http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนสิงหาคม 2562)

เกษตรกรโคราชอ่วม! น้ำท่วมไร่อ้อย-นาข้าวเสียหายกว่าร้อยไร่

อิทธิพลจากพายุโพดุล ส่งผลให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมไร่อ้อยของเกษตรกร ในตำบลนิคม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สูงถึง 1 เมตร  เสียหายกว่า 100 ไร่ เช่นเดียวกับนาข้าวของเกษตรกรในตำบลท่าหลวง ตำบลดงใหญ่ และ ตำบลรังกาใหญ่ ที่ถูกน้ำท่วมขังสูง ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน โดยวันนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอพิมาย จะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทั้งหมดเพื่อเตรียมการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าในช่วงเที่ยงวันนี้ปริมาณน้ำน่าจะลดลง

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 31 สิงหาคม 2562

สอน.จับมือ สถาบันพลาสติก เปิดตัวแก้วพลาสติกชีวภาพจากอ้อยและน้ำตาลทราย

สอน. จับมือ สถาบันพลาสติก เปิดตัวแก้วพลาสติกชีวภาพจากอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการยกระดับอุตสาหกรรมในทุกภาคส่วน โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรม โดย สอน. ได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติก พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจของไทยอย่าง “อ้อย” ให้สามารถแปรรูปเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ แก้วน้ำพลาสติกชีวภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอีกด้วย

 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำในอีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลเท่านั้น ให้สามารถพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ จึงได้จัดกิจกรรมเปิดตัวแก้วพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทรายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบันคนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่มาตลอดหลายสิบปี โดยปริมาณการใช้ในแต่ละปีที่ผ่านมาได้สร้างขยะให้เกิดขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่าง ถุงหูหิ้ว หลอด และแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วไป

 “ในวันนี้(28ส.ค.)เราต้องการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงนำแก้วพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านการออกแบบอย่างสวยงามและพร้อมใช้งาน นำมามอบให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และรณรงค์     ลดการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายยากมาเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น”

ด้านนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จากเดิมที่อ้อยสามารถผลิตได้เพียงน้ำตาลให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น อย่างการนำไปผลิตเป็น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในหลายรูปแบบ อาทิ จาน ชาม แก้วน้ำพลาสติก และหลอดพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้การผลักดันของภาครัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมของไทยมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโลก และยังเป็นการยกระดับศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงปัจจุบันทิศทางของผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากลของโลก ส่งผลให้ในหลาย ๆ ประเทศต่างกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อลดปัญหาเรือนกระจกและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 29 สิงหาคม 2562

ชาวไร่อ้อยบุก 3 กระทรวง!!!  จี้ดูแลด่วน 3 เรื่อง

กำลังจะสิ้นสุดประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ยกเลิกเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศตั้งแต่ฤดูการผลิต 2560/2561 ไปถึงปีการผลิต  2561-2562  ในวันที่ 30 กันยายนนี้ ทำให้กลุ่มองค์กรตัวแทนชาวไร่อ้อยออกมาขยับขา ประกาศท่าทีให้ภาครัฐลงมาดูแลเรื่องเร่งด่วนก่อน

กลุ่มชาวไร่อ้อยในนาม  4 องค์กร  ไล่ตั้งแต่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกในเครือข่าย 37 สมาคม เป็นสถาบันชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ  พากันตบเท้าขอพบเจ้ากระทรวงเป็นรายกระทรวง  ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เรียกร้องประเด็นหลัก แก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ  รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้  ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทบถึงชาวไร่อ้อยโดยตรงและโดยเฉพาะประเด็นอ้อยไฟไหม้เป็นมติครม.ไปก่อนหน้านี้แล้วมีเงื่อนเวลากำหนดขีดเส้นตายให้ปริมาณอ้อยเผาเหลือเพียง 0-5% ภายใน 3 ปี

-ยื่นหนังสือตอกย้ำแก้ไขด่วน

 หนังสือที่ยื่นถึง 3 กระทรวงเป็นการร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่จะเริ่มพ.ย.62-ก.ย.63นี้   โดยชาวไร่อ้อยประเมินภาวะการผลิตอ้อยของพี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศ กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง และปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ ไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวยิ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะฤดูการผลิตปีนี้ที่คาดว่าราคาอ้อยจะตกต่ำต่อเนื่อง จากที่ราคาอ้อยได้ตกต่ำมากว่า 3 ฤดูการผลิตแล้ว หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากนโยบายภาครัฐเพิ่มเติม พี่น้องชาวไร่อ้อยทั้งประเทศจะประสบปัญหาขาดทุนและเกิดความเดือดร้อนต่อการครองชีพได้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จึงเป็นข้อเรียกร้องให้ 3 กระทรวงพิจารณาใน 3 ประเด็นดังนี้

 1. ราคาอ้อยฤดูการผลิตนี้(2562/2563) ขอได้รับการสนับสนุนราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ1,000 บาท ที่ค่าความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.  จากที่ผ่านมาราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่700-800บาทต่อตัน ซึ่งราคาอ้อยจะไปสัมพันธ์กับราคาน้ำตาล เนื่องจากเวลาคำนวณรายได้เข้าระบบอ้อยและน้ำตาล จะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ 1.ส่วนน้ำตาลส่งออกที่จะเป็นไปตามกลไกตลาดโลก  และ2.มาจากส่วนของการบริหารจัดการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศ  ส่วนนี้กำลังจะสิ้นสุดประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ จากที่ก่อนหน้านั้นในประเทศมีการกำหนดขายน้ำตาลเป็นโควตา(โควตา ก. คือน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ,โควตา ข. คือน้ำตาลสำหรับส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย,โควตา ค. คือน้ำตาลที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ส่งออก)

2.มาตรการการบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลเพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง ขอได้รับการสนับสนุนให้ใช้ความสูงรถบรรทุกอ้อยจากพื้นถนนไม่เกิน 4 เมตร จากเดิมมีความสูงเพียง 3.6 เมตร 

3.ขอสนับสนุนผ่อนผันมาตรการตามมติครม. ซึ่งเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีระยะเวลาเตรียมการในช่วงวิกฤติปัญหาราคาอ้อยตกต่ำซึ่งไม่มีทุนเพียงพอ  โดยขอให้รัฐทบทวนมติครม.เมื่อ 11 มิถุนายน 2562 ให้ขยายเวลาการกำหนดอ้อยไฟไหม้ใหม่จาก 3 ปี (ตามมติครม.ก่อนหน้า)ให้เป็นภายใน 6 ปี

 -ขอ 6 ปีลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 และหัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงมาตรการเกี่ยวกับอ้อยไฟไหม้ว่า ก่อนหน้านั้น มติครม. มีการออกระเบียบ กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน  สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน  และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเหลือเพียง 0-5 % ต่อวัน  ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี  ซึ่งชาวไร่อ้อยมองว่าเร็วเกินไปและชาวไร่อ้อยปรับตัวไม่ทัน  จึงขอให้ทบทวนมติครม.ที่ผ่านมาโดยขยายเวลาเป็น 6 ปี

นอกจาก 3 ข้อเสนอจากชาวไร่อ้อยแล้ว น่าจับตาหลังสิ้นสุดประกาศการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ยกเลิกเรื่องการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศว่าท้ายที่สุดแล้วต้องกลับไปใช้ระบบโควตาเหมือนเดิมหรือไม่  หลังจากที่เว้นวรรคไป 2 ปี(ปี 2560/2561 และปีการผลิต 2561-2562) และหากกลับไปใช้เหมือนเดิมจะบริหารจัดการอย่างไรโดยไม่ให้ขัดต่อข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และถ้าไม่มีระบบโควตา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบอ้อยและน้ำตาลต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและผู้บริโภคน้ำตาลปลายทางอย่างไร ถึงจะเหมาะสมกับทุกฝ่ายโดยการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงต้นทุนของโรงงานน้ำตาล และต้นทุนชาวไร่อ้อยด้วย

ไม่เพียงเท่านี้.....อย่าลืมมองในมุมผู้บริโภคน้ำตาลตัวจริงที่มาจากภาคอุตสาหกรรมที่เวลานี้พากันยิ้มแก้มปริ เพราะต้นทุนในการใช้น้ำตาลลดลง แต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้มีการปรับลดราคาสินค้าให้ผู้บริโภคแล้วหรือยัง!!!โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง เพราะมีปริมาณน้ำตาลโลกมาก บวกกับแนวโน้มกระแสคนออกมาตอกย้ำว่าความหวานนั้นนำพามาถึงโรคภัย ยิ่งกดให้ราคาน้ำตาลร่วง

อย่างไรก็ตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 14 สิงหาคม มีราคาน้ำตาลดิบล่วงหน้าเดือนตุลาคม2562 อยู่ที่ 11.7 เซ็นต่อปอนด์  ราคาน้ำตาลทรายขาวยืนอยู่ที่ 317 .20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังยืนอยู่ในแดนขาลง

ส่วนราคาน้ำตาลที่ขายในประเทศ ปัจจุบันราคาขายส่งน้ำตาลหน้าโรงงาน ราคาลดลงเหลือ 14-16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากก่อนหน้านี้ราคาหน้าโรงงานยืนอยู่ที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม    ขณะที่ขายปลีกน้ำตาลทรายเวลานี้ผู้บริโภคภาครัวเรือนบริโภคน้ำตาลราคา 20-22 บาทต่อกิโลกรัม ถูกกว่าก่อนหน้านี้ที่ราคายืนอยู่ที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม  เมื่อราคาน้ำตาลตกต่ำลง ก็กระทบต่อระบบอ้อยและน้ำตาล โดยเฉพาะราคาอ้อย

การขยับตัวของชาวไร่อ้อยเพิ่งเริ่มต้นในรัฐบาลประยุทธ์2/1 ถ้าราคาน้ำตาลยังร่วงต่อเนื่องไปอีกจนทำให้ราคาอ้อยตกต่ำไปกว่านี้ เชื่อว่ายังต้องคุยกันอีกหลายตลบ โดยเฉพาะราคาน้ำตาลที่สะท้อนมาถึงราคาอ้อยทุกตัน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชั่งน้ำหนักให้สมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้บริโภคจากภาครัวเรือน  จากภาคอุตสาหกรรม  โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย ทั้งหมดต้องร่วมกันหาวิธีและทางออกให้ทุกภาคส่วนยืนได้

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 17 สิงหาคม 2562

KTIS กวาด 2 รางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นระดับดี และอ้อยรักษ์โลก

ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กรกลุ่มบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือKTIS รับมอบรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นระดับดีและรางวัลอ้อยรักษ์โลก ในนามโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ในพิธีมอบรางวัลชาวไร่อ้อยดีเด่นและโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2562 โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติมอบรางวัล โอกาสนี้ นายสมชาย เทพราช เกษตรกรชาวไร่อ้อยในสังกัดโรงงานเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ยังได้รับรางวัลชนะเลิศชาวไร่อ้อยดีเด่น ประเภทชาวไร่อ้อยที่มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่มีประสิทธิภาพด้านการจัดการพันธุ์อ้อย อีกด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“สุริยะ” สั่ง สอน. เกาะติดราคาน้ำตาลทรายโลกดูแลอุตฯในประเทศ

รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย  ชี้สั่งการให้ สอน. ดูแลในเรื่องของราคาอ้อย ปัญหาเรื่องอ้อยไฟไหม้ที่อาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม 

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และคณะสมาคมชาวไร่อ้อย จาก 36 สมาคม 4 องค์กร ประกอบด้วย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จำนวน 50 คน มาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง พร้อมกับขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยเหลือใน 4 เรื่องหลัก  ประกอบด้วย 1.สถานการณ์อ้อยในฤดูกาลผลิต ปี 62/63  ที่คาดว่าจะตกต่ำ 

,2.การขอผ่อนปรนแนวทางการปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเจ้าสู่โรงงานในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย 3.ข้อกังวลในการปฏิบัติตามมาตรการอ้อยไฟไหม้  ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และ 4.การขอสนับสนุนสินเชื่อจากภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ติดตามสถานการฺณ์ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือดูแลปัญหาอย่างใกล้ชิด สำหรับประเด็นการขอผ่อนปรนแนวทางการปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเจ้าสู่โรงงานในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อยนั้น ขอให้เกษตรกรปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งมอบหมายให้ สอน.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีปัญหาอ้อยไฟไหม้ ขอให้เกษตรกรร่วมมือกันในการปฎิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีไปก่อนหากมีปัญหาค่อยมาหารือกันอีกครั้ง ด้านการขอสนับสนุนสินเชื่อจากภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรนั้น ขณะนี้ได้มีโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร และได้มอบหมายให้ สอน.หารือกับ ธกส.ให้ทำความเข้าใจกับ ธกส.ในพื้นที่นั้นๆแล้ว

“ผมเชื่อว่าทุกปัญหาจะมีทางออก หากพวกเราร่วมมือกัน”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 7 สิงหาคม 2562