http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2558)

 

ไทยร่วมถกชาติน้ำโขงตอนล่าง ริเริ่มความร่วมมือพัฒนาภาคการเกษตร

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก.ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 8 (8th Lower Mekong Initiative Regional Working Group: 8th LMI RWG) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อร่วมกันหารือในประเด็นคาบเกี่ยวของเสาหลักต่างๆ ใน LMI ทั้งประเด็นความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร และพลังงาน และประเด็นที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ไทย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศ Friends of Lower Mekong (FLM) เข้าร่วมประชุมด้วย ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ตลอดจนสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจข้ามชาติอย่างโคคา–โคล่า

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความมั่นคงด้านน้ำในภูมิภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงานจากการนำมาใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานการผลิตภาคการเกษตร รวมถึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิงและถ่านหิน อีกทั้ง ยังมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่า เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ริเริ่มความร่วมมือกันในการวางแผนและตัดสินใจในการกำหนดนโยบายร่วมกัน ด้วยการสนับสนุนด้านความรู้ ข้อมูล ผลงานวิชาการ และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญจากทางสหรัฐอเมริกาและ FLM

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคในเสาหลักต่างๆ ได้แก่ เสาเกษตรและความมั่นคงอาหาร เสาความเชื่อมโยง เสาความมั่นคงด้านพลังงาน เสาสิ่งแวดล้อมและน้ำ และเสาสาธารณสุข โดยในส่วนของเสาเกษตรและความมั่นคงอาหารนั้น มีประเทศเมียนมาเป็นประเทศนำ (Lead Country) ของเสาดังกล่าว ซึ่งได้เสนอให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการทำเกษตรแบบยั่งยืน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สามารถรองรับต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์ของเกษตรรายย่อย ตลอดจนให้เกษตรกรสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ตร.กำแพงเพชรคุมเข้มรถอ้อย ห้ามวิ่ง 31 ธ.ค. 58-3 ม.ค. 59  

         กำแพงเพชร - ตำรวจภูธรเมืองกล้วยไข่คุมเข้มรถบรรทุกอ้อยช่วงปีใหม่ ห้ามวิ่งช่วง 31 ธ.ค. 58-3 ม.ค. 59 ทั้งเส้นทางสายหลัก-สายรอง ป้องกันอุบัติเหตุจนเกิดเจ็บ-ตายซ้ำซาก

               พล.ต.ต.ดำรง เพ็ชรพงษ์ ผบก.ภ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ได้วางมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ-อันตรายจากรถบรรทุกอ้อยอย่างเข้มข้น เนื่องจากมักจะเกิดอุบัติเหตุ คนขับรถยนต์ไปชนกับท้ายรถบรรทุกอ้อยจนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นประจำทุกปี

               ทางตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรจึงขอความร่วมมือทั้งโรงงานน้ำตาล-สมาคมชาวไร่อ้อย ไม่ให้รถบรรทุกอ้อยหยุดวิ่งบนเส้นทางหลัก และเส้นทางรอง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 58-3 ม.ค. 59 เพื่อให้ประชาชนขับรถสัญจรผ่านไปมาได้อย่างสะดวก เป็นการลดการเกิดอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง

               เมื่อผ่านพ้นช่วงดังกล่าวแล้ว ถ้าหากมีการวิ่งรถอ้อยก็จะมีการตรวจสอบต่างๆ โดยมีการกำหนดมาตรการหลายๆ อย่างเกี่ยวกับรถอ้อยทั้งในเรื่องของการติดธง หรือป้ายผ้าที่ท้ายรถที่สามารถมองเห็น และสังเกตได้ชัดเจน พร้อมกับติดไฟด้านข้าง ด้านท้ายให้ชัดเจน ส่วนอ้อยที่มีลักษณะเป็นท่อน ผู้ประกอบการต้องมีผ้าคลุมไว้เพื่อไม่ให้อ้อยตกหล่น

               ขณะเดียวกัน สมาคมชาวไร่อ้อยก็มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แขวงการทาง และมีความตกลงที่จะช่วยกันหาแนวทางร่วมกันป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ และได้ประสานงานไปยังผู้ประกอบที่ทำอ้อยตกหล่นตามท้องถนน ก็จะมีรถพร้อมกับเจ้าหน้าที่สมาคมชาวไร่อ้อยคอยเก็บเศษอ้อยที่ร่วงหล่น เพื่อไม่ให้กีดขวาง และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อรรชกาสั่งรับมือภัยแล้งปี59หวั่นกระทบโรงงานผลิตชี้ภาคเหนือ-อยุธยา

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาห กรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งติดตามภาวะภัยแล้งในปี 59 อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนน้ำ เบื้องต้นได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้เตรียมน้ำบาดาลสำรองไว้ใช้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน รวม ถึงการรีไซเคิลน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ การประหยัดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต โดยภาพรวมมั่นใจว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรม จะมีใช้เพียงพอไม่กระทบต่อกระบวนการผลิตแน่นอน

          "กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประสานงานกับทุกส่วน โดยเฉพาะกรมชลประทานที่พบว่าภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหาน้ำในช่วงแล้งปีหน้าเพราะมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับ ส่วนที่อื่น ๆ ก็มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการไว้แล้วโดยเฉพาะภาคเหนือและกลาง"

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กนอ.หามาตรการรองรับปัญหาภัยแล้งปี 59 ซึ่งผลวิเคราะห์ความเสี่ยงนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบคือ นิคมอุตสาหกรรม ภาคเหนือ จ.ลำพูน และนิคมอุตสาหกรรมภาค กลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชนที่ จ.พระนคร ศรีอยุธยา เนื่องจากเขื่อนหลัก 2 แหล่ง คือ เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ที่จะป้อนน้ำให้กับลุ่มน้ำเจ้า พระยามีปริมาณต่ำการระบายน้ำลงสู่เจ้าพระยาจึงมีปริมาณจำกัดในช่วงฤดูแล้ง

          สำหรับแนวทางการรับมือได้แก่ การส่งเสริมให้นำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล, การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง, การนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเสริม โดยในโซนพื้นที่ภาคกลางนิคมฯ แถบ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้มีการประสานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาบ่อบาดาลที่ปิดใช้งานให้เตรียมพร้อมการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ประมาณ 30-40% ของการใช้น้ำภาพรวมของนิคมฯ

          ส่วนนิคมฯ ภาคเหนือลำพูน กนอ.เตรียมมาตรการรับมือ ด้วยการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการขุดบ่อบาดาลใน นิคมฯ เดิมที่มีความลึก 200 เมตร มีน้ำบาดาล 300 คิวต่อวันได้เพิ่มความลึกเป็น 300 เมตร เพื่อให้ได้น้ำเพิ่มเป็น 500 คิวต่อวัน โดยจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อที่เตรียมไว้เพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อรวมกับน้ำรีไซเคิล และการประหยัดจึงมั่นใจว่าไม่มีปัญหา

          "ต้องระวังนิคมฯ ลำพูน เป็นพิเศษ เพราะขณะนี้นักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในนิคมฯ มีความกังวลมาก ซึ่ง กนอ.ได้หามาตรการรองรับแล้วก็ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นและเราก็ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนภาคตะวันออกน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก ๆ ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่มีปริมาณมากพอและยังมีอ่างประแสร์เป็นสำรองได้อีก "

          นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บมจ. ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์  กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 59 นั้นภาคตะวันออกจะไม่มีผลกระทบต่อภาวะการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทอีสวอเตอร์ได้เตรียมน้ำไว้รองรับเต็มที่ระดับทั้ง 3 อ่าง คือ ดอกกราย หนองปลาไหล คลองใหญ่ รวมกัน 94% หรือ 260 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจาก 240 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นนักลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังเป็นห่วงเรื่องของน้ำกร่อยที่อาจเกิดขึ้นได้

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบกิจการโรงงานแล้ว จำนวน 279 โรงงาน จาก 38 ประเภทอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณน้ำทิ้งออกจากโรงงานมากกว่า 500 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันหรือโรงงานที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์แล้วให้หาแนวทางลดการใช้น้ำในการประกอบกิจการโรงงานและให้ลดหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 59 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ

          ทั้งนี้มี 38 ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม

          นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมแป้งมันและอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ มีจำนวน 1,131 โรงงาน แบ่งเป็นจำนวนโรงงานแยกตามแต่ละจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในปีหน้า เช่น กรุงเทพฯ มีทั้งหมด 302 โรง สมุทรปราการ 171 โรง นครปฐม 159 โรง สมุทร สาคร 137 โรง ปทุมธานี 55 โรง เชียงใหม่ 51 โรง นนทบุรี 43 โรง พระนครศรีอยุธยา 39 โรง นครราชสีมา 30โรง เชียงราย กำแพงเพชร 22 โรง นครสวรรค์ 19 โรง.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จับตาราคาน้ำมันต่อภาคเกษตร สศก. เผย ส่งผลบวกต่อจีดีพี ต้นทุนลด แต่ฉุดราคาอ่อนตัวลง           

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดบทวิเคราะห์ผลกระทบภาคเกษตร จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง เผย กรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไปอยู่ที่ระดับ 19.50 บาท/ลิตร ส่งผลทางบวกดึง GDP ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่ม 0.24 และช่วยต้นทุนการผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 11 แต่กระทบทางลบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลง

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีการใช้มากในภาคการขนส่งและภาคการผลิต ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 โดยมีราคาเฉลี่ย 24.83 บาท/ลิตร จากปี 2556 และ ปี 2557 ที่มีราคาเฉลี่ย 29.97 และ 29.69 บาท/ลิตร ซึ่งในปี 2559 คาดว่าจะมีการปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

          จากสถานการณ์ดังกล่าว สศก. ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซลที่มีต่อภาคเกษตรทั้งด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร ต้นทุนการผลิต และผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเปรียบเทียบกรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ลดลงจากระดับราคา 24.50 บาท/ลิตร ไปอยู่ที่ระดับ 19.50 บาท/ลิตร หรือลดลงร้อยละ 20 ซึ่งพบว่า ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร (GDP ภาคเกษตร) ส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.24 เนื่องจากการใช้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตขั้นกลางของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลง ย่อมส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรหรือมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตรมีทิศทางเพิ่มขึ้น

          ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมถึงผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ว่า การที่ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตรลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรมีทิศทางลดลงไปด้วย โดยพบว่า สาขาบริการทางการเกษตรมีต้นทุนการผลิตลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล รองลงมา คือ การทำประมงทะเลซึ่งมีการใช้น้ำมันดีเซลปริมาณมากในเรือประมงทะเล ส่วนการเพาะปลูกพืชและการเลี้ยงปศุสัตว์ ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำมันโดยตรงน้อย แต่จะได้รับผลทางอ้อมจากการที่ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอาหารสัตว์ มีราคาลดลง ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ พบว่า ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 11

          อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงนอกจากจะส่งผลทางบวกทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรลดลงแล้ว แต่กลับส่งผลทางลบทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจากการผลิตมีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งราคาสินค้าเกษตรบางชนิดมีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา รวมถึงอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่เป็นพืชพลังงานทดแทน หากแต่การปรับตัวลงของราคาสินค้าเกษตรจะเกิดขึ้นช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรต้องใช้ระยะเวลา ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปี 2559 เป็นการผลิตที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับสูงกว่าราคาที่คาดการณ์ในปี 2559 หากราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทำให้มีกำลังซื้อลดลงด้วย โดยกรณีของยางพารา ถือเป็นสินค้าเกษตรเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันค่อนข้างมาก เนื่องจากการผลิตยางสังเคราะห์ต้องใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบสำคัญ ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง โรงงานอุตสาหกรรมจะใช้พอลิเมอร์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบมากขึ้น ทำให้ความต้องการยางพาราลดลง ส่งผลราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : ไทยประกาศศักดาเวที‘โลกร้อน’ปารีส ดันลด‘ก๊าซเรือนกระจก’25%ภายใน15ปี

การเกิดขึ้นของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะถูกนับให้อยู่ในกลุ่มของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มิติของปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงประเด็นการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนด้านพลังงาน การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การเกษตร ปศุสัตว์ และการจัดการขยะของเสียต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องตื่นตัว หันมาให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันมากขึ้น

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าความกังวลของประเทศต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลเมื่อปี 2535 ประเทศต่างๆ ได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาที่เกิดจากความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 โดยปัจจุบันมีประเทศภาคี 195 ประเทศ และมีการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาต่อเนื่องทุกปี

ขณะที่ในปีนี้ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ได้จัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ และร่วมหารือในรอบการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของเวที COP21

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย โดยย้ำถึงการจัดทำ Action Plan ของประเทศที่จะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี ค.ศ.2030 หรือ 15 ปี อาทิ มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลหันมาใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการขนส่งทางถนนเป็นระบบราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ขจัดการรุกป่าพร้อมทั้งปลูกป่าเพิ่มเติม การทำแผนบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ จัดทำ Roadmap การลดหมอกควันเหลือร้อยละศูนย์ และที่สำคัญ คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมากว่า 50 ปีแล้วในรูปแบบ “ประชารัฐ” ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGO และประชาชน ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 ของสหประชาชาติ

“นอกจากนี้ ในฐานะที่ในปีหน้าประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มจี 77 และจีน ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศกำลังพัฒนา 134 ประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นในการเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือระหว่างประเทศภายในและภายนอกกลุ่มจี 77 ให้มีการดำเนินการจนบรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ผมเองก็ได้ให้ถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีบนเวที COP21 ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีและประเทศไทย โดยเฉพาะเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี ค.ศ.2030 ที่ต้องทำให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว

ด้าน นางสาวภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับวาระสำคัญซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกมาหารือ คือ การกำหนดข้อตกลงใหม่เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมาแทนที่ “พิธีสารเกียวโต” โดยต้องเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้บรรลุถึงข้อตกลง “Paris Agreement” มีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกันระดับโลก การกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เสริมศักยภาพให้กลไกความร่วมมือทางเทคโนโลยี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว หากมีการผลักดันให้ทุกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่แสดงความร่วมมือได้ ก็จะส่งผลดีในระยะยาว

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่อ่อนไหวต่อผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เห็นได้จากการเกิดภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการสร้างกรอบข้อตกลงที่ประเทศเหล่านี้ยอมรับได้ โดยที่ประเทศไทยก็ไม่เสียผลประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ”

อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า “Paris Agreement” เป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศมีพันธกรณีในการส่งเป้าหมายดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศและจัดส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% สำหรับปี 2030 ต่อที่ประชุม COP21 ดังนั้นสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อหลังจากนี้ คือ การขับเคลื่อนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และภาคการเกษตร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและนี่ยังเป็นภารกิจ “ลดโลกร้อน” ที่รอคอยการพิสูจน์จากคนไทยทุกคน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

'สั่ง3กระทรวงพาเกษตรลงพื้นที่ สำรวจปริมาณน้ำ-หวังลดปลูกข้าว

29 ธ.ค. 58 เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำในประเทศว่า นายกฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำรายละเอียดข้อมูลปริมาณน้ำของประเทศซึ่งพบว่ามีน้ำอยู่ทั้งสิ้น 21,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพียงพอต่อการใช้ปริมาณน้ำตั้งแต่ปี 58 ไปจนถึงเดือน ส.ค.-ก.ย. 59 ซึ่งต้องใช้ปริมาณ 18,000-19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเครื่องยืนยันว่าจะไม่ขาดน้ำ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้แต่ละส่วนใช้น้ำได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะการใช้น้ำด้านการเกษตร จึงรณรงค์ให้เกษตรกรเข้าใจว่ายิ่งปลูกข้าวมาก ราคาจะยิ่งต่ำลง และต้องใช้ปริมาณน้ำมากขึ้น ทำให้น้ำที่ใช้ในการอุปโภค บริโภคลดลง นายกฯ จึงให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเชิญภาคเกษตรดูแหล่งกักเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำให้เกษตรกรเข้าใจสถานการณ์น้ำมากขึ้น และเชื่อที่รัฐบาลรณรงค์ให้หันไปปลูกพืชอย่างอื่นมากกว่าการปลูกข้าว นายกฯ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องนี้ไปขยายผล และดำเนินรูปแบบดังกล่าวในการสร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ชูบทบาทภาคเกษตรแก้โลกร้อน ไทยถก‘COP21’ร่วมเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ส่งตัวแทนร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ “ร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก” หรือเรียกว่า“ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)” โดยตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน และจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุกๆ 5 ปี โดยหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้สัตยาบัน ซึ่งจะต้องมี อย่างน้อย 55 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศเหล่านั้นต้องมีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 55 ของโลกขึ้นไป ข้อตกลงดังกล่าว จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี ค.ศ. 2020

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมองค์กรย่อยว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยที่ 43 (The 43rd session ofSubsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA 43) โดยมีการเจรจาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เช่น ประเด็นการบ่งชี้มาตรการการปรับตัว โดยพิจารณาความหลากหลายของระบบการเกษตร ระบบความรู้ดั้งเดิม ระดับความแตกต่างของแต่ละประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนา และประเด็นการบ่งชี้ประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ สศก. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อคิดเห็นและบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

“กลุ่มน้ำตาล” หวังปีหน้าเงินบาทอ่อนดันธุรกิจฟื้น

“น้ำตาลครบุรี” มองราคาปีหน้าทรงตัวแต่ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ดันผลประกอบการปี 2559 ฟื้นตัวพร้อมปรับวิธีการปลูกอ้อยรับมือภัยแล้ง เล็งเดินเครื่องขอใบอนุญาตเอทานอล ด้านน้ำตาลขอนแก่นกำไรฮวบ 50% ผลประกอบการร่วงทุกกลุ่มธุรกิจ

นายรัฐวุฒิ  แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการขายและการตลาด บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมน้ำตาลปี 2559 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปีนี้หลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสามารถกลับมาอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ ได้จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 10 เซนต์ต่อปอนด์  โดยปัจจัยที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมน้ำตาลในไทยเติบโตได้ดีคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง

“ปีหน้าเราคาดว่าราคาน้ำตาลจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ แต่จะได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้ของธุรกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากปีนี้ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลงไปแรง ซึ่งใครที่พึ่งพิงกับการขายน้ำตาลอย่างเดียวจะเหนื่อยมาก”

ปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 อาจมีเรื่องภัยแล้งที่จะเข้ามากระทบบ้าง ซึ่งเรื่องนี้หลายภาคส่วนได้เตรียมรับมือแล้ว โดยชักจูงให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวและข้าวโพดมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะปลูกอ้อยจากความชื้นและสะสมสูง รวมถึงปรับรูปแบบการทำไร่อ้อยให้สอดคล้องกับภัยแล้งมากขึ้น 

สำหรับทิศทางบริษัทในปี 2559 ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง คาดจะมีปริมาณการหีบอ้อย 2.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 2.2 ล้านตัน ผลจากการขยายกำลังการหีบอ้อยที่พึ่งแล้วเสร็จ ทำให้ทิศทางรายได้ปีหน้าจากน้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพอาจปรับตัวลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลตอบแทนจากน้ำตาลอาจปรับตัวลดลงบ้าง ทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลที่น้อย

ทั้งนี้บริษัทยังมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้ากำลังการผลิต  35 เมกะวัตต์ ทำให้ยังรักษาการเติบโตของรายได้ได้โดยบริษัทมีแผนผลิตเอทานอล โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตคาดมีความชัดเจนปีหน้า หากดำเนินการได้สำเร็จจะช่วยกระจายความเสี่ยงดีขึ้น

นายจำรูญ  ชินธรรมมิตร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 815 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,626 ล้านบาท หรือลดลง 50 % หากพิจารณกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าใช้จ่ายบริหาร ดอกเบี้ยและภาษี รายธุรกิจนั้น ธุรกิจน้ำตาลมีกำไรลดลง 18%  ไฟฟ้าลดลง 21% และธุรกิจเอทานอลลดลง 10% ธุรกิจน้ำตาลในต่างประเทศ ยังมีผลขาดทุน

สาเหตุจากครึ่งปีหลังของปีนี้ ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดที่ 10.13 เซนต์ต่อปอนด์  ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยของครึ่งปีหลังลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก และเมื่อเทียบกับต้นทุนสินค้าการผลิต ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งปี ส่งผลให้กำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลครึ่งปีหลังลดลง และไตรมาส 4 อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์เมื่อเทียบกับบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้บริษัทบันทึกขาดทุนอัตราและเปลี่ยน 128 ล้านบาท

โดยผลประกอบการในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลลดลงเช่นกัน แต่ต้นทุนวัตถุดิบ อ้อยซึ่งบริษัทนั้นเป็นผู้เพาะปลูกเองได้มีการลงทุนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า 1 ปี เมื่อราคาน้ำตาลในปี 2558 ปรับลดลงทำให้ต้นทุนที่บันทึกไว้สูงกว่าราคาขาย ทำให้ธุรกิจน้ำตาลต่างประเทศขาดทุน

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในไตรมาส 4 มีการีหยุดซ่อมโรงงาน 2 เดือนที่จ. กาญจนบุรี ส่งผลให้การขายไฟปรับลดลง และรายได้การขายลดลง ต้นทุนต่อหน่วยจากการเพิ่มขึ้นจากการซ่อมแซม ต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายคงที่ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าในจ.ขอนแก่น ได้ดำเนินธุรกิจครบ 8 ปีสิ้นสุดการสนับสนุนทางภาษีของบีโอไอ รวมไปถึงราคาไฟฟ้าที่ขายในกับการไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยปรับตัวลดลงด้านธุรกิจเอทานอลที่มีผลประกอบการลดลง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ชูบทบาทภาคเกษตรแก้โลกร้อน ไทยถก‘COP21’ร่วมเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ส่งตัวแทนร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP 21) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 11 ธันวาคม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ “ร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก” หรือเรียกว่า“ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)” โดยตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน และจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุกๆ 5 ปี โดยหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้สัตยาบัน ซึ่งจะต้องมี อย่างน้อย 55 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศเหล่านั้นต้องมีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 55 ของโลกขึ้นไป ข้อตกลงดังกล่าว จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี ค.ศ. 2020

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมองค์กรย่อยว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยที่ 43 (The 43rd session ofSubsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA 43) โดยมีการเจรจาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เช่น ประเด็นการบ่งชี้มาตรการการปรับตัว โดยพิจารณาความหลากหลายของระบบการเกษตร ระบบความรู้ดั้งเดิม ระดับความแตกต่างของแต่ละประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนา และประเด็นการบ่งชี้ประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ สศก. จะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อคิดเห็นและบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ระดมสมองพัฒนาเครื่องจักรเกษตร

ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อใช้เป็นโจทย์ในการออกแบบเครื่องมือจักรกลเกษตรที่สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างตรงจุด อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผลงานของกรมวิชาการเกษตร สามารถตอบโจทย์การผลิตพืชของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดี ในพืชผัก ข้าวโพด อ้อย พริกถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วงน้ำดอกไม้ อาทิ การผลิตเครื่องขุดมันสำปะหลัง เครื่องแยกฝักข้าวโพด เครื่องแยกเมล็ดข้าวโพด เครื่องปลิดฝักข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เครื่องปลิดผลปาล์ม เครื่องกำจัดวัชพืชพร้อมใส่ปุ๋ยในร่องมันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งโรงตากพริกแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรมีแนวทางการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง ลดต้นทุนการผลิต มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพิ่มความสามารถในการผลิต ลดการใช้แรงงานในภาคการเกษตรได้ และสามารถตอบสนองการใช้งานของเกษตรกรได้ทุกกระบวนการ เนื่องจากเกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรทดแทนยังมีแนวโน้มไม่สูงเท่าที่ควร กรมวิชาการเกษตรคาดว่าจากการจะทำให้ได้รับรู้ความต้องการที่แท้จริงของเกษตรกรในพื้นที่ เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนางานวิจัยด้านเครื่องจักรกลเกษตรของไทย โดยกรมวิชาการเกษตร จะเน้นถ่ายทอดเครื่องจักรกลเกษตรต้นแบบให้แก่นายช่างในท้องที่ให้สามารถผลิตเครื่องจักรกลเกษตรได้เอง มีราคาถูก ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ก.อุตฯเกาะติดภัยแล้งปี'59ป้องรง.ขาดน้ำ 'มั่นใจมาตรการเอาอยู่หลังนักลงทุนเริ่มวิตก

กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งเกาะติดและหามาตรการรับมือภาวะภัยแล้งปี 2559 หวั่นกระทบการผลิตของโรงงาน โดยเฉพาะนิคมฯ ภาคเหนือ จ.ลำพูน และบริเวณ จ.อยุธยา ภาพรวมเบื้องต้นมั่นใจเอาอยู่ "กนอ." เตรียมสำรองน้ำบาดาลในทุกพื้นที่แล้วการันตีนักลงทุนญี่ปุ่นในนิคมฯ ภาคเหนือลำพูนหลังวิตกกลัวผลกระทบ ด้านอีสวอเตอร์ย้ำภาคตะวันออกไร้ปัญหา

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาห- กรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามภาวะภัยแล้งปี 2559 อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ภาคอุตสาห- กรรมขาดแคลนน้ำโดยเบื้องต้นได้มีการ เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้มีการเตรียมน้ำบาดาลสำรองไว้ใช้ หากเกิดกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการรีไซเคิลน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ การประหยัดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต โดยภาพรวมมั่นใจว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะมีใช้เพียงพอไม่กระทบต่อกระบวนการผลิตแน่นอน

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตฯได้มอบหมายให้กนอ.หามาตรการรองรับปัญหาภัยแล้งปี 2559 โดยได้วิเคราะห์ความเสี่ยงนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ในข่ายจะได้รับผลกระทบคือนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูนและนิคมอุตสาหกรรมภาคกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชนที่ จ.อยุธยา เนื่องจากเขื่อนหลัก 2 แหล่ง คือเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ที่จะป้อนน้ำให้กับ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณต่ำการระบายน้ำลง สู่เจ้าพระยาจึงมีปริมาณจำกัดในช่วงฤดูแล้ง

          สำหรับแนวทางการรับมือได้แก่ 1.การส่งเสริมนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิล 2. การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3. การนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาเสริม  โดยในโซนพื้นที่ภาคกลางนิคมฯแถบจ.อยุธยาได้มีการประสาน กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาบ่อบาดาลที่ปิดใช้งานให้เตรียมพร้อมการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ประมาณ 30-40% ของการใช้น้ำภาพรวมของนิคมฯ

          ส่วนนิคมฯภาคเหนือลำพูนกนอ. เตรียมมาตรการรับมือด้วยการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในการขุดบ่อบาดาลในนิคมฯเดิมที่มีความลึก 200 เมตร มีน้ำบาดาล 300 คิวต่อวัน ก็เพิ่มความลึกเป็น 300 เมตร เพื่อให้ได้น้ำเพิ่มเป็น 500 คิวต่อวัน โดยจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 บ่อ ที่เตรียมไว้เพื่อสำรองไว้ใช้เมื่อรวมกับน้ำรีไซเคิล และการประหยัดจึงมั่นใจว่าไม่มีปัญหา

          "นิคมฯลำพูนเราก็ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะขณะนี้นักลงทุนจากญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในนิคมฯดังกล่าวมีความกังวลมากซึ่งกนอ.ได้หามาตรการรองรับแล้วก็ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น และเราก็ยังต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ส่วนภาคตะวันออกน้ำอ่างเก็บน้ำหลักๆ ได้แก่ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่มีปริมาณมากพอและยังมีอ่างประแสร์เป็นสำรองได้อีก" นาย วีรพงศ์กล่าว

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบกิจการโรงงานแล้ว จำนวน 279 โรงงาน จาก 38 ประเภทอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณน้ำทิ้งออกจากโรงงานมากกว่า 500 ล้านลบ.ม.ต่อวัน หรือโรงงานที่มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์แล้วให้หาแนวทางลดการใช้น้ำในการประกอบกิจการโรงงาน และให้ลดหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงานในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.2559 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ

          นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 นั้นภาคตะวันออกจะไม่มีผลกระทบต่อภาวะการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากบริษัทอีสวอเตอร์ ได้เตรียมน้ำไว้รองรับเต็มที่ระดับทั้ง 3 อ่าง(ดอกกราย หนองปลาไหล คลองใหญ่) รวมกัน 94% หรือ 260 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจาก 240 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น นักลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าที่ จ.ฉะเชิงเทรา ยังเป็นห่วงเรื่องของน้ำกร่อยที่อาจเกิดขึ้นได้.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เตือนโรงงานตุนน้ำรับภัยแล้ง 

          โพสต์ทูเดย์ กรอ.แจ้งโรงงานเพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำ รับมือสถานการณ์น้ำขาดแคลนปีหน้า

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบกิจการโรงงาน 279 แห่ง ใน 38 ประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณการปล่อยน้ำทิ้งออกจากโรงงานรวมกันเกิน 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วัน โดยได้ขอให้โรงงานเหล่านี้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น การนำน้ำทิ้งมารีไซเคิลเพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559 เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

          นอกจากนี้ กรอ.จะขอความร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้น้ำมาก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษอุตสาหกรรม กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มฟอกย้อม กลุ่มแป้งมัน และกลุ่มฆ่าสัตว์ที่มี 1,131 แห่ง ให้ลดการปล่อยน้ำทิ้งออกจากโรงงานเช่นกัน

          "โรงงานที่มีพื้นที่มาก กรมได้แนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขุดเจาะน้ำบาดาล รวมทั้งจัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำฝนเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรอง" นายพสุ กล่าว

          นายพสุ ระบุว่า ได้รับรายงานจากกรมชลประทานว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2559 จะมีพื้นที่หลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ เป็นต้น

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะการจัดเตรียมแหล่งน้ำบาดาลในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน รวมถึงการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่

          "มั่นใจว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะมีใช้เพียงพอไม่กระทบต่อกระบวนการผลิต" นางอรรชกา กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลหนุน ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ

นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานภาพการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศไทย โดยภาพรวมแล้วยังถือว่าค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความแตกต่างของลักษณะทางภูมิศาสตร์และความจำเป็นในชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้แหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อผลิตไฟฟ้าเพียงแห่งเดียว คือ โรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพฝางอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าแบบ 2 วงจร ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพแบบ 2 วงจรแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ โรงไฟฟ้านี้ใช้น้ำร้อนจากหลุมเจาะในระดับตื้นโดยมีอุณหภูมิประมาณ 130 องศาเซลเซียส อัตราการไหล 16.5-22 ลิตรต่อวินาที มาถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำงานและใช้น้ำอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส อัตราการไหล 72-94 ลิตรต่อวินาที เป็นตัวหล่อเย็น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณปีละ 1.2 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง)

นายสุพจน์กล่าวว่า นอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้วผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นตามมาจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ คือ น้ำร้อนที่นำไปใช้ในโรงไฟฟ้าเมื่อถ่ายเทความร้อนให้กับสารทำงานแล้ว อุณหภูมิจะลดลงเหลือ 77 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการอบแห้ง และห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรได้

โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถานีทดลองพืชฝาง กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยการใช้ประโยชน์ดังกล่าวโดยการสร้างห้องอบและห้องเย็นขึ้นใช้งาน นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศระบบดูดละลายเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำร้อนที่ออกจากโรงไฟฟ้า ในการทำความเย็นสำหรับห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตรและห้องทำงาน ส่วนน้ำที่เหลือใช้แล้วยังสามารถนำไปใช้ในกิจการเพื่อกายภาพบำบัดและการท่องเที่ยวได้อีก ซึ่งกรมป่าไม้มีโครงการที่จะนำมาใช้ต่อไป

ท้ายที่สุดน้ำทั้งหมดซึ่งมีสภาพเป็นน้ำอุ่นจะถูกปล่อยลงไปผสมกับน้ำตามธรรมชาติในลำน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งได้อีกทางหนึ่ง ในแต่ละปีน้ำที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้า อ.ฝาง จะมีปริมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการอุปโภคและใช้ในการเกษตรได้ต่อไป

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กระทรวงเกษตรฯเร่งขับเคลื่อน 8มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

สถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้การกักเก็บน้ำในบางพื้นที่ของประเทศไทยไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถึงแม้จะมีการทำฝนหลวงไปก่อนหน้านี้ แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อการดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้กระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการดูแลเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น

8 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอ ครม. ไปนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรมาตรการที่ 1 จำนวน 971.9 ล้านบาท เพื่อการจัดหาปัจจัยการเกษตร และมาตรการ 2 จำนวน 206 ล้านบาท เพื่อการชดเชยดอกเบี้ย และเสนอการลดค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. เป็นระยะเวลา 1 ปี ในพื้นที่ ประมาณ 500,000 ไร่ และเสนอให้มีการลดดอกเบี้ยจาก 4% เหลือ 1% เป็นระยะเวลา 1 ปี ในส่วนของผู้เช่าซื้อที่ดินจำนวน 7,314 ราย ในส่วนของมาตรการอื่นๆนั้น บางหน่วยงานได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การจ้างงานเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งของกรมชลประทาน ที่ในขณะนี้มีการจ้างแรงงานแล้วทั้งสิ้น 880,846 คน สร้างรายได้ให้เกษตรกร เฉลี่ยคนละ 7,500 บาท นอกจากนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น เช่น ถั่ว ข้าวโพด และพืชชนิดต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ อีกทั้งยังมีการขุดบ่อน้ำบาดาล เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองให้กับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานอีกด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้มีการจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งได้วางโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชใช้น้ำน้อย กลุ่มเกษตรอื่นๆ และกลุ่มนอกภาคการเกษตร โดยจะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร จะได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และกำหนดหลักเกณฑ์การทำงานของโครงการฯ ทั้งนี้ การวิเคราะห์โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 จะเริ่มดำเนินการในระดับจังหวัดและจะเร่งพัฒนาเป็นระดับชาติต่อไป

หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบการดำเนินงานในพื้นที่ของตนเองนั้น มีหลายจังหวัดที่ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาโครงการจัดทำแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งระดับจังหวัด โดยเบื้องต้นในบางจังหวัดได้วาง 8 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการประเภทการจัดการแหล่งน้ำ 2.การผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 4.การลดความสูญเสียผลผลิต 5.สร้างแหล่งอาหารในชุมชน 6.พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ 7.ส่งเสริมอาชีพนอกการเกษตร และ 8.การจ้างงาน โดยโครงการทั้ง 8 โครงการ สอดคล้องกับ 8 มาตรการที่กระทรวงเกษตรฯได้เร่งดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายจังหวัดกำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรอยู่ อาทิ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จำนวน 315 ราย ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 ได้แก่ ปุ๋ยหมัก เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด วัสดุการเกษตรสำหรับทำน้ำหมักชีวภาพ เช่น ถังหมัก กากน้ำตาล สารเร่งพด.1 สารเร่งพด.2 วัตถุดิบ (สับปะรดและแตงโม) และค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้ในพื้นที่อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลุ่มเกษตรกรเพาะเห็ดฟางตำบลบ้านยางได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้าง คูระบายน้ำ และโครงการเพาะเห็ดฟางจากทลายปาล์ม

โดยเกษตรกรในพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืช ด้วยการเพาะเห็ดฟางจากทลายปาล์ม และอนาคตจะส่งเสริมให้มีการเพาะเห็ดหลินจือสีแดงควบคู่ด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกพืชของเกษตรกร ตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง เนื่องจากการเพาะเห็ดดังกล่าว สามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูแล้งจะให้ผลผลิตสูงกว่าช่วงปกติ

ด้าน นายจินดา ภู่อร่าม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งประมาณ 6-7 เดือน ของทุกปีที่ผ่านมา เมื่อไม่มีน้ำทำนา ก็แทบจะไม่มีรายได้เลย เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องออกไปรับจ้าง เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เกษตรกรบางรายอายุมากแล้วงานจ้างก็แทบไม่ค่อยมี แต่หลังจากที่โครงการนี้ของกระทรวงเกษตรฯเข้ามา เกษตรกรหลายรายในหมู่บ้านก็ให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการด้วยเป็นอย่างดี และได้เข้าร่วมตามมาตรการที่ 1 โดยการจัดหาปัจจัยการผลิตให้ ซึ่งให้เกษตรกรเลือกว่าจะทำอะไร เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ และเพาะเห็ด เป็นต้น โดยผมเองได้เลือกการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน เนื่องจากลงทุนน้อย ดูแลง่าย ให้ผลผลิตและสร้างรายได้เร็ว

“เราได้มีการรวมตัวกันของเกษตรกรในหมู่บ้าน จำนวน 30 ราย เพื่อเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน โดยได้รับการสนับสนุนก้อนเชื้อจากภาครัฐ รายละ 1,000 ก้อน ซึ่งเราได้มีการรวมตัวกันทำเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-7 ราย เมื่อขายผลผลิตได้ก็จะมีการปันผลกัน ปัจจุบัน

 เห็ดกำลังทยอยให้ผลผลิต โดยแต่ละกลุ่มสามารถเก็บเห็ดได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 40 กิโลกรัม ซึ่งจะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านในราคากิโลกรัมละ50 บาท ดังนั้นการเพาะเห็ดสามารถสร้างรายได้ให้แต่ละกลุ่มไม่ต่ำกว่าวัน 2,000 บาทเลยทีเดียว” นายจินดา กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

การค้าเชิงภูมิรัฐศาสตร์...เอาอย่างไรกับทีพีพี สร้างฐานแข็งแกร่งยั่งยืนและศักยภาพในการแข่งขัน

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ ทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) เป็นความร่วมมือทางการค้า และการลงทุนที่กำลังเป็นเรื่องถกเถียงกันทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ถึงผลดีผลเสียว่าควรจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ หลังจาก 12 ประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกไปก่อนหน้านี้ มีสหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน เปรู และชิลี

แม้แต่ในส่วนของสหรัฐเองที่มีพรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มมีเสียงต่อต้านมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ นางฮิลลารี คลินตัน ก็ไม่สนับสนุนข้อตกลงทีพีพีฉบับนี้ เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานสูงเหมือนที่เคยตั้งไว้ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา ทำให้กระบวนการพิจารณาเพื่อให้ สัตยาบันของสหรัฐ อาจไม่เร็วอย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศ

นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ยังรู้สึกไม่พอใจเนื้อหาของทีพีพี ชี้ว่าเอกสารฉบับสมบูรณ์ไม่ระบุมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม และไม่กำหนดเงื่อนไขที่จะรับรองว่า การจดสิทธิบัตรยาจะไม่ปิดกั้นโอกาสของคนยากจนในการเข้าถึงยารักษาโรค โดย จูดิต เรียส ซานฮวน จากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ชี้ว่า เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยา ซึ่งจะคงทำให้ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่ราคาปานกลางได้

นายไมเคิล บรูน ผู้อำนวยการเซียร์ราคลับ (Sierra Club) องค์กรสิ่งแวดล้อมในสหรัฐ ระบุว่า ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์คือหลักฐานชี้ชัดว่า ทีพีพีกำลังก่อความเสี่ยงให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มีคำว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) อยู่ในเนื้อหาของทีพีพีเลย ดังนั้น ทีพีพีจึงไม่คู่ควรจะเป็นข้อตกลงการค้าในศตวรรษที่ 21

ด้านนางลอรี วอลลาช ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังการค้าโลกภาคประชาชน กล่าวว่า ข้อตกลงนี้มีเนื้อหาเอนไปทางผลประโยชน์ของสหรัฐมากกว่า และเปิดโอกาสให้ศาลต่างชาติแทรกแซงกฎหมายในประเทศสมาชิก

ส่วนออสเตรเลียก็มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านทีพีพีอย่างเป็นทางการ พร้อมกับสร้างเฟซบุ๊ค “Australians Against The TPP” เนื่องจากมองว่าเงื่อนไขของทีพีพีเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ และมีความกังวลกับประเด็นความปลอดภัยในอาหารที่จะเอื้อต่อพืชจีเอ็มโอ รวมถึงสิทธิบัตรยาที่จะทำให้ราคายาพุ่งสูงขึ้นมากจนทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้

ขณะที่มาเลเซียต้องออกมาตรการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เต็มรูปแบบ และยกเลิกข้อจำกัดที่มิให้ สหภาพแรงงานประท้วง โดยเน้นไปที่ภาคการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจะมีการเปิดตลาดใหม่ สำหรับภาคการผลิตดังกล่าว สำหรับเวียดนามต้องอนุญาตให้มี การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และปฏิรูปแรงงานในหลายประเด็น เช่น อัตราค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มบทลงโทษหากมีการบังคับแรงงาน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามเห็นชอบตามข้อบังคับ เพื่อแลกกับการขยายเขตการค้า

ประเทศที่ยังไม่เป็นสมาชิกทีพี พี อย่างฟิลิปปินส์ ก็มีการเคลื่อนไหวด้วยความกังวล โดย เอ็ดวิน เฉิน ประธานสหพันธ์ผู้ผลิตสุกรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ทีพีพีจะทำให้ผู้เลี้ยงในท้องถิ่นได้รับผลกระทบ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศใหญ่ อย่างสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลียได้

ในฟากของประเทศไทย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) มองว่า ไทยไม่ควรเข้าร่วมทีพีพี โดยมองว่าไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งเรื่องยา และเรื่องเกษตร พร้อมกับระบุด้วยว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของทีพีพีอยู่ที่อเมริกากับญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นเรื่องของ Geo-politics และเห็นว่า ไทยควรวางรากฐานอนาคตเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบยั่งยืนเพื่อให้เกิดประโยชน์แบบเสมอภาคกัน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) หรืออาเซียน +6 เพื่อแก้ปัญหาการขาดอำนาจการต่อรอง

สอดคล้องกับที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่มองว่าไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนและอาเซียน +6 ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีประชากรใหญ่กว่าทีพีพี ส่วนเศรษฐกิจโลกปี 59 คาดว่า ขยายตัว 3.1% แต่การค้าระหว่างไทยกับอาเซี ยนยังอยู่ในระดับต่ำคิดเป็น 25% ของมูลค่าการค้าอาเซียนรวมที่ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงมองว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะขยายการค้าในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

กล่าวได้ว่า ทีพีพีเป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่งที่สหรัฐ นำมาใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน โดยเป็นทั้งเขตการค้าเสรี และสร้างมาตรฐานการค้าโลกใหม่ ด้วยมุ่งหวังในการกลับคืนมาเป็นผู้กุมชะตาเศรษฐกิจของประเทศในภาคพื้นแปซิฟิกดังนั้น RCEP จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ไม่น้อยหน้าทีพีพี

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ก็ตาม ภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องใส่ใจกับการสร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศ ให้สามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และศักยภาพในการแข่งขัน

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

1 ปีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไฟเขียว รง.4 ยอดตั้งโรงงาน 1 ล้านล้าน! 

          กระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ได้ผ่านการบริหารงานของนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และส่งไม้ต่อมายัง ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาดูแลการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ไปจนถึงการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ตลอดจนการควบคุมดูแลโรงงานไม่ให้มีการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

          เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

          โดยผลงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา ชี้ให้เห็นว่า ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป และวิสาหกิจชุมชน โดยสามารถเข้าไปสร้างทายาทวิสาหกิจได้จำนวน 294 ราย เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจได้จำนวน 170 ราย ทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนได้ถึง 45 ล้านบาท และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน 36.72 ล้านบาท

          พร้อมได้เข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 1.053 พันผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการได้ 2.66 พันคน ส่งผลให้มีมูลค่ายอดขาย 315 ล้านบาท ลดต้นทุนได้ 84 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้นำผู้ประกอบการไปทดสอบตลาดภายในประเทศจำนวน 12 ครั้ง สร้างรายได้ 215 ล้านบาท

          ปรับโครงสร้างอุตฯใหม่

          ส่วนที่ 2 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ได้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ โดยมีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมา พร้อมด้วยนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ผ่านการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

          ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีนั้น ได้เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขึ้นมาจำนวน 1.596 พันราย ช่วยสร้างสังคมผู้ประกอบการได้ 900 ราย สร้างมูลค่าการลงทุน 760 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานโดยรวมได้ 2.6 พันคน อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 154 กิจการ เพิ่มผลิตภาพได้ 1.931 พันกิจการ พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมได้ 65 กิจการ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการได้ 6.763 พันราย และพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ได้ 400 กิจการ ซึ่งช่วยให้มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น 2.55 พันล้านบาท ลดต้นทุนได้ 1.9 พันล้านบาท และลดของเสียได้ 1 พันล้านบาท และยังได้พัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 850 กิจการใน 5.828 พันราย คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านบาท ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจโดยรวมได้ 6.62 พันล้านบาท

          อนุมัติ รง.น้ำตาลลงทุนแสนล้าน

          นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ เพื่อดำเนินการในอีก 11 ปีข้างหน้า(2558-2569) โดยจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายจาก 11.34 ล้านตัน เพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน ผลิตเอทานอลจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 5.38 ล้านลิตรต่อวัน สามารถนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้าจาก 1.542 พันเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4 พันเมกะวัตต์ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 2 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2569

          ที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายเดิมได้ขอขยายกำลังการผลิตเข้ามาจำนวน 17 ราย ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.38 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ประกอบกับในเร็วๆ นี้ จะมีการอนุมัติการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขึ้นมาใหม่อีกประมาณ 12 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 2.4 ล้านไร่ โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท

          ไฟเขียว รง.4 เม็ดเงินลงทุนสะพัด

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนที่ 3 จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ได้ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงาน (รง.) 4 จากเดิม 90 เหลือเพียง 30 วัน ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นส่งผลดีกับผู้ประกอบการ ทำให้มีโรงงานที่ได้รับรง.4 จำนวน 9.598 พันราย มูลค่าเงินลงทุน 1.056 ล้านล้านบาท

          ขณะที่การลดขั้นตอนออกประทานบัตรเหมืองแร่ อาชญาบัตรสำรวจแร่ ได้มีการปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ได้รวม 154 ใบ ก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐ 3.7 พันล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนสำหรับการสำรวจแร่อีก 1.6 พันล้านบาท รวมถึงการลดขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ลงมา 15-26 วัน ทำให้มีการออกใบรับรองมอก.ไปแล้วจำนวน 6.217 พันฉบับ

          อีกทั้ง การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้มีการยกเลิกบัญชีท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมือง/ชุมชน/และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่นใน 51 จังหวัด ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

          จี้นำกากอุตฯเข้าระบบ

          ส่วนสุดท้ายนั้น จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.อรรชกา ยืนยันว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรมมี 2558-2562 ที่จะเร่งรัดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.8 หมื่นโรง นำกากเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% โดยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า มีโรงงานที่นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบแล้วจำนวน 5.1605 หมื่นโรงงาน คิดเป็น 75.6 % ของโรงงานทั้งหมด แบ่งเป็นกากอันตราย 1.3 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 25.75 ล้านตัน

          นอกจากนี้ ยังได้นำระบบจีพีเอส มาติดตั้งกับรถขนส่งกากอันตราย จำนวนประมาณ 3.3 พันคัน เพื่อเป็นการติดตามรถขนส่งไม่ให้นำกากไปทิ้งนอกพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะเริ่มทดสอบในเดือนมกราคมปีหน้า และคาดว่าจะสามารถใช้บังคับได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559

          ทั้งนี้ จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปเข้มงวดกับโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และมีโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาสามารถระงับการให้บริการโรงงานผู้รับกำจัดกากได้ 103 ราย และระงับการให้บริการบางส่วนจำนวน 23 ราย ส่วนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากที่ทำผิด สามารถจับกุมนำมาดำเนินคดีได้ 176 ราย

          อีกทั้ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ยังได้ศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมไว้ 6 แห่ง ใน 6 ภูมิภาค ใน 15 จังหวัด ซึ่งได้ส่งผลการศึกษาให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการในการตัดสินใจที่จะลงทุนของภาคเอกชนต่อไป รวมถึงขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการหาเอกชน ที่จะหาผู้ร่วมทุนกับเอกชนของทางญี่ปุ่น เพื่อมาลงทุนสร้างเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนราว 1.8 พันล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้า น่าจะสามารถคัดเลือกผู้สนใจได้

          ทั้งหมดนี้ ถือเป็นผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในรอบปีที่ผ่านมา โดยดร.อรรชกา ได้ทิ้งท้ายถึงผลงานที่เกิดขึ้นว่า ตัวเองมีความพอใจ หากคะแนนเต็ม 10 ผลงานที่ออกมาก็คงให้ที่ 9 คะแนน ส่วนอีก 1 คะแนนนั้น คงต้องไปแก้ไขเรื่องการร้องเรียนต่างๆ เพราะในแต่ละปีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ก.อุตสาหกรรมโชว์ผลงาน1ปีได้9เต็ม10 มั่นใจปีหน้าดันเงินลงทุนแตะ1ล้านล.

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลงานรอบ1 ปี ว่า หากจะให้คะแนน การทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมคงต้องให้ 9 คะแนน จาก 10 คะแนนเต็ม โดยอีก 1 คะแนนที่ยังไม่เต็ม เนื่องจากยังมีเรื่องร้องเรียนต่างๆ เข้ามาอยู่บ้าง แต่ก็ลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีต ทั้งนี้ในปี 2559 คาดว่าแผนงานกระทรวงจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากโดยคาดหวังว่าจะได้ในระดับ 1 ล้านล้านบาท หรือจะมีส่วนช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ 1-2%

“การลงทุนนี้จะรวมกับเม็ดเงินลงทุนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 4.5 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงจะมีเม็ดเงินสำคัญจากการลงทุนขยายและตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 1 แสนล้านบาท การยื่นขอตั้งโรงงาน (รง.4)การยื่นขอประทานบัตรผ่านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) และอื่นๆ“นางอรรชกา กล่าว

สำหรับผลงานรอบ 1 ปีนั้น กระทรวงได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้าน คือ 1.พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3.การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และ 4.การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเร่งรัดการออกใบอนุญาต รง.4 ให้เร็วขึ้น รวมถึงเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ส่วนภาวะอุตสาหกรรมปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2559 จะเติบโตอยู่ที่ 2% ซึ่งปรับตัวได้ดีกว่าปี 2558 ที่ GDP อยู่ที่ 0.5% โดยอุตสาหกรรมดาวเด่นที่คาดว่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในปี 2559 ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น 10.26% (2.15 ล้านคัน) อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น0.81% เป็นต้น

นางอรรชกากล่าวว่า อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งจะเป็นผลจากการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ (ปี 2558-2569) ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2559 ได้รับทราบ โดยภายใน 5 ปีข้างหน้าพื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้นจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่จะเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตันน้ำตาลทรายจาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน เอทานอลจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 5.38 ล้านตันต่อวัน สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นจาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์สร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 200,000 ล้านบาทเป็น 450,000 ล้านบาท

“ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีการส่งเสริมการขยายโรงงานและตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มโดยขณะนี้ได้อนุมัติส่วนของผู้ที่ขอขยายกำลังการผลิตแล้ว 17 ราย วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทและเร็วๆ นี้ เตรียมที่จะอนุมัติลงทุนตั้งโรงงานใหม่ 12 โรงงานเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท” นางอรรชกา กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปีหน้าโลกจะผันผวนหนัก ต้องเตรียมรับมือ..รายงานพิเศษ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกในปีหน้า จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญ 2 ประการ นั่นก็คือ หนึ่ง อัตราดอกเบี้ยของโลกเป็นขาขึ้น สอง กำลังการผลิตที่ล้นเกินของโลกต่อเนื่องมา 2 ปีเต็ม จะส่งผลให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบเพื่อการผลิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน เหมืองแร่ โลหะ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในตลาดซื้อขาย แสดงอาการของความไม่สามารถยืนรับกับภาวการณ์ขาดทุนให้ได้เห็นเป็นปีที่ 3 และอาจจะมีหลายกิจการขนาดใหญ่ของโลก ล้มทั้งยืน รวมทั้งการลดกำลังการผลิตกันอย่างขนานใหญ่

       ในประเด็นที่หนึ่ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 58 ที่ผ่านมา เป็นการเปิดศักราชที่ชี้ชัดถึงอัตราดอกเบี้ยของตลาดทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง และทั่วโลกต่างพากันรับรู้กับข่าวแล้วว่า ในปีหน้า เฟดจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี แม้ว่าเฟดจะกล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆขึ้น ก็ตาม แต่การที่เฟดคาดการณ์ในถ้อยแถลงว่า ในปีหน้าคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 1.375 % นั่นคือ การที่เฟดกำลังส่งสัญญาณว่า ในปีหน้ามีความเป็นไปได้สูงว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไตรมาสละครั้ง

      อันหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในทุกการประชุมสองครั้ง !การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากจะส่งผลให้ผู้ประกอบการทั่วทั้งโลก ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ตลาดเงินทั่วทั้งโลกผันผวนหนักขึ้นกว่าเดิม และทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่จะเผชิญปัญหากับเงินทุนไหลออกมากกว่า ที่มีการปรับขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในปีนี้เสียอีกครับ เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นหลายครั้งในปีเดียวและอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็จะขยับเข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นๆทั่วทั้งโลกมากยิ่งขึ้น มันจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกเข้าสหรัฐอเมริกามากขึ้น

     ประกอบกับปัจจัยสำคัญก็คือ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ฟื้นตัวอยู่เพียงประเทศเดียวในขณะนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจของโลกประเทศอื่นๆที่ชะลอตัวกันทั้งหมด ยิ่งกดดันให้เงินทุนไหลเข้าสหรัฐอเมริกา และเงินดอลลาร์สหรัฐฯยิ่งแข็งค่ามากยิ่งขึ้น

    การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นปัจจัยลบที่จะทำให้ราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งหมดของโลกลดลงอีก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ ทองคำ ทองแดง โลหะเงิน สังกะสี นิเกิลฯลฯ รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดที่ซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯและนั่นก็จะต่อเนื่องมาถึงประเด็นที่สองครับ

     ประเด็นที่สองก็คือ ขณะนื้โลกกำลังเผชิญกับภาวะกำลังการผลิตที่ล้นเกินต่อเนื่องมาถึง 2 ปีติดต่อกัน ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงถึงกว่า 60% ในปีนี้ และราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลดลงอีก 30% ในปีนี้ รวมทั้งยังเป็นการลดลงต่อเนื่องต่อไปถึงปีหน้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนสัญญาณถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าทั่วทั้งโลกที่กำลังเผชิญภาวะสินค้าล้นเกินความต้องการที่แท้จริงของโลกอย่างชัดเจน

    ดัชนีราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Commodities Indexes)อันเป็นดัชนีชี้วัดราคาสินค้าในตลาดซื้อขายล่วงหน้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโลหะ สินค้าทางด้านการเกษตร เพื่อใช้ในการผลิตทั้งหมด(อ้างอิง การจัดทำของBloomberg) ล่าสุด อยู่ที่ระดับ 156.06 จุด ลดลงจากเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมาถึง 28.68 % และเมื่อแยกเฉพาะโลหะออกมา เฉพาะโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ลดลงอย่างน่าตกใจ อาทิ ทองแดง ลดลงจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมาถึงเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ถึง 31.9% ราคาสังกะสีลดลง 38.68% ราคาอลูมิเนียม ลดลง 18.64% ราคาดีบุกลดลง 33.50% ฯลฯ และที่ฮือฮาที่น่ากังวลที่สุดก็คือ เหล็ก ซึ่งลดลงทำระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี นับเป็นการลดลงที่มากที่สุด ในบรรดาโลหะเพื่อการผลิตทุกชนิด

    สำหรับน้ำมันดิบคงมิต้องกล่าวถึงแล้วนะครับ เชื่อว่า ทุกท่านน่าจะทราบกันดีแล้ว ถึงราคาที่ลดลงอย่างแรง จนลงไปทำระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปีที่ระดับ 34.53 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา อันเนื่องจากปริมาณการผลิตของน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงล้นเกินตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก

     เพียงแต่ผมอยากบอกกับท่านผู้อ่านว่า เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา IEA หรือสำนักงานพลังงานสากล ออกรายงานประจำเดือนธันวาคม 2558 ออกมา พร้อมกับการแยกแยะให้เห็นถึงปริมาณความต้องการในตลาดโลกที่ตกต่ำ และการผลิตในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงมาเพียงเล็กน้อย ในขณะที่การผลิตของกลุ่มประเทศเปคเมื่อเดือนพฤศจิกายน ยังคงพุ่งขึ้นแตะระดับเหนือ 31 ล้านบาเรลต่อวัน นับเป็นปริมาณการผลิตที่สูงที่สุด ของบรรดา 12 ชาติสมาชิกโอเปค นับตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งกลุ่มโอเปคเป็นต้นมา

     จากประเด็นนี้ จึงยังสะท้อนสัญญาณว่า กลุ่ม 12 ชาติประเทศโอเปค ยังคงพยายามผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มปริมาณในการส่งออก ทดแทนกับราคาที่ตกต่ำลง โดยไม่สนใจมติของโอเปคที่กำหนดกำลังการผลิตเอาไว้ให้กับทุกประเทศสมาชิก

    ดังนั้น IEA จึงฟันธงว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงล้นเกินไปจนถึงสิ้นปีหน้า และ Fatih Birol กรรมการผู้อำนวยการของ IEA หรือสำนักงานพลังงานสากล กล่าวว่า การลดลงของราคาน้ำมันดิบอย่างแรง ส่งผลให้เขาเริ่มกังวลต่อการลงทุนในโครงการใหม่ๆในการผลิตน้ำมันดิบจำนวนมากที่ต้องหยุดชะงักลง และระบุว่า ในปีนี้โครงการลงทุนเพื่อขุดเจาะน้ำมันดิบลดลงถึงกว่า 20% เป็นจำนวนที่มากกว่าที่เขาเคยคาดการณ์เอาไว้อย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่า ในปีหน้าก็จะลดลงเช่นนี้เช่นเดียวกัน

    “เราไม่เคยเห็นการลงทุนผลิตน้ำมันดิบทั่วทั้งโลกที่ลดลงถึง 2 ปีติดต่อกันในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา”เขากล่าวเหล่านี้ คือสัญญาณที่กำลังสะท้อนว่า ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือรวมทั้งสินค้าทุกชนิดในตลาดซื้อขายล่วงหน้ายังคงจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปีหน้า

     ดังนั้น สิ่งที่ทุกคน ต้องเตรียมตัวเตรียมใจก็คือ การที่เราอาจจะได้เห็นการล้มละลาย หรือการหยุดกิจการของกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ รวมทั้งผู้ผลิตโลหะรายใหญ่ที่สำคัญของโลกอีกครั้ง ดั่งที่มีสัญญาณชัดเจนถึงการไล่ปรับลดอันดิบเครดิตของบริษัทเหล่านี้ โดย มูดี้ส์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จากระดับ AAA ลดลงมาอยู่ในระดับใกล้ตำกว่า B กันหมดแล้ว ล่าสุด แองโกลอเมริกัน เจ้าของกิจการเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของโลก ถูกลดอันดับเครดิตลงมาเหลือเพียงระดับสูงกว่า JUNK หรือระดับขยะเพียงอันดับเดียวเท่านั้น

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ยื่นดาบท้องถิ่นคุมโรงงาน อุตสาหกรรมขาดทั้งงบประมาณ-บุคลากร      

      นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าของการถ่ายโอนภารกิจการดูแลโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้ อปท. สามารถดำเนินการได้ โดยภารกิจที่ได้ถ่ายโอนแล้ว ได้แก่ ด้านส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ส่งเสริมการลงทุนและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำให้ในปัจจุบันจึงยังคงเหลือภารกิจการดูแลโรงงานซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในบางส่วน และจะต้องดำเนินการต่อไป

          “ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ถ่ายโอนภารกิจการดูแลโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แก่กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2552 และเทศบาลทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2552 รวม 3 ภารกิจด้วยกัน คือการกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 การกำกับดูแลและการรับแจ้ง การประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 การตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ”

          สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 (โรงงานขนาดใหญ่) จะเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยในส่วนของการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 5,335 ราย ต้องรอความชัดเจนของการปรับโครงสร้าง อปท. ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างอยู่ในขณะนี้

          อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกันข้อมูลของ กรอ. ล่าสุดในเดือน ธ.ค. นี้ มีโรงงานที่เข้าข่ายการถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. กำกับดูแลมีจำนวน 60,410 ราย แบ่งเป็นโรงงานจำพวกที่ 1 จำนวน 42,439 ราย และโรงงานจำพวกที่ 2 จำนวน 17,971 ราย โรงงาน จำพวกที่ 3 จำนวน 75,340 ราย

          นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมไม่สามารถติดตามกำกับดูแลโรงงานทุกขนาดทุกโรงได้ เพราะด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ ทั้งยังมีภารกิจอื่น เช่น การส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ดังนั้น การกระจายอำนาจให้ อปท. ดูแลจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการถ่ายโอนภารกิจ มีอาทิ อปท. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น และจะมีบทบาทและได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในท้องถิ่น

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เร่งสางปัญหาหนี้สินเกษตรกร เกษตรฯส่งคืนเอกสารสิทธิสร้างหลักประกัน

พล.อ.ประสาท สุขเกษตร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการมอบเอกสารสิทธิที่ดินหลักประกันคืนให้เกษตรกรว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในปัจจุบัน มีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น นับเป็นภาวะวิกฤติที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป ปัญหาส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ ทั้งด้านกฎหมาย และการวางแผนบริหารจัดการเงิน ประกอบกับการไม่มีวินัยในตนเองในเรื่องการใช่จ่าย ส่งผลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตนเอง ครอบครัว และสังคม

ทั้งนี้ ศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ คณะวิทยากรหมอหนี้อาสาจาก “โครงการหญิง-ชายใจกล้า เผชิญหน้า เผชิญหนี้” ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร และประชาชนโดยทั่วไป ในการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิลูกหนี้ วิธีในการบริหารจัดการหนี้ และการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างแรกในการแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยตนเอง ประกอบกับในการลงพื้นที่ ได้มีการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ กรณีหนี้นอกระบบ จนทำให้เจ้าหนี้ยกหนี้ให้ จึงเป็นที่มาของการคืนโฉนดให้กับเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 12 ราย 14 แปลง แต่ยังมีกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

“ขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรจำนวน 12 ราย ที่ได้รับมอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินคืน จึงขอให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพ โดยยึดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสามรถดำรงชีพ เพิ่มพูนรายได้ และไม่เป็นหนี้ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบอีก ทั้งนี้ หากประสบปัญหาในกาประกอบอาชีพการเกษตร ให้ปรึกษาและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประจำอยู่ในจังหวัด” พล.อ.ประสาท กล่าว

อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งจัดตั้งศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบเป็นไปอย่างมีสิทธิภาพ โดยการการบูรณาการจากทุกหน่วยงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้นอกระบบ โดยการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับเจ้าหน้าที่เป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและยืดเอกสารสิทธิที่ดินของเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ไว้เป็นหลักประกัน และลูกหนี้ชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเกินกว่าวงเงินตามสัญญากู้แล้ว จึงได้เจรจาขอคืนสิทธิ์ที่ดินที่ยืดไว้คืนจากเจ้าหนี้และขอยกเลิกหนี้ตามสัญญาหนี้ดังกว่าวแล้วเจ้าหนี้ยินยอมยกเลิกหนี้และให้เอกสารสิทธิที่ดินคืนให้กับลูกหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินกู้ใดๆ ให้กับเจ้าหนี้อีก ซึ่งสามารถรักษาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินไว้ให้กับเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 14 แปลง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เลาะรั้วเกษตร : ยกเลิกพ.ร.บ.จีเอ็มโอ.. ผิดหวังกับรัฐบาล

และแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยกเลิกร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ......หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าพ.ร.บ. จีเอ็มโอ โดยอ้างมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ด้วยเหตุผลที่ไม่คิดว่าจะเป็นเหตุผลจากรัฐบาลทหาร ที่แข็งกร้าวกับเรื่องต่างๆ มากมาย แต่กับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เหตุผลอ่อนปวกเปียก และไร้ซึ่งหลักวิชาการ จนอยากขอดูตัวผู้หาเหตุผลให้นายกแถลงเสียจริง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ครม.มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพพ.ศ......ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม ดูแลการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ให้เกิดความปลอดภัย และคำนึงถึงความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล

สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดใช้บังคับกับสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการดัดแปรพันธุกรรม หรือ ตัดแต่ง พันธุกรรม ที่ไม่ใช่อาหาร และยา ซึ่งมีกฎหมายอื่นควบคุมอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่งอีก 12 คน และ มีผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน10 คน เป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม กรรมการตั้งมากมายขนาดนี้ คงจะผ่านการพิจารณาอะไรไม่ได้ง่ายนัก

ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มผู้ต่อต้านพืชจีเอ็มโอ ที่ตั้งธงไว้แต่แรกแล้วว่า อะไรที่เกี่ยวกับ “จีเอ็มโอ” ต้องค้านไว้ก่อน และเป็นอย่างนี้มากว่า 20 ปี เหตุผลของการคัดค้านเป้าหมายอยู่ที่ผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ ที่จะผูกขาดการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชที่เกิดจากการดัดแปรพันธุกรรม....เป็นเหตุผลที่ใช้มาโดยตลอดเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

แต่การคัดค้านในครั้งนี้กลุ่มผู้ต่อต้านใช้กลยุทธ์ใหม่ แบบป่าล้อมเมือง ไม่ต่อต้านแบบลำพัง แต่พยายามหาแนวร่วมในต่างจังหวัด มีกลุ่มต่อต้านผุดขึ้นในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แม้เป็นคนจำนวนไม่มากนัก แต่อาศัยสื่อมวลชน และ โซเชียลมีเดีย สร้างกระแส ให้ดูเหมือนเป็นความวุ่นวายตีคู่มากับกระแสการต่อต้านอุทยานราชภักดิ์ แต่ในการต่อต้านไม่เคยเอาสาระของพระราชบัญญัติมาตีแผ่ให้กระจ่างกันแบบมาตราต่อมาตรา

ขณะเดียวกันฝ่ายราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอง หรือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เคยเป็นคู่ต่อสู้ (ด้วยหลักวิชาการ) กับกลุ่มผู้ต่อต้าน (ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมๆ) กลับเงียบกริ๊บ.....แบบกลัวเจ็บตัว ผู้สนับสนุน จีเอ็มโอ หลายท่านที่เคยมีบทบาทในอดีตก็เงียบหายเช่นกัน จึงเริ่มไม่แน่ใจว่า งานนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นข่าวอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่าง ๆ กว่าครึ่งเดือน พอที่จะทำให้กลุ่มเอ็นจีโอผู้ต่อต้านจีเอ็มโอได้สร้างผลงานในระดับที่น่าพอใจ ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ออกมาประกาศ เมื่อวันที่ ถ ธันวาคม 2558 ว่า ตนได้สั่งยกเลิกร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ.......หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.จีเอ็มโอ แล้วเพราะไม่เกิดประโยชน์...

นักวิชาการที่ร่ำเรียนมาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม ในระดับปริญญาตรี โทและเอกทั้งหลาย คงอยากจะร้องกรี๊ด.......เรียนแทบตาย หวังจะสร้างความก้าวหน้าให้วงการเกษตรในบ้านเรา มาถึงวันนี้ผู้นำประเทศบอกไม่เกิดประโยชน์....

ยิ่งในคำอธิบายเหตุผลที่ยกเลิกการพิจารณาพ.ร.บ. ฉบับนี้ ยิ่งไปกันใหญ่

นายกรัฐมนตรีบอกว่า ในต่างประเทศจะมีการนำพืชจีเอ็มโอมาใช้ในกรณีที่มีสงคราม หรือผลิตสินค้าเกษตรไม่ได้เพราะปนเปื้อน มีเชื้อโรคระบาด เพราะพืชเหล่านี้ป้องกันโรคระบาดได้ แต่ในบ้านเรายังไม่ชัดเจน ซึ่งพืชเหล่านี้ตัดแต่งพันธุกรรมมาเพื่อให้ใช้น้ำน้อย ต้านทานโรคได้ มีผลผลิตสูง ซึ่งอาจจะใช้ตอนมีสงครามโลกก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เกิดสงคราม แต่ก็ให้เตรียมไว้..

ใครหนอ...ที่ให้ข้อมูลแก่นายกรัฐมนตรี....ช่างไม่รักษาหน้ากันบ้างเลย...

หลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย...ประเทศเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม แต่ปลูกพืชจีเอ็มโอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารอให้มีสงครามแล้วนำพืชจีเอ็มโอมาใช้...กลุ่มต่อต้านก็ค้านอีกท่ามกลางสงคราม... เพราะเขาเกิดมาเพื่อค้านพืชจีเอ็มโอโดยเฉพาะ ไม่เชื่อก็คอยดู...(มีคนบอกว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำตามประเทศอื่น ที่จริงประเทศไทยศึกษาและทดลองพืชจีเอ็มโอมาก่อนประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านหลายปี แต่ไปไม่ถึงดวงดาวเสียที)

บ้านเราชัดเจน...ชัดเจนว่า...ถ้ามีการเคลื่อนไหวเรื่องพืชจีเอ็มโอเมื่อไร กลุ่มต่อต้านจะออกมาทันที หรือถ้าไม่มีการเคลื่อนไหว ก็จะมีการสร้างกระแส สร้างเรื่องมาให้เป็นข่าว เพื่อสร้างผลงานของกลุ่มเป็นงานประจำ....

ถึงวันนี้ ก็ชัดเจน...ชัดเจนว่าแม้แต่รัฐบาลทหารก็ยังไม่กล้ารบแตกหัก กับจีเอ็มโอ...ไม่รู้ว่ากลัวอะไร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

‘เอกชน-นักวิชาการ’ หนุน รัฐผุดเขตเศรษฐกิจ

 ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี กับการผลักดันนโยบาย “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ล่าสุด... เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนชัดเจนหลังจากรัฐบาลประกาศเขตพื้นที่พัฒนาออกมา 10 แห่ง ย่านตะเข็บชายแดนเพื่อนบ้านพร้อมกับตั้งเขตเศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยปักธงดูดอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพลิกโฉมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่สิทธิประโยชน์พิเศษดึงดูดใจนั้น ภาครัฐเองจัดเตรียมไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะรอก็เพียงแต่ภาคเอกชนเองว่า พร้อมตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่

สัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มา “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” ได้นำเสนอรายละเอียดที่รัฐบาลพยายามปั้นให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และรวดเร็วตั้งแต่การประกาศเขตพื้นที่ กำหนดราคารูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จำเพาะเจาะจงอุตสาหกรรมรวมไปถึงสิทธิพิเศษที่หลายหน่วยงานเตรียมประเคนให้แล้ว ในสัปดาห์นี้ลองมาฟังความเห็นของหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งเอกชน และนักวิชาการกันบ้างว่า พวกเขาเหล่านี้มองเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอย่างไรกันบ้างภายหลังจากภาครัฐเร่งผลักดันมาเป็นเวลาปีกว่า ๆ แล้ว เริ่มจากภาคเอกชนภาคใหญ่หาช่องลงทุนอื่นควบคู่

“อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานสภาหอการค้าไทย บอกว่าการผลักดันพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของภาครัฐให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมนั้น นอกจากการส่งเสริมเรื่องของภาคอุตสาหกรรมแล้วจะต้องส่งเสริมการลงทุนอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องการค้า ธุรกิจสุขภาพและการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม

ขณะเดียวกันภาครัฐควรมองถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีทักษะการค้าข้ามแดนมากขึ้น เพราะจะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เติบโตไปด้วยกันและผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะได้มีช่องทางการค้ามากขึ้นอ้อนหนุนยานยนต์

“สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือส.อ.ท. บอกว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้ไฟเขียวนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนก็เป็นหนึ่งในนั้น

ล่าสุดได้เร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศอย่างเร่งด่วน และตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วยการเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมายนำร่องเช่นเดียวกับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมต่อตัวถังรถยนต์รวมทั้งการผสมคอนกรีต กระบะบรรทุก และตู้ห้องเย็น ให้ได้รับการสนับสนุนภายใต้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบของคลัสเตอร์อีกด้วยแนะต้องศึกษารอบด้าน

“เสาวรัจ รัตนคำฟู” นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เผยว่า นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นรัฐบาลต้องศึกษาให้รอบด้าน ทั้งประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยต้องทำอย่างเหมาะสมและรอบคอบ รวมถึงยุทธศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ต้องตอบโจทย์ให้ชัดเจนเพราะปัจจุบันไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ประเทศปานกลางจึงต้องยกระดับการแข่งขันเพราะยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงส่วนหนึ่งที่เป็นตัวช่วยคือแรงงานราคาถูก

ดังนั้นปัจจุบันประเทศไทยควรมุ่งเน้นไปที่การศึกษาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศ “โครงการที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นดีอยู่แล้ว อย่างเช่นโครงสร้างพื้นฐาน ถนนการขนส่ง และยังมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จให้นักลงทุนแต่ปัญหาที่ตนเองมองเห็นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเครื่องมือในการใช้แรงงานเข้มข้นเพราะประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องค่าจ้างแรงงานราคาถูกอย่างเช่น ธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม โดยโอนให้ประเทศเพื่อนบ้านทำ ตัวอย่างเช่น การตัดเย็บ แต่ในส่วนของประเทศไทย ควรจะเน้นเรื่องมูลค่าเพิ่มขั้นตอนที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น การตลาด การออกแบบ”คนพื้นที่ตื่นตัวมาก

“บุญญะ พัฒน์จันทรอุไร” รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มองว่า ภาคเอกชนในจังหวัดกาญจนบุรีมีการตื่นตัวพอสมควรในเรื่องการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการได้รับการประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของกาญจนบุรีแต่คาดว่า ปัญหาสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมก็คือ การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือโดยในปัจจุบันบางโรงงานที่มีการลงทุนอยู่แล้วก็ไม่สามารถหาแรงงานได้เพียงพอต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อทำการผลิตคาดว่าในเบื้องต้นจะมีการขาดแคลนแรงงานฝีมือในพื้นที่อีกประมาณ 1,000 ตำแหน่งอย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดก็คือการเก็งกำไรราคาที่ดิน

ซึ่งแม้ว่าในความเป็นจริง จ.กาญจนบุรีมีพื้นที่ที่สามารถออกโฉนดซื้อขายอย่างถูกกฎหมายได้เพียง 1% แต่มีนักลงทุนจำนวนมากที่หาซื้อเอกสารครอบครองที่ดินสำหรับทำกินซึ่งไม่ใช่ในรูปโฉนดโดยเฉพาะในพื้นที่ที่บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ และใกล้กับเส้นทางคมนาคมหลักในจังหวัดโดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ดินศักยภาพ เช่น ที่ติดถนนใหญ่ ราคาเพิ่มจากไร่ละ 20,000 บาท เป็น 2 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคายังอยู่ในระดับสูงแม้จะมีการประกาศเวนคืนที่ดินหรือนำที่ดินราชพัสดุของรัฐมาให้เอกชนเช่าสำหรับลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วก็ตาม

สำหรับหลากหลายความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นที่ยกมานำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งงานหลาย ๆ อย่างหรือหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ารัฐเองก็ต้องพยายามหาทางปิดช่องโหว่เหล่านั้นให้ได้ เพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นได้เต็มรูปแบบเสียที.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ภาคเกษตรไทยเตรียมพร้อม

ทำกินถิ่นอาเซียน : ภาคเกษตรไทยเตรียมพร้อม : โดย...อาหมัด เบ็ญอาหวัง

                      นับจากนี้ไปอีก 6 วันข้างหน้า กลุ่มประเทศสมาชิกในอาเซียนกำลังจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ที่สามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน คนงานที่มีฝีมือ และเงินทุนภายในอาเซียนได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขในการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี

                      ทุกประเทศเชื่อว่าจะมีการเตรียมพร้อมกันแล้ว ในส่วนของประเทศไทย ภาคการเกษตรนั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศก่อนหน้าชัดเจนแล้วว่า ได้เตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยดำเนินการตามเป้าหมายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการเป็นตลาด และฐานการผลิตเดียวกัน ซึ่งมีการดำเนินการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตามพันธกรณีของประชาคมอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (เออีซี บลูปริ๊นท์) 2.ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดเพิ่มเติม

                      เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การลดภาษีและขยายโควตาสินค้าเกษตร ซึ่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว 2. การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ซี่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2558 จำนวน 23 รายการ ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ มาตรฐานสินค้าพืชสวน ที่ได้มาตรฐาน ASEAN GAP (ASEAN Good Agriculture Practice (การทำการเกษตรที่ดี)

                      ในส่วนภายในประเทศเราเอง ได้ออกกฎกระทรวงเกษตรฯ เพื่อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นมาตรฐานบังคับฉบับแรกของประเทศไทย ที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศบังคับใช้ เพื่อควบคุมกระบวนการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป

                      ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้กระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างแพร่หลาย เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ให้คงความสดและสามารถวางจำหน่ายในตลาดได้นานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไย ทำให้มีโอกาสที่สารชนิดนี้จะตกค้างเกินค่ามาตรฐาน อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมกระบวนการรมเพื่อไม่ให้มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินกว่าข้อกำหนดตามกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และยังสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ไทยด้วย

                      ฉะนั้นผู้ประกอบการโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทุกขนาด ทั่วประเทศกว่า 110 แห่ง ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรฐานนี้ โดยผู้ประกอบการ โรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกผลไม้ ที่มีการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรเเละอาหารแห่งชาติ หรือมกอช.ก่อน

                      เช่นเดียวกันกับโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้องขอการตรวจรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยตรวจ/หน่วยรับรองเอกชนที่ส่วนราชการรับรอง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 นี้

                      ขณะที่ ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการ มกอช.ก็ฝากย้ำมาว่า ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกผลไม้ โดยเฉพาะลำไย ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยเฉพาะโรงรม ห้องรม ระบบบำบัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและหลักปฏิบัติ ต้องเร่งปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดด้วย

                      ที่สำคัญต้องมีกระบวนการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์อย่างถูกต้องและถูกวิธี โดยเฉพาะโรงรมลำไยสด ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จตามกฎหมาย เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในรอบกลางปี 2559 ซึ่งจะทำให้การส่งออกลำไยสดเกิดความคล่องตัว และไม่มีปัญหาตรวจพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้นะครับ!

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พณ.แถลงผลงาน1ปีเน้นดูค่าครองชีพ,สินค้าเกษตร,AEC

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลงานรอบ 1ปี เน้นการทำงาน 4 ด้าน ดูค่าครองชีพ สินค้าเกษตร ส่งออก AEC รับหนักใจเป้าส่งออกปีหน้า5%

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการทำงานในรอบ 1 ปี เน้นการทำงานใน 4 ด้าน ประกอบด้วย การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงรุก การดูแลค่าครองชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย การขับเคลื่อนการส่งออก และการขับเคลื่อนสู่ประชาคมอาเซียน โดยการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเชิงรุกนั้นมุ่งเน้นไปที่การดูแลสินค้าข้าวที่มีปัญหาข้าวค้างสต๊อกอยู่เป็นจำนวนมากจากการรับจำนำ และมีข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะเกษตรกรเร่งปลูกเพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำในราคาสูงเพียงอย่างเดียว ซึ่งจากนี้ไปกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยในการพัฒนาพันธุ์ข้าวก่อนเพาะปลูก เพื่อทวงแชมป์ของข้าวไทยไม่เฉพาะด้านปริมาณ แต่ต้องเป็นแชมป์ด้านราคาด้วย ในขณะที่การระบายสต๊อกยังคงเดินหน้าจัดการอย่างต่อเนื่องและทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกับข้าวที่ออกมาใหม่

นอกจากนี้ นางอภิรดี ยังกล่าวว่า ในส่วนของการค้าต่างประเทศ ว่า ทั้งการส่งออกและการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในส่วนของการส่งออกตลอด 1 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาทำให้การส่งออกในปี 2558 ทั้งปีติดลบมาอย่างต่อเนื่องในขณะที่ปี 2559 รัฐบาลวางเป้าหมายให้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 5 ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากและเป็นงานหนัก แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องทุ่มเททำงานหนัก สานต่อจากในปีนี้ที่ได้พยายามทำงานปลดล็อกอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ให้น้อยลง โดย 1 ปีที่ผ่านมามีการจัดคณะเดินทางออกต่างประเทศจำนวน 132 ครั้ง 34 ประเทศ มียอดการค้าทันทีกว่า 10,000 ล้านบาทและมียอดการค้าใน 1 ปีแรกกว่า 150,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า  9 ประเทศ มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าได้ถึง 11.6  ล้านล้านบาท และสำหรับการขับเคลื่อนสู่ประชาคมอาเซียนนั้นต้องมีการปรับบทบาทให้สอดคล้องกับบริบทของอาเซียนเพื่อเดินหน้าไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ลานินญาแผลงฤทธิ์ครึ่งหลังปี2016ส่อกระทบสินค้าเกษตร

เตรียมรับมือลานินญาครึ่งหลังปี 2016 กระทบหนักสินค้าเกษตร พายุหมุนเขตร้อน อากาศเย็นลง

หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ลานินญา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะตรงข้ามกับเอลนินโญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2016 และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าเกษตรอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียและญี่ปุ่น ระบุว่า ปัจจุบันผ่านจุดสูงสุดของเอลนินโญแล้ว และคาดว่าเอลนินโญจะอ่อนกำลังความรุนแรงลงช่วงครึ่งแรกของปี 2016 ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำโดยเฉลี่ยในมหาสมุทรแปซิฟิกลดลง

อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาคือลานินญา ที่เกิดจากอุณหภูมิเฉลี่ยมหาสมุทรแปซิฟิกลดลง ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งในสหรัฐและอเมริกาใต้ ฝนตกหนักในออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย และอเมริกากลาง อีกทั้งอาจก่อให้เกิดพายุหมุนเขตร้อนในเขตแปซิฟิกด้วย เดวิด อูบิลาวา ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระบุว่า กระแสในปัจจุบันมุ่งให้ความสนใจกับความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรจากเหตุการณ์เอลนินโญมากกว่าลานินญา แม้ว่าลานินญาจะก่อให้เกิดความแห้งแล้งในสหรัฐและแคนาดาซึ่งส่งผลกระทบให้ราคาอาหารปรับขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ออเรเลีย เบิร์ช นักวิเคราะห์อาวุโสด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของบีเอ็มไอ รีเสิร์ช หน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค อุตสาหกรรม และตลาดการเงิน กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานินญาที่รุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรมากกว่าผลกระทบที่เกิดจากเอลนินโญ และสร้างความเสียหายต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่อย่างสหรัฐและบราซิล อีกทั้งอาจทำให้ราคาสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี น้ำตาล ฝ้าย และเมล็ดกาแฟ เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเอลนินโญถึง 50%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่เกิดจากลานินญาไม่จำกัดเฉพาะภาคการเกษตรเท่านั้น จากข้อมูลของซีเอ็มอี กรุ๊ป บริษัทลงทุนสินทรัพย์ล่วงหน้าในสหรัฐ พบว่า ปรากฏการณ์ลานินญาในช่วงปี 1998-2000 ทำให้อุณหภูมิในสหรัฐและแคนาดาเย็นลงกว่าปกติส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นตาม

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อุตฯโอนภารกิจให้อปท.กำกับ6หมื่นโรงงานเล็ก 

อุตฯ เผยปี 2558 ถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานขนาดเล็ก 6 หมื่นแห่งให้ท้องถิ่นแล้ว

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2558 กระทรวงได้ถ่ายโอนภารกิจในการกำกับดูแลโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัทยา และเทศบาลทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6.04 หมื่นแห่ง แบ่งเป็น โรงงานจำพวกที่ 1 จำนวน 4.24 หมื่นแห่ง และโรงงานจำพวกที่ 2 จำนวน 1.79 หมื่นแห่ง

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนโรงงานจำพวกที่ 3 จำนวน 7.53 หมื่นแห่ง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่และมีกำลังผลิต 50 แรงม้าขึ้นไป จะยังอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวง เนื่องจากต้องมีการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

          "เมื่อการถ่ายโอนภารกิจอย่างสมบูรณ์ อปท.จะมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจและการตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ โดยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานได้อย่างใกล้ชิด ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงได้ถ่ายโอนภารกิจด้านส่งเสริมอุตสาหกรรม ด้านเหมืองแร่ ด้านส่งเสริมการลงทุน และด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไปให้ อปท.ดูแลแล้ว" นายอาทิตย์ กล่าว

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.มีแนวคิดจะมอบหมายให้ อปท.กำกับดูแลโรงงานที่มีขนาดแรงม้าสูงขึ้น จากเดิมที่ให้กำกับดูแลโรงงานที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมหลังจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่างๆ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2558

31 ธ.ค. เข้าสู่ “เออีซี” ประเทศไทยพร้อมหรือยัง?

  วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งจากนี้ไปก็เหลือเพียงแค่ 7 วัน...คงไม่ใช่วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อย่างธรรมดาๆ แบบทุกๆปี

คือไม่ใช่แค่สนุกสนานเฮฮา ส่งเสียงไชโยร้องเพลงสวัสดีปีใหม่ หรือหลังๆนี้ที่นิยมกันมากๆ คือสวดมนต์ข้ามปีแต่เพียงเท่านั้น

ยังจะเป็นวันเริ่มต้นของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นรูปธรรม ณ วันนี้อีกด้วย

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ Asean Economic Community ที่ใช้ตัวย่อว่า AEC ก็คือการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวของ 10 ประเทศในประชาคมอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ

การรวมตัวกันเช่นนี้มีรูปแบบคล้ายๆกลุ่ม ยูโรโซน นั่นเอง จะทำให้อาเซียนของเรากลายเป็นประเทศที่ใหญ่ขึ้น มีประชากร มีทรัพยากรมากขึ้น และแน่นอนจะมีอำนาจต่อรองต่างๆกับประเทศคู่ค้ามากขึ้น

ภายใต้หลักการที่ว่า เราจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน...เราจะมุ่งไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เราจะมุ่งไปสู่การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน

ใครมีจุดเด่นอะไรก็เน้นจุดเด่นในเรื่องนั้น บางประเทศอาจจะเด่นแค่อย่างเดียวหรือสองอย่าง ในขณะที่บางประเทศอาจจะมีมากกว่าสองอย่าง ใครเห็นว่าตนเองเด่นด้านใด ก็สามารถจะชูด้านนั้นขึ้นมาได้

ดังเช่นเป้าหมายเบื้องต้นที่เราตั้งใจกันว่า พม่า ควรจะเน้นด้านการเกษตรและการประมง มาเลเซีย ไปในด้านผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ อินโดนีเซีย สาขาภาพยนตร์และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้ ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและสุขภาพ ส่วน ไทยแลนด์ นั้น มีจุดเด่นในเบื้องต้น 2 อย่าง คือสาขาท่องเที่ยว และสาขาการบิน (เพราะเราเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนพอดิบพอดี) ฯลฯ เป็นต้น

แต่ก็มิได้หมายความว่า ประเทศต่างๆจะตั้งเป้าหมายไว้เพียงเท่านี้ เพราะทุกคนมีสิทธิโดยชอบที่จะตั้งเป้าหมายของตนเองอยู่แล้ว

แต่ก็นั่นแหละในการรวมตัวกันก็มีทั้งผลดีและผลเสีย หรือมีทั้งข้อเด่นข้อด้อยเพราะทุกอย่างจะเสรีเกือบหมด ทำให้เราเองทั้ง 10 ประเทศ อาจจะต้องแข่งขันกันไปด้วยในตัว

บางอย่างเราอาจได้เปรียบ บางอย่างเราอาจเสียเปรียบ...ล้วนเป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้เอาไว้ก่อนและมีการเตรียมตัวล่วงหน้า

เพื่อเป็นการทบทวนให้ชัดเจนอีกครั้งว่า ประเทศไทยของเราพร้อมไม่พร้อมแค่ไหน...พรุ่งนี้วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และมูลนิธิไทยรัฐจะร่วมกันจัดงาน “วันกำพล วัชรพล” ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 9 ของเรานั้น...จะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในเรื่องนี้ด้วย โดยผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความรู้เรื่องอาเซียนดีที่สุดคนหนึ่ง

นั่นก็คือปาฐกถาในหัวข้อ “ครูกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยศาสตราภิชาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่เรารู้จักเป็นอย่างดีนั่นเองครับ

แม้โดยหัวข้อจะเน้นการให้ความรู้แก่ครูบาอาจารย์จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยาซึ่งจะเป็นผู้ฟังหลัก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว บรรดาข้อมูลก็ดี รายละเอียดของปัญหาอุปสรรค รวมทั้งข้อเด่นข้อด้อยต่างๆก็ดี ย่อมจะรวมอยู่ในปาฐกถาไม่มากก็น้อย

จึงน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปด้วย มิใช่เฉพาะเจาะจงแต่ครูบาอาจารย์ของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเท่านั้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจจะมารับฟังก็ขอเชิญได้เลย ไทยรัฐยินดีต้อนรับ แต่ควรจะมาตั้งแต่ 13.00 น. ซึ่งงานโดยรวมของเราจะเริ่มประมาณนี้

เพราะจะมีการมอบรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านสื่อสารมวลชน “รางวัลกำพล วัชรพล” จะมีการมอบรางวัลแก่ครูและโรงเรียนดีเด่นในเครือไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศกันก่อน...จบแล้วจึงจะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.สุรินทร์เป็นจุดเด่นส่งท้าย

ครับ? อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้นว่า 31 ธ.ค. วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่อีก 7 วันจากนี้ไป สถานการณ์หลายๆอย่างของประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม เพราะเราจะเข้ารวมกับเพื่อนๆ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวและเต็มรูปแบบ

เราจะฟังการประเมินครั้งสุดท้ายว่าเราพร้อมหรือไม่พร้อม แค่ไหน?จาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 9 สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เนื่องในโอกาสรำลึกถึงอดีต ผอ.ไทยรัฐ กำพล วัชรพล ผู้ให้กำเนิด นสพ.ไทยรัฐและผู้เป็นต้นแบบของการคืนกำไรให้แก่สังคมผ่านมูลนิธิไทยรัฐในการดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ 101 แห่ง ในปัจจุบันนี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 24 ธันวาคม 2558

นักวิชาการจี้ปฏิรูปยุทธศาสตร์น้ำ ภัยแล้งรุนแรงขึ้นทุกปี-จีดีพีภาคเกษตรทรุดหนัก

นักวิชาการชี้ภัยแล้งในอนาคตจะรุนแรงขึ้น รัฐต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์และการบริหารการจัดการน้ำใหม่ เขื่อนใหญ่สร้างลำบาก ต้องสร้างอ่างหลายจุดลดความเสี่ยงแทน สศก.เผยภัยแล้งพ่นพิษจีดีพีภาคเกษตรปี′58 หดตัว 4.2% คาดแนวโน้มปี′59 ฟื้นตัวขยาย 2.5-3%

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดอภิปรายเรื่อง "โลกร้อน น้ำแล้ง เกษตรกรจะรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งถือเป็นโอกาส เพราะไทยต้องประสบปัญหานี้ในวันข้างหน้าอีกมาก ทุกฝ่ายรวมทั้งเกษตรกรต้องปรับตัว รัฐต้องปฏิรูปและปรับยุทธศาสตร์ ต้องวางแผนเชิงนโยบายจากภาวะโลกร้อน ยุทธศาสตร์และการบริหารการจัดการจะเป็นเรื่องใหญ่ ไทยมีจุดแข็งด้านเกษตรกรรม แต่ก็มีหลายจุดที่อ่อนแอเกินกว่าจะเป็น

วันนี้ลูกหลานเกษตรกรไม่อยากทำงานเกษตร ดังนั้น โครงสร้างภาคเกษตร ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ ภัยจากโลกร้อนเกิดมาตลอด แต่จะรุนแรงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น ซึ่งจะกระทบภาคอุตสาหกรรม การย้ายถิ่นฐาน ผลกระทบต่อเกษตรกร ปริมาณน้ำฝนสถิติฝนตกลดลง 0.4% จึงต้องพึ่งตนเองและการจัดการชลประทานให้ดี อิสราเอลฝนน้อย ทำเกษตรไม่ดี จึงมีการลงทุนการจัดการน้ำ ดังนั้น ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการใช้ หากจัดการดี ๆ ทำไมจะเพิ่มไม่ได้ แต่อย่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วส่งผลกระทบระยะยาว การสร้างเขื่อนใหญ่ จะทำลายป่าไม้ ไม่ควรทำ เพราะไม่มีป่า น้ำก็จะไม่มี ด้านอุปสงค์ เป็นโอกาสที่จะไม่ใช้น้ำสิ้นเปลือง การเก็บค่าน้ำภาคเกษตรแต่ไม่กระทบเกษตรกรรายย่อย จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องใช้หลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ แล้วจะมีน้ำเหลือใช้

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร หากลูกจ้างต่างด้าวทยอยกลับประเทศ เกษตรกรก็ต้องใช้เครื่องจักรและนวัตกรรมมากขึ้น แต่เกษตรกรจะทำไม่ได้ หากเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ฉะนั้นวิกฤตมาแน่ แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า ภาวะภัยแล้งจะมีมากกว่าภาวะน้ำท่วม ปี 2559 ฝนยังมาล่าช้าอยู่ ถ้าจะปลูกข้าวในเดือน พ.ค. 2559 จะยังมีความเสี่ยง ฝนจะตกดีในปี 2560 ดังนั้นหากน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 1 พ.ค. 2559 เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 1,200 ล้าน ลบ.ม. หากชาวนาแห่ปลูกเหมือนปี 2558 มีปัญหาแน่ และกลางปี 2559น้ำจะเหลือ 300 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องบริหารจัดการให้ดีแต่เนิ่น ๆ

การทำนาปรัง 1 ไร่ต้องใช้น้ำ 1,600 ลบ.ม. ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้อยู่ระดับ 5,000 ล้าน ลบ.ม./ปีใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จึงหนีไม่พ้นการทำนวัตกรรม เช่น การทำนาเปียกสลับแห้งที่ใช้น้ำน้อย การทำเศรษฐกิจพอเพียง เพราะอนาคตข้างหน้า ฝนไม่ตกตามที่ต้องการ เขื่อนใหญ่จะสร้างลำบาก ต้องกระจายความเสี่ยง ทำหลายจุดแทนแล้วต่อเชื่อมอ่างแทน

ทางด้านนายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2558 พบว่าหดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2558 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตพืชไร่ และข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอความร่วมมือเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ในส่วนของการทำประมงหดตัว เป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงให้ถูกต้องและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การลดต้นทุนการผลิต ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงคลี่คลายลง ทำให้มีปริมาณผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรลดลงไปด้วย

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 ซึ่งปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวได้ในปี 2559 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเกษตรมากขึ้น เช่น โครงการ motor pool การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และสถานการณ์ดินฟ้าอากาศที่จะไม่รุนแรงไปกว่าปีนี้ อีกทั้งคาดว่าราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมทั้งการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหา IUU เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window : NSW) การพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร การพัฒนาสหกรณ์ การกำหนดมาตรฐานบัญชีสหกรณ์ และเขตเศรษฐกิจ (Zoning)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 23 ธันวาคม 2558

พาณิชย์เดินหน้าAECเฟส2ในอีก10ปี

กระทรวงพาณิชย์ เผย มีแผนเดินหน้า AEC เฟส 2 ในอีก 10 ปี 5 ด้าน มีเป้าหมายเป็นประชาคมโลก

ในงานสัมมนา “2025 ทศวรรษใหม่ AEC” นางอรุณี พูลแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อาเซียนจะมีผลการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 7 วัน ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่แข่งขันได้ และเฟส 2 ของ AEC ในอีก 10 ปี ไทยจะต้องก้าวไปตามแผน 5 ด้าน เพื่อให้เท่าทันการค้าโลก ด้วยการเชื่อมโยงสมาชิกให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ด้วยการลดภาษี และลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTB ลง โดยทันทีที่อาเซียนรวมตัวกันภาษีสินค้าร้อยละ 96 จะเป็น 0 ทันที และในปี 2561 จะเป็น 0 ได้ ร้อยละ 99 การพัฒนานวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา ดึงดูดการลงทุนจากภูมิภาคอื่น ปรับเป็นภูมิภาคแห่งการปรับตัว ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มบทบาทเอกชน และทำให้อาเซียนเป็นประชาคมโลกโดยการรวมตัวกับประเทศบวก 6 หรือ RCEP ซึ่งจะมีประชากรรวมกัน มากกว่าครึ่งโลก

โดย AEC ในเฟตต่อไป ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น เพื่อเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน โดยการสร้างศักยภาพของธุรกิจภาคบริการให้มากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจีดีพีของอาเซียนจะขยายตัวได้ ร้อยละ 5 จากประเทศเศรษฐกิจใหม่ อย่างอินโดนีเซีย และประเทศที่เป็นเศรษฐกิจดาวรุ่งอย่างเวียดนาม

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 23 ธันวาคม 2558

TAE เซ็นต์ MOU กลุ่มบ.แสงฟ้า กรุ๊ป ตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ประกาศ!! เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจให้บริษัท

           "ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ฯ" ประกาศ!!! บรรลุข้อตกลงในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกลุ่มบริษัท แสงฟ้า กรุ๊ป เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน "สมชาย โล่ห์วิสุทธิ์" ซีอีโอ เผยเป็นการต่อยอดธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับทั้งสองบริษัท โดยบริษัทฯมีความชำนาญและเป็นผลิตเอทานอล ขณะที่กลุ่มบริษัท แสงฟ้า กรุ๊ป มีความพร้อมด้านวัตถุดิบ โรงงาน ทำเลที่ตั้ง และสาธารณูปโภค คาดใช้เวลาการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุน

          นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TAE เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามบันทึกความความร่วมมือ(MOU) กับบริษัท กำแพงเพชร ไบโอ เอทานอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท แสงฟ้า กรุ๊ป เพื่อศึกษาการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน ทั้งนี้เป็นการเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งระหว่าง 2 บริษัท และเป็นการต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต สำหรับที่มาของดีลนี้เกิดขึ้นเนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ฯ เคยติดต่อซื้อมันเส้นกับบริษัทแสงฟ้า กรุ๊ป ในช่วงที่บริษัทฯ ทดสอบโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งใช้ มันเส้นเป็นวัตถุดิบ โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่กำแพงเพชร มองว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งในอนาคต จ.กำแพงเพชร จะเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รับความเห็นชอบจากครม.อนุมัติให้มีการก่อสร้างท่อส่ง น้ำมันจากคลังน้ำมันบางปะอินไปทางภาคเหนือ ผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ถึงจังหวัดเชียงใหม่และในอนาคตจะเป็นศูนย์คลังน้ำมันเพื่อกระจายน้ำมันไปภาค เหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนการตั้งโรงงานผลิตเอทา นอ ลที่จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้บริษัทน้ำมันสามารถผสมเอทานอลกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ เพื่อจำหน่ายในภูมิภาคดังกล่าวได้ เป็นการลดต้นทุนขนส่งที่ซ้ำซ้อนให้กับบริษัทน้ำมันทั้งหลาย

          "แนวทางการหาพันธมิตรของเรา คือ ต้องการร่วมทุนกับบริษัทที่มีใบอนุญาตหรือบริษัทที่อยู่ในระหว่างการก่อ สร้าง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับบริษัท 2 ราย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และในที่สุดเราก็พบพาร์ทเนอร์ ซึ่งมีศักยภาพดี มีตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานเหมาะสม มีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ และสาธารณูปโภค ซึ่งภายหลังจากที่ได้มีการศึกษาข้อมูลมาระยะหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงนาม MOU หรือบันทึกความเข้าใจในการร่วมศึกษาการลงทุนร่วมกันในการก่อสร้างโรงงานผลิต เอทานอลที่กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังและกากน้ำตาล และคาดว่าภายหลังการลงนามจะใช้เวลาในการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนประมาณ 3 เดือน และหากการศึกษาพบว่า โครงการสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมก็จะดำเนินการในการพิจารณาสัด ส่วนการลงทุนและแหล่งเงินทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรและก่อ สร้างโรงงาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561" นายสมชาย กล่าว

          ด้านนายโกสินทร์ จงพัฒนสมบัติ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท แสงฟ้า ในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท กำแพงเพชร ไบโอ เอทานอล เปิดเผยว่าความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัท เกิดขึ้นจากความสนใจของบริษัทฯในธุรกิจเอทานอล ซึ่งจะมาช่วยเสริมศักยภาพและต่อยอดความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยบริษัทฯ มีความพร้อมของโรงงานและวัตถุดิบมันสำปะหลัง ขณะที่บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ฯ มีประสบการณ์ในการผลิตเอทานอล และมีฐานลูกค้าอยู่ในมือ ในขณะที่ กลุ่มบริษัทแสงฟ้า มีความเชี่ยวชาญด้านมันสำปะหลังและมันเส้น เป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ ของประเทศ สามารถผลิตและจัดหามันเส้น ไม่ต่ำกว่า 400,000 ตันต่อปี

          ทั้งนี้โครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจการส่งออก ดำเนินกิจการส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง 2. กลุ่มธุรกิจคลังสินค้า ดำเนินกิจการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้าทางการเกษตร 3.กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ดำเนินกิจการโรงสีข้าวและลานมันสำปะหลัง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่แหล่งเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง โดยรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเพื่อแปรรูปส่งขายทั้งในและต่างประเทศ และ 4.กลุ่มธุรกิจพลังงานได้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเภท VSPP ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โดยมีบริษัท กำแพงเพชรไบโอเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยมีกำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ และบริษัท กำแพงเพชรไบโอเพาเวอร์ 2 จำกัด มีกำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์

          นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความพร้อมทางด้านธุรกิจเอทานอล โดยมีบริษัท กำแพงเพชร ไบโอ เอทานอล จำกัด เป็นบริษัทหนึ่งในเครือแสงฟ้า ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ประเภทกิจการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 200,000 ลิตรต่อวัน มีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ สามารถจัดหามันเส้นได้ไม่ต่ำกว่า 400,000 ตันต่อปี โดยมีลานมันขนาดใหญ่รองรับการแปรรูป 2,000 ตันต่อวัน ด้วยเครื่องมือและเครื่องจักรที่มีคุณภาพ ทางด้านที่ตั้งและขนาดที่ดินในการจัดตั้งโรงงานเอทานอล มีพื้นที่ก่อสร้างโรงงานกว่า 500 ไร่ ตั้งอยู่ที่ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งไม่อยู่ในเขตควบคุมอาคาร โรงงาน มีโกดังสำหรับจัดเก็บมันเส้นจำนวน 2 หลัง ความจุรวมสูงสุด 800,000 ตัน ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และมีความพร้อมทางด้านแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการผลิต โดยมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถกักเก็บน้ำได้จำนวนมาก

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 23 ธันวาคม 2558

ย้ำ!รบ.ลุยปฎิรูปเกษตรทั้งระบบ พร้อมทุ่ม7หมื่นล.ช่วยเกษตรกร

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลงานของรัฐบาลในการพัฒนาภาคการเกษตรและแนวนโยบายในปี59 เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ว่าจากที่รัฐบาลในอดีตพยายามแก้ปัญหาสินค้าเกษตรด้วยการประกันราคา จำนำผลผลิตการเกษตร ซึ่งบิดเบือนกลไกตลาด และเป็นช่องว่างให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ไม ถูกต้อง เกิดความเสียหายต่อรัฐและเกษตรกร และเป็นภาระกับงบประมาณ อีกทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ โดยรัฐบาลนี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ซึ่งมีมาตรการเฉพาะหน้าและการสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว

รมว.เกษตรฯบอกด้วยว่าในปี58 เกษตรกรมีปัญหาด้านราคาและวิฤกติภัยแล้งต่อเนื่องถึงปี 59 ซึ่งยังมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนต่อไปทั้งข้าวและยางพารา โดยรัฐบาลได้ช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรอยู่ได้ ในวงเงิน 5.8 หมื่นล้านใน4 โครงการ เช่นช่วยเหลือชาวนา และชาวสวนยาง ไร่ละ1 พันบาทรายละไม่เกิน15 ไร่ และช่วยเพิ่มเติมให้กับชาวสวนยาง กับคนกรีดยาง อีกไร่ละ 1,500 บาท โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 5 ล้านครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ1.1 หมื่นบาท

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี58/59 ในระยะสั้น เช่น การเจาะน้ำบาดาล กรอบวงเงิน 3,463 ล้านบาท จำนวน6,030 บ่อและมี 8 มาตรการช่วยด้านรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน ในช่วงฤดูแล้งปี58/59 กรอบวงเงินงบประมาณ 8,752 ล้านบาท จำนวน 5 ล้านครัวเรือน โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรทำอาชีพเสริมทดแทนการทำนาปรัง เช่น การปศุสัตว์ การประมง การปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทน รายละ 2,400 บาทต่อครัวเรือนเกษตรกรได้รับประโยชน์ 385,958 ราย

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในช่วงระยะที่สองของการปฎิรูปตามโรดแม๊พ คือการสร้างเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกร โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว เพื่อให้ภาคเกษตรไทยเป็นการเกษตรยุคใหม่ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยเน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลางและส่งเสริมการบูรณาการเชิงพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการในด้านต่างๆ ซึ่งในปีหน้าจะประกาศให้เป็นปีแห่งการรณรงค์ลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ 882 ศูนย์ ทั่วประเทศเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อน ในวงเงิน 1,064 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตร จำนวน 222,500 ราย การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือโซนนิ่ง เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรและเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้พื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในจำนวน270 แปลง มีต้นแบบใน76 จ. การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในเดือน ม.ค.59 ขยายไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นทุกชุมชน โครงการธนาคารเกษตร เป็นนโยบายของรัฐบาลให้เกษตรกรนำผลผลิตมาแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูก

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อปฏิรูปภาคการเกษตร ตามแนวทางประชารัฐ โดยจัดสรรงบไปแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อเพื่อ การเกษตรดอกเบี้ยต่ำต่าง ๆ มากกว่า 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นการดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ปี 2559  ประเทศไทยเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน การปฏิรูปภาคการเกษตรจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากเกษตรกรด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 ธันวาคม 2558

เกษตรฯคาดทิศทางสินค้าเกษตรดี ผลผลิตเพิ่ม-ตลาดในและต่างประเทศต้องการต่อเนื่อง

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร ได้ประชุมพิจารณาข้อมูลพยากรณ์ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรปี 2559 คาดว่า ผลไม้ พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำฝนในช่วงปลายปี 2558 กอปรกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนธันวาคม 2558 ถึง มกราคม 2559 จึงเหมาะสมกับการติดดอกออกผลของผลไม้และการเจริญเติบโตของพืชผัก

ด้านผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคเนื้อ สุกร และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากการต้องการของทั้งตลาดในและต่างประเทศ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โรค EMS ที่คลี่คลาย ขณะที่ปลานิลและปลาดุก คาดว่าจะมีปริมาณลดลงบ้าง เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรจะชะลอการลงทุน เพื่อลดผลกระทบภัยแล้งที่มีต่อเนื่องมาจากปี 2558

ด้าน นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านการเกษตร กล่าวว่า ผลพยากรณ์ในส่วนของผลไม้ภาคตะวันออก คาดว่า ผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง จะเพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยรวมอยู่ที่ 803,203 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 12 โดยจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และกระจุกตัวสูงสุดปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2559 ด้านการส่งออก ตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการผลไม้สดและผลิตภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้น โดยผลไม้ที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2559 ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย

นอกจากนี้ ในปี 2559 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม ยังเป็นช่วงที่ผลผลิตพืชผัก 4 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ออกสู่ตลาดมาก โดยกระเทียมคาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แม้ว่าเนื้อที่เพาะปลูกจะลดลง แต่ปริมาณน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมจะทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่วนหอมหัวใหญ่ผลผลิตจะเพิ่มจากต้นกล้าที่สมบูรณ์ไม่เสียหายเหมือนปีที่แล้ว และผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปรับปรุงด้านหัวพันธุ์ เน้นการใช้หัวพันธุ์ดี ต้านทานโรค ส่วนหอมแดง ลดลงจากราคาที่ไม่จูงใจ ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูก เปลี่ยนไปปลูกพืชผักอื่นแทน

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

‘วอก’ลุ้นบวกจีพีดีเกษตรวูบปี58ลบ4.2%

4 ปัจจัยลบฉุดจีดีพีภาคเกษตรไทยปี 2558 ติดลบ 4.2% “ฉัตรชัย”ชี้แนวโน้มปี 2559 คาดขยายตัวได้ 2.5-3.5% ชี้ราคาน้ำมันทรงตัวระดับต่ำ บาทอ่อน เศรษฐกิจโลกฟื้น รัฐอุ้มภาคเกษตรตัวช่วย สวนทางเอกชนระบุส่งออกสินค้าเกษตรปี 59 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ มันสำปะหลังหนักสุด คาดจีนลดนำเข้ากว่า 50% ยางเหนื่อยต่อแต่หวังครึ่งหลังดีขึ้น กุ้ง-ข้าวยังต้องลุ้น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) ของไทยในปี 2558 ว่า จะหดตัว 4.2 % เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยสาขาพืช สาขาการประมง และสาขาการบริการทางการเกษตร หดตัว 5.8 1.3 และ 4.0 ตามลำดับ ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัว 2.2 และ 2.8% ผลจากปัจจัยลบที่สำคัญ 4 ปัจจัยคือ 1.ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเมษายน 2558 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตพืชไร่และข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2558

2.การยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของอินโดนีเซีย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายประมงที่มีความเข้มงวดของรัฐบาลไทย ส่งผลให้การทำประมงทะเลลดลง 3.ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากผลกระทบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดลดลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีปัญหาหนี้สินเรื้อรังมากขึ้น ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้เก่าและขาดแคลนเงินทุนเพื่อทำการเกษตรในรอบใหม่ และ 4. จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดโลกลดลง

ทั้งนี้ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดโลกช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2558 อยู่ที่ 1.005 ล้านล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 1.090 ล้านล้านบาท หรือลดลง 7.8 % โดยมีการส่งออกลดลงทุกตลาด ได้แก่ จีน ลดลง 5.8 % อาเซียน(9) ลดลง 1.2 % ญี่ปุ่น ลดลง 1.7% สหรัฐอเมริกา ลดลง 0.9% และสหภาพยุโรป ลดลง 12.9% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา น้ำมันปาล์ม ผักและผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ ปลาและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึง แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% โดยสาขาการผลิตที่มีแนวโน้ม ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช คาดจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.0-4.0 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5-2.5% สาขาประมง ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5-2.5% สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วง 1.1-2.1% และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วง 2.8-3.8% เพราะมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวได้ดี ที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีทิศทางดีขึ้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์

“นอกจากนี้นโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อาทิ ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การค้าสินค้าประมงเป็นไปอย่างราบรื่น และการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ไขปัญหาภัยและน้ำอุปโภคบริโภค ตลอดจนการพัฒนาฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล โรงงานแปรรูปอาหารทะเลให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP)ดีขึ้น รวมถึงผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีแนวโน้มดีขึ้นจากการปรับตัวของผู้ประกอบการเรือประมง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น”

ด้านนางสุรีย์ ยอดประจง นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปี 2558 คาดจะส่งออกได้ประมาณ 7.6 ล้านตัน ส่วนปีหน้าคาดจะส่งออกได้เพียง 4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 50% เท่านั้นมีปัจจัยสำคัญจากรัฐบาลจีนได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้โรงงานผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ จำนวน 3 โรง ที่มีกำลังการผลิตโรงงานรวมกัน 3 ล้านตันต่อปี ให้นำผลผลิตข้าวโพดในสต๊อกในประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน และลดการนำเข้ามันเส้นลง และท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบถึงเกษตรกรไทย

“หากย้อนไปดูสถิติที่ไทยเคยส่งออกมันได้เพียง 4 ล้านตันพบว่าราคาหัวมันที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน ราคาหัวมัน ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2558 อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.25 – 2.35 บาท ปีหน้าสินค้าจะโอเวอร์ซัพพลาย ราคาในประเทศน่าเป็นห่วง”

เช่นเดียวกับนายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย กล่าวถึง ทิศทางการส่งออกยางพาราว่า ในครึ่งปีแรกปีหน้า สถานการณ์ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ราคายังทรงตัวทั้งใน และต่างประเทศ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ค่อยดี คู่ค้าหลักคือจีนยังมีสต๊อกยางจำนวนมาก ส่วนในครึ่งปีหลัง คาดแนวโน้มราคายางจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นประเมินว่าราคายางที่เกษตรกรขายได้จะคุ้มต้นทุน

ขณะที่นายอนุรัตน์ โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และการตลาด บริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือ ยูเอฟพี กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งของไทยปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากโรคตายด่วน (EMS) จะทำให้การส่งออกดีขึ้นตามลำดับ แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากกรณีที่ไทยถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ทำให้เสียภาษีนำเข้าสูง และเสียเปรียบในการแข่งขัน จะส่งผลทำให้ราคากุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้ในประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง

ส่วนนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2558 คาดไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 10 ล้านตัน ขณะที่อินเดีย ยังคงรั้งแชมป์ อยู่ที่ 11 ล้านตัน และเวียดนามจะส่งออกได้ 8 ล้านตัน ส่วนปี 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน มองว่ามีความเป็นไปได้ โดยจะได้รับอานิสงส์จากประเทศผู้นำเข้าข้าว เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน ยังเผชิญสถานการณ์เอลนิโญในประเทศหนักผลผลิตเสียหายมาก จะทำให้มีการสั่งนำเข้าข้าวเพิ่มมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ม็อบไร่อ้อยขอผ่อนปรนไม่ผ่านด่านชั่ง กลุ่มรถบรรทุกโวย 2 มาตรฐาน

  ม็อบไร่อ้อยจาก 3 สมาคมโร่ให้จังหวัดโคราชเคลียร์กรมทางหลวง ตำรวจ ด่านชั่งน้ำหนัก ยื่น 5 ข้อบรรเทา ไม่ผ่านด่านชั่งน้ำหนัก ส่วนผลสรุปรอส่วนกลาง ด้านผู้ประกอบการรถบรรทุกโวยข้อเรียกร้องผ่อนปรน เป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน

ช่วงเช้าวันนี้ (22 ธ.ค.58) ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รอง ผวจ.นครราชสีมา ได้รับมอบหมายจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ให้เป็นประธานประชุมเรื่อง การพิจารณาขอผ่อนผันและความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกในการบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ฤดูการผลิตปี 2558/2559 ให้กับสมาชิกชาวไร่อ้อย โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าพูดคุยกับกลุ่มตัวแทนชาวไร่อ้อยจาก 3 พื้นที่ คือ นายเลียบ บุญเชื่อง นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน นางจินตนา แซ่เตียว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานใต้ และ นายเกียรติภูมิ ศรีจันทร์รัตน์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสุรนารี หลังจากกลุ่มรถบรรทุกอ้อยปิดหน้าด่านชั่ง ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว เนื่องจากถูกจับกุมการแบกน้ำหนักเกินและบรรทุกสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ได้มีการยื่นข้อเสนอข้อสรุป 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ระยะเวลาที่ขอความอนุเคราะห์ผ่อนผันการบรรทุกอ้อยระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 2558–30 เม.ย. 2559 2. การบรรทุกอ้อยความสูงจากระดับพื้นดินสูงไม่เกิน 4 เมตร และความยาวด้านหลังที่ยื่นออกจากตัวถังรถไม่เกิน 2.5 เมตร โดยสมาคมชาวไร่อ้อยจะติดสัญญาณผ้าแดง และไฟส่องสว่าง ด้านท้ายรถให้เห็นชัดเจน 3. สมาคมฯ ขอความอนุเคราะห์วิ่งรถบรรทุกอ้อยโดยไม่ผ่านด่านชั่งถาวร และด่านลอยของกรมทางหลวง 4. สมาคมฯ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก โดยเคร่งครัด เช่น การเสียภาษีรถบรรทุกและการเพิ่มเพลารถบรรทุก รวมทั้งให้ความร่วมมือหยุดวิ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2558–5 ม.ค. 2559 และ 5. กรณีเกิดอุบัติเหตุหรืออ้อยร่วงหล่นบนถนนกีดขวางการจราจร สมาคมฯ จะรับผิดชอบและช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

นายสุรพันธ์ กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วเราไม่อยากให้หลีกเลี่ยงมาก แต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอาจจะต้องหารือไปยังส่วนกลางให้พิจารณาในการช่วยเหลือ ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ โดยคงจะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง กรมการขนส่งทางบกรับไปพิจารณา เรื่องนี้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นใจพี่น้องชาวไร่อ้อย แต่ทำอย่างไรได้ กฎหมายก็คือกฎหมาย ส่วนช่วงระหว่างรอก็ทำตามข้อตกลงทั้ง 5 ข้อที่เสนอไปยังส่วนกลางพิจารณา ช่วงนี้ถ้าเกินก็คงต้องจับและขอร้องกันบางส่วน โดยให้ผู้ประกอบการทำตามข้อตกลงทั้ง 5 ข้อ

อย่างไรก็ดี หลังจากมีข้อเรียกร้องดังกล่าวออกมา ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกได้ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านกับการขอผ่อนปรนดังกล่าว เพราะหากอนุญาตก็อาจจะเข้าข่ายสองมาตรฐาน

ในเรื่องนี้ "ทีมข่าวไทยรัฐ" ลงพื้นที่สำรวจรถบรรทุกอ้อยใน จ.นครราชสีมา พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้รถบรรทุกที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ล้อ จนถึงรถพ่วง หรือรถบรรทุก 22 ล้อ โดยตัวรถบรรทุกถูกกำหนดสัดส่วนตามกฎหมาย ต้องมีความกว้างไม่เกิน 2 เมตร 55 เซนติเมตร ยาวไม่เกิน 12 เมตร และสูงไม่เกิน 4 เมตร โดยมีน้ำหนักรถเปล่าประมาณ 10 ตัน

ที่ผ่านมา สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กำหนดให้รถ 10 ล้อ บรรทุกน้ำหนักรวมตัวรถไม่เกิน 25 ตัน นั่นหมายความว่า จะสามารถขนส่งอ้อยได้เที่ยวละประมาณ 15 ตัน ขณะที่ข้อเสนอของผู้ประกอบการรถบรรทุก ขอให้มีการผ่อนปรนน้ำหนักในการบรรทุกอ้อย เพื่อลดต้นทุนภาคขนส่ง ให้สอดคล้องกับราคาผลผลิตที่กำลังตกต่ำลง โดยขอเพิ่มความสูงของรถบรรทุกเป็น 4 เมตร 50 เซนติเมตร และเพิ่มความยาวด้านท้ายจากตัวรถอีก 2 เมตร 50 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้บรรทุกอ้อยได้มากถึง 20 ตัน หรือมีน้ำหนักรวมตัวรถที่ 30 ตัน

ส่วนกรณีรถพ่วง หรือรถบรรทุก 22 ล้อ กฎหมายกำหนดให้ส่วนพ่วงท้ายต้องมีความยาวไม่เกิน 13 เมตร 60 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 2 เมตร 55 เซนติเมตร และสูงไม่เกิน 4 เมตร โดยมีน้ำหนักรถเปล่าประมาณ 20 ตัน ซึ่งสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กำหนดให้รถพ่วง 22 ล้อ บรรทุกสิ่งของน้ำหนักรวมตัวรถไม่เกิน 50.5 ตัน นั่นหมายความว่า จะสามารถขนส่งอ้อยได้เที่ยวละประมาณ 30.5 ตัน ส่วนการขอผ่อนปรน เพิ่มส่วนขยายทั้งส่วนสูง และความยาวในการบรรทุกอ้อย ก็จะทำให้รถบรรทุก 22 ล้อ ขนส่งอ้อยได้เที่ยวละประมาณ 60 ตัน

ขณะที่การควบคุมน้ำหนักยานพาหนะแต่ละประเภท เป็นไปตามผลการศึกษาเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยได้ระบุโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และผลการศึกษายังพบว่า รถที่บรรทุกสิ่งของเกินกว่ากฎหมายกำหนด ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ถนนหลวงทั่วประเทศ เกิดการชำรุดทรุดโทรมเร็วกว่ากำหนด ซึ่งการซ่อมบำรุงแต่ละครั้ง ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินปีละหลายหมื่นล้านบาท

 จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

“เออีซี” มิติแห่งความเปลี่ยนแปลง

  เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีใหม่ 2559 ที่นอกเหนือจากเป็นการเปลี่ยนผ่านของวันเวลาจากปีหนึ่งไปสู่อีกปีหนึ่งแล้วยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการเดินเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” อย่างเป็นทางการของ 10 ประเทศ

1 ม.ค.2559 คือวันเริ่มต้นนับหนึ่งจะเริ่มต้นภารกิจอย่างเป็นทางการภายใต้การรวมตัวของ 10 ประเทศของสมาชิกอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มตัว

10 ประเทศได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไนและกัมพูชา

เป้าหมายสำคัญของการรวมตัวกันครั้งนี้คงไม่ต่างไปจากการรวมตัวของประเทศยุโรป (อียู) ที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองและขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ

สร้างความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานในการรับมือกับปัญหาใหม่ๆระดับโลก

แต่ในความร่วมมือของเออีซียังไม่เต็มรูปแบบเหมือนอียูที่ใช้เงินสกุลเดียวกันทั้งหมดเป็นเงินอียู จะเป็นความร่วมมือในแง่การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาสังคมและวัฒนธรรม

ครับ...จำนวนประชากรอาเซียนถือว่าไม่ธรรมดาเพราะมีจำนวนถึง 500-600 คน ที่จะเข้ามาเชื่อมโยงกันทั้งด้านการค้า การลงทุน แรงงาน การท่องเที่ยว เป็นต้น

เป็นกลุ่มประเทศที่นานาชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อียู จีน รัสเซียและญี่ปุ่น

พื้นที่ตั้ง ทรัพยากร และพลเมือง

ล้วนมีความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ความมั่นคงและการขยายอิทธิพลที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้

จากนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่คนไทยจะต้องเตรียมรับมือให้พร้อม เพราะจะมีผู้คนจากชาติอาเซียนจะหลั่งไหลจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศต่างๆ ใน 10 ประเทศ ได้อย่างเสรีสามารถประกอบอาชีพในเงื่อนไขที่เป็นข้อกำหนดได้

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน แรงงาน การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่จะหลากหลายในภาวการณ์เชื่อมต่อที่จะต้องเกิดขึ้น

“ภาษา” ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะคงจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

แน่นอนว่านอกจากคนแล้วยานพาหนะ ซึ่งจะใช้ในการเดินทางเข้าออก ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน นักท่องเที่ยว นักลงทุน ฯลฯ

ไม่รู้ว่าภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้เตรียมการรับมือได้อย่างมีแบบแผนและระบบมากน้อยแค่ไหน

ที่ชัดเจนที่สุดคือตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะเป็นด้านแรกที่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในด้านความมั่นคง อาชญากรรมข้ามชาติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การอำนวยความยุติธรรม

เพราะที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีว่าการตรวจสอบคนเข้าเมืองจากด่านต่างๆ ของตำรวจไทยไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพจนเกิดปัญหามาตลอด

เพราะมีการเรียกรับผลประโยชน์ทำให้เกิดความเสียหายมาแล้ว

เป็นจุดสำคัญที่จะต้องมีการปรับปรุงกันขนานใหญ่ นอกจากนั้นก็ต้องมีการเชื่อมโยงกับตำรวจของประเทศต่างๆในอาเซียน เพื่อที่จะได้สร้างความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ด้านหนึ่งเออีซีอาจจะทำให้สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชาติอาเซียนด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะสร้างปัญหาขึ้นมาได้เพราะความหลากหลายที่จะตามมาทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมการรับมือมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ทางออกเศรษฐกิจไทยปี 2559 ภายใต้ นโยบาย 3 ยืม’

          นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว การเติบโตไม่เป็นดังที่คาดหวัง มองว่ายังมีทางออกเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559 ด้วยมาตรการ 3 ยืม

          - ยืมตัวที่หนึ่ง ยืมเพื่อนบ้าน หรือมีชื่อนโยบายเป็นภาษาอังกฤษว่า "Beggar thy Neighbor" ซึ่งหมายถึงนโยบายทางการเงินรูปแบบหนึ่งเพื่อส่งเสริมการส่งออกให้มากขึ้น โดยการลดดอกเบี้ยหรือปล่อยค่าเงินให้อ่อนตัว

          - ยืมตัวที่สอง ยืมกระเป๋าเงินเด็ก ปี 2559 จะเป็นปีแห่งการลงทุนภาครัฐ ตั้งเป้าขาดดุล 2.8% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงขึ้นกว่านั้น ซึ่งเป็นการเพิ่มหนี้ภาครัฐให้ขยับขึ้น และคนในอนาคตหรือลูกหลานเป็นผู้จ่าย แต่ถ้าหากเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจก็จะคุ้มค่า

          - ยืมตัวที่สาม ยืมตัวเอง ซึ่งเป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่าย แต่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคเหมือนในอดีต เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทำให้การนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบันกระทำได้ไม่มากนัก ในที่นี้หมายถึงการลงทุนจากภาคเอกชนซึ่งต้องลงทุนทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่นำเงินที่เตรียมลงทุนในอนาคตมาลงทุนวันนี้ โดยน่าจะสอดรับกับนโยบายเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอที่ให้นักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 – 30 มิถุนายน 2559 หากลงทุนจริงทั้งด้านก่อสร้างและซื้อเครื่องจักร ไม่น้อยกว่า 70% ของมูลค่าการลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 4 ปี และลดหย่อนภาษีอีก 50% ในอีก 5 ปีถัดไป

          ขณะเดียวกัน C I M B T จะเป็นแรงส่งหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559

          C = Confidence คือ ความเชื่อมั่น ซึ่งมาจากนโยบาย/มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ เมื่อมีความชัดเจนก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้และดึงให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจลงทุน/ซื้อสินทรัพย์เพิ่มขึ้น

          I = Infrastructure Investment คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะช่วยนำร่องการลงทุนให้ภาคเอกชนลงทุนตามและช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 20 โครงการวงเงินรวม 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีการเร่งอนุมัติโครงการและประกวดราคาให้แล้วเสร็จในปี 2559

          M = Modernization คือ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุน ทั้งด้านนวัตกรรม ด้าน R&D และด้านซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่จะมีการลงทุนยานยนต์อัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หุ่นยนต์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนด้านภาษีและส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออันจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและต่อยอดห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain

          B = Border Trade คือ การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แม้การส่งออกไปยังประเทศอาเซียนจะหดตัว แต่ การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ย 6-7% ยังเป็นบวก และยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตลาดประเทศเพื่อนบ้านยังขยายตัว

          T = Tourism คือ การท่องเที่ยวที่ยังจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า แม้ว่าสัดส่วนภาคท่องเที่ยวจะคิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ก็ตาม แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังสูงถึงเกือบ30 ล้านคน โดยภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนถึงเม็ดเงินที่จะเข้ามาด้วย

          นอกจากนี้ อยากให้จับตามอง 5 C ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

          - China = หรือปัจจัยจากจีนที่ยังชะลอตัว เนื่องจากจีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องสะสางอีกมาก ทั้งกำลังการผลิตส่วนเกินสูงในบางอุตสาหกรรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ภาคการเงินมีหนี้เสียมาก และรัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้ก้อนโต รวมไปถึงการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

          - Commodity = หรือระดับสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งบางประเทศพึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จึงได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับลดลงต่อท่ามกลางภาวะที่อุปทานน้ำมันยังสูง ขณะที่อุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันยังต่ำ เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะอยู่ในภาวะฝืดเคือง

          - Currency War = สงครามค่าเงิน ซึ่งมองว่าสงครามยังไม่จบ แม้ว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลายประเทศยังไม่สามารถส่งออกได้ จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม การแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในเวทีโลกจะมีแนวโน้มดำเนินต่อไป ซึ่งนโยบายนี้จะไม่ได้ผลหากเกิดการขยายวงทำให้ประเทศอื่นตอบโต้ด้วยการลดค่าเงินของตนบ้าง

          - Confidence = ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แม้มีการมองว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากการลงทุนภาครัฐ แต่ความเชื่อมั่นจะเป็นความเสี่ยงเมื่อความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชน

          - Constitution = รัฐธรรมนูญ นักลงทุนต่างประเทศจะมองเรื่องนี้เป็นหลัก จึงอาจมีผลต่อการเจรจาเรื่องการค้าเสรี หรือการสนับสนุนทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก รวมทั้งต้องดูว่าการเมืองใหม่จะนำมาซึ่งความปรองดองในระยะยาวได้หรือไม่

          นายอมรเทพ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 น่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างช้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ขณะที่จีนมีการเติบโตในอัตราชะลอตัวลง มีเพียงสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจประเทศหลักประเทศเดียวที่ยังเติบโตได้อยู่แต่ก็ไม่มากนัก

          ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2559 จะเติบโตในอัตรา 3.3% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% โดยปัจจัยสนับสนุนการคือการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออกรวมถึงราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มในระดับต่ำ หนุนอำนาจซื้อและภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาในช่วงปลายปีก่อนและต่อเนื่องมาถึงปี 2559 อาทิ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

          สำหรับค่าเงินบาทในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากปีนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาจากการทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยด้วย ทำให้ต้องจับตามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเข้ามาดูแลกระแสเงินทุนไหลออกเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 2559 คาดว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปตลอดช่วงปีหน้า แต่ก็ยังมีโอกาสเล็กน้อยที่จะอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้น 0.25% ได้ในช่วงปลายปี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน

          กล่าวโดยสรุป แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงดึงรั้งไว้อยู่บ้าง แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2559 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวตาม รวมถึงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สปป.ลาว เมียนมาและกัมพูชา ก็เป็นอีกปัจจัยทำให้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจ โดยประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 6-7% และยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งสามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตลาด CLMV ยังเป็นบวกได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ครม.นำยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ลงแผนพัฒนาศก.

รัฐมนตรีฯ คมนาคม เผย ครม. เห็นชอบ บรรจุยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงประชุมคณะรับมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ บรรจุในทิศทางและกรอบยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ระยะยาว 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยการทำงานกระทรวงคมนาคมในส่วนที่ 1.จะมีการเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปี 2560 - 2564 ให้กับทางสภาพัฒน์ เพื่อใช้ประกอบในการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ในส่วนที่ 2 จะเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อ ไปสู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงคมนาคมที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งในส่วนพื้นที่เมืองและพื้นที่ ชายแดน ให้เชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ได้มาตรฐาน

ขณะที่ในส่วนการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้มอบหมาย สำนักงานนโยบายและแผนงานขนส่งและจราจร สนข. เป็นผู้ยกร่างการศึกษาและยกร่างแผนแม่บท ของโครงการในระยะที่ 2 เป็นการเชื่อมโยงโครงข่าย รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ประชาชน สามารถเดินทางจากพื้นที่นอกเมืองเข้าสู่ในเมืองชั้นในได้ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในระยะต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มิตรผลรุกตลาดน้ำตาล จัดคาราวานตรงถึงร้านค้า-ผู้บริโภคทั่วไป

"มิตรผล" งัดกลยุทธ์ยิงตรงลูกค้า ทั้งกลุ่มร้านค้าและคนทั่วไป ด้วยขบวนคาราวาน "Sweet Happiness" โดยมีกิจกรรมทั้งแนะนำการเลือกใช้น้ำตาลและสินค้าราคาพิเศษ...

น.ส.สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์การตลาด กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า น้ำตาลมิตรผลเปิดคาราวาน "Sweet Happiness" ส่งมอบความสุขจากความหวานในช่วงเทศกาลแห่งความสุขให้กับผู้บริโภค โดยจะมีกิจกรรมแนะนำผลิตภัณฑ์และการเลือกผลิตภัณฑ์น้ำตาลให้เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท การสาธิตเมนูเครื่องดื่มม็อกเทลแนวใหม่โดยบาร์เทนเดอร์สุดชิค การจำหน่ายผลิตภัณฑ์และเครื่องดื่มราคาพิเศษ และการร่วมสนุกและลุ้นของรางวัลมากมาย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องหลังเปิดตัวแคมเปญ "Sweet Happiness ความหวานรสชาติที่ทำให้มีความสุข" โดยคาราวานดังกล่าว ประกอบด้วย 3 รูปแบบ เพื่อสื่อสารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน คือ คาราวานมิตเต้ คาราวานน้ำตาล มิตรผล และคาราวาน Tasty Healthy

 ทั้งนี้ กิจกรรมคาราวาน Sweet Happiness จะสร้างประสบการณ์เติมความหวาน สร้างความสุขให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ โดย คาราวานมิตเต้จะออกเดินสายไปตามสถานที่แฮงค์เอาท์สุดชิคในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ตลาดนัดรถไฟ ตลาดนัดกลางคืน ถนนคนเดิน และชิคมาร์เก็ต เป็นต้น เน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ไลฟ์สไตล์ทันสมัย ชื่นชอบการเที่ยวและกินดื่มนอกบ้าน ชอบช็อปตลาดกลางคืน รวมทั้งมีการสาธิตเมนู การแนะนำผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษให้กับร้านกาแฟและเครื่องดื่มทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันนี้ และต่อเนื่องตลอดปี 2559

น.ส.สิรินิจ กล่าวต่อว่า คาราวานน้ำตาลมิตรผลจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ ร้านขายส่ง-ขายปลีก โดยเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์และจำหน่ายในราคาพิเศษ เริ่มตั้งแต่วันนี้ และต่อเนื่องตลอดปี 2559 และคาราวาน Tasty Healthy เน้นกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มแนวสุขภาพ เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจถึงจุดเด่นที่แตกต่างกันของน้ำตาลแต่ละประเภท ผ่านกิจกรรมแนะนำผลิตภัณฑ์และสาธิตเมนูพิเศษ จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559

 สำหรับคาราวานทั้ง 3 รูปแบบ จะช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ เปิดประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์น้ำตาลมิตรผลสำหรับเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดโปรโมชั่นราคาพิเศษแทนคำขอบคุณในความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้บริโภคชาวไทยตลอดมาตอกย้ำความมุ่งมั่นของน้ำตาลมิตรผลในการรักษาความเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของผู้บริโภค.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปั๊มการส่งออกปีหน้าโต5% พาณิชย์ชู7ยุทธศาสตร์รุกเจาะตลาดทั่วโลก

พาณิชย์ตั้ง 7 ยุทธศาสตร์ 5 ปี ผลักดันการส่งออกไทยให้เป็นตามเป้าหมาย ตั้งเป้าปี’59 ขยายตัว 5% มูลค่า225,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น มั่นใจการเดินหน้าแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจังจะทำให้ไทยรอดใบแดงจากอียู

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงทิศทางการส่งออก ว่า ในปี 2559กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกของไทยขยายตัวได้5% มูลค่า 225,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สนับสนุน SMEs นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเปิดเสรีการค้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องติดตามเสี่ยงจากราคาสินค้าเกษตรโลกปรับลดลง อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนราคาน้ำมันดิบโลกลดลง และการก่อการร้าย

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการใน7 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อผลักดันการส่งออก ในระหว่างปี 2559-2564 คือ การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, การเร่งขยายตลาดส่งออกเชิงรุก,การส่งเสริมการค้าชายแดน, การประกอบธุรกิจและการลงทุนในต่างประเทศ, การปรับโครงสร้างการค้าสู่ภาคบริการโดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ, การเพิ่มบทบาทของSMEs ในการผลักดันการค้าและสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมส่งออก

“ในปีหน้ากรมจะเริ่มปรับแผนการใช้งบประมาณในต่างประเทศใหม่ เพื่อให้เหมาะสมมากที่สุด มีการปรับในด้านข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น โดยเฉพาะของกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) อีกทั้งได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ทำงานให้หนักขึ้น เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานตลาด ในกลุ่มตลาดหลักอย่างสหรัฐ จะเจาะกลุ่มลูกค้า Hispanic การขายสินค้าผ่าน E-Commerce และทีวีช็อปปิ้ง ตลาดญี่ปุ่น จะเจาะกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มสถาบัน โรงแรม ร้านค้า ตลาดสหภาพยุโรป จะเจาะกลุ่มเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ ขณะที่ตลาดใหม่ เช่น ตลาดรัสเซีย จะเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าข้าว และไก่ ตลาดอิหร่าน จอร์แดน จะเพิ่มการเจรจาเปิดตลาดและกระชับความสัมพันธ์ เน้นไปที่สินค้าข้าว และยางพารา

ตลาดแอฟริกาจะเน้นการเจรจาเปิดตลาดและกระชับความสัมพันธ์ โดยเน้นสินค้ากลุ่มข้าว และนำเข้าวัตถุดิบอัญมณี และตลาดในเอเชีย เช่น ตลาดอาเซียน จะเน้นทั้งด้านการค้าการลงทุน จัดงาน Top Thai Brand ใน 6 เมืองหลัก และจัด Mini Thailand Week 15 ครั้งในเมืองรอง ส่วนตลาดจีน จะขยายตลาดเมืองรองเพิ่มเติม เช่น เฉิงตู หนิงเซียะ ฉงชิ่ง ฝูโจวหนานจิง กุ้นหลิน และอู๋ฮั่น ขณะที่ตลาดอินเดีย จะมีการจัดงาน Thailand Week ใน 3 เมือง คือ เจนไนบังกาลอร์ และจัณฑิการ์

สำหรับเป้าหมายการส่งออกไปประเทศต่างๆตั้งเป้าไว้ดังนี้ ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 3%, ลาตินอเมริกา 17.2%, สหภาพยุโรป 2.8%, ตะวันออกกลาง -3%, แอฟริกา -8%, รัสเซีย -15%, จีน 3.5%, อินเดีย 9%, ญี่ปุ่น -1.5%, อาเซียน 6%, CLMV 13.6% และออสเตรเลีย 10% ซึ่งสินค้าที่น่าจะส่งออกได้ดีในปีหน้า ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง/เภสัชภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และของขวัญของชำร่วยของตกแต่งบ้าน รวมถึงธุรกิจบริการ

“ในปี 2559 กรมจะเน้นเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้นเพราะเป็นตลาดที่ขยายตัวมาก และในสินปีนี้จะมีการเปิดประชาชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่กรม จะให้ความสำคัญอย่างมาก ส่วนตลาดเดิม อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ก็จะยังดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

ส่วนกรณีที่สหภาพยุโรปหรืออียู อาจให้ใบแดงประเทศไทยกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU fishing หากมีการให้ใบแดงจริง จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย เพราะผู้บริโภควิตกกังวลว่าสินค้าไทยจะมีปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้จากการตรวจสอบของทูตพาณิชย์ พบว่ายังไม่มีการเก็บสินค้าไทยออกจากชั้นวางสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าแต่อย่างใด พร้อมมั่นใจว่า การเดินหน้าแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายทั้งการแก้กฎหมาย จะช่วยให้ไทยผ่านการตรวจสอบของตัวแทนสหภาพยุโรปที่จะเข้ามาตรวจอีกครั้งในเดือนมกราคม 2559 นี้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย (TFFA) ออกแถลงการณ์ว่าจะยกเลิกการว่าจ้าง สถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นภายนอกตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้งของบริษัทสมาชิกเพื่อลดความเสี่ยงกับการปฏิบัติต่อแรงงาน ที่ผิดกฎหมายในห่วงโซ่อุปทานกุ้งของไทยโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2559 บริษัทสมาชิกของสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จะต้องย้ายการแปรรูป สัตว์น้ำเบื้องต้นเข้ามาในสถานประกอบการของตนเองเพื่อให้สามารถควบคุมมาตรฐานสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงานได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยย้ำว่า เราขอแสดงจุดยืนในความมุ่งมั่นที่ต่อสู้การละเมิดสิทธิมนุษยชน และแรงงานผิดกฎหมายทั้งนี้สมาชิกสมาคมรายใดที่ยังคงซื้อกุ้งจากผู้แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นภายนอกตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไปจะถูกยกเลิกสมาชิกภาพและถูกตัดสิทธิ์ในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยไปต่างประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สั่งปิดประตูน้ำ 365แห่ง22จว.สกัดแล้ง กรมชลชี้วิกฤติหนักถึงขั้นเปิดศึกแย่งชิง

ภาคใต้ผวาพายุถล่ม

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและผู้นำท้องถิ่น ขอให้งดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรและช่วยลงพื้นที่ ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เกษตรกรในพื้นที่ และขอความร่วมมือประชาชน ช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ผ่านพ้นวิฤกติภัยแล้งไปให้ได้

แจงแผนจัดสรรน้ำที่มีจำกัด

โดยระบุว่าจากสถานการณ์น้ำที่มีจำกัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ที่เป็นน้ำใช้การได้4,014 ล้านลูกบาศ์กเมตรโดยกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ครอบคลุมกิจกรรมหลักคือการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม จะปล่อยระบายจากเขื่อน วันละ15.6ล้านลูกบาศ์กเมตร คงอัตรานี้ไปจนถึงฤดูฝนปีหน้าเดือนกรกฏาคม โดยเตรียมปริมาณน้ำไว้สำหรับในกรณีเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงขึ้นอีก ซึ่งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีหน้า ยังเป็นปีที่ฤดูฝนจะมาล่าช้าด้วย

“ปริมาณน้ำที่มีในเขื่อนตอนนี้ยืนยันว่ามีใช้ ถึงฤดูแล้งแน่นอนในเดือนพฤษภาคมและยังเตรียมน้ำไว้ใช้ต่ออีกช่วง เพื่อให้เข้าสู่ฤดูฝนเต็มที่ ถึงเดือนกรกฎาคมที่จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนซึ่งได้ทำตามแผนในลักษณะของปริมาณฝนตกในปี 2558 ที่มาล่าช้า และกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2559 ได้เตรียมแผนไว้หมด โดยคำนวนจากปริมาณน้ำ ล่าสุด 4,014 พันล้าน ลบ.ม.ปล่อยวันละ 15.6 ล้านลบ.ม.อีก240-250วัน ประมาณ8เดือน ต้องใช้ขนาดนี้ และควบคุมการใช้น้ำ ไม่ให้เกินจากนี้”นายสุเทพ กล่าว

ปิด365ประตูแล้ว/ลั่นมีม็อบก็ไม่เปิด

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่าส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง มีมากในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ชาวนาต้องรับความเสี่ยงเองพบว่าได้ปลูกไปแล้ว1.28ล้านไร่เริ่มปลูกตั้งแต่1พฤศจิกายนถึงปัจจุบันซึ่งมาตรการชี้แจง ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำค่อนข้างได้ผล หากเทียบปี2557เวลาเดียวกันปลูกไปถึง 2ล้านไร่แล้ว แต่ปีนี้น้อยกว่า7.5แสนไร่

“ตอนนี้ชาวนาได้ใช้น้ำในคลอง หากในอนาคต จะมาสูบน้ำจากระบบชลประทานเราไม่ยอมอยู่แล้วหรือ มาประท้วงเรียกร้อง ขอให้ส่งน้ำไปช่วยนาปรัง จะไม่ให้เลย ตอนนี้ปิดประตูน้ำทั้ง365แห่งหมดแล้วในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ให้น้ำเฉพาะพืชไร่ พืชผักเท่านั้น”

คาดมกรา59เกิดปัญหาแย่งชิงน้ำ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าจากนี้ต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง การปล่อยระบายน้ำไม่ให้หายกลางทางซึ่งประมาณ เดือนมกราคม2559ไปแล้วอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำ ขอความร่วมมือให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดช่วยแก้ไขสถานการณ์ และชี้แจงถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถส่งน้ำให้นาปรังได้ซึ่งผู้ว่าฯได้มีคณะกรรมการแก้ไขวิฤกติภัยแล้งในทุกระดับแล้ว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน กรมชลฯได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าฯและผู้นำท้องถิ่น ให้ทำตามมาตรการที่กรมชลฯขอร้องไปโดยให้ท้องถิ่น งดการสูบน้ำ และ ใช้น้ำจากแผนที่กำหนด เพราะกรมชลฯได้ปิดระบบส่งน้ำแล้ว เตือน10จ.ใต้ระวังน้ำท่วมไหลหลาก

ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)กล่าวว่าจากการติดตามสภาพอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่22–23ธันวาคม หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง จะเคลื่อนผ่านบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ตอนกลาง ส่งผลให้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง2 –3 เมตร อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ จึงได้ประสาน10 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และระนอง รวมถึงศูนย์ ปภ.และสำนัก ปภ.จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่เตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมป้องกันภัยฯยังได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเล ที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน พื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้เตรียมการป้องกันอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ไว้ด้วย ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆอาทิน้ำตก ชายฝั่งทะเล หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยให้พิจารณาแก้ไขและสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราว สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติ ทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรระมัดระวังในการเดินเรือทะเลมีคลื่นสูง2–3เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ2–3วัน

สงขลาเรือหยุดจอดเทียบท่าหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลพวงจากสภาพคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยที่มีกำลังแรง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนล่างกำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกและมี แนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ ส่งผลให้ทะเลมีคลื่นสูง 2-3เมตร ช่วงวันที่ 21-23 ธันวาคม ทำให้ เรือประมงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ยังคงจอดเทียบท่าเรือประมงใหม่ จ.สงขลา ต่อไป จากการเรือจอดเทียบท่าส่งผลให้บริเวณท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำเงียบเหงาไม่มีเรือเรือเข้ามาขึ้นสินค้า บรรดาแพปลาต่างๆเรือ ต้องหยุดชั่วคราว สินค้าสัตว์น้ำ อาหารทะเลเริ่มขาดแคลน ไม่มีสินค้าสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือส่งแพปลา ทำให้แพปลาบางส่วน จำเป็นต้องสั่งสินค้าสัตว์น้ำมาจากจ.สตูล ฝั่งทะเลอันดามันโดยลำเลียงมาทางรถยนต์เพื่อส่งขายให้พ่อค่าแม่ค้ากับเอเยนต์ทางมาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ปภ.สตูลแจ้งเตือน ปชช.รับมือ

ขณะทื่จ.สตูล ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสภาพอากาศในพื้นที่ จ.สตูล ท้องทะเลยังคงเงียบสงบไร้คลื่นลมแรง ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ตันหยงโป อ.เมือง จ.สตูล ยังคงออกเรือหาอาหารทะเล ปลา กั้ง ปู ตามปกติ แม้จะมีการประกาศ เตือนให้เพิ่มความระมัดระวังคลื่นลมแรงที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนวันที่ 21-26 ธันวาคม จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังแรงขึ้น มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นโดยนายไพศาล ขุนศรี หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด(ปภ.)สตูลกล่าวว่าศูนย์อำนวยการ ปภ.สตูลแจ้งเตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเล ที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน ภัยอันตรายจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง เตรียมป้องกันและระมัดระวังอันตราย จากที่จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นตกหนักในบางแห่ง ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามเตรียมแผนป้องกันภัยและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

รอยลชี้หลัง26ธค.,หนาวอีกระลอก

ด้าน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.)กล่าวว่าจากนี้ไปถึงวันที่ 26 ธันวาคม กรุงเทพมหานคร จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ไม่ค่อยเย็นสบายเหมือนสัปดาห์ก่อนา หลังหย่อมความกดอากาศต่ำจากอ่าวไทยได้เคลื่อนที่เข้ามาแล้วและผลักดันให้หย่อมความกดอากาศสูงจากด้านเหนือเข้ามาไม่ได้ สังเกตว่าตั้งแต่กรุงเทพขึ้นไป อากาศจะหนาวน้อยลงโดยพื้นที่อื่นอุณหภูมิสูงขึ้นบ้างก็จริง แต่ยังมีความหนาวเย็นอยู่บ้าง จากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ)พบว่า หลังวันที่26ธันวาคมนี้ หย่อมความกดอากาศต่ำลดกำลังลง และหย่อมความกดอากาศสูงมีกำลังเพิ่มขึ้นนั่นคือจะทำให้กรุงเทพกลับมา มีอากาศหนาวอีกครั้งหนึ่ง อาจจะหนาวกว่าเดิมเล็กน้อย แต่บอกไม่ได้ว่าจะคงความหนาวเย็นเช่นนั้นได้กี่วัน

ดอยอินทนนท์ ยอดหญ้า3องศา

ขณะที่ จ.เชียงใหม่ นายพรเทพ เจริญสืบสกุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมจอง จ.เชียงใหม่ เผยว่ายอดบนดอยอินทนนท์อากาศกลับมาเย็นอีกรอบทำให้เกิดปรากฎการณ์เหมยขาบ หรือ แม่คะนิ้ง บนยอดหญ้าเป็นบริเวณกว้าง อุณหภูมิยอดดอย ช่วงเช้ายอดหญ้าลดเหลือ 3 องศาเซลเซียส ส่วนแหล่งท่องเที่ยว กิ่วแม่ปาน ที่5 องศาเซลเซียส ทำให้นักท่องเที่ยวแห่งมาพักและมาสัมผัสอากาศเย็นและพักค้างคืนจำนวนมาก

กรมอุตุนิยมวิทยา เชียงใหม่รายงานว่าสภาพอากาศโดยรวมภาคเหนือ อากาศปิดมีหมอกตอนเช้า อากาศในช่วง23-26ธันวาคม อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนา บริเวณยอดดอย อากาศหนาวถึงหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุด5-10องศาเซลเซียส

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"บิ๊กตู่" สั่งลุยแผนรับมือพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำมัน ซึ่งต้องเตรียมการรับมือกับเศรษฐกิจโลก โดยแยกประเภทการใช้พลังงาน ทั้งในส่วนของบ้าน โรงงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม ที่ต้องวางแผนล่วงหน้าไว้ 20 ปี ขณะที่การเดินทางมาเยือนของสมเด็จฯฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน แต่มีการขอความร่วมมือในการใช้น้ำจากเขื่อนสตรึงงำที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเท่านั้น

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในปีหน้าราคาน้ำมันจะยังคงทรงตัว และไม่ปรับขึ้นมากไปจากปัจจุบัน มีสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ขณะที่ความต้องการซื้อยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการที่มีมากขึ้น

ดังนั้นสถานการณ์ราคาน้ำมันไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ในบางช่วงก็อาจมีความผันผวนเล็กน้อย ทั้งนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ปี 59-63 ให้สะท้อนต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า อัตราใหม่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าจากนี้ไปปรับขึ้นหรือลดลงอย่างไร เพราะต้องดูรายละเอียดของต้นทุนที่ใช้ซึ่งมาหลายประเภท ขณะเดียวกันในโครงสร้างใหม่นี้ ยังเน้นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามต้นทุนเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งเสริมการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาล การส่งเสริมประหยัดไฟฟ้า และการจัดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) การรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเทิน1 โดยไทยจะรับซื้อจากสปป.ลาว จำนวน 520 เมกกะวัต คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยได้ภายในปี 65 ซึ่งการซื้อไฟฟ้าครั้งนี้มีข้อกำหนด ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่บริเวณชายแดนที่ราคา 2.67 บาทต่อหน่วย จึงทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเมื่อนำไฟฟ้าจากลาวเข้าระบบแล้ว ไม่แพงไปกว่าเดิม“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2558

อธิบดีกรมชลฯทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ22จ. งดปล่อยน้ำ-สั่งลงพื้นที่ชี้แจงเกษตรกร

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด22 จ.ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้นำท้องถิ่น ขอให้งดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรและช่วยลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เกษตรกรในพื้นที่ และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจังเพื่อให้ผ่านพ้นวิฤกติภัยแล้งไปให้ได้

จากสถานการณ์น้ำที่มีจำกัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ที่เป็นน้ำใช้การได้ 4,014 ล้านลูกบาศ์กเมตร โดยกรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ครอบคลุมกิจกรรมหลัก คือการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งจะปล่อยระบายจากเขื่อนวันละ15.6 ล้านลูกบาศ์กเมตร คงอัตรานี้ไปจนถึงฤดูฝนปีหน้าเดือนกรกฏาคม โดยเตรียมปริมาณน้ำไว้สำหรับในกรณีเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงขึ้นอีก ซึ่งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปีหน้ายังเป็นปีที่ฤดูฝนจะมาล่าช้าด้วย

"ปริมาณน้ำที่มีในเขื่อนตอนนี้ ยืนยันว่ามีใช้ถึงฤดูแล้งแน่นอนในเดือนพ.ค. และยังเตรียมน้ำไว้ใช้ต่ออีกช่วงเพื่อให้เข้าสู่ฤดูฝนเต็มที่ถึงเดือน ก.ค.ที่จะมีน้ำไหลเข้าเขื่อน ซึ่งได้ทำตามแผนในลักษณะของปริมาณฝนตกในปี58 ที่มาล่าช้า และในกรณีฝนทิ้งช่วง ในปี59 เราเตรียมแผนไว้หมดโดยคำนวนจากปริมาณน้ำ ล่าสุด 4,014 พันล้านลบ.ม. ปล่อยวันละ 15.6 ล้านลบ.ม. อีก240 -250 วันประมาณ 8 เดือน ต้องใช้ขนาดนี้และควบคุมการใช้น้ำไม่ให้เกินจากนี้ "นายสุเทพ กล่าว

 

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง มีมากในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง โดยชาวนาต้องรับความเสี่ยงเอง พบว่าได้ปลูกไปแล้ว 1.28 ล้านไร่ โดยเริ่มปลูกตั้งแต่1 พ.ย. มาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมาตรการชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำค่อนข้างได้ผล เพราะหากเทียบกับปี57 เวลาเดียวกันปลูกไปถึง 2 ล้านไร่แล้ว ซี่งปีนี้น้อยกว่า7.5 แสนไร่

"ตอนนี้ชาวนา ได้ใช้น้ำในคลอง หากในอนาคต จะมาสูบน้ำจากระบบชลประทานเราไม่ยอมอยู่แล้ว หรือมาประท้วงเรียกร้องขอให้ส่งน้ำไปช่วยนาปรัง จะไม่ให้เลย ซึ่งตอนนี้ปิดประตูน้ำทั้ง 365 แห่งหมดแล้ว ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ให้น้ำเฉพาะพืชไร่ พืชผักเท่านั้น "อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

อธิบดีกรมชลฯ กล่าวต่อว่า จากนี้ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังการปล่อยระบายน้ำไม่ให้หายกลางทาง ซึ่งประมาณเดือนม.ค.59 ไปแล้วอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำ  โดยขอความร่วมมือให้ผู้ว่าจ.ทุกจังหวัด ช่วยแก้ไขสถานการณ์และชี้แจงถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถส่งน้ำให้นาปรังได้ ซึ่งขณะนี้ทางผู้ว่าฯมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขวิฤกติภัยแล้ง ในทุกระดับแล้ว  โดยปลายเดือนที่ผ่านมากรมชลฯก็ได้ทำหนังสือไปถึงผู้ว่าฯและถึงผู้นำท้องถิ่น ให้ทำตามมาตรการที่กรมชลฯขอร้องไปโดยให้ท้องถิ่นงดการสูบน้ำและใช้น้ำจากแผนที่เรากำหนดเพราะกรมชลฯได้ปิดระบบส่งน้ำแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2558

ส.ขนส่งอีสานค้านผ่อนปรนมาตรการขนอ้อย

นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน ค้านผ่อนปรนมาตรการขนส่งอ้อย มองหากรัฐยินยอมอนาคตมีม็อบเพิ่ม ถนนเสียหาย

นายขวัญชัย ติยะวานิช นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเยผกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า กรณีที่ม็อบรถบรรทุกอ้อย จ.นครราชสีมา เตรียมเคลื่อนขบวนกดดันกรมทางหลวง เพื่อผ่อนปรนมาตรการขนส่งอ้อยนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากหากภาครัฐยินยอมตามข้อเรียกร้องดังกล่าวถือว่ามีความไม่เป็นธรรม ละเลยการปฏิตามกฎหมายและยังถือเป็นการเพิ่มความเสียหายกับถนนด้วย นอกจากนี้ อาจเป็นตัวอย่างให้รถขนส่งสินค้าเกษตรอื่น ๆ ออกมาเรียกร้องในอนาคตได้ ซึ่งส่วนตัวอยากให้ภาครัฐออกมาดูแลปัญหาจริงจัง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับลงต่อเนื่องนั้น ได้ส่งผลให้ต้นทุนราคาเชื้อเพลิงปรับลดลง รวมทั้งค่าขนส่งด้วย แต่ในส่วนของค่าแรง ค่าอะไหล่ไม่ได้ปรับลงตาม จึงทำให้ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับปัญหาเรื่องต้นทุนอยู่

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2558

ก.อุตฯตั้งสปริงบอร์ดขับเคลื่อนประเทศ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานชี้นำยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิผลิตภาพการผลิต (โปรดักทิวิตี้ของประเทศ) ขับเคลื่อนนวัตกรรม และขับเคลื่อนด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เตรียมประชุมนัดแรกวันที่ 21 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะประชุมอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อขับเคลื่อนงานที่ได้รับมอบหมายร่วมกัน และติดตามประเด็นสำคัญอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้วาระสำคัญที่จะหารือ คือ การเร่งรัดตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมองว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในขณะนี้และรัฐบาลให้ความสนใจมาก ซึ่งจะทำงานควบคู่กับรัฐบาลในการเสนอแนวคิดเชิงยุทธศาสาตร์ในการขับเคลื่อนผลิตภาพ นวัตกรรมและมาตรฐาน ให้คำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเกิดผลเชิงรูปธรรม ให้คำปรึกษาแนะนำภาครัฐ และหลังจากนี้จะพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินงานร่วมกันตามความจำเป็น

สำหรับคณะกรรมการชุดนี้มี ประกอบด้วย รัฐบาล ข้าราชการ เอกชน และตัวแทนฝ่ายวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับภาคเอกชน อาทิ นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือเอสซีจี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2558

อุตฯ เร่งกระตุ้น ศก.

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ได้ให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดูแลในเรื่องของ SME ว่าจะทำอย่างไร เพื่อสามารถผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ส่วนความคืบหน้าในเรื่องของคลัสเตอร์ 10 กลุ่ม ทางอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดและในส่วนของกระทรวง ได้มีการตั้งคณะกรรมการที่จะเร่งรัดในนโยบายนี้ โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการเป็นรายสาขา ซึ่งตั้งแล้ว 6 สาขา อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมการ ในการเร่งชี้เป้าหมาย ทั้งผลิตภัณฑ์ ทั้งนักลงทุน รวมทั้งแผนงานที่จะนำไปเชิดชูการลงทุน ทั้งผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้เร่งทำในโครงการเทิร์นอะราวด์ โดยแบ่ง SME เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.เทิร์นอะราวด์กลุ่มที่กำลังเดือดร้อน โดยส่งที่ปรึกษาเข้าไปช่วยดู ช่วยปรับแผนธุรกิจ เพื่อที่จะดูว่าจะสู้ต่อไปได้อย่างไร 2.เทิร์นอะราวด์ที่แข็งแรงแล้วจะทำอย่างไรให้แข็งแรงยิ่งขึ้น 3.เทิร์นอะราวด์กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งอยากเห็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่นำนวัตกรรม นำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาใช้มากขึ้น โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งงบประมาณเพื่อพัฒนาการประกอบการรุ่นใหม่ให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แผนการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2560 คาดว่าลงตัวแล้ว โดยได้มีการตั้งงบประมาณให้มีความสมเหตุสมผล ไม่สูงเกินไป อันไหนไม่จำเป็นก็ให้ตัดลง ในส่วนของอุตสาหกรรมภาคใต้ต้องดูให้มีความสมดุลกัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

WTOถกลงตัวเปิดเสรี"ไอที"

สมาชิก WTO บรรลุข้อตกลง เปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ คาดช่วยส่งเสริมขีดแข่งขันของไทย ดึงการลงทุน เพิ่มโอกาสส่งออกไปสหรัฐและยุโรป

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 10 หรือ MC10 ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค.2558 ร่วมกับสมาชิก WTO อีก 163 ประเทศ โดยสมาชิกสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 3 ปีได้สำเร็จ นับจากเริ่มเจรจาเมื่อปี 2555

โดยสาระสำคัญของความตกลงจะมีการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษต่างๆ สำหรับการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ และรองรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นการต่อยอดความสำเร็จของความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) ซึ่งไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2540

สำหรับความตกลง ITA Expansion จะส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยในสินค้า IT เพราะไทยสามารถนำเข้าสินค้า IT ต้นน้ำและกลางน้ำมาเป็นวัตถุดิบการผลิตภาษีศูนย์ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำลง และยังเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งสินค้า IT ไปประเทศที่ยังไม่มีการทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า โดยเฉพาะสหรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้ามอนิเตอร์ และสหรัฐยังเก็บภาษีร้อยละ 5 และกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และกล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหภาพยุโรป ที่มีการเรียกเก็บภาษี 14% อีกด้วย.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ม็อบรถบรรทุกอ้อยเคลื่อนไปด่านชั่งสีคิ้ว จี้ผ่อนปรนมาตรการขนส่งอ้อย

        กลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกอ้อย จ.นครราชสีมา ในนามสมาคมชาวไร่อ้อย ปากช่อง-สีคิ้ว จะเคลื่อนขบวนรถ ไปด่านชั่งน้ำหนักสีคิ้ว เพื่อกดดันให้กรมทางหลวง ผ่อนปรนมาตรการขนส่งอ้อย หลังจากที่สมาคมฯ จัดทำ MOU กับส่วนราชการ และทาง จ.นครราชสีมา 5 ข้อ แต่ที่ผ่านมา ข้อเสนอดังกล่าวรับแล้วแต่ยังเงียบ ไม่มีการตอบรับใดๆ

        ด้าน นายเด่น ปราณีตพลกรัง ตัวแทนผู้ประกอบการ ระบุว่า วันนี้จะเคลื่อนขบวนไปที่ด่านชั่งสีคิ้ว เวลา 16.00 น. แต่จะไม่มีการปิดถนนมิตรภาพอย่างที่เป็นข่าว แต่การทำอย่างนี้ต้องการแสดงออกให้ภาครัฐรู้ว่า เจ้าของไร่อ้อยและผู้ประกอบการ ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะเช่นนี้

        ล่าสุด ทหารกองทัพภาคที่ 2 ตัวแทนกรมทางหลวง และผู้ที่เกี่ยวข้อง พยายามติดต่อประสาน เพื่อขอให้กลุ่มชาวไร่อ้อย ยุติการเคลื่อนไหว

จาก http://manager.co.th   วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ไทยลั่นพร้อมรับมือเปิดAEC พณ.ชูเปิดเสรีค้าบริการดันยอด

กรมเจรจาการค้าฯ ลั่นไทยพร้อมรับมือเปิด AEC แล้ว ทั้งจัดทำยุทธศาสตร์ระยะสั้นและยาวรองรับ อาเซียนชูให้ความสำคัญกับการค้าบริการ ไทยเร่งเปิดตลาด 5 สาขาให้มากขึ้น ขณะประชุมสุดยอดอาเซียนที่มาเลย์ประกาศแผนงาน AEC Blueprint 2025 หวังกำหนดทิศทางของอาเซียนใน 10 ปีข้างหน้ารวมกันเป็นหนึ่ง เร่งคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ ให้เสร็จภายในไตรมาสแรกปีหน้า

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยถึง ทิศทางของอาเซียนหลังปี 2558 ว่า รัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมและใช้โอกาสจากประชาคมอาเซียน(AC) โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่เน้นให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจทั้งการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน , การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันได้ , การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับภาคบริการซึ่งเป็นสาขาที่มีความสำคัญในอาเซียน ซึ่งไทยอาจต้องพิจารณาดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและความเชี่ยวชาญ , การอำนวยความสะดวกการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติในสาขาที่ไทยมีความต้องการ พัฒนาภาคบริการภายในประเทศโดยเฉพาะสาขาโลจิสติกส์ การศึกษา การเงินโทรคมนาคม ก่อสร้าง และคอมพิวเตอร์เป็นต้น

ซึ่งในอนาคตไทยคงต้องพิจารณาเปิดตลาดในสาขาดังกล่าวในภาพรวมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตลาดให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint ซึ่งจะเป็นการต่อยอดแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 เดิม โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ขณะความคืบหน้าของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ผู้นำอาเซียนได้มีการประกาศแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (AEC Blueprint 2025) โดยแผนงานของ AEC Blueprint จะเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้าของอาเซียนโดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค ที่จะยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ต่อยอดจากมาตรการในปี 2558 ให้มีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับเดินหน้ารวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก

โดยมีประเด็นที่อาเซียนจะต้องร่วมกันผลักดัน เช่น การเปิดเสรีภาคบริการเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสาขาที่มีบทบาทมาก ในระบบเศรษฐกิจ การยกเลิกหรือลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน การสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอี เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาเซียนได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาต่างๆ ให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559

“ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา มาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำอาเซียน ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งสามารถสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญได้แล้ว ทำให้การเจรจาการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงข้อบทต่างๆ ทวีความเข้มข้นขึ้น และจะพยายามเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 ซึ่งความตกลง RCEP จะส่งเสริมซึ่งกันและกันกับความตกลงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) และจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตโดยรวมของภูมิภาคอันจะนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในอนาคต

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ไทยเรียกร้องยกเลิกอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์กล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก ครั้งที่ 10ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ว่า ได้ย้ำจุดยืน ท่าทีของไทยพร้อมสนับสนุนกลไกความร่วมมือในการเจรจาเพื่อสร้างความเชื่อถือในการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า เนื่องจากมีการเจรจามานาน 14ปีแล้ว แต่ผลที่ออกมายังน้อย

 ดังนั้นควรจะมีผลสรุปของการเจรจาออกมาได้บ้างโดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกอุดหนุนการส่งออก 4 ด้าน ได้แก่ 1. อุดหนุนโดยตรงคือผู้ส่งออกในประเทศนั้นๆไปประมูลขายสินค้าเกษตรให้ได้ราคาต่ำๆเพื่อชนะการประมูลแล้วภาครัฐจะชดเชยส่วนต่างให้ภาคเอกชน, 2.การให้สินเชื่อเพื่อส่งออกคือรัฐชดเชยดอกเบี้ยต่ำหรือค้ำประกันแก่ผู้ส่งออกในการส่งออกสินค้าราคาต่ำๆ, 3. การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร คือประเทศที่พัฒนาแล้วใช้สินค้าเกษตรแก่ประเทศที่ยากจนแล้วประเทศนั้นๆนำของได้ฟรีไปส่งออกราคาต่ำแข่งกันผู้ส่งออกประเทศอื่น และ 4.รัฐวิสาหกิจแต่ละประเทศที่มีอำนาจผูกขาดการส่งออกคงต้องมีการกำหนดมาตรการดูแลให้ชัดเจนซึ่งหากได้ผลสรุป จะมีความคืบหน้าการเจรจาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น “

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2558

กรุงศรีฯชี้ทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนเพิ่ม2-3

ธนาคารกรุงศรีฯชี้ทิศทางค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนเพิ่มอีก 2-3% แนะผู้ส่งออกป้องกันค่าเงิน ระบุสิ้นปีนี้บาทอยู่ที่ระดับ 36.50 บาท/เหรียญสหรัฐ

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ทีระดับ 36.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 35.50 - 37.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และเงินบาทน่าจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2-3% จากปัจจุบันค่าความผันผวนอยู่ที่ 6.15% เป็น 7-8% ในช่วงปลายปีนี้ จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะขยับดอกเบี้ยขึ้นเป็น 0.25% จากปัจจุบันที่ 0 -25% ฉะนั้น ในภาวะเช่นนี้ผู้ประกอบการควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

"ทิศทางเงินบาทยังผันผวนจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างของกลุ่มเศรษฐกิจประเทศหลักที่สหรัฐฯน่าจะขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ยุโรป ญี่ปุ่น อาจจะผ่อนคลายต่อ ค่าเงินบาทน่าจะอ่อนค่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้านี้และค่อยๆปรับแข็งค่าขึ้นอย่างไรก็ดี หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ปีนี้สักครั้ง และค่อยๆทยอยขึ้นตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเราน่าจะปรับขึ้นได้สักครั้ง 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหรือในปลายปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยเราเพิ่มจาก 1.5% เป็น 1.75%" นายตรรกกล่าว

ทั้งนี้ ทิศทางดอกเบี้ยไทยมีโอกาสปรับขึ้นได้จากแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าที่น่าจะดีขึ้น โดยปีนี้เศรษฐกิจน่าจะโต 2.8% และปีหน้าน่าจะโตที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นตามการขับเคลื่อนของความต่อเนื่องการลงทุนภาครัฐการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ต้นทุนน้ำมันและดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ และเสถียรภาพในประเทศที่ดีจากทุนสำรองประเทศที่สูงหนี้ในต่างประเทศต่ำ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2558

ชลประทานยันบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ลพบุรีมีน้ำแน่

ชลประทานยันบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง พื้นที่อ.เมือง บ้านหมี่ ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี บอกมีน้ำอุปโภค บริโภค น้ำไม่ขาดแน่

ประชาชนในเขตจังหวัดลพบุรีหวั่นน้ำในคลองชลประทาน ชัยนาท-ป่าสัก ที่ส่งมาให้อุปโภคบริโภคจะไม่เพียงพอ เพราะน้ำในคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ที่เห็นๆ น้ำลดลงเหนือน้อยทุกวัน ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่าในเดือน มีนาคม เมษายน 2559 ชาวลพบุรีจะมีน้ำใช้หรือเปล่า เพราะ ที่ผ่านมา น้ำประปา ลพบุรี ต้องหยุดจ่ายน้ำให้ประชาชนระยะหนึ่งทำให้มีการหวั่นวิตกว่าน้ำจะขาดแคลน

นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา สำนักชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า ทางสำนักชลประทานที่ 10 ได้ว่างการบริหารจัดการน้ำ ในฤดูแล้ง สำหรับพื้นที่อำเภอ เมือง อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 โดยตามแนวทางของกรมชลประทาน

“สำนักงานชลประทานที่10 ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ คลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก รับน้ำจาก แม่น้ำเจ้าพระยา เข้าทางประตูมโนรมย์ ในอัตราวันละประมาณ 2 ล้าน 4 แสน ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านมาตามคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งเพียงพอกับการผลิตน้ำประปาของ อำเภอบ้านหมี่ อำเภอท่าวุ้ง อำเภอเมืองลพบุรี เทศบาลเมืองลพบุรี หน่วยราชการและอบต.ต่างๆตามรายทางที่คลองส่งน้ำผ่าน กรมชลประทาน ได้วางแผน การใช้น้ำไว้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 ว่าเมื่อถึงเวลานั้นคาดว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน และมีน้ำจากฝนมาเติมในเขื่อน แต่เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน จึงได้เตรียมสำรองน้ำไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในกรณี “ฝนทิ้งช่วง”ไม่ตกในเดือนพฤษภาคม 2559 ” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทางสำนักงานชลประทานที่10 มีการสร้างการรับรู้ ในการใช้น้ำในช่วง กันยายน ถึงตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 2 หมื่นราย และยังมีแผนส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอความร่วมมือปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรังและเข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆของรัฐบาล เช่น การจ้างแรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่ นายภาณุกิจ ดิษพึ่ง ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ในพื้นที่ เร่งดำเนินการกิจกรรมต่างๆเพื่อให้ การส่งน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเช่น เร่งกำจัดวัชพืชตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ป้องกันน้ำเน่าเสีย การเร่งรัดซ่อมแซมอาคารชลประทานประตูน้ำ ท่อรับน้ำ เพื่อลดการสูบเสียน้ำในระบบอันจะเป็นการประหยัดน้ำอีกทางหนึ่ง พร้อมนี้หากได้รับความร่มแรงร่วมใจจากพี่น้องเกษตรและผู้ใช้น้ำช่วยกันประหยัด เชื่อมั่นได้ว่า จะผ่านแล้งนี้ได้ไม่ยากเย็น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

733 โรงงานชะลอเปิดกิจการ ก.อุตสาหกรรมส่งทีมเข้าช่วยเหลือ 

          ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศถึง 40% แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและ นอกประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แสดงถึง "ความซบเซา" มาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน โดยมีดัชนีชี้วัดส่วนหนึ่งจากตัวเลขคำขออนุญาตประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงานใหม่ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 ปรากฏมีจำนวน "คำขอ" ตั้ง/ขยายโรงงานใหม่เป็นจำนวนถึง 13,141 โรง เงินลงทุน 2.6 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานถึง 910,000 คน แต่เอาเข้าจริงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ปรากฏมีตัวเลขการตั้ง/ขยาย "ต่ำกว่า" คำขอมาก นั่นหมายถึง ผู้ประกอบการชะงักหรือชะลอแผนการตั้ง/ ขยายโรงงาน

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้ยอดคำขอ อนุญาตประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงานจะมีแนวโน้มที่ดี แต่เมื่อย้อนกลับมาดู ตัวเลขจริงแล้ว ยังคงมีโรงงานส่วนหนึ่งถึงแม้ไม่มากแต่ก็น่าห่วง ได้ชะลอการเปิดกิจการจริง จากการเก็บข้อมูลประมาณ 1 เดือน พบว่าโรงงานที่ได้รับ "ใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงาน" หรือที่เรียกกันว่า ใบ รง.4 มีจำนวน 10,535 โรง หรือคิดเป็น 80.17% ของจำนวน คำขอ (13,141 โรง) คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท มีการจ้างงาน 650,000 คน

          โรงงานที่แจ้งเริ่มประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงานมีจำนวน 9,762 โรง หรือ คิดเป็น 92.66% ของจำนวนโรงงานที่ได้รับใบ รง.4 (10,535 โรง) คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงาน 380,000 คน ขณะเดียวกันกับมีโรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการใหม่/ขยายโรงงานจำนวน 733 โรง หรือคิดเป็น 7.34% ของจำนวนโรงงานที่ได้ รง.4 (10,535 โรง) เงินลงทุน 440,000 ล้านบาท

          สาเหตุหลักที่โรงงานนอกเขตประกอบการ/นิคมอุตสาหกรรมยังไม่แจ้งประกอบกิจการ มีตั้งแต่ขยายเวลาแจ้งประกอบกิจการ (22%), เศรษฐกิจชะลอตัว/ขาดตลาดรองรับ (20%), การก่อสร้างอาคารโรงงานล่าช้ากว่ากำหนด (16%), เงินทุนไม่พอ/อยู่ระหว่างหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ร่วมทุน (9%), การนำเข้าเครื่องจักรไม่เป็นไปตามแผน (7%) และสาเหตุอื่น ๆ (26%)

          ส่วนโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการเป็นเพราะการก่อสร้างโรงงานล่าช้ากว่ากำหนด (53%), การนำเข้าเครื่องจักรไม่เป็นไปตามแผน (27%), ขยายเวลาแจ้งประกอบการ (9%), เศรษฐกิจชะลอตัว/ขาดตลาดรองรับ (3%), ติดกฎหมายอื่น (2%) และอื่น ๆ (6%)

          ล่าสุดเพื่อให้โรงงานเหล่านี้เปิดดำเนิน กิจการได้ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดกับผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้ว

          ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งรัดผู้ประกอบการได้รีบประกอบกิจการจริง เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตก 

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอท็อป ว่า จากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้หมุนเวียน ผ่านกองทุนและโครงการต่างๆ อย่างชัดเจน โดยหนึ่งในโครงการที่กระทรวงนำมาใช้ในครั้งนี้คือโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในภูมิภาค หรือ OPOAI

          สำหรับโครงการดังกล่าวถือกำเนิดเมื่อปี 50 โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของสถานประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น โดยการสร้างกระบวนการทำงานภายในให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อระบบภายในเข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ก็จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง และสามารถรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้

          ทั้งนี้ หลักการดำเนินโครงการฯ มีการจัดจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปาทานใน 6 ด้าน อาทิ 1.การบริหารจัดการโลจิสติกส์ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3.การปรับปรุงคุณภาพและการพัฒนางาน 4.การลดต้นทุนพลังงาน 5.การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และ 6.กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยการวางแผนการตลาดรวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กนง.ตรึงดอกเบี้ยประคองศก. หวั่นนโยบายชาติอุตสาหกรรมหลักทำตลาดเงินป่วน

บอร์ดกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี ช่วยประคองเศรษฐกิจขับเคลื่อน ขอตุนกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น ชี้ตลาดเงินโลกยังผันผวนสูงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของชาติอุตสาหกรรมหลัก คาดจีดีพีปี’59 โต 3.7% ด้วยแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ และการบริโภค ภาคเอกชน

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่าที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปีเนื่องจากประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องดูแลเสถียรภาพการเงิน และโอกาสที่ตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง

นายจาตุรงค์กล่าวว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวตามที่คณะกรรมการประเมินไว้ กนง.ก็พร้อมใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมในการประคับประคองเศรษฐกิจในระยะต่อไป

“บอร์ดเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนและต่อเนื่องและพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนก็เหมือนการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น” นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับฟื้นตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ตามผลของฐานราคาน้ำมันที่จะหมดไป แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากในขณะนี้ อาจเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อไม่ขยับขึ้นเร็วมากนัก ขณะเดียวกัน ยังประเมินว่า ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังกระทบกับอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออก รวมถึงสินค้าเกษตรบางอย่างตัว เช่น ยางซึ่งจะเป็นปัจจัยลบฉุดราคาของการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่ผลกระทบในเชิงบวกจะช่วยกระตุ้นการบริโภค เป็นต้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 และเดือนตุลาคมฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ช่วยให้การขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยในปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีกว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อยที่ 2.7% และประเมินว่าปี2559 จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 3.7%

นายจาตุรงค์กล่าวถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้ ไม่อยากประเมินว่าเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากไม่อยากชี้นำตลาด แต่เชื่อว่าผลกระทบที่จะมีแต่ละประเทศแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งด้านฐานะทางต่างประเทศของแต่ละประเทศ ซึ่งในปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้ภาคเอกชนที่เคยพิจารณาเป็นหนี้ของบริษัทใหญ่และมีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ จึงไม่น่าจะมีปัญหา

ด้าน นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.5-3.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5-3.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8-1.8% ขณะที่คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้จะขยายตัวได้ 2.7% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากภาคเอกชน และเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 โดยทั้งปี 2558 คาดจีดีพีขยายตัว 2.8% แม้ส่งออก -5.0% อัตราเงินเฟ้อ -0.9%

“เศรษฐกิจในปีหน้ามีทิศทางทีดีขึ้น โดยมองการลงทุนภาครัฐยังเป็นบทบาทสำคัญที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่มีแรงหนุนเพิ่มจากการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัว ประกอบกับการส่งออกไม่ติดลบ นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเมืองในประเทศไม่มีปัจจัยกระทบรุนแรง รวมทั้งธนาครกลางสหรัฐ ไม่เร่งจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เดินเครื่องพัฒนาวิศวกรรมเกษตร ระดมสมองผลิตเครื่องจักรกลแก้ขาดแรงงาน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิต การใช้งาน การค้า และความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของเกษตรกรมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเกือบเข้าขั้นวิกฤติ ทำให้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรซึ่งนับวันจะมีเกษตรกรที่มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นด้วย

ดังนั้น เพื่อให้ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมเกษตรของกรมวิชาการเกษตรสอดรับกับความต้องการของเกษตรกรและสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ นักวิชาการเกษตร เกษตรกรและผู้แทนวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ทราบถึงความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ปัญหา และข้อจำกัดต่างๆ สำหรับนำมาใช้กำหนดเป็นทิศทางการวิจัยและพัฒนางานด้านวิศวกรรมการเกษตรให้เป็นไปตามความต้องการใช้ประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อการพัฒนางานวิจัยด้านเครื่องจักรกลการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกรผู้ใช้งาน จะจัดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้งครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยมี ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการจัดสัมมนาดังกล่าว ซึ่งในครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจังหวัดจันทบุรี ครั้งที่ 2 วันที่ 21 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 22 ธันวาคม 2558 ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 4 วันที่ 23 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ ครั้งที่ 5 วันที่ 24 ธันวาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลย อลงกรณ์ จ.ปทุมธานี และครั้งที่ 6 วันที่ 5 มกราคม 2559 ณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อระดมความคิดในการสัมมนาดังกล่าวรวมจำนวนไม่น้อยกว่า 400 คน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

“สุโขทัย” คุมเข้มรถบรรทุกอ้อย สกัดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ 

         สุโขทัย - จังหวัดแก้ประกาศคุมเข้มรถบรรทุกอ้อยช่วงปีใหม่ยาวถึงเมษาฯ 59 ห้ามวิ่ง 29-31 ธันวาฯ สกัดอุบัติเหตุช่วงประชาชนเดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

               พล.ต.ทรงวุฒิ จิตตานนท์ ผบ.กกล.รส.บชร.3 พร้อมด้วย นายวิษณุ สว่างทรัพย์ รอง ผวจ.สุโขทัย, หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนบริษัทน้ำตาลในพื้นที่ และสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัยฯ ได้ร่วมจัดการประชุมหาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2558/2559 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุโขทัย      

        เพื่อทบทวนประกาศจังหวัด เรื่องแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงน้ำตาล ให้การขนส่งอ้อยช่วงฤดูการเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาลใน จ.สุโขทัย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 58-เมษายน 59 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

               โดยที่ประชุมครั้งนี้มีมติให้แก้ไขเรื่องการทิ้งระยะห่างกันของรถขนอ้อยจาก 100 เมตร เป็น 150 เมตร และวันหยุดของรถขนส่งอ้อยจากเดิมหยุดวันที่ 30 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 1 ม.ค. เวลา 12.00 น. ให้เปลี่ยนไปหยุดวันที่ 29 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. เวลา 12.00 น. เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเดินทางกลับของประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่

               นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้มีการฝึกอบรมคนขับรถบรรทุกอ้อยเพื่อทำความเข้าใจประกาศของจังหวัด และให้รถบรรทุกอ้อยทุกคันต้องมีประกาศของจังหวัดติดที่หน้ารถทุกคันด้วย

จาก http://manager.co.th  วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กษ.ตั้งคกก.ขับเคลื่อนนโยบายฯ ชี้ทำงานเชิงรุกส่วนกลาง-ภูมิภาค

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันนี้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำผลการประชุมและสาระสำคัญ รวมถึงข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ แจ้งให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงรับทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำในเรื่องของการให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการจ้างแรงงานภาคการเกษตรในภาวะที่ไม่สามารถทำการเกษตรตามปกติได้

นอกจากนี้ กระทรวงยังมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงอย่างเป็นระบบ ภายใต้นโยบายบริหารของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยล่าสุดได้มีการวางแผนการบริหารนโยบาย แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single command ขึ้นตามเขตพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพของราชการส่วนภูมิภาคและเพื่อให้มีผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการประชุมชี้แจงให้กับข้าราชการได้ทราบเพิ่อปฎิบัติให้ตรงกันตามแนวทางที่กำหนดในวันที่ 28 ธันวาคม นี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กรมฝนหลวงปรับแผนปฏิบัติการรับวิกฤตแล้งเร็วขึ้นอีกเดือนหวังเติมน้ำในเขื่อนรับมือเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำ

นายเลอศักดิ์   ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2558 เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำรวม 10,762 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43% ซึ่งในขณะที่มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 4,066 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เพียง 22% เท่านั้น ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก รวมทั้งเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการน้ำค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขอบคุณเกษตรกรและผู้ใช้น้ำอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปี แต่หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนและช่วยกันประหยัดน้ำกันมากขึ้น

 นายเลอศักดิ์  กล่าวว่า  กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้วางแผนรับมือวิกฤตภัยแล้ง โดยการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้เริ่มปฏิบัติการเร็วขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ จากปกติที่จะดำเนินการประมาณเดือนมีนาคม การเริ่มปฏิบัติการฯจะดำเนินการหลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงอากาศยานประจำปี เพื่อเติมน้ำในเขื่อนรับมือภัยแล้ง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เตรียมเครื่องบินสำหรับการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วประจำที่สนามบินนครสวรรค์ จำนวน 2 ชุด คือ หน่วยที่1 มีเครื่องบิน CASA จำนวน 2 เครื่อง และหน่วยที่2 มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 เครื่องพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย  การปฏิบัติการฝนหลวงจะเน้นการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยจะตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ที่จ.นครสวรรค์ และ จ.ลพบุรี แต่ถ้าหากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำฝนในเดือนกุมภาพันธ์มีมากขึ้น จะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพิ่มขึ้นอีก  1 หน่วยที่ จ.พิษณุโลก

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

สอน.อนุมัติขยาย 12รง.น้ำตาล เงินลงทุน 4 หมื่นล้าน ตั้งโรงงานใหม่จ่อคลอดอีก 10 แห่ง

สอน.ไฟเขียวโรงงานน้ำตาล 12 แห่ง ขยายกำลังการผลิต รวม 1.65 แสนตัน คาดมีเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่อีก 2 โรงงานพลาดหลักเกณฑ์ไม่ถึงต้องรอยื่นใหม่ในปีหน้า ส่วนโรงงานน้ำตาลที่ขอตั้งใหม่ เบื้องต้นพิจารณาแล้วได้แค่ 10 โรงงาน จากที่ยื่นคำขอมา 30 โรงงาน ล่าช้ากว่ากำหนดติดปัญหาพื้นที่ตั้งคร่อมถนน คลอง แต่มั่นใจประกาศให้ใบอนุญาตได้ปลายธ.ค.นี้แน่นอน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสอน.ได้อนุมัติใบอนุญาตขยายโรงงานน้ำตาลทราย ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่ ให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอขยายกำลังการผลิตเข้ามาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา จำนวน 12 โรงงาน รวมกำลังการผลิตประมาณ 1.65 แสนตันอ้อย จากจำนวนที่ยื่นขอ 15 ราย โดยในจำนวนนี้มี 2 ราย ที่ไม่ผ่านการอนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากระยะเวลาการหีบอ้อยเกินกำลังการผลิตติดต่อกันเพียง 2 ปี ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้อง 3 ปีขึ้นไป ดังนั้นโรงงานน้ำตาลทั้ง 2 รายนี้ จะต้องยื่นคำขอขยายกำลังการผลิตมาใหม่หลังจากผ่านฤดูหีบอ้อยปีนี้ไปแล้ว

สำหรับโรงงานน้ำตาลที่ผ่านการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตดังกล่าว (ดูตารางประกอบ) จะต้องทำการลงทุนหรือก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายใน 5 ปีนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะรีบเร่งลงทุนในการก่อสร้างและสั่งเครื่องจักรมาเพิ่มเติม เนื่องจากมีแผนส่งเสริมการปลูกอ้อยอยู่แล้ว และหีบอ้อยเกินกำลังการผลิตมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยกำลังการผลิตที่ขยายเพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการยื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่นั้น ขณะนี้สอน.อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารในรายละเอียดตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไข ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าการพิจารณาให้ใบอนุญาตจากเดิมที่กำหนดไว้จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่ 3 กันยายน 2558 จากที่มีผู้ประกอบการมายื่นจำนวน 30 โรงงาน กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จากการพิจารณาในเอกสารและการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลตามหลักเกณฑ์ ที่จะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบ

โดยพบว่ามีคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ที่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวประมาณ 10 โรงงาน กำลังการผลิตรวมกว่า 2 แสนตันอ้อย คิดเป็นเงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งแต่เดิมทางสอน.จะทำการประกาศให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานในวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากยังมีข้อบกพร่องในรายละเอียดของพื้นที่ตั้งโรงงานบางประการ ที่ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทางสอน.ก็จะลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบอีกครั้งเพื่อไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง แต่ทั้งนี้การอนุมัติใบอนุญาตดังกล่าว ทางสอน.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนธันวาคมนี้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบว่า พื้นที่ตั้งโรงงานใน 10 โรงงานนี้ ส่วนใหญ่ เป็นการจัดซื้อที่ดินแปลงขนาดเล็กๆ และมารวบรวมเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ ซึ่งทำให้ไปคร่อมถนน คลอง หรือลำรางสาธารณะ ซึ่งยังไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ที่จะต้องเป็นพื้นที่แปลงเดียว ซึ่งจะต้องไปตรวจสอบว่าทางผู้ประกอบการจะมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

เพราะส่วนหนึ่งทางสอน.ต้องการเคลียร์ปัญหานี้ไว้ตั้งแต่ต้น เพราะหากปล่อยไปจะทำให้มีปัญหาภายหลัง เพราะจะต้องไปติดปัญหาในการขออนุญาตประกอบการกิจการใหม่หรือรง.4 อีก หากแก้ปัญหาได้ก็จะทำให้การตั้งโรงงานน้ำตาลหรือการขอรง.4 ทำได้เร็วขึ้น”

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ยื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ เช่น กลุ่มน้ำตาลมิตรผล วังขนาย กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ไทยรุ่งเรือง บริษัท น้ำตาลเอราวัณฯ อุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช และกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สภาเกษตรกรเร่งขับเคลื่อน ปิดจุดอ่อนรัฐ-แก้ปัญหาจน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติเปิดเผยว่า สภาเกษตรกรเป็นชุดแรกของไทยที่ได้ทำงานมา 3 ปีถึงวันนี้ เทียบได้กับ 100 เมตรสุดท้ายของสภา ที่ต้องพาเกษตรกรเข้าเส้นชัย โดยมีคำถามมาตลอดว่า “มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเพื่ออะไร มีทำไม” เพราะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่แล้ว คำตอบคือ เกษตรกรรายย่อยยังคงยากจน มีปัญหาภาระหนี้สิน การไม่มีที่ดินทำกินและการย้ายถิ่นออกจากภาคการเกษตร การมีสภาเกษตรกรแห่งชาติมีเพื่อทำให้เกษตรกรสามารถคิดเอง ทำเอง ใช้ประสบการณ์จริงตลอดชีวิตของเกษตรกร มาปิดจุดอ่อนของราชการ จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนแทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการมีสภาเกษตรกรเปิดโอกาสให้เกษตรกรและราชการทำงานไปด้วยกันได้

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ในการวางแผนงานปี 2559 จะต้องมีการวางแผนทั้งจากระดับนโยบายลงไปสู่ตัวของเกษตรกรโดยตรง รวมทั้งการวางแผนจากด้านล่างคือให้เกษตรกรเป็นผู้เสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ จากล่างขึ้นบนเพื่อให้สอดคล้องกันไป จะต้องทำทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดทำ “แผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม” เป็นแผนระดับชาติจากล่างสู่บน ซึ่งจะเป็นแผนที่เกษตรกรร่วมกันจัดทำตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน สภาเกษตรกรมีผู้แทนเครือข่ายกระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมของสภาเกษตรกรแห่งชาติเสนอต่อรัฐบาลดำเนินการต่อ ส่วนของผลงานสภาที่ผลักดันจนสำเร็จนั้น มีเรื่องของการแก้ปัญหาราคาปาล์ม การมีพระราชบัญญัติยางพารา ที่สภาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เรื่องการเลี้ยงครั่งที่ฟื้นฟูกลับมาใหม่ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในพื้นที่เพิ่มขึ้น เรื่องไผ่ที่สภาร่วมกับสถาบันการศึกษาเผยแพร่ให้กับเกษตรกร โดยจะมีการจัดงานไผ่แห่งชาติเพื่อผลักดันต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รัฐบาลยกเลิก'พ.ร.บ.จีเอ็มโอ' เหตุอยู่ในห้วงปฏิรูปการเกษตร

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ตึกนารีสโมสร พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. .... หรือที่เรียกว่า "พ.ร.บ.จีเอ็มโอ" ที่มีปัญหาถกเถียงกัน ซึ่ง ครม.ได้เคยผ่านความเห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว และอยู่ในชั้นของกฤษฎีกา ปรากฎว่ามีข้อคิดเห็นและข้อสังเกตจากประชาชนในหลายกลุ่ม ซึ่งนายกฯ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกฤษฎีกามาร่วมหารือ พร้อมนำข้อสังเกตและข้อกังวลของฝ่ายต่างๆ ที่ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลมาพิจารณาด้วย โดยวันนี้กฤษฎีกาได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฎิรูปการเกษตรที่ยังไม่เสร็จสิ้น แต่ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ พูดถึงเรื่องอนาคตต่อการดำเนินการพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ เมื่อเรายังปฎิรูปทางด้านเกษตรไม่เสร็จ การจะออกกฎหมายที่นำการปฎิรูปก็คงจะไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาและสถานการณ์ในตอนนี้

ดังนั้น ครม.จึงมีมติเห็นชอบส่งเรื่องนี้กลับไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และถือว่าเรื่อง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ รัฐบาลได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในทุกมิติแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีเสียงทักท้วงทุกอย่างจะต้องหยุดและชะลอ เพียงแต่ว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นด้วยเหตุผลเอาหลักการมาคุยกัน และเมื่อได้ข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการปฎิรูปก็ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในช่วงนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.เห็นชอบ ยกเลิกพิจารณาร่าง พ.ร.บ.GMO-ขอพักไว้ก่อน เพราะไทยยังปฎิรูปเกษตรไม่แล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 เวลา 14.20 น. ณ นารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด แถลงภายหลังการประชุม ครม. ในกรณีร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือที่รู้จักในนาม พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งมีปัญหาถกเถียงกัน คณะรัฐมนตรีได้ผ่านความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวและกำลังอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ปรากฎว่ามีข้อคิดเห็นข้อสังเกตจากประชาชนหลายกลุ่มมายื่นข้อเสนอ

นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมหารือ นำข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งได้มายื่นกับทางรัฐบาลไว้มาพิจารณา วันนี้กฤษฎีกาได้นำเรื่องมาเรียน ว่าเรื่องร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปฎิรูปการเกษตรที่ยังไม่เสร็จสิ้น แต่กฎหมายดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่พูดถึงอนาคตต่อการดำเนินการต่อพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ แต่เมื่อเรายังอยู่ในส่วนที่กำลังปฎิรูปทางด้านเกษตรไม่เสร็จ จึงไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาและสถานการณ์

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ส่งไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในทุก ๆ มุม แต่ไม่ได้หมายความว่าหากมีเสียงคัดค้าน ทุกอย่างจะหยุดจะชะลอ เพียงแต่รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

‘กันกุล’ลุยพลังงานลม60MW จ่ายไฟฟ้ากลางปี59 รับรู้รายได้ 550 ล้านบาท

กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง เตรียมรับดอกผลจากธุรกิจพลังงานลมโครงการ “ซับพลูวินด์ฟาร์ม 1,2 และวายุวินด์ฟาร์ม” กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ จากบริษัทย่อยบจ.พัฒนาพลังงานลม หลังติดตั้งใบพัดเรียบร้อยแล้ว พร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของกฟภ.และกฟผ.ได้กลางปี 2559 เผยทั้ง 2 โครงการจะรับรู้รายได้ปีลิงไม่น้อยกว่า 550 ล้านบาท ดันกำไรแกร่ง

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน ) (GUNKUL) เปิดเผยถึงความคืบหน้าธุรกิจพลังงานลมของบริษัท พัฒนาพลังงานลม จำกัด (WED) (บริษัทย่อย GUNKULถือหุ้นสัดส่วน 100% ) ว่า ขณะนี้ได้ติดตั้งใบพัดกังหันลม โครงการซับพลูวินด์ฟาร์ม 1,2 และ วายุวินด์ฟาร์ม ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ ในเดือน มีนาคม 2559 และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ในเดือน พฤษภาคม 2559 และทยอยรับรู้รายได้ไม่น้อยกว่า 550 ล้านบาทในปี 2559

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 60 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ประมาณ 145 ล้านหน่วยต่อปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 75,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 3.5 ล้านต้น

สำหรับกังหันลมที่ติดตั้ง ใช้กังหันลมยี่ห้อ GAMESA รุ่น G114 ขนาด 2 เมกะวัตต์ จากประเทศสเปน ซึ่งมีความสูง 125 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 114 เมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นกังหันลมที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดตั้งทั้งหมดจำนวน 30 ต้น ประกอบด้วย โครงการซับพลูวินด์ฟาร์ม 1 ขนาด 8 เมกะวัตต์ ใช้กังหันลม จำนวน 4 ต้น, ซับพลูวินฟาร์ม 2 ขนาด 2 เมกะวัตต์ ใช้กังหันลมจำนวน 1 ต้น และ วายุวินด์ฟาร์ม ขนาด 50 เมกะวัตต์ ใช้กังหันลม จำนวน 25 ต้น และมีการลงนามสัญญาจัดซื้อ จัดจ้าง ขนส่ง พร้อมติดตั้ง และทดสอบกังหันลมกับ บริษัท PowerChina Zhongan Engineering ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้ง ลงนามสัญญาบริการบำรุงรักษาและรับประกันความพร้อม สำหรับการเดินเครื่องกับ บริษัท Gamesa โดยบริษัทได้รับสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมกับบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อย

นางสาวโศภชากล่าวว่า ธุรกิจพลังงานลมนับเป็นอีกฐานธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กลุ่มบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาบริษัทได้เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายเพื่อจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่สะอาด เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของพลังงานลม บริษัทได้ดำเนินการศึกษา และพัฒนามานานกว่า 4 ปี ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพพลังงานลมว่าจะสามารถพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ได้ และจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เครือ GUNKUL เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ก.อุตฯรายงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้'สมคิด'

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ รองนายกฯ "สมคิด"

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวก่อนเข้ารับมอบนโยบายการดำเนินงานจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ในวันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการนำเสนอภาพรวมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และการอำนวยความสะดวกเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผู้บริหารกระทรวง จะมีการายงานแผนการส่งเสริมและพัฒนา SMEs และ OTOP การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ และมาตรฐานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต รวมถึงการร่าง พ.ร.บ.แร่และการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ นอกจากนี้ ยังมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการบริหารงานให้แก่ผู้บริหารแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในเวลา 15.30 น.

จาก www.innnews.co.th   วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เกษตรกรได้อะไรจากพืช 'จีเอ็มโอ'

เส้นทางอาชีพ : เกษตรกรได้อะไรจากพืช 'จีเอ็มโอ' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                      ประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ในวงการเกษตรชั่วโมงนี้คงไม่มีเรื่องไหนได้รับความสนใจมากไปกว่า “ร่างพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ” หรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ

                      คณะกรรมการกฤษฎีกา วันก่อนมีโอกาสสนทนากับนักปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวโพดหวานมือหนึ่งของประเทศไทย “ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ” ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ต่อร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอฉบับนี้

                      อันที่จริงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความพยายามผลักดันกันมาเกือบทุกรัฐบาลแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงต้านที่มองกันหากพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะได้รับผลกระทบในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นักปรับปรุงพันธุ์พืช เกษตรกร แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์กลับเป็นบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์พืชยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทและนักวิชาการเพียงบางกลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนการวิจัย

                      ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศด้วย นี่ยังไม่พูดถึงอันตรายจากการบริโภคพืชจีเอ็มที่ทุกวันนี้ยังมีผลการวิจัยออกมาชัดเจน เนื่องเพราะยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์และยิ่งเป็นการตอกย้ำชัดเจนถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ เมื่อนักวิชาการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในภูมิอาเซียนหลายท่านต่างเห็นพ้องกันว่าพืชจีเอ็มนั้นยังไม่เหมาะกับประเทศไทยในงานสัมมนา "อนาคตพืชจีเอ็มภูมิภาคอาเซียน" จัดโดยซินเจนทา ผู้ผลิตและค้าเมล้ดพันธุ์พืชรายใหญ่ของโลก ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

                      โดยเฉพาะ ดร.แรนดี ฮัวเต นักวิชาการและผู้ประสานงานหน่วยงานพัฒนาพืชเทคโนโลยีชีวภาพสากล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ฟิลิปปินส์ก็ได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่าสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เหมาะกับพืชจีเอ็มนั้นมาจาก 2 กรณีคือไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีพันธุ์พืชพื้นเมืองเป็นจำนวนมากและหลากหลายมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน จึงจำเป็นต้องอนุรักษ์พืชพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้เอาไว้  หากพืชจีเอ็มโอเข้ามาพืชพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้อาจจะสูญสลายไป

                      อีกกรณีประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรปมากที่สุดในอาเซียน คิดเป็นมูลค่ามหาศาลแต่ละปี ขณะที่ตลาดยุโรปปฏิเสธสินค้าเกษตรที่ผลิตจากพืชจีเอ็ม ทำให้ประเทศไทยมีความกังวลต่อกรณีดังกล่าว รัฐบาลจึงไม่ยินยอมให้มีพืชจีเอ็มเข้ามาสู่แปลงปลูกหรือส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกพืชจีเอ็มโอ

                      ในส่วนการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ดร.ทวีศักดิ์มองว่าไม่เกี่ยวกัน พืชจีเอ็มโอก็ยังต้องใช้ยากำจัดวัชพืชและโรคแมลงเหมือนเดิม และยังต้องใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากพืชจีเอ็มถูกตัดต่อพันธุกรรมมาเพื่อให้ทนต่อยากำจัดวัชพืชเท่านั้น ส่วนวัชพืชก็ยังคงต้องใช้ยากำจัดเหมือนเดิม ส่วนโรคและแมลงนั้นก็ยังจำเป็นต้องใช้ยาหากโรคและแมลงที่มาทำลายไม่ตรงกับยีนที่มีการตัดต่อพันธุกรรม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไม่ลดลงแต่อย่างใด ส่วนการเพิ่มผลผลิตนั้นจากผลการวิจัยก็ยืนยันมาแล้วว่าสู้พันธุ์พืชลูกผสมหรือไฮบริดไม่ได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่มีโอกาสเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในรอบต่อไปและยังต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทผู้ผลิตเพียงไม่กี่บริษัทในราคาที่แพงอีกด้วย

                      จึงเป็นคำถามอันดังๆ จากนักปรับปรุงพันธุ์ชั้นครูที่คลุกคลีอยู่กับเกษตรกรมาค่อนชีวิตว่า “เกษตรกรได้อะไรจากพืชจีเอ็ม” ครับ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.เทงบ 1,064 ล้าน ฝึกอบรมเกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชช่วงแล้ง

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 วงเงิน 1,064 ล้านบาท โดยบูรณาการให้ทุกส่วนราชการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น จากการปลูกข้าว ให้เป็นการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพและทำอาชีพเสริมในช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเกษตรกรที่มาเข้าอบรมจะได้เบี้ยเลี้ยงค่าอบรมเป็นการตอบแทน ซึ่งจะใช้เวลาในการอบรมทั้งหมด 90 ชั่วโมง ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่ง มีกำหนดการเริ่มอบรมตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 59 – 31 พฤษภาคม 59 และคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วม 2.2 แสนราย 

“โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพให้เกษตรกรนั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้คนในพื้นที่สร้างการเรียนรู้ ปรับพฤติกรรมเพื่อขับเคลื่อนภาคประชารัฐ เพราะที่ผ่านมารัฐพยายามจูงใจเกษตรกรให้ปรับพฤติกรรม แต่เกษตรกรเคยชิน จึงจัดโครงการอบรมเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในรูปแบบประชารัฐ” พล.ต.สรรเสริญกล่าวและว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการอื่นๆ เช่น ค่าวิทยากรในการฝึกอบรม และสถานที่ในการจัดฝึกอบรม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ใช้งบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัดที่จัดฝึกอบรมและนำวิทยากรแทน 

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ไทยค้านอินเดียอุดหนุนส่งออกน้ำตาล 

          นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ที่ประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้า น้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance: GSA) ประจำปี  2558 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มประเทศ ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่โลก (คิดเป็นสัดส่วน 85% ของ การส่งออกน้ำตาลจากอ้อยในตลาดโลก) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บราซิล ไทย อินเดีย ชิลี กัวเตมาลา โคลอมเบีย แอฟริกาใต้ ได้แสดงความกังวลต่อการประกาศอุดหนุน การส่งออกน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทราย อันดับ 2 ของโลก ก็มีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น TSMC จึงร้องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบมาตรการอุดหนุนของอินเดีย และพิจารณาดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การการค้าโลก  (WTO) เนื่องจากขัดต่อหลักปฏิบัติภายใต้ WTO อย่าง ชัดเจน ล่าสุด TSMC ได้ทำหนังสือชี้แจงการคัดค้านถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับทราบ

          โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย ได้ร่วมกับบราซิล และไทย ได้จัดทำ แถลงข่าวคัดค้านมาตรการอุดหนุนการค้าน้ำตาลทุกรูปแบบ และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลอินเดีย จึงเรียกร้อง ให้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนดังกล่าว และนำเสนอ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 10 ในระหว่าง วันที่ 15-18 ธันวาคม 2558 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

          "ออสเตรเลีย บราซิล และไทย จะร่วมกันอย่าง แข็งขัน เพื่อคัดค้านการอุดหนุนการค้าน้ำตาล โดยได้จัดทำ แถลงข่าวนำออกเผยแพร่ในช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO เพื่อแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการ อุดหนุนการค้าน้ำตาลในตลาดโลก และเรียกร้องให้รัฐบาล อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกน้ำตาล" นายวิบูลย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เล็งหั่นราคาปุ๋ย200-600บาท/ตันช่วยเกษตรกรภัยแล้ง-ลดต้นทุน 

          เกษตรฯหารือพาณิชย์-พ่อค้าปุ๋ยขอลดราคา ปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกร หลังได้รับผลกระทบ จากภัยแล้ง ลดต้นทุนการผลิต คาดจะช่วยลดราคาได้ตันละ600 บาทภายในเดือนนี้

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เร็วๆนี้ กระทรวงเกษตรฯจะหารือกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปการลดราคาปุ๋ยเคมี สารเคมีเพื่อการเกษตร อาหารสัตว์ และ เมล็ดพันธุ์เพื่อการเกษตร ตามนโยบาย ลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรของรัฐบาลหลังต้นทุนราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่ง ราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนแปรผันกับราคาปุ๋ย ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 35 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล โดยได้สั่งการให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เร่ง หารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว แต่ ในเรื่องต้นทุนตัวแปรที่เป็นปัจจัยต่อราคา มีหลายอย่าง เช่นการสต็อกแม่ปุ๋ย การขนส่ง เป็นต้น

          แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ    กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรฯได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์ในเบื้องต้นแล้ว  เพื่อหาทาง ช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต ในช่วงที่เกษตรกรมีรายได้น้อย น้ำไม่เพียงพอ ต่อการทำการเกษตร  สรุปการลดราคาปุ๋ยลงอยู่ที่ราคาถุงละ 10-30 บาทต่อถุง (ถุงละ 50 กก.) หรือลดราคาปุ๋ย 200-600 บาท ต่อตัน แล้วแต่สูตรปุ๋ย และปุ๋ยบางสูตร ทางผู้ประกอบการ ยืนยันว่าลดราคามากแล้ว ไม่สามารถลดลงได้อีก

          "การหารือกับกระทรวงพาณิชย์และพ่อค้าปุ๋ย ถือเป็นการหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยการขอความร่วมมือจาก พ่อค้าปุ๋ย เพื่อลดราคาและช่วยเหลือเกษตรกร ในภาวะที่ในช่วงนี้เกษตรกรได้รับความ เดือดร้อนภัยแล้ง และราคาผลผลิตที่ตกต่ำ เมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาปุ๋ยก็น่าจะลดลงได้อีก ถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทาง โดยปุ๋ยที่ใช้หว่านข้าวราคาจะลดลงถุงและ 10-30 บาท แต่ปุ๋ยสำหรับพืชไร่จะลดลงถุงละ 10 บาท" แหล่งข่าว ระบุ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 ธันวาคม 2558

ไทย-ฟิจิลงนามด้านเกษตร   

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการลงนามกับนายไอเนีย เซรูอิราตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ และนายโอเซีย ไนกามู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและป่าไม้ฟิจิ ในบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐฟิจิว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร และบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงประมงและป่าไม้ แห่งสาธารณรัฐฟิจิว่าด้วยความร่วมมือด้านประมง

          "เอ็มโอยูทั้งสองฉบับจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการทางการเกษตรและประมงของไทยกับประเทศหมู่เกาะฟิจิ และสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นช่องทางให้ไทยขยายการค้าและลงทุนไปยังฟิจิและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกอื่นๆ เนื่องจากฟิจิเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ รวมถึงเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการรายงานข้อมูลการทำประมงระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยป้องกัน ยับยั้ง และขจัด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU) โดยปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าประมงสด แช่แข็ง แช่เย็น แปรรูปจากฟิจิประมาณ 265 ล้านบาท/ปี" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

          หลังจากเอ็มโอยูแล้วทั้งสองประเทศจะตั้งคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร และคณะทำงานร่วมด้านประมงระหว่างไทย-ฟิจิ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและรายละเอียดสาขาความร่วมมือที่ทั้ง 2 ฝ่ายสนใจและ มีศักยภาพ โดยจะจัดให้มีการประชุมทุกๆ 2 ปี ภายใต้รูปแบบความร่วมมือสำคัญๆ คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิชาการและนักวิจัย การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนา และการประชุมในเรื่องที่สนใจร่วมกัน การเพิ่มขีดความสามารถโดยการฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 ธันวาคม 2558

เกษตรกรหนุน8มาตรการแก้แล้ง เปิดผลสำรวจ83.5%ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย และผู้อํานวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center : KOFC) ได้วิเคราะห์ถึงข้อคิดเห็นเกษตรกรต่อ 8 มาตรการ ที่รัฐบาลได้ประกาศช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง ซึ่งทุกมาตรการแม้จะเป็นมาตรการที่ดี มีประโยชน์ และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ แต่ยังอาจไม่ตรงความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกันของเกษตรกรแต่ละท้องถิ่น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรจึงได้ทำการสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่มีต่อมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี

ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมเกษตรกรส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.5 ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ มีเพียงร้อยละ 16.5 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยด้านที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ด้านพืช ร้อยละ 12.8 สำหรับการแก้ไขสถานการณ์ของเกษตรกรในขณะที่หยุดทำนาปรังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับสภาพ หยุดการทำนาปรัง ร้อยละ 76.3 รองลงมาคือ ปลูกพืชทดแทนและทำอาชีพนอกภาคการเกษตร ร้อยละ 17.5 และ 6.2 ตามลำดับ และเมื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการประกาศให้หยุดการทำนาปรัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่ทางภาครัฐประกาศให้หยุดการทำนาปรังร้อยละ 50.3

ในส่วนความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการช่วยเหลือทั้ง 8 ของภาครัฐ พบว่า เกษตรกรมีความ พึงพอใจโดยรวมกับทั้ง 8 มาตรการในระดับปานกลาง โดยมาตรการที่ได้รับความพึงพอใจ 4 อันดับแรก คือ การชะลอและขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากแยกความคิดเห็นของเกษตรกรต่อมาตรการการช่วยเหลือทั้ง 8 ของภาครัฐ พบว่ากลุ่มที่หยุดทำนาปรังและกลุ่มที่ทำนาปรังมีความคิดเห็นค่อนข้างคล้ายคลึงกันในความพึงพอใจ 4 อันดับแรก ต่างกันเพียงกลุ่มที่หยุดทำนาปรังเห็นว่าภาครัฐควรส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชน และเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการย่อย 25 โครงการ ที่รัฐจัดทำขึ้นตามมาตรการต่างๆ พบว่า มาตรการที่ 1 โครงการย่อยที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด คือ โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง มาตรการที่ 2 เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการขยายเวลาชำระหนี้มากที่สุดร้อยละ 41.2 ส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินมากที่สุด ร้อยละ 25.3

มาตรการที่ 3 เกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรัง มีความสนใจกับโครงการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือมากที่สุด ร้อยละ 42.3 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการจ้างงานในโครงการของกรมชลประทานมากที่สุด ร้อยละ 43.0 มาตรการที่ 5 พบว่าเกษตรกรกลุ่มหยุดนาปรังมีความสนใจกับโครงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ธ.ก.ส. มากที่สุดร้อยละ 38.1 และในส่วนกลุ่มทำนาปรังมีความสนใจโครงการส่งเสริมการปลูกข้าววิธีสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำมากที่สุดร้อยละ 30.4

มาตรการที่ 6 เกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มสร้างมีความสนใจกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลมากที่สุด มาตรการที่ 7 ทั้ง 2 กลุ่ม มีความสนใจกับโครงการการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับผู้ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด และมาตรการที่ 8 ทั้ง 2 กลุ่ม มีความสนใจกับโครงการระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งมากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 ธันวาคม 2558

อุตฯน้ำตาลไทยผนึกกำลังสมาชิก ค้านอุดหนุนส่งออกน้ำตาลตลาดโลก

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ที่ประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance: GSA) ประจำปี 2558 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่โลก (คิดเป็นสัดส่วน 85% ของการส่งออกน้ำตาลจากอ้อยในตลาดโลก) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บราซิล ไทย อินเดีย ชิลี กัวเตมาลา โคลัมเบียและแอฟริกาใต้ ได้แสดงความกังวลต่อการประกาศอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลกมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงร้องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบมาตรการอุดหนุนของอินเดีย และพิจารณาดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO เนื่องจากขัดต่อหลักปฏิบัติภายใต้ WTO อย่างชัดเจน

ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือชี้แจงการคัดค้านถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับทราบ โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย ร่วมกับบราซิล และไทย ได้จัดทำแถลงข่าวคัดค้านมาตรการอุดหนุนการค้าน้ำตาลทุกรูปแบบและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลอินเดีย จึงเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการอุดหนุนดังกล่าว และนำเสนอที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2558 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

"ออสเตรเลีย บราซิล และไทย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จะร่วมกันอย่างแข็งขัน เพื่อคัดค้านการอุดหนุนการค้าน้ำตาล โดยได้จัดทำแถลงข่าวนำออกเผยแพร่ในช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่จะจัดให้มีขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ เพื่อแสดงจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนการค้าน้ำตาลในตลาดโลก และเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกน้ำตาล" นายวิบูลย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 ธันวาคม 2558

โลกเสี่ยงมากขึ้น เฟดขึ้นดบ.-จีนโตชะลอ-นํ้ามันดิ่ง

ในขณะที่ทั่วโลกเกาะติดผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) 15-16 ธ.ค.นี้ จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเสียงของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงประเมินในทิศทางเดียวกันว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ประกอบกับธนาคารกลางทั่วโลกต่างเตรียมพร้อมรับมือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในครั้งนี้ 

  เฟดขึ้นดบ.-ศก.จีนชะลอ-น้ำมันดิ่ง

นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนกังวล คือ “การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน” ซึ่งส่งสัญญาณโตชะลอตัวในปีหน้า (ปี2559) และอาจกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป โดยสำนักงานศุลกากรจีนออกมาเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่าการค้าต่างประเทศของจีนในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลง 4.5% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 2.16 ล้านล้าน ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนตัวเลขการค้าของจีนหดตัวมากกว่าคาด โดยการส่งออกหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ -6.8% (เทียบปีต่อปี) YoY จาก -6.9%YoY ในเดือนก่อน (ตลาดคาดการณ์ -5.0%)

และล่าสุด องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Situation and Prospects) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.9% ในปี 2559 และคาดว่าจะขยายตัว 3.2% ในปี 2560 ส่วนปีนี้ ยูเอ็นคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 2.4%

ไม่แค่เพียงประเด็น “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นี้ ราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างรุนแรงลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี เพิ่มความกังวลต่อตลาด ด้วยเหตุที่ผู้ผลิตน้ำมันกลุ่มโอเปกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานการผลิตน้ำมันดิบใหม่สำหรับช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ หลังการประชุมเชิงนโยบายของกลุ่มโอเปก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดถูกกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบล้นตลาด

 ราคาน้ำมันร่วงต่ำสุดรอบ 7 ปี

ส่งผลถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลงต่อเนื่อง และร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดยราคาน้ำมันดิบร่วงลงต่ำกว่าระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ เวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต(WTI) ส่งมอบเดือนมกราคมในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ปิดที่ 37.51 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 14 เซนต์ หรือ 0.4% , วันที่ 9 ธันวาคม ราคาน้ำมัน WTI ลงอีก 35 เซนต์ ปิดที่ 37.16 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล , วันที่ 10 ธันวาคม ราคาน้ำมันลดลง 40 เซนต์ ปิดที่ 36.76 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ผลกระทบเบื้องต้นจากความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน ฉุดดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง!! รวมทั้งตลาดหุ้นไทย (เมื่อ 8 ธ.ค. เกือบหลุด 1,300 จุด โดยปิดที่ 1,306.98 จุด ลดลง 26.59 จุด หรือ 1.99 % ขณะที่ 9ธ.ค. ตลาดหุ้นแตะระดับต่ำสุดที่ 1,294.41 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายหลุด 1,300 จุด ที่ระดับ 1,297.82 จุด) โดยเฉพาะการร่วงลงของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันอาจดิ่งลงเกือบ 50% โดยลงไปแตะที่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากการผลิตล้นสต๊อกมากกว่านี้ โดยที่ราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มที่จะดีดขึ้น หรือเข้าสู่เสถียรภาพในปี 2559

ขณะที่ล่าสุด EIA หรือ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปีนี้ลงสู่ระดับ 49.08 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมที่คาดการณ์อยู่ที่ 49.88 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล รวมทั้งปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ปี 2559 ไปอยู่ที่ระดับ 50.89 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 51.31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

  ผลต่อไทย”หุ้น-ค่าเงิน”

ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวที่กระทบต่อไทยนั้น รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ให้ความเห็นถึงผลกระทบจากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ศก.จีนชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับลงว่า จะมีผลต่อไทยทั้งผลต่อตลาดหุ้นจากเม็ดเงินที่ไหลออก และค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยหากมองปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ปัจจัยแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าปีหน้าจะโตเพียง 6.5-6.6% นั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด

ส่วนกรณีของเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยและมีการใช้คิวอี(QE) สะท้อนว่ามีความแตกต่างกัน แม้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่เศรษฐกิจโลกยังอ่อนไหว ดังนั้นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยปีหน้าจะยังทรงตัวหรืออาจจะปรับลง ส่วนผลกระทบในระยะสั้น มีผลต่อการไหลออกของเงิน ทุกประเทศมีเงินไหลออกเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ปัจจัยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ปรับลง กระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มย่ำแย่ โดยเฉพาะกระทบต่อประเทศที่มีการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์มาก

โลกมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ “รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ” สะท้อนมุมมองต่อประเด็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย ศก.จีน และราคาน้ำมันที่ดิ่งลงว่า ทำให้การไหลเวียนของเงินทุนมีมากขึ้นและไร้ทิศทาง โดยเม็ดเงินจะไหลไปที่สหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งหากการไหลของเงินทุนไร้การควบคุมอาจเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ใดที่หนึ่งและอาจลามปามไปที่อื่น จากปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนว่าโลกมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

ในส่วนของผลกระทบต่อไทย ผลการการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลต่อเรียล เซ็กเตอร์ ขณะที่ผลจากราคาน้ำมันที่ดิ่งลง แม้จะเป็นผลดีต่อเรียลเซ็กเตอร์ แต่กระทบต่อไฟแนนเชียล เซ็กเตอร์ เห็นได้จากผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามมุมมองส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงนั้น ไม่น่าจะมีผลลึกหากไม่ได้มีเหตุผลจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของประเทศที่ผลิตน้ำมัน

อีกมุมมองหนึ่งต่อสถานการณ์ราคาน้ำมัน “อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การประชุมของโอเปกดังกล่าว เสมือนภูเขาไฟ ที่กำลังจะปะทุในตลาดการเงินโลก พร้อมกันนี้ระบุด้วยว่ามีโอกาสจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน อาจจะปรับตัวจาก 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลลงไปถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่านั้นก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจะเป็นบวก เพราะไทยนำเข้าน้ำมันสุทธิมาก ประมาณ 10% ของจีดีพี หรือ 20% ของการนำเข้าทั้งหมด ถ้าราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ต่ำหรือลดลงได้ต่อ ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

“ราคาน้ำมันปรับลดลง ถือว่าช่วยประเทศไทยมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิ คิดเป็นการนำเข้า 10% ของจีดีพี หากราคาน้ำมันปรับลดลง ทำให้ไทยไม่ต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีผลให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ จะเห็นการอ่อนค่าของเงินเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่อ่อนค่ารุนแรงมากนัก ” นายอมรเทพระบุ

แม้ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ แต่ความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีผลต่อการไหลของเงินทุน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะกระทบต่อการเติบโตของศก.โลกด้วย และการดิ่งลงของราคาน้ำมัน ยังเป็นประเด็นความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญในระยะอันใกล้นี้

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 14 ธันวาคม 2558

ก.อุตฯร่อนหนังสือคุมรง.ระบายน้ำทิ้งรับมือภัยแล้งปี'59กระทบคุณภาพน้ำ 

          กระทรวงอุตสาหกรรมส่งหนังสือแจ้งเตือนโรงงานทั่วประเทศ 300 แห่งคุมเข้มการระบายน้ำลงแม่น้ำเฝ้าระวังค่าออกซิเจนที่ละลายอยู่หรือDO หวั่นกระทบคุณภาพน้ำได้แม้ว่าจะได้มาตรฐานเหตุปีหน้าภัยแล้งการระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนมีน้อย โดยอุตสาหกรรมจังหวัดเตรียมร่อนจดหมายอีกรอบปีหน้าพร้อมขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลกรมชลประทานเกี่ยวกับปริมาณน้ำในปี 2559 ภาพรวมไม่มีปัญหายกเว้นพื้นที่ภาคเหนือ กลางและตะวันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงจากภัยแล้งเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคือภูมิพลและสิริกิติ์มีน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมาก็จะทำให้การปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนมีน้อยแม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะมีการระบายน้ำทิ้งสู่แม่น้ำที่เป็นไปตามมาตรฐานแต่ก็อาจเสี่ยงต่อคุณภาพน้ำได้ ดังนั้นกระทรวงฯจึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีประมาณ 300 โรงงาน ให้เข้มงวดการระบายน้ำทิ้งอย่างเคร่งครัด

          นอกจากนี้ กรอ. จะส่งเสริมให้โรงงานมีการใช้น้ำด้วยหลักการ 3Rs คือ ลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับจัดทำเอกสารเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านเทคนิค หรือวิธีการลดการใช้น้ำของโรงงานด้วยหลักการ 3Rs ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ. (www.diw.go.th) ส่วนโรงงานที่มีพื้นที่มาก กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล

          อย่างไรก็ตามทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปี 2559 โดยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาขุมเหมืองเก่าซึ่งได้มี การเก็บกักน้ำเอาไว้ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้ประสานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เพื่อการเกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค รวมจำนวน 9 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 27.4 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น สระบุรี และตาก โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย.

จาก http://manager.co.th   วันที่ 14 ธันวาคม 2558

หนุนเช่าที่พัสดุทำเขตศก.พิเศษอุตฯเตือน300โรงงานคุมเข้มน้ำทิ้ง 

 ธนารักษ์เตรียมสรุปแนวทางให้เอกชนเช่าที่ราชพัสดุบริหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษไตรมาสแรกปี 59 แจงค่าเช่าราคาต่ำสุดหวังดึงดูดภาคธุรกิจ ด้านอุตฯ ร่อนจดหมายเตือน 300 โรงงานคุมเข้มน้ำทิ้ง หวั่นกระทบคุณภาพน้ำรับภัยแล้งปีหน้า

          นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่าภายในไตรมาสแรกปี 2559 กรมจะสรุปแนวทางการให้ภาคเอกชนเช่าที่ราชพัสดุ เพื่อบริหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดทำรายละเอียดของอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เพื่อเสนอให้กรมธนารักษ์สรุปร่างทีโออาร์ในขั้นสุดท้ายภายในสิ้นปี 2558 นี้

          สำหรับที่ราชพัสดุที่จะให้เช่าทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะทำทั้ง 6 พื้นที่ที่รัฐบาลประกาศไว้ โดยขนาดพื้นที่จะมีมากกว่า 1 พันไร่ขึ้นไป โดยเอกชนที่สนใจต้องมีคุณสมบัติคือ สามารถในการบริหารจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม รวมถึงการดูแลผู้ประกอบการรายเล็กในพื้นที่  และการดูแลชุมชนที่ได้ รับผลกระทบจากการทำเขตเศรฐกิจพิเศษ และที่สำคัญต้องจัดทำแผนที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

          "ค่าเช่าที่ราชพัสดุยังไม่ มีการสรุป แต่จะต้องเป็นอัตราที่ต่ำ เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามา บริหารพื้นที่และนักลงทุนเข้า มาลงทุน ซึ่งในด้านการประ เมินราคาที่ดินขณะนี้ได้ให้คณะ กรรมการประเมินระดับท้องถิ่น ส่งการประเมินเข้ามาให้คณะ กรรมการชุดใหญ่ ที่มีปลัดกระ ทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2559 ซึ่งโดยเฉลี่ยราคาประเมินปรับเพิ่มขึ้น 17-25%

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งในปี 2559 โดยจากข้อมูลกรมชลประทานภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ มีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมากไม่น่ามีปัญหา  แต่ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงสูงที่จะประ สบปัญหาภัยแล้งในปีหน้า เนื่อง จากมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักน้อยกว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำ ให้เขื่อนปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนได้น้อยลง หากโรงงานอุตสาหกรรมระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำในปริมาณมาก อาจมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำได้ ดังนั้นกระทรวงจึงได้ทำหนังสือแจ้งเตือนเตือนโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีประมาณ 300 โรงงาน ให้เข้มงวดการระบายน้ำทิ้งอย่างเคร่งครัด

          โดยโรงงานดังกล่าว ได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณ ภาพน้ำออนไลน์แล้ว เพื่อเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และ ตรวจสอบค่าของปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ หรือ DO ของน้ำทิ้งที่ จะระบายออกนอกโรงงานควรมีค่า DO มากกว่า 2 มก./ลิตร รวมถึงส่งเสริมให้โรงงาน มีการใช้น้ำด้วยหลักการ 3Rs คือลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่

          นอกจากนี้ กรมอุตสาห กรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาขุมเหมืองเก่า ซึ่งได้มีการเก็บกักน้ำเอาไว้ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้ประสานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ ประโยชน์แล้ว เช่นเพื่อการเกษตรกรรม อุปโภค และบริโภค รวม จำนวน 9 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 27.4 ล้าน ลบ.ม.อยู่ในพื้น ที่จังหวัดพะเยา ลำพูน อุบลราช ธานี ขอนแก่น สระบุรี และตาก โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 14 ธันวาคม 2558

อุตฯเตือนรง.รับมือภัยแล้ง ชี้พื้นที่เหนือ-กลาง-อีสาน ปีหน้าเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมแผนรับภัยแล้งปี’59เตือนโรงงานเฝ้าระวังน้ำทิ้งเป็นพิเศษ เหตุปริมาณน้ำน้อยกว่าปกติ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมในการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาภัยแล้งในปี 2559 ว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมชลประทาน พบว่า ภาคตะวันออกภาคตะวันตก และภาคใต้ มีปริมาน้ำในเขื่อนหลักมากจึงประเมินว่าไม่น่ามีปัญหา ยกเว้นในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในปีหน้า เนื่องจากมีปริมาณน้ำในเขื่อนหลักน้อย

ทั้งนี้ปี 2559 ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และจากการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อชุมชน เกษตรกรรม ท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมจะเป็นลำดับสุดท้าย จึงต้องเตรียมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม และแก้ไขปัญหาน้ำเสียในฤดูแล้งเนื่องจากน้ำในแม่น้ำลำคลองมีน้อย จากการที่เขื่อนมีปริมาณน้ำน้อย จะทำให้เขื่อนปล่อยน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศท้ายเขื่อนในปริมาณที่น้อยลงซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำของแม่น้ำ และหากโรงงานอุตสาหกรรมระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำในปริมาณมาก แม้ว่าจะเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก็อาจมีความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำได้ จึงต้องวางมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า

“ภายในเดือน ธ.ค.นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะทำหนังสือแจ้งเตือนโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม./วัน ซึ่งมีประมาณ 300 โรงงาน โดยโรงงานดังกล่าวได้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์แล้ว เพื่อเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน พร้อมกับขอความร่วมมือให้ตรวจสอบค่าของปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ หรือ DO ของน้ำทิ้งที่จะระบายออกนอกโรงงานควรมีค่า DO มากกว่า 2 มก./ลิตร เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำ ส่วนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะมีหนังสือเตือนและขอความร่วมมือให้โรงงานใช้น้ำอย่างประหยัดและเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานเป็นพิเศษในปีหน้า” นายอาทิตย์ กล่าว

นอกจากนี้ กรอ. จะส่งเสริมให้โรงงานมีการใช้น้ำด้วยหลักการ 3Rs คือ ลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับจัดทำเอกสารเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านเทคนิค หรือวิธีการลดการใช้น้ำของโรงงานด้วยหลักการ 3Rs ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ. (www.diw.go.th) ส่วนโรงงานที่มีพื้นที่มาก กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล

อย่างไรก็ดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปี 2559 โดยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาขุมเหมืองเก่าซึ่งได้มีการเก็บกักน้ำเอาไว้ และ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้ประสานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์แล้ว เช่น เพื่อการเกษตรกรรม อุปโภคและบริโภค รวมจำนวน 9 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 27.4 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ลำพูน อุบลราชธานี ขอนแก่น สระบุรี และตาก โดยทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 ธันวาคม 2558

เตือน‘หนอนกออ้อย’ช่วงแล้ง

กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกออ้อยในช่วงอากาศแห้งแล้ง มักพบระบาดในระยะอ้อยแตกกอ และพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยอยู่ 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก ตัวหนอนจะเจาะตรงส่วนโคนระดับผิวดิน ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย ผลผลิตลดลง 5-40% และยังพบหนอนเข้าทำลายในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยเจาะเข้าไปกัดกินภายในลำต้น ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม หนอนกอสีขาว ตัวหนอนจะเจาะไชจากส่วนยอด ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้วหนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก และหนอนกอสีชมพู หนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่ แต่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย และปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมาอัตรา 30,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ใช้ในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย แต่เมื่ออ้อยอายุ 1 เดือนไปแล้ว หรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว 10% ควรพ่นสารเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน หรือพ่นสารอินด๊อกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารคลอแรนทรานิลิโพรล 20% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในอัตราส่วน 60 ลิตรต่อไร่ เมื่อพบการระบาดของหนอนกออ้อยหรือเมื่ออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 ธันวาคม 2558

รายงานพิเศษ : สศก.ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลเกษตร ปั้นช่างเกษตรท้องถิ่นทะลุเป้า-ลดรายจ่ายได้จริง

จากการที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ติดตามผลการดำเนินงานการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร ปี 2558 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านเทคนิค และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับเกษตรกรผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อสามารถนำไปซ่อมแซมเครื่องจักรกลของตนเอง และเป็นช่างเกษตรท้องถิ่นชุมชน สามารถให้บริการซ่อมแซมแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ มีการพัฒนาศักยภาพธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องจักรกลการเกษตรทั่วประเทศ

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สศก. ได้ดำเนินการติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น จำนวน 446 ราย และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 63 รายรวม 43 จังหวัด พบว่าเกษตรกรที่ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นร้อยละ 71 มีความรู้พื้นฐานก่อนเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่สามารถบำรุงรักษาเครื่องจักรกลฯ เบื้องต้นได้ แต่เมื่อเครื่องจักรกลฯ เกิดการชำรุด ยังต้องนำไปซ่อมแซมที่ร้านทั้งในและนอกพื้นที่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีค่าใช้จ่ายในการจ้างซ่อมเครื่องจักรกลฯ 2,693 บาท/ราย/ปี

สำหรับผลสำรวจกิจกรรมพัฒนาศักยภาพธุรกิจฯ ของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรม มีจำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ เพาะกล้า/ดำนาข้าว การเก็บเกี่ยวข้าว และการสีข้าว พบว่า ร้อยละ 54 ได้นำความรู้ไปปฏิบัติโดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การตรวจคุณภาพข้าว/การเก็บเกี่ยว และการสีข้าว เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรได้ทั้งสิ้น 3,456 ราย สูงกว่าเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 106 และเกษตรกรในหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นร้อยละ 58 ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์แล้ว สามารถลดรายจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษาได้ ตั้งแต่ 300-799 บาท/เครื่อง โดยส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก ทั้งในด้านการอบรมความรู้และการฝึกปฏิบัติ เนื่องจากเห็นว่าสามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง และยังเสนอว่าควรเพิ่มระยะเวลาในการอบรมและเนื้อหาหลักสูตร เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้ต่อยอดในการซ่อมแซมเครื่องจักรกลฯ และต้องการให้มีโครงการอย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตาม ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีความรู้ด้านช่างเกษตรเบื้องต้น และมีความพร้อมในด้านเครื่องจักรกลการเกษตร โดยในการฝึกปฏิบัติ ควรใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ชำรุดมาใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดผลในการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 ธันวาคม 2558

อุตฯสั่งรง.รับมือภัยแล้งปี

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความพร้อมภาคอุตสาหกรรมรับมือปัญหาภัยแล้งปี 59 ว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เตรียมทำหนังสือเตือนโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม.ต่อวัน กว่า 300 โรงงาน ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน และให้ตรวจสอบค่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำทิ้งนมากกว่า 2 มก.ต่อลิตรเพราะต้องการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่น้ำ

เนื่องจากปี 59 อาจประสบปัญหาภัยแล้งจึงต้องทำแผนรับมือไว้" ได้ประสานข้อมูลกับกรมชลประทานแล้วว่า ปี 59 ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยอาจกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และจากการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานจะให้ความสำคัญกับน้ำ เพื่อชุมชน เกษตรกรรม ท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมจะเป็นลำดับสุดท้าย จึงต้องเตรียมการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม และแก้ไขปัญหาน้ำเสียในฤดูแล้ง

เนื่องจากน้ำในแม่น้ำลำคลองมีน้อย"นอกจากนี้ กรอ.จะส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำด้วยหลักการ 3 อาร์เอส คือ ลดการใช้ ใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับจัดทำเอกสารเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ด้านเทคนิค หรือวิธีการลดการใช้น้ำของโรงงานตามหลักการ 3 อาร์เอส ผ่านทางเว็บไซต์ กรอ. www.diw.go.th ส่วนโรงงานที่มีพื้นที่มาก กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำให้ขุดบ่อพักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขุดเจาะน้ำบาดาล“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

สภาเกษตรฯจับมือ122องค์กร คัดค้านร่างกฎหมาย"จีเอ็มโอ"

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอไว้ก่อน ด้านเครือข่ายภาคประชาชนและผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหารกว่า 122 เครือข่าย ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิอธิปไตย-ความมั่นคงทางอาหาร

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ชะลอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอไว้ก่อน เนื่องจากมีข้อมูลและรายงานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยได้บ่ง ชี้ตรงกันว่า หากมีการปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อม อันจะก่อให้เกิดความเสียหาย

ต่อระบบนิเวศ ฐานพันธุกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยากที่จะกลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ที่บริโภคผลิตผลและ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรภาคีเครือข่าย จึงมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะสร้างความเดือดร้อนไม่แต่เฉพาะเกษตรกร แต่จะกระทบถึงคนในชาติ จึงใคร่ขอให้รัฐบาลได้ชะลอการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ก่อน และจัดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุม สมบูรณ์เหมาะสมเป็นผลดี

ซึ่งช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวเท่าที่ควร จึงยังมีประเด็นที่มีจุดอ่อนช่องโหว่ในทางกฎหมายหลายประการ รวมทั้งเห็นควรเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การเสริมสร้างการรับรู้ของเกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไป การพัฒนาให้มีบุคลากรผู้มีความรอบรู้ทั้งในเรื่องสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุ กรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชนและผู้ ประกอบการภาคเกษตรและอาหารกว่า 122 เครือข่าย ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิอธิปไตย-ความมั่นคงทางอาหาร และทางเลือกของผู้บริโภค ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และศาลากลางจังหวัดในกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเครือข่ายและประชาชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำ หุ่นไล่กาจำนวน77 ตัว แทนจำนวนจังหวัดในประเทศไทย และส่งข้อความ "ค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ" "No GMOs" และ "คนไทยไม่เอาจีเอ็มโอ"

ให้กับคณะ รัฐมนตรี พร้อมกับยื่นหนังสือต่อคณะรัฐบาลให้ชะลอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทาง ชีวภาพ พ.ศ. ... และให้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายที่มีตัวแทนของภาคประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ

นายวัลลภ พิชญ์พงศา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า การอนุญาตให้มีการนำพืชจีเอ็มโอออกสู่สิ่งแวดล้อมจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง เช่น ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า

เกษตร และอาหารของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อในต่างประเทศ จากกรณีการปนเปื้อนของข้าวจีเอ็มโอกับข้าวทั่วไปของสหรัฐอเมริกา ปี 2549 แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่สามารถป้องกันปัญหาการปนเปื้อนระหว่างพืชทั่ว ไปและพืชจีเอ็มโอได้ ผลก็คือทำให้สหรัฐสูญเสียตลาดสหภาพยุโรปไป และผู้ซื้อจากสหภาพยุโรปหันมาซื้อข้าวจากประเทศไทยแทนข้าวจากอเมริกา

นาย วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แทนที่จะปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและผลประโยชน์ของเกษตรกรไทย โดยเจตนาที่จะไม่นำหลักการป้องกันเอาไว้ก่อน การคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมาบังคับใช้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTAI) หนึ่งในองค์กรที่ร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้กล่าวว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านในประเด็นที่เกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอครั้งใหญ่ใน สังคมไทย ผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว ประกอบด้วย สมาคมการค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ มากกว่า 46 จังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคม รวมกันมากกว่า 122 องค์กร ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ผลักดันนโยบายและกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกลุ่ม ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอมากเท่ากับที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการ เชื่อว่าหากรัฐบาลเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง การเคลื่อนไหวจะขยายวงออกไปกว้างขวางมากยิ่งไปกว่านี้

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

หนุนคลัสเตอร์อุตฯเกษตร กู้ดอกเบี้ยต่ำพัฒนา

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์เกษตรแปรรูปเพื่อเสนอที่ประชุมนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์วันที่ 17 ธ.ค.ว่า ได้หารือมาตรการ ส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เบื้องต้นจะขอสนับสนุนมาตรการด้านเงินทุน และกำหนดกรอบปล่อยสินเชื่อ 6 เดือน โดย จะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ), ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (ธพว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการยาง แห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดเงื่อนไขสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพัฒนางานต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงสายการผลิต หรือซื้อเครื่องจักรผลิตอาหารเชิงสุขภาพ สนับสนุนเงินทุนวิจัยที่เป็นที่ต้องการของตลาด

          นอกจากนี้ จะแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เช่น ปรับปรุงกฎระเบียบการขออนุญาตอาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ แก้ไขข้อกำหนดการแสดงฉลากอาหาร ปรับปรุงรายการสินค้าควบคุม ภายใต้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้สินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด และส่งเสริมการจัดกิจกรรมงานนิทรรศการด้านอาหารระดับโลก เพื่อสร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทย และยังมีมาตรการสนับสนุนที่จำเป็น นอกจากเงินทุน ยังมีมาตรการด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโน โลยี โดยจะสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการปรับเนื้อสัมผัสอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุอย่างน้อย 5 ราย สร้างนักพัฒนาเทคนิคการนำอาหารทางเลือก สู่กระบวนการผลิตคุณภาพสูง  20 คน สร้างทีมเฉพาะทาง 10 คน สำหรับกิจการเป้าหมายในคลัสเตอร์ที่จะได้รับการส่งเสริม เช่น ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ โดยกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายคือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และไทย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

รื้อเกณฑ์ขนส่งผ่านแดน พาณิชย์เล็งถอดสินค้าเกษตรออกจากบัญชี

นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะที่กำลังพิจารณารายการสินค้าภายใต้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ว่าด้วยการนำสินค้าผ่านแดนหรือถ่ายลำในประเทศออกไปยังประเทศที่ 3 ที่จะบังคับใช้วันที่ 14 ธ.ค.58 ว่า เมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ จะมีสินค้าเกษตรหลายรายการ ห้ามขนส่งผ่านแดน หรือถ่ายลำไปประเทศที่ 3 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสินค้าเกษตรในประเทศ แต่จะมีกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ขนส่งสินค้าเกษตรเป็นหลัก

ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะถอดสินค้าเกษตรบางรายการ ออกจากประกาศดังกล่าว เช่น แป้งมันสำปะหลัง เพราะเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต ไม่ใช่สินค้าเกษตรขั้นปฐม หากถอดออกจึงไม่น่ากระทบเกษตรกร เพราะเพื่อนบ้านยังผลิตได้น้อยมาก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลังต้องเห็นชอบก่อน ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ จะถอดออกหรือไม่ ต้องพิจารณาก่อน โดยหลักการต้องไม่กระทบเกษตรกร และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการค้าขาย แต่ช่วยทำให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้ามีความรัดกุม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้ายนายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นห่วงว่ากฎหมายไทย อาจเป็นอุปสรรค ทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ส่วนความกังวลว่าสินค้าเกษตรจากเพื่อนบ้านจะตกค้างในประเทศไม่ไปยังประเทศที่ 3 นั้นเห็นว่าสามารถใช้เทคโนโลยี หรือวิธีป้องกันการรั่วไหลอื่น แทนการออกกฎหมายเพิ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิธีการปฏิบัติที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เอกชนเร่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในวันนี้ (12 ธ.ค.58) ภาคเอกชนได้ประชุมคัดเลือกตัวแทนภาคเอกชน ที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานและประธาน 10 คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในแต่ละคณะทำงานจะพิจารณารายบุคคลที่มีความเหมาะสมในการขับเคลื่อนแต่ละสาขา จะไม่ได้พิจารณาจากสถาบันหรือองค์กร เพื่อเป้าหมายผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตก่อนที่จะเสนอให้รัฐบาลในเร็วๆนี้

ทั้งนี้ในส่วนของตนอาจจะเข้ามานั้งทำงานในคณะการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งการขับเคลื่อนของเอสเอ็มอี ต้องเน้นการสร้างตลาดใหม่ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกปีหน้ายังชะลอตัว เพื่อหาช่องทางการขายสินค้าส่วนการผลักดันในด้านอื่น ๆ ยังต้องรอหารือกับคณะกรรมการอย่างเป็นทางอีกครั้ง

สำหรับ 10 คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาการผลิตที่ใช้นวัตกรรม, 2.การสร้างรายได้ของประเทศ, 3.การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่, 4. การศึกษาและการฝึกงาน, 5.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ, 6.การส่งเสริมการท่องเที่ยว, 7. การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนต่างประเทศ, 8.การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคต และการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรม, 9.การปรับแก้กฎหมายและระเบียบ และ 10.การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

วิชาการปรับวิจัยมุ่งพืชท้องถิ่น ลั่นต่อไปต้องไร้ผลงานขึ้นหิ้ง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มีนโยบายจะปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร จากที่ผ่านมางานวิจัยจะมุ่งเน้นไปที่พืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ทุเรียน อ้อย ปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ยังขาดงานวิจัยที่จะไปช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับพืชท้องถิ่นและพืชสมุนไพรที่มีโอกาสทางการตลาดอีกหลายชนิด ซึ่งปัจจุบันอาจจะเป็นพืชที่มีมูลค่าไม่มากนัก แต่ในอนาคตพืชเหล่านี้อาจเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้ เช่น กล้วยเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคย สามารถปลูกได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่อาจไม่รู้ว่ากล้วยเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรจำนวนมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกล้วยไข่สามารถส่งออกได้ในราคาถึงกิโลกรัมละ 60-65 บาท ดังนั้น ต่อไปกรมวิชาการเกษตรจะต้องมีข้อมูลผลงานวิจัยทางด้านวิชาการ ที่จะช่วยส่งเสริมพืชที่อาจถูกมองข้ามเหล่านี้ เพื่อขยายการค้าต่อไปในอนาคต

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนี้ไปจะปรับปรุงระบบงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรใหม่ โดยให้มีความชัดเจนในการทำงานวิจัยและทำงานวิจัยได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งต้องทำงานวิจัยในพืชท้องถิ่นที่มีศักยภาพควบคู่ไปกับการทำงานวิจัยพืชเศรษฐกิจหลักให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่างานวิจัยบางผลงานอาจจะยังไปไม่ถึงเกษตรกร ดังนั้นจึงได้ให้นโยบายนักวิจัยให้ลงพื้นที่พบเกษตรกรซึ่งเป็นผู้รับเทคโนโลยีโดยตรงให้มากขึ้น พร้อมรับทราบถึงปัญหาของเกษตรกรเพื่อนำกลับมาเป็นข้อมูลในการทำงานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากขึ้น โดยนับจากนี้ไปยืนยันว่าผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจะไม่มีคำว่าขึ้นหิ้งหรือไปไม่ถึงมือผู้ใช้อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 ธันวาคม 2558

เชื่อน้ำตาลทรายโลก'ขาขึ้น' ดันราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฟื้น

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า  แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเริ่มปรับเพิ่มขึ้น จากช่วงปลายเดือน ก.ย. 58 ที่ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ มาเป็น 15-15.8 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ในการทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ล่วงหน้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากล่าสุดยังเหลือปริมาณน้ำตาลทรายดิบ 50% เพื่อส่งออก ดังนั้นแนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 มีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 808 บาทต่อตัน

          "อนท.ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าไปแล้ว 50% เฉลี่ยราคา 14 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งได้นำราคาเฉลี่ยนี้มาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นเมื่อราคาเริ่มขยับ เราจึงมั่นใจว่าราคาขั้นสุดท้ายจะออกมาดีแน่นอน เพราะดูทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลก น่าจะพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเพราะล่าสุดพบว่าสต๊อกน้ำตาลโลกขาด 7-8 ล้านตัน แต่ปัจจัยจะสูงมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย และคาดว่าปี 59 ราคาน้ำตาลโลกจะไต่สูงขึ้นอีก"

          อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นปี 58-59 ที่กำหนดไว้ 2 ราคาคือ เขต 5 สุพรรณบุรี และเขต 8 จ.ชลบุรี 773 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ส่วนอีก 7 เขตอยู่ที่ 808 บาทต่อตันนั้น ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน รวมทั้งชาวไร่ คาดว่าจะหารือเร็ว ๆ นี้ เพื่อหา มาตรการช่วยเหลือ ให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยคุ้มกับต้นทุนการผลิต ที่คำนวณไว้ระดับ 1,126 บาทต่อตัน คงจะใช้กลไกการกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนจริง รายได้ในการชำระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นสำคัญ

          สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 58/59 ที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ที่ผ่านมาได้คาดการณ์ผลผลิตอ้อย จะอยู่ที่ 109 ล้านตัน แต่จากแนวโน้มที่ชาวไร่ส่วนใหญ่ติดตามผลผลิตแต่ละภาคแล้ว คาดว่าผลผลิตอ้อยปีนี้จะอยู่ในระดับเฉลี่ย 104-105 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 106 ล้านตัน เนื่องจากพบว่าอ้อยในช่วงต้นปีถึงกลางปี ประสบปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าฝนจะมาช่วงปลายปี แต่อ้อยยังไม่ได้ทันสะสมความหวานมากนักก็ต้องเปิดหีบ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ชง ครม.แก้ไขกม.แข่งขันทางการค้า

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ว่า ขณะนี้ กรมฯ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว คาดว่า จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาได้ภายในเดือนธ.ค.นี้ หากอนุมัติ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้

"ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการตรึงราคาน้ำมัน หรือการขึ้นและลงตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน จะไม่ถือว่าพฤติกรรมนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขัน แต่การทำธุรกิจของปตท.ตามปกติ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับเอกชนรายอื่นอย่างเป็นธรรม”

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับดูแล เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง โดยกำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดสรร เพื่อสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งทำให้ไม่สามารถปลอดจากการเมือง และอิทธิพลของภาคเอกชนรายใหญ่ได้“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

'สมคิด'ชูธงจัดงบปี'60สอดรับยุทธศาสตร์ชาติสั่งกระทรวงแจงแผนใช้เงิน 

          "สมคิด "สั่งทุกกระทรวงเร่งทำรายละเอียดการใช้งบประมาณปี'60 ระบุต้องกำหนดกรอบการใช้ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของนายกฯและประเทศ เป้าหมายหลักลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก นัด ส่งการบ้าน 18 ธันวาคมนี้

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำงบประมาณปี 2560 ว่า ได้สั่งการให้แต่ละกระทรวงรายงานรายละเอียดงบประมาณที่จะต้องใช้ รวมถึงแผนที่จะดำเนินการทั้งหมดมาให้รับทราบ โดยกำชับให้แต่ละกระทรวงกลับไปจัดทำรายละเอียดการใช้งบประมาณ วงเงินงบประมาณที่จะใช้ ตลอดเป้าหมายของแต่ละโครงการ

          โดยกำชับให้ระบุให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการ อย่างไร ก่อนนำมาเสนออีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีและยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งที่มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแกร่ง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการดูแลผู้สูงอายุ

          ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าการจัดเก็บรายได้ปี 2559 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจะมีผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณในปี 2560 นั้น ยืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการรายได้และรายจ่ายให้มีความเหมาะสมและสมดุลภายใต้การจัดทำยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าหมายไว้

          พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมกลับไปวางแผนโครงการลงทุนทั้งหมดว่าโครงการใดอยู่รูปแบบการลงทุนระหว่างรัฐร่วมเอกชน หรือ พีพีพีบ้าง และกำชับให้เร่งรัดการทำถนนเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางที่อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง

          ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยเป็นแกนหลักสำคัญขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็ได้เน้นย้ำให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการค้าภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งนอกเหนือจากการขับเคลื่อนภาคการ ส่งออก เช่น ผลักดันการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ และ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้ได้มากที่สุด

          ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณกล่าวว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 แบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม ที่ต้องเกี่ยวโยง กับบุคลากรและภารกิจ โดยหากหน่วยงานใด จะของบลงทุน ในแต่ละโครงการต้องมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานเจ้าภาพด้วย

          ทั้งนี้ ในแต่ละหน่วยงานจะต้องเสนอคณะกรรมการในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ก่อนส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณวันที่ 18 ธันวาคม 2558 จากนั้นในวันที่ 25 มกราคม 2559 จะมีการหารือระหว่างหน่วยงานจัดทำงบประมาณรวมถึงจะนำตัวเลขเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

          อนึ่งสำหรับฐานะการคลังของรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งถือเป็นเดือนแรก ของปีงบประมาณ 2559 (1ตุลาคม 2558- 30 กันยายน 2559) รัฐบาลขาดดุลเงินสด 229,396 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 218,116 ล้านบาท และเป็นเงินนอก งบประมาณขาดดุล 11,280 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังสิ้นเดือนตุลาคม 2558 มีจำนวน 295,880 ล้านบาท

          ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณทั้งสิ้น 374,201 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 6,603 ล้านบาท (คิดเป็น 1.8%) ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 336,077 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 1.8% และรายจ่ายลงทุน 23,531 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 58.7% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน 14,593 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 36.0%

          สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในช่วง 2 เดือนของปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา สามารถเบิกจ่ายได้ 21.6% เป็นงบลงทุน 7% และได้มีการทำสัญญาสูงถึง 21% ซึ่งสูงกว่าปีก่อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

SMEไทยไม่พร้อมเข้าAEC ยอมรับขาดความรู้-เงินทุน คุณภาพสินค้า-อ่อนภาษา

นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์คาดการณ์ว่า ในปี 2559 ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) อยู่ที่ประมาณ 3% ส่วนอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(เอสเอ็มอี)มีค่าประมาณ 2.64 ถึง 3.24% โดยปัจจัยมาจาก การส่งออกของประเทศ สภาพเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อในประเทศ หนี้ครัวเรือน การท่องเที่ยว สภาพคล่องของเอสเอ็มอี และความเชื่อมั่นต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 580 รายจากทั่วประเทศ เกี่ยวกับความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2559 พบว่าผู้ประกอบการ11.4% ระบุว่า พร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2559 ผู้ที่ยังไม่พร้อมคิดเป็น 75.2% และอีก 13.4% ไม่สนใจจะเตรียมความพร้อม

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบุว่าไม่พร้อมพบว่า สาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1) การขาดความรู้เกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของอาเซียนมีผู้ตอบข้อนี้คิดเป็น 53.4% 2) ความสามารถของบุคลากร 50.1% 3) ขาดพันธมิตร 43.2% 4) ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ 41.4% 5) มาตรฐานของสินค้าและบริการ 40.5% 6) ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร 34.6% 7) ขาดเงินทุน 31.6% 8) ไม่ทราบขั้นตอนในการค้าระหว่างประเทศ 30.2% 9) กำลังการผลิตไม่เพียงพอ 27.8% และ 10) ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอื่น 19.50%

ด้านแนวโน้มผลประกอบการในปี 2559 ผู้ประกอบการ 34.6% ระบุว่า ดีขึ้น 52.5%ใกล้เคียงกับปี 2558 และอีก 12.9% แย่ลง กลุ่มที่ระบุว่าผลประกอบการปีหน้าจะดีขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 16.3% สำหรับกลุ่มที่ระบุว่าผลประกอบการปีหน้าจะแย่ลงโดยเฉลี่ยแล้วคาดว่ายอดขายจะลดลง 10.8%

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจในปี 2559 ได้แก่ กำลังซื้อในประเทศ สภาพคล่องทางการเงินภาวะเศรษฐกิจโลก การขาดแคลนแรงงานที่ตรงกับความต้องการ ต้นทุนการผลิตและการแข่งขันกับธุรกิจจากต่างประเทศ การก่อการร้าย และสาเหตุอื่นๆ เช่น การเมือง ภัยธรรมชาติ และการขาดแคลนวัตถุดิบ

นอกจากนี้ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตในปี’59 10 อันดับ ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ, โรงแรมราคาประหยัด, สายการบินต้นทุนต่ำ, ร้านขายอุปกรณ์กีฬาออนไลน์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, การสอนภาษาอังกฤษ, จักรยานและอุปกรณ์,การดูแลสุขภาพ แอพพลิเคชั่นบนมือถือ และการขนส่งระยะสั้น/BTS/MRT

ส่วนธุรกิจกลุ่มเสี่ยง 10 อันดับ ได้แก่ รถทัวร์/รถไฟ, ร้านกาแฟสด ร้านบุฟเฟต์ราคาถูก,ร้านอินเตอร์เนต เสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูก, ร้านโชห่วย อาหารทะเลแปรรูป, สายการบินทั่วไป, ร้านซ่อมคอมพิวเตอร์และร้านขายโทรศัพท์มือถือมือสอง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนชุมชนประชาสงเคราะห์เกี่ยวกับแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งทางตัวแทนจากชุมชนประชาสงเคราะห์ก็ยังยืนยันขอให้ทางกระทรวงคมนาคม พิจารณาแนวเส้นทางและการออกแบบการก่อสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้ให้กลับไปหารือพูดคุยระหว่าง รฟม. กระทรวง และชุมชนประชาสงเคราะห์ ในการปรับแนวทางว่าจะสามารถปรับแนวอย่างไรได้บ้างโดยเฉพาะด้านเทคนิคการก่อสร้างเช่น การขุดอุโมงค์รถไฟฟ้าให้ลึกลงเพื่อลดการเวนคืนที่ดิน เป็นต้น

ทั้งนี้หากมีการดำเนินการปรับแบบการก่อสร้างและการขุดอุโมงค์ให้ลึกลงไปอีกโดยทั้ง 2 แนวทาง จะมีผลกระทบมากกว่าการเปิดหน้าดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟรวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบอาจสามารถพิจาณาแนวทางก่อสร้างใหม่ได้ ซึ่งการสรุปแบบก่อสร้างจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 – 2 เดือนนี้ เนื่องจากโครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติโครงการในช่วงไตรมาสที่ 2ปี 2559

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ปี’59 ก.แรงงานพร้อมถอดสินค้าอ้อย จากบัญชีสินค้าใช้แรงงานเด็ก กระทรวงแรงงานสหรัฐ

ก.แรงงาน เตรียมเสนอนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปี58-63 และรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กฯ ของไทย เพื่อเสนอ ครม. เห็นชอบ มั่นใจปี’59 พร้อมเสนอขอถอด ‘สินค้าอ้อย’ ออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าใช้แรงงานเด็ก ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ครั้งที่ 3/2558 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 กระทรวงแรงงานว่าที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบกับ (ร่าง) นโยบาย และแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ.2558-2563  มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทสำหรับการดำเนินการและเป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการขององค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้าม และการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก ตั้งเป้าประสงค์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายหมดสิ้น ภายในปีงบประมาณ 2563  ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1)การป้องกัน 2)การช่วยเหลือและคุ้มครอง 3)การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ 4)พัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย 5)การพัฒนาระบบบริหารจัดการ และการติดตามผล

อีกทั้งยังร่วมกันพิจารณารายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ระหว่างปี พ.ศ.2556-2558 เป็นการรายงานความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน ซึ่งพบว่าจำนวนแรงงานเด็กมีแนวโน้มลดลงทุกปี การสำรวจข้อมูลการทำงานของเด็กในประเทศไทยเพื่อนำมากำหนดทิศทางการบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็น การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความร่วมมือกันของทุกหน่วยงานที่จะร่วมกันขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จะจัดสำรวจแรงงานเด็กเพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นสถิติตัวยืนยันสถานการณ์ และจะได้เสนอร่างนโยบายและแผนระดับชาติรวมถึงรายงานสถานการณ์ฯ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบภายในเดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ จากการดำเนินการเชิงรุกมาตั้งแต่ปี 2558  ทำให้เกิดความร่วมมืออย่างดีระหว่างทุกภาคส่วนคือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ช่วยไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กตลอดสายการผลิต และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ลงพื้นที่ส่งเสริมให้ความรู้และชี้แจงกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีความเข้าใจและระมัดระวังไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก และมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายโดยการตรวจแรงงานอย่างเข้มข้น จึงได้เตรียมการที่จะเสนอขอถอดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่ผลิตมาจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่จะขอถอดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีดังกล่าว ในปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นรอบการพิจารณาเพื่อถอดรายชื่อสินค้ากระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้จัดส่งให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เกษตรฯจัดถกผู้บริหารนานาชาติ ระดมสมองยุทธศาสตร์ลงทุนงานวิจัย-นวัตกรรม

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ สมาคมสถาบันวิจัยเกษตรแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APAARI) เรื่องความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการภายใต้กรอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสนใจและเกิดประโยชน์ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างงานวิจัยและพัฒนา

กรมวิชาการเกษตร และ APAARI จึงได้ร่วมกับ Australian Center for International Agricultural Research (ACIAR), Food and Agriculture

 Organization (FAO), Global Forum for Agricultural Research (GFAR) และ International Food Policy Research Institute (IFPRI) เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมหารือเชิงนโยบายระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการลงทุนในการวิจัยทางการเกษตร เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างวันที่8-9 ธันวาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์กทม. เพื่อประเมินศักยภาพและสถานภาพในการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มระดับการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ตลอดทั้งเสริมสร้างทักษะและความสามารถในการดึงดูดความสนใจของนักลงทุน และขับเคลื่อนโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร พร้อมทั้งกำหนดกลไกในการลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรสมาชิก APAARI จำนวน 61 องค์กร ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย รัฐมนตรี เกษตรกรยุคใหม่ และผู้แทนจากองค์กรวิจัยและพัฒนาจากประเทศเอเชียและแปซิฟิก ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาชุมชน กลุ่มเกษตรกร ผู้แทนจากองค์กรวิจัยนานาชาติ และมูลนิธิการพัฒนา รวมประมาณ 140 คน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประเมินศักยภาพด้านการผลิต และระดับของการลงทุนในการวิจัยทางการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้กำหนดนโยบาย และส่งเสริมให้การลงทุนด้านงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยมีการวางเป้าหมายไปจนถึงปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้าว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกควรมีปริมาณอาหารเท่าไหร่จึงจะเพียงพอกับความต้องการของประชากร รวมทั้งไทยควรจะลงทุนงานวิจัยด้านการเกษตรกี่เปอร์เซ็นต์ และควรขยายการลงทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ต้องการให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์และความสำคัญของการพัฒนางานวิจัย โดยภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการเข้ามาลงทุนและร่วมพัฒนางานวิจัยไปกับภาครัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิก APAARI ทราบถึงศักยภาพและบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเกิดความร่วมมือในด้านงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นเวทีให้นักลงทุนและองค์กรวิจัย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพบปะหารือในการวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

'พ.ร.บ.จีเอ็มโอ'ข้อดี-ข้อเสีย! 

          ทีมข่าวรายงานพิเศษ

          20 ปีมาแล้วที่คนไทยถกเถียงกันว่า จะเอา "จีเอ็มโอ" หรือไม่เอา ?

          ล่าสุดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรี มีมติผ่าน "ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ. ...." หรือเรียกว่า "พ.ร.บ.จีเอ็มโอ" เรียบร้อยแล้ว รอเพียงส่งให้สนช.เอาไปพิจารณาออกเป็นกฎหมายเท่านั้น...

          "จีเอ็มโอ" ย่อมาจาก Genetically Modified Organisms (GMOs) หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่ถูก "ดัดแปลงพันธุกรรม" คือการตัดต่อเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีนสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้เองตามธรรรมชาติ เพื่อให้เกิดเป็น "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่" มีคุณลักษณะตามความต้องการของผู้ตัดต่อ เช่น

          - "มะเขือทนหนาว" การตัดต่อยีนทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกผสมกับมะเขือเทศ ทำให้มะเขือเทศชนิดนี้ปลูกในที่อากาศหนาวเย็นได้

          - "ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ" การตัดต่อยีนจากแบคทีเรียมาใส่ในยีนถั่วเหลือง เพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช

          - "มะละกอจีเอ็มโอ" การนำยีนจากไวรัสใบด่างวงแหวนมาตัดต่อใส่ในมะละกอ เพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสชนิดนี้ได้

          ล่าสุดต้นปี 2557 นักวิทยาศาสตร์อังกฤษใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอพัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์สีม่วงขึ้นมา โดยนำยีนเม็ดสีม่วงจากต้นลิ้นมังกร (snap dragon) มาตัดต่อใส่เข้าไปในยีนของมะเขือเทศ ทำให้ได้เป็นมะเขือเทศสีม่วงขึ้นมาแทน

          ปัจจุบัน พืชจีเอ็มโอที่วางขายตามท้องตลาด ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่งมะเขือเทศ มะละกอ และฝ้าย

          สำหรับ "สัตว์จีเอ็มโอ" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ "ปลาแฟรงเกนแซลมอน" (Frankensalmon) เกิดจากนำปลาแซลมอนธรรมดามาตัดต่อใส่ยีนที่ช่วยทำให้กินอาหารเยอะและเร่งการเจริญเติบโต ผลปรากฏว่า แซลมอนตามธรรมชาติปกติอายุ 18 เดือน มีความยาว 13 นิ้ว และหนัก 2.8 ปอนด์ แต่ปลาแฟรงเกนแซลมอนอายุเท่ากัน ตัวใหญ่ยาวถึง 24 นิ้ว น้ำหนักมากขึ้นเกือบ 3 เท่า

          องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ประกาศว่าปลาแซลมอนจีเอ็มโอ เป็นอาหารปลอดภัยสำหรับมนุษย์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติและประชาชน 2 สองแสนกว่าคนลงชื่อคัดค้าน เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดภูมิแพ้อาหารทะเล และถ้าปลาจีเอ็มโอหลุดไปในธรรมชาติอาจเกิดทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายสายพันธุ์ปลาแซลมอนดั้งเดิมได้

          ส่วนปรากฏการณ์ "จีเอ็มโอ" ในไทยนั้น ย้อนไปตั้งแต่ปี 2538  กรมวิชาการเกษตรอนุญาตให้ "บริษัทมอนซานโต้" นำเข้า "ฝ้ายจีเอ็มโอมาทดลอง" ปี 2542 มีเอ็นจีโอไปร้องเรียนว่าพบการปนเปื้อนฝ้ายจีเอ็มโอออกมานอกพื้นที่ทดลองที่ จ.เลย และมะละกอจีเอ็มโอหลุดออกมานอกแปลงทดลองเช่นกันที่ จ.ขอนแก่น แต่ที่เป็นข่าวโด่งดังคือข้าวโพดจีเอ็มโอของแปลงทดลองบริษัทมอนซานโต้มาปนเปื้อนพื้นที่ของเกษตรกรใกล้เคียงใน จ.พิษณุโลก

          แม้ว่าประเทศไทยจะมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ที่พยายามผลักดันกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการทดลองและนำเข้าอย่างเสรี แต่ก็ถูกคัดค้านโดยเครือข่ายผู้ต่อต้านจีเอ็มโอมาตลอด

          จนกระทั่ง คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฯ" ที่นำเสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และส่งไปสอบถามความคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ก่อนเสนอให้ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

          พ.ร.บ.จีเอ็มโอมีทั้งหมด 109 มาตรา สามารถสรุปสาระสำคัญออกมาได้ 5 ข้อดังนี้

          1.แต่งตั้ง "คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ" เป็นผู้ดูแล มีกรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คน มีปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานกรรมการ

          2.ผู้จะนำเข้าและส่งออกอะไรที่เกี่ยวกับจีเอ็มโอหรือ "สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม" ต้องขออนุญาต

          3.ไม่บังคับใช้กับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็น "ยา" เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว

          4.ห้ามไม่ให้ปล่อยสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ สู่สิ่งแวดล้อม เว้นแต่ได้รับอนุญาต กำหนดโทษทางอาญาทั้งจำคุกและโทษปรับมาใช้บังคับแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

          5.กำหนดให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหากพบ "อันตรายในสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์" หรือความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจาก "เหตุสุดวิสัย" หรือเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้เสียหายเอง

          ด้าน เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ วิเคราะห์ว่า กฎหมายฉบับนี้คือการเปิดโอกาสให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ต่างชาติเข้ามาผูกขาดการค้าในประเทศไทย และเป็นการเปิดให้มีการทดลองพืชสัตว์จีเอ็มโออย่างเสรี ทั้งที่ปัญหาอันตรายของอาหารจีเอ็มโอมีการรายงานออกมาเป็นระยะๆ เช่น ทำให้เกิดการดื้อยาต้านปฏิชีวนะ อาจทำให้ยาบางตัวที่เคยรักษาในคนได้ผลแต่ถ้ากินอาหารจีเอ็มโอมากๆ จะทำให้ดื้อยาบางตัวได้ หรืออาจทำให้เกิดจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ที่อาจดื้อยาปฏิชีวนะ

          นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วไป อาจมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นเหนือกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติมาก จนทำลายหรือกลืนสายพันธุ์ดั้งเดิมให้สูญพันธุ์ไปได้ อย่างเช่นกรณีปลาแซลมอน ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีการถ่ายทอดศัตรูพืชดื้อต่อสารเคมีปราบศัตรูพืช หรือที่เรียกกันว่า "สุดยอดแมลง" (super bug)" หรือ "สุดยอดวัชพืช(super weed)" ที่ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย เพราะทนทานต่อสารเคมีทุกประเภท

          "วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ" ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย:BioThai) ผู้ติดตามปัญหาจีเอ็มโอมานานกว่า 20 ปี วิเคราะห์ให้ฟังว่า ความน่ากังวลใน พ.ร.บ.จีเอ็มโอข้างต้นมี 3 ประเด็นด้วยกัน

          1. "คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ" เป็นฝ่ายราชการที่มีผู้ทำงานหลัก คือ "กรมวิชาการเกษตร" และ "ศูนย์ไบโอเทค" (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ) ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ คือผู้สนับสนุนการนำเข้าจีเอ็มโอมาตลอด ทั้งที่คณะกรรมการที่ดีควรมาจากหลายฝ่ายเข้าไปช่วยกันคิด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ

          2.กฎหมายบางข้อเขียนโดยฝ่ายสนับสนุนจีเอ็มโอเปิดช่องให้บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยเฉพาะกรณีพันธุ์จีเอ็มโอปนเปื้อนไปในธรรมชาติ บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งทางแพ่งและทางอาญา และ ข้อ 3.คือการระบุให้รับผิดชอบถ้าพบอันตรายในสุขภาพของมนุษย์-สัตว์ หรือความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นการเกิดจาก "เหตุสุดวิสัย" หรือเกิดขึ้นจาก "การกระทำของผู้เสียหาย"

          "ปกติในต่างประเทศระบุชัดเจนเลยว่ายกเว้นเฉพาะ กรณี 2 เรื่องเท่านั้นคือ "เกิดภัยพิบัติธรรมชาติร้ายแรง" หรือ "เกิดสงคราม" แต่ร่าง พ.ร.บ.ของไทยใช้คำว่า "เหตุสุดวิสัย" ทำให้ตีความกว้างไปและอาจเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้รัฐบาลระวังและพิจารณาทั้ง 3 ประเด็นนี้อย่างรอบคอบ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ และบริษัทเอกชนบางแห่งในไทยได้" วิฑูรย์กล่าวเตือน

          9 ธันวาคม 2558 เครือข่ายเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายผู้บริโภค จะระดมพลนัดรวมกันที่ศาลากลางทุกจังหวัดทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศไทย เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

          การคัดค้านจะส่งเสียงถึงรัฐบาลประยุทธ์มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้คือจุดเปลี่ยน "ระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย"

จากhttp://www.komchadluek.net  วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

อุตฯกวดขันใบอนุญาตโรงงาน 

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ โดยเฉพาะปัญหาการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจะยกระดับการกำกับดูแลที่เข้มข้นขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ของรัฐบาล ทั้งนโยบายคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน

          ทั้งนี้ ตนได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ให้ตรวจติดตาม กำกับ ดูแล สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดใน 3 เรื่องคือ 1. จัดทำแผนการตรวจ กำกับ ดูแล สถานประกอบการกิจการโรงงานและเหมืองแร่ ส่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมภายในวันที่ 11 ธ.ค. นี้ 2. แจ้งเตือนสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีพบการกระทำผิดให้ดำเนินการสั่งการและดำเนินคดีตามกฎหมายทุกรายไม่มีข้อยกเว้น 3. ให้จัดส่งรายงานผลการตรวจดังกล่าวทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยครั้งแรกให้รายงานภายในวันที่ 5 ม.ค. 59 ซึ่งกระทรวงจะมีทีมงานติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไปด้วย

“หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้บังคับบัญชา ปล่อยปละละเลยจะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ และได้ดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด เช่น การย้ายมาช่วยราชการที่ส่วนกลาง และรวบรวมเป็นผลงานในการแต่งตั้งโยกย้าย หรือสั่งสอบด้านวินัย”

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เชื่อน้ำตาลทรายโลก'ขาขึ้น' ดันราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฟื้น 

          นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า  แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเริ่มปรับเพิ่มขึ้น จากช่วงปลายเดือน ก.ย. 58 ที่ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ มาเป็น 15-15.8 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นสัญญาณบวกต่อบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ในการทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ล่วงหน้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากล่าสุดยังเหลือปริมาณน้ำตาลทรายดิบ 50% เพื่อส่งออก ดังนั้นแนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 มีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 808 บาทต่อตัน

          "อนท.ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าไปแล้ว 50% เฉลี่ยราคา 14 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งได้นำราคาเฉลี่ยนี้มาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นเมื่อราคาเริ่มขยับ เราจึงมั่นใจว่าราคาขั้นสุดท้ายจะออกมาดีแน่นอน เพราะดูทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลก น่าจะพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเพราะล่าสุดพบว่าสต๊อกน้ำตาลโลกขาด 7-8 ล้านตัน แต่ปัจจัยจะสูงมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย และคาดว่าปี 59 ราคาน้ำตาลโลกจะไต่สูงขึ้นอีก"

          อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นปี 58-59 ที่กำหนดไว้ 2 ราคาคือ เขต 5 สุพรรณบุรี และเขต 8 จ.ชลบุรี 773 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ส่วนอีก 7 เขตอยู่ที่ 808 บาทต่อตันนั้น ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีตัวแทนจากฝ่ายโรงงาน รวมทั้งชาวไร่ คาดว่าจะหารือเร็ว ๆ นี้ เพื่อหา มาตรการช่วยเหลือ ให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยคุ้มกับต้นทุนการผลิต ที่คำนวณไว้ระดับ 1,126 บาทต่อตัน คงจะใช้กลไกการกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยต้องคำนึงถึงต้นทุนจริง รายได้ในการชำระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นสำคัญ

          สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 58/59 ที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ที่ผ่านมาได้คาดการณ์ผลผลิตอ้อย จะอยู่ที่ 109 ล้านตัน แต่จากแนวโน้มที่ชาวไร่ส่วนใหญ่ติดตามผลผลิตแต่ละภาคแล้ว คาดว่าผลผลิตอ้อยปีนี้จะอยู่ในระดับเฉลี่ย 104-105 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 106 ล้านตัน เนื่องจากพบว่าอ้อยในช่วงต้นปีถึงกลางปี ประสบปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าฝนจะมาช่วงปลายปี แต่อ้อยยังไม่ได้ทันสะสมความหวานมากนักก็ต้องเปิดหีบ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กระเตงชาวนารับมือภัยแล้ง 22 จังหวัดให้หันปลูกถั่วแทน

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนการรับมือปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก จนส่งผลให้ชาวนาไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ จึงจะแนะให้ปลูกพืชทดแทน เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ผักใช้น้ำน้อย เพราะจากการสำรวจความต้องการของตลาด พบว่าพืชดังกล่าวเป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูง เช่น ถั่วเหลือง ปัจจุบันกิโลกรัม (กก.) ละ 16 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาข้าวเปลือกนาปรังมาก จึงมั่นใจว่าจะทำให้ชาวนามีรายได้ไม่ต่ำกว่าการปลูกข้าวในช่วงภาวะปกติ

“กระทรวงพาณิชย์จะแนะให้ชาวนาปลูกพืชทดแทน อย่างถั่วชนิดต่างๆ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องส่งเสริม โดยการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้ ซึ่งเราได้ติดต่อโรงงานต่างๆให้ช่วยรับซื้อแล้ว เช่น โรงงานวุ้นเส้นท่าเรือ จ.กาญจนบุรี โรงงานทำขนมแม่เอย ส่วนผักที่ใช้น้ำน้อย ได้ติดต่อห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกให้ช่วยรับซื้อ และกระจายสินค้าให้แล้ว เช่น ท็อปส์, แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น รวมถึงฟาร์มเอาต์เลต ซึ่งเป็นศูนย์ขายสินค้าเกษตรในท้องถิ่น ที่กรม ให้การส่งเสริมและสนับสนุน”

นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้ชาวนาหาอาชีพเสริม เช่น ทำเครื่องจักสาน อย่างกระเช้าจากผักตบ ซึ่งที่ผ่านมา กรมได้ส่งเสริมให้ชาวนาในหลายพื้นที่เริ่มทำแล้ว และหาตลาดรองรับกระเช้าดังกล่าวให้ เช่น ท็อปส์ โดยปีที่ผ่านมา ผลิตไม่พอขาย ขณะเดียวกัน ชาวนากลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพในการสั่งเพื่อไปจัดกระเช้าเป็นของขวัญปีใหม่อีกด้วย สร้างรายได้ให้ชาวนากลุ่มนี้ได้มาก.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

สอน.จ่อเคาะ12โรงงานน้ำตาล ได้สิทธิ์ขยายกำลังผลิต21.6ล้านตัน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.เตรียมประกาศรายชื่อโรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับการอนุญาตให้ขยายโรงงานเบื้องต้น 12 ราย กำลังผลิตรวม 1.8 แสนตัน/วัน หรือคิดเป็น 21.6 ล้านตัน/ปี จากคำขอทั้งสิ้น 14 คำขอ ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพิ่มอีกประมาณ 2.16 ล้านไร่ หรือหากผู้ประกอบการสามารถเพิ่มผลิตภาพอ้อยได้ 10% ของจำนวนอ้อยเข้าหีบในปัจจุบันที่ประมาณ 100 ล้านตัน ก็ไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกมากเท่าที่คาดการณ์

นอกจากนี้ สอน.จะเลื่อนการประกาศรายชื่อโรงงานน้ำตาลทรายที่ขอตั้งใหม่จำนวน 34 โรงออกไปก่อนประมาณ 1 เดือน และน่าจะประกาศได้ประมาณ ม.ค.2559 เนื่องจากติดขัดปัญหาหลัก 2 ประการ คือ ปัญหาด้านพื้นที่ของที่ดินไม่ได้ติดเป็นแปลงเดียวกัน มีถนนตัดผ่าน และอยู่ใกล้ชุมชน ซึ่งกังวลว่าจะติดปัญหา พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 จึงต้องมีการชี้แจงจากผู้ประกอบการ และต้องให้ผู้ประกอบการระบุพื้นที่ตั้งโรงงานให้ชัดเจน พร้อมกำหนดพื้นที่กันชน 100 เมตร

ปัญหาการจัดสรรลูกไร่ของโรงงานหรือจำนวนผลผลิตอ้อยของชาวไร่ที่ต้องเข้าระบบไม่ต่ำกว่า 50% ของกำลังผลิตโรงงาน โดยหากโรงงานเดิมในพื้นที่ขอตั้งโรงงานแห่งที่ 2 และมีการส่งเสริมลูกไร่อยู่แล้ว จะสามารถใช้กลุ่มลูกไร่เดียวกันได้หรือไม่ หรือจะจัดว่าเป็นโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

"นิยามคำว่าโรงงานที่ขอตั้งใหม่จะเป็นโรงงานอื่นเลย หรือเป็นเจ้าของเดิมที่พัฒนาพื้นที่อยู่แล้ว และต้องการสร้างโรงงานใหม่แห่งที่ 2 เบื้องต้นน่าจะสามารถทำได้ เพราะเขาก็ต้องมีลูกไร่อยู่แล้วจึงจะตั้งโรงงานได้แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามนิยาม และไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง" นายสมศักดิ์ กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับพื้นที่โรงงานที่ยื่นขอขยายโรงงานน้ำตาลทรายกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน 7 แห่ง และภาคเหนือตอนล่าง 7 แห่ง รวมยื่นขอ 14 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการน้ำตาลทรายรายใหญ่ของไทย อาทิ มิตรผล น้ำตาลขอนแก่น ไทยรุ่งเรือง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ชาวไร่ยิ้มออก! ราคาน้ำตาลโลกเริ่มไต่ขึ้นหลังสต๊อกโลกขาด  

        ชาวไร่อ้อยเริ่มยิ้มออกหลังราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเริ่มไต่ระดับสูงขึ้น ล่าสุดมาอยู่ที่กว่า 15 เซ็นต์ต่อปอนด์หลุดพ้นจุดต่ำสุดและปีหน้าจ่อขยับได้อีก หวัง “อนท.” เตรียมทยอยระบายน้ำตาลดิบส่งออกได้ในราคาสูงขึ้น มั่นใจราคาขั้นสุดท้ายปี 58/59 จะสูงกว่าขั้นต้น ขณะที่แนวโน้มผลผลิตอ้อยปีนี้ส่อลดต่ำกว่าปีที่แล้วไม่ถึง 106 ล้านตันหลังเจอภัยแล้ง            

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงปลาย ก.ย. 58 ระดับ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์มาอยู่ในระดับ 15-15.8 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกต่อบริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ในการทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ล่วงหน้าที่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากล่าสุดยังเหลือปริมาณน้ำตาลทรายดิบ 50% เพื่อส่งออก ดังนั้น แนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2558/59 มีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้เฉลี่ย 808 บาทต่อตัน      

        “อนท.ทำราคาขายน้ำตาลทรายดิบล่วงหน้าไปแล้ว 50% เฉลี่ยราคา 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งได้นำราคาเฉลี่ยนี้มาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้น เมื่อราคาเริ่มขยับเราจึงมั่นใจว่าราคาขั้นสุดท้ายจะออกมาดีแน่นอน เพราะดูทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกน่าจะพ้นจุดต่ำสุดและเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เพราะล่าสุดพบว่าสต๊อกน้ำตาลโลกขาด 7-8 ล้านตัน แต่ปัจจัยจะสูงมากน้อยอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย และคาดว่าปี 2559 ราคาน้ำตาลโลกจะไต่สูงขึ้นอีก” นายนราธิปกล่าว      

        อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นปี 58-59 ที่กำหนดไว้ 2 ราคา คือ เขต 5 สุพรรณบุรี และเขต 8 จ.ชลบุรี 773 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 ซีซีเอส ส่วนอีก 7 เขตอยู่ที่ 808 บาทต่อตันนั้น ล่าสุดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและมีตัวแทนจากฝ่ายโรงงานและชาวไร่ โดยคาดว่าจะหารือในเร็วๆ นี้เพื่อหามาตรการช่วยเหลือให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยคุ้มกับต้นทุนการผลิตที่คำนวณไว้ระดับ 1,126 บาทต่อตัน ซึ่งคงจะใช้กลไกการกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจะต้องคำนึงถึงต้นทุนจริง รายได้ในการชำระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลเป็นสำคัญ      

        สำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิต 58/59 ที่เริ่มทยอยตั้งแต่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์ผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ประมาณ 109 ล้านตัน แต่จากแนวโน้มที่ชาวไร่ส่วนใหญ่ติดตามผลผลิตแต่ละภาคแล้วคาดว่าผลผลิตอ้อยปีนี้จะอยู่ในระดับเฉลี่ย 104-105 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่ผลผลิตอ้อยอยู่ในระดับ 106 ล้านตันเนื่องจากพบว่าอ้อยในช่วงต้นปีถึงกลางปีประสบปัญหาภัยแล้งแม้ฝนจะมาช่วงปลายปีแต่ยังไม่ได้ทันสะสมความหวานมากนักก็ต้องเปิดหีบ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

เกษตรเผย4เขื่อนหลักเหลือน้ำ4,129ล.ลบ.ม.

ปลัดกระทรวงเกษตร เผย ปัจจุบันน้ำใน 4 เขื่อนหลักมีเพียง 4,129 ล้านลูกบาศก์เมตร ย้ำรัฐเตรียมมาตรการรับมือภัยแล้งแล้ว

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผ่านรายการ ไอ.เอ็น.เอ็น. โฟกัสเศรษฐกิจ ว่า หลังจากที่ ครม. อนุมัติงบกลางจำนวน 1,106 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรนั้น ถือว่าเป็นอีก 1 มาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม รัฐบาลได้ออกมาตรการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการอนุมัติข้างต้นเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้ ทั้งการหาพืชที่ใช้น้ำน้อย การแจกสัตว์ต่างๆ อาทิ ไก่ เป็ด ปลาดุก กบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท ส่วนอีก 200 กว่าล้านบาท นั้น จะเป็นการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีน้ำใน 4 เขื่อนหลักเพียง 4,129 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีน้ำปริมาณ 6,000-7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมาตรการแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ภาครัฐได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

'พล.อ.ฉัตรชัย'มั่นใจตัวเลขส่งออกปีนี้ยังเป็นบวก

"พล.อ.ฉัตรชัย" มั่นใจส่งออกปีนี้ยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 1.2% เตรียมระบายข้าวเสีย 1.3 ล้านตันช่วงกลางเดือนนี้ เพื่อใช้ในการผลิตเอทานอล

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนพิเศษ เพื่อผลักดันการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 1.2 หรือมีมูลค่า 230,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วงที่เหลือจะต้องผลักดันมูลค่าการส่งออกอีก 141,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าใน 4 กลุ่มหลัก ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของการส่งออกรวม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก ประกอบด้วยรถยนต์ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีก 50,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ จาก 5 เดือนมีการส่งออกแล้ว 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป จะให้ได้ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติก จาก 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ จาก 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มอีก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผ่านกิจกรรมนำคณะไปโรดโชว์ในต่างประเทศ และจับมือกับผู้ผลิตและผู้ส่งออกเพื่อเพิ่มเป้าหมายการส่งออกของธุรกิจต่างๆ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มยานยนต์ ประกอบด้วย โตโยต้า ฮอนด้า BMW และมิตซูบิชิ มาหารือ รวมถึงจัดคณะเดินทางไปแอฟริกาใต้และโมซัมบิคในเดือนกรกฎาคม เพื่อเพิ่มยอดขายในกลุ่มข้าว ยางพารา รถยนต์ สิ่งทอและอัญมณี

สำหรับแผนพิเศษ จะมีการกำหนดเป้าหมายประเทศที่จะผลักดันการเพิ่มมูลค่าอย่างชัดเจน โดยจะบูรณาการการทำงาน ผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมาย แม้ภาคเอกชนจะออกมาระบุว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบร้อยละ 2 แต่เชื่อว่าแผนตลาดที่เพิ่มขึ้นและการดึงผู้บริหารเข้ามาร่วมในการผลักดัน จะทำให้การส่งออกเป็นบวก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าก็ตาม

นอกจากนี้ ภายในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการระบายข้าวเสียประมาณ 1.3 ล้านตัน 2 รอบ เพื่อใช้ในการผลิตเอทานอล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดทำสำนวนยื่นฟ้องโกดังเก็บข้าวที่มีปัญหา ซึ่งน่าจะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ สำหรับการดูแลปัญหาปาล์มน้ำมันที่อยู่ในภาวะเริ่มล้นตลาด ขณะนี้มีสตอกเกินความต้องการ วันที่ 13 กรกฎาคมในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางในการดูแล โดยกระทรวงพาณิชย์จะรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำมันปาล์มสูงเกินสตอกปกติประมาณ 100,000 ตัน และขอความเห็นชอบในการรับซื้อโดยองค์การคลังสินค้า(อคส.) และหามาตรการให้โรงสกัดของเอกชนเพิ่มการรับซื้อ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กว่าจะเป็นน้ำตาลคาราเมล เกล็ดสีทอง มีเคล็ดลับอย่างไร เรามีคำตอบ!

...ความหวาน รสชาติที่ทำให้มีความสุข...

หลายคนอาจสงสัยถึงที่มาของความหวาน ความหอมของน้ำตาล อย่างที่ทราบกันดีว่าน้ำตาลมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเภทต่างก็มีขั้นตอนการผลิตที่พิถีพิถันแตกต่างกัน เพื่อให้ได้น้ำตาลที่มีคุณภาพและรสชาติหอมหวานกลมกล่อม เหมาะกับอาหารแต่ละประเภท

วันนี้เราจึงเอาเคล็ดลับการผลิตมิตรผลโกลด์ที่หลายๆ คนสงสัย มาเป็นคำตอบที่เข้าใจง่ายขึ้นมาฝากกัน

น้ำตาลมิตรผลโกลด์ น้ำตาลเกรดพรีเมี่ยม สะอาด ผ่านกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน มีกลิ่นหอมหวานของคาราเมลที่เป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับเครื่องดื่มหรือขนมที่ต้องการเพิ่มความกลมกล่อม ความหอมหวานของคาราเมล เมนูยอดฮิตที่คนรักการทำเครื่องดื่มหรือของหวานไม่ควรพลาด อย่างเช่น พุดดิ้ง น้ำเต้าหู้ วาฟเฟิล ชาผลไม้ ชานมไข่มุก ฯลฯ รับรองได้ว่าความอร่อยและความหอมหวานอย่างแน่นอน

นายเป็นมิตรขอพาไปชม กระบวนการผลิตมิตรผลโกลด์กันอีกสักรอบ แบบดูปุ๊บเข้าใจปั๊บเลย

Clip ขั้นตอนความหวาน กับนายเป็นมิตร

นอกจากนี้น้ำตาลมิตรผลยังมีอีกหลากหลายผลิตภัณฑ์คุณภาพให้คุณได้เลือกใช้ตามความต้องการ

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ผันน้ำข้ามอ่าง 'ลุ่มน้ำลำภาชี' ต้นแบบแก้น้ำล้นภาคตะวันตก

                     การบริหารจัดการน้ำภายใต้โครงการ “ผันน้ำข้ามอ่างเก็บน้ำ” นั้นไม่เพียงแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเท่านั้นแต่ยังประโยชน์ด้านการอุปโภคบริโภค การเกษตรและการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย กรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ จึงได้ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ โดยแบ่งเป็นการบริหารจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีการพัฒนาแหล่งน้ำแล้วทั้งสิ้น 55 โครงการ โดยเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ฝายทดน้ำและระบบส่งน้ำ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานทั้งสิ้น 28,637 ไร่ จากพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 655,855 ไร่ ปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ในปัจจุบัน 46,330,000 ลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำรายปีเฉลี่ยของลุ่มน้ำลำภาชี 435,770,000 ลูกบาศก์เมตร

                      ประสิทธิ์ พัวทวี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ เผยว่าโครงการดังกล่าวเกิดจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปที่มีความแตกต่างกัน และเกิดปัญหาซ้ำซากเกี่ยวกับทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง สำหรับสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 นั้นได้วางแนวทางการแก้โดยจัดทำโครงการก่อสร้างบนลุ่มน้ำลำภาชี ตามแผนงานงบลงทุนปี 2558 โดยสรุปดังนี้ ช่วงตอนบน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ตอนบนของลำน้ำสาขาที่สำคัญ และสร้างฝายเพื่อชะลอความเร็วของน้ำป้องกันการกัดเซาะ ช่วงตอนกลาง ก่อสร้างฝายขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ และการขุดลอกลำน้ำสายหลักในช่วงที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ช่วงตอนล่าง ก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะและการขุดลอกลำน้ำสายหลักในช่วงที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

                      นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการปรับปรุงฝาย ประตูระบายน้ำ สะพาน ท่อลอดถนน และอาคารอื่นๆ ที่กีดขวางทางน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำให้มีความสามารถในการระบายน้ำที่พอเพียงและเหมาะสมกับสภาพทางน้ำ ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเขตตัวเมืองและพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นไปตามผังเมืองที่วางไว้และควบคุมการรุกล้ำแนวคลองและลำน้ำสาธารณะ ส่งเสริมการขุดสระน้ำประจำไร่นา ขุดบ่อน้ำตื้น/บ่อบาดาล ก่อสร้างถังเก็บน้ำ สำหรับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ และนี่คือที่มาของโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูอ่างท่าเคย ห้วยมะหาด พร้อมระบบกระจายน้ำ ต.บ้านบึง หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี 

                      "โครงการผันน้ำจากอ่างท่าเคย มากักเก็บไว้ที่อ่างห้วยมะหาดแล้วส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำสำนักไม้เต็ง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน และเป็นหนึ่งในแผนการบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำลำภาชี ในภาพรวมทั้งหมด” ผอ.สำนักพัฒนาแหล่งน้ำ กล่าว

                      โอภาส ถาวร หัวหน้ากลุ่มงานออกแบบส่วนสำนักพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 ได้สรุปถึงที่มาของปัญหา รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมซ้ำซากและน้ำแล้งในพื้นที่ โดยในเบื้องต้นได้ศึกษาความเหมาะสมในการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ หลังจากพบว่าปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยสำนักไม้เต็งมีปริมาณน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำในปัจจุบันอยู่มาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำ และปริมาณการเก็บกักน้ำให้พื้นที่คลองอู่เรือ

                      "ภาพรวมปัญหาในลุ่มน้ำภาชี คือมีน้ำล้นเกิน โดยเฉพาะจากลำน้ำสาขาต่างๆ ที่ท่วมใน อ.สวนผึ้ง และหลายอำเภอของ จ.ราชบุรี อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ลาดชันสูง ดังนั้นการเก็บน้ำบางส่วนไว้ในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นการบรรเทาและชะลอไม่ให้น้ำกว่า 50% ลงมาสมทบกับน้ำจากลำน้ำสาขาแต่เดิม ป้องกันอุทกภัยทั้งลุ่มน้ำ และยังเป็นการบริหารจัดการน้ำกับการจัดสรรน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ว โดยอาศัยแนวคิดผันน้ำล้นเกิน จากแหล่งน้ำหนึ่งไปยังอีกแหล่งน้ำหนึ่ง” โอภาส กล่าวและว่า โดยการผันน้ำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีปริมาณน้ำสูงกว่า 225 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางซึ่งอ่างเก็บน้ำท่าเคยมีระดับเก็บกักน้ำที่ 230 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางจึงเรียกได้ว่าเป็นการผันน้ำล้นเกิน  

                      จากภาพรวมของปัญหา คือ การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการขาดแคลนน้ำในภาคการเกษตร ตลอดจนปัญหาน้ำล้นในลุ่มน้ำลำภาชี กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ "ผันน้ำข้ามอ่างเก็บน้ำ" หนึ่งในโครงการต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการครบวงจร ที่จะเป็นต้นแบบให้แก่อีกหลายๆ ลุ่มน้ำในอนาคต

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

พระมหากษัตริย์ ศาสตร์แห่งดิน

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ศาสตร์พระราชา...ตามวิถีพอเพียง” ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.๙ ครั้งที่ ๒๘ โดยมีนายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการข้าว กรมพัฒนาที่ดิน กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กองทัพไทย กอ.รมน. ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ และร่วมรับชมการแสดงชุด “ดั่งพ่อแห่งแผ่นดิน” จากสถาบันสอนศิลปะการใช้เสียงและลีลา Star Maker

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้ร่วมกับมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ และกรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมเฉลิมพระ เกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2558 ขึ้น ณ หอรัชมงคล สวนหลวง ร.๙ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–10 ธันวาคม 2558 จากนั้น องคมนตรีและคณะที่เข้าร่วมในพิธีเปิดงานฯ ได้ร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระ เกียรติ “ศาสตร์พระราชาตามวิถีพอเพียง”

ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวได้แสดงถึงผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการพระราชดำริด้านต่าง ๆ รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น

โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ รวมทั้งนิทรรศการเรื่อง “พระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กับศาสตร์แห่งดิน” ของกรมพัฒนาที่ดินเนื่องจากในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนด ให้เป็นวันดินโลก

ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรดินมาโดยตลอด อีกทั้งได้มีพระราชดำริป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูทรัพยากรดินไว้นานัปการจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาอารยประเทศ จึงทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นจอมปราชญ์แห่งการพัฒนาที่ดิน โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาสหภาพ วิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม

 ขณะเดียวกันองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ก็ได้ประกาศให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศ “วันดินโลก” อย่างเป็นทางการ ในปี 2557 ที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศให้ปีพุทธศักราช 2558 เป็นปีดินสากลด้วย

สำหรับความสำคัญของวันดินโลกนอกจากจะเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงมีพระคุณูปการอเนกอนันต์เกี่ยวกับทรัพยากรดินมาอย่างต่อเนื่องแล้ว วันดินโลก ยังถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนกิจกรรมการรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ทางด้านดิน สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ไทยกระหึ่มเวที COP21 ผู้นำใช้พลังแสงอาทิตย์แห่งอาเซียน

 ซีอีโอหญิงไทย ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์บนเวทีโลก COP21 ชูนโยบายรัฐไทยเปิดกว้าง ส่งผลให้ SPCG ประสบความสำเร็จพาไทยเป็นผู้นำใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งอาเซียน ช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และเปิดโลกสู่ธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม

ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดร.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SPCG จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) ได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีถ่ายทอดประสบการณ์ การบุกเบิกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนคนแรกของประเทศไทย และอาเซียนในเชิงธุรกิจ ในงาน Re-Energising the Future COP21 ณ กรุงปารีส

ดร.วันดี กล่าวว่า  SPCG สามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนลงทุนเป็นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และ SPCG สามารถสร้างสิ่งที่ดีให้แก่ประเทศชาติได้สำเร็จ คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่าSolar Farm จนทำให้เกิดการขยายตัว จากไม่มีเลยเป็น 5,000 เมกกะวัตต์ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชาติ และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างดี

นอกจากนี้ ดร.วันดี ยังได้เข้าร่วมเวทีการอภิปราย ในหัวข้อ การขยายโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่ช่วยการลดสภาวะโลกร้อน เพื่อสนับสนุนงานของสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ในฐานะเป็นผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์คนแรกในประเทศไทยและในประชาคมอาเซียน

ดร.วันดี กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล และการได้รับการสนับสนุนของ International Finance Corporation (IFC) ในฐานะสมาชิกของธนาคารโลก (World Bank Group IFC) ทำให้ SPCG มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 260 เมกะวัตต์เกิดขึ้นได้ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ มากกว่า 200,000 ton/co2/ปี และยังช่วยสร้างงานในท้องถิ่นช่วงก่อสร้างกว่า 20,000 แรงงาน และกว่า 1,000 แรงงานในอนาคตอีก 30 ปี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม เป็นการลงทุนครั้งแรกครั้งเดียว ในช่วงอนาคต 30 ปี จะมีค่าใช้จ่ายเพียงการบำรุงรักษาเท่านั้น และในช่วง  7-8 ปีแรก เป็นการทำงานเพื่อคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงิน เวลาที่เหลือจึงเป็นผลกำไรของผู้ลงทุน ดังนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์ ได้แก่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ และเครื่องแปลงไฟฟ้า SPCG ได้เลือกใช้เทคโนโลยีของ บริษัท Kyocera ประเทศญี่ปุ่น และเครื่องแปลงไฟฟ้าของบริษัท SMA ประเทศเยอรมันนี ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นให้แก่ภาครัฐและเอกชนทั่วโลกในการผลิตไฟฟ้ากระแสจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง

ดร.วันดี กล่าวว่า  IFC มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยให้โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของ SPCG ประสบความสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนด้านเงินลงทุน และเงินกู้โครงการ Clean Investment Fund (CTF) โดยการนำมาผสมผสานกับเงินกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สามารถพัฒนาโครงการที่เหลือของ SPCG จนประสบความสำเร็จทุกโครงการ ส่งผลให้ไทยจัดทำแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ในปี 2579 (2036) โดยมีการกำหนดตัวเลขการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กว่า 6,000 เมกะวัตต์

สำหรับ การประชุม COP21 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงปารีสครั้งนี้ มีผู้นำจากทุกประเทศทั่วโลกมาร่วมงาน และต่างให้ความสำคัญเรื่องการลดอุณหภูมิโลกลง 2 องศาเซลเซียส ยังก่อให้เกิดกระแส Renewable Energy for All และเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนพลังงานสะอาด เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และหลายประเทศได้ตกลงกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในอัตรามากขึ้น เพื่อลดสภาวะโลกร้อน เพื่ออนาคตคนรุ่นต่อไปจะได้อยู่ในโลกได้อย่างมีความสุข

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ลุ้นงบภัยแล้ง3พันล้านใช้อบรม-ขุดบ่อบาดาล

พล.อ.ฉัตรชัย ฮึดอีกรอบ เสนอ ครม.ของบ 3 พันล้าน ช่วยเกษตรกรเจอภัยแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเป็นประธาน คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เปิดเผยว่า จะเสนอของบประมาณจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ 3,000 ล้านบาท เพื่อนำใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาภัยแล้งปี 2558/2559 ตามมาตรการที่ ครม.ได้อนุมัติไว้

ทั้งนี้ งบก้อนดังกล่าวจะนำไปใช้ใน 3 รูปแบบ 1.โครงการการปลูกพืชใช้น้ำน้อยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ 167 ล้านบาท ในพื้นที่ 20 จังหวัด 60 อำเภอ จำนวน 122 ชุมชน 2.มาตรการเพิ่มน้ำต้นทุน ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะได้เร่งขุดบ่อบาดาล 2,195 บ่อ โดยจะใช้งบกลาง 746 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้จะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ผ่านศูนย์การเรียนรู้ 882 แห่ง คาดว่าจะใช้งบ 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่า ใช้จ่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าอบรม ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยเปิดรับเกษตรกรมาอบรม 50 คน/รุ่น

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ: กระทรวงเกษตรฯกระทุ้งคนไทยใช้น้ำอย่างรู้ค่า พร้อมเดินหน้าหนุนเกษตรกรจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสร้างความร่วมมือและความตระหนักรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศเห็นถึงแนวทางการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริม เผยแพร่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำในการปลูกพืชชนิดต่างๆ แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้ในไร่นาของตนเองและสามารถใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่าด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักมาตลอดกว่า 60 ปี โดยเฉพาะเกี่ยวกับด้านน้ำเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพและการทำเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ระหว่าง วันที่ 2-6 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก

โดยรวบรวมผลการดำเนินงานด้านการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี 2558 มาจัดแสดงไว้ภายในงานนี้ทั้งหมด เพื่อสะท้อนให้เกษตรกรและประชาชนผู้มาร่วมชมงานดังกล่าว ได้มีโอกาสเห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงงานหนักเพื่อประโยชน์ต่อแผ่นดินและพสกนิกรของพระองค์ รวมถึงได้ร่วมกันเทิดพระเกียรติพ่อหลวงของประชาชนต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่อันเป็นผลมาจากพระอัจฉริยภาพด้านน้ำ

ตลอดจนสร้างความร่วมมือและความตระหนักรู้ของคนในชาติให้เห็นถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด การส่งเสริม เผยแพร่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับระบบการผลิตพืช สัตว์และอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดด้านการอนุรักษ์น้ำและการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างรู้คุณค่าให้กับเยาวชน เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายใน แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การจัดนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ” จัดแสดงแบบจำลองระบบบริหารจัดการน้ำการจำลองพื้นที่สูงแสดงให้เห็นแหล่งต้นน้ำ พร้อมการปลูกหญ้าแฝก นาขั้นบันได การจัดแสดงวิถีชีวิตภายใต้แนวคิดทฤษฎีใหม่ภูมิคุ้มกันของเกษตรกร และการจัดแสดง โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ เป็นต้น นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นำเสนอการรณรงค์การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ภายใต้ “โครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และนิทรรศการมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและการปลูกพืชใช้น้ำน้อยตามนโยบายของรัฐบาล

กิจกรรมที่ 2 การสาธิตและฝึกอาชีพ ด้านการเกษตรและการแปรรูปผลิตผลเกษตร อาทิ สาธิตการทำปลาราดซอสมะนาว การแปรรูปไส้กรอกอีสาน แหนมและไส้อั่ว การทำดอกไม้ใบยาง การทำสเปรย์ไล่ยุงตะไคร้หอม การทำดอกไม้จากดินญี่ปุ่น การแปรรูปเครื่องสำอางจากข้าว การให้น้ำหม่อนอย่างประหยัด การขยายพันธุ์หม่อน การทำหม่อนผลสดเข้มข้น และการผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด. และการฝึกอาชีพการทำแหนมเห็ด การเพาะต้นอ่อนทานตะวัน

การเพาะถั่วงอกคอนโดและการแปรรูปผลิตผลเกษตร เป็นต้น กิจกรรมที่ 3 การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ จำหน่ายสินค้าจากโครงการศิลปาชีพและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมที่ 4 การแสดง เน้นการแสดงด้านวัฒนธรรม เช่น การแสดงลำตัด การแสดงโขนกรมศิลปากรและมินิคอนเสิร์ต นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษในวันที่ 5 ธันวาคม ได้แก่ การไถ่ชีวิตโคกระบือ ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ และ การจุดเทียนชัยถวายพระพร

แม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2558 แต่ก็ยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก เนื่องจากการรณรงค์ให้เกษตรกรตลอดจนประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของน้ำที่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วมีแต่หมดไปต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการทำโครงการต่อยอดกิจกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ เพื่อน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงมุ่งชูงานด้านเกษตรมาอย่างยาวนาน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จี้รัฐบาลเบรกกฎหมายจีเอ็มโอ 13เครือข่ายขยับค้าน-ชี้กระทบหนักภาคเกษตร

 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจีเอ็มโอ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรโดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงได้เปิดเวทีหารือกับทุกภาคส่วนเพื่อวิเคราะห์ผลดีผลเสียของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้เกิดความกระจ่างชัด และกำหนดจุดยืน เพื่อเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้จากผลการหารือได้ข้อสรุปว่า การส่งเสริมจีเอ็มโอจะก่อให้เกิดข้อจำกัดตลาดของไทยให้แคบลง คู่ค้าบางประเทศใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า ใช้เป็นข้ออ้างไม่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของไทย ความเสี่ยงอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศ ซึ่งจะกระทบต่ออาหารพืชผลทางการเกษตร จะสร้างความเสียหายในความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่สามารถประเมินค่าได้และยังต้องแข่งกับผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีสูง ผลประโยชน์ที่ได้รับจะตกอยู่กับริษัทขนาดใหญ่ เกษตรกรรายย่อยต้องตกอยู่ในฐานะเป็นลูกไร่ปลูกพืชที่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรของบริษัท ในขณะที่มีข้อดีด้านผลผลิตที่มากขึ้นทนทานต่อสภาพแวดล้อม ต่อศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมี ผลผลิตสามารถเก็บรักษาเป็นเวลานาน ลดการขาดแคลนอาหาร เกิดพืชพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ในการพาณิชย์ แต่ทั้งนี้มีข้อมูลการลดลงของพื้นที่ทั่วโลกที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ และมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการจัดเวทีดังกล่าว ตัวแทน 13 เครือข่าย ประกอบด้วยนายธีระ วงษ์เจริญ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ได้ร่วมกันแถลงขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ...” ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยประเด็นที่มีความกังวลสูงสุด คือ การมีช่องโหว่ด้วยการใช้คำว่าเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากการควบคุมการปนเปื้อนในภาคสนาม ซึ่งในประสบการณ์มีอยู่จริงและส่งให้เกิดความเสียหายมหาศาล เป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และระบบเกษตรกรรมของไทยในอนาคต รวมทั้งการกำหนดคณะกรรมการความปลอดภัย 22 คน เพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวแทนภาครัฐ และตัวแทนบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีตัวแทนภาคการเกษตรเข้าไปมีบทบาท

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวตอนท้ายว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องเสนอต่อรัฐบาลในเร็วนี้ เพื่อให้ทันต่อการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วังขนายจับมือคูโบต้า พัฒนาฟาร์มมิ่งไร่อ้อยอินทรีย์

ท่ามกลางกระแสข่าว พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายในแง่ของผลกระทบต่อเกษตรกร และกลุ่มธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก

กระทั่งมีการรวมกลุ่มคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะเนื้อหาสำคัญของพระราชบัญญัติที่เปิดช่องให้เจ้าของจีเอ็มโอได้รับอนุญาตให้สามารถปล่อยพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดตามมา

ซึ่งพืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงชีวิตเกษตรกรและเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของไทยอย่างไม่อาจประเมินค่าได้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อภาคเกษตรของไทยพยายามอย่างหนักในการรณรงค์และสนับสนุนให้เกษตรกรของไทยหันมาปลูกพืชที่ใช้สารเคมีน้อยที่สุด หรือการทำเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อป้องกันปัญหาดินเสื่อมและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

แต่ในห้วงเวลานี้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันกลับเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป แอฟริกา และเอเชียบางประเทศ ต่างออกมาต่อต้านพืชที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรม เพราะตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมา มากกว่าผลดีที่จะตกแก่นายทุนบางรายเท่านั้น

กระนั้นยังมีความพยายามจากกลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย จับมือกับสยามคูโบต้าที่ถือได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำโครงการวังขนาย-คูโบต้า พลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร เพราะโครงการดังกล่าวจะช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ลดปัญหาด้านแรงงาน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมด

ปัจจุบันกลุ่มวังขนายผลิตน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการจัดจำหน่ายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ และส่งออกต่างประเทศ 70 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับน้ำตาลออร์แกนิคกลุ่มวังขนายสามารถผลิตได้ถึง 15,000 ตัน แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศ 75 เปอร์เซ็นต์ และส่งออก 25 เปอร์เซ็นต์ โดยส่งออกไปยังทวีปเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน โอเชียเนีย นิวซีแลนด์

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดปี 2011 ปริมาณการผลิตน้ำตาลออร์แกนิคทั่วโลกมีอยู่ 339,133 ตัน โดยมีไร่อ้อยที่ได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่ออร์แกนิคจำนวน 369,625 ไร่ โดยที่กลุ่มวังขนายมีพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ในขณะนี้ 30,000 ไร่ และมีเกษตรกรในโครงการจำนวนกว่า 1,000 ราย

หมุดหมายของกลุ่มวังขนายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือการเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ร้อยละ 30 ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ดูเหมือนเป้าประสงค์ของกลุ่มวังขนายทำให้หมดเวลาที่จะลองผิดลองถูกเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา การเปิดรับเทคโนโลยีจากสยามคูโบต้าจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสมที่สุดในห้วงเวลาที่เทรนด์การดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม

“การนำเครื่องจักรที่เหมาะสมกับอ้อยบ้านเรามาใช้จะช่วยลดกำลังแรงคน โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่จะลดลงได้ถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนต้นทุนเราถูกอยู่แล้วเพราะออร์แกนิคไม่ต้องพึ่งปุ๋ย ซึ่งผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในอนาคต” บุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มวังขนาย ระบุ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มศักยภาพขั้นตอนการผลิตน้ำตาลออร์แกนิคนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนของการเตรียมดิน กระทั่งขั้นตอนการเก็บเกี่ยว โอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด อธิบายให้เห็นถึงความพยายามในการร่วมมือกันที่จะพัฒนาเครื่องจักรการเกษตรที่เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์

การจัดการเกษตรแบบครบวงจรสยามคูโบต้าที่เรียกว่า KUBOTA Solutions ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคนิคด้านการเกษตร หรือ Agriculture Solutions และการจัดการด้านเครื่องจักรกลการเกษตร หรือ Machinery Solutions ที่สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในไร่อ้อยอินทรีย์ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเพาะปลูก การฝังปุ๋ย การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว

ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ยังอยู่ในช่วงพัฒนา โดยมีการทดสอบประสิทธิภาพกับไร่อ้อยแปลงสาธิต ทั้งนี้โอภาศคาดการณ์ว่าจะสามารถพัฒนาและส่งมอบเครื่องจักรให้แก่กลุ่มวังขนายเพื่อให้ใช้ไร่อ้อยอินทรีย์ได้ในปี พ.ศ. 2560

ระยะเวลาราวปีเศษที่กลุ่มวังขนายต้องอดทนรอ ดูจะคุ้มค่าเมื่อเครื่องปลูกอ้อยใช้แรงงาน 1-2 คน ซึ่งสามารถทำงานได้สูงสุด 20 ไร่ต่อวัน ซึ่งนอกเหนือไปจากการลดต้นทุนด้านค่าแรงแล้ว เครื่องจักรในการเตรียมดินจะสามารถช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ในดิน ลดมลภาวะที่เกิดขึ้นขณะเครื่องจักรทำงาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้มั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่ป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลจะมีคุณภาพ สามารถนำไปผลิตน้ำตาลออร์แกนิคที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค แน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะดีขึ้น

การร่วมมือกันของกลุ่มวังขนายและสยามคูโบต้าที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายเศรษฐกิจแบบ S-Curve ที่ให้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ทั้งการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ และการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ

แน่นอนว่าผลที่ตามมาคือความยั่งยืนที่หลายคนปรารถนา แต่การปล่อยผ่าน พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ที่สนับสนุนการดัดแปลงพันธุกรรมพืชนั้นแม้เบื้องต้นจะช่วยแก้ปัญหาพืชผลไม่แข็งแรงได้ แต่นี่เป็นเพียงทางออกที่จะแก้ปัญหาของเกษตรกรเพียงระยะสั้นเท่านั้น ผลสะท้อนกลับของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้านั้น ไม่อาจสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรที่เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของประเทศได้

ห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคเอกชนอย่างวังขนาย และสยามคูโบต้าจะดำเนินนโยบายที่ไม่เพียงแต่หวังผลทางธุรกิจ หากแต่จะยังประโยชน์และร่วมสร้างรากฐานที่ดีต่อเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังด้วยเช่นกัน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯปรับแผนกลับไปบริหารจัดการน้ำในภาวะปกติ ปี 59 หมดห่วงปัญหาภัยแล้ง

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่สถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะหมดไปในช่วงปลายเดือนเมษายน 2559 และจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์แล้ง ซึ่งเบื้องต้นกรมชลประทานได้มีการประเมินไปในทางเดียวกันคือสถานการณ์ต่างๆจะกลับเข้าสู่ปกติ ในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม 2559 ที่หมดช่วงฤดูแล้ง และเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มทำการเกษตรพอดี ฉะนั้นทางกรมชลประทานจะมีแผนบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนนำไปใช้ทำการเกษตรตามเดิม เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมาในปีก่อนหน้านี้ที่ไม่มีปัญหาน้ำแล้ง จึงไม่ต้องมีการปรับแผนในเรื่องบริหารจัดการน้ำแต่อย่างใด

นายทองเปลว กล่าวว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ เห็นว่ารัฐบาลได้มีการอนุมัติ 8 มาตรการ ที่นำมาช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาภัยแล้งมาก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2.การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3.การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการจ้างแรงงานชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4.การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ การปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7.การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8. การสนับสนุนอื่นๆ  การให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ให้สินเชื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ เชื่อว่าจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ชง‘น้ำ’วาระจังหวัดนครสวรรค์ ส.อ.ท.จับมือหอการค้าเสนอ กรอ.หาทางบริหารจัดการ

ปัญหาน้ำ จังหวัดนครสวรรค์

เอกชนนครสวรรค์สานเสียง ผลักดันปัญหาน้ำเป็นวาระจังหวัด เตรียมเสนอที่ประชุมกรอ.จังหวัด เร่งวางแผนบริหารจัดการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หวั่นปีหน้าเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะลามกระทบภาคเศรษฐกิจอื่นของจังหวัด

นางดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์(สอท.นครสวรรค์) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.)จังหวัดนครสวรรค์ที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้ สอท.นครสวรรค์ จะเตรียมประเด็นปัญหารวม 7 ข้อ หนึ่งในนั้น คือ เรื่อง น้ำ ซึ่งสอท.นครสวรรค์จะผลักดันให้เป็นวาระจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยเสนอต่อทางจังหวัดให้ปัญหาเรื่องน้ำเป็นวาระจังหวัดและวาระของชาติ ด้วย ซึ่งรัฐบาลก็รับเรื่องไว้แล้ว แต่การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างล่าช้า จึงพยายามผลักดันให้กลับมาเป็นวารของจังหวัดเองดีกว่า เพราะคนที่เดือดร้อน ก็คือ นครสวรรค์ ทุกๆหน่วยงานควรมาจับเรื่องนี้อย่างจริงจัง มาร่วมแก้ปัญหา มานั่งคุยกันในทุกภาคส่วน แต่ละตำบล แต่ละอำเภอมีปัญหาอย่างไร จากนั้นมาทำเป็นแผนบริหารจัดการน้ำ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ซึ่งหากมีระบบการจัดการน้ำและชลประทานที่ดี จังหวัดนครสวรรค์จะดีขึ้น เพราะรากฐานของจังหวัด คือภาคเกษตร หากเกษตรกรดี ภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งภาคอื่นก็จะดีตามไปด้วย

“นครสวรรค์มีแม่น้ำสายหลักไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้เป็นเมืองเกษตรกรรม ทางสอท.จังหวัดนครสวรรค์จึงได้พยายามผลักดันให้นครสวรรค์เป็นภาคอุตสาหกรรมเกษตร เพราะสามารถจะสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจของจังหวัดในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเป็นผลผลิตโดยตรงหรือการแปรรูปการเกษตร แต่สิ่งที่กังวล คือ เรื่องน้ำที่ภาคเกษตรต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอนาคตอาจประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฤดูฝนที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าปกติ ไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ ทำให้ส่งผลกระทบกับระบบน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งการอุปโภคและบริโภค ดังนั้นก็อาจทำให้ภาคเกษตรมีปัญหาได้ หากระบบการจัดการน้ำของเรายังไม่ดีพอ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้านครสวรรค์มีระบบน้ำที่ดี ไม่ขาดแคลน ภาคเกษตรได้รับอานิสงส์มีน้ำ ผลผลิตมันก็จะเพิ่มขึ้น อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้าง เพื่อให้มีน้ำ ก็คงไม่มีปัญหา เพราะยังเป็นต้นทุนที่ถูก ”

ประธานสอท.จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดและภาคเหนือ โดยลดความหนาแน่นของการจราจรภายในตัวเมือง ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองทิศเหนือ จากจุดตัดถนนสายเอเซียบริเวณตำบลหนองกรดไปยังบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ ระยะทาง 9.4 กิโลเมตรว่า จะช่วยให้การเดินทางจากกรุงเทพฯไปพิษณุโลก สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องไปติดขัดบริเวณสะพานเดชาติวงศ์ เป็นการเปลี่ยนแปลง อาจมีเสียงค้านจากหลายส่วนเรื่องการเป็นห่วงร้านค้าในตัวตลาดปากน้ำโพ ที่มีแนวโน้มซบเซา แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เอาทางเลี่ยงเมือง

“เราต้องยอมรับและปรับตัว พยายามหาจุดขายให้ตัวเอง ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวหรือลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้าของเราให้ได้ ซึ่งคงนึกถึงภาพเวลาไปท่องเที่ยวที่ไหน เราเดินทางผ่าน แต่เรายังอยากเข้าไปซื้อสินค้า เพราะเขามีแรงดึงดูดให้คนผ่านไปมาอยากแวะ โดยผลดีของการสร้างทางเลี่ยงเมืองทางด้านเหนือ จะช่วยทำให้การคมนาคม การขนส่ง รวมทั้งการท่องเที่ยวของนครสวรรค์และภาคเหนือทั้งภาคดีขึ้น ”

ขณะที่นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า หอการค้านครสวรรค์ มีความกังกลต่อสภาพเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดที่ตอนนี้เรียกว่า ไม่ดีนัก แต่ก็โชคดีว่า เริ่มมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ทั้งการกระตุ้นค่าใช้จ่ายกองทุนหมู่บ้าน การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมาจากส่วนราชการ ก็น่าจะช่วยให้สภาพเศรษฐกิจของจังหวัดโดยรวมในปี 2559 ดีขึ้น แต่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะปีหน้า อาจต้องประสบปัญหาภัยแล้ง จะทำให้นครสวรรค์ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะเกษตรกรไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งหากระดับเกษตรกรหรือรากหญ้าไม่มีรายได้เข้ามา กลุ่มอื่นๆก็ไม่ดีตามเป็นห่วงโซ่

ทั้งนี้จากแนวทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มหอการค้าภาคเหนือ มีวิสัยทัศน์ ให้ภาคเหนือ “เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับภูมิภาค GMS ด้านการค้า การเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยว ภายใต้ความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม” แต่จากสภาพปัจจุบัน นครสวรรค์ เป็นจังหวัดต้นแม่น้ำเจ้าพระยาก็จริง แต่ก็มีปัญหาเรื่องภัยแล้งเกือบทุกปี แม่น้ำปิงบางจุดแทบจะลงเดินข้ามไปได้ มีบึงบอระเพ็ด ซึ่งเปรียบเสมือนแก้มลิงก็จริง แต่ก็ถูกรุกล้ำ น้ำในบึงก็แทบจะแห้ง ดังนั้นทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเดินหน้าเรื่องแก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาแหล่งน้ำขาดแคลนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม โดยหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ ก็จะนำเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในที่ประชุม กรอ.จังหวัดนครสวรรค์ที่จะมีขึ้นเร็วๆนี้

ทั้งนี้ในส่วนของหอการค้าฯ ขณะนี้ได้พยายามนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆหรือนักธุรกิจที่เป็นคนนครสวรรค์ แต่ไปเติบโตทางธุรกิจที่อื่น มาช่วยสร้างแนวคิดมาช่วยพัฒนาและสร้างการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของนครสวรรค์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี ซึ่งจะสามารถทำให้นักธุรกิจรุ่นเดิมปรับตัวรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

'อ้อย'ส่อเค้าวุ่น!!หลังมติกอน.ประกาศ2ราคา 

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธาน คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือยื่นให้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม รมว.กระทรวงพาณิชย์ และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/59 ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่เห็นชอบให้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเป็น 2 ราคา คือ เขตคำนวณราคาอ้อยเขต 5 ในอัตราตันอ้อยละ 773 บาท ณ ระดับค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. ส่วนเขตที่เหลือกำหนดที่ 808 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.

          ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายมองว่า การประกาศราคาอ้อยขั้นต้นดังกล่าว จะก่อให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อย ปัญหาอ้อยข้ามเขต นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทราย เนื่องจากการเพาะปลูกอ้อยในแต่ละฤดูกาลผลิตนั้น โรงงานน้ำตาลทรายจะส่งเสริมสนับสนุนชาวไร่อ้อยคู่สัญญาทั้งปัจจัยการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในการพัฒนาประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุน (เงินเกี๊ยว) แก่ชาวไร่อ้อย หากชาวไร่อ้อยนำผลผลิตอ้อยไปส่งยังโรงงานที่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นสูงกว่า ทำให้โรงงานมีความเสี่ยงในการสนับสนุนเงินทุนให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา และขาดความร่วมมือกันในการสนับสนุนพัฒนาอ้อยให้มีคุณภาพ

          ขณะเดียวกัน โรงงานที่ให้ราคาอ้อยขั้นต้นที่ต่ำกว่าพื้นที่เพาะปลูกอื่น จะมีความเสี่ยงที่สถาบันการเงินไม่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โรงงานเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกอ้อย ซึ่งสุดท้ายจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบอ่อนแอลงและไม่เป็นผลดีต่อระบบโดยรวม เหมือนกับที่เคยเกิดในประเทศคิวบา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ในการส่งออกน้ำตาลอันดับต้นๆ ของโลกในอดีต

          ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ได้มีการกำหนดเขตคำนวณราคาอ้อยเป็นเขตเดียวกันทั่วประเทศ และกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้ายเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศมาโดยตลอด แม้ว่าในฤดูการผลิตปี 2540/41 จะเริ่มมีการแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยออกมาเป็นหลายเขตมาจนถึงปัจจุบัน แต่การประกาศราคาอ้อยขั้นต้น ยังคงยึดปฏิบัติประกาศเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศและได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอด แต่การประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตนี้กำหนดเป็น 2 ราคา จึงควรพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อยอย่างเท่าเทียมกัน หากอนาคตมีการประกาศราคาอ้อยหลายเขตหลายราคามากขึ้น จะยิ่งทำให้ชาวไร่อ้อยเกิดความสับสนและจะนำไปสู่ความแตกแยกในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในที่สุด

          "3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเป็น 2 ราคาและต้องการให้กำหนดเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศดั่งที่เคยปฏิบัติ กันมา เพื่อป้องกันปัญหาที่จะนำไปสู่การแย่งอ้อย การส่งอ้อยข้ามเขต ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลขาดแรงจูงใจที่จะร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพ ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การแย่งซื้ออ้อย ท้ายที่สุดแล้วไม่มีฝ่ายใดได้ผลดี หรือก่อให้เกิดประโยชน์จากการประกาศราคาอ้อยขั้นต้น 2 ราคาในครั้งนี้ และจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกอ่อนแอลง" นายสิ ริวุทธิ์ กล่าว

จาก สยามธุรกิจ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

พกค.วาง7ยุทธศาสตร์ดันส่งออกปี’59

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งระบบ เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

ในการประชุม พกค.ครั้งนี้ ได้มีการพิจารณายุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออก ปี 2559 ซึ่งมี7 ยุทธศาสตร์สำคัญ โดยยุทธศาสตร์แรก คือ การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP), ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค(RCEP) รวมถึงสหภาพยุโร (EU) และอาเซียน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต,ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน, ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ, ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ การปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า โดยมีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ, ยุทธศาสตร์ที่ 6 คือ การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และยุทธศาสตร์ที่ 7 คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก

นอกจากนี้ได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของคลัสเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ คลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ คลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ และเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไข จะสามารถผลักดันให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 2559 เพิ่มขึ้น 5% จากปี 2558 โดยได้มีการพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ความต้องการของตลาดคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนได้มีการหารือกับผู้ส่งออกไทย เพื่อประกอบการพิจารณาเป้าหมายดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สศค.มองปี59ปท.คู่ค้าฟื้นเงินบาทอ่อนเอื้อส่งออก

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มอง ปี 59 ประเทศคู่ค้าฟื้น เงินบาทอ่อนค่าเอื้อส่งออก มองลงทุนภาครัฐ สร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย โดยวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ในระดับสูง ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปี 58 ขยายตัวดีขึ้น สำหรับปี 59 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงเปราะบาง ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาภัยแล้ง โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 และ ปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นับถอยหลัง AEC

เมียนมาเป็นประเทศในกลุ่ม CLMV ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) มีความคุ้นเคยมากที่สุด แม้ว่า ศูนย์วิจัยของ UTCC แทบทุกศูนย์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะทำงานวิจัยเกี่ยวกับ CLMV ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศสถาบัน วิจัยโลจิสติกส์ ศูนย์ AEC Strategy สถาบันยุทธศาสตร์การค้าและศูนย์ SME แต่สาเหตุที่บอกว่า UTCC คุ้นเคยเมียนมามากที่สุดเพราะ UTCC ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจหรือเรียกว่า หลักสูตร Global MBA ที่เมียนมา โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง UTCC หอการค้าไทย และหอการค้าเมียนมา

หลักสูตร Global MBA ที่ย่างกุ้ง เป็นหลักสูตรปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจหลักสูตรแรกที่เมียนมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และได้เปิดต่อเนื่องที่มัณทะเลย์เกือบ 2 ปีแล้ว โดยมีนักศึกษาที่เป็นนักธุรกิจชั้นนำของเมียนมาได้จบการศึกษาแล้วมารับปริญญาที่เมืองไทยไปเม่ือปลายปีแล้ว 1 รุ่น กำลังจะมารับอีก 1 รุ่นในกุมภาพันธ์ปีหน้าที่เมืองไทย ทำให้ UTCC เข้าใจแนวคิดและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจของชาวเมียนมาเป็นอย่างดี

จากประสบการณ์ที่ผมไปสอนพบว่านักศึกษาที่ส่วนใหญ่คือนักธุรกิจคนหนุ่มสาวในวัย 25-35 ปีนั้น มีความรู้ภาษาอังกฤษดี สื่อสารและวิเคราะห์ได้เฉียบคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลาพักหรือเวลาทานอาหารกลางวัน นักศึกษาจะเข้ามารุมซักถามอาจารย์จนแทบไม่ได้พักแต่สนุกมากครับ เพราะคำถามแต่ละข้อสะท้อนให้เห็นถึงความกระหายรู้ วิสัยทัศน์และคุณสมบัติของนักพัฒนาที่ดีของนักธุรกิจเหล่านั้น

ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้นานาชาติให้ความสนใจเมียนมามากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติการเมือง และเศรษฐกิจ ว่าจะมีการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดปัจจุบันของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือพรรค USDP ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไปสู่การบริหารโดยรัฐบาลพลเรือนเต็มรูปแบบโดยพรรค NLD หรือไม่และอย่างไร ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของเมียนมาอย่างมากในอนาคต

ผมชอบคำพูดของนักศึกษาและนักธุรกิจใหญ่ของเมียนมาที่ได้พูดคุยกัน เขาเหล่านั้นมักจะบอกว่า “อดีตทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่อนาคตข้างหน้าคือสิ่งที่ไทยและเมียนมาสามารถสร้างร่วมกันได้” และยังบอกอีกว่า “เมียนมาต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ หรือแถวหน้าๆที่มาร่วมกับเมียนมาในการพัฒนาธุรกิจและประเทศเมียนมา”

ถ้าผมดูแววตาเขาเหล่านั้นแล้ว รู้สึกว่าเขาหวังเช่นนั้นอย่างแท้จริงครับ.

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ 

โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ดันติดอาวุธความรู้เกษตรกร ชงครม.ไฟเขียวอบรม2แสนรายผ่าน882ศูนย์เรียนรู้

กระทรวงเกษตรฯ เล็งเสนอครม.อนุมัติโครงการอบรมเกษตรกรกว่า 2 แสนราย ติดอาวุธความรู้ หนุนสร้างรายได้จากการเข้าอบรมผ่านศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการฝึกอบรมเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เพื่อเสริมสร้างความรู้ในการปรับเปลี่ยนทำการเกษตรทดแทนการปลูกพืชใช้น้ำมาก มีรายได้จากการอบรม สามารถดำรงชีวิตในช่วงวิกฤติแล้งได้ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

โดยความคืบหน้าขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ เตรียมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 และผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร ในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 นี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท มีเกษตรกรเป้าหมาย จำนวน 220,500 ราย หลักสูตร 90 ชั่วโมง/รุ่น หรือประมาณ 3 สัปดาห์ (15 วัน) รุ่นละ 50 ราย 5 รุ่น เริ่มตั้งแต่ ต้นกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม 2559 โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก. 882 ศูนย์) 76 จังหวัด เป็นสถานที่จัดการฝึกอบรม

สำหรับหลักสูตรการอบรมประกอบด้วย 5 กลุ่มวิชา เช่น เศรษฐกิจพอเพียง แนวทางประชารัฐ การสร้างความปรองดอง การตลาด การรู้เท่าทันเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลก การสหกรณ์ การฝึกทำบัญชีครัวเรือน การโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ การแปรรูปอาหารและถนอมอาหาร การซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตรและเครื่องใช้ไฟฟ้า

“สิ่งที่เกษตรกรจะได้รับการเรียนรู้ ฝึกวิธีคิดการพัฒนาตนเอง สามารถปรับตัวอยู่ร่วมบริบทสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาการเกษตรในระยะยาว รวมทั้งความเข้าใจและร่วมการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางประชารัฐเกษตรกรสามารถดำรงชีพได้ในช่วงวิกฤติภัยแล้ง และสร้างโอกาสการปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับภูมิสังคมและตลาดสินค้า สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

พกค.ตั้งรมว.พาณิชย์ศึกษาเข้าร่วม TPP

ที่ประชุม พกค. ตั้งรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ เป็นประธานศึกษาการเข้าร่วม TPP รอบคอบ ให้กรอบ 1 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ในวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ ศึกษารายละเอียดข้อดีและข้อเสียของกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก หรือ TPP ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการ พ.ก.ค. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ทางด้าน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการจะประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษาผลเชิงลึกรับฟังข้อมูล และศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าร่วม TPP แล้ว ว่าได้แก้ไขประเด็นที่มีความอ่อนไหวอย่างไร และต้องเดินหน้าทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายก่อนจะมีการตัดสินใจ โดยกระทรวงพาณิชย์จะทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนมากขึ้น และกรอบการทำงาน 1 ปี ไม่ถือว่าล่าช้า เพราะจะต้องทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบที่สุด

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

แบงก์ชาติเตือนปีหน้าค่าเงินผันผวน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เมื่อวันที่3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทิศทางนโยบายของสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนขึ้น

ซึ่งจะทำให้เงินสกุลในภูมิภาคเอเชีย มีโอกาสผันผวนมากขึ้นในปีหน้า และเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทาง ดังนั้นธปท.จึงขอเตือนให้นักลงทุน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ การส่งออก ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ ในการวางแผนธุรกิจสำหรับปีหน้า

 “แม้ว่านโยบายของอีซีบีที่ออกมาในครั้งนี้ เป็นทิศทางที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งอาจต่างกันบ้าง เรื่องของขนาดของการทำมาตรการเชิงปริมาณ (คิวอี) จึงเห็นเงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้นทันที จาก 1.0545 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแตะ 1.0687ดอลลาร์สหรัฐฯ และแข็งค่าต่อเนื่องไปแตะระดับสูงสุดที่ 1.0973 ดอลลาร์สหรัฐฯ”

อย่างไรก็ดี สำหรับผลกระทบต่อเงินภูมิภาคและเงินบาทนั้น พบว่า ช่วงเช้าวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เมื่อเปิดตลาด ก็แข็งค่าตามเงินยูโร นำโดยเงินวอนเกาหลีใต้ และเงินดอลลาร์ไต้หวัน ในส่วนของเงินบาทนั้น เปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมาที่ 35.76 บาท แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 0.4% จากปิดตลาดเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

สศก.ร่วมถกอาเซียนพร้อมคู่เจรจา6ชาติจับมือบูรณาการศก. 

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 7-16 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งการประชุม RCEP ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียน 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

          ทั้งนี้ ความตกลง RCEP เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาค ครอบคลุมประชากร 3.4 พันล้านคน จากประเทศสมาชิก 16 ประเทศ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 21.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าและส่งออกสินค้าเกษตร อาทิ น้ำตาล อาหารปรุงแต่ง มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิก RCEP มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจาค่อนข้างมาก ซึ่งหากการเจรจาประสบผลสำเร็จ จะสามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าและก่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

ตั้งทีมขับเคลื่อนประเทศ"บิ๊กตู่"ดึง 25 เจ้าสัวร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจ 

          “บิ๊กตู่” ดึงเอกชนร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจชาติ ตั้งทีมประสานร่วมภาครัฐ–เอกชน ในรูปแบบประชารัฐ ให้ช่วยพัฒนาคน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (3 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม รมว.ศึกษาธิการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้หารือกับผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศจำนวน 25 ราย โดยภายหลังการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ได้หารือกับภาคเอกชนในประเด็นเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อจะได้ดูว่าจะมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนได้อย่างไรบ้าง

          “การหารือกันวันนี้สะท้อนให้ทราบว่า สิ่งที่รัฐบาลทำมาเกือบ 2 ปี บางครั้งภาคธุรกิจก็ไม่ได้รับรู้ เพราะไม่มีเวลาได้รับฟัง ต่อไปจะมีคณะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเอกชน มีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นแกนนำรวบรวมกิจกรรมของภาคเอกชนที่จะสามารถร่วมกับภาครัฐ เช่น การวิจัยพัฒนา การพัฒนาคนรุ่นใหม่ หรือสมาร์ทพีเพิ่ล โดยภาครัฐ ข้าราชการ เอกชน ภาคประชาสังคม จะต้องปรับจูนให้เข้าหากันให้ได้ในลักษณะประชารัฐ ถ้าไม่เตรียมพร้อมเรื่องพวกนี้ต่อไปจะเกิดความเสี่ยงต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ข้อสัญญาทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราไม่มีความเข้มแข็งในเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย”

          ด้านนายสมคิดกล่าวว่า ได้มีการขอให้ภาคเอกชนเข้าช่วยรัฐใน 3 เรื่อง 1.การพัฒนาคน ในเรื่องการศึกษา 2.การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเจริญจากพื้นฐานภายในประเทศ 3.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถทำได้ลำพัง ต้องอาศัยภาคเอกชน ในเวทีนี้ภาคเอกชนพูดทุกคน เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า พร้อมจะช่วยเรื่องการศึกษา โดยยินดีนำมหาวิทยาลัยในสังกัดมาช่วย เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงาน เรียนรู้จากของจริง ส่วนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมที่จะรับนักศึกษาฝึกงานเช่นกัน ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เดอะมอลล์กรุ๊ป และกลุ่มเซ็นทรัลพร้อมที่จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอี ด้วยการนำสินค้าไปขายในห้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากจะช่วยให้เอสเอ็มอีนำสินค้ามาขายในปั๊มแล้ว จะมีทีมงานพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้บริษัทปูน ซิเมนต์ฯ ยังจะสนับสนุนเรื่องของการวิจัยและพัฒนา โดยมีนักวิจัยกว่า 100 คน ส่วนบริษัท พฤกษาฯ จะเป็นแกนนำพัฒนาบ้านประชารัฐสำหรับคนจน นอกจากนี้ ได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์ต่างๆเพื่อเพิ่มจินตนาการให้กับเด็กด้วย

          ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายสมคิดและนายอิสระประสานการทำงานร่วมกันหรือเวิร์กกิ้งกรุ๊ป เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร โดยมี 3 ประเด็นใหญ่ที่จะร่วมมือกันได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ภาคเอกชนแต่ละรายต้องไปพิจารณาว่ามีความชำนาญในด้านไหน เพื่อจะได้สนับสนุนภาครัฐ หรือทำงานร่วมกันในโครงการที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับความชำนาญของเอกชนรายนั้นๆ

          ขณะที่นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนา–พิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการหารือกับนายกรัฐมนตรี นักธุรกิจหลายรายแสดงความต้องการให้ภาครัฐช่วยพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศ.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

คอลัมน์ ลัดรั้วเขต ศก.พิเศษ: อัดสิทธิประโยชน์เร่งลงทุน ดันเขตศก.พิเศษเกิดสุด

          ทีมเศรษฐกิจ

          เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า...ในสัปดาห์นี้ "ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์"จะขอขยายความเรื่องของมาตรการเร่งรัดการลงทุน ที่ล่าสุดผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          ที่มาที่ไปของเรื่องนี้...ก็เป็นไปตามนโยบายของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะตั้งแต่ก้าวเข้ามา บริหารประเทศ ได้พยายามผลักดันนโยบายสร้าง "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ขึ้นอย่างสุดกำลัง หมายใจว่าต้องเป็นตัวดึงดูดให้เกิดการลงทุนให้ได้ แต่...จนแล้วจนรอด  เวลาผ่านไปเป็นปี กลับไม่เห็นเอกชนตบเท้าเข้ามาลงทุนดังที่คาดหมาย!!!

          เมื่อเป็นเช่นนี้...หน่วยงานที่เป็นแม่งานคอยดูแลเรื่องของสิ่งจูงใจ อย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และผู้ที่กำกับดูแลนโยบายนี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. จึงได้จับมือกับหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง ช่วยกันหาวิธีอัด "สิทธิประโยชน์" สูงสุดแบบหมดหน้าตัก เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนจริงเกิดขึ้นเสียที

          ต่างชาติรอและดู

          เหตุผลหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ถูกนักลงทุนเมิน สะท้อนมาจาก "สุพันธุ์ มงคลสุธี" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติบางส่วน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนเรื่องของนโยบาย เพราะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล...นโยบายนี้อาจขาดความต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกฎหมายที่ออกมาในปัจจุบันก็เป็นกฎหมายในระดับรอง คือประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เท่านั้น

          ด้วยเหตุนี้! จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความชัดเจน โดยอาจออกกฎหมายใหญ่ คือ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่จะลงทุนในระยะยาว

          วอนเข็นเงินลงทุนเสียที

          เมื่อเกิดปัญหาขึ้นดังที่ว่าไปข้างต้น จึงทำให้ฟากรัฐต้องหาวิธีโน้มน้าวใจ โดยหยิบเรื่องนี้เข้าไปล้อมวงคุยกันในชั่วโมงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่ง ด่วนของรัฐบาล หรือ กขน. โดยมี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็เชิญเอกชนมารับฟังข้อติดขัด พร้อมกันนั้น "บิ๊กป้อม" ก็ได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนช่วยกันเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว

          อีกทั้งเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้สั่งการด่วนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินหน้าการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการลงทุน คือ จังหวัดสระแก้ว และ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยไม่ต้องรอความชัดเจนจากภาคเอกชน เนื่องจากเป็นส่วนที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ เพื่อโชว์ให้เห็นว่ารัฐพร้อมและเริ่มนำร่องไปแล้วอีกทั้งยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาช่องทางการเข็นการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง ก่อนออกมาเป็นมาตรการต่าง ๆ

          ประเคนลดภาษีสูงสุด

          ไม่นานจากนั้น คณะกรรมการบีโอไอก็ได้มีการประชุมกันถี่ยิบ และ "บิ๊กตู่" ก็สั่งการบ้านให้สำนักงานบีโอไอ ไปเร่งทำมาตรการออกมารองรับ ซึ่งในช่วงกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้จัดทำออกมาเป็นมาตรการเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบออกมาเป็นมาตรการเร่งรัดการลงทุนในปี 58-59 โดยมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสามารถเริ่มต้นผลิตและเปิดกิจการได้ภายในปี 60 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม

          มาตรการ 4 ขั้นบันได

          สำหรับการออกมาตรการเพิ่มเติมให้โครงการลงทุนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 57- 30 มิ.ย. 59 แต่ระบุเงื่อนไขต้องเริ่มผลิต หรือเริ่มให้บริการ และมีรายได้ภายในปี 60 แบ่งออกเป็น 4 กรณี และได้รับสิทธิประโยชน์ตามขั้นบันได คือ กรณีแรก.หากลงทุนจริง ทั้งการก่อสร้างอาคารหรือซื้อเครื่องจักร นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 59 ไม่น้อยกว่า 70% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยทั้งพื้นที่ทั่วไปและในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 4 ปี และได้รับลดหย่อน 50% อีก 5 ปี

          ส่วนกรณีลงทุนจริง...นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 59 ไม่น้อยกว่า 50% โดยทั้งพื้นที่ทั่วไปและในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3

          ปี และได้รับลดหย่อน 50% อีก 5 ปี หากเป็น...กรณีลงทุนจริงนับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 59 ไม่น้อยกว่า 50% โดยทั้งพื้นที่ทั่วไปและในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี และได้รับลดหย่อน 50% อีก 5 ปี

          สุดท้าย...คือกรณีที่ลงทุนจริงไม่ถึง 50% ภายในปี 59 แต่สามารถเริ่มผลิต หรือเริ่มให้บริการ และมีรายได้ภายในปี 60 ในพื้นที่ทั่วไป ได้รับการยกเว้นภาษี 1 ปี ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษได้รับการยกเว้นภาษี 2 ปี โดยทั้ง 4 กรณีจะได้รับการยกเว้นภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี ตามข้อกำหนดของบีโอไอ

          ด้าน "หิรัญญา สุจินัย" เลขาธิการบีโอไอ บอกว่า เอกชนที่เข้ามาลงทุนในระยะเวลาที่กำหนดจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ส่วนแรกครอบคลุมเขตเศรษฐกิจทั้ง 10 แห่งที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยได้ยกเว้นภาษีเพิ่มอีก 2 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ มีกลุ่มกิจการเป้าหมายที่บีโอไอประกาศ 13 ประเภทกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดคือ ได้ยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อน 50% อีก 5 ปี จะไม่ได้รับการเพิ่มเติมอีก เพราะถือว่าสูงสุดแล้ว แต่เชื่อว่า ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่คอยสนับสนุน เช่น มาตรการทางการคลัง หรือการช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนต่าง ๆ จากภาครัฐมาช่วยอย่างแน่นอน

          แม้ภาครัฐ ได้พยายามเข็นนโยบาย 'เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ออกมา พร้อมกับจัดเตรียมสิทธิพิเศษไว้รองรับจนหมดแม็กซ์อย่างนี้แล้ว จะมีเอกชนรายใดตบเท้าเข้ามาลงทุนบ้าง ต้องจับตาดูกัน ต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

ตรวจความพร้อมไทยรับเออีซี จี้ปรับการศึกษา

          จิตวดี เพ็งมาก

          เหลือเพียง20 กว่าวันเท่านั้น ประตูสู่ประชาคมอาเซียน(เออีซี)กำลังเปิดออกอย่างเป็นทางการหลังจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนณ วันที่31 ธ.ค. 58 โดยการประชุมครั้งนี้"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"นายกรัฐมนตรีจรดปากการ่วมลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียนปี68 เพื่อประกาศการส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาอย่างชัดเจน

          การประชุมครั้งนี้ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ผลักดันประเด็นสำคัญ คือ การสร้างประชาคมให้มีความเข้มแข็งจากภายใน มีความเป็นเอกภาพร่วมมือพัฒนาภาคการเกษตร การท่องเที่ยวทางทะเล การใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ 1+1 เช่น ชักชวนลงทุนในประเทศไทย บวกกับอีกประเทศในกลุ่มอาเซียนควบคู่กัน รวมทั้งช่วยกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดช่องว่างการพัฒนาโดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์และประชาชนอาเซียนก้าวหน้าไปด้วยกันมิทิ้งใครไว้อยู่ข้างหลัง

          ชม "บิ๊กตู่" ชัดเจน

          ถือเป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของไทยที่มีต่อการเปิดเออีซี ประเด็นนี้ภาคเอกชนต่าง ๆ มีมุมมองหลากหลายเรื่องความพร้อมในการเปิดพรมแดนประชาคมอาเซียน เริ่มจาก "อิสระ ว่องกุศลกิจ" ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย มองว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมและลงนามในปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ฯ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้นำได้แสดงความชัดเจนให้ประชาชนเห็นความเคลื่อนไหว และการลงนามครั้งนี้ ยังโยงไปสู่การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาเซป) มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

          ส่วนความพร้อมของภาคเอกชนในการเปิดเออีซี ต้องบอกว่า ไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นสิงคโปร์ ที่มีความพร้อมกว่าไทยมากโดยสิ่งสำคัญที่ไทยต้องเร่งปรับปรุงคือระบบการศึกษา เมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียนของไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงมากรวมทั้งการนำเทคโนโลยีโนฮาวต่าง ๆ มาใช้ และต่อไปนโยบายการค้าการลงทุนของรัฐบาลจะมีความสำคัญมากโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งที่ไปลงทุนในประเทศ และให้นำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปลงทุนร่วมด้วย

          ฐานข้อมูลยังสุดมั่ว

          'ประเสริฐ เมฆวัฒนา"รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ระบุว่าได้สอบถามผู้ประกอบการหลายคนยังมีความสับสนเรื่องรวบรวมแหล่งข้อมูลเออีซีเนื่องจากกระจายหลายที่ทำให้การค้นหาข้อมูลยังไม่สะดวกนัก ล่าสุดทาง ส.อ.ท.จึงได้ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวเรียนรู้ข้อมูลก่อนตัดสินใจทำการค้าและลงทุน เชื่อว่าจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีให้กับผู้ประกอบการอย่างแน่นอน

          ต่างชาติฮุบรายย่อยเจ๊ง

          ด้านกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งกลุ่มสำคัญหลังจากเปิดเออีซี โดย "ยู เจียรยืนยงพงศ์"ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจบริการรับขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศไทยก็มีความพร้อมรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างกายภาพทางถนนเทคโนโลยีการขนส่ง รวมถึงตัวผู้ประกอบการและเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เอกชนของไทยก็ยังเหนือกว่าและน่าจะมีโอกาสขยายธุรกิจไปในกลุ่มประเทศเหล่านี้เพิ่มได้

          แต่สิ่งที่กังวลหลังจากเปิดเออีซีคือการหลั่งไหลของนายทุนนอกประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดเออีซีมีเงื่อนไขเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในไทยได้70%โดยเฉพาะธุรกิจจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งจะอาศัยการจัดตั้งบริษัทลูกในกลุ่มอาเซียนเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากไทย ซึ่งห่วงว่าจะมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบและต้องปิดกิจการ ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นต้องช่วยเหลือกันเร่งด่วนทั้งตัวธุรกิจต้องรู้จักปรับตัวหากลุ่มเครือข่ายธุรกิจร่วมกัน ตลอดจนภาครัฐควรช่วยจัดสรรหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง

          โซนนิ่งแหล่งท่องเที่ยว

          ขณะที่การท่องเที่ยว "มิ่งขวัญ เมธเมาลี" อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ระบุว่า เมื่อเปิดเออีซีความพร้อมของภาคการท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวได้หลายรูปแบบทั้งทางธรรมชาติ ทะเล ภูเขา โดยไทยต้องเร่งบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้ยั่งยืนด้วย เพราะในปัจจุบันมีหลายแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรมจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเปิดเออีซี ภาครัฐและเอกชนจะต้องหารือกันและมีมาตรการในการดูแลแหล่งท่องเที่ยวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การควบคุมพื้นที่ (จัดโซนนิ่ง) ในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จัดโซนนิ่งพื้นที่ค้าขาย

          "หากเปิดเออีซีและประเทศไทยต้องการจะผลักดันเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล จริง ๆ ก็อยากให้ภาครัฐทำงานหารือจัดการประชุมร่วมกับเอกชนให้มากกว่านี้เพราะข้อเสียของประเทศไทยที่เห็นชัด ๆ เลย คือเรื่องการบริหารจัดการการทำงานที่ยังไม่เต็มที่ไม่ได้มีการหารือร่วมกันอย่างชัดเจน ซึ่งหากเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในเออีซีโดยเฉพาะอย่างเวียดนามที่ตอนนี้ในเรื่องการทำงานการบริหารจัดการดีทำงานรวดเร็วและสุดท้ายกลายเป็นว่าเราเสียโอกาสไปมากโดยเฉพาะในเรื่องการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวและทำการตลาด"

          ตรวจสอบความพร้อมเอกชนในการเปิดเออีซีแล้วต้องยอมรับว่า แม้ไทยจะมีพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคแต่ยังมีจุดอ่อนที่ยังต้องเร่งปรับปรุงอีกมากมายก่อนที่โอกาสทองจะกลายเป็นวิกฤติของผู้ประกอบการในประเทศ!!.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

พาณิชย์ชงแผนดันส่งออกปี59ให้นายกฯ

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอแผนผลักดันการส่งออกปี 59 ให้ นายกรัฐมนตรี รับทราบวันนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ในวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอแผนผลักดันการส่งออกปี 2559 รวมถึงเป้าหมายการส่งออก ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีอัตราส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก รวมถึงการหารือถึงแผนการผลักดันการส่งออก สินค้าในกลุ่มที่มีศักยภาพ เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าบริการเป้าหมาย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2558

ชาวราชบุรี หารายได้เสริม ทำอ้อยในน้ำเชื่อมอัดกระป๋อง ส่งขายญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรราชบุรีเร่งตัดอ้อยพันธุ์เมอริชาร์ท หรือ อ้อยเคี้ยว ส่งโรงงานนำแปรรูปตัดเป็นท่อนใส่น้ำเชื่อมอัดกระป๋องส่งขายประเทศญี่ปุ่น ปลูก 6 เดือนตัดขาย หลังเก็บข้าวโพดที่ปลูกแซมไร่อ้อยได้เงินดีกับการปลูกพืชแบบผสมผสาน

นายศรัณย์ภัทร  และนางนริสรา สีทา สองสามีภรรยา ที่อาศัยอยู่ในหมู่ 7 ต. ชำแระ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี กำลังเร่งตัดอ้อยพันธุ์เมอริชาร์ท หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า “อ้อยแดงหรืออ้อยเคี้ยว” สำหรับกินเล่น ส่งขายให้กับนายทุนจากจังหวัดสมุทรสาครที่จะเดินทางมารับซื้อถึงที่ไร่ โดยจะนำอ้อยที่ปอกเสร็จแล้ว นำไปแปรรูปใส่น้ำเชื่อมอัดกระป๋องและเตรียมส่งขายประเทศญี่ปุ่น

โดยชาวบ้านนิยมปลูกเป็นอ้อยที่มีลักษณะลำต้นสีแดงปนเขียวเนื้อนิ่ม สามารถเคี้ยวสดๆได้  มีแหล่งปลูกบริเวณ ต.ท่าชุมพล ต.บางโตนด  บ้านหนองอ้อ บ้านบ่อมะกรูด ต.บ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม และพื้นที่อีกหลายแห่งใน จ.ราชบุรี เป็นอ้อยที่เกษตรกรเริ่มคิดหาแนวทางปลูกเพื่อเสริมรายได้  ภายหลังที่รัฐบาลได้พยายามหาแนวทางแนะนำเกษตรกรให้หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนา 

นางนริสรา กล่าวว่า ที่บ้านคุณยายปลูกอ้อยไว้ 5 ไร่ ของคุณแม่ 6 งาน  แถบนี้จะมีการปลูกอ้อยผสมผสานรวมกับข้าวโพดสายพันธุ์ข้าวเหนียว (สีขาว)  โดยข้าวโพดพันธุ์ข้าวเหนียวใช้ระยะเวลาการปลูก 65 วัน หรือ 2 เดือน 15 วัน  โดยพื้นที่ 1 ไร่ จะได้เงินจากการปลูกข้าวโพด ประมาณ 8,000 บาทส่วนอ้อยพันธุ์เมอริชาร์ทมีระยะการปลูกประมาณ 6 เดือน จะใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกข้าว  หลังการปลูกหักค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ย ค่ายา อื่นๆแล้วจะได้เงินประมาณ 20,000 บาทต่อไร่  ซึ่งจะปลูกข้าวโพดกับอ้อยเคี้ยว ผสมผสานในแปลงเดียวกัน  โดยอ้อยที่ปลูกจะมีนายทุนมารับซื้อถึงที่ไร่ ซึ่งตนได้ค่าจ้างตัดอ้อยและปอกขายส่งเถ้าแก่ที่มารับซื้ออีกราคาที่ปอก กิโลกรัมละ 2.50 บาท 1 วันปอกได้ขั้นต่ำประมาณ 200 กิโลกรัม ได้เงินประมาณ 500 บาท ทุกวันศุกร์จะมีการจ่ายเงินค่าแรง

นางนริสรากล่าวอีกว่า โดยอาชีพนี้มีส่วนดีอย่างหนึ่งคือ จะมีงานทำเกือบตลอดปี  จะมีช่วงที่ขาดเงิน เกือบ 2 เดือน จะหันมาทำตุ๊กตาส่งขายตามร้านจำหน่ายตุ๊กตาในอำเภอโพธาราม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตตุ๊กตาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  เป็นอาชีพเสริมอีกทางช่วงขาดงานปอกอ้อย  ซึ่งเถ้าแก่จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเคี้ยวไว้หลายแห่งพอได้ช่วงจังหวะตัดก็จะมาจ้าง แต่บางคนปอกอ้อยเก่งมากได้หลายร้อยกิโลกรัม ได้เงินวันละ 700-900 บาท  โดยอ้อย 1 ไร่ จะใช้หน่อปลูกประมาณ 3,500 หน่อ มีค่าใช้จ่ายเช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา อย่างพื้นที่ 3 ไร่ แห่งนี้ จะได้เงินประมาณ 60,000 บาท 1 ปี สามารถปลูกอ้อยเคี้ยวได้ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ นางนริสรากล่าวว่า หลังจากตัดอ้อยปอกส่งเถ้าแก่แล้ว ทิ้งไว้ไม่กี่วันจะมีหน่ออ่อนโผล่ขึ้นมา ยังสามารถตัดกำขาย 15-20 ยอด มัดเป็นกำส่งขายให้เกษตรกรที่เลี้ยงวัวนมราคากำละ 3 บาท หรือหากไม่ขายยอด แล้วรดน้ำใส่ปุ๋ย ดูแลไม่นานก็จะให้ผลผลิตเหมือนเดิม  สามารถลดต้นทุนไม่ต้องไปซื้อหน่ออ้อยมาปลูกใหม่ เป็นพืชแนวใหม่มีเกษตรกรสนใจทดลองปลูกสามารถทำเงินเห็นผลจริงได้แล้วในท้องถิ่น

  จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รมว.เกษตรฯเผย 4 ปัญหาเร่งด่วน ที่รัฐเร่งแก้ไขให้เกษตรกร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ (TRF Public Forum) เรื่อง "ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร : ข้อมูล ข้อเท็จจริงและประสบการณ์" ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาแนวทางที่ส่งเสริมความยั่งยืนของภาคเกษตรกรไทย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาทางด้านการเกษตรของไทยเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้ คือปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หลังจากที่ EU ออกใบเหลืองให้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมายของไทย ทั้งนี้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการออก "พระราชกำหนดการประมง" เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ข้อปฏิบัติสากล โดยประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังทำการจดทะเบียนเรือและออกใบอนุญาตตรวจควบคุมการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย จัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง ปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับและจัดทำแผนระดับชาติ

นอกจากนี้ในปี 2559 รัฐบาลจะสร้างมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าเกษตร ด้วยระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร  โดยมุ่งเน้น 4 หลักการคือ 1. ลดราคาปัจจัยการผลิต และใช้ปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม 2.วางแผนการตลาดและเพิ่มช่องทาง 3.เพิ่มผลผลิตต่อไร่ 4.เพิ่มการบริหารจัดการ

ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ จะตั้งรับปัญหาภัยแล้งโดยการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ รวมทั้งฝนหลวง ตลอดจนจัดหาแหล่งน้ำให้กับเกษตรกรในฤดูแล้งหน้า บริหารจัดการน้ำชลประทานให้เกษตรกรรู้จักการใช้น้ำและเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

นโยบายเร่งด่วนประการสุดท้ายคือมุ่งสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ไทยมีผลผลิตจากการเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรฐาน ไม่มีสิ่งเจือปน ขายได้ราคาดี มุ่งเน้นวิธีการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตรงกับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า นโยบายด้านการเกษตร ของพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความพยายามที่จะดูแลเกษตรกรให้มีรายได้เหมาะสมด้วยวิธีต่างๆ ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด บริหารจัดการทรัพยากรให้เป็นเอกภาพในทุกมิติ เพิ่มบทบาทสหกรณ์และกลุ่มเกษตรในฐานะผู้ซื้อผลไม้ให้แปรรูปและส่งออกได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"บิ๊กตู่"จ่อเข้าทีพีพีดูดลงทุน แก้ปมส่งออกฝ่ากำแพงภาษี-ต่างชาติย้ายฐาน

สหรัฐเดินเกมต่อเนื่องผนึกอียูถกความตกลง TTIP ต่อ ระหว่างรอ 12 ประเทศให้สัตยาบัน TPP นักธุรกิจ-นักวิชาการหวั่นไทยตกขบวนซ้ำ เจอแจ็กพอตหลายเด้งกำแพงภาษี-ทุนต่างชาติย้ายฐานหนี ญี่ปุ่นหนุนเข้าร่วมเต็มที่เล็งล็อบบี้ "แคนาดา-ชิลี" ช่วยอีกแรง "บิ๊กตู่" นัดถกทีมการค้าระหว่างประเทศ 4 ธ.ค.นี้

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างประเทศภาคีสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) 12 ประเทศเตรียมให้สัตยาบัน ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ TPP อาจมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน ไม่ยาวนานถึง 2 ปี เหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีภาระหนักต้องตัดสินใจว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หรือไม่ หากต้องการเข้าร่วมจะถูกสมาชิก TPP กดดันให้ยอมรับเงื่อนไขซึ่งอาจทำให้ไทยเสียเปรียบทางการค้ามากน้อยเพียงใด เพราะแม้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุน ในประเทศไทย อาทิ ค่ายรถยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตยางรถยนต์ ฯลฯ ต่างเรียกร้องต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ระหว่างนำทีมประเทศไทยเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นร่วมกับภาคเอกชนไทย ให้ไทยเข้าร่วม TPP โดยพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่มีกระแสคัดค้านจากกลุ่มองค์กรเอกชน (NGO) และเครือข่ายประชาชน

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 4 ธันวาคมนี้จะมีการหารือยุทธศาสตร์ผลักดันการค้าระหว่างประเทศในปี 2559 ให้เป็นบวกตามโจทย์ที่วางไว้ โดยอาจหารือถึง "ยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ" โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม TPP ซึ่งครอบคลุม 12 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก

ภาครัฐหารือทุกฝ่ายก่อนสรุป

นายทรงศักด์ สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการและกำหนดท่าทีที่ชัดเจนถึงการเข้าร่วม TPP ซึ่งที่ผ่านมาทั้งนโยบายเศรษฐกิจและด้านต่างประเทศรัฐบาลไทยได้แสดงความสนใจ และสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลายประเทศในกลุ่มความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อปูทางสู่การเจรจา กระบวนการสำคัญไม่ใช่กำหนดท่าทีอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาผลกระทบทุกภาคส่วน ต้องประเมินทั้งภาคการค้า การลงทุน เกษตร และการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การค้า เช่น มาตรการทางด้านแรงงานด้วย

นาง สาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาข้อบทความตกลง TPP 30 บท ประมาณ 2,000 แผ่น จะสรุปเสนอนายกฯเร็ว ๆ นี้ การกำหนดท่าทีต้องรอบคอบ รวมถึงแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และผลการศึกษาความเป็นไปได้โดยสถาบันปัญญาภิวัฒน์ ต้นปี 2559

หวั่นไทยตกขบวน TPP-TTIP

ด้าน ผศ.ดร.ศุภัช ศุชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สหรัฐเร่งรัดเจรจา TPP ให้บรรลุผลอย่างรวดเร็ว โดยยอมผ่อนปรนท่าทีเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยา การเปิดตลาดรถยนต์ ให้ TPP เกิดให้ได้ เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน หลังจีนเร่งผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้น เอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) แต่ยังไม่สำเร็จ และเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว

"ที่ห่วงคือหากไทยไม่ร่วม TPP อาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโอบามาเคยมาเยือนและเชิญไทยเข้าร่วม แต่ไทยไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจน เหมือนไทยทิ้งไพ่ใบสุดท้ายไปแล้วจะเก็บกลับมาต้องทำอย่างไร"

ขณะที่ ดร.วิโรจน์ อาลี รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หลังจาก TPP จบ สหรัฐน่าจะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลง Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) ซึ่งจะเป็นความตกลงที่ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม TPP อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรปรวมตัวกัน โดยไม่ดึง "จีน" เข้าร่วม ทั้งที่ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ หากผล TPP และ TTIP สำเร็จจะกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ ไทยอาจตกขบวนทั้งตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรป ทั้งตลาดนี้คิดเป็นสัดส่วน 19-20% ของการส่งออกไทย ส่วนความหวังที่จะพึ่งส่งออกไปยังกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) หรืออาเซียน +6 และความตกลง FTAAP ซึ่งจีนเป็นแกนนำยังไม่คืบหน้า

ดึงญี่ปุ่น-ชิลี-แคนาดาหนุนไทย

ส่วน นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าไทย มองว่าสมาชิก TPP อาจเลือกใช้วิธีการให้สมาชิก 6 ประเทศ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 85% ของขนาดเศรษฐกิจสมาชิก 12 ประเทศให้สัตยาบัน เท่ากับว่าแค่เพียงสหรัฐและญี่ปุ่นให้สัตยาบันและหาสมาชิกอื่นอีก 4 รายร่วมก็ทำให้ความตกลง TPP มีผลบังคับใช้ได้ภายใน 6 เดือน เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าต้องใช้เวลา 2 ปี

"แม้ TPP ยังไม่รับสมาชิกใหม่ แต่ไทยควรแสดงเจตจำนงเป็นทางการและกำหนดท่าทีชัดเจนโดยเร็ว เชื่อว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนสำคัญ สำหรับญี่ปุ่นได้แสดงท่าทีสนับสนุนไทยอยู่แล้ว และเชื่อว่ามีอีกหลายประเทศ เช่น ชิลี แคนาดา หากสหรัฐ ญี่ปุ่นหนุน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์คงไม่คัดค้าน แม้ผลิตสินค้าคล้ายคลึงกับไทย และได้ประโยชน์มากหากไทยไม่ร่วม TPP" ดังนั้นหากไทยไม่สรุปความเห็นโดยเร็วจะกระทบการลงทุน เพราะหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และปัญหาค่าแรงงานขั้นต่ำ ไทยสูญเสียเม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) กว่า 6 แสนล้านบาท การส่งออกติดลบเรื่อย ๆ หากไม่ร่วม TPP มีแนวโน้มลดลงอีก หลายสินค้าต้องเสียภาษีนำเข้าสูง เช่น เครื่องนุ่งห่มภาษี 17-32% รถเก๋งภาษี 30% หากเข้าร่วมภาษีจะทยอยลดเป็น 0% ใน 30 ปี ส่วนรถกระบะภาษี 25% หากเข้าร่วมภาษีทยอยลดลง 0% ใน 25 ปี

นอกจากนี้ตามความตกลงยัง มีเรื่อง "กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า" บังคับให้ใช้การสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าจากวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศสมาชิก TPP หมายถึงถ้าไทยไม่ร่วมจะถูกบีบให้หลุดจากฐานการผลิตสินค้าในห่วงโซ่การผลิต ของโลก (Global Value Chain) จะลดภาษีไม่ได้ และยิ่งรวม TTIP จะกระทบมากยิ่งขึ้น เพราะไทยต้องพึ่งพาสินค้าที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกกว่า 50% ของการส่งออกรวม ที่รุนแรงคือจะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของ FDI ด้วย โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้ายานยนต์สำคัญ เป็นเหตุให้ญี่ปุ่นสนับสนุนไทยเข้าร่วม TPP

จัดจ้างโปร่งใส-ยาใหม่ไม่แพง

ข้อดีหากเข้าร่วม TPP จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างกรณีค่าโง่คลอง ด่านไม่ให้เกิดขึ้น เพราะ "ข้อตกลงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ" (Government Procurement) TPP ได้เพิ่มความเข้มงวดหลายด้าน อาทิ ห้ามไม่ให้มีการจำกัดการแข่งขัน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจประมูลร้องเรียน สอบถามรัฐ ฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายได้ หากผู้ร้องชนะ รัฐต้องมีคำอธิบายตั้งแต่เริ่มโครงการ รวมทั้งให้สิทธิคุ้มครองผู้ที่ร้องเรียนไม่ให้ถูกตัดสิทธิ์จากงานประมูลด้วย ทำให้การประมูลงานรัฐโปร่งใสมากขึ้น ประเด็นการฟ้องร้องรัฐ เช่น กรณีของบริษัทบุหรี่ ก็จะไม่สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพราะความตกลง TPP กำหนดให้รัฐดำเนินการอย่างไรก็ได้เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ เอกชนไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายรัฐได้

สำหรับประเด็น TPP ทำให้ยาแพง รัฐต้องเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นนั้น นายบัณฑูรกล่าวว่า TPP ไม่มีผลทำให้ยาที่มีสิทธิบัตรเดิมอยู่แล้วปรับราคาสูงขึ้น ส่วนยาที่จดสิทธิบัตรใหม่อาจมีราคาสูง แต่ไม่กระทบประชาชน เพราะประชาชนยังมีทางเลือกในการรักษา โดยคนรายได้น้อยสามารถไปรักษาโรงพยาบาลรัฐได้ อีกด้านหนึ่งคนไทยสามารถเข้าถึงยาจากนวัตกรรมใหม่ได้เร็วกว่าเดิม เพราะระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรยายังคงอยู่ที่ 20 ปี แต่กำหนดให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ กรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามีความล่าช้าในการออกใบอนุญาตให้ขายยาภายใต้สิทธิบัตร และกำหนดระยะเวลาคุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา (Data Exclusivity) 5 ปี และให้แจ้งเจ้าของสิทธิบัตรทราบถ้ามีการต่อยอด (Linkage) เป็นต้น

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า หากสหรัฐและอียูบรรลุความตกลง TTIP อีก จะกระทบด้านการค้า การลงทุนทางอ้อม เพราะทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อต้องการนำเข้าสินค้าก็จะหันไปมองประเทศที่มีการเจรจาการค้าระหว่างกัน จะมีอัตราภาษีต่ำกว่า ขณะนี้ไทยเจรจาการค้าหลายกรอบแต่ยังล่าช้าอยู่

ล่าสุด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม TPP รวมถึงผลดี-ผลเสียทั้งหมด โดยมีนายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธาน ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจะประชุมในวันที่ 4 ธันวาคมนี้

หวั่นนักลงทุนย้ายไปเวียดนาม

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจอยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP โดยได้รับความช่วยเหลือด้านข้อมูลจากญี่ปุ่น โดยตัวแทนภาครัฐจะต้องลงไปทำความเข้าใจกับภาคเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อป้องกันการถูกนำไปเบี่ยงเบนเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งผลกระทบทางการค้า-การลงทุนที่รัฐบาลค่อนข้างหนักใจและพิจารณาอยู่คือ หากประเทศไทยไม่เข้าเป็นสมาชิก TPP จะทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในประเทศคู่แข่งที่อยู่ใน TPP แล้วคือเวียดนาม

ทูตสหรัฐย้ำยังไม่รับสมาชิกใหม่

สำหรับความเคลื่อนไหวของสหรัฐ ล่าสุด นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ระบุในงานแถลงข่าวเมื่อ 30 พ.ย.ว่า การเจรจา TPP ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญของโลก และเป็นความตกลงที่สร้างมาตรฐานใหม่ด้านต่าง ๆ อาทิ การกำจัดอุปสรรคทางการค้า ยกระดับแรงงาน การบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใสของภาครัฐ การเคารพทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดเสรีอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิก

"สหรัฐยินดีที่รับรู้ว่าไทยสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP โดยรัฐบาลไทยควรพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลง TPP อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน ว่าเหมาะสมจะเข้าร่วมหรือไม่ TPP จะช่วยยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดยาว นาน พร้อมให้ความช่วยเหลือไทยในการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ขณะนี้กรอบ TPP ยังอยู่ในระหว่างการให้สัตยาบันของประเทศสมาชิก จึงยังไม่มีการหารือเรื่องขั้นตอนในการรับสมาชิกใหม่" เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จับตา “เผาอ้อย” ก่อหมอกควันภาคเหนือ คาดปี 59 สถานการณ์รุนแรง 

         พบปี 58 จำนวนวันมีหมอกควันเกินมาตรฐานลดลง แต่ความเข้มข้นสูงขึ้นกว่าปี 57 สูงสุดอยู่ที่ 381 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ใน ต.เวียง จ.เชียงใหม่ คาดปี 59 สถานการณ์รุนแรงขึ้น เร่งจับตาเผาอ้อย เผาหญ้า เผาป่า หวั่นสร้างปัญหา ส่ง อสม. ทำความเข้าใจ

               วันนี้ (3 ธ.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์  อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “มาตรการรับมือผลกระทบจากภาวะหมอกควัน” ว่า สถานการณ์หมอกควันของประเทศไทยในปี 2558 พบว่า พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาก เป็นพื้นที่ที่มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน เฉลี่ยสูงสุดในประเทศไทย โดยพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงสุดของประเทศไทยในรอบ 24 ชั่วโมง คือ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย สูงถึง 381 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าค่ามาตรฐาน คือ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุที่ภาคเหนือเกิดปัญหาหมอกควันมากที่สุด เพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ทำให้อากาศไม่ถ่ายเท เนื่องจากความกดอากาศสูง มลพิษ จึงวนอยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ ซึ่งในปี 2558 พบผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรครวม 826,247 ราย

               นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัญหาของหมอกควันและฝุ่นละอองมีที่มาจาก 3 ส่วน คือ 1. การเผาทำลายวัชพืชเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหามากกว่า 90% ส่งผลกระทบโดยรอบได้มากกว่า 5 กิโลเมตร 2. การก่อสร้าง เกิดแค่บางพื้นที่ ส่งผลระทบได้ประมาณ 1 กิโลเมตร และ 3. การปิ้งย่างข้างทาง เกิดเฉพาะบางพื้นที่เช่นกัน โดยมักพบการทำหมูหัน ไก่หัน ไก่ย่างข้างทาง ตรงนี้ส่งผลกระทบได้ไม่กี่เมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณในการปิ้งย่างด้วย แต่ทั้งหมดต้องมีการควบคุมหมอกควัน โดยเฉพาะการเผาทำลายเพื่อการเกษตรเป็นปัญหาหลักและน่าห่วงที่สุด การควบคุมที่ดีที่สุด คือ การห้ามไม่ให้มีการเผาเกิดขึ้น ซึ่งจะมีการส่งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงไปทำความเข้าใจ และให้ความรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมาของการเกิดปัญหาหมอกควัน ส่วนการก่อสร้างต้องมีการคลุมผ้าสีฟ้า เพื่อลดฝุ่นละออง ส่วนการปิ้งย่างควรมีเครื่องดูดควันเพื่อช่วยลดปัญหา

               “ ปี 2559 คาดว่า สถานการณ์หมอกควันน่าจะมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากความแล้ง ส่วนที่ต้องเร่งรับมือคือช่วงปลาย ม.ค. - ต้น ก.พ. ที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือจำนวนมาก โดยช่วงเก็บเกี่ยวมักจะมีการเผาอ้อย เพื่อให้ง่ายต่อการริดใบทิ้งก่อนการใช้เครื่องตัดอ้อย ซึ่งถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบ ซึ่งขณะนี้มีเครื่องตัดอ้อยแบบใหม่ที่ช่วยริดใบ ซึ่งเป็นเครื่องที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้นเอง และกำลังมีการส่งเสริมให้ใช้ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาลงไปได้ และพบว่า การเก็บอ้อยโดยไม่มีการเผานั้นจะช่วยให้ได้ปริมาณน้ำตาลมากกว่าการเผา ทั้งนี้ นอกจากให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนและเกษตรกรแล้ว ยังเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลดูแลคนเจ็บป่วย การแจกหน้ากากอนามัย และการป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากหมอกควันด้วย ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

                นายสุวรรณ นันทศรุต  รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลหมอกควันของประเทศในปี 2558 พบว่า จำนวนวันที่หมอกควันมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้น มีอยู่ประมาณ 30 กว่าวัน ซึ่งลดลงจากปี 2557 แต่กลับพบว่าปริมาณความเข้มข้นของค่าฝุ่นละอองนั้นสูงกว่าปี 2557 โดยค่าฝุ่นละอองสูงสุดของปี 2558 คือ 381 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 324 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสาหตุนอกจากการเผาเพื่อการเกษตรแล้ว ยังพบปัญหาการเผาหญ้าข้างทาง การเผาป่า ทั้งในพื้นที่ป่าสงวน ลามไปจนถึงป่าธรรมชาติ โดยมีค่าความร้อนในพื้นที่รวม 9,815 ไร่

จาก http://manager.co.th วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ไทยเข้าร่วมเวทีถก‘WTO’ ทบทวนนโยบายการค้าลดปัญหาความขัดแย้ง

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก WTO จึงต้องเข้ารับการทบทวนนโยบายการค้าในระยะ 4 ปี ตามกลไกการทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review Mechanism) ภายใต้ WTO เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นในองค์การการค้าโลก ได้ทราบและเข้าใจนโยบายการค้าของประเทศสมาชิกที่เข้ารับการทบทวนนโยบายการค้า ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางการค้า และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของการดำเนินการด้านนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยประเทศสมาชิกอื่นจะได้สอบถามและตรวจสอบนโยบายการค้าเพื่อให้เป็นไปในแนวทางการค้าเสรีตามหลักการของ WTO

ทั้งนี้ การรายงานการทบทวนนโยบายการค้า จะแบ่งเป็น 2 ฉบับ คือ รายงานฉบับสำนักเลขานุการ WTO ซึ่งจัดทำขึ้นจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศสมาชิก ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการค้า และรายงานฉบับรัฐบาล ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายการค้าที่จัดทำโดยประเทศสมาชิก เพื่อเวียนให้ประเทศสมาชิกอื่นพิจารณา โดยประเทศสมาชิกอื่นจะตรวจสอบข้อมูลในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ พร้อมยื่นคำถามหรือข้อสงสัยให้ฝ่ายเลขานุการ WTO รวบรวม เพื่อสอบถามไปยังประเทศสมาชิกที่เข้ารับการทบทวนนโยบายการค้าในที่ประชุมองค์การการค้าโลกต่อไป

เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า การเข้าร่วมการทบทวนนโยบายการค้าของไทยในครั้งนี้จะประโยชน์ต่อไทย ในการใช้โอกาสชี้แจงและสร้างความเข้าใจแก่ประเทศสมาชิกคู่ค้าในเรื่องมาตรการและนโยบายมากยิ่งขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กางโอกาส 'ไทย' สู่ 'ฮับ' ค้าเอทานอล

โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

อุตสาหกรรมเอทานอลมีแนวโน้มการเติบโตและขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตและปริมาณการใช้เอทานอลทั่วโลก

มีการคาดการณ์ว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ปริมาณการใช้เอทานอลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 10% ไปอยู่ที่ราว 2.9 หมื่นล้านลิตร/ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการใช้ของสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดียที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปัจจุบันมีความต้องการใช้เอทานอลรวมกันถึงกว่า 80% ของปริมาณการใช้เอทานอลทั้งหมดในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ขณะที่ปริมาณการผลิตเอทานอลในภูมิภาคคาดว่าจะมีเพียงราว 1.5 หมื่นล้านลิตร/ปี

ทั้งนี้ จีนยังมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับใช้ในการผลิตเอทานอลภายในประเทศ เช่นเดียวกับอินเดียที่ยังไม่สามารถผลิตเอทานอลได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขยายโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศ ส่งผลให้ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสองมีแนวโน้มที่จะมีการนำเข้าเอทานอลสำหรับนำไปใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสที่ดีให้กับไทยในอนาคต

ปัจจุบัน “ไทย” ถือว่าเป็นอันดับ 1 ด้านการผลิตเอทานอลในอาเซียนโดยไทยสามารถผลิตเอทานอลได้สูงถึงราว 1,000 ล้านลิตร/ปี ทิ้งห่างนำผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่อันดับ 2 อย่าง “เวียดนาม” ถึง 3 เท่า ซึ่งเอทานอลที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกนำไปผสมกับน้ำมันเบนซิน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพื่อใช้ภายในประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตเอทานอลในกลุ่มอาเซียนได้นั้นเป็นผลมาจากศักยภาพที่แข็งแกร่งของไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมด้านวัตถุดิบ ซึ่งได้แก่ มันสำปะหลังและกากน้ำตาลที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเอทานอล เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตในประเทศที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งต้นทุนการผลิตเอทานอลก็ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ราว 18-24 บาท/ลิตร ซึ่งราคาต้นทุนการผลิตจะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัตถุดิบแต่ละชนิด

นอกจากความพร้อมด้านวัตถุดิบของไทยแล้ว บทบาทภาครัฐก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมเอทานอลของไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นและพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์แทนการใช้น้ำมันเบนซินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 การอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์จากเงินของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาขายของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซิน 95 เป็นต้น รวมถึงการวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะยาว 20 ปี เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยตั้งเป้าผลักดันให้อุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% จากปัจจุบันไปจนถึงปี 2026

อีไอซี มองว่า แรงขับเคลื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาศักยภาพของไทยในการที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็น “ศูนย์กลางการค้าเอทานอลแห่งอาเซียน” (ASEAN Ethanol Hub) อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต เนื่องจากหากกล่าวถึงคำว่า “ศูนย์กลางการค้า” คงต้องมุ่งประเด็นและมองไปถึงการขยายตัวของการส่งออกมากกว่าการใช้ในประเทศ แต่จากทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอทานอลในไทย ณ ปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นการมุ่งเน้นไปที่การเติบโตเพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ดีในระยะต่อไปหากทุกภาคส่วนมีการร่วมมือกัน ตลอดจนเร่งส่งเสริมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเอทานอลภายในประเทศอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นที่การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตของวัตถุดิบในประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับรองรับการขยายตัวของปริมาณการใช้เอทานอลที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

น้ำตาลครบุรีลุ้นตั้งรง.2แห่ง รอสอน.ไฟเขียว 9 ธ.ค.นี้อัดงบกว่า1หมื่นล.เพิ่มกำลังผลิต

น้ำตาลครบุรี ลุ้น สอน. อนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาล 1.2-2 หมื่นตันต่อวัน ที่ อ.สี่คิ้วภายในต้นเดือนธันวาคมนี้ เงินลงทุน 3-4 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 2560 พร้อมยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลที่ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ เพิ่ม พร้อมต่อยอดการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย มั่นใจราคาน้ำตาลในตลาดโลกกลับมาดีดตัวที่ 16-17 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากราคาช่วงในไตรมาส 4 ปีนี้ตกต่ำ

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “KBS” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากบริษัทยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทั้งสิ้น 2 โครงการ ได้แก่ โรงงานน้ำตาล อ.สี่คิ้ว จ.นครราชสีมา และโรงงานน้ำตาล อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 1.2-2 หมื่นตันต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อแห่ง

โดยในส่วนของโรงงานน้ำตาล อ.สี่คิ้ว คาดว่าจะมีความคืบหน้าก่อน เนื่องจากทาง สอน. แจ้งว่าจะให้คำตอบภายในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งหากมีความชัดเจนจากทางภาครัฐให้สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ดังกล่าวได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี โดยจะแล้วเสร็จและกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560 อย่างไรก็ตามขนาดกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล อ.สี่คิ้ว จะต้องหารือกับทางบริษัท มิตซุย ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสรุปขนาดกำลังการผลิตซึ่งอยู่ระหว่าง 1.2-2 หมื่นตันต่อวัน รวมทั้งจะต้องลงทุนโรงไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะใช้เงินรวมทั้งโครงการไม่เกิน 5-6 พันล้านบาท

สำหรับโรงงานน้ำตาลที่ อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ขนาดกำลังการผลิตใกล้เคียงกับที่ อ.สี่คิ้ว ซึ่งการลงทุนคงดำเนินการภายหลังจากโรงงานน้ำตาลที่สี่คิ้วแล้วเสร็จก่อน ซึ่งคงไม่สร้างพร้อมกัน 2 โรงงาน เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ดังนั้นภายหลังจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของบริษัทแล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.6 แสนตันต่อปี

สำหรับแผนลงทุนโรงงานเอทานอลขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท ยังอยู่แผนลงทุน 3 ปี ซึ่งหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาก ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนก่อสร้างโรงงานเอทานอล ประกอบกับต้องการให้โรงงานน้ำตาลที่ อ.สี่คิ้ว แล้วเสร็จก่อน เพราะจะได้มีกากน้ำตาล(โมลาส) เพียงพอเพื่อป้อนเข้าโรงงานเอทานอล โดยปัจจุบันกากน้ำตาลที่เหลือจากโรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะขายให้กับลูกค้าทั้งหมด

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลก คาดว่าปี 2559 ราคาจะปรับสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 16-17 เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับปี 2558 เฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ เนื่องจากสต๊อกน้ำตาลทรายดิบเก่าเริ่มทยอยลดลง ส่งให้มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบในตลาดน้อยลง ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความน่าสนใจในการผลิตน้ำตาลทรายดิบลดลง อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูบราซิล ซึ่งเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของโลกว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำตาลทรายดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่าอยู่ที่ 11-12เซ็นต์ต่อปอนด์ เทียบกับไตรมาสแรกของปี2559 ที่ราคาขยับไปที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งคาดกว่าสถานการณ์น้ำตาลทรายดิบจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีนี้ โดยบริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานปี 2559 จะมีรายได้โตขึ้น 5% จากปีนี้ และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2558 คาดว่าจะยังมีกำไร แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ราคาน้ำตาลทรายดิบจะลดต่ำลง แต่ก็เป็นช่วงที่ทราบดีอยู่แล้วว่าราคาน้ำตาลทรายดิบจะต่ำลงในช่วงปลายปี โดยบริษัทคาดว่ารายได้ปีนี้จะใกล้เคียงปี 2557 ที่ระดับ 6 พันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้า 550 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในปี 2559 ส่วนใหญ่จะเป็นงบลงทุนเพื่อใช้ซ่อมบำรุงโรงงานตามปกติ 200-300 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ธ.ก.ส.ยันต้นทุน"บัตรสินเชื่อเกษตรกร"แค่32บาท ย้ำแท็ปโก้ช่วยซื้อปุ๋ยถูก-ไม่ผูกขาด

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวชี้แจงโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่มีการตั้งข้อสังเกตยืนยันว่า โครงการนี้โปร่งใส ธ.ก.ส.ดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2554 มีเกษตรกรได้รับบัตรกว่า 4 ล้านราย รูดซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีร้านค้ากว่า 10,000 แห่ง มียอดการใช้สินเชื่อผ่านบัตรปีละประมาณเกือบ 30,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใน 30 วันแรก

ซึ่งผลการประเมินโดยสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ที่เป็นองค์กรอิสระทางวิชาการภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิพัฒนาประสิทธิภาพ ในราชการพบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจและภูมิใจที่มีโอกาสใช้บริการสินเชื่อ บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรกเทียบเท่ากับลูกค้าธนาคารพาณิชย์

นายลักษณ์กล่าวว่า สำหรับการจัดหาระบบพร้อมบัตรตามโครงการ ทาง ธ.ก.ส.ใช้วิธีให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดเสนอราคาแข่งขันกันให้มากราย ที่สุด ตามหนังสือเวียนของสำนักนายกรัฐมนตรี มีผู้ประกอบการสนใจรวม 13 ราย ยื่นซองเสนอราคา 4 ราย โดยบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกเป็นบริษัทคนไทยที่เสนอราคาต่ำสุด มีราคาจัดทำบัตรใบละ 32 บาทเท่านั้น ไม่ใช่ 200 บาทอย่างที่เป็นข่าว

นายลักษณ์กล่าวว่า มีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) บางจังหวัดสำรวจความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เป็นสมาชิก และขอให้บริษัท ไทยธุรกิจเกษตร จำกัด หรือ แท็ปโก้ (ถือหุ้นโดย สกต.77 แห่ง ร้อยละ 90 และ ธ.ก.ส.ร้อยละ 10) นำข้อมูลความต้องการใช้ปุ๋ยไปเจรจากับบริษัทจำหน่ายปุ๋ยในส่วนกลางเพื่อลด ราคาลง ปรากฏว่าได้ผลดีและเกิดประโยชน์แก่สมาชิกรายย่อยอย่างแท้จริง รวมทั้งสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทุก ภาคส่วนสนับสนุนระบบสหกรณ์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจให้สมาชิกราย ย่อย ต่อมาปี 2556 มี สกต.เข้าร่วมดำเนินการเพิ่มเป็น 77 แห่ง จัดหาปุ๋ยจากบริษัท

ผู้จำหน่ายปุ๋ยโดยตรง 17 บริษัท โดยเกษตรกรไม่ต้องเสียดอกเบี้ยรวม 5 เดือนเนื่องจากทางบริษัทรับภาระให้แทน และจำหน่ายปุ๋ยในราคาส่วนลด ช่วยประหยัดให้เกษตรกรรวม 370 ล้านบาท และช่วยตรึงราคาปุ๋ยในตลาดได้ระดับหนึ่งด้วย

"บริษัทผู้จำหน่ายปุ๋ย ที่เข้าร่วมโครงการมี 17 ราย ไม่ใช่ 4 รายตามที่เป็นข่าว ในจำนวนนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง แสดงว่าเกษตรกรสามารถเลือกซื้อปุ๋ยได้ตามความต้องการ ไม่มีการบังคับหรือผูกขาดแต่อย่างใด" นายลักษณ์กล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5

กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2558 ณ กรุงเทพฯ โดยมี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายซัน จันทร รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เป็นประธานร่วม รวมทั้งผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมประชุม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2558 โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นกลไกการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน มีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จะมีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็นความร่วมมือที่แต่ละฝ่ายมีความสนใจและมีศักยภาพ โดยมีประเด็นสำคัญที่ฝ่ายไทยจะนำขึ้นหารือ ได้แก่

· การตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่าย ให้ขยายตัวร้อยละ 30 ต่อปี ระหว่างปี 2559–2563

· การจัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและกัมพูชาโดยกำหนดมาตรการในการส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าระหว่างเมืองชายแดนที่มีความสำคัญทางการค้า เช่น สระแก้ว-บันเตียเมียนเจย

· ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในสินค้าเกษตร โดยจะพิจารณาจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตการเกษตรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การอำนวยความสะดวกและการแก้ไขปัญหาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างสองประเทศ

· ความร่วมมือในการเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยหารือเรื่องการเปิดและยกระดับด่าน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกที่จุดผ่านแดน และการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจร

· การส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่น การจัดคณะผู้แทนการค้า การจัดงานแสดงสินค้า การเผยแพร่ข้อมูลการค้าการลงทุน และการจัดทำความตกลงเพื่อยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นต้น

· การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยและกัมพูชา ทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และดึงดูดการลงทุนในพื้นที่

· ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เพื่อประสานและขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายภายใต้แนวทาง "สองอาณาจักร หนึ่งจุดหมายปลายทาง" (Two Kingdoms, One Destination)

· ความร่วมมือด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากรและอื่น ๆ เช่น โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาบุคลากรในอนุภูมิภาคร่วมกัน

จากมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่าย กัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทยในโลก และอันดับที่ 8 ของไทยในกลุ่มอาเซียน โดยในปี 2557 การค้าไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 5,115.19 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออก 4,525.48 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 589.71 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังกัมพูชา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์ น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลวดและสายเคเบิล สินแร่ โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ก.ย.) การค้ารวมไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 4,203.61 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการค้าใน ปี 2559 ไทยจึงคาดการณ์ว่าการประชุม JTC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 จะเป็นเวทีสร้างและขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศที่สามที่มีชายแดนติดต่อกับไทยและกัมพูชา จากการอำนวยความสะดวกทางการค้า และอุปสรรคทางการค้าที่ลดลง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.เคาะอ้อยขั้นต้น'2ราคา'เมินข้อเสนอ3สมาคม

           ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 58 /59 ออกเป็น 2 ราคาในเขต 5 และเขต 8 กำหนด 773 บาทต่อตันอ้อย ที่เหลือตั้งราคาให้ 808 บาทต่อตัน           พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีมติเห็นชอบการกำหนดราคา อ้อยขั้นต้นประจำปี 2558/2559 ตามที่ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อให้ชาวไร่อ้อย ได้รับเงินค่าอ้อยโดยเร็ว และให้เกษตรกรรับรู้ ราคาที่สามารถขายได้ เนื่องจากขณะนี้โรงงาน น้ำตาลทรายได้ทยอยเปิดหีบอ้อยตั้งแต่เดือนพ.ย.

          โดยแบ่งเป็น 2 ราคาคือเขต5 (สุพรรณบุรี) และ เขต 8 (ชลบุรี) กำหนดไว้ที่ 773 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอสและกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 46.38 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่โรงงานจะได้เท่ากับ 331.29 บาทต่อตัน

          ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นในอีก อีก 6 เขตคือ เขตที่ 1,2,3,4,6,7 และ 9 นั้น อยู่ที่ 808 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 48.48 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน ขณะที่ ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่โรงงานจะได้เท่ากับ 364.29 บาท ต่อตัน โดยการประกาศราคาอ้อยเป็น 2 ราคา โดย เฉพาะในเขตที่ 5 และ 8 เนื่องจากทางโรงงานได้ รายงานว่า ในเขตที่ 5 โรงงานที่ผลิตมีประสิทธิภาพ เครื่องจักรนั้นต่ำกว่าโรงงานในเขตอื่นๆ ทำให้ สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้น้อยกว่า  ส่วนเขต ที่ 8 ที่ชลบุรี ได้หยุดการผลิตมาแล้ว 3 ปี

          ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นต้นครั้งนี้ เมื่อผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไป สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล จะต้องดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อ ให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้โรงงานน้ำตาลจะได้ จ่ายเงินค่าอ้อยให้กับชาว ไร่อ้อยต่อไป ประกอบกับในปีนี้มีกำหนดเริ่มการเปิด หีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 ในวันที่ 25พ.ย.2558 จึงต้องเร่งรัดการประกาศราคาอ้อยขั้นต้นให้สอดคล้องกัน

          ก่อนหน้านี้ 3 สมาคมน้ำตาลได้ออกมาคัดค้านการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 2 ราคา เพราะเกรงว่าจะสร้างความแตกแยกในอุตสาหกรรมน้ำตาลในการนำอ้อยเข้าโรงงาน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ส่องเกษตร : มุ่งที่การบริหารจัดการน้ำที่ดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 อีกครั้งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 43/2558 โอนสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.)จากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯให้ไปรวมกับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คำสั่งระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจเสนอแนะจัดทำนโยบายและแผนและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ บริหารจัดการ พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู รวมทั้งควบคุมดูแลกำกับ ประสาน ติดตาม ประเมินผลและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ พัฒนาวิชาการ กำหนดมาตรฐานและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำทั้งระดับภาพรวมและระดับลุ่มน้ำ เพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นเอกภาพและยั่งยืน ซึ่งขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว ดังนั้น จึงสมควรโอน สบอช.ไปรวมกับสำนักงานเลขาฯคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำโดยรวมของประเทศ

ฟื้นความจำสักนิด สบอช.หน่วยงานที่ตั้งขึ้นยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” หลังจาก “เอาไม่อยู่” กับน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ที่สร้างความเสียหายอภิมโหฬารให้ประเทศไทย จึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องสภาพภูมิอากาศ,น้ำ,ภัยพิบัติและทรัพยากรธรรมชาติมาทำงานร่วมกันภายใต้ระบบ“ซิงเกิลคอมมานด์” ทั้งเป็นสำนักงานและฝ่ายเลขานุการดูแลเมกะโปรเจกท์ยักษ์เรื่องน้ำได้แก่โครงการบริหารจัดการน้ำวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯในเวลานั้น เป็นผู้ดูแลและตั้งใจจะแปลงโฉม สบอช.ให้เป็น “กระทรวงน้ำ”ต่อไป...ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่ดี

แต่ในทางปฏิบัติ โครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านที่ผลักดันมา กลับเต็มไปด้วยข้อครหาทั้งทุจริตผิดขั้นตอน ผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนก่อสร้างในแวดวงนักการเมือง และข้าราชการ อีกทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาวซึ่งยากต่อการแก้ไข มีประชาชนได้รับกระทบจากโครงการและเกิดปัญหาความแตกแยก ถูกต่อต้านหนักจากทุกเวที จนศาลปกครองมีคำสั่งให้รับฟังความคิดเห็นประชาชนให้รอบด้านก่อน โครงการจึงพับไป

กระทั่งยุค คสช.กลุ่มนักวิชาการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯนำโดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทานและนายบัญชา ขวัญยืน ประธานอนุกรรมวิศวกรรมแหล่งน้ำ เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอเร่งด่วนการจัดการน้ำต่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้ทบทวนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และขอให้ยุบ สบอช.

นี่เป็นที่มาที่ไป นำมาสู่คำสั่งยุบรวมสบอช.ดังกล่าว ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปคือ การบริหารจัดการน้ำภายใต้รัฐบาลยุคนี้ จากนี้ไปจะมีประสิทธิภาพดีขึ้นแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาหรือ TDRI ได้นำเสนอผลศึกษาน่าสนใจเรื่อง “น้ำท่วม น้ำแล้ง กับการบริหารจัดการน้ำ” ที่ผมเคยนำมาสรุปไปแล้วครั้งหนึ่ง หัวใจหลักๆ มีการวิพากษ์การแก้ไขปัญหาเวลาเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้ง ที่รัฐบาลทุกยุคมักนึกถึงเพียงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ฟลัดเวย์ เขื่อน ฝาย บ่อน้ำ ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก คือ การบริหารจัดการน้ำที่ดีพอ ทั้งที่มีความสำคัญมากและทำได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่กล่าวมาซึ่งล้วนมีผลกระทบ

 ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ไม่มากก็น้อย

ล่าสุด ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการคนสำคัญของ TDRI เขียนบทความย้ำเรื่องนี้ในชื่อ “น้ำท่วม น้ำแล้ง กับการบริหารจัดการน้ำ (อีกครั้ง)” ผมอ่านเจอในสำนักข่าวอิศรา เนื้อหาดีมาก ท่านที่สนใจไปหาอ่านดูละเอียดได้ โดยมีการนำเสนอการบริหารจัดการน้ำที่ดี มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ประเทศชั้นแนวหน้าในด้านการบริหารจัดการน้ำเช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น แล้วเปรียบเทียบดูจุดอ่อนของไทยที่ยังทำได้ไม่เป็นสากล

สิ่งที่ผมอยากตอกย้ำตรงนี้คือ รัฐบาลที่ผ่านมาๆอ้าง “บูรณาการบริหารจัดการน้ำ” แต่กลับนิยมแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งด้วยโครงการ “สิ่งก่อสร้าง” ต่างๆ เหมือนเช่นโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า เพราะแอบแฝงด้วยการหาผลประโยชน์ กลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายไป

ก็หวังว่า รัฐบาลคสช.ยุคนี้ จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดีเป็นสำคัญ แม้จะปฏิเสธเรื่องสิ่งก่อสร้างไม่ได้ แต่ก็ต้องทำอย่างรอบคอบ โปร่งใส ผ่านการศึกษาอย่างดี คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเป็นสำคัญ...หวังว่าจะไม่เหมือนรัฐบาลผ่านๆ มาที่มุ่งหวังแต่การหา“เงินทอน”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ตั้งศูนย์เกษตรฯ มุ่งเกษตรกรยั่งยืน

เกษตรกรคนเก่ง : ตั้งศูนย์เกษตรฯ มุ่งเกษตรกรยั่งยืน : โดย...ธานี กุลแพทย์

                      จากแนวคิดสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยก่อตั้งศูนย์เกษตรยั่งยืนมากว่า 10 ปี เพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้ตัวเองและเพื่อนเกษตรกร พร้อมมุ่งพัฒนาส่งเสริมให้มีความรู้เพิ่มขึ้นของสามีภรรยา นายผ่าน-นางพรรณพิมล ปันคำ ส่งให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลในฐานะครอบครัวปราญช์เกษตรแห่ง ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

                      นายผ่าน ปันคำ เล่าย้อนถึงก่อนตั้งศูนย์เกษตรยั่งยืนที่ 60 หมู่ 7 ต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่าครอบครัวทำอาชีพการเกษตรมีปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำ ทำให้ต้องไปกู้เงินธนาคารมาลงทุน แต่ด้วยภรรยาเป็นคนที่ใฝ่รู้โดยเฉพาะสนใจทำเกษตรผสมผสาน จึงหาข้อมูลและนำความรู้นั้นมาทดลอง โดยเริ่มปี 2545 สมาชิกเริ่มแรก 30 คน กระทั่งเป็นศูนย์เกษตรยั่งยืนที่มีสมาชิกนับร้อยคนในทุกวันนี้

                      ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 14 ไร่ เปิดโรงเรียนชาวนา ปลูกพืชสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกไม้ผลหลากชนิด มุ่งลดการใช้สารเคมีทุกชนิด ขณะเดียวกันก็หันใช้วัสดุจากธรรมชาติ ทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ ฯลฯ เมื่อทิศทางดีขึ้น 3-4 ปีต่อมาจึงพัฒนามาเป็นศูนย์เกษตรยั่งยืนดังกล่าว พร้อมเปิดให้เพื่อนเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่เข้าเยี่ยมชม โดยทั้งสองคนคอยให้ความรู้และเมื่อมีเวลาว่างทั้งคู่มักได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรเผยแพร่การทำเกษตรผสมผสานตามจังหวัดต่างๆ เป็นประจำ

                      ผลงานการเกษตรที่โดดเด่นต่อเนื่องยาวนานนับ 10 ปี ของคนคู่นี้ ทำให้นางพรรณพิมล ปันคำ ได้รับรางวัลโล่พระราชทาน รองชนะเลิศเกษตรทฤษฎีใหม่ประเภทกลุ่ม, รางวัลโล่เกียรติคุณ หนึ่งความดีใต้ร่มพระบารมี, รางวัลผู้หญิงเก่งสาขานักพัฒนา ด้านนายผ่าน ปันคำ ได้รับรางวัล “อิสระเมธี” จากมูลนิธิวิมุตตยาลัย จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

                      อย่างไรก็ตามเกษตรกรท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมติดต่อได้ที่ศูนย์เกษตรยั่งยืน ต.ศรีเมืองชุม โทร.08-1025-5598

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.ไฟเขียวพันล้านอุ้มเกษตรกร คลุม10ภัยพิบัติ-ย้อนหลัง16เดือน

 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขออนุมัติงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค.57 ถึงเดือน มิ.ย.58 รวม 1 ปี 4 เดือน ครอบคลุม 10 ภัยพิบัติ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยฝนแล้ง ภัยทิ้งช่วง วาตภัย ศัตรูพืชระบาด โรคระบาด อัคคีภัย โรคระบาดของสัตว์ และภัยอื่นๆ โดยภัยแล้ง ภัยฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง มีความหนักเบาของสถานการณ์แตกต่างกัน แต่ต้องมีการกำหนดอย่างละเอียด เพราะเป็นเทคนิคทางข้อกฎหมายที่จะต้องครอบคลุมภัยที่เกิดขึ้นในแต่ละประเภท บางครั้งอาจไม่ถึงขั้นภัยแล้งแต่เป็นภัยฝนแล้ง หากเบาลงไปกว่านี้จะเป็นลักษณะฝนทิ้งช่วง ส่วนภัยอื่นๆ อาทิ ช้างป่าทำลายพืชผลการเกษตร ถือว่าครอบคลุมทั้ง 10 ภัยนี้ด้วย

"การขออนุมัติงบฯ กลางทั้ง 10 ภัยดังกล่าว จะอยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัด แยกเป็นภาคอีสาน 8 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และศรีษะเกษ ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง และสุโขทัย ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุราษฎร์ธานี และภาคกลาง 1 จังหวัด คือ นครสวรรค์" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ทั้งนี้ ในการของบฯ กลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรครั้งนี้ จะสามารถดูแลผู้ที่ประสบภัยครอบคลุมทั้ง 10 ภัย ได้จำนวนทั้งสิ้นเกือบ 147,000 ราย แยกเป็น เกษตรกรในกลุ่มปลูกพืช มี 143,280 กว่าราย กลุ่มประมง 2,306 ราย และกลุ่มปศุสัตว์ 1,414 ราย เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,106,000,000 บาทเศษ ซึ่งความจำเป็นที่ต้องมาของบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ เพราะเงินทดรองราชการของกระทรวงการคลัง ตามระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินปี 2556 ยังไม่ครอบคลุมภัยทั้งหลายเหล่านี้ เนื่องจากเกินระยะเวลา ขณะเดียวกันมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ให้ขยายระยะเวลาในระเบียบกระทรวงการคลังให้มันครอบคลุมภัยที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ได้หรือไม่ ทางผู้เกี่ยวข้องบอกว่าไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของระเบียบกระทรวงการคลัง ที่ไว้ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาฉุกเฉิน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า กรณีนี้ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานที่ประชุม ครม.มีข้อสั่งการเพิ่มเติม ในขั้นของการตรวจสอบ จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือในเขตภัยพิบัติอื่นช่วงเวลาเดียวกัน มีการตรวจสอบให้ชัดเจนในขั้นของการจ่ายเงินลงไป ว่าเป็นความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริงกับเกษตรกร รวมทั้งงบฯ ทุกบาททุกสตางค์จะต้องไม่รั่วไหลก่อนถึงมือประชาชน นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะต้องไปปรับแก้ไขระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินปี 56 ให้ครอบคลุมทั้ง10 ภัยด้วย เพื่อในอนาคตจะได้ไม่ต้องมาขออนุมัติงบกลางอีก

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ไทยรับประโยชน์บาท-หยวน

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลก มีผลตั้งแต่เดือน ต.ค.59 เป็นต้นไปนั้น

ถือว่าเป็นการยืนยันบทบาทของจีน และของเงินหยวนในเวทีการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และนับเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย“กรณีดังกล่าว อาจมีผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินของโลกไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง ตามสกุลเงินหลักของโลกแต่คาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป”ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้า การลงทุนจากการที่จะใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป

เพราะจากนี้ไป ความสนใจในการใช้เงินหยวน เพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุน จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวก คล่องตัว ที่เพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีน ตามลำดับ และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ

นายเมธี กล่าวว่า ในส่วนของ ธปท. ได้เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 53 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้เงินหยวน เป็นทางเลือกในการชำระเงิน สำหรับการค้า การลงทุนระหว่างไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้ทำข้อตกลงบีเอสเอกับจีน วงเงิน 70,000 ล้านหยวน หรือ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวน หากระบบการเงินไทยต้องการ โดยในส่วนของทางการจีนนั้น ได้แต่งตั้งธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นธนาคารเพื่อการชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบริหารสภาพคล่องเงินหยวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เขื่อนอุบลรัตน์วิกฤตแล้ง! สั่ง 4 จังหวัดโดยรอบงดทำนาปรังตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้ 

สภาพน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 200 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 เท่านั้น

         ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คณะบริหารจัดการน้ำขอนแก่นประกาศสั่งห้ามเกษตรกรในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงรวม 4 จังหวัดงดทำนาปรังตั้งแต่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป หลังเขื่อนอุบลรัตน์วิกฤตหนัก เหลือน้ำแค่พอใช้อุปโภค-บริโภคเท่านั้น

               นายทรงวุฒิ กิจขจรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เหลือปริมาณน้ำเพียง 781 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุเท่านั้น โดยมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้อยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 8 ของปริมาณน้ำใช้งานทั้งหมด

               ภายหลังจากการประชุมร่วมกันระหว่างคณะบริหารจัดการน้ำของจังหวัดขอนแก่น ได้มีมติให้เกษตรกรงดทำนาปรัง และปลูกพืชฤดูแล้ง ในเขตพื้นที่ชลประทาน หนองหวาย และมหาสารคาม ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559

                ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อเกษตรกรใน จ.ขอนแก่น หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ทั้งนี้ขอยืนยันปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์เพียงพอแค่สำหรับการอุปโภค-บริโภค และผลิตประปาเท่านั้น

               นายทรงวุฒิกล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกลงมาน้อยมาก ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนลดลง จากที่เฉลี่ยแล้วน้ำควรจะไหลเข้าเขื่อนประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ในปีนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียง 500 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝากถึงเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้อุปโภค-บริโภค

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.เห็นชอบ กำหนดสินค้าเกษตร เป็นสินค้าตาม พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2558 เวลา 14.00 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ กรณีการกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยให้ "สินค้าเกษตร หมายถึง ผลิตผลทางเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลิตผลทางเกษตรกรรม" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558

ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 ว่า เพื่อให้มีการรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) กับบริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยกำหนดให้ยุบเลิก AFET เพื่อมารวมกับ TFEX และให้มีการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะช่วยขยายช่องทางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งยังเป็นผลดีในด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ของประเทศ

โดยพระราชบัญญัติยกเลิกฯ ได้กำหนดหลักการให้ TFEX ดำเนินการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงควบคู่ไปกับ AFET เพื่อให้การดำเนินการรวม TFEX และ AFET เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ยังไม่ได้มีการกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิง ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงต้องประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ เพื่อให้ TFEX สามารถทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ ยังได้มีการกำหนดประเภทของสินค้าและตัวแปรไว้ 7 ประเภท ได้แก่ หลักทรัพย์ ทองคำ น้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีทางการเงิน และดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ และต่อมาคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดสินค้าและตัวแปรเพิ่มเติม เพื่อรองรับการพัฒนาตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทยให้เกิดศักยภาพในเชิงแข่งขันได้ในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

กลุ่มเกษตร-อุตฯแปรรูป77จังหวัดยื่นหนังสือด่วน"ประยุทธ์"เบรคกม.จีเอ็มโอ หวั่นกระทบส่งออกวูบหมื่นล.

กลุ่มเกษตรกรรายย่อย 77 จังหวัด-เอ็นจีโอ-อุตสาหกรรมแปรรูป-นักวิชาการ รวมตัวยื่นหนังสือถึงนายกฯประยุทธด่วน เบรคกฎหมายจีเอ็มโอ ชี้เป็นสงครามการค้าที่ทำลายสถานะประเทศ แถมกฎหมายยังมีช่องโหว่เพียบ ด้านโรงงานแปรรูปหวั่นกระทบยอดส่งออกผัก-ผลไม้ไทยกว่า 10,000 ล้านวูบ

ผู้สื่อข่าว"ประชาชาติธุรกิจ"รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้เปิดเวทีวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ....ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 และกล่าวว่า

 พรบ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 กำหนดให้สภาเกษตรกรแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่โดยที่“ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ.........” เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจีเอ็มโออันส่งผลกระทบโดยตรงกับการทำเกษตรอินทรีย์ จึงได้นำร่าง พรบ.ดังกล่าวมาเปิดเวที เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมปรึกษาหารือ วิเคราะห์ในประเด็นที่จะส่งผลต่อเกษตรกรเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด    และกำหนดจุดยืน เพื่อเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี  กล่าวว่า จะเสนอให้รัฐบาลชะลอร่างกฏหมายฉบับนี้แล้วนำกลับมาทบทวนใหม่ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาอย่างละเอียด เพราะห่วงว่าจะควบคุมการดำเนินการในภาคสนามไม่ได้  เมื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมจะเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ทักท้วงในเรื่องนี้ไว้  ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า  นอกจากนี้ใน 21 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศได้เตรียมการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้แล้ว

นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในขณะที่รัฐผลักดันเกษตรอินทรีย์ให้ยั่งยืน แต่การอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพของ ครม.กลับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ในการให้ผลผลิตที่ดีไม่มีความเป็นไปได้เลย การปนเปื้อนจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือในตลาดโลก

ส่วนตัวแทนเกษตรกรรายย่อย กล่าวว่า การผลักดันกฏหมายจีเอ็มโอนี้ นอกจากจะเป็นการทุบหม้อข้าวตนเองแล้ว  ยังเป็นการเผาบ้านตัวเองอีก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร จึงขอวิงวอนรัฐพิจารณายับยั้งไตร่ตรองถี่ถ้วนก่อน ขณะที่ตัวแทนกลุ่มกรีนพีซ ได้ขอให้ชะลอร่างกฏหมายนี้เช่นกัน เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา  พืชจีเอ็มโอไม่ได้ตอบโจทย์ชาวโลกเลย นอกจากบริษัทที่ดำเนินการตัดแต่งพันธุกรรม

นายอรรถพล เลิศวาณิชดิลก ผู้จัดการสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกกฏหมายฉบับนี้ การส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และส่วนใหญ่ ผู้ได้รับผลกระทบเป็นเกษตรกรรายย่อย

นายปรีชา จงประสิทธิพร ผู้จัดการฝ่ายวัตถุดิบ บริษัท ผลิตข้าวโพดหวานส่งออก จำกัด จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า โพสิชั่นของประเทศไทยคือ ครัวของโลก ลูกค้าซื้อข้าวโพดหวานของไทยคือ ยุโรปและญี่ปุ่น เนืองจากผลิตได้เพียง 4-5 เดือน แต่ไทยผลิตได้ตลอด 365 วัน มูลค่าการส่งออกข้าวโพดหวานของไทยตกปีละหนึ่งหมื่นล้านบาท เมื่อกฏหมายนี้ออกมาจะเอื้ออำนวย ผู้ทำไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องชดเชยความเสียหาย  เกสรปลิวไปตกที่ใดก็มีปัญหาแล้ว  ยุโรปต้องการพืชจีเอ็มโอน้อยมาก บางประเทศแบนไม่ให้เข้า ดูตัวอย่างอย่างจากมะลอจีเอ็มโอ ไทยยังคุมไม่ได้  เยอรมนีมีการตรวจสอบทุกครึ่งปี และของไทยถูกตีกลับทั้งลอตมาแล้ว ข้าวโพดหวานที่เกษตรกรไทยปลูกตั้งแต่กาญจนบุรีไปจนถึงเชียงใหม่ เชียงราย มีเกษตรกรปลูกกว่า 5 หมื่นครอบครัว หากมีการปนเปื้อนมาก ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคือ เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ห้ามปลูกพืชGMOอย่างแพร่พลาย มีการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ GMO ฉะนั้นเมื่อมีกฎหมายGM ออกมาจะเปลี่ยนสถานะของประเทศ ไปเป็นสถานะของประเทศที่อนุญาตให้มีการนำเข้าพืช GMO อนุญาตให้มีการเพาะปลูกพืช GMO ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงสถานะแบบนี้ การออกกฎหมายจำเป็นต้องมีความรอบคอบ จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างดี แต่จากการพิจารณากฎหมายฉบับนี้พบว่า มีข้อบกพร่อง และปัญหาค่อนข้างมาก

สรุปได้ 5 ข้อ ได้แก่ 1. การมี จีเอ็มโอและไม่มีจีเอ็ม ในประเทศเดียวกัน กฏหมายต้องมีความเข้มแข็ง และรอบคอบในการดูแลจริงๆ 2.บัญชี จีเอ็มโอที่จะปลดปล่อยหรือไม่ปลดปล่อยออกสู่ภาคสนาม จำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ให้ชัดเจน และต้องเขียนในกฎหมายด้วย 3. พืชจีเอ็มที่จะทดสอบภาคสนาม ต้องระบุชัดเจนว่า จะมีมาตรการในการดูแลอย่างไร  เนื่องจากวิธีการควบคุมตามมติครม.ที่เคยใช้ไม่เพียงพอ เพราะผลการศึกษาจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งกรีนพืซมีข้อมูลระบุตรงกันว่า มีการเล็ดลอดออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ต้องไปพิจารณาถึงความชัดเจน ต้องเข้มงวดในการควบคุม4.ต้องมีการติดฉลากบอกผู้บริโภคให้ชัดเจน ครบถ้วนในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จีเอ็ม 5.ในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายนั้น ต้องใช้หลักการของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคไม่ใช่คนพิสูจน์ ผู้ขายต้องเป็นผู้พิสูจน์ 

  จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อย 773-808 บ./ตัน อนุมัติลงทุนคมนาคม 1.7 ล้านล้านบ.

ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 808 บ./ตันอ้อย ยกเว้นเขต 5 ที่ 773 บ./ตันอ้อย พร้อมไฟเขียว 20 โครงการลงทุนเร่งด่วนคมนาคมขนส่ง 1.7 ล้านล้านบาท...

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นปี 2558/59 ไว้ 2 ราคา คือ เขต 5 (สุพรรณบุรี) ที่กำหนดไว้ที่ 773 บาท/ตันอ้อย ที่ระดับความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส หากความหวานเพิ่มหรือลดให้บวกหรือลบ 46.38 บาท/1 หน่วยซีซีเอส/ตัน

ส่วนราคาคำนวณเขตอื่นๆ อีก 8 เขต อยู่ที่ 808 บาท/ตันอ้อย ที่ระดับความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส หากความหวานเพิ่มหรือลดให้บวกหรือลบ 48.48 บาท/1 หน่วยซีซีเอส/ตัน ทั้งนี้ การกำหนดราคาเป็นไปตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และยังเป็นการกำหนดราคาเพื่อให้เกษตรกรสามารถรู้ว่าปลูกอ้อยแล้วควรจะขายได้เท่าใด

“ต้องไปดูฤดูกาลปิดหีบอ้อยช่วง พ.ย.59 ว่าราคาขั้นสุดท้ายอยู่ที่เท่าใด หากราคาขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาขั้นต้น แปลว่าโรงงานอุตสาหกรรมซื้อไปในราคาสูง กองทุนอ้อยและน้ำตาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยคืนให้โรงงานอุตสาหกรรม"

ทั้งนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดราคาอ้อยไว้ 9 เขตในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% ตามต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อคำนวณราคาจะแตกต่างกันตั้งแต่ 777.26-854.33 บาท/ตัน คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาราคาที่ 99.5% ในเขตที่ต่ำสุดได้ที่ 773.37 บาท/ตัน โดยตัวแทนชาวไร่อ้อยได้เสนอว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ 773 บาท/ตัน เป็นราคาอ้อยของเขต 5 ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 3.82 แสนตัน หรือ 0.35% ของอ้อยทั่วประเทศ หากนำราคาอ้อยต่ำสุดมาประกาศใช้จะทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ได้รับค่าอ้อยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงน่าจะเป็น 2 ราคา

ขณะที่นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) พ.ศ.2559 (Action Plan) ประกอบด้วยแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.7 ล้านล้านบาท.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เงินเฟ้อร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 11 คาดปี 59 ขยายตัวกรอบ 1-2% ศก.โลกฟื้น

ผอ.สนค. เผย เงินเฟ้อเดือน พ.ย. เทียบกับปีก่อนหดตัว -0.97% ส่งผลติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 11 คาด ปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกอยู่ในกรอบที่ 1-2% เชื่อ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ทำราคาสินค้าปรับขึ้น

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 58 นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน พ.ย. 58 อยู่ที่ 106.15 หดตัว -0.97% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.57 ซึ่งติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ตลาดคาดการณ์ -0.9% และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ต.ค.58) CPI หดตัว -0.32% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันดีเซล ผักและผลไม้สด รวมทั้งราคาเนื้อสุกรและไข่ไก่ ที่ปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงเท่าเดิม เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.57 ลดลง 0.97% และเมื่อเทียบเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.58) กับระยะเดียวกันของปี 57 ลดลง 0.90% (AoA)

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) ยังคงขยายตัวสูงขึ้นที่ 0.88% (YoY) ทั้งนี้ มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 153 รายการ ทรงตัว 189 รายการ และลดลง 108 รายการ ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน พ.ย.58 อยู่ที่ 106.13 ขยายตัว 0.88% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.57 และเพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับ ต.ค.58 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.58) ขยายตัว 1.09%

อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และยังอยู่ในกรอบเดิม ที่กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ไว้ที่ -1.0 ถึง -0.2% โดยมีแนวโน้มสูงที่อัตราเงินเฟ้อจะติดลบมากกว่า -0.5% ส่วนแนวโน้ม อัตราเงินเฟ้อในปี 59 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดยอยู่ในกรอบที่ 1-2% เนื่องจากเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ภาวะการค้าและราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะปรับสูงขึ้นกว่าในปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 59 บนสมมติฐานที่สำคัญ ดังนี้ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีหน้าเติบโตได้ 3-4% 2. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยที่ 48-54 ดอลลาร์/บาร์เรล 3. อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 36-38 บาท/ดอลลาร์

สำหรับเดือน พ.ย. 58 ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 114.43 เพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบกับ พ.ย.57 แต่หดตัว -0.63% เมื่อเทียบกับ ต.ค.58 ตามการลดลงของราคา ผลไม้สด ได้แก่ ส้มเขียวหวาน องุ่น ชมพู่ ผักสด ได้แก่ ผักคะน้า ผักชี ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม พริกสด และอาหารสดประเภท เนื้อสุกร ไข่ไก่ ไก่สด รวมทั้งการลดลงของราคาสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสด นมข้นหวาน นมผง นมถั่วเหลือง เครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำตาลทราย น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารเช้า อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) และอาหารแบบตะวันตก (ไก่ทอด พิซซ่า)

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาลดลง 0.16% (MoM) จากการลดลงของราคา น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 E85 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่าทัศนาจรต่างประเทศ เบียร์ น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาล้างจาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น (น้ำยาถูพื้น) ลิปสติก เสื้อเชิ้ตสตรี รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สำหรับสินค้าและบริการที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง (แผ่นไม้อัด กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา สีน้ำพลาสติก) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและของใช้ส่วนบุคคล (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำหอม กระดาษชำระ).

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

'ไร่อ้อย'เร่งครม.เคาะราคาขั้นต้น เชียร์มติกอน.หนุนประกาศ2ราคา ตีกันรง.นาตาลที่ออกโรงคัดค้าน 

          ชาวไร่อ้อย ยื่นหนังสือถึง'อรรชกา' ขอให้เร่งนำราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิต 2558/59 เสนอ ครม.ด่วนสุด เพื่อเห็นชอบตามประกาศ กอน. กำหนด 2 ราคาตามเขต ตันละ 773 บาท และ 808 บาท อ้างเหตุช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบราคารับซื้อจากโรงงานน้ำตาล

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ต้นสัปดาห์นี้ องค์กรชาวไร่อ้อยจะยื่นหนังสือถึงนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอให้เร่งรัดการนำราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/59 เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายได้ทยอยเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รับเงินค่าอ้อยโดยเร็ว ทั้งนี้ ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับราคาอ้อย ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เห็นชอบประกาศราคาอ้อยขั้นต้นปี 2558/59 ไว้ 2 ราคา คือ เขต 5 (สุพรรณบุรี) ที่กำหนดไว้ที่ 773 บาทต่อตัน ที่ระดับความหวาน 10 ซีซีเอส ส่วนราคาคำนวณเขตอื่นๆ อีก 8 เขต อยู่ที่ 808 บาทต่อตัน ดังนั้น กรณีที่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายทำหนังสือร้องไปยังนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆ นี้ โดยอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับราคาอ้อยขั้นต้น ตามที่ กอน.ประกาศไว้ 2 ราคา โดยอ้างว่าจะทำให้เกิดการแย่งอ้อยไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอ เพราะทราบอยู่แล้วว่าปัญหาแย่งอ้อยมีมาตลอด

          "โรงงานน้ำตาลต่างทราบดีว่า ไม่ว่าจะประกาศราคาใด ปัญหาการแย่งซื้ออ้อยมีขึ้นอยู่แล้ว แต่การพิจารณาราคาอ้อยตามเขตนั้นเป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของโรงงานและชาวไร่อ้อยด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกัน" นายธีระชัยกล่าว

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า กอน.ได้กำหนดราคาอ้อยไว้ 9 เขตในอัตราไม่ต่ำกว่า 80% ตามต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อคำนวณราคาจะแตกต่างกัน ตั้งแต่ 777.26-854.33 บาทต่อตัน คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาราคาที่ 99.5% ในเขต

          ที่ต่ำสุดได้ที่ 773.37 บาทต่อตัน โดยตัวแทนชาวไร่อ้อยได้เสนอว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ 773 บาทต่อตันเป็นราคาอ้อยของเขต 5 ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 3.82 แสนตันหรือ 0.35% ของอ้อยทั่วประเทศ หากนำราคาอ้อยต่ำสุดมาประกาศใช้จะทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ได้รับค่าอ้อยน้อยกว่าที่ควรจะเป็นจึงน่าจะเป็น 2 ราคา

          "กอน.จึงเห็นว่าน่าจะนำราคาอ้อยเขตต่ำสุด รองลงมาคือเขต 2 จากที่เหลืออีก 8 เขต ซึ่งอยู่ที่ 812.89 บาทต่อตันมาคิด จึงได้ราคาอ้อยของ 8 เขตที่ 808 บาทต่อตัน ส่วนเขต 5 อยู่ที่ 773 บาทต่อตัน และราคาที่ต่างกัน 35 บาทต่อตัน ไม่มีผลต่อการแย่งอ้อย เพราะค่าบรรทุกอ้อยส่งโรงงานที่ 25 กิโลเมตร (กม.) กับ 50 กม.มีค่าระวางต่างกัน 30 บาทต่อตันอยู่แล้ว หากเลือกไปส่งโรงงานที่ระยะไกลกว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อาจไม่คุ้มก็ได้" นายสมศักดิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ตั้งกองทุนหมื่นล้านปฏิรูปโครงสร้าง อุตสาหกรรมไทยปั้นอุตฯหุ่นยนต์ขึ้นแท่นพระเอกแทนรถยนต์   

          ทีมข่าวเศรษฐกิจ

          ถ้าได้ติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการลงทุนครั้งใหญ่ที่ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศให้ก้าวข้ามการผลิตในรูปแบบเดิมๆ

          โดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทำหน้าที่ช่วยดึงดูดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน และคาดว่าในการประชุม ครม.วันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนฯ โดยกองทุนฯจะมีขนาดใหญ่ถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวเดิมทีเคยมีแนวคิดจะนำเงินจากภาษีบาปมาใช้ในการจัดตั้งกองทุน แต่ล่าสุดทางกระทรวงการคลังขอถอย เพราะไม่อยากให้เป็นที่ครหาในเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ จึงหันมาใช้เงินจากงบประมาณจัดตั้งแทน

          เปิดไอเดียตั้งกองทุนดึง10อุตฯ

          ในฐานะหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้งกองทุน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กองทุนนี้จะเป็นเครื่องมือใหม่ในการดึงเงินลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดย กลุ่มแรก จะเป็นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

          กลุ่มที่สอง เป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่ออนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

          สำหรับวงเงินในกองทุนที่กำหนดไว้ 1 หมื่นล้านบาทนั้นจะไม่ใส่เงินไปก้อนเดียวทั้งจำนวน แต่จะดูจากความต้องการ อาจจะเริ่มที่ 2 พันล้านบาทก่อน จากนั้นทยอยเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าในระยะแรกเงินกองทุนอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งก็น่าจะเพียงพอในการเจรจาดึงนักลงทุนใน 6-7 อุตสาหกรรม จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

          ในการใช้เงินจะมีคณะกรรมการพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการเจรจาและดึงบริษัทที่สนใจมาเข้ามาลงทุนในไทยที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

          กองทุนดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นมิติใหม่ในการให้สิทธิประโยชน์ด้านลงทุน เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์แบบเดิมๆ เริ่มไม่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ และขณะนี้ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นการเฉพาะรายบริษัท หรือรายอุตสาหกรรมที่ต้องการให้มาลงทุนเป็นพิเศษ ดังนั้น กองทุนนี้จะทำให้ไทยมีเครื่องมือในการไปเจรจาดึงเงินลงทุนสู้กับประเทศ อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องของภาษีและสิทธิประโยชน์ของบีโอไอ

          หวังไทยหลุดพ้นเศรษฐกิจถดถอย

          ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แต่งตั้ง นายคณิศ แสงสุพรรณ เป็นหัวหน้าคณะทำงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน มีโจทย์ให้ค้นหาว่าไทยควรจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างไร เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการของไทยให้มีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างยั่งยืน

          นายคณิศกล่าวว่า จากการระดมสมองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานอื่นๆ รวม 15 แห่ง เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังอ่อนแอในขณะนี้เกิดจากการลงทุนที่น้อยมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด

          ขณะนี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดในอาเซียน 2 ปีติดกันตั้งแต่ปี 2556-2557 และกำลังแย่งอันดับต่ำสุดกับสิงคโปร์ในปี 2558 ส่วนมูลค่าการส่งออกที่เคยขยายตัว 14% ต่อปีในช่วงปี 2541-2550 ลดลงเหลือเพียง 5% ต่อปีในช่วงปี 2551-2557 และคาดว่าการส่งออกจะติดลบ 5% ในปี 2558 นี้

          การลงทุนที่ไม่ต่อเนื่องเริ่มส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบเทียบในอดีตเมื่อช่วงปี 2537-2548 การลงทุนของไทยขยายตัว 9-10% ต่อปี ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนไทยกลับขยายตัวเพียง 2% ต่อปี เป็นผลจากการลงทุนเอกชนที่ลดลงต่อเนื่องจาก 10-15 ปีก่อน ที่เคยขยายตัว 14% ล่าสุดเหลือเพียง 3% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 2-3% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าศักยภาพมาก

          ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเต็มศักยภาพ และแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จำเป็นที่จะต้องผลักดันการลงทุนไทยให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

          ปรับรูปแบบส่งเสริมลงทุน

          นายคณิศกล่าวต่อว่า ไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ซึ่งจากการพูดคุยกับนักลงทุนและเจ้าของเทคโนโลยีที่สำคัญทั่วโลกกว่า 70 ราย สรุปได้ว่าไทยต้องเจรจาต่อรองการลงทุนแบบเฉพาะราย เน้นในรายที่เห็นว่ามีความสำคัญหรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยี เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่มีชื่อเสียงที่ไทยต้องการให้เข้ามาลงทุนเป็นพิเศษ

          รวมถึงต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากเดิมหน่วยงานราชการไทยคิดมาตรการไว้แล้วรอให้นักลงทุนเดินเข้ามาหา แต่ในสิงคโปร์ มาเลเซียนั้น หากเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญเขาจะเดินไปหา ไปคุยและเสนอเงื่อนไข พร้อมทั้งรับฟังว่านักลงทุนต้องการอะไร เพื่อให้อุตสาหกรรมนั้นตัดสินใจเข้าไปลงทุน

          การเจรจาต้องสามารถปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามความสำคัญและผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ เช่น สามารถสร้างฐานการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้มาก หรือเพิ่มความสามารถในการสร้างความรู้ให้กับภาคเกษตรแบบที่ไทยไม่เคยมีมาก่อน  โดยพบว่ามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมระดับสูง อาทิ กรณีการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ดังนั้นอาจต้องเปิดมหาวิทยาลัยมารองรับเป็นการเฉพาะ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าให้กับผู้บริหาร และนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในไทยเป็นการเฉพาะ

          อัดสิทธิประโยชน์มากกว่าบีโอไอ

          นายคณิศให้ความเห็นถึงกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายว่า กองทุนนี้ ช่วยทำให้ไทยสามารถเสนอสิทธิประโยชน์พิเศษให้กับนักลงทุนได้ไม่น้อยกว่าประเทศคู่แข่ง โดยอาจจะให้นักลงทุนกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือนำมาชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะนำมาลงทุน หรือนำไปใช้ ประโยชน์อื่นๆ ที่จะจูงใจให้นักลงทุนสนใจไทย

          นอกจากกองทุนแล้วต้องมีมาตรการเสริมด้านการคลัง อาทิ เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีนิติบุคคล เป็น 10-15 ปี สำหรับโครงการที่มีความสำคัญสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากปัจจุบันที่บีโอไอให้สูงสุด 8 ปี พร้อมทั้งต้องยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญ แก้ไขโครงสร้างภาษีนำเข้า ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยกเว้นภาษีนำเข้า สำหรับของที่นำเข้ามาในไทยเพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบ พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์พิเศษให้นักลงทุนต่างชาติถือครองที่ดินได้ถึง 99 ปี

          ที่สำคัญต้องมีการสร้างตลาดภายในประเทศ เพื่อรองรับทั้ง 10 อุตสาหกรรม เหมือนกับในอดีตที่มีการสร้างตลาดไว้รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ จนทำให้อุตสาหกรรมทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นพระเอกการลงทุนของไทยมานานหลายสิบปี

          ครั้งนี้มีความหวังว่าอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม จะเข้ามาเป็นพระเอกตัวใหม่แทนอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะขณะนี้ทั่วโลกมีความต้องการหุ่นยนต์ที่สูงมาก และมีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ การใช้หุ่นยนต์ในโรงงานถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้ต้นทุนต่ำลง และสอดคล้องกับแรงงานของไทยเริ่มมีจำกัด ซึ่งปัจจุบันไทยมีการนำเข้าแขนหุ่นยนต์ถึง 6 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง 30% ของมูลค่าดังกล่าวนั้นเป็นค่าของความรู้ (Knowledge) ดังนั้นหากสามารถสร้างฐานการผลิตแขนหุ่นในประเทศไทยได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก

          นโยบายส่งเสริมการลงทุนล่าสุดที่ถูกประกาศออกมา ถือเป็นแผนงานหนึ่งของรัฐบาลในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ซึ่งนายสมคิดได้หอบหิ้วข้อสรุปทั้งหมดไปนำเสนอต่อนักลงทุนญี่ปุ่น ระหว่างนำทีมเศรษฐกิจไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

          ซึ่งภาครัฐประกาศว่าถ้าทำสำเร็จจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ (New Growth Engine)

          เรื่องนี้จึงต้องเร่งผลักดันกันอย่างสุดกำลัง เพื่อให้เกิดผลเร็วและแรง เพราะเป็นแผนระยะที่ 2 ของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่นายสมคิดวางโรดแมปไว้

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

เอกชนหวังรัฐกำหนดแผนยุทธศาสตร์การค้า

ประธานสภาผู้ส่งออก หวังรัฐกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้าของรัฐบาล ลดผูกขาดสินค้า

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ( สภาผู้ส่งออก) หรือ สรท. เปิดเผยว่า การเติบโตของภาคการส่งออกในปี 2559 ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้าของรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าของประเทศ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานจะมีการประชุมในวันที่ 4 ธันวาคม นี้ โดยเอกชนหวังให้มีการกำหนดและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้า ยกเลิกผูกขาดหมวดสินค้า เพื่อให้มีการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม เพื่อให้สินค้าและบริการไทยแข่งขันได้ในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ควรควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน นโยบายการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งระบบ การพัฒนาการท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) อาเซียน +6 ซึ่งหากรัฐบาลเร่งสร้างหุ้นส่วนการค้ากับทุกประเทศอย่างสมดุลจะเป็นความหวังของการส่งออกไทยปี 2559 ให้กลับมาเป็นบวกได้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

รายงานพิเศษ : ‘พิพิธภัณฑ์เกษตรชูพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ระหว่าง4-7ธ.ค.เฉลิมพระเกียรติปีมหามงคล

 กว่า 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่าการดำเนินชีวิตของราษฎรยังมีไม่น้อยที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก โดยเฉพาะที่ประกอบอาชีพหลักคือการเกษตรกรรม ที่ต้องพบเจอปัญหาสำคัญคือเรื่อง “น้ำ” ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง น้ำท่วม

นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถนำพาสังคมไทยให้รอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้นเป็นประจำทุกปีที่พิพิธภัณฑ์เกษตรฯจะจัดงาน “มหกรรมในหลวงรักเรา” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคมของทุกปี เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความทุ่มเทของในหลวงที่มีต่อปวงชนชาวไทย และซาบซึ้งถึงความรักที่พระองค์มีต่อปวงชนชาวไทยของพระองค์

สำหรับปีนี้พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ เตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 ธันวาคม 2558 ภายใต้แนวคิด มหกรรมในหลวงรักเรา “70 ปีกษัตริย์เกษตร” เศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงทั้งแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ที่จะถึง ซึ่งมหกรรมดังกล่าวถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งพิพิธภัณฑ์หวังว่า มหกรรมดังกล่าวจะเป็นวาระสำคัญในการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการเกษตร และสืบสานพระราชปณิธานทำความดีเพื่อแผ่นดิน ตลอดจนเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวปรัชญาของพระองค์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

โดยกิจกรรมที่น่าสนใจในงานประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “70 ปี พระอัจฉริยภาพด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” นิทรรศการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน ภาพวาดกษัตริย์ เกษตรศิลปะจาก 80 ชั้นนำของเมืองไทย อาทิ ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ ปัญญา วิจินธนสารศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมประจำปี 2557 สมยศไตรเสนีย์ รางวัลศิลปินมรดกอีสานเป็นต้น และนิทรรศการ “เราจะอยู่อย่างไรกับน้ำน้อย น้ำมาก และน้ำเสีย” บทเรียนการประยุกต์ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าจาก 4 ชุมชน ภูมิปัญญาพยากรณ์น้ำ เรียนรู้จากรูปธรรมตามรอยพ่ออย่างพอเพียงในมิติปัจจัยสี่ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย สมุนไพร และพลังงานทางเลือก นวัตกรรมเกษตร การจัดการทุนของชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง และอื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนอบรมวิชาของแผ่นดินทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติการกว่า 50 วิชา (ฟรี) จากปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ อาทิ วิชาการพึ่งตนเองได้ด้วยศาสตร์ของพระราชา” โดย.ผญบ.สมศักดิ์ เครือวัลย์ “ทำนาอย่างไรให้ได้เงินล้าน” โดยชาวนาเงินล้านชัยพร พรหมพันธุ์ “สร้างคลังอาหารเลี้ยงครอบครัวได้ในพื้นที่ 5 ตารางเมตร” โดยขวัญชัย รักษาพันธุ์ และเรียนรู้จากวิทยากรที่ผ่านการปฏิบัติการจริง ทดลองทำจริง ได้ผลจริง ที่มาถ่ายทอดวิชานำไปสู่การพึ่งตนเองได้ในด้านเศรษฐกิจ อาหาร พลังงาน การจัดการทุน เช่น หลักสูตรปลดหนี้ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน เทคนิคปลูกมะนาวไร้ดิน นวัตกรรมพลังงานพึ่งตนเองทำนาอินทรีย์ต้นทุนต่ำ การแปรรูปอาหารในรูปแบบต่างๆ และเรียนรู้นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงผ่านฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เวลา 19.00 น. ขอเชิญร่วมใจจุดเทียนชัยถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันอย่างพร้อมอีกด้วย

นางจารุรัฐ กล่าวด้วยว่า นอกจากกิจกรรมที่น่าสนใจดังกล่าวแล้ว ผู้เข้าชมยังได้เพลิดเพลินกับสาระบันเทิง อาทิ ละคร “ถนนสายกลับบ้านชื่อ พึ่งตนเอง” A road home, called “self-reliance” ที่สะท้อนพลังเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจาก คณะละคร“มรดกใหม่” โดยผู้สร้างและกำกับละครระดับประเทศ ครูช่าง (ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง) สัมผัสมนต์เสน่ห์ของศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง โจนัส แอนเดอร์สัน วงสุพรรณนิการ์โปงลาง วง V R U bigban จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยการแสดง แสง สี เสียง ตระการตา ทุกวัน

พร้อมสุข สนุก เรียนรู้ กับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ “ในหลวงรักเรา” และชมภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติในโรงภาพยนตร์ 120 ที่นั่ง “เรื่องพ่อในบ้านของเรา” ฟรี !! เฉพาะในงานนี้เท่านั้น รวมทั้งเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในอาคารได้ในราคาพิเศษ ได้แก่ “พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม” สะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรมพืชนับพันชนิด “พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร” ทรัพยากรธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างชีวิต “พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ 4 มิติ 270 องศา” ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ของน้ำกับคน และ “พิพิธภัณฑ์ดินดล 360 องศา” ฐานกำเนิดของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ตลอดจนตื่นตาตื่นใจกับความน่ารักของควายยักษ์ คุณค่าและการอนุรักษ์ควายไทย สนุกสนานกับเกมงานวัดย้อนยุค ยิงปืนจุกน้ำปลา ปาโป่ง ตักไข่ สอยดาว ชิงช้าสรรค์ ม้าหมุน บ้านลม ระบายสีตุ๊กตา ระบายสีว่าว ปั้นวัวปั้นควาย เดินกะลา เดินโถงเถก และชิม ชม ช็อป อาหารท้องถิ่น ของกินปลอดภัย ของใช้คุณภาพ และพันธุ์ไม้หลากหลาย จากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ 4 ภาค มากกว่า 200 ร้านค้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถนนพหลโยธินตรงข้ามโรงพยาบาลการุญเวช(นวนครเดิม) จ.ปทุมธานี โทรศัพท์ 09-4649-2333, 08-7359-7171, 02-529-2212 หรือสำรองที่นั่งอบรม 086-901-4638 หรือคลิกดูรายละเอียดใน www.wisdomking.or.th และทาง facebook/ Instagram/Line ID: wisdomkingfan

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ฝนหลวงซ่อมใหญ่เครื่องบิน เตรียมพร้อมปฏิบัติการสู้แล้ง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดซ่อมบำรุงอากาศยานประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ว่า จากที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขภาวะภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ใช้น้ำทั่วไป โดยเริ่มปฏิบัติการทำฝนตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนตุลาคม เป็นประจำทุกปี ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการบินปฏิบัติการทำฝน ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยานจะดำเนินการซ่อมใหญ่อากาศยานประจำปี ซึ่งมีอากาศยานจำนวนทั้งสิ้น 40 เครื่อง แยกเป็นเครื่องบินปีกตรึง จำนวน 33 เครื่อง และแบบเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 7 เครื่อง จะทำการตรวจเช็คบำรุงอากาศยานทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อให้อากาศยานสามารถใช้งานได้ตามปกติ และมีความเป็นมาตรฐาน เริ่มดำเนินการซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมาและจะสิ้นสุดการซ่อมบำรุงในเดือนมกราคม 2559

ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการซ่อมบำรุงอากาศยานให้สามารถพร้อมบินปฏิบัติงานได้ จำนวน 32 เครื่อง และส่วนอีกจำนวน 8 เครื่องได้ทำการส่งซ่อม ณ ต่างประเทศและปลดประจำการรอการจำหน่าย โดยยังคงมีเครื่องบินบางส่วนประจำการที่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการทำฝน และไม่กระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ประสบภัยแล้งในทันที สำหรับเครื่องบินที่ประจำการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จะทำการสลับสับเปลี่ยน เพื่อทำการซ่อมบำรุงด้วยเช่นกัน อันจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ และมีความพร้อมเพื่อบินปฏิบัติงานต่อไป

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

อสค.บูมปุ๋ยอินทรีย์จากน้ำนม

นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ อ.ส.ค.ได้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากน้ำนมตามมติของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมหรือมิลค์บอร์ด โดยนำน้ำนมดิบเสื่อมคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งน้ำนมที่สูญเสียจากกระบวนการผลิตและค้างอยู่ในไลน์ผลิตของโรงงานแปรรูปนม อ.ส.ค. ซึ่งมีประมาณ 5 ตัน/วัน มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำภายใต้แบรนด์ “ดี.พี.โอ.ไฮ-โกร” (D.P.O. Hi-gro) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องการใช้เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช และทำให้ต้นพืชแข็งแรง เพื่อทดแทนและช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการนำของเสียกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าด้วย

ปัจจุบัน อ.ส.ค.มีกำลังการผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากน้ำนม เดือนละกว่า 10 ตันส่วนหนึ่งนำไปฉีดพ่นแปลงหญ้าและต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ อ.ส.ค. ทั้งยังมีการจำหน่ายให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชด้วย โดยขนาดบรรจุ 600 ซีซี ราคา ประมาณ 30 บาท หรือลิตรละ 50 บาท ซึ่งความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่าปุ๋ยน้ำที่วางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ที่สำคัญปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ดี.พี.โอ.ไฮ-โกร ยังอุดมไปด้วยฮอร์โมนและสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช สามารถใช้ได้ผลดีกับพืชผักและผลไม้หลายชนิด ทั้งด้านการเจริญเติบโตช่วยเพิ่มอัตราการออกดอกและติดผล เพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินและช่วยปรับปรุงบำรุงดิน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม หากสนใจปุ๋ยอินทรีย์น้ำ “ดี.พี.โอ. ไฮ-โกร” สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม อ.ส.ค.มวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โทร. 0-3634-1069

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

คมนาคมชงครม.แผนเร่งด่วนขนส่งตะวันออก-ตะวันตก

"ประวิตร"นั่งหัวโต๊ะประชุมคมนาคม เสนอแผนเร่งด่วนลงทุนขนส่งตะวันออก-ตะวันตก "อุตสาหกรรม"ชงกำหนดราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี58/59

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วันนี้( 1 ธ.ค.)จะมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุม โดยวาระการประชุมที่หน่วยงานและกระทรวงต่าง ๆ เสนอเข้ามาให้ครม.พิจารณา อาทิ กระทรวงคมนาคม เสนอแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 หรือแอคชั่นแพลน เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (E – W Corridor)             

กระทรวงการคลังเสนอการประกาศกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2560 / ร่างพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ.... / รายงานผลการกู้เงินในรูป  Euro Commercial Paper(ECP)             

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร(ช่วงประสบภัยเดือนมีนาคม 2557 ถึง เดือนมิถุนายน 2558)                      

กระทรวงอุตสาหกรรม การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี2558/2559  

กระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ...      

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอการขอรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World 2016 / ขออนุมัติให้ประเทศไทยสมัครเข้ารับการคัดเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ในการประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์สมัยที่ 26 / ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ระยะที่ 2 พ.ศ. 2559 -2561         

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ส่งออกเดือดร้อนแบกต้นทุนเพิ่ม สรท.หวั่นท่าเรือไทยตกมาตรฐานสหรัฐ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือหรือสรท. ประเมินส่งออกปี’58 ติดลบไม่ต่ำกว่า 5% ส่วนปี’59 เริ่มฟื้นตัวแต่ยังโตไม่ถึง 2% เหตุเศรษฐกิจยังซบเซา ความขัดแย้งในตุรกียูเครน ซีเรีย ทะเลจีนใต้ แนะรัฐบาล จับตาสหรัฐตรวจสอบมาตรฐานท่าเรือไทย หากสอบตกหรือเจอใบเหลือง ซ้ำเติมไทย ผู้ส่งออกเดือดร้อนแบกต้นทุนเพิ่ม

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากการที่ยอดส่งออกในเดือนตุลาคมลดลง 8.11% ซึ่งเป็นการติดลบสูงสุดในรอบปี ทำให้คาดว่าอีก 2 เดือนสุดท้ายจะมีมูลค่าการส่งออกเดือนละประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยอดส่งออกลดลงเดือนละ 3% ส่งผลให้ทั้งปี 2558 ลดลง 5% เป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 6 ปีและติดลบต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 3

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงของโลก ประกอบกับปัจจัยภายใน ได้แก่ ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ได้รับการพัฒนาและปรับตัวให้ทันต่อถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ซึ่งต้องอาศัยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติและมอบหมายให้มีหน่วยงานรับผิดชอบ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จ

สำหรับในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตไม่ถึง 2%ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะเป็นการเติบโตจากฐานที่ต่ำมากคือติดลบต่อเนื่อง 3 ปี เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและการเงินโลก ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังอ่อนแอ ต้องเพิ่มมาตรการและใช้เวลาอีกพอสมควรในการฟื้นตัว ความผันผวนของตลาดเงินจากการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) การอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมของอียูและญี่ปุ่น และอัตราแลกเปลี่ยน เงินหยวน

2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และ การก่อการร้าย เช่น เหตุการณ์ในกรุงปารีสส่งผลให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำ ความตึงเครียดในซีเรีย ตุรกี ยูเครน ทะเลจีนใต้และอื่นๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั่วโลก และ 3.ภัยธรรมชาติ ซึ่งยากจะคาดการณ์และนับวันจะทวีความรุนแรง ทำให้โซ่อุปทานหยุดชะงัก ธุรกิจเสียหาย ผลผลิตลดลง เศรษฐกิจชะลอตัว

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศดังนี้ 1.การกำหนดและดำเนินแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการค้าโดยทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ เกษตรกรผู้ประกอบการรายเล็ก-รายกลาง-รายใหญ่ ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ต้องเชื่อมโยงกันจนถึงลูกค้าและผู้บริโภคในตลาดโลกอย่างมีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน

2.การดำเนินนโยบายการค้าและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทุกหุ้นส่วนการค้าและทุกประเทศอย่างสมดุล เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยโดยรวม ไม่เน้นประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้สินค้าไทย วิถีไทย คนไทยและชาติไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ไทยต้องเข้าร่วม ทั้งทีพีพีหรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) อาเซียนบวก 6 อียู และอื่นๆ

3.การยกระดับมาตรฐานของประเทศในทุกด้านโดยเฉพาะการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการทำธุรกิจให้ได้มาตรฐานสากล 4.การพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม โดยเฉพาะด้านสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน 5.การปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 6.การรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

“ความสำเร็จของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นและปฏิรูปประเทศในระยะยาวจึงเป็นความหวังสำคัญของภาคการส่งออกไทยในปี 2559 ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามทำอย่างจริงจัง คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้าขณะที่เศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นตามคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้เอกชนมีโอกาสที่จะแข่งขันในตลาดสำคัญเช่น สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี รวมไปถึงตลาดเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รัสเซีย และแข่งขันได้ในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตร อาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวซึ่งช่วยส่งเสริมการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม” นายนพพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สรท. เป็นห่วงการเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานท่าเรือไทยของ US GUARD ในเร็วๆ นี้ ว่ามีมาตรฐานตรงตามที่กำหนดหรือไม่ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย การลักขอบขนส่งสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมายเข้าไปยังประเทศสหรัฐฯ หากไทยไม่ผ่านมาตรฐานและถูกขึ้นบัญชีประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง อาจทำให้เรือขนส่งสินค้าที่ผ่านท่าเรือของไทยจะถูกตรวจสอบเข้มงวด 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ ทำให้เรือไทยใช้เวลาอยู่ในท่านานขึ้น ส่งผลให้มีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นหากประเทศอื่นมีความเป็นห่วงก็อาจจะตรวจสอบเรือจากไทยเข้มงวดแบบที่สหรัฐฯตรวจสอบ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนมากขึ้น เป็นการซ้ำเติมภาพพจน์ของประเทศไทยหลังจากถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือด้านความปลอดภัยทางการบินจาก ไอเคโอ และถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 ของประเทศที่มีการค้ามนุษย์

“รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากพลาดถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือถูกใบเหลือง ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในวงกว้างซ้ำเติมทำให้ต่างชาติขาดความมั่นใจไทย หลังจากที่ไม่ผ่านมาตรฐานของ ไอเคโอ ไม่ผ่านมาตรฐานของ ไอยูยู ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย และมาตรฐานการค้ามนุษย์จากสหรัฐฯมาแล้ว” นายนพพรกล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

ดันไทยศูนย์กลางระดมทุนอาเซียน

  นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประเทศไทยรวมทั้งประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) มีความจำเป็นใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จะหวังพึ่งพาแหล่งเงินจากสถาบันการเงินคงไม่เพียงพอ ดังนั้น ตลาดทุนจึงมีความสำคัญมากในการเป็นช่องทางการระดมทุน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า จะจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยกลาง ธ.ค.นี้ จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานและประกาศใช้แผนได้ภายในต้นปี 59

สำหรับแผนพัฒนาตลาดทุน จะเน้นการยกระดับตลาดทุนไทยใน 10 ปีข้างหน้า ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐได้และต้องยกระดับให้ตลาดทุนไทยเป็นศูนย์กลางการระดมทุนของประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศจีเอ็มเอส ที่ต้องการใช้เม็ดเงินในการพัฒนาประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้มีเป้าหมายให้ตลาดหุ้นไทย มีระดับใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นตลาดชั้นแนวหน้าในภูมิภาค เชื่อมโยงกับตลาดหุ้นที่ทันสมัยและสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

“แผนพัฒนาตลาดทุนต้องรองรับการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เพราะไทยยังต้องการเม็ดเงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก และต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่หลากหลายเพื่อรองรับการระดมทุนที่จะเกิดขึ้น ทั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์สฟันด์หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์ในเชิงอนุพันธ์ เพื่อทำให้ไทยมีแหล่งระดมทุนเพิ่ม โดยไม่ต้องพึ่งการลงทุนรัฐบาล ขณะเดียวกัน ตลาดทุนไทยต้องเป็นตัวอย่าง และมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งระดมทุนของกลุ่มประเทศจีเอ็มเอส”

นายสมชัย กล่าวถึงความคืบหน้า การตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ของภาครัฐมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานว่า ยังเร่งดำเนินการอยู่ ซึ่งต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ให้สามารถดำเนินการได้หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเลือกโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน ธ.ค.นี้ ซึ่งในกองทุนดังกล่าวจะมีการประกันผลตอบแทนบางส่วนเพื่อสร้างแรงจูงใจส่วนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่า 10,000 ล้านบาท นั้น คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้า ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558