http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนธันวาคม 2561)

สศก.ร่วมเวที‘COP24’ l ถกแผนภาคเกษตรรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะผู้แทนการเจรจา

ของกระทรวงเกษตรฯเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 24 (COP 24) ระหว่างวันที่ 2-8 ธันวาคม 2561 ณ เมืองคาโตวีเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร (Issues Related to Agriculture) และแนวทางการดำเนินงานเรื่อง “แผนปรับตัวแห่งชาติ” (National Adaptation Plan) ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเป็นการดำเนินงานภายใต้“การทำงานร่วม Koronivia” (Koronivia Joint Work program on Agriculture) ซึ่งการเจรจามุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ อาทิ ที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดการมูลสัตว์ ความมั่นคงด้านอาหาร และภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม Roadmap ภายในปี ค.ศ.2020 ด้านประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เน้นความต้องการให้ประเทศภาคีตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูง โดยเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิ

การถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านประเทศพัฒนาแล้วในรูปแบบศูนย์ข้อมูลกลาง การดำเนินการร่วมกันขององค์กรภายใต้

UNFCCC และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund เพื่อรับมือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตร อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบและข้อสรุปที่ได้จากการเจรจาฯ เตรียมจัดทำเป็นท่าทีในการเจรจาตามแนวปฏิบัติของประเทศภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติภายใต้กลุ่ม 77 และจีน (G77 and China) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป ขณะนี้ สศก.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนภูมิอากาศด้านการเกษตร ที่เน้นการปรับตัวและผลประโยชน์ร่วมซึ่งสามารถส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยตามรายงานฉบับ 2 ปี ของประเทศไทย พบว่า ภาคการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHGs) ร้อยละ 17.32 ในปี 2015 ลดเหลือร้อยละ 15.98 ในปี 2017

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 ธันวาคม 2561

ระวัง!!! พืชเกษตรป่วนรัฐบาลใหม่ รอวันกดปุ่ม “ม็อบ”

การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 นี้ ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ เหมือนปีหมู   เพราะมีเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่อง ที่ท้าทายการทำงาน  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน  ที่ขณะนี้เดินไปทางไหนก็ได้ยินแต่เสียงบ่นจากกลุ่มรากหญ้าว่าข้าวของแพง  ค่าใช้จ่ายพุ่ง  เงินในกระเป๋าลดลง

และที่มองข้ามไม่ได้ คือการเข้ามาแก้ปัญหาราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร ที่เวลานี้มีพืชเกษตรหลายตัวที่ราคาไม่ขยับ  จนเกษตรกรหลายกลุ่มเริ่มมีเสียงฮึ่ม! ฮึ่ม! ออกมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา  แต่ที่น่าจับตาหลังเลือกตั้งผ่านไปสักระยะ ทิ้งช่วงจังหวะให้รัฐบาลใหม่แสดงบทบาท  เชื่อว่าหลังจากนั้น ถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถปลดล็อกปัญหาเดิมๆได้ !  การเคลื่อนไหวของม็อบเกษตรกรเกิดขึ้นแน่  ไม่กลุ่มใดก็กลุ่มหนึ่งต้องลุกฮือขึ้นมา!

-5กลุ่มราคายังปลุกไม่ขึ้น

ย้อนกลับมาดูปัญหาจากภาคเกษตรกร ไล่เลียงพืชเกษตรเด่นๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวตลอดปี 2561 มีหลายตัว ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ตั้งแต่ราคา สับปะรด  อ้อย  ปาล์ม  มะพร้าว  ยางพารา แม้บางกลุ่มขยับได้บ้างเล็กน้อย  แต่ชาวไร่ ชาวสวนบอกว่ายังไม่คุ้มทุน  ลงทุนไปเยอะแต่ผลสะท้อนกลับยังอยู่ในภาวะขาดทุนกันเป็นแถว

ไล่ตั้งแต่ราคาสับปะรดในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 2.98 บาทต่อกิโลกรัม (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี)  จากที่เมื่อปี 2558 ราคาสับปะรดเคยเฉลี่ยสูงถึง 10.29  บาทต่อกิโลกรัม  เป็นช่วงราคาที่สูงสุด ซึ่งในขณะนั้นพอราคาดีเป็นที่จูงใจ เกษตรกรก็แห่ปลูกกันพรึ่บ!  โดยไม่มีการวางแผนการตลาดที่ดี   ปีนี้คาดว่าผลผลิตสับปะรดจะมีปริมาณออกมามากถึง 2.1 ล้านตัน   ขณะที่การส่งออกสับปะรดกระป๋อง ไทยยังมีคู่แข่งสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีผลผลิตสับปะรดมาก  จนทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูง  และ 2 ประเทศดังกล่าวก็ยังได้เปรียบไทยตรงที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯด้วย

ขณะที่ราคามะพร้าว ก่อนหน้านี้รัฐบาลห้ามนำเข้า “มะพร้าว” จากอินโดนีเซีย แต่ก็ยังเปิดให้นำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามและมาเลเซีย   บวกกับผลผลิตมะพร้าวภายในประเทศดีขึ้น  จนมะพร้าวล้นตลาด  ทำให้ราคาในประเทศร่วงกราวรูด เหลือลูกละ 4-5 บาท จนล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่ที่ 6-7 บาทต่อลูก  จากที่ก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวเคยสูงถึงลูกละ 12-14 บาท ทำให้บรรดาชาวสวนมะพร้าวออกมากดดันกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ

-กลุ่มปาล์มขู่“ม็อบมาแน่ หลังเลือกตั้ง”

ด้านราคาปาล์ม เป็นอีกกลุ่ม ที่ผลผลิตในประเทศล้น  และไทยก็ยังเน้นที่ตลาดในประเทศเป็นหลัก  จนวันนี้ราคาร่วงลงมาที่ 2.50-3 บาทต่อกิโลกรัม หรือราคาเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.15  บาทต่อกิโลกรัม  จากที่ราคาเคยสูง 4-5 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2555  จนถึงขณะนี้ราคาปาล์มยังต่ำติดดิน ขณะที่ราคาในตลาดโลกก็ไม่ดี

การแก้ปัญหาปาล์มราคาตกต่ำ แม้ว่าภาครัฐพยายามหาทางออก  หลังจากมีมติออกมาให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ส่วนเกินจำนวน 160,000 ตัน ในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 18 บาท เมื่อคำนวณกลับไปเป็นราคาผลปาล์มที่ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม ในเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ขณะที่ราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2.60-2.70 บาทต่อกิโลกรัม  จนถึงขณะนี้ก็มีแต่มาตรการแต่ยังไม่มีการปฎิบัติ ได้จริง

งานนี้ทำเอา นายชโยดม   สุวรรณวัฒนะ ประธานชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมัน จังหวัดกระบี่  ถึงกับออกมาขู่คำโตว่า “ม็อบมาแน่ หลังเลือกตั้ง วันนี้ต้องยอมกัดฟันทน เพราะไม่อยากตกเป็นแพะของรัฐบาล  เดี๋ยวจะมาอ้างภายหลังว่าเป็นเพราะม็อบทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป”  จากคำขู่นี้มีลุ้นยังต้องติดตามต่อไปหลังเลือกตั้ง

สำหรับยางพาราที่ราคานิ่งมาต่อเนื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2561 ยางแผ่นดิบชั้น 3ที่นิยมซื้อขายกัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 41.52 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาเฉลี่ยเคยสูงสุดเมื่อปี 2554 อยู่ที่ 124.16 บาทต่อกิโลกรัม  ในขณะนั้นบางเดือนราคายางพาราก็สูงถึง 180 บาทต่อกิโลกรัม  จนมีข่าวชาวสวนยางภาคใต้ถอยรถกะบะป้ายแดงกันเป็นแถว

ที่น่าหนักใจคือ 2 ปีมานี้ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ยางภายในประเทศยังไม่ถึง 20%  ไทยยังพึ่งพาตลาดส่งออกสูงถึง 90%  จากที่ผลผลิตยางพาราไทยเฉลี่ยตกปีละกว่า 4 ล้านตันต่อปี    เจอทั้งผลผลิตล้นตลาด  ราคายางในตลาดโลกร่วง  อีกทั้ง จีนผู้นำเข้ารายใหญ่สู้ศึกสงครามการค้ากับอเมริกา ทำให้ผลิตภัณฑ์ยางส่งออกไปอเมริกาลดลง  จีนจึงต้องลดการนำเข้ายางจากไทยไปด้วย

-ต้องลุ้นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

ส่วนพืชการเมืองอย่างอ้อย  ที่บรรดานักการเมืองมักลงพื้นที่หาเสียงกับชาวไร่อ้อยก่อนเลือกตั้ง หวังเรียกคะแนนเสียงจากชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ  ที่ราคาอ้อยก็ยังมีความเสี่ยง ตราบใดที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกร่วง ย่อมสะเทือนถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อย  เพราะราคาจะรูดลงตามกันเป็นลูกโซ่  อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ มาจากปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกันหลายส่วน

ราคาน้ำตาลดิบปีนี้เคลื่อนไหวตั้งแต่ 11-13 เซ็นต์ต่อปอนด์ จนวงการหวั่นวิตกว่าจะดิ่งหลุดกรอบ 10 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่ปลายปี2561 ราคาน้ำตลาดดิบในตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 12.4 เซ็นต์ต่อปอนด์  ยังถือว่าอยู่ในแดนของราคาขาลง ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2561/2562 ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ร่วงมาอยู่ที่ 700 บาทต่อตันอ้อย  เทียบกับราคาอ้อยในช่วง2ปีที่ผ่านมา สูงกว่าระดับ 1,000  บาทต่อตันอ้อย  หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่จะประกาศออกมาช่วงปลายปี 2562 ร่วงลงอีก ก็น่าจับตาปฏิกิริยาชาวไร่อ้อยหนนี้

ประเมินสถานการณ์แล้ว ดูเหมือนว่า ต้นเหตุราคาน้ำตาลร่วงกระทบราคาอ้อย มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ที่มีปริมาณ นํ้าตาลโลกส่วนเกินล้นติดต่อกัน 2 ปี ทำให้เกิดผลผลิตนํ้าตาลมากกว่าความต้องการใช้ ที่ก่อนหน้านี้  F.O.licht บริษัทวิจัยในเยอรมนี ออกมาระบุว่า ช่วง 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2561 มีปริมาณนํ้าตาลในสต๊อกโลกที่เป็นส่วนเกินอยู่จำนวน 7.2 ล้านตันนํ้าตาล นับว่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี และมีแนวโน้มว่าในฤดูการผลิตปี 2561/2562  จะมีสถิตินํ้าตาลโลกเกินต่อเนื่องอีก

นอกจากนี้เมื่อดูความเคลื่อนไหวของค่าเงินเรียล ของบราซิล เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าค่าเงินเรียลอ่อนค่าลงจะทำให้บราซิลขายนํ้าตาลออกมามากขึ้น ทำให้ราคานํ้าตาลตกลง ซึ่งการที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ นับว่าเป็นราคาที่ตํ่ากว่าต้นทุน ปี 2562 ก็ยังต้องจับตาดูค่าเงินเรียลเป็นระยะเพราะบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1ของโลกและต้องติดตามว่าบราซิลจะนำน้ำอ้อยไปผลิตน้ำตาลหรือเอทานอลเป็นหลัก

ขณะที่รัฐบาลอินเดียก็ออกมาประกาศชัดเจนว่า จะอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลในประเทศของตัวเองด้วยการส่งออกนํ้าตาลทราย จํานวน 5 ล้านตัน และอนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยและชดเชยค่าขนส่งนํ้าตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก ทั้งที่ขัดกับข้อตกลง WTO และเป็นการบิดเบือนตลาดนํ้าตาลโลก    อีกทั้งการเคลื่อนไหว ของกองทุนและนักเก็งกำไรที่ถือตั๋วขายนํ้าตาลที่มีผลต่อราคานํ้าตาลในตลาดโลกด้วย

ปัญหา สินค้าเกษตร5 กลุ่มตกต่ำ ยังไม่รวมปัญหาราคา “มันสำปะหลัง” เริ่มเคลื่อนไหวหลังราคาร่วงมาอยู่ที่ 2.50 บาท แต่เกษตรกรขายได้จริงในราคาที่ต่ำกว่านั้น  อีกทั้งปัญหา “ประมง”  ที่รอวันปะทุใหม่

ภารกิจของรัฐบาลหลังเลือกตั้งบอกได้เลยว่าเหนื่อย!     ลำพังวิ่งรับมือกับสงครามการค้าลามสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยากอยู่แล้ว  การแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรก็จะเป็นอีกโจทย์ยากที่ต้องรับมืออย่างเร่งด่วน  หากปล่อยให้เวลาลากยาวต่อไปโดยผลงานไม่ปรากฏ ก็ต้องผวากับขบวนม็อบที่รอวันกดปุ่มขับเคลื่อน  ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐจะมีทางออกอย่างไร กับปัญหาเดิมๆที่วนเวียนกลับมาอีก!

จาก www.thansettakij.com วันที่ 30 ธันวาคม 2561

ในหลวงโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ฉบับแรกของประเทศไทย มีผลบังคับใช้ใน30วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2561 เป็นปีที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยได้มีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 112 ก แล้ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและเป็นกฎหมายฉบับแรกในประเทศไทยที่ได้ถูกตราขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกฎหมายหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในหลายด้านและมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่จะบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นเอกภาพ กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม วางหลักเกณฑ์ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของประเทศ (เสาหลักที่ 1 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เสาหลักที่ 2 มีองค์กรกลางที่เป็นหลักเชื่อมระหว่างระดับนโยบายระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่น และเสาหลักที่ 3 พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561) โดยโครงสร้างของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล จำนวน 106 มาตรา ประกอบด้วย หมวด 1 ทรัพยากรน้ำ หมวด 2 สิทธิในน้ำ หมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หมวดที่ 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ หมวดที่ 5 ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม หมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ หมวด 8 ความผิดทางแพ่งในกรณีเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ หมวด 9 บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ และมาตรา 104 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 28 ธันวาคม 2561

หมดยุคราคาน้ำตาลขาขึ้น ปี'62ทรงตัวกก.ละ20-21บาทตามตลาดโลก

อุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มราคาน้ำตาลปีหน้าใกล้เคียงปีนี้ ขณะที่ราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2561/2562

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานปี 2562 จะใกล้เคียงกับปี 2561 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 16-17 บาท/กิโลกรัม (กก.) และส่งผลให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยอยู่ที่ 20-21 บาท/กก. เนื่องจากคาดว่าระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 13 เซนต์/ปอนด์ เป็นระดับที่ไม่ได้ปรับเพิ่มมากนัก เพราะสต๊อกน้ำตาลตลาดโลกยังคงสูงเมื่อเทียบกับความต้องการใช้

ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ของไทยอยู่ที่ 135 ล้านตัน และปี 2561/2562 ที่กำลังหีบอยู่ขณะนี้ จากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) คาดการณ์ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 126.36 ล้านตันนั้น ล่าสุดจากการเปิดหีบมา

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มตกต่ำ ทำให้การนำอ้อยไปผลิตเอทานอลอาจลดลง แต่ผลผลิตอ้อยหลายแห่งก็เริ่มลดเช่นกันภาพรวมราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกคงไม่หวือหวานัก คาดว่าราคาจะขยับขึ้นในช่วงฤดูกาลผลิตปี 2562/2563

"ราคาอ้อยตกต่ำฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ย 700 บาท/ตัน ถือว่าเป็นวิกฤตที่ต่ำสุดแล้ว และจากนี้ไปคิดว่าน่าจะเริ่มขยับดีขึ้นแต่ก็คงจะยังไม่มากนักพราะน้ำตาลตลาดโลกก็อยู่ระหว่างการปรับสมดุล ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อผลผลิตตลาดโลกล้นก็จะเริ่มมีการลดการผลิตจากนั้นก็จะไปสู่จุดที่พอดีและจากนั้นก็จะเพิ่มขึ้นอีก" นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยฤดูกาลปี 2561/2562 จากการติดตามปริมาณเข้าหีบเบื้องต้นมีแนวโน้มไม่ถึง 120 ล้านตัน ขณะที่ราคาอ้อยปี 2560/2561 ที่ตกต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 700 บาท/ตัน ก็เชื่อว่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว จากนั้นในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 น่าจะเริ่มขยับขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ช่วยเหลือในเรื่องของค่าปัจจัยผลิตตันละ 50 บาท วงเงิน 6,500 ล้านบาท คาดว่าจะมีการทยอยจ่ายงวดแรกในเดือนก.พ. 2562 และงวดสุดท้ายหลังปิดหีบ

นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลโลกที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันนี้ราคาน้ำตาลเหลือเพียง 12-13 เซนต์/ปอนด์ จากช่วงปีก่อนอยู่ที่ 20 เซนต์/ปอนด์ ประกอบกับรัฐประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลภายในประเทศ ทำให้ราคาขายน้ำตาลลดต่ำลงตามราคาตลาดโลกด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังปี 2562 รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้โดยเฉพาะอ้อยและน้ำตาล

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 28 ธันวาคม 2561

หวั่นมะกันขึ้นภาษีจีนรอบ 3 ฉุดเศรษฐกิจ-ค้าโลกวูบ ดับฝันส่งออกไทยปี 62 โต8%

ส.อ.ท.ชี้แนวโน้มเป็นไปได้สูงสหรัฐฯ-จีนเปิดศึกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันรอบที่ 3 หลังพักรบ 90 วันเจรจาไม่เป็นผล สงครามการค้าส่อยื้อฉุดเศรษฐกิจ การค้าโลกดิ่ง ชี้เป้าท้าทายของกระทรวงพาณิชย์โต 8% ยาก เชื่อดีสุดได้แค่ 5-6% จีดีพีไทยโตไม่เกิน 4%

สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังส่อเค้ายืดเยื้อ ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุนภาคธุรกิจ กระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(เบรกซิท) กระทบกับเศรษฐกิจ การค้า ค่าเงิน และการเมืองในยุโรป ราคานํ้ามันดิบยังมีแนวโน้มผันผวน ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ว่า จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ 3.7% เช่นเดียวกับปี 2561(ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ค.61 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561-2562 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.9%) เนื่องจากการลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตามนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของประเทศเศรษฐกิจแกนหลักของโลก แรงส่งที่ลดลงของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังของสหรัฐฯและการลดลงของความต้องการสินค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะหักล้างการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลกระทบทางลบของมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ของเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิหร่านจะอ่อนแอลงจากการกลับมาใช้มาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯอีกครั้ง รวมถึงการลดลงอย่างมากของการประมาณการเศรษฐกิจของตุรกีจากความวุ่นวายของสภาพตลาด และภาพรวมเศรษฐกิจที่ซบเซาของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในลาตินอเมริกา(อาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก) สภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในบางประเทศของโลก การไหลกลับของเงินลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชนเข้าใกล้ระดับสูงสุดในหลายประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนความเชื่อมั่น และสร้างความอ่อนแอให้กับการลงทุน

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดจะขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เป็นต้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ที่เติบโตได้แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักท่องเที่ยวจีนอยู่บ้าง

ด้านภาคการส่งออกประเมินว่าจะขยายตัวแต่เป็นในอัตราที่จะชะลอลงจากปี 2561 ตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางการเติบโตที่ลดลง จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างอุปสรรคให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดการเงินและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มในรอบที่ 3 ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกของไทยมากกว่า 2 รอบที่ผ่านมา เรื่องข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบ USMCA (ที่จะมาใช้แทนนาฟต้า) จะมีผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าส่งออกไทยจากสหรัฐฯ อีก 11 รายการที่มีผลบังคับใช้แล้วจะเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการส่งออกปี 2562 ของกระทรวงพาณิชย์ขยายตัวที่ 8% มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขปริมาณการค้าของโลก โดยระบุว่า ตัวเลขการค้าในด้านตัวสินค้าและบริการน่าจะขยายตัว 4.2% ในปี 2561 และลดเหลือ 4.0% ในปีหน้า

“ในปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯจีนรอบที่ 3 หากการพักรบชั่วคราว 90 วัน เจรจาไม่เป็นผล รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้นการส่งออกไทยปี 2562 อาจจะโตได้ที่ 5-6% ขณะที่จีดีพีของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ตํ่าไม่เกิน 4% ซึ่งต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 27 ธันวาคม 2561

กระทรวงอุตสาหกรรมไทยและรัสเซียลงนามร่วมมือปั้นสตาร์ทอัพ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซียโดย Mr. Alexey Gruzdev รัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย ณ ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย (Joint Commission: JC) ครั้งที่ 7 ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ หรือ Start Ups และ SMEs การถ่ายทอดและยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม

รวมทั้งการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมกิจกรรมของภาคธุรกิจ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้การดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การกำหนดโครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญร่วมกันเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในอนาคต

ในส่วนของการดำเนินงานในลำดับต่อไป ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (Action Plan on Industrial Cooperation) ระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมประเด็นความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ความร่วมมือด้าน Factory 4.0 for Industry 4.0 เศรษฐกิจหมุนเวียนการพัฒนา SMEs การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม อากาศยาน รวมถึงเรื่อง Robotics และ Automation

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันจะเป็นกลไกสําคัญในการช่วยสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิตและการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 อันจะนําไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 27 ธันวาคม 2561

เกษตรกวาดล้างปุ๋ยอินทรีย์เถื่อน

สารวัตรเกษตรผนึกกำลังกองปราบปราม ล้างบางโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และร้านขายสารเคมี  จ.ราชบุรี พบความผิดไม่ขึ้นทะเบียนและทะเบียนหมดอายุ ยึดของกลางอายัด 110 ตัน  มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท 

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร  สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตรร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.2 บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ได้ร่วมกันตรวจสอบโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์  เอ เอ็ม พี ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรีได้ตรวจสอบร้านจำหน่ายปุ๋ยในเขต อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบมีการนำผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ตราหัวใจยิ้ม ซึ่งผลิตจากโรงงานดังกล่าวเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

จากการตรวจสอบโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เอ เอ็ม พี พบปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ขึ้นทะเบียน และกระสอบภาชนะบรรจุเปล่า ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ 822 กระสอบ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง 1,042 กระสอบ  ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ด 180 กระสอบ กระสอบพลาสติกสานเปล่า สีขาว ฉลากระบุปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผงปุ๋ยตราหัวใจยิ้ม 525 ใบ ฉลากระบุปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ด ปุ๋ยตราหัวใจยิ้ม 2,844 ใบ กระสอบพลาสติกสานเปล่า สีขาว  ฉลากระบุปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ตราช้างแดงคู่ 1,600 ใบ เจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผง ตราหัวใจยิ้ม ผลิตจำหน่ายที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เอ เอ็ม พี น้ำหนัก 40 กิโลกรัม ไม่ระบุเลขทะเบียน และปริมาณธาตุอาหารรับรอง เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวมีฉลากไม่ถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.ปุ๋ย กำหนดไว้ จึงได้ตรวจยึดและอายัดไว้ทั้งหมด รวมมูลค่าประมาณ 800,000 บาท

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบร้านธนาพรรณการเกษตร ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าสถานที่ดังกล่าวมีการครอบครองและจำหน่ายวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมีที่ทะเบียนหมดอายุและไม่มีทะเบียน  เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบพบของกลางอยู่ในบ้านไม่มีเลขที่ ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี  มีวัตถุอันตรายทะเบียนหมดอายุและไม่มีทะเบียน  11 รายการ และปุ๋ยเคมีไม่มีทะเบียน 3 รายการ รวม 14 รายการ เนื่องจากวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมีที่ครอบครองไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และ พ.ร.บ.ปุ๋ยที่กำหนดไว้ จึงได้ตรวจยึดและอายัดไว้ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นชนิดน้ำ 1,174 ลิตร และชนิดผง 467 กิโลกรัม รวมมูลค่าสินค้าประมาณ 820,000 บาท

“สารวัตรเกษตรพร้อมตำรวจกองปราบ บก.ปคบ.ได้เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตปุ๋ยและร้ายขายวัตถุอันตรายไม่ขึ้นทะเบียนผิดกฏหมายทั้ง 2 แห่ง โดยตรวจยึดและอายัดของกลางรวม 110 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.62 ล้านบาท หากผู้ใดทราบเบาะแสแหล่งที่กระทำความผิดผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปลอมหรือไม่มีคุณภาพหลอกขายเกษตรกร ขอให้แจ้งกลุ่มสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2940-6670” นางสาวเสริมสุข กล่าว

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 27 ธันวาคม 2561

ไทย-รัสเซียถกร่วมมือพัฒนารับอุตฯ4.0

รัฐมนตรีอุตตมฯ หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สหพันธรัฐรัสเซียเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซีย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นายเดนิส แมนทูรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สหพันธรัฐรัสเซียและคณะ เข้าพบ เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีไทย-รัสเซียและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs การถ่ายทอดและยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีนายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล  รังสิตพล  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมหารือ  ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 27 ธันวาคม 2561

ชูไทยประธานอาเซียนขับเคลื่อนการค้า

กรมการค้าต่างประเทศ ใช้จังหวะไทยเป็นประธานอาเซียน เร่งขับเคลื่อนระบบอำนวยความสะดวกทางการค้า 2 โครงการหลัก

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะใช้โอกาสในการที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สำเร็จ โดยเฉพาะการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกของไทยที่จะส่งสินค้าและใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ได้แก่ การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (AWSC) และระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ภายใต้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW)

โดยปัจจุบันระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง อยู่ระหว่างการดำเนินการภายใต้โครงการนำร่อง 2 โครงการ โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ และระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ 2 โครงการดังกล่าวยังมีความแตกต่างกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบการรับรองฯ ดังกล่าวให้เป็นระบบเดียวกันทั้ง 10 ประเทศ โดยเร่งรัดการแก้ไขระเบียบปฏิบัติฯ ให้เป็นหลักการเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียนได้วางเป้าหมายร่วมกันว่าจะให้ระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้ง 2 ระบบดังกล่าว มีความคืบหน้าและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากขึ้นในปีหน้า

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 27 ธันวาคม 2561

กนง.ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อปี’62กรอบ1-4%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยว่า กนง.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำหนดกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือกรอบ 1.0-4.0% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและกรอบเป้าหมายปี 2562 ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว อยู่ระหว่างการลงประกาศราชกิจจานุเบกษา

นายวิรไท กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวยังเป็นระดับที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้ส่งผลให้พลวัตของอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงและอาจทำให้การเำเนินนโนบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพราคาเป็นหลักกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งกนง. จะพิจารณารักษาสมดุลของเป้าหมายด้านต่างๆ ควบคู่กันไป นอกจากนี้ ธปท. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินครอบคลุมในมิติที่สำคัญ เพื่อให้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นเพียงพอ และสามารถนำผลของการชั่งน้ำหนักข้อดีปละข้อเสียของการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละทางเลือกมาพิจารณาให้เหมาะสมในแค่ละช่วงเวลา

“กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าต่างๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายชี้แจงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงสาเหตุ แนงทางการนำเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสมและระยะเวลาที่คาดว่าเงอนเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย พร้อมมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ทั้งนี้ กนง. พร้อมจะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงอนที่มีอยู่สนับสนุนให้ระดับราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน และไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน” นายวิรไท กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 27 ธันวาคม 2561

ชี้ "เศรษฐกิจโลก" เสี่ยงถดถอย! 'ศุภชัย' ห่วงวิกฤติการเงิน

'ศุภชัย' ชี้เศรษฐกิจโลก ปี 62 เสี่ยงถดถอย ดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ก่อวิกฤติการเงินรอบใหม่ ติวเข้มว่าที่รัฐบาลใหม่เร่งดึงทุนไฮเทคจากจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ลงอีอีซี เพิ่มค้าอาเซียน-อาร์เซ็ป

ปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส หนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงได้จัดงาน "ดินเนอร์ ทอล์ก Go Thailand : โอกาสประเทศไทย" ขึ้น โดยมี ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ภูมิทัศน์โลกใหม่ : ความเสี่ยง-โอกาสประเทศไทย"

ดร.ศุภชัย มองว่า โลกอยู่ในภาวะ Global Disorder คือ ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่เป็นทิศทางและรูปร่างชัดเจน ตั้งแต่ปี 2551 หลังเริ่มมีวิกฤติทางเศรษฐกิจโลกทางการเงิน กรณี 'เลห์แมนบราเธอร์ส' ล้ม จากนั้นสหภาพยุโรปก็มีปัญหาหลายครั้ง รวมทั้งยังมีปัญหาสงครามค่าเงิน หรือ Currency War มาก่อน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นเรื่องของนโยบาย เกมการต่อรองในสิ่งที่เป็นสงครามเศรษฐกิจ ไม่มีใครที่จะเป็นคนชนะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน ครบ 10 ปีแล้ว แต่ปัญหายังไม่หมดไป สิ่งที่แก้ปัญหาได้เกิดจากการที่มีการอัดฉีดเงินเข้ากว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจโลกขยายได้ 3% หรือกว่า 3% เท่านั้น ขณะที่ ในปีหน้าหลายสำนักทำนายว่า เศรษฐกิจโลกจะโตต่ำกว่า 3% เพราะการค้าโลกซบเซาตลอดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา

- การค้าโลกซบ ฉุดเศรษฐกิจ -

"ผมเคยพูดเสมอว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นได้ก็ต่อเมื่อการค้าโลกฟื้น ไม่มีทางที่เศรษฐกิจโลกจะโตได้ 3-4% ในขณะที่ การค้าโลกโต 1-3% หรือบางปีก็ติดลบ ส่วนใหญ่แล้ว เศรษฐกิจโลกโต 3% การค้าโลกจะโต 6% แต่ 1-2 ปีนี้ การค้าโลกที่เริ่มต้นดีเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ก็เริ่มจะถดถอยลงไปอีก เข้าใจว่า WTO ประกาศว่า อัตราการขยายตัวของการค้าโลกจะลดลงจากปีที่แล้ว จาก 7% อาจจะเหลือ 5% ปีหน้าอาจจะชะลอลงไปกว่านี้ก็เป็นได้"

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)

อีกประเด็นที่น่ากังวล คือ ความขัดแย้ง การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เปลี่ยนไปจากเดิม ที่ทำสงครามอัตราแลกเปลี่ยนแข่งกัน ทำให้ค่าเงินอ่อน เพราะคิดว่านโยบายการรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนช่วยให้ส่งออกได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ไทยและทุกประเทศเคยใช้ แต่หากพึ่งนโยบายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะไม่มีวันเจริญและแข็งแรงขึ้นมาได้ เหมือนกับว่า เราต้องโด๊ปยาไปแข่งกับเขา วันหนึ่งเราเลิกโด๊ป เราก็ไปไม่ไหว ขึ้นอยู่กับว่า เราจะแข็งแรงขนาดไหนถึงจะไปสู่คนอื่นเขาได้

ปัญหาหลักของโลก ขณะนี้ คือ ตัวใครตัวมัน ขณะที่ จีนหลังเข้าร่วม WTO ในปี 2544 ทำให้จีนก้าวขึ้นมาจากผู้ส่งออกอันดับ 7 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะเศรษฐกิจเปิดให้มีการค้าขาย-การลงทุนมากขึ้น ในแต่ละปีมีเงินไปลงทุนที่จีนจำนวนมหาศาล หลังมีความขัดแย้งทางการค้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้การลงทุนจากบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนไม่ได้ลดลง

- จับตาเงินลงทุนจีนไหลออก -

ที่สำคัญในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนเกินดุลการค้าสูงกว่าปีที่แล้ว ดังนั้น ข้อสรุป คือ ปัญหาที่จะเป็นสงครามต้องดูว่ามีผลกระทบไปในระดับโลกได้หรือไม่ และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือว่า ผลกระทบต่อเรา คือ การลงทุนระดับโลกที่ชะงักงัน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโลก ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจเหมือนกรณีการย้ายอุตสาหกรรมเหมือนปี 2528 ที่มีข้อตกลง 'พลาซาแอคคอร์ด' หลังจากญี่ปุ่นเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาก ทำให้สหรัฐฯ และยุโรปกดดันให้ญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น จนทำให้มีเงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"มีการวิเคราะห์จากยูเอ็นว่า เวลานี้ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ เพราะจีนเองก็อยากจะย้ายอยู่แล้วในบางเรื่อง อะไรที่พึ่งแรงงานมาก ค่าจ้างสูงกว่าเวียดนาม ก็ย้ายไปเวียดนาม กัมพูชา และไทย มีการพูดกันว่า "เวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุดในอาเซียน" ซึ่งก็คงจะจริง ซึ่งเราเองก็ต้องพยายามลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องพวกนี้ให้ได้ ถ้ามีการจัดสรรกันใหม่ในเรื่องทรัพยากรต่าง ๆ"

ดร.ศุภชัย ยังเป็นห่วงกรณีที่สหรัฐฯ ต้องการปฏิรูป WTO และถ้ารวมกับยุโรปแล้วไปกดดันให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ทั้งในตุรกี เวเนซุเอลา อาร์เจนตินา ปากีสถาน รวมทั้งปัญหาหนี้ของกรีซและการสะสมหนี้ในยุโรป ก็จะนำไปสู่การมีปัญหาทางการเงินต่อไป ซึ่งเริ่มจะมีมากขึ้น มีการมองว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะถึงจุดจบ การลงทุนใหม่เริ่มไม่มี การผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวด้วยการมีสินเชื่อมาก ๆ เป็นอันตรายมาก ถ้าวันหนึ่งดอกเบี้ยขึ้นมาสูงก็จะทรุด

ขณะที่ กรณีอังกฤษออกมาจากสหภาพยุโรป ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าอังกฤษออกมาแล้ว เศรษฐกิจไม่ได้ล่มสลาย แต่ตรงข้าม คือ เศรษฐกิจไปได้ดี กรีซและอิตาลีก็อาจจะถอนตัวตามอังกฤษ

"ปัญหาวุ่นวายทั่วโลกทั้งหลายก็จะมาถึงเรา ฉะนั้นประเทศอย่างเรา โอกาสที่จะฟื้นได้ดี เพราะว่า ตลาดโลกดีขึ้น มันก็จะลำบากขึ้น ตลาดการค้าโลกอาจจะโตช้าลง การย้ายทุนจากจีนจะไปที่ไหน ต้องช่วยกันดูให้ดีว่าจะไปที่ไหน ไปกลุ่มอะไร มาที่อาเซียนแน่นอน แต่จะมาที่ไหน ที่ไทยมากน้อยแค่ไหน"

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)

ขณะที่ ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงที่จะเกิดกับไทย จากการสำรวจของนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุด เป็นห่วงว่า ปี 2019-2020 ( พ.ศ. 2562-2563) โอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยจะมีมากขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยจะขึ้นหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นเพื่อรักษา เมื่อจำเป็นต้องใช้นโยบาย อัตราดอกเบี้ยลดได้ ขึ้นได้ ไม่ใช่ลดอย่างเดียว แต่สิ่งที่กำลังเห็นชัดเจน คือ นักการเงินบอกว่า "อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปกติจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น" เมื่อไรที่ระยะสั้นแพงกว่าระยะยาว เป็นแนวโน้มเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอนขึ้นมาแล้ว ว่า จะเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

จาก www.thansettakij.com วันที่ 25 ธันวาคม 2561

ครม.เห็นชอบเป้านโยบายการเงิน2562 เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี ที่ 2.5% +/-1.5%

ครม.เห็นชอบเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 2562 กำหนดเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% +/- 1.5% และทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2562 หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.คลัง กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง ซึ่งกำหนดไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% บวกลบ 1.5% ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานกนง. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่อไป

ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป และอาจทำให้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพราคาเป็นหลัก มีผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพ ระบบการเงินที่ครอบคลุมมิติที่สำคัญ เพื่อให้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นเพียงพอ และสามารถนำผลของการชั่งน้ำหนักของดีและของเสีย ของการดำเนินนโยบายทางการเงินในแต่ละทางเลือก มาพิจารณาได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง และธปท. จะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายนโยบายการเงิน เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน 

พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และการคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อให้ รมว.คลังทราบ และเพิ่มความรับรู้ถึงแนวทางการตัดสินใจของกนง.ให้แก่สาธารณะ

นอกจากนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย ก็จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรมว. คลังเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงสาเหตุดังกล่าว และแนวทางดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกับสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบเป้าหมายและนโยบายการคลังในระยะปานกลาง ที่รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และหากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้

ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายในภาพรวม โดยเฉพาะรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้สูงขึ้นด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 25 ธันวาคม 2561

อุตฯน้ำตาลไทยจับมือ3ประเทศเล็งฟ้องอินเดีย

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย จับมือ บราซิล ออสเตรเลีย เตรียมฟ้องอินเดียอุดหนุนผู้ผลิต ฉุดราคาโลกตกต่ำ

นายวิบูลย์ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หอการค้าต่างประเทศของบราซิลเสนอรัฐบาลให้ฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO จากกรณีที่รัฐบาลอินเดียอุดหนุนราคาอ้อยสูงเกินกว่าข้อกำหนดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรตามกฎ WTO ที่อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้การอุดหนุนได้ ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิตอ้อย อีกทั้งยังอุดหนุนค่าขนส่งในการส่งออกน้ำตาลทรายจำนวน 5 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลกปี 2561 ลดลงกว่า 40%

ข้อมูลจาก Sidley Austin LLP ระบุว่า หากอินเดียอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย 5 ล้านตัน ตามที่คาดไว้ ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 จะส่งผลให้ราคาตลาดโลกลดลงอีก 25.5% โดยบราซิลประเมินว่า การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิลสูญเสียรายได้กว่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกิดความเสียหายต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนไทยสูญเสียรายได้กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยสูญหายไปรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือทำให้ราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ในส่วนของโรงงานหายไปประมาณ 4,300 ล้านบาท

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะเข้าพบผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.นี้

จาก  https://www.posttoday.com   วันที่ 25 ธันวาคม 2561

ดึงโรงงานอุตสาหกรรมลดใช้พลังงาน

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังร่วมงานสัมมนาโครงการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม ว่า พพ.และ กรอ. ได้ร่วมกันดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม และปีงบประมาณ 2562 ได้รับเงินสนับสนุนระยะแรก 60 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการของบกลางปี 2562 ของกองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานอีก 30 ล้านบาท เพื่อจัดทำฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า ที่จะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 200 ล้านบาท สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดใช้พลังงานในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ตลอดแผนมีการประหยัดไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์

“ปีงบประมาณ 2561 โครงการฯ ประหยัดพลังงานได้ 193 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายลดใช้พลังงานให้ได้ 1,000 ล้านบาทในระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) โดยคาดว่าในปีต่อๆไป จะสามารถลดการใช้พลังงานได้มากขึ้นกว่าปีนี้ เพราะการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2561 ได้ส่งผลให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่เข้าโครงการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การใช้พลังงานที่เป็นรูปธรรมจาก 7 โครงการ ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานในวงเงิน 97 ล้านบาท ทำให้เกิดผลการประหยัดไฟฟ้าและเชื้อเพลิง 37,166 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 268,596 ตันต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้รวม 193 ล้านบาทต่อปี”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 25 ธันวาคม 2561

บาทเปิด 32.56/60 แนวโน้มแกว่งแคบ

เงินบาทเปิดตลาด 32.56/60 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแกว่งแคบ-วอลุ่มเบาบาง หลังตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่หยุด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.56/60 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.58 บาท/ดอลลาร์

วันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และปริมาณการซื้อขายน่าจะเบาบางเนื่องจากวันนี้ตลาดเงินตลาดทุนในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทำการเนื่องในวันคริสมาสต์ ขณะที่ตลาดทางฝั่งเอเชียบางประเทศก็ปิดทำการเช่นกัน เช่น ตลาดหุ้นสิงคโปร์, ตลาดหุ้นฮ่องกง, ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เป็นต้น

"วันนี้น่าจะเคลื่อนไหวน้อยมากๆเพราะตลาดทางฝั่งสหรัฐ และยุโรปปิดทำการวันคริสมาสต์"

นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.65 บาท/ดอลลาร์

จาก  https://www.posttoday.com   วันที่ 25 ธันวาคม 2561

“ไทย-บราซิล-ออสเตรเลีย” เตรียมฟ้องอินเดีย อุดหนุนน้ำตาลทรายในประเทศ/ส่งออก ฉุดราคาโลกตกวูบ

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย ติดตามการอุดหนุนภายใน (Domestic support) และการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย ประมาณ 5 ล้านตัน ล่าสุด รัฐบาลบราซิลเห็นด้วยกับเอกชนยื่นฟ้อง WTO หลังส่งผลความเสียหายต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลกกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หอการค้าต่างประเทศของบราซิล (Brazilian Foreign Trade Chamber) เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO จากกรณีที่รัฐบาลอินเดียอุดหนุนราคาอ้อยสูงเกินกว่าข้อกำหนดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรตามกฎ WTO ที่อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้การอุดหนุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิตอ้อย อีกทั้งยังอุดหนุนค่าขนส่งในการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลกในปี 2561 ลดลงกว่า 40%

ทั้งนี้ รัฐบาลบราซิลเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้ยื่นฟ้องอินเดียภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท WTO โดยข้อมูลจาก Sidley Austin LLP ระบุว่า หากอินเดียอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย 5 ล้านตันตามที่คาดไว้ ในฤดูการผลิตปี 2561/62 จะส่งผลให้ราคาตลาดโลกลดลงอีก 25.5% โดยบราซิลที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดของโลกประเมินว่า การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิลสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เกิดความเสียหายต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ส่วนไทยสูญเสียรายได้ไปกว่า 14.500 ล้านบาท โดยกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยสูญหายไปรวมประมาณ 10,200 ล้านบาท หรือทำให้ราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ในส่วนของโรงงานหายไปประมาณ 4,300 ล้านบาท

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหารือแนวทางในการร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) ซึ่งรวมถึง บราซิล และออสเตรเลีย ในเรื่องนี้ตามกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO และจะเข้าพบผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อถกเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 28 ธันวาคมศกนี้

“ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิล ออสเตรเลีย และไทย ในฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตน เพื่อกดดันให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการผลิตภายในประเทศและการส่งออกน้ำตาลทราย ที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลก ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด และส่งผลเสียต่อชาวไร่เกษตรกรทั่วโลก” นายวิบูลย์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 24 ธันวาคม 2561

พาณิชย์’ รอดูเงื่อนไขการรับสมาชิกใหม่ CPTPP

พาณิชย์’ รอดูเงื่อนไขการรับสมาชิกใหม่ CPTPP ก่อนเสนอผลการศึกษาและความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อระดับนโยบายประกอบการพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ซึ่งล่าสุดทราบว่า มีสมาชิก 7 ใน 11 ประเทศ CPTPP ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบันแล้ว และจะส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยสมาชิก CPTPP มีกำหนดจัดประชุมระดับรัฐมนตรี CPTPP ครั้งแรกหลังจากที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับในกลางเดือนมกราคม 2562 ที่ญี่ปุ่น และคาดว่าจะมีวาระการพิจารณาเรื่องกลไกการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งรายละเอียดที่จะออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ของไทย

โดยระหว่างนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดสัมมนา เรื่อง ประโยชน์ ผลกระทบ และความพร้อมของไทยในการเข้าร่วม CPTPP ร่วมกับบริษัท โบลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ทำการศึกษาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุม ไปรวบรวมประกอบการจัดทำผลการศึกษา เสนอกรมฯ โดยมีกำหนดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขณะเดียวกัน กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาของบริษัทฯ ความเห็นที่ได้จากการลงพื้นที่ และจากการประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกลไกการรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP เสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป ในเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 หลังการเลือกตั้งไปแล้ว

ทั้งนี้ในเบื้องต้นว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังสมาชิก CPTPP ได้มากขึ้น โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น สินค้าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น น้ำมันพืช อาหารปรุงแต่ง น้ำผึ้ง ถั่วแดง ไฟเบอร์บอร์ด การส่งออกไปแคนาดา สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ไก่ปรุงแต่ง เครื่องปรุงรส อาหารปรุงแต่ง ยางรถยนต์ ล้อและส่วนประกอบ ตู้เย็น เลนส์แว่นตา การส่งออกไปเม็กซิโก สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ยางรถยนต์ เครื่องสูบเชื้อเพลิง สารหล่อลื่น ยานยนต์และส่วนประกอบ การส่งออกไปชิลี สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ข้าว ยางรถยนต์ ถุงมือ รถจักรยานยนต์ การส่งออกไปเปรู สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น สับปะรด ถุงมือ เครื่องรับวิทยุ มอนิเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น โดยเสนอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการสร้างตราสินค้า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการตั้งกองทุนที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และประชากรอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านคน หรือ 6.7 % ของประชากรโลก โดยไทยค้ากับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่ารวม 134พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ30% ของการค้าไทยกับโลก

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 24 ธันวาคม 2561

ไทย-บราซิล-ออสซี่ฟ้องอินเดียอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลทรายฉุดราคาโลกร่วง

 อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย ติดตามการอุดหนุนภายในและการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย ประมาณ 5 ล้านตัน ล่าสุดรัฐบาลบราซิลเห็นด้วยกับเอกชนยื่นฟ้อง WTO หลังส่งผลความเสียหายต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายโลกกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า หอการค้าต่างประเทศของบราซิล(Brazilian Foreign Trade Chamber) เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO จากกรณีที่รัฐบาลอินเดียอุดหนุนราคาอ้อยสูงเกินกว่าข้อกำหนดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรตามกฎ WTO ที่อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้การอุดหนุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิตอ้อย อีกทั้งยังอุดหนุนค่าขนส่งในการส่งออกน้ำตาลทราย จำนวน 5 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลกในปี 2561 ลดลงกว่า 40%

ทั้งนี้รัฐบาลบราซิลเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้ยื่นฟ้องอินเดียภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท WTO โดยข้อมูลจาก Sidley Austin LLP ระบุว่า หากอินเดียอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย 5 ล้านตันตามที่คาดไว้ ในฤดูการผลิตปี 2561/62 จะส่งผลให้ราคาตลาดโลกลดลงอีก 25.5% โดยบราซิลที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดของโลกประเมินว่า การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิลสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เกิดความเสียหายต่อประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนไทยสูญเสียรายได้ไปกว่า 14.500 ล้านบาท โดยกระทบต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยสูญหายไปรวมประมาณ 10,200 ล้านบาท หรือทำให้ราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ในส่วนของโรงงานหายไปประมาณ 4,300 ล้านบาท

โดย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้เข้าพบ รมช.พาณิชย์ เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อหารือแนวทางในการร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก(GSA) รวมถึงบราซิล และออสเตรเลียในเรื่องนี้ตามกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO และจะเข้าพบผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อถกเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.นี้

สำหรับภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิล ออสเตรเลีย และไทย ในฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกจะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตน เพื่อกดดันให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการผลิตภายในประเทศและการส่งออกน้ำตาลทรายที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของโลก ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด และส่งผลเสียต่อชาวไร่เก

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 24 ธันวาคม 2561

"สมคิด" ห่วงเกษตรกรไทย จี้เกษตรฯ ทำแผนดูแลรายสินค้าเกษตร

"สมคิด" ห่วงเกษตรกรไทย จี้เกษตรฯ ทำแผนดูแลรายสินค้าเกษตร รองรับการเปิดการค้าเสรี ส่วน คกก.พืชน้ำมันและน้ำมันพืช เห็นชอบชะลอการนำเข้ามะพร้าวตามความตกลงของ WTO และ AFTA ปี 2562 ยกระดับราคามะพร้าวขึ้น5-7 บาทต่อผล

วันนี้ (24 ธ.ค.)นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยมีนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีมติให้ชะลอการนำเข้ามะพร้าวตามความตกลงของ WTO และ AFTA ปี 2562 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลจากคณะทำงานระดับจังหวัด โดยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะนำข้อมูลจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกร ที่จะเสนอข้อมูลปริมาณมะพร้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศ มาประกอบการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอแนวความคิดเพิ่มเติม เพื่อให้การบริหารจัดการมะพร้าวในปี 2562 มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น คือ 1) การกำหนดสัดส่วนการซื้อมะพร้าว โดยมีแนวคิดว่าจะต้องมีการซื้อภายในประเทศให้หมดก่อนแล้วค่อยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนจะมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และ 2) การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) มีการกำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้ และถ้าเป็นมะพร้าวแปรรูปและส่งออกไป ผู้ประกอบการสามารถที่จะขอคืนภาษีได้ โดยในปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดปริมาณ แต่ในปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ เสนอว่าถ้าไม่กำหนดปริมาณเลยและมีการนำเข้าเป็นจำนวนมาก จะมีผลกระทบต่อราคาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงใช้มาตรการปกป้องพิเศษ โดยดูจากข้อมูลตัวเลขในช่วง 3 ปีย้อนหลังว่ามีปริมาณการนำเข้าเท่าไหร่ โดยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 156,655 ตัน เพราะฉะนั้นในกรอบของการนำเข้า ถ้านำเข้ามาเพื่อแปรรูปแล้วส่งออกออกไปในรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่เกิน 156,655 ตัน จะสามารถขอภาษีคืนได้ แต่ถ้าเกินกว่า 156,655 ตัน จะต้องเสียภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 72% ถือเป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าว

"สำหรับกรอบการบริหารจัดการมะพร้าวการนำเข้ากำหนดไว้3 ปี ต้องรับซื้อผลผลิตภายในประเทศให้หมดก่อน จึงให้นำเข้า จะดูแลทุกปีไม่ให้ราคาตกต่ำ ขณะนี้ชะลอเปิดตลาดเสรี ทำให้ราคาปรับขึ้น5-7 บาทต่อผล นอกจากนี้นายสมคิด ห่วงใยปัญหาสินค้าเกษตรให้กระทรวงเกษตร ดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตือนไว้ให้เตรียมการศึกษาเป็นรายสินค้าเกษตรกร ชนิดไหน ที่เราแข่งขันไม่ได้ ต้องมีแผนไว้เข้ารองรับในการปรับโครงสร้าง โดยให้ทำทุกมิติอย่างครบถ้วน เพราะอนาคตอันใกล้ ประเทศต่างๆจะให้เราเปิดตลาดการค้าเสรีมากขึ้น สินค้าตัวไหนเราแข่งขันได้ให้ปรับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งหมดจะต้องทำไว้อยู่ในแผนเพื่อเราปรับให้สมดุลกับตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ"

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการเปิดตลาดเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2562 เนื่องจากมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เพียงประมาณ 40,000 กว่าตัน ในขณะที่เราต้องการบริโภคทั้งภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตอาหารสัตว์เกือบ 3,000,000 ตัน โดยการนำเข้าจะเป็นไปตามกรอบการเปิดตลาดในปี 2562 มีผู้ประกอบการที่สามารถนำเข้าได้ จำนวน 6 สมาคม และ 20 บริษัท และได้กำหนดให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง โดยได้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำตามชั้นคุณภาพ คือ เกรดถั่วเหลืองเพื่อสกัดน้ำมัน ราคา ณ หน้าฟาร์ม 17.50 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 18.25 บาท/กก. เกรดถั่วเหลืองเพื่ออาหารสัตว์ ราคา ณ หน้าฟาร์ม 17.75 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 18.50 บาท/กก. และเกรดถั่วเหลืองเพื่อแปรรูปอาหาร ราคา ณ หน้าฟาร์ม 19.75 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 20.50 บาท/กก. ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกรอบการบริหารการจัดการการนำเข้า จำนวน 3 ปี ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันปีต่อปีเพื่อพิจารณาการการเปิดตลาดต่อไป

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 24 ธันวาคม 2561

กดดันอินเดียยุติอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลทราย

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย จับมือบราซิล-ออสเตรเลีย กดดันอินเดียยุติอุดหนุนผู้ผลิตน้ำตาลทรายในประเทศและส่งออกน้ำตาลทราย

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิล ออสเตรเลีย และไทย ในฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก จะร่วมกันเรียกร้องผ่านรัฐบาลของตน เพื่อกดดันให้อินเดียยกเลิกมาตรการอุดหนุนการผลิตภายในประเทศและการส่งออกน้ำตาลทราย ทำให้เกิดการบิดเบือนตลาด และส่งผลเสียต่อเกษตรกรชาวไร่ทั่วโลก ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางในการร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) ตามกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO และจะเข้าพบผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในวันที่ 28 ธันวาคม

นอกจากนี้ การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดีย ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้ไปกว่า 14,500 ล้านบาท โดยรายได้ของชาวไร่อ้อยสูญหายไปรวมประมาณ 10,200 ล้านบาท หรือทำให้ราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ในส่วนของโรงงานหายไปประมาณ 4,300 ล้านบาท

จาก https://www.innnews.co.th    วันที่ 24 ธันวาคม 2561

โรงงานอุตฯปี61ประหยัดพลังงาน193ลบ.

กระทรวงพลังงาน เผย โรงงานอุตฯปี 61 ประหยัดพลังงาน 193 ล้านบาท ตั้งเป้า 5 ปีประหยัด 1,000 ล้านบาท

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมปี 2561 ประหยัดพลังงานได้กว่า 193 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 268,596 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี ประหยัดพลังงาน(ไฟฟ้าและเชื้อเพลิง) 37,166 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี ทั้งนี้ตั้งเป้า 5 ปี (ช่วง 2561-2565) ประหยัดเงิน 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ ปี 2561 ดำเนินโครงการผ่านการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานในวงเงิน 97 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ของงบประมาณเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวปี 2562 ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 60 ล้านบาท และทำ Big data 30 ล้านบาท โดยรวมคาดว่าจะใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท

จาก https://www.innnews.co.th    วันที่ 24 ธันวาคม 2561

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

อีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะ จะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

          ช่วงกลางปีที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ได้จัดเวทีใหญ่ Global Forum on Agriculture 2018 “Digital technologies in food and agriculture: reaping the benefits” เพื่อสะท้อนความสำคัญของบทบาท “เทคโนโลยี” ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรมซึ่งจะ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไป และเกษตรกรที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง ก็จะหลุดพ้นกับดักความยากจนได้

           โดยประเด็นหนึ่งที่เน้นย้ำ ก็คือ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูง หรือระดับต่ำ ก็ล้วนสามารถช่วยให้ใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นด้านดิจิทัลได้ทั้งนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเชิงการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่ การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ใช้งาน แบ่งปันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเชื่อมต่อ

          จากบริบทโลกยุคปัจจุบันที่การเชื่อมโยงถึงกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โทรศัพท์มือถือขนาดเล็กลง ทำงานรวดเร็วขึ้น ราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพ “ธุรกิจ” ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ปัจจุบันภาคการเกษตร ก็กำลังเกาะติดความได้เปรียบด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ มากรายขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ พวกเขาสามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำในการเกษตร ปริมาณการใช้ปุ๋ย หรือวางแผนการจัดการพื้นที่และการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำปศุสัตว์

+++เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีที่ “ต้อง” จับตา

          สถาบันวิจัย BIS Research ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ ชื่อว่า Global Smart Farming Market คาดการณ์แนวโน้มตลาดการเกษตรอัจฉริยะว่าจะขยายตัวได้ถึง 23.14 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ ภายในปี ค.ศ. 2022 สะท้อนสัญญาณที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 19.3% ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตนี้ มาจากความต้องการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร การเติบโตของการใช้เทคโนโลยีไอซีทีในการทำเกษตร และความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับเทคโนโลยีการเกษตรที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture)

           พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะ จะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ปรากฎการณ์นี้จะขยายวงทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

          ปัจจุบัน ประเทศจีนและญี่ปุ่น รุกหนักกับการใช้สมาร์ทโฟน และระบบ IoT มาเพิ่มความเก่งของโซลูชั่นการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ขณะที่ รัฐบาลหลายประเทศ ก็ตระหนักถึงความจำเป็นและความได้เปรียบของเทคโนโลยีด้านนี้ ผลักดันโครงการนำร่องส่งเสริมเทคนิคในการพยากรณ์ที่แม่นยำสำหรับการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในอนาคต

 การเกษตรแม่นยำโตแรง

          ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า โซลูชั่นระบบฮาร์ดแวร์ มีสัดส่วนมากกว่า 72% ของตลาดการเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก แอพพลิเคชั่นด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรที่แม่นยำ ได้รับความนิยมสูงมาก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 31% ตัวอย่างแอพพลิเคชั่นด้านนี้ ได้แก่ การวิเคราะห์น้ำในดิน (precision irrigation), การคาดการณ์และตรวจวัดผลผลิต (yield monitoring and forecasting), การให้ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง (variable rate), การสอดส่องพืชผล (crop scouting) และการบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

          อีกปัจจัยสนับสนุนการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะได้ผลยิ่งขึ้นถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็เนื่องมาจากการเติบโตของพื้นที่เมือง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตรที่สดใหม่ตลอดปี โดยไม่ถูกจำกัดกับฤดูกาลผลิตแบบวิถีเกษตรเดิมๆ เหล่านี้ทำให้เห็นการทำเกษตรในร่ม (indoor farming) มากขึ้น

          ทั้งนี้ ถ้ามองในภาพรวมทั่วโลก ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ถือเป็นผู้นำตลาดเกษตรอัจฉริยะระดับโลก และมีความต้องการทางการตลาดสูงมาก ขณะที่ เม็กซิโก เป็นประเทศที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตที่สุดในช่วง 5 ปีจากนี้

          สำหรับเอเชีย-แปซิฟิก ถูกยกให้เป็นตลาดที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุด ในช่วงปี ค.ศ. 2017 – 2022 มีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ ขนาดประชากรเมืองเพิ่มขึ้น สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร และการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล ที่สำคัญยังได้แรงหนุนจาก 2 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคอย่าง จีน และอินเดีย ที่จะหนุนให้ขยับเป็นผู้นำด้านเกษตรอัจฉริยะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 IoT-เซ็นเซอร์ พระเอกเกษตรยุคดิจิทัล

          เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disrupte) ให้กับอุตสาหกรรมการเกษตร “ในเชิงบวก” และยังครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีรายงานที่จัดทำโดย Cisco ประมาณการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาด IoT จะขยับขึ้นไปสูงถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหร้ฐ ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลจากกระบวนการทำการเกษตรที่จัดเก็บผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมหาศาลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่การเกษตร

          ข้อมูลเหล่านี้ยังรวมถึงภาพถ่ายต่างๆ ที่ส่งตรงจากพื้นที่การเกษตรผ่านเซ็นเซอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเกาะติดพืชผลได้ทุกที่ ทุกเวลา ข้อมูลต่างๆ จากเซ็นเซอร์จะถึงมือเกษตรกรได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถรับมือได้อย่างทันการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ทำให้ทราบว่าเวลานี้ พืชผลที่ปลูกไว้ต้องการน้ำ หรือการบำรุงรักษาอื่นๆ

 ดีแทค-ดีอี หนุนเกษตรกรเข้าถึงดิจิทัล

          นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทค มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสังคมตามวิสัยทัศน์Empowering societies สอดคล้องกับโครงการนโยบายประชารัฐของรัฐบาล มุ่งพัฒนาสู่สังคมดิจิทัล โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามกรอบการพัฒนาของสหประชาชาติ ผ่าน2โครงการหลัก ได้แก่1.ดีแทคเน็ตอาสา โครงการที่ช่วยสนับสนุนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาต่อยอดสู่สังคมดิจิทัล 2. Dtac Smart Farmerโครงการที่ช่วยเกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

           ทั้งนี้ Dtac Smart Farmer เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีสัดส่วนประชากรถึง33%ของประชากรไทย แต่กลับสร้างรายได้ให้ประเทศเพียง10%ของจีดีพี สะท้อนถึงผลิตภาพที่ต่ำในภาคการเกษตร ทำให้ดีแทคและพันธมิตรร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมอย่างบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นการส่งตรงเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างดาวเทียมและบิ๊กดาต้าสู่มือเกษตรกร สามารถเข้าถึงข้อมูลระดับรายแปลง ทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้โซลูชัน “ฟาร์มแม่นยำ” เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง หรือIoTเพื่อการเกษตรที่แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะพืชในโรงเรือน

          “ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเกษตร ทั้งสภาพภูมิอากาศ ภาวะผลิตภาพตกต่ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตรมากขึ้น และนี่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนสู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน” นางอเล็กซานดรากล่าว

           และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเสริมสร้างศักยภาพสังคมสู่การเป็นชุมชนดิจิทัล อันเป็นโมเดลในการเปลี่ยนฐานรากองเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล(Digital economy) ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคมนี้ ได้มีการจัดงาน “ดีมาGetดีMarket” ซึ่งรวบรวมร้านค้าออนไลน์ต้นแบบจากทั่วประเทศจำนวนกว่า40ราย มาออกบูธ ณ ลานกิจกรรม สยามสแควร์วัน เพื่อเป็นโอกาใสให้บุคคลที่สนใจเรียนรู้ พัฒนาและต่อยอด ขยายโมเดลชุมชนดิจิทัลไปยังทั่วประเทศ

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกระทรวงฯ รับหน้าที่สนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสู่ทุกตำบลทั่วไทย

          นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับชุมชน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขยายตลาดชุมชนสู่ตลาดเมือง สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

          ในงานดังกล่าว ทั้ง 4 กระทรวงฯ ภายใต้ความร่วมมือโครงการนี้ ยังได้คัดเลือกสินค้าชุมชนออนไลน์เพื่อรับรางวัลสุดยอดสินค้าชุมชนออนไลน์ระดับประเทศ และในงานยังมี Smart Farmer ระดับประเทศ 5 ราย(จาก 40 เกษตรต้นแบบ) ที่ทำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้และประสบความสำเร็จมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ด้วย

จาก www.komchadluek.net วันที่ 24 ธันวาคม 2561

ก.อุตฯจับมือก.พลังงานจะร่วมกันดูแลการใช้พลังงาน

กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน จับมือประสานนโยบาย Factory 4.0 และ Energy 4.0 ดูแล 3 มิติ ทั้งการอนุรักษ์พลังงาน มาตรการด้านความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ระบบ IoT เข้ามาช่วย เตรียมขยายผลการประหยัดพลังงานและดูแลสิ่งแวดล้อมออกไปสู่อาคารสำนักงานต่าง ๆ และบ้านพักอาศัย

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานนโยบาย Energy 4.0 และ Factory 4.0 เข้าด้วยกัน ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมประหยัดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ความปลอดภัยในโรงงาน และการดูแลสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการใช้เครื่องมือดิจิตอลด้วยเทคโนโลยี ioT โดยติดตั้งระบบตรวจติดตามอัตโนมัติหรือ smart monitoring ระบบควบคุมอัตโนมัติหรือ smart control และระบบวิเคราะห์และการพยากรณ์ข้อมูล หรือ data analytic and prediction เข้ามาช่วยเพื่อให้อุปกรณ์ในโรงงานทำงานด้วยความแม่นยำมากยิ่งขึ้น  ซึ่งผลการดำเนินโครงการในปี 2561 ดำเนินการมาแล้ว 7 โครงการ ช่วยให้โรงงานที่ร่วมโครงการ โดยเฉพาะโรงงานที่มีหม้อต้ม และหม้อไอน้ำ ประหยัดการใช้พลังงานได้คิดเป็นร้อยละ 10-30 โดยร้อยละ 10 เป็นโรงงานที่มีการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่ดีอยู่แล้วระดับหนึ่ง ส่วนที่ประหยัดพลังงานได้มาก ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มโรงงานที่มีการบริหารจัดการการใช้พลังงานที่ไม่ดีนัก  

นายสมชาย กล่าวว่า ในปีหน้า กรอ.และ พพ.จะร่วมมือกันขยายไปสู่การประหยัดพลังงานในอาคารและบ้านพักอาศัย พร้อมดูแลการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมให้ลดลงด้วย 

นายทองชัย ชวลิตพิเชษฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม ปี 2561 ที่ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ใช้งบประมาณดำเนินการรวม 97 ล้านบาท แต่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดการใช้เชื้อเพลิง ได้รวม 37,166 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี คิดเป็นมูลค่า 193 ล้านบาทต่อปี ลดก๊าซ 268.6 ตันต่อปีเท่ากับการปลูกต้น 15,000 ต้นต่อปี และแผน 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าลดการใช้พลังงานให้ได้คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 24 ธันวาคม 2561

นิด้า ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.7 - 4.0 จากแรงผลักดันจากการลงทุนภาครัฐ ความชัดเจนทางการเมืองช่วยหนุนความคึกคัก ส่วนการส่งออกประเมินขยายตัวร้อยละ 6

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.)สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผย นิด้าประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.7-4.0 โดยการเติบโตจะมาจากกลไกการขับเคลื่อนจากภาครัฐ ผ่านมาตรการและนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งคาดว่านโยบายของรัฐบาลใหม่จะสามารถสร้างความน่าสนใจ รวมถึงดึงดูดความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกกว่า 400,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกไทยปี 2562 จะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 6 ลดลงจากปีนี้เล็กน้อย  ขณะที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 - 2.25 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ระดับ 31 – 33 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 24 ธันวาคม 2561

“สนธิรัตน์” ถกเลขาฯอาเซียน หนุนปฏิรูปอุตฯ-สรุป RCEP

ไทยเตรียมพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี”62 “สนธิรัตน์” หารือเลขาธิการอาเซียน ชูขับเคลื่อนอาเซียนก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคทางการค้า รับมือความท้าทาย เดินหน้าสรุปความตกลง RCEP เตรียมพร้อมจัดสัมมนาปฏิวัติอุตสาหกรรม 4IR ครั้งที่ 14 ม.ค.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ได้หารือกับดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยที่จะมีขึ้นในปี 2562 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเห็นพ้องกันว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องผลักดันให้อาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศสามารถสรุปการเจรจาได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำของ RCEP ประกาศไว้ในการหารือครั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่าง ๆ ถึง 9 การประชุม และแจ้งว่าไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน หรือ Advancing Partnership for Sustainability” ซึ่งจะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต (future orientation) 2) ส่งเสริมความเชื่อมโยง (enhanced connectivity) และ 3) สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ (sustainable in all dimensions) รวม 12 ประเด็น อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง ย่อม ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเชื่อมโยงระบบการแจ้งข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวหรือ ASEAN single window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ และการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562 เป็นต้น

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวชื่นชมที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะการเตรียมจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของอาเซียนเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Special Session on the Forth Industrial Revolution หรือ 4IR) ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ช่วยสร้างความตระหนักแก่สมาชิกอาเซียนและเอกชนไทยเรื่องของ 4IR และเตรียมความพร้อมรองรับและใช้ประโยชน์ 4IR ช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และการรวมกันของสมาชิกอาเซียนจะช่วยลดปัญหาและอุปสรรค ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 24 ธันวาคม 2561

ไทยพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี62

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันไทยพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี 62 ขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจให้บรรลุผลสำเร็จ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือ เลขาธิการอาเซียน เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทย โดยไทยได้ยืนยันความพร้อมในการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 และแสดงบทบาทนำในการขับเคลื่อนอาเซียนให้ก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคทางการค้าและรับมือความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่างๆ 9 รายการ และนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 อาทิ การเชื่อมโยงระบบการแจ้งข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว หรือ ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ และการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 24 ธันวาคม 2561

“สนธิรัตน์” ถกเลขาฯอาเซียน หนุนปฏิรูปอุตฯ-สรุป RCEP

ไทยเตรียมพร้อมเป็นประธานอาเซียนปี”62 “สนธิรัตน์” หารือเลขาธิการอาเซียน ชูขับเคลื่อนอาเซียนก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคทางการค้า รับมือความท้าทาย เดินหน้าสรุปความตกลง RCEP เตรียมพร้อมจัดสัมมนาปฏิวัติอุตสาหกรรม 4IR ครั้งที่ 14 ม.ค.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ได้หารือกับดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยที่จะมีขึ้นในปี 2562 ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยเห็นพ้องกันว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องผลักดันให้อาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศสามารถสรุปการเจรจาได้ในปี 2562 ตามที่ผู้นำของ RCEP ประกาศไว้ในการหารือครั้งนี้ ไทยแสดงความพร้อมการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับต่าง ๆ ถึง 9 การประชุม และแจ้งว่าไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน หรือ Advancing Partnership for Sustainability” ซึ่งจะประกอบด้วยประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1) ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต (future orientation) 2) ส่งเสริมความเชื่อมโยง (enhanced connectivity) และ 3) สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ (sustainable in all dimensions) รวม 12 ประเด็น อาทิ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง ย่อม ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเชื่อมโยงระบบการแจ้งข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวหรือ ASEAN single window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ และการสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้ได้ในปี 2562 เป็นต้น

นอกจากนี้ เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวชื่นชมที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะการเตรียมจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของอาเซียนเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Special Session on the Forth Industrial Revolution หรือ 4IR) ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 ช่วยสร้างความตระหนักแก่สมาชิกอาเซียนและเอกชนไทยเรื่องของ 4IR และเตรียมความพร้อมรองรับและใช้ประโยชน์ 4IR ช่วยลดช่องว่างของการพัฒนา และการรวมกันของสมาชิกอาเซียนจะช่วยลดปัญหาและอุปสรรค ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 23 ธันวาคม 2561

จีดีพีเกษตรปี'62โต2.5-3.5%เตือนยาง อ้อย ปาล์ม กระอัก

นักวิชาการเตือนปี 2562 ยาง อ้อย ปาล์ม กระอัก คาดราคาน้ำมันลงเหลือ 61 ดอลลาร์/บาร์เรล

น.ส.ทัศนีย์เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 คาดจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% โดยทุกสาขายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

การตลาดนำการผลิต ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญที่เพียงพอกับการเพาะปลูก สภาพอากาศเอื้ออำนวย ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงคือโรค ระบาดสัตว์ แมลงศัตรูพืช สภาพอากาศแปรปรวน และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวสำหรับปี 2561 จีดีพีเกษตรขยายตัวที่ 4.6% เมื่อเทียบกับปี 2560 ตามที่ สศก.ได้คาดการณ์ไว้ โดยสาขาพืชขยายตัว 5.4% สาขาปศุสัตว์ 1.9% สาขาประมง -1% สาขาบริการทางการเกษตร 4% และสาขาป่าไม้ที่ 2%

ทั้งนี้ ปี 2562 สาขาพืชขยายตัว ในช่วง 2.7-3.7% พืชที่ผลิตเพิ่มขึ้นคือข้าวนาปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ส่วนพืชที่ผลผลิตน้อย คือ ข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน โดยคาดว่าพืชที่ราคาจะดีในปี 2562 อาทิ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย ทุเรียนจากความต้องการ ต่อเนื่องสาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1.3-2.3% แนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากความต้องการในต่างประเทศ ทั้งสุกร ไก่เนื้อ โคเนื้อ สาขาประมงคาดขยายตัว 1-2% โดยผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น ประมงทะเลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการแก้ไขของรัฐสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัว 2-3% จากพื้นที่ปลูกขยายตัวทำให้ความต้องการเครื่องจักรเพิ่มและสาขาป่าไม้ขยายตัว 1.2-2.2% ผลผลิตไม้มาจากไม้ยางพาราที่รัฐมีนโยบายโค่นยางเก่าปีละ 4 แสนไร่

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการบริการวิจัยเศรษฐกิจมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจ คู่ค้าสำคัญของไทยชะลอ ทำให้ยางพารา ปาล์ม อ้อยโรงงาน อาจจะได้รับผลกระทบมากโดยเฉพาะจีนที่นำเข้ายางจำนวนมาก และในปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะอยู่ที่ประมาณ 61 ดอลลาร์/บาร์เรล ดังนั้นเมื่อน้ำมันถูกจะส่งผลต่อการใช้ ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติมาก ดังนั้นราคายางอาจจะลงต่อเนื่อง

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 22 ธันวาคม 2561

จับตาปัจจัยต่างประเทศกระทบค่าบาท-หุ้นไทย

                    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์จากต่างประเทศเป็นหลักในสัปดาห์หน้า เพราะจะมีผลต่อค่าเงินบาท และหุ้นไทย                 

                    รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (24-28 ธ.ค.) ไว้ที่ประมาณ 32.50-32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องติดตามปัจจัยในประเทศ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ของธปท. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. ยอดขายบ้านใหม่และยอดทำสัญญาณขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับตำแหน่งของนักลงทุนก่อนใกล้สิ้นปี ประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,580 และ 1,550 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,615 และ 1,630 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทำ Window dressing ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น                   

 จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 22 ธันวาคม 2561

สอน.ออกโรงการันตีกองทุนฯ พร้อมจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยปี2560/61

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)กล่าวว่าจากกรณีที่มีข้อกังวลของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในการจ่ายเงินชดเชยเงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของฤดูกาลผลิต 2560/61 ที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นคืนให้แก่

โรงงานนั้นการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ซึ่งตามมาตรา 56 กำหนดว่ากรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้กองทุนฯจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน โดยราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ 880 บาท/ตันอ้อย ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ดังนั้นในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 กองทุนฯต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาท

เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เมื่อครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เพื่อให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานโดยเร็ว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่าขณะนี้กองทุนฯจะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกอน.ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 จำนวน 10,363.73 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาท นั้น เบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือ 14,190 ล้านบาท และกองทุนฯจะใช้เงินของกองทุนฯที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงาน9,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 4,690 ล้านบาทขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินโดยกองทุนฯต้องนำเสนอคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

‘พลังงาน’ลุ้นแผน‘พีดีพี’บังคับใช้‘มค.’

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำ 5 แผนลูกภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี)ฉบับใหม่ 2561-2580 ว่า วันที่ 21ธันวาคม นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับส่วนราชการ และผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงาน เพื่อหารือถึงความคืบหน้าการจัดทำกรอบร่างแม่บท5 แผนภายใต้พีดีพีฉบับใหม่ หรือ 5 แผนลูกพีดีพี ประกอบด้วย แผนก๊าซ แผนน้ำมัน แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) แผนพัฒนาพลังงานและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) และแผนกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

โดยทั้ง 5 แผนจะทำทั้งระยะสั้น5 ปี และระยะยาว 20 ปี ซึ่งในส่วนของแผน 5 ปีนั้นจะใช้บูรณาการร่วมกับแผนเสนอของบประมาณประจำปีของกระทรวงพลังงาน โดยแผนใช้ของบประมาณปี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพ และผลงานมีความชัดเจน คุ้มค่าที่สุด

“ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำ5 แผนลูกภายใต้แผนพีดีพี พร้อมกับการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยแผนพีดีพีฉบับใหม่จะเป็นตัวหลักที่คลุมทั้ง 5 แผนลูก หากแผน

พีดีพีฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานช่วงต้นเดือนมกราคม 2562 และเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบังคับใช้ กระทรวงพลังงานจะนำ 5 แผนลูกมาขับเคลื่อนทันที” นายกุลิศ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 32.63 บาทต่อดอลลาร์

หลังตลาดการเงินสหรัฐปิดรับความเสี่ยง และราคาน้ำมันปรับตัวลง บาทแกว่งตัวแข็งค่าตามภูมิภาคในระยะสั้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.63 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจาก 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินสหรัฐปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงถึง 1.6% ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง 1.1% เมื่อเทียบกับเงินเยน

หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า อาจจะไม่มีการอนุมัติงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในสัปดาห์หน้าถ้าตนไม่ได้รับงบประมาณที่เหมาะสมกับการสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก

นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงด้วยโดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวลงต่อถึง 4.2% มาที่ระดับ 46.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ย้ำภาพความกังวลกับเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงในปีหน้า

ฝั่งตัวเลขเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วประเทศของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานในสหรัฐ อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.14 แสนตำแหน่ง  ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น อังกฤษ และธนาคารกลางอินโดนีเซีย “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0% 0.75% และ 6.00% ตามลำดับ

ส่วนของเงินบาท วันนี้คาดว่าจะแกว่งตัวแข็งค่าตามภูมิภาคในระยะสั้นอาจไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมากนัก เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดอยู่ในระดับต่ำ แต่เราเชื่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่มีโอกาสฟื้นตัว พร้อมกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ในระยะยาวมองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 32.58-32.68 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ค้าโลกฉุดส่งออกดิ่ง หอการค้าประเมินวูบ2แสนล้าน

หอการค้าไทยคาดการณ์ผลกระทบสงครามการค้าฉุดส่งออกไทยปี 2562 ร่วม 2 แสนล้าน สินค้าจีนจ่อทะลัก กระทบเอสเอ็มอีแนะรัฐรับมือ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐเดินหน้าขึ้นภาษีการค้ากับจีน 25% จะส่งผลต่อการส่งออกไทยในปี 2562 ประมาณ 53,140-208,401 ล้านบาทหรือ 1,653-6,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อจีดีพีประเทศประมาณ -0.3 ถึง 1.2% ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยราคาน้ำมัน การขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ โดยต้องจับตาในเดือน มี.ค. 2562 ว่าสหรัฐจะขึ้นภาษีทางการค้าหรือไม่

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะทำให้การ ส่งออกไทยในปี 2561 ลดลง 351-579 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวลดลงคิดเป็น 0.1-0.2% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่คาดว่าจะมีมูลค่า 255,451-255,802 ล้านดอลลาร์ หรือมีอัตราการขยายตัวประมาณ 7.9-8.0%

ขณะที่ในปี 2562 จะกระทบ 1,181-4,727 ล้านดอลลาร์ คาดว่าอัตราขยายตัวจะลดลง -0.5 ถึง -1.9% ของมูลค่าการส่งออกที่ 271,406-274,987 ล้านดอลลาร์ อัตราการขยายตัวการส่งออกอยู่ที่ 6.1-7.5%

ผลจากสงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกปี 2562 ทั้งของจีนและสหรัฐลดลง โดยของจีนลดลง 0.8-3.8% สินค้าที่มูลค่าลดลงมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก รถยนต์ และโลหะอื่นๆ ขณะที่การส่งออกสหรัฐลดลง 0.4-1.2% สินค้าที่มีมูลค่าลดลงมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ขนส่งอื่นๆ รถยนต์ พลาสติก และเชื้อเพลิง

นายอัทธ์ กล่าวอีกว่า สงครามการค้าส่งผลให้จีดีพีโลกปี 2562 ลดลง 0.1-0.5% โดยจีนได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนไทยได้รับผลกระทบคิดเป็น 0.2% ของผลกระทบทั้งหมดที่โลกได้รับ

ทั้งนี้เมื่อสินค้าจีนขายสหรัฐไม่ได้จะไหลเข้ากลุ่มอาเซียน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก รถยนต์ เคมีภัณฑ์ และโลหะอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบธุรกิจของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีต้องระวังให้มากและรัฐควรเร่งหามาตรการรองรับ"เช่น

การตั้งหลักในธุรกิจเหล็กที่มีการใช้เพิ่มขึ้น รัฐอาจจับมือกับจีนลงทุนถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือตั้งโรงถลุงเหล็ก เหมือนเช่นเยอรมนีหรือญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจจับมือจีนรับผลิตหรือเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก"นายอัทธ์ กล่าว

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดัชนีรายได้ภาคเกษตรพ.ย.วูบ

ดัชนีรายได้เกษตร พ.ย. ลด 4.96% ยาง ปาล์ม ไก่เนื้อ ราคาวูบ ข้าว ข้าวโพดราคาปรับขึ้นน.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

น.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือน พ.ย. 2561 ลดลง 4.96% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาลดลง 2.12%

สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และมันสำปะหลังราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นและเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด

ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา จากการชะลอซื้อขายในตลาดล่วงหน้า ปาล์มน้ำมันราคาลดลง เนื่องจากภาวะการค้าในประเทศรวมทั้งการส่งออกชะลอตัวและไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคมีไม่มากนัก

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน พ.ย. 2561 ลดลง 2.90% จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธ.ค. 2561 สศก.คาดว่าแนวโน้มรายได้ของเกษตรกรจะลดลง 3.84% เมื่อเทียบเวลาเดียวกันกับปี 2560 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวลดลง 2.46% โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน สับปะรด ปาล์มน้ำมันและไก่เนื้อ

ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ได้แก่ ลำไย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยนอกฤดู อย่างไรก็ตาม เดือน ม.ค. 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะยังทรงตัว โดยดัชนีราคามีแนวโน้มลดลงขณะที่ดัชนีผลผลิตคาดว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ราคาอ้อยดิ่ง!เกษตรกรขาดทุนยับจ่อหาอาชีพใหม่

ราคาอ้อยยังดิ่งเกษตรกรขาดทุนยับ อาจเลิกปลูกแล้วหาอาชีพใหม่ พร้อมหวังให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือ

หลังจากมีการเปิดรับซื้ออ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยมีการประกาศราคาขั้นต้นที่ 700-750 บาทต่อตัน สืบเนื่องมาจากน้ำตาลในระบบของตลาดทั่วโลกมีมากเกินความต้องการ หลังจากผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกน้ำตาลมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาที่ได้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

จากการลงพื้นที่สอบถาม นางสาววาสนา กุญชร เกษตรกรชาวไรอ้อย อ.คง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ราคาอ้อยในปัจจุบัน ถือว่าลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก สวนทางกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งเมื่อราคาอ้อยลดลงและหักจากค่าอ้อยที่ขายได้แล้วแทบจะไม่เหลือกำไร ซึ่งหลังจากนี้อยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะปลูกอ้อยต่อไปหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอให้ขายอ้อยรอบนี้ให้เสร็จสิ้นจึงจะสามารถทราบว่ามีเงินเหลือมากน้อยเท่าใด  โดยหวังว่ารัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือพยุงราคาอ้อยให้ปรับสูงขึ้นหรือช่วยชดเชยราคาอ้อยเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรต่อไปได้

และจากการสอบถามนายประดิษฐ์ วงศ์สานี  คนงานรับจ้างตัดอ้อย เปิดเผยว่า ได้ประกอบอาชีพตัดอ้อยมาแล้วหลายปี โดยจะตัดอ้อยในราคา กองละ 7 บาท โดยในหนึ่งกองจะมีอ้อยทั้งหมด 80 ลำต้น โดยในแต่ละวันจะได้ค่าแรง 500 – 800 บาท ซึ่งแล้วแต่ฝีมือใครตัดได้มากน้อย จากการที่ได้พูดคุยเกษตรกรหลายรายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอ้อยราคาเป็นเช่นนี้ คงต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่น เช่น มันสำปะหลังหรือข้าวที่ราคาดีกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบมาถึงอาชีพตัดอ้อยของตนเอง คงมีงานลดลงจนอาจจะต้องปรับหาอาชีพใหม่เช่นกัน ซึ่งถ้าไม่มีงานตัดอ้อยก็ต้องไปรับจ้างได้ค่าแรงเป็นรายวันเพียงวันละ 250-300 บาท ซึ่งต่ำกว่าเงินค่าแรงที่ได้จากการตัดอ้อยค่อนข้างมาก

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สอน. ยันกองทุนฯ พร้อมจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยปี 2560/61 ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

จากกรณีที่มีข้อกังวลของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในการจ่ายเงินชดเชยเงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 2560/61 ที่ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นคืนให้แก่โรงงานนั้น

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงว่า การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ซึ่งตามมาตรา 56 กำหนดว่า ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน โดยราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ 880 บาท/ตันอ้อย ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ดังนั้นในฤดูการผลิตปี 2560/2561 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานเป็นจำนวนเงิน 19,310.67 ล้านบาท ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์ และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานโดยเร็วต่อไป

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 จำนวน 10,363.73 ล้านบาท สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานจำนวน 19,310.67 ล้านบาทนั้น ในเบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน จำนวน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท และกองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงาน จำนวนประมาณ 9,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยกองทุนฯ คาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

“สอน.” คาด 2 สัปดาห์ ครม.เคาะพร้อมให้กองทุนฯจ่ายเงิน รง.น้ำตาล 1.9 หมื่น ล.

“สอน” เผย การจ่ายเงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายฯปี 60/61 ที่ต่ำกว่าขั้นต้นรวมเป็นเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ที่กองทุนอ้อยฯต้องจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลทรายตามกฎหมาย ยัน “กอน.” เห็นชอบแล้ว แต่อยู่ระหว่างเสนอ “ครม.” คาดไม่เกิน 2 สัปดาห์จากนั้น จะประกาศลงราชกิจจาฯ เพื่อจ่ายเงินได้ ขณะที่กองทุนฯรับยังขาดเงินอีก 4,000 กว่าล้าน บ. เล็งขอกู้หรือค้างชำระแล้วนำเงินรายได้อนาคตใช้แทน

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงกรณีที่โรงงานน้ำตาลทราย กังวลถึงปัญหาสภาพคล่องทางการเงินกรณียังไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2560/61 ว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อ 23 พ.ย. ได้พิจารณาเห็นชอบให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินส่วนต่างราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 60/61 จำนวน 19,310.67 ล้านบาท ให้กับโรงงานน้ำตาลแล้วขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์จากนั้นสอน.จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เมื่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นกองทุนอ้อยฯต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกิน ซึ่งฤดูการผลิตปี 60/61 ราคาอ้อยขั้นต้น อยู่ที่ 880 บาทต่อตัน แต่ขั้นสุดท้ายเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาทต่อตัน (ความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.) ดังนั้น ทำให้เกิดส่วนต่างคิดเป็นเงิน 19,310.67 ล้านบาท ซึ่งกองทุนอ้อยฯต้องจ่ายคืนโรงงาน” นายวิฤทธิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานจำนวน 19,310.67 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน จำนวน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท และกองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงาน จำนวนประมาณ 9,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยคาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป

“กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กอน. ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 จำนวน 10,363.73 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาทะยอยชำระหนี้ได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เตรียมกู้เงิน 4,900 ล้านบาท ชดเชยค่าอ้อยปี 60/61 

กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมลู่ทางกู้เงิน 4,690 ล้านบาท นำมาสมทบจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยปี 60/61 เพื่อช่วยลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้โรงงานน้ำตาลที่มียอดสูงถึง 19,310 ล้านบาท

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กองทุนฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร 10,363.73 ล้านบาท  แต่มีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาท เบื้องต้นกองทุนฯ จะหักกลบลบหนี้กับเงินกู้เสริมสภาพคล่องที่โรงงานกู้จากกองทุนฯ ก่อน 5,120 ล้านบาท จึงยังคงเหลือเงินชดเชย 14,190 ล้านบาท กองทุนฯ จะใช้เงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่จ่ายชดเชยโรงงานประมาณ 9,500 ล้านบาท ดังนั้น จะเหลือภาระเงินชดเชยอีกประมาณ 4,690 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแหล่งเงินเพื่อการชำระหนี้ โดยกองทุนฯ คาดว่าจะต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินทุนเพื่อชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาล อาทิ จะขอกู้เงินหรือค้างชำระเงินแล้วนำรายได้ในอนาคตของกองทุนฯ มาชำระหนี้โรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยเร็วต่อไป

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า  จากกรณีที่ราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 อยู่ที่ 880 บาท/ตันอ้อย ส่วนราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 792.74 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. ดังนั้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับโรงงาน 19,310.67 ล้านบาทนั้น เรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 ไปแล้ว  ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะเสร็จภายในเกิน 2 สัปดาห์ และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้กองทุนฯ จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานโดยเร็วต่อไป

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สงครามการค้าฉุดส่งออกไทย หวั่น!ปี 62 มูลค่าหดหาย 4.4 พันล้านเหรียญ

 “ม.หอการค้าไทย” เผย 1 ปีสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ฉุดมูลค่าส่งออกไทยหายวับเกือบ 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 61 ส่วนปี 62 คาดมูลค่าส่งออกจะหายไปมากกว่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯแน่นอน แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ภาครัฐเร่งเจรจาขยายตลาดด่วนๆ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการประเมินสงครามการค้า : ผลกระทบการส่งออกไทยปี 2562 ว่า ในช่วงเกือบ 1 ปีที่สหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและประเทศไทยแล้ว โดยศูนย์ฯประเมินว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2561 หายไป 351-597 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือทำให้อัตราการขยายตัวลดลง 0.1-0.2% และผลของสงครามการค้าดังกล่าว ทำให้คาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยจะขยายตัว 6.1-7.5% เท่านั้น ส่วนปี 2562 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของประเทศไทยจะหายไปอีก 1,181-4,427 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออัตราการขยายตัวลดลง 0.5-1.9%

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าทั้งของประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทั้ง 2 ประเทศ นำเข้าสินค้าจากไทยลดลง โดยปี 2562 คาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยลดลง 0.6-2.4% โดยสินค้าที่มูลค่าการส่งออกจะหายไปมากที่สุด คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจากการที่ทั้ง 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 10% มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยจะลดลง 343 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่หาก 2 ประเทศปรับขึ้นภาษีเป็น 25% มูลค่าจะหายไป 758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นสินค้าเคมีภัณฑ์, ยางและพลาสติก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ โดยมูลค่าการส่งออกจะหดหายมากขึ้นตามอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ภาพรวมการส่งออกของไทยไปตลาดโลกจะลดลง 0.2-0.8% เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่หากสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกันมากกว่า 25% จะทำให้การส่งออกไทยไปตลาดโลกลดลงถึง 8% หรือมูลค่าหายไป 1,796-57,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกที่หายไป พิจารณาเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ ด้วยทั้งเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมัน และปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศ

“หาก 2 ประเทศขึ้นภาษีนำเข้าเกินกว่า 25% เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดจากที่คาดการณ์ไว้ แต่โอกาสที่ 2 ประเทศ จะขึ้นภาษีเกินกว่า 25% มีความเป็นไปได้น้อยมาก หรือน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 50 : 50 เท่านั้น เพราะต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศ และการขึ้นภาษี 10% ในปัจจุบันก็สะท้อนแล้วว่าไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลการค้ากับจีนได้เลย แต่กลับทำให้สหรัฐฯต้องนำเข้าสินค้ามากขึ้น ในราคาที่สูงขึ้น โดยเป้าหมายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต้องการลดการขาดดุลระหว่างประเทศ”

นายอัทธ์กล่าวว่า เมื่อมองอีกมุม เมื่อสหรัฐฯและจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน จะส่งผลให้สินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก พลาสติก รถยนต์ และเคมีภัณฑ์ ส่งออกมาไทยมากขึ้น โดยคาดว่าสินค้าบางรายการ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จะส่งออกมาประเทศไทยสูงถึง 1,094 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่สินค้าเหล่านี้ส่งออกไปเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะมีชายแดนติดกับประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าการส่งออกและลดการนำเข้าจากทั้ง 2 ประเทศ ที่จะส่งออกมาไทยมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทย 100% โดยในจำนวนนี้กว่า 70% ต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง มองตลาดอาเซียนและเอเชียมากขึ้น เพิ่มช่องทางการผลิตให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐอาจต้องเจรจาการค้ากับหลายประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า การส่งออก ทดแทนตลาดสหรัฐฯและจีน แต่ทั้งนี้สงครามการค้าไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยเสี่ยง โอกาสที่ไทยจะส่งออกไปสหรัฐฯและจีนก็มีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ไม้ อาหารแปรรูป เป็นต้น

“ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือจากผลกระทบ โดยเฉพาะการทะลักของสินค้าจีนที่เข้ามาไทย ซึ่งกลุ่มที่ต้องระมัดระวังและเตรียมความพร้อมมากที่สุดคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะหากไม่มีมาตรการรับมือ อาจส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยต้องหยุดประกอบกิจการ ขณะที่อาเซียนต้องร่วมมือซื้อขายกันมากขึ้น ไม่พึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกันผลดีที่ เกิดขึ้นของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้ในการขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ให้ด้วย”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

“บิ๊กตู่” เคาะแผนแม่บทน้ำ 20 ปี พร้อมเร่งเครื่องเมกะโปรเจ็กต์ปี”62-65 ไม่ต่ำกว่าแสนล.ส่งต่อรบ.ใหม่

กนช.อนุมัติแผนแม่บทน้ำ 20 ปี จัดระเบียบน้ำประเทศในทุกมิติ คลอด 2 โครงการใหญ่บรรเทาท่วมกทม.และสุโขทัยภายใต้แผนแม่บทฯ พร้อมมอบ ก.คลัง พิจารณาแหล่งงบประมาณรองรับโครงการด้านน้ำปี 62-65 เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำของประเทศขับเคลื่อนได้ตามแผน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระที่สำคัญ ได้แก่ 1.ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) หลักเกณฑ์และแนวทาง การจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี 2.แผนงานโครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ และการขับเคลื่อนแผนงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 3.การทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งสอดรับและครอบคลุมกับ 3 แผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย 1. แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ และ 3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายในการพัฒนาประปาหมู่บ้านมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนรองรับเมืองหลัก แหล่งท่องเที่ยว เขตเศรษฐกิจสำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรคงที่และมีอัตราลดลงในอนาคต 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ ลดความเสี่ยง/ความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50 เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม 3. การปรับปรุงการระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยจัดทำผังลุ่มน้ำ และบังคับใช้ในผังเมืองรวม/จังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม 4. การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 20.45 ล้านไร่ และ 6 การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ แผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต แผนการจัดสรรน้ำ รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี นำไปสู่การปฏิบัติ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่กรอบการจัดสรรงบประมาณด้านน้ำ ใน 3 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนงานตามภารกิจพื้นฐาน (FUNCTION) 2.แผนงานตามภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ(AGENDA) และ 3. แผนงานตามภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด (AREA) โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงบประมาณ จัดทำแผนงานและโครงการประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้เสนอคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพิจารณารายละเอียดการจัดทำแผนงบประมาณ ปี 2563 และรายงาน กนช.ทราบต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

พลเอกฉัตรชัย กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 2 โครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ได้แก่ 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และบรรเทาน้ำหลากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง วงเงิน 9,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2562-2569 องค์ประกอบโครงการประกอบด้วย อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.70 เมตร 1 แห่ง ความยาว 13.5 กม. อาคารรับน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำและอาคารระบายน้ำขนาด 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม และบางเขน ครอบคลุมพื้นที่ 109 ตารางกิโลเมตร 2. โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2563-2567 ซึ่งโครงการนี้เป็นการปรับปรุงคลองหกบาท จากเดิมเพิ่มอีก 1 เท่าตัวเป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และการปรับปรุงคลองยม – น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมด้วยการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ ความยาวรวม 42 กิโลเมตร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองสุโขทัยในฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำในคลองไว้ใช้ประโยชน์บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสายในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 7,300 ไร่ ทั้งนี้ ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการและงบประมาณตามลำดับต่อไป

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช.ได้วิเคราะห์โครงการขนาดใหญ่-โครงการสำคัญ ที่ต้องเร่งดำเนินการปี 2562 – 2565 พบว่า ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการได้ทั้งหมดตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ น้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เช่น ในปี 2563 มีงบผูกพัน/ต่อเนื่องมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการคาดการณ์กรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณปีละ 63,000 ล้านบาท แต่มีความต้องการงบประมาณมากถึงแสนล้านบาท ที่ประชุม กนช.จึงได้มอบหมายสำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง พิจารณาหาแนวทางอื่นให้สามารถขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่อยู่ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เห็นชอบการทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำจากเดิม 25 ลุ่มน้ำหลัก 254 ลุ่มน้ำสาขา เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา ซึ่งใช้แผนที่มาตราส่วน 1:4,000 ที่มีความละเอียดสูง เป็นแผนที่หลักในการศึกษาการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลกระทบการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมอบ สทนช. ดำเนินการจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตลุ่มน้ำ ตามร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ มาตรา 25 และดำเนินการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป รวมถึงที่ประชุมยังได้มอบหมาย สทนช.เป็นเจ้าภาพหลักในการอำนวยการ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี สาขาทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 – 2565 ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อให้ดำเนินงานเกิดผลเป็นรูปธรรมด้วย

ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน คือ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย เพื่อบรรเทาอุทกภัย และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน พร้อมทั้งส่งน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วงเงิน 2,875 ล้านบาท โดยให้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้เร็วขึ้นตั้งแต่ปี 2562-2565(แผนเดิมจะดำเนินการในปี 2563-2567) ลักษณะของโครงการฯ จะเป็นการปรับปรุงคลองหกบาท ให้สามารถรับน้ำได้จากเดิมเพิ่มอีก 1 เท่าตัว(เดิมรับน้ำได้ 250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) เป็น 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมกับปรับปรุงคลองยม – น่าน ให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารประกอบตามแนวคลองส่งน้ำ ความยาวรวม 42 กิโลเมตร เมื่อโครงการฯแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตตัวเมืองสุโขทัยในช่วงฤดูฝน ตลอดจนเก็บกักน้ำไว้ในคลอง สำหรับเป็นน้ำต้นทุนไว้ใช้ประโยชน์ ในพื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งคลองตลอดสาย ในระหว่างฝนทิ้งช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 7,300 ไร่ ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเปิดโครงการฯและงบประมาณตามลำดับต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 ธันวาคม 2561

โรงงานน้ำตาลทวงเงินส่วนต่างค่าอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) เปิดเผยว่าผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่อาจเป็นปัญหาจ่ายในการค่าอ้อยให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างค่าอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นกับขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตที่แล้ว คืนให้แก่โรงงาน เนื่องจากโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าขั้นสุดท้าย 13,600 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่โรงงานจะได้รับอีก 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,400 ล้านบาท โรงงานจะได้นำไปชำระหนี้คืนสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่อไป

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังต้องจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ โดยจำนำน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน หากโรงงานจะขอสินเชื่อเพิ่มอีก สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อเพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเครดิตและหลักประกันเงินกู้ของแต่ละโรงงาน โดยโรงงานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นสถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อจึงต้องการทราบแผนและวิธีการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจากกองทุน และรวมทั้งหลักประกันหรือที่มาของแหล่งรายได้ที่โรงงานจะจัดหามาชำระหนี้ หากโรงงานจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มเติม

“โรงงานทุกแห่งต่างรอเงินชดเชยส่วนต่าง ที่กองทุนจะนำมาคืนให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ด้วย คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 125 ล้านตันหากกองทุน ดำเนินการล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงงานที่อาจมีเงินไม่เพียงพอไปจ่ายค่าอ้อยปีนี้ และใช้ในการส่งเสริมชาวไร่ปลูกอ้อยสำหรับฤดูการผลิตหน้าซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ธันวาคม 2561

คาดเงินบาทยังแข็ง - กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายวันนี้ (19 ธ.ค.)

ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19 ธ.ค. 61) ที่ระดับ 32.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจาก 32.74 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสิ้นวันทำการก่อน

คืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินสหรัฐฯ เปิดรับความเสี่ยงขึ้นเล็กน้อย แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างหนัก โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงถึง 5.6% ภายในวันเดียวไปอยู่ที่ระดับ 56 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 14 เดือน

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับไม่แข็งค่ามากนัก แม้ตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) เพราะส่วนหนึ่งเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะต้องลดลงในการประชุมเฟดคืนวันนี้

ส่วนของประเทศไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย "ขึ้น" จากระดับ 1.50% ไปที่ 1.75% ในการประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อ ขณะที่ บอนด์ระยะสั้นก็จะถูกขายทำกำไรจากการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว แม้ดอกเบี้ยจะไม่มีผลกับหุ้นมากนัก แต่เชื่อว่า วันนี้ตลาดหุ้นไทยก็จะเจอกับแรงกดดันเรื่องราคาน้ำมัน จนต้องปรับตัวลงเช่นกัน

การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเฟด ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับสุดท้ายของปี เชื่อว่าจะทำให้ตลาดมีการปรับพฤติกรรมและเตรียมพร้อมกับปีหน้ามากขึ้น ในปัจจุบัน นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ตลาดการเงินจะไม่ลดความผันผวนลง ซึ่งไม่เป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยง โดยวันนี้มองกรอบค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 32.65-32.75บาท

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 19 ธันวาคม 2561

โรงงานน้ำตาลวอนรัฐเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยฤดูการผลิตปีก่อน

โรงงานน้ำตาลทราย วอนรัฐเร่งช่วยเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยฤดูการผลิตปีก่อน หวั่นขาดสภาพคล่องต่อการรับซื้ออ้อยและส่งเสริมชาวไร่

โรงงานน้ำตาลทราย เร่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 60/61 ที่ต่ำกว่าขั้นต้น หลังผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายหลายรายกังวลปัญหาสภาพคล่อง อาจกระทบต่อการจ่ายค่าอ้อยฤดูการหีบปีนี้ และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่อาจเป็นปัญหาจ่ายในการค่าอ้อยให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างค่าอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นต้นกับขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตที่แล้ว คืนให้แก่โรงงาน เนื่องจากโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าขั้นสุดท้าย ประมาณ 13,600 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่โรงงานจะได้รับอีกประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 19,400 ล้านบาท ซึ่งโรงงานจะได้นำไปชำระหนี้คืนหนี้คืนสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่อไป          

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังต้องจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ โดยจำนำน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน หากโรงงานจะขอสินเชื่อเพิ่มอีก สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อเพิ่มได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตและหลักประกันเงินกู้ของแต่ละโรงงาน โดยโรงงานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อจึงต้องการทราบแผนและวิธีการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และรวมทั้งหลักประกันหรือที่มาของแหล่งรายได้ที่โรงงานจะจัดหามาชำระหนี้ หากโรงงานจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มเติม

“โรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งต่างรอเงินชดเชยส่วนต่าง ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะนำมาคืนให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 125 ล้านตัน หากกองทุนฯ ดำเนินการล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงงาน ที่อาจมีเงินไม่เพียงพอไปจ่ายค่าอ้อยปีนี้และใช้ในการส่งเสริมชาวไร่ปลูกอ้อยสำหรับฤดูการผลิตหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้ ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2561

โรงงานน้ำตาลผวาสภาพคล่อง จี้รัฐเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยฤดูผลิตปี 60/61

โรงงานน้ำตาลทราย เร่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 60/61 ที่ต่ำกว่าขั้นต้น หลังผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายหลายรายกังวลปัญหาสภาพคล่อง อาจกระทบต่อการจ่ายค่าอ้อยฤดูการหีบปีนี้ และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่อาจเป็นปัญหาจ่ายในการค่าอ้อยให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน2561 ที่ผ่านมา ซึ่งตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างค่าอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นต้นกับขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตที่แล้ว คืนให้แก่โรงงาน เนื่องจากโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าขั้นสุดท้าย ประมาณ 13,600 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่โรงงานจะได้รับอีกประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 19,400 ล้านบาท ซึ่งโรงงานจะได้นำไปชำระหนี้คืนหนี้คืนสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังต้องจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ โดยจำนำน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน หากโรงงานจะขอสินเชื่อเพิ่มอีก สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อเพิ่มได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตและหลักประกันเงินกู้ของแต่ละโรงงาน โดยโรงงานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อจึงต้องการทราบแผนและวิธีการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และรวมทั้งหลักประกันหรือที่มาของแหล่งรายได้ที่โรงงานจะจัดหามาชำระหนี้ หากโรงงานจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มเติม

“โรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งต่างรอเงินชดเชยส่วนต่าง ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะนำมาคืนให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 125 ล้านตัน หากกองทุนฯ ดำเนินการล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงงาน ที่อาจมีเงินไม่เพียงพอไปจ่ายค่าอ้อยปีนี้และใช้ในการส่งเสริมชาวไร่ปลูกอ้อยสำหรับฤดูการผลิตหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 ธันวาคม 2561

“โรงงานน้ำตาลทราย” วอนรัฐเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อย 5,800 ล้านของฤดูการผลิตปีก่อน หวั่นขาดสภาพคล่อง

โรงงานน้ำตาลทรายเร่งกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเคลียร์เงินส่วนต่างค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต 60/61 ที่ต่ำกว่าขั้นต้น หลังผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายหลายรายกังวลปัญหาสภาพคล่อง อาจกระทบต่อการจ่ายค่าอ้อยฤดูการหีบปีนี้ และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่อาจเป็นปัญหาจ่ายในการค่าอ้อยให้แก่เกษตรกร ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องจ่ายชดเชยเงินส่วนต่างระหว่างค่าอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ขั้นต้นกับขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิตที่แล้ว คืนให้แก่โรงงาน

เนื่องจากโรงงานได้จ่ายค่าอ้อยขั้นต้นสูงเกินกว่าขั้นสุดท้าย ประมาณ 13,600 ล้านบาท ไม่รวมเงินชดเชยส่วนต่างผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่โรงงานจะได้รับอีกประมาณ 5,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 19,400 ล้านบาท ซึ่งโรงงานจะได้นำไปชำระหนี้คืนหนี้คืนสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังต้องจัดหาเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำไปซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ โดยจำนำน้ำตาลทรายเป็นหลักประกัน หากโรงงานจะขอสินเชื่อเพิ่มอีก สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อเพิ่มได้อีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเครดิตและหลักประกันเงินกู้ของแต่ละโรงงาน

โดยโรงงานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อจึงต้องการทราบแผนและวิธีการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และรวมทั้งหลักประกันหรือที่มาของแหล่งรายได้ที่โรงงานจะจัดหามาชำระหนี้ หากโรงงานจำเป็นต้องขอกู้เพิ่มเติม

“โรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งต่างรอเงินชดเชยส่วนต่าง ที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะนำมาคืนให้แก่โรงงาน เพื่อนำไปชำระหนี้สถาบันการเงินและใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการซื้อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 125 ล้านตัน หากกองทุนฯ ดำเนินการล่าช้า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของโรงงาน ที่อาจมีเงินไม่เพียงพอไปจ่ายค่าอ้อยปีนี้และใช้ในการส่งเสริมชาวไร่ปลูกอ้อยสำหรับฤดูการผลิตหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 ธันวาคม 2561

ความเข้าใจที่ถูกต้อง"ดินและปุ๋ย"ทางออกภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

          เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน"พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์" ได้ลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรี 3 กระทรวง“เกษตรและสหกรณ์ อุตสาหกรรมและสำนักนายกรัฐมนตรี”เพื่อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต และขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

        ทั้งยังให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 หลังก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงอันตราย มีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ และผู้ที่ได้รับสารเคมีดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อน

      สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ได้จัดเสวนาทางวชิาการเรื่อง“ดิน ปุ๋ยและการเกษตรยั่งยืน ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อสร้างความเข้าใจการใช้ดินและปุ๋ยที่ถูกต้องนำไปสู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้กฎ ระเบียบ กติกาตามกฎหมายที่เรียกว่า"พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน"

        "พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืนเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจมีปัญหาการนำสู่การปฏิบัติ กระแสเกษตรอินทรีย์ของโลกกำลังมาแรง ผู้คนต่างอยากได้อาหารปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำจริงไม่ง่าย อย่างในสวีเดนเขาทำได้เพียง 5 % ผลิตภัณฑ์ของเขาคือผลิตภัณฑ์จากนม เพราะโคนมกินหญ้า หรือญี่ปุ่นก็ทำได้แค่ 8% มีประเทศไทยนี่แหละที่กล้าหาญชาญชัยอยากจะผลักดันทั้งประเทศเป็นเกษตรอินทรีย์"

         รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองแห่งชาติกล่าวตอนหนึ่งในวงเสวนาว่าเกษตรยั่งยืนสามารถจำแนกออกเป็น 3 ส่วนคือความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ จะต้องไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอาศัยวัฒนธรรมภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ จึงได้ผลิตภัณฑ์ออกมาที่เรียกว่าเกษตรปลอดภัย กล่าวคือทำแล้วมีรายได้ต่อเนื่อง อยู่ดีกินดี สุขภาพดีและต้องไม่ไปทำลายธรรมชาติ

        เขาย้ำว่าแม้ที่ผ่านมามีการพูดถึงการใช้สารเคมีเกษตรเยอะมากแล้วก็พยายามจะยกเลิกหยุดยั้งในขณะทีี่เรายังไม่มีทางออกที่จะไปเสริมหรือทดแทนกันได้  จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่นั้นเป็นเรื่องทางการตลาดหรือไม่ เนื่องจากสารเคมีอันตรายที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกนั้นเป็นตัวที่หมดสิทธิบัตรแล้วทั้งสิ้น ซึ่งใครก็สามารถผลิตได้ ทว่าตัวที่จะมาใหม่มีสิทธิบัตร เจ้าของเท่านั้นที่สามารถผลิตได้

       "ถ้าไม่มีสิทธิบัตรใครก็ผลิตได้ แต่ตัวใหม่ที่ออกมา มีสิทธิบัตรก็จะมีราคาที่สูงลิ้ว เขาจะมาอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเราหรือเปล่า มันเหมือนน้ำมันเบนซินถ้าเกิดใครเอาไปเผาบ้านเผาเมืองแล้วบอกว่าตัวผู้ร้ายคือน้ำมัน จริงๆ คนละเรื่องกันตัวผู้ร้ายไม่ใช่อยู่ที่ตัวน้ำมันแต่อยู่ที่คน ทำไมเราไม่จัดการที่คนแทนที่จะไปยุ่งกับสารเคมี ผมคิดว่าการแก้ปัญหาอาจจะไม่ถูกทางนัก"

        ผอ.สถาบันคลังสมองชาติยังย้ำว่าปุ๋ยเคมียังมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากพืชจะได้สารอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 3 ตัวคือไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P)และโปแตซเซียม(K) ขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์นั้นมีไม่ครบหรือมีน้อยกว่าความต้องการของพืชที่ควรจะได้รับ โดยยกตัวอย่างการปลูกข้าวในพื้นที่ 1 ไร่  ข้าวจะความต้องการไนโตรเจนเฉลี่ยอยู่ที่ 19 กิโลกรัม ขณะโปแตซเซียมประมาณ 100 กิโลกรัม แต่หากใส่ปุ๋ยอินทรีย์ธาตุอาหารเหล่านี้อาจไม่มีหรือไม่เพียงพอ             "เหมือนกับเราเปิดบัญชีธนาคารไว้ 1,000 บาท ถอนออกมา 100 บาท แต่ใส่กลับไป 5 บาท แป๊บเดียวก็หมด ลักษณะดินก็เช่นเดียวกัน ดินจืดเกิดขึ้นเพราะการจัดการดินที่ไม่ถูกต้อง ถามว่าธาตุอาหารพืชมาจากไหนก็มาจากที่เราเรียกว่าปุ๋ยนั่นแหละ ความจริงปุ๋ยอินทรีย์ผมไม่อยากจะเรียกว่าปุ๋ยอินทรีย์ แต่อยากจะเรียกว่าอินทรีย์วัตถุมากกว่า"

         รศ.ดร.พีรเดชชี้ว่าประโยชน์ของอินทรีย์วัตถุที่ใส่ไปในดินเพื่อไปปรับโครงสร้างของดินเท่านั้นไม่ใช่การให้ธาตุอาหารแก่พืช เพราะสารอาหารที่เป็นประโยชนืต่อการเจริญเติบโตของพืชมีน้อยมาก  เหมือนการสร้างบ้านปุ๋ยอินทรีย์เป็นการจัดทำให้บ้านปลอดโปร่งอยู่สบาย แต่ไม่ใช่อาหารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้อยู่อาศัย  หากไม่มีปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารNPK สุดท้ายต้นไม้ต้องตายหรือไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

     "ธาตุอาหารนั้นไม่ได้มากจากอินทรีย์วัตถุแต่มาจากปุ๋ยที่เราใส่ เรียกว่าNPK เกษตรกรยั่งยืนคือคุณทำแล้วมีรายได้เพียงพอในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้น ฉะนั้นการเกษตรรูปแบบใหม่ ทำเกษตรผสมสานเป็นเรื่องที่ดี เกษตรปลอดภัยเป็นเรื่องที่เราอยากได้ ส่วนเกษตรอินทรีย์ใครทำได้ก็ทำ เพราะใคร ๆ ก็อยากได้"รศ.ดร.พีรเดชกล่าว

          ขณะที่ ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ อาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนกล่าวเสริมว่าสำหรับคุณภาพดินที่ใช้ในการเพาะปลูกของประเทศไทยส่วนใหญ่มีความอุดมสมบุรณ์ต่ำและเมื่ออยู่ในสภาพภุมิอากาศที่ร้อนชื้นหากเกษตรกรละเลยการปรับปรุงบำรุงดินก็จะทำให้คุณภาพดินเสื่อมลงอย่างรวดเร็วทัง้ทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพ

          “การใส่ปุ๋ยเป็นการชดเชยธาตุอาหารที่พืชต้องการแต่ดินให้ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะประเมินได้จากการวิเคราะห์ดินและใช้แบบจำลองการเติบโตของพืชหรือ crop model ส่วนปุ๋ยที่ให้จะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพก็ได้ แต่ข้อสังเกตุคือปุ๋ยชีวภาพจะให้ปริมาณธาตุอาหารต่ำ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ให้ธาตุอาหารมากกว่าปุ๋ยชีวภาพและบถรุงดิน แต่ไม่สามารถปรับสัดส่วนของธาตุอาหารให้ตรงกับที่ดินขาดอยู่ได้”นักวิชาการด้านดินเผย

        รศ.ดร.ยงยุทธ โอสถสภา อุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยแจงรายละเอียดการกินอาหารของพืช โดยระบุว่าพืชจะกินอาหารในสภาพประจุไอออน หมายความว่าการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์จะต้องผ่านการละลายหรือถูกย่อยสลายจนเป็นประจุก่อนที่พืชจะดูดเข้าสู่เซลล์พืชได้ ซึ่งอาหารที่จำเป็นต่อพืชโดยมีธาตุอหารหลักที่สำคัญอย่างน้อย 3 ตัวได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโปแตซเซียม โดยอาหารเหล่านี้พืชจะนำไปสร้างเป็นสารอินทรีย์ต่าง ๆ ตามที่พืชต้องการทั้งโครงสร้างของพืชและเอนไซม์ต่าง ๆ ในการเจริญเติบโต       

        ส่วน เปรม ณ สงขลา เจ้าของและบรรณาธิการบริหารวารสารเคหการเกษตร กล่าวถึงรากฐานของการเกษตรยั่งยืนคือการจัดการดินให้มีประสิทธิภาพสูงและที่สำคัญขาดน้ำไม่ได้ต้องน้ำมีอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการดำเนินการและมาตรการควบคุมทีี่จริงจัง โดยยกตัวอย่างการทำเกษตรกรอินทรีย์ในต่างประเทศ หลังมีโอาสไปประชุมพืชสวนนานาชาติที่ประเทศออสเตรเลีย และลงพื้นที่ดูการทำสวนมะม่วงในประเทศออสเตรเลียที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการเกือบจะทั้งหมด ไม่มีการจ้างแรงงานคน ตั้งแต่การปลูก การตัดแต่งกิ่ง การจัดการผลผลิตต่าง ๆ   แต่ก็มีปัญหาเรื่องการตลาด ซึ่งก็ไม่ต่างจากบ้านเราที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

      "เกษตรยั่งยืนนั้น จะใช้ปุ๋ยจะใช้สารเคมีอะไรจะต้องมีความแม่นยำแล้วก็ดินน้ำปุ๋ยจะต้องไปด้วยกัน ถึงดินดีถ้าน้ำไม่มีจบครับ ฉะนั้นน้ำเรื่องใหญ่ที่สุดเลย"เจ้าของวารสารเคหการเกษตรกล่่าวทิ้งท้าย

        อย่างไรก็ตามหลังจากการเสวนาแล้วเสร็จได้มีการสาธิตการใช้แอพพลิเคชั่นปุ๋ยสั่งตัดมีชื่อว่า“TFT ปุ๋ยสั่งตัด” โดยผศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์ อาจารย์จากภาวิชาปฐพี ซึ่งจะช่วยในการค้นหาข้อมูล“ชุดดิน”ได้อย่างง่ายโดยผ่านสมาร์ทโฟนเพียงเกษตรกรเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี วิเคราะหืดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบดินแบบรวดเร็วของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดแอพฯเลือกชุดดินแล้วป้อนค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งโปรแกรมจะคำนวนปุ๋ยทีี่แนะนำให้ในทันที

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 ธันวาคม 2561

ผู้ตรวจการแผ่นดินเดินหน้าถกแก้ปัญหา 3 สารพิษ เร่งหาสารชีวภัณฑ์ทดแทน

 ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเชิญผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ชี้แนะวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่เป็นมิตร  ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แทนสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต 3 สารพิษที่เป็นส่วนผสมหลักในสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ลั่นประเทศไทยควรยกเลิกนำเข้า หากยังใช้อาจเกิดมะเร็งถือเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทั้งผู้ใช้และผู้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ พร้อมเร่งหาทางเลือกในการกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนคนไทย

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เพื่อเป็นการร่วมกันป้องกัน แก้ไข และระงับอันตรายที่อาจเกิดกับบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืนขณะนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรัดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะต้องไม่สิ้นเปลืองและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใช้ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาหาคำตอบให้กับเกษตรกรว่าหากไม่ใช้สารเคมีอันตรายแล้วจะใช้อะไร ซึ่งทั้งผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และพลเอก พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรอินทรีย์ ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีคุณสมบัติกำจัดวัชพืช เช่น การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ เกลือ หรือสารชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดินที่จะชะลอการเจริญเติบโตของวัชพืช ตลอดจนการเพาะปลูกพืชโดยใช้สารอินทรีย์และไม่ใช้สารเคมี ในประการสำคัญ สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรใช้สารอินทรีย์ และไม่ใช้สารเคมีใดๆในการเพาะปลูกพืช การกำจัดวัชพืชด้วยการใช้เครื่องจักรกลแบบต่าง ๆ ที่มีต้นทุนต่ำและได้ผลดี                                                                                      

“สำหรับเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พ.ศ.2561 ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ ก็เป็นเรื่องสำคัญและควรส่งเสริมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามเกษตรกรและประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกันโดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาคผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดประสิทธิผล ต่อไป โดยขอย้ำว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องมีความตั้งใจและช่วยกันแสวงหาสารทดแทนสารเคมีฆ่าวัชพืชอย่างจริงจัง พร้อมทั้งต้องร่วมมือกันขยายเครือข่าย ซึ่งคงไม่มีใครอยากเห็นพี่น้องคนไทยเสี่ยงอันตรายไปมากกว่านี้ และหากเพิกเฉยกันอยู่ผลกระทบจะไม่ได้เกิด แค่บุคคลเฉพาะกลุ่มเท่านั้น สารเคมีที่เป็นตัวการก่อมะเร็งเหล่านี้อาจวนเวียนมาถึงทุกคนจากการบริโภคพืช ผัก ผลไม้ที่มีสารพิษตกค้างอยู่” พลเอก วิทวัส กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 18 ธันวาคม 2561

"ดร.ศุภชัย" ฝาก 4 โปรเจ็กต์ ให้รัฐบาลใหม่ แนะเกาะติดสงครามการค้า-Brexit-ปฏิรูป WTO

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการ องค์การการค้าโลก กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ภูมิทัศน์โลกใหม่ : ความเสี่ยง - โอกาสประเทศไทย ในงานดินเนอร์ทอล์ก Go Thailand : โอกาสประเทศไทย 2019" ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ตอนหนึ่งถึงข้อเสนอรัฐบาลต่อไปในอนาคต ว่า ต้องทำอะไรบ้างเป็นเรื่องแรก โดยฝากข้อเสนอ จำนวน 4 นโยบาย ว่า ประการแรก นโยบายการศึกษา ที่ต้องสำรวจทักษะแรงงานทุกจังหวัด ว่า มีจำนวนแรงงานที่ไร้ทักษะจำนวนเท่าไรในแต่ละจังหวัด เพราะให้มีแรงงานที่ไร้ทักษะไม่ได้ เพื่อลงไปแก้ไขให้ได้

ประการสอง อยากให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยการเกษตรเป็น 2 เท่าตัว เพราะสินค้าเกษตรจะไปพยุง ต้านกระแสเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องลำบากมาก เพราะสินค้าเกษตรที่เราผลิตเป็นส่วนเล็กของโลก เราจะเอาราคาสูงในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่ตลาดของเราคงยาก ประการที่สาม ขอให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศมีแผนการจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของโลก เข้ามาอยู่และเพื่อช่วยทำวิจัย ซึ่งหลายประเทศในเอเซียใช้วิธีการแบบนี้มากมาย ทั้งสิงคโปร์ จีน เกาหลีก็ทำแบบนี้ ประการที่สี่ เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน เสนอให้ปรับค่าจ้างให้กับอาชีวะให้มีค่าจ้างเท่าปริญญาตรี เพราะสิ่งที่เราขาด คือ แรงงานด้านอาชีวะที่ยังไม่ตอบสนองนโยบาย 4.0 ได้เท่าที่ควร

ดร.ศุภชัย ยังกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลว่าต้องระวังระหว่างการเเป็นประชานิยมกับโซเชียลโพรเทคชั่นต้องระวังให้มาก ต้องทำให้ชัดเจนว่าการช่วยผู้สูงอายุ คนพิการ คนมีรายได้น้อย ต้องมีความชัดเจนว่าช่วยแล้วมีผลที่ตามมาที่สร้างสรรค์อย่างไร ต้องมีเงื่อนไขอะไรแลกเปลี่ยนหรือไม่ ยกตัวอย่าง ประเทศบราซิล ก็มีการให้เงินประชาชน แต่มีเงื่อนไขว่า เด็กต้องเข้าเรียน และทุกหนึ่งปีต้องมาตรวจสุขภาพเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้ได้

ดร.ศุภชัย ยังกล่าาวถึงพื้นฐานเศรฐกิจของไทยว่า เศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยเรตติ้งสูงกว่าสหรัฐฯ และยุโรป อยู่ในระดับดี เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานต่ำ หนี้สินรัฐบาลต่ำกว่ามาตรฐานฯ พร้อมกับเสนอว่า ให้มีการผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพราะโครงการดีทุกอย่าง แต่ไม่รู้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จะใช้เทคโนโลยีแบบไหน เพื่อเชื่อมกับจีนในนโยบายวันเบลวันโร้ด ได้อย่างไรเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์และแบ่งผลประโยชน์กับจีนได้อย่างไร

นอกจากนี้ ดร.ศุภชัย ยังฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจระดับโลก ว่า สถานการณ์โลกอยู่ในภาวะ Global dis order ส่วนที่มองว่า เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่สงคราม เแต่เป็นเรื่องของนโยบายและเกมการต่อรอง แต่เป็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องติดตามว่าจะเป็นผลกระทบอย่างไรบ้าง การลงทุนระดับโลกจะชะงักงันการค้า การลงทุนจะเกิดอะไรขึ้นในโลก ต้องพิจารณาว่าจะค้าขายในประเทศใดได้บ้าง และเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เพราะอาจจะมีการย้ายอุตสากรรม เพราะทราบว่า จีนต้องการจะย้ายในบางเรื่อง อะไรที่จ้างแพงก็จะย้ายมาที่เวียดนามบ้าง ไทยบ้าง แต่มีการพูดว่า เวียดนามจะได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น เราต้องดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง แล้วเราจะเข้าไปต่อสู้ได้อย่างไรบ้าง และยังแนะนำให้จับตาการปฏิรูป WTO ที่สหรัฐฯ ต้องการปฏิรูป รวมทั้งผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปขอให้เฝ้าดูให้ดีด้วย

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 18 ธันวาคม 2561

สอน.ชูมาตรการ พร้อมอุ้มชาวไร่ ทั้งระยะสั้น-ยาว รับมืออ้อยตกต่ำ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 700 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. แต่หากคิดคำนวณที่ค่าความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ 12.30 ซี.ซี.เอส. จะอยู่ที่ 796.69 บาทต่อตัน และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย และจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880-900 บาท/ตันอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว ป้องกันผลกระทบจากราคาอ้อยตกต่ำ เช่น ให้มีผู้แทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายชุดต่างๆ เพื่อสะท้อนปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศและร่วมกันกำหนดมาตรการ นโยบายต่างๆ นอกจากนี้จะเร่งดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ส่วนมาตรการในระยะยาว กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายและสั่งการให้หน่วยงานที่มีบทบาทโดยตรง คือ สอนให้เน้นหนักในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 ธันวาคม 2561

อุตฯเอทานอลช่วยศก. สร้างมูลค่าเพิ่มอ้อย-มันกว่าแสนล้าน

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่าอุตสาหกรรมเอทานอลประเทศไทยได้สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชอ้อยและมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าแค่พืชเกษตรและส่งเสริมอาชีพให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 -ตุลาคม 2561 โครงการใช้เอทานอลที่ภาครัฐให้การสนับสนุนได้สร้างเม็ดเงินไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมกว่า 66,000 ล้านบาทผ่านการใช้กากน้ำตาลกว่า 27.5 ล้านตัน เป็นวัตถุดิบสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 38,000 ล้านบาท คิดเป็นการใช้มันสำปะหลังกว่า 16.3 ล้านตัน เพื่อผลิตเอทานอล อีกทั้งยังเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าของกากน้ำตาลจากปีละ 1,000 ล้านบาท ในช่วงก่อนมีโครงการเอทานอลเป็นปีละ 9,600 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ของภาครัฐยังส่งเสริมการนำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงการต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มยั่งยืนเพิ่มขีดความสามารถทางพลังงานตั้งแต่ปี 2549-ตุลาคม 2561 ประเทศไทยใช้เอทานอลแทนการนำเข้าน้ำมันมากถึง 9,750 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ การแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้จะส่งผลดีกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเอทานอล เพราะมีวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น เกษตรกรจะมีรายได้สูงขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิต ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมเอทานอล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลังแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอล 26 โรง ผลิตเอทานอลได้ 5.8 ล้านลิตรต่อวันแต่มีความต้องการใช้เพียง 4 ล้านลิตรต่อวัน หากอนาคตนโยบายของรัฐบาลชัดเจน ผู้ประกอบการก็มีศักยภาพเพียงพอในการผลิตซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ต่อปีหรือ 1 ล้านลิตรต่อวัน จึงมั่นใจว่าเอทานอลยังคงมีความต้องการใช้ต่อเนื่อง แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้อยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ

นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานกล่าวว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 (AEDP 2015 ) ได้กำหนดไว้ในปี 2579 จะส่งเสริมการใช้เอทานอลไว้ที่ 11.3 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซลไว้ที่ 14 ล้านลิตรต่อวัน โดยในปี 2561 (มกราคม-สิงหาคม) ใช้เอทานอล 4.15 ล้านลิตรต่อวัน ขยายตัว 5% จากปีที่ผ่านมาปัจจุบันการใช้เอทานอลเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะได้ตามแผน AEDP ที่วางไว้แน่นอน

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกล่าวว่าการใช้น้ำมัน E20 และE85 ที่มีเอทานอลผสมอยู่จะขยายตัวมากขึ้นทุกปีเห็นได้จากปัจจุบันค่ายรถยนต์ได้ผลิตรถยนต์ที่รองรับน้ำมันชนิดดังกล่าวออกมาจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันชนิดนี้มากขึ้น ส่วนนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเชื่อว่าจะไม่กระทบกับอุตสาหกรรมเอทานอลเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพัฒนาต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเป็นที่นิยม

นายชุมพล สุรพิทยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บริษัทปตท. น้ำมันและการค้าปลีกกล่าวว่าความท้าทายของอุตสาหกรรมเอทานอลประกอบด้วยราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต้นทุนรวมถึงผู้ผลิตเอทานอลหลักที่อยู่ต่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกกว่าไทย และนโยบายรัฐและเทรนด์ของโลกจะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบขนส่งมวลชนจะพึ่งพารถไฟฟ้ามากขึ้นส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งเปลี่ยนแปลงไปดังนั้นต้องรอดูนโยบายภาครัฐว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอลไปในทิศทางใดปตท. เองก็เตรียมตัวรองรับ โดยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 ธันวาคม 2561

‘พลังงาน’เล็งกดค่าไฟลงอีก รอ‘แผนพีดีพี’ฉบับใหม่บังคับใช้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเปิดงานสัมมนาเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ของประเทศไทยฉบับใหม่ ระหว่างปี 2561-2580 ว่า ภายใต้แผนพีดีพีฉบับใหม่นี้ ประชาชนจะได้ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถูกลงกว่าแผนเดิม เนื่องจากมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น ทั้งพลังงานทดแทน โรงไฟฟ้าก๊าซ ฟอสซิล เป็นต้น รวมถึงมีการแข่งขันด้านราคาที่มีต้นทุนถูกลง โดยประมาณการว่า ราคาค่าไฟฟ้าตลอดทั้งแผนจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย จากเดิมอยู่ที่ราคา 5 บาทกว่าต่อหน่วย

ทั้งนี้จะมีการเสนอแผนพีดีพีเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือนมกราคม 2562 และเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หลังจากนั้นจะกลับมาปรับแก้แผนลูกภายใต้พีดีพี ได้แก่ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (แก๊สแพลน) แผนบริหารจัดการน้ำมัน (ออยล์แพลน) แผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) และเตรียมเสนอที่ประชุม กพช.และ ครม.ตามลำดับ จากนั้นกระทรวงพลังงานจะดำเนินการร่างแผนแม่บทปี 2562-2566 เพื่อให้สอดคล้องกับพีดีพี และเกิดความคล่องตัวในการจัดทำแผนเพื่อของบประมาณต่อไป

นายกุลิศยังชี้แนวโน้มด้วยว่า ในปี 2568 กำลังการผลิตไฟฟ้าจะพอดีกับความต้องการใช้ หลังจากนั้นกำลังการผลิตจะต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ พร้อมคาดว่า ช่วงปลายแผนปี 2580 ความต้องการไฟฟ้าจะมากกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นจะต้องเริ่มมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อเข้ามาในระบบ โดยจะต้องพิจารณาความสามารถการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหลักก่อน และต้องไม่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้รัฐเข้ามาแข่งขันกับเอกชน

สำหรับการใช้ไฟสูงสุดในปี 2561พบว่า อยู่ที่ 34,317 เมกะวัตต์ เป็นการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 54,617 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.4% นอกจากนี้ ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลักด้วย หากจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่ต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) โดยกระทรวงพลังงานจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำมาปรับปรุงร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 ธันวาคม 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์

 นักลงทุนยังคงกังวลเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ตลาดยังปิดรับความเสี่ยงระยะสั้นไม่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นปละบอนด์ สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่เอเชียโดนเทขาย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.72 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังคงแกว่งตัวในแดนลบ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงถึง 2.11% ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือนพร้อมกับดัชนี Stoxx50 ในยุโรปที่ปรับตัวลง -0.94% ก่อนการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธถึงพฤหัสนี้

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2561

สอน.ลั่นพร้อมดูแลชาวไร่อ้อยเตรียมจ่ายเงินช่วยซื้อปัจจัยการผลิตงวดแรกก.พ.62

"สอน."แจงแผนดูแลช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทั้งระยะสั้นและยาว โดยเตรียมจ่ายเงินเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันผ่านบัญชีธ.ก.ส.ล็อตแรกเดือนก.พ.62 และงวดที่ 2 หลังปิดหีบหรือปลายเม.ย. คาดรวมๆแล้วชาวไร่จะได้รับเงิน 880-900 บาทต่อตัน มั่นใจราคาขั้นสุดท้าจะสูงกว่าขั้นต้น

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า จากระดับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/62 เฉลี่ยอยู่ที่ 700 บาทต่อตันซึ่งราคาดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาที่ต่ำดังกล่าวในระยะสั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอครม.เห็นชอบเมื่อ 10 ต.ค.ที่ผ่านมาในการซื้อปัจจัยการผลิตอีกตันละ 50 บาทวงเงิน 6,500 ล้านบาทที่กำหนดจ่ายผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และครั้งที่ 2 หลังปิดหีบอ้อยคาดว่าประมาณเดือนเมษายน 2562

" เราตระหนักถึงราคาค่าอ้อยที่อาจจะไม่คุ้มต้นทุนมาตั้งแต่แรกและได้เร่งออกมาตรการไว้ล่วงหน้าแล้วถึงแม้ว่าราคาเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 700 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส แต่หากคิดคำนวณที่ค่าความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ 12.30 ซี.ซี.เอส จะอยู่ที่ 796.69 บาทต่อตัน และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย และจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880 - 900 บาท/ตันอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยและราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปลายปีน่าจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น "นางวรวรรณกล่าว

สำหรับมาตรการในระยะยาว กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายให้สอน.เน้นหนักในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ

เปลี่ยนจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) ในส่วนของประสิทธิภาพในการผลิต คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ที่ได้เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ.2561 - 2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000

จาก https://mgronline.com   วันที่ 17 ธันวาคม 2561

สอน. พร้อมดูแลชาวไร่อ้อย ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้น-ยาว

จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องสถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่มีการประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นมาแล้วราคาตันละ 650 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยขาดทุน เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มีการประเมินผลการลงทุนแล้วพบว่าจะต้องใช้เงินในการลงทุนปลูกอ้อยตันละ 1,041 บาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อย ส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้น แต่รัฐบาลไม่มีมาตรการรองรับนโยบายของตนเอง              

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ชี้แจงว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 700 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส แต่หากคิดคำนวณที่ค่าความหวานเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ 12.30 ซี.ซี.เอส จะอยู่ที่ 796.69 บาทต่อตัน และเมื่อรวมกับค่าส่วนเพิ่มจากคุณภาพอ้อยที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย และจากโครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยประมาณ 880 - 900 บาท/ตันอ้อย ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวไร่อ้อยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 ธันวาคม 2561

ผู้ผลิตเอทานอลย้ำ 12 ปี ช่วยไทยลดนำเข้าน้ำมัน 1.6 แสนล้านบาท

สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ครบรอบ 12 ปี เผยช่วยสร้างเม็ดเงินสู่ชาวไร่อ้อย 6.6 หมื่นล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอีก 3.8 หมื่นล้านบาท ลดนำเข้าน้ำมันมากถึง 9,750 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท หนุนนโยบายรัฐก้าวสู่ Bio Economy

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย หรือ TEMA เปิดเผยในการดำเนินงานครบ 12 ปี ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - ต.ค. 2561 โครงการใช้เอทานอลได้สร้างเม็ดเงินไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยรวมกว่า 66,000 ล้านบาท ผ่านการใช้กากน้ำตาลกว่า 27.5 ล้านตัน เป็นวัตถุดิบ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยคิดเป็นการใช้มันสำปะหลังกว่า 16.3 ล้านตัน เพื่อผลิตเอทานอล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร และช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่าของกากน้ำตาลจากปีละ 1,000 ล้านบาทในช่วงก่อนมีโครงการเอทานอล เป็นปีละ 9,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ของภาครัฐ ยังส่งเสริมการนำอ้อยมาเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิง การต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางพลังงาน ตั้งแต่ปี 2549 - ต.ค. 2561 ประเทศไทยใช้เอทานอลแทนการนำเข้าน้ำมันมากถึง 9,750 ล้านลิตร หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท

“สมาคมฯ มุ่งหวังในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอลไทยให้มีความมั่นคงและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมอาชีพ-สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต” นายเจษฎา กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย จัดตั้งขึ้นโดยผู้ประกอบการผลิตเอทานอล ทั้งที่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล น้ำอ้อย และ มันสำปะหลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อขัดแย้งต่างๆ ช่วยประสานงานทำความตกลงกับบุคคลภายนอก และติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าเอทานอล ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งประสานประโยชน์ทางการค้า การเงิน เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นผู้นำทางด้านเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนแห่งภูมิภาค และเป็นผู้ผลิตเอทานอลเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จาก https://mgronline.com   วันที่ 17 ธันวาคม 2561

ก.อุตสาหกรรมวางแผนยุทธศาสตร์เหล็กรับอีอีซี

ก.อุตสาหกรรมวางแผนร่างยุทศาสตร์อุตฯเหล็ก รองรับอีอีซี ด้านเอกชนไทยร่วมทุนญี่ปุ่น ผลิตเหล็กเกรดพิเศษเพื่อยานยนต์ ลดการนำเข้าและเล็งส่งออกอาเซียน - จีน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้จะหารือกับกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เพื่อร่างแผนยุทธศาสตร์ยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย ระยะ 5 - 10 ปี  โดยจะต้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมโดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้น คาดจะลดการนำเข้าและเพิ่มยอดส่งออกเหล็กในอนาคต

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารร่วม บจก. โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมลงทุน กับบริษัท โกเบสตีลจำกัด จากญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพราะต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ทดแทนนำเข้าเหล็กเกรดพิเศษ เพราะไทยไม่มีโรงงานผลิตเหล็กเกรดพิเศษ จะต้องนำเข้าเหล็กเกรดพิเศษเพื่อใช้ผลิตรถยนต์ และเป็นการปรับตัวเพิ่มศักยภาพการผลิต หลังจากอุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ

"แนวโน้มการผลิตรถยนต์ในไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง รองรับรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเกรดพิเศษสูงขึ้น คาดว่าในปีหน้ากำลังการผลิตเหล็กเกรดพิเศษจะสูงขึ้นถึง 10,000 ตันต่อปีจากปีนี้ที่ 3,000 ตันต่อปี และจะขยายกำลังการผลิตทั้งหมดเพิ่มเป็น 400,000 ตันต่อปีในปี 2563 และคาดหวังว่า หลังเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่จะสานต่อนโยบายเดิม"นายธีรยุทธ กล่าว

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. มองว่า การที่ญี่ปุ่นเข้ามาขยายฐานการผลิตเหล็กจะส่งผลดีให้ไทยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เฉลี่ยปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งสามารถใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยางล้อ ที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ และสามารถเพิ่มยอดส่งออกไปยังอาเซียน ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในปีหน้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5-6 มีปริมาณการผลิต 18 ล้านตันเพิ่ม จากปีนี้ที่ 17 ล้านตัน แต่ต้องติดสถานการณ์ปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งมาตรการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าตามมาตรา 232 และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น ของสหภาพยุโรป (อียู) อาจทำให้เหล็กจำนวนกว่า 34 ล้านตันไหลเข้าสู่ตลาดไทยได้

ทั้งนี้ บริษัท โคเบลโก้ มิลล์คอน สตีล จำกัด  เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท  มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน และ บริษัท โกเบ สตีล จำกัด มีทุนจดทะเบียน 2.83 พันล้านบาท เงินลงทุน 6.79 พันล้านบาท เริ่มดำเนินการผลิตเหล็กลวดเกรดธรรมดาตั้งแต่ปี 2559 และเริ่มผลิตเหล็กลวดเกรดพิเศษในปี 2561  โดย ตั้งเป้าปี 2562กำลังการผลิต 3.5 แสนตัน/ปี จากปีนี้ 1.6 แสนตัน และวางแผนครึ่งหลังปี62 จะส่งออกต่างประเทศ พุ่งเป้าหมายไปยัง อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และจีน

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 17 ธันวาคม 2561

พาณิชย์เผยปี 61 การค้าไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอโตต่อเนื่อง

พาณิชย์เผย 10 เดือนแรกปี 61 การค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวต่อเนื่อง กระตุ้นผู้ส่งออก-นำเข้าใช้สิทธิ์เอฟทีเอขยายตลาดและลดต้นทุนการผลิต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2561 พบการค้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศคู่เอฟทีเอที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ  อาเซียน มีมูลค่าการค้า 95.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล  จีน มีมูลค่าการค้า 66.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา

ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 50.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล และ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์  ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง และเกาหลี มีมูลค่าการค้า 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอส่งออกไปประเทศคู่ค้าเป็นมูลค่าส่งออกภายใต้สิทธิสูงสุดตามลำดับ อาเซียน มูลค่า 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64.4 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ จีน มูลค่า 13.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 90.7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ออสเตรเลีย มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 97.9 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 91.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ และ อินเดีย มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 58.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ เป็นต้น ขณะเดียวกันไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอนำเข้าจากประเทศคู่ค้าเป็นมูลค่าการนำเข้าภายใต้สิทธิสูงสุดตามลำดับ จีน มูลค่า 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.4 ของการนำเข้าจากจีน อาเซียน มูลค่า 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 20.3 ของการนำเข้าจากอาเซียน ญี่ปุ่น มูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.4 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 26.9 ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย มูลค่า 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 12.8 ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า จากการประเมินพบว่าผู้ประกอบการไทยยังคงใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอกับบางประเทศน้อย โดยเฉพาะส่งออกไปอาเซียนและอินเดีย และส่วนใหญ่ผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ ไม่เกินร้อยละ 26 ของการนำเข้า จึงขอเชิญผู้ประกอบการเช็คข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555 และอีเมล์ ftacenter@dtn.go.th เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรที่ไทยตกลงไว้กับประเทศคู่เอฟทีเอ ส่งออก-นำเข้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจและขยายโอกาสทางการค้าของไทย

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 16 ธันวาคม 2561

"อาเซียน" ครองอันดับ 1 ประเทศคู้ค้า FTA-ไทย

การค้าไทยกับประเทศคู่ FTA ยังโตต่อเนื่อง "อาเซียน" ครองอันดับ 1 พาณิชย์แนะผู้ส่งออกเร่งใช้สิทธิเพื่อขยายตลาด ลดต้นทุนการผลิต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ปี 2561 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ (1) อาเซียน มีมูลค่าการค้า 95.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล (2) จีน มีมูลค่าการค้า 66.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา

(3) ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 50.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ (4) ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง (5) เกาหลี มีมูลค่าการค้า 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับการติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2561 พบว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกไปประเทศคู่ค้าสูงสุด คือ (1) อาเซียน มูลค่า 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 64.4% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ (2) จีน มูลค่า 13.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 90.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 97.9% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 91.1% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ และ (5) อินเดีย มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 58.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ

ขณะเดียวกัน ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าเป็นมูลค่าสูงสุด (1) จีน มูลค่า 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 26.4% ของการนำเข้าจากจีน (2) อาเซียน มูลค่า 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 20.3% ของการนำเข้าจากอาเซียน (3) ญี่ปุ่น มูลค่า 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 23.4% ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น (4) เกาหลีใต้ มูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 26.9% ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และ (5) ออสเตรเลีย มูลค่า 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 12.8% ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย

"ผู้ประกอบการไทยยังคงใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA กับบางประเทศน้อยอยู่ โดยเฉพาะในการส่งออกไปอาเซียน และอินเดีย และในการนำเข้าส่วนใหญ่ผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อยู่ที่ไม่เกิน 26% ของการนำเข้า จึงขอให้ผู้ประกอบการเช็คข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรที่ไทยตกลงไว้กับประเทศคู่ FTA ในการส่งออก-นำเข้ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจและขยายโอกาสทางการค้าของไทย"

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 16  ธันวาคม 2561

“พาณิชย์”ติวเข้มใช้ประโยชน์FTA-GSP

กระทรวงพาณิชย์ ติวเข้มผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ จากกรอบความตกลงการค้าFTA , GSP ให้เต็มที่หวังเพิ่มมูลค่า

 นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ลงพื้นที่จัดสัมมนาการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในเรื่องการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง การใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA 12 ฉบับ และ GSP อีก5 ประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยให้มากขึ้น

และ กรมฯ ยังมีแผนจัดสัมมนาภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างต่อเนื่องอีกจำนวน 5 ครั้ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงต่างๆอย่างเต็มที่

โดยล่าสุดไทยมีความตกลง FTA 12 และภายใต้ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP 5 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย นอร์เวย์ และญี่ปุ่น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม 2561

พาราควอต อันตรายถึงชีวิต ผู้ตรวจฯจี้ 2 กระทรวงยกเลิกใน 1 ปี

ผู้ตรวจการแผ่นดินร่อนหนังสือถึง 2 กระทรวง “เกษตร-อุตสาหกรรม”ย้ำพาราควอต อันตรายถึงชีวิต เร่งหน่วยงานเสนอแผนควบคุม พร้อมยกเลิกภายใน 1 ปี

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ได้ลงนามในหนังสือถึง รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.อุตสาหกรรม นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกฎ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต และขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง การปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตและการพัฒนาสารชีวภาพทดแทน และได้เสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตภายใน 1 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ และผู้ที่ได้รับสารเคมีโดยไม่ตั้งใจ อันเกิดจากการใช้และการสัมผัสสารเคมีที่ปนเปื้อนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะเป็นพิษต่อคนและสัตว์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (1) (2) ประกอบมาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการออกประกาศตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต จากเดิมชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 และเสนอแนะให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศปรับปรุงแก้ไขบัญชี 1.1 ลำดับที่ 352 ลำดับที่ 353 และลำดับที่ 354 แนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ในกรณีที่มีการระบุชื่อวัตถุอันตรายเป็นภาษาอังกฤษไว้ในประกาศ จะต้องมีคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยกำกับไว้ด้วยเสมอ

สำหรับ กรณีการจำกัดและการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตรายพาราควอตแก่ประชาชนนั้น กรมวิชาการเกษตรต้องเสนอแผนหรือมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย รวมถึงต้องจัดทำแผนปฏิบัติการประชาสัมพันธ์เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนภายใน 30 วัน และให้ดำเนินการรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ภายใน 90 วัน ทั้งนี้จะต้องเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนนั้นด้วย

นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศเกี่ยวกับการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต เพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการพัฒนา แนวทางการใช้สารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทน หรือวิธีอื่นใดที่ปลอดภัยสำหรับการกำจัดวัชพืช แทนการใช้สารเคมีพาราควอต ภายใน 180 วัน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มและดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน

“การหาสารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทนสารเคมี เชื่อว่าภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยนั้นทำได้ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับประโยชน์ อาจเป็นเรื่องยากแต่ว่าเราต้องทำเพื่อคนไทยและลูกหลานเราในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อเป็นการฝ่าทางตันและหาทางออกในการหาวิธีทดแทนการใช้ยาฆ่าหญ้าที่มีพิษร้ายแรง”

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ทรา 17 ธ.ค.นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว มาร่วมหารือเพื่อเสนอวิธีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 ธันวาคม 2561

อ้อยไม่หวาน!'ติ่ง'ติงทีมศก.ตู่เร่งแก้ราคาตก

'มัลลิกา' ทวงความสามารถรัฐบาลและทีมเศรษฐกิจ ไม่ลาออกก็ให้เร่งแก้ราคาอ้อยก่อนที่สิ้นปีนี้ราคาจะตกอีก ติงอย่าโม้เศรษฐกิจดีขณะที่ชาวไร่อ้อยน้ำตาซึม

15 ธันวาคม 2561 : นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน  กล่าวว่า หลังจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนครั้งล่าสุดที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอื่นๆที่มีเกษตรกรร้องเรียนผ่านอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมความเดือดร้อนมาแล้วพบว่าขณะนี้สถานการณ์เกษตรกรชาวไร่อ้อยกำลังเร่งตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลก่อนสิ้นปี เนื่องจากปีนี้ราคาอ้อยตกต่ำอย่างน่าตกใจ บางจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี ล่าสุดสามารถขายได้เพียงราคา 800 บาท/ต่อตันเท่านั้น ต่างก็วันเกรงว่าสิ้นปีนี้ราคาจะตกต่ำลงอีกเนื่องจากไม่มีความใส่ใจหรือกระตือรือร้นจากผู้บริหารกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจทั้งที่มีการส่งสัญญาณก่อนนี้แล้ว

นางมัลลิกา กล่าวว่า เกษตรกรร้องทุกข์ว่าสาหัสมากสภาพความเป็นจริงของชาวไร่อ้อยราคาจะถูกหรือแพงอย่างไรก็จำเป็นต้องตัดขายเนื่องจากถึงฤดูตัดเพราะเป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวหนึ่งปีต้องรีบตัดภายในระยะเวลากำหนด หากล่าช้าโรงงานน้ำตาลพื้นที่ใกล้เคียงก็ปิดต้องนำไปขายในพื้นที่โรงงานที่ไกลกว่าเกษตรกรก็แบกรับภาระค่าขนส่งอีก

"ถ้าไม่ตัดอ้อยส่งโรงงานใกล้เคียงก็สู้ราคาขนส่งไม่ไหว เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องลงมือทั้งที่ราคาอย่างต่ำอยู่เรื่องนี้เกษตรกรได้สะท้อนปัญหามาระยะหนึ่งแล้วก่อนการเก็บเกี่ยวแต่จะสังเกตว่าแม้เกษตรกรหรือฝ่ายต่างๆจะท้วงติงรัฐบาลอย่างไรก็ตามแต่กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยเหลียวแลเท่าใดนัก ไม่รู้เอาเวลาไปทำอะไร ถ้าได้รับความใส่ใจจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรหรือถ้ามีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเกษตรกรสามารถรวยได้ด้วยความเป็นธรรมทางด้านราคา " นางมัลลิกา กล่าว

กรรมการบริหารพรรคปชป. กล่าวว่า สถานการณ์อ้อยในฤดูการผลิตปี 2561 / 2562 ได้มีการประกาศราคาอ้อยเบื้องต้นมาแล้วราคาตันละ 650 บาทส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเจ้งกันระนาวเนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีการประเมินผลการลงทุนแล้วพบว่าจะต้องใช้เงินในการลงทุนปลูกอ้อยตันละ 1,041 บาท ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลพวงมาจากรัฐบาลทำงานไม่เป็นประกอบกับการผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังหันมาปลูกอ้อยส่งผลให้มีผลผลิตสูงขึ้นแต่รัฐบาลไม่ได้มีทักษะในการรองรับนโยบายของตนเอง

จากการประเมินเบื้องต้น ของทางสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เคยประเมินว่าอ้อยในประเทศปกติจะมีประมาณ 100 ล้านตัน ราคาอ้อยจะตกประมาณตันละ 1,000 บาท แต่ขณะนี้อ้อยในประเทศหลังจากรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายส่งเสริมปลูกพืชหลังนาปรากฏมีปริมาณ 137 ล้านตันเป็นผลผลิตปี 2560 / 2561 ราคาอ้อยจึงตกต่ำย่อยยับเกษตรกรลำบากอย่างมาก เกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้นเป็นพลังหลักของการผลิตพืชเศรษฐกิจของประเทศมาตลอดและเป็นพลังสำคัญของธุรกิจน้ำตาลทรายส่งออก แต่เขาต้องมาลำเค็ญเพราะความไม่เป็นงานของรัฐบาล สุดท้ายนี้จึงขอแนะนำว่ารัฐบาลควรหาวิธีออกมาตรการช่วยเหลือทดแทน เพราะทั้งหมดเป็นผลจากความผิดพลาดทางการบริหารของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเอง

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 15 ธันวาคม 2561

"อุตตม" แย้มคุยประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วมกัน

"อุตตม" แย้มแผนคุยประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาเขตเศรษฐกิจร่วมกัน ชูจุดเด่นแต่ละพื้นที่ลดความซ้ำซ้อน หวังรองรับการลงทุนที่จะเติบโตสูบในอนาคต หลังประเมินศักยภาพอาเซียนไปได้ไกล พร้อมหารือร่วม ปตท. กำหนดนโยบายพัฒนาเขตศก.เกษตร

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา"Asean SEZ Summit 2018" ในหัวข้อเขตเศรษฐกิจอาเซียน ศูนย์กลางการลงทุนยุคใหม่ ว่าเบื้องต้นกระทรวงฯได้ทำการหารือในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง(Acmecs) เมื่อช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงการร่วมมือกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยมองหาความสามารถ และศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ทั้งด้านแรงงาน ระบบสาธารณูปโภค ความพร้อมของพื้นที่ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่การลงทุนในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นการเชื่อมโยงความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม

"การลงทุนในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนเนื่องจากนักลงทุนเห็นศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงการเติบโตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มีสูงมาก รวมทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ที่มีการแข่งขันสูง และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งการร่วมมือกับกลุ่มประเทศดังกล่าวจะเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างดีที่สุด เพื่อลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น "นายอุตตม กล่าว

อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะเริ่มจากการตั้งจุดยุทธศาสตร์ของประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยผ่านการคัดเลือกจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยอาจจะเป็นการใช้พื้นที่ใหม่หรือพัฒนาจากนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้จะร่วมกับแผนการตลาดเศรษฐกิจชายแดน ที่ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ให้สามารถฉายภาพความพร้อมของพื้นที่ออกมาให้นักลงทุนเห็น ผลักดันให้เกิดความผลักน่าสนใจในการลงทุน ซึ่งหลังจากการประเมินเชื่อมั่นว่าพื้นที่ประเทศอาเซียนนั้นสามารถเป็นฐานการผลิตรวม สำหรับตลาดโลกในหลายอุตสาหกรรมได้เนื่องจากความพร้อมของวัตถุดิบ กำลังคน ความเชื่อมโยง และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในอนาคต

ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการหารือร่วมกับกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ถึงแนวทางการร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เน้นการลงทุนของอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูป และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งทาง ปตท.ให้ความสนใจและจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในวันที่ 19 ธ.ค. นี้กระทรวงฯจะมีการเปิดตัวศูนย์อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ โดยจะมีการเชิญบริษัทเอกชน รวมถึงปตท. และบริษัทจากฮ่องกงมาหารือกันเรื่องนี้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะกำหนดออกมาเป็นนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรของชาติ ซึ่งคาดว่าหลังจากที่หารือกันจะเห็นความชัดเจนของแผนการลงทุนของ ปตท.

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 15 ธันวาคม 2561

“อุตตม”ถกเพื่อนบ้านเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ CLMVT ให้ได้ ขอเป็นแวลูเชนไม่แย่งอุตฯเดียวกัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษงาน เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน ศูนย์กลางการลงทุนยุคใหม่ (Asean SEZ Summit 2018) ว่า ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยมีหลายรูปแบบ ทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่มี 10 แห่ง สวนอุตสาหกรรม 44 แห่ง และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีก 1 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งเป้าหมายแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดเป็นตัวผลักให้เกิดการค้า การลงทุน การบริการ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ซึ่งเป็นฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมสำคัญทั่วโลก ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีนโยบายและยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่อแข่งขัน

เบื้องต้นจึงใช้เวทีการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy:) หรือ ACMECS ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงการให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) ให้เชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทางด้านคมนาคม รถไฟ สะพาน และยังได้หารือถึงอุตสาหกรรมที่แต่ละประเทศต้องการและมุ่งเป้าดึงดูดเข้ามาลงทุน เช่น พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยและเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันนั้น ฝั่งไทยเน้นอุตสาหกรรมอะไร ฝั่งเพื่อนบ้านเน้นอุตสาหกรรมอะไร ตัวไหนที่จะเป็นแวลูเชนเสริมกันได้โดยที่ไม่ใช่การแย่งอุตสาหกรรมเดียวกัน เป็นต้น

สำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย ไม่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ของการเป็นนิคมอุตสาหกรรมแต่จะต้องพัฒนาพื้นที่เมือง ที่จะส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวไปด้วย

นอกจากนี้ในบางพื้นที่หากมีความเหมาะสมและต้องการพัฒนาจังหวัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุดรธานี ที่ทางจังหวัดเสนอโครงการเข้ามา เนื่องจากเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและห่างจากชายแดนไทย-ลาวเพียงประมาณ 60 กม. เท่านั้น ซึ่งสามารถนำข้อเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) พิจารณาเพิ่มเติมได้ ว่าพื้นที่ไหนมีความสำคัญก็อาจมีการเพิ่มเติม

ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วโลกมีประมาณ 4,500 แห่ง ซึ่งอยู่ในอาเซียน 1,000 แห่ง อาทิ ลาว 15 แห่ง กัมพูชา 11 แห่ง เมียนมา 20 แห่ง เวียดนาม 292 แห่ง มาเลเซีย 200 แห่ง สิงคโปร์ 2 แห่ง ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ถึง 20%

ส่วนไทยเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ในเฟสแรกเริ่มที่ 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ตราด ตาก มุกดาหาร สงขลา เป็นนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 ธันวาคม 2561

คาดใช้ กม.บริษัทมหาชนใหม่กลางปี 62

พาณิชย์ปรับแก้กฎหมายบริษัทมหาชนจำกัด เน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยบริหารจัดการ อำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถการแข่งขัน และลดต้นทุนภาคธุรกิจ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)   เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยหัวใจหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย คือ การอำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทมหาชนจำกัด กรรมการ และผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการต่าง ๆ โดยเพิ่มช่องทางผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฯ ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1.เพิ่มช่องทางการโฆษณา การส่งเอกสาร การประชุมกรรมการ และการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนให้สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ประกอบด้วย มาตรา 6 การเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากทางหนังสือพิมพ์ มาตรา 7 เพิ่มช่องทางการส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 79 เพิ่มช่องทางการประชุมกรรมการให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพิ่มมาตรา 102/1 เพิ่มช่องทางการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-proxy) และ 2. ปรับปรุงวิธีการเรียกประชุมกรรมการ ในกรณีที่บริษัทไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีการกำหนดวันประชุมคณะกรรมการไว้ล่วงหน้า โดยให้กรรมการ 2 คน ที่ร้องขอสามารถเรียกประชุมกรรมการได้ ตามมาตรา 81 และ มาตรา 82 นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้ออกประกาศได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ได้แก้ไขปรับปรุง

ส่วนขั้นตอนต่อไปสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งร่างกฎหมายฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและไม่ต้องส่งเข้า ครม. แต่ให้ส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณานำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับประมาณกลางปี 2562  

ปัจจุบันบริษัทมหาชนจำกัดดำเนินธุรกิจ 1,218 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (นิติบุคคลคงอยู่ 714,478 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 5.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.98 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (ทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด 17.77 ล้านล้านบาท).

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค ตลาดจับตาผลการประชุม ECB

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/12) ที่ระดับ 32.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (12/12) ที่ระดับ 32.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังดำเนินไปด้วยดี และเขาพร้อมจะแทรกแซงกรณีการจับกุมตัวนางเมิ่ง ว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี หากจะช่วยให้สหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับจีนได้

อย่างไรก็ตาม นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ เปิดเผยว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะแทรกแซงกรณีการจับกุมตัวนางเมิ่ง ว่านโจว โดยกล่าวว่าการจับกุมตัวนางเมิ่งนั้นเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการค้าเหมือนกับที่หลาย ๆ ฝ่ายวิจารณ์ นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ซึ่งระบุว่าจีนกำลังเตรียมทดทนนโยบาย “Made in China 2025” ด้วยนโยบายใหม่ที่จะทำให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น ซึ่งนโยบายใหม่นี้จะทำให้จีนลดเป้าหมายในการเป็นผู้นำในภาคการผลิต โดยคาดว่าจีนอาจใช้นโยบายใหม่ในต้นปีหน้า ขณะที่สหรัฐและจีนจะเร่งการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.67-32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.70/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/2) ที่ระดับ 1.1367/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/12) ที่ระดับ 1.1330/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตาธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะจัดการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่านายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB จะประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างเป็นทางการ โดยนายดรากีได้ออกมาส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่า ECB จะไม่เปลี่ยนแปลงแผนการยุติมาตรการ QE วงเงิน 2.5 ล้านล้านยูโรในช่วงสิ้นปีนี้ แม้มีผู้คัดค้านว่า ECB ดำเนินการเร็วเกินไป เพราะขณะนี้เศรษฐกิจยูโรโซนยังชะลอตัว และจำเป็นต้องใช้มาตรการ QE ต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1364-1.1382 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1376/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/12) ที่ระดับ 113.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/12) ที่ 113.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.21-113.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 113.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม ด้วยคะแนนเสียง 200 เสียงต่อ 117 เสียง  ทำให้นางเมย์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันชัยชนะในครั้งนี้ยังส่งผลทำให้สมาชิกในพรรคไม่สามารถเปิดอภิปรายไม้ไว้วางใจเพื่อขับเธอออกจากพรรคไปอีกอย่างน้อย 1 ปี โดยนายกรัฐมนตรีเมย์ได้แถลงที่ให้คำมั่นจะผลักดันกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ที่ “ประชาชนเป็นผู้โหวตลงคะแนน” ให้ดำเนินไปอย่างสำเร็จลุล่วง

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/12) ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. (14/12) การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. (14/12) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ธ.ค.จากมาร์กิต (14/12) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ธ.ค.จากมาร์กิต (14/12) และสต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ต.ค. (14/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.85/-3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.20/-1.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

‘พลังงาน’เสนอแผน‘พีดีพี’ ลุ้นเข้าบอร์ดกพช.ทัน7มค.

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผย ว่า เรื่องสำคัญที่กำลังดำเนินการ คือ การเดินหน้าทำประชาพิจารณ์เป็นรายภูมิภาคเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะปรับกรอบการซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ โดยค่าไฟฟ้าในอนาคตจะต้องไม่สูงไปกว่าที่พีดีพีเก่าเคยกำหนดไว้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาพรวมของการรับฟังความคิดเห็นจะครบทุกภูมิภาคในสัปดาห์หน้า โดยจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะเตรียมสรุปผลส่งให้ รมว.พลังงานพิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 7 มกราคม 2562

ทั้งนี้พีดีพีฉบับใหม่จะมีการเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในปลายแผนจากเดิมที่ 37% เป็น 53% เนื่องจากในแผนพีดีพีจะยังไม่มีการบรรจุถ่านหินเข้าไปในแผนจนกว่าการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) จะแล้วเสร็จ จึงจะมีการปรับแผนต่อไปในอนาคต

จาก www.thansettakij.com วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

บาทเปิด32.71/73 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 32.71/73 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า มองกรอบ 32.68-32.78 ตลาดรอดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.78 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันยังไม่มีปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนักแต่อย่างไรก็ดี คืนนี้ต้องติดตามการประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ซึ่งตลาดกังวลว่าตัวเลขรอบนี้อาจจะออกมาไม่ดีนัก และน่าจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าได้ จึงทำให้ทิศทางเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อ

"คงต้องรอดูตัวเลข Jobless claim ของสหรัฐคืนนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะออกมาไม่ค่อยดี และจะกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า รวมทั้งติดตามกรณี Brexit ด้วย

" นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.68-32.78 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยอ้อน“อุตตม”ขอขึ้นราคาอีกตันละ100บาท

ชาวไร่อ้อยขอนแก่นอ้อน “อุตตม” ขอขึ้นราคาอีกตันละ 100 บาท ขณะที่เจ้าตัวเผยมาทำหน้าที่ รมต.ฯ ไม่ได้มาหาเสียง

ที่ห้องประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายอุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังปัญหาและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในช่วงช่วงฤดูเปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิต 2561/2562 นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ราคาอ้อยในปีนี้นั้นตกต่ำอย่างมาก เมื่อย้อนกลับไปในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาราคาอ้อยน้ำอยู่ที่ตันละ 1,100 -1,200 บาท แต่ด้วยภาวะราคาน้ำตาลโลกและปัจจัยต่างที่เกิดขึ้นทำให้ปีนี้ราคารับซื้ออ้อยในฤดูกาลผลิต 2561/2562 นั้นอยู่ที่ตันละ 700 บาท ดังนั้นข้อเรียกร้องที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอยากได้ยินคือการที่ต้องการให้รัฐบาลนั้นปรับขึ้นราคารับซื้ออ้อยในฤดูกาลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นอีกตันละ 100 บาท รวมทั้งการประกันราคาการรับซื้ออ้อยในฤดูกาลผลิต 2562/2563 ที่ตันละ ไม่น้อยกว่า 1,200 บาท ควบคู่ไปกับการแปรสภาพอ้อยให้เป็นสินค้าต่างๆตามความต้องการของตลาดโดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มมูลค่าสินค้านั้นเกษตรกรจะต้องได้รับรายได้ในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นายอุตตม กล่าวว่า ข้อเรียกร้องต่างๆที่กลุ่มเกษตรกรนั้นมีการนำเสนอขึ้นมานั้น จะมีการนำกลับไปทบทวนและพิจารณาถึงความเป็นไปได้เพราะรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นดูแลในเรื่องของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรในด้านต่างๆ ดังนั้นการมาลงพื้นทีเพื่อปบปะกับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงพื้นที่ของการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ทุกข้อเสนอคณะทำงานจะรับฟังและไปนำเสนอให้กับแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลนั้นเน้นหนักในเรื่องของการสร้างความมั่นคงให้กับภาคการเกษตร ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่าขณะนี้ปลดล็อกทางการเมืองแล้ว จะต้องทำงานหนักขึ้นหรือไม่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวสั้นๆว่าวันนี้มาทำหน้าที่รัฐมนตรีตสาหกรรม

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 12 ธันวาคม 2561

‘ชาวไร่อ้อย’ น้ำตาซึมรับปีใหม่ โอดขายได้ตันละ 800 บ. เร่งตัดกันวุ่น หวั่นสิ้นปีราคาตกอีก

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่จ.ปราจีนบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์เกษตรกรชาวไร่อ้อย อ.กบินทร์บุรี พบเกษตรกรต่างรีบเร่งตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลก่อนสิ้นปี เนื่องจากปีนี้ราคาอ้อยตกต่ำอย่างน่าตกใจ โดยสามารถขายได้เพียงราคาตันละ 800 บาทเท่านั้น ต่างจากปีที่แล้วที่สามารถขายได้ราคาสูงกว่านี้

นายสำเนียง แก้วศรี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97/2 หมู่ 3 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า สภาพความเป็นจริงของชาวไร่อ้อยทุกวันนี้ ราคาจะถูกจะแพงก็ต้องขายเพราะถึงฤดูตัดแล้ว เนื่องจากอ้อยมีอายุเก็บเกี่ยวหนึ่งปีต้องรีบตัดอ้อยภายในระยะเวลากำหนด หากล่าช้าโรงงานน้ำตาลสระแก้ว ปิดต้องนำไปขายที่ชลบุรี สู้ค่าขนส่งไม่ไหว โดยตนได้ปลูกอ้อยสายพันธ์ขอนแก่น ราว 200 ไร่ จะทยอยปลูกระยะเวลาไร่เรี่ยกัน ซึ่งการปลูกอ้อยปลูกต่อครั้งสามารถตัดได้ 3 รุ่นและในการตัดแต่ละครั้งต้องจ้างแรงงานตัด แบ่งเป็นมัดละ 20 ลำ หรือมัดละ 1.5 สตางค์ ก่อนตัดอ้อยจะต้องจุดไฟก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการตัด

“หลังจากนี้ 1-2 เดือน ชาวไร่อ้อยต้องปรับแผนการปลูกกันใหม่ อาจต้องแบ่งการตัดอ้อยเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะแบ่งขายส่งโรงงานหีบน้ำตาล ส่วนที่เหลือจะจ้างแรงงานลอกกาบใบออกตัดเป็นมัดๆ จากนั้นขนย้ายไปเก็บไว้เพื่อรอการปลูกในฤดูการต่อไป” นายสำเนียง กล่าว

  จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 12 ธันวาคม 2561

เกษตรกรชาวไร่อ้อยเศร้า! ราคาตกฮวบตันละ800บาท

วันนี้ 12 ธ.ค.61 ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานสถานการณ์เกษตรกรชาวไร่อ้อย  อ.กบินทร์บุรี ก่อนสิ้นปีต่างรีบเร่งตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล เนื่องจากสถานการณ์ปีนี้ราคาอ้อยตกต่ำ อย่างน่าตกใจขายได้แค่ราคาตันละ 800 บาทเท่านั้น ผิดกับปีที่แล้วราคาสูงกว่านี้ 

 แต่สภาพความเป็นจริง ราคาจะถูกจะแพงก็ต้องขายเพราะถึงฤดูตัดแล้ว เนื่องจากอ้อยมีอายุเก็บเกี่ยวหนึ่งปีต้องรีบตัดอ้อยภายในระยะเวลากำหนด  หากล่าช้าโรงงานน้ำตาลสระแก้ว ปิดต้องนำไปขายที่ชลบุรี สู้ค่าขนส่งไม่ไหว

 นายสำเนียง แก้วศรี อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97/2 หมู่ 3 ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  กล่าวว่า ปลูกอ้อยสายพันธ์ขอนแก่น ราว200 ไร่ โดยทยอยปลูกไล่ไปกัน

 อ้อยปลูกครั้งหนึ่งจะสามารถตัดได้ 3 รุ่นด้วยกัน โดยจะจ้างแรงงานคนตัดเป็นมัดๆมัดละ 20 ลำ/1.5 สต. ก่อนตัดอ้อยจะต้องจุดไฟก่อน เพื่อง่ายแก่การตัดอ้อยรวมเป็นมัดๆ ไม่ต้องใช้แรงลอกกาบใบอ้อยออก ซึ่งทำให้เสียออกหมดแปลงแล้วจะเผาใบที่เหลือให้หมดปล่อยทิ้งไว้อ้อยจะแตกกอขึ้นมาใหม่

 หลังจากนี้ 1-2 เดือน อ้อยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะจัดขายส่งโรงงานหีบน้ำตาล ที่เหลือจะจ้างแรงงานลอกกาบใบออกตัดเป็นมัดๆจากนั้นขนย้ายไปเก็บไว้เพื่อรอการปลูกในฤดูการต่อไป

 อ้อยที่ตัดไว้ทำพันธ์จะตัดก่อนกำหนดไม่ให้แก่จัดนักจะได้เลี้ยงต้นรอการลงดินไถปลูกต่อไป”นายสำเนียง กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม 2561

รมว.อุตฯ เตรียมผลักดันพื้นที่อีสานตอนกลางและตอนบนเป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร นำร่องอ้อย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นที่สมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio Economy”  ซึ่งรัฐบาลต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมที่นำผลผลิตไปทำสินค้าตัวใหม่ที่มีมูลค่าสูงกว่าน้ำตาลส่งผลให้ราคาอ้อยสูงขึ้น

นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561 - 2570 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570  ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี  ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบทางชีวภาพและมีศักยภาพด้านวัตถุดิบเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก หากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Biochemical) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและต่อยอดไปสู่การสร้างฐานรายได้ใหม่

สำหรับพื้นที่ที่มีการผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพครบวงจร เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาล ปัจจุบันเริ่มมีการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะนี้รัฐบาลจะต่อยอดอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพออกไปนอกเขตอีอีซี โดยภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบนครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชรและขอนแก่น หากขยายพื้นที่การลงทุนต่อไปให้ครอบคลุมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร และอุดรธานี โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากอ้อยเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีฐานการผลิตแข็งแกร่งในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้ไปสู่ Bio Hub ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่

ส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ภาคอีสานตอนกลาง มีการลงทุน 29,705 ล้านบาท จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ร่วมกับ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG),โครงการผลิตเอ็นไซม์น้ำ YeastProbiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชียสตาร์เทรด จำกัด (AST) และบริษัท เอเชียสตาร์แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ DriedYeast-เอมไซม์ไฟเตส  สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอางของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ,บริษัท ดีเอสเอ็มนิวทริชั่นแนลโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์อินดัสตรี(ประเทศไทย) จำกัด (UENO)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต หรือ โครงการเงินช่วยเหลือ 50 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม  2561 วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับราคาอ้อยในฤดูการผลิต (61/62) โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย  50 บาทต่อต้นอ้อย แต่ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน โดยงวดแรกจะจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หลังจากปิดหีบแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบนโยบายและสั่งการให้สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายปรับบทบาท เพื่อรองรับและเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงคร้ังใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศและปัญหาราคาสินค้าตลาดโลกตกต่ำนำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนอีกบทบาทหรือภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนานําหน่วยงานใหม่ที่มีความพร้อม โดยดำเนินการ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การจัดต้ังศูนย์ปรับปรุงพันธ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC) ภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศูนย์ดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางปรับปรุงพันธ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพที่ดีและทันสมัยที่สุดในเอเชีย 2. การพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้ง 4 ศูนย์ภาคให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละด้าน เพื่อให้คำปรึกษาแนะนําและร่วมศึกษาวิจัยกับภาคเอกชน ประกอบด้วย ศูนย์ฯ ภาคที่1 จังหวัดกาญจนบุรี เชี่ยวชาญในด้านการปรับปรุงพันธ์อ้อย ศูนย์ฯ ภาคที่ 2 จังหวัดกําแพงเพชร เชี่ยวชาญในด้านเกษตรสมัยใหม่ ศูนย์ฯ ภาคที่ 3 จังหวัดชลบุรี เชี่ยวชาญในด้านโรคและแมลงศัตรูพืช และมีแผนในการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ และศูนย์ฯ ภาคที่4 จังหวัดอุดรธานี เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ดินและปุ๋ย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมจะขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถให้ความรู้ให้คําปรึกษาแนะนํากับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมชีวภาพเกิดข้ึนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป.

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 12 ธันวาคม 2561

กลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์ฯ กำไร 629 ล้าน ปันผลหุ้นละ 15 สต.

กลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์ฯ ปิดรอบบัญชีปี 61 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. ด้วยรายได้ 18,067.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 629.3 ล้านบาท ขณะบอร์ดเสนอจ่ายปันผลหุ้นละ 0.15 บาท เผยสายธุรกิจผลิตและขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลโตเด่นสุด มีรายได้ 1,131.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 93.8% แม้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลง 30%

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ใช้รอบระยะเวลาบัญชีใหม่ (1 ตุลาคมถึง 30 กันยายน) โดยผลการดำเนินงานประจำปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 (9 เดือน) มีรายได้รวม 18,067.1 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 629.3 ล้านบาท

“คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันที่ 25 มกราคม 2562 เพื่อพิจารณาจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดสำหรับงวดการดำเนินงาน 1 มกราคมถึง 30 กันยายน 2561 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562” นายประพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ สายธุรกิจที่มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ปี 2561 (9 เดือน) ซึ่งมีรายได้ 1,131.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.8% เมื่อเทียบกับรายได้ปี 2560 (12 เดือน) เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีชานอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถขายไฟฟ้าได้มากขึ้น 87.7% อีกทั้งราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยก็เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับรายได้ (9 เดือน) จากสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย มีจำนวน 1,216.6 ล้านบาท สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีรายได้ 1,313.4 ล้านบาท ส่วนสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย มีรายได้ 13,056.9 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจต่างๆ เมื่อเทียบกับรายได้รวม ณ สิ้นรอบปีบัญชี 2561 (30 กันยายน 2561) ปรากฏว่า สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย มีสัดส่วน 75.4% ขณะที่สายธุรกิจชีวภาพมีสัดส่วน 24.6% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 22.9%

นายประพันธ์ กล่าวเสริมว่า “กลุ่ม KTIS ได้วางรากฐานในการลดความเสี่ยงของการพึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ด้วยการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตามแนวนโยบาย KTIS-More Than Sugar ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำตาลทรายที่ผันผวนได้มาก ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม KTIS ที่มีจุดเด่นในการจัดหาอ้อย ยังคงเป็นจุดแข็งที่จะทำให้กลุ่ม KTIS สามารถนำอ้อยไปเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างมูลค่าเพิ่มในสายอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้อีกมาก”

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 ธันวาคม 2561

“อุตตม” บูมลงทุนเพิ่มรายได้เกษตรกรดันอีสานกลาง-บนศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ

 “อุตตม” ลงพื้นที่ขอนแก่นเตรียมผลักดันพื้นที่อีสานตอนกลางและบนสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือไบโอฮับ นำร่องเพิ่มมูลค่า “อ้อย” เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตกรเพิ่มหลังเอกชนแห่สนใจลงทุนเพียบต่อยอดจากอีอีซี ยันชาวไร่อ้อยได้รับเงินปัจจัยการผลิตที่รัฐบาลเตรียมสนับสนุนเพิ่มเติม 50 บาทต่อตัน โดยเตรียมจ่ายล็อตแรก ก.พ.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่สมาคมชาวไร่อ้อย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น วันนี้(12 ธ.ค.) ว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ “Bio Economy” โดยเฉพาะจากอ้อยที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบได้ซึ่งเป็นพืชเกษตรที่มีการเพาะปลูกมากในพื้นที่พื้นที่ภาคอีสานซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนบนได้

“ภาคเอกชนสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบน ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และขอนแก่น หากขยายพื้นที่การลงทุนต่อไปให้ครอบคลุมในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร และอุดรธานี โดยต่อยอดจากอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจากอ้อยเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีฐานการผลิตแข็งแกร่งในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้ไปสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio Hub ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และรายได้เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกรในพื้นที่” นายอุตตมกล่าว

พื้นที่ดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561-2570 เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 85,000 บาทต่อคนต่อปี

ทั้งนี้ ไทยมีข้อได้เปรียบทางชีวภาพและมีศักยภาพด้านวัตถุดิบเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก และส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก หากมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก โดยนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เคมีชีวภาพ (Biochemical) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับสินค้าเกษตรในอนาคต และเป็นการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและต่อยอดไปสู่การสร้างฐานรายได้ใหม่

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยเพื่อรองรับการก้าวสู่อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพนั้นจากภาวะราคาอ้อยตกต่ำกระทรวงอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือด้วยการเพิ่มเงินให้กับเกษตรกรเป็นปัจจัยการผลิตเพิ่มเติมตันละ 50 บาทซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับราคาอ้อยในฤดูกาลผลิต (61/62) โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยกับสํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) 50 บาทต่อต้นอ้อย แต่ไม่เกินรายละ 5,000 ตัน โดยงวดแรกจะจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และส่วนที่เหลือจะจ่ายให้หลังจากปิดหีบแล้ว

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายและสั่งการให้ สอน.ปรับบทบาทเพื่อรองรับและเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ และปัญหาราคาสินค้าตลาดโลกตกต่ำ ที่นำมาซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการให้สอดรับกับการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นไบโอชีวภาพ

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 ธันวาคม 2561

กฟก. ลุยแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก!!

รมว.เกษตรฯ สั่งกฟก.เร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ทางด้านแกนนำกลุ่มเกษตรกรที่อยู่นอกหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ขู่จะนำเกษตรกรลูกหนี้ 5,000 คนมาชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ โดยจะไม่ยอมกลับ จนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ

วันนี้ (12 ธ.ค.61) นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการประธานคณะกรรมการบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจสั่งการให้ กฟก. จัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกฟก. ในการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ หลังจากที่ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่สมาชิก กฟก. ซึ่งเป็นลูกหนี้ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงขึ้นเพื่อดำรงชีพและมีเงินไปชำระหนี้ที่กู้ยืมมา

ทั้งนี้ นายกฤษฏา มอบหมายให้นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ประธานคณะอนุกรรมการประสานเจรจาหนี้สินสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิก กฟก. เชิญผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของสมาชิก กฟก. โดยหนี้นั้นอยู่นอกคุณสมบัติที่จะได้รับการจัดการหนี้จาก กฟก. คือ เป็นหนี้นอกภาคการเกษตร วงเงินกู้เกิน 2.5 ล้านบาท หรือเป็นหนี้ที่ใช้บุคคลค้ำประกันในวันที่ 17 ธันวาคมนี้เพื่อจะหาแนวทางว่า สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรได้อย่างไรบ้าง

ด้านนายยศวัจน์ ชัยวัฒนศิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) ได้ทำหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทวงเกษตรฯ ผ่านที่ปรึกษารัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานให้เร่งจัดประชุมเพื่อพิจารณาประกาศคณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจ โดยให้ทบทวนหลักเกณฑ์การจัดการหนี้และการจำแนกแยกประเภทหนี้ของเกษตรกร พ.ศ.2561 เร่งดำเนินการตามระเบียบการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกร โดยเสนอให้ตั้งงบประมาณ 100,000 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี แบ่งจ่ายปีละ 20,000 ล้านบาทเพื่อนำมาฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กฟก. จังหวัดเพื่อให้สามารถดูแลสมาชิก กฟก. ได้อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือ เร่งจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการ กฟก. ชุดใหม่เนื่องจากอายุการทำงานของรัฐมนตรีเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจหมดลงแล้ว ขณะนี้ทำหน้าที่เพียงรักษาการ โดยมั่นใจว่า หากมีคณะกรรมการชุดใหม่จะสามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก กฟก. ได้อย่างเต็มที่

นายยศวัจน์ กล่าวว่า แนวทางคณะกรรมการบริหาร กฟก.ชุดเฉพาะกิจที่มีนายกฤษฎาเป็นประธานซึ่งเสนอเป็นคนกลางให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้สินกับเจ้าหนี้เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แม้นายกฤษฎาได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยการซื้อหนี้ได้เนื่องจากจะไม่เป็นไปตามระเบียบการบริหารการเงินการคลังที่ดูแลโดยธปท. อีกทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของกฟก. แล้วระบุว่า กฟก. ไม่สมควรจัดการหนี้นอกเหนือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่า ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำการเกษตร มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายหนี้สินเห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการตั้งกฟก. ขึ้นมาคือ การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งหมด จึงเห็นว่า กฟก. สามารถใช้แนวทางการซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการได้เอง ตามมติครม. ปี 2553 ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ กฟก. ซื้อหนี้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ร้อยละ 50 แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระกับ กฟก. ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนชำระที่นานกว่าและดอกเบี้ยถูกกว่า ดังนั้นหากไม่เร่งจัดประชุมภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จะนำเกษตรกรกลุ่มสกท. กว่า 5,000 คนมาชุมนุมที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ ในวันที่ 21 อย่างแน่นอน

มีรายงานว่า ผลจากการเจรจานั้น ธนาคารเจ้าหนี้ยินดีขายหนี้ให้ กฟก. ร้อยละ 50 ของเงินต้นรวม 2,400 ล้านบาท ในเงื่อนไขที่รัฐจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 เป็นงบประมาณ 1,200 ล้านบาทซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่า จะเสียระเบียบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ดังนั้นคณะกรรมการ กฟก. เฉพาะกิจจึงเห็นสมควรให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายๆ ไป

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 12 ธันวาคม 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์

 ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่นักลงทุนยังหยุดรอความชัดเจนปัจจัยในสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.82บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจีนส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับเพดานภาษีสำหรับการนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐลงจาก 40% เป็น 15% ส่งผลให้หุ้นของผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ดีดตัวขึ้น และดัชนี S&P500 บวก 1.4% ในคืนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภาพตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ไม่ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เนื่องจากปัญหา Brexit ในยุโรปกดดันจนเงินปอนด์ของอังกฤษปรับตัวลงต่อ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.24 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือน แม้ค่าเงินยูโรและเยนจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ในส่วนของตลาดเงินบาทช่วงนี้ พบว่าไม่ได้มีสภาพคล่องมากนัก การซื้อขายเกิดตามจังหวะของผู้ส่งออกที่เข้ามาในตลาดเป็นระยะ ขณะที่นักค้าเงินส่วนใหญ่ยังคงรอดูจังหวะตลาดอยู่ เพราะมีเรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่าจะปิดรัฐบาลกลางสหรัฐชั่วคราว ถ้าไม่ได้รับเงินสนับสนุนในการสร้างกำแพง

แม้ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะตีความประเด็นดังกล่าวเป็นบวกกับค่าเงินดอลลาร์ ได้หรือไม่ ในช่วงนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงหยุดรอความชัดเจนทั้งจากการประชุมธนาคารกลางยุโรปในสัปดาห์นี้ และธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์หน้าก่อนที่จะปรับแผนการลงทุนสำหรับปีหน้า

มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 32.75-32.85 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า ตลาดมีโอกาสอยู่โหมดปิดรับความเสี่ยงต่ออีกครั้ง หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะปิดหน่วยงานรัฐบาลชั่วคราวหรือ Government shutdown หากสภาคองเกรสไม่สนับสนุนงบประมาณสร้างกำแพงพรมแดนสหรัฐฯ  โดยถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานาธิบดีทรัมป์ยิ่ง ส่งผลให้ตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจหดตัวหรือเข้าสู่ภาวะ Recession

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอดูตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ(Core CPI YoY) ว่าจะปรับตัวขึ้นมากกว่าคาดหรือไม่(โตเกิน 2.2%) โดยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดอาจทำให้ตลาดยังไม่ปักใจเชื่อว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยลงกว่าที่เฟดมองไว้บนDot Plot 

นอกจากนี้ ตลาดจะรอดูตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดราว 3 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า หากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังยังเพิ่มขึ้นเกินคาด อาจกดดันราคาน้ำมันได้ต่อ  

มองเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 32.70-32.85บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com    วันที่ 12 ธันวาคม 2561

ดีเดย์สร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯปี’62 เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน4หมื่นไร่

นายภัทรพล ณ หนองคาย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังได้ข้อสรุปในการย้ายจุดก่อสร้างอ่างฯ ซึ่งเดิมนั้นจะก่อสร้างบริเวณต้นลำน้ำชี ที่บ้านสะพุงเหนือ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและป่าตามมติ ครม. ประมาณ 2,000 ไร่ ทำให้เกิดข้อติดขัดไม่สามารถสร้างได้เป็นเวลานานกว่า 30 ปี กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมหารือจนได้ข้อสรุปเลื่อนตำแหน่งที่ตั้งอ่างฯ ลงมาทางท้ายน้ำอีก 5 กิโลเมตร มาสร้างที่บ้านนาเจริญ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง

สำหรับพื้นที่แห่งใหม่ที่จะก่อสร้างอ่างฯนั้น เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 จำนวน 303 ไร่

พื้นที่ สปก. 3,616 ไร่ พื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 2,548 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะจะนำมาปฏิรูปเนื่องจากเป็นภูเขา ทางสาธารณะ ห้วยสาธารณะ ที่สาธารณะอีก 1,068 ไร่ บริเวณหัวงานตั้งอยู่เหนือหมู่บ้านนาเจริญ ต.หนองแวง โดยมีพื้นที่โครงการครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ ต.หนองแวง ต.หนองบัวแดง และ ต.นางแดด

“โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,919 ไร่ ที่ผ่านมา กรมชลประทานให้ข้อมูลและเปิดโอกาสให้ราษฎรในพื้นที่และผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นที่มีต่อโครงการ โดยจัดประชุม 2 ครั้ง เรื่องการย้ายสถานที่ก่อสร้างอ่างฯ และกำหนดขนาดอ่างฯ เพื่อได้พื้นที่ชลประทานมากที่สุด และแม้การย้ายที่ก่อสร้างจะทำให้ราษฎรหลายรายต้องเสียสละพื้นที่ทำกิน แต่ทุกคนก็เต็มใจ เพราะต้องการแหล่งเก็บน้ำมากกว่า เพราะขาดแคลนน้ำ เจอภัยแล้งมานาน อย่างไรก็ตามกรมชลประทานเตรียมมาตรการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สินไว้ในแผนแล้ว” นายภัทรพลกล่าว

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง มีความจุในระดับเก็บกักน้ำ46.9 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งเพิ่มความจุจากเดิมอีก 14.9 ล้านลบ.ม. พร้อมสร้างระบบท่อส่งน้ำซ้าย-ขวา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก โดยจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานฤดูฝนได้ 40,000 ไร่ และในฤดูแล้งได้ 8,000 ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคปีละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตรกรรมปีละ 105.57 ล้านลบ.ม. และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศปีละ 73.27 ล้านลบ.ม.

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินโครงการนั้น ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณและขอใช้พื้นที่ป่า พื้นที่ สปก. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2562 แล้วเสร็จปี 2567 ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯจึงไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 80,000ไร่ และไม่อยู่ในเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (โซนC) ไม่มีการผันน้ำข้าม 25 ลุ่มน้ำหลัก ไม่มีการผันน้ำระหว่างประเทศ ไม่ได้ก่อสร้างในแม่น้ำสายหลัก 23 สาย นอกจากนี้ พื้นที่ก่อสร้างไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติอีกด้วย

จาก https://www.naewna.com     วันที่ 12 ธันวาคม 2561

กกพ. วางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน สร้างความโปร่งใส

กกพ. หนุนการแข่งขันและปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการระยะต่อไป พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. อยู่ระหว่างการทบทวนแผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานฉบับปัจจุบัน และกำหนดให้ "การส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรม" เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การกำกับกิจการระยะต่อไป พร้อมทั้งวางกรอบแนวทางการกำกับดูแลภาคพลังงาน เพื่อสร้างความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ สร้างความชัดเจนกฎระเบียบและความเป็นธรรมให้กับองค์กรธุรกิจภาคเอกชน

นอกจากนี้ กกพ. ยังเชื่อมั่นว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ดังกล่าวจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ บทบาท ภารกิจของ กกพ. ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ตอบสนองต่อนโยบายด้านพลังงานและแผนปฏิรูปภาคพลังงานของประเทศ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

โดย กกพ. จะนำเอาแนวทางการปฏิรูปภาคพลังงาน ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานกำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศด้วย ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ ระบบการออกใบอนุญาต โรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (OSS) การพัฒนา Big Data สำหรับการกำกับกิจการพลังงาน การสนับสนุนการพัฒนาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โครงการโซลาร์เสรี ตามนโยบายรัฐบาล และเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ การเตรียมความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการทางานอย่างเต็มที่ เพื่อให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 เพื่อเป็นองค์กรที่ทำงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้

การคาดการณ์แนวโน้มภาคพลังงานไทยจะมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีพลังงานอย่างรวดเร็ว การให้ความสำคัญกับการห่วงใยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแนวโน้มของการมีส่วนร่วมและสิทธิของภาคประชาชนและชุมชนในภาคพลังงานจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะแข่งขันกับธุรกิจภาคเอกชนได้ยากขึ้นกว่าเดิม แต่จะมีบทบาทภารกิจที่สำคัญในการดูแลเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ

ส่วนกิจการก๊าซธรรมชาติยังคงมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ก็จะเริ่มเร่งรัดเพื่อให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น โดยจะมีการกำหนดแนวทางและกระบวนการขออนุญาตการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนการพัฒนาและการออกใบอนุญาต ศูนย์ควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติ (Transmission System Operation : TSO) เพื่อดำเนินการควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้พลังงาน

ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติของ กกพ. ในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ท่ามกลางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านพลังงานทดแทน (RE) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทางที่เป็นสากล ได้แก่ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 (COP 21) ความพยายามในการสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน ภาคประชาชน เพื่อลดกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายพลังงาน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 ธันวาคม 2561

EEC ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่ม 4 แห่ง ผุดกองทุนฯไว้พัฒนา เยียวยาอีก 1,000 ล้าน

 “อุตตม” รายงานการประชุม EEC นัดสุดท้าย เสนอตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษเพิ่มอีก 4 แห่ง Toyota บ้านโพธิ์ Toyota เกตเวย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลบุรี พร้อมตั้งกองทุนพัฒนาฯเยียวยาชุมชนในพื้นที่ 1,000 ล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ที่ประชุมได้เสนอให้มีการตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1. Toyota บ้านโพธิ์ 2. Toyota เกตเวย์ 3.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 4.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลบุรี (EECmd) เพื่อเป็นแหล่งนวัตกรรมด้านการแพทย์

ขณะเดียวกันสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้ที่ประชุมรับทราบ ถึงการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนา EECi โดยจะเน้นการเกษตรแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเป็นกลไกพัฒนา ระยะเวลา 20 ปี เงินลงทุนภาครัฐ 33,170 ล้านบาท คาดจะเกิดการลงทุนภาคเอกชน 110,000 ล้านบาท เกิดผลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวม 271,000 ล้านบาท

ทางด้านกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เตรียมความพร้อมด้านกายภาพ ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรองรับการพัฒนา EECi มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ม.ค. 2562 รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ การสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และคมนาคมทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและรองรับการขยายเมืองต่อไป

สำหรับความคืบหน้าร่างการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วงเงินประเดิม 100 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 900 ล้านบาทต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติในวันที่ 23 ม.ค.2562

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการฯอีอีซี กล่าวว่า เบื้องต้นได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ให้กองทุนเบิกจ่ายได้ 3 ด้าน คือ เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ช่วยเหลือหรือเยียวยา ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทบจากการพัฒนาอีอีซี สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในอีอีซีหรือใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี และค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาอีอีซีตามที่กพอ.กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 11 ธันวาคม 2561

ธ.ก.ส. คาดสินค้าเกษตรหลักในเดือน ธ.ค. มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดพืชเกษตรหลักทั้งข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, น้ำตาลทรายดิบ, ยางพารา, สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.61 ขณะที่ราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มราคาลดต่ำลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2561 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นพืชหลักสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.06-0.16% โดยอยู่ที่ราคา 7,975-7,983 บาทต่อตัน เนื่องจากมีความต้องการจากผู้ประกอบการ เพื่อทำการส่งมอบสินค้าให้กับประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เช่นเดียวกับการคาดการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.73-5.83% อยู่ที่ราคา 15,614-16,404 บาทต่อตัน เนื่องจากนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาของภาครัฐ และสต๊อกข้าวของผู้ส่งออกข้าวลดลง จึงเร่งซื้อข้าวหอมมะลิที่กำลังออกสู่ตลาด เพื่อส่งออกให้กับผู้ซื้อต่างประเทศ ส่วนข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.26-2.82% อยู่ที่ราคา 9,335-9,479 บาทต่อตัน เนื่องจากนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของภาครัฐ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5-1.5% อยู่ที่ราคา 8.28-8.36 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เนื่องจากสิ้นสุดช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านน้ำตาลทรายดิบนั้น คาดว่า ราคาเฉลี่ยตลาดนิวยอร์ก จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.00-4.00% อยู่ที่ราคา 12.81-13.20 เซ็นต์ต่อปอนด์ (9.33-9.61 บาทต่อ กก.) เนื่องจากรายงานผลผลิตน้ำตาลของบราซิล ลดลง และคาดการณ์ว่า อินเดียอาจผลิตน้ำตาลได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเดิมจากภาวะความแห้งแล้ง ประกอบกับอินเดีย ได้มีแผนจะส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปจีนในปี 62 จำนวน 2 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลงไปบางส่วน

ส่วนยางพาราคาดว่า ราคายางพาราแผ่นดิบที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.33-6.83% อยู่ที่ราคา 39.24-40.18 บาทต่อกก. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการแก้ปัญหาราคายางของภาครัฐที่ลดพึ่งพาการส่งออก และเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น สำหรับสุกร คาดว่า ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.50-3.00% อยู่ที่ราคา 60.50-62.00 บาทต่อ กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้นจากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ และประชาชนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี แม้ว่าสภาพอากาศที่เย็นลงจะเอื้ออำนวยให้สุกรเจริญเติบโตดี และอาจทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. ยังได้คาดการณ์ถึงราคากุ้งขาวแวนนาไม ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.25-3.00% อยู่ที่ราคา 134.04-137.72 บาทต่อ กก. เนื่องจากความต้องการในการบริโภคเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดการณ์ว่าจะมีราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ซึ่งจะลดลงจากเดือนก่อน 0.40-4.07% อยู่ที่ราคา 2.36-2.45 บาทต่อ กก. เนื่องจากมีผลผลิตมันสำปะหลังทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่ระดับราคามันสำปะหลังยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปาล์มน้ำมันลดลง 1.07-2.85% อยู่ที่ราคา 2.62-2.67 บาทต่อ กก. เนื่องจากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวจากการค้าน้ำมันปาล์มโลกที่ซบเซา และการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตปาล์มทะลายที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดยังเกินความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันทั้งภายในประเทศ และการส่งออก ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันราคาที่เกษตรกรได้รับให้ลดลง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 ธันวาคม 2561

ปรับแผนพัฒนาอีอีซีไอ เน้นเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่าผลิตผลเกษตร

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ (EECi) ให้ที่ประชุมรับทราบว่า

อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาอีอีซีไอ โดยจะเน้นการเกษตรแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเป็นกลไกพัฒนา ระยะเวลา 20 ปี เงินลงทุนภาครัฐ 33,170 ล้านบาท คาดจะเกิดการลงทุนภาคเอกชน 110,000 ล้านบาท เกิดผลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวม 271,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เสนอให้ตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โตโยต้า บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา รองรับอุตการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง คาดว่าเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท 2.โตโยต้า เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา รองรับการลงทุนยานยนต์อนาคต คาดเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท

3.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท ดับบลิวเอแชเอ เวนเตจอร์ โฮลดิ้งส์ ถนนบางนา-ตราด จ.ฉะเชิงเทรา รองรับลงทุนหุ่นยนต์ ดิจิตอล และโลจิสติกส์ คาดเงินลงทุน 13,480 ล้านบาท 4.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชลบุรี หรือีอีซีเอ็มดี เป็นแหล่งนวัตกรรมด้านการแพทย์ คาดว่าเงินลงทุน 8,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เตรียมความพร้อมด้านกายภาพ ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรองรับการพัฒนาอีอีซีไอ มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คาดจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนม.ค.2562 รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ การสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และคมนาคมทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและรองรับการขยายเมืองต่อไป

สำหรับความคืบหน้าร่างการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วงเงินประเดิม 100 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 900 ล้านบาทต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือกพอ. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติช่วงเดือนม.ค.2562

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ให้กองทุนเบิกจ่ายได้ 3 ด้าน คือ เพื่อการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ช่วยเหลือหรือเยียวยา ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบทบจากการพัฒนาอีอีซี สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาและให้ทุนการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในอีอีซีหรือใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอีอีซี และค่าใช้จ่ายอื่นที่จะส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพัฒนาอีอีซีตามที่กพอ.กำหนด โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 11 ธันวาคม 2561

เล็งพักหนี้สหกรณ์การเกษตร

"กฤษฎา" เข็นมาตรการพักหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่ รอชง ครม.ชดเชยดอกเบี้ย 2,200 ล้าน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรม ส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมเสนอโครงการพักต้นเงินกู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท พักดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้แบบเดียวกับลูกหนี้ ของสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามนโยบายของ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ จึงให้กรมไปรวบรวมมูลหนี้ตามที่มีเกษตรกรเรียกร้องเนื่องจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดทำงบประมาณนำมาชดเชยอัตราดอกเบี้ย 3% ให้สหกรณ์ประมาณ 2,269 ล้านบาท จากมูลหนี้เงินต้น 80,144 ล้านบาท ได้ทันภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งตัวเลขมูลหนี้ ณ วันที่ 1 ต.ค. 2561 จำนวน 71 จังหวัด กลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรเกษตรรวม 1,892 แห่ง สมาชิก 754,388 ราย มีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้ คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท ทั้งนี้กรมได้ส่งให้ ธ.ก.ส.ตรวจสอบรายชื่อเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนกับโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าธ.ก.ส.

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงบประมาณว่าจะใช้เงินก้อนไหนมาชดเชยดอกเบี้ย จะเป็นงบกลางหรือจากที่ใด" นายพิเชษฐ์ กล่าว

นอกจากนั้น ในส่วนของการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้เชื่อมโยงสหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัดและอำเภอเพื่อร่วมโครงการปุ๋ยสั่งตัดของรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์หารือร่วมกัน เนื่องจากปุ๋ยถือเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตถึง 30-40% หากสามารถจัดทำปุ๋ยสั่งตัดได้จะทำให้ได้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการพืช ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมเคยหารือร่วมกับธ.ก.ส. เพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ 500 กว่าแห่งเข้าร่วมโครงการทำปุ๋ยสั่งตัด เมื่อเป็นนโยบายก็จะทำให้การขับเคลื่อนเร็วขึ้นและเพื่อรองรับกับการผลิตในปีการผลิตหน้า

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 11 ธันวาคม 2561

เคทิสไบโอเอทานอลโชว์ผลิตไฟจากก๊าซชีวภาพลดต้นทุน

“เคทิส ไบโอเอทานอล” โชว์ศักยภาพโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียนำมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนได้ปีละกว่า48 ล้านบาท แถมยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้คว้ารางวัล ASEAN Energy Awards 2018 ที่สิงคโปร์ ด้านพลังงานทดแทน

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด หรือ KTBE บริษัทในกลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ในฐานะผู้ผลิตอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทสามารถบริหารจัดการลดต้นทุนพลังงานในกระบวนการผลิตเอทานอลได้ปีละ กว่า 48 ล้านบาทจากการดำเนินโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย โดยนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาผลิตก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปผลิตไอน้ำและไฟฟ้า เพื่อเป็นพลังงานในกระบวนการผลิตเอทานอลในรูปแบบพลังงานความร้อนร่วม

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำด้วยก๊าซชีวภาพ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 3 เมกกะวัตต์ มีมูลค่าการลงทุนรวม 117 ล้านบาท โดยเป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่มีอยู่ถึง 660,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีมาผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำร่วมกับถ่านหินเพื่อผลิตไอน้ำและไฟฟ้านำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอล โดยผลิตไอน้ำแรงดันสูง ประมาณ 200,000 ตัน แบ่งส่วนหนึ่ง ประมาณ 160,000 ตัน ไปผลิตไฟฟ้าเพื่อมาใช้ในโรงงานผลิตเอทานอล

ไอน้ำอีกส่วนหนึ่งนำไปผ่านวาล์วลดแรงดันนำไปใช้ในการกลั่นเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังนำไอเสียที่ออกจากกังหันไอน้ำของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากลับมาใช้ในการกลั่นเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมและต้มฆ่าเชื้อสำหรับระบบหมักแทนการใช้ไฟฟ้า ไอน้ำและไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการสามารถใช้ทดแทนการใช้ถ่านหินได้ 14,200 ตันต่อปี

“จากการบริหารจัดการของเสียแทนที่จะต้องกำจัดเช่นที่ผ่านมาซึ่งถือว่ามีต้นทุนสูง ก็นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งทำให้เราไม่มีต้นทุนวัตถุดิบโครงการนี้จึงมีผลตอบแทนการลงทุนหรือ IRR สูงถึง 34% และมีระยะเวลาคืนทุนเพียง 3 ปี เท่านั้นซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทแต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 290,725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ “นายพิพัฒน์กล่าว

จากศักยภาพโครงการดังกล่าว บริษัทจึงได้ส่งเข้าร่วมโครงการ Thailand Energy Awards ในปี 2561 และได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลในเวที ASEAN Energy Awards 2018 และได้รับรางวัล รองชนะเลิศ ด้านพลังงานทดแทนใน โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเร็วๆนี้ นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวของบริษัทในการบริหารจัดการด้านต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 10 ธันวาคม 2561

“มิตรผล”ยึดตลาดคาร์บอนฯ ใช้ชีวมวลกู้โลกพ้นความร้อนลดปล่อย CO₂

 “กลุ่มมิตรผล” ลุยขายคาร์บอนเครดิตให้แบงก์กสิกรไทย ช่วยลดอุณหภูมิโลก แพลนปี”62 เข็น 3 โปรเจ็กต์โรงไฟฟ้าชีวมวล ขอรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่ม ขึ้นแท่นผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยด้วยยอด 9.8 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการลงนามซื้อขายคาร์บอนเครดิตประจำปี 2561 ระหว่างธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ กับบริษัท มิตรผล จำกัด ในฐานะผู้ขาย โดยคาร์บอนเครดิตดังกล่าวได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการ “ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยนำปริมาณการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ขายให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ การซื้อ-ขายดังกล่าวถือเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 และในระยะยาวที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 อีกด้วย

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า นโยบายของกลุ่มมิตรผลต้องการดูแลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน จึงนำธุรกิจหลักที่มีอยู่ คือ ธุรกิจอ้อย และน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล มาต่อยอดด้วยการขายคาร์บอนเครดิต โดยการดำเนินการดังกล่าว นอกจากช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผลที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิกในขณะนี้

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองไปแล้วถึง 489,000 ตัน มาจากการลดปล่อยก๊าซของโรงไฟฟ้าชีวมวลไบโอพาวเวอร์ ในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างขอรับรองคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล พาเนล พลัส ไบโอ เพาเวอร์ จังหวัดสงขลา

และในปี 2562 กลุ่มมิตรผลจะดำเนินการขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอนเครดิตเพิ่มอีก 3 โครงการ เช่น จากโรงไฟฟ้ามิตรผล ไบโอพาวเวอร์ ในพื้นที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 150,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเมื่อโครงการใหม่เข้าระบบทั้งหมดในปี 2562 จะทำให้กลุ่มมิตรผลสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ T-VER ได้รวมทั้งสิ้น 980,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ถือเป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตรายใหญ่ของประเทศอีกด้วย

“ธุรกิจทั้งหมดล้วนเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลในช่วงที่ผ่านมา เริ่มต้นในปี”45 จนถึงวันนี้มิตรผลกลายเป็นบริษัทดำเนินธุรกิจไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิก มีกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 700 เมกะวัตต์/ปี สร้างพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ชานอ้อยและวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้สังคมยั่งยืน สอดคล้องกับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานไทย และผลักดันให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ “นายปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กสิกรไทยมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจภายใต้แนวคิดเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม มีธรรมาภิบาลที่ดี และช่วยสร้างความสมดุลในทุกมิติ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กสิกรไทยให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเชื่อมโยงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ฉะนั้น ทุกคนจะต้องช่วยกันรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกด้วย

“กสิกรไทยน่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยึดแนวทางความยั่งยืนมาตลอด นอกจากนี้ กสิกรไทยยังให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาภาวะโลกร้อน และหันไปใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนมากขึ้น”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในความตกลงปารีส ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในปี 2558 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน (global warming) ที่ส่งผลต่อประชาคมโลกในมุมกว้าง ทำให้ทั่วโลกเริ่มช่วยกันลดผลกระทบอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยเป้าหมายที่กำหนดไว้คือจะร่วมกันลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นอีกประมาณ 1-5 องศาเซลเซียส

โดยมีกว่า 177 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามความตกลงปารีส แต่จนถึงปัจจุบันยังควบคุมอุณหภูมิของโลกค่อนข้างยาก ฉะนั้น จึงต้องดูในแต่ละประเทศว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ยังมีอีกหลายกลไกที่จะช่วยเสริมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน โดยส่งเสริมให้เอกชนที่มีศักยภาพให้ดำเนินโครงการลดโลกร้อน ต่อยอดไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน กระตุ้นให้มีความต้องการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ เป็นแรงหนุนของประเทศที่จะลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 10 ธันวาคม 2561

ไร่อ้อย อินทรีย์แท้ 100% ช่วยชุบพื้นดินให้กลับมาดี

หลังจาก “สยามธุรกิจ” ได้รุกหนักในการสนับสนุน “เกษตรอินทรีย์” แก่ชาวเกษตรกรทุกประเภท ผลตอบรับดีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อได้รับคำแนะนำและนำไปทดลองใช้จริงแล้ว ชาวเกษตรกรจาก 100% เต็ม ต่างให้การยอมรับ “โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จากสยามธุรกิจ” เนื่องจากสามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต และยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น

ล่าสุด ทีมข่าว “สยามธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่ “เยี่ยมไร่ ชมสวน” ของ คุณนิวัติ สมพงษ์ เจ้าของไร่อ้อย ที่เจอปัญหาในการใช้ปุ๋ยเคมีมาอย่างยาวนาน จนส่งผลให้พื้นดินมีสภาพที่เสื่อมโทรม และเมื่อหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์โชบุพลัส และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมพืช ซุปเปอร์ริชชีโกรว์ ซุปเปอร์ริชีพาวเวอร์ ของสยามธุรกิจแล้ว มีแต่ผลดีกลับมาอย่างมากมาย

คุณนิวัติ สมพงษ์ เจ้าของไร่อ้อย บอกว่า ได้ทำการปลูกไร่อ้อย ประมาณ 30-40 ไร่ แต่ก็ใช้วิธีในการดูแลต้นอ้อยแบบเดิม คือ การใช้ปุ๋ยเคมี และใช้วิธีนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ซึ่งส่งผลเสียต่อดินมาก เพราะว่าใช้ปุ๋ยเคมีมานานเลยทำให้ดินแข็ง ดินกระด้าง พืชอ้อยไม่โต ที่สำคัญจะเป็นโรคง่าย และมีสารพัดโรคเข้ามารุมเร้า ทั้งเชื้อรา เพลี้ย เป็นต้น เมื่อใช้แล้วก็ต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยเข้าไปเพื่อให้ได้ผล แต่ต้นทุนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

“วิธีแก้ในเบื้องต้นก็จะต้องซื้อยามาฉีด ซื้อยามาบำรุงดิน แต่สุดท้ายสภาพก็เหมือนเดิม สภาพดินเสื่อมโทรม ต้นอ้อยโตช้า ต้นเล็ก ใบเหลือง ต้นทุนจากการใช้เคมีสูงขึ้น แก้ปัญหายังไงปัญหาต่างๆ ยังเหมือนเดิมแก้ไม่หาย”

อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ได้มีทีมผู้บริหารของสยามธุรกิจได้เข้ามาแนะนำให้ไปร่วมฟัง “โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จากสยามธุรกิจ” จึงได้เข้าไปร่วมฟัง และทางโครงการฯ ได้แนะนำวิธีการปรับสภาพพื้นดิน เมื่อได้ฟังครั้งแรกก็ทดลองซื้อปุ๋ยอินทรีย์โชบุพลัส และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมพืช ซุปเปอร์ริชชีโกรว์ ซุปเปอร์ริชีพาวเวอร์ สูตรสยามธุรกิจมาใช้ 2 ตัน ผลกลับออกมาดี ใบเขียว ต้นสวย ซึ่งเป็นไปตามที่ทางโครงการฯ บอกมาทั้งหมด จึงเริ่มใช้มาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“เมื่อหันมาใช้อินทรีย์สูตรสยามธุรกิจกับไร่อ้อยจนเห็นผลแล้ว ก็ทดลองนำมาใช้กับเผือกและกระชายบ้าง ผลออกมาดีมาก มีคนมาสอบถามว่า เผือกกับกระชายกี่เดือนแล้วทำไมงามจัง ก็บอกไปว่า แค่ 2 เดือนเอง จึงเห็นได้ว่าอินทรีย์สูตรสยามธุรกิจทำให้เราไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเพิ่มต้นทุน เมื่อเราใส่ปุ๋ยรองพื้นทีเดียว และใช้ฉีดพ่นทางใบตามคำแนะนำก็ได้ผลดีเกินคาดแล้ว ซึ่งใช้ง่ายมากและถูกมาก ประหยัดทั้งแรงและเวลา รวมถึงต้นทุนด้วย หากใครสนใจก็ลองเข้าไปปรึกษาโครงการฯ ที่ไหนก็ได้ ซึ่งจะได้คำแนะนำวิธีให้เข้าใจง่ายๆ และสามารถนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์ต่อเกษตรของเราด้วย”

จาก https://www.siamturakij.com  วันที่ 7 ธันวาคม 2561

“สมคิด” นัดหารือ 2 กระทรวง พาณิชย์-เกษตร หามาตรการลดราคาปุ๋ย

 “สมคิด” นัดหารือ 2 กระทรวง พาณิชย์-เกษตร หามาตรการลดราคาปุ๋ย ต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเป้าหมายลดลง 30% พร้อมเสนอ ครม สัปดาห์หน้า ขณะที่การค้าออนไลน์ที่โต กระทบการค้าปกติ เร่งหางบสนับสนุนสินเชื่อ 1 หมื่นล้านยกระดับร้านโชห่วย ธงฟ้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การประชุมครั้งนี้ร่วม 2 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นการค้าออนไลน์เข้ามาเริ่มมีผลกระทบต่อการค้าปกติ และการหาทางดูแลปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรตามที่ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เร่งรัดมา เป้าหมายต้องการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรให้ได้ 30% และลดราคาปุ๋ยให้ได้ 30% พร้อมสรุปมาตรการเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า

เบื้องต้น ที่ประชุมเห็นชอบในการหามาตรการลดราคาปุ๋ยให้ได้ 30% จากราคาในปัจจุบัน โดยมีแนวทางร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ใช้สหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งอำเภอละ 1 แห่ง หรือประมาณ 700 แห่ง เป็นศูนย์กลางการผลิตปุ๋ยสั่งตัด และปุ๋ยผสม เพื่อกระจายให้กับสมาชิก ส่วนนอกสมาชิกจะใช้กลไกร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่ 3 หมื่นแห่ง เป็นจุดจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัด ปุ๋ยผสม รวมถึงปุ๋ยสำเร็จรูป ที่กระทรวงพาณิชย์ จะประสานกับผู้ผลิตให้จัดส่งมาให้จำหน่ายในราคาถูก

แต่ทั้งนี้ ด้วยความที่ส่วนใหญ่เกษตรกรซื้อปุ๋ยด้วยเงินสินเชื่อเป็นหลัก ที่ประชุมเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านสินค้าเชื่อให้สามารถซื้อผ่านสหกรณ์และร้านธงฟ้าด้วย สำหรับเงื่อนไขการซื้อหรือขั้นตอนอาจจะต้องมีการพิจารณารูปแบบต่อไป

“ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตหลักของการผลิตสินค้าเกษตรทั้งข้าว พืชสวน พืชไร่ของเกษตรกรที่มีอยู่กว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ ปัจจุบันการจำหน่ายปุ๋ยยังมีกลไกที่ซับซ้อน แม้ปุ๋ยจะป็นสินค้าควบคุม แต่ก็ยังหามาตรการดูแลลำบาก เนื่องจากปุ่ญมีหลายชนิด ด้านกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน หามาตรการในการดูแลราคาปุ๋ยปลายทางไม่ให้เกินราคาเป้าหมาย หรือราคาสูงสุดที่กำหนดของแต่ละประเภทจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”

ปัจจุบันปุ๋ยที่ใช้ในพืชเกษตรมีอยู่ 3 ประเภท เช่น ปุ๋ยสำเร็จรูป ปุ๋ยสั่งตัดโดยปุ๋ยชนิดนี้รัฐบาลการรณรงค์ในการใช้ และปุ๋ยผสม ที่เกษตรกรสามารถทำเองได้ สามารถลดต้นทุนได้ถึง 50% อย่างไรก็ดี การประชุมร่วมครั้งนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ด้วย เบื้องต้นแจ้งว่ากำลังศึกษาและสนใจที่จะผลิตปุ๋ย และอาจจะเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหม่ในตลาดด้วย โดยมั่นใจว่าจะผลิตปุ๋ยได้ในราคาที่ถูก เพราะมีวัตถุดิบบางตัว และในส่วนตัวอื่นก็สามารถนำเข้าเพื่อมาผสมในการผลิตได้

อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานก็จะเร่งหาข้อสรุปและดำเนินงานในส่วนที่รับผิดชอบก่อนที่จะเสนอ ครมในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์ก้จะไปดำเนินการประสาหาร้านค้าธงฟ้าที่มีศักภาพ ก่อนที่จะไปขออนุญาตในการจำหน่ายปุ๋ยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานผู้ผลิตในการจำหน่ายปุ๋ยในราคาถูก และคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้น่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ปัจจุบันมูลค่าตลาดปุ๋ยเคมีอยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท หากลดลง 30% จะลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรลงได้เกือบ 3 หมื่นล้านบาท

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการดูแลการค้าที่เติบโตเร็วจากข้อมูลพบว่าบริษัทขนส่งมีการค้าจาก 7-8 หมื่นล้านชิ้น เป็น 1 ล้านชิ้น ซึ่งโตแบบก้าวกระโดด โดยอาจจะกระต่อการค้าปกติ ประเด็นนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งในการยกระดับการค้า ร้านธงฟ้า ร้ายโชห่วยที่เป็นเป้าหมายให้โตเป็น 2-3 แสนราย จากกว่า 3 หมื่นในปัจจุบัน โดยเป้าหมายคาดจะใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในการส่งเสริม ผ่านสถาบันทางการเงิน เช่น เอสเอ็มอี แบง๕ ในการช่วยเหลือสินค้า ดอกเบี้ยต่ำ และใช้ อูเล่ โมเดลเข้ามาสนับสนุนให้มีศักยภาพมากขึ้น และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รวบรวมข้อมูลการค้าออนไลน์ในปัจจุบันด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 ธันวาคม 2561

ราคาอ้อยตกต่ำ เกษตรกรโอดหักทุนเหลือตันละร้อย พรรคไหนแก้ได้พร้อมเทคะแนน

ราคาอ้อยตกต่ำ เกษตรกรโอดหักทุนเหลือตันละ 100 บาท ชี้รัฐบาลไหนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ เกษตรกรพร้อมที่จะเทคะแนนเลือกอย่างไม่ลังเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการเปิดรับซื้ออ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยมีการประกาศราคาขั้นต้นที่ 700-750 บาทต่อตัน สืบเนื่องมาจากน้ำตาลในระบบของตลาดทั่วโลกมีมากเกินความต้องการ หลังจากผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกน้ำตาลมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาที่ได้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

จากการลงพื้นที่สอบถามนายไหล เลิศนอก เกษตรกรชาวไร่อ้อยตำบลศรีสุก อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ราคาผลผลิตอ้อยสดตัดขายในปัจจุบันถือว่าลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยราคาอ้อยไหม้ไฟ(ในการตัดอ้อยต้องเผาใบอ้อยเพื่อเพิ่มความสะดวกในการตัดของคนงานตัดอ้อย) ที่ทางโรงงานจะรับซื้อที่ตันละ 720 บาท เมื่อหักต้นทุนไม่ว่าจะเป็นค่าพันธุ์อ้อย ค่าแรงงานปลูก ค่าปุ๋ยซึ่งต้องใส่ 2 ครั้ง แล้วใช้เวลาเป็นปีถึงจะสามารถเก็บผลผลิตได้ เมื่อถึงเวลาตัดอ้อยก็จะเพิ่มต้นทุนในส่วนค่าแรงงานตัดอ้อย ค่ารถคีบอ้อย ค่ารถขนถ่ายอ้อยส่งโรงงาน นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายจิปาถะอีกมากมาย หักแล้วจะเหลือเพียงตันละ 100 บาท ซึ่งผลผลิตอ้อยของตนในปีนี้ได้เพียง 30 ตัน เงินที่ได้จากการขายเมื่อหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว เหลือเพียง 3,000 บาท ถือว่าขาดทุนเป็นอย่างมากเพราะทำการเกษตรมาทั้งปีแต่ได้เงินเพียงเท่านี้

นอกจากนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหลายราย ยังเปิดเผยอีกว่า ถ้าราคาของผลผลิตอ้อยยังตกต่ำอยู่เช่นนี้ ในปีหน้าคงต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆเช่น ข้าว มันสำปะหลังหรือข้าวโพด เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ถูกกดราคา และอยากฝากบอกไปยังรัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่างๆ ถ้าสามารถแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรแบบยั่งยืนได้ เมื่อมีการเลือกตั้งอีก ไม่ต้องหานโยบายมากนักเกษตรกรก็พร้อมที่จะเทคะแนนให้แบบไม่ลังเล

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 7 ธันวาคม 2561

คลอดแผนแม่บทจัดการน้ำ20ปี

"บิ๊กฉัตร" ย้ำส่วนราชการจัดทำของบประมาณต้องอิงแผนแม่บทน้ำ ด้าน สทนช.มั่นใจช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมครอบคลุมทุกพื้นที่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อ วันที่ 6 ธ.ค. 2561 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ20 ปี ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น โดยปรับปรุงจากแผนยุทธศาสตร์ระยะ 12 ปี

ทั้งนี้ จะเสนอร่างแผนแม่บทฯ ต่อที่ประชุมชุดใหญ่ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)และมีผลบังคับต่อไป โดยแผนแม่บทฯ นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และผูกพันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเดินตามโครงการ รวมถึงการจัดทำคำของบประมาณจะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทฯ ด้วย

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ร่างแผนแม่บทฯ ปรับปรุงจาก 12 ปี (2558-2569) เป็น 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้เป้าหมายสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศมาพิจารณาเพิ่มเติม เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่ทันสมัย ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่เมือง ซึ่งจำเป็นต้องจัดการน้ำต้นทุนรองรับการขยายตัวของเมืองหลัก ตลอดจนการวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในอนาคต การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งท่องเที่ยว และจัดการน้ำท่วมในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ

สำหรับแผนแม่บทฯ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีน้ำประปาและน้ำดื่มได้มาตรฐาน 75,032 หมู่บ้านทั่วประเทศ 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติ 1,234 แห่ง ระยะยาง 5, 550 กม.

ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย

5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพ ป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 4.5 แสนไร่ และ 6.การปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์การจัดการน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูลการศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำ จัดทำแผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 7 ธันวาคม 2561

แล้งนี้ไม่ขาดน้ำ!กรมชลฯขอช่วยกันประหยัดลดเสี่ยงขาดแคลน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพฝนและการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกําลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงปกคลุมถึงประเทศจีนตอนกลางแล้ว คาดว่าในช่วงวันที่ 7 - 10 ธ.ค.61 จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทําให้บริเวณดังกล่าวจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอากาศจะหนาวเย็นลงกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1 - 3 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส สําหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ จะมีกําลังแรงขึ้น ทําให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (6 ธ.ค.61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 59,823 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 35,894 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,864 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 12,168 ล้าน ลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ สนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 23,100 ล้าน ลบ.ม.ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 ถึงปัจจุบัน (6 ธ.ค.61) จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,852 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำรวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เป็นน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7,300 ล้าน ลบ.ม.และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม.) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.61 ถึงปัจจุบัน (6 ธ.ค.61) จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,362 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 17 ของแผนฯ

นายทองเปลว กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ มีเพียงอ่างเก็บน้ำทับเสลา และอ่างเก็บน้ำกระเสียว ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุฯ สามารถสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 ธันวาคม 2561

โค้งสุดท้ายรัฐบาล 'ฉัตรชัย' เร่งแผนแม่บทน้ำ 20 ปี

"บิ๊กฉัตร" ลุยแผนแม่บทน้ำ 20 ปี เตรียงชงเข้าที่ประชุม กนช. เห็นชอบ 19 ธ.ค. นี้ หวังเป็นคัมภีร์ด้านน้ำของประเทศ ครอบคลุม 6 ด้าน สู่เป้าหมายการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ง แก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี-แหล่งท่องเที่ยว

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (6 ธ.ค. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2561 เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำร่างแผนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานให้สอดรับและครอบคลุมกับ 3 แผนหลักของประเทศ ประกอบด้วย 1.แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ

ประกอบด้วย พัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ เพิ่มผลิตภาพของน้ำทั้งระบบในการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้น้ำให้ทัดเทียมกับระดับสากล และอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ

2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรน้ำ อาทิ การบริหารเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การจัดการระบบเส้นทางน้ำ

3.เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยร่างแผนแม่บทฯน้ำสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 การสร้างหลักประกัน ว่า จะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนแม่บทฯ โดยเร่งด่วนต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า ร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่ได้มีการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จาก 12 ปี (2558-2569) เป็น 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้เป้าหมายของการพัฒนาสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายการพัฒนาประเทศ มีความชัดเจน และสามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย แผนแม่บท 6 ด้าน ได้แก่ แผนแม่บทด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งมีเป้าหมายขยายเขต เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา 20,034 หมู่บ้าน พัฒนาประปาเมืองและเขตเศรษฐกิจ 9,816 แห่ง ครอบคลุม 4.5 ล้านครัวเรือน น้ำประปาและน้ำดื่มได้มาตรฐาน 75,032 หมู่บ้านทั่วประเทศ

แผนแม่บทด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพโครงการแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเดิม ปริมาณน้ำ 717 ล้าน ลบ.ม. การจัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน พื้นที่รับประโยชน์ 14 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่ พื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ พัฒนาระบบผันน้ำและระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ 2,596 ล้าน ลบ.ม. แผนแม่บทด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติ 1,234 แห่ง ระยะทาง 5500 กม. ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764  แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 1.7 ล้านไร่ ผังน้ำ 25 ลุ่มน้ำ บรรเทาอุทกภัยเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ 

แผนแม่บทด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ได้แก่ การป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำธรรมชาติ 101 แห่ง การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก การฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลอง 25 ลุ่มน้ำหลัก และคูคลองสาขา แผนแม่บทด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 3.5 ล้านไร่ การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 0.45 ล้านไร่ และแผนแม่บทด้านที่ 6 การบริหารจัดการ โดยดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย ตั้งองค์กรด้านการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูล การศึกษา วิจัย และพัฒนาแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำ จัดทำแผนบริหารจัดการทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต รวมถึงการสร้างความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศ เป็นต้น

"การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ได้มีการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ มาพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาภาคกลางตอนล่าง และกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่ทันสมัย ทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่เมือง จำเป็นต้องจัดการน้ำต้นทุนรองรับการขยายตัวของเมืองหลัก จัดทำข้อตกลงในการจัดสรรน้ำ การวางแผนการจัดการน้ำในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในอนาคต การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในแหล่งท่องเที่ยว และจัดการน้ำท่วมในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มจะมีความแปรปรวน และรุนแรงมากขึ้นทำให้ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบยืดหยุ่น มีแหล่งน้ำหลักและแหล่งน้ำสำรอง การเชื่อมโยงกับระบบชลประทาน การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ การบริหารพื้นที่น้ำท่วม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย" นายสมเกียรติ กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 6 ธันวาคม 2561

สมาคมประกันวินาศภัยไทยมอบซอฟต์แวร์พัฒนาระบบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้กรมส่งเสริมการเกษตร หวังให้เกษตรกรรับค่าสินไหมเร็วขึ้น

สมาคมประกันวินาศภัยมอบซอฟต์แวร์พัฒนาระบบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการรายงานความเสียหายภัยธรรมชาติ รองรับการขยายประกันภัยพืชผลของประเทศให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทุกชนิดตามนโยบายรัฐต่อจากข้าว

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรในโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปี 2554 และได้มีการพัฒนาระบบการประกันภัยข้าวนาปีมาโดยตลอด ทั้งรูปแบบและวิธีการในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขความคุ้มครอง การคิดค่าเบี้ยประกันภัย รวมถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร

ในปี 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 27.60 ล้านไร่ (48.71% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ) มีเกษตรกรได้รับประโยชนฺ์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2554 จนถึงปัจจุบันกว่า 4,547 ล้านบาท และในปีนี้สมาคมได้ผลักดันให้มีการขยายผลของโครงการประกันภัยข้าวออกไปสู่การประกันภัยพืชชนิดอื่น คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา

สมาคมเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลสารสนเทศ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่จำเป็นต่อการดำเนินนโยบายรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การประกันภัยสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้ดียิ่งขึ้น สมาคมจึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของไทยกับกรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และอีกหลายหน่วยงาน ถือเป็นการนำผู้เชี่ยวชาญและบูรณาการฐานข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันผลลัพธ์ที่สำคัญประการหนึ่งให้เกิดขึ้นใน 3 ปีข้างหน้า คือ การเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานต่างๆเข้าด้วยกันในระดับแปลงเกษตรกร และนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ตลอดถึงการเก็บข้อมูลการเพาะปลูกและความเสียหายรายแปลงด้วยวิธี crowd sourcing โดยใช้ mobile application เพื่อประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบและประเมินความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกจากธรรมชาติ ทำให้จ่ายสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรได้เร็วขึ้น

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการฐานข้อมูลเกษตรกรอย่างมาก จึงได้สนับสนุนซอฟต์แวร์สำหรับการพัฒนาระบบข้อมูลการขึ้นทะเบียนมูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อช่วยให้การดำเนินโครงการต่างๆ รวดเร็วและเสถียรมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา (ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2561) มีการรับสมัครเกษตรกรแล้ว 87,604 ราย พื้นที่ 755,944.25 ไร่ ซึ่งเกษตรกรยังสามารถสมัครไปได้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสิ้นสุดการปลูก ทั้งนี้ เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการ หลังจากปลูกข้าวโพด 15 วัน ต้องรีบมาแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่ระบบประกันภัยต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 6 ธันวาคม 2561

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 32.75 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทปรับตัวตามความเสี่ยง จับตาปัจจัยสำคัญในสหรัฐและราคาน้ำมัน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจาก 32.70บาทต่อดอลลาร์ ช่วงปิดตลาดสิ้นสัปดาห์ก่อน

ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนหนัก หุ้นสหรัฐปรับตัวลงมากกว่า 3% ถือเป็นการปรับตัวลงที่แรงที่สุดในวันเดียว พร้อมกันนี้บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุห้าปี ปรับตัวลงจนต่ำกว่าบอนด์ยิลด์อายุสองปี ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจทดถอยตามมาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขฝั่งสหรัฐยังไม่ได้ชะลอตัวลงเลย ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ (ADP Employment) ขยายตัวขึ้นในเดือนที่ผ่านมาถึง 1.95 แสนตำแหน่ง ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ ก็อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.25 แสนตำแหน่งจากการรายงานเมื่อคืนวันก่อน ย้ำภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ได้อ่อนแอลงจากความผันผวนของตลาดการเงิน

เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันที่กลับมาปรับตัวขึ้นได้เพียงพอความคาดหวังว่ากลุ่มโอเปคจะสามารถบรรลุข้อตกลงที่จะลดกำลังการผลิตในการประชุมช่วงสัปดาห์นี้ ชี้ว่ายังคงมีกำลังซื้อในภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งอยู่

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้า พัฒนาวิทยากรกำจัดศัตรูพืช เพิ่มศักยภาพ‘รร.เกษตรกร’

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมาหนึ่งในรูปแบบการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกร ตามภารกิจหลักของกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีบทบาทถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตดีและมีรายได้ที่มั่นคงคือ ระบบการเรียนรู้ผ่าน “โรงเรียนเกษตรกร” ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ด้วยวิธีส่งเสริมให้ลงมือปฏิบัติต่อเนื่องตลอดฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรคิดและทำได้จริง ทั้งนี้ เกษตรกรชาย หญิง ตลอดจนเด็กและเยาวชนจะมีโอกาสในการเรียนรู้เท่าเทียมกัน ร่วมกันคิดและตัดสินใจในการประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นวิทยากรกระบวนการ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้สู่การเกษตร 4.0 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมุ่งพัฒนาโรงเรียนเกษตรกรให้มีคุณภาพต่อเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

“ดังนั้น ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้เป็นวิทยากรกระบวนการด้านการจัดการศัตรูพืชที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่เท่าทันต่อศัตรูพืชที่หลากหลายในปัจจุบัน เกิดทักษะในการจัดการกับศัตรูพืชอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำได้อย่างทันท่วงที แล้วสามารถกลับไปทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในโรงเรียนเกษตรกรในระดับจังหวัด ส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดทักษะและความรู้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายสำราญกล่าว

และว่า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรวางแนวทางพัฒนาระบบการจัดการศัตรูพืชผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอ จังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชในเขตภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นวิธีจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานหรือ IPM และถ่ายทอดความรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดทักษะเป็นสำคัญ โดยวางแนวทางป้องกันกำจัดศัตรูพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านการบูรณาการความรู้จากกรมวิชาการเกษตรและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เพื่อสร้างศักยภาพในการส่งเสริมทักษะแก่เกษตรกรในโรงเรียนเกษตรกรได้อย่างมีคุณภาพ โดยเกษตรกรที่สนใจพัฒนาความรู้เพิ่มเติมและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่โรงเรียนเกษตรกรใกล้บ้าน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ก. เกษตรจัดงานวันดินโลก

กระทรวงเกษตรฯจัดงาน 5 ธันวาคม วันดินโลก ปี 2561 (World Soil day 2018 ) “Be the Solution to Soil Pollution : ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ตามที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ หรือ IUSS ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) ตั้งแต่พ.ศ. 2556 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นพระองค์แรกของโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก โดยประเทศสมาชิกทุกประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของแต่ละประเทศในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณและเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นานาชาติทั่วโลกต่างยอมรับและน้อมนำไปขยายผลปฏิบัติอย่างแพร่หลายนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดงาน 5 ธันวาคม วันดินโลก ปี 2561 อย่างยิ่งใหญ่ (World Soil day 2018 ) “Be the Solution to Soil Pollution : ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ระหว่างวันที่ 5 - 7 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี

การจัดงานปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัล “วันดินโลก World Soil day Award” พร้อมเปิดนิทรรศการวันดินโลก “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุข ให้แก่เรา” นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “Sufficiency Economy philosophy : Path to SDGs” โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ Prof. Wolfgang Drechsler นักวิชาการด้าน Public Administration and Management และ Innovation Political Philosophy

"การจัดงานวันดินโลกเป็นโอกาสอันดีที่จะสื่อสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อการดำรงชีพของมวลมนุษยชาติ ได้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้อง และจัดการดินให้เหมาะสมสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยน้อมนำพระราชดำรัส แนวพระราชดำริไปดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดการรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาการเกษตรของไทยและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและมีความสุขตามพระราชปณิธานของพระองค์สืบไป" นายกฤษฎากล่าว

นายโรนัลด์ วากัส ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและที่ดินจาก FAO เลขาธิการประเทศสมาชิกภาคีดินโลกกล่าวว่า จะมีการสรุปแนวทางการทำงานเพื่อเดินหน้ากิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการในเวทีประชุมสมัชชาภาคีดินแห่งภูมิภาคเอเชียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ที่กรุงนิวเดลีประเทศอินเดียต่อไป

สำหรับงานวันดินโลกปี 2561 มีพิธีมอบรางวัล วันดินโลก (World Soil Day Award) ให้แก่ผู้ที่มีผลงานและกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมผลักดันวันดินโลก ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยและ  FAO จนประสบความสำเร็จ นับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลดังกล่าว โดยผู้ได้รับรางวัลคือ องค์กร Practical Action จากบังคลาเทศ ซึ่งทำงานด้านการดูแลปัญหาดินเค็มในพื้นที่สูงและพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาดินเค็มและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง องค์กรเอกชนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากผู้เข้าชิงรางวัล 39 ราย รวมทั้งสองหน่วยงานประเทศไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการจัดนิทรรศการดินดี โดยใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพ แสง สี เสียง เต็มรูปแบบ นำเสนอแนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่ความรู้ทางด้านดินให้เห็นภาพอย่างชัดเจน และ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้มจากการจัดงานวันดินโลกประจำปี 2560 ในหัวข้อ “รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” กิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและการให้โซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม

นายจง จิน คิม รองผู้แทนระหว่างประเทศ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า หนึ่งในสามของดินทั่วโลกมีสภาพเสื่อมโทรม ส่วนที่เหลือกำลังเผชิญกับภาวะเสื่อมโทรมในระดับน่าห่วงใย ปัญหามลภาวะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลังคุมคามสภาวะดิน ขยะจำนวนมากที่มาจากการเติบโตของชุมชนเมือง ถูกนำไปทิ้งใต้ผืนดินโดยไม่ได้รับการจัดการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม  ทั้งนี้การป้องกันมลภาวะปนเปื้อนในผืนดินเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกต้องรีบแก้ไข โดยให้การศึกษาและความตระหนักรู้เพื่อดินที่ดีและอาหารที่ปลอดภัยของประชากรโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 15 และเป้าหมายที่ 2 รวมทั้งขจัดความหิวโหย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งทูตพิเศษผู้ขจัดความหิวโหยทั้งในไทยและภูมิภาค.

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ลุยเปิด3หลักสูตร ปั้น‘ช่างเกษตรฯ’ 2.4พันรายทั่วปท.

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรนำเครื่องยนต์เกษตรมาใช้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเดินหน้าพัฒนาเกษตรกรผู้ใช้เครื่องยนต์เกษตรสู่การเป็น“ช่างเกษตรท้องถิ่น” ผ่านการฝึกอบรมพัฒนาทักษะและเทคนิคที่ถูกต้องในการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเครื่องจักรของตัวเองและพัฒนาไปสู่การให้บริการตรวจซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรให้เกษตรกรในท้องถิ่น โดยปีงบประมาณ 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายสร้าง “ช่างเกษตรท้องถิ่น” 2,400 รายทั่วประเทศ ผ่านการฝึกอบรม 3 หลักสูตร 3 ระดับประกอบด้วย ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 1 จำนวน 2,100 ราย ให้มีทักษะใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตรได้มีประสิทธิภาพ และถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 500 บาทต่อเครื่องต่อปี

การฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 2 จำนวน 200 ราย คัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 1 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม สามารถบริการตรวจเช็ค ซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร

เบื้องต้น ให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,000 บาทต่อปีต่อเครื่อง และหลักสูตรช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 3 จำนวน 100 ราย คัดเลือกผู้ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรระดับที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตรเพิ่มเติม สามารถตรวจเช็คซ่อมแซมใหญ่เครื่องยนต์เกษตรให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอย่างน้อย 1,500 บาทต่อเครื่องต่อปี โดยสิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับที่ 3 กรมส่งเสริมการเกษตรจะสนับสนุนเครื่องมือการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร ให้นำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมด้วย เกษตรกรผู้สนใจเข้าฝึกอบรมเป็น“ช่างเกษตรท้องถิ่น”ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเปิดรับจำนวนจำกัดและไม่เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เปิดแล้วฤดูกาลหีบอ้อย ราคาขายชาวไร่พอรับได้ 820 บาท/ตันอ้อย

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เปิดแล้วฤดูกาลหีบอ้อย ราคาเริ่มต้นน่าพอใจ 820 บาท/ตัน แต่จะให้มีกำไรเป็นกอบเป็นกำต้องแตะ 1,000 บาท/ตัน ให้กำลังใจชาวไร่ได้ลุ้นราคาใหม่สูงกว่าในฤดูกาลผลิตหน้า ด้านตำรวจย้ำก่อนขนอ้อยต้องตรวจสภาพรถให้ปลอดภัย

วันนี้ (3 ธ.ค. 61) ที่โรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขาน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง เป็นประธานในพิธีโยนอ้อยและเปิดหีบฤดูการผลิต 561/2562 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรท้องถิ่น ประชาชนชาวไร่อ้อย ก่อนที่จะมีการโยนอ้อยเข้ารางหีบอ้อยที่ 2 ของโรงงานน้ำตาล เพื่อเป็นสัญญาณว่าฤดูกาลหีบอ้อยในปีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาในการหีบอ้อยจากชาวไร่อ้อยเป็นเวลา 100 วัน

นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงราคาอ้อยในปีนี้ว่า สืบเนื่องจากราคาน้ำตาลโลกมีความแปรผัน และมีแนวโน้มว่าราคาอ้อยจะมีราคาที่ดีขึ้น จากเดิมที่มีการประกาศราคาอ้อยไว้ที่ตันละ 600 บาท รวมค่าช่วยเหลือจากทางสมาคมอ้อยและน้ำตาลทราย และค่าปัจจัยทางการผลิตจากภาครัฐฯ ชาวไร่อ้อยขายอ้อยน่าจะได้ในราคา 820 บาทต่อตัน โดยราคานี้ก็ยังพอทนได้ พอที่จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยลืมตาอ้าปากได้

อย่างไรก็ตาม หากจะให้ดีราคาที่ช่วยให้ชาวไร่มีผลกำไรไม่ต่ำกว่าตันละหนึ่งพันบาท จึงต้องฝากถึงรัฐบาลหาทางช่วยเหลือด้วย ส่วนชาวไร่อ้อยอย่าได้ถอดใจ คาดว่าในฤดูกาลผลิตปีหน้าราคาอ้อยจะดีแน่นอน

ด้าน พ.ต.อ.สุวัฒน์ สมจิตต์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอน้ำพอง กล่าวว่า ฤดูกาลหีบอ้อยทุกปีจะเกิดอุบัติเหตุกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อเป็นการป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้น ฝากถึงพี่น้องชาวไร่อ้อยตรวจสอบสถาพรถบรรทุกอ้อยให้มีความพร้อมที่จะขนอ้อยออกจากไร่มาส่งโรงงาน ควรที่จะมีการต่อทะเบียนจากขนส่ง คนขับรถต้องมีใบขับขี่ อยู่ในสภาพที่พร้อมขับ การบรรทุกอ้อยก็ต้องมีการรัดมัดอ้อยกับตัวรถให้หนาแน่นกันอ้อยตกหล่นตามท้องถนน พร้อมกับจะต้องมีการติดไฟสัญญาณ และสัญลักษณ์ที่ท้ายรถให้ทราบว่าเป็นการบรรทุกหนักด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 3 ธันวาคม 2561

'พาณิชย์' เผย "เงินเฟ้อ" พ.ย. 61 ขยายตัว 0.94% ผลจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

'พาณิชย์' เผย เงินเฟ้อ พ.ย. 61 ขยายตัว 0.94% ผลจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งสินค้าอื่น ซึ่งมาจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดทั้งปีอยู่ 1.2% ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ย. 2561 เท่ากับ 102.40 เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2560 ขยายตัว 0.94% เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 แต่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 โดยสาเหตุมาจากหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 แต่ก็เป็นลักษณะชะลอจาก 8.11% ในเดือนก่อนหน้าที่ 3.29% อย่างไรก็ดี เฉลี่ย 11 เดือนของปี 2561 (ม.ค. – พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.13% คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2561 อยู่ที่ 1.2% ทั้งนี้ เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะมากว่า 1% ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

ทั้งนี้ สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน พ.ย. 2561 เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.04% จากข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ขณะที่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.66% จากเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ ส่วนหมวดน้ำมันเชื้อเพลง สูงขึ้น 4.78% หมวดการขนส่งสาธารณะ สูงขึ้น 0.35% ส่วนหมวดที่ลดลง เช่น หมวดผักและผลไม้ ลดลง 3.25% หมวดการสื่อสาร ลดลง 0.06%

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเดือน ต.ค. 2561 เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.22% และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย.) 2561 สูงขึ้น 1.13% การที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น เหตุผลหลักจากราคาพลังงานและความต้องกรบริโภค รวมทั้งผลผลิตด้านการเกษตรมีความผันผวนตามสภาพอากาศ ซึ่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2561 อยู่ในกรอบ 0.8-1.6% ตามสมมุติฐาน จีดีพีขยายตัว 4.2-4.7% น้ำมันดิบดูไบ 68.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ การส่งออก 8%

ขณะที่ เงินเฟ้อในปี 2562 คาดการณ์อยู่ในกรอบ 0.7-1.7% คาดการณ์กลาง 1.2% การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ การสำรวจการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า เดือน พ.ย. 2561 พบว่า รายการสินค้า 422 รายการ มีสินค้าที่ปรับสูงขึ้น 222 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร มะนาว ทุเรียน ผักคะน้า กาแฟร้อน ข้าวราดแกง น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ผงซักฟอก ส่วนสินค้าที่ลดลง 117 รายการ ได้แก่ ไก่สด ส้มเขียวหวาน เงาะ ข้าวสารเหนียว กะหล่ำปลี กุ้งขาว สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 83 รายการ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2561

PDP ฉบับใหม่! เน้นความสำคัญ 3 ด้าน เสนอต่อ กพช.

'พลังงาน' เดินสายรับฟังความเห็นแผน PDP ฉบับใหม่ เน้นความสำคัญ 3 ด้าน เผย จะรวบรวมเป็นแนวทางในการปรับปรุงร่างแผน PDP ฉบับใหม่ และสรุปนำเสนอต่อ กพช. ต่อไป

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทยฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ Disruptive Technology ซึ่งกระบวนการปรับปรุงมีขั้นตอนของการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาอย่างต่อเนื่อง จนได้แนวทางเบื้องต้นเป็นร่างแผน PDP ฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อนำมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างแผน PDP ฉบับใหม่ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยในวันนี้ (3 ธ.ค. 61) เป็น "เวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือ Public Hearing ภาคเหนือ" ที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้รวมประมาณ 300 ราย

ทั้งนี้ เวทีเสวนามีการนำเสนอการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Forecast) และค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้ารายภูมิภาค รวมทั้งการนำเสนอแนวทางการจัดทำ PDP โดยหลักการในการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่นั้น จะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ

1.ด้านความมั่นคง (Security) สร้างสมดุลระบบไฟฟ้าตามรายภูมิภาค มีการพิจารณาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า

2.ด้านราคา (Economy) โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ รักษาระดับราคาฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น

3.ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงตลาดสู่ Prosumer ที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตเองในอนาคตด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2561

ศก.ไทยยังเปราะบาง!'พิชัย'วอน'แบงค์ชาติ'ชะลอขึ้นดอกเบี้ยให้นานที่สุดแนะไทยวางตัวเหมาะสมระหว่างประเทศมหาอำนาจ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ตามที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนนี้ จึงอยากขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะซ้ำเติมภาคธุรกิจทำให้มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และเพิ่มภาระการใช้หนี้ของประชาชน

ตลอด 4 ปีนี้เศรษฐกิจย่ำแย่จึงลำบากกันหมด ถ้าเศรษฐกิจดีจริงตามที่รัฐบาลบอก รัฐบาลก็คงไม่ต้องออกมา ลด แลก แจก แถม เพื่อหาเสียงกันถึงขนาดนี้ ผลโพลสำรวจล่าสุดออกมาว่าประชาชน  61.92% มองว่าเศรษฐกิจแย่ลง อีกทั้งปัจจุบันหนี้เสียในระบบธนาคารยังเพิ่มสูงขึ้นมาก หากเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะยิ่งซ้ำเติมให้หนี้เสียเพิ่มมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้น และจะทำให้การส่งออกของไทยที่ยังผันผวน อาจจะยิ่งผันผวนมากยิ่งขึ้น

และ ในภาวะสงครามการค้าที่เป็นอยู่ ระหว่างสหรัฐ และ จีน ที่อาจจะขยายกำลังวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ การมีค่าเงินบาทที่อ่อนจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยแข่งขันได้ดีกว่า ทั้งนี้เข้าใจดีว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งหากยังไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมาก เช่น ยังไม่มีเงินไหลออกจากประเทศไทยในปริมาณที่สูงมากนัก และ อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ก็อยากให้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไปให้นานที่สุด ยกเว้นจะมีปัจจัยที่จำเป็นจริงๆต้องขึ้นดอกเบี้ยจึงค่อยพิจารณาขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวอาจจะสอดคล้องกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลัง ของรัฐบาลนี้ โดยพรรคไทยรักษาชาติ จะคำนึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนเป็นหลักไม่จำเป็นว่าเหมือนกันหรือต่างกัน นอกจากนี้ ในเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่เริ่มจะสงบชั่วคราวหลังจาก สหรัฐและจีนเปิดเจรจารอผล 90 วัน แต่มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเปิดสงครามการค้ากันใหม่ได้ และอาจจะรุนแรงถึงขนาดที่ นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ถึงกับเตือนว่า อาเซียนอาจจะต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐหรือจีนนั้น ขอแสดงความเห็นว่าหากจำเป็นต้องเลือกข้างอาจจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเกิดความแตกแยกกันได้ เพราะแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์และผลประโยชน์กับแต่ละฝ่ายต่างกัน

"ดังนั้น อาเซียนและประเทศไทยจะต้องวางตัวให้เหมาะสมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด และอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาข้อวิจารณ์ของสื่อต่างประเทศที่ห่วงว่าการที่ไทยพึ่งพาประเทศมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปจะส่งผลเสียกับไทยเอง เหมือนที่หลายประเทศเคยเจอมาแล้ว" นายพิชัย  กล่าว

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 3 ธันวาคม 2561

บาทเปิดแข็งรับยุติสงครามการค้าชั่วคราว90วัน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจาก 32.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสิ้นวันทำการก่อน ในสัปดาห์นี้ต้องจับตาไปที่ตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและสถานการณ์ตลาดแรงงาน โดยวันนี้รายงานตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ (ISM Manufacturing PMI) คาดว่าจะยังอยู่ที่ระดับ 57.5จุด สะท้อนภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐที่ชะลอตัวไม่มากแม้จะมีความกังวลเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่ฝั่งไทย ตลาดมองว่าตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) เดือนพฤศจิกายนที่จะมีการรายงานในวันนี้ มีโอกาสอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 1.02% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ที่ระดับ 0.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายจิติพล กล่าวว่า วันที่ 7 ธันวาคม จะมีรายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (US Nonfarm Payrolls) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.85 แสนตำแหน่ง ชะลอตัวลงจากค่าเฉลี่ยหกเดือนที่ระดับ 2.16 แสนตำแหน่งจากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม การจ้างงานระดับดังกล่าวเพียงพอที่จะหนุนให้ตัวเลขการว่างงานทรงตัวอยู่ได้ที่ระดับ 3.7% และมองว่าค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์จะปรับตัวขึ้นได้ต่อที่ 0.3% ในเดือนพฤศจิกายน ย้ำภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งหนุนเศรษฐกิจ

“สัปดาห์นี้ทั้งค่าเงินเอเชีย ราคาน้ำมัน และหุ้นจะได้รับแรงหนุนจากการยุติสงครามการค้าชั่วคราว 90วันระหว่างสหรัฐและจีน มองว่าการลงทุนฝั่งสหรัฐน่าจะได้รับแรงหนุนมากที่สุดในระยะสั้น เพราะมุมมองระยะยาวยังไม่ปลอดภัย นักลงทุนทั่วโลกจึงยังไม่เปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ การดีดตัวกลับของตลาด อาจเกิดขึ้นในกลุ่มที่ปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้านี้ก่อน และรอดูตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐเพื่อยืนยันทิศทางเศรษฐกิจต่อไป ด้านค่าเงินบาทก็คงรับแรงหนุนจากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะไม่ใช่สกุลเงินที่ได้รับแรงบวกมากนักเนื่องจากราคาน้ำมันก็ฟื้นตัวขึ้นด้วย สิ่งที่ต้องจับตาต่อคือ ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานในไทย ถ้าเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อ น่าจะสนับสนุนให้ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยได้แน่ในเดือนนี้ และจะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้อีก มองกรอบเงินบาทระหว่างวัน 33.80-32.90บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกรอบเงินบาทในสัปดาห์ 32.60-33.10บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “ นายจิติพล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 3 ธันวาคม 2561

ไทยเร่งเปิดเสรีการค้าเพิ่ม รับส่งออกอาเซียนโตต่อเนื่อง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ SEOM Retreat วันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ที่กรุงเทพฯ ว่า ไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้อาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” ที่ไทยประกาศรับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้วางแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนปี 2562 รวมถึงการทำงานกับคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) อาทิ การให้สัตยาบันของสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) มีผลใช้บังคับได้โดยเร็วต้นปี 2562 การให้สัตยาบันพิธีสารยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อสามารถบังคับใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่แนบท้ายพิธีสารฯ ได้โดยเร็ว และการลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อรวมความตกลงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เข้ากับความตกลง AJCEP เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2560 อาเซียนมีการส่งออกในภาพรวมเป็นมูลค่า 1.31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 7.4 ของมูลค่าการส่งออกของโลก มีการนำเข้ารวมมูลค่า 1.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 6.9 ของมูลค่าการนำเข้าของโลก โดยเป็นการส่งออกภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 24.7 และมีสัดส่วนนำเข้าจากประเทศภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 22.2 ที่เหลือเป็นการค้ากับนอกกลุ่มโดยอาเซียนมีคู่ค้าสำคัญ คือ จีน สหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2561

ดันยุทธศาสตร์10อุตฯเป้าหมาย สร้างแรงจูงใจเอกชนเข้าลงทุนอีอีซี

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลว่า ปี 2562 สศอ.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน ในการจัดทำยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรม ระยะสั้น กลาง และยาว ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อให้นโยบายการผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายสำเร็จโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ส่วนอุตสาหกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจะกำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล แต่เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งทั้ง 2 อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่รับการประสานว่ายุทธศาสตร์จะเสร็จเมื่อใด

สำหรับปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอยุทธศาสตร์ 3 อุตสาหกรรม เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)และได้รับความเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ และปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนเพื่อกระตุ้นการลงทุนมากขึ้น

“กรอบการผลักดันอีอีซีแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะการจัดทำกฎหมาย หลักเกณฑ์ต่างๆ 2.ระยะการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการ มูลค่า 6.5 แสนล้านบาท ที่จะได้ผู้ลงทุนต้นปีหน้า และ 3.ระยะการผลักดันให้เกิดการลงทุนของเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้นสศอ.จะเร่งทำงานร่วมกับ สกพอ.และหน่วยงานต่างๆ ในการทำยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการลงทุนระยะ 3 ทำให้อีอีซีเป็นรูปธรรมโดยเร็ว”นายอดิทัตกล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ จะต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่โดยเฉพาะการต่อยอดภาคการเกษตร ขณะที่เศรษฐกิจชีวภาพต้องมองในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่โดยรอบเข้ามาด้วยไม่ใช่มองแค่เพียงการตั้งโรงงาน หากจะเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ต้องมองการต่อยอดที่มากกว่าโรงงาน อาทิ การส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในพื้นที่รอบๆ ที่จะพัฒนา ดังนั้นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนของเศรษฐกิจชีวภาพจะออกมาได้ก็อยู่ที่เอกชนจะนำเสนอแนวทางการพัฒนาที่ตอบโจทย์หรือไม่

ส่วนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ(โรบอติก แอนด์ ออโตเมชั่น) ที่ผ่านมาบีโอไอมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทั้งกลุ่มดีมานด์ (กลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) และกลุ่มซัพพลาย (ผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ไทยต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยภาพรวมการลงทุนของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2561 มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 3,351 ล้านบาท

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2561

ชายคาพระพิรุณ : กรมพัฒนาที่ดินจัดใหญ่!งานวัน‘ดินโลก’5-7ธ.ค.

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับ 3 ของโลก มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มที่ลงทะเบียนมากกว่า 100 ราย รวมถึงมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกือบทั้งหมดเป็นสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยที่ยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสวนปาล์ม ขาดการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย ตามแนวทางการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ส่งผลให้คุณภาพและผลผลิตของปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมีคุณภาพไม่ดีนัก

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนินโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตน้ำมันปาล์มและเพิ่มความยั่งยืนทางนิเวศวิทยาและสังคมในการผลิตปาล์มน้ำมัน และได้รับการสนับสนุนจาก Ministry of the Environment, Nature Conservationand Nuclear Safety (BMU) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

สำหรับดำเนินโครงการในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561–2565 เพื่อมุ่งสู่การยกระดับปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (RSPO) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะเตรียมศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานีและชุมพร เป็นศูนย์กลางฝึกอบรมผู้นำเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมถึงให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกร พร้อมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดตั้งโรงเรียนปาล์มน้ำมัน ในตำบลเขาคราม อำเภอเมืองจังหวัดกระบี่ เป็นสถานที่ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติ มีแปลงปลูกปาล์มน้ำมันและยังร่วมพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อติดตามและรายงานผลการดำเนินงานของเกษตรกรในพื้นที่นำร่องตามฐานข้อมูลเดิมที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีอยู่ พร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านอื่นๆ ให้สามารถพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล RSPO อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายในการปรับปรุงวิถีชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชตามความเหมาะสมของที่ดิน และส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มเป็น เกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน ส่งเสริมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพของพืชและสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงเกษตรกรเข้าสู่ตลาด

สำหรับการปลูกปาล์มตามมาตรฐานของ RSPO เป็นการปลูกปาล์มน้ำมันโดยมีการกำกับดูแลในเรื่องการจัดการสวน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และ การอยู่ร่วมกันภายในชุมชน มีหลักการ 8 ข้อ ได้แก่ 1.ความโปร่งใส 2.ทำตามกฎหมายและระเบียบ 3.สร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว 4.ทำตามวิธีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันที่ดี 5.ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 6.รับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน 7.ปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ 8.พัฒนาสวนปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง คาดว่า ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2565 จะมีเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,000 รายที่ได้รับความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ สามารถผลิตวิทยากรหลักจากโครงการมากกว่า 50 คน มีภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 10 โรงงาน ลดต้นทุนในการผลิตได้ถึง 20% และสามารถลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 5,000 ตัน...

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จัดงานวันดินโลกในหัวข้อ “Be the Solution to Soil Pollution : ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ระหว่างวันที่ 5–7 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุขให้แก่เรา” โดยภายในงานจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลความสำเร็จของการน้อมนำแนวพระราชดำริตามศาสตร์พระราชา ด้านการพัฒนาทรัพยากรดินมาปฏิบัติใช้ออย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรดินและน้ำนำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการขจัดความหิวโหย จึงเชิญชวนเข้าร่วมชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจได้ในวันและเวลาดังกล่าวครับ

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 3 ธันวาคม 2561

ชาวไร่อ้อยโคราชเดือดร้อนหนักราคาตกต่ำ

ชาวไร่อ้อยโคราชเดือดร้อนหนักต้องขาดแคลนแรงงานคนตัดอ้อยหนำซ้ำราคายังตกจนไม่คุ้มกับต้นทุน

หลังจากมีการเปิดรับซื้ออ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/2562 โดยมีการประกาศราคาประมาณ 680 บาทต่อตัน สืบเนื่องมาจากน้ำตาลในระบบของตลาดทั่วโลกมีมากเกินความต้องการ หลังจากผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกน้ำตาลมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เกษตรกรหลายรายเริ่มบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาที่ได้ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

จากการลงพื้นที่สอบถามนายหลิม สมดี เกษตรกรชาวไร่อ้อยบ้านนิคมพัฒนา ตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ราคาอ้อยในปีนี้ถือว่าลดลงจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เมื่อรวมเปอร์เซ็นต์ค่าความหวานและเงินช่วยเหลืออื่นๆ แล้วยังคงไม่คุ้มกันค่าต้นทุนการเพาะปลูก เมื่อถึงฤดูเก็บผลผลิตกลับพบปัญหาในการหาแรงงานคนตัดอ้อยเนื่องจากหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่มักจะหนีไปทำงานในโรงงานซึ่งมีค่าแรงที่สูงและดูมั่นคงกว่างานรับจ้างรายวัน ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องจ้างรถตัดอ้อยซึ่งก็เป็นการเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถตัด ค่าน้ำมัน ค่ารถบรรทุกขนาดใหญ่ในขนย้าย โดยจากราคาอ้อยในปัจจุบันเมื่อคำนวณรายได้จากการขายอ้อยแล้วในปีนี้คงหวังกำไรจากการปลูกอ้อยยากอยู่เหมือนกัน

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านายหลิมก็อยากฝากไปยังพรรคการเมืองและผู้ที่เสนอตัวเข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ควรมีนโยบายในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ยกตัวอย่างราคาอ้อยที่จะสามารถทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,200 บาทต่อตัน ซึ่งราคาในปัจจุบันยังห่างจากจุดคุ้มทุนของเกษตรกรอยู่มาก รวมถึงควรหามาตรการในการลดต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาปราบศัตรูพืชและที่สำคัญปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำในการทำการเกษตรเนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้ผลผลิตได้น้อยลงกว่าที่ควรเป็น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 2 ธันวาคม 2561

ไทยเริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียน ชง 12 ประเด็นเศรษฐกิจที่จะผลักดันปี 62

ไทยเริ่มทำหน้าที่ประธานอาเซียน ชง 12 ประเด็นด้านเศรษฐกิจให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการพิจารณา ก่อนให้นำกลับไปเป็นการบ้านแล้วมาหารือกันอีกครั้งเดือน ม.ค. 62 หากได้ข้อสรุปเตรียมชงรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบผลักดันต่อไป พร้อมวางกรอบการทำงานร่วมกับคู่เจรจา 11 ประเทศเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุนด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมากรมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ SEOM Retreat โดยไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจจำนวน 12 ประเด็น ที่จะให้อาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” ที่ไทยประกาศในการรับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจ 12 ประเด็น แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 ก้าวไปข้างหน้ามองสู่อนาคต (Future Orientation) มีประเด็นสำคัญ เช่น การเตรียมทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนเพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ด้านที่ 2 ส่งเสริมความเชื่อมโยง (Enhanced Connectivity) โดยดำเนินการ เช่น เชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิก จากปัจจุบันใช้งานได้แล้ว 5 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอีก 3 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ การปิดรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2562 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารในอาเซียน และด้านที่ 3 ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainable in all dimensions) มีประเด็น เช่น จัดทำความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนของอาเซียน จัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน เป็นต้น

“สมาชิกอาเซียนจะนำ 12 ประเด็นที่ไทยเสนอกลับไปพิจารณาเพื่อกลับมาหารือในรายละเอียดกันอีกครั้งในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือน ม.ค. 2562 ก่อนที่จะนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้ความเห็นชอบขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จในปี 2562 ต่อไป” นางอรมนกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้วางแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนกับคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป โดยจะให้ความสำคัญต่อการให้สัตยาบันของสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) มีผลใช้บังคับได้โดยเร็วในต้นปี 2562 การให้สัตยาบันพิธีสารยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อสามารถบังคับใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่แนบท้ายพิธีสารฯ ได้โดยเร็ว และการลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อรวมความตกลงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เข้ากับความตกลง AJCEP เป็นต้น

จาก https://mgronline.com วันที่ 2 ธันวาคม 2561

เงินบาท3-7ธ.ค.32.70-33.50/ดอลลาร์

ซีไอเอ็มบี ไทย คาด เงินบาทสัปดาห์หน้า อยู่ในกรอบ 32.70-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จับตาเจรจาการค้า

 สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) คาดเงินบาทสัปดาห์หน้า (3 – 7 ธ.ค. 2561 ) จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.70-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยต้องจับตาการเจรจาการค้าระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา ว่าจะมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการค้าระหว่างกันหรือไม่

นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าจะมีการรายงานตัวเลขต่างๆ อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ย.จากมาร์กิต และดัชนีภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้า รวมถึงตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่จะประกาศทุกศุกร์แรกของเดือนด้วย

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะแถลงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนพฤศจิกายน 2561 ในวันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม 2561 ด้วยเช่นกัน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 2 ธันวาคม 2561