http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2561)

 

ก.เกษตรฯ เตรียมออกกฎหมายจำกัดใช้สารเคมี 3 ชนิด

รมว.เกษตรฯ ระบุว่ากำลังรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เห็นชอบจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืชและแมลง 3 ชนิด เพื่อจะได้ให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาตรการทางกฎหมายควบคุมการนำเข้าและการใช้

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นถึงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เห็นชอบตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยห้ามใช้กับพืชผักสวนครัวและสมุนไพร แต่สามารถใช้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้ ประกอบด้วย ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล แต่จะต้องไม่ใช้กับพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ 

นายกฤษฎา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอเอกสารอย่างเป็นทางการ ซึ่งทันทีที่ได้รับจะสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าและการควบคุมวิธีการใช้ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอเมื่อวานนี้ โดยระบุว่าต้องการให้มีกฎหมายออกมาบังคับใช้เร็วที่สุด โดยมีระยะเวลาติดตามผล 3 เดือน จากนั้นสรุปผลและนำเสนอรายงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีเสียงส่วนหนึ่งเห็นว่าเมื่อจำกัดการใช้แล้ว ต้องการให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาข้อมูลเพื่อหาสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 

สำหรับสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเกษตรกรและผลผลิตทางการเกษตรจะดำเนินการควบคู่ไปกับการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ การเผยแพร่วิถีการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยได้แต่งตั้งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน เพื่อให้เกษตรกรเห็นตัวอย่างว่าการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีนั้นทำได้ ซึ่งจะมีผลดี คือ เกษตรกรปลอดภัย ส่วนผลผลิตทางการเกษตรปราศจากสารปนเปื้อนดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การลด ละ และเลิกใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชใน

จาก  https://www.tnamcot.com วันที่ 31 สิงหาคม 2561

สัปดาห์หน้าขอครม. 53 ล้าน ซื้อหนี้เกษตรกร เตรียมเดินหน้าเจรจาเจ้าหนี้อีกหมื่นล้าน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ ว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า เพื่อรับทราบความคืบหน้าการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่สามารถเข้าซื้อหนี้ได้ จำนวน 239 รายมูลหนี้ 106 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ธ.ก.ส. ลดหนี้เงินต้นให้ 50% หรือ 53 ล้านบาท เพื่อขอให้รัฐบาลชดเชยจำนวน 53 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรที่เป็นหนี้ 200 ราย

ทั้งนี้ หนี้สถาบันการเงินอื่น ที่ขณะนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาทิ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สหกรณ์ เป็นต้นมีมูลหนี้ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท จากหนี้ทั้งหมดของเกษตรกร 8.5 หมื่นล้านบาท จำนวนเกษตรกรทั้งหมด 4.6 แสนราย แต่ที่เข้าเกณฑ์การกฟก. คือเป็นเกษตรกร ที่ขอสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรมีจำนวน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 6.2 พันล้านบาท และดอกเบี้ย 3.9 พันล้านบาท

สำหรับหนี้ของเกษตรกรในกลุ่มอื่นจะใช้โมเดลการเจรจากับธ.ก.ส. หากเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้สามารถช่วยเหลือเรื่องหนี้สินได้ คือ ไปเพื่อของลดเงินต้นและดอกเบี้ย หนี้สินเกษตรกรรายนั้นต้องเกิดจากการขอกู้เพื่อนำเงินไปทำการเกษตร วงเงินไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำตามหลักเกณฑ์ จึงเตรียมเจรจาสถานบันการเงินรายอื่นๆ เพื่อขอลดหนี้ให้ได้ 50% เหมือนกับธ.ก.ส.

จาก  https://www.khaosod.co.th  วันที่ 31 สิงหาคม 2561

ห้ามใช้ 3 สารเคมีกับพืชผักสวนครัวและสมุนไพร

คกก.วัตถุอันตรายห้ามใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช  กับพืชผักสวนครัวและสมุนไพร แต่ใช้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า วันนี้ (30 ส.ค.) คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีเสียงค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอให้จำกัดการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพช คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยห้ามใช้กับพืชผักสวนครัวและสมุนไพร แต่สามารถใช้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้ ประกอบด้วย ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล แต่จะต้องไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายหวังผลให้การบังคับใช้ดำเนินการอย่างเร็วที่สุด และเห็นผลการบังคับใช้อย่างชัดเจนภายใน 3 เดือนนับจากนี้ไปและมีระยะเวลาติดตามผล 3 เดือน จากนั้นสรุปผลและนำเสนอรายงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป และมีความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีเสียงที่หลากหลาย โดยบางส่วนในที่ประชุมเห็นว่าเมื่อจำกัดการใช้แล้วเมื่อกรมวิชาการเกษตรสามารถหาสารทดแทนได้ก็อาจนำไปสู่การพิจารณาห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรจะไปศึกษาเพิ่มและจัดทำรายละเอียดจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด  โดยจัดทำทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการการจำกัดการนำเข้า มาตรการเกี่ยวกับวิธีการนำไปใช้ รวมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์การนำไปใช้อย่างถูกต้องต่อไป

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 30 สิงหาคม 2561

กรมโรงงานฯ ตั้งอนุกรรมการถกแนวทางยกเลิก 3 สารปราบศัตรูพืช รู้ผล 30 ส.ค.นี้

กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีการร้องเรียนยกเลิกการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากภาคีเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เผยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแบนการใช้ทั้ง 3 สารดังกล่าว ซึ่งจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการบริโภคอาหาร ความเสี่ยงในเกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่น การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมพบว่ายังไม่มีหลักฐานชี้บ่งที่ชัดเจนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังได้แนะนำแนวทางที่เหมาะสมแทนการแก้ปัญหาโดยการยกเลิกหรือแบน คือ ให้มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่าย จำกัดปริมาณการนำเข้าและให้ใช้กับพืชเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น โดยยังได้ประสานให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนบริหารจัดการในการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิดที่ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา ซึ่งมีกำหนดที่จะพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 นี้

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวเรื่องการยกเลิกหรือแบนการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากภาคีเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการวัตถุอันตรายมิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพ ด้านพิษวิทยา ด้านการประเมินความเสี่ยง ด้านการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตร สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแบนการใช้ทั้ง 3 สารดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจได้ใช้เวลาพิจารณารวบรวมข้อมูลทั้งสถิติการเจ็บป่วย สาเหตุความเสี่ยงจากการบริโภคอาหาร ความเสี่ยงในเกษตรกรและผู้รับจ้างฉีดพ่น การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรวจสอบข้อมูลพบว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการเกิดโรคหรือความเจ็บป่วยที่ปรากฏตามที่เป็นข่าว และจากข้อมูลของ The Joint FAO/WHO Expert Meeting on Pesticide Residues (JMPR) องค์กรระหว่างประเทศที่ได้มีการประเมินไว้ว่าความเสี่ยงของผู้บริโภคจากการได้รับสารจากการรับประทานอาหารไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะทำให้เกิดอันตราย

นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ และวิเคราะห์ภาพรวมในมิติต่างๆ ทั้งมาตรการกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ความเป็นอันตรายของสาร ข้อมูลการเกิดโรค การตกค้างของสารในสิ่งแวดล้อม ข้อมูลความเจ็บป่วยจากสถิติของศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณสมบัติของสารทดแทนและราคา รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งการตัดสินใจได้ดูข้อมูลที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ และเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาหลักไม่ใช่มาจากตัวสาร แต่มาจากวิธีการบริหารจัดการ ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และความเข้มงวดในการติดตามกำกับดูแล รวมทั้งยังไม่ได้มีการนำหลักเกณฑ์วิธีการจัดการที่ดีมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีการเข้าถึงสารได้ง่ายเกินไป และนำไปใช้ทำร้ายตัวเอง

อย่างไรก็ดี การห้ามใช้สารโดยที่ยังไม่มีมาตรการบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรงที่สาเหตุ และการยกเลิกในทันทียังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรผู้ใช้ โดยเฉพาะชาวสวนชาวไร่ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ยืนต้นทั้งหลาย เช่น ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่ยังให้ความเห็นว่า แนวทางการจำกัดการใช้เป็นแนวทางที่เหมาะสมแก้ปัญหาที่ตรงกับเหตุ โดยมีข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ให้มีมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการจำหน่าย จำกัดปริมาณการนำเข้าเพื่อให้ใช้เท่าที่จำเป็น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี นำระบบสากล Good Agricultural Practice หรือ GAP มาใช้ จัดทำฉลากและมีการสื่อสารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเลือกใช้เครื่องมือในการฉีดพ่น และการป้องกันการรับสัมผัสสารดังกล่าวด้วย

นายมงคลกล่าวทิ้งท้ายว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงได้ให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนบริหารจัดการในการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ชนิดที่ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา ซึ่งมีกำหนดที่จะพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 นี้

สำหรับประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4152 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล pr@diw.mail.go.th

จาก https://mgronline.com    วันที่ 30 สิงหาคม 2561

กลุ่มเกษตรไทยฯ เผยไฟฟ้า-เยื่อกระดาษหนุนรายได้พุ่ง

กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” ครึ่งปีแรกได้รายได้สายธุรกิจผลิตและขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และสายธุรกิจเยื่อกระดาษชานอ้อย หนุน แบ่งเป็นรายได้ขายไฟฟ้า 824.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 73.7% รายได้ขายเยื่อกระดาษชานอ้อยเพิ่ม 26.6%

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (มกราคม-มิถุนายน 2561) สายธุรกิจที่ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องคือ สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้ 824.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีเชื้อเพลิงหลักคือ ชานอ้อยป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงงานสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตและขายไฟฟ้าได้จำนวนหน่วยสูงขึ้น โดยที่ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับรายได้จากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อยมีจำนวน 760.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.6% เนื่องจากทั้งปริมาณและราคาขายเยื่อกระดาษชานอ้อยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ได้รับผลกระทบจากราคาขายเอทานอลโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้มีรายได้ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย มีรายได้ลดลง 18.2% เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลงจากปีก่อน ทำให้ราคาขายน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ซึ่งอิงราคาตลาดโลกปรับลดลงด้วย

“ครึ่งปีแรกของปี 2561 กลุ่ม KTIS มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 11,867.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 177.1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาขายน้ำตาลทรายเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีก่อนที่ลดลงถึง 29.2% ทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิในครึ่งปีแรกของปีนี้ จำนวน 136.4 ล้านบาท” นายประพันธ์ กล่าว และเสริมว่า การที่บริษัทมีสายธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาช่วยเสริมนอกเหนือจากสายธุรกิจน้ำตาลทราย ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายที่ผันผวนได้มากพอสมควร ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม KTIS ที่มีจุดเด่นในการจัดหาอ้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายแล้ว ยังสามารถต่อยอดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ตามนโยบาย KTIS More Than Sugar ที่กลุ่ม KTIS มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มในสายอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาตลอด เนื่องจากเป็นสายธุรกิจที่มีอนาคต และมีมาร์จินสูงกว่าผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย

จาก https://mgronline.com    วันที่ 29 สิงหาคม 2561

NGOs จี้รัฐทบทวนแผนไบโอฮับในอีสาน ย้ำต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ห่วงเชื้อเพลิงชานอ้อยจะไม่พอใช้ผลิตไฟฟ้า จนต้องนำเข้าถ่านหิน ซึ่งจะกระทบสุขภาพคนอีสาน

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่าย NGOs อีสานห่วงแผนไบโอฮับ รัฐอนุมัติผุดโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 แห่งกระทบระบบนิเวศอีสาน เผยแค่เชื้อเพลิงชานอ้อยผลิตไฟฟ้าไม่พอแน่ เชื่อต้องนำเข้าถ่านหิน กระทบสุขภาพคนอีสาน จี้รัฐยุติรับฟังประชาชน

วันนี้ (27 ส.ค. 61) ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.) อ.เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนอีสานติดตามนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช), กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดแถลงข่าวเรื่อง “ผลกระทบนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างขึ้นในภาคอีสาน”

สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย-ขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม.ปี 2554 รวมแล้วในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน จี้รัฐบาลยุติอนุมัติโครงการไว้ก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประาชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์ จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ เสนอให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ในโรงงานน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาลให้สามารถก่อสร้างได้ในพื้นที่การเกษตร

มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ให้กลุ่มโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อยเพื่อใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานของผู้ประกอบการ และมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมจากอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

การออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในคราวเดียวกัน 27 โรงงาน และแผนพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งจะต้องมีผลผลิตจากการปลูกอ้อยหลายล้านไร่ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรของแต่ละโรงงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐ โดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบว่าโรงงานแต่ละแห่งนั้นควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากพื้นที่แหล่งอาหาร และแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งน้ำที่จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน หรือเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 27 แห่ง อุตสาหกรรม ไบโอฮับ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหารสัตว์ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่นำวัตถุดิบชานอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าคงไม่พอแน่นอน ต้องนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ปรอท มะเร็ง เป็นต้น

จึงขอเสนอให้รัฐได้จัดเวทีให้ข้อมูลแก่ประชาชน ก่อนที่กลุ่มโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น เช่น พรุ่งนี้ 28 สิงหาคม 2561 ที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทางโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น (ค1) การสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล จริงๆ ฝ่ายโรงงานยังไม่ทำ เพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าจะมีโรงานดังกล่าว ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรก่อน อีกทั้งเสนอให้พื้นที่ที่จะก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ ในอีสานด้วย

ด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่า เครือข่ายประชาชนอีสานขอเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และ มาตรา 58 ที่บัญญัติไว้ว่า การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

เครือข่ายประชาชนอีสานขอย้ำว่า การดำเนินการอนุมัติอนุญาตใดๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการต้องยุติไว้ก่อน จนกว่ารัฐจะใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

ขอให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558-2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนบางกลุ่ม มีการวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมอีสาน ที่ไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป

จาก https://mgronline.com    วันที่ 29 สิงหาคม 2561

ไทย-ชิลีหารือติดตามใช้ประโยชน์ FTA พร้อมเล็งขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ค้าเพิ่ม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือร่วมกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชิลีหรือ DIRECON เร่งลดภาษีสินค้าศักยภาพ ปรับปรุงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าผู้แทนไทยหารือกับฝ่ายชิลี ในการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรี (FTC) ไทย-ชิลี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2561 ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี เพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี รวมทั้งหารือแนวทางเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น

ปัจจุบันไทยและชิลี ได้ลดภาษีสินค้าให้เหลือร้อยละ 0 ให้แก่กันแล้วกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (ประมาณ 9,000 รายการ) และจะมีการลดภาษีเป็นศูนย์เพิ่มเติมอีก ในปี 2563 และในปี 2566 ภาษีของทั้ง 2 ฝ่ายจะลดลงเป็นร้อยละ 0 ทุกรายการ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูง และในขณะเดียวกัน หลายประเทศใช้มาตรการการค้าระหว่างกันสูงขึ้น จึงเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและขจัดปัญหาจากมาตรการทางการค้าดังกล่าว โดยเร่งลดภาษีสินค้าบางรายการให้เร็วขึ้น

ซึ่งไทยต้องการให้ชิลีเร่งลดภาษีสินค้า ข้าว น้ำตาล ยางล้อรถยนต์ รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ชิลีสนใจให้ไทยลดภาษีเร็วขึ้นในสินค้าประเภท ปลาแซลมอน อาหารทะเล น้ำมันมะกอก ผลไม้เมืองหนาว และน้ำผลไม้ อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดการลดภาษีดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ ระดับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย หารือในรายละเอียดโดยจะเน้นพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีกำหนดจะลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2566

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัยสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ โดยสินค้าไทยที่ต้องการรับรองเพื่อเข้าสู่ตลาดชิลี ได้แก่ มังคุด ลำไย ข้าว ไม้ดอกไม้ประดับ และเนื้อไก่ ส่วนชิลีต้องการให้ไทยรับรองสินค้า อาทิ ลูกแพร์ มะเขือเทศ

ในโอกาสนี้ ไทยได้แจ้งชิลีถึงความสนใจของไทยในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในฐานะที่ชิลีเป็นสมาชิกของความตกลงดังกล่าว ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการศึกษา ประเมินผลได้ผลเสีย และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งชิลียินดีสนับสนุน หากไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงดังกล่าว

“ชิลีมีนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง และได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกาใต้และ ประเทศอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการไทยเริ่มสนใจที่จะลงทุนในชิลีเพื่อเป็นประตูขยายตลาดสู่ประเทศในแถบอเมริกาใต้ การหารือขยายความร่วมมือ และการติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างความมั่นใจในการขยายการค้า การลงทุนของไทยในภูมิภาคดังกล่าวต่อไป” นายรณรงค์กล่าว

ในปี 2560 ไทย-ชิลี มีมูลค่าการค้า 1,122 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 749 ล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้าจากชิลี 373 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทุกรายการ ของไทยไปชิลี เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง FTA ไทย-ชิลี

นายรณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้าส่งออก ของทั้งสองฝ่ายได้รับรู้ การใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มากขึ้น

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 29 สิงหาคม 2561

เฮ! ผู้ว่าฯยโสธร ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีก่อสร้างรง.น้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อเวลา 11.00 น วันที่ 29 สิงหาคม ที่ศาลากลางจังหวัดยโสธร นางมะลิจิตร เอกตาแสง อายุ 57 ปี นายสมัย คดเกี้ยว อายุ 59 ปี กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กว่า 200 คน ได้เดินทางมาเข้าพบนายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร พล.ท.เดชอุดม นิชรัตน์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค.2 และพ.อ.เพื่อประชุมหารือการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังก่อสร้างใน ต.ปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งโรงงานดังกล่าวอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร

จากนั้นเจ้าหน้าได้แจ้งให้แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย 10 คน เข้าร่วมประชุม ที่ห้องหมอนขิด ศาลากลางจังหวัดยโสธร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังด้วย

นางมะลิจิตร กล่าวในที่ประชุมว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย มีจุดประสงค์เข้าพบเพื่อพูดคุยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพื่อขอให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงในการมีส่วนร่วม ทรัพยากร และสุขภาพ ทางกลุ่มยืนยั่นว่ารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ทางษริษัทโรงงานน้ำตาลทำมานั้นไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเลย หากแต่งตั้งได้จริงทางกลุ่มอนุรักษ์ขอให้มีนักวิชาการอิสระ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง หากทำได้ขอให้ท่านผู้ว่าทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแจ้งให้สมาชิกกลุ่มทราบด้วย

“ยืนยันว่าที่เคลื่อนไหวไม่มีนัยยะทางการเมือง แต่ทำเพื่อปกป้องชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ หากโรงงานเกิดขึ้นจริงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะเปลี่ยนไปแน่นอน”นางมะลิจิตร กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากประชุมหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง นายนิกร สุกใส ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ที่ประชมุมีมติแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อมาศึกษาผลกระทบ ซึ่งทางจังหวัดจะส่งหนังสือแจ้งไปถึงกลุ่มอนุรัก์ลำน้ำเซบายภายใน 7 วัน

พล.ท.เดชอุดม กล่าวว่าวันนี้มาร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จากผลการประชุมนั้นมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อศึกษาผลกระทบ แต่ต้องมีการประชุมอีกครั้งเพื่อเสนอคณะทำงานศึกษาอีกครั้ง โดยจะมี กอ.รมน.จังหวัดยโสธรเป็นคนกลาง

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 29 สิงหาคม 2561

รัฐบาลหวังเศรษฐกิจภาคดันจีดีพีโตร้อยละ 4.5-5

รัฐบาลหวังสร้างเศรษฐกิจระดับภาคขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยกให้เขต EEC พัฒนาอุตสาหกรรมหลัก  SEC พัฒนายาง ปาล์ม การท่องเที่ยว  เขต NEC ดูแลแหล่งท่องเที่ยวเหนือ เขต NEEC อีสานเป็นแหล่งไบโอชีวภาพพัฒนาจากอ้อย มันสำปะหลัง ผลิตชิ้นส่วนระบบราง ดึงศักยภาพทุกภาคร่วมผลักดันจีดีพีไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “Thailand Focus 2018” เรื่อง “กลยุทธ์การเชื่อมโยงประเทศสู่ One Belt One Rode ” ว่า เพื่อรองรับนโยบาย One Belt One Road เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากจีนลงมายังไทย ผ่านความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ไทยยังเดินหน้าเชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรม เมื่อได้พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีทางออกไปยังฝั่งทะเลอันดามัน จึงเชื่อมเส้นทางจาก EEC ผ่านอ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ จ.ชุมพร จากนั้นส่งสินค้าผ่านรถไฟทางคู่ต่อไปยัง จ.ระนอง และต่อไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา

จากนั้นจึงต้องการผลักดันเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ด้วยการดึงศักยภาพทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน พัฒนาด้วยอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพให้มีคุณภาพสูงขึ้นบวกกับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ หวังให้ไทยมีเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญกระจายทุกภาค เตรียมผลักดันระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ (NEC) ที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและบริการ เส้นทางการค้า การลงทุน และยังเตรียมผลักดันการตั้งเขตเศรษฐกิจภาตตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) เพื่อดึงศักยภาพทั้งการขนส่ง เป็นแหล่งพัฒนาไบโอชีวภาพ อ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าว เป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้า  เพื่อให้ทุกภาคเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างสมดุลหากภาคใดมีปัญหาจะได้เสริมจีดีพีของประเทศได้ และจากปัจจัยบวกหลายด้านดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจีดีพีปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.5-5

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการผลักดันเขตเศรษฐกิจทุกภาค หลังจากเขต EEC มีกฎหมายรองรับ ในส่วนภาคอื่นจะพิจารณาดูแลต้องจัดตั้งสำนักงาน หรือแก้ไขให้มีกฎหมายรองรับการผลักดันอย่างไรบ้าง  รวมทั้งการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจการลงทุนลักษณะใดให้สอดคล้องตามภูมิภาค  คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือ เพื่อสรุปแนวทางเสนอ ครม.พิจารณาได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวยอมรับว่า มีกระแสเงินทุนระยะสั้นต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาในสัดส่วนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน  ธปท.จึงเกิดความไม่สบายใจ จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษเข้ามาดูแลกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในช่วงนี้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ทั้งเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ทุนสำรองในระดับสูง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดคลายความกังวลสงครามการค้า จึงมีเงินทุนไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2561

ไทย-ชิลีหารือติดตามใช้ประโยชน์ FTA พร้อมเล็งขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ค้าเพิ่ม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือร่วมกับกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชิลีหรือ DIRECON เร่งลดภาษีสินค้าศักยภาพ ปรับปรุงการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าผู้แทนไทยหารือกับฝ่ายชิลี ในการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรี (FTC) ไทย-ชิลี ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2561 ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี เพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี รวมทั้งหารือแนวทางเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น

ปัจจุบันไทยและชิลี ได้ลดภาษีสินค้าให้เหลือร้อยละ 0 ให้แก่กันแล้วกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (ประมาณ 9,000 รายการ) และจะมีการลดภาษีเป็นศูนย์เพิ่มเติมอีก ในปี 2563 และในปี 2566 ภาษีของทั้ง 2 ฝ่ายจะลดลงเป็นร้อยละ 0 ทุกรายการ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูง และในขณะเดียวกัน หลายประเทศใช้มาตรการการค้าระหว่างกันสูงขึ้น จึงเห็นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและขจัดปัญหาจากมาตรการทางการค้าดังกล่าว โดยเร่งลดภาษีสินค้าบางรายการให้เร็วขึ้น

ซึ่งไทยต้องการให้ชิลีเร่งลดภาษีสินค้า ข้าว น้ำตาล ยางล้อรถยนต์ รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ชิลีสนใจให้ไทยลดภาษีเร็วขึ้นในสินค้าประเภท ปลาแซลมอน อาหารทะเล น้ำมันมะกอก ผลไม้เมืองหนาว และน้ำผลไม้ อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดการลดภาษีดังกล่าว จะต้องไม่กระทบต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้ ระดับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย หารือในรายละเอียดโดยจะเน้นพิจารณาสินค้าในกลุ่มที่มีกำหนดจะลดภาษีเป็นศูนย์ในปี 2566

นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการพิจารณาตรวจสอบความเสี่ยงด้านสุขอนามัยสำหรับผลิตภัณฑ์การเกษตรและปศุสัตว์ โดยสินค้าไทยที่ต้องการรับรองเพื่อเข้าสู่ตลาดชิลี ได้แก่ มังคุด ลำไย ข้าว ไม้ดอกไม้ประดับ และเนื้อไก่ ส่วนชิลีต้องการให้ไทยรับรองสินค้า อาทิ ลูกแพร์ มะเขือเทศ

ในโอกาสนี้ ไทยได้แจ้งชิลีถึงความสนใจของไทยในการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในฐานะที่ชิลีเป็นสมาชิกของความตกลงดังกล่าว ขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างการศึกษา ประเมินผลได้ผลเสีย และรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งชิลียินดีสนับสนุน หากไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงดังกล่าว

“ชิลีมีนโยบายการค้าที่เปิดกว้าง และได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศในอเมริกาใต้และ ประเทศอื่นๆ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการไทยเริ่มสนใจที่จะลงทุนในชิลีเพื่อเป็นประตูขยายตลาดสู่ประเทศในแถบอเมริกาใต้ การหารือขยายความร่วมมือ และการติดตามการดำเนินงานภายใต้ FTA ไทย-ชิลี จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างความมั่นใจในการขยายการค้า การลงทุนของไทยในภูมิภาคดังกล่าวต่อไป” นายรณรงค์กล่าว

ในปี 2560 ไทย-ชิลี มีมูลค่าการค้า 1,122 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 749 ล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้าจากชิลี 373 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทุกรายการ ของไทยไปชิลี เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง FTA ไทย-ชิลี

นายรณรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จึงขอใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้าส่งออก ของทั้งสองฝ่ายได้รับรู้ การใช้สิทธิประโยชน์ในความตกลงการค้าเสรี ไทย-ชิลี มากขึ้น

จาก www.thansettakij.com วันที่ 29 สิงหาคม 2561

เตรียมเสนอ ครม.ซื้อหนี้เกษตรกรกว่าหมื่นล้าน

ก.เกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบกองทุนฟื้นฟูฯ ซื้อหนี้สมาชิกกว่า 10,000 ล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ดำเนินการขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกรปี 2561 เพื่อเร่งแก้ไขความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินเกษตรกรให้สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2561

นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ และสหกรณ์ต่าง ๆ   โดย ธ.ก.ส.จะตัดต้นหนี้ร้อยละ 50 มีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่เหลืออีกร้อยละ 50 ภายใน 15 ปีให้กับเกษตรกร 36,000 ราย ที่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค้างชำระตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันกว่า 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 4,000 ล้านบาท และใช้แนวทางเดียวกันนี้แก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรที่เป็นหนี้สหกรณ์และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ซึ่งวิธีการชำระหนี้นั้น เกษตรกรต้องผ่อนชำระ15 ปี ดอกเบี้ย MRR-ร้อยละ 3 หรือประมาณร้อยละ 4 ทั้งนี้ จะหยุดดอกเบี้ยเก่าไว้ก่อน ถ้าเกษตรกรชำระหนี้ได้ตามกำหนดจะพิจาณาช่วยเหลืออีกครั้ง

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบกรณีกองทุนฟื้นฟูฯ ตกลงซื้อหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ 36,000 ราย รวมมูลหนี้ 10,200 ล้านบาท โดยกระทรวงจะต้องทำแนวทางฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรควบคู่เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีกำลังชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข

ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ประมาณ 6 ล้านคน และมีการลงทะบียนสมาชิกเกษตรกรที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงิน เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์การเกษตรประมาณ 460,000 รายมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2549-2557 กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร 29,000 รายเท่านั้น

จาก https://www.mcot.net วันที่ 29 สิงหาคม 2561

คนปทุมรัตต์ค้านโรงงานน้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวล หวั่นกระทบข้าวอินทรีย์/สุขภาพ จี้รัฐทำประชาพิจารณ์

เครือข่ายภาคประชาชน อ.ปทุมรัตน์ แสดงพลังคัดค้านการลงทุนโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง

ร้อยเอ็ด - เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์กว่า 500 คน แสดงพลังค้านลงทุนโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง ห่วงใช้สารเคมีในไร่อ้อย กระทบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ทั้งกระทบต่อสุขอนามัย จี้ชะลอโครงการ พร้อมเปิดเวทีประชาคมทุกหมู่บ้าน

วันนี้ (28 ส.ค.61) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงชีวมวล โดยมีกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ในนามเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ กว่า 500 คน ประกอบด้วย กลุ่มข้าวอินทรีย์ ตำบลโนนสวรรค์, กลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลโนนสวรรค์, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอำเภอปทุมรัตต์,

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนปทุมรัตต์จำกัด, สภาองค์กรชุมชนอำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายครูอำเภอปทุมรัตต์ ได้ชุมนุมรวมตัวกัน แสดงพลัง ม่ยอมรับการลงทุนของโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ไม่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมตัดสินใจ และมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐและอ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหา

จากการที่บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด กำลังจะมีโครงการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 80 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยบริษัทได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวน 5 ร้อยกว่าไร่ บริเวณตลาดนัดโค-กระบือ ตำบลโนนสวรรค์ และได้ส่งเสริมปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ มาประมาณ 3 ปี แล้วนั้น

กระทั่งเมื่อต้นปี 2560 บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงานประเมินผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีไอเอ (EIA) ทำให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการได้ถูกเปิดเผยมากขึ้น จึงทำให้คนปทุมรัตต์หลายคน หลายเครือข่าย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาในครั้งนี้ ซึ่งจากการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่าคนปทุมรัตต์ เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นประกอบด้วย

1.การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาดใหญ่ถึง 24,000 ตันอ้อยต่อวัน อาจต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 360,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าอำเภอปทุมรัตต์ ซึ่งมีพื้นที่ 356.9 ตร.กม.หรือ 223,062.5 ไร่ ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพสูง กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีการใช้สารเคมีเข้มข้น

2.การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ถึง 80 เมกะวัตต์ ต้องใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลายแสนตัน อาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองปลิวเข้าสู่ชุมชน ที่สำคัญฝุ่นละอองจากขี้เถ้าชานอ้อยที่เผาแล้ว มีโอกาสปลิวเข้าสู่ชุมชน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก อาจมีปัญหาแย่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้โรงงาน

3.ความกังวลต่อการทำไร่อ้อยต้องใช้สารฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเคมีเกษตรในปริมาณมาก ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไหลลงนาข้าว ซึ่งเกษตรกทุกตำบลได้ทำนาปลอดสารพิษและนาอินทรีย์ ทั้งได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ GI มีที่เดียวในโลก จำหน่ายทั่วประเทศและส่งออกทั่วโลก อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้กินก็ไม่ได้ขายไม่ออก 4.ความกังวลต่ออุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อย ที่คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คัน รถพ่วงช่วงที่โรงงานเปิดรับซื้ออ้อย 5-6 เดือน ขณะที่ถนนเขตอำเภอปทุมรัตต์ เล็กไม่มีไหล่ทาง อาจทำให้ถนนอาจเสียหายและเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นได้

กลุ่มและเครือข่ายต่างๆ ในอำเภอปทุมรัตต์ ขอเป็นตัวแทนประชาชนชาวปทุมรัตต์แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยอมรับการดำเนินการที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และขอเสนอข้อเรียกร้อง ให้บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ชะลอการดำเนินโครงการ โดยหยุดการทำอีไอเอไว้ก่อน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่, ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง และสร้างการมีส่วนร่วม ยึดหลักตามกฎหมาย โดยจัดให้มีการประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูล และมีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินโครงการหรือไม่

จาก  https://mgronline.com   วันที่ 28 สิงหาคม 2561

หวั่นทุบเคมีเกษตรแสนล้าน - 8 สมาคมผนึกกำลังยื่นค้านร่างพ.ร.บ.เกษตรยั่งยืน

8 องค์กร ผวากระทบตลาดเคมีเกษตรแสนล้านยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีเกษตรฯคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน นายกอาหารสัตว์ชี้เข้าทางเอ็นจีโอ “ประพัฒน์” ยันไม่ซํ้าซ้อนสภาเกษตรกร

แหล่งข่าวจาก 1 ใน 8 องค์กร ที่คัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ....เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ทาง 8 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย และนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร ได้ยื่นเรื่องผ่าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว หลังมีการนำเสนอร่างนี้ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้สาระสำคัญที่คัดค้าน เนื่องจากหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้เกิดการจำกัดหรือลิดรอนสิทธิของเกษตรกร ที่ไม่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกร และส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรทั่วไป มองว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อาทิ กำหนดกฎหมายต้องไม่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก้เหตุ (มาตรา 26) และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (มาตรา 40) เป็นต้น

 “ร่างดังกล่าวมีเนื้อหามุ่งส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมเฉพาะด้านและเกษตรกรบางกลุ่ม โดยให้อำนาจคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนตามพระราชบัญญัตินี้และรูปแบบของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ลักษณะ ประเภท ชนิด ปริมาณ ขนาด หรือหลักเกณฑ์อื่นใดที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้พระราชบัญญัตินี้ ยังจะกระทบกับตลาดเคมีภัณฑ์เกษตรทั้งปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละกว่าแสนล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)”

สอดคล้องกับนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ที่กล่าวว่า ในกฎหมายฉบับนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ เป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มองว่าจะซํ้าซ้อนกับสภาเกษตรกรแห่งชาติที่มีอยู่แล้ว ถามว่าทำไมจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาอีก  และการออกกฎหมายฉบับนี้มีเงื่อนงำในหลายมาตรา ทั้งคณะกรรมการที่จะเข้าไปนั่ง  ไปรับรององค์กรเฉพาะกลุ่มให้มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้จัดตั้งขึ้นมาลักษณะเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ หากกำหนดนโยบายอะไรเชื่อจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของเอกชน

ขณะนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทางสภาเกษตรกรฯ เป็นผู้นำไปเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายรับรองและดูแลคนกลุ่มนี้ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืน ก็คือระบบการทำการเกษตรในเชิงผสมผสานและเกื้อกูลกัน คำนึงถึงระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ หลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยอาหาร รูปแบบของเกษตรยั่งยืน เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และอื่นๆ ยืนยันว่าการทำงานไม่ซํ้าซ้อนกับสภาเกษตรกรฯ

จาก  www.thansettakij.com    วันที่ 28 สิงหาคม 2561

สสก.4 แจ้งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านพืช

นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยจะต้องได้รับการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินก่อน จึงจะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยได้ ส่วนเกษตรกรผู้ประสบภัยสามารถแจ้งความเสียหาย(ตามแบบ กษ.01) ณ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ ที่ได้รับความเสียหาย จะพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยการช่วยเหลือเป็นตัวเงินในลำดับแรกแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยแล้วเท่านั้น อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พืชตายหรือเสียหายเป็นค่าพันธุ์พืช และค่าปุ๋ย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์กำหนด ตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ไม่เกิน 30 ไร่ ทั้งนี้ พื้นที่ทางการเกษตรจะต้องเสียหายโดยสิ้นเชิงกรณีพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตายหรือเสียหายโดยสิ้นเชิง ให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริง ไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้ 1. ข้าวไร่ละ 1,113 บาท 2. พืชไร่ไร่ละ 1,148 บาท 3. พืชสวนและอื่นๆไร่ละ 1,690 บาท

จาก  www.naewna.com    วันที่ 28 สิงหาคม 2561

นายกฯเดินหน้าพิจารณายกเลิกพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกโฟเซต ยันดูแลทั้งปชช.-เกษตรกร

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เวลา 14.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีความคืบหน้าในการพิจารณายกเลิกสารเคมี 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกโฟเซต) ว่า รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดูแลผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมามีการเร่งรัดเกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่บางพื้นที่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากใช้สารเคมีอย่างหนักมาเป็นระยะเวลาที่นาน จึงจะส่งเสริมให้เป็นสินค้า GAP ก่อน เพื่อปรับลดจนกว่าจะเป็นอินทรีย์ ซึ่งในวันนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลแล้ว

“รัฐบาลในฐานะที่อยู่ตรงกลางก็ต้องมีทางเลือกด้วยกันสองทางคือ ผู้บริโภค ที่รัฐบาลต้องคุ้มครอง และภาคการเกษตร ที่ต้องดูว่าเขาต้องการอะไร ภาคการเกษตรร้องมาว่าขาดแคลนแรงงาน การกำจัดวัชพืชก็มีปัญหา รัฐบาลก็ต้องไปหาสิ่งที่มาทดแทนช่วยกำจัดวัชพืชได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมองทั้งสองมุม และทุกอย่างจะต้องมีวิธีการแก้ปัญหาให้เกิดความชัดเจนได้โดยเร็วที่สุด” นายกฯกล่าว

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 28 สิงหาคม 2561

กรมฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำในอ่างน้ำที่มีน้ำน้อย

กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการเติมน้ำในอ่างที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร หลังฝนทิ้งช่วง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการประสานให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในหลายพื้นที่มีไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรของประชาชน  ส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ น้ำต้นทุนไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงพืชที่กำลังจะให้ผลผลิตอย่างทั่วถึง  โดยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำ อาทิ พื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราให้ผลผลิตอย่างทั่วถึง  โดยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำ อาทิ พื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปลายมาศ จ.นครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา และอ่างห้วยยาง จ.สระแก้ว นอกจากนี้ ได้พบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร ในพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในเขต อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด มีปริมาณน้ำ ไม่เพียงพอเพราะส่งน้ำมาให้ไม่ได้

นายสุรสีห์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้เร่งทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง โดยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งสิ้น 7 หน่วย 27 เที่ยวบิน ใช้สารฝนหลวง 22.6 ตัน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรตามที่ได้รับการร้องขอที่ อ.ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ อ.มัญจาคีรี อ.โคกโพธิ์ไชย อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด อ.โนนศิลา อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น อ.โกสุมพิสัย อ.กุดรัง อ.บรบือ อ.นาเชือก อ.นาดูน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม อ.ชุมพวง อ.เมืองยาง อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา อ.คูเมือง อ.แคนดง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์  อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม อ.จอมพระ อ.รัตนบุรี อ.สนม จ.สุรินทร์ อ.พยัคฆภูมิพิสัย อ.นาตูน จ.มหาสารคาม อ.เกษตรวิสัย อ.ปทุมรัตน์ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.ลานสัก อ.สว่างอารมณ์ อ.บ้านไร่ อ.ทัพทัน อ.หนองขาหย่าง อ.ห้วยคต อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี อ.แม่เปิน อ.แม่วงก์ อ.ชุมตาบง อ.ลาดยาว อ.โกรกพระ อ.พยุหะคีรี อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองสุพรรณบุรี อ.อู่ทอง อ.ด่านช้าง อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี อ.หนองมะโมง อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางในพื้นที่เป้าหมาย และสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี และอ่างเก็บน้ำห้วยยาง จ.สระแก้ว

จาก  https://www.mcot.net   วันที่ 28 สิงหาคม 2561

ค่าเงินบาทวันนี้แข็งค่า หลังทุนต่างชาติไหลกลับเข้าไทย จับตาสหรัฐประกาศจีดีพีไตรมาส 2 พรุ่งนี้

ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หลังกระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ด้านสงครามการค้าสหรัฐและเม็กซิโก กระทบดอลลาร์อ่อนค่า เตรียมจับตาตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2 ของสหรัฐ (29 ส.ค.)

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันนี้(วันที่ 28 ส.ค. 2561 ) เปิดตลาดที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องจากระดับปิดเมื่อวานที่ 32.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 32.38-32.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดสารหนี้ทั้งระยะยาวและระยะสั้นค่อนข้างเยอะ ส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงเมื่อวานมีการเจรจาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า ในขณะที่ค่าเงินกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กลับมาแข็งค่า

พร้อมกันนี้นักค้าเงินได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทในวันนี้ น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบที่มีแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ พัฒนาการสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนว่าจะมีแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไตรมาส 2 ของสหรัฐ ในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.)

จาก  https://www.prachachat.net    วันที่ 28 สิงหาคม 2561

"กฤษฏา"เร่งเครื่องปฎิรูปภาคเกษตรโค้งสุดท้าย

"กฤษฏา"เร่งเครื่องปฎิรูปภาคเกษตรโค้งสุดท้ายเรียกสั่งงานว่าที่ปลัดกษ.คนใหม่ ทันทีทุกหน่วยงานสางปัญหาสินค้าเกษตรราคาต่ำ-ล้นตลาด เห็นผลเกษตรกรจับต้องได้จริง

            27 สิงหาคม 2561 "กฤษฏา"เร่งเครื่องปฎิรูปภาคเกษตรโค้งสุดท้ายเรียกสั่งงานว่าที่ปลัดกษ.คนใหม่ ทันทีทุกหน่วยงานสางปัญหาสินค้าเกษตรราคาต่ำ-ล้นตลาด ต้องเห็นผลเกษตรกรจับต้องได้จริง 

           นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยภายหลังนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ว่าที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯคนใหม่ได้เดินทางเข้าพบ เพื่อขอรับทราบนโยบายและแนวทางการปฎิบัติงาน ว่าให้ว่าที่ปลัด กษ.คนใหม่ไปเตรียมการปฎิบัติงานให้ต่อเนื่องในทันที่ที่เข้าปฎิบัติหน้าที่โดยประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.การปฏิบัติราชการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ปลัดกระทรวง กำกับ ให้ทุกหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจรวมทั้งองค์การมหาชนในสังกัด กษ.ทุกหน่วยต้องมีการปฏิบัติงานตามที่กฎหมายหรือระเบียบแผนของทางราชการกำหนดไว้ตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยเคร่งครัดและต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน

            "ประการสำคัญจะต้องไม่มีการทุจริตและมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน หากหน่วยใดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ให้พิจารณาโทษอย่างเฉียบขาดทุกกรณี รวมทั้งให้ดูแลอำนวยการและกำกับติดตามการบริหารบุคคลงานของทุกหน่วยในสังกัด กษ.ให้เป็นไปด้วยระบบคุณธรรม ไม่ให้มีการวิ่งเต้นหรือเรียกร้อง รับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อแลกกับการบรรจุ แต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งหรือเลื่อนระดับ อย่างเด็ดขาด"รมว.เกษตรฯกล่าว

            2.การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำมีผลผลิตล้นตลาด ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วเห็นผลเป็นรูปธรรมให้ได้ ตามนโยบายรัฐบาลและกษ ที่เริ่มทำไปแล้วในปีนี้ เพราะแต่ละปีเป็นภาระงบประมาณประเทศต้องใช้งบจำนวนมากมาช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้นให้เร่งรัดแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมตาม “แผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ”

           ซึ่งผ่านการจัดทำและตรวจสอบความเหมาะสมจากหน่วยงาน กษ. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม อื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกชนมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าเกษตรเป็นไปตามความต้องของตลาดไม่ล้นตลาด โดยมีมาตรการจูงใจเกษตรกร เช่น การรับรองรายได้ขั้นตำ่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ/การประกันภัยพืชผล/การจัดหาตลาดล่วงหน้าหรือการรับรองคู่ค้าที่ซื้อสินค้าล่วงหน้าจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรตามสัญญาที่เป็นธรรม และส่งเสริมสนับสนุน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ/การทำเกษตรปลอดภัยที่ไม่ใช้สารเคมีทุกประเภทและเกษตรอินทรีย์หรือการรวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่หรือการรวมกลุ่มทำการเกษตรในรูปสหกรณ์การเกษตร จะได้รับการพิจารณาให้ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรการจูงใจมากขึ้นด้วย

             3.เร่งรัดแผนงานของกษ.รวม 15-16 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่หรือเกษตรกรวัยหนุ่มสาว โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โครงการพัฒนาสหกรณ์เข้มแข็ง โครงการบริหารจัดการเกษตรตามแผนที่เกษตรกรรมเชิงรุก  ทั้งนี้งานพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรซึ่ง กษ. ได้รับงบประมาณมาดำเนินการเป็นจำนวนมากแล้ว เช่น งานวางระบบชลประทาน/งานทำการเกษตรตามความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมและคุณภาพดิน (Zoning by Agri-Map)/งานรับรองมาตรฐานสินค้า ให้มีความก้าวหน้าเห็นผลงานเป็นรูปธรรมด้วย

           "ให้หารือกับอธิบดีของแต่ละกรม ต้องพัฒนาในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงการให้บริการแก่เกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปให้เป็นระบบ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพคุ้มค่าของงบประมาณที่แต่ละหน่วยได้รับด้วย เช่น ระบบเตือนภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง การบริหารจัดการน้ำในฤดูทำการเกษตรหรือฤดูแล้งหรือในภาวะอุทกภัยหรือจัดรูปแบบขั้นตอนการบริการประชาชนให้ได้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว เช่น การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านต่างๆในการส่งออกหรือนำเข้าจากต่างประเทศ" รมว.เกษตรฯกล่าว

            4.ต้องกำกับในการบริหารงานจากส่วนกลางที่มีการจัดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ทั้ง 14 กรมให้มีภารกิจหน้าที่ครบถ้วนตามกระบวนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้วซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบหน่วยงานอื่นๆ  ดังนั้นต้องบริหารให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างทำงานโดยไม่ประสานกัน เช่น เมื่อ สำนักงานส.ป.ก.จัดที่ดินให้เกษตรกรแล้ว กรมพัฒนาที่ดินต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ/ตำบล ว่าที่ดินดังกล่าวมีธาตุอาหาร/ความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรประเภทไหน

            กรมชลประทาน พัฒนาจัดระบบแหล่งน้ำ กรมวิชาการเกษตร สนับสนุนหรือแนะนำพันธ์ุพืชที่เหมาะสม หรือปลูกพืชไม่ได้ กรมปศุสัตว์ กรมประมง เข้าไปแนะนำเลี้ยงปลาหรือทำปศุสัตว์ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ไปสนับสนุนการตัดสินใจ เลือกทำเกษตร ไม่ล้นตลาด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ต้องลงไปสนับสนุนด้านแปรรูปตามตลาดต้องการ

            5.ในการบริหารงานส่วนภูมิภาคทุกพื้นที่ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ไม่ว่าในกรณีใด เจ้าหน้าที่กษ ต้องรีบไปดูแลรับผิดชอบ แจ้งถึงส่วนกลางให้ละกรมได้เข้าไปแก้ไขปัญหา ร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์(อกพ.)ทุกจังหวัดที่มีผู้ว่าฯเป็นประธาน ประชุมอย่างน้อยเดือนละ1 ครั้งหรือตามสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ โดยให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดรายงานมายังส่วนกลาง ทุกกรณีต้องเชื่อมโยงกันระหว่างกรมส่วนกลางทั้ง 14 กรมกับงานในพื้นที่ที่มีหน่วยงานตัวแทนของแต่ละกรมไปทำงานในพื้นที่ให้มีการทำงานที่สอดประสานกันไม่ใช่ต่างหน่วยต่างทำกัน และให้ สป.กษ. และกรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนปัจจัยทางการบริหารด้วย

            6.หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัด กษ. ทั้ง 7 แห่ง ให้ดูแลกำกับให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนงานของ กษ.ด้วยเช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อตก.)ต้องทำหน้าที่เป็นหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจพาณิชย์ของกระทรวงเกษตรฯเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร องค์การสะพานปลา สนับสนุนการพัฒนาอาชีพแก่ชาวประมงหรือมอบหมาย สำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร(สวก.)ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิจัยทางการเกษตรให้ส่วนราชการ และ เกษตรกร และ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจหรือแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร

จาก  www.komchadluek.net    วันที่ 28 สิงหาคม 2561

กลุ่มเกษตรไทยฯ เผยไฟฟ้า-เยื่อกระดาษหนุนรายได้พุ่ง

กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” ครึ่งปีแรกได้รายได้สายธุรกิจผลิตและขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และสายธุรกิจเยื่อกระดาษชานอ้อย หนุน แบ่งเป็นรายได้ขายไฟฟ้า 824.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 73.7% รายได้ขายเยื่อกระดาษชานอ้อยเพิ่ม 26.6%

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (มกราคม-มิถุนายน 2561) สายธุรกิจที่ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องคือ สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้ 824.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการหีบอ้อยที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีเชื้อเพลิงหลักคือ ชานอ้อยป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงงานสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตและขายไฟฟ้าได้จำนวนหน่วยสูงขึ้น โดยที่ราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับรายได้จากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อยมีจำนวน 760.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.6% เนื่องจากทั้งปริมาณและราคาขายเยื่อกระดาษชานอ้อยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ได้รับผลกระทบจากราคาขายเอทานอลโดยเฉลี่ยลดลง ทำให้มีรายได้ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย มีรายได้ลดลง 18.2% เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลงจากปีก่อน ทำให้ราคาขายน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ซึ่งอิงราคาตลาดโลกปรับลดลงด้วย

“ครึ่งปีแรกของปี 2561 กลุ่ม KTIS มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 11,867.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 177.1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาขายน้ำตาลทรายเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีก่อนที่ลดลงถึง 29.2% ทำให้เกิดผลขาดทุนสุทธิในครึ่งปีแรกของปีนี้ จำนวน 136.4 ล้านบาท” นายประพันธ์ กล่าว และเสริมว่า การที่บริษัทมีสายธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาช่วยเสริมนอกเหนือจากสายธุรกิจน้ำตาลทราย ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายที่ผันผวนได้มากพอสมควร ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม KTIS ที่มีจุดเด่นในการจัดหาอ้อย ซึ่งนอกจากจะเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายแล้ว ยังสามารถต่อยอดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ตามนโยบาย KTIS More Than Sugar ที่กลุ่ม KTIS มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มในสายอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาตลอด เนื่องจากเป็นสายธุรกิจที่มีอนาคต และมีมาร์จินสูงกว่าผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย

จาก  https://mgronline.com   วันที่ 27 สิงหาคม 2561

มาเลเซียปรับลดราคาเพดานของน้ำตาลทราย

รัฐมนตรีกระทรวงการค้าภายใน สหกรณ์ และการคุ้มครองผู้บริโภคของมาเลเซีย เผย ราคาเพดานของน้ำตาลจะปรับลดลงมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 10 เซ็นมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายแบบหยาบ อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.85 ริงกิต และน้ำตาลทรายแบบป่น อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.95 ริงกิต

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 27 สิงหาคม 2561

NGOsจี้รัฐทบทวนแผนไบโอฮับในอีสาน ย้ำต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ห่วงเชื้อเพลิงชานอ้อยจะไม่พอใช้ผลิตไฟฟ้า จนต้องนำเข้าถ่านหิน ซึ่งจะกระทบสุขภาพคนอีสาน

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เครือข่าย NGOsอีสาน ห่วงแผนไบโอฮับ รัฐอนุมัติผุดโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 แห่ง กระทบระบบนิเวศอีสาน เผยแค่เชื้อเพลิงชานอ้อยผลิตไฟฟ้าไม่พอแน่ เชื่อต้องนำเข้าถ่านหิน กระทบสุขภาพคนอีสาน จี้รัฐยุติรับฟังประชาชน

วันนี้ (27ส.ค.61) ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) อ.เมือง จ.ขอนแก่น เครือข่ายประชาชนภาคอีสานประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนอีสานติดตามนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช), กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดแถลงข่าวเรื่อง “ผลกระทบนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างขึ้นในภาคอีสาน”

สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย-ขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม.ปี 2554 รวมแล้วในภาคอีสาน จะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน จี้รัฐบาลยุติอนุมัติโครงการไว้ก่อน จนกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประาชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

แผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2558-2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์ จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ.2518 ในโรงงานน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาลให้สามารถก่อสร้างได้ในพื้นที่การเกษตร

มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ให้กลุ่มโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อย เพื่อใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานของผู้ประกอบการ และมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมจากอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

การออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในคราวเดียวกัน 27 โรงงาน และแผนพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งจะต้องมีผลผลิตจากการปลูกอ้อยหลายล้านไร่ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรของแต่ละโรงงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐ โดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบ ว่าโรงงานแต่ละแห่งนั้นควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากพื้นที่แหล่งอาหาร และแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งน้ำที่จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน หรือเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่าอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน เช่นโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 27 แห่ง อุตสาหกรรม ไบโอฮับ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหารสัตว์ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่นำวัตถุดิบชานอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าคงไม่พอแน่นอน ต้องนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่นปรอท มะเร็ง เป็นต้น

จึงขอเสนอให้รัฐได้จัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชน ก่อนที่กลุ่มโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น เช่น พรุ่งนี้ 28 สิงหาคม 2561 ที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทางโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น (ค1) การสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล จริงๆฝ่ายโรงงานยังไม่ทำ เพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าจะมีโรงานดังกล่าว ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้กับคนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรก่อนอีกทั้งเสนอให้พื้นที่ที่จะก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆในอีสานด้วย

ด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่าเครือข่ายประชาชนอีสาน ขอเรียกร้องสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และ มาตรา 58 ที่บัญญัติไว้ว่า การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

เครือข่ายประชาชนอีสาน ขอย้ำว่า การดำเนินการอนุมัติอนุญาตใดๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการต้องยุติไว้ก่อน จนกว่ารัฐจะใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

ขอให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม มีการวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมอีสาน ที่ไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป

จาก  https://mgronline.com   วันที่ 27 สิงหาคม 2561

พลังงานไทยเตรียมรับมือยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

ภาครัฐ-ธุรกิจพลังงานเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นในอนาคต

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “โฉมหน้าพลังงานไทย : ยุค Disruptive Technology”  จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงานและชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จึงต้องปรับตัวโดยผสมผสานเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ การเร่งพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบพลังงาน สู่ระบบดิจิทัลและระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ควบคู่กับการวางแผนพลังงานให้มีใช้ได้ตามต้องการอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะที่ความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ ปี 2560 - 2579 หรือ PDP 2018 คาดเสร็จตามกำหนดภายในเดือนกันยายนตามกำหนดการแน่นอน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันในอนาคตยังมี ส่วนเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาอันใกล้ เพราะหลายประเทศรถ EV ยังนิยมใช้เพียงเขตเมืองเท่านั้น โดยทิศทางราคาไฟฟ้าในอนาคตต้องเป็นธรรม เข้าถึงได้ มีความมั่นคง ธุรกิจพลังงานต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ

ด้าน ปตท.จะเดินหน้าองค์กรด้วยกลยุทธ์ 3D คือ Do now เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ลดต้นทุนการผลิต Decide now การลงทุนเพื่อการเติบโต เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาด อาทิ โครงการขยายท่อส่งก๊าซ (แอลเอ็นจี) และคลังรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) และโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ (EECi) เป็นต้น และ Design now มองหาธุรกิจใหม่ในอนาคต ลงทุนใน New S-Curve เพื่อการเติบโตระยะยาว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีใหม่ พฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มการใช้พลังงานสะอาด และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลก หรือ Disruptive Technology  ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไปโดยอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลง มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเข้ามาแทนที่ เพราะต้นทุนต่ำลงและจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้นด้วย ด้านโรงไฟฟ้าอนาคตจะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ซึ่งทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพา เวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2561 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมสูงสุดถึงร้อยละ 47 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมา คือ ภาคธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 25 และภาคครัวเรือน สัดส่วนร้อยละ 24 ซึ่งการวางแผนผลิตไฟฟ้าในอนาคตควรผลิตตามสัดส่วนเชื้อเพลิง พร้อมจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าแต่ละพื้นที่ควบคู่กับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการสำคัญในอนาคต ขณะที่ยอมรับว่ากฎระเบียบของภาครัฐยังเป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าในบ้านเรา.

จาก  https://www.mcot.net   วันที่ 27 สิงหาคม 2561

น้ำตาลล้น! โลกกดราคาเหลือ11-12เซนต์ต่อปอนด์ ขอรัฐส่งเสริมอ้อยสู่พลังงานทดแทน

โรงงานน้ำตาลทราย เร่งจัดการสต็อกน้ำตาลในคลังสินค้า เตรียมพร้อมรับผลผลิตอ้อยหีบฤดูการผลิตปี 2561/62 หลังคาดการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะสูงใกล้เคียงกับปีก่อน วอนรัฐเร่งส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตให้มากขึ้น พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลนำผลผลิตอ้อยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างบริหารจัดการสต๊อกน้ำตาลทรายที่จัดเก็บในคลังสินค้า จากรอบการหีบผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2560/61 ที่มีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 14.80 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด 134.92 ล้านตันอ้อย

โดยในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2561) ได้ส่งออกน้ำตาลทรายไปแล้วกว่า 6.5 ล้านตันน้ำตาล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้โรงงานจะต้องส่งออกน้ำตาลทรายเฉลี่ย 1 ล้านตันน้ำตาลต่อเดือน เพื่อบริหารจัดการด้านต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมรองรับปริมาณการผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าจะสูงใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/62 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700-750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวไร่และภาพรวมอุตสาหกรรมในระยะยาว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น การนำกากน้ำตาล/น้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล หรือนำอ้อย/ชานอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 หรือ E85 ที่จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้เอทานอล เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน หรือลดการใช้ถุงพลาสติกแบบเดิมๆ แล้วหันมาใช้ไบโอพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เอกชนมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาสินค้าชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“เรามองว่าในระยะยาวการนำผลผลิตอ้อยมาผลิตน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะปีไหนที่มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายจำนวนมาก ก็จะกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนพัฒนาการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการบริหารปริมาณการผลิตน้ำตาลให้เหมาะสมกับภาวะตลาดโลก รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถนำผลผลิตอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้าตัวอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมได้ดีกว่าการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบจากอ้อยหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน และสร้างมูลค่า ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันฟอสซิล ซึ่งต้องซื้อและสูญเสียเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดการนำเงินมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศแต่อย่างใด”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 27 สิงหาคม 2561

จีจีซีผนึกKTIS เพิ่มมูลค่าชานอ้อยเหลือใช้

 GGC-KTIS จับมือ Chempolis ฟินแลนด์นำ Cellulosic Technology สร้างมูลค่าเพิ่มชานอ้อยเหลือใช้ หวังต่อยอดโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์  ในระยะที่ 2

 นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือ GGC กล่าวว่า ตามที่ GGC และ KTIS ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อต้นปี 61 เพื่อศึกษาและวางแผนก่อสร้างโครงการ NBC  ซึ่งแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งเป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง มูลค่าโครงการจากการประเมินราว 7,650 ล้านบาท ต่อด้วยโครงการระยะที่สองประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท

และในระยะที่สองนี้  GGC และ KTIS มีแนวทางในการนำชานอ้อย  ซึ่งเป็น Biomass มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม กอปรกับพบว่า Chempolis เป็นผู้พัฒนา Cellulosic Technology ของตนเอง และสามารถนำชานอ้อยมาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูง อาทิ Furfural Acetic Acid และ Lignin จึงสนใจในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาไปสู่โครงการในอนาคต และเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้

นายเสกสรร กล่าวว่า ความคาดหวังของบริษัทฯ ต่อผลลัพธ์ในระยะยาว (5-10 ปี) จากการลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์ คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นจากอัตราการจ้างงาน  เกิดการจ้างงาน Knowledge workers / High-tech labor ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพหลายหลายตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579) การพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และท้ายที่สุด คือ ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพด้วย

ทั้งนี้ GGC ในฐานะ Green Flagship ของกลุ่ม บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และผู้นำด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของไทย มีความพร้อมเต็มที่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้พืชเศรษฐกิจของประเทศ คือ ปาล์มและอ้อย ผ่านการลงทุนกว่า 14,000 ล้านบาท  เพื่อนำร่องพัฒนาพื้นที่ EEC (โรงงานผลิตเมทิสเอสเทอร์แห่งที่ 2 ซึ่งจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ปลายเดือน ส.ค.61 นี้) และภาคเหนือตอนล่าง (โครงการ NBC) อย่างเร่งด่วน

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการเพื่อส่งเสริมการลงทุนไบโอชีวภาพ ด้วยการจะแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถสร้างโรงงานหีบอ้อยใกล้เคียงโรงงานเดิมภายในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของโรงงานเดิมในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งวัตถุดิบอ้อยระหว่างกัน รวมถึงจะให้นำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นสินค้าอื่นอย่างเอทานอลได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย ตลอดจนจะให้มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกับการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ก็จะทำให้โครงการ NBC ระยะที่ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากขึ้น โดยปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการเข้ามาเจรจาร่วมลงทุนมากขึ้น โดยการลงทุน NBC ทั้ง 2 ระยะ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40,000-50,000 ล้านบาท  ซึ่งการดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ดังกล่าว ยังต้องรอการประกาศที่ชัดเจน

สำหรับโครงการ NBC ระยะแรกจะอยู่ภายใต้โครงการชบา โดยจะโรงงานหีบอ้อย กำลังการผลิต 2.4 ล้านตันอ้อย/ปี ,โรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ (MW) และโรงงานเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและเกษตรกร ที่ปัจจุบันมีปริมาณอ้อยเข้ามาจำนวนมาก แต่ต้องใช้ระยะเวลานานในการหีบอ้อยแล้วเสร็จ บางช่วงที่ฤดูหีบอ้อยซึ่งปกติเริ่มขึ้นประมาณเดือน พ.ย.ใช้เวลายาวนานถึงเดือน เม.ย.-พ.ค.แต่หากมีโครงการเกิดขึ้นก็จะทำให้สามารถหีบอ้อยได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกร

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 27 สิงหาคม 2561

รง.เลี่ยงจ่ายภาษีน้ำหวาน ปรับสูตรเครื่องดื่มลดใช้น้ำตาล

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้การบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศภาพรวมมีการชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยคาดว่าฤดูการผลิตปี2560/61 จะอยู่ที่ระดับ 25 ล้านกระสอบจากที่ประเมินไว้ว่าจะอยู่ระดับ 26 ล้านกระสอบเนื่องจากพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องดื่มส่วนใหญ่เริ่มหันมาปรับกระบวนการผลิตที่เน้นลดการใช้น้ำตาลทรายลงเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานที่เพิ่มขึ้น

“หลังจากที่รัฐเห็นชอบเก็บภาษีเครื่องดื่ม ที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (ภาษีน้ำหวาน) ซึ่งมี 6 อัตรา ที่ภาพรวมภาษีจะสูงขึ้นประมาณ 2% จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 20% นั้นมีส่วนทำให้การบริโภคน้ำตาลลดลงแต่อีกส่วนเป็นเทรนด์คนรักสุขภาพมีการโฆษณารณรงค์การทานหวานน้อยลงอีกด้วย”นายบุญถิ่นกล่าว

นอกจากนี้พบว่าหลังจากที่ภาครัฐมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่ผ่านมาทำให้ราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 17-17.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ราคาขายปลีกเฉลี่ยที่ 20-21 บาทต่อกก. ประกอบกับปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลผลิตสูงถึง 14.80 ล้านตัน ทำให้ตลาดน้ำตาลยังคงเป็นของผู้บริโภคที่ขณะนี้ผู้ซื้อต้องการใช้ปริมาณมากไม่จำเป็นจะต้องซื้อเพื่อสต๊อกไว้เช่นอดีตที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเองยังคงมีแนวโน้มที่ตกต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)ยังไม่สามารถเสนอขายราคาน้ำตาลทรายล่วงหน้าในฤดูการผลิตปี 2561/62 ได้เช่นปีก่อนๆที่ผ่านมา

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า การส่งออกน้ำตาล 6 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2561) ส่งออกได้แล้วกว่า 6.5 ล้านตันน้ำตาล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเร่งส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำ 11 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 700-750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งเห็นว่าระยะยาวการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลทรายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอการแก้ไขที่ยั่งยืนคือรัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น การนำกากน้ำตาล/น้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล หรือนำอ้อย/ชานอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จาก www.naewna.com วันที่ 27 สิงหาคม 2561

เงินบาทขยับแข็งค่า 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงหนุนค่าเงินเอเชียจากหยวนแข็งค่า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 33.755 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประธานเฟด Jerome Powell ยังคงมีมุมมองสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ตลาดมองว่า เฟดอาจจะไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า นอกจากนี้ ค่าเงินในเอเชียยังได้รับแรงหนุนจากการแข็งค่าของค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนได้กลับมาใช้ตัวแปร Counter-cyclical factor ในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินหยวน ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางจีนอาจจะเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปมากขึ้น

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่ผันผวนต่อและอาจแกว่งตัวในกรอบกว้าง 32.40-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า ที่สำคัญจะต้องจับตาแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ว่าจะยังคงเยอะอยู่หรือไม่ เนื่องจากหากไม่มีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้นำเข้า ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าได้ต่อ นอกจากนี้ ยังตงต้องติดตามแนวโน้มค่าเงินหยวนที่ถูกปรับให้แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งอาจกระทบค่าเงินบาทให้แข็งค่าตามได้ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.55-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.naewna.com วันที่ 27 สิงหาคม 2561

ก.เกษตรฯ เริ่มควบคุมการใช้สารเคมี 3 ชนิด

ก.เกษตรฯ เริ่มจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืชและแมลง 3 ชนิด ตามที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย สั่งกรมวิชาการเกษตรวางแผนควบคุมการนำเข้า เฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าเกินกว่าที่กำหนด

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เริ่มจำกัดการใช้ โดยให้เฉพาะเกษตรกรที่มีใบอนุญาตผ่านการอบรมรู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง จึงให้ซื้อและใช้ได้ พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ควบคุมปริมาณนำเข้า จากเดิมนำเข้าปีละ 30,000-40,000 ตัน เหลือเพียง 12,000-14,000 ตัน ตามที่กระทรวงฯ เสนอมาตรการจำกัดการใช้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกทั้งยังต้องป้องกันการลักลอบนำเข้า

นายอนันต์ กล่าวว่า แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่มีมติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แต่กระทรวงเกษตรฯ ยังเห็นสมควรแนวทางลดการใช้ เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องการ จึงจะควบคุมโดยทำระบบการขออนุญาตจึงจะใช้ได้ ส่วนข้อกังวลของสังคมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น จำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างแน่ชัด มั่นใจว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะนำไปพิจารณา

นอกจากนี้ นายอนันต์ ยังกล่าวถึงพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรด้วยความห่วงใยว่า สารเคมีทุกชนิดมีอันตรายแน่นอน ถ้าใช้ไม่ถูกวิธี ที่ผ่านมาเกษตรกรใช้โดยไม่ได้ศึกษาปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ขณะฉีดพ่นสารเคมีก็ไม่สวมหน้ากาก ไม่ใส่เสื้อคลุม ซึ่งการควบคุมโดยให้เฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมจะช่วยลดอันตรายลง ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ต้องให้ความรู้เกษตรกรในการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทน รวมถึงการทำเกษตรแบบปลอดภัย เพื่อให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 27 สิงหาคม 2561

ภาษีน้ำหวานพ่นพิษเริ่มกดดันการบริโภคน้ำตาลในประเทศชะลอตัว

การบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศปีนี้เริ่มชะลอตัวลงหลังโรงงานผลิตเครื่องดื่มพาเหรดกันปรับสูตรการผลิตที่ลดการใช้น้ำตาลเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้น ประกอบกับเทรนด์รักสุขภาพมาแรงทำ ขณะที่ราคาน้ำตาลโลกยังต่ำหนักโรงงานจี้รัฐแก้ปัญหายั่งยืนเร่งดันอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มมูลค่า

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้การบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศภาพรวมมีการชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยคาดว่าฤดูผลิตปี 60/61 จะอยู่ที่ระดับ 25 ล้านกระสอบจากที่ประเมินไว้ว่าจะอยู่ระดับ 26ล้านกระสอบเนื่องจากพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเครื่องดื่มส่วนใหญ่เริ่มหันมาปรับกระบวนการผลิตที่เน้นลดการใช้น้ำตาลทรายลงเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีน้ำหวานที่เพิ่มขึ้น

“ หลังจากที่รัฐเห็นชอบเก็บภาษีเครื่องดื่ม ที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด (ภาษีน้ำหวาน) ซึ่งมี 6 อัตราที่ภาพรวมภาษีจะสูงขึ้นประมาณ 2% จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 20%นั้นมีส่วนทำให้การบริโภคน้ำตาลลดลงและอีกส่วนเป็นเทรนด์รักสุขภาพมีการโฆษณา รณรงค์การทานหวานน้อยลงอีกด้วย”นายบุญถิ่นกล่าว

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ภาครัฐมีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่ผ่านมาทำให้ราคาขายน้ำตาลหน้าโรงงานทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 17-17.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ราคาขายปลีกเฉลี่ยที่ 20-21 บาทต่อกก. ประกอบกับปริมาณน้ำตาลทรายที่ผลผลิตสูงถึง 14.80 ล้านตันทำให้ตลาดน้ำตาลยังคงเป็นของผู้บริโภคที่ขณะนี้ผู้ซื้อที่ต้องการใช้ปริมาณมากไม่จำเป็นจะต้องซื้อเพื่อสต็อกไว้เช่นอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเองยังคงมีแนวโน้มที่ตกต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 เซนต์ต่อปอนด์ทำให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)ยังไม่สามารถเสนอขายราคาน้ำตาลทรายล่วงหน้าในฤดูการผลิตปี 61/62 ได้เช่นปีก่อนๆที่ผ่านมา

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า การส่งออกน้ำตาล 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.61) ทำได้แล้วกว่า 6.5 ล้านตันน้ำตาลสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเร่งส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตันเพื่อเตรียมรับอ้อยฤดูการผลิตใหม่(ปี61/62)ที่จะเปิดหีบช่วงพ.ย.นี้ และจากที่ราคาตลาดโลกตกต่ำทำให้ ราคาอ้อยขั้นต้นปี61/62 คาดว่าจะอยู่ที่ 700-750 บาทต่อตัน การแก้ปัญหาแบบยั่งยืนรัฐควรส่งเสริมโรงงานนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น การผลิตเอทานอล ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้นโดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนใช้เพิ่มขึ้นอาทิ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ พลาสติกชีวภาพ เพิ่มขึ้น ฯลฯ

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า การที่ภาครัฐมียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ที่จะส่งเสริมนำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิง การต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนแต่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่จะเอื้อต่อการลงทุนให้มากขึ้นเช่น โรงงานเอทานอลขณะนี้จะมีเพียงใบอนุญาตให้ผลิตเฉพาะเอทานอลเท่านั้นควรกำหนดให้นำไปผลิตอย่างอื่นได้และมีระบบภาษีที่เกี่ยวข้องที่เหมาะสม เป็นต้น

จาก https://mgronline.com    วันที่ 26 สิงหาคม 2561

ประกันภัยพืชผล ลดงบประมาณ รัฐเสริมความมั่นใจเกษตรกร

หลังประสบความสำเร็จจากการทำประกันภัยนาข้าว ที่ทำให้เกษตรกรได้รับการคุ้มครองดูแลถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต ทำให้รัฐบาล โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมขยายการประกันภัยพืชผลการเกษตรให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้งหมด ด้วยการตั้งสำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561

นายเกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย ธ.ก.ส.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง รัฐบาลจึงมีระบบเยียวยา ซึ่งปี 2553 เกิดนํ้าท่วมใหญ่ รัฐบาลจ่ายชดเชยไร่ละ 2,098 บาท ซึ่งปีนั้นต้องจ่ายเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทและปี 2554 ซึ่งเกิดมหาอุทกภัย รัฐบาลจ่ายชดเชยไร่ละ 2,222 บาท ซึ่งในปีนั้นจ่ายเงินสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท รวม 2 ปีถือว่าเป็นวงเงินที่สูงมาก และจากสถิติตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยปีละ 7-8 พันล้านบาท

ธ.ก.ส.นำระบบประกันภัยนาข้าวมาใช้ในปี 2554 และเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัยอัตราความเสียหายสูงถึง 500% คือจากที่รับเบี้ยประกันภัยมากว่า 100 ล้านบาท แต่บริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนถึง  กว่า 700 ล้านบาท และถัดมาปี 2560 พื้นที่อีสานเกิดนํ้าท่วมใหญ่ ทั้งสกลนครและพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนั้นบริษัทได้รับค่าเบี้ย กว่า 2,000 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าสินไหมไป 2,300 ล้านบาท

สำหรับปี 2561 ธ.ก.ส.ได้ปรับหลักเกณฑ์เล็กน้อยให้กับลูกค้าด้วยการทำประกันภัยกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังสาขา ระบบเอกสาร หลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่จะลงไปทำงานในพื้นที่เองและจะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ต้นฤดูกาล โดยครม.อนุมัติโครงการวันที่ 10 เมษายน และจะคุ้มครองทันทีในวันที่ 11 เมษายน ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ต้นฤดู ไม่ว่าฟ้าฝนจะมาตอนไหนก็ตาม โดยล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 27.4 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 30 ล้านไร่ เพราะยังเหลือพื้นที่ภาคใต้ที่จะลงทะเบียนไปได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคมนี้

นับจากปี 2554 จนถึงปัจจุบันเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากขึ้น บริษัทรับทำประกันภัยก็มากขึ้น และเมื่อเกิดความเสียหาย ก็มีกระบวนการการจ่ายสินไหมขึ้นจริง โดยที่เกษตรกรจะได้รับค่าสินไหม 1,260 บาทต่อไร่รวมกับการเยียวยาจากรัฐบาลอีก 1,113 บาทต่อไร่ รวมเป็นเงิน 2,737 บาทต่อไร่ ประมาณ 50% ต้นทุนการผลิตข้าวที่อยู่ประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สะท้อนว่าระบบประกันภัยสามารถเดินหน้าต่อได้กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะพืชที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

โดยที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2562 คือ การทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง โดยจะใช้หลักการเดียวกับการประกันภัยนาข้าว ทั้งนี้ข้าวโพดมีพื้นที่เพาะปลูก 6 ล้านไร่ และมันสำปะหลัง 9 ล้านไร่ โดยอยู่ระหว่างการเจรจาค่าเบี้ยประกันภัย เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับชาวไร่ โดยที่หารือกันคือ ค่าสินไหมที่ต้องจ่าย 1,480 บาทต่อไร่ เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าข้าว โดยมันสำปะหลังอยู่ที่ 6,600 บาทต่อไร่ และข้าวโพด 4,400 บาทต่อไร่ แต่ความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะไม่ต้องเจอปัญหานํ้าท่วม เนื่องจากปลูกในที่ดอน ดังนั้นค่าคุ้มครองควรจะเพิ่มขึ้น และควรจ่ายค่าเบี้ย ไม่เกิน 90 บาทต่อไร่

นอกจากนั้น ยังจะขยายไปยังการประกันภัยโคนม ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อย คาดว่า 2-3 เดือน น่าจะประกาศได้ โดยในไทยมีโคนมทั้งหมด 5-6 แสนตัว โคสาวเตรียมผสมและให้นม จะมีต้นทุน 5

หมื่นบาทต่อตัว ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับเกษตรกร ดังนั้นการประกันภัยจะนำมาใช้ 2 ส่วนคือ กรณีเสียชีวิตไม่ว่าป่วยหรืออุบัติเหตุ จะจ่ายเป็นค่าสินไหมและกรณีป่วย เป็นโรคปากเท้าเปื่อยไม่สามารถ ให้นมได้ จะต้องจ่ายชดเชยรายได้ค่ายา ค่าอาหารให้กับเกษตรกร โดยค่าเบี้ยประกันที่คุยจะหลัก 100 แต่วงเงินคุ้มครองจะประมาณ 2 หมื่นบาทต่อตัว

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 26 สิงหาคม 2561

‘อุตตม’ดันเศรษฐกิจชีวภาพ ชี้10ปีมูลค่าลงทุนแตะ3.8แสนล้าน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อาเซียนกำลังกลายเป็นจุดโฟกัสของกลุ่มประเทศที่มีพลังต่อรองทางเศรษฐกิจ นับว่าไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านโลจิสติกส์สำคัญ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มั่นใจว่าจะประมูลทุกสัญญาภายในปีนี้ ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่  9 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,174 กิโลเมตร เปิดประมูลทั้งหมดต้นปี 2562

ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-Economy คาดว่าการลงทุนภายใน 10 ปี นี้จะมีมูลค่า 380,000 ล้านบาท ใช้วัตถุดิบในพื้นที่อย่างอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เพื่อผลิตเอทานอล กรดแลคติกสำหรับขั้นกลาง ไปสู่ขั้นปลายอย่างเม็ดพลาสติก ยา วัคซีน บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดย 3 จังหวัดนำร่องจะเริ่มพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกับโครงการ Bio Complex และ Bio refine จ.นครสวรรค์ ที่จะเห็นการลงทุนภายใน 5 ปี มูลค่า 40,000 ล้านบาท จากกลุ่มนักลงทุน ปตท. มิตซุยเคมิคอล จ.กำแพงเพชร มูลค่าการลงทุน 8,000 ล้านบาท จากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ในท้องถิ่น และภาคอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น ที่จะมีแผนการลงทุนจากภาคเอกชนจากกลุ่มมิตรผล และพาร์ทเนอร์อย่างบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นต้น จะเห็นการลงทุนภายใน 5 ปี มูลค่า 30,000 ล้านบาท

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต หรือ รถไฟฟ้า โดยในปัจจุบัน มีค่ายรถที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ เช่น Plug in Hybrid หรือ แบตเตอรี่จาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และได้รับการอนุมัติแล้ว 5 ราย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย TOYOTA, NISSAN, HONDA, BMW และ BENZ

จาก www.naewna.com วันที่ 25 สิงหาคม 2561

เลาะรั้วเกษตร : สารเคมี...ยังไม่จบง่ายๆ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ออกมาประกาศจะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด เป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต และ ไกลโฟเซต สารกำจัดศัตรูพืช 1 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นประเด็นโต้แย้งกันมานานข้ามปี ระหว่างกลุ่มที่บอกว่าต้องยกเลิก เพราะมีพิษร้ายแรง มีสารก่อมะเร็ง มีเกษตรกรได้รับพิษภัยเป็นอันตรายต่อร่างกาย ต่อทารกในครรภ์มารดา ต่อสิ่งแวดล้อมฯลฯ

กับอีกฝ่ายที่ไม่ยอมให้ยกเลิก ด้วยเหตุผลว่า ถ้ายกเลิกแล้วจะใช้อะไรมาทดแทนที่มีผล และราคาที่เท่าเทียมกัน ส่วนอันตรายนั้นถ้าใช้ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ สารเคมีทุกชนิดก็เป็นอันตรายทั้งสิ้น

ส่วนใครมีผลประโยชน์ร่วมกับใครต่อการยกเลิก หรือไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นเพียงประเด็นดราม่า ที่นำมาอ้างเพื่อให้ฝ่ายตนเองดูดีว่าที่สู้ไม่ได้เพราะเรื่องผลประโยชน์ ไม่ใช่เพราะข้อมูล หรือเพราะความเป็นจริงที่นำมาอ้าง

ว่ากันตามกฎหมาย เรื่องของการยกเลิก หรือไม่ยกเลิกสารเคมี หรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดใดๆ เป็นอำนาจหน้าที่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย การยกเลิกนั้นมีขั้นตอน และมีการศึกษาข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าอันตรายจริงๆ ก็ต้องยกเลิก เหมือนสารเคมีหลายชนิดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกมาก่อนหน้านี้

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข เคยออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแล้วมีมติไม่ยกเลิก แต่ให้จำกัดการใช้โดยให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ไปกำหนดมาตรการจำกัดการใช้มาเสนอภายใน 60 วัน แต่กรมวิชาการเกษตรก็มิได้กระตือรือร้นรีบดำเนินการ จนครบ 60 วัน กรมวิชาการเกษตรก็ไม่ได้มีการบอกกล่าวถึงมาตรการใดๆ ออกมา ซึ่งจริงๆ อาจจะทำกันอย่างเงียบๆ เสนอกระทรวงอย่างเงียบๆ คิดจะใช้ความสงบสยบการเคลื่อนไหว แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับประเด็นขัดแย้งเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ออกมาปลุกกระแสอีกครั้ง โดยการเสนอให้ยกเลิกการใช้จริงๆ ไม่ใช่จำกัดการใช้

งานนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กฤษฎา บุญราช ออกมาชี้แจงเองว่ากระทรวงเกษตรฯเสนอแผนจำกัดการใช้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไปแล้ว ที่สำคัญๆ คือ จำกัดการนำเข้า โดยจะลดการนำเข้าลงกว่าครึ่งของที่เคยนำเข้าในแต่ละปี ผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมการใช้ และต้องมีใบอนุญาตจากทางราชการจึงจะใช้ได้ ถ้าลักลอบใช้ต้องมีบทลงโทษ

มาตรการที่ว่านี้ ถ้านำมาใช้จริง น่าจะมีม็อบเกษตรกรมาเยี่ยมกระทรวงเกษตรฯ ในไม่ช้า ดูตัวอย่างมาตรการที่ป้องกันอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยห้ามนั่งท้ายรถกระบะนั่นปะไร โดนประชาชนถล่มเสียจนตำรวจจราจรไปไม่เป็นเลยทีเดียว ต้องถามว่า...มาตรการการใช้ของเกษตรกรที่กำหนดว่าต้องมีใบอนุญาตจากทางราชการ ถ้าลักลอบใช้ต้องมีบทลงโทษนั้น ใครเป็นคนคิด.....คิดได้อย่างไร....หรือคิดว่าถ้าเพิ่มความยุ่งยากในการใช้มากขึ้น เกษตรกรก็จะเลิกใช้ไปโดยปริยาย แนวคิดนี้เหมือนการกลั่นแกล้งเกษตรกร

รอดูกันต่อไปว่า......เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร...แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ไม่น่าจะจบง่ายๆ.....

จาก www.naewna.com วันที่ 24 สิงหาคม 2561

สั่งวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี

รองนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำปลายฤดูฝน ซึ่งมีทั้งเฝ้าระวังน้ำท่วมและประสบภัยแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วง กำชับหน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วยบูรณาการแก้ไขปัญหา

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือตอนล่างจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก และได้ให้นโยบายหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ โดยมีสำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) วางแผนภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งสภาพอากาศตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายนจะมีฝนตกชุกบริเวณขอบประเทศทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางฝั่งตะวันตกจนหลายพื้นที่น้ำท่วมและบางพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวัง หากมีฝนตกหนักจากพายุหรือร่องมรสุมพาดผ่าน ขณะเดียวกันกรมฝนหลวงและการบินเกษตรรายงานว่ามีพื้นที่เกษตรจังหวัดภาคกลางและตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ฝนทิ้งช่วง ซึ่งเร่งช่วยเหลือโดยการทำฝนหลวง เช่น บริวเณทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งข้าวกำลังออกรวงต้องการน้ำมาก รวมทั้งจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี สระแก้ว เป็นต้น

พลเอกฉัตรชัย ได้มอบนโยบายให้กรมฝนหลวงฯ ทำฝนเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ซึ่งยังมีอีกมากที่น้ำไม่ถึงร้อยละ 30 ใช้เวลาช่วงปลายฤดูฝนเติมน้ำให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง นอกจากนี้ ยังสั่งกรมชลประทานจัดหาเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และรถบรรทุกน้ำสำหรับส่งน้ำไปช่วยเหลือทั้งการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรกรรม โดยวันพรุ่งนี้ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศและย้ำว่าการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้องวางล่วงหน้า 2 ปีเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่มีน้ำป่าไหลบ่าอย่างรวดเร็วเกิน เช่น วังตะไคร้ เขาใหญ่ เขื่อนแก่งกระจานนั้น แม้กรมชลประทานจะพร่องน้ำล่วงหน้า แต่เมื่อมีฝนตกในพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยาน ซึ่งไม่มีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณน้ำฝน ทำให้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนไม่แม่นยำ ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในวันที่ 20 สิงหาคมมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานวันเดียวถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร จากฝนที่ตกหนักใน 3 วันก่อนหน้า จึงได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอนำเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนไปติดตั้งในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ทำให้คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลหลากได้แม่นยำขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 23 สิงหาคม 2561

คาดผลผลิตอ้อยปี 61/62 มากพอกับปีนี้

โรงงานน้ำตาลคาดผลผลิตอ้อยหีบฤดูการผลิตปี 61/62 จะมีมากพอกับปี 60/61 เร่งจัดการสตอกน้ำตาลในคลังสินค้ารับผลผลิตอ้อยใหม่

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) คาดว่า ปริมาณการผลิตอ้อยปี 2561/2562  คาดว่าจะสูงใกล้เคียงกับปีก่อน ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีนี้โรงงานน้ำตาลทรายจึงบริหารจัดการสตอกน้ำตาลทรายที่จัดเก็บในคลังสินค้าที่ได้จากฤดูการผลิตปี 2560/2561 ที่มีผลิตมากถึง 14.80 ล้านตัน จากอ้อยเข้าหีบ 134.92 ล้านตันอ้อย ส่วนการส่งออกน้ำตาล 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. -มิ.ย.61) ทำได้แล้วกว่า 6.5 ล้านตันน้ำตาล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะส่งออกน้ำตาลทรายเฉลี่ย 1 ล้านตันน้ำตาลต่อเดือน เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมรองรับ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นผลให้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ และเมื่อนำมาคำนวณเป็นราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2561/2562 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 700-750 บาทต่อตันอ้อย ส่งผลกระทบต่อชาวไร่และภาพรวมอุตสาหกรรมระยะยาว ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำผลพลอยได้จากกระบวนผลิตไปสร้างมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น การนำกากน้ำตาล/น้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล หรือนำอ้อย/ชานอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง E20 หรือ E85 ที่จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้เอทานอล เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน หรือลดการใช้ถุงพลาสติกแบบเดิมๆ แล้วหันมาใช้ไบโอพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้เอกชนมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาสินค้าชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“มองว่าระยะยาวการนำผลผลิตอ้อยมาผลิตน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เพราะปีไหนที่มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายจำนวนมาก ก็จะกดดันราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนพัฒนาการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการบริหารปริมาณการผลิตน้ำตาลให้เหมาะสมกับภาวะตลาดโลก รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถนำผลผลิตอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตสินค้าตัวอื่น ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมได้ดีกว่าการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การใช้วัตถุดิบจากอ้อยหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ในประเทศ เพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน และสร้างมูลค่า ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แทนที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันฟอสซิล ซึ่งต้องซื้อและสูญเสียเงินตราต่างประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดการนำเงินมาหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศแต่อย่างใด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 22 สิงหาคม 2561

GGC - KTIS - Chempolis จับมือร่วมใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนชานอ้อยเป็นเอทานอลคุณภาพสูง พร้อมพัฒนาสู่โครงการในไบโอคอมเพล็กซ์เฟส 2

Mr. Mika Tapani Lintilä รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ สาธารณรัฐฟินแลนด์และ Her Excellency Miss Satu Suikkari-Kleven เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทยเป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ Cellulosic Technology มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากชานอ้อย  เพื่อต่อยอดโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในระยะที่ 2 ระหว่างบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC บริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS และ Chempolis Limited  เจ้าของเทคโนโลยี Cellulosic

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ GGC เผย GGC และ KTIS ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเมื่อต้นปี 2561  เพื่อศึกษาและวางแผนก่อสร้างโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Nakhon Sawan Biocomplex) หรือ NBC  ซึ่งแบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่งเป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง (มูลค่าโครงการจากการประเมินราว 7,650 ล้านบาท)   ต่อด้วยโครงการระยะที่สองประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม (มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท และในระยะที่ 2 GGC และ KTIS มีแนวทางในการนำชานอ้อย  ซึ่งเป็น Biomass มาสร้างมูลค่าเพิ่ม  ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบ ในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม  ประกอบกับพบว่า Chempolis เป็นผู้พัฒนา Cellulosic Technology ของตนเอง  และสามารถนำชานอ้อยมาเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและสารมูลค่าสูง อาทิ Furfural Acetic Acid และ Lignin จึงสนใจในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาไปสู่โครงการในอนาคต พร้อมหวังผลลัพธ์ในระยะยาว (5-10 ปี) จากการลงทุนก่อสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์ คือ มูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและมูลค่าเพิ่ม จากอ้อยจะเพิ่มขึ้น  เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ในระยะเริ่มต้น  รายได้เกษตรกรต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นจากอัตราการจ้างงาน  เกิดการจ้างงาน Knowledge workers / High-tech labor ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพหลายหลายตำแหน่ง  ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 - 2579)  การพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  และท้ายที่สุด คือ ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพด้วย

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 22 สิงหาคม 2561

กองทุนอ้อยฯ เร่งหาแนวทางจ่ายเงินคืนโรงงานน้ำตาล 2.2 หมื่นล้าน

กองทุนอ้อยและน้ำตาลเตรียมจ่ายเงินคืนโรงงานน้ำตาล 22,000 ล้านบาท หลังผลประเมินราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 60/61 เหลือเพียง 772 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นจ่ายไปถึง 880 บาทต่อตันอ้อย

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า หลังจากชาวไร่อ้อยได้รับเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ไปแล้ว 880 ต่อตันอ้อย โดยโรงงานน้ำตาลจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยไปแล้วนั้น แต่ผลการประเมินราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีนี้เบื้องต้นพบว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งจะสรุปเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ ประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 772 บาทเท่านั้น จึงมีส่วนต่างที่โรงงานจ่ายเกินไป 108 บาท  ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้กับโรงงานน้ำตาล ประมาณ 22,000 ล้านบาทนั้น

ขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะจ่ายเงินคืนให้กับโรงงานน้ำตาล โดยใช้เงินจากส่วนต่างจากการขายน้ำตาลในประเทศประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 12,000 ล้านบาท ทางกองทุนฯ มีศักยภาพจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 6,000 ล้านบาท นายวีระศักดิ์ ระบุว่า เบื้องต้น คือ ทยอยจ่ายให้โรงงานในช่วง  3 ปีข้างหน้า โดยมีแหล่งเงินรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ส่งเข้ากองทุนฯ  ซึ่งแนวทางนี้เคยดำเนินการมาแล้วฤดูกาลผลิตปี 2549/2550 ขณะที่โรงงานต้องการให้กองทุนอ้อยฯ กู้เงินมาจ่าย แต่แนวทางดังกล่าวจะขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงิน 6,000 ล้านบาทที่ต้องจ่ายให้โรงงานส่วนสุดท้ายนี้ จะต้องนำเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นผู้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีทางออกเหมาะสมกว่าก็ได้ สำหรับคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยฯ ประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายราชการ 6 คน ชาวไร่อ้อย และโรงงานฝ่ายละ 3 คน รวมทั้งหมด 12 คน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ตามที่กองทุนอ้อยฯ จะต้องจ่ายคืนเงินให้โรงงานน้ำตาล แต่เงินไม่พอ ทางออกหนึ่ง คือ กองทุนฯ ขอผ่อนผันการจ่ายเงินออกไปก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ เพราะกองทุนฯ มีเงินรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอจากอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ก็ทยอยนำมาจ่ายได้ และถือเป็นเงินรายได้หลักและยังมีรายได้ส่วนอื่น ๆ อีก

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้พิจารณาดูแลชาวไร่อ้อยด้วยไม่ใช่เฉพาะโรงงานเท่านั้น  เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกขาลง ส่งผลให้คาดการณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่ชาวไร่อ้อยได้รับ จะเหลือประมาณ 630 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น ลดลงจากฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ที่อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย และฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ที่สูงถึง 1,050 บาทต่อตันอ้อย

“ในช่วงน้ำตาลตลาดโลกขาลงและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เกษตรกรที่รายได้ลดลงก็สมควรได้รับการดูแลด้วย เพราะหากไม่ระมัดระวังจะเป็นการซ้ำเติมชาวไร่อ้อย แต่การดูแลชาวไร่อ้อยต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของ WTO ” นายนราธิป กล่าว

สำหรับราคาอ้อยขั้นต้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 แบ่งเป็น 2 ราคา ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ด้วยการกำหนดราคาอ้อยเขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน  10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน  ด้านโรงงานได้รับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย  สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นในเขต 5 (สุพรรณบุรี) ราคา  830 บาทต่อตันอ้อย กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

เร่งเกษตรกรขึ้นทะเบียน

กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งเกษตรกรขึ้นทะเบียน-ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการหรือขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรปี 2561 จำนวน 5.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรมาขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2561) 4,758,382 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 83.48 จากเป้าหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งยังมีเกษตรกรอีกประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่แจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าวนี้

สำหรับปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดติดตามงานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรเป้าหมายเหล่านี้ให้มาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยเร็ว โดยแจ้งหลังปลูกพืช 15-60 วัน และให้ทันกับกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร  ในกรณีที่เกษตรกรไม่มาปรับปรุงทะเบียนนานเกิน 3 ปี (นับถัดจากวันที่ 23 มิ.ย.2560) จะถูกตัดบัญชีทะเบียนเกษตรกรทิ้งทันที ทำให้หมดสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยความคืบหน้าตาม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ โดย การจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 12 ไร่ หรือคิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2561) 2,928,706 ครัวเรือน และผ่านการตรวจสอบพื้นที่เพื่อรับเงิน 354,209 ครัวเรือน โดยสิ้นสุดการรับขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธินี้ วันที่ 31สิงหาคม 2561 และส่งมอบบัญชีทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดที่ผ่านการตรวจสอบแล้วให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการต่อไป

สำหรับวิธีการแจ้งขึ้น/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทำได้หลายช่องทาง ได้แก่ 1.ให้เกษตรกรติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทำการเกษตร 2.แจ้งผ่านอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 3.แจ้งผ่านสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์หรือแอพพลิเคชั่น DOAE Farmbook ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้เกษตรกรทราบข้อมูลของตนเองตลอดเวลาและมีความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานเกษตรอำเภอ ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนั้น คือ เป็นฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรในการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ของรัฐ เป็นเอกสารยืนยันตัวตนความเป็นเกษตรกร และเกษตรกรได้รับสิทธิความช่วยเหลือในกรณีประสบภัยพิบัติ หรือตามมาตรการแก้ปัญหาและจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

จับตาผลสรุป แบน-ไม่แบน 3สารเคมี ‘ศัตรูพืช’

ข้อเรียกร้องของ “ภาคประชาชน” ที่ให้รัฐบาลยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า) 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลังจากที่คณะลูกขุนของ ศาลในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา มีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ให้มอนซานโต บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,619 ล้านบาท ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

ด้วยเหตุผลว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ยอดนิยมของกลุ่มเกษตรกร ในชื่อทางการค้า ราวด์อัพ ของมอนซานโต เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

แม้ว่ามอนซานโตยังปฏิเสธและประกาศจะยื่นอุทธรณ์เพื่อปกป้องผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ใช้มานาน 40 ปี แต่ถือว่าคดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานของอีกประมาณ 5,000 คดี ทั้งในศาลของรัฐและศาลรัฐบาลกลาง ที่มีการฟ้องร้องกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ในทำนองเดียวกัน

และภาคประชาชนของไทยก็กำลังจะใช้บรรทัดฐานนี้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา ยกเลิก หรือ ไม่ยกเลิก การใช้ทั้ง 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ในปีเดียวกันก่อนหน้านี้ เครือข่ายผู้บริโภค กลุ่มเกษตรกรทางเลือก และนักวิชาการสายสุขภาพ ในนาม เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 369 องค์กร ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ทบทวนและยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 ชนิด ในภาคเกษตรกรรม

พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ มาสนับสนุนความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องยุติการใช้ คือ 1.สารดังกล่าวมีพิษเฉียบพลันสูง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 10 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการใช้สารดังกล่าว

2.เกิดพิษเรื้อรัง โดยพาราควอตทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ส่วนคลอร์ไพริฟอสมีผลต่อสมองทารก 3.พบการตกค้างตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง คือ พบพาราควอตในน้ำ ดิน พืชอาหาร ปู ปลา หอย ที่สำคัญตกค้างในแม่ตั้งครรภ์และส่งผลถึงทารกในครรภ์ และพบในขี้เทาเด็กแรกเกิดที่มีแม่เป็นเกษตรกรมากกว่าครึ่ง ส่วนคลอร์ไพริฟอสตกค้างมากที่สุดในผัก

4.หากตกค้างในอาหารจะล้างไม่ออก โดยเฉพาะพาราควอตยิ่งเคี่ยวยิ่งเข้มข้นมากขึ้น 5.มากกว่า 50 ประเทศ แบนแล้ว ทั้งประเทศคิดค้น ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และประเทศเพื่อนบ้าน

และ 6.แม้จะจำกัดการใช้ก็ไม่ช่วยแก้ไขปัญหา เพราะระบบการเฝ้าระวังในประเทศไทยยังไม่ดีพอ ที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เสนอให้ยกเลิกใช้ เพราะสารเคมีกำจัดวัชพืชเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

แต่ปรากฏว่าวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับลงมติเสียงข้างมากอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด แบบจำกัดการใช้ ให้เหตุผลว่ายังไม่มีสารตัวอื่นทดแทนและเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแนวทางการจำกัดการใช้เสนอกลับให้พิจารณาภายใน 60 วัน แต่ผ่านไป 2 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดประชุมในวันที่ 22 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล

ล่าสุด คณะนักวิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ลงไปศึกษาวิจัยโรคเนื้อเน่า ที่ จ.หนองบัวลำภู พบข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า นับตั้งแต่ปี 2557 ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มีสถิติผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าเข้ารับการรักษาประมาณปีละ 120 ราย โดยในปี 2560 พบว่าในช่วง 10 เดือน มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 102 ราย เสียชีวิตแล้ว 6 ราย แม้หลายรายยังไม่เสียชีวิต แต่ต้องตัดแขน ตัดขา ซึ่งคาดว่ามีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร

ขณะนี้ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตราย 369 องค์กร รวมถึงกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข มีความเห็นตรงกันว่า มติของกรรมการวัตถุอันตรายเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องมากขึ้น ตามลำดับ

วันที่ 18 สิงหาคม เครือข่ายประชาชนแถลงร่วมกับผู้แทนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครือข่ายเกษตรกรทางเลือก และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สนับสนุนการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง และทางเลือกของเกษตรกร ที่อาคารสันนิบาตสหกรณ์ ถนนพิชัย เขตดุสิต

วันที่ 20 สิงหาคม เวลา 13.00 น. เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) แถลงเปิดเผยข้อมูลลับ เอกสารที่ถูกปกปิด และมติอัปยศ : เบื้องหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนสารพิษอันตรายร้ายแรง ที่สวนชีววิถี ไทรม้า จ.นนทบุรี มีการถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์

วันที่ 21 สิงหาคม คณะทำงานปฏิรูประบบความหลากหลายทางชีวภาพ กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดประชุมนำเสนอข้อมูลผลกระทบของพาราควอตต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเรียกร้องให้แบนสารพิษร้ายแรง

นอกจากนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขจะประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสรุปเป็นมติจากที่ประชุมเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 22 สิงหาคม คณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง จัดประชุมนัดแรกและอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ มูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะแถลงอย่างเป็นทางการฟ้องเอาผิดคณะกรรมการวัตถุอันตรายปัญหานี้จะลงเอยอย่างไร จากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

ชี้ชะตา"อนาคตพลังงานไฟฟ้าไทย"กฟผ.ปิ๊งไอเดีย"โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ"

                  เขื่อนแตก ดินถล่ม ชุมนุมประท้วงไม่เอาถ่านหิน แก๊ส น้ำมันก็ร่อยหรอลงทุกวัน ผู้คนจึงหันมาสนใจพลังงานทางเลือก ประเภทสายลม แสงแดด ถือเป็นพลังงานสะอาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้คนในทุกระดับวันนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกแก่หน่วยงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่าง กฟผ. หรือผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าอย่าง กฟภ.และ กฟน. ตลอดจนผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สอย่าง ปตท. ที่ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

                 "กฟผ.เองตอนนี้เน้นอยู่ 2 เรื่อง คือโรงไฟฟ้าและระบบส่ง เพราะถ้ามองความมั่นคงของการไฟฟ้าเปิดปุ๊บต้องมีไฟฟ้าใช้ มีความถี่และแรงดันที่เหมาะสม ลูกค้าหลักก็มีอยู่ 2 รายคือ กฟภ. และ กฟน. แล้วก็มีลูกค้าใช้ไฟฟ้าตรงอีกจำนวนหนึ่ง"

                 บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เผยบนเวทีเสวนา "อนาคตการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าไทย” ณ ห้องพิมานสยาม โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ระหว่างการแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการระดับโลก IEEE PES GTD ASIA 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2562

               โดยระบุว่าโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของกฟผ.นั้น ปัจจุบันมีทั้งโรงไฟฟ้าเก่าและกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งไม่สอดรับพลังงานที่เข้ามาอย่างโซลาร์เซลล์ ทำให้กระแสไฟฟ้าทุกวันนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง โรงไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่นัก ไม่สามารถเร่งเครื่องหรือลดความแรงของการผลิตไฟฟ้าลงได้มากนัก การเปิดเครื่องแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการอุ่นเครื่องนาน กว่าจะสตาร์ทขึ้นมาใหม่ 

                “ตอนนี้กฟผ.เองมีการศึกษาการลงทุนเพื่อจะปรับปรุงคุณภาพทำให้โรงไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า 20 ปี  ในขณะเดียวกันวันนี้เราก็ได้มีการทดลองทำโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำ ซึ่งกฟผ.มีอ่างเก็บน้ำตามเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศเยอะมาก เราก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน มีการทดลองใช้แบตเตอรี่เก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนจะแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าส่งขายให้แก่ลูกค้าต่อไป”

                 รองผู้ว่าการ กฟผ. เผยต่อว่า หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้กฟผ.มีกระแสไฟฟ้าสำรองทำให้ความมั่นคงด้านการไฟฟ้ามีมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กฟผ.เตรียมจะนำเข้ามา ส่วนการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ก็สามารถทำได้พร้อมๆ กันกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในส่วนระบบส่งก็จะมีศูนย์ควบคุมพลังงานทดแทน ซึ่งขณะนี้มีโครงการทดลองอยู่ที่ จ.ลพบุรี

                   ไม่เฉพาะกฟผ.เท่านั้นที่หันมาพึ่งพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าอย่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ก็มีนโยบายหันมาใช้โซลาร์เซลล์เช่นกัน จะต่างกันก็เพียงกฟผ.เป็นผู้ผลิต ในขณะที่กฟภ.เป็นผู้ให้บริการรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แก่ลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่อาคารบ้านเรือน ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม

                  “ตอนนี้เรามีศูนย์ติดตั้งโซลาร์ท็อปโดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่ติดตั้งอย่างเดียวแต่จะคำนวณต้นทุนมาให้หมดเลยในทุกผลิตภัณฑ์ ต้นทุนถูกกว่าแก๊สและน้ำมัน ประหยัดกว่า มีเงินเหลือด้วย สิ่งหนึ่งที่กฟภ.ให้ความสำคัญคือความปลอดภัย ได้มาตรฐาน เพราะอย่าลืมว่าโซลาร์ท็อปติดอยู่บนหลังคาบ้าน ดาดฟ้าโรงงาน มีความร้อน ฉะนั้นต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เรามีศูนย์ มีโชว์รูมว่าการติดตั้งที่ถูกต้องทำอย่างไร ทั้งหมดตอบโจทย์ให้แก่กฟภ. ไม่ใช่แค่ขายกระแสไฟฟ้าอย่างเดียว”

                   เสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของกฟภ.เพื่อให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล กฟภ.ได้เปิดแอพพลิเคชั่นในหลายเวอร์ชั่นโดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น พีอีเอ สมาร์ท พลัส (PEA SMART PLUS) จะตอบโจทย์ลูกค้าผู้ใช้บริการในอาคารบ้านเรือนมากที่สุด เพราะสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ปัญหาไฟดับ การก่อสร้างผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบได้ในทันที นอกจากนี้ยังมีนโยบายเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นระบบดิจิทัล โดยโครงการนี้ได้นำร่องที่พัทยา และมีโครงการทำสมาร์ทกริดเฟส 2 ในอีก 4 จังหวัด ขณะเดียวกันยังขยายผลโครงการไมโครกริชจากบ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ไปยังอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วย

                   ส่วนแนวทางการพัฒนาระบบไฟฟ้าของกฟน. รุจ เหราปัตย์ รองผู้ว่าการฝ่ายธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ระบุว่า กฟน.เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย รับกระแสไฟฟ้ามาจากกฟผ.และบางส่วนรับมาจากเอสซีจีให้บริการลูกค้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยขณะนี้มีการทดลองทำสมาร์ทกริดเป็นโครงการไพลอตโปรเจกท์ครบวงจรพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ และจะขยายไปทั่วพื้นที่รับผิดชอบในอนาคต ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าตามสถานีรถไฟฟ้าเพื่อสำรองไว้ด้วย

                     “เราไม่สามารถพูดถึงความมั่นคงได้แค่ไหน แต่ในภูมิภาคอาเซียนเราตั้งเป้าว่ามีความมั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ เน้นการซ่อมแซมที่รวดเร็วใช้เวลาน้อยที่สุด หรือรถไฟฟ้าสายไหนขึ้นลงตรงไหนเราก็ต้องเตรียมไฟไว้ เราทดลองทำสมาร์ทกริดเป็นไพลอตโปรเจกท์ครบวงจรในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ย่านพญาไท ราชเทวี รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราจำเป็นให้พนักงานทำงานให้สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่”

                 ขณะที่ ปตท.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นน้ำของการผลิตไฟฟ้าของประเทศก็ยังหวั่นวิตกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดย วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมและดิจิตอล บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มองว่า ความต่อเนื่องของกระแสไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดินเครื่องของโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งกระแสไฟฟ้าจะตกหรือดับไม่ได้เลยแม้แค่เสี้ยววินาที เพราะนั้นหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นหลักร้อยล้าน

                 "โรงกลั่นของเราต้องการซูเปอร์เวลา ไฟฟ้าแค่กะพริบ .0001 วินาทีทำให้มูลค่าความเสียหายกับปิโตรเคมีเป็นหลักร้อยล้านถึงพันล้าน ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างระบบป้องกันมาเสริมระบบไฟฟ้าภาครัฐเพื่อให้กระแสไฟมีความเสถียร  ทุกวันนี้ปตท.เองก็ต้องปรับตัวว่าจะไปในทิศทางใด เราเองก็ไม่คิดว่าเรื่องของน้ำมันคนจะไม่ใช้ก็ยังต้องใช้กันอยู่  แต่เมื่อมาดูภาคของผู้ใช้อย่างเช่นรถอีวี มันก็มีผลกระทบ

                   ตอนนี้ปตท.มีคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือโปรซูเมอร์ มาจากโปรดิวเซอร์หรือผู้ผลิต และคอนซูเมอร์คือผู้ใช้ ในอนาคตหลังคาโรงงาน หลังคาบ้านเรือนก็จะติดโซลาร์เซลล์ผลิตใช้เองและส่วนที่เหลือก็ขาย หลายโรงงานในภาคอุตสาหกรรมตอนนี้ก็เริ่มมีแล้ว เรากำลังดูตลอดเชนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ อะไรที่ปตท.ทำได้ มีอินโนเวชั่นอะไรได้เราก็จะเสริมให้เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพลังงาน" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายนวัตกรรมและดิจิตอล ปตท. กล่าวย้ำทิ้งท้าย

  เปิดโลกทัศน์"ไฟฟ้าและพลังงาน"ครั้งแรกในเอเชีย

                  ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ประธานการจัดงาน IEEE PES GTD ASIA 2019 กล่าวถึงงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ IEEE PES GTD ASIA 2019  ระหว่างวันที่ 19-23 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ว่าเป็นงานโลกด้านไฟฟ้าและพลังงาน มีองค์ประกอบของงานหลักๆ ประกอบด้วย งาน Power Generation(PG Asia), งาน Transmission and Distribution(T&D Asia), งาน Renewable Energy(RE Asia) บูรณาการกับองค์ประกอบด้าน Digitalization ที่มี Smart City & Data Center รวมเข้าด้วยกัน ภายใต้ธีมที่ชื่อว่า “Big Shift in Power and Energy” โดยมีจะนำเสนอการประชุมเชิงวิชาการและจัดแสดงนิทรรศการที่ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับระบบผลิต การส่งและจำหน่ายไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลที่บูรณาการกับการผลิตส่งและจำหน่ายไฟฟ้าและพลังงาน

                    “นับเป็นโอกาสอันดีที่งานระดับโลกอย่าง IEEE PES GTD ได้มาจัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก และถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย หลังจากที่มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ที่สหรัฐอเมริกา เป็นการรวมงาน Power Generation(PG Asia), งาน Transmission and Distribution(T&D Asia) และงาน Renewable Energy(RE Asia) เข้าด้วยกัน" 

                  นอกจากนี้ ภายในงานยังเป็นเสมือนเวทีพบปะระหว่างผู้ประกอบการชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าร่วมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย รวมถึงพลังงานทดแทนต่างๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้า ระบบสะสมพลังงาน (Battery Energy Storage System) DataCenter และ IoT ซึ่งเป็นอนาคตใหม่ของการก้าวข้ามขีดจำกัดในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

พาณิชย์เผยมูลค่าการค้าไทยกับปท.คู่ FTAครึ่งปีแรกโต14.24%

 ‘พาณิชย์’ เผยการค้าไทยกับคู่เจรจา FTA เติบโตต่อเนื่อง ช่วงครึ่งปีแรกไทยส่งออกไปอาเซียนสูงสุด รองลงมาเป็น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย มูลค่าการค้าไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA 17 ประเทศ จาก 12 ความตกลง เพิ่มขึ้น 14.24% ด้านส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.29% และนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.20%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจา FTA 17 ประเทศ จาก 12 ความตกลง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 148,202.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.24 % เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เจรจา FTA มูลค่า 73,790.23 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากประเทศคู่เจรจา FTA 74,412.01 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า 13.29% และนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.20% จากช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับประเทศคู่เจรจา FTA ที่ไทยส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 สูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ (1) อาเซียน ส่งออก 32,820.15 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

 (2) จีน ส่งออก 14,935.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.46% สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา

(3) ญี่ปุ่น ส่งออก 12,559.47 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.89% สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องโทรสาร โทรศัพท์

(4) ออสเตรเลีย ส่งออก 5,526.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.32% สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง และ

(5) อินเดีย ส่งออก 3,933 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.25% สินค้าส่งออกหลัก คือ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้น ในภาพรวมไทยส่งออกสินค้าไป 16 ประเทศ ที่ไทยมี FTA ด้วย ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และอินเดีย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ยกเว้นเปรูที่ไทยส่งออกลดลง 6.42%

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยนำเข้าจากประเทศคู่เจรจา FTA สูงที่สุด 5 อันดับแรก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 คือ (1) จีน นำเข้า 24,460.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.61% โดยมีสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ (2) อาเซียน นำเข้า 22,578.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.22% สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

(3) ญี่ปุ่น นำเข้า 17,269.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.31% สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ (4) เกาหลีใต้ นำเข้า 4,528.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.42% สินค้านำเข้าหลัก คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า สินแร่โลหะ และ (5) ออสเตรเลีย นำเข้า 2,569.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.91% สินค้านำเข้าหลัก คือ น้ำมันดิบ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินแร่โลหะ ถ่านหิน พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

“ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ยังคงมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ รวมถึงมีประเทศที่เริ่มหันมาใช้นโยบายลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA 17 ประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และคิดเป็นสัดส่วน 59.7% ของการค้าไทยกับโลก” นางอรมน กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

เดินหน้า พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ลุ้น สนช.เข็นกฎหมายสู่การปฏิบัติ

 นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีผู้ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนกิจกรรมไปสู่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านการระดมความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

มั่นใจนี่คือคำตอบสุดท้ายของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบที่สุดและยั่งยืนที่สุด แนวคิดและวิถีการทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทยได้เกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว ในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ภูมินิเวศของประเทศไทยรูปธรรมของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศ ไทยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2526–2527 ซึ่งขณะนั้นเกษตรกรต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดทุนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มตระหนักและรวมตัวกันเพื่อหาทางออกจึงพัฒนารูปแบบการเกษตรสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา หลายภาคส่วนมีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำกับดูแลการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการเฉพาะ แต่ด้วยนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังมุ่งเน้นการเกษตรเชิงพาณิชย์อยู่มาก ทำให้การผลักดันกฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคีเครือข่ายจึงได้เร่งผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ชัดเจน ทั้งการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล รวมถึงการประสานและบูรณาการภารกิจระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีผู้ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 73 มาตรา 75 ประกอบกับ มาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยุทธศาสตร์ชาติและ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันประกอบกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับเกษตรกรและสังคมไทย การพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการทำงานในเชิงระบบเป็นองค์รวมและต่อเนื่อง

ตลอดจนต้องกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงและเพื่อให้เกิดระบบ และกลไกที่มีประสิทธิภาพในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ และทุกภาคส่วน  ดังนั้นเพื่อให้มีกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเพื่อแปลงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศของแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งผมเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้สามารถนำไปแก้ไขปัญหาการพัฒนาการเกษตรต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนและแท้จริง

จาก https://www.siamturakij.com  วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เตรียมใช้ทุ่งบางระกำรับน้ำลุ่มน้ำยม

กรมชลประทานเตรียมใช้ทุ่งบางระกำเป็นที่พักน้ำจากแม่น้ำยม ซึ่งมีปริมาตรสูงสุดระลอกแรก รวมทั้งเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองสุโขทัยที่ลำน้ำยมแคบและน้ำสูงสุดจะไปถึงเย็นพรุ่งนี้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการสำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลกดำเนินการพร่องน้ำในระบบชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน เพื่อรองรับน้ำจากแม่น้ำยม ซึ่งจะต้องผันเข้ามาเก็บไว้ที่ทุ่งบางระกำ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองสุโขทัย ทั้งนี้ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ผ่านมาน้ำแม่น้ำยมปริมาตรสูงสุดกำลังไหลผ่านอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ และจะไหลไปถึงอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยในช่วงเช้ามืดของพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) ด้วยอัตราสูงสุด 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะถึงตัวเมืองสุโขทัยในตอนเย็น

สำหรับแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยมีลักษณะแคบรับน้ำได้เพียง 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้น กรมชลประทานเตรียมลดระดับน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวเมืองให้อยู่ในระดับต่ำสุดสามารถรองรับน้ำเพิ่มได้ 8-10 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะผันเข้าคลองสวรรคโลก-พิชัยหรือคลองยม-น่าน ผ่านประตูระบายน้ำหกบาทในอัตรา  250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลงแม่น้ำน่าน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และผันลงแม่น้ำยมสายเก่า 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วใช้ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์เป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ โดยระบายในอัตรสูงสุดไม่เกิน 650 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันเข้าคลองเล็กซ้าย-ขวา ไม่เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่อมาผันน้ำเข้าทุ่งทะเลหลวงและแก้มลิงต่าง ๆ เพื่อควบคุมน้ำไม่ให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่านได้พร่องในแม่น้ำยมสายเก่า (คลองเมม-คลองบางแก้ว) จนถึงระดับที่ต่ำกว่าระดับปกติลงอีก 1-2 เมตร เพื่อเตรียมรับการผันน้ำจากประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์  เพื่อไม่ไห้เกิดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง พร้อมกันนี้ได้พร่องน้ำในแม่น้ำยมสายหลักเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ประตูระบายน้ำวังสะตือ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และผันน้ำแม่น้ำยม ลงแม่น้ำน่าน ผ่านคลอง DR-2.8 และ DR-15.8 ปัจจุบันระดับแม่น้ำยมที่สถานีวัดน้ำ Y.64 อ.บางระกำ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 146 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.83 เมตร                 

สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดลมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี 382,000 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ประมาณ 98 % คงเหลืออีก 2% ระหว่างเร่งเก็บเกี่ยว โดยสาเหตุเก็บเกี่ยวล่าช้า เนื่องจากฝนตกชุกในพื้นที่  เกษตรกรรอเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ข้าวมีความชื้นสูง แต่ขณะนี้พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งในกรณีวิกฤติ น้ำเอัอล้นตลิ่งทุ่งบางระกำ อำเภอบางระกำและทุ่งแม่ระหัน อำเภอเมืองพิษณุโลก  ส่วนแก้มลิงบึงขี้แร้ง บึงระมาน และบึงตะเคร็ง จังหวัดพิษณุโลกมีน้ำเฉลี่ยร้อยละ 50 รับน้ำได้ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายทองเปลว กล่าวว่า ได้สั่งการให้เฝ้าระวังจุดเสี่ยง คือ แนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองสุโขทัยอาจมีน้ำผุดลอดกำแพง หากน้ำในแม่น้ำมีปริมาตรมาก ทั้งนี้ ได้อุดรอยต่อระหว่างแนวพนังกั้นน้ำเก่ากับแนวใหม่ ซึ่งเป็นผลให้ปีที่ผ่านมามีน้ำลอดช่องว่างขึ้นมาแล้ว คาดการณ์ว่าน้ำปริมาตรสูงสุดจะถึงตัวเมืองสุโขทัยเย็นพรุ่งนี้ แต่จากแผนบริหารจัดการมั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในตัวเมืองแน่นอน

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561  

เกษตรกรชาวไร่อ้อยโคราช เรียกร้องรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ

ภายหลังจากที่นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร ได้ออกมาเปิดเผยถึงปัญหาของชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาอ้อยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยจากการลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ของกลุ่มสามมิตร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อย จ.ชัยภูมิ ได้ร้องเรียนว่า จากปีที่แล้ว ที่โรงงานเคยรับซื้ออ้อยตันละ 1,400 บาท แต่ปีนี้ราคาตกต่ำเหลือตันละ 700-900 บาทเท่านั้น ทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยบ้านหนองแหน อ.เมืองชัยภูมิ ถึงกับกินยาฆ่าตัวตาย เพราะเครียดจากปัญหาราคาอ้อยตกต่ำครั้งนี้

ล่าสุด วันนี้ (20 ส.ค. 61) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยใน อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ต่างรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับราคาอ้อยที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยนาย อ่อนสา วีระโห อายุ 67 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย บ้านโนนงิ้ว ตำบลงิ้ว อำเภอห้วยแถลง รายหนึ่งได้บอกว่า ตนเองได้ลงทุนปลูกอ้อยจำนวน 50 ไร่ ปัจจุบันอ้อยที่ปลูกไว้ กำลังเจริญเติบโตและรอคอยเก็บเกี่ยวผลผลิตขายให้กับโรงงานน้ำตาลพิมาย ขอเรียกร้องให้ทางภาครัฐช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ จากเดิมปีที่แล้วโรงงานเคยรับซื้อ ตันละ 1,200 บาท ปัจจุบันรับซื้อเพียงตันละ 900 บาทเท่านั้น แถมยังถูกหักค่าความหวานทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูง อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคารับซื้ออ้อยยังคงเท่าเดิม และมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง ดังนั้นเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงอยากให้ทางภาครัฐ ช่วยแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำโดยต้องการให้มีการปรับราคารับซื้ออ้อยขึ้นเป็นตันละ 1,500 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในจังหวัดนครราชสีมา และทั่วประเทศต่อไป.

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

IRPC ชูโมเดลต้นแบบบริหารจัดการน้ำ

IRPC ชูนโยบายนำงบ 3% ของกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ทำ CSR โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้านำโมเดลต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ “ลำไทรโยงโมเดล” พัฒนาแหล่งน้ำ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

 นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า “พิธีส่งมอบคลองแก้มลิง โครงการลำไทรโยงโมเดล ณ ตำบลหนองแก้ว อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการลำไทรโยงโมเดลที่บ้านหนองยาง ตำบลลำไทรโยง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดย IRPC ได้ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ อบต.หนองแก้ว และผู้นำชุมชน ดำเนินการขุดคลองแก้มลิง เพื่อรับน้ำหลากตามธรรมชาติ และรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยซัน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ  โดยครอบคลุมพื้นที่บ้านโนนอีปัง หมู่ 8 บ้านโพนวัว หมู่ 10 บ้านโนนสว่าง หมู่ 12 ต.หนองแก้ว และ บ้านโพนข่า หมู่ 1    บ้านหนองเหล็ก หมู่ 2 บ้านโนน หมู่ 5 ต.โพนข่า โดยคลองแก้มลิงที่ขุดขึ้น มีความยาว 1,175 เมตร ปากคลองกว้างเฉลี่ย 15 เมตร   ลึกเฉลี่ย 5 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 58,700 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ชุมชนมีน้ำสำรองไว้ใช้ทำนา ทำการเกษตรในฤดูแล้ง และนำดินที่ได้จากการขุดคลองมาปรับปรุงถนนความยาวรวม 3,000 เมตร เพื่อให้การสัญจรของชาวบ้านมีความสะดวกมากขึ้น

"ด้วยนโยบายในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งเวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับชุมชนและสังคมไปจนถึงระดับประเทศ และต้องการให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงได้มีนโยบายในการกำหนดงบประมาณด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนในแต่ละปี เป็นอัตรา 3% ของผลกำไรสุทธิเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี เนื่องจากการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นงานที่ต้องดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนและสังคม”

นายธวัช สุระบาล   ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า “การขุดคลองแก้มลิงนี้ เป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเกษตร ให้กับเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดศรีสะเกษด้วย”IRPC ได้นำองค์ความรู้จากโครงการลำไทรโยงโมเดล ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาและประชาสงเคราะห์ ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในฤดูแล้งให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ        ของประเทศไทย

นอกจากโครงการลำไทรโยงโมเดลแล้ว IRPC ยังมีโครงการที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม โดยใช้ความรู้ความสามารถของพนักงาน  และนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี อีกหนึ่งโครงการฯ ได้แก่ โครงการ ไออาร์พีซี กองกำลังอาสา ซ่อม เสริม เติมสุข ซึ่งเป็นโครงการที่พนักงานจิตอาสามาช่วยซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์ ซ่อมแซมเครื่องเล่น ปรับปรุงสนามเด็กเล่น แป้นบาสเก็ตบอล   พร้อมนำอุปกรณ์กีฬามามอบให้แก่โรงเรียนบ้านโนนอีปังโพนวัว จ. ศรีสะเกษ และโรงเรียนรอบโครงการลำไทรโยงโมเดลในจังหวัดอื่นๆ

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

แบงก์ชาติหนุนใช้สกุลท้องถิ่นซื้อขายลดเสี่ยงค่าเงินผันผวน คาดสัดส่วนใช้เพิ่มขึ้นดันมูลค่าการค้าโต

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น จัดโดย ธปท. ว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่ผันผวนสูงต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ผลจากการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงที่ผ่านมาและจะยังปรับขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า มาตรการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ทางการค้า เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเท่าทัน โดย ธปท.มีการส่งเสริมและผ่อนคลายเกณฑ์การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ อาทิ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (เอฟซีดี) การตกลงซื้อสิทธิที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศในอนาคต (ออปชั่น) และการส่งเสริมให้ใช้สกุลท้องถิ่นในการซื้อขายมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกว่า 50% เป็นการค้าขายในภูมิภาคในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่การค้าขายกับสหรัฐมูลค่าราว 9% แต่มีการค้าขายโดยใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขายกว่า 80% ทำให้เมื่อจะค้าขายระหว่างกันแต่ละประเทศต้องนำเงินสกุลท้องถิ่นไปแลกดอลลาร์สหรัฐและนำกลับมาแลกเป็นเงินท้องถิ่นอีกครั้ง ทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวนและเกิดเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น สำหรับการที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะช่วยลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลหลักที่ผวนผวนสูง และช่วยลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ โดยควรเลือกใช้สกุลเงินให้เหมาะสมกับตนเองและประเทศคู่ค้า ซึ่งพบว่าการซื้อขายโดยใช้สกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

นายวิรไทกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ได้มีความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อกันร่วมมือกันขับเคลื่อนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ธุรกิจ รวมทั้งยังมีการแสดงอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างบาทและสกุลต่างๆ เช่น บาท-หยวนของจีน บาท-เยนของญี่ปุ่น บาท-ริงกิตของมาเลเซีย บาท-รูเปียห์ของอินโดนีเซีย เป็นต้น

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความต้องการใช้ดอลลาร์สหรัฐในภูมิภาคจะมีความสำคัญน้อยลง โดยสกุลที่จะมีความสำคัญในภูมิภาคมากขึ้น คือ หยวน และบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) มากขึ้น เนื่องจากการค้าระหว่างกันขยายตัวต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของซีแอลเอ็มวีเฉลี่ยกว่า 7.5% ประเมินว่าหากมีการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะมีผลต่อมูลค่าการค้าไทยและซีแอลเอ็มวีให้เพิ่มขึ้น 20% และจะส่งผลดีต่อจีดีพีของไทยด้วย ซึ่งขณะนี้การเชื่อมโยงการค้าไทยและซีแอลเอ็มวี กับกัมพูชา มีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเกษตร คือ มะม่วง มูลค่าการค้าในซัพพลายเชนอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท หากมีการยอมรับบาท-เรียลของกัมพูชาระหว่างกันมากขึ้นของทั้งสองประเทศ คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ลาวมีการส่งออกโคเนื้อไทย คือ โพนยางคำปัจจุบันมูลค่า 5 พันล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นล้าน ทั้งนี้ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสมุนไพรทางภาคเหนือ คือ ไพล และทานาคา ปัจจุบันมูลค่า 40 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาทได้ นอกจากนี้ มีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมประมงในทางภาคกลางและใต้กับเมียนมา มูลค่าปัจจุบันที่ 2 แสนล้าน คาดว่าจะขยายตัวไปถึง 1.5 ล้านล้านบาท

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

กระทรวงคลัง ดันจีดีพีปีนี้ พุ่งถึง 5% แบงก์ชาติสบจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว จ่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

สศช.โชวจีดีพีไตรมาส 2/2561 ขยายตัวต่อเนื่อง 4.6% ยืนคาดการณ์ทั้งปีที่ 4.5% ได้อานิสงส์ส่งออกขยายตัวสูง 10% ด้านคลังเห็นพ้อง เร่งเพิ่มรายได้ภาคเกษตร-ฐานรากดันจีดีพีทั้งปีถึง 5% ส่วนแบงก์ชาติสบจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจ่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 4.6% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2561 ที่ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก เศรษฐกิจขยายตัว 4.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.4% การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 3.6% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.9% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 12.3% โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 10% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 8.9%

ทั้งนี้ คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 4.5% ในช่วงคาดการณ์ 4.2-4.7% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและภาคการผลิต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนที่มีแนวโน้มเร่งตัว การลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะต้องติดตามผลกระทบในภาคเกษตรจากปัญหาอุทกภัย ฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 2560 อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นายทศพร กล่าวว่า การบริหารนโยบายจากนี้ ต้องมุ่งสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซี การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย สร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพให้เพียงพอรองรับต่อการขยายตัวภาคการผลิตและการลงทุน

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขา สศช. กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงที่ประเมินผลจีดีพีไตรมาส 2/2561 ผลกระทบของน้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยในปีนี้ติดลบเมื่อเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี ขณะเดียวกัน ไทยต้องใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อเพิ่มการส่งออกและหากมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเร่งผลักดันการท่องเที่ยวที่ปรับประมาณการปีนี้ลงเหลือ 38.8 ล้านคนจาก 39 ล้านคน จากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และช่วงฟุตบอลโลก แต่น่าจะส่งกระทบต่อภาพลักษณ์ช่วงระยะสั้น และเชื่อว่านักท่องเที่ยวไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานครึ่งปีขยายตัวได้ 4.8% และทั้งปีจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวภาพรวมขยายตัวได้ดี แต่ยังดีบางอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานเนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก

“คลังเชื่อว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้มากกว่า 4.8% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเป้าหมายของคลังพยายามทำให้เศรษฐกิจถึง 5% โดยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการทำให้ราคาพืชผลสูง จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมครึ่งปีหลังขยายตัวสูงต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครึ่งปีแรก” นายสุวิชญ กล่าว

นายสุวิชญ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวทุกภาคส่วน โดนเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากยังลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำมาตรการช่วยให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงอย่างยั่งยืน มีแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเกษตรกรยังชอบปลูกพืชตามกัน เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันจนราคาตก ตอกนี้แห่ปลูกทุเรียนกันจำนวนมากอีกไม่นานก็จะมีปัญหาราคาตกอีก

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดในต่างประเทศ สร้างความเสียหายทางการเกษตรและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ส่งผลดีกับภาคเกษตรกรไทย ทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นและราคาสูงขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าขยายตัวได้ 4.6% สอดคล้องกับที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการใหม่อีกครั้ง จากที่คาดการณ์ล่าสุดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ในปี 2561

ทั้งนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

นายวิรไท กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ธปท.จะพิจารณาหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง ธปท. เพราะนโยบายการเงินใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลข้างเคียง เช่น มีการออมในระดับต่ำ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเก็งกำไร 4.ความสามารถในการทำนโยบายการเงินในอนาคต ที่จะต้องมีกระสุนพร้อมใช้

“ถ้า ธปท.มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะไม่ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพียงแต่ว่า ไม่ได้ทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเท่านั้น”นายวิรไท กล่าว

สำหรับกรณีวิกฤตเศรษฐกิจตุรกีนั้น ส่งผลต่อความกังวลกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งตุรกีมีปัญหาค่าเงินอ่อน ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศสูง เงินทุนสำรองต่ำ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ในส่วนของไทย ผลกระทบโดยตรงยังอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะมีการทำธุรกรรมโดยตรงน้อย อีกทั้งไทยยังมีฐานะต่างประเทศแข็งแกร่ง จะให้ได้จาก 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการผันผวนน้อยมาก

อย่างไรก็ดี ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุน และค่าเงินในระยะต่อไปยังมีต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ที่ไม่สามารถกำหนด ควบคุมได้ เช่น ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยประเทศอุตสาหกรรมหลัก มุมมองของนักลงทุนต่อนโยบายกีดกันการค้า ปัญหาประเทศตุรกี ความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนจากปัญหาสงครามการค้า เป็นต้น

จาก https://www.khaosod.co.th    วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไม่พึ่งม.44 อุตฯจี้โรงงานน้ำตาลกู้เงินไปชดเชยชาวไร่ แก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ

ปิ๊งไอเดียช่วยวิกฤตราคาอ้อยตกต่ำในรอบ 10 ปี จี้โรงงานน้ำตาลกู้เงินสะสมที่เจียดจาดการขายน้ำตาล ของ กท. เดือนละ 800 ล้านบาท เพื่อไปชดเชยชาวไร่อุ้มราคาอ้อยขั้นต้น ไม่ง้อม.44 ดึงดูดให้ชาวไร่ไม่เปลี่ยนใจปลูกพืชอื่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้รัฐบาลใช้มาตรา44 มาแก้ไขปัญหาวิกฤติราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62ที่จะเปิดหีบในเดือนพ.ย.นี้ เพราะ4 องค์กรฯ คาดว่า ราคาจะไม่เกิน730 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ฤดูปี2551/52 ด้วยการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นให้สูงเกิน 800 บาทต่อตันขึ้นไป เหมือนปีการผลิตที่ผ่านๆมา

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้ข้อสรุปหลังการหารือร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานน้ำตาล ว่า สนอ.ได้เสนอให้นำเงินส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ ที่โรงงานและชาวไร่ทำได้ และกันเงินส่วนนี้ส่งเข้าไปสมทบให้กับ กท. 3-4 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็นรายเดือนที่คำนวณจากการขายส่งน้ำตาลหน้าโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินส่งเข้ากท.เดือนละประมาณ400 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่มีการลอยตัวราคาขายปลีกน้ำตาลเมื่อเดือนม.ค.2560 จนถึงขณะนี้ มีเม็ดเงินสะสมรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งกท.สามารถนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวไร่อ้อยได้ก่อน ด้วยการให้โรงงานมากู้แบบปลอดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยอัตราต่ำที่สุด เพื่อนำไปจ่ายค่าอ้อยเพิ่มเติมจากราคาอ้อยขั้นต้นที่จะมีการคำนวณออกมา เหมือนกับค่าเกี๊ยวอ้อย(เงินยืมล่วงหน้า)ที่โรงงานให้ยืมล่วงหน้าไปก่อนแล้วมาหักกลบลบหนี้เมื่อนำอ้อยมาขายก่อนการลอยตัวราคาน้ำตาลซึ่งหากใช้วิธีการนี้ก็จะไม่จำเป็นต้องขอให้รัฐบาลออกมาตรา 44 แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกส่งให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับไปพิจารณาเรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ฝ่ายโรงงานแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะไม่ต้องการรับภาระดังกล่าวแต่ สอน.ได้ชี้แจงว่าฝ่ายโรงงานจะต้องให้ความร่วมมือเพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาวไร่และโรงงาน เพราะหากโรงงานไม่ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในระยะยาวชาวไร่อ้อยอาจหันไปปลูกพืชเกษตรอื่นๆแทนเพราะรายได้จากการปลูกอ้อยลดลงแต่หากโรงงานให้ความร่วมมือชาวไร่ก็ปลูกอ้อยตามเดิมโรงงานก็มีอ้อยป้อนเข้าหีบตามปกติ

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าว ก็เป็นแผนการรองรับวิกฤตราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต2561/62 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปิดหีบ และหากเริ่มเปิดหีบอ้อยเดือนพ.ย.นี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วงนั้นไปจนถึงเดือนมี.ค.2562อาจปรับตัวดีขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 730 บาทต่อตัน ก็อาจไม่จำเป็นต้อนให้โรงงานไปกู้เงินกท.มาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยก็ได้เช่นกัน

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561   

เร่งศึกษาข้อตกลง CPTPP โค้งสุดท้าย ไทยเกาะขบวนค้าเสรี

หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเจรจา “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive for Trans-Pacific Partnership-CPTPP) หลังจากสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ลงนามและเตรียมให้สัตยาบัน เพื่อให้ความตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้ต้นปี 2562

ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มอบให้บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด ทำหน้าที่ที่ปรึกษาโครงการศึกษาความพร้อม ประโยชน์ ปัญหา อุปสรรค การเข้าร่วม CPTPP และจัดให้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนรวม 5 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกที่ภาคตะวันออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

CPTPP ไร้เงาสหรัฐ

ดร.รัชดา เจียสกุล หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ความตกลง CPTPP มีความยาว 8,000 หน้า ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้อง 30 ประเด็น อาทิ นิยามทั่วไป การเข้าถึงตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาทางการค้า และมาตรการการสุขอนามัยพืช เป็นต้น แต่ประเด็นที่ภาคประชาสังคมจับตามอง คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังเป็นประเด็นอ่อนไหวมาตั้งแต่ครั้งเจรจา

เอฟทีเอไทย-สหรัฐในอดีต

สำหรับประเด็นสิทธิบัตรยา สิทธิบัตรพืชและสัตว์นั้น หลายฝ่ายกังวลว่าผู้ผลิตยาไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางเทคนิคที่มีอยู่มาขึ้นทะเบียนยาสามัญได้ รวมทั้งไทยต้องขยายการคุ้มครองให้ครอบคลุมพืชและสัตว์และเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV กระทบชุมชนท้องถิ่น และกังวลว่าอาจเปิดโอกาสให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่สหรัฐเคยผลักดันอยู่เดิม

ส่วนประเด็นแรงงาน แม้การเข้าร่วมข้อตกลงจะเป็นโอกาสในการสร้างสวัสดิภาพแรงงานทุกประเภทและชนชาติ แต่ไทยมีจุดอ่อนปัญหา IUU และยังไม่ได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญา ILO ว่าด้วยการทำงานภาคประมง ซึ่งบริบทประมงไทยยังไม่สอดคล้องกับหลักสากล

ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากสหรัฐจะกลับเข้า CPTPP อีกครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสหรัฐต้องผ่านการ “เจรจากับประเทศสมาชิกเดิม” และต้อง “ยอมรับเงื่อนไข” ทั้งหมดก่อน ซึ่งทำให้ประเด็นที่สหรัฐพยายามผลักดัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยกังวล “ไม่มีผลกลับมาบังคับใช้โดยอัตโนมัติ” ฉะนั้น ไทยควรอาศัยจังหวะนี้ในการเข้าร่วมหรือไม่ ?

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องอาศัย ระยะเวลาเตรียมความพร้อมควบคู่กับการแก้ไขกฎหมายภายในก่อนตัดสินใจร่วมวง

อีก 12 ปี GDP หด 0.9%

แต่หากไทยตัดสินใจช้า หรือไม่เข้าร่วม จะส่งผลจีดีพีของไทยให้ในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 จะลดลง 0.9% ไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากไทยจะสูญเสียมูลค่าการส่งออก 2% ในทางกลับกันเวียดนามและมาเลเซียจะมี GDP เพิ่มขึ้น 10% และ 8% โดยที่การส่งออกของเวียดนามและมาเลเซียจะเพิ่มขึ้น 30%

กกร.หนุนรัฐโดดร่วม

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า สภาหอการค้าไทยและบอร์ด กกร.ให้ความสำคัญกับท่าทีรัฐต่อ CPTPP อย่างมาก เพราะจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการเพิ่มศักยภาพทุกระดับให้มีความพร้อมก่อน โดยเฉพาะภาคเกษตร SMEs รัฐต้องศึกษาโดยชี้เป้ารายสินค้าที่อ่อนไหว อาทิ ข้าว ยาง มัน ปาล์ม อ้อย ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม

“ผมยังกังวลถ้าไม่เข้าจะแข่งขันใครได้ไหม กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อยู่ในเอเปก เพียงแต่สร้างกติกาใหม่บางข้อ ส่วนเกษตรไทยยังไปได้อีกไกล เพราะไทยผลิตจนล้น ในขณะที่ต่างประเทศไม่

เพียงพอเราต้องเพิ่มมูลค่า และรัฐต้องอธิบายให้ภาคประชาสังคมเข้าใจ และสร้างการรับรู้ร่วมกัน ซึ่งรัฐต้องชัดเจนในเรื่องข้อมูล หรือเราต้องพยายามกอบโกยความไม่แน่นอนของอเมริกาในสนามการค้า แพ้ชนะคือมาตรฐานและคุณภาพ”

รัฐหวั่นเพื่อนบ้านตีตื้น

ขณะที่ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในการบันทึกความเข้าใจถึงโอกาสและความเป็นไปได้ การเข้าร่วม CPTPP พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูล “อย่างรอบด้าน” ก่อนสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการลดภาษี 0% จาก 11 ประเทศ ย่อมทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งในตลาด ส่วนมุมข้อกังวลที่คู่แข่งจะเข้ามาดัมพ์ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเวทีย่อย อยากให้มองทั้ง 2 มุมว่า เกษตรกรต้องปรับตัวยกระดับการผลิต ภาคประชาสังคมต้องยอมรับข้อเท็จจริงหนึ่งว่าต่อให้ภาคเกษตรไม่เข้าร่วม อุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะเวียดนามค่อนข้างปรับตัวไปได้เร็ว ซึ่งเป็นสิ่งน่ากลัวมาก”

สภาเกษตรกร ขอทบทวนอีกรอบ

นายปรีชา วงศ์สกุลเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์การเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ สภาเกษตรกรฯเตรียมยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ต่อท่าทีการเจรจาเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล เนื่องจากยังมีความกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เพราะแม้ว่าสหรัฐจะประกาศถอนตัวออกจาก TPP แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง หากอนาคตทรัมป์เปลี่ยนนโยบายกลับมาศึกษาหรือทบทวนการเข้าร่วมภาคีใหม่จะรองรับอย่างไร

“แม้ว่าเวทีนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นก็จริง แต่ยังต้องจัดให้มีเวทีย่อยเฉพาะเรื่อง ซึ่งทีมที่ปรึกษาต้องทำการศึกษาลงรายละเอียดรายประเด็นให้มากขึ้น โดยเฉพาะบทเรียนการเปิดตลาดนำเข้าหมูสหรัฐของเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าข้อตกลงนี้อาจทำลายอุตสาหกรรมหมูทั้งระบบ เพราะอาจมีชิ้นส่วนเครื่องใน กระดูก หรือสินค้า by product ราคาถูกทะลักเข้ามาจนทำให้เกษตรกรกระทบทั้งซัพพลายเชนได้รับผลกระทบ เพราะแม้ว่าสมาชิก CPTPP 9 ประเทศจะไม่มีสหรัฐ แต่ก็มีแคนาดาซึ่งมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยเฉพาะสุกรเพื่อการส่งออก ต้นทุนต่ำ คล้ายกับสหรัฐ จึงเกรงว่าปัญหาเรื่องนี้จะไม่ต่างจากกรอบ TPP เดิม”

หรืออย่างกรณีพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) เป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ประเด็นอนุญาโตตุลาการยังมีข้อกฎหมายเดิมซ่อนอยู่ เราไม่ได้ค้าน เพียงแต่จะเสนอแนะในสิ่งที่กังวล เพราะนี่คือความเป็นความตายของเกษตรกรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีท่าทีเข้าร่วม CPTPP ทางสภาเกษตรกรฯต้องแสดงพลัง แม้ว่า World Bank ศึกษาแล้วหากไทยไม่เข้าร่วมแล้วจะทำให้มูลค่าการค้าเสียหาย แต่ในการศึกษาวิเคราะห์โบลลิเกอร์ฯยังไม่ได้บอกว่าอะไรบ้างที่เสียหาย จำเป็นต้องมีผลศึกษาชัดเจนกว่านี้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 19 สิงหาคม 2561

แห่ใช้สิทธิ FTA-GSP ครึ่งปีแรกทะลุ 36,000 ล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ รายงานการใช้สิทธิประโยชน์ในการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2561) มูลค่า 36,435.38 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 73.72% จากการส่งออก ขยายตัว 18.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 34,192.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และการใช้สิทธิ GSP 2,242.44 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิ FTA 34,192.94 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น คิดเป็น 75.15% ของมูลค่าการส่งออกรวมความตกลงเอฟทีเอทั้งหมด เพิ่มขึ้น 20.05% โดยเอฟทีเอที่มีการใช้สิทธิสูงสุด ได้แก่ เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) คิดเป็น 93.98% อาเซียน-จีน คิดเป็น 89.11% และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น คิดเป็น 88.43% ส่วนสินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ รถยนต์บรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติน้ำตาลจากอ้อย และเครื่องปรับอากาศ

การใช้สิทธิประโยชน์ GSP ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2561) มูลค่าการใช้สิทธิ GSP อยู่ที่ 2,242.44 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57.15% ของมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP รวม 3,923.58 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 90% เป็นการใช้สิทธิ GSP ไปยังสหรัฐ คิดเป็นมูลค่า 2,091.32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 68.16% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าได้สิทธิ GSP จากสหรัฐซึ่งมีมูลค่า 3,068.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูงสุด ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่น ๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมเตรียมเพิ่มเป้าหมายการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จาก 9% เป็น 10% เนื่องจากมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการปรับปรุงบริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 19 สิงหาคม 2561

ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 3

นักวิชาการ ม.รังสิตมอง 3 ปัจจัยเสี่ยง น้ำท่วม-สงครามการค้า-วิกฤติเศรษฐกิจตุรกี ฉุดเศรษฐกิจไตรมาส 3 โตต่ำกว่าร้อยละ 4

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่า ผลกระทบน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ สงครามการค้าจีน-สหรัฐ และวิกฤติเศรษฐกิจตุรกีต่อตลาดการเงินโลกอาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของไทยต่ำกว่าร้อยละ 4 แม้น้ำท่วมปีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศและเขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น ปี 2554 แต่ผลกระทบของน้ำท่วมกระจายตัวในวงกว้างทั้งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและบางส่วนของภาคใต้ กระทบต่อพื้นที่ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตการเกษตรและการท่องเที่ยว ทำให้กำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบภัยชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ความเสียหายทางเศรษฐกิจในภาพรวมไม่น่าจะเกิน 0.3% ของจีดีพี

ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีนจะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก จะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง ประเทศต่างๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐมาไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงกว่าร้อยละ 27 และมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

ขณะที่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตุรกีนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้นและน่าจะยืดเยื้อ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นไทยไปอีกระยะหนึ่งและนำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากเศรษฐกิจ Emerging Markets มากขึ้น

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 19 สิงหาคม 2561

น้ำเกินระดับเก็บกักเร่งพร่องน้ำ 4 เขื่อนใหญ่

เร่งระบายน้ำ 4 เขื่อนหลังระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมและเกินร้อยละ 80 ของความจุ

นายสำเริง  แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญวันที่ 18 ส.ค.2561 ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุโซนร้อน “เบบินคา” (BEBINCA) บริเวณประเทศลาวตอนบน ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยในวันนี้ (18 ส.ค. 61) ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะ 24 จังหวัด ที่ต้องเฝ้าระวัง ภาคเหนือ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย ชัยภูมิ ภาคตะวันตก ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต  โดยปริมาณฝน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ได้แก่ ปริมาณฝนที่น่าน 414 มม. พะเยา 192.5 มม. เชียงราย 114.5 มม. ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% ปริมาณน้ำไหลเข้า 32.15 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 27.29 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออก 22.39 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 91 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 29 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำยังคงไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 40 ซม. จากเมื่อวาน 76 ซม. 2. เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 531 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้า 4.41 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 5.27 ล้าน ลบ.ม. พบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 7,878 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 7,860 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 89% ปริมาณน้ำไหลเข้า 103.70 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 41.19 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันยังไม่พบพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ทั้งนี้ ในวันที่ 23-27 ส.ค. 61 จะปรับการระบายน้ำเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 43 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้น โดยประสานแจ้งจังหวัด และพื้นที่ให้ทราบ 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. จากเมื่อวาน 193 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้า 3.96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 2.89 ล้าน ลบ.ม.  น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 49 ซม. จากเมื่อวาน 30 ซม.

ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/กลางที่มีปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีจำนวน 2 แห่ง คือ 1.เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฏร์ธานี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 4,884 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้า 23.60 ปริมาณน้ำไหลออกวันละ 19.81 ล้าน ลบ.ม.  ปัจจุบันได้เร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ โดยปรับแผนการระบายน้ำเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันนี้ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน  2. อ่างเก็บน้ำคิรีธาร จ.จันทบุรี ปริมาณน้ำ 75 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ปริมาณน้ำที่ระบาย 0.66 ล้าน ลบ.ม.

“จากการการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 50,604 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 2,989 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 รับน้ำได้อีก 22,467 ล้าน ลบ. ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ตั้งแต่ 14 ก.ค. – 17 ส.ค. 61 มีน้ำไหลเข้าอ่างฯขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศ 13,597 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น ภาคเหนือ 3,960 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,897 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 336 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 5,075 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 337 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 1,992 ล้าน ลบ.ม.”นายสำเริง กล่าว

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รมช.เกษตร ส่งตัวแทน แถลงแบน พาราควอต แค่ชี้ มีทางเลือกมากมายไม่ต้องใช้สารเคมี

ที่ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สมาคมสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้แทน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่สามารถเดินทางมาแถลงข่าวได้ เนื่องจากติดภารกิจ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ข้อเท็จจริงของสารพิษซึ่งควรจะแบนออกจากประเทศไทยโดยเร็ว ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รวมถึงประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ที่ไร้สารพิษ” ซึ่งมี นายชนวน รัตนวราหะ นักวิชาการอิสระ อดีตข้าราชการกรมวิชาการเกษตร นายวรพนธ์ สาสดี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง (ปิ่นโตเกษตรอินทรีย์) และนายอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ ร่วมอภิปราย ตั้งโต๊ะแถลงข่าว “ข้อเท็จจริงของสารพิษซึ่งควรจะแบนออกจากประเทศไทยโดยเร็ว ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ที่ไร้สารพิษ” ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง

นายชนวน กล่าวว่า ในฐานะผู้คร่ำวอดในวงการเกษตรมากว่า 60 ปี ตั้งแต่ปี 2500 อดีตไม่มีความรู้ ทำเกษตรใช้สารเคมี โปรยทางอากาศเพื่อกำจัดศัตรูพืช ต่อมากลับเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดพบว่า การใช้สารเคมีทำให้สิ่งมีชีวิตโดยรอบตายเรียบ ส่วนผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมทยอยล้มป่วยและตาย จากนั้นจึงเปลี่ยนแนวคิดหันมาทำเกษตรแบบไร้สารเคมี พยายามศึกษาและเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืน จนมั่นใจว่าทำเกษตรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ปัจจุบันลงมือทำมา 30 ปีแล้วและเห็นว่าการกำจัดศัตรูพืชสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การถากถาง ใช้ระบบการปลูกพืชระหว่างร่อง ปลูกพืชคลุมดิน วัสดุคลุมดิน ใช้สัตว์เลี้ยง ใช้สารเคมีแต่เป็นวิธีของคนหมดปัญหา ซึ่งเกษตรกรไทยเองก็ถูกแนะนำให้สารเคมี เพราะเป็นวิธีที่สบาย ส่วนเกษตรกรผู้ต่อต้านไม่ให้แบนการใช้พาราควอต และสารเคมีอื่นบอกว่าทำแล้วจะเจ๊ง ขาดทุนและอยู่ไม่ได้นั้น ไม่จริง อย่าไปเชื่อ ผู้นั้นอาจไม่มีประสบการณ์ทำเกษตรมากพอ

“เกษตรกรไทยมีทางเลือกไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ใครที่ไม่เห็นด้วยบอกจะเป็นจะตายคงไม่ใช่ เพราะประโยชน์ของการควบคุมวัชพืชแบบไร้สารเคมีนั้น ปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มกำไรจากพืชที่ปลูกในร่องแถว มีรายได้เพิ่ม พืชแซมช่วยอนุรักษ์ความชื้นในดินอยู่ได้นานในฤดูแล้ง เป็นต้น” นายชนวน กล่าว

นายธีระ กล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาฆ่าแมลงเยอะเป็นอันดับ 4 และยากำจัดศัตตรูพืชเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งหลังจากวันที่ 23 พฤษภาคม ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกรโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสตามมติกระทรวงสาธารณสุขนั้น ภาคีเครือข่ายก็มีความตระหนักในเรื่องนี้โดยได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่างๆ ซึ่ง นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าเห็นแก่ประโยชน์ของประชาขนมากกว่าบริษัทสารเคมี จนมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ แต่พบว่า มาจากหน่วยราชการ 11 คน นักวิชาการเกษตร 4 คน ภาคประชาชน 1คน และตัวแทนที่สนับสนุนการใข้สารเคมีต่อ 5 คน สัดส่วนดังกล่าวไม่เป็นธรรม โดยที่ผ่านมามีข้อมูลสารทดแทนมากมายที่สามาใช้แทนได้ ทำไมไม่เอาข้อมูลนี้มาใช้ โดยขอยืนยันว่ามีทางเลือกมากมายที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมี

นายอำนาจ กล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ คือ รัฐบาลต้องการถอดสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแต่กลับพบมากคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นหลายชุดมีมติไม่ให้ถอน สะท้อนว่ากรรมการใหญ่กว่า รัฐบาล ภาคประชาชนควรรวมตัวกันฟ้องร้องคณะกรรมชุดทุกชุดที่มีมติไม่ยอมถอน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งอาหารมากที่สุดไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกิน และภัยพิบัติน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่หน่วยงานภาครัฐต่างๆกลับหลงผิดในการใช้สารเคมีต่างๆ ทำให้คนป่วยล้นโรงพยาบาลจากแนวคิดผิดๆ ซึ่งหากมีการจัดการกับระบบดีๆ ประเทศไทยกลายเป็นมหาอำนาจไปแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่มีคนป่วยล้นโรงพยาบาล งบประมาณ การคลัง หรือในสิทธิ์หลักประกันสุขภาพไม่เพียงพอในการดูแลเช่นนี้

นายวรพันธ์ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง ตั้งมาแล้วเป็นปีที่แล้วเพราะเป็นหนี้สินและใช้สารเคมีมายาวนาน โดยเฉพาะส้ม ต้องยอมรับว่าใช้สารเคมีมาก ถึงขั้นที่ส้มเขียวหวานถูกฉีดยาแก้อักเสบที่ทานในคนเข้าสู่ลำต้น ทำให้ปัจจุบันรสชาติส้มเปลี่ยนและขม ไม่ปลอดภัย อดีตมองว่าสารเคมีใช้แล้วได้ผลดี ใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดเข้าผลส้ม เพราะคำนึงแต่กำไร ได้ผลผลิตสูง ไม่คำนึงถึงผลกระทบจากสารเคมีที่เกิดขึ้น จนกระทั่งผลผลิตไม่ดีเหมือนเดิมเพราะเกิดปัญหาส้มหล่น ท้ายสุดหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ พยายามปรับเปลี่ยนวิธีจนอยู่รอด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รมว.อุตฯชี้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างรับ4.0

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างรับยุค 4.0 เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ อุตสาหกรรม 4.0 ก้าวทัน ก้าวไกล ไม่ทั้งใครไว้ข้างหลัง ว่า ประเทศไทยในขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ ในการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากเสถียรภาพความสงบเรียบร้อย แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โอกาสที่มีจากการที่เอเซียเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และนวัตกรรมที่เพิ่มโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงโดยมีทิศทางที่ชัดเจนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือต้องสร้างความเจริญใหม่ดึงการลงทุนเข้ามายังในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC ในกลุ่มอุตสหกรรมใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งเสริมธุรกิจ SME และกลุ่ม Startup ให้เข้าถึงตลาดโลก

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

'คณิศ' นั่งเลขาธิการอีอีซี ต่ออีก 4 ปี

นายกฯเรียกประชุมบอร์ดอีอีซีประชุมวาระลับ เคาะชื่อ "คณิศ" นั่งเลขาธิการอีอีซี ต่ออีก 4 ปี ตามเงื่อนไขพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกฉบับใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (17 ส.ค.) เวลา 11.30 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ กพอ.เพื่อพิจารณา (วาระลับ) เรื่องการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

ภายหลังการประชุมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอีอีซีที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ที่เสนอให้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซีดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิมแต่เป็นการดำรงตำแหน่งภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 จากเดิมที่เป็นการดำรงตำแหน่งภายใต้คำสั่ง ม.44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นับจากวันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งเป็นต้นไป

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ใช้กลไก"สหกรณ์"ปฏิรูปภาคเกษตร   1 ก.ย.เริ่มขับเคลื่อนทั่วไทย

               การปักธงไปที่ “สหกรณ์ภาคการเกษตร” เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อยกระดับและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรไทย จนเป็นแรงส่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

             “รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันทำให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะสหกรณ์ถือเป็นกลไกที่จะพัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามความสำคัญของสหกรณ์ไป ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมมือพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคม ที่จะทำให้ภาคเกษตรของไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่า ปัจจุบันนี้สหกรณ์มีศักยภาพและความสามารถสูงพอที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรของประเทศได้”

         ความตอนหนึ่งที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กล่าวบนเวทีในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์” ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อวันก่อน โดยมีตัวแทนสหกรณ์การเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกว่าเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น และมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ผลไม้ โคเนื้อ นม และสินค้าแปรรูป จำนวน 777 แห่ง เข้าร่วมรับฟังนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี พร้อมระดมสมองจากทุกภาคส่วนในการหาทางยกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตร

            “สหกรณ์บ้านเรามีประมาณ 4,000 แห่ง ที่เชิญมาวันนี้คือสหกรณ์ที่เข้มแข็งพอสมควรแล้ว และเป็นความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ ถ้าทำคนเดียวขายคนเดียว ย่อมไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ แต่ถ้าเราร่วมกันทำ ทำให้ทันสมัย ก็จะสร้างความเข้มแข็งได้ เชื่อว่าสหกรณ์เหล่านี้จะเป็นตัวอย่างให้สหกรณ์ที่ยังไม่เข้มแข็งได้เดินรอยตามและเข้ามาร่วมมือกันเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ การได้มาพบกับตัวแทนสหกรณ์วันนี้ เพื่อมาทำความเข้าใจว่ารัฐบาลอยากให้สหกรณ์ทำอะไร แล้วสหกรณ์มีอะไรให้รัฐบาลช่วย รัฐบาลยินดีช่วยเต็มที่ และวันนี้ประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับคืนมา โลกต้อนรับเรา”

           รองนายกรัฐมนตรี ฉายภาพให้เห็นว่า ประชากรของไทย 20 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ในภาคการเกษตรต่ำกว่า 10% อำนาจซื้อก็ไม่มี ทำให้ไทยต้องเน้นผลิตเพื่อส่งออก เมื่อผลิตเพื่อส่งออก คนที่มีรายได้จริงๆ อยู่ในคนเพียงกลุ่มเดียว ทำให้รายได้กระจุกตัวไม่สามารถกระจายสู่คนระดับฐานรากได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์นับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของประเทศ ฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงให้เกษตรกรเป็นทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ เพื่อทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น

         “อนาคตของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรรายย่อยจะไปได้ดี ฉะนั้นโฟกัสจะต้องอยู่ที่สหกรณ์  เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร”

           สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร สมคิดระบุว่าล่าสุดมีข้อมูลเชิงพื้นที่ทั่วทั้งประเทศแล้วว่า แต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไร โดยไม่จำเป็นต้องเน้นการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเริ่มต้นโดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต เจ้าภาพเรื่องนี้คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันชี้เป้าว่าแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้างและปลูกในปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นจึงให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิต รวบรวมและแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงหาตลาดจัดจำหน่าย ซึ่งคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ เป็นต้นไป

           “คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจึงต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ทั้ง 777 แห่ง ที่จะต้องไปหาทางพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยต้องการให้สหกรณ์จะเป็นความหวังของเกษตรกร”

           ส่วนในเรื่องการตลาดนั้นรัฐบาลต้องการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคเอกชน เข้ามาช่วยดูแลเพื่อวางแนวทางร่วมกันในการดึงเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้ด้านการตลาดค้าขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ หรือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่หรือจับมือกับไปรษณีย์จัดส่งสินค้าสหกรณ์ถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

           “ขณะนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยสนับสนุนสหกรณ์สร้างเว็บไซต์ขายสินค้า ระบบโลจิสติกส์ โดย ทีโอที, กสท โทรคมนาคม เข้ามาช่วยเรื่องระบบดิจิทัล เพื่อผลักดันให้สหกรณ์สามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหลักการปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ และเป็นทิศทางใหม่ในการดำเนินงานของสหกรณ์ในโลกยุคปัจจุบัน” สมคิด กล่าวและว่าสหกรณ์คือความหวังใหม่ของประเทศไทยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

          “รัฐบาลเหลือเวลาอีก 7 เดือนจะต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ” สมคิดกล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ!

 สหกรณ์“โคเนื้อ-ยางพารา”ขานรับแนวทางปฏิรูป

           สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นการรวมกลุ่มของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัด ภาคตะวันตก ประกอบด้วย นครปฐม, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และชัยนาท ก่อตั้งเมื่อปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการตลาด เป็น 1 ใน 777 สหกรณ์ ที่เข้าร่วมรับฟังนโยบายการปรับโครงสร้างภาคเกษตร โดยใช้กลไกสหกรณ์จาก “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา

            สิทธิพร บุรณนัฎ ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด เผยถึงแนวนโยบายดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมุ่งเป้ามาที่สหกรณ์ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรทั้งระบบ และให้ตลาดนำการผลิต เพราะปัญหาของเกษตรกรทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการตลาด โดยเฉพาะเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงโคเนื้อที่มักจะมีปัญหาถูกพ่อค้ารับซื้อกดราคา และต้นทุนการเลี้ยงสูง วัตถุดิบมีราคาแพง

           “โชคดีสหกรณ์เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีตลาดรองรับทั้งตลาดของสหกรณ์เองและห้างโมเดิร์นเทรด แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลคือตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซียและกลุ่มประเทศมุสลิม เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีความต้องการบริโภคเนื้อโคสูงมาก จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในส่วนนี้” ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าว

           นอกจากนี้ สิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำกับสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อคือ อยากให้สหกรณ์ใช้นวัตกรรมฉีดไขมันในเนื้อ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพเนื้อโคเพื่อรองรับตลาดในระดับบนด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อได้ส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงโคเนื้อในหลากหลายสายพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งเนื้อวากิวที่มีคุณภาพสูงไม่แพ้เนื้อนำเข้าจากญี่ปุ่นอีกด้วย

           “ใกล้มีการเลือกตั้งแล้ว ตอนนี้ก็มีหลายพรรคการเมืองมาทาบทามผมไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงโคเนื้อ คิดว่ารัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งสมัยหน้าเชื่อว่าหลายพรรคการเมืองคงจะฟื้นโครงการเก่าเช่นโคล้านตัวขึ้นมาหรืออาจมีโครงการใหม่ๆ บรรจุไว้ในนโยบายพรรคอย่างแน่นอน” ผู้จัดการสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจ

           เช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตรสะเดา จำกัด อ.สะเดา จ.สงขลา โดย “ประจวบ อมแก้ว” ประธานกรรมการสหกรณ์ มองว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อภาคเกษตรเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสหกรณ์ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่และไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้ภาคการเกษตรไทยไม่มีการพัฒนาไปไกลเท่าที่ควร

          “การดำเนินการโดยตัวของสหกรณ์เองบางครั้งก็มีข้อจำกัด แต่ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญและเข้ามาดูแลอย่างเต็มที่จะมีประโยชน์มากขึ้น เพราะยางพาราเป็นปัญหาระดับโลก ลำพังสหกรณ์แก้ปัญหาเองคงลำบาก” ประจวบกล่าว

             ประจวบ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รองนายกฯ สมคิดได้กำชับเป็นพิเศษอยากให้สมาชิกสหกรณ์มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมการปลูกพืชโตเร็วในสวนยยาง รวมทั้งเลี้ยงแพะเพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้เสริมในขณะที่ยางพารามีราคาตกต่ำ

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

สกุลเงินเอเชียรับแรงหนุนจากการเคลื่อนไหวของเงินหยวนปรับตัวแข็งค่า แต่ระวังภาพรวมตลาดยังผันผวน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.20บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินกลับมามีทิศทางในเชิงบวก ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.8% ขณะที่ฝั่งยุโรปดัชนี Stoxx50 ก็ปรับตัวขึ้น 0.55% โดยรวม ตลาดมีความกังวลกับวิกฤตค่าเงินตุรกีลดลง ขณะที่เริ่มเห็นหนทางการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนเพื่อนสงบศึกสงครามการค้า จึงทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา

นอกจากนี้ ในฝั่งตัวเลขเศรษฐกิจโลกก็มีข่าวดี เมื่อการรายงานจีดีพีของทางฝั่งยุโรปขยายตัวดีในไตรมาสที่สอง 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมันก็ขยายตัว 0.5% ซึ่งถือว่าดีกว่าคาดทั้งคู่ พร้อมกันนี้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปก็ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่ง และไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินที่ผันผวนมากในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับฝั่งเอเชีย ปัจจัยที่สำคัญทสุดยังเป็นแนวโน้มการกีดกันทางการค้า และค่าเงินหยวน ซึ่งเมื่อล่าสุดมีทิศทางดีขึ้น ค่าเงินหยวนก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นทันที ล่าสุดแข็งค่าลงมาแตะระดับ 6.88 หยวนต่อดอลลาร์ จากระดับสูงสุดที่ 6.93 หยวนต่อดอลลาร์ ส่งผลให้สกุลเงินเอเชียทั้งหมดได้รับแรงหนุนจากการเคลื่อนไหวของเงินหยวนนี้ด้วย

ในฝั่งของเงินบาทเชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินหยวนเช่นกัน แต่อาจต้องระวังเรื่องภาพรวมของตลาดซึ่งในอนาคตยังผันผวน สังเกตได้จากหุ้นสหรัฐที่ บวกสลับลบเป็นรายวัน ยังไม่ส่งผลดีกับตลาดทุนไทยมากในระยะยาวแนานอน ขณะที่กระแสเงินลงทุนไหลเข้ามาหลบความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา อาจมีทิศทางอ่อนตัวลง หลังจากที่ความเสี่ยงทั่วโลกปรับตัวลดลง ขณะที่สินทรัพย์ในเอเชียต่างๆก็ยังมีราคาถูกกว่าในฝั่งไทย มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 33.15-33.25 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผนึก 3 หน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง

              สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมประชาสัมพันธ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา “สร้างรู้...สื่อสาร...ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ”  หวังให้การเผยแพร่ข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่ประชาชนอย่างมีเอกภาพ ถูกต้องและทันต่อสถานการณ์ การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นที่ ณ ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย สื่อมวลชน บุคคลกรของภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งได้มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติมาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ การจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน

               นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ  สทนช. เปิดเผยว่า  การสร้างการรับรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้ทุกคนได้รับทราบเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ต้องดำเนินการ เพราะหากประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก็จะสามารถรับมือได้ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้นสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารไปสู่สาธารณะ       

            โดยมึ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักที่จะบูรณาการแผนงาน งบประมาณและการจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่สทนช. ได้ร่วมกับวิทยาลัยพัฒศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์บริบททางความคิดและทัศนคติของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้น โดยผลการศึกษาจากการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณทั้งสิ้น 520 ราย จากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ได้ข้อสรุปว่า  การที่รัฐบาลจัดตั้ง สทนช. เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศทั้งระบบเป็นสิ่งที่เหมาะสม  โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐในส่วนภูมิภาค เห็นว่า สทนช. ควรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุน การกำกับดูแลและเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายเกี่ยวกับการบริหารทรัพยาการน้ำ 

                  นอกจากนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้ง 6 ด้านของรัฐบาล  โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการบริหารจัดการ สทนช .ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารงานที่มีเอกภาพ มีองค์กร กฎหมายรองรับ  เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งการติดตามประเมินผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดย สทนช. จะต้องเป็นผู้กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด ทั้งในประเด็นการบริหารจัดการ การกำหนดทิศทาง การจัดทำแผน การจัดทำระบบฐานข้อมูล และให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 หน่วยงาน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านข้อมูล ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี และด้านการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงาน

                อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามภารกิจ  สทนช.จะต้องทำหน้าที่ในการผลักดันให้เกิดกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารและเป็นที่ยอมรับ รวมทั้ง ควรทำหน้าที่เน้นหนักในด้านการดูภาพรวมของนโยบายการบริหารทรัพยากรน้ำ และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวของข้อมูลข่าวสารด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ และไม่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอีกด้วย

จาก www.komchadluek.net    วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แกนนำชาวไร่อ้อย 4 องค์กร ยื่นหนังสือถึง "อุตตม" รับมือราคาอ้อยร่วง

แกนนำชาวไร่อ้อย4องค์กร ยื่นหนังสือถึง “อุตตม”แล้ว ขอความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2561/62

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อวันที่15สิงหาคม2561 แกนนำชาวไร่อ้อยจาก4 องค์กร  ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย,ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน,สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขอความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2561/62 เนื่องจากขณะนี้ใกล้ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2561/62 และก่อนการเปิดหีบอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องกำหนดราคาอ้อยเพื่อจ่ายให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่กำหนด

แต่จากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกขณะนี้อยู่ในช่วงตกต่ำ ซึ่งหากสถานการณ์เป็นอยู่ขณะนี้ จะส่งผลให้ราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2561/62 ไม่เกินตันละ 700 บาท  และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะประสบปัญหาจากรายได้การดำรงชีพ ซึ่งมีกว่า 400,000 ครัวเรือน ตามมาอย่างแน่นอน

ดังนั้น เพื่อพิจารณาหาแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่จะตามมา 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศ-ไทย และ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาคมชาวไร่อ้อยจากสถาบันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ 37 สมาคม ขอนำเรียนถึงปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยที่จะได้รับผลกระทบ จากกรณีรายได้จากราคาอ้อยที่จะคาดว่าจะได้รับในฤดูกาลผลิตนี้ และเพื่อให้ชาวไร่อ้อยสามารถยังชีพได้อย่างเหมาะสม และมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการปลูกอ้อยและดูแลรักษาตออ้อยในปีต่อไป

รวมทั้งเป็นการกระจายรายได้ และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเกษตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในชนบทให้ดีขึ้น  จึงขอความอนุเคราะห์สนับสนุนมาตรการช่วยเหลือ ดังนี้

1.สนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการปลูกอ้อย โดยจัดหาปุ๋ย 1 กระสอบ (50 กก.)/ต่อผลผลิตอ้อย 5 ตัน   และน้ำมันเชื้อเพลิง(ดีเซล)  ราคาพิเศษ 1 ลิตรต่อ 1 ตันอ้อย

2.ให้โรงงานน้ำตาลช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้เปล่า ตันละ 50 บาท

3.ผ่อนผันน้ำหนักรถบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล โดยให้ความสูงจากพื้น 4 เมตร ตามที่รัฐบาลในอดีตได้ผ่อนผัน

4. พิจารณาแนวทางให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยเช่นเดียวกับทุกปี เมื่อมีปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ

ทั้งนี้ในท้ายหนังสือได้ลงนามโดย  นายปารเมศ โพธารากุล  ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย , นายเลียบ บุญเชื่อง ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน,นายทองคำ เชิงกลัด  ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย,นายมนตรี คำพล ประธานสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กฤษฎาเล็งหารือ’แบม-แซม’ ซื้อหนี้เกษตรกรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์เพิ่มอีก 1,500 ราย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่า ภายในเดือนส.ค.นี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อรับทราบถึงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตามคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเตรียมหารือกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(แซม) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด มหาชน (แบม) เพื่อให้ช่วยซื้อหนี้สินของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับ ธ.ก.ส.

โดยจากการหารือเบื้องต้น แบมและแซมยินดีซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์ ในอัตราลดยอดหนี้ลง 50% ระยะเวลาชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 ปี แต่ขอค่าบริหารจัดการ 50-98 ล้านบาท ในเงื่อนไขของการซื้อหนี้ 50% และการจ่ายค่าบริหารจัดการอาจมีการต่อรองเพื่อลดเงินต้นให้เหลือภาระกับธนาคารพาณิชย์ให้เหลือ 48% แต่ขายให้แบมและแซมในอัตรา 50% เพื่อนำส่วนต่าง 2% ไปจ่ายเป็นค่าบริหารจัดการ หรือเจ้าหนี้ต้องลดต้น 52%

“คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เตรียมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรต่อคณะรัฐมนตรี โดยสามารถดำเนินการให้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว วงเงินรวม 10,200 ล้านบาท 3,600 ราย ส่วนเกษตรกรอีก 1,500 รายที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด ให้มารับซื้อหนี้ วงเงิน 2,000 กว่าล้านบาทเพิ่มเติม”

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนการประชุม กฟก.ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค.นี้ได้เชิญเจ้าหนี้ธนาคารพาณิชย์ สมาคมสมาคมธนาคารไทย หลังมีการตกลงกับเจ้าหนี้แล้วว่าจะชะลอการดำเนินคดี แต่มีเกษตรกรจำนวน 22 ราย ร้องเรียนว่ายังถูกเจ้าหนี้ดำเนินคดีต่อเนื่อง จึงต้องหารือกับเจ้าหนี้อีกครั้ง พบว่าลูกหนี้จำนวน 16 ราย เป็นลูกหนี้ของ กฟก. ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องขั้นตอนของเอกสารและการนำส่ง เจ้าหนี้จึงระงับการดำเนินคดีตามกฏหมาย ส่วนลูกหนี้อีกจำนวน 5 ราย ปรากฏว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของ กฟก. และไม่ได้กู้เงินเพื่อมาดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร แต่มีการกู้เงินเพื่อไปทำธุรกิจ อาทิ สร้างหอพัก ซื้อที่ดิน เป็นต้น ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์การช่วยเหลือจากรัฐบาล จึงให้ธนาคารดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย

ทั้งนี้ ในสัปดาห์ก่อนคณะกรรมการเฉพาะกิจกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ได้หารือกับเกษตรกรและเจ้าหนี้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นหนี้ค้างชำระธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)ตั้งแต่ปี 2543 วงเงินประมาณ 10,200 ล้านบาท ธ.ก.ส.ตกลงลดยอดหนี้เกษตรกรลง 50% และหยุดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระนี้ 15 ปี ซึ่งถือได้ว่าการเจรจาที่เป็นผลสำเร็จจำนวนมากที่สุดตั้งแต่ตั้งกองทุนฯมาในปี2542 เป็นต้นมา

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ธ.ก.ส. ประชุมทั่วประเทศเตรียมความพร้อมลงพื้นที่ช่วยเกษตรกร 3.81 ล้านราย ลดภาระหนี้

ธ.ก.ส. เตรียมประชุมผู้บริหาร-สาขาทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมปูพรมลงพื้นที่ช่วยเกษตรกร 3.81 ล้านราย ผ่านโครงการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ธนาคารจะมีการจัดประชุมใหญ่ผู้บริหาร และสำนักงานสาขาทั่วประเทศกว่า 2 พันคน เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจโครงการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ และจัดทำแนวทางการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศถึงพื้นที่กว่า 3.81 ล้านคน โดยไม่ต้องเดินทางมาสาขาของธนาคาร

“ตอนนี้ธนาคารกำลังเตรียมความพร้อม ด้วยการจัดทำคู่มือ วิธีปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับพนักงานและนำไปประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรได้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยแนวทางของ ธ.ก.ส.จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ลงไปหาเกษตรกรในพื้นที่เลย เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ต้องให้เกษตรกรลำบากต้องเดินทางมายื่นเรื่องที่สาขา เพราะปกติ ธ.ก.ส.จะมีการลงพื้นที่สำหรับนัดพูดคุยกับเกษตรกรเป็นประจำอยู่แล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกร แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการช่วยเหลือแบบภาคสมัครใจ พักชำระเงินต้นใจแก่เกษตรกรที่มีหนี้กับ ธ.ก.ส. ระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1ส.ค. 2561- 31 ก.ค.2564 โดยใครจะเข้าหรือไม่ก็ได้ เพราะหากเกษตรกรรายใดมีกำลังผ่อนชำระได้ ไม่ต้องการเสียดอกเบี้ยเพิ่มก็สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ เพราะโครงการนี้พักเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคิด และให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยอยู่ แต่ถ้าเป็นดอกเบี้ยเดิมก่อนเข้าโครงการให้ชำระตามงวดอย่างน้อยปีละ1ครั้ง

ส่วนที่สอง โครงการการลดดอกเบี้ยเงินกู้  ธ.ก.ส.จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ 3% ให้ทุกคนที่เข้าเกณฑ์ เฉพาะวงเงิน 3 แสนบาทแรก เป็นเวลา 1 ปี  โดยมีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ 3.81 ล้านราย  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2562 โดยในจำนวนนี้เป็นส่วนที่ ธ.ก.ส.ลดให้ 0.5% อีกส่วนมาจากที่รัฐบาลช่วยชดเชยอีก 2.5%

“โครงการส่วนที่สองนี้เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือเท่ากันไม่ต้องมาสมัครแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ ธนาคารยังเปิดให้เกษตรกรสามารถกู้เงินดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อนำไปปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ หรือกู้ทำการผลิตโครงการใหม่ได้ หลายโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต หรือนำไปพัฒนาอาชีพได้ด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับเปิดให้เกษตรกรสามารถกู้เงินนำปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือกู้ทำการผลิตโครงการใหม่ได้หลายโครงการ อาทิ  โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยเงินกู้ปี 5%ต่อปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท อีกทั้งยังมีสินเชื่อนำไปใช้ปรับโครงสร้างการผลิตและมีแผนพัฒนาอาชีพรายบุคคล ด้วย เช่น โครงการสินเชื่อชุมชนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย (โครงการเอ็กซ์วายแซด) ดอกเบี้ย 0.01%

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อยดอกเบี้ย 0% 6 เดือน สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน หรือกรณีมีความจำเป็นยังสามารถขอสินเชื่อและสินเชื่อจัดหาปัจจัยการผลิตจากโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร โครงการสินเชื่อบัตรเกษตรสุขใจ โครงการสินเชื่อเงินด่วน เอ-แคลชได้ด้วย

อย่างไรก็ดี กลุ่มเกษตรกรเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือพักหนี้ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มีลูกหนี้ทั้งหมดที่เข้าข่าย 3.81 ล้านราย วงเงินลูกหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท แยกเป็นวงเงิน 0-300,000 บาท จำนวน 2.61 ล้านราย เป็นเงิน 363,652 ล้านบาท วงเงิน 300,001 - 1,000,000 บาท จำนวน 1.05 ล้านราย เป็นเงิน 540,536 ล้านบาท วงเงิน 1,000,001 บาทขึ้นไป จำนวน 0.15 ล้านราย เป็นเงิน 445,829 ล้านบาท

ขณะที่การออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าว ครม.ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับทำทั้ง 2 โครงการ โดยเป็นการใช้งบกลางปี 2561 ในช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2561 จำนวน 2,724.85 ล้านบาท  ส่วนอีก 10 เดือนที่เหลืออีก 13,580 ล้านบาท จะเป็นงบประมาณปี 62 ซึ่งกระทรวงการคลังดำเนินการใช้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ต่อไป.

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนวอนรัฐทบทวนค่าไฟฟ้ารับซื้อ

บุรีรัมย์ 15 ส.ค.-มีความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่ได้รับรางวัลไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด ประจำปีนี้ ที่หวังว่า รมว.พลังงาน จะเปลี่ยนใจทบทวนนโยบายอัตราการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนใหม่ จากเดิมที่ประกาศไว้ 2.40 บาท/หน่วย เหตุผลเพราะอะไร ติดตามจากรายงาน

กองชานอ้อยของแห่งนี้แต่ละปีจะมีกว่า 750,000 ตัน/ปี ทางโรงงานนำไปผลิตเป็นพลังงาน ทั้งนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อต้มไอน้ำในโรงงานน้ำตาลทราย และนำไปผลิตไฟฟ้าตามระบบพลังความร้อนร่วม หรือโคเจนเนอเรชั่น ได้ประโยชน์สูงสุดทั้งลดต้นทุน สร้างความสามารถการแข่งขัน แม้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกจะตกต่ำ รายได้ก็เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้า เกษตรกรก็ได้ประโยชน์

ที่นี่มี 3 โรงไฟฟ้ากำลังผลิตเกือบ 30 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้รัฐ 16 เมกะวัตต์ พร้อมผลิตขายเพิ่มเติม แต่คงขายไม่ได้ หากรัฐรับซื้อค่าไฟฟ้า 2.44 บาท/หน่วย ตามที่ รมว.พลังงาน กำหนดไว้

เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำกากส่าของโรงงานสุรา ที่ช่วยทั้งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลิตพลังงานได้ โดยนำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นพลังงานแก่หม้อไอน้ำในกระบวนการผลิต และใช้ในผลิตไฟฟ้า รวมทั้งยังคิดค้นนวัตกรรม จดสิทธิบัตรเป็นเจ้าแรกของโลก ในระบบผลิตไฟฟ้าจากการเผาน้ำเสีย ซึ่งบ่อเก็บน้ำหมักก๊าซของที่นี่ดูแปลกตา แต่ก็ออกแบบอย่างแข็งแรงป้องกันอุบัติเหตุไม่คาดคิด โดยถึงแม้ว่าเชื้อเพลิงจะมาจากน้ำเสีย แต่ต้นทุนรวมค่าจัดการก็ไม่สามารถขายไฟฟ้าที่ 2.44 บาท/หน่วยได้

รัฐบาลส่งเสริม ต่อยอดใช้พลังงานทดแทนปัจจุบบันมีกำลังผลิตราว 10,000 เมกะวัตต์ โดยนอกจากใช้มาตรการค่าไฟฟ้าแล้ว การจัดประกวด ไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธสนับสนุน จัดมา 19 ปีแล้ว 2 โครงการนี้ได้รับรางวัลประจำปีนี้ และบุรีรัมย์เพาเวอร์ก็ได้รับคัดเลือกร่วมประกวดอาเซียน เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด 2018 ซึ่งจะมีการมอบรางวัลในเดือนตุลาคมที่ประเทศสิงคโปร์

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

“บิ๊กฉัตร"สั่งสทนช. แก้ปัญหาน้ำเบ็ดเสร็จ-สร้างความมั่นคงให้ EEC

รองนายกฯ “ฉัตรชัย” เกาะติดการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ให้ สทนช.เร่งขับเคลื่อน 4 อ่างฯให้แล้วเสร็จตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศมั่นใจแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่จ.จันทบุรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งสามารถผันน้ำส่วนเกินไปสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกปีละ 100 ล้านลบ.ม. ด้าน สทนช.โชว์แผนน้ำ สนับสนุน-ป้องน้ำท่วม EEC

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย (15 ส.ค.61) เนื่องในโอกาสลงพื้นติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ว่า การพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อการเกษตร การผลักดันน้ำเค็ม และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขต จ.จันทบุรี รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC )

ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เต็มศักยภาพนั้น จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 แห่ง คือ 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 99.71 เริ่มเก็บกักน้ำแล้ว จะแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 80.70 ล้านลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้า23% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ และ 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ บ้านบ่อชะอม ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 68.10 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนหัวงาน และเขื่อนปิดช่องเขา มีความก้าวหน้า 44.70% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2563 ส่วนอีก 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากที่สุดในจำนวน 4 แห่งดังกล่าว คือ 99.50 ล้านลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี

“หากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง พร้อมฝายคลองวังโตนดตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้วเสร็จ จะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ไม่ว่า ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ กล้วยไข่ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้านลบ.ม.” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า สทนช.ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุน EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว โดยในระยะแรก (10 ปี) ได้วางเป้าหมายที่จะจัดหาแหล่งน้ำและจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ให้สมดุลกับภาคการเกษตรที่จะเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วยกันทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการป้องกันนํ้าท่วมในพื้นที่สําคัญของ EEC ด้วย โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้

1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีศักยภาพ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำคลองหลวง และ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด รวมแล้วสามารถเก็บกักนํ้าได้เพิ่มอีก 102 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 770 ล้าน ลบ.ม.

2.พัฒนาอ่างเก็บนํ้าแห่งใหม่ ในลุ่มนํ้าคลองวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มนํ้าวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม./ปี และสามารถบริหารจัดการนํ้าเพื่อผันนํ้า ส่วนเกินในฤดูฝนด้วยระบบท่อ คลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ EEC ได้ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี

3.เชื่อมโยงแหล่งนํ้าและระบบผันนํ้า ในระยะ 5 ปี จะทําการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันนํ้าภายในประเทศให้เต็ม ศักยภาพ โดยการปรับปรุงคลองพานทองให้สามารถผันมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระให้ได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่ผันได้ปีละ 30 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาท่อผันนํ้า อ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและรองรับนํ้าต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการผันมาจากลุ่มนน้ำคลองวังโตนด

4.สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บนํ้า เป็นการบริหารจัดการปริมาณนํ้าท้ายอ่างเก็บนํ้าให้สามารถมีนํ้าใช้การได้เพิ่มขึ้นโดยมีแผนงานสูบนํ้าจากคลองสะพานไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้น้ำ 50 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้นํ้า 5 ล้าน ลบ.ม./ปี

5.การป้องกันนํ้าท่วม มีแผนการป้องกันน้ำท่วมเมืองระยอง โดยการก่อสร้างสถานีสูบและท่อระบายนํ้าหลาก จากคลองทับมาสู่ทะเลเพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากคลองทับมา และแผนงานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม อ.พนัสนิคม และอ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยการปรับปรุงคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อ บรรเทานํ้าท่วมพื้นที่ชุมชนและอุตสาหกรรม และ6.แหล่งน้ำสํารองภาคเอกชน บริษัท East Water มีแผนดําเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม โดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา มีความจุรวม 77 ล้าน ลบ.ม.

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้แผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น เราดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นโครงการที่ทำได้ก่อน ทำทันที ทำให้การเก็บกักน้ำบางส่วนเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง รวมไปถึงการหารือร่วมระหว่าง 2 กระทรวง จึงทำให้มีการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ๆ ที่อยู่ในแผน ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสรรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องมีความชัดเจนถึง ปริมาณ ช่วงเวลา และสถานที่ที่จัดสรรน้ำให้ และต้องมีการจัดทำข้อตกลง กฎ กติกา การใช้น้ำร่วมกันผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม”

สำหรับแนวทางดําเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะยาวของพื้นที่ EEC ซึ่งจําเป็นต้องจัดหาปริมาณนํ้าต้นทุนเพิ่มอีกประมาณ 220 ล้านลบ.ม.ต่อปีนั้น สทนช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสมในทุกมิติ และต้องสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตด้วย โดยปัจจุบัน สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวตอนท้าย

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เร่งพร่องน้ำ 5 เขื่อนใหญ่ รับพายุเบบินคา

ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 17 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 เรื่อง “พายุโซน ร้อนเบบินคา” ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้ อ่าวไทย และภาคตะวันออกมีกำลังแรงขึ้น จะส่งผลให้ เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่มได้ในระหว่างวันที่ 14-19 สิงหาคม 2561 นั้น

เนื่องจาก อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ด้านตะวันตก ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก หลายแห่งมีปริมาณน้ำในอ่างมากกว่าร้อยละ 80 ของ ความจุและเต็มอ่าง โดยเฉพาะเขื่อนวชิรลงกรณ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคิรีธาร เขื่อนแก่งกระจาน จึงอาจส่งผลกระทบให้น้ำไหลล้นข้ามทางระบายน้ำล้นของเขื่อนและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่มีอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่ม โดยให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร รวมถึงประกาศแจ้ง เตือนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้รับทราบต่อไป

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เงินบาทอ่อนค่า 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังค่าเงินยูโรอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 13 เดือน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 33.265 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดการเงินของสหรัฐฯ ที่ดูแข็งแกร่งกว่าที่อื่น ๆ ยังคงดึงดูดให้ตลาดยังคงเข้ามาถือดอลลาร์มากขึ้น ทำให้ล่าสุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินปอนด์อังกฤษที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากกระแสข่าวว่าการเจรจา Brexit รอบล่าสุดที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ อาจไม่เป็นไปตามแผนและนำไปสู่ No deal Brexit

สำหรับในวันนี้ ตลาดมองว่า หากอัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับ 2.5% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษที่ 2% ทำให้ยังมีโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งในช่วงปลายปี นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาดูตัวเลขค้าปลีก (Retail sales) ของสหรัฐฯ รวมทั้งดัชนีการผลิตในรัฐนิวยอร์ก (NY Empire State manufacturing index) ว่าจะสามารถหนุนภาพการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้หรือไม่ มองเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มที่จะแกว่ง ตัวในช่วงกรอบ 33.25-33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รมว.เกษตรฯผุดไอเดียชงลดใช้ 3สารพิษกำจัดวัชพืช

"กฤษฏา” ชงแนวทางลดใช้ 3 สารพิษเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย อึดอัดใจจะเพิกถอนทันทีไม่ได้เพราะมีกฎหมายประกาศใช้ ดึงเอ็นจีโอ-นักวิชาการ ช่วยทำความเข้าใจเกษตรกร                

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระทรวงเกษตรฯมีมติลดการใช้ 3 สารพิษ ที่ใช้กำจัดวัชพืชดังนี้ 1.จากเดิมอนุญาตสารพาราควอน นำเข้าปีละ4-5 หมื่นตัน ลดลงเหลือปีละ1.4-1.6 หมื่นตัน 2.ผู้ที่จะใช้พาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ใช้ผ่านการอบรมจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นต่อไปใครจะใช้ต้องมีใบอนุญาต 3.มีการตรวจสอบว่าที่ไหนไม่มีใบอนุญาตแล้วลักลอบใช้จะมีบทลงโทษ ทั้งหมดได้เสนอนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะอนุมัติหรือไม่

"กระทรวงเกษตรฯเสนอไป โดยศึกษาดูจากสหภาพยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้เลิกใช้สาร 3 ตัวนี้ และเห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุข ทุกอย่างที่จะแบนสารเหล่านี้ โดยพร้อมปฎิบัติตาม ถ้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นด้วย แต่ทั้งนี้ จู่ๆจะเพิกถอนเลยไม่ได้ เพราะมีกฎหมายประกาศใช้ ซึ่งผมรู้สึกอึดอัดใจเหมือนกัน อยากส่งเสริมให้ใช้เกษตรอินทรีย์ วัตถุธรรมชาติปลอดภัยเพื่อใช้กำจัดวัชพืช และอยากให้เอ็นจีโอ นักวิชาการทั้งหลาย ร่วมกันรณรงค์ให้เห็นผลอย่างกว้างขวางเพราะขณะนี้ยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจให้เกษตรกร ได้เห็นถึงผลเสียของการใช้ 3 สารได้เลย"รมว.เกษตรฯกล่าว

จาก https://www.dailynews.co.th    วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ลุยนโยบายปุ๋ยสั่งตัด!! ยืนยันเห็นผลจริงหากใช้ปุ๋ยตามค่าดิน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้านโยบายปุ๋ยสั่งตัด พร้อมยืนยันเห็นผลจริงหากใช้ปุ๋ยตามค่าดิน

จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเกษตรประชารัฐ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผ่าน 2 โครงการ หนึ่งในนั้นคือ โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” เพื่อเป็นกลไกที่จะปฏิรูปการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสม ตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูงขึ้น ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกพืชส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน และชนิดพืช หลายรายใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทรวงเกษตรฯจึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยผนึกกำลังร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อนขยายผล “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2561-2563) โครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรแจ้งความจำนงและสนใจที่จะเข้าโครงการฯแล้วกว่า 202 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 500 แห่ง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งขยายผลโครงการฯอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการข้อมูลชุดดิน การใช้แผ่นที่ดิน การวิเคราะห์ดินแก่สมาชิก การเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจ การใช้ชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (Test Kit) และการส่งโมบายยูนิต (Mobile unit) ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการให้บริการผสมปุ๋ยและสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เป็นต้น

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้จัดหาปุ๋ยสั่งตัดโดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย มาให้บริการผสมปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพดินหรือชุดดินของแต่ละพื้นที่ พร้อมส่งจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในราคาย่อมเยา เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรที่มีความตื่นตัวและสนใจหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพิ่มมากขึ้น คาดว่า ในปี 2562 โครงการฯ จะเดินหน้าได้เต็มรูปแบบและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

นางสาวดุจเดือน กล่าวว่า ซึ่งความคืบหน้า ณ ขณะนี้ได้มีการดำเนินการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย โดยในปี 2561 นี้ ได้ดำเนินการจัดอบรมด้วยกันทั้งหมด 6 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 จัดที่จังหวัดแพร่ รุ่นที่ 2 ที่จังหวัดปทุมธานี รุ่นที่ 3 ที่จังหวัดขอนแก่น รุ่นที่ 4 ที่จังหวัดนครราชสีมา รุ่นที่ 5 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรุ่นที่ 6 ที่จังหวัดสงขลา โดยหลักสูตรในการอบรม ประกอบด้วย การขับเคลื่อนโครงการผ่านสถาบันเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ การแปลผลข้อมูลดินและการใช้แผนที่ดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน การให้บริการปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพในสถาบันเกษตรกร โดยกรมวิชาการเกษตร บรรยายการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รู้จักดิน ปุ๋ย และการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง โดยทีมปุ๋ยสั่งตัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติการตรวจ pH และ N P K ในดินแบบรวดเร็ว การแปลผลค่าวิเคราะห์และแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยทีมปุ๋ยสั่งตัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) กรมส่งเสริมการเกษตร

“โครงการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้เหมาะสม เน้นให้เกษตรกรหันมาใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือชุดดิน และตรงตามความต้องการธาตุอาหารของพืช สามารถช่วยแต่งเติมการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังได้ปุ๋ยที่มีอาหารพืชเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเกษตรกรต้องมีการวิเคราะห์ดินรายแปลงเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับดินและตรงชนิดพืช อนาคตคาดว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ กระสอบละ 100-300 บาท หรือตันละ 3,000-4,000 บาท หรือไม่น้อยกว่า 500 บาท/ไร่ และยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นด้วย”นางสาวดุจเดือน กล่าว

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ก.อุตฯ เตรียมให้สิทธิภาษีจูงใจ รง.เข้าโครงการอุตฯ สีเขียว

ก.อุตฯ เตรียมจูงใจโรงงานเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ

นายบรรจง สุกรีธา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุสาหกรรม โดย กรอ.มีแผนรณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวหรือ Green Industry เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ล่าสุด กรอ.อยู่ระหว่างเตรียมการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์หลังเข้าร่วมโครงการ รวมถึงการมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางแผนและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ เพื่อนำไปใช้ในอนาคตต่อไป และยังมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด การกำจัดของเสียและมลพิษ เป็นต้น และวันนี้ (15 ส.ค.)  ได้จัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry แก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการประเมินเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 4 และระดับ 5 จำนวน 107 ราย จากโรงงานที่ผ่านการประเมินปีนี้รวมทั้งสิ้น 2,299 โรงงาน โดยมีนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้มอบรางวัล

สำหรับโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวเริ่มต้นปี 2554 จนถึงปัจจุบันรวม 8 ปี มีโรงงานสมัครเข้าร่วมโครงการ และมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว 33,757 โรงงาน ซึ่งแต่ละปีมีโรงงานอุตสาหกรรมผ่านการประเมินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละกว่าร้อยละ 20  แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ ทาง กรอ.จึงเตรียมนำ “ระบบสารสนเทศสีเขียว” ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศรูปแบบใหม่ช่วยลดขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารมากขึ้น และยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสืบค้นข้อมูลสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวระดับต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนเพื่อสมัครหรือต่ออายุใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวอีกด้วย

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว แบ่งเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 1-5  ระดับที่ 1 Green Commitment  (ความมุ่งมั่นสีเขียว) คือ ระดับที่องค์กรมีความมุ่งมั่นจะพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานประกอบการอุตสาหกรรมสีเขียว ก็ให้องค์กรเขียนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการประกาศให้คนในองค์กรได้รับทราบพร้อม ๆ กัน รวมทั้งมีแผนหรือแนวทางในการปรับตัวขององค์กรที่จะมุ่งสู่เป้าหมายด้วย  ระดับ 2 Green Activity  (ปฏิบัติการสีเขียว) คือ การแปลงแผนในขั้นตอนที่ 1 ไปสู่การปฏิบัติ ทำให้เป็นรูปธรรม มีตัวชี้วัด สามารถวัดผลได้ เช่น เขาเขียนแผนว่าปีนี้จะทำเรื่องของกระบวนการ 3Rs และจะเน้นในเรื่องของ R ตัวแรก คือ Reduce ลดการใช้น้ำ พลังงาน กระดาษ  ระดับ 3 Green System (ระบบสีเขียว) เป็นระดับที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยมีความมุ่งหมายคือ ทำทุกอย่างให้เป็นระบบจะมี ISO 14001 มาเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานประกอบการ เมื่อสถานประกอบการผ่านเกณฑ์การประเมินตาม ISO 14001 

ระดับ 4 Green Culture (วัฒนธรรมสีเขียว) คือ การพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปอีก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานทุกคนในองค์กร ต้องรู้นโยบาย และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน มีทัศนคติเหมือนกัน โดยมี ISO 26000  และระดับ 5 Green Network (เครือข่ายสีเขียว) เป็นระดับเข้มข้นสูงสุด คือ เมื่อองค์กรมีความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ก็ต้องดำเนินการส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวไปยัง Supplier ของตัวเอง อย่างน้อยให้ Supplier ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับ 2 ขึ้นไป ดังนั้น จะกลายเป็นเขียวไปทั้งเครือข่าย

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

‘ชาวร่องฟอง’เดินหน้าค้าโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 2 เวทีประชาพิจารณ์-บริษัทยันเดินหน้าต่อ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 สิงหาคม ชาวบ้านในตำบลร่องฟอง และพันธมิตร 12 ตำบลคัดค้านตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท พีเอสทีเอนเนอร์ยี่จำกัด รวมตัวกันที่หอประชุมโรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา ตำบลบ้านถิ่นอำเภอเมืองจังหวัดแพร่ เพื่อคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำป้ายคัดค้าน เข้าติดในบริเวณหน้าที่ประชุม และกล่าวปราศรัย ถึงสาเหตุของการคัดค้าน โดยชาวตำบลร่องฟองไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว ตั้งในพื้นที่ที่ทางกลุ่มทุนได้กำหนดไว้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนของตำบลร่องฟอง เพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้พยายามขอเข้าร่วม เวทีประชาพิจารณ์ แต่ก็ได้รับการขัดขวาง จากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าร่วม ซึ่งการขัดขวางดังกล่าว ยังส่งผลไปถึงชาวตำบลบ้านถิ่นที่ขอเข้าร่วมแต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมจนปัญหาเกือบบานปลายถึงขนาดจลาจล แต่ทางเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย

นายสุวิทย์ สิงหจันทร์ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทเพาเวอร์โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของโรงไฟฟ้าชีวมวล พีเอสทีเอนเนอจี 1 ได้กล่าวเปิดการฟังประชาพิจารณ์ และให้ข้อเสนอต่อที่ประชุม ถึงทางเลือกการใช้ไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย จากนั้นเจ้าหน้าที่ ฝ่ายต่างๆได้ขึ้นชี้แจง ถึงการจัดตั้งโรงงาน การดูแลสิ่งแวดล้อม เส้นทางการขนส่ง ตลอดจนการจัดการชีวมวลในจังหวัดแพร่ให้มี ไม้ฟืนใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน วันละ 700 ตัน

ในเวทีประชาพิจารณ์ดังกล่าว ไม่มีเสียง ตอบรับของประชาชน เนื่องจากผู้ที่เข้า รับฟังประชาพิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีเพียงกลุ่มพันธมิตรบ้านร่องฟองที่ขึ้นมาสอบถาม และตั้งข้อสังเกต ปัญหาที่จะเกิดกับ โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ ซึ่งทางบริษัทได้รับข้อเสนอแต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเวทีดังกล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น.วันเดียวกันชาวตำบลร่องฟองและพันธมิตร 12 ตำบลคัดค้านตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท pst เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เข้าชุมนุมที่อาคารอเนกประสงค์ตำบลสวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีประชาพิจารณ์ของตำบลสวนเขื่อน มีการใช้เครื่องกระจายเสียงประกาศถึงความไม่ชอบมาพากลและการเฝ้าระวังเรื่องของมลภาวะหลังสร้างโรงไฟฟ้าให้ชาวตำบลสวนเขื่อนได้รับฟังซึ่งมีชาวบ้านในตำบลสวนเขื่อนจำนวนมากที่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ประท้วง หลายคนเดินทางกลับไม่เข้าร่วมฟังประชาพิจารณ์มีบางส่วนเท่านั้นที่ยังคงรอฟังประชาพิจารณ์ ในขณะเดียวกันชาวตำบลร่องฟองที่เดินทางมาประท้วง ได้ชุมนุมอยู่บริเวณหน้าห้องประชุมทำให้ไม่สามารถลงทะเบียน เข้าประชุมได้ เหตุการณ์ตึงเครียดขึ้นทุกขณะเวลาได้ผ่านไปราว 30 นาทีพันเอกเชิดพงษ์ ช่วยบำรุง ผบ.ม.พัน 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์อำเภอเด่นชัยได้เดินทางมาที่ มีการชุมนุมพร้อมด้วย นายทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอเมืองแพร่ และนายนิกร ยะกระจาย ป้องกันจังหวัดแพร่ เดินทางไปในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ส่งเข้าไปสังเกตการณ์ เกรงว่าจะเกิดอันตราย ถึงขนาดต้องใช้กำลัง จะไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ในที่สุดการเจรจา ก็ได้ทางออก เนื่องจากผู้ชุมนุมประท้วง ไม่คิดขัดขวางการทำประชาพิจารณ์เพียงนั่งอยู่หน้าห้องประชุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์การคัดค้านเท่านั้น ในที่สุดกลุ่มผู้ทำประชาพิจารณ์ได้เปิดห้องประชุมทั้งหมดให้ทุกฝ่ายได้เข้าฟังประพิจารย์ร่วมกัน

จากการชุมนุมทำให้การทำประชาพิจารย์ล่าช้าไปกว่า 30นาที นายสุวิทย์ สิงหจันทร์ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัทเพาเวอร์โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ได้เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ทั้ง 2 เวที ได้กล่าวว่า โครงการ โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ บริษัทได้ประมูล มาจากรัฐบาล กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอน การรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคงไม่มีปัญหา แม้ว่าชาวร่องฟอง จะออกมาประท้วงแต่เชื่อว่าเมื่อทำความเข้าใจ ก็จะ เลิกคัดค้าน ภายในที่สุด และคงเป็นไปตามแผน การจัดตั้ง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 28.5 เมกะวัตต์ แห่งนี้ได้สำเร็จ สาเหตุที่ต้องใช้บริเวณดังกล่าวเนื่องจากอยู่ใกล้กับสายส่งไฟแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่เดินสายมาจากโรงไฟฟ้าหงสา ประเทศ สปป.ลาว ไปยังโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง เป็นโอกาสที่ดีของจังหวัดแพร่ที่มีสายส่งขนาดใหญ่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าที่มีพลังงานสูงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำประชาพิจารณ์เริ่ม เห็นกระแสของการต่อต้าน รุนแรงขึ้นทุกขณะ สาเหตุมาจากประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการ วางแผนนโยบาย และการทำประชาพิจารณ์ ในรอบแรกพบว่ามีการทำประชาพิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรมโดยผู้ รายงานโครงการ ให้น้ำหนักกับผู้ประกอบการ มากกว่าการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และประชาชนที่เข้ามา ฟังประชาพิจารณ์ ยังไม่ เกิดความรู้ความเข้าใจ ในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล อย่างแท้จริง จึงมีเพียง ผู้ต่อต้าน โรงไฟฟ้าออกมาแสดงความคิดเห็น โดยไม่มี ชาวบ้านที่เห็นชอบจัดตั้งโรงไฟฟ้าเลยแม้แต่รายเดียว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พณ.มั่นใจไทยฮับโลจิสติกส์อาเซียน จัดงานเชื่อมค้าโลก

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมกับรี้ด เทรดเด็กซ์ จัดงาน TILOG–LOGISTIX 2018 ระหว่างวันที่  29 – 31  สิงหาคมนี้ ที่ไบเทค กรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีบูรณาการส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจการค้าโลจิสติกส์ไทยในการเป็นศูนย์กลางแห่งภูมิภาคอาเซียน นำผู้แสดงสินค้ากว่า 415  แบรนด์ จาก 25 ประเทศ จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชั่นและบริการด้านโลจิสติกส์ พร้อมกิจกรรมเพิ่มองค์ความรู้ และสัมมนาระดับนานาชาติ ปีนี้เพิ่มการเน้นการโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตโดยใช้กระบวนการโลจิสติกส์เข้ามาบริหารจัดการ อาทิ การเก็บรักษา/ยืดอายุสินค้า บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น  คาดผู้เข้าชมงานกว่า 11,000 ราย  และมีเป้ามูลค่าเจรจาธุรกิจจากการจัดงานกว่า 600 ล้านบาท สูงกว่าการจัดงานปีก่อนที่ 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ สร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี  จ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ โลจิสติกส์ ให้มีประสิทธิภาพสูง และกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) กล่าววว่า ทิศทางภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง และไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ (LPI) โดยธนาคารโลก  ปีนี้เลื่อนอันดับประเทศไทยอยู่ที่ 32 จาก 160 ประเทศ และถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน และอันดับ 7 ในเอเชีย สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยต่อจีดีพี ปี 2564 เท่ากับ 12%

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

“น้ำตาลบุรีรัมย์”ทุ่มพันล้าน ต่อยอดธุรกิจชีวภาพ

ธุรกิจน้ำตาลขยับจากการแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้นขึ้นไปสู่การนำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจเพิ่มขึ้นและเป็นทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของไทยที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในขณะนี้บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ มีแผนที่จะต่อยอดจากอุตสาหกรรมน้ำตาลไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพลงทุนรวมกว่า 1,000 ล้านบาท สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล โดยจะมีทั้งการนำวัสดุเหลือทิ้งไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าสูงและนำน้ำตาลไปผลิตเป็นสินค้าชีวภาพ

ในส่วนของการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งไปผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงนั้น บริษัทใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย คาดจะใช้วัตถุดิบชานอ้อยปีละ 3-4 หมื่นตัน สินค้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป หรืออียู ที่มีกระแสลดปริมาณขยะพลาสติกสูงมากและคาดว่าจะรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 ในเบื้องต้นคาดว่ารายได้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเพราะผลิตวัตถุดิบได้เองต้นทุนจึงต่ำ เป็นจุดแข็งเมื่อเทียบกับโรงงานคู่แข่งที่ต้องซื้อวัตถุดิบมาผลิต

“ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน วงเงิน 100 ล้านบาท ในการผลิตน้ำตาลทราย สามารถหีบอ้อยได้มากขึ้น และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงกากอ้อยได้อีกด้วย และทำให้มีชานอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนตัน เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบโรงงานบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว”

สำหรับการนำน้ำตาลมาต่อยอดในอุตสาหกรรมชีวภาพนั้น บริษัทได้ลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท ปรับปรุงโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบหลักในการต่อยอดทำวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนการต่อยอดไปสู่พลาสติกชีวภาพนี้จะชัดเจนภายใน 1-2 ปี โดยต้องรอให้โครงการลงทุนต่างๆ นิ่งก่อน และรอดูความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลไทยด้วย

“ในระยะยาวจะนำวัสดุที่เหลือทิ้งต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ให้ได้ทั้งหมด และต่อยอดนำน้ำตาลไปผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอชีวภาพต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น พลาสติกชีวภาพ อาหารและเคมีชีวภาพเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลก  โดยจะพยายามลดสัดส่วนรายได้จากน้ำตาลให้ต่ำกว่า 50% โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากน้ำตาลประมาณ 60% จากโรงไฟฟ้า 19% ปุ๋ย 13% และอื่นๆ อีก 8% โดยสัดส่วนรายได้จากน้ำตาลจะเปลี่ยนไปตามราคาตลาดโลก”

ส่วนมาตรการส่งเสริมด้านการเกษตร 4.0 ของรัฐบาล ไม่ควรทำเป็นแปลงใหญ่แต่สนับสนุนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เกษตรที่ส่วนใหญ่เป็นแปลงเล็ก แต่จัดระบบชลประทานให้ทั่วถึง ปลูกในช่วงที่ให้ผลผลิตสูงที่สุด ให้ความรู้ในการดูแลรักษา ไอทีเครื่องจักรที่ไม่ใหญ่มาก และข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ อย่างอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ก็เพราะเป็นแปลงเล็ก ต้นทุนการใช้เครื่องมือต่างๆ ถูกกว่าทำให้มีต้นทุนน้ำตาลที่สู้ได้ และการทำเกษตรแปลงเล็กก็มีความยึดหยุ่นมากว่าแปลงใหญ่ ซึ่งหากไทยตั้งเป้าที่จะทำการเกษตรแปลงใหญ่ ก็เป็นโจทย์ที่ผิด ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาผิดไปหมด

“การถือครองที่ดินของเกษตรกรไทยขนาดเล็กเฉลี่ยแปลงละ 20 กว่าไร่ จึงต้องเอาโจทย์นี้ขึ้นมาตั้งก่อน และนำเครื่องจักรขนาดเล็กเข้ามาช่วยลดต้นทุนผลิต ซึ่งเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มแชร์การใช้เครื่องจักทางการเกษตร เช่น รถไถ รถบรรทุก  เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องเก็บเกี่ยว วางลำดับการเพาะปลูก เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรต่างๆ สูงสุด และใช้ข้อมูลทางไอทีมาใช้ในการวางแผนเพาะปลูก พัฒนาพันธุ์พืชและเครื่องจักรที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ส่วนราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมาพอสมควรเพราะรัฐบาลอินเดียและปากีสถาน อุดหนุนการส่งออกน้ำตาล ซึ่งขณะนี้ประเทศบราซิลที่ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 และไทยที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก และออสเตรเลียร่วมกันฟ้ององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แล้ว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เล็งชงกก.ยุทธศาสตร์ชาติ ‘แบน’3สารพิษ จี้ก.เกษตรฯชี้แจงเหตุผลยังไม่เลิกใช้ทั้งที่วิชาการยันชัด

กก.ปฏิรูปสาธารณสุขยับค้านใช้ 3 สารเคมีมีพิษในระบบเกษตรกรรม จี้ก.เกษตรฯแจงเหตุไม่ประกาศเลิกใช้ เล็งชงกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตัดสิน เผยข้อมูลวิชาการระบุชัดกระทบความปลอดภัยอาหาร-การเกษตร

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แถลงหลังประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่า คณะกรรมการฯหารือเรื่องอาหารปลอดภัยที่จะดำเนินการ 2 เรื่องคือ ผักปลอดสารพิษและสารพิษ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งภาคประชาชนและนักวิชาการเสนอให้ยกเลิกใช้สารเคมีมีพิษ 2 ตัวคือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้สารเคมีพิษ 1 ตัวคือ ไกลโฟเสต เพราะมีข้อมูลวิชาการยืนยันชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังมีมติให้ใช้สารเคมีเหล่านี้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขได้หารือกันต่อเนื่อง และยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว

นพ.เสรีกล่าวต่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปฯสนับสนุนการใช้การเกษตรปลอดภัย และไม่เห็นด้วยกับการใช้สารพิษในระบบเกษตรกรรม เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนสัมผัสสารพิษ ดังนั้น จะประสานกระทรวงเกษตรฯว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะกระทรวงสาธารณสุขชัดเจนว่าสารเคมีส่งผลต่อสุขภาพ และรมว.สาธารณสุข ก็สนับสนุนข้อมูลนี้ ถ้าคิดเห็นไม่ตรงกันต้องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ตัดสิน

“นอกจากนี้ สัปดาห์หน้า จะประสานคณะกรรมการปฏิรูปอีก 2 คณะคือ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หารือขอความคิดเห็นเรื่องนี้ และอความคิดเห็นระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่ยังแตกต่างกัน โดยเตรียมนำเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตัดสินใจว่าสมควรใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่”นพ.เสรีกล่าว

ด้านนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ทำสมุดปกขาวเป็นรายงานวิชาการชัดเจนว่าการปนเปื้อนของสารเคมี ทั้ง 3 ชนิด ส่งผลกระทบต่อหญิงตั้งครรภ์ ที่อยู่ในพื้นที่เกษตร เด็กทารกได้รับสารไกลโฟเซตในศรีลังกา มีต่อสติปัญญาความเฉลียวฉลาด เนื้อสมอง บุคลิกภาพและยังมีผลให้เกิดไตวาย และนำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ก่อนมีมติให้ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต่อ ทั้งนี้ จากข้อมูลนำเข้าสารเคมีพบว่า ขณะนี้มีการนำเข้า ไกลโฟเซต 60 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น ร้อยละ 30 ของสารเคมีพิษเข้าในไทย ส่วนพาราควอตนำเข้า 45.5 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 22.5 ส่วนคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงเข้ามา 3.3 ล้านกิโลกรัม

ขณะที่นายพานิชย์ เจริญเผ่า กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขกล่าวว่า ไม่ควรมีเหตุผลด้านไหนมาค้านเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารได้ ซึ่งอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุถ้ามีข้อมูลวิชาการยืนยันชัดเจนสามารถยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ได้ จึงไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงไม่ยกเลิก อย่าง จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชายกเลิกหมดแล้ว ซึ่งการปล่อยให้คนในประเทศป่วย ยิ่งเพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาล เห็นได้จากทุกปีต้องของบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มตลอด

จาก www.naewna.com วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ราคามันสำปะหลังดิ่ง!!! รง.เอทานอลจุกหยุดผลิตเพียบ

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง กล่าวว่า ขณะนี้การใช้เอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 4.2 ล้านลิตรต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนลิตรต่อวันเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2560 ซึ่งเป็นการเติบโตตามการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามการใช้ยังคงต่ำกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ถึง 6.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยภาพรวมการใช้เอทานอลระยะสั้นปีนี้คงไม่เติบโตมากนักแต่ระยะกลางและระยะยาว10-15ปีข้างหน้าคาดว่าการใช้อยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 7-8 ล้านลิตรต่อวัน

“ตามเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-79 (เออีดีพี2015) เดิมในปี 2579 กำหนดการใช้เอทานอลไว้ 11.30 ล้านลิตรต่อวัน แต่ล่าสุดรัฐกำลังปรับแผนใหม่เบื้องต้นจะลดลงเหลือ 7-8 ล้านลิตรต่อวัน แต่ตัวเลขนี้ก็ยังไม่แน่ชัดต้องรอสรุปจากภาครัฐ”นายเดชพนต์กล่าว

นายเดชพนต์กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตเอทานอลจากโรงงานมันสำปะหลังที่มีอยู่ 9 แห่งได้หยุดเดินเครื่องกำลังการผลิตลงเหลือเพียง 2-3 แห่งเท่านั้นเนื่องจากระดับราคามันสำปะหลังฤดูการผลิตปี 2560/61 ลดลงส่งผลให้ราคามันเส้นขยับมาอยู่ที่ 7-7.30 บาทต่อกก. มันสดอยู่ที่ 2.80-3 บาทต่อกก. เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของโรงงานที่ใช้กากน้ำตาล(โมลาส)เป็นวัตถุดิบที่ปีนี้ราคาต่ำจึงไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ภาพรวมยังไม่มีผลกระทบต่อปริมาณเอทานอลโดยรวม

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กก.ปฏิรูปสธ.หาข้อยุติก.เกษตรฯแบน “สารเคมี 3 ชนิด” ก่อนชงทีมยุทธศาสตร์ชาติตัดสิน

ความคืบหน้าภายหลัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เตรียมเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในวันที่ 14 สิงหาคม ถึงการหาทางออกภายหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ทั้งที่มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ว่ากรณีของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนั้น ก่อนหน้านี้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งภาคประชาชนและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยได้มีการรวบรวมข้อมูลอันตรายของสารเคมีดังกล่าว โดยได้ข้อสรุปว่าต้องแบนสารเคมี 2 ชนิด ส่วนอีกชนิด คือไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ไปก่อน อย่างไรก็ตาม แต่ข้อมูล ณ ปัจจุบันพบว่าไกลโฟเซตก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพเช่นกัน ก็จำเป็นต้องอิงตามข้อมูลทางวิชาการที่เป็นจริงด้วย เพราะครั้งก่อนยังไม่ได้ข้อมูลใหม่จึงให้จำกัดการใช้

“สำหรับการประชุมคณะกรรมการปฏิรูป เราสนับสนุนการใช้การเกษตรปลอดภัย และเราไม่เห็นด้วยกับการใช้สารพิษในระบบเกษตรกรรม เพราะในฐานะที่เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เราต้องดูแลประชาชน และไม่อยากให้ประชาชนไปสัมผัสสารพิษ” นพ.เสรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไปแล้ว ทางคณะกรรมการปฏิรูปจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันเรื่องนี้หรือไม่ นพ.เสรีกล่าวว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขชัดเจนแล้วว่า สารเคมีส่งผลต่อสุขภาพ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็สนับสนุนข้อมูลนี้ แต่เราจะประสานไปกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในลักษณะการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป เพราะเรื่องความปลอดภัยของอาหารอยู่ในแผนการปฏิรูปของประเทศ ว่ากระทรวงเกษตรคิดเห็นอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นอกจากนี้เราจะประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปอีก 2 คณะ คือด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเชิญหารือเพื่อขอความคิดเห็นเรื่องนี้ประมาณสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่าหากสุดท้ายยังให้ใช้สารเคมี 3 ชนิดต่อไปจะขัดต่อการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูป หรือขัดต่อกฎหมายหรือไม่ นพ.เสรีกล่าวว่า ขอหารือกับทางกระทรวงเกษตรก่อนว่าคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร ถ้าคิดเห็นไม่ตรงกัน ต้องให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งการกระทรวงเกษตรยังไม่แบนการใช้ต้องมีคำตอบว่าเพราะอะไร ต้องมีเหตุผล

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีสมุดปกขาวมอบให้ทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนมีมติวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งรวบรวมผลกระทบทั้งในและต่างประเทศ โดยพบว่ามีการปนเปื้อนของสารพิษทั้ง 3 ชนิดทั้งในพืชผักผลไม้ และเนื้อปลา ทั้งหมดมีการปนเปื้อน และส่งผลต่อสุขภาพ อย่างไกลโฟเซตมีข้อมูลว่า แม่ที่อยู่ในพื้นที่เกษตรกรพบว่าเด็กทารกได้รับสารพิษจากไกลโฟเซตด้วย และในศรีลังกาก็พบว่าสารนี้ทำให้เกิดไตวาย และยังมีผลต่อสมอง กระทบต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเบาหวานด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ ขณะนี้ไกลโฟเซตมีการนำเข้ามา 60 ล้านกิโลกรัม เทียบได้เท่ากับร้อยละ 30 ของสารเคมีพิษเข้าในประเทศไทย ส่วนพาราควอตนำเข้า 45.5 ล้านกิโลกรัม หรือร้อยละ 22.5 ส่วนคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงเข้ามา 3.3 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะมากหากเทียบกับยาฆ่าแมลงตัวอื่นๆ แต่ขณะที่หลากหลายประเทศสั่งห้ามใช้แล้ว ล่าสุดสหรัฐก็สั่งห้ามเช่นกัน

นายพานิชย์ เจริญเผ่า กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อเหตุผลทางด้านสุขภาพชัดเจน ก็ไม่ควรมีเหตุผลด้านไหนมาค้านเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารได้ ซึ่งอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรสามารถยกเลิกได้หากมีข้อมูลวิชาการยืนยันชัดเจน จึงไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงไม่ยกเลิก อย่างจีน ลาว เวียดนาม ทั้งหมดยกเลิกหมดแล้ว ซึ่งการปล่อยให้คนในประเทศป่วย ก็จะยิ่งเพิ่มภาระค่ารักษาพยาบาล เห็นได้จากทุกปีก็ต้องของบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มตลอด

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 สิงหาคม 2561

สทนช.สั่งเฝ้าระวัง"เบบินคา" จัดทำแผนการระบายน้ำ –ลดความเสี่ยง

สทนช. ระดมมันสมองประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สร้างความเป็นเอกภาพในการวิเคราะห์ สรุปข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมสั่งเฝ้าระวัง พายุโซนร้อน "เบบินคา" ที่มีผลทำให้ฝนตกหนัก 14-19 ส.ค. นี้ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและกำหนดแผนรับมือพื้นที่เฝ้าระวัง-พื้นที่วิกฤติ จัดทำแผนการระบายน้ำ ลดความเสี่ยงอุทกภัย สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (14 ส.ค. 61) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 4/2561 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน ว่า ที่ประชุมได้มีการสรุปผลและกำหนดทิศทางการดำเนินงานของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ภายหลังจากการจัดตั้งศูนย์ฯขึ้นมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 เพื่ออำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้ม ควบคุม กำกับดูแล และ บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ โดยมีมติให้ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่ประจำศูนย์ฯ ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ผลและร่วมกันสรุปให้ได้ข้อมูลชุดเดียวในการบริหารจัดการน้ำ และใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนหรือช่องทางของหน่วยงานต่างๆให้ประชาชนรับทราบทันต่อสถานการณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่วิกฤติ พร้อมทั้งจะมีการคาดการณ์ปริมาณฝน ล่วงหน้า 3 วัน เพื่อระบุพื้นที่ฝนตกหนักระดับอำเภอ รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้แก่ ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น และจัดทำแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ จัดทำมาตรการเตรียมความพร้อมลดความเสี่ยงอุทกภัย กรณีการระบายน้ำฉุกเฉินของอ่างเก็บน้ำและกรณีเขื่อนวิกฤติ ตลอดจนสำรวจความแข็งแรงของเขื่อน และสร้างการรับรู้ภาคประชาชนต่อเนื่อง

ส่วนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และมีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนนั้น ๆ เฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดและบริหารจัดการน้ำเพื่อรับน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้น โดยให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ แผนระบายน้ำเช่นเดียวกันกับกรณีของเขื่อนแก่งกระจาน โดยทั้งนี้ขอให้มีการรายงานสถานการณ์น้ำแยกเป็น รายวัน กรณีปกติ ราย 3 ชั่วโมง กรณีเกินเกณฑ์ระดับควบคุมอ่างเก็บน้ำ รายชั่วโมง กรณีน้ำล้นทางระบายน้ำล้น รวมทั้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำได้แก่ ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น แผนการระบายน้ำ อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่มาประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้สรุปสถานการณ์น้ำล่าสุดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งของประเทศจีนตอนใต้ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "เบบินคา" (BEBINCA) คาดว่า จะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 15-16 สิงหาคม 2561 จะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 4 เมตร

จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน และในแม่น้ำสายสำคัญในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคกลางและใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก ส่วนแม่น้ำโขง แม้ขณะนี้จะมีระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแต่ก็จะเพิ่มขึ้นได้หากไม่ฝนตกหนัก ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามในส่วนของลุ่มน้ำเพชรบุรี จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจาน และไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีแนวโน้มลดลงตามการระบายน้ำจากเขื่อน

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ยังคงเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 3 แห่งที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ คือ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100%

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสำคัญ ๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญลำน้ำสายหลักเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่ฝนตกน้อยส่งผลให้แม่น้ำมูลตอนบนมีระดับน้ำต่ำ สำหรับภาคกลางและภาคใต้มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก ด้านแม่น้ำโขง ขณะนี้มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง เนื่องจากปริมาณน้ำจากประเทศลาวไหลลงแม่น้ำโขงลดลง แต่มีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "เบบินคา" สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แม่น้ำกระบุรี บริเวณ อ.กระบุรี อ.ละอุ่น และ อ.เมืองระนอง จังหวัดระนอง แม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และพื้นที่เฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 14 สิงหาคม 2561

สภาอุตฯ เกาะติดสถานการณ์ตุรกี หวั่นกระทบค่าเงินในตลาดโลกเป็นลูกโซ่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนรู้สึกกังวล และอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากเกิดเหตุการณ์ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก-นำเข้า เนื่องจากการเคลื่อนค่าเงินของตุรกี จะกระทบค่าเงินโดยรวมในตลาดโลกเป็นลูกโซ่ ส่วนหนึ่งเป็นคู่ค้ากับประเทศไทยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มยุโรป อินโดนีเซีย สหรัฐฯ จึงต้องติดตาม เพื่อรองรับสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ค่าเงินบาทอาจกระทบสั้นๆ เพราะสถานะการเงินของไทย ค่อนข้างแข็งแกร่ง

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นประเมินวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกียังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ตุรกีมีความเชื่อมโยงกันน้อย โดยปี 2560 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปตุรกี 1,254 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของมูลค่าการส่งออกของทั้งปีที่ผ่านมา นำเข้าจากตุรกี 250 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ครึ่งแรกของปีนี้ไทยส่งออกไปตุรกี 644 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากตุรกี 157 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมไทย

“ต้องยอมรับว่าวิกฤตการเงินตุรกีอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในระยะสั้น โดยเฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีความเชื่อมโยงกันทุกมิติ แต่มั่นใจว่าจะไม่ส่งกระทบโดยตรงต่อไทย ทั้งนี้ต้องจับตาดูผลกระทบทางอ้อมจากอียูที่มีความอ่อนไหวมากจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะไทยมีธุรกรรมการเงิน การค้าและการลงทุนกับอียูเป็นหลัก”

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดจากเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท. จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ภาพตลาดหุ้นไทยผันผวน มากขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว จากแรงขายหลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศงบการเงินไตรมาส 2 ปี 2561 ใน บจ.ที่งบตามคาด และงบแย่กว่าคาด ทำให้กดดันราคาหุ้นรายตัว ขณะที่ภาวะตลาดต่างประเทศ มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงินตุรกีที่อ่อนค่าลงหนักซ้ำเติมบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาด

อย่างไรก็ดี จากการที่บริษัทได้วิเคราะห์งบการเงิน 24 บจ. โดยมี 6 บจ. กำไรดีกว่าที่คาดการณ์ เช่น UTP CPF SAT STEC SVI ORI และอีก 6 บจ.กำไรแย่กว่าคาด ส่วนที่เหลือเป็ไปตามคาด อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลังงบออกทุกรอบ หุ้นที่จะขึ้นดีกว่าสำหรับตลาดจากนี้ไปจะโฟกัสไปที่ มุมมองของผู้บริหารจากการให้ข้อมูลในการประชุมนักวิเคราะห์ ซึ่งบัวหลวงได้มองแนวโน้มอนาคต ไตรมาส 3 ผ่านการประกาศงบไตรมาส 2 ที่ออกมา เชื่อว่า มุมมองผู้บริหารในกลุ่มต่อไปนี้ น่าจะ ส่งผลเชิงบวกต่อราคาหุ้น ในระยะสัปดาห์-เดือน ได้แก่ กลุ่มที่มีทิศทางสดใส หรือซันไรส์ กลุ่มโรงพยาบาล, อสังหาฯ, ขนส่งทางบก, โฆษณานอกบ้าน, ค้าวัสดุก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง, ปิโตรเคมี-โรงกลั่น

ส่วนกลุ่มที่มีทิศทางขาลง หรือซันเซ็ต ค้าปลีก อาหาร-ของชำ, ทีวีดิจิตอล, สายการบิน เป็นต้น โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสปรับขึ้นน้อยกว่าตลาด (Underperform)

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ อยู่ที่การทรุดตัวลงของค่าเงินลีรา ประเทศตุรกี ซึ่งอาจจะส่งผลลุกลามไปยังเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อื่นๆ โดยธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความกังวลว่าการร่วงลงของค่าเงินลีราจะกระทบต่อธนาคารยุโรป ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงกดดันตุรกีต่อเนื่อง ด้วยการประกาศเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมขึ้นอีกสองเท่า ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลบวกและลบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยจากนี้ อยู่ที่การประชุมนักวิเคราะห์จองบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เพื่อให้มุมมองทิศทาง อุตสาหกรรม และแนวโน้มรายได้ ในช่วงที่เหลือของปี

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 14 สิงหาคม 2561

กงเกวียนกำเกวียน ชาวไร่อ้อย ปาดน้ำตาราคาตก ใครช่วยได้!

เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่สุดแล้วทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ดังสุภาษิตที่ว่า "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า"

รายงานพิเศษ ชาวไร่ตะโกนถามราคาอ้อยร่วง! ใครช่วยได้ หลังจากที่บรรดาแกนนำชาวไร่อ้อยนัดรวมพลโดยอาศัยเวทีประชุมสัมมนา “ฝ่าวิกฤตราคาอ้อยตกต่ำ เพื่อความอยู่รอดของชาวไร่อ้อย ” ที่พัทยา จังหวัดชลบุรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อระดมแนวคิด ถึงทางออกของปัญหาราคาอ้อยที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับจากนี้ไป จนถึงฤดูการผลิตปี2561/2562 เกรงว่าชาวไร่อ้อยหลายครัวเรือนทั่วประเทศที่ฝากชีวิตไว้กับไร่อ้อย เพราะที่คิดว่าเป็นพืชเกษตรที่มีราคาดี แต่วันนี้ราคาเริ่มส่งสัญญาณขาลง สะท้อนไปตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ดิ่งลง... ดิ่งลง... เพราะทั่วโลกมีผลผลิตดี พอราคาดี แห่ปลูกอ้อยผลิตน้ำตาล โดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตสำคัญในตลาดโลกทั้งไทย จีน บราซิล อินเดีย และประเทศในกลุ่มยุโรป ฯลฯ

การออกมารวมตัวของแกนนำครั้งนี้ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณครั้งที่ 1 เรียกร้องให้ภาครัฐและโรงงานน้ำตาลหันมามองปัญหาราคาอ้อยที่ตกต่ำร่วมกัน หลังจากที่แนวโน้มราคาอ้อยสุดท้ายที่กำลังจะประกาศออกมา ยืนอยู่ในระดับ 772 บาทต่อตันอ้อย เป็นราคาอ้อยที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และเชื่อว่าราคาอ้อยจะต่ำลงต่อเนื่องในฤดูผลิตต่อไป ดูจากข้อเสนอที่ชาวไร่อ้อย ส่งเสียงตรงถึงโรงงานน้ำตาลและภาครัฐถึงแนวทางเพิ่มราคาอ้อยยาวเหยียดเกือบ20ข้อ ทั้งมาตรการระยะสั้นระยะยาว ถ้าโฟกัส เฉพาะแค่ 3 ข้อ ที่เสนอถึงโรงงาน คือ

 1.ให้มีการเจรจากับโรงงานน้ำตาลเพื่อนำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ ปีละ15,000ล้านบาทมาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 100% ในส่วนนี้น่าจะเป็นไปได้ แต่ราคาน้ำตาลที่ขายไปอาจไม่ได้ตามที่ชาวไร่อ้อยคิด และน่าจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจากซีกโรงานน้ำตาล

2.กำหนดปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่เหมาะสม เพื่อเสถียรภาพราคาอ้อยปริมาณส่วนเกินจากที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ตรงนี้เชื่อว่าโรงงานจะไม่รับประกันราคาส่วนเกิน จะเป็นไปได้ยาก เพราะโรงงานจะไม่มารับความเสี่ยงด้วยตัวโรงงานเอง เนื่องจากราคาในตลาดโลกผันผวน ซึ่งในส่วนนี้น่าจะขึ้นอยู่ที่การปรับตัวของชาวไร่อ้อย เช่น ถ้าราคาไม่ดีก็ปลูกอ้อยน้อยลง

3.กำหนดรายได้ส่วนเพิ่มให้กับระบบจากการผลิตน้ำตาลชนิดพิเศษและแบ่งปันให้เหมาะสม ข้อนี้ยิ่งเป็นไปได้ยาก เชื่อว่าโรงงานน้ำตาลไม่ยอมเพราะเกินเลยจากข้อตกลง จากที่ตกลงกันว่าราคาที่คิดปัจจุบันคือเฉพาะน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบ ส่วนน้ำตาลพิเศษนั้นโรงงานเป็นผู้ลงทุนเพิ่มเติม -ไม่เกิน20ส.ค.นี้ยื่นหนังสือถึง"อุตตม" ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยยังรวมตัวกันยื่นข้อเสนอ ถึงรัฐบาล ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่ง) เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ขัดกับWTO ,

ขอให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยให้มีการแก้กฏหมายโดยใช้ม.44 ให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ รวมถึงส่งเสริมให้มีการนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากน้ำตาล เพื่อให้ระบบมีรายได้เพิ่มขึ้นและแบ่งปันอย่างเหมาะสม , การปรับรูปแบบวิธีการขายน้ำตาลไปต่างประเทศของตลาดล่วงหน้าให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบ รวมถึงปลดเงื่อนไขข้อจำกัดระหว่างชาวไร่อ้อยต่อโรงงานในการทำราคาตลาดล่วงหน้า (36เดือน) และเพิ่มชนิดน้ำตาลในการทำราคา (น้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว) เป็นต้น

ทั้งนี้ชาวไร่อ้อยจะนำประเด็นข้อเรียกร้องเสนอถึงรัฐบาล คาดว่าไม่เกินวันที่20 สิงหาคมนี้ โดยยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้รับไปพิจารณา การส่งสัญญาณครั้งนี้เชื่อว่ายังต้องถกกันอีกหลายข้อ หลายเรื่อง เพราะซีกชาวไร่อ้อยก็มีเหตุผล เพราะมีชาวไร่ที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยทั่วประเทศมากกว่า4 แสนราย ยังไม่รวมเกษตรกรรายย่อยอีกหลายหมื่นรายที่ยึดอาชีพปลูกอ้อยเลี้ยงครอบครัว ที่เริ่มออกมาตะโกนถาม ราคาอ้อยร่วงใครจะช่วยได้!!! ขณะที่โรงงานน้ำตาลก็ถูกกดดัน ทั้งเรื่องวัตถุดิบรองรับที่ต้องพึ่งพาชาวไร่อ้อย และปริมาณอ้อยมากน้อยในแต่ละปี ก็ยังต้องลุ้นดิน ฟ้า อากาศ ปัญหาภัยธรรมชาติ อีกทั้ง ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำลง ส่วนภาครัฐเอง ก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการพิจารณากันหลายตลบเพื่อให้ลงตัวกับทุกฝ่าย และหลายข้อต้องระวังไม่ให้ผิดกฏกติกาการค้าโลก หรือWTO

สุดท้ายได้แต่หวังว่าอย่าให้ปัญหาเดิมๆเหล่านี้ กลับไปสู่โหมดเดินขบวนชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลเหมือนในอดีต ขอเพียงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและภาครัฐบาล หันหน้ามาหารือกัน เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่สุดแล้วทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันได้ดังสุภาษิตที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 14 สิงหาคม 2561

วิกฤตอ้อยหวังพึ่งม.44หวั่นราคาดิ่งรอบ 10 ปีขออุตช่วยห้อง 3 ผู้ส่งออกทำน้ำตาลโลกฟุบ

4องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือวิกฤตราคาอ้อยฤดูการผลิตใหม่เสี่ยงตกต่ำรอบ 10 ปี หวังใช้ ม.44 กู้แบงค์ดูแล ด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยกดดันปากีสถาน อินเดีย กลุ่มอียูเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออก

นายนราธิป  อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานและสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้หารือกันเพื่อเตรียมทำหนังสือส่งถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2561/62 ที่คาดว่าจะไม่เกิน 730 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ฤดูปี 2551/52

“ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น ทำให้ราคาอ้อยฤดูใหม่ที่จะเริ่มเปิดหีบต้นพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ตกต่ำอย่างมาก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องช่วยเหลือเพราะที่ผ่านมานั้นสามารถใช้กลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ดูแลได้ แต่แนวโน้ม กท.ไม่มีเงินเหลือพอที่จะบริหารจัดการได้” นายนราธิปกล่าว

นายนราธิปกล่าวว่า ที่ผ่านมา กท.สามารถกู้สถาบันการเงินเพื่อนำมาเพิ่มค่าอ้อยได้โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านด้วยการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อาทิ การปรับแก้กฎหมายน้ำตาลทราย เพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิทีโอ) กรณีมองว่าไทยอุดหนุนราคาอ้อย ทำให้การขอ ครม.ให้กู้ภายใต้กฎหมายเดิมอาจขับดับบลิวทีโอได้ ดังนั้นมาตรการระยะสั้นที่จะเสนอ อาทิ ให้รัฐใช้ ม.44 แก้ปัญหาให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิต

นายวีระศักดิ์  ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงาน กท.กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61  จะอยู่ที่เพียง 772 บาทต่อตัน จากที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ 880 บาทต่อตัน ทำให้ กท.มีภาระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ต้องจ่ายเงินคืนโรงงานตามระบบแบ่งปันผลผลิต 30%  ทำให้ฐานะติดลบกว่า 5,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ได้เช่นที่ผ่านมา

ขณะที่นายวิบูลย์  ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า จากการประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก หรือจีเอสเอประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา โคลอมเบีย กัวเตมาลา และไทย ที่มีความกังวลต่อสถานการณ์การดำเนินมาตรการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาลที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ของประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ปากีสถาน และอินเดีย โดยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเห็นควรให้การสนับสนุนจีเอสเอ หากดำเนินการฟ้องร้องต่อดับบลิวทีโอ เพื่อขอให้ประเทศเหล่านนี้ยกเลิกการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาล ที่มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนส่งผลกระทบต่อไทย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 สิงหาคม 2561

"2561" บี้ภาษีเกษตรกร..ใครเสียเพิ่มเท่าไร!

           ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน เป็นชาวไร่ชาวนาประมาณ 15 ล้านคน หากรวมแรงงานในภาคเกษตรทั้งหมดอาจทะลุถึง 20 ล้านคน ที่ผ่านมาพวกเขามีรายได้น้อยนิดแถมเป็นหนี้สินจำนวนมาก กรมสรรพากรเลยไม่ได้สนใจไปไล่เก็บภาษีมากนัก ..แต่ปีที่แล้วรัฐบาล คสช.มีนโยบายให้เก็บภาษีภาคเกษตรอย่างจริงจังเริ่ม “ปี 2561”...

          ปกติคนทำงานทั่วไปถ้ามีรายได้ต้องเสียภาษี เช่นกันแรงงานภาคเกษตรก็ต้องเสีย ซึ่งกฎหมายสรรพากรเดิมกำหนดไว้ 60 ปีที่แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2502 ให้เกษตรกรเหมาหักค่าใช้จ่ายไปร้อยละ 85 และที่เหลือถือเป็นรายได้ ร้อยละ 15 ที่ต้องเสียภาษี แต่กฎหมายใหม่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ระบุให้หักค่าใช้จ่ายเหมาได้สูงสุดไม่เกินอัตราร้อยละ 60

          เรื่องนี้ไม่กระทบแรงงานภาคเกษตรที่ยากจนทั่วไป ไม่มีที่ดินไร่นาของตัวเองหรือมีจำนวนน้อยไม่กี่ไร่ ทำพอกินพออยู่ไปวันๆ แต่ภาษีนี้กระทบ “กลุ่มเกษตรกรชั้นกลาง” ที่เป็นเจ้าของไร่นาหรือมีฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกพืชผัก หรือทำไร่ผลไม้ขนาดหลายสิบไร่

          ตัวอย่างเช่น “นาย ก” เป็นชาวนาขายข้าวและเก็บผักขาย จับปลาขาย ทุกอย่างรวมกันมีรายได้ประมาณ 3 แสนบาทต่อปี เหมาค่าใช้จ่ายไป 2.55 แสนบาท เหลือเป็นรายได้ไปคิดภาษี 4.5 หมื่นบาท ไม่ถึงเกณฑ์รายได้ปีละ 1.5 แสนบาท ไม่มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

           ถ้าเผอิญ “นาย ก.” เริ่มขยันขันแข็ง ขยายพื้นที่ทำนาและปลูกผักระดับหลายสิบไร่ขึ้นไป ลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่เปิดฟาร์มเลี้ยงไก่ มีรายได้ขายพืชผักและไก่เพิ่มเป็นวันละ 2,000 บาท กลายเป็นว่ามีรายได้เดือนละ 6 หมื่นบาท รวมแล้วเกิน 5 แสนบาทต่อปี ต้องเสียภาษีทันทีเพราะเหมาค่าใช้จ่ายได้เพียงร้อยละ 60 จากที่เหมาค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 85 แต่อย่าลืมว่า นาย ก. ยังมีภาระต้องจ่ายค่าแรงตัวเอง ค่าแรงภรรยา รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดูแลทั้งครอบครัว เงิน 6 หมื่นบาทปลิวหายไปอย่างรวดเร็ว

          หลายคนสงสัยว่าทำไม “รัฐบาลทหารยุค คสช.” ต้องอยากเก็บภาษีจากเกษตรกร ?

          สืบเนื่องจาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ไปทำสุ่มสำรวจตรวจรายได้เกษตรกรทั่วประเทศไทยแล้วพบว่า ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดปีละ 3 แสนบาท เพราะผลผลิตขายได้ราคาดีขึ้น เช่นข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ไก่เนื้อ โคเนื้อ น้ำนมดิบ ส่วนค่าใช้จ่ายมีน้อยแค่ประมาณ 1 แสนกว่าบาทเท่านั้น และถ้าหักค่าใช้จ่ายแล้วน่าจะเหลือเงินเก็บถึงครอบครัวละ 6-7 หมื่นบาท

และกลุ่มเป้าหมายของกรมสรรพากรคือ พวกเจ้าของฟาร์มขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมาฟาร์มใหญ่ๆ จะไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว เพื่อเอาใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีต่างๆ แต่ถ้าเป็นฟาร์มเล็กมีลูกจ้างไม่กี่สิบคน จะไม่มีระบบบัญชี และไม่เคยจ่ายภาษี หรือถ้าเป็น ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยาง ฯลฯ กลุ่มนี้จะถูกบังคับให้เสียภาษีจากการขายผลผลิตที่หน้าตาชั่ง เช่นไร่อ้อย จะโดนหักภาษีอัตราร้อยละ 0.75 ผ่านโรงงานน้ำตาลไว้แล้ว รวมถึงพืชไร่สำคัญอย่างอื่นเช่น ยางแผ่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด เมล็ดกาแฟ ผลปาล์มน้ำมัน ฯลฯ

           “เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู” เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เปิดใจเล่าให้ฟังว่า มีกิจการเลี้ยงไก่ประมาณ 4 หมื่นตัว ที่ผ่านมาไปเสียภาษีที่กรมสรรพากรทุกปี ปีละ 2 ครั้ง โดยได้รับการเหมาลดหักค่าใช้จ่ายเสร็จสิ้น จะเสียภาษีครั้งละประมาณ 6,000 บาท แต่เมื่อต้นปี 2561 ไปเสียภาษี เจ้าหน้าที่บอกให้จ่าย 4 หมื่นกว่าบาท ซึ่งตนไม่มีเงินเหลือมากขนาดนั้น ก็เลยขอร้องเจ้าหน้าที่ให้พิจารณาใหม่เพราะมีต้นทุนรายจ่ายอื่นๆ ที่พวกเราไม่ค่อยรู้เรื่องเลยไม่ได้นำไปหักลด

          “โชคดีที่เจ้าหน้าที่เขาช่วยคำนวณให้ใหม่ เลยเหลือประมาณ 16,000 บาท อยากบอกว่า ถ้าต้องจ่ายภาษีปีละเกือบแสนบาท พวกเราคงต้องปิดฟาร์ม เลิกขายไข่ ตอนนี้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ไข่ต้องมีต้นทุนไข่ฟองละเกือบ 2 บาท แต่พวกเจ้าสัวรายใหญ่มาขายไข่แข่ง ฟองละ 1.70 บาท แล้วพวกเราจะทำอย่างไร ต้องไปเร่ขายตามตลาดนัดหรือพื้นที่ไกลๆ เพราะถ้าในซูเปอร์ บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เขาขายถูกกว่าต้นทุนเราเสียอีก”

          เสาวลักษณ์ตัดพ้อรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนสนใจเกษตรกรที่ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์รายย่อย เช่น ไก่ เป็ด ปลา และไม่เคยได้รับการยกเว้นภาษีด้วย คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเกษตรกรได้รับการยกเว้นภาษี ความจริงแล้วมีเพียง “ชาวนา” เท่านั้นที่ไม่ต้องเสีย ไม่ว่าจะมีกี่สิบไร่หรือเป็นร้อยเป็นพันไร่ก็ไม่ต้องเสียภาษี แต่เกษตรกรกลุ่มอื่นต้องเสียหมด

           “อย่าคิดว่าพวกเราไม่เคยจ่ายภาษีนะ เพราะ อบต.เข้ามาควบคุมดูแลในหมู่บ้านทั้งหมด เขารู้ว่าใครทำอาชีพอะไรบ้าง พวกเราก็ไม่เคยหนีภาษี เพราะจ่ายปีละเกือบหมื่นบาท และยังมีภาษีโรงเรือน ภาษีจิปาถะอีก พวกเราก็ไม่เคยบ่นเพราะอยากเป็นเด็กดี แต่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออะไร แต่พอเป็นฟาร์มของนายทุนใหญ่ กลับได้ลดหย่อนภาษีทุกอย่าง พวกเราจ่ายภาษีแวต ค่าน้ำมัน ค่าโน่นค่านี่ก็เอาบิลไปลดหย่อนภาษีไม่ได้ จะให้ไปจดทะเบียนนิติบุคคล ก็วุ่นวายต้องจ้างคนทำบัญชี รายละเอียดเยอะแยะไปหมด ใครที่บอกว่าเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทุกวันนี้รู้ไหมว่าเรากลายเป็นกระดูกผุๆ กร่อนๆ ลูกหลานไม่มีใครอยากทำเกษตรแล้ว เป็นหนี้เป็นสิน แถมต้องเสียภาษีเพิ่มอีก”

          เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เสาวลักษณ์และตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรกว่า 100 คนจากทุกภาคของประเทศไทย ทั้งกลุ่มเลี้ยงสัตว์ พืชไร่ ผู้จับสัตว์น้ำ ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนความเดือดร้อนต่อ “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาสรุปได้ดังนี้

          “เกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน ขอกราบเรียนให้ท่านนายกรัฐมนตรีย้อนมองอดีตสังคมเกษตรกรรมของไทย เมื่อ พ.ศ. 2502 ที่กรมสรรพากรยินยอมให้เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 85 ในขณะนั้นการทำการเกษตรแต่ละชนิดมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสมัยนั้นปีละไม่กี่รายการ แต่กรมสรรพากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 85

          ส่วนในปี 2560 ค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก แต่กรมสรรพากรให้หักค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 60 เป็นการสวนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะต้นทุนการผลิต จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่ามีต้นทุนการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 82.56 ขึ้นไป ดังนั้น การออกพระราชกฤษฎีกาจึงต้องยึดตามข้อมูลที่เป็นจริง

           กรมสรรพากรโดยศูนย์สารนิเทศสรรพากร ได้จัดทำคำแนะนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ในการจัดทำเอกสาร หลักฐานที่สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ พวกข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า การทำเอกสารตามที่กรมสรรพากรแนะนำนั้น หากเป็นเกษตรกรรายใหญ่ หรือผู้ประกอบธุรกิจก็อาจทำได้ทั้งที่เป็นรายงานรับ-จ่าย เงินสดและหลักฐานประกอบค่าใช้จ่าย และใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือใบสำคัญรับเงิน แต่ในสังคมเกษตรกรรมของไทย ตามความเป็นจริงเป็นสังคมชนบทอยู่กันแบบเกื้อกูลหรือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่ธุรกิจ ทำให้การจะเรียกใบเสร็จ หรือใบสำคัญรับเงินในสังคมชนบทเป็นไปไม่ได้กับชีวิตจริง

          ดังนั้น ข้อแนะนำของกรมสรรพากรทำระบบเอกสารการลงบัญชีเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย และขอให้ยกเลิกอัตราหักค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายจากร้อยละ 60 ให้กลับไปใช้อัตราร้อยละ 85 เหมือนเดิม”

          ทั้งนี้ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวชี้แจงกฎหมายเก็บภาษีใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพยายามจัดทำคู่มือการทำบัญชีรายรับ-จ่ายอย่างง่าย เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ผลรายได้ของกิจการที่ตัวเองทำอยู่ และจัดให้ความรู้เรื่องนี้กับกลุ่มอาชีพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 60 แต่ในความเป็นจริง หากเกษตรกรมีรายจ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถใช้บัญชีรับ-จ่ายไปยื่นภาษีได้ และในกรณีที่ไม่สามารถจัดหาเอกสารหลักฐานรายจ่ายหรือใบเสร็จรับเงินได้ เกษตรกรสามารถจัดทำใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองเพื่อเป็นหลักฐานการจ่ายเงินได้ด้วย

           กรมสรรพากรพยายามเน้นย้ำว่า การหักรายจ่ายเหมาร้อยละ 60 จากเดิมร้อยละ 85 นั้น

          “ถ้าหักแล้วเกษตรกรมีรายได้ไม่เกิน 525,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 43,750 บาทต่อเดือน ไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด”

          ถ้าผู้เสียภาษีมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่ง สายด่วน 1161

          การจัดเก็บภาษีเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะประเทศไทยนอกจากมนุษย์เงินเดือนที่ถูกหักภาษีตั้งแต่เงินเดือนออกโดยอัตโนมัติแล้ว คนประกอบอาชีพอื่นแทบจะไม่มีใครเสียภาษีอย่างถูกต้องเลย

          แต่ที่หลายคนกำลังสงสัยคือ โครงสร้างภาษีแบบใหม่นั้น ดูเหมือนว่าบริษัทหรือนิติบุคคลที่ทำฟาร์มขนาดใหญ่ทั้งสวนผลไม้ ไก่ หมู จะได้รับประโยชน์จากส่วนลดภาษีมากกว่าชาวนา เช่น รายได้ปีละ 1 ล้านบาทเท่ากัน นิติบุคคลเสียเพียง 1.5 แสน แต่บุคคลทั่วไปเสีย 2.5 แสนบาท

          ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรเตือนว่า หากก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาล คสช.ของบิ๊กตู่ ยังไม่เร่งแก้ปัญหาให้ได้รับความยุติธรรมมากกว่านี้ พวกเขาจะรวมพลังกลับมาทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ...

           คนไทยมี “รายได้” –“หนี้สิน” เท่าไร?

          สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน2560พบว่า มีครัวเรือนทั่วประเทศ21ล้านครัวเรือน

          -รายได้เฉลี่ยเดือนละ26,946บาท/ครัวเรือน

          -รายจ่ายเดือนละ21,437บาท/ ครัวเรือน

          -มีหนี้10.8ล้านครัวเรือน เฉลี่ยประมาณ178,994บาท/ครัวเรือน (เพิ่มขึ้นจาก156,770บาท/ครัวเรือน ในปี2558)

          -ร้อยละ90มี“หนี้ในระบบ” อย่างเดียว

          -ร้อยละ5.8มี“หนี้นอกระบบ”อย่างเดียว

          - ร้อยละ4.2เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ

           ภาษี “คนธรรมดา- นิติบุคคล” ใครได้เปรียบ?

          ข้อมูลจากเวบไซด์ “เวทมอร์ แอนิมัล เฮลธ์” ยกตัวอย่างการเสียภาษีของฟาร์มปศุสัตว์ดังนี้

          - ตัวอย่างเปรียบเทียบการเสียภาษีของฟาร์มAมีเงินได้3ล้านบาทต่อปีเท่ากัน(ค่าลดหย่อนไม่ได้ถูกนำมาคำนวณ)

          -ปี2559

          ฟาร์มAหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ85ของเงินได้ เงินได้สุทธิของฟาร์มAคือ0.15*3ล้านบาท =450,000บาท...ต้องจ่ายภาษี22,500บาท

          -ปี2560)

          ฟาร์มAหักต้องหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ60เงินได้สุทธิของฟาร์มAคือ0.4*3ล้านบาท =1,200,000บาท ...ต้องจ่ายภาษี165,000บาท  

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 14 สิงหาคม 2561

ยื่นอุตสาหกรรมอุ้มไร่อ้อย แก้วิกฤตราคาตกต่ำ

ชาวไร่อ้อยเตรียมยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม หามาตรการช่วยเหลือ คาดราคาอ้อยต่ำสุดรอบ 10

ปีนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้หารือกันเพื่อเตรียมทำหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าจะไม่เกิน 730 บาท/ตัน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2551/2552

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือ 11-12 เซนต์/ปอนด์ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยฤดูใหม่ที่จะเริ่มเปิดหีบช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ อาจจะตกต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมาสามารถใช้กลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ดูแลได้ แต่แนวโน้มขณะนี้ กท.อาจไม่มีเงินเหลือพอที่จะบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กท.สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาเพิ่มค่าอ้อยได้ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศเพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ที่มองว่าไทยอุดหนุนราคาอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้การขอ ครม.เพื่อกู้เงินอาจขัดหลักการของดับเบิ้ลยูทีโอได้

สำหรับมาตรการระยะสั้นที่จะเสนอ คือ 1.การให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยใช้มาตรา 44 เข้าช่วย 2.ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิตเช่น ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่งเพื่อลดต้นทุนการผลิต 3.ให้เจรจากับโรงงานน้ำตาลทราย นำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท มาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 100% 4.เจรจากับโรงงานน้ำตาลให้เพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 5.ให้รัฐวิสาหกิจของรัฐ เช่น บริษัท ปตท. สร้างโรงงานผลิตเอทานอลเพื่อเป็นทางเลือกของอ้อยอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/2561 จะอยู่ที่ 772 บาท/ตัน จากที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ 880 บาท/ตัน ทำให้กองทุนมีภาระ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ฐานะกองทุนติดลบกว่า 5,000 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 14 สิงหาคม 2561

บาทเปิดอ่อนค่า 33.38 บาท/ดอลล์ จับตาปัจจัยเสี่ยงโลกดันเงินทุนไหลออก

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 14 สิงหาคม เปิดตลาดที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปิดสิ้นสัปดาห์ก่อน 33.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดกรอบเงินบาทวันนี้ 33.30-33.40บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.10-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ต้องจับตาไปที่ภาพรวมความเสี่ยงโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากวิกฤตค่าเงินในตุรกี โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินมีความกังวลมากกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินลีราตุรกี ที่ล่าสุดยังคงปรับตัวอ่อนค่าต่อ แม้ธนาคารกลางตุรกีจะกลับมาส่งสัญญาณว่าอาจมีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการอ่อนค่าของค่าเงิน และลดกฏเกณฑ์ทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับธนาคารพาณิชย์ในตุรกี แต่ล่าสุดยังไม่สามารถลดความกังวลของนักลงทุนได้ ขณะที่ตลาดประเมินว่าความเสี่ยงจะกระจายเป็นวงกว้างและกระทบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ส่งผลให้ทั้งหุ้นและค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ปรับตัวลง

นายจิติพลกล่าวว่า ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ นำโดยการค้าปลีกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 9.4% (ช่วงเจ็ดเดือน) ขณะที่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัว 6.0% และการลงทุนสินทรัพย์ถาวรขยายตัว 6.6% ชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ รวมทั้ง ติดตามการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเรื่องเบร็กสิท ทั้งสองฝ่ายยังมีมุมมองที่ต่างกัน เมื่ออังกฤษต้องการเลื่อนระยะเวลาการทำข้อตกลงออกไป ขณะที่ฝั่งยุโรปอยากให้การเจรจาจบลงภายในช่วงไตรมาสนี้

“สัปดาห์นี้เชื่อว่านักลงทุนจะระมัดระวังตัวมากกว่าเดิม เนื่องจากยังไม่มีตัวเลขเศรษฐกิจหรือปัจจัยที่ทำให้เชื่อได้ว่า ปัญหาการเมืองและการกีดกันทางการค้าจะไม่ลุกลามไปจนมีผลลบกับตลาดการเงิน เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่ปัญหาของตุรกีจะสร้างความไม่มั่นใจให้กับค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แม้เอเชียจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เมื่อตลาดปิดรับความเสี่ยงทั่วโลก (Global Risk-Off) ก็มีโอกาสที่จะเจอแรงขาย โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทันทีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ มองว่าภาพรวมความเสี่ยงคือปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเงินบาท เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทที่อ่อน ส่งผลให้นักลงทุนกลับมามองว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในไทยอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน จึงมีโอกาสที่ตลาดจะขายตราสารหนี้ไทยด้วย และต้องระวังว่าถ้าความกังวลยังไม่หมดไปก็จะเกิดปัญหาค่าเงินอ่อน เงินเฟ้อสูง และเงินทุนไหลออกวนเป็นวัฏจักร” นายจิติพลกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 สิงหาคม 2561

เกษตรกรยุคใหม่ใช้เทคโนโลยีทำการเกษตร ลดต้นทุน-เวลา เพิ่มผลผลิต

นักวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ นำระบบให้น้ำอัจฉริยะมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ ช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และเพิ่มผลผลิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชติพงศ์ กาญจนประโชติ จากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งวิจัยระบบการจ่ายให้น้ำเพื่อการเกษตรแบบแม่นยำอัจฉริยะได้สำเร็จ เตรียมขยายการสาธิตให้เกษตรเข้าใจการใช้งานระบบนี้มากขึ้น โดยระบบการให้น้ำแบบแม่นยำอัจฉริยะเน้นใช้ร่วมกับการปลูกพืชในร่องคูที่ขุดให้ลาดเอียงจากหัวมาท้ายแปลง จากนั้นจึงติดตั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะ ซึ่งจะกำหนดความชื้นของดินให้มีค่าความชื้นที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด ระบบนี้จะมีเครื่องวัดความชื้นอยู่ท้ายแปลง เมื่อความชื้นในดินลดลง เซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณไปยังปั๊มน้ำและวาล์วปิด-เปิดน้ำ เพื่อจ่ายน้ำเข้าแปลงโดยอัตโนมัติทันที และยังสามารถดูการทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบคู่กับระบบนี้ได้ด้วย เรียกว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหนถ้ามีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถตรวจสอบและสั่งการจ่ายน้ำได้   

ระบบการจ่ายน้ำแบบนี้วิจัยแล้วพบว่าเมื่อใช้กับการปลูกพืชแบบร่องคูแล้ว ประหยัดน้ำพอๆ กับใช้ระบบน้ำหยด แต่ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์น้ำหยด และยังทำให้ผลผลิตเพิ่มจากเดิมร้อยละ 50 และได้ผลผลิตคุณภาพดีกว่าเดิมร้อยละ 80 ส่วนราคาของระบบจ่ายน้ำนี้ ซึ่งยังเป็นต้นแบบ อยู่ที่ 15,000 บาท โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้รับงบประมาณจากจังหวัดเชียงใหม่ ตอนนี้อบรมการใช้ระบบการจ่ายน้ำนี้ให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 1,100 คน และปีนี้จะแจกระบบการจ่ายน้ำให้เกษตรกรไปใช้จำนวน 500 ชุด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรเชิงคุณภาพมากขึ้น

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 14 สิงหาคม 2561

ราคาอ้อยปี 61/62 จ่อต่ำสุดรอบ 10 ปี 4 องค์กรชาวไร่อ้อยจ่อยื่นรัฐเร่งแก้

4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือวิกฤตราคาอ้อยฤดูการผลิตใหม่ปี 61/62 ที่คาดจะตกต่ำสุดรอบ 10 ปี แถมกองทุนอ้อยฯถังแตก หวังใช้ ม.44 ให้กองทุนอ้อยฯกู้แบงก์ได้

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการหารือของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ที่ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เตรียมที่จะทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ เพื่อให้แก้ไขปัญหาวิกฤตราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 61/62 ที่คาดว่าจะไม่เกิน 730 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 51/52

“ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยฤดูใหม่ที่จะเริ่มเปิดหีบช่วงต้น พ.ย.ที่จะถึงนี้ตกต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมานั้นเราสามารถใช้กลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ดูแลได้แต่แนวโน้ม กท.ไม่มีเงินเหลือพอที่จะบริหารจัดการ” นายนราธิป กล่าว

นอกจากนี้ กท.ที่ผ่านมา สามารถกู้สถาบันการเงินเพื่อนำมาเพิ่มค่าอ้อยได้ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านด้วยการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องต่อองค์การค้าโลก (WTO) ที่ก่อนหน้านี้ มองว่า ไทยอุดหนุนราคาอ้อย ทำให้การขอ ครม.ให้กู้ภายใต้กฏหมายเดิมอาจขัด WTO ได้ ดังนั้น มาตรการระยะสั้นที่จะเสนอ สำคัญคือ 1. การให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยใช้ ม.44

2. ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่ง) เพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยไม่ขัดกับ WTO 3. ให้มีการเจรจากับโรงงานน้ำตาลนำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ ปีละ 15,000 ล้านบาทมาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 100% 4. เจรจากับโรงงานน้ำตาลให้เพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 5. เพื่อควายั่งยืนในอาชีพให้ ปตท.สร้างโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อเป็นแนวทางเลือกของอ้อยอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น ส่วนระยะยาว เช่น กำหนดรายได้ส่วนเพิ่มให้กับระบบจากการผลิตน้ำตาลชนิดพิเศษและแบ่งปันให้เหมาะสม 6. ส่งเสริมให้มีการนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ฯลฯ

“แนวทางการเพิ่มราคาอ้อยนั้นมีข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะยาว อาทิ กำหนดปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายที่เหมาะ เพื่อเสถียรภาพราคาอ้อยปริมาณส่วนเกินจากที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ส่งเสริมให้นำน้ำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เร่งรัดกฎหมายกองทุนอ้อยฯให้สามารถช่วยเหลือระบบได้โดยไม่ขัดกับ WTO เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวไร่อ้อยยังได้หารือแบ่งกลุ่มในด้านระบบขนส่งระยะสั้นให้เตรียมมาตรการบรรทุกอ้อยฤดูหีบใหม่ เช่น ความสูง 4 เมตร จัดระบบคู่สัญญาให้เข้มงวด ฯลฯ ระยะยาวให้โรงงานจัดตั้งสถานีรับอ้อยและให้รับภาระค่าขนส่งจากสถานี เพิ่มรถตัดอ้อย ฯลฯ” นายนราธิป กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 13 สิงหาคม 2561

กระทรวงอุตฯออกมาตรการช่วยผู้ประกอบการหลังน้ำท่วม ทั้งพักหนี้-สินเชื่อฉุกเฉิน-ฟื้นฟูกิจการ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันเครือข่าย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการป้องกัน ฟื้นฟูและเยียวยาสถานประกอบกิจการโรงงาน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

เบื้องต้นได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมการป้องกันผลกระทบจากอุทกภัย และยังได้ส่งเจ้าหน้าสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมแจกจ่ายคู่มือการป้องกันเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมออกมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมทำความสะอาด ตรวจเช็คเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ ภายหลังน้ำลด และได้เตรียมความพร้อมจัดทีมที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ (GMP) เข้าไปให้ความช่วยเหลือกรณีผู้ประกอบการผลิตอาหาร หรือโรงงานผลิตอาหารได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักร ค่าธรรมเนียมตรวจควบคุมคุณภาพ ค่าธรรมเนียมการตรวจติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผู้ผลิต ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับระยะเวลาที่ยกเว้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

มาตรการพักชำระหนี้ โดยลูกค้าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ สามารถพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนได้ สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี ซึ่งได้เตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ 15 ล้านบาท ให้กู้สำหรับลูกค้าเดิมของเอสเอ็มอีแบงค์

ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังอุทกภัยผ่านไป เอสเอ็มอีแบงค์ได้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และหมุนเวียนธุรกิจ

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจภายในศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs (SMEs Support and Rescue Center: SSRC) ที่อยู่ภายในสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยทันที และได้บริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สุขาเคลื่อนที่ เรือ สำหรับใช้ในพื้นที่อุทกภัย

ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์และจากรายงานของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้ยังไม่มีโรงงาน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างรุนแรง มีเพียงได้รับผลกระทบเล็กน้อย อาทิ น้ำท่วมขังบริเวณโรงงาน การคมนาคมไม่สะดวก เป็นต้น และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม/เขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่จำนวนมาก ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 สิงหาคม 2561

แนะทำเกษตรแปลงใหญ่ อ้อยร้องราคาดิ่งรอบ10ปี

"บิ๊กตู่"แนะภาคเกษตรปรับตัว แก้จุดอ่อนการทำการเกษตรแบบอิสระ ต้องรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ ทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน และปลูกสินค้าตามที่ตลาดต้องการ ย้ำหากรัฐต้องช่วยเหลือทุกตัว จะกระทบงบประมาณประเทศ แต่พูดไม่ทันขาดคำ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมส่งหนังสือถึงรัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือวิกฤตราคาอ้อยปี 61/62 ที่คาดว่าจะต่ำสุดในรอบ 10 ปี แถมกองทุนอ้อยถังแตก หวังใช้ ม.44 ให้กองทุนกู้เงินแบงก์ได้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวที่มีราคาดี เป็นเพราะต่างประเทศประสบภัยธรรมชาติ มีความต้องการข้าวสูงขึ้น แต่หากในปีต่อไป มีการปลูกข้าวมากขึ้นจนเกินความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ราคาตกต่ำลงอีกเป็นวัฏจักร รัฐบาลจึงอยากให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องกำจัดจุดอ่อนของการทำการเกษตรแบบอิสระ ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง และต่างคนต่างทำ ทำให้ขายไม่ได้ เพราะตลาดไม่ต้องการ

"ทางแก้ จะต้องมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับตลาด ก็จะทำให้ขายได้ จึงต้องมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มปริมาณและคุณภาพ สร้างอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง รวมทั้งทำไร่นาสวนผสม ลดปริมาณพืชที่ปลูกอยู่เพียงชนิดเดียวไปปลูกพืชอื่นทดแทน และเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริม"

นอกจากนี้ นายกฯ ยังระบุด้วยว่า ผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น มันสําปะหลัง อ้อย ยางพารา สับปะรด ทุกอย่างใช้หลักการเดียวกัน หากประสบปัญหาราคาตกต่ำ และรัฐบาลต้องรับซื้อในราคาสูง เมื่อขายไม่ได้ ก็ยิ่งขาดทุน และกระทบต่องบประมาณของประเทศ ดังนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการหารือของ 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่ประกอบด้วยสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าจะทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็วๆ นี้ เพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่คาดว่าจะไม่เกิน730 บาทต่อตัน ซึ่งถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ฤดูปี 2551/52

"ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยเหลือเพียง 11-12 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้ราคาอ้อยฤดูใหม่ที่จะเริ่มเปิดหีบช่วงต้นพ.ย.ที่จะถึงนี้ ตกต่ำอย่างมาก จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะต้องช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมา เราสามารถใช้กลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ดูแลได้ แต่แนวโน้ม กท. ไม่มีเงินเหลือพอที่จะบริหารจัดการ"นายนราธิปกล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กท.สามารถกู้สถาบันการเงินเพื่อนำมาเพิ่มค่าอ้อยได้ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านด้วยการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ เพื่อไม่ให้บราซิลฟ้องร้องต่อองค์การค้าโลก (WTO) ที่ก่อนหน้านี้มองว่าไทยอุดหนุนราคาอ้อย ทำให้การขอ ครม. ให้กู้ภายใต้กฏหมายเดิมอาจขัดWTOได้

ดังนั้น มาตรการระยะสั้นที่จะเสนอ สำคัญ คือ 1.การให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพื่อเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยใช้ม.44 2.ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่ง) เพื่อลดต้นทุการผลิตโดยไม่ขัดกับWTO 3.ให้มีการเจรจากับโรงงานน้ำตาลนำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ ปีละ15,000ล้านบาทมาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย100% 4.เจรจากับโรงงานน้ำตาลให้เพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย 5.เพื่อความยั่งยืนในอาชีพให้ ปตท. สร้างโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อเป็นแนวทางเลือกของอ้อยอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ส่วนระยะยาว 1.กำหนดรายได้ส่วนเพิ่มให้กับระบบจากการผลิตน้ำตาลชนิดพิเศษและแบ่งปันให้เหมาะสม 2.ส่งเสริมให้มีการนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61 จะอยู่ที่เพียง 772 บาทต่อตัน จากที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ 880 บาทต่อตัน ทำให้กองทุนฯ มีภาระประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยต้องจ่ายเงินคืนโรงงานตามระบบแบ่งปันผลผลิต 30% ในส่วนนี้จะทำให้ฐานะกองทุนฯ ติดลบกว่า 5,000 ล้านบาท จึงทำให้กองทุนฯ ไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ได้เช่นที่ผ่านมา

จาก https://mgronline.com   วันที่ 13 สิงหาคม 2561

กระทรวงอุตฯเตือนโรงงานรับมือน้ำ

อุตฯ สั่งหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ล่าสุดยังไม่พบกรณีเสียหายหนัก เผยเตรียมมาตรการรอฟื้นฟู

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำท่วมเตรียมมาตรการป้องกันฟื้นฟูและเยียวยาสถานประกอบกิจการโรงงานขนาดใหญ่ โรงงานขนาดกลาง เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน กรณีหากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้แจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมการป้องกันผลกระทบจากอุทกภัย และได้ส่งเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมแจกคู่มือการป้องกันเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยรวมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจทั้ง 76 จังหวัดเพื่อประสานความช่วยเหลือ แต่ล่าสุดไม่มีรายงานว่ามีที่ใดได้รับผลกระทบหนัก

นายพสุ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยในเครือข่ายเตรียมออกมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการกรณีได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทั้งในส่วนการทำความสะอาด ตรวจเช็กเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ภายหลังน้ำลด รวมถึงจัดทีมที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ เข้าไปให้ความช่วยเหลือและการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งระยะเวลาที่ยกเว้นค่าธรรมเนียม กระทรวงจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ มีมาตรการพักชำระหนี้ โดยลูกค้าธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ สามารถพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ อัตราดอกเบี้ย 4.99% ต่อปี ซึ่งได้เตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ 15 ล้านบาท ให้กู้สำหรับลูกค้าเดิมของเอสเอ็มอีแบงก์ ส่วนเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังอุทกภัยผ่านไป เอสเอ็มอีแบงก์ได้มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับสำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการและหมุนเวียนธุรกิจ

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมว่าจะส่งผลต่อภาคผลิตหรือไม่ ซึ่งผลกระทบที่ชัดเจนต้องติดตามช่วง 2-3 เดือนจากนี้ว่าจะกระทบผลผลิตทางเกษตรที่เป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์น้ำได้

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เตรียมพื้นที่ 13 ทุ่ง คือทุ่งบางระกำรับน้ำเหนือตอนล่างและ 12 ทุ่งเจ้าพระยา ไว้สำหรับรับน้ำในฤดูฝนช่วงปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. เพื่อป้องกันผลกระทบในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจ ภายหลังที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวฝนจะเริ่มตกกระจุกตัวในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางซึ่งแต่ละทุ่งได้ปลูกข้าวล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือน เม.ย.และ พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งหมดจะช่วยเก็บน้ำได้ประมาณ2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีในพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 13 สิงหาคม 2561

"พาณิชย์" จับมือแคนาดา ปฏิรูปการทำงานของ WTO แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า

ไทย-แคนาดา ร่วมหารือปฏิรูปการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ท่ามกลางวิกฤตสงครามการค้า หวังแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า ผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาคืบหน้า ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาท พร้อมสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP และขอไทยเร่งผลักดัน FTA อาเซียน – แคนาดา โดยเร็ว

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือกับนายโจนาธาน ฟรีด ผู้แทนนายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ว่า นอกจากการหารือเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและแคนาดาแล้ว ยังได้หารือเรื่องข้อกังวลต่อวิกฤตที่เกิดขึ้นในระบบการค้าพหุภาคี ที่ปัจจุบันการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ไม่คืบหน้า ขณะเดียวกัน เริ่มมีสมาชิก WTO บางประเทศหันมาใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวมากขึ้น ถือเป็นการลดทอนความสำคัญของ WTO ลง จึงเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อรักษาบทบาทความสำคัญของ WTO ในการกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศไว้

เช่น ปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าของ WTO เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้า ปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส และการกำหนดให้สมาชิกแจ้งข้อมูลเมื่อมีการปรับแก้ไขกฎระเบียบให้สมาชิกอื่นได้รับทราบทันท่วงที ผลักดันให้การเจรจารอบโดฮาคืบหน้า ปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ปรับปรุงขอบเขตอำนาจและการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ของ WTO ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีกรณีที่การตัดสินคดีขององค์กรอุทธรณ์ไปกระทบสิทธิของสมาชิก WTO ตลอดจนเร่งคัดสรรสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของ WTO เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 3 ใน 7 ตำแหน่งในปัจจุบัน เพื่อให้การตัดสินคดีอุทธรณ์ของ WTO เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงักลง เป็นต้น

นางสาวชุติมา เสริมว่า ไทยยังแจ้งให้แคนาดาทราบว่าไทยมีความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งแคนาดาเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง โดยแคนาดาแจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทย และยินดีให้ข้อมูลกระบวนการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยปัจจุบัน แคนาดาได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อให้สัตยาบันการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ต่อรัฐสภาของแคนาดาแล้ว และคาดว่าจะสามารถยื่นสัตยาบันได้ภายในปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับได้ในต้นปี 2562 โดยหากไทยประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ก็สามารถยื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วมได้ตั้งแต่ที่ CPTPP มีผลใช้บังคับเป็นต้นไป

“นอกจากนี้ แคนาดาต้องการผลักดันให้อาเซียนเปิดการเจรจาจัดทำความตกลง FTA กับแคนาดาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างภูมิภาค โดยแคนาดาสามารถเป็นประตูเข้าสู่อเมริกาเหนือ สหภาพยุโรป และสมาชิก CPTPP ให้อาเซียนได้ ขณะที่อาเซียนก็เป็นประตูให้แคนาดาสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA อาเซียนและแคนาดา” นางสาวชุติมา กล่าว

ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 15 ของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของแคนาดา ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 32 ของไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการค้ารวม 2,217 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย) โดยไทยส่งออกไปแคนาดาเป็นมูลค่า 1,432 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมด) มีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไทยนำเข้าจากแคนาดาเป็นมูลค่า 785 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 0.4 ของการนำเข้าทั้งหมด) โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 13 สิงหาคม 2561

ไทยนั่ง “ประธานอาเซียน 2019” บทสรุป “RCEP” คือความท้าทายสำคัญ

ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่ประเทศไทยจะได้ขึ้นนั่งเก้าอี้ “ประธานอาเซียน” รับไม้ต่อจากประเทศสิงคโปร์อาเซียนถือเป็นประชาคมเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากไทยแล้ว ยังประกอบด้วยอีก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันอนุภูมิภาคแห่งนี้กำลังได้รับความนิยมด้านการลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตา

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับความพร้อมในการขึ้นนั่งประธานอาเซียนของประเทศไทย ตลอดจนความท้าทายและโอกาส

ผศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นข้อตกลงที่ก้าวหน้ามากกว่าข้อตกลงอื่น ๆ และเป็นเขตเศรษฐกิจที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้อีกนานจนถึงปี 2050 บนข้อแม้ว่า “อาเซียน-จีน-อินเดีย” จะต้องจับมือกันให้ดี เพราะโมเมนตัมเศรษฐกิจโลกจะหมุนมาอยู่ในบริเวณนี้

หนึ่งในหน้าที่สำคัญของ “ไทย” ในปี 2019 เมื่อขึ้นนั่งประธานอาเซียน คือ ต้องสานต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้สำเร็จ หากสิงคโปร์สรุปข้อตกลงไม่ได้

ภายในปีนี้ เพราะอาร์เซ็ป คือ ความตกลงที่เป็นรูปธรรมที่สุดในเชิงการค้าและเศรษฐกิจ และหวังว่าอาเซียนจะหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพูดมากขึ้น และเพิ่มบทบาทความเข้มข้นของสำนักเลขาธิการอาเซียนให้มากขึ้นด้วย

ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษายอมรับว่า แม้กระบวนการของอาเซียนมีความล่าช้า แต่อย่างน้อยการจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็มีการประนีประนอมต่อกัน ไม่ไปเปิดศึกต่อประเทศสมาชิกด้วยกัน ทำให้ทุกประเทศพร้อมเดินหน้าบนข้อตกลงเดียวกัน

“โครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมของอาเซียนไม่เหมือนกับยุโรป อาเซียน เป็นintergovernment method (แต่ละรัฐมีฐานะเท่าเทียมกัน และคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยของตน) ไม่ใช่ community

method แบบยุโรป เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มีสภาพบังคับ ไม่ได้มีการนำทุกประเด็นมาโหวต ซึ่งถ้าเราทำแบบนั้น อาเซียนน่าจะแตกไปตั้งแต่ 50 ปีก่อน”

อีกโจทย์สำคัญก็คือ แม้อาเซียนจะมีความเชื่อมโยงภายในแข็งแกร่งประมาณหนึ่ง แต่ต้องอย่าลืมเชื่อมโยงกับภายนอกด้วย คือ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อาเซียนมีอำนาจที่จะไปต่อรอง

กับจีน ที่กำลังเดินหน้าโปรเจ็กต์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ให้มีความ “เกื้อกูลกัน” ระหว่าง 2 ฝ่าย

“นาทีนี้มันกลายเป็นเหมือนกับอาเซียนแต่ละประเทศยอมรับสิ่งที่ฝ่ายจีนเสนออย่างเดียว คือ จีนกลายเป็นตัวนำเกม แทนที่จริง ๆ เราควรอยู่ในลักษณะอีโคพาร์ตเนอร์ และทำให้หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมาเสริมความเป็นอาเซียนมากกว่า” ผศ.ดร.ปิติระบุ

ทั้งนี้ ในงาน “อาเซียน เดย์ 2018” เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ กระทรวงการต่างประเทศ “สุริยา จินดาวงษ์” อธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวถึง 3 บทบาทสำคัญที่ไทยจะต้องเดินหน้าในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า ได้แก่ 1.putting out fire หรือการดับไฟในบ้าน การฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีในประชาคมอาเซียน ตลอดจนการรับมือกับปัญหาจากภายนอกบ้าน เช่น สงครามการค้าโลก

บทบาทที่ 2.คือ regionally role การผสมผสานไอเดียการพัฒนาจากประเทศต่าง ๆ เพื่อผสานประโยชน์ ไม่ใช่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์เท่านั้น ตลอดจนการเชื่อมโยงกันอย่างรอบด้าน ดร.สุริยาระบุว่า บทบาทนี้เป็นบทบาทที่ไทยถนัด เพราะประเทศอื่นก็วางใจให้ไทยทำ เชื่อว่าน่าจะแฟร์ เพราะไทยเป็นประเทศที่หน้าบาง และไม่คิดจะเอาผลประโยชน์มาเป็นของตนเอง 100%

และบทบาทที่ 3.systemic role บทบาทในเชิงระบบ หรือการยกอาเซียนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ประเทศไทยเคยเล่นบทบาทนี้ในการเสนอให้ก่อตั้งประชาคมอาเซียนเมื่อแรกเริ่ม ขณะที่ในยุคนี้ ไทยต้องนำคอนเซ็ปต์ “ความยั่งยืน”เข้ามาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อาเซียน10 ประเทศไม่ใช่ทำอะไรในระยะสั้น ๆ อีกต่อไปไม่ว่าจะเป็นการจัดการชายแดน ตลอดจนการรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชนอย่างยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 สิงหาคม 2561

รมว.อุตฯ ยืนยันอีอีซีเดินหน้าต่อแม้เปลี่ยนรัฐบาล

รมว.อุตฯ แจงเจซีซี-เจโทร ยืนยันอีอีซีเดินหน้าตามแผน พร้อมขยายความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

หอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (เจซีซี) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ  จัดการประชุมชี้แจงโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจ โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะฝ่ายไทยไปชี้แจง

นายอุตตม ยืนยันกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมงาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสนใจอย่างจริงจังที่จะลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนที่มีอยู่แล้วในไทยไปในอีอีซี ว่า ขณะนี้โครงการลงทุนหลักในพื้นที่อีอีซี เดินหน้าตามแผนงานเพื่อเป็นการยืนยันการเกิดขึ้นของอีอีซี และจากการที่ทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนส่งผลให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลายประเทศ

นายอุตตม ยังยืนยันด้วยว่า แม้ไทยเปลี่ยนรัฐบาลใหม่บริหารประเทศโครงการอีอีซี ก็จะยังคงได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ได้ประโยชน์มาก  และไทยพร้อมขยายความร่วมมือหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และทำงานร่วมกันเข้มข้นยิ่งและถือเป็นฐานความร่วมมือที่สานต่อมายังโครงการอีอีซีได้เป็นอย่างดี ซึ่งด้านการลงทุนจากญี่ปุ่น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าปีที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยรวม 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในอีอีซี และปีนี้ถือเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย ขณะที่ประเทศมีความสงบเรียบร้อย ดัชนีทุกด้านเกี่ยวกับเศรษฐกิจของไทยสดใส และที่สำคัญประเทศไทยจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ที่มีนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่สอดคล้องกับการเกิดขึ้นของอีอีซี

ส่วนที่เจโทรเคยระบุว่าไทยคาดหวังการลงทุนในอีอีซีมากไปนั้น เรื่องดังกล่าวไม่มีผลอะไร เพราะลักษณะผู้ประกอบกิจการญี่ปุ่นมีความระมัดระวัง และเจโทรเพิ่งประกาศความสนใจการทำธุรกิจในประเทศไทยที่ทำการสำรวจเป็นประจำทุก ๆ 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งผู้ประกอบญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี อยู่แล้ว ผลการสำรวจออกมาระดับ 40 สูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเจโทรแจ้งกับตนด้วยว่าแนวโน้มในอนาคตก็ยังมีมุมมองบวกเช่นกัน

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมโครงการลงทุนในอีอีซีปีนี้ มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย 300,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรวมขอรับส่งเสริมการลงทุนภาพรวมทั้งประเทศ 720,000 ล้านบาท นักลงทุนที่สนใจลงทุนในอีอีซี นอกจากญี่ปุ่น ยังมี ยุโรป สหรัฐ จีน เกาหลี โดยเดือนสิงหาคมนี้นักลงทุนจีนจะเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีด้วย

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (10 ส.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการเสนอแผนงานหลักในของอีอีซีเข้าสู่การพิจารณา แผนงานที่เสนอ ได้แก่ แผนการใช้พื้นที่โดยรวมเพื่อรองรับโครงการลงทุน แผนการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น แผนการบริหารจัดการน้ำ แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีกำหนดเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน  ส่วนแผนการขยายพื้นที่อีอีซี ออกไปอีก 3 จังหวัด คือ สระแก้ว ตราด และจันทบุรี ตามมติคณะกรรมการนโยบายอีอีซีที่มีมาก่อนหน้านี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้.

จาก https://www.mcot.net วันที่ 10 สิงหาคม 2561

'สมคิด' ฟุ้ง 10 ปีจากนี้ ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเซีย

 "สมคิด" ฟุ้ง 10 ปีจากนี้ ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเอเซีย เหลือเวลาอีก 7 เดือน ทุ่มเทช่วยเกษตรกรพ้นความยากจนผ่านกลไกสหกรณ์เป็นความหวังใหม่ปฎิรูปเกษตร

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรโดยกลไกสหกรณ์ โดยมีผู้แทนสหกรณ์ซึ่งเข้มแข็ง 777 แห่ง รับฟังนโยบายการเดินหน้าปฏิรูปภาคการเกษตรให้สำเร็จ อยากให้เริ่มต้นช่วยกันทำให้สหกรณ์เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ที่จะทำให้ภาคเกษตรของเราดีขึ้น และเป็นความหวังของภาคการเกษตรของประเทศ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ ถ้าทำคนเดียวขายคนเดียว ย่อมไม่มีทางที่จะแข็งแรงได้ รัฐบาลยินดีช่วยเต็มที่ และวันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับคืนมา โลกต้อนรับเรา

ประเทศไทยคือจุดศูนย์กลางของอนาคตข้างหน้า และเป็นจุดศูนย์กลางใหญ่ของภูมิภาคนี้ ความเจริญกำลังมาสู่เอเชีย การเชื่อมโยงตะวันตกตะวันออก โดยผ่านอาเซียนในกลุ่ม 5 ประเทศ ของอาเซียน ไทย ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ทั้งเรื่องจุดที่ตั้งของประเทศ ศักยภาพการผลิต คุณภาพของบุคคลากร เมื่อความเจริญมาสู่เอเชีย หัวใจไม่ใช่จีน อินเดีย แต่อยู่ใน5ประเทศนี้เราเป็นทั้งตลาด แรงงานแหล่งวัตถุดิบตลอด supply chain ทุก ๆ อย่างของเอเชีย เมื่อโอกาสกำลังจะมา เราต้องเตรียมพร้อมและทำให้ดี ต้องอย่าให้อะไรมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของเรา 10 ปีจากนี้เป็นต้นไป ต้องเดินหน้าต่อไป เศรษฐกิจของเรากำลังจะดีขึ้นเรื่อย อะไรจะดีไม่ดีอยู่ที่ตัวเรา

"วันก่อนพบทูตอิสราเอล เป็นประเทศที่เจริญมาก คนมีแค่ 6-7 ล้านคน การเกษตรเจริญมากเป็นเกษตรเชิงนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตร ประเทศไทยน่าจะทำแบบนั้นได้ ถ้าเราคิดพัฒนาทุกวันทำงานทุกวันแก้ไขทุกวัน เราไม่แพ้ใครเมื่อเทียบกับนานาประเทศ เรายังไปได้อีก แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของเรา ต้องไม่จำกัดแค่ตัวเราเอง ประชากร 20 ล้านคนอยู่ในภาคการเกษตร แต่จีดีพีภาคการเกษตรต่ำกว่า 20% อำนาจซื้อก็ไม่มี เราต้องเน้นผลิตเพื่อส่งออก เมื่อผลิตเพื่อส่งออก คนที่มีรายได้จริงๆก็คือผู้ส่งออกรายได้ก็กระจุกตัวไม่สามารถกระจายได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจได้ คือ 1 เราต้องสามารถแข่งขันได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ประเทศจะเจริญไม่ได้ถ้าคนกระจุกหนึ่งร่ำรวย แต่คนส่วนใหญ่ยังยากจน ดังนั้นทำอย่างไรที่เราจะต้องช่วยกันให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้มแข็งขึ้นมา ที่ผ่านมาราคาข้าวตก แต่ในปีนี้ราคาข้าวสูง 17,000-18,000 บาท ต่อตัน และกลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือนถือว่าเป็นเรื่องที่ดีทำให้สามารถช่วยชาวนาลืมตาอ้าปากได้"

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศไทยทุกพื้นที่เราจะรู้ว่าแต่ละพื้นที่ควรปลูกอะไร ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นลดการปลูกบางอย่าง เพิ่มบางอย่าง ไม่ใช่แค่ข้าวอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเริ่มต้น ใช้หลักการตลาดนำการผลิต ธกส.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องช่วยกันชี้เป้าว่าแต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้างและปลูกในปริมาณเท่าไหร่และให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตและหาตลาดจัดจำหน่าย วันที่ 1 กันยายนนี้เริ่มได้เลย คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ที่มาวันนี้ ต้องพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ต้องกล้าแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ดังนั้นสหกรณ์จะเป็นความหวังของเกษตรกร กระทรวงเกษตรต้องจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และตรงกับความต้องการของตลาด

รัฐบาลไปดึงอาลีบามาช่วยทำตลาด ไม่ใช่แค่ให้มาตั้งแค่ EEC แต่ให้เขามาช่วยพัฒนาสหกรณ์ในขุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆพัฒนาสินค้าและค้าขายผ่านเวปไซด์ไปสู่ตลาดโลก ผ่านช่องทางโลจิสติกของอาลีบาบา สิ่งเหล่านี้ชาวนาไม่รู้ แต่สหกรณ์ต้องไปสื่อสารกับเกษตรกรว่าโลกยุคใหม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ขายสินค้าไม่ใช่แค่ข้าวอย่างเดียว แต่ต้องมีสินค้าหลากหลาย และพัฒนารูปลักษณ์ แปรรูปให้ตรงกับที่ผู้บริโภคต้องการ และใส่สตอรี่ลงไปในแพคเกตให้รู้ว่าข้าวถุงนี้ผลิตจากที่ไหน ความเป็นมาของข้าวชนิดนี้เป็นอย่างไร แพคกิ้งทำให้สวยงาม จะช่วยดึงราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้ สหกรณ์ต้องไปปรับปรุงใหม่ ผมเหลือเวลาอีก 7 เดือน ใน 7 เดือนนี้ผมจะทุ่มเทให้องคาพยพนี้เดินไปให้ได้ และจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันทำให้สำเร็จ

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเสริมให้สหกรณ์ที่ดำเนินการตามแผนการผลิตของประเทศให้เข้าถึงทั้งแหล่งทุน ดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การขยายตลาด สหกรณ์กลุ่มแรกที่จะดำเนินการตามแผนการผลิตใหม่ของประเทศจะเริ่มในโครงการปลูกพืชหลังนา แทนนารอบสองเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เบื้องต้นจะทดลองให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 3 พันไร่ ซึ่งจะดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว

โดยให้สหกรณ์ทำหน้าที่ส่งเสริมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การรวบรวมข้าวโพดจากเกษตรกรสมาชิกและเจรจากับภาคเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายผลเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านไร่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่เป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer เข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจในสหกรณ์เพื่อจะได้นำความคิดใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็งขึ้น

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 สิงหาคม 2561

ฝากรบ.ใหม่เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำ ปชช.ได้ประโยชน์แท้จริง

"ฉัตรชัย" เผยรัฐบาลพ้นหน้าที่หลังเลือกตั้งฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้ำอยากเห็นรัฐบาลใหม่เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ปชช.จะได้ประโยชน์แท้จริง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมหรรษา เจบี จังหวัดสงขลา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนา "การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ภาคใต้" โดยมีนายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา คณะกรรมการลุ่มน้ำ ประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การจัดเสวนาดังกล่าวเป็นการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และตนเองเป็นรองประธาน โดยให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้รับรู้แผนงานและผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล

รวมทั้งสร้างความเข้าใจและรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ปี 2561 โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทำได้อย่างถูกต้องทันเวลา โดยเฉพาะในประเด็นความพร้อมของแผนงาน การบริหารจัดการในการรับมือกับภัยจากน้ำ

รัฐบาลได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้แผนนี้สามารถนำไปปรับใช้กับทุกภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเพื่อการสร้างรับรู้ให้ประชาชนทราบว่า แผนบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจากนี้ไปจะมีขั้นตอนที่ชัดเจน ลดความซับซ้อนจากทุกหน่วยงานลง และนำแผนบริหารจัดการน้ำนี้ เป็นตัวหลักที่จะขับเคลื่อนเรื่องน้ำของประเทศไปอีก 20 ปี เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ แต่หลายพื้นที่มีปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ในภาคใต้ส่วนใหญ่จะเจอกับปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน

การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง ก็เชื่อว่าจะสามารถลดผลกระทบต่อประชาชนได้ ขณะเดียวกันน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญต่อภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยหลักของภาคใต้ ดังนั้นหากสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจภาพรวมของพื้นที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ สทนช.จะลงพื้นที่ให้ครบทั้ง 4 ภาค แล้วนำรายละเอียดทั้งหมดมาปรับปรุงแผน โดยยึดหลักปรับแผนให้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ปัญหาเหมาะสมกับทุกพื้นที่และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด" รองนายกฯ กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว และกำลังจะเริ่มดำเนินการในปี 2562 เช่นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และใช้งบประมาณที่สูง ดังนั้น การที่หลายคนมองว่าทำไมมีแผนบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อีก ก็ต้องเรียนว่าขั้นตอนการจัดทำแผน ต้องใช้เวลาพอสมควร บางครั้งอาจจะประมาณ 2 ปี เพราะต้องรับฟังและประชาพิจารณ์ การทำ EIA ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ แต่เมื่อเริ่มนับหนึ่งแล้ว ในวันข้างหน้าก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในเวทีเสวนาครั้งนี้ ตนเองได้ฝากกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า รัฐบาลจะต้องพ้นหน้าที่ หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็อยากเห็นรัฐบาลชุดต่อๆ ไป เดินตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เพราะถ้าสามารถทำตามนี้ได้ทั้งหมด ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้านนายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการจัดเสวนาในระดับพื้นที่ครั้งที่ 4 ในภาคใต้ เป็นครั้งสุดท้าย โดยเป็นการเสวนาเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลาก ปี 2561 พร้อมทั้งยังมีการจัดนิทรรศการ หัวข้อแผนปฏิบัติการจัดการน้ำหลาก ปี 2561 ในระดับพื้นที่ (จังหวัด) ทั้งนี้ ภาคใต้มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศ แต่ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักจะประสบปัญหาอุทกภัย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากมรสุมและพายุที่พัดเข้ามาโดยตรง สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างมาก

ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ทั่วประเทศรวม 29.70 ล้านไร่ พบว่า มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561 - 2580) รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ และในช่วงปี 2562 - 2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ ภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ โดยมีโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช เป็น 1 ใน 9 โครงการสำคัญที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในปี 62 ด้วย

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รู้จัก “GDP” ภาคเกษตร ตัวชี้วัดเศรษฐกิจรากหญ้า

GDP ย่อมาจาก gross domestic product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หมายถึงผลรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่ง (ปกติ 1 ปี) โดยยึดอาณาเขตทางการเมืองเป็นหลัก ดังนั้น การคิด GDP จะมาจากรายได้ของประชาชนทุกคนที่ผลิตขึ้นในประเทศ รวมทั้งรายได้ของชาวต่างประเทศที่ผลิตขึ้นในประเทศด้วย

GDP ใช้เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการบริหารประเทศของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ทราบว่าทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละปีมีการเติบโตมากขึ้น หรือลดลงมากน้อยเพียงใด รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม GDP เป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมเท่านั้น ไม่สามารถใช้วัดการเติบโตของประเทศในทุกมิติ เนื่องจากไม่ได้สะท้อนถึงความอยู่ดีกินดีและคุณภาพชีวิตที่แท้จริงของคนในประเทศ

การคำนวณ GDP ของประเทศสามารถคำนวณได้จาก 3 ด้าน คือ ด้านรายจ่าย (expenditure approach) ด้านรายได้ (income approach) และด้านผลผลิต (production approach) โดยการคำนวณ GDP ทั้ง 3 ด้าน จะมีค่าที่เท่ากันเสมอ

ด้านรายจ่าย เป็นรายจ่ายทั้งหมดที่นำไปซื้อสินค้าและบริการชั้นสุดท้าย ซึ่งประกอบด้วยรายจ่าย 4 ประเภท ได้แก่ การอุปโภคบริโภคของครัวเรือน การลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล และการส่งออกสุทธิด้านรายได้ เป็นรายได้ทั้งหมดที่เจ้าของปัจจัยการผลิตได้รับหรือเป็นผลรวมของค่าเช่า ค่าจ้าง ดอกเบี้ย และกำไรด้านการผลิต เป็นมูลค่าเพิ่ม (value added) ที่มาจากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยวัดจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าการผลิต และค่าใช้จ่ายขั้นกลางในการผลิต

นายวีณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง GDP ภาคเกษตรว่า เป็นการคำนวณ GDP ทางด้านการผลิตของภาคเกษตร ซึ่งมาจากกิจกรรมการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ เป็นการหาผลรวมของมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการทางการเกษตรทั้งหมด หักด้วยค่าใช้จ่ายในการผลิต (ค่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สารเคมี อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ยกเว้นค่าจ้างแรงงาน)

เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรมีหน่วยที่แตกต่างกันในแต่ละสินค้า จึงจำเป็นต้องรวมกันในรูปแบบของมูลค่า เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น รายไตรมาส รายปี อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านราคาและปริมาณ ดังนั้น จึงต้องขจัดผลการเปลี่ยนแปลงด้านราคาหรือผลทางด้านเงินเฟ้อออกไป เพื่อสะท้อนถึงปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรและบริการทางการเกษตรหรือเกิดขึ้นจริงในปีนั้น หรือสะท้อนศักยภาพการเติบโตของภาคเกษตรที่แท้จริง

สำหรับอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรในแต่ละไตรมาส จะต้องพิจารณาถึงสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในแต่ละไตรมาสเช่น ไตรมาส 1 (เดือน ม.ค.-มี.ค.) สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวนาปรัง ดังนั้น หากสินค้าเหล่านี้มีผลผลิต

และราคาสูงขึ้น หรือปริมาณผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ย่อมทำให้ GDP ภาคเกษตร มีแนวโน้มไปในทางบวก สำหรับอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรรายปี จะพิจารณาจากแนวโน้มผลผลิตราคา ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญมูลค่าสูงในแต่ละปี

วิธีการเช่นเดียวกับรายไตรมาสGDP ภาคเกษตรเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของประเทศ ทำให้ทราบว่าภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาหรือปีอื่น ๆ และทราบถึงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร และใช้เปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สถานการณ์ศรษฐกิจการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางหรือเป้าหมายแผนพัฒนาการเกษตรและนโยบายด้านเกษตร

อย่างไรก็ตาม GDP ภาคเกษตร จะสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของเกษตรกรแต่เพียงในภาพรวมเท่านั้น หากต้องการมองถึงความอยู่ดีกินดีและการกระจายรายได้ของเกษตรกร ต้องพิจารณาละเอียดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัว สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน สัดส่วนคนจน และความไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่และแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกัน

และจากผลการสำรวจความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตร พบว่า มีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้นตามการพัฒนาการเกษตรของประเทศและการเติบโตของ GDP ภาคเกษตร โดยข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภาคเกษตรช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 2 กลุ่มแรก ซึ่งถือว่าเป็นคนจนภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุดมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.74 ปี 2539 เป็นร้อยละ 5.33 ในปี 2559 กลุ่มที่มีรายได้น้อยลำดับถัดมา มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.669 ในปี 2539 หรือมีสัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 72.46 ในปี 2539 เหลือเพียงร้อยละ 21.67 ในปี 2559

ดังนั้น การยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตร ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล zoning ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการตลาด สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนการส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือนและสร้างอาชีพเสริม ตามแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายในการยกระดับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เมื่อสิ้นสุดแผน ซึ่งหากเกษตรกรแต่ละกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวตามไปด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เกษตรดันคกก.วัตถุอันตรายใช้ 4 มาตรการคุม 3 สาร

กรมวิชาการเกษตรสรุป 4 มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เตรียมเสนอ คกก.วัตถุอันตรายภายใน 60 วัน พร้อมกำหนดให้เกษตรกรผู้ใช้สารต้องผ่านการอบรมการใช้ที่ถูกต้องและมีหลักฐานทะเบียนเกษตรกรก่อนซื้อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณามาตรการ “จำกัด” การใช้ 3 วัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายใน 60 วัน

ล่าสุดนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรสรุปข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น พิจารณาทบทวนปรับปรุงร่างแผนการกำหนดมาตรการดังกล่าวให้เหมาะสม และครอบคลุมข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุม แล้วเสนอในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรมครั้งต่อไป

นายอุทัย นพคุณวงศ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมวิชาการเกษตรสรุปมาตรการจำกัดการใช้ 3 สาร 4 ข้อ คือ 1.กำหนดสถานที่จำหน่าย ให้จำหน่ายสารทั้ง 3 ชนิด ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องป้องกัน และเครื่องพ่นสารเคมีเฉพาะสำหรับสารทั้ง 3 ชนิดด้วย พร้อมทั้งจัดวางสารทั้ง 3 ชนิดแยกจากวัตถุอันตรายชนิดอื่น

2.ใช้สารพาราควอตและไกลโฟเซตในการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลเท่านั้น 3.ให้ใช้สารคลอร์ไพริฟอสในการปลูกไม้ผล (เพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้น) ไม้ดอกและพืชไร่เท่านั้น และ 4.ไม่ให้ใช้สารทั้ง 3 ชนิดในพื้นที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ บ้านเรือน

สำหรับผู้ประกอบการต้องแจ้งการนำเข้า ส่งออก ผลิต และจำหน่ายอย่างละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต และกำหนดปริมาณวัตถุอันตรายที่พนักงาน เจ้าหน้าที่จะอนุญาต ตลอดเส้นทางของวัตถุอันตรายเป็นข้อมูลให้สารวัตรเกษตรในการตรวจสอบสต๊อกของผู้ผลิต

ส่วนเกษตรกรกำหนดให้ผู้ใช้ปฏิบัติโดยเกษตรกรต้องได้รับการอบรม และทดสอบว่ามีความรู้และความสามารถในการใช้สารที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ ขออนุญาตครอบครองสารทั้ง 3 ชนิดเพื่อใช้ พร้อมทั้งซื้อสารจากร้านจำหน่าย ปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐาน และได้รับใบอนุญาตโดยต้องแสดงหลักฐานทะเบียนเกษตรกร ผู้รับจ้างพ่นสารต้องได้รับการอบรม ขออนุญาตมีไว้ในครอบครองเพื่อรับจ้างพ่นสาร และได้รับการขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างพ่นสารทั้ง 3 ชนิด

ทั้งหมดนี้จะมีการรวบรวมแบบสอบถามและความคิดเห็นตามประเด็นมาตรการต่าง ๆ และประชุมคณะทำงานทบทวนเนื้อหาสาระ รวมถึงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 19 ก.ค. 2561

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พัฒนาระบบประกันภัยพืชผล เกษตรฯจับมือรัฐ-เอกชนวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรมหาชน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรของประเทศไทย เพื่อดำเนินการประมวลความเสียหายและช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งเป็นการรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศไปพร้อมกัน

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรมหาชน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 พร้อมกับมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ประสานงานกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร แบบประมวลรวบรวมความเสียหาย และการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริงของเกษตรกรผู้เอาประกันภัยข้าว ในการรับค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนการดำเนินการโดยให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อรองรับการเพิ่มพื้นที่เป้าหมายในอนาคต และรองรับการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น พร้อมทั้งเก็บข้อมูลพื้นที่ประกันภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 โดยแยกประเภทพืชต่างๆ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล และปรับปรุงฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้ดัชนีผลผลิตต่อเขตพื้นที่ และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมการรองรับการประกันภัยข้าว และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ ต่อไป

โดยหน่วยงานที่ร่วมลงนามครั้งนี้ประกอบด้วย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยนี้ มีระยะเวลา 3 ปี และมีจุดประสงค์เพื่อให้หน่วยงานทั้ง 6 ฝ่าย ร่วมมือกันศึกษาและพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมและครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยพืชผลการเกษตรต่อสาธารณะ สามารถนำไปใช้ได้จริงในวงกว้างได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในครั้งนี้ จะทำให้ได้รูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมชดเชยที่เหมาะสม ประกอบกับมีวิธีการตรวจสอบให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ถูกต้อง รวดเร็ว ตรวจสอบได้โดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มีหลักประกันความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กฟผ.ยืนยันลาวเบรกสร้างเขื่อนไม่กระทบการใช้ไฟฟ้าของไทย

“สหรัฐ” เผยหลัง ครม.ลาวเบรกสร้างเขื่อน เป็นเรื่องปกติที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น ชี้ยังไม่มีผลกระทบกับไทย ด้านเอ็มโอยูซื้อขายไฟ 9 พันเมกฯเป็นแค่กรอบกำหนดไม่ใช่ข้อบังคับ ยันไทยยังมีสำรองไฟอยู่ที่ 30% ย้ำหลังจากนี้เอกชนที่ลงทุนในลาวต้องทำตามมาตรฐานรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  เปิดเผยถึงกรณีที่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ของสปป.ลาว มีมติกำหนดให้รัฐบาลยุติการพิจารณาโครงการเขื่อนใหม่ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อศึกษาทบทวนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้า ใน สปป.ลาว หลังจากเกิดเหตุเขื่อนดิน โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการเข้มงวดมากขึ้นในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งในส่วนของเขื่อนที่กำลังก่อสร้างปัจจุบัน ก็จะต้องดูว่ามีความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย

ทั้งนี้ตามข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า(เอ็มโอยู)ระหว่างไทย-ลาวที่มีอยู่ในปัจจุบัน 9,000 เมกะวัตต์ เป็นกรอบที่กำหนดว่าไทยจะพัฒนาหรือจะซื้อไฟฟ้าจากลาวในปริมาณเท่าไหร่ แต่ไม่มีการกำหนดว่าจะต้องซื้อทุกปีหรือจากทุกโรงไฟฟ้า ขณะที่ในระยะต่อไปทางรัฐบาลไทยเองก็ต้องมีการหารือกันว่าจะมีการลงนามพิจารณาซื้อไฟฟ้าจากฝั่งลาวนอกเหนือจากสัญญาเพิ่มเติมหรือไม่ ตามสถานการณ์ความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งทุกอย่างจะถูกกำหนดลงในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล

“อย่างที่ทราบกันดีกว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าในปัจจุบันสูงถึง 30% ซึ่งในปัจจุบันคงไม่มีผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในประเทศ แต่ก็ต้องดูความต้องการไฟฟ้าของประเทศควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตามในอนาคตหากลาวยังดำเนินมาตรให้เอกชนเข้าไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศต่อนั้น ก็จะต้องมีมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวดขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องการออกแบบ การก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน ความปลอดภัย หรือข้อบังคับต่าง ๆ ไม่ว่านักลงทุนประเทศไหนก็ต้องดำเนินตามกฎระเบียบของรัฐบาลลาว และต้องเสนอวิธีการพัฒนาโครงการให้ต่อรัฐบาลลาว หากไม่ได้มาตรฐานที่วางไว้ ก็อาจจะไม่สามารถลงทุนได้”นายสหรัฐ กล่าว

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

แกนนำชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ รวมตัวหาทางออกราคาอ้อยร่วง

แกนนำชาวไร่อ้อยทั่วประเทศราว150ราย รวมตัวเปิดเวทีสัมนาหาทางออกเพื่อรับมือ แก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ในฤดูผลิต2561/62 ที่กำลังเปิดหีบพ.ย.นี้ แนะวางมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวช่วยชาวไร่อ้อย

นายนราธิป อนันตสุข  หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  วันนี้(7ส.ค.2561) มีการรวมพลตัวแทนชาวไร่อ้อยทั่วประเทศราว150ราย เพื่อมาหาทางออกร่วมกันในเวทีสัมมนาที่พัทยา จังหวัดชลบุรี กรณีปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ  ทั้งนี้เนื่องจากราคาอ้อยเบื้องต้นที่ปี2560/61ประกาศออกไปก่อนหน้านั้นสูงถึง 880  บาทต่อตัน ในขณะนั้นราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยืนอยู่ที่16-17เซ็นต์ต่อปอนด์  ในขณะที่ราคาอ้อยเบื้องสุดท้าย  คาดการณ์ว่าจะลงมาอยู่ที่ราคา772บาทต่อตัน หลังจากที่ราคาน้ำตาลทรายดิบก็ร่วงลงมาต่อเนื่อง ตามสถานการณ์โลก

อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ต่างกังวลว่า จากราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกร่วงลงมาอยู่ที่ ราว11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ในขณะนี้ จะทำให้ราคาอ้อยในฤดูผลิตปี2561/2562 ที่จะเริ่มเปิดหีบในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ได้รับผลกระทบจากราคาอ้อยที่ตกต่ำ จึงมีการหารือร่วมกันถึงมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาวถึงเสถียรภาพราคาอ้อยดังนี้

โดยมาตรการระยะสั้นประกอบด้วย  1.ให้มีการเจรจากับโรงงานน้ำตาลนำเงินจากระบบที่มีส่วนต่างของรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลประมาณ ปีละ15,000ล้านบาทมาเพิ่มเป็นราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย100%   2.เจรจากับโรงงานน้ำตาลให้เพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่อ้อย

3.ให้ภาครัฐสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในปัจจัยการผลิต(ปุ๋ย ยา รวมทั้งการขนส่ง) เพื่อลดต้นทุการผลิตโดยไม่ขัดกับWTO  4.ให้รัฐแก้ปัญหาเพื่อให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารเพิ่มเพิ่มราคาอ้อยให้คุ้มต้นทุนการผลิตโดยให้มีการแก้กฏหมายโดยใช้ม.44 ให้กองทุนสามารถกู้เงินได้

5.เร่งรัดให้ใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้(ที่คณะกรรมการได้มีมติหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ20บาท) 6.เพื่อควายั่งยืนในอาชีพให้ปตท.สร้างโรงงานผลิตอเทานอลเพื่อเป็นแนวทางเลือกของอ้อยอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนแนวทางระยะยาว ในเรื่องเสถียรภาพราคาอ้อยมีการหารือร่วมกันว่า  ควรประกอบด้วย 1. กำหนดปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่เหมาะสมเพื่อเสถียรภาพราคาอ้อยปริมาณส่วนเกินจากที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ 2.กำหนดรายได้ส่วนเพิ่มให้กับระบบจากการผลิตน้ำตาลชนิดพิเศษและแบ่งปันให้เหมาะสม 3.ส่งเสริมให้มีการนำอ้อยไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากน้ำตาล เพื่อให้ระบบมีรายได้เพิ่มขึ้นและแบ่งปันอย่างเหมาะสม 4.จัดทำต้นทุนการผลิตอ้อยและต้นทุนการผลิตน้ำตาลให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

5.ปรับรูปแบบวิธีการขายน้ำตาลไปต่งประเทศของตลาดล่วงหน้าให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับระบบ รวมถึงปลดเงื่อนไขข้อจำกัดระหว่างชาวไร่อ้อยต่อโรงานในการทำราคาตลาดล่วงหน้า(36เดือน)  และเพิ่มชนิดน้ำตาลในการทำราคา(น้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว)  รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำตาลให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น 6.รูปแบบของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่เหมาะสมและไม่ขัดกับWTO ควรเป็นอย่างไร

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 8 สิงหาคม 2561

เฝ้าระวัง 4 เขื่อนน้ำเกินเกณฑ์

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำเขื่อนขนาดกลาง-ขนาดใหญ ชี้น้ำเกินเกณฑ์เฝ้าระวัง 4 เขื่อน 

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำมากที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง คือ 1. เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำ 733 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103  น้ำไหลเข้า 24.45 ล้าน ลบ.ม./วัน น้ำระบายออกรวม 16.82 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำล้น (Spillway) สูง 52 ซม. ขณะนี้สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.54 ม. ระดับตลิ่ง 4.40 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.50 ม. แต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.96 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 172.3 ลบ.ม./วินาที่  ซึ่งน้ำที่ล้นผ่านทางระบายน้ำล้นที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม ก่อนที่จะไหลลงทะเลต่อไป

กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำโดยกาลักน้ำ/เครื่องสูบน้ำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงที่อาจจะมีน้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่และชุมชน 31 เครื่อง (สำรอง 5 เครื่อง) ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า  38 เครื่อง (สำรอง 8 เครื่อง) เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก  20 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำ ให้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไหลออกทะเลที่อำเภอบ้านแหลมได้เร็วที่สุด

2.เขื่อนน้ำอูน มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 534 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 103  น้ำไหลเข้า 1.21 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน มีปริมาณน้ำไหลออก 4.47 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง สำหรับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานได้ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งเดิมระบายวันละ 3.50 ล้าน ลบ.ม. ต่อมาเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำเพิ่มปริมตรการระบายขึ้นอีก 600,000  ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และประสานกับฝ่ายปกครองและ ปภ. จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ไหลผ่าน

3.เขื่อนวชิราลงกรณ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ  7,495 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ปริมาณน้ำไหลเข้า 70.01 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 40.98 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 43 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2561 และแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแล้ว

4.เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ 15,423 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 น้ำไหลเข้า 47.63 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันมีน้ำไหลออก 20.30 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันปริมาตรน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง  สำหรับสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำนั้น น้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ท ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อยการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 20 ล้าน ลบ.ม./วัน ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2561 ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแล้ว

จาก www.mcot.net   วันที่ 8 สิงหาคม 2561

หวั่นสงครามการค้า-เงินบาทผันผวนกระทบเอสเอ็มอี

“ธนวรรธน์”ระบุโพลหอการค้าไทยชี้ความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีไตรมาส 2 เริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดมากกว่าระดับ 50 ในไตรมาส1 ปีหน้า จับตาสงครามการค้า-ค่าเงินบาทกระทบธุรกิจ                   

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาสที่ 2 ว่า  อยู่ในระดับ 43.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา แสดงให้เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ยังไม่เต็มที่ เนื่องจากยังต่ำกว่า 50 แต่ถือเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3  ไปอยู่ที่ระดับ 43.6

ทั้งนี้เมื่อมีการวิเคราะห์พื้นฐานกลุ่มที่เป็นลูกค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)   ฟื้นตัวจากการดำเนินธุรกิจตามคำแนะนำและมีการขอสินเชื่อประกอบธุรกิจได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว.อย่างมากไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพคล่อง สต๊อกวัตถุดิบ หนี้สินรวม กำไรสะสม เป็นต้น โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับลดลง 0.6 จากระดับ 39.4 มาอยู่ที่ระดับ 38.8 สวนทางกับกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว.  ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเพิ่มขึ้น 1.9 จากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.3  นอกจากนี้หากเปรียบเทียบดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีโดยรวมปรับตัวดีขึ้นทุกตัวที่ได้ทำการสำรวจมา แม้อาจจะมีบางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์การฟื้นตัว และมองว่าโดยรวมน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ และน่าจะฟื้นเต็มที่ปลายไตรมาส1ปี 62 

 “ประเด็นที่ผู้ประกอบการควรเฝ้าระวัง ได้แก่  ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนแม้ว่าจะยังคงทรงตัวในทิศทางอ่อนลง  ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่าน   สงครามทางการค้า ที่ยังไม่สิ้นสุด  ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวต่ำ กำลังซื้ออาจจะยังไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว  และความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ”

อย่างไรก็ตาม  การฟื้นตัวของภาคธุรกิจโดยรวมเป็นการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ โลก แต่ปัจจัยด้านลบ เช่น มาตรการจากสงครามการค้า ความผันผวนจากราคาน้ำมันตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน เป็นต้น ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จะไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม การขนส่ง ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ทางศูนย์ฯยังมองว่าจีดีพีปีนี้น่าจะอยู่ที่  4.5%  ขึ้นไป การส่งออกจะเติบโต 7-10 % อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาพลังงานอยู่ในทิศทางขาขึ้น  ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูแลไม่ให้สูงเกินไป

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.กล่าวว่า ดัชนีที่สำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงแนวทางสนับสนุนลูกค้าธนาคารที่มุ่งเติมทุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  ควบคู่กับการพัฒนาให้ความรู้รอบด้านไม่ว่าจะเป็นด้านทำบัญชี วางแผนธุรกิจ การตลาด การสร้างมาตรฐานให้สินค้าหรือบริการ ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะการช่วยเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 8 สิงหาคม 2561

นิพนธ์’ แนะเก็บค่าน้ำ รายได้เพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน – ชี้เกษตรกรใช้น้ำไม่คุ้ม

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำภาคการเกษตรยังมีประสิทธิภาพต่ำมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้น้ำกันอย่างไม่ระมัดระวังเพราะไม่มีราคา จึงทำให้น้ำจำนวนมากในระบบต้องสูญเสียไป ทั้งนี้ ถ้านำน้ำไปสนับสนุนในการปลูกในพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น อ้อย ลำไย เป็นต้น จะทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพและรายได้เกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ

ภาคการเกษตรมีการใช้น้ำมากที่สุดถึง 70-80% หรือ ประมาณ 130,000 ลูกบาก์ศเมตร (ลบ.ม.) ของปริมาณทั้งประเทศ ถ้าสามารถโอนน้ำมาเพียง 2-3% เพื่อใช้นอกการเกษตร ขยายการบริการเขตน้ำประปาในเขตชุมชนที่ยังไม่มีน้ำประปาเพียงพอ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น รวมทั้งยังลดการสูบน้ำจากใต้ดินซึ่งทำให้เกิดปัญหาดินทรุดได้ส่วนการนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคและท่องเที่ยว ใช้น้ำไม่มากแต่มีประสิทธิภาพด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

ปัจจุบันรัฐมีนโยบายการจัดการความต้องการใช้น้ำ เพื่อต้องการลดการใช้น้ำกิจกรรมที่สิ้นเปลือง โดยราคาต้นทุนในการจัดสรรน้ำอยู่ที่ 1.25 บาท หากขึ้นค่าน้ำคนกรุงเทพฯ ประมาณ 10% คาดว่าจะทำให้คนอยู่ในกรุงเทพฯ ลดการใช้น้ำลงได้ 13-14% และจะสามารถนำน้ำที่เหลือไปใช้ในภาคอื่นๆ ที่ต้องการขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น

“ไทยแต่ละปีปลูกข้าวประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก และมีการบริโภคเพียงครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง ซึ่งผมมองว่าเป็นการอุดหนุนค่าน้ำให้ผู้บริโภคต่างประเทศ ดังนั้นในอนาคตต้องออกแบบให้ส่งน้ำเพื่อปลูกพืชอื่นๆ ได้ โดยใช้เทคโนโลยีและคนที่จะใช้น้ำในอนาคตจะต้องเสียเงินเพื่อแลกกับสิ่งที่ดีขึ้น โดยกรมชลฯ ก็ต้องให้ความมั่นใจระบบชลประทานกับผู้ใช้น้ำด้วย”

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 หลังประกาศเขตชลประทานตามมาตรา ของ พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้จัดเก็บค่าใช้น้ำตามมาตรา 8 จากภาคเกษตรไม่เกิน 5 บาทต่อไร่ต่อปี และประปาและอุตสาหกรรม เก็บค่าชลประทานไม่เกิน 0.50 บาทต่อลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้กรมชลประทานสามารถประกาศเขตได้ 7,500 เขต แต่มีการจัดเก็บค่าใช้น้ำได้เพียง 362 ราย วงเงิน 798 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ใช้น้ำไปถึง 1,596 ล้านลบ.ม.

ภาคการเกษตรไม่มีการเก็บค่าชลประทานเลย เนื่องจากรัฐบาลและข้าราชการระดับสูงกลัวเเรงต้านจากเกษตรกร ส่วนการประปามีการจัดเก็บค่าใช้น้ำเพียง 0.50 บาทต่อลบ.ม. ประปาบางแห่งยังพบว่าไม่มีการจ่ายจริงหรือจ่ายไม่เต็ม เช่น การประปานครหลวง จ่ายค่าน้ำเฉพาะน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลองเมื่อเฉลี่ยปริมาณน้ำทั้งหมดจะคิดเป็น 0.15 บาทต่อลบ.ม. ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการเก็บค่าชลประทานที่ 0.50 บาทต่อลบ.ม.บางแห่งแต่ยังเก็บไม่ครบ มีการสูบน้ำฟรีจำนวนมากเพราะยังไม่ได้สำรวจจริงจัง

ดังนั้น หากกรมชลประทานยึดบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุดตามพ.ร.บ. 2548 อย่างเข้มงวด จะทำให้มีรายได้จากการใช้น้ำประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการปรับระบบการส่งน้ำส่งน้ำชลประทานใหม่ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มการใช้น้ำ และปรับขึ้นค่าใช้น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ ถึง 8,109-13,775 ล้านบาทต่อปี เงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าน้ำ ต้องแบ่งเข้ากองทุนเพื่อปรับปรุงระบบชลประทาน การใช้น้ำลดลง รองรับอนาคตที่จะเกิดภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำลดลง

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม 2561

น้ำท่วมพื้นที่เกษตร 4 แสนไร่!! เร่งเยียวยาเกษตรกร 23 จว.

เกษตรฯ สรุปพื้นที่เกษตรกว่า 4 แสนไร่ประสบอุทกภัย เตรียมช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร 23 จังหวัด

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลกระทบพื้นที่เกษตรจากพายุเซินตีญและยังมีฝนชุกต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์ล่าสุด พื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัย จำนวน 23 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัด ที่ประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร นครพนม ยโสธร กาญจนบุรี และพื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัยแต่ยังไม่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อีก 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พะเยา พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บึงกาฬ หนองคาย และตราด มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนรวมทั้งสิ้นจำนวน 101,032 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 654,325.25 ไร่ จำแนกเป็นข้าว 581,540.75 ไร่ พืชไร่ 64,517.25 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 8,267.25ไร่ โดยภาคอีสานได้รับผลกระทบมากที่สุด 10 จังหวัด รวมกว่า 598,337.75 ไร่ เกษตรกรได้รบผลกระทบ 85,548 ราย ภาคเหนือ 11 จังหวัด ผลกระทบกว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่งข้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมกว่า 581,540.75 ไร่ พืชไร่เสียหายกว่า 64517.25 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ เสียหายกว่า 8,267.25 ไร่ ตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2561)

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าสำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ ได้แก่ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการและกำชับเจ้าหน้าที่ของส่งเสริมการเกษตรระดับพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้รวดเร็วที่สุด

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 8 สิงหาคม 2561

ประเมินสงครามการค้าฉุดส่งออกไทยวูบ 351-2,881 ล้านเหรียญสหรัฐ

ศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศประเมินสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน พบจะทำให้มูลค่าส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังหายไปตั้งแต่ 351-2,881 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.14-1.13% และทำจีดีพีหด 0.12-1.02% แต่ยังมั่นใจทั้งปี จะเติบโตได้ถึง 8.1% เหตุเศรษฐกิจโลกโต บาทอ่อนช่วยหนุน พร้อมคาดหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษียานยนต์และชิ้นส่วน จะทำให้ส่งออกปีหน้าลด 1-2%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ทำการวิเคราะห์ที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 จากการทำสงครามการค้า โดยพบว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยลดลง 351 ล้านเหรียญสหรัฐถึง 2,881 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 0.14-1.13% และกระทบต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ลดลง 0.12-1.02%

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ได้แบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเก็บเพิ่มอัตรา 25% และเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่ม 20% ซึ่งจีนและอียูตอบโต้สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 351 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 0.14% และจีดีพีลด 0.12%

กรณีที่ 2 หากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตรา 25% และเก็บภาษีนำเข้าจากอียูมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตรา 10% ซึ่งจีนและอียูตอบโต้สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 597 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 0.23% และจีดีพีลด 0.21%

กรณี 3 ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายสุดและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นน้อยสุด คือ สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 25% กับทุกประเทศและประเทศต่างๆ ตอบโต้ จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง 2,881 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 1.13% และจีดีพีลด 1.02%

“ทั้ง 3 กรณี คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ในกรณีที่ 1 กับกรณีที่ 2 ส่วนกรณีสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นได้ยากสุด เพราะสหรัฐฯ พุ่งเป้าที่จะแก้ปัญหาทางการค้ากับจีนเป็นหลัก ซึ่งการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ เพราะมีสินค้าที่ส่งออกเป็นซัปพลายเชนให้กับจีน”นายอัทธ์กล่าว

นายอัทธ์กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังได้ติดตามกรณีที่สหรัฐฯ จะใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วน ที่อาจมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะสินค้ายานยนต์เป็นกลุ่มการส่งออกใหญ่ที่มีซัปพลายเชนไปทั่วโลก โดยประเมินเบื้องต้น หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจริง จะกระทบทำให้การส่งออกไทยลดลงประมาณ 1-2% และยังกระทบต่อไปถึงค่าเงินของแต่ละประเทศที่จะกลายเป็นสงครามค่าเงินต่อไป ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศพยายามทำให้ค่าเงินอ่อนค่า เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ประเมินค่าเงินบาทของไทยหลังเกิดสงครามการค้า ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.2561 ที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และ 10% กับสินค้าจีนและประเทศคู่ค้ามีการตอบโต้ พบว่า ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33.29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าเป็นอันดับ 3 โดยค่าเงินหยวนจีนอ่อนค่ามากสุดอยู่ที่ 6.71 บาทต่อหยวน

สำหรับการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งได้รวมผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว คาดว่าจะมีมูลค่า 1.29 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 5.5% เป็นการขยายตัวแบบชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่การส่งออกไทยขยายตัว 11% ส่งผลให้การส่งออกไทยปี 2561 มีมูลค่า 2.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.1% โดยมีปัจจัยบวก คือ เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโต สหรัฐฯ ต่อสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ให้ไทย และค่าเงินบาทอ่อนค่า แม้บางประเทศจะเติบโตในระดับต่ำกว่าปี 2560 เช่น จีน ญี่ปุ่น อียู สหรัฐฯ

ส่วนปัจจัยลบที่มีผลต่อการส่งออกไทย นอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว ต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นถึง 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทางอิหร่านที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 2561 โดยห้ามบริษัทของสหรัฐฯ ทำการค้าขายและซื้อขายทอง และสหรัฐฯ จะเริ่มการห้ามซื้อขายน้ำมันดิบกับทางอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย.2561 ด้วย ทำให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรของไทยตกต่ำ

จาก https://www.thaipost.net วันที่ 8 สิงหาคม 2561

“ม.หอการค้า-กกร.”ชี้ส่งออกเเละศก.ไทยครึ่งปีหลังขยายตัว

นายอัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยทั้งปี2561 โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 255,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 8.1 % แต่ชะลอตัวลดลงกว่าปี 2560 และคาดว่าส่งออกครึ่งปีหลังนี้ จะมีมูลค่า 129,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 5.5% โดยมีปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุน คือ เศรษฐกิจโลกยังเติบโต จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป , สหรัฐต่อสิทธิ GSPให้ไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2561 ส่งผลให้ครึ่งปีหลังมีโอกาสส่งออกได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่เสียภาษีในอัตราปกติ ค่าเงินบาทครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบ มีผลกระทบจากสงครามการค้า ค่าเงินในหลายๆ ประเทศเริ่มอ่อนค่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการผลิต ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

อย่างไรก็ตามยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง เช่น สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แผนการขึ้นภาษีรถยนต์ของสหรัฐ รวมถึงประเทศต่างๆในโลกมีมูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดโลกของไทยลดลง 0.02% รวมไปถึงกรณีที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ภายในของไทย เช่น ผลจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยด้วย

สำหรับทิศทางของเศรษฐกิจโลก ข้อมูลของเวิลด์แบงก์, IMF และ OECD มีความเห็นในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจโลกปี 2561 จะเติบโตใกล้เคียงกับปีก่อน ที่เติบโต 3.5 % แต่มีปัจจัยของสงครามการค้าได้ประเมินว่าจะมีผลต่อ GDP ของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ 0.1-0.8 ขณะที่ไทยประเมินว่ามีผลกระทบค่อนข้างน้อย ประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมกกร. วันนี้นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน กกร. มีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังรักษาแรงส่งของการเติบโตที่ดีได้ต่อเนื่อง จากแรงหนุนของการส่งออกและการท่องเที่ยว อีกทั้งมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว และรายได้เกษตรกรที่กลับมาเป็นบวกติดต่อกันซึ่งจะช่วยประคองกำลังซื้อของฐานรากไม่ให้แย่ลง โดยรวมแล้ว จึงประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัว 4.3-4.8%, การส่งออก คาดว่าจะเติบโต 7.0-10.0% และอัตราเงินเฟ้อคงจะอยู่ที่ 0.9-1.5% ซึ่งเป็นกรอบประมาณการเมื่อเดือนกรกฎาคมของ กกร.

ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องติดตามประเด็นเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งแม้ว่าในปีนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังมีจำกัด แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจจะมีเพิ่มขึ้นในปีหน้าถ้าสหรัฐฯ เก็บภาษีจากจีนมากขึ้น ทั้งรายการสินค้าและอัตราภาษี รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินในภูมิภาคให้ยังมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าลงตามการอ่อนค่าของเงินหยวนด้วย

นอกจากนี้ ต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยในประเทศ ที่ ณ ขณะนี้ ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ อยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กกร. ประเมินว่า สถานการณ์น่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเท่ากับมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนที่สูงนั้น อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แตกต่างจากในปี 2554 ที่ผลกระทบเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของหลายนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมถึงการคาดการณ์จำนวนพายุที่จะเข้ามาในช่วงฤดูฝนที่เหลือของปีนี้ ที่น่าจะไม่มากเท่ากับในช่วงเดียวกันของปี 2554

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2561

อานิสงส์เงินบาทอ่อนดันส่งออกไทยโต8.1%

เศรษฐกิจโลกสดใส-สหรัฐฯต่อสิทธิพิเศษจีเอสพี-บาทอ่อนหนุนส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัว 5.5%   ทั้งปีคาดแตะ 8.1% เกาะติดสงครามทางการค้า- การคว่ำบาตรอิหร่านดันราคาน้ำมันพุ่ง                 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยว่า  มูลค่าการส่งออกครึ่งหลังคาดว่าจะมีมูลค่า 129,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 5.5%  จากกรอบ 4-6.9%  โดยชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในครึ่งปีหลังของปี 60 ขยายตัว 12%  และทั้งปีมีมูลค่า 255,802 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 8.1%  จากกรอบประมาณการณ์ 7.3-8.9% ชะลอตัวลงหากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัว 9.9%

สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกที่สำคัญคือ  เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโต แม้บางประเทศจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าปีก่อน  เช่น จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป   นอกจากนี้สหรัฐฯ ต่อสิทธิพิเศษ GSP ให้ไทยโดยมีผล 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ ครึ่งปีหลังมีโอกาสส่งออกได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่เสียภาษีในอัตราปกติ ด้าน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย

ส่วนปัจจัยลบต่อการส่งออกที่สำคัญคือ  ผลกระทบจากสงครามการค้า  ค่าเงินในหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ  ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการผลิต แต่ก็อาจส่งผลดีทำให้ราคาส่งออกสินค้าสูงขึ้น และ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ครึ่งปีหลังราคาน้ำมันจะปรับตัวสูง จากอิหร่านต้องเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ  ซึ่งหากเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-อิหร่านรุนแรง อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงถึง 80-90 ดอลลาร์ต่อบาเรล  ส่วนประเด็นที่ติดตามคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน   แผนการขึ้นภาษีรถยนต์สหรัฐฯกับนานาชาติ เป็นต้น"

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 7 สิงหาคม 2561

เดินหน้ายกระดับเทคโนโลยี เพิ่มความปลอดภัยรับนโยบาย4.0

เอ็ม กันดิ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม (ธุรกิจอาเซียน) ยูบีเอ็ม เอเชีย เปิดเผยว่า ได้จัดงานสัมมนาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้มีการตระหนักและเตรียมพร้อมในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เมือง ตลอดไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยระดับชาติ ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวงการการรักษาความปลอดภัยในด้านต่างๆเข้าร่วมเป็นผู้เสวนาเพื่อกระตุ้นให้มีการตระหนักและเตรียมพร้อมในเรื่อง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน เมือง ตลอดไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยระดับชาติ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวงการการรักษาความปลอดภัยในด้านต่างๆเข้าร่วมเสวนา

สำหรับจุดประสงค์หลักของการจัดสัมมนาพิเศษภายใต้หัวข้อ “รู้ทัน...ป้องกันมหันตภัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” คือการเชิญผู้ที่มีความรู้ในแวดวงการป้องกันและรักษาความปลอดภัยมาร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ และพูดถึงวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน โดยวิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาในงานสัมมนาได้แก่ ดร.วัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสากลสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และนายกสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ประเทศไทย)ในหัวข้อสถานการณ์ ความพร้อมของระบบการรักษาความปลอดภัยในประเทศไทย

ขณะที่พล.อ.บรรเจิด เทียนทองดี คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หัวข้อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การป้องกันและรักษาความปลอดภัยในระบบสารสนเทศ,สุรเชษฐ์ สีงาม อุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร หัวข้อการบริหารความเสี่ยงอัคคีภัยในอาคาร ,พ.ต.อ.อัครินทร์ สุขเกษม รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวข้อแนวโน้มอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคมเมือง ป้องกันและบรรเทาได้อย่างไร โดยมีพล.ต.ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ ผู้ชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

โดยที่ผ่านมาธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4.1% ซึ่งเป็นอัตราที่เติบโตมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายตัว 9% ในปีนี้ ด้วยความคาดหวังและความเป็นไปได้ดังกล่าว ภาครัฐมีแผนที่จะให้ความสำคัญกับการผลิตและการเข้าถึงมากขึ้น เพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ รัฐบาลได้เปิดตัวโครงการต่างๆ ทั้งบริการอัตโนมัติในอุตสาหกรรมยานยนต์ โครงการสมาร์ทซิตี้ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาเมืองใหม่ๆให้เติบโต จากการขยายตัวดังกล่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยจะมีการใส่ใจเรื่องความมั่นคง อัคคีภัยและความปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อยกระดับความพร้อมในการรักษาความปลอดภัย และ การป้องกันอัคคีภัยในประเทศในระดับภูมิภาค บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย)พร้อมด้วย ภาครัฐและภาคเอกชนหน่วยงานต่างๆ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานIFSEC SOUTHEAST ASIA 2018 ร่วมกับงาน POLSEC 2018– Government Security exhibition เป็นงานเดียวที่รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับระบบการป้องกันความปลอดภัยที่ทันสมัยและครบครันที่สุดครอบคลุมในทุกหน่วยธุรกิจเช่น ความปลอดภัยด้านอาคาร สถานที่ ส่วนบุคคล ชีวอนามัย พื้นที่สาธารณะและสิ่งแวดล้อม โดยจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค.61 เวลา 10.00–18.00น.ที่ฮอลล์1 อิมแพค เมืองทองธานี

“งาน IFSEC Southeast Asia2018 เป็นงานที่รวมเอาอุปกรณ์ และเทคโนโลยีในด้านการรักษาความปลอดภัย และระบบอัคคีภัยที่ทันสมัยที่สุดไว้ในงาน เพื่อตอบรับกับนโยบาย 4.0 ของภาครัฐบาลในด้านการลงทุนการพัฒนาโครงสร้างทางพื้นฐานของประเทศ และการพัฒนาระบบเมืองแบบอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติ เป็นงานที่นำต้นแบบความสำเร็จของงาน IFSEC International ประเทศอังกฤษ โดยบริษัท UBM Plc งานดังกล่าวได้ขยายการจัดงานและพื้นที่การจัดแสดงมายังประเทศต่างๆได้แก่ ประเทศอินเดีย,เกาหลี,ฟิลิปปินส์ รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียนอย่างมาเลเซียซึ่งจัดต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปีซ้อน”

สำหรับประเทศไทยถือเป็นครั้งแรก โดยเหตุผลและปัจจัยสำคัญที่เลือกเมืองไทยคือ ทิศทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมทั้งมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางในด้านการขนส่งที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยในด้านต่างๆ ภายในงานพบกับกล้องวงจรปิด ระบบตรวจจับชีวภาพ ระบบการป้องกันภัยทางไซเบอร์ ระบบบริหารจัดการอัคคีภัย ระบบการรักษาความปลอดภัยภายในบ้านเรือน ระบบอินเตอร์เน็ต (IoT)ซึ่งจะรวบรวมผู้ออกงานจากทางภาครัฐ และเอกชน ผู้กระจายสินค้า ผู้นำเข้าสินค้า ผู้วางระบบ และกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัย

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 7 สิงหาคม 2561

ครม.ไฟเขียวขยายโครงการพืชหลากหลาย จ่าย 144 ล้าน กลุ่มตกหล่น

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 และโครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 จากเดิมสิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2561 ให้สิ้นสุดเดือนก.ย. 2561 เพื่อดำเนินการจ่ายเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตพืชทดแทน วงเงิน 144.855 ล้านบาท เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 11,256 ราย พื้นที่ 72,427.75 ไร่

เนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรไม่สามารถ ดำเนินการเบิกจ่าย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรได้ทันตามแผนปฏิบัติงาน เนื่องจากสำนักงบประมาณอนุมัติวงเงินให้กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 และแจ้งเอกสารสำรองเงิน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลา การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานโครงการฯ

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 และโครงการขยายการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2561 ครม.อนุมัติวงเงินรวม 900 ล้านบาท ในพื้นที่ 53 จังหวัด พื้นที่เป้าหมายรวม 450,000 ไร่ เกษตรกร จำนวน 30,000 ราย ระยะเวลาดำเนินงานโครงการฯ ระหว่างเดือนพ.ย. 2560-มิ.ย. 2561 โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตพืชทดแทนให้เกษตรกร จากสำนักงบประมาณ จำนวน 3 ครั้ง วงเงินรวม 549.589 ล้านบาท เกษตรกรรวม 34,093 ราย พื้นที่ รวม 274,794.50 ไร่

โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 วงเงิน 278.125 ล้านบาท เกษตรกร จำนวน 14,449 ราย พื้นที่ 139,062.50 ไร่ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 วงเงิน 126.608 ล้านบาท เกษตรกร จานวน 8,388 ราย พื้นที่ 63,304.25 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติงบประมาณให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรไม่สามารถ ดำเนินการเบิกจ่าย และ ธ.ก.ส. ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรได้ทันตามแผนปฏิบัติงาน โครงการฯ ภายในเดือนม.ย. เนื่องจากสำนักงบประมาณอนุมัติวงเงินให้กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. และแจ้งเอกสารสำรองเงิน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 ซึ่งสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานโครงการฯ แล้ว

จาก https://www.khaosod.co.th    วันที่ 7 สิงหาคม 2561

‘รมว.เกษตร’ ห่วงฝนตกลงมาอีก สั่งเร่งระบายน้ำ ยัน น้ำไม่ท่วมแบบปี “54”แน่

เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 7 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนดังกล่าว เราใช้ 3 ช่องทาง คือ ประตูปิด-เปิดธรรมดา ช่องทางน้ำล้น (สปิลเวย์) และ ใช้เครื่องสูบน้ำออก โดยน้ำทั้งหมดจะลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งมวลน้ำใหญ่กำลังเคลื่อนตัวลงมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แยกมวลน้ำดังกล่าวให้ออกไปทางซ้ายและขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนหนึ่งใช้เครื่องสูบน้ำเป็นทางลัดสู่อ่าวไทย อีกส่วนกำลังดูพื้นที่ว่างที่ยังไม่มีการทำเกษตรให้น้ำลงพื้นที่นั้น ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับที่ทำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องสูบน้ำและการผันน้ำออกทางซ้ายขวา ทำให้น้ำที่จะลงไปสู่ตัวเมืองเพชรบุรีลงไปช้าและมีปริมาณน้อยลง จึงมีเวลาให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ในส่วนราชการทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลางนั้น จะพยายามเร่งระบายน้ำตามวิธีดังกล่าวให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในเมืองเพชรบุรีให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนได้รับรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 07.00 น. ระดับน้ำยังอยู่ในระดับล่าง ไม่ขึ้นมาริมตลิ่ง ซึ่งแผนการบริหารจัดการน้ำก็ยังเป็นไปตามที่ตนกล่าวเอาไว้อยู่ แต่ปัจจัยที่เรายังไม่กล่าวถึงคือฝนที่จะตกลงมาใหม่หรือไม่ แต่ตลอด 24 ชม. ที่ผ่านมายังไม่มีฝนในปริมาณมากตกลงมา

เมื่อถามว่า มีแผนรองรับในกรณีที่มีฝนตกหนักหรือไม่ นายกฤษฎากล่าวว่า ต้องดูปริมาณน้ำก่อน เราคาดการณ์ว่ามีปริมาณน้ำไหลอยู่ที่ประมาณ 70-80 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ถ้าขึ้นมา 200-300 ลบ.ม.ต่อวินาที จะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำในเมือง จ.เพชรบุรี น้ำท่วม แต่จะไม่ท่วมกระจายเหมือนเมื่อก่อน เพราะเรามีผนังกั้น และเครื่องสูบน้ำคอยรองรับไว้จากกรมชลประทานจำนวน 35 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มสูบน้ำออกไปแล้ว

เมื่อถามถึงกำหนดการเดินทางไปตรวจการระบายน้ำที่ จ.เพชรบุรี ของนายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา ยืนยันว่า นายกฯยังมีกำหนดการเดิมเพื่อไปเยี่ยมประชาชน แม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วม โดยจะไปดูการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและหัวหน้าส่วนราชการได้เตรียมการไว้อย่างดีแล้ว

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี เสี่ยงเขื่อนแตก นายกฤษฎากล่าวว่า เขื่อนดังกล่าวใช้หลักการระบายน้ำแบบเดียวกัน ส่วนพื้นที่อื่นตามลุ่มแม่น้ำโขง ที่ตอนนี้ก็ประสบปัญหาเช่นกันนั้น ขณะนี้ยังบริหารจัดการได้ แต่ด้วยน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่มาก ทำให้ระบายได้ช้า ส่วนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังคงรับน้ำได้อยู่ และยืนยันน้ำจะไม่ท่วมแบบปี 2554 แน่นอน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 7 สิงหาคม 2561

กระทรวงอุตฯ เดินหน้ายกระดับภาคเกษตรแปรรูป 2,000 ราย

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริม SMEs ภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 2,000 ราย เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” ทั้งในด้านพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาด โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยี ระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 400 ล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรมีทิศทางที่สดใสสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น รัฐบาลได้กําหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป       ในหลายด้าน เช่น การตลาดนําการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและเกษตรทฤษฎีใหม่  มาใช้ในการพัฒนาด้านกระบวนการทางการเกษตรที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งการวางแผนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับภาคการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินงาน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร จำนวน 2,000 กิจการ ภายในปี 2561

“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทย นับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ที่นับว่า       มีความพร้อมในด้านของปริมาณผลผลิตและวัตถุดิบที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในทุกมิติ ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย” นายสมชาย กล่าว

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวเสริมว่า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ พัฒนากระบวนการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย     ตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) ของประเทศ

โครงการฯ ดังกล่าว กสอ. จะส่งทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อวินิจฉัยและประเมินศักยภาพ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ หรือยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อยอดเป็นซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุน           ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2,000 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทั่วไปจำนวน 1,600 กิจการ          กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง จำนวน 400 กิจการ และมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการจำนวน 4,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรได้มากกว่า 400 ล้านบาท

สำหรับในวันนี้ ได้กำหนดเปิดตัวโครงการ Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ภายใต้โครงการดังกล่าว กสอ. พร้อมการจัดกิจกรรมสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญ และ SMEs ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อมาแบ่งปันประสบการณ์และเผยกลยุทธ์การเตรียมพร้อมธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีการใช้นวัตกรรมใหม่ ก้าวทันเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ พร้อมเข้าสู่          ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเข้าร่วมสัมมนากว่า 300 ราย

จาก https://www.siamturakij.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2561

พาณิชย์-เอกชนร่วมแก้ปัญหาการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ร่วม เอกชน ตั้งอนุกรรมการส่งเสริม แก้ปัญหาการค้า เพื่อการทำงานใกล้ชิด รวดเร็วมากขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการส่งเสริมการค้าภาครัฐและเอกชน และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้า เพื่อทำให้การประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าการทำงานร่วมกันจะทำให้การค้าระหว่างประเทศดีขึ้น โดยจะมีผู้รับผิดชอบผลักดันและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที และสามารถผลักดันนโยบายของภาครัฐได้ โดยตัวแทนจากทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ได้มอบหมายให้ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งและพิจารณาตามความเหมาะสม โดยเร็วที่สุด

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 6 สิงหาคม 2561

กระทรวงอุตฯ เดินหน้ายกระดับภาคเกษตรแปรรูป 2,000 ราย คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 400 ล้านบาท

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริม SMEs ภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป 2,000 ราย เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” ทั้งในด้านพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาด โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยี ระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 400 ล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การทำการเกษตรในอนาคตจำเป็นต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรมีทิศทางที่สดใสสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น รัฐบาลได้กําหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในหลายด้าน เช่น การตลาดนําการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานและเกษตรทฤษฎีใหม่  มาใช้ในการพัฒนาด้านกระบวนการทางการเกษตรที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งการวางแผนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับภาคการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมกับการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินงาน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” เพื่อให้การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร จำนวน 2,000 กิจการ ภายในปี 2561 

“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทย นับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล ที่นับว่ามีความพร้อมในด้านของปริมาณผลผลิตและวัตถุดิบที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในทุกมิติ ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย” นายสมชาย กล่าว

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวเสริมว่า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ พัฒนากระบวนการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรแปรรูป เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) ของประเทศ

โครงการฯ ดังกล่าว กสอ. จะส่งทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อวินิจฉัยและประเมินศักยภาพ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ หรือยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล โดยมีเป้าหมายพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อยอดเป็นซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องจำนวน 2,000 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทั่วไปจำนวน 1,600 กิจการ กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง จำนวน 400 กิจการ และมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการจำนวน 4,000 คน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรได้มากกว่า 400 ล้านบาท 

สำหรับในวันนี้ ได้กำหนดเปิดตัวโครงการ Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ภายใต้โครงการดังกล่าว กสอ. พร้อมการจัดกิจกรรมสัมมนาจากผู้เชี่ยวชาญ และ SMEs ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อมาแบ่งปันประสบการณ์และเผยกลยุทธ์การเตรียมพร้อมธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีการใช้นวัตกรรมใหม่ ก้าวทันเทคโนโลยี สร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเข้าร่วมสัมมนากว่า 300 ราย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 6 สิงหาคม 2561

เงินบาทขยับแข็งค่า 33.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตา ธปท. ส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนมากขึ้นในสัปดาห์นี้ จากประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องติดตาม อาทิ ความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตัวเลขการค้าของจีน และผลการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสามารถกระทบตลาดการเงิน อย่าง ตลาดบอนด์ระยะสั้นและตลาดค่าเงินได้

สำหรับสัปดาห์นี้ ตัวเลขเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางหลัก มีดังนี้ เริ่มจากวันอังคาร ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะยังคงนโยบายการเงินต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาตัวเลขตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่ (JOTL Job Openings) โดยถ้าหากตัวเลขดังกล่าวออกมาดีกว่าคาดมาก (มีตำแหน่งว่างเกิน 6.7 ล้านตำแหน่ง) จะช่วยยืนยันมุมมองของเฟดว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีความร้อนแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นและช่วยให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้

ขณะเดียวกัน ฟากตลาดการเงินไทยจะรอลุ้นผลการประชุม ธปท. ซึ่งมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อ แต่อาจจะเริ่มมีการสื่อสารที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ดีขึ้น รวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น (Hawkish tones) ซึ่งมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจและการขึ้นดอกเบี้ย อาจช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 33.18-33.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 6 สิงหาคม 2561

อาเซียน+3 เน้นกระชับสัมพันธ์เศรษฐกิจ

กลุ่มรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เห็นพ้องร่วมกันยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายกีดกันการค้าของรัฐบาลสหรัฐ

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กลุ่มรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศยืนยันที่จะเร่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านการค้าเสรีระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับประเทศที่เป็นคู่เจรจาเอฟทีเอ อีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์

นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ได้มีถ้อยแถลงขณะกล่าวเปิดการประชุมอาเซียน+3 ที่สิงคโปร์ว่า อาเซียนและชาติคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศ ควรยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และเร่งสรุปการเจรจาอาร์เซป

ด้านนายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า โครงการอาร์เซป จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ในยุคที่ต้องเผชิญกับนโยบายคุ้มครองการค้า  ส่วนนางคัง คยองฮวา รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีใต้ แสดงความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายคุ้มครองการค้าของสหรัฐ ขณะที่นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน ประกาศพร้อมตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐต่อไป

นอกจากนี้ รมว.ต่างประเทศจีน ยังแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จีนควรออกมาตรการตอบโต้สหรัฐ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณการค้าทั่วโลก และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในท้ายที่สุด

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 สิงหาคม 2561

รมช.อุตฯมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นปี61

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบรางวัลชาวไร่อ้อย น้ำตาลดีเด่น ปี 61 ขอทุกฝ่ายร่วมมือแข่งขัน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2561 เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากอ้อยรวมถึงของเหลือทิ้งจากขบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่มูลค่า ด้วยขบวนการผลิตทางชีวภาพ

ขณะที่ การจะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลก ต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อย จะต้องปรับเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐจะให้การส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยสู่การเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้มีรายได้ที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายของไทย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันสร้างความพร้อมในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0

จาก https://www.innnews.co.th    วันที่ 3 สิงหาคม 2561

ครม.ไฟเขียวดันไทยเป็น Bio Hub of ASEAN

ครม. เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเครื่องปรับปรุงทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ เตรียมผลักดันไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570                   

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ จากศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย ทั้งด้านวัตถุดิบที่หลากหลายและทักษะด้านการผลิต จึงได้เสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561

ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเน้นภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน และขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท แบ่งเป็น Biochemicals 5,000 ล้านบาท Food ingredient 120 ล้านบาท Feed ingredient 300 ล้านบาท และ Biopharma 6,940 ล้านบาท และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 187,205 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastics Biochemicals และ Biopharmaceutical

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ จะได้เร่งให้เกิดการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อให้มีการดำเนินการเชิงบูรณาการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยจะเร่งดำเนินการในส่วนมาตรการเร่งด่วน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญให้อุตสาหกรรมชีวภาพเกิดขึ้นได้ ดังนี้

1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม

2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

3) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง โดยในหลักการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ควรอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูป หากแยกกันอยู่จะส่งผลกระทบด้าน Logistic ถนนชำรุด สูญเสียพลังงาน และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เป็นต้น

“สำหรับการผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 จะเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ กลุ่ม New S-Curve และเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) เพื่อผลักดันภาคเอกชนให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ "  ดร.ณัฐพล กล่าว

โดยนำร่องในพื้นที่นำร่อง 3 เขตคือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น)มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเกษตรไทยเกิดการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Smart Farming หรือฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ให้กับพืชเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

ตลอดจนให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรสู่การเป็นสินค้าชีวภาพ เกิดการพัฒนาในภาคเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะนำมาสู่ฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรไทย โดยคาดว่าการดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นระหว่าง 65,000 ถึง 85,000 บาทต่อคนต่อปี

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ในปี 2570 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรมากกว่า 80,000 ครัวเรือน เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และเกิด High-tech labor / knowledge workers เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน ดังนั้น การกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน       

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 3 สิงหาคม 2561

อุบลไบโอรับอานิสงส์ฮับชีวภาพ อุตฯอัดสิทธิประโยชน์ต่อยอดอีสานล่าง

 “อุบลไบโอฯ” ขอรัฐพิจารณาสิทธิรับอานิสงส์ “แพ็กเกจชีวภาพ” จับมือฟินแลนด์ต่อยอดนวัตกรรมผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังเพิ่มมูลค่า พร้อมผลพลอยได้จากแป้งมันอีก 2 เกรดในกลุ่ม food grade กับ industrial grade พร้อมรับซื้อมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ 2,800 ตัน

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ที่สอดคล้องกับมติ ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย (2561-2570) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Biohub of ASEAN ภายในปี 2570 และใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ว่า บริษัทเตรียมนำงานวิจัยที่ได้ทดลองนวัตกรรมร่วมกับประเทศฟินแลนด์มาขยายการลงทุนเพื่อผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น

ในเบื้องต้นบริษัทอุบลไบโอฯอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองเครื่องผลิตเอทานอลกำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน โดยบริษัทจะรับซื้อมันสำปะหลังสดเป็นวัตถุดิบ 2,800 ตัน/วันในพื้นที่ 4 อำเภอคือ นาเยีย, พิบูลมังสาหาร, สว่างวีระวงศ์ และวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งถือได้ว่า โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทมีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็น “อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร” ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโรงงานของบริษัทจะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Biohub of ASEAN ได้

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลปัจจุบันมียอดขายอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยโครงสร้างกลุ่มบริษัท ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม (founders) สัดส่วน 57.44%, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI สัดส่วน 21.28%, บริษัทไทยออยล์เอทานอล สัดส่วน 21.28% บริษัทประกอบไปด้วยธุรกิจหลัก 4 กลุ่มคือ ธุรกิจเอทานอล-แป้งมันสำปะหลัง-ก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้า และหญ้าเนเปียร์ ด้านวัตถุดิบบริษัทจะใช้มันเส้นประมาณ 1,200 ตัน/วันเพื่อนำมาผลิตเอทานอลให้ได้ 400,000 ลิตร/วัน ซึ่งปริมาณเอทานอลดังกล่าวจะผลิตออกเป็น 2 เกรดคือ เกรดเชื้อเพลิงในสัดส่วน 99.8% (E85-E20-E10) กับเกรดอุตสาหกรรมในสัดส่วน 95% นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 1.9 เมกะวัตต์ (MW) ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนในโรงงานและขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

“งานวิจัยที่เราทำไว้จากการที่โรงงานเอทานอลใช้วัตถุดิบจากหัวมันสด-มันเส้น ทำให้บริษัทได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลพลอยได้จากแป้งมันสำปะหลัง สามารถแบ่งออกมาอีกได้2 เกรดคือ กลุ่มที่เป็น food grade อย่างอาหารสำหรับคนโดยเฉพาะอาหารเฉพาะทางการแพทย์ที่จะถูกพัฒนานำการวิจัยเข้ามาช่วยเสริมและอาหารอื่น ๆ เช่น ส่วนผสมอาหารที่เป็นอินทรีย์ Noodle snacks MSG food premix frozen food sausages & meatballs lysine และยังรวมไปถึงอาหารสัตว์ด้วยเช่นกัน ส่วนอีกเกรดหนึ่งจะเป็น industrial grade เช่น Paper bioplastic textile glue sweeteners” นายเดชพนต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ยังมีบริษัทในเครืออีก 3 แห่งด้วยกันคือ บริษัทอุบลเกษตรพลังงาน หรือ agricultural energy ปัจจุบันใช้วัตถุดิบมันสำปะหลัง 2,800 ตัน/วัน มีกำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน เพื่อผลิตแป้งเกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม, บริษัทอุบลไบโอแก๊ส หรือ UBG ติดตั้งระบบการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพื่อนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 36,000 ลบ.ม./วัน และบริษัทเอ็นพี ไบโอ เอนเนอร์ยี่ หรือ NP Bio Energy ใช้กากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพได้ 78,300 ลบ.ม./วัน ด้วยระบบ CLBR ขณะเดียวกันในกระบวนการผลิตดังกล่าวยังสามารถผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าได้อีก 5.8 เมกะวัตต์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พื้นที่อีสานตอนล่างถือว่ามีความพร้อมในการพัฒนา “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (bioeconomy)” เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบทั้งมันสำปะหลัง-อ้อย-ข้าว-ยางพารา รวมกันมากกว่าปีละ 4 ล้านตัน มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม 1.8 ล้านไร่ และผู้ประกอบการมีศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกได้ไม่ยาก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น อาหารที่ใช้ทางการแพทย์ สารให้ความหวานอินทรีย์ (organic sweetener) ประเภทมอลโทเดกซ์ทริน (moltodextrin) แป้งดัดแปลงอินทรีย์ (organic modified starch) ทั้งนี้์เอกชนมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนผลิตภัณฑ์อินทรีย์กับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีในการผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น ผังเมือง การนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลน รวมถึงการนำระบบเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ พัฒนาให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-ยโสธร-อำนาจเจริญให้เป็นรูปธรรม

“4 จังหวัดอีสานตอนล่าง 2 จะถูกรวมเป็นกลุ่มจังหวัดอีสานตอนใต้ ที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งที่ 4 ในการพัฒนาพื้นที่เป็น biohub ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพต่อจากจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และกำแพงเพชร” นายอุตตมกล่าว

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการหารือกับภาคเอกชนที่สนใจขยายลงทุนไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงมากขึ้น และด้วยเป็นพื้นที่และบริษัทมีความพร้อม จึงเสนอให้รัฐพิจารณาได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดที่มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพสนับสนุนอยู่ เช่น สามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. เป็นต้น จึงสั่งการให้ สศอ.ไปศึกษาในรายละเอียดถึงแนวทางที่เหมาะสมในกลุ่มจังหวัดนี้ว่าจะเหมือนใน 3 จังหวัดแรกได้หรือไม่

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า หลังจาก ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท ประกอบด้วยพลาสติกชีวภาพ, เคมีชีวภาพ 5,000 ล้านบาท, food ingredient 120 ล้านบาท, feed ingredient 300 ล้านบาท และชีวเภสัชภัณฑ์ 6,940 ล้านบาท

จาก www.prachachat.net   วันที่ 2 สิงหาคม 2561

พัฒนาระบบประกันภัยพืชผลเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ  ร่วมกับ ธ.ก.ส.พัฒนาระบบประกันภัยพืชผลเกษตร เพื่อครอบคลุมเกษตรกรทั่วประเทศและลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

นายกฤษฎา กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 7 ล้านครัวเรือน เกษตรกร 24 ล้านคน โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอาชีพเกษตรกรจะมีความเสี่ยงทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหรืออาจจะเรียกได้ว่าอาชีพเกษตรกรมีความเสี่ยงมากกว่าการเล่นหุ้น ดังนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงหาวิธีที่จะมีการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ลดความเสี่ยงของเกษตรกร ซึ่งการลงนามโครงการวิจัยครั้งนี้มีระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมและครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ตลอดจนศึกษาบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐในการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนของประเทศ ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1.ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรครอบคลุมและยั่งยืน ช่วยยกระดับชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น 2.ระบบฐานข้อมูลภาคการเกษตรดีขึ้น ช่วยต่อยอดการพัฒนาทางการเงินให้เกษตรกรได้หลากหลายมากขึ้น

จาก www.mcot.net  วันที่ 2 สิงหาคม 2561

ชงแผนขับเคลื่อนอีอีซีเข้าบอร์ด 10 ส.ค.นี้

 “คณิศ” เผยเตรียมชงบอร์ดอีอีซี ไฟเขียวแผนพัฒนาภาครวมอีอีซี 10 ส.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำผังเมืองรวม 3 จังหวัด พร้อมตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ ดึงภาคเอกชนทำหน้าที่ประสานการลงทุนเอกชนในประเทศและต่างประเทศ แก้อุปสรรคกรณีที่เป็นโครงการซับซ้อนต้องการผู้ร่วมทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จะเสนอร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ที่ประชุมเห็นชอบ 6 แนวทาง ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และศูนย์กลางการเงิน

ทั้งนี้ เพื่อนำแผนดังกล่าวไปจัดทำรายละเอียดของแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือผังเมืองรวมใน 3 จังหวัดอีอีซี โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมจัดทำรายละเอียดขึ้นมา คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากที่ประชุมเห็นชอบ และหลังจากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ เพื่อให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ไปดำเนินการจัดทำผังเมือง แต่ละจังหวัดขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับแผนผังดังกล่าว

นอกจากนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมเห็นชอบตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้แทนเอกชนไทยและผู้เชี่ยวชาญ โดยมีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธานอนุกรรมการประธานการลงทุนในเขตอีอีซี เพื่อทำหน้าที่ ประสานการลงทุนเอกชนในประเทศและต่างประเทศในพื้นที่อีอีซี ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตรงกับเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงศึกษาและจัดทำข้อเสนอรายละเอียดของโครงการลงทุนเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานและคณะที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานการลงทุนในอีอีซี 6 กลุ่ม ครอบคลุม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเทคโนชีวภาพ/แปรรูปอาหาร/ไบโออีโคโนมี มีนายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่มีนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มอิเล็กโทรนิกส์อัจฉริยะ/หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ/ดิจิทัล มีนายสมประสงค์ บุญยะชัย เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มการบินและโลจิสติกส์ มีนายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธานกลุ่ม กลุ่มการแพทย์และสุขภาพ มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานกลุ่ม และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มีนายกลินท์ สารสิน เป็นประธานกลุ่ม

ทั้งนี้ กรรมการแต่ละกลุ่ม จะถูกคัดเลือกจากภาคเอกชนที่มีความรู้ในกลุ่มธุรกิจ รวมถึงใช้ที่ปรึกษาจากบริษัทชั้นนำ เพื่อเชื่อมต่อกับบริษัทชั้นนำเพื่อชักจูงมาลงทุนในอีอีซี

“การตั้งทีมประสานงานร่วมประชารัฐ เป็นข้อเสนอจากภาคเอกชน เพื่อมาแก้อุปสรรคกรณีที่เป็นโครงการซับซ้อนต้องการผู้ร่วมทุน หรือต้องการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน มากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอนุมัติให้ หรือเป็นกรณีบริษัทสำคัญที่รัฐบาลไปดึงมาลงทุน”

นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินอู่ตะเภา ) กำหนดได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนกันยายน 2561 ที่ขณะนี้มีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองร่างขอบเขตการประมูล หรือ TOR จำนวน 31 ราย คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดดำเนินการภายในปี 2566

2. โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา คาดออก TOR ภายในเดือนตุลาคม 2561 และกำหนดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน จะออก TOR ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 คาดจะออกTOR ได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ กำหนดเสร็จปี 2567 และ 5. ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะออก TOR ได้ในเดือนกันยายนปีนี้ กำหนดเสร็จปี 2568

นอกจากนี้ในแผนการพัฒนาในระยะ 5 ปีแรก จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรมเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล EECd และจะต้องมีการพัฒนาบุคลากร และการศึกษา เพื่อรองรับแนวทางการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง ที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร จึงถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา ประกอบกับรัฐบาลผลักดันโครงการที่สำคัญต่างๆ ออกมา ได้ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก อีกทั้ง การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และออกมาตรการใหม่ๆ รวมถึงการปรับกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และ ยังได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์พิเศษของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่จะเอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการลงทุน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในอนาคต ดังนั้นอีอีซีจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง และไทยจะเป็นประตูทางการค้าสู่เอเชีย (Gate way )

ดังนั้น โครงการอีอีซีนอกจากจะส่งผล โดยรวมต่อประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลต่อการเชื่อมโยงการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ ได้วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าปกติของการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 3 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic 2 Corridor of Innovation หรือ EECI) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้ และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี)

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พาณิชย์เผยพลังงานสูงดันเงินเฟ้อ ก.ค.โต1.46%ต่อเนื่อง13เดือนทั้งปีคาด1.2%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในช่วงเดือนก.ค. 2561 พบว่า อัตราเงินเฟ้อ มีการขยายตัวสูงขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ที่ 10.18% ในขณะที่หมวดอาหารสดหดตัวลงเล็กน้อยที่ 1.6%

อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.04% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง และดัชนีราคาผู้ผลิตในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ไว้ 0.8% ถึง 1.6 หรือ ค่าเฉลี่ยที่ 1.2%

“การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าสำคัญ ที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเดือนก.ค.ปี 2561 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.05% มิ.ย. 2561 ลดลง 0.09% เนื่องจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลง 0.33% จากการลดลงของกลุ่มอาหารสด 0.97% ผักและผลไม้สดลดลง 1.80% โดยเฉพาะผักสดลดลง 5.75% แตงกวา ผักคะน้า ผักชี ถั่วฝักยาว มะนาว ต้นหอม เนื่องจากภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ยังมีการปรับลดลงของ เนื้อสุกร ไก่ย่าง ปลาดุก กุ้งนาง ส่งผลให้เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลง 1.13% หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.42% ไข่ไก่ ไข่เป็ดนมสด นมเปรี้ยว นมถั่วเหลืองเป็นต้น”

ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ดัชนีราคาสูงขึ้น 0.95% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 0.37% ผลไม้สดสูงขึ้น 1.43% ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง ทุเรียน ฝรั่ง ลองกอง นอกจากนี้ อาหารบริโภค-นอกบ้านและในบ้าน สูงขึ้น 0.10% และ 0.03 % หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.10 % ตามการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง 0.74% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเบนซิน 95 ดีเซลแก๊สโซฮอล์91, 95 และก๊าซธรรมชาติ (NGV) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 0.24%

นอกจากนี้หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.03% แชมพู กระดาษชำระ โฟมล้างหน้า หมวดเคหสถาน สูงขึ้น0.01% จากการสูงขึ้นของค่าเช่าบ้าน หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น0.02% เสื้อเด็ก กางเกงเด็ก รองเท้าแตะหนังบุรุษ ขณะที่หมวดบันเทิงการอ่านและการศึกษาฯ ลดลง 0.01% ตามการลดลงของเครื่องรับโทรทัศน์ สำหรับหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ไม่เปลี่ยนแปลง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

กรมชลฯ เร่งพร่องน้ำเขื่อนรับฝนใหม่

กรมชลประทานเสริมท่อกาลักน้ำ เร่งพร่องน้ำจากเขื่อนขนาดกลางและเล็กที่เกินเกณฑ์เก็บกัก เพื่อมีพื้นที่รับน้ำฝนและน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาตรเกินเกณฑ์เก็บกัก (Upper Rule Curve) จึงเร่งพร่องน้ำออก โดยระบายผ่านอาคารชลประทาน พร้อมทั้งเสริมท่อกาลักน้ำเข้าไปดึงน้ำจากอ่างลงสู่ลำน้ำต่าง ๆ เช่น ที่เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยน้ำจากเขื่อนน้ำอูนจะระบายสู่ลำน้ำอูนแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่นครพนม ส่วนน้ำจากเขื่อนลำปาวจะระบายออกสู่ลำน้ำปาวไปเชื่อมกับลำน้ำชี ขณะนี้ได้เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำชีซึ่งจะไหลไปบรรจบกับลำน้ำมูลที่อุบลราชธานีให้ออกสู่แม่น้ำโขงไป

สำหรับจังหวัดริมแม่น้ำโขงตั้งแต่หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานีนั้น มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร กรมชลประทานจึงนำเครื่องสูบน้ำไประดมสูบออกลำน้ำสาขาและใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง ส่วนจังหวัดในภาคเหนือที่ห่วงใย คือ จังหวัดน่าน ซึ่งยังมีฝนตกชุกอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากได้

ส่วนฝั่งตะวันตกของประเทศมีฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงระนอง แม้ว่ากรมชลประทานจะพร่องน้ำออกจากเขื่อนต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามาก จึงวางแผนระบายน้ำต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน  ด้านเขื่อนแก่งกระจานขณะนี้มีน้ำประมาณร้อยละ  92  ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำไหลเข้าเริ่มลดลง ประกอบกับได้เสริมกาลักน้ำเข้าไป 10 ชุด เพื่อเร่งพร่องน้ำจะทำให้น้ำเริ่มทรงตัวในอีก 2 วันข้างหน้า นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้จำลองปริมาตรน้ำในช่วงฤดูฝนจากเครื่องมือ ROS (Reservoir Operation Study) กำหนดสถานการณ์ตัวอย่าง 3 สถานการณ์ จากข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำปี 2554, 2557 และปีเฉลี่ย ผลปรากฎว่า ปริมาตรน้ำในเขื่อนแก่งกระจานจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ  92 ถึงสิ้นเดือนกันยายน

นายทองเปลว กล่าวว่า ได้สั่งการให้จำลองปริมาตรน้ำในเขื่อนอื่น ๆ ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และพิจารณาการบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงกว่าเกณฑ์ควบคุมให้เร่งดำเนินการวางแผนการระบายน้ำ เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกักต่อไป ส่วนเขื่อนขนาดกลางจะพิจารณาการระบายน้ำในอ่างฯ ที่มีความจุเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้า (Inflow) น้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับความจุจะรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 70 - 80 ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุอ่างฯ 2 เท่า ให้รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60 – 70 เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกและยังเป็นการรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน

สำหรับเขื่อนขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปดูแลนั้น มีหลายฝ่ายเป็นห่วงถึงศักยภาพของท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำและดูแลความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน กรมชลประทานไม่ได้ละเลยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแบ็คโฮ พร้อมเข้าช่วยเหลือทันที หากพบความเสี่ยง ล่าสุดพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำได้กำชับเรื่องดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่เกิดอุบัติภัยร้ายแรงแน่นอน

จาก www.mcot.net   วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

35 เขื่อนรับน้ำแล้ว 69% ตรวจมั่นคงปลอดภัยตลอด พร้อมกลไกควบคุมระบายน้ำประสานปภ.แจ้งเตือน

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 35 แห่ง เป็นของกรมชลประทาน 25 แห่ง และของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 48,908 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 3,183 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรน้ำทั้งหมดทั้งอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 52,019 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้ โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือ เกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งในการควบคุมปริมาตรน้ำจะใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินกว่าเส้นควบคุม กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยการระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน ผ่านอาคารระบายน้ำ ลงสู่ลำน้ำเดิม (River outlet) และใช้วิธีการกาลักน้ำเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการระบายน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะพิจารณาแจ้งข้อมูลไปทางหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์และเตรียมการขนย้ายสิ่งของตลอดจนมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป

ในด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน (Dam Safety) ของกรมชลประทานมีแผนการตรวจสอบติดตามเพื่อให้เขื่อนและอาคารประกอบมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ดำเนินการก่อสร้าง ภายหลังจากก่อสร้างเสร็จ กรมฯมีแผนการเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตา ขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก หาสิ่งผิดปกติ เช่น การกัดเซาะ การรั่วซึม การทรุดตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนสำหรับตรวจสอบติดตามพฤติกรรมเขื่อน (ขนาดใหญ่และขนาดกลาง) เช่น การไหลซึมผ่านตัวเขื่อน ฐานรากเขื่อน เป็นต้น ทั้งนี้จากการดำเนินการตรวจสภาพเขื่อนด้วยสายตาและการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมจากเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน นำมาประเมินความมั่นคงตัวเขื่อน โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 30 วัน และในกรณีวิกฤตจะทำการตรวจสอบทันที ทุก 24 ชั่วโมง ตามมาตรฐานความปลอดภัยเขื่อน เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำ การบำรุงดูแลรักษา การตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม

สำหรับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าอยู่ในพื้นที่บริเวณใด ตลอดจนระยะเวลาที่อาจจะได้รับผลกระทบจะใช้เวลานานเท่าไร กรมชลประทาน มีหน่วยงานประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกรมชลประทาน และมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) มีหน้าที่ติดตามข้อมูล ตรวจสอบและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเว็บไซด์ของกรมชลประทาน http://wmsc.rid.go.th/ หรือช่องทางสื่อออนไลน์ อาทิ Facebook Fan page ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ที่มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook live รายงานสถานการณ์น้ำ เวลาประมาณ 07.00 น. , การเผยแพร่ข่าวสารสถานการณ์น้ำผ่านทาง Facebook Fan page เรารักชลประทาน รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวสารสถานการณ์น้ำผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งสื่อออนไลน์ทุกแขนง และกรุ๊ปไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เปิดใช้สายด่วน 1460 เพื่อให้ประชาชนสามารถโทร.เข้ามาสอบถามสถานการณ์น้ำได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ได้ตลอด 24 ชม. อีกด้วย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ลุยพัฒนาแหล่งน้ำ9โครงการ ‘บิ๊กฉัตร’สั่งเดินหน้าก่อสร้างปี’62 เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์8.4แสนไร่ แก้ไขปัญหา‘น้ำท่วม-ภัยแล้ง’ถาวร

“บิ๊กฉัตร” ใส่เกียร์เดินหน้าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 9 โครงการในปี 2562 ยึดตาม Area Based เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 8.4 แสนไร่ แก้ไขน้ำท่วม-ภัยแล้งถาวร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้เป็นไปตามมติ กนช. ที่ต้องการขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้ได้จนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ รวม 29.70 ล้านไร่ พบว่า มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561 - 2580) รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ โดยในช่วงปี 2562 - 2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ และภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ

สำหรับในปี 2562 รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 379 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 840,201 ไร่ ได้แก่ 1.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างจ.หนองคาย 3.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย 4.โครงการประตูระบายน้ำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร 5.โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร 6.โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 7.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จ.ชัยภูมิ 8.โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และ 9. โครงการคลองระบายน้ำ บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำที่ได้กำหนดเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเป็นระยะเร่งด่วนปี2558-59 โดยพัฒนาโครงการขนาดเล็กที่ทำได้ทันที เช่น แก้มลิง สระน้ำในไร่นา การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม พร้อมศึกษาเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่ โครงการสำคัญที่มีผลกระทบ ระยะที่2เป็นระยะสั้นปี 2560-61 เริ่มพัฒนาโครงการขนาดกลาง และทำแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ เช่น แผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา การศึกษาพื้นที่ Area Based การก่อสร้างอ่างฯ 4 แห่ง ใน จ.จันทบุรี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา

“ระยะที่ 3 เป็นระยะกลางปี 2562-2565 เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โครงการสำคัญ โดยเร่งทำความเข้าใจกับชุมชน ควบคู่กับการสำรวจออกแบบโครงการอย่างรอบคอบ เช่น คลองระบายน้ำหลากบางไทร - บางบาล ดังนั้น เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ผมจะลงพื้นที่ติดตามโครงการที่เริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วน โดยจะเริ่มติดตามโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรเป็นแห่งแรก และจะลงติดตามทุกเดือนตามความเหมาะสมต่อไป”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561