http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2559)

“สไตรพ์ทิลเลจ”นวัตกรรมเตรียมดินปลูกอ้อย"ลดไถพรวน-ลดต้นทุน"

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

            การเตรียมดินปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยโดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรจะใช้ผาลจานในการไถดะและไถพรวน 1-2 ครั้ง ถ้าเป็นการปลูกอ้อยโดยใช้แรงงานคน ก่อนการปลูกต้องทำการยกร่องเพื่อวางท่อนพันธุ์ในร่องและใช้ดินกลบท่อนพันธุ์ ซึ่งมักจะประสบปัญหาตาอ้อยไม่งอก และถ้าหลังปลูกอ้อยเกิดมีฝนตกจนน้ำท่วมขังโดยเฉพาะการปลูกอ้อยในนาหรือในที่ลุ่มเป็นดินเหนียวการระบายน้ำไม่ดี เกษตรกรมักประสบปัญหาน้ำขัง ทำให้ตาอ้อยเน่า ทว่า ปัจจุบันชาวไร่อ้อยประสบปัญหาแรงงาน จึงหันมาใช้เครื่องปลูกอ้อยแทน ซึ่งการปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องปลูกนั้นจะทำหลังจากพรวนดินจนละเอียด

ชาวนาหันมาปลูกอ้อยในนาแทนปลูกข้าว

            นายอรรถสิทธิ์ บุญธรรม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากสภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2559 ทำให้ไม่สามารถทำนาได้หรือทำนาไม่ได้ผล เกษตรกรในแถบจังหวัดภาคกลางจึงหันมาใช้ผืนนามาปลูกอ้อยแทน เนื่องจากการปลูกอ้อยนั้นยังมีโรงงานน้ำตาลรองรับ แต่ในการปลูกข้าวในนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดินเหนียว หลังจากการใช้ผาลจานไถดะ มักจะประสบกับปัญหาดินที่ได้ขึ้นมาเป็นก้อน จึงไม่สามารถปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องปลูกอ้อยได้ เพราะการที่ดินเป็นก้อนทำให้ดินที่กลบท่อนพันธุ์สัมผัสท่อนพันธุ์อ้อยได้ไม่ดี มีอากาศแทรกทำให้อ้อยได้รับความชื้นจากดินไม่พอทำให้มีความงอกต่ำ

            นายอรรถสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การเตรียมดินปลูกอ้อยในที่นา ต้องใช้เวลาเตรียมดินนาน และต้องใช้รถแทรกเตอร์ที่มีกำลังสูง คือตั้งแต่ 90 แรงม้าขึ้นไป จึงจะทำงานได้ทันเวลา นอกจากนี้ การเตรียมดินโดยการไถพรวนด้วยผาลจาน ยังทำให้สูญเสียความชื้นของดินชั้นล่างและมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมดินค่อนข้างสูงไร่ละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี จึงได้ทำการศึกษาทดลองวิธีการเตรียมดินปลูกอ้อยในนาอย่างเหมาะสม เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกอ้อยในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกโดยได้ประดิษฐ์เครื่องมือเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนเรียกว่าสไตรพ์ ทิลเลจ (Strip Tillage) ซึ่งนอกจากจะให้ผลผลิตอ้อยสูงกว่าการเตรียมดินโดยวิธีอื่นแล้วยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอีกด้วย

            “เครื่องมือ สไตรพ์ ทิลเลจ (Strip Tillage) เป็นเครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน คือ ลดขั้นตอนและเวลาในการเตรียมดินปลูกอ้อย ทำให้ปลูกอ้อยได้ทันเวลา การใช้อุปกรณ์เตรียมดินก็น้อยลง ช่วยลดต้นทุนในการปลูกอ้อย มีค่าใช้จ่ายถูกและยังช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยอีกด้วย"

ลดต้นทุนเตรียมดินปลูกอ้อยแบบ "สไตรพ์ ทิลเลจ"

            นายอรรถสิทธิ์ พูดถึงการปลูกอ้อยในปัจจุบันนี้ นับวันยิ่งมีทุนต้นเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันชาวไร่อ้อยจะหันมาใช้เครื่องจักรกลการเกษตรกันมากก็ตาม แต่เครื่องจักรกลการเกษตรก็มีราคาแพงชาวไร่ขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถจะซื้อมาใช้เองได้ ต้องพึ่งพาชาวไร่หรือเกษตรกรรายใหญ่ซึ่งมีทุนซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง โดยการเช่าหรือจ้างเหมาในการเตรียมดินปลูก รวมทั้งดูแลรักษาแปลงอ้อยด้วย ชาวไร่อ้อยที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง ในบางครั้งไม่สามารถจัดการไร่ได้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้ความชื้นในดินหมดไป อ้อยที่ปลูกมีความงอกไม่ดี การกำจัดวัชพืชหรือใส่ปุ๋ยไม่ได้ผล ดังนั้น การใช้รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรได้

            อุปกรณ์เตรียมดินแบบสไตรพ์ ทิลเลจ ประกอบด้วย ริปเปอร์ (Ripper) ซึ่งวางอยู่ด้านหน้าของเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ระเบิดดินดาน ร่วมกับจอบหมุน (Rotary) ซึ่งอยู่ด้านหลังของริปเปอร์ และมีคันโยก 2 ตัว ติดกับจอบหมุนโรตารี ขณะที่จอบหมุนพรวนดิน คันโยกจะทำหน้าที่เขย่าดินเพื่อให้ริปเปอร์ระเบิดดินดานได้ลึกมากขึ้น ซึ่งริปเปอร์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาในชุดสไตรพ์ ทิลเลจ จะระเบิดดินดานได้ดีกว่าเครื่องระเบิดดินดานแบบเก่า

            นายอรรถสิทธิ์ อธิบายว่า ริปเปอร์หรือเครื่องระเบิดดินดานนี้ จะทำหน้าที่ไถระเบิดดินดานเพื่อให้น้ำฝนหรือน้ำที่เราให้มากเกินไปน้ำจะซึมลงไปในดินชั้นล่างได้ดี และเมื่อฝนทิ้งช่วงเกิดความแห้งแล้ง ความชื้นในดินชั้นล่างก็จะขึ้นมาเป็นประโยชน์กับอ้อย เพราะไม่มีดินดานปิดกั้นความชื้น ส่วนจอบหมุนก็จะทำหน้าที่พรวนดินบริเวณผิวดินในแนวที่ริปเปอร์ไถระเบิดดินดานเพื่อปิดความชื้นของดินชั้นล่างทำให้บริเวณดินที่ปลูกอ้อยได้รับความชื้น

            “ในการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนสไตรพ์ ทิลเลจ มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่สำคัญ 2 ชุด คือ 1. ชุดริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุน โดยวางริปเปอร์ไว้ด้านหน้าและจอบหมุนอยู่ด้านหลัง และ 2. คือชุดเครื่องปลูกอ้อยที่มีถังหยอดน้ำและใส่ปุ๋ยพร้อมปลูก”

             ทั้งนี้ การเตรียมดินปลูกอ้อยโดยวิธีนี้จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไถพรวนเฉพาะแนวที่ปลูกอ้อย แต่ถ้าเป็นแปลงอ้อยที่มีใบอ้อยคลุมดินหรือมีวัชพืชขึ้น ต้องไถกลบและพักดินก่อน ช่วงที่สองเป็นการไถพรวนหลังอ้อยงอกได้ 2 สัปดาห์ ในแนวล้อรถแทรกเตอร์ที่ใช้เครื่องปลูกอ้อยเหยียบ ซึ่งเป็นแถวที่ไม่เคยมีการไถพรวนมาก่อนการไถพรวนครั้งที่สองจะช่วยให้ความชื้นของดินชั้นล่างขึ้นมาเป็นประโยชน์ต่ออ้อย ทำให้อ้อยงอกได้ดีขึ้น อ้อยที่งอกแล้วจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

ปลูกอ้อยในนาแบบสไตรพ์ ทิลเลจ

            1. ต้องพยายามปลูกอ้อยด้วยเครื่องปลูกให้ตรงแนวที่ไถริปเปอร์และจอบหมุนไถพรวน นอกจากจะเป็นการระเบิดดินดานตรงที่อ้อยงอกแล้ว จอบหมุนที่พรวนดินตามริปเปอร์ จะทำให้ดินร่วนซุย ช่วยให้เครื่องปลูกอ้อยกลบท่อนพันธุ์ได้สนิท  ดังนั้นการปลูกอ้อยตามหลังริปเปอร์และจอบหมุนไถพรวนทันที จะทำให้เครื่องปลูกอ้อยสามารถปลูกอ้อยได้ตรงตามแนวที่ใช้ริปเปอร์และจอบหมุนไถพรวน

            2. ต้องปลูกอ้อยให้ลึก เพราะบางแปลงปลูกอ้อยตื้น กลบท่อนพันธุ์ไม่มิดอ้อยได้รับความชื้นไม่เพียงพอ ทำให้อ้อยมีความงอกต่ำ จึงต้องเร่งให้น้ำครั้งที่ 2 เพื่อช่วยให้อ้อยที่ยังไม่งอกดันดินขึ้นมาได้ การที่กลบท่อนพันธุ์ไม่มิดเป็นผลมาจากการปลูกอ้อยไม่ตรงแนวที่ไถด้วยริปเปอร์และจอบหมุนพรวน ทำให้มีดินกลบท่อนพันธุ์น้อย

            3. ต้องให้น้ำหยดหลังปลูกอ้อยทันที ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้แนะนำให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องปลูกอ้อยพร้อมหยอดน้ำ จะทำให้อ้อยมีความงอกอย่างสม่ำเสมอ และสามารถปลูกอ้อยได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องแบ่งแรงงานมาให้น้ำตามหลังปลูก

            หลังปลูกอ้อยจะต้องพ่นสารกำจัดวัชพืช อิมซาฟิค และเพ็นดิเม็ททาลินทันที เพราะดินมีความชื้นจากการหยอดน้ำพร้อมการปลูกอ้อย ทำให้วัชพืชมีโอกาสขึ้นมาถ้าไม่พ่นยาคุมหญ้า และหลังจากอ้อยงอก 2-3 สัปดาห์ ใช้ริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุนไถพรวนดินระหว่างแถวอ้อย จะช่วยให้มีการงอกที่ดีขึ้นเพราะริปเปอร์จะช่วยให้ความชื้นของดินชั้นล่างขึ้นมาเป็นประโยชน์กับอ้อย และมีจอบหมุนพรวนดินช่วยปิดความชื้นอีกชั้นหนึ่ง เป็นแนวที่ล้อรถแทรกเตอร์วิ่งผ่านในช่วงปลูก ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้มีการไถพรวน

“สไตรพ์ทิลเลจ”นวัตกรรมเตรียมดินปลูกอ้อย"ลดไถพรวน-ลดต้นทุน"

            ข้อดีของการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนด้วยเครื่องสไตรพ์ ทิลเลจ คือ

            1. เป็นการทำงานแบบ ทู อิน วัน (Two in one) คือลดขั้นตอนในการเหยียบดินปลูกพืช ทำให้ใช้เวลาในการเตรียมดินน้อยลง มีการไถระเบิดดินดาน พร้อมทั้งพรวนดินปิดความชื้นในแนวที่ปลูกพืช ทำให้พืชที่ปลูกทนแล้งได้

            2. ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการเตรียมดินน้อยชิ้น

            3. ช่วยรักษาความชื้นของดินชั้นล่าง เนื่องจากไม่มีการพลิกหน้าดิน

            4. ช่วยลดการชะล้างหน้าดิน เนื่องจากไม่ได้ไถพลิกดินทั้งแปลง เหมือนกับการเตรียมดินปลูกพืชอื่นโดยทั่วไป

            5. ช่วยลดต้นทุนในการเตรียมดินปลูกอ้อยทั่วไป 2-3 เท่า

            สนใจเครื่องเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนด้วยเครื่องสไตรพ์ ทิลเลจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี เลขที่ 159 หมู่ 10 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.กาญจนบุรี รหัสไปรษณีย์ 72100 โทรศัพท์ 035-551-4433,035-556-4863 และ 081-941-8204 ในเวลาราชการ

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 31 สิงหาคม 2559

ผวาส่งออกร่วงหนักกว่าคาด ก.ค.ติดลบอีก8%ตัวเลข7เดือนยังทรุด-เหตุบาทแข็งถูกคู่แข่งชิงตลาด

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ เผยตัวเลขส่งออกในเดือน ก.ค.ร่วงอีก 8% ทั้งที่ไตรมาส 3 เป็นช่วงที่การส่งออกต้องขยายตัว ชี้เหตุผลหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ซ้ำเจอปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งสำคัญ ทั้งเวียดนามและจีน ยอมรับกังวลช่วง 5 เดือนที่เหลือ หากมูลค่าไม่ถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน ตัวเลขทั้งปีอาจจะติดลบมากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2559 โดยระบุว่า ตัวเลขส่งออกติดลบ 4.43 % โดยมีมูลค่าเพียง 17,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะปกติการส่งออกไตรมาส 3 จะเป็นบวกมาโดยตลอด และหากหักเรื่องการส่งออกทองคำที่ 841 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว การส่งออกจะติดลบถึง 8.3% ส่วนการส่งออกรวม 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.) ติดลบ 5.5%ส่วนตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่ระบุว่า 7 เดือนแรกติดลบที่ 2% นั้น มูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเพราะรวมมูลค่าการส่งออกทองคำและอาวุธซ้อมรบกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ การส่งออกที่ติดลบปีนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและค่าเงินบาทที่แข็งค่าโดยปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ปราบเซียน และสภาฯ ประเมินว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบเป็นปีที่ 4 โดยทั้งปีจะติดลบ 2% ซึ่งหากเป็นการติดลบระดับนี้การส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 17,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากส่งออกต่ำกว่านี้ก็มีโอกาสจะติดลบมากกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลเรื่องการระบาดของไวรัสซิก้าให้เข้มงวดขึ้น เพราะไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อให้ระวังส่งผลให้การส่งออกสินค้าต้องมีการตรวจสอบฆ่าเชื้อตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหลายพันบาท

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เงินบาทผันผวนตามตลาดโลก โดยเงินบาทไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-26 สิงหาคม 2559 แข็งค่าถึง 4.41 % ขณะที่คู่แข่ง เช่น เวียดนาม ค่าเงินอ่อนค่า 0.04% จีน อ่อนค่า 1.27% ดังนั้น หากไม่มีการดูแลค่าเงินที่เหมาะสมจะกระทบหนัก เพราะเห็นชัดว่าเงินบาทที่แข็งค่ามาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นเป็นหลัก มาจากการเก็งกระแสว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใดโดยแนวโน้มกระแสเงินไหลออกจะเกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถตั้งราคารับออเดอร์ได้ชัดเจน หากเงินบาทแข็งค่าอีก คู่ค้าก็จะไปสั่งจากคู่แข่งแทนกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น สภาฯ จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินมาตรการ เพื่อพยุงให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น การส่งออกสินค้าเกษตรก็น่าเป็นห่วง เช่น ข้าวนาปรังที่ผลผลิตออกมามากและก็มีคู่แข่งมากราคาจึงลดลง เป้าส่งออกข้าวที่ 9.5 ล้านตัน เติบโต 4% คงเป็นไปได้ยาก และจากนี้ภาพรวมของแต่ละอุตสาหกรรมดูแล้วไม่มีกลุ่มไหนบอกว่าจะเป็นบวก ยกเว้นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร โดยหากไตรมาส 3 ไม่ฟื้น โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมหากส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 17,668.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็อาจจะต้องปรับเป้าให้ติดลบมากขึ้น

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับภาวการณ์ส่งออก โดยระบุว่า การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ แต่มีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกทองคำที่ทำให้มูลค่าส่งออกรวมติดลบน้อยลง

ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าในปี 2016 มูลค่าการส่งออกของไทยจะลดลงราว 2.1% เทียบกับปีก่อน โดยในช่วงที่เหลือของปี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังเปราะบาง และปัจจัยเสี่ยงด้านต่างๆ ทั่วโลกจะยังคงกดดันปริมาณการค้าโลกทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาดว่ามูลค่าการนำเข้าของไทยจะลดลงราว 6.2% เทียบกับปีก่อน ในปี 2016โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้การลงทุนในประเทศที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่คาดจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการนำเข้าสินค้าทุนในระยะต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 สิงหาคม 2559

ธปท.พร้อมเข้าดูแลค่าเงินหากเคลื่อนไหวต่างจากภูมิภาค

ผู้ว่า ธปท. พร้อมใช้เครื่องมือที่มีเข้าดูแลค่าเงินให้สอดคล้องกับภูมิภาค ย้ำภาคธุรกิจต้องบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทที่ผันผวนมีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ

จากการดำเนินนโยบายการเงินรวมทั้งภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่ทำให้ค่าเงินประเทศนั้นเปลี่ยนแปลง ซึ่งในบางช่วงค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าก็มาจากการที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

อย่างไรก็ตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยรายวันมีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับสกุลอื่น โดยคิดเป็น 4% ขณะที่ เงินริงกิตมาเลเซียและเงินวอนเกาหลีใต้ มีความผันผวนสูงกว่าเป็นเท่าตัว สะท้อนว่าธุรกิจของประเทศเหล่านั้นต้องมีการบริหารจัดการได้ดี

ซึ่งการที่ความผันผวนจะยังคงมีอยู่เช่นนี้ต่อไป ธุรกิจไทยและสถาบันการเงินต้องมีทักษะและความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลงให้ทัน

สำหรับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนที่ต้องการให้ธปท.ดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นธปท. ได้มีการคุยกับภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทจะต้องไม่แตกต่างกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทย

อย่างไรก็ตาม หากพบว่า มีเงินที่ไหลเข้าในบางช่วงเวลาธปท. ซึ่งอาจมีผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หรือเมื่อรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนไม่สอดคล้องกับเสถียรภาพทางการเงินและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล ภายใต้เครื่องมือหลายประเภทที่จะใช้ได้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 31 สิงหาคม 2559

ปีหน้าเกษตรเตรียมใช้งบลงทุนแหล่งน้ำ3.8หมื่นล.เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก3.8แสนไร่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเพิ่มพื้นที่ในเขตชลประทาน ตามแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ระหว่างปี 2558-2569 โดยในปี 2557-2559 กรมชลประทานสามารถเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานได้ 1.35 ล้านไร่ เพิ่มแหล่งน้ำชลประทานได้ 756 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้ 1,319 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มบ่อน้ำบาดาลได้ 150 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคิดเป็น 15.5% ของแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ส่วนในปี 2560 ใช้งบลงทุนประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานได้อีก 3.8 แสนไร่ เพิ่มแหล่งน้ำชลประทานได้ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้ 602 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มบ่อน้ำบาดาลได้ 77 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคิดเป็น 4.37% ของแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงวิกฤตจะเริ่มในปี 2560 รวมทั้งการพัฒนาใช้ประโยชน์น้ำระหว่างประเทศ อาทิ การผันแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำยวมและแม่น้ำสาละวิน จะเริ่มศึกษาและออกแบบในปี 2560 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563 ซึ่งเมื่อแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในปี 2569 หลังจากนั้นกรมชลประทานจะดำเนินการเสนอแผนแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ฉบับใหม่ ระหว่างปี 2570-2579 ไปยังรัฐบาลต่อไป เพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งคาดว่าแผนบริหารจัดการน้ำฉบับใหม่นี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานอีก 10 ล้านไร่

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 31 สิงหาคม มีปริมาณทั้งสิ้น 11,053 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 44% ของความจุอ่างทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,357 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 24% ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นปริมาณน้ำที่สูงกว่าในปี 2556, 2557 และ 2558 อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯยังมีความเป็นห่วงเขื่อนภูมิพล ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 893 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 8% ของความจุอ่างเท่านั้น ทำให้ในวันที่ 2 กันยายนที่จะถึงนี้ ตนเตรียมลงพื้นที่ในจ.ตาก เพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำรองรับการสิ้นสุดฤดูฝนและในอนาคต

“ส่วนสถานการณ์น้ำจังหวัดในแถบภาคตะวันออกเฉียง อย่างสุรินทร์ นครราชสีมา ยังถือว่ามีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กระทรวงเกษตรฯได้ประสานให้กรมฝนหลวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับปัญหาในอนาคต และเตรียมแผนที่จะให้ประชาชนได้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่อีกด้วย” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากกรณีที่มีการน้ำเสนอข่าวว่า อ่างเก็บน้ำของศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้รับความเสียหายทำให้มีน้ำรั่วซึมออกมา จากการตรวจสอบพบว่าอ่างน้ำดังกล่าวมีการรั่วซึมจริง โดยมีสาเหตุหลักมาจากรากของต้นไม้ที่ขึ้นบริเวณโดยรอบได้ชอนไช จนทำให้อ่างเก็บน้ำเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล เนื่องจากอ่างเก็บน้ำนี้มีขนาดไม่ใหญ่และสูงมากนัก โดยมีความกว้างของอ่าง 1,150 เมตร (ม.) และมีความสูงเพียง 10 ม.เท่านั้น นอกจากนี้ ทางกรมยังได้เร่งระบายน้ำออก 7 ลบ.ม./วินาที รวมอยู่ระหว่างการส่งเจ้าหน้าที่ช่างเพื่อไปซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้อ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้อีกครั้งก่อนสิ้นสุดฤดูฝน หลังจากนี้จะได้มีการเสนอแนะผู้บำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำดูแลต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นโดยรอบอ่างให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำอีก

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 31 สิงหาคม 2559

ชงกึ่งลอยตัวน้ำตาลแก้บราซิลฟ้องWTO 

          ชงครม.รื้อโครงสร้างอุตฯน้ำตาลทั้งระบบก.ย.นี้

          กอน.ไฟเขียว แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมชงครม.ภายใน ก.ย.นี้ รับมือบราซิลฟ้อง WTO ปลดล็อก 4 ข้อครหาอุดหนุน ปล่อยราคาน้ำตาลเป็นแบบกึ่งลอยตัว ยกเลิกระบบโควตาส่งออก สต๊อกน้ำตาลให้เหลือพอแค่บริโภคภายในประเทศ ไม่ประกันราคาอ้อยขั้นต่ำ และเลิกการอุดหนุนต้นทุนเพาะปลูก 160 บาทต่อตัน ยันเป็นทางออกในการเจรจาต.ค.นี้ ด้านปฏิกิริยาชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาลและผู้ใช้น้ำตาลเห็นต่าง

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระ ทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ที่มี ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบใหม่ โดยได้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำ น้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้ แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้อย่างเสรี

          พร้อมทั้งให้นำรายได้จากการจำหน่ายกากน้ำตาล (โมลาส) เพื่อไปใช้ผลิตเอทานอล การจำหน่ายชานอ้อย เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า รวมถึงกากตะกรัน ที่นำไปทำปุ๋ย นำส่งเป็นรายได้เข้าระบบ เนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากการผลิต น้ำตาลทราย จากปัจจุบันไม่มีการนำส่วนดังกล่าวนี้มาแบ่งให้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนหนึ่งด้วย

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหากรณีที่บราซิลจะยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย โดยเปิดทางฝ่ายไทยให้เจรจาถึงข้อกล่าวหาไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะต้องเดินทางไปชี้แจงอีกรอบหนึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ว่าทางไทยจะมีแนวทางการแก้ปัญหาการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างไร ก่อนที่จะมีการยื่นฟ้อง WTO ต่อไป

          ทั้งนี้ เนื่องจากทางบราซิลยังติดใจใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่เป็นไปตามข้อตกลงทางการค้า มีการควบคุมราคาภายในประเทศไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม 2.การที่รัฐบาลกำหนดโควตาน้ำตาลทรายประกอบด้วยโควตา ก.(บริโภคในประเทศ) โควตา ข. (ส่งออกโดยผ่านบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทยฯ หรืออนท.)และโควตา ค.(ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล) นั้น ผิดหลักการค้าของ WTO 3.การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น และขั้นสุดท้าย ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นชาวไร่ไม่ต้องคืนเงินจากส่วนต่างที่ได้รับไปแล้ว และ 4.การอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกให้กับชาวไร่อ้อยในอัตรา 160 บาทต่อตัน

          ต่อเรื่องนี้นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ข้อสงสัยต่างๆ เหล่านี้ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ จึงได้เสนอแนวทางไว้ และมีกรอบระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจนหรือมีโรดแมปไว้ว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใด ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัว ตามราคาตลาดโลก โดยอ้างอิงจากราคาน้ำตาลทรายขาวที่นำเข้ามาในประเทศ หรือไม่ใช้ราคาอ้างอิงจากราคาที่ส่งน้ำตาลทรายดิบออกไป และมีการประกาศราคาขึ้นลงเป็นระยะๆ คล้ายคลึงกับราคาน้ำมัน

          จ่อยกเลิกโควตาก.ข.ค.

          อีกทั้ง ยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. ข. และ ค. โดยจะให้แต่ละโรงงานน้ำตาลเป็นผู้สต๊อกน้ำตาลทรายขั้นต่ำให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ส่งออก ซึ่งหากทางโรงงานไม่มีการสต๊อกน้ำตาลทรายไว้ ก็จะไม่อนุญาตหรือไม่ออกใบขนส่งออกน้ำตาลทรายได้ พร้อมทั้งยกเลิกระบบประกันราคาอ้อยขั้นต้น หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ให้นำส่วนต่างของราคาอ้อยที่รับเงินไปแล้ว ให้ถือว่าชาวไร่เป็นหนี้ และให้ยกหนี้ไปคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูถัดไปแทน รวมทั้งจะไม่มีการนำเงินอุดหนุนต้นทุนชาวไร่ 160 บาทต่อตันอีกต่อไป

          ดังนั้น เมื่อแนวทางผ่านการเห็นชอบจากอน.แล้ว หลังจากนี้ไป จะนำเสนอ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินวันที่ 27 กันยายนนี้ เพื่อที่จะได้นำแนวทางดังกล่าวไปหารือกับทางบราซิลในช่วงเดือนตุลาคมนี้ว่ารัฐบาลไทยมีแนวทางและเวลาในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนตามข้อท้วงติงของบราซิล เพื่อไม่ให้นำไปสู่การฟ้องร้องต่อไป

          "การเจรจากับทางรัฐบาลบราซิลช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่ามีสัญญาณค่อนข้างดี ที่เห็นว่าฝ่ายไทยมีการตื่นตัวในการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปกติหลังจบการเจรจารอบแรกแล้ว ทางบราซิลจะต้องมีการตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ขึ้นมาเพื่อเปิดไต่สวน แต่ก็ได้ชะลอออกไป เพื่อเปิดช่องให้มีการเจรจาในรอบที่ 2 เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมก็ต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อไปแก้ข้อกล่าวหาให้มีความชัดเจนขึ้น ดังนั้น เมื่อครม.เห็นชอบในแนวทางการดำเนินการเจรจาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ก็จะมีกรอบเวลาในการดำเนินงานแต่ละเรื่องที่ชัดเจน และน่าจะสร้างความพอใจให้กับทางบราซิลไม่ยื่นฟ้อง WTO ได้"

          ขนม-เครื่องดื่มในปท.กระทบบางช่วง

          ด้าน นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า การปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัวตามราคาตลาดโลก จะทำให้ราคาน้ำตาลรายขึ้นลงตามตลาดโลก ทำให้ราคาขายปลีกที่เคยควบคุมอยู่ที่ 23.50 บาทในร้านโมเดร์นเทรด หรือในร้านขายของชำทั่วไปที่ราคา 24-25 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นอยู่ที่ค่าขนส่ง โดยพาณิชย์จังหวัดจะเป็นผู้กำหนดราคาอ้างอิงที่เหมาะสมนั้น จะไม่มีการควบคุมแล้ว จะได้รับผลกระทบบางช่วงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกเพียงแต่การปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายเป็นกึ่งลอยตัวนั้น จะมีเพดานกำหนดกรณีที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมากผู้บริโภคภายในประเทศจะได้ไม่กระทบมาก ส่วนที่ยกเลิกการกำหนดโควตา ก. ข. และค. นั้น ไม่น่าจะมีอุปสรรคตามมาเนื่องจากกอน.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล กำกับ เหมือนพลังงาน ที่มีการกำหนดค่าไฟฟ้าผันแปร.หรือค่าเอฟที โดยจะคำนึงว่าปริมาณน้ำตาลในประเทศจะต้องเพียงพอก่อนเป็นหลัก

          อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเช่น เครื่องดื่ม ขนม ที่ผลิตเพื่อส่งออกจะใช้น้ำตาลตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลและผลิตเพื่อใช้ในประเทศอาจกระทบบ้างบางช่วงกรณีราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นจากเดิมที่ราคาน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศจะควบคุมราคาไว้

          "ส่วนที่บราซิลมองว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนเงินค่าอ้อยนั้น ทางฝ่ายไทยได้ไปชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วก่อนหน้านี้ ว่าเงินดังกล่าวนั้นเป็นเงินกู้จากกองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.)ที่ได้จากการขายน้ำตาลภายในประเทศซึ่งมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งไม่ได้มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน"

          ชาวไร่-โรงงานน้ำตาลเห็นต่าง

          ด้านนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ชาวไร่เห็นด้วยกับแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะได้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย  ส่วนที่ราคาน้ำตาลทรายปล่อยให้กึ่งลอยตัว จะทำให้ราคาขายปลีกในประเทศขึ้นลงตามราคาตลาดโลก ถ้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงมาก เรายังมีเพดานที่ควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมาก ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าควรมีเพดานอย่างไรออกมา

          "ส่วนกรณีที่บราซิลมองว่าที่รัฐบาลไทยไปอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลส่งออกนั้น ความจริงแล้วรัฐบาลไม่ได้มาอุดหนุน แต่เป็นการนำเงินของชาวไร่มาชำระหนี้ โดยผ่านทางคณะรัฐมนตรี ดังนั้นต่อไปเพื่อไม่ให้ถูกนำมาเป็นประเด็นอีก ก็ไม่ควรนำเรื่องนี้ผ่านครม. แต่ไปใช้บอร์ดกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) พิจารณา"

          ขณะที่นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล กล่าวว่า  ในส่วนตัวเอง ยังไม่เห็นรายละเอียดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แต่เข้าใจว่าโครงการสร้างใหม่น่าจะมีการนำวัตถุดิบที่เหลือจากการหีบอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล ที่จะต้องขายออกไปเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าและเอทานอล มาเป็นรายได้แบ่งเข้าระบบ ซึ่งทางโรงงานน้ำตาลคงไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยให้กับชาวไร่ไปตั้งแต่แรกแล้ว แต่เมื่อภาครัฐต้องการเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่ ทางโรงงานก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ต้องมีความชัดเจนในการคำนวณราคากัน  ส่วนการตอบโจทย์กับทางบราซิล โดยเสนอแนวทางให้รัฐบาลเห็นชอบ และยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศมาเป็นกึ่งลอยตัวนั้น ก็ต้องขึ้นกับว่าจะใช้การอ้างอิงคำนวณราคาอย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับผลกระทบ

          ผู้ใช้น้ำตาลลั่นปรับวิธีไหนก็เสี่ยง

          นายชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูมเมอร์ ประเทศไทย จำกัด และเลขาธิการสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยกล่าวในฐานะผู้ผลิตชาเขียว "เซนย่า" และกาแฟ "วีสลิม" ว่า จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยวิธีไหนก็มีความเสี่ยงในแง่ผู้ผลิต เพราะราคาวัตถุดิบเช่น น้ำตาล เป็นเรื่องของต้นทุนหลัก ที่ทำให้ผู้ผลิตมีการควบคุมต้นทุนได้ยาก ขณะที่ราคาสินค้าก็ไม่สามารถปรับราคาได้ทันทีตามต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าควบคุมเช่น นมถั่วเหลือง หรือเครื่องดื่ม น้ำอัดลม ยิ่งบริหารจัดการต้นทุนยาก จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบด้าน ให้กระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคปลายทางน้อยที่สุด

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 31 สิงหาคม 2559

เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ซิงเกิลคอมมานด์ พร้อมกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการสานพลังประชารัฐ เกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ (อ้อย) มุ่งพัฒนาการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชน

          สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ซิงเกิลคอมมานด์ ผู้จัดการแปลงใหญ่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน เกษตรกร และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสานพลังประชารัฐเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ (อ้อย) เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยให้เป็นอีกหนึ่ง พืชทางเลือกสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่หรือทำนาข้าว แต่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ

          นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า "ข้อตกลงที่ให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวหรือมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม มีผลผลิตต่ำ มาส่งเสริมการปลูกอ้อย ซึ่งมีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลกำกับดูแล ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอำนาจเจริญ เพราะอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ของไทยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้สูง จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่เราได้รับความร่วมมือและ การสนับสนุนจากกลุ่มมิตรผล ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน"

          นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "กลุ่มมิตรผล มีความยินดีที่จะเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเราได้นำแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาตรฐานระดับโลก ที่เราได้ศึกษาและพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย หรือที่เรียกว่าการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ "มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม" ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่อ้อยที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ ผ่านทฤษฎี 4 เสาหลัก นอกจากนี้ มาตรฐานการทำไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลยังได้รับ การรับรองจาก Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระดับโลก ที่มุ่งเน้นการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเรายินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดนี้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง ไม่เพียงเท่านี้ ในทุกพื้นที่ที่กลุ่มมิตรผลมีการดำเนินงาน เรายังมีโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจริยธรรมและจิตใจ"

          บันทึกข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอำนาจเจริญเท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร เนื่องจากอ้อยเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง (Value Chain) สูง อีกทั้งยังเป็นพืชนำร่องในการผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของภาครัฐสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

  จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2559

ครม.ไฟเขียวยกเครื่องกม.อุตฯ 10เดือนพบกระทำผิดกว่า100ราย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม (ฉบับที่..) พ.ศ… ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมขั้นตอนการปฏิบัติงานในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้มีความชัดเจน รวดเร็ว กระชับ รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร และหลักเกณฑ์การนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อมาประกอบหรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อรองรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งกำหนดอายุของใบอนุญาต การโอนใบอนุญาตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงปรับอัตราโทษและปรับปรุงกระบวนการลงโทษทางอาญาให้ใช้การเปรียบเทียบคดีได้

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้กำหนดการประกาศเป็นผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือเป็นผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยแก้ไขให้เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรมมีอำนาจในการประกาศ แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดจากเดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรี รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) มีอำนาจหนน้าที่พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการ จากเดิมเพียงคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการวิชาการแล้วจึงเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง

นอกจากนี้ ยังให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใดต้องเป็นไปตามมาตรฐาน จากเดิมต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินการให้รวดเร็วขึ้นและเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ โดยจะลดระยะเวลาการดำเนินการเหลือ 180 วัน จากเดิมที่ 542 วัน แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั่วไปจะลดเวลาเหลือ 150 วัน จากเดิม 390 วัน พร้อมทั้งกำหนดให้ต้องมีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของตัวแทนกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ กำหนดให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักรต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบและพฤติกรรมในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งกำหนดให้ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบหรือประกอบผลิตภัณฑ์อื่นแล้ส่งออกทั้งหมดต้องแจ้งต่อสำนักงานก่อนเริ่มการนำเข้า และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดด้วย พร้อมทั้งกำหนดให้กรณีบุคคลธรรมดาที่ได้รับใบอนุญาตถึงแก่ความตาย ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกยื่นคำขอเพื่อรับโอนใบอนุญาตภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตถึงแก่ความตาย ถ้าไม่ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ถือว่าใบอนุญาตสิ้นอายุ โดยยังมีการกำหนดอายุใบอนุญาตให้เป็นมาตรฐานทั่วไปที่ 5 ปี เนื่องจากเป็นมาตรฐานบังคับเพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ประชาชนและกิจการอุตสาหกรรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความผิดที่มีโทษและผู้กระทำความผิด ให้สำนักงานเปรียบเทียบให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบแทนได้ โดยมีการเพิ่มบทลงโทษ จากเดิมจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น ปรับขึ้นต่ำ 5 หมื่นบาท ถึง 5 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อเป็นการปกป้องประชาชนให้ได้บริโภคสินค้าที่มีมาตรฐาน โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีผู้กระทำความผิดแล้วกว่า 100 ราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 3,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดในสินค้าประเภทเหล็ก

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2559

ครม.ไฟเขียวธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกลุ่มเกษตร 650 แปลง/แปลงละ5ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่ายและบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต ให้ได้มาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงกันตลาด โดยอนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 3,250 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2562 และอนุมัติรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส.จำนวน 228 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรกู้ได้ไม่เกินแปลงละ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3ต่อปี โดยกำหนดเป้าหมายในปี 59 จำนวน 650 แปลง โดยคาดว่าจะลดต้นทุนได้ 20 % และเพิ่มผลิตได้ 20 %เช่นกัน

นายณัฐพรกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ครม.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2559/60 จำนวน 4โครงการ รวมกรอบวงเงิน 3,240 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินการของธ.ก.ส.

1.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 ต่อปี จากต้นเงินกู้รายละไม่เกิน 8 หมื่นบาทแรก ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3ต่อปี คิดเป็น 372 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 3.1 แสนราย

2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด วงเงิน 2,300ล้านบาท เกษตรกรกู้ได้รายละไม่เกิน2.3 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ FDR+1 ต่อปี ระยะเวลา 24 เดือน  คิดเป็น 102ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 1 หมื่นราย

3.โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูป โดยการสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้เพื่อจัดหาเครื่องจักร วงเงิน 1,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน กู้ได้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติลบด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน คิดเป็น 60 ล้านบาท

4.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตกร วงเงินสินเชื่อ 1,500ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยบะFDR+1 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 12เดือน คิดเป็น 33 ล้านบาท

  จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 30 สิงหาคม 2559

สภาผู้ส่งออกฯ คาดการส่งออกไทยปี 59 ยังติดลบ 2% ปัจจัยเสี่ยงเพียบ วอนรัฐดูแลค่าเงินบาท

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกสินค้าไทยในขณะนี้ยังติดลบ เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าหลายรายการยังตกต่ำ แม้ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการในตลาดโลก ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวสาลี น้ำตาล ไก่ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลดลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิม 3.2% รวมทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาแนวโน้มเศรษฐกิจลดลง อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2559 ยังติดลบ 2% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกคาดว่าจะประเมินและคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกทั้งปีจะยังไม่มีการขณะนี้ รอติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง เพราะยังมีปัจจัยกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าจากเดือนกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา 

พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่า 4.41% ส่วนคู่แข่งค่าเงินยังคงทรงตัวและแข็งค่าน้อยกว่าไทย และหากไทยยังไม่สามารถดูแลสถานการณ์ค่าเงินบาทได้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 34.50   บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่นที่กระทบ คือ เรื่องขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้าและโรคเมอร์ส ส่งผลให้ประเทศจีนกำหนดให้สินค้าจากไทยที่ขนส่งไปจีนต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดว่าไม่มีแมลง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออก

ส่วนเรื่องของปัจจัยบวก เป็นในส่วนของราคาพลังงานดีขึ้น สินค้าบางรายการส่งออกดีขึ้น เช่น กุ้ง ปลา ฝ้าย ยางพารา และเหล็ก สำหรับการส่งออกเดือนกรกฎาคม 2559 มีมูลค่า 17,415 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.43% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้การส่งออก 7 เดือน (มกราคม –กรกฎาคม 2559) มีมูลค่า 122,553 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2%

  จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 30 สิงหาคม 2559

ไทยคลอดพ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล

บอร์ด คปภ.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเล หวังเป็นกลไกสำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตฯประกันภัยทางทะเล การขนส่ง การเดินเรือทะเลให้แข่งขันในเวทีโลกได้

               นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 มีมติเห็นชอบหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … และให้สำนักงาน คปภ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อกระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เนื่องจากการประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองไว้ใช้

               ทั้งนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ศาลฎีกาได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่ปี 2496 ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายของต่างประเทศ จึงมีความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมายและมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะ แยกจากกฎหมายประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยกร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลนี้จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายประกันภัยทางทะเลของตนเองเป็นครั้งแรก

               เลขาฯ คปภ. กล่าวว่า ถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาล เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการใช้การตีความกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดีที่ไม่ต้องนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. อีกด้วย

               “เดิมกรมเจ้าท่าได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … มาก่อน แต่จากการประสานความร่วมมือ กรมเจ้าท่าเห็นชอบให้สำนักงาน คปภ.เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ โดยยินดีร่วมเป็นคณะทำงานด้วย” นายสุทธิพล กล่าว

               ศาสตราจารย์พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล กล่าวว่า ขอขอบคุณ คปภ.ที่ช่วยสานฝันให้เป็นจริง เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยมานานกว่า 30 ปี จะเป็นเครื่องมือสำคัญและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดระบบการค้า การขนส่ง การลงทุน และการศึกษาของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

  จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 30 สิงหาคม 2559

รุกจัดงานอุตสาหกรรมน้ำตาล

ลุยจัดมหกรรมแสดงสินค้าเทคโนโลยีและสัมมนาด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล ” World Sugar Expo & Conference 2016” 7-8 ก.ย. 59 ที่ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

นางสาวปุณฑริกา แสนฤทธิ์  ผู้จัดการบริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย  (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้จัดงาน ” World Sugar Expo & Conference 2016” เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ใหญ่ที่สุดขอ

งเอเชีย โดยการจัดงานในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ อาทิเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวะพลังงานไทย  สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย  สมาคมเครื่องจักรกลไทย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด   กลุ่ม KTS บริษัทเอกรัฐพัฒนา  จำกัด  และบริษัทน้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

งาน ” World Sugar Expo & Conference 2016”  จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2559 ที่ฮอลล์ Hall 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ บนพื้นที่จัดแสดงงานกว่า 3,000  ตารางเมตร โดยภายในงานมีจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ จากบริษัทชั้นนำในวงการน้ำตาลทั้งในประเทศ  และต่างประเทศ  โดยแต่ละบริษัทพร้อมใจกันนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล  และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดแสดง ขณะเดียวกันภายในงานยังได้จัดกิจกรรม Technology Seminar  เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมงานได้อัปเดตเทคโนโลยีและข่าวสารใหม่ๆ ในช่วงที่เปิดให้เข้าฟังได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากพื้นที่จัดแสดงสินค้าและสัมมนาฟรีแล้ว ทางเรายังมีการประชุมระดับนานาชาติ World Sugar Conference 2016 ที่ได้รับเกียรติจากผู้มีความรู้และคร่ำหวอดในวงการมาให้ความรู้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้คุณได้ใกล้ชิดและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก

“ผู้สนใจเข้าร่วมงาน ” World Sugar Expo & Conference 2016” และเข้าฟัง” Technology Seminar  สามารถเข้าชมงานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worldsugarexpo .com,Nthai@asiareworks.com หรือโทร 0-2513-1418”

จาก ดอกเบี้ยธุรกิจ วันที่ 30 สิงหาคม 2559

เขื่อนภูมิพลยังวิกฤต 

กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการวันที่ 1 ก.ย.-15 ต.ค. เติม น้ำเขื่อนใหญ่-เขื่อนภูมิพลที่ยังวิกฤต

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้ปรับแผนฝนหลวง เพื่อช่วยเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนภูมิพลและอ่างเก็บน้ำในฝั่งตะวันตก อ่างเก็บน้ำ ทับเสลา กระเสียวและเขื่อนในลุ่มน้ำแม่กลอง โดยแผนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าร่องฝนจะขยับลงมาภาคเหนือตอนบน

          "แม้ว่าจะเข้าฤดูฝน แต่เนื่องจากฝนตกไม่ต่อเนื่องหรือฝนตกเป็นจุดๆ ทำให้ดินไม่คายน้ำ ดังนั้น ในช่วง 2 เดือนในฤดูฝนที่เหลืออยู่นี้ กรมจะปรับแผนปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายและในวันที่ 2 ก.ย. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปตรวจสภาพน้ำในเขื่อนภูมิพล ซึ่งปัจจุบันมีน้ำใช้การเพียง 9% เท่านั้น เพราะเผชิญภัยแล้งมานานติดต่อกัน 2-3 ปี และน้ำไหลเข้าไม่มาก" นายเลอศักดิ์ กล่าว

          นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า กรมจะตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มใน จ.ตาก และจะร่วมกับกองทัพอากาศในฐานบินที่จะพิษณุโลก เพื่อให้เครื่องเอยู 23 จำนวน 2 ลำ ขึ้นบนไปถึงระดับความสูง 1 หมื่นฟิต แล้วยิงพลุปล่อยสารดูดความชื้นออกจากเครื่องเอยู ซึ่งจะทำให้ก้อนเมฆใหญ่ขึ้นและเพิ่มปริมาณฝนตกได้มากกว่า 20%

          "คาดว่าสิ้นฤดูฝนปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แคว น้อย และป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำใช้การได้กว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ถ้าโชคดีอาจได้น้ำ 9,000 ล้าน ลบ.ม. และสามารถปลูกข้าวและพืชฤดูแล้งได้" อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว

          นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จะมีปริมาณฝนตกหนาแน่นบริเวณภาคเหนือตอนบนและคาบเกี่ยวกับภาคกลาง เนื่องจากความกดอากาศต่ำจากจีนลงมา และจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพลเพิ่มมากขึ้น โดย ขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 4,651 ล้าน ลบ.ม. แต่เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 851 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 9% ของความจุเขื่อน

          สำหรับเขื่อนสิริกิติ์นั้น เนื่องจากในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านมีปริมาณน้ำไหลหลากและน้ำท่าในพื้นที่มาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำน่านเพิ่มขึ้น กรมชลประทานจึงลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ลงเหลือ 1 ล้าน ลบ.ม./วัน และหยุดการระบายในวันที่ 30 ส.ค. จากนั้นจะประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อรักษาปริมาณน้ำไว้ใช้สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง

          "กรมเป็นห่วงเขื่อนในภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อย จึงต้องระมัดระวังในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำยังน่าเป็นห่วงอยู่ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำมูลบน ลำแชะ ภูมิพล วชิราลงกรณ์ ศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา กระเสียว เป็นต้น" นายเลิศชัย กล่าว

          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนยังน้อยอยู่ เช่น เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้เพียง 9% เขื่อนกระเสียวมีน้ำใช้การได้ 1% เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำใช้การได้ 4% เขื่อนบางพระมีน้ำใช้การได้ 13% เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้การได้เพียง 4%

          "ในช่วงนี้ได้ให้กรมฝนหลวงฯ ขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนในพื้นที่ เป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนหลัก โดยวันที่ 2 ก.ย. เดินทางไปติดตามฐานฝนหลวง จ.ตาก เพื่อเติมน้ำเขื่อนภูมิพล" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2559

ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีสานต่างภาค

          คำว่า "อีสาน" ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไทย นอกเหนือจากอีสานที่มีความหมายจำเพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่บางภาคโดยรวมแม้จะอุดมสมบูรณ์ แต่ก็มีบางจุดที่มีสภาพเป็นอีสานคือแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ ตามด้วยปัญหาความยากจน  และคุณภาพชีวิต

          จะว่าไป ปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคอีสานจริงๆ กลับเริ่มพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ เพราะเห็นปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลายาวนาน และส่งผลถึงคุณภาพชีวิตคนอีสานที่ค่อนข้างอ่อนด้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น  การพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสานในทุกรัฐบาล จึงระดมทำทุกรูปแบบ ตั้งแต่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ลงไปถึงแก้มลิง ประตูระบายน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมไปจนถึงแนวคิดในการเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงแทนการปล่อยลงแม่น้ำโขงทั้งหมด ตลอดจนการนำแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์ในบางจังหวะเวลาที่ไม่กระทบต่อประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงด้วยกัน

          อีสานของจริง กำลังดีวันดีคืน เมื่อเทียบกับในอดีตอันยาวนาน

          กลับกันหลายภาคที่แลดูอุดมสมบูรณ์ เอาเข้าจริงยังมีซอกหลืบของความขาดแคลนน้ำหลงเหลืออยู่อย่างไม่น่าเชื่อ  จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้ชื่อว่ามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มาก มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สุด ของประเทศติด 2 ใน 4 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ความจุ มากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 4 ของประเทศตามลำดับ

          แต่กาญจนบุรีกลับมีพื้นที่ที่เรียกขานว่า อีสานของเมืองกาญจน์ ได้แก่ อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย และ อ.หนองเรือ

          เช่นเดียวกับ จ.ชัยนาท ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา  อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมากมายและแทบตลอดเวลา แต่ชัยนาทเองกลับมีพื้นที่ที่เรียกขานเป็นอีสาน ได้แก่ อ.หันคา และ อ.เนินขาม รวมไปถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่อยู่ติดกัน

          อีสานเมืองกาญจน์นั้น สภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง ติดเทือกเขาตะนาวศรี เป็นพื้นที่อับฝน ในอดีตเมื่อถึงฤดูแล้งชาวบ้านต้องต้อนวัวควายเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่า  แทนปล่อยอดตายอยู่ในพื้นที่  เกษตรกรทำการเกษตรน้ำฝนเพียงอย่างเดียว หน้าแล้งต้องอพยพไปหางานทำที่อื่นไม่ต่างจากภาคอีสานของแท้ในอดีต

          อีสานชัยนาท  ทำเกษตรน้ำฝนอย่างเดียวเช่นกัน ทั้งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำอุดมของลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มสะแกกรัง พื้นที่แถบนี้เป็นที่ดอน น้ำส่งไปไม่ถึง

          แม้จะมีข้อจำกัดทางกายภาพ แต่กรมชลประทานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องน้ำ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันบรรเทาปัญหาจากน้ำ ต้องพยายามหาทางให้ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เข้าถึงน้ำให้ได้

          น้ำมั่นคงอย่างเดียว อย่างอื่นพลอยมั่นคงตามไปด้วย โดยเฉพาะการทำกินและคุณภาพชีวิตของคนในลุ่มน้ำนั้นๆ

          นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กล่าวว่า  ภารกิจของกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง คือการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สำหรับอีสานเมืองกาญจน์นั้น กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางได้ก่อสร้างโครงการสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง เพื่อเติมอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล อ.ห้วยกระเจา ระยะทางกว่า 16 กิโลเมตร ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสถานีสูบน้ำและท่อส่งน้ำสายหลักไปอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล แต่ยังไม่ได้สูบ เพราะยังรอการขุดลอกตะกอนดินในอ่างจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่  หากแล้วเสร็จคาดว่าจะมีความจุน้ำในอ่าง 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

          ส่วนท่อแยกส่งน้ำเข้าวัดทิพย์สุคนธาราม เพื่อเติมสระ 3 แห่ง ความจุรวม 3.4 แสนลูกบาศก์เมตร ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 และได้สูบน้ำเข้าไปเติมสระจนเต็ม ช่วยผ่อนคลายปัญหาขาดแคลนน้ำของ อ.ห้วยกระเจา ในช่วงฤดูแล้ง 2558/2559

          นอกจากนั้น กรมชลประทาน โดยกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ยังขยายพื้นที่โครงการส่งน้ำไปจนถึง ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา เพิ่มเติม หลังจาก พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการร้องขอน้ำจากราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เพื่อเติมน้ำในสระสาธารณะความจุ 6 แสนลูกบาศก์เมตร

          โครงการท่าล้อ-อู่ทอง เป็นโครงการสำคัญในโครงการชลประทานเมืองกาญจนบุรี-พนมทวน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำความยาว 61 กิโลเมตร ผันน้ำแม่กลอง จาก ต.ท่าล้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ไปเติมน้ำในแม่น้ำจรเข้สามพัน ซึ่งระหว่างทางจะก่อสร้างสถานีสูบน้ำเป็นระยะๆ 34 สถานี สำหรับนำน้ำไปใช้ในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา อ.บ่อพลอย และ อ.พนมทวน นั่นหมายถึง อีสานเมืองกาญจน์กำลังได้รับการพัฒนาเรื่องน้ำกันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำได้ดียิ่งขึ้น

          ส่วนอีสานชัยนาท กรมชลประทานได้พัฒนา อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง ความจุ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 12,000 ไร่ ในเขต ต.กระบกเตี้ย ต.สุขเดือนห้า ของ อ.เนินขาม และ ต.หนองบ่มกล้วย อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี  นอกจากนั้น ยังช่วยตัดยอดน้ำไม่ให้ไหลลงไปท่วมพื้นที่ อ.หันคา อีกด้วย

          คาดหมายว่า อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรงจะแล้วเสร็จปี 2560 และระบบส่งน้ำคาดว่าจะเสร็จในปี 2562 นั่นหมายความว่า นับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทร้องขอโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2532 กว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบชลประทานได้จริงนั้น ต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปีทีเดียว

          จะเห็นได้ว่า กว่าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละแห่งจะถือกำเนิดขึ้นมาได้ ต้องใช้เวลานานโขทีเดียว เพราะมีข้อจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะกระบวนการศึกษา และ กระบวนการงบประมาณ ส่วนกระบวนการก่อสร้างนั้น หากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและใหญ่ใช้เวลา 3-5 ปี และระบบส่งน้ำอีก 2-3 ปี

          การพลิกฟื้นให้พื้นที่อีสานเมืองกาญจน์ก็ดี พื้นที่อีสานชัยนาทก็ดี  เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำได้นั้น ไม่เพียงประชาชนจะได้ประโยชน์จากน้ำ มีน้ำใช้ น้ำทำกิน มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากยังทำให้พื้นที่เหล่านั้นเกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่ามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว ไม่มีใครอยากละทิ้งถิ่นไปไหน ตรงข้าม กลับจะยิ่งดูแลบำรุงรักษาถิ่นที่อยู่ให้เข้มแข็งเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น บังเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม.

จาก http://manager.co.th วันที่ 30 สิงหาคม 2559

กรมชลฯเผยน้ำในเขื่อนมีมากกว่าปีก่อน8%

อธิบดีกรมชลประทาน ชี้ ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่เกณฑ์ดี มากกว่าปีก่อนร้อยละ 8 

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ล่าสุดภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ดี มีปริมาณมากกกว่าเมื่อเทียบกับปี 58 ร้อยละ 8% ซึ่งน้ำใน 4 เขื่อนหลักมีปริมาณกว่า 4,167 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำเยอะมาก ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าปีนี้จะไม่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคแน่นอน ขณะที่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 850 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์พบว่าเมื่อวานนี้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากถึง 63 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้อยากฝากถึงประชาชนให้ติดตามข่าวสาร พร้อมเฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากด้วย

อย่างไรก็ตาม การกำจัดผักตบชวาในพื้นที่การดูแลของกรมชลประทาน ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 30 สิงหาคม 2559

คลังเคาะภาษีความหวาน ให้เวลาปรับตัวเริ่มใช้ปี61

สศค.เผยได้ข้อสรุปภาษีความหวานแล้ว หลังถกเอกชน ให้เวลา 2 ปีปรับตัวผ่านมาตรการที่ไม่ใช่ ระบุฉลากชัด ก่อนใช้มาตรการภาษีคาดเริ่มปี 2561 ชี้ข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ให้ยืดระยะเวลา 5 ปี นานเกิน ขณะที่ซีเอฟโอ KTIS “สิริวุทธิ์” ห่วงกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้าน “ตัน ภาสกรนที” พร้อมหนุนนโยบายรัฐ เผยคนให้ความสำคัญสุขภาพมากขึ้นสะท้อนจากยอดขาย “ชาเขียวชูการ์ฟรี”

จากการที่ผู้ประกอบการและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาล สมาคมอุตสาหกรรมอาหารและนม และองค์กรชาวไร่อ้อย ต้องการให้รัฐบาลยืดระยะเวลาเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพออกไปอีก 5 ปี พร้อมๆ กับดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่

ต่อประเด็นดังกล่าวนายลวรณ แสงสนิท ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้คณะทำงานกำลังดูข้อสรุปสุดท้ายถึงทิศทางการจัดเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ก่อนเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงการคลัง เนื่องจากขณะนี้ได้ครบกำหนดระยะเวลาการศึกษา 2 เดือนแล้ว

โดยขั้นตอนต่อไป คณะทำงานจะต้องนำผลการศึกษาตลอดจนข้อสรุป เสนอให้แก่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง โดยในเบื้องต้นตอนนี้ สศค. มองว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่กันไป ซึ่งจากผลการศึกษามีด้วยกัน 4-5 มาตรการด้วยกัน โดยจะเริ่มที่มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี คือ การให้เอกชนปรับสูตรเครื่องดื่มซึ่งสามารถทำได้ทันทีเลย ข้อนี้เอกชนและภาครัฐได้ทำการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ภาครัฐจะเป็นฝ่ายเดินหน้ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กระทรวงสาธารณสุขที่ออกกฎว่าให้ผู้ผลิตทำการปรับสูตรการผลิตสินค้า ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ 2 มาตรการเดินหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่จะได้เห็น คือ ผู้ผลิตต้องปรับสูตรเครื่องดื่มให้ลดความหวานลง ตลอดจนต้องเร่งการสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าหากทานหวานแล้วจะไม่ดีต่อสุขภาพหรือมีโทษอย่างไร และครั้งนี้ที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ผู้ผลิตจะต้องใช้สลากพิเศษพร้อมทั้งระบุอย่างชัดเจนบนขวดหรือภาชนะว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ดีต่อสุขภาพ เหล่านี้จะเป็นมาตรการที่จะออกมาซึ่งน่าจะเห็นในเร็วๆ นี้ และผ่านไปสักระยะหนึ่งแล้ว ทาง สศค.จะเริ่มประเมินผลว่า มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่ผู้ผลิตนำมาปรับใช้นั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การจะเริ่มใช้มาตรการทางภาษีจะต้องมีระยะเวลาการผ่อนผัน ให้กับผู้ผลิต เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันก่อนที่มาตรการทางภาษีจะมีผลบังคับใช้ โดยกรอบระยะเวลากำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 2 ปี คือในปี 2559-2560 ที่ให้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีไปก่อน จากนั้นมาตรการภาษีควรเริ่มในปีที่ 3-5 คือตั้งแต่ปี 2561- 2564 เป็นต้นไป

“ตั้งแต่ปี 2561 กระทรวงการคลัง จะเริ่มปรับขึ้นภาษีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความหวานพร้อมแบ่งตามประเภทกลุ่มสินค้าว่าสินค้ากลุ่มใดจะถูกจัดเก็บภาษีภายในปีไหนและคิดสัดส่วนอัตราภาษีที่ปรับขึ้นคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่ต้องเริ่มจากเครื่องดื่มเนื่องจากเครื่องดื่มเป็นตลาดใหญ่สุด มีสัดส่วนการใช้น้ำตาลสูงถึง 30% ของตลาดรวม สิ่งที่เราต้องการเห็น คือ ทำให้น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มใช้น้ำตาลอยู่ที่ 10 กรัมต่อ 100 ซีซี หากผลิตภัณฑ์ใดที่มีความหวานใกล้เคียงจากปริมาณที่กระทรวงการคลังกำหนดคือ 12 กรัมต่อ 100 ซีซี ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น การจะปรับสูตรความหวานก็น่าจะทำได้เร็วมาก แต่หากปริมาณผลิตภัณฑ์ใดที่มีความหวานสูงถึง 20 กรัมต่อ 100 ซีซี อาจใช้เวลาในการปรับสูตรหรือใช้เวลาในการปรับตัวมากกว่า”

จากผลการศึกษาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในท้องตลาดปัจจุบันพบว่า กลุ่มที่ค่อนข้างจะมีปัญหาเนื่องจากมีน้ำตาลสูงหรือใช้น้ำตาลสูง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มน้ำผักและผลไม้ที่มีการใช้น้ำหวานจากธรรมชาติและมีค่าความหวานสูงถึง 20 กว่ากรัมต่อปริมาณ 100 กรัม โดยทางผู้ผลิตได้ส่งข้อมูล ว่าปกติแล้วผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทบไม่มีการเติมน้ำตาลเข้ามาเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากน้ำผักและผลไม้มีความหวานจากน้ำตาลตามธรรมชาติหรือน้ำตาลฟรุกโตส

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีความหวานจากธรรมชาติที่ไม่เติมน้ำตาล กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อผลเสียต่อสุขภาพมากนัก ดังนั้นกระทรวงการคลังก็อาจจะมีการยืดระยะเวลาให้ตามข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ว่าจะให้กับทุกกลุ่มเช่น ที่มีการขอยืดเวลาไปถึง 5 ปีให้กับทั้งอุตสาหกรรมนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้

“มาตรการภาษีน้ำตาล ระยะที่ 1.จะนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มก่อน และระยะที่ 2 จะขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เพราะปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนไม่น้อยใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ”

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ให้ความเห็นเรื่องว่า แนวนโยบายที่จะให้เก็บภาษีความหวาน โดยจะให้เริ่มกันในปี 2561 เป็นต้นไป คงต้องนำไปหารือในที่ประชุมร่วมระหว่างภาครัฐ กับผู้ประกอบการ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและน้ำตาลที่เกี่ยวข้อง เพราะในหลักการเดิมที่เจรจากันคือเห็นควรให้ดำเนินไปพร้อม ๆกันทั้งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างความรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการทานน้ำตาลเกินเกณฑ์ ควบคู่กันกับใช้มาตรการภาษี แต่จะเริ่มปีไหนอย่างไร ยังไม่มีข้อสรุป

“ถ้าจะใช้มาตรการภาษี ต้องพิจารณาว่าจะส่งผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรืออย่างร้านกาแฟจะต้องถูกจัดเก็บภาษีด้วยไหม ถ้าไม่จะเป็นความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องศึกษา” เขายกตัวอย่าง

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียว “อิชิตัน” กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่ภาครัฐมีแนวคิดและมาตรการในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคลดการบริโภคน้ำหวานลง นั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพของประชาชน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการพร้อมให้การสนับสนุนและจะดำเนินการในกรอบที่กำหนดไว้

ทั้งนี้อิชิตัน เริ่มพัฒนาและวางจำหน่ายชาเขียวสูตรชูการ์ ฟี ตั้งแต่ 2 ปีก่อนและมียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยเองให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ และเลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น และล่าสุดบริษัทมีแผนจะวางจำหน่ายชาเขียวพรีเมียมสูตรชูการ์ฟรี ออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ หลังจากเปิดตัว “อิชิตัน ซีเล็คเต็ด” ชาเขียวสูตรใหม่เพื่อสุขภาพ หวานน้อย แคลอรีต่ำ 2 รสชาติได้แก่ อิชิตัน ซีเล็คเต็ด มัทชะ และอิชิตัน ซีเล็คเต็ด อูหลง ในปลายปี 2557 ซึ่งได้รับการตอบรับดี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

'หอการค้า'จ่อพบ'วิรไท' ถกคุมค่าเงินบาท

"สภาหอการค้าฯ" เตรียมเข้าพบ "ผู้ว่าธปท." หารือค่าเงินบาท หวั่นแข็งค่ากระทบภาคส่งออก ชี้ต้องการให้ค่าเงินอยู่ในช่วง 34.5 บาท/ดอลลาร์

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็วๆนี้ สภาหอการค้าไทย จะเดินทางเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือถึงทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนและมาตรการในการเข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนกระทบกับผู้ส่งออก โดยผู้ส่งออกยอมรับว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์นั้น เป็นระดับที่ยอมรับได้ แม้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีความต้องการให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ก็ตาม

"หากค่าเงินบาทไม่ผันผวน หรือแข็งค่าจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เชื่อว่าการส่งออกจะอยู่ที่ระดับ 0-2% แต่หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในขณะนี้ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม " นายสนั่น กล่าว

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะฟื้นตัวดี เนื่องจากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เห็นได้จากนักลงทุนจากต่างประเทศและไทยเข้ามาลงทุนมากขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง และสถานการณ์ภัยแล้งไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจมากนักแม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำก็ตาม จึงมองว่าเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.5%

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนได้มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการทางด้านภาษี เพื่อสนับสนุนให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสนับสนุนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คาด2เดือนน้ำเขื่อนเข้าเป้า4อ่างหลักพร้อมทำ'เกษตร

          "ฉัตรชัย"สั่งเร่งทำฝนหลวงเข้าอ่างให้เกษตรกร ทำนารอบสอง "กรมชลฯ-อุตุฯ"ยันสถานการณ์แล้งพ้นวิกฤติ คาดอีก 2 เดือนทั้งน้ำธรรมชาติ-ฝนเทียม ช่วยเติมน้ำ 4 เขื่อนหลักเข้าเป้า 8.5 พันล้านลบ.ม. พร้อมส่ง 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำการเกษตร น้ำทะลักเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ท่วมแหล่งท่องเที่ยวสั่งปิดอุทยานฯดอยสุเทพ ช่วยนักเที่ยวออกจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว

          หลังจากประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติด้านน้ำต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง จนถึงขณะนี้ปัญหาเริ่มคลี่คลาย และกำลังดำเนินไปสู่ทิศทางที่ดี

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวถึงสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนใหญ่ ที่มีน้อยกว่า 30% ว่าเขื่อนใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังมาก คือเขื่อนกระเสียว ยังมีน้ำใช้การได้ 1% เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำใช้การได้ 4 % เขื่อนบางพระ มีน้ำใช้การ 13% ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เติมเข้าคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

          ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้ 4% ที่เคยนำน้ำใต้เขื่อนมาใช้ ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ ถือว่า ดีกว่าเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่ฝนหยุดเร็ว น้ำเข้าเขื่อนน่าจะได้มากกว่า ทั้งทางภาคเหนือ กับภาคอีสาน น้ำเริ่มดีกว่าปีที่แล้ว ส่วนภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมา ฝนจะตกยืดกว่าปีที่แล้ว และน้ำจะเข้าช่วงปลายปีมากกว่า

          อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ได้ให้กรมฝนหลวงฯ ขึ้นปฏิบัติการเติมน้ำเขื่อนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนหลัก โดยวันที่ 2 ก.ย.นี้ จะเดินทางไปฐานฝนหลวง จ.ตาก เพื่อเติมน้ำเขื่อนภูมิพล และติดตามสถานการณ์น้ำ

          เร่งเก็บน้ำให้เกษตรกรทำนารอบสอง

          รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า เป็นที่น่ายินดีว่าน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ใกล้เคียงกับสิ้นฤดูฝนปี 2558 และมีโอกาสมากกว่าสิ้นฤดูฝนปี 2557 ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มองแผนการใช้น้ำไปข้างหน้าถึงฤดูฝนปีหน้า โดยตนได้สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน เก็บน้ำในปีนี้ให้มากที่สุด มั่นใจว่าแล้งนี้ปี 2560 จะมีน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเพียงพอ ส่วนน้ำที่จะเก็บต่อไปคือน้ำทำนารอบสอง

          นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ทั้งเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในระดับที่กระทบต่อการอุปโภค บริโภค การอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม

          ทั้งหมดนั้นมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความใส่ใจมากขึ้น เห็นได้จากผู้นำ 196 ประเทศร่วมประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ที่มีความเห็นร่วมกันในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะเมื่อโลกร้อนขึ้น จะทำน้ำในมหาสมุทรระเหยมากขึ้น ก่อตัวเป็นเมฆฝนที่ส่งผลให้มีพายุบ่อยครั้ง และรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย

          คาดผนตกต่อเนื่องเดือนกันยาฯ

          นอกจากนี้วิกฤติแล้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความผันแปรของระบบอากาศ หรือเอลนีโญ ที่ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มแห้งแล้ง ตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงต้นปี 2559 แต่จากนี้จะเกิดความผันแปรของระบบอากาศอีกขั้วที่เรียกว่า "ลานินญา" จะส่งผลให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนที่ตกหนักจำนวนมาก และคาดว่าปลายปีนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากขึ้น

          ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก ชี้แนวโน้มว่าในเดือน พ.ค. ระบบภูมิอากาศเริ่มเข้าสู่สมดุล แล้วตั้งแต่ประมาณกลางเดือน ส.ค.-ก.ย. จะมีปริมาณฝนตกเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยตอนบน ยกเว้นภาคใต้ ฝั่งตะวันออกที่อาจส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าแลบะอาจเกิดน้ำท่วมได้

          ชาวนาเคยชินน้ำอุดมสมบูรณ์

          ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หากนับตั้งแต่ปี 2523 ประเทศยังมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลเข้าเขื่อนปริมาณมากจนรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังบนพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่เศษ เพื่อนำปริมาณที่เหลือจากความต้องการมาใช้ให้เกิดประโยชน์

          จนเมื่อปี 2537 เกิดภาวะภัยแล้งครั้งแรกและทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับภัยแล้งเรื่อยมา จนเขื่อนภูมิพลกักเก็บน้ำในปริมาณน้อยลง ในขณะที่ชาวนาเคยชินกับการเพาะปลูกข้าว 2 ครั้ง การระบายน้ำออกจากเขื่อน จึงต้องยึดหลักบริหารน้ำต้นทุน กระทั่งปี 2548 ทุกฝ่ายจึงเข้ามาร่วมบริหารจัดการน้ำเพราะต้องการใช้น้ำที่อยู่น้อยนิด

          น้ำในเขื่อนดีกว่าปีก่อนชัดเจน

          ต่อมาในปี 2557 ต่อเนื่องไปถึงปี 2558 ปริมาณน้ำเข้าอ่างกักเก็บน้อยลงทุกที แต่พฤติกรรมการและปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้น แม้จำนวนผู้ใช้น้ำยังคงเป็นพื้นที่ 22 จังหวัดเช่นเดิม แต่ด้วยการอุปโภค บริโภค ทั้ง กปน.ที่อยู่ปลายทาง การประปาภูมิภาค ที่อยู่ตามรายทาง และยังมีประปาท้องถิ่น สถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตร ที่มีมากกว่า 500 แห่ง

          ทั้งนี้ 80% ของปริมาณความต้องการใช้น้ำ อยู่นอกเขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา เป็นโจทย์สำคัญในการบริหารจัดการน้ำกินน้ำใช้ และเพื่อรักษาระบบนิเวศ

          อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำในปีนี้ดีกว่าก่อนอย่างชัดเจน จากการคาดหมายสภาพภูมิอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) ที่ระบุว่าปลายเดือน พ.ค.จะมีปริมาณของฝน แม้การประกาศเข้าสู่ฤดูฝน เมื่อ 18 พ.ค.2559 ด้วยปริมาณน้ำใช้การเพียง 1,758 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคในระยะ 3 เดือนเท่านั้น แต่ด้วยการบริหารจัดการน้ำ ความพยายามกักเก็บน้ำเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด แลระบายน้ำออกเท่าที่จำเป็น พร้อมกับแนะนำ สร้างความเข้าใจต่อเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำฝน เพื่อให้การระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นเพียงเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ รวมถึงการวางแผน กำหนดพื้นที่และระยะเวลาการปลูกข้าวที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

          คาดไม่เกิน2เดือนน้ำเขื่อนเข้าเป้า

          ปัจจุบัน น้ำใช้การได้จาก 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณประมาณ 3,880 ล้าน ลบ.ม.เทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 1,759 ล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทาน คาดหวังว่าจากการที่ฝนหลวงและกองบินเกษตร สนับสนุนการเติมน้ำลงเขื่อน และสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ที่ร่วมบริหารจัดการน้ำ รวมถึงภาคการเกษตรและประชาชน เชื่อว่า อีกไม่ถึง 2 เดือน ปริมาณน้ำที่วางเป้าไว้ที่ระดับ 8,500 ล้าน ลบ.ม. คงไม่เกินความเป็นจริง และจะทำให้สถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยา น่าจะดีขึ้น และไม่ตึงตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาและเพียงพอต่อการทำการเกษตร

          นายเจริญ ภัสระ ประธานกรรมการการประปานครหลวง กล่าวว่าจากปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นทำให้ทุกองค์กรได้นำความรู้ ประสบการณ์มาปรับใช้ พร้อมแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำรวมทั้งต้องขอบคุณภาคการเกษตรที่ยอมงดปลูกข้าวนาปรัง จนทำให้สามารถผ่านอุปสรรคทุกอย่างมาได้ด้วยดี

          น้ำทะลักเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

          ขณะ จ.เชียงใหม่ หลังพายุฝนพัดถล่มทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นถนนเป็นเหจุให้การจราจรติดขัด มีน้ำไหลเข้าท่วมขังเข้าบ้านเรือนประชาชนหลายพื้นที่ และที่บริเวณน้ำตกตาดหมอกใน อ.แม่ริม ได้เกิดน้ำไหลหลาก อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้สั่ง ปิดการบริการท่องเที่ยวทันที เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นเกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยว

          เช่นเดียวกันกับที่ จ.แม่ฮ่องสอน หลังฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้น้ำป่าจากภูเขสไหลทะลักลงสู่ลำห้วยเสือเฒ่า เข้ามาที่บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาว ห่สมเส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทรารรายที่ 7 กองกำลังทหาร เข้าให้การช่วยเหลือ และลำเลียงนักท่องเที่ยวออกจากหมู่บ้าน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทความพิเศษ เรื่อง จุลินทรีย์ช่วยให้ดินดีมีอยู่ในธรรมชาติ...ไม่ต้องซื้อ..ไม่ต้องหา

          ในทางจุลชีววิทยานักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะคัดเลือก ค้นหาจุลินทรีย์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อนำมาใช้ในวงการเกษตร โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันนั้นก็ถือได้ว่าเริ่มมีการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในการป้องกันกำจัดโรคแมลงมากขึ้นในภาคสนาม เทียบกับเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาครัฐที่นำโดยกรมพัฒนาที่ดินในรูปแบบของ พ.ด. เบอร์ต่างๆ และก็ตามมาด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรที่สอนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Tricoderma Harzianum spp.) และราขาว บิวเวอร์เรีย (Beauveria Bassiana spp.) กับเมล็ดธัญพืชอย่างข้าวฟ่าง ข้าวโพด แล้วนำมาคัดกรองด้วยผ้าข้าวบาง แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงไร่มันสำปะหลัง ในแปลงนาข้าว และสาขาอาชีพอื่นๆที่มีปัญหาจากศัตรูพืชตระกูลเพลี้ยต่างๆ         

          สำหรับส่วนในนามนักวิชาการก็มีท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่ส่งเสริมเรื่องการใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งเรียกว่าอาจจะก่อนหน่วยงานภาครัฐเสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มมาตั้งแต่การเพาะเห็ดในอดีตหลายสิบปี และก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเป็น บีทีชีวภาพ ปราบหนอน, บีเอส พลายแก้ว ปราบโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้ม มะนาว ราเขียว ราดำ ราเมือก ในเห็ด, ไมโตฟากัส ปราบไร, ทริปโตฝาจ ปราบเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟไรแดง เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และ เมธาไรเซียม ปราบปลวกร้ายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งจุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้ปราบโรคแมลงศัตรูพืชนี้ จะต้องผ่านการวิเคราะห์วิจัยทดสอบถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลในการสร้างสารหรือท๊อกซินยับยั้ง โรคแมลงศัตรูพืชต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ โดยในนามภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในตอนนั้นท่านอาจารย์ดีพร้อมฯ ได้ให้นิสิต นักศึกษาช่วยกันวิเคราะห์ วิจัยทำการทดลองและทดสอบยาวนานหลายปีกว่าจะได้จุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆกว่าจะได้จุลินทรีย์ดีๆสักตัวเข้ามาใช้ในการเกษตร

          ส่วนจุลินทรีย์ท้องถิ่น (Normal Flora) ที่อยู่กันแบบพึ่งพิงอิงอาศัย (Symbiotic Relationship) ช่วยดูแลคุ้มครองป้องภัยมิให้โรคแมลงต่างๆ เข้ามาทำลายพืชที่พี่น้องเกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยกลุ่มของ รา แบคทีเรีย โปรโตซัว แอคทิโนมัยซีท มัยคอร์รัยซ่า อื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจุลินทรีย์ตัวดี ไม่ทำลายพืชที่เกษตรกรเพาะปลูก

          การเลือกดินขุยไผ่ ดินจากป่าสมบูรณ์ ดินจากหน่อกล้วย ดินจากตอซังฟางข้าว ที่ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษ โดยพยายามเลือกระบบนิเวศที่สะอาดปราศจากโรคภัยรบกวนพืช เราก็จะได้จุลินทรีย์ชนิดดีเยอะแยะมากมาย แล้วนำมาขยายจำนวนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนิยมกากน้ำตาลซึ่งในอดีตเป็นของเหลือใช้ราคาถูก แต่ถ้าไม่มีจริงๆ การใช้น้ำตาลปิ๊ป น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว ก็ใช้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

          การนำมาขยายก็ใช้ในอัตราดินป่าสมบูรณ์จากแหล่งระบบนิเวศต่างๆ ไม่ว่าจะหน่อกล้วย ขุยไผ่ ฯลฯ ด้วยอัตรา 3 ส่วน กับกากน้ำตาล 1 ส่วน ก็จะได้จุลินทรีย์ท้องถิ่นชนิดดี ที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองป้องภัยให้กับพืชด้วย แต่หน้าที่ที่โดดเด่นจะเป็นเรื่องของการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ทดแทนจุลินทรีย์จากญี่ปุ่น จากยุโรป อเมริกาได้อย่างสบาย จัดได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะตามหลักของสิ่งมีชีวิตนั้น ถิ่นใครก็ถิ่นมัน อยู่ถิ่นไหนก็เก่งถิ่นนั้น จุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่แปลงนาไทยแลนด์ ย่อมทำงานได้รวดเร็ว ทะมัดทะแมงกว่าจุลินทรย์ที่มาจากเมืองนอกเมืองนาอย่างแน่นอน

          จุลินทรีย์ที่โด่นเด่นอย่างมากในเรื่องของการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยเฉพาะเศษตอซังฟางข้าว เซลลูโลส ลิกนิน เฮมิเซลลูโลส ฯลฯ นั่นก็คือจุลินทรีย์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กระจง จิงโจ้ ยีราฟ อูฐ) การนำมูลวัว มูลควายสด 2 กิโลกรัม หมักกับน้ำสะอาด 20 ลิตร กากน้ำตาล 10 ลิตร ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก (ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร) หมักไว้ 7 วันก็นำมาใช้งานได้แล้ว แถมหมักขยายได้เหมือนกับอีเอ็ม ทำงานทดแทนอีเอ็มได้สบาย จุลินทรีย์จากสัตว์เคี้ยวเอื้องเหล่านี้ โดดเด่นมากในเรื่องการย่อยสลายเศษซากอินทรียวัตถุในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่ดีและมีประโยชน์มาก

          ดังนั้นจุลินทรีย์ขี้ควาย จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์ตอซังฟางข้าว จุลินทรีย์จากระบบนิเวศที่ดี ก็คือจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินของเราให้ดี ถ้าเราหมั่นเติมราดรดโดยตรงหรือใส่ไปพร้อมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ โดยไม่ต้องไปเชื่อใคร เพราะจุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่แปลงเรือกสวนไร่นาเกษตรกรไทยแลนด์ย่อมดีกว่าแน่นอนครับ และที่สำคัญเราสามารถผลิตได้ด้วยลำแข้งของตนเองไปตลอดชีวิต....โดยไม่ต้องซื้อ…

          สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส

          กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

          สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รัฐมนตรีเกษตรฯ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตตามแผนที่ Agri-Map พร้อมดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) หวังทำให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาด

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม ณ จ.บุรีรัมย์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้จัดทำโครงการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตตามแผนที่ Agri-Map ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ โดยในปีงบประมาณ 2559 มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อจัดทำโครงการดังกล่าว ในพื้นที่ 47 จังหวัด โดยกำหนดจังหวัดนำร่อง 3 จังหวัด คือ จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดนำร่องเช่นเดียวกับจังหวัดชัยภูมิ มีกิจกรรมปรับเปลี่ยนรวม 4,767 ไร่ เป็นพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสม มีกิจกรรมที่ปรับเปลี่ยน ได้แก่ 1) เกษตรกรรมทางเลือกของกรมส่งเสริมการเกษตร 1,380 ไร่ รวมเกษตรกร 460 ราย 2) ปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นเลี้ยงกระบือ จำนวน 60 ราย 300 ไร่ 3) ปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 5 ราย ในพื้นที่ 11 ไร่ 4) ปรับเปลี่ยนการเกษตรในนิคมสหกรณ์ จำนวน 20 ราย ในพื้นที่ 20 ไร่ 5) ปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน 47 ราย ในพื้นที่ 50 ไร่ และ 6) ปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย จำนวน 384 ราย ในพื้นที่ 3,006 ไร่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้คัดเลือกเกษตรเข้าร่วมโครงการ ถ่ายทอดความรู้ เตรียมแปลงปลูก และอยู่ระหว่างจัดหาและแจกจ่ายปัจจัยการผลิต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. - ก.ย. 59 และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ คือ อุทัยธานี และอีก 44 จังหวัด อยู่ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่จัดหาและสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ท่อนพันธุ์หม่อน เมล็ดพันธุ์พืชผัก นาหญ้า แม่พันธุ์โคเนื้อ กระบือ พันธุ์ปลา พันธุ์ไก่พื้นบ้าน และเกษตรผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะแจกจ่ายแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. – ก.ย. 59 นี้

          สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรตามแผนบริหารจัดการข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2559/60

          ด้านการผลิต เป็นการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการข้าว ปีการผลิต 2559/60 มีพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม รวม 570,000 ไร่ ในพื้นที่ 40 จังหวัด เกษตรกร 114,000 ครัวเรือน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2559/60 ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ รวม 5 โครงการ วงเงินรวม 15,597 ล้านบาท โดยใน 4 โครงการแรกจะเป็นการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ไปเลี้ยงกระบือ โคเนื้อ แพะ และปลูกหญ้า มีเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 30,000 ราย รวมกลุ่ม 3,000 กลุ่ม ปรับเปลี่ยนพื้นที่ 150,000 ไร่ และอีก 1 โครงการได้แก่การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น มีเป้าหมาย 84,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 420,000 ไร่

          "ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเป้าหมายดำเนินโครงการทั้ง 5 โครงการ รวม 23 อำเภอ 125 ตำบล 6,930 ครัวเรือน รวมพื้นที่เป้าหมาย 34,650 ไร่ ได้แก่ 1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ โคเนื้อ แพะ และทำนาหญ้า โดยกรมปศุสัตว์ รวม 7 อำเภอ 12 ตำบล 1,000 ครัวเรือน รวมพื้นที่เป้าหมาย 5,000 ไร่ และ 2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น โดยกรมส่งเสริมการเกษตร รวม 23 อำเภอ 125 ตำบล 5,930 ครัวเรือน รวมพื้นที่เป้าหมาย 29,650 ไร่ ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างการชี้แจงโครงการและรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเร่งจัดส่งรายชื่อให้กับกรมการข้าวรวบรวมส่งให้ ธ.ก.ส. ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อส่งให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เกษตรกรทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เกษตรกรยืนอยู่ได้ อีกทั้งผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอีกด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ส.ป.ก.ดึงทหารช่างร่วมพัฒนาที่ดิน จัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวว่า จากการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คาดว่าจะได้พื้นที่กลับคืนมาประมาณ 100,000 ไร่ เพื่อนำมาจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินและคนยากจน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แต่เนื่องจากขีดความสามารถในการจัดที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สามารถจัดที่ดินได้ปีละประมาณ 30,000 ไร่ ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นกังวลว่าหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติอาจจะทำให้ผู้ถือครองรายเดิมกลับมาบุกรุกที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอีก ดังนั้น ส.ป.ก. จึงได้เสนอทางออก โดยการขอให้ทหารช่างเข้ามาร่วมพัฒนาที่ดินด้วย

โดยแบ่งสัดส่วนการทำงานเป็นร้อยละ 70 ต่อ 30 คือ ทหารช่างจะทำในสัดส่วนร้อยละ 70 ส่วน ส.ป.ก.ร้อยละ 30 แต่ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะต้องได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพิ่มเติมด้วย ส่วนการจัดที่ดินให้เกษตรกรจะเป็นไปตามนโยบายของ คทช. คือ ให้กรรมสิทธิ์ในรูปแบบกลุ่มหรือสหกรณ์ โดยสหกรณ์จะเป็นผู้มาขอใช้ประโยชน์ในที่ดินกับ ส.ป.ก. เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจะต้องมาสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ เพราะฉะนั้นการดำเนินการลักษณะนี้ ส.ป.ก. จะเป็นผู้ควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินของสหกรณ์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ส่วนสหกรณ์ก็จะไปควบคุมสมาชิกของตัวเอง ด้วยวิธีการนี้ที่ดินที่ ส.ป.ก. จัดสรรไปก็จะไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ เกษตรกรก็ยังสามารถใช้ทำประโยชน์ได้อีกนาน

ในปัจจุบัน ส.ป.ก. ไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรได้มากเหมือนในอดีต จะจัดที่ดินให้ได้ครัวเรือนละประมาณ 5-7 ไร่ เท่านั้น ดังนั้นการที่จะทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคง จึงต้องส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการนำแผนที่ความเหมาะสมทางเกษตรหรือ agrimap มาช่วยวิเคราะห์ที่ดินในแต่ละแห่งว่ามีความเหมาะสมในการปลูกพืชชนิดใด เพื่อจะได้กำหนดทิศทางการส่งเสริมได้ตรงกับศักยภาพของพื้นที่ และความชำนาญของเกษตรกร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พด.เปิดเวทีใหญ่ประชุมวิชาการ ระดมงานวิจัยเผยแพร่สู่เกษตรกร

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินจัดให้มีการประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ปี 2559 “พัฒนาที่ดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” ระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเสนอผลงานวิชาการของกรมพัฒนาที่ดินในสาขาต่างๆ รวมทั้งระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายพิเศษ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักวิชาการกรมฯ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานวิชาการของกรมฯ ให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาและจัดการทรัพยากรดินและที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ยั่งยืนต่อไป

สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะมีการคัดเลือกผลสำเร็จงานวิชาการที่สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ภาคบรรยาย 24 เรื่อง และภาคนิทรรศการ 75 เรื่อง แบ่งเป็นประเภทบุคคล 60 เรื่อง และประเภทหน่วยงาน 15 เรื่อง โดยจะมีการประเมินผลสำเร็จของผลงานวิชาการทั้งหมด และนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกร เพื่อนำไปพัฒนาทรัพยากรที่ดินได้อย่างยั่งยืน

“การจัดประชุมครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นการรวบรวมผลงานวิชาการที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทย ทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร โดยจะมีการนำผลงานที่ประสบผลสำเร็จไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปปรับใช้ในการผลิตของตัวเองให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป” นายสุรเดช กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กรมชลเร่งระบายน้ำยม สู่คลองเมม

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมว่า ฝนที่ตกหนักบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอเมืองสุโขทัย เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านบริเวณอำเภอเมืองสุโขทัยในเกณฑ์ไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามความจุของลำน้ำที่รับได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ

ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอำเภอบางระกำและ อำเภอพรหมพิรามจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำยมสายเก่าและคลองผันน้ำยม-น่าน ตั้งแต่คราวน้ำหลากเมื่อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีปริมาณน้ำสะสมอยู่จำนวนมาก และมีการระบายน้ำออกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการรับปริมาณน้ำระลอกใหม่ จากแม่น้ำยมที่ผันเข้าสู่แม่น้ำยมสายเก่าเข้าสู่คลองเมม-คลองบางแก้ว ตามลำดับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จึงได้เร่งการระบายน้ำบริเวณสะพานแม่ระหัน โดยการเดินเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองบางแก้วที่รับน้ำมาจากแม่น้ำยมสายเก่าไปลงแม่น้ำยมสายหลัก ให้มีความรวดเร็วมากขึ้นป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกและยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตมีอายุข้าว ประมาณ 2-3เดือนด้วย

ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยงผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่านกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้(29 ส.ค. 59)ทางโครงการฯได้ร่วมกับฝ่ายรถขุดของสำนักงานชลประทานที่ 3พิษณุโลก และผู้นำท้องถิ่น 3 ตำบล ได้แก่ต.ท่าช้าง    ต.พรหมพิรามอ.พรหมพิรามจ.พิษณุโลก และ ต.บ้านใหม่สุขเกษมอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัยดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำในคลองเมม เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือปริมาณน้ำรอบใหม่ จากแม่น้ำยมด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มรง.อ้อยฯ‘ดักคอ’รัฐบาล เลิกคิดหารายได้จากน้ำตาล แนะผู้บริโภคปรับพฤติกรรม

สมาคม TSMC อ้างหลักวิชาการด้านโภชนาการ ยันน้ำตาลคือสารอาหาร หากบริโภคพอดี ไม่เป็นต้นเหตุโรคอ้วน โรคหัวใจ หนุนภาครัฐให้ความรู้การบริโภคน้ำตาลอย่างสมดุล หวังช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมลดเครื่องดื่มที่มีความหวานได้อย่างยั่งยืน แต่หากภาครัฐเดินหน้าจัดเก็บภาษีจริงต้องสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน โดยมีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยหลักการนั้นทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเห็นด้วย ที่ภาครัฐจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานอย่างสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดโทษต่อร่างกาย และนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างสมดุล และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ในการประชุมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนพร้อมสร้างความเข้าใจแก่ทุกฝ่ายว่า แต่ละคนมีความต้องการสารอาหารที่ให้พลังงานในระดับแตกต่างกันผู้ที่ใช้แรงงานมากย่อมต้องการอาหารที่ให้พลังงานมากขึ้น และน้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย และไม่ได้เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคที่ไม่ติดต่อ (NCDs) ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจในด้านโภชนาการ ก็จะสามารถเลือกรับประทานเครื่องดื่มที่มีความหวานได้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงต้องหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐมีแนวคิดจัดเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ก็จะเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลว่าเป็นพิษต่อร่างกายหรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน อันนำไปสู่การลดการปริมาณบริโภคน้ำตาล จนอาจส่งผลให้ร่างกายขาดความสมดุลและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอีกทางหนึ่งได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงร่างกายก็มีความต้องการน้ำตาลเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานในแต่ละวัน

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าน้ำตาลเป็นสารอาหาร ที่จำเป็นต่อร่างกายและไม่ใช่ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรค หากบริโภคอย่างสมดุลกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้น เรามีจุดยืนว่าการให้ความรู้ความเข้าใจด้านการบริโภคที่ถูกต้อง จะเป็นแนวทางทางการแก้ปัญหาที่ดีในระยะยาวซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานได้อย่างยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐมองว่า การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เป็นวิธีปฏิบัติที่จะทำให้ประชาชนสามารถลดการบริโภคลงได้จริง ก็ควรจัดเก็บภาษีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และสามารถสร้างการยอมรับแก่ทุกฝ่าย พร้อมกับมีมาตรการส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้ด้านโภชนาการที่ถูกต้องควบคู่กันไปด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อภิรดีสั่งเดินหน้า ใช้พาณิชย์จังหวัด หนุนเศรษฐกิจ4.0

 “อภิรดี” นัดประชุมพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเดือน ก.ย.นี้ ยกร่างแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดการประชุมมอบนโยบายให้กับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศอีกครั้งภายในเดือน ก.ย.2559 นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงาน และเตรียมปรับบทบาทสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงการผลักดันพาณิชย์จังหวัดให้เป็นแม่งานจัดทำแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 โดยดึงจุดเด่นของแต่ละจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด มาปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด พ.ศ.2560-2564” เสร็จแล้ว และเตรียมจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง แนวโน้มและความท้าทายทางการค้าของกลุ่มจังหวัดต่างๆ รวมถึงรับทราบปัญหาหรืออุปสรรคในทางปฏิบัติจากมุมมองที่หลากหลายทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก่อนที่จะมาจัดทำเป็นแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0

สำหรับการมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดไปจัดทำแผนการดำเนินงานในส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวกับการดูแลค่าครองชีพ สินค้าเกษตร และการค้าชายแดน ขณะนี้พาณิชย์จังหวัดได้เสนอแนวทางการดำเนินงานในแต่ละเรื่องเข้ามาแล้ว โดยมีแผนการทำงานที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง ซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการนำไปสู่ภาคปฏิบัติจริงต่อไป เพื่อช่วยในการดูแลประชาชนในด้านค่าครองชีพ ดูแลเกษตรกรให้ขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่คุ้มต้นทุน และผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค รวมถึงการขยายการค้าชายแดน

โดยในด้านการดูแลค่าครองชีพ พาณิชย์จังหวัดเสนอว่า การดูแลราคาสินค้าควรกำกับดูแลตามกลไกตลาดและจะต้องเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ด้านการดูแลสินค้าเกษตร สำหรับสินค้าเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา จะบูรณาการการทำงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้การตลาดนำการผลิต ลดพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการ ส่วนเรื่องค้าชายแดน จะผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

'บิ๊กฉัตร'ห่วงน้ำเขื่อนใหญ่มีน้อย พอใจบริหารน้ำชัดเจนกว่าปี58

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน33 เขื่อนใหญ่ มีน้อยกว่า30%  ว่ามี  เขื่อนใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังมาก คือ เขื่อนกระเสียว ยังมีน้ำใช้การได้ 1% เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำใช้การได้ 4 % โดยเฉพาะเขื่อนบางพระ มีน้ำใช้การ13%  ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานผันน้ำจากเจ้าพระยาเติมเข้าคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้4% ที่เคยนำน้ำ  Dead Storage มาใช้ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับปี58ที่ฝนหยุดเร็ว โดยน้ำเข้าเขื่อนปี59/60น่าจะได้น้ำมากกว่าทั้งทางภาคเหนือกับภาคอีสานน้ำเริ่มดีกว่าปีที่แล้ว ส่วนภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและ ภาคใต้ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมา ฝนจะตกยืดกว่าปีที่แล้ว และน้ำจะเข้าช่วงปลายปีมากกว่า อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ได้ให้กรมฝนหลวงฯขึ้นปฎิบัติการเติมน้ำเขื่อนในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนหลัก โดยวันที่2 ก.ย.เดินทางไปติดตามฐานฝนหลวงจ.ตาก เติมน้ำเขื่อนภูมิพล

สำหรับปริมาณน้ำไหลเข้า 33 เขื่อนใหญ่ ช่วงวันที่ 22 - 28 ส.ค. 59รวม 1,574.29 ล้านลบ.ม. เฉลี่ยวันละ224.90 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้ เปรียบเทียบน้ำใช้การได้/ น้ำไหลเข้า 33 เขื่อนทั่วประเทศ วันเดียวกันปี 55 มีปริมาณ 18,333 น้ำไหลเข้า 239.70 ล้านลบ.ม. ปี 56  มีปริมาณ16,550 น้ำไหลเข้า206.02 ล้าน ลบ.ม. ปี57ปริมาณ 13,082 น้ำไหลเข้า 193.19 ล้าน ลบ.ม.ปี 58  ปริมาณ 11,321 น้ำไหลเข้า 149.09 ล้านลบ.ม. และปี 59 มีปริมาณ 12,350 น้ำไหลเข้า 222.02 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อเปรียบเทียบน้ำใช้การได้ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณล่าสุด 4,083 ล้านลบ.ม.เทียบกับวันเดียวกันปี 58 มีปริมาณ1,814 ล้าน ลบ.ม. โดยเทียบกับสิ้นฤดูฝนปีที่แล้วณ วันที่ 1 พ.ย.มีปริมาณ4,240 ล้าน ลบ.ม.ถ้าเทียบกับสิ้นฤดูฝนปี 57 มีปริมาณ 6,777 ล้านลบ.ม.

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีว่าน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาใกล้เคียงกับสิ้นฤดูฝนปี 2558 และ มีโอกาสมากกว่าสิ้นฤดูฝนปี 2557 ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง มองแผนการใช้น้ำไปข้างหน้าถึงฤดูฝนปีหน้า

" สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนเก็บน้ำในปีนี้ให้มากที่สุด จากปริมาณน้ำเกือบหมดเขื่อน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สามารถเก็บน้ำทุกหยด พลิกสถานการณ์น้ำกลับมา มั่นใจว่าแล้งนี้ปี60 มีน้ำอุปโภคบริโภครักษาระบบนิเวศน์มีเพียงพอ น้ำที่จะเก็บต่อไปคือน้ำทำนารอบสอง"รมว.เกษตรฯกล่าว

อย่างไรก็ตามในขณะนี้เขื่อนใหญ่มีน้ำใช้การได้ต่ำกว่า30% เช่น เขื่อนภูมิพล 8% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 25% เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล 25% แม่กวง 11% ห้วยหลวง 24% น้ำพุง 25% ลำปาว 24% ลำตะคอง 12% ลำพระเพลิง 10% มูลบน 17% ลำแซะ15% ทับเสลา 19% คลองสียัด 16% หนองปลาไหล 24% นฤบดินทรจินดา(ห้วยโสมง)6% แก่งกระจาน 20% ปราณบุรี12% ส่วนที่มีมากกว่า30% เช่นเขื่อนสิริกิติ์  มีน้ำใช้การ 36% เขื่อนแควน้อย 35% เขื่อนน้ำอูน 36% เขื่อนลำนางรอง 45% เขื่อนสิรินทร 51% เขื่อนศรีนครินทร์ 66% เขื่อนวชิราลงกรณ์ 51% เขื่อนขุนด่านปราการชล 49% เขื่อนปะแสร์48 เขื่อนรัชประภา 78% เขื่อนบางลาง 31%

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปัดฝุ่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน "ฮัตจี" อภิมหาโครงการแสนล้าน-EGATi รอพม่าคุยชนกลุ่มน้อย

ฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี ในเมียนมา ไทยขอพ่วงสูบน้ำ "ส่วนเกิน" เข้าเขื่อนภูมิพล หวังแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้าน กฟผ.อินเตอร์ฯ พร้อมลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนโครงการมายตง มูลค่า 3 แสนล้านบาท รอรัฐบาลเมียนมาตัดสินใจอนุมัติ หลังจากปรับจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ มาเป็นเขื่อนขนาดเล็ก หวังลดผลกระทบต่อประชาชนรอบพื้นที่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รัฐบาลต้องการให้ทบทวนความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเมียนมา โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี บริเวณรัฐกะเหรี่ยง ที่อยู่ห่างจากชายแดนเมียนมาที่บ้านสบเมย นอกจากจะพัฒนาให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 1,360 เมกะวัตต์แล้ว ยังต้องการให้มีการสร้างระบบสูบโดยใช้ไฟฟ้าจากโครงการเพื่อผันน้ำ "ส่วนเกิน" มายังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อต้องการให้ประเทศไทยได้มีเวลาฟื้นฟูผืนป่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภัยแล้งเหมือนในช่วงที่ผ่านมาโดยในการเยือนประเทศไทยของนางออง ซาน ซู จี เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือเบื้องต้น ยังยืนยันที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการ โดยจากนี้ฝ่ายเมียนมาจะต้องไปบริหารจัดการ ทำความเข้าใจกับชนกลุ่มน้อยที่ยังมีการสู้รบในพื้นที่ให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้น บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi ในฐานะผู้ลงทุนพัฒนาจะลงพื้นที่สำรวจเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบทางวิศวกรรมต่อไป

ปัญหาเรื่องน้ำเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญที่ต้องการแก้ไขเร่งด่วน จะดำเนินการอย่างไรให้ระดับน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ อย่างเช่น เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งหากโครงการนี้พัฒนาได้จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ประชาชนชาวเมียนมาในพื้นที่รอบเขื่อนจะมีไฟฟ้าใช้ และประเทศไทยได้ไฟฟ้าและแก้ปัญหาภัยแล้งไปพร้อมกัน

"เรื่องน้ำค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหว แต่ต้องขอย้ำว่าไทยต้องการน้ำส่วนเกินเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น ในกรณีน้ำมีปริมาณมากก็สามารถผันมาฝั่งไทย หากมีปริมาณน้ำน้อยก็ไม่ต้องผันน้ำเข้าเขื่อน ทั้งนี้ต้องรอท่าทีของรัฐบาลเมียนมาในการเคลียร์กับชนกลุ่มน้อยก่อน ในประเด็นนี้ไม่ง่ายเลย ต้องให้เวลาเมียนมาที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากนั้นจะไปสู่ขั้นตอนการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ต่อไป"

ด้านนายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ EGATi กล่าวว่า สำหรับโครงการฮัตจี มีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการมานาน แต่ยังไม่สามารถพัฒนาได้ ตามการศึกษาเดิมระบุศักยภาพของกำลังผลิตไว้ที่ 1,360 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่การศึกษาไม่ได้ครอบคลุมถึงระบบสูบน้ำ

เพื่อส่งกลับมายังเขื่อนภูมิพล ฉะนั้นอาจจะต้องประเมินมูลค่าโครงการใหม่ ทั้งนี้ยังต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมาที่อยู่ระหว่างเจรจากับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ หากว่าสัญญาณกาเจรจาเป็นไปในทางที่ดี เร็ว ๆ นี้ EGATi อาจจะได้ส่งทีมงานลงพื้นที่สำรวจโครงการได้ ในส่วนของการลงทุนนั้นนอกเหนือจาก EGATi แล้ว ยังมีนักลงทุนในเมียนมาและนักลงทุนจากจีนสนใจร่วมลงทุนด้วย

ในส่วนของการหารือถึงประเด็นช่วงเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจากโครงการฮัตจียังไม่มีการพิจารณา เพราะเมื่อประเมินภาพรวมของกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในขณะนี้ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power De-velopment Plan 2558-2579) ยังคงมีปริมาณไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม สำหรับกระแสเงินสดสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการของ EGATi มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่

"ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนในการเจรจากับชนกลุ่มน้อย ยอมรับว่าเมียนมามีศักยภาพด้านการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำค่อนข้างสูงเหมือนกับ สปป.ลาว หากพัฒนาได้จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะเมียนมาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีก"

นายวัชรากล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากโครงการฮัตจีแล้ว บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ยังมีโครงการอื่น ๆ ในเมียนมาอีก คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง ซึ่งอยู่ในแผนรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศของกระทรวงพลังงานด้วย โดยโครงการดังกล่าวมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้ถึง 7,000 เมกะวัตต์ แต่ในเบื้องต้นรัฐบาลเมียนมาต้องการให้ 1) พัฒนาในช่วงเริ่มต้นเพียง 3,500 เมกะวัตต์ก่อน และ 2) ต้องการให้ปรับจากเดิมที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 1 เขื่อน ให้เปลี่ยนเป็นเขื่อนขนาดเล็ก 2 เขื่อน เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างนำเสนอแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตงกับรัฐบาลเมียนมาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

‘สมอ.’ชงเรื่องให้‘กมช.’สั่ง3กระทรวงหนุน ตั้งกรมรับรองมาตรฐานทำงานเบ็ดเสร็จ

รายงานข่าวจากคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างเสนอเรื่องไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.) ภายในเดือนกันยายน 2559

โดยวาระสำคัญคือ การหาข้อสรุปเรื่องการยกระดับมาตรฐานไทยให้เป็นลักษณะซิงเกิล เอเจนซี คือ มีรูปแบบการทำงานแบบเบ็ดเสร็จ และยกสถานะเป็นกรมกรมหนึ่งในกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันพบว่ามีหน่วยงานที่มีเนื้องานแผนกรับรองระบบงานไม่ยอมปรับโครงสร้างทำงาน ตลอดจนถ่ายโอนงานให้ สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านการกำหนดมาตรฐาน ทำให้นโยบายของนายสมคิดเกิดความล่าช้า

“ปัจจุบันแผนกรับรองระบบงานนอกจาก สมอ.แล้ว ยังกระจายใน 3 หน่วยงานคือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมวิทยาศาสตร์บริการ สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ่ายโอนงานให้แล้ว แต่ไม่ได้ให้บุคลากรแก่สมอ. ส่วนกรมวิทยาศาสตร์บริการและมกอช.ยังไม่ดำเนินการใดๆ เชื่อว่าอาจเกิดจากความกังวลว่าจะถูกลดอำนาจ ซึ่งนโยบายดังกล่าวควรมีความชัดเจน จึงต้องเสนอให้ กอช.มีมติสร้างความชัดเจน” รายงานข่าว ระบุ

สำหรับนโยบายของนายสมคิด คือต้องการยกระดับมาตรฐานไทยให้เป็นลักษณะซิงเกิล เอเจนซี โดยมีรูปแบบการทำงานแบบเบ็ดเสร็จ จากปัจจุบันมาตรฐานไทยในแผนกรับรองระบบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานมาตรฐาน ทั้งสินค้าที่ขายในประเทศ และสินค้าส่งออกที่ใช้แสดงกับทั่วโลก แม้สินค้าจะมีมาตรฐาน แต่ยังมีรูปแบบที่กระจายเกินไป เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรม 4.0 และอนาคตมีความกังวลว่า หากไม่เร่งแก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานไทย อาจทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับมาตรฐานบินของไทย ที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศติดธงแดงช่วงที่ผ่านมา

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่เดิมตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐาน ตั้งเป้าหมายจะต้องกำหนด มอก.ให้ได้ 300 เรื่อง แต่ สมอ.เห็นว่าแผนดังกล่าวยังไม่ควบคุมกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน จึงต้องปรับให้สดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมถึงนโยบายส่งเสริม 10 อุตสาหกรามแห่งอนาคต และนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ตามเป้าหมาย

“การกำหนดมาตรฐาน มอก.ในปี 2560 จะมุ่งเน้นการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ การกำหนดมาตรฐานสินค้าประเภทไฟฟ้า ออร์โตเมชั่นอากาศยาน รถรางไฟฟ้า นวัตกรรม เกษตรแปรรูป โดยแผนใหม่ดังกล่าวจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 นี้”นายธวัช กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ผุดโมเดลตั้ง 5 กลุ่มงาน โครงสร้างใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม 

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) ว่าที่ประชุมได้หารือถึงแผนปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีการตั้ง 5 กลุ่ม ขึ่นมาดูแล 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร ที่จะดูแลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ 2.กลุ่มการขนส่ง ดูแลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและรถยนต์แห่งอนาคต 3.กลุ่มไอทีดิจิตอล ดูแลอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิตอล 4.กลุ่มแปรรูปอาหาร ดูแลอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตเจาะกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ 5.กลุ่มครีเอทีฟ ดูแลอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมด และสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์สำหรับรูปแบบจะมี 2 แนวทาง ได้แก่ การตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารงานทั้ง 5 กลุ่มนี้อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) และอาจให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเลขาธิการ ส่วนแนวทางที่ 2 จะตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาทำงานอิสระและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล นอกจากนี้ จะเพิ่มบทบาทกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่ต้องขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้เชื่อมโยงกับรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน และสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รองรับการผลิตรถยนต์ทั้งสองประเภทนี้

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรปรับปรุงสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 10 แห่ง ให้แยกออกไปเป็นองค์การมหาชนเพื่อให้มีความคล่องตัวในการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และของบจากรัฐบาล.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

เล็งตั้งสนง.ขับเคลื่อนอุตฯเป้าหมาย พร้อมทำแผนปีหน้าเสนอสปริงบอร์ด    

           นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) ว่า ได้หารือถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องเร่งรัดในปีงบประมาณ 2560 โดยหลังจากนี้จะนำแผนดังกล่าวไปกำหนดรายละเอียดเพื่อเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาระหว่างการประชุมสปริงบอร์ดในเดือนกันยายน 2559 จากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

          นายสมชายกล่าวว่า โดยเรื่องหลักจะเป็นการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมีการตั้งกรรมการ 5 กลุ่มขึ้นมาดูแล 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร ที่จะดูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ 2.กลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง จะดูแลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน และรถยนต์แห่งอนาคต 3.กลุ่มไอทีดิจิทัล จะดูอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล 4.กลุ่มแปรรูปอาหาร จะดูอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อาหารเจาะกลุ่มผู้ป่วยโรคต่างๆ อาหารเพื่อสุขภาพ และ 5.กลุ่มครีเอทีฟ จะดูแลอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมด และสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยรูปแบบดำเนินงานยังอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ การตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารงาน ซึ่งสำนักงานนี้จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอาจจะให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเลขาธิการดูแลสำนักงาน อีกแนวทางคือ ตั้งสำนักงานใหม่ที่จะมีการทำงานอิสระแบบสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ดูแล

          "ในแผนงาน 1 ปี กระทรวงจะกำหนดแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้มีความเชื่อมโยงกับรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน และสร้างกลุ่มซัพพลายเชนที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รองรับการผลิตรถยนต์ทั้งสองประเภทนี้ เพี่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน และผลักดันให้มีการใช้งานรถยนต์อีวีได้จริง และจะเพิ่มบทบาทการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ด้วย" นายสมชายกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

เปิดเสรีลงทุนอาเซียนไม่กระทบธุรกิจไทย BOIชี้แค่เปิดทางต่างชาติได้สิทธิ์

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่าตามที่มีนักธุรกิจและนักลงทุนไทยหลายราย สอบถามถึงความชัดเจนของเรื่องความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน หรือ ACIA (ASEANComprehensive Investment Agreement)ในประเด็นการยกเลิกข้อสงวนในความตกลงกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย บีโอไอขอยืนยันว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติเห็นชอบให้ขยายการให้สิทธิ์ให้นักลงทุนต่างชาตินอกอาเซียนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเท่านั้น ไม่ได้มีการพิจารณาเปิดเสรีในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม โดยข้อสงวนเรื่องธุรกิจ 5 สาขา ยังเป็นไปตามข้อสงวนเดิมที่ได้ตกลงไว้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจและนักลงทุนไทย

“ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ความตกลง ACIA มีผลบังคับใช้ ไทยเป็นเพียงชาติเดียวในอาเซียนที่ขอสงวนการเปิดเสรีให้เฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น โดยไม่ให้สิทธิ์กับนักลงทุนนอกอาเซียนที่ลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วต้องการเข้ามาขยายการลงทุนในไทย ซึ่งอาจกลายอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนมายังไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการใช้สิทธิ์ภายใต้กรอบ ACIA จึงได้มีการพิจารณาและยกเลิกข้อสงวนนี้เพียงข้อเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุน และทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน”นางหิรัญญา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อสงวนของไทยภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ยังคงเป็นไปตามเดิม ไม่มีการยกเลิก โดยได้มีการกำหนดข้อสงวนรวม 25 รายการ จำนวนกว่า 40 รายการย่อย ที่ไทยกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะคนไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการในบัญชี 1-2 แนบท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 ห้ามมิให้ต่างชาติดำเนินการ อาทิ การทำนาทำไร่ ทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การประมง การสกัดสมุนไพรไทย การทำนาเกลือ การทำป่าไม้และการแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ การเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมไทย การทอผ้าไหมไทย การสีข้าว การผลิตน้ำตาลจากอ้อย เป็นต้น ทั้งนี้ ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียนไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังเป็นไปตามเงื่อนไขที่บีโอไอกำหนด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ยังลุ้นส่งออกทั้งปีเป็นบวก พาณิชย์ยันค่าเงินสิงคโปร์-ญี่ปุ่นแข็งกว่าไทย

ส่งออก ก.ค.ติดลบ 4.4% ระบุเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 “พาณิชย์”เลิกฝันโต 5% ลุ้นช่วง 5 เดือน ที่เหลือส่งออกได้เฉลี่ย 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน อาจส่งผลให้ส่งออกพลิกกลับมาบวก 1.3% หากต่ำกว่านั้นอาจติดลบนิดๆ ยกเว้นค่าเงินบาทจะแข็งกว่าปัจจุบัน

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์แถลงสถานการณ์ส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 2559 ว่า มีมูลค่า 17,415 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกจากเฉลี่ย 46.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนมิ.ย. 2559 มาเหลือเฉลี่ย 42.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือน ก.ค. 2559 รวมการส่งออกยานยนต์ที่ลดลงมาส่งผลให้ 7 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2559มีมูลค่า 122,553 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในเดือนก.ค. สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่าการส่งออกลดลง 18.6% โดยสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล แต่ก็มีสินค้าบางตัวที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าส่งออกลดลง 0.4% ซึ่งลดลงตามการส่งออกที่ลดลงของ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันส่วนสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ทองคำ อุปกรณ์กึ่งตัวนำเทรนซิสเตอร์/ไดโอด เครื่องยนต์สันดาป

ขณะที่การนำเข้าในเดือน ก.ค. มีมูลค่า 16,202ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 1,213ล้านเหรียญสหรัฐ และ 7 เดือน การนำเข้ามีมูลค่า 108,926 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 13,627 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ส่งทั้งปี 2559 มีโอกาสติดลบ แต่จะเป็นการติดลบเพียงเล็กน้อย เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงซึมตัว ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามหากว่าราคาน้ำมันที่เริ่มปรับขึ้น และมีโอกาสขยับมาอยู่ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทไม่แข่งค่ากว่าปัจจุบัน รวมถึงไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดมากระทบ ก็น่าจะทำให้ส่งออกทั้งปีเป็นบวกได้

“ค่าเงินบาทที่แข็งตอนนี้ มองว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะยังแข็งค่าน้อยกว่าหลายประเทศ ทั้ง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของค่าเงิน ที่ต้องดูเรื่องนโยบายทางการเงินของประเทศใหญ่ๆ เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะช่วงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง รวมถึงการใช้มาตรการ QE ของหลายประเทศ”

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่ากรมจะมีการประชุมหารือร่วมทูตพาณิชย์ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกทั้งปี 2559 อีกครั้งว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร โดยในส่วนของเป้าที่ตั้งไว้ 5% ถือเป็นเป้าหมายการทำงาน แต่ในเบื้องต้นประเมินการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือ ซึ่งตามปกติการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง จะดีกว่าครึ่งปีแรกจากสถิติเฉลี่ 3 ปี(พ.ศ. 2556-2558) ช่วง ส.ค.-ธ.ค.มูลค่าส่งออกจะเฉลี่ยที่ 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกจะเฉลี่ยใกล้เคียงกัน หากได้ตามสถิติจะทำให้มูลค่าส่งออกปี 2559 เท่ากับ 223,460 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ส่งออกเป็นบวก

“ตัวเลขส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือ หากเฉลี่ยได้เดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็อาจทำให้ส่งออกติดลบนิดๆ แต่หากเฉลี่ยได้เดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะทำให้ส่งออกเป็นบวก ประมาณ 1.3%” นางมาลี กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

KBS จับมือวิทยาลัยเกษตรโคราช ผลักดันโปรแกรม Modern Farm พัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในโคราช

          บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ร่วมพันธมิตรเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในโคราช สร้างความยั่งยืนในการทำไร่อ้อยแก่เกษตรกรและชุมชน ผลักดันโปรแกรม Modern Farm หวังช่วยพัฒนาให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว เพื่อช่วยการสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริง"

          นายดำรงค์ ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการเทคนิคและโครงการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) และ นายถวัลย์ คุ้มกลาง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการปลูกอ้อยสมัยใหม่ โดยมีสักขีพยานร่วมลงนาม ได้แก่ นายมงคล ทวีวิทย์ ที่ปรึกษาฝ่ายเพิ่มผลผลิต บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) และนายยิ่งยง ดุรงค์ดำรงค์ชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุม เลื่อน บุญฑริก วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

          "พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการปลูกอ้อยในรูปแบบ Modern Farm ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมถึงระดับเทคโนโลยีบัณฑิต (ป.ตรี) เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาให้แก่นักศึกษาให้เรียนรู้วิธีการปลูกอ้อยอย่างถูกวิธี ด้วยการบริหารจัดการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตในการปลูกอ้อย และช่วยพัฒนาชุมชนของตน อีกทั้งยังเป็นการสนองรับนโยบายรัฐบาลที่จะให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวได้ด้วย" นายดำรงค์ ภูติภัทร์กล่าว

          ซึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือทางวิชาการแล้ว ทางบริษัทฯและทางสถาบันยังได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านอาจารย์และวิทยากรในด้านเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดการแปลงอ้อย และยังจัดทำแปลงสาธิตการปลูกอ้อยแบบ Modern Farm เพื่อให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง

          นายดำรงค์ กล่าวว่า "บริษัทมีแนวคิดที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และได้นำเอาแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและบรรษัทภิบาลเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์ และแนวทางในการดำเนินธุรกิจซึ่งต้องคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกกลุ่ม อันได้แก่ ลูกค้าและผู้บริโภค ชาวไร่ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พนักงาน ภาครัฐ คู่ค้าและคู่แข่ง และผู้ถือหุ้น อย่างครบถ้วนสมดุล โดยมีเป้าหมายในความสำเร็จขององค์กรและการอยู่ร่วมในสังคมอย่างยั่งยืน การร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนการปลูกอ้อยในรูปแบบ Modern Farm เป็นหลักสูตรที่นักศึกษาสามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ผลกำไรและก่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำไร่อ้อยของเกษตรกร ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริง"

          ปัจจุบันบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) มีโรงงานใน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ได้แก่ โรงงานน้ำตาลครบุรี ก่อตั้งในปี 2539 ด้วยกำลังการผลิต 35,000 ตันต่อวัน และ โรงงานผลิตไฟฟ้าครบุรี ก่อตั้งในปี 2551 ผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานน้ำตาลและยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนเกินขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในส่วนของแผนการลงทุนของบริษัทฯ นายดำรงค์ ภูติภัทร์ ผู้อำนวยการเทคนิคและโครงการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) กล่าวว่า บริษัทได้รับอนุมัติ ให้ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งบริษัทฯคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 3 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เล็งตั้งสำนักงานใหม่ ดัน10อุตฯเป้าหมาย

 "อุตสาหกรรม" เล็งตั้งสำนักงานใหม่ดูแลงานขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมทำเสนอสมคิด

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งรัดในปีงบประมาณ 2560 โดยหลังจากนี้จะนำแผนดังกล่าวไปกำหนดรายละเอียดเพื่อเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสปริงบอร์ดในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

          ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่จะดำเนินงานคือ การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีการตั้ง 5 กลุ่ม ขึ้นมาดูแล 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร ที่จะดูแลอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ 2.กลุ่มโลจิสติกส์และการขนส่ง ดูแลอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและรถยนต์แห่งอนาคต 3.กลุ่มไอทีดิจิทัล ดูงานด้านอุตสาหกรรมเครื่องใช้ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล 4.กลุ่มแปรรูปอาหาร ดูแลอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และ 5.กลุ่มครีเอทีฟ จะดูแลอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมด และสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์

          "สำหรับรูปแบบการดำเนินงานยังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะมี 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกการตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ เพื่อบริหารงานทั้ง 5 กลุ่มนี้ ซึ่งสำนักงานนี้จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอาจจะให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นเลขาธิการดูแลสำนักงานนี้ ส่วนแนวทางที่ 2 จะตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาที่จะมีการทำงานอิสระแบบสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)" นายสมชาย กล่าว

          ด้าน นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ที่ประชุมสปริงบอร์ดมีความเห็นว่าควรจะปรับปรุงสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 10 แห่ง ให้แยกออกไปเป็นองค์การมหาชน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยการบริหารในแต่ละสถาบันนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมา 1 ชุด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และตั้งคณะอนุกรรมการอีก 10 ชุด ขึ้นมาดูแลแต่ละสถาบัน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นปลัดกระทรวงจะเป็นกรรมการ ส่วนงบประมาณของแต่ละสถาบันส่วนใหญ่จะเป็นงบของภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

จีน-อาเซียนร่วมมือดันการค้าการลงทุน

"เตช บุนนาค" เผย มุ่งผลักดันสร้างมูลค่าการค้าการลงทุนจีน-อาเซียนแตะ 1 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2563 - ซีพี มองเศรษฐกิจจีนและไทยกำลังเข้าสู่ภาวะปกติ หลังชะลอตัวช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

นายเตช บุนนาค ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงานเสวนานุกรม ครั้งที่ 7 หัวข้อ 25 ปี มิตรภาพจีน-อาเซียน ว่า จีนกับอาเซียนได้มีการส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นมี 5 ด้าน ได้แก่

1.การเพิ่มความสามารถในการผลิตสู่ความแน่นเเฟ้น

2.ด้านการค้าการลงทุน ซึ่งจีนได้กลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน โดยในปี 2558 มีมูลค่าทางการค้าอยู่ที่ 450,000 ล้านเหรียญ และจะมุ่งเน้นให้มูลค่าทางการค้าร่วมกันเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญ ให้ในได้อีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมกัน ลดอุปสรรค์ทางการค้า การลงทุน

3.การนำเงินหยวนมามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจมากขึ้น

4.ความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางด้านการผลิต ภูมิศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในซึ่งอยู่ศูนย์กลางภูมิศาสตร์

5.การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างความร่วมมือทางด้านความปลอดภัย ความร่วมมือด้านแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล ให้เกิดความไว้วางใจต่อกัน รวมถึงจีนกับอาเซียนจะต้องมึการหารือร่วมกันเพื่อสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ต่อไป

CPมองศก.ไทย-จีนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ

ดร.สารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวในงานเสวนานุกรม ครั้งที่ 7 หัวข้อ 25 ปี มิตรภาพจีน-อาเซียน ว่า ความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ส่งผลให้ทุกประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า มองว่าโอกาสที่จีนกับอาเซียนจะมีความร่วมมือที่จริงใจต่อกันมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ จีนกับอาเซียนได้มีการเจรจาร่วมกันในระดับของผู้นำแต่ละประเทศอย่างสม่ำเสมอก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และในอนาคตความร่วมมือร่วมกันจะเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนได้ให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ในระดับที่ดี แต่ก็ต้องชะลอตัวลงมากกว่าครึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จีนเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ หรือ new normal เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผ่านมาได้เผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงและเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้จีนมีการเปลี่ยนทัศนคติ ปรับสภาพเศรษฐกิจใหม่ โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออกเหมือนเช่นที่ผ่านมา

 ดร.สารสินมองการค้าไทย-จีนเริ่มลดลง

ดร.สารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวในงานเสวนานุกรม ครั้งที่ 7 หัวข้อ 25 ปี มิตรภาพจีน-อาเซียน ว่า ปัจจุบันการค้าในอาเซียนกับจีน เริ่มลดลงในปีที่ผ่านมา หลังจากที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับไทยในการทำการค้าการลงทุน รวมถึงการทำให้จีนมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น เพราะปัจจุบันจีนเน้นการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน รวมถึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องของต้นทุนมากกว่ามิตรภาพ ซึ่งในปี 2558 พบว่า มีเงินทุนไหลออกจากประเทศจีนถึง 130,000 ล้านเหรียญ มีเงินทุนไหลเข้าไปลงทุนในจีนเพียง 120,000 ล้านเหรียญ โดยมีเงินทุนจากจีนมาลงทุนในอาเซียนเพียง 7,000 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา และกลายเป็นความท้าทายในการที่จะทำให้เงินทุนจากจีนมาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น

ขณะที่ความสัมพันธ์จีนกับไทยนั้น มีความเกี่ยวโยงกันในเรื่องของภาคการค้าการลงทุน รวมไปถึงภาคการเกษตร เนื่องจากจีนและไทยมีการเพาะปลูกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวเพื่อส่งออกเช่นเดียวกัน ดังนั้น หากจีนมีการปฏิรูปภาคการเกษตรลดการปลูกข้าวจะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น ด้านไทยก็กำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยนภาคการเกษตร โดยหันไปปลูกพืชชนืดอื่นเเทนการปลูกข้าวมากขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย ยกทีมบินประชุมน้ำตาลเวียดนาม-เมียนมา หวังศึกษาลู่ทางการค้า-ลงทุนร่วมกัน ในกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน 

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย สานต่อความร่วมมือพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASA โดยจะร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของเวียดนาม ก่อนยกทีมคณะผู้บริหารโรงงานน้ำตาลของไทยบินลัดฟ้าไปประเทศเมียนมาต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อศึกษาลู่ทางความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอาเซียน ประกอบด้วยประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีทั้งประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าน้ำตาล ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) ทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศสมาชิกของ ASA อย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จะเข้าร่วมประชุมกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเวียดนามในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งทางด้านการเพาะปลูกอ้อย การผลิตน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดจนการศึกษาตลาดและความต้องการน้ำตาลของเวียดนาม เพื่อขยายความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกันให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ประเทศเวียดนามเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 4 ของไทย

          ขณะที่ในช่วงต้นเดือนกันยายน คณะผู้บริหารของโรงงานน้ำตาลไทยจะจัดประชุมสัมมนาประจำปีเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตน้ำตาลทรายประจำฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยในปีนี้จะจัดที่ประเทศเมียนมาและในโอกาสดังกล่าว ตัวแทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจะประชุมหารือกับสมาคมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของเมียนมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่ม ASA เช่นกัน เพื่อสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ ASA ทางธุรกิจ การค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้าน โลจิสติกส์น้ำตาลทราย ตลอดจนแลกเปลี่ยนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคนิคทางวิชาการ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในด้านการลงทุนในอนาคต เพื่อช่วยกันพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในกลุ่ม ASA ให้เข้มแข็ง         

          "หลังชาติสมาชิกในอาเซียนลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมจัดตั้ง กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน (ASA) ไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ จึงต้องร่วมมือกับแก่ชาติสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และเทคนิควิชาการด้านต่างๆ ตลอดจนร่วมกันศึกษาหาลู่ทางความร่วมมือทางธุรกิจทั้งด้านการเพาะปลูก การผลิตน้ำตาล การขยายการค้า การลงทุน เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในภูมิภาคนี้ให้ความแข็งแกร่งมากขึ้น" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก กรุงเทพ  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชาววังสมบูรณ์กังวลผลกระทบรุมต้านสร้างโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล

เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารระดมกำลัง 150 นาย รักษาความปลอดภัยเวทีประชาพิจารณ์ โครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล อ.วังสมบูรณ์ ขณะที่นักเรียน ชาวบ้าน รวมตัวถือป้ายต่อต้านอย่างสงบ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว นายประกอบ คนวัฒนา ผู้อำนวยการโครงการวังสมบูรณ์ ของบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) และตัวแทนบริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ได้ร่วมกัน ชี้แจงรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการวังสมบูรณ์ อันประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่หมู่ที่ 1 และ 7 ตำบลวังใหม่ โดยมีประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่จาก สภ.วังน้ำเย็น สภ.วังสมบูรณ์ สภ.คลองหาด กำลังทหารพราน จากกรมที่ 13 และสารวัตรทหารจากมณทลทหารบกที่ 19 จำนวน 150 นาย เข้าดูแลรักษาความสงบ ในขณะที่บริเวณภายนอก ได้มี ชาวบ้านและนักเรียนโรงเรียนวังใหม่ ประมาณ 100 คน พากันมายื่นถือป้ายประท้วงโครงการ และร้องตะโกนคัดค้านโครงการดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการเปิดโอกาสให้ประชาชนซักถาม ในช่วงท้ายประเด็นที่ชาวบ้านยังเป็นห่วงกังวล ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของมลพิษและมาตรการการดูแลควบคุมการใช้น้ำภายในโรงงาน ที่เกรงว่าจะไปแย่งน้ำจากชาวบ้าน รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดกับการเลี้ยงโคนมของคนในพื้นที่รอบโครงการ ซึ่งกลัวว่าจะทำให้ผลผลิตนมไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค และบางส่วนต้องการให้ย้ายโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ทั่วไปได้ดำเนินการไปตามปกติจนเสร็จสิ้น โดยไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ซิงเกิลคอมมานด์ พร้อมกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการสานพลังประชารัฐ เกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ (อ้อย) มุ่งพัฒนาการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชน ​

          สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ ซิงเกิลคอมมานด์ ผู้จัดการแปลงใหญ่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน เกษตรกร และกลุ่มมิตรผล ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการสานพลังประชารัฐเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ (อ้อย) เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยให้เป็นอีกหนึ่ง พืชทางเลือกสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่หรือทำนาข้าว แต่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ

        นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “ข้อตกลงที่ให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวหรือมันสำปะหลังในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม มีผลผลิตต่ำ มาส่งเสริมการปลูกอ้อย ซึ่งมีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลกำกับดูแล ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอำนาจเจริญ เพราะอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ของไทยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่องได้สูง จึงนับเป็นโอกาสอันดี ที่เราได้รับความร่วมมือและ การสนับสนุนจากกลุ่มมิตรผล ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน”

          นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล มีความยินดีที่จะเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเราได้นำแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาตรฐานระดับโลก ที่เราได้ศึกษาและพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของไทย หรือที่เรียกว่าการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งเป็นวิถีการทำไร่อ้อยที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเข้ามาปรับใช้ ผ่านทฤษฎี 4 เสาหลัก นอกจากนี้ มาตรฐานการทำไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผลยังได้รับ การรับรองจาก Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินงานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระดับโลก ที่มุ่งเน้นการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน เพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเรายินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทั้งหมดนี้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียง ไม่เพียงเท่านี้ ในทุกพื้นที่ที่กลุ่มมิตรผลมีการดำเนินงาน เรายังมีโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยมีเป้าหมายการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจริยธรรมและจิตใจ” 

          บันทึกข้อตกลงนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้ที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอำนาจเจริญเท่านั้น แต่ยังจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร เนื่องจากอ้อยเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเนื่อง (Value Chain) สูง อีกทั้งยังเป็นพืชนำร่องในการผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของภาครัฐสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย 

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แผนพัฒนาน้ำปี59"เกษตรกรรม-จัดรูปที่ดิน"เป้ากว่า9.5หมื่นไร่

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           กรมชลฯเปิดแผนพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาปี 59 วางเป้าจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม พร้อมจัดรูปที่ดินคลุมพื้นที่กว่า 9.5 หมื่นไร่ กระจายน้ำสู่แหล่งเพาะปลูกทั่วถึงตามนโยบาย ก.เกษตรฯ

           นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2559 นี้ กรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเร่งขับเคลื่อนและพัฒนางานจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558

       เบื้องต้นมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ระบบชลประทานในไร่นา รวม 95,293 ไร่ แยกเป็น การพัฒนาจัดรูปที่ดิน จำนวน 8,060 ไร่ และพัฒนาเป็นงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จำนวน 87,233 ไร่ คาดว่า จะสามารถกระจายน้ำไปสู่แหล่งเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังเตรียมแผนดำเนินการศึกษาแผนงานก่อสร้างใหม่ขอบเขตพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 40 ล้านไร่ ที่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาระบบชลประทานในไร่นาได้

          ปัจจุบันสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินฯซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ โดยดึงเกษตรกร เจ้าของที่ดิน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่การเกษตรทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานให้มีระบบแพร่กระจายน้ำในไร่นาอย่างทั่วถึง

           ทั้งในรูปแบบการจัดระบบน้ำและการจัดรูปที่ดิน ซึ่งแผนแม่บทแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน (ปี 2560) 2.แผนระยะสั้น (ปี 2561-2564) 3.แผนระยะกลาง (ปี 2565-2569) และ4.แผนระยะยาว (ปี 2570-2579) เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

          สำหรับงานจัดรูปที่ดินนั้น กรมชลประทานมุ่งพัฒนาที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมให้สมบูรณ์ทั่วถึงทุกแปลง โดยทำการรวบรวมที่ดินหลายแปลงในบริเวณเดียวกัน เพื่อวางผังจัดรูปที่ดินใหม่ พร้อมจัดระบบชลประทาน จัดสร้างถนนหรือทางลำเลียงในไร่นา มีการปรับระดับพื้นที่ดิน ปรับปรุงบำรุงดิน ขณะเดียวกันส่งเสริมการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตการเกษตร รวมถึงการแลกเปลี่ยน การโอน การรับโอนสิทธิในที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดิน และอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมด้วย

          “ส่วนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ได้มีเป้าหมายจัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานหรือแหล่งน้ำอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง มีทั้งการสร้างระบบส่งน้ำแบบคูส่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระบบส่งน้ำแบบ U-Shape ระบบส่งน้ำแบบท่อ เพื่อกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะสม สามารถช่วยลดต้นทุนผลิตและเพิ่มผลผลผลิตให้กับเกษตรกรตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสผลิตสินค้าเกษตรป้อนเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น มีรายได้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วย” ผอ.สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : เกษตรเข้มขึ้นทะเบียนสารเคมี ยึดหลักปลอดภัย-หลายทางเลือก

กรมวิชาการเกษตรยันระบบการขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตรเน้นปลอดภัย ไม่ผูกขาดเพื่อสร้างทางเลือกให้เกษตรกรมากขึ้น ขณะนี้ มีสารเคมีทางการเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในระบบกว่า 8,800 ฉบับ ครอบคลุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกประเภท พร้อมพิจารณาเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร 20 ชนิด วอนผู้ประกอบการให้มีจรรยาบรรณในการผลิตและจำหน่าย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือ สารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กับพืช อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 โดยมีคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานโดยตำแหน่ง เป็นผู้พิจารณาความถูกต้องเหมาะสมทางด้านวิชาการสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนั้นๆ เพื่อให้สารเคมีที่ขึ้นทะเบียน มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้พิจารณารับขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตรที่สกัดจากสารธรรมชาติ เป็นสำคัญ รวมทั้งสารเคมีที่มีความเจาะจงกับพืชชนิดเดียวกัน แต่มีผู้ขึ้นทะเบียนเพียงสารเดียว หรือสารเคมีที่มีผู้ขึ้นทะเบียนน้อยรายให้พิจารณารับขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการใช้สารเคมีหลากหลายชนิด ไม่เกิดการผูกขาด

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 มีสารเคมีทางการเกษตรขึ้นทะเบียนไว้แล้วจำนวน 8,879 ฉบับซึ่งเมื่อตนมาเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ดังกล่าว ในเดือนตุลาคม 2558 ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการหลายรายว่าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการล่าช้า จึงได้ปรับการประชุมของคณะอนุกรรมการใหม่ เป็นเดือนละ 2 ครั้ง ส่งผลให้ 10 เดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้รับขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตรไปแล้ว 517 ฉบับ โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพ และพิษวิทยา ประกอบกับเงื่อนไขความปลอดภัยที่เป็นสากล สำหรับรายที่ไม่รับขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่เกิดจากข้อมูลไม่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเพียงพอที่จะให้คณะอนุกรรมการพิจารณาได้ ซึ่งได้แจ้งให้นำไปแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูลมาให้พิจารณาใหม่ โดยเรียงลำดับก่อนหลังตามการยื่นเอกสารและข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถตรวจสอบได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนมีจำนวนประมาณ 1,000 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวนมากแล้วในปัจจุบัน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร เป็นการรับรองเบื้องต้นว่า สารเคมีที่ผ่านการขึ้นทะเบียน เมื่อใช้ตามคำแนะนำที่กำหนดไว้ในฉลากจะมีความปลอดภัยแน่นอน อย่างไรก็ตาม ศัตรูพืชสามารถที่จะพัฒนาตนเองขึ้นมาต้านทานสารเคมีทางการเกษตรชนิดนั้นๆ ได้ หากไม่ใช้ตามคำแนะนำ และสารเคมีบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับสารอื่น หรือ เกิดพิษสะสมในสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างการพิจารณาเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร จำนวน 20 ชนิด อย่างใกล้ชิด เช่น ไซเพอร์เมทริน อะลาคลอร์อัลดิคาร์บอะบาเมกตินคลอร์ไพริฟอส ไดโครโตฟอส เป็นต้น หากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องควบคุมการใช้อย่างใกล้ชิด กรมวิชาการเกษตรสามารถที่จะเสนอคณะอนุกรรมการ ให้พิจารณาห้ามขึ้นทะเบียนสารเคมีชนิดดังกล่าวได้

กรมวิชาการเกษตรพยายามเต็มที่ ในการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมา ยังพบการลักลอบนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีการขึ้นทะเบียนและไม่ขออนุญาตนำเข้าที่ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 18.2 ตัน และด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 20.2 ตัน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ลักลอบจำหน่ายสารเคมีที่ห้ามใช้แล้ว หรือสารเคมีที่ไม่มีคุณภาพ จึงได้กำชับให้สารวัตรเกษตรตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตอย่างเข้มงวดและขอความร่วมมือให้เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปหากพบผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าว ช่วยแจ้งเบาะแสให้กรมวิชาการเกษตรทราบด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯร่วง มึนต้นทุนสูงยอดขายตกบาทแข็งส่งออกลำบาก

 สอท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 84.7 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ผู้ประกอบการกังวลปัญหาต้นทุนสูง ขาดสภาพคล่อง ยอดขายตก ค่าบาทแข็งอุปสรรคการส่งออกวอนรัฐบาลอย่าพึ่งหนุนรถยนต์ไฟฟ้าขอเวลาปรับตัวอีก 5-10 ปี หวั่นรีบร้อนทำอุตฯชิ้นส่วนไทยเดือดร้อน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.3 ในเดือนมิถุนายนโดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นค่าดัชนีต่ำสุดในรอบปีนี้และต่ำสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เนื่องจากคำสั่งซื้อ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการที่ลดลง

สำหรับดัชนีฯ ที่ลดลงมีปัจจัยสำคัญจากความกังวลต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การแข่งขันด้านราคา ปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ขณะที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่สินค้าก่อสร้างทั้งเหล็ก ปูนซีเมนต์ ชะลอตัวซึ่งอาจเพราะเข้าสู่ฤดู ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ

ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลงได้แก่ ราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอยู่ในระดับที่ทรงตัว อีกทั้งภาครัฐยังต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงปลายปีงบประมาณ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รวมทั้งควรมีการส่งเสริมการจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ และออกมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า ภาคกลางมีการปรับตัวลดลงจาก 88.3% ลดลงอยู่ที่ 88.0% ภาคเหนือมีการปรับตัวลดลงจาก 70.3% ลดลงอยู่ที่ 69.9%ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปรับตัวลดลงจาก 76% ลดลงอยู่ที่ 75.4% ส่วนทางภาคตะวันออกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.6% เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 99.4% และภาคใต้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 81.7% เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 84.6%

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสอท.กล่าวว่า ดัชนีฯที่ต่ำลงสอดคล้องกับภาวะการส่งออกที่มีแนวโน้มยังคงชะลอตัวโดยคาดว่า 7 เดือนการส่งออกรวมจะติดลบ 2.35% และทั้งปีคาดว่าจะติดลบ 2% สินค้าที่น่าจับตาที่มีมูลค่าลดลงอย่างมากคือสินค้าภาคเกษตรได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ที่ราคาตลาดโลกยังคงไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะข้าว ยางพารา ที่ราคาตกต่ำหนัก ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ การส่งออกเริ่มชะลอตัวโดยเฉพาะไปยังภาคตะวันออกกลางที่กำหนดค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้ต้องรอสต๊อกรถเก่าหมดก่อน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ทรงตัว มีเพียงอาหารที่คาดว่าจะโต 7%

ทั้งนี้สิ่งที่กังวล คือ ค่าบาทที่จะเป็นอุปสรรคการส่งออกของไทยลดลงและฉุดขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยมีทิศทางแข็งค่าขึ้นโดยเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าบาทแข็งค่ากว่าภูมิภาคและขณะนี้ไม่ควรจะต่ำไปกว่าระดับ 34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าไม่ได้มาจากปัจจัยเศรษฐกิจโดยรวมหากแต่มาจากเงินทุนไหลเข้าที่หากพิจารณาจะมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 80% ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพียง 20%

นายวัลลภ กล่าวว่า นโยบายรัฐที่ประกาศการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ค่ายรถยนต์ทั้งหมดก็ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่ารัฐบาลไม่ควรจะเร่งรีบควรจะไปส่งเสริมให้เกิดอีก 5-10 ปีข้างหน้ามากกว่าเพราะสิ่งที่จะกระทบมากคือผู้ประกอบการชิ้นส่วนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยจะตายก่อนเพราะรถEVเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและใช้อะไหล่น้อยมากจึงต้องมีเวลาปรับตัว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

“ศรี ปานมา” เกษตรกรชาวไร่อ้อย ต่อยอดเทคโนโลยีทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการผลิต

พื้นที่ที่ถูกขุดปลูกเป็นไร่อ้อย กว่า 600 ไร่ ในเขตตำบลหนองจาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในความดูแลของเกษตรกรวัยกลางคน คุณศรี ปานมา อายุ 63 ปี ชาวไร่อ้อย แต่กำเนิด

แม้อายุจะเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่คุณศรี ก็จัดว่าเป็นเกษตรกรตัวยงคนหนึ่ง ที่ตรากตรำ คร่ำเคร่งกับงานในอาชีพอย่างมั่นคง และมุ่งมั่นศึกษา พัฒนา เพื่อต่อยอด ให้การปลูกอ้อยที่ทำมาตลอดชีวิตมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

คุณศรี ไม่มีวุฒิการศึกษาใดมาประดับ อ่านและเขียนหนังสือได้ไม่มาก แต่ ณ วันนี้ รางวัลที่เป็นเครื่องการันตีว่าเกษตรกรผู้นี้มีคุณสมบัติน่ายกย่องให้เป็น “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ตามหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวจริง

การปลูกอ้อยที่ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา ของคุณศรี มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การไม่เผาใบอ้อยในไร่เฉกเช่นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วไป เป็นสิ่งที่คุณศรีทำมาตั้งแต่จำความได้ว่าเริ่มลงมือปลูกอ้อยทุกขั้นตอนด้วยตนเอง เหตุผลถูกอธิบายเพียงสั้นๆ ว่า ดินที่เสื่อมสภาพจากการเพาะปลูกหลายครั้ง ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพจากการขาดธาตุไนโตรเจน ใบอ้อยที่ถูกตัดทิ้งหลังเก็บเกี่ยว เป็นใบอ้อยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง หากไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมดินก่อนการเพาะปลูกรอบต่อไป จะช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดิน เป็นการบำรุงดิน ไม่สูญเสียแร่ธาตุในดิน เหมือนการเผาใบอ้อย ซึ่งการเผาใบอ้อยภายในไร่นั้น นอกจากจะไม่เป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้กับดินแล้ว ยังเป็นการทำลายหน้าดินและแร่ธาตุที่มีอยู่ในดินชนิดอื่นให้หมดไปด้วย

ข้อมูลที่คุณศรีนำมาอธิบาย เขายกตัวอย่างคร่าวๆ จากการวิจัยของนักวิชาการ กรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำการวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลมายังเกษตรกร แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมาก ก็ยังไม่ปรับวิธีกำจัดใบอ้อย ยังคงใช้การเผาเช่นเดิม

 “ในอนาคต ใบอ้อยที่ถูกไถกลบไปพร้อมกับการเตรียมการปลูกครั้งต่อไป ผมตั้งใจเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปขายให้กับโรงไฟฟ้า ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท เพราะใบอ้อยเป็นพลังงานอย่างดี สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับทำเชื้อเพลิงได้”

แนวคิดที่เป็นเกร็ดเล็กน้อยนี้ ส่งผลให้คุณศรี มีความแตกต่างทางด้านความคิด รู้ศึกษา เพื่อนำมาต่อยอดกับการเกษตรที่ดำเนินอยู่ แม้จะถูกมองว่าแตกต่างจากเพื่อนบ้านในระยะแรก แต่ผลที่ตอบสนองกลับมา ทำให้คุณศรีได้รับการยอมรับว่า เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับหลักที่สำคัญของสมาร์ทฟาร์มเมอร์  ตั้งแต่การมีความรู้ในอาชีพ การมีข้อมูลในการตัดสินใจ ที่สำคัญก็คือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นเครื่องมือทางการเกษตรที่คุณศรีเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะปัจจุบัน แรงงานคนในภาคเกษตรลดน้อยถอยลงไปทุกขณะ ถึงกับมีข่าวแพร่กระจายว่าในหลายพื้นที่ วิกฤตแรงงานภาคเกษตรอย่างหนักถึงขั้นตกเขียวแรงงานก็มี

 “แรงงานภาคเกษตรเริ่มหายากมาก ค่าแรงก็สูง บางรายเสียรู้วางเงินมัดจำไปก่อน เมื่อถึงวันเข้าพื้นที่การเกษตรจริง แรงงานกลับไม่มา ตามก็ไม่ได้”

คุณศรี เห็นความจำเป็นของเครื่องจักรกลการเกษตรมานานแล้ว ก่อนเกิดวิกฤตแรงงานภาคเกษตร โดยแรกเริ่มในอดีต รถไถเดินตาม เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรชิ้นแรก ที่ช่วยผ่อนแรงในไร่อ้อย ต่อมาการใช้แรงงานคนในการใส่ปุ๋ยไม่ครบถ้วน ทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ จึงคิดหาวิธีสร้างเครื่องใส่ปุ๋ย เพื่อให้อ้อยในไร่ได้รับปุ๋ยที่เท่ากัน ในที่สุด คุณศรีก็สามารถสร้างอุปกรณ์ต่อพ่วงเข้ากับรถไถเดินตาม เป็นเครื่องใส่ปุ๋ยภายในไร่อ้อยได้สำเร็จ      

ปุ๋ยที่ใช้สำหรับอ้อย คุณศรี เลือกที่จะใช้เพื่อการกำจัดศัตรูพืชไปพร้อมกัน ไม่ให้ปุ๋ยละลายไปกับวัชพืชที่ไม่ต้องการ        

 “ผมใช้ปุ๋ยน้ำที่ทำจากกากผงชูรส ปริมาณ 200 ลิตร ผสมกับพาราควอด (ยาฆ่าหญ้า) 1 ลิตร จากนั้นนำไปพ่นในแปลงอ้อย วัชพืชที่ไม่ต้องการ เช่น หญ้า เมื่อถูกพาราควอดก็ตาย ส่วนอ้อย เมื่อได้ปุ๋ยน้ำ ก็เจริญงอกงามดี ต้นทุนการให้ปุ๋ยก็ถูกลง อยู่ที่ไร่ละ 200-300 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีที่ต้องใช้ปริมาณ 1 กระสอบต่อไร่ ราคากระสอบละ 600 บาท แพงกว่าถึง 2 เท่า”

ปัญหาที่ตามมา คือ หากใช้ปุ๋ยน้ำผสมพาราควอดต่อเนื่องนาน จะทำให้ดินแข็ง เพราะไนโตรเจนในดินจะหมดไป ควรแก้ปัญหาด้วยการเว้นระยะการให้ปุ๋ยน้ำผสมพาราควอด 2-3 ปี ระหว่างนั้นใส่ปุ๋ยเคมีแทน แต่ควรให้ปุ๋ยที่มีค่าตัวท้าย หรือค่าโพแทสเซียม (K) สูง จะช่วยทดแทนกันได้

การเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยของคุณศรี ไม่ใช่เรื่องยาก การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ทำให้คุณศรีได้เทคนิคการเพิ่มผลผลิตอ้อยจากต่างประเทศ มาทดลองใช้ และได้ผลดี โดยเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่ประเทศออสเตรเลีย พบว่า การให้ปุ๋ยผ่ากลางกออ้อย จะทำให้อ้อยได้รับปุ๋ยทั่วถึงมากขึ้น ผลผลิตก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอ เพิ่มผลผลิต ลดวัชพืช

ปกติใส่ปุ๋ยรอบกออ้อย ทำให้ปุ๋ยที่ให้แผ่กระจายออกด้านข้าง ไปยังส่วนที่เป็นดินหรือช่องว่างระหว่างกอ บริเวณดังกล่าวเมื่อมีปุ๋ย จะทำให้วัชพืชขึ้นง่าย

ให้ใช้เครื่องมือทางการเกษตรแหวกกลางกออ้อย จากนั้นจึงใส่ปุ๋ย ปุ๋ยจะแผ่กระจายออกด้านข้าง ทำให้กออ้อยทั้งสองด้านได้รับปุ๋ยเต็มที่ บริเวณพื้นที่ว่างระหว่างกอ ก็ไม่ได้รับปุ๋ย วัชพืชจึงไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้ปุ๋ยผ่ากลางกอวิธีนี้ ต้องใช้ลิปเปอร์ระเบิดดินดาน (เครื่องจักรกลการเกษตร) แทงดินลงให้ลึก จากนั้นเมื่อดินแตก ก็ให้ปุ๋ยลงไป จะทำให้ปุ๋ยลงลึกไปใต้กออ้อย อีกทั้งมีพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินสำหรับอ้อยด้วย

ปริมาณปุ๋ยจากเดิมที่ต้องให้อยู่ที่ 50-70 กิโลกรัมต่อไร่

เมื่อให้ด้วยวิธีผ่ากลางกอ จะลดปริมาณปุ๋ยลงเหลือเพียงไร่ละ 30 กิโลกรัม

ปัจจุบัน คุณศรีใช้แรงงานคนในภาคเกษตรเพียง 10-15 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพราะเชื่อมั่นในการทำงานที่ได้มาตรฐาน เช่น เครื่องระเบิดดินดาน เครื่องให้ปุ๋ย เครื่องตัดอ้อย เครื่องพ่นยา เครื่องปลูก เป็นต้น

คุณศรี แนะนำเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง บางขั้นตอนของการทำการเกษตร ควรมีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วย จะผ่อนแรงได้มาก และทำให้ผลผลิตได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

 “ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรายใหญ่ ถ้าไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นของตนเอง ก็รวมกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เมื่อมีปริมาณผลผลิตที่มาก ก็ขอให้โรงงานน้ำตาล ซึ่งมีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ (รถตัดอ้อย) เข้ามาดำเนินการให้ได้เช่นกัน”

สำหรับคุณศรีแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก แต่เพราะเขามีวิธีคิดที่แตกต่าง คุณศรี เห็นว่า ค่าจ้างตัดอ้อยตันละ 555 บาท รวมเบ็ดเสร็จค่าตัดอ้อยทั้งหมดประมาณ 1.5 ล้านบาท หากต้องจ่ายค่าตัดอ้อยทุกปี ปีละ 1.5 ล้านบาท แต่นำเงินส่วนนี้ไปผ่อนชำระค่างวดรถตัดอ้อย เพียง 5-6 ปี ก็มีรถตัดอ้อยเป็นของตนเองได้เช่นกัน        

แม้ว่าปัจจุบัน คุณศรี จะมีอายุ 63 ปีแล้ว แต่คุณศรีก็ยังไม่เลิกศึกษาค้นคว้าการพัฒนางานด้านการเกษตร เพราะมีความภูมิใจในอาชีพ หลักข้อสำคัญอีกข้อของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตร เป็นการพัฒนาและต่อยอดได้อย่างดี      

ขอคำแนะนำ “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” เกษตรกรตัวจริงคนนี้ ได้ที่ โทรศัพท์ 081-7012812

 จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"SCG-มิตรผล-เเม่ฟ้าหลวง" มองไกลวิสัยทัศน์ธุรกิจ-ชุมชน-สิ่งเเวดล้อมร่วมพัฒนายั่งยืน

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2559 เวลา 10.15 น. ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนา CSR 360 องศา "ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยให้ยั่งยืน"   โดยในช่วงเช้ามีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจในบริบท (โลก)ใหม่ สร้างไทยยั่งยืน”  ซึ่งมีนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของไทยมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  ได้แก่  รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี)  ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มมิตรผล โดยบรรยากาศงาน เป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชน นักธุรกิจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น การที่องค์กรจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้คนต้องมีจิตสำนึกการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย  โดยทางเอสซีจีมีวัฒนธรรม-ค่านิยมองค์กรบนพื้นฐาน 4 ข้อ คือ 1.ความเป็นธรรม 2.ความเป็นเลิศ 3.คุณค่าของคน 4.ความถือมั่นและความรับผิดชอบต่อสังคม

“คนในองค์กรต้องมีความเชื่อแบบนี้เหมือนกัน นอกจากนั้นเราก็เสริมเรื่องการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีความเป็นธรรมทั้งต่อลูกค้าและคู่ค้า มีความเซฟตี้ ให้ความสำคัญกับชีวิตคน เพราะเอสซีจีเป็นบริษัทอุตสาหกรรม ถ้าคนที่ทำงานกับเราหรือคนใกล้ตัวเรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราก็อยู่ไม่ได้ ไม่สามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนได้” รุ่งโรจน์กล่าว 

เอสซีจีได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องทำ 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1)ต้องเป็นกรีนแมนูแฟคเจอริ่ง ถ้าไม่กรีน ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ขั้นตอนต่อไปมันไปไม่ได้ เราต้องทำให้สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการผลิตของเราสมบูรณ์ที่สุด การผลิตของเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นการใช้โดยไม่ทำลาย และพัฒนาสังคมรอบข้างไปด้วย เพื่อให้ชุมชนมีกำลังช่วยกันรักษาระบบนิเวศน์  2) ซัพพลายเชน ให้เขาพัฒนาพร้อมกับเราอย่างยั่งยืน มีโปรแกรมที่ขอให้ซัพพลายเออร์เข้ามาร่วมพันธกิจกับเรา เช่นทำสัญญาเรื่องไม่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ไม่หนีภาษี ไม่โกง ไม่ติดสินบน ซึ่งเป็นลักษณะอาสาสมัครก่อน มีซัพพลายเออร์ 5 พันกว่ารายเข้าร่วม 3) ลูกค้า สร้างกลุ่มคนที่สามารถพัฒนาทั้งระบบได้ เช่น ทำเอลเดอร์แคร์ โซลูชั่น ตอบโจทย์ลูกค้าสูงวัย เราหวังว่าจะครีเอทโซไซตี้ขึ้นมา และเราคิดจะทำโปรแกรมอื่น ๆ อีก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกค้าต่อไป  และ 4)พัฒนาร่วมกับพาร์ทเนอร์ภายนอก ทั้งคนนอกและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

สำหรับประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกอนาคตที่มีความเปลี่ยนแปลง นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนมี 3 ประเด็นที่น่าจะเป็นเทรนด์หลัก คือ  1) การที่สังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ความคาดหวังมีมากขึ้น ความหลากหลาย แรงกระเพื่อม มีเสียงพูดออกไปมากขึ้น ซึ่งในปีหลัง ๆ มานี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องตอบรับมากขึ้น เมื่อก่อนจะมีแค่กลุ่มเอ็นจีโอที่พูด แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ทั้งคนในสังคม ลูกค้า มีเสียกรองมากขึ้น 2 )ความเร็ว การแพร่กระจายข่าวสารมีมากขึ้น เวลามีอะไรทุกคนในโลกรู้หมดว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และทุกคนก็แสดงความเห็น  และ 3 )ความแตกต่างของคนในสังคม ถึงแม้ว่าโลกเป็นโกบอลไลซ์มากขึ้น แต่ยังมีความต่างกันในแต่ละสังคม ระดับการยอมรับเรื่องเดียวกันในแต่ละสังคมต่างกัน

“เมื่อก่อนเราอาจจะไม่สนใจว่าคนในสังคมพูดถึงเราอย่างไรอาจจะสำรวจความเห็นแค่รายปีแต่ตอนนี้ต้องปรับตัวอยู่เสมอ ต้องรู้ว่าใครพูดถึงเราอย่างไร แล้วแชร์ข้อมูลให้คนในองค์กรรู้ด้วย และให้โอกาสพนักงานมีส่วนในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วทันท่วงที ซึ่งคนในองค์กรของเราจำเป็นต้องมีความเข้าใจในบริบทเหล่านี้ที่ซับซ้อนขึ้น แล้วเขาจะตัดสินใจได้เร็ว นี่คือสิ่งที่เอสซีจีอยากให้เกิดขึ้น”  กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทยกล่าว

ด้าน มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยถึงวิธีคิดขององค์กรตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันว่า การก่อตั้งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงตั้งมาเพื่อสังคม ปัญหาปัจจุบันคือป่าเสื่อมโทรม ยากจน ปลูกฝิ่น ขนยาเสพติด เป็นพื้นที่ที่หน่วยงานราชการเข้าไม่ถึง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงสะท้อนถึงการทำพระราชกิจของสมเด็จย่า เริ่มต้นขึ้นด้วยโครงการปลูกป่า

“กระแสปลูกป่าแรงมากในปัจจุบันคนแค่เข้าไปปลูกแล้วก็หันหลังกลับ  ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ เราจะมองว่าคุณเป็นคนก่อ เนื่องจากวิถีดั้งเดิมที่เคยใช้หายไป อยากให้หันกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม อีกทั้งคนเข้าไปบุกรุก ตัดต้นไม้ ในส่วนของป่าดอยตุงมีการเรียนรู้ถูกผิดมาตลอดแต่ก็พัฒนามาเรื่อยๆ สิ่งที่ทำควบคู่การปลูกป่าคือปลูกคนสร้างงานสร้างอาชีพให้ความรู้แก่คนในชุมชน ” มล.ดิศปนัดดากล่าว

ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมองภาพรวมของชุมชนทั้งหมด ไม่มองไปที่จุดใดจุดหนึ่ง การที่คนจะดูแลพื้นที่ต่อได้ทุกคนต้องผูกพันกัน ปัจจุบันช่องว่างระหว่างชนชั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชุมชมมีอาชีพดีขึ้นรายได้มากขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นก็เกิดช่องห่างกันอยู่ดี มูลนิธิจะส่งเสริมชาวบ้านให้เขามีรายได้เพียงพอ เพื่อให้ชาวบ้านมีการวางแผนดูแลตนเองและชุมชน  ตอนนี้มูลนิธิพัฒนาโครงการไปที่จังหวัดน่านเพื่อพัฒนาป่า ปัญหาของป่าไม่ใช่ปัญหาของคนต้นน้ำ แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ

“ผมไม่เชื่อว่ามีคนโง่อยู่ในโลก มีแค่คนรู้เร็วกับคนรู้ช้า คนรู้ช้าสักวันเขาต้องรู้ เราต้องมองว่าเป็นปัญหาส่วนรวม เริ่มต้นจากตนเองอย่าพึ่งไปช่วยใครแล้วทุกคนจะทำคนละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงกล่าว

สำหรับภาพรวมในปัจจุบัน  มล.ดิศปนัดดาเผยว่ากำลังไปกับกระแสโลกาภิวัตน์มีตัวอย่างชัดเจน คือช่องว่างระหว่างนายหน้า ปัญหาของนายทุนต่างๆ เราต้องดูว่าสิ่งที่เราจะแก้เราสามารถเอามาปฏิบัติได้จริงอย่างไร เราเข้าใจมันดีแค่ไหนต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาระยะยาว เราใช้เวลาบนห้องเยอะไม่ออกไปเจอของจริง ถ้าความเข้าใจของเราดีขึ้น เราจะเเก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น จะทำอย่างไรให้องค์ความรู้เผยแพร่มากขึ้นเพราะเราใส่สูท มีชื่อเสียง มีใบปริญญาหลายใบ การเริ่มต้น CSR ต้องเปลี่ยนมุมมอง อย่ามองว่าเป็นการให้ แต่ให้มองว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเข้าใจมากขึ้น

ด้านนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มมิตรผล  กล่าวว่า ก้าวสู่ 60 ปีมิตรผล  “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”  เป็นคำที่ใช้ตั้งแต่ได้ริเริ่มธุรกิจ เมื่อพูดถึงอ้อย อันเป็น “พืชมหัศจรรย์” ของธุรกิจเรา  นอกจากใช้น้ำตาล แล้วยังเป็นพืชพลังงาน อ้อยจึงเป็นกุญแจหลักของกลุ่มมิตรผล แต่ละปีเราต้องใช้อ้อย ถึง 20 ล้านตัน แต่ทว่ามิตรผลปลูกเองไม่ถึงแสนตัน ที่เหลือนั้นรับมาจากชาวไร่  โดยเรามีชาวไร่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตของเรากว่าแสนคน

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรยังคงปลูกอ้อยอยู่ มีอยู่  3 ปัจจัย ได้แก่  1) ราคา 2) ต้นทุน 3) ผลผลิตต่อไร่  ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไปเกษตรกรเขาพร้อมเลิกอาชีพหรือหันไปปลูกพืชอื่นแทน  ซึ่งราคาปัจจุบันสำหรับอ้อยในไทยอยู่ที่ประมาณตันละ 1,000 บาท ส่วนราคาอ้อยในประเทศจีนจะสูงกว่าเรา 2 เท่า คืออยู่ที่ 2,000 บาท เพราะปลูกยากทำให้ต้นทุนสูง

ธุรกิจสมัยนี้ต้องคำนึกถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ผลกำไร เราลงไปช่วยชาวไร่ดูถึงการใส่ปุ๋ย คุมปริมาณสารเคมี เราดูถึงขนาดพื้นที่ดินตรงนั้นขาดธาตุอะไร รถไถที่ใช้พรวนดินควรใช้น้ำมันเท่าไหร่ เพราะน้ำมันใช้มากไปก็เกิดมลพิษ

“เราไม่ใช่แค่ธุรกิจรับซื้อ แต่ต้องดูแลถึงกระบวนการผลิตด้วย ว่าจะสร้างมูลค่าอย่างไร  อย่างเช่น เมื่อสองปีก่อนเกิดปัญหาที่จีน  ปริมาณอ้อยลดลแม้จะยังมีราคาสูง ทางมิตรผลได้เอาระบบฟาร์มในไร่ไปช่วยลดต้นทุน ให้พวกเขา ประหยัดเงินได้กว่าพันล้าน  ในแง่ของชาวไร่ เขาไม่อยากเปลี่ยนอาชีพหรอก แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเพราะไม่มีทางเลือก ในเกษตรสมัยใหม่ต้องคิดไปเกินกว่าจะทำอย่างไรชาวไร่จึงจะอยู่ได้ แต่สิ่งแวดล้อมต้องดีด้วย”

ที่ผ่านมาไทยโดนขึ้นลิสต์เป็นเทียร์ 3  สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยก็โดนปัญหาใช้แรงงานเด็ก  ซึ่งบ้านเรามองว่าส่วนหนึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เด็กจะตามพ่อแม่ไปอยู่ในไร่หรือไปเรียนรู้งานในไร่  แต่สิ่งที่ฝรั่งเขามองคือไม่ได้รับการดูแลสิทธิ เพราะเด็กต้องไปอยู่ในโรงเรียน ไม่ใช่มาอยู่ในไร่เพื่อทำงาน 

จากประเด็นนี้ กลุ่มมิตรผล ได้แก้ไขปัญหาโดยการให้เด็กเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่ใกล้ๆไร่ของพ่อแม่ ซึ่งโครงการนี้มีความคืบหน้า เป็นเรื่องที่เอกชนต้องดูแล  ไม่ใช่รอความช่วยเหลือภาครัฐอย่างเดียว 

อีกประเด็นหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือการว่าจ้างคนพิการ จะเห็นว่าที่ผ่านมาทุกองค์กรไม่สามารถว่าจ้างได้ตามกำหนดของภาครัฐ และคนพิการบางท่านก็ลำบากเพราะเดินทางมาทำงานไม่สะดวก หลายบริษัทเลือกจ่ายเงินเข้ากองทุนดีกว่า เราจึงแก้ไขปัญหาตรงนี้โดยการให้พวกเขาอยู่ในชุมชน เราก็ดูแลชุมชนของเขาอีกที  “เขาก็ได้ เราก็ได้"  ตอนนี้เราสามารถจ้างได้เต็มอัตราตามที่รัฐกำหนด  ลดภาษีได้อีก แล้วเราก็นำเงินนั้นกลับมาจ้างเขาได้อีก”

กฤษฎา กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้มีการเผาอ้อยเยอะมาก  ส่งผลต่ออย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม  ต้องเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานี้ ผนวกกับ เกษตรกรอายุเยอะขึ้น  คนรุ่นใหม่ทำงานเกษตรกรรมน้อยลง ลูกหลานไม่ทำต่อจากพ่อแม่  ถ้ายังปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไป ก็จะไม่มีใครมาผลิตอาหารให้ชาวโลก ทางออกคือต้องหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยเพื่อลดการใช้แรงงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไฟเขียว4พ.ร.บ.รับบูมเศรษฐกิจ4.0 ยกเครื่องรัฐวิสาหกิจหนุน10อุตสาหกรรมอนาคต

ครม.ยกเครื่อง 12 รัฐวิสาหกิจ ตั้ง "บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ" ล้อมคอกประชานิยม-การเมืองแทรกแซง ชู "อดีตเทคโนแครตระดับสูง" กลั่นกรองกรรมการ รสก. อนุมัติ 4 กฎหมายรับ 10 อุตสาหกรรมใหม่

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ. ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... กำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ (5 ปี) เพื่อกำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนา กำหนดกลไกในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ประกอบด้วย กรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และกรรมการโดยตำแหน่ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี มีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ เสนอแนะนโยบายและแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจต่อ ครม. พิจารณาการโอนรัฐวิสาหกิจให้แก่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

2.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ 3.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ให้จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ โดยให้มีภารกิจในการทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ ที่มีสถานะเป็นบริษัท โดยให้กระทรวงการคลังโอนหุ้นที่ถือในรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะเป็นบริษัท จำนวน 12 บริษัท อาทิ บริษัท ปตท. บริษัทการบินไทย ทอท. ทีโอที กสทฯ ไปรษณีย์ไทย อสมท ไปอยู่ภายใต้การถือหุ้นของบรรษัท ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้

ให้ คนร.แต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัท จำนวนไม่เกิน 10 คน ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาจากการสรรหาจำนวนไม่เกิน 9 คน และมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นกรรมการและเลขานุการ มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 70 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการบรรษัท ประกอบด้วยบุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กำหนดให้มีกระบวนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักการแยกการสรรหาออกจากการแต่งตั้ง ดังนี้ 1.กรณีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับของ สคร. ให้ คนร.แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย บุคคลซึ่งเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ วาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี มีหน้าที่กำหนดสมรรถนะหลักร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และทำหน้าที่กลั่นกรองบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเสนอชื่อเพื่อเสนอต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และ 2.กรณีรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การถือหุ้นของบรรษัท กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจที่บรรษัทถือหุ้น สรรหา

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย ประกาศกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดตามและประเมินผล ออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ และในการกำหนดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้จัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล ประสานงาน และให้ผู้ว่าฯจัดให้มีศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กรณีที่พื้นที่นั้นมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ ผู้ว่าฯจะมอบหมายให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จเป็นการเฉพาะก็ได้

ครม.อาจกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการได้รับสิทธิประโยชน์เช่น ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ การยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี การนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่อาศัยในราชอาณาจักร และกำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

2.ร่าง พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สาระสำคัญกำหนดให้ กนอ.ดำเนินกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น เช่น ดำเนินกิจการท่าเรืออุตสาหกรรม จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับกิจการของ กนอ. และกำหนดให้ กนอ.มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตตามกฎหมาย จากเดิม 3 ฉบับ เป็น 9 ฉบับ เพื่อให้การบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... และเมื่อผู้ประกอบการเลิกกิจการและเป็นคนต่างด้าวหรือโอนให้แก่ผู้อื่น หากเป็นการจำหน่ายที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์และส่วนควบให้ กนอ.คิดราคาที่ซื้อมาและให้ใช้กรณีอาคารชุดโดยอนุโลม นอกจากนี้กำหนดให้การนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ไม่รวมกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

3.ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สาระสำคัญกำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา สามารถยกเว้นภาษีเงินได้ 13 ปี สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับการยกเว้นแต่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เงิน 50% ไม่เกิน 10 ปี แต่สำหรับกิจการที่ไม่สามารถยกเว้นและลดหย่อนสามารถหักเงินลงได้ไม่เกิน 70% ของเงินที่ลงทุนแล้วภายใน 10 ปีนับตั้งแต่มีรายได้ ขณะที่เรื่องอากรขาเข้าได้กำหนดเพิ่มเติมให้สามารถยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับกิจการวิจัยและพัฒนา

4.ร่างพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. .... สาระสำคัญเปลี่ยนชื่อกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตัดการกำหนดประเภทประเภทอุตสาหกรรมที่จะให้ให้การส่งเสริมออก และกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้ประกาศกำหนด แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุน โดยเน้นเรื่องการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และจัดการใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงินและค่าใช้จ่ายอื่นออก นอกจากนี้ให้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กรณีได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรเพิ่มเติมจากมติครม.

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กรมชลประทานเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่ม

          นายประพิศ จันทร์มา  ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน  เปิดเผยว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 8.18 ล้านไร่ ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด พื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ประกอบด้วย 6 ลุ่มน้ำย่อย หนึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ พื้นที่ลุ่มน้ำคลองโตนด หรือคลองวังโตนด ซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 ล้านไร่เศษ ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ และ อำเภอท่ายายอาม  จังหวัดจันทบุรี มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 1,237 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ตอนบนปลูกไม้ผล พื้นที่ตอนล่างทำการประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตามจังหวัดจันทบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีปริมาณฝนมากติดอันดับ 1-2 ของประเทศ แต่มีแหล่งเก็บกักน้ำน้อยมาก เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในฤดูฝนน้ำจะไหลลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว อันเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดเหตุน้ำท่วม  ส่วนในฤดูแล้งจะแห้งแล้งมาก เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ จึงขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี

          นายประพิศ กล่าวว่า กรมชลประทาน จึงเข้าไปศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำคลองโตนด พบว่า ต้องพัฒนาแหล่งน้ำ 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด  อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองโตนด ความจุ 99 ลูกบาสก์เมตร และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ดังนั้นกรมชลประทาน จึงมอบหมายให้กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว โดยเริ่มจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด เป็นอันดับแรก การก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามลำดับ คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำได้ในปี 2560 และก่อสร้างอ่างเสร็จโดยสมบูรณ์ในปี 2561 ส่วนอีก 3 โครงการที่เหลือ ยังรอกระบวนการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากมีทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์

          จากการหารือร่วมกันระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัดหาทางออกสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำที่สำคัญ ๆ มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะเรื่องอ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว  เหลือขั้นตอนสุดท้ายเพียงการขอใช้พื้นที่ที่จะเข้าไปก่อสร้างเท่านั้น หากก่อสร้างโครงการทั้ง 4 โครงการแล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ได้รับประโยชน์เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 สิงหาคม 2559

สศอ.จ่อดัน3อุตฯเพิ่มขีดความสามารถ

สศอ. เตรียมดัน 3 อุตสาหกรรมอนาคตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้นสู่ประเทศรายได้สูง ชงเสนอ ครม. ปลายปีนี้

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. เปิดเผยถึงผลการศึกษาการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง ผ่านยุทธศาสตร์ 3 อุตสาหกรรม ว่า สศอ. ได้ทำการศึกษาอุตสาหกรรมอนาคตที่มีศักยภาพในการทำให้ประเทศไทย ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ผ่านการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าสินค้าตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ผ่านอุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง เนื่องจากมองว่าทั้ง 3 อุตสาหกรรมมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความสามารถในการแข่งขันหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนหรือพาสเนอร์ ซึ่งประเทศที่เหมาะสมประกอบไปด้วย บรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการแข่งขันกับประเทศรายใหญ่ของโลกได้ ซึ่งภายหลังจากการศึกษาเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอนาคต เพื่อนำข้อมูลและรายละเอียดการศึกษาซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันของประเทศหุ้นส่วนใน 3 อุตสาหกรรม เบื้องต้นอาจจะต้องมีการเจรจากรอบความร่วมมือแบบทวิภาคี ส่วนการลงทุนจะใช้ประเทศใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุตสาหกรรมนั้นๆ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 23 สิงหาคม 2559

จับตาค่าเงินบาทใกล้ชิด

                    แบงก์ชาติจับตาค่าเงินบาท-เงินทุนไหลเข้าใกล้ชิด ชี้ยังไม่เห็นความผิดปกติ เป็นเพียงการเข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น คาดแนวโน้มค่าเงินจะยังมีความผันผวนรุนแรงต่อไป                                      

                    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการแข็งค่าของเงินบาท ว่า ธปท.ได้ติดตามพัฒนาการค่าเงินบาทและเงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติของเงินทุนไหลเข้า เป็นเพียงการเข้ามาลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันเงินที่ไหลเข้ามายังเป็นการเข้ามาลงทุนตามปกติในตลาดพันธบัตร รัฐบาล โดยคาดว่าแนวโน้มค่าเงินจะยังมีความผันผวนรุนแรงต่อไปจากกระแสเงินทุน เคลื่อนย้าย ในบางจังหวะอาจเข้ามาในช่วงสั้น ๆ หลังมีข่าวดีเป็นปัจจัยหนุน โดยผู้ประกอบการควรจะต้องป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ทั้ง นี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับภูมิภาค และตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าไปแล้ว 4% ยังถือว่าน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยสาเหตุหลักมาจากเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา และบางช่วงอาจได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติม คือ ผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 59 ของไทยที่ออกมาดี

“ธปท.มอง เห็นการปรับตัวของนักธุรกิจและผู้ส่งออกจากภาวะความผันผวนของค่าเงินได้ดี ขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถรองรับความผันผวนได้ดีขึ้น และหันมาใช้วิธีบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินมากขึ้น โดยปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องค่าเงินที่ผันผวนจะอยู่กับเราต่อไป และอาจจะมีแนวโน้มที่ผันผวนรุนแรงมากขึ้นด้วย และความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่เป็นจากการเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลหลักหลายๆ สกุล ดังนั้นต้องลงไปให้ลึกกับการบริหารความเสี่ยงในแต่ละสกุลเงิน”

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 23 สิงหาคม 2559

ตั้ง"วิบูลย์ลักษณ์"ปลัดพาณิชย์

                    ครม.แต่งตั้ง “วิบูลย์ลักษณ์” ขึ้นแท่นปลัดกระทรวงพาณิชย์หญิงคนที่ 4 มีเวลาทำงาน 1 ปีก่อนเกษียณ เผยช่วงเป็นอธิบดีกรมการค้าภายในรอบ 2 โชว์ผลงานชัดเจน 

                    รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ครม.มีมติแต่งตั้งให้น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ แทนน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งทำให้กระทรวงพาณิชย์มีปลัดกระทรวงเป็นผู้หญิงติดต่อกันเป็นคนที่ 4 และไม่ถือว่าผิดความคาดหมาย เพราะได้วางตัวไว้ล่วงหน้ามานานแล้ว

ก่อนหน้านี้ ได้มีการทาบทามน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ให้กลับมาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อที่จะรับช่วงเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ แทน น.ส.ชุติมา ที่ไปสมัครเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ตอนนั้น น.ส.ชุติมาไม่ได้รับการคัดเลือก ก็เลยต้องรอให้ปลัดคนปัจจุบันเกษียณ และแต่งตั้งในที่สุด

สำหรับน.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ปัจจุบันอายุ 59 ปี จะมีเวลาทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวง 1 ปี ก่อนที่จะเกษียณเดือนก.ย.60 โดยประวัติการทำงานนั้น เติบโตมาในสายงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก เคยเป็นรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา , กรมการค้าต่างประเทศ , กรมการค้าภายใน จากนั้นเป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์ ขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน และไปเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำ องค์การการค้าโลก และกลับมาเป็นอธิบดีกรมการค้าภายในอีกครั้ง และสร้างผลงานตามนโยบายรัฐบาลอย่างเด่นชัด

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 23 สิงหาคม 2559

กรมชลฯเผยภาพรวมน้ำทั้งประเทศดีกว่าปี58แต่ยังห่วงอีสาน-ใต้น้ำยังน้อย

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภาพรวมน้ำทั้งประเทศ 35,234 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้านลบ.ม.) มากกว่าปริมาณน้ำทั้งหมดในปี 2558 จำนวน 34,520 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 11,700 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2588 จำนวน 714 ล้านลบ.ม. โดยพื้นที่ปริมาณน้ำน้อย คือ ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 3,392 ล้านลบ.ม. และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปริมาณน้ำใช้การ 2,844 ล้านลบ.ม. ขณะที่ฝนตกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ให้มีน้ำหลากในจังหวัดน่าน ประกอบกับอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ส่งผลดีต่อน้ำในลุ่มเจ้าพระยาอย่างมาก โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การ 2,390 ล้านลบ.ม.และมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 55% โดยในช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม 2559 มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาถึง 126 ล้านลบ.ม.

“ยอมรับกังวล อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี ซึ่งปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 43 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้เพียง 3 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำยังช่วยประคับประคองให้ผ่านไปได้ และกรมชลประทานก็ไม่ได้รับข่าวว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหาย ขณะที่พื้นที่ภาคตะวันออกในภาพรวมมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2558 อยู่ประมาณ 6% โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระ ปัจจุบันมีน้ำประมาณ 22 ล้านลบ.ม.เป็นน้ำใช้การ 13 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2558 ประมาณ 5 ล้านลบ.ม. เป็นผลจากกรมประทานได้บริหารจัดการเอาไว้”นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวว่า เขื่อนภูมิพลได้รับอิทธิพลจากตอนล่างของพายุเตี้ยนหมู่ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 18 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามภาพรวมของพื้นที่ภาคเหนือปริมาณฝนตกค่อนข้างจะดี ปริมาณน้ำที่เก็บกักในภาพเหนือดีกว่าปี 2558 ถึง 8% จึงอยากให้ประชาชนคลายความกังวลปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค ยืนยันว่า กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดนั้นมีน้ำใช้เพียงพอในฤดูแล้ง และช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างแน่นอน

นายสุเทพกล่าวว่า ทั้งนี้สภาวะน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักชลสิทธิ์ฯ ในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีน้ำใช้การ 3,96 ล้านลบ.ม. ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นรายเขื่อนพบว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้ 752 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 8% เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,390 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 36 % เขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 312 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 35 % เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 242 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 25% ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศแน่นอน โดยฝนที่จะตกลงมาตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นฤดูฝนเตรียมไว้เพื่อใช้ในภาคการเกษตร ทั้งในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้และต้นฤดูฝนหน้า

นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับในส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีน้ำใช้การอยู่ 2,958 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปี 2558 เพียง 500 ล้านลบ.ม. แต่ไม่ต้องกังวลเพราะยังมีน้ำเพียงพอส่งให้กับชุมชนในลุ่มแม่กลองเอง เกษตรกร และน้ำอุปโภคบริโภคที่ใช้สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย

นายสุเทพกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ภาคอีสานกรมชลประทานยังมีความเป็นห่วง เนื่องจากส่วนใหญ่ฝนจะตกตามขอบของภาค เช่น จังหวัดอุบลราชธานี หนองคาย มุกดาหาร เป็นต้น ทำให้น้ำในเขื่อนหลักมีค่อนข้างน้อย โดยน้อยกว่าปี2558 เพียง 1%หรือ 2,500 ล้านลบ.ม. โดยกรมชลประทานพยายามประคับประคองให้ผ่านการเกษตรช่วงนี้ได้ และเตรียมเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนที่เหลือเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคในภาคอีสานเป็นอันดับแรก ส่วนพื้นที่อีสานใต้ จะมีลักษณะฝนทิ้งช่วง ในพื้นที่จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวประสบภาวะแห้งแล้ง แต่ทั้งนี้คาดว่าในช่วงปลายเดือนนี้น่าจะมีฝนตก ซึ่งไม่เพียงพอกับการทำการเกษตร โดยกรมชลประทานจะบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำจะมีอยู่น้อยแจกจ่ายให้เกษตรกรใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนน้ำในเขตชลประทานที่จะไปสนับสนุนเรื่องของน้ำประปาไม่ขาดแคลนแน่นอน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 สิงหาคม 2559

เตรียมสร้างคลังน้ำมันพิจิตร รองรับเออีซี

"องคมนตรี" วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างคลังน้ำมันในพื้นที่ จ.พิจิตร ชี้ใช้ราคาน้ำมันเดียวกับกรุงเทพฯ หวังรองรับการขยายตัวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมันพิจิตร อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการท่อส่งน้ำมัน ระยะที่ 1 โดยต่อขยายจากระบบท่อส่งน้ำมันเดิมที่คลังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปสิ้นสุดที่คลังน้ำมันพิจิตร ระยะทาง 367 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างวางท่อและคลังน้ำมันในระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการขนส่งน้ำมันเชิงพานิชย์ได้ในปี 2561

ทั้งนี้ โครงการขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ภาคเอกชนเป็นผู้พัฒนาโดยบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ขยายระบบขนส่งทางท่อน้ำมันไปภาคเหนือระยะทาง 569 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 ต่อขยายจากคลังน้ำมันบางปะอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจังหวัดพิจิตร ระยะทาง 367 กิโลเมตร ลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท

และระยะที่ 2 วางท่อจากสถานีเพิ่มแรงดันกำแพงเพชรถึงคลังน้ำมันลำปาง ลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท ระยะทาง 202 กิโลเมตร ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้จะช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านการสำรองพลังงานของประเทศ ประชาชนจะมีน้ำมันใช้ไม่ขาดแคลนในยามฉุกเฉินและภัยพิบัติ โดยจะมีผลตอบแทนทางด้านสังคมสูง เช่น ลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันทางรถยนต์ ประชาชนในภาคเหนือ มีโอกาสใช้น้ำมันราคาเดียวกับกรุงเทพฯ และยังสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่า 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซค์เทียบเท่าต่อปี และยังสามารถรองรับการขยายตัวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ในอนาคต

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 23 สิงหาคม 2559

พลังงานทดแทนที่ยั่งยืนจากภาคการเกษตร

          ประเทศไทยเป็นผู้นำพลังงานทดแทนในภูมิภาคอาเซียน และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันในอนาคต นำประเทศสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

           พลังงานทดแทนที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับประเทศไทย คือ พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพ อันเป็นพลังงานที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกมากมายในประเทศ อาทิเช่น มันสำปะหลัง และอ้อย นอกจากจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน มีความมั่งคั่งจากการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนให้กับผลผลิตทางการเกษตร

          กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ (Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB) ขึ้น โดย 1 ใน 5 แผนพลังงานหลัก คือ แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ทั้งในรูปแบบไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ (เชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งจากพลังงานทดแทน) เป็นร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการพลังงานรวมของประเทศภายในปี 2579

          สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ เชื้อเพลิงสำหรับภาคขนส่งจากพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีพระเอกอยู่ 2 ชนิด คือ เอทานอลและไบโอดีเซล ซึ่งตามแผนฯ กำหนดให้มีสัดส่วนการเติบโตระดับสูง โดยในปี 2558 เชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง 2 ประเภท มีกำลังการผลิตรวมเพียง 6.69 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอลอยู่ที่วันละ 3.52 ล้านลิตรและไบโอดีเซลอยู่ที่วันละ 3.14 ล้านลิตร ซึ่งในปลายแผนฯ ปี 2579 กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง 2 ประเภทเป็น 25.30 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอลวันละ 11.30 ล้านลิตร และไบโอดีเซลวันละ 14 ล้านลิตร

          เอทานอลหนึ่งในพระเอกของเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมียอดการใช้อยู่ที่ 2.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มจากปี 2555 ที่มียอดการใช้เพียงวันละ 1.4 ล้านลิตร จนปัจจุบันมียอดการใช้อยู่ที่วันละ 3.6 ล้านลิตร อันเป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐที่มีการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคขนส่งได้นำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันเบนซิน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์

          การผลิตเอทานอลจากผลผลิตทางการเกษตร ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอย่างมันสำปะหลังและอ้อย ตลอดจนผลพลอยได้จากการเกษตร  เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล กากมันให้เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากอีกด้วย

 เชื่อมั่นศักยภาพก้าวสู่ Ethanol Hub ในภูมิภาค

          นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เปิดเผยว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมเอทานอลไทย ที่จะสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายเอทานอลของภูมิภาค (Ethanol Hub) ในอนาคต

          “ประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานอย่างมันสำปะหลังที่เหมาะสม และมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก ทำให้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลไม่ขาดแคลน ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ ในด้านกำลังการผลิต ผู้ประกอบการโรงงานผลิตเอทานอลในปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 5.04 ล้านลิตรต่อวัน และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการเอทานอลในภูมิภาค การเป็น Ethanol Hub จะช่วยทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องของเอทานอล อาทิ ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และยังช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตเอทานอล อาทิ เอนไซม์ ยีสต์ และสารเคมีที่ใช้ในการผลิต ซึ่งปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” และเพื่อร่วมผลักดันให้ ก้าวสู่ Ethanol Hub ในภูมิภาคกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล มีการปรับตัวและดำเนินการใน 2 ส่วนหลักๆ คือ

•เสริมสร้างศักยภาพการผลิต

โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตเอทานอลได้เพิ่มขึ้นขณะที่ยังใช้วัตถุดิบในปริมาณเท่าเดิมนอกจากนี้ ของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ยังนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำน้ำเสียไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปผลิตไฟฟ้าใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนของโรงงาน และบางส่วนขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

•เสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร

ดำเนินการบริหารจัดการการจัดหาวัตถุดิบอย่างเป็นระบบ (Supply Chain Integration) โดยการเปิดลานรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งนอกจากจะทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถบริหารต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้นยังช่วยให้เกษตรกรขายมันสำปะหลังได้เต็มราคา เป็นการสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบจากการที่ลานรับซื้อกระจายอยู่ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง รวมไปถึงมีระบบสมาชิกเกษตรกรที่ให้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรอีกด้วย

          “นโยบายสำคัญของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล นอกจากมุ่งพัฒนาการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังมุ่งเน้นการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยกลุ่มบริษัทฯ ได้ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี และศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี จัดทำโครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง (อุบลโมเดล) ซึ่งเป็นแนวทางโครงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่จาก 3.5 ตัน เป็น 6 ตันต่อไร่ ผ่านการสร้างแปลงสาธิตประจำหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 38 แปลง 76 ไร่นำร่อง 12 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่รัศมี 4 อำเภอรอบโรงงาน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น”นายเดชพนต์กล่าว

           การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอล รวมถึงพลังงานทดแทนจากภาคการเกษตรภาพรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผน AEDP2015 ได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้าง“ความมั่นคง”ทางพลังงาน สร้าง “ความมั่งคั่ง” ทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศ และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่าง “ยั่งยืน” ให้กับผลผลิตทางการเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 23 สิงหาคม 2559

สมคิดเสนอแพ็คเกจกม.เศรษฐกิจ5ฉบับเข้าครม.

"สมคิด"เสนอแพ็คเกจ กฎหมายเศรษฐกิจ 5 ฉบับ เช่นร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กฎหมายส่งเสริมการลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายรัฐมนตรี เห็นชอบให้หน่วยงานเศรษฐกิจเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจ 5 ฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฎหมายส่งเสริมการลงทุน เพิ่มระยะเวลา ยกเว้นภาษีสูงสุดจากเดิม 8 เป็น 13-15 ปี ให้ครม.พิจารณาวันนี้ 

การประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 23 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล มีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การขอความเห็นชอบแพ็คเกจ ร่างกฎหมายเศรษฐกิจ 5 ฉบับเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ... ร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่...) พ.ศ... ร่างพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ... ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่..) พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ....

สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนคือ เพิ่มระยะเวลาการยกเว้นภาษีสูงสุดจากเดิม 8 เป็น 13-15 ปี ขึ้นกับประเภทกิจการ เน้นที่ใช้เทคโนโลยีสูง ขณะเดียวกันยังแก้จข้อจำกัดในการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการค้าและการลงทุนของประเทศ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้ดำเนินการศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จของประเทศไทย (National One Stop Service)

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคม ยังวเสนอร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบรถแท็กซี่ 2 ฉบับคือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ.... และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขอใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การขอต่อใบอนุญาต และการอนุญาตประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารและการรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างแบบพิเศษ พ.ศ.

ส่วนวาระอื่นๆ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. เสนอมาตรการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อรองรับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 23 สิงหาคม 2559

โรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้ว 75%

"อุตสาหกรรม" เผยโรงงานได้รง.4 แจ้งประกอบการแล้ว 75% เงินลงทุน 1.3 ล้านล้าน ส่วนผู้ที่ยังไม่เปิดกิจการ มาจากเศรษฐกิจชะลอ-หาตลาดยาก

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) มีบางส่วนยังไม่แจ้งประกอบกิจการ โดยส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจ

ยอดโรงงานที่ได้ใบ ร.ง.4 แล้ว ล่าสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2559 มีผู้ที่ได้ใบ ร.ง.4 ทั้งสิ้น 13,225 โรง เงินลงทุน 1.85 ล้านล้านบาท มีแรงงาน 5.91 แสนคน แจ้งประกอบกิจการแล้ว 9,916 โรง คิดเป็น 75% เงินลงทุน 1.3 ล้านล้านบาท แรงงาน 4.56 แสนคน และมีโรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ 3,309 โรง คิดเป็น 25%เงินลงทุน 5.49 แสนล้านบาท แรงงาน 1.34 แสนคน

ทั้งนี้ โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ 3,309 โรง นั้น มีอยู่ 1,692 โรง ยังไม่ครบกำหนดแจ้งประกอบกิจการ และมีอยู่ 1,617 โรง ที่ครบกำหนดแล้วแต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ

ในจำนวนที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขาดตลาดรองรับมากที่สุด รองลงมาเป็นการก่อสร้างโรงงานล่าช้ากว่ากำหนด , เงินทุนไม่พออยู่ระหว่างหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน , ติดปัญหานำเข้าเครื่องจักรไม่เป็นไปตามแผน และติดกฎหมายอื่นๆ เช่น อีไอเอ ป่าไม้ พลังงาน เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานที่ครบกำหนดแล้วแต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และปรับปรุงอาคารโรงงาน 45% รองลงมายังไม่ได้ก่อสร้างโรงงาน 27% อยู่ระหว่างติดตั้งและทดลองเครื่องจักร 26%ไม่ระบุอีก 2% ซึ่งโรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน 47.5% รองลงมาขอขยายเวลา 9% สนับสนุนด้านตลาดเพื่อรองรับสินค้า 4% และอื่นๆ 36%

สั่งอุตฯจังหวัดทำข้อมูลเชิงลึก

นายสมชาย กล่าวว่า ได้กำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำข้อมูลภาคอุตสาหกรรมเชิงลึก เพื่อรองรับการลงทุนที่จะไหลเข้าสู่ภูมิภาคอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและถูกต้องจึงสำคัญในการวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัด

การพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจ เพื่อเตือนภัยการตัดสินใจการลงทุน ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในฐานะตัวแทนของกระทรวงฯในส่วนภูมิภาค ต้องศึกษา วิเคราะห์สภาวะการลงทุนอุตสาหกรรม อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตแต่ละประเภท รวมทั้งแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ระดับจังหวัด เพื่อนำไปจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์และนำไปใช้ปฏิบัติได้

รวมถึงรายงานการชี้นำเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในระดับจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นรายเดือน และไตรมาสให้ถูกต้องแม่นยำ สอดคล้องกับฐานข้อมูลรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ซึ่งระบบข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจนี้จะเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด สำหรับให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ผลิตอุตสาหกรรมชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้นำไปใช้ประโยชน์

“อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องเห็นโครงสร้างอุตสาหกรรมในจังหวัดของตัวเองให้ชัดเจน ต้องทราบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องอัพเดททุกเดือน เพื่อทีส่วนกลางจะได้รู้ และวางแผนแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัดอย่างทันท่วงที เช่น อุตสาหกรรมบางจังหวัดใช้วัตถุดิบทางเกษตรกรรมในพื้นที่ จึงต้องมีข้อมูลผลผลิตการเกษตรที่ชัดเจน ให้โรงงานวางแผนการผลิตได้ถูกต้อง จัดหาวัตถุดิบนอกพื้นที่มาป้อนโรงงาน ป้องกันการลดกำลังการผลิตและการเลิกจ้างงานในช่วงขาดแคลนวัตถุดิบ” นายสมชาย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 23 สิงหาคม 2559

ค่าบาททรงตัว 34.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประจำวันอังคาร 23 ส.ค.2559 ค่าเงินบาทเปิดตัวที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเมื่อเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ 22 ส.ค.2559 ที่ระดับ 34.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปัจจุบัน (09.10) มีการซื้อขายอยู่ที่ 34.60/65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาททรงตัว เคลื่อนไหวน้อยมาจากนักลงทุนในตลาดรอดูสัญญาณด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ในการประกาศสุนทรพจน์ของประธานเฟดในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ที่ส่งผลให้นักลงทุนรอดูความเปลี่ยนแปลงเพื่อการลงทุน

ทั้งนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไว้ที่ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตัวเลขที่จับตามอง ภายในวันนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ิอ ภาคการผลิต คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 23 สิงหาคม 2559

สร้างระบบน้ำในไร่นา

    ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการทำเกษตรกรรม และลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกร และส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน ด้วยการมีแหล่งน้ำในฟาร์มของตนเอง เป็นการลดการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มักมีความผันผวนตามสถานการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม 

   และจะเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งธรรมชาติ มาเป็นการทำการเกษตรแบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยการผลิตด้านน้ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกรขึ้น

   โดยมีเป้าหมาย ในสถาบันเกษตรกรทั้งในเขตชลประทาน และเขตรับน้ำฝน จำนวน 100 แห่ง มีสมาชิกประมาณ  6,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ และเป็นพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 60,000 ไร่ โดยจะดำเนินการในโครงการนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2564 รวมระยะเวลา 5 ปี

   ซึ่งโครงการนี้เป็นผลมาจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ คือเน้นให้เกษตรกรแต่ละราย มีการพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้มีระบบสำรองน้ำเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในเหตุฉุกเฉิน โดยเริ่มขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในไร่นา หรือขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลไว้ใช้ทดแทนน้ำชลประทานในบางช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร รวมทั้งสามารถนำระบบน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์ได้

             สำหรับการดำเนินโครงการฯ นั้นจะใช้งบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในวงเงิน 302,997,500 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้สถาบันเกษตรกรกู้ ในวงเงิน 300 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย กรณีขุดสระเก็บกักน้ำ ในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ไม่น้อยกว่า 2 เมตร พร้อมกับอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ งบประมาณเฉลี่ยแห่งละ 50,000 บาท ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

    “ตอนนี้ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศกำลังทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรซึ่งทางกรมฯ ได้ส่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไปให้แล้ว  เมื่อมีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการทางคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนงานที่เกี่ยวข้องในด้านพื้นที่และการพัฒนาแหล่งน้ำมาร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของผู้ขอเข้าร่วมโครงการในแต่ละราย  ซึ่งจะดูว่าพื้นที่ที่เสนอนั้นสามารถขุดบ่อน้ำได้หรือไม่ ขุดแล้วใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายหรือไม่ หากเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ก็จะอนุมัติเงินกู้ให้ไปดำเนินการ” ดร.วิณะโรจน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

    ทั้งนี้กรณีขุดเจาะระบบน้ำบาดาล หรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำ ในระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ งบประมาณเฉลี่ยแห่งละ 50,000 บาท  ส่วนมาตรการและแผนการส่งชำระคืนเงินทุนของเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุน แต่ละรายจะต้องส่งเงินคืนกองทุนอย่างน้อยปีละ 20% ของวงเงินกู้ยืม และทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะรวบรวมส่งคืนกองทุนปีละ 60 ล้านบาท รวมระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 300 ล้านบาท

   “ในการคืนก็คืนปีละ 20% สมมุติ กู้ไป 50,000 บาทเขาก็ต้องคืนปีละ 20% ก็คือปีละ 10,000 บาท โดยคืนที่จังหวัด จังหวัด ก็จะส่งต่อให้กรมฯ กรมฯ ก็จะเอา 20% นี้มารวมกัน แล้วส่งให้กองทุน ก็จะดำเนินการประมาณ 5 ปี ซึ่งถ้าโครงการนี้ไปได้ดีในระดับหนึ่ง มีความสามารถในการคืนชำระได้ในปีแรกหรือสมาชิกต้องการเพิ่มมากขึ้นก็จะดำเนินการเพิ่มพื้นที่และจำนวนเกษตรกรต่อไป” ดร.วิณะโรจน์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

    และเป็นที่คาดกันว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรจากวิกฤติการขาดแคลนน้ำได้ และเกษตรกรก็จะมีโอกาสในการวางแผนการผลิตแบบก่อนหรือหลังฤดูกาลตามปกติได้เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนสำรองในระดับไร่นา ส่งผลให้ผลผลิตสามารถทยอยออกสู่ตลาดในระยะเวลาที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาด  และลดภาระหนี้สินที่เกิดความเสี่ยงจากการทำการเกษตรตามระบบธรรมชาติที่มักมีความผันผวนมาอย่างต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี.

 จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 23 สิงหาคม 2559

KBS ทุ่ม 8 พันล้านลุยโรงงานน้ำตาลใหม่ที่สีคิ้ว  

          “น้ำตาลครบุรี” เตรียมลุยก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ และโรงไฟฟ้าที่สีคิ้วในต้นปีหน้า เงินลงทุน 7-8 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จในปี 2562

                นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลงทุนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบรายละเอียด รวมทั้งยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตัน/วัน และโรงไฟฟ้าขนาด 30-40 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 7-8 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2562

                ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อเข้ามาถือหุ้นในโครงการดังกล่าว โดยบริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการเจรจาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนเงินกู้ยืม โดยบริษัทไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนแต่อย่างใด

                นายอิสสระกล่าวว่า บริษัทฯ คาดหวังเมื่อโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่แล้วเสร็จ สถานการณ์ราคาน้ำตาลยังดีอยู่ โดยมองแนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำตาลโลกยังเติบโตขึ้น ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอ้อยไม่ได้เพิ่ม โดยปีนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาใกล้ 20 เซ็นต์/ปอนด์ คาดว่าราคาน้ำตาลจะทรงตัวหรือปรับขึ้นอีกเล็กน้อยในปีหน้า แม้ว่าจะเป็นระดับราคาที่สูงแต่ก็เหมาะสม

                สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2560 นั้น บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายมีอ้อยเข้าหีบใกล้เคียงปีนี้ที่ 2.5 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณอ้อยในปีหน้าจะลดน้อยลงจากภัยแล้ง คาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยในประเทศไทยจะอยู่ที่ 90 ล้านตันจากเดิม 96-95 ล้านตันทำให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยในแต่ละพื้นที่

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 22 สิงหาคม 2559 

KTIS ได้ธุรกิจไฟฟ้าหนุนต่อเนื่อง ครึ่งปีหลังรับรู้รายได้ครบทั้ง 3 โรง

          ไตรมาสที่ 2 กลุ่ม KTIS ทำกำไรได้สูงกว่าไตรมาสแรกตามคาด โดยมีกำไรสุทธิ 93.76 ล้านบาท รวม 6 เดือน มีกำไรสุทธิ 143.41 ล้านบาท เผยช่วงไตรมาสที่ 2 รายได้จากสายธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้น 18.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กำไรจากสายธุรกิจน้ำตาลทรายดีขึ้นเนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น มองครึ่งปีหลังรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าโตจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าครบทั้ง 3 แห่ง

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ภาคการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจะชะลอตัวทั้งอุตสาหกรรม เมื่อเทียบกับปี 2558เนื่องจากประมาณอ้อยเข้าหีบลดน้อยลงจากผลกระทบของภัยแล้ง แต่กลุ่ม KTIS ก็พยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ทำให้สามารถทำกำไรได้ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 2 มีกำไรสุทธิ 93.76 ล้านบาท รวม 6เดือนมีกำไรสุทธิ 143.41 ล้านบาท จากรายได้รวม 8,697.14 ล้านบาท

          ทั้งนี้ อ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มีปริมาณลดลงไปมาก จากฤดูการผลิต 57/58 มีอ้อยเข้าหีบประมาณ 106 ล้านตัน ลดเหลือเพียง 94 ล้านตันในฤดูการผลิต 58/59 โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของ KTIS ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงไปจำนวนมาก จาก 9.8ล้านตัน เหลือเพียง 7.5 ล้านตัน ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำตาลทรายแล้ว ยังกระทบไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ และไฟฟ้าด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สองที่ผ่านมา กลุ่ม KTIS มีรายได้จากการจำหน่ายเอทานอลเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการขายไฟฟ้าสูงขึ้น จากโรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนเมษายน 2559 แต่รายได้จากสายธุรกิจน้ำตาล ซึ่งเป็นสายธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้สูงสุด ลดลงไป20.9% ทำให้รายได้จากการขายและการให้บริการในไตรมาสที่ 2 ลดลงประมาณ 20.2% โดยที่กำไรสุทธิลดลงประมาณ 14.4% น้อยกว่าการลดลงของรายได้

          "ในครึ่งปีหลัง โรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่ง คือรวมผลไบโอเพาเวอร์ จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาสที่ 4 ทำให้โรงไฟฟ้าของกลุ่ม KTIS เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 3 แห่ง ซึ่งจะทำให้รายได้ในสายธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น" นายนายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นคือ บริษัท นิสชิน ชูการ์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ด้วยว่า ขณะนี้ได้ผลิตน้ำเชื่อมและจัดส่งให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ประกอบการเครื่องดื่มรายใหญ่แล้ว ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษนั้นมุ่งไปที่ตลาดส่งออก ซึ่งจะเห็นการรับรู้รายได้ที่ชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 สิงหาคม 2559

ไทย-เกาหลีใต้ถกร่วมมือบริหารจัดการน้ำ

กระทรวงเกษตร ฯ - เกาหลีใต้ หารือ ความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ พร้อมตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคทั้งสองประเทศ ประชุม ก.ย. นี้

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสหกรณ์ ร่วมหารือกับ นายจู ซึง ยง (H.E.Mr. Joo Seungyong) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และที่ปรึกษาอาวุโสคณะกรรมการที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำที่ประสงค์จะทำร่วมกัน โดยฝ่ายไทยได้แจ้งให้ฝ่ายเกาหลีทราบถึง นโยบายการบริหารจัดการน้ำของไทยในปัจจุบัน ซึ่งใช้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี เป็นกรอบในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ครอบคลุมทั้งการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง คุณภาพน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พร้อมกันนี้ ฝ่ายเกาหลีได้แสดงความขอบคุณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้ร่วมลงนามกับ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมสาธารณรัฐเกาหลี ในบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) สำหรับความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างจังหวัดอุดรธานี และหนองคาย

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแต่งตั้งคณะทำงานร่วมด้านเทคนิค (Joint Working Committee : JWC) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการตามบันทึกแสดงเจตจำนง ฯ ส่วนแผนการดำเนินงานต่อไปนั้น คณะทำงานร่วมด้านเทคนิคของทั้งสองประเทศ จะจัดประชุมภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงานร่วมกัน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 สิงหาคม 2559

แนะผู้ประกอบการรับมือบาทแข็งค่า

                    ธสน.แนะผู้ประกอบการปิดความเสี่ยงรับมือเงินบาทแข็งค่า ชี้ยังไม่กระทบต่อการส่งออก เหตุเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค  เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยถึงกรณีที่ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าสุดในรอบ 1 ปี หรือแข็งค่าขึ้น 4% นับตั้งแต่ต้นปี 59 ว่า ขณะนี้ ผู้ส่งออกไทย ควรป้องกันความเสี่ยงและปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การเปิดบัญชีสกุลเงินตราต่างประเทศ และการจับคู่เงินได้กับค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสกุลเดียวกัน

ขณะที่ ระยะยาว ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา และปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องและตอบสนองผู้บริโภค รวมทั้ง เจาะตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยง  และมองหาช่องทางในการลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสและลดข้อจำกัดของปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารประเมินว่าการแข็งค่าของเงินบาทช่วงนี้อาจไม่ได้กระทบต่อการส่งออก เนื่องจากค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไหลเข้ามาทั่วภูมิภาค ทำให้สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกัน โดยเงินบาทที่แข็งค่า 4% ตั้งแต่ต้นปีสอดคล้องกับทิศทางค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ เช่น มาเลเซีย แข็งค่าขึ้นกว่า 7%, เกาหลีใต้ แข็งค่าขึ้น 5.8%, สิงคโปร์ แข็งค่าขึ้น 5.2% และเวียดนาม แข็งค่าขึ้น 1.9% เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าแม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ที่ไม่ได้ส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบต่อภาคส่งออกไทยมากนัก

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่า มีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ภายหลังประเทศมหาอำนาจหลายแห่ง ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำและอัดฉีดวงเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจยิ่งซ้ำเติมภาคส่งออกไทยที่กำลังอยู่ในช่วงซบเซาให้แย่ลงอีก แต่การที่ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าถือเป็นจังหวะที่ดีในการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยให้ราคาของสินค้าไทยถูกลงในสายตาต่างชาติ ซึ่งช่วยกระตุ้นการส่งออกได้ แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจาก 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 56 จนออ่นค่าอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 58 หรืออ่อนค่า 22% นับว่าอ่อนค่ากว่าค่าเงินคู่แข่งเกือบทุกสกุล แต่การส่งออกของไทยกลับหดตัว 3 ปีติดต่อกัน ต่างจากเวียดนามที่ต้นปี 59 เงินด่องจะแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับเงินบาท แต่การส่งออกของเวียดนามยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันยังมีปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ที่มีผลต่อการแข่งขันของภาคส่งออกมากกว่าค่าเงิน เช่น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 22 สิงหาคม 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดการทรัพยากรดินตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินของประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อผลิตอาหารไว้เลี้ยงประชากรและเพื่อการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ด้วยทรัพยากรที่ดินของประเทศไทยที่ไม่น้อยกว่า 200 ล้านไร่ ที่นำมาใช้การผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักๆ อาทิ ข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง จะมีมากพอเลี้ยงประชากรไทย และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ก็ยังต่ำอยู่เมื่อเทียบประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อันเนื่องมาจากปัญหาความเสื่อมโทรม มีอินทรียวัตถุน้อย และหน้าดินถูกชะล้างพังทลาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีความสนพระราชหฤทัยพร้อมกับพระราชทานแนวพระราชดำริไว้มากมายหลายประการ ซึ่งแนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดิน เพื่อให้ทรัพยากรดินมีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศ ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยในด้านปฐพีวิทยา เพื่อนำความรู้มาพระราชทานเป็นพระราชดำริในด้านการจัดการดินสำหรับโครงการต่างๆ จึงได้พระราชทานคำจำกัดความที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายและมีรายละเอียดพอสมควร ว่าดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้

มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญ คือ 1.N (nitrogen) ในรูป nitrate 2.P (phosphorus) ในรูป phosphate 3.K (potassium) และแร่ธาตุอื่นๆ O, H, Mg, Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ มีความโปร่งพอเหมาะ หรือถ้าจะนำคำจำกัดความที่พระราชทานเอาไว้ข้างต้นมาขยายความเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าดินที่เหมาะในการทำการเกษตร หรือที่เรียกว่าเป็นดินดีนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่จะต้องมีจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้ ถ้าขาดคุณภาพของดินจะลดลงและเป็นปัญหาในการผลิต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 สิงหาคม 2559

อุตฯ ลุยติวเข้มโรงงานใช้สารเคมีอันตราย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าติวเข้ม ยกระดับความปลอดภัยในโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตราย หวังลดอุบัติเหตุจากภัยสารอันตรายรั่วไหล หรือระเบิด

               นายมงคล พฤษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมได้เดินหน้าส่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ผู้ประกอบการโรงงานอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยสู่โรงงาน โดยนำร่องในโรงงานที่มีการใช้สารเคมีอันตราย 6 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท มาบตาพุด แท้งค์ เทอร์มินอล จำกัด 3.บริษัท ยางไทยสังเคราะห์ จำกัด 4.บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟนิ่ง จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท สีไทยกันไซเพ้นท์ จำกัด และ6.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งโรงงานนำร่องดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมความปลอดภัยในโรงงาน อาทิ การอบรมการบริหารจัดการความปลอดภัย เป็นต้น

               ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตรายที่เป็นสารเคมี ปี 2558 มีการนำเข้าจำนวนกว่า 3 ล้านตัน และส่งออกจำนวนกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมมีการพัฒนากระบวนการผลิต นำเครื่องจักรและสารเคมีอันตรายมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากสารเคมีอันตรายรั่วไหล ไฟไหม้หรือระเบิดขึ้น หากโรงงานยังไม่มีระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิต และความเสี่ยงที่มีอยู่

               “โครงการจัดทำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยสู่โรงงาน เป็นการยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และช่วยส่งเสริมให้โรงงานที่มีการใช้สารเคมีอันตรายได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการความปลอดภัยที่ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผลักดันให้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการใช้สารเคมีอันตรายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว”

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 สิงหาคม 2559

เกษตรกร ตอ. กำหนดทิศทางส่งเสริมการเกษตรสานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  

         ศูนย์ข่าวศรีราชา - เกษตรกรภาคตะวันออก ร่วมสัมมนาระบบส่งเสริมการเกษตรปี 60-64 กำหนดทิศทางกรมส่งเสริมการเกษตรที่สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

                วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ห้องสัมมนาริมบึง 2 สวนนงนุชพัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการสัมมนาระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF และแผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 โดยมีที่ปรึกษาอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยรองอธิบดี ผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการกอง/สำนัก เกษตรจังหวัด ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการ เกษตรอำเภอ และผู้เกี่ยวข้องจากกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมสัมมนา

                นายชาตรี บุญนาค ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ในนามคณะผู้จัดสัมมนา กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์กรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ.2560-2564 นั้น จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบ และทิศทางในการดำเนินงานต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาสู่ Thailand 4.0 การปฏิรูปภาคการเกษตร แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางที่กำหนด       

        นายโอฬาร กล่าวว่า การบริหารจัดการงานส่งเสริมการเกษตรในแต่ละพื้นที่จะยึดตามการจัดพื้นที่เขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิ่งเป็นสำคัญ มีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการทำงาน บริหารจัดการข้อมูลให้สมบูรณ์ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับการนำระบบส่งเสริมการเกษตรมิติใหม่ (MRCF System) ไปปฏิบัติในพื้นที่นั้น เริ่มจากการบริหารจัดการข้อมูลแผนที่ (Mappimg) ในการทำงานเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายในการทำงาน และมีการจัดระบบการใช้ข้อมูลสื่อสารระยะไกล (Remote Sensing) มาประยุกต์ใช้ระหว่างนักส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรให้สะดวกรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งบูรณาการการทำงานในพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน หรือ (Community Participation) และที่สำคัญนักวิชาการส่งเสริมจะต้องเข้าใจในการเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการให้บริการแบบเจาะจง (Specific Field Service) เพื่อให้บริการตรงตามความต้องการ และใช้แก้ไขปัญหาของพื้นที่ และเกษตรกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง       

        และในโอกาสเดียวกันนี้ นายชาตรี และคณะทำงานได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน นายบุญส่ง กมลวิจิตร อายุ 80 ปี อยู่บ้านเลขที่ 216/6 ม.7 ต.บางเสร่ ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานบนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ โดยได้ปลูกผลไม้นานาชนิด และพืชผักสวนครัว ทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จากนั้นได้ไปยังบ้าน นางจำเลียง รักธรรม อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 149 ม.9 ต.สัตหีบ ที่ทำการเกษตรบนเนื้อที่ 3 ไร่ โดยได้ปลูกผลไม้ เช่น ลองกอง ทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งผลผลิตของ นางจำเนียง นั้นเป็นผลผลิตที่ออกนอกฤดูกาล ทำให้รายได้ในการขายนั้นมีราคาที่สูงกว่าผลผลิตที่อยู่ในฤดูกาลอีกด้วย

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 21 สิงหาคม 2559

กรมชลฯเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก

รองอธิบดีกรมชลประทาน สั่ง เตรียมความพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยต่อ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุว่า ได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังพร้อมติดตามสถานการณ์น้ำตลอดเวลาหากฝนตกหนักและมีน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยให้มีการตรวจสอบคันกันน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงการเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ การผลักดันน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจอีกด้วย ขณะที่สถานการณ์น้ำในจังหวัดน่าน โดยเฉพาะที่ อำเภอเวียงสา พบน้ำล้นตลิ่งยังไม่ไหลเข้าท่วมบ้านเรือน หรือพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งขณะนี้ได้มีการระบายน้ำลงแม่น้ำน่าน เพื่อไหลเข้าเขื่อนสิริกิติ์

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนใหญ่ ช่วงวันที่ 15 - 21 สิงหาคม พบว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรวม 1,981.38 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวันนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้ง 33 เขื่อนแล้ว 234.32 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,321 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 21 สิงหาคม 2559

คลังเมินลอยตัวค่าบาทย้ำธปท.ดูแลดีแล้ว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเอกชนบางรายที่เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลอยตัวค่าเงินบาท เพราะค่าเงินบาทของไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาด ซึ่งมีความเหมาะสมและดีอยู่แล้ว การกลับไปลอยตัวหรือคงค่าเงินบาทจะเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับตลาดและกระแสโลก

ทั้งนี้ปัจจุบันธปท. ได้ดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดและกระทรวงการคลังได้สนับสนุนมาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนตั้งแต่ระดับเบา กลาง และระดับหนัก ซึ่งธปท. จะตัดสินใจใช้มาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์สำหรับค่าเงินบาทของไทยในปัจจุบัน หากแข็งค่าขึ้นไปในทิศทางเดียวกับประเทศคู่แข่ง ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

“ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็งมีทั้งผู้ที่ได้และเสียประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน การบริหารค่าเงินบาทตามกลไกตลาดมีความสมดุล และตามหลักการนี้ก็ไม่ควรไปทำค่าเงินให้สวนทางกับตลาด” นายสมชัย กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา นักธุรกิจชื่อดังได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัว ‘ปีย์ มาลากุล’ แสดงความคิดเห็นกรณี เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่เข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งดูได้จากตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยที่ติดลบ รวมถึงสถานการณ์ระเบิดในจังหวัดท่องเที่ยว เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งซ้ำเติมภาคธุรกิจของประเทศให้อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ ธปท.ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ให้อยู่ที่ 45-46 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพการลงทุนไม่ให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนหรือหยุดการลงทุนซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ทำให้ประเทศไทย กลับมามีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 สิงหาคม 2559

มั่นใจ!ปีหน้าช่วงแล้งมีน้ำทำเกษตรเพียงพอ!

กระทรวงเกษตรฯ เผยสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลัก และคาดปี 60 มีน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนเพียงพอ

           พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลัก ล่าสุดว่า ขณะนี้ มีปริมาณน้ำใน 33 เขื่อนหลักสูงกว่า ปี 2558 อยู่มาก โดย 4 เขื่อนหลักปี 2558 มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบม.) แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 3,200 ลบม.ถือว่ามากกว่าเดิมเท่าตัว พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์น้ำเพื่อการเกษตรที่ใช้ในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนปี 2560 ว่าจะมีปริมาณเพียงพอ คือประมาณ 9,000 ลบม. พร้อมกับให้มีการติดตามและประเมินผลตลอดเวลา

            สำหรับน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณสูงสุด คือ เขื่อนสิริกิติ์ 1,900 ลบม.เนื่องจากรับน้ำจากแม่น้ำน่าน จ.น่าน และเมื่อเทียบกับปี 2558 มีเพียง 782 ลบม.เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์ กาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

            ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีเขื่อนรองรับ กรมชลประทานจึงมีแนวทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมกันนี้จะทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวางแผนและพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่อีกด้วย

           ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยม จ.แพร่ ล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น. (17 ส.ค. 59) ระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ Y. 20 บ. ห้วยสัก อ. สอง วัดได้ 4.05 เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.95 เมตร (ระดับตลิ่ง 12.00 เมตร) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 210 ลบม./วินาที (ปริมาณสูงสุดที่รับได้ 3,100 ลบม./วินาที)

            ถัดลงมาที่สถานีวัดน้ำ Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ วัดระดับน้ำได้ 8.09 เมตร ระดับน้ำปริ่มตลิ่ง (ระดับตลิ่ง 8.20 เมตร) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 984 ลบม./วินาที (ปริมาณสูงสุดที่รับได้ 1,000 ลบม./วินาที) แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่สถานี Y.20 ลดลงอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนระดับน้ำที่สถานี Y.1c เริ่มลดลงตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมริมตลิ่งที่ลุ่มต่ำแม่น้ำยมบริเวณ อ.เมืองแพร่ เข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน

            สำหรับปริมาณน้ำจาก จ.แพร่ จะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัยในอีกประมาณ 2 วันข้างหน้า ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดที่สถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,100 ลบม./วินาที กรมชลประทาน จะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก ในการบริหารจัดการน้ำ

            ปัจจุบันได้มีการพร่องน้ำหน้าประตูระบายน้ำแม่น้ำยมให้ลดต่ำลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำหลากจากตอนบน ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง ผันน้ำส่วนหนึ่งทางด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม เข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 180 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีไปลงคลองยม - น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ในอัตรา 80 และ 100 ลบม./วินาทีตามลำดับ ก่อนจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านด้านเหนือเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งได้มีการลดระดับน้ำหน้าเขื่อนไว้รองรับน้ำที่จะมาจากคลองยม – น่านไว้แล้วเช่นกัน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 20 สิงหาคม 2559

แฉกลโกงใช้รถบรรทุก!"ผลิตปุ๋ยปลอม"!สั่งล้างบาง3จว.

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           กรมวิชาการเกษตรแฉกลโกงพ่อค้าปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตสารเคมีเถื่อน ใช้รถบรรทุกเคลื่อนที่ลักลอบผสมสารเคมีป้อนร้านค้าโดยตรง ล่าสุด หนีไม่รอดสายตาสารวัตรเกษตรตามจับได้คารังที่เมืองราชบุรี สั่งล้างบางผู้ประกอบธุรกิจสีเทาใน 3 จว.

           นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การที่สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด รวมถึงร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมสถานที่ผลิตปุ๋ยและวัตถุอันตรายทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด ทำให้ผู้ประกอบการบางรายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการผลิต เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

           โดยพบว่า ผู้ประกอบการได้ใช้รถบรรทุกขนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งชนิดผง ชนิดน้ำ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ผสม ขับตระเวนเคลื่อนย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ แล้วลักลอบผสมวัตถุอันตรายบนรถและบรรจุขวดส่งขายให้กับร้านค้าโดยตรง ซึ่งไม่มั่นใจว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ลักลอบผลิตนั้นมีคุณภาพและได้มาตรฐานหรือไม่

           ล่าสุด สารวัตรเกษตรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) ได้ตรวจพบขบวนการดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดราชบุรี จึงเฝ้าติดตามไปยังแหล่งที่มาของรถเร่ลักลอบผสมสารเคมี และได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจสอบบริษัท โรกีต้า จำกัด เลขที่ 89 หมู่ 5 ตำบลบัวงาม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของรถเร่ พบว่า บริษัทดังกล่าวมีการผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งยังผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน

           “เจ้าหน้าที่ได้สั่งอายัดของกลางเป็นวัตถุอันตรายชนิดน้ำ ปริมาณ 1,168 ลิตร และชนิดผง จำนวน 24.5 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 357,000 บาท และได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด กรณีที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และกรณีที่ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

           อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้สั่งการให้สารวัตรเกษตร และเครือข่ายสารวัตรเกษตรติดตามเบาะแสผู้ประกอบธุรกิจปัจจัยการผลิตแบบไม่โปร่งใสหรือธุรกิจสีเทา ซึ่งขึ้นแบล็กลิสต์ไว้  5 ราย ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ฉะเชิงเทรา และราชบุรี โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีสารเคมีเกษตรเก่าเก็บค้างอยู่ในสต็อกจำนวนมาก ทั้งยังมีสารเคมีเกษตรที่มีเลขทะเบียนไม่ถูกต้อง สารเคมีด้อยคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการมักอ้างว่า เป็นสารเคมีที่เรียกคืนจากร้านค้านำมาเก็บเอาไว้ไม่ได้จำหน่าย แต่บรรจุขวดพร้อมจำหน่าย

            กรมวิชาการเกษตร จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาและฉวยโอกาสผลิตวัตถุอันตรายทางการเกษตรด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน หรือวัตถุอันตรายปลอมออกมาขายในท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าที่เกษตรกรมีความต้องการใช้มากและมีราคาดี พ่อค้ากลุ่มนี้จะผลิตสินค้าปลอมออกมาขายทันที     

            ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 สารวัตรเกษตรได้ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแล้ว จำนวน 24 ราย พร้อมยึดของกลางทั้งหมดกว่า 1,367.01 ตัน มูลค่ารวมกว่า 50.25 ล้านบาท

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 19 สิงหาคม 2559

ปรับโครงสร้างอ้อยรับถก'ค้าโลก'บราซิล 

          อุตสาหกรรมเตรียมรื้อโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดรับหลักการค้าโลก ก่อนนำแผนเจรจาบราซิล ต.ค.นี้ หวังเปลี่ยนใจไม่ยื่นฟ้องไทย

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในระหว่างโครงการสัมมนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบระยะที่1 ว่าไทยอยู่ภายใต้กรอบการค้าเสรีของโลกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)และองค์การการค้าโลก(WTO)และไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทราย รายที่2ของโลก รองจากบราซิล จึงจำเป็นปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักสากลของเวทีการค้าโลก

          โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบจากกรณีที่บราซิล เตรียมยื่นฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO)ว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลและส่งเสริมการปลูกอ้อย   แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จะต้องนำ4ข้อกังวลของบราซิลบรรจุลงในแผน คือ1. การจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่ ชาวไร่อ้อย ในอัตราตันละ 160 บาท 2.การกำหนดระบบโควตาน้ำตาล เป็น 3 ส่วน คือ โควตา ก คือ น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ โควตา ข คือ น้ำตาลทรายดิบ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และโควตา ค คือ น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการจัดสรร นำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ 3. การกำหนดราคาน้ำตาลทรายของไทยที่ควบคุมอยู่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม และ4. การกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

          ทั้งนี้ต้องแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ..เพื่อให้กฎระเบียบปฏิบัติเป็นไปตามหลักสากลและเพิ่มกฎหมายในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขณะเดียวกันอ้อยที่มีคุณภาพต่ำก็จะถูกตัดราคาลง โดยโครงสร้างใหม่ จะต้องมุ่งเน้นการปรับลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการล้างพันธุ์อ้อยเดิม วิจัยพันธุ์อ้อยใหม่ที่ปลอดโรค เพิ่มยิวอ้อยจาก9ตันต่อไร่ เป็น12.5ตันต่อไร่ การลงทุนเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ใช้เครื่องจักรกล ซึ่งจะใช้รถตัดอ้อยและระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการ ลดระยะเวลาขนส่งอ้อยเข้าโรงงานต่ำกว่า72ชั่วโมง ช่วยรักษาค่าความหวานและลดต้นทุน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ทบทวนจ่ายเงินช่วยไร่อ้อย

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ยกระดับมาตรฐานการผลิต ปิดทางคู่แข่งการค้าฟ้องร้อง

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผนปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบโดยจะมีการกำหนดคุณภาพด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นใน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ เพื่อให้ชาวไร่ปลูกอ้อยได้ตามมาตรฐานและคุณภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่มีเพียงข้อกำหนดตามค่าความหวาน โดยกำหนดให้ซื้อขายอ้อยตามคุณภาพความหวานวัดเป็น (ซี.ซี.เอส.) หมายความว่า ราคาอ้อยจะผันแปรไปตามคุณภาพหรือความหวาน แต่อนาคตจะต้องมีการเพิ่มข้อกำหนดเพื่อจูงใจให้เกษตรกรผลิตอ้อยที่มีคุณภาพมากขึ้น

 “ข้อกำหนดในการซื้อขายอ้อยในอนาคตจะต้องมีการปรับเพิ่มในเรื่องของมาตรฐานและคุณภาพให้สูงขึ้น แต่รายละเอียดจะกำหนดมาตรฐานและคุณภาพอะไรบ้างต้องมาดูอีกครั้ง” นายสมชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยจะต้องนำ 4 ข้อกังวลของบราซิลที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) มาทบทวนอย่างรอบคอบ คือ 1.การจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่ชาวไร่อ้อยในแต่ละฤดูการผลิต 2.การกำหนดระบบโควตาน้ำตาลเป็น 3 ส่วน คือ โควตา ก. เพื่อการบริโภคภายในประเทศ โควตา ข. เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศผ่านบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) และโควตา ค. คือ น้ำตาลทรายดิบที่ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 3.การกำหนดราคาน้ำตาลทรายของไทยที่ควบคุมอยู่ 23.50 บาท/กก. และ 4.การกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

ทั้งนี้ หลักการใหญ่ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบด้วย 1.การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย  2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) และ 5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำกลับมากำหนดรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี จึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้ อนท.ได้ทยอยจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบโควตา ข. ปริมาณกว่า 8 หมื่นตัน ไปแล้วประมาณ 51% ราคาเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 20.4 เซนต์/ปอนด์ และคาดว่าราคาจะอยู่ที่ระดับ 18-20 เซนต์/ปอนด์ ในอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีราคาประกาศอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลผลิต 2559/2560 โอกาสแตะระดับ 1,000 บาท/ตันอ้อ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เร่งแผนปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลนำถกบราซิลถอนฟ้องไทย

อุตสาหกรรม เปิดรับฟังความคิดเห็นแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย นำแผนเจรจาบราซิล ต.ค.นี้ หวังเปลี่ยนใจไม่ยื่นฟ้องไทย

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโครงการสัมมนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจุบันไทยอยู่ภายใต้กรอบการค้าเสรีของโลกทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) และองค์การการค้าโลก(WTO) และไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทราย รายที่ 2 ของโลก รองจากบราซิล จึงจำเป็นปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักสากลของเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบจากกรณีที่บราซิล เตรียมยื่นฟ้อง(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลและส่งเสริมการปลูกอ้อย ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาว

 “การอุดหนุนทำได้ ถ้าเราไม่ค้าขายกับใครในโลกนี้ แต่ถ้าเราจะยังส่งออกน้ำตาล และอยู่ในภายใต้กฎหมายของ WTO เราจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องปราศจากการสนับสนุนอย่างซึ่งหน้า ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยฯ” นายสมชาย กล่าว

ดังนั้น แผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จะต้องนำ 4 ข้อกังวลของบราซิลบรรจุลงในแผน คือ 1. การจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่ ชาวไร่อ้อย ในอัตราตันละ 160 บาท 2.การกำหนดระบบโควตาน้ำตาล เป็น 3 ส่วน คือ โควตา ก คือ น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ โควตา ข คือ น้ำตาลทรายดิบ เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และโควตา ค คือ น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการจัดสรร นำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ 3. การกำหนดราคาน้ำตาลทรายของไทยที่ควบคุมอยู่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม และ4. การกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้าย

นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ จะต้องมุ่งเน้นการปรับลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย โดยจะต้องเพิ่มกฎหมายในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชาวไร่ที่ปลูกอ้อยได้ตามมาตรฐาน ขณะเดียวกันอ้อยที่มีคุณภาพต่ำก็จะถูกตัดราคาลงเช่นกัน

ด้านนายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ชาวไร่อ้อย ผู้แทนชาวไร่อ้อย โรงงาน เกี่ยวกับแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว จะนำแผนเข้าสู่การพิราณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)วันที่ 30 ส.ค.นี้ ก่อนนำเสนอเข้าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนก.ย.ต่อไป

ทั้งนี้ แผนปรับโครงสร้างฯ จะเป็นส่วนสำคัญที่ภาครัฐ จะนำไปใช้ในการเจรจากับบราซิลอีกครั้งในช่วงเดือนต.ค.นี้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาของไทยที่ต้องการแสดงความโปร่งใสตามกฎหมายการค้าสากล

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อิมแพ็คประกาศความพร้อมจัดงาน “SIMA ASEAN Thailand 2016” โชว์ศักยภาพ-นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่หวังยกระดับเกษตรกรไทยสู่สากล 

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผนึกอิมแพ็ค คอมเอ็กซ์โพเซียม และแอ็คซีม่า ประกาศความพร้อมเดินหน้าจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 งานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติเพื่อธุรกิจการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 2 หวังภาคเกษตรไทยเรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรรุ่นใหม่ล่าสุด ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐานระดับสากล พร้อมจัดพื้นที่แสดงการสาธิตเครื่องจักรกลทางการเกษตรแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน บนพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร ระหว่างวันที่ 8 –10 กันยายน 2559 ณ อาคาร 5 – 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

          นายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายหลักในการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องที่เข้าชมงานได้รับทราบถึงนวัตกรรมและประโยชน์ของเครื่องจักรกลการเกษตรที่หลากหลาย เกิดการเรียนรู้ การพัฒนา และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการเกษตรของตนเอง อีกทั้งจะช่วยสร้างความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งของภาคการเกษตรของไทย

          ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมในการจัดงานดังกล่าว โดยจะนำผลงานไฮไลท์ของกรมในสังกัดทั้ง 4 กรมมาแสดงในงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าร่วมแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรของไทยให้มีความสามารถในการผลิตและจัดการสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนเพิ่มคุณภาพผลผลิตไปสู่ระดับสากล รวมทั้งสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน

          นายลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า การจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 ได้จัดพื้นที่สาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร ณ ริมทะเลสาบเมืองทองธานี บนพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร โดยได้เนรมิตเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว หญ้าเนเปีย อ้อย มันสำปะหลัง พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรมาจัดสาธิตภายในงาน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าชมและรับทราบถึงประโยชน์ของเครื่องจักรกลการเกษตร ดังนั้นงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 จึงถือเป็นงานแสดงสินค้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่จัดพื้นที่แสดงการสาธิตเครื่องจักรกลทางการเกษตร และในช่วงเวลาเดียวกันยังมีงานเกษตรเมืองทอง มหกรรมสินค้าเกษตรเพื่อคนเมืองยุคใหม่ จัดเต็มกับสินค้าเกษตรของไทย รวบรวมกิจกรรมสุดพิเศษทางการเกษตรมาไว้ในงานเดียว

          โดยไฮไลท์ภายในงานจะผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300 แบรนด์ จาก 20 ประเทศทั่วโลก บนพื้นที่จัดแสดงสินค้าภายในอาคาร 13,500 ตารางเมตร และพื้นที่จัดแสดงสินค้าภายนอกอาคาร 8,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการรวมรวมนวัตกรรมเครื่องจักรกลทางการเกษตรใหม่ล่าสุด รวมทั้งแพลทินั่มสปอนเซอร์ บริษัท ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียลฯ จะทำการเปิดตัวเครื่องจักรทางการเกษตร ภายใต้แบรนด์ นิว ฮอลแลนด์ (New Holland) และเคส ไอเอช (Case IH) พร้อมกันนี้ยังมีพาวิลเลียมนานาชาติจากหลายหลายประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี โปแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และตุรกี เป็นต้น อีกทั้งยังมีการประชุมและสัมมนานานาชาติจากผู้เชี่ยวชาญในวงการการเกษตรด้วย

          นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีความยินดีที่จะเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 เนื่องจากทีเส็บมีพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม MICE โดยมีเป้าหมายสูงสุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในปีนี้งาน SIMA ASEAN Thailand 2016 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าภายใต้โครงการ ASEAN Rising

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กษ.เผยสถานการณ์น้ำใน33เขื่อนหลัก

กระทรวงเกษตรฯ เผย สถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลัก และคาดปี 60 มีน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนเพียงพอ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลักว่า ล่าสุด มีปริมาณน้ำใน 33 เขื่อนหลัก สูงกว่า ปี 2558 อยู่มาก โดย 4 เขื่อนหลักในปี 2558 นั้น มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามากกว่าเดิมเท่าตัว พร้อมคาดการณ์น้ำเพื่อการเกษตรที่ใช้ในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนปี 2560 ว่าจะมีเพียงพอ คือ ประมาณ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับให้มีการติดตามและประเมินผลตลอดเวลา

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยม ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีเขื่อนรองรับ กรมชลประทาน จึงมีแนวทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมกันนี้จะทำงานร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวางแผนและพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่อีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

'สมคิด'พร้อมดูแลเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าเกินไป

"สมคิด" มั่นใจหากไม่เหยียบเท้ากันเองการลงทุนในประเทศจะพุ่งทะยาน ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0" ว่ามองเห็นโอกาสการลงทุนในไทยที่เพิ่มสูงขึ้น และเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค และเชื่อว่าภูมิภาคเอเชียจะยิ่งมีความสำคัญหลังจาก เกิดสถานการณ์ Brexit เนื่องจากเชื่อว่าความเจริญ ต่างๆ จะพุ่งเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชีย เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้ประเทศ ไทยยังมีความผันผวนทางการเมืองก็ตาม

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นของญี่ปุ่นเองก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน จนทำ ให้ทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างมีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศ จนทำให้ทั้งค่าเงินบาทและค่าเงินเยนแข็งค่า ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการที่ช่วยดูแลเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากจนเกินไป ซึ่งหลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็ยิ่งได้เห็นความชัดเจนมากขึ้นจากการที่ได้รับ การสนับสนุนจากภาคเอกชนที่ ต่างมองว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น

โดยในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลอีกประมาณ 1 ปีนี้จากนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าใน การสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมใหม่ๆ วางพื้นฐานในเรื่อง Start up และส่งเสริมให้ไทยเป็น Digital Hub ให้ได้

"จากวันนี้ไปข้างหน้า ถ้าไม่เหยียบเท้ากันเอง การลงทุนที่จะมาในประเทศไทยจะพุ่ง ทะยาน ภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งใน ยุคหลัง Brexit ความเจริญจะเข้ามาสู่เอเชีย และมา สู่ area เหล่านี้ " นายสมคิด ระบุ

ทั้งนี้ถือเป็นโชคดีของไทยที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปรับตัวดีขึ้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี และในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และ หากต้องการจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปมากกว่านี้ เหมือนเช่นในอดีตที่เคยโตได้ 5-7% สิ่งสำคัญ คือจะต้องมีการสร้างความยั่งยืนด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ การ แก้ไขกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน การสร้างธรรมาภิบาล และจำเป็นต้องสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ มี Start up ใหม่ ๆ ที่เน้นลงทุนในด้านดิจิตอล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รมช.คลังมองภาพรวม เศรษฐกิจไทย-โลกยังผันผวน!

                    รมช.คลัง ชี้ เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกยังผันผวนเรื่องส่งออก รายได้ประชาชนลดทำใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โครงสร้างประชากรและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก จะเป็นปัญหาในอนาคตแน่นอน เผยครึ่งปีหลังคลังหนุนงานคมนาคม ระบบขนส่ง ขยายท่าอากาศยาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ   

         เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สคล.) จัดสัมนาวิชาการประจำปี 2559 (FPO Symposium 2016)ครั้งที่ 13 เรื่อง"โลกเปลี่ยน คลังปรับ"โดย นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาถึง เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการผันผวนเรื่องการส่งออกที่มีการปรับตัวอย่างตลอด รายได้ที่ลดลงทำให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลทางอ้อมต่อเศรษกิจโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ประเทศไทยมีอัตราการเกิดต่ำขณะเดียวกันผู้สูงอายุมีมากขึ้น จะเตรียมรับแรงงานใหม่และแรงงานเพื่อนบ้านอย่างไร คาดว่าในปี 2568 ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 อีกเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงคือสภาพอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน

นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า ต้องให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็กซึ่งถือเป็นธุรกิจฐานรากด้วยการสนับสนุนสินเชื่อ ให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก อีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจคือการผลักดันภาคอุตสาหกรรม โดยใช้แรงจูงใจสิทธิพิเศษทั้งหลาย คือ ลดภาษี ให้สินเชื่อ ในภาคจะเติบโตในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสินค้าเชิงสุขภาพ เกษตร และเทคโนโลยีทางสุขภาพ ส่วนเรื่องที่ต้องเผชิญในอนาคตก็คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง สุขภาพ ดิจิตอล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร ให้มีสิทธิประโยชน์ด้วยการพยายามให้ภาษีบุคคลเปลี่ยนเป็นภาษีนิติบุคคล เปิดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อุตสาหกรรมที่ต้องการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ สำหรับหน่วยงานที่ต้องเข้ามามีบทบาทคือ กระทรวงอุตสาหกรรม

นายวิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนการสนับสนุนด้านคมนาคม ได้แก่ ลงรถไฟ ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขการจราจรในกรุงเทพ และปริมณฑล ทางหลวงที่เชื่อมโยง โดยเฉพาะเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งคมนาคมทางน้ำและทางอากาศ ตอนนี้รถไฟสายสีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน เริ่มใช้แล้ว กระจายการรองรับการใช้จ่ายทางด้านการเงิน ทั้งเรื่องงบประมาณ ความคืบหน้าล่าสุดการลงทุน รถไฟทางคู่ ท่าเรือสินค้าที่แหลมฉบัง ทางหลวงพิเศษทั้ง เพื่อรองรับ AEC สำหรับที่จะเกิดขึ้นครึ่งปีหลังมี 3 โครงการ ทางหลวงบางใหญ่ กาญจนบุรี และขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส2 งบประมาณที่เตรียมไว้เป็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นโยบายการคลังอะไรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุก็ต้องเตรียมไว้ จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่สร้างวัฒนธรรมให้อยู่กับลูก จะทำให้เป็นอย่างเดิมซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ให้มาอยู่ด้วยกันมีสังคมมีกิจกรรม อาชีพรองรับผู้สูงอายุที่สามารถทำงานได้อยู่ ให้มีความสามารถด้านการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากหลักสนับสนุนของเรายังถือว่าน้อยอยู่ หรือนำสินทรัพย์ที่เก็บไว้ขณะนำงานนำมาแปลงเป็นรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องหนี้นอกระบบทำอย่างไรให้หนี้นอกระบบในในกฎหมาย พัฒนาระบบสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน เป้าหมายสุดท้ายก็คือเรื่องคุณธรรม นโยบายดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มีคุณธรรมมันผ่านไปไม่ได้ ต้องสร้างความโปร่งใสส่งเสริมคุณธรรม ด้วยการออกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง.

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไทยจับมือสมาชิกกลุ่ม‘ASA’ ยกระดับอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลทราย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายหรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอาเซียน ประกอบด้วยไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีทั้งประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าน้ำตาลได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์แสวงหาความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศสมาชิกกลุ่ม ASA อย่างต่อเนื่อง

โดยผู้แทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จะเข้าร่วมประชุมกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเวียดนาม ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทั้งด้านการเพาะปลูกอ้อย การผลิตน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดจนการศึกษาตลาดและความต้องการน้ำตาลของเวียดนาม เพื่อขยายความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกันให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่เวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลในอันดับที่ 4 ของไทย

ในขณะที่ช่วงต้นเดือนกันยายน 2559 คณะผู้บริหารของโรงงานน้ำตาลไทย จะจัดประชุมสัมมนาประจำปี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยในปี 2559 นี้จะจัดที่เมียนมา และในโอกาสดังกล่าว ตัวแทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จะประชุมหารือกับสมาคมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของเมียนมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในประเทศสมาชิก ASA เช่นกัน

ทั้งนี้เพื่อสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ ASA ทางธุรกิจ การค้าการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การแลกเปลี่ยนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาและการถ่ายทอดเทคนิคทางวิชาการ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในด้านการลงทุนในอนาคต เพื่อช่วยกันพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในกลุ่ม ASA ให้เข้มแข็ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

มิตรผล กับ Bonsucro

ไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก ผู้ส่งออกมากที่สุดของไทย  กลุ่มบริษัทมิตรผล

กว่า 60 ปี บนเส้นทางสายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มิตรผลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

การผลิตอ้อย เน้นสินค้าคุณภาพ ภายใต้รูปแบบการทำเกษตรสมัยใหม่ โดยนำต้นแบบมาจากออสเตรเลีย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

สิ่งแวดล้อม และ กระบวนการผลิตน้ำตาล เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนปลูกอ้อย ห้ามเผาตอ แต่ใช้รถตัดฝังกลบทำปุ๋ย ป้องกันโรคแมลงด้วยวิธีการธรรมชาติ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี..ใช้วัตถุดิบอ้อยทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ชานอ้อย...แปรเป็นพลังงานชีวมวล ผลิตไฟฟ้าใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลได้วันละ 106 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟของชัยภูมิทั้งจังหวัด ไฟฟ้าผลิตได้ใช้ไม่หมด มีเหลือส่งขายให้การไฟฟ้าฯ อีกต่างหาก โมลาสจากกระบวนการผลิตอ้อย นำมาผลิตเอทานอลได้ปีละ 380 ล้านลิตร มากที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย...น้ำเหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาล เก็บกักไว้บำบัด ส่งต่อไปให้เกษตรกรใช้ในแปลงปลูก...นี่ยังไม่รวมผลพลอยได้อื่นๆ เช่น ยีสต์จากกระบวนการหมัก นำมาทำหัวอาหารสัตว์ ส่วนที่แยกได้จากกากส่า นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ กระบวนผลิตทั้งหมดเป็นแบบ Zero Wast ไม่เหลือขยะใดๆ สอดคล้องกับ Bonsucro มาตรฐานหนึ่งเดียวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มุ่งเน้นการปรับปรุงแรงงาน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต รักษาคุณภาพดินและน้ำ เพื่อทำเกษตรอย่างยั่งยืน

จากการคำนึงถึงความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ไร่อ้อย โรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ส่งมอบลูกค้า ไปจนถึงสิทธิมนุษยชนและแรงงาน...ส่งผลให้ปลายปีที่แล้ว มิตรผลได้รับรางวัล Sustainability Award จาก Bonsucro เป็นประเทศที่ 5 ของโลก และประเทศที่ 2 ในเอเชีย

นั่นหมายความว่า มาตรฐานระดับโลก จะเพิ่มช่องทางการส่งออกผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาลของไทยไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น โดยมีรางวัล Bonsucro ช่วยการันตี

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ธปท.จับตา“บาทแข็ง”ห่วงฉุดเศรษฐกิจ

ธปท.เกาะติดเงินบาทแข็งค่าเร็ว จากเงินไหลเข้ามาในหุ้นไทยและตลาดตราสารต่อเนื่อง ห่วงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผู้ประกอบการ เตือนต้องบริหารความเสี่ยงค่

             นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ประกาศออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของไทยออกมาขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ จึงมีเงินไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและการปรับตัวของภาคเอกชน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย

              “ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีโอกาสเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด” นางจันทวรรณกล่าวและว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยแล้วกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก

               ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ปรับแนวโน้มคาดการณ์ค่าเงินบาทขึ้นมาอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่องทั้งในภูมิภาคและประเทศไทย จากผลของเบร็กซิท ดังนั้น จึงมองว่าการดูแลค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังให้มีทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการและการส่งออกโดยรวมของประเทศ

              สำหรับค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 เปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนแข็งค่าจนแตะระดับสูงสุดของวันที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นระดับแข็งสุดค่าในรอบ 13 เดือนขณะที่การซื้อขายหุ้นไทยเริ่มเทขายหุ้นทำกำไรหลังจากตลาดปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลงมาปิดตลาดที่ระดับ 1,537.52 จุด ลดลง 11.39 จุด มูลค่าการซื้อรวมทั้งสิ้น 70,979.21 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 929.60 ล้านบาท

            ด้านนักวิเคราะห์มองว่า เงินบาทยังทยอยแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนในขณะนี้เริ่มเปิดรับความเสี่ยง หันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น อีกทั้งมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ถือว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค มองไปข้างหน้าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธปท.คงเข้าแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่ารวดเร็วนัก เพราะหากเงินบาทแข็งเกินไปก็จะกระทบต่อผู้ส่งออกซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล

         ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ กล่าวว่าค่าเงินที่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังพอรับได้ แม้ว่าจะเป็นระดับที่แข็งค่าเกินกว่าที่ผู้ประกอบการส่งออกคาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็คิดว่า ธปท. คงดูแลอยู่ไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วเกินไป เนื่องจากหากเงินบาทแข็งค่าเกินกว่านี้ จะทำให้ผู้ส่งออกทำธุรกิจหรือส่งออกไปต่างประเทศแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บาทแข็งไม่กระทบเป้าส่งออก

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงาน “96 ปี พาณิชย์ก้าวไกล เศรษฐกิจก้าวหน้า” ว่า กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และธุรกิจภาคบริการของไทย เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และผลักดันให้ธุรกิจบริการของไทยออกไปทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น

 “กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ SMEs และ Start Up ใช้นวัตกรรมในการผลิตสินค้า และยังได้เข้าไปช่วยเหลือในการตลาดให้ ส่วนรายใดที่มีความเข้มแข็ง ก็พร้อมที่จะพาออกไปลุยตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกับบีโอไอ ที่จะมีมาตรการสนับสนุน โดยจะรวมไปถึงธุรกิจภาคบริการ ที่จะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของไทยด้วย”น.ส.ชุติมากล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและเป้าหมายการส่งออกของไทย ไม่อยากให้ตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะค่าเงินบาทได้แข็งค่าในช่วงสั้นๆ ยังไม่ได้มีสัญญาณรุนแรงอะไร และผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ ไม่ได้มีการร้องขอให้ภาครัฐเข้าไปดูแล ซึ่งกระทรวงฯ เอง ก็ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย 

สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ที่ลานอเนกประสงค์ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับ SMEs โดยกระทรวงฯ ได้นำสินค้าจาก SMEs กว่า 170 บูธมาจัดแสดงและจำหน่าย ประกอบด้วยสินค้าชุมชน สินค้าจากตลาดต้องชม สินค้าจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจแฟรนไชส์ สินค้าส่งออก และผลิตภัณฑ์จากราชทัณฑ์ เป็นต้น

 “การช่วยให้สินค้า SMEs มีช่องทางการตลาด เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ เพราะปัจจุบันในไทยมีผู้ประกอบการ SMEs มากถึง 2.7 ล้านราย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งหาก SMEs มีความเข้มแข็ง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมเข้มแข็งตามไปด้วย” น.ส.ชุติมา กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อุตฯน้ำตาลไทยเดินสายถกพันธมิตรอาเซียนร่วมมือค้า-ลงทุน

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย สานต่อความร่วมมือพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน เดินสายถกเวียดนาม พม่า ศึกษาลู่ทางความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอาเซียน ประกอบด้วยประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีทั้งประเทศผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าน้ำตาล ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) ทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จึงเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ แสวงหาความร่วมมือกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศสมาชิกของ ASA อย่างต่อเนื่อง

 ทั้งนี้ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จะเข้าร่วมประชุมกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเวียดนามในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งทางด้านการเพาะปลูกอ้อย การผลิตน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดจนการศึกษาตลาดและความต้องการน้ำตาลของเวียดนาม เพื่อขยายความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกันให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ประเทศเวียดนามเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 4 ของไทย

 ขณะที่ในช่วงต้นเดือนกันยายน คณะผู้บริหารของโรงงานน้ำตาลไทยจะจัดประชุมสัมมนาประจำปีเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการผลิตน้ำตาลทรายประจำฤดูการผลิตปี 2559/2560 โดยในปีนี้จะจัดที่ประเทศเมียนมาและในโอกาสดังกล่าว ตัวแทนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยจะประชุมหารือกับสมาคมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของเมียนมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่ม ASA เช่นกัน เพื่อสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ ASA ทางธุรกิจ การค้า รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้าน โลจิสติกส์น้ำตาลทราย ตลอดจนแลกเปลี่ยนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคนิคทางวิชาการ ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในด้านการลงทุนในอนาคต เพื่อช่วยกันพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในกลุ่ม ASA ให้เข้มแข็ง

 “หลังชาติสมาชิกในอาเซียนลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมจัดตั้ง กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน (ASA) ไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ จึงต้องร่วมมือกับแก่ชาติสมาชิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และเทคนิควิชาการด้านต่างๆ ตลอดจนร่วมกันศึกษาหาลู่ทางความร่วมมือทางธุรกิจทั้งด้านการเพาะปลูก การผลิตน้ำตาล การขยายการค้า การลงทุน เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในภูมิภาคนี้ให้ความแข็งแกร่งมากขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

3 เหตุปั่นราคานํ้าตาลดิบโลกพุ่ง โรงงานอู้ฟู่โกยรายได้ส่งออก

จับตาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกไต่ระดับเหนือ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 3-4 ปี ต้นเหตุมาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ ตั้งแต่กองทุนและนักเก็งกำไรเข้ามาลงทุนในตลาดน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ8ปี โดยถือตั๋วซื้อสุทธิล่วงหน้ามากถึง 16 ล้านตันน้ำตาล จ้องเทขายเมื่อราคาดี ขณะที่ผลผลิตทั่วโลกลดลง สวนทางการบริโภคโต อีกทั้งค่าเงินเรียวของบราซิลแข็งค่าดันราคาพุ่ง ด้านบริษัทผู้ส่งออก เผยตัวเลขเพื่อนบ้านนำเข้าจากไทย7เดือนแรกเจาะรายประเทศเพิ่มขึ้น โรงงานน้ำตาลบอกขาขึ้นอีกครั้ง ส่งผลรายได้สูงขึ้น

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบที่ซื้อขายล่วงในตลาดโลกขณะนี้ว่า ยืนอยู่ระดับราคาดีต่อเนื่องโดยราคา ณ วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำตาลที่ซื้อขายล่วงหน้าเดือนตุลาคมปี2559 อยู่ที่ 20.39 เซ็นต์ต่อปอนด์ ราคาเดือนมีนาคมปี2560 อยู่ที่ 20.82 เซ็นต่อปอนด์ โดยเฉลี่ยแล้วราคาอยู่ในระดับเหนือ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากที่ราคาน้ำตาลทรายดิบช่วงเดือนมีนาคมถึงตุลาคมปี 2558 ยืนอยู่ที่ 10-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ และช่วงเดือนกุมภาพันธ์2559 ลงมาอยู่ที่ประมาณ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบ หากยืนอยู่ที่ราคา20เซ็นต์ต่อปอนด์เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทราคาจะอยู่ที่ 15.43 บาทต่อกิโลกรัมตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของราคาน้ำตาลทรายดิบที่ค่อยๆขยับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ โดยปัจจัยแรกมาจากที่ มีกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างๆ เข้ามาลงทุนในตลาดน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ8ปี โดยถือตั๋วซื้อสุทธิล่วงหน้าเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2559 มากถึง16 ล้านตันน้ำตาล เปรียบเทียบกับเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551ที่ถือตั๋วซื้อสุทธิโดยกองทุนต่างๆและจากบรรดานักเก็งกำไรอยู่ที่ 10-11 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมากแล้ว ทำให้บรรดานักเก็งกำไรประเมินต่อว่า ราคาจะไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่องและพร้อมเทขายเมื่อราคาดี ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดน้ำตาลจำนวนมากในขณะนี้

ปัจจัยที่ 2 ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลง ซึ่งสวนทางการบริโภคที่กลับพุ่งสูงขึ้น โดยอ้างอิงข้อมูลจาก F.O.LICHT บริษัทที่วิเคราะห์เกี่ยวกับดุลยภาพน้ำตาลโลกของเยอรมนี ที่ระบุไว้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ว่า 2 ปีติดต่อกันที่ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ดูจากปีฤดูการผลิต 2557/2558 ที่ทั้งโลกมีกำลังผลิตน้ำตาลรวมกันอยู่ที่ 181.28 ล้านตันน้ำตาล ปี2558/2559 ผลผลิตน้ำตาลลดลงมาอยู่ที่ 173.66 ล้านตันน้ำตาล ก่อนที่ปี 2559/2560 จะอยู่ที่ 174.76 ล้านตันน้ำตาล เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย เปรียบเทียบกับการบริโภคน้ำตาลของโลกพบว่าปี 2557/2558 อยู่ที่ 178.78 ล้านตัน พอมาปี 2558/2559 ทั้งโลกบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ 180.97 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตรวมในปีเดียวกันจะเห็นว่าน้ำตาลในตลาดโลกขาดอยู่ราว 7.31 ล้านตันต่อปี ปี2559/2560 การบริโภคน้ำตาลเพิ่มเป็น 183.55 ล้านตัน เทียบกับปริมาณผลิตในปีดังกล่าว ทำให้มีน้ำตาลขาดอยู่ราว 8.79 ล้านตัน

 ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อนท.อธิบายต่อถึงสาเหตุในปัจจัยที่สองว่า การที่ผลผลิตน้ำตาลลดลง เกิดจากที่ทั่วโลกเผชิญภาวะภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปีทำให้อินเดีย จีน และไทย ได้รับผลกระทบจากผลผลิตอ้อยที่ลดลง อีกทั้งบางประเทศโดยเฉพาะจีน นอกจากเกิดภาวะแห้งแล้งแล้ว ยังหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าอ้อย ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในตลาดโลกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเติบโตราว 2% ต่อปี

 “โดยเฉพาะจีนที่เมื่อ 2 ปีก่อนผลิตน้ำตาลได้ 10.5 ล้านตันน้ำตาล พอปี 2558/2559 การผลิตน้ำตาลของจีนลดลงเหลือ 8.7 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีมากถึง 15 ล้านตัน ทำให้จีนต้องนำเข้าน้ำตาลจากไทย บราซิล และคิวบามากขึ้น รวมถึงฤดูการผลิตปี 2558/2559 บราซิลนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำลง”

ส่วนปัจจัยที่ 3 การที่ขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จึงทำให้ค่าเงินเรียวของบราซิลแข็งค่า ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลลำดับที่ 1 ของโลก เมื่อค่าเรียวแข็งค่า จึงยิ่งส่งผลดีต่อตลาดน้ำตาลทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่อง

นายวิรัตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2560 อาจจะได้เห็นราคาน้ำตาลไต่ระดับสูงกว่าราคาปัจจุบัน ถ้าหากผลผลิตน้ำตาลจากไทย และอินเดีย น้อยกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ โดยก่อนหน้านี้ไทยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/2560 ประมาณ 90 ล้านตันอ้อย และมีกำลังผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 9.2 ล้านตันน้ำตาล ส่วนอินเดียที่คาดการณ์ว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 23.5-24 ล้านตันน้ำตาล ถ้าทั้ง 2 ประเทศทำได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะมีส่วนทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอีก เนื่องจากอินเดียเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล

สอดคล้องกับที่นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวยอมรับว่าจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณอ้อยในประเทศผู้ผลิตสำคัญอย่างจีน อินเดีย ไทย บราซิล ได้รับผลกระทบมีผลผลิตอ้อยลดลง ทำให้นักเก็งกำไรเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาลจำนวนมากแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งหลายประเทศมีความต้องการบริโภคน้ำตาลสูงขึ้น ในขณะที่กำลังผลิตน้ำตาลในตลาดโลกยังขาดอยู่ 8-9 ล้านตัน ดูจากสถิติการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ในช่วงมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม2559 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชาและฟิลิปปินส์ (ดูตารางประกอบ) โดยการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแรงผลักดันด้านภาษีที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรนำเข้าในกลุ่มอาเซียนด้วยกันทำให้เพดานภาษีนำเข้าระหว่างกันลดลง

ด้านโรงงานน้ำตาล นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก มาอยู่ในระดับประมาณ 20-21 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่าสูงจากราคาเฉลี่ยช่วงปีก่อนอยู่ในระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งมีปัจจัยมาจากปริมาณน้ำตาลของโลกปรับตัวลดลงมาก ที่มีสาเหตุมาจากมีผู้ผลิตบางรายไม่สามารถรับภาระต้นทุนจากราคาน้ำตาลทรายตกต่ำในช่วงที่ผ่านมาได้ จึงหยุดดำเนินการ ทำให้ปริมาณน้ำตาลบางส่วนหายไปจากตลาด

จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่า เป็นการกลับมาฟื้นตัวหรือขาขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกครั้ง และคาดว่าจะต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นด้วยในช่วงปีหน้า(ฤดูการผลิต 2559/2560 ที่จะเริ่มเปิดหีบอ้อยเดือนพ.ย.นี้) หลังจากที่ปีนี้ (ฤดูการผลิตปี 2558/2559)ได้ทำราคาซื้อขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว ส่วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะต้องติดตามปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบด้วยว่า จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างไร ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าปริมาณอ้อยน่าจะลดลง 5-10 % จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาจากที่ก่อนหน้านั้นมีปริมาณอ้อยสูง 100-107 ล้านตันอ้อย อาจลดลงเหลือ 90 ล้านตันอ้อย

นอกจากนี้ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นดังกล่าว จะส่งผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย โดยประเมินว่าราคาอ้อยในฤดูที่จะถึงปี 2559/2560 น่าจะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 1,100 บาทต่อตัน

ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 25-30 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือไม่นั้น คาดว่าคงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีการปรับตัวค่อนข้างแรงแล้ว นอกจากจะมีปัจจัยพิเศษ หรือสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ก็อาจจะทำให้มีโอกาสที่ราคาน้ำตาลจะวิ่งขึ้นไปได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

จัดมหกรรมโชว์อุตฯน้ำตาล 

        "ไฟร์เวิร์คส มีเดีย "จัดงานมหกรรมแสดงสินค้า เทคโนโลยีและสัมมนาด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล "World Sugar Expo & Conference 2016" วันที่ 7-8 กันยายน 2559 ที่ไบเทค  กรุงเทพฯ

          นางสาวปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่าไฟร์เวิร์คส มีเดีย ได้จัดงาน "World Sugar Expo & Conference 2016" เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย โดยการจัดงานในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวะพลังงานไทย, สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย, สมาคมเครื่องจักรกลไทย, สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด, กลุ่ม KTIS, บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด และบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

          งาน "World Sugar Expo & Conference 2016"  จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2559 ที่ฮอลล์Hall 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ บนพื้นที่จัดแสดงงานกว่า 3,000 ตารางเมตร โดยภายในงานมีจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติจากบริษัทชั้นนำในวงการน้ำตาลทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยแต่ละบริษัทพร้อมใจกันนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมมาจัดแสดงขณะเดียวกันภายในงานยังได้จัดกิจกรรม Technology Seminar เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมงานได้อัปเดตเทคโนโลยีและข่าวสารใหม่ๆ ในช่วงที่เปิดให้เข้าฟังได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          นอกจากพื้นที่จัดแสดงสินค้าและสัมมนาฟรีแล้ว ทางเรายังมีการประชุมระดับนานาชาติ "World Sugar Conference 2016" ที่ได้รับเกียรติ จากผู้มีความรู้และคร่ำหวอดในวงการ มาให้ความรู้ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้คุณได้ใกล้ชิดและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก

          "ผู้สนใจเข้าร่วมงาน "World Sugar Expo & Conference 2016" และเข้าฟัง Technology Seminar สามารถเข้าชมงานได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.worldsugarexpo.com, thai@asiafireworks.comหรือโทร (+66) 2 513 1418" นางสาวปุณฑริกากล่าว.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

หวั่นบาทแข็งกระทบธุรกิจ ธปท.ย้ำสอดคล้องภูมิภาค-แนะบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

          "แบงก์ชาติ" ย้ำเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องสกุลอื่นในภูมิภาค ชี้ผลจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตดี ยอมรับบาทแข็งเร็ว ขณะที่ KTC ปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรปีนี้เป็นโต 15-20% จากคาดใกล้เคียงปีก่อน

          นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือน ส.ค. มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยแล้วกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ประกาศออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทย ที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะมีเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

          "เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและการปรับตัวของเอกชนและเศรษฐกิจไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีโอกาสเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดต่อไป" นางจันทวรรณ กล่าว

          นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ปรับเป้ากำไรสุทธิปีนี้เป็นจะเติบโตจากปีก่อนราว 15-20% จากก่อนหน้านี้บริษัทฯ คาดว่ากำไรสุทธิจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2,072 ล้านบาท โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทฯ มีกำไรสุทธิแล้ว 1,214.87 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาค่าตลาด และต้นทุนทางการเงินปรับตัวลดลง

          "แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา และแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ส่งผลให้การใช้จ่ายของลูกค้าไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามเรามีการบริหารจัดการต้นทุนได้ค่อนข้างดี โดยคาดว่าทั้งปีนี้ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ 3% โดยล่าสุดเราได้มีการออกหุ้นกู้ให้กับสถาบัน 3 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 3.5% และเราเตรียมออกหุ้นกู้ล็อตใหม่ 3-4 พันล้านบาทในไตรมาส 4 เพื่อนำมาขยายธุรกิจ โดยการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี และต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ทำให้ผลประกอบการปีนี้ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อน" นายระเฑียร กล่าว

          นายระเฑียร กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ เตรียมนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศอังกฤษ และยุโรป ในวันที่ 5-7 ก.ย. เพื่อที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากสถาบันต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ 5.8% ซึ่งบริษัทฯ ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากผลประบการที่ดีและเข้มแข็ง โดยที่ผ่านมาสถาบันต่างประเทศเคยถือหุ้น KTC สูงสุดเป็นสัดส่วนถึง 30% โดยปีนี้บริษัทฯ มีแผนโรดโชว์ยุโรป 1 ครั้ง สหรัฐ 1 ครั้ง ฮ่องกง 2 ครั้ง สิงคโปร์ 2 ครั้งและญี่ปุ่น 1 ครั้ง

          สำหรับการปรับเปลี่ยนระบบมาตรฐานบัญชีมาเป็น IFRS9 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.62 ซึ่งจากการที่ตลาดคาดการณ์มาตรฐานบัญชีใหม่นี้จะทำให้มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 30-50% ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระศึกษาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวบริษัทฯ แล้วเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการ เนื่องจากสำรองของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับการปรับมาตรฐานบัญชีใหม่

          นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ให้วันที่ 26-27 กันยายน เป็นวันหยุดต่อเนื่องจากวันเสาร์ อาทิตย์ที่ 24-25 กันยายน เพื่อให้มีวันหยุด 4 วัน เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศนั้น ในส่วนของตนเอง ต้องหารือกับกระทรวงอื่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ก่อน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะหากมีวันหยุด อาจจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วนภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ทางหน่วยงานรัฐก็ไม่ต้องประมาท

          "การท่องเที่ยวยังคงปกติ กระทรวงยังคงยืนยันเป้าหมายรายได้ที่ 2.41 ล้านล้านบาทในปีนี้อย่างแน่นอน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำหนดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยวไทย โดยได้มีการเร่งระดมวิธีการทำงานเชิงรุก และระดมทีมบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือดูแลนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ในทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวเห็นเจ้าหน้าที่ทำงานและคอยดูแลอย่างดี นักท่องเที่ยวทุกรายมีกำลังใจดี มีความเข้มแข็ง เข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังมีความรู้สึกที่ดีกับประเทศไทยจากการที่ได้ดูแลและเยียวยาในทุกมาตรการที่ไทยสามารถทำได้" นางกอบกาญจน์ กล่าว

จาก บ้านเมือง วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ศัตรูพืชรุมเจาะ"อ้อย-ถั่วเหลือง"

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

           ช่วงนี้อากาศชื้นมีฝนตกชุก กรมวิชาการเกษตร ขอเตือนเจ้าของสวนอ้อยช่วงอายุประมาณ 8 เดือน ซึ่งพบการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสหรือตั๊กแตนข้าว (พบในพื้นที่ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ระยะตัวเต็มวัยผสมพันธุ์และวางไข่) เช่นเดียวกับถั่วเหลือง ปลูกใหม่อายุไม่เกิน 14 วัน ให้ระวัง หนอนแมลงวันเจาะลำต้น และไม้ผลเขตหนาวอย่าง บ๊วยทุกช่วงระยะการเติบโต ให้ระวังโรค ราสนิม

ตั๊กแตนข้าว หรือปาทังก้าศตรูร้ายของอ้อย

          1.ตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (ตั๊กแตนข้าว) กัดกินอ้อย - ตัวเต็มวัยจะกัดกินที่ใบอ้อยเป็นรอยเว้าแหว่ง ถ้าระบาดมากจะเหลือแต่ก้านใบ ซึ่งตั๊กแตนจะกินพืชได้หลายชนิด ที่สำรวจพบมีข้าวอ้อย ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง หญ้าคา แฝก พง อ้อ ไผ่ ข้าวฟ่าง ใบมะพร้าว สาบเสือ หญ้าใบไผ่ หญ้าตีนติด ใบมันสำปะหลัง ละหุ่ง ปอแก้ว ใบมะพร้าว ใบข่า ใบสับปะรด และใบตะไคร้ ใน 1 ปี มีการขยายพันธุ์ 1 ครั้ง

         การป้องกันกำจัด :

                  1.ใช้กับดักเหยื่อพิษ เตรียมสารละลายเหยื่อพิษ (ประกอบด้วย สารฆ่าแมลง คาร์แทปไฮโดรคลอร์ไรด์ 50% เอสพี 20 กรัม : เกลือแกง 30 กรัม : แอมโมเนียม ไบคาร์บอเนต 30 กรัม : สารจับใบ 5 มิลลิลิตร : น้ำ 1,000 มิลลิลิตร) นำกระดาษชุบสารละลายเหยื่อพิษผึ่งลมให้แห้งไปวางในแปลงอ้อยบริเวณที่พบการระบาดของตั๊กแตน ให้ครอบคลุมพื้นที่จากขอบบริเวณที่มีการระบาดออกไปเป็นรัศมี 20 เมตร ใช้กับดักเหยื่อพิษในอัตรา 150-200 กับดักต่อไร่เสียบไว้ตามซอกใบอ้อย โดยมีระยะห่างระหว่างกับดักประมาณ 3x3 เมตร และวางกับดักใหม่ทุก 3 วัน

หนอนเจาะลำต้นถั่วเหลือง

                  2.นำมาบริโภคเป็นอาหาร โดยใช้ไฟส่องและจับในเวลากลางคืน (ห้ามนำตั๊กแตนจากพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี หรือใช้เหยื่อพิษมาบริโภค)

         2.หนอนแมลงวันเจาะถั่วเหลือง - โดยมันจะเข้าทำลายถั่วเหลืองตั้งแต่ระยะต้นกล้า เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจากไข่จะชอนไชตามเส้นใบไปที่ก้านใบเพื่อเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อของลำต้นที่บริเวณไส้กลางลำต้น การเข้าทำลายของมันจะทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองลดลงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

           การป้องกันกำจัด : คลุกเมล็ดถั่วเหลืองก่อนปลูกด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูเอสอัตรา 2 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม หรือ พ่นด้วยสารฆ่าแมลงไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน พ่นครั้งแรก เมื่อใบจริงคู่แรกคลี่เต็มที่หรืออายุประมาณ 7-10 วันหลังงอก

ศัตรูพืชรุมเจาะ"อ้อย-ถั่วเหลือง"

โรคราสนิม

          3.ราสนิมเข้าทำลายบ๊วย :  มักพบกับใบแก่โดยเริ่มแรกพบจุดสีเหลืองเล็กๆกระจายบริเวณผิวหน้าใบ เมื่อพลิกด้านใต้ใบ จะพบกลุ่มเชื้อราสีส้มคล้ายสีสนิม ลักษณะเป็นตุ่มนูน เมื่อตุ่มนี้แตกออกจะเห็นเป็นลักษณะฝุ่นสีน้ำตาลฟุ้งกระจาย เมื่อโรคระบาดรุนแรงจุดจะเชื่อมต่อกันทำให้เป็นแผลทั่วทั้งใบ ใบจะแห้งและร่วงทำให้ตาดอกไม่พัฒนา การติดผลน้อยลง,อาการบนกิ่งพบเป็นจุดนูนสีน้ำตาลกระจายทั่วกิ่ง,กิ่งจะแห้งตาย,อาการบนผลพบเป็นจุดนูนสีน้ำตาลเชื่อมติดกันทำให้เกิดแผลรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีตุ่มนูน

        การป้องกันกำจัด :

                   1.ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บใบและผลที่เป็นโรคที่ร่วงอยู่ใต้ต้น ไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกเพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม

                  2.พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ไดฟิโนโคนาโซล+โพรพิโคนาโซล 15%+15% อีซี อัตรา 15-20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือโพรพิโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซีอัตรา 15 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร เมื่อเริ่มพบการระบาดของโรค

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

แผนฯ ฉบับ12มุ่งพลิก"ดินเค็ม"พัฒนาเกษตร ทั่วไทย31ล้านไร่!

          เหลืออีกไม่กี่เดือนที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะประกาศใช้ในปี 2560-2564 ซึ่งในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ประเดิมในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 ในพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ บึงกาฬ มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำพู ซึ่งถือว่ามีสภาพดินเค็มระดับต่างๆ มากที่สุด กินพื้นที่ 11.73 ล้านไร่ หรือร้อยละ 34.11 จากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแพร่เกลือที่ส่งผลกระทบดินเค็มในภาคการเกษตรทั้งประเทศกว่า 31 ล้านไร่

           ล่าสุด สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 ได้จัดโครงการสัมมนาภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์ แผนงาน/โครงการจัดการพื้นที่ดินเค็ม ที่มีธรรมาภิบาลในภาคตะวันออกเฉียงหนือตอนบนเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 25-27 กรกฎาคม ที่โรงแรมประจักษ์ตรา อ.เมือง จ.อุดรธานี

           รศ.ดร.ประสิทธิ์ ประคองศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร สะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ว่า ประเทศไทยต้องเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก โดยเกษตรกรต้องปรับตัวเป็นการเกษตรแปรรูปเกษตรอินทรีย์ ที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในระดับซูเปอร์พรีเมียม ส่วนการผลิตเชิงปริมาณนั้นควรเป็นฐานผลิตของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเริ่มพัฒนาภาคการเกษตรมากกว่า เพราะประเทศไทยได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว

            ส่วนปัญหาของดินเค็มในภาคอีสาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาต่อไป แต่ส่วนตัวมองว่า ในอนาคตคนจะกินข้าวน้อยลง คนรุ่นใหม่จะหันไปบริโภคอย่างอื่น อาทิ โปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้น ฉะนั้นเกษตรกรควรหันมาทางปศุสัตว์โดยเฉพาะโคเนื้อ แพะ เป็นต้น แต่ต้องแปรรูปเป็นอาหารที่สำเร็จรูป โดยเกษตรกรต้องการเกษตรแบบสมบูรณ์แบบในตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูปและผู้จำหน่าย และผู้กำหนดราคาเองด้วย

            ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ระบุว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เรียบร้อยแล้ว เพื่อยกคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องของการพัฒนาดินเค็ม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อให้สถานีพัฒนาที่ดิน ทั้ง 8 สถานี ที่อยู่ในความรับผิดชอบ มาจัดทำยุทธศาสตร์จัดการดินเค็มในส่วนที่รับผิดชอบ เริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาในแต่ละพื้นที่ ศึกษายุทธศาสตร์ของแผนชาติ และกระทรวงเกษตรฯมาปรับทำเป็นแผนดำเนินการพัฒนาและจัดการทรัพยากรดินเค็ม ในอีก 5 ปีข้างหน้า ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นจะนำแผน 5 ปีมาถอดเป็นแผนแต่ละปี ว่าโครงการต่างๆจะต้องดำเนินการอย่างไร

          “วันนี้เป็นการนับหนึ่ง ของสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 แต่ทรัพยากรดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ในส่วนการรับผิดชอบของกรมพัฒนาที่ดิน ยังมีอีก 2 เขต คือ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 3 อยู่ที่ จ.นครราชสีมา และเขต 4 ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี ที่จะต้องมาจัดทำยุทธศาสตร์แผนงานโครงการในจัดการพื้นที่ดินเค็ม ในเขตรับผิดชอบ แต่ในความเป็นจริงปัญหาของดินยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นดินชะล้างพังทลาย ดินเปรี้ยว ดินพรุ ดินขาดความชุ่มชื้น ที่จะต้องแก้ปัญหาต่อไป” รองอธิบดีฯกล่าว

            ส่วน นายุภิญโญ สุวรรณชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 บอกว่า การพัฒนาดินเค็มในพื้นที่รับผิดชอบที่จะให้สอดคล้องตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 นั้น จะต้องบูรณาการและต้องระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยให้หน่วยงานให้ความรู้เป็นพี่เลี้ยง เกษตรกรต้องร่วมมือและขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน นำดินเค็มจัดหรือเค็มปานกลาง และเค็มน้อยมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งจากการดำเนินการประสบผลสำเร็จด้วยดี เกษตรกรสามารถใช้พื้นที่เคยเค็มมาเพาะปลูกที่ จากเดิมบางพื้นที่ไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย ปัจจุบันสามารถทำนา ปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ ยูคาลิปตัส สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

            ขณะที่ นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 กล่าวว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาดินเค็มในภาคอีสาน จะเน้นไปที่โครงการสร้างและรูปแบบของการพัฒนามากกว่าเมื่อผ่านจุดนั้นไปแล้ว ต่อไปต้องเน้นไปที่การพัฒนาคน ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเกษตรกร หลังจากพื้นที่หลายแห่งมีการสามารถเพาะปลูกพืชกันได้แล้ว ต้องหันมาพัฒนาในด้านคุณภาพ และที่สำคัญจะต้องบูรณาการร่วมกับกรมอื่นๆด้วย

           “การพัฒนานั้นเราต้องมองศักยภาพของดินเค็มด้วยว่าเราจะพัฒนาอย่างไร บางครั้งต้องดูด้วยว่าเมื่อดินเค็มมาก เราจะเสริมให้เกษตรกรหันมาประกอบอาชีพอย่างอื่นได้หรือไม่ ต้องทำงานอย่างบูรณาการกับกรมอื่นๆ อาทิ กรมปศุสัตว์ มาศึกษาด้วยกันว่า เลี้ยงเป็ดหรือเลี้ยงไก่ได้หรือไม่ หรือจะให้เกษตรกรปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ จะเป็นหญ้าสายพันธุ์ที่ปลูกในดินเค็มได้ เพื่อมาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคแทนการเพาะปลูก หรือกรมประมงมีสายพันธุ์ปลานิลที่ทนต่อน้ำเค็มได้หรือเปล่า ตอนนี้เราได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนมากขึ้น อย่างกลุ่มเอสซีจี จากเดิมที่ส่งเสริมให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส ตอนนี้ขยายการช่วยเหลือมาทำโครงการซีเอสอาร์ ขุดบ่อน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ขอนแก่น 6 บ่อ และที่ จ.อุดรธานีอีก 6 บ่อ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์ต่อไป” นางปราณี กล่าว

           นับเป็นก้าวใหม่ของกรมพัฒนาที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาดินเค็มให้ใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรได้มากที่สุดและอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

3 ฝ่ายร่วมลงนามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร

ธ.ก.ส.ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และโรงงานน้ำตาล ร่วมส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเตรียมวงเงินไว้ 9,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี 5 กรกฎาคม 2559

วันนี้ (16 ส.ค.) ณ กระทรวงอุตสาหกรรม มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โรงงานน้ำตาล เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร และ โดยมีนายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายประเดิมชัย จันทน์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. และตัวแทนจากโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมลงนาม

นายประเดิมชัย จันทน์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ธ.ก.ส. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร โดยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และสถาบันชาวไร่อ้อย ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย พร้อมทั้งจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรในไร่อ้อย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย ป้องกันปัญหาสภาวะภัยแล้ง และปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงเกษตรกรสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และการใช้เทคโนโลยีการเกษตร ตามแนวทางการดำเนินงานโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อ 3 ปี  ตั้งแต่บัดนี้ถึง 30 กันยายน 2561 ปีละ 3,000  ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท 

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

ยึดเรือประมงดัดแปลงขโมยน้ำตาลทรายดิบจากเรือใหญ่

        ศูนย์ข่าวศรีราชา - เจ้าหน้าที่สนธิกำลัง จับกุมเรือประมงดัดแปลงขโมยน้ำตาลทรายดิบจากโป๊ะ ก่อนส่งเรือสินค้าต่างประเทศเกือบ 100 กระสอบ แต่ผู้ต้องหาหลบหนีไปได้ จึงตรวจสอบลายนิ้วมือแฝงบนเรือประมงเพื่อหาตัวการใหญ่ เพราะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

                วันนี้ (16 ส.ค.) พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง พ.ต.อ.ชาติชาย ชาติเวช ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจน้ำศรีราชา พ.ต.อ.สงคราม เสงี่ยมพักตร์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเกาะสีชัง พร้อมด้วย นายสมนึก มั่นในบุญธรรม หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกันตรวจยึดเรือประมงดัดแปลง บริเวณเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี หลังก่อเหตุขโมยน้ำตาลทรายดิบจากเรือโป๊ะก่อนส่งให้แก่เรือสินค้าต่างประเทศ

                พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ชัยยง กีรติขจร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์โจรกรรมสินค้าทางน้ำ (ศปสน.ตร.) ได้มอบนโยบายการปราบปรามจับกุมแก๊งแมวน้ำ ในพื้นที่อยุธยา นนทบุรี กรุงเทพฯ และอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี โดยเมื่อเร็วๆ นี้ทางศูนย์ฯ ได้ตรวจยึดเรือโป๊ะ อำเภอบางไทร พร้อมได้ของกลางเป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 20 กระสอบ และจากการสอบสวนผู้ควบคุมเรือทราบว่า ได้นำสินค้าดังกล่าวมาจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จึงประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตำรวจน้ำศรีราชา ตำรวจเกาะสีชัง กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการตรวจสอบ

                โดยจากการตระเวนตรวจสอบของเรือตำรวจน้ำศรีราชา พบเรือประมงดัดแปลงขนาด 7-8 วา ไม่มีชื่อ และทะเบียนเรือจอดทอดสมอบริเวณเกาะสีชัง หลังศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ แต่ไม่พบลูกเรือแต่อย่างใด จึงนำเรือมาจอดบริเวณท่าเทียบเรือเกาะสีชังเพื่อทำการตรวจสอบ โดยจากการตรวจสอบพบน้ำตาลทรายดิบซุกซ่อนใต้ท้องเรือ จำนวน 98 กระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ 5 ตัน จึงยึดไว้ตรวจสอบ

                พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นยังประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจภูธรภาค 2 มาเก็บ DNA และลายนิ้วมือแฝงบนเรือประมงดัดแปลง เพื่อติดตามผู้ร่วมขบวนการ และผู้อยู่เบื้องหลังในครั้งนี้ เพื่อจะดำเนินการอย่างจริงจังต่อแก๊งแมวน้ำรายนี้ให้สิ้นซากต่อไป เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะส่งผลเสียต่อประเทศชาติ

                เบื้องต้น ได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเกาะสีชัง พร้อมยึดน้ำตาลทรายดิบ และเรือประมงดังกล่าวไว้เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

                นายสมนึก มั่นในบุญธรรม หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับสินค้าที่ถูกขโมยในครั้งนี้จะมีมูลค่าไม่มากนัก แต่เป็นความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติ เพราะน้ำตาลทรายดิบหากไปส่งยังต่างประเทศแล้วไม่เป็นไปตามออเดอร์ที่สั่งไว้จะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อถือประเทศไทย และอาจจะไปซื้อน้ำตาลทรายดิบจากประเทศอื่น หรือเปลี่ยนสัญญาซื้อขาย ส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ

        ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบจะต้องออกกวาดล้างอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ขบวนการนี้หมดไปจากประเทศ เพื่อให้การซื้อขายน้ำตาลทราย หรือสินค้าอื่นๆ มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

 จาก http://manager.co.th วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

อุตฯทำแผนพิมพ์เขียวให้แล้วเสร็จในต.ค.

อุตฯ เร่งจัดตั้งคณะทำงานย่อยปรับปรุงโครงสร้าง ทำแผนพิมพ์เขียวพัฒนาอุตฯ ให้แล้วเสร็จใน ต.ค.

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานปรับโครงสร้างและบทบาทภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัดกระทรวง ไปหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานย่อย และกลุ่มงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกำกับดูแล การส่งเสริมสนับสนุน แผนงานยุทธศาสตร์ และงานต่างประเทศ เพื่อทบทวนและปรับปรุงโครงสร้างหน้าที่และภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และนโยบายรัฐบาลภายใต้กรอบ ไทยแลนด์ 4.0 โดยกำหนดให้ส่งรายชื่อคณะทำงานย่อยกลับมาภายในวันพฤหับดีนี้ (18 ส.ค.) จากนั้นจะให้คณะทำงานเร่งหารือแผนพิมพ์เขียวในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบอุตสาหกรรม สู่ Thailand 4.0 รวมถึงนโยบายการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยกำหนดแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

สศอ.เสนอ 5 มาตรการดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตไบโอพลาสติก

        นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง สามารถรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้ ขณะที่งานวิจัยเทคโนโลยีวัตถุดิบและกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยส่วนมากอยู่ในระดับปฏิบัติการ ยังไม่รองรับในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตได้ยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกเดิมที่ผลิตจากปิโตรเลียม และแนวโน้มกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดแนวทาง หรือมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

                ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน โดยส่งเสริมการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดการใช้วัตถุดิบการเกษตรภายในประเทศในการแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ/การคอมพาวดน์พลาสติกชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาสมบัติของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้สามารถรองรับการนำไปใช้งานต่างๆ ได้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดการวิจัยสมบัติของพลาสติกชีวภาพที่สอดรับกับสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง

                นอกจากนี้ ควรส่งเสริมตลาดภายในประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเพิ่มความสามารถด้านการลดต้นทุนต่อหน่วยผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมถึงก่อให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการ Green Tax Credit ที่สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ผลิตภายในประเทศ

                ขณะเดียวกัน ควรกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในตัวสินค้าพลาสติกชีวภาพจากการส่งออกและการใช้ภายในประเทศ ซึ่งการกำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเป็นมาตรการที่ไม่เพียงจำเป็นต่ออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นมาตรการที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และควรวางแนวทางการบริหารจัดการขยะพลาสติกชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ โดยก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด เช่น มาตรการบังคับใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในพื้นที่นำร่อง อาทิ เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ผลดีของการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพให้เป็นที่เข้าใจอย่างแพร่หลาย

                สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงก้าวแรกเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพประมาณ 500 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีประมาณ 42 ราย และเริ่มดำเนินการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากน้ำตาล ที่จังหวัดระยอง ในปลายปี 2559 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 20,000 ตัน ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้       

        อย่างไรก็ดี พลาสติกชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคต เพราะเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบกับในปัจจุบันมีมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ของต่างประเทศ ที่สนับสนุนเพิ่มมากขึ้น อาทิ การห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกทั่วไปของฝรั่งเศส การอนุญาตและส่งเสริมให้ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพของอิตาลี หรือการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของสหรัฐอเมริกา โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 มูลค่าความต้องการพลาสติกชีวภาพทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.9 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 20 โดยภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพในสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพของโลกที่มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 6.73 ล้านตัน 

จาก http://manager.co.th วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

ฝนมาเติมน้ำ4เขื่อนหลัก 

กรมชลประทานระบุสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักดีกว่าปี 2558 เหตุฝนมาตามฤดูกาล

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ที่สำคัญขณะนี้ มีปริมาณน้ำในภาพรวมดีขึ้นกว่าปี 2558 โดยลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การได้อยู่ 2,813 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้ 685 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7% เขื่อนสิริกิติ์ 1,511 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% เขื่อนแควน้อย 338 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 279 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% รวม 4 เขื่อนคิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 15%

          ทั้งนี้ สาเหตุที่มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกมากในช่วงที่ ผ่านมา ซึ่งเป็นฤดูฝน โดยสถานการณ์น้ำปัจจุบันมีปริมาณฝนมากในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและน่าน จึงขอเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและน่านระวังน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องฝนพาดผ่านภาคเหนือตอนบน

          นอกจากนี้ กรมชลชลประทานยังได้แจ้งเตือนทุกจังหวัดตลอดลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยมและปิง เช่น จ.สุโขทัย ต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่จะมาจาก จ.พะเยา ในขณะที่ จ.เชียงใหม่ให้เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในภาคเหนือ ทำให้ได้น้ำเข้าเขื่อนสิริกิติ์ 55 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้พื้นที่ใน จ.น่านมีปัญหาน้ำท่วมจากปริมาณฝนตกหนักเกือบทุกอำเภอ มีปริมาณสูงสุดวัดได้ที่ อ.ปัว มากถึง 188 มม. ทำให้แม่น้ำน่านล้นตลิ่งมีปริมาณ น้ำไหลบ่าเข้าตัวเมืองเกิดน้ำท่วมมาก แต่จะเป็นการล้นตลิ่งในเวลาสั้นๆ ซึ่งระยะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝนไปจนถึงปลายเดือน ก.ย.

          "ปริมาณน้ำหลากก้อนนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มภาคกลาง และยังไม่มีผลกระทบกับนาข้าวในเขตชลประทาน มั่นใจว่าปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แน่นอน แต่จะมีท่วมเฉพาะจุดเพราะฝนตกหนักเป็นบางพื้นที่ เพราะแนวโน้มฝนยังไม่มาก ปริมาณฝนภาคเหนือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5%" นายสุเทพ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปดูสถานการณ์น้ำที่เขื่อนภูมิพล โดยขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้รวม 33 เขื่อนใหญ่ ยังน้อยกว่าปี 2558 อยู่ปริมาณ 466 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

กรมชลฯเร่งรัดเดินหน้าบูรณาการ แก้ไขปัญหาพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญ

          นายสัญชัย เกตุวรชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) กรมชลประทาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ โดยมีคณะผู้บริหารกรมชลประทาน และผู้บริหาร ผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมหารือด้วยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากข้อหารือร่วมระหว่าง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับพลเอกสุรศํกดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งประเด็นการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งน้ำ สำหรับการประชุมครั้งนี้มีคณะผู้บริหารกรมชลประทานแล้ว ยังมีผู้แทนกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกรมทรัพยากรธณรมชาติทางทะเลและชายฝั่งและกรมทรัพยากรน้ำเข้าร่วมประชุมด้วย.

          "แต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายกำกับอยู่ เช่น กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งและกรมทรัพยากรน้ำเข้าร่วมประชุมด้วย.

          "แต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายกำกับอยู่ เช่น กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งกรมชลประทานเองในฐานะผู้ขอใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำก็ทำตามกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว เพียงแต่จะขอความร่วมมือเร่งรัดในแต่ละขั้นตอนให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำงานพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นได้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้งานพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นได้รวดเร็วนามนโยบาย" นายสัญชัยกล่าวในที่สุด

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 สิงหาคม 2559 

นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการต่าง ๆ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

             นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการต่าง ๆ ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ดังนี้

          - โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 รูปแบบที่ 2 (บ้านน้ำดื่ม) ณ โรงเรียนบ้านกรับใหญ่ หมู่ 5 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาล - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีคณะอาจารย์และบุคลากร จำนวน 11 คน นักเรียน 122 คน ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เมื่อได้รับโครงการฯ แล้ว ทำให้มีน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ

          - โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 รูปแบบที่ 2 (เทอร์ไบน์) ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร กว่า 100 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง และอ้อย เมื่อได้รับโครงการฯ แล้ว ทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ณ บ้านปากชักหนองบัว หมู่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

          - โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยการนำบ่อน้ำบาดาลมาต่อยอดระบบประปาหมู่บ้าน เนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ณ บ้านห้วยรวก หมู่ 6 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 สิงหาคม 2559   

BRR สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตรับจังหวะราคาน้ำตาลโลกขาขึ้น หนุนผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังเติบโตแข็งแกร่ง 

           'บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์' หรือ BRR เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งด้านผลผลิตอ้อยในรอบการผลิตปี 2559/2560 ตั้งเป้ามีอ้อยเข้าหีบกว่า 2.5 ล้านตันและผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ราว 280,000 ตัน รับจังหวะราคาตลาดโลกพุ่ง เร่งส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่ลูกค้า หนุนผลการดำเนินงานเติบโตแข็งแกร่ง มั่นใจภายใน 2 ปีผลผลิตอ้อยเข้าหีบแตะ 3 ล้านตันและผลผลิตน้ำตาลทราย 350,000 ตัน ช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในระยะยาว ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 ทำรายได้รวม 1,208 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 41.5 ล้านบาท

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แผนการผลิตน้ำตาลทรายของรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 บริษัทฯ คาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 280,000 ตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2.5 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ย (ยิลด์) อยู่ที่ 115 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หลังจากบริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมด้านการเพาะปลูกอ้อยที่มีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็น 200,000 ไร่ รอบรัศมีโรงงาน 40 กิโลเมตร เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพผลผลิตอ้อยและการจัดส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงานที่ยังสามารถคงคุณภาพได้ดีที่สุด หวังสร้างมูลค่าสูงสุดที่ได้จากการเพาะปลูกอ้อย

          ทั้งนี้ จากภาพรวมผลผลิตในรอบการผลิตดังกล่าว บริษัทฯ มองว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ จะสามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากธุรกิจจำหน่ายน้ำตาลทรายซึ่งสอดรับกับจังหวะราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงปรับตัวขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจน้ำตาลทรายของกลุ่ม BRR ให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทนก็จะมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

          "เรามีแผนสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง โดยจากการดำเนินการเพาะปลูกอ้อยในปีนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านผลการดำเนินงานของ BRR ในระยะยาวมีการเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งเราวางเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 3 ล้านตันอ้อยและจะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ถึง 350,000 ตัน ซึ่งจะทำให้รายได้จากธุรกิจจำหน่ายน้ำตาลทรายของ BRR เติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต" นายอนันต์ กล่าว

          สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 (เมษายน-มิถุนายน) บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,208 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 41.5 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมรายได้ในครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,704 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 167 ล้านบาท

          ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า ตอนนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเม็ดเงินทุนที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการเตรียมการสำหรับก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จำนวน 2 โรง ได้แก่ ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ กำลังการหีบอ้อยโรงงานละ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน โดยหลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว BRR จะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน และบริษัทฯ ยังจะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนอีกด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

GGC เผยแผนกลยุทธ์ ขยายตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ผู้นำระดับโลก เตรียมเดินหน้าผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ พร้อมสนับสนุนนโยบาย New S-curve ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

           บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม ของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เผยแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนบริษัท มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก ทั้งการเพิ่มกำลังการผลิตไบโอดีเซลที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้น การเตรียมนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ (specialty oleochemicals) และเดินหน้าศึกษาการขยายไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ขานรับนโยบายรัฐในการผลักดันการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)

ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน GGC เตรียมพร้อมรับมือความต้องการพลังงานชีวภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของรัฐบาล ด้วยแผนการเปิดโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์ (Methyl Ester) หรือ ไบโอดีเซล (บี100) แห่งที่สองที่จังหวัดชลบุรี เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

          นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "กว่าทศวรรษแห่งความสำเร็จในการพัฒนาและบุกเบิกตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันGGC เป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลชั้นนำ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 26 และมีอัตราการเติบโตที่น่าพอใจทุกปี เพื่อเป็นการตอบสนองต่อแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล หรือ AEDP 2015 (Alternative Energy Development Plan) ซึ่งมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในระยะยาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง GGC จึงได้ขยายกำลังการผลิตด้วยการเปิดโรงงานไบโอดีเซลแห่งที่สอง ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี บนเนื้อที่ 30 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขานรับนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) ในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ซึ่งกำหนดให้มีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต รวมถึงเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bioeconomy) อีกด้วย"

          โรงงานผลิตไบโอดีเซลแห่งที่สองนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200,000 ตันต่อปี เมื่อรวมกับโรงงานแห่งแรก GGC จะมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลรวมถึง 500,000 ตันต่อปี และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่เลือกใช้ในโรงงานแห่งใหม่นี้ คาดการณ์ว่าจะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตโดยรวมต่ำลงและมีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น

          นอกจากการเป็นผู้นำในตลาดไบโอดีเซลแล้ว GGC ยังเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอลส์เพียงรายเดียวในประเทศไทย ภายใต้เครื่องหมายการค้า THAIOL ซึ่งดำเนินการผลิตโดย บริษัท ไทยแฟตตี้ แอลกอฮอลส์ จำกัด บริษัทในกลุ่มของ GGC โดยแฟตตี้แอลกอฮอลส์นี้เป็นผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีขั้นพื้นฐาน ที่ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน แชมพู ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปภายในครัวเรือน ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มอุตสาหกรรมโอลีโอเคมีในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต่อปี รวมทั้งยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีทีมีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงมากขึ้น GGC จึงได้ศึกษากลยุทธ์ทางการตลาด และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการต่อยอดการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ (Specialty Oleochemicals) โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าและตอบสนองแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดแผนกลยุทธ์ปูทางสู่ความเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก GGC เตรียมศึกษาการขยายฐานการผลิตจากปาล์มน้ำมันไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมโดยการสร้าง "ไบโอคอมเพล็กซ์" (Biocomplex) เพื่อเตรียมพร้อมรุกสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) และ เคมีชีวภาพ (Biochemicals)

          "บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อสร้างไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมธุรกิจ ประกอบไปด้วย โรงผลิตน้ำอ้อย โรงงานเอทานอล โรงงานพลังงานชีวภาพ (Bio-Power) โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากอ้อยและปาล์ม) เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย และทำให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยพบว่าแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว คือ การลงทุนโรงงานผลิตในลักษณะที่มีการเชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบและระบบสาธารณูปการกับโรงหีบอ้อยหรือโรงหีบปาล์ม ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตฯ และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยใช้หลักการพึ่งพาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ซึ่งกันและกัน เป็นการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบจากการที่โรงงานผลิตอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา ความเป็นไปได้โครงการและพิจารณารูปแบบการลงทุนเพื่อเดินหน้าผลิตพลาสติกชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพในอนาคต" นายจิรวัฒน์ กล่าวเสริม

          ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงงานผลิตในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินลงทุนโครงการและต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการตั้งโรงงานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป โดยในการพัฒนาไบโอคอมเพล็กซ์ที่มีความยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้จะประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลักและผลิตภัณฑ์พลอยได้ คือ เชื้อเพลิงชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ และไฟฟ้าชีวมวล (Biomass Power) นอกจากนี้ GGC ยังมองว่า การลงทุนสร้างไบโอคอมเพล็กซ์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการตอบรับนโยบายของรัฐบาล เพื่อเปิดให้มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพของประเทศต่อไปในอนาคตอีกด้วย

          นอกจากการขยายกำลังการผลิตและการต่อยอดธุรกิจแล้ว GGC ยังได้พัฒนาแหล่งวัตถุดิบปาล์มน้ำมันด้วยการสนับสนุนและผลักดันกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เช่นพื้นที่จังหวัดสกลนคร บึงกาฬ และนครพนม ให้หันมาทำเกษตรกรรมสวนปาล์ม โดยมีการควบคุมการผลิตอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน The Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือRSPO ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโลก

"ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ และประสบการณ์กว่า 10 ปีในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ GGC พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อันจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป" นายจิรวัฒน์ กล่าวสรุป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯจัดเวทีถกชาวไร่อ้อย-โรงงาน18ส.ค.นี้ หวังดันลอยตัวราคาน้ำตาลชงครม.เคาะก.ย.

          ผู้จัดการรายวัน360 - กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเปิดเวทีสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 18 ส.ค.นี้ ก่อนนำสู่เข้าพิจารณาใน กอน.และยื่น "ครม." เคาะภายใน ก.ย.จับตาแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหลังพาณิชย์ไฟเขียว ชาวไร่-โรงงานประสานเสียงไทยหนีไม่พ้นแต่รายละเอียดยังเห็นต่าง หวังแผนจะได้ข้อยุติป้องบราซิลฟ้อง WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนชาวไร่

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันที่ 18 สิงหาคมนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรวบรวมความเห็นก่อนนำสู่การพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)วันที่ 30 ส.ค.และเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ก.ย. โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องสรุปคือแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

          แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานคงจะต้องดูประเด็นว่าที่สุดจะมีการนำข้อคิดเห็นต่างๆไปรวบรวมเพื่อนำเสนอกอน. และ ครม.อย่างไร เพราะหากยังยึดหลักการเดิมที่หารือกันคือการนำผลผลิตทุกอย่างที่ออกจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ฯลฯ มาแบ่งปันผลประโยชน์ระบบ 70-30 โรงงานคงไม่เห็นด้วยเพราะทุกอย่าง ได้มาจากการลงทุนต่อไปจะทำให้โรงงานไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างฯเป็นเรื่องใหญ่ต้องรอบคอบไม่ใช่เร่งรีบ ส่วนเรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นหลักการเห็นด้วยอยู่แล้วและทางโรงงานได้เสนอมาโดยตลอดแต่ที่ผ่านมารัฐก็ไม่มีการพิจารณาเพราะรายละเอียดมีมากที่ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะจะเอาราคาไหนไปคำนวณราคาอ้อย เป็นต้น

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงฯจะต้องเร่งสรุปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอ ครม.หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนดให้เร่งดำเนินการภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่ มิ.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกมากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกลงมาถึงเฉลี่ยที่ประมาณ 13-15 เซนต์ ในช่วงที่ผ่านมาและทำให้บราซิลเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท.

จากhttp://manager.co.th   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ผ่าโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดสมชายตั้งทีมชี้ชะตายุบ-แยก6กรม1รัฐวิสาหกิจ 

          "ปลัดสมชาย" ตั้งทีมคนรุ่นใหม่ลุยผ่าโครงสร้างสังคายนากระทรวงอุตสาหกรรม วางกรอบ 3 เดือนสรุปแผนบทบาทใหม่โยก-ยุบกรม เสนออรรชกาก่อนชง นายกฯประยุทธ์ต่อไป

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกาลชั่วคราวขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อเสนอความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างการทำงาน และบทบาทหน้าที่ใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับโครงสร้างสถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัดกระทรวงอีก 11 สถาบัน โดยอาจต้องมีการโยกย้าย ยุบรวม หรือแยกบางส่วนออกมาตั้งเป็นอีกหน่วยงานขึ้นมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 รวมถึงนโยบายการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยจะนำรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาศึกษาพิจารณา ซึ่งมีกรอบเวลาทำงานภายใน 3 เดือน ก่อนจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

          "นี่คือหนึ่งในยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมระยะเร่งด่วน ที่ถูกกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ปี ซึ่งต้องการให้บทบาทของแต่ละหน่วยงานในกระทรวง ทำหน้าที่ทั้งกำกับดูแล ควบคู่กับการเป็นฝ่ายสนับสนุนส่งเสริม ดังนั้นกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีในปัจจุบัน อาจต้องโยกย้าย ยุบรวม หรือแยกบางส่วนออกมาตั้งเป็นอีกหน่วยงานขึ้นมา เช่น อาจโยกให้ส่วนตรวจสอบออกใบอนุญาตแยกออกมาตั้งเป็นอีกสำนักงาน เพื่อดูแลเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาต หรืออาจแยกงานด้านส่งเสริมของแต่ละกรมมารวมไว้ที่ กสอ.เพียงกรมเดียว ทุกอย่างยังเป็นแนวคิดที่ยังไม่ตกผลึก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อให้กระทรวงมีบทบาทใหม่ ขับเคลื่อนงานให้คล่องตัวและตรงกับนโยบายรัฐมากขึ้น"

          สำหรับคณะทำงานชุดปรับโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นข้าราชการรุ่นใหม่ ประกอบด้วย นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน, นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระดับซี 10, นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ระดับซี 10, นายอดิทัต วะสีนนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ระดับซี 9, นางสาวนันท์ บุญยะฉัตร วิศวกรโลหะการชำนาญการ สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ระดับซี 7

          หลังการประชุม คณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลผลิต นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (Spring Board) ได้พิจารณาการปรับโครงสร้าง สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.) ประกอบด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน การกำหนดมาตรฐาน การรับรองระบบงาน ตรวจโรงงาน เพิ่มจำนวนหน่วยตรวจและหน่วยรับรองมาตรฐาน เป็นต้น

          ถ่ายโอนภารกิจมารวมอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรฐานเป็นหน่วยงานเดียว (Single Agency) จากเดิมเป็น Single Network ซึ่งจะเสร็จภายในปี 2561 เบื้องต้นวางไว้ 2 แนวทาง คือ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เดิมอยู่ภายใต้ สมอ.จะปรับมาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือมาเป็นสำนักงานสังกัดภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและขึ้นตรงกับรัฐมนตรี

          นอกจากนี้ยังพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จากหน่วยงานปฏิบัติเป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์ ภารกิจคือประเมินโอกาสของผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางและบูรณาการในการส่งเสริมทุกส่วนทั้งอุตสาหกรรม เกษตร การค้าและบริการร่วมกัน กำหนดทิศทางและจัดทำแผนในการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงรายสาขาคลัสเตอร์ คาดว่าจะสรุปโครงสร้างใหม่ในการประชุมครั้งต่อไป จากการประชุม Spring Board ดังกล่าวเป็นการเริ่มปรับบทบาทหน่วยงานในกระทรวง จากนี้จะเริ่มเห็นภาพโครงสร้างและบทบาทใหม่ที่ชัดเจนขึ้น

          นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุม Spring Board ว่า โครงสร้างบางหน่วยงานต้องถูกปรับให้รองรับกับงานทั้งประเทศ ไม่จำเป็นว่าจะต้องดูเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ต้องรวมภาคบริการเข้าไปด้วย เพื่อมาช่วยกันผลักดันส่งเสริมให้ครอบคลุม เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตฯจะเปลี่ยนมาเป็นสถาบันส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ ระหว่างนี้เอกชนจะกลับไปหารือบทบาทว่าจะสนับสนุนงานกันอย่างไร ภายใน 2 สัปดาห์จะสรุปรูปแบบภารกิจที่ชัดเจน

          แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาแล้วหากแนวคิดดังกล่าวเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงจะใช้วางเป็นเพียงแนวทางไว้เท่านั้น แต่หากมีความเป็นไปได้ในงานส่วนใดที่ต้องเพิ่ม โยกย้าย หรือยุบบางหน่วยงาน จึงจะกลับไปแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรืออาจใช้มาตรา 44 เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ กระทรวง

          สำหรับยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม 20 ปี ที่อยู่ระหว่างการร่างเพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.นี้ ประกอบไปด้วย 3 งานหลัก คือ 1.ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วยปัญญา เน้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.ปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างองค์กรเพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 3.เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก

          "การตั้งทีมคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ช่วยกันคิดแก้กรอบโครงสร้างเดิม ๆ แม้ก่อนนี้จะมีทีมเดิมที่วางกรอบบทบาทของกระทรวงอยู่แล้ว แต่เพราะยังห่วงโครงสร้างเดิมตาม พ.ร.บ.บทบาทงานจึงขยับเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่มาก"

          ปรับโครงสร้าง - กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับโครงสร้างการทำงานของ 3 สำนักงาน กรม 1 รัฐวิสาหกิจ11 สถาบันภายใต้สังกัดกระทรวงฯ เพื่อให้สอดรับกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์รุกเจรจาความตกลงRCEP

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทาง เศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) ครั้งที่ 14 ที่นครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่าง 10-19 ส.ค. 2559 เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้ร่วมประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 4 ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 48 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยที่ประชุมได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าของการเจรจา RCEP ซึ่งจะมุ่งไปสู่การเปิดเสรีการค้าทุกมิติ และเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่จะสรุปสาระสำคัญ ของความตกลง RCEP ภายในสิ้นปี 2559

โดยที่ประชุมรัฐมนตรีได้วางแนวทางให้ คณะเจรจาของประเทศสมาชิกใช้ความพยายามในการเจรจาตอบสนองต่อความต้องการของ แต่ละประเทศ แต่ควรให้ความยืดหยุ่นซึ่งกันและกันภายใต้หลักการการเปิดเสรีอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายในการขยายการค้า การลงทุน การสร้างงานและการเชื่อมโยง RCEP กับการค้าโลก โดยการประชุมครั้งนี้สมาชิกจะต้องเจรจาตกลงกันให้ได้ผลลัพธ์ เป็นที่น่าพอใจกับทุกฝ่ายและจะนำผลการประชุมรายงานต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน ในเดือน ก.ย. 2559 ต่อไป

“ไทยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในอาเซียนเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับคู่ค้าในประเทศต่างๆ ขณะที่ไทยยังมีจำนวนความตกลงเอฟทีเอไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่น ด้วยเหตุนี้ หากสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลง RCEP ได้โดยเร็วจะเป็นประโยชน์กับไทยอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดความได้เปรียบทางการค้าจากความตกลงเอฟทีเอฉบับอื่นอีกด้วย

ทั้งนี้ การประชุม RCEP-TNC จะเป็นการประชุมเต็มรูปแบบของคณะทำงานและคณะทำงานย่อยทั้งหมด โดยจะมีการเจรจาประเด็นต่างๆ ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย การแข่งขัน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน โทรคมนาคม และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : สวพ.2แนะเทคนิคการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช

ในขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ และรัฐบาลก็ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการประกันราคา ทางรอดของเกษตรกรจึงมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง และวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นได้อย่างเด่นชัดและแน่นอน คือ การใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพราะในปัจจุบันเกษตรกรส่วนมากยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกสูตร ไม่ถูกเวลา และปริมาณไม่ถูกต้อง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำและมีต้นทุนการผลิตที่สูง

นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ได้กล่าวว่า การที่เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้นเกษตรกรจะต้องมีความรู้เรื่องปุ๋ย สูตรปุ๋ย ธาตุอาหารและหน้าที่ของธาตุอาหารพืช การใช้ปุ๋ยให้ถูกสูตร ถูกเวลา ถูกวิธีและถูกปริมาณ และสุดท้ายการผสมปุ๋ยใช้เอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปุ๋ย หมายถึง วัตถุหรือสารที่ใส่ลงในดิน หรือพ่นทางใบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช และพืชนำไปใช้ประโยชน์ได้

สูตรปุ๋ย ก็คือ ตัวเลข 3 ตัวที่มีขีดคั่นระหว่างตัวเลข เพื่อแสดงถึงปริมาณธาตุอาหารที่รับรองว่ามีอยู่ในปุ๋ยตามกฎหมาย โดยตัวเลขจะหมายถึงร้อยละโดยน้ำหนักของธาตุอาหารไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) และโพแทสเซียม (เค) ตามลำดับ ไม่มีการสลับที่ เช่น ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หมายความว่า ปุ๋ยน้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีธาตุอาหารเอ็น 16 กิโลกรัม พี 20 กิโลกรัม และ เค 0 กิโลกรัม ดังนั้น ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หนึ่งกระสอบ ซึ่งมีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม จะมีธาตุเอ็น 8 กิโลกรัม พี 10 กิโลกรัม และไม่มีเค อยู่เลย

นอกจากปริมาณธาตุอาหารเอ็น พี เค ที่มีอยู่ในสูตรปุ๋ยแต่ละสูตรแล้ว เกษตรกรควรจะต้องรู้จักหน้าที่ของธาตุอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชด้วย กล่าวคือ ธาตุอาหารเอ็น จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและตั้งตัวได้ไว โดยเฉพาะในระยะแรกของการเจริญเติบโต การเจริญของลำต้น ใบ ทำให้ต้นและใบมีสีเขียว ควบคุมการออกดอก ติดผล เพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะพืชกินใบและต้น ส่วนพี จะช่วยกระตุ้นการสร้างรากในช่วงแรกของการเติบโต การตั้งตัวของพืช การแตกกอ การสร้างตาดอกและเมล็ด ขยายขนาดเมล็ด และการสุกแก่ ในขณะที่เค ช่วยในการดูดน้ำและอาหาร และขนส่งไปส่วนต่างๆ ของลำต้น ทำให้พืชแข็งแรง ต้านทานโรค กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงช่วยการสะสมอาหาร เพิ่มน้ำหนักและคุณภาพของผลผลิต

นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ยังได้แนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญที่เกษตรกรควรทราบและนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) ถูกสูตร คือการใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักให้ครบ 2) ถูกเวลา คือใส่ปุ๋ยให้ทันกับความต้องการของพืช จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3) ถูกวิธี ใส่แล้วกลบ หรือใส่เมื่อดินมีความชื้นพืชได้รับปุ๋ยเต็มที่ ลดการสูญเสีย และ 4) ถูกปริมาณ ให้มีปริมาณธาตุอาหารให้พอเพียงกับความต้องการของพืช โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

1) ถูกสูตร การใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเอ็น พี เค ครบทั้ง 3 ตัว เพราะธาตุอาหารแต่ละตัวไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้ และถ้าใส่ครบทั้ง 3 ตัว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละตัวให้ดีขึ้น

2) ถูกเวลา การใส่ปุ๋ยให้ทันต่อการเจริญเติบโต หรือทันกับความต้องการของพืชจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยทั่วไปในพืชล้มลุก เช่น พืชไร่หรือพืชผัก จะแบ่งใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยรองพื้นพร้อมปลูก โดยใส่ปุ๋ยเอ็นครึ่งหนึ่งของคำแนะนำ ปุ๋ยพีใส่รองพื้นครั้งเดียวทั้งหมด ส่วนปุ๋ยเคจะใส่รองพื้นครั้งเดียวทั้งหมดหรือแบ่งใส่ 2 ครั้งก็ได้ ครั้งที่ 2 เมื่อพืชมีอายุประมาณ 25-30 วัน หรือพร้อมกับการกำจัดวัชพืช โดยใส่เฉพาะเอ็น และเค ที่เหลือ

เหตุผลที่ต้องแบ่งใส่ปุ๋ยเอ็น 2 ครั้ง เนื่องจากพืชต้องการใช้เอ็นตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต และสูญเสียไปกับน้ำได้ง่าย จึงควรแบ่งใส่เท่าๆ กัน ในขณะที่ปุ๋ยพี พืชต้องการใช้ในการสร้างราก การตั้งตัว การแตกกอ การสร้างรวงและเมล็ด โดยพืชจะค่อย ๆ ดูดไปสะสมในลำต้นและใบก่อนนำไปใช้ ในขณะเดียวกันปุ๋ยพีเคลื่อนย้ายได้น้อยและสะสมในดิน จึงไม่ต้องห่วงว่าจะสูญเสียไปกับน้ำ ดังนั้นจึงควรใส่ปุ๋ยพีให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทันใช้ โดยใส่ครั้งแรกทั้งหมดครั้งเดียว ในส่วนของปุ๋ยเค พืชต้องการมาก สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง จึงควรใส่ปุ๋ยเคให้เร็วที่สุด โดยใส่ครั้งแรกทั้งหมดครั้งเดียวพร้อมกับปุ๋ยพี หรือแบ่งใส่ 2 ครั้ง เท่าๆ กัน

3) ถูกวิธี คือใส่แล้วกลบ ทำให้พืชได้รับปุ๋ยเต็มที่ ลดการสูญเสียจากระเหิด ในการใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ถ้าไม่สามารถกลบได้ให้ใส่เมื่อดินมีความชื้น

4) ถูกปริมาณ ใส่ปุ๋ยให้มีปริมาณธาตุอาหารเอ็น พี และ เค เพียงพอกับความต้องการ โดยใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร การใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอกับความต้องการของพืชไม่สามารถยกระดับผลผลิตของพืชให้สูงขึ้นได้

การผสมปุ๋ยใช้เอง โดยการนำแม่ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 มาผสมกันให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามที่ต้องการ นอกจากจะทำให้เกษตรกรสามารถใส่ธาตุอาหารได้ตรงตามปริมาณที่พืชต้องการแล้ว การผสมปุ๋ยใช้เองยังช่วยให้ประหยัดค่าปุ๋ยลงได้อย่างน้อย 20-30% เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยสูตร ช่วยลดแรงงานค่าใส่ปุ๋ย และลดค่าขนส่งได้อีกด้วย

สัปดาห์นี้ของกระทรวงเกษตรฯ ต้องบอกว่าเป็นอีกสัปดาห์ของการขับเคลื่อน ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงเทศกาลการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ ทั้งระบบ ก็ว่าได้  โดยเรื่องแรกที่ชาวกระทรวงเกษตรฯ ถามกันหนาหูก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ  เพราะงานนี้มีการเกษียณอายุราชการกว่า 11 ตำแหน่ง แว่วว่า ท่านๆ ผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรฯ บอกว่าจะเสนอ  ครม. ในสัปดาห์นี้ ส่วนจะเอาอย่างไร หรือจะเข้าครม. จริงหรือไม่ ต้องรอดูในอังคารนี้ ที่สำคัญงานนี้ ยังแว่วว่า บางกรมมีผู้บริหารถูกเรื่องร้องเรียนบางเรื่อง ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และอาจมีสิทธิ์โดนโยกก่อนเพื่อนไปนั่งในตำแหน่งพิเศษแถวทำเนียบก่อนใคร ซึ่งหากเป็นดังนั้น ต้องบอกว่าฟ้ามีตาจริงๆ...สาธุ

จากนี้ไปคงต้องรอดูอย่างใจจดใจจ่อของคนแต่ละกรมว่าจะมีนายใหม่เป็นใคร เพราะเรื่องของการทำงานจากนี้ไป คงขึ้นอยู่กับฝีมือคนคัดเลือกว่าจะเอาใคร มานั่งกุมบังเหียนแต่ละกรม ต้องฝากไว้ในมือของ  3 อรหันต์ กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้คัดเลือก ก่อนหน้านี้ มีข่าวลือสะพัดว่า ท่านรัฐมนตรี  “ฉัตรชัย สาริกัลยะ” เป็นคนทำงานไวว่อง คล่องแคล่ว ฉับไว  หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็จะมีการโยกย้ายหาคนเข้ามาทำงานเป็นมือไม้ ขับเคลื่อนให้งานเดินหน้า ร่ำลือมาว่าอย่างนั้น จึงได้เห็นช่วงแรกๆ ที่ท่านรัฐมนตรีเข้ามานั่งในกระทรวงเกษตรฯ ข้าราชการระดับหัวแทบทุกกรม ทำงานอย่างแข็งขัน และแล้วก็ไม่เป็นดังนั้น จึงเห็นการทำงานแบบอยู่อย่างไรก็อย่างนั้นไปวันๆ และเพิ่งมีการขยับอีกครั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของกระทรวงลากเลื่อนขับเคลื่อนอะไรไม่ได้สักอย่างจนหลายครั้งนายกฯ ออกอาการหงุดหงิด  และเพิ่งเห็นชัดในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพราะใกล้ถึงฤดูการโยกย้าย เอาอย่างไรกันหละคราวนี้ท่าน สังคมอยากเห็น เผื่องานกระทรวงเกษตรฯมันจะเดิน

มาว่าด้วย กรมสำคัญที่ถูกจับตามอง คงหนีไม่พ้น กรมหลัก  โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่ท่าน “สุเทพ น้อยไพโรจน์” อธิบดีคนปัจจุบันกำลังเกษียณอายุราชการลงไป ว่ากันว่า กรมนี้ เบื้องต้นมีคนที่ถูกคัดเลือกไว้สองคน  ซึ่งเป็นคนในทั้งคู่ ส่วนใครเป็นใครก็คงขึ้นอยู่กับกำลังภายใน หนุนหลัง  มาอีกกรมที่ถือเป็นกรมหลักอีกกรม ที่นักการเมืองสายเก่า เขาเอาเป็นที่ทำกินคือกรมส่งเสริมการเกษตรที่อธิบดีกำลังเกษียณลงเช่นกัน กรมนี้ ถือเป็นกรมใหญ่กรมหนึ่งว่ากันว่า มีระดับรองอธิบดีคนหนึ่งพยายาม วิ่งเต้น ให้ตนเองขึ้นมานั่ง ซึ่งงานนี้ต้องชิงกับคนในกระทรวง ที่นั่งหน้าเหลี่ยม ฟอกตัวมาหลายปี บี้กันมาติดๆ ส่วนอีกกรม ที่เป็นกรมที่สร้างเงินมหาศาล ส่วนสร้างเงินอย่างไง ไปถามคนในกรมคือกรมปศุสัตว์กันเอง ซึ่งกรมนี้กำลังมีอธิบดีเกษียณ ว่ากันว่า ตอนนี้ มีความพยายาม คนบางคน จะขอย้ายกรมมานั่ง  แต่ก็มีผู้ตรวจราชการบางคนอยากกลับไปนั่งเช่นกัน และที่สำคัญทั้งสองคือ มาจากสายนักการเมืองเดิมกลุ่มเดียวกันเสียด้วย ต้องลองดูว่าเผลอๆ อาจเป็นตาอยู่จากไหนมานั่งแทนก็เป็นได้ ต้องรอผลจะเป็นอย่างไร เล่าหมดเดี๋ยวอดลุ้นกันพอดีจ้า

สุดท้ายสัปดาห์นี้มาว่าด้วยเรื่องของงาน ไม่ได้เรื่องว่ามันใกล้โยกย้ายหรือไม่แต่ที่แน่ๆ งานมันเริ่มมีให้เห็น เพราะบางคนเขาใกล้เกษียณเขายังเดินหน้าทำงานเต็มที่ โดยเฉพาะท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร “โอฬาร พิทักษ์” วันนี้ได้เห็นการเดินหน้าเต็มที่ในการขับเคลื่อนส่งเสริมแปลงใหญ่ ซึ่งได้เห็นความชัดเจนส่วนอีกกรม คือ ส.ป.ก. ของ “สรรเสริญ อัจจุตมานัส” วันนี้ต้องบอกว่าเป็นข่าวดังติดกันมาหลายสัปดาห์ และพอให้กระทรวงได้เห็นผลงานของกระทรวง ต่อแต่นี้ไปคงต้องรอฝีมือคนใหม่ว่าจะมีฝีมือหรือไม่ในการสางต่อ ต้องรอดู แต่ที่สุดผลงานที่ได้เห็น หรือที่ไม่โผล่ออกมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

สศอ.ชงมาตรการดันไทย ฮับการผลิตพลาสติกชีวภาพเอเชีย

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย พบว่า 1.ไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก สามารถรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้, 2.งานวิจัยเทคโนโลยีวัตถุดิบและกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพของไทยส่วนมากอยู่ในระดับปฏิบัติการ ยังไม่รองรับในระดับอุตสาหกรรม, 3.มีการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศ แต่ยังมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกเดิมที่ผลิตจากปิโตรเลียม และ 4.แนวโน้มกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ก่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ไทยก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดแนวทาง หรือมาตรการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน คือ 1.ส่งเสริมการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศ 2.ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุ/การคอมพาวดน์พลาสติกชีวภาพในเชิงอุตสาหกรรม

3.ส่งเสริมตลาดภายในประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และเพิ่มความสามารถด้านการลดต้นทุนต่อหน่วยผลิตของผู้ประกอบการไทย 4.กำหนดและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในตัวสินค้าพลาสติกชีวภาพจากการส่งออกและการใช้ภายในประเทศ 5.วางแนวทางการบริหารจัดการขยะพลาสติกชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการนำพลาสติกชีวภาพมาใช้ โดยก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยในขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในช่วงก้าวแรกเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพ 500 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วส่งออกตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ หรือคิดเป็น 80%

 ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ 42 ราย และจะเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากน้ำตาลที่ระยองในปลายปี 2559 ด้วยกำลังการผลิต 20,000 ตัน ถือเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

เพิ่มพื้นที่ชลประทาน30ล้านไร่

กรมชลประทานตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 30 ล้านไร่ พร้อมอนุมัติรื้อเงื่อนไขการให้เช่าที่ดิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน รายงาน ครม.ว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ทั่วประเทศ 320.70 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทางการเกษตร

149.24 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ของกรมชลประทานแล้ว 30.25 ล้านไร่ และมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่อง 12.61 ล้านไร่ รวมเป็นพื้นที่ 42.86 ล้านไร่ รวมทั้งมีพื้นที่อีก 12.85 ล้านไร่ แยกเป็นการจัดรูปที่ดิน 1.99 ล้านไร่ และการพัฒนาเป็นงานจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกร 10.86 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ชลประทานอีก 30.01 ล้านไร่ และพัฒนาพื้นที่ความเหมาะสมพัฒนาชลประทานไร่นาอีก 5.76 ล้านไร่

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้เช่า ให้เช่าซื้อที่ดินและทรัพย์สินของกรมชลประทานเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้จะทำให้กรมชลประทานมีอำนาจนำที่ดินและทรัพย์สินที่ได้มาโดยประการใดๆ ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ. 2558 หรือได้มาโดยการเวนคืน มาดำเนินการให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือโอนไปยังเกษตรกรเพื่อให้ใช้ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้เช่า ให้เช่าซื้อที่ดินและทรัพย์สินของกรมชลประทานนั้น ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาว่าที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินที่มีที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้มาแปลงใดสมควรจัดให้เช่าหรือให้เช่าซื้อเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม

 “สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการให้เช่า ให้เช่าซื้อที่ดินและทรัพย์สินของกรมชลประทานนั้น ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาว่าที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินที่มีที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้มาแปลงใดสมควรจัดให้เช่าหรือให้เช่าซื้อเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม จากนั้นให้มีการออกประกาศเพื่อประชาชนคัดค้านใน 30 วัน”แหล่งข่าวระบุ

สำหรับอัตราค่าเช่า หรือเช่าซื้อที่ดินนั้น ให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาในอัตราที่เห็นตามสมควร ขณะที่ผู้มีสิทธิยื่นคำขอต้องมีสัญชาติไทยและเป็นเกษตรกรที่มีรายได้น้อยไม่สูงกว่าอัตรารายได้และสิทธิประโยชน์อื่นที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดกำหนด

นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ยุบคณะกรรมการที่มีภารกิจด้านเกษตรรวม 3 คณะ เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการหลายชุดทำหน้าที่ซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมทั้งที่ประชุม ครม.มีมติให้กระทรวงเกษตรฯ ยกเลิกคณะกรรมการกำกับและขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านสหกรณ์ เนื่องจากภารกิจซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.)

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯจัดเวทีถกชาวไร่อ้อย-โรงงาน18ส.ค.ลุ้นลอยตัวราคาน้ำตาล 

        กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเปิดเวทีสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 18 ส.ค.นี้ ก่อนนำสู่เข้าพิจารณาในกอน.และยื่น”ครม.”เคาะภายในก.ย.จับตาแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหลังพาณิชย์ไฟเขียว ชาวไร่-โรงงานประสานเสียงไทยหนีไม่พ้นแต่รายละเอียดยังเห็นต่าง หวังแผนจะได้ข้อยุติป้องบราซิลฟ้องWTOกล่าวหาไทยอุดหนุนชาวไร่       

        นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า วันที่ 18 สิงหาคมนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดสัมมนาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรวบรวมความเห็นก่อนนำสู่การพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)วันที่ 30 ส.ค.และเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบภายในเดือนก.ย. โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะต้องสรุปคือแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

                “ มีหลายเรื่องที่จะต้องตกลงกันโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายไปสู่การลอยตัวเพราะในที่สุดแล้วกติกาของโลกจะต้องเดินไปสู่แนวทางนี้แต่อาจจะต้องไปดูกฏหมายต่างๆ ให้พร้อมก่อนเพื่อให้มีกรอบหรือหลักการเอาไว้ส่วนทันหรือไม่ทันฤดูการหีบนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะบางเรื่องจะสามารถดำเนินการได้ก่อน ซึ่งขณะนี้แนวทางการลอยตัวราคานั้นทางกระทรวงพาณิชย์ก็เห็นด้วยแล้วในเบื้องต้น”นายธีระชัยกล่าว

                แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า โรงงานคงจะต้องดูประเด็นว่าที่สุดจะมีการนำข้อคิดเห็นต่างๆไปรวบรวมเพื่อนำเสนอกอน.และครม.อย่างไรเพราะหากยังยึดหลักการเดิมที่หารือกันคือการนำผลผลิตทุกอย่างที่ออกจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ฯลฯ มาแบ่งปันผลประโยชน์ระบบ 70-30 โรงงานคงไม่เห็นด้วยเพราะทุกอย่างได้มาจากการลงทุนต่อไปจะทำให้โรงงานไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างฯเป็นเรื่องใหญ่ต้องรอบคอบไม่ใช่เร่งรีบ ส่วนเรื่องการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นหลักการเห็นด้วยอยู่แล้วและทางโรงงานได้เสนอมาโดยตลอดแต่ที่ผ่านมารัฐก็ไม่มีการพิจารณาเพราะรายละเอียดมีมากที่ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติโดยเฉพาะจะเอาราคาไหนไปคำนวณราคาอ้อย เป็นต้น

                แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงฯจะต้องเร่งสรุปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอครม.หลังจากที่ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำหนดให้เร่งดำเนินการภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่มิ.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น ทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกมากกว่าปกติ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกลงมาถึงเฉลี่ยที่ประมาณ 13-15 เซนต์ในช่วงที่ผ่านมาและทำให้บราซิลเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท

                “ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้เดินทางไปเจรจามาแล้วและมีการชี้แจงในประเด็นต่างๆ ไปพอสมควรซึ่งเราเองก็ ต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสมเพื่อให้ชัดเจน ซึ่งกติกาของ WTO นั้นอุดหนุนราคาพืชเกษตรได้แต่จะมีวงเงินจำกัดซึ่งหากแยกเฉพาะของอ้อยเองก็ไม่ได้มากและที่ผ่านมาการนำเงินมาช่วยเกษตรกรไม่ได้เป็นการนำเงินงบประมาณรัฐมาเพิ่มค่าอ้อยแต่อย่างใดและการกู้ก็คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ เป็นต้น”แหล่งข่าวกล่าว

จาก http://manager.co.th วันที่ 14 สิงหาคม 2559

ถกทูตพาณิชย์ทั่วโลกประเมินส่งออก

                    เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกในเดือน ก.ย. นี้ ประเมินส่งออกปีนี้ พร้อมจัดทำแผนปีหน้า จี้ดันส่งออกธุรกิจแบบใหม่ ๆ ที่มีผลตอบแทนสูง                  

                    นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะเรียกผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ทั่วโลก) มาประชุมระหว่างวันที่ 7-11 ก.ย. นี้ เพื่อร่วมกันวางแผน และกำหนดยุทธศาสตร์การส่งออกของปีงบประมาณ 60 ให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล รวมทั้งจะประเมินสถานการณ์การส่งออกในภาพทั้งปีหน้า ก่อนจะกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้งช่วงปลายปีนี้ แต่ในส่วนของปีงบประมาณ59 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ อาจไม่สามารถปรับแผนงานใหม่ได้แล้ว แต่จะพยายามดำเนินการตามแผนงานเดิมให้ดีที่สุด

 “เบื้องต้นได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลก จัดเตรียมแผนงานต่าง ๆ ของปีงบประมาณ 60ไว้ก่อนมาหารือร่วมกันในเดือน ก.ย. ซึ่ง การหารือครั้งนี้ จะกำหนดแนวทางเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งจะกำหนดเป้าหมายส่งออกช่วงปลายปีนี้”

 นางมาลี กล่าวว่า สำหรับการปรับแผนบริหารจัดการสินค้าส่งออกใหม่ เพื่อเพิ่มยอดส่งออก โดยแบ่งสินเค้าเป็นรายกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องเร่งผลักดันส่งออก,กลุ่มที่จะสนับสนุนให้เติบโตต่อไป,กลุ่ม ที่ต้องติดตามและแก้ไข และกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไขนั้น ขณะนี้กำลังหารือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการในรายกลุ่มต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ช่วงปลายปีให้ชัดเจน และดำเนินการตามแผนงานให้ได้เร็วที่สุด เช่น กลุ่มรถยนต์ ที่ระบุว่าการส่งออกทั้งปีอาจติดลบได้ เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกไม่สดใส เพราะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กลุ่มผู้ซื้อ ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ไม่มีกำลังซื้อรถจากไทย รวมทั้งยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลก และกฎระเบียบเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกฮาร์ทดิสไดร์ฟ ยังมองว่าสถานการณ์ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังดีอยู่

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 สิงหาคม 2559

สัมภาษณ์พิเศษ: ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม: กระทรวงอุตสาหกรรมปักธง'อุตสาหกรรมไทย ผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน' 

          กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าผลักดันกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ปักธงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยยุคใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจในอาเซียน มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2559 หรือ The Prime Minister's Industry Award 2016 รางวัลเกียรติยศสูงสุดของวงการอุตสาหกรรมไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 เพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาศักยภาพ การบริหารจัดการองค์กรในด้านต่างๆ ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

          ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดให้มีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม หรือ The Prime Minister's Industry Award 2016 ขึ้น เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรจนเป็นที่ยอมรับและสามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจประเมินของกระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้

          "การมอบรางวัลอุตสาหกรรมจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 24 โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล เพื่อเป็นเกียรติประวัติสูงสุดแก่สถานประกอบการ ซึ่งรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท เพื่อกระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่า หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการองค์กรได้ตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว จะช่วยให้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด"

          รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทการเพิ่มผลผลิต โดยการเน้นปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การควบคุมต้นทุนการผลิต ลดการสูญเสียในทุกรูปแบบ โดยผนวกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 รางวัล

          2.ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดนโยบายลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งกระบวนการบริหารจัดการและการผลิต ซึ่งการใส่ใจผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงและการยอมรับจากนานาชาติเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้สถานประกอบการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมรอบข้างได้อย่างยั่งยืน จำนวน 4 รางวัล 3.ประเภทการบริหารความปลอดภัย โดยการสร้างระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะความปลอดภัยในการปฏิบัติงานนั้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน เมื่อการทำงานมีระบบจัดการอันตรายที่ดีและมีประสิทธิภาพก็ย่อมจะทำให้ผลิตภาพการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย จำนวน 4 รางวัล

          4.ประเภทการบริหารงานคุณภาพ โดยการจัดการระบบบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งการที่สถานประกอบการจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานทุกคน ในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ จำนวน 9 รางวัล 5.ประเภทการจัดการพลังงาน โดยการตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานทุกประเภทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการวางนโยบายลดใช้พลังงานอย่างจริงจังนั้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อการลดอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลงอีกด้วย จำนวน 6 รางวัล

          6.ประเภทการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกๆ ด้าน ทั้งการวิเคราะห์ตลาดความต้องการของผู้บริโภค การบริหารจัดการ การผลิต และช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้กิจการเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ เพราะมีสัดส่วนทั่วประเทศมากกว่าร้อยละ 95 สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน จำนวน 11 รางวัล และ 7.ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ โดยการบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหากผู้ประกอบการมีระบบขนส่งสินค้าที่ดี นอกจากจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ ยังช่วยสร้างโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน จำนวน 1 รางวัล

          นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมอีก 1 รางวัล สำหรับสุดยอดผู้ประกอบการแห่งปีที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภทรางวัล ซึ่งผู้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมประจำปี 2559 ได้แก่ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้สร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 รูปแบบ ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่เน้นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมเพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยีใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

          "ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ในการก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์และเทคโนโลยีขั้นสูง รองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค อีกทั้งยังมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และนำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และก้าวกระโดดไปสู่การเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด"

          ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ในบริบทของความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นจะต้องระมัดระวัง และมีการเตรียมความพร้อมต่อความผันผวนจากสถานการณ์ภายนอก ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยการรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการองค์กรในทุกมิติที่จำเป็น ต่อการดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเอง และขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ อาทิ การรักษามาตรฐานการบริหารงานคุณภาพ มาตรฐานการเพิ่มผลผลิต มาตรฐานการบริหารความปลอดภัย มาตรฐานการจัดการพลังงาน มาตรฐานการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานการบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ดังกล่าวถูกใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานการตรวจประเมินที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้ในการพิจารณาเพื่อมอบรางวัลอุตสาหกรรมตลอดมา และถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ถกเกาหลีพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง เกษตรฯดันตั้งคณะทำงาน2ชาติขยายความร่วมมือ

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายโน ควัง อิล เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ถึงแนวทางความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ภายหลังจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลี และลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานี และหนองคาย 2.บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) และ 3.ข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (MRA) การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในผลิตภัณฑ์ประมงนำเข้าและส่งออก

สำหรับการหารือในครั้งนี้ ฝ่ายไทยหวังว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งแต่งตั้งคณะทำงานร่วมในโครงการความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานี และหนองคาย เพื่อร่วมกันกำหนดรายละเอียดและขอบเขตการดำเนินงานด้านเทคนิคให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงการจัดทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากทั้งไทยและเกาหลีต่างก็เป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงมีความประสงค์ให้สนับสนุนการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ให้เป็นกลไกในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตร การแก้ไขปัญหาทางเทคนิค และการส่งเสริมความร่วมมือทางการเกษตรร่วมกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวผ่านช่องทางการทูตแล้ว โดยทางเกาหลีได้รับทราบและพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยในการจัดทำ MOU ดังกล่าว พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอให้เกาหลีช่วยติดตามการพิจารณาเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์มหาชนก และการขออนุญาตนำเข้าเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย ซึ่งทางเกาหลีจะติดตามและผลักดันในประเด็นต่างๆ

ตามที่ไทยมีความประสงค์ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

พัฒนาเมืองแห่งอนาคต เข็นร่าง พ.ร.บ.อีอีซีเข้า ครม.เดือน ส.ค.นี้ 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เสนอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อที่จะขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศ โดยการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพื่อผลักดันให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต สำหรับเนื่องหาของ พ.ร.บ.อีอีซี จะเป็นการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 มีสถานที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีท่าเรือน้ำลึก ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบเมืองใหม่ ที่ภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้าและยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุน เพราะพื้นที่นี้มีศักยภาพโดยเฉพาะการมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

          นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมนำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ระยะเวลา 20 ปี และแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ฉบับที่ 4 (ปี 2560-64) หรือแผนเอสเอ็มอี 4.0 ซึ่งจะเสนอเข้า ครม.ในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากที่แผนดังกล่าวได้หารือกับเอกชนในการร่วมกันทำแผนปฏิบัติการ (แอคชั่นแพลน) รวมถึงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้นและยาว ซึ่งแผนทั้งหมดจะมีส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ปรับกระบวนการผลิตที่ใช้ดิจิตอลมากขึ้น

          “การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยล่าสุดการขอรับส่งเสริมการลงทุน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ใน 5 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 280 โครงการ มูลค่า 91,875 ล้านบาท”

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

'เกษตรฯ'เริ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของ'ในหลวง'

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงประทานไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทรงคิดค้นเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมที่ไม่ได้ผลในเขตที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยเฉพาะการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำ และปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในการเพาะปลูก รวมถึงต้องการให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้

เพื่อให้แนวทางพระราชดำริดังกล่าวไปสู่ประชาชนจริงๆ ไม่เป็นเพียงการอบรมเท่านั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้มีความเหมาะสมและสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำกิจกรรมส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมปรัชญาของหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่โดยคัดเลือกเกษตรกรที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มีเป้าหมาย 7 หมื่นราย ใน 882 อำเภอ อำเภอละ 80 ราย ครอบคลุมทุกอำเภอ กระจายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีกินมีใช้ ลดหนี้สิน พร้อมกันนี้ได้ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวออกไปสู่การปฏิบัติจริง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ทั่วประเทศสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยได้คัดเลือกผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฯ ละ 80 ราย ใน 882 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีรายชื่อเกษตรกรที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เกินเป้าหมาย 7 หมื่นรายตามที่ตั้งไว้

สำหรับการขับเคลื่อนแนวทางดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้นำแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเกษตรในพื้นที่ของตนเอง และเพื่อให้มีศักยภาพในการดำเนินกิจก รรมทางการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 และ สามารถพัฒนาไปสู่ขั้นที่ 2 และ 3 ได้ต่อไป โดยเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดรูปแบบในการประกอบอาชีพให้พึ่งพาตนเองได้ สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว

ทั้งนี้ ในการดำเนินการได้มอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สำรวจเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ อำเภอละ 80 ราย และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน ให้เกษตรกรได้ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ร่วมกับเกษตรกร ในการจัดทำผังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และวางแผนในการจัดผังแปลงต่อไป โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การสนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมปรัชญาของหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนดังกล่าวเกิดผลสําเร็จเป็นรูปธรรม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง แตะ 34.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 11 ส.ค. 2559 ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากการปิดตลาดเมื่อวันพุธ (10 ส.ค.) ที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (08.46 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ 34.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังอยู่ในเทรนการแข็งค่าในระยะสั้น เพราะนักลงทุนจากต่างประเทศเห็นว่าสถานการณ์ตลาดและเศรษฐกิจโลกยังดูดีอยู่ จึงยังมองหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนดีกว่า เช่น สินทรัพย์เสี่ยงในเอเชียรวมถึงไทย แต่คาดว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบ เพราะจากต้นสัปดาห์ (5 ส.ค.) ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเคลื่อนไหวมาอยู่ที่ปัจจุบัน 34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่น่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าไปมากกว่านี้

ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทระหว่างวันนี้ไว้ที่ 34.70-34.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนในตลาดรอดูตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐที่จะออกในวันศุกร์ (12 ส.ค.) แต่ตลาดไทยปิดมูลค่าการซื้อขายน่าจะไม่มากนัก

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชงแผนลงทุนอุตฯอีอีซี5ปีพุ่ง8.6แสนล. 

          กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแผนลงทุนในอีอีซีพุ่ง 8.6 แสนล้านบาทช่วง 5 ปี  ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชูปิโตรเคมีลงทุนสูงสุด 3.6 แสนล้านบาท เตรียมชง "สมคิด" รับทราบ ก่อนเสนอครม.ไฟเขียว 29 ส.ค. นี้ พร้อมคลอดพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรองรับการลงทุน ขณะที่ดับบลิวเอชเอ เตรียมพื้นที่ 1.2 พันไร่ รองรับอุตสาหกรรมการบินและหุ่นยนต์ไว้รอแล้ว

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มิถุนายน 2559 ที่ผ่าน มา มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิง เทรา ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการโดยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทั้งทางขนส่งทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศทั้งระบบ ที่คำนึงถึงการเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน แผนดำเนินการด้านผังเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว และผลประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนั้น

          ทั้งนี้ ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเสร็จแล้ว และพร้อมที่จะนำไปรายงานให้ ดร.สมคิด พิจารณาในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะนำข้อมูลรอบแรกเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในวันที่ 29 สิงหาคมนี้

          โดยร่างแผนการลงทุนดังกล่าวในช่วง 5 ปี(2559-2563) จะมีเม็ดเงินลงทุนราว 8.61 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย การลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมการบิน เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เงินลงทุน 3.6 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนนอกพื้นที่ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อีก  2 แสนล้านบาท เช่น การลงทุนในส่วนของพลังงานชีวภาพ  อาหาร ยา เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น

          ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเห็นความชัดเจนการลงทุนมากที่สุดในปีนี้ ราว 7.26 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไปอีก 2.326 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมชีวภาพในปีนี้ราว 1,977 ล้านบาท และปีหน้าเป็นต้นไปอีก 400 ล้านบาท

          ส่วนพื้นที่รองรับการลงทุนใน 3 จังหวัดนั้น จะมีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.53 หมื่นไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรับการลงทุน จำนวน 1.5 หมื่นไร่ นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 1.5 หมื่นไร่ นิคมอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม ที่เตรียมไว้สำหรับการพัฒนาในอนาคตอีก 6,989 ไร่ ที่ดินราชพัสดุ จำนวน6,989 ไร่ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่พร้อมรับการลงทุนจำนวน 1,334 ไร่

          อีกทั้ง ในส่วนของแผนการพัฒนาท่าเรือและระบบขนส่งทางน้ำนั้น จะมีการใช้เงินลงทุนราว 1.028 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการดำเนินงานในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง เงินลงทุน 9.2 หมื่นล้านบาท เช่น ก่อสร้างโครงกาท่าเรือชายฝั่ง AO เงินลงทุน 1,900 ล้านบาท โครงการสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ 2,900 ล้านบาท โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีก 8.8 หมื่นล้านบาท ส่วนการดำเนินงานในท่าเรือมาบตาพุด เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เป็นการก่อสร้างโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นต้น

          นายสมชาย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่จะมารองรับในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้น ขณะนี้ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการลงทุนไว้ เช่น สิทธิประโยชน์ของคนต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในพื้นที่ได้ และสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอาศัยในราชอาณาจักร รวมถึงการได้รับสิทธิในการทำธุรกิจทางการเงินที่พิเศษ โดยธนาคารต่างประเทศสามารถจัดตั้งสาขาในพื้นที่ได้ และฟรีโซนในเรื่องเงิน โดยจะมีศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร คอยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนการติดต่อจากหลายหน่วยงานมาไว้ที่จุดเดียวกันให้กับนักลงทุน เป็นต้น

          ทั้งนี้ หากร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป เมื่อมีผลใช้บังคับแล้ว จะเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้การขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะนอกจากพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว จะมีพ.ร.บ.ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปี เพิ่มเป็น 13 ปี รวมถึงร่างพ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผ่านกฤษฎีกาแล้วเช่นกัน จะมีการให้สิทธิประโยชน์สูงสุดในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 15 ปี

          โดยพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนี้ หากมีผลใช้บังคับแล้ว ทางบีโอไอ จะมากำหนดรายละเอียดประเภทกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมอีกครั้งหนึ่ง ว่ากิจการประเภทอะไรที่จะเข้าข่ายอยู่ในพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยจะไม่ซ้ำประเภทกิจการกัน

          นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และในฐานะคณะทำงานจัดตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้การร่างพ.ร.บ.จัดตั้งฯได้ดำเนินการเสร็จแล้วและพร้อมที่จะนำเสนอครม.เห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมนี้ ในขณะที่แผนการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้น ขณะนี้แผนใหญ่ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยในรายละเอียดแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งพร้อมที่จะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบภายในเดือนนี้เช่นกัน

          ทั้งนี้ จากการดำเนินงานดังกล่าว ได้ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตอบรับที่จะเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสิทธิประโยชน์ในด้านการลงทุนพิเศษของบีโอไอและกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่กำหนดจะออกมา อีกทั้งมีการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้เป็นพื้นที่ที่น่าลงทุนดีที่สุดในภูมิภาคนี้

          โดยในส่วนของดับบลิวเอชเอนั้น ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับการลงทุนแล้ว ซึ่งได้จัดสรรพื้นที่ไว้ประมาณ 1,200 ไร่ อยู่บริเวณใกล้กับสนามบินอู่ตะเภา ที่จะสามารถรับการลงทุนได้ทันที่ในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน และหุ่นยนต์ หรือเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับลูกค้าเก่าที่ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไปแล้ว 7-8 ราย รวมถึงลูกค้าใหม่ ต่างมีความสนใจที่จะขยายกิจการเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จะมีการหันมาผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเป็นการรองรับอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาคที่อนาคตกว่าครึ่งหนึ่งของโลกจะย้ายมาอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ส่งมอบโรงงานผลิตอากาศยานขนาดพื้นที่ 1.56 หมื่นตารางเมตร ให้กับบริษัท โอมาดะ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ จากประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว ซึ่งมองว่าหลังจากนี้ไปการลงทุนในเขตอีอีซีนี้จะสดใสอย่างแน่นอน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : ‘Agri-Map’เครื่องมือสู่การพัฒนาวงการเกษตรไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map (Agricultural Map for Adaptive Management) สำหรับเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ วางแผนพัฒนาการทำเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map นั้นเป็นการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นำมาใส่ซ้อนทับลงในแผนที่ดังกล่าว ได้แก่ ชั้นที่ 1 เป็นแผนที่ความเหมาะสมของดิน แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สุด S1 เหมาะสมปานกลาง S2 เหมาะสมน้อย S3 หรือไม่เหมาะสมเลย N แผนที่ชั้นที่ 2 เป็นข้อมูลแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน คลองส่งน้ำต่างๆ แผนที่ชั้นที่ 3 เป็นแหล่งข้อมูลด้านโลจิสติกส์ แหล่งที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หรือจุดรับซื้อผลผลิตภายในจังหวัดนั้นๆ พร้อมกับมีข้อมูลการวิเคราะห์สินค้าที่เหมาะสม ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า ปริมาณผลผลิต ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ไปจนถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ฉะนั้น Agri-Map จึงมีข้อมูลทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจรวบรวมไว้ เป็นข้อมูลของแต่ละจังหวัด

ขณะนี้ได้จัดส่ง Agri-Map ให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command)ทั้ง 77 จังหวัดแล้ว เพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตร ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ที่สำคัญสอดคล้องความต้องการของตลาดมากขึ้น

โดยล่าสุด พลเอกฉัตรชัยสาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดปฏิบัติการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri-Map ที่จังหวัดชัยภูมิ พร้อมกันนี้ได้คัดเลือกจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์และอุทัยธานี เป็น 3 จังหวัดนำร่องทำกิจกรรมปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม โดยใช้เครื่องมือ Agri-Map เป็นตัวนำในการวางแผนการผลิต และดูว่าสินค้าเกษตรในจังหวัดนั้นที่ไม่เหมาะสมกับการผลิต หรือผลิตแล้วมีต้นทุนสูง แข่งขันในตลาดได้ยาก ดังเช่นกรณีของจังหวัดชัยภูมิและบุรีรัมย์ จะพบว่าพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมเลยอยู่ในระดับ N มีพื้นที่หลายแสนไร่ แต่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ หากพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสมนั้นมีการปลูกข้าวหอมมะลิหรือข้าวเหนียว จะไม่ปรับเปลี่ยน เพราะเป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพ ตลาดมีความต้องการ ขณะที่ข้าวเหนียวเป็นข้าวเพื่อการบริโภคของคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงภาคเหนือ ดังนั้น จะปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกข้าวขาว ซึ่งมีความต้องการค่อนข้างน้อยกว่าปริมาณผลผลิตที่ออกมา เบื้องต้นมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมของ 3 จังหวัดนำร่องประมาณ 1,300 ไร่ ไปทำกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมกว่าแทน

สำหรับกิจกรรมที่จะปรับเปลี่ยนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่เหมะสมนั้น กระทรวงเกษตรฯ มีการบูรณาการหลายหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง โดยเลือกโครงการต่างๆ ไปลงในพื้นที่ เพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพจากพื้นที่ไม่เหมาะสม มาเป็นทำเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เลี้ยงปศุสัตว์ ทำประมงและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เช่น ปรับเปลี่ยนจากนาข้าวที่ไม่เหมาะสมที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวไปปลูกอ้อยที่เป็นเชิงเดี่ยวใหม่แทน หรือลดความเสี่ยงจากปลูกพืชอย่างเดียวมาทำผสมผสาน หรือไม่ปลูกพืชแล้วแต่หันมาเลี้ยงปศุสัตว์โคเนื้อ โคนม กระบือหรือไก่พื้นเมืองและปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไป หรือจะเปลี่ยนมาทำประมง หรือปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแต่ขณะเดียวกันก็สามารถปลูกข้าวไว้บริโภคได้

นอกจากการใช้ Agri-Map เป็นเครื่องมือช่วยในการปรับการผลิตที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดอุปทานของสินค้าที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม N แล้วยังมีการใช้เครื่องมือของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก. 882 ศูนย์) และกำกับดูแลโดยSingle Commandอีกทั้งมีผู้ตรวจราชการ

 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จาก 3 จังหวัดนำร่อง ก็จะมีจังหวัดที่นำเครื่องมือเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในปีต่อๆ ไปได้

“การปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกร ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ปรับเปลี่ยนชั่วคราวคือปรับเปลี่ยนกิจกรรมบางกิจกรรม ทำเพิ่มขึ้นมาเพื่อมีรายได้เสริมอาชีพหลัก หรือปรับเปลี่ยนถาวร คือเลิกปลูกพืชแบบเดิมไปทำกิจกรรมใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของชุดดิน สภาพดินฟ้าอากาศ แหล่งน้ำ โลจิสติกส์ และตลาด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มกันแม้จะเปลี่ยนไปผลิตอะไรก็ตามเพื่อสร้างความเข้มแข็งและมั่นคง โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนอาชีพให้มีความเหมาะสมเพื่อให้สอดรับกับนโยบายลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชานอ้อย ในมือนักเทคโนโลยี

ภายใน 5 ปีนี้ อุดรธานีจะมีโรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่สั่งตรงมาจากญี่ปุ่น ความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น

และเป็นครั้งแรกของไทยที่จะมีโรงงานลักษณะดังกล่าว กำลังการผลิต 15 ตันชานอ้อยต่อวัน หรือคิดเป็น 5,000 ตันชานอ้อยต่อปี สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสได้ 3.7 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 1,400 ตันต่อปี ซึ่งนำไปผลิตเอทานอลได้ 7 แสนลิตรต่อปี

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า 4 ปีที่ผ่านมา สนช. และ NEDO ได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังในราคาถูก ผลการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ คือสามารถต่อยอดเทคโนโลยีสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ และในขณะนี้อยู่ในกระบวนการแสวงหานักลงทุนชาวไทยในการขยายผลของโครงการ

NEDO เป็นองค์กรของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่สนับสนุนการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม มองเห็นโอกาสจากของเหลือทิ้งอย่างกากน้ำตาลในอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่นิยมนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน

แต่เมื่อญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่ในมือ เทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงาน จะเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างกากชานอ้อยให้เป็นน้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซคคาไรด์ และโพลีฟีนอล ที่สามารถตอบโจทย์ด้านพลังงานและสารมูลค่าสูง

กระบวนการที่พัฒนาขึ้นใหม่ของ NEDO จะนำกากชานอ้อยมาแยกเอาโพลีฟีนอล จากนั้นนำของแข็งที่เหลือไปผ่านกระบวนการให้ได้ลิกนินและเซลลูโลส ก่อนนำไปผ่านโพลีเมอร์เมมเบรนแยกอีกครั้ง ได้ออกมาเป็นน้ำตาลเซลลูโลสและโอลิโกแซคคาไรด์

น้ำตาลเซลลูโลสสามารถนำไปใช้เพื่อผลิตเอทานอลคุณภาพสูง เพราะโพลีเมอร์เมมเบรนกรองให้มีความใสและเข้มข้นสูง โดยไม่ต้องใช้ความร้อนปรับคุณภาพดังเดิม ในขณะที่โอลิโกแซคคาไรด์และโพลีฟีนอลก็เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์หรือสารไบโอเคมี

จาก  http://eureka.bangkokbiznews.com   วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พบน้ำตาล 2 ตัวอย่างมีสารฟอกขาวเกินมาตรฐาน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจน้ำตาลพบส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย แต่พบ 2 ตัวอย่างมีสารฟอกขาวเกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มตรวจสอบน้ำตาลมะพร้าว 21 ยี่ห้อ พบ 4 ยี่ห้อ มีสารฟอกขาว หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ในจำนวนนี้มี 2 ยี่ห้อ ที่พบปริมาณสารฟอกขาวเกิน 40 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยยี่ห้อแรกพบ 72 กิโลกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ขณะที่อีกยี่ห้อพบ 61 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบในท้องตลาด พบว่า น้ำตาลมากกว่า 81% ถือว่าปลอดภัย และไม่พบสารฟอกขาว ที่อาจก่อให้เกิดอันรายต่อผู้บริโภค

สำหรับ 17 ยี่ห้อซึ่งซื้อจากตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและไม่พบสารฟอกขาว ได้แก่ กุหลาบคู่ น้ำตาลปี๊บบ้านสวน, กุหลาบ, อัมพวา, สุทธิภัณฑ์, โฮม เฟรช มาร์ท, รัชนิน (ของดีแม่กลอง), ลิน, ซูการ์รี่, มิตรผล, ซอสามสาย, อนามัย, ตาลไท และคุณจา นอกนั้นไม่มียี่ห้ออีก 3 ตัวอย่าง และยังมีน้ำตาลที่มีสารฟอกขาวแต่ไม่เกินเกณฑ์ที่ทำให้เกิดอันตรายอีก 2 ตัวอย่าง

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร และอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากรับประทานสารฟอกขาวมากๆ จะมีอันตรายต่อสุขภาพ จะทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหาร เช่น ปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ถ้าสะสมในร่างกายมากๆ จะทำให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศรีษะ อาเจียน และในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงหรือผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการช็อคหมดสติ และเสียชีวิต และได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการผลิตต่อไป

น.ส.มลฤดี แถลงอีกว่า หากพบว่าน้ำตาลมะพร้าวมีกลิ่นเหม็น ฉุน รสหวานแหลม เนื้อน้ำตาลแข็งมาก หรือเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิห้องโดยสียังขาวนวล ต้องระวังเพราะอาจเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ผสมสารฟอกขาวในปริมาณมากเกิน

ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้อย.บังคับใช้ประกาศกระทรวงสารณสุข (ฉบับที่ 367)  พ.ศ.2537  เรื่องการแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้า

จาก  http://www.posttoday.com  วันที่ 9 สิงหาคม 2559

เปิดอาณาจักรหวาน! 'มิตรผล' ถอดรหัสธุรกิจอ้อยและน้ำตาลหมื่นล้าน

หากโฟกัสที่ธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในไทย ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ต้องยกให้กลุ่ม "มิตรผล" เป็นผู้นำตลาด ด้วยกำลังการผลิตอันดับ 1 ของของประเทศ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในปัจจุบันอยู่ที่ 20% และได้แตกไลน์ธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ เกี่ยวกับอ้อยครบวงจร อะไรทำให้กลุ่มมิตรผลประสบความสำเร็จในยุทธจักรอ้อยและน้ำตาล ท่ามกลางภาวะการแข่งขันรุนแรงของธุรกิจ วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" จะพาไปพูดคุยกับ "คุณกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เพื่อไขคำตอบทั้งหมด รวมทั้งภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งหมด

ปฐมบทมิตรผล 60 ปี ในยุทธจักรอ้อย กลุ่มมิตรผลเริ่มต้นมาจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนขนาดเล็กจนพัฒนาสู่ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของประเทศ ภายใต้ระยะเวลากว่า 60 ปี กลุ่มมิตรผลได้ดำเนินกิจการบนเส้นทางธุรกิจอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลเคียงคู่วิถีชีวิตของคนไทย ด้วยแนวคิด From waste to value เราเล็งเห็นถึงคุณค่าในการพัฒนาสิ่งที่เหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนก่อให้เกิดธุรกิจต่างๆ ต่อยอดจากธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ได้แก่ ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจเอทานอล

ไม่ได้มีแค่น้ำตาลทำสินค้าจากอ้อยครบ

ปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศรวม 5 แห่ง โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 ซึ่งกำลังการผลิตอยู่ที่ 27,000 ตันอ้อย/วัน โรงงานน้ำตาลมิตรผล จ.สุพรรณบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2533 กำลังการผลิต 45,500 ตันอ้อย/วัน โรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง จ.ขอนแก่น ก่อตั้งปี พ.ศ. 2538 กำลังการผลิตอยู่ที่ 36,000 ตันอ้อย/วัน โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ก่อตั้งปี พ.ศ. 2540 กำลังการผลิต 23,000 ตันอ้อย/วัน และโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี ก่อตั้งปี พ.ศ. 2540 กำลังการผลิต 15,000 ตันอ้อย/วัน อ้อยพืชเศรษฐกิจตั้งต้นของธุรกิจเครือมิตรผล ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 5 แห่งของมิตรผล มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 146,500 ตันอ้อย/วัน ในปีการผลิต 2554/2555 สามารถหีบอ้อยได้กว่า 17.6 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลประมาณ 1.86 ล้านตัน

ภายใต้ธุรกิจที่มีในปัจจุบันกลุ่มมิตรผลได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์น้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ได้แก่ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์มิตรผล น้ำตาลขวดมิตรผล น้ำเชื่อมมิตรผล น้ำเชื่อมแต่งกลิ่น มิตเต้ มิตรผล คอฟฟี่ชูการ์ น้ำตาลไอซิ่งมิตรผล น้ำตาลทรายมิตรผลชนิดซองยาวมิตรผล แคลอรี น้ำตาลมิตรผล โกลด์ น้ำตาลปี๊บมิตรผล น้ำตาลกรวดมิตรผล น้ำตาลทรายแดงมิตร ผล และน้ำตาลอ้อยธรรมชาติมิตรผล

2. ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ได้แก่ ไม้เคลือบเมลามีน ไม้ปาร์ติเกิล ไม้ เอ็มดีเอฟ และไม้กันชื้น และ 3. ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มธุรกิจเอทานอล ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์

 รายได้หลักมาจากน้ำตาลขายดีที่สุด

ผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำตาลเป็นสินค้าขายดีที่สุด โดยกลุ่มมิตรผลขายน้ำตาลตามโควตา ก. อยู่แล้ว

อ้อยและน้ำตาลเผชิญเอลนีโญ-ลานีญา ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญและลานีญา ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลโลกปรับตัวลดลง ขณะที่ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำตาลขาดดุลในตลาดโลกดังกล่าว ส่งผลในแง่บวกทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้หลายประเทศเพิ่มการนำเข้าน้ำตาลมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยที่จะเติบโตในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับด้วยศักยภาพการส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

จับเทรนด์รักสุขภาพแต่ขาดหวานไม่ได้

กลุ่มมิตรผลยังมีแผนจะผลิตน้ำตาลแคลอรีต่ำออกสู่ตลาดด้วยเช่นกัน โดยมิตรผลได้ร่วมกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ "หวานพอดี ที่ 4 กรัม" โดยได้ผลิตน้ำตาลซองที่บรรจุน้ำตาลซองละ 4 กรัม แจกผู้บริโภค

ฉายภาพอนาคตลุยธุรกิจอ้อยครบวงจร

ในส่วนของธุรกิจน้ำตาลนั้น กลุ่มมิตรผลยังคงมุ่งมั่นพัฒนาในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ เพื่อเดินหน้าสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร และสังคมบนแนวคิด Value Creations ต่อไป ตั้งแต่การทำไร่อ้อย ระบบการผลิตน้ำตาล จนถึงขั้นตอนในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า การได้รับมาตรฐานการรับรองจาก Bonsucro ในปีนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการดำเนินงานและเปิดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อย

และน้ำตาลได้เป็นอย่างดี

สำหรับธุรกิจพลังงานกลุ่มมิตรผลยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล ยังไม่มีแผนจะขยายไปยังพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ แต่ไม่ได้ปิดกั้นและพิจารณาตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มมิตรผลมีแผนขยายตลาดด้วยการจัดกิจกรรมเทรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพบปะผู้ผลิตและผลิตและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คำแนะนำและนำเสนอผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม

 ฝากถึงผู้อ่านรับประทานหวานแต่พอดี

อยากแนะนำให้ผู้อ่านบริโภคน้ำตาลแต่พอดี และอยากให้ทำความเข้าใจในการบริโภคน้ำตาลที่ถูกต้อง.

จาก  http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : โครงการชลประทานสีเขียว‘น้ำคู่กับป่า’

ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (2558-2569) ได้วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8.7 ล้านไร่ เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำอีก 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสามารถบริหารจัดการให้มีน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆได้ ประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งไม่เรื่องง่ายเพราะการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแต่ละโครงการในปัจจุบันจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่

กรมชลประทาน ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนา กรมคลอง ขึ้นในปี พ.ศ. 2445 เพื่อทำหน้าที่ดูแล น้ำ ของประเทศอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมทดน้ำ และกรมชลประทานในปัจจุบันมีอายุครบ 114 ปี และก้าวเข้าสู่ปีที่ 115 ในปี พ.ศ. 2560 สามารถดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมกันแล้วได้ประมาณ 480 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งยังได้ก่อสร้างระบบชลประทานที่ใช้ในการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 30.22 ล้านไร่

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องแม้จะมีอุปสรรค ทำให้หลายต่อหลายโครงการล่าช้า หรือไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำต้นทุนให้สมดุลกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ด้านตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ในปีนี้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลายแห่งได้ดำเนินแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการแล้ว เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองจันทบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สาย จ.แพร่ เป็นต้น และอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่กำลังจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ เช่น โครงการนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก จ.สระบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ และโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

รวมทั้งยังมีโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2560 ที่สำคัญๆ อีกอย่างน้อย 2 โครงการคือ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ จ.จันทบุรี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาต เพื่อที่จะให้การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นไปตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

“โครงการสีเขียว” เป็นอีกโครงการที่กรมชลประทานนำมาใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะนำร่องใช้ในการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว จ.ลำปาง ก่อนขยายผล ไปยังโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการสีเขียวนั้น จะให้ความสำคัญในเรื่อง สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น การมีประตูระบายน้ำ เป็นข้อดีส่วนหนึ่งในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า อีกทั้งยังช่วยให้สัตว์ป่ามีแหล่งน้ำ และกรมชลประทานยังจะดำเนินมาตรการปลูกป่าทดแทน บริเวณป่าเสื่อมโทรมทำให้บริเวณพื้นที่โครงการมีความเขียวขจี สร้างความยั่งยืนและสมดุลทางธรรมชาติระหว่างประชาชน น้ำ ป่าไม้ และสัตว์ป่า

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจและสังคมนั้น เมื่อมีน้ำ ทุ่งนา พืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น จะเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจภายในชุมชนนั้นๆ ดีขึ้น ไม่มีการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงาน ในทางตรงกันข้ามจะเกิดการย้ายถิ่นของแรงงานกลับสู่บ้านเกิดมากขึ้น ลดความแออัดในสังคมเมืองได้ในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้การมีประตูระบายน้ำยังจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังจะเป็นสถานที่พักผ่อน ท่องเที่ยวภายในชุมชนอีกด้วย

โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว เกิดขึ้นจากราษฎรในพื้นที่อ.สบปราบ จ.ลำปาง ได้ทำหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง เสนอให้สร้างฝายกั้นแม่น้ำวัง ที่ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ พร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2550 หลังจากนั้น สำนักงานชลประทานที่ 2 ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และพิจารณาจุดที่ตั้งโครงการ ต่อมาในปี พ.ศ.2557 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานการวางโครงการพิเศษ โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง พร้อมได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นและดำเนินการด้านการมีส่วนร่วม ได้ข้อสรุปว่า บริเวณจุดเหมาะสมที่สุดของที่ตั้งหัวงานอยู่ หมู่ 2 บ้านอ้อ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ

อย่างไรก็ตาม โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว เป็นประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำวัง เข้าข่ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดโครงการ หรือกิจการซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA)

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2558 กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาในการศึกษา 12 เดือน คาดว่า จะได้ข้อสรุปก่อนสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 นี้อย่างแน่นอน หลังจากนั้นก็จะเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และพิจารณารายงาน EIA ดังกล่าวทันที ซึ่งอาจจะมีการศึกษาเพิ่มเติมหรือทบทวนการออกแบบ ประมาณไม่เกินปี พ.ศ. 2561 น่าจะได้ข้อสรุป และดำเนินการขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีปัญหาอะไรประมาณปี พ.ศ. 2563 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ และ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564

ทั้งนี้หากสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้สำเร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นน้ำต้นทุนได้ประมาณ 6.13 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นประตูระบายน้ำที่สามารถเก็บกักน้ำได้เท่าๆ กับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และที่สำคัญจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการถึง 23,240 ไร่

จากการสอบถามผู้นำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. หรือแม้กระทั่งนายอำเภอสบปราบ จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สบปราบเกือบ 100% เห็นด้วยที่จะดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าว เพราะเห็นประโยชน์ที่จะได้รับคุ้มค่า ในขณะที่ผลกระทบนั้นน้อยมาก

ในปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา แต่สามารถทำได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น เพราะไม่มีน้ำ ส่วนอีก 8 เดือนต้องออกไปรับจ้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สังคมครอบครัวขาดหายไป ดังนั้นชาวบ้านจึงเรียกร้องอยากได้ประตูระบายน้ำดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ ต.แม่กัวะ ต.นายาง และต.สบปราบ มีน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง และยังจะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝนอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ แทบทุกโครงการย่อมมีผลกระทบ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน รวมทั้งโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ ความคุ้มค่าทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม กับความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่แล้วมากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถหาวิธีบรรเทาลงได้ ก็ควรจะดำเนินโครงการนั้นๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โครงการสีเขียว” อย่างเช่น โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำบ้านวังยาว อ.สบปราบ จ.ลำปาง ที่ไม่ใช่แค่สร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างป่าไม้ให้เขียวขจี เคียงคู่กับน้ำที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ และสร้างความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้มั่นคงและยั่งยืน

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ดันโรดแมปอ้อยฯ ชงลอยตัวน้ำตาล

ชงโรดแมปปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยฯ พร้อมเสนอ ครม.ถอดน้ำตาลทรายออกจากสินค้าควบคุมนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ ที่ประชุมจะพิจารณาโรดแมปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากนั้นจะเสนอโรดแมปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต้นเดือน ก.ย.นี้ และจะเริ่มดำเนินบางมาตรการตั้งแต่ช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2559/2560 ที่จะเริ่มต้นช่วงปลายปีนี้ ขณะที่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายในประเทศยังต้องรอการปรับปรุงกฎหมายก่อน

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 8 สิงหาคม 2559

สมคิดตีปี๊ปฟื้นศก.สร้างสรรค์    

                    "สมคิด" เผยภายในเดือนต.ค.นี้ รัฐบาลจะจัดงานเปิดตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หนุนเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน                

                     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายในเดือนต.ค.นี้ รัฐบาลจะจัดงานเปิดตัวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ ไทยแลนด์ ครีเอทีฟ อีโคโนมี่ อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการเปิดตัวและแสดงให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่าจากนี้ไปรัฐบาลจะให้ความสำคัญและเดินหน้าผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งจะมีการรื้อฟื้นคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อวางนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจนต่อไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในหลาย ๆ รัฐบาลได้พยายามผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ก็เงียบหายไป

“เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และมีการพูดจากันมานาน แต่ยังไม่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญและต้องการปักหมุดให้คนไทยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจอย่างยิ่ง จึงกำหนดให้จัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับงานไทยแลนด์ สตาร์ทอัพและ งาน ไทยแลนด์ ดิจิตอล”

นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ช่วงจังหวะในฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น จัดงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เป็นแบบลูกระนาด เพื่อปลุกกระแสให้คนไทยรับรู้ว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นมีความสำคัญอย่างไร และรัฐบาลจะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มข้นต่อไป ขณะเดียวกันยังเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมากทีเดียว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม 2559

คาด"เออีเอ็ม"ดันไทยส่งออกเพิ่ม

                    รมว.พาณิชย์เผยประชุมเออีเอ็ม ย้ำให้ต้องสรุปผลเจรจาในปีนี้ ชี้หนุนไทยส่งออกได้มากขึ้น 55% ของตลาดอาร์เซ็บ 22.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ       

                   นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) ได้หารือกับกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็บ) ซึ่งรมต.เศรษฐกิจอาเซียนได้ย้ำให้ต้องสรุปผลเจรจาในปีนี้ โดยต้องเปิดเสรีอย่างมีนัยสำคัญทั้งเจรจาการค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน หากสำเร็จ จะทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น 55% ของตลาดอาร์เซ็บ 22.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐ สหภาพยุโรปได้

 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาไปหารือให้ได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 12-19 ส.ค.นี้ โดยย้ำ ต้องเปิดเสรีทั้งด้านการค้า บริการ และการลงทุนที่ชัดเจน ภายในปีนี้ เพราะอาร์เซ็บ เป็นตลาดใหญ่ มีจีดีพีรวมกันกว่า 22.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29% ของจีดีพีโลก รองรับการส่งออกของไทยได้กว่า 55% และมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงสนับสนุนทุกด้าน เพราะจะช่วยสร้างโอกาสส่งออกสินค้าที่เจอปัญหาการกีดกันนำเข้า เช่น น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และปิโตรเคมี เป็นต้น

 สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ที่มีประเทศอาเซียน คู่เจรจาบวก 6 กับสหรัฐฯ และรัสเซีย ก็เห็นพ้องกันว่าจะเร่งการเจรจาอาร์เซ็บให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงผลักดันผลสำเร็จการเจรจารัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาสินค้าเกษตร ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้า จี 20 ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม 2559

ชาวไร่-โรงงานลุ้น‘กอน.’ เคาะแผนปรับโครงสร้างอ้อย-น้ำตาล

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 30 สิงหาคม 2559 นี้ ที่ประชุมจะมีการพิจารณาโรดแมปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในต้นเดือนกันยายน 2559 นี้ โดยแนวทางดำเนินงานบางมาตรการนั้น จะเริ่มนำมาใช้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 2559/2560 ซึ่งจะเริ่มช่วงปลายปี 2559 แต่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทราย ยังต้องรอการปรับปรุงกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้

สำหรับการปรับโครงสร้างราคา ปัจจุบันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดการควบคุมราคาไว้และยังกำหนดระบบโควตาน้ำตาล ดังนั้นก่อนที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคา จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเสียก่อน โดยเฉพาะการถอดออกจากราคาควบคุม ซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ดังนั้นจำเป็นต้องขอหลักการจาก ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม โรดแมปทั้งหมดจะสอดรับกับยุทธศาสตร์อ้อย 20 ปี และเน้นการแก้ไขปัญหากรณีที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูก ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น ได้มีการชี้แจงไปบ้างแล้ว

“ทั้งนี้ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปเร่งดำเนินงานใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ 2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย และมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และ 5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยโรดแมปที่จัดทำจะระบุกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน และรายละเอียดแต่ละเรื่องไว้ชัดเจน ซึ่งบางเรื่องเราก็ได้ทำไปแล้ว”นายสมศักดิ์ กล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทราบว่าจะมีการนำเสนอ กอน.ในวันที่ 30 สิงหาคม 2559 นี้ แต่รายละเอียดยังไม่ทราบ ซึ่งการปรับโครงสร้างราคาคงจะปฏิบัติไม่ได้ในเร็ววันนี้ เพราะยังมีขั้นตอนที่จะต้องมาเจรจากันอีกพอสมควร แต่ควรวางกรอบเพื่อที่จะให้ประเทศบราซิลเห็นแนวทาง และก่อนหน้านั้นประเทศไทยเองก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีการอุดหนุนชาวไร่อ้อย เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ หากแต่เป็นการกู้เงิน อย่างไรก็ตามการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ที่สุดในอนาคตคงจะเกิดขึ้น

แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลจะขอดูแผนการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายก่อนว่าจะออกมาอย่างไร แต่ขณะนี้ยังมีประเด็นถกเถียงกันมากที่โรงงานยืนยันไปแล้วว่าไม่เห็นด้วย หากจะปรับปรุงให้นำผลพลอยได้อื่นๆนอกเหนือจากโมลาส(กากน้ำตาล) เช่น เอทานอล ไฟฟ้า ปุ๋ย ไบโอก๊าซ เป็นต้น มาแบ่งผลประโยชน์ 70:30 เนื่องจากชาวไร่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 สิงหาคม 2559

เผาอ้อย...ก่อนตัด!

โดย - ดลมนัส กาเจ

            อ้อยเข้าโรงงานที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อ้อยเสียคุณภาพ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

            มีผู้ศึกษาไว้อย่างน่าสนใจครับ คือ คุณศุภกร โพธิ์เอม และ ดร. สันติ แสงเลิศไสว จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้นำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 5 “การเกษตรดิจิทอลในพลวัตของเศรษฐกิจโลก” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้วนี้

            หลายท่านคงไม่ทราบว่าอ้อยที่ปลูกส่งโรงงาน ประมาณมากกว่า 60% มีการเผาไร่เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ว่าการเผาอ้อยมีผลเสียหลายอย่าง ทั้งเรื่องของควันไฟและเถ้าที่ไปรบกวนคนอ่ืนอย่างมาก และคุณภาพของอ้อยที่ลดลง ทำให้เก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน

           ดังนั้น หน่วงานที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้พยายามสร้างแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อย เช่นการตัดราคาอ้อยที่ผ่านการเผาตันละ 20 บาท เพื่อนำไปเพิ่มให้เกษตรกรที่ตัดอ้อยสด และเพิ่มราคาให้อ้อยสดขึ้นไปอีก

           จนปัจจุบันนี้ราคาต่างกันประมาณ 90 บาท แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ เหตุผลหลักที่ทำให้การเผาอ้อยไม่ได้ลดลงก็คือส่วนต่างของราคาอ้อยสดกับอ้อยไฟไหม้ แตกต่างกันไม่มากพอ

           ที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือคนรับจ้างตัดอ้อย ไม่ค่อยยินดีที่จะรับตัดอ้อยสดเท่าไหร่ เพราะว่าถึงแม้ค่าแรงตัดอ้อยสดจะสูงกว่าการตัดอ้อยไฟไหม้ก็ตาม เพราะรวมรายได้ต่อวันแล้ว การตัดอ้อยไฟไหม้ สามารถทำได้เร็วกว่ามาก จึงสร้างรายได้ต่อวันได้สูงกว่าเกือบสองเท่า

            คำถามคือ ทำไม ไม่ใช้รถตัดอ้อยซึ่งสามารถทำงานได้เร็วกว่า และตัดอ้อยสดได้ดี ก็ปรากฎว่าในความเป็นจริงแล้ว เกษตรกรมีการใช้บริการรถตัดอ้อยประมาณ 10% เท่านั้น เนื่องจากลักษณะพื้นที่ไม่อำนวยให้มีการใช้รถตัด และพบว่าการใช้รถตัดทำให้เกิดความเสียหายระหว่างเก็บเกี่ยวมากกว่า

            ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ การที่เกษตรกรได้รับโควต้าจากโรงงานน้ำตาล ทำให้ต้องรีบเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อส่งโรงงานให้ทันเวลาที่กำหนด ดังนั้น เมื่อหาแรงงานตัดอ้อยสดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเผาไร่อ้อย เพื่อให้ตัดได้ทันตามกำหนด หรือแม้เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำ

            สรุปแล้ว เกษตรกรหลายรายก็ไม่ได้ยินดีที่จะเผาไร่อ้อย แต่ด้วยความจำเป็นต่างๆ บังคับให้ต้องทำ ถึงแม้จะมีการออกกฎหมายบังคับ แต่ไม่มีความเข้มงวด หรือแรงจูงใจในเรื่องความแตกต่างของราคาอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ที่เกษตรกรได้รับ

            ทีมวิจัยได้เสนอแนะให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ทบทวนเรื่องส่วนต่างระหว่างราคาอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ ซึ่งปัจจุบันนี้ต่างกันตันละ 90 บาท หากสามารถทำให้เกิดความแตกต่างกันได้มากกว่านี้ ก็น่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการตัดอ้อยสดมากขึ้น

            ที่สำคัญคือ ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องแรงงานได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะว่าค่าแรงตัดอ้อยสด ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสูงกว่าการตัดอ้อยไฟไหม้เกือบ 2 เท่า แต่ก็ยังไม่จูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันมาตัดอ้อยสด เพราะว่าเมื่อคิดเป็นรายได้ต่อวันแล้ว ก็ยังต่ำกว่าการตัดอ้อยสด

           อีกทั้ง ต้องใช้เวลาและความยากลำบากมากกว่า ซึ่งเรื่องแรงงานนี้ ทางออกที่ดีก็น่าจะเป็นเร่่ืองของการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีประสิทธิภาพและขยายวงการใช้ให้มากขึ้น เพราะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ การใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวยังมีน้อยมาก

           ทว่า เรื่องการนำเครื่องตัดอ้อยมาใช้นั้น คงต้องศึกษาอีกมาก เพราะถึงแม้จะมีเครื่องอยู่แล้วก็ตาม แต่การยอมรับของเกษตรกร ก็คือเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณา

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 สิงหาคม 2559

อนาคตดินเสีย-อากาศเสื่อม!! 'งัด8กฎเหล็กแก้"เผาอ้อย"

รัฐผนีกเอกชน ถกแก้ปัญหาเผาอ้อยหวั่นส่งผลเสียระยะยาว ดินเสีย สภาพแวดล้อมเสื่อม งัดกฏเหล็ก 7 ข้อแก้ปัญหา พร้อมหนุนเครื่องจักรทดแทนแรงงานลดต้นทุนผลิต

     อัจฉรา อุทโยภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชไร่อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่าการเผาไร่อ้อยทำให้เกิดความสะดวกสบายกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต และไม่ต้องใช้แรงคนมาก ซึ่งแต่ก่อนถ้าไม่เผาก็ไม่มีใครอยากเข้าไปตัดอ้อยเพราะตัดได้น้อยเสียเวลา แต่ผลเสียของการตัดอ้อยนอกจากจะทำให้เกิดควันไฟและเขม่าไฟ

         ที่สำคัญยังทำให้ดินเสียเพราะการเผาอ้อยจะทำลายสารอินทรีย์ที่ควรจะเป็นปุ๋ยในดิน แล้วยังทำให้ดินทึบแน่นขึ้น ไม่อุ้มน้ำ นอกจากนี้ยังทำให้วัชพืชขึ้นได้ง่าย แมลงศัตรูอ้อยบินมาวางไข่ เติบใหญ่เป็นหนอน สามารถชอนไชไปทำลายตอได้ง่าย

         "ปัญหาการเผาอ้อยเมื่อก่อนต้องยอมรับว่าแก้ยาก แต่ปัจจุบันมีเครื่องจักรที่เหมาะสม ทำให้ปัญหาการเผาอ้อยแก้ไขได้ง่ายขึ้น และกรมส่งเสริมการเกษตรเองได้ตระหนักดีถึงปัญหาต่างๆจึงร่วมมือกับภาคีภาครัฐและเอกชนร่วมกันหารือถึงมาตรการแนวทางแก้ปัญหา โดยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ โรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากเผาอ้อยด้วย"

         ผู้อำนวยการกลุ่มฯ ระบุอีกว่า สำหรับแนวทางที่กำหนดมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยหรืออ้อยไฟไหม้นั้นประกอบด้วย

         1.ปรับเพิ่มอัตราการตัดเงินอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงาน หรือการตัดเป็นร้อยละของราคาอ้อยแทน แล้วนำเงินมาเพิ่มให้กับอ้อยสดหรือจัดทำโครงการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้

         2.ดำเนินการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจัดหารถตัดอ้อยและให้ความรู้ในการบริหารจัดการให้คุ้มทุนตามมติ ครม.ปีละ 3,000 ล้าน 3 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐชดเชยร้อยละ 3 หรือมาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอื่นๆ

         3.ออกระเบียบการจัดแปลงปลูกอ้อยร่องกว้างขนาด 1.50 - 1.65 เมตร ให้รองรับรถตัดอ้อย และให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนแปลงปลูกอ้อยให้เกิดความสะดวกในการใช้เครื่องจักรกล

         4.การบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้เผาไร่อ้อย

         5.ส่งเสริมการปลูกอ้อยแปลงใหญ่แบบสมัยใหม่ หรือมีโครงการนำร่องในปี 2559

         6.ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการใน EIA (Environmental Impact Assessment : การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) เพื่อป้องกันและการแก้ไขอ้อยไฟไหม้ และรถบรรทุกอ้อยผิดกฎหมาย

อนาคตดินเสีย-อากาศเสื่อม!! 'งัด8กฎเหล็กแก้"เผาอ้อย"

         7.จัดให้มีการหน่วยเฝ้าระวังและดับไฟไหม้อ้อย และ

         8.ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรสางใบอ้อย โรงงานรับซื้อใบอ้อยทำเชื้อเพลิง อาหารสัตว์

          ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชไร่อุตสาหกรรมย้ำด้วยว่านอกจากนี้ทางกรมส่งเสริมฯยังสนับสนุนให้เกษตรกรนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคนจะสามารถลดต้นทุนได้ดีกว่า แม้เครื่องจักรตรงนี้จะมีราคาสูง แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการรวมตัวกันของเกษตรกร หรือโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่กรมฯกำลังส่งเสริมอยู่ในขณะนี้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 สิงหาคม 2559

อ้อย พันธุ์สุพรรณบุรี 50…ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย รายได้มั่นคง

อ้อย เป็นพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อย บางพันธุ์นำผลผลิตส่งโรงงานแปรรูปเป็นน้ำตาล บางพันธุ์เหมาะจะนำมาบริโภคสดด้วยการหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดพร้อมดื่ม การปลูกอ้อยมีทั้งปลูกแบบสวนหลังบ้านและปลูกในเชิงการค้า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้สู่ความมั่นคง

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย เป็นการเพิ่มรายได้เสริมนอกเหนือจากการปลูกเพื่อตัดต้นอ้อยขาย เป็นหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับท่านที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง อ้อย พันธุ์สุพรรณบุรี 50...ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย รายได้มั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณวีระวัฒน์ มีตาดพงษ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เล่าให้ฟังว่า ในอดีตได้เคยทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในตำเหน่งวิศวกรโรงงาน เมื่อเวลาผ่านไปได้เรียนรู้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรอบข้างมากขึ้น จึงนำประสบการณ์ที่ได้มาไตร่ตรองว่า หากเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่น่าจะได้รับสิ่งใหม่มากขึ้น จึงตัดสินใจกลับมาช่วยคุณพ่อทำไร่อ้อยถึงทุกวันนี้

เมื่อสะสมประสบการณ์การปลูกอ้อยผ่านไปได้ระยะหนึ่ง จุดเปลี่ยนได้เกิดขึ้นเมื่อไปเดินซื้อของใช้ที่ตลาดนัดในท้องถิ่น แล้วซื้อน้ำอ้อยสดมาดื่ม ปรากฏว่า ได้รสชาติหวานหอมอร่อยมาก ได้คุยกับพ่อค้าที่ขายน้ำอ้อย จึงได้รู้ว่าน้ำอ้อยที่ดื่มนั้นเป็นน้ำอ้อยที่ได้มาจากต้นอ้อยที่ไร่ของคุณพ่อตัวเอง เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้ไตร่ตรองถึงข้อดีข้อด้อยแล้วได้ตัดสินใจหีบคั้นน้ำอ้อยสดให้เป็นทางเลือกใหม่ในการเพิ่มรายได้ จากนั้นได้ไปจัดหาอุปกรณ์หีบคั้นน้ำอ้อย เช่น เครื่องหีบคั้นอ้อย หม้อนึ่ง หรือขวดบรรจุ ในระยะแรกเริ่มได้ทดลองหีบคั้นน้ำอ้อยบรรจุขวดขายในชุมชน พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมากพึงพอใจในรสชาติความอร่อย จึงได้ทำเป็นกิจกรรมผสมผสานกับการปลูกตัดต้นอ้อยขาย

เมื่อได้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อการดำรงชีพแบบพอเพียง พอกินพออยู่ที่มั่นคง จึงได้แบ่งพื้นที่ 1 ไร่ ของคุณพ่อมาปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ให้น้ำอ้อยมาก ได้ผลตอบแทนคุ้มทุน

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 8 สิงหาคม 2559

กอน.ถกโรดแมปปรับโครงสร้างอ้อยน้ำตาล 30 ส.ค. ก่อนชง “ครม.” เคาะ

        ชาวไร่-โรงงานน้ำตาลลุ้น “กอน.” ถกเคาะโรดแมปแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 30 ส.ค.นี้ก่อนดันเข้า “ครม.” ต้น ก.ย. “สอน.” แย้มปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลต้องให้พาณิชย์เห็นชอบและต้องแก้ไขกฎหมายก่อน ขณะที่โรงงานชาวไร่อ้อยยังสรุปผลประโยชน์ไม่ลงตัว              

        นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันที่ 30 ส.ค.นี้จะมีการพิจารณาโรดแมปการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในต้นเดือนกันยายนนี้ โดยแนวทางดำเนินงานบางมาตรการจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงฤดูหีบอ้อยปี 59/60 ซึ่งจะเริ่มช่วงปลายปีนี้ แต่การปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายยังต้องรอการปรับปรุงกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้       

        สำหรับการปรับโครงสร้างราคาปัจจุบัน พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ กำหนดการควบคุมราคาไว้และยังกำหนดระบบโควตาน้ำตาล ดังนั้นก่อนที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาจะต้องปรับปรุงกฎหมายเสียก่อน โดยเฉพาะการถอดออกจากราคาควบคุมซึ่งมีกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแล ดังนั้นจำเป็นต้องขอหลักการจาก ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนด้วย อย่างไรก็ตาม โรดแมปทั้งหมดจะสอดรับกับยุทธศาสตร์อ้อย 20 ปีและเน้นการแก้ไขปัญหากรณีที่สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิลได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้ากับประเทศไทย โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนแก่ชาวไร่อ้อยในการเพาะปลูกซึ่งข้อเท็จจริงได้มีการชี้แจงไปบ้างแล้ว       

        “ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งดำเนินงานใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ 2. การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3. การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย และมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย 4. การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5. การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยโรดแมปที่จัดทำจะระบุกรอบเวลาในการดำเนินงานและรายละเอียดแต่ละเรื่องไว้ชัดเจน ซึ่งบางเรื่องเราก็ได้ทำไปแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว       

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทราบว่าจะมีการนำเสนอ กอน. 30 ส.ค.นี้ แต่รายละเอียดยังไม่ทราบแต่การปรับโครงสร้างราคาคงจะปฏิบัติไม่ได้ในเร็ววันนี้เพราะยังมีขั้นตอนที่จะต้องมาเจรจากันอีกพอสมควร แต่ควรวางกรอบเพื่อที่จะให้บราซิลเห็นแนวทาง และก่อนหน้าไทยเองก็ชี้แจงไปแล้วว่าไทยไม่ได้มีการอุดหนุนเพราะไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐหากแต่เป็นการกู้เงิน อย่างไรก็ตาม อนาคตการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่สุดคงจะเกิดขึ้น       

        แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลจะขอดูแผนการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลก่อนว่าจะออกมาอย่างไร แต่ขณะนี้ยังมีประเด็นถกเถียงกันมากที่โรงงานยืนยันไปแล้วว่าไม่เห็นด้วยหากจะปรับปรุงให้นำผลพลอยได้อื่นๆ นอกเหนือจากโมลาส (กากน้ำตาล) เช่น เอทานอล ไฟฟ้า ปุ๋ย ไบโอก๊าซ ฯลฯ มาแบ่งผลประโยชน์ 70:30 เนื่องจากชาวไร่ไม่ได้ลงทุนอะไรเลย

จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 สิงหาคม 2559 

เงินบาทแข็งค่า กสิกรฯคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.70-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาผลประชามติ

 “เงินบาทแข็งค่า ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวช่วงปลายสัปดาห์หลังจาก BOE ผ่อนคลายนโยบายการเงิน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 ปีที่ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกลงบางส่วน โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรกตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ หลังจากกนง. ส่งสัญญาณสะท้อนความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มากกว่าที่ตลาดคาด

สำหรับในวันศุกร์ (5 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (29 ก.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-11 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.70-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องติดตามสถานการณ์ของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์ หลังรับรู้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ และผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนส.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคานำเข้า/ส่งออกเดือนก.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ-ภาคค้าส่งเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงหนุนของการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายรอบใหม่ของธนาคารกลางอังกฤษ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,518.69 จุด ลดลง 0.35% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 8.08% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 55,882.68 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 581.96 จุด ลดลง 1.25% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรในหุ้นขนาดใหญ่ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ หลังธนาคารอังกฤษ (BOE) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมๆ กับประกาศเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการซื้อสินทรัพย์ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของหุ้นไทย

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-11 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 แลt 1,475 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,530 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญของไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดการขอสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ คงได้แก่ ข้อมูลภาคการผลิตของจีน รวมทั้งคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 7 สิงหาคม 2559 

อาเซียนวางกรอบการทำงานระยะ10ปี เน้นเปิดเสรีการค้า-บริการ-ลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM ครั้งที่ 48 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ว่า ในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับจากรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

โดย สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2559 ได้จัดทำเอกสารเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน โดยที่ประชุมให้การรับรองเอกสารดังกล่าวในระหว่างการประชุมแล้วได้แก่ 1.กรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นแนวทางพื้นฐานในการเสริมสร้างการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมเรื่องพิธีการศุลกากร การขนส่ง มาตรฐาน การจัดทำกฎระเบียบที่โปร่งใส เป็นต้น โดยเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

2.กรอบการดำเนินงานกำกับดูแลความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจะเป็นการนำนโยบายความปลอดภัยอาหารที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้การรับรองเมื่อปีที่แล้วมาสู่การปฏิบัติ โดยอาจมีการจัดทำความตกลงระหว่างอาเซียนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค 3.กรอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เป็นแนวทางการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนว่า ภาครัฐควรมีมาตรการและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอะไร

4.แผนงานสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจเป็นแนวทางเพื่อการลดระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจ เช่น การให้บริการแบบ one-stop การรับจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.แนวทางการพัฒนาและความร่วมมือสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ขณะนี้กำลังทวีความสำคัญ และมีการจัดตั้งขึ้นหลายแห่งในอาเซียน โดยจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศสมาชิก ส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และการเป็นฐานการผลิตเดียวของอาเซียน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองแผนงาน/กิจกรรมในช่วง 10 ปีข้างหน้า ใน 9 สาขาสำคัญภายใต้ AEC Blueprint 2025เช่น แผนงานด้านการค้าสินค้า ซึ่งจะมีการปรับปรุงความตกลงการค้าและการสร้างกลไกลดผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษี แผนงานด้านบริการ จะมีการพิจารณาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการเปิดเสรีการค้าบริการที่ลึกขึ้น แผนงานด้านการลงทุน ซึ่งครอบคลุมการประเมินผล การเปิดเสรีการลงทุน การทบทวนข้อจำกัดต่างๆ การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพ แผนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงให้ความรู้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจข้ามพรมแดน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ เพื่อความมั่นคงของชาติ

        ในการแก้ไขปัญหาน้ำในทุก ๆ ด้านอย่างยั่งยืนของประเทศ  ทาง คสช. ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ทำการยกร่างแผน “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”                    

       ในการแก้ไขปัญหาน้ำในทุก ๆ ด้านอย่างยั่งยืนของประเทศนั้น ทาง คสช. ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ทำการยกร่างแผน “ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”  และได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา

       ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ยึดหลักการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน และการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวโน้มความต้องการใช้น้ำ ปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุทกภัย และคุณภาพน้ำในอนาคต โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้ได้ภายใน 12 ปี คือตั้งแต่ปี 2558-2569 ซึ่งต่อมาแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็โอนมาเป็นความรับผิดชอบของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

     ภายใต้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีการกำหนดยุทธศาสตร์รองรับไว้ 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค  2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 

    ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าว กรมชลประทานเข้าไปเกี่ยวข้องใน   ทุก ๆ ยุทธศาสตร์ แต่ที่ กนช. มอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบคือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำภาคการผลิต   และยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถดำเนินงานควบคู่กันได้

    ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานเพิ่มขึ้น โดยภายในปี 2569 จะต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้อย่างน้อย 8.7  ล้านไร่ และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณ       น้ำต้นทุนอีก 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับภาคการผลิตได้

    ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ได้ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วยการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์  ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 318.66 ล้านลูกบาศก์เมตร การพัฒนาแก้มลิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น  

    พร้อมปรับปรุงอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้นเต็มศักยภาพ ซึ่ง   จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพที่จะเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้มีประมาณ 25 แห่งทั่วประเทศ สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นรวมกันได้ประมาณ 334 ล้านลูกบาศก์เมตร

   “การเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8.7 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอีกประมาณ 4,800 ล้าน ลบ.ม. นั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งหมดร่วมมือบูรณาการทำงานด้วยกัน ไปในทิศทางเดียวกัน  และ   สร้างความเข้าใจว่า ยุทธศาสตร์บริหารจัด  การทรัพยากรน้ำ เป็นนโยบายของรัฐบาล   ของประเทศชาติที่จะต้องทำ การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2569 มีทางเป็นจริงได้อย่างแน่นอน” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไทยผงะบราซิลฟ้องดับเบิลยูทีโอกล่าวหาอุดหนุนอ้อยน้ำตาลจนราคาตกต่ำ หวั่นกระทบตัวเอง-บี้3กระทรวงเร่งรับมือ 

           สศก.เผยบราซิลยื่นฟ้องไทยต่อดับเบิลยูทีโอข้อหาไทยอุดหนุนอุตฯอ้อยน้ำตาล ทำราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำอย่างหนัก อุตฯน้ำตาลระบุ 3 กระทรวงทั้งเกษตรฯ พาณิชย์ อุตฯต้องเร่งหาทางรับมือก่อนกระจายไปยังสินค้าอื่นๆ

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศบราซิล ในฐานะผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดในซีกโลกตะวันตกทั้งหมด ได้ยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ให้ไต่สวนไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับที่ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนการตลาดในซีกโลกตะวันออกทั้งหมด ว่าอาจมีการใช้นโยบายอุดหนุนผู้ประกอบการในการส่งออก และอุดหนุนเกษตรให้หันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาตกต่ำอย่างหนักเหลือเพียง 2-3 เซนต์สหรัฐ/ปอนด์ แม้จะเกิดภัยแล้งขึ้นส่งผลให้ไร่อ้อยออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการไต่สวน

          แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมรับมือ รวมทั้ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯก็ได้กำชับไปยังข้าราชการในกระทรวงต้องเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์ เพราะอาจทำให้กลุ่มประเทศที่ยื่นฟ้องไทย นำข้อกีดกันดังกล่าวมาดำเนินการกับสินค้าเกษตรตัวอื่นๆ ด้วย

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะผู้แทนรัฐบาลไทยและบราซิล รวมทั้งภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมหารือกัน ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งบราซิลได้แสดงความกังวลว่าไทยได้อุดหนุนน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ที่อาจไม่สอดคล้องกับกฎดับเบิลยูทีโอ อาทิ ระบบโควต้า มาตรการจูงใจ ให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีน้ำตาลในระบบมากขึ้น และส่งออกน้ำตาลได้มากขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก และกระทบต่อการส่งออกของบราซิล ทำให้เกิดการแข่งขันไม่ยุติธรรม และเห็นว่าระบบน้ำตาลของไทยมีความคล้ายคลึงกับกรณีพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ที่ไทย บราซิล และออสเตรเลียร่วมกันฟ้องอียูเมื่อปี 2548 และในครั้งนั้นอียูแพ้คดีเพราะถูกตัดสินว่าเข้าข่ายอุดหนุนการส่งออกและขัดต่อระเบียบ ดับเบิลยูทีโอ

          "บราซิลมีข้อกังวล 5 ประเด็น คือ 1.การแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ที่เกี่ยวข้องกับแผนการปลูกอ้อย ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.กังวลเรื่องระบบโควต้าน้ำตาลของไทยที่กำหนดไว้ 3 โควต้า คือ ก ข และ ค ซึ่งได้ชี้แจงไปว่า โควต้า ก สำหรับบริโภคในประเทศ ขณะที่ โควต้า ข (น้ำตลาดทรายดิบ) และ ค เป็นน้ำตาลเพื่อการส่งออก 3.โครงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อย จำนวน 160 บาท/ตัน ซึ่งทางบราซิลสอบถามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินแก่เกษตรกร 4.นโยบายจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย และ 5.ได้มีการสอบถามรายรับรายจ่ายของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งไทยได้แจ้งแหล่งที่มาของเงินทุนเป็นไปตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กองทุนอ้อยและน้ำตาลไทย พ.ศ.2527" แหล่งข่าวกล่าว

จก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

อุตฯน้ำตาลดิ้นหนีมาตรการภาษี 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาล สมาคมอุตสาหกรรมอาหารและนม และองค์กรชาวไร่อ้อยว่า ได้หารือเกี่ยวกับกรณีที่รัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ภาษีดังกล่าวออกไปอีก 5 ปี จากที่จะมีผลในเดือนกรกฎาคม 2560

จก http://www.matichon.co.th  วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559 

“บราซิล” ฟ้องดับเบิลยูทีโอ ไทยละเมิดกฎเหล็กอุดหนุนชาวไร่อ้อยทำราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศบราซิล ในฐานะผู้ค้าน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ได้ยื่นหนังสือต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)ให้ไต่สวนไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับที่ 2 ของโลก อาจมีการใช้นโยบายอุดหนุนผู้ประกอบการในการส่งออก และอุดหนุนเกษตรให้หันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาตกต่ำอย่างหนัก แม้จะเกิดภัยแล้งขึ้นส่งผลให้ไร่อ้อยออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการไต่สวน

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อบราซิลยื่นฟ้องไทยต่อดับเบิลยูทีโอ เป็นเรื่องของ 3 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกันเพื่อเตรียมรับมือ ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้กำชับข้าราชการในกระทรวงเร่งดำเนินการติดตามสถานการณ์ เพราะอาจทำให้กลุ่มประเทศที่ยื่นฟ้องไทย นำข้อกีดกันดังกล่าวมาดำเนินการกับสินค้าเกษตรตัวอื่นๆด้วย ซึ่งจากการหารือไทยต้องปรับวิธีการบริหารสินค้าเกษตรในประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในการหารือร่วมกันระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทยกับบราซิล ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่การหารือระหว่างเอกชนอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยและบราซิล ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฝ่ายบราซิลได้แสดงความกังวลว่าไทยอุดหนุนน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ที่อาจไม่สอดคล้องกับกฎดับเบิลยูทีโอ อาทิ ระบบโควตา มาตรการจูงใจ ให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีน้ำตาลในระบบมากขึ้นสามารถส่งออกน้ำตาลได้มากขึ้นตาม ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก และกระทบต่อการส่งออกของบราซิล ทำให้เกิดการแข่งขันไม่ยุติธรรม รวมทั้งไทยยังมีการอุดหนุนการส่งออก ทำให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลในภาวะที่ราคาน้ำตาลตกต่ำ ซึ่งบราซิลเห็นว่าระบบน้ำตาลของไทยมีความคล้ายคลึงกับกรณีพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้ดับเบิลยูทีโอที่ไทย บราซิล และออสเตรเลียร่วมกันฟ้องอียูเมื่อปี 2548 และในครั้งนั้นอียูแพ้คดี โดยถูกตัดสินว่าเข้าข่ายอุดหนุนการส่งออกและขัดต่อระเบียบดับเบิลยูทีโอ

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ บราซิลยังมีความกังวล 5 ประเด็นที่ไทยดำเนินการ ได้แก่ 1. การแก้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ที่มีความเกี่ยวข้องกับแผนการปลูกอ้อย 2.ระบบโควตาน้ำตาลไทยในเรื่องวิธีการกำหนดปริมาณและราคาน้ำตาล โควตา ก และบทบาทรัฐบาล รวมทั้งการกำหนดโควตา ข และค เพื่อส่งออก 3.โครงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนชาวไร่อ้อย ที่จ่ายให้ชาวไร่อ้อยจำนวน 160 บาท/ตัน 4.นโยบายจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย และ 5.ผลดำเนินงานของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนรายรับและรายจ่าย

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 4 สิงหาคม 2559

ฝูงตั๊กแตนข้าวบุกไร่อ้อยชาวจอมบึง กัดกินต้นอ้อยแล้วกว่า 1.5 พันไร่  

   ตั๊กแตนข้าว หรือตั๊กแตนไฮโรไกลฟัสระบาดหนัก กัดกินต้นอ้อยของชาวไร่อ้อยในพื้นที่อำเภอจอมบึงไปแล้วกว่า 1,500 ไร่ ขณะที่รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่ให้ความรู้ชาวไร่เร่งกำจัด

                เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (4 ส.ค.) น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาที่วัดเขาผึ้ง หมู่ 7 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อให้ความรู้กับเจ้าของไร่ออ้อยในการกำจัดและป้องกันตั๊กแตนข้าว หรือตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (Hieroglyphus spp.) ซึ่งกำลังระบาดหนักในพื้นที่ ต.ปากช่อง อ.จอมบึง อยู่ในขณะนี้กว่า 1,500 ไร่ โดยตั๊กแตนข้าวจะมีลักษณะตัวมีหลายสี ทั้งสีเขียวอ่อน สีน้ำตาลแดง เหลืองอ่อน และบางตัวจะมีสีดำ ส่วนที่ใต้ท้องจะมีสีดำตลอดลำตัว จะกัดกินใบอ้อยจนเหลือแต่เส้นกลางใบ ทำให้ต้นอ้อยชะงักการเจริญเติบโต และจะขยายพันธุ์ออกไปเรื่อยๆ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาดำเนินการกำจัดวงจรของตั๊กแตนข้าว เพื่อไม่ให้ระบาดออกไปอีก

                นายวีรยุทธ สุขเสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 16 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ตอนตั๊กแตนข้าว หรือตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส กำลังระบาดอย่างหนัก กัดกินใบอ้อยของชาวไร่อ้อยตั้งแต่ใบล่างจนถึงใบบนทำให้อ้อยชะงักไม่โต

                "ตอนนี้ระบาดไปกว่า 1,000 ไร่แล้ว ชาวบ้านทำได้เพียงไปจับตั๊กแตนมาทอดกิน และตอนนี้ก็รอสารเคมีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยพ่น ซึ่งตั๊กแตนนั้นเริ่มระบาดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา"

                ด้านนายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตอนนี้ตั๊กแตนได้เข้ามาทำลายไร่อ้อยด้วยการกัดกินใบ ทำให้ต้นอ้อยชะงักไม่โต ทางหน่วยงานราชการได้บูรณาการร่วมกันในการถ่ายทอดความรู้ในการป้องกันกับเกษตรกร ซึ่งก็มีหลายวิธี เช่น การใช้เชื้อราเขียว ใช้สารเคมี รวมทั้งใช้คนเข้าไปทำการจับตั๊กแตนมาปรุงอาหาร และบริเวณข้างแปลงอ้อยก็จะต้องทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของตั๊กแตน

                "ขณะนี้ตั๊กแตนได้ทำลายใบอ้อยไปแล้วจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตลดลง และขณะนี้ตั๊กแตนได้ทำลายไร่อ้อยไปแล้วกว่า 1,500 ไร่ โดยจะทำเป็นย่อมๆ ไม่ใช่ทั้งแปลง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการกำจัดวงชีวิตของตั๊กแตนอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้กระจายไปในพื้นที่อื่นๆ"

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 4 สิงหาคม 2559

เงินไหลล้นไทยบีบบาทแข็งสุดรอบปีจ่อ 34.50/ดอลล์

ค่าเงินบาทจ่อทำสถิติแข็งค่าสุดแถว 34.50 บ./ดอลล์ ล่าสุดจ่อเด้งแตะ 34.70 บาท นักค้าเงินชี้ต้านแรงเงินต่างชาติทะลักเข้ามาไม่ไหว หวั่นกดดัน ธปท.เข้าแทรกแซง เผยค่าบาทแข็งค่าอันดับ 7 ในภูมิภาค "ศุภวุฒิ" ย้ำเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแตะ 10% ต้นเหตุบาทแข็ง

นางสาวปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะสั้น และมีโอกาสหลุดระดับ 34.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากเงินทุนต่างชาติที่ยังไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย ทั้งในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และจะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปนัก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ประมาณ 3.82% ซึ่งเป็นการแข็งค่าอันดับ 7 เมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่น มีการปรับตัวแข็งค่าสูงกว่า 17% ถือเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคนี้

"ปัจจัยหลักมาจากนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการลดความเสี่ยงจากการถือครองสินทรัพย์เช่นเงินสกุลดอลลาร์หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส2/59 ไม่ดีนัก อยู่ที่ระดับ 1.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะสั้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ยังต้องจับตาในสัปดาห์นี้ คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในคืนวันที่ 4 ส.ค.นี้ ซึ่งอาจจะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมา ส่งผลให้นักลงทุนหันมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น และเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง" นางสาวปารีณากล่าว

สำหรับระยะกลางถึงสิ้นปีนี้ คาดการณ์ว่าหากธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) พิจารณาการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบประชุมช่วงเดือน ธ.ค.นี้ นักลงทุนจะทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงออกก่อนปลายปีนี้ และอาจเห็นเงินไหลออกจากภูมิภาคนี้รวมถึงไทย และมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ 36.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.60-34.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังมีกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ซึ่งพบว่าในช่วงที่ผ่านมามีแรงซื้อต่อเนื่องรวม 10 วันแล้ว จึงทำให้ยังมีแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีก

ขณะที่ในกลางสัปดาห์นี้ (3 ส.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% เนื่องจาก ธปท.มีความวิตกต่อพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง (Search for Yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการขอกู้เงินเพื่อมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นได้ และอาจเป็นความเสี่ยงสะสมที่จะเกิดวิกฤตฟองสบู่เช่นในอดีตได้ หากดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัว

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในระยะสั้นๆ 3 เดือนนี้คาดค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปสู่ระดับ 34.50 บาทได้เพราะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้า

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทรกล่าวว่า สถานการณ์เงินทุนต่างชาติไหลเข้าขณะนี้ แบงก์ชาติยังไม่น่าจะเข้ามาแทรกแซงค่าเงิน และน่าจะปล่อยให้มีการใช้มาตรการทางการคลังควบคุมไปก่อน แต่ ธปท.ควรจะสนับสนุนให้นำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ เพราะ 6 เดือนที่ผ่านมามีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลราว 1 ล้านล้านบาททุกเดือน หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว และเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทจะแข็งค่า ส่วนเงินทุนต่างชาติที่เข้าตราสารหนี้ไทยขณะนี้ยังถือว่าน้อยมาก และเข้ามาหาผลตอบแทนแบบธรรมดา

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 สิงหาคม 2559

กรมชลฯเร่งรัดเดินหน้าบูรณาการแก้ปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ

กรมชลประทาน เร่งรัดเดินหน้าบูรณาการแก้ไขปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ ตามนโยบายร่วมที่ 2 เจ้ากระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงทรัพยากรฯ ตกลงร่วมกัน

นายสัญชัย เกตุวรชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) กรมชลประทาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ โดยมีคณะผู้บริหารกรมชลประทาน และผู้บริหาร ผู้แทน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมหารือด้วยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากข้อหารือร่วมระหว่าง พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งประเด็นการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งน้ำ

“แต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายกำกับอยู่ เช่น กรมป่าไม้ หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลฯ กรมชลประทานเองในฐานะผู้ขอใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำก็ทำตามกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว เพียงแต่จะขอความร่วมมือเร่งรัดในแต่ละขั้นตอนให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้งานพัฒนา

 แหล่งน้ำเกิดขึ้นได้รวดเร็วตามนโยบาย”

นายสัญชัยกล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นงานนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม น้ำอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรม

 ซึ่งทุกหน่วยตระหนักดีอยู่แล้ว การประชุมครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือเพื่อหาทางดำเนินการ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาจากน้ำโดยเร็วยิ่งขึ้น

“เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากท่านรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวง ได้มีการหารือกัน และได้ให้นโยบายไว้ วันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเดียวกัน บรรยากาศการประชุมก็เป็นไปด้วยดี แต่ละหน่วยงานพยายามช่วยหาทางแก้ปัญหาและมีความมั่นใจว่าการประชุมร่วมคราวต่อๆไป จะเห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามนโยบายร่วมของ สองกระทรวง” นายสัญชัย กล่าว

สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เร่งรัดขอใช้พื้นที่ป่า ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ โครงการอ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ จ.จันทบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะมีคณะผู้บริหารกรมชลประทานแล้ว ยังมีผู้บริหาร และผู้แทน จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประกอบด้วย กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและ

 พันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง และกรมทรัพยากรน้ำ เข้าร่วมประชุมด้วย

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 4 สิงหาคม 2559

สมาคมอุตฯ'เครื่องดื่ม'เบรกขึ้นภาษีน้ำตาล 

          ผู้ผลิตเครื่องดื่มไทย ขอเวลา 5 ปี ก่อนปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาลเกินมาตรฐานสุขภาพ พร้อมเสนอจัดทำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เป็นเกณฑ์ชี้วัดการเก็บภาษี ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม แนะผู้ประกอบการให้ทำแผนมาเสนอ ภายใน 1 เดือน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ภายหลังการหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ที่มีสมาชิกกว่า 36 บริษัท ว่า ทางผู้ประกอบการได้เข้ามาหารือถึงผลกระทบจากกรณีที่กระทรวงการคลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน เกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ตามข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.

          โดยภาคเอกชนต้องการเวลา 5 ปี เพื่อจัดทำมาตรการการควบคุมเครื่องดื่ม ที่มีน้ำตาลสูงที่ไม่ใช่ภาษีเป็นตัวชี้วัด จึงขอให้กลับไปจัดทำรายละเอียดร่วมกับทุกฝ่าย ก่อนนำไปหารือกับกระทรวงการคลังภายใน 1 เดือน ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น  การออกมาตรการรณรงค์ที่จะไม่เป็นการส่งเสริมการตลาดในการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างเช่นการนำฝาไปชิงโชค หรือการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดปริมาณการใช้น้ำตาลลง

          ส่วนข้อเสนอของ สปท. ที่ให้รัฐ จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มดังกล่าว เช่น  น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำผลไม้ แบ่งเป็น 2 อัตราตามความเข้มข้นของน้ำตาล คือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีก และปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เก็บในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก

          เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวาน ทั้งนี้ คณะทำงานที่มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ จะประชุมเรื่องดังกล่าววันที่ 9 ส.ค.นี้ อีกครั้ง โดยล่าสุด กระทรวงการคลังยืนยันจะเก็บภาษีเครื่องดื่ม ภายในเดือนก.ค.ปี 2560

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 สิงหาคม 2559

เอกชนวอนยืดเวลาเก็บภาษีน้ำหวาน

         อุตฯ เครื่องดื่มวอนรัฐยืดเวลาเก็บภาษีอีก 5 ปี เตรียม รณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาลของประชาชนลง เร่งได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 3 ส.ค.59 สมาคมอุตสาห กรรมเครื่องดื่มไทย ได้เข้าพบ พร้อมหารือเกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ตามข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประ เทศ (สปท.) ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงประเด็น และไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า จึงมีข้อเสนอขอยืดเวลาการเก็บภาษีออกไปอีก 5 ปี

          โดยในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ จะกลับไปเร่งศึกษามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านการตลาดที่รณรงค์ให้ผู้บริโภคลดการบริโภคน้ำตาล ลดมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการลดการชิงรางวัล หรือลด แลก แจก แถมรางวัล กระจายช่องทางจำหน่ายสินค้าให้มีมากขึ้น เป็นต้น

          "นายกฯ ก็ได้เร่งให้สรุปเรื่องนี้ จึงให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ไปประชุมเรื่องนี้กับคลังด้วย โดยอดีตเราก็เคยมีเรื่องการจะเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแต่ก็มีการนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลและก็พิสูจน์ว่าทำได้จริง โดยให้เร่งหาข้อสรุปให้ ได้ภายใน 1 เดือน ส่วนความคืบ หน้าการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาห กรรมอ้อยและน้ำตาล คาดว่าจะสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภ่ในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ "นางอรรชกากล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 4 สิงหาคม 2559

ปรับสภาพดินด้วยระบบ“เลเซอร์”

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

                ท่ามกลางความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำลังขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้ลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตรภายใต้แนวคิด “ปีแห่งการลดต้นทุน” โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคนให้มากขึ้น ทำให้บริษัท ธาอัส จำกัด ได้นำเข้าเครื่องยิงเลเซอร์ สำหรับการปรับหน้าดินให้ความเสมอในระดับเดียวกันอย่างแม่นยำ นำร่องแล้วในพื้นที่นาภาคกลาง เกษตรกรผู้ร่วมโครงการยืนยันว่า เพียงเริ่มต้น เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กับเครื่องดูดน้ำเข้าแปลงนา ประหยัดต้นทุนและเวลาแล้วกว่าเท่าตัว

               ธนัท ทรงเมธากฤตย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ธาอัส จำกัด บอกว่า ความจริงการใช้เครื่องเลเซอร์ ในต่างประเทศมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แม้แต่เวียดนามก็ใช้เครื่องเลเซอร์ที่ใช้ปรับหน้าดินมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมกลับล้าหลังในเทคโนโลยีตัวนี้ บริษัท ธาอัส มองว่า การปรับหน้าดินให้มีความเสมอเท่ากันนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในแปลงเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะนาข้าว และแปลงปลูกอ้อย เพราะหากพื้นที่ไม่เสมอ จะส่งผลให้เพิ่มต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น และได้ผลผลิตที่คุณภาพไม่เท่าเทียมกัน

                 “เราลองนึกสภาพพื้นที่มีความลาดเอียงไม่เท่ากัน บางจุดมีน้ำขัง บางจุดเป็นสันดอนโผล่ออกมา ต้นข้าวมีความสมบูรณ์ไม่เท่ากัน พอฝนตกน้ำฝนจะชำระล้างหน้าดินพัดเอาปุ๋ยที่ใส่ไว้ไปกองในพื้นที่ราบ ฉะนั้นต้องปรับหน้าให้เสมอ เวลาเติมน้ำจะได้ระดับเดียวกัน ทางบริษัทเราจึงนำเครื่องเลเซอร์สำหรับปรับหน้าดินมาจากสหรัฐอเมริกา เข้ามาใช้ในประเทศไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมา พร้อมกับมีการออกแบบอุปกรณ์ปรับหน้าดินที่เหมาะกับประเทศไทยเป็นกล่องมีดลากหลังรถแทรกเตอร์ ที่ควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิก ที่ทำให้สภาพดินเสมอทุกจุดเท่ากันหมด” ธนัท กล่าว

               อย่างไรก็ตาม ธนัทยอมรับว่า เครื่องเลเซอร์ที่ใช้สำหรับปรับหน้าดิน ยังเป็นของใหม่ จำเป็นต้องใช้เวลาในการทำตลาด ล่าสุดร่วมกับภาครัฐ-เอกชน -เกษตรกร โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ทดลองนำร่องในนาข้าวแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายประชารัฐ มีเกษตรกรที่ร่วมโครงการให้พื้นที่นาข้าว 4 แปลง ขนาดแปลงละ 10 ไร่ ที่จ.นครสวรรค์ และชัยนาท พบว่าเกษตรกรที่ร่วมโครงการมีความพอใจมาก

             สอดคล้องกับการบอกเล่าของ ชาติ วงศ์เทศ เกษตรกรผู้ร่วมโครงการวัย 53 ปีที่ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ บอกว่า ที่นาลุ่มๆ ดอนๆ ถือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำนา ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจะใช้รถแทรกเตอร์ดันดินให้เสมอ แต่ทำได้ระดับหนึ่ง และต้องทำทุกปี หลังนำระบบเลเซอร์มาปรับดิน พบว่า พื้นที่นาราบในระดับเดียวกัน พอเติมน้ำ ได้น้ำที่มีความลึกเท่ากันหมด เห็นแล้วมหัศจรรย์มาก ถ้าเป็นแบบนี้กว่าจะปรับดิน 1 ครั้งอยู่ได้นาน 10 ปี ประหยัดเงินประหยัดเวลา

                   “แปลงนาของผมที่ร่วมโครงการ 10 ไร่ใช้เวลาปรับหน้าดินไร่ละ 1 ชั่วโมง ใช้เวลาดูดน้ำเพื่อจะให้น้ำเต็มทั่วนาในพืนที่ 10 ไร่ เพียง 9 ชั่วโมง เปลืองน้ำมันที่ใช้เครื่องดูดน้ำเพียง 5 ลิตร จากเดิมใช้เวลากว่า 2 วัน ใช้น้ำมัน 20 ลิตร ตรงนี้เห็นชัดเจนครับ ลองคำนวณดูว่ากว่าจะเก็บเกี่ยวต้องดูดน้ำหลายครั้งจะประหยัดเท่าไร” ชาติ กล่าว

                   เช่นเดียวกับ บุญฤทธิ์ หอมจันทร์ เกษตรกรหมู่ 10 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ที่ร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายประชารัฐของกระทรวงเกษตรฯ บอกว่า ได้ทดลองใช้พื้นที่ 10 ไร่สำหรับปรับสภาพดินด้วยระบบเลเซอร์ เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งหน้าดิน เสมอง่ายต่อการเพิ่มน้ำลงนา ต่างกับที่เคยทำแบบเดิมใช้เครื่องแทรกเตอร์ปรับดิน แต่ขาดความแม่นยำ สภาพหน้าดินไม่เสมอ พอใช้ระบบเลเซอร์ พบว่าประหยัดทั้งเวลาและน้ำมันกว่า 50%

                   ก็นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สนใจ เพราะมีความแม่นยำสูงและเหมาะอย่างยิ่งกับเกษตรยุคใหม่ ที่กำลังประสบปัญหาต้นทุนสูง และแรงงานขาดแคลนด้วย

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 4 สิงหาคม 2559

ดันอนุกรรมการกฟก.จังหวัด ตัวจักรขับเคลื่อนแก้หนี้เกษตรกร

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

                 ก้าวมาอีกขั้นสำหรับการสนองนโยบายรัฐบาลของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) หลังจากที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่มอบนโยบายคณะอนุกรรมการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 20 จังหวัดภาคอีสาน หวังเร่งขับเคลื่อนภารกิจสู่องค์กรเกษตรกรครบวงจร พร้อมดึงทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ปัญหาหนี้สินและพัฒนาอาชีพสู่ความยั่งยืน

                 นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา โดยระบุว่าคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการนำนโยบายการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรให้รอดพ้นจากปัญหาหนี้สินและเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ สร้างภูมิคุ้มกันให้อาชีพของตนเองในระยะยาว เป็นกลไกที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนงานทุกด้าน เนื่องจากอนุกรรมการทุกท่านที่อยู่ในพื้นที่จะรับทราบปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี หากทุกท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่การปฏิบัติงานจะมีความราบรื่นเกิดการกระจายอำนาจการบริหารตามเจตนารมณ์ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างแท้จริง 

                   “รัฐบาลนี้มีนโยบายชัดเจน ข้อบังคับอนุกรรมการ 10 ข้อ ต้องทำให้ได้ แต่ละจังหวัดจะต้องจัดทำแผนแก้หนี้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่หนี้เกิดจนถึงหนี้ตาย หนี้เกิดเริ่มตั้งแต่เกษตรกรเริ่มเป็นหนี้นั่นแหละ ส่วนหนี้ตายก็คือโดนยึดที่ทำกินโดยการบังคับคดี เราก็ต้องพยายามไปซื้อกลับคืนมา บางครั้งหนี้ตายก็สามารถแก้ไขได้ ตอนนี้รัฐบาลใช้ระบบประชารัฐในการขับเคลื่อนภาคเกษตรแบบครบวงจร” ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวย้ำ

                    ขณะที่ นายวัชระพันธ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวเสริมว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการระดับจังหวัดได้รับทราบบทบาทหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 และระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง อาทิ การกระจายอำนาจการบริหาร การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร การจัดการหนี้ของเกษตรกร การขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนองค์กรเกษตรกร รวมทั้งประกาศคณะกรรมการการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและประกาศคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร

                   นายวัชระพันธ์เปิดเผยต่อว่า สำหรับคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดมีจำนวน 17 คน ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ 4 คน ผู้แทนภาคเอกชน 4 คน ผู้แทนองค์กรเกษตรกร 4 คน และหัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด 1 คน ทำหน้าที่เลขานุการคณะ สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประธานกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ผู้แทนเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเนือ คณะอนุกรรมการกองทุนระดับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูฯ รวมกว่า 400 คน

                    “ต่อไปนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจะไม่ได้เป็นความคิดของผู้บริหารแต่ฝ่ายเดียว เพราะคณะอนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดก็คือผู้ประสานงานที่จะนำความจริงให้ปรากฏ การสัมมนาวันนี้เราจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็เปิดให้มีการซักถามของคณะอนุกรรมการจังหวัดจะสามารถเข้าใจร่วมกันได้ และการดำเนินการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นต่อไปในทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ จะได้รับทราบปัญหาและแก้ไขร่วมกันทั้งประเทศ”

                      เลขาธิการ กฟก.ย้ำด้วยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนตามระเบียบประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ รวมถึงเข้าใจในขั้นตอน วิธีการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและด้านการจัดการหนี้ของเกษตรกรทุกสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯ เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดสัมมนาครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่ภาคกลาง จ.นครนายกระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม หลังจัดสัมมนาในภาคอีสานและภาคเหนือประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 4 สิงหาคม 2559

สนช.จับมือญี่ปุ่นนำร่องตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลจากชานอ้อยครั้งแรกในไทย  

         สนช. ขานรับนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพจับมือ NEDO เดินหน้าตั้งโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยครั้งแรกในไทย

                สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (New Energy and Industrial Technology Development Organization, NEDO) ประเทศญี่ปุ่น แถลง “การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยด้วยระบบประหยัดพลังงาน” เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อยให้ไปเป็นน้ำตาลเซลลูโลส โอลิโกแซคคาไรด์ และโพลีฟีนอล ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอล หรือสารไบโอเคมีต่อไปได้ ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของไทย

                ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก 10 อุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ New S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ขณะเดียวกันก็เกิดการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และสังคม ซึ่งตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สนช. และองค์การ NEDO มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการนำร่องในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการผลิตเอทานอลราคาถูกให้กับประเทศไทย คือ “โครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังในประเทศไทย” ซึ่งผลการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการด้วยดี สามารถต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังสู่กระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ และในขณะนี้อยู่ในกระบวนการแสวงหานักลงทุนชาวไทยในการขยายผลของโครงการ”     

        “สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ องค์การ NEDO จะเป็นผู้สนับสนุนทุนในส่วนของเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสนช. จะให้ความช่วยเหลือด้านการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในด้านวิชาการ ซึ่งในเบื้องต้นได้ร่วมกันคัดเลือกกลุ่มบริษัท โทเร อินดัสทรีส์ บริษัท มิตซุย แอนด์ โค จำกัด บริษัท มิตซุย ชูการ์ จำกัด และบริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด เข้าร่วมดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถเปลี่ยนวัตถุดิบที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ชานอ้อย ให้เป็นน้ำตาลที่สามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลหรือสารไบโอเคมีต่อไปได้

                ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตน้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 15 ตันชานอ้อยต่อวัน หรือคิดเป็น 5,000 ตันชานอ้อยต่อปี สามารถผลิตน้ำตาลเซลลูโลสได้ 3.7 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 1,400 ตันต่อปี ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลได้เท่ากับ 700,000 ลิตรต่อปี นับว่าเป็นการสร้างโอกาสให้หน่วยงานในระดับภูมิภาคและเอกชนไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับการเรียนรู้ร่วมวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้สามารถผลิตในระดับโรงงานต้นแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม

                 ดร.โยชิเตรุ ซาโตะ กรรมการบริหารระดับสูงขององค์การ NEDO ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า “สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเมื่อปี 2558 ที่วางแผนจะเพิ่มอัตราส่วนพลังงานหมุนเวียนให้สูงขึ้นจนถึง 30% นั้น ภาครัฐจึงได้ส่งเสริมการผลิตเอทานอล และพัฒนาอัตราส่วนการใช้พลังงานอย่างพอเพียงเพื่อให้เกิดความมั่นคง ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ในการนี้ จากบันทึกความร่วมมือเดิมระหว่าง สนช. และ NEDO ที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไทยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน       

        "โครงการนี้จึงเกิดขึ้น ณ จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ในฐานะโครงการนำร่อง โดยมีการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส และเพิ่มมูลค่าให้กับกากชานอ้อยเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย ต้องขอขอบคุณ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในโครงการความร่วมมือนี้ โดยหวังว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและบุคลากรระดับชำนาญการระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น และมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป”

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 3 สิงหาคม 2559

สมาคมเครื่องดื่มฯดิ้นยื้อเวลาเก็บภาษีน้ำหวานอีก5ปี

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ที่มีสมาชิกอยู่กว่า 36 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ชั้นนำของไทย อาทิ ชาเขียว น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผักผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลังว่า ทางสมาคมเข้ามาหารือเกี่ยวกับการขอขยายเวลาการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ ออกไปอีก 5 ปี จากที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.2560 ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมได้หารือกันในที่ประชุมแล้ว จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลับไปเร่งศึกษามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านการตลาดที่รณรงค์ให้ผู้บริโภคลดการบริโภคน้ำตาล ลดมาตรการกระตุ้นการบริโภคด้วยการลด แลก แจก แถม ชิงรางวัล รวมถึงกระจายช่องทางจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมน้ำตาลน้อยอย่างทั่วถึงเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น เป็นต้น

  “นายกรัฐมนตรีเร่งให้สรุปเรื่องนี้โดยเร็ว ที่ประชุมจึงให้ทุกฝ่ายไปกำหนดมาตรการรวมถึงหลักเกณฑ์การประเมินผลที่สามารถชี้วัดประสิทธิผลของมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีนั้นว่าสามารถช่วยลดการบริโภคน้ำตาลได้จริง หรือจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไรให้มีข้อสรุปชัดเจนภายใน 1 เดือน ก่อนนำกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้งกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อครั้งที่จะมีการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับมาตรการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งการเรียกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานเกินมาตรฐานครั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นว่าน่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้ แต่ต้องชี้ชัดว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลจริงหรือไม่ เพราะอาจมีสินค้าบางตัวแม้ขึ้นภาษีแล้วประชาชนก็ยังมีความจำเป็นต้องบริโภคอยู่ ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เข้าไปประชุมเรื่องนี้กับกระทรวงการคลังด้วย”

  รายงานข่าวแจ้งว่า คณะทำงานจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 9 ส.ค.นี้ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังยืนยันที่จะเก็บภาษีเครื่องดื่มภายในเดือนก.ค.2560 แต่เอกชนต้องการขอเวลา 5 ปี ซึ่งคงต้องมาหารือในรายละเอียด ที่ผ่านมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเสนอให้รัฐบาลปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ ในอัตราภาษี 2 อัตรา ตามความเข้มข้นของน้ำตาล

  คือ ปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขายปลีกและปริมาณน้ำตาลมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จัดเก็บภาษีในอัตราที่ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของราคาขายปลีก เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ที่สร้างภาระให้ประเทศเสียค่าใช้จ่ายจากโรคเหล่านี้จำนวนมาก

จาก http://www.khaosod.co.th    วันที่ 3 สิงหาคม 2559

กลุ่มมิตรผล ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก Bonsucro ผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกของไทยและรายที่สองในเอเชีย บทพิสูจน์ของความมุ่งมั่นสร้างห่วงโซ่คุณค่าการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน

          กลุ่มมิตรผล ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในระดับโลกอย่าง Bonsucroเป็นรายแรกในประเทศไทยและรายที่สองในภูมิภาคเอเชีย

          ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ห้าของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ ภายใต้รูปแบบการทำการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)

          ที่กลุ่มมิตรผลได้นำมาใช้ในการจัดการไร่อ้อย รวมถึงการบริหารจัดการกระบวนการผลิตน้ำตาลที่ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยของไทยเพื่อสร้างความยั่งยืนและให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลต่อไป

          นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "การที่ไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Bonsucro แสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความใส่ใจของกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต การจัดการระบบนิเวศ การดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฏหมาย รวมไปถึงสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ภายใต้แนวนโยบายของกลุ่มมิตรผลในการสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ในการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่ไร่อ้อย โรงงานผลิต จนถึงกระบวนการส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ลูกค้า อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องมาจากรางวัล Sustainability Award ที่มิตรผลได้รับจาก Bonsucro เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา"

          การจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) คือแนวทางการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ที่กลุ่มมิตรผลได้นำต้นแบบจากประเทศออสเตรเลียมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและดูแลไร่อ้อยของมิตรผลมาตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ที่ผ่านมา ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการจัดการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Bonsucro จึงส่งผลให้ไร่อ้อยของกลุ่มมิตรผล

มีความพร้อมในการเข้ารับการรับรองตามหลักมาตรฐาน Bonsucro ในครั้งนี้

          นอกจากนี้ การบริหารจัดการโรงงานผลิตน้ำตาลทั้งระบบที่ครอบคลุมด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด นับเป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกับมาตรฐาน Bonsucro ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการยกระดับคุณภาพของผลผลิตให้มากขึ้น เพื่อตอบรับกับความต้องการสินค้าของผู้บริโภคและคู่ค้าทางธุรกิจในระดับสากล โดยการได้รับการรับรองผลผลิตน้ำตาลมาตรฐาน Bonsucro ล็อตแรกของกลุ่มมิตรผล จำนวน7,000 ตันนั้น จะมีการส่งมอบบางส่วนให้กับบริษัท International Refreshment (Thailand) Co.,Ltd. (ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมแบรนด์ PepsiCo) ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรกของกลุ่มมิตรผลที่รับมอบน้ำตาลตามมาตรฐานBonsucro และมีมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเช่นเดียวกัน การได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucroจึงถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจของกลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 1 ของไทย และอันดับที่ 5 ของโลก

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง "เลขาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า "Bonsucro เป็นอีกหนึ่งมาตรฐานด้านการเกษตรสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ให้ความสำคัญกับสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลลัพธ์ที่ได้นั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของผู้ประกอบการตั้งแต่ในไร่อ้อยจนถึงกระบวนการผลิตน้ำตาลให้ทัดเทียมระดับสากล แข่งขันได้ในตลาดโลก และเกิดเป็นแนวทางในการทำการเกษตรแบบยั่งยืนเท่านั้น แต่ผู้บริโภคหรือรวมถึงชาวไร่อ้อยเองก็ยังได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีจากผลผลิตที่มีคุณภาพเช่นกัน"

          การได้รับมาตรฐาน Bonsucro ของกลุ่มมิตรผล ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรในทุกภาคส่วนให้เทียบเท่าระดับสากล และเป็นการช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตสินค้าและอาหารรายใหญ่ของโลกหลายรายเริ่มให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีมาตรฐานและยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีนโยบายเลือกใช้วัตถุดิบที่มีกระบวนการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืน จึงถือเป็นโอกาสของกลุ่มมิตรผลที่จะเสริมสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

          ในปี 2560 กลุ่มมิตรผลมีแผนที่จะขอรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 42,450 ไร่ และในปี 2561 จะขยายการขอรับรองพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 127,450 ไร่ โดยคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถขอรับรองพื้นที่ได้ทั้งหมด 4 แสนไร่

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 3 สิงหาคม 2559

เล็งลงนามไทย-เกาหลีลงทุนระบบน้ำภาคอีสาน 

เกาหลีใต้ ตีตราจองพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน กระทรวงเกษตรฯ ขอ ครม.เห็นชอบลงนามเอ็มโอยูไทยเกาหลี

          แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปเยือนประเทศเกาหลี ในช่วงวันที่ 7-10 ส.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีได้เคยเดินทางมาเจรจากับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อสอบถามความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ หลังการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล และมีความเป็นไปได้ที่จะขอความสนับสนุนให้เกาหลีมาช่วยดำเนินการก่อสร้าง

          สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานี และหนองคาย นั้น เป็นโครงการที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการเตรียมการศึกษาโครงการเป็นส่วนที่สอง เพื่อเติมน้ำในลุ่มน้ำชี โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท

          ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559 มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ รมว.เกษตรฯ ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างไทยและกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับความร่วมมือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานีและหนองคาย ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 3 สิงหาคม 2559

เอาแน่!จ้างชาวนาเลิกปลูก'ข้าว' เร่งดันเข้าครม.เคาะสัปดาห์หน้า

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าตนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ทำนาไม่เหมาะสม ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปี 2559/60 ด้านการผลิต เป็นไปตามผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2559 ได้เสนอแนวทางปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3 และ N) จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 4,911 ล้านบาท 5.7 แสนไร่ ใน 25 จังหวัด เป็นวงเงินสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 10,686 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ระยะเวลา 6 ปี ค่าดำเนินการปรับพื้นที่และจ่ายจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาเข้าโครงการทดแทน

โดยโครงการปรับเปลี่ยนข้าวไปเลี้ยงกระบือ เกษตรกร 5 พันราย 500 กลุ่ม พื้นที่ 25,500 ไร่ วงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท เลี้ยงโคเนื้อ เกษตรกร 24,000 ราย 2.4 พันกลุ่ม พื้นที่ 1.2 แสนไร่ วงเงินกู้ 9,000 ล้านบาท เลี้ยงแพะ เกษตรกร 500 ราย พื้นที่ 2.5 พันไร่ 50 กลุ่ม วงเงินกู้ 116 ล้านบาท และปลูกหญ้า เกษตรกร 500 ราย 50 กลุ่ม วงเงินกู้ 70 ล้านบาท ทำการเกษตรอื่น 8.4 หมื่นราย พื้นที่ 4.2 แสนไร่ เป้าหมายเกษตรกร 114,000 ราย รวมกลุ่ม 3,000 กลุ่ม รวมเนื้อที่ 570,000 ไร่

ทั้งนี้ ในโครงการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายปรับปรุงพื้นที่ ระบบน้ำ ปัจจัยการผลิต และอุดหนุนค่าใช้จ่ายระหว่างการปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อลดค่าใช้จ่าย และมีอาหารบริโภคในครัวเรือน เป้าหมาย เกษตรกร 8.4 หมื่นครัวเรือน ปรับเปลี่ยนพื้นที่ 420,000 ไร่ วงเงิน 2,610 ล้านบาท โดยรวมกรอบวงเงินทั้งหมดในการปรับเปลี่ยนอาชีพ 1.3 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับโครงการส่งเสริมปลูกพืชอื่นที่เหมาะสม เช่น อ้อย มันสำปะหลัง มีงบให้กับเกษตรกรที่สมัครใจปรับเปลี่ยนไร่ละ 10,144 บาท ครัวเรือนละ 5 ไร่ รวม 5 หมื่นกว่าบาท ในการไถ่ปรับแปลงล้มคันนา ปรับแหล่งน้ำ และค่าปัจจัยการผลิต ซึ่งในพื้นที่เตรียมแปลงไว้แล้ว หากเข้า ครม.แล้วสามารถดำเนินการได้ มีนำร่องที่ จ.ชัยภูมิ ปรับเปลี่ยนเลี้ยงโคเนื้อ ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และดำเนินการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตทุกพื้นที่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2559

รมว.กษ.มั่นใจ!ปริมาณน้ำเขื่อนพอใช้ถึงปีหน้า

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ว่า มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 32,637 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 9,130 ล้าน ลบ.ม.สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จำนวน 20.30 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำใช้การได้ 540 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 25.08 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำใช้การได้ 1,244 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 7.87 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำใช้การได้ 353 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 8.07 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำใช้การได้ 306 ล้าน ลบ.ม.ส่งผลให้ปัจจุบันทั้ง 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,443 ล้าน ลบ.ม.

"ขณะนี้ปริมาณมีน้ำดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่ง 33 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้การได้ 9,113 ล้าน ลบ.ม.เทียบปี 58 มี 9,017 ล้าน ลบ.ม.เน้นย้ำให้เฝ้าระวัง พยายามเก็บน้ำให้มากที่สุดช่วงฤดูที่เหลืออีก 3 เดือน จัดการบริหารอย่างใกล้ชิด โดยกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ปีนี้พายุเข้า 2 ลูก ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งปริมาณน้ำฝนเพียงพอให้ปลูกข้าว 7.6 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา และมีน้ำใช้สำหรับทุกกิจกรรมอย่างพอเพียงในฤดูแล้งปี 60 ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำให้เพาะปลูกสูงกว่าปี 58 โดยสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก มีน้ำเข้าสูงกว่าในรอบ 3 ปี" รมว.เกษตรฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2559

สปก.งัด‘Agri Map’ปรับการผลิต พลิกโฉม‘เขตปฏิรูปที่ดิน’เชิงรุก

นายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก. ได้นำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยนำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจรายพืชและแผนที่แปลงถือครองที่ดินของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน มาวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อที่จะหาว่า ปัจจุบันพืชที่เกษตรกรได้ปลูกอยู่นั้นมีความเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ถ้าเหมาะสมก็จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาด้านการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การทำมาตรฐานสินค้า การจัดการตลาด แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็จะนำพื้นที่นั้นมาพิจารณาปรับเปลี่ยนไปเป็นพืชที่เหมาะสม โดยผ่านโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่

ในปีงบประมาณ 2559 ส.ป.ก. ได้ทดลองขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติด้วย Agri-Map ผ่านโครงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยใช้แนวคิดการเกษตรแนวทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน 18 จังหวัด จัดทำแปลงเกษตรกรต้นแบบการเกษตรแนวทฤษฎีใหม่ 18 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 396 ไร่ ใน จ.กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พิษณุโลก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บึงกาฬ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ หนองคาย อำนาจเจริญ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และเพชรบุรี เพื่อพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้เป็นศูนย์ต้นแบบ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินรายอื่นๆ นอกจากนี้แล้วศูนย์ต้นแบบเหล่านี้ จะยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องการปรับเปลี่ยน และยังสามารถสร้างเครือข่ายการทำการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 สิงหาคม 2559

ผู้ผลิตเครื่องดื่มดิ้นหารือ ก.อุตฯ ขอเวลา 5 ปี รีดภาษีน้ำหวานหวั่นกระทบตลาดแสนล้าน  

         สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ตบเท้าหารือ “อรรชกา” รมว.อุตสาหกรรม ถกปัญหาคลังจ่อรีดภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพตามข้อเสนอของ สปท. วอนขอเวลา 5 ปี เน้นทำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีฯ ชดเชย ก.อุตฯ แนะให้ไปทำแผนมาเสนอภายใน 1 เดือนพร้อมถกร่วมคลัง

        นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเข้าพบของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 36 บริษัท เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว น้ำอัดลม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผักผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ว่า ผู้ประกอบการได้มาหารือกระทรวงฯ ในฐานะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพตามข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยภาคเอกชนต้องการขอเวลา 5 ปีที่จะทำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tract) เป็นตัวชี้วัดดังนั้นจึงขอให้ไปทำแผนรายละเอียดร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะได้ไปหารือกับคลังภายใน 1 เดือน       

        “นายกฯ ก็ได้เร่งให้สรุปเรื่องนี้ จึงให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประสานให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เข้าไปประชุมเรื่องนี้กับคลังด้วย โดยอดีตเราก็เคยมีเรื่องการจะเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแต่ก็มีการนำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลและก็พิสูจน์ว่าทำได้จริง ก็เหมือนกับเรื่องนี้ที่จะต้องพิสูจน์ว่าจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีช่วง 5 ปีได้ ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การออกมาตรการรณรงค์ที่จะไม่เป็นการส่งเสริมการตลาดในการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างทุกวันนี้เช่นการนำฝาไปชิงโชค การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ลดปริมาณการใช้น้ำตาลลงมา เป็นต้น” นางอรรชกากล่าว       

        นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการได้สอบถามถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยเรื่องดังกล่าวทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำลังดำเนินการและคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้เพื่อที่จะใช้ให้ทันกับช่วงฤดูหีบอ้อยใหม่ในสิ้นปี ซึ่งแนวทางหลักๆ คือการปรังปรุงกฎหมาย การกำหนดประสิทธิภาพโรงงาน และอ้อยไฟไหม้ เป็นต้น แต่ในเรื่องของการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลนั้นยังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้ทันหรือไม่ แต่ยอมรับว่าขณะนี้ราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับทุกส่วน        

        แหล่งข่าวจากที่ประชุมกล่าวว่า ที่ประชุมครั้งนี้ได้เชิญตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาล และองค์กรชาวไร่อ้อยเข้ามาหารือด้วยเนื่องจากจะได้รับผลกระทบต่อการใช้น้ำตาลทรายที่ลดลง โดยคณะทำงานที่มีคลังเป็นเจ้าภาพในเรื่องดังกล่าวจะประชุมในวันที่ 9 สิงหาคมนี้อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้าได้มีการหารือมาต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยล่าสุดทางคลังยืนยันที่จะเก็บภาษีเครื่องดื่มภายใน ก.ค. 2560 แต่เอกชนต้องการขอเวลา 5 ปีซึ่งคงจะต้องมาหารือรายละเอียดกันอีก ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 สิงหาคม 2559

เร่งขับเคลื่อนAgri-Mapปรับเปลี่ยนการผลิต"พื้นที่ไม่เหมาะสม"

ก.เกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแผนที่เพื่อการบริหารการเกษตรเชิงรุก Agri-Map ปรับเปลี่ยนการผลิต"พื้นที่ไม่เหมาะสม"

           พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายให้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map ซึ่งเป็นแผนที่เกษตรที่บ่ง บอกสภาพดิน แหล่งน้ำ โรงงาน ตลาด และโลจิสติกส์ เพื่อใช้กำหนดนโยบายและวางแผนการผลิตทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีการทำการเกษตรที่ถูกต้อง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้

          โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทำแผนที่ Agri-Map ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว และเริ่มมีการนำร่องปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยใช้ Agri-Map ในพื้นที่ ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ เป็นแห่งแรก นอกจากนี้ยังมีอีก 2 จังหวัดที่เตรียมนำร่องดำเนินการในปี 2559 คือ บุรีรัมย์และอุทัยธานี

           ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากกรมพัฒนาที่ดินได้รวบรวมข้อมูลแผนที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร่วมกับกรมชลประทาน จัดทำแผนที่ Agri-Map ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยส่งมอบพร้อมทั้งทำความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัดแล้วนั้น

           ล่าสุดกรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลน้ำและแผนการพัฒนาแหล่งน้ำอีก 5 ปีข้างหน้าจากกรมชลประทาน  ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับผู้บริหารนโยบาย ในการวางแผนบริหารการจัดการพื้นที่ทำการเกษตรให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดในอนาคต

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม กรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปช่วยสนับสนุนในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งการปรับปรุงแผนที่ให้ทันสมัยเป็นประจำทุกปี เอให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 3 สิงหาคม 2559

ปิ๊ง!ตั้งตัวแทนการตลาด พาณิชย์ดันส่งออกเพิ่ม

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้จัดสรรงบประมาณ 20-30 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ Marketing representative หรือผู้แทนด้านการตลาดของไทยในประเทศเป้าหมายที่จะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) นำเสนอความจำเป็นว่าจะต้องให้มีผู้แทนฯ ในตลาดใดบ้าง ซึ่งมีเสนอมาแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ กรุงลิมา ประเทศเปรู, เมืองหนิงเซี่ย ประเทศจีน และเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น

“ตอนนี้ให้นำเสนอเข้ามาได้เรื่อยๆ แต่จะต้องให้ได้ข้อสรุปก่อน ก.ย.นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด โดยผู้แทนการตลาดมีหน้าที่คล้ายการทำงานของทูตพาณิชย์ คือสำรวจตลาดดูโอกาสและความต้องการ จากนั้นก็มาวิเคราะห์ว่าจะสนับสนุนสินค้าหรือบริการ รวมถึงการลงทุนที่มีศักยภาพของไทยรายการใดบ้างที่จะสนับสนุน และจัดกิจกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการค้าและการลงทุนได้จริง” นางมาลีกล่าว

รูปแบบโครงการจะเป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ที่มีความรู้ความเข้าใจตลาดนั้นๆ มีความสามารถทางการตลาด และมีเครือข่ายที่จะผลักดันให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ประสบความสำเร็จ

รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดแบ่งตลาดส่งออกที่ต้องจับตา (watch list) 30 แห่ง ประกอบด้วย กลุ่มผลักดัน คือ ติดตามดูความคืบหน้าและผลักดันเพิ่มมูลค่า กลุ่มสนับสนุน คือ สนับสนุนให้เติบโตต่อไป กลุ่มติดตามและแก้ไข คือ ติมตามและแก้ไขสถานการณ์ส่งออก และกลุ่มเร่งแก้ไข คือ แก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน เช่น สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 3 สิงหาคม 2559

กกร.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงโลก เบร็กซิท-ยุโรป-ค่าบาทแข็ง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าได้หารือภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังพบว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ผลกระทบจากการที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือเบร็กซิท ปัญหาภาคธนาคารในสหภาพยุโรป รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ส่วนปัญหาในประเทศ เช่น การลงประชามติวันที่ 7 ส.ค. เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าผลจะออกมาว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเลือกตั้งตามโรดแม็ปปี 2560 มากกว่า “กกร ได้หนุนพนักงานในสังกัดไปใช้สิทธิลงประชามติ ส่วนจะรับหรือไม่รับขึ้นอยู่กับวิจารณญาณแต่ละคน ซึ่งการประชุม กกร.ไม่มีการพูดถึงดีข้อเสียในการรับหรือไม่รับ ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรรัฐบาลต้องเดินตามโรดแม็ป ซึ่งหลังลงประชามติ ถ้าไม่มีเหตุรุนแรงถึงขั้นประท้วง เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ต่างชาติยังคงมั่นใจค้าขายกับไทย

” นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า กกร. ยังคงอัตราการเติบโตของจีดีพีปีนี้ขยายตัว 3-3.5% และส่งออกขยายตัว 0-2% แม้เศรษฐกิจโดยรวมเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกที่ติดลบแบบชะลอตัว และสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะเดียวกัน ผลจากภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับยอดขายรถยนต์ที่ดีขึ้น สะท้อนภาวะการใช้จ่ายในประเทศดีขึ้น “เศรษฐกิจไทยอาจทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปช่วงครึ่งปีหลัง จากการใช้จ่ายภาครัฐ และการขยายตัวการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวครึ่งปีแรกขยายตัว 13% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเพิ่มขึ้นแต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐได้ติดตามดูแลใกล้ชิด”.

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 3 สิงหาคม 2559

‘เคทิส’หนุนเปลี่ยนนาข้าวนครสวรรค์เป็นไร่อ้อย-ตั้งเป้า4ล้านไร่

นายสุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มเคทิส กล่าวว่าว่า บริษัทฯลงนามในบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับภาครัฐ และภาคเกษตรกร ในจังหวัดนครสวรรค์ สร้างเครือข่ายประชารัฐ ตามนโยบายรัฐบาล เปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 10,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยเข้าหีบประมาณ 1 แสนตันอ้อย โดยอ้อยทั้งหมดกลุ่มเคทิส จะรับซื้อทั้งหมด ในบันทึกข้อตกลงนี้จะขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดโซนนิ่งในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอพยุหะคีรี ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลของกลุ่มเคทิสอยู่

  “เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีพื้นที่ปลูกข้าวที่พร้อมจะเปลี่ยนมาปลูกอ้อยในจังหวัดนครสวรรค์มากกว่า 4 ล้านไร่ ภาครัฐจะให้การสนับสนุนข้อมูล กลุ่มเคทิส ช่วยส่งเสริมให้คำแนะนำด้านการเพาะปลูกอ้อย และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วเห็นผลจะช่วยรณรงค์ต่อเนื่องไปยังผู้ที่ยังลังเลในการปรับเปลี่ยน”

  นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มเคทิสรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยประมาณ 20,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 7 แสนกว่าไร่ มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปี 2558-2559 ประมาณ7.5 ล้านตันอ้อย ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายประมาณ 7.2 ล้านกระสอบ มีรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาลประมาณ 15,341 ล้านบาท คิดเป็น 79.4% ของรายได้รวม 19,457 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ฝนดีกว่าปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะได้ผลผลิตน้ำตาลเพิ่มอีกประมาณ 800,000 ตัน โดย กลุ่มเคทิสไม่มีแบรนด์ขายปลีกน้ำตาล เนื่องจากมีสัญญาขายให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ๆ เช่น โค้ก, แล็คตาซอย, เฮลบลูบอย,โอสถสภา เป็นต้น

  นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) ตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2556 และเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อเป็นการประสานพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร สร้างเครือข่ายประชารัฐในทุกด้าน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาในทุกมิติและทุกด้านอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

  “การลงนามในเอ็มโอยูครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปสู่พื้นที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นน้ำตาลแล้ว ยังผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เอทานอลจากกากน้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยอีกด้วย”

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 2 สิงหาคม 2559

ผู้ว่าฯนครสวรรค์เอ็มโอยูเอกชนเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย 

นายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเคทิส ในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) ภายใต้ “โครงการประชารัฐ” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่พื้นที่เหมาะสมในการปลูกอ้อยโรงงาน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกประมาณ 10,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยเข้าหีบประมาณ 1 แสนตันอ้อย ซึ่งอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะผลิตเป็นน้ำตาลแล้ว ยังผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เอทานอลจากกากน้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยอีกด้วย

ทพ.สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและผู้จัดการโรงงาน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับกลุ่มเคทิสนั้น จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพาะปลูก ตั้งแต่การเตรียมดิน การบำรุงรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งนอกจากจะขายต้นอ้อย กลุ่มเคทิสยังรับซื้อใบอ้อยอีกด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยยังสามารถได้เงินทุนจากเคทิส ซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้สถาบันการเงินทั่วไปอีกด้วย

นางวิไล บุญเพ็ง ชาวนาที่ปรับเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย กล่าวว่า สำหรับต้นทุนการปลูกข้าวใน 1 ไร่ โดยไม่รวมค่าเช่า จะอยู่ที่ไร่ละ 4,500-5,000 บาท ซึ่งหากได้ผลผลิตข้าวไร่ละประมาณ 80 ถัง จะมีรายได้ประมาณ 6,000 บาท ดีกว่าเมื่อเทียบกับการปลูกอ้อย ซึ่งมีต้นทุนปีแรกที่ต้องลงพันธุ์อ้อยและปรับปรุงดินสูงกว่าการปลูกข้าว คือประมาณ 8,500 บาทต่อไร่ แต่ปีต่อๆ ไปจะต่ำกว่า เพราะจะเหลือต้นทุนไม่เกิน 3,000 บาทต่อไร่ ส่วนราคาขายอ้อยนั้นมีราคาขั้นต่ำอยู่ประมาณตันละ 800 บาท รวมแล้วเกษตรกรจะมีรายได้ไร่ละประมาณ 11,000 บาท

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 2 สิงหาคม 2559

จับตาการค้า ไทย-จีน หลังจีนชี้แจงการทบทวนนโยบายการค้าต่อประเทศสมาชิก WTO 

          จีนผู้ค้ารายใหญ่ของโลก ชี้แจงการทบทวนนโยบายการค้าต่อประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับจีนมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องติดตามนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จีนเป็นประเทศผู้ค้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้มีการชี้แจงนโยบายการค้าต่อประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)ภายใต้กลไกการทบทวนนโยบายการค้าขององค์การการค้าโลก เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการปฏิบัติทางการค้าในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

          ปัจจุบันจีนอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยแผนพัฒนาการเกษตรของจีนมุ่งเน้นการปฏิรูปภาคเกษตรโดยใช้นวัตกรรมและความทันสมัย รวมถึงการปรับปรุงนโยบายการอุดหนุนภาคเกษตรในภาพรวม เพื่อปกป้องที่ดินและรักษาคุณภาพของที่ดินเพื่อการเกษตร และการเพิ่มผลผลิตธัญพืชเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถนำนโยบายด้านการเกษตรเหล่านี้มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยได้ด้วย

          ด้านนางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 1 ของไทย ซึ่งตั้งแต่ปี 2556-2558 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 12 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลกเฉลี่ยปีละ 167,615 ล้านบาท และมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17 ต่อปี โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับจีนมาโดยตลอด สินค้าส่งออกสำคัญไปจีน ได้แก่ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ทุเรียนสด ผลไม้อื่นๆ (เช่น ลำไย เงาะ น้อยหน่าและลิ้นจี่) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ ปลายข้าว น้ำตาลที่ได้จากอ้อยอื่นๆ ปลาป่นซึ่งไม่เหมาะสำหรับ มนุษย์บริโภค

          ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของจีนมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในโลก นอกจากนี้ จีนยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากจีนมีนโยบายสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การรับรู้และเข้าถึงนโยบายการค้าของจีน จะเป็นประโยชน์ในการปรับตัวเพื่อกำหนดแนวทางการขยายโอกาสทางการค้าและการพัฒนาระหว่างกันได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 สิงหาคม 2559

3ปีเปลี่ยนผ่าน‘เกษตรอินทรีย์’ บังคับตีตราติดโลโกยกระดับสินค้า

ปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญ รวมทั้งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อควบคุมการแสดงฉลากและการใช้ชื่อ “อินทรีย์” บนสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จากนโยบายดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน” เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เรื่องการแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ (มาตรฐานบังคับ)ถึงภาพรวมเกษตรอินทรีย์ไทย และความคืบหน้าเรื่องมาตรฐานบังคับที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 สิงหาคม 2559

กกร.ห่วงค่าเงินบาทหลังแข็งค่า หวั่นกระทบต่อธุรกิจนำเข้า-ส่งออกไทย

กกร.รับห่วงค่าเงินบาท หลังค่าเงินบาทแข็งค่า รับติดตามอย่างใกล้ชิด หลังเงินทุนไหลเข้าเป็นทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นๆ หวั่นสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน กระทบต่อภาคธุรกิจไทย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันนั้น ถือเป็นสิ่งที่ กกร.เป็นห่วงและติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด แต่การเคลื่อนไหวของค่าเงินล่าสุด ก็ยังไม่ได้แข็งค่าจนเกินไป หากเทียบกับภูมิภาค

ขณะที่นายเจน จำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้มาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน จนมีผลต่อภาคธุรกิจได้ โดยเฉพาะกระทบต่อด้านการโค้ดราคาของภาคธุรกิจนำเข้า-ส่งออกให้ยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ธปท.จะเข้ามาดูแลอย่างไรบ้าง หากค่าเงินแข็งค่าต่อเนื่อง 36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 สิงหาคม 2559

เงินไหลเข้าภูมิภาค ดันเงินเอเชีย-บาทแข็งสุดรอบปี

เงินไหลเข้าภูมิภาค ดันค่าเงินเอเชีย-บาทแข็งสุดรอบปี ปิดตลาด 34.77 บาท หลังจีดีพีสหรัฐไตรมาส 2 โตแค่ 1.2% ดับหวังเฟดขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี

แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ฉุดเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าและทำให้สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียแข็งค่า รวมถึงตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้น เพราะนักลงทุนมองหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังรายงานของสหรัฐระบุว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง จากที่คาดหมายว่าจะขยายตัว 2.6% ดับความหวังที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก่อนสิ้นปีนี้ ประกอบกับเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วธนาคารกลางญี่ปุ่นสร้างความผิดหวังแก่ตลาดด้วยการไม่เพิ่มวงเงินทำมาตรการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ(คิวอี)

ค่าเงินในเอเชียวานนี้ (1 ส.ค.) แข็งค่าขึ้นทุกสกุล นำโดยริงกิตมาเลเซียแข็งค่าขึ้นรอบปีกว่า เช่นเดียวกับเงินวอนเกาหลีใต้ ดอลลาร์ไต้หวันและรูเปียห์อินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 0.5% ขณะที่เงินบาทเปิดตลาดที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 34.88 บาทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 ปีเช่นกัน

บาทแข็งทิศทางเดียวภูมิภาค

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิเคราะห์ตลาดการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวานนี้ ยังมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากสัปดาห์ก่อน ปิดตลาดที่ 34.77บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดที่ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ โดยบาทยังแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินภูมิภาค บาทมีอัตราแข็งค่าระดับปานกลางที่0.1%ในขณะที่ริงกิตแข็งค่าระดับสูงสุดที่1.12%

ปัจจัยสำคัญมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังจากคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ออกมาแย่กว่าที่คาด ขณะเดียวกันผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐปรับลดลง ทำให้ตลาดคาดว่าโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะเลื่อนไปขึ้นปีหน้า หรือปลายปีนี้ในเดือนธ.ค. หลังการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพ.ย.ผ่านพ้นไปแล้ว

โน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ยังมองกรอบแข็งค่า 34.60-35.10 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์แรงซื้อขายจะเบาบางลง เนื่องจากนักลงทุนรอดูท่าที การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ แต่ถึงแม้ผลออกมา “ไม่รับ” ก็มองว่าจะเป็นปัจจัยลบระยะสั้นต่อค่าเงินบาท เพราะนักลงทุนจะมองข้ามไปถึงนโยบายประเทศยังต่อเนื่องหรือไม่และการผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่ออีกหรือไม่

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธนี้ คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ1.50% ดังนั้นปัจจัยภายนอกประเทศจะมีผลต่อค่าเงินบาทมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ ยังต้องติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในคืนวันศุกร์นี้ด้วย

เงินไหลเข้าบอนด์2.2หมื่นล.

ด้านนายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย(ทีเอ็มบี) กล่าวว่า วานนี้(1ส.ค.) นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อในตลาดพันธบัตร (บอนด์) เพิ่มขึ้น โดยมียอดซื้อสุทธิ 22,486.43 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อเกือบทุกรุ่นอายุ ทั้งรุ่นอายุสั้น และ ยาว

“ตัวสั้นบอนด์ยีลด์ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เข้าใจว่าเป็นการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท แต่ส่วนตัวยาวส่วนใหญ่เข้ารุ่นอายุ 10 ปี ซึ่งทำให้บอนด์ยีลด์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% จาก 2.1% ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรุ่นอายุยาว เชื่อว่าเป็นการเข้ามาเก็งกำไรผลการประชุม กนง.

ขณะเดียวกันเงินยังเข้าตลาดหุ้นต่อมียอดซื้อสุทธิของต่างชาติ 751.50 ล้านบาทเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่อง 16 นติดต่อกัน

สรท.คาดส่งออกทั้งปีลดลง 2%

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออก ว่า ในครึ่งปีหลังน่าจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก หรืออยู่ในระดับลดลง 2%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักๆของไทยยังคงทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งปีแรก ซึ่งทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมต่างมีการส่งออกที่ไม่ดีนัก สินค้าเกษตรลดลงเกือบทุกตัวมีเพียงไก่ กุ้ง และน้ำตาลที่เป็นบวกใน 1-2 เดือนแรก และค่อยๆลดลงไปจนถึงครึ่งปีหลัง ส่วนยาง ข้าว มันสำปะหลังก็ยังคงติดลบ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ก็มีเพียงรถยนต์ที่ และเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น

หวังเดินสู่เลือกตั้งฟื้นเชื่อมั่น

ส่วนผลกระทบจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ รัฐบาลก็มีโรดแมปที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ซึ่งหากไม่ผ่านก็ยังมีเวลาที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาปรับปรุงแก้ไขและใช้ได้ทันที และหากมีการเลือกตั้งแล้วก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเพิ่มขึ้น

ด้าน นายรติดนัย หุ่นสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา สรท. กล่าวว่า ในส่วนของตลาดหลักของไทยนั้นสภาวะเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นอย่างเป็นลำดับ แม้ว่าจะมีตัวชี้วัดเศรษฐกิจบางตัวที่อ่อนกำลังลงบ้างชั่วคราว เช่น การขยายตัวของจีดีพีที่ตำกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 2แต่การบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจ้างงาน ล้วนแต่มีความเข้มแข็งมากขึ้นส่วนเบรกซิทจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนได้เคลื่อนย้ายเงินทุนส่วนหนึ่ง มาลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนการเติบโตอีกทางคาดว่าโอกาสต่ำที่ เฟดยังคงนอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 สิงหาคม 2559

ภาษีแอลกอฮอล์-น้ำตาลดันเงินเฟ้อ ก.ค.โต 0.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

เงินเฟ้อ ก.ค.สูงขึ้น 0.1% จากราคาหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่-น้ำตาลดันราคาเครื่องดื่มขยับ พาณิชย์เตรียมปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ส.ค. ชี้มีโอกาสทั้งปีติดลบ

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ประจำเดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 106.68 หากเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ลดลง 0.35% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2559 ที่ลดง 0.26% แต่หากเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 สูงขึ้น 0.10% สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนเมษายน 2559 ส่งผลให้เงินเฟ้อสะสม 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค.) ลดลง 0.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

“ในเดือนสิงหาคม กระทรวงพาณิชย์จะปรับตัวเลขประมาณการณ์เงินเฟ้อใหม่ จากปัจจุบันที่ประมาณการณ์เงินเฟ้อปี 2559 ขยายตัวในกรอบ 0.0-1.0% โดยคาดว่าไตรมาส 3/59 เงินเฟ้อจะขยายตัว 0.47% และไตรมาส 4 ขยายตัว 1.42% ทำให้ทั้งปีมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 0.5% แต่ปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและหากการส่งออกปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งอาจจะทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่เงินเฟ้อปีนี้จะติดลบมากกว่าเปอร์ที่เงินเฟ้อจะขยายตัวเป็นบวกถึง 2% ”

ทั้งนี้ ประมาณการเงินเฟ้อปี 2559 ปัจจุบันขยายตัวในกรอบ 0.0-1.0% จากสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่ในเดือนกรกฎาคม 2559 ราคาน้ำมันดิบดูไบเท่ากับ 42.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ที่ 35.07บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

นายสมเกียรติกล่าวว่า เงินเฟ้อเทียบเดือนมิถุนายน 2559 ลดลง 0.35% ได้รับอิทธิพลมาจาก หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.2% เช่น ราคาผักสดลดลง จากปริมาณฝนตกมากขึ้นทำให้สถานการณ์ราคาผักลดลง และราคาเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลง 0.16% เช่น ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเทียบเดือนกรกฎาคม 2558 สูงขึ้น 0.1% มีผลจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 13.06% จากการปรับขึ้นราคาบุหรี่ 28.13% หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.83% จากการปรับขึ้นราคาสินค้าเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 0.87% หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่มขึ้น 0.47% ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับลดลง 0.84% โดยสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ หมวดเคหสถาน ลดลง 1.41% หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 2.03% ทั้งค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง และการสื่อสาร

ทั้งนี้ หากเทียบประเภทสินค้า 450 รายการที่สำรวจ พบว่า สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นมี 149 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม น้ำอัดลม เป็นต้น ส่วนสินค้า ทรงตัว  193 รายการ และสินค้าที่ลดลง 108 รายการ เช่น มะนาว ซีอิ้ว น้ำหอม ผ้าอนามัย น้ำมัน เป็นต้น

สำหรับเงินเฟ้อพื้นที่ฐาน ซึ่งหักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน เดือนกรกฎาคม 2559 เท่ากับ 106.73 ขยายตัว 0.06% หากเทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 และขยายตัว 0.76% หากเทียบกับกับเดือนกรกฎาคม 2558  

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 1 สิงหาคม 2559

เตรียมเปิดซื้อไฟฟ้า กระตุ้นลงทุน 6 หมื่น ล.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน 6 เดือนหลังของปีนี้ (ก.ค.-ธ.ค.) ว่า เรคกูเลเตอร์จะเร่งเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในปีนี้ที่มีอยู่ 1,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 130 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพ 400 เมกะวัตต์ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตรระยะที่ 2 กำลังผลิต 519 เมกะวัตต์ โดยหากประเมินเงินลงทุนจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะมีเงินลงทุนในระบบ 60,000 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 61-62 สาเหตุที่ต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ได้อาศัยประกาศของ คสช. มาตรา 44 ที่ช่วยปลดล็อกกฎหมายผังเมือง เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้ามีความคืบหน้า โดยจะมีผลสิ้นสุด 19 ม.ค.60.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 1 สิงหาคม 2559

กกพ.เตรียมการเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าเป้าดันชีวมวลไบโอก๊าซต่อ

กกพ.ฟุ้งรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้เกินเป้า โซลาร์เซลล์ค้างท่อผลิตเข้าระบบแล้วกว่า 600 เมกะวัตต์ เดือนหน้าเตรียมประกาศรับซื้อจากชีวมวล-ขยะ และไบโอก๊าซ ดันเปิดโซลาร์เซลล์เสรี ใครสนใจรัฐติดมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ให้ฟรี 10,000 บาท แต่ไม่รับซื้อไฟเข้าระบบ แพลนปลายปีประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซลอตใหญ่ 400 เมกะวัตต์ ประเมินค่าไฟฟ้า Ft รอบใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) มีแนวโน้มปรับขึ้น

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าของการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (Al-ternative Energy Development Plan 2558-2579) นั้น ล่าสุดมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวม 9,000 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 16,700 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 60 ของภาพรวม โดยในปีนี้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบได้รวมกว่า 600 เมกะวัตต์ ในส่วนของการเปิดเสรีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Pilot Project) คาดว่าภายในเดือนสิงหาคมนี้จะนำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด กกพ.หลังจากนั้นจะประกาศให้ผู้สนใจติดตั้งยื่นคำขอเข้ามา โดยเงื่อนไขของเปิดเสรีนั้นภาครัฐจะติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ราคา 10,000 บาทให้ฟรี ในกรณีที่มีการผลิตได้มากกว่าการใช้งานสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบแต่จะไม่มีการรับซื้อ เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องเพื่อที่จะทดสอบระบบว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การเปิดเสรีอย่างแท้จริงได้หรือไม่ ในกรณีที่อนาคตสายส่งสามารถรองรับได้

นอกจากนี้สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าที่เหลือคือ 1) โครงการชีวมวล แบบประมูล (Bidding) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2561 ประมาณ 36 เมกะวัตต์ (จากเดิมที่วางไว้ 80 เมกะวัตต์) ต้องเลื่อนการประกาศออกไปเป็นเดือนสิงหาคมเนื่องจากมีผู้ยื่นเสนอโครงการเข้ามารวม 600 เมกะวัตต์ จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการจากด้านเทคนิค ด้านราคา และด้านเชื้อเพลิง คาดว่าจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคได้ภายในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559 นี้ 2) โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed in Tariff หรือ FiT และ 3) โรงไฟฟ้าขยะชุมชน 100 เมกะวัตต์ (เน้นพื้นที่ภาคกลาง) ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะนั้นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น และต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าภาพด้านการบริหารจัดการขยะก่อน รวมถึงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนด้วย

"โซลาร์เซลล์เข้ามาเติมไฟฟ้าให้ระบบได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานได้ตามเป้าหมายของแผน AEDP แน่นอน แต่ยังมีประเด็นในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากขยะ แม้ว่าจะมีปริมาณขยะในภาพรวมค่อนข้างมาก แต่หากมาโฟกัสเป็นรายพื้นที่ขยะที่พอจะป้อนเข้าโรงไฟฟ้าประมาณ 300-500 ตันต่อวันนั้นมีน้อยมาก บางพื้นที่จึงใช้วิธีการขนย้ายขยะจากพื้นที่อื่นมาแทน ทำให้ประชาชนต่อต้านมันจึงเกิดประเด็นปัญหาตามมาอีก"

นายวีระพลกล่าวเพิ่มเติมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซ (น้ำเสีย, มูลสัตว์) ว่า หลังจากที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและชุมชนเรียบร้อยแล้ว จะเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากไบโอก๊าซเพิ่มอีกประมาณ 400 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายปี 2559 หรือต้นปี 2560 นี้ ตามที่ศักยภาพของระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะรองรับได้ โดยประเมินว่าจะสามารถรับไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ก่อนในช่วงต้นปี 2561

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในรอบถัดไปคือ กันยายน-ธันวาคม 2559 นั้นอาจมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลักคือสถานการณ์ราคาพลังงานและอัตราแลกเปลี่ยน โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 31.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาล่าสุดปรับขึ้นไปอีกครั้งที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (จากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ราคา 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) เท่ากับว่าราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงไปถึง 11 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบื้องต้นอาจส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่มาก แต่จะสะท้อนที่ราคาก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเป็นหลัก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะเป็นไปตามราคาตลาดโลก ราคาก๊าซจึงปรับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจจะกระทบ ประมาณ 20 บาท/ล้านบีทียู

รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทุก 1 บาทจะกระทบค่าไฟฟ้า Ft ที่ 5-6 สตางค์/หน่วย จากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้มีแนวโน้มปรับขึ้นค่า Ft จากรอบปัจจุบัน (พฤษภาคม-กันยายน) ที่เก็บในอัตรา 33.23 สตางค์/หน่วย

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 1 สิงหาคม 2559

ค่าเงินบาทเปิด 34.78/80 แนวโน้มแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิด 34.78/80 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่าจากแรงขายดอลล์-รอติดตามประชุมกนง.สัปดาห์นี้ ประเมินกรอบวันนี้ 34.70-34.85 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.78/80 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์อยู่ที่ระดับ 34.85/86 บาท/ดอลลาร์

"เปิดมาวันนี้ 34.78/80 ช่วงกลางคืนลงหนักทำ Low 34.77 อย่างไรก็ตามยังไม่ถือว่าเป็นสถิติใหม่ เพราะเคยลงไปทำ Low ปีที่ 34.73 เมื่อเดือนมี.ค. แต่ตอนนี้ก็มาใกล้ๆแล้วแต่ก็มีโอกาสลงต่อ ช่วงคืนวันศุกร์ GDP สหรัฐฯออกมาไม่ค่อยดี ค่อนข้างแย่เมื่อเทียบกับที่คาดไว้ จึงมีแรงเทขายดอลลาร์และซื้อสกุลอื่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ มองว่ามีโอกาสลงต่อ" นักบริหารเงิน กล่าว

ทั้งนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทวันนี้ระหว่าง 34.70-34.85 บาท/ดอลลาร์

"มองว่าแนวรับ 34.73 ซึ่งเป็น Low เก่าน่าจะรับอยู่ แต่เผื่อใจไว้แนวรับน่าจะอยู่ที่ 34.70 ส่วนแนวต้านไม่น่าเด้งมาก ถ้าผ่าน 34.81/82 ก็เก่งแล้ว" นักบริหารเงิน กล่าว

โดยสัปดาห์นี้มีประเด็นต้องติดตามหลายเรื่อง โดยเฉพาะการประชุมแบงก์ชาติของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 สิงหาคม 2559