http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนเมษายน 2566]

 

คัดเลือกเกษตรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับเขต ประจำปี 2566

นางชญากุล ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอวิเชียรบุรี ร่วมต้อนรับ คณะกรรมการตรวจประเมินการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ณ หมู่ 10 ตำบลพุขาม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ในการประกวดกิจกรรมคัดเลือกเกษตรดีเด่น สาขาอาชีพทำไร่ ระดับเขต ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและให้ขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน

รวมถึงการผลักดันให้เป็นเกษตรกรต้นแบบที่ดีต่อไปซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการตรวจประเมินการคัดเลือกฯ คือ นายประทวน นาพุดซา เป็นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยโรงงานที่พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการใช้เทคนิคและเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตอ้อยโรงงาน มีการสำรวจ ติดตามกิจกรรมภายในแปลง เรียนรู้จากปัญหาที่พบ นำเอาความรู้ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านวิชาการกับหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในกระบวนการผลิตอ้อยตั้งแต่การคัดเลือกท่อนพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา

การนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงานคน การจัดการโรคและแมลงโดยวิธีผสมผสานรวมถึงการซ่อมแซมเครื่องจักรเบื้องต้นด้วยตนเอง ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตอ้อยโรงงาน และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยหยุดเผาอ้อย 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2559 นอกจากนั้นยังใช้นวัตกรรมของเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยในการกำจัดวัชพืช ทำให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มมากขึ้น จนปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานกว่า 400 ไร่ อีกทั้งยังส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องการปลูกและบริหารจัดการแก่เกษตรกรรายอื่นที่สนใจทั้งภายในและภายนอกชุมชนอีกด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 28 เมษายน 2566

เกษตรฯประชุมอ้อยน้ำตาล พิจารณาใน4ประเด็นสำคัญ

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริษัท บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ครั้งที่ 3/2566 ในฐานะกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ)ที่ห้องประชุม บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทยจำกัด อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 32เขตราชเทวี กทม.โดยมี นางวรวรรณชิตอรุณ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็น 1.เห็นชอบงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565, 2.เห็นชอบการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท และกำหนดค่าตอบแทน ประจำปี 2566, 3.เห็นชอบการงดจ่ายเงินปันผลของบริษัท ประจำปี 2565 และ 4.เห็นชอบรายงานผลการดำเนินการของบริษัท ในรอบปี 2565

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 เมษายน 2566

รัฐมนตรีฯ อนุชา พบปะผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ย้ำให้ความสำคัญชาวไร่อ้อย

วันนี้ (25 เมษายน 2566) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ผู้แทน 4 องค์กร ได้แก่ ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยเข้าพบ เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและติดตามสอบถามแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดสด คุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตราตันละ 120 บาท และปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตอ้อยที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ทางธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วมหรือช่วงภัยแล้งหนัก และปุ๋ยราคาแพง น้ำมันแพง โดยมีนายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอนุชา กล่าวว่า รับรู้และเข้าใจปัญหาของชาวไร่อ้อย ทั้งเรื่องของฤดูกาลที่ปีนี้เกิดภัยแล้งหนัก และเรื่องของต้นทุนปุ๋ย น้ำมัน หรือเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีราคาสูง ซึ่งจะนำประเด็นที่ชาวไร่อ้อยมาหารือ เพื่อหามาตรการและแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง สอน.ได้ออกมาตรการดูแลชาวไร่อ้อย อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการเผาใบอ้อย และจัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมเพื่อสางใบอ้อย นอกจากนี้ ยังได้แนะแนวทางให้ชาวไร่อ้อยผ่านโครงการโคล้านครอบครัวเพื่อช่วยเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก https://www.industry.go.th วันที่ 26 เมษายน 2566

กสก.หนุนเกษตรแปลงใหญ่อ้อย ต.สระขวัญ ชูเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มเสถียรภาพชาวไร่อ้อย

จากปัญหาผลผลิตตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มค่ากับการลุงทุนลงแรง และขาดแหล่งเงินทุน ของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว อันมีที่มาจาก “ต่างคน ต่างทำ” จึงมีการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ‘อ้อยโรงงาน’ ในพื้นที่ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว

นายจะตุรงค์ หาดซาย ประธานกลุ่มแปลงใหญ่อ้อย ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว กล่าวว่า กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลสระขวัญ มีสมาชิก จำนวน 36 ราย พื้นที่ในการปลูกอ้อยทั้งหมด 786 ไร่ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ภายใต้แนวคิด “การจัดการ แบบ Zero waste” พบว่า อ้อยมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการปลูกอ้อยโดยรวมลดลง

เคาะแผนป้องกันเกษตรกร เร่งสีและความสุกเงาะพันธุ์สีทอง จ.ตราด

กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลสระขวัญ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง และสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว เข้ามาให้ความรู้ เช่น การใช้พันธุ์อ้อยสะอาดเพื่อลดการระบาดของโรคใบขาวอ้อย, การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อลดต้นทุนการผลิต การใช้โดรนทางการเกษตรในการให้ปุ๋ยทางใบ พ่นยากำจัดศัตรูพืช, การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคนในการจัดการตั้งแต่การปลูก บำรุงรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งการใช้รถตัดอ้อยนอกจากจะช่วยประหยัดค่าแรงงาน ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนได้แล้ว ยังช่วยลดการเผาอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุของมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ  การตัดอ้อยสดยังขายได้ราคาสูงกว่าอ้อยที่เผาใบ “ กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลสระขวัญ ” มี บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) นวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็น ตลาดคู่สัญญา รับซื้อผลผลิตอ้อยในจังหวัดสระแก้วและพื้นที่ใกล้เคียง

นายรังสัน หล้าพรหม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว ได้กล่าว เพิ่มเติมอีกว่า ‘กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสระแก้ว’ ได้สนับสนุน การพัฒนาองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 5 ด้าน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการกลุ่ม และเชื่อมโยงตลาด  ซึ่งงบประมาณจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด จำนวน 3 ล้านบาท  โดยกลุ่มฯ นำไปจัดซื้อเครื่องจักรกล และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ 110 แรงม้า , ใบมีดดันหน้า 8 ฟุต , ผานพรวน 22 จาน , เครื่องฝังปุ๋ยแบบสองร่อง , เครื่องปลูกอ้อยแบบสองร่อง , เครื่องระเบิดดินดาน , และปัจจัยการผลิต เพื่อให้บริการสมาชิกและเกษตรกร ทั่วไป

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเกษตรกร เพราะการเกษตรคือรายได้หลักของตำบลสระขวัญ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้จึงเป็นช่องทางหลักในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ด้านอื่นๆให้ดีขึ้น

การบริหารจัดการกลุ่มฯ แปลงใหญ่อ้อยตำบลสระขวัญ มีการจัดสรรปันผลคืนกำไรให้แก่สมาชิกหลังสิ้นสุดฤดูการผลิต ซึ่งมาจากรายได้จากการเก็บค่าบริการการใช้เครื่องจักร เครื่องมือของกลุ่มฯ  กลุ่มแปลงใหญ่อ้อยตำบลสระขวัญ ยังได้รับรางวัลชาวไร่ดีเด่น สาขาชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการไร่อ้อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการตัดอ้อยสด ไม่เผาอ้อย 100% อีกด้วย นายจะตุรงค์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 20 เมษายน 2566

ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 64/65 ตันละ 1,106.40 บาท มีผลวันนี้

มีผลแล้ววันนี้ หลังราชกิจจานุเบกษา ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ตันละ 1,106.40 บาท และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย เช็ครายละเอียดทั้งหมดที่นี่

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565

ทั้งนี้ ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คณะกรรมการบริหารโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการประชุม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566

ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ซึ่งเห็นชอบกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงขอประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทน การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เป็นรายเขต 9 เขต โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ ในอัตราตันอ้อยละ 1,106.40 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

พร้อมกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 66.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่าย น้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายเฉลี่ยทั่วประเทศ ฤดูการผลิตปี 2564/2565เท่ากับ 474.17 บาทต่อต้นอ้อย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2564/2565 ที่ผ่านมาครม.มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ โดยพบว่า ราคาอยู่ในระดับสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น

ดังนั้นกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จึงไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ส่วนประเด็นข้อพิพาท เรื่อง น้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างประเทศไทยกับบราซิล นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าเรื่องนี้ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 เมษายน 2566