|
|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2555) |
สวทช.และ หจก.สามารถเกษตรยนต์ ร่วมกันพัฒนารถตัดอ้อยประสิทธิภาพสูง พร้อมเตรียมขยายส่งออกสู่ตลาดโลก
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)นำคณะผู้บริหารโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เข้าเยี่ยมชมโรงงานห้างหุ้นส่วนจำกัดสามารถเกษตรยนต์ ที่จังหวัดชัยนาท เพื่อดูกระบวนการผลิตรถตัดอ้อย รถคีบอ้อยและติดตามความคืบหน้าของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก สวทช. พร้อมมอบรถตัดอ้อยฝีมือคนไทยให้แก่ Mr. Paulo Cesar Meira de Vasconcellos เอกอัครราชทูตสหพันธสาธารณรัฐบราซิล ประจำประเทศไทย เนื่องจากประเทศบราซิลเห็นว่ารถตัดอ้อยที่คนไทยพัฒนาขึ้นมานั้น มีประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สวทช.ได้ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ ซึ่งได้พัฒนารถตัดอ้อยรุ่นพิเศษที่สามารถใช้งานได้ในพื้นที่ลาดชัน โดยใช้หลักการของเทคโนโลยีและเครื่องมือการผลิตที่มีความแม่นยำสูง สามารถตัดอ้อยได้ทุกสภาพแปลง ซึ่งในปัจจุบันรถตัดอ้อยของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ ได้ส่งออกไปยังต่างประเทศ คือ อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซียและกัมพูชา โดยสวทช.ได้อนุมัติงบประมาณวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กว่า 45 ล้านบาท เพื่อให้ทาง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการใช้งานการตัดอ้อย และเพื่อลดต้นทุนที่ต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ สวทช. มีนโยบายสนับสนุนภาคเอกชนที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยภาคเอกชนสนใจสามารถปรึกษาได้ที่ โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 02-5648000
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 31 สิงหาคม 2555
กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งระงับออกใบอนุญาตโรงงานใหญ่ 34 แห่ง ชี้ ใช้ช่องว่างกฎหมายขอ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจาก อปท.มาก่อสร้างก่อนได้ใบอนุญาตโรงงาน ส.อ.ท.จี้ รัฐกำหนดระยะเวลาพิจารณาใบอนุญาตโรงงาน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มี ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตโรงงานไปแล้ว 59 ราย จากที่ยื่นเรื่องเข้ามาทั้งหมด 93 ราย โดยยังเหลือโรงงานที่ยังไม่อนุญาต 34 ราย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทำผิดหลักเกณฑ์และก่อสร้างอาคารโรงงาน ก่อนที่จะได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ใน จ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 แรงม้าขึ้นไป และอยู่ในกิจการหลายประเภท เช่น โรงงานรีไซเคิล
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่าโรงงานทั้ง 34 แห่ง ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการไปขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก่อน แต่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน จะต้องได้รับใบอนุญาตโรงงานก่อน จึงจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะส่ง เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบโรงงานทั้ง 34 แห่ง และมีอำนาจสั่งให้ระงับการก่อสร้างทั้งหมดได้และไม่สามารถประกอบการอุตสาหกรรมได้
"ที่ผ่านมา มีการปล่อยปละละเลยมาตลอด ก่อสร้างไปก่อนแล้ว ค่อยมาขอใบอนุญาตโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด และทำมานานจนเป็นเรื่องปกติ ขณะนี้ ในระดับจังหวัดจะทราบแล้วว่า การอนุญาตไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนคนคนเดียว และไม่สามารถเซ็นใบอนุญาตได้เอง " ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าวว่า
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการกลั่นกรองมีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงาน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการไม่ได้ แต่ พ.ร.บ.โรงงานให้อำนาจปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ออกใบอนุญาตโรงงาน โดยที่ผ่านมา ได้กระจายอำนาจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แต่เมื่อการอนุมัติใบอนุญาตมีปัญหา จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณา
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาตโรงงาน และต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินตามขั้นตอนกฎหมาย รวมทั้งต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาทบทวนบทบาทของ คณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งต้องการให้กำหนดกรอบเวลาการพิจารณาที่ชัดเจน และที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วแต่ยังไม่มีการตอบรับ จึงจะเสนอให้ กกร.พิจารณาท่าทีอีกครั้ง ก่อสร้างไปก่อนแล้ว ค่อยมาขอใบอนุญาตโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 31 สิงหาคม 2555
สมาคม รง.น้ำตาลระดมสมองยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันรับ AEC
นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมฯ จะจัดประชุมสัมมนาประจำปี 2555 ในวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย.นี้ โดยกำหนดประเด็นสัมมนาที่เน้นไปทางด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่ AEC เพื่อหาโอกาสและขจัดอุปสรรคทางการค้าที่เกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการยกระดับความสามารถทางการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ การเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยเพื่อให้ได้น้ำตาลที่มีคุณภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความพร้อมสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
"การให้ความรู้และระดมความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรงงานน้ำตาลทราย หรือเรื่องของอ้อย เราใช้บุคลากรจากโรงงานน้ำตาลทรายเอง แต่ในประเด็นเกี่ยวกับ AEC เราได้เชิญวิทยากรพิเศษทั้งจากภาครัฐ และผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษไปให้ความรู้กับกลุ่มโรงงานน้ำตาลทรายด้วย" นางวัลยารีย์กล่าว
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
วิกฤติภัยแล้งในหลายภูมิภาค...ปัจจัยเสี่ยงดันราคาอาหารโลกสูงขึ้น
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "วิกฤติภัยแล้งในหลายภูมิภาค...ปัจจัยเสี่ยงดันราคาอาหารโลกสูงขึ้น" ระบุว่า ภาวะภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 56 ปีของสหรัฐฯ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองจำนวนมหาศาล ซึ่งเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ (พื้นที่ใน 26 มลรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่มิดเวสต์ ซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรสำคัญของสหรัฐฯ) กลายเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองพุ่งขึ้นทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ สำนักงานพยากรณ์สภาพอากาศมหาสมุทร และชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ยังคาดว่าสภาพอากาศแห้งแล้งดังกล่าวนี้อาจยังคงอยู่ต่อไปจนถึงต้นไตรมาส 4 ปี 2555 ขณะที่ปรากฏการณ์ภาวะแห้งแล้งนี้ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ บราซิล อาร์เจนตินา และอินเดีย ส่งผลให้ราคาธัญพืชหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง และข้าวสาลี ขณะเดียวกัน เมื่อองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งเริ่มออกมาเตือนถึงความเสี่ยงต่อวิกฤติราคาอาหารในปี 2556 ที่อาจย้อนกลับมาอีกครั้งหลังจากที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551 และ 2554 จึงยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารทั่วโลก และภาวะเงินเฟ้อตามมาอีกด้วย
ปริมาณผลผลิตธัญพืชที่ลดลงจากภาวะภัยแล้งดังกล่าว เป็นแรงกดดันให้ดัชนีราคาอาหารในตลาดโลก ซึ่งรายงานโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 จากเดือนมิถุนายน 2555 ที่ 200.8 จุด มาอยู่ที่ 213.1 จุด (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ที่ 210.5 จุด) เนื่องจากได้รับแรงกดดันส่วนใหญ่มาจากการปรับขึ้นของราคาธัญพืช โดยดัชนีราคาธัญพืชเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ร้อยละ 17.1 มาอยู่ที่ 259.9 จุด ในเดือนกรกฎาคม 2555 (ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 ที่ 223.9 จุด) ขณะที่ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) ยังคาดว่าผู้บริโภคอาจต้องเผชิญราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3-4 ในปี 2556 โดยเฉพาะราคาไก่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเป็นอันดับแรก เนื่องจากไก่มีระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น จึงทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนได้เร็วกว่าปศุสัตว์ประเภทอื่น
จากภาวะภัยแล้งในหลายภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโพดและถั่วเหลือง โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก อันส่งผลต่อราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจสร้างความกังวลต่อแนวโน้มราคาอาหารของไทยที่อาจกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากข้าวโพดและถั่วเหลืองถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนอาหารหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นราคาอาหาร รวมไปถึงส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคในที่สุด
จากการที่ราคาวัตถุดิบเผชิญแรงกดดันในช่วงขาขึ้น เริ่มสะท้อนให้เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยในเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ 115.8 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนมิถุนายน 2555 และมากกว่าค่าเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 ที่ 114.4 จุด ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 (MoM) โดยมีรายการข้าว แป้ง และธัญพืชปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 (MoM) เป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อสูงตามไปด้วย สำหรับในรายการสินค้าที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ได้แก่ เนื้อสัตว์ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1(MoM) ซึ่งเกิดจากปริมาณไก่เนื้อและไก่ไข่ รวมทั้งปริมาณเนื้อสุกร ล้นตลาด ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2555 รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ระบายผลผลิตได้โดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายไข่ไก่ในร้านถูกใจ พร้อมทำหมูธงฟ้า เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการเข้าถึงสินค้าของประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ การที่ราคาธัญพืชมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้
ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ จากการที่ราคาธัญพืชในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ในขณะที่ไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้มาผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศไทยไม่เพียงพอ ส่งผลต่อต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ถือเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของการผลิตอาหารสัตว์ ทำให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
ผู้เลี้ยงสัตว์และเนื้อสัตว์ภายในประเทศ
จากการที่ราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปศุสัตว์มากขึ้น
เนื่องจากอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนประมาณร้อยละ 60-70
ของต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ทั้งหมด และอาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารจำพวกไก่เนื้อ ไก่ไข่
สุกรขุน และโค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งผลดังกล่าวจะทำให้ราคาเนื้อสัตว์ภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น
และท้ายสุดอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
การส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์ที่สำคัญ เช่น ไก่และผลิตภัณฑ์ไก่ ซึ่งจากผลของราคาอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกด้วย เห็นได้จากเมื่อสหภาพยุโรป (EU) ได้อนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังเกิดโรคไข้หวัดนก (มีผลตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2555) แต่จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น (สำหรับโรงงานที่มีฟาร์มเลี้ยงไก่เอง ไม่ได้รับซื้อไก่จากเกษตรกรหรือซื้อส่วนน้อย) ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ถูกลูกค้าต่อรองราคาลง ดังนั้น จึงไม่กล้ารับคำสั่งซื้อยาวๆ เพราะเสี่ยงขาดทุน อาจทำให้การส่งออกเนื้อสัตว์ของไทยลดลง
ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เนื่องจากไทยยังพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าบางรายการที่ผลิตจากถั่วเหลืองอาจได้รับผลกระทบ เช่น นมถั่วเหลือง และน้ำมันถั่วเหลือง ที่มีสัดส่วนการใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบหลักถึงร้อยละ 90 ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และอาจทำให้เกิดการปรับเพิ่มราคาสินค้าในระยะต่อไปได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มขึ้นของราคาธัญพืช อาจส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหาร ซึ่งมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 33.0 โดยเฉพาะในรายการเนื้อสัตว์ที่มีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ 5.7 และข้าว แป้ง และธัญพืชที่มีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ 2.9 อาจเป็นปัจจัยหนุนให้แนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นในระยะต่อไปได้ ถึงแม้ว่าในระยะนี้แรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคของรัฐบาล การที่ผู้ประกอบการยังมีสต๊อกสินค้าคงเหลือ ประกอบกับยังมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังปี 2555 ท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤติยูโรโซน จึงอาจยังไม่เห็นผลการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าผู้บริโภคในทันที อย่างไรก็ตาม หากราคาธัญพืชโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าราคาอาหารอาจปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จากผลที่ราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น อาหารสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ ประกอบกับราคาถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 และกากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ การผลิตปศุสัตว์ นมถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาธัญพืชดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.2-0.3 จากกรณีปกติ
ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มราคาอาหารโลกที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อประเมินถึงความเสี่ยงของไทย หากเกิดกรณีดังกล่าวแล้ว ผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยน่าจะอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเมื่อพิจารณาสัดส่วนน้ำหนักสินค้าอาหารในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของไทย พบว่าในปี 2555 สัดส่วนน้ำหนักสินค้าอาหารของไทยเท่ากับร้อยละ 33.0 ซึ่งต่ำกว่าอินเดีย กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ กระนั้น หากปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตร จนส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารหลักๆ อยู่ในระดับสูง อาจเป็นแรงกดดันทำให้ราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นตาม และในที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของเงินเฟ้อได้
กล่าวโดยสรุป จากชนวนวิกฤติภัยแล้งในหลายภูมิภาคที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมหาศาล และเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกได้สร้างความกังวลต่อความมั่นคงด้านอาหารและแนวโน้มที่ราคาอาหารโลกอาจพุ่งสูงขึ้นในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากข้าวโพดและถั่วเหลืองถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่สำคัญ อันอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนอาหารหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มราคาอาหารในประเทศที่อาจกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง รวมไปถึงส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพของผู้บริโภคในที่สุด โดยจากการวิเคราะห์ราคาวัตถุดิบธัญพืชที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน หากราคายังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องยาวนานถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นอีกราวร้อยละ 0.2-0.3 จากกรณีปกติ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีปัจจัยใดที่มาสร้างความผันผวนด้านราคาวัตถุดิบอย่างรุนแรง หรือช่วงเวลาวิกฤติภัยแล้งไม่ต่อเนื่องและยาวนานมากนัก หรืออยู่ภายใต้การบริหารจัดการด้านราคาวัตถุดิบของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ ก็เชื่อว่าราคาธัญพืชน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงแค่ชั่วคราว และกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ในระยะต่อไป
ประเด็นที่น่าติดตามในระยะต่อไป
ปัจจัยระยะสั้น
ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น
จากผลกระทบภัยแล้งด้านปริมาณและราคาธัญพืชของผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ของโลก
อาจส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของราคาอาหารสัตว์ของไทยในระยะต่อไปที่รุนแรงขึ้น
เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบและแนวโน้มราคาที่ปรับสูงขึ้น ซึ่ง ณ
ขณะนี้หลายประเทศเริ่มมีการปรับแผนการนำเข้าและการใช้วัตถุดิบเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว
เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
การปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสัตว์และอาหาร
ในปัจจุบันรัฐบาลยังคงชะลอการปรับขึ้นราคาอาหารปรุงสำเร็จ
ในร้านอาหารธงฟ้า/ร้านอาหารทั่วไป/ศูนย์อาหารในอาคารสำนักงาน/ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า
เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาชนและเงินเฟ้อ
(เนื่องจากเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมจากกระทรวงพาณิชย์)
ซึ่งมาตรการตรึงราคานี้ในเบื้องต้นจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2555
ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อแหล่งผลิตการเกษตรที่ควบคุมได้ยาก โดยหากเกิดปรากฎการณ์เอลนินโญที่นำพาสภาพอากาศแห้งแล้งรุนแรงต่อเนื่องยาวนานออกไปจนถึงปีหน้าก็ย่อมเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะราคาอาหารโลกและความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคต่างๆ ตามมา
นโยบายรัฐบาล เช่น การเก็บภาษีนำเข้าเพื่อสนับสนุนการผลิตภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคา ดังเช่น ปัจจุบันประเทศไทยมีการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองในอัตราร้อยละ 2 ซึ่งผู้ประกอบการเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรโดยยกเว้นภาษีการนำเข้ากากถั่วเหลืองชั่วคราว
ปัจจัยระยะยาว
พื้นที่ทางการเกษตรจำกัด
จากผลของการขยายความเป็นเมืองและการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานที่มีความเสี่ยงจากภัยแล้งน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนดีกว่า
ประกอบกับในภาคเหนือเกษตรกรที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แซมในสวนยางพารา
ปัจจุบันต้นยางพาราเจริญเติบโตไม่สามารถปลูกแซมได้อีก โดยในปีเพาะปลูก 2555/56
ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งสิ้น 7.195 ล้านไร่
ลดลงจากปีที่แล้ว 60,610 ไร่หรือร้อยละ 0.84 ดังนั้น
รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกษตรกรไทยพัฒนาการผลิตให้มีผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
เช่น สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ใหม่
ตลอดจนนโยบายเร่งด่วนเพื่อเอื้ออำนวยต่อภาคเอกชนในการลงทุนผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
การสนับสนุนการพัฒนาระบบชลประทานในแหล่งที่มีศักยภาพเพื่อเป็นพื้นที่ผลิตหลัก
เป็นต้น
นโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพ ในปัจจุบันมีการนำพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มาผลิตเอทานอลมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ มีการนำข้าวโพดร้อยละ 40.6 ของการผลิตทั้งหมด หรือราว 125 ล้านตัน มาผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าผลผลิตเกษตรเหล่านี้ด้วย ตลอดจนประเทศไทยหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรวัตถุดิบระหว่างภาคอาหารและพลังงานภายในประเทศได้
ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และธัญพืชของโลก โดยมีปัจจัยสำคัญจากชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้นในจีนและอินเดีย ทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์และธัญพืชเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่า ภายในปี 2573 โลกจะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นราว 50% จึงจะรองรับความต้องการที่ขยายตัวขึ้นมาได้ ตลอดจนประเทศไทยที่มีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น และอาจมีผลต่อราคาอาหารสัตว์และธัญพืชในอนาคตด้วย
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ยุทธศาสตร์ สศอ. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยยุคไร้พรมแดน
ภาครัฐจะทำหน้าที่ในการสร้างปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบการซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก
โดยการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวคงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย
เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ภายใต้กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับถอยหลังอีกเพียงไม่นาน ในปี
2558 กลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียนจะมีการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวหรือที่เรียกว่า AEC
อะไรคือ โอกาสหรือเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมไทย
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้ชี้นำทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม จะกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไรเพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอ้อมอย่าง SMEs ให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่ไร้พรมแดน
โสภณ ผลประสิทธิ ในโอกาสที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นผู้ที่ช่วยตอบโจทย์และคลายปม ดังนี้
สำหรับในเรื่องบทบาทหรือท่าที่ในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยของ สศอ. นั้น เขามองว่า สศอ. เปรียบเสมือนเสนาธิการของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพรวมรายสาขา และนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึง การผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จัดทำขึ้นไปสู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม ตลอดจน การจัดทำระบบสารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเครื่องมือในการชี้นำและเตือนภัยให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่าการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งทางด้านแรงงาน เทคโนโลยี และกระบวนการผลิต เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก แต่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะก่อให้เกิดทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
เราจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นให้ตรงตามความต้องการของตลาด และหาตลาดส่งออกไปยังประเทศทั้งในและนอกอาเซียนให้ได้มากขึ้นรวมทั้ง การแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกที่มีคุณภาพจากอาเซียนที่มีมากขึ้นด้วย เพื่อใช้ประโยขน์จากการเปิดเสรีการค้า และลดต้นทุนการผลิตลง
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายในการเข้าสู่ประชาเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ จะก่อให้เกิดทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่ดีเพื่อการปรับตัว และสร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงต่อไป
บทบาทของ สศอ. จากนี้จะต้องมีกลยุทธ์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อชี้นำและเตือนภัยให้ผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสที่มีมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน
ในเวลาเดียวกันผู้อำนวยการ สศอ. มีข้อเสนอแนะภาคอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับกระแสโลกว่า อยากให้ผู้ประกอบการมองไปข้างหน้า ควรติดตามความเคลื่อนไหว ข่าวสาร การค้าโลก กฎระเบียบ และข้อตกลงทางการค้าอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของผู้ประกอบการที่จะต้องพัฒนาตัวเอง เพราะภาครัฐคงไม่สามารถเข้าไปทำแทนได้
ภาครัฐจะทำหน้าที่ในการสร้างปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก โดยการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว คงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ดีปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะโซนยุโรป และอเมริกากำลังประสบกับวิกฤตการเงินอยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไม่น้อย และเกิดคำถามว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร
ในเรื่องดังกล่าว สศอ. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อติดตามสถานการณ์ และวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยได้เตรียมมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในแต่ละสาขาที่ได้รับผลกระทบ และได้นำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ในรอบ 1 ปีว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การบริหารกระทรวงอุตสาหกรรมคงไม่สามารถให้คะแนนตนเองได้ ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ประเมิน แต่เชื่อว่าผลงานจะสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมไทย อาทิ เตรียมพร้อมภาคธุรกิจรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) สำหรับมาตรการฟื้นฟูน้ำท่วมได้ยกเว้นอากร นำเข้าเครื่องจักร โครงการคลินิกอุตสาหกรรม จนปัจจุบันมีโรงงานใน 7 นิคมอุตสาหกรรมรวม 838 แห่ง เปิดดำเนินกิจการตามปกติแล้ว 82% ย้ายหรือปิดกิจการ 7% ทำให้รักษาการลงทุน 533,976 ล้านบาท จ้างงาน 440,964 คน สามารถรักษาภาษีที่รัฐควรได้จากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ 12,500 ล้านบาท ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในไทยผลจากการเดินทางชักจูงการลงทุนภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์จาก 6 แสนล้านบาท โดยตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ยกเมฆแน่นอน
"เป้าหมายการทำงานขึ้นสู่ปีที่ 2 คือสานต่อครัวไทยสู่ครัวโลก พัฒนาผู้ประกอบการรับเออีซี พัฒนาโครงการโอท็อป พัฒนาระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมไทย และปัดฝุ่นโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น" ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญในรอบ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วน อาทิ ด้านการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน โดยได้จัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว การเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง นโยบายการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและการเข้าถึงแหล่งทุน เป็นต้น ซึ่งจะรายงานต่อนายกฯ เพื่อรับทราบต่อไป
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555
วิชิต แสนแก้ว นายกอบต.ห้วยเตย จ.มหาสารคาม 'หนุนปลูกอ้อยสร้างรายได้'
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเตย อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ประกอบด้วย 19 หมู่บ้าน ประชากร 5,545 คน สภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ดอนเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ งานหัตถกรรม และรับจ้างทั่วไป ปัจจุบันมีผู้บริหารท้องถิ่นคือ นายวิชิต แสนแก้ว นายก อบต.ห้วยเตย
นายวิชิตกล่าวว่า สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกอ้อยให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก สร้างรายได้เข้าครอบ ครัวควบคู่กับการปลูกข้าว เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของตำบลห้วยเตยจะเป็นที่ดอนเหมาะแก่การปลูกพืชไร่โดยเฉพาะอ้อย รวมทั้งอยู่ใกล้โรงงานผลิตน้ำตาล ทางอบต.ห้วยเตย จึงส่งเสริมให้การสนับสนุนทั้ง 19 หมู่บ้าน รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอ้อย พร้อมกับส่งเสริมให้มีการปลูกอ้อยพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงยิ่งขึ้น
และเป็นการรองรับการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 อนาคตอันใกล้การส่งออกน้ำตาลของไทยเราจะเพิ่มมากขึ้นเพราะตลาดเปิดกว้างและไทยเรามีศักยภาพสูงมากในเพิ่มผลผลิตอ้อยแปรรูปเป็นน้ำตาลส่งขายตลาดโลก จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพราะขณะนี้ราคาอ้อยส่งโรงงานจะอยู่ที่ราคาประมาณตันละ 1,200-1,300 บาทไม่เคยต่ำกว่านี้รวมทั้งการปลูกอ้อยเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 2 รุ่น ไม่ยุ่งยากเหมือนปลูกพืชตัวอื่น
ในอนาคตมีโอกาสที่ราคาอ้อยจะพุ่งสูงไปมากกว่านี้เนื่องเพราะประเทศที่เป็นแหล่งปลูกอ้อยสำคัญของโลก ผลผลิตลดลงเรื่อยๆ เพราะประสบภัยธรรมชาติ สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยในมหาสารคามขณะนี้มีประมาณ 1.4 แสนไร่ สร้างรายได้เข้าจังหวัดมหาสารคามมากกว่าปีละ 1 พันล้านบาท
'รณรงค์ให้ชาวบ้านในเขต ต.ห้วยเตย หันมาขยายพื้นที่ปลูกอ้อยให้มากขึ้นจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 2 พันไร่ ชี้ให้เห็นว่าการปลูกอ้อยให้ผลตอบแทนมากกว่าพืชชนิดอื่นอีกทั้งการลงทุนก็ไม่สูงและไม่มีปัญหาทางด้านการตลาด
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 29 สิงหาคม 2555
สคบ.อาเซียนผนึกกำลังคุ้มครองผู้บริโภค
สคบ.อาเซียน 10 ประเทศนัดประชุม หามาตรการเยียวยาข้ามแดน ระงับการขายสินค้า ที่ทำความเสียหายแก่ผู้บริโภค
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันที่ 4-6 ก.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) 10 ประเทศในอาเซียน จะประชุมร่วมกันที่ประเทศไทย เพื่อหามาตรการเยียวยาข้ามแดน และ การระงับการขายสินค้า ที่ทำความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้บริโภคจากสินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) ในปี 2558
"พอเปิดเสรี ตลาดจะกลายเป็นตลาดเดียว ต่างประเทศก็เข้ามาขายสินค้าในไทยได้ เราก็ไปขายสินค้าให้กับประเทศอื่นได้ ที่อาจจะทำความเสียหายแก่ผู้บริโภค จึงต้องร่วมกันกำหนดมาตรฐานการเยียวยาความเสียหายข้ามประเทศ และ การสั่งระงับการขายสินค้านั้นๆ จะทำอย่างไร"นายวรวัจน์ กล่าว
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสคบ.ในไทย ได้ดึงบริษัทประกันภัยเข้ามาทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากผลิตภัณฑ์(Product Liability Insurance) ซึ่งจะเข้ามาชดใช้ความเสียหายแทนเจ้าของสินค้าที่ซื้อประกันดังกล่าว โดยจะคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกที่มีการส่งสินค้าออกไปขาย ภายใต้โครงการมอบตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค แก่ผู้ประกอบการที่ซื้อประกันภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า จะได้รับการชดใช้หากได้รับความเสียหายจากสินค้านั้นๆ
ขณะที่ บริษัทที่ไม่มีการทำประกันภัย และ ไม่มีการชดใช้ความเสียหายแก่ผู้บริโภค ทางสคบ.แต่ละประเทศมีอำนาจในการที่จะระงับการขายสินค้านั้นๆ ในประเทศของตัวเอง เพื่อปกป้องผู้บริโภค
"จะช่วยลดคดีลงไปเยอะมาก เพราะมีประกันภัยเข้ามาชดใช้แทน จากเข้ามปัจจุบันที่มีการร้องเรียนาจำนวนมาก และทางสคบ.จะต้องเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการไปฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลใช้เวลาเป็นปีปี ต่อไปถ้ามีการร้องเรียนมา และ เราพิสูจน์แล้วว่าสินค้านั้นๆ สร้างความเสียหายให้ลูกค้าจริง ก็ตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ภายใน 7-10 วัน หากบริษัทประกันภัยไม่ปฏิบัติตาม เราจะถอนรายชื่อบริษัทประกันภัยนั้นออกจากโครงการ"นายวรวัจน์ กล่าว
นายวรวัจน์ กล่าวว่า สคบ.กำลังจะปรับบทบาทใหม่เพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี ซึ่งเตรียมที่จะรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ผลิตในประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วส่งเรื่องไปที่สคบ.ประเทศดังกล่าวให้ดำเนินการส่งให้เจ้าของสินค้าชดใช้
ขณะที่ ในประเทศไทย จะมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสคบ.จะได้นำเงินจากกองทุนชดใช้ให้ก่อนเพื่อให้ได้รับการเยียวยาที่รวดเร็ว แล้วไปเรียกร้องเงินคืนจากเจ้าของสินค้าในภายหลัง ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวจะเสนอสู่สภาผู้แทนราษฏร์ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าเป็นวาระที่ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 แล้ว จะมีการกำหนดวงเงินกองทุนเริ่มต้น และรายละเอียดของกองทุนอีกครั้ง
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 28 สิงหาคม 2555
โลจิสติกส์ชิงปรับตัว รับมือหลังเปิด AEC
เอสซีจี เตรียมพร้อมรับมือเปิด AEC จับมือเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งกว่า 200 รายทั่วประเทศ ยกระดับการให้บริการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ สู่จุดหมายเป็นผู้นำบริการด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน เผยไทยได้เปรียบเพราะเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่ง
ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการประกาศความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ ด้านการขนส่งสินค้าอย่างครบวงจร เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ระหว่างบริษัทเอสซีจี โลจิสติกส์ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าอย่างเต็มรูปแบบทั้งในและต่างประเทศ กับเครือข่ายผู้ประกอบการด้านธุรกิจขนส่งทั่วประเทศกว่า 200 ราย
ความร่วมมือครั้งนี้ มีจุดประสงค์ยกระดับการให้บริการการขนส่งเพื่อเตรียมรับมือกับการเปิด AEC โดยมียุทธศาสตร์อยู่ที่การบริการที่ได้มาตรฐานในระดับสากล เน้นความความปลอดภัย อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ ให้ความใส่ใจทั้งพนักงาน พันธมิตร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งสินค้าถึงเป้าหมายตามกำหนด ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า บริษัทและพันธมิตรมีการตกลงร่วมกันที่จะขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าตรงตามเวลา ซึ่งการขนส่งจะต้องไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ตามเป้าหมาย อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ ขณะเดียวกัน ก็มีแผนที่จะลดต้นทุนการขนส่งลงอีกด้วยท เพราะปัจจุบันต้นทุนการขนส่งของไทยสูงมาก หากเทียบกับประเทศอื่น
ต้นทุนค่าขนส่งจะลดลงได้อีกมาก หากได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล ด้วยการลงทุนขยายเส้นทางขนส่งในระบบรางและทางน้ำเช่นเดียวกับประเทศอื่น ที่ให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางมากกว่ารถยนต์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งที่สูงถึง 16-17% ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีต้นทุนค่าขนส่งเพียง 6-7% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีก็พยายามจะลดต้นทุนการขนส่งด้วยตัวเอง โดยการลงทุนก่อสร้างโกดังให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคกลาง เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เพื่อใช้เป็นจุดขนถ่ายสินค้า และใช้การบริหารจัดการภายในองค์กรมาช่วยให้การขนส่งสินค้าตรงเวลา โดยรถที่มาส่งสินค้าจะไม่ต้องจอดรอ สามารถนำสินค้าลงได้ทันที และยังสามารถนำสินค้าประเภทอื่นขึ้นรถเพื่อนำไปส่งในเที่ยวกลับด้วย เพื่อไม่ต้องตีรถเปล่ากลับ
นายกานต์กล่าวอีกว่า บริการการการขนส่งของเอสซีจี ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ และ 10 ประเทศ ที่เป็นสมาชิก AEC เท่านั้น เช่น พม่า เวียดนาม กัมพูชา แต่เอสซีจี ยังเริ่มให้บริการทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย ทั้งเพื่อให้การเชื่อมต่อการขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งชึ้น
การลงทุนเรื่องขนส่งนั้น เอสซีจี จะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศนั้น ๆ หรือ อาจจะซื้อกิจการขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งล่าสุดได้เข้าซื้อกิจการขนส่งที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการซื้อครั้งนี้ เอสซีจี ได้ทั้งพนักงาน รถขนส่งและลูกค้า
ด้านนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ต้องการยกระดับความสามารถของพนักงานขับรถ โดยการเปิดอบรมให้พนักงานขับรถไปแล้วกว่า 10,000 คน และในปีนี้จะเพิ่มเป็น 20,000 คน เพื่อให้พนักงานมีมาตรฐานในการขับรถเช่นเดียวกับระดับสากล ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิด AEC โดยเฉพาะ
นายนิธิ กล่าวว่า การเปิด AEC มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากผู้ประกอบการไม่เตรียมการรับมือกับเสียเปรียบนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น เอสซีจี โลจิสติกส์ฯจึงต้องการเป็นแกนนำในการสร้างความได้เปรียบให้กับเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งเอสซีจี มีจุดแข็งด้านการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถทัดเทียมต่างประเทศ โดยนำระบบ IT เข้ามาช่วยการบริหารงาน นอกจากนี้ประเทศไทยยังตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจการขนส่งของเอสซีจีฯ
ปัจจุบัน เอสซีจี ให้บริการลูกค้าในเครือ 85% นอกเครือ 15% มีเป้าหมายภายในเวลา 5 ปี จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้านอกเครือเป็น 30% และในระยะยาว 10 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 50% โดยมีลูกค้ารายใหญ่หลายราย อาทิ มิตรผล ที่มีส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศจำนวนมาก
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ธปท. ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกากับดูแลสถาบันการเงิน กับธนาคารชาติแห่งกัมพูชา เตรียมพร้อมเปิดเออีซี ปี 2558
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการดูแลสถาบันการเงิน กับธนาคารชาติแห่งกัมพูชา เตรียมพร้อมการเปิดเออีซี ปี 2558
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนายเจีย จันโต (Chea Chanto) ผู้ว่าการธนาคารชาติแห่งกัมพูชา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (MoU on Exchange of Banking Supervision Information) โดยการจัดทำบันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลของไทยและกัมพูชา เพื่อให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินของทั้งสองประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาใบอนุญาตสถาบันการเงิน ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมของระบบการเงินและสถาบันการเงินในประเทศภูมิภาคอาเซียน เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพื่อให้ระบบการเงิน ระบบการชำระเงิน และสถาบันการเงินมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน พร้อมเข้าสู่การเปิดเสรีภาคการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินไทยในกัมพูชามากขึ้นด้วย
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
เตือนธุรกิจรับมือความท้าทายเออีซี 4 ด้าน
รัฐบาลเตรียมแผนผลักดันภาคธุรกิจไทยให้พร้อมรับการแข่งขันหลังเปิดเออีซี
เตือนรับมือความท้าทาย 4 ด้าน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม
กล่าวในงานเสวนาสูตรลับทายาทธุรกิจมุ่งสู่เออีซี ว่า
สิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการไทยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ประกอบด้วย
การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
แรงงานมีฝีมือถูกดึงตัวไปทำงานต่างประเทศ
และสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานไหลเข้ามาในประเทศ
นอกจากนี้ ไทยยังต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งนอกเหนือจากความซบเซาแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ใหม่ตั้งแต่มิ.ย.ที่ผ่านมาที่จะส่งผลใหในปี 2556 สินค้าไทยถูกตัดสิทธิ์ไป 57 รายการ และในปี 2557 สินค้าไทยจะถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมด เนื่องจากรายได้ประชากรสูงขึ้นเฉลี่ยในระดับ 3,900 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ต่อเนื่องกัน 3 ปี ถือเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
"รายได้เราปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ ทำให้อียูพิจารณาลดสิทธิที่เคยให้ลง สินค้าที่ได้ผลกระทบดังกล่าว เช่น รถยนต์ ที่เคยเสียภาษี 6.5% จะเพิ่มเป็น 10% สับปะรดที่เราไม่เคยเสียภาษีเลยก็ต้องมาเสียในอัตรา 25% รองเท้าเคยเสีย 4.5% ก็เพิ่มเป็น 8%" รมว.อุตสาหกรรมกล่าว
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้เตรียมพร้อมรองรับเออีซี 3 ด้าน คือ สร้างและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็ก เอสเอ็มอี และขนาดใหญ่ โดยเน้นมาตรฐานสากล เช่น ไอเอสโอ มาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานซอฟท์แวร์ที่ใช้ในภาคธุรกิจ
สำหรับด้านที่สอง เป็นการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการ เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ขณะที่ภาครัฐจะพัฒนาระบบซิงเกิ้ลวินโดว์ ช่วยลดต้นทุน ส่วนด้านที่สาม จะมีการจัดทำโรดแมปเออีซีของแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถแข่งขันได้ โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว 5,500 ราย คาดว่าสิ้นปีจะทำได้ 8,000 ราย ส่วนปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.5 หมื่นราย
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าให้มากกว่านี้ โดยเฮพาะเขตเสรีการค้า (เอฟทีเอ) อาเซียน จากปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ไม่ถึง 50% ขณะที่ประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ใช้ประโยชน์ถึง 100% โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปศึกษาว่าภาคธุรกิจใดยังไม่ใช้ ก็จะเข้าไปส่งเสริมให้มากขึ้น
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ส.อ.ท.ตบเท้าเคลียร์อุตฯค้างใบอนุญาต
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.ได้ประชุมตัวแทน 42 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดจากการติดต่อประสานการขออนุญาตด้านต่างๆ กับหน่วยงานรัฐจนส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ โดยสัปดาห์หน้าจะรวมความเห็นทั้งหมด และจะขอเข้าพบม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอให้ช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
รายงานข่าวจากส.อ.ท.เปิดเผยว่า เอกชนกำลังได้รับผล กระทบต่อการประกอบธุรกิจจากการที่รัฐออกใบอนุญาตล่าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้การที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและ สิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นที่เอกชนกังวลมากที่สุด ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ส่งหนังสือถึงม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์แล้ว เพื่อขอให้ยกเลิกหรือทบทวนคำสั่งเพื่อปรับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกำหนดเวลาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ
"ปกติขั้นตอนการขออนุญาตหลังจากดำเนินการระดับท้องที่ รับฟังความเห็นประชาชนจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อเข้าสู่กระบวนการของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะกำหนดเวลาไม่เกิน 90 วัน แต่เมื่อมีคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพิ่มขึ้น พบว่าไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มอีกเท่าไร" รายงานข่าวกล่าว
สำหรับปัญหาเรื่องการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุดพบว่าไม่เพียงการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดร้อน สำหรับผลิตโครงสร้างเหล็กเพื่อส่งออกที่ใบอนุญาตค้างนาน แต่เกิดกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องนำเข้าเหล็กเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิต เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งรวมบริษัทโตโยต้าอยู่ด้วย
ด้านม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือของกกร. ที่ขอให้ยกเลิกการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ส่วนข้อเสนอของกกร.นั้นคงได้พิจารณาร่วมกัน แต่กระทรวงยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพราะต้องการให้การอนุญาตตั้งโรงงานเป็นไปตามกฎหมาย ต้องดำเนินต่อไป
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ส.อ.ท.ชงรัฐแก้กม.ด่วนจี๋37ฉบับ-รับมือแข่งดุ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.จะเสนอรัฐบาลให้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีใครให้ความสำคัญมากนัก แต่ ส.อ.ท. เห็นว่ามีกฎหมายหรือยกร่างใหม่หลายฉบับที่ควรปรับปรุงเร่งด่วนเพราะไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายไปแล้ว 100 ฉบับ แต่คงไม่สามารถแก้กฎหมายทุกฉบับได้ จึงศึกษาฉบับที่มีความสำคัญเร่งด่วนเพื่อเสนอให้รัฐบาลนำไปดำเนินการ
นายพยุงศักดิ์กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ศึกษากฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 37 ฉบับ โดยกฎหมายที่มีความสำคัญและเร่งด่วนที่สุด และต้องการให้ปรับปรุงหรือยกร่างขึ้นมามี 4 ฉบับ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าและการลงทุน คือ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งกฎหมายกลุ่มนี้ต้องการให้ปรับปรุงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเงินทุนและทุนหมุนเวียนและลดปัญหาการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
2.กฎหมายส่งเสริมกระบวนการผลิต คือร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบกิจการที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองให้ชัดเจน โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่รัฐสภาในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้รับรองจึงทำให้กฎหมายตกไป
ทั้งนี้ สำหรับร่างพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจต้องการให้มีกฎหมายมากำหนดให้มีการนำทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันการทำสัญญาทางธุรกิจได้ เช่น เงินฝากในสถาบันการเงิน สินค้าในคลังสินค้า ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ และจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น รวมทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลงทางธุรกิจ ส่วนพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ต้องการให้กำหนดบทลงโทษให้เหมาะสม โดยแยกฐานความผิดที่ไม่มีเจตนาเลี่ยงภาษีออกจากความผิดฐานเลี่ยงภาษี
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 27 สิงหาคม 2555
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตั้งงบประมาณ 484 ล้าน ทำโครงการน้ำบาดาลฯ ใน 31 พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตั้งงบประมาณ 484 ล้านบาท ดำเนินการโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 31 พื้นที่ทั่วประเทศ
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2556 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะขยายโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 31 พื้นที่ งบประมาณ 484 ล้านบาท โดยจะใช้ดำเนินการ 15.6 ล้านบาทต่อหนึ่งโครงการ ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 15,500 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตน้ำบาดาลแห่งละไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย มหาสารคาม หนองบัวลำภู ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ส่วนภาคกลาง ได้แก่จังหวัดกำแพงเพชร สุพรรณบุรี ลพบุรี สำหรับภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว และภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ จังหวัดชุมพร และพัทลุง
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 27 สิงหาคม 2555
ชี้สถานการณ์หลัง"เออีซี" ภาคเกษตรไทยน่าห่วง ชาวไร่-ชาวนารายย่อยเจอศึกหนัก
ที่อาคารสำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสัมมาชีพ และสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง จัดอบรม "โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Laedership for Change) รุ่นที่ 3"
เสวนาหัวข้อ AEC ทางเลือก ทางรอดภาคเกษตรไทย โดยมีวิทยากร คือ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค นายประยงค์ รณรงค์ นักปราชญ์ด้านการเกษตร เจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี โดยมี ดร.อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้เข้าร่วมเสวนาชี้ว่า เป้าหมายของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเอเอซีจะบรรลุผลในปี 2558 กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั้ง10ประเทศ เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันที่เคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือโดยเสรี และการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน รวมทั้งลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการรวมตัวกับประชาคมโลกของอาเซียน
ประเทศไทย โดยเฉพาะนักธุรกิจ และนักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน วัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากประเทศอาเซียนในราคาที่ถูกลง และสามารถย้ายฐานการผลิต การลงทุนได้สะดวกมากขึ้น การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนาจ
การต่อรอง คนไทยมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมีความหลากหลาย ในราคาที่แข่งขันกันในตลาด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม
การส่งออกสินค้าเกษตรและธุรกิจเกษตรระหว่างประเทศอาเซียน จะมีการแข่งขันสูงมาก พืชเศรษฐกิจที่ส่งออกสำคัญได้แก่ ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ประเทศไทยมีศักยภาพแข่งขันสินค้าคืออ้อยและยางพารา
ส่วนข้าวและมันสำปะหลังของประเทศไทยอาจจะได้เปรียบในปัจจุบันแต่ในอนาคตจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากเวียดนามเริ่มมีระบบจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนพืชและการเกษตรที่ไทยเสียเปรียบคือ ข้าวโพด การเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน ดังนั้นในภาพรวม ภาคเกษตรสาขาพืชจะได้รับผลกระทบในด้านลบ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยในทุกสาขาอาชีพ ได้รับผลกระทบมากที่สุด
เนื่องจาก ภาพเกษตรกรรมของไทยขาดการพัฒนาและขาดนวัตกรรมมาเป็นเวลานาน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่น และขาดการยกระดับความสามารถแก่เกษตรกรอย่างจริงจังต่อเนื่อง รวมทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในวัยสูงอายุกับขาดแคลนแรงงานและผู้สืบทอดภูมิปัญญา จึงเรียกได้ว่า ธุรกิจการเกษตรระดับต้นน้ำมีปัญหา
นโยบายของภาครัฐยังขาดความแน่นอนและต่อเนื่อง เปลี่ยนรัฐบาลนโยบายเปลี่ยน อีกทั้งนโยบายการแทรกแซงระบบตลาดทำให้สินค้าเกษตรขาดศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ต้นทุนการผลิต ค่าแรงงาน ราคาพลังงานและค่าขนส่งล้วนสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ธุรกิจเกษตรกลางน้ำและปลายน้ำเสียเปรียบเชิงแข่งขันกับประเทศอื่น
นักลงทุนอื่นๆจากทั้งในอาเซียนและนอกภูมิภาคเข้ามาแสวงประโยชน์ในภาคเกษตรไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น กว้านซื้อที่ดินแล้วจ้างทำการเกษตร หรือการทำสัญญาจ้างการผลิตสินค้าเกษตร เป็นการทำธุรกิจแบบร่วมทุน(Joint Venture )หรือแบบนอมิมีหรือเป็นตัวแทน ทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินและอาชีพมากขึ้น
ดังนั้น เกษตรกรทุกระดับต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการติดตามข้อมูลการผลิตของเกษตรกรในประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและข่าวสารการตลาด รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาพิจารณาการจัดการต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าที่มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มขึ้น
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555
อุตฯ ฟุ้งยอดขอลงทุนทะลุ 8 แสน ล.
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ปีนี้มั่นใจว่าจะสูงเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปีที่ 630,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะมียอดไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท เนื่องจากในช่วง 7 เดือนแรกของปี มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 61% หรือมีมูลค่า 570,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงให้ความเชื่อมั่นประเทศไทย ส่วนการส่งออกของประเทศในปีนี้ แม้จะไม่สูงถึง 15% ตามเป้าหมาย แต่การเติบโต 7% ก็ถือว่าสูงแล้ว เพราะมีมูลค่านับล้านล้านบาท และจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ 5.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกปีนี้ ที่จะเติบโตได้ 3.5% โดยการส่งออกภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 9-10%
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI อยู่ระหว่างทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเบื้องต้นจะมีการปรับหรือยกเลิกระบบโซน 1 โซน 2 และโซน 3 ที่อาจจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์สูงสุด โดยกำหนดเป็นกลุ่มจังหวัด ที่มีรายได้ประชากรต่อหัวต่ำ ซึ่งอาจจะมีประมาณ 10-20 จังหวัด และอาจปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลง เนื่องจากกระทรวงการคลัง ได้มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีนี้ และปีหน้า ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์จาก BOI ต่อจากนี้ไป จะเน้นให้คุณค่าของโครงการที่เข้ามาลงทุนเป็นสำคัญ โดยคาดว่าจะสรุปนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาในประมาณ 3-4 สัปดาห์นับจากนี้
ส่วนสถานการณ์การลงทุนหลังน้ำท่วม พบว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวเกิน 100% และบางแห่งจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์ฟื้นตัวช้ากว่า เพราะไม่มีความต้องการจากในประเทศมากเพียงพอ แต่ภาพรวมถือว่ามีการฟื้นตัวแล้ว 70-80%
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าวภายหลังเปิดตัวรายงานประเทศไทย 2555 The Report : Thailand 2012 ว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังประสบปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ 5-6% ซึ่งนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล อาทิ การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงท่าเรือ การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ประเทศยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากการพึ่งพาการส่งออกที่มากเกินไป และกฎระเบียบต่างๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ
จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 สิงหาคม 2555
กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯรับAEC
กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ หรือ KTIS มอบหมายให้บมจ.กสิกรไทยศึกษาวิเคราะห์ทางการเงินเพื่อเตรียมตัวระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์หวังลุยลงทุนเพื่อนบ้านรับเปิด AEC ปี 2558
นายประพันธ์
ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการ
กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ (KTIS) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มได้มอบหมายให้บมจ.กสิกรไทย
ศึกษาโครงสร้างของกลุ่มเพื่อทำการวิเคราะห์ทางการเงินในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้เพื่อการขยายการลงทุนต่างๆของเครือ
ในการรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558
หากสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ แน่นอนว่าจะทำให้เครือมีเม็ดเงินที่จะใช้ขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่เบื้องต้นจะเน้นการลงทุนในประเทศก่อน แต่เมื่อเออีซีเปิดก็คงจะขยายการลงทุนเข้าไปประเทศเพื่อนบ้านด้วยนายประพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ส.ค. KTIS ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาคุณภาพอ้อยกับกลุ่มจอห์น เดียร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยการสั่งซื้อรถตัดอ้อย 40 คัน และรถตะกร้าขนย้ายผลผลิตอ้อยรวมมูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพผลผลิตอ้อยและยังช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยได้ด้วย โดยในงานดังกล่าวได้มีเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ร่วมให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในการลงนาม
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 24 สิงหาคม 2555
มหาสารคามจัดงานวันสาธิตเพิ่มผลผลิตอ้อย
มหาสารคาม-จังหวัดมหาสารคาม จัดงานวันสาธิตการเพิ่มผลผลิตอ้อย ถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ในการเพาะปลูกอ้อย หวังให้เกษตรกรนำไปประยุกต์พัฒนาการเพาะปลูกอ้อย ให้เกิดผลผลิตและรายได้อย่างยั่งยืน
วันนี้
(23 ส.ค.55) ที่ศูนย์เรียนรู้อ้อยชุมชนบ้านหนองแสง ตำบลห้วยเตย อำเภอกุดรัง
จังหวัดมหาสารคาม ว่าที่ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม
เป็นประธานเปิดงานวันสาธิตการเพิ่มผลผลิตอ้อย
ตามโครงการส่งเสริมเพิ่มคุณภาพการผลิตอ้อยปี 2555 ก่อนที่จะร่วมกันปล่อยแมลงหางหนีบ
และแตนเบียนลงสู่แปลงอ้อย
ซึ่งเป็นแมลงศัตรูธรรมชาติของศัตรูอ้อย ให้เพิ่มขึ้นในธรรมชาติ เป็นการกำจัดศัตรูอ้อยโดยชีววิธี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทเอกชนที่ได้ร่วมกันจัดงานวันสาธิต เพื่อแสดงผลการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จแก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรจากอำเภอเมืองมหาสารคาม , อ.บรบือ , อ.นาเชือก , อ.เชียงยืน , อ.นาดูน , อ.โกสุมพิสัย , อ.กุดรัง , และอ.ชื่นชม เข้าร่วมงานกว่า 500 คน
ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การจัดงานวันสาธิตการเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็นการบูรณาการการจัดนิทรรศการและจัด แสดงจุดสาธิตความรู้ เทคโนโลยีการเกษตร เครื่องมืออุปกรณ์จำเป็นในการปฏิบัติงานของการผลิตอ้อย จากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน ซึ่งในแต่ละจุดสาธิตที่เกษตรกรเรียนรู้ นำไปประกอบตัดสินใจพัฒนาผลิตการเกษตรในไร่อ้อย พัฒนาเกษตรกรเป็นมืออาชีพผลิตอ้อย เกิดรายได้อย่างยั่งยืน อันจะเกิดผลดีต่อตนเองและประเทศชาติต่อไป
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 23 สิงหาคม 2555
ก.อุตฯย้ำชัดไม่ยุบคกก.กลั่นกรองตั้งโรงงาน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมลั่น ไม่ยุบคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงาน ตาม ส.อ.ท.ร้อง ยันทำเพื่อประชาชน ไม่ให้โรงงานทำผิดและสร้างบรรยากาศ การลงทุนในประเทศย้ำไม่มีคอร์รัปชันแน่โยนลูกส่งต่อรองปลัดศึกษากรอบเวลาอนุมัติโรงงานภายใน90 วัน คาดเสร็จสิ้นส.ค. 55 นี้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าจากกรณีที่ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการทบทวนการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภท ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการพิจารณาที่ล่าช้าและอาจเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกเงินใต้โต๊ะได้นั้นขอยืนยันว่าการจัดตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อการสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักลงทุน คงไม่สามารถยุบคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้
เนื่องจากกระบวนการที่ดำเนินการอยู่นี้ เป็นการสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐ รวมถึงตัวโรงงานด้วยเมื่อไปตั้งแล้วจะไม่เกิดปัญหา อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุนในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าเหตุการณ์ ระเบิดเรื่องการลักลอบทิ้งกากน้ำเสียยังมีอยู่ ไม่ว่าโรงงานไหนก็สร้างไม่ได้
ส่วนเรื่องกรอบเวลาการพิจารณาที่ล่าช้านั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วยดูในรายละเอียดว่าจะกำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาทุกขั้นตอนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันจากเดิมที่ระยะเวลาการพิจารณาส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจมีการแบ่งว่าเมื่อส่งเรื่องขอจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมให้ทางจังหวัดพิจารณาแล้วจะใช้เวลากี่วัน เสร็จแล้วส่งมาที่กรมโรงงานฯใช้ระยะเวลากี่วันและสุดท้ายส่งมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะใช้ระยะเวลาเท่าไร ซึ่งคาดว่าจะทราบผลภายในสิ้นเดือนสิงหาคม2555 นี้
"ขอยืนยันว่าการทำงานแบบที่เป็นองค์คณะแบบนี้จะดีกว่า มีความโปร่งใสอย่างแน่นอน ทำให้คอร์รัปชันได้ยากกว่าโดยทุกวันนี้ที่ทำมากว่า 80% ก็เป็นเรื่องของการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆในการออกใบอนุญาต และเรื่องเอกสารประกอบการพิจารณาให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากยังพบอีกว่า มีโรงงานกว่า 30% มีการก่อสร้างไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตก็กำลังปรับแก้กระบวนการอนุญาตอยู่"
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่าสำหรับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานในช่วง6เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 55) มีจำนวนทั้งสิ้น1,891 โรงงาน เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการด้านทำเครื่องเรือน และตกแต่งอาคารไม้มากที่สุด ประมาณ 178 โรงงานส่วนจำนวนโรงงานที่เลิกกิจการไปในช่วง6 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 729 โรงงาน โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากประสบภัยน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดขาดทุนในการทำกิจการ ขาดวัตถุดิบ ไม่มีผู้ดำเนินงานต่อ และหันไปประกอบธุรกิจอย่างอื่นแทน
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า สำหรับการติดตามสถานการณ์การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่สาธารณะนั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมามีความรุนแรงมาโดยตลอดและได้ติดตามแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งมองว่าเรื่องที่เกิดมีการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า เมื่อมีการขัดกันทางผลประโยชน์ จึงมีการทำเรื่องร้องเรียนขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ได้มีมาตรการในเชิงรุกโดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตการส่งวัตถุอันตรายออกนอกโรงงานทำการตรวจสอบติดตามผลการอนุญาตภายหลังการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกราย เพื่อตรวจสอบว่าได้ดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ซึ่งในส่วนรถขนส่งกากอุตสาหกรรมนั้นได้บังคับให้มีการติดตั้งระบบGPSโดยเชื่อมต่อสัญญาณกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อติดตามจุดหมายปลายทางของการส่งกากซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อส่งเสริมให้โรงงานปรับตัวเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไปขณะที่แผนระยะยาวนั้น กำลังเร่งดำเนินการออกมาตรการในการเข้ามาดูแลซึ่งก็จะมีการประชุมความคืบหน้ากันในวันที่ 22 สิงหาคม 2555 นี้
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 23 สิงหาคม 2555
ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ครม.อนุมัติที่1,039.14บาท/ตัน
น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมขอความเห็นชอบในการ กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2553/2554 ด้วยการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในราคา 1,039.14 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดให้ปรับราคาขึ้น/ลง ในราคา 62.35 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน
ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายเฉลี่ยทั่วประเทศ ราคา 445.35 บาทต่อตันอ้อย ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 และเนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 53/54 สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น โรงงานน้ำตาลทรายจะต้องชำระค่าอ้อยเพิ่มให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อย ขั้นสุดท้าย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กำหนดตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
ด้านนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบแก้ไขสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 สำหรับการซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง A-18 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย- มาเลเซีย ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และบริษัทผู้ประกอบการ คือ บริษัท PC JDA Limited และบริษัท Hess Oil Limited ในฐานะกลุ่มผู้ขายก๊าซกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเปโตรนาสในฐานะกลุ่มผู้ซื้อก๊าซ ด้วย เนื่องจากบริษัท เปโตรนาส ได้มีหนังสือแจ้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียว่าประเทศมาเลเซียมีความต้องการใช้ ก๊าซภายในประเทศเพิ่มสูงมาก บริษัทประสงค์ขอนำก๊าซตามสิทธิการขอซื้อของเปโตรนาสจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย แปลง A-18 ไปใช้ในมาเลเซียเพิ่มขึ้นจำนวน 70 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันที่ส่งให้เปโตรนาสในอัตรา 421 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2555
จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 สิงหาคม 2555
"ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ"เจ๋ง ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อย
นางจิราภร แซ่โง้ว เกษตรกรไร่อ้อย อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอแปลงทดลองพืชผลทางการเกษตร และเป็นเจ้าของไร่อ้อยอาม่าจู เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตใหม่ในวิถีของเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์และสารจากธรรมชาติในการทำการเกษตรและการกำจัดศัตรูพืช ทั้งนี้การทำการเกษตรในไร่อาม่าจู จะไม่ใช้สารเคมี เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง มีสารเคมีปนเปื้อนพืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรผู้บริโภคไม่ยอมรับ และยังทำให้ต้นทุนการผลิตจากการใช้สารเคมีสูงมาก
จากผลการทดลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอในแปลงปลูกอ้อยพันธ์อ้อย สุพรรณ 80 ซึ่งปรากฏว่า ก่อนใช้ปุ๋ยทีพีไอได้ผลผลิตประมาณ 18 ตันต่อไร่ เท่านั้น แต่พอมาใช้ปุ๋ยทีพีไอ ทำให้ได้ผลผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 ตันต่อไร่ โดยมีค่าความหวานได้ถึง 14 ซีซีเอส (ccs) ซึ่งที่ดินที่นี่เป็นที่ปลูกอ้อยมากว่า 30 ปี และใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีมาตลอด ทำให้ผลผลิตที่ได้ลดลงเรื่อยๆ แต่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่หลังจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ สภาพดินก็ดีขึ้นไม่แข็ง ต้นอ้อยก็สมบูรณ์ ข้อยืด อวบ แตกกอดี มีน้ำหนักมาก และไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอีกด้วยนางจิราภากล่าว
ด้านนายกล้าพันธุ์ เหงากุล ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านเกษตรอินทรีย์ บริษัท ทีพีไอชีวะอินทรีย์ จำกัด กล่าวว่า สำหรับสูตรการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอในแปลงทดลองปลูกอ้อย ซึ่งได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 25 ตันต่อไร่ นั้น จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ 15 ลิตร บวกกับปุ๋ยม่วง 10 ลิตร ต่อไร่ เทลาดลงบนดินก่อนปลูก หลังจากปลูก 2 เดือน ใช้ปุ๋ยม่วงผสม น้ำส้มควันไม้ อย่างละ 1 ลิตร ผสมน้ำ 400 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ ทุก 15 วัน 4 ครั้ง จะทำให้ผลผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนและที่สำคัญการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอจะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต่ำลงกว่าปุ๋ยเคมี จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น
จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 สิงหาคม 2555
หวังโรงไฟฟ้าดันกำไรปี 57 โตเท่าตัว หุ้นใหญ่ น้ำตาละครบุรี รับปันผล 60 ล.
โบรกเกอร์ประเมินครึ่งปีหลังกำไรวูบ
ชี้นราคาพื้นฐานหุ้นอยู่ที่ 11 บาท
ตระกูลถวิลเตมทรัพย์ หุ้นใหญ่น้ำตาละครบุรี
เตรียมรับเงินปันผลระหว่างกาลเข้ากระเป๋า 60 ล้าน ขณะที่มองโรงไฟฟ้าชีวมวล
กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ดันกำไรปี 2557 เติบโต 25-30% จากปกติ 15% ส่วนโบรกเกอร์มองครึ่งปีหลังปีนี้กำไรวูบ
เหตุนอกฤดูกาลส่งออก
บริษัท น้ำตาละครบุรี (KBS)
แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล
งวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค. 2555 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2555 ในอัตราหุ้นละ 0.02 บาท
โดยจะจัดสรรให้ในวันที่ 7 ก.ย.2555
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ในส่วนโครงสร้าง ผู้ถือหุ้นล่าสุดพบว่า
กลุ่มตระกูลถวิลเติมทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท
โดยมีการถือครองหุ้นรวมกัน จำนวน 303.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 60.64%
จากเดิมที่เคยถือหุ้น 302.25 ล้านหุ้น คิดเป็น 60.44% ทั้งนี้ หากพิจารณาจาก 60.65
ล้านบาท จากเงินที่ต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 100 ล้านบาท
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริษัท น้ำตาละครบุรี (KBS) กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการปีนี้คาดว่าจะใก้ลเคียงกับปีก่อนมีรายได้ประมาณ 6.1 พันล้านบาท โดยปริมาณหีบอ้อย จะลดลง 10% หรืออยู่ที่ 2.5 ล้านตัน แต่บริษัทได้เน้นการผลิตน้ำตาลทรายขาวเพื่อการส่งออกทำให้ราคาดีกว่าปัจจุบัน ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 70% ขายในประเทศ 30% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าน้ำตาลดิบมาก ส่วนกำไรสุทธิปีนี้ก็จะอยู่ในทิศทางใกล้เคียงกับปีก่อน 800 ล้านบาท
บริษัทคาดการณ์ว่า รายได้ในปี 2556 และปี 2557 จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากในปีนี้รายได้และกำไรสุทธิน่าจะทำได้แค่ใกล้เคียงปีก่อนจากผลกระทบปริมาณการหีบอ้อยลดลง ขณะที่ในแง่ของกำไรในปี 2557 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า ได้ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไปนายอิสสระกล่าว
เขากล่าวว่า ความสามารถในการทำกำไรปี 2556 จะกลับมาสู่ภาวะปกติที่เติบโตประมาณ 10-15% ซึ่งคิดตามเป้าหมายการหีบอ้อยที่ 2.8 ล้านตัน จากปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นและความพร้อมด้านเครื่องจักรที่เลื่อนติดตั้งมาตั้งแต่ปลายปี 2554 จากผลกระทบปัญหาอุทกภัยในไทย ขณะที่ราคาขายประในประเทศเท่าปีก่อนเฉลี่ยที่ 20 บาทต่อ กก. แต่ราคาส่งออกได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าไปแล้วราว 50% ที่ราคา 25 เซนต์ต่อปอนด์ จึงขึ้นอยู่กับครึ่งปีหลังว่าจะขายได้ราคาแค่ไหน จากปี 2555ซึ่งมีการขายล่วงหน้า 100% ที่ระดับราคา 24.75 เซนต์ต่อปอนด์
สำหรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกในปีหน้ามีแนวโน้มปรับขึ้นจากปัจจุบันราคาตลาดที่ 20 เซนต์ต่อปอนด์ เพราะราคาน้ำตาล ตอนนี้มองว่าบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของโลก คงไม่เพิ่มการลงทุนหรือปลูกอ้อยเพิ่ม เพราะไม่คุ้มค่าและน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้ในที่สุด
ส่วนในปี 2557 เชื่อว่าจะเห็นการเติบโตของกำไรสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ 25-30% โดยเฉพาะจากการรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทย่อย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 35 เมกะวัตต์ คาดว่าจะก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักแล้วเสร็จ พร้อมกับเดินเครื่องขายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณเดือน ก.พ.2557
นายอิสสระ กล่าวว่าในอีก 1 ปีข้างหน้า น่าจะยังไม่มีการลงทุนในต่างประเทศ เพราะตลาดภายในประเทศยังมีโอกาสเติบโตมาก ทั้งนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยการขายน้ำตาลให้ผู้ผลิตโคคา-โคลาหรือโค้ก ซึ่งน่าจะเป็นที่ยอมรับของโมดิร์นเทรด และลูกค้าคนอื่นๆ ปัจจุบันมีลูกค้าเออีซีประมาณ 80% ที่เหลือเป็นลูกค้าแถบตะวันออกกลาง ซึ่งวิกฤติยุโรปไม่ได้ส่งผลกระทบกับการขายของบริษัท
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่าฝ่ายวิจัยได้แนะนำให้เก็งกำไรหุ้นน้ำตาลครบุรี โดยให้ราคาตามพื้นฐาน 11 บาท เนื่องจากคาดว่าผลการดำเนินงานผ่านระดับสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 1/2555 เนื่องจากครึ่งปีหลัง จะอยู่นอกฤดูกาลส่งออก แม้จะคงมีน้ำตาลบางส่วนที่เลื่อนจากการส่งมอบมาจากไตรมาส 2/2555 แต่การสูญเสียการประหยัดขนาดจะคงกดดันให้อัตราการกำไรขั้นต้นลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2555 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสนี้ และจะเข้าสู่ระดับต่ำสุดในไตรมาส 4/2555
เราได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 และ 2556 ลง 13% และ 5% จากประมาณการเดิมมาอยู่ที่ 690 - 691 ล้านบาท การปรับลดประมาณการปี 2555 สะท้อนผลการดำเนินงาน ไตรมาส 2/2555 ที่ต่ำกว่าคาดรวมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มลดลงจากการสูญเสียการประหยัดขนาด ส่วนการปรับลดปี 2556 สะท้อนยอดขายทรงตัวจากงวดเดียวกับปีก่อน แม้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น 10% เป็น 23,000 ตันต่อวัน แต่เนื่องจากปีนี้มีการซื้อน้ำตาลจากที่อื่นมาละลายเพื่อรักษายอดขาย ทำให้ยอดขายรวมปี 2556 จะทรงตัว นักวิเคราะห์กล่าว
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 สิงหาคม 2555
KBS มั่นใจรายได้ปีนี้ใกล้ปีก่อน-ปันผล20สต.
ผู้บริหาร "น้ำตาลครบุรี " มั่นใจโกยรายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน แม้หีบอ้อยได้น้อยลง แต่เน้นเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มากขึ้น พร้อมยืนยันผลการดำเนินงานปีหน้ากลับมาเติบโตเป็นปกติที่ 10-15% เนื่องจากในฤดูหีบหน้าจะมีความพร้อมในเรื่องเครื่องจักรมากกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปี 2557 จะได้อานิงส์โรงไฟฟ้าชีวมวล ดันกำไรโตก้าวกระโดด 25-30% ด้านคณะกรรมการใจป้ำสั่งจ่ายปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.20 บาท เตรียมขึ้น XD วันที่ 27 ส.ค.นี้
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท
น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่า บริษัทฯ
มีความมั่นว่าปีนี้จะสามารถทำได้ใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ 6,150 ล้านบาท
แม้ว่าปริมาณการหีบอ้อยจะลดลงไปประมาณ
10% อยู่ที่ 2.5 ล้านตัน
แต่บริษัทฯได้ปรับตัวโดยการเน้นไปผลิตน้ำตาลทรายขาวเพื่อการส่งออก
ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าน้ำตาลดิบค่อนข้างมาก ทำให้ได้ราคาที่ดีกว่า
โดยในปัจจุบัน KBS มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 70% และขายในประเทศประมาณ 30%
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีหน้าเชื่อมั่นว่าจะกลับมาเติบโตได้ในระดับปกติ โดยมีอัตราการขยายตัว 10-15% หรือคิดเป็นเป้าหมายการหีบอ้อยที่ 2.8 ล้านตัน จากปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น และความพร้อมในด้านเครื่องจักร หลังจากที่ปลายปี 2554 เครื่องจักรไม่พร้อมในช่วงต้นฤดูกาลหีบ เนื่องจากการขนส่งเครื่องจักรล่าช้าเพราะปัญหาน้ำท่วม ในขณะที่ปี 2557 จะได้เห็นการเติบโตของกำไรสุทธิของ KBS อย่างมีนัยสำคัญประมาณ 25-30% จากโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ KBS ถือหุ้น 99.99% กำลังการผลิต 35 เมกกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ พร้อมขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2557
นายอิสสระ ยังได้เปิดเผยถึงมติคณะกรรมการ KBS ล่าสุด ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 2555 (ม.ค.-มิ.ย.55) ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท จากจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนและเรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 500 ล้านหุ้น รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 30 สิงหาคม 2555 , วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 27 สิงหาคม 2555 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 7 กันยายน 2555 โดย KBS มีผลกำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2555 จำนวน 550.43 ล้านบาท หรือ 1.10 บาทต่อหุ้น
"ในปี 2555 นี้แม้จะหีบอ้อยได้ลดลง แต่ยืนยันว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ KBS จะไม่ลดลงจากปีก่อน เพราะเราหันไปผลิตน้ำตาลทรายขาว ที่มีพรีเมี่ยมมากขึ้น ส่วนปีหน้าการเติบโตจะกลับมาเป็นปกติที่ 10-15% จากการหีบอ้อยที่มากขึ้น และความพร้อมในด้านเครื่องจักร ที่เลื่อนการติดตั้งมาจากปลายปี 2554 เพราะปัญหาน้ำท่วม และในปี 2557จะเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดของ KBS อีกครั้ง หลังจากรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. จากโรงไฟฟ้าชีวมวลของเรา ดังนั้นขอให้ผู้ถือหุ้นมีความเชื่อมั่น ว่า KBS จะเป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินงานเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นประจำทุกปี" นายอิสสระกล่าวในที่สุด
จาก http://www.manager.co.t วันที่ 20 สิงหาคม 2555
น้ำตาลโลกพุ่งดันรายได้ปีนี้ 1.9แสน ล้าน ลุ้นอินโดนีเซียลดภาษีเออีซีดันยอดส่งออกโต
สอน.เผยฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 รายได้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน รับราคาตลาดโลกขยับตัวและปริมาณการผลิตเพิ่ม คาดปีหน้าอ้อยเข้าสู่ระบบ 99 ล้านตัน จับตาฝนทิ้งช่วงหวั่นเกิดภัยแล้ง หนุนโรงงานรุกตลาดอาเซียนรับเออีซี
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ได้ประมาณการรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ไว้ที่ 193,000 ล้านบาท สูงกว่าฤดูกาลผลิต 2553/2554 จำนวน 13,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากการส่งออก 140,000 ล้านบาท และการขายในประเทศ 53,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำตาลทรายดิบที่จำหน่ายล่วงหน้า ได้ราคาสูง เฉลี่ยปอนด์ละ 24 เซนต์ และผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเป็น 10.2 ล้านตัน จากการหีบอ้อย 97.9 ล้านตัน
สำหรับตลาดส่งออกหลักของน้ำตาลไทยอยู่ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการส่งออกทั้งหมด ในจำนวนดังกล่าวเป็นการส่งออกไปอาเซียน 40 % แอฟริกาและตะวันออกกลางรวม 7% ส่วนตลาดยุโรป ที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากนโยบายจำกัดการนำเข้าน้ำตาล จากนอกอียูก่อนหน้านี้ ทำให้มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยเพียง 0.5% เท่านั้น เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้การนำเข้าน้ำตาลจากไทยมีสัดส่วน 0.5%
ส่วนราค้าอ้อยขั้นปลายฤดูกาลผลิตปี
2554/2555 คาดว่าจะอยู่ที่ตันละ 1,065 บาท ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.
สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้ตันละ 1,000 บาท
และคาดว่าชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่จะได้ราคาอ้อยขั้นปลายสูงกว่าตันละ 1,200 บาท
เพราะมีค่าความหวานสูงกว่า 12 ซี.ซี.เอส และจะได้เพิ่มค่าอ้อยอีกตันละ 154 บาท
จากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
ขณะที่ฤดูกาลผลิต 2555/2556 คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อย 99.75 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์น้ำฝน
เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาฝนมาช้าอาจทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
ทำให้ผลผลิตไม่ดี
ต้องหวังให้มีฝนตกถึงเดือนต.ค.2555 แต่สอน.ยังมั่นใจว่าอ้อยจะดีกว่าฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 เพราะชาวไร่มีการบำรุงรักษาอ้อยดีขึ้น และพันธุ์อ้อยที่ภาครัฐแจกให้ชาวไร่เติบโตดีตามเป้าหมาย
นายประเสริฐ กล่าวว่า สอน.มีนโยบายให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยขยายตัวมากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มขยายการส่งออกในอาเซียนให้มาขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ทำให้อาเซียนเป็นตลาดน้ำตาลขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด แต่ปัจจุบันกำหนดภาษีนำเข้าไว้สูง คือ 38% จึงต้องติดตามให้อินโดนีเซียลดภาษีลงเหลือ 5% ในปี 2558 ตามที่ตกลงไว้กับอาเซียน แต่หากไม่ดำเนินการจะทำให้ไทยเสียโอกาสส่งออกไปอาเซียน
ส่วนภูมิภาคอื่นจะส่งเสริมตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลาง เนื่องจากเศรษฐกิจแอฟริกามีแนวโน้มขยายตัวดี และการบริโภคน้ำตาลจะเติบโตไปกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ตะวันออกกลางมีกำลังซื้อภายในประเทศสูง
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 สิงหาคม 2555
รายได้อุตฯน้ำตาลยังรุ่ง ชี้วิกฤตยุโรปไม่ระคาย
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงรายได้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ประจำฤดูกาลผลิตปี 2554/2555ว่า คาดการณ์ไว้ที่ 1.93 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้านบาทจากปีก่อน โดยเป็นอ้อย 98 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำตาลทรายราว 100 ล้านกระสอบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออก 1.4 แสนล้านบาท และขายในประเทศ 5.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเป็นอันดับต้นๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่กำลังลุกลาม เพราะสัดส่วนการนำเข้าจากไทยเพียง 0.5% ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็นำเข้าน้ำตาลจากไทยเพียง 0.5% เช่นกัน ส่วนตลาดส่งออกน้ำตาลสำคัญของไทยคือ เอเชียนำเข้าถึง 90% และเป็นของอาเซียน 40% ตลาดส่งออกที่เหลือเป็นทวีปแอฟริการวมตะวันออกกลาง 7% และอื่นๆ
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า สอน.ได้วางเป้าหมายขยายตลาดส่งออกใน 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน เพราะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558 จะเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีโอกาสอีกมาก แต่ยังมีอุปสรรคคือภาษีนำเข้าทรายสูงถึง 38% ดังนั้น จึงจะประสานเจรจาให้ภาษีลดลง เพื่อจะไม่สูญเสียโอกาส รวมถึงยังพยายามเจาะตลาดแอฟริกากับตะวันออกกลางให้มากขึ้นด้วย เพราะยังมีกำลังซื้อสูง
สำหรับสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลทรายฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 คาดการณ์ผลผลิตอ้อยไว้ที่ 99.75 ล้านตัน โดยยังต้องลุ้นกับปริมาณฝน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่แล้งจากฝนมาช้ากว่าปกติ ปริมาณอ้อยอาจไม่ดีเท่าที่ควร แต่ยังมั่นใจว่า ปริมาณอ้อยจะสูงกว่าปี 2554/2555 เพราะเกษตรกรมีการบำรุงรักษาอ้อยดีขึ้น
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 20 สิงหาคม 2555
อุตฯน้ำตาลรายได้กระฉูด1.9แสนล.
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า คาดการณ์รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ประจำฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ไว้ที่ 1.93 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมา 1.3 หมื่นล้าน จากอ้อย 98 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำตาลทรายราว 100 ล้านกระสอบมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รายได้ดังกล่าวแบ่งเป็นการส่งออก 1.4 แสนล้านบาท ขายในประเทศ 5.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งออกถือเป็นสัญญาณที่ดีตลอดทั้งปี เพราะรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง และราคาที่ไทยขายได้เป็นราคาคาดการณ์ล่วงหน้าของตลาดนิวยอร์กมากกว่า 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเติบโตมากขึ้น สอน.ได้วางเป้าหมายขยายตลาดส่งออกภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน รวมถึงตลาดแอฟริกาที่รวมกับตลาดตะวันออกกลางด้วย
ส่วนราคาอ้อยขั้นปลายปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1,065 บาทต่อตันอ้อย คิดจากค่าความหวาน 10 ซีซีเอส เพิ่มขึ้นจากราคาขั้นต้นซึ่งอยู่ที่ 1,000 บาทต่อตันอ้อย เพราะราคาส่งออกดี ทั้งนี้ คาดว่าเกษตรกรจะได้ราคาขายอ้อยขั้นปลายสูงกว่า 1,200 บาทต่อตัน เพราะสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ผลิตน้ำตาลทรายได้ค่าความหวานเฉลี่ยสูงกว่า 12 ซีซีเอส ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 130 บาทต่อตัน รวมกับราคาขั้นปลายจึงสูงมาก ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของชาวไร่ ซึ่งยังไม่นับรวมนโยบายเพิ่มค่าอ้อยให้เกษตรกรอีกตันละ 154 บาท วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพราะจะพิจารณาจากความจำเป็นจากต้นทุนการผลิต
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 20 สิงหาคม 2555
ธ.ก.ส.ขยายฐานบัตรรูดปรื๊ดเกษตรกร วางระบบรองรอบเป้าหมาย4ล้านใบ ชาวไร่ข้าวโพด-สวนยาง-อ้อยได้เฮ
นายมโนชัย สุดจิตร ผู้อำนวยการโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการธนาคาร ในวันที่ 23 ส.ค. นี้ จะมีการนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการขยายสิทธิโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารด้วย อาทิ ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง หอมแดง และอ้อย เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรในกลุ่มอื่น ๆ ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าการขยายสิทธิในโครงการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ย. 2555
ขณะนี้ ธ.ก.ส. อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านระบบต่าง ๆ เพราะต้องมีการขยายสิทธิไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ แต่เบื้องต้นประเมินว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะในช่วงแรกได้มีการดำเนินโครงการดังกล่าวกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้ว แต่ยืนยันว่าเงื่อนไขของเกษตรกรกลุ่มอื่นที่จะเข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรนั้น ยังต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และต้องไม่เป็นหนี้กับธนาคารต่าง ๆ รวมถึงต้องไม่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เอ็นพีแอล วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท นายมโนชัย กล่าว
นายมโนชัย ยังกล่าวถึงคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ที่ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการแจกจ่ายเครดิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศแล้วทั้งสิ้น 4 แสนใบ และอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแจกจ่ายอีก 4.3 แสนใบ รวมเป็น 8.3 แสนใบ คิดเป็นวงเงิน 1.34 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้พบว่ามีเกษตรกรที่ได้รับบัตรสินเชื่อและได้มีการเปิดใช้บัตรดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น 3.4 หมื่นใบ คิดเป็นวงเงิน 250 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำบัตรสินเชื่อเกษตรกรอีกราว 9.2 แสนใบ โดย ธ.ก.ส. คาดว่าจะสามารถส่งมอบบัตรดังกล่าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ครบตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านใบ ภายในเดือน มี.ค. 2556
ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เปิดเผยว่า เบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีการขยายสิทธิในโครงการบัตรสินเชื่อไปยังกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มอีก 2 ล้านใบ โดยเมื่อรวมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ จำนวน 2 ล้านใบ เป็นทั้งสิ้น 4 ล้านใบ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก่อน เพราะหากพิจารณาตามศักยภาพแล้วเกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวมีความเข้มแข็ง มีสถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับผลผลิตชัดเจนและแข็งแกร่ง จึงน่าจะมีความพร้อมในการดำเนินการก่อน
ได้มีการหารือเบื้องต้นกับนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เกี่ยวกับการขยายสิทธิในโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ บ้างแล้ว โดยตนได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการให้มีการขยายสิทธิไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้เกษตรกรทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิในโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่อย่างเต็มที่ นายทนุศักดิ์ กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม 2555
นายมโนชัย สุดจิตร ผู้อำนวยการโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการธนาคาร ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะนำเสนอแนวทางเกี่ยวกับการขยายสิทธิโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นลูกค้าของธนาคารด้วย อาทิ ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง หอมแดง และอ้อย เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิในโครงการที่รัฐบาลดำเนินการอย่างเต็มที่ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนก.ย.2555 โดยเงื่อนไขต้องเป็นลูกค้าของธ.ก.ส. ไม่เป็นหนี้กับธนาคารต่างๆ และต้องไม่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เสียวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท
ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังธ.ก.ส.ให้เร่งขยายสิทธิในโครงการบัตรสินเชื่อไปยังกลุ่มเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ อีก 2 ล้านใบ เมื่อรวมกับที่แจกจ่ายให้ชาวนา 2 ล้านใบ รวมเป็น 4 ล้านใบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยก่อน เพราะเกษตรกรในกลุ่มดังกล่าวมีความเข้มแข็ง มีสถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับผลผลิตชัดเจนและแข็งแกร่ง จึงน่าจะมีความพร้อมในการดำเนินการก่อน
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 20 สิงหาคม 2555
สศช.ปรับจีดีพีปีนี้เหลือโตร้อยละ 5-6 ส่งออกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 7.3
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก ทำให้เศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.2
นายอาคม กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ เกิดจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นผลจากกำลังซื้อประชาชนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสังคมเมืองจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก มาตรการลดค่าครองชีพ การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่ภาคการเกษตร มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย เพราะขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากเติบโตร้อยละ 3.4 ในไตรมาสแรก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะมีต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไตรมาส 2 จำนวน 4.8 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 10.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.6
ส่วนการส่งออกได้รับผลกระทบหนักจากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐที่ชะลอตัว สศช.จึงได้ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้จากขยายตัวร้อยละ 15.1 เหลือขยายตัวร้อยละ 7.3 เนื่องจากการส่งออกในยุโรปลดลงร้อยละ 7.5 ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 1.4 โดยมองว่าหากจะให้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 15 ต้องทำยอดส่งออกให้ได้ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ จึงได้ปรับยอดการส่งออกลดลง และจำเป็นต้องปรับเป้าหมายจีดีพี จากร้อยละ 5.5-6.5 เหลือร้อยละ 5.5-6 ปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากร้อยละ 3.5-4 เหลือร้อยละ 2.9-3.4
ส่วนปัจจัยสนับสนุนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เป็นการฟื้นตัวของภาคเอกชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยจะเริ่มกลับมาผลิตสินค้าเต็มที่ในช่วงปลายปี การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากต่างชาติเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนระดับสูงขึ้น ขณะที่การดูแลราคาสินค้าเกษตร ยังต้องแทรกแซงจากภาครัฐ เพื่อให้ราคาสูงขึ้น โดยในส่วนของการรับจำนำข้าว ยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำไว้สูง จึงต้องหาโอกาสระบายข้าวออกสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วในช่วงที่ราคาข้าวปรับสูงขึ้น โดยต้องแยกคุณภาพข้าวที่ดีระบายสู่ตลาด ไม่ควรนำข้าวราคาสูงไปขายแข่งกับเวียดนาม กัมพูชา ส่วนอ้อยมีผลผลิตชะลอตัวถึงร้อยละ 58.1 แต่ไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก จึงควรเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตน้ำตาลให้มีคุณภาพ ป้อนสู่ตลาดเพื่อทำรายได้เข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม ยอมรับโครงการลงทุนป้องก้นน้ำท่วม 350,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเสนอแนวคิดการลงทุนจากภาคเอกชน คงไม่เกิดการลงทุนภายในปีนี้.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 20 สิงหาคม 2555
กองทุนอ้อยฯ เลื่อนพิจารณาตัดหนี้สูญชาวไร่ 3.5 หมื่นล้าน
กองทุนอ้อยฯ
เลื่อนพิจารณาตัดหนี้สูญของชาวไร่ 3.5 หมื่นล้านบาทไปเดือน
ก.ย.
ระบุต้องการเตรียมข้อมูลชี้แจงที่ประชุม ยันชาวไร่ไม่ได้เป็นหนี้กองทุนอ้อยหลังมติ
ครม.ปี 2551 ให้เก็บเงิน 5 บาท ใช้หนี้จนหมดแล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย
ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
ที่มีนายประเสริฐ ตปนียางกูร
เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธานว่า
ผู้แทนชาวไร่อ้อยเสนอที่ประชุมให้เลื่อนวาระการพิจารณาตัดหนี้สูญของชาวไร่ที่เป็นหนี้กับกองทุนอ้อยและน้ำตาลออกไปก่อน
เพื่อขอเวลาเตรียมข้อมูลในการชี้แจงคณะกรรมการโดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
รายงานงบดุลว่ามีชาวไร่เป็นหนี้กองทุน 6 รายการ รวม 35,687 ล้านบาท
คือ 1. ลูกหนี้ชาวไร่อ้อย 13,701 ล้านบาท 2. ลูกหนี้เงินให้กู้เพื่อเพิ่มราค้าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2541/2542 - 2542/2543 จำนวน 1,382 ล้านบาท 3. ลูกหนี้เงินให้กู้เพื่อเพิ่มราค้าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2545/2546 จำนวน 4,505 ล้านบาท 4. ลูกหนี้เงินให้กู้เพื่อเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2546/2547 จำนวน 2,696 ล้านบาท 5. ลูกหนี้เงินให้กู้เพื่อเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิต 2550/2551 จำนวน 13,370 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าว่า ตั้งแต่ฤดูกาลผลิต 2545/2546 ราค้าอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องไปกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพิ่มเงินค่าอ้อยชาวไร่ และบันทึกว่าชาวไร่เป็นหนี้กองทุน ซึ่งต่อมารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้ขึ้นราคาน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อให้กองทุนนำเงินไปจ่ายหนี้ให้ ธ.ก.ส. และเมื่อกองทุนชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีการบันทึกว่าชาวไร่เป็นหนี้กองทุนอยู่
นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถานบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าชาวไร่อ้อยเสนอให้นายประเสริฐถอนวาระเรื่องนี้ออกก่อน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีเวลาในการเตรียมข้อมูลชี้แจง ชาวไร่เห็นว่าไม่ได้เป็นหนี้กองทุนมาตั้งแต่แรกและหลังจากได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยมา ก็เป็นเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน ซึ่งในฤดูกาลผลิต2550/2551 ราคาอ้อย อยู่ที่ 600 บาทเศษ แต่ต้นทุนอยู่ที่ 800 บาท ทำให้ต้องกู้ ธ.ก.ส.มาจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย
ครม.มีมติปรับราคาน้ำตาลขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท ซึ่งมติครม. กำหนดชัดเจนว่าให้นำเงินที่ได้จากการปรับราคาน้ำตาล มาชำระหนี้ที่กู้ ธ.ก.ส. มาช่วยชาวไร่ โดยเมื่อมีการเสนอวาระตัดหนี้สูญของชาวไร่เข้ามา จึงทำให้ชาวไร่สับสนว่าเป็นหนี้กองทุนตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงขอเลื่อนเรื่องนี้ไปพิจารณาเดือนหน้า
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 สิงหาคม 25555
แล้งแล้ว ! เขื่อนลำปาวที่กาฬสินธุ์เหลือน้ำ 468 ล้าน ลบ.ม. น้อยที่สุดในรอบ 20 ปี
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้ประกาศให้ประชาชนทั้ง 18 อำเภอ กักเก็บน้ำไว้ใช้และลดพื้นที่การเพาะปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง จากสถานการณ์ภัยแล้ว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในระยะยาว ปัญหาภัยแล้งจะสามารถคลี่คลายไปได้ เนื่องจากเริ่มมีพายุฝนตกลงมาบ้างแล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าปริมาณน้ำต้นทุนตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆมีปริมาณน้ำลดลงไม่ถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้ชาวนาเสี่ยงกับภาวะขาดทุน เนื่องจากฝนที่ทิ้งช่วงส่งผลให้ชาวนาต้องทำนาหลายรอบ โดยเฉพาะที่เขื่อนลำปาว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปีมากกว่า 1 แสนไร่ ปัญหาน้ำแล้งส่งผลกระทบให้กับเกษตรกร เนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลือน้อยเพียง 468 ลบ.ม.หรือร้อยละ 23 ของความจุอ่างจากปริมาณกักเก็บที่ 1,950 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้น้ำที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรไม่เพียงพอ ข้าวของเกษตรกรเหี่ยวแห้งกำลังยืนต้นตาย ซึ่งชาวนาที่ใช้น้ำบอกว่าน้ำเขื่อนแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว เนื่องจากเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่หนักและซึ่งนับเป็นปริมาณน้ำที่เหลือน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 16 สิงหาคม 2555
3 องค์กรหลัก จัดหลักสูตร การออกแบบสินค้ารองรับAEC
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ( ITD ) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ
และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและเครือข่าย จัดโครงการ การอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสู่ตลาด AEC เพื่อเตรียมความพร้อมของ SME ไทย รองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ไอทีดี ( ITD ) เปิดเผยว่า ไอทีดี ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของ SME ไทย ที่ต้องมีการเตรียมตัวสำหรับรองรับการแข่งขันในตลาด AEC ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 จึงได้ร่วมมือกับ สวทน. และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการนี้ขึ้นมาโดยได้มีการนำผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชั้นนำของไทย ฝรั่งเศส และ สิงคโปร์ ที่เป็นต้นตำรับการออกแบบสินค้ามาอบรมให้ผู้ประกอบการชาวไทยฟรี
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธุรกิจ SME ไทยที่มีอยู่กว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ กำลังประสบปัญหาในการพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะด้านการออกแบบสินค้า หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงเป็นได้เพียงผู้ผลิตสินค้าตามคำสั่ง ( OEM ) เท่านั้น สวทน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการเตรียมความพร้อมของ SME ไทยสำหรับรองรับการแข่งขันในตลาด AEC
รศ.ดร.สุเทพ บุตรดี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวเสริมว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากในการช่วยส่งเสริมให้ SME ไทยสามารถปรับตัวรองรับการแข่งขันในตลาด AEC เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่เข็มแข็งระหว่างผู้ประกอบการที่เข้าอบรมด้วยกันเอง เกิดองค์ความรู้ทั้งด้าน อุปสงค์ และอุปทาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมในภาพรวมเกิดความเข็มแข็ง และสามารถแข่งขันในตลาดที่เปิดได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการ การอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ การออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสู่ตลาด AEC แบ่งการฝึกอบรมเป็นทั้งหมด 4 ช่วงด้วยกันอันได้แก่ ช่วงที่ 1 เป็นการอบรมเชิงวิชาการ ในระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ ช่วงที่ 2 เป็นช่วงการแข่งขันออกแบบผลิตภัณฑ์ ในระหว่างวันที่ 3-7 กันยายน ช่วงที่ 3 เป็นการให้ความรู้ในเชิงลึก ในวันที่ 10-11 กันยายน และช่วงสุดท้าย เป็นการชิงชนะเลิศในวันที่ 20 กันยายน เพื่อนำผลงานไปนำเสนอกับตลาดเป้าหมายในกลุ่มประเทศ AEC ต่อไป
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 16 สิงหาคม 2555
ปุ๋ยทีพีไอชูเกษตรอินทรีย์ สู่ความเป็นผู้นำทางการเกษตรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือAEC(ตอนที่4)
การก้าวเดินสู่การเขตการค้าขายอย่างเสรีของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ทั้ง 9 ประเทศที่จะเกิดขึ้นไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า หรือหลังปี 2558 นั้นจะต้องยอมรับว่า ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไทยหลายชนิด มีความโดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ชูวิถีของ เกษตรอินทรีย์ ที่เน้นการใช้สารจากธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารธรรมชาติฉีดกำจัดศัตรูพืช เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี จะกลายเป็นสินค้าตัวหลักในการเจาะตลาดในประเทศและตลาดของกลุ่มประเทศเออีซีอย่างได้ผล
บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงอันตรายร้ายแรงจากการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรของเกษตรกรไทย จึงได้หันมาผลิต ปุ๋ยอินทรีย์และสารธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืช เพื่อเป็นการพลิกมิติใหม่ให้เกษตรกรไทยนำไปใช้ในการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีและยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้สูงขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ กระแสการรณรงค์ช่วยลดภาวะโลกร้อน ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยล่าสุดบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ได้ทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านบาท เพื่อการลดสภาวะโลกร้อนโดยการเอาขยะเทศบาลมาคัดแยก เพื่อผลิตเชื้อเพลิงถ่านหิน (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ โดยการสร้างโรงงานที่ใช้เครื่องจักรทันสมัยในการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน (RED) และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (ดูภาพประกอบ)
ผุดโรงงานทันสมัยแยกขยะ..ลดโลกร้อนจากการฝังกลบขยะ
ขณะนี้โรงงานผลิตเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน (RDF) และปุ๋ยเคมีของบริษัททีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ฯ สามารถช่วยลดก๊าชเรือนกระจกจากการฝังกลบขยะอย่างได้ผล เพราะสภาพปัจจุบัน หากนำขยะมูลฝอย 1 ตัน ไปฝังกลบในบริเวณแหล่งฝังกลบขยะในระยะเวลา 1 ปี จะปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกประมาณ 23.-350 ตัน (คาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปี แต่ถ้านำขยะไปคัดแยกในโรงงานที่มีเครื่องจักรอันทันสมัย จำนวน 4,000 ตันต่อวัน จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ 0.9-1.2 ล้านตัน (คาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการซื้อขาย Carbon Credit จะอยู่ที่จะประมาณ 3 ยูโรต่อตัน (คาร์บอนมอนนอกไซด์) หรือประมาณ 100-150 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังสามารถการนำขยะมูลฝอยจากเทศบาลมาเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงานฯ ได้ถึง 2,400 ตันต่อวัน และสามารถผลิตเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน RDF ได้ประมาณ 600 ตัน/วัน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้ประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม การนำขยะเทศบาลมาเข้าสู่กระบวนการคิดใหม่ทำใหม่ นอกจากจะสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินได้ปีละเฉียด 200 ล้านบาทแล้ว ยังสามารถลดสภาวะโลกร้อนจากการฝังกลบขยะแบบเดิมๆ และยังสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจ โดยการขาย Carbon Credit ได้อีกด้วย
แนะเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทีรย์..
ลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีเฉียด 80,000 ล้านต่อปี
ถึงบรรทัดนี้เกษตรกรของไทยคงไม่ปฏิเสธแล้วว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการทำการเกษตร ทั้งการปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และพืชผลทางการเกษตรต่างๆ จะมีผลดีต่อเกษตรกรไทย ทั้งช่วยในเรื่อง การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มผลผลิต ให้กับเกษตรกรอย่างได้ผลกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่า การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีนั้น ได้กลายเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายห่วงใยต่อเกษตรกรไทย เพราะนอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นแล้ว การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมียังมีผลต่อผลผลิตของเกษตรกร เพราะมีการปนเปื้อนของสารเคมี ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มิหนำซ้ำการใช้สารเคมียังส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อเกษตรเอง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเกษตรกรไทยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือสารธรรมชาติในการทำการเกษตรแล้ว นอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวเกษตรเอง ทั้งการช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและสุขภาพของเกษตรกรแล้ว ที่สำคัญประเทศไทยจะสามารถลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศได้จำนวนมหาศาล เพราะปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ (ดูตารางประกอบ) มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะตัวเลยการนำเข้าปุ๋ยเคมีในปี 2554 มีมูลค่ามากกว่า 71,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 สิงหาคม 2555
พาณิชย์ดันโลจิสติกส์สู่ฮับอาเซียน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (สอ.) กล่าวว่า ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยต่างมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ค้าทั้งในและนอกอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และฮ่องกงได้ขยายการลงทุนเข้ามาตั้งฐานการค้าและการกระจายสินค้าในประเทศไทย อีกทั้งยังให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์ 2555 หรือ The 9th Thailand International Logistics Fair 2012 (TILOG 2012) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ย.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยเพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
โดยกรมส่งเสริมการส่งออกได้ต่อยอดแนวทางสร้างเครือข่ายความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ด้วยการจัดกิจกรรมสัมมนา Symposium : ASEAN Trade Logistics Connectivity ขึ้นในงาน TILOG 2012 ช่วงวันที่ 20 ก.ย.55 โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในอาเซียนและจากประเทศคู่ค้าหลักมาร่วมเจรจาหารือเกี่ยวกับการวางแนวทางความร่วมมือด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 16 สิงหาคม 2555
กกร.ประชุมเวิร์คช็อปรับเออีซี 16 ส.ค.นี้ พร้อมเร่งแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค
ในงานสัมมนา Thailand Investment Environment : Maximizing the AEC Opportunity จัดโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมระบุว่ารัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( เออีซี) โดยเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยงไปยังจีนตอนใต้ และโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมทวายที่จะเชื่อมโยงกับประเทศพม่า
ทั้งนี้ ไทยจะต้องรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและมุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพราะไทยจะได้ประโยชน์จากตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน จะมีจีดีพีขนาดใหญ่ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ช่วยทดแทนตลาดยุโรปและสหรัฐที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดในการหามาตรการเสริมความสามารถการแข่งขันให้กับบางอุตสากรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขการค้าการลงทุนในเออีซีได้อย่างเต็มที่
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิพล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
ขณะนี้กำลังรวบรวมปัญหาและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการ
เพื่อเสนอต่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันที่ 16 สิงหาคมนี้
ในการประชุมเวิร์คช็อปเตรียมความพร้อมรับเออีซี เพื่อผ่อนปรนกฎระเบียบเงื่อนไขต่าง
ๆ ให้เอกชนมีประสทิธิภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปียังมีสัญญาณที่ดี
โดยนักลงทุนต่างชาติยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น
และเชื่อว่ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(บีโอไอ) ปีนี้จะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 600,000 ล้านบาท
โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหาร
เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ หลังจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ
มีความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมถาวร ที่คาดว่า จะแล้วเสร็จใน 1-2
เดือนนี้ ในขณะที่ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้เข้าสู่ภาวะปกติ
โดยมีการเดินเครื่องผลิตได้แล้วประมาณร้อยละ 80
นางกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนนโยบายด้านการค้า-การลงทุนในภาคบริการของไทย เนื่องจากรัฐบาลปกป้องมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถขยายตัวได้เร็วเหมือนภาคอุตสาหกรรมและตามข้อตกลงภายใต้เออีซี ทุกประเทศจะต้องเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น โดยให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ร้อยละ 70 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติลงทุนร้อยละ 49 จึงต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้. -สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 15 สิงหาคม 2555
พาณิชย์เร่งเครื่องดันส่งออกโต15%
พาณิชย์ เดินหน้าผลักดันเป้าหมายส่งออกปีนี้โต15% ตามแผนหวังเวลาที่เหลือ5 เดือนมีลุ้น
นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานแสดงสินค้าเมดอินไทยแลนด์ 2012 : พาณิชย์เทิดพระเกียรติเทิดไท้องค์ราชินี ถึง เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ยังกำหนดตัวเลขการขยายตัวอยู่ที่ 15% ตามเดิม โดยยังไม่มีการปรับลดอัตราการขยายตัว แม้ว่าตลาดส่งออกหลายประเทศมีปัญหาทางเศรษฐกิจก็ตาม เนื่องจากยังมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลืออีก 5-6 เดือนจนถึงสิ้นปี ยังมีโอกาสในการผลักดันการส่งออกได้มากขึ้น
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์มีการปรับยุทธศาสตร์การส่งออกตลอดเวลา พยายามมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆมาทดแทนตลาดส่งออกเก่าที่ลดลง ส่วนจะมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการส่งออกช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ประกอบการหรือไม่นั้น คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยดูแลกฎระเบียบ ช่องทางการส่งออกให้มีความสะดวกมากขึ้น
เหตุผลที่ยังไม่ปรับลดตัวเลขส่งออกปีนี้ เพราะต้องการกำหนดให้เป็นตัวเลขเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อทำให้ได้ ซึ่งทั้งเอกชนและภาครัฐต้องช่วยกันแต่ต้องยอมรับปัจจัยลบที่มีต่อการส่งออกมาจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ขอดูตัวเลขส่งออกเดือนก.ค.ที่เตรียมจะประกาศก่อน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดทิศทางการส่งออกที่ชัดเจนอีกครั้งนายภูมิกล่าว
สำหรับการจัดงานเมดอินไทยแลนด์ฯปีนี้ ระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค. ที่อิมแพค เมืองทองธานี ได้รวบรวมสินค้าจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพส่งออกสูง 7 กลุ่ม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มแฟชั่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสินค้าธุรกิจสปา โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการซื้อขายสินค้าได้กว่า 1,200 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและผู้ซื้อจากต่างประเทศกว่า 1 แสนคน
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 15 สิงหาคม 2555
"น้ำตาลขอนแก่น" กำเงินกว่า 3 พันล้านบาท
ลุยลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในเมียนมาร์ พร้อมขยายพื้นที่ปลูกอ้อยกว่าแสนไร่รองรับ
มั่นใจปีหน้าได้ข้อสรุป หลังกฎระเบียบเปิดรับ
ชี้เป็นโอกาสขยายการลงทุนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังเข้าไปบุกลงทุนในสปป.ลาวและกัมพูชา
คาดปีหน้าดันกำลังการผลิตน้ำตาลทรายดิบขึ้นเป็น 8 แสนตันต่อวัน
นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือKSL เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทได้มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และขยายพื้นที่ปลูกอ้อยที่ระดับกว่า 1 แสนไร่ รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 10 เมกะวัตต์ ควบคู่ไปด้วย ในสหภาพเมียนมาร์ โดยในเบื้องต้นต้องการลงทุนโรงงานน้ำตาลขนาดเล็ก 5 พันตันอ้อยต่อวัน หรือประมาณ 2-3 แสนตันอ้อยต่อปี ผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 500 ตันต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.1 พันล้านบาท ซึ่งแผนลงทุนดังกล่าวคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2556 หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาร์มีความชัดเจนในการให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนได้แล้ว
ทั้งนี้ การลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดเล็กก่อนเพื่อลดความเสี่ยง หากลงทุนโรงงานขนาด 2-3 ล้านตันอ้อยต่อปี เมื่อเกิดความเสียหายก็จะสูญเสียมาก ขณะเดียวกันจะต้องดูว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ที่จะเริ่มมีผลในปี 2558 จะสามารถให้สิทธิการลงทุนกับบริษัทอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามหากพบว่าการลงทุนประสบความสำเร็จด้วยดีก็สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้อีก
สำหรับการตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เป็นการขยายโอกาสการลงทุนในต่างประเทศของบริษัท จากปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาว และกัมพูชาอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกแล้ว 50% ของพื้นที่ทั้งหมดที่ 1.8 แสนไร่ ซึ่งบริษัทต้องการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันไม่ถึง 2-3% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนจะเพิ่มเป็นเท่าไรนั้น ต้องดูแผนลงทุนในอนาคตด้วยว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
นายจำรูญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนผลิตน้ำตาลทรายดิบในต่างประเทศ มีต้นทุนสูงกว่าการผลิตในประเทศไทยประมาณ 20-30% โดยต้นทุนที่สูงขึ้นมาจากการลงทุนด้านสาธารณูปโภค ทั้งสายส่งไฟฟ้า และถนน ซึ่งบริษัทจะต้องลงทุนทำเอง แต่ในประเทศไทย ภาครัฐได้ลงทุนด้านสายส่งไฟฟ้าและถนนรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่ม
"เรามีความเชี่ยวชาญด้านโรงงานผลิตน้ำตาลอยู่แล้ว การที่จะขยายไปยังประเทศอื่นคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องดูแนวทางการลงทุนในเมียนมาร์ให้ชัดเจนก่อน โดยปัจจุบันเมียนมาร์มีโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว แต่ขนาดเล็กหีบอ้อยไม่พอ ทั้งนี้เชื่อว่าหากเออีซีมีผลในอีก 3 ปีข้างหน้า เมียนมาร์น่าจะเปิดประเทศมากขึ้น เพราะหากกฎหมายไม่เอื้ออำนวย คนก็จะหันไปลงทุนประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีการขยับสัดส่วนรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ ขณะที่โรงงานน้ำตาลในกัมพูชาและลาว เชื่อว่าในปีนี้จะมีผลขาดทุนลดลงจากปีก่อน"
สำหรับแนวโน้มการดำเนินงานปี 2556 คาดว่าจะเติบโต ตั้งเป้าผลิต 8 ล้านตันอ้อยหรือผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 8 แสนตันต่อปี จากปีนี้ผลิตอยู่ที่ 7 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายดิบ 7 แสนตันต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตโรงงานหีบอ้อยที่จ.เลย ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีหน้า ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งในปีนี้รายได้ดังกล่าวคิดสัดส่วนเป็น 30% ของกำไรทั้งหมด เนื่องจากราคาขายและกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้บริษัทจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2556-2560) แต่จะไม่เกิน 50% ของกำไรทั้งหมด เนื่องจากบริษัทยังต้องการรักษาสัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลไว้ ส่วนปี 2556 บริษัทตั้งเป้าเงินลงทุนไว้ที่ 4 พันล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนขยายโรงงานน้ำตาลและโรงงานผลิตเอทานอล จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 3.5 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลมีกำลังผลิต 90 เมกะวัตต์
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในปีหน้าคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปีก่อนอยู่ที่ 25 เซ็นต์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าปี 2556 ไปแล้ว 30% และจะต้องทยอยทำสัญญาเพิ่มขึ้นอีก โดยปกติการทำสัญญาขายล่วงหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 80% ของยอดขายทั้งหมด
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 15 สิงหาคม 2555
จี้พาณิชย์ลดภาษีนำเข้าน้ำตาลรับ AEC
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ AEC กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย : อย่างไรได้ประโยชน์ ในงานมอบรางวัลชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ปี 2555 ว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เหลือเวลา 2 ปี 3 เดือน จะทำให้ตลาดน้ำตาลในอาเซียนเปิดเสรีมากขึ้น แต่มีบางประเทศที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลภายใน โดยมาเลเซียลดภาษีเหลือ 0 แล้ว แต่เมื่อส่งน้ำตาลไปแล้วจะระบุว่าน้ำตาลไทยคุณภาพต่ำและขอลดราคาตันละ 50-100 เหรียญ
กระทรวงพาณิชย์ ที่ทำหน้าที่เจรจาจะต้องทำงานหนักในช่วงเวลาที่เหลือ เพื่อให้อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ปฏิบัติตามข้อตกลงลดภาษีนำเข้าน้ำตาลเหลือ 5% ในปี 2558 จากปัจจุบันที่เก็บภาษีนำเข้า 38% ซึ่ง สอน.กังวลว่าเมื่อถึงกำหนดแล้ว ทั้ง 2 ประเทศจะไม่ลดภาษีตามข้อตกลง หรือกำหนดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีขึ้นมา โดยถ้าทุกประเทศทำตามข้อตกลงจะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมีโอกาสในอาเซียนมาก เพราะการส่งออกในอาเซียนมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ฤดูกาลผลิต 2554/2555 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อย ตันอ้อยละ 105 บาท รวม 15,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนเข้า AEC แล้วจะต้องศึกษาให้ชัดว่าเข้าข่ายการอุดหนุนเพื่อส่งออกหรือไม่ เพราะอาจมีสมาชิกอาเซียนบางประเทศยกประเด็นนี้ขึ้นมา และขณะนี้ไทยกำลังถูกสหรัฐตรวจสอบนโยบายจำนำข้าวและอาจฟ้ององค์การการค้าโลก เบื้องต้น สอน.คาดว่าการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อยไม่ผิด เพราะไทยไม่ได้ส่งออกต่ำกว่าราคาตลาดโลก และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่เพื่อให้มีรายได้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตจริง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องไปหารือกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อให้เปิดตลาดตามที่ตกลงไว้ โดยทั้ง 2 ประเทศต้องการปกป้องชาวไร่อ้อยของตัวเอง แต่ถ้าเปิดเสรีนำเข้าน้ำตาลจากไทยจะได้น้ำตาลราคาถูกลงกว่า ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ อาจให้ชาวไร่อ้อยไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปลูกอ้อย
จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 15 สิงหาคม 2555
วอนรัฐจี้ อินโดฯ - ฟิลิปปินส์ ลดภาษีน้ำตาลกรอบอาเซียน
สอน.-นักวิชาการ จี้ พาณิชย์ ติดตามเจรจาอินโด ฟิลิปปินส์ ลดภาษีนำเข้าน้ำตาลตามข้อตกอาเซียน เหลือ 5 % ในปี 2558 หวังเพิ่มโอกาสส่งออก เตือนเตรียมข้อมูลแจงอาเซียนปมใช้เงินอุดหนุนชาวไร่
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ AEC กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย:อย่างไรได้ประโยชน์ว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เหลือเวลา 2 ปี 3 เดือน จะทำให้ตลาดน้ำตาลในอาเซียนเปิดเสรีมากขึ้น แต่มีบางประเทศที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลภายใน โดยมาเซียนลดภาษีเหลือ 0 แล้วแต่เมื่อส่งน้ำตาลไปแล้วจะระบุว่าน้ำตาลไทยคุณภาพต่ำและขอลดราคาตันละ 50-100 ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์ต้องเจรจาให้อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ปฏิบัติตามข้อตกลงลดภาษีนำเข้าน้ำตาลเหลือ 5% ในปี 2558 จากปัจจุบันที่เก็บภาษีนำเข้า 38 % เรากังวลว่าเมื่อถึงกำหนดแล้วทั้ง 2 ประเทศ จะไม่ลดภาษีตามข้อตกลงหรือกำหนดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีขึ้นมา ถ้าเป็นเช่นนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลเสียโอกาสในอาเซียน
ปี 2554 ไทยส่งออกน้ำตาล 6.68 ล้านตัน
มีตลาดส่งออกหลักอยู่ในเอเชีย 5.98 ล้านตัน คิดเป็น89 %ของการส่งออกไปอาเซียน 2.72
ล้านตัน คิดเป็น 40% ของการส่งออกน้ำตาลไทยทั้งหมด
อินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้ามากที่สุด 1.31 ล้านตัน
นายประเสริฐ กล่าวว่าฤดูกาลผลิต 2554/2555 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
จ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อยตันอ้อยละ 105 รวม15,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนเข้าเออีซี
จะต้องศึกษาให้ชัดเจนว่าเข้าข่ายการอุดหนุนเพื่อส่งออกหรือไม่
เพราะอาจมีสมาชิกอาเซียนบางประเทศยกประเด็นนี้ขึ้นมา
และขณะนี้ไทยกำลังถูกสหรัฐตรวจสอบนโยบายจำนำข้าวและอาจฟ้ององค์การการค้าโลก
(ดับเบิลยูทีโอ) โดยในเบื้องต้น สอน.คาดว่าการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อยไม่ผิด
เพราะไทยไม่ได้ส่งออกต่ำกว่าราคาตลาดโลก
และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่เพื่อสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตจริง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณาบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องไปหารือกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพื่อให้เปิดตลาดตามที่ตกลงไว้โดยทั้ง 2 ประเทศต้องการปกป้องชาวไร่อ้อยของตัวเอง แต่ถ้าเปิดเสรีนำเข้าน้ำตาลจากไทยจะได้น้ำตาลราคาถูกลงกว่า ซึ่งรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศอาจให้ชาวไร่อ้อยไปปลูกพืชชนิดอื่น ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปลูกอ้อย โดยชาวไร่อ้อยอินโดนีเซียเป็นโอกาสแต่ไทยต้องมียุทธศาสตร์ในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การแปรรูปให้ได้ผลิตอื่นที่เพิ่มมูลค่าและการสร้างเครื่องหมายการค้า
นายมานะ ฤทธิชัยสมาจาร นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสี่แคว นครสวรรค์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่เออีซีแล้วไม่ควรมองอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลอย่างเดียว และควรผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าอ้อย เช่น เอทานอล โดยปัจจุบันไทยส่งออกน้ำตาล 70% ของน้ำตาลที่ผลิตได้และถ้าพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลอย่างเดียวอาจเสี่ยงเมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกอ้อยเพื่อสร้างโอกาสของเออีซี
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 สิงหาคม 2555
เปิดเออีซีไทยเสียเปรียบชาติอื่น สศช.แนะรัฐเร่งผลิตคนสายวิทย์-ไอที
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษาถึงการเตรียมความพร้อมด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน (เออีซี) เพื่อพิจารณาถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบใน 7 สาขาวิชาชีพข้างต้น พบว่า สาขาวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์และพยาบาล มีข้อได้เปรียบคือ คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับแนวหน้า อีกทั้งศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนรายได้ของแพทย์และทันตแพทย์ไม่ได้แตกต่างกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พ.ร.บ.วิชาชีพเป็นสิ่งที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพได้เป็นอย่างดี เพราะมีการสอบขอใบอนุญาตเป็นภาษาไทย ส่วนข้อเสียเปรียบเป็นในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ รวมทั้งปัญหาเรื่องค่าจ้างและความมั่นคงในการทำงานของพยาบาลในข้าราชการ
ขณะที่สาขาวิชาชีพบัญชี มีข้อได้เปรียบโดย พ.ร.บ.วิชาชีพ ช่วยปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพได้เป็นอย่างดี เพราะมีการสอบขอใบอนุญาตเป็นภาษาไทย และสภาวิชาชีพบัญชีมิได้สนับสนุนให้นักบัญชีไทยไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนข้อเสียเปรียบคือบริษัทต่างชาติรายใหญ่ได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ทางบัญชีมีต้นทุนต่ำ ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทยแข่งขันกันเองสูงอยู่แล้ว และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
นอกจากนี้ ในสาขาวิชาชีพสถาปนิก วิศวกรและนักสำรวจ มีข้อได้เปรียบ คือ การศึกษาสาขาวิศวกรรมของไทยอยู่ในระดับแนวหน้า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของวิศวกรไทยไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆในอาเซียน มหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศในอาเซียน และสภาวิศวกรไม่ได้สนับสนุนให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากนัก ส่วนข้อเสียเปรียบอุปนิสัยคนไทยรักความสะดวกสบาย ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งยกระดับวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและการเรียนต่อปริญญาตรีของนักศึกษาสายอาชีพ(ปวส.) ทำให้แรงงานระดับกลางขาดแคลน
ผลวิจัยพบว่าศักยภาพการแข่งขันของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ยังไม่สูงมากนักเพราะกำลังคนของไทยโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยของไทยมีจำนวนน้อย และคุณภาพของแรงงานสาขาต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ดังนั้นทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล หน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมทั้พัฒนาแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้นมีทักษะด้านภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน ไอทีนางสุวรรณี กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่15 สิงหาคม 2555
AEC ฟีเวอร์!! ซื้อสินค้าไทย 2 ล้านล้าน
อาเซียน (9 ประเทศ) เป็นตลาดใหญ่และ สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย...รองจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป แต่พอเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหา อาเซียนกลับกลายเป็นตลาดอันดับ 1 แทน สินค้าไทยที่ขายดีในอาเซียน 10 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถ ยนต์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและ ส่วนประกอบของเครื่อง น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ด พลาสติก เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบ ลูกสูบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังโดยตัวเลขการส่งออกของไทยไปอาเซียน ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้โต 8%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากเป็นในช่วงเศรษฐกิจปกติการเติบโต 8% อาจถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานแต่ในยามนี้ที่ตลาดส่งออกทั่วโลกติดลบ การเติบโตได้ขนาดนี้ ต้องพอใจ สถานการณ์การส่งออก 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้ในตลาดอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกรวม 28,625 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 893,100 ล้านบาท มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 6,218 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.7%
นอกจากการส่งออกของไทยไปมาเลเซีย ในอันดับแรกแล้ว สถิติการส่งออกที่น่าสนใจไป ยังอินโดนีเซียมีมูลค่า 5,690 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 11% สิงคโปร์ 5,576 ล้าน เหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นกว่า 1.8% ฟิลิปปินส์ 2,437 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 11%พม่า 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 15% ใน ขณะที่กัมพูชามีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 46%
หากมองอัตราการเติบโตต้องยอมรับว่าตลาดพม่ากับกัมพูชามีอัตราการเติบโตสูงสุด โดยสินค้าส่งออกสินค้า 10 อันดับแรก (ดังกล่าวแล้ว) ไปยังกัมพูชา เพิ่มขึ้นทุกรายการ มีอัตราเติบโตระหว่าง 14-380%ในขณะที่การส่งออกสินค้า 10 อันดับแรกไปพม่า เพิ่มขึ้น 8 รายการ มีอัตราการขยายตัวระหว่าง 3-156% ทว่า! สิ่งที่น่าจับตามองคือ การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ แม้ว่าอยู่ ในลำดับที่ 3 แต่มีอัตราชะลอตัว เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ความกังวลเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจและหนี้สินของประเทศในยูโรโซน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งได้มีการเตือนจากภาครัฐว่า อาจจะส่งผลต่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ลดลง
นายภูมิ สาระผล รมช.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้การจัดอันดับ ความสามารถในการแข่งขันของ 59 ประเทศ ปรากฏว่า ในปี 2555 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 4 รองจากฮ่องกง สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเหตุผลที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัว ผลผลิตลดลงและราคาสินค้าสูงขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 2ทำให้ความสามารถ ในการแข่งขันของสิงคโปร์ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยที่ภาครัฐเริ่มนโยบายจำกัดการจ้างงานแรงงานต่างชาติควบคุม จำนวนการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ และให้ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้น แต่สิงคโปร์ยังเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามสำหรับไทย มาดูตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมาไทยบ้าง
ในช่วง 6 เดือนแรก ไทยนำเข้าสินค้าจาก อาเซียนรวม 19,847 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 619,577 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4%สินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่อง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิน แร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แผง วงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ถ่านหิน สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก รถยนต์ เป็นต้น
สรุปการส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยกับอาเซียน คือ ไทยได้ดุลการค้า 273,523 ล้านบาท ถ้าครึ่งปีหลังไม่พลิกล็อก ยอด การส่งออกของไทยไปอาเซียนคงทะลุ 2,000,000 ล้านบาท!!!
จาก http://www.siamturakij.com วันที่15 สิงหาคม 2555
ปีนี้ราคาอ้อยไทยจะสูงทำลายประวัติศาสตร์อีกครั้ง
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในการเสวนาพิเศษ เรื่อง AEC กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย : อย่างไรได้ประโยชน์ ว่า ปีนี้ประเทศไทยสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายได้ราคาดีที่สุดที่ 24 เซนต่อออนซ์ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตนี้จะสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย โดยราคาจะสูงกว่าตันละ 1,000 บาทอย่างแน่นอน ที่ความหวาน 10 CCS ทั้งนี้ จะสามารถสรุปราคาอ้อยขั้นสุดท้ายได้หลังวันที่ 30 กันยานยนนี้
อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 ปี 4 เดือน ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ดังนั้นอุตสาหกรรมอ้อยไทยจะต้องปรับตัว เพราะอาเซียน 10 ประเทศจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี ซึ่งน้ำตาลเป็นสินค้าก็จะเคลื่อนย้ายเข้าและออกประเทศในเออีซีเสรีเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนย้ายแรงงานผู้เชี่ยวชาญ แรงงานฝีมือและเงินทุน
สำหรับน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหว ประเทศที่สงวนไว้เป็นสินค้าอ่อนไหว เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะต้องลดกำแพงภาษีศุลกากรให้กับน้ำตาลไทย จากที่ปัจจุบันจัดเก็บถึงร้อยละ 38 ให้เหลือร้อยละ 5 ซึ่งเรื่องดังกล่าวภาครัฐจะต้องเร่งเจรจาผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่มีไว้และจะต้องระวังเรื่องการใช้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อย ซึ่งจะมีการตรวจสอบว่า ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือไม่ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยยังมีโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจในลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ทั้งการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านอ้อยออกไป รวมถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะผลิตและแสวงโอกาสในการขายอ้อยพันธุ์ดีให้กับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ผลิตและขายพันธุ์ดอกทิวลิป
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรได้อย่างเข้มแข็งก็สามารถเจาะตลาดได้เช่นกัน พร้อมกันนี้ยังมีตลาดการรับสร้างโรงงานหีบอ้อย โรงงานผลิตน้ำตาลให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้และการที่พื้นที่กลุ่มประเทศอาเซี่ยนมีสภาพภูมิอากาศไม่ต่างกันนักทุกประเทศจะผลิตอ้อยได้ จะส่งผลให้มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยไทยต้องสร้างความแตกต่าง โดยจะต้องไม่เผาอ้อยเพื่อเก็บอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ปีหน้าประเทศไทยจะมีผลผลิตอ้อยเพิ่มเป็น 100 ล้านตัน แต่ประเทศไทยยังประสบปัญหาไม่สามารถผลิตและส่งออกได้ทันจึงต้องปรับตัว ดังนั้น ถึงเวลาที่ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับตัวอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้พร้อมรับกับการเกิดขึ้นของเออีซี และจะต้องออกไปแสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายตลาดจากประเทศไทยเป็นตลาดเออีซี
สำหรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่ปัจจุบันเป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์นั้นปัจจุบันเป็นราคาที่สมดุลเพราะเกษตรกรและโรงงานรวมถึงผู้บริโภคยังพอใจ ส่วนเมื่อเออีซีเกิดขึ้นราคาจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป
มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมีความแข็งแกร่งกว่าอินโดนีเซีย และมาเลเซีย
แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่จะตอบโจทย์สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย คือ
การวิจัยและพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สอน.
ยังจัดพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลทรายดีเด่น ประจำปี 2555 โดยมี
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เป็นประธานในพิธีมอบ.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 14 สิงหาคม 2555
สมอ.สั่งคุมเข้มสินค้าเข้าไทยรับเปิดเออีซี ป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์ขาดคุณภาพ
เผยตั้งแต่ ต.ค.นี้ ผู้ประกอบการจะนำเข้าสินค้าก่อนขออนุญาตไม่ได้
สมอ.คุมเข้มการนำเข้าสินค้าที่มีมอก.บังคับ
ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า ป้องกันสินค้าไม่ได้คุณภาพเข้ามาทำตลาดในประเทศ
ก่อนเปิดเออีซี หลังผ่อนผันนำเข้าก่อนขออนุญาต เจอปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
เปิดเผยว่า
สมอ.กำหนดนโยบายให้การนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่กำหนดให้มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(มอก.) แบบบังคับจะต้องได้รับอนุญาตก่อนนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555
ที่ผ่านมา
สมอ.ผ่อนผันให้นำเข้าได้ก่อนแล้วจึงมาขออนุญาต
แต่ต่อไปสินค้านำเข้าทุกชนิดจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพจาก สมอ.
เพื่อป้องกันสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
ส่งเข้ามาในไทย
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำเข้าสินค้ามาก่อนจึงมาขอใบอนุญาต
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นเด็กและเหล็ก
โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนและพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขายในตลาดส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากจีน
ทำให้การควบคุมและตรวจสอบได้ยากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ
นายณัฐพล กล่าวว่า ในการปฏิบัติที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะนำเข้าสินค้ามาก่อนแล้วมาขอให้ สมอ.ออกหนังสือตรวจปล่อยสินค้าออกจากกรมศุลกากร และถ้าไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าจาก สมอ.ก็จะถูกอายัดไว้ที่โกดังก่อนจนกว่าจะมีหนังสืออนุญาตนำเข้าจึงจะขนย้ายสินค้าได้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่มีผู้ประกอบการบางรายแอบนำสินค้าที่ถูกอายัดออกไปจำหน่าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคได้เพราะสินค้าดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
ผู้ประกอบการจะนำเข้าสินค้าทุกประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้
โดยสมอ.จะออกหนังสืออนุญาตก่อนที่จะนำเข้า
ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานสินค้ามายื่นให้กับ สมอ.ตามกฎหมาย
โดยแนวทางใหม่ที่
สมอ.จะนำมาใช้จะเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วย
เพราะเมื่อถึงเวลานั้นจะมีสินค้าจากหลากหลายพื้นที่ไหลเข้าออกในจำนวนที่มากขึ้น
นายณัฐพล กล่าวว่าการออกใบตรวจปล่อยสินค้าจากกรมศุลกากรของ สมอ.มีปีละประมาณ 30,000 ใบ ซึ่งในจำนวนนี้มีสินค้าที่นำเข้ามาก่อนได้รับใบอนุญาตประมาณ 30% โดยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่น้อย จึงทำให้การตรวจสอบยากและต้องควบคุมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ห้ามนำเข้ามาก่อนได้ใบอนุญาตเลย
หากตรวจพบว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าลักลอบนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000-50,000 บาท หรือหากเป็นสินค้าที่ถูกอายัดแล้วแอบนำไปจำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนหน้านี้ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าจากการตรวจติดตามตรวจสอบของสมอ.พบ มีการผลิตผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน จำนวนมากอาทิ เหล็กก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่น หากถึงมือผู้บริโภคจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ทั้งนี้ได้สั่งให้คุมเข้มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เพื่อตัดวงจรอันตรายต่อประชาชน ติดตามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 สิงหาคม 2555
ไทยกินขาดธุรกิจสารเคมีเออีซี
ฟันธงไทยกินขาดธุรกิจสารกำจัดศัตรูพืชในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะมาตรฐานการขึ้นทะเบียนเหนือกว่าหลายชาติในเออีซี โดยต้องทดสอบพิษวิทยาจากห้องแล็บมาตรฐาน OECD เท่านั้น เสนอเร่งรณรงค์เกษตรกรไทยยกระดับความรู้ความเข้าใจสารเคมีเกษตร
ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวถึงธุรกิจสารกำจัดศัตรูพืชในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2558 ว่า เปรียบเทียบแล้ว ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบชาติอาเซียนด้วยกัน ในการขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืช
เนื่องจากการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยต้องทดสอบพิษวิทยา (Toxicity Study) ในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practice) จากกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องส่งตัวอย่างสารเคมีไปทดสอบพิษในห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ เช่น อินเดีย และยุโรป
การส่งตัวอย่างสารกำจัดศัตรูพืชไปทดสอบในห้องแล็บ GLP ต่างประเทศเป็นต้นทุนที่สูงมาก แต่อีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่สูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก เวลาจะไปขึ้นทะเบียนในประเทศในอาเซียนก็จะง่ายขึ้น
ในทางกลับกัน หลายชาติในกลุ่มอาเซียน ไม่ว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และลาว ยังไม่มีข้อกำหนดนี้ในการขึ้นทะเบียน
ดังนั้น ถ้าเราจะไปจดทะเบียนเพื่อทำธุรกิจในบ้านเขาก็ง่ายกว่า ส่วนเขาจะมาจดเพื่อทำธุรกิจในประเทศไทยคงจะทำได้ยากกว่า เป็นโอกาสดีที่บริษัทไทยจะขยายฐานธุรกิจสารกำจัดศัตรูพืชในเออีซี
อย่างไรก็ตาม ดร.วีรวุฒิกล่าวว่า ถึงแม้สารกำจัดศัตรูพืชผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียนด้วยมาตรฐานที่สูง แต่ยังมีสิ่งที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทย คือการใช้สารกำจัดศัตรูพืช โดยที่เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ ที่ผ่านมาจึงมักเกิดปัญหาการใช้ผิดวัตถุประสงค์ (Misuse) ตั้งแต่การเลือกใช้ อัตราการใช้ ระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ ตลอดจนการฉีดพ่นของเกษตรกร
มันกระทบไปหมด ทั้งแต่ตัวเกษตรกรเอง ในเรื่องต้นทุนการผลิต ความปลอดภัยในการใช้ไปจนถึงผู้บริโภคปลายทาง การดื้อยา และการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ตรงข้าม ถ้ามีความรู้ความเข้าใจดีกลับจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิต ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพและปลอดภัย จำเป็นต้องรณรงค์ส่งเสริมยกระดับความรู้ให้เกษตรกรอย่างจริงจัง ดร.วีรวุฒิ กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 สิงหาคม 2555
ส่งออกไทยไปอาเซียนโต 8% มาเลย์ครองแชมป์มูลค่า-กัมพูชโตเฉียด 50%
ส่งออกไทยไปตลาดอาเซียนโต 8% มาเลย์ครองแชมป์มูลค่า ขณะที่กัมพูชามีอัตราขยายตัวสูงเฉียด 50% ชี้เคลื่อนย้ายการลงทุนเริ่มมีสัญญาณ น้ำมัน อุตสาหกรรมเครื่องจักร เหล็กค้าขายสูงรั้งท็อปเท็น
นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยถึง การดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการเชิงรุกในตลาดอาเซียน(9ประเทศ)ว่า สถานการณ์การส่งออก 6 เดือนแรก(ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ อาเซียนซึ่งเป็นตลาดศักยภาพสูงมีมูลค่าการส่งออกรวม 28,625 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 8.8 แสนล้านบาท) หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปี 2554 ไทยส่งออกรวมคิดเป็นมูลค่า 54,045 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ เพิ่มขึ้น 22% มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดถึง 6,218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่กัมพูชามีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 46% หรือ 19,49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของอาเซียน 10 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพาราคา เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
สำหรับการนำเข้า 6 เดือนแรก อาเซียนนำเข้ารวม 19,847 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 619,577แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3.4% โดยสินค้านำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ถ่านหิน สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ น้ำมันสำเร็จรูป เชื้อเพลิงอื่นๆ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก รถยนต์นั่ง เป็นต้น
นอกจากการไทยส่งออกไปยังมาเลเซียในอันดับแรกแล้ว สถิติการส่งออกที่น่าสนใจไปยังอินโดนีเซียมีมูลค่า 5,690 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 11% สิงคโปร์ 5,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 % ฟิลิปปินส์ 2,437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 11 % พม่า 1,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 15 % โดยการส่งออกไปยังกัมพูชาสินค้า 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้นทุกรายการ มีอัตราเติบโตระหว่าง 14 380% ในขณะที่การส่งออกไปพม่าสินค้า 10 อันดับแรก เพิ่มขึ้น 8 รายการ มีอัตราการขยายตัวระหว่าง 3 - 156%
นายภูมิ กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ แม้ว่าอยู่ในลำดับที่ 3 และมีอัตราชะลอตัว โดย 6 เดือนแรกของปี 54 มีอัตราขยายตัวกว่า 32% หรือ 5,479 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจและหนี้สินของประเทศในยูโรโซน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯและจีน ซึ่งได้มีการเตือนจากภาครัฐว่า อาจจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ลดลง
แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 59 ประเทศ ปรากฎว่า ในปี 2555 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 4 รองจากฮ่องกง สหรัฐฯ และสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเหตุผลที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัว ผลผลิตลดลง และราคาสินค้าสูงขึ้นปีนี้เป็นปีที่ 2 แม้ว่าความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ลดลง แต่น่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาช่วงสั้นๆ อันเนื่องมาจาการการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยที่ภาครัฐเริ่มนโยบายจำกัดการจ้างงานแรงงานต่างชาติ ควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ และให้ค่าเงินเหรียญสิงคโปร์แข็งแกร่งขึ้น นายภูมิ กล่าว
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 13 สิงหาคม 2555
ก.วิทย์บูรณาการงานวิจัยพลังงานทดแทน
กระทรวงวิทย์ จับมือ 4 กระทรวงหลัก บูรณาการงานวิจัยพลังงานทดแทน เปิดแผนปฏิบัติการฉบับแรก ครอบคลุม 9 สาขา เน้นวิจัยสอดคล้องนโยบายพลังงานของประเทศและผู้ใช้งาน
นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงวิทย์และกระทรวงพลังงาน ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ วิจัยและพัฒนาการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. มาใช้พัฒนาพลังงานทดแทน และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 36 หน่วยงานจาก 5 กระทรวงหลักคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ
ทั้งนี้ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ การใช้ วทน.เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนในปี 2555-2559 ซึ่งครอบคลุม 9 สาขา คือ เอทานอล ไบโอดีเซล พลังงานทดแทนภาคขนส่งในอนาคต พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ และพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ในอนาคต แผนดังกล่าวถือว่าเป็นแผนปฏิบัติการฯ การใช้ วทน. พัฒนาพลังงานทดแทนฉบับแรกของประเทศ ที่จัดโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานทดแทนของประเทศและความต้องการของผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง และเชื่อว่าจะเพิ่มโอกาสในการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนถึงร้อยละ 25 ภายในปี 2559
สำหรับผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท ภายในปี 2555-2559 ซึ่งปัจจุบันมีโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมผลักดันแล้วกว่า 190 โครงการ โดยมีตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์พืชพลังงาน การผลิตใช้ทั้งระดับชุมชนและเชิงพาณิชย์ รวมถึงเทคโนโลยีอนาคต ทั้งนี้ความคืบหน้าล่าสุด คาดว่างานวิจัยพัฒนาน้ำมันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ หรือ BHD ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสามารถนำเสนอผลงานได้ภายในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสำหรับการผลิตน้ำมันชีวภาพสำหรับเครื่องบินหรือไบโอเจ็ทอีกด้วย.
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 13 สิงหาคม 2555
อุตฯตั้งทีมลงพื้นที่สกัดรง.สารพิษ
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าจากกรณี ที่มีข่าวโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งกากสารพิษ การเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาชุมชมประท้วงต่อต้านการสร้างโรงงานใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบาย ให้อุตสาหกรรมจังหวัดเข้มงวดกับการปฏิบัติงานกำกับดูแลโรงงานแต่ละจังหวัดที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะการ ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานตามแผนงานประจำปี สำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยง หรือมีข้อร้องเรียน ก็จะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าไปตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเข้าไปสุ่มตรวจโรงงานในทุกจังหวัด โดยเฉพาะโรงงานที่มีปัญหาร้องเรียนซ้ำซาก โรงงานที่ต้องมีความปลอดภัยสูง และโรงงานที่เสี่ยงต่อการมีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องรายงานตรงต่อปลัดอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หากพบปัญหาโรงงานในพื้นที่ใด อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้อง มีส่วนในการรับผิดชอบ
นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า ได้กำชับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญใน 3 เรื่อง ได้แก่ การเข้มงวดอนุญาตโรงงานที่อาจ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหา และให้มีการเสนอปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย หรือที่เป็นอุปสรรคต่อ การกำกับควบคุม ทั้งนี้ โรงงาน ที่ปฏิบัติตามกฎหมายจะได้รับการ ส่งเสริมสนับสนุน และได้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะที่โรงงาน ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและสร้างความ เดือดร้อนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะได้รับการลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม 2555
เอกชนไม่รอรัฐแล้ว ใครใคร่ย้ายโรงงานย้าย!
น้ำท่วมหรือไม่ท่วมปีนี้ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ
คือเอกชนไม่รอให้รัฐบาลทำอะไรเพื่อป้องกันปัญหาแล้ว ต่างคนต่างทำ
ต่างคนต่างสร้างแผนป้องกันตนเอง และเมื่อไม่มีการประสานส่วนกลาง, ก็จะกลายเป็น
เรื่อง "ตัวใครตัวมัน" อย่างช่วยไม่ได้
เหมือนที่หาดใหญ่ เอกชนรวมกันลงขันเพื่อติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อ "ระวังภัย"
จากการก่อเหตุร้ายหลังจากที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดนกระทบค่อนข้างหนักหน่วง
ตีความได้สองทาง
คือหนึ่งเอกชนของไทยเราเข้มแข็งและมีความคิดเริ่มได้ด้วยตนเอง
ไม่ต้องการเป็นภาระของรัฐบาลและภาษีประชาชน จึงรวมตัวกันทำอะไรต่อมิอะไรเองแล้ว
ไม่รอรัฐยื่นมือมาให้อีกต่อไป
หรือแปลความอีกอย่างก็คือเอกชนไม่มีความเชื่อในฝีมือของรัฐบาลอีกต่อไป
จากนี้ก็จะทำอะไรเองเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
เพราะประสบการณ์สอนพวกเขาว่าการหวังพึ่งรัฐก็มีแต่จะผิดหวัง
ผมหวังว่าจะเป็นอย่างแรก เพราะการ
"ขาดศรัทธา" และ "สิ้นหวัง" นั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงกว่าการ "ริเริ่มด้วยตนเอง"
ในสังคมที่นับวันจะถูกนโยบายประชานิยมกล่อมให้รอรัฐบาลเข้ามาทำอะไรให้โดยที่ไม่ต้องทำเอง
แต่น้ำท่วมใหญ่และการก่อเหตุทางใต้นั้นเป็นเรื่องใหญ่
เกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การสร้าง "ความน่าเชื่อถือ"
ของรัฐบาลต่อประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หากขาด "ศรัทธา" เสียแล้ว, อย่างอื่นๆ
ในบ้านเมืองก็จะกลายเป็นเรื่อง "ไร้ขื่อไร้แป" อย่างน่าอันตรายยิ่ง
รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ บอกนักข่าวว่าจากการประชุมอนุกรรมการพิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัยครั้งที่ 4 เมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น มีการขอลงทุนพื้นที่ใหม่ 2 โครงการ คือ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุน 5,772 ล้านบาท เดิมตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้ายไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และบริษัท เอคโค่ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรองเท้าและชิ้นส่วนจากเดนมาร์ก ลงทุน 331 ล้านบาท เดิมอยู่นิคมฯ สหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยาเหมือนกัน ย้ายไปอยู่ อ.หนองม่วง จ.ลพบุรี
รัฐมนตรีอุตสาหกรรมบอกว่าการย้ายออกจากพื้นที่การลงทุนเดิมน่าจะมาจากความไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันน้ำท่วมของพื้นที่เดิม
โดยเฉพาะเอคโค่ย้ายการลงทุนไปพื้นที่ใหม่เกือบทั้งหมด
ภาพอย่างนี้คือปัญหาที่ทางการต้องรีบแก้ไข จะปล่อยให้ "ใครใคร่ย้าย, ย้าย" หรือ
"ใครใคร่อยู่, อยู่"
เพราะทุกคนต้องเสี่ยงเอาเองหรือต้องตัดสินชะตากรรมด้วยตนเองเช่นนี้ย่อมเป็นปมประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในภาพรวม
เรื่องอย่างนี้ไม่จำกัดเฉพาะในประเทศไทย เพราะทุกบริษัทต่างชาติมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองนอก และเมื่อข่าวเช่นนี้ออกไป ก็จะเท่ากับเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เขากลัวอยู่เดิมแล้ว นั่นคือ"ประเทศไทยจะเอาอยู่" หรือเปล่า?จากการสำรวจของทีมข่าวของเรานั้น การก่อกำแพงสูงรอบๆ เมืองและรอบๆ นิคมอุตสาหกรรมกำลังเริ่มแล้วอย่างจริงจัง ตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาถึงจังหวัดรอบๆ กทม.ที่โดนน้ำท่วมหนักเมื่อปีที่แล้ว, โดยที่ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ประสานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความลักลั่นหรือความโกลาหล หากต่างฝ่ายต่างต้องการเพียงป้องกันตนเอง และไม่สนใจว่าน้ำที่ถูกสกัดกั้นออกไปนั้นจะไปกระทบเขตอื่นๆ หรือไม่อย่างไร
นี่คือการขาดเอกภาพและการบูรณาการที่เป็น
"ภาษาทางการ" ที่ใช้มาตลอดในด้านนโยบาย
แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
มองจากทางอากาศ เราก็จะเห็นกำแพงป้องกันน้ำท่วมที่เลี้ยวลดไปมาจากภาคกลางลงมารอบๆ
เมืองหลวงของประเทศ
ไม่มีใครบอกได้ว่าแนวกำแพงน้อยใหญ่เหล่านั้นจะไปจบลงตรงไหน
และสุดท้ายจะมีหน้าตาและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างไร
ใครหาทางออกให้ "น้องน้ำ" บ้าง?
จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ชี้ปราบสารเคมีปลอมไม่เวิร์ค-ควรยกระดับร้านค้ามาตรฐานเดียวกัน
ระบุมาตรการปราบสารเคมีเกษตรปลอม โดยให้เกษตรกรซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านคิว ช็อป ไม่เวิร์ค เพราะมีจำนวนร้านค้าแค่ 300 รายจากร้านค้าทั้งประเทศ 16,000 ราย ชี้กระทรวงเกษตรฯ ควรยกระดับร้านค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งหมดเหมือนร้านยาคน เชื่อเป็นแบบสากลแก้ทั้งปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน และอันตรายจากการใช้ในวงกว้าง แถมตอบโจทย์เออีซีได้ด้วย
ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้มาตรการตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุมสารเคมีเกษตรปลอมอย่างเข้มงวด ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช โดยแนะนำให้เกษตรกรซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากร้านค้าคิว ช็อป (Q Shop) ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรองกว่า 300 แห่ง ว่า อาจทำได้ลำบาก เฉพาะร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชมีอยู่ประมาณ 16,000 ร้าน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านคิว ช็อปที่มีเพียง 300 ร้าน จึงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้
แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ ควรใช้นโยบายยกระดับมาตรฐานร้านค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์ปลอมได้ระดับหนึ่ง และจะช่วยลดปัญหาการใช้ที่ไม่ถูกต้อง ใช้มากเกินความจำเป็น และปัญหาอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคไปในตัว
ทั้งนี้ หลักการกำกับร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชโดยสากล จะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ระดับปริญญาตรีด้านการเกษตรเป็นพนักงานประจำร้าน และต้องมีใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น เภสัชกร วิศวกร หรือสถาปนิก
ไม่เช่นนั้น ทางการก็ต้องไล่จับร้านค้าอย่างที่ทำอยู่ขณะนี้ ซึ่งทำได้ประเดี๋ยวประด๋าวก็เลิก แล้วปัญหาก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม ถ้าทำให้ทุกร้านมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน และตรวจสอบเป็นประจำ ก็จะพัฒนายกระดับได้เหมือนร้านขายยาคนของกระทรวงสาธารณสุขที่ปัจจุบันไม่มีหมอตี๋อีกแล้ว
นายกสมาคมคนไทยธุรกิจ กล่าวอีกว่า ร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชส่งผลกระทบต่อจำนวนคน และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับร้านค้ายาคน เพราะยาคนขายยาเฉพาะผู้ป่วยเป็นรายๆ เท่านั้น ในขณะสารกำจัดศัตรูพืชขายให้เกษตรกรเป็นรายๆ ก็จริง แต่ใช้กับพืชจำนวนมาก หากควบคุมกำกับไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะเมื่อไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 สินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อาหารของเรา มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงเท่าไหร่ก็เท่ากับเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้สูงกว่าชาติอื่นเท่านั้น ดร.วีรวุฒิ กล่าว
จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 9 สิงหาคม 2555
พาณิชย์ติวเข้มชาติกลุ่มอาเซียน ตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ก่อนเปิดเออีซี
นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมต้องการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจของไทยตื่นตัวที่จะรู้จักลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ภายในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) วันที่ 1 มกราคม 2558
หากไม่ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการละเมิด ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายทางการค้าในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมความรู้ซึ่งกันและกัน ป้องกันลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และสุดท้ายเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการลักลอบส่งออก และนำเข้าสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มการจดสิทธิบัตรในอาเซียนให้มีอัตราการเติบโตร้อยละ 15-20 ต่อปี นางปัจฉิมา กล่าว
ดังนั้นก่อนการเปิด เออีซี กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยได้ร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของกลุ่มอาเซียน โดยเริ่มจากเวียดนามเป็นประเทศแรกจัดทำโครงการบุกตลาดอาเซียนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และจะขยายไปยังประเทศลาว กัมพูชา พม่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ต่อไป
จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 สิงหาคม 2555
ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยพืชร่วมเครื่องกลเติมอากาศ - ทิศทางเกษตร
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรวิธีบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ที่บริเวณหนองสนม ตำบลเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ทรงเห็นว่า สภาพน้ำเสียจากชุมชนที่ไหลลงหนองสนม นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ลำพังการใช้ผักตบชวาเพื่อกำจัดน้ำเสียเพียงอย่างเดียว ย่อมจะไม่สามารถทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้นเท่าที่ควร จึงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานและเทศบาลเมืองสกลนคร ออกแบบปรับปรุงแนวคลองระบายน้ำให้ใช้ได้ทั้งระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย โดยใช้รูปแบบง่าย ๆ ด้วยการใช้พืชน้ำผสมผสานกับเครื่องเติมอากาศ เพื่อช่วยประหยัดค่าพลังงานในการเติมอากาศลงไปในน้ำเสีย
ต่อมาในปี 2533 กรมชลประทาน ได้นำแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ดังกล่าว มาศึกษา วิจัย และพัฒนา จนประสบผลสำเร็จได้ ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกสิทธิบัตรรับรอง และเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา นับเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องที่ 3 ต่อจาก กังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
นางสุนันทา เพ็ญสุต ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยเปิดเผยว่า ในการบำบัดน้ำเสีย จากเดิมใช้การเติมอากาศลงไปในน้ำเพียงอย่างเดียว แม้จะทำให้น้ำมีออกซิเจนและคุณภาพน้ำดีขึ้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่มีสีเขียวจากการเกิดของสาหร่ายชั้นต่ำได้ ทำให้ดูเหมือนว่า น้ำยังเสียเหมือนเดิม จึงได้มีการพัฒนาระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โดยใช้ระบบรางพืชร่วมกับเครื่องกังหันชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
สำหรับระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ตามแนวพระราชดำริ จะประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ ๆประกอบด้วย
1. กังหันชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ แหล่งน้ำที่ต้องการบำบัด จะเลือกให้แบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของแหล่งน้ำ หากแหล่งน้ำมีขนาดใหญ่และลึกควรจะใช้เครื่องกังหันชัยพัฒนา ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงประมาณ 400,000 บาท แต่ถ้าแหล่งน้ำไม่ลึกมากจะใช้เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ราคาประมาณ 40,000 บาท
2. รางพืช จะสร้างไว้บริเวณขอบสระน้ำ ที่ใกล้กับจุดที่น้ำเสียมากที่สุด จะเป็นรางที่ทำด้วย คอนกรีต หรือไม้ก็ได้ ซึ่งมีอยู่ 2 ขนาด คือ (กว้าง x ยาว x สูง) ขนาดเล็ก 0.5 x 10 x0.5 เมตร ต้นทุนประมาณ 20,000 บาท และขนาดใหญ่ 1.0 x 20 x 0.5 เมตร ต้น ทุนประมาณ 40,000 บาท จะวางในแนวเส้นตรง หรือโค้ง หรือแบ่งเป็นช่วง ๆ ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งราคาดังกล่าวรวมพืชแช่น้ำ ทราย ที่จะใช้ปลูก และเครื่องสูบน้ำแล้ว
3. พืชแช่น้ำ เช่น พุทธรักษา ปักษาสวรรค์ ต้นเตย เป็นต้น ปลูกไว้ในรางพืชโดยใช้ทรายหยาบเป็นวัสดุสำหรับปลูกพืช ส่วนจะเลือกพืชแช่น้ำชนิดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ความเหมาะสม และภูมิทัศน์ ซึ่งเมื่อปลูกแล้วจะต้องดูสวยงามกลมกลืนกับสถานที่
4. เครื่องสูบน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์ กลางไม่เกิน 2 นิ้ว เพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำให้ไหลผ่านรางพืชอย่างช้า ๆ แล้วไหลกลับลงสู่แหล่งน้ำอีกครั้ง วนเป็นวัฏจักรอย่างนี้ประมาณวันละ 6-12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพแหล่งน้ำนั้นว่ามีน้ำเสียมากน้อยแค่ไหน
5. ตู้ควบคุมไฟฟ้าและสายไฟใต้น้ำ เนื่องจากกังหันชัยพัฒนา หรือ เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ตลอดจนเครื่องสูบน้ำจะต้องใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
ผลจากการทดลองใช้ พบว่า สามารถลดปริมาณสาหร่ายชั้นต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำที่มีสีเขียว ลดจำนวนการใช้เครื่องกลเติมอากาศ ลดพื้นที่ที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำใสขึ้น น้ำสีเขียวลดลง กลิ่นเหม็นหายไป สามารถวัดสภาพน้ำได้ง่าย โดยดูการเจริญเติบโตของพืชไม่ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากพืชหยุดเจริญเติบโตแสดงว่า แหล่งน้ำนั้น ๆ มีคุณภาพน้ำดีขึ้น นอกจากนี้ราคายังถูกดูแลรักษาง่ายและช่วยทำให้ภูมิทัศน์ของพื้นที่สวยขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์กล่าวโครงการดังกล่าวปัจจุบันติดตั้งในแหล่งน้ำอื่น ๆ ไปแล้วกว่า 171 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องการนำระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำเสีย สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิชัยพัฒนา หากเป็นโรงเรียน หรือ วัด จะพิจารณาช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ใด ๆ ซึ่งกรมชลประทานพร้อมที่จะเข้าไปช่วยติดตั้งทันที.
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 สิงหาคม 2555
ก.อุตฯเร่งผลักดันอุตฯสร้างสรรค์ยั่งยืนใน20ปี
กระทรวงอุตสาหกรรม
เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรม สร้างสรรค์และยั่งยืน ใน 20 ปี แนะ ผปก.เร่งปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง
รับ AEC
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
กล่าวเปิดงานสัมมนาและบรรยายพิเศษเรื่อง ทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมไทย
ต่อผู้บริหารโรงงาน ต้องปรับตัวอย่างไร ว่า การเปิด AEC ภายในปี 2558
ถือเป็นโอกาสสำคัญ สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่จะมีตลาดรองรับสินค้าที่ใหญ่ขึ้น
แต่การเปิด AEC ยังคงเป็นทั้งผลบวกและผลลบต่อบางอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย
ต้องศึกษาทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งทิศทางของกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลและยั่งยืนใน
10 ปี โดยในระยะ 5 ปีแรก เป็นการเตรียมความพร้อมสู่ AEC ระยะ 10 ปี
พัฒนาอุตสาหกรรมให้ครบวงจร โดยจะต้องมีโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ
และระยะ 20 ปี จะต้องมีตราสินค้าไทย ที่ก้าวไกลถึงตลาดโลก หรือ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวให้พร้อมต่อการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น ด้วยการลดต้นทุนจากกระบวนการผลิต สร้างคุณภาพสินค้า ดูแลบริการ และมีความฉับไวที่จะสนองต่อความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงพัฒนานวัฒกรรม และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 8 สิงหาคม 2555
อุตฯแจงตั้งกก.คัดรง.มลพิษไร้ทุจริตอ้างทำงานโปร่งใส10วันรู้ผลเล็งแจกโบนัสรง.ดีต่ออายุ5ปี
กระทรวงอุตฯ แจงกกร. ตั้งกรรมการคัดกรองโรงงานมลพิษซ้ำซ้อน เพื่อความรอบคอบไร้ทุจริต
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าพร้อมที่จะหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันกับภาคเอกชน และยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงานได้ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ทำให้การอนุมัติโรงงานมีความรอบคอบรวดเร็ว
กรณีคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ได้แก่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะทำหนังสือถึง ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ให้ยกเลิกคำสั่งของคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็พร้อมที่จะชี้แจง
คณะกรรมการกลั่นกรองฯ
ได้กำหนดเวลาพิจารณาอนุมัติอนุญาตโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 7 ประเภทภายใน 10 วัน
หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้รมว.อุตสาหกรรม
รับทราบจะประชุมพิจารณาโครงการกันทุกสัปดาห์
"คณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่อย่างโปร่งใส
ไม่มีความตั้งใจจะทำให้ขั้นตอนยุ่งยากล่าช้า
แต่ต้องการให้มีการตรวจสอบที่เข้มงวดก่อนที่จะให้ใบอนุญาตโรงงาน
เพื่อให้โรงงานรับผิดชอบต่อสังคมและให้ชุมชนยอมรับโรงงานใหม่" นายวิฑูรย์ กล่าว
ล่าสุด ได้ตรวจสอบพบโรงงานที่ยื่นขออนุญาตและยังไม่ได้รับการพิจารณา
แต่กลับดำเนินกิจการหรือก่อสร้างโรงงานก่อนกว่า 30 ราย จากทั้งหมดกว่า 100 ราย
คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จึงเตรียมสั่งหยุดดำเนินการ หากไม่ปฏิบัติจะดำเนินคดีแน่นอน
นอกจากนี้ ได้เรียกผู้บริหารระดับอธิบดีจาก 3 กรม คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)มาหารือเพื่อดำเนินนโยบายแยกประเภทโรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงงานที่ปฏิบัติดีกับปฏิบัติไม่ดี
กลุ่มโรงงานที่ปฏิบัติตัวดีไม่เคยทำผิดกฎระเบียบ ทั้ง 3
กรมจะออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้สิทธิประโยชน์การต่ออายุโรงงานจากเดิมที่ต้องต่อทุกปี
เป็นต่อทุกๆ 5 ปี และอำนวยความสะดวกเรื่องนำเข้าวัตถุอันตรายเพื่อใช้ในการผลิต
ขณะที่กลุ่มที่ปฏิบัติตัวไม่ดีทำผิดระเบียบอยู่บ่อยครั้ง หรือถูกชาวบ้านร้องเรียน
หรือมีข้อมูลว่ากิจการส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
จะให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเฉียบขาด เช่น
การสั่งปิดกิจการเพื่อปรับปรุงมีความเข้มงวดในการตรวจสอบ เป็นต้น
การคัดแยกประเภทโรงงานจะเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
และจะประกาศรายชื่อผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ของกระทรวง
จากhttp://www.posttoday.com วันที่ 8 สิงหาคม 2555
วงสัมมนาห่วงพลังงานทดแทนห่างไกลเป้าหมาย
การสัมมนาระดมความเห็นเรื่องพลังงานทดแทนกรณีน้ำมันจากพืชและก๊าซชีวภาพ ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า เป้าหมายการส่งเสริมพลังงานทดแทน ตามแผนสิ้นสุดในปี 2564 มีการใช้เอทานอล 9 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซล เกือบ 6 ล้านลิตรต่อวัน จะเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันไทยผลิตและใช้แก๊สโซฮอล์จริงเพียง 1-3 ล้านลิตรต่อวัน
นายอำนาจ ทองสถิตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังหารือผู้ค้ารายอื่นนอกจาก ปตท.และบางจาก ให้จำหน่ายแก๊สโซฮอล์อี 20 และจะส่งเสริมให้รถจักรยานยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น พร้อมเดินหน้ายกเลิกเบนซิน 91 ภายในเดือนมกราคม ปีหน้า แต่ยอมรับว่า ประชาชนจำนวนมากขอร้องไม่ให้ยกเลิกขายเบนซิน 1 เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มรถจจะได้รับผลกระทบ ทั้งรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ ประมาณ 5 แสนคัน และรถจักรยานยนต์ อีก 5 แสนคัน รวมทั้งรถยนต์เพื่อการเกษตร ซึ่งกระทรวงกำลังศึกษาแนวทางเยียวยาหากยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 91
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 7 สิงหาคม 2555
ชาวไร่อ้อยสระแก้วร้องวุฒิสภา ขอ ก.อุตฯ ย้ายโรงงานเน้นความต้องการเกษตรเป็นหลัก
ส.ว.สระแก้ว นำเกษตรไร่อ้อยนับร้อย ยื่นหนังสือรักษาการประธานวุฒิสภา และ กมธ.ศก วุฒิฯ พิจารณาให้ ก.อุตฯ ย้ายโรงงานน้ำตาลเน้นความต้องการชาวไร่เป็นหลัก
วันที่ (7 ส.ค.) ที่รัฐสภา พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น ส.ว.สระแก้ว ได้นำกลุ่มเกษตรไร่อ้อยจากจังหวัดสระแก้วประมาณ 100 คนได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา และกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา โดยมีนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานกรรมาธิการ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา โฆษกกรรมาธิการ เพื่อขอพิจารณาประเด็นการย้ายสถานที่ตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล ซึ่งกลุ่มเกษตรเห็นว่า แผนงานการก่อสร้างโรงงานไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์อ้อยมานาน 3 ปี เกษตรกรจึงต้องแบกรับภาระค่าขนส่ง ส่งผลให้ถูกเอาเปรียบ เนื่องจากจังหวัดสระแก้วมีโรงงานเพียงแห่งเดียว จึงเกิดการผูกขาดทางการตลาด กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องพิจารณาอนุมัติการย้ายโรงงานและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล โดยคำนึงถึงผลกระทบและความต้องการของเกษตรกรชาวไรอ่อยเป็นรายจังหวัดตามความเป็นจริง
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 7 สิงหาคม 2555
ตั้งเป้า 5 ปี พัฒนาพลังงานทดแทนมีงบลงทุน 6 พันล้าน
กระทรวงวิทย์จับมือ 4 กระทรวงหลัก บูรณาการความร่วมมือผลักดันพัฒนาพลังงานทดแทน ปีแรกทุ่ม 800 ล้านบาท ลงทุน 82 โครงการ ตั้งเป้า 5ปี ลงทุนจากภาครัฐและเอกชน 6พันล้านบาท วันนี้ (7 ส.ค.) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ และนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือการพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน
นายพรชัย เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงพลังงาน ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ วิจัย และพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนร่วมกัน ซึ่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือการพัฒนาพลังงานทดแทนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานวิจัย ต่าง ๆ เข้าร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน ในปี 2555-2559 ให้ครอบคลุม 9 สาขา ประกอบด้วย เอทานอล ไบโอดีเซล พลังงานทดแทนภาคขนส่งในอนาคต พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ และพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ แผนดังกล่าว ถือว่าเป็นแผนปฏิบัติการฯ การใช้ วทน. พัฒนาพลังงานทดแทนฉบับแรกของประเทศ ที่จะเป็นการจัดโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานทดแทนของประเทศและความต้องการของผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง
ด้านนายคุรุจิต รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ปัจจุบันมีโครงการทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมผลักดันกว่า 190 โครงการ เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6,000 ล้าน ภายในปี 2555-2559 ซึ่งมีแหล่งเงินทั้งจากภาครัฐ เอกชน และบางส่วนจะขอสนับสนุนจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมา ได้จัดสรรงบประมาณของภาครัฐปี 2555 และเอกชนไปแล้ว 800 ล้านบาท ใน 82 โครงการ และมีกำหนดจะลงทุนในปี 2556 อีกประมาณ 1,900 ล้าน
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 7 สิงหาคม 2555
สศก.จับมือม.เกษตรฯเปิดตัว ศูนยติดตาม-พยากรณ์เศรษฐกิจ
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกก่อให้เกิดผลกระทบต่อทุกหน่วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทบภาคการเกษตร อันเป็นเศรษฐกิจสำคัญของไทย ดังนั้นการรับทราบข้อมูลข่าวสาร การมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินกิจกรรมทั้งภาคการผลิต การค้า การกำหนดนโยบายทางการเกษตร รวมทั้งการกำหนดมาตรการและการวางแผนพัฒนาการเกษตรของประเทศ
สศก. จึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้/วิเคราะห์เพื่อความเป็นเลิศทางด้านเศรษฐกิจการเกษตรร่วมกัน มีศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ในด้านนโยบายทางการเกษตร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาชนบท ธุรกิจการเกษตร การวิเคราะห์โครงการ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลนโยบาย
สำหรับศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรดังกล่าว จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งในวันดังกล่าว นอกจากจะมีพิธีเปิดศูนย์ฯแล้ว จะมีการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปีแรกและแนวโน้มตลอดปี 2555 การจัดเสวนาพิเศษ วิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีผลกระทบต่อสินค้าเกษตร โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการเกษตร ดร.จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ จากมหาวิทยาลัยรังสิต
จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 สิงหาคม 2555
รวบปุ๋ยปลอมลอตใหญ่90ตัน เกษตรฟุ้งผลงานเจอปลอมจับจริง วอนชาวบ้านช่วยแจ้งเบาะแส1166
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งความคืบหน้าการป้องกันและปราบปรามปุ๋ยปลอม ตามโครงการ เจอปลอมจับจริง ว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้ค้าปุ๋ยปลอมที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี รวมปริมาณกว่า 90 ตัน สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากสายลับผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1166 ว่า มีการลักลอบผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนโดยทั่วไป บริเวณเขตพื้นที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี จึงได้ออกสืบสวนและเฝ้าติดตาม กระทั่งพบรถยนต์ต้องสงสัย จึงเข้าทำการตรวจค้น ซึ่งผู้ขับรถดังกล่าวแจ้งว่าได้รับปุ๋ยมาจากโกดังที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และจะนำไปส่งให้ลูกค้าในเขต อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยพบว่ามีปุ๋ยบรรจุกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม ตราสามถัง สูตร 13-3-21 รวมปริมาณ 3 ตัน และสารปรับสภาพดินบรรจุกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม สูตรปรับสภาพดิน อาหารเสริมชนิดเม็ด ตราสามถัง จำนวน 13 ตัน
ต่อมาได้มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของปุ๋ยเคมีซึ่งบรรทุกมากับรถดังกล่าว โดยแจ้งว่าได้เช่าโกดังที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อผลิตปุ๋ยเคมีและเก็บวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตดังกล่าว เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าโดยทั่วไป โดยแจ้งว่า จะผลิตก็ต่อเมื่อมีการสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวไปตรวจสอบโกดังดังกล่าว พบฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม สีแดง จำนวน 7 ตัน สีน้ำตาล จำนวน 8 ตัน สีขาวบรรจุในถุงบิ๊กแบ๊ค จำนวน 15 ตัน ปุ๋ยยูเรียเปียกน้ำสีขาว จำนวน 13 ตัน ปุ๋ยมาตรฐานสูตร 46-0-0 จำนวน 35 ตัน สูตร 21-0-0 จำนวน 12 ตัน เครื่องชั่งน้ำหนักขนาด 200 กิโลกรัม 4 เครื่อง ขนาด 2 ตัน 1 เครื่อง เครื่องเย็บกระสอบพร้อมด้าย จำนวน 2 เครื่อง กระสอบเปล่ายี่ห้อต่างๆ สำหรับบรรจุปุ๋ยจำนวน 4 ตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 90 ตัน
เจ้าหน้าจึงตั้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา คือ ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าและขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นใดอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเอง หรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นว่า ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทั้งนี้หากประชาชนพบเบาะแสแหล่งผลิตปุ๋ยปลอมให้แจ้งได้ที่หมายเลข 1166
จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 สิงหาคม 2555
เอกชนระบุยังมีกฎหมายบางฉบับเป็นอุปสรรคต่อเออีซี
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและ ส.อ.ท. ว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 แต่ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษากฎระเบียบเงื่อนไขและประเมินขีดความสามารถของประเทศคู่แข่งทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เพื่อนำมาปรับและพัฒนาขีดความสามารถของตนเอง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้น ซึ่งภาคเอกชนจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันและสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องเข้าใจในหลักการ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์สูงสุด เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากฎระเบียบบางอย่างยังเป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมและอาจทำให้เสียเปรียบ หากมีเออีซีเกิดขึ้น เช่น การตีความทางกฎหมาย ซึ่ง ส.อ.ท.จะรวบรวมปัญหา เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป เพราะขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลให้ธุรกิจบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและบริการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยืนยันว่าขณะนี้กำลังเร่งปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การลดภาษีศุลกากร เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมออกไปลงทุนในต่างประเทศ และหากภาคเอกชนยังต้องการให้ปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องใดก็สามารถเสนอมาได้.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 6 สิงหาคม 2555
จี้ก.อุตฯทบทวนออกใบอนุญาตโรงงานหวั่นเป็นช่องเรียกเงิน
กกร.เตรียมร่อนหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม ให้ทบทวนคำสั่งคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงาน ที่มีปลัดอุตสาหกรรมเป็นประธานใหม่ เหตุเงื่อนไขวางไว้คลุมเคลือทำให้ล่าช้าแถมอาจเป็นช่องทางเรียกเงินใต้โต๊ะได้
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุม กกร. เตรียมทำหนังสือถึง มรว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้ยกเลิกหรือทบทวนคำสั่งของคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆได้ร้องเรียนว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้การพิจารณาล่าช้าและอาจเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกเงินใต้โต๊ะได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตโรงงานฯชุดดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2554 โดยมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งเดิมอำนาจในการพิจารณาใบอนุญาตโรงงานเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ซึ่งปกติจะมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการขอใบอนุญาตประมาณ 90 วัน ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมที่ต้องถูกนำเข้ากระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีการกำหนดไว้ 7 ประเภท ได้แก่
1.ต้องเป็นโรงงานที่มีการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาทและมีแรงงานมากกว่า 200 คน 2.เป็นโรงงานที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นโยบายของรัฐและกระทรวงอุตสาหกรรม 3.โรงงานที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม 4.โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า 5.โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับของเสีย6.โรงงานที่อาจมีปัญหามวลชน และ 7.โรงงานที่ต้องประเมินความเสี่ยง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าวที่วางไว้ค่อนข้างกว้างครอบคลุมเกือบหมดทุกโรงงานจึงต้องการให้ยกเลิกหรือทบทวนเงื่อนไขใหม่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 6 สิงหาคม 2555
สินค้าเกษตรไทย 5 เดือนแรก ได้ดุลการค้ากว่า 9 หมื่นล้าน เกษตรทั่วไทย
จากการติดตามและประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่มีต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง (หลังเปิดเสรี AFTA ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา) ของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AFTA ให้มากที่สุดซึ่งจากการติดตามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 (มกราคม-พฤษภาคม) พบว่า ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตร (พิกัด 01-24 และยางพารา) กับประเทศอาเซียนจำนวน 90,851 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 7 โดยไทยมีการส่งออกสูงถึง 123,448 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 32,597 ล้านบาท
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมากในลำดับต้น ๆ ได้แก่ กลุ่มน้ำตาล และขนมที่ทำจากน้ำตาล กลุ่มยางธรรมชาติ กลุ่มข้าว และธัญพืช รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู ส่วนสินค้าที่ส่งออกที่มีการขยายตัวการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ สตาร์ชจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเหนียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้ามากในลำดับต้น ๆ ได้แก่ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารกที่แพ้นม ปลาและสัตว์น้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปส่งออก เช่น ปลาทูน่าและแม็คเคอเรล และพืชผักเพื่อบริโภค เป็นต้น
ในส่วนของสินค้าโควตาภาษี (TRQ) ที่ไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศอาเซียน กล่าวคือ เป็นสินค้าที่มีการส่งออกลดลงแต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา นมผงขาดมันเนย เนื้อมะพร้าวแห้ง และไหมดิบ จะต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ตามในส่วนของการเตรียมความพร้อมในการรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น นายอภิชาต กล่าวว่า ในภาคเกษตรนับว่าเริ่มมีการเปิดเสรีการค้ามาแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 โดยให้สินค้าเกษตรของ 6 ประเทศในอาเซียนมีภาษีเป็น 0% ฉะนั้น ยังเหลืออีก 4 ประเทศ คือเวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ที่จะปรับภาษีให้เป็น 0% ในปี 2558 ซึ่งแต่ละประเทศก็มีสินค้าเกษตรบางตัวเท่านั้นที่มีความอ่อนไหวที่จะต้องมาตกลงกัน เช่น ไทยมีกาแฟ มันฝรั่ง ไม้ตัดดอก มะพร้าวแห้ง ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีเฉพาะสินค้าข้าว ซึ่งปัจจุบันกำหนดภาษีอยู่ที่ 2040%
ดังนั้นเพื่อให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนทั้งการผลิต การตลาด เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและก้าวไปถึงเอเชียในอนาคต ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านแรงงานซึ่งประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ อีกทั้งการที่ประเทศพม่าเตรียมเปิดประเทศอาจเกิดปัญหาแรงงานอพยพและเกิดการขาดแคลน ซึ่งต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้นเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตามการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ เนื่องจากประเทศไทยมีสินค้าที่หลากหลายและไทยได้เปรียบดุลการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท หลังการเปิดอาฟต้า ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำด้านสินค้าการเกษตร นอกจากนี้ มาตรการดูแลด้านความปลอดภัยในการผลิตสินค้าเกษตรไทยก็มีความพร้อม มีกฎหมายควบคุมดูแลทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง ซึ่งไทยจัดว่าได้เปรียบประเทศอื่นในอาเซียน
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนที่ไทยต้องเตรียมรับคือการที่ไทยมีสินค้าที่หลากหลายอาจทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง และประชาชนคนไทยยังมีปัญหาด้านการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกษตรกรไทยเพื่อรับมือการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อนำไทยสู่การเป็นผู้นำของอาเซียนทั้งการผลิต การตลาด เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและก้าวไปถึงเอเชียในอนาคต.
จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 สิงหาคม 2555
เอกชนไม่เชื่อปราบร้านเคมีเถื่อนหมด เตือนร้านคิวช็อปมีไม่พอรองรับ แนะหันมาพัฒนามาตรฐานร้านค้า
ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้มาตรการตรวจสอบ ปราบปราม และจับกุมสารเคมีเกษตรปลอมอย่างเข้มงวด ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช โดยแนะนำให้เกษตรกรซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากร้านค้าคิว ช็อป (Q Shop) ที่กรมวิชาการเกษตรให้การรับรองกว่า 300 แห่งว่า อาจทำได้ลำบาก เฉพาะร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชมีอยู่ประมาณ 16,000 ร้าน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านคิว ช็อปที่มีเพียง 300 ร้าน จึงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้
แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ ควรใช้นโยบายยกระดับมาตรฐานร้านค้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลิตภัณฑ์ปลอมได้ระดับหนึ่ง ยังจะช่วยลดปัญหาการใช้ที่ไม่ถูกต้อง ใช้มากเกินความจำเป็น และปัญหาอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคไปในตัว
ทั้งนี้ หลักการกำกับร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชโดยสากล จะกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ระดับปริญญาตรีด้านการเกษตรเป็นพนักงานประจำร้าน และต้องมีใบประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่น เภสัชกร วิศวกร หรือสถาปนิก
ไม่เช่นนั้น ทางการก็ต้องไล่จับร้านค้าอย่างที่ทำอยู่ขณะนี้ ซึ่งทำได้ประเดี๋ยวประด๋าวก็เลิก แล้วปัญหาก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม ถ้าทำให้ทุกร้านมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน และตรวจสอบเป็นประจำ ก็จะพัฒนายกระดับได้เหมือนร้านขายยาคนของกระทรวงสาธารณสุขที่ปัจจุบันไม่มีหมอตี๋อีกแล้ว
นายกสมาคมคนไทยธุรกิจ กล่าวอีกว่า ร้านค้าสารกำจัดศัตรูพืชส่งผลกระทบต่อจำนวนคน และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับร้านค้ายาคน เพราะยาคนขายยาเฉพาะผู้ป่วยเป็นรายๆ เท่านั้น ในขณะสารกำจัดศัตรูพืชขายให้เกษตรกรเป็นรายๆ ก็จริง แต่ใช้กับพืชจำนวนมาก หากควบคุมกำกับไม่ดี จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
โดยเฉพาะเมื่อไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 สินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อาหารของเรา มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงเท่าไหร่ก็เท่ากับเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้สูงกว่าชาติอื่นเท่านั้น ดร.วีรวุฒิ กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 สิงหาคม 2555
สนพ.เปิดโครงการเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
สนพ.เชิญชวนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมปี 2555 ตั้งเป้าเพิ่ม 114 แห่ง ผลิตก๊าซชีวภาพ 190 ลบ.ม./ปี หวังดันให้ได้ตามเป้าหมาย 338 แห่ง
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่ สนพ.ได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้มีการนำน้ำเสีย หรือของเสียเหลือทิ้งในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงพืชพลังงานมาแปรรูปเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อนและไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานในช่วงปี 2551-2555 ได้ตั้งเป้าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้าร่วม 338 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 637 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,950 ล้านบาท/ปี
สำหรับปี 2555 นี้ สนพ.จะมีการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนสนับสนุนการจัดทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสียโรงงานอุตสาหกรรม รวม 6 รอบ โดยเปิดรับข้อเสนอรอบที่ 1-4 ไปแล้วเมื่อเดือน มี.ค.-ก.ค. 55 ที่ผ่านมา และจะเปิดรับข้อเสนออีกครั้งในเดือน ส.ค.55 ตั้งเป้าผู้ขอรับการสนับสนุนในปีนี้รวม 114 ราย ในวงเงินสนับสนุน 1,060 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจจะต้องเป็นผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) ที่เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย ของเสีย หรือพืชพลังงาน และระบบการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทน ผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eppo.go.th และ www.thaibiogas.com
ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมามีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 130 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมแป้ง 37 ราย ปาล์มน้ำมัน 39 ราย เอทานอล 20 ราย น้ำยางข้น 6 ราย อุตสาหกรรมอาหาร 24 ราย และอื่นๆ 4 ราย คิดเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานรวมกว่า 1,268 ล้านบาท ทำให้ประเทศสามารถผลิตพลังงานทดแทนในรูปของก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 652 ล้าน ลบ.ม./ปี ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ทดแทนพลังงานเชิงพาณิชย์รวมเป็นมูลค่า 3,502 ล้านบาท/ปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 6 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องจากภาคเอกชนเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 12,807 ล้านบาท
อนึ่ง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้มีการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตและใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทยให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคปศุสัตว์ และภาคชุมชน เพื่อนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทนในรูปความร้อน และไฟฟ้า
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 5 สิงหาคม 2555
กรมเจรจาการค้าฯให้ความรู้AECแก่ผู้ประกอบการ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมลง MOU
ส.อ.ท. สัปดาห์หน้า เพื่อร่วมให้ความรู้ AEC แก่ผู้ประกอบการ
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า
ในสัปดาหน้า ทางกรมจะร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เพื่อดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
และสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อนเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
ปี 2558 โดยจะมีการจัดสัมมนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015
โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการผลิตและผู้ส่งออก
ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ซึ่งจะมีมุมมองจากผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน
จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2555
ปีนี้คาดไทยส่งออกเอทานอลสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปี
2555 คาดไทยจะส่งออกเอทานอลได้ถึง 300
ล้านลิตรซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยแค่ 5 เดือนแรกส่งออกได้ 149
ล้านลิตรมากกว่าส่งออกทั้งปีของปี 2554
หลังกำลังผลิตล้นทะลักผู้ผลิตดิ้นหาทางส่งออก
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า คาดว่าในปี 2555 ไทยจะมีการส่งออกเอทานอลถึง 300 ล้านลิตรซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังจากกำลังการผลิตเอทานอลมีมากกว่า 2 ล้านลิตรต่อวันในขณะนี้ทำให้สต็อกมีจำนวนกว่า 50 ล้านลิตรขณะที่การใช้ในประเทศยังนิ่งอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านลิตรต่อวันมา 1-2 ปีแล้ว ซึ่งแนวโน้มการส่งออกเอทานอลคงจะมีมากขึ้นต่อเนื่องเหตุจากโรงงานผลิตจะทยอยเสร็จและเปิดเพิ่มขึ้นในปลายปีนี้อีก 5 แห่งซึ่งจะส่งผลให้การผลิตจริงจะไปอยู่ถึงระดับ 4.95 ล้านลิตรต่อวัน
ใน 5เดือน(ม.ค.-พ.ค.) มียอดส่งออกเอทานอลรวมแล้ว 149 ล้านลิตรสูงกว่าการส่งออกรวมของปี 2554ที่มีจำนวน 142 ล้านลิตรโดยผู้ผลิตได้มีการรวมสต็อกเพื่อส่งออกซึ่งทำให้ลดต้นทุนแข่งขันราคาตลาดโลกได้เฉลี่ยใกล้เคียงกับไทยคือ 20-21 บาทต่อลิตรนายสิริวุทธิ์กล่าว
ปัจจุบันโรงงานผลิตเอทานอลเดิมมีอยุ่ 19 แห่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะทยอยเสร็จกลางปีนี้จนถึงสิ้นปีอีก 5 แห่งจะรวมเป็นโรงงานเอทานอลทั้งสิ้น 24 แห่งกำลังผลิต 4.95 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าโรงงานจำนวนมากดังกล่าวทำให้การผลิตของแต่ละแห่งในขณะนี้มีเพียงไม่ถึง 70% เนื่องจากการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ยังไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตามระยะยาวไทยจะศักยภาพด้านเอทานอลอย่างมากเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ปี 2558 แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนและส่งเสริมให้ไทยได้คว้าโอกาสนั้นหรือไม่
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2555
โรงงานฯ พัฒนาแหล่งน้ำป้อนไร่อ้อย
นายวิโรจน์ ภู่สว่าง ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อยได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อยเพื่อให้มีผลผลิตที่ดีอย่างยั่งยืนภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาด้านอ้อย ตามกรอบระเบียบวาระอ้อยแห่งชาติที่มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 15 ตันต่อไร่ และค่าความหวาน 13 ซี.ซี.เอส. โดยแผนงานดังกล่าว ครอบคลุมด้านการจัดหาพันธุ์อ้อย ดิน ปุ๋ย รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย จึงได้หารือกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับฟังข้อมูลกรอบการพัฒนาระบบชลประทาน พร้อมกำหนดแนวทางความร่วมมือในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานไร่อ้อย เพื่อจัดหาแหล่งน้ำป้อนให้แก่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจำนวนมากประสบปัญหาภาวะภัยแล้งทำให้ชาวไร่อ้อยต้องขอสินเชื่อเพื่อจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้กลุ่มชาวไร่อ้อยมีภาระต้นทุนทางการเงินจากการเพาะปลูกเพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาการจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการใช้เพาะปลูกอ้อย เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อย เราจึงร่วมมือกับกรมชลประทานในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับระบบชลประทานไร่อ้อย เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ใช้ในการเพาะปลูกอ้อยให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตจากการเพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น ช่วยสร้างมั่นคงทางรายได้แก่ชาวไร่อ้อยที่ดีขึ้น นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีชาวไร่อ้อยอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เพื่อร่วมเป็นคณะทำงานศึกษาการวางกรอบแนวทางความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานไร่อ้อย และร่วมวางแผนระบบชลประทานไร่อ้อยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพาะปลูกอ้อย และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทานพร้อมร่วมมือกับ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับระบบชลประทานไร่อ้อยสนับสนุนข้อมูลโครงการฯ บุคลากรให้ความรู้ และเทคโนโลยีตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการในกระบวนการบริหารจัดการน้ำชลประทานไร่อ้อยและพัฒนาระบบสารสนเทศและระบบสารสนเทศภูมิภาคศาสตร์ เพื่อประยุกต์ใช้ประกอบการพิจารณาวางแผนบริหารการหาแหล่งน้ำการจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกและติดตามประสิทธิภาพระบบชลประทานไร่อ้อยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยเพิ่มผลผลิตการเพาะปลูกอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2555
จัดประชุมดิน-น้ำเอเปค เกษตรเปิดเวทีระดมวางแนวทางพัฒนา-บริหารจัดการเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาติสมาชิกเอเปค เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและโครงสร้างพื้นฐานด้านดินและน้ำเพื่อการเกษตร ระหว่างวันที่ 6 8 สิงหาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยการจัดประชุมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ไทยได้เสนอบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการความมั่นคงอาหารแนบท้ายปฏิญญานิอิกาตะว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปค เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านดินและน้ำ ที่จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนการผลิตภาคเกษตร ขณะเดียวกันปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งปัญหาอุทกภัย เกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรโดยตรง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับแนวทางการประชุมครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอผลงานวิจัย และการปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านดินและน้ำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้งเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน รัสเซีย จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิบปินส์ สิงคโปร์ จีนไทเป เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ที่จะเเป็นประโยชน์กับสมาชิกเอเปคในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะมีทั้งฝ่ายไทยและสมาชิกเอเปค รวม 150 คน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้มีการเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคการศึกษาเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการดินและน้ำที่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การใช้หญ้าแฝกเพื่อปรับปรุงดิน โดยจะมีการนำสมาชิกเอเปคที่เข้าประชุมไปทัศนศึกษา ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2555
กรมชลฯประสบความสำเร็จ วิจัยแก้ปัญหาน้ำเสีย-มีสีเขียว
นายศุภชัย รุ่งศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้หาแนวทางนำพืชน้ำ ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับของเสียได้ มาใช้ร่วมกับเครื่องกลเติบอากาศที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการออกสิทธิบัตรรับรอง และได้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ นับว่าเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องที่ 3 ต่อจาก กังหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
นางสุนันทา เพ็ญสุต ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาน้ำเสีย จากเดิมที่ใช้การเติมอากาศลงไปในน้ำเสียเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำที่มีสีเขียวจากการเกิดของสาหร่ายชั้นต่ำได้ กรมชลประทานจึงได้นำแนวพระราชดำริมาศึกษา เพื่อพัฒนาระบบการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โดยใช้ระบบรางพืชร่วมกับเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนา หรือเครื่องกลเติบอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแหล่งน้ำ
สำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการนำระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำเสีย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ มูลนิธิชัยพัฒนา หากเป็นโรงเรียน หรือวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พิจารณาช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2555
ดุลการค้าเกษตรไทยกระฉูด สศก.ชี้5เดือนแรกพุ่ง9หมื่นล้าน น้ำตาล-ยาง-ข้าวช่วยโกย
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตาม และประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่มีต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทยเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง หลังเปิดเสรี AFTA ตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AFTA ให้มากที่สุด ซึ่งจากการติดตามในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 (มกราคม - พฤษภาคม) พบว่า ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตร (พิกัด 01 - 24 และยางพารา) กับประเทศอาเซียนจำนวน 90,851 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 7 โดยไทยมีการส่งออกสูงถึง 123,448 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 32,597 ล้านบาท
สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มน้ำตาล และขนมที่ทำจากน้ำตาล กลุ่มยางธรรมชาติ กลุ่มข้าว และธัญญพืช รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู ส่วนสินค้าที่ส่งออกที่มีการขยายตัวการส่งออกมากในลำดับต้นๆ ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ สตาร์ชจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเหนียว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้ามากในลำดับต้นๆ ได้แก่ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารกที่แพ้นม ปลาและสัตว์น้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบเพื่อแปรรูปส่งออก เช่น ปลาทูนาและแม๊คเคอเรล และพืชผักเพื่อบริโภค เป็นต้น
เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสินค้าโควตาภาษี (TRQ) ที่ไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศอาเซียน กล่าวคือ เป็นสินค้าที่มีการส่งออกลดลงแต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชา นมผงขาดมันเนย เนื้อมะพร้าวแห้ง และ ไหมดิบ จะต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2555
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรกรรมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558 หลังจากที่มีการประชุมเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันก่อน เพื่อเสนอแนวทางและการเตรียมความพร้อมของแต่ละกระทรวง เพื่อบูรณาการ 3 เสาหลักของอาเซียน คือ 1. ด้านประชาคมเศรษฐกิจ 2. ด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคง และ 3. ด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่อาจเกิดขึ้นกับภาคเกษตร รวม 7 เรื่อง ได้แก่
1. การสร้างมาตรฐานและการตรวจสอบสินค้าเกษตร 2. การผลิตทางการเกษตร โดยส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรมีมูลค่าสูง 3. การวิจัยและพัฒนา 4. การจัดการศัตรูพืชและโรคระบาด เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการป้องกันการระบาดโรคพืชและโรคสัตว์แบบกำหนดมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคและแมลง และการกักกันพืชและสัตว์ที่นำเข้า 5. แรงงานเกษตร โดยเตรียมความพร้อมเกษตรกรเพื่อปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อทดแทนแรงงาน และให้แรงงานเกษตรถูกกฎหมายในระบบมากขึ้น 6. การลงทุนภาคเกษตร สนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้รัดกุมและทันสมัย ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านทำให้ได้ปัจจัยการผลิต และ 7. การจัดการดินและน้ำ ดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างบูรณาการและเป็นระบบในภูมิภาคอาเซียน สร้างฐานข้อมูลดินและน้ำของกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา
ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯได้เร่งดำเนินการในการจัดประชุมเพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมข้างต้น โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะที่รับผิดชอบในแต่ละรายสินค้าเกษตรที่สำคัญ จัดประชุม โดยร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพิจารณาถึงทิศทาง และผลกระทบว่ามีข้อได้เปรียบ หรือเสียเปรียบด้านใด และจะมีแผนงาน โครงการ แนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขอย่างไร ก่อนเสนอรัฐบาลในการบูรณาการแผนปฏิบัติการในภาพรวมจัดทำเป็นแผนแม่บทต่อไป
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 3 สิงหาคม 2555
จัดทัพใหญ่ ! ข้าราชการก่อนปรับครม. สะพัด"2 วิเชียร"นั่งปลัด
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 30 กันยายนนี้ มีข้าราชการประจำระดับปลัดกระทรวง ระดับรองปลัด ผู้ตรวจราชการ และอธิบดีหลายกระทรวงจะเกษียณอายุราชการ แต่ละหน่วยงานเริ่มวางตัวและมีแคนดิเดตที่จะขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย มีชื่อข้าราชการระดับสูงหลายคนที่คาดหมายว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แทนนายพระนาย สุวรรณรัฐ ที่จะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้
แคนดิเดตปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ เน้นหนักที่ "คนใน" ได้แก่ นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายพระนาย และข้าราชการสาย "สิงห์ดำ" แต่ฝ่ายการเมืองไม่ค่อยเห็นด้วย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่ระยะหลังเริ่มเก็บเนื้อเก็บตัว เพราะรู้ตัวเองว่าไม่ได้อยู่ในบัญชีตัวเต็ง และยังมีชื่อนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่ถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แต่ได้แสดงบทบาทในการทำงานในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (กยน.) จึงได้รับการแต่งตั้งไปนั่งเป็นปลัด พม.
หากมีการย้ายนายวิเชียรกลับมหาดไทย ก็จะคืนตำแหน่งปลัด พม.ให้กับนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา พี่สาวนายประวัฒน์ อุตตะโมต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วย หลังถูกเด้งไปเป็นที่ปรึกษานายกฯฝ่ายข้าราชการประจำ
ส่วนที่กระทรวงคมนาคม มีกระแสข่าวว่าจะมีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ข้ามห้วยเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม แทนนายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ ปลัดกระทรวงคมนาคมก็จะเกษียณอายุ ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จะตั้ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร มาดำรงตำแหน่ง
ข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีทีจะเกษียณอายุราชการเช่นกัน ก็มีกระแสข่าวว่าแคนดิเดตได้แก่ นายสุรชัย ศรีสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก หรือนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดไอซีที
ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้นนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็จะเกษียณอายุราชการเช่นกัน ผู้มาดำรงตำแหน่งแทนเป็นคนใน มีตัวเต็ง 3 คนคือ นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ก็เกษียณอายุราชการเช่นกัน โดยมีกระแสข่าวว่า นายชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวง และอดีตอธิบดีกรมชลประทาน จะขยับขึ้นแทน นอกจากนี้ในระดับอธิบดีก็จะมีเกษียณหลายกรมคือ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายจะจัดตั้งกรมใหม่เพิ่มอีก 1 กรมคือ กรมฝนหลวง จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ทำให้มีอธิบดีเพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่ง
ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมมีระดับรองปลัดและระดับอธิบดีเกษียณ 5 คน ประกอบด้วย นายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยยง กฤตผลชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่านายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จะเลือกใครขึ้นแทนตำแหน่งที่จะว่าง เบื้องต้นคาดว่าจะสรรหาข้าราชการที่เป็นผู้มีประสบ การณ์ภายในกรมกอง
สำหรับกระทรวงพลังงานมีข้าราชที่จะเกษียณอายุ 2 คนคือ นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอธิบดี คาดว่านายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่เข้ามาแทนตำแหน่งดังกล่าวด้วยตัวเอง
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 สิงหาคม 2555
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลถกกรมชลฯพัฒนาแหล่งน้ำป้อนพื้นที่ปลูกอ้อย
นายวิโรจน์ ภู่สว่าง ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย ได้หารือกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับฟังข้อมูลกรอบการพัฒนาระบบชลประทาน พร้อมกำหนดแนวทางความร่วมมือในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานไร่อ้อย เพื่อจัดหาแหล่งน้ำป้อนให้แก่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกอ้อยจำนวนมากประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ชาวไร่อ้อยต้องขอสินเชื่อเพื่อจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้กลุ่มชาวไร่อ้อยมีภาระต้นทุนทางการเงินจากการเพาะปลูกเพิ่มสูงขึ้น
"ปัญหาการจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการใช้เพาะปลูกอ้อย เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อย เราจึงร่วมมือกับกรมชลประทานในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับระบบชลประทานไร่อ้อย เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตจากการเพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น ช่วยสร้างมั่นคงทางรายได้แก่ชาวไร่อ้อยที่ดีขึ้น" นายวิโรจน์ กล่าว
การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อยเพื่อให้มีผลผลิตที่ดีอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาด้านอ้อย ตามกรอบระเบียบวาระอ้อยแห่งชาติที่มีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตอ้อยเป็น 15 ตัน/ไร่ และค่าความหวาน 13 ซี.ซี.เอส. โดยแผนงานดังกล่าวครอบคลุมด้านการจัดหาพันธุ์อ้อย ดิน ปุ๋ย รวมไปถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ
นายวิโรจน์ กล่าวว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีชาวไร่อ้อยอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เพื่อร่วมเป็นคณะทำงานศึกษาการวางกรอบแนวทางความร่วมมือ ในบันทึกข้อตกลงร่วมมือโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบชลประทานไร่อ้อย และร่วมวางแผนระบบชลประทานไร่อ้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเพาะปลูกอ้อย และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 2 สิงหาคม 2555
พัฒนาการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง กับกลุ่มน้ำตาล มิตรผล ที่มองว่าวันนี้เกษตรกรไทย ไม่จำเป็นต้องพึ่งโชคชะตาหรือฟ้าฝนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
และที่ โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กลุ่มมิตรผล ก็เป็นอีกหนึ่งโรงงานที่นำไอทียุคใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่จริง
นายไพทูรย์ ประภาทะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ บอกว่า มิตรกาฬสินธุ์ แม้จะเป็นเขตที่อ้อยมีความหวานสูงติดอันดับ 2 ของประเทศ แต่ก็ยังประสบกับปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ เนื่องจากขาดฐานข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มมิตรผล โดยบริษัทมิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลการปลูกอ้อยรวมถึงใช้จีพีเอสในการวัดพิกัดแปลงอ้อย เพื่อความถูกต้องแม่นยำ และมีการขยายผลใช้ในโรงงานต่าง ๆ รวมทั้งที่มิตรกาฬสินธุ์
แต่ด้วยสภาพการจัดการไร่อ้อยในแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างในรายละเอียด โดยเฉพาะที่โรงงานมิตรกาฬสินธุ์ดูแล ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขาดศักยภาพในการบริหารจัดการ ทำให้ภารกิจของมิตรกาฬสินธุ์ ต้องดูแลชาวไร่ทั้งด้านต้นทุนและผลผลิตต่อไร่ โดยสร้างมาตรฐานทั้งด้านเครื่องมือและวิธีทำงาน
ซึ่งปัจจุบันมิตรกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จะต้องดูแลกว่า 14,000 คน ไร่อ้อยกว่า 44,000 แปลง ขณะที่เจ้าหน้าที่มีเพียง 60 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมแต่ละคนจะต้องดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยถึงกว่า 200 คน หรือต้องดูแลแปลงอ้อย ถึง 700-800 แปลงต่อคนทีเดียว
ดังนั้นจึงต้องปรับการใช้งานจีพีเอสเดิม ซึ่งไม่สามารถนำข้อมูลติดตัวออกไปในพื้นที่ได้ มาเป็นการใช้งานผ่านพีดีเอหรือแท็บเล็ตในปัจจุบันเรียกโครงการนี้ว่า มิตรผล กาฬสินธุ์ ไดร์ฟวิ่ง โพรดักทิวิตี้ ( Mitr Kalasin Driving Productivity : MDP )
คุณไพทูรย์ บอกว่า เป็นการนำข้อมูลแปลงเพาะปลูกและกิจกรรมการเพาะปลูกในไร่อ้อยที่รวบรวมได้ทั้งหมด มาเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหลัก และถ่ายโอนลงในอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ต
เจ้าหน้าที่สามารถบันทึกข้อมูลที่หน้าแปลง อัพโหลดสู่เซิร์ฟเวอร์กลาง เช็กสถานะการทำงานในแต่ละแปลงได้ทันทีแบบเรียลไทม์ ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การประเมินผล ผลิตรายแปลง หากพบปัญหา แปลงใดผลผลิตต่ำ ก็สามารถแก้ไขหรือวางแผนรองรับได้ทันที
สำหรับข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จะต้องบันทึก ผ่านแท็บเล็ตนั้น มีตั้งแต่การระบุพื้นที่แปลงอ้อย ลักษณะอ้อยและพันธุ์ที่ปลูก การใช้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช และโรคที่พบอนาคตจะพัฒนาเพิ่มเติม ในส่วนของการจ่ายปุ๋ยและการจ่ายเงินส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันยังทำงานผ่านเว็บไซต์ แต่ต่อไปจะสามารถทำได้จากหน้าแปลง รวมถึงออกใบสั่งตัดได้ทันที
โครงการนี้นำร่องใช้งานกับชาวไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์เป็นแห่งแรก เมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมาหลังจากใช้งานจริงแล้ว ผู้บริหารมิตรกาฬสินธุ์ บอกว่า พฤติกรรมการจัดการไร่อ้อยของชาวไร่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะมีการวางแผนงาน และการติดตามผล ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จากเดิมเฉลี่ย 7.5 ตันต่อไร่ เป็น 10.2 ตันต่อไร่
ขณะที่ต้นทุนการปลูกอ้อยลดลงประมาณ 5% ของรายได้ เนื่องจากการรู้พิกัดพื้นที่แปลงที่ชัดเจน ทำให้การจ้างเหมาต่าง ๆ บนพื้นที่แปลงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น การหักค่าแรงจ้างเหมาบนพื้นที่ ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ในแปลงไถพรวน การลดการใช้ปุ๋ยตามสัดส่วนที่เหมาะกับสภาพดินและพิกัดพื้นที่ การให้น้ำในปริมาณ ที่เหมาะสมกับการเติบโตของอ้อย
นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังทำให้ชาวไร่อ้อยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และเข้าใจเทคโนโลยีด้านชลประทานมากขึ้น ยืนยันการมีประโยชน์ต่อชุมชน และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเกษตรกรไทย ด้วยรางวัล ไอซีที ทำดีเพื่อสังคม จากการประกวดในโครงการไทยแลนด์ ไอซีที เอ็กเซลเลนซ์ อวอร์ด 2011 ที่สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการประกาศผลไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เชื่อหรือยังว่า...จะเป็นอาชีพใด ๆเทคโนโลยีสามารถช่วยได้ หากรู้จักประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน!!!.
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 1 สิงหาคม 2555
ธนินท์แนะยุทธศาสตร์ประเทศไทยรับมือเศรษฐกิจโลกใหม่
ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ยุทธศาสตร์ประเทศไทยรับมือเศรษฐกิจโลกใหม่ในงานสัมมนาครบรอบ 20 ปี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) โดยระบุว่า
ถ้าจะพูดถึงยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการรับมือกับเศรษฐกิจโลกใหม่ เกษตรยังถือเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญ มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร รวมเกษตรอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ปีละ 1.67 ล้านล้านบาท ภาคเกษตรของไทยจะมีบทบาทมากกว่านี้ถ้ารัฐบาลให้ความสนใจและมีนโยบายที่ถูกต้อง เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอย่างไร คนทั่วโลกก็ยังต้องบริโภคอาหาร ภาคเกษตรจึงเต็มไปด้วยโอกาส รองลงมาเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมยานยนต์ และหากรัฐบาลมีนโยบายดูแลธุรกิจ จิ๋ว เล็ก กลาง ที่ชัดเจน ก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ก้าวไปได้ไกลพัฒนาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย
ยุทธศาสตร์แรกด้านการเกษตร ยกตัวอย่างยางพาราวันนี้เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 650,000 ล้านบาท และเชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่มีอะไรมาทดแทนยางได้ เพราะถ้าน้ำมันยิ่งแพง ยางเทียมก็จะแพงไปด้วย หากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมซึ่งไม่ใช่แค่ปลูกยางพาราอย่างเดียว แต่ส่งเสริมให้คนอยู่ในท้องถิ่นทำอย่างแท่ง แปรสภาพยางเป็นยางสำเร็จรูป เพิ่มมูลค่าแล้วชวนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน ลดภาษีเงินได้ให้เท่ากับฮ่องกง สิงคโปร์ใครๆ ก็อยากเข้ามาลงทุนในเมืองไทย
ที่สำคัญเมืองไทยยังมีแรงงาน โดยเฉพาะภาคอีสาน ถ้าส่งเสริมให้มีการปลูกยางพารามากๆอีสานจะเป็นสีเขียว ฝนจะชุกมาก ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้คนอีสานอยู่ในท้องถิ่นมากขึ้นไม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ
อ้อยก็เป็นอีกธุรกิจที่ไทยส่งออกนอกเป็นที่สองของโลก แต่การผลิตเป็นที่สี่ของโลก ที่หนึ่งคือบราซิล ที่สองจีน ที่สามอินเดีย ที่สี่เมืองไทย แต่ถ้าส่งออกนอกไทยเป็นที่สอง บราซิลเป็นที่หนึ่ง ตรงนี้ถ้ามีพื้นที่อีก 33 ล้านไร่ ก็เหมาะสำหรับการปลูกอ้อย มัน ยางพารา ปาล์ม
อ้อยผลิตเป็นเอทานอลต้นทุนต่ำสุด มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบของไทย 1.33 ล้านล้านบาท หากส่งเสริมทำเอทานอลทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบ 30% จะสามารถประหยัดเงินได้ 266,000 ล้านบาท
ส่วนปาล์ม สามารถทดแทนน้ำมันดีเซล และทำน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค และ มัน ปัจจุบันผลผลิตได้ เพียง 4-5 ตันต่อไร่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 10 ตันต่อไร่
การจะพัฒนาเกษตรให้ก้าวหน้า สำคัญอยู่ที่ระบบชลประทาน ปัจจุบันพื้นที่ชลประทานมีอยู่ 24 ล้านไร่แต่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้าจะสมบูรณ์ยอดเยี่ยมต้องลงทุนอีก 2 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มผลผลิตการปลูกข้าวในพื้นที่เกษตรกรรม 24 ล้านไร่ให้ได้เท่ากับ 57 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่เหลือจากการทำนาอีก 33 ล้านไร่ ที่จะไปปลูกสินค้าอย่างอื่น เช่น ยางพารา อ้อย มันสำประหลัง
"ประเทศไทยอุดมด้วย ดิน ฟ้า อากาศ น้ำ หากจัดการระบบชลประทานให้ดี นอกจากน้ำจะไม่ท่วมแล้วยังสามารถผลิตข้าวได้ถึง 3 รอบ คุณภาพข้าวสูงขึ้น เป็นโอกาสของประเทศไทยที่ประเทศอื่นไม่มี"
มาถึงยุทธศาสตร์ที่สองในเรื่องการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างอเมริกา ปีหนึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ 3.6 ล้านล้านบาทเป็นที่หนึ่งของโลก รองลงมาเป็นสเปน 1.85 ล้านล้านบาท ฝรั่งเศส 1.66 ล้านล้านบาท ไทยเมื่อหลายปีก่อนมีรายได้จากการท่องเที่ยว 450,000 ล้านบาท ขณะนี้เพิ่มเป็น 776,000 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าประเทศฝรั่งเศสอันดับหนึ่ง 79.5 ล้านคน เข้าเมืองปารีสเป็นอันดับหนึ่ง 15.6 ล้านคน ส่วนประเทศไทย 19.23 ล้านคน กรุงเทพเป็นอันดับสิบ 7.2 ล้านคน
ที่น่าสนใจเวลานี้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนไปเที่ยวยุโรป ซื้อสินค้าแบรนด์เนมถึง 62 เปอร์เซ็นต์ของทวีปยุโรปทั้งหมด ฉะนั้นตรงนี้เป็นโอกาส จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาซื้อของในประเทศไทย ไม่ใช่มาเที่ยวอย่างเดียว สนับสนุนสินค้ายี่ห้อแพงๆ เข้ามาขายให้กับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยไม่เสียภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เรื่องบ่อนกาสิโนก็เช่นเดียวกันเป็นอีกธุรกิจที่ดึงดูดคนจากทั่วโลกให้ไปท่องเที่ยว สามารถสร้างได้ในอัตราที่สูงเข้าประเทศ ดังจะเห็นได้จากมาเก๋าที่ปัจจุบันมีรายได้จากการกาสิโนเป็นอันดับหนึ่ง 879,749 ล้านบาทต่อปี ทั้งๆ ที่มีพื้นที่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว ในขณะที่ลาสเวกัสมีรายได้ จากกาสิโน 319,300 ล้านบาทต่อปี สิงคโปร์เพิ่งเปิดกาสิโนได้ไม่นานรายได้ขึ้นมาเป็นอันดับสามแล้ว 169,849 ล้านบาท ถ้าเมืองไทยเปิดรายได้เป็นอันดับหนึ่งแน่
ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศเหล่านี้ กลายเป็นว่า การท่องเที่ยวสำคัญกว่า กาสิโน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ลาสเวกัส เวลานี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนให้ความสนใจ มีโรงแรมเป็นร้อยแห่ง ถ้าเป็นมวยโลกก็ต้องมาชกกันที่ลาสเวกัส หรือใครมีอะไรโชว์ระดับโลกก็ต้องไปโชว์ที่ลาสเวกัส
เรื่องของการท่องเที่ยวถ้าประเทศไทยทำให้ดี ก็สามารถขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้ ยิ่งถ้ามีกาสิโนด้วย ยิ่งทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล เพราะมีตัวอย่างที่ทำสำเร็จแล้ว
สำหรับยุทธศาสตร์ที่สาม อุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยส่งออกรถยนต์ มูลค่า 511,483 ล้านบาท รวมๆแล้ววันนี้ประเทศไทยอาจจะเป็นที่หนึ่ง หากรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปต่างประเทศเข้าไป เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเปิดยิ่งเป็นโอกาส เฉพาะจีนประชากร 1,400 ล้านคน แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ที่รวยเท่ากับคนญี่ปุ่น ก็ 140 ล้านคน กำลังซื้อของประเทศจีนก็เท่ากับประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้ต้องมาศึกษาว่า จีนต้องการซื้ออะไร ญี่ปุ่นต้องการอะไรก็สนับสนุนส่งเสริมให้ผลิตไปขาย
ประเทศไทยต้องส่งเสริมทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ยาง ข้าว มัน อ้อย ให้เพิ่มผลผิต เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าในการส่งออกโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน สินค้าเกษตรจะทำรายได้มหาศาล
ทำให้ประเทศเข้มแข็ง ยกตัวอย่าง ส่งเสริมให้มีการผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทยแล้วส่งไปขายทั่วโลกแทนที่จะส่งวัตถุดิบไปขายในต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ถ้าวันนี้รัฐบาลวางแผนให้ดี อุตสาหกรรมยานยนต์อาจจะเป็นที่สองในภูมิภาคก็ได้ เพราะขณะนี้ที่หนึ่งเป็นจีน
มาถึงเรื่องสองสูง วันนี้มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก เพราะเราสองต่ำ
ต่ำกว่าราคาน้ำมันที่ขึ้น เปรียบเทียบเมื่อ 47 ปี น้ำมันเบนซินลิตรละ 1.70 บาท 1.80 บาท วันนี้ขึ้นมา 40 กว่าบาท ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเมื่อ 47 ปีอยู่ที่ 20 บาท ทุกคนมีความสุขมากกว่า 300 บาทในวันนี้ เพราะน้ำมันขึ้นมา 25 เท่า ที่ดินขึ้นมา 100 เท่า ทองคำขึ้นมา 50 กว่าเท่า แต่กลับห่วงค่าแรงงานของไทยจะสูงเกินไป ต่างประเทศจะไม่มาลงทุน ประเทศไทยต้องก้าวไปอีกขั้น
ธุรกิจที่ลงทุนด้วยแรงงานราคาถูกยุคนี้ ถือเป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตกอยู่ได้ไม่นาน ประเทศไทยต้องแสวงหาธุรกิจพระอาทิตย์กำลังขึ้น การที่ซี.พี.ไปลงทุนใน 14 ประเทศ เรื่องเกษตร เรื่องเลี้ยงไก่ เรื่องแปรสภาพ เรื่องสุกร เพราะใช้ไฮเทค เรียนรู้ประวัติศาสตร์
วันนี้อเมริกาเจอปัญหาอะไร อีก 10 ปี หรือ 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็จะเจอปัญหานั้น
สมมติว่าอเมริกา เจอเรื่องไก่ล้นตลาด เสียหายอย่างไร แล้วเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีก 10 ปี หรือ 15 ปี 20 ปี เมืองไทยก็จะเจอ ถ้าเร็วก็ 10 ปี ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์มีตัวอย่างที่เยี่ยมสุดให้ดู
"ความสำเร็จของผมดูประวัติศาสตร์ ดูว่าอเมริกา เขาเจริญเติบโตด้วยเลี้ยงไก่ได้อย่างไร แล้ววันนี้ของอเมริกา คือ วันข้างหน้าของเรา ฉะนั้นเรารู้แล้วอีก 10 ปี 15 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างนี้ ทำไมวันนี้ไม่เตรียมพร้อม จะได้ไม่ต้องเสียหาย ไม่ต้องเดินทางอ้อม ไม่ต้องเสียเวลา"
หลังจากสองสูงแล้วรายได้เท่าน้ำมันแล้ว มาถึงสูงที่สาม ประสิทธิภาพต้องสูง อย่างซี.พี.การปรับค่าแรงขึ้น 300 บาทในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเครือซี.พี. มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าจ้างเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท แต่สิ่งที่ได้คือประสิทธิภาพ คุณภาพมากเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น 300 บาทที่เพิ่มขึ้นวันนี้ได้คืนแล้ว
อีกประการหนึ่งที่สำคัญ เมื่อพูดถึงสามสูงแล้วต้องอีกหนึ่งต่ำ จัดสวัสดิการให้เหมาะสมไม่สูงเกินไป ดูกรีซ ยุโรป เป็นตัวอย่างของทุนนิยม ที่วิ่งไปสู่สังคมนิยม จัดสวัสดิการดีเกินไป รับเงินสวัสดิการไม่ทำงานจึงเกิดปัญหาเช่นปัจจุบัน
วันนี้ธุรกิจ จิ๋ว เล็ก กลาง ตั้งแต่รัฐบาลปิด 56 ไฟแนนท์ คนเหล่านี้เป็นเหมือนเด็กกำพร้า ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องการการสนับสนุน ถ้าสถาบันการเงินใช้ตำราแบบเดียวกันกับนักธุรกิจที่สำเร็จในการดูแล เด็กเหล่านี้ก็จะไม่เกิด ดังนั้นนโยบายรัฐจึงต้องเจาะจงว่าธุรกิจจิ๋วจะดูแลอย่างไร ธุรกิจเล็กจะดูแลอย่างไร ธุรกิจกลางจะดูแลอย่างไร โดยอาจจะตั้งกองทุนขึ้นมา เงินตรงนี้จำนวนเล็กนิดเดียว เรียกว่า เป็นการสร้างตู้ฟัก เหมือนการฟักไข่ ถ้าฟองไหนเกิด แค่หนึ่งในหมื่นฟองก็ถือว่าคุ้ม เพราะตัวที่เกิดต่อไปอาจจะเหมือนบิลเกตก็ได้ แล้วเด็กในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าไม่สร้างธุรกิจจิ๋ว เล็ก กลาง ก็จะไม่มีธุรกิจใหญ่ๆ ในอนาคต ต้องส่งเสริมนักธุรกิจ เล็ก กลาง ไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้มีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องหาข้อมูลให้กับคนเหล่านี้ ต่อไปธุรกิจเล็ก กลาง ก็จะไปใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน
ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องดึงดูดต่างประเทศมาลงทุนด้วยการลดภาษีรายได้ เหลือ 17% เหมือนฮ่องกง สิงคโปร์ และอำนวยความสะดวกนักธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุน
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 1 สิงหาคม 2555
ก.เกษตรฯจับมือสคบ.จับผู้ค้าปุ๋ยปลอมกว่า 90 ตันที่สระบุรี
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการป้องกันและปราบปรามปุ๋ยปลอม ตามโครงการ เจอปลอมจับจริง ว่าตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ให้เร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้าปุ๋ยปลอมและการจำหน่ายปุ๋ยที่ไม่ได้คุณภาพ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้ค้าปุ๋ยปลอมที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี รวมปริมาณกว่า 90 ตัน
สำหรับการจับกุมดังกล่าวเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.ได้รับแจ้งข้อมูลจากสายลับผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1166 ว่าจะมีการลักลอบผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนโดยทั่วไป บริเวณเขตพื้นที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ ทะเบียน จ.สระบุรี ขนส่งจำหน่าย จึงได้ออกสืบสวนและเฝ้าติดตาม จนกระทั่งพบรถยนต์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตรวจค้นรถ ซึ่งผู้ขับรถดังกล่าวแจ้งว่าได้รับปุ๋ยมาจากโกดัง ที่ ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และจะนำไปส่งให้ลูกค้าในเขต อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยพบว่ามีปุ๋ยบรรจุกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม ตราสามถัง สูตร 13-3-21 มีการระบุที่กระสอบเกี่ยวกับข้อมูลผู้ผลิตและสถานที่ผลิต ปริมาณ 3 ตัน และสารปรับสภาพดินบรรจุกระสอบขนาด 50 กิโลกรัม สูตรปรับสภาพดิน อาหารเสริมชนิดเม็ด ตราสามถัง จำนวน 13 ตัน
ต่อมาได้มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของปุ๋ยเคมีซึ่งบรรทุกมากับรถดังกล่าว โดยแจ้งว่าได้เช่าโกดังที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อผลิตปุ๋ยเคมีและเก็บวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตดังกล่าว เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าโดยทั่วไป โดยแจ้งว่าจะผลิต ก็ต่อเมื่อมีการสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวไปตรวจสอบโกดังดังกล่าว พบฟิลเลอร์ หรือสารเติมเต็ม สีแดง จำนวน 7 ตัน สีน้ำตาล จำนวน 8 ตัน สีขาวบรรจุในถุงบิ๊กแบ๊ค จำนวน 15 ตัน ปุ๋ยยูเรียเปียกน้ำสีขาว จำนวน 13 ตัน ปุ๋ยมาตรฐานสูตร 46-0-0 จำนวน 35 ตัน สูตร 21-0-0 จำนวน 12 ตัน เครื่องชั่งน้ำหนักขนาด 200 กิโลกรัม 4 เครื่อง ขนาด 2 ตัน 1 เครื่อง เครื่องเย็บกระสอบพร้อมด้าย จำนวน 2 เครื่อง กระสอบเปล่ายี่ห้อต่างๆ สำหรับบรรจุปุ๋ยจำนวน 4 ตัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 90 ตัน
ดังนั้นทางเจ้าหน้าได้ตั้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ว่า ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าและขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และ 2 ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นใดอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเอง หรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นว่า ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินการปราบปรามและป้องกันการค้าปุ๋ยปลอม และปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว นอกจากเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร สคบ. และ ปคบ.จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ตามโครงการ เจอปลอม จับจริง แล้ว ประชาชนที่ทราบเบาะแสสามารถแจ้งผ่านสายด่วน 1166 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด และเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพในการเพิ่มผลผลิตต่อไป นายณัฐวุฒิ กล่าว
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 1 สิงหาคม 2555
อนุสรณ์ แสงนิ่มนวลบางจาก ปิโตรเลียม ขยับตัวบุกลงทุนต่างประเทศ เกาะกระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จับมือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รุกตั้งโรงงานผลิตเอทานอล มูลค่ากว่าพันล้านบาท พร้อมขยายพื้นที่ปลูกอ้อย-มันสำปะหลัง รองรับเป็นวัตถุดิบ หวังขยายตลาดในภูมิภาคที่กำลังเติบโต มองเวียดนามและกัมพูชา ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ขณะที่การก่อสร้างปั๊มแบรนด์บางจากในลาวและกัมพูชา เริ่มได้ต้นปีหน้า
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางการดำเนินงานในการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ตลาดใหญ่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ว่า ขณะนี้บางจากอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในการจะเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบด้วย โดยจะพิจารณาจากประเทศที่มีความสะดวกในด้านโลจิสติกส์เป็นหลัก ไม่ว่าการขนส่งทางบกและทางทะเล ซึ่งรูปแบบการไปลงทุนจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรที่อยู่ในประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าประเทศเพื่อนบ้านมีศักยภาพที่จะสามารถผลิตเอทานอลได้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และสหภาพเมียนมาร์ เพื่อรองเออีซีในปี 2558 ซึ่งขนาดของโรงงานมองว่าน่าจะอยู่ในระดับกำลังการผลิต 2-3 แสนลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท โดยเอทานอลที่ผลิตได้สามารถจำหน่ายได้ทั้งในรูปของเชื้อเพลิงและการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี และอาหาร ทำให้มีตลาดรองรับได้มากขึ้น ส่วนที่เหลือจากความต้องการใช้ในประเทศแล้ว จะส่งออกไปยังแถบประเทศอาเซียนที่ยังมีความต้องการอยู่
อย่างไรก็ตาม แผนขยายธุรกิจเอทานอลไปต่างประเทศ คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงปลายปีนี้ ซึ่งตนอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าธุรกิจเอทานอลจะช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรได้ และเป็นพลังงานที่สามารถปลูกเองได้ แม้ว่าการทำธุรกิจเอทานอลจะให้ผลตอบแทนน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน แต่บางจากก็ยังพร้อมส่งเสริมการใช้เอทานอลต่อไป
"เชื่อว่าหากมีการส่งเสริมการใช้เอทานอลในภูมิภาคเพิ่มขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยทุกประเทศสามารถผลิตเอทานอลได้ เช่น จีน เวียดนาม สหภาพเมียนมาร์ ลาว และหากมีการส่งเสริมการใช้เพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่เพียงแต่ในภูมิภาคเท่านั้น ต้องขยายไปยังเอเชียด้วย ตอนนี้เรามองเรื่องโลจิสติกส์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเวียดนามและกัมพูชาก็มีท่าเทียบเรือ สามารถส่งออกได้ และเวลานี้ฟิลิปปินส์ มีการผสมเอทานอลในเนื้อน้ำมันเบนซินแล้ว 10% และเวียดนามใช้อยู่ที่ 5% ดังนั้น เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆได้ใช้แก๊สโซฮอล์ ซึ่งแต่ละประเทศมีศักยภาพในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังอยู่แล้ว"
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้บางจากยังศึกษาแผนลงทุนสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศด้วย จากเดิมที่ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปจำหน่ายเท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในสปป.ลาว และกัมพูชา ที่จะเข้าไปลงทุนก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์บางจาก หากเจรจาการหาพื้นที่ก่อสร้างสำเร็จในปีนี้ ในปีหน้าจะเริ่มการก่อสร้างปั๊มในแต่ละประเทศขึ้น 1-2 แห่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อแห่ง รวมถึงการลงทุนก่อสร้างปั๊มในสหภาพเมียนมาร์ หากกฎหมายเปิดให้เข้าไปลงทุนบางจากก็พร้อมจะเข้าไปทันที
"วันนี้การลงทุนของบางจากยังคงเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก แม่ว่าบางจากจะมีแผนลงทุนในต่างประเทศแต่ก็ยังไม่ถึง 1% ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ในอนาคตจะเพิ่มขึ้น" นายอนุสรณ์ กล่าว
ส่วนการเจรจาซื้อหุ้นบริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอยี่ จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิต 365,000 ลิตรต่อวันในสัดส่วน 40% หลังจากหมดสัญญาเมื่อปีที่แล้ว ก็ยังไม่มีการเจรจาร่วมกันอีก แต่บางจากยังสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทางโรงงานซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ให้ได้ก่อน คาดว่าจะสรุปผลได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้
นายอนุสรณ์ กล่าวเสริมอีกว่า สำหรับการบริหารงานในบางจากที่ยังเหลือเวลาอีก 5 เดือน ก่อนที่จะครบวาระในเดือนธันวาคมนี้ จะเร่งซ่อมโรงกลั่นหน่วยกลั่นที่ 3 ที่ถูกไฟไหม้ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเดินหน้าผลิตเต็มกำลังกลั่น 1.1-1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เพื่อเพิ่มผลผลิตมาชดเชยช่วงที่หน่วยกลั่นที่ 3 ปิดซ่อมแซมไปนาน 3 เดือน จะส่งผลให้กำลังกลั่นเฉลี่ยของบริษัทในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันโรงกลั่นบางจากเดินเครื่องหน่วยกลั่นที่ 2 และหน่วยกลั่นที่ 4 กำลังกลั่นรวม 4.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ยังต้องเร่งแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) กำลังการผลิต 170 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จตามแผนด้วย โดยเฟสแรก 38 เมกะวัตต์ เดินเครื่องผลิตแล้ว ขณะที่เฟส 2 ที่ จ.ชัยภูมิ 25 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ และที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา 25 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า และในปี 2557 จะก่อสร้างอีก 75 เมกะวัตต์ รวมแล้วจะเป็น 170 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้บางจากมี EBITDA เพิ่มเป็น 2,800 ล้านบาทต่อปี
จาก http://www.thanonline.com วันที่ 1 สิงหาคม 2555
แฉโรงงานบำบัดทิ้งสารพิษลงน้ำ จ่ายเงินปิดปากจนท.อุตฯจ่อฟันนับสิบแห่ง
จนท.อุตสาหกรรมเปิดโปงขบวนการทิ้งสารพิษลงแม่น้ำ แอบตั้งโรงบำบัดนับสิบแห่ง ก่อนยื่นประมูลกำจัดกากอุตสาหกรรม แต่เอาไปทิ้งที่สาธารณะโกยกำไรมหาศาล
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสากรรมได้แข้แจ้งความที่ สภ.บางปูเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับบริษัท เวสต์รีโคเวอรี่ เมเนจเม้นท์ จำกัด หลังจากพบหลักฐานว่า บริษัทลักลอบทิ้งน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำสาธารณะ จากการตรวจสอบด้วยเทคนิคการตรวจสอบย้อนกลับ กรณีการปล่อยน้ำเสียในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ พบว่าเป็นการปล่อยจากนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งในน้ำมีสารฟีนอลความเข้มข้นสูง และพบว่ามีโรงงานที่บำบัดสารฟีนอล 1 รายคือบริษัทเวสต์ รีโคเวอรี่ แมเนจเม้นท์ จำกัด มีการนำสารฟีนอล เข้ามาบำบัด 1.7 พันต้น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554-เมษายน 2555
"ผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำรอบโรงงานดังกล่าวพบสารฟีนอลความเข้มข้นสูงระดับ 1,000 พีพีเอ็มและได้ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำในบ่อน้ำหลังสถานีตำรวจภูธรบางปูที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งรับทิ้งพบสารฟีนอลสูงมากเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้จับกุมรถบรรทุกน้ำทิ้งมาจากบริษัทดังกล่าวจริง ซึ่งเมื่อพิจิรณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ จึงได้ส่งสำนวนคดีเพื่อให้ สภ.บางปูดำเนินคดีตามกฆกมาย"นายวิฑูรกล่าว
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้แจ้งความผิดไป 4 ข้อหาได้แก่ 1.ระบายน้ำทิ้งที่ไม่ได้มาตรฐานลงในพื้นที่สาธารณะ 2.นำสิ่งปฏิกูลออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 3.เป็นตัวกลางนำน้ำเสียอกไปปล่อยทิ้งในพื้นที่ สาธารณะ และ 4.ไม่จัดทำรายงานประจำปีตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยทั้งหมดนี้มีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และจำคุก ปี รวมทั้งได้ประสานไปยังกระทรวงคมนาคมให้แจ้งเอาผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งวัตถุอันตราย และ ให้กรมควบคุมมลพิษเอาผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมมลพิษ
นอกจากนี้ บริทดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ปล่อยสารพิษให้กลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งในเบื้องต้นกระทรวงจะลงไปแก้ไขปัญหามลพิษก่อน จากนั้นจะเรียกร้องค่าเสียหายจากโรงงานที่ทำผิดอีกครั้งเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยการจับกุมผู้ทำผิดครั้งนี้ นับได้ว่ามีหลักฐานแน่นหนามาก
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้จับตาโรงงานบำบัดสารพิษที่ จ.ฉะเชิงเทรา 2 แห่ง และที่ชลบุรี 2 แห่ง โดยการสืบสวนทางลับเพื่อให้ได้หลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิดอย่างรัดกุม ซึ่งที่ผ่านมาข้าราชการที่ลงไปสืบสวนเรื่องนี้ ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ข่มขู่เอาชีวิต บางพื้นที่มีลุ่มคนมีสีโทรศัพท์เข้ามาข่มขู่ให้นักวิเคราะห์เปลี่ยนข้อมูลให้โรงงานพ้นผิด ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยงตลอดเวลา
"การจับกุมผู้กระทำผิดที่บางปูครั้งนี้ นับว่าเป็นการจับกุมที่สืบสาวเอาผิดไปยังเจ้าของโรงงานต้นตอ และแจ้งความเอาผิดอย่างถึงที่สุดเป้นครั้งแรก ซึ่งใช้เวลาสืบสวนถึง 2 เดือนโดยที่ผ่านมา เมื่อชาวบ้านร้องเรียนก็เพียงออกไปตรวจสอบ ถ้าพบว่าผิดก็เสียค่าปรับไม่กี่หมื่นบาทแล้วเรื่องก็เงียบหายไป โดยคงจะมีการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ตำรวนพื้นที่ และเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการตรวจสอบจะต้องดำเนินงานให้เงียบที่สุดพอมีหลักฐานชัดเจนก็เข้าจับกุมทันที เพราะถ้าเกิดหลักฐานไม่แน่เจ้าหน้าที่ก็จะถูกฟ้องกลับ" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีขบวนการกระทำผิดหาผลประโยชน์จากการปล่อยสารพิษจากโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการตั้งบริษัทรับบำบัดกากอุตสาหกรรมหลายราย แต่กลับไม่มีการบำบัดกากอุตสาหกรรมจริง เป็นเพียงบริษัทเข้าไปประมูลกากอุตสาหกรรมแล้วนำไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะกอบโกยกำไรเป็นจำนวนมาก ได้กำไรนับแสนบาทต่อวัน ซึ่งโรงงานประเภทนี้มีการขอตั้งใหม่ถึงปี ละกว่า 100 โรงงาน แล้วเอาเงินส่วนหนึ่งไปจ่ายให้เจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทำให้ดำเนินงานได้อย่างสบาย
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบใหม่ทั้งหมด โดยมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. เริ่มตั้งแต่การขอใบอนุญาตตั้งโรงงานจะต้องกำหนดชัดเจนว่าสามารถรับสารพิษบำบัดได้กี่ตันต่อวัน และเครื่องจักรสามารถกำจัดสารเคมีอะไรได้บ้าง และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าเครื่องจักรมีศักยภาพตรงกับที่แข่งหรือไม่ จึงจะออกใบอนุญาตให้ได้ 2.ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ลดการปล่อยสารพิษ ถ้าโรงงานทำดีก็จะผ่อนปรนการตรวจสอบ 3.การบังคับใช้กฎหมายโดยการตรวจสอบโรงงานบำบัดสารพิษว่าได้ดำเนินงานตามที่ได้ขออนุญาตหรือไม่ ถ้าทำผิดหลักเกณฑ์ก็เอาผิดทันที และ 4.ถ้าตรวจสอบพบว่าโรงงานบำบัดสารพิษที่ได้รับอนุญาตไม่สามารถทำตามที่แจ้งได้ เพราะมีกระบวนการบางอย่างที่ทำไม่ได้จริง ก็จะนำกลับไปทบทวนกฎระเบียบการขออนุญาต เปิดโรงงานให้มีความรัดกุมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากทำได้ตามนี้ ปัญหาการปล่อยสารพิษในที่สาธารณะก็จะลดลง
สำหรับโรงงานที่เข้าข่ายจะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ได้แก่ โรงงานบำบัดสารพิษจากอุตสาหกรรม มีจำนวน 416 ราย โรงงานคัดแยกขยะ 1.7 พันราย และโรงบำบัดน้ำเสียรวม 60 ราย ซึ่งหากตรวจพบว่าทำผิดก็จะปิดโรงงานดำเนินคดีอย่างเข้มงวด จนถึงขั้นล้มละลาย เพื่อกำจัดโรงงานที่ไม่ดีออกไป และป้องปรามไม่ให้โรงงานอื่นกระทำผิด
จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 1 สิงหาคม 2555