http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนเมษายน 2564]

สอน.เผยผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/2564 พบปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงต่อเนื่อง

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายหลังการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/2564 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมระยะเวลาหีบอ้อย 112 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 66,658,812.255 ตัน แยกเป็นอ้อยสด จำนวน 49,048,547.020 ตัน คิดเป็นร้อยละ 73.58 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดและอ้อยไฟไหม้ จำนวน 17,610,265.235 ตัน คิดเป็นร้อยละ 26.42 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 113.57 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 CCS

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 มีปริมาณที่น้อยลงเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ส่งผลให้คุณภาพอ้อยเข้าหีบดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่ร่วมกันจัดส่งอ้อยสดอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น แม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงจากฤดูการผลิตปี 2562/2563

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 30 เมษายน 2021

ก.อุตฯสั่งทุกหน่วยงานWFHถึงสิ้น31พ.ค.

กระทรวงอุตสาหกรรม คุมเข้มสกัดโควิด -19 สั่งทุกหน่วยในสังกัด WFH ถึงสิ้น 31 พ.ค.นี้ ย้ำพร้อมให้บริการปชช.ทุกช่องทาง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้ขอความร่วมมือให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินการ Work from Home มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคล อันจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดการแพร่เชื้อได้อย่างเป็นรูปธรรม นั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ขอให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทุกแห่ง ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดส่วนกลางปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)เต็มพิกัด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของสัดส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้มาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานที่ตั้งส่วนกลาง รวมทั้งให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกคน สามารถเหลื่อมเวลาปฏิบัติงานได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและลักษณะงานขององค์กร เพื่อลดความเสี่ยงการติดและแพร่กระจายของโรคโควิด -19 เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1–31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงฯได้ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย(Work from Home) อย่างเต็มขีดความสามารถ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะผ่อนคลายลง พร้อมออกประกาศแนวปฏิบัติสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตัวตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากจำเป็นต้องเข้ามาปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ พร้อมจัดตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายทุกคนก่อนเข้าอาคาร โดยขอให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินงานจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ อาทิ การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล แอพพลิเคชั่นไลน์ หรืออีเมล์ มาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานเพื่อไม่ให้มีข้อติดขัดหรือเกิดปัญหากับการ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 30 เมษายน 2021

พอยิ้มออก "ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส." เผยราคาสินค้าเกษตรเดือนพ.ค.ขยับเพิ่ม ทั้งข้าวหอมมะลิ-น้ำตาล-กุ้ง-สุกร-โคเนื้อ

 ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. ชี้ความต้องการของตลาดโลก และความสามารถในการส่งออกผลผลิตมีมากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเดือนพฤษภาคม 2564 ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ กุ้งขาวแวนนาไม สุกร และโคเนื้อ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,037 - 12,100 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.53 - 2.06 เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ราคาข้าวหอมผกามะลิจากกัมพูชา ส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มการนำเข้าข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 11,006 - 11,142 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.73 - 2.99 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดไปแล้ว และสต็อกข้าวเหนียวของผู้ประกอบการเริ่มลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 8.12 - 8.36 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.50 - 5.50 เนื่องจากเป็นช่วงเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1ช่วงต้นฤดูฝน (เดือนเมษายน - มิถุนายน) ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ยังขยายตัวได้ดี

ขณะที่น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 16.92 - 17.14 เซนต์/ปอนด์ (11.71 - 11.86 บาท/กก.)เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.20 - 2.50 เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงจากปัญหาสภาพอากาศ โดยสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้พื้นที่ปลูกชูการ์บีท (Sugar Beet) ของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปได้รับความเสียหาย และสภาพอากาศที่ แห้งแล้งในประเทศบราซิลทำให้ปริมาณอ้อยลดลง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 156.06 - 157.90 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00 - 3.20 เนื่องจากผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อยจากการที่เกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้งในช่วงก่อนหน้านี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ยังไม่กระทบต่อคำสั่งซื้อและการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออกกุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็นของไทย

ส่วนสุกรราคาอยู่ที่ 77.69 - 78.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.88 – 2.24 เนื่องจากประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการนำเข้าสุกรจากไทย และผู้ส่งออกสุกรมีแผนการส่งออกไปประเทศเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตได้มากขึ้น และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.33 – 98.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.01 - 0.08 เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อโคทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตเนื้อโคอาจลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,997 - 9,061 บาท/ตัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.76 - 1.47 เนื่องจากประเทศอินเดียซึ่งเป็น ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและปริมาณข้าวในสต็อกอยู่ในระดับสูง ทำให้มีปริมาณข้าวส่วนเกินที่ระบายออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 52.85 - 53.55 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.56 - 2.85 เนื่องจากปริมาณยางพาราจากการประมูลสต็อกยางพาราเก่าออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงงานกดราคารับซื้อยางพาราจากเกษตรกร มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.05 - 2.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.47 – 2.88 เนื่องจากลานมันเส้น เริ่มทยอยปิดลานรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาด ส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายไปยังโรงงาน แป้งมันสำปะหลัง จึงเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาปรับตัวลดลง ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 4.34 - 4.77 บาท/กก.ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.24 - 10.15 เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าในเดือนพฤษภาคมจะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดประมาณ 1.99 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งปี 2564

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 30 เมษายน 2021

ธปท.เผยศก.มีค.ทยอยปรับตัวดีขึ้นส่งออกโต15.8%

ธปท. เผย เศรษฐกิจไทย มีนาคม 64 ทยอยปรับตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์ โควิด คลี่คลาย ส่งออกฟื้น มาตรการภาครัฐหนุน ขณะค่าบาทแข็งเล็กน้อย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในเดือนมีนาคม 2564 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดรอบสองของ โควิด -19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ

ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้า ที่ไม่รวมทองคำ ขยายตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 15.8 ส่งผลให้เครื่องชี้การ ลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง

โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 ทำให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับแย่ลง

โดยมาตรการกระตุ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลารสหรัฐ โดยเฉลี่ยปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ดัชนีค่าเงินบาททรงตัว

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 30 เมษายน 2021

แปลงใหญ่อ้อยชัยภูมิหนุนสมาชิกใช้เทคโนโลยี ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต

กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยชัยภูมิ ส่งเสริมให้สมาชิกใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้เกษตรกร

วันที่ 27 เม.ย.64 นายดิลก ภิญโญศรี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่อ้อย หมู่ 5 ต.หนองคอนไทย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่อ้อย ต.หนองคอนไทย เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อปี 2560 จำนวนสมาชิก 34 ราย พื้นที่รวมกันประมาณ 1,000 ไร่ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ปัจจัยการผลิต จากกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ได้นำความรู้ตามหลักวิชาการไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง จากเดิมที่ต่างคนต่างปลูกโดยใช้ความเคยชินปลูกตามประสบการณ์ที่สั่งสมมา ใส่ปุ๋ยตามใจฉัน ก็ปรับมาเป็นมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ใส่ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“เกษตรกรที่นี่ถือว่าเป็นชาวไร่อ้อยมืออาชีพอยู่แล้ว แต่พอมีกลุ่มแปลงใหญ่ก็ทำให้มีจุดศูนย์กลางที่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้เทคโนโลยี การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือการประสานงานกับโรงงานน้ำตาลทำได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมในฐานะประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไม่ได้เน้นเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก แต่มองเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสมาชิกกลุ่มมากกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่คือสมาชิกไม่ได้ปลูกอ้อยแบบเดิมๆ มีหลักวิชาการมากขึ้น รู้จักบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกพืชผัก ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในไร่ และเลี้ยงปลาควบคู่กันไป เพราะปลูกอ้อยอย่างเดียวมีรายได้แค่ปีละครั้ง ต้องปลูกพืชอื่นที่สามารถเอาไว้กินเอง เหลือก็ขายเป็นรายได้รายวันอีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มและสมาชิกยึดแนวทางการทำเกษตรผสมผสานและหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข” นายดิลก กล่าว

สำหรับอ้อยเป็นพืชไร่ที่ไม่มีปัญหาด้านราคา มี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายควบคุม ดังนั้น เกษตรกรรายใดที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยหมู่ 5 ต.หนองคอนไทย จึงมุ่งเน้นส่งเสริมสมาชิกกลุ่มให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการปรับพื้นที่เตรียมแปลงรองรับรถตัดอ้อย เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน เป็นการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนและยังลดต้นทุนได้ด้วย เนื่องจากค่าจ้างแรงงานคิดเป็นค่าตัดและค่าขนขึ้นรถรวมแล้วประมาณ 240 บาทต่อตัน ขณะที่รถตัดอ้อยอยู่ที่ 190 บาทต่อตัน การใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยวยังช่วยให้อ้อยสด สะอาด มีใบคลุมดิน จัดการอ้อยตอได้รวดเร็ว ที่สำคัญลดการเผาใบซึ่งสร้างปัญหาฝุ่นควันและมลพิษ อีกทั้งการปลูกอ้อยระยะห่างระหว่างร่องมากขึ้น จากเดิม 1-1.5 ม. มาเป็น 1.85 ม. จะช่วยลดการใช้ท่อนพันธุ์ จาก 1.5 ตัน เหลือ 1.2 ตัน แม้จำนวนร่องปลูกจะลดลงแต่สามารถบริหารจัดการแปลงได้สะดวกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรชาวไร่อ้อยคือแหล่งน้ำ หากไม่มีแหล่งน้ำในแปลงรอแต่น้ำฝนเสี่ยงมากที่จะไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ทางกลุ่มแปลงใหญ่พยายามที่จะประสานไปยังโรงงานน้ำตาลขอสนับสนุนเจาะบ่อน้ำในราคาสินเชื่อต่ำ รวมทั้งขอแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือบ่อจิ๋วของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้มีแหล่งน้ำในแปลง พร้อมกับส่งเสริมให้ทำระบบน้ำหยด ซึ่งประหยัดน้ำและให้น้ำได้เร็วกว่าน้ำราด

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 30 เมษายน 2021

เงินบาทเปิด 31.29 แข็งค่าตามทิศทางตลาด จากดอลลาร์อ่อนค่าหลังเฟดคง ดบ.-มาตรการ QE ตามเดิม

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.29 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.36/37 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก หลังเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ QE ตามเดิม คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 - 31.35 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 29 เมษายน 2564

กระทรวงอุตฯ คุยฟุ้งเอ็มพีไอเดือนมี.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน-สะท้อนภาคการผลิตเติบโต

เอ็มพีไอมี.ค.ทุบสถิติ – นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมี.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 ขยายตัว 4.12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 103.47 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 29 เดือน นับจากเดือนต.ค. 2561 หลังจากภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ตลอดจนการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 69.59% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 65.06%

ทั้งนี้ เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำและรายการพิเศษเดือนมี.ค. 2564 ขยายตัว 25.77% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับสองหลักในรอบ 31 เดือน ประกอบกับเอ็มพีไอฐานเมื่อเดือนมี.ค. 2563 ต่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดในรอบแรก

“แม้การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จะกระทบเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง แต่คาดว่าเอ็มพีไอเดือนเม.ย. ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก และมองว่ายังสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และภาคการผลิตมีการผลิตปกติ ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การส่งออกขยายตัวมาก การกระจายวัคซีนทั่วโลกเป็นไปตามแผน และไทยมีการกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เอ็มพีไอที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน โรงงาน

ดังนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น รวมถึงไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 28 เมษายน 2564

เกษตรฯเดินหน้าโครงการเงินกู้ธุรกิจดินปุ๋ยเพื่อชุมชน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับผิดชอบดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) และโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดซึ่งเป็นโครงการแก้ไข ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยทั้ง 2 โครงการดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป็นโครงการที่ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตามความต้องการของเกษตรกร จึงมี ศดปช. สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเกษตรกรลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้จากการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยภาครัฐสนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย N P K และเครื่องผสมปุ๋ย ให้แก่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า สามารถดำเนินการในภาพรวมได้แล้วถึงร้อยละ 62.35 แบ่งเป็นการจัดซื้อวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์แล้วเสร็จ ประกอบด้วยชุดตรวจวิเคราะห์ดิน จำนวน 185 ศดปช. แม่ปุ๋ย N P K จำนวน 161 ศดปช. เครื่องผสมปุ๋ย จำนวน 99 ศดปช. ส่วนการเริ่มให้บริการในเชิงธุรกิจ มีการจดทะเบียนการค้าปุ๋ยแล้ว จำนวน 105 ศดปช. จัดทำแผนธุรกิจหรือโมเดลธุรกิจบริการดินและปุ๋ยแล้ว จำนวน 209 ศดปช. เปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยแล้ว จำนวน 174 ศดปช. เปิดจำหน่ายแม่ปุ๋ยพร้อมให้บริการแล้ว จำนวน 36 ศดปช. ให้บริการเครื่องผสมปุ๋ยแล้ว จำนวน 26 ศดปช. รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา Platform และ Application เพื่อให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย และ Data Base คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในเดือนกันยายน 2564 นี้แน่นอน ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท และในส่วนของโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด มีเกษตรกรสนใจและแจ้งเข้าร่วมโครงการแล้วถึงจำนวน 3,448 แปลง คิดเป็นร้อยละ 66 จากที่เสนอความต้องการไว้

จาก  https://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน 2564

กลุ่ม KTIS เดินหน้าโครงการ “ปั้นทายาทชาวไร่อ้อยสู่เถ้าแก่น้อย” ผ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างอาชีพ ไม่กลัวตกงาน

นายภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ริเริ่มโครงการ “ปั้นทายาทชาวไร่อ้อยสู่เถ้าแก่น้อย” ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัททำงานร่วมกับเกษตรกรชาวไร่ เพื่อพัฒนาส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้กับบุตรหลานชาวไร่อ้อย ผ่านกระบวนการอบรมและเรียนรู้ร่วมกันในหลายหัวข้อ เช่น การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การนำเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร โดยเน้นองค์ความรู้ที่จะพัฒนาทั้งปริมาณและคุณภาพของอ้อยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่มีเป้าหมายในการเข้ามาสานต่ออาชีพชาวไร่อ้อยจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ช่วยลดปัญหาทายาทชาวไร่ที่เข้าไปหางานทำในเมือง เป็นพนักงานบริษัท แต่เมื่อเกิดปัญหา เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ลดคนงาน เลิกจ้าง หรือปิดกิจการ แล้วไม่มีงานรองรับ

“เราเชื่อว่าการทำไร่อ้อยเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพเกษตรกรชาวไร่ได้อย่างมั่นคง เพราะความต้องการอ้อยยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย แต่อ้อยซึ่งเป็นพืชพลังงานยังเป็นที่ต้องการของโรงงานเอทานอลและโรงไฟฟ้าด้วย นอกจากนี้ อ้อยยังสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษ บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย หลอดชานอ้อย และเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในสายธุรกิจอุตสาหกรรมชีวเคมีด้วย ซึ่งหากทำไร่อย่างถูกวิธี มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็จะสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้น แถมยังเหนื่อยน้อยลง และเมื่อมีรายได้ที่ดีขึ้นแล้ว เราก็ยังสอนวิธีการเก็บออมเงิน โดยการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและให้ความรู้เรื่องการบริหารเงิน ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืนด้วย” นายภูมิรัฐกล่าว

ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่ม KTIS กล่าวว่า โครงการนี้ทำต่อเนื่องมา 4-5 ปีแล้ว โดยการให้ความรู้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ครอบคลุมกระบวนการสร้างอ้อยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพันธุ์อ้อย การปลูกอ้อยอย่างถูกวิธี การให้น้ำและสารอาหารกับอ้อย ไปจนถึงการตัดอ้อยสด โดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการเกษตร ที่จะช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยจะมีชาวไร่อ้อยที่มีประสบการณ์หรือที่เรียกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับลูกหลานด้วย พร้อมกับเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพร้อมกัน

“ชาวไร่รุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูกหลานนี้เป็นคนละเจเนอเรชั่นกัน ย่อมมีวิธีคิดวิธีการทำงานต่างกัน โดยรุ่นลูกหลานจะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เร็ว แต่ในช่วงต้นอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าที่รุ่นพ่อแม่เคยทำ ตรงนี้ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ว่าช่วงแรกลงทุนสูงขึ้นหน่อย แต่ในระยะถัดไปจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า กำไรมากกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งหากทั้งสองรุ่นเข้าใจกัน การพัฒนาก็ทำได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” นายภูมิรัฐกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 เมษายน 2564

ดัชนีอุตฯฟื้นตัวตามศก.โลกโตสุดรอบ 29 เดือน     

สศอ.จับสัญญาณภาคอุตสาหกรรมไทยดีขึ้น ดัชนี MPI เดือนมี.ค. แตะ 107.73 ขยายตัวสูงสุดรอบ 29 เดือน ชี้ยานยนต์มาแรง มั่นใจคาดการณ์เม.ย. ยังขยายตัวแม้เจอโควิดรอบ3

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมาเป็นบวกและเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน (ต.ค. 61 –  ก.พ. 64) โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.59 สะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น

ขณะที่รัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงาน โรงงาน ดังนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการเราชนะ เรารักกัน คนละครึ่งเฟส 3 เป็นต้น และประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนและมีแผนบริหารจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2564 ทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและการบริโภคดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งให้ MPI ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภทตามความต้องการทั้งจากในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัว ในกลุ่มประเทศเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.19 เนื่องจากเร่งผลิตเพื่อทำกำไรในช่วงที่ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40-60 และการปรับตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำและรายการพิเศษ) ขยายตัวร้อยละ 25.77  ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลักครั้งแรกในรอบ 31 เดือน อีกทั้งมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 26.45 สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยในภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตในเดือนถัดไปจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 ด้านอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตขยายตัวในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.53 จากรถบรรทุกปิคอัพรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ และการส่งออกที่ขยายตัวในกลุ่มประเทศเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

นอกจากนี้ยังมีเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.19 จากเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก โดยได้รับอานิสงส์จากปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาเหล็กโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตจึงมีการเร่งผลิต เพื่อทำกำไรในช่วงที่ยังมีภาวะขาดแคลนสินค้า

ส่วนน้ำตาล ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.89  และเฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.76   อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.48

“คาดการณ์ MPI เดือนเมษายน เชื่อว่ายังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ3 เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และภาคการผลิตไม่ได้รับผลกระทบ มีการผลิตเป็นปกติ ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว  ประกอบกับรัฐบาลมีแผนกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้น”

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 เมษายน 2564

บาทเปิด 31.40/45 บาทต่อดอลลาร์         

เงินบาทเปิดตลาด 31.40/45 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มไซด์เวย์ในกรอบแคบระหว่างรอผลประชุมเฟด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.40/45 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้( 27 เม.ย.) ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.39 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทวันนี้คาดว่าจะยัง sideway ในกรอบแคบใกล้เคียงกับเมื่อวาน โดยตลาดรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งนักลงทุนคาดว่ารอบนี้เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม และจะไม่มีการลดปริมาณการซื้อพันธบัตร แต่ต้องจับตาว่าจะส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนดเดิมที่เคยระบุไว้ว่าจะเป็นปี 2023 หรือไม่

"ตลาดดูว่าประชุมเฟดรอบนี้ จะส่งสัญญาณเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยไวกว่าเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2023 หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการส่งสัญญาณอะไร ดอลลาร์ก็อาจจะย่อตัวลงเล็กน้อย" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.35 - 31.50 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 28 เมษายน 2564

ADB คาด GDP ไทยปี 64 โต 3% ส่งออก 6.5%

ADB คาด GDP ไทยปี 64 ขยายตัวได้ 3% ส่งออก 6.5% หลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก การค้า ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 2564 จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3 และจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.5 ในปี 2565 เนื่องจากการกระจายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก และการเพิ่มขึ้นของการค้าและการท่องเที่ยว จากที่ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการ แพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ -6.1

ส่วนการส่งออกสินค้าและบริการในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 12.5 ในปี 2565 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นร้อยละ 2.1 ในปี 2564 และร้อยละ 3 ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 1.1 และอยู่ที่ร้อยละ 1 ในปี 2565

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าของรัฐบาล แนวโน้มการระบาดระรอกใหม่ในประเทศ และมาตรการเยียวยาที่อาจได้ผลน้อยกว่าที่คาด อาจส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 28 เมษายน 2564

บริโภคน้ำตาลถูกหลัก ไม่เสี่ยงโรคเบาหวาน

โดย ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล

ในปัจจุบันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วนโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หากได้รับเชื้อไวรัส COVID-19 อาจจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานยิ่งมีโรคร่วมมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะมีผลข้างเคียงจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากเท่านั้น

เรามาทำความรู้จักกับ “โรคเบาหวาน” ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนโดยอาจจะไม่สามารถหลั่งอินซูลินได้ปริมาณที่เพียงพอหรืออินซูลินที่ผลิตได้มานั้นเกิดภาวะดื้อจึงส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดให้เพิ่มสูงขึ้น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ปัญหาทางสายตา โดยจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิตได้ การดูแลตนเองด้านโภชนาการถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาล การรู้จักประเภทของน้ำตาลและการบริโภคน้ำตาลอย่างเหมาะสมจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

“น้ำตาล” จัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง และเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1. น้ำตาลชั้นเดียว เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ถูกดูดซึมได้โดยไม่ต้องย่อย มีรสหวาน ได้แก่ กลูโคส (glucose) และฟรักโทส (fructose) พบได้ในผัก ผลไม้ น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม เป็นต้น กลูโคสเป็นน้ำตาลชนิดเดียวที่อยู่ในกระแสเลือดของคนปกติ 2.น้ำตาลสองชั้น ได้จากการผสมผสานของน้ำตาลชั้นเดียว 2 โมเลกุล เมื่อกินน้ำตาลสองชั้นเข้าไปจะถูกย่อยโดยเอนไซม์ในทางเดินอาหารให้เป็นน้ำตาลชั้นเดียวเสียก่อนจึงจะดูดซึมได้ น้ำตาลสองชั้นที่สำคัญ ได้แก่ ซูโครส (sucrose) ได้แก่ น้ำตาลทรายชนิดต่าง ๆ แล็กโทส (lactose) พบได้ในนม ส่วนมอลโทส (maltose) พบได้ในข้าวมอลต์ น้ำนมข้าวโพด 3.น้ำตาลหลายชั้น เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีรสหวาน มีโมเลกุลใหญ่และซับซ้อน เกิดจากน้ำตาลชั้นเดียวจำนวนมากมารวมตัวกัน ได้แก่ ไกลโคเจน (glycogen) ที่มีในคนและสัตว์ เซลลูโลสและแป้งที่พบในพืช เป็นต้น น้ำตาลหลายชั้นเมื่อถูกย่อยสลายจะกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส

การบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมของคนในแต่ละช่วงวัย ดังนี้ เด็กอายุ 0-4 ปี เน้นการรับประทานอาหารจากธรรมชาติ ไม่ควรเติมน้ำตาลหรือสิ่งแปลกปลอมลงไปในอาหาร เด็กโตอายุ 6-13 ปี  แต่ละวันไม่ควรบริโภคน้ำตาล เกิน 4 ช้อนชา กลุ่มวัยทำงานไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ในมื้อปกติผู้สูงอายุไม่ควรบริโภคเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน สำหรับนักกีฬา ผู้ออกกำลังกายหนัก ๆ หรือผู้ใช้แรงงานไม่ควรบริโภคเกิน 8 ช้อนชาต่อวัน แต่ในปัจจุบันมีผู้บริโภคน้ำตาลเกินปริมาณที่กำหนดไว้ถึง 25–30 ช้อนชาต่อวัน การบริโภคน้ำตาลมากจนเกินไปจะเป็นโทษ หากได้รับพลังงานมากกว่าที่ใช้ไป จะเปลี่ยนเป็นไขมันที่สะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

เมื่อเริ่มต้นออกแรงในช่วงแรกของร่างกาย จะดึงเอาพลังงานที่ได้จากเซลล์มาใช้ ซึ่งเป็นพลังงานที่มีไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่เมื่อร่างกายเผาผลาญกลูโคสในเลือดมาใช้มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ปัญหาโรคภัยต่าง ๆ  ก็ตามมา ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน โรคมะเร็ง ฯลฯ เพราะฉะนั้น ควรดูวิถีการกินในแต่ละวันของตนเองว่ามีการใช้พลังงานแบบใดบ้าง  รูปแบบการรับประทานอาหารเป็นอย่างไร การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม ไขมัน และสิ่งสำคัญ คือ ควรรับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย ในแต่ละวันไม่ควรรับประทานผลไม้เกิน 2-3 ฝ่ามือ ผักวันละ 3-5 ฝ่ามือ ข้าววันละ 5 ฝ่ามือ ถ้าเป็นวันที่มีการออกกำลังกายจะใช้พลังงาน หรือใช้สมองเยอะ สามารถเพิ่มเติมปริมาณได้ หากเป็นผลไม้ที่มีรสหวานอยู่แล้ว ไม่ต้องจิ้มพริกเกลือ หรือควรชิมอาหารก่อนปรุงรสเพิ่มเติม เพราะอาจจะเผลอใส่น้ำตาลในปริมาณที่เยอะเกินไป

ด้านโภชนาการในมุมวิชาการควรรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ ไม่แนะนำให้ตัดมื้อใดมื้อหนึ่งออก เพราะความเพียงพอของร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ในปัจจุบันมีศาสตร์นิวทริชั่นหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน โดยเฉพาะรูปแบบการควบคุมน้ำหนัก ตามหลักโภชนาการที่ถูกหลัก ควรดูพลังงานที่ใช้กับอาหารที่กินให้สมดุลกัน บางคนกินผักเยอะเพื่ออยากลดน้ำหนัก ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่าง ทำให้ร่างกายไม่ได้รับไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ตัวอย่างเช่น การรับประทานแบบคีโตเจนิก ไดเอท (Ketogenic Diet) งดอาหารจำพวกแป้ง เน้นกินอาหารที่มีไขมันสูง ในขณะที่ร่างกายคนเราต้องการวิตามิน และผักผลไม้ แต่เมื่อทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งร่างกายก็ไม่ไหว 

รูปแบบการรับประทานอาหารที่ทำให้การลดน้ำหนักคงที่ ได้แก่ การลดน้ำหนัก และ keep ให้ต่อเนื่อง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด หลายคนลดน้ำหนักผิดวิธีส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพในภายหลัง การลดน้ำหนักยังส่งผลเสียต่อสมอง เพราะสมองเป็นอวัยวะที่ต้องการน้ำตาล หากลดการกินน้ำตาลมากๆ จะส่งผลให้สมองขาดสารอาหาร และเป็นปัจจัยเสี่ยงเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้  และหากกินน้ำตาลที่มีปริมาณสูง อาจส่งผลในบางคนเกิดภาวะนอนหลับยาก ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเครื่องดื่ม เช่น กาแฟเย็น ช็อคโกแลตเย็น จะมีสารคาเฟอีนที่ส่งผลต่อการตื่นตัวของประสาท น้ำตาลเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาททำงานมากขึ้น ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องดื่มผสมกับสารตัวใดที่ส่งผลให้ระบบประสาทตื่นตัว

ในปัจจุบันวิถีการกินเปลี่ยนแปลงไป หลายคนกลัวความหวานของน้ำตาล โดยความเชื่อที่ว่าน้ำตาลทำลายสุขภาพ แต่หากรับประทานอย่างถูกวิธี “น้ำตาล ไม่ใช่ผู้ร้าย และไม่น่ากลัวอย่างที่คิด” บางคนไม่รับประทานผัก ผลไม้ กลายเป็นคนกลัวผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร ที่สำคัญน้ำตาลที่ได้จากผักสด ผลไม้ นอกจากจะให้พลังงานที่น้อยกว่าน้ำตาลทรายอย่างมากแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหาร ในส่วนของน้ำผลไม้ก็สามารถดื่มได้เช่นกัน หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแบบผิดวิธี เช่น ไข่เจียวใส่น้ำตาลหรือใส่น้ำมะพร้าว น้ำส้มใส่เกลือจนเกิดความเคยชิน

ก่อนปรุงรสก๋วยเตี๋ยวเพิ่มควรชิมก่อน หรือเลือกที่จะไม่ปรุงเพิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ มื้อถัดไปควรรับประทานอาหารที่ทำเอง หรือรับประทานอาหารจากธรรมชาติ ผักสด ผลไม้สด ที่สำคัญหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อน 7-8 ชั่วโมง การนอนน้อย จะทำให้ร่างกายรู้สึกโหย เมื่อรู้สึกโหย สมองจะสั่งให้เลือกอาหารที่มีน้ำตาล เมื่อรับประทานน้ำตาลที่มีปริมาณมากเกินไป ไม่ได้ใช้พลังงานสะสมจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมัน ส่งผลให้อ้วน ดังนั้น ควรหันมาใส่ใจในการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กละน้อย พึงระลึกอยู่เสมอว่า มนุษย์เราต้อง “อิ่มท้อง อิ่มกาย อิ่มใจ” ชีวีจะมีสุข สุขภาพจะดีขึ้นเรื่อย ๆ

เรียบเรียงโดย: งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 25 เมษายน 2564

7ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาทและดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย.64

ธนาคารกสิกรไทย [บล.กสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ และคาด ดัชนีหุ้นไทยแนวรับที่ 1,540 และ 1,525 จุด

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 26-30เมษายน 2564 ที่ระดับ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) วันที่ 27-28 เมษายน  และธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนมี.ค. ของธปท. สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด 19 ในประเทศและทั่วโลก กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของจีน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน   โดยเมื่อวันที่23 เมษายนที่ผ่านมา  เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.37 เทียบกับระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 เม.ย.) 7ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาทและดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย.64

7ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาทและดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย.64

บล.กสิกรไทยคาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้ากรอบ 1,540 และ 1,525 จุดบริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาหน้าระหว่างวันที่ 26-30เมษายน มีแนวรับที่ 1,540 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (27-28 เม.ย.) สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ และผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การกระชุม BOJ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI เดือนเม.ย. ของจีนอย่างไรก็ตาม โดยดัชนี SET (23เม.ย.) ปิดที่ระดับ 1,553.59 จุด เพิ่มขึ้น 0.30% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,019.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.37% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี MAI เพิ่มขึ้น 5.74% มาปิดที่ 472.76 จุด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 เมษายน 2564

เกษตรกรสุโขทัยผนึกกำลังปลูกอ้อย ป้อนโรงงานน้ำตาล สร้างรายได้ยั่งยืน

แปลงใหญ่อ้อยดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย รวมกลุ่มแปลงใหญ่เข้มแข็ง สร้างตลาดรองรับชัดเจน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64 นายณรงค์ นิลสนธิ ประธานแปลงใหญ่อ้อยดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กล่าวว่า แปลงใหญ่อ้อยดงคู่ มีสมาชิกจำนวน 60 คน พื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 1,650 ไร่ ปลูกอ้อยพันธุ์ ขอนแก่น 3 ซึ่งได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ชื่อวิสาหกิจชุมชนอ้อยแปลงใหญ่ดงคู่ จุดเด่นของกลุ่มคือ มีผู้นำและคณะกรรมการที่สามารถบริหารจัดการกลุ่มที่มีความโปร่งใสและมีความเป็นธรรมกับสมาชิก จะเห็นได้จากกลุ่มได้เปิดบัญชีธนาคารเป็นบัญชีส่วนกลางที่สมาชิกสามารถตรวจสอบเงินหมุนเวียนผ่านบัญชีได้ มีการทำสมุดบันทึกรายรับรายจ่าย และนำมาเสนอในที่ประชุมกลุ่มทุกครั้ง

กลุ่มยังมีการเตรียมความพร้อมการวางแผนการปลูกอ้อยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เกษตรกรสมาชิกปลูกอ้อย 1 รอบต่อปี ขั้นตอนการปลูกอ้อยโรงงานคือเกษตรกรที่จะปลูกอ้อยต้องทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานและรับโควตา เกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคม ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง โรงงานรับซื้ออ้อยของสมาชิกแปลงใหญ่อยู่ที่ 920 บาทต่อตัน ค่าตัด 180 บาทต่อตัน และค่าขนส่ง 100 บาทต่อตัน ที่ผ่านมาผลผลิตเฉลี่ย 10 ตัน ต่อไร่ จึงทำให้ผลผลิตอ้อยมีการตลาดรองรับที่แน่นอน คือจำหน่ายให้กับโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำหน่ายเข้าโรงงานประมาณ 15,000 ตันต่อปี และกลุ่มได้เปิดให้สมาชิกลงหุ้น และรับเงินปันผลเฉลี่ยคืนให้สมาชิกที่มาลงหุ้นไว้ทุกสิ้นปีงบประมาณ ดอกเบี้ยกว่าร้อยละ 9 ต่อปี

ด้านนายประสิทธิ์ ทรัพย์สุข เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่อ้อยดงคู่ กล่าวว่า กลุ่มมีบัญชีรายรับรายจ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ เห็นได้จากการจัดซื้ออุปกรณ์การปลูกอ้อย เครื่องจักรกล ที่จัดซื้อมาเป็นชื่อของกลุ่มแปลงใหญ่ทั้งหมด เพื่อใช้ร่วมกันภายในกลุ่ม ซึ่งการที่ผู้นำและคณะกรรมการกลุ่มแปลงใหญ่อ้อยดงคู่ มีกระบวนการบริหารจัดการที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใสนั้น ส่งผลให้สมาชิกมีความไว้วางใจเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มเสียภาษีให้สรรพากรทุกปี เพราะเงินผ่านบัญชีธนาคารของกลุ่ม มีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้ามาตรวจสอบ แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในทุกๆ ด้าน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรตำบลดงคู่ ได้เข้ามาส่งเสริมแปลงใหญ่อ้อยดงคู่ด้านการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนอ้อยแปลงใหญ่ดงคู่ สนับสนุนงบประมาณ ฝึกอบรมให้ความรู้ การทำบัญชี พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรกลุ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยดงคู่ ยังได้จัดซื้อรถตัดอ้อย จำนวน 1 คัน ราคา 11,800,000 บาท โดยกู้จากโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 บาทต่อปี จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 10,000,000 บาท และระดมทุนสมทบ จำนวน 1,800,000 บาท โดยมีเป้าหมายบริการรับจ้างตัดอ้อย ในราคา 180 บาทต่อตัน เพื่อใช้รับจ้างในพื้นที่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยใกล้เคียงที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่อีกประมาณ 1,157 ไร่ เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งให้กับกลุ่ม และช่วยให้สมาชิกประหยัดต้นทุนในการตัดอ้อย ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย นอกจากนี้บริษัทยังรับซื้อใบอ้อยอัดแท่งเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล รับซื้อในราคาตันละ 130 บาท อีกทั้งยังเป็นการช่วยรณรงค์การงดเผาตอซังอ้อย ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ได้อีกทางหนึ่งด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 23 เมษายน 2564

‘จีน-สหรัฐ-อียู’ฟื้น  ส่งออกไทยโงหัว

3 ตลาดหลัก “จีน-สหรัฐ-อียู” เศรษฐกิจฟื้น อานิสงส์ส่งออกไทยแนวโน้มสดใส ยางพารา มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรโตยกแผง “ชัยชาญ” ประธานสรท.คนใหม่ดัน 4 วาระเร่งด่วน

ภาคการส่งออกของไทยภาพรวม 2 เดือนแรกปี 2564 แม้มูลค่ารูปดอลลาร์สหรัฐฯยังติดลบที่ 1.1% แต่สถานการณ์เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่ม 10 อันดับแรกแล้ว มีถึง 8 อันดับที่ขยายตัวเป็นบวก ขณะเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ก็มีถึง 6 ตลาดที่ขยายตัวเป็นบวกในระดับตัวเลขสองหลัก และคิดเป็นสัดส่วนถึง 52% ของมูลค่าส่งออกในภาพรวม

โดยตลาดส่งออก 6 อันดับแรกที่ขยายตัวเป็นบวกได้แก่สหรัฐฯ มูลค่าส่งออก 176,962.38 ล้านบาท +15.03%, จีน 146,079.84 ล้านบาท + 11.84%, ญี่ปุ่น 124,306.76 ล้านบาท +6.05%, เวียดนาม 60,451.70 ล้านบาท +11.76%, ออสเตรเลีย 53,577.41 ล้านบาท +22.07% และมาเลเซีย 52,566.34 ล้านบาท +20.74% แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นอย่างชัดเจน จากปีที่แล้ว การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯติดลบที่ 6% และรูปเงินบาทติดลบ 5.9% ขณะที่ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมขยายตัวเป็นบวกถึง 8.4% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มส่งออกที่ดีขึ้นนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกคนใหม่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้ 3 ตลาดหลักได้แก่ จีน สหรัฐฯ และสภาพยุโรป(อียู) ขยายตัวได้ดีมาก จากเศรษฐกิจของตลาดหลักเหล่านี้เริ่มฟื้นตัวชัดเจน หลังมีการเร่งฉีดวัคซีน และมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะจีนเศรษฐกิจโตมาก(ไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 18.3% และการส่งออกขยายตัว 31% การนำเข้าขยายตัว 31%) ส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปผลิตใช้ในประเทศหรือส่งออกต่อ“จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของเราที่ส่งไปทุกตลาดมีการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งยางพารา เพื่อผลิตยางล้อรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น คาดการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 รวมถึงครึ่งหลังของปีนี้ยังขยายตัวได้ดี ทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%”ชัยชาญ  เจริญสุข

สำหรับวาระด่วนในฐานะประธานสภาผู้ส่งออกคนใหม่ที่จะผลักดัน นายชัยชาญ ระบุว่า จะเร่งดำเนินการ(Click to Go) ใน 3-4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก การคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานเพื่อไม่ให้ภาคการผลิต ส่งออกสะดุด รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนแก่คนงานและพนักงาน 2. เร่งหามาตรการร่วมกับภาครัฐเพื่อวางแผนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงไตรมาส 3-4 จากช่วงเกิดโควิด 2 รอบแรกถูกเลย์ออฟ หรือกลัวโควิดมีผลให้และกลับประเทศจำนวนมาก ทำให้เวลานี้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม3.เจรจาต่อรองกับสายเดินเรือในเรื่องค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก เพื่อให้มีต้นทุนที่ลดลง และสร้างความมั่นใจว่าตู้สินค้าจะมีเพียงพอ และ 4. การเร่งติดต่อคู่ค้าเฉพาะอย่างยิ่งคู่ค้ายุโรปและอเมริกาที่เวลานี้ตลาดเริ่มเปิด และกำลังไปได้ดีเพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยให้มากขึ้นด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยเวลานี้ได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลก จากที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสินค้าส่งออก

ด้านนายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา  รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยเวลานี้ได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลก จากที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น ดัชนีฝ่ายจัดซื้อ(PMI Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่เดิมคาดจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก แต่ปรากฎตรงกันข้ามค่าดอลลาร์กลับแข็งค่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกไทย จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯต้องขายพันธบัตรเพิ่มและไปเพิ่มดอกเบี้ยในพันธบัตร ทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามองว่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ต้องคอยติดตามความผันผวนต่อไปวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

“เงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน เรียกว่าพอฟัดพอเหวี่ยงพอสู้กับประเทศคู่แข่งขันได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคซ่อนอยู่ข้างในเยอะ ตู้ขนสินค้าก็ยังไม่พอ แรงงานในบางอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลน”ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยทั้งปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อยู่หมัด และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ คาดปีนี้จีดีพีจีนจะขยายตัวได้ 6-8% ส่งผลให้เวลานี้หลายสินค้าของไทยส่งไปจีนโตมาก เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น คาดปีนี้การส่งออกไทยไปจีนจะขยายตัวได้ตัวเลขสองหลัก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 เมษายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  31.39 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์มีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์

 อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.39 บาทต่อดอลลาร์”อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30 - 31.45 บาทต่อดอลลาร์ นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ภาพรวมตลาดการเงินในคืนที่ผ่านมามีความผสมผสานและผันผวนพอสมควร โดยในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและทยอยเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง จากทั้งความกังวลผลกระทบจากการขึ้นภาษี โดยเฉพาะ ภาษี Capital Gains ที่ระดับ 39.6% สำหรับนักลงทุนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะเดียวกัน ตลาดก็ยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ปิดลบ 0.9% อย่างไรก็ดี บรรยากาศการลงทุนกลับแตกต่างในฝั่งยุโรป โดยดัชนี STOXX50 ปิดบวกเกือบ 1% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างให้ความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากที่ทางการยุโรปเตรียมแจกจ่ายวัคซีน Johnson&Johnson อีกครั้ง นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศการลงทุนที่ดูอึมครึมนั้น ยังคงกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.54% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้ยีลด์ปรับตัวขึ้น (ราคาบอนด์ลง) ก่อนจะเข้าซื้อ หรือเป็น Dip Buyers ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบต่อ

ส่วนตลาดค่าเงิน เมื่อตลาดการเงินผันผวนขึ้น ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวน หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 91.28 จุด กดดันให้เงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงมา สู่ระดับ 1.3844 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย แตะระดับ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโรสำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ผ่านการรายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ ของ Markit (Manufacturing and Services PMIs) โดย การเร่งแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวแข็งแกร่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายนที่ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60 จุด และ 61 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัวของภาคการผลิตหรือการบริการ) ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ได้สะดุดลงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 หลัง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Manufacturing & Services PMIs) เดือนเมษายน จะทรงตัวที่ระดับ 62.2 จุด และ 49.9 จุด ตามลำดับ ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศและรอบโลก รวมทั้ง โฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

ในความเงียบ ของ EEC เดิมพันอนาคต เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19

การส่องออก

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จัดเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจนในยุคของ “นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้วยการกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อน EEC

ตั้งแต่การดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จนทำให้มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงทำนิวไฮถึง 683,910 ล้านบาทในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น137% จากจำนวนโครงการขอรับส่งเสริมถึง 422 โครงการ

แต่หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจ ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด-19 สุ้มเสียงของรัฐบาลที่มีต่อ EEC ก็เริ่มเปลี่ยนไป ส่งผลให้นโยบายในการขับเคลื่อนเริ่ม “ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน”แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ระยะการฉีดวัคซีนไปทั่วโลกแล้วก็ตาม

รัฐไม่สนองพื้นที่ SMEs

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีการจัดสรรพื้นที่รองรับนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยที่เป็น SMEs

โดยเฉพาะการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม SMEs” ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้เรียนรู้เทคโนโลยี ได้สิทธิประโยชน์ การดูแล ระบบสาธารณูปโภคที่ดี

มีช่องทางในการลงทุนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนเพื่อป้อนชิ้นส่วนหรือสิ่งต่าง ๆ ให้ครบวงจร (ลูป) ของการผลิต ตามที่รัฐบาลได้เคยประกาศนโยบายช่วย SMEs เป็นวาระแห่งชาติ

ผังเมืองทำ EEC ป่วน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผ่านมามี “คลื่นใต้น้ำ” ให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ กลุ่ม EEC Watch หรือกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ขอให้ยุติการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ผังเมือง EEC

และต้องการจัดทำเมือง EEC ใหม่ตั้งแต่ต้น โดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมเสียก่อน โดยเห็นว่าการรื้อผังเมืองเดิม และทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบาย EEC นั้น เป็นการ “เปิดทาง”

ให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC โดยประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม จนผังเมือง EEC ใหม่กลับกลายเป็นกระบวนการทำผังที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วย

ส่งผลให้ทุกวันนี้แม้ผังเมือง EEC จะประกาศใช้แล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีม่วงได้ ส่งผลให้นักลงทุนบางรายที่มีแผนก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ และนิคมอุตสาหกรรมต้องเบรกการลงทุน

พร้อมกับมองหาพื้นที่ใหม่ นอกจากนี้ EEC ในอนาคตอันใกล้ยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมแน่นอน ทุก ๆ ปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดประชุมเตรียมการเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในลักษณะปีต่อปี

มีแต่แผนไม่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อเท็จจริงที่ว่าความต้องการใช้น้ำรวมใน EEC ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2,419 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่น้ำต้นทุนรองรับเหลือแค่ 2,540 ล้าน ลบ.ม./ปีเท่านั้น จนปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุตสาหกรรมกลายเป็นอุปสรรคของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษแห่งนี้ไปแล้ว

ไม่มีศูนย์ซ่อม MRO

ขณะที่แผนการลงทุนโครงการสำคัญ ๆ ขนาดใหญ่ 5 โครงการของ EEC คือ สนามบินอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3, ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

และศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ปรากฏ 4 โครงการแรกเริ่มเดินหน้าไปได้ แต่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่น่าจะเริ่มไปพร้อม ๆ กับสนามบินอู่ตะเภา กลับหยุดชะงักลงจากปัญหาโควิด-19

ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้มละลายของการบินไทย ที่เป็นหุ้นส่วนหลักของโครงการ จนต้องขอลดพื้นที่การลงทุนเหลือเพียง 200 ไร่

โดยที่ยังไม่มีโครงการขนาดใหญ่มาทดแทนการหายไปของศูนย์ซ่อมอากาศยานได้แต่ดูเหมือนว่าจะมีความพยายามที่จะ “ปั้น” โครงการ Smart City เข้ามา แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก ว่าใครจะเป็นคนลงทุนที่ไหน และเพื่ออะไร ให้กับนักลงทุนได้ทราบ

ขาดผู้นำ EEC

สะท้อนออกมาจากความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า เริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ. EEC ออกมาบังคับใช้ นักลงทุนต่างก็มีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ในเชิงบวกมองถึงความมั่นคงทางนโยบายที่จะมีต่อไปของ EEC

อีกมุมคือการมองถึงอำนาจ บทบาท การกำหนดสิทธิประโยชน์ของ EEC ที่ออกจะใกล้เคียง จนเรียกได้ว่า “ซ้ำซ้อน” กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมมการลงทุน (BOI) เช่น ให้ผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมพิเศษได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือหลายอย่างตามกฎหมายกำหนด ยกตัวอย่าง สิทธิในการ “ยกเว้น” หรือ “ลดหย่อน” ภาษีอากร รวมทั้งสิทธิในการทำธุรกรรมการเงิน ที่นอกเหนือไปจากที่ BOI กำหนด

โดย EEC ยังมีการกำหนดเป้าหมายเม็ดเงินการลงทุนของ EEC ไว้ด้วย ในแต่ละปีที่ 300,000 ล้านบาท ขณะที่ BOI ก็เก็บสถิติยอดขอรับการส่งเสริมของตนเองเช่นกัน

ปัญหาข้ออุปสรรคนโยบายส่งเสริมการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกันอย่างนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังขาด “ผู้นำ” ทางเศรษฐกิจในรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน EEC

หลังสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังผ่อนคลายลงภายใน 1-2 ปี ยิ่งทำให้ “โอกาส” ของEEC ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ทำเลที่ตั้งที่เอื้อมากกว่า EEC ของประเทศไทย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2564

เกษตรฯยกระดับฐานข้อมูลFarmer ONE

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE)เปิดเผยว่า จากที่ สศก. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง หรือ Farmer ONE มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานรับขึ้นทะเบียน คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง โดยในปี 2562 ได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานเพิ่มเติม คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)อีกด้วย

ปัจจุบัน การให้บริการข้อมูล Farmer ONE มีการแบ่งกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) ปลูกพืช2) เลี้ยงสัตว์ 3) เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4) ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ 5) ปลูกพืชและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 6) เลี้ยงสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ7) ปลูกพืช, เลี้ยงสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถสืบค้นแบบจำแนกชนิดสินค้า เพื่อรับทราบจำนวนครัวเรือน เนื้อที่เพาะปลูก เนื้อที่เก็บเกี่ยว แบบรายภาค รายจังหวัด ได้ 14 ชนิด คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มะพร้าวลำไย สับปะรดโรงงาน กาแฟ ยางพารา เงาะ มังคุด และ ทุเรียน รวมทั้งข่าวสารสำคัญทั่วไป เช่น ข้อมูลพยากรณ์อากาศ และสถานการณ์น้ำ

ล่าสุดผลจากการประชุมของคณะกรรมการขับเคลื่อนพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในการเดินหน้าพัฒนาการให้บริการ ซึ่งภายในปี 2564 จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพิ่มเติม จากเกษตรกรผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม จากกรมหม่อนไหม และเกษตรกร ชาวสวนยางจากการยางแห่งประเทศไทยแบบ Real Time เพื่อให้ฐานข้อมูล Farmer ONE มีข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทางด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมกิจกรรมทางการเกษตรให้มากที่สุด รวมทั้งพัฒนาสู่มาตรฐานข้อมูลกลาง (Data Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมข้อมูลของแต่ละรายบุคคลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และลดความซ้ำซ้อนการจัดเก็บข้อมูล ชุดเดียวกันแต่มีข้อมูลที่ต่างกันยึดหลักการกำหนดมาตรฐานตามกรอบแนวทางเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ TH e-GIF และแนวทางการจัดทำมาตรฐานข้อมูลภาครัฐของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเกษตรกรสามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ และในปี 2565 จะดำเนินการกำหนดมาตรฐานกลางของสินค้าเกษตรที่สำคัญต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบกรอบการกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลาง (Data Standard) ข้อมูลบุคคลของฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรแล้ว สศก. จะได้นำเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนประกาศใช้ ต่อไปภายในปีนี้ ทั้งนี้ หากท่านใดที่สนใจข้อมูลการให้บริการของ Farmer ONE สามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ที่ www.farmerone.org หรือ สามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร. 0-2561-2870 ใน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

“ค้าภายใน”เบรกขึ้นราคาปุ๋ย

พาณิชย์ สั่งเบรกขึ้นราคาปุ๋ย หลังจากตรวจพบว่าราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้น ชี้สาเหตุมาจากอินเดียเปิดประมูลซื้อแม่ปุ๋ยล็อตใหญ่ ค่าระวางเรือขนส่งมีการปรับสูงขึ้น เข้มห้ามกักตุนหรือขายเกินราคา หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบปัจจัยการผลิตก่อนที่เกษตรกรจะเริ่มฤดูการผลิตและพบว่าราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้นจากในช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จึงได้ตรวจสอบถึงสาเหตุของการปรับราคาขึ้น พบว่า สาเหตุสำคัญมาจากกรณีวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียมที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการปรับสูงขึ้น เนื่องจากประเทศอินเดียได้มีการเปิดประมูลซื้อแม่ปุ๋ยล็อตใหญ่ และประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทยได้ชะลอการส่งออกแม่ปุ๋ยเพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูกในรอบใหม่ ประกอบกับ ค่าระวางเรือขนส่งมีการปรับสูงขึ้น“ค้าภายใน”เบรกขึ้นราคาปุ๋ยนอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญหนึ่ง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม ในปี 2563 ที่ 42.21 ดอลลารร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เป็น 64.55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ปรับราคาสูงขึ้นจากเดิมในปี 2563 ที่ 262.17, 321.00 และ 255.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ปรับขึ้นเป็นราคาในเดือนมีนาคม 2564 ที่ 384, 557 และ 288 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดตรวจเข้มในพื้นที่ และกรมการค้าภายในหามาตรการแก้ไขโดยด่วนที่สุด

ล่าสุดกรมฯ ได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. และมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1. ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรึงราคาออกไประยะหนึ่ง 2. เข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและตรวจสอบสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด 3. สนับสนุนให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเงินสดแทนการซื้อเชื่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ราคาปุ๋ยที่ซื้อสดถูกกว่าราคาที่จะซื้อเงินเชื่อ 4.จัดหาปุ๋ยราคาถูกให้เกษตรกรรายย่อย โดยให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผลิตปุ๋ยผสมในรูปปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมี โดยรัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดและความพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนสรุปนำเสนอกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณานำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้  หากมาตรการดังกล่าวไม่สามารถตรึงราคาได้ ก็จะเพิ่มความเข้มข้นมาตรการกฎหมาย โดยทบทวนโครงสร้างต้นทุน และให้ผู้ประกอบการแจ้งราคาจำหน่าย เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับตัวของราคาปุ๋ยจะลดความรุนแรงลง เนื่องจากปัจจุบันประเทศอินเดียได้มีการรับมอบปุ๋ยจากการประมูลเรียบร้อยแล้ว และประเทศจีนมีการสต็อกไว้เพียงพอแล้ว จึงขอให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเท่าที่จำเป็นก่อน ซึ่งกรมการค้าภายในจะได้มีการติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้า แม่ปุ๋ย ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

โรงไฟฟ้าชุมชนลุ้นฝ่าด่านโควิด-19 เอกชนคึกคัก-คาดชีวมวลแข่งเดือด!

โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 150 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันนับว่าเดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายก็ว่าได้หากไม่มีอะไรทำให้ต้องแหกโค้งเสียก่อน เพราะด้วยโควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการได้ปรับเวลายื่นข้อเสนอประมูลจากเดิมในวันที่ 21-30 เม.ย. 64 ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศ โดยได้ทำโปรแกรมสำหรับให้ผู้ยื่นเลือกวัน และช่วงเวลาที่จะเข้ามายื่นซองเอกสาร ผ่านทางระบบ PPIM (https://ppim.pea.co.th) โดยผู้ยื่นสามารถ log in เข้าระบบ PPIM ตาม User ที่เคยลงทะเบียนไว้ และเข้าเลือกวันเวลาที่ต้องการมายื่นเอกสารกับ PEA เมื่อผู้ยื่นเลือกวันเวลาเรียบร้อย ระบบจะให้ยืนยันอีกครั้งก่อน กดส่ง และโปรดพิมพ์ใบนัดหมายวันเวลายื่นเอกสารจากระบบ PPIM เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ PEA ตามวันและเวลาที่นัดหมาย

โดยนำมายื่นพร้อมกับซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาที่มีใบปะหน้าซองซึ่งพิมพ์จากระบบ PPIM หรือสำเนาใบเสร็จการชำระเงินค่าหลักประกันการยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้า เพื่อแสดงว่าได้ชำระเงินค่าหลักประกันฯ เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จะเปิดให้ผู้ยื่นเข้าเลือกวันเวลามายื่นซองได้ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เวลา 08.30 น. จนถึงวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลา 23.59 น.

ทั้งนี้ PEA ขอให้ผู้ยื่นเร่งดำเนินการจองนัดหมายคิวการมายื่นซองเอกสารและมาตามวันและเวลาที่จองนัดหมายไว้ เพื่อรักษาสิทธิลำดับการยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้าของผู้ยื่น และสามารถยื่นได้ทันตามกำหนดวันเวลาที่ PEA เปิดรับยื่น (หากไม่รีบจองคิวการยื่น แล้วในวันสุดท้ายคิวถูกจองเต็มแล้ว จะทำให้ไม่สามารถมีใบนัดหมายมายื่นซองเอกสารกับ กฟภ.ได้) โดยเมื่อผู้ยื่นนำเอกสารมายื่นที่ PEA ตามวันเวลาที่นัดหมาย เจ้าหน้าที่เรียกให้ผู้ยื่นเข้ายื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ตามลำดับคิวในใบนัดหมาย และจะกดรับเรื่องเข้าระบบเมื่อได้รับซองเอกสารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะถือวันเวลาที่กดรับเรื่องเข้าระบบเป็นลำดับการยื่นเอกสารตามวันเวลาดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ผู้ยื่นโปรดติดตามประกาศรายละเอียดขั้นตอน และเงื่อนไขการยื่นเอกสารผ่านทางเว็บไซต์ PPIM ต่อไป

ภายหลังจากปิดรับยื่นซองเอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาแล้ว (ปิดรับในวันที่ 30 เมษายน 2564) กฟภ.จะตรวจสอบเอกสารและแจ้งสิทธิในรายที่เอกสารไม่ครบถ้วน ถูกต้องสมบูรณ์ ให้มายื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 จะแจ้งผลทาง e-mail ให้ผู้ยื่นรายที่เอกสารไม่ครบถ้วนทราบ และให้ผู้ยื่นนำเอกสารเพิ่มเติมใส่ซองปิดผนึก นำมายื่นที่อาคารคลับเฮ้าส์ PEA สำนักงานใหญ่ ในวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30-16.30 น. โดยผู้ยื่นจะเข้าไปจองวันเวลาที่จะเข้ามายื่นเอกสารเพิ่มเติมได้ผ่านทางระบบ PPIM เช่นเดิม โดยระบบจะเปิดให้ผู้ยื่นเข้าเลือกวันเวลาที่จะมายื่นเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30 น. จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 23.59 น. โดย PEA จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิคในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านทางเว็บไซต์ PPIM และมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา พร้อมเหตุผล ให้แก่ผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิคทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ยื่นต้องการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อ กกพ.ได้ภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2564) โดย กกพ.จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 และ กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วันนับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ (ภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564)

ด้วยการดำเนินงานดังกล่าวเป็นที่จับตาของเอกชนอย่างใกล้ชิดว่างานนี้จะฝ่าด่านอุปสรรคโควิด-19 ไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพรวมทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าจะเดินหน้าไปได้เสียทีจากที่โครงการนี้ถูกตั้งต้นไว้มาจนถึงวันนี้ก็กินเวลาไปแล้วปีกว่า อีก 3 เดือนก็ครบ 2 ปีนับตั้งแต่โครงการนี้ถูกวางพื้นฐานไว้ตั้งแต่ยุคของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่เข้ามานั่งกุมบังเหียนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในช่วง ก.ค. 62 ซึ่งผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนตั้งแต่การรอบรรจุในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ฉบับปรับปรุง รอหนังสือเวียนความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาและนำส่ง ครม. ประกอบกับระหว่างนั้นยังเจอการระบาดโควิด-19 มาแล้วถึง 2 รอบทำให้ขั้นตอนต่างๆ มีความล่าช้าออกไปอีก

วันนี้โรงไฟฟ้าชุมชนที่เป็นโครงการนำร่องจำนวน 150 เมกะวัตต์ในแบบฉบับของ “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบสนธิรัตน์ไปพอสมควร แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% จำนวน 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวล และก๊าซชีวภาพจากกลุ่มผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) หรือมีกำลังผลิตไฟต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาทต่อหน่วย

เกณฑ์การร่วมทุน ได้แก่ ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 90% วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นในสัดส่วน 10% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า ขณะที่การจัดหาเชื้อเพลิงต้องมีสัญญารับซื้อในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อ คุณสมบัติ และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญา โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เองไม่เกิน 20%

วิธีการคัดเลือกโครงการ จะมีการพิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา โดยด้านเทคนิคจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข และประเมินด้านเทคนิค เช่น ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการเงิน ความพร้อมด้านพื้นที่ มีระบบสายส่งรองรับ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง รวมถึงพื้นที่ปลูก ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป ขณะที่ด้านราคา จะเป็นการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทิ้งโครงการ เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการวางหลักประกันคำเสนอขอขายไฟฟ้าจำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ เป็นต้น

เอกชน 700 รายแห่ตรวจสอบ Feeder

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA เปิดให้มีการยื่นให้เอกชนตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าผ่านเว็บไซต์ กฟภ. ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ไปยื่นประมาณ 345 ราย และเมื่อรวมกับผู้ที่ได้ไปยื่นตรวจไว้แล้วในปี 2563 ที่ผ่านมาอีกกว่า 300 ราย รวมๆ ก็น่าจะอยู่ประมาณ 700 ราย ดังนั้น หากพิจารณาจากผู้ที่เข้ามายื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าฯ ก็ชี้ให้เห็นถึงเอกชนมีความสนใจค่อนข้างมาก

“โรงไฟฟ้าชุมชนแบ่งเป็นการรับซื้อชีวมวล 75 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตติดตั้งต้องไม่เกินโครงการละ 6 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ ไม่เกินรายละ 3 เมกะวัตต์ หากประเมินง่ายๆ แบบตามนี้เลยก็จะมีโครงการที่ได้รับซื้อประมาณ 38 โครงการ แต่ถ้ามีการเสนอขายไฟแบบไม่ได้เต็มจำนวนคิดเป็นอย่างละ 50% ก็จะอยู่ราว 80 โครงการไม่เกินนี้ อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนมายื่นตรวจสอบ Feeder จำนวนมากก็ไม่ได้หมายถึงว่าทุกรายจะผ่านไปได้หมด โดยเฉพาะก่อนอื่นต้องผ่านด้านเทคนิคไปก่อน” นายนทีกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าบริษัทที่อยู่นอกตลาดฯ แต่ทั้งนี้ตัวแปรที่สำคัญก็อยู่ที่วิสาหกิจชุมชนด้วยเพราะจะต้องเสนอผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่สูงหรือเป็นที่พอใจเพราะรัฐไม่ได้กำหนดเป็นตัวเงินเอาไว้ ดังนั้นการจะไปเสนอลดค่าไฟฟ้ามากๆ ในการเสนอแข่งขันแล้วไปทำให้ประโยชน์แก่ชุมชนลดน้อยลงก็ไม่ได้ ทุกอย่างต้องสมดุล และพืชพลังงานที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้ากำหนดให้ปลูกใหม่ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องที่ดิน

เผย 1 MW ต้องใช้ที่ปลูกพืชพลังงานพันไร่

นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทยกล่าวยอมรับว่า โรงไฟฟ้าชุมชนกรณีที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6 เมกะวัตต์ (MW) จะต้องมีพื้นที่สำหรับการปลูกพืชพลังงานประมาณ 1,000 ไร่ต่อ 1 เมกะวัตต์ โดยหากเป็น 3 เมกะวัตต์ก็จะใช้พื้นที่ราว 3,000 ไร่ คิดการลงทุนเพาะปลูกพืชใหม่ราว 30 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าวิสาหกิจชุมชนจริงๆ ส่วนใหญ่ไม่มีเงินลงทุน ที่สุดแล้วการเจรจาก็จะเป็นรูปแบบของหุ้นส่วน (Partnership)

“วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกว่า 8 หมื่นแห่งวันนี้ที่ทำธุรกิจจริงๆ มีไม่ถึง 500 แห่ง การลงทุนครั้งนี้เป็นลักษณะของการเป็นนอมินีให้กับโรงไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เป็นโมเดลแบบ Win Win Partnership เพื่อทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสยืนได้ด้วยตนเองในระยะยาว” นายวัฒนพงษ์กล่าว

ขู่ยื่นฟ้องศาลปกครอง

ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษ์ป่าตะวันออก ( ปม. ) กล่าวว่า เอกชนและวิสาหกิจชุมชนบางส่วนกำลังพิจารณาทำหนังสือยื่นถึงศาลปกครองเพื่อขอให้ กกพ.ได้ทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนของการประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (Biogas plant) ที่มีการแก้ไขจาก 2 ราคาเหลือเพียงราคาเดียว ซึ่งจะส่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ 1. เกษตรกรจะขายพืชพลังงานได้น้อยลง 2. ไม่เป็นธรรมในเรื่องการแข่งขัน Bidding

“ผมได้ไปดูรายละเอียดการที่ กกพ.ได้กำหนดตัวเลขค่าไฟฟ้าให้แตกต่างกัน โดยมี 2 ราคา ก็เพราะการใช้พืชพลังงานเหลือเพียง 75%+น้ำเสีย/ของเสีย 25% กับการใช้พืชพลังงาน 100% ก็นับว่ามีเหตุผลรองรับ แต่ถ้าดูจากราชกิจจานุเบกษา 18 มีนาคม 2564 จะกำหนดให้มีราคาไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกิน 25% Fit = 4.7269 บาทต่อหน่วย เพียงราคาเดียวก็ทำให้มีข้อสงสัยว่าทำไมจึงมีการแก้ไขราคาจาก 2 ราคา เหลือเพียง 1 ราคา ทั้งๆ ที่ในรายงานการประชุมของ กพช.เมื่อ 16 พ.ย. 2563 ไม่มีการเสนอขอแก้ไขราคา เพียงแต่ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของเชื้อเพลิงเท่านั้น” ม.ร.ว.วรากรกล่าว

นอกจากนี้ ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 16 พ.ย. 63 ก็ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า หากจําเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา

ดูเหมือนว่าโค้งสุดท้ายของโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ก็ยังคงมีอะไรให้ลุ้นกันอยู่ แต่เสียงสะท้อนเอกชนส่วนใหญ่ล้วนอยากให้เดินหน้าเป็นรูปธรรมเสียที เพื่อให้เป็นโครงการชี้วัดอนาคตไปเลยว่าในเฟสต่อไปควรจะเดินต่อหรือไม่ และหากมีข้อบกพร่องจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งหลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลน่าจะมีคนยื่นขอกันเป็นจำนวนมากเพราะเสนอได้มากถึง 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันสูงเพราะโอกาสได้รับพิจารณาจะน้อยโรง

ขณะที่ฝั่งของก๊าซชีวภาพ การหาพันธมิตรโรงน้ำเสียเข้าร่วมมีโอกาสน้อยมาก และยังต้องแสวงหาวิสาหกิจปลูกหญ้าอีก 75% จึงไม่ค่อยมีใครกล้าทำโครงการ ขณะที่การรับซื้อ 75 เมกะวัตต์แต่ละโรงกำหนดให้แค่ 3 เมกะวัตต์ จึงมีโครงการอย่างต่ำถึง 26 โครงการ ดังนั้น ถ้ามีคนเสนอขอขายไฟฟ้าน้อยก็ย่อมมีโอกาสได้รับเลือกสูง

ทั้งหมดก็เป็นเพียงการคาดเดากันไป ของจริงคงต้องรอลุ้นอีกแค่อึดใจ และหวังว่าโค้งสุดท้ายโครงการนี้จะไม่เจอโรคเลื่อนอะไรอีก และที่สำคัญจะไม่เดินซ้ำรอย SPP Hybrid Firm ที่แห่เข้ามายื่นล้นหลามแต่ของจริงลงนามได้แค่ 3 รายจนต้องขยายเวลาเอื้อให้แบบสุดๆ แต่ก็จบได้แค่ 10 รายเท่านั้นจากที่ได้รับคัดเลือกถึง 17 ราย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ : กรมส่งเสริมการเกษตรดันธุรกิจดินปุ๋ยชุมชน นำร่อง63จว.สร้างรายได้..ลดต้นทุนให้เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ผลักดันโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) นำร่อง 63 จังหวัด มุ่งสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกิดในชุมชน หวังเกษตรกรเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คาดลดใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 1.8 หมื่นตัน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง และพัฒนาให้กลุ่มเกษตรกรทำธุรกิจให้บริการทางการเกษตรรวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสู่เกษตรอัจฉริยะ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและระบายสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทยซึ่งต้องอาศัยปุ๋ยเคมีในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต โดยปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 ต้องนำเข้าและเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็น ทำให้ต้นพืชอ่อนแอศัตรูพืชเข้าทำลายได้ง่าย ต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง เป็นอันตรายกับเกษตรกร และปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกรในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนและช่วยเกษตรกรใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับดินและชนิดพืช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่าน ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งขึ้น เป็นการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประเทศผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ เช่นจีน สหรัฐอเมริกา ใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศมากขึ้น จึงส่งออกน้อยลง ส่งผลกระทบทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะช่วยเกษตรกรลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้จากการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดินเบื้องต้นภาครัฐได้สนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย N P Kและเครื่องผสมปุ๋ย ให้แก่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป และบริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

สำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีจำนวน 882 ศูนย์ ครบทุกอำเภอ แต่ละศูนย์เกษตรกรจะช่วยกันบริหารจัดการกันเอง มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยง โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบN P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว พร้อมให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ย จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีแก่เกษตรกรในชุมชน โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) สามารถลดต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้ร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่า 73 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ จำนวน 394 ศูนย์ ใน63 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมจำนวนประมาณ 107,000 รายได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมดินได้รับการบำรุงรักษา มีความรู้ในการจัดการดินและใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง รวมทั้งสามารถขยายผลไปสู่ ศดปช. อื่นๆ รวมทั้งแปลงใหญ่ที่ประสงค์เป็นเครือข่ายศดปช. ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 และปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ ลดลงจากประมาณ 90,000 ตัน เหลือประมาณ 72,000 ตัน ปัจจุบันศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 50 จังหวัดและจะทยอยเปิดให้บริการจนครบในปีนี้

นายเข้มแข็งกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงเกษตรกรทั่วไปให้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นที่สำคัญกรม จะพัฒนาต่อยอดให้ ศดปช. สามารถทำธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน มีรายได้หมุนเวียนจากการตรวจวิเคราะห์ดิน จำหน่ายปุ๋ย และบริการผสมปุ๋ย รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐได้ในอนาคต สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้านท่าน และกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1515

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

กกร.หั่นจีดีพี 64 เหลือ1.5-3% ผวาโควิด-19 ระลอกสาม

กกร.ปรับลดคาดการร์จีดีพีปี 64 เหลือ1.5-3% ผวาโควิด-19 ระลอกสามระบาด แม้เศรษฐโลกจะฟื้นตัวชัดเจน

นายสุพันธ์  มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการรประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ดำเนินการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 หรือจีดีพี เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.0% จากเดิมซึ่งคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-3.5% โดยประมาณการดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีขนาดกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจ โดยหากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าว จีดีพีจะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0% ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4-6% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าน่าจะอยูที่ประมาณ 0.8-1%ทั้งนี้ กกร. มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไปสำหรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน หรือโควิด-19 ระลอกสาม นั้น คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยจะกระทบแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อเพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงานดังนั้น รัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน (K-shape Recovery) โดยเฉพาะการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศโดยรวม และการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคสุพันธ์ มงคลสุธี นอกจากนี้ การแจกกระจายวัคซีนโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด และจะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วนายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้รวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) ในเดือนเมษายน ที่ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 5.5%เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น แม้หลายประเทศจะยังเผชิญวิกฤตโรคระบาด แต่เครื่องชี้ภาคการผลิตและอุปสงค์ต่างประเทศกลับสะท้อน Momentum ที่มีทิศทางดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ เดือนมีนาคม ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.0% เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 7.2% อันจะเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าการประเมินครั้งก่อนด้วยเช่นกันรวมไปถึงมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักของไทยในปี 2564 ที่มีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไปข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

สทนช. เตรียมเร่งเก็บกักน้ำในทุกแหล่งหวั่นฝนน้อย ก.ค.- ส.ค.

สทนช.เร่งสำรวจแหล่งเก็บน้ำ รองรับน้ำฝนช่วงตกชุก เม.ย.- มิ.ย.นี้ สำรองน้ำไว้ใช้ หลัง กอนช.ประเมินมีแนวโน้มฝนลดลงในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เกิดพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุดที่ภาคเหนือ 166 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 164  ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 121 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 29 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 21 ล้าน ลบ.ม.

 ซึ่งปริมาณฝนตกจะต่อเนื่องจนถึงเดือนมิ.ย.และจะมีแนวโน้มฝนลดลงในเดือนก.ค.- ส.ค.  ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าปกติอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย. ดังนั้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่นหาทางกักเก็บน้ำจากฝนที่ตกในช่วงเดือนเม.ย.- มิ.ย. นี้

เพื่อให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอไว้ใช้ในทุกกิจกรรม  ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบให้กับบางพื้นที่ที่อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยได้ ตามข้อมูลการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 39,253 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุ    เป็นปริมาณน้ำใช้การ 15,356 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 26% โดยปัจจุบันยังพบว่ามีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ควบคุมต่ำสุดถึง 12 แห่ง ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล ภูมิพล แม่จาง แม่มอก สิริกิติ์ บึงบอระเพ็ด จุฬาภรณ์ ลำปาว บางพระ ศรีนครินทร์ และวชิราลงกรณ์

อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% จำนวน 88 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 24 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง และภาคตะวันตก 4 แห่ง ซึ่งแหล่งน้ำทุกแห่งมีความพร้อมรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาได้อย่างเพียงพอสำรองไว้ใช้ในฤดูฝนนี้

จากการประเมินน้ำต้นทุนแหล่งน้ำทั่วประเทศ เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ค. 2564 คาดว่าจะมีปริมาตรน้ำรวม 37,632 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุ โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำใช้การรวม 9,774 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้รวม 96,249 ล้าน ลบ.ม.

“ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใต้ 10 มาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยในระดับต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “

ประกอบด้วย 1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ  2. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก  3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์ การบริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4.  ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5. ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7. เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 8. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9. สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 10. ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือน พ.ค. นี้อย่างเป็นทางการต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  31.29 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่า 2ปัจจัยที่ตลาดจะยังคงติดตาม “รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกและสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า วันนี้ ปัจจัยที่ตลาดจะยังคงติดตาม คือ 1. รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งหากผลประกอบการดีกว่าคาดและมีการปรับประมาณการแนวโน้มผลกำไรในอนาคต ก็อาจจะพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนและช่วยให้ตลาดไม่ได้ปรับฐานหนักจากความกังวลปัญหาการระบาด COVID-19 ได้บ้าง และ 2. สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ที่เริ่มกลับเข้ามากดดันภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น หลังจากที่หลายประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และยังมีการแจกจ่ายวัคซีนที่น้อย อาทิ อินเดีย แคนาดา กลุ่มประเทศละตินอเมริกา รวมถึง สหภาพยุโรป ยังคงเผชิญการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทยังเผชิญหลายปัจจัยกดดันให้มีโอกาสอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่า อาทิ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รอบโลก ที่เริ่มกลับเข้ามากดดันให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวนชั่วคราว หรือแม้กระทั่ง ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่กล้าเข้ามาถือสินทรัพย์เสี่ยงไทยเพิ่มเติม นอกจากนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบกว้างต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนมากรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์   มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25 - 31.35 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หลังจากที่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้ออกมาดีเกินกว่าการคาดการณ์ของตลาดไปมากนัก ขณะเดียวกัน ตลาดก็เริ่มกลับมากังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หลังจากที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฝั่งประเทศที่ยังมีการแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า เช่น ยุโรป อินเดีย เป็นต้น ซึ่งภาพดังกล่าว กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขาย หุ้นในกลุ่ม Cyclical ออกมา อาทิ หุ้นในกลุ่ม Industrial และ หุ้นสายการบินหรือเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดลบราว 0.7% ส่วน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ย่อลง 0.9% แม้ว่า การปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงก็ตาม ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ดิ่งลงราว 2% ท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในยุโรป ด้านตลาดบอนด์ การปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง  แม้ว่าผู้เล่นส่วนใหญ่จะยังมีความกังวลแนวโน้มการปรับตัวขึ้นเงินเฟ้อก็ตาม ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 4bps สู่ระดับ 1.56%ทั้งนี้ แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลง แต่ก็ไม่ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะภาพความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะหลบความไม่แน่นอนในหลุมหลบภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ทำให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) กลับมาแข็งค่าขึ้นกว่า 0.2% สู่ระดับ 91.22 จุด ทำให้สกุลเงินหลักโดยรวมอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.394 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ส่วนเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าเล็กน้อยสู่ระดับ 1.203 ดอลลาร์ต่อยูโร

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

ครม.กำหนดเพิ่ม 3 ประเภทโรงงานเคมีชีวภาพ หนุนอุตสาหกรรมชีวภาพไทย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งแก้ไขเพิ่มประเภทหรือชนิดของโรงงาน ในลำดับที่ 42 แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ.2563 โดยเพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ 3 ประเภท ได้แก่ (1) การทำเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการเคมีชีวภาพเป็นพื้นฐาน (2) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตถุดิบ พื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง และ (3) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบที่ผลิตมาจากปิโตรเลียม และทำให้พลาสติกชีวภาพนั้นสลายตัวได้ทางชีวภาพ ให้เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานก่อนจึงจะดำเนินการได้

ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ช่วยสนับสนุนให้การประกอบกิจการโรงงานหลักที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) ให้มีความชัดเจน โดยแยกประเภทอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นผลดีในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S - Curve) ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561 - 2570 ด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

BLCP หนุน BCG โมเดล พัฒนาไบโอเมทานอล

BLCP หนุน BCG โมเดล พัฒนาไบโอเมทานอล เพื่อร่วมขับเคลื่อนคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bio Economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้จากนโยบายของภาครัฐข้างต้น บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา(2563) โดยร่วมกันวิจัยและพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบฐานชีวภาพ ทดแทนเมทานอล  ด้วยการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหิน มาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน  ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม (เฟสที่ 3) ต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย

ปัจจุบัน BLCP ได้นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ และตอบโจทย์ BCG Model ในแง่ของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งภาคอุตสาหกรรม

นายยุทธนา “จากความต้องการเมทานอล อ้างถึงข้อมูลการนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีปริมาณมากกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี  (พ.ศ. 2563) หรือราว 2 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ถูกนำเข้ามา เพื่อใช้ใน 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมตัวทำละลาย/สี ร้อยละ 60 และอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลร้อยละ 40  ทั้งนี้ ไบโอเมทานอลสามารถนำมาทดแทนเมทานอลได้ โดยการผลิตจากวัตถุดิบฐานชีวภาพ  โดยตั้งเป้าไว้ในปี พ.ศ. 2565-2566 จะมีแผนติดตั้งกระบวนการผลิตไบโอเมทานอลระดับมากกว่า 20,000 ลิตรต่อวัน เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบโรงแรกของประเทศ ตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศไทย ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาจากกระบวนผลิตไบโอเมทานอล อาทิ ช่วยลดการนำเข้าเมทานอลจากจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ภาคเกษตรกรที่ผลิตของเสียหรือพืชเกษตรที่สามารถผลิตไบโอก๊าซได้มีแหล่งขายวัตถุดิบเพื่อการผลิตไบโอก๊าซ และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก เป็นต้น”นายยุทธนา กล่าว

BLCP ขอเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ BCG โมเดล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 20 เม.ย. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.21 บาท/ดอลลาร์ 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวโน้มยังมีปัจจัยกดดันให้อ่อนค่า จากความกังวลสถานการณ์ COVID-19 ยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้ป่วยหนักที่อาจทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.21 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว”จากระดับปิดวันก่อนหน้า   มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.30 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะรอคอย (wait and see) รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่าง หุ้นในฝั่งสหรัฐฯ กดดันให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง นำโดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ย่อลงเกือบ 1% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดลบราว 0.5% เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ตลาดก็เลือกที่จะขายทำกำไรออกมาบ้าง ในช่วงฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงราว 0.3% ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินก็พร้อมจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีเกินคาด และมีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนโดยรวมจะไม่สดใส ทว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เพิ่มสถานะการถือครองพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มให้น้ำหนักประเด็นเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (สอดคล้องกับ ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลก โดย Bank of America ที่พบว่า ผู้จัดการกองทุนกว่า 60% เชื่อว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ หรือ Above-trend growth and Above-trend inflation) ซึ่งความกังวลประเด็นเงินเฟ้อดังกล่าว ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 3bps สู่ระดับ 1.61%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) อ่อนค่าลงกว่า 0.4% สู่ระดับ 91.07 จุด กดดันโดย การแข็งค่าขึ้นกว่า 1% ของเงินปอนด์ (GBP) สู่ระดับ 1.399 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หนุนโดยแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอังกฤษที่ดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 สามารถทำได้ดีต่อเนื่อง จนยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นเดียวกับในฝั่งยุโรป ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้หนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.204 ดอลลาร์ต่อยูโร

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งหากผลประกอบการดีกว่าคาด ก็อาจจะพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนให้นักลงทุนกล้าจะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อได้

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้นจะอยู่ในฝั่งเอเชียเป็นสำคัญ โดยตลาดประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เริ่มสะดุดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ที่ระดับ 3.50% และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยหากจำเป็น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งจีน เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Loan Prime Rate) อายุ 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ได้ ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ทว่าปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ อาทิ ความกังวลสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งยังคงต้องติดตามยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้ป่วยหนักที่อาจทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือได้ ขณะเดียวกัน ตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทแข็งค่า ก็อาจจะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.30 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (20 เม.ย.) เคลื่อนไหวอยู่ใกล้ๆ แนว 31.20 บาท/ดอลลาร์ โดยปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 31.20-31.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ใกล้เคียงระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยตลาดยังคงรอปัจม่จัยใหม่ๆ มากระตุ้น และน่ายังคงรอติดตามข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. จะรายงานในช่วงกลางสัปดาห์ด้วยเช่นกัน   

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.15-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการดูแลโควิด 19 ในประเทศ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย และสุนทรพจน์ของปธน. สี จิ้นผิงของจีน

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 20 เม.ย. 2564

กรมชลฯ บริหารน้ำฤดูแล้งเป็นไปตามแผน พร้อมเตรียมรับฤดูฝนปี 64

 กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผน ยืนยันมีน้ำเพียงพอสำรองต้นฤดูฝนปี 64 พร้อมสั่งการทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนหน้าที่กำลังจะมาถึง

เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (19 เม.ย.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,188 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ49 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 13,158 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 15,733 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,078 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,382 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,612 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 92 ของแผนฯ ทั้งนี้ จากอิทธิพลพายุฤดูร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์- ภัยแล้งในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย นับได้ว่าภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้และมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คงเหลือการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอีกเพียง 11 วัน ก่อนจะปรับเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 64 (เริ่มเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป) ได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 19 เม.ย. 2564

กรมส่งเสริมการเกษตรดันโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน

กรมส่งเสริมการเกษตรดันโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)    นำร่อง 63 จังหวัดสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน คาดลดใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 1.8 หมื่นตัน

วันที่ 18 เม.ย.2564 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า ตามที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง และพัฒนาให้กลุ่มเกษตรกรทำธุรกิจให้บริการทางการเกษตร รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสู่เกษตรอัจฉริยะ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ส่งผลกระทบต่อการผลิตและระบายสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทยซึ่งต้องอาศัยปุ๋ยเคมีในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต โดยปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 98 ต้องนำเข้า และเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีเกินความจำเป็น ทำให้ต้นพืชอ่อนแอศัตรูพืชเข้าทำลายได้ง่าย ต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อไร่สูง เป็นอันตรายกับเกษตรกร และปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกรในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนและช่วยเกษตรกรใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับดินและชนิดพืช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่าน ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประเทศผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศมากขึ้น จึงส่งออกน้อยลง ส่งผลกระทบทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะช่วยเกษตรกรลดภาระต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้จากการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน เบื้องต้นภาครัฐได้สนับสนุนชุดตรวจวิเคราะห์ดิน แม่ปุ๋ย N P K และเครื่องผสมปุ๋ย ให้แก่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก ศดปช. กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป และบริการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

สำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีจำนวน 882 ศูนย์ ครบทุกอำเภอ แต่ละศูนย์เกษตรกรจะช่วยกันบริหารจัดการกันเอง มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยง โดยให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว พร้อมให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ย จัดหาปุ๋ยคุณภาพดีแก่เกษตรกรในชุมชน โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) สามารถลดต้นทุนปุ๋ยเคมีลงได้ร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่า 73 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ซึ่งโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมจำนวนประมาณ 107,000 ราย ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ดินได้รับการบำรุงรักษา มีความรู้ในการจัดการดินและใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง รวมทั้งสามารถขยายผลไปสู่ ศดปช. อื่นๆ รวมทั้งแปลงใหญ่ที่ประสงค์เป็นเครือข่าย ศดปช. ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 และปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรเป้าหมายในพื้นที่ 1.6 ล้านไร่ ลดลงจากประมาณ 90,000 ตัน เหลือประมาณ 72,000 ตัน ปัจจุบันศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 50 จังหวัด และจะทยอยเปิดให้บริการจนครบในปีนี้

 อย่างไรก็ตาทโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) จะช่วยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงเกษตรกรทั่วไปให้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ที่สำคัญกรมฯ จะพัฒนาต่อยอดให้ ศดปช. สามารถทำธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน มีรายได้หมุนเวียนจากการตรวจวิเคราะห์ดิน จำหน่ายปุ๋ย และบริการผสมปุ๋ย รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐได้ในอนาคต ด้วยสำหรับเกษตรกรที่สนใจจะลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้านท่าน และกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564

ธปท.โล่งไม่ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีแทรกแซงค่าเงินบาท เพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (U.S. Treasury) ได้เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งระบุว่าประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ใน monitoring list ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อน (เดือนธันวาคม 2563) เนื่องจากประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้ติดตามประเทศใน monitoring list ต่อเนื่องไปอีก 2 รอบการประเมิน โดยการประเมินรอบนี้ มีคู่ค้า 11 ประเทศที่จัดอยู่ใน monitoring list ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเม็กซิโก

ธปท. ขอย้ำว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ อีกทั้งการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารกลางและความเหมาะสมของสถานการณ์ โดย ธปท. จะติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในระยะข้างหน้าที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า โดยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 17 เม.ย. 2564

3 ปี ร่าง “พ.ร.บ.อ้อย” ไปไม่ถึงไหน เถียงกันวุ่นนิยามน้ำตาล-ส่วนแบ่งรายได้

ลากยาวมากว่า 3 ปี แก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ล่าสุดกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เรียกชาวไร่ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ถกข้อมูลเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งชุด ด้าน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ค้านการเพิ่มนิยามผลพลอยได้ ขัด กม.โรงงาน-ปรับนิยามน้ำตาลใหม่รวมผลิตภัณฑ์อื่น ยังผิดหลักธุรกิจ พร้อมขอให้คงข้อกำหนดราคา-ผลตอบแทนตามกฎหมายเดิม

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงาน สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ระดมความคิดเห็นเพื่อแก้บางมาตราให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ปัจจุบันนั้นผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี ยังไม่มีข้อยุติ แม้ว่าประเทศไทยจะมีการลอยตัวราคาน้ำตาลไปนานแล้ว รวมถึงหลุดพ้นข้อกล่าวหาที่ทางบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) ว่า ไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

โดยล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา พ.ร.บ.อ้อยฯ ตามญัตติที่ได้เสนอไป และได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3-4 ครั้ง นับว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้น แต่ ส.ส.ยังไม่เคยรับทราบข้อมูล และยังไม่เข้าใจระบบการจัดการอ้อย ดังนั้น การชี้แจงเหตุผลของการปรับแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯ จึงต้องเริ่มกันใหม่ โดยมี สอน.เข้าไปช่วยชี้แจง

“ก่อนนี้ที่เราแก้กฎหมายกันมา รัฐแก้ตรงส่วนที่เราไปขัด WTO ทำให้เราพ้นข้อกล่าวหา แต่ในภาพรวมมีอะไรที่ต้องแก้มากกว่านั้น เช่น หมวดรายได้ รายจ่าย อื่น ๆ ในรายละเอียดอีกพอสมควร เราพยายามช่วยกันทำให้เสร็จ ในส่วนประเด็นที่โรงงานน้ำตาลขอเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้กฎหมายด้วย เพราะยังมีเรื่องที่นอกเหนือจากที่ ครม.พิจารณาก่อนหน้านี้ ด้วยเรามีทั้งฉบับ ส.ส. ฉบับชาวไร่อ้อย มันมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้มีส่วนร่วมหลายคน จึงเป็นปัญหาหนึ่ง สภาเองก็คงอาจต้องเชิญโรงงานน้ำตาลมานั่งคุยกันด้วย”

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า สมาคมได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยมี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นประธานคณะกรรมการ เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อดูแลสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานน้ำตาลซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของระบบอุตสาหกรรมนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

“เอกชนกังวลหลายประเด็นในสาระสำคัญของกฎหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มเติมคำนิยามผลพลอยได้ โดยให้รวมกากอ้อย กากตะกอนกรอง และเอทานอลรวมอยู่ด้วยนั้นมองว่า เป็นการขัดต่อหลักการ เนื่องจากโรงงานซื้ออ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ส่วนกากอ้อย และเศษหิน ดิน ทราย และสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่ติดมากับอ้อยไม่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้

และถือเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตตามข้อปฏิบัติของ พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งเป็นภาระที่โรงงานต้องลงทุนเพื่อกำจัดของเสียดังกล่าว โดยนำกากอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือทำภาชนะบรรจุภัณฑ์ จะมีเพียงโรงงานไม่กี่แห่งที่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อย และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก”

อีกทั้งการเสนอกำหนดคำนิยาม “น้ำตาลทราย” โดยให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (มิใช่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ที่ผลิตได้จากอ้อย น้ำอ้อย หรือน้ำตาลทรายนั้นขัดกับหลักธุรกิจ เพราะโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เอทานอล น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี เป็นต้น ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย และไม่ได้เป็นนิติบุคคลเดียวกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

ส่วนประเด็นการแก้ไขสาระกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น โดยให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปหักจากราคาขั้นต้นปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดนั้น โรงงานน้ำตาลต้องการให้คงข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม ที่ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชดเชยส่วนต่างให้โรงงานเช่นเดิม

เนื่องจากรายได้กองทุนเป็นเงินที่จัดเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับเงินภาครัฐ อีกทั้งมีการเสนอแก้ไขมาตรา 27 เพื่อให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป จึงไม่ขัดกับข้อตกลง WTO แต่อย่างใด

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ได้เคยสรุปการแก้ พ.ร.บ.อ้อยฯทั้งฉบับของรัฐบาล โดย ครม., ฉบับขององค์กรชาวไร่/ประชาชน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน และยังมีร่างที่เสนอโดยรัฐมนตรี และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเองอีกหลายร่าง ไว้ดังนี้ เสนอแก้หรือเพิ่มนิยามคำว่า “อ้อย” “น้ำตาลทราย” (ให้รวม “น้ำอ้อย”) และ “ผลพลอยได้” (ให้รวม “กากอ้อย/กากตะกอนกรอง”) (ในร่างมาตรา 3 และ 4) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการคำนวณส่วนแบ่งผลประโยชน์ ให้รวมน้ำอ้อยและผลพลอยได้อื่น ๆ เข้ามาด้วย

เพิ่มให้รัฐมนตรี 3 กระทรวงผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ มีอำนาจในการกำหนดกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (จากเดิมที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผู้รักษาการมีอำนาจกำหนดระเบียบเท่านั้น)

เปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิให้มีความยืดหยุ่นขึ้น (และลดเงื่อนไขที่เคยกำหนดให้ต้องมาจากหน่วยราชการต่าง ๆ) และเพิ่มจำนวนตัวแทนชาวไร่และโรงงาน ทำให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิต่อผู้แทนชาวไร่และโรงงานเป็น 5 : 7 : 5 และกำหนดให้ผู้อำนวยการกองทุนเป็นเลขานุการโดยตำแหน่ง

ขยายขอบเขตกรอบการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และยังคงที่มาของรายได้ในส่วนที่อาจมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลไว้เช่นเดิม ข้อสุดท้ายคือกำหนดให้ชาวไร่อ้อยแต่ละรายเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้แห่งเดียว (รวมทั้งสหกรณ์ด้วย)

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 16 เมษายน 2564

“แล้งปีนี้” ไทยต้องรอด แต่อย่าวางใจ มิ.ย. ฝนทิ้งช่วง

สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าสภาพภูมิอากาศในปี 2564 จากแบบจำลองของ NOAA คาดการณ์มีโอกาสถึง 60% ที่จะเปลี่ยนจากปรากฏการณ์ลานิญา (ฝนมากน้ำมาก) ทำเป็นสภาวะปกติตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

ทว่า ในเดือนมิถุนายนกลับเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ขณะที่ปริมาณฝนก็ไม่ได้ตกเพิ่มขึ้นมากไปกว่าปีปกติเท่าใดนัก จนกลายเป็นความเสี่ยงที่จะต้องบริหารจัดการน้ำจาก “ต้นทุนน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่” ที่ส่วนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำน้อยติดต่อกันเป็นปีที่ 4 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายสมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต

ภาพรวมการจัดการน้ำ

ช่วงนี้อิทธิพลจากพายุฤดูร้อน ทำให้มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,451 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะ4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,748 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ของแผน

ดังนั้น ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้และมีน้ำสำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

อีก 30 วันสิ้นสุดฤดูฝน

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่เหลือเวลาอีกเพียง 30 วันจะสิ้นสุดก่อนประกาศเข้าสู่ช่วงหน้าฝนปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แม้บางพื้นที่มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึง 2.79 ล้านไร่ กรมชลประทานก็กำชับได้ทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ เริ่มปลูกแล้วในวัน 1 เมษายนที่ผ่านมา และสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคม

ห่วงฝนทิ้งช่วง มิ.ย.-ก.ค.

จากการประเมินไว้ว่า จะเกิดปรากฏการณ์ลานิญา นั่นคือสาเหตุว่า จริง ๆ แล้ว ปีนี้แล้งจึงไม่น่าห่วง ผมยืนยันและมั่นใจว่า เราจะผ่านแล้งไปได้แน่นอนเพราะฝนจะมาเร็วกว่าทุกปี แต่กังวล “ฝนทิ้งช่วง” มากกว่า ทำยังไงที่ภาคกลางจะเก็บน้ำให้มากกว่าเดิม เพราะเหลือเวลาประมาณ 1 เดือนจะเข้าสู่ฤดูฝน

โดยในปีนี้คาดว่า ฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% เนื่องจากปีที่แล้วฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%

แต่ว่าเมื่อดูจากการเตรียมการบริหารจัดการน้ำจากเดิมมีการคาดการณ์ว่า ภาคกลางหากสิ้นเดือน เม.ย. น้ำจะเหลือแค่ 1,500-1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะส่งผลอย่างมากตอนฝนทิ้งช่วง ดังนั้นจะทำยังไงให้สามารถกักเก็บได้น้ำถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนถึงสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อจะให้เพียงพอไปจนถึงฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน

อย่างที่ทราบน้ำน้อย 2 เขื่อนใหญ่น้ำน้อยสะสมมา 3 ปี ซึ่งหมายความว่า จะส่งผลต่อปี 2564/65 จะมีปัญหาตามไปด้วย คงต้องดูว่าฝนปีนี้จะเข้ามาบริเวณไหน หากฝนเข้ามาที่ภาคตะวันตกเหมือนเดิมหรือภาคอีสานตอนบนก็ยิ่งจะเป็นผลดียิ่งขึ้น

เพราะจะช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้ามีฝนเข้ามาในบริเวณพื้นที่อีสานเหนือตอนล่าง อันนี้ต้องระวังเนื่องจากอาจส่งผลให้คุมระดับน้ำไม่อยู่แล้วเกิดน้ำท่วมได้

ส่วนในปีนี้ ภาคเหนือปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้วประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ภาคตะวันตกไม่ดีขึ้นหรือน้ำน้อยกว่าเดิมประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. นอกนั้นปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ส่วนภาคใต้ปีนี้ไม่น่าห่วง ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือห่วงตอนบน ลำปาว-น้ำอูน ปลูกพืชเกินแผนไปเยอะมาก

ดังนั้น ก่อนเข้าหน้าฝนปีนี้ต้องมีการกำหนดรัดกุมว่าตรงไหนฝนมาจึงจะสามารถประกาศปลูกพืชได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา ที่ทำได้คือ พยายามกักเก็บน้ำขอความร่วมมือ เพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กและบ่อบาดาลทั่วประเทศให้มากที่สุด

ปีนี้เราห่วงว่าฝนจะทิ้งช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ถ้าไม่มีพายุเข้ามาเลยก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้ได้ คาดว่าพายุปีนี้จะใกล้เคียงปีที่แล้ว

เบื้องต้นปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้า 1 ลูก ช่วงกลางปีโดยรวมน้ำปีนี้มีน้ำมากกว่าปีกลาย (ปี 2561/62) ซึ่งมีน้อยมาก จะส่งผลต่อการเพาะปลูก ดังนั้นต้องเก็บน้ำให้ได้ในกลางเดือนพฤษภาคมให้มากที่สุด ต้องรีบกักเก็บน้ำทุกเขื่อนให้มากขึ้น

หลายเขื่อนยังมีปัญหาน้ำน้อย

มี 9 เขื่อนที่ปริมาณน้ำน่าเป็นห่วง ที่มีน้ำต้นทุนต่ำ 15% (กราฟิก) ดังนั้น โดยภาพรวมขณะนี้มี 18 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ยังต้องจับตา โดยเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% 1) ภาคเหนือ ได้แก่ เขื่อนแม่จาง เขื่อนแม่มอก เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา บึงบอระเพ็ด

2) ภาคอีสาน ได้แก่ หนองหาร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ 3) ภาคตะวันตก ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ 4) ภาคตะวันออก ได้แก่ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล และ 5) ภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

แนวทางรับมือฝนทิ้งช่วง

อย่างไรก็ดี ถ้าฝนทิ้งช่วงจะลำบาก ตอนนี้ต้องหาทางเก็บน้ำให้ได้ ต้องเร่งแข่งกับเวลา รีบทำ ขุดลอก เก็บน้ำให้มากยอมรับว่า แหล่งเก็บน้ำยังไม่เพียงพอสายป่านไม่ยาวพอ ส่วนใหญ่จะเป็นอ่างขนาดเล็กเก็บได้มากสุดแค่ 1 เดือน ซึ่งไม่พอ และไม่ยั่งยืน

แนวทางตอนนี้เราพยายามเพิ่มแหล่งขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่เก็บน้ำได้ 2 เดือนให้พอ ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ได้เสนอของบฯกลาง ยังไม่ได้รับการอนุมัติประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อนำน้ำมาใช้พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งและพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งงบประมาณที่รออยู่นี้รัฐบาลต้องนำไปช่วยเหลือปัญหาโควิด-19 ก่อน ดังนั้น พื้นที่ไหนสามารถช่วยเหลือส่งน้ำผ่านกระทรวงมหาดไทย-องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือประสานจังหวัดได้ก็ให้ทำทันทียังถือว่าพอไปได้

ปีนี้ทางการประปาภูมิภาคยังไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง เนื่องจากยังสามารถแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่ได้ด้วยการส่งน้ำประสานงานนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ร่วมกันได้ และวางแผนชัดเจนว่า พื้นที่ตรงไหนจะแล้งเราระบุไว้ก่อนเลย

ได้สั่งการกรมชลประทานไว้หากจะประกาศอะไรออกมาต้องดำเนินการตามประกาศ ควบคุมปัญหาให้น้อยที่สุด เพียงแต่ว่าบางพื้นที่ยังไม่มีเจ้าภาพ อาทิ แหล่งน้ำบางพื้นที่ไม่ส่งคนมาประชุม หรือบางพื้นที่มีปัญหาการประปา สทนช.ต้องประสานทันที

และทุกวันนี้หากใครขอน้ำบ่อบาดาลก็ขอสูบได้ ดังนั้น ภัยแล้งปีนี้จะผ่านไปแน่นอน เพียงแต่ต้องดูฤดูฝนที่จะมีฝนทิ้งช่วง 2 เดือน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 16 เมษายน 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ระดับ  31.17 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะกลับมาอ่อนค่า จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในไทย นักลงทุนต่างชาติอาจเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของไทยมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.17 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.49 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิดก่อนวันหยุดสงกรานต์)

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) เพิ่มขึ้น หนุนโดย รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก ที่ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง ซึ่งภาพดังกล่าว กอปรกับ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯที่ก็ออกมาดีกว่าคาด ได้ส่งผลให้ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้น 1.1% ขณะที่ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 1.3% หนุนโดย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลง สวนทางกับภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน ในฝั่งยุโรป นักลงทุนยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน โดย ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว 0.4% ท่ามกลางความหวังว่า มาตรการ Lockdown จะช่วยชะลอการระบาดของ COVID-19 และหนุนให้เศรษฐกิจยุโรปกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่า ตลาดการเงินจะกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดบอนด์ กลับไม่ได้เทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมา แต่เลือกที่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 8bps สู่ระดับ 1.56% ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นส่วนหนึ่ง เริ่มมีความกังวลว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ตามคำเตือนของ WHO ขณะเดียวกัน สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น อาทิ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็อยู่ในจุดที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเสี่ยงต่อการปรับฐานในระยะสั้น นอกจากนี้ เฟดก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะสั้น ทำให้บอนด์ระยะยาวที่ยีลด์ระดับแถว 1.60% ยังมีความน่าสนใจอยู่ ในส่วนตลาดค่าเงิน การเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องของตลาด (ตลอดช่วงวันหยุดยาวของไทย) และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์หลบความผันผวนอย่าง เงินดอลลาร์ กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 91.66 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน  นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้ง เงินดอลลาร์ และ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มเศรษฐกิจจีน โดยคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ จะโตกว่า 18% จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะเพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปีก่อน ส่วนยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) จะโตได้ราว 27% และยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะขยายตัวขึ้นกว่า 28% หนุนโดยการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สอดคล้องกับ การปรับตัวขึ้นของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการในเดือนมีนาคม ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะส่งผลให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย มหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of M. Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 89 จุด จาก 84.9 จุด สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในไทย อาจทำให้ เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงของไทยมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ เงินบาทไม่แข็งค่าไปมาก หรือ อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าได้ ซึ่งในระยะสั้น เราเชื่อว่า โอกาสที่เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่ายังมีอยู่ และยังมองว่ามีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทกลับไปอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผล จะเริ่มกลับมามากขึ้นในช่วง หลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 เมษายน 2564

กรมชลฯเตรียมแผนรับมือหน้าฝน อานิสงส์พายุฤดูร้อนน้ำไหลเข้า4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ได้รับอิทธิพลจากพายุฤดูร้อน ทำให้มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมสั่งการทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน (7 เม.ย. 2564) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,772 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,549 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมกันประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 5.69 ล้าน ลบ. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 1.81 ล้าน ลบ. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ0.66 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 1.82 ล้านลบ.) ทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่แห้งแล้งได้พอสมควร

ทั้งนี้ อีกประมาณ 1 เดือน จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานทุกแห่งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมขอให้ติดตามสภาพภูมิอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ และยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอใช้ไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนหรือมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่อง

ดร.ธเนศร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นข่าวดีที่การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานเป็นไปตามเป้าหมาย และยังไม่มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ร่วมกันรณรงค์ในเรื่องของการใช้น้ำรวมถึงการใช้น้ำของเกษตรกรเองได้รับฟังและปฏิบัติตามนโยบายของกรมชลประทาน โดยกรมชลประทานยังได้เตรียมแผนรับมือกับช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ประการแรกจะมีการวางแผนปลูกพืชฤดูฝน จัดระบบการปลูกพืช เลื่อนเวลาการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 1 ทุ่ง (ทุ่งบางระกำ) เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก และเตรียมปล่อยน้ำเพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูก โดยปัจจุบันเกษตรกรได้เริ่มมีการเพาะปลูกแล้ว ประการที่สอง ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำฝน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานว่าฤดูฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปีที่แล้ว และจะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ประมาณ 5-7% หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยในเรื่องสถานการณ์น้ำ ทั้งในเรื่องการเพาะปลูก การใช้น้ำ และสถานการณ์น้ำต่างๆ สามารถสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 เมษายน 2564

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” ชำแหละผลประโยชน์ไทย กับ 5 เป้าหมายเจรจา FTA ปีนี้

ในปี 2564 ไทยมีแผนที่จะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศและกลุ่มประเทศ รวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA), ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และอาเซียน-แคนาดา เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยให้มีมากขึ้นจาก FTA เดิมที่มีอยู่ 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ แม้ล่าสุดจะมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เข้ามาอีกฉบับ แต่ก็ยังมีคู่ค้า 18 ประเทศเท่าเดิม เพราะ RCEP เป็นการทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาที่มี FTA เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สำหรับแผนการเจรจา FTA ในปี 2564 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนงานและเป้าหมายในการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับประเทศและกลุ่มประเทศเป้าหมายใหม่ตามที่กำหนดไว้ในปีนี้ โดยได้ชี้แจงให้ทราบถึงความคืบหน้าล่าสุด และชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากมีการทำ FTA ได้เป็นผลสำเร็จ

ความคืบหน้าของ FTA แต่ละกรอบ

ก่อนที่จะไปถึงความคืบหน้าการเจรจาเพื่อจัดทำ FTA แต่ละฉบับ นางอรมนได้เล่าถึงแผนการเจรจา FTA ในปีนี้ว่าเป็นไปตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบนโยบายการทำงานไว้ทั้งหมด 14 ข้อ และหนึ่งใน 14 ข้อก็คือ เร่งรัดการเจรจา FTA ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมฯ ที่จะต้องเดินหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ในปีนี้รวมทั้งสิ้น 5 กรอบ และแต่ละกรอบก็มีความคืบหน้ามากน้อยแตกต่างกัน

โดยกรอบแรก คือ FTA ไทย-EU ถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด เพราะได้มีการศึกษาผลดีผลเสีย มีการลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ มีการระดมความคิดเห็น ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด จัดโฟกัสกรุ๊ป กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม ที่เห็นว่าสำคัญ ถือว่าเสร็จขั้นแรกไปแล้ว มีการเผยแพร่ผลการศึกษา มาตั้งแต่ พ.ย. 2563 ได้ผลการรับฟังความคิดเห็น ผลลงพื้นที่มาแล้ว จนสามารถทำกรอบการเจรจาขึ้นมาว่าไทยจะเดินหน้าเจรจาตามนี้ และเตรียมที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

กรอบต่อมา ไทย-EFTA ขณะนี้ผลศึกษาอยู่ระหว่างการตรวจรับ ผู้ทำการศึกษาทำงานส่งมาแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าต้องปรับ ต้องเสริมอะไร น่าจะเสร็จและเผยแพร่ได้ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ โดยช่วงเผยแพร่ก็จะฟังความเห็นไปด้วยว่ามีความคิดเห็นกันอย่างไร ถ้าจำเป็นต้องจัดรับฟังความคิดเห็นก็จะจัด โดยการเจรจาเพื่อทำ FTA อาจจะเหลื่อม EU ไปบ้าง แต่อาจจะทันกัน ซึ่งล่าสุด EFTA เข้าพร้อม แต่ EU เข้ามีกระบวนการของเขา ดูความคาดหวังแล้วเสนอระดับนโยบายพิจารณา

ส่วน UK ตอนนี้มี JETCO แล้ว (คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee) เพิ่งลงนามกันไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปต่อสู่การทำ FTA ได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาผลดีผลเสีย น่าจะเสร็จใกล้ๆ EFTA ประมาณไตรมาส 2 เหมือนกัน

สำหรับ EAEU กำลังศึกษาผลดีผลเสียอยู่ น่าจะเสร็จปลายปีนี้ โดยการเจรจากับ EAEU ก็เหมือนกับเจรจากับ EU เพราะเขามีกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (EEC) ทำหน้าที่ในการเจรจา ซึ่งขณะนี้ไทยมีเวทีที่เป็นกลไกหารือระดับรัฐมนตรีอยู่ คือ คณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งไทยเคยไปร่วมพูดคุยมาแล้วครั้งแรกเมื่อปี 2562 ก็จะใช้เวทีนี้ในการเริ่มเดินหน้าเจรจาทำ FTA ต่อ

ขณะที่อาเซียน-แคนาดาเป็นการทำ FTA ในกรอบอาเซียน ซึ่งต่างฝ่ายต่างศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบไปแล้ว โดยในส่วนของไทยได้จ้างศึกษาผลดีผลเสีย จะเสร็จประมาณเดือน ก.ค. 2564 ก่อนที่อาเซียนจะตัดสินใจเปิดเจรจา FTA ในเดือน ก.ย. 2564

เตรียมรวม 3 กรอบใช้ท่าทีเดียว

นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการเจรจา FTA กรมฯ ได้วางแผนเอาไว้ว่าปีนี้น่าจะเปิดเจรจากับ EU และ EFTA ได้ แต่อาจจะมี UK ด้วย ซึ่งก็ขึ้นกับ UK ว่าจะมีความพร้อมแค่ไหน ซึ่ง FTA ทั้ง 3 กรอบนี้คู่เจรจามีระดับการพัฒนาประเทศใกล้เคียงกัน นโยบายการค้า กฎระเบียบใกล้เคียงกัน มีความคาดหวังในการเจรจาของคู่เจรจาคล้ายๆ กัน มีประเด็นที่ต้องการคล้ายกัน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน UPOV (การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น แต่จะตึงมาก ตึงน้อยแตกต่างกัน ทำให้เราสามารถทำท่าทีในการเจรจาเป็นกรอบเดียวกันได้

“กรมฯ จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม เอกชน ภาครัฐ มาหารือในเร็วๆ นี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ถ้าทั้ง 3 FTA จะใช้กรอบการเจรจาเดียวกัน เพราะความต้องการของคู่เจรจาทั้ง 3 กรอบไม่แตกต่างกัน ซึ่งกรอบเจรจาก็จะเป็นกรอบกว้างๆ ให้ไปเจรจา และในการเจรจาก็จะมีท่าทีในแต่ละกรอบอีกที เหมือนเรามีกรอบสี่เหลี่ยมกว้างๆ เอาไว้ การเจรจากับ EU ก็อาจจะเจรจาตรงมุม EFTA เจรจาตรงกลาง อะไรทำนองนี้ ซึ่งจะทำให้การเจรจาทำได้เร็วขึ้น และเมื่อมีกรอบก็จะทำให้เรารู้ว่า อันนี้ให้มากให้น้อย ก็เป็นท่าทีเอาไปใช้ในการเจรจา จากนั้นจะคุยวงใหญ่อีกที มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม แต่รอบนี้จะมีกรรมาธิการ ส.ส. ส.ว.มาร่วมให้ความเห็นด้วย” นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังการหารือแล้ว ถ้าเห็นว่าการทำกรอบการเจรจา FTA ไม่อยากให้รวม ควรจะแยก และมีกรอบเจรจาแต่ละ FTA ก็จะแยกทำ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ภายในไตรมาส 2 ปีนี้จะนำกรอบการเจรจาเข้า กนศ.ต่อไป

EU เปิดเจรจาได้แน่ เป้าปีนี้ 2-3 FTA

สำหรับเป้าหมายในการเจรจาทำ FTA ปีนี้ นางอรมนบอกว่า ถ้าทุกอย่างลงตัว เห็นพ้องกันว่าเป็นประโยชน์ และ ครม.เห็นด้วยก็จะเริ่มเจรจาทำ FTA กับอียูได้เป็นกรอบแรก น่าจะไตรมาส 2 หรือ 3 ที่จะเริ่มได้ และภายในปีนี้ตั้งเป้าน่าจะเริ่มเจรจาได้อย่างน้อย 2-3 FTA

FTA เพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น

นางอรมนกล่าวว่า ทางด้านผลประโยชน์ที่จะมีต่อการค้าไทย หากไทยสามารถเปิดเจรจาทำ FTA ได้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้สัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA เพิ่มสูงขึ้น เพราะปัจจุบันไทยมี FTA กับ 18 ประเทศมีสัดส่วนการค้าเพียง 63% ยังขาดอีก 37% ที่ไทยยังไม่มี FTA จึงต้องเร่งเดินหน้าทำ FTA และทำให้มากกว่าคู่แข่งในอาเซียน โดยปัจจุบันสิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลกสูงถึง 94.5% อินโดนีเซีย 76% มาเลเซีย 71.5% และเวียดนาม 69.9% โดยไทยอยู่อันดับที่ 5 ในอาเซียนที่ทำ FTA กับประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ หากไทยมี FTA กับ EU ก็จะมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่มี FTA อีก 7.5% ถ้ารวม UK อีก 1.1% ก็จะเป็น 8.5% EFTA มีสัดส่วนการค้า 2.4% รวม 3 กลุ่มนี้ก็ประมาณ 11% ถือว่ามีความสำคัญ ส่วน EAEU มีสัดส่วนการค้าประมาณ 0.6% และแคนาดา 0.5%

เปิดผลประโยชน์ไทยใน FTA แต่ละกรอบ

ในการทำ FTA แต่ละกรอบไทยจะได้รับผลประโยชน์แตกต่างกัน โดยในส่วนของ EU ที่เห็นได้ชัดๆ เลย ก็คือ หากไทยและ EU 27 ประเทศ ไม่รวม UK เพราะได้ออกจาก EU ไปแล้ว ทำ FTA และมีการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาด EU ได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 8.01 แสนล้านบาท และการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

การทำ FTA กับ EFTA จะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์) ที่ไทยได้รับอยู่ในสินค้าต่างๆ เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการ รวมถึงจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดเพิ่มเติมในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย และโอกาสในการลงทุนดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยใน EFTA รวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของ EFTA ในไทย โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาขีดความสามารถของไทย และมีโอกาสส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

การทำ FTA กับ EAEU มีโอกาสที่จะขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น สาขาดิจิทัล และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยมีความสนใจ และเป็นสาขาที่ EAEU มีศักยภาพ และมีโอกาสส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เป็นต้นการทำ FTA กับ UK มีโอกาสส่งออกได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ส่วนอาเซียน-แคนาดา มีโอกาสที่จะขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น เพราะประชากรแคนาดา 37.5 ล้านคน เป็นประชากรที่มีกำลังซื้อสูง และยังมี FTA กับอเมริกาเหนือ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออก โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และยางพารา

ส่วนประเด็นเรื่องแหล่งรายได้ของเงินกองทุนฯ ที่ไม่สามารถพึ่งพารายได้จากงบประมาณภาครัฐเพียงแหล่งเดียว แต่จำเป็นต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นเสริมด้วยนั้น กำลังอยู่ระหว่างหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่จะได้หรือเสียประโยชน์จาก FTA และเมื่อหาข้อสรุปได้แล้วก็จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังต่อไป

ผู้ได้รับผลกระทบจะมีกองทุน FTA คอยช่วย

นางอรมนกล่าวสรุปว่า ในการเจรจาทำ FTA กรมฯ ไม่ได้มองข้ามผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี โดยขณะนี้ได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA ขึ้นมาแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีได้มีที่พึ่ง และสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ โดยการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบเงินจ่ายขาด เช่น ทุนวิจัยพัฒนา ทุนจัดหาที่ปรึกษา ทุนฝึกอบรม ทุนจัดกิจกรรมสนับสนุนการตลาด และรูปแบบเงินหมุนเวียน เช่น เงินลงทุนในสิ่งก่อสร้าง และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ เป็นต้น โดยกำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอให้นายจุรินทร์ ก่อนที่จะนำเสนอให้ กนศ.พิจารณา

สำหรับการจัดตั้งกองทุน FTA จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบตามขั้นตอน รวมทั้งจะต้องมีการจัดทำกฎหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ต้องเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบอีกด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 15 เมษายน 2564

โค้งสุดท้าย 'แล้ง' ปี 64 สำรองน้ำ ลดผล ฝนทิ้งช่วง 3 เดือน

“ภัยแล้ง” ปี 2564 ดูเหมือนปีนี้ความรุนแรงจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากยังไม่มีประกาศพื้นที่ภัยแล้ง ส่วนหนึ่งเพราะปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย และกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้บรรลุเป้าหมาย

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในปีนี้ถือว่าบรรลุผลสำเร็จได้ดีมาก โดยได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและประชาชน รวมถึงเกษตรกรทุกภาค ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนมีการกระจายตัวได้ดี มากกว่าปีที่ผ่านมาทุกภาค ยกเว้นฝั่งตะวันตกที่ฝนตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 50 %ทำให้มีน้ำลงเขื่อนวชิราลงกรณ์น้อย ตามไปด้วย แต่การจัดการน้ำทุกลุ่ม ถือว่าเป็นไปตามแผน จะมีบ้างที่ประชาชนยังแอบสูบน้ำไปใช้ ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของประชาชนที่มีมากขึ้น

โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,451 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)หรือ 51%ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,770 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73%ของแผนฯ

เมื่อพิจารณาเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,444 ล้าน ลบ.ม. หรือ 38%ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,052 ล้าน ลบ.ม. หรือ 81%ของแผนฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านฤดูแล้งนี้ไปแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนยังต้องสำรองเอาไว้ใช้ต่ออีก 3 เดือน ซึ่งเป็นต้นฤดูฝน และรองรับภาวะฝนตกทิ้งช่วงที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ค.- ก.ค. ของทุกปี โดยคาดว่าหลังวันที่ 30 เม.ย. 2564 จะมีน้ำเขื่อนทั่วประเทศ 8,000 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำที่ต้องสำรองเอาไว้ 1,900-2,000 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้นกรมชลประทาน จึงกำชับเจ้าหน้าที่และขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยกัน ฟันฝ่า โค้งสุดท้ายนี้ไปพร้อมๆ กัน

เบื้องต้นกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ มากขึ้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อส่งน้ำให้กับทุ่งบางระกำ สำหรับทำนาปีก่อนพื้นที่อื่นๆ หรือเร็วกว่าฤดูทำนาปีปกติประมาณ 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ข้าวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากในเดือน ส.ค. ของทุกปีและเพื่อใช้พื้นที่เดียวกันนี้เป็นแก้มลิง ชะลอน้ำไว้ไม่ให้ไหลพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเร็วเกินไปในระหว่างนั้นเกษตรกรสามารถเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพเสริมได้

“ในลุ่มเจ้าพระยา มีทุ่งที่เหมาะสมจะเป็นแก้มลิงมากถึง 13 ทุ่ง ซึ่งกรมชลประทานจะทยอยส่งน้ำเพื่อทำนาปีก่อนใครตามลำดับพื้นที่ดอน และพื้นที่ลุ่ม แต่ในปีนี้ ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย ทำให้สามารถส่งน้ำให้ทุ่งบางระกำได้เพียงแห่งเดียว115 ล้านลบ.ม.ครอบคลุมการทำนา ได้2.65 แสนไร่ น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมาที่เคยส่งน้ำให้ได้มาdที่สุดถึง3.8 แสนไร่ “

ทั้งนี้ การทำนาในพื้นที่ลุ่มบางระกำและทุ่งอื่นๆที่เหลือ ต้องพึ่งน้ำฝนเป็นหลัก โดยกรมอุตินิยมวิทยาคาดว่า ปริมาณฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าทุกปี สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64จากปริมาณน้ำสะสมที่สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.63 – 30 เม.ย. 64 รวม18,992ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว14,080ล้าน ลบ.ม. หรือ 74%ของแผนฯในจำนวนนี้ กำหนดให้เป็นน้ำที่ใช้การได้ในลุ่มเจ้าพระยา 5,000 ล้านลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 4,141 ล้านลบ.ม. หรือ 83%ของแผนฯ

ลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งเริ่มบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 –30 มิ.ย. 2564 มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้3,800 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,931 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51%สำหรับการการทำข้าวนาปรังในเขตชลประทานปี2563/64ตามแผนกำหนดไว้ทั้งประเทศรวม1.90ล้านไร่แต่มีการเพาะปลูกกว่า5.379ล้านไร่

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รณรงค์งดทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง แต่ยังคงมีการเพาะปลูก2.79ล้านไร่”

สำหรับฤดูฝน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี โดยต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้งนั้น ในปีนี้คาดว่า ฝนจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมีฝนในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ และจะมีปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี จึงได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมตรวจสอบสภาพอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทานต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

 นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที และได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มต้นฤดูฝน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 เมษายน 2564

ฝนหลวงฯ-เหล่าทัพ ทำฝนต่อเนื่องวันหยุดยาว ช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับเหล่าทัพ โดยกองทัพอากาศและกองทัพบก ตั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ต้องใช้ในการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ หมอกควันไฟป่า และช่วยบรรเทายับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บตลอดวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวานนี้ (14 เม.ย.64) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี สิงห์บุรี สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 9 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 11 แห่ง รวมทั้งยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศประจำวันเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติภารกิจ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่และเชียงราย หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุรินทร์ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก 9 หน่วยปฏิบัติการ จะติดตามสภาพอากาศต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงจะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายตามที่วางแผนไว้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสารการรายงานแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นประจำทุกวันของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ช่อง Youtube ใต้ปีกฝนหลวง Instagram Twitter Line Official Account @drraa หรือโทรศัพท์หมายเลข 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 15 เมษายน 2564

เตือนเขื่อนใหญ่น้ำน้อยวิกฤติ 17 แห่ง

อธิบดีกรมชลฯ สั่งทุกพื้นที่เร่งช่วยเหลือประชาชนบริหารน้ำทั่วถึง เป็นธรรม พร้อมเตือนเขื่อนใหญ่น้ำน้อยวิกฤติ 17  แห่ง

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมชลประทาน ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ อีกทั้งการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีมากขึ้น ซึ่งนำโดย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ที่เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานทุกแห่งทำการบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และไม่ให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคตามนโยบายรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(14 เม.ย. 64) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 37,206 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,277 ล้าน ลบ.ม. มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% อยู่ 17 แห่ง ประกอบด้วย ภูมิพล สิริกิติ์ แม่กวงฯ กิ่วคอหมา แควน้อยฯ แม่มอก ห้วยหลวง น้ำอูน จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ป่าสักฯ ทับเสลา ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ ขุนด่านฯ และคลองสียัด

กรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกแห่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และทำการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งในขณะนี้ทำการจัดสรรน้ำไปแล้วกว่า 15,200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 81% ของแผน สำหรับการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำปี 2563/64 กรมชลประทานได้เข้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำแล้ว 51 จังหวัด 124 อำเภอ 202 ตำบล 327 หมู่บ้าน โดยจัดรถบรรทุกน้ำเข้าทำการแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนกว่า 1,300 เที่ยว ปริมาณน้ำกว่า 9,700,000 ลิตร อีกทั้งยังสนับสนุนเครื่องสูบน้ำอีกกว่า 380 เครื่อง ประจำยังจุดเสี่ยงต่างๆ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำแล้วกว่า 1.31ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้กรมชลประทานยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2564 รวมระยะเวลาจ้างงานประมาณ 3-8 เดือน ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้วกว่า 41,000 คน คือคิดเป็น 44% ของแผนการจ้างแรงงาน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตต่อไป หากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำสามารถติดต่อโครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 เมษายน 2564

กรมเจรจาฯ แนะใช้‘ATISA’ ขยายโอกาสการค้าและลงทุนอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA)ครบทั้ง 10 ประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่า ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรก ร่วมกับสิงคโปร์ ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลง ATISA ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ ASEAN Framework Agreement on Services - AFAS) ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538 โดยมีผลใช้บังคับตามกำหนดของความตกลงคือวันที่ 5 เมษายน 2564 ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้ทันที

ทั้งนี้การมีผลใช้บังคับของความตกลง ATISA เป็นความคืบหน้าที่สำคัญของอาเซียนภายใต้เป้าหมายการยกระดับความร่วมมือและการรวมตัวในภาคบริการที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น ตามแผนงานประชาเศรษฐกิจอาเซียนปี 2568 (AEC Blueprint 2025) โดยความตกลง ATISA เป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน

“ภายใต้ความตกลง ATISA ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น”

นางอรมนกล่าวว่า ความตกลง ATISA เป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการของอาเซียนให้มีความทันสมัย มีการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ในการค้าบริการของอาเซียน เช่น การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับผู้ให้บริการอาเซียน หากประเทศสมาชิกมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมในความตกลงอื่นๆ ในอนาคต (Automatic MFN) กฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการ การกำหนดให้มีการเผยแพร่กฎระเบียบต่างๆ ต่อสาธารณะ และการเปลี่ยนรูปแบบข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการให้เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี (Negative List)

ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกอาเซียนจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเป็นแบบการจัดทำรายการข้อสงวนรายการมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปีโดยยังคงรักษาระดับการเปิดตลาดการค้าบริการให้สอดคล้องกับระดับปัจจุบันหรือข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของอาเซียนชุดที่ 10 ไปพลางก่อน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

ชาวไร่อ้อยเฮ! ข้อเสนอรง.น้ำตาลประกันราคาอ้อยตันละ 1,000 บาท

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้า​สำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า จากการที่ตัวแทนชาวไร่อ้อยได้ร่วมหารือกับ 3 สมาคมโรงานน้ำตาลทรายถึงกรณีที่โรงงานน้ำตาลทรายได้ยื่นเสนอการประกันราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2564/65 เฉพาะอ้อยสดที่จะเป็น 1,000 บาทต่อตันความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.โดยไม่เกี่ยวกับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น ถือเป็นเรื่องรับได้ จะส่งเสริมให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ขอดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะทางปฏิบัติกังวลว่าโรงงานอ้อยทั้ง 57 แห่งจะดำเนินการได้เหมือนกันหรือไม่ เพราะแต่ละโรงงานมีสภาพคล่องทางการเงินต่างกัน การประกันราคาฯต้องมีเงินจ่ายก่อน ขณะที่แนวโน้มผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 2564/65 ที่จะเปิดหีบช่วงปลายปีนี้มีสัญญาณว่าจะดีกว่าปี 2563/64 ที่เพิ่งปิดหีบได้ผลผลิตเพียง 66.66 ล้านตัน เนื่องจากแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงกว่าจูงใจเกษตรกรปลูก และฝนมาเร็ว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า จะรอหนังสือแจ้งจากฝ่ายโรงงาน เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังสมาชิกชาวไร่อ้อยทั้งหมด เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลเสนอ การประกันราคาอ้อยขั้นต้น(อ้อยสด) 1,000 บาทต่อตัน(10ซี.ซี.เอส.) เป็นเวลา 1 ปีหรือฤดูการผลิตปี 2564/65 เพื่อส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยมีแรงจูงใจบำรุง ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณอ้อยมีทิศทางที่ปรับตัวสูงจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาลดลงจากภัยแล้ง

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ที่ปรึกษาชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ข้อเสนอของโรงงานน้ำตาลถือเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้ชาวไร่อ้อยรับรู้ล่วงหน้าว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันทำให้ชาวไร่กล้าลงทุนในการบำรุงรักษาอ้อยตอหรือการซื้อพันธุ์อ้อยมาปลูกเพิ่ม ซึ่งโรงงานจะทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ล่าสุดโรงงานแจ้งว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาร่วมและตัวแทนในคณะอนุกรรมาธิการฯ แต่ยืนยันสนับสนุนร่างของฝ่ายราชการ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯ แนะใช้‘ATISA’ ขยายโอกาสการค้าและลงทุนอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement : ATISA)ครบทั้ง 10 ประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่า ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรก ร่วมกับสิงคโปร์ ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลง ATISA ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ ASEAN Framework Agreement on Services - AFAS) ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538 โดยมีผลใช้บังคับตามกำหนดของความตกลงคือวันที่ 5 เมษายน 2564 ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้ทันที

ทั้งนี้การมีผลใช้บังคับของความตกลง ATISA เป็นความคืบหน้าที่สำคัญของอาเซียนภายใต้เป้าหมายการยกระดับความร่วมมือและการรวมตัวในภาคบริการที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น ตามแผนงานประชาเศรษฐกิจอาเซียนปี 2568 (AEC Blueprint 2025) โดยความตกลง ATISA เป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน

“ภายใต้ความตกลง ATISA ไทยมีโอกาสขยายการค้าและการลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น”

นางอรมนกล่าวว่า ความตกลง ATISA เป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการของอาเซียนให้มีความทันสมัย มีการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ในการค้าบริการของอาเซียน เช่น การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับผู้ให้บริการอาเซียน หากประเทศสมาชิกมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมในความตกลงอื่นๆ ในอนาคต (Automatic MFN) กฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการ การกำหนดให้มีการเผยแพร่กฎระเบียบต่างๆ ต่อสาธารณะ และการเปลี่ยนรูปแบบข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการให้เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี (Negative List)

ขณะเดียวกันประเทศสมาชิกอาเซียนจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเป็นแบบการจัดทำรายการข้อสงวนรายการมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปีโดยยังคงรักษาระดับการเปิดตลาดการค้าบริการให้สอดคล้องกับระดับปัจจุบันหรือข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของอาเซียนชุดที่ 10 ไปพลางก่อน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

สมาชิก WTO เริ่มเดินเครื่องเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12

สมาชิก WTO เตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 พร้อมร่วมประชุมหารือในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเป็นการเร่งเครื่องอย่างเต็มที่

วันที่ 8 เมษายน 2564 นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกองค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้เริ่มเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 (12th WTO Ministerial Conference Meeting) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2564 ที่นครเจนีวา

หลังจากที่ได้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ท่านใหม่ คือ ดร.เอ็นโกซี่ โอคอนโจ อิเวลา (Dr.Ngozi Okonjo-Iweala) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนที่ 7 จากประเทศไนจีเรียมาเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา

ประเด็นหลัก ๆ ที่กำลังหารือกันเพื่อเสนอให้ที่ประชุม MC 12 เห็นชอบคือ การอุดหนุนประมง เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรื่องกฎระเบียบภายในของภาคบริการ การปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาท การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน สินค้าเกษตร เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/วัคซีน และการช่วยเร่งฟื้นคืนเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

โดยหลายเรื่องมีการหารือกันมาล่วงหน้า แต่คงยังต้องใช้เวลาในการเจรจากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยฯ จะสรุปประเด็นสำคัญแต่ละเรื่องเพื่อเผยแพร่ต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและสุขภาพ โดยผู้อำนวยการใหญ่ WTO มีภูมิหลังการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัคซีน จึงมีแนวคิดที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและประเทศที่ต้องการใช้วัคซีน

โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ให้ตกลงกันเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและบนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายรับได้ นอกจากนี้ ดร.เอ็นโกซี่ยังเห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันได้ จึงอยากให้มีการหารือเรื่องการลงทุนผลิตวัคซีนโดยบริษัทต่าง ๆ ต่อไปอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการการห้ามส่งออกวัคซีนหรือส่วนประกอบสำคัญของวัคซีน เป็นส่วนหนึ่งที่ ผอ.ใหญ่ WTO เห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศที่ออกมาตรการลักษณะนี้ออกมาให้ทบทวนใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็ว อันจะนำไปสู่การฟื้นตัวของทุกประเทศได้เร็วขึ้น

การประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจของสมาชิก WTO ที่จะพลิกฟื้นบทบาทขององค์การและระบบกฎเกณฑ์แบบพหุภาคีให้เดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ประสบปัญหาจากประเทศใหญ่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ ที่ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนัก

โดยขณะนี้ประธานาธิบดีไบเดนได้แต่งตั้งผู้แทนการค้าหรือ USTR คนใหม่ซึ่งมีภูมิหลังการทำงานที่คุ้นเคยกับกฎเกณฑ์และกระบวนการของ WTO เป็นอย่างดี จึงน่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับ WTO มากขึ้นไม่มากก็น้อย การกลับมา engage ใน WTO ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามต่อไป

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า พัฒนาอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจใน WTO คือ กระบวนการหารือบางเรื่องที่ใช้รูปแบบหลายฝ่าย (plurilateral) แทนพหุภาคี (multilateral) โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้อยู่ใน mandate การเจรจาปัจจุบันหรือเป็นเรื่องสมัยใหม่ เช่น e-commerce การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้น

เพราะบางประเทศมองว่า กฎเกณฑ์การค้าปัจจุบันของ WTO ที่ส่วนใหญ่เจรจาเสร็จในปี 2537 คือรอบอุรุกวัย ไม่สามารถตามทันพัฒนาการทางเศรษฐกิจการค้าใหม่ ๆ ได้ ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบการทำธุรกิจสมัยใหม่ วิธีการบริโภค/การทำงานหลังจากโควิด-19 ผ่านไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการค้าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

จึงเริ่มมีการหารือแบบ “มุ้งเล็ก” เพื่อให้มีเวทีถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในเรื่องที่ประเทศส่วนใหญ่อาจยังไม่พร้อมเจรจา แต่ก็ไม่อยากให้ WTO ตกขบวนการค้าโลกที่กำลังเคลื่อนไปสู่ยุคใหม่ โดยแนวทางการหารือแบบนี้อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้มีการ update กฎเกณฑ์บางเรื่องก็เป็นได้ ซึ่งประเทศไทยจะพิจารณาการเข้าร่วมหารือโดยพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักดังที่ปฏิบัติมาโดยตลอด

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

ไทยพร้อมใช้ความตกลงการค้าบริการ  ฉบับใหม่ของอาเซียน

พาณิชย์ เผย ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ของอาเซียน หรือ ATISA แล้ว มีผลใช้บังคับ 5 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที   

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) ครบทั้ง 10 ประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ล่าสุด ไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศแรก (ร่วมกับสิงคโปร์) ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เพื่อให้มีผลใช้บังคับตามกำหนดของความตกลงฯ คือ วันที่ 5 เมษายน 2564 โดยอาเซียนจะใช้ความตกลง ATISA แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน หรือ AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) ที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538

ทั้งนี้ความตกลง ATISA เป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการของอาเซียนให้มีความทันสมัย มีการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ในการค้าบริการของอาเซียน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมกับผู้ให้บริการอาเซียน หากประเทศสมาชิกมีการขยายสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมในความตกลงอื่น ๆ ในอนาคต (Automatic MFN) กฎเกณฑ์ด้านความโปร่งใสในการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการ การกำหนดให้มีการเผยแพร่กฎระเบียบต่าง ๆ ต่อสาธารณะ และการเปลี่ยนรูปแบบข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการให้เป็นมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณี (Negative List)

ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเป็นแบบการจัดทำรายการข้อสงวนรายการมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี โดยยังคงรักษาระดับการเปิดตลาดการค้าบริการให้สอดคล้องกับระดับปัจจุบัน หรือข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของอาเซียน ชุดที่ 10 ไปพลางก่อน 

นางอรมน เสริมว่า การมีผลใช้บังคับของความตกลง ATISA เป็นความคืบหน้าที่สำคัญของอาเซียนภายใต้เป้าหมายการยกระดับความร่วมมือและการรวมตัวในภาคบริการที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น ตามแผนงานประชาเศรษฐกิจอาเซียนปี 2568 (AEC Blueprint 2025) ความตกลง ATISA จึงเป็นความตกลงด้านการค้าบริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ให้บริการและนักลงทุนของไทยและสมาชิกอาเซียน ส่งเสริมบรรยากาศการค้าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้ จึงเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

DITPดึงผู้ค้าคุยฑูตพาณิชย์หาช่องส่งออก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมฯ ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) จัด โครงการเปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ (Export Clinic) ออนไลน์ เพื่อให้คำปรึกษาด้านการค้าระหว่างประเทศกับผู้ประกอบการในการทำตลาดส่งออก ซึ่งสถาบันฯ มีภารกิจหลักในการจัดฝึกอบรม สัมมนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวและพัฒนาองค์ความรู้แนวใหม่ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการ“กิจกรรมเจาะลึกโอกาสด้านการค้าในตลาดต่างประเทศ” (Export Clinic) จะจัดในรูปแบบออนไลน์โดยกระจายไปทุกภูมิภาคทั่วโลก จัดครั้งแรกในเดือนเมษายนนี้ ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการผู้ต้องการเจาะกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง  จีน  อาเซียน  เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ในครั้งนี้เปิดรับผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 300 ลำดับนัดหมาย

งานดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เปิดโลกทางการค้าปรึกษาข้อมูลการบุกตลาดระหว่างประเทศกับฑูตพาณิชย์ในประเทศเป้าหมายแบบตัวต่อตัว ผ่านโปรแกรม Zoom ผู้ประกอบการที่สนใจลงทะเบียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้แล้ววันนี้ – 12 เมษายน2564 ที่ https://forms.gle/fULaeu7hyve5N6k78 หรือ E-mail: pr.nea.seminar2019@gmail.com

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

สทนช. แจงไม่มีการเก็บค่าน้ำภาคเกษตร ยันไม่ซ้ำเติม-แสวงหากำไร

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงกรณีเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์การเก็บค่าน้ำภาคเกษตรกรรม และมีความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรที่มีรายได้น้อย ว่า การเก็บค่าใช้น้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ไม่ใช่การเก็บด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร แต่มีเจตนารมณ์เพื่อผู้ใช้น้ำทุกรายมีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำและคิดวางแผนการใช้น้ำอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้จัดประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ เป็น 3 ประเภท คือ

1.การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย 2.การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อ การอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และ 3.การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า โดยหลักการเก็บค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ในส่วนของการอุปโภคบริโภคเพื่อยังชีพ จะไม่มีการเก็บค่าใช้น้ำ ส่วนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ มีหลักเกณฑ์คือ การทำการเกษตรในรอบแรกของปีจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายไม่ว่าเกษตรกรจะเพาะปลูกหรือมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนกี่ไร่ก็ตาม แต่ในช่วงฤดูแล้งที่มีความจำเป็นต้องสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ หรือการผลักดันน้ำเค็ม การเพาะปลูกข้าวรอบสองจำนวนมากอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหามาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปรับเปลี่ยนนาข้าวในฤดูแล้งให้เป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยด้วย

ในส่วนของหลักเกณฑ์ที่นำมากำหนดพื้นที่การเกษตรที่มากกว่า 66 ไร่ ขึ้นไปต้องเสียค่าใช้น้ำนั้น เป็นผลมาจากการศึกษาประเมินรายได้จากผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว หักต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และนำมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในภาคครัวเรือน พบว่า พื้นที่การเกษตรที่เกษตรกรจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ คิดเป็นพื้นที่ 66 ไร่ ซึ่งมีเพียง 4.6% ของจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่การใช้น้ำสาธารณะสำหรับการเกษตรโดยเฉพาะการทำนารอบสองในช่วงฤดูแล้งที่มีพื้นที่มากกว่า 66 ไร่ จึงเป็นมาตรการทางเลือกหนึ่งที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างจิตสำนึกและปรับพฤติกรรมลดการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถนำปริมาณน้ำที่มีอยู่ไปช่วยเหลือในส่วนของการอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

“สำหรับการคิดอัตราค่าใช้น้ำและรูปแบบการเก็บค่าใช้น้ำจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ และนำมาหารือกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อให้ได้รายละเอียดที่ชัดเจนและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยทุกขั้นตอนจะดำเนินไปอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้การคิดอัตราค่าใช้น้ำที่จะประกาศใช้ในอนาคตมีความถูกต้องตามหลักการ โปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนและขอยืนยันว่าในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ จะไม่มีการเก็บค่าน้ำในส่วนของภาคการเกษตรอย่างแน่นอน” นายสมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

"เฉลิมชัย"รับมือโควิดระลอกใหม่ ตั้ง"อลงกรณ์"เคลื่อนเกษตรยั่งยืน

“เฉลิมชัย” เร่งเครื่อง “ยุทธศาสตร์ที่ รับมือโควิดระลอกใหม่ ตั้ง “อลงกรณ์” ขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ชู BCG โมเดลสร้างเศรษฐกิจฐานรากชุมชน 77 จังหวัด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (7เม.ย) ว่า ภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร” ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 อีกแนวรุกหนึ่งคือ “ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา” โดยออกคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง” โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  ป็นประธาน ทำหน้าที่พัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Farming) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อเพิ่มความมั่นคงอาหารในเมืองและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชนทั่วประเทศ เป็นการรับมือผลกระทบจากวิกฤติ    โควิด19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่1. พัฒนาเกษตรในเมือง 2. เพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. เพิ่มคุณภาพอากาศ ลดกรีนเฮ้าส์แก๊ซและพีเอ็ม2.5 4. ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ธรรมชาติในเมือง และ 5. สร้างเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มรายได้และอาชีพระดับชุมชนบนโมเดล BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นับเป็นทิศทางใหม่ของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทยและเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมในเมืองอย่างยั่งยืนในระดับนโยบายคู่ขนานไปกับการพัฒนาภาคเกษตรในชนบท อีกทั้ง รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนเพื่อรับมือวิกฤตโดวิด19 และเตรียมความพร้อมของประเทศหลังยุคโควิด19 จัดได้ว่าเป็นการตอบโจทย์ทั้งหมดของทั้งปัญหาและโอกาส (Pain point และ Gain point)สำหรับปัจจุบันและอนาคตการขับเคลื่อนโครงการนี้จะผนึกความร่วมมือบน 5 แกนหลักคือ ภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคประชาสังคม และภาคเกษตรกร โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ ศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัด เป็นกลไกขับเคลื่อนระดับภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับทุกภาคีภาคส่วน

สำหรับโครงการนี้พัฒนาต่อยอดมาจากโครงการกรีนซิตี้ (Green City) ที่มุ่งลดปัญหาพีเอ็ม2.5 ด้วยการปลูกต้นไม้  1 ล้านต้น และโครงการตู้เย็นข้างบ้านส่งเสริมการปลูกผักรับประทานเองที่ ดร.เฉลิมชัย ริเริ่มและดำเนินการประสบความสำเร็จในช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา โดยออกแบบใหม่ภายใต้แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ซึ่งประกอบด้วย 5 เสาหลักคือ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน และเกษตรธรรมชาติสำหรับ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3. ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” จ่อออก มอก.ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอนาคต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) สมอ. เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าทั้งประเภท มอก.ทั่วไปและ มอก.ประเภทบังคับ รวม 361 มอก. ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (ดาวเด่น) จำนวน 117 เรื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

ขณะเดียวกันจะมีการออก มอก.ในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve (อนาคต) จำนวน 60 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมการบิน เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและอื่นๆ จำนวน 113 เรื่อง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เกษตรแปรรูป พลาสติก ยาง สมุนไพร นวัตกรรม เป็นต้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์พื้นฐานตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 71 เรื่อง ได้แก่ เครื่องกล เหล็ก คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง และโภคภัณฑ์ เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้จะสามารถกำหนดให้เป็น มอก.ได้ภายในไตรมาส 2 รวม 250 มอก.และจะออกให้ครบทุกๆ มอก.ได้ในสิ้นปีนี้รวมทั้ง 361 มอก.

ดังนั้น ขอแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่จะผลิตหรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว ให้เตรียมตัวดำเนินการตาม มอก. เพราะทุก ขั้นตอนผู้ประกอบการ จะต้องขออนุญาตจาก สมอ.ก่อนทำหรือนำเข้า พร้อมทั้งให้เตรียมตัวยื่นขอใบอนุญาตก่อนวันที่มาตรฐานแต่ละรายการจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

อาเซียนแกว่ง ไทยอ่วมโดนกีดกันการค้า-EV จีน

อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน เปิดการค้าเสรีไม่ได้ตามอุดมคติ ไทยอ่วมโดนมาตรการกีดกันการค้า Safeguard จากฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศเวียดนาม มาเลเซีย

แม้อาเซียน 10 ประเทศ มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี ASEAN Free Trade Area (AFTA) และอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลัก เพื่อรวมฐานการผลิตเป็นหนึ่งเดียว โดยยานยนต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกจะไม่เสียภาษีนำเข้าระหว่างกัน ทว่าในความเป็นจริงแต่ละประเทศยังใช้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี Non-Tariff Barriers (NBT) ในรูปแบบต่างๆ หวังรักษาฐานการผลิตในประเทศของตนเอง ซึ่งไทยที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกำลังผลิตระดับ 2 ล้านคันต่อปี ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมา “มาเลเซีย” เก็บภาษีการขายรถนำเข้า สูงกว่ารถที่ผลิตในประเทศ ด้าน “เวียดนาม” มีข้ออ้างตรวจสอบรถยนต์นำเข้าทุกคัน เพิ่มต้นทุนและเพิ่มอุปสรรคในการส่งออก ขณะที่ “ฟิลิปปินส์” ตอบโต้ไทยเรื่องภาษีบุหรี่ จึงออกมาตรการ Safeguard เก็บภาษีเพิ่มกับสินค้าไทยหลายประเภทรวมถึงรถยนต์สำหรับ มาตรการเก็บอากรป้องกันชั่วคราว Safeguard ในส่วนรถยนต์นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 30% มีผลถึงเดือนสิงหาคม 2564 (ระหว่างนี้ต้องเจรจา และตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน)นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยส่งออกรถยนต์ไปฟิลิปปินส์ ประมาณ 1.3 แสนคันต่อปี แต่มาตรการ Safeguard จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกแน่นอน สะท้อนให้เห็นว่าภาพภายนอกของอาเซียนดูรวมกัน แต่จริงๆ แข่งขันกันหนัก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ดังนั้นหลายประเทศอยากบล็อกเรา เพราะเขามีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่ต้องสร้างให้เข้มแข็งแม้ทางสมาคมฯ มีคณะกรรมการที่ทำงานเรื่องต่างประเทศ แต่ในภาพใหญ่อยากให้รัฐบาลช่วยเจรจาผ่านองค์กรการค้าโลก (WTO)เพราะคาดว่า นโยบายการกีดกันทางการค้าจะมีแนวโน้มหนักขึ้นเรื่อยๆ” นายองอาจกล่าวด้านแหล่งข่าว ผู้บริหารนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า นิสสัน กำลังประเมินผลกระทบในมาตรการ Safeguard ของฟิลิปปินส์ เพราะที่ผ่านมา นิสสัน เทอร์รา ที่ส่งไปจากประเทศไทยได้การตอบรับดีมากอาเซียนแกว่ง ไทยอ่วมโดนกีดกันการค้า-EV จีน

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ต่างมองการณ์ไกลในปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และพยายามกระจายโรงงานผลิตไปในแต่ละประเทศ ทั้ง โตโยต้า ฮอนด้า และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส โดยรายหลังตั้งเป้าให้อาเซียน เป็นฐานธุรกิจที่สำคัญที่สุดของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในโลก (ทั้งการผลิตและการขาย)“การลงทุนเพิ่มเติมในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันในแต่ละประเทศ แต่เป็นการสร้างธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยอาเซียนจะเป็นตลาดหลักของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส มียอดขายต่อปีมากที่สุดในโลก  (มากกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา)” นายโมะริคาซุ ชกกิ ประธานคณะกรรมการบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กล่าวสำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มีกำลังการผลิตรถยนต์เต็มที่ในไทย 4.24 แสนคัน/ปี อินโดนีเซีย 2 แสนคันต่อปี ฟิลิปปินส์ 5 หมื่นคันต่อปี เวียดนาม 1 หมื่นคันต่อปีนอกจาก มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในอาเซียนแล้ว นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อยากให้รัฐบาลแก้ไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ที่สามารถนำเข้าอีวี จากจีนมาโดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยภาษีนำเข้า 0% ให้อีวีจีน คงปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจีนมี อีวี หลายแบรนด์ หรือถ้าเทียบยอดขาย(รวมรถ ICE) ไทยประมาณ 1 ล้านคันต่อปี แต่จีนขายรถ 30 ล้านคันต่อปี ดังนั้นต่อไปทุกโมเดลอาจจะมาขายในไทย ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ที่การผลิตไม่สามารถทำอีโคโนมีออฟสเกลได้“อีวีจีน 0% ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน ต้องแก้ไขให้ได้ หากรัฐบาลหวังสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ”ส่วนประเด็น ที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งธงให้รถยนต์ที่ขายในไทยตั้งแต่ปี 2578 ต้องเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% นายองอาจ ให้ความเห็นว่า เป้าหมายนี้สามารถทำได้จริงหรือเปล่ายังไม่ทราบ แต่การส่งสัญญาณแรงแบบนี้ มีผลต่อความมั่นใจในการลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่าย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา“สมาคมฯ อยากให้อีวี เกิดเช่นกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ยั่งยืน และมีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ซึ่งการตั้งเป้าขายอีวี ทั้งหมดในปี 2578 ไม่ใช่เรื่องง่าย”นายองอาจกล่าวทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2564 จะทำได้อย่างตํ่า 1.5 ล้านคัน แต่ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น มีโอกาสขยับขึ้นไปได้ถึง 1.7-1.8 ล้านคัน แบ่งเป็นการขายในประเทศและส่งออกในสัดส่วน 50:50

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า" ที่ระดับ  31.30บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์"แข็งค่า"ในระยะสั้น 1-2 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ หรือ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ เริ่มขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All Time High) อีกครั้ง ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ปัจจัยบวกที่หนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่ง ได้ถูกรับรู้ไปบ้างแล้ว (priced-in) ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตอย่าง การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่ได้ถูกรับรู้ไปมากนักในราคาสินทรัพย์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะทยอยลดความเสี่ยงไปก่อน จนกว่าจะมีการรับรู้ปัจจัยบวกใหม่ อย่าง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้นกว่าคาด  การทยอยลดความเสี่ยงดังกล่าวของตลาด ได้ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 0.10% ส่วน ดัชนี Dow Jones ปิดลบกว่า 0.3% อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดยุโรป ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หนุนให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกกว่า 0.6% นำโดย ดัชนี DAX ของเยอรมนีที่ปรับตัวขึ้นกว่า 0.7%

นอกจากนี้ ภาพการทยอยลดสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 4bps สู่ระดับ 1.66% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ย่อตัวลงได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว 0.3% สู่ระดับ 92.33 จุด ขณะที่ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นกว่า 0.5% กลับมายืนเหนือระดับ 1.187 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้น 0.2% สู่ระดับ 109.75 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวขึ้นกว่า 0.9% สู่ระดับ 1,744 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับวันนี้ ประเด็นสำคัญที่ตลาดจะติดตามยังคงเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึง การแจกจ่ายวัคซีน โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Charles Evans และ Thomas Barkin จะย้ำมุมมองของเฟดที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19 อยู่ ทำให้เฟดจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายไปก่อน ทั้งนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ว่าจะส่งผลต่อการปรับนโยบายการเงินของเฟดอย่างไร ส่วนในฝั่งเอเชีย สถานการณ์การระบาดในประเทศอินเดียที่ยังคงรุนแรงอยู่และมาพร้อมกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00%และในฝั่งไทย ตลาดจะติดตามมาตรการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ของรัฐบาล หลังจากที่เกิดคลัสเตอร์ระบาดใหม่ที่อาจส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรุนแรงในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ได้ในส่วนค่าเงินบาท เรามองว่า โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงยังมีอยู่ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เรามองว่า ในระยะสั้น 1-2 เดือนข้างหน้า เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ หรือ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยจุดจบของการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นสำคัญ กอปรกับ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้ นักลงทุนต่างชาติอาจลดสถานะถือครองหุ้นไทยลง ทำให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติมีโอกาสไหลออกสุทธิ นอกจากนี้ แรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลก็จะเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ เราคงมองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าแค่ระยะสั้น ก่อนจะที่กลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25 - 31.40 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

รง.น้ำตาลจูงใจชาวไร่ ประกาศซื้ออ้อย1พันบาท/ตัน

3สมาคมโรงงานน้ำตาล​ เผย อ้อยสดเข้าหีบเพิ่ม ดันยิลด์และค่าความหวานสูงสุดในรอบ 30 ปี​ ยันประกาศราคารับซื้ออ้อย 1,000 บาทต่อตัน ที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. สร้างแรงจูงใจเกษตรปลูกอ้อยเพิ่ม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า​ ภาพรวมการผลิตน้ำตาลปีนี้ โรงงานทั้ง 57 แห่ง ประกาศปิดหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 หลังจากเปิดรับผลผลิตจากชาวไร่มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งพบว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานเฉลี่ยในปีนี้สูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยมียิลด์อยู่ที่ 113.57 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 110.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.68 ซี.ซี.เอส. แม้ในปีนี้จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพียง 66.66 ล้านตัน ลดลง 8.20 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ จำนวน 74.86 ล้านตัน ซึ่งมาจากสาเหตุในเรื่องสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดยความสำเร็จในครั้งนี้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาล รวมถึงภาครัฐ ในการร่วมมือกันแก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างจริงจัง ส่งผลทำให้ชาวไร่อ้อยจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 49.05 ล้านตัน หรือคิดเป็น 73.58% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และมีอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 17.61 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 26.42% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอ้อยไฟไหม้สูงถึง 37.18 ล้านตัน

“แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตอ้อยจะลดลง แต่มีอ้อยสดเข้าหีบมากขึ้น ทำให้ยิลด์และค่าความหวานทำสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปี ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย และเราเชื่อมั่นว่าการเสนอรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรหันมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นองจากนี้สมาคมฯได้ส่งหนังสือเชิญสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างยั่งยืน ในวันที่ 7 เมษายน 2564 นี้ โดยจะหารือถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 โรงงานน้ำตาลจะรับซื้ออ้อยสดที่มีคุณภาพในราคา 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล โดยโรงงานพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรรายใหม่ที่สนใจปลูกอ้อยยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

การผลิตไฟฟ้าและการบริโภคไฟฟ้าปี 2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2 – 3% ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง ในช่วง 3 - 4 ปีข้างหน้ายังสูง เกินกว่ามาตรฐานสากล 15% ส่งผลการรับซื้อไฟฟ้าในประเทศของภาครัฐลดลง ยกเว้นโรงไฟฟ้าที่จำเป็น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และมีต้นทุนที่ถูก ผลักดันผู้ประกอบการหันลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน

นายโอภาส ใจเครือคำ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ที่อยู่ในระดับสูงมาก และสูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ประมาณ 15% โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าในเดือน ธ.ค. 2563 ประเทศมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 45,480 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2563 ที่ 28,637 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 37% หรือ 27% เมื่อหักส่วนนำเข้าไฟฟ้าออกไป

ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) ที่ ครม. เห็นชอบในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ระบุถึง กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะอยู่ในระดับสูงไปอีก 3 -  4 ปี แล้วค่อยลดลง ซึ่งสถานการณ์นี้ กดดันไม่ให้กระทรวงพลังงานประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้มากนักในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากจะเป็นโรงไฟฟ้าที่จำเป็น หรือกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ต้นทุนถูก และทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ปลดระวางลง เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน โรงไฟฟ้าขยะ โซลาร์รูฟท็อป และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ คาดว่าภาครัฐจะมีการปรับปรุง แผน PDP 2018 Revision 1 เร็วๆ นี้ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่นำมาพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนฯ นั้นสูงกว่าความเป็นจริงมากเพราะยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19ไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

ที่มา : แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 โรงไฟฟ้าชุมชนแข่งขันสูงและเสี่ยงขาดวัตถุดิบในอนาคต ​กระทรวงพลังงานได้วางเกณฑ์ฯ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนภายในปีนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยการไฟฟ้าจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน และในเดือน มิ.ย. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน ก.ย. 2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า โดยเบื้องต้นกำหนดเป้าหมายการรับซื้อไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (Biogas) 75 เมกะวัตต์ ใช้วิธีคัดเลือกการขายไฟฟ้าด้วยการเปิดให้แข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เข้าร่วมโครงการจะต้องใช้เชื้อเพลิงจากวัตถุดิบที่เกิดจากการปลูกพืชใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว และไผ่ เป็นต้น รวมถึงเพิ่มการใช้หญ้าเนเปียร์สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงกำหนดให้ผู้ประกอบการทำ Contract farming กับเกษตรกร80% และอีก 20% ให้จัดหาได้เองไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ กดดันการรับซื้อภาครัฐหด

สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่าการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะเกิดขึ้นในปีนี้ และจะมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Competitive Bidding ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า และผู้ประกอบการรายใหญ่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ จึงสามารถเสนอส่วนลดได้มากกว่าอย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังเกิดขึ้นจะมีความเสี่ยงสูงจากการขาดแคลนวัตถุดิบหรือราคาวัตถุดิบสูงขึ้นในอนาคต  แม้ได้ทำ Contract farming กับเกษตรกร (รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน 80% และให้จัดหาเองได้อีก 20%) ก็ตาม  เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรซึ่งผลผลิตไม่มีความแน่นอน และเกษตรกรจะให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นหลัก เช่นเดียวกับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาที่ผลผลิตทางการเกษตรลดลง โดยเฉพาะอ้อย ทำให้โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องหันไปซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลอื่นทดแทน และส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”ย้ำ FTA ไทย – ตุรกี   เดินหน้าปิดดีลปีหน้า

พาณิชย์ เผยผลการประชุมเจรจา FTA ไทย – ตุรกี รอบที่ 7 คืบหน้าตามเป้า สรุปความตกลงได้เพิ่มอีก 2 เรื่อง ทั้งเรื่องความโปร่งใส และการระงับข้อพิพาท ตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ในรอบหน้า พร้อมร่วมปรับปรุงระดับการเปิดตลาดสินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมให้สมดุล ชี้! ภาคการผลิตและ  ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้ประโยชน์จริง ย้ำ! เดินหน้าปิดดีลปีหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ตุรกี รอบที่ 7 ผ่านระบบทางไกล โดยได้เป็นประธานร่วมกับนางบาฮาร์ กึซลือ รองอธิบดีกรมความตกลงระหว่างประเทศและกิจการสหภาพยุโรปของตุรกี ซึ่งการเจรจารอบนี้ มีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างหัวหน้าคณะเจรจาของสองประเทศ และการประชุมระดับเทคนิคของคณะทำงาน 6 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการค้าสินค้า การเยียวยาทางการค้า กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎหมาย และทรัพย์สินทางปัญญา โดยการเจรจามีความคืบหน้าด้วยดีตามที่ตั้งเป้าไว้

สำหรับการเจรจารอบนี้ สามารถสรุปผลการยกร่างความตกลง FTA เพิ่มอีก 2 บท คือ บทว่าด้วยความโปร่งใส และบทเรื่องการระงับข้อพิพาท ทำให้สามารถสรุปความตกลงได้ถึง 4 บท จากทั้งหมด 14 บท สำหรับบทที่ยังไม่สามารถสรุปได้ อาทิ บทว่าด้วยมาตรการเยียวยาทางการค้า บทว่าด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และบทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปให้ได้ในการเจรจารอบหน้า ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เพื่อมุ่งปิดดีลการเจรจาในปี 2565

โดยที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอการเปิดตลาด โดยเฉพาะรายการสินค้าที่จะลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน และเห็นว่าผลการเจรจาจะต้องเกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตและผู้ประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง และมีความสมดุลระหว่างระดับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะปรับปรุงรายการสินค้าที่จะเปิดตลาด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเสนอกันอีกครั้ง ปลายเดือนเมษายนนี้“พาณิชย์”ย้ำ FTA ไทย – ตุรกี   เดินหน้าปิดดีลปีหน้า

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดจัดการประชุมทางไกลของคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2564 เนื่องจากการเจรจารอบนี้ยังไม่ได้มีการประชุมของคณะทำงานชุดนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานของคณะทำงานชุดต่างๆ คืบหน้า ก่อนจะมีการประชุมเจรจาในรอบที่ 8

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2563 การค้าระหว่างไทยและตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปตุรกี มูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากตุรกี มูลค่า 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์พืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

เงินเฟ้อมี.ค.64ลดลง0.08% สนค.ระบุหดตัวน้อยสุดรอบ13เดือน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทย เดือนมีนาคม 2564 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 99.11 ลดลง 0.08% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 ถือว่าหดตัวน้อยสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 แต่เพิ่มขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส่วนเฉลี่ยในชาวง 3 เดือนของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) ลดลง 0.53% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 100.42 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนของปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.12%

โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนมีนาคม 2564 ยังคงติดลบ เพราะยังได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาที่ยังคงมีอยู่และสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564 ราคากลุ่มอาหารสด ยังคงลดลง เช่น ข้าวสาร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ยังคงมีการเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ แต่เงินเฟ้อก็เริ่มได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่กลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 14 เดือน เพิ่มขึ้น 1.35% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเพิ่ม 17.18% ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศ ปรับขึ้น 5 ครั้ง และปรับลง 5 ครั้ง แต่ราคาปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลง รวมทั้งยังมีการเพิ่มขึ้นของน้ำมันพืช และเนื้อสุกร

ทั้งนี้สถิติอัตราเงินเฟ้อของไทยนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีการปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมีนาคม 2563 ลดลง 0.54% ,เดือนเมษายน 2563 ลดลง 2.99% ,เดือนพฤษภาคม 2563 ลดลง 3.44% ,เดือนมิถุนายน 2563 ลดลง 1.57% ,เดือนกรกฎาคม 2563 ลดลง 0.98% ,เดือนสิงหาคม 2563 ลดลง 0.50% ,เดือนกันยายน 2563 ลดลง 0.70% ,เดือนตุลาคม 2563 ลดลง 0.50% ,เดือนพฤศจิกายน 2563 ลดลง 0.41% ,เดือนธันวาคม 2563 ลดลง 0.27% และเมื่อมาถึงในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งได้มีการใช้ฐานเงินเฟ้อใหม่ แต่เงินเฟ้อก็ยังมีการปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.34% และเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ลดลง 1.17%

“เงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะบวกแรง เพราะมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาหมดไปแล้ว และจะบวกต่อเนื่องไปทั้งปี 2564 โดยในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะบวกค่อนข้างสูง เพราะฐานปี 2563 ต่ำ โดยมีน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยลง ส่วนอาหารสดนั้น จะเป็นไปตามฤดูกาลและความต้องการบริโภค ซึ่งก็ดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นต่างๆของรัฐบาลที่จะมีต่อเนื่อง และยังมีการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นได้”นายวิชานัน กล่าว

ส่วนเงินเฟ้อปี 2564 คาดว่าจะยังอยู่ในกรอบที่ สนค.คาดการณ์ไว้ที่ขยายตัว 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% แม้จะมีการปรับสมมติฐานต่างๆเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5-3.5% จากเดิมในเดือนธันวาคม 2563 คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.5% ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2564 อยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมคาดว่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าเงินบาททั้งปี 2564 อยู่ที่ 29.0-31.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30.0-32.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลประกาศราคารับซื้ออ้อย 1,000 บาทต่อตันกระตุ้นเกษตรกรปลูกมากขึ้น

โรงงานน้ำตาลประกาศราคารับซื้ออ้อย 1,000 บาทต่อตันกระตุ้นเกษตรกรปลูกมากขึ้น โชว์ความสำเร็จทำสถิติผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงสุดในรอบ 30 ปี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือเชิญสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างยั่งยืน ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา โดยจะหารือถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 โรงงานน้ำตาลจะรับซื้ออ้อยสดที่มีคุณภาพในราคา 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล ทั้งนี้ โรงงานพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรรายใหม่ที่สนใจปลูกอ้อยยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

ส่วนภาพรวมการผลิตน้ำตาลปีนี้ โรงงานทั้ง 57 แห่ง ประกาศปิดหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 หลังจากเปิดรับผลผลิตจากชาวไร่มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานเฉลี่ยในปีนี้สูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยมียิลด์อยู่ที่ 113.57 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 110.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.68 ซี.ซี.เอส. แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพียง 66.66 ล้านตัน ลดลง 8.20 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนที่มีผลผลิตอ้อย 74.86 ล้านตัน ซึ่งมาจากสาเหตุสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม              สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลรวมถึงภาครัฐ แก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างจริงจัง ทำให้ชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 49.05 ล้านตัน คิดเป็น 73.58% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และมีอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 17.61 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.42% เทียบกับปีก่อนที่มีอ้อยไฟไหม้สูงถึง 37.18 ล้านตัน              “แม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลง แต่มีอ้อยสดเข้าหีบมากขึ้นทำให้ยิลด์และค่าความหวานทำสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปี ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย และเชื่อมั่นว่าการเสนอรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรหันมาเพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

ปิดหีบปี 63/64 ผลผลิตอ้อยวูบ 8.24 ล้านตัน ชาวไร่รอลุ้น ครม.หลังสงกรานต์ช่วยอ้อยสด

ก.อุตฯ เผย 57 โรงงานปิดหีบอ้อยปี 63/64 แล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ผลผลิตอ้อยแตะ 66.65 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 8.24 ล้านตัน เหตุเจอแล้งต่อเนื่อง แย้มข่าวดีหลังสงกรานต์ลุ้น ครม.เคาะเงินหนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท คาดฤดูหีบใหม่ปริมาณอ้อยจะเพิ่มขึ้น

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 แห่งได้ปิดหีบการผลิตประจำปี 2563/64 เรียบร้อยแล้วจากการหีบอ้อยรวม 112 วัน โดยมีอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศที่ 66.658 ล้านตัน ความหวานเฉลี่ย 12.91 ซีซีเอส โดยเป็นอ้อยสดรวมประมาณ 49.08 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 73.58% ของอ้อยรวม อ้อยไฟไหม้ 17.6 ล้านตัน คิดเป็น 26.42% ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 113.57 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยหากเทียบกับฤดูหีบปี 2562/63 ที่หีบได้ 74.89 ล้านตันยังคงมีปริมาณลดลงถึง 8.24 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าฤดูหีบปี 2564/65 ปริมาณอ้อยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 80 กว่าล้านตันได้เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ประกอบกับรัฐมีนโยบายชัดเจนส่งเสริมการตัดอ้อยสด โดยคาดว่าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังสงกรานต์นี้

“รัฐกำหนดนโยบายชัดเจนจะไม่ส่งเสริมอ้อยไฟไหม้ จะช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้อ้อยสดในฤดูหีบปี 64/65 ที่ตันละ 120 บาท ตามนโยบายรัฐในการลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5 ) ที่คาดว่าจะมีการเสนอ ครม.อนุมัติหลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลทรายเองก็เข้าไปส่งเสริมมากขึ้น คิดว่าอ้อยจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” นายเอกภัทรกล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ที่ปรึกษาชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยไทยฤดูหีบปี 63/64 ที่ปิดหีบไปแล้วยังคงลดลงต่อเนื่องจากปัจจัยหลักคือภัยแล้ง และราคาอ้อยขั้นต้นตกต่ำตามทิศทางของราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ผ่านมา ประกอบกับนโยบายการตัดอ้อยสดที่ยังมีความยุ่งยากทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งได้หันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่าแทน โดยเฉพาะมันสำปะหลังที่รัฐได้กำหนดประกันราคาที่แน่นอนส่งผลให้พื้นที่อ้อยลดลง อย่างไรก็ตาม ฤดูหีบปี 2564/65 ขณะนี้มีฝนมาเร็ว หลายฝ่ายจึงคาดหวังว่าปริมาณอ้อยจะเพิ่มขึ้นจากฤดูหีบ 63/64 ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกมีสัญญาณเป็นบวก โดยพบว่าราคาส่งมอบล่วงหน้า มี.ค. 65 เฉลี่ยที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ไม่รวมพรีเมียม แต่สิ่งสำคัญยังต้องติดตามปริมาณฝนว่าจะมีต่อเนื่องหรือไม่

“อ้อยฤดูหีบปี 2564/65 แม้จะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากฤดูหีบนี้แต่ก็ยังเป็นไปได้ยากหากจะให้กลับไปแตะระดับ 100 ล้านตันเช่นอดีตที่เคยทำได้ถึงกว่า 130 ล้านตัน เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งได้หันไปปลูกมันสำปะหลังที่รัฐได้มีการประกันราคา ซึ่งต่างจากราคาอ้อยที่ชาวไร่ไม่สามารถประเมินทิศทางได้ล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด” นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาล รับซื้ออ้อย 1,000 บาท/ตัน จูงใจชาวไร่หันปลูกอ้อยเพิ่ม

โรงงานน้ำตาล เชิญสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ หารือการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยั่งยืน เสนอรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีในฤดูการผลิตปีถัดไปในราคาตันละ 1,000 บาท ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.

หวังจูงใจเกษตรกรสร้างความมั่นคงด้านการผลิตและดูแลคุณภาพผลผลิตอ้อย เผยปิดหีบอ้อยฤดูการ 63/64 อ้อยสดเข้าหีบเพียบ ดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 113.57 กิโลกรัม/ตันอ้อย และค่าความหวานอยู่ที่ 12.91 ซี.ซี.เอส. สูงสุดในรอบ 30 ปี

วันที่ 5 เมษายน 2564 นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ ได้ส่งหนังสือเชิญสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยอย่างยั่งยืน ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา

โดยจะหารือถึงประเด็นการสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 โรงงานน้ำตาลจะรับซื้ออ้อยสดที่มีคุณภาพในราคา 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อกระตุ้นการส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยจัดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล ทั้งนี้ โรงงานพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรรายใหม่ที่สนใจปลูกอ้อยยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

ส่วนภาพรวมการผลิตน้ำตาลปีนี้ โรงงานทั้ง 57 แห่ง ประกาศปิดหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 หลังจากเปิดรับผลผลิตจากชาวไร่มาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานเฉลี่ยในปีนี้สูงที่สุดในรอบ 30 ปี

โดยมียิลด์อยู่ที่ 113.57 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.91 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 110.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 12.68 ซี.ซี.เอส. แม้ปีนี้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพียง 66.66 ล้านตัน ลดลง 8.20 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนที่มีผลผลิตอ้อย 74.86 ล้านตัน ซึ่งมาจากสาเหตุสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

ความสำเร็จในครั้งนี้มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลรวมถึงภาครัฐ แก้ปัญหาการเผาอ้อยอย่างจริงจัง ทำให้ชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็น 49.05 ล้านตัน คิดเป็น 73.58% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และมีอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 17.61 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.42% เทียบกับปีก่อนที่มีอ้อยไฟไหม้สูงถึง 37.18 ล้านตัน

“แม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลง แต่มีอ้อยสดเข้าหีบมากขึ้น ทำให้ยิลด์และค่าความหวานทำสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปี ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย และเราเชื่อมั่นว่าการเสนอรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรหันมาเพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

WTO ชี้ “วัคซีน-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” หนุนการค้าโลกปี’64 ฟื้นตัว 8%

WTO ชี้ ‘วัคซีน-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก ’ หนุนคาดการณ์การค้าโลกปี 2564 ฟื้นตัว 8% ส่วนภาคบริการยังน่าห่วง เสี่ยงหดตัว 63% จับตา ‘หนี้สาธารณะ-ขาดดุลงบ’ ปัยจัยเสี่ยงระยะกลาง พร้อมคาดการณ์ส่งออกไทยฟื้น อานิสงส์พาณิชย์ลุยเปิด mini-FTA

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก กล่าวว่า องค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้แถลงผลการคาดการณ์การค้าโลกล่าสุดว่า การค้าสินค้าโลกจะขยายตัวที่ 8% ในปี 2564 แต่จะขยายตัวที่ 4%ในปี 2565 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากกลางปี 2563 ที่รวมทั้งปีแล้วหดตัว 5.3%

โดยปัจจัยที่สำคัญของปี 2564 นี้มาจาก ผลกระทบจากโรคโควิด-19 การฟื้นตัวในแต่ละภูมิภาคที่ไม่เท่ากัน ภาคบริการที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ที่ไม่พร้อมกัน

นอกจากนี้แล้ว WTO ยังคาดการณ์ว่า GDP โลกจะขยายตัวที่ 5.1% ในปี 2564 และ 3.8% ในปี 2565 ราคาน้ำมันที่หดตัวทำให้การค้าสินค้าพลังงานหดตัวถึง 35%ในปี 2564 และการค้าบริการหดตัว 63% ในปี 2564 เช่นกันโดยยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเร็วเนื่องจากโรคโควิด (ภาคบริการใหญ่ที่สุดคือ การท่องเที่ยว การขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง)

สำหรับปัจจัยสำคัญในระยะสั้นคือ การเข้าถึงวัคซีนของประเทศต่าง ๆ การผลิตและการกระจายวัคซีน และการระบาดระลอกใหม่หรือการมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจาย

ส่วนปัจจัยที่น่ากังวลในระยะกลางและระยะยาวคือ หนี้สาธารณะ และนโยบายงบประมาณขาดดุลของหลายประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการค้าโลกในช่วงต่อไปได้ หากมีการผลิตวัคซีนที่เพียงพอและประเทศต่าง ๆ เข้าถึงวัคซีนได้เร็วก็จะเพิ่มการเติบโตของ GDP โลกได้ถึง 1 % และการค้าสินค้าโลกขยายตัวเพิ่มได้ถึง 2.5 % และอาจทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ในช่วงปลายปี 2564 แต่หากวัคซีนไม่มีพอก็คงจะยังไม่ฟื้นตัวได้ดี”

นางพิมพ์ชนกกล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมของปี 2563 การค้าสินค้าโลกหดตัว 5.3 % ซึ่งน้อยกว่าที่ WTO คาดการณ์ไว้เมื่อตุลาคม 2563 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในปลายปีจากความสำเร็จของการผลิตวัคซีนที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค ประกอบกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ มีนโยบายแทรกแซงและพยุงตลาด/เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มาตรการเหล่านี้ช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนและสนับสนุนการใช้จ่ายและการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนก็มีวิธีเรียนรู้ปรับตัวรองรับมาตรการด้านสุขภาพที่ออกมา และการบริหารจัดการโรคระบาดที่หลายประเทศโดยเฉพาะจีนและประเทศในเอเชียทำได้ดี มีส่วนทำให้การนำเข้าของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้การค้าสินค้าของภูมิภาคต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ยกเว้นในเอเชียที่การส่งออกขยายตัว 0.3% และการนำเข้าติดลบเพียง 1.3%

ส่วนภูมิภาคที่พึ่งพาการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันต้องประสบปัญหาการนำเข้าหดตัวอย่างมาก เช่นอาฟริกา (-8.8%) อเมริกาใต้ (-9.3%) และตะวันออกกลาง (-11.3%) เนื่องจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าในประเทศลดลง

ในปี 2564 นี้ คาดว่าการค้าโลกจะมีส่วนขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่น่าจะสร้างอุปสงค์การนำเข้า 11.4% ของโลก ยุโรปและอเมริการใต้น่าจะมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ส่วนประเทศที่น่าจะส่งออกได้ดีจะเป็นประเทศในเอเชีย โดยคาดว่าการส่งออกของประเทศกลุ่มนี้จะขยายตัวที่ 8.4% ส่วนการส่งออกของยุโรป และอเมริกาเหนือจะขยายตัวที่ 8.3% และ 7.7% ตามลำดับ

สำหรับประเทศแอฟริกาและตะวันออกกลางการส่งออกจะอิงอยู่ที่การขยายตัวของการท่องเที่ยวโลกและการผลิตต่าง ๆ ที่จะทำให้อุปสงค์การบริโภคน้ำมันและแร่ธาตุเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลของ WTO พบว่า ในไตรมาส 2 ของปี 2563 การส่งออกโลกในหลายภูมิภาคหดตัวอย่างมาก เช่น อเมริกาเหนือ (-25.8%) และยุโรป (-20.4%) แต่เอเชียติดลบที่ -7.2% เท่านั้น และในไตรมาสที่ 4 สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 7.7% จากเหตุผลที่ประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าภูมิภาคอื่นและเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่โลกต้องการ รวมทั้งสินค้ากลุ่มสุขภาพ เวชภัณฑ์ทั้งหลายอีกด้วย

ในด้านกลุ่มสินค้า การค้าโลกในสินค้าเหล็กหดตัว 17 % ในไตรมาส 3 ของปี 2563 และหดตัวน้อยลงที่ 2% ในไตรมาส 4 ซึ่งไปสะท้อนในการผลิตรถยนต์และวัสดุก่อสร้างด้วย สินค้ากลุ่มสิ่งทอเสื้อผ้าฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 เช่นกัน

สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งคอมพิวเตอร์ขยายตัว12% ในครึ่งหลังปี 2563 และจะขยายตัวดีขึ้นในปี 2564 นี้ ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ยังคงต้องทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)

ในด้านภาคบริการ การท่องเที่ยวและขนส่งหดตัวที่ 63% และ 19 % ตามลำดับในปี 2563 แต่ภาคการเงินและบริการอื่น ๆ หดตัวเพียง 2% ส่วนบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหดตัว 13%

นางพิมพ์ชนกกล่าวถึงอันดับของประเทศไทยในหมู่ประเทศส่งออกและนำเข้าว่า ปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกลำดับที่ 25 ของโลก มีสัดส่วนการส่งออกที่ 1.3% คิดเป็นมูลค่า 231 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกหดตัว 6% และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 25 ของโลกเช่นกัน มีสัดส่วนการนำเข้าที่ 1.2% คิดเป็นมูลค่า 207 พันล้านเหรียญฯ โดยการนำเข้าหดตัว 12%

สำหรับประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1-3 ของโลก ได้แก่ จีน (สัดส่วน 14.7% 2,591 พันล้านเหรียญฯ) สหรัฐฯ (8.1% 1,432 พันล้านเหรียญฯ) และเยอรมนี (7.8% 1,380 พันล้านเหรียญฯ) ผู้ส่งออกในกลุ่มอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ (ลำดับที่ 14 สัดส่วน 2.1%) เวียดนาม (ลำดับที่ 20 สัดส่วน 1.6%) มาเลเซีย (ลำดับที่ 24 สัดส่วน 1.3%) และไทย (ลำดับที่ 25 สัดส่วน 1.3%)

ในด้านภาคบริการ ปี 2563 ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 30 มีสัดส่วนการส่งออกบริการที่ 0.6% คิดเป็นมูลค่า 31 พันล้านเหรียญฯ และเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 24 มีสัดส่วนการนำเข้าที่ 0.9% คิดเป็นมูลค่า 44 พันล้านเหรียญฯ

โดยประเทศผู้ส่งออกภาคบริการอันดับ 1-3 ในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 13.6% 669 พันล้านเหรียญฯ) สหราชอาณาจักร (สัดส่วน 6.7% 330 พันล้านเหรียญฯ) และเยอรมนี (สัดส่วน 6.2% 305 พันล้านเหรียญฯ) ส่วนผู้นำเข้าบริการอันดับ 1-3 ของโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 9.3% 434 พันล้านเหรียญฯ) จีน (สัดส่วน 8.1% 378 พันล้านเหรียญฯ) และไอร์แลนด์ (สัดส่วน 6.6% 309 พันล้านเหรียญฯ)

นางพิมพ์ชนกกล่าวสรุปว่า การค้าโลกและการส่งออกในปี 2564 นี้น่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะหากมีวัคซีนกระจายให้ประเทศต่าง ๆ ฉีดให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวด้วย

ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียที่บริหารจัดการโควิด-19 ได้ดี อยู่ในกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมากเพราะสามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ได้ รวมทั้งมีเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่เช่นจีนที่มีการนำเข้าและการผลิตมาช่วยหมุนการค้าในภูมิภาคด้วย

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญก็ยังน่าจะเป็นตลาดอเมริกาเหนือและตลาดเอเชียด้วยกัน ดังนั้น นโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP และการจัดทำ Mini-FTA กับมณฑลไห่หนานของจีน และจะเพิ่มเติมกับแคว้น/จังหวัดในเกาหลีและอินเดียต่อไป

ถือว่าเป็นนโยบายที่จะรองรับการฟื้นตัวของการค้าและการส่งออกโลกได้อย่างตรงเป้าหมายในปี 2564 นี้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 5 เมษายน 2564

กรมชลประทาน ลุยภารกิจแก้วิกฤต “แล้ง”จัดการน้ำเชิงรุก ให้พอเพียง ทั่วถึง และเป็นธรรม

“ความแห้งแล้ง” เป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจําทุกปี พอถึงช่วงที่ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการกระจายนํ้าฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ ก็มักจะนำความเสียหายมาสู่เศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำจากธรรมชาติ

ภัยแล้งในประเทศไทย นอกจากมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติแล้ว ยังมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดภัยแล้งอีกหลายประการ เช่น ปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก ความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม  การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งหรือกระทั่งประสบภัยแล้ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้ค่า จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนจะช่วยกันได้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลก็มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าประปาหมู่บ้านได้มาตรฐานภายในปี 2573 พร้อมขยายเขตประปา/สำรองน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเมืองท่องเที่ยว 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำให้เต็มศักยภาพ ลดความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50

3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง และบรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 60

 4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเน้นป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง

5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำฯ โดยฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชัน และ

6.การบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนแม่บท รวมไปถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนาวิจัย นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการบริการและการผลิต

เหล่านี้คาดว่าจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมและอุทกภัยที่ไม่คาดฝัน หรือลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดได้ ด้วยปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศอยู่ที่ 40,168 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 16,126 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,374 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ ส่วนในพื้นที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 9,816 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,120 ล้าน ลบ.ม. และมีการใช้น้ำไปแล้ว 3,622 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ

“ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สว.) กับคณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์น้ำปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 34.76 ล้านไร่ เก็บกักน้ำได้ทั้งประเทศกว่า 82,700 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 17.94 ล้านไร่ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 13,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปี 2564 ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.2695 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่ม 96.88 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่เรื่องของการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้ต่อยอดความร่วมมือกับการประปานครหลวง ที่จะลุยปฏิบัติการ “Water Hammer Operation” ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำจืด เพื่อนำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวออกไปไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล

ควบคู่ไปกับการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และการสูบน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำจืดน้อย การที่จะนำมาดันน้ำเค็มตลอดเวลา อาจมีไม่เพียงพอ จึงต้องใช้กระบวนการดังกล่าวร่วมด้วย

“การควบคุมค่าความเค็ม ระดับความเค็ม หรือปัจจัยต่างๆ ในการผลิตน้ำประปา ในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีแหล่งน้ำจืดมาช่วยเจือจางที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องควบคุมค่าความเค็มของแต่ละพื้นที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด”

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในพื้นที่ชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 5,939 หน่วย ตามข้อสั่งการของ “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พร้อมจะเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที

อีกทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ทั่วไทย

แม้ว่าทุกปีจะต้องเผชิญกับแก้วิกฤติ “ภัยแล้ง” ซ้ำแล้วซ้ำอีก กรมชลประทานยังคงยืนหยัดเคียงข้างคนไทยสู้ภัยแล้ง ส่งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ช่วยพื้นที่ภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง พร้อมขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม และผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปพร้อมๆ กัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 5 เมษายน 2564

รับมือภัยแล้งส่อรุนแรง  ซีพีเอฟลุยปัน"น้ำปุ๋ย"ให้เกษตรกร

ซีพีเอฟ เดินหน้าปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรับมือภัยแล้ง ลดใช้ทรัพยากรน้ำในธรรมชาติ ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร ช่วยประหยัดปีละกว่า 1.3 ล้านบาท

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เผยว่า บริษัทตระหนักถึงปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ประเทศไทยจะต้องเผชิญวิกฤติแล้งหนัก จากปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2 ปี ส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ซีพีเอฟจึงสานต่อโครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงฟาร์มเลี้ยงสุกร ที่ดำเนินการมาตลอด 19 ปี โดยปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ปันน้ำปุ๋ยแก่เกษตรกร 210 ราย ปริมาณน้ำทั้งสิ้น 2,281,851 ลูกบาศก์เมตร บนพื้นที่ 3,213 ไร่ สำหรับเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งสวนผลไม้ ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ต้นสัก ยางพารา หญ้าเลี้ยงสัตว์ สวนไผ่ มะนาว กล้วย พืชผักสวนครัว ฯลฯ 

ทั้งนี้ซีพีเอฟได้นำน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนเป็นน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” กลับมาใช้ประโยชน์ ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และผักปลอดภัยจากสารพิษที่พนักงานปลูกในฟาร์ม และยังส่งต่อน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด ให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ขอรับน้ำในช่วงฤดูแล้ง ช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร และยังช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำค่าปุ๋ยแก่เกษตรกรได้กว่า 1.3 ล้านบาทต่อปี รับมือภัยแล้งส่อรุนแรง  ซีพีเอฟลุยปัน"น้ำปุ๋ย"ให้เกษตรกร

รับมือภัยแล้งส่อรุนแรง ซีพีเอฟลุยปัน"น้ำปุ๋ย"ให้เกษตรกร

 ด้านนางยุพิน อะตะมะ หนึ่งในเกษตรกรกว่า 40 ราย ที่ร่วมโครงการน้ำปุ๋ยสู่ชุมชน กับฟาร์มสุกรจอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปกติซีพีเอฟจะมีระบบใช้น้ำหมุนเวียนภายในฟาร์ม ไม่ปล่อยน้ำออกสู่ภายนอก แต่ด้วยน้ำปุ๋ยมีแร่ธาตุที่ดีสำหรับต้นพืช โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ถือเป็นปุ๋ยชั้นดี เกษตรกรจึงขอรับน้ำมารดต้นพืชตลอดปี โดยตนรับน้ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 สำหรับรดต้นข้าวโพดหวาน 2 ไร่ และผักสวนครัวอีก 1 ไร่ ที่ผ่านมาไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีก สภาพดินก็ดีขึ้น พืชที่ปลูกงอกงาม ผลผลิตข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% การปันน้ำให้เกษตรกร สามารถเพราะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงแล้งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาให้เกษตรกรได้ทุกปี และยังช่วยให้มีรายได้เพิ่มจากผักที่เก็บขายได้ทุกวัน

ซีพีเอฟระบุอีกว่า ได้เน้นย้ำให้ฟาร์มของบริษัททั่วประเทศ เดินหน้ามาตรการใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันการสูญเสีย และลดการใช้น้ำอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สามารถลดการใช้น้ำในการเลี้ยงสุกรได้มากกว่า 5% ต่อปี และในปี 2563 บริษัทบรรลุเป้าหมายประหยัดน้ำที่ตั้งไว้ โดยประหยัดน้ำในการผลิตได้ถึง 2.34 ล้านลูกบาศก์เมตร มูลค่าประหยัด 16.03 ล้านบาท สามารถลดการใช้น้ำในฟาร์มพ่อแม่พันธุ์สุกรจาก 138 ลิตรต่อตัวต่อวัน จากปี 2556 ซึ่งเป็นปีฐาน เหลือ 103 ลิตรต่อตัวต่อวัน ในปีที่ผ่านมา ส่วนฟาร์มสุกรขุนลดจาก 45 ลิตรต่อตัวต่อวัน เป็น 34 ลิตรต่อตัวต่อวัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 เมษายน 2564

หอค้าไทย เล็งเสนอรัฐบาล”บิ๊กตู่”ฟื้น10เขตศก.พิเศษ จี้เพิ่มแรงจูงใจดึงทุนนอกเข้าไทย

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ ครั้งแรกในวันที่ 8 เมษายน จะนำประเด็นการหาแนวทางลดปัญหาการค้าและการลงทุนของนักธุรกิจไทยในเมียนมา ซึ่งขณะนี้ได้รับการร้องขอจากผู้ประกอบการไทยให้หอการค้าประสานรัฐบาลช่วยเหลือ และประเมินว่าเหตุการณ์ไม่สงบในเมียนมาครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในพม่าโดยตรงไม่น้อยกว่า 4-5 ปี ซึ่งในระยะสั้นผู้ประกอบการเสนอให้รัฐช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน โดยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่กู้ไปลงทุนในเมียนมาจนกว่าจะสามารถดำเนินการได้ปกติ ขณะที่การค้าสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันถือว่ายังไม่ได้สดุดมาก หากยังมีการเปิดด่านส่งของได้อยู่

” เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ผมจะเสนอให้รื้อฟื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งมีพื้นที่ถึง 8 แสนไร่ แต่ที่ผ่านมายังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมอย่างจริงจังต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยจะเสนอกระทรวงมหาดไทยที่เดิมมอบผู้ว่าจังหวัดดูแล เป็นการตั้งคณะทำงานดูแลโดยตรงเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งการเกิดเหตุการณ์ในเมียมนาครั้งนี้ก็จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนอยู่แล้วหรือต้องการใช้สิทธิพิเศษพิเศษที่เมียมานได้รับการส่งออกโลก หันมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษฝั่งไทย และเสนอให้ทำเป็นรูปแบบเขตเศรษฐกิจร่วมไทยกับเมียมนา เหมือนอย่างจีนกับเมียมนา หรือที่เรียกกันว่า 1 เขต 2 ประเทศ ต่างชาติหรือคนไทยที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจนี้ก็จะได้สิทธิพิเศษเหมือนการลงทุนในอีอีซี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์อะไรอีกก็จะไม่ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดผลิตอย่างครั้งนี้ และไม่ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก ลดปัญหาการโอนเงินข้ามประเทศ และสร้างความมั่นใจกับการลงทุนกับประเทศติดชายแดนไทยด้วย เรื่องนี้ผมก็จะนำเสนอรัฐบาลต่อไปด้วย ซึ่งสามารถใช้เขตเศรษฐกิจนี้เป็นต้นแบบกับการฟื้นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลเคยกำหนดไว้ 10 แห่งให้ฟื้นตัวได้อีกครั้ง ” นายนิยม กล่าว

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า หอจะผลักดันแนวคิดสร้างความร่วมมือด้านลงทุนและการค้าในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที ( เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ไทย) เปลี่ยนจากการเป็นคู่แข่ง มาเป็นพันธมิตรในด้านการผลิตและส่งออกป้อนประเทศที่ 3 เพื่อลดความเสี่ยงและแข่งขันได้ในตลาดโลก อย่างเวียดนาม ซึ่งเป็นฐานผลิตและนักลงทุนทั่วโลก เข้าไปลงทุนต่อเนื่อง ก็ควรหาพันธมิตรในเวียดนาม ซึ่งไทยยังเด่นในเรื่องแหล่งซัพพลายเชนผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ก็สามารถส่งไปเวียดนามเพื่อประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปและได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี(จีเอสพี)ด้วย หรือ แม้แต่กัมพูชา ที่มีนักลงทุนเข้าไปตั้งฐานผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ยังเป็นประเทศที่ยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าทั้งจากสหรัฐและยุโรป อีกทั้งมีแนวคิดให้ธุรกิจคนไทยที่ลงทุนในเวียดนามหรือกลุ่มซีแอลเอ็มวี รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในการจัดซื้อ ส่งออก และบริหารจัดการในแง่ต่างๆ ก็จะนำแนวคิดเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ ครั้งแรกในวันที่ 8 เมษายนนี้ด้วย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 3 เมษายน 2564

“จีน”สนลงทุนไทย  ลุยโครงการพลังงานทดแทน

TPIPP ลงนาม MOU ลงทุนโครงการพลังงานทดแทน 1,800 MW ร่วมกับบริษัทรัฐบาลจีน  China Overseas Investment  ในโครงการ จะนะ

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP  เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท China Overseas Investment Company Limited เป็นบริษัทของรัฐบาลจีน เพื่อร่วมศึกษาและลงทุนในพลังงานลม 800 MW และพลังงานแสงแดดอีก 1,000 MW โดยโครงการทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรม เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งก่อนหน้านี้ TPIPP   ได้ลงนามการบันทึกข้อตกลง MOU กับ   บริษัท Korea Gas Corporation  และบริษัท Korea Western Power เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และ LNG Terminal

โดยบริษัท Korea Gas Corporation เป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ ก๊าซ LNG ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่าย นำเข้า หรือ จัดหา โดยเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่าย ก๊าซ LNG ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สอดรับกับการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบจะนะที่ TPIPP กำหนดแผนลงทุนยกระดับอำเภอจะนะเป็นสมาร์ทซิตี้ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมยุคใหม่กระจายสู่อาเซียน ซึ่งจะมีทั้ง อุตสาหกรรมสมัยใหม่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, เมืองอัจฉริยะ, ท่าเรือน้ำลึกและศูนย์การขนส่งและกระจายสินค้า ตลอดจนศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด

และบริษัท Korea Western Power เป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า ควบคุมการผลิต และซ่อมบำรุง ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สะท้อนภาพโครงการจะนะ ฉายภาพอุตสาหกรรมในอนาคต เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าสะอาดเต็มรูปแบบ ทั้งพลังงานลม โซล่าร์ รวมถึงการผลิตแบตเตอร์รี่ ซึ่งปัจจุบันพบว่า พื้นที่ภาคใต้ยังต้องนำเข้าพลังงานจากส่วนกลางหรือมาเลเซียเนื่องจากยังไม่มีโรงงานไฟฟ้าเพียงพอ ประกอบกับ เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีคาร์ มีแนวโน้มเข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้โตอย่างก้าวกระโดด TPIPP พร้อมเป็นผู้ลงทุนพัฒนานธุรกิจพลังงานสะอาดทุกชนิดและเชิญผู้ร่วมลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป“จีน”สนลงทุนไทย  ลุยโครงการพลังงานทดแทน

โดย บริษัทฯ คาดว่าการลงทุนมูลค่ากว่าแสนล้านบาท จะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่าแสนตำแหน่ง อันจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ประชาชนในภาคใต้  ตามนโยบายความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ถือเป็นกุญแจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทางบริษัท TPIPP หวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับรายได้รวมถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 เมษายน 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : ลุ่มน้ำวังพ้นวิกฤติแล้ง

ลุ่มน้ำวัง เป็น 1 ใน 22 ลุ่มน้ำหลักของประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 6.75 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ ลำปาง และตาก เป็น 1 ใน 4 สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ ไหลมารวมกับแม่น้ำปิง ที่ อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก มีความยาวตามลำน้ำประมาณ 460 กิโลเมตร

เขื่อนกิ่วลม และเขื่อนกิ่วคอหมา เป็น 2 แหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำวัง ปีนี้ปริมาณฝนที่ตกและน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของทั้ง 2 เขื่อนน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเล็กน้อย ล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2564 เขื่อนกิ่วลมมีปริมาณน้ำ 55.86 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น 52.59% ของปริมาณความจุ ส่วนเขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำ 59.22 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 34.84%ของปริมาณความจุ

เมื่อวันก่อนท่านอธิบดีกรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำวัง โดยได้ให้ความมั่นใจว่า แม้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม แต่มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ในฤดูแล้งตามแผนที่วางไว้ในทุกกิจกรรมการใช้น้ำ และมีสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสามารถส่งน้ำเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ตำบลยกกระบัตร ตำบลวังจันทร์ ตำบลวังหมัน ในเขตอำเภอสามเงา และตำบลแม่สลิด ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อีกด้วย

ตามแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 กรกฎาคม 2564 จะจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆรวมทั้งปริมาณน้ำสำรองใช้ในช่วงต้นฤดูฝนของเขื่อนทั้ง 2 แห่งดังกล่าวมีปริมาณทั้งสิ้น 152 ลัานลบ.ม. แบ่งเป็น จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 16.1 ล้านลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 34.9 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 11.2 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อกิจกรรมอื่น ๆ 20.0 ล้าน ลบ.ม. และน้ำสำรองกรณีฝนมาล่าช้าหรือฝนทิ้งช่วง 69.8 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนทุกอย่าง โดยขณะนี้ได้จัดสรรไปแล้ว 46.9 ล้านลบ.ม. ยังคงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรตามแผนจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ดังนี้ น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 6.1 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 13.5 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตร 0.7 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อกิจกรรมอื่นๆอีก 15 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำตามแผนแน่นอน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยัน

นอกจากนี้หากมีพื้นที่ใดในลุ่มน้ำวัง ประสบภัยแล้งก็มีปริมาณที่สำรองไว้เพื่อจัดกิจกรรมอื่นๆ สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีรวมทั้งหากเกิดกรณีฝนมาช้า หรือฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนก็ยังมีปริมาณสำรองไว้อีกถึง 69.8 ล้าน ลบ.ม.

“ปีนี้ลุ่มน้ำวังไม่ประสบวิกฤติภัยแล้งอย่างแน่นอน” อธิบดีกรมชลประทานฟันธง!!

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.20บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวโน้มแข็งค่าได้อีก ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.20 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินอาจมีการซื้อ ขาย ที่ไม่คึกคักมากนัก เหตุเป็นวันหยุด Good Friday ในเทศกาลอีสเตอร์ของหลายประเทศ

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่งจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดย ISM ในเดือนมีนาคมปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด สู่ระดับ 64.7 จุด ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 1.2% ทำจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า 1.8% โดยหุ้นเทคฯ ก็ได้รับแรงหนุนจากการที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.67%ส่วนในฝั่งยุโรป นักลงทุนก็พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน โดย ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปิดบวก 0.7% แม้ว่าโดยรวมแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อาจชะลอตัวลงในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 นอกจากนี้ ในส่วนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ก็สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น และยืนเหนือระดับ 61.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 64.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้  หลังจาก ที่ประชุมสมาชิก OPEC+ ยังคงมองแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น หนุนโดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้กลุ่ม OPEC+ ตัดสินใจที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 2 ล้านบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต ทว่าความต้องการน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าปริมาณการผลิตน้ำมัน (Supply Deficit) ในส่วนตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแตะระดับ 92.9 จุด ทำให้ ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) ต่างแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.383 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ได้ช่วยให้ ราคาทองคำ รีบาวด์กลับขึ้นมา สู่ระดับ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้น และส่งผลให้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 6.0% อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจมีการซื้อ ขาย ที่ไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากเป็นวันหยุด Good Friday ในเทศกาลอีสเตอร์ของหลายประเทศ แต่ก็ต้องระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าการแข็งค่าดังกล่าว อาจจบลงได้ หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาทิ รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ออกมาดีเกินคาดไปมาก นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศในช่วงการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า ควรจับตา โฟลว์จ่ายปันผลในข่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจมีโฟลว์จ่ายปันผลกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (โดยรวมตลอดช่วงเดือนเมษายน ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม อาจมียอดจ่ายปันผลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564

'สุพัฒนพงษ์'เดินหน้าผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก

วันที่ 1 เม.ย.64 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊กส่วนตัว "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" มีเนื้อหาระบุว่า " ผมได้เข้าร่วมกล่าวเสวนาในงาน IEA-COP26 Net Zero Summit ร่วมจัดโดย International Energy Agency (IEA) และ United Nations Climate Change Conference COP26 ซึ่งมีรัฐมนตรีและผู้บริหารประเทศระดับสูงกว่า 50 ประเทศเข้าร่วมในวันนี้ครับ

งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านพลังงาน ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก (Decarbonization) ร่วมขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 C ครับ

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความเร่งด่วนเหล่านี้ และได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างสมดุลการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ทางด้านกระทรวงพลังงาน ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำครับ "

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

ส่งออกสินค้าอุตฯโต ‘ก.พ.’พุ่ง6.9%อานิสงส์วัคซีน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 การผลิตในอุตสาหกรรมหลักกลับมาขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำ) และรายการพิเศษ 2564 ขยายตัว 6.94% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

 “อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความเชื่อมั่นในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้บริการแก่ประชาชน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และโครงการม33 เรารักกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้อย่างหมุนเวียนรวมถึงเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคดีขึ้น”นายสุริยะกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่1.08% โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนก.พ.2564 อยู่ที่ระดับ 65.08% ลดลงจากเดือนม.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 66.60% เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุม แม้ในเดือนนี้จะมีการผ่อนคลายบางส่วนแล้ว แต่ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย

ทั้งนี้อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล ขยายตัว 19.85% ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.30% รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.97% เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16.43% ฯลฯ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

เปิดเงื่อนไข-คุณสมบัติขอขึ้นทะเบียน "องค์กรผู้ใช้น้ำ" ได้ที่นี่

หลังจากที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระทั่งมีกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. 2564 หนึ่งในกฎหมายรองที่มีความสำคัญ กำหนดให้จัดทำขึ้นตามหมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระบุให้ องค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มี 3 ระดับ คือ

ระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานระดับลุ่มน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธานระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคล ได้แก่-บุคคลธรรมดา-นิติบุคคล-ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่เป็นผู้ใช้น้ำบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย พร้อมตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะนายทะเบียนขั้นตอนการลงทะเบียน 1.ยื่นคำขอจดทะเบียนขอรับรองความเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำได้ 4 ช่องทาง ดังต่อไปนี้-ผ่านทางเว็บไซต์ twuo.onwr.go.th-ยื่นสมัครด้วยตนเองที่สำนักงาน สทนช.ส่วนกลาง อาคารจุฑามาศ (ในวันและเวลาราชการ)-สมัครด้วยตนเองที่สำนักงาน สทนช. ภาค 1-4 ที่ จ.ลำปาง จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น และ จ.สุราษฎร์ธานี (ในวันและเวลาราชการ)-ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ถึง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 102102.หลังจัดส่งเอกสารและหลักฐาน รอการพิจารณาคำขอภายใน 15 วัน -กรณีเอกสารหลักฐาน "ครบถ้วน" พิจารณาอนุมัติภายใน 30 วัน-กรณีเอกสารหลักฐาน "ไม่ครบถ้วน" แจ้งให้มีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมภายใน 15 วัน 3.อนุมัติการจัดตั้งองค์กรน้ำ-สทนช.ออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียน เพื่อรับรองว่า เป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561-แจ้งผู้ยื่นคำขอให้ทราบเป็นหนังสือ-ประกาศรายชื่อองค์กรผู้ใช้น้ำและเขตพื้นที่ดำเนินกิจกรรมขององค์กรผู้ใช้น้ำ ณ สทนช. ภาค และทาง www.onwr.go.th ทั้งนี้ สำหรับองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจก็จะต้องมายื่นขอจดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ด้วยเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

“เกษตร”วาง4เป้าหมายงาน เพิ่มผลิตภาพ-ลดยากจน

"เฉลิมชัย”วาง 4 เป้าหมาย ดันจีดีพีภาคเกษตรแตะ 3.8 %ต่อปี เพิ่มผลผลิตของภาคเกษตรเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ลดเกษตรกรยากจนได้ 10 % พร้อมเพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละ350,000ไร่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (31 มี.ค. 64) ว่าในวาระครบรอบ 129 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 1 เมษายนนี้ และกำลังที่จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 130 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานสู่มิติใหม่ภายใต้เป้าหมายใหม่ ได้แก่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีในประเทศสาขาเกษตรเฉลี่ย 3.8% ต่อปี เพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% ต่อปี ลดเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และ เพิ่มพื้นที่ชลประทานไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่

ทั้งนี้ ภายใต้วิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคอย่างมาก กระทรวงเกษตรฯจึงมีกลยุทธ์และยุทธศาสตร์บริหารการพัฒนาที่ชัดเจนสามารถปฏิบัติได้ กำหนดแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 5 ยุทธศาสตร์ และ15 นโยบายหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารสู่เป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0   3.ยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability- เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” และ 5. ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

นอกจากนั้น ยังมีการกำหนด 15 นโยบายหลักที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบประกอบด้วย นโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก . การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)

การพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และแปลงใหญ่ การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การ ประกันภัยพืชผลให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผล การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564