจุบันโรงงานอุบลเอทานอล ก็ได้รับผลกระทบ เช่นกัน ปัจจุบันเดินเครื่องเพียง 50% หรืออยู่ที่ 2 แสนลิตรต่อวัน จากเดิมผลิตอยู่ที่ 4 แสนลิตรต่อวัน เพื่อส่งให้ลูกค้าตามสัญญา”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันยอดใช้เอทานอลรวมอยู่ที่ 4.1-4.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7-8 แสนลิตรต่อวัน จากการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ราคาต้นทุนเอทานอลจากมันสำปะหลังสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังสูงขึ้น จนไม่สามารถแข่งขันกับเอทานอลจากกากนํ้าตาลได้ ดังนั้นจะเห็นว่าโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังจะหยุดผลิตในช่วงนี้

ขณะที่การส่งออกเอทานอลเป็นไปได้ยาก การมีคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ ที่ผลิตเอทานอลจากข้าวโพดจีเอ็มโอ มีต้นทุนตํ่ากว่ามาก ปัจจุบันราคาเอทานอลอ้างอิงอยู่ที่ 22 บาทต่อลิตร เท่านั้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน 2562

'กฤษฎา'สั่งฝนหลวงสแตนด์บาย24ชม. ยันหน้าแล้งเหลือ50วันมีน้ำพอทุกพื้นที่

"กฤษฎา"สั่งฝนหลวงสแตนด์บาย24ชม. ชี้ความชื้นเกิน50-60%ขึ้นบินทำฝนช่วยภัยแล้ง เติมน้ำการเกษตร ยันหน้าแล้งเหลือกว่า50วัน มีน้ำให้ทุกพื้นที่ กำชับกรมชลฯ-กปภ.เร่งลำเลียงน้ำดิบผลิตประปา ส่งถึงปชช.ทันท่วงที เน้นทุกจังหวัดภาคเหนือ-อีสาน ต้องหาแหล่งน้ำทั้งใกล้และไกลมาป้อนประปาสาขาทุกชุมชนอย่างทั่วถึง

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการบรรเทาภัยแล้ง และปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองกระทบสุขภาพประชาชน ในภาคเหนือและภาคอีสาน ว่า ขณะนี้สั่ง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้หน่วยฝนหลวงทั่วประเทศ สแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าสภาพอากาศอำนวย คือ มีความชื้น 50 - 60% ก็ขึ้นทำทันที ขณะนี้เปิดอยู่ 11 หน่วยปฎิบัติ 9 ฐานบิน ครอบคลุมทั้งประเทศเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพิ่มน้ำการเกษตร แหล่งน้ำ และเขื่อนต่างๆ ทั้งนี้ ยังมีหน่วยบินของกองทัพอากาศ (ทอ.) พร้อมสนับสนุนด้วย

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ได้สั่งการด่วนให้อธิบดีกรมชลประทาน แจ้งสำนักชลประทานจังหวัด ประสานกับผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมกันแก้ไขปัญหาทุกพื้นที่เสี่ยงอย่างเร่งด่วน โดยเน้นทุกจังหวัดภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งได้จัดทำบัญชีแหล่งน้ำไว้แล้ว ซึ่งบางพื้นที่แหล่งน้ำอยู่ไกล โดยให้ชลประทานจังหวัด และการประปาภูมิภาค เข้าดำเนินการชักน้ำ ลำเลียงน้ำไปให้ถึงประชาชนอย่างทันท่วงที

นายกฤษฎา กล่าวว่า เหลือเวลาช่วงหน้าแล้งกว่า 50 วัน จากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าฤดูฝนมาสัปดาห์ที่ 2 เดือน พ.ค.ยืนยันว่าจัดสรรน้ำให้ทุกพื้นที่ผ่านพ้นไปได้ และสำรองไว้หากฝนทิ้งช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค.ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค บูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน พร้อมหน่วยทหาร จัดหาน้ำให้ประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ ขอนแก่น มหาสารคาม และพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ กาญจนบุรี ราชบุรี นครราชสีมา และเลย พื้นที่เฝ้าระวัง 17 จังหวัด เช่น พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ เป็นต้น

รวมทั้งดูแลพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินแผนจัดสรรน้ำ 1.18 ล้านไร่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 32 จังหวัด และนอกเขตชลประทาน 7 จังหวัด ให้เก็บเกี่ยวได้ แต่ขอให้หยุดทำนาปรังต่อเนื่อง โดยทุกหน่วยงานลงทำความเข้าใจเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย รัฐมีมาตรการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไร่ละ 2 พันบาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก พืชไร่ เพื่อสำรองน้ำไว้ฤดูถัดไป

ด้าน นายสุรสีห์ กล่าวว่า ผลปฎิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ช่วยพื้นที่ขาดน้ำ แก้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมีผลกระทบสุขภาพประชาชน โดยเมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) ตรวจสภาพอากาศพบว่าบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความชื้นในอากาศมากกว่าร้อยละ 60 จึงได้สั่งการให้หน่วยปฎิบัติการฝนหลวงขึ้นทำการบิน โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ได้ขึ้นบินปฏิบัติขึ้น 3 เที่ยวบิน ทำให้มีฝนตกบริเวณ จ.เชียงใหม่

ดังนี้ ขั้นเสริมการก่อตัวของเมฆเที่ยวแรกขึ้นเวลา 13.30 น.หลังปฏิบัติการพบว่า เมฆมีการพัฒนาตัวตกเป็นฝนเวลา 16.00 น.บริเวณ อ.อมก๋อย อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ปริมาณเล็กน้อย 4.0 มม. (อมก๋อย) โจมตีเที่ยวที่ 2 ขึ้นเวลา 15.20 น.ทำให้ฝนตกเวลา 15.55 น.บริเวณ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปริมาณเล็กน้อย พร้อมโจมตีเที่ยวที่ 3 ขึ้นเวลา 16.35 น.เมื่อไปถึงบริเวณพื้นที่เป้าหมาย (อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่) พบว่ากลุ่มเมฆบริเวณดังกล่าวตกเป็นฝนและเริ่มสลายตัว ยกฐานสูงขึ้น จึงตัดสินใจปฏิบัติการในขั้นตอนเสริมการก่อตัวของเมฆพื้นที่ข้างเคียงบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ อ.ฮอด - ทิศเหนือ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ จากการติดตามเริ่มพบกลุ่มฝนตกบริเวณ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 18.48 น.และมีทิศทางการเคลื่อนตัวทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่ จ.ลำพูน รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ฝนหลวง จ.จันทบุรี ได้ขึ้นบินฝน ช่วยพื้นที่เกษตร และเกาะสีชัง ขาดน้ำอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ภาคกลาง หน่วยปฏิบัติการฯ ฝนหลวง จ.ลพบุรี จ.กาญจนบุรี และพื้นที่ภาคใต้ หน่วยปฏิบัติการฯ ฝนหลวงหัวหิน บินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 เมษายน 2562

‘กฤษฎา’ดันปฏิรูปภาคเกษตร จัดแผนกำหนดโควตา‘ปลูกพืช-ทำปศุสัตว์’

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าเร่งขับเคลื่อนปฏิรูปภาคเกษตรทั้งระบบ โดยจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ได้สั่งการปลัดกระทรวงเกษตรฯ และ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งปริมาณการผลิตและปริมาณความต้องการ ของตลาดภายในประเทศและตลาดโลก จากแหล่งข้อมูลในพื้นที่ทำการเกษตรจริง สำนักงานทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ทุกแห่งและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา และกระทรวงพาณิชย์ได้ทำปฏิทินฤดูกาลสินค้าเกษตรเป็นรายชนิดประกอบด้วย ฤดูกาลผลิต ความต้องการใช้ การนำเข้า การส่งออก โครงสร้างและสถานการณ์ราคา รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตรในภาคอุตสาหกรรม แล้วนำข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมาคำนวณเพื่อคาดการณ์ว่า ประเทศไทยควรผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิดในปริมาณเท่าใด นอกจากนี้ให้ประสานกรมพัฒนาที่ดินเพื่อนำข้อมูลแผนที่แสดงความเหมาะสมในการทำเกษตรกรรม (Agri-Map) มาใช้ในการจัดทำข้อมูลมาประกอบการจัดทำเป็นแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศด้วย

นายกฤษฎา กล่าวว่า แผนการผลิตทางการเกษตร จะนำมาให้หน่วยงานที่ทำหน้าส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงใช้แนะนำเกษตรกรให้ทำ โดยกำหนดปริมาณการผลิตที่เหมาะสมหรือโควตาการผลิตทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทั้งนี้แผนการผลิตสินค้า​เกษตรทุกชนิด สศก. ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งเตือนภัยให้หน่วยงานส่งเสริมการผลิตในการเตรียมวางแผนเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อรักษา​เสถียรภาพ​ราคา และป้องกันไม่ให้เกษตรกรขาดทุน​รายงานข้อมูลดังกล่าวให้จัดทำเป็นรายไตรมาสและรายงานประจำปี โดยให้เริ่มรายงานฉบับแรกในไตรมาส 3/2562 (เดือนกรกฎาคม) เป็นต้นไป

“จะกำหนดโควตาการผลิตทุกชนิดให้สมดุลกับความต้องการตลาด กำหนดปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ หรือทำประมงให้ทำในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตาม Agri-Map จะช่วยลดต้นทุนและได้ผลผลิตสูง เป็นการผลิตแบบ “ทำน้อย ได้มาก” แก้ปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรขายขาดทุนซ้ำซาก ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละปีต้องใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท เข้าพยุงราคาในการประกัน รับจำนำ และยังไม่ทำให้โครงสร้างภาคเกษตรเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นการวางแผนการผลิตเกษตรฯนี้จะลดการสูญเสียงบประมาณของประเทศและสร้างฐานราก ยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน” นายกฤษฎา กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน 2562

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘ทรงตัว’ ที่ 31.77 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.77 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ บวก 0.21% หลังรายงานยอดผู้เข้ารับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดผสมผสาน โดย ดัชนี STOXX50 ของยุโรปปรับตัวขึ้น 0.19% ในขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษปรับตัวลง 0.22% เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์ Brexit

สำหรับตลาดค่าเงิน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อ 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯออกมาดีกว่าคาด ในขณะที่ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit  ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.13% แตะระดับ 1.122 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังคำสั่งซื้อสินค้าโรงงานของเยอรมันร่วงหนักกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น ส่วนค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงถึง 0.6% แตะระดับ 1.307 ดอลลาร์ต่อปอนด์ เนื่องจากตลาดยังไม่มั่นใจแนวโน้มสถานการณ์ Brexit และรอความคืบหน้าการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านเพื่อหาทางออก Brexit  นอกจากนี้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง 0.2% แตะระดับ 111.7 เยนต่อดอลลาร์ ตามแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาด  จากความหวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนมากขึ้น หลังยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงาน (Factory Order) ของเยอรมันในเดือนกุมภาพันธ์ หดตัวถึง 4.2% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะขยายตัว 0.5%  ชี้ว่าภาคธุรกิจเยอรมันมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ยอดผู้เข้ารับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1หมื่นราย แตะระดับ 2.02 แสนราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 49ปี และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.16 แสนราย โดยยอดผู้เข้ารับสวัสดิการว่างงานที่ลดลงต่อเนื่อง ชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯค่อนข้างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น

สำหรับวันนี้ มองว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของเยอรมันเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มปรับลดลง 1% จากเดือนก่อนหน้า หลังหดตัวถึง 0.8% ในเดือนมกราคม สอดคล้องกับการหดตัวของยอดคำสั่งซื้อสินค้าโรงงาน ชี้ว่าภาคการผลิตเยอรมันยังไม่ฟื้นตัว ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะให้ความสำคัญกับรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.75แสนราย จากเดือนก่อนหน้า ถือว่าดีขึ้นกว่าการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์ที่มีเพิ่มขึ้นเพียง 2หมื่นราย สอดคล้องกับรายงานสภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Fed Beige Book) ที่ เฟดทุกสาขาต่างรายงานการจ้างงานที่ขยายตัวดีขึ้น นอกจากนี้ สภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ตึงตัว จากอัตราว่างงานระดับต่ำกว่า 4% และตำแหน่งงานที่เปิดรับสูงกว่าจำนวนคนว่างงานถึง 1.3ล้านต่ำแหน่ง จะส่งผลให้ การเติบโตของรายได้ยังอยู่ในระดับ 3.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

คาดค่าเงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเดิม เนื่องจากตลาดรอดูแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ นอกจากนี้ปัจจัยการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง ทำให้ค่าเงินบาทกลับไปแข็งค่ายากขึ้น มองกรอบเงินบาท 31.70-31.80 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 เมษายน 2562

เงินเฟ้อ Q2 จ่อ 1.01% แล้งกระทบสินค้าเกษตร-น้ำมันขึ้นราคา

สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้ราคาสินค้า ผัก ผลไม้ หลายรายการปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 1/2561 ขยายตัว 0.74% ขณะที่ไตรมาส 2 เข้าช่วงแล้งเต็มตัว ประกอบกับช่วงเดือนสงกรานต์ และเข้าช่วงเปิดเทอม เป็นแรงส่งให้เงินเฟ้อไตรมาส 2 มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.01% จากกรอบเงินเฟ้อทั้งปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.7%

ราคาผักมี.ค.ขยับขึ้น 9.54%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนมีนาคม 2562 เท่ากับ 102.37 เพิ่มขึ้น 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และเพิ่มขึ้น 1.24% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2562) เพิ่ม 0.74%

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2562 ปรับเพิ่มขึ้น มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 2.38% โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักสด สูงขึ้น 9.54% ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.58% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 4.70% ไข่ และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 0.81% เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 2.81% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.74% อาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 0.75% นอกบ้าน สูงขึ้น 1.85%

ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.58% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.79% โดยน้ำมัน สูงขึ้น 2.27% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.32% เคหสถาน สูงขึ้น 0.61% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.33% เป็นต้น ขณะที่หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.01%

แล้งกระทบผลผลิตเกษตร

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเดือนมีนาคมมาจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตออกมาน้อย โดยเฉพาะดัชนีราคาผักสดในเดือนมีนาคม ราคาสูงขึ้น 9.54% ขณะที่เฉลี่ย 3 เดือน สูงขึ้น 1.78% สำหรับสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น คะน้า ผักชี และมะนาว หากดูราคามะนาวเฉลี่ยที่ราคาต่ำสุดลูกละ 3 บาทที่จ.เพชรบูรณ์ และราคาเฉลี่ยสูงสุดลูกละ 6 บาท ที่จ.สงขลา ส่วนราคาที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยลูกละ 5.3 บาท และยังต้องจับตาแนวโน้มราคากลุ่มผักอาจจะสูงขึ้นต่อ ส่วนไข่ไก่ราคาขายเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 2.40 บาทต่อฟอง ราคาสูงสุดเฉลี่ย 3.63 บาทต่อฟอง รวมไปถึงสุกร ที่ต้องติดตามจากปัญหาภัยแล้งด้วย ส่วนราคาน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2.27%

ขณะที่ราคาผลไม้ปรับลดลงสวนทางกับราคาผัก โดยดัชนีราคาในเดือนมีนาคม ลดลง 0.52% และดัชนีราคา 3 เดือนเฉลี่ยลดลง 1.36% เป็นผลมาจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาด จึงทำให้ราคาสินค้าหลายรายการลดลง เช่น ลองกอง ส้มเขียวหวาน กล้วย และมะม่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ไตรมาส 2 ยังมี “ปัจจัยราคาน้ำมัน” และเข้าสู่ช่วงเทศกาล “สงกรานต์” ซึ่งมีผลต่อการปรับตัวของราคาสินค้าสูงขึ้น ประกอบกับ “ใกล้เข้าสู่ช่วงเปิดเทอม” ทำให้สินค้าเกี่ยวกับโรงเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น

246 สินค้าปรับขึ้นราคา

หากติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งหมด จะพบว่ามีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 246 รายการ เช่น เนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า น้ำพริกแกง กะหล่ำปลี มังคุด ไข่ไก่ ไก่สด มะนาว น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าที่ลดลง 93 รายการ เช่น น้ำมันพืช มะละกอสับ ลองกอง องุ่น กล้วยน้ำว้า กุ้งขาว แป้งทาผิวกาย แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม และสินค้าที่ราคาทรงตัว 83 รายการ

แต่หากติดตามราคาสินค้าและบริการในไตรมาส 1 ที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ข้าวสารเจ้า ขนมหวาน มะนาว ผักกาดขาว มังคุด ก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาสินค้าที่ลดลง เช่น กระเทียม ถั่วฝักยาว ลองกอง ใบกะเพรา ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง เป็นต้น

ลุ้น”ค่าแรง”ดันเงินเฟ้อ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2 คาดว่าจะสูงขึ้น โดยมีปัจจัยราคาน้ำมัน ภัยแล้งทำให้ผลผลิตจะออกน้อยส่งผลให้ราคาขยับสูงขึ้น และการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้น และช่วงเปิดเทอมที่ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สนค. ยังไม่ได้นำ “ปัจจัยค่าแรง” มาประเมินร่วมด้วย เนื่องจากยังไม่ได้มีความชัดเจน จึงยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีว่าจะขยายตัว 0.7-1.7% ตามเป้าหมาย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 เมษายน 2562

อ้อยเข้าหีบแล้ว 126.14 ล้านตัน ได้น้ำตาล 13.92 ล้านตัน ยังคุมเข้มเผาอ้อยย้ำโทษคุก 7 ปี

โรงงานน้ำตาลประเมินปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 61/62 ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ หลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูหีบจากการเปิดรับผลผลิตแล้ว 133 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวม 126.14 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 13.92 ล้านตัน พร้อมเตรียมแผนเพาะปลูกอ้อยฤดูถัดไป หวั่นวิกฤตภัยแล้งฉุดอ้อยลดลง ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม เผยอ้อยไฟไหม้ลดลงและยังคุมเข้มการเผาอ้อย โทษจำคุก 7 ปี ปรับ 14,000 บาท

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปี 61/62 ที่เริ่มเปิดรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาเปิดหีบอ้อยแล้ว 133 วัน และเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปีนี้

พบว่ามีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว รวมทั้งสิ้น 126.14 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 125.81 ล้านตัน และผลิตผลน้ำตาลได้แล้ว 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.80 ล้านตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.60 ซี.ซี.เอส. ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.52 ซี.ซี.เอส.

โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 110.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้น 0.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 109.68 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณที่ดีจากปริมาณอ้อยไฟไหม้ พบว่าฤดูการผลิตปีนี้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จำนวน 5% จากปีก่อน 65% มาเป็น 60% ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม อ้อยไฟไหม้ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

“ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการหีบอ้อยในปีนี้ หลังผ่านมา 133 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันเริ่มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านตันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าโรงงานน้ำตาลทุกโรงจะสามารถปิดหีบอ้อยทั้งหมดได้ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น ประมาณ 130 ล้านตัน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลได้เตรียมการเพาะปลูกอ้อยสำหรับปี 2562/63 โดยการจัดส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือชาวไร่ในการเพาะปลูกอ้อยข้ามแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานและมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมให้ดำเนินการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย หลังจากมีความกังวลว่า ภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีถัดไป ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณลดลงกว่าปีนี้

ทางด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ว่าในปีนี้มีโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยทั้งสิ้น 55 โรงงาน ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 มีจำนวน 126.14 ล้านตัน ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายปิดหีบไปแล้ว จำนวน 24 โรงงาน และจะปิดหีบในวันที่ 11 เมษายน อีก 22 โรงงาน ซึ่งคาดว่าจะปิดหีบทุกโรงงานภายในวันที่ 30 เมษายน 2562

ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยคงเหลือเพียงประมาณ 1,500,000 ตัน เท่านั้น และด้วยสถานการณ์หมอกควันและค่าฝุ่นละอองเกินระดับมาตรฐานใน 9 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้กำชับให้หน่วยงานราชการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการทำงานในพื้นที่ ขอให้ระดมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจสอบและปราบปรามการลักลอบเผา หากผู้ใดกระทำความผิดให้จับกุม โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำนักอัอยฯ จึงมีหนังสือแจ้งไปยังสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ให้กำชับชาวไร่อ้อยงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล ซึ่งหากมีการเผาอ้อยในกรณีใดก็ตามถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 4 เมษายน 2562

กกร.ห่วงศก.โลกป่วน หั่นจีดีพีปี’62เหลือแค่3.7-4%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. (สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสอท. ว่าที่ประชุมได้ทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ใหม่ โดยมีมติปรับลดประมาณการจีดีพีลงอยู่ที่ 3.7-4% จากเดิมคาดไว้โต 4-4.3% การส่งออกคาดลดลงอยู่ที่ 3-5% จากเดิมคาดไว้โต 5-7% โดยยังไม่มีการนำปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเข้ามาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด

การปรับประมาณการลดลงเป็นผลจากทิศทางเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณความไม่แน่นอนมากขึ้น กรณีอังกฤษจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ยังไม่มีข้อสรุปประกอบกับความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อตกลงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เห็นได้จากการส่งออก 2 เดือนแรกที่ชะลอตัวลงชัดเจน ทำให้มองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังไม่ปรับขึ้น ยืนยันขณะนี้ปัจจัยการเมืองยังไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมากนัก

นายสุพันธุ์กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ซึ่งเบื้องต้นยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ถ้าไม่มีปัญหาอะไร การลงทุนที่ลงทุนอยู่แล้วก็เดินหน้าตามแผน เพราะมองว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศเป็นปัญหาชั่วคราว แต่มีกรอบเวลาที่จะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ขณะที่การลงทุนใหม่อาจชะลอการตัดสินใจลงทุนบ้าง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล หากไม่มีนโยบายประชานิยมเกินเหตุจนวินัยการคลังเสียก็ดี เป็นเรื่องที่น่าห่วง ไม่อยากให้เกิดขึ้น

“เร็วๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญ แต่วันนี้มีประเด็นการเมืองยังไม่ชัดเจน มีปัญหาคลางแคลงใจ เมื่อเสร็จพระราชพิธีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อยุติปัญหาหากหลายคนเห็นว่าไม่โปร่งใสก็มาว่ากันตามกรอบกติกาประเทศจะเดินได้ด้วยความสงบสุข ดังนั้น หลังวันที่ 9 พฤษภาคมอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน การเรียกร้องคัดค้านอะไรขอให้เดินไปตามกฎหมาย และขอให้ยอมรับกติกาการเลือกตั้งที่เป็นแนวทางพิสูจน์ตามข้อเท็จจริง” นายสุพันธุ์กล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ยอมรับ กกร. มีความห่วงภาวะเศรษฐกิจจากปัจจัยหลักเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐและหวังว่าปัญหาต่างๆ จะหมดลงโดยเร็วเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ตามที่คาดไว้ 3.7-4% ซึ่งความเชื่อมั่นเป็นเรื่องสำคัญ กรอบเวลาเป็นเรื่องใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องเดินหน้าโครงการลงทุน ต้องเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว การลงทุนก็ไม่มีปัญหา

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสงบเรียบร้อยของประเทศมาเป็นอันดับหนึ่ง ใครไม่เห็นด้วยก็ต้องเดินไปตามกระบวนการของกฎหมาย ถ้าเห็นว่าไม่โปร่งใสก็มีช่องทางการตรวจสอบ เรียกร้องให้เปิดเผยด้วยความโปร่งใสต่อไป

นอกจากนี้ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ กระทบกับการท่องเที่ยว ซึ่งยอมรับว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงบางส่วน เพราะกังวลต่อปัญหาสุขภาพ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขด่วนเพราะการท่องเที่ยวเวลานี้ถือเป็นเครื่องยนต์เดียว ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังมีปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางการเมืองในประเทศรุมเร้าส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 4 เมษายน 2562

BBGI พร้อมสนับสนุนภาครัฐรณรงค์ใช้ไบโอดีเซล – เอทานอล ลดฝุ่นละอองในอากาศ

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI) ซึ่งประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมทั้งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรรณรงค์ให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมัน

การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซพิษและฝุ่นละอองในอากาศ โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล จากร้อยละ 7 (B7) เป็นร้อยละ 10 (B10) หรือร้อยละ 20 (B20) จะมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเขม่าของไบโอดีเซลมีขนาดเล็กกว่าเขม่าของน้ำมันดีเซลทั่วไป ในขณะที่การใช้แก๊สโซฮอลล์ E20 หรือ E85 จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าการใช้แก๊สโซฮอลล์ 91 หรือ 95 เนื่องจากการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินจะช่วยเพิ่มค่าออกเทนและเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเบนซินปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พบว่ารถยนต์ยังมีอัตราการใช้ E20 น้อยกว่าที่ควรจะเป็นค่อนข้างมาก ดังนั้น BBGI บริษัทย่อย และบริษัทร่วม (“กลุ่มบริษัทฯ”) พร้อมสนับสนุนให้ภาครัฐเร่งผลักดันการใช้น้ำมันดีเซล B10 หรือ B20 และรณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้แก๊สโซฮอลล์ E20 หรือ E85 เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเอทานอล 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 930,000 ลิตรต่อวัน ล่าสุด กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนโครงการขยายกำลังการผลิตเอทานอลและเงินทุนหมุนเวียน รวม 1,125 ล้านบาท กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 300,000 ลิตรต่อวัน ทำให้กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมดคิดเป็น 1,200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีการเผาไหม้สมบูรณ์กว่า ซึ่งสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก www.thansettakij.com วันที่ 4 เมษายน 2562

อาเซียนเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ

คลังเผยอาเซียนเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมผลักดันใช้สกุลเงินท้องถิ่นร่วมกันทั้งภูมิภาค

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) หรือ AFCDM+3 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จังหวัดเชียงราย ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงทิศทางการค้าโลกปี 2562 ที่ยังมีทิศทางขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนของการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยที่ประชุมฯ เห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนควรจะมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนต่อเนื่องถึงปีหน้า ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงวัย ซึ่งที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับมาตรการทางการคลังและภาษีเพื่อมารองรับในอนาคต

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (CMIM)  ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าจะเพิ่มบทบาทของสกุลเงินท้องถิ่น จากเดิมสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เช่น เงินเยน หรือหยวน เป็นต้น โดยประเทศสมาชิกจะหาแนวทางผลักดันร่วมกันต่อไป ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะสามารถเริ่มใช้ได้เมื่อใด เพราะอยู่ในขั้นตอนการหารือ

ขณะเดียวกันได้หารือเกี่ยวกับมาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย (ABMI) เป็นมาตรการเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออม ซึ่งที่ประชุมได้ทบทวนแผนงาน ABMI ฉบับปัจจุบัน (ปี 2562-2565) (ABMI Roadmap Review) โดยจะมุ่งสนับสนุนให้ตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นเอเชียเป็นแหล่งเงินทุน เพื่อการลงทุนภายในภูมิภาค เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 4 เมษายน 2562

อ้อยเข้าหีบทะลุ 126 ล้านตันน้ำตาลได้ 13.92 ล้านตัน ปิดหีบก่อนสงกรานต์

โรงงานน้ำตาลประเมินปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 61/62 ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ หลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูหีบจากการเปิดรับผลผลิตแล้ว 133 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวม 126.14 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 13.92 ล้านตัน พร้อมเตรียมแผนเพาะปลูกอ้อยฤดูถัดไป หวั่นวิกฤตภัยแล้งฉุดอ้อยลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปี 61/62 ที่เริ่มเปิดรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาเปิดหีบอ้อยแล้ว 133 วัน และเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปีนี้ พบว่ามีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้วรวมทั้งสิ้น 126.14 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 125.81 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้แล้ว 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.80 ล้านตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.60 ซีซีเอส ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.52 ซีซีเอส โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 110.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้น 0.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 109.68 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณที่ดีจากปริมาณอ้อยไฟไหม้ พบว่าฤดูการผลิตปีนี้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน จำนวนร้อยละ 5 จากปีก่อนร้อยละ 65 มาเป็นร้อยละ 60 ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อ้อยไฟไหม้ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

“ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการหีบอ้อยในปีนี้ หลังผ่านมา 133 วันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันเริ่มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านตันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าโรงงานน้ำตาลทุกโรงจะสามารถปิดหีบอ้อยทั้งหมดได้ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้นประมาณ 130 ล้านตัน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

รองประธานคณะกรรมการบริหาร TSMC กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงงานน้ำตาลได้เตรียมการเพาะปลูกอ้อยสำหรับปี 2562/63 โดยการจัดส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือชาวไร่ในการเพาะปลูกอ้อยข้ามแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานและมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมให้ดำเนินการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย หลังจากมีความกังวลว่าภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีถัดไป ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณลดลงกว่าปีนี้

จาก https://mgronline.com วันที่ 3 เมษายน 2562

สอน.คุมเข้มเผาอ้อย ชี้โรงงานทยอยปิดหีบแล้ว คาด 30 เม.ย.หยุดทั้งหมด

“สอน.” เผยโรงงานเริ่มทยอยปิดหีบอ้อยแล้ว โดยคาดภายใน 11 เม.ย.จะหยุดทั้งหมด 46 แห่ง และที่เหลือจะหยุดชั่วคราว 11-17 เม.ย.ก่อนกลับมาเปิดอีกครั้ง ส่วนที่เหลือ 9 แห่งและปิดทั้งหมดภายใน 30 เม.ย. มั่นใจคุมเข้มการเผาอ้อยช่วงที่ผ่านมาได้ผล และเมื่อปิดหีบปัญหาฝุ่นจากการเผาอ้อยจะไม่เกิดขึ้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ว่า ในปีนี้มีโรงงานน้ำตาลทรายเปิดหีบอ้อยทั้งสิ้น 55 โรงงาน ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบถึงวันที่ 1 เมษายน 2562 มีจำนวน 126.14 ล้านตัน ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายปิดหีบไปแล้วจำนวน 24 โรงงาน และจะปิดหีบในวันที่ 11 เมษายนอีก 22 โรงงาน ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 11-17 เมษายนนี้ โรงงานน้ำตาลทุกโรงงานจะหยุดหีบอ้อยชั่วคราวเพื่อลดปัญหาด้านการจราจร และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชน โดยจะมีโรงงานอีกเพียง 9 โรงงานที่เปิดหีบอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน 2562 ซึ่งคาดว่าจะปิดหีบทุกโรงงานภายในวันที่ 30 เมษายน 2562 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยคงเหลือเพียงประมาณ 1,500,000 ตันเท่านั้น

ทั้งนี้ จากสถานการณ์หมอกควันและค่าฝุ่นละอองเกินระดับมาตรฐานใน 9 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้กำชับให้หน่วยงานราชการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยการทำงานในพื้นที่ ขอให้ระดมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน รวมทั้งอาสาสมัครลงพื้นที่ตรวจสอบและปราบปรามการลักลอบเผา หากผู้ใดกระทำความผิดให้จับกุม โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดย สอน.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ให้กำชับชาวไร่อ้อยงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงา

หากมีการเผาอ้อยในกรณีใดก็ตามถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (นายสมพล โนดไธสง) ลงพื้นที่ติดตามร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคที่ 4 รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการเข้มงวด กวดขัน ตรวจสอบและเฝ้าระวังการเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง และหากพี่น้องประชาชนพบเห็นการเผาอ้อยไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตามสามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเข้าดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“เราคุมเข้มปัญหาการเผาอ้อยเพื่อป้อนโรงงานในช่วงที่ผ่านมา และเชื่อว่าหลังสงกรานต์นี้จากการที่โรงงานปิดหีบอ้อยเป็นส่วนใหญ่แล้วปัญหาฝุ่นจากการเผาอ้อยก็คงจะไม่มีอีก” นางวรวรรณกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 3 เมษายน 2562

โรงงานน้ำตาลห่วงภัยแล้งกระทบปริมาณอ้อยปี2562/63 ร่วง!

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC)  เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลได้เตรียมการเพาะปลูกอ้อยสำหรับปี 2562/63 โดยการจัดส่งฝ่ายไร่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือชาวไร่ในการเพาะปลูกอ้อยข้ามแล้ง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะยาวนานและมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา พร้อมให้ดำเนินการจัดเตรียมหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกอ้อย หลังจากมีความกังวลว่า ภัยแล้งในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีถัดไป ซึ่งคาดว่า จะมีปริมาณลดลงกว่าปีนี้

ทั้งนี้การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตในปี 61/62 ที่เริ่มเปิดรับผลผลิตตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาเปิดหีบอ้อยแล้ว 133 วัน และเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปีนี้ พบว่า มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว รวมทั้งสิ้น 126.14 ล้านตัน ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 125.81 ล้านตัน และผลิตผลน้ำตาลได้แล้ว 13.92 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 13.80 ล้านตัน และมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.60 ซี.ซี.เอส. ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 12.52 ซี.ซี.เอส. โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 110.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เพิ่มขึ้น 0.66 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 109.68 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณที่ดีจากปริมาณอ้อยไฟไหม้ พบว่า ฤดูการผลิตปีนี้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จำนวนร้อยละ 5 จากปีก่อนร้อยละ 65 มาเป็นร้อยละ 60 ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อ้อยไฟไหม้ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

“ช่วงนี้ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการหีบอ้อยในปีนี้ หลังผ่านมา 133 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเฉลี่ยต่อวันเริ่มลดลงต่ำกว่า 1 ล้านตันมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า โรงงานน้ำตาลทุกโรงจะสามารถปิดหีบอ้อยทั้งหมดได้ทันก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น ประมาณ 130 ล้านตัน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 3 เมษายน 2562

กกร.ปรับลดตัวเลขส่งออกปี62ลงเหลือ3.0-5.0%เผยโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประ ธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประ เทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบ ด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยวันนี้(3เม.ย.2562) ว่าจำเป็นต้องปรับตัวเลขส่งออกที่เติบโตชะลอกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยที่ประชุม กกร. ประเมินว่า การส่งออกในปี 2562 อาจขยายตัวประมาณ 3.0-5.0% (จากเดิมคาดไว้ที่ 5.0-7.0%) ส่งผลให้ กกร. ทบทวนปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มาเป็น 3.7-4.0% (จากเดิมคาดไว้ที่ 4.0-4.3%) ส่วนมุมมองต่ออัตราเงินเฟ้อ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 จะอยู่ที่ 0.8-1.2%

อย่างไรก็ตามมองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของความไม่แน่นอนมากขึ้น แม้ว่าจะมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนแต่จนถึง ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้หรือมีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา ในขณะเดียวกัน กรณีอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ก็ยังไร้ข้อสรุปและยังคงเป็น ความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก ประเด็นต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะสร้างแรงกดดันต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่อเนื่อง ไปจนถึงปีหน้า หลังจากที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกที่ไม่รวมรายการยุทโธปกรณ์ของไทย สะท้อนภาพที่ไม่สดใสนัก         

เมื่อพิจารณาปัจจัยภายในประเทศ ก็ยังคงต้องรอความชัดเจนทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 โดยภารกิจแรกของรัฐบาลชุดใหม่

นอกจากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 แล้ว เป็นที่คาดหวังว่าจะมีการออกมาตรการ กระตุ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

นายสุพันธุ์กล่าวอีกว่าทาง กกร. ได้ทำการศึกษาโครงการ National Digital Trade Platform เพื่อให้การรับรองการขยายตัวและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการนำเข้า-ส่งออกของไทยผ่านระบบ Digital โดยมีผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ภาครัฐ,ภาคการค้าบริการ, ภาคการผลิต, ภาคการธนาคาร, การขนส่ง และการประกันภัย  ทั้งนี้โครงการนี้จะ        ทำการเชื่อมต่อกับ NSW เพื่อให้ครบวงจรระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการรับส่งข้อมูลในการค้าและการส่งออก  ซึ่งจะได้ประโยชน์ในด้าน Ease of Doing Business ของไทยด้วย

โดยทาง กกร. ได้หารือร่วมกับทาง กพร. ดำเนินการขับเคลื่อนในส่วนของภาครัฐ ส่วนในภาพระดับภูมิภาค กกร. ได้นำเสนอโครงการนี้นำร่องใน ASEAN และ APEC เพื่อให้เกิดการรับส่งข้อมูลการค้าในระบบดิจิทัลระหว่างประเทศต่อไป  รวมถึงร่วมกับ กรม สรรพากร จัดงานสัมมนา”มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการภายใต้การบูรณาการร่วมกัน 5 หน่วยงานร่วม” ในวันที่ 22,24,26 เมษายน 2562  ในภูมิภาคต่างๆ ในต่างจังหวัด และวันที่ 30 เมษายน 2562 ใน กทม.

จาก www.thansettakij.com วันที่ 3 เมษายน 2562

ผวาภัยแล้งเข้มบริหารลำตะคอง งดนาปรังรอบ2-เล็งผันป่าสักเติมน้ำต้นทุน

นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำตะคองช่วงฤดูแล้งปีนี้ว่า เป็นไปตามที่คณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) วางแผนไว้ เมื่อเริ่มเข้าฤดูแล้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 264.42 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 84.08 ของความจุเก็บกัก ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อฤดูฝนปี2561/2562 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562 เพื่ออุปโภค-บริโภค 29 ล้านลบ.ม. เพื่อการอุตสาหกรรม 6 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ 31ล้านลบ.ม. น้ำระเหยรั่วซึม 26 ล้านลบ.ม.จึงยังมีน้ำเหลือเพื่อนาปรังและเพาะปลูกฤดูแล้ง 48 ล้านลบ.ม. รวมความต้องการใช้น้ำ 140 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการบริหารจัดการน้ำที่เข้มงวด เจ้าหน้าที่ชลประทานดูแลการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำทั้ง 5 แห่ง ตลอดลำน้ำลำตะคอง เพื่อให้การส่งน้ำเป็นไปตามรอบเวรที่คณะกรรมการ JMC กำหนดไว้ การใช้น้ำไม่เกิดการสูญเปล่า ทำให้มีน้ำพอเพียงเปิดพื้นที่นาปรังอีก 27,000 ไร่ รวมขณะนี้ทำนาปรังไปแล้วกว่า50,000 ไร่ ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรให้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเกษตรกรบางรายจะเริ่มปลูกนาปรังรอบที่ 2  กรมชลประทานขอความร่วมมือให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ ลำตะคองงดปลูกนาปรังรอบที่ 2  เพราะจากการทดน้ำไปใช้ปลูกนาระหว่างทาง นอกจากทำให้พื้นที่ช่วงปลายคลองส่งน้ำ เช่น อ.เมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เริ่มขาดแคลนน้ำแล้ว ระยะยาวจะกระทบถึงน้ำที่ส่งไปเพื่อผลิตน้ำประปา ซึ่งเสี่ยงเกิดภัยแล้งเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งยังจะกระทบน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำ ทำให้แม่น้ำลำตะคองที่ไหลผ่านตัวเมืองจ.นครราชสีมาเน่าเสีย ชุมชนเดือดร้อน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง  ทั้งนี้ ได้ส่งเจ้าหน้ากรมชลประทานลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และปิดประตูระบายน้ำช่วงต้นคลองบริเวณ อ.สีคิ้ว อ.ขามทะเลศอ อ.สูงเนิน เพื่อไล่น้ำให้ถึงปลายคลองมากที่สุดโดยไม่เพิ่มการส่งน้ำ

สำหรับเขื่อนลำตะคองเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ความจุ 314 ล้านลบ.ม.เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้การเกษตรและอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลศอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 1.5 แสนไร่ แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมากทำให้น้ำไหลเข้าอ่างฯเฉลี่ยปีละ 250 ล้านลบ.ม. มีเพียง 2 ปีคือ ปี2543 และ ปี2554 ที่น้ำไหลเข้าเต็มความจุ และปี 2559 มีน้ำไหลเข้าอ่างฯน้อยที่สุดประมาณ103 ล้านลบ.ม. ทำให้ตัวเมืองนครราชสีมาขาดน้ำ ถูกประกาศเป็นเขตประสบภาวะภัยแล้ง

“แนวโน้มความต้องการใช้น้ำเมืองโคราชเพิ่มขึ้นทุกกิจกรรมกล่าวคือ เขื่อนลำตะคองส่งน้ำให้การประปาทั้งหมด 81 แห่ง ทั้งประปาภูมิภาค ประปาเทศบาล และประปาหมู่บ้าน ปริมาณความต้องการใช้น้ำ 60 ล้านลบ.ม.ต่อปี การอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง ต้องการใช้น้ำ 12 ล้านลบ.ม.ต่อปี การรักษาลำน้ำลำตะคองใช้น้ำอย่างน้อยปีละ 36 ล้านลบ.ม. และเขื่อนเสียน้ำจากอากาศที่ร้อนขึ้น เกิดการระเหยรั่วซึมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 48 ล้านลบ.ม. และนาปีที่ต้องส่งน้ำให้เกษตรกรช่วงต้นฤดูทำนาในพื้นที่ 1.5 แสนไร่ ใช้น้ำ 150 ล้านลบ.ม. รวมต้องใช้น้ำ 306 ล้านลบ.ม.ต่อปี จุดนี้มีความเสี่ยงขาดน้ำในอนาคต ทางจังหวัดและกรมชลประทานจึงหารือกันเพื่อหาทางเพิ่มน้ำต้นทุนให้เขื่อนลำตะคอง โดยผันน้ำจากเขื่อนป่าสักมาพักไว้ที่อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ก่อนส่งเข้าเขื่อนลำตะคอง ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำฯ ลำตะคองกล่าว

อย่างไรก็ดี ขณะที่โครงการผันน้ำตะคองยังไม่เกิด กรมชลประทานไปเน้นที่การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ การปล่อยน้ำแต่ละครั้งพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีแผนชัดเจน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน 2562

กางแผนพัฒนาแหล่งน้ำสกลนคร ทุ่ม7.5พันล.เดินหน้า6โครงการสำคัญ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า  สทนช.วางแผนบูรณาการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญๆของจ.สกลนคร ตั้งแต่ปี 2563-2565 จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 7,525 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มความจุเก็บกักรวม 54.80 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 97,846 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 23,168 ครัวเรือน ประกอบด้วย 1.โครงการประตูระบายน้ำ บ้านก่อ เริ่มดำเนินการ ปี 2562 วงเงิน 1,249 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จเพิ่มความจุเก็บกักรวม 2.30 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 1,067 ครัวเรือน 2.โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนอากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เริ่มดำเนินการ ปี 2564 วงเงิน 250 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 2,231.25 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 4,331 ครัวเรือน 3. โครงการประตูระบายน้ำ บ้านนาถ่อน เริ่มดำเนินการปี 2565 วงเงิน 700 ล้านบาท เสร็จแล้วเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 6,000 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 500 ครัวเรือน

4.โครงการประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำและคลองผันน้ำ 4 สาย เริ่มดำเนินการ ปี 2562 วงเงิน 2,100 ล้านบาท เสร็จแล้วเพิ่มความจุเก็บกักรวม 2.50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 78,358 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 10,857 ครัวเรือน 5.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ หนองหาร เริ่มดำเนินการ ปี 2564 วงเงิน 2,840 ล้านบาทเสร็จแล้วจะเพิ่มความจุเก็บกักรวม 50 ล้าน ลบ.ม. และ 6.โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือสกลนคร จ.สกลนคร เริ่มดำเนินการ ปี 2564 วงเงิน 386 ล้านบาท เสร็จแล้วจะเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 1,256.25 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 6,413 ครัวเรือน เป็นต้น

สำหรับปี 2562 จ.สกลนครดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 219 โครงการ วงเงิน 817 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จเพิ่มความจุเก็บกักรวม 10.43 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6,340 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 6,910 ครัวเรือน เช่น คลองผันน้ำห้วยยาง-ลำน้ำก่ำและอาคารประกอบ งานคันกั้นน้ำและอาคารประกอบพร้อมขุดลอก งานอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองเบ็นบ้านสามขา ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญแก้ปัญหาเรื่องน้ำของจ.สกลนครมาตลอดช่วงปี 2557-2561 ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 738 โครงการ จาก 12 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง มีพื้นที่รับประโยชน์ 209,533 ไร่ และประชาชนรับประโยชน์ 56,555 ครัวเรือน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน 2562

ส่งออกปีนี้แผ่ว! พิษศก.โลกฉุด/เอกชนฝากรัฐบาลใหม่ดัน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)แถลงแนวโน้มการส่งออกร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. และ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์

นางสาวกัณญภัค ระบุว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกปี 2562 โตต่ำกว่า 5%บนสมมุติฐานค่าเงินบาท 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 25 มี.ค. 62 = 31.805 ผันผวนอยู่ในกรอบ 31.5-31.7 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)

 ไม่พลาดข่าวสำคัญ ติดตาม LINE@แนวหน้า ที่นี่

“คาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่หลายหน่วยงานปรับลดตัวเลขคาดการณ์ส่งออกในปี 2562 ใหม่ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่าส่งออกไทยจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 3.1 ดังนั้น ในส่วนของสรท.ขอรอดูเหตุการณ์ต่างๆ ก่อน” นางสาวกัณญภัค กล่าว

สำหรับความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย บรรยากาศการค้าโลก ประกอบไปด้วย การเจรจาออกจากอียูของอังกฤษหรือ Brexit ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้นักลงทุนทั้งด้านการเงินและการผลิตเริ่มย้ายฐานออกจากอังกฤษ เนื่องจากกังวลต่อกฎระเบียบที่ยังตกลงกันไม่ได้

ขณะที่ ตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่น จีน ที่เจอกำแพงภาษีสหรัฐฯ ทำให้ต้อง “ลด” การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ กึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตจากไทยลง กดดัน “การส่งออก” ชะลอตัว รวมถึงตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ยังคงติดลบ ส่วนหนึ่งจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวและมาตรการกีดกันทางการค้า (NTB, NTM) จากต่างประเทศ อาทิ มาตรการ 232 ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ในการปรับเพิ่มอัตราภาษี 25% ต่อประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ภายใต้กฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 ซึ่งคาดว่าจะทราบผลจากการตัดสินใจของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอีก 90 วัน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 นี้

นางสาวกัณญภัคกล่าวว่า ส่วนปัจจัยบวกสำคัญคือ การใช้สิทธิประโยชน์จากการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ช่วงเดือนมกราคม 2562 เพิ่มขึ้นในตลาดศักยภาพ โดยเฉพาะตลาด AFTA โตกว่าร้อยละ 13 ตามมาด้วย จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและอินเดีย ตามลำดับ ขณะที่ สรท. เตรียมยื่นหนังสือแสดงท่าทีสนับสนุนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปร่วมกับ European Shippers’ Council (ESC) ต่อ DG-Trade สหภาพยุโรป(รัฐมนตรีด้านการค้าของสหภาพยุโรป)

ขณะที่สงครามการค้าเริ่มผ่อนคลายจากช่องว่างการขาดดุลการค้าล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อจีนลดลงราว 6% และรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมที่จะขยายระยะเวลาการเจรจากับทางการจีนออกไป จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่มั่นใจได้ว่ารัฐบาลจีนจะมีการปรับปรุงนโยบายด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแต่ยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 21,553.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 678,509.1 ล้านบาท ขยายตัว 5.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY)

ทั้งนี้เอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันการส่งออก ลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการพิจารณาค่าจ้างแรงงานใหม่ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันอยากให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาถึงผลดีและผลเสียแนวทางเหล่านี้ให้ดีขึ้นก่อนจะประกาศใช้จริง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 เมษายน 2562

หนองคาย น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักเหลือน้อย                      

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลัก 1 ใน 4 แห่งของจังหวัดหนองคายเหลือน้อย ส่งผลให้พืชผลการเกษตรในเขตบริการที่อยู่ส่วนปลายของคลองส่งน้ำเริ่มขาดแคลนน้ำ เกษตรกรได้ลงหาปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน แทนการทำเกษตรกรรม                      

สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดหนองคาย ยังคงขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ขณะนี้พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีน้ำภายในอ่างเหลือน้อย อ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำหลักขนาดกลาง 1 ใน 4 แห่งของจังหวัดหนองคาย ที่มีการบริหารจัดการน้ำในเขตจัดรูปที่ดิน ปริมาณน้ำภายในอ่างเริ่มแห้งขอดลงมาก จนตอที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำโผล่พ้นจากน้ำเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีปริมาตรน้ำเหลือในอ่างเพียง 0.868 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10.07 และมีปริมาตรน้ำที่ใช้ได้เพียง 0.468 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น                       

จากการที่ปริมาณน้ำเหลือน้อย ทำให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยมีการปล่อยน้ำและปิดน้ำสลับกัน ส่งผลให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินกว่า 14,372 ไร่ ในพื้นที่ ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ , ต.พระธาตุบังพวน ต.ปะโค และ ต.เวียงคุก อ.เมือง โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ส่วนปลายของคลองส่งน้ำเริ่มได้รับผลกระทบ แม้ว่าปีนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้หันมาปลูกอ้อย , มะเขือเทศ และข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง ก็ยังเริ่มแห้งตาย เนื่องจากได้รับน้ำไม่เพียงพอ ทำให้เกษตรกรได้ลงหาปลาในอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน แทนการทำเกษตรกรรม

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 3 เมษายน 2562

รายงานพิเศษ : สศก.เปิดGDPเกษตรไตรมาสแรกปี’62 ภาพรวมทรงตัว-แนวโน้มทั้งปีโตสูงสุด3.5%

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ของปี 2562 พบว่า ขยายตัวเพียง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สาเหตุหลักมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ถือเป็นสัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตรชะลอลง ส่งผลให้ภาพรวมขยายตัวในระดับต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เมื่อแยกรายละเอียดแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยข้าวนาปีมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในนาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวนาปรังมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจัดการดูแลที่เหมาะสม และมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคามันสำปะหลังปีที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและปลูกทดแทนพืชอื่น ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2559 เริ่มให้ผลผลิตปีนี้ และเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะสม เกษตรกรบำรุงดูแลรักษาที่ดี ต้นลำไยจึงออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีผลผลิตพืชที่ลดลง โดยเฉพาะอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืชไตรมาสแรกกลับมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับช่วงปลายปี 2561 เปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วก่อนหน้านี้ สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค.2560-ก.ค. 2561 ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สำหรับด้านราคาช่วงเดือนม.ค.- ก.พ.2562 สินค้าพืชที่ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ยังมีต่อเนื่อง และมีการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่ากก.ละ 8 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) ภายใต้โครงการตามนโยบายประชารัฐ และมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก ขณะที่ความต้องการของตลาดมีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีสินค้าพืชอีกหลายชนิดที่ราคาเฉลี่ยลดลงจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นและความต้องการของตลาดลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน

ขณะที่สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 1.0% โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและอาเซียน ขณะที่การท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้นด้วย สุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2561 เกษตรกรมีแรงจูงใจผลิต ตลอดจนจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ราคาสุกรเพิ่มขึ้นด้วย

สาขาประมงขยายตัว 1.5% โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีทิศทางเพิ่มขึ้น ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรบริหารจัดการฟาร์มที่ดี ปล่อยลูกกุ้งอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาดุกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง เพิ่มรอบการเลี้ยง จัดการบ่อที่ดี ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลและปลาดุกหลายพื้นที่ เมื่อวิเคราะห์ด้านราคาพบว่ากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกก.)ราคาโดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2-4 ตัวต่อกก.) มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.6% เป็นผลจากการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรบางพื้นที่ เช่น ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและประหยัดเวลา ใช้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นและสำรวจสภาพผลผลิตในไร่นามากขึ้น ส่วนสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2% เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ผลิตกระดาษและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet) และผลผลิตไม้ยางพาราขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ประกอบกับมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ต้องการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ด้านผลผลิตรังนกเพิ่มขึ้น โดยจีนต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากรังนกของไทยมีคุณภาพสูง

ทั้งนี้ สศก.คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 น่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนสะสมและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ไม่พอต่อการผลิตทางการเกษตร ส่งกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรระยะถัดไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 เมษายน 2562

รักษ์เกษตร : การใช้ปุ๋ยยูเรียให้มีประสิทธิภาพ

คำถาม ขอทราบความรู้เรื่อง การใช้ปุ๋ยยูเรียให้มีประสิทธิภาพ และมีวิธีการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมอย่างไรบ้างครับ

จิรากร โพธิ์ทองคำ

อ.หนองแซง จ.สระบุรี

คำตอบ

ปุ๋ยยูเรีย เป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูงที่สุด ธาตุไนโตรเจน เป็นแก๊สที่มีปริมาณมากที่สุดในอากาศ เป็นแก๊สเฉื่อย มีโครงสร้างโมเลกุลยึดเกาะกันอย่างแข็งแรง พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง อีกทั้งไนโตรเจนไม่สามารถทำปฏิกิริยาเคมีได้โดยง่าย ทำให้ในธรรมชาติและในดิน มีไนโตรเจนซึ่งอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงมีความจำเป็นต้องเติมธาตุอาหารไนโตรเจนกลับลงสู่ดินในรูปที่พืชดูดซึมไปใช้ได้ ในรูปของปุ๋ยยูเรีย

เมื่อเติมปุ๋ยยูเรียลงในดิน กระบวนการที่เกิดคือ เมื่อปุ๋ยยูเรียละลายน้ำ จะถูกแบคทีเรียในดินย่อยสลาย จะเปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนีย เมื่อโดนความชื้น จะเปลี่ยนรูปเป็นแอมโมเนียม จะจับกับอนุภาคดินที่เป็นประจุลบ เป็นธาตุอาหารไนโตรเจนที่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้

วิธีใช้ปุ๋ยยูเรีย ให้พิจารณาจาก ลักษณะของดิน ปริมาณของสารอาหารในดิน และที่สำคัญขึ้นอยู่กับประเภท ชนิดของพืช และพันธุ์พืชที่ปลูก ปุ๋ยยูเรียที่ใช้ ใช้สูตร 46-0-0 เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ดีมาก และพืชสามารถดูดซึมธาตุไนโตรเจนไปใช้ได้ ทั้งจากทางรากและทางใบ และควรต้องใส่ปุ๋ยในขณะที่ดินเปียกชื้นพอเหมาะ

คำแนะนำการใช้ปุ๋ยยูเรีย เป็นผลจากการทดลองของนักวิชาการเกษตร อาจารย์ คณาจารย์จากสถาบันการเกษตรของประเทศ ได้ให้ข้อแนะนำการใช้ปุ๋ยยูเรียเบื้องต้น ดังนี้

การใช้ปุ๋ยยูเรียในนาข้าว สำหรับพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งปลูกได้เฉพาะนาปีเท่านั้น ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 5-10 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วแปลงก่อนข้าวออกดอก 30 วัน สำหรับพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 10-15 กิโลกรัม หว่านให้ทั่วแปลงหลังปักดำข้าว 35-45 วัน

การใช้ปุ๋ยยูเรียกับอ้อย ให้ใช้ยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ แบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง เท่าๆ กัน ครั้งแรก ใส่หลังปลูกประมาณ 1 เดือน ครั้งที่สอง ใส่หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 30-60 วัน สำหรับอ้อยตอ นอกเขตชลประทาน ให้ใส่ครั้งแรกต้นฤดูฝน ครั้งที่สอง หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 30-60 วัน โดยวิธีโรยข้างแถว และสำหรับอ้อยตอ ในเขตชลประทาน ใส่ครั้งแรกหลังตัดแต่งตอ ครั้งที่สองหลังจากใส่ครั้งแรก 30-60 วัน โดยวิธีโรยข้างแถว

การใช้ปุ๋ยยูเรียกับสับปะรด ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 25 กิโลกรัม โรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบหลังจากปลูก 30 วัน

การใช้ปุ๋ยยูเรียกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 อัตราไร่ละ 10-20 กิโลกรัม โรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบเมื่อมีอายุ 25-30 วัน

การใช้ปุ๋ยยูเรียกับพืชผักต่างๆ ให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 โดยแบ่งอัตราการใส่ปุ๋ยยูเรีย ออกเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อต้นพืชอายุประมาณ 10-15 วัน โดยหว่านปุ๋ยยูเรีย อัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม ครั้งที่สอง ใช้หลังหว่านปุ๋ยยูเรีย ครั้งแรกประมาณ 30-45 วัน อัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม

ข้อควรระวังของการใช้ปุ๋ยยูเรีย การใช้ปุ๋ยยูเรียในปริมาณที่สูงเกินไป จะทำให้พืชมีใบสีเขียวเข้ม มีใบเพิ่มผิดปกติ อาจทำให้พืชเฉาและตายได้ ได้ผลผลิตต่ำ ต้นข้าว จะเมล็ดเล็กลีบ ทำให้ต้นพืชอ่อนแอไม่แข็งแรง และเป็นโรคได้ง่าย ทั้งยังทำให้มีปุ๋ยตกค้างในดิน ทำให้ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพ ทำให้ดินแข็ง รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารได้ ทำให้ดินเค็ม และทำให้ดินเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมี

ดังนั้น เกษตรกร ต้องศึกษาลักษณะของดิน ปริมาณแร่ธาตุอาหารในดิน ปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในดิน ก่อนการเพาะปลูกในแต่ละครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปเกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้ สามารถทำได้โดยส่งดินไปตรวจสอบที่หน่วยงานการเกษตร เพื่อจะได้รู้ปริมาณปุ๋ยและแร่ธาตุที่มีเหลืออยู่ในดินของท่าน เพื่อจะได้เลือกประเภทปุ๋ย และสัดส่วนการใส่ปุ๋ยได้ถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนช่วงเวลาที่ถูกต้องในการใส่ปุ๋ย เพื่อให้พืชสามารถดูดซึมไปใช้งานได้สูงสุด ไม่เหลือตกค้าง และยังเป็นการประหยัดค่าปุ๋ยอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยเคมี เกษตรกรควรใช้ร่วมไปกับปุ๋ยอินทรีย์ด้วย จะเป็นการลดต้นทุนการผลิต และรักษาสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ยั่งยืนตลอดไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 เมษายน 2562

“สยามคูโบต้า-กลุ่มวังขนาย-สมาคมชาวไร่อ้อยมหาสารคาม” ร่วมรณรงค์เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดมลพิษ PM 2.5

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเป็นผู้นำนวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต จับมือกับกลุ่มวังขนาย และสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม จัดโครงการรณรงค์ ‘ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร’ พร้อมสาธิตการจัดการใบอ้อยและตัดอ้อยสดด้วยนวัตกรรมการเกษตรของคูโบต้า เพื่อให้ข้อมูลความรู้และแนวทางการเก็บเกี่ยวอ้อยสดแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในจังหวัดมหาสารคาม

จากปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปกคลุมบางจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ พบว่ามีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง 54% อุตสาหกรรม 17% การขนส่ง 13% การผลิตไฟฟ้า 8% และที่พักอาศัย 7% ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่มีโรคระบบการหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ และในระยะยาวยังส่งผลต่อการทำงานของปอด จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองรวมถึงมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัญหานี้อยู่ในความสนใจทั้งจากประชาชน รัฐบาลและฝ่ายเอกชน

นาย ศราวุธ ภูนาสี เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับบทบาทภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ได้ขอความร่วมมือให้ทุกโรงงานกำหนดมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2561/62 เพื่อให้เกิดการร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ สมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคามจึงร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดทำโครงการรณรงค์ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร” เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน กระตุ้นให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ตลอดจนมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร

นายธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มวังขนายได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการลดมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการผลิต 2561/62 ทางกลุ่มวังขนายได้ประกาศนโยบายเป็นปีแห่งการรณรงค์ ตัดอ้อยสด สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อน โดยเริ่มตั้งแต่ 1. การลงพื้นที่ประชุมสัญจรเพื่อชี้แจงให้ชาวไร่อ้อยเข้าใจ รับทราบถึงปัญหา ผลกระทบจากการตัดอัอยไฟไหม้ อ้อยมีสิ่งปนเปื้อน ที่มีผลต่อโรงงานและตัวชาวไร่เอง ที่ต้องถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท อ้อยยอดยาวและอ้อยปนเปื้อนตันละ 20 บาท 2. ติดป้ายประชาสัมพันธ์หน้าโรงงานและทุกสถานีขนถ่าย เพื่อชี้แจงบทลงโทษและผลกระทบที่เกิดขึ้นของมลพิษทางอากาศ 3. ตั้งคณะทำงานให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบคุณภาพอ้อยหน้าโรงงานและสถานีขนถ่ายทุกแห่งในเขตส่งเสริม หากตรวจพบอ้อยปนเปื้อนจะมีมาตรการตัดราคาจนถึงขั้นปฏิเสธการรับซื้อ 4. จัดทำโปรโมชั่นพิเศษให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานโดยการสะสมบิลรับอ้อยสดเพื่อนำมาแลกของสมนาคุณ ซึ่งจากผลการดำเนินงานปีการผลิต 2561/62 มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 15 % และวางเป้าหมายปี 2562/63 ให้มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง 30%

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 กลุ่มวังขนายได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัท สยามคูโบต้าจัดทำโครงการตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในมาตรการแนวทางแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบบูรณาการ วางแนวทางส่งเสริมการตัดอ้อยสดให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเก็บเกี่ยวด้วยเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนให้เกษตรกรตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน

คุณสมบูรณ์ จินตนาผล ที่ปรึกษา-สำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเผาในที่โล่งบนพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย และลดเวลาการตัดอ้อยส่งโรงงานให้ทันกำหนด เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สยามคูโบต้าจึงร่วมสนับสนุนการทำเกษตรแบบไม่เผา ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรในไร่อ้อย พร้อมการทำเกษตรแบบไม่เผาด้วยวิธี KAS เกษตรครบวงจรเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า เพื่อเสนอเป็นทางเลือกในการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างมืออาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์การทำเกษตรไม่เผา ช่วยลดมลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่องค์กรเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง อีกทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอินทรีย์วัตถุในดินและการรักษาความชื้นในดิน เพื่อการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

สำหรับชุดเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า สำหรับการทำเกษตรแบบไม่เผาในไร่อ้อยแบบครบวงจร ในขั้นตอนสำคัญๆ โดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ได้แก่ การจัดการใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว ด้วยเครื่องสางใบอ้อย รุ่น SLR110H ทำหน้าที่สางใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว โดยการตีใบอ้อยให้ละเอียดด้วยชุดโรลเลอร์จำนวน 4 ชุด ที่มีรอบหมุนที่รวดเร็วมากกว่า 900 รอบต่อนาที ทำให้ได้ลำอ้อยที่สะอาด เกษตรกรสามารถเข้าไปตัดอ้อยสดได้ง่ายขึ้น การตัดอ้อยสด ด้วยเครื่องตัดอ้อย รุ่น SCR100 ทำหน้าที่ในการเก็บเกี่ยวอ้อยสด ประกอบด้วย ระบบชุดสางใบอ้อย ถูกออกแบบให้ชุดโรลเลอร์ สามารถตัดยอดอ้อยสดได้ตั้งแต่ 1.5 – 4 เมตร ปรับระยะความสูงและองศาการตัดของใบมีดให้เหมาะสมกับแปลงอ้อยและโคนต้นอ้อยได้อย่างสม่ำเสมอ การจัดการใบอ้อย ด้วยเครื่องอัดฟาง รุ่น HB135 จะทำหน้าที่ในการอัดใบอ้อยหลังจากการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปให้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ช่วยลดการเผาใบอ้อยก่อนการเตรียมดิน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ครอบคลุมในขั้นตอนอื่น ๆ เช่น การจัดการใบอ้อย ด้วยผานสับคลุก สำหรับไถสับคลุกใบอ้อยเพื่อการเตรียมดินก่อนจะทำการเพาะปลูกในครั้งต่อไป การเตรียมดิน ด้วยเครื่องพ่นสารเอนกประสงค์ สำหรับฉีดพ่นสารอินทรีย์ช่วยย่อยสลายใบอ้อยก่อนการเตรียมดิน และการบำรุงรักษา ด้วยเครื่องฝังปุ๋ยแบบมีชุดใบตัดที่ด้านหน้า เพื่อตัดใบอ้อยที่อยู่บนดิน ทำให้ชุดฝังปุ๋ยทำงานได้ถึงแม้จะมีใบอ้อย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 เมษายน 2562

เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.67 บ.ต่อดอลลาร์

คาดบาทวีคนี้มีโอกาสแข็งค่ากลับลงได้ ระวังการเมืองลามสู่ความรุนแรงอาจกดค่าเงิน

ธนาคารกรุงไทยระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่วงสิ้นสัปดาห์ก่อน

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกวันที่ 1 - 4 เมษายน มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ ตัวเลขเศรษฐกิจค่อนข้างผสมผสาน

คาดยอดค้าปลีก (Retail Sales Advance) ที่จะมีการรายงานในวันจันทร์ จะขยายตัวเพียง 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ISM Manufacturing PMI) อาจปรับตัวลดลงแตะระดับ 54จุด ชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐฯยังไม่กลับมาขยายตัวได้ดีเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม เรายังมองว่าตลาดแรงงานสหรัฐมีความแข็งแกร่ง ด้วยยอดผู้รับสวัสดิการว่างงานที่จะมีการรายงานในวันพฤหัสที่ต่ำกว่า 2.5 แสนราย ส่วนยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) ที่จะมีการรายงานในวันศุกร์ ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.75 แสนตำแหน่ง กดให้อัตราการว่างงานในสหรัฐทรงตัวได้ที่ 3.7%

ฝั่งยุโรป ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามตลอดทั้งสัปดาห์นี้ เพราะหากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดย “ไร้ข้อตกลง” จะสามารถฉุดการเติบโตเศรษฐกิจและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

ฝั่งเอเชีย ความกังวลเรื่องสงครามการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังกดดันดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Tankan)ของญี่ปุ่น โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตขนาดใหญ่เช้านี้ร่วงลงสู่ระดับ 12 จุด จากระดับ 19 จุดในเดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing PMI) ในจีนกลับปรับตัวขึ้นมาที่ 50.5 จุด ชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิตจีนได้แล้ว

ฝั่งไทย มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่จะรายงานในวันจันทร์จะทรงตัวที่ระดับ 0.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 0.6% ส่วนวันพฤหัส ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจปรับตัวขึ้นแตะระดับ 85 จุด จากผลการเลือกตั้ง

ในส่วนของค่าเงินบาท สัปดาห์นี้เชื่อว่ามีโอกาสแข็งค่ากลับลงได้เนื่องจากตลาดการเงินเข้าสู่ช่วงเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และในช่วงนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในฝั่งตะวันตก สวนทางกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในเอเชียจะยิ่งหนุนเงินทุนไหลเข้า ต้องระวังเพียงความเสี่ยงการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีบทสรุป อาจกลับมากดดันค่าเงินบาทได้ถ้ามีสัญญาณว่าการเมืองอาจลามไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น

กรอบเงินบาทในวันนี้ 31.64 ถึง 31.74 บาทต่อดอลลาร์

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.45 ถึง 31.95 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 เมษายน 2562

กระทรวงเกษตรฯ เปิดตัวเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

เกษตรฯ เปิดตัวเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2562

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่น สาขาอาชีพ/ประเภทที่กำหนด เป็นเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตร โดยในปี 2562 นี้ มีเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ดีเด่น ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2562 ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วยเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 16 สาขาอาชีพ สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 12 กลุ่ม สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์ และปราชญ์เกษตรแห่งแผ่นดิน จำนวน 3 สาขา ดังต่อไปนี้

เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 16 สาขาอาชีพ ได้แก่ 1) อาชีพทำนา ได้แก่นายขวัญชัย แตงทอง จ.ชัยนาท 2)อาชีพทำสวน ได้แก่ นายเรือง ศรีนาราง จ.ตราด 3)อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายชัยยศ ตั้งนิยม จ.กําแพงเพชร 4)อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางสํารวย บางสร้อย จ.ร้อยเอ็ด 5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่  นางโยธกา บุญมาก จ.สุรินทร์ 6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายชลอ เหลือบุญเลิศ จ.ชุมพร 7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายไมตรี แย้มบางยาง จ.สุพรรณบุรี 8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายโกศล หนูกลิ่น จ.สุราษฎร์ธานี  9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวุฒิไกร ช่างเหล็ก จ.หนองคาย 10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายคํานึง เจริญศิริ จ.บุรีรัมย์ 11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายภูดิศ หาญสวัสดิ์ จ.ขอนแก่น 12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสุริยา หงษ์ลอยวงษ์ จ.ยโสธร 13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่  นางอัมพร สวัสดิ์สุข จ.นครศรีธรรมราช 14) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายสมเกียรติ แซ่เต็ง จ.ตราด 15) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายฉัตรชัย ดอยพนาวัลย์  จ.ลําพูน และ 16) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์  จ.จันทบุรี

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาเทพนคร จ.กำแพงเพชร 2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา จ.สงขลา 3) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์หนองขาม จ.ชัยภูมิ 4) กลุ่มเกษตรกรทำประมงหรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านบ้านในถุ้ง จ. นครศรีธรรมราช 5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลาสมุนไพรบ้านห้วยบง กลุ่ม 3 จ.หนองบัวลําภู 6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น 7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จ.ตราด 8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านทุ่งรวงทอง จ.กําแพงเพชร 9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนา เมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม 10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขียบ จ.มหาสารคาม 11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนตําบลหนองฮี จ.นครพนม และ 12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 จำนวน 7 สหกรณ์ ได้แก่ 1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคณทฑีพัฒนา จํากัด จ.กําแพงเพชร 2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมนครปฐม จํากัด จ.นครปฐม 3) สหกรณ์นิคม ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จํากัด จ.ระยอง 4) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพัทลุง จํากัด จ.พัทลุง 5) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จํากัด จ.นครราชสีมา 6) สหกรณ์บริการ ได้แก่ สหกรณ์เดินรถแม่สอด จํากัด จ.ตาก และ 7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จํากัด จ.เพชรบุรี

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2562 จำนวน 3 สาขา ได้แก่ 1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสุริยะ ชูวงศ์ 2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายอาทิตย์ มติธรรม และ 3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายแรม เชียงกา

ทั้งนี้ในวันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย โดยในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานในการประกอบพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรืองแก่อาชีพของตน เนื่องด้วยการเกษตรเป็นภาคการผลิตและเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่กับวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกรนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน 2562

คุมเข้ม!!สั่ง จนท.ลาดตระเวนห้ามเผาพื้นที่เกษตร

กระทรวงเกษตรฯ วอนชาวไร่-ชาวนาหยุดเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช หลังกรมอุตุฯเตือนล่วงหน้าในช่วงวันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย. อากาศไหลเวียนไม่ดี ก่อให้เกิดการสะสมฝุ่นละออง “กฤษฎา”ผวาสั่งปลัดเกษตรกำกับ "เกษตรจังหวัด-อำเภอ" ลาดตระเวนจุดเสี่ยง พร้อมรณรงค์ไม่เผา หวั่นไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว กระทบสุขภาพประชาชาชน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าได้สั่งการด่วนที่สุด เรื่อง  การป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืช หรือวัชพืช หรือเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่เกษตร เนื่องจากสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาวะทางอุตุนิยมวิทยาล่วงหน้าในช่วงวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2562 ว่าอากาศจะไหลเวียนไม่ดีก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองและหมอกควันแม้จะมีลมและฝนบ้าง

แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยพัดฝุ่นละอองและหมอกควันออกจากพื้นที่ได้ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายต่อการเดินทาง และการท่องเที่ยวทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้อย่างมาก เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า รวมทั้งลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวที่มีผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาพประชาชน จึงขอกำหนดแนวทางปฎิบัติงานการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

“ให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัดได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการเสนอแผนงานและอำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาการเผาเศษซากพืช หรือ วัชพืช หรือ เศษวัสดุการเกษตรประจำจังหวัด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่”

ส่วนสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นชุดปฎิบัติการประจำพื้นที่เพื่อปฎิบัติการออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้งแจ้งเหตุการเผา และอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอโดยมีเครือข่ายเกษตรกรของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลเป็นหน่วยเฝ้าระวังป้องกันและปลุกจิตสำนึกในการไม่เผาเศษซากพืชฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรภายในแต่ละอำเภอ และให้ชุดปฎิติการดังกล่าวอยู่ในอำนวยการของนายอำเภอเพื่อความเอกภาพด้วย ทั้งนี้ให้หน่วยงาน กษ. ที่มีสำนักงานในจังหวัดนั้น ๆ ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมปฎิบัติการเป็นชุดปฎิบัติการประจำพื้นที่ร่วมกับสำนักเกษตรอำเภอด้วย เช่น ชลประทาน พัฒนาที่ดิน ปศุสัตว์  ฯลฯ โดยให้สำนักงานเกษตรจังหวัดประสานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อจัดประชุมหารือเรื่องการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ในที่ประชุม อ.พ.ก.ด้วยก็ได้ 

ในระหว่างให้อธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการเทียบเท่าให้การสนับสนุนในการอนุญาตหรือส่งเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดต่างๆไปร่วมเป็นชุดปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชหรือเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่อำเภอซึ่งมีเกษตรอำเภอเป็นหัวหน้าชุดปฎิบัติการ ทั้งนี้ให้ถือว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าครั้งนี้เป็นภารกิจที่สำคัญของชาติจึงต้องให้การสนับสนุนทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า เพื่อให้การปฎิบัติเป็นไปตามเป้าหมายได้สั่งการให้ผู้ตรวจกระทรวงทุกเขตไปตรวจติดตามการปฎิบัติงานแก้ไขปัญหาการเผาเศษซากพืชและวัชพืช หรือ เศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่ด้วยโดยให้ประเมินผลงานจากจุดวัดค่าความร้อนที่จะต้องไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำการเกษตร จึงจะถือว่าการทำงานของจังหวัดนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จและหากพบว่ามีปัญหาอุปสรรคใดๆ ในพื้นที่ขอให้รายงานปลัดและรัฐมนตรีได้พิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไปด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 เมษายน 2562