http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2555)

เอทานอลปี56รุ่งรับเลิกเบนซิน91 ราคาจ่อขึ้นหลังต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง

อุตฯเอทานอลปี 2556 ทิศทางโตต่อเนื่องรับอานิสงค์นโยบายรัฐบาลยกเลิกเบนซิน 91 มีผล 1 ม.ค. 56 นี้คาดดันการใช้เอทานอลเพิ่มอย่างน้อย 4 แสนลิตรต่อวัน ขณะที่ราคาเอทานอลภาพรวมส่อขยับเพิ่มรับราคาวัตถุดิบพุ่งโดยเฉพาะโมลาสเหตุผลผลิตอ้อยต่ำ จี้รัฐกำหนดราคาในประเทศให้สอดรับตลาดโลกไม่เช่นนั้นอาจขาดแคลนได้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลในปี 2556 จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าในปี 2555 จากนโยบายกระทรวงพลังงานที่ยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ในวันที่ 1 ม.ค. 56 โดยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 แสนลิตรต่อวันหรือส่งผลให้การใช้เอทานอลจากปัจจุบัน 1.3.-1.4 ล้านลิตรต่อวันเป็น 1.7-1.8 ล้านลิตรต่อวัน

“การยกเลิกเบนซิน 91 ถ้าผู้ใช้รถยนต์หันมาเติมแก๊สโซฮอล์ที่จะใช้เอทานอลผสมทั้งหมดก็จะทำให้เกิดการใช้เอทานอลได้ถึง 8 แสนลิตรต่อวันหรือการใช้เอทานอลจะเพิ่มไปถึง 2 ล้านลิตรต่อวันแต่เราคิดว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนหนึ่งจะหันไปใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)หรือก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และเบนซิน 95 จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพียง 50% “นายสิริวุทธิ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มราคาเอทานอลในปี 2556 ภาพรวมจะสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากวัตถุดิบทั้งจากมันสำปะหลังและโมลาส(กากน้ำตาล) มีราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโมลาสที่ขณะนี้เริ่มมีการซื้อขายพบว่าราคาเริ่มขยับเป็น 3.70 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)จากเดิมเฉลี่ยที่ 3.50-3.60 บาทต่อกก.เนื่องจากคาดว่าปริมาณอ้อยปีฤดูการผลิตปี 55/56 ที่กำลังเปิดหีบจะมีผลผลิตต่ำที่ระดับเพียง 90 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่อ้อยมีผลผลิตถึง 97 กว่าล้านตันซึ่งจะส่งให้ต่อกระบวนการผลิตน้ำตาลที่จะมีผลพลอยได้เป็นโมลาสต่ำไปด้วย

อย่างไรก็ตามรัฐได้กำหนดเกณฑ์การคำนวณและการซื้อเอทานอลใหม่เนื่องจากมีนโยบายที่จะช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังและช่วยให้ผู้ผลิตเอทานอลจากมันฯอยู่ได้เพราะขณะนี้ต้นทุนสูงกว่าการผลิตจากโมลาส โดยกำหนดการนำเอาเอทานอลมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามสัดส่วนการใช้เอทานอลที่ผลิตจากโมลาส 62% กับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง 38% ดังนั้นรัฐจะต้องบริหารจัดการราคาในประเทศให้เหมาะสมไม่เช่นนั้นเอทานอลอาจขาดตลาดได้

“ข้อเท็จจริงคือเอทานอลจากมันฯต้นทุนสูงกว่ามากแต่เมื่อรัฐกำหนดสัดส่วนการซื้อทำให้รัฐกำลังพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาให้เท่ากับโมลาสทั้งที่ก่อนหน้ารัฐบอกเอทานอลคือแอลกอฮอล์ไม่ใช่เชื้อเพลิงเท่ากับดับเบิ้ลแสตนดาร์ด และจุดตายคือถ้ารัฐกำหนดราคาในประเทศต่ำกว่าส่งออกก็อาจขาดแคลนได้โดยราคาส่งออกขณะนี้เกือบ 21 บ.ต่อลิตรแต่ราคาอ้างอิงในประเทศกำหนดไว้ 20.30 บ.ต่อลิตรเท่านั้นและที่สำคัญการผลิตเอทานอลจากมันฯจริงวันนี้ทำได้เพียง 3 แสนลิตรต่อวันเมื่อรัฐกำหนดสัดส่วนที่เหลือโมลาสจะทำการส่งออกหมดได้ถ้าราคาดี”นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 31 ธันวาคม 2555

โรงน้ำตาลฟ้องปลัดกระทรวงอุตฯ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากศาลปกครองกลาง วันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านา มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณ 200 คนเดินทางมายื่นหนังสือขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี) ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยเซ็นอนุมัติผ่อนผันให้โรงงานน้ำตาลขอนแก่น ที่ขอย้ายและขยายกำลังผลิตเพิ่มเติม สามารถเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิต 2555/56 เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยที่ไม่สามารถส่งออกเข้าโรงงานได้ พร้อมกันนี้ทางบริษัทน้ำตาลขอนแก่น ก็ได้ทำหนังสือถึงศาลปกครองขอให้ศาลสั่งในประเด็นเดียวกันด้วย โดยนายพรศิลป์ แต้มศิริชัย กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า โรงงานได้ร้องขอให้ ศาลปกครองมีการไต่สวนฉุกเฉินหรือคุ้มครองชั่วคราวในการเปิดหีบอ้อย เนื่องจากวานนี้ (26 ธ.ค.) ชาวไร่อ้อยหลายร้อยคนได้เดินทางไปประท้วงหน้าโรงงานน้ำตาลใน จ.เลย หาว่าโรงงานผิดสัญญา สร้างความเสียหายให้กับอ้อยที่ปลูก และต้องการให้ทางโรงงานรับผิดชอบ "เงิน 4,000 ล้านบาทที่โรงงานได้ลงทุนไปยังไม่เท่ากับเงิน 1,500 ล้านบาทที่เกษตรกร 1,300 ครอบครัวจะได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถขายอ้อยจำนวน 1.5 ล้านตันให้กับโรงงานได้" ล่าสุด นายวุฒิชัย แสงสำราญ ผู้พิพากษาศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน ได้ทำหนังสือแจ้งมายังทนายความของกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่นและชาวไร่ว่า ศาลปกครองได้รับฟ้อง และจะไต่สวนเรื่องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยเร็วที่สุด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 29 ธันวาคม 2555

ชี้5ปัจจัยเสี่ยงอุตฯติดหล่ม ค่าแรง-เงินบาท-จีเอสพี

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมในปี 56 มี 5 ปัจจัยหลักประกอบด้วย การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า, การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมล่าช้า โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, การแข็งค่าเงินบาท, ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ และกลุ่มประเทศอียูจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) บางกลุ่มอุตสาหกรรมไทย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับผลกระทบการขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 5.38% โดยเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้น 7.73%, อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 6.12%, อิเล็กทรอนิกส์ เพิ่ม 5.63%, แก้ว เซรามิก ซีเมนต์ เพิ่ม 5.63%, การพิมพ์ เพิ่ม 5.6%, อุปกรณ์การขนส่ง เพิ่ม 5.56%, ไม้และผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 5.53%, เฟอร์นิเจอร์ เพชรพลอย ของเล่น เพิ่ม 5.26%, ยานยนต์เพิ่ม 4.67% และอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่ม 4.09%

ทั้งนี้ สศอ. ได้ประเมินว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการปรับแผนการทำธุรกิจโดยการปรับราคาสินค้าแต่หากปรับไม่ได้ก็คงลดปริมาณต่อหน่วยลงเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุน, การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงาน, การย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานมาก ๆ, มีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ใช้แรงงานไร้ฝีมือให้น้อยลง, การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตเพื่อลดต้นทุน และการลดการจ้างงานกรณีที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

สำหรับปัจจัยบวกของภาคอุตสาหกรรมในปี 56 เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย, นโยบายรถยนต์คันแรก, แรงกดดันราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ, การเติบโตประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่าง ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน, การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาล ส่งผลให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 56 ขยายตัว 4-5% จากปี 55 ที่มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 3.5-4.5%

นายณัฐพล กล่าวว่า อุตสาหกรรมเด่นในปี 56 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก การเปิดตัวรถยนต์อีโคคาร์รุ่นใหม่, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รับอานิสงส์จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน, อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง รับอานิสงส์จากยานยนต์,อุตสาหกรรมเซรามิก รับอานิสงส์จากธุรกิจการสร้างบ้านในต่างจังหวัดที่ขยายตัวอย่างมาก เป็นต้น

ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่สูง ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกา ที่ได้เปรียบเรื่องความแข็งแกร่งด้านการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต ค่าจ้าง จำนวนแรงงาน และ จีเอสพี เพราะยังเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครื่องหนังและรองเท้า ที่พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 20-30% ไม่สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างหนังโค ควาย เนื่องจากปริมาณการเลี้ยงในไทยมีน้อยลง.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 28 ธันวาคม 2555

นำร่อง'รักษ์ลำตะคอง' ตั้งเป้า2ปีแก้เน่า6ลุ่มน้ำ

คิกออฟโคราชรวมใจภักดิ์ รักษ์ลำตะคอง 'สุวัจน์'เปิดงานเร่งกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ห่วงใยและรักษาคุณภาพของน้ำในลำตะคอง จัดกิจกรรมเชิงรุก ส่งจนท.ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายพื้นที่ลุ่มน้ำพอง ชี มูลและโขง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ธันวาคม ที่ห้อง ประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมสีมาธานี อ.เมืองจ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ประธานในพิธีถวายสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อม นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาห กรรม นายอาทิตย์วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายชลิต กิติญาณทรัพย์ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายโฆษณา บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชนกว่า 1,500 คน ร่วมทำพิธีเปิดกิจกรรม "โคราชรวมใจภักดิ์ รักษ์ลำตะคอง"

โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานราชการ 42 แห่งอปท. 52 แห่ง และภาคเอกชน 4 แห่ง รวม 100 องค์กร ร่วมถวายปฏิญญา พร้อมร่วมลงนามในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษา และสนองพระราชดำรัสที่ทรงห่วงใยคุณภาพของแม่น้ำสายหลักของประเทศที่เริ่มเสื่อมโทรมกลับมาดีดังเดิม สร้างความตระหนักในการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างแนวร่วมการอนุรักษ์ และฟื้นฟูแม่น้ำชุมชนในแต่ละพื้นที่ควบคุม ติดตาม เฝ้าระวังการปล่อยสารมลพิษของโรงงานลงสู่แม่น้ำให้เป็นไปตามกฎหมาย และก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

นายสุวัจน์เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักของประเทศ และแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เริ่มเสื่อมโทรมลงให้กลับมีสภาพดีดังเดิม ปีนี้ได้จัดกิจกรรมเชิงรุก ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ คำแนะนำ สร้างเครือข่ายในพื้นที่ลุ่มน้ำพองชี มูล และโขง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานรัฐ

นายสุวัจน์กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำโครงการ "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" มาดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะมีการดำเนินการครอบคลุมลุ่มน้ำลำตะคองทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา สระบุรี

และนครนายก ในส่วนของ จ.นครราชสีมานั้นวันนี้ได้เปิดตัวโครงการ "โคราชรวมใจภักดิ์ รักษ์
ลำตะคอง" ขึ้น เนื่องจากแม่น้ำลำตะคองถือว่าเป็นแม่น้ำสายหลักในการอุปโภคบริโภคของชาวจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเส้นทางความยาวของแม่น้ำลำตะคองกว่า 220 กิโลเมตร ผ่าน 6 อำเภอ ได้แก่ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติและ อ.เมืองนครราชสีมา

นายสุวัจน์กล่าวว่า สภาพลำตะคองในปัจจุบันนั้นถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเขตชุมชนใหญ่ๆนั้นคุณภาพของน้ำเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก มีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอาจจะเกิดจากชุมชนทิ้งของเสียลงลำตะคอง และมีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งปล่อยน้ำเสียลงลำตะคองดังนั้น ทาง จ.นครราชสีมา จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำปฏิญญาข้อตกลงกับโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงลำตะคองอีก นอกจากนี้ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้เรื่องการรักษาคุณภาพน้ำกับชุมชนที่อยู่รอบบริเวณลำตะคองอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตรวจสอบและเฝ้าระวังอีก 6 ลุ่มน้ำ

"เป้าหมายในการดำเนินตรวจสอบ และเฝ้าระวัง 6 ลุ่มน้ำ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำท่าจีน, แม่น้ำแม่กลอง ทะเลสาบสงขลา และลำตะคอง จะต้องมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำในช่วง 4-6 มิลลิกรัมต่อลิตร สิ่งมีชีวิตจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผู้ประกอบการโรงงานทั้ง 6 ลุ่มน้ำ ได้ร่วมจัดกิจกรรมโครงการ รักแม่ รักษ์แม่น้ำ เพื่อถวายปฏิญญาไม่ปล่อยน้ำเสีย และดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่วนภาครัฐ จะเพิ่มมาตรการบังคับข้อกฎหมายอย่างเข้มข้นจัดโซนนิ่งโรงงานที่ตั้งอยู่ริมลุ่มน้ำ โดยมีภาคประชาชน ร่วมตรวจสอบ เฝ้าระวัง กำหนดระยะเวลาภายใน 2 ปี ให้ผลดำเนินการโครงการเป็นรูปธรรมชัดเจน" นายสุวัจน์กล่าว

ด้านนายอาทิตย์กล่าวว่า โครงการ "รักแม่ รักษ์แม่น้ำ" เป็นโครงการที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ในปีนี้ได้จัดดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำพอง ชีมูล และโขง ให้ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำ โดยจัดกิจกรรมเชิงรุกส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ คำแนะนำในพื้นที่ สร้างเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ และทำการคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำสนับสนุนชุมชนให้ดำเนินงานเชิงอนุรักษ์

นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงเรื่องของการรักษาคุณภาพน้ำลำตะคองนั้น คือเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรมทิ้งของเสียลงน้ำ ต้องขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยตรวจสอบและดูแลโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมลำตะคอง เมื่อมีโครงการนี้เกิดขึ้นมาถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะจะได้มีการทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมาได้ให้ความรู้กับชุมชนอย่างต่อเนื่องระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา น้ำลำตะคองในตัวเมืองนครนครราชสีมามีคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ แต่อาจมีบางช่วงที่มีชุมชนหนาแน่น อาทิ ชุมชนทุ่งสว่างศาลาลอย และชุมชนสำโรงจันทร์ หลังเดอะมอลล์นครราชสีมา ขณะนี้ได้ประสานไปยังสำนักชลประทานที่ 8 ขอปล่อยน้ำมาเพิ่มเป็นระยะเพื่อไล่น้ำเสียออกจากชุมชนเหล่านั้น

นายจรูญ ชงกลาง อายุ 73 ปี ประธานชุมชนทุ่งสว่าง-ศาลาลอย ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่นครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ลำตะคองที่ผ่านตัวอำเภอเมืองนครราชสีมา มีสภาพใสสะอาด ชาวบ้านเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยแต่ปัจจุบันสภาพน้ำลำตะคองเสื่อมโทรมมาก ปลาลอยตายอย่างต่อเนื่อง คนงานก่อสร้างที่ลงไปจับปลาขึ้นมาต้องรีบอาบน้ำทันที ชาวบ้านเชื่อว่าอาจจะเกิดมาจากมีสารเคมีที่โรงงานบางแห่งปล่อยของเสียลงน้ำ เมื่อมีโครงการ "โคราชรวมใจภักดิ์ รักษ์ลำตะคอง" ขึ้น ทางชุมชนพร้อมจะให้ความร่วมมือและเป็นเครือข่าย

นายทรงศักดิ์ เลิศพิทักษ์สิทธิ์ ผู้บริหารโรงงานแป้งมันแห่งหนึ่งใน อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ดได้รับรางวัลโรงงานฟื้นฟูสภาพน้ำดีเด่น ของกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2555 กล่าวว่า โรงงานของตนนั้นตั้งอยู่ติดกับลุ่มน้ำชี ในอดีตถูกต่อต้านจากชุมชนอย่างมาก เพราะมีปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ แต่ต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไข ใช้เงินกว่า 60 ล้านบาท แก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย และสร้างโรงงานแปรสภาพน้ำเสียเป็นไบโอก๊าซขึ้นมาส่วนน้ำเสียที่เหลือจากการบำบัดแล้วส่งไปให้ชุมชนทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ปัจจุบันกลายเป็นโรงงานสีเขียวเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชนในที่สุด เชื่อว่าโรงงานอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้น สามารถไปด้วยกันได้ หากมีการบริหารจัดการที่ดี และมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ โครงการ "รักแม่รักษ์แม่น้ำ" จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนมีความเข้าใจกันมากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการต่อต้านเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนเหตุการณ์พบปลาน้ำจืด และสิ่งมีชีวิตในลำตะคอง ช่วงไหลผ่านโรงงานผลิตน้ำแข็งเอ็มพี ถึงหมู่บ้านวีไอพี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร น้ำหนักรวม 2 ตันตายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นพ.ต.ท.จุลฑิตย์ กิตติรงค์ รอง ผกก.สอบสวนสภ.เมือง อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวถึงการดำเนินคดีตามที่มีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าของโรงงานผลิตน้ำแข็งเอ็มพี ฐานความผิด พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 19 ห้ามมิให้บุคคลใดเททิ้ง ระบายหรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา หรือกระทำใดๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบายหรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำหรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษเว้นแต่เป็นการทดลอง เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท และแนบรายละเอียดค่าใช้จ่าย ของส่วนราชการกรมประมง และส่วนราชการกรมพัฒนาที่ดิน เรียกร้องให้ผู้ประกอบการชดใช้สินไหมทดแทน รวมทั้งสิ้น 813,100 บาท ซึ่งเจ้าของโรงงานรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนสรุปสำนวนการสอบสวน เสนอความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ต่ออัยการจังหวัดนครราชสีมา

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บีโอไอส่งเสริมลงทุนส่งท้ายปี1แสนล.ธุรกิจพลังงาน-ขนส่งทางอากาศมาแรง

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 32 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 107,738 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทนทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตไฟฟ้าจากขยะ อาทิ บริษัท ราชบุรี เวอลด์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ ขอส่งเสริมการลงทุน 2 โครงการ มูลค่า 10,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จ.ราชบุรี บริษัท เอสเอสยูที จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าชธรรมชาติ รวม 2 โครงการ เงินลงทุน 11,000 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ

นายประเสริฐกล่าวว่า ธุรกิจขนส่งทางอากาศได้ขอส่งเสริมลงทุนมากเช่นกัน อาทิ การบินไทย เช่าเครื่องบินแอร์บัส เพิ่ม 7 ลำ มูลค่ารวมกว่า 33,000 ล้านบาท บริษัทการบินกรุงเทพ เช่าเครื่องบินเพิ่ม 13 ลำ มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านบาท สำหรับโครงการประเภทอื่น อาทิ บริษัท ไทย ฟู้ดส์ โพลทรีย์ ฟาร์ม จำกัด ขยายกิจการผลิตลูกไก่ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ขยายกิจการผลิตยางยานพาหนะ เรเดียล เงินลงทุน 2,700.8 ล้านบาท บริษัทไทยซัมมิท แหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ดัชนีเศรษฐกิจสีเขียว

วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรเอกชนที่เรียกว่า "Dual Citizen"ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการตีพิมพ์ผลสำรวจเกี่ยวกับดัชนี "เศรษฐกิจสีเขียว" (Green Economy) ของประเทศต่างๆ ประจำปี 2012 (Global Green Economy Index หรือ GGEI) โดยทำเป็นรายงานข้อมูลเชิงวิเคราะห์ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวในระดับที่สูงขึ้น โดย Dual Citizen ระบุว่า 27 ประเทศที่ปรากฏในรายงานการสำรวจครอบคลุมผลผลิตมวลรวมของโลกที่เกิดจากกิจกรรมสีเขียว (Green GDP) กว่าร้อยละ 90

แต่ประเทศไทยเราไม่ได้อยู่ในรายงานดังกล่าวDual Citizen ได้แบ่งเกณฑ์การประเมินออกเป็น 4 มิติ ได้แก่

1.มิติความเป็นผู้นำ (Leadership) น้ำหนักร้อยละ 15
2.มิตินโยบาย (Policy) น้ำหนักร้อยละ 35
3.มิติการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด (Cleantech Investment น้ำหนักร้อยละ 35 และ
4.มิติเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(Sustainable Tourism) น้ำหนักร้อยละ 15

"ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำ" ประกอบด้วย การสนับสนุนของหัวหน้ารัฐบาลในประเด็นสีเขียว (ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) การจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์และความเห็นของสื่อที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ เป็นต้น

"ตัวชี้วัดนโยบาย" ประกอบด้วย ความมุ่งมั่น พันธสัญญา และเป้าหมายการใช้พลังงานสีเขียว ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

"ตัวชี้วัดการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาด" ประกอบด้วย มูลค่าการลงทุน นวัตกรรม การสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสะอาด

"ตัวชี้วัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ประกอบด้วยความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ผลการประเมิน "Green Reputation" รวมทั้ง 4 มิติ ปรากฏว่าประเทศเยอรมนีและเดนมาร์กอยู่ในอันดับ1 และ 2 ทั้งในด้านการรับรู้ (Perception) และผลการดำเนินงาน (Performance) ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตด้านการเงินในยูโรโซน แต่ทั้งสองประเทศต่างก็ยืนหยัดในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่วนประเทศอิตาลีมีผลการการดำเนินงานอยู่ในอันดับที่3 แสดงถึงการมีกรอบนโยบายที่เข้มแข็ง โดยมีการลงทุนในเทคโนโลยีสะอาดอย่างเข้มข้น ซึ่งจะทำให้อิตาลีผ่านพ้นวิกฤตยูโรโซนไปได้

สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่งจะจัดงาน "ก้าวต่อไป...อุตสาหกรรมสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปเมื่อวันอังคารที่18 ธ.ค. 2555 โดยมีผู้ได้รับการประเมินอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 คือ"วัฒนธรรมสีเขียว" จำนวน 30 ราย เรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนในประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เนื่องจากงานนี้มีภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐบาลอย่างมากมายด้วย

ดังนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับการจัดอันดับในGGEI แต่รัฐบาลก็มีนโยบายและยุทธศาสตร์ชัดเจนที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยกระทรวงอุตสาหกรรมก็กำลังเร่งเครื่องเพื่อส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการทั่วประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และภาคเอกชนก็ขานรับนโยบายและดำเนินการปฏิบัติอย่างจริงจัง

ความจริงที่ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่าคงอีกไม่นานที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย ครับผม!

ประเทศไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่งจะจัดงาน "ก้าวต่อไป...อุตสาหกรรมสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ไปเมื่อวันอังคารที่18 ธ.ค. 2555 โดยมีผู้ได้รับการประเมินอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 คือ "วัฒนธรรมสีเขียว"จำนวน 30 ราย เรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนในประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2555

คลังเผยจีดีพีไทยโตพุ่ง5.7% คาด2556เศรษฐกิจตกBOIอนุมัติส่งท้ายแสนล.

คลังเคาะจีดีพีปี 2555 โตฉลุย 5.7% อานิสงส์นโยบายเพิ่มรายได้รัฐ พร้อมหั่นเป้าส่งออกปีนี้ต่ำติดดินแค่ 3.9% ส่วนปี 2556 คาดจีดีพีทรุดเหลือ 5% บีโอไออนุมัติลงทุน 32 โครงการ พลังงาน-ขนส่งทางอากาศแรง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่าสศค.ได้ปรับประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประ เทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 5.7% จากเดิมที่ 5.5% เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยในปีนี้เติบโตที่ 5.6% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2547 รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงเติบโตได้ในระดับสูงที่ 16.1% จากประ มาณการเดิมที่ 14.1% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้จีดีพีในปีนี้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในปีนี้ ลดลงอยู่ที่ 3.9% จากเดิมที่ 4.5% เนื่องจากความกังวลจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ ยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

"มาตรการรัฐหลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลเร่งการเบิกจ่ายเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการเร่งสร้างความเชื่อมั่นโดยการลดอัตราภาษีนิติ บุคคล เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วย ซึ่งส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 4/2555 ขยายตัวได้สูงกว่า 15% อีกด้วย" นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของจีดีพีปี 2556 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5% ลดลงจากเดิมที่ 5.2% โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญยังอยู่ที่การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 3.9-4% และการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 9.2% ขณะที่ตัวเลขการส่งออก ประเมินว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 10% ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดขยายตัว 14% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเริ่มการเบิกจ่ายงบประมาณ ใน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายราว 6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2556 จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 133 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 3.3% ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในช่วง 29.7-31.7 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับปัจจัยที่ต้องติด ตามในปี 2556 ได้แก่ ภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ 3.9% จากปีนี้อยู่ที่ 3.5% รวมถึงความสามารถของธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ในการบริหาร จัดการเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าออก และการเร่งออกมาตรการสนับสนุนให้เอกชนของไทยไปลงทุนในต่างประเทศ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ จะมีการหารือกับนายกิตติ รัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐ มนตรี และ รมว.การคลัง เกี่ยวกับความคืบหน้าในโครงการกู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้ สศค. และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินการทั้งในส่วนของโครงการที่จะ ลงทุน และวงเงินที่จะใช้ในแต่ ละโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าหลังจากนี้จะสามารถเสนอ ให้ที่ประชุมสภาพิจารณาได้ภาย ในต้น ม.ค.2556 และจะสามารถ เบิกจ่ายเงินได้ในช่วงหลังไตร มาส 1/2556 โดยในส่วนนี้ประ เมินว่าจะมีเม็ดเงินจากโครงการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1%

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 32 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 107,738 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทน มีทั้งพลังงานลม-แสงอาทิตย์ และผลิตไฟฟ้าจากขยะ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขน ส่งทางอากาศ ที่ยื่นขอส่งเสริมจำนวนมาก เช่น บมจ.การบินไทย เช่าเครื่องบิน Airbus เพิ่ม 7 ลำ มูลค่ารวมกว่า 33,000 ล้านบาท ด้านบริษัท การบินกรุงเทพ เช่าเครื่องบินเพิ่ม13 ลำ มูลค่ารวมกว่า 14,000 ล้านบาท.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชาวไร่อ้อยพร้อมรับมือภัยแล้ง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2555/2556 ว่านับตั้งแต่ที่โรงงานน้ำตาลทรายได้เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ย. จนถึงวันที่ 24 ธ.ค.55 รวม 40 วัน พบว่าปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทรายเปิดรับผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้ว 49 โรงงาน โดยมีอ้อยเข้าหีบแล้ว 15.88 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 12.74 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 80.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดที่ 87.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออก มียิลด์ 79.26 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคกลางมียิลด์ 74.29 กิโลกรัมต่อตัน และภาคเหนือ 72.77 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีสัดส่วนปริมาณอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยอยู่ที่ 60% และอ้อยสด 40%

ทั้งนี้ เมื่อดูผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายเทียบกับปีที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากัน จะพบว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูการหีบอ้อยปี 55/56 มีคุณภาพลดลง โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อกิโลกรัมโดยเฉลี่ยลดลงจาก 88.46 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เหลือเพียง 80.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย หรือลดลง 8.23 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าเฉลี่ยความหวานของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งปรับลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 10.80 ซี.ซี.เอส. เหลือเพียง 10.13 ซี.ซี.เอส.เท่านั้น

“ปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้กับปีก่อนใกล้เคียงกัน คือ ปีก่อนได้ 16.48 ล้านตัน ปีนี้ได้ 15.99 ล้านตัน แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือค่าความหวาน หรือ C.C.S. ซึ่งปรับลงมาก จะเห็นว่า มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ทำได้เกิน 10 ซี.ซี.เอส. ภาคอื่นๆ แทบจะไม่มีเลย ทำให้การผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เข้าหีบในช่วงนี้ได้ผลผลผลิตต่ำ ทั้งนี้ เกิดจากสภาพอากาศ คือปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้ได้อ้อยต้นสั้นและฤดูหนาวที่มาช้า ทำให้อ้อยไม่สามารถสร้างน้ำตาลได้เต็มที่” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า เมื่อพบว่าต้นฤดูหีบอ้อยเป็นเช่นนี้ ก็ได้สื่อสารกับโรงงานและชาวไร่อ้อยในการปรับตัว โดยการจัดลำดับก่อนหลังในการตัดอ้อย ซึ่งฝ่ายไร่ของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่ จะพยายามตรวจเช็คค่าความหวานก่อนตัด หากแปลงใดยังมีค่าความหวานน้อยมาก ก็จะปล่อยไว้ก่อน ยกเว้นหากต้นอ้อยออกดอกจะต้องตัดทันที เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ได้น้ำตาลน้อย นอกจากนี้ต้องบริหารการใช้รถตัดอ้อย และนำรถตัดอ้อยมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อจัดส่งผลผลิตอ้อยสะอาดเข้าสู่โรงงาน ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยได้มากขึ้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 27 ธันวาคม 2555

ชาวไร่อ้อยเมืองเลยเดือดร้อนหนัก รง.อ้างธรรมาภิบาลไม่ซื้ออ้อย

ชาวไร่อ้อย นำรถบรรทุกอ้อย ปิดทางเข้า-ออกโรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขา อ.วังสะพุง เหตุไม่ยอมเปิดหีบรับซื้ออ้อย

เลย - ชาวไร่อ้อย จ.เลย เดือดร้อนหนัก โรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขา อ.วังสะพุง ไม่ยอมเปิดหีบ สุดทนนำรถบรรทุกอ้อยปิดทางเข้า-ออกโรงงาน ขีดเส้น 4 ม.ค.ยังไม่รับซื้อ นำชาวไร่ 10 อำเภอปิดถนนทุกเส้น ด้านโรงงานอ้างเป็นบริษัทธรรมาภิบาล ยันไม่มีใบอนุญาตเปิดโรงงานไม่ได้

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่หน้าโรงงานน้ำตาล บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด สาขาวังสะพุง อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวไร่อ้อยนำรถบรรทุกอ้อยเดินทางมาปิดถนนทางเข้า-ออกบริษัท เรียกร้องให้โรงงานเปิดรับซื้ออ้อยฤดูกาลผลิต 2555/25556 ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก

นายแสงจันทร์ ศรีพลเมือง แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวไร่อ้อยต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากโรงงานไม่รับซื้ออ้อย ทำให้ชาวไร่เดือดร้อนกว่า 10 อำเภอ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่บอกให้ชาวไร่ตัดอ้อยมาขายในช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ขายอ้อย ทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า หนี้สินพอกพูนขึ้น เพราะอ้อยเริ่มแห้งต้องเอาไปทิ้งอย่างเดียว

ส่วนกรณีที่นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ทำเรื่องเสนอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้เปิดหีบอ้อยไปก่อน โรงงานไม่สามารถเปิดหีบได้นั้น ชาวไร่อ้อยไม่ทราบ เป็นเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะไปคุยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมเอง

“วันนี้ชาวไร่มาแค่ 2 อำเภอ คือ อ.วังสะพุง และ อ.เอราวัณ แต่หากยังไม่มีการแก้ไข ในวันที่ 4 มกราคม 2556 ชาวไร่อ้อยใน จ.เลย จะรวมตัวกันทุกอำเภอออกมารวมตัวกันที่หน้าโรงงานอีกครั้ง โดยจะทำทุกวิถีทางให้ชาวไร่ขายอ้อยได้ แต่หากยังไม่รับซื้ออีกจะนำรถบรรทุกอ้อยออกมาเคลื่อนไหวบนถนนทุกสายในจังหวัด เพื่อประจานให้รู้กันทั่วประเทศว่าชาวไร่อ้อยเดือดร้อน ผู้หลักผู้ใหญ่จะทนดูความเดือดร้อนได้หรือไม่ก็ลองดู”

ด้านนายอิทธิพล รัตนวิศิษฐ์ รักษาการผู้จัดการโรงงานบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด สาขาวังสะพุง กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลขอนแก่นเป็นบริษัทมหาชน จะต้องมีธรรมาภิบาล ปัจจุบันทางโรงงานยังไม่มีใบอนุญาต (รง.4) ซึ่งได้ยื่นผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปนานแล้ว ขณะนี้รอเพียงใบอนุญาตอย่างเดียว

“หากโรงงานฝืนทำตามคำเรียกร้องของชาวไร่ เท่ากับว่าโรงงานทำผิดกฎหมาย ผลิตน้ำตาลออกมาแล้วก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทางโรงงานก็เห็นใจชาวไร่ แต่เราไม่สามารถเปิดหีบได้จริงๆ”

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม 2555

ก.เกษตรฯ เผยพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 1.6 แสนไร่ ประกาศภัยแล้ง 23 จังหวัด

ก.เกษตรและสหกรณ์ เผยมีพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 1.6 แสนไร่ ประกาศภัยแล้ง 23 จังหวัด หวังพายุจากเวียดนามพัดเข้าไทยเพื่อผลดีต่อภาคอีสาน

วันที่ 26 ธ.ค.2555 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ ตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้งหมดประมาณ 1.6 แสนไร่ ประกาศภัยแล้งไปแล้ว 23 จังหวัด โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมีปัญหา ในส่วนของกรมชลประทานตรวจสอบแล้วพบว่า ในพื้นที่ชลประทานสามารถควบคุมปริมาณการใช้น้ำได้ กรณีถ้าเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามชลประทานแนะนำ ก็ยังสามารถประคองได้พ้นช่วงแล้งไปได้ อย่างไรก็ตาม ทางชลประทานได้มีการเตรียมการที่จะทำเรื่องของระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ประมาณ 50 แห่ง และในงบประมาณปี 2556 ได้รับงบประมาณในการทำบ่อน้ำในไร่นา 8 หมื่นบ่อ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 28-30 ธ.ค.2555 ต้องติดตามดูสถานการณ์พายุอีกที เนื่องจากขณะนี้อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ แล้วเข้าที่เวียดนาม ซึ่งต้องตามต่อว่าจะมีโอกาสเข้ามาที่ไทยหรือไม่ ถ้าหากพายุลูกนี้เข้าไทย ก็จะส่งผลดีต่อภาคอีสานได้พอสมควร ส่วนการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภค เป็นส่วนรับผิดชอบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) และทางผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้เตรียมการไว้แล้ว

ด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ ได้จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีเกษตรกรเข้ามาฝึกอาชีพประมาณ 1.4 หมื่นคน ซึ่งพืชที่นำเข้าไปจะเป็นพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และพืชตระกูลถั่วต่างๆ ส่วนอาชีพเสริมอื่นๆ จะมีการเพาะเห็ด ถั่วงอก มีการฝึกอาชีพแก้เครื่องจักรกลการเกษตร การทำต้นพันธุ์พืช เช่น ตัดแต่งกิ่ง ต่อกิ่ง เตรียมกิ่งพันธุ์ ตลอดจนการทำเชื้อศัตรูพืช และทำปุ๋ยหมัก ซึ่งตรงนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และจะได้ติดตามผลการอบรม ว่ามีคนนำเอาเทคโนโลยีหรือความรู้เหล่านี้ไปใช้ อีกทั้งยังเป็นการชดเชยและช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องรายได้เกษตรกรและการกินอยู่ในครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1 พันบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เตรียมแผนฤดูแล้งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สามารถเพาะปลูกได้ประมาณ 2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นข้าว 1.4 ล้านไร่ พืชไร่ 6 แสนไร่ โดยจากการติดตามมีการปลูกแค่ 3.2 แสนไร่ พืชไร่ 1.4 หมื่นไร่ และนาปรัง 1.8 แสนไร่ ซึ่งแผนนี้ใช้ถึงเดือน เม.ย. ซึ่งอาจจะไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 26 ธันวาคม 2555

พิษภัยแล้ง-หนาวช้าทำค่าความหวานอ้อยตกต่ำ

ภัยแล้งและอากาศหนาวมาช้าทำให้ค่าความหวานอ้อยฤดูการผลิต 55/56 ต่ำกว่าปีก่อน
วันนี้ ( 25 ธ.ค.) นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 55/56 ว่า ตั้งแต่วัตที่ 15 พ.ย. – 24 ธ.ค. 55 โรงงานน้ำตาลทราย 49 แห่งเปิดรับผลิตอ้อยจากชาวไร่เข้าหีบแล้ว 15.88 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 12.74 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 80.23 กก.ต่อตันอ้อย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดที่ 87.62 กก. รองลงมาภาคตะวันออก ที่ 79.26 กก. ภาคกลาง 74.29 กก. และภาคเหนือ 72.77 กก.

“ปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้กับปีก่อนใกล้เคียงกัน แต่ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงคือค่าความหวาน หรือ ซี.ซี.เอส. ซึ่งปรับลดลงมาก จะเห็นว่ามีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ทำค่าความหวานได้เกิน 10 ซี.ซี.เอส. ส่วนภาคอื่นๆ แทบจะไม่มีเลย ทำให้การผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่เข้าหีบในช่วงนี้ได้ผลผลผลิตต่ำ เนื่องจากเกิดจากสภาพอากาศ คือปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่ต้องการ ทำให้ได้อ้อยต้นสั้นและฤดูหนาวที่มาช้า จนอ้อยไม่สามารถสร้างน้ำตาลได้เต็มที่”

ทั้งนี้ เมื่อดูผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากัน จะพบว่า ผลผลิตอ้อยในฤดูการหีบอ้อยปี 55/56 มีคุณภาพลดลง โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อ กก. เฉลี่ยลดลงจาก 88.46 กก.กก. ต่อตันอ้อย เหลือเพียง 80.23 กก.ต่อตันอ้อย หรือลดลง 8.23 กก.ต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าเฉลี่ยความหวานของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้ก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งปรับลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานเฉลี่ย 10.80 ซี.ซี.เอส. เหลือเพียง 10.13 ซี.ซี.เอส.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม 2555

กมธ.จี้อุตฯผุด'เหมืองโพแทส'บี้อนุมัติเพิ่มรง.น้ำตาลสระแก้ว

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา เข้าพบว่า ทางคณะกรรมาธิการต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งพิจารณาโครงการลงทุนเหมืองแร่โพแทสในภาคอีสาน ได้แก่ เหมืองแร่โพแตส จ.อุดรธานีและชัยภูมิ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นโครงการที่หารือมานาน แต่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะประชาชนไม่ยอมรับ เนื่องจากหวาดกลัวผลกระทบหากมีเหมืองแร่อยู่ใต้พื้นดินบริเวณที่อยู่อาศัย

"เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับปรุงกฎหมายเหมืองแร่ใหม่ โดยจะศึกษาหลักเกณฑ์เพื่อวางกรอบการลงทุนโครงการเหมืองแร่ โพแทสและเหมืองแร่ชนิดอื่น เพราะโครงการลงทุนเหมืองแร่เป็นนโยบายที่กระทรวงสนับสนุน แต่ต้องเป็นประโยชน์กับประเทศจริงๆ อาทิ ค่าภาคหลวงที่คุ้มทุน การยอมรับจากประชาชน และเทคโนโลยีต้องทันสมัย ไม่ทำลายทรัพยากรประเทศ" นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวว่า คณะกรรมาธิการยังหารือนโยบายด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อออกไปลงทุนต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานน้ำตาล โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สระแก้ว

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผลักดันโครงการเหมืองแร่โพแทสให้เกิดขึ้น เพราะแร่โพแทสถือเป็นทองคำขาวของภาคอีสานและอยู่ใต้ดินโดยไม่ถูกใช้ประโยชน์มานาน 33 ปี ดังนั้น ควรนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศสร้างมูลค่าทาง4x5 ad.ยัดเงาคนบนเวลา.eps เศรษฐกิจ ทั้งนี้ทราบว่ากระทรวงกังวลเรื่องการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นกรรมาธิการในฐานะตัวแทนที่ใกล้ชิดประชาชนจะอาสาทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ เชื่อว่าจะทำได้

นายมหรรณพกล่าวว่า นอกจากนี้ อยากให้กระทรวงเร่งแก้ปัญหาการผูกขาดโรงงานน้ำตาลใน จ.สระแก้ว เพราะได้รับการร้องเรียนจากชาวไร่อ้อยในพื้นที่ว่าปัจจุบันโรงงานน้ำตาลดังกล่าวสามารถหีบอ้อยได้ 2.3 ล้านตัน แต่อ้อยในพื้นที่มีประมาณ 4.5-5 ล้านตัน ทำให้ชาวไร่ได้รับความเดือดร้อนต้องนำอ้อยไปขายในพื้นที่อื่น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่าการตั้งโรงงานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย) คือ โรงงานต้องมีระยะห่าง 80 กม.ขึ้นไป จึงตั้งแห่งใหม่ใน จ.สระแก้วไม่ได้ อย่างไรก็ตามตรวจสอบพบว่าโรงงานที่มีอยู่ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดทำให้รัศมี 80 กม.ยาวออกไปจังหวัดอื่น ดังนั้นกระทรวงควรขอแก้ไขมติ ครม.เพราะพบว่าเคยยกเว้นให้โรงงานน้ำตาลไปแล้วประมาณ 10 แห่ง จ.สระแก้วจึงควรพิจารณาปรับปรุงด้วย

จากhttp://www.matichon.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม 2555

เกษตรสร้างสรรค์ : เกษตรอินทรีย์

เกษตรอินทรีย์นั้นเป็นระบบการผลิตทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรืองที่เอ็นจีโอต้องยัดเยียดให้สังคมไทยต้องเดินตามแนวตัวเอง

ที่สำคัญน้อยคนนักจะเชื่อว่า เกษตรอินทรีย์คือทางออกของสังคมเกษตรไทยอย่างที่เอ็นจีโอพยายามทำให้คนอื่นเชื่อตามตัวเอง

เพราะการเกษตรไทยนั้น ก้าวผ่านสังคมเกษตรอินทรีย์มายาวนาน เกินกว่าจะกลับสู่จุดเดิมในบริบทปัจจุบันได้แล้ว มันเหมือนความพยายามฟื้นชีพไดโนเสาร์ด้วยการควานหาอีเอ็นเอ แล้วสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมา เพียงเพื่อให้โลกได้เห็นหน้าค่าตาสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์นานแล้วตอบสนองนักวิทยาศาสตร์ฝันเฟื่อง

เกษตรอินทรีย์ที่ทำอยู่ ไม่ว่าในต่างประเทศ หรือในประเทศไทย ก็แค่ตอบสนองผู้บริโภคที่มีฐานะดีเท่านั้น.....เท่านั้นจริงๆ

แต่คนไทยโดยทั่วไปไม่อาจรองรับเกษตรอินทรีย์ที่ราคาแพง ต้นทุนแพง ผลผลิตต่ำได้ เขายังคงต้องพึ่งพาการเกษตรที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดศัตรูพืช ท้ายสุดคือราคาผลผลิตที่พวกเขารับได้

ปัญหาคือทำอย่างไรให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเกษตร เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยจากสารเคมีเกษตรที่ตกค้าง

ปัญหาอยู่ที่การใช้สารเคมีเกษตร จึงต้องแก้ไขตรงนั้น ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เกษตรกรรับภาระโดยลำพัง เพราะเป็นเรื่องของความรู้ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ และผู้ประกอบการสารเคมีเกษตร จึงต้องร่วมกันรับผิดชอบอย่างจริงจัง ไม่ใช่กินเงินภาษีชาวบ้านหายใจทิ้งไปวันๆหรือมุ่งขายสินค้า แสวงหากำไรถ่ายเดียว โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อชีวิตเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งลูกหลานตัวเอง

ไปๆมาๆ สุดท้ายปัญหานี้ไปลงเอยที่ผลประโยชน์เรื่องเดียว

โดยเฉพาะส่วนราชการที่อยู่เหนือสุด ในฐานะผู้คุ้มกฎ กลับใช้โอกาสนี้แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งการอนุมัติ-ไม่อนุมัติ ขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตร การตรวจจับโรงงานผลิตสินค้าเถื่อน สินค้าปลอมแปลงไม่ได้มาตรฐาน รวมไปจนถึงการละเลยฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร และฯลฯ

คุมกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่กลับคุมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองกับพ่อค้า น่าอดสูจริง

สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 รายการที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ ก็เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า ข้าราชการมีผลประโยชน์ร่วมกับพ่อค้า แล้วจับเกษตรกรไปเป็นตัวประกัน ทั้งที่เลิกขึ้นทะเบียนได้ทันที นอกจากหลายๆแห่งยกเลิกการใช้ การขายแล้ว มันยังมีสารเคมีตัวอื่นทดแทน โดยไม่ได้ทำให้เกษตรเดือดร้อน แต่ส่วนราชการกลับถ่วงเวลาตัดสินใจนานข้ามปีจนกระทั่งวันนี้

ผลประโยชน์เหล่านี้ จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตรได้ เหมือนอย่างในต่างประเทศ เพราะทุกส่วนเกี่ยวข้องต่างวางเฉยกับความรับผิดชอบต่อเกษตรกร และผู้บริโภค

เกษตรอินทรีย์ จึงเป็นเรื่องกระจอกๆ ฝันหวานของเอ็นจีโอ แต่ไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาการเกษตรไทยแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังจะเข้าป่าเข้าพงหนักเข้าไปอีก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 ธันวาคม 2555

เตือนปัจจัยเสี่ยงศก.การเกษตร จับตาปีหน้าหลายอย่างไม่เอื้อ

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU–OAE Foresight Center : KOFC) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ยังมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่มากนัก ทั้งประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศในกลุ่มอียู และญี่ปุ่นยังอ่อนแอ จีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นทั้งปริมาณและราคา รวมทั้งปริมาณสินค้าเกษตรในโลกมีมากขึ้นจากที่มีประเทศที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรมีมากขึ้นทั้งเวียดนาม พม่า กัมพูชา ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง จากที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังประเมินว่าระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ยังคงราคาคงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเติบโตไม่มากนัก ประกอบกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักๆ ยังตกต่ำ ไม่สามารถที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ส่งผลถึงราคาสินค้าเกษตรที่เป็นพืชน้ำมัน ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ที่จะนำมาเป็นพลังงานทดแทนน้อยลง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะผันผวนในกรอบแคบๆ ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ยากขึ้นไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ในขณะที่สินค้าทุนที่นำเข้ามาผลิตจะมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศเรื่องปัจจัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมรวมทั้งแรงงานภาคการเกษตรมีแนวโน้มอายุสูงขึ้น และการปรับค่าแรง 300 บาท จะส่งผลแรงงานภาคการเกษตรจะไหลสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2555

"วิฑูรย์"ขู่เด้งอุตสาหกรรมจังหวัด หากพบรง.ตั้งก่อนมีใบอนุญาต พร้อมกำชับสกัดม็อบเข้ากรุง

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขู่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือย้ายอุตสาหกรรมจังหวัด ออกจากพื้นที่ หากปล่อยให้มีการตั้งโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต พร้อมกำชับให้เคลียร์ปัญหาม็อบ ห้ามมิให้บานปลายจนมาประท้วงในกรุงฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกประชุมหัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมทุกจังหวัด โดยเป็นห่วงปัญหาการชุมนุมประท้วงของคนในพื้นที่ รวมทั้งปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาต

นายวิฑูรย์กล่าวว่า ในที่ประชุม กระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำนโยบายให้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายโรงงานอย่างเคร่งครัด และได้ซักซ้อมความเข้าใจการพิจารณาขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงาน หลังจากพบปัญหาในหลายจังหวัด พร้อมกำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัด ต้องรับผิดชอบ และหากปล่อยปละละเลยจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือย้ายออกจากพื้นที่ โดยเน้นใน 2 เรื่อง คือ

1.การปล่อยให้โรงงานตั้ง หรือประกอบกิจการโรงงานไปก่อนที่ได้รับใบอนุญาต แล้วเป็นเหตุให้เกิดปัญหาในวงกว้างขึ้น จะต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ โดยจะถูกตั้งกรรมการสอบสวน และถูกสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือถูกย้ายออกจากพื้นที่ ตามความหนักเบาของความเสียหายที่เกิดขึ้น

2.กรณีที่มีประชาชนชุมนุมประท้วงในพื้นที่ อุตสาหกรรมจังหวัดถือเป็นตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมในภูมิภาค จะต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และรายงานสถานการณ์ให้ทราบทุกระยะอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพยายามป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ หากทำไม่สำเร็จ อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องเดินทางมาด้วย เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาตามความต้องการของผู้ชุมนุมประท้วงให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว เพราะถือว่าประชาชนเดือดร้อน และได้รับผลกระทบโดยตรง

อีกทั้งยังซักซ้อมความเข้าใจใน ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน ทั้งเรื่องการพิจารณาอนุญาตโรงงาน หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงฐานข้อมูลระบบทะเบียนโรงงานว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2556 กระทรวงกำหนดดีเดย์ให้ลงข้อมูลและใช้ข้อมูล ชุดเดียว คือ ระบบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่พัฒนาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Govornment) ทั้งหมด ซึ่งต่อไปข้อมูลโรงงานของจังหวัดและของกรมโรงงานฯ จะถูกปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน มีความ ถูกต้องตรงกัน ทั้งนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งกากสารพิษ การเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาชุมนุมประท้วง ต่อต้านการสร้างโรงงานใหม่ ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีนโยบายให้อุตสาหกรรมจังหวัด เข้มงวดกับการปฏิบัติงานกำกับดูแลโรงงานในแต่ละจังหวัดที่ตนเองรับผิดชอบ โดยเฉพาะการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานตามแผนงานประจำปี โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยง หรือมีข้อร้องเรียน ก็จะต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าไปตรวจสอบ

พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเข้าไปสุ่มตรวจโรงงานในทุกจังหวัดโดยเฉพาะโรงงานที่มีปัญหาร้องเรียนซ้ำซาก และโรงงานที่เสี่ยงต่อการมีผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องรายงานตรงต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2555

ภาษีสารเคมีเกษตร

กลุ่มเอ็นจีโอพยายามผลักดันให้รัฐบาลรื้อฟื้นการเก็บภาษีสารกำจัดศัตรูพืช หลังจากที่เคยเลิกเก็บไปตั้งแต่ปี 2335 โดยเสนอเก็บในอัตรา 20-25%

เข้าใจว่า จะจัดเก็บเงินภาษีเข้าในกองทุนคล้ายๆสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยพยายามทำให้เชื่อว่า เงินก้อนนี้จะกลับไปฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกร ดังที่เอ็นจีโอพยายามบอกว่า เกษตรกรได้รับพิษภัยอย่างนั้นอย่างนี้

ลองหวนไปดูผลงานของสสส.ที่ได้รับเงินบริหารปีละ 2,000 ล้านบาท ที่รัฐเก็บจากสุรา เบียร์ บุหรี่ มีการใช้เงินกันอย่างสบายใจเฉิบ ทุ่มเทงบโฆษณาเป็นการใหญ่ ทั้งที่เข้าท่าและไม่เข้าท่ามากมาย ลองตรวจสอบหน่อยเถอะว่า ใครรับงานจากสสส. ถ้าไม่ใช่พวกเอ็นจีโอด้วยกัน

นั่นคืออันตรายพอๆ กับเวลาที่เอ็นจีโอโจมตีคนอื่นว่า เล่นพรรคเล่นพวกนั่นแหละ อิเหนาไม่ได้มีเฉพาะที่เกาะชวา และกลุ่มอื่นในเมืองไทย หากแต่เอ็นจีโอก็ชอบเป็นอิเหนาไม่แพ้กัน

จะเก็บภาษีสารกำจัดศัตรูพืชเก็บได้อยู่แล้ว ปัญหาคือภาระภาษีจะตกกับพ่อค้าจริงหรือ? ความเป็นจริงที่เอ็นจีโอรู้ดี ไม่มีวันเสียละที่พ่อค้าจะเสียสละรับภาระเอง ตรงข้าม ภาระภาษีจะโยนไปใส่บ่าของเกษตรกร ซื้อสารเคมีเกษตรแพงขึ้น

หรือว่ายิ่งแพงจะทำให้เกษตรกรไม่ซื้อสารเคมีเกษตร แล้วหันไปทำเกษตรอินทรีย์ฝันสวยหรูของเอ็นจีโอที่ปรารถนาจะสร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ถึง 25% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ

อีกด้านหนึ่ง เอ็นจีโอรู้ดีถึงความจริงข้อนี้ แต่หวังจะเอาเงินภาษีก้อนนี้ไปบริหารคล้ายๆ กับที่สสส.ได้ปีละ 2,000 ล้านบาท

มันก็อีหรอบเดียวกับเอ็นจีโอในสสส.ที่หวังเงินจากภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อรณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ เลิกสุรา และเชื่อว่า
การให้สุราเป็นบาป เป็นการสาปแช่ง แต่จนกระทั่งบัดนี้มีกี่คนเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ อย่างที่สสส.ใช้เงินลงทุนรณรงค์ไม่รู้กี่ร้อย กี่พันล้านบาท

ถึงเวลาจริงๆ เอ็นจีโอก็อยากนั่งคุมเงินกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่บนความเดือดร้อนของเกษตรกรหรือไม่ ท่ามกลางตัวเองที่หลงฟุ้งว่า เก่ง ดี เลิศ ประเสริฐศรี ชนิดคนอื่นในปฐพีไม่มี

วิธีการเอ็นจีโอไทยก็ร้ายเหลือ พยายามล้างสมองว่า เกษตรเคมีเลวร้ายสุดๆ ต้องเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศเท่านั้นถึงจะรอด เท่ากับพลิกแผ่นดินกันเลยทีเดียว ทางสายกลงสายกลางไม่มีเสียละ ต้องทางสายเอ็นจีโออย่างเดียว

จริงๆ น่าจะปล่อยให้เอ็นจีโอทดลองทำการเกษตรในเนื้อที่ที่จะวัดผลได้ ไม่ใช่ 5 ไร่ 10 ไร่ เอาเป็นหมื่นไร่ ปล่อยให้ทำเกษตรอินทรีย์กันทั้งพื้นที่ แล้วหน่วยงานรัฐก็ดี บริษัทค้าสารเคมี ก็ทำในพื้นที่เท่ากัน บันทึกวิธีการผลิต ต้นทุนการผลิตผลผลิตเฉลี่ย รายได้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจละคุณภาพชีวิต

สิ้นระยะเวลาที่กำหนด เอาดัชนีเหล่านี้มาเปรียบเทียบกัน ถ้าระบบการผลิตไหนดีกว่าอีกระบบแบบทิ้งขาดก็ให้เอาระบบที่ดีกว่าแทน หรือดีคนละอย่าง ต่างกันคนละดี ก็อาจเลิกแนวคิดบ้าๆ บอๆ ที่ต้องเกษตรอินทรีย์จ๋า หรือเกษตรเคมีสถานเดียวให้เป็นทางเลือกในหลายๆ ทางเสีย

ไม่ใช่ทุกวันนี้ปาวๆ ให้ประเทศไทยเป็นเกษตรอินทรีย์ให้ได้ตามที่ตัวเองเชื่อ และปรารถนาเอาฝ่ายเดียว โดยไม่แยแสว่าผลสุดท้ายจะเกิดอะไรกับบ้านเมือง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2555

เตือนปัจจัยเสี่ยงศก.การเกษตร จับตาปีหน้าหลายอย่างไม่เอื้อ

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU–OAE Foresight Center : KOFC) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ยังมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่ไม่มากนัก ทั้งประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศในกลุ่มอียู และญี่ปุ่นยังอ่อนแอ จีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นทั้งปริมาณและราคา รวมทั้งปริมาณสินค้าเกษตรในโลกมีมากขึ้นจากที่มีประเทศที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรมีมากขึ้นทั้งเวียดนาม พม่า กัมพูชา ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง จากที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังประเมินว่าระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ยังคงราคาคงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเติบโตไม่มากนัก ประกอบกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักๆ ยังตกต่ำ ไม่สามารถที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ส่งผลถึงราคาสินค้าเกษตรที่เป็นพืชน้ำมัน ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง อ้อย ที่จะนำมาเป็นพลังงานทดแทนน้อยลง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะผันผวนในกรอบแคบๆ ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ยากขึ้นไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ในขณะที่สินค้าทุนที่นำเข้ามาผลิตจะมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศเรื่องปัจจัยธรรมชาติ ภัยแล้ง น้ำท่วม ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมรวมทั้งแรงงานภาคการเกษตรมีแนวโน้มอายุสูงขึ้น และการปรับค่าแรง 300 บาท จะส่งผลแรงงานภาคการเกษตรจะไหลสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2555

3หน่วยงานรัฐฯจับมือเข้มทำฐานข้อมูลเกษตรกรใหม่

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า เพื่อให้ฐานข้อมูลด้านการเกษตรฯมีความมันสมัยมากขึ้นล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งประสานกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ(ICT) จัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรใหม่ทั้งประเทศให้ครบถ้วนโดยนำข้อมูลเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนไว้กว่า 5.8 ล้านครัวเรือน ป้อนลงในบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ถูกต้องสมบูรณ์ เป็นฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ทำให้เกษตรกรได้รับความสะดวกในการรับบริการจากภาครัฐ ทั้งยังสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่รัฐบาลกำหนดได้ อาทิ โครงการรับจำนำ หรือการช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน

พร้อมทั้งการกำหนดนโยบาย วางแผน และการจัดการด้านการผลิตสินค้าเกษตร พร้อมส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิต รวมถึงการตลาดและราคาสินค้าเกษตร ทำให้ปัญหาความแปรปรวนของราคาลดน้อยลงซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกร และยังจำแนกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินมาตรการต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2555

เกษตร จัดโครงการ “smart farmer” ตั้งเป้ายกระดับชีวิตเกษตรกรไทยทั้งระบบ

ด้วยประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ซึ่งด้วยความหลากหลายของสภาพภูมิอากาศนี่เอง ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอยู่หลายชนิด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด อ้อย และผลไม้ต่างๆ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด ฯลฯ รวมทั้งดอกไม้ชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้วยไม้ กุหลาบ ปทุมมา เบญจมาศ ซึ่งพืช ผัก ผลไม้เหล่านี้ล้วนแต่ทำรายได้ให้ประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปี ที่ได้ทำงานรับราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาและได้ออกพื้นที่ไปพบกับเกษตรกรทั่วประเทศมาแล้วนั้น ทำให้ได้เห็นปัญหาและจุดอ่อนที่ทำให้อาชีพเกษตรกรในประเทศไทยไม่มีความยั่งยืน นั่นเป็นเพราะว่า ด้วยโครงการต่างๆ ที่นำไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทำตามและปฏิบัตินั้นยังขาดความเข้าใจ และลืมไปว่าแท้ที่จริงแล้ว หัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมนั่นก็คือตัวเกษตรกรเอง และหากไม่สามารถพัฒนาความเข้มแข็งให้เกษตรกรเป็นตัวของตัวเองได้ ก็ต้องอุ้มเกษตรกรไว้ตลอด ด้วยเหตุนี้ จึงได้จัดโครงการ smart farmer ขึ้นมา โดยได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการสร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความพร้อม ทั้งความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเตรียมความพร้อมต้อนรับการค้าเสรีที่จะมาถึงเพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับคำว่า “smart farmer” หมายถึงว่า เกษตรกรปราดเปรื่อง คำว่า ปราด คือคนที่มีความรวดเร็ว เปรื่อง คือคนที่รู้จักใช้ความคิด ดังนั้น smart farmer หมายถึง ตัวเกษตรกรที่มีความรู้ในการประกอบอาชีพของตัวเองอย่างดีและสามารถแก้ไขปัญหาได้ มีความคิด รู้จักการวางแผน, การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยรู้จักการใช้ข้อมูลต่างๆ ประกอบการตัดสินใจ และเป็นคนที่รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาเรื่องของแรงงาน นอกจากนี้ยังเป็นคนที่เน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้โครงการ smart farmer นี้จะเป็นการพัฒนาคน พัฒนาตัวเกษตรกร ให้เป็นคนมีคุณภาพ เข้าใจงานที่ตัวเองทำ สามารถแก้ปัญหาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าเกษตรกรที่จะเป็น smart farmer จะต้องมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่า แรงงานขั้นต่ำ หรือวันละ 300 บาท ซึ่งขณะนี้โดยเฉลี่ยรายได้ของเกษตรกรอยู่ที่ครัวเรือนละ 132,000 บาทต่อปี ดังนั้นโครงการ smart farmer นี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท หรือเทียบเท่ากับเงินเดือนขั้นต่ำของผู้เรียนจบปริญญาตรี เพื่อช่วยยกระดับชีวิตให้เกษตรกร และเป็นการจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจประกอบอาชีพในภาคการเกษตรมากขึ้น”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

สำหรับวิธีการที่จะให้เกษตรกรปรับตัวเองให้เป็น smart farmer นั้น เริ่มจากการจัดกลุ่มของเกษตรกรทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด 5,800,000 ครัวเรือน มาทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า เกษตรกรทั้งหมดอยู่ในกลุ่มไหนบ้าง เช่น เข้าข่ายเป็น smart farmer แล้ว และมีกลุ่มไหนที่ต้องเร่งผลักดันให้เข้าสู่การเป็น smart farmer โดยยึดพื้นฐานการผลิตปัจจุบันเป็นฐานในการพิจารณา ภายใต้หลักว่า จะมีการผลักดันเกษตรกรให้พัฒนาตัวเอง โดยไม่ฝืนธรรมชาติหรือฝืนสภาพปกติที่ตัวเกษตรกรดำเนินการอยู่ แล้วใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีเข้าไปเสริมเพื่อพัฒนาต่อยอดอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะสนับสนุนในเรื่ององค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตการเกษตร การจัดทำแผนธุรกิจและการตลาดให้กับเกษตรกรโดยผ่านเครือข่ายส่วนงานในสังกัด ขณะที่ มก. จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและการพัฒนาในภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ส่วน ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อและส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การช่วยเหลือ การตลาด และการบริหารจัดการทางการเงิน เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการดำเนินธุรกิจของเกษตรกร โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องเร่งปรับแผนในการทำงาน ต้องเข้าใจเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ว่ามีผลผลิตอย่างไร ปัญหาของสินค้าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร โดยจะต้องปรับระบบให้เป็น smart officer เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์วิจัยของกรมต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงการนำข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาวางแผนด้านการผลิตให้แก่เกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมที่จะดึงข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มาตั้งเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลในทุกๆ ด้าน รวมไปถึงทิศทางและนโยบายต่างๆ ที่กระทรวงจะดำเนินการ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้ทันท่วงที และนำมาซึ่งความมั่นคงของอาชีพเกษตรกรในที่สุด

“smart farmer เป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน นั่นคือการแก้ที่ตัวเกษตรกร และท้ายที่สุด ขอฝากถึงเกษตรกร ว่า พวกเราที่มีอาชีพเกษตรกรรมต้องมีความภูมิใจในความที่เราเป็นผู้ผลิตอาหารป้อนคนทั้งโลก เพราะฉะนั้นความหยิ่งในศักดิ์ศรีต้องมี และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนาตัวเองให้เข้าสู่ระบบการเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ ความคิด เข้าใจถึงระบบของการตลาด คุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงอยากให้เกษตรกรปรับตัวเข้ามาสู่ระบบ smart farmer ซึ่งระบบนี้จะทำให้เกิดการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างเต็มที่” นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับโครงการฯ นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้เกษตรกรไทยได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกับเกษตรกรประเทศญี่ปุ่น และมั่นใจว่าการดำเนินการให้เกษตรกรก้าวเข้าสู่การเป็น smart farmer น่าจะทันก่อนการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งนี้โครงการ smart farmer ได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร และหลายสถาบันการศึกษาในการร่วมมือกันพัฒนาเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด นำมาซึ่งความมั่นคงของอาชีพเกษตรกรต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม 2555

พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

นายพสุ โลหารชุน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวง การปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมฐานราก เพื่อการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 600 แห่ง มีผลตอบแทนที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้กว่า 2,600 ล้านบาท โดยในปี 2555 นี้ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการมากถึง 158 แห่งจาก 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเป้าหมายหลักของโครงการ คือการทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูป มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับประเทศในแถบอาเซียนได้ รวมถึงพัฒนาการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้มีความหลากหลาย สร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าในต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านราคา สามารถเพิ่มรายได้และยอดขายให้กับองค์กรและตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้กับลูกจ้าง

คือ เมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้ในธุรกิจของตนเองอย่างมั่นคงแล้ว การปรับค่าจ้างขั้นประเมินผลการพัฒนา ใน 6 แผนงานหลัก ประกอบด้วย1. การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. การลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6. กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด สถานประกอบการสามารถสร้างเสริมศักยภาพ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้เข้มแข็งทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ พร้อมสู้กับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไทย มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558

สำหรับในปี 2555 มีสถานประกอบการที่มีผลสัมฤทธิ์ดีเด่นจากการเข้าร่วมโครงการฯ หลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์และพิษณุโลก อาทิบริษัท จุลอินเตอร์ซิลค์ จำกัด จ.เพชรบูรณ์ ประกอบกิจการทำไหม เส้นไหม รังไหม เศษไหม นำมาผลิตเป็นเส้นไหมดิบ จำหน่ายแก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ บริษัท สารัช มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ประกอบกิจการมะขามคลุก บรรจุภัณฑ์ แบบซอง หรือมะขามกระปุกเล็ก มะขามแก้ว กิจการกล้วยตากนิตยา ทำระบบมาตรฐานการตากกล้วยในโดมโดยใช้พลังงานแสงในโดมโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นระบบปิด มีการคัดเลือกพันธุ์กล้วยที่มีคุณภาพ เหมาะแก่การทำกล้วยตาก บวกกับการปรุงรสชาติที่กับการปรุงรสชาติที่หวานพอดีและสะอาดถูกสุขอนามัย

จากการดำเนินโครงการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สนับสนุนโดยกระทรวงอุตสาหกรรมทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและการสูญเสียของสถานประกอบการลงได้ปีละ 680,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 48 ที่สำคัญเป็นการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของสถานประกอบการในการประกอบอาชีพที่สามารถเข้ามาเอื้อต่อเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม 2555

BOI ตอนที่ 9/120 การจัดงาน อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน (2/2)

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงาน อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม พระชนมพรรษา ๕ ....เสียง....(นภสร/รายงาน)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดตัวโครงการ “อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน” ส่วนภูมิภาคครั้งที่ ๕ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จ พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา ๕ รอบ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี อำเภอเมืองจังหวัดระยองโดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งจังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ตำบล ชุมชน และภาคเอกชนในจังหวัดระยอง ร่วมกันปลูก ต้นรวงผึ้งพระราชทาน พันธุ์ไม้มงคล และพันธุ์ไม้ท้องถิ่น อาทิ พยุง ประดู่ป่า กระถินเทพา คูณ มะค่าโมง พิกุล กฤษณา และต้นสารภีทะเล รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒,๐๐๙ ต้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และสำนักงาน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มเติม อีก 200,000 ต้น ที่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขยายผลการปลูกต้นไม้ให้ครบ ๕ ล้านต้น ตามเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในสิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๕ นี้

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 ธันวาคม 2555

เกษตรชัยนาทชี้ประโยชน์ใบอ้อย

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รักษาการเกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยในพื้นที่จ.ชัยนาท ต้องแต่งตอ ห้ามเผาใบอ้อย เพื่อรักษาความชื้นจะช่วยให้ตออ้อยงอกได้เร็วและสม่ำเสมอ จะส่งผลให้สามารถป้องกันการงอกของวัชพืช รวมทั้งช่วยลดการระบาดของหนอนกออ้อย โดยการสำรวจของกรมวิชาการเกษตร รายงานว่า แปลงอ้อยที่คลุมด้วยใบและยอดอ้อย พบปริมาณของหนอนกออ้อยน้อยกว่าระดับเศรษฐกิจ และให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การคลุมดินด้วยใบอ้อยให้มีความหนา 15 ซ.ม. พบว่าผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากใบและยอดอ้อยซึ่งใช้คลุมดินจะมีการไถสับกลบดินภายหลังแต่งตอประมาณ 2 เดือน แล้วจะค่อยๆ ผุพังเป็นอินทรียวัตถุแก่อ้อยตอ อย่างไรก็ตามการคลุมดินดังกล่าวต้องระวัง เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมโรค หรือแหล่งหลบซ่อนของแมลงและหนู ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญ จึงต้องมีวิธีการกำจัดแมลงและศัตรูอ้อยดังกล่าวด้วย แต่เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนและข้อดีข้อเสียแล้วการคลุมดินด้วยใบและยอดอ้อยมีประโยชน์สูงมาก อีกทั้งเกษตรกรยังมีส่วนร่วมในการลดปัญหาโลกร้อนจากการไม่เผาใบอ้อยด้วย

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 ธันวาคม 2555

ส.ป.ก. ได้การรับรองระบบงานจาก มกอช. ให้เป็นหน่วยรับรองมอบมาตรฐาน GAP

ส.ป.ก. ได้การรับรองระบบงานจาก มกอช. ให้เป็นหน่วยรับรองมอบมาตรฐาน GAP
ดร.วีระชัย นาควิบูลย์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้พิจารณาให้การรับรอง ส.ป.ก. เป็นหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) หรือเป็นหน่วยงานที่จะตรวจ และรับรองการทำการเกษตรหรือการผลิตของเกษตรกร โดย ส.ป.ก. สามารถให้ตัว Q ซึ่งตัว Q ก็หมายถึงคุณภาพของกระทรวงเกษตร ตามมาตรฐานของ มกอช. เป็นการรับรองเรื่องการผลิตที่ดี หรือ GAP ซึ่งเกิดประโยชน์ใน 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งก็คือ ส.ป.ก. สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้เข้าสู่การปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตที่ดี อีกด้านหนึ่งก็คือเป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรให้สามารถที่จะปรับปรุงเรื่องการผลิตของตนเองให้สู่มาตรฐานให้ได้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้มาตรฐาน GAP ในพืช 2 ชนิด คือ ข้าวโพดเมล็ดแห้ง มันสำปะหลัง และอยู่ระหว่างการออกใบรับรองอีก 2 ชนิด คือ อ้อย และ สับปะรด ขณะนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP เพียง 4 ราย

การเข้าร่วมและปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่ GAP จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะในข้อกำหนดของ GAP มีข้อห้ามหลายอย่างเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปใช้สารอินทรีย์ หรือสารชีวภาพแทน หรือหากจะมีการใช้สารเคมีบ้างก็ต้องเป็นชนิดที่ผ่านการรับรอง การจัดเก็บ การทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีทางการเกษตรต้องทำอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งผลที่ตามมาคือ เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น ทำให้สุขภาพดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

ปัจจุบันศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) ได้อบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่จนสามารถเป็นผู้ตรวจประเมินได้แล้ว 34 ราย จัดอบรมให้ความรู้ด้าน GAP แก่เกษตรกร 2,534 ราย ใน 50 จังหวัด มีเกษตรกรที่ยื่นขอรับรองแล้ว 634 ราย ใน 14 จังหวัดมีการตรวจประเมินแปลงไปแล้ว 313 ราย ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP ไปแล้ว 4 ราย และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อตัดสินรับรองอีก 65 ราย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 21 ธันวาคม 2555

เป้าผลิตรถตัดอ้อย50คันต่อปี

เตรียมจับมือพันธมิตรดึงทุนต่างชาติ ผุดโรงงานผลิตรถตัดอ้อยขนาดเล็ก มูลค่า 1 พันล้านบาท ในภาคอีสาน กำลังการผลิต 50 คันต่อปี หวังทดแทนแรงงานคนที่เริ่มขาดแคลน และรองรับตลาดที่ยังมีความต้องการสูงด้วยราคาต่ำกว่านำเข้า พร้อมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นไฟเขียวกลุ่มบริษัทมิตซุยฯถือหุ้น 9.1% ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในปี 2556 บริษัทมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตรถตัดอ้อยขนาดเล็ก ตั้งเป้ากำลังการผลิตประมาณ 50 คันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรร่วมทุน หลังจากปีนี้บริษัทสามารถพัฒนารถตัดอ้อยขนาดเล็กจำนวน 8 คัน จากการทดลองพบว่าผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้มาก สะดวกในการเคลื่อนย้าย รวมทั้งราคาต้นทุนผลิตรถตัดอ้อยอยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านบาทต่อคัน เทียบกับราคานำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 10 ล้านบาทต่อคัน

ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงงานดังกล่าว บริษัทไม่จำเป็นต้องถือหุ้นใหญ่ แต่ต้องการให้มีรถตัดอ้อยในประเทศไทย ที่กำลังมีความต้องการค่อนข้างมาก และมั่นใจว่ารถตัดอ้อยขนาดเล็กของบริษัท มีความได้เปรียบด้านขนาดและราคาที่ไม่แพง รวมทั้งสามารถใช้งานได้จริง และยังพบว่า แนวโน้มแรงงานคนตัดอ้อยเริ่มขาดแคลน ในอนาคตคาดว่ารถตัดอ้อยจะเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น จากปัจจุบันใช้แรงงานคนในสัดส่วนกว่า 80% ส่วนรถตัดอ้อยอยู่ที่กว่า 10% และหากทดแทนแรงงาน 100% จะต้องใช้รถตัดอ้อยประมาณ 700 คัน หากได้ข้อสรุปด้านพันธมิตรที่ร่วมลงทุนแล้ว จะพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยส่วนใหญ่

"ในอนาคตแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานคน ทำให้เรามีความกังวล ดังนั้นการพัฒนารถตัดอ้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทดแทนแรงงานและยังสามารถตัดอ้อยได้เร็วกว่า 5 เท่า ซึ่งการร่วมทุนกำลังดูศักยภาพของพันธมิตรด้วยว่าจะมีความสามารถในการผลิต เท่าใด ส่วนเงินลงทุนจะไม่กระทบกับสภาพคล่องของบริษัท เนื่องจากไม่ได้ตั้งใจถือหุ้นใหญ่ ส่วนตลาดจะเน้นขายในประเทศไทยก่อน แม้ปัจจุบันจะมีโรงงานผลิตรถตัดอ้อย แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ"

นายถกล กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่บริษัทจะให้กลุ่มบริษัทมิตซุยฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 9.1% ตามแผนการหาพันธมิตรเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจนั้น จะต้องเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ก่อน หากได้รับการอนุมัติ จะพิจารณาเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันต่อไป โดยบริษัทมิตซุยฯ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ครอบคลุมธุรกิจทั้งในอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเบาที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มแร่เหล็ก และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ กลุ่มแร่ธาตุ และโลหะ กลุ่มเครื่องจักรและโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มพลังงาน กลุ่มอาหารและค้าปลีก ณ 31 มีนาคม 2555 มิตซุย มีรายได้รวมประมาณ 5.2 พันล้านเยน ส่วนมิตซุยชูการ์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นที่โตเกียว และโฮซากา เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาลในญี่ปุ่น

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 2556 มองว่ายังทรงตัวจากปี 2555 เนื่องจากความต้องการน้ำตาลไม่เติบโตมากนัก จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะเดียวกันกำลังการผลิต อาทิ รัสเซีย ออสเตรเลีย ก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่บราซิลผลิตได้มากขึ้น ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในปีหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปีนี้อยู่ที่ 25-26 เซ็นต์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าปี 2555/2556 แล้ว 40% ที่ราคาเฉลี่ย 26 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากยอดขายที่ตั้งไว้ที่ 2.3-2.4 ล้านตันต่อปี ลดลงจากปี 2554/2555 ที่มียอดขาย 2.5 ล้านตัน เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณอ้อยลดลง

ส่วนการพิจารณาสร้างโรงงานเอทานอล ยอมรับว่าบริษัทยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้มีวัตถุดิบมากกว่านี้ก่อน ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกากน้ำตาล(โมลาส) ประมาณ 1.2 แสนตันต่อปี ซึ่งจะส่งขายเป็นโมลาสให้กับลูกค้าในประเทศทั้งหมด โดยราคาขายอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังไม่มีความมั่นใจนโยบายของภาครัฐว่าจะสามารถทำให้ความต้องการเอ ทานอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามแผนหรือไม่

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 ธันวาคม 2555

KOFCชี้ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่ากลุ่มที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

ได้แก่ จีนและสหรัฐฯ และกลุ่มที่ยังคงอ่อนแอ คือ ยุโรปและญี่ปุ่น ดังนั้น อนาคตจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลกมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ยังเติบโต แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมหลัก หากเศรษฐกิจของประเทศหลักยังมีแนวโน้มซบเซาต่อไปจึงยากที่จะเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตรที่เกิดขึ้นประกอบด้วย

1.ปัจจัยภายนอกประเทศ

1.1 ปัจจัยเศรษฐกิจโลก (World Economy)
ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2556 ยังคงมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศผู้นำ มีแน้วโน้มขยายตัวและการปรับตัวที่ดีขึ้น ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ
1.2 ปัจจัยทิศทางระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ (New World Order)
การประกาศ "การจัดระเบียบโลกใหม่" ประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ การแข่งขันที่รุนแรงจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจเกิดใหม่ การสร้างสมดุลระหว่างมหาอำนาจเก่าและมหาอำนาจใหม่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการใช้เครื่องมือใหม่ๆในการกีดกันการค้าระหว่างประเทศ และแสวงหาประโยชน์จากประเทศอื่นๆ

1.3 ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก (World crude oil price)
เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเจริญเติบโตไม่มาก ทำให้แนวโน้มของราคาน้ำมันยังคงตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2556 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในช่วง 108 – 113 ดอลลาร์/ บาร์เรล เทียบกับ 109.5 ดอลลาร์/บาร์เรล

1.4 ปริมาณการค้าโลกทางการเกษตร (World Ag – Export - Import)
ประเทศไทยมีจุดแข็งในการค้าสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพราะประเทศไทยจะมีผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าการบริโภคในประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกข้าว มัน ยางเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ในปัจจุบันมีประเทศอื่นๆที่สามารถเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรและส่งออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม พม่า และกัมพูชา แต่ปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นจะทำให้มีปริมาณสินค้าเกษตรขายในตลาดโลกมาก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลงได้ ซึ่งจะกระทบต่อระดับราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ

1.5 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Exchange Rate)
ในปี 2556 คาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.00-31.00 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าจะมีความผันผวนในกรอบแคบๆ ซึ่งผลของอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตร เนื่องจาก สินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยที่ขายในตลาดโลก มีการค้าขายกันโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ

2.ปัจจัยภายในประเทศ

2.1 การส่งออกสินค้าเกษตรไทย/และรวม Thai – Export, Ag – Export
สินค้าเกษตรนับเป็นสินค้าหลักที่มีศักยภาพสูงในการส่งออก ดังนั้นการส่งออกสินค้าเกษตรจำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลและตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าของไทยมีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเริ่มตั้งแต่การควบคุมกระบวนการ การเพาะปลูก การผลิต ผลิตภัณฑ์สุดท้าย จนถึงมือผู้บริโภค ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า และทำให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

2.2 ปัจจัยภัยธรรมชาติ (Natural Disaster) – ภัยแล้ง น้ำท่วม

ปัญหาภัยธรรมชาติ (ภัยแล้ง น้ำท่วม) ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม

2.3 เงินทุนไหลเข้าของไทย (Foreign Direct Investment: FDI)
สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เกิดจากมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศต่างๆ จะทำให้มีปริมาณเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งก่อให้เกิด อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) ที่มีแน้วโน้มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะไม่มากนัก เพื่อเป็นการป้องกันเงินทุนไหลเข้า ทางหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดของ อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) ที่เหมาะสมตามความจำเป็นในเวลานั้น ๆ

2.4 นวัตกรรมใหม่ทางการเกษตร (Agriculture New Innovation)
ประกอบกับภาครัฐและเอกชนได้มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่ดี มีคุณภาพ ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
2.5 แรงงานภาคการเกษตร (Labour)
แรงงานภาคการเกษตรมีแนวโน้มอายุสูงขึ้น ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นส่งผลให้แนวโน้มแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น
2.6 หนี้สาธารณะของประเทศไทย (Public Debt)

ณ วันที่ 30 กันยายน 2555 หนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 4,937,239.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.91 ของ GDP ยังอยู่ในระดับที่ปกติและรัฐบาลได้มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง

2.7 ราคาสินค้าเกษตรและแนวโน้ม

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรและระบบอาหารโลกที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่จุดใหม่ในปัจจุบัน โดยโลกของเกษตรและอาหาร นี้จะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆเข้ามารุมเร้าจนก่อให้เกิดการถีบตัวสูงขึ้นของราคาอาหารและความผันผวนของอุปทานอาหารโลก (และอาจเกิดความผันผวนในด้านอุปสงค์ด้วย) ปัจจัยสำคัญๆอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change), ภัยธรรมชาติ, การเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา และ ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้าย เหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดราคาและการไหลเวียนของอุปทานอาหารในวงจรเกษตรและอาหารโลกในอนาคต

3. นโยบายภาครัฐสำหรับภาคการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งเรื่องเร่งด่วน และนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร เพื่อพัฒนาภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาเกษตร องค์กรเกษตร การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อสามารถแข่งขันและเป็นพื้นฐานความมั่นคงทางอาหารและพลังงานของประเทศ สรุปได้ดังนี้
1. ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขต พื้นที่ชลประทาน
2. จัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557
3. สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน โดยเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรกรรมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558
4. การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน
5. การเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร

นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร

สนับสนุนการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร โดยส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนในการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และนำผลผลิตเกษตรไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง การผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพทางการตลาดสูงแปรรูปสินค้าเกษตรตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งการนำเข้าและส่งออกให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทฤษฏีใหม่ และเกษตรอินทรีย์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม

4. มาตรการรองรับ หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตร ดังนี้

- การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning) ในสินค้าเกษตรที่สำคัญเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ กลุ่มจังหวัด / จังหวัด อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน อ้อย สัปปะรด กุ้ง ไก่เนื้อ และสุกร เป็นต้น
- นิคมการเกษตร
- การพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ – ปลายน้ำ (ตั้งแต่กระบวนการผลิต มาตรฐาน/ความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร การตลาด)
- การเพิ่มขึดความสามารถให้กับ SME และ OTOP สู่สากล
- การปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขัน (พืช ประมง ปศุสัตว์ บริหารจัดการน้ำ)
- การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร
- การรับจำนำสินค้าเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
- การป้องกันผลกระทบ ปรับตัวเพื่อรองรับภาวะโลกร้อน

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รับมือภัยแล้งภาคอีสาน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู นครพนม อุดรธานี สกลนคร มุกดาหาร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ รวม 229 อำเภอ 1,657 ตำบล 17,232 หมู่บ้าน ซึ่งได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว มีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ประมาณ 6 ล้านไร่ และพืชชนิดอื่น ๆ ประมาณ 1 แสนไร่

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้ประกาศพื้นที่ห้ามเพาะปลูกและขอความร่วมมือเกษตรกรที่อยู่ใกล้พื้นที่อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ จังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และนครราชสีมา ให้งดปลูกพืชหลังนา เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะไม่เพียงพอหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกตลอดช่วงฤดูแล้ง และไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำขึ้นได้ ส่วนพื้นที่ในเขตชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างไม่มีปัญหา เนื่องจากมีการบริหารจัดการและควบคุมการใช้น้ำ โดยมีปริมาณน้ำ ประมาณ 38-39% ของอ่างเก็บน้ำ

“กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งจัดฝึกอบรมเกษตรกรภายใต้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น โดยมุ่งเพิ่มทางเลือกในการสร้างอาชีพเสริมรายได้ทดแทนการเพาะปลูกพืช อาทิ การเพาะเห็ด การเพาะถั่วงอก การซ่อมเครื่องจักรกลเกษตร เป็นต้น คาดว่าจะเป็นแนวทางการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น” นายยุคล กล่าว

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการแจกจ่ายเสบียงสัตว์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไปแล้วกว่า 292.50 ตัน ทั้งยังสนับสนุนแร่ธาตุด้วย ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ และสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ จำนวน 29 แห่ง ได้เร่งผลิตเสบียงสัตว์สำรองเพื่อเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนเสบียงสัตว์ โดยปี 2556 นี้ มีเป้าหมายผลิตเสบียงสัตว์สำรอง 6,430 ตัน ขณะเดียวกันยังจัดตั้งคลังเสบียงประจำตำบล จำนวน 58 คลังทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทั่วถึงและทันท่วงทีเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ขอบีโอไอเฉียด1ล้านล้านบาท มั่นใจไทยศูนย์กลางตลาดเออีซี

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาห กรรม เปิดเผยว่า ช่วง 11 เดือนของปี 55 (ม.ค.-พ.ย.) มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 1,943 โครงการ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.5% มูลค่าเงินลงทุน 936,200 ล้านบาท เพิ่ม 64.6% และมีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 245,000 คน เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงสุด คือ บริการ และสาธารณูปโภค 519 โครงการ มูลค่า 280,600 ล้านบาท รองมาผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 492 โครงการ เงินลงทุน 214,700 ล้านบาท, กิจการเคมี กระดาษ และพลาสติก 254 โครงการ เงินลงทุน 186,500 ล้านบาท, อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 297 โครงการ เงินลงทุน 118,900 ล้านบาท, เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 250 โครงการ เงินลงทุน 68,000 ล้านบาท

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สิ้นปีตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ส่วนปีหน้าบีโอไอ จะมีการปรับเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เชื่อว่าจะทำให้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไม่ต่ำไปกว่าปีนี้ อย่างน้อยน่าจะมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 700,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและอยู่บนพื้นฐานภาคอุตสาหกรรมที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้ว ไม่ส่งเสริมโครงการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก

"กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมประมาณ 10,000 โรงงาน ที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถแปลงคำว่าอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินการตามบันได 5 ขั้น เริ่มจากระดับ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว ระดับ 2 ปฏิบัติการสีเขียว ระดับ 3 ระบบสีเขียว ระดับ 4 วัฒนธรรมสีเขียว และระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว"

ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอในช่วง 11 เดือนนั้น รูปแบบการลงทุนส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในกิจการขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท ไปจนถึงกิจการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยกิจการขนาดใหญ่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือนนี้ มีทั้งสิ้น 171 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 644,100 ล้านบาท เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ ยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน เป็นต้น.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก.อุตฯ เตือนโรงงานทั่วประเทศ ปรับตัวสู่ Green Industry

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมแสดงความยินดีกับ 30 สถานประกอบที่ได้รับโล่เกียรติยศ “อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว”

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ออกใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ให้ผู้ประกอบการไปแล้วทั้งสิ้น 3,667 ราย ประกอบด้วย ระดับที่ 1 จำนวน 1,619 ราย ระดับที่ 2 จำนวน 870 ราย ระดับที่ 3 จำนวน 1,162 ราย และ ระดับที่ 4จำนวน 30 ราย

ทั้งนี้ ผู้ได้ใบรับรองในระดับที่ 4 เป็นระดับที่แสดงว่าองค์กรดังกล่าวมีวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) อย่างชัดเจนนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีมอบเกียรติบัตร พร้อมการสัมมนา “ก้าวต่อไป...อุตสาหกรรมสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น

“ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินกิจการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด นั่นเองที่นำมาสู่แนวคิดเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนตามโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว” ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว และว่า

สถานประกอบการที่เข้าโครงการทั้งในระดับเริ่มต้นก็แสดงออกว่ามีความมุ่งมั่นเพื่อจะก้าวต่อไปในระดับที่สูงขึ้น ส่วนสถานประกอบการที่ได้ระดับที่ 4 แสดงถึงการมีวัฒนธรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าการเดินไปสู่เส้นทางอุตสาหกรรมสีเขียวก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติและผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยสามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้น สร้างการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ข้อสำคัญนี่คือหลักประกันถึงความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในอนาคต

“30 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 3,667 ราย ได้ในระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว สะท้อนถึงการเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่ารัฐบาล ประชาชนผู้บริโภค ย่อมเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีคุณภาพ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชนและสังคมไทย รวมถึงมีส่วนช่วย ก.อุตฯ ในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นก้าวสำคัญของการประกอบกิจการอุตสาหกรรมที่จะต้องก้าวข้ามแนวคิดเดิมๆ โดยมุ่งแต่ผลกำไรทางตัวเงินเป็นหลัก”

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำว่า ความเป็นจริงของบ้านเราในวันนี้ก็คือความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างโรงงานกับชุมชนโดยรอบโรงงานที่ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะสามารถอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการกำจัดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ หรือลดระดับปัญหาจนอยู่ในมาตรฐานสากลได้ก็ตาม แต่ชุมชนก็ยังไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อในคุณภาพของผู้ประกอบกิจการโรงงานจนถึงขนาดไม่เชื่อมั่นในผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ว่าได้มาตรฐานจริง ตลอดจนไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ จึงแทบจะไม่มีโรงงานใดที่ไม่ถูกร้องเรียน และขยายผลสู่การชุมนุมประท้วงไม่ให้โรงงานตั้งใหม่ ดังนั้น สถานประกอบการ โรงงาน และสังคมไทย ต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็น Green Industry หรือจะไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป (No Industry)

" สถานประกอบการ โรงงาน และสังคมไทย ต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็น Green Industry หรือจะไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป (No Industry) "

ยุทธศาสตร์ 5 ระดับอุตสาหกรรมสีเขียว
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน
ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้
ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับและการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือการที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในทุกด้านของการประกอบกิจการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือการแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียวโดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคการเกษตรไทยปี’56

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและรายงานเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทย และจัดทำดัชนีการผลิตต่างๆภาคการเกษตร และประเมินแนวโน้ม ผลกระทบและการขยายตัวของการผลิต และราคาสินค้าการเกษตรในแต่ละปี สำหรับปี 2555 พบว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว 4.0 สวนในปี2556 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.5

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเติบโตของภาคเกษตรโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งพบว่าในปี 2555 ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรโดยทั่วไปกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังอุทกภัยใหญ่ปลายปี 2554 ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย โดยสาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นคือสาขาพืช ในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปี 2554 แม้ว่าในช่วงปีนี้จะมีภัยภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และอุทกภัยเกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายกับภาคเกษตรมากนัก โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเกษตรกร สำหรับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคา ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น ส่วนอ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง มีผลผลิตลดลง

สำหรับราคาสินค้าพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน โดยราคาข้าว เป็นไปตามมาตรการยกระดับราคาภายในประเทศ ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ในช่วงที่มีความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และอ้อยโรงงาน เป็นไปตามความต้องการและราคาในตลาดโลก สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ มีราคาลดลง โดยราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด ลดลงตามวิกฤติเศรษฐกิจโลก ราคามันสำปะหลังลดลงจากการที่โครงการรับจำนำสามารถเปิดจุดรับจำนำได้น้อย ทำให้เกษตรกรต้องจำหน่าย มันสำปะหลังนอกโครงการซึ่งมีราคาต่ำกว่า และไม้ผลส่วนใหญ่ ราคาลดลงจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก

ด้านการส่งออก สินค้าที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งผลไม้ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำมันปาล์ม และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยข้าวมีความต้องการจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากผู้นำเข้าหันไปนำเข้าข้าวจากเวียดนามและอินเดียที่ราคาถูกกว่าไทย ขณะที่น้ำมันปาล์ม มีสาเหตุจากราคาในตลาดโลกต่ำกว่าราคาในประเทศ ไม่จูงใจให้มีการส่งออก และยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงจากราคาส่งออกที่ตกต่ำ

สำหรับสาขาปศุสัตว์ ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2544 มีไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยเฉพาะการผลิตไก่เนื้อ เกษตรกรมีการบริหารจัดการระบบการผลิตของฟาร์มเลี้ยงที่ดีขึ้น ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาด สำหรับการผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โคนมที่เพิ่มและปริมาณน้ำนมเฉลี่ยของแม่โคนมที่สูงขึ้น ส่วนการผลิตสุกรขยายตัวจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจลดลง (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ส่วน ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์ ที่สำคัญส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสุกร เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก ขณะที่ราคาน้ำนมดิบสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคุณภาพดีขึ้น

ส่วนสาขาบริการทางการเกษตร ในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรทดแทนการขาดแคลนแรงงานมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว และอ้อยโรงงาน โดยเฉพาะข้าวที่เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นภายหลังจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้มีการใช้บริการเตรียมดินเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้มีการใช้บริการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับสาขาป่าไม้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณร้อยละ 1.4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากปริมาณไม้ยางพาราท่อนที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยางในพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555-2556 เพื่อปลูกทดแทนใหม่ด้วยยางพันธุ์ดีและเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายางในประเทศ สำหรับปริมาณผลผลิตและมูลค่าการส่งออกน้ำผึ้งและครั่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ส่วนปริมาณผลผลิต ถ่านไม้ลดลงตามความต้องการใช้ภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สาขาที่ลดลง คือ สาขาประมง ซึ่งลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2554 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากราคากุ้งไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต อันเป็นผลมาจากยอดการสั่งซื้อจากตลาดหลักในต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ลดลง ประกอบกับในช่วงกลางปี 2555 ผู้ผลิตลูกกุ้งชะลอการผลิตเพื่อควบคุมไม่ให้ล้นตลาด ทำให้เกิดปัญหาลูกกุ้งขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร อีกทั้งพื้นที่เลี้ยงในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันออก ประสบปัญหาโรคกุ้งตายก่อนวัยอันควร (Early Mortality Syndrome: EMS) ในขณะที่การทำประมงทะเลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

ด้าน นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยสาขาพืชจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่มีเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปาล์มน้ำมันที่ขยายการปลูกเริ่มให้ผลผลิต ส่วนไม้ผลอื่นๆก็ให้ผลเพิ่มขึ้น ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ราคาผลผลิตพืชมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนการส่งออกขึ้นอยู่กับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ส่วนสาขาปศุสัตว์ ปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 – 2.8 เนื่องจากเกษตรกรมีการขยายการผลิต มีการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม กระบวนการควบคุม และเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับราคาปศุสัตว์โดยเฉลี่ยในปี 2556 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ขณะที่ราคาไข่ไก่และน้ำนมดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยยังมีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ และคุณภาพของน้ำนมดิบ

สำหรับสาขาประมง ในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) - 0.8 เนื่องจากการผลิตประมงน้ำจืดและประมงทะเล ยังอยู่ในภาวะทรงตัว ในส่วนของประมงทะเลขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาด ด้านราคาและการค้า คาดว่า ราคาที่เกษตรกรขายได้อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าในปี 2556 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจทางด้านราคา เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ส่วนสาขาป่าไม้ ในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 – 1.5 จากนโยบายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าอายุ 30 ปี จำนวน 500,000 ไร่ ระหว่างปี 2555 - 2556 ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ยังคงเหลือพื้นที่เป้าหมายอีกประมาณ 260,000 ไร่ รวมถึงมูลค่าผลผลิตและส่งออก น้ำผึ้ง ครั่ง และยางไม้ธรรมชาติ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2555

หน่วย : ร้อยละ

สาขา

2555

2556

ภาคเกษตร

4.0

3.5 – 4.5

พืช

5.5

4.0 - 5.0

ปศุสัตว์

3.2

1.8 – 2.8

ประมง

-2.7

(-0.2) - 0.8

บริการทางการเกษตร

2.9

2.5 – 3.5

ป่าไม้

1.4

0.5 – 1.5

ที่มา : ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 19 ธันวาคม 2555

เผยผลสำรวจเกษตรกรทั่วไทยพบความสุขอันดับหนึ่ง 'มีรายได้ที่แน่นอน ไม่มีหนี้สิน'

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. โชว์ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร เผยโพล “ความสุขของเกษตรกรไทย” รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. มุ่งมั่นดำเนินงานภายใต้หลักการ “วิจัยนำการพัฒนา”ซึ่งศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ได้สร้างผลงานวิจัย และมุ่งผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและสามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาภาคการเกษตร และได้ริเริ่มโครงการสำรวจประชามติ (Poll) ภาคการเกษตร เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของธนาคารอันจะนำไปสู่ความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนของภาคเกษตรไทย

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในปี 2556 ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.4 - 4.6 โดยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางต่อเนื่องจากปี 2555 ส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดต่างประเทศชะลอตัว จึงต้องอาศัยกำลังซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือนข้าราชการ มาช่วยกระตุ้นค่าใช้จ่าย

ด้านเศรษฐกิจการเกษตรไทย ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.0 โดยผลผลิตทางการเกษตรขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้คาดว่าสินค้าหมวดพืชผลและปศุสัตว์จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจคู่ค้าในแถบอาเซียน คาดว่าจะสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปีก่อนได้ ส่วนตลาดเกิดใหม่อาทิ ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อสูง เป็นเป้าหมายใหม่ในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรจะเริ่มขยายตัวได้ในปี 2556 ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย จะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการในภาคเกษตร อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจการเกษตรไทยอาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน คาดว่าสินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ไก่เนื้อและกุ้งขาวแวนนาไม สำหรับยางพาราและสุกร อาจมีความเสี่ยงด้านราคา

นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศภายใต้หัวข้อ “ความสุขของเกษตรกรไทย”พบว่า มุมมองความสุขของเกษตรกรไทยอันดับ 1 คือ ความสุขจากการมีรายได้ที่แน่นอน มีเงินออมและไม่มีหนี้สิน คิดเป็นร้อยละ 25.0 อันดับ 2 คือ ความสุขจากการมีบ้านอยู่อาศัยท่ามกลางเรือกสวนไร่นาที่เป็นของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 20.1 อันดับที่ 3 คือ ความสุขจากการมีหลักประกันสุขภาพได้มาตรฐานเท่าเทียมกับโรงพยาบาลใน กทม. คิดเป็นร้อยละ 19.8 อันดับที่ 4 คือ ความสุขจากการที่สินค้าเกษตรของตนสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงทั้งในและต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 17.7 และอันดับที่ 5 คือ ความสุขจากการมีพืชผลทางการเกษตรที่เจริญงอกงามดีพร้อมกับมีการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจากความเสี่ยงสภาพอากาศแปรปรวน คิดเป็นร้อยละ 17.4 ดังนั้นส่วนงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าว เช่น การประกันภัยพืชผลการเกษตร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญต่อการวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ ในการนำไปใช้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและภาคการเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการปรับตัวและหาแนวทางป้องกันหรือลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกษตรกร ชุมชนและสังคมเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 19 ธันวาคม 2555

อุตฯเล็งต้อนหมื่นโรงงานร่วมลดมลพิษ

"วิฑูรย์" เล็งต้อนโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1 หมื่นแห่ง เข้าโครงการอุตฯ สีเขียวลดมลพิษภายใน 5 ปี
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบเกียรติบัตรโครงการพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวประจำปี2555 ว่า มีนโยบายผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นแห่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้ได้ภายใน 5 ปีจากนี้ เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

สำหรับปี 2555 มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว และผ่านการประเมินแล้ว 3,667 ราย ซึ่งจะแยกตามระดับของการประเมินปัจจุบันความขัดแย้งที่เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างโรงงานกับชุมชนโดยรอบโรงงานได้ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ ดังนั้นสถานประกอบการโรงงาน และสังคมไทยจึงต้องเลือกระหว่างการมีโรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว หรือไม่มีโรงงานใหม่อีกต่อไป

"ต้องการส่งเสริมให้โรงงานเข้ามาร่วมโครงการให้ได้กว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ เพราะจะช่วยกันยกระดับความเข้าใจของชุมชน"นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มาตรฐาน'รง.4'

ทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูหีบอ้อยมักมีความวุ่นวายเกิดขึ้น อาจเกิดจากชาวไร่ โรงงานน้ำตาล ไปจนถึงหน่วยงานรัฐ ส่วนประเด็นวุ่นวายส่วนใหญ่เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ อีหรอบเดิม หมายถึงรายได้ตลอดฤดูกาลเปิดหีบที่ชาวไร่ได้รับนั่นเอง แต่บางประเด็นเกี่ยวข้องกับตัวโรงงานน้ำตาล
ล่าสุด เกิดปัญหาขึ้นในฤดูกาลผลิตอ้อยปีนี้ คือ 2555/2556 หลังกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศเปิดหีบ (ตัดอ้อยเข้าโรงงานเพื่อผลิตเป็นน้ำตาล) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2556 หรือจนกว่าอ้อยจะหมด

เพราะปีนี้มีโรงงานน้ำตาลใหม่และโรงงานน้ำตาลที่ขอขยายกำลังผลิตรวม 6 โรง ประกอบด้วย 1.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จ.กาฬสินธุ์ 2.บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด จ.หนองบัวลำภู 3.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด จ.อุดรธานี 4.บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด จ.อุทัยธานี 5.บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จ.เลย และ 6.บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จ.เลย จากโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศที่มีอยู่เดิม 47 โรง

ซึ่งตามข้อกำหนดการตั้งโรงงาน กระทรวงโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะนำเสนอเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

แต่เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเอาจริงเอาจังกับข้อกฎหมายกำกับดูแลโรงงาน โดยเฉพาะประเด็นความเข้มงวดเรื่องใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 กลับพบว่าทั้ง 6 โรงงานเกิดปัญหา เพราะสร้างไปพร้อมกับขอ รง.4 ซึ่งตามกฎหมายถือว่าไม่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้น มี 2 โรง คือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จ.เลย และบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จ.เลย ที่ปัญหาหนักกว่าเพราะระยะห่างระหว่างโรงงานน้อยกว่า 80 กิโลเมตร ขัดกับหลักเกณฑ์ตั้งโรงงานที่กำหนดว่าต้องมากกว่า 80 กม.ขึ้นไป

ดังนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีปลัดวิฑูรย์เป็นประธานจึงไม่อนุญาตให้เปิดหีบ แต่โรงงานน้ำตาลอ้างว่าการก่อสร้างไปพร้อมกับขอ รง.4 เป็นขั้นตอนปฏิบัติที่ทำกันมาตลอด

เหตุการณ์เริ่มยืดเยื้อทำให้ชาวไร่เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติ รง.4 โดยด่วน เพราะโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ต่างทำสัญญาซื้อขายอ้อยกับชาวไร่นับหมื่นรายไว้แล้ว มูลค่าหลายพันล้านบาท อันเป็นที่มาของคำขู่ว่า ชาวไร่จะเข้ากรุงเทพฯเพื่อเทอ้อยหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม และหน้าบ้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาที่กำกับดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม

ปลัดวิฑูรย์จึงเรียกประชุมด่วน พร้อมอนุญาตให้ 6 โรงงานสามารถเปิดหีบอ้อยได้ แต่จะเปรียบเทียบปรับกับโรงงานทั้งหมดและให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อขอ รง.4

แม้ปัญหาจะยุติ แต่สิ่งที่ปลัดวิฑูรย์ทำ เชื่อว่ากำลังจะกลายเป็นอีกมาตรฐาน เพราะต่อจากนี้หากโรงงานใดคิดสร้างโรงงานแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ แล้วนำสัญญาซื้อขายอ้อย หรือม็อบ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หากต้นเหตุของปัญหา คือ โรงงานทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ แต่กลับได้รับความเห็นชอบ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เกษตรชัยนาทแนะอย่าเผาใบอ้อยนำมาใช้ประโยชน์ได้

เกษตรชัยนาทแนะอย่าเผาใบอ้อยนำมาใช้ประโยชน์ได้ การผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ในปี 2555/56 เริ่มมีการเปิดหีบอ้อยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา ทำให้มีการเผาใบอ้อยในพื้นที่จังหวัดชัยนาท แต่ใบอ้อยนั้นสามารถนำมาใช้คลุมดินเพื่อรักษาความชื้น รวมถึงช่วยลดปัญหาการงอกของวัชพืช ทั้งวัชพืชฤดูเดียว ที่งอกจากเมล็ดหรือวัชพืชข้ามฤดูที่งอกจากหัว เหง้า หรือไหล ดีกว่าการเผาใบอ้อยทิ้งอย่างไร้ประโยชน์

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวอ้อยในพื้นที่จังหวัดชัยนาทต้องทำการแต่งต่อห้ามเผาใบอ้อย แต่ให้ปฏิบัติโดยใช้มีดตัดต่ออ้อยให้ชิดดิน ใช้ใบและยอดอ้อยคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้น จะช่วยให้ต่ออ้อยงอกได้เร็วและสม่ำเสมอ จะส่งผลให้สามารถป้องกันการงอกของวัชพืช ทั้งวัชพืชฤดูเดียว ที่งอกจากเมล็ดหรือวัชพืชข้ามฤดูที่งอกจากหัว เหง้า หรือไหล รวมทั้งสามารถช่วยลดการระบาดของหนอนกออ้อย โดยการสำรวจของกรมวิชาการเกษตร รายงานว่าแปลงอ้อยที่คลุมด้วยใบและยอดอ้อย พบปริมาณของหนอนกออ้อยน้อยกว่าระดับเศรษฐกิจ และให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การคลุมดินด้วยใบอ้อยให้มีความหนา 15 เซนติเมตร พบว่าผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ เนื่องจากใบและยอดอ้อยซึ่งใช้คลุมดินจะมีการไถสับกลบดินภายหลังแต่งตอประมาณ 2 เดือน แล้วจะค่อยๆผุพังเป็นอินทรียวัตถุแก่อ้อยตอ นายอาชว์ชัยชาญ กล่าวอีกว่า การคลุมดินด้วยใบอ้อย หรือยอดอ้อย มีข้อพึงระวังคืออาจจะเป็นแหล่งสะสมโรคหรือเป็นแหล่งหลบซ่อนของแมลงและหนู ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญ จึงต้องมีวิธีการกำจัดแมลงและศัตรูอ้อยดังกล่าวด้วย แต่เมื่อวิเคราะห์ต้นทุนและข้อดีข้อเสียแล้วการคลุมดินด้วยใบอ้อยและยอดอ้อยมีประโยชน์สูงมาก อีกทั้งเกษตรกรยังมีส่วนร่วมในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนจากการไม่เผาใบอ้อยด้วย

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 ธันวาคม 2555

รง.น้ำตาลโวยลั่นกระทรวงอุตฯทำพิลึกยื้อใบอนุญาต-ชาวไร่อ้อยจี้เลิกมติครม.

รง.น้ำตาลโวยกระทรวงอุตฯยื้อใบอนุญาต รง.4 ไร้เหตุผล ทั้งที่มติ ครม.ชัดอนุญาตแล้ว แถมระหว่างก่อสร้าง สอน.-อุตสาหกรรมจังหวัดทราบเรื่อง แต่โยนบาปความผิดให้โรงงานว่าตั้งไม่ถูกกฎหมาย

กรณีปัญหาที่คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงาน ซึ่งมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเป็นประธานยังไม่มีการอนุญาตให้ใบ รง.4 ให้กับโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในจังหวัดเลย ทั้งที่โรงงานทั้งสองแห่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยให้เหตุผลว่าทำผิดมติคณะรัฐมนตรีเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานทั้งสองแห่งไม่ถึง 80 กม.นั้น เป็นเรื่องที่สร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้ประกอบการอย่างมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการอย่างกว้างขวางต่อกรณีดังกล่าวนี้

แหล่งข่าวจากวงการโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า การอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานทั้ง 2 โรงงาน ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน โดยโรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และส่วนโรงงานน้ำตาลมิตรผลได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 และระหว่างการก่อสร้างทั้ง 2 โรงงานได้แจ้งให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัดรับทราบ

นอกจากนี้ก่อนลงมือก่อสร้างได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่างมีการทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ถูกต้อง มีการทำประชาพิจารณ์ ถูกต้อง ทำให้เกิดคำถามว่า หากดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เหตุใด ครม.จึงมีมติให้ความเห็นชอบ เหตุใดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงไม่ทักท้วง เหตุใดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รวมถึงอุตสาหกรรมจังหวัดเลยจึงไม่มีใครท้วงติงตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง

แหล่งข่าวกล่าวว่า มติ ครม.ที่อนุญาตให้ทางโรงงานน้ำตาลขอนแก่น กับมติ ครม.ที่อนุญาตให้โรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลตั้งโรงงานใหม่ได้ มีระยะเวลาห่างกันถึง 10 เดือน หากสอน.เห็นว่าโรงงานน้ำตาลขอนแก่นขออนุญาตไปแล้ว ถึงจะไม่มีการระบุอำเภอที่ชัดเจน แต่หากจะอนุญาตให้โรงงานใหม่ ในทางปฏิบัติควรจะมีการตรวจสอบกันก่อนจะอนุญาตให้โรงงานแห่งใหม่ตั้ง เพื่อกำหนดระยะห่างให้ได้ 80 กม. ตามที่มติ ครม.ในอดีตกำหนดไว้ แต่ทั้ง สอน. กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ชงตั้งเรื่องให้ ครม.เห็นชอบในยุคนั้นกลับไม่มีใครทักท้วง และอนุญาต ดังนั้น ในวันนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะกรรมการกลั่นกรองจะมาโยนความผิดให้ทางโรงงานทั้งสองแห่งคงไม่ถูกต้อง

"มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการมากว่า ทำไมโรงงานน้ำตาลขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ขอใบอนุญาตตั้งโรงงานก่อนไม่น่าจะถูกผูกขาโยงไปเป็นผู้ผิดด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรผลมาทีหลังน่าจะต้องดูเรื่องระยะห่าง และสอบถามผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อน แต่ขณะนี้ทั้งสองโรงงานกำลังถูกโยงไปผิดด้วยกันทั้งสองโรง ขณะที่ประเทศไทยอยากเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เชิญชวนภาคธุรกิจให้ช่วยกันลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ภาครัฐโดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังทำ เป็นการขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเอง การจะให้รื้อโรงงานที่ลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาทคงเป็นไปไม่ได้ การกล่าวอ้างว่าโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 แห่งผิด ถ้าอย่างนั้นการที่มติ ครม.ให้การเห็นชอบให้โรงงานทั้งสองแห่งสามารถตั้งโรงงานแห่งใหม่ได้หมายความว่าอย่างไร นักลงทุนไทยยังงงกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วหาก นักลงทุนต่างชาติเจอปัญหาอย่างนี้คงหนีไปลงทุนประเทศอื่นกันหมด" แหล่งข่าวกล่าว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ชาวไร่อ้อยได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนไปแล้ว แต่โรงงานเองยังไม่มีปัญหาวุ่นวาย และส่งผลกระทบต่อระบบการจัดสรรอ้อยและน้ำตาล

"ควรจะมีการยกเลิกมติ ครม.เรื่องระยะห่างโรงงานต้องห่างกัน 80 กม. เนื่องจากยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรายในอีก 5 ปีกำหนดว่า ไทยจะเพิ่มผลผลิตอ้อยขึ้นไปให้ถึง 150 ล้านตัน เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก หากราคาอ้อยดี ราคาน้ำตาลดี ไทยส่งออกได้ปริมาณมาก ชาวไร่อ้อยพร้อมปลูกอ้อยเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการของโรงงานที่เพิ่มขึ้น โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่คงไม่เพียงพอ จึงถึงเวลาแล้วที่จะยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 17 ธันวาคม 2555

ห่วงชาวไร่อีสานเดือดร้อนกระทรวงอุตฯปล่อย4โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเข้าระบบ

เบื้องหลังกระทรวงอุตสาหกรรมปล่อยใบอนุญาต 4 โรงงานน้ำตาล ห่วงชาวไร่ 5 พันรายในพื้นที่ภาคอีสานเดือดร้อน ชี้มีปริมาณอ้อยกว่า 2 ล้านตัน ลงทุนไปแล้วกว่าพันล้านบาท ต้องระบายอ้อยเข้าระบบ ส่วนอีก 2 โรงงานยังไม่ปล่อยใบอนุญาตเหตุยังมีข้อโต้แย้ง

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงเบื้องหลังที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวด ล้อม ซึ่งมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้พิจารณาออกใบอนุญาต 4 โรงงานน้ำตาลไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ประกอบด้วยบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จังหวัด กาฬสินธุ์, บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด จังหวัดหนองบัวลำภู, บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จังหวัดอุดรธานี และบริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด จังหวัดอุทัยธานี

"เนื่องจากเกรงว่าชาวไร่อ้อยจำนวน กว่า 5 พันราย ที่มีปริมาณอ้อยกว่า 2 ล้านตัน จะต้องระบายอ้อยออกมายังโรงงานน้ำตาล หากหาที่หีบอ้อยไม่ได้ ก็จะได้รับผลกระทบจากที่ชาวไร่ลงทุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในภาคอีสานที่ลงทุนปลูกอ้อยไปแล้ว และจะต้องระบายอ้อยเข้าระบบที่ขณะนี้มีบางพื้นที่เริ่มเปิดหีบอ้อยปี 2555/2556 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แล้ว"

ขณะที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี กล่าว ว่า ทั้ง 4 โรงงานน้ำตาลมีคำขอที่เป็นไปตามมติครม.ในเรื่องของระยะห่างระหว่าง โรงงานน้ำตาลที่ขอย้ายและขยายกำลังการผลิต รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อยและถูกต้องตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ 2535 จึงเห็นควรอนุญาต 4 ราย ส่วนอีก 2 รายคือ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาห กรรม จำกัด จังหวัดเลย และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จังหวัดเลย คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ได้ เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติครม. จึงส่งเรื่องดังกล่าวให้สอน.พิจารณาดำเนินการ โดยเลขาธิการสอน.จะนำเข้าหารือในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ต่อไป

"ก่อนหน้านั้นโรงงานน้ำตาลทั้ง 6 แห่ง มีการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต ถือว่าผิดตามพ.ร.บ.โรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งเปรียบเทียบปรับไปแล้วทั้งหมด แต่ที่ต้องเร่งนำคำขอใบอนุญาตโรงงานมาพิจารณาเพราะต้อง การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย"

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลรายหนึ่งกล่าวว่าทั้ง 6 โรงงานน้ำตาล ใช้เม็ดเงินลงทุนรวมราว 1.8-2.4 หมื่นล้านบาท หรือใช้เม็ดเงินลงทุนแห่งละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งขอขยายโรงงานน้ำตาลและตั้งโรงงานใหม่ โดยเฉพาะบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด ที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังไม่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ โรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นการตั้งโรงงานใหม่ที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งล่าสุดสอน.ได้ให้โรงงานน้ำตาลดังกล่าว ได้รับการผ่อนผันให้เปิดหีบอ้อยชั่วคราว แต่ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตรง. 4 (ใบประกอบกิจการโรงงาน) แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเนื่อง จากสอน.ไม่มีอำนาจตรงนี้

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการตั้งโรงงานน้ำตาลเริ่มแรกจะต้องได้รับอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน จึงจะสร้างโรงงานได้ เมื่อสร้างโรงงานเสร็จก็มาขอใบรง.4 โดยที่โรงงานนั้นๆ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการตั้งโรงงานตามมติครม.และข้อกำหนดของกระ ทรวงอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ปลูกอ้อยของโรงงานใหม่ ระยะห่างของโรงงานน้ำตาลใหม่กับโรงงานที่มีอยู่เดิมต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยจากโรงงานน้ำตาล ที่ขณะนี้บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด ที่จังหวัดเลย ถูกระบุว่าตั้งโรงงานอยู่ใกล้กัน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่

"ก็ต้องจับตาดูว่าในที่สุดแล้วถ้าทั้ง 2 โรงงานยังไม่ได้รับใบรง.4 จนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ชาวไร่อ้อยในพื้นที่จะว่าอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดเลย ก็เคยออกมาชุมนุมหน้าโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรมาแล้ว"

จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชงปูเคาะ"แผนโซนนิง"ปลูก6พืชศก.

กระทรวงเกษตรฯ เตรียมสรุปพื้นที่โซนนิงพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เสนอนายกฯ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ หรือโซนนิง ว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงครั้งสุดท้าย เพื่อให้ตัวเลขพื้นที่และผลผลิตต่อไร่ชัดเจนและตรงกัน หรือใกล้เคียงกันกับของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวก่อนที่จะเสนอนายกรัฐมนตรี พิจารณาและประกาศเขตส่งเสริมการเกษตรตามแผนเสริมสร้างประเทศของรัฐบาล

ทั้งนี้ จะนำร่องในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพด

สำหรับการโซนนิงจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.โซนนิงเพื่อการอนุรักษ์ป้องกันการทำลายทรัพยากร 2.โซนนิงเพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนความเสี่ยงจากการส่งออกสินค้านำไปสู่การผลิตสินค้าปลอดภัย และ 3.โซนนิงเพื่อให้ตอบสนองความต้องการซื้อและขายเพื่อป้องกันปัญหาสินค้าเกษตรขาดแคลน และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยให้ยึดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

ขณะที่การโซนนิงเพื่อการบริหารพืชเศรษฐกิจเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออกในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด จะใช้ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกเป็นตัวกำหนด โดยพิจารณาจากคุณภาพดิน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำและการขนส่ง ในระดับมากที่สุดจนถึงไม่เหมาะสม

“ในพื้นที่ที่เหมาะสมจะพิจารณาจูงใจโดยการประกาศเป็นเขตส่งเสริมการเพาะปลูกตาม พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งจะมีผลให้เกษตรกรในพื้นที่ได้สิทธิพิเศษในการเพาะปลูกเหมือนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอซึ่งจะหมายถึงสิทธิพิเศษในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลงทุน หรือแรงจูงใจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล” นายยุคล กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ใดเหมาะสมแต่ขาดระบบโครสร้างพื้นฐานเช่น น้ำและระบบขนส่ง นายกรัฐมนตรีจะประสานให้กระทรวงคมนาคมจัดถนนและระบบโลจิสติกส์ลงไปให้สอดรับกับแหล่งผลิตและแหล่งแปรรูปเพื่อลดต้นทุนการผลิต ในขณะที่พื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืชนั้นๆ จะสนับสนุนให้เปลี่ยนอาชีพ หรือปลูกพืชที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้เป็นไปโดยสมัครใจ

แหล่งข่าวจากในกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า แนวทางทั้งหมด นายกฯ ต้องการที่จะให้ทำข้อมูลในระดับที่สามารถมองเห็นได้ว่าพื้นที่แต่ละแปลงปลูกอะไร และระบุได้ว่าหากพื้นที่ดังกล่าวเป็นข้าว เป็นข้าวพันธุ์อะไร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสดา ถ่ายภาพดาวเทียมการ ใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะสามารถอ่านได้ว่าที่ดินนั้นปลูกพืชอะไรและอายุประมาณเท่าไหร่ ทำให้การ วางแผนรับมือถูกต้องยิ่งขึ้น

สำหรับพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ส่งออกมากที่สุดในปี 2554ประกอบด้วย ยางพารา มูลค่า 4.4แสนล้านบาท ข้าวและ ผลิตภัณฑ์2.1 แสนล้านบาท อ้อยและผลิตภัณฑ์ 1.1 แสนล้านบาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ห่วงชาวไร่อีสานเดือดร้อน

เบื้องหลังกระทรวงอุตสาหกรรมปล่อยใบอนุญาต 4 โรงงานน้ำตาล ห่วงชาวไร่ 5 พันรายในพื้นที่ภาคอีสานเดือดร้อน ชี้มีปริมาณอ้อยกว่า 2 ล้านตัน ลงทุนไปแล้วกว่าพันล้านบาท

ต้องระบายอ้อยเข้าระบบ ส่วนอีก 2 โรงงานยังไม่ปล่อยใบอนุญาตเหตุยังมีข้อโตแย้ง
วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงเบื้องหลังที่ คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้พิจารณาออกใบอนุญาต 4 โรงงานน้ำตาลไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ประกอบด้วยบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จังหวัด กาฬสินธุ์,บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด จังหวัดหนองบัวลำภู ,บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จังหวัดอุดรธานี และบริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด จังหวัดอุทัยธานี

" เนื่องจากเกรงว่าชาวไร่อ้อยจำนวนกว่า 5 พันราย ที่มีปริมาณอ้อยกว่า 2 ล้านตัน จะต้องระบายอ้อยออกมายังโรงงานน้ำตาล หากหาที่หีบอ้อยไม่ได้ ก็จะได้รับผลกระทบจากที่ชาวไร่ลงทุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในภาคอีสานที่ลงทุนปลูกอ้อยไปแล้ว และจะต้องระบายอ้อยเข้าระบบที่ขณะนี้มีบางพื้นที่เริ่มต้นเปิดหีบอ้อยปี 2555/2556 ไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แล้ว"

ขณะที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี กล่าวว่า ทั้ง 4 โรงงานน้ำตาลมีคำขอที่เป็นไปตามมติครม.ในเรื่องของระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลที่ขอย้ายและขยายกำลังการผลิต รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อยและถูกต้องตามพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ 2535 จึงเห็นควรอนุญาต 4 ราย ส่วนอีก 2 รายคือ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดเลย และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จังหวัดเลย คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ได้ เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติครม. จึงส่งเรื่องดังกล่าวให้สอน.พิจารณาดำเนินการ โดยเลขาธิการสอน.จะนำเข้าหารือในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ต่อไป

"ก่อนหน้านั้นโรงงานน้ำตาลทั้ง 6 แห่ง มีการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต ถือว่าผิดตามพ.ร.บ.โรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งเปรียบเทียบปรับไปแล้วทั้งหมด แต่ที่ต้องเร่งนำคำขอใบอนุญาตโรงงานมาพิจารณาเพราะต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย"

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลรายหนึ่งกล่าวว่าทั้ง 6 โรงงานน้ำตาล ใช้เม็ดเงินลงทุนรวมราว 1.8-2.4 หมื่นล้านบาท หรือใช้เม็ดเงินลงทุนแห่งละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งขอขยายโรงงานน้ำตาลและตั้งโรงงานใหม่ โดยเฉพาะบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด ที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯยังไม่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ เพราะโรงงานทั้ง 2 แห่งนี้ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดเลย เป็นการตั้งโรงงานใหม่ที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งล่าสุดสอน.ได้ให้โรงงานน้ำตาลดังกล่าว ได้รับการผ่อนผันให้เปิดหีบอ้อยชั่วคราวแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตรง. 4(ใบประกอบกิจการโรงงาน) แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากสอน.ไม่มีอำนาจตรงนี้

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการตั้งโรงงานน้ำตาลเริ่มแรกจะต้องได้รับอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลจากกระทรวงอุตสาหกรรมก่อน จึงจะสร้างโรงงานได้ เมื่อสร้างโรงงานเสร็จก็มาขอใบรง.4 โดยที่โรงงานนั้นๆจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการตั้งโรงงานตามมติครม.และข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ปลูกอ้อยของโรงงานใหม่ ระยะห่างของโรงงานน้ำตาลใหม่กับโรงงานที่มีอยู่เดิมต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยจากโรงงานน้ำตาล ที่ขณะนี้บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด ที่จังหวัดเลย ถูกระบุว่าตั้งโรงงานอยู่ใกล้กัน ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่

"ก็ต้องจับตาดูว่าในที่สุดแล้วถ้าทั้ง 2 โรงงานยังไม่ได้รับใบรง.4 จนไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ชาวไร่อ้อยในพื้นที่จะว่าอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จังหวัดเลย ก็เคยออกมาชุมนุมหน้าโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรมาแล้ว"

จาก http://www.thannews.th.com  วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อุตฯไฟเขียว2รง.น้ำตาล ช่วยเกษตรกรได้ส่งอ้อย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้อนุมัติให้ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จ.เลย และ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จ.เลย ดำเนินการเปิดหีบอ้อยชั่วคราวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน หลังจากที่คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจการ เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติคณะครม. และปัญหาอื่น ๆ อีก

ทั้งนี้สาเหตุที่สอน.อนุญาตให้เปิดหีบชั่วคราว เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการที่จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ประมาณ 6,000 ราย ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงาน 2 แห่งให้สามารถนำอ้อยเกือบ 3 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 3,000 ล้านบาท ไปส่งโรงงานได้ เพราะหากล่าช้าก็จะทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลง จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร

"การอนุญาตตั้งโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและต้องถูกต้องตามกฎหมาย แต่กรณีของโรงงานน้ำตาล 2 แห่งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษที่ต้องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาเดือดร้อนเมื่อครบกำหนดผ่อนผันแล้วโรงงานดังกล่าวก็ต้องปิดดำเนินการก่อนเพื่อรอการอนุญาตตามกระบวนการพิจารณาต่อไป"

ทั้งนี้แม้กระทรวงจะมีการผ่อนผันให้กับโรงงานทั้ง 2 แห่ง แต่โรงงานก็ยังถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก่อนได้รับอนุญาตจำนวน 600,000 บาท และเมื่อเริ่มหีบอ้อย จะถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดเปิดกิจการก่อนได้รับอนุญาตอีก 600,000 บาท และในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างก่อนได้รับใบอนุญาตจำเป็นต้องมีความเข้มงวดให้ทุกโรงงานต้องทำตามขั้นตอน ห้ามก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาต เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ในฤดูกาลผลิต 55/56 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าสู่ระบบ 94.7 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณน้ำตาลทราย 9.71 ล้านตัน แบ่งเป็น น้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) 2.3 ล้านตัน, โควตา ข. (ทดลองทำตลาดในต่างประเทศ) 800,000 ตัน และที่เหลือเป็น โควตา ค. (ส่งออก) กว่า 6.3 ล้านตัน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กทม.ดัน7ยุทธศาสตร์ยกระดับขรก. บูรณาการรองรับเปิดการค้าเสรี-เออีซี ปี"58

นายหรรษารมย์ โกมุทผล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการข้าราชการกทม. เปิดเผยว่า สถาบันได้จัดทำแผนพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากร เพื่อเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาปีพ.ศ.2556-2559 ที่สอดคล้องกับพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ 12 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2559) ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบด้านการบริหารมหานคร 5.3 เสริมสร้างให้บุคลากรมีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพ คุณภาพชีวิต และความภาคภูมิใจ แผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลกรุงเทพฯ (พ.ศ.2556-2559) สนับสนุนและมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสถาบันให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน

โดยมี 7 ยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาดังนี้ 1.การเสริมสร้างค่านิยมร่วมมุ่งสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดี 2.การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ 3.การพัฒนาภาวะผู้นำ 4.การพัฒนาความสามารถทางการบริหารจัดการ 5.การพัฒนาบุคลากรในการปฏิบัติงานตามสมรรถนะวิชาชีพ 6.การพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง และ 7.การพัฒนาคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามในปี 2556-2559 กทม. จะพัฒนาการบริการให้ดีที่สุดแก่ประชาชน โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการและบุคลากร ด้านคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ จะบูรณาการภารกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลระหว่างหน่วยงานในสังกัดให้ทั่วถึงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนากทม.อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมความปลอดภัยกับการโรงงานอุตสหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรมเปิด "โครงการอุตสาหกรรมรวมใจภักดิ

วันที่ 4 ธันวาคม 2555 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวโครงการ "อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน" พร้อมลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร โดยมี ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ อาคาร IMPACT EXHIBITION CENTER (ฮอลล์9) เมืองทองธานี

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม สภา สมาคม ชมรม และผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 1,000 คน โดย ภายในงานดังกล่าวมีพิธีมอบกล้าไม้พระราชทาน จากพระบรมฉายาลักษณ์ ให้แก่ ผู้บริหารของกระทรวง และผู้ประกอบการจำนวน 55 ท่าน และมอบกล้าไม้ให้กับผู้เข้าร่วมงานร่วม 1,000 ต้น

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้น้อมนำ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

สยามมกุฎราชกุมาร มาเป็นแบบอย่างการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาผลกระทบ สิ่งแวดล้อมโดยจะนำกล้าไม้ พระราชทานไปปลูก ในพื้นที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และประกาศเจตนารมณ์ ภาคอุตสาหกรรม ในการปลูกต้นไม้ ในพื้นที่สถานประกอบการอุตสาหกรรมและพื้นที่เสื่อมโทรมทั่วประเทศรวม 5 ล้านต้น ให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อช่วยฟื้นฟู สิ่งแวดล้อม

พบเห็นโรงงาน * ปล่อยน้ำเสีย * ปล่อยควันเสีย * ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม * เจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแจ้งสายตรง ๐ ๒๓๕๔ ๓๓๐๐ หรือ ตู้ ป.ณ.๒๐ ปณฟ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๑๐๔๑๓ โทร. ๐ ๒๒๐๒ ๔๐๑๔ www.diw.go.th, E-mail:pr@diw.mail.go.th

จาก http://www.matichon.co.th  ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รง.น้ำตาลผีได้เปิด120วัน

อุตฯ ผ่อนผัน 2 โรงงานน้ำตาล จ.เลย หีบอ้อยได้ 120 วัน ครบกำหนดบังคับปิดทันที
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล สรุปปัญหาการเปิดโรงงานน้ำตาลของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น และบริษัทรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.เลย โดย สอน.จะผ่อนผันให้ทั้งสองโรงงาน เปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2555/2556 ได้120 วัน ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เป็นการชั่วคราว เมื่อหีบอ้อยแล้วเสร็จให้ปิดโรงงานทันที

ขณะเดียวกันจะเรียกประชุมคณะกรรมการอ้อย (กอ.) ทันที เพื่อจะพิจารณาจัดสรรอ้อยเข้าโรงงานดังกล่าว โดยโรงงานทั้งสองแห่ง มีกำลังการผลิตอ้อยอยู่ที่ 1.2 หมื่นตันต่อวัน และ 1.7 หมื่นตันต่อวันโดยรวมทั้งฤดูกาลผลิตจะหีบอ้อยได้ 1.2 ล้านตันต่อปี และ 1.7 ล้านตันต่อปีรวม 2.9 ล้านตันต่อปี มีชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานดังกล่าวจำนวนถึง 6,000 ราย

การที่โรงงานดังกล่าวยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนด้านข้อกฎหมาย คือระยะห่างของโรงงานแต่ละแห่งต้องอยู่ที่ 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอ้อย แต่โรงงานทั้งสองแห่งมีระยะห่างไม่ถึง

โรงงานดังกล่าวถูกปรับในความผิดสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต 6 แสนบาท และเมื่อเริ่มหีบอ้อยจะถูกปรับในความผิดเปิดกิจการก่อนได้รับอนุญาตอีก 6 แสนบาท

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานทั้งสองแห่งที่มีปัญหา เมื่อหีบอ้อยเสร็จคงต้องมาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเหตุผลที่ต้องอนุญาตเปิดให้ชั่วคราวนั้นเพื่อช่วยชาวไร่เพราะหากส่งอ้อยเข้าโรงงานไม่ได้จะมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะมีอ้อยรวมกันกว่า 2.9 ล้านตัน ราคาอ้อยตันละ 950 บาท

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จัดทำโซนนิ่งสินค้าเกษตร

รายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตรายกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีมูลค่าการส่งออกสูง จำนวน 11 คณะ ในการจัดทำโซนนิ่งสินค้าเกษตร ได้แก่ คณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าข้าว กลุ่มสินค้าอ้อย สับปะรด และพืชไร่อื่น ๆ กลุ่มสินค้ามันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน กลุ่มสินค้าประมง กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มสินค้ายางพารา กลุ่มสินค้าผลไม้ กลุ่มสินค้าลำไย กลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชต้นทุนสูง กลุ่มสินค้าพืชหัว กลุ่มสินค้าพืชผักและจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ด้าน คือ ด้านพัฒนาการผลิต ด้านบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต ด้านส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรและระบบสหกรณ์ และด้านอำนวยการ สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ แต่ละคณะ ประกอบด้วย 1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม แนวโน้ม ดุลยภาพสินค้าเกษตรทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด เพื่อกำหนดเป็นกลยุทธ์ดำเนินการรองรับ หรือแก้ไขปัญหาวัตถุดิบทางการเกษตรกรณีสินค้าล้นตลาด 2. กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการเชิงรุกเพื่อลดต้นทุนการประกอบการในเชิงพื้นที่ โดยมีการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ เช่น จำนวนพื้นที่การผลิต จำนวนเกษตรกร พื้นที่ที่มีการผลิตมาก มูลค่า การเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิต การเพิ่มการใช้ในประเทศ โดยพิจารณาตลอดห่วงโซ่อุปทานครอบคลุมระบบโลจิสติกส์ และดำเนินงานเขตเกษตรเศรษฐกิจของสินค้าเกษตรนั้น ๆ และ 3. จัดทำรายละเอียดโครงการ มาตรการดำเนินงานขับเคลื่อนเขตเกษตรเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรของกลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก.อุตฯ ไฟเขียว 4 โรงงานน้ำตาล หนุนชาวไร่อ้อย

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ได้ออกใบอนุญาตให้กับโรงงานน้ำตาล 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (จ.กาฬสินธุ์) 2.บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด (จ.หนองบัวลำภู) 3.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด (จ.อุดรธานี) และ 4.บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด (จ.อุทัยธานี)

“ที่ประชุมได้พิจารณา คำขอตั้ง/ขยายโรงงานประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลทั้ง 6 ราย ซึ่งเป็นโรงงานที่มีการก่อสร้างก่อนได้รับอนุญาตและได้ถูกเปรียบเทียบปรับแล้ว โดยเห็นว่ามีคำขอที่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องของระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลที่ขอย้ายและขยายกำลังการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อย และถูกต้องตาม พรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 จึงเห็นควรอนุญาต 4 ราย” ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว และว่า

“ทางคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยได้พิจารณาจากคำขอตั้ง/ขยายโรงงานประกอบกิจการโรงงานน้ำตาล จำนวน 6 ราย ได้แก่ 1.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด (จ.กาฬสินธุ์) 2.บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด (จ.หนองบัวลำภู) 3.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด (จ.อุดรธานี) 4.บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด (จ.อุทัยธานี) 5.บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (จ.เลย) และ 6.บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (จ.เลย)”

ส่วนกรณีที่มีการพิจารณาอนุญาตโรงงานเป็นการเร่งด่วน ก็เพราะนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายประเสริฐ บุญชัยสุข) ต้องการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย

แต่อีก 2 ราย คือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (จ.เลย) และ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (จ.เลย) คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ได้ เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติคณะรัฐมนตรี จึงส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณาดำเนินการ ซึ่งเลขาธิการ สอน. จะนำเข้าหารือใน กอน. ต่อไป

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ำว่า “กรณีโรงงานน้ำตาลตั้งใหม่ทั้ง 6 รายนี้ มีการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต ถือว่าผิดตาม พรบ.โรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งเปรียบเทียบปรับไปแล้วทั้งหมด แต่การที่กระทรวงฯ เร่งนำคำขอใบอนุญาตโรงงานมาพิจารณา เพราะต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและเรื่องนี้มีผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยหลายจังหวัด นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปทำความเข้าในกับชาวไร่อ้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงงาน เพื่อลดปัญหาการชุมนุมประท้วงของกลุ่มชาวไร่อ้อย และเพื่อไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพฯ ปัญหาควรจะจบที่ในพื้นที่”

ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้งเพื่อให้การพิจารณาอนุญาตเป็นไปด้วยความรอบคอบ ข้อสำคัญจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยการอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตนั้นเป็นมาตรฐานเดียวกันจึงสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายได้ และมีการพิจารณาถึงประเด็นการก่อสร้าง/ขยายกิจการก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งทำให้สามารถจัดการดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีก่อนจะเกิดปัญหากระทบต่อชุมชน

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

'วิฑูรย์'ปัดออกใบอนุญาต2โรงงานชาวไร่อ้อยจ.เลยนัดประท้วงวันนี้

"วิฑูรย์"ปัดออกใบอนุญาต 2 โรงงานอ้อยจังหวัดเลย อ้างมีปัญหาระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติครม. โยน เลขาธิการสอน.พิจารณาใหม่ สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดเจรจาสกัดม็อบ ขณะที่กลุ่มชาวไร่อ้อยจังหวัดเลยนัดรวมพลปิดถนนประท้วงที่อ.พล จ.ขอนแก่นวันนี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมวานนี้(11ธ.ค.) เพื่อพิจารณาคำขอตั้ง/ขยายโรงงานประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลเป็นการเร่งด่วน จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย1.บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด จังหวัดกาฬสินธุ์ 2.บริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด จังหวัดหนองบัวลำภู 3.บริษัท น้ำตาลไทยกาญจนบุรี จำกัด จังหวัดอุดรธานี 4. บริษัท อุตสาหกรรมมิตรเกษตร จำกัด จังหวัดอุทัยธานี 5. บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดเลย และ 6.บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จังหวัดเลย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าที่ประชุมเห็นควรอนุญาต 4 รายจากจำนวนทั้งหมด 6 ราย ส่วนอีก 2 ราย คือ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด จังหวัดเลย และบริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดเลย ไม่อาจพิจารณาอนุญาตให้ได้ เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลตามมติครม.จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณาดำเนินการ ซึ่งเลขาธิการสอน.จะหารือในกอน. ต่อไป

"กรณีโรงงานน้ำตาลตั้งใหม่ 6 ราย มีการก่อสร้างโรงงานก่อนได้รับอนุญาต ถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน ผมได้สั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงงาน เพื่อลดปัญหาการชุมนุมประท้วงของกลุ่มชาวไร่อ้อย และไม่ให้เดินทางเข้ากทม.ปัญหาควรจะจบในพื้นที่"

วานนี้(11ธ.ค.) นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนโรงงานน้ำตาล บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูหลวง) และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง และตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานทั้งสองแห่ง เข้าหารือเนื่องจากโรงงานยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ไม่สามารถส่งอ้อยให้แก่โรงงานได้

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมโดยระบุว่ามีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล จำนวน 5,000 ราย มีปริมาณอ้อย 2.5 ล้านตัน หากไม่สามารถส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลในฤดูกาลผลิตนี้ จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อน จึงขอผ่อนปรนให้โรงงานทั้งสองเปิดหีบอ้อยชั่วคราว เร่งดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้กับโรงงานทั้งสองแห่ง

ทั้งนี้นายไพโรจน์ ทันวงษา ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย จำกัด กล่าวหลังประชุมฯว่า หากไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมวันนี้ (12 ธ.ค.) พวกตนพร้อมเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจังหวัดเลย จะเคลื่อนขบวนรถบรรทุกอ้อยคาดไม่น้อยกว่า 400 คัน เดินทางไปสมทบกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจากจังหวัดต่างๆ ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก.เกษตรฯชี้แผน 5 ปี ปั้นเกษตรรุ่นใหม่แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2551 ในการจัดทำโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2551 - 2555) เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงงานภาคเกษตรที่ปัจจุบันพบว่า ผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมมีจำนวนลดน้อยลง และคาดการณ์ว่าหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตอันใกล้จะเหลือเพียงร้อยละ 30 และอายุโดยเฉลี่ยของเกษตรกรจะสูงขึ้น คือ มากกว่า 55 ปี ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสถาบันการศึกษาพบว่า มีผู้สนใจเรียนทางด้านการเกษตรและวิชาที่เกี่ยวข้องน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการสูญเปล่าของทรัพยากรบุคคล และการลงทุนทางการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยจากผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวทั้ง 3 หลักสูตรตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้รับความสนใจและการตอบรับของเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากกว่าแผน โดยมีทั้งสิ้น 31,045 ราย จากแผนงานจำนวน 26,760 ราย ได้แก่ 1) หลักสูตรการพัฒนาผู้นำเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4,185 ราย ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดใหม่ของภาคเกษตรที่เริ่มปรับใช้ในหลายประเทศ คือ การพึ่งพิงฐานความรู้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตและแข่งขัน พร้อมกับการแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ มากกว่าที่จะพึ่งพาฐานทรัพยากรเป็นหลักเช่นในอดีต ขณะเดียวกันผู้บริโภคสินค้าเกษตรเริ่มให้ความใส่ใจคุณภาพของผลผลิตที่สูงขึ้น ที่เน้นให้ผู้ถูกเลิกจ้างหรือผู้ว่างงาน/นักศึกษาที่จบการศึกษาเกษตรกรรม/บุคคลผู้สนใจทั่วไป และคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการมีอายุระหว่าง 20 -45 ปี วุฒิการศึกษาม.6 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า

2) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,677 ราย ซื่งจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นประมาณ เกษตรกรที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นชนบทที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ได้มีการพัฒนาทักษะการใช้ที่ดินตามชนิดพืชที่ปลูกของตนเอง และยกระดับการผลิตได้ตามความเหมาะสม เช่น การผลิตข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ผัก และการเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มเติมทักษะการวางแผนและจัดการครัวเรือนเกษตรของตนเอง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การทำบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีฟาร์มระดับไร่นา การวางแผนเบื้องต้นจากข้อมูลบัญชีครัวเรือนของตนเอง

3) หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรมืออาชีพยุคใหม่ (ปวช./ปวส) เกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25,183 ราย ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีอยู่เดิมในประเภทวิชาเกษตรกรรม และประเภทวิชาประมง ของสถานศึกษาที่เป็นสถานศึกษานำร่องในโครงการ เช่น สาขาวิชาพืชศาสตร์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาวิชาประมง เป็นต้น ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดี เกิดความเชื่อมั่นและมีศักยภาพเพียงพอในการเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรม โดยนักศึกษาที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถได้รับสิทธิเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดิน ของ ส.ป.ก. ตามโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ จะต้องเข้าเรียนในสาขาวิชา และสถานศึกษาที่โครงการกำหนดโดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม หลักสูตรปวช./ปวส.(3-5ปี) ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนภาคีเครือข่ายได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เสนอให้ขยายความร่วมมือต่อไปอีก โดยให้เชิญหน่วยงานภาคีเข้าร่วมดำเนินงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิจัยทางการเกษตร (สวก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนครพนม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าลาดกระบัง เพื่อเพิ่มบุคลากรภาคการเกษตรที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศในอนาคต และบทเรียนนี้จะได้นำมาพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม.

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชาวไร่อ้อยเมืองเลยม็อบจี้ 2 รง.น้ำตาลเปิดหีบ-ขู่ไม่มีคำตอบจะบรรทุกอ้อยเข้าร้องนายกฯ

ม็อบชาวไร่อ้อยจอดรถบรรทุกอ้อยกว่า 150 คันปิดทางเข้าโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง-โรงงานน้ำตาลขอนแก่น หลังถูกปฏิเสธรับซื้ออ้อยตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. อ้างยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ขู่หากไม่เปิดรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรพร้อมจะเคลื่อนรถบรรทุกอ้อยไปสมทบกับชาวไร่อ้อยที่เมืองพล ก่อนเข้าร้องทุกข์ต่อนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00 น. วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลาประประชาคม อ.วังสะพุง จ.เลย ตัวแทนโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขาวังสะพุง และตัวแทนกลุ่มชาวไร่อ้อย ได้ร่วมประชุมเครียดประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากกลุ่มเกษตรกรนำรถบรรทุกไม่ต่ำกว่า 150 คันปิดทางเข้าโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 โรง จากสาเหตุไม่รับซื้ออ้อยในช่วงฤดูเปิดหีบ ทำให้เกษตรกรและกลุ่มชาวไร่อ้อยได้รับความเสียหาย เสียรายได้รวมแล้วหลายล้านบาทในแต่ละวัน

นายไพโรจน์ ทับวงศ์ษา ประธานชาวไร่อ้อย จังหวัดเลย กล่าวว่า สมาชิกสหกรณ์ชาวไร่อ้อยจังหวัดเลยเป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวงเพียงโรงงานเดียว มีสมาชิกประมาณ 2,447 ราย ปริมาณอ้อย 1,240,000 ตัน ขณะนี้ไม่สามารถนำอ้อยมาขายได้ อยากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด ชาวไร่อ้อยคาดหวังว่าโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวงจะรับอ้อยได้ในวันที่ 29 พ.ย. 2555 และทำการหีบอ้อยในวันที่ 30 พ.ย. 2555 เนื่องจากโรงงานแจ้งจะรับอ้อยและหีบอ้อยในวันดังกล่าว

ขณะนี้ชาวไร่อ้อยได้มีการตัดอ้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มาถึงบัดนี้โรงงานน้ำตาลก็ยังไม่เปิด ทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรอย่างหนัก

“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสนับสนุนให้โรงงานดังกล่าวได้มาตั้งบริเวณนี้เพราะจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยลดต้นทุนในเรื่องการขนส่งไปโรงงานที่ตั้งอยู่ไกล จะช่วยทำให้ชาวไร่อ้อยมีกำไรจากอาชีพนี้ได้บ้าง แต่หากโรงงานเปิดไม่ได้นอกจากชาวไร่อ้อยไม่มีกำไรแล้ว ยังประสบปัญหาขาดทุนด้วยซ้ำ” นายไพโรจน์ระบุ และกล่าวย้ำว่า

หากโรงงานไม่สามารถรับอ้อยและหีบอ้อยได้ในฤดูกาลผลิตปี 2555-2556 ชาวไร่อ้อยจะประสบปัญหาเป็นอย่างมาก ต้องสูญเสียค่าบรรทุกเพิ่มขึ้นเนื่องจากอ้อยไปในระยะไกล คือต้องส่งไปที่โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว ระยะทาง 110 กิโลเมตร ซึ่งต้องมีอัตราค่าบรรทุกเพิ่มขึ้นประมาณ 200 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งจะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 248,000,000 บาท และหากไม่ได้มีการหีบอ้อยในวันนี้จะทำให้อ้อยแห้ง น้ำหนักลดลง มีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ในไร่อ้อยมากขึ้นเท่าตัว ค่าใช้จ่ายในการเตรียมรถเก็บอ้อยก็จะเพิ่มขึ้น และประมาณงานไม่ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังประชุมหารือกันประมาณ 1 ชั่วโมง นายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับการประสานจากสหกรณ์ชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย กรณีสมาชิกชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาล บริษัท รวมเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูหลวง) และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการที่ไม่สามารถส่งอ้อยให้โรงงานน้ำตาลทั้งสองรายได้ เนื่องจากโรงงานยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และไม่สามารถส่งอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาลแห่งอื่นได้เพราะจะเป็นการผิดสัญญาต่อโรงงานน้ำตาลทั้งสองราย โดยขอให้จังหวัดได้ช่วยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้โรงงานน้ำตาลสามารถเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรโดยเร็ว (ภายในฤดูกาลผลิตปี 2555/2556)

จังหวัดเลยพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลทั้งสองแห่งจำนวน 5,000 ราย มีปริมาณอ้อย 2,500,000 ตัน หากไม่สามารถส่งอ้อย เข้าโรงงานน้ำตาลในฤดูกาลผลิตนี้จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศได้ จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาผ่อนปรนให้โรงงานทั้งสองแห่งเปิดหีบอ้อยชั่วคราว และพิจารณาเร่งดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ให้แก่โรงงานทั้งสองแห่งในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้ง 2 โรงได้นัดรอคำตอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมจนถึงช่วงเย็น โดยหากไม่มีคำตอบและไม่สามารถเปิดโรงงานได้ทั้ง 2 โรงงาน ทางชาวไร่อ้อยทั้ง 2 โรงงานจะนำรถบรรทุกร่วม 200 คันเดินทางไปสมทบกับกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อยภาคอีสานที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เพื่อผลักดันร่วมกันกับโรงงานน้ำตาลที่ยังไม่ได้เปิดทั้งหมดอีก 4 โรงานในภาคอีสาน และจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าไปร้องเรียนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.)

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อุตฯ ลงทุน-อุตสาหกรรม รง.น้ำตาลแห่ต่อยอดธุรกิจ

"มิตรผล" เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตเอทานอลในออสเตรเลีย คาดใช้เงินลงทุนเฉียด 3 พันล้านบาท มั่นใจความต้องการใช้เติบโต พร้อมตั้งเป้าหมายขึ้นแท่นผู้นำในตลาดเออีซี ฟากกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น

เตรียมสรุปแผนซื้อกิจการเครื่องดื่มเร็วๆนี้ ใช้เงิน 3-4 พันล้านบาท
นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ในกลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศออสเตรเลีย คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 3 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแผนของกลุ่มที่ตั้งเป้าขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)โดยปลายปี 2553 ที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลได้เข้าซื้อกิจการของ "แมรี่เบอโรว์" หรือ Maryborough Sugar (MSF) ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อดำเนินการธุรกิจโรงงานน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตเอทานอลในออสเตรเลีย คงต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี เนื่องจากต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยให้มากขึ้น เพื่อให้มีความมั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าและโรงงานเอทานอล เพราะหากปริมาณกากน้ำตาล(โมลาส) และชานอ้อยยังมีปริมาณน้อย ก็ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ ส่วนกำลังการผลิตจะเป็นเท่าไรนั้น คงต้องพิจารณาด้านวัตถุดิบก่อน โดยในส่วนของโรงงานเอทานอลไม่น่าจะต่ำกว่า 2 แสนลิตรต่อวัน ส่วนเงินลงทุนที่ใช้จะสูงกว่าในประเทศไทยประมาณ 20-30% เนื่องจากค่าแรงแพงกว่าไทยค่อนข้างมาก

สำหรับสาเหตุที่สนใจเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าและโรงงานเอทานอล เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มมิตรผลดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลียเพียงอย่างเดียว ส่วนเอทานอลที่ได้จากการผลิตจะจำหน่ายเพื่อผลิตอาหารสัตว์ แต่หากสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มได้ ก็จะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะเอทานอล เนื่องจากปัจจุบันพบว่าความต้องการใช้เอทานอลในออสเตรเลียเติบโตขึ้น ปัจจุบันกฎหมายของออสเตรเลียกำหนดให้ผสมเอทานอลในเนื้อน้ำมันเบนซิน 5%

นอกจากนี้ยังได้พิจารณาขยายลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลในจีน กำลังการผลิตรวม 8.6 หมื่นตันอ้อยต่อวัน หรือผลิตน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ได้ 1.3 ล้านตันต่อปี ส่วนเอทานอลที่ได้จากกระบวนการผลิตจะนำมาทำยีสต์ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ต่อไป และมีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 32 เมกะวัตต์ ส่วนใน สปป.ลาว มีโรงงานน้ำตาล กำลังการผลิต 5 แสนตันอ้อยต่อปี และมีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 9 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะเพิ่มเป็น 20 เมกะวัตต์ในอนาคต ขณะที่เอทานอลที่ได้จากกระบวนการผลิต จะนำเข้ามาขายในประเทศไทย

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนโรงงานผลิตเอทานอลใน สปป.ลาวและกัมพูชา แม้ว่าขณะนี้จะมีโรงงานน้ำตาลในประเทศดังกล่าวแล้วก็ตาม เนื่องจากพบว่าความต้องการใช้เอทานอลยังไม่มากนัก ขณะเดียวกันบริษัทยังคงเน้นการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก่อน โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 3.5 แสนลิตรต่อวัน และมีโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทอนุมัติงบลงทุน 3.36 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 65 เมกะวัตต์ และปรับปรุงโรงงานน้ำตาล ในช่วงปี 2555-2557

สำหรับความคืบหน้าแผนซื้อกิจการเครื่องดื่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการ 2 ราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้น้ำตาลจากบริษัททั้งสิ้น คาดว่าจะสรุปได้ภายในปี 2556 และน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 พันล้านบาท เบื้องต้นบริษัทต้องการให้ผู้ประกอบการดังกล่าว ถือหุ้นเพื่อร่วมบริหารธุรกิจด้วยกัน ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนหุ้น(สวอป) ก็ได้ ส่วนสาเหตุที่สนใจลงทุนกิจการเครื่องดื่ม นอกจากต้องการเพิ่มปริมาณการขายน้ำตาลของบริษัทแล้ว ยังมองว่าธุรกิจเครื่องดื่มเติบโตสูงมากในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการเข้ามาดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทด้วย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไทยหนุนมติ GSA ให้อียูเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล หวั่นกระทบราคาตลาดโลก

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance - GSA) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ที่ประชุม GSA ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้ส่งออกน้ำตาลทรายจากอ้อยที่มีปริมาณกว่า 85% ของทั้งโลก ได้มีมติผลักดันให้สหภาพยุโรป (อียู) ปฏิบัติตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเร่งด่วนในกรณีการยกเลิกการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย เนื่องจากปัจจุบันสหภาพยุโรป ยังคงผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายส่วนเกิน ที่มีหลักฐานชี้ชัดว่าได้รับการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก

"ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จึงสนับสนุนให้กลุ่ม GSA เรียกร้องให้สหภาพยุโรปต้องปฏิบัติพันธกรณี เพื่อป้องกันการบิดเบือนราคาที่ทำให้ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่สูญเสียโอกาสทางด้านการค้า ซึ่งหากกลุ่ม GSA สามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวสำเร็จ คาดว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่จะมีโอกาสส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทย"นายเชิดพงษ์ กล่าว

ด้านนายเกร็ก บีเชล ประธานกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลโลก กล่าวว่า หากทางกลุ่มไม่เร่งผลักดันในเรื่องนี้ ความสำคัญขององค์การการค้าโลกก็จะไม่ได้รับความสนใจ เพราะถูกบดบังจากข้อตกลงการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ซึ่งการอุดหนุนราคาน้ำตาลทรายเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ส่งผลเสียหายต่อประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่มีศักยภาพและมีต้นทุนการผลิตต่ำ

ทั้งนี้ กลุ่ม GSA สนับสนุนให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาสามารถบรรลุข้อยุติได้ โดยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามข้อตกลงเมื่อปี 2548 ที่ประกาศจะยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกในช่วงปลายปี 2556 เนื่องมองว่า การเปิดตลาดโดยอาศัยกลไกการตลาด จะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของโลกได้ดีกว่ารูปแบบการค้าด้วยการอุดหนุนการส่งออก หรือการจำกัดโควตาการผลิต การตั้งภาษีนำเข้า และข้อจำกัดด้านการนำเข้าอื่นๆ เพื่ออุดหนุนราคาน้ำตาลทราย ซึ่งถือเป็นรูปแบบการค้าที่ไม่ยั่งยืนและไม่เหมาะสมกับกับการค้าในยุคศตวรรษที่ 21

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เล็งออกใบอนุญาต2 รง.น้ำตาลแก้ม็อบ

กระทรวงอหุตสาหกรรม เตรียมออกใบอนุญาต 2 โรงงานน้ำตาล ให้โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี และโรงงานมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี แก้ปัญหาม็อบชาวไร่อ้อย สั่งอุตสาหรรมจังหวัดเลย-อุดร เคลียร์ปัญหาม็อบ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานในวันที่ 11 ธ.ค.2555 จะพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ของโรงงานน้ำตาลที่ตั้งใหม่ 4 แห่งคือ1.โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.เลย 2.โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย 3.โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี 1.โรงงานมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จะพิจารณาเงื่อนไขตามพ.ร.บ.โรงงานและมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งพิจารณาจากปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อยของแต่ละโรงงานต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า50% ของกำลังผลิต

ก่อนหน้านี้ สอน. ต้องการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลในภาพรวมทั้ง 4 โรงงาน แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิต 2555/2556 จึงเห็นว่าถ้าโรงงานใดเข้าเงื่อนไขที่จะออกใบอนุญาตโรงงาน้ำตาลได้ควรออกใบอนุญาตให้ก่อน เพื่อให้รับอ้อยจากชาวไร่มาหีบได้ คาดว่าการประชุมคณะกรรมการการกลั่นกรองฯ จะเห็นชอบออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาล 2 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี และโรงงานมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี เนื่องจากไม่ติดปัญหาที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรจากโรงงานอื่น

จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อจัดสรรอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล ซึ่งก่อนหน้านี้ กอน.จัดสรรอ้อยให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงไปแล้ว

ส่วนโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ. เลย และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ. เลย ซึ่งมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลแก่งอื่นน้อยกว่า 80 กิโลเมตร จึงยังไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ทันที เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสอน.ต้องตีความว่า เมื่อไม่ตรงกับเงื่อนไขที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าโรงงานน้ำตาลตั้งใหม่ทั้ง 4 แห่ง ก่อสร้างโรงงานก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต ซึ่งถือว่าผิดตามพ.ร.บ. โรงงาน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งเปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่การที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งนำคำขอใบอนุญาตโรงงานมาพิจารณา เพราะมีผลกระทบต่อชาวไร่ นอกจากนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะพิจารณาใบอนุญาตขยายโรงงานน้ำตาลเอราวัณและโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์

“กระทรวงอุตสาหกรรมจะสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และอุดรธานีรายงานความคืบหน้าในกรณีที่มีการชุมนุมประท้วงของชาวไร่อ้อยและเข้าไปทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงงาน รวมทั้งจะแจ้งให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศต้องรับผิดชอบหากปล่อยให้ผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต “ นายวิฑูรย์กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 11 ธันวาคม 2555

ม็อบไร่อ้อยลั่นบุกก.อุตฯ11 ธ.ค.

ชาวไร่อ้อยสุดทน ก.อุตสาหกรรมสับขาหลอกไม่พิจารณาอนุมัติให้ รง.4 โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 4 แห่งตามกำหนด 7 ธ.ค. เตรียมนัดถก 11 ธ.ค.นี้ กำหนดวันดีเดย์นำอ้อยใส่รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ มาเทหน้ากระทรวงอุตฯ รวมถึงบ้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประท้วงเหตุจะทำชาวไร่อ้อยนับหมื่นครอบครัวเสียหายตัดอ้อยไม่ได้คิดเป็นมูลค่า 5-6 พันล้านบาท

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 11 ธ.ค.นี้ ชาวไร่อ้อยจะนัดหารือเพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนในการนำกลุ่มชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบเดินทางมาพร้อมรถบรรทุกอ้อยเพื่อนำมาเทที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม และบ้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่กำกับกระทรวงอุตฯ เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไม่พิจารณาออกใบ รง.4 ให้โรงงานน้ำตาลใหม่ 4 แห่ง ภายใน 7 ธ.ค. ตามที่ได้รับปากชาวไร่ไว้

ทั้งนี้ก่อนหน้าชาวไร่อ้อยได้เดินทางมาเจรจากับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากชาวไร่ราว 1 หมื่นครัวเรือนได้ปลูกอ้อยเป็นปริมาณ 5 หมื่นตัน โดยรวมจะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดเปิดหีบอ้อยแล้วตั้งแต่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้ซึ่งต้องนำอ้อยตัดโรงงานที่ทำสัญญา 4 แห่ง และโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม (มิตรผล) จ.เลย ยังไม่สามารถตัดอ้อยเข้าหีบได้เพราะโรงงานทั้งหมดไม่ได้รับใบ รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับการประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/56 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่กำหนดราคาประกาศไว้ที่ 950 บาทต่อตันนั้น ชาวไร่ส่วนใหญ่ก็เข้าใจปัญหาดีเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ปีที่แล้วกองทุนน้ำตาลทรายได้กู้เงินธนาคารเพื่อการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อเพิ่มค่าอ้อยให้อีก 154 บาทต่อตัน ทำให้ได้ราคารวม 1,154 บาทต่อตัน

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รถอ้อยพันคันจะบุกกระทรวงอุตฯ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 ธ.ค. ที่ลานจอดรถบรรทุกอ้อยโรงงานน้ำตาลไทยอุดรจ.อุดรธานี ชาวไร่อ้อยประมาณ 500 คน นัดชุมนุมพร้อมนำรถบรรทุกอ้อยเต็มคันรถกว่า 150 คัน เพื่อนำอ้อยเข้าโรงงาน แต่ไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ออกใบอนุญาต หรือ รง.4 ให้โรงงานดังกล่าว ทำให้ต้องจอดรถบรรทุกแช่ไว้

ต่อมานายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และนายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสานเหนือ มาพบผู้ชุมนุม โดยกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของคณะกรรมการกลั่นกรองอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงอุตสาห กรรมที่ไม่ออกใบรง.4ให้ทั้งที่โรงงานมีความพร้อม อีกทั้งพบว่าหลายโรงงานที่ประสบปัญหาไม่รับซื้ออ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยเดือดร้อนกันไปทั่ว แม้ได้ทำหนังสือถึงนายฐานิสร์ เทียนทอง รมช.อุตสาหกรรม ขอให้เร่งรัดเพราะโรงงานน้ำตาลพร้อมเปิดหีบอ้อยตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองอ้อยและน้ำตาล เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาที่ไม่มีใบอนุญาต รง.4 รวมทั้งอีกหลายขั้นตอน ดังนั้นวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ได้นัดรวมพลชาวไร่อ้อยภาคอีสานนำรถบรรทุกกว่าพันคันเดินทางไปกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วน.

จากhttp://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ผวาม็อบอุตฯไฟเขียว2โรงงานน้ำตาลคลอดใบอนุญาตที่อุทัยธานี-อุดรธานีหลังโดนกดดัน อีก2แห่งจ.เลยขอเวลาพิจารณาเพิ่ม

อุตฯ กลัวม็อบชาวไร่อ้อยรีบออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาล 2 แห่งที่อุดรธานีและอุทัยธานีก่อน ส่วนที่เหลือในจ.เลย ขอพิจารณาเพิ่มเติม

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ธ.ค.2555 จะมีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะนำเรื่องโรงงานน้ำตาลทรายที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ทั้ง 4 โรง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลขอนแก่นจ.เลย โรงงานไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานีโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี และโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม(มิตรผล) จ.เลย เข้าพิจารณา

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆคาดว่าจะสามารถให้ใบอนุญาตประกอบการกิจการโรงงาน (รง.4)ให้โรงงานได้ 2 แห่ง คือ โรงงานไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี และโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี

ขณะที่โรงงานอีก 2 แห่งใน จ.เลย นั้นยังต้องตรวจสอบว่าดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) กำหนดไว้ครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องระยะห่างโรงงาน 80 กิโลเมตร ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่สามารถให้ผ่านการอนุญาตได้ ส่วน 2 ราย ที่คิดว่าทำถูกต้องแล้ว จะรีบส่งเรื่องไปยังนายประเสริฐบุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม รับทราบ และส่งเรื่องต่อไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ออกใบอนุญาต

นอกจากนี้ จะรีบเรียกประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้เร็วที่สุด เพื่อจัดสรรอ้อยเข้าโรงงานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยได้

ขณะเดียวกันยังมีโรงงานอีก 2 แห่ง ที่ขออนุญาตขยายกำลังการผลิตในพื้นที่เดิมซึ่งจากการตรวจสอบก็ดำเนินการตามเงื่อนไขทุกประการจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้เช่นเดียวกัน รวมแล้วจะพิจารณาออกใบอนุญาตให้โรงงานทั้งสิ้นจำนวน 4 โรง

สำหรับปัญหาดังกล่าวจะเป็นบทเรียนให้กับกระทรวงอย่างมาก ซึ่งกระทรวงได้ทำหนังสือเวียนไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทุกแห่ง ให้ตรวจสอบเรื่องการก่อสร้างโรงงานอย่างเข้มงวด ห้ามมีการก่อสร้างโรงงานก่อนการได้รับอนุญาต และใช้วิธีมากดดันหน่วยงานราชการให้เร่งออกใบอนุญาต ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย โดยอุตสาหกรรมจังหวัดรวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องดูแลให้ดี หากมีปัญหาเหมือนในครั้งนี้ จะต้องรับผิดชอบ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า หากมีปัญหาเรื่องการก่อม็อบ หรือการรวมตัวกันทุกประเภทอุตสาหกรรมจังหวัดและหัวหน้าหน่วยราชการต้องรู้เรื่องล่วงหน้าแก้ปัญหาชี้แจงทำความเข้าใจให้จบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีม็อบเข้ามาในกรุงเทพฯ หากมีม็อบเข้าในกรุงเทพฯ หรือมากดดันอยู่หน้ากระทรวงอีก จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มชาวไร่อ้อยที่ได้รับผลกระทบจะเดินทางมาพร้อมรถบรรทุกอ้อย เพื่อนำมาเทที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมและหน้าบ้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่กำกับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานไม่พิจารณาออกใบ รง.4 ให้โรงงานน้ำตาลใหม่ 4 แห่ง ภายในวันที่ 7 ธ.ค. ตามที่ได้รับปากชาวไร่อ้อยไว้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จัดถกทิศทางเกษตรยุค4Gs

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.เตรียมจัดสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 “ทิศทางเกษตรไทยในยุค 4 Gs” ในวันที่ 17 ธันวาคม ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยจะมีการแถลงและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2555 และแนวโน้มปี 2556” รวมทั้งการอภิปราย เรื่อง “ทิศทางเกษตรไทยในยุค 4 Gs” (Global Economy, Growth of Economy, Green Economy, Grass Roots) และเรื่อง “สินค้าเกษตรก้าวสู่โลกยุคใหม่”

ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ภาคเกษตร ถือว่า มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารและพลังงานและมีความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งการจ้างงาน การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนจึงเป็นภารกิจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น การฟื้นตัวของประเทศภายหลังสถานการณ์อุทกภัยปี 2554 การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประสบปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งปัญหาและความท้าทายดังกล่าว ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ภาคเกษตรของไทยจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันนี้สามารถดำเนินการภายใต้บริบท 4 ประการ (4 Gs) ประกอบด้วย ประการแรก Global Economy หรือเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยอย่างเหนียวแน่น ประการที่สอง Growth of Economy การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ อันเป็นวิธีหนึ่งในการยกระดับรายได้ของประชาชน และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ประการที่สาม Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคาร์บอนต่ำ สนับสนุนประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประการสุดท้าย Grass Roots คือ เกษตรกรผู้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมไทย เป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งการที่เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงด้านอาชีพ ย่อมเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ม.ราชภัฏเชียงใหม่ผุดเมืองต้นแบบ “ชุมชนพลังงานทดแทน”แห่งแรกขอไทย

เมื่อเอ่ยถึงพลังงานทดแทน หลายคนคงนึกถึงภาพแผงโซลาร์เซลล์ที่วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบบนพื้นที่หลายร้อยไร่ หรือที่เรียกกันว่าโซลาร์ฟาร์ม บางคนคงนึกถึงกังหันลมตัวมหึมา 2-3 ตัวกำลังค่อยๆ หมุนผลิตไฟฟ้า และบางคนอาจนึกถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ต่างๆ หรือโรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากขี้หมู่ ขี้วัว หรือขี้ไก่ เป็นต้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการผลิตพลังงานที่มีต้นทุนมหาศาล และดูเหมือนจะเป็นเรื่องของนายทุนมากกว่าชาวบ้านระดับรากหญ้า ดังนั้น พลังงานทดแทนจึงเป็นเสมือนเรื่องใกล้ตัว แต่ห่างไกลการเข้าถึงและการใช้งานชาวบ้านอย่างแท้จริง

แต่จากนี้ไปพลังงานทดแทนกำลังขยับเข้ามาใกล้ชาวบ้านมากขึ้น สามารถจับต้องได้ แถมนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เมื่อรองศาสตราจารย์วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนเอเชีย (adicet) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ลงมือก่อสร้างเมืองขึ้นมา 1 แห่ง ที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าหรือพลังงานจากภายนอกเลย และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้จริง โดยใช้ชื่อว่า เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้ หรือเมืองสีเขียวต้นแบบที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้ จัดเป็นเมืองต้นแบบที่เปิดให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาหรือจะนำไปสร้างใช้ในชุมชนของตัวเองได้ โดยเชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 500 ไร่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้มีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน ได้แก่ โซนเอ โซนบี และโซนซี โดยโซนเอจัดเป็นพื้นที่ตั้งของชุมชน มีการสร้างบ้านอยู่อาศัยต้นแบบ 10 หลัง โดยแต่ละหลังเน้นการออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงานที่แตกต่างกัน และอุณหภูมิภายในบ้านจะเย็นกว่านอกบ้านมาก อาทิ บ้านเพชร เป็นบ้านประหยัดพลังงานทรง 5 เหลี่ยม ใช้โฟมเป็นวัสดุในการก่อสร้างพื้นบ้าน และนำวัสดุเม็ดโฟมผสมคอนกรีตเพื่อป้องกันความชื้นซึมเข้าสู่ตัวบ้านบ้านกล่อง ซึ่งเป็นบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้ต้นทุนและแรงงานในการก่อสร้างต่ำ มีโครงเป็นเหล็ก แต่ส่วนประกอบของบ้านเป็นไม้ อีกทั้งยังนำพืชผักสวนครัวแบบเถาไม้เลื้อยมาปลูกเพื่อคลุมบ้านป้องกันความร้อนถ่ายเทเข้าบ้าน และบ้าน 240 วีดีซี ซึ่งเป็นบ้านต้นแบบที่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า 240 โวลต์ ซึ่งดัดแปลงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านให้ใช้งานไฟฟ้าได้ทั้งระบบไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ เป็นต้น

นอกจากนี้โซนเอยังมีเนื้อที่สำหรับเป็นห้องประชุม ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อชื่อซิกตี้มาร์ท ร้านกาแฟ รวมทั้งพื้นที่ฟาร์ม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษที่สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชุมชน มีระบบการให้น้ำพืชสวนแบบประหยัดเพื่อใช้ในการเกษตร โดยการใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชเป็นรอบการปลูก แทนการปลูกแบบฤดูกาลเพื่อลดพื้นที่การเพาะปลูกนั่นเอง

และที่สำคัญโซนเอนี้ยังมีพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 25.5 กิโลวัตต์ ทำการผลิตไฟฟ้ากระแสตรง 240 โวลต์ จ่ายไฟฟ้าให้กับบ้านต้นแบบทั้ง 10 หลัง รวมถึงร้านอาหาร ฟาร์ม ร้านค้า ร้านกาแฟ ห้องประชุม หรือทั้งหมดของโซนเอ

ซึ่งชุมชนต้นแบบดังกล่าวสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก เพราะมีแหล่งอาหารที่เพาะปลูกเองได้ พร้อมกันนี้ บ้านแต่ละหลังยังสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้เอง พร้อมทั้งติดตั้งระบบไมโครกริช หรือระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ที่สามารถทราบได้ว่าบ้านแต่ละหลังใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ โดยส่วนเกินที่เหลือสามารถขายเข้าระบบไฟฟ้าไปใช้ยังพื้นที่อื่นๆ ของ “เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้” ได้อีกด้วย

สำหรับโซนบีจัดเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาที่เน้นกิจกรรมการเรียนการสอน การวิจัย และการฝึกอบรมสัมมนาให้กับทุกหน่วยงานทั่วโลก ตัวอาคารมีการออกแบบที่หลากหลายทั่งรูปทรงและวัสดุก่อสร้าง การสร้างเน้นการประหยัดพลังงานและมีความกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างสมดุล อาทิ ห้องประชุมหลังเต่า ซึ่งมุงหลังคาด้วยใบตองตึง เป็นอาคารเปิดโล่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกได้ 360 องศา มีโครงสร้างลักษณะคล้ายหลังเต่า 2 อันซ้อนกัน อาศัยเงาต้นไม้และระบบน้ำฉีดเพื่อลดอุณหภูมิ ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาจะสัมผัสได้ถึงอุณหภูมิภายนอกและภายในที่ต่างกันถึง 5 องศา โดยไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด

และโซนซีเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการและศูนย์กลางการนำเสนอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นต์ และมีหอประชุมบ้านนก ซึ่งยึดหลักการลดแรงตกกระทบของแสงมาโดนผนัง เป็นต้น

ที่สำคัญพื้นที่ทุกตารางเมตรนอกจากจะใส่ใจกับต้นไม้ที่ช่วยลดอุณหภูมิให้เย็นลงแล้ว ถนนทางเดินต่างๆ ยังผลิตขึ้นจากเศษขยะพลาสติกบดผสมยางมะตอยเพื่อให้เกิดการเกาะตัวของพื้นถนนได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดปริมาณขยะลงได้อีกด้วย และถนนดังกล่าวนับเป็นถนนแห่งแรกของเมืองไทยที่ผลิตจากขยะพลาสติกบด

อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้ เพิ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554 โดยได้รับงบประมาณจากกระทรวงทหารเรือของประเทศสหรัฐ และอีกส่วนหนึ่งจากกระทรวงพลังงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 350 ล้านบาท และจะเริ่มอวดโฉมสู่สายตาประชาคมโลกเป็นครั้งแรก โดยจะเปิดจัดงาน กรีนเอ็กซ์โปร์ 2012 ขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้ แห่งนี้ ระหว่างวันที่ 10-20 ธ.ค.2555

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดงานกรีนเอ็กซ์โปร์ 2012 ขึ้นเป็นปีแรก โดยจะมีการรวบรวมตัวแทนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนกว่า 300 คน และผู้เชี่ยวชาญอีกกว่า 20 ประเทศ มานำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์สีเขียว นวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน ภายในงานยังมีนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การประชุมสัมมนาระดับชาติและนานาชาติ การอบรมหลักสูตรระยะสั้น และการสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย

ส่วนวันที่ 12-20 ธ.ค.2555 จะเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยเน้นให้ผู้เรียนรู้สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเหมาะกับบุคคลทั่วไป นักเรียนและนักศึกษา โดยจะเปิดอบรมหลายด้าน อาทิ เซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ระบบไฟฟ้าชุมชนกระแสตรง การออกแบบเซลล์แสงอาทิตย์ระดับครัวเรือน ระบบแก๊สชีวภาพครัวเรือน และโมเดลจำลองถังหมักแก๊สชีวภาพ เป็นต้น

“เชียงใหม่ เวิลด์ กรีน ซีตี้” นับเป็นตัวอย่างเมืองต้นแบบของชุมชนปัจจุบันที่สามารถใช้พลังงานทดแทนได้จริง และลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากภายนอก รวมทั้งยังผสมผสานการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ซึ่งชุมชนใดต้องการพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในชุมชนลง ลองมาศึกษาเมืองต้นแบบนี้กันได้ทุกวัน หรือจะเข้าไปชมงานนิทรรศการและอบรมด้านพลังงานทดแทนต่างๆ ในงานกรีนเอ็กซ์โปร์ 2012 เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับชุมชนตัวเองและยังได้เรียนรู้การพึ่งพาตัวเองในแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงด้วย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เร่งเดินหน้าGAPเขตสปก. รองรับกลุ่มผู้ส่งออกเริ่มสนใจรับซื้อผลผลิตผ่านการรับรองในเขตปฏิรูป

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า แม้ขณะนี้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น และส.ป.ก.ได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองสินค้าเกษตรในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ในพืช 2 ชนิด คือ ข้าวโพดเมล็ดแห้ง มันสำปะหลัง และอยู่ระหว่างการออกใบรับรองอีก 2 ชนิด คือ อ้อย และ สับปะรด ขณะนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP เพียง 4 ราย แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการอยู่หลายประการ เช่น บริษัทผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเริ่มสนใจเข้ามารับซื้อผลผลิตในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เพราะเมื่อมีการรวมเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หลายๆประเทศต้องเรียกร้องขอใบรับรองจีเอพีจากสินค้าเกษตร ช่วงนี้ผู้ส่งออกจึงต้องพยายามปรับตัวหาสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรอง เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เออีซี

นอกจากนี้ การเข้าร่วมและปรับปรุงกระบวนการผลิตไปสู่ GAP จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะในข้อกำหนดของ GAP มีข้อห้ามหลายอย่างเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปใช้สารอินทรีย์ หรือสารชีวภาพแทน หรือหากจะมีการใช้สารเคมีบ้างก็ต้องเป็นชนิดที่ผ่านการรับรอง การจัดเก็บ การทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีทางการเกษตรต้องทำอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งผลที่ตามมาคือ เกษตรกรสามารถลดการใช้สารเคมีที่ไม่จำเป็น ทำให้สุขภาพดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

ปัจจุบัน ศรม.ได้อบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่จนสามารถเป็นผู้ตรวจประเมินได้แล้ว 34 ราย จัดอบรมให้ความรู้ด้าน GAP แก่เกษตรกร 2,534 ราย ใน 50 จังหวัด มีเกษตรกรที่ยื่นขอรับรองแล้ว 634 ราย ใน 14 จังหวัดมีการตรวจประเมินแปลงไปแล้ว 313 ราย ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรอง GAP ไปแล้ว 4 ราย และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อตัดสินรับรองอีก 65 ราย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชาวไร่เล็งขนอ้อยเทหน้าก.อุตฯสัปดาห์นี้ หลังไม่อนุมัติให้4รง.เปิดหีบตามสัญญา

ชาวไร่อ้อยสุดทนก.อุตสาหกรรมสับขาหลอกไม่พิจารณาอนุมัติให้รง. 4 โรงงานน้ำตาล แห่งใหม่4 แห่งตามกำหนด 7 ธ.ค. เตรียมนัดถก11 ธ.ค.นี้กำหนดวันดีเดย์นำอ้อยใส่รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯมาเทหน้ากระทรวงอุตฯ ในสัปดาห์นี้ ประท้วงเหตุทำชาวไร่อ้อยนับหมื่นครอบครัวเสียหายตัดอ้อยไม่ได้คิดเป็นมูลค่า 5-6 พันล้านบาท

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 11 ธ.ค.นี้ชาวไร่อ้อยจะนัดหารือเพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนในการนำกลุ่มชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบเดินทางมาพร้อมรถบรรทุกอ้อยเพื่อนำมาเทที่หน้ากระทรวงอุตสาหกรรม และอาจไปบ้านนายสุวัจน์ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่กำกับกระทรวงอุตฯ เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไม่พิจารณาออกใบ รง. 4 ให้โรงงานน้ำตาลใหม่ 4 แห่งภายใน 7 ธ.ค. ตามที่ได้รับปากชาวไร่ไว้

"หมดเวลาเจรจาแล้วเราเองก็รอคำตอบจนเย็นวันศุกร์ก็ทราบว่าไม่มีความคืบหน้าอะไรเลยทั้งที่รับปากไว้แล้วว่าจะเร่งพิจารณาเพื่อให้เปิดหีบโดยเร็ว ดังนั้นเราคงจะมากำหนดวันเดินทางเข้ามากรุงเทพฯอีกทีซึ่งคิดว่าอาจจะเป็นวันที่12 หรือ 13 ธ.ค.นี้" นายกำธรกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้าชาวไร่อ้อยได้เดินทางมาเจรเจากับกระทรวงอุตสาหกรรมเนื่องจากชาวไร่ราว 1 หมื่นครัวเรือนได้ปลูกอ้อยเป็นปริมาณ 5 หมื่นตัน โดยรวมจะได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้กำหนดเปิดหีบอ้อยแล้วตั้งแต่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมาแต่ชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้ซึ่งต้องนำอ้อยตัดโรงงานที่ทำสัญญา 4 แห่งได้แก่โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย, โรงงานไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี, โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี และ โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม (มิตรผล)จ.เลย ยังไม่สามารถตัดอ้อยเข้าหีบได้เพราะโรงงานทั้งหมดไม่ได้รับใบ รง. 4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม

"ชาวไร่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลยเพราะโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นี้เป็นนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้นำเสนอครม.ถ้าโรงงานทำผิดทำไมปล่อยให้ตั้งมาได้ทั้งๆ ที่กระบวนการใช้เวลาก่อสร้างถึง 2 ปี ถ้าอ้อยไม่ได้ตัดหรือตัดช้าจนยืนต้นตายไปใครจะรับผิดชอบอ้อยทั้งหมดจะสูญเสียไปคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,000-6,000 ล้านบาท" นายกำธรกล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ชาวไร่อ้อยฯ กว่า 1,500 คนร้อง รมว.อุตฯ เปิด รง.รับซื้ออ้อย

ที่ลานอ้อย บ้านคำบง ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้มีชาวเกษตรกรไร่อ้อย จ.อุดรธานี และสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสาน - เหนือ กว่า 1,500 คน นำรถอ้อย ซึ่งบรรทุกเต็มคันรถกว่า 300 คัน มาชุมนุมประท้วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร้องขอให้เปิดหีบโรงงานน้ำตาลไทยอุดร เพื่อรับซื้ออ้อยจากชาวเกษตรกร จ.อุดรธานี โดยให้เวลา 1 วัน หากไม่ได้รับคำตอบจะนำอ้อยไปเทที่หน้าบ้าน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

โดย นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสาน - เหนือ กล่าวว่า โรงงานยังไม่ได้รับอนุญาต ร.ง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดไม่ได้ 4 โรงงาน ที่ อุดรธานี 1 โรงงาน หากไม่ได้รับคำตอบจากทางรัฐบาล จะทำให้ประชาชน ชาวเกษตรกรของ จ.อุดรธานี เดือดร้อนมาก เพราะเป็นหนี้เป็นสินมากมายทีเดียว และจะมีการประท้วงใหญ่ที่นครราชสีมาอีกครั้งหนึ่ง

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก.เกษตรให้ความรู้นวัตกรรมแก่หมอดิน

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ประจำปี 2556 ที่หอประชุมอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมมอบนโยบายว่า หมอดินอาสาฯ เป็นผู้ที่อาสาเข้ามาช่วยกรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรักษาทรัพยากรท้องถิ่น โดยการเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในชุมชนเคียงคู่ไปกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นผู้นำในการทำการเกษตรอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการการพัฒนาที่ดิน

ดังนั้น รัฐบาลจึงจะเร่งเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางด้านการพัฒนาที่ดินให้แก่หมอดินอาสาฯ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อให้เผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ภารกิจในการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน ลำพังเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีประมาณ 1,700 คน ไม่สามารถดูแลแก้ไขปรับปรุงดินได้อย่างทั่วถึง จำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายหมอดินอาสาฯ ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งช่วยเจ้าหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เพื่อนบ้าน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรได้อย่างยั่งยืน" นายยุทธพงศ์กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 ธันวาคม 2555

ชาวไร่อ้อยบุกก.อุตฯจี้ออกรง.4ภายในสัปดาห์นี้

ชาวไร่อ้อยตบเท้าจี้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งออกใบ รง. 4 ให้กับ 4 โรงงานน้ำตาลใหม่ภายในสัปดาห์นี้เพื่อให้เร่งเปิดหีบหลังชาวไร่อ้อยเดือดร้อนยังไม่สามารถตัดอ้อยได้หวั่นปล่อยไว้อาจสูญเสีย 5-6 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ตัวแทนชาวไร่อ้อยราว 30 คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานได้เดินทางเข้ามาหารือกับนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อทวงถามความคืบหน้าการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาล แห่งใหม่ 4 โรงงานได้แก่ โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จ.เลย โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานีและ โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 4 โรงงานน้ำตาลดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดหีบอ้อยได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4 ) จึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการออก รง. 4 ภายในวันที่ 7 ธ.ค.นี้เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้เห็นชอบให้มีการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2555/56 ตั้งแต่ 15 พ.ย.แล้ว แต่ชาวไร่อ้อยที่มีคู่สัญญากับ 4 โรงงานกลับยังไม่สามารถตัดอ้อยได้

"อ้อยยิ่งปล่อยนานก็จะมีปัญหาเรื่องคุณภาพที่จะได้ต่ำซึ่งหากเราปล่อยไว้คาดว่าจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท" นายกำธรกล่าว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การเปิดหีบอ้อยของ 4 โรงงานส่วนของเครื่องจักรและอ้อยที่จะเข้าหีบพร้อมหมดแล้วเหลือเพียงขั้นตอนการออกใบรง. 4 ก็ไม่เข้าใจว่าขั้นตอนของการได้รับจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)ทำไมจึงล่าช้ามาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯระบุเสมอว่าจะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาออกใบรง.4 ก่อนแต่ก็ใช้เวลามานานแล้วโดยพบว่าขั้นตอนส่วนราชการต่างจังหวัดก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรหรือว่าคณะกรรมการกลั่นกรองเป็นกรรมการกลั่นแกล้ง ส่วน รง. เป็นผู้รอเงินหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากภายในสัปดาห์นี้กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถหาข้อยุติที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยที่จะต้องนำอ้อยไปส่งป้อนโรงงาน 4 แห่งได้สัปดาห์หน้าจะได้หารือเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้กระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวหลังการหารือร่วมกับแกนนำชาวไร่อ้อย ว่า จะนัดคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาการออกใบอนุญาตรง.4 ให้กับโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าวภายใน 1-2 วันเพื่อหาข้อยุติให้เร็วที่สุด

จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 7 ธันวาคม 2555

ชาวไร่อ้อยขีดเส้นตาย7ธ.ค.จี้อุตฯออกใบอนุญาตโรงงาน

ชาวไร่อ้อย จี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาล 4 แห่ง ภายใน 7 ธ.ค.นี้ เผย หากไม่ออกภายในสัปดาห์นี้เตรียมเคลื่อนไหว

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยภายหลังหารือกับนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ชาวไร่อ้อยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตประกอบการโรงงาน (รง.4) เพื่อตั้งโรงงานน้ำตาล 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จังหวัดเลย 2.โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จังหวัดเลย 3.โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จังหวัดอุดรธานี 4.โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง จังหวัดเลย เนื่องจากขณะนี้ไม่สามารถเปิดโรงงาน เพื่อรับอ้อยจากชาวไร่ในฤดูกาลผลิตได้ ส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ชาวไร่เตรียมส่งให้โรงงาน

"ชาวไร่อ้อยมองว่า ภาครัฐไม่ได้รีบดำเนินการ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่ง เปิดดำเนินการและเปิดหีบอ้อยได้ ทั้งที่เป็นงานประจำของภาครัฐในการออกใบอนุญาตให้โรงงาน ซึ่งทราบว่าทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพร้อมทำตามหน้าที่แต่ติดที่นักการเมือง ซึ่งไม่รู้ได้เลยว่าอะไร"นายธีระชัย กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่ง ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาให้ตั้งโรงงานน้ำตาลได้ ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งใช้เวลา 1-2 ปี ในการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร และขณะนี้พร้อมดำเนินการแล้ว เมื่อยังไม่ได้ใบอนุญาต จึงไม่สามารถเริ่มเปิดหีบอ้อยได้ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถได้รับจัดสรรอ้อยเข้าโรงงาน ไม่มีการเตรียมเครื่องวัดค่าความหวานอ้อย และไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรควบคุมโรงงาน กระทบกับชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานทั้ง 4 แห่ง ทั้งที่แต่ละโรงงานกำหนดเปิดหีบอ้อยแล้ว อาทิ โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี จังหวัดอุดรธานี กำหนดเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.2555 ส่วนโรงงานมิตรภูหลวงมีกำหนดเปิดหีบอ้อยวันที่ 30 ธ.ค.2555 ซึ่งขณะนี้ไม่แน่ใจเช่นเดียวกันว่าจะเปิดดำเนินการได้หรือไม่

นายธีรชัย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยให้เวลาคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตโรงงานที่มีนายวิฑูรย์ เป็นประธานถึงวันที่ 7 ธ.ค.2555 หากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่
สามารถออกใบ รง. 4 ได้ ชาวไร่จะพิจารณาเคลื่อนไหว ซึ่งอาจนัดรวมตัวกันที่จังหวัดนครราชสีมา หรือกรุงเทพมหานครในสัปดาห์หน้า เนื่องจากชาวไร่อ้อยรอไม่ได้แล้ว ถ้าปล่อยเวลาออกไปอ้อยจะแก่ มีผลต่อคุณภาพอ้อย และการที่จะให้ชาวไร่อ้อยนำอ้อยไปส่งให้โรงงานอื่นก็มีปัญหาเรื่องการขนส่ง

ทั้งนี้โรงงานน้ำตาลทั้ง 4 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อยในฤดูกาลปัจจุบัน 500,000 ไร่ มีผลผลิตอ้อย 5 ล้านตัน และมีชาวไร่ที่ปลูกอ้อย 10,000 คน โดยถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ออกใบอนุญาตประกอบการโรงงานให้ จะส่งผลกระทบกับชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้ ซึ่งเดิมคาดว่าคณะกรรมการกลั่นจะพิจารณาใบอนุญาตในวันที่ 6 ธ.ค.2555 แต่ยังไม่พิจารณา ถ้าภาครัฐไม่พิจารณาใบอนุญาตให้จะกระทบต่อผลผลิตอ้อยของชาวไร่ 5,000-6,000 ล้านบาท
ชี้กระทบผลผลิตอ้อย6พันล้านบาท ชาวไร่ 1 หมื่นราย เสียหาย

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ยกระดับ 3 กลุ่มผู้ใช้น้ำสุโขทัย

นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีนโยบายที่จะผลักดันกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) ที่มีศักยภาพขึ้นเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานแล้ว 1,700 กลุ่ม จากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) ทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 40,000 กลุ่ม

นายสุรพงษ์ แสนช่าง หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานสุโขทัย สำนักชลประทานที่ 4 กล่าวว่า ขณะนี้โครงการชลประทานสุโขทัย เตรียมยกระดับกลุ่มพื้นฐานของโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่มคือกลุ่มฯทุ่งนาพง กลุ่มฯ ห้าแอล และกลุ่มฯห้วยผา ขึ้นเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบายของกรมชลประทาน เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารจัดการน้ำระหว่างกลุ่มกันเองได้ โดยเจ้าหน้าที่ชลประทานจะให้เพียงคำแนะนำเท่านั้น

ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สร้างเสร็จเมื่อปี 2548 มีความจุ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากคลองส่งน้ำฝั่งขวา 24,000 ไร่ ส่วนคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายอยู่ระหว่างการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2556 ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ได้รับประโยชน์อีก 15,000 ไร่ ครอบคลุม 24 หมู่บ้าน กว่า 4,000 ครัวเรือน ในเขต ต.บ้านแก่ง ต.สารจิตร ต.หนองอ้อ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวและอ้อย

“เดิมนั้นยังไม่ได้มีการรวมกลุ่ม เกิดปัญหาการแย่งน้ำเป็นประจำ จนกระทั่งปี 2550 กรมชลประทานได้เข้าไปจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน (กลุ่มพื้นฐาน) จำนวน 3 กลุ่มดังกล่าว ปัญหาการแย่งน้ำก็ลดลง แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานในการบริหารงาน แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกไม่ชัดเจน ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้เข้าไปให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องความสำคัญของการแบ่งปัน วิธีการหารือเรื่องการใช้น้ำร่วมกัน และหลักการบริหารจัดการน้ำ จนปัจจุบันปัญหาการแย่งน้ำหมดไป สมาชิกสามารถจัดการแบ่งน้ำกันเอง และสามารถทำการต่อรองระหว่างกลุ่มได้” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับตัวอย่างที่เห็นชัดว่า ทุกกลุ่มมีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำ คือ แม้ปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯ ห้วยท่าแพจะเหลือน้อยมากเพียง 19 ล้านลบ.ม. เมื่อเทียบกับปีอื่น ๆ ที่จะมีไม่ต่ำกว่า 20 ล้านลบ.ม. แต่สามารถจัดสรรน้ำได้ลงตัว ไม่เกิดการขัดแย้ง และจากการพูดคุยพบว่าสมาชิกทุกคนมีความมั่นใจว่าจะผ่านพ้นช่วงปลูกข้าวนาปี ไปได้ด้วยดี.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม 2555

แผนบริหารจัดการน้ำชลประทาน

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการวางแผนและส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้ โดยได้กำหนดให้มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งจนสิ้นเดือนเมษายน 2556 รวม 8,608 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะในปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั้งสองแห่งดังกล่าวมีปริมาณค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการกักเก็บเท่านั้น อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงใช้น้ำได้ตามปกติ ยกตัวอย่างเมื่อช่วงเทศกาลวันลอยกระทงที่ผ่านมา แม้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมาและอาจจะทำให้ระดับน้ำในบางพื้นที่ต่ำกว่าตลิ่งมากก็ตาม แต่ก็ไม่มีปัญหาสำหรับใช้ในการลอยกระทง

ทั้งนี้ปริมาณน้ำดังกล่าว ได้จัดสรรแบ่งเป็นการใช้น้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้า พระยา จังหวัดชัยนาท จำนวน 2,820 ล้านลบ.ม. การใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ 4,280 ล้าน ลบ.ม. ใช้รักษาระบบนิเวศและให้การประปานครหลวงรวมกัน 1,900 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับในช่วงตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน–9 ธันวาคม 2555 เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะระบายน้ำมายังเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณรวม 270 ล้าน ลบ.ม. โดยจะระบายออกท้ายเขื่อนเจ้าพระยารวม 180 ล้านลบ.ม. หรือประมาณ 80 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งก็ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาทั้งในพื้นที่เหนือเขื่อน และท้ายเขื่อนมีน้ำท่าตามปกติ

ส่วนปริมาณน้ำในจังหวัดสุโขทัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ลุ่มน้ำยมมีฝนตกค่อนข้างมากจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้โครงสร้างทางชลประทานที่มีในลุ่มน้ำยมกักเก็บและควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำยมอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอใช้จนสิ้นสุดฤดูแล้ง ซึ่งขณะนี้ปริมาณในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านในเขตจังหวัดสุโขทัยยังอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นเมื่อวันลอยกระทงที่ผ่านมาประชาชนสามารถทำกิจกรรมลอยกระทงได้เหมือนเช่นทุกปีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำต้นทุนที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ด้วย ซึ่งในขณะนี้ปริมาณน้ำแม่น้ำยมที่อำเภอศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นอำเภอแรกที่รับน้ำจากจังหวัดแพร่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ระดับ 74 ลบ.ม. ต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลออกจากจังหวัดสุโขทัยที่อำเภอกงไกรลาศ ที่ระดับ 45 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งคาดว่า ปริมาณน้ำน่าจะอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงเดือนมกราคม 2556.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 ธันวาคม 2555

สศข.7คาดผลผลิตอ้อยโรงงานลด

นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 (สศข.7) ชัยนาท เปิดเผยถึงการติดตามและประเมินสถานการณ์การผลิตอ้อยโรงงานปี 2556 ซึ่งโรงงานน้ำตาลกำลังจะเปิดหีบอ้อยโรงงานในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ในพื้นที่ 6 จังหวัดรับผิดชอบ (ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และสุพรรณบุรี) พบว่า พื้นที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1-2 เนื่องจากเกษตรกรหันปลูกอ้อยโรงงาน ทดแทนการปลูกมันสำปะหลังที่มีราคาตกต่ำในปีที่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนพื้นที่ในเขตชลประทานมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับพื้นที่ไปปลูกข้าวแทน

ขณะที่ผลผลิตคาดว่า จะมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 10-15 เนื่องจากการปลูกอ้อยโรงงานในปี 2555 ประสบภัยแล้งแล้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคมเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้อ้อยโรงงานชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งบางพื้นที่เกิดหนอนกอระบาดในช่วงฝนทิ้งช่วง ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานของทั้ง 6 จังหวัด ในปี 2554/55 มีจำนวน 1.15ล้านไร่ ได้รับผลผลิต 15.20 ล้านตันหรือเฉลี่ยไร่ละ 13.26 ตัน

สำหรับราคารับซื้อของโรงงานน้ำตาลในปีนี้ คาดว่าราคารับซื้อเบื้องต้นจะต่ำกว่าปีที่แล้ว เหลือ 950-970 บาท/ตัน ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว 30-50 บาท/ตัน เนื่องมาจากราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกเดือนพฤศจิกายน 2555 ลดลงเหลือ 529 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 13 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา เช่น ค่าปุ๋ย และสารเคมี รวมทั้งค่าแรงงานตัดอ้อยโรงงานซึ่งหาได้ยากขึ้น

นางจันทร์ธิดากล่าวต่อว่า ในส่วนของแนวทางการแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยโรงงานนั้น ควรส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้สามารถทดแทนแรงงานคนได้ทุกสภาพพื้นที่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจุบันเครื่องตัดอ้อยโรงงานสามารถตัดได้เฉพาะที่ราบเรียบไม่มีความลาดเอียง และมีระยะห่างระหว่างแถว 150 เซนติเมตร แต่เกษตรกรยังคงนิยมปลูกที่ระยะห่างระหว่างแถว 120 เซนติเมตร ทำให้รถตัดอ้อยโรงงานเข้าแปลงไม่ได้ และต้องใช้แรงคนตัดซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าเครื่องจักร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2555

ของแพงดันเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ2.96% เหตุราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนแตะ 2.74% เฉลี่ย 11เดือนสูงขึ้น 2.96% เหตุราคาผัก ผลไม้ อาหาร เครื่องดื่มแพงแต่ยังมั่นใจทั้งปีอยู่ในกรอบ 3% เพราะน้ำมันโลกเพิ่มไม่มากหลังเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งรัฐใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ส่วนเงินเฟ้อปีหน้ามีสิทธิ์แตะ 3.4% เหตุเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว กำลังซื้อเพิ่มตามค่าแรง 300 บาท

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนพฤศจิกายน 2555 เท่ากับ 116.41 เทียบกับเดือนตุลาคม 2555 ลดลง 0.35% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 11 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (พฤศจิกายน 2554) สูงขึ้น 2.74% และเทียบเฉลี่ย 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2555 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 2.96% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรผัก ผลไม้และปลามีราคาสูงขึ้น

สำหรับเดือนพฤศจิกายนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.86% สาเหตุจากการลดลงของราคาสินค้าหมวดผักและผลไม้ 6.62% โดยผักสดลดลง 13.43% และหมวดผลไม้สดลดลง 4.60% เข้าสู่ภาวะปกติหลังเทศกาลกินเจประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก สินค้าอื่นๆ ที่มีราคาลดลง เช่น นมและผลิตภัณฑ์นม น้ำมันพืช

สินค้าประเภทอาหารที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นและลดปริมาณการเลี้ยงทำให้ผลผลิตน้อยลง ขณะที่อาหารสำเร็จรูปดัชนีสูงขึ้น 0.05% และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.25% ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ
ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.02% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศ 0.47% ตามภาวะราคาน้ำมันตลาดโลก

นอกจากนี้หมวดบริภัณฑ์อื่นๆ ลดลง 0.02% ค่าอุปกรณ์การบันเทิงลดลง 0.07% สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นตามภาวะตลาด ได้แก่ หมวดเคหสถาน 0.09% ค่าจ้าง 0.32% ค่าแรง 0.85% ค่าน้ำประปา 0.90% สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด 0.06% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ค่ายาและเวชภัณฑ์ 0.16% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.03%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3% ซึ่งยืนยันไม่ได้เกิดจากกำลังซื้อในประเทศลดลงแต่เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับราคาสูงขึ้นไม่มากตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ยังคงใช้มาตรการตรึงราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในปี 2556 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวประมาณ 2.8-3.4% หรือเฉลี่ย 3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกน่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศจะดีขึ้นจาก
นโยบายการปรับขึ้นค่าแรง และนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรจะทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยอมรับการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่จะแข่งขันได้ยากขึ้น โดยเอสเอ็มอีต้องบริหารจัดการต้นทุนแทนการปรับราคา เนื่องจากคาดการณ์ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าในปีหน้า ส่วนการปรับขึ้นราคาก๊าชหุงต้มภาคครัวเรือนนั้น ที่จะทยอยปรับขึ้น50 สตางค์ต่อกิโลกรัมต่อเดือน หรือ 6 บาทต่อปี จะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น 0.0094% ต่อเดือน และสูงขึ้น 0.1228%ต่อปี ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่มีผลต่อราคาสินค้ามากนัก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 ธันวาคม 2555

คาดภัยแล้งทำศก.สูญเสีย3.5หมื่นล.

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งล่าสุด ในพื้นที่ในภาคอีสานและภาคใต้ตอนบน รวม 22 จังหวัด จากการวิเคราะห์ พบว่า

1. ภาพรวมพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในจังหวัดที่ประสบภัย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว โดยในปี 2555 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวม 43.14 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ 12.85 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชสวน 6.85 ล้านไร่

2. สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่และผลผลิตภาคการเกษตร คาดการณ์พื้นที่เสียหายรวม 6.11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.01ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555) โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกข้าวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ตอนบน รวม 6.03 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.39 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ พืชไร่ พบว่ามีพื้นที่เสียหายจากภัยแล้งรวม 0.08 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ทั้งประเทศ พืชสวน พบว่ามีพื้นที่เสียหายจากภัยแล้งรวม 0.006 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.02 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชสวนทั้งประเทศ

3. ผลการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจเบื้องต้น
มูลค่าความเสียหายของข้าวที่เกิดจากภัยแล้ง มีมูลค่าทั้งสิ้น 34,884 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.29 ของมูลค่าผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56

มูลค่าความเสียหายของพืชไร่ที่เกิดจากภัยแล้ง มีมูลค่าทั้งสิ้น 494 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.04 ของมูลค่าผลผลิตพืชไร่ที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56

มูลค่าความเสียหายของพืชสวนที่เกิดจากภัยแล้ง มีมูลค่าทั้งสิ้น 124 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของมูลค่าผลผลิตพืชสวนที่คาดว่าจะได้รับในปีเพาะปลูก 2555/56

ดังนั้น ผลกระทบจากภัยแล้ง จึงก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเบื้องต้น มูลค่าทั้งสิ้น 35,502 ล้านบาท
การประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2555 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงรวม 6,752 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นข้าว 6,647 ล้านบาท พืชไร่ 83 ล้านบาท และพืชสวนและอื่นๆ 21 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขประมาณการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรในปี 2555 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 และคาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้จะกระทบต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรร้อยละ 1.62

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 ธันวาคม 2555

“ไร่อ้อยสระแก้ว” ปิดถนน โวยรง.น้ำตาลตะวันออกกดราคา เรียกร้องค่าชดเชยซีซีเอสละ 57 บ.

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 ธันวาคม นายวันที สามารถ ประธานกลุ่มชาวไร่อ้อย จังหวัดสระแก้ว แกนนำกลุ่มชาวไร่อ้อย พร้อมด้วยสมาชิกชาวไร่อ้อยกว่า 300 คน เดินทางไปชุมนุมประท้วงที่ บริษัทน้ำตาลตะวันออก จำกัด ที่ตั้งอยู่ใน ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว กรณีที่โรงงานเปิดหีบอ้อยแล้วรับซื้ออ้อยในราคาต่ำ จนทำให้ชาวไร่อ้อยขาดทุน โดยนายวันทีกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลตะวันออกได้เปิดหีบมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยแจ้งให้ชาวไร่อ้อยตัดส่งโรงงานในราคาตันละ 500-600 บาท ความหวาน 7-8 ซีซีเอส ซึ่งราคาดังกล่าวถือว่าต่ำมาก และไม่คุ้มทุนที่ได้ปลูกอ้อยซึ่งอย่างน้อยราคารับซื้อต้อง อยู่ที่ตันละ 950 บาท ถึงจะอยู่ได้ ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกชุกทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลง แต่ฝ่ายโรงงานได้ขอร้องให้เกษตรกรเร่งตัดอ้อยส่งโรงหีบที่เพิ่มกำลังผลิต

“ทุกปีที่ผ่านมา โรงงานจะรับซื้ออ้อยตันละ 950-1,200 บาท เมื่อถึงฤดูเปิดหีบในเดือนแรก แม้ความหวานไม่ถึง 10 ซีซีเอส โรงงานจะยังรับซื้อในราคาตันละ 950 บาท เป็นอย่างต่ำ และเมื่อฝนหยุดตก ความหวานของอ้อยจะถึงเกณฑ์ 10 ซีซีเอส โรงงานก็จะซื้อเต็มราคาแต่ปีนี้โรงงานกลับไม่รับซื้อในราคาเดิม โดยอ้างเรื่องความหวานต่ำ พร้อมกับยืนยันจะรับซื้อเพียงตันละ 500-600 บาทเท่านั้น ซึ่งทำให้ชาวไร่อ้อยเดือนร้อนมาก เพื่อความเป็นธรรมสมาชิกชาวไร่อ้อยจึงต้องเดินทางมาที่โรงงานน้ำตาลตะวันออก เพื่อขอความเป็นธรรม ”นายวันทีกล่าว

ต่อมาเวลา 12.00 น. นายมนตรี กำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ในฐานะตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เข้าเจรจากับนายสมพิศ สุวรรณรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารโรงงานน้ำตาล เพื่อขอขยับราคารับซื้ออ้อย โดยขอให้โรงงานจ่ายเงินชดเชยความหวานของอ้อยที่ต่ำกว่า 10 ซีซีเอส ในอัตราซีซีเอสละ 57 บาท เนื่องจากฝ่ายโรงงานเป็นผู้เร่งรัดให้ตัดอ้อยป้อนโรงงาน แต่ฝ่ายโรงงานยืนยันที่จะจ่ายชดเชยให้เพียง 50% จึงทำให้ชาวไร่อ้อยไม่พอใจและนำรถบรรทุกอ้อยจอดขวางถนนเข้าสู่โรงงาน ทำให้การจราจรหน้าโรงงานเป็นอัมพาต แม้จะมีการเปิดเจรจาเป็นรอบที่ 2 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป และกลุ่มเกษตรกรยังคงปิดถนนประท้วงอย่างต่อเนื่อง

จากhttp://www.matichon.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม 2555

เอทานอล"มีผลม.ค.ปีหน้า ก.พลังงานยันไม่กระทบราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเอทานอลใหม่ ด้วยการใช้การคำนวณราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนปริมาณที่กำหนด มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2556 พร้อมกับ "ขอความร่วมมือ" จากผู้ค้าน้ำมัน

ในการนำเอาเอทานอลมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามสัดส่วนการใช้เอทานอลที่ผลิตกากน้ำตาล 62% กับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง 38% โดย กบง.อ้างว่า การกำหนดสัดส่วนการใช้เอทานอลจากวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไปก็เพื่อให้ สะท้อนต้นทุนราคาเอทานอลที่แท้จริงของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เนื่องจากในปี 2556 กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านลิตร/วัน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ดังกล่าว จะไม่ส่งผลให้ ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น เพราะราคาเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังในขณะนี้ "แพงกว่า" ราคาเอทานอลที่ผลิตจากโมลาสเพียง 1 บาทกว่า/ลิตรเท่านั้น "เท่ากับว่า ต้นทุนราคาเอทานอลภาพรวมของผู้ค้าน้ำมันจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50-70 สตางค์/ลิตร"

แต่เมื่อคำนวณตามสัดส่วนการผสมร้อยละ 10 ในส่วนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเพียง 10 สตางค์/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ E20 ต้นทุนเพิ่มขึ้น 20 สตางค์/ลิตร ซึ่งถือว่า "น้อยมาก" ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามารับภาระส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น ส่วนความกังวลว่าแนวทางดังกล่าวจะส่งผลให้มีการสร้างโรงงานเอทานอลจากมัน สำปะหลังเพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะเอทานอลล้นตลาดนั้น คาดว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะในขณะนี้ยังไม่มี

ผู้ผลิตเอทานอลรายใดยื่นขอสร้างโรงงานเอทานอ ลเพิ่มเติม และโรงงานเอทานอลที่จะเกิดขึ้นใหม่อีก 4 โรงเร็ว ๆ นี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ชะลอการลงทุนตามแผนเดิม เพื่อรอประเมินสถานการณ์ตลาด"โรงงานที่ผลิตเอทานอลจากโมลาส ก็ไม่ได้กังวลว่าจะถูกแย่งตลาด เพราะยังมีตลาดส่งออกที่ค่อนข้างดี ในปีนี้คาดว่าการ ส่งออกน่าจะอยู่ที่ 300 ล้านลิตร เดินเครื่องเต็มกำลังที่ 2.2 ล้านลิตร/วัน เท่าที่ประเมินร่วมกับผู้ผลิตเอทานอลยังคาดการณ์ว่า ในปี 2556 ผู้ผลิตจะขายเอทานอลได้มากกว่าเดิมจากที่ 1.2 ล้านลิตร/วันเพิ่มเป็น 1.3 ล้านลิตร/วันด้วยซ้ำ"

นายประพนธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า พพ.และกรมธุรกิจพลังงาน จะตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอล ทั้งมันสำปะหลัง-โมลาส ด้วยการประสานข้อมูลจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) รวมถึงในทุก ๆ เดือน ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 จะต้องรายงานปริมาณการสั่งซื้อเอทานอลด้วยว่า สั่งซื้อจากโรงงานใด ทั้งนี้เชื่อมั่นแนวทางกำหนดหลักเกณฑ์คำนวณราคาเอทานอลด้วยการแยกเอทานอ ลเป็น 2 ตลาดนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในตลาดเอทานอลจากมันสำปะหลัง และจะส่งผลให้ราคาเอทานอลจากตลาดนี้ถูกลง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในปี 2556 ทาง พพ.จะมีการประเมินตลาดเอทานอลทุก 3 เดือนว่าเป็นอย่างไร หากตลาดเอทานอลจากมันสำปะหลังไปได้ด้วยดี อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลของผู้ค้าน้ำมันจากทั้ง 2 ตลาดเป็น 50 : 50 ได้ในอนาคต

ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพื่อช่วยผู้ผลิตเอทานอลทั้งสองตลาดนี้ เพราะหากปล่อยไปตามกลไกตลาดอาจทำให้มีการซื้อเอทานอลเฉพาะโมลาสเพียงอย่าง เดียว

"ผลกระทบแนวทางนี้ก็คือ จะทำให้ต้นทุนน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 สตางค์/ลิตร และจะถูกสะท้อนในราคาน้ำมันที่ผู้ใช้น้ำมันต้องจ่าย แต่ผู้ใช้น้ำมันจะไม่รู้สึกว่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทน้ำมันจะแบกภาระไว้บางส่วน แล้วอาศัยปรับขึ้นราคาที่เหมาะสม เช่น ราคาน้ำมันจะลดลง 50 สตางค์/ลิตร แต่บริษัทน้ำมันมีภาระอยู่ 20 สตางค์ก็อาจปรับลดลงเพียง 30 สตางค์เท่านั้น" นายอนุสรณ์กล่าว

ด้านนางพิศวรรณ อัชนะพรกุล ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาดค้าปลีก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขอฟังข้อมูลเพื่อศึกษาผลกระทบก่อน ทั้งนี้เชลล์ฯพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ออกมา หากไม่มีผลกระทบ หรือไม่มีภาระค่าใช้จ่ายที่บริษัทน้ำมันต้องแบกรับ ส่วนในกรณีที่จะมีผลให้ภาระต้นทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น อาจต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะเชลล์ฯทำธุรกิจคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งระบบ รวมถึงลูกค้าของเชลล์ฯด้วย

"หากนโยบายที่ออกมามีผลให้ต้นทุนเพิ่ม ขึ้นจนต้องส่งผ่านไปยังผู้ใช้น้ำมัน ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจจะเพิ่มภาระให้กับลูกค้าได้ เพราะแม้ราคาน้ำมันในขณะนี้ไม่ได้สูงมากนัก แต่จากแนวโน้มที่เป็นไปได้ก็น่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 4 ธันวาคม 2555

อบรมนักบริหารเกษตร

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยสถาบันเกษตราธิการ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนา การเกษตรและสหกรณ์ระดับกลาง (นบก.) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับกลาง มีความสามารถถ่ายทอดนโยบายจากระดับสูงไปสู่ระดับปฏิบัติในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งได้รับความรู้ ความเข้าใจในการพัฒนาแนวคิด และวิสัยทัศน์ที่จะสามารถเป็นผู้นำบริหารการเปลี่ยนแปลงและบริหารงานได้อย่างมืออาชีพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะในการสร้างแรงจูงใจและพัฒนาประสิทธิภาพของทีมงานและองค์การได้ โดยมีความเข้าใจกระบวนการสร้างเครือข่าย (Network) และระบบพันธมิตร (Partner) เพื่อเพิ่มพลังการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนมีพฤติกรรมที่สะท้อนคุณธรรม และจริยธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง

นายชวลิตกล่าวต่อว่า การฝึกอบรมดังกล่าวนับว่าเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะ
ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้นำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ โดยในการฝึกอบรมครั้งนี้จะมีการปฐมนิเทศ และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งจะส่งผลต่อการประสานงานปฏิบัติราชการในแนวบูรณาการระหว่างหน่วยงาน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 ธันวาคม 2555

เปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อย7ธ.ค. ชาวไร่ชี้950บ./ตันต่ำเล็งขอกู้เพิ่ม

เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ราคาอ้อยปี 2555/56 วันที่ 7 ธ.ค.นี้หลัง กบ.ประกาศที่ 950 บาทต่อตันทำชาวไร่ฝันสลายไม่ถึง 1,000 บาทต่อตัน "ชาวไร่"ยอมรับต้องการให้รัฐหนุน ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เพิ่มส่วนต่างราคาอีกตันละ 200 บาทให้ได้ใกล้เคียงปีที่แล้วที่ 1,150 บาทต่อตัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหาร(กบ.)ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2555/56 ที่ 950 บาทต่อตันโดยจะทำการเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากชาวไร่และโรงงานน้ำตาลในวันที่7 ธันวาคมนี้ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ช่วงบ่ายเพื่อสรุปในการนำเสนอเข้าสู่ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศ 950 บาทต่อตันนั้นถือว่าต่ำกว่าปีที่แล้วที่ประกาศที่ 1,000 บาทต่อตันเนื่องจากบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด(อนท.)ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบที่มีส่วนสำคัญมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นไว้สูงถึง24.7 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ราคาปีนี้ อนท.เพิ่งขายน้ำตาลล่วงหน้าไปเพียง 43% และคาดว่าที่เหลือจะมีราคาเฉลี่ยเพียง 23 เซ็นต์ต่อปอนด์จึงทำให้ไม่สามารถประกาศราคาได้ถึงระดับ 1,000 บาทต่อตันตามที่ชาวไร่ต้องการเพราะหากอนาคตราคาน้ำตาลโลกต่ำลงอีกเมื่อมาคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายกองทุนอ้อยและน้ำตาล(กท.)จะต้องจ่ายชดเชยราคาให้กับโรงงานเพิ่ม

"มีแนวโน้มว่าชาวไร่จะขอค่าอ้อยส่วนเพิ่มเช่นปีที่ผ่านๆมาด้วยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ซึ่งหากมองรายได้ กท.เฉลี่ยจะอยู่ที่ปีละ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทที่จะไปชำระหนี้คืนการเพิ่มส่วนต่างราคาคงจะอยู่ที่ 154 บาทต่อตันเช่นปีที่ผ่านมาแต่กรณีที่ชาวไร่ต้องการช่วยเหลือเพิ่มอย่างต่ำ 200 บาทต่อตันเพื่อให้ราคาเป็น 1,150 บาทต่อตันคาดว่า กท.จะต้องกู้ ธ.ก.ส.ราว 1.8 หมื่นล้านบาทโดยเรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่า กอน.จะสรุปออกมาอย่างไรซึ่งสิ่งสำคัญต้องมองฐานะ กท.ด้วย หากปีต่อไปราคาอ้อยตกต่ำจะทำอย่างไรต่ออีก" แหล่งข่าวกล่าว

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การประชาพิจารณ์ราคาอ้อยขั้นต้น 7 ธ.ค.นี้ชาวไร่อ้อยคงจะเรียกร้องการช่วยเหลือให้ราคาเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยขณะนี้สูงกว่าที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วรัฐหนุนกู้เพิ่มให้อีก 154 บาทต่อตันเป็น 1,154 บาทต่อตันปีนี้ก็เห็นว่าควรจะได้ราคาอ้อยใกล้เคียงปีที่แล้วและสูงสุดก็ต้องการเห็นระดับ 1,200 บาทต่อตันแต่ก็คงจะอยู่ที่การพิจารณาจากรัฐ

"อ้อยขั้นต้นปี 2554/55 ธ.ก.ส.ก็สนับสนุนเงินกู้ช่วย 154 บาทต่อตันทำให้ราคาอ้อยปีที่แล้วอยู่ที่ 1,154 บาทต่อตันปีนี้อย่างต่ำเราก็อยากเห็นราคาอ้อยใกล้เคียงกับปีที่แล้ว"

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปรับวิธีออกโฉนดให้เกษตรกร พื้นที่จัดรูปที่ดิน14จังหวัดทั่วปท.

สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางร่วมกับกรมที่ดินปรับวิธีการออกโฉนดที่ดินฉบับใหม่ให้เกษตรกรในพื้นที่จัดรูปที่ดินฯ 14 จังหวัด โดยสำรวจรังวัดปักหลักเขตล่วงหน้า พอเกษตรกรยื่นคำขอออกโฉนดสามารถออกโฉนดได้ทันที ลดความยุ่งยากและงบประมาณ

นายเอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงาน จัดรูปที่ดินกลาง ร่วมกับกรมที่ดิน เตรียมการรังวัดแปลงที่ดิน รองรับการออกโฉนดที่ดินใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในปีงบประมาณ 2555 ในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี หนองคาย ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุทัยธานี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ หลังขั้นตอนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ และถนนแล้วเสร็จ โดยจากเดิมเมื่อเกษตรกรยื่นคำขอออกโฉนด กรมที่ดินจะเข้าไปดำเนินการสำรวจรังวัด และออกโฉนดเป็นรายๆ ไป กระโดดข้ามแปลงไปมา ในขณะวิธีการใหม่ กรมที่ดินจะสำรวจรังวัด ปักหลักเขตรวดเดียวเป็นหน้ากระดานทั้งโครงการล่วงหน้า เมื่อเกษตรกรยื่นคำขอออกโฉนดก็สามารถออกโฉนดให้ได้ทันที

“เป็นการทำงานเชิงรุก โดยกรมที่ดินสำรวจรังวัดปักเขตไว้ก่อน ตลอดทั้งโครงการ เกษตรกรยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินเมื่อไหร่ ก็ออกได้เลยเมื่อนั้น ซึ่งจะลดความยุ่งยากลงได้ ทั้งระยะเวลา และงบประมาณ เกษตรกรเองได้รับโฉนดรวดเร็วขึ้น เพราะกรมที่ดินมีทุกอย่างในมืออยู่ก่อนแล้ว”

สำหรับค่าใช้จ่ายในการออกโฉนดที่ดินใหม่ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายแทนโดยเจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย ขณะนี้ ทั้งประเทศมีพื้นที่จัดรูปที่ดินแล้ว 1.89 ล้านไร่

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เกษตรฯจัดงาน5ธ.ค.‘วันดินโลก’ ประกาศพระเกียรติคุณในหลวง

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นที่ประจักษ์อย่างกวางขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ กระทั่งสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (IUSS : the International Union of Soil Science) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Science) เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และได้ขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 11-15 มิถุนายน 2555 ที่ประชุมองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ประกาศสนับสนุนและร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งวันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกๆ ปีโดยวันที่ 5 ธันวาคม ของปีนี้ FAO ได้กำหนดจัดให้มีการเฉลิมฉลองที่สำนักงานใหญ่ FAO ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมฉลองวันดินโลก โดยกระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักจัดงาน “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมและดินโลก 5 ธันวาคม” ระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยกิจกรรมภายในงานฯ ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและการบรรยายพิเศษ ซึ่งในส่วนของนิทรรศการการจัดแสดงพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรดิน ทั้งรูปแบบโปสเตอร์ การแสดงของจริงและแบบจำลอง โดยแสดงพระราชกรณียกิจในภาพรวมที่ทรงปฏิบัติในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ ดิน และการเกษตร ตามแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ดิน และการแก้ไขดินปัญหาต่างๆ เช่น ดินเปรี้ยวจัด ดินตื้นและดินลูกรัง ดินทราย ดินที่ถูกชะล้าง และเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรดิน จนทำให้โลกยกย่อง ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โวยกีดกันการค้าบังคับซื้อเอทานอล

มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในการกำหนดสัดส่วนให้ผู้ค้าน้ำมันต้องรับซื้อเอทานอลจากกากน้ำตาล

อยู่ที่ 62% และเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ 38% เพื่อนำไปผสมเป็นแก๊สโซฮอล์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์คำนวณราคาซื้อขายเอทานอลใหม่ โดยใช้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนวัตถุดิบที่กำหนด

กำลังจะกลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ออกมาให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการกีดกันเสรีทางการค้า เนื่องจากปริมาณเอทานอลที่เพิ่มขึ้น 8-9 แสนลิตรต่อวัน ภายหลังจากยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นการบังคับให้ผู้ค้าน้ำมันต้องรับซื้อเอทานอลจากวัตถุดิบดังกล่าวตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ ไม่ปล่อยให้เป็นการแข่งขันอย่างเสรีเหมือนที่ผ่านมา ที่ผู้ค้าน้ำมันจะเลือกซื้อเอทานอลจากวัตถุดิบใดก็ได้ เท่ากับเป็นการกีดกันผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ไม่สามารถขยายตลาดหรือเพิ่มปริมาณการผลิตจากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ 1.2 ล้านลิตรต่อวันได้ เพราะถูกมติกบง.บังคับให้ผู้ค้าน้ำมันจะต้องไปรับซื้อเอทานอลจากมันสำปะมันแทนถึง 32 % ซึ่งทางฝั่งภาครัฐเองก็ออกมายอมรับว่า มาตรการดังกล่าวทำให้เอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาลเพิ่มขึ้นได้เพียง 1 แสนลิตรต่อวันเท่านั้น ขณะที่เอทานอลจากมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนลิตรต่อวันจากปัจจุบันจำหน่ายได้เพียง 2 แสนลิตรต่อวัน

ล่าสุดมีเสียงจากกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลแว่วมาว่า จะดำเนินการยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน และยื่นฟ้องกบง.ต่อศาลปกครอง กรณีกีดกันเสรีทางการค้า ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างการหารือกับสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ให้เป็นตัวแทนในการยื่นฟ้อง เพราะสมาชิกได้รับผลกระทบโดยตรง

โดยที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตเอทานอล อย่างนายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจพลังงาน บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลรายใหญ่ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 9 แสนลิตรต่อวัน และกำลังจะขยายโรงงานเพิ่มเป็น 1.1 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนมกราคมนี้ ออกมาโอดครวญให้ฟังว่า ผู้ผลิตเอทานอลมีความหวังที่จะขยายตลาดเอทานอล จากการยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ได้ แต่ต้องมาสะดุด กับมติกบง.ดังกล่าว เพื่อเป็นการระบายสต๊อกมันสำปะหลังจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล นำไปผลิตเป็นเอทานอลและออกมติ บังคับหรือขอความร่วมมือจากบริษัทน้ำมันก็ตาม ให้รับซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น

ส่วนตัวแล้ว มองว่าภาครัฐควรจะเปิดให้มีการค้าขายกันอย่างเสรีมากกว่า แข่งขันด้านราคาเหมือนที่เป็นอยู่ จะเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในราคาที่แพงขึ้นจากการน้ำมันสำปะหลังที่มีต้นทุนแพงมาทำเป็นวัตถุดิบ

สอดคล้องกับนายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอะโกร เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) มองว่ามติดังกล่าว กระทบต่อผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล หากความต้องการใช้เอทานอลในประเทศไม่เพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะไปใช้น้ำมันเบนซิน 95 ได้อยู่ จะทำให้บริษัทไม่มีโอกาสขยายยอดจำหน่ายได้ ขณะเดียวกันราคาเอทานอลที่กระทรวงพลังงานอ้างอิง เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง เป็นราคากลางที่ 20.25 บาทต่อลิตร เป็นระดับที่ต่ำเกินไป โดยการนำต้นทุนมันสำปะหลังที่ 2.50-2.60 บาทต่อกิโลกรัม กากน้ำตาลที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัมมาคำนวณ แต่ปัจจุบันราคากากน้ำตาลเพิ่มขึ้นกว่า 4 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ดังนั้นราคาเอทานอลควรอยู่ที่ 23-24 บาทต่อลิตร ถึงจะสมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ในฐานะนายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ได้ออกมาให้ความเห็นว่าเร็วเกินไปที่ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลจะฟ้องกระทรวงพลังงาน โดยได้ขอร้องสมาชิกไปแล้วว่า ให้รอดูความชัดเจนจากนโยบายดังกล่าวอีกสักระยะหนึ่ง เพราะเวลานี้เองการซื้อขายเอทานอลที่จะนำไปใช้ในไตรมาสแรกของปีหน้าได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว และทางกระทรวงพลังงานจะทดลองใช้วิธีดังกล่าวนี้เป็นเวลา 3 เดือน หากเกิดปัญหาขึ้นจริง หลังจากนั้นค่อยมาหารือว่าจะหาทางแก้ไขอย่างไร

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 ธันวาคม 2555

โวยกรมอุตฯยื้อเปิดรง.น้ำตาล

ม็อบอ้อย - เกษตรกรขับรถสิบล้อบรรทุกอ้อยนับร้อยคันจอดประท้วงหน้าโรงน้ำตาล มิตรผล อ.วังสะพุง จ.เลย เนื่องจากไม่สามารถนำอ้อยมาขายตามสัญญาได้ ขณะที่โรงงานชี้แจงติดขัดเรื่องใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 30 พ.ย.

วันที่ 30 พ.ย. ที่โรงงานน้ำตาลภูหลวง ของ บ.น้ำตาลมิตรผล จก. ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย มีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานในจังหวัดเลยกว่า 100 คน ขับรถบรรทุกอ้อยมาขายให้โรงงานดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 30 พ.ย. ปรากฏว่า เมื่อนำอ้อยมาขายให้โรงงานน้ำตาลดังกล่าว ได้รับการปฏิเสธการรับซื้อ โดยโรงงานน้ำตาลแจ้งว่า ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เปิด สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยเป็นอย่างมาก

นายไพโรจน์ ทันวงษา ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จ.เลย กล่าวว่า ทราบว่าทางโรงงานจะรับซื้ออ้อยในวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงพากันตัดอ้อยมาส่งขาย แต่โรงงานกลับไม่รับซื้อเพราะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงงาน ทำให้เกษตรกรคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง ทั้ง 2,447 ราย ปริมาณอ้อย 1,240,000 ตัน เสียหายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200 ล้านบาท

นางคะนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานโรงงาน บ.น้ำตาลมิตรผล จก. เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลมิตรผลมาลงทุนตั้งโรงงาน เป็นเงิน 2,040 ล้านบาท และก่อสร้างเสร็จแล้ว มีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อวัน พร้อมที่จะรับซื้อและเปิดหีบ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่อนุมัติ ใบรง.4 หรือใบอนุญาตจากกรมโรงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ปกติหากผ่านอีไอเอ ภายใน 3 เดือนจะอนุมัติแล้ว

นางคะนองกล่าวว่า สมาชิกของเราที่ขึ้นบัญชีไว้กับเรา 3,000 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดเลย และบางส่วนของ จ.หนองบัวลำภู เมื่อก่อนจะไปส่งที่โรงงานน้ำตาลภูเขียว ถ้าส่งที่นี่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายเกษตรกร 250 บาทต่อตัน หากเปิดโรงงานในพื้นที่เกษตรกรจะมีรายได้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายจากโรงงานหากเปิดไม่ได้จะเสียโอกาสจะเสียหายเฉลี่ย 4-5 แสนตันต่อเดือน

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม 2555

อุตฯเตรียมออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง

กรมโรงงานฯแจงปมไม่ออกใบอนุญาตโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง เหตุก่อสร้างก่อนได้รับอนุมัติ ด้าน"วิฑูรย์"สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อสรุป คาดออกใบอนุญาตได้สัปดาห์หน้า หลังกลุ่มชาวไร่ จ.เลย ชุมนุม ยื่นข้อเสนอให้รับซื้ออ้อยภายใน 3 วัน ขู่นำรถบรรทุกกว่า 100 คันกดดันที่ศาลากลางจังหวัด

วานนี้ (30พ.ย.) เกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.เลย ประมาณ 100 คน ได้มาชุมนุมหน้าโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง ถ.มลิวรรณ ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวงเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรภายใน 3 วัน

นายไพโรจน์ ทันวงษา ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จ.เลย กล่าวว่า สมาชิก 2,447 ราย เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง มีปริมาณอ้อย 1.24 ล้านตัน โดยโรงงานจะรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรในวันที่ 29 พ.ย. และเปิดหีบวานนี้(30 พ.ย.) เกษตรกรจึงตัดอ้อยมาส่ง แต่โรงงานไม่สามารถรับซื้อได้ หากไปส่งที่โรงงานมิตรผล อ.ภูเขียว ค่าขนส่งจะเพิ่มตันละ 200 บาท และอ้อยที่ทิ้งไว้นานน้ำหนักจะลดลงวันละ 100 กิโลกรัมต่อตันและค่าความหวานจะลดลง

"หากไม่รับซื้อภายใน 3 วัน เกษตรกรนับพันคนจะรวมตัวนำรถบรรทุกกว่า 100 คันไปที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อกดดันต่อไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวไร่จำนวนมากได้รับความ เดือดร้อน และยังมีค่าใช้จ่ายแรงงานที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้ว"

ด้านนายคะนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายโรงงาน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่สามารถรับซื้ออ้อยได้เป็นเพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4)

นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สาเหตุที่โรงงานมิตรภูหลวงยังไม่ได้รับใบ รง.4 เพราะติดปัญหาสร้างโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต จึงขัดพ.ร.บ.โรงงานที่กำหนดว่าต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจะก่อสร้างโรงงาน คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาใบอนุญาตโรงงานจึงขอให้เปรียบเทียบปรับเหมือนโรงงานอื่นที่สร้างอาคารโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต

นอกจากนี้ โรงงานมิตรภูหลวงยังห่างจากโรงงานของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นไม่ถึง 80 กิโลเมตร จึงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเงื่อนไขการตั้งโรงงานน้ำตาลกำหนดว่าต้องห่างกันอย่างน้อย 80 กิโลเมตร

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) หาแนวทางแก้ปัญหาโรงงานน้ำตาลใหม่ 4 แห่งที่ยังไม่ได้ใบ รง.4 โดยกรมโรงงานฯจะพิจารณาเงื่อนไขการตั้งโรงงานน้ำตาลตาม พ.ร.บ.โรงงาน ส่วน สอน.จะพิจารณาการจัดสรรอ้อยในฤดูกาลผลิต 2555/56 ให้โรงงานน้ำตาล และพิจารณาเงื่อนไขการตั้งโรงงานตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ปลูกอ้อยของโรงงานใหม่ ระยะห่างของโรงงานน้ำตาลใหม่กับโรงงานที่มีอยู่เดิมต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อย

"ถ้าโรงงานใหม่ทั้ง 4 แห่งไม่ขัดเงื่อนไข จะออก รง.4 ได้ภายในสัปดาห์หน้า แม้จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับใบอนุญาตทันที โดยกระทรวงฯจะเร่งพิจารณาเพราะชาวไร่กังวลว่าเมื่อตัดอ้อยแล้วแต่โรงงานไม่รับ จะทำให้อ้อยเสียหาย"

สำหรับโรงงานใหม่ 4 แห่งที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต รง.4 คือ โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย โรงงานไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี โรงงานมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี และโรงงานมิตรภูหลวง จ.เลย

โรงงานมิตรภูหลวง ยังไม่ได้ใบ รง.4 เพราะสร้างโรงงานก่อนได้รับใบอนุญาต


จาก
www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555