http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนธันวาคม 2563]

DITPเคาะส่งออกปีหน้าโต4% แรงสนับสนุนจากศก.ชาติคู่ค้าฟื้นตัว

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า กรมได้ประเมินทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2564 ว่าจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว 4%สอดคล้องกับหลายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 5.2% จากติดลบที่ 4.4% ในปี 2563 โดยประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย (จีน อินเดีย และอาเซียน 5 ประเทศ) จะฟื้นตัวเร็วที่สุดเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าการค้าโลกในปี 2564 จะกลับมาขยายตัว 7.2% ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกได้แก่การคิดค้นและริเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาดและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้นซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้ภาคอุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัว, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การส่งออกยังได้รับผลดีจากทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ (นายโจ ไบเดน) มีนโยบายเน้นการยึดถือกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบ WTO มากขึ้น และความสำเร็จของการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้าในภูมิภาคอาเซียน และนอกภูมิภาคอาเซียน อีก 5 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจอาเซียนและไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในปีหน้า

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าสุขอนามัย และสินค้าเพื่อความบันเทิงในที่พักและการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงบริการดิจิทัลคอนเทนต์และบริการสุขภาพขณะที่ระบบโลจิสติกส์ ไม่มีการหยุดชะงัก และคู่ค้ามีความมั่นใจในสินค้าไทยที่ปลอดเชื้อจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องระวัง คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า ซึ่งเรื่องนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งการเร่งนำเข้าตู้เปล่า ซ่อมตู้เก่า ส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ สนับสนุน SMEs รวมตัวจองตู้ และหาทางให้เรือ 400 เมตรเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่า ที่จะกระทบต่อการแข่งขัน ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่จะทำให้มีการล็อกดาวน์ในบางประเทศ และการกีดกันทางการค้าจะมีมากขึ้น เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ส่งออกสินค้าเกษตร คู่ค้า FTA ฟื้น

กรมเจรจาฯ เผยสัญญาณบวก ส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปคู่ค้า FTA ฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้ ข้าว-ยาง-มันสำปะหลัง มีแนวโน้มขยายตัว หนุนใช้สิทธิ์ FTA ให้เต็มที่ แนะช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ผู้ประกอบการต้องคุมเข้มคุณภาพมาตรฐานสินค้า เน้นปลอดภัยไร้สารปนเปื้อนและเชื้อโรค

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว แต่พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ ไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตร) ไปตลาดโลกส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่เอฟทีเอ รวม 13,519 ล้านเหรียญสหรัฐ (70% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ 1% ตลาดคู่ FTA ที่การส่งออกของไทยขยายตัว เช่น กัมพูชา (+206%) สิงคโปร์ (+21%) บรูไนฯ (+15%) จีน (+9%) ฮ่องกง (+21%) ออสเตรเลีย (+5%) และนิวซีแลนด์ (+11%) เป็นต้น

เมื่อพิจารณาสถิติรายเดือนสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการสินค้าเกษตรของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น เฉพาะเดือน พ.ย. 2563 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศคู่เอฟทีเอมีมูลค่ารวม 1,228 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12% จากเดือน ต.ค. ปีเดียวกัน โดยตลาดคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด อาทิ จีน (+18%) ญี่ปุ่น (+9%) อาเซียน (+11%) เกาหลีใต้ (+5%) อินเดีย (+16%) นิวซีแลนด์ (+1%) เปรู (+223%) และชิลี (+344%)

 นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของไทยมีแนวโน้มที่ดี อาทิ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยตัวเลขการส่งออกในเดือน พ.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ได้แก่ ข้าว ส่งออก 422 ล้านเหรียญสหรัฐ (+53%) ยางพารา ส่งออก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (+20%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่งออก 198 ล้านเหรียญสหรัฐ (+ 2%) ซึ่งข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ถือเป็นสินค้าเกษตรที่ขอใช้สิทธิ์ส่งออกด้วยเอฟทีเอในอันดับต้น

สำหรับสินค้าข้าว ปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอ 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไนฯ และกัมพูชา ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าข้าวจากไทยแล้ว ส่วนอีก 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ชิลี สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ทยอยลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าข้าวจากไทยแล้ว ส่วนยางพารา 16 ประเทศคู่เอฟทีเอ (อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง) ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ายางพาราทุกรายการให้ไทยแล้ว

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ (อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง) ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากไทยทุกรายการแล้ว ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสในตลาดคู่เอฟทีเอมากขึ้น

แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญบางประเทศเริ่มฟื้นตัว จึงอยากให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่ และควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวด เน้นความปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยเฉพาะช่วงไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคสินค้าไทย รวมทั้งปรับการผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เน้นสินค้าที่เก็บรักษาได้นาน ประกอบอาหารง่ายและสะดวก

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปี’64ไทยปฏิวัติพลังงานสู่อนาคตตอบโจทย์ลดโลกร้อน-รับเทรนด์EV

พลังงานมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกแต่ด้วยบริบทที่โลกกำลังเปลี่ยนไปทั้งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น รวมไปถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตใหม่(New Normal )ซึ่งจะผลักดันให้โลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์พลังงานโลกในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปและจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งไปสู่การปฏิวัติพลังงานสะอาด(Clean Energy Revolution)

ปี 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติพลังงานอีกครั้งสำหรับประเทศไทยเช่นกันโดยกระทรวงพลังงานได้เริ่มคิกออฟ(Kickoff)จัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ( Thailand Integrated Energy Blueprint :TIEB) หรือแผนพลังงานชาติ ที่จะวางกรอบทั้งแผนระยะสั้น 5 ปี (ปี 2565-70) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และยาว 20 ปี โดยเป็นการรวบแผนพลังงานทั้ง 5 แผนมาไว้เป็นแผนเดียว ได้แก่ 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

“ กระทรวงพลังงานได้เริ่มคิกออฟด้วยการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามมติ ครม.เมื่อ 20 ต.ค. 2563 ที่มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานที่มี 5 แผนรวมเป็นแผนเดียวเพื่อให้เป็นเอกภาพและรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 และให้มีเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาวเพื่อให้แผนแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นปรับได้และรองรับยุคดิจิทัล ทั้งด้านภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนไป”นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงที่มา

เขาย้ำว่าแผนนี้ได้คิกออฟประชุมระดมสมอง (เวิร์กชอป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่ม บมจ.ปตท. ไปแล้ว ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตดังนั้นสิ่งที่เขาวางแผนวันนี้คืออนาคตของเขาเช่นกัน อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับไทยด้านพลังงาน กระทรวงพลังงานได้เปิดให้แสดงความคิดเห็นและร่วมกันทำแผนอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต โดยเมื่อตกผลึกแล้วจะมีการจัดสัมนาเพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2564 และเมษายน 2564 จะเห็นแผนที่ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป

ส่องทิศทางพลังงานโลก

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาทิศทางพลังงานโลกในปี 2564 สิ่งที่ต้องจับตาคือ การประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศโลก(COP-26) ที่ประเทศอังกฤษในปลายปี 2564 ที่สหภาพยุโรปจะประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ในปี 2593 เช่นเดียวกับสหรัฐ ประกอบกับนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่ประกาศนโยบายชัดเจนการส่งเสริมพลังงานสะอาดอย่างเต็มพิกัดจะยิ่งขับเคลื่อนให้พลังงานของโลกก้าวไปตามทิศทางที่วางไว้ ขณะที่จีนกำหนดเป็นปี 2603 ดังนั้นการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของโลกจะก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่

1.เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่น้ำมันมากขึ้น โดยการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า(EV)ทุกรูปแบบจะเป็นไปแบบก้าวกระโดด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นและส่งผลให้การใช้น้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลจะทรงตัวและค่อยๆถดถอยลงในที่สุดโดยหลายประเทศจะหันมาสนับสนุนรถEVแทนแต่ลดการอุดหนุนและส่งเสริมเครื่องยนต์สันดาป

2.ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมาแรง แน่นอนว่าพลังงานหมุนเวียนได้เข้ามามีบทบาทด้านพลังงานในโลกนี้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังคงอัตราเร่งขึ้นโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์) พลังงานลม และอื่นๆ ด้วยเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเริ่มสู้ได้กับไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่(ESS)ที่เริ่มเด่นชัดในการตอบโจทย์การสร้างพลังงานหมุนเวียนให้เกิดความมั่นคงที่มากขึ้นย่อมขับเคลื่อนให้พลังงานหมุนเวียนยังคงเป็นคำตอบของพลังงานในอนาคต

3.ธุรกิจ Circular Economyผุดรับโลกเปลี่ยน ธุรกิจต่างๆ เริ่มตระหนักในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy ) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดมาปรับใช้จึงทำให้การเกิดขึ้นของธุรกิจสีเขียวจะเพิ่มขึ้น อาทิ การรีไซเคิลขยะพลาสติก การกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ เป็นต้น

โลกเปลี่ยนก.พลังงานปรับรับเทรนด์ใหม่

การเปลี่ยนแปลงของโลกย่อมทำให้ภาคพลังงานของไทยต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระดับนโยบาย แหล่งเชื้อเพลิง ที่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมกับการปรับตัวไว้ล่วงหน้า ซึ่งแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของกระทรวงพลังงานจะเป็นกลไกที่เข้ามาขับเคลื่อน โดยเบื้องต้นต้องวางบทบาทให้กับไทยในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกและสอดรับกับขีดความสามารถของประเทศไทยอย่างแท้จริง ส่วนจะเป็นปีใดคงจะต้องติดตามความชัดเจนกันอีกครั้ง

ด้านไฟฟ้า นโยบายจะต้องมองไปยังไฟฟ้าอนาคต ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เบื้องต้นได้มองการปรับเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1. โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะต้องรองรับเทคโนโลยียุคดิจิทัล อาทิ Grid Modernizationศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) 2. การส่งเสริมภาคประชาชน เพื่อกระจายศูนย์และลดคาร์บอน ได้แก่ P2P sandbox ,พลังงานชุมชน ,Electrification (EV & P2X) 3.ด้านนโยบาย แผน TIEB , แผนแม่บท และแผนขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริด ,Energy Hub/ Grid Connector และการปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน รองรับ Energy Transformation

โดยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือการพัฒนาความพร้อมโครงสร้าพื้นฐานด้าน EV ทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า Charging Station และโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เพื่อรองรับเป้าหมายที่ไทยกำหนดส่งเสริมให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2579 ได้แก่ 1.ศึกษาการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและผลกระทบต่างๆ 2.โครงสร้างค่าไฟสำหรับ Charging Station 3.กำหนดรูปแบบและมาตรฐาน Charging Station และ4.กฏระเบียบและการเชื่อมต่อไฟกับระบบจำหน่าย

ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง คนรุ่นใหม่(Yong Gen)ของกรมธุรกิจพลังงานมองว่า การเริ่มเข้ามาของรถEV ช่วงปี 2563-ปี 2568 ยังไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ในช่วง 6-10 ปี(ปี 2569-ปี 2573) มีการประเมินการเข้ามาขอรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่(BEV) 7.5แสนคันและการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดราว 1.3 ล้านคันจะส่งผลให้การใช้น้ำมัน(เบนซิน-ดีเซล)ลดลงจากปัจจุบันราว 20% หรือ 7 ล้านลิตรต่อวัน และ 10ปีขึ้นไปตั้งแต่ปี 2574 รถยนต์ไฟฟ้าจะแพร่หลายมากขึ้นหลายประเทศจะแบนการใช้เครื่องยนต์สันดาปล้วน รถบัส รถบรรทุกจะถูกแทนที่ EV 10% การใช้น้ำมันเบนซินจะลดลง 50% (15ล้านลิตรต่อวัน) ดีเซลลดลง 10% (6 ล้านลิตรต่อวัน)

ด้วยผลกระทบดังกล่าวคาดว่าชนิดน้ำมันจะต้องลดลงโดย 5 ปีต่อจากนี้ชนิดของเบนซินจะเหลือเพียง เบนซิน (ULG) แก๊สโซฮอล์ 95 และ E 20 ระยะ 6-10 ปีขึ้นไปยกเลิก E10 เหลือเบนซินและ E20 ส่วนดีเซลนั้นระยะ 6-10 ปีข้างหน้าจะเป็น B7(ดีเซลผสมบี100 3-7% ) และB10 และ 10ปีขึ้นไปจะเหลือเพียง B10( บี100ผสม3-10%) ขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพจะไม่มีการอุดหนุนโดยทำการปรับสเปกของไบโอดีเซลให้ยืดหยุ่นได้ ขณะที่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) โดยเฉพาะในรถบัส รถบรรทุก ที่ขนส่งระยะไกล

สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) แนวโน้มไลฟ์สไตล์คนเมืองจะใช้เตาไฟฟ้ามากขึ้น สถานีLPGจะทยอยหมดสัญญา รถที่ใช้ LPG หมดสภาพจะทยอยออกจากตลาด ส่งผลให้การใช้ LPG ครัวเรือนและขนส่งแนวโน้มจะลดลงและการใช้ LPG ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นได้มีการเสนอให้เปิดเสรีธุรกิจ LPG เพื่อให้เกิดการแข่งขันลดผูกขาดโดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยรัฐยังคงดูแลผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ส่วนโรงกลั่นน้ำมันในอีก 5 ปียังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะเริ่มมีผลในช่วง 6-10 ปีขึ้นไปที่จะต้องเริ่มปรับกระบวนการกลั่นและการส่งออกน้ำมันเบนซินพื้นฐานที่เหลือและ ระยะ 10ปีขึ้นไปจะต้องปรับส่วนที่เหลือส่งออกและป้อนสู่ปิโตรเคมีมากขึ้น ขณะที่การสำรองน้ำมันนั้น 6-10 ปีขึ้นไปเสนอให้ยกเลิกการสำรองน้ำมันตามกฏหมายของภาคเอกชน โดยใช้การกำกับดูแลรายงานข้อมูลและให้สำรองเมื่อจำเป็น ขณะที่จัดให้มีการสำรองโดยรัฐด้วยการจ้างโรงกลั่นเก็บสำรองส่งผ่านไปยังผู้บริโภค และไทยยังให้บริการเก็บสำรองในอาเซียนได้อีกด้วย ส่วนโครงสร้างพื้นฐานน้ำมัน ส่งเสริมให้เกิดขนส่งน้ำมันทางท่อมากขึ้นและส่งเสริมปั๊มน้ำมันติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าหรือ xEVs

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในวงการพลังงานได้เสนอแนวคิด แต่ยังมีหน่วยงานอื่นๆในสังกัดกระทรวงพลังงานทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ฯลฯมีทีมของบมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ล้วนได้เสนอแนวคิดกันเข้ามาอย่างกว้างขวาง ซึ่งบทสรุปจะออกมาอย่างไรนั้นคงจะต้องติดตามกันในปี 2564 ภาพอนาคตพลังงานไทยจะชัดเจนแน่นอน

จาก https://mgronline.com วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“พิมพ์ชนก”ชี้โอกาสส่งออกปี 64 เน้นโฟกัสศักยภาพนำเข้าของคู่ค้า

 “พิมพ์ชนก”วิเคราะห์ส่งออกปีหน้าฟื้นตัวแน่ หลังเศรษฐกิจ การค้าโลกดีขึ้น แต่ต้องระวังโควิด-19 ระบาดซ้ำสอง ชี้ศักยภาพการนำเข้าของคู่ค้า 100 ประเทศมี 3 กลุ่มที่ไทยต้องวางแผนเจาะตลาดเพื่อเร่งเพิ่มยอดการส่งออกของไทย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์การส่งออกในปี 2564 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ-ยุโรป ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 นโยบายของนายโจ ไบเดน อาจกระทบการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตามสนค.ยังได้วิเคราะห์ลงลึกอีกว่า ศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า 100 ประเทศจากทุกภูมิภาค และนำประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงมาคัดเลือกหาประเทศคู่ค้าที่ไทยควรมีนโยบายขยายความสัมพันธ์ทางการค้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ที่ไทยต้องวางแผนในการเจาะตลาด เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในปี 2564 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ประกอบด้วย

สำหรับกลุ่มที่1 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง ความต้องการสินค้านำเข้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่ไทยส่งออกหลายรายการ และไทยส่งออกไปยังประเทศนั้นได้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศคู่ค้าแล้ว ซึ่งไทยต้องรักษาฐานลูกค้าและสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อสินค้าไทย และหากสามารถเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อได้ จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง ได้แก่ อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) ยุโรปตะวันตก (เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส) โอเชียเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย

กลุ่มที่ 2 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นในระดับปานกลาง สามารถพัฒนาให้เป็นประเทศคู่ค้าที่มีการค้าในระดับสูงได้ โดยไทยต้องมุ่งทำตลาดเชิงรุก เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด หรือหากเจรจาจัดทำ FTA จะทำให้ไทยมีแต้มต่อหรือได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยกลุ่มที่ไทยควรให้ความสำคัญลำดับแรก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์) ยุโรปตะวันออก (สโลวีเนีย เช็ก ออสเตรีย ฮังการี โปแลนด์) และบางประเทศตะวันออกกลาง (กาตาร์ และอิสราเอล) ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง       

ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นน้อย กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ไทยควรเร่งศึกษาตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และคาซัคสถาน

 สำหรับสินค้าไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตและพฤติกรรมใหม่ ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร 2.สินค้าสำหรับใช้ทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนและฟุ่มเฟือย มีแนวโน้มหดตัวจากการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภค เช่น ยานยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงอุตฯ อวดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนพ.ย. โต 0.35% เทียบปีก่อน

กระทรวงอุตสาหกรรม เผย MPI เดือน พ.ย. ฟื้นครั้งแรกรอบ 19 เดือน ขยายตัว 0.35% ชี้สถานการณ์โควิด-19 ยังต้องจับตาทั้งในและต่างประเทศ ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า อก. ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนนับจากเหตุการณ์สงครามการค้าและการระบาดของไวรัสโควิด- 19 ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดได้ดีและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาด ในขณะที่การส่งออกหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.87 นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนเช่นกัน

"เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มดีขึ้น มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้รับข่าวดีจากความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต้องควบคุมสถานการณ์ไม่ให้การแผ่ระบาดขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาอีกครั้ง” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศอันเนื่องมาจากมาตรการของภาครัฐที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งส่งผลในแง่บวกสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญอย่างอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวร้อยละ 4.95 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนพฤศจิกายนที่ขยายตัวเพิ่มจากระดับ 63.19 ในปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 64.80 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ร้อยละ 1.77

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตวิถีใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.00 และอุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.71 ในขณะที่อุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่เริ่มฟื้นกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.92 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวได้ดีในเดือนพฤศจิกายน ได้แก่

บาทเปิด 30.13 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อย

รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.02 เนื่องจากความต้องการซื้อในกลุ่มสินค้ารถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีปัจจัยหลักจากกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูง และการเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดในช่วงงาน Motor Expor 2020 (2-13 ธ.ค.63) รวมถึงคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่เริ่มมีมากขึ้น

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.95 เนื่องจากโรงกลั่นและบริษัทหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีก่อน แต่ปีนี้มีการซ่อมบำรุงเพียงบางแห่งและเริ่มกลับมาผลิตตามปกติแล้ว

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.71 เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทหน่วยความจำ sensors และ Integrated Circuit เป็นต้น

เภสัชภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.61 จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ด ยาน้ำ ยาแคปซูล และยาฉีด เป็นหลัก เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของผู้ผลิตได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถเพิ่มการผลิตได้สูงขึ้นหลังขยายอาคารเก็บรักษายาตั้งแต่ปลายปีก่อน

มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.29 จากผลิตภัณฑ์มอเตอร์และหม้อแปลงไฟฟ้า เนื่องจากความต้องการใช้ในช่วงการกักตัวอยู่บ้านของลูกค้าประเทศต่าง ๆ โดยเป็นมอเตอร์ปั๊มน้ำสำหรับสระว่ายน้ำ ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.66 สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าเดือนนี้ผลิตเป็นหม้อแปลงขนาดเล็กกำลังไฟต่ำจึงผลิตได้มากกว่าปกติ

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พลังงานกางแผนปี64 ขับเคลื่อนลงทุน1.27แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มี​เชาว์​ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2563 ว่าหลักๆ ได้มุ่งเน้นการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยมาตรการลดรายจ่ายประชาชนในช่วงโควิด เช่น การลดค่าไฟฟ้า LPG NGV ฯลฯ รวมมูลค่า 49,836 ล้านบาท ส่วนการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งสามารถจัดเก็บรายได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมเข้าภาครัฐ 129,932 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานท้องถิ่น ทั้งยังกำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานครั้งแรกของประเทศช่วยยกระดับชีวิตเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ขับเคลื่อนพลังงานชุมชน สร้างชุมชนต้นแบบลดใช้พลังงาน ซึ่งทั้งมาตรการช่วยเหลือและสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.79 แสนล้านบาท

“เนื่องจากทั่วโลกยังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น นโยบายต่างๆ จึงมุ่งเน้นด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฝ่าฟันไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563”

สำหรับในปี 2564 กระทรวงพลังงานได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานไทยใน 3 ด้านหลักสำคัญ คือ 1.ด้านการสร้างพลังงานเข้มแข็งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาของภาครัฐและเป็นกรอบการลงทุนที่ชัดเจนของภาคเอกชนผลักดันความชัดเจนเรื่องลดสำรองไฟฟ้า เดินหน้าส่งเสริมแข่งขันเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ากำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อกระตุ้นการลงทุนรวมทั้งได้เตรียมความพร้อมการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (OCA) และกำหนดการส่งเสริมการลงทุนปิโตรเลียมระยะที่ 4 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

2.ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะกระตุ้นยอดขาย B10 กำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินหลักโดยผลักดันให้โรงกลั่นผลิต G-base ได้ตามมาตรฐานภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และร่วมขับเคลื่อนโครงการชุมชนทั่วประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และ3.ด้านการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาด โดยจะเร่งรัดการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ส่งเสริมกระตุ้นการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ ส่งเสริมการใช้โซลาร์รูฟท็อปให้เติบโต 100 เมกะวัตต์ ริเริ่ม ESCO ภาครัฐเพื่อลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้คาดว่าในภาพรวมของการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2564 จะสามารถสร้างเม็ดเงินลงทุนให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 127,932 ล้านบาท

สำหรับการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ยังไม่ได้อยู่ในแผนหรือทิศทางการเนินงานของ

กระทรวงพลังงานในปี 2564 แต่จะเป็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนกับกรณีของน้ำมันบี7 (B7) และบี10 (B10) ซึ่งขณะนี้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ก็จะสามารถใช้ทดแทนแก๊สโซฮอล์ 91 ได้อยู่แล้ว ขณะที่ปัจจุบันผู้ที่ใช้แก๊สโซฮอล์91 ก็มีอยู่จำนวนที่ไม่มาก

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่าในส่วนของ มาตรการของกระทรวงพลังงานในรองรับการแพร่ระบาดของการติดเชื้อโควิด-19  นั้นค่อนข้างมีความพร้อม โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ผ่านมาได้อนุมัติอำนาจกับกระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในการพิจารณาหามาตรการในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการเยียวยาประชาชน หากพบว่ามีการระบาดจนต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนกับช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องรอการอนุมัติ ซึ่งจะเป็นมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่าการระบาดรอบนี้จะไม่ขยายผลออกไปในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สศก.ชี้GDPปี’63หดตัว3.3%เหตุแล้งเป็นหลัก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 พบว่าหดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยหดตัวจากสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตรและสาขาป่าไม้ ขณะที่สาขาปศุสัตว์ขยายตัว โดยสาขาพืชหดตัวร้อยละ 4.7 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมาส่งผลให้พืชสำคัญมีผลผลิตลดลง เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะอย่างไรก็ตาม ยังมีผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้นคือ ข้าวนาปี เนื่องจากในช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าในปี 2562 ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีรอบ 2 ได้เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ดี ลำไย เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และทุเรียนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรบำรุงและดูแลรักษา ประกอบกับมีพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2558 ที่เริ่มให้ผลผลิตได้ปีนี้

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่ดี ทำให้สินค้าปศุสัตว์สำคัญทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สาขาประมงหดตัวร้อยละ 2.6 เนื่องจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ จากการสูญเสียตลาด

บางส่วนให้กับประเทศคู่แข่ง ทำให้เกษตรกรปรับลดจำนวนลูกพันธุ์และชะลอลงลูกกุ้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ประมงน้ำจืดมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปลานิลและปลาดุก เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 3.6 เนื่องจากกิจกรรมการจ้างบริการทางเกษตรต่างๆ ทั้งการเตรียมดิน การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวลดลง ตามเนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่เก็บเกี่ยวของพืชสำคัญที่ลดลง และสาขาป่าไม้ หดตัว ร้อยละ 0.5 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก ลดลงเป็นผลจากการตัดโค่นสวนยางเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีลดลง ความต้องการไม้ยูคาลิปตัสและครั่งของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 หดตัว แต่ด้วยการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล และของกระทรวงเกษตรฯทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโดยดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ บริหารจัดการน้ำ พัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ การตลาดนำการผลิต ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาตรการเยียวยาเกษตรกร จากผลกระทบของโควิด-19ที่ได้จ่ายเงิน 5,000 บาท ให้เกษตรกรเป็นเวลา 3 เดือน การส่งเสริมการบริโภคและใช้สินค้าเกษตรในประเทศ การเพิ่มศักยภาพผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐานและความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรไทย

สำหรับปี 2564 คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3 แต่ยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การระบาดของโรคในสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 อัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่ง สศก. จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

“ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรสะท้อนให้เห็นผลการพัฒนาภาคเกษตรภาพรวม แต่ยังไม่ใช่การบ่งชี้ว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง นอกจากนี้ การเติบโตของภาคเกษตรระดับสูงไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรทุกคนเสมอไป ดังนั้น หากต้องการมองถึงความอยู่ดีกินดีและการกระจายรายได้ของเกษตรกรในประเทศ ต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไปถึงตัวชี้วัดอื่น อาทิ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกร สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน สัดส่วนเกษตรกรยากจน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ สศก.หน่วยงานเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร จะเดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องไปสู่การเป็น Big Data เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจการเกษตรที่ถูกต้องและแม่นยำ” เลขาธิการ สศก.

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เกษตรฯจัดเวทีเครือข่ายYoung Smart Farmer เดินหน้าพัฒนาต่อยอดมาตรฐาน-ช่องทางตลาด

กรมส่งเสริมการเกษตรจัดเวทีเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร และช่องทางการตลาด รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศ พร้อมทั้งจัดแสดงผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และสินค้าเกษตรของ Young Smart Farmer

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจัดเวทีเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการพัฒนาผลผลิตและสินค้าเกษตรของ Young Smart Farmer รวมถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ DTAC ITAP และ The Mall Group ที่ร่วมกันพัฒนาและยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเครือข่ายเป็นกลไกสำคัญพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ มีการจัดกระบวนการให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็นศูนย์กลางและออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ เกิดเป็นเครือข่าย Young Smart Farmer 77 เครือข่ายทั่วประเทศ

พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย Young Smart Farmer ระดับจังหวัด โดยตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ (ศบพ.) 77 ศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการทำงานของเครือข่ายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม องค์ความรู้ควบคู่งานวิจัย และหลักการธุรกิจเกษตร บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูล รวบรวมสินค้าเกษตรและเพิ่มช่องทางการตลาด รวมถึงสร้างทายาทเกษตรกร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และสถาบันการเงินร่วมพัฒนายกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีการบริหารจัดการการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรม พึ่งพาตนเองได้และเป็นผู้นำทางการเกษตร รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง และดำเนินงานด้านการเกษตรได้มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนเติบโตทางเศรษฐกิจจากฐานภาคการเกษตรได้ นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลผลิต ผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตรของ Young Smart Farmer จากทั่วประเทศภายในงาน เช่น ผักผลไม้สดและแปรรูป สมุนไพร เห็ดสดและแปรรูป ไข่ไก่ ชา กาแฟ โกโก้ ข้าวสาร นม น้ำผึ้ง น้ำแปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป ของใช้ ดินและปุ๋ยไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ ด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวต่อว่า ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer ดังนี้ 1.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ และพัฒนายกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนให้เกษตรกรประกอบธุรกิจการเกษตร เชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรรายอื่น 2.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ Young Smart Farmer มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน เป็นผู้นำด้านการเกษตรของชุมชน และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการขับเคลื่อนภาคเกษตรเข้าสู่การทำเกษตรสมัยใหม่3.สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจอาชีพการเกษตรเข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้นโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาการ และสถาบันการเงิน เพื่อร่วมพัฒนาสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่และผู้สนใจเริ่มต้นทำการเกษตรหรือประกอบธุรกิจการเกษตรได้ 4.สร้างทายาทเกษตรกรจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสืบทอดอาชีพการเกษตร ทั้งพัฒนายุวเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะด้านการเกษตร สนับสนุนลูกหลานเกษตรกรให้กลับมาทำการเกษตรมากขึ้น ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกระทรวงกลาโหมพัฒนาเตรียมความพร้อมของกำลังพลทหารกองประจำการที่เป็นลูกหลานเกษตรกรเพื่อเข้าสู่อาชีพการเกษตรในอนาคต และ 5.พัฒนาศักยภาพของ Smart Farmerให้เป็นต้นแบบ และสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และประสบการณ์สู่เกษตรกรรุ่นใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กรมชลฯ คุมเข้มแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 63/64 บริหารจัดน้ำสอดคล้องมติ ครม.อย่างเคร่งครัด

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 63/64 หลายพื้นที่น้ำต้นทุนมีน้อย ขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (21 ธ.ค.63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน ทั้งสิ้น 47,340 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 23,409 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,964 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 5,268 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,341 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,164 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 29 ของแผนฯ จะเห็นได้ว่าในปี 63 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้การเพาะปลูกข้าวนาปีล่าช้าออกไปเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งกรมชลประทานจะให้การช่วยเหลือจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว คาดว่าภายในเดือนมกราคมปี 64 จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมด

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 9 มาตรการ และตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อคุมเข้มแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 63/64 โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ที่ฤดูแล้งนี้น้ำต้นทุนมีน้อย ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้ ต้องสำรองน้ำไว้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก โดยได้เน้นย้ำให้บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ ร่วมกันรณรงค์การปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรฯ โดยการจ้างแรงงานชลประทาน เข้าร่วมปฏิบัติงานโครงการชลประทานใกล้บ้าน เพิ่มบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรด้วย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดนราธิวาส ยะลา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ยังคงมีบางพื้นที่บริเวณท้ายเขื่อนบางลาง จังหวัดปัตตานี ที่ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำ ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 17 เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อเตรียมรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นอีกรอบ ในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 63 ถึง 1 มกราคม 64 ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมบูรณางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนบางลาง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับพื้นที่ท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีเพิ่มมากขึ้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามแนวทางในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด โดยไม่กระทบต่อการดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดต่อสื่อสารเรื่องการบริหารจัดการน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ พร้อมตรวจสอบและคัดกรองแรงงานชลประทานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเข้มงวด กำหนดให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น รวมทั้งห้ามเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักตามมาตรการของจังหวัด รวมไปถึงการทำความสะอาดฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ทุกครั้ง ก่อนนำออกไปปฏิบัติงาน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"แข็งค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกรอบสัปดาห์นี้ 29.80-30.20 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.07 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.09 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในสัปดาห์นี้ แนะนำจับตาเพียงความเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยในวันจันทร์ที่ 28 จะเป็นวันสุดท้ายที่โดนัลด์ ทรัมป์สามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ ขณะที่วันพุธที่ 30 มีกำหนดการที่สหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) จะต้องทำข้อตกลง Brexit ส่วนทางตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้มีการประกาศตัวเลขที่สำคัญ

ด้านตลาดเงิน ระยะสั้นเชื่อว่าจะมีแรงกดดันจากการขายสินทรัพย์ปลอดภัยกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงช่วงปลายปีอยู่บ้าง และคาดว่าจะมีแรงขายทำกำไรปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังจบข้อตกลง Brexit อย่างไรก็ดีเนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นช่วงสัปดาห์ปีใหม่จึงน่าจะมีธุรกรรมที่เบาบางลง

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 89.5-90.5จุด ระดับปัจจุบัน 90.2จุด

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบ และมีเพียงการระบาดของไวรัสรอบใหม่ในประเทศที่เข้ามากดดัน แนะนำจับตาทิศทางของทองคำเพิ่มเติมเนื่องจากเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้วจะเป็นแรงส่งให้กับสกุลเงินเอเชียรวมถึงเงินบาท ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจะปิดสิ้นปีนี้ที่ 2.6 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 50% ของจีดีพีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนด้านพื้นฐานของค่าเงินบาทในปีหน้า

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

คพ. ขอภาคอีสานงดเผาตอซัง-ไร่อ้อย แก้ฝุ่น PM2.5

คพ. ขอภาคอีสานงดเผาตอซัง-ไร่อ้อย แก้ฝุ่น PM2.5 ยันกลายปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กระทบต่อสุขภาพประชาชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน  และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายอรรถพล  กล่าวว่า ขณะนี้นอกจากปัญหาฝุ่น PM2.5  เกิดขึ้นใน กทม.แล้ว กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานในหลายจังหวัด ซึ่งปัญหาเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกันคือ 1) จากยานพาหนะโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล และ 2) การเผาพืชตอซังข้าวและไร่อ้อย ซึ่งภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศและมักประสบปัญหา PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (สสภ.10/ขอนแก่น) ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เน้นที่แหล่งกำเนิดที่สำคัญ คือยานพาหนะและการเผาในที่โล่ง

มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากยานพาหนะ สำนักขนส่งจังหวัดขอนแก่นมีการตรวจวัดและควบคุมกำกับรถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก รถราชการ รวมทั้งให้สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)ในจังหวัดขอนแก่นตรวจสภาพรถยนต์ฟรีทุกแห่ง และมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดการเผาในที่โล่ง ได้ดำเนินลดพื้นที่การเผาตอซังข้าวก่อนฤดูทำนาปรัง โดยนำร่องที่ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ดำเนินการ ประมาณ 10,000 ไร่ โดยขอความร่วมมือเกษตรกร ภาคเอกชน นำนวัตกรรม รถตัดตอซังข้าวและอัดก้อนฟาง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและทำได้จริงในพื้นที่ และส่งขายโรงงานผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ราคาตันละ 800 บาท และจะมีการขยายผลต่อไป

สำหรับการลดการระบายมลพิษจากกลุ่มโรงงานน้ำตาลและพื้นที่ปลูกอ้อย คพ.ได้ติดตามและให้คำแนะนำรวมทั้งเตรียมความพร้อมกับโรงงานน้ำตาล  โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูเวียง) มีแนวทาง 1) ควบคุมการระบายอากาศจากปล่องระบายและกองเก็บชานอ้อย 2) มีเป้าหมายอ้อยสดเข้าโรงงานร้อยละ 80 3) สนับสนุนให้ใช้รถตัดอ้อยของโรงงาน 51 คัน 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดเก็บใบอ้อยแทนการเผาและรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 1,000 บาท และกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่น มีแนวทาง ได้แก่

1)การควบคุมการระบายอากาศจากปล่องระบายและกองเก็บชานอ้อย 2) มีเป้าหมายอ้อยสดเข้าโรงงานร้อยละ  60 3) การสนับสนุนให้ใช้รถตัดอ้อยและรถสางใบอ้อยของโรงงาน 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดเก็บใบอ้อยแทนการเผาและรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 1,000 บาท และเพิ่มเงินรางวัลสำหรับอ้อยสดแก่เกษตรกรอีกตันละ 50 บาท ทั้งนี้ จะขยายผลไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมกันงดเผา เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ให้ได้มากที่สุด นายอรรถพล กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563

นับถอยหลัง “คิกออฟ RCEP” เพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุน 5 แสนล้าน

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) จะผ่านการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกราว 6 เดือนข้างหน้า โดยประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งประกอบไปด้วย อาเซียน 10 ประเทศ+จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ยกเว้น “อินเดีย” ที่ยังไม่ยอมร่วมลงนาม ต่างเตรียมความพร้อมที่จะเปิดตลาดสินค้ากลุ่มแรก คิดเป็นสัดส่วน 80% ของจำนวนสินค้าที่ตกลงกันว่า จะลดภาษีนำเข้าทั้งหมด โดยในจำนวนนี้จะมีสินค้ากลุ่มแรก สัดส่วน 65% ที่จะต้องลดภาษีเป็น 0% ทันที และอีก 15% จะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 10-15 ปี ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง จะยังไม่ลดภาษีเป็น 0% อาจจะต้องมีการเจรจากันในลำดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดจะทำให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทย มีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 2,252 ล้านคน หรือคิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก GDP รวมกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 817 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของ GDP โลก จนเรียกได้ว่า RCEP เป็นความตกลงค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุด “แซงหน้า” ความตกลง CPTPP ที่มีประชากร 501.8 ล้านคน GDP 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐไปหลายเท่าตัว

ที่ผ่านมา ไทย-RCEP มีการค้ากันในปี 2562 มูลค่า 287,206.3 ล้านเหรียญ โดยไทยส่งออก 140,468.9 ล้านเหรียญ และนำเข้า 146,737.4 ล้านเหรียญ มีการลงทุนโดยตรง (FDI) ระหว่างกันภายใน RCEP สูงถึง 372,216 ล้านเหรียญ การขับเคลื่อนความตกลง RCEP ในช่วงเวลานี้จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเศรษฐกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ในที่สุด

เพิ่มโอกาสส่งสินค้าเกษตร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศอยู่แล้ว แต่ RCEP จะให้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโอกาสเข้าสู่ตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทย ที่ในความตกลง FTA ไม่มี หรือยังมีน้อย เช่น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ได้ “ยกเลิก” ภาษีศุลกากรสินค้าไทยเพิ่มจากกรอบอาเซียน +1 เดิม “ซึ่งจะส่งผลดีมากกับกลุ่มสินค้าเกษตร” โดยแบ่งเป็น

1) จีน ลดภาษีเพิ่มให้ พริกไทย, สับปะรดกระป๋อง, น้ำสับปะรด, น้ำมะพร้าว 2) ญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป (มะเขือเทศ-หน่อไม้ฝรั่ง), แป้งสาคู, ผลไม้สด/แห้ง/แช่แข็ง (ส้ม-สับปะรด), น้ำมันถั่วเหลือง, สินค้าประมง, น้ำส้ม, น้ำผลไม้ผสม และ 3) เกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง (มังคุด ทุเรียน), ข้าวโพดหวานแปรรูป, แป้งมันสำปะหลัง, น้ำมันรำข้าว, สับปะรดแปรรูป, น้ำสับปะรด และสินค้าประมง

กลุ่มอาหารลดภาษี 0%

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้ากลุ่มอาหารแปรรูป, อาหารกระป๋อง, ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และผลไม้กระป๋อง เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันทีเมื่อข้อตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก เนื่องจากสินค้าไทยมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้สดทั้งทุเรียน, มังคุด, ลำไย, มะพร้าว, มะม่วง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมพร้อม เนื่องจากสินค้าผักผลไม้ในกลุ่มนี้มีอายุการวางจำหน่ายสินค้าค่อนข้างสั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ และต้องยอมรับว่าในกลุ่มสมาชิก RCEP มีทั้งคู่แข่งและคู่ค้า ดังนั้น ไทยต้องปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าพรีเมี่ยม คุณภาพสูง เลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคา

ข้าวสินค้าอ่อนไหวสูง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สินค้าข้าวอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP เท่าที่ควร เนื่องจาก “ข้าว” ยังถูกจัดให้เป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง อาจจะมีการลดภาษีนำเข้าไปอยู่ระหว่าง 20-30% ไม่น่าจะลดถึง 0% โดยจะขึ้นอยู่กับการเจรจาแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันข้าวมีทั้งคู่แข่งและคู่ค้ากับข้าวไทย โดยเมื่อมีการปรับเงื่อนไขหรือลดภาษี นั่นหมายถึงคู่แข่งในกลุ่ม RCEP เช่น เวียดนาม-กัมพูชา-เมียนมา ก็จะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกันกับข้าวไทย และหากนับรวมปัจจัยด้านอื่น ประเทศคู่แข่งข้าวไทยถือว่า “มีความได้เปรียบกว่าข้าวไทย” ดังนั้นการจะแข่งขันด้านราคาจะลำบากมากขึ้น

ขณะที่คู่ค้าสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย-จีน-สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ หากแยกตลาดจะพบว่า ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ มีมูลค่าซื้อข้าวน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญ ส่วนตลาดส่งออกหลักอย่างฟิลิปปินส์ แม้จะเปิดเสรี แต่ยังมีการจำกัดปริมาณโควตาภาษี 35% หากส่งออก “มากกว่า” โควตา ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 55% ส่วนอินโดนีเซียภาษีนำเข้าสูงถึง 50% มาเลเซียแม้จะเป็นประเทศที่ไม่มีภาษีนำเข้าข้าว แต่ระบบการนำเข้ากำหนดให้เฉพาะรัฐบาลเป็นผู้นำเข้าด้วยวิธีการประมูล หรือนำเข้าข้าวที่ราคาถูก เช่นเดียวกับจีน ตลาดใหญ่ แต่ก็จำกัดโควตานำเข้าข้าวอยู่ที่ประมาณ 200 หยวน/ตัน

บูมลงทุนโรงงานยาง

ส่วน นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า สินค้ายางพาราหลัก ๆ จะส่งออกไปยังตลาดจีน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการส่งออกทั้งหมด เดิมจะใช้การลดภาษีในกรอบอาเซียน-จีน ที่กำหนดให้สินค้ายางแผ่น-ยางแท่งจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 20% และมีอัตราภาษีตามราคาขั้นต่ำที่ 1,400 หยวน หรือประมาณ 10% ทำให้ผู้ส่งออกไทยจะไม่ส่งออกยางประเภทดังกล่าว แต่จะเน้นการส่งออก “ยางคอมพาวนด์” ที่สัดส่วน 99% ซึ่งภาษีนำเข้าเป็น 0% ส่วนถุงมือยางก็มีอัตราภาษี 0% เช่นกัน

“สินค้ากลุ่มยางแผ่น-ยางแท่งในกรอบ RCEP ไม่ได้ลดหรือเพิ่มขึ้นจากกรอบอาเซียน-จีน แต่ RCEP จะลดภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ โดยเฉพาะล้อยาง”

อีกด้านหนึ่งข้อตกลง RCEP จะให้ประโยชน์ในด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมถุงมือยาง ซึ่งความตกลงฉบับนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เพื่อใช้วัตถุดิบในประเทศไทยผลิตและส่งออกไปยังตลาดกลุ่ม RCEP

สอดคล้องกับมุมมองของนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่เห็นว่า RCEP จะเป็นโอกาสสำคัญของการลงทุนระหว่างสมาชิก ที่ผ่านมามูลค่าด้านการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนและจีน แม้ว่าช่วงภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบให้หดตัวบ้าง แต่อนาคตยังมีการเติบโตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเด่น ๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, ดิจิทัล, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ห่วง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ฉุดอุตสาหกรรมถอยหลัง

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ห่วง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ฉุดอุตสาหกรรมถอยหลัง ร้องส่งตัวแทนขอเข้าร่วมการแก้ไข

นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด และเลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอชื่อผู้แทนโรงงาน เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ (ฉบับที่…) หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาและรับหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ พร้อมรับร่าง พ.ร.บ.ทำนองเดียวกันอีก 7 ฉบับ ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต่างๆ  นำมาพิจารณาในที่ประชุม เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ. ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ สมาคมฯ โดยผู้แทนจากโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง จึงเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ เพื่อแสดงความกังวลต่อการไม่มีตัวแทนโรงงานน้ำตาลในคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อเข้าไปช่วยสะท้อนมุมมองและความเห็นให้ครบด้าน ทั้งที่ โรงงานน้ำตาลเป็นหนึ่งในกลไกของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับดังกล่าว

ดังนั้น โรงงานน้ำตาล จึงขอโอกาสร่วมเสนอความเห็นเพื่อให้กฎหมายได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ตามบทบัญญัติ ที่ต้องการกำกับดูแลระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างเป็นธรรม โดยต้องเห็นพ้องต้องกันระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลทราย และให้การบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มิเช่นนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในอนาคต

“การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ต้องเกิดจากการยอมรับและเห็นพ้องต้องกัน และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนะแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงานน้ำตาล อันจะนำพาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความเข้มแข็งต่อไป นอกจากนี้ การแก้ไขระบบการแบ่งปันรายได้จะต้องขีดแบ่งกันให้ชัดเจน และยอมรับร่วมกันมิเช่นนั้นจะไม่มีใครลงทุนให้เกิดการพัฒนา”

อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักที่ฝ่ายโรงงานมีความกังวล คือ การแก้ไขมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 โดยให้เพิ่มกากอ้อย และกากตะกอนกรอง รวมเป็นผลพลอยได้ด้วยนั้น ทั้งที่จริงแล้ว เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ไม่สามารถหีบสกัดเป็นน้ำตาลได้ และโรงงานซื้อรวมในน้ำหนักอ้อยไปแล้ว และเป็นภาระของโรงงานน้ำตาลที่ต้องลงทุนหาวิธีกำจัด โดยนำกากอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือใช้ผลิตภาชนะบรรจุ ส่วนกากตะกอนกรอง ที่เป็นอิฐ หิน ดิน ทราย ติดมากับอ้อย โรงงานต้องลงทุนกำจัดของเสียนี้ มิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยนำไปผลิตเป็นปุ๋ย ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลบางโรงงานเท่านั้นที่ใช้ของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่าและต้องลงทุนเองทั้งหมด

              ส่วนประเด็นแก้ไขให้เอทานอลเป็นผลพลอยได้เพื่อนำเข้ามาสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์นั้น สมาคมฯ เห็นว่า เอทานอลที่ผลิตจากน้ำอ้อยหรือกากน้ำตาลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มิใช่น้ำตาลจึงไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ อีกทั้งได้มีการคิดมูลค่าวัตถุดิบดังกล่าวนำเข้าสู่ระบบการคำนวณราคาอ้อยในปัจจุบันอยู่แล้ว นอกจากนี้โรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องดังกล่าวมิได้เป็นนิติบุคคลเดียวกับโรงงานน้ำตาลทราย

สำหรับประเด็นแก้ไขมาตรา 14 วรรค 2 ในกรณีกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตาม พรบ. ฉบับนี้ พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระโดยในระหว่างที่ยังไม่มีการเสนอกรรมการแทน ให้ถือว่าคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแล้วครบองค์ประกอบการประชุมแม้ไม่มีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งสมาคมฯ เห็นว่าองค์ประชุมจะครบถ้วนต้องมีตัวแทนจากชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลร่วมประชุมด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการระบบและการแบ่งปันรายได้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย

              “สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 56 วรรค 2 ในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตขั้นต้น ให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาประกอบการคำนวณราคาขั้นต้นปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่ง 3 สมาคมฯ เห็นว่าควรคงวรรค 2 ตามพระราชบัญญัติฉบับเดิม ที่กำหนดให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชดเชยส่วนต่างให้โรงงาน เนื่องจากมีการเสนอแก้ไขมาตรา 27 เพื่อให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป โดยรายได้กองทุนเป็นเงินที่จัดเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับเงินภาครัฐ จึงไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างใด”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“กลุ่มวังขนาย”สั่งคุมเข้มโควิด ป้องชาวไร่อ้อย-พนง.ติดเชื้อ

กลุ่มวังขนาย คุมเข้มป้องกันโควิดสร้างความมั่นใจเกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด 19 รอบใหม่ เผยช่วงที่ผ่านมาเอาอยู่ ยังไม่มีผู้ติดเชื้อในโรงงาน

นางสาวธัญรักษ์ ณ วังขนาย ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป กลุ่มวังขนาย เผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ที่ได้แพร่ระบาดไปในหลายจังหวัด ทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวัลให้คนไทยเป็นอย่างมากนั้น

ในส่วนของกลุ่มวังขนาย มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพฯ และมีโรงงานผลิตน้ำตาล 4 แห่งคือที่ จ.นครราชสีมา, ลพบุรี, สุพรรณบุรี และมหาสารคาม ที่ผ่านมากลุ่มวังขนายได้มีการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้พนักงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือปฏิบัติงาน เว้นระยะห่าง “Social Distancing” ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนกลางของบริษัทฯ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่สาธารณี่ทีความแออัด และสแกน “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่เข้า-ออก พื้นที่สาธารณะ ล้างมือด้วยน้ำสะอาด หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ขณะที่ช่วงที่มีการระบาดรอบแรก ได้ให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือ Work From Home นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้พนักงานได้ติดตามข่าวสารและอัพเดทข้อมูลเป็นประจำ เพื่อจะได้มีความรู้ในการป้องกันตัวเอง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทางกลุ่มวังขนายและโรงงานในต่างจังหวัด ยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ภายในบริษัทฯ แต่อย่างใด

นางสาวธัญรักษ์ กล่าวอีกว่า ในฤดูหีบอ้อย 2563/2564 ที่โรงงานกำลังเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยอยู่ในขณะนี้  กลุ่มวังขนายได้เตรียมมาตรการป้องกัน และปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด คือการตั้งบูธวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคไว้คอยบริการ ทำความสะอาดและฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลางทุก 2 วัน ดังนั้นจึงอยากให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด - 19 แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ทุกคนต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการเจ็บคอ เป็นไข้ หรือเป็นหวัดในช่วงนี้บ้างหรือไม่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือไปในสถานที่เสี่ยงกับการติดเชื้อ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สทนช. ชง กนช.5 โครงการน้ำ

สทนช. เล็งเสนอ กนช.เห็นชอบน้ำ 5 เรื่องใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน แก้ปัญหาลุ่มน้ำท่าจีน สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมไฟเขียว 19 โครงการของ กปภ. แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของเมืองพัทยา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการเพื่อขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ก่อนที่จะเสนอ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณา ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย กรอบแนวทางการดำเนินงานการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน และการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การดำเนินการจัดทำข้อมูลเชิงนโยบาย ตลอดแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำท่าจีนโดยกรมควบคุมมลพิษ การจัดทำคู่มือการเติมน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งยังเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแผนปฏิบัติการ จำนวน 2,800 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อเสนอของบกลางปี 2564 เพิ่มเติม จำนวน 1,713 ตำบลด้วย

2.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 19 โครงการ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 3 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 โครงการ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ภาคกลาง 2 โครงการ และภาคใต้ 4 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตน้ำเพิ่มขึ้นอีก 143,136 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 243,852 คน 3.แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ 226.47 ตร.กม. มีประชาชนได้ประโยชน์ 144,520 ครัวเรือน

แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2565–2569) ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาใต้ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาเหนือ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่ถนนเทพประสิทธิ์และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่คลองนาเกลือ ระยะกลาง (ปี 2570–2574) ได้แก่ ปรับปรุงคลองกระทิงลาย ห้วยมาบประชัน คลองนาเกลือ คลองมาบยายเลีย ห้วยร่วมหนองปรือ และคลองสาขาต่างๆ ให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ปรับปรุง/ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง เพื่อนำน้ำจากพื้นที่ชุมชนลงสู่คลอง และระยะยาว (ตั้งแต่ปี 2575)

ได้แก่ ปรับปรุงห้วยใหญ่และห้วยสาขาให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ก่อสร้างฝายห้วยมาบประชัน และคลองมาบยายเลีย เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ก่อสร้างฝายห้วยใหญ่เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยซากนอก

4.แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ สทนช. และกรมชลประทานเสนอ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และสร้างหลักประกันให้เกษตกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นสำคัญ ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำปิดปากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โครงการบรรเทาวิกฤตภัยแล้งลุ่มน้ำห้วยหลวงและลุ่มน้ำข้างเคียง โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และโครงการฝายปากชม

และ 5.หลักการของแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ และให้เร่งปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และคลองชัยนาท-ป่าสัก 2 พร้อมจัดลำดับความสำคัญแผนงานและงบประมาณ รวมทั้งจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยที่รุกล้ำเขตคลอง สำหรับ 9 แผนงานหลักดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ กลุ่ม 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม

ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง และกลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ได้แก่ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และหากต้องการยกระดับเชิงป้องกันให้สูงขึ้น ก็อาจจะต้องศึกษาคลองระบายน้ำที่ควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

‘โรงงานน้ำตาล’ เปิดรับอ้อยเข้าหีบ ฤดูการผลิต63/64 13วันแรก4.99ล.ตัน

โรงงานน้ำตาลออกสตาร์ทเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบช่วง 13 วันแรก ชี้คุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังชาวไร่ส่งอ้อยสดเข้าหีบในช่วงแรกสูงถึง 83.54% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด 4.99 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริษัท 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงแรกการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ระยะเวลา 13 วัน หลังเริ่มทยอยรับผลผลิตมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีปริมาณอ้อยสด 4.17 ล้านตัน หรือคิดเป็น 83.54% จากปริมาณผลผลิตเข้าหีบ 4.99 ล้านตัน และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0.82 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 2.8 ล้านตันหรือ 40.91% ซึ่งเป็นปริมาณอ้อยที่ลดลงสะท้อนถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบของชาวไร่ ยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในฤดูการผลิตปีนี้ปรับตัวมาอยู่ที่ 77.98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.51 ซี.ซี.เอส. ซึ่งชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ยดังกล่าว อยู่ที่ 1,003.35 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือได้รับเงินเพิ่มจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น 55.20 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส.

“ส่วนปริมาณอ้อยในปีนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 70 ล้านตันนั้น ทางโรงงานประเมินว่าด้วยกำลังการผลิตต่อวันของโรงงานที่เพียงพอจะทำให้สามารถบริหารจัดการการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้ดีที่สุดได้ โดยยังคงมุ่งหวังจะรักษาเป้าหมายไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกิน 20% ตามนโยบายของภาครัฐกำหนดไว้”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

‘เฉลิมชัย’ประกาศนโยบายหลักปี’64 เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ขับเคลื่อนไทยยั่งยืน

รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 “เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน” เน้นย้ำต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนต่อภาคการเกษตร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 “เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน” ภาคเกษตรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยประชากรประมาณร้อยละ 40 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตร และจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติที่รุนแรง การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามทางการค้าระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรของไทย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและภาคเกษตรของไทย โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท อาทิ การส่งเสริมสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น การทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาสินค้าเกษตรจากฐานชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสู่เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมทั้งการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร

สำหรับการดำเนินการในปี 2564 ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน รวมทั้งนโยบายด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวทางในการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้หลักตลาดนำการผลิต ซึ่งจะให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาในทุกด้านจะยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้แก่

1)    บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ บริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณค่า 2) บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ จากที่ดินได้ตรงตามศักยภาพของที่ดิน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากที่สุด 3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อบ่มเพาะเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer 4) ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ของแต่ละจังหวัด 5) ส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up เป็นหน่วยธุรกิจให้บริการทางการเกษตร (Agricultural ServiceProviders: ASP) เพื่อยกระดับสู่การให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร 6) พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองต่อโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการค้าสินค้าเกษตรออนไลน์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 7) พัฒนาช่องทางการตลาด โดยเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ 8) เกษตรพันธสัญญา(Contract Farming) เพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ และร่วมกันยกระดับคุณภาพผลผลิต และแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด 9) การประกันภัยพืชผลให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผลที่เอาประกันภัย 10)ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร 11) สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก 12) ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน 13) การวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย บนพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและผู้บริโภค และ 14) ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ในการเชื่อมโยงการทำการเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สทนช. ชง กนช.5 โครงการน้ำ

สทนช. เล็งเสนอ กนช.เห็นชอบน้ำ 5 เรื่องใหญ่ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน แก้ปัญหาลุ่มน้ำท่าจีน สร้างธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมไฟเขียว 19 โครงการของ กปภ. แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของเมืองพัทยา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการเพื่อขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ก่อนที่จะเสนอ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณา ประกอบด้วย 1.การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย กรอบแนวทางการดำเนินงานการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน และการพัฒนาน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การดำเนินการจัดทำข้อมูลเชิงนโยบาย ตลอดแนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำลุ่มน้ำท่าจีนโดยกรมควบคุมมลพิษ การจัดทำคู่มือการเติมน้ำใต้ดิน โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งยังเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายในการจัดทำแผนปฏิบัติการ จำนวน 2,800 ตำบล และพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อเสนอของบกลางปี 2564 เพิ่มเติม จำนวน 1,713 ตำบลด้วย

2.โครงการเพื่อการพัฒนาปี 2564 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จำนวน 19 โครงการ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 3 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 โครงการ ภาคตะวันออก 1 โครงการ ภาคกลาง 2 โครงการ และภาคใต้ 4 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตน้ำเพิ่มขึ้นอีก 143,136 ลบ.ม./วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 243,852 คน 3.แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ 226.47 ตร.กม. มีประชาชนได้ประโยชน์ 144,520 ครัวเรือน

แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน (ปี 2565–2569) ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาใต้ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่พัทยาเหนือ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่ถนนเทพประสิทธิ์และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกลุ่มพื้นที่คลองนาเกลือ ระยะกลาง (ปี 2570–2574) ได้แก่ ปรับปรุงคลองกระทิงลาย ห้วยมาบประชัน คลองนาเกลือ คลองมาบยายเลีย ห้วยร่วมหนองปรือ และคลองสาขาต่างๆ ให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ปรับปรุง/ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง เพื่อนำน้ำจากพื้นที่ชุมชนลงสู่คลอง และระยะยาว (ตั้งแต่ปี 2575)

ได้แก่ ปรับปรุงห้วยใหญ่และห้วยสาขาให้มีขีดความสามารถรองรับน้ำหลากที่เกิดจากน้ำฝนได้ ก่อสร้างฝายห้วยมาบประชัน และคลองมาบยายเลีย เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ก่อสร้างฝายห้วยใหญ่เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำบางส่วน พร้อมทั้งก่อสร้างสถานีสูบน้ำยกระดับ และท่อส่งน้ำแรงดันเพื่อสูบน้ำหลากบางส่วนไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำห้วยซากนอก

4.แผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ที่ประชุมเห็นชอบตามที่ สทนช. และกรมชลประทานเสนอ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร และสร้างหลักประกันให้เกษตกรสามารถเพาะปลูกได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นสำคัญ ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำปิดปากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โครงการบรรเทาวิกฤตภัยแล้งลุ่มน้ำห้วยหลวงและลุ่มน้ำข้างเคียง โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล และโครงการฝายปากชม

และ 5.หลักการของแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมชลประทานเสนอ และให้เร่งปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก และคลองชัยนาท-ป่าสัก 2 พร้อมจัดลำดับความสำคัญแผนงานและงบประมาณ รวมทั้งจัดที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยที่รุกล้ำเขตคลอง สำหรับ 9 แผนงานหลักดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ กลุ่ม 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำและคลองเดิม

ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก กลุ่ม 2 การบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่รับน้ำนอง และกลุ่ม 3 การสร้างคลองระบายน้ำหลากสายใหม่ ได้แก่ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร คลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และหากต้องการยกระดับเชิงป้องกันให้สูงขึ้น ก็อาจจะต้องศึกษาคลองระบายน้ำที่ควบคู่กับถนนนวงแหวนรอบที่ 3

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"ทรงตัว"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่ามีโอกาสแข็งค่าลงต่อ และต้องติดตามระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังไทยเริ่มถูกสหรัฐเพ่งเล็งเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.01 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ Head of Markets Strategy and Asset Allocator for EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงวันที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าแข็งค่ากลับตามทิศทางของตลาดทุน แม้จะไม่มีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนสภาพคล่องในตลาดที่ต่ำและส่วนใหญ่ โดยส่วนใหญ่คาดว่าเป็นการเก็งกำไรและการซื้อขายปรับสถานะช่วงสิ้นปีของนักค้าเงินในภูมิภาค ส่วนในวันนี้ คาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงต่อ และต้องติดตามระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ หลังประเทศไทยเริ่มถูกสหรัฐเพ่งเล็งเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน

สำหรับในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินกลับเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) แทบทุกสินทรัพย์ปรับตัวขึ้น จากความหวังว่าจะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ปิดบวก 0.4% ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.1% ไปจนถึงราคาน้ำมันดิบ WTI ก็กลับขึ้นมาที่ระดับ 48.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมกับราคาทองคำที่ฟื้นตัวขึ้น 0.6% ไปที่ระดับ 1883 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนในตลาดเงิน เป็นดัชนีดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง 0.1% โดยมีเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) แข็งค่าขึ้น 0.3% จากที่สหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) สามารถหาข้อตกลงเรื่อง Brexit กันได้ หนุนให้บอนด์ยีลด์เยอรมันและอังกฤษอายุสิบปีต่างปรับตัวขึ้นราว 3-5bps อย่างไรก็ดีบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี กลับปรับตัวลง 2bps มาที่ 0.92% ชี้ว่านักลงทุนยังมีความระวังตัวสูง

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เปิดหีบปี 63/64 อ้อยสดเข้า 83.54% จากปริมาณ 4.99 ล้านตัน

“โรงงานน้ำตาล” เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบปี 63/64 มีอ้อยสดเข้าหีบ 83.54% ของปริมาณอ้อยในช่วง 13 วันแรกได้4.99 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริษัท 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงแรกการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงระยะเวลา 13 วัน หลังเริ่มทยอยรับผลผลิตมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีปริมาณอ้อยสด 4.17 ล้านตัน หรือคิดเป็น 83.54% จากปริมาณผลผลิตเข้าหีบ 4.99 ล้านตัน

และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0.82 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 2.8 ล้านตัน หรือ 40.91% ซึ่งเป็นปริมาณอ้อยที่ลดลง สะท้อนถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบของชาวไร่ ยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในฤดูการผลิตปีนี้ปรับตัวมาอยู่ที่ 77.98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.51 ซี.ซี.เอส. ซึ่งชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ยดังกล่าว อยู่ที่ 1,003.35 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือได้รับเงินเพิ่มจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น 55.20 บาท ต่อ 1 ซี.ซี.เอส.

ส่วนปริมาณอ้อยในปีนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 70 ล้านตันนั้น ทางโรงงานประเมินว่าด้วยกำลังการผลิตต่อวันของโรงงานที่เพียงพอจะทำให้สามารถบริหารจัดการการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้ดีที่สุดได้ โดยยังคงมุ่งหวังจะรักษาเป้าหมายไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกิน 20% ตามนโยบายของภาครัฐกำหนดไว้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พลิกโฉมภาคเกษตรไทยไร้ฝุ่น มิตรผลชี้ "เกษตรสมัยใหม่" คือคำตอบ

เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว คนไทยเราเริ่มที่จะสังเกตเห็นว่าสภาวะอากาศรอบตัวนั้นเปลี่ยนแปลงไป บางวันอากาศก็ดูมืดสลัวคล้ายกับเมืองในหมอก พร้อมๆ กับรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงเกิดการตื่นตัว เฝ้าระวัง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ได้กำหนดนโยบายและมาตรการการดำเนินงานเพื่อป้องกัน ควบคุมปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 นั้น หากเป็นในเมืองใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการจราจร, การก่อสร้าง ขณะที่ในต่างจังหวัด ปัญหาฝุ่นละอองมักเกิดจากการเผาในที่โล่งแจ้งหรือการเผาในภาคเกษตรกรรม และเมื่อประกอบกับช่วงเวลาที่สภาพอากาศปิด ลมสงบ ไม่ถ่ายเท ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง โดยที่ผ่านมา ภาคการเกษตรมักจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาพืชผลทางเกษตรหรือเศษชีวมวลต่างๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เช่น เผาฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือเผาอ้อย

ในเรื่องนี้ นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มมิตรผล ได้ให้มุมมองไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะเผาวัสดุทางการเกษตรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาทิ เช่น เผาฟางข้าว ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 60 ล้านไร่, ซังข้าวโพดซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.53 ล้านไร่ หรืออ้อยซึ่งมีพื้นที่ปลูกในประเทศรวม 11.95 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันเวลา แต่การเผาก็จะทำให้สูญเสียคุณภาพผลผลิต รวมถึงส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตที่จำเป็นของพืช อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนมีความพยายามที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โดยผมมองเห็นว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาในภาคเกษตรอย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทยนั้นประกอบด้วย 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

1.เปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการปลูก บำรุง เก็บเกี่ยว ที่จะต้องนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดกลางและเล็ก เข้ามาใช้แทนแรงงานคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสำหรับการทำไร่อ้อยแล้ว กลุ่มมิตรผลได้ส่งเสริมแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามหลัก “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ให้แก่ชาวไร่อ้อยมา 5-6 ปี ซึ่งทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ของกลุ่มมิตรผลน้อยลง ตัวอย่างเช่น โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีอ้อยสดเข้าหีบสูงถึง 99%

2.ส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักว่าการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ดูแลสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ของคุณภาพของผลผลิตและรายได้ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสมดุลในระบบนิเวศน์ ลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับเกษตรกร เช่น รถตัดอ้อย รถสางใบอ้อย รถอัดใบอ้อย เครื่องคลุกใบอ้อยเพื่อใช้เป็นวัตถุอินทรีย์ในดิน เป็นต้น

3.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ที่นอกจากจะใช้คลุมดินช่วยป้องกันวัชพืช รักษาความชื้น เป็นอินทรีย์วัตถุให้กับดินแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล พลังงานสะอาด ลดการใช้น้ำมันฟอสซิลซึ่งเมื่อเกษตรกรเห็นว่าวัสดุชีวมวลเหล่านี้มีคุณค่า สามารถสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพก็จะเลิกเผา

4.บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงาน หน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งหากมีการบูรณาการแผนการดำเนินงานกันอย่างเข้มแข็ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงเข้มงวดกวดขันเรื่องการเผาอ้อย ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่นในปีนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้งดเผาและตัดอ้อยสดให้มากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีนโยบายให้ตัดอ้อยสดเข้าหีบไม่น้อยกว่า 80% ในฤดูการผลิตปีนี้ ซึ่งกลุ่มมิตรผลคาดว่าในฤดูหีบนี้ จะสามารถตัดอ้อยสดได้ตามเป้าหมายของภาครัฐถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร รวมถึงสถานการณ์โควิด-19

“ผมมองเห็นว่าเกษตรสมัยใหม่คือจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ ทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณผลผลิต เราจึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติที่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Smart Farmer เป็นเกษตรยุคใหม่ที่ใช้หลักการบริหาร เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่ปรับตัวในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่มีผลจากปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเกษตรระดับโลกที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้”นายบรรเทิง กล่าว

สำหรับฤดูการผลิตประจำปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอำนาจเจริญ ได้เปิดโครงการรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่ ตันละ 1,000 บาท (ราคาหน้าโรงงาน) อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563–15 มีนาคม 2564 โดยในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่จำนวน 380,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 380 ล้านบาท นับเป็นการส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ท้องถิ่นมีอาชีพ เกิดการจ้างงานในชุมชน เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหมุนเวียน ช่วยลดภาระเศรษฐกิจที่ภาครัฐต้องสนับสนุน ทั้งยังได้ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ชาวไร่แห่ส่งอ้อยสดทะลุ83%

เห็นผล 13 วันแรกชาวไร่แห่ส่งอ้อยสดเข้าโรงงานทะลุ 83% อ้อยไฟไหม้ลดฮวบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริษัท 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าหลังจากเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 63/64 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ระยะเวลา 13 วันว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีปริมาณอ้อยสด 4.17 ล้านตัน หรือคิดเป็น 83.54% จากปริมาณผลผลิตเข้าหีบ 4.99 ล้านตัน และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 820,000 แสนตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 2.8 ล้านตัน หรือ 40.91% ซึ่งเป็นปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่ลดลง ชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบของชาวไร่ ยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในฤดูการผลิตปีนี้ปรับตัวมาอยู่ที่ 77.98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.51 ซี.ซี.เอส. ซึ่งชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ยดังกล่าว อยู่ที่ 1,003.35 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือได้รับเงินเพิ่มจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น 55.20 บาท ต่อ 1 ซี.ซี.เอส.

ส่วนปริมาณอ้อยในปีนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 70 ล้านตันนั้น ทางโรงงานประเมินว่าด้วยกำลังการผลิตต่อวันของโรงงานที่เพียงพอจะทำให้สามารถบริหารจัดการการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้ดีที่สุดได้ โดยยังคงมุ่งหวังจะรักษาเป้าหมายไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกิน 20% ตามนโยบายของภาครัฐกำหนดไว้

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.กอน.ได้หารือช่วยเหลือเรื่องค่าแรงงานที่จะสูงขึ้นจากการตัดอ้อยสด ดังนั้นจึงกำลังพิจารณาดำเนินโครงการช่วยเหลือเพิ่มค่าแรงงานประมาณ 120-130  บาทต่อตัน ซึ่งจะต่างจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่เป็นโครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะสรุปนำเสนอระดับนโยบายเพื่อเสนอครม.อนุมัติขอวงเงินสนับสนุนต่อไปส่วนวงเงินจะเป็นหมื่นล้านบาทหรือไม่คงต้องอยู่ระดับนโยบายจะพิจารณา

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

โรงงานน้ำตาลออกสตาร์ทเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบปี 2563/64 เผย 13 วันแรกคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ดี

โรงงานน้ำตาล ออกสตาร์ทเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบช่วง 13 วันแรก ชี้คุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังชาวไร่ส่งอ้อยสดเข้าหีบในช่วงแรกสูงถึง 83.54% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด 4.99 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ สะท้อนความตั้งใจของทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มุ่งลดผลปัญหาอ้อยไฟไหม้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริษัท 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า แนวโน้มในช่วงแรกการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ระยะเวลา 13 วัน หลังเริ่มทยอยรับผลผลิตมาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า คุณภาพอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีปริมาณอ้อยสด 4.17 ล้านตัน หรือคิดเป็น 83.54% จากปริมาณผลผลิตเข้าหีบ 4.99 ล้านตัน และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียง 0.82 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่ไฟไหม้เข้าหีบสูงถึง 2.8 ล้านตัน หรือ 40.91% ซึ่งเป็นปริมาณอ้อยที่ลดลง สะท้อนถึงความร่วมมือของทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องการร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้การจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบของชาวไร่ ยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ในฤดูการผลิตปีนี้ปรับตัวมาอยู่ที่ 77.98 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานของอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.51 ซี.ซี.เอส. ซึ่งชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อย ณ ค่าความหวานเฉลี่ยดังกล่าว อยู่ที่ 1,003.35 บาทต่อตันอ้อย จากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. หรือได้รับเงินเพิ่มจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น 55.20 บาท ต่อ 1 ซี.ซี.เอส.

ส่วนปริมาณอ้อยในปีนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 70 ล้านตันนั้น ทางโรงงานประเมินว่าด้วยกำลังการผลิตต่อวันของโรงงานที่เพียงพอจะทำให้สามารถบริหารจัดการการจัดเก็บผลผลิตอ้อยให้ดีที่สุดได้ โดยยังคงมุ่งหวังจะรักษาเป้าหมายไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเกิน 20% ตามนโยบายของภาครัฐกำหนดไว้

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“BLCP”ผนึก “วว.” นำชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

“BLCP”ผนึก “วว.” นำชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง

นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด หรือ BLCP เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อวิจัยและพัฒนาชีวมวลร่วมกับถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า สร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ผลิตเป็นเมทานอล  สนับสนุนการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ บีแอลซีพี มีแนวคิดในการส่งเสริมวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  อีกทั้งมุ่งเน้นการตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ  มีนโยบายในการทำให้วัสดุเหลือใช้หรือขยะจากกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เริ่มโครงการความร่วมมือกับ วว. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาในการค้นคว้าและพัฒนา พบว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน CO2 มารวมกับ H2 ที่ได้มาจากกระบวนการเช่นกัน สามารถพัฒนาเป็นเมทานอลที่เป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และอุตสาหกรรม ซึ่งจุดประกายให้เกิดแนวคิดในการร่วมมือค้นคว้าพัฒนาเชิงนวัตกรรมร่วมกับ วว. ในอีก 5 โครงการ

“บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพและความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารและนักวิจัยของ วว. จะก่อให้เกิดงานวิจัยที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้สร้างสังคมที่มีความสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป  โดยเป้าหมายหลักของ BLCP คือ การมุ่งไปที่ BCG Model อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลายภาคส่วนที่ร่วมงานกับบริษัทฯ นั้น ก็ได้รับการเผยแพร่โครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง”

นางชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง วว. และบีแอลซีพี (BLCP Power Limited) เป็นเฟสที่ 3 แล้ว เป็นการต่อยอดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ที่มีทีมนักวิจัยที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะนำศักยภาพมาร่วมกันดำเนินงาน โดยมุ่งใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือทิ้ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือทิ้งจากโรงงานผลิตไฟฟ้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือ 5 โครงการ ได้แก่

1.การเพิ่มมูลค่าคาร์บอนไดออกไซด์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือกเพื่อผลิตเมทานอล 200 ลิตรต่อวัน (เฟส 3)  ,2.ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อการผลิตชีวมวลและผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง ,3.การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและประเมินความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน  ,4.การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale และ5.การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง วว. และบีแอลพีซี ทั้ง 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเพิ่มมูลค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากก๊าซปล่อยทิ้งของโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับแหล่งก๊าซไฮโดรเจนทางเลือก เพื่อผลิตเมทานอลระดับ 100 ลิตรต่อวัน (เฟส 3) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในระดับ 55 ตันต่อปี และได้มาซึ่งผลผลิตเมทานอลในระดับ 57 ตันต่อปี อีกทั้งยังเกิดผลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการต่อยอดในระดับ Pilot Plant นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกสู่สิ่งแวดล้อมและมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเห็นได้จริง (Carbon capture Utilization and Storage)

,2.ระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์  เพื่อการผลิตชีวมวล  และผลิตภัณฑ์ร่วมมูลค่าสูง มีวัตถุประสงค์ที่จะคัดเลือกและประเมินศักยภาพสายพันธุ์สาหร่ายที่มีศักยภาพต่อการตรึงคาร์บอนไดออกไซต์ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม มาใช้พัฒนาวิธีการเลี้ยงสาหร่ายโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักและเสริม

,3.การศึกษาการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวมวลและปริมาณความคุ้มค่าของการใช้งานร่วมกับถ่านหิน ทั้งนี้บริษัทมีความต้องการปรับปรุงการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าให้มีความสอดคล้องกับความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น และสนับสนุนการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะต่างๆ จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน คือ ไม้ยางพาราและชานอ้อย ในการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ Co-firing

,4.การพัฒนาและถ่ายทอดการผลิตเจลจากสารสกัดเถ้าถ่านหินในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิตเจลไม่น้อยกว่า 800 กิโลกรัมต่อวัน จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้งและอบรมถ่ายทอดกระบวนการผลิต

และ5.การผลิตสารดูดซับจากสารสกัดเถ้าถ่านหิน ในระดับ pilot scale โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับกระบวนการสกัดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในการขยายการผลิตเจลที่มีการผลิตแบบกึ่งต่อเนื่อง ขนาดกำลังการผลิต 300 กรัมของเถ้าต่อชั่วโมง จากเถ้าถ่านหินเหลือทิ้ง และศึกษาการนำกากเหลือทิ้งจากกระบวนการสกัดกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเหลือทิ้งอย่างเต็มวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

มิตรผล เทงบ 380 ล้าน ซื้อใบอ้อย-ฟางข้าว ตันละ 1,000 บาท 3.8 แสนตัน

มิตรผลพลิกโฉมภาคเกษตรไทยให้ไร้ฝุ่นชู ‘เกษตรสมัยใหม่’ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มอ้อย พร้อมเทงบ 380 ล้าน เปิดรับซื้อใบอ้อย-ฟางข้าว ตันละ 1,000 บาท 3.8 แสนตัน หวังจูงใจชาวไร่ลด PM 2.5

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ภาคการเกษตรมักจะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาพืชผลทางเกษตรหรือเศษชีวมวลต่าง ๆ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เช่น เผาฟางข้าว ซังข้าวโพด หรือเผาอ้อย ซึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาในภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

โดยในฤดูการผลิตประจำปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย และอำนาจเจริญ ได้เปิดโครงการรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่ ตันละ 1,000 บาท (ราคาหน้าโรงงาน) ต่อเนื่องจากปีก่อน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 15 มีนาคม 2564

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ

โดยมีเป้าหมายที่จะรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวจากชาวไร่จำนวน 380,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 380 ล้านบาท นับเป็นการส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ท้องถิ่นมีอาชีพ เกิดการจ้างงานในชุมชน เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหมุนเวียน ช่วยลดภาระเศรษฐกิจที่ภาครัฐต้องสนับสนุน ทั้งยังได้ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 “ปีนี้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันรณรงค์ให้งดเผาและตัดอ้อยสดให้มากขึ้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีนโยบายให้ตัดอ้อยสดเข้าหีบไม่น้อยกว่า 80% กลุ่มมิตรผลคาดว่าในฤดูหีบนี้ จะสามารถตัดอ้อยสดได้ตามเป้าหมายของภาครัฐ”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะเผาวัสดุทางการเกษตรในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาทิ เช่น เผาฟางข้าว ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 60 ล้านไร่, ซังข้าวโพดซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.53 ล้านไร่ หรืออ้อยซึ่งมีพื้นที่ปลูกในประเทศรวม 11.95 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันเวลา แต่การเผาก็จะทำให้สูญเสียคุณภาพผลผลิต และกระทบความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งหลายภาคส่วนพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้

ซึ่งต้องมีแนวทางแก้ไข ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการปลูก บำรุง เก็บเกี่ยว ที่จะต้องนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดกลางและเล็ก เข้ามาใช้แทนแรงงานคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นแนวทางหนึ่ง

“ทางกลุ่มมิตรผลได้ส่งเสริมแนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ตามหลัก “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ให้แก่ชาวไร่อ้อยมา 5-6 ปี ซึ่งทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ของกลุ่มมิตรผลน้อยลง ตัวอย่างเช่น โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ มีอ้อยสดเข้าหีบสูงถึง 99%”

อีกทั้งยังส่งเสริมให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักว่าการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ดูแลสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้ชาวไร่ได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในแง่ของคุณภาพของผลผลิตและรายได้ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสมดุลในระบบนิเวศน์ ลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตร

ทำให้เกษตรกรไทยสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงถ่ายทอดความรู้ และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตรให้เกษตรกร เช่น รถตัดอ้อย รถสางใบอ้อย รถอัดใบอ้อย เครื่องคลุกใบอ้อยเพื่อใช้เป็นวัตถุอินทรีย์ในดิน เป็นต้น

นายบันเทิง กล่าวว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ฟางข้าว ที่นอกจากจะใช้คลุมดินช่วยป้องกันวัชพืช รักษาความชื้น เป็นอินทรีย์วัตถุให้กับดินแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมเพื่อผลิตไฟฟ้าชีวมวล พลังงานสะอาด ลดการใช้น้ำมันฟอสซิลซึ่งเมื่อเกษตรกรเห็นว่าวัสดุชีวมวลเหล่านี้มีคุณค่า สามารถสร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพก็จะเลิกเผา

อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงาน หน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งหากมีการบูรณาการแผนการดำเนินงานกันอย่างเข้มแข็ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงเข้มงวดกวดขันเรื่องการเผาอ้อย ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ผมมองเห็นว่าเกษตรสมัยใหม่คือจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ ทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณผลผลิต เราจึงต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีทัศนคติที่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Smart Farmer เป็นเกษตรยุคใหม่ที่ใช้หลักการบริหาร เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้

รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับตัวในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฝุ่นที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่มีผลจากปัญหาโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมเกษตรระดับโลกที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ชาวไร่อ้อยรอลุ้น! ก.อุตฯจ่อของบช่วยจ่ายค่าแรงงานหนุนตัดอ้อยสด

 “กอน.”เด้งรับนโยบาย”สุริยะ” ช่วยเหลือชาวไร่ให้ได้ราคาอ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเล็งชงโครงการช่วยเหลือเพิ่มค่าแรงงานเพื่อหนุนการตัดอ้อยสด 80% ลดฝุ่น PM 2.5 อีกตันละ 120-130 บาท หลัง”กอน.”เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64แล้วที่ 920 บาทต่อตัน ด้านชาวไร่รอลุ้นหวังรัฐอัดงบหมื่นล้านหนุน

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เมื่อ 18 ธันวาคมได้เห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่ระดับ 920 บาทต่อตัน(10ซีซีเอส) โดยอยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป อย่างไรก็ตามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบนโยบายที่จะให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยได้รับราคาอ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเนื่องจากในฤดูหีบปีนี้มุ่งเน้นการตัดอ้อยสด 80% เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 20% ในการดูแลปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5ไมครอน(PM2.5) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการตัดอ้อยเพิ่มขึ้น

“ เบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังโรงงานทั้งหมดในการทดลองจ่ายค่าอ้อยดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันกอน.ได้หารือที่จะช่วยเหลือในเรื่องของค่าแรงงานที่จะสูงขึ้นจากการตัดอ้อยสด ดังนั้นจึงกำลังพิจารณาดำเนินโครงการช่วยเหลือเพิ่มค่าแรงงานประมาณ 120-130 บาทต่อตัน ซึ่งจะต่างจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่เป็นโครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยจะสรุปนำเสนอระดับนโยบายเพื่อเสนอครม.อนุมัติขอวงเงินสนับสนุนต่อไปส่วนวงเงินจะเป็นหมื่นล้านบาทหรือไม่คงต้องอยู่ระดับนโยบายจะพิจารณา”นายเอกภัทรกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า  เมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาหลังการประชาพิจารณ์ราคาอ้อยได้ทำหนังสือเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยเช่นปีที่ผ่านมาวงเงิน 10,000 ล้านบาทเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับชาวไร่อ้อยที่ราคาอ้อยไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตไปยังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมโดยผ่านทาง นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์  โดยชาวไร่ได้เสนอให้จัดหางบประมาณสนับสนุนวงเงิน 10,000 ล้านบาทเช่นปีที่ผ่านมาเนื่องจากการตัดอ้อยสดต้องยอมรับว่ามีต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาในช่วงโควิด-19ยากลำบากทำให้ต้องใช้รถตัดอ้อยและแรงงานไทยเป็นส่วนใหญ่ซึ่งทำให้ต้นทุนสูง

จาก https://mgronline.com วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“ธนาคารโลก” แนะเพิ่มผลิตภาพภาคการผลิตยกไทยสู่ประเทศรายได้สูง

“ธนาคารโลก” ชี้การเพิ่มผลิตภาพในภาคการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง

รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารโลกได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับกรมนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้ชื่อ “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย (Thailand Manufacturing Firm Productivity)”

              นายเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า หากประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในปี 2580 และฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิตในกลุ่มองค์กรในภาคการผลิต

ทั้งนี้ จะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้มากกว่า 5% ไปจนถึงปี 2568 และเพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้านี้ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเกือบสองเท่าของการลงทุนในปัจจุบันให้ถึง 40% ในขณะที่ยังคงรักษาอัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) ซึ่งคล้ายกับกรณีของประเทศเกาหลีใต้ที่ต้องรักษาการเติบโตในอัตรานี้ในช่วงที่มีค่า "จีดีพี" (GDP) ต่อหัวเท่ากับของประเทศไทยในปัจจุบัน

              “ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพในประเทศใดก็ตาม ต้องเน้นที่การเพิ่มผลผลิตต่อคน หรือการผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากขึ้นตามจำนวนชั่วโมงการทำงานที่กำหนดให้ได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปโครงสร้างผ่านการส่งเสริมการย้ายแรงงานจากภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ เช่น ภาคเกษตรกรรม ไปยังภาคธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง เช่น ภาคการผลิต นอกจากนี้ การเพิ่มผลิตภาพขององค์กรที่อยู่ในภาคการผลิตจะช่วยสร้างงานและทำให้ประเทศเติบโตแบบมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะในระยะฟื้นตัวหลังโควิด-19”

เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคารโลก กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลิตภาพการผลิตของประเทศไทยเติบโตในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะถดถอย การเติบโตของเศรษฐกิจจากระดับเฉลี่ย 4.8%  ในปี 2535 – 2551 ลดลงเป็น 3.3% ในปี 2551-2561  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้ปัญหาด้านผลิตภาพการผลิตของประเทศทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจจะหดตัวลงประมาณ 6-7% ซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบในระยะที่ยาวนานขึ้น รวมถึงผลิตภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

              หลังจากวิกฤตการเงินโลก (ปี 2552-2561) ผลิตภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 2% ในปี 2541-2551 เหลือ 1% ผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากมูลค่าเพิ่มต่อคน เติบโตในอัตราเฉลี่ยเพียง 0.5% ในปี 2551-2561 เทียบกับกว่า 3% ในปี 2541-2551

            “การเพิ่มผลิตภาพจะเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาวของประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ ผลิตภาพ ที่จะต้องมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น  เปิดกว้างต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)มากขึ้น และส่งเสริมระบบนิเวศน์ให้กับองค์กรในการสรรค์สร้างนวัตกรรม”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กัมพูชามีเฮ! สระแก้วเตรียมนำแรงงานถูก กม.12,000 คน เข้าตัดอ้อยภายใต้มาตรการเข้มป้องกันโควิด-19

สระแก้ว - กัมพูชามีเฮ! สระแก้ว เตรียมนำแรงงานถูกกฎหมายเข้าทำงานในไร่อ้อย 400,000 ไร่ กว่า 12,000 คน เพื่อให้ทันฤดูกาลเปิดหีบ 4 ม.ค.นี้ ภายใต้มาตรการเข้มป้องกันโควิด-19 แต่ยังติดปัญหาค่าใช้จ่ายนายจ้างนำกักตัว 14 วันยังสูงเกินไป

วันนี้ (23 ธ.ค.) นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหาแนวทางดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ขอนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชา เพื่อช่วยตัดอ้อยตามฤดูกาลเป็นเวลา 90 วัน ลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร

โดยพบว่าขณะนี้มีแรงงานชาวกัมพูชาที่ขึ้นทะเบียนยืนยันนายจ้างถูกต้องแล้วประมาณ 5,000 คน แต่ความต้องการใช้แรงงานในพื้นที่จริงกลับมีมากกว่า 12,000 คน จากพื้นที่ไร่อ้อยที่มีมากกว่า 400,000 ไร่ และต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีประมาณ 3 ล้านตันให้ทัน

ขณะที่ นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อย ยอมรับว่า ภาคการเกษตรใน จ.สระแก้ว มีควาทต้องการใช้แรงงานชาวกัมพูชามากถึง 12,000 คน ซึ่งที่ผ่านมา ศบค.สระแก้ว และผู้ประกอบการชาวไร่อ้อย ได้เสนอแนวทางไปยัง ศบค.ส่วนกลางถึงความจำเป็นในใช้แรงงานเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลผลิตส่งโรงงานน้ำตาลที่จะเปิดหีบอ้อยในวันที่ 4 ม.ค.นี้

โดยกระบวนการก่อนนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาในพื้นที่ชายแดนสระแก้ว จะต้องมีการคัดกรองโรค รวมทั้งมีเอกสารยืนยันจากสำนักงานจัดหางานประเทศกัมพูชา ซึ่งเมื่อแรงงานข้ามแดนมาแล้วผู้ประกอบการจะต้องนำยานพาหนะรับแรงงานเข้าไปยังพื้นที่ตัดอ้อยในทันที รวมทั้งจัดพื้นที่กักกันตัวแบบกลุ่ม โดยกำหนดที่พักอาศัยสำหรับผู้เข้าพัก 10 คนต่อจำนวนห้องน้ำ 1 ห้อง

จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวทุกวันทั้งเช้า-เย็นจนครบ 14 วัน ก่อนจะอนุญาตให้ย้ายพื้นที่ไปรับจ้างตัดอ้อยยังแปลงอื่นๆ ได้ แต่หากพบการติดเชื้อโควิด-19 ในแรงงานกลุ่มใดจะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการผลักดันกลับประเทศกัมพูชาในทันที

“แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังขอพูดคุยกับภาครัฐคือ ค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคแรงงานที่ขณะนี้เฉลี่ยหัวละ 6,700 บาท ที่แม้ล่าสุดกรมควบคุมโรคจะลดค่าใช้จ่ายให้หัวละ 2,400 บาท แต่ผู้ประกอบการยังถือว่าราคาสูงเกินไป” นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าว

โดย นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เผยว่า ขณะนี้ ศบค.สระแก้ว อยู่ระหว่างหาข้อยุติในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับนำแรงงานกัมพูชาเข้ามากักตัวเป็นเวลา 14 วันในประเทศไทย ก่อนส่งตัวให้เข้าไปรับจ้างตัดอ้อยในไร่ต่างๆ เพื่อให้ทันฤดูกาลเปิดหีบอ้อย ซึ่งผู้ประกอบการต้องให้ภาครัฐลดราคาในการตรวจโรคแรงงานโดยอ้างว่าราคายังสูงเกินไป

"ทางจังหวัดพยายามหาทางช่วยเหลือภายใต้มาตรการควบคุมแรงงานชาวกัมพูชาที่ยังต้องเข้มงวด ซึ่ง ศบค.สระแก้ว จะเปิดรับแรงงานชาวกัมพูชาวันละ 300 คน และจะแบ่งให้ข้ามแดนเข้ามาทางจุดผ่านแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ วันละ 200 คน จุดผ่านแดนบ้านเขาดิน อ.คลองหาด วันละ 100 คน จนกว่าจะครบ 12,000 คนตามที่ตกลง" ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ค่า​เงิน​บาท​ อ่อน​ค่า​ลง​ที่​ 30.12 บาท วิเคราะห์​แนวโน้ม​วันนี้​ (22 ธ.ค.)​

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (22 ธ.ค.)​ ที่ 30.12 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.06 บาท/ดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) เปิด​เผ​ยว่า​ เงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (22 ธ.ค.)​ ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.06 บาทต่อดอลลาร์ โดย​ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวันที่​ 30.05-30.25 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวลง 0.4% โดยมีดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวลงมากที่สุด 2.3% จากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ประเด็นดังกล่าวกดดันให้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง 2.7% ขณะที่ดัชนีวัดความกลัว (VIX Index) ปรับตัวขึ้นแต่ระดับ 25 จุด สูงที่สุดในรอบเดือน

ฝั่งตลาดเงินประเด็นที่เด่นที่สุดคือเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.9% จากข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัส และโดยเฉลี่ยดอลลาร์ฟื้นตัว 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่อัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลดลงเพียง 1bps มาที่ระดับ 0.94% ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลมาก เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง และความหวังว่าทางการสหรัฐจะผ่านมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในสัปดาห์นี้

“ด้านเงินบาท ระยะสั้นอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากการปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี เราไม่พบแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติมากนัก และส่วนใหญ่เป็นการซื้อปิดสถานะขาย (short) ที่มีอยู่ในสัปดาห์ก่อน เชื่อว่าประเด็นนี้จะยังกดดันตลาดไปอีกสักระยะ แต่จะไม่ทำให้เงินบาทกลับทิศไปอ่อนค่า และผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอขายอยู่เหนือระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์” ดร.จิ​ติ​พล​กล่าว​

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 ธันวาคม 2563

'เอฟเอโอ' จับมือไทยสร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตร

เอฟเอโอ จับมือ ไทยประยุกต์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ สร้างภูมิคุ้มกันภาคเกษตร หวั่น ภัยธรรมชาติกระทบความมั่นคงอาหาร

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในโลก อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ หรือ FAO จึงร่วมกับรัฐบาลไทยโดยกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานเรื่องการให้บริการด้านภูมิอากาศ “Strengthening inter-agency collaborative climate services for resilient agri-food systems in Thailand” เพื่อให้ไทยการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศกับภาคเกษตรและความมั่นคงอาหาร

รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันต่อระบบเกษตรและความมั่นคงอาหารของไทย ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านภูมิอากาศจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน การจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้านการเกษตร การพยากรณ์ทางการเกษตร การจัดระบบโซนนิ่งและแบบจำลองทางเกษตรหรือ Modeling System for Agricultural Impacts of Climate Change (MOSAICC) การให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศทางด้านการเกษตร หรือ อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร

รวมทั้ง การพยากรณ์อากาศเพื่อพืชและสัตว์เศรษฐกิจและสถานการณ์ภัยแล้ง การใช้ดาวเทียมในการติดตามภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงสาเหตุหลักของภัยพิบัติด้านการเกษตรของประเทศไทย เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง และการนำเสนอแนวทางการวางแผนและบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ สศก.ได้นำเสนอการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับมือจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการเตรียมความพร้อม การรับมือและการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ การจัดเตรียมเสบียงสัตว์และอพยพสัตว์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับการผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช สัตว์ ประมง ซึ่ง สศก. ที่จัดทำ Big Data พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC ได้บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ พยากรณ์ สนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการพยากรณ์และเตือนภัยด้านการเกษตร

โดยนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร และความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ในอดีต เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพยากรณ์และเตือนภัยทางการเกษตร เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารได้เป็นอย่างดี

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ทุ่ม3.2พันล้านพัฒนาเกษตรกร นำร่องที่"อีอีซี"

นายกฯทุ่ม 3.2 พันล้าน เดินหน้าแผนพัฒนาการเกษตรพื้นที่ อีอีซี ปั้นเป็นต้นแบบ เพิ่มจีดีพีท้องถิ่น เริ่มปีหน้า 56 โครงการ ใน 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา (18 ธ.ค) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการติดตามความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การพัฒนาในพื้นที่ตรงนี้ เป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ การดำเนินการยึดกรอบแนวคิดการตลาดนำการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีการเกษตร แก้ปัญหารากเหง้าของภาคเกษตรกรรม การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับคุณภาพดินและปริมาณน้ำ ประกอบด้วย 5 กลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ

1. ผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง 2. ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิต 3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ 4. เพิ่มมูลค่าพืชสมุนไพร และ 5. ปรับเปลี่ยนผลผลิตสินค้าเกษตรราคาต่ำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ปศุสัตว์ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว ดอกไม้ ทดแทนกันนำเข้า และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมโครงการตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตรในอีอีซี ให้พร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการตามเป้าหมาย ซึ่งในแผนฯระยะ 5 ปี (2565-2570) ประกอบด้วย โครงการทั้งหมด 91 โครงการ วงเงินรวม 3.2 พันล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มดำเนินการ 56 โครงการ อาทิ โครงการแผนที่การเกษตร (Agri-Map)โครงการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร โครงการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก โครงการต้นแบบการสร้างนวัตกรรมเกษตร อัจฉริยะ : มะม่วง ข้าวสมุนไพร และสัตว์น้ำ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์และการตลาดอาหารทะเลเขตอีอีซี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกฯ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรในพื้นที่อีอีซี อย่างเป็นรูปธรรม โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งเป้าดำเนินการในปีงบประมาณหน้า จะแก้ปัญหาสำคัญของภาคการเกษตร คือการผลิตโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาด การผลิตที่ใช้ทรัพยากรมาก แต่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และการแปรรูปที่ไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก อีกทั้งผลลัพธ์ของโครงการเหล่านั้นจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตมวลรวมภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี เป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรถึง 5.51 ล้านไร่ หรือร้อยละ 66 ของพื้นที่ทั้งหมดใน อีอีซี

จาก https://mgronline.com วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"สัมฤทธิ์" ขอบคุณเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย-ลดการเผาป้องฝุ่น PM.2.5

"สัมฤทธิ์" ขอเป็นตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ขอบคุณ "สุริยะ" อนุมัติวงเงินช่วยเหลือ 6,500 ล้าน แถมขอ ครม.ช่วยราคาอ้อยสดอีก 3,500 ล้านช่วยลดการเผาป้องกันฝุ่น PM2.5

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.63 นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตนขอขอบคุณแทนพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยและคนไทย ขอขอบคุณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ในปีที่ผ่านมา ท่านได้ขออนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดียวกับปีก่อนหน้านี้ แต่ท่านยังได้ขออนุมันติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 3,500 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน เป็นการบูรณะการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 อีกด้วย เพราะในแต่ละปี ซึ่งเป็นเวลาหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะตัดอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาการตัดอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานถูกหักราคาตันละ 30 บาทเท่านั้น ขณะที่ค่าแรงงานตัดอ้อยระหว่างอ้อยไฟไหม้กับอ้อยสด มีค่าแรงงานต่างกันตันละประมาณ 100 บาท นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรบางราย มักจะจุดไฟเผาไร่อ้อยเพื่อลดการจ้างแรงงานตัดอ้อยสด ซึ่งตนขอฝากประเด็นนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ากลับขึ้นทดสอบระดับ 30.00 บาท/ดอลลาร์จากการระบาดของโควิดในประเทศรอบใหม่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.92 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 29.82 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)ระบุว่าในสัปดาห์นี้ตลาดปกคลุมด้วยการระบาดของไวรัส และกระแสการล็อกดาวน์ทั่วโลกที่กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ความกังวลดังกล่าวไม่ได้กดดันให้ดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index ปรับตัวขึ้นจากระดับ 21.57 ซึ่งคาดว่าเกิดจากความหวังที่ยาต้านไวรัสใกล้ประสบความสำเร็จ

ส่วนระหว่างสัปดาห์ แนะนำจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันพุธ คาดว่ากนง.จะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ตามที่ตลาดคาดไว้ และครั้งนี้อาจมีมุมมองระมัดระวังกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าหลังเกิดการระบาดครั้งล่าสุด คาดว่าธปท.จะเน้นไปที่การประสานงานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย หมายความว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย

ส่วนในตลาดเงิน ส่วนใหญ่ซื้อขายภายใต้แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยมีเหตุผลหลักคือนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย ภาพดังกล่าวหนุนให้ราคาบิทคอยน์ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 23,000 ดอลลาร์ ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีก็ขยับขึ้นมาที่ระดับ 0.95% สัปดาห์นี้ แนะนำจับตาไปที่ดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐ (Conf. Board Consumer Confidence) ถ้าลดลงต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 97จุดจากความกังวลเรื่องการระบาดรอบใหม่ อาจเป็นหนุนให้ดอลลาร์ฟื้นตัวได้ในระยะสั้น

 กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 89.5-90.5จุด ระดับปัจจุบัน 90.1จุด

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่ามีโอกาสอ่อนค่ากลับขึ้นทดสอบระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์จากการระบาดของไวรัสในประเทศรอบใหม่เช่นกัน แม้ครั้งนี้มุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่จะดีกว่าครั้งก่อน ๆ เพราะใกล้เริ่มปีใหม่และความหวังเรื่องยาต้านไวรัสก็ใกล้เข้ามา แต่ก็ต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนทั่วโลกซึ่งมีโอกาสพักฐานจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศช่วงสิ้นปีนี้ด้วย

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 29.75-30.25 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เปิดแผนกก.อ้อยและน้ำตาล ส่งเสริมชาวไร่-ชูแก้PM2.5 - รายงานพิเศษ

เปิดแผนกก.อ้อย - เปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2563/64 อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา

นับเป็นปีแห่งการรณรงค์ตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อยเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ที่กำลังวิกฤตในไทย

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ตั้งเป้าหมายฤดูการผลิตปี 2563/64 นี้จะมีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบตลอดระยะเวลาเปิดหีบอ้อยประมาณ 100 วัน ไม่น้อยกว่า 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

ที่ปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณอยู่ที่ 67.04 ล้านตัน น้อยกว่าปี ที่ผ่านมามี 75 ล้านตัน

สำนักงาน กอน. เตรียมมาตรการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน

ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ การสนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมฟรี และในกรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำชับและคาดโทษแก่คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงาน ให้ตรวจสอบอ้อยเข้าหีบว่าเป็นอ้อยสดหรืออ้อยไฟไหม้ โดยใช้เกณฑ์ตัดสินว่าหากมีอ้อยไฟไหม้แม้เพียงลำเดียว ให้ถือว่าเป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งคัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษ พีเอ็ม 2.5

“หากพบว่ามีการทุจริตในการตรวจสอบอ้อยสดและอ้อย ไฟไหม้ จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อป้องกันการร้องเรียนเรื่องอ้อยสดเทียม”

นายเอกภัทรกล่าวว่า คาดแนวโน้มราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2563/64 เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะมีรายได้รวมตันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทแน่นอน

สำหรับนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในปี 2564 ที่จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความมั่นคง มีรายได้ที่เพียงพอไม่เป็นภาระของรัฐบาล

สอน.ได้เตรียมความพร้อมและแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย

1.การนำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อการเพิ่มมูลค่า และการแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ยังไม่สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้

ปรับปรุงประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดชนิดและคุณภาพน้ำตาลทรายที่ให้โรงงานผลิต พ.ศ.2562 ลงวันที่ 25 ต.ค.2562 ให้สามารถต่อยอดนำน้ำเชื่อมความ เข้มข้นต่ำที่ผ่านการต้มระเหย (Evaporation) ที่ค่าความเข้มข้นของแข็งที่ละลาย (%Brix) ไม่น้อยกว่า 20% เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลได้

ในปี 2563 มีโรงงานที่ขออนุญาตจำหน่ายน้ำเชื่อมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล 175,462 ตัน สามารถรองรับการผลิตเอทานอลได้ประมาณ 34.9 ล้านลิตร และในปี 2564 คาดว่าจะมีการใช้น้ำเชื่อมความเข้มข้นต่ำเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลประมาณ 500,000 ตัน คาดว่าจะผลิตเอทานอลได้ประมาณ 100 ล้านลิตร

2. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ, เคมีชีวภาพ และเวชภัณฑ์ชีวภาพ/เครื่องสำอาง และเชื้อเพลิงชีวภาพ และผลักดันให้มีการนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

3.จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพที่ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 จำนวน 70.40 ล้านบาท ก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2565

หากต้องการให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพในระยะยาว จำเป็นต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อยในการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น และนำผลพลอยได้อื่นนอกจากกากน้ำตาลมาเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยต่อไป

นอกจากนี้ สอน.ยังเตรียมความพร้อมและแนวทางในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้แก่ชาวไร่อ้อย โดย 1.การนำใบอ้อยและยอดอ้อยที่เกิดจากนโยบายการตัดอ้อยสดนำส่งให้กับโรงงานเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถจำหน่ายใบอ้อยและยอดอ้อยให้แก่โรงงานได้ในราคาตันละ 800-1,000 บาท

เมื่อหักค่าใช้จ่ายใน 1 ไร่ จะมีใบอ้อยที่ขายได้ประมาณ 1 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบอ้อยเพิ่มขึ้นอีกไร่ละ 500 บาท หากคิดพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกอ้อยได้ 10 ตัน จะทำให้ได้ราคาอ้อยเพิ่มอีกตันละ 50 บาท

สอน. ยังจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ใบอ้อย และยอดอ้อยในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ชีวมวลอื่น เช่น แผ่นกั้นเสียง และอาหารสัตว์ เป็นต้นจะเป็นแนวทางเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกทางหนึ่ง

ปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างจริงจัง เช่น การลงทุนสร้างไบโอคอมเพล็กซ์ที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลจากอ้อย และการส่งเสริมให้นำน้ำตาลชนิดต่างๆ ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น กรดแลกติก พลาสติกชีวภาพ

ปัจจุบันมีผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้แล้วมากกว่า 40,000 ล้านบาท มีการใช้น้ำตาลในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 ตัน และคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นการลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลทราย และส่งผลต่อการกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องอีกทางหนึ่งด้วย

ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตตันต่อไร่ด้วยการแจกจ่ายอ้อยพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรที่ตอบสนองในเรื่องผลผลิต ต่อไร่ และคุณภาพความหวานให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เป็นต้นกล้าอ้อย 1.8 ล้านต้นกล้า และท่อนพันธุ์ไม่น้อยกว่าปีละ 3,000 ตัน

ส่งเสริมชาวไร่อ้อยทำเกษตรแปลงใหญ่ รองรับเครื่องจักรกลการเกษตรและการใช้รถตัดอ้อยในการเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถลดต้นทุนการผลิต ตัดอ้อยได้ทันภายในฤดู เก็บเกี่ยวและลดการเผาอ้อย

การรวมกลุ่มโดยมีเกษตรกรหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยที่มีความพร้อมในเรื่องรถแทรกเตอร์รถตัดอ้อยรถบรรทุกอ้อยช่วยบริหารจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมแปลงการปลูกอ้อยการบำรุงรักษาระหว่างปลูกการเก็บเกี่ยวการตัดอ้อยและบรรทุกเข้าสู่โรงงาน

การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท

มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่นๆ โดยผู้กู้รายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา 7% ต่อปี ผู้กู้จ่ายอัตรา 2% ต่อปี รัฐบาลชดเชย 3% ต่อปี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รับภาระ 2% ต่อปี

ผู้กู้กลุ่มเกษตรกร/สถาบัน คิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี ผู้กู้จ่ายในอัตรา 2% ต่อปี รัฐบาลชดเชย 2% ต่อปี และธ.ก.ส.รับภาระ 1% ต่อปี ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 ให้สินเชื่อกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยไปแล้ว ทั้งสิ้นจำนวน 1,047 ราย เป็นเงิน 2,410.66 ล้านบาท คงเหลือวงเงินให้กู้ในปี 2564 ประมาณ 3,589.34 ล้านบาท จากกรอบวงเงิน 6,000 ล้านบาท

ถือเป็นมิติใหม่ของชาวไร่อ้อยที่จะยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“สุริยะ” ร่วมหอการค้าเยอรมัน-ไทยแก้ PM2.5 ระยะยาว

“สุริยะ” ร่วมหอการค้าเยอรมัน-ไทยแก้ PM2.5 ระยะยาว หนุนกฎหมายอากาศสะอาดแก้มลภาวะระดับลงลึก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย ว่า เยอรมนีมีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circu lar Economy) โดยมีความเห็นว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน  รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง

และอยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน โดยทางหอการค้าเยอรมัน-ไทย ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่กระทรวง เพื่อหาแนวทางดำเนินงานร่วมกันต่อไป ขณะเดียวกันยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ โดยสนับสนุนกฎหมายอากาศสะอาด (clean air act) ต้องมีการพิจารณาแก้ไขลงลึกถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และมีการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้อย่างจริงจัง

              ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกอบอุตสาหกรรมตามกรอบแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) และเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประกอบกับขณะนี้เกิดปัญหามลภาวะทั่วโลก และในประเทศไทยมีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นหากภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยผลักดันจิตสำนึกส่วนนี้จะส่งผลดีในระยะยาว  พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจะได้รับการยอมรับจากทุกตลาดทั่วโลก เป็นผลดีต่อการทำธุรกิจระยะยาวเช่นเดียวกัน

“ประเด็นที่หอการค้าเยอรมนีหารือเป็นสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญอยู่แล้ว  ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีแผนที่จะดำเนินงานในส่วนที่เป็นมาตรการระยะยาวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มีแผนปรับจากมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นการใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 ในอนาคตอันใกล้นี้  พร้อมทั้งการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ "อีวี" (EV) ในอนาคต เป็นต้น โดยยอมรับว่าทุกการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี จะเป็นผลดีต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว ซึ่งเราก็พยายามปรับไปตามความเหมาะสมของกระแสโลก”

นายอันเดร  ริชเตอร์  ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังมีปัญหาฝุ่นละอองซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ จึงเล็งเห็นว่าหากทั้ง 2 หน่วยงานมีความร่วมมือกัน เยอรมนีในฐานะประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ  ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว หากทางกระทรวงฯ ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการของเยอรมนีด้วย ก็จะส่งผลให้การลงทุน และการทำงานราบรื่น ซึ่งน่าจะช่วยกันแก้ปัญหาและมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

“ขณะนี้ทุกตลาดทั่วโลกมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลก แม้ต้นทุนในการปรับเปลี่ยนจะสูง  แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ดังนั้นเราจะต้องเดินหน้าพัฒนาให้ทันกับกระแส โดยเยอรมันนี  มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วและพร้อมให้การสนับสนุนไทยต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เกษตรพลอตจุดเสี่ยงเผาไร่ 5 พันกว่าตำบลทั่วประเทศ-อีสานหนักสุด

กระทรวงเกษตรฯ พลอตจุดเสี่ยงเผาในพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุม 5,487 ตำบลใน 844 อำเภอทั่วประเทศ จับตาอีสานเผาอ้อยหนัก ให้ผู้ว่าฯในพื้นที่รับมือ ส่วนภาคเหนือมีเผาไร่-เผาป่า เชียงใหม่ตั้งเป้าลดจุดความร้อนลงให้ได้ร้อยละ 25 ยอมรับปีนี้เลิกประกาศ “ห้ามเผาเด็ดขาด” เพราะไม่ได้ผล ยิ่งห้ามยิ่งเผากันหนัก

ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล กิจกรรมการขนส่ง และการเผาในที่โล่ง ล่าสุด กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งรายงานพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาในพื้นที่เกษตรปี 2564 เสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรากฏมีพื้นที่เสี่ยงสูงใน 844 อำเภอหรือ 5,487 ตำบลทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมีพื้นที่เสี่ยงต่อการเผามากที่สุด

ยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงราย 117 ตำบลใน 18 อำเภอ, เพชรบูรณ์ 104 ตำบลใน 11 อำเภอ, ลำปาง 96 ตำบลใน 13 อำเภอ, พิจิตร 88 ตำบลใน 12 อำเภอ, พิษณุโลก 82 ตำบลใน 9 อำเภอ, นครสวรรค์ 126 ตำบลใน 15 อำเภอ, นครราชสีมา 272 ตำบลใน 32 อำเภอ, ขอนแก่น 194 ตำบลใน 24 อำเภอ, บุรีรัมย์ 183 ตำบลใน 23 อำเภอ, ร้อยเอ็ด 171 ตำบลใน 19 อำเภอ, อุดรธานี 151 ตำบลใน 20 อำเภอ, ศรีสะเกษ 150 ตำบลใน 21 อำเภอ, กาฬสินธุ์ 128 ตำบลใน 18 อำเภอ, สุรินทร์ 142 ตำบลใน 17 อำเภอ, มหาสารคาม 115 ตำบลใน 13 อำเภอ และสกลนคร 116 ตำบลใน 18 อำเภอ

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเผานั้น จะมีสาเหตุหลักมาจากการเผาไร่อ้อย ในขณะที่ภาคเหนือมาจากการเผาในที่สูงเพื่อปลูกข้าวโพดและการเกิดไฟป่าเป็นหลัก

ด้านนายสมคิด ปัญญาดี ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป้าจัดการลดจุดความร้อน (hotspot) ลงให้ได้ 25% โดยมีพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 500,000 ไร่ โดยจะเน้นการบริหารจัดการเชื้อเพลิง แบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซนใต้ (อ.หางดง อ.แม่วาง อ.ฮอด อ.ดอยเต่า อ.อมก๋อย อ.แม่แจ่ม) เนื่องจากเป็นกลุ่มพื้นที่ที่ใบไม้แห้ง โดยจะเริ่มดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564

ส่วนโซนเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน การบริหารจัดการจะเริ่มในเดือนมีนาคม-เมษายน ทั้งนี้ปี 2564 เป็นปีแรกที่จะไม่มีการประกาศ “ห้ามเผาอย่างเด็ดขาด” อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมา “ไม่เคยห้ามได้ แต่กลับมีการเผามากยิ่งขึ้น”

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า กระบวนการทำงาน “เชียงใหม่โมเดล” ในการแก้ปัญหาฝุ่นควันเชียงใหม่ในปี 2564 เป็นการรวมตัวกันของประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน ทำให้มองเห็นเป้าหมายชัดมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา ลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคน คนเมืองไม่โทษเกษตรกรว่าเป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่า มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดยการหันมามองว่าสาเหตุมาจากการพัฒนาด้วย ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ควันรถ

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปีนี้ฝุ่นลดลงถึง 50% เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งให้ทุกหน่วยงานราชการมีมาตรการที่เข้มข้น ห้ามการเผาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและอ้อย

ส่วนนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในปีนี้การเผาอ้อยที่ทำให้เกิดมลพิษฝุ่นควันจะลดลง เพราะการปลูกอ้อยลดลง 50% โดยทางภาครัฐมีการประสานกับภาคเอกชนรณรงค์ลดการเผาให้ในเขตอุตสาหกรรมทำไร่อ้อยจังหวัดอุดรฯ-ขอนแก่น มีการใช้เครื่องสางใบอ้อยมาใช้ในการเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงการเก็บตอซังข้าวนำขายตันละ 1,000 บาทเพื่อนำไปใช้ในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล การขอความร่วมมือโรงงานรับซื้ออ้อยสด 80% อ้อยเผา 20% เป็นการบีบให้เกษตรกรปรับตัวเอง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พาณิชย์จี้ผู้ส่งออกจับตาBrexit

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าสถานการณ์ Brexit ที่สหราชอาณาจักร (UK) จะออกจากสหภาพยุโรป (EU) เหลือเวลาอีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ของการเจรจากำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง EU และ UK คาดว่าจะเป็นไปได้ใน 2 สถานการณ์ คือ กรณี 1 มีข้อตกลงร่วมกันบางส่วน (Thin Deal Brexit) ถ้าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันได้ และสามารถตกลงการค้าเสรีได้บางสาขา จะทำให้บรรยากาศการค้าและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผ่อนคลายมากขึ้น

กรณี 2 ไม่มีข้อตกลงร่วมกันเลย (No Deal Brexit) UK จะไม่อยู่ในระบบตลาดเดี่ยวและสหภาพศุลกากรเดียวกับ EU อีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการค้าภายใต้กฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) จะมีกำแพงภาษีและกระบวนการเข้มงวดทางศุลกากร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2564

ทั้งนี้ ผู้ผลิต และผู้ส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกสินค้าไปยัง UK และ EU ควรติดตามสถานการณ์ Brexit และกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน 
กฎ ระเบียบ หรือมาตรฐานสินค้าที่แตกต่างกันระหว่าง UK กับ EU ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยไป UK เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อของผู้บริโภคใน UK ที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ด่วน!! "เฉลิมชัย" สั่งพร้อมปฎิบัติการฝนหลวงแก้ PM 2.5 สภาพอากาศเอื้อ ขึ้นทันที

"เฉลิมชัย" สั่งการด่วนให้หน่วยฝนหลวงทั่วปท. เตรียมพร้อมปฎิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหา PM 2.5 ทันที เน้นภาคกลาง ภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5 ในขณะนี้ ว่าได้สั่งให้แก้ปัญหาเร่งด่วน โดยให้ฐานปฎิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ เร่งระดมปฎิบัติการ “ฝนหลวง”ทันที ที่มีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปฎิบัติการและทำให้มากที่สุด เพื่อทำฝนหลวงชะล้างหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นหนักในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ เพราะ 2 พื้นที่ มีหลายแห่งอากาศค่อนข้างวิกฤตหนัก รวมไปถึงพื้นที่ของ กทม.

.นอกจากการเร่งระดมปฎิบัติการฝนหลวงแล้ว ยังได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยง พร้อมกับรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนห้ามเผาเด็ดขาด!! ไม่ว่าจะเป็น ตอซัง เผาป่า หรือวัตถุใดๆ ในช่วงนี้

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สอน.กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐ ลด PM 2.5 ปีแห่งการรณรงค์ตัดอ้อยสด

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ลงพื้นที่ “หีบอ้อยปี 2563/2564 ปีแห่งการรณรงค์ตัดอ้อยสด” ณ โรงงานน้ำตาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยสดเข้าหีบไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด อีกทั้งยังมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน

เพื่อส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ พร้อมสนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้ชาวไร่อ้อยยืมใช้ฟรี เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 18 ธันวาคม 2563

ส.อ.ท.ชง 4 ข้อฟื้นเศรษฐกิจ แนะ ธปท.ดูแลค่าเงินบาท

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.2563 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 หลังจากมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่น

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 87.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.0 ในเดือน ต.ค.2563 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาดในประเทศได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนและ การใช้จ่ายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการป้องกันโรค และคำสั่งซื้อล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนังฯ สินค้าเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนช่วงเดือนธันวาคมที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศและในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกและรายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทำให้มีภาระต้องจ่ายอัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,258 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือน พ.ย.2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 70.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 46.1% ราคาน้ำมัน 41.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.5% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 55.0%

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.1 จากระดับ 91.9 ในเดือน ต.ค.2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ และการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไป

การสำรวจความเห็นครั้งนี้ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย

1.ขอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

2.ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันได้

3.เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริมการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาในประเทศไทย โดยการปรับลดอัตราค่าภาระขนถ่ายและค่าภาระหน้าท่าสำหรับการนำเข้าตู้เปล่า เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามา ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้สายการเดินเรือนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทยมากขึ้น และยังจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจการบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศไทยด้วย

4.ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ด้านสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ของประเทศ ในเดือนพ.ย.2563 ดังต่อไปนี้ สำหรับการผลิตจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพ.ย.2563มีทั้งสิ้น172,455คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน11.92% และเพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ที่ผ่านมา15.46% เป็นเดือนแรกที่เพิ่มขึ้นในรอบ19เดือนจากสงครามการค้าเมื่อปี2562และการระบาดของโควิด-19เนื่องจากประเทศคู่ค้าเริ่มคลายการล็อคดาวน์และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

โดยผลิตเพิ่มขึ้นทั้งผลิตเพื่อส่งออกที่เพิ่มขึ้น4.25%และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น18.64%จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-พ.ย.2563มีจำนวนทั้งสิ้น1,283,963คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 31.69%

ในส่วนการผลิตเพื่อส่งออก พบว่าเดือนพ.ย.2563ผลิตได้75,014 คัน เท่ากับ43.50%ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน4.25% ส่วนเดือนม.ค.-พ.ย.2563 ผลิตเพื่อส่งออกได้649,893คัน เท่ากับ50.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี2562ระยะเวลาเดียวกัน 33.04%

ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพ.ย.2563ผลิตได้97,441คัน เท่ากับ56.50% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน18.64% และเดือนม.ค.-พ.ย. 2563ผลิตได้634,070คัน เท่ากับ 49.38% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน30.24%

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพ.ย.2563มีจำนวนทั้งสิ้น79,177คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 2.7% และเพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.6.83% เป็นเดือนแรกที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 โดยรถกระบะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นจากการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19จากรัฐบาลรวมถึงการประกันรายได้เกษตรกร การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการออกรถยนต์รุ่นใหม่รวมทั้งการลดแลกแจกแถมของผู้จำหน่าย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2563

เงินบาทแข็งสุดรอบ7ปี แนะธปท.หยุดแทรกแซง หวั่นสหรัฐขึ้นบัญชีบิดเบือนค่าเงิน

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 ปี แตะ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ ด้านสหรัฐจัดไทยขึ้นบัญชีเฝ้าจับตาแทรกแซงค่าเงิน  นักวิเคราะห์ แนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย หยุดแทรกแซงค่าเงิน “ไทยพาณิชย์” คาดเงินบาทแตะ 28.80 บาท “ธปท.” ยัไม่แทรกแซงเพื่อส่งออก “คลัง”ไม่หวั่นถูกขึ้นทะเบียน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท วานนี้ (17 ธ.ค.) พบว่ากลับมาแข็งค่าในรอบ 7 ปี โดยหลุดแนวต้านสำคัญ ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 29.88 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาเปิดเผยรายงานว่าด้วยการบิดเบือนค่าเงิน โดยมีประเทศไทยติดอยู่ในรายชื่อ “เฝ้าจับตา” (Monitoring List) 10 ประเทศที่สหรัฐประกาศล่าสุด โดยมีไต้หวัน อินเดีย ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การขึ้นบัญชี "เฝ้าจับ” เป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินของสหรัฐครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรก ที่ไทยถูก “ขึ้นบัญชี” หลังไทยถูกพูดถึง และเป็นประเทศที่เสี่ยง ถูกจับตามาตลอดต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า2% ของจีดีพี และทุนสำรองทางการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้นหากประเทศไทย ยังเข้าไปดูแลค่าเงินบาท ยังเข้าซื้อดอลลาร์เข้ามาในทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง ไม่ลดการเกินดุลการค้าเสี่ยงที่ไทยอาจเป็นประเทศที่ถูกกล่าวหาจากสหรัฐ ว่าแทรกแซงค่าเงินบาทเหมือนเวียนนามและสวิตเซอร์แลนด์ได้ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ หากไทยไม่ทำทั้งนโยบายการเงินและการคลังในระยะข้างหน้าเพื่อลดแรงกดดันดังกล่าว อนาคตไทยอาจเสี่ยงถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐได้ แนะอาจนำไปสู่ การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าไทยเข้าสหรัฐ หรือลดโคต้าการนำเข้าสินค้าจากไทยระยะข้างหน้า ดังนั้นครั้งนี้มองว่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ ธปท.ต้องทำอะไรมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต

แนะลดแทรกแซงค่าเงิน

สำหรับนโยบายที่สามารถทำได้ทั้งผ่านนโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ยหรือการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอีในอนาคต  และการลดเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกของตลาดมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้มองว่าต้องทำควบคู่กันไปกับนโยบายการคลังผ่านการลดภาษีสรรพสามิตร เพื่อช่วยลดการเกินดุลการค้าให้ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะข้างหน้า เพราะนโยบายการเงินด้านเดียวอาจไม่สามารถลดความเสี่ยงลงได้ ดังนั้นนโยบายการคลังอาจต้องทำควบคู่กันด้วย

“หากอนาคตเราไม่ทำอะไร นับถอยหลังได้เลย ไทยอาจถูกคว่ำบาตร ที่สหรัฐอาจงัดมาตรการมาใช้ เช่นการขึ้นกำแพงภาษีลดการนำเข้า ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือเราจะแก้ หรือให้สหรัฐแก้ หากให้สหรัฐแก้ เราจะแย่กว่า ดังนั้นเราต้องเร่งลดความเสี่ยงลงให้ได้ แต่หากเรายังยันค่าเงินไปเรื่อยๆ เราอาจต้องขึ้นบัญชีดำจริงๆ”

ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นเชื่อว่าเป็นปัจจัยกดดดันต่อผู้ส่งออกมากขึ้น โดยแนวโน้มส่งออกระยะข้างหน้าต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน  ทั้งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดต่อเนื่อง ซึ่งซ้ำเติมแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปีหน้า   และผู้ส่งออกยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง และอุปสรรคด้านการขนส่งจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และราคาขนส่งทางทะเลสูงขึ้นด้วย

คาดเงินบาทแตะ28.80บาท

นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น โดยหลุดระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ไปสู่ 29.8 บาทต่อดอลลาร์ในปัจจุบัน ซึ่งมองว่าระยะข้างหน้ามีโอกาสเห็นค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง ภายใต้กระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศ ที่จะเข้าอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า

ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ไทยถูกจับตาใน 10 ประเทศ ที่อาจแทรกแซงค่าเงินบาท อาจทำให้การเข้าไปดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ในระยะข้างหน้าลดลงได้ ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาท อาจแข็งค่ามากขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 1 ปี 2564 ที่เป็นช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้าจากประเทศเข้าไทยมากที่สุด ซึ่งจะหนุนให้เงินบาทหลุดระดับปัจจุบันไปแตะ 29.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าสุดไปที่ระดับ 28.80 บาทต่อสหรัฐในในระยะข้างหน้า

“หาก ธปท.ไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น คาดมีโอกาสเห็นเงินบาทแข็งค่าไปสู่ 28.80 บาทได้ในไตรมาสแรกปีหน้า แต่หาก ธปท.ยังเข้าไปดูแลเงินบาทบ้างก็อาจเห็นบาทแข็งค่าน้อยกว่านี้ได้ แต่ก็ยังเป็นเทรนด์แข็งค่าในปีหน้า”

แนะแบงก์ชาติแจงซื้อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม มองว่าสิ่งที่จำเป็นที่ ธปท.อาจต้องสื่อสารให้ชัดเจนในระยะข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์นี้ คือ การแสดงเหตุผล ของการซื้อดอลลาร์เข้ามาในทุนสำรอง ว่ามีเหตุผลอย่างไร เพราะอะไร หากไม่มีเหตุผลสนับสนุน ธปท.ควรหยุดการซื้อทุนสำรองเข้ามาในพอร์ต

รวมทั้งการเลือกเป็นผู้ชี้นำตลอด การสื่อสารให้ตลาดรับทราบชัดเจน ถึงแนวโน้มค่าเงินบาท ในระยะข้างหน้า เช่น เทรนด์แข็งค่าในอนาคตต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ส่งออกและภาคธุรกิจปรับตัว ไม่ใช่รอความหวังจาก ธปท.ว่าจะเข้าไปช่วยดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่องเหล่านี้จะช่วยลดภาระ ธปท.ในการดูแลบาท และทำให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับสถานการณ์เงินบาทในระยะข้างหน้าได้มากขึ้น

“ธปท.ต้องเป็นผู้นำบอกตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ปล่อยเงินบาทไปตามกระแสตลาดเงินตลาดทุนโลก เข้าไปแทรกแซงให้น้อยลง เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพราะฝั่งนโยบายการเงินธปท.ทำอะไรไม่ได้มาก เช่นการลดดอกเบี้ยไปสู่ 0% ถือว่ายาก หรือการทำ QE ที่อาจไม่เห็น ดังนั้นสิ่งที่ธปท.ทำได้คือการสื่อสารกับตลาด อย่างตรงไปตรงมา

ธปท.ยันไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเปิดเผยกรณี กระทรวงการคลังสหรัฐ (U.S. Treasury) เผยแพร่รายงานการประเมินนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring List จากที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่า 2% ของจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายภายในของสหรัฐ โดยรอบนี้มีคู่ค้า 10 ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้  monitoring list รวมถึงถึงประเทศไทย

ธปท.ขอเรียนว่า การที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท.เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์

ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็น เพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่าและไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ธันวาคม 2563

จับตาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไปต่อหรือถดถอย?

โรงงานน้ำตาลทรายของไทยที่มีอยู่ประมาณ 58 แห่งได้เริ่มทยอยเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2563/64 แล้วนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ท่ามกลางปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดถึงผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปีนี้ที่มีการประเมินกันว่าจะยังคงลดต่ำลงอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ประมาณ 67.04 ล้านตันอ้อย ปริมาณน้ำตาลทรายจะอยู่ที่ราว 7.5 ล้านตันแต่กระนั้นเมื่อเริ่มเปิดหีบจริงชาวไร่อ้อยบางส่วนกลับมองว่าจะลดต่ำกว่าระดับดังกล่าวไปอีก

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเริ่มแตะระดับ 100 ล้านตันครั้งแรกในฤดูหีบปี 25555/56 จากนั้นก็เริ่มทะลุ 100 ล้านตันในฤดูหีบปี 2556/57 และปี 2557/58 และเริ่มลดต่ำไม่ถึงระดับ 100 ล้านตันในอีก 2 ฤดูการผลิตถัดมา แล้วสามารถกลับมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูหีบปี 2560/61 ที่ระดับ 134.93 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายที่ 14.68 ล้านตัน

ฤดูหีบปี 2562/63 ไทยเผชิญภาวะภัยแล้งหนักทำให้ผลผลิตอ้อยร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 74.98 ล้านตัน น้ำตาลทรายเหลือเพียง 8.27 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับฤดูหีบปี 2561/62 ที่มีผลผลิตอ้อย 130.97 ล้านตัน น้ำตาลทราย 14.58 ล้านตันนับเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และแน่นอนว่าในฤดูหีบปีนี้ที่มีปัญหาภัยแล้งสะสมผลผลิตที่มีการประเมินกันไว้ที่ 67.04 ล้านตันก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยลดต่ำสุดรอบ 11 ปี แต่หากลดต่ำกว่านี้สถิติก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งคงจะต้องรอผลชัดเจนเมื่อการปิดหีบเริ่มขึ้น ซึ่งคาดกันว่าจะเป็นช่วงต้นเมษายน 2564

หากย้อนกลับไปในฤดูหีบปี 2561/62 แทบจะไม่มีใครคาดคิดว่าผลผลิตอ้อยจะลดต่ำลงถึงเกือบ 50% ส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลถึงปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศขณะนั้นเนื่องจากโรงงานน้ำตาลได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าเพื่อการส่งออกไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะโชคดีหรือร้ายที่บังเอิญเป็นจังหวะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาพอดี และทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยถดถอยทำให้น้ำตาลทรายที่จะต้องส่งมอบนั้นถูกให้พักไว้ก่อนจึงส่งผลให้ปัญหาวิกฤตขาดแคลนน้ำตาลในประเทศผ่านพ้นไปได้

ฤดูหีบปี 2563/64 ที่กำลังเปิดหีบอยู่ ฝ่ายโรงงานเองมีประสบการณ์แล้วจากฤดูผลิตที่ผ่านมาทำให้การขายน้ำตาลล่วงหน้าต้องระมัดระวังอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณน้ำตาลทรายส่งออกของไทยในฤดูหีบปี 2562/63 ที่ผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่ 8.27 ล้านตัน หักการบริโภคในประเทศออกไป 2.4 ล้านตันเหลือส่งออกประมาณ 5.9 ล้านตัน แต่ด้วยมีน้ำตาลจำนวนมากที่เหลือจากงวดก่อนหน้านี้มาด้วยจึงทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ฤดูหีบปี 63/64 คาดการณ์ว่าน้ำตาลทรายจะผลิตได้ราว 7.5 ล้านตัน เมื่อหักการบริโภคระดับ 2.4-2.5 ล้านตันคาดว่าการส่งออกจะเหลือเพียง 5 ล้านตันเท่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียตำแหน่งการส่งออกอันดับ 2 ของโลกให้อินเดียเช่นกัน

ทั้งนี้ อ้อยเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายและพลังงานทดแทน และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากไทยเคยส่งออกสินค้าน้ำตาลสำคัญอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล และในปี 2560/2561 มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจำนวน 408,627 ราย เนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งสิ้น 11.19 ล้านไร่ แต่การสูญเสียความสามารถในการส่งออกยังไม่เท่ากับการที่เกษตรกรชาวไร่ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากกำลังเริ่มมองอนาคตใหม่ที่ต้องปรับเปลี่ยน หากไม่เช่นนั้นแล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอาจก้าวไปสู่ภาวะถดถอยหนัก

“เราคุยกันอยู่เรื่อยๆ นะทุกฝ่ายคงไม่ปล่อยให้ล่มสลายหรอก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่แน่ การที่เราจะก้าวไปสู่การผลิตระดับ 100 ล้านตันเหมือนเดิมนั้นผมเห็นว่าทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายควรจะไปคุยกันให้ตกผลึกก่อนแล้วค่อยมาหารือกับชาวไร่ เพราะหากราคาอ้อยดีเขาก็ปลูกต่อถ้าไม่เขาเลิก โรงงานก็เป็นเศษเหล็ก” นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าว

เขาย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่….) พ.ศ….ฉบับของชาวไร่อ้อยที่จัดทำนั้นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับกติกาของการค้าโลก (WTO) ที่ไม่ให้บราซิลฟ้องร้องไทยได้เรื่องการอุดหนุนราคา แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งวันที่ 16 ธันวาคม 2563 นี้จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากมีการหยิบยกร่างของชาวไร่อ้อยมาเป็นพื้นฐานการปรับปรุงเชื่อว่าระบบของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ได้ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงาน แต่หากไปหยิบยกฉบับของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่แทบจะไม่ได้ปรับปรุงอะไรอย่างมีนัยสำคัญ อุตสาหกรรมนี้ก็จะถดถอยได้เช่นกัน

สอดรับกับ นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 ที่กล่าวแสดงความเห็นถึงอนาคตของอุตสาหกรรมดังกล่าวว่า หากทุกฝ่ายไม่ร่วมกันปรับโครงสร้างไปในทิศทางที่ถูกต้องย่อมทำให้เกษตรกรไม่อาจทนแบกรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ไหว และหากมีพืชเกษตรชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็ย่อมหนีไปปลูกพืชอื่นแทนได้เช่นกัน

ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักที่จะทำให้ชาวไร่อ้อยยกเลิกการปลูกที่สำคัญ คือ 1. ราคาอ้อย ซึ่งยอมรับว่าในช่วง 2 ฤดูการผลิตนี้ราคากลับมาตกต่ำเพราะผลกระทบโควิด-19 ทำให้ระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่จะนำมาคำนวณลดลง และยังต้องเผชิญภัยแล้งจึงทำให้มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น 2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากความเข้มงวดทางกฎหมาย เช่น อ้อยไฟไหม้ การบรรทุกอ้อย แรงงานที่หายากขึ้นฯลฯ และ 3. ราคาพืชเกษตรชนิดอื่นดีกว่า มีความแน่นอนในเรื่องของการประกันราคา

“หากมองแนวโน้มโอกาสที่อ้อยของไทยจะกลับไปสู่ระดับกว่า 100 ล้านตันก็อาจจะยากในระยะ 2-3 ปีนี้หากปัจจัยต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” นายนราธิปกล่าว

ขณะที่ความเห็นของ นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กล่าวแสดงความเห็นถึงอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ว่า หากยังอยู่แบบเดิมเช่นปัจจุบันโดยไม่ทำอะไรเลยอุตสาหกรรมนี้จะก้าวไปสู่ภาวะถดถอย เพราะโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยนไป ราคาน้ำตาลทรายจะยังสวิงตามทิศทางเศรษฐกิจที่แม้ปี 2564 จะฟื้นตัวแต่ก็อยู่บนปัจจัยเสี่ยง และหากราคาอ้อยไม่จูงใจโอกาสที่อ้อยจะกลับไปสู่ระดับ 130 ล้านตันคงเป็นไปได้ยาก และเมื่อพิจารณาจากจำนวนโรงงาน 58 แห่ง ปริมาณอ้อยที่สมดุลควรมากกว่าระดับ 100 ล้านตัน เมื่อไม่ถึงก็นับว่าโรงงานจะใช้กำลังผลิตไม่คุ้มค่า

“สิ่งที่ท้าทายคืออินเดียเริ่มส่งออกมากขึ้น บราซิลก็หันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกมากขึ้น เราต้องวางแผนในการบริหารจัดการ ขณะที่เกษตรกรของเราเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย รุ่นใหม่เริ่มไม่เอากับอุตสาหกรรมนี้มากนัก ขณะที่โลกเริ่มหันมาผลิตสารทดแทนความหวานมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ และผมเห็นว่าการมีรัฐกำกับควรจะเป็นการกำกับแบบห่างๆ ควรปล่อยให้เป็นกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายวีระศักดิ์กล่าว

ขณะที่ความเห็นของฝั่งโรงงานน้ำตาลทรายนั้น นายชลัส ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมนี้จะไปต่อได้แต่จำเป็นต้องปรับตัว โดยยอมรับว่าการผลิตอ้อยไปเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอแต่จะต้องหาผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

“เราจะอยู่บน Loop เดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ชาวไร่อ้อยเองก็เข้าใจแต่การเรียกร้องผลประโยชน์จากส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นจากทุกสิ่งอย่างแบบนี้โรงงานก็เลิกดีกว่า เหมือนกับเรามีเค้กอยู่ก้อนหนึ่งเรามัวจะรุมทึ้งคงไปต่อไม่ได้ แต่ต้องมองว่าจะทำให้ก้อนใหญ่อย่างไร หรือจะเพิ่มมูลค่าให้เค้กนี้อร่อยแล้วราคาดีอย่างไร แล้วทั้งสองฝ่ายโตไปด้วยกันมันก็จะอยู่รอด” นายชลัสกล่าว

เขามองว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นไปตามวัฏจักรที่เป็นช่วงภัยแล้งที่เราได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ประกอบกับมาเจอโควิด-19 อีก แต่เชื่อว่าในฤดูหีบปี 2565/66 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าอ้อยที่ลดต่ำจะค่อยๆ ก้าวไปสู่ระดับ 100 กว่าตันได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะเหลือเพียงระดับ 67.04 ล้านตันในฤดูหีบปีนี้เมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาล 58 แห่งไม่สมดุลนัก โดยอัตราที่เหมาะสมควรจะอยู่ระดับ 110-120 ล้านตันหรือเฉลี่ยโรงละ 2 ล้านตัน

ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้โดยเฉพาะภาษีความหวานหรือภาษีน้ำหวานที่รัฐได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยหากใช้น้ำตาล 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่เสียภาษี ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร มีผลทำให้ตลาดน้ำตาลเกิดภาวะถดถอยลงด้วยเพราะผู้ผลิตลดการใส่น้ำตาลและหาสารทดแทนความหวานมาแทนที่ โดยที่การนำเข้ามาไม่เสียภาษีความหวานหรือเสียน้อยมาก หากเป็นธรรมรัฐก็ควรจัดเก็บเช่นกัน และสารทดแทนความหวานนั้นระยะยาวการบริโภคมีปัญหาต่อสุขภาพเหมือนกันหรือไม่

“โควิด-19 รัฐจะยกเว้นการเก็บนั่นนี่ได้ ผมก็เห็นว่ารัฐควรจะยกเว้นในเรื่องภาษีความหวานบ้างเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเกี่ยวข้องกับเกษตรกร 2-3 ปีมานี้โรงงานเหนื่อยมากในการเจรจาทั้งรัฐและชาวไร่ วันนี้หากเราจะไปต่อในเรื่องของไบโอชีวภาพแล้วจะไปทางไหนล่ะ ยังไม่มีใครตอบได้เพราะต้นทุนแพงจะไปขายใครทุกอย่างก็ต้องรอโอกาสที่เหมาะสมจึงต้องแก้ที่เวลานี้ก่อน” นายชลัสกล่าว

จะเห็นว่าทั้งมุมมองของฝ่ายชาวไร่อ้อย และโรงงานอาจจะมีสวนทางกันในรายละเอียดบ้างแต่เป้าหมายของทุกฝ่ายก็ล้วนต้องการให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงก้าวต่อไป ดังนั้น ความร่วมมือจึงต้องละทิ้งผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เล่นเกมการเมือง มองประโยชน์ระยะยาวและประเทศชาติให้มากขึ้นเพราะโควิด-19 ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าต่อให้มีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อของได้ง่าย สินค้าใดที่มีผลิตในประเทศแล้วเป็นของคนไทย ตอบโจทย์ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ไม่สมควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 ธันวาคม 2563

ไม่กลัวความผิด! เกษตรกรยังลักลอบเผาตอซังอ้อย ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง

ไม่กลัวความผิด เกษตรกรชาวไร่อ้อยโคราช ยังลักลอบจุดไฟเผาตอซังอ้อย ควันท่วม ทำค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งสูง ชาวบ้านใกล้เคียงบ่นอุบ วอนหน่วยงานตรวจสอบ

วันที่ 17 ธ.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหลายรายในพื้นที่อำเภอพิมาย ,อำเภอโนนสูง ,อำเภอห้วยแถลง และอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา ยังคงลักลอบจุดไฟเผาตอซังอ้อยและตอซังข้าว จำนวนหลายสิบไร่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วกว่าการไถกลบ ก่อนจะลงมือเพาะปลูกอ้อยและข้าวอีกรอบ แต่กลับส่งผลให้เศษฝุ่นละอองขนาดเล็กและขี้เถ้าจากการจุดไฟเผาตออ้อยและตอซังข้าว พัดปลิวตามกระแสลมไปตกลงบนบ้านเรือนและผิวการจราจร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างมาก

โดยเฉพาะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกับไร่อ้อย และนาข้าวในจุดที่มีการลักลอบจุดไฟเผา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะเศษขี้เถ้าลอยไปตกบนหลังคาบ้าน และทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นด้วย แม้ว่าก่อนหน้านี้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะได้ประกาศประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว ขอความร่วมมือชาวนาและชาวไร่อ้อย งดเผาตอซังข้าวและงดเผาตออ้อย เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สร้างมลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่เกษตรกรเหลานี้กลับไม่สนคำเตือนและไม่ให้ความร่วมมือ

ซึ่ง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เสนอเงินรางวัล 5,000 บาท ให้กับผู้แจ้งเบาะแสพบเกษตรกรที่ฝ่าฝืนจุดไฟเผาตอซังข้าวและเผาตออ้อย แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้เกษตรกรยังคงลักลอบจุดไฟเผาตอซังข้าวและเผาตออ้อย จนเกิดกลุ่มควันจำนวนมากลอยปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง

ชาวบ้านจึงอยากให้หน่วยงานรัฐเอาจริงกับเกษตรกรที่ลักลอบเผา เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงเปิดหีบรับซื้ออ้อย เกษตรกรหลายพื้นที่ของจังหวัดเริ่มตัดอ้อย และบางรายยังคงใช้วิธีจุดไฟเผาตออ้อยเพื่อให้อ้อยรุ่นที่สองเจริญเติบโตขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีการก่อสร้างทาง ทำให้มีฝุ่นละอองจากการก่อสร้างฟุ้งกระจายด้วย ส่งผลให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 17 ธันวาคม 2563

ไทยรอด สหรัฐไม่ขึ้นแบล็กลิสต์ปั่นค่าเงิน แต่ถูกจับตามอง

ประเทศไทย รอดจากการถูกสหรัฐฯขึ้นแบล็กลิสต์ บัญชีดำประเทศ บิดเบือนค่าเงิน แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ถูกจับตามอง

กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยได้ขึ้นบัญชีเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า

ขณะเดียวกัน สหรัฐได้ขึ้นบัญชีไทย, ไต้หวัน และอินเดีย เป็นประเทศล่าสุดที่ถูกจับตามอง เนื่องจากอาจมีการใช้มาตรการลดค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์

ส่วนประเทศอื่นที่ถูกจับตามองได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อิตาลี และเยอรมนี

กระทรวงการคลังระบุว่า นับตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อป้องกันการปรับเปลี่ยนในดุลการค้า ขณะที่เวียดนามมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่เป็นธรรม

    สหรัฐเล็งเก็บภาษี AD ยางรถยนต์นำเข้า จ่อเชือด 4 ประเทศ รวมทั้งไทย 29 ธ.ค.นี้

สหรัฐมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อในการตัดสินว่าประเทศใดเข้าข่ายเป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงิน ได้แก่ ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวได้เข้าแทรกแซงค่าเงิน และเข้าซื้อดอลลาร์เกินกว่า 2% ของ GDP

ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน อาจถูกสหรัฐออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (CVD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 6.23-10.08% ซึ่งการดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นครั้งแรกเพื่อตอบโต้รัฐบาลต่างชาติที่จงใจลดค่าเงินเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้า โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามจงใจลดค่าเงินดองให้อ่อนค่าเกินจริงในปีที่แล้วเพื่อหวังผลทางการค้า

รายงานของกระทรวงการคลังระบุว่า เวียดนามได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดอง ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นรายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์สำหรับการสอบสวนกรณีการนำเข้ายางรถยนต์จากเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสรุปว่าเวียดนามได้จำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเวียดนามเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 ธันวาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบระยะสั้น ตลาดจะให้ความสำคัญกับท่าทีการเข้าดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนของธปท.หลังถูกสหรัฐจับตาอย่างเป็นทางการ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เชื่อว่าในระยะสั้น ตลาดจะให้ความสำคัญกับท่าทีการเข้าดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังถูกสหรัฐจับตาอย่างเป็นทางการ แต่ในระยะยาว มองว่าความชัดเจนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีหน้าเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนจะใช้เป็นเหตุผลหลักในการกลับเข้าลงทุนในประเทศไทย ซึ่งยังมีโอกาสหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อได้

สำหรับตลาดการเงินสหรัฐทำจุดสูงสุดใหม่จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและความหวังว่ามีนโยบายการคลังรออยู่ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปิดเหนือระดับ 3701.26 หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 0.2% โดยมีดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาทองคำ ที่ปรับตัวขึ้นตาม 0.4-0.8% ไปพร้อมกัน

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้น มาจากนโยบายการเงิน โดยในคืนที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0.00-0.25% และมีมุมมองว่าจะไม่ปรับลดระดับงบดุลลงจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายด้านเสถียรภาพด้านราคาและการจ้างงานเต็มอัตรา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในปี 2023

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน ประเด็นที่น่าสนใจเป็นเรื่องการประกาศรายชื่อผู้บิดเบือนค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐ (Report on macroeconomic and foreign exchange policies of major trading partners) โดยในรอบนี้ เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ ถูกจัดเป็น FX Manipulator ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง (Monitoring List) ประเด็นดังกล่าว กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังปรับตัวขึ้นในช่วงเปิดตลาด อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่แนวโน้มนโยบายของสหรัฐหลังจากนี้ และยังไม่เปลี่ยนมุมมองด้านอัตราแลกเปลี่ยนจนกว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 ธันวาคม 2563

RCEP การค้าเสรีความหวังใหม่ของไทยและเอเชีย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล ธนาคารกสิกรไทย

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างหาหนทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จนบรรดาผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน ประเทศต่างๆจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อจับมือเป็นพันธมิตรทางการค้า การสร้างพันธมิตรที่ดีจะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และเพิ่มโอกาสการลงทุนให้แก่คู่ค้าได้ ขยายโอกาสในการเข้าสู่ตลาดโลกที่ใหญ่ขึ้น การรวมกลุ่มหลายๆประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการค้าจึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กสามารถที่จะพลิกฟื้นแล้วก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้

ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อให้รอดจากวิกฤตและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา ไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

RCEP จีนรวมกลุ่มการค้าให้ประเทศเล็กมีพลัง

RCEP ย่อมาจาก (Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยผลักดันชวนให้ประเทศต่างเข้าร่วมโดยเฉพาะประเทศเล็กๆในกลุ่มอาเซียน ให้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากแนวคิด ASEAN+3 และ ASEAN+6 ที่เป็นยุทธศาสตร์เดิมของอาเซียนที่ต้องการมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนและต่อรองกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในภูมิภาค

RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทุกประเทศสมาชิก RCEP มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 30% ของโลก ครอบคลุมประชากรกว่าหนึ่งในสามของโลก เป้าหมายของข้อตกลงนี้เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนในภูมิภาคและพัฒนาการแข่งขันเศรษฐกิจที่จะนำพาประเทศสมาชิกไปสู่โอกาสการจ้างงานการค้าขายการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี ลักษณะเด่น RCEP คือมีความยืดหยุ่นครอบคลุมและทันสมัยกว่าข้อตกลงการค้าเสรีเดิมโดย ครอบคลุมด้านการค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีศุลกากรและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีกฎมาตรฐานเดียวกัน เมื่อเงื่อนไขต่างๆลดลงก็ทำให้การค้าคล่องตัว

ประเทศสมาชิกยิ้มร่า หวังการค้าคึกคัก

จากขนาดของกลุ่ม RCEP ที่มีมูลค่าการค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในโลกนำมาซึ่งอำนาจการต่อรอง และความร่วมมือของสมาชิกในการค้าขายสินค้าที่เป็นความต้องการของแต่ละประเทศ โดยแต่ละประเทศในกลุ่มต่างก็มีสินค้าที่มีความหลากหลายและสามารถค้าขายกันเองในกลุ่มได้ ทำให้เกิดสมดุลทางการค้าและการลงทุนคานอิทธิพลของชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิกโดยมีจีนที่เป็นพี่ใหญ่ที่คอยให้การสนับสนุนสร้างพันธมิตรและลดกำแพงภาษี

แนวโน้มการผลิตวัคซีนจะยังหนุนความเชื่อมั่นตลาดการเงินโลก

ประเทศที่ยังไม่เคยมี FTA ร่วมกันมาก่อนจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษีสูงสุด คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน ส่วนประเทศอาเซียนที่มีการทำ FTA ก่อนการตกลง RCEP แล้ว โดยภาพรวมก็ยังได้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสความร่วมมือและการถ่ายความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความร่วมมือต่างๆนี้จะเป็นเครื่องจักรที่สำคัญขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมากขึ้น และขยายฐานเศรษฐกิจไปสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น

ไทยได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

RCEP ทำให้ไทยได้ประโยชน์เพิ่มต่อยอดจากการได้สิทธิทางภาษีที่มูลค่าการส่งออกมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว ด้วยลักษณะของภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกิจกรรมการค้าที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งไทยมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลงทุนของนานาชาติ นำมาซึ่งบทบาทของไทยในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน สิ่งสำคัญคือเพิ่มทักษะผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถของสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูงแต่ส่วนใหญ่กระจุกในอุตสาหกรรมเก่า ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเลียม ท่องเที่ยว สินค้าเกษตร ฯ ซึ่งมีมูลค่ารายได้การส่งออกต่อปีอันดับต้นๆของประเทศ และเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก RCEP อย่างไรก็ตามการมาของ RCEP เป็นการเปิดโอกาสเปิดตัวสินค้าใหม่ๆที่ผลิตภัณฑ์และบริการมีเทคโนโลยีสามารถขายได้กำไรสูง ในส่วนของประเทศไทยนั้นยังขาดองค์ความรู้ที่จะผลักดันให้สินค้าและบริการเป็นที่ต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ไทยจะได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มสมาชิกและค่อยๆเปลี่ยนผ่านตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่ยั่งยืนกว่า เช่น ฐานการผลิตรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญเป็นตัวเชื่อมโยงให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและสนับสนุนนวัตกรรมใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมผู้ประกอบไทยให้เข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น

ด้วยความพร้อมข้างต้นจะส่งผลให้การลงทุนในไทยจะมีเพิ่มมากขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น เกิดการเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ และมีโอกาสในการเปลี่ยนจากประเทศที่เป็นผู้รับผลิตมาเป็นผู้ผลิตที่มีสินค้าที่มีนวัตกรรม นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้คนในประเทศมีความมั่งคั่งและมั่นใจในการจับจ่าย สุดท้ายก็จะมีขนาดเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้ว

ลงทุนอย่างไรให้ได้ประโยชน์ไปกับ RCEP

ในระยะต่อจากนี้จากการเกิดขึ้นของ RCEP จะส่งผลให้ไทยและกลุ่มเอเชียมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถลดการพึ่งพาประเทศกลุ่มตะวันตกและหันมาค้าขายกับประเทศในกลุ่มสมาชิกโดยระยะยาวแล้วจะมีความสดใสและยั่งยืนกว่า อีกทั้งกลุ่มสมาชิกมีจำนวนประชากรที่มากกว่าหนึ่งในสามของโลก ทำให้ภาคการบริโภคยังมีโอกาสที่จะขับดันให้เศรษฐกิจในกลุ่มโตอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ลงทุนจะหันมาศึกษาหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจและแบ่งการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มการลงทุนที่เกี่ยวกับโลจิสติก คลังสินค้าให้เช่า นิคมอุตสหกรรมให้เช่า และการบริโภคเพื่อรองรับผลตอบแทนที่ดีไปกับแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มประเทศในกลุ่ม RCEP

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 ธันวาคม 2563

"สัมฤทธิ์" หนุนร่าง พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาล วอน กมธ.เร่งแก้ปัญหานอมินีโรงงาน

ส.ส.ชัยภูมิ พปชร.หนุนร่าง ก.ม.อ้อย-น้ำตาล 8 ฉบับ วอน กมธ.เร่งเร่งแก้ปัญหานอมินีโรงงาน-ฝุ่นละอองจากการเผาอ้อย

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 ที่รัฐสภา นายสัมฤทธิ์ แทนทรัยย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวอภิปรายต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ..... ว่า เห็นด้วยและสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวทั้ง 8 ฉบับ เนื่องจากมีเจตนาช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้มีค่าตอบแทนที่มากขึ้น ทั้งนี้ตนขอฝากปัญหาไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร เนื่องจากพบว่ามีโรงงานบางแห่ง นำคนของโรงงานขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อให้เป็นนอมินีของโรงงาน จากนั้นเปิดโควต้าให้เกษตรกรนำผลผลิตขายในชื่อของนอมินี แต่ให้ราคาต่ำกว่าราคาประกาศ ทั้งนี้เกษตรกรที่ขายผลผลิตในชื่อนอมินีนั้น จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ ลงผลผลิตก่อนเกษตรกรตัวจริง นอกจากนั้นขอให้กรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย เนื่องจากพบว่าเกษตรกรมักจุดไฟเผาอ้อยก่อนตัดเข้าโรงงาน เพราะราคาอ้อยไฟไหม้จะถูกหักราคาตันละ 30 บาท แต่ขณะที่ค่าแรงงานจะต่างกันถึงตันละ 100 บาท ทำให้เกษตรกรเลือกเผาอ้อยจนเกิดปัญหา

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม 2563

"อัครเดช" หนุนร่าง พ.ร.บ.อ้อย-น้ำตาล หวังกองทุนซื้อเครื่องจักรลดฝุ่นพิษ

"อัครเดช" หนุนร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย คืนความเป็นธรรมให้เกษตรกร–หวังจัดสรรกองทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อย ลดปัญหา PM 2.5 ได้

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.63 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทน จังหวัดราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ทั้งในส่วนที่ ครม. เสนอ และที่ภาคประชาชนได้นำเสนอ ในฐานะที่ตนเป็น ส.ส. จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ปลูกอ้อยเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ รวมทั้งในฐานะที่ตนเป็นลูกเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วย รวมทั้งผู้เสนอร่างฯ ในส่วนของภาคประชาชน คือนายปารเมศ โพธารากุล ก็เป็นอดีต ส.ส. จังหวัดกาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้มีส่วนร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเรื่องอ้อยและน้ำตาลทรายนั้นได้ตรามาตั้งแต่ปี 2527 ถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป

สำหรับร่างฯ ที่ ครม. เสนอนั้น มีการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎ WTO ซึ่งไทยเป็นสมาชิก ส่วนร่างฯ ที่เสนอโดยภาคประชาชนนั้น มีการระบุถึงส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องแบ่งระหว่างผู้ประกอบการ กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการนำเอทานอลมาคำนวณด้วย เนื่องจากเอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกที่มีราคาสูง และทำรายได้ให้โรงงานน้ำตาลมาเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมาการไม่ได้นำเอทานอลมาคำนวณทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมาเป็นคณะกรรมการดังกล่าวได้มากขึ้นด้วย เนื่องจากที่มาของคณะกรรมการมีความแตกต่างกัน จึงทำให้การบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไม่เกิดความเป็นธรรมกับเกษตรกร

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชาวไร่อ้อยสามารถเป็นสมาชิกสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียวนั้น ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากให้ชาวไร่อ้อยเป็นสมาชิกได้หลายสถาบันอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม และสร้างความแตกแยกได้

จากการที่ชาวไร่อ้อยต้องกลายเป็นจำเลยของสังคม เนื่องจากปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และตนเป็น กมธ.วิสามัญแก้ไขปัญหาดังกล่าวในจังหวัดราชบุรี ทำให้ได้รับทราบว่า ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในต่างจังหวัดส่วนหนึ่งมาจากการเผาไร่นา และไร่อ้อย หากมีคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ก็จะทำให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรกองทุนเพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องจักรสำหรับลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงลดปัญหาจุดตัดอ้อยได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการที่ รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้เลขานุการลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เพื่อรณรงค์การให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดปัญหาพีเอ็ม 2.5 รวมไปถึงการมอบเครื่องสางใบอ้อยนั้น ก็ถือเป็นวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีที่จะนำไปสู่การลดปัญหาการจุด-ตัดอ้อย ส่งผลให้เกิดไฟไหม้อ้อยลดลง เกิดสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนได้

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 16 ธันวาคม 2563

กูรูมั่นใจ RCEP  จะเป็นเครื่องมือ ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

พาณิชย์ เปิดเวทีใหญ่สัมมนาประชาพิจารณ์ RCEP ในกรุงเทพฯ มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นักวิชาการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมคับคั่ง กูรูเชื่อ RCEP จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จัดสัมมนาประชาพิจารณ์ ‘เจาะลึกความตกลง RCEP และการเตรียมใช้ประโยชน์-ปรับตัว’ เพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างความตระหนักรู้และความข้าใจในความสำคัญของความตกลง RCEP เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์และผลกระทบจากความตกลง RCEP พร้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆซึ่งมีผู้แทนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 150 คน พร้อมทั้ง มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ผู้ที่สนใจสามารถแสดงความเห็นและรับชมการสัมมนาได้ในวงกว้าง

ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อร่วมถกในประเด็นต่างๆ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง และมาตรการเยียวยา กลุ่มที่ 2 การค้าบริการ การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่ 3 ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งในแต่ละกลุ่มได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และแนวทางที่จะปรับตัวให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลง และเชื่อว่า RCEP จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคจากการระบาดของโควิด-19 ได้

ทั้งนี้ความตกลง RCEP จะทำให้การค้าระหว่างกันง่ายขึ้น มีการปรับพิธีการศุลกากรให้มีความชัดเจน รวดเร็ว โปร่งใส มีการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสมาชิก RCEP อีกทั้งช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ในเบื้องต้น ผู้ประกอบการและเกษตรกรของไทยจึงควรเร่งเตรียมพร้อมและเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขันที่อาจจะเพิ่มขึ้น ตลอดจนศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างแต้มต่อในการทำการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยความตกลง RCEP จะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม อาหารแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป กระดาษ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย รถจักรยานยนต์ และสินค้าอื่น ๆ อีกหลายรายการ

“หลังการสัมมนาประชาพิจารณ์ที่กรุงเทพฯ  ในครั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนเดินสายจัดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ในภูมิภาค โดยจะประเดิมจัดที่ภาคเหนือ (พิษณุโลก) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี) และปิดท้ายด้วยภาคใต้ (สุราษฎร์ธานี) เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก RCEP อย่างเต็มที่”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ธันวาคม 2563

“สุริยะ” ปูพรมตรวจเข้มโรงงาน กทม. แก้วิกฤต “PM2.5” รับนโยบายรัฐบาล

         นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเร่งหามาตรการในการลดปัญหามลพิษอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นวิกฤตในขณะนี้ เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคมตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้ ให้มีการตรวจสอบและติดตามโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงปล่อยฝุ่น PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,480 โรงงาน รวมทั้งได้ส่งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า ได้จัดรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 3 จุด ได้แก่จุดที่ 1 บริเวณพื้นที่วัดม่วง แขวงหลักสอง เขตบางแค ,จุดที่ 2 บริเวณบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด แขวงยานนาวา เขตสาธร

และจุดที่ 3 บริเวณฝ่ายโรงงานและอะไหล่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานหนองจอก แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป พบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยค่าที่วัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ดี กรอ.ได้วางมาตรการระยะสั้น ด้วยการตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System : CEMS)  ซึ่งรายงานผลแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์มาที่ กรอ. ในเขตกรุงเทพมหานครมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องดังกล่าวจำนวน 4 โรงงาน 15 ปล่อง ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง 

และเตาเผาขยะหนองแขม ใช้ขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิง ผลการตรวจวัดฝุ่นรวม (TSP) อยู่ในช่วง 7.3 - 13.1 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไม่เกินมาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 320 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยวางมาตรการระยะยาวมีแผนปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศระยะไกล ซึ่งเดิมกำหนดให้ติดตั้งและส่งข้อมูลเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดระยองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าประกาศใช้ได้ภายในปี 64

นอกจากนี้  ได้มีมาตรการบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างเร่งด่วน ดังนี้ 1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองลง ,2.ควบคุมการระบายมลพิษอากาศให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2549

,3.ขอความร่วมมือโรงงานติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ  และเชื่อมต่อข้อมูลแบบออนไลน์รายงานคุณภาพอากาศมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,4.ตรวจสอบและเฝ้าระวังโรงงานที่มีเคยมีปัญหาร้องเรียนซ้ำซากด้านฝุ่นละออง โดยกำหนดเป็นแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 , 5.กำกับดูแลให้โรงงานตรวจสอบระบบบำบัดอากาศให้มีประสิทธิภาพ และ6.ส่งเสริมให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาด ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)

นายประกอบ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรอ.ได้มีการจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันได้กำชับให้โรงงานดำเนินการตรวจสอบและซ่อมบำรุงการเผาไหม้เชื้อเพลิงของหม้อน้ำให้เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ และออกมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกันกับโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ธันวาคม 2563

เปิดจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำต้นปี 64

สทนช.เตรียมดีเดย์เปิดรับสมัครจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำต้นปี 2564 ยกระดับการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันร่างกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. .... อยู่ในกระบวนการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในเดือน มกราคม 2564  และจะเริ่มประกาศรับสมัครองค์กรผู้ใช้น้ำในต้นปี 2564 หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว โดยกฎกระทรวงดังกล่าว จัดทำขึ้นตามหมวดที่ 3 ว่าด้วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ระบุไว้ว่าการองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มี 3 ระดับ 1.ระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.ระดับลุ่มน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และ 3.ระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลซึ่งใช้น้ำบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิก

ทั้งนี้ กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ ระบุให้ผู้ใช้น้ำจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือระหว่างบุคคลธรรมดา  นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกร่วมกัน รวมตัวกันและจดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยต้องจัดทำเอกสาร หลักฐาน ยื่นต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะนายทะเบียนเพื่อพิจารณาออกหนังสือรับรองก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำภายใน 30 วัน

โดยองค์กรผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งขึ้นนอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งแล้วยังมีสิทธิในการเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเอง  และสามารถเสนอชื่อสมาชิกภายในองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเป็นผู้แทนไปคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำในภาคส่วนขององค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ อีกทั้งยังมีสิทธิเป็นตัวแทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ารับการคัดเลือกต่อไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ด้วย

“การก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นช่องทางให้กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันจากลุ่มน้ำเดียวกันรวมตัวกันเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ออกเสียง เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหาที่แท้จริงจากพื้นที่ นำเสนอโครงการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้โดยตรง หรือกระทั่งสิทธิในการร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาร่วมกัน กรณีเกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำยังสามารถแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมการระดับชาติ คือ กนช. ได้อีกด้วย องค์กรผู้ใช้น้ำ จึงจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการมีส่วนช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น    ในส่วนของรายละเอียดการรับสมัคร สทนช.จะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ธันวาคม 2563

สมาคมวัชพืชฯ โต้ “มนัญญา” นโยบายไม่ย้อนแย้งรัฐแบนสารพิษ

​​​​​​​นายกสมาคมวัชพืช  โต้ “มนัญญา” นโยบายไม่ย้อนแย้งรัฐแบนสารพิษ ยันเจตนาสมาคม 43 ปี วัตถุประสงค์ช่วยเหลืองาน “กรมวิชาการเกษตร” รับรองนโยบายด้านวิชาการ ช่วยเหลือเกษตรกรช่วงเปลี่ยนถ่าย

จากกรณีที่ นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีคำสั่งให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวงจสอบการตั้งสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สวนทางนโยบายรัฐมนตรี พยายามนำสารพิษกลับมา ทั้งที่เรื่องจบไปแล้ว นั้น

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การที่เราทำความจริงให้กระจ่าง ไม่ถูกใจรัฐมนตรีช่วยฯ ตรงไหน แล้วมีการกล่าวหาว่าทำสวนนโยบาย ยืนยันว่าทำเพื่อให้งานวิชาการอยู่กับร่องกับรอย แค่นั้นเอง ไม่ได้สวนนโยบายแต่อย่างใด แล้วสมาคมแต่ละสมาคมที่ตั้งขึ้นมาโดยนักวิชาการในกรมวิชาการเกษตร ก็มีหลายสาขาเพื่อที่จะช่วยเหลืองานวิชาการให้กับกรม ไม่มีการเมืองมาชี้นำ รวมแล้วมี 7 สมาคม ได้แก่ สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย  และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย

“โดยปกติแล้วการรับเงินจากภาคเอกชนมาทำงานวิจัย ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด เป็นปกติอยู่แล้ว ที่หน่วยงานไหนก็ทำ แม้กระทั่งทีดีอาร์ไอ มหาวิทยาลัย ก็ทำได้หมด แต่ถ้ารับเงินมาเฉยๆ แล้วไม่ได้ทำอะไร นี่เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ถ้ารับเงิน แล้วงานที่รับทำ ก็ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วก็ไม่ได้ทำแค่ “พาราควอต” ตัวเดียว ยังรับเป็นที่ปรึกษางานวิจัย เรื่อง บทบาของพาราควอตและไกลเซตในการผลิตพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด” ด้วย ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใด"

ดร.จรรยา กล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าจะแบนสารเคมี ก็มีการสำรวจทั้ง 2 ตัว  ทั้งความคิดเห็นของเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ ก็ทำแบบข้อมูลไว้ให้เชิงฝ่ายนโยบายไว้ใช้พิจารณา และงานวิจัย สวก.ที่สมาคมกำลังดำเนินการอยู่  "ชื่อโครงการวิจัย  ศึกษาวิธีการจัดการวัชพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปริมาณการใช้ไกลโฟเซตและพาราควอตในพืชเศรษฐกิจ" เพื่อทดแทนการใช้ พาราควอตและไกลโฟเซตและพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย  นี่สมาคมทำงานรับรองนโยบาย เมื่ออยากแบน ก็ได้ทำงานวิจัยให้

“แต่ถ้างานของกระทรวงสาธารณสุขหรือนักวิจัยบางคนที่ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องค้านว่าไม่จริง ไม่ได้สวนนโยบาย แต่เราถามความชัดเจนจะต้องกระจ่างด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทุกคนจะได้ตกผลึก ไม่มีความขัดแย้ง แต่หากปล่อยให้ทุกคนคาใจ คนก็จะไม่จบ แต่ถ้านำด้วยวิชาการ ก็จะจบ ต้องการทำแค่นี้เอง ไปขัดนโยบายตรงไหน เราต้องการช่วย เข้าใจอะไรผิดหรือไม่ เราต้องการทำให้ "กรมวิชาการเกษตร" องค์กรของเรา มีความสง่างามด้านวิชาการ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 ธันวาคม 2563

“สุริยะ” ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนลงทุนสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลหนุน ศก.หมุนเวียน

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ร่วมหารือคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน หรือ USABC พร้อมร่วมมือกับรัฐบาลไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งยกภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในไทยต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายไมเคิล มิคาลัก รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการภูมิภาค สภาธุรกิจ USABC พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมแบบกึ่งออนไลน์ โดยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น

ทั้งนี้ การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จำเป็นต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อรับรองการทำธุรกิจยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลได้เดินหน้าเปิดประมูลคลื่น 5 จี และเร่งพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับการทำงานสู่ระบบออนไลน์ โดยได้ผลักดันการใช้ระบบฐานข้อมูล ประมวลผล และสนับสนุนอุตสาหกรรม (I-industry) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้เกิดการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (online service) อำนวยความสะดวกในการให้บริการกับผู้ประกอบการผ่านระบบดิจิทัล โดยจะเชื่อมข้อมูลจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละภาคส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

ประกอบกับเพื่อเป็นการแก้ปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชน รัฐบาลไทยมีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) ในไทย รวมถึงสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสียและการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการใช้พลาสติกที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น

นายสุริยะกล่าวว่า นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง ประเทศไทยได้พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างดีที่สุด และได้มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการเพื่อรักษาตำแหน่งงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำข้อเสนอจากการหารือครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยและพร้อมสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในไทยให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนในไทยต่อไป

 จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 ธันวาคม 2563

สหรัฐขึ้นบัญชีจับตาไทยประเทศแทรกแซงค่าเงิน

หลังจากที่แย้มท่าทีนี้มานาน ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐก็เล่นงานไทยในที่สุดพร้อมด้วยประเทศในเอเชียอีกจำนวนหนึ่ง

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศขึ้นบัญชี 10 ประเทศในบัญชีประเทศต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงิน หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย

นอกจากไทยแล้วยังมี ไต้หวัน, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์ และมาเลเซีย

รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐยังระบุด้วยว่าอินเดียและสิงคโปร์ได้แทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในลักษณะต่อเนื่องและผิดปกติ แต่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดอื่น ๆ ที่จะกล่าวหาได้ว่าแทรกแซ.ค่าเงินอย่างชัดเจน

ส่วนประเทศที่เข้าข่ายอย่างชัดเจนคือ สวิตเซอร์แลนด์และเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่าทั้งสองประเทศแทรกแซงสกุลเงิน และกล่าวว่าเวียดนามพยายามที่จะให้ได้มาซึ่ง "ความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศอีกเช่นกัน"

ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

กสิกรไทยมองต่างธปท. คาดบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติ UBS ของสวิตเซอร์แลนด์เตือนว่า ไทยและไต้หวันอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการแทรกแซงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออกสินค้ามายังสหรัฐ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังของสหรัฐจะจัดทำรายงานการจับตาประเทศที่อาจบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าทุกๆ 2 ปี โดยเกณฑ์ที่ใช้วัดประกอบด้วย 1.การเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 2.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3.การสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง 6 เดือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ของจีดีพี

หากประเทศหนึ่งประเทศใดเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อจะถูกสหรัฐขึ้นทะเบียนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน

จากการประเมินของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก นับตั้งแต่ปลายปี 2014 บัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทยเกิน 2% ของจีดีพีทุกไตรมาส เมื่อบวกกับการเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเท่ากับว่าไทยเข้าเกณฑ์การแทรกแซงค่าเงินถึง 2 ข้อ เพียงพอที่สหรัฐจะขึ้นบัญชีไทย

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศที่ถูกสหรัฐระบุว่าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้าจะไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่สหรัฐอาจใช้มาตรการลงโทษทางการค้ากับประเทศนั้นๆ อาทิ ระงับสิทธิพิเศษทางการค้า

จาก  https://www.posttoday.com  วันที่ 16 ธันวาคม 2563

ดึงโรงงานใหญ่ร่วมขับเคลื่อน 15 ลำน้ำ “โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ”

กระทรวงอุตสาหกรรม ชู “โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ” ป้องกันและแก้ปัญหาน้ำเสีย ดึงโรงงานใหญ่ร่วมขับเคลื่อน 15 ลำน้ำ

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมนำเสนอโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ต่อศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงฯ ดำเนินการขยายผลการพัฒนาลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

                ทั้งนี้  ในปี พ.ศ. 2564 กระทรวงฯ จะขับเคลื่อนโครงการจิตอาสาเกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่ 17 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุม 5 คลองและ 10 แม่น้ำสายหลัก แต่ละโครงการเน้นการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำเสียของพื้นที่ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ โดยจะประสานขอความร่วมมืออุตสาหกรรมรายใหญ่ช่วยเป็นแกนหลัก เช่น เอสซีจี ปตท.จีซี เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น พร้อมทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้นำชุมชนและประชาชนจิตอาสา ส่วนราชการระดับจังหวัดและท้องถิ่น คาดว่าตลอดทั้งปีจะมีจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมฯ มากกว่า 5,000 คน

                และเมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงฯ ยังส่งเครื่องพ่นหมอกไอน้ำ จำนวน 15 ชุด พร้อมเครื่องกำจัดมลพิษทางอากาศ PM 2.5 และ PM 10 รวม 2 เครื่อง ไปช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในจังหวัดเชียงรายอีกด้วย และขณะนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน “BCG Model” นำร่องในจังหวัดสมุทรปราการ โดยมีแผนที่จะต่อยอดการจัดการขยะอินทรีย์ที่เน่าเสียและย่อยสลายได้ เช่น จากถังดักไขมันที่กระทรวงฯ แจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบลำน้ำ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพและน้ำมันดิบ เป็นต้น

                นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสากระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำฯ ปีนี้จะขยายพื้นที่จากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นดำเนินการในจังหวัดต่าง ๆ โดยกระทรวงฯ ได้จัดทำแผนตรวจคุณภาพน้ำอย่างเข้มข้น โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังโรงงานตามแผนฯ เพื่อไม่ให้โรงงานระบายน้ำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำจาก 5 ตัวอย่าง เป็นกว่า 10 - 100 ตัวอย่าง รวมทั้งแก้ไขปัญหาของพื้นที่เชิงลึก ตัวอย่างที่น่าสนใจ (Highlight) เช่น

1. การพัฒนานวัตกรรม กังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ตาข่ายดักขยะ ในคลองแสนแสบกรุงเทพฯ การติดตั้งทุ่นดักขยะลอยน้ำและเครื่องบำบัดน้ำเสียชุมชนในคลองเปรมประชากร การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแก่โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น

                2. การสร้างระบบบริหารจัดการ เช่น จัดจุดรวมน้ำมันใช้แล้วจากเรือประมงขนาดเล็กและประสานโรงงานมารับซื้อในลุ่มน้ำปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ การปลูกต้นไม้และเสริมแนวคันกั้นน้ำให้รองรับมวลน้ำที่มากขึ้น ในแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด การตั้งจุดทิ้งขยะพลาสติกในสถานที่ราชการและโรงงานขนาดเล็ก เพื่อเข้าสู่การรีไซเคิล รวมทั้งการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycling) เช่น เสื้อ จีวรพระ ฯลฯ ใน จ.สมุทรปราการ

                3. การพัฒนาองค์ความรู้ สอดแทรกในกิจกรรมแข่งขันพายเรือ/ว่ายน้ำ ในทะเลสาบสงขลา การอบรมเครือข่ายพัฒนาลุ่มน้ำต่างๆ การจัดการผักตบชวาแบบยั่งยืนในแม่น้ำกวง จ.ลำพูน

                และ 4. การปรับปรุงภูมิทัศน์ เก็บขยะ กำจัดวัชพืช ซึ่งแทรกอยู่ในกิจกรรมของการพัฒนา เพื่อให้โรงงานและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน ตลอดจนได้เชื่อมโยงการจัดกิจกรรมจิตอาสากับประชาชนจิตอาสาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถตอบสนองยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco town) ของกระทรวงฯ ได้อีกด้วย

สำหรับโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำของกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งอยู่บนพื้นฐานภารกิจการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมต้นแบบ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วม และมีแผนดำเนินการในพื้นที่ 15 คลอง/ลุ่มน้ำ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร สมุทรปราการ คลองขุดเจ้าเมือง สมุทรสาคร คลองสี่วาพาสวัสดิ์ ลำพูน แม่น้ำกวง นครสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อยุธยา แม่น้ำป่าสัก ปทุมธานี แม่น้ำเจ้าพระยา ฉะเชิงเทรา

                แม่น้ำบางปะกง ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำปราณบุรี ขอนแก่น แม่น้ำพอง ร้อยเอ็ด แม่น้ำชี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ แม่น้ำมูล สุราษฎร์ธานี ลุ่มน้ำตาปี และ สงขลา5 คลองสาขาของลุ่มทะเลสาบสงขลา  นอกจากนี้ 15 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยังร่วมจัดกิจกรรมจิตอาสาอีก 22 กิจกรรมย่อย แบ่งเป็นกิจกรรมการรับมือภัยพิบัติ จำนวน 2 กิจกรรม และกิจกรรมพัฒนาด้านต่างๆ จำนวน 20 กิจกรรมโดยเกี่ยวข้องกับสาธารณสุข คุณภาพชีวิต การให้ความรู้ และสิ่งแวดล้อม

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

EU-ABC เผยแพร่รายงาน การรับมือกับการค้าผิดกฎหมายในอาเซียน ทำลายเศรษฐกิจ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์

สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป (EU-ABC) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวสำหรับธุรกิจในยุโรปที่ทำตลาดครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า “การต่อสู้กับการค้าผิดกฎหมายในอาเซียน" (Tackling Illicit Trade in ASEAN)   ในขณะนี้การค้าผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่อาเซียนต้องเร่งผลักดัน เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (AMMTC) ครั้งที่ 14 ที่กำลังจะมาถึง รายงานนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีที่รัฐบาลและผู้นำในอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันเพื่อแนะนำการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้

 ทั้งนี้ มีตัวเลขคาดการณ์ว่าการค้าผิดกฎหมายจะทำลายเศรษฐกิจโลกราว 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสินค้าลอกเลียนแบบมีมูลค่าราว 461 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[1] ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขนาดของตลาดสินค้าปลอมมีมูลค่าสูงถึง 35.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] และสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป คาดว่า ตลาดสินค้าลอกเลียนแบบจะมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เวียดนามยึดหน้ากากอนามัย 3M ปลอมได้กว่า 150,000 ชิ้น ขณะที่ฟิลิปปินส์ยึดเวชภัณฑ์มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การค้าผิดกฎหมายทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และกระทบต่อธุรกิจที่ดำเนินงานอย่างถูกต้อง และยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสิทธิมนุษยชน เมื่อเข้าใจถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของอุตสาหกรรมการค้าที่ผิดกฎหมาย ผู้นำอาเซียนได้แสดง ความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ ท่ามกลางความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่เกิดจากการระบาดของโควิด -19 รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้มากขึ้น ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 เมื่อเร็ว ๆ นี้

 คริส ฮัมฟรีย์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของคณะมนตรีในการแก้ไขปัญหานี้  โดยกล่าวว่า “คาดว่าตลาดค้าของปลอมในอาเซียนมีมูลค่าเกือบ 10% ของการค้าระหว่างประเทศ สำหรับสินค้าเหล่านี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากปล่อยทิ้งไว้อุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมายนี้จะเติบโตขึ้นในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพและเศรษฐกิจที่ไม่เคยประสบมาก่อน กลุ่มผู้ปลอมแปลงและผู้ค้าของเถื่อน ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของระบบ ดังนั้นแล้ว ผู้นำอาเซียนจำเป็นต้องเห็นความเร่งด่วนในการประสานงานและร่วมมือกันเพื่อต่อต้านปัญหาข้ามแดนนี้ เราเข้าใจดีว่าการแก้ปัญหานี้มีความสำคัญมากและผู้นำรัฐบาลไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้โดยลำพัง พวกเราที่คณะมนตรีพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการต่อสู้กับการค้าผิดกฎหมายและผลกระทบเชิงลบที่จะตามมา”

 สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโปร ได้ร่วมกับ Société Générale de Surveillance (SGS) ซึ่งเป็น บริษัท ด้านการตรวจสอบชั้นนำของโลก และฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล  จัดเวิร์กชอปการฝึกอบรมเสมือนจริงเพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นการค้าผิดกฎหมายโดยเน้นเฉพาะเรื่องความเสี่ยง เทคนิคการทำโปรไฟล์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้บริหารศุลกากร ในการระบุสินค้าที่ผิดกฎหมายได้ดีขึ้น งานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรกว่า 80 คนเข้าร่วมในงานประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค โดยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม เช่น นายคริสทาฟ ชิมเมอออร์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาของ SGS เพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีที่ประเทศในอาเซียนจะทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น และรับมือกับภัยคุกคามระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นของการปลอมแปลงและการค้าที่ผิดกฎหมาย

 ดร. แพทริก คอส หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ บริษัท Roche Pharma APAC กล่าวว่า “การค้าผิดกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับส่วนผสมของยา ตัวยา และเครื่องมือวินิจฉัยโรค นับเป็นเรื่องที่อันตรายต่อชีวิตและความเป็นไปของผู้ป่วย และจำเป็นต้องมีการป้องกัน อาชญากรอาศัยช่วงโควิด-19 กอบโกยผลประโยชน์ ดังนั้น การปกป้องผลิตภัณฑ์และผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุด ทำให้เกิดดำเนินการเชิงรุก เพื่อต่อต้านการปลอมแปลงและใช้ระบบซัพพลายเชนที่มีความปลอดภัย ผมขอแนะนำอย่างยิ่งให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ และความพยายามของรัฐบาลในการพัฒนากฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น และปรับปรุงการบังคับใช้ ให้ความรู้กับประชาชน และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของแต่ละประเทศ"

 การเติบโตของการค้าผิดกฎหมาย สร้างความกดดันให้กับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผู้นำต้องการสร้างฐานทางการเงินใหม่หลังจากใช้จ่ายเงินหลายพันล้านเพื่อให้แน่ใจว่าวิกฤตสุขภาพจะไม่ลุกลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ตัวอย่างเช่น เมียนมาร์ผลิตหยกมูลค่า 12-31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่มีการลักลอบนำออกมากถึง 80% ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ทางภาษี[3]

 ลิซ่า บีชทิเจอร์ จาก PMI และหัวหน้ากลุ่มต่อต้านการค้าผิดกฎหมาย สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน กล่าวว่า“ องค์กรการค้าและอาชญากรที่ผิดกฎหมายกลายพันธุ์โยกย้ายและปรับเปลี่ยนสถานการณ์ใหม่ วิกฤต โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น เกิดการค้าผิดกฎหมายบนอีคอมเมิร์ซ การเติบโตที่เห็นนับตั้งแต่เดือนมีนาคมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ โลกหลังโควิดจะส่งผลกระทบต่อวิธีที่เราในฐานะตัวแทนของภาครัฐและเอกชนและภาคประชาสังคมมีปฏิกิริยาตอบสนอง การทำงานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมภาครัฐและเอกชนไม่เคยมีความสำคัญมากไปกว่านี้ ถึงเวลาที่อาเซียนจะลงมือทำแล้ว”

 แก็งค์ทำสินค้าลอกเลียนแบบเป็นภัยคุกคามทางการเงินและชื่อเสียงต่อแบรนด์ดัง ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ มองไปถึงช่วงเทศกาลที่กำลังจะมาถึง การดูแลปกป้องแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญ โรบิน สมิธ รองประธานและที่ปรึกษาของกลุ่มเลโก้ เอเชียแปซิฟิกและจีน กล่าวว่า “การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ ต้องการเวลาเล่นกับครอบครัวมากขึ้น และพ่อแม่เห็นว่าการเล่นเป็นกิจกรรมสำคัญที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวได้รับความบันเทิงในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่อย่างไรก็ดี จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เองทำให้ของเล่นด้อยคุณภาพมีการซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย จากสินค้าที่ขายไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ในภูมิภาคอาเซียนควรมีการดูแลให้เด็กมีความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ผ่านการเล่นด้วยความปลอดภัยและมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการปกป้องจากอันตรายที่อาจเกิดจากของเล่นที่ซื้อขายผิดกฎหมาย การลงทุนของอาเซียนในการต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมายในปัจจุบันจะส่งผลที่ดีในอนาคตและจะมีส่วนสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มั่งคั่งและปลอดภัยสำหรับคนรุ่นต่อไป”

เจฟฟรีย์ ฮาร์ดี ผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มพันธมิตรข้ามชาติเพื่อต่อต้านการค้าผิดกฎหมาย (TRACIT) ผู้เขียนร่วมของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า "เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) เพื่อจัดการกับการค้าผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ อาชาญกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น ภาครัฐ สังคม และธุรกิจไม่ควรมองข้าม รายงานฉบับนี้ ได้กล่าวถึงประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลควรใช้ความพยายามมากขึ้นในการนำกรอบภูมิภาคที่แข็งแกร่งมาใช้ เพื่อต่อสู้กับการค้าที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิผล ขณะนี้ รัฐบาลอาเซียนมาถูกทางแล้ว ผลการวิจัยจากรายงานแสดงให้เห็นว่าต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ การจัดสรรทรัพยากร และการยกระดับความร่วมมือในภูมิภาค TRACIT และ EU-ABC เป็นกลุ่มความร่วมมือโดยรัฐบาลอาเซียนในการอุดช่องว่างการกำกับดูแลเหล่านี้และนำเสนอแนวร่วมต่อต้านกลุ่มอาชญากรที่ซื้อขายสินค้าผิดกฎหมาย”

ในขณะที่อาเซียนมองไปข้างหน้าเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติแบบใหม่ ภายในภูมิภาคจำเป็นต้องเปลี่ยนบทเรียนในการล็อคดาวน์ ให้เป็นระบบการกำกับดูแลหลังวิกฤตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มอาชญากรใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนได้อย่างไรบ้าง ถึงเวลาของอาเซียนแล้วที่จะต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ หากไม่มีการดำเนินการใด อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิกฤติในการรักษาพยาบาล

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 29.95-30.20 หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบปี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 29.95-30.20 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.08 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเข้าทดสอบระดับแข็งค่าสุดของปี 2563 ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 4.1 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 1.6 พันล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วันที่ 15-16 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าจะยังคงส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีกำหนดประชุมในสัปดาห์นี้เช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ และประเด็น Brexit หลังการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปยังไร้ข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ขณะที่หลายประเทศหลักได้อนุมัติการใช้วัคซีนแล้ว ในภาวะเช่นนี้ คาดว่าเงินปอนด์จะผันผวนสูง ขณะที่ทิศทางของเงินดอลลาร์จะขึ้นอยู่กับท่าทีของเฟดในการสื่อสารกับตลาดถึงการดำเนินนโยบายเพื่อสอดรับกับกรอบนโยบายใหม่ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนตลาดแรงงาน เรามองว่าเฟดจะประกาศเพิ่มการซื้อพันธบัตรระยะยาวในรอบนี้พร้อมกับส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นต่อการเพิ่ม QE ในระยะถัดไป ซึ่งกรณีนี้จะกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง ในทางกลับกัน หากเฟดตัดสินใจตรึงโครงสร้างของ QE ไว้ตามเดิม จะสร้างความผิดหวังให้กับตลาด และเงินดอลลาร์อาจฟื้นตัวขึ้น 

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกการชี้แจงมาตรการเพิ่มเติมในการปรับระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการดูแลเงินบาท แต่ยังคงระบุว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสะท้อนข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้สกุลเงินภูมิภาคแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยธปท.ได้เข้าดูแลเพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เราคาดว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะถูกจำกัดด้วยสัญญาณดังกล่าวจากทางการเป็นสำคัญ ขณะที่ในภาพใหญ่ ตลาดจะรอผลการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้า ก่อนที่สภาพคล่องการซื้อขายมีแนวโน้มเบาบางลงเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

แปรรูปน้ำอ้อยอินทรีย์ ย่างก้าวที่พอเพียง บ.นางาม

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ ในการทำเกษตรตามความถนัดด้านการปลูกอ้อย มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาการแปรรูปน้ำอ้อยในอดีต ผลิตเป็นสินค้าเกษตรแบบมีอัตลักษณ์ของตัวเอง จนกลายเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง...จนผลิตไม่ทัน

“เดิมทีรุ่นปู่รุ่นย่าเราปลูกอ้อย หีบน้ำอ้อยแปรรูปเป็นน้ำตาลปึกไว้กินกันเอง แต่ต่อมามีการตั้งโรงงานขึ้นมาในพื้นที่ มีการเอาพันธุ์อ้อยใหม่มาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ชาวบ้านหันไปปลูกอ้อยส่งโรงงานกันมากขึ้น การหีบอ้อยไว้กินเองแบบโบราณ ค่อยๆ หายไป

ผมเองปลูกอ้อยมาหลายสิบปี แต่ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ เพราะเราเอาเงินเขามาก่อน เวลาขายอ้อยถูกหักหนี้พร้อมดอกเบี้ย เงินเลยเหลือไม่เท่าไร มานั่งคิดถึงรุ่นปู่ย่า เขาอยู่กันยังไง หีบอ้อยทำน้ำตาลกินเอง ไม่เคยเป็นหนี้ใคร เมื่อ 2 ปีก่อน เลยรวมกลุ่มในหมู่ญาติพี่น้อง 8 ครอบครัว กันพื้นที่ครอบครัวละหนึ่งงาน ปลูกอ้อยอินทรีย์ไว้ทำน้ำตาลกินเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ ยังคงปลูกอ้อยส่งโรงงานเหมือนเดิม”

สมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม เล่าถึงที่มาของการรื้อฟื้นวิถีชีวิตแบบเก่า...หลังจากนำอ้อยอินทรีย์มาหีบคั้นเอาน้ำอ้อยมาแปรรูปไว้กินเอง มีเหลือแจกจ่ายให้คนรู้จัก

ปรากฏว่า เป็นที่ชื่นชอบของคนที่ได้รับ ต่างต้องการจะซื้อไว้บ้าง เพราะติดใจในรสชาติ และกลิ่นที่หอมละมุนสดชื่น

ประจวบเหมาะกับลูกชายของสมบูรณ์ กำลังเรียนด้านธุรกิจการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นำเรื่องไปปรึกษาอาจารย์เพื่อจะนำน้ำอ้อยมาแปรรูปเป็นสินค้า ทางมหาวิทยาลัยให้ความสนใจ ส่งอาจารย์มาร่วมทำการศึกษาวิจัย พร้อมสนับสนุนเครื่องหีบอ้อยกึ่งอัตโนมัติแบบใหม่ กำลังการหีบชั่วโมงละ 1 ตันอ้อยสด มูลค่ากว่า 2 แสนบาท

พร้อมพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากน้ำอ้อยให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำเป็นน้ำตาลปึกแบบโบราณ และพัฒนากระบวนการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมาย อย.

ที่วันนี้มีทั้งน้ำอ้อยสด, น้ำตาลปึก, น้ำตาลก้อน, น้ำตาลผล และล่าสุด ไซรัปจากอ้อยอินทรีย์ ที่เพิ่งได้เครื่องหมายรับรอง อย. ไปเมื่อ 15 ต.ค.ที่ผ่านมานี่เอง

จากคนที่ได้รับแจกต้องการจะซื้อ และการบอกต่อๆกัน จนต้องถามหา ช่วงเวลาแค่ปีเดียว ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลอ้อยอินทรีย์ ที่เคยขายในตลาดชุมชน พัฒนาไปสู่ตลาดโอทอประดับอำเภอ ระดับจังหวัด ลูกค้าที่สนใจเรื่องสุขภาพสั่งซื้อเข้ามามาก

ในที่สุดได้ถูกนำไปวางขายในห้างเซ็นทรัล สาขาอุดรธานี ที่วันนี้ยังมีสาขาเดียว เพราะทางวิสาหกิจชุมชนผลิตให้ไม่ทัน... แม้แต่ลูกค้าจากต่างประเทศจะสั่งซื้อ ยังต้องปฏิเสธเพราะเกรงวัตถุดิบจะมีไม่พอส่งได้ตามออเดอร์ที่สั่งเข้ามา

“เราอยากจะก้าวไปอย่างช้าๆ แบบพอเพียง เพื่อจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจไปเรื่อยๆ ไม่อยากจะทำอะไรที่มันเกินตัว ไม่พอเพียง เพราะอาจจะเสี่ยงพลาดได้ จากที่เราเคยกันพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์ 2 ไร่ ปีหน้าเราคงจะต้องกันพื้นที่เพิ่มเป็นครอบครัวละ 20 ไร่ เพื่อจะได้อ้อยมาหีบแปรรูปเป็นสินค้าได้มากขึ้น ตามความต้องการของตลาด”

สนใจจะลิ้มชิมรสน้ำตาลอ้อยอินทรีย์แปรรูปของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม สอบถามกันได้ที่ 09-4186-4291, 08-1049-7891.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"กระทรวงพลังงาน" เล็งคลอดแผนพลังงานชาติเมษายน 64 รับ "EV"

"กระทรวงพลังงาน" เล็งคลอดแผนพลังงานรชาติเมษายน 64 รับ "EV" ด้านเอกชนแนะตั้งกองทุนฯ 2 ล้านล้านบาท

นายกุลิศ  สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ หรือแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ที่มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล และการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโควิด-19 (Covid-19) ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง น่าจะได้ข้อสรุปกลับมารายงานอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า และคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.2564 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป

“การจัดทำแผนดังกล่าวตะเป็นระดมสมองของคนรุ่นใหม่จากกระทรวงพลังงานรทั้ง 4 กรม  และจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 63 ที่มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานที่มี 5 แผนรวมเป็นแผนเดียวเพื่อให้เป็นเอกภาพและรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 และให้มีเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาวเพื่อให้แผนแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นปรับได้และรองรับยุคดิจิทัล ทั้งด้านภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนไป”

สำหรับแผนดังกล่าวจะต้องนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเป็นปีใด  หลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2593 จีนปี 2603 เป็นต้น ขณะเดียวกัน แผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573 โดยเทรนด์ของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV) และพลังงานหมุนเวียน (RE) มาแน่นอน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ดังนั้น การจัดทำแผนจะทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซฯ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรด้วย

“เดือนมีนาคมจะมีการจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังคงวามคิดเห็นต่อแผนที่ได้มีการบูรณาการออกมา  โดยถือเป็นมิติใหม่ของการทำแผนในการรวมกัน  ก่อนที่จะเดินหน้าไป  เราจะต้องมีการกำหนดกรอบ  ทิศทางก่อนว่าทิศทางของพลังงานโลกเป็นอย่างไร  ทิศทางของเศรษฐกิจ  ทิศทางของโควิด-19 จะเอามาปรับอย่างไรในการทำแผน  วันนี้เป็นการนับหนึ่งของการทำแผน  นำผู้ที่มีความรู้มาเป็นวิทยากร  ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม แผนพลังงานฯ ที่จะจัดทำใหม่ดังกล่าวจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และขณะเดียวกันจะมีการพิจารณปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% โดยการสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 หากพิจารณาที่อนาคตจะมีรถอีวี รถไฟฟ้า 13 สาย การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟสูงขึ้นได้ สำรองนี้อาจไม่เป็นปัญหาก็ได้ในระยะต่อไป ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากก็ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ก่อน

                "ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ ทั้งโรงไฟฟ้าเก่าและโรงไฟฟ้าใหม่  มีกำลังการผลิตอยู่ที่เท่าใด เปิดใช้งานมาแล้วกี่ปี มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าจะต้องปลดระวางกี่แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าอื่นด้วย​ ส่วนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใหม่น่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี​ 2564 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายชัดเจน  ถือเป็นการคิกออฟเพื่อแจกโจทย์ว่าพลังงานควรจะมีทิศทางอย่างไร”

                นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนพลังงานสร้างชาติ 2 ล้านล้านบาท  โดยเงินจำนวนดังกล่าวมาจากการคำนวณปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศไทยในปัจจุบัน  ซึ่งชนิดดีเซลอยู่ที่ประมาณ 55-60 ล้านลิตรต่อวัน เบนซินอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน  หากเปลี่ยนมาใช้ EV เต็มระบบ  ก็จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ หากทำ 30 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% จากการออกพันธบัตรรัฐบาลก็จะได้จำนวนเงินดังกล่าว  เพราะเป็นแนวทางที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี  จากวงเงิน 2 ล้านล้านบาทคาดว่าจะใช้ประมาณ 2 แสนล้านบาท  เพื่อขับเคลื่อน  หรือเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ อีวี  ส่วนอีก 1.8 แสนล้านบาทจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายด้าน เช่น 1.การเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  2.นำไปทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ต้องการการสร้างสถานีชาร์จประมาณ 2,000 สถานี  หากทำได้ดีจะใช้เงินไม่มากประมาณหลักหมื่นล้านบาท  และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น การสร้างความต้องการใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  

                “โรงกลั่นฯ ก็ต้องปรับตัวไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง เอทานอล และไบโอดีเซล จะได้รับผลกระทบจะเร็วหรือช้าก็ตาม ดังนั้นก็ต้องปรับไปสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพ อาทิ Oleochemicals ขณะที่พืชพลังงานก็เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

จับตา‘เงินนอก’ดันบาทแข็ง4%

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวถึงค่าเงินบาทว่า ดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยเงินบาทในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพบว่า แข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 4% และมีแนวโน้มจะทดสอบระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ช่วงปลายปี เนื่องจากเงินทุนยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติอยู่ในสถานซื้อสุทธิในตลาดหุ้นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตรเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาสั้นๆ หนึ่งเดือนเงินทุนระยะสั้นไหลเข้าแล้วเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นในช่วงปลายปี และมีการเทขายทำกำไรในช่วงปลายปีก่อนวันหยุดยาว เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนขอให้ติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนสถาบันต่างชาติเพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดการเงินของไทย

สภาวะเงินไหลเข้าดังกล่าวส่งผลต่อเงินบาทแข็งค่าและเป็นการยากในการใช้มาตรการสกัดการแข็งค่าอย่างได้ผล จึงเห็นว่าผู้ประกอบการส่งออกจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท

จาก https://www.naewna.com วันจันทร์ ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“สุพัฒนพงษ์” ชี้นายกสั่งหาแนวทางนำไทยกลับสู่กลุ่มผู้นำ "อาเซียน"

“สุพัฒนพงษ์” ชี้นายกสั่งหาแนวทางนำไทยกลับสู่กลุ่มผู้นำ "อาเซียน" เชื่อเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติได้ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวจนกลับเข้าสู่รูปแบบเดิม  หรือเป็นปกติก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 12-18 เดือนข้างหน้านี้  หรือเชื่อว่าจะใช้ระยะเวลาอีกไม่นาน

              ทั้งนี้  เนื่องจากหากมองไปที่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาต่างก็ระบุชัดเจนว่าดีขึ้นทุกภาคส่วน  โดยพบว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา  เพราะฉะนั้นการที่จะฟื้นตัวเข้าสู่ระบบปกติจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ยากเท่าใดนัก

              ขณะที่เรื่องของการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลก  หรือแม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ถือว่ามีความคืบหน้าไปได้มาก  โดยเมื่อวัคซีนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ  และสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว  จากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา  เศรษฐกิจก็จะกลับมาคึกคักมากขึ้น

              อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อในระยะต่อไปก็คือ  หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปเรียบร้อยแล้ว  ต้องการที่จะให้ประเทศไทยมีสภาพเศรษฐกิจ  หรือระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง  และเข้มแข็งมากกว่าที่ผ่านมา  ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้กลับไปสู่สภาพเศรษฐกิจก่อนโควิด-19 โดยเร็วเท่านั้น  โดยเป็นความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ระบุออกมาอย่างชัดเจน

“นี่เป็นโจทย์ที่ทีมงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกคน  รวมถึงตนด้วยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีม  จะต้องกลับไปหาแนวทาง  หรือทบทวนพิจารณาหามาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปในระยะข้างหน้า

              อย่างไรก็ดี  เชื่อว่าในช่วงต้นปี 64 น่าจะมีการสร้างความเข็งแข็งให้กับประเทศไทยได้มากไปกว่าเดิมหลังจากที่ผ่านพ้นสถานการณ์ทางด้านโควิด-19 ไปแล้วให้เป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียน  เหมือนกับที่ไทยเคยเป็นประเทศอันดับต้นของอาเซียนมาโดยตลอดเหมือนในอดีต

              “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร  คงต้องรอดูอีกสักระยะหนึ่งก่อน  เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในขณะนั้นให้มากที่สุด  ส่วนความกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 และอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงไปอีก  ในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่าการระบาดรอบ 2 คงจะไม่เกิดขึ้น  ด้วยความร่วมมือกันป้องกัน  และระมัดระวังของประชาชนคนไทยในประเทศ”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

การฟื้นตัวของประเทศอาเซียนปี 2021 ‘3 ปัจจัยบวก’ ของเศรษฐกิจโลก

1.คาดว่าวัคซีนอย่างน้อย 2 บริษัท คือ บริษัท Pfizer และ Moderna จะเริ่มผลิตและใช้ได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า และจะสามารถกระจายกว้างขวางไปประเทศต่าง ๆ ในปลายปี 2021 และทั่วถึงมากขึ้นในปี 2022

2.การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ จีน

3.นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวกดังกล่าวน่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าของประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งอาเซียน โดยแบงก์ออฟอเมริกาคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ จะขยายตัว 5.8% ในปี 2021 หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 3.7% ในปี 2020 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

1.การฟื้นตัวน่าจะมีระดับแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยที่สุด โดยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนและเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในปี 2020 (คาดว่าจะโต 2.4%) และจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2021

โดยจะขยายตัวถึง 9.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดที่ดี การส่งออกฟื้นตัว และที่สำคัญคือ ได้ประโยชน์จากการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ เพราะเวียดนามกลายเป็นจุดหมายที่บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากจีนและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

มาเลเซีย และสิงคโปร์คาดว่าการฟื้นตัวน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง ขยายตัว 8.2% และ 6.4% ตามลำดับ (เทียบกับปี 2020 คาดว่า -5.1% และ -5.7%) โดยฟื้นตัวจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และได้ประโยชน์จากภาคส่งออก สำหรับอินโดนีเซียนั้นการฟื้นตัวน่าจะอยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรงที่สุด คือ ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งกรณีของฟิลิปปินส์นั้นเป็นผลจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจภายในหดตัวสูง ประเทศไทยนั้นเป็นผลจากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น

2.โควิดทำให้ศักยภาพการขยายตัวของอาเซียนลดลงจาก 5% ต่อปี เป็น 4% ต่อปีใน 10 ปีข้างหน้า (2020-2030) จากการประเมินของธนาคารโลก ทั้งนี้ ประเทศที่แย่ลง คือ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของการลงทุนต่ำ และความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกมีแนวโน้มอ่อนแอลง ขณะที่เวียดนาม และมาเลเซียได้ประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิต

3.แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวในปี 2021 แต่ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิดจะฟื้นตัวช้ากว่า ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภค ตลาดแรงงาน และการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในช่วงหน้าหนาว ทำให้คาดว่าจะยังไม่สามารถเปิดประเทศจนกว่าจะครึ่งหลังของปี 2021

4.ผลจากโควิดทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และการใช้อินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้น โดยประเมินว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่มีถึง 40 ล้านรายในปี 2020 (เพิ่มจาก 25 ล้านต่อปี ในช่วงปี 2016-2019) และคาดว่าการใช้จ่ายออนไลน์ในอาเซียนจะขยายตัวได้ 24% ต่อปีใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย (คาดว่าจะมีมูลค่าการใช้จ่ายมากกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025)

5.นโยบายภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในปี 2021 โดยจะเห็นว่ารัฐบาลในเกือบทุกประเทศยังอัดฉีดเงินผ่านการขาดดุลการคลัง แม้ว่าจะมีการขาดดุลต่อจีดีพีน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2020 แต่อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด ส่วนนโยบายการเงินคาดว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอาเซียนจะคงระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดรอบใหม่จะมากแค่ไหน การพัฒนาวัคซีนจะเป็นไปตามคาดหรือไม่ และแรงอัดฉีดทางการคลังและการเงินของสหรัฐจะมีความต่อเนื่องหรือไม่

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 12 ธันวาคม 2563

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 โต 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 เติบโตดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยขยายตัว 2.6% ในกรณีพื้นฐาน หรืออยู่ในกรอบ 0.0-4.5% ขณะที่ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2563 มาเป็น -6.7%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้จะมองเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก 2.6% โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ถือว่าไม่สูงนักดังกล่าว สะท้อนภาพของความไม่แน่นอน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ท่ามกลางการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดที่ยังมีประเด็นเรื่องความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน ทำให้คาดว่าแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยคงจะทยอยทำได้อย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยการเมืองในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% ในปี 2563 นี้ โดยทิศทางการส่งออกที่ฟื้นตัวช้ามาจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 มีจำนวนราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ส่วนนโยบายการเงินนั้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าธปท.คงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหากปรากฏสัญญาณลบของการฟื้นตัว กนง.ก็ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ด้วยที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดกว่า เช่น การปรับปรุงโครงการ Soft Loans และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. เป็นต้น

ขณะที่ โจทย์สำคัญในภาคการเงิน คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่ มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปี 2564 นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า แม้อุตสาหกรรมหลักของไทยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 และเนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เส้นทางการฟื้นตัวจึงไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวช้าและมีประเด็นติดตามสำคัญ 3 อุตสาหกรรม คือ หนึ่ง ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะยังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด ทำให้ภาครัฐคงต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนและการ Warehouse สถานประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้ สอง อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่อาจยังมีประเด็นด้านสภาพคล่อง ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ และสาม รถยนต์ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้ ซึ่งภาพนี้ ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หากไม่ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 12 ธันวาคม 2563

"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" คุมเข้มอ้อยไฟไหม้ปนเข้าหีบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้กำชับให้คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนโรงงาน ผู้แทนชาวไร่ ผู้แทน สอน.เข้มงวดตรวจสอบการขนส่งอ้อยเข้าหีบกับโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง ที่ได้มีการเปิดหีบอ้อยประจำปีการผลิต 2563/64 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันแรก ว่าต้องพิจารณาให้ดีว่าเป็นอ้อยสดหรืออ้อยไฟไหม้อย่างเข้มงวด เนื่องจากมีความกังวลว่าจะมีการทุจริตนำอ้อยไฟไหม้มาคำนวณเป็นอ้อยสด ซึ่งมีผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก การส่งมอบอ้อยสดเข้าหีบในโรงงานน้ำตาล โดยให้ใช้เกณฑ์การตัดสิน หากมีอ้อยไฟไหม้แม้เพียงลำเดียว ให้ถือว่าเป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งคันทันที

และหากพบมีการทุจริตในการตรวจสอบอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อป้องกันการร้องเรียนเรื่องอ้อยสดเทียม เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เพื่อส่งเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลให้ได้มากที่สุด.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 11 ธันวาคม 2563

'พลังงาน' เมินเอกชนฟ้องดึงโควตาปั้นโรงไฟฟ้าขยายผล

“พลังงาน” ชง “สุพัฒนพงษ์” ต้นปี64 เคาะแผนซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เมินเอกชนจ่อฟ้องลิดรอนโควตาเอสพีพีไฮบริดฯ 100 เมกะวัตต์ ปั้นโรงไฟฟ้าขยายผล หั่นค่าไฟ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ Load forecast ใหม่ เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาลดลง โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวราว 10%

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ประเมินอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ทั้งปี 2563 จะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง -7.8 ถึง -7.3% ดังนั้น สนพ.ก็ต้องนำตัวเลขคาดการณ์ GDP ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา Load forecast ใหม่ ซึ่งหากได้ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำเสนอ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2564 อีกครั้ง ซึ่งเดิมคาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบกว่า 1,000 เมกะวัตต์

“ยังไม่มั่นใจว่าปีหน้า จะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้กี่เมกะวัตต์ แต่ตามแผน AEDP 2018 ก็ระบุประเภทเชื้อเพลิงไว้แล้ว มีลม,โซลาร์,ขยะ,ชีวมวลประชารัฐ และโรงไฟฟ้าขยายผล ก็ยังมีอยู่แต่จะเหลือกี่เมกะวัตต์ ก็ต้องรอจัดทำ Load forecast ใหม่ที่จะเสร็จสิ้นปีนี้ก่อน ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์นำร่อง ก็ยังเป็นไปตามนั้น”

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน เตรียมฟ้องร้องภาครัฐ หากตัดสิทธิ์ผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่เลยกำหนดเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปตั้งแต่ 13 ธ.ค.2562 เพื่อนำโควตาผลิตไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ มาจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล แทนนั้น

ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า โครงการนี้มีเจตนาดี เพราะไม่ต้องการให้โควตาผลิตไฟฟ้าในส่วนนี้ถูกตัดทิ้งไป แต่ควรนำมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win เดิม ที่มีความพร้อมผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ให้มาประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ที่กำหนดเพดานเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นภายใต้ต้นทนค่าไฟที่ต่ำลง

“เรายังไม่รู้ว่าเขาจะฟ้องทำไม ฟ้องประเด็นไหน เพราะถ้าเขาไม่สามารถเซ็น PPA หรือ COD ได้ตามกำหนด เขาก็ผิดเงื่อนไขกับรัฐ ฟ้องไปก็คงไม่เกิดผล”

รายงานข่าว ระบุว่า ภาคเอกชนกลุ่มหนึ่ง กำลังติดตามความชัดเจนโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ที่กระทรวงพลังงาน เปิดเผยข้อมูลในเบื้องต้นว่า เตรียมเปิดยื่นเสนอโครงการในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเอกชนบางส่วนมองว่าไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เคยสนใจยื่นเสนอแข่งขันโครงการ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ถูกตีตกไป เนื่องจากไม่ผ่านการแข่งขันในการเสนอค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการในส่วนนี้ที่มีความพร้อมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องถูกตัดสิทธิ์ เพราะรัฐกดราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สูญเสียโอกาส

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2560 จำนวน 42 โครงการ มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 755.3 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,062.2 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้ มีโครงการที่ผ่านการประเมินข้อเสนอด้านราคาและเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 17 โครงการ มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434.60 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์

แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถที่จะลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์ โดยโควตาส่วนนี้ จะนำไปให้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 ธันวาคม 2563

พาณิชย์นำอัตราภาษีอาร์เซ็ปขึ้นเว็ปไซต์ให้ผู้ประกอบการศึกษาการนำเข้า-ส่งออกสินค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ประกอบการไทยเร่งศึกษาอัตราภาษีศุลกากรประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ ผ่านเว็บไซต์ www.dtn.go.th ก่อนความตกลงมีผลบังคับใช้ ช่วงชิงความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอาร์เซ็ป ชี้ จะมีสินค้าไทยได้ประโยชน์มากกว่า FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป (RCEP ) และนำความตกลงอาร์เซ็ป ฉบับสมบูรณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.dtn.go.th ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยผู้ที่ต้องการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปสามารถสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรในแต่ละรายการสินค้าที่สมาชิกอาร์เซ็ปจัดเก็บระหว่างกันได้

สำหรับการสืบค้นข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่ประเทศสมาชิกอาร์เซป จะเก็บระหว่างกัน แบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้ 1. กรณีการนำสินค้าจากประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป เข้ามาไทย ส่วนใหญ่อัตราภาษีศุลกากรที่ไทยจะเก็บกับสมาชิกอาร์เซ็ปจะเหมือนกัน ยกเว้นบางรายการสินค้าที่ไทยระบุไว้ว่าไม่ผูกพันลดภาษีให้กับประเทศใด ในกรณีนี้ ไทยจะเก็บภาษีในอัตราทั่วไป เท่ากับที่เก็บกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

2.กรณีการส่งออกสินค้าจากไทยไปประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป จีนและเกาหลีใต้ได้จัดทำตารางข้อผูกพันภาษีศุลกากรสำหรับที่ลดให้กับอาเซียน และที่ลดให้กับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป อื่นที่ไม่ใช่อาเซียน โดยสามารถตรวจสอบอัตราภาษีที่ทั้งสองประเทศจัดเก็บกับสินค้าจากไทยในแต่ละปีได้ ในส่วนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ผูกพันที่จะลด ยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสมาชิกอาร์เซ็ป เหมือนกัน จึงมีตารางข้อผูกพันทางภาษีตารางเดียว สำหรับญี่ปุ่น แม้จะได้จัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีชุดเดียว แต่ในบางรายการสินค้า ญี่ปุ่นได้ลดภาษีที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกอาร์เซ็ป จึงได้มีการระบุอัตราภาษีที่แตกต่างกันในระหว่างสมาชิกไว้

นางอรมน กล่าวว่า แม้ไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ(FTA) กับทุกประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป  แยกออกจากกรอบอาเซียน แต่ความตกลงอาร์เซ็ป  ได้ให้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ โดยเฉพาะโอกาสเข้าสู่ตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าจากไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้าเกษตรไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น จากจีน อาทิ พริกไทย สับปะรดกระป๋อง น้ำสัปปะรด น้ำมะพร้าว จากญี่ปุ่น อาทิ ผักแปรรูป (มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง) แป้งสาคู ผลไม้สด/แห้ง/แช่แข็ง (ส้ม สับปะรด) น้ำมันถั่วเหลือง สินค้าประมง น้ำส้ม น้ำผลไม้ผสม และเกาหลีใต้ อาทิ ผลไม้สดหรือแห้ง (มังคุด ทุเรียน) ข้าวโพดหวานแปรรูป แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันรำข้าว สับปะรดแปรรูป น้ำสับปะรด และสินค้าประมง

นางอรมน กล่าวว่า  การที่ความตกลงอาร์เซ็ป  กำหนดให้สมาชิกใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันทั้ง 15 ประเทศ จากเดิมที่กฎถิ่นกำเนิดสินค้าจะแตกต่างกันไปตาม FTA ซึ่งช่วยให้การสะสมถิ่นกำเนิดทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ป  ยังมีความยืดหยุ่นขึ้น จึงเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ผลิตไทยสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งจากในและนอกภูมิภาคอาร์เซ็ป เช่น ในอาหารปรุงแต่ง (พิกัด 16) สามารถใช้แหล่งวัตถุดิบจากในและนอกประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป  ซึ่งง่ายกว่าความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ ที่จำกัดแหล่งวัตถุดิบต้องมาจากประเทศภาคีของความตกลงเท่านั้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจตรวจสอบข้อมูลหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง อาร์เซ็ป  สามารถสอบถามได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือ Call Center โทร. 0 2507 555

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 ธันวาคม 2563

เปิดผลงาน 3 ปี สทนช. เดินหน้าขับเคลื่อนทรัพยากรน้ำ

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ก่อตั้งมาครบรอบ 3 ปี ท่ามกลางภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ภายใต้การนำของ “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการ สทนช. ที่ต้องแบกรับภารและความหวังในการบริการจัดการน้ำทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สทนช.ได้บูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เป้าหมาย ตัวชี้วัด รวมทั้งการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการตลอดจนได้มีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบสำหรับการขยายผลให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ได้เห็นชอบ 6 แผนงาน/แนวทาง คือ 1.แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน 20 ปี ตั้งเป้าจัดระบบบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 780 แห่ง บำบัดได้ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)ต่อวัน ประชาชนได้ประโยชน์ 10 ล้านคน 2.แผนปฏิบัติการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562-2563 โดยก่อสร้างระบบประปา 20 แห่ง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 989,160 ลบ.ม.ต่อวัน ประชาชนได้ประโยชน์ 1 ล้านคน 3.แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสำคัญ 715 ชุมชน ประชาชนได้ประโยชน์ 7.82 ครัวเรือน 4.แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำต้นทุน จ.ภูเก็ต จำนวน 3 โครงการ 5.แผนบูรณาการอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนปี 2562-2563 เพื่อให้ระบบการพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำทันสมัย และ 6.แนวทางด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเร่งรัดก่อสร้าง ฟื้นฟู ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสีย เก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียตามผู้ก่อมลพิษ พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

นอกจากนี้ สทนช.ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญอีก 526 โครงการ โดยแบ่งเป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ โครงการที่ต้องเตรียมเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)  128 โครงการ และโครงการที่ต้องรายงานความก้าวหน้าต่อ กนช.ในภาพรวม 247 โครงการ พร้อมทั้งได้เสนอแผนงาน/โครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จำนวน 102 แผนงาน/ โครงการ วงเงินกว่า 14,223 ล้านบาท โดยได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แล้ว 31 โครงการ วงเงิน 882 ล้านบาท ที่เหลือ 71 โครงการอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม และบรรจุเข้าแผนเพื่อเสนอของงบประมาณวงเงิน 13,341 ล้านบาท ตลอดจนได้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปี 2563-2580 จำนวน 38 โครงการ วงเงิน 52,191 ล้านบาท ได้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 872 ล้าน  ปี ลบ.ม. โดยในจำนวนนี้  สทนช.ได้กำกับขับเคลื่อนโครงการไปแล้ว 16 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ    ในปี 2565 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 253.60 ล้าน ลบ.ม.

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา สทนช.ยังได้บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำและติดตามประเมินผลโครงการ ประกอบด้วย 1.ผลดำเนินงานแผนบูรณาการน้ำปี 2563 จำนวน 3,621 โครงการ งบประมาณ 56,711 ล้านบาท 2.งบกลางปี 2563 บูรณาการหน่วยงานจัดทำโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำฤดูฝนปี 2563 โดย ครม.ได้อนุมัติงบกลางจำนวน 30,985 โครงการ วงเงิน 28,831 ล้านบาท และนายกรัฐมนตรีอนุมัติอีก 69 โครงการ 24,59 ล้านบาท 3.จัดทำแผนปฏิบัติการด้านน้ำปี 2564 จำนวน 26,810 โครงการ วงเงิน 115,448  ล้านบาท 4.ติดตามประเมินผลโครงการตามแผนบูรณาการด้านน้ำปีงบประมาณ 2563 และงบกลางปี 2563 และ 5.Thai Water Plan เป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และพัฒนาระบบติดตามพร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงานแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำนวน 30,985 โครงการ วงเงิน 28,831 ล้านบาท

สำหรับการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 4 ในปี 2564 สทนช. จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี  โดยเฉพาะด้านที่ 1 น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านที่ 4 คุณภาพน้ำที่ต้องบูรณาการหน่วยงานเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการประปาหมู่บ้านในระยะ 20 ปี และเตรียมความพร้อมดำเนินการ รวมทั้งจะดำเนินการจัดแผนแม่บทลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและศักยภาพของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจน จัดทำแผนปฏิบัติการระยะสั้น ระยะปานกลาง ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดของแผนแม่บทลุ่มน้ำ เสนอแผนแม่บทลุ่มน้ำ แผนปฏิบัติการ แผนงานตามนโยบายรัฐบาลและการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งปรับปรุงการติดตาม ประเมินผลแผนงานและโครงการ โดยใช้เทคโนโลยี ผ่าน app Thai Water Plan   ซึ่งมีกลไกการติดตามระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อวิเคราะห์ สรุปรวบรวมเสนอต่อ กนช. และ ครม. ต่อไป

จาก https://www.siamturakij.com   วันที่ 11 ธันวาคม 2563

"สอน." การันตีรายได้ชาวไร่อ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน

“สอน.” การันตีรายได้ชาวไร่อ้อยไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน เผยฤดูการผลิตปี 63/64 เริ่มเปิดหีบ 10 ธันวาคม 63

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เตรียมความพร้อมก่อนเปิดหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยจะเริ่มเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ระยะเวลาหีบอ้อยประมาณ 100 วัน เนื่องจากมีปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ราว 67.04 ล้านตัน โดยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยสดเข้าหีบ ไม่น้อยกว่า 80% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด พร้อมเตรียมมาตรการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ การสนับสนุนเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมฟรี

และในกรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะมีรายได้รวมตันละไม่ต่ำว่า 1,000 บาทแน่นอน

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สอน. ยังได้กำชับและคาดโทษแก่คณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงาน ให้ตรวจสอบอ้อยเข้าหีบว่าเป็นอ้อยสดหรืออ้อยไฟไหม้ โดยใช้เกณฑ์ตัดสินว่าหากมีอ้อยไฟไหม้แม้เพียงลำเดียวให้ถือว่าเป็นอ้อยไฟไหม้ทั้งคัน และหากพบว่ามีการทุจริตในการตรวจสอบอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อป้องกันการร้องเรียนเรื่องอ้อยสดเทียม โดยสำนักงานจะไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง หรือ PM 2.5

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

จับตา ธปท.สู้ค่าเงินบาทแข็งไม่หยุด

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.00-30.30 มองดอลลาร์ทรงตัว จับตามาตรการ ธปท.

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.30 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.15 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 0.6 พันล้านบาท และ 3.3 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยคาดว่านักลงทุนจะซื้อขายอย่างระมัดระวังในสัปดาห์นี้ ซึ่งตลาดการเงินในประเทศเปิดทำการเพียง 2 วัน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า จุดสนใจหลักอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีมติเพิ่ม QE จำนวน 5 แสนล้านยูโร โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมดังกล่าวสอดคล้องกับการส่งสัญญาณจากอีซีบีในการประชุมเมื่อเดือนตุลาคม นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามบทสรุป Brexit โดยตลาดคาดว่าสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะบรรลุข้อตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย สะท้อนว่าความเสี่ยงด้านขาลงของเงินปอนด์ยังเปิดกว้างกรณีไม่เกิดดีล ส่วนปัจจัยอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่พุ่งสูงขึ้นมากในสหรัฐฯ และความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงท่ามกลางความหวังในเรื่องวัคซีนและมาตรการด้านการคลัง อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ เริ่มขาดแรงส่ง ในภาวะเช่นนี้ เราคาดว่าเงินดอลลาร์อาจทรงตัวที่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะชี้แจงมาตรการเพิ่มเติมในการปรับระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการดูแลเงินบาทในวันที่ 9 ธ.ค. เพื่ออธิบายการปรับสภาพแวดล้อมของตลาด โดยทางการระบุว่าได้ติดตามดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น ทางด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนพฤศจิกายน ลดลง 0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการติดลบน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.18% อนึ่ง เราคาดว่าการซื้อขายยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังจากท่าทีที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการดูแลค่าเงินบาทของธปท. แม้ว่านับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมเงินบาทแข็งค่าทิศทางเดียวกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ทั้งนี้ เงินวอนเกาหลีใต้ เงินหยวนจีน และเงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นราว 2.0%, 0.7% และ 0.3% ตามลำดับ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 ธันวาคม 2563

คาดเศรษฐกิจปีหน้าโตน้อย 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 โต 2.6% ปรับประมาณการจีดีพีปี 2563 มาเป็น -6.7%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้จะมองเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก 2.6% ในกรณีพื้นฐาน หรืออยู่ในกรอบ 0.0-4.5% ขณะที่ได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2563 มาเป็น -6.7%

โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ถือว่าไม่สูงนักดังกล่าว สะท้อนภาพของความไม่แน่นอน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดยังเป็นตัวกำหนดทิศทาง

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยการเมืองในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.0% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% ในปี 2563 นี้ โดยทิศทางการส่งออกที่ฟื้นตัวช้ามาจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 มีจำนวนราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ส่วนนโยบายการเงินนั้น นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าธปท.คงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ โดยหากปรากฏสัญญาณลบของการฟื้นตัว กนง.ก็ยังมีพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายอื่นๆ ด้วยที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดกว่า เช่น การปรับปรุงโครงการ Soft Loans และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. เป็นต้น ขณะที่ โจทย์สำคัญในภาคการเงิน คือ การดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่ มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปี 2564 นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า แม้อุตสาหกรรมหลักของไทยส่วนใหญ่จะฟื้นตัวเป็นบวก แต่ก็เป็นผลจากฐานที่ต่ำมากในปี 2563 และเนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีเงื่อนไขที่ต่างกัน เส้นทางการฟื้นตัวจึงไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวช้าและมีประเด็นติดตามสำคัญ 3 อุตสาหกรรม คือ หนึ่ง ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะยังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด ทำให้ภาครัฐคงต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนและการ Warehouse สถานประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้ สอง อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่อาจยังมีประเด็นด้านสภาพคล่อง ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ และสาม รถยนต์ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้ ซึ่งภาพนี้ ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่หากไม่ปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างถาวร

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 9 ธันวาคม 2563

“โรงงานน้ำตาล” ขอ “กอน.” เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเร็วกว่ากำหนด

 “โรงงานน้ำตาล” ขอ “กอน.” เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบเร็วกว่ากำหนด จับมือชาวไร่อ้อยร่วมลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามแผน

นายปราโมทย์  วิทยาสุข ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. เพื่อพิจารณาเลื่อนกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 เป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2563 เร็วขึ้นจากเดิมที่ กอน. มีมติให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

              ทั้งนี้ ด้วยปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะมีประมาณ 70 ล้านตัน ลดลงจาก 75 ล้านตันอ้อยในปีก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องวางแผนกับชาวไร่คู่สัญญา เพื่อบริหารจัดการด้านการจัดเก็บผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรม ทั้งแก่ชาวไร่จะมีรายได้ที่ดีจากการเพาะปลูกอ้อย และยังช่วยให้โรงงานสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพในอีกทางหนึ่งด้วย

              ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพยายามตอบสนองนโยบายภาครัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งมีเป้าหมายลดอ้อยไฟไหม้ในฤดูเก็บเกี่ยวนี้ เหลือไม่เกิน 20% โดยในช่วงก่อนการเปิดหีบอ้อยนั้น ฝ่ายไร่โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจแก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาและสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพกำลังการผลิตของโรงงานในการรับอ้อยเข้าหีบเพียงพอ จึงไม่จำเป็นที่ชาวไร่จะเร่งจัดเก็บผลผลิตด้วยวิธีการเผาอ้อยซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย

              “3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือขอเลื่อนการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้เร็วขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นเอกภาพ หลังจากโรงงานได้ร่วมวางแผนกับชาวไร่คู่สัญญาในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสอดคล้องความสามารถการหีบของโรงงาน เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยสดเข้าหีบสกัดเพื่อให้ได้ยิลด์ที่ดีและสร้างรายได้จากการเพาะปลูกให้แก่ชาวไร่ได้สูงสุด”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 ธันวาคม 2563

เมื่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจก้าวผ่านยุคการผลิตแบบจำนวนมาก(Moving Pass the Mass Production Era)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนนบริหารศาสตร์ (NIDA)www.econ.nida.ac.th; cdes.nida@gmail.com

การระบาดของโควิด-19 เป็นเสมือนปัจจัยเร่ง (Accelerared Factor) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจผนวกเข้ากับการพัฒนาทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านโทรคมนาคมการสื่อสารและการประมวลผล (Communication and Computing Technology) ทำให้โครงสร้างและการทำงานของกลไกตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลากหลายมิติ การแข่งขันที่ถูกขับเคลื่อนโดยผลิตภาพการผลิต (Production Productivity) เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงจากการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ดูเหมือนจะไม่ใช่รูปแบบของการแข่งขันในอนาคตอีกต่อไปแล้ว การตัดสินใจทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นด้านผู้ผลิต หรือผู้บริโภคในตลาดไม่ได้เป็นการตัดสินใจบนฐานของราคาถูกอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเป็นการตัดสินใจบนฐานความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึงการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีรายละเอียดในเชิงคุณภาพมากขึ้น ในส่วนของผู้ซื้อในตลาดก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้การส่งผ่านข้อมูลในกระบวนการแลกเปลี่ยน (Exchange Mechanism) ในตลาด ทำให้สามารถตรวจสอบราคาได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วอย่างทันที (Real time price revealation) ในขณะเดียวกัน ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคก็สามารถส่งผ่านไปถึงผู้ผลิตได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำลง เรียกได้ว่าการส่งผ่านของข้อมูลข่าวสารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของกลไกตลาดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากจนทำให้ต้นทุนธุรกรรม (Transaction Cost) ที่เกี่ยวข้องลดลงอย่างมาก การเติบโตของกิจกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดระหว่างประเทศจากการลดลงของต้นทุนธุรกรรม ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเสนออยู่ในตลาดได้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีต้นทุนของการเดินทางเพื่อเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่ตนต้องการมากที่สุดในราคาที่เหมาะสมที่สุด ในขณะเดียวกันผู้ผลิตก็สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตให้กับผู้ซื้อที่สนใจได้ในวงกว้างโดยไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงมาก โดยรวมการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในตลาด ซึ่งถ้าได้รับการกำกับดูแลที่ดีและเหมาะสม ไม่ปล่อยให้เกิดการใช้ช่องว่างที่เกิดขึ้นเพื่อการแสวงหา หรือสร้างอำนาจตลาด และใช้อำนาจตลาดเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกิน (หรือ Economic Rent) ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดได้

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันในตลาดซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้เล่นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้กำกับดูแลให้ตลาดสามารถดำเนินการตามกลไกการทำงานของตลาดและทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในระบบเศรษฐกิจ (Pareto Efficiency) ความคาดหวังให้เกิดการแข่งขันในโครงสร้างตลาดแบบตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ถูกท้าทายมากขึ้นเมื่อผู้ซื้อมีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น (ในภาษาทางการตลาดหมายถึงการแบ่งกลุ่มทางการตลาด หรือ Market Fragmentation) ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสามารถส่งผ่านความต้องการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการที่เหมือนหรือสอดคล้องกันมากขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การสื่อสารผ่านสื่อสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (Social Media) การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งครอบคลุมทั้งข้อมูลทั่วไปและข้อมูลส่วนตัว (Private Information) เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ถูกสื่อสารไปยังผู้ผลิตหรือผู้ขายทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการนั้นได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยผู้ซื้อมีความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to pay) ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตนมากขึ้น (ยินยอมจ่ายแพงขึ้น) เพื่อให้ได้รับความพึงพอใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรือบริการ) มีความหลากหลายมากขึ้น (Product Differentition) ผู้ผลิตสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นเช่นเดียวกัน ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ (Preferences) ของผู้บริโภคได้อย่างสอดคล้องมากขึ้นโดยผู้ผลิตต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สามารถระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Targeted Customer) ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบระบุเป้าหมาย (Target Marketing) ซึ่งทำให้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลใหญ่เกี่ยวกับลูกค้า (หรือผู้บริโภค) ดังนั้น การเข้าถึง การถือครอง และขีดความสามารถในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีแนวโน้มว่าความสามารถทางด้านข้อมูล ได้แก่ การเข้าถึง การครอบครอง และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่แตกต่างกันของผู้ผลิตในตลาดอาจส่งผลต่อโครงสร้างตลาดและการแข่งขันในตลาดได้ การผูกขาดทางด้านข้อมูลกลายเป็นเงื่อนไขของการมีอำนาจตลาดและการมีอำนาจผูกขาดได้ ซึ่งก็คงจะต้องมีการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อำนาจผูกขาดนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์ ขอบเขตการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการแข่งขันก็มีความจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ตลาดของสินค้าหรือบริการที่มีการแข่งขันด้วยการผลิตผลิตภัณฑ์เหมือนกัน (มีการทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์) เป็น Homogenous Product เน้นสร้างความได้เปรียบจากประสิทธิภาพการผลิตโดยการผลิตจำนวนมาก ๆ เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยต่ำลงจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทางเลือกหรือทางออกของผู้ผลิตทางหนึ่งคือ การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภค หรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่กำหนด การตัดสินใจเลือกขนาดของการผลิต และการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของภาคธุรกิจที่ต้องตัดสินใจในยุคต่อไปของการแข่งขัน ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นเพียงบางมิติเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตขนาดกลางขนาดย่อมจะมีทางเลือกในการแข่งขันมากขึ้น การเลือกขนาดที่เหมาะสมสอดคล้องกับตลาดเป้าหมายของธุรกิจ (พยายามกำหนด Firm-specific demand ของธุรกิจ) และการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านราคาจะเป็นรูปแบบการแข่งขันของตลาดมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เช่นในกรณีของผู้ส่งออก การแข่งขันเพื่อการส่งออกจะไม่ได้เป็นการแข่งขันเพื่อให้สามารถผลิตและขายได้ในราคาต่ำที่สุด แต่ผู้ผลิต (ผู้ส่งออก) ต้องสามารถเข้าใจความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเป้าหมาย อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ต้องการส่งออกไปที่ประเทศนี้ แต่ต้องกำหนดลงไปได้ด้วยว่าเป็นกลุ่มผู้ซื้อใดในประเทศนั้น ดังนั้น ในยุคต่อไป การแข่งขันจะไม่ได้เป็นการแข่งขันด้วยขนาดการผลิต แต่จะเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างความแตกต่างหลากหลาย เรียกว่าเป็นการแข่งขันด้วย Economies of Scope มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างความได้เปรียบภายใต้กลไกการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 8 ธันวาคม 2563

โรงงานน้ำตาลขอเลื่อนเปิดหีบอ้อยเป็น 10 ธ.ค.

โรงงานน้ำตาลทำหนังสือยื่น กอน.ขอเลื่อนกำหนดการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 เป็นวันที่ 10 ธ.ค. เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม พร้อมกางแผนแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ หวังลดให้เหลือไม่เกิน 20% ตามนโยบายภาครัฐ

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. เพื่อพิจารณาเลื่อนกำหนดวันเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 เป็นวันที่ 10 ธันวาคม 2563 เร็วขึ้นจากเดิมที่ กอน.มีมติให้โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ด้วยปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะมีประมาณ 70 ล้านตัน ลดลงจาก 75 ล้านตันอ้อยในปีก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต้องวางแผนกับชาวไร่คู่สัญญาเพื่อบริหารจัดการด้านการจัดเก็บผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรม ทั้งแก่ชาวไร่จะมีรายได้ที่ดีจากการเพาะปลูกอ้อย และยังช่วยให้โรงงานสามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพในอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีความมุ่งมั่นในการแก้ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบ

ต่อสิ่งแวดล้อมและพยายามตอบสนองนโยบายภาครัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งมีเป้าหมายลดอ้อยไฟไหม้ในฤดูเก็บเกี่ยวนี้เหลือไม่เกิน 20% โดยในช่วงก่อนการเปิดหีบอ้อยนั้นฝ่ายไร่โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งลงพื้นที่ทำความเข้าใจแก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาและสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพกำลังการผลิตของโรงงานในการรับอ้อยเข้าหีบเพียงพอ จึงไม่จำเป็นที่ชาวไร่จะเร่งจัดเก็บผลผลิตด้วยวิธีการเผาอ้อยซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย

“3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือขอเลื่อนการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้เร็วขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เป็นเอกภาพ หลังจากโรงงานได้ร่วมวางแผนกับชาวไร่คู่สัญญาในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสอดคล้องความสามารถการหีบของโรงงาน เพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยสดเข้าหีบสกัดเพื่อให้ได้ยิลด์ที่ดีและสร้างรายได้จากการเพาะปลูกให้แก่ชาวไร่ได้สูงสุด” นายปราโมทย์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 8 ธันวาคม 2563

ไร่อ้อยสารคามหันปลูกมันเงินประกันจูงใจ

ชาวไร่อ้อยมหาสารคามหันไปปลูกมันสำปะหลัง หลังรัฐบาลหนุนตัดอ้อยสดแทนตัดอ้อยไฟไหม้ ทำต้นทุนเกษตรกรพุ่งสูง หาแรงงานยาก เผยโครงการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสดตันละ 2,500 บาทจูงใจ

นายปราโมทย์ วัฒนะ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่าโครงการประกันรายได้ผลผลิตการเกษตรของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่ราคาตกต่ำปี 2563/2564 วงเงินรวม 9,789.98 ล้านบาท

เป็นการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน100 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ และไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปี2563/2564 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563-31 มีนาคม 2564

สำหรับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่มหาสารคาม เดิมจะอยู่ประมาณ 1.1 แสนไร่เศษ แต่ในขณะนี้มีเกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1.5 หมื่นรายและพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังกว่า 1.5 แสนไร่ ตัวเลขยังไม่นิ่ง ที่เกษตรกรให้ความสนใจกันมากคงเห็นว่ามันสำปะหลังน่าจะให้ผลผลิตและรายได้สูงกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น รัฐบาลก็มีการประกันรายได้ อีกทั้งตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจำนวนมาก

รายงานข่าวจากสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดมหาสารคามเปิดเผยว่า อ้อยโรงงานจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในภาคอีสาน จากข้อมูลพบว่า เกษตรกร 20 จังหวัดภาคอีสานปลูกอ้อยกว่า 6 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยสดกว่า 30 ล้านตัน แต่สำหรับผลผลิตอ้อยในปี 2563/2564 ประเมินว่าไม่น่าจะเกิน 28 ล้านตัน เนื่องจากฤดูกาลที่แล้ว ราคาอ้อยสดลดลงอยู่ที่ตันละ 750 บาท

โดยเป็นไปตามความต้องการการบริโภคของตลาดโลก ประกอบกับเกิดภาวะภัยแล้ง ผลผลิตอ้อยต่อไร่ลดลง ต้นทุนการตัดอ้อยสดสูงขึ้น เพราะนโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด ไม่อยากให้ตัดอ้อยไฟไหม้

แต่เกษตรกรบางพื้นที่ไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องจักรเข้าไม่ได้ ต้องจ้างแรงงานทำให้ต้นทุนสูง เกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนจึงหันไปปลูกพืชผลการเกษตรอย่างอื่นแทน อาทิ มันสำปะหลัง เป็นต้น ถึงแม้รัฐบาลจะสนับสนุนปัจจัยการผลิตเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท ในฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ก็ตาม เมื่อเกษตรกรหันไปปลูกพืชไร่ชนิดอื่นจึงทำให้ผลผลิตอ้อยโรงงานลดลง

สำหรับพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานในพื้นที่มหาสารคาม มีประมาณ 1.6 แสนไร่ผลผลิต 6-7 แสนตัน สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ผลผลิตน่าจะลดลงเหลือไม่น่าจะเกิน 3 แสนตัน เพราะเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากเห็นว่าโครงการประกันรายได้ผลผลิตการเกษตรช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท หรือตันละ 2,500 บาท มีรายได้สูงกว่าการปลูกอ้อยเมื่อเทียบผลผลิตรายได้ต่อไร่ ทำให้พื้นที่ปลูกมันในจังหวัดเพิ่มขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 ธันวาคม 2563

ค่าเงินบาท​ อ่อน​ค่า​ที่ 30.16 บาท​ วิเคราะห์​แนวโน้ม​วันนี้​ (8 ธ.ค.)​

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (8 ธ.ค.)​ ที่ 30.16 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.14 บาท/ดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) เปิด​เผ​ยว่า​ เงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (8 ธ.ค.)​ ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้​ คาดการณ์​กรอบเงินบาทวันนี้ที่ 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยตลาดอยู่ในช่วงปรับฐานในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ และดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวลง 0.2-0.3% โดยมีข่าวบวกสลับลบ ทั้งจากเรื่องทิศทางการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การเจรจาข้อตกลง Brexit และการการระบาดของไวรัสที่ไม่ดีขึ้นหลังล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 67 ล้านคนแล้ว

ส่วนในตลาดเงิน ปอนด์อังกฤษ (GBP) เป็นสกุลเงินที่ผันผวนมากที่สุด โดยราคาเคลื่อนไหวอยู่ระดับ 1-2% ระหว่างวัน ขณะที่ราคาปัจจุบัน 1.33 ดอลลาร์ใกล้เคียงระดับสูงที่สุดของปีนี้ จึงจำเป็นต้องมีข้อตกลงระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปจึงจะสามารถทรงตัวได้

ด้านอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ  10  ปีปรับตัวลง 5bps มาที่ระดับ 0.92% เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่รอติดตามทิศทางของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก

ภาพดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แม้โดนรวมจะเคลื่อนไหวกรอบแคบเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวของประเทศไทย มองว่าปริมาณการซื้อขายจากการค้าจะชะลอตัวลงในเดือนธันวาคม จุดที่น่าจับตาคือทิศทางของการเจรจาข้อตกลง Brexit ซึ่งถ้าไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ในที่สุดอาจทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้อีกครั้งในช่วงปลายปี

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 8 ธันวาคม 2563

เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64 900 บาทต่อตัน

ยังไม่สรุป ราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64 900 บาทต่อตัน ลุ้นรับฟังความคิดเห็น 18 ธ.ค.นี้ อาจจะได้เพิ่ม

โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย เผยราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิต 2563/64 มติการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 14/2563 วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สอน.1 สรุปได้ดังต่อไปนี้

1)กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 900 บาทต่อตัน คิดที่ 98.14% อ้างอิงจากเขตต่ำสุด (เขตเหนือ 2) ค่าความหวานอัตราปรับขึ้นลงทุกๆ 1 ซีซีเอส เท่ากับ 54 บาทต่อตัน (คำนวณจาก 6% ของราคาอ้อยขั้นต้น)

2)ให้ส่งหนังสือแจ้งถึงสถาบันชาวไร่อ้อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้าน (ถ้ามี) ต่อราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/64 ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

หมายเหตุ : การรับฟังความคิดเห็นและข้อคัดค้าน (ถ้ามี) ในวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 09:00 น.อาจทำให้ราคาอ้อยมากกว่า 900 บาทต่อตัน เนื่องจากค่าคำนวณราคาเฉลี่ยประมาณ 930 บาทต่อตัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 ธันวาคม 2563

WTO เปิดประชุมทางไกล ทบทวนนโยบายการค้าและการลงทุนไทย

ไทยโชว์ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบาย 4.0 พร้อม EEC หวังช่วยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เวที WTO ชมไทยรับมือโควิดดี – ความสำเร็จการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ด้านการบิน นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ ‘BCG Economy’ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การการค้าโลก (WTO) จัดการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย (Trade Policy Review: TPR) ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อทบทวนนโยบายการค้าและการลงทุนของไทยในช่วงปี 2558-2562

ซึ่งมีนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ปฏิบัติราชการประจำที่ส่วนกลาง) เป็นหัวหน้าผู้แทนไทย ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และความสำเร็จของไทยในการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ เช่น การถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (ใบเหลือง) ในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing)

การถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยด้านการบินระหว่างประเทศ (ปลดธงแดง) ของ International Civil Aviation Organisation (ICAO) การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Economy) และการพัฒนาความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศสมาชิก WTO จำนวน 44 ประเทศ ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายการค้าการลงทุนของไทย โดยส่วนใหญ่ชื่นชมไทยที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และดำเนินนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของไทยเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

แต่ยังคงมีประเทศสมาชิกบางส่วนแสดงความกังวลถึงการปกป้องภาคเกษตรของไทยด้วยมาตรการภาษี รวมถึงมีข้อเสนอแนะในประเด็นที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น อาทิ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคบริการได้มากขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่มีความซับซ้อน และการปรับปรุงระบบพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไทยใช้โอกาสนี้ชี้แจงและตอบข้อกังวลต่างๆ ประเทศสมาชิก และยืนยันว่าการดำเนินนโยบายและมาตรการของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส และสอดคล้องกับความตกลงภายใต้ WTO โดยเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 การลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายเศรษฐกิจฐานราก และการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ”

ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 ประเทศ เป็นเวทีในการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศและลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการค้า โดยการทบทวนนโยบายการค้าเป็นหนึ่งในพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน การสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุน โดยไทยมีกำหนดทบทวนทุก 5 ปี และการทบทวนครั้งต่อไปจะถูกจัดขึ้นในปี 2568

จาก  https://www.prachachat.net  วันที่ 7 ธันวาคม 2563

ปธ.หอการค้าหนุนรัฐบาลฟื้นถกFTAไทย-อียู

ประธานกรรมการหอการค้าไทย หนุน รัฐบาลฟื้นเจรจาFTAไทย-อียู เชื่อเป็นโอกาสดีกับการส่งออก,ขยายตลาดการค้าไทย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะเดินหน้าการเจรจาFTAไทย-อียู เพราะจะทำให้ไทยขยายตลาดสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากอียูถือเป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรมาก

นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากการลดภาษีหรือยกเว้นภาษีระหว่างกัน รวมทั้งไทยจะได้ประโยชน์ในด้านการลงทุนจากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อไทยเดินหน้าการเจรจาFTAไทย-อียู ก็ยิ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ การเงิน และประกันภัย

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาในประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงทั้งเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางUPOV1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก สิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องชัดเจน

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 6 ธันวาคม 2563

จับตามาตรการดูแลเงินบาทของธปท. 9 ธ.ค.นี้

กสิกรไทย คาดเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ จับตามาตรการดูแลเงินบาทธปท. สถานการณ์การเมืองและโควิด-19 ในไทย

รายงานข่าวจากธนาคาร กสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเมินกรอบ ค่าเงินบาท สัปดาห์หน้า (7-11 ธ.ค.) เคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการดูแลเงินบาทระยะที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีชี้แจงต่อสื่อมวลชนในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ปัจจัยทางการเมืองและสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป และการประชุมอียู ซัมมิท และข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน พ.ย. ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงขายท่ามกลางความหวังต่อการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ประกอบกับมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องที่สะท้อนจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ การจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISM ภาคบริการเดือน พ.ย. ที่ออกมาดีน้อยกว่าที่ตลาดคาดก็เป็นปัจจัยกดดันเงินดอลลาร์ ด้วยเช่นกัน ทำให้เงินบาทปิดตลาดวันที่ 4 ธ.ค.ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พาณิชย์ คาด "เงินเฟ้อ” ปี 64 ขยายตัว1.2%

พาณิชย์ เผย “เงินเฟ้อ” หดตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือนของปีนี้ หลังราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น คาดเงินเฟ้อทั้งปี 63 จะติดลบ 0.87% ส่วนปี 64 ตั้งเป้าบวก 1.2% มีค่าเฉลี่ย 0.7-1.7% 

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2563 ลดลง 0.04% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2563 และลดลง 0.41% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และหดตัวน้อยสุดในรอบ 9 เดือนของปีนี้ แสดงว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะเราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง ที่มีผลช่วยได้มาก ส่วนเงินเฟ้อ 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) ลดลง 0.90% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 0.18% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562 เฉลี่ย 11 เดือน เพิ่มขึ้น 0.29%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในอัตราที่ดีขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.70% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.85% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 0.18% ผักสด เพิ่ม 17.28% ผลไม้สด เพิ่ม 1% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.46% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.14% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.32% นอกบ้าน เพิ่ม 0.70% แต่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 3.39%

ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.64% มีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวฉุดหลัก คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 13.30% เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลด 0.18% เคหสถาน ลด 0.15% การสื่อสาร ลด 0.02% บันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.24% แต่ค่าโดยสารสาธารณะ ไม่เปลี่ยนแปลง การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.04% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.08%

ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย.2563 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 215 รายการ เช่น เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู มะเขือ พริกสด ต้นหอม กะหล่ำปลี ขิง กล้วยน้ำว้า และข้าวราดแกง เป็นต้น มีสินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ และลดลง 139 รายการ เช่น แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 แก๊สโซฮอลล์ E20 ก๊าซหุงต้ม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และมะม่วง เป็นต้น 

“เงินเฟ้อเดือนพ.ย.2563 ติดลบน้อยลง เพราะสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปีที่แล้ว ฐานราคาต่ำ ทำให้เดือนนี้ราคาเลยขึ้นสูง ขณะที่กลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยหดตัวน้อยสุดในรอบ 9 เดือน แต่น้ำมันก็ยังคงเป็นตัวฉุดให้เงินเฟ้ออยู่ในแดนลบ และคาดว่าจะเริ่มขยับขึ้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ราคายังทรงตัวและลดลง จึงไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว   

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2563 คาดว่า จะติดลบที่ 0.87% บวกลบไม่เกิน 0.02% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 0.7% ถึงลบ 1.5% ส่วนเงินเฟ้อปี 2564 ประเมินว่าจะกลับมาเป็นบวกที่ 1.2% มีช่วงคาดการณ์อยู่ที่บวก 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโต 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อให้กลับมาเป็นบวก มาจากความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รัฐบาลยังคงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง และฐานปี 2563 อยู่ในระดับต่ำ จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2564 ขยับเป็นบวกได้สูงกว่าปกติ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"จุรินทร์" จ่อชง ครม.อนุมัติงบแก้หนี้-ฟื้นฟูเกษตรกร

“จุรินทร์” ลุย แก้หนี้เกษตรกร บุคคลค้ำประกัน ตามก.ม.ใหม่ จ่อชง ครม.อนุมัติงบกลาง แก้ปํญหาหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร เพิ่มเติมจากงบของกองทุนฯที่จัดสรรไว้แล้ว 2,055 ล้านบาท

4 ธันวาคม 2563 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3  ธ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือแก้หนี้เกษตรกร ให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และการฟื้นฟูให้เกษตรกรกลับมายืนอยู่ได้โดยไม่กลับไปสู่วงจรหนี้ รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูฯให้เป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้กองทุนฯสามารถเข้าไปซื้อหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมที่ไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติในเรื่องสำคัญๆ ดังนี้

1.เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คณะกรรมการบริหารหรือเลขาธิการกองทุน มีอำนาจผ่อนผันหรือขยายเวลาการใช้คืนเงินต้นได้หากเป็นกรณีที่เกษตรกรประสบเหตุภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือเหตุสุดวิสัย

2.เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการจัดการหนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเก็บค่าเช่าซื้อ หรือระยะเวลาการเช่าซื้อ ให้แก่เกษตรกรในกรณีที่เกษตรประสบหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่นๆ

3.เห็นชอบให้ดำเนินการจัดการหนี้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้และผ่านการเห็นชอบจากอนุกรรมการจังหวัด จำนวน 3,648 ราย และเกษตรกรที่เป็นหนี้ NPA (หลักทรัพย์ประกันที่เจ้าหนี้ขายทอดตลาด) จำนวน 314 ราย

4.เห็นชอบให้เสนอครม. 1) พิจารณาการขยายกรอบวงเงินซื้อทรัพย์สินรอการขายทอดตลาด (NPA )และชำระหนี้เสีย (NPL) คงเหลือ จากเดิมไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท เป็นไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องตามมติครม. ตั้งแต่ปี 2552 และ 2555 ที่ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปแก้หนี้แก้เกษตรกร จำนวนรวม 4,083 ราย แต่ด้วยการดำเนินงานที่ล่าช้า กอปรกับมีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค จนทำให้กองทุนฯไม่สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรเหล่านี้ให้รักษาที่ทำกินไว้ได้ 2) พิจารณาอนุมัติงบกลาง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร เพิ่มเติมจากงบของกองทุนฯที่จัดสรรไว้แล้ว 2,055 ล้านบาท

นางสาวรัชดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่พอกพูนจนถึงระดับที่ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟู เป็นเป้าหมายของคณะกรรมการกองทุน ซึ่งที่ผ่านมา ยังคงมีเกษตรกรจำนวนมากที่แม้จะขึ้นทะเบียนกับกองทุนฯแล้ว แต่กองทุนฯก็ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทั้งหมด เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งที่เป็นระเบียบ และงบประมาณ โดยนายจุรินทร์ รองนายกฯ ได้สั่งการให้แก้ไขข้อจำกัดต่างๆ และเร่งดำเนินการวางแผนแก้หนี้และฟื้นฟูทั้งหมด

ทั้งนี้ จากการที่ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯได้ปรับแก้ ให้อำนาจกองทุนฯเข้าไปซื้อหนี้ประเภทบุคคลค้ำประกันได้ จะทำให้เกษตรกรจำนวน 1.29 แสนราย ได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งมติฯที่ให้อำนาจสำนักงานกองทุนฯ ผ่อนผันหรือขยายเวลาการชำระคืนเงินต้น จะเป็นการต่อลมหายใจบรรเทาภาระของเกษตรจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวม 2 หมื่นกว่าราย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

‘สุพัฒนพงษ์’หนุนพลังงานทดแทน พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 หัวข้อ “Move Forwards to Smart Industry by ESCO” ว่า ปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการวางแผนจัดหาพลังงานในระยะยาว อีกทั้งความสามารถในการจัดหาแหล่งพลังงานฟอสซิลเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้นในหลายๆ ประเทศ

ประเทศไทยจึงควรที่จะเร่งหันมาส่งเสริมพลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดการพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ตลอดจนการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์และขยายผลในวงกว้าง ลดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการระบบข้อมูลงานวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานให้เหมาะสมมีความทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประเทศ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์จริงให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงสนับสนุนทรัพยากร และพัฒนาการดำเนินงานด้านวิชาการ เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตไม่เหมือนเดิม ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานจนกลายเป็นวิถีความปกติใหม่ (New Normal)

สำหรับภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร Big Data ตลอดจนการเชื่อมโยงอุปกรณ์และระบบต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต นำไปสู่ Smart Industry อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวไปข้างหน้าสู่ Smart Industry ได้นั้น ควรเร่งพัฒนาบุคลากรให้สามารถจัดการกับ DisruptiveTechnology ต่างๆ ได้ เร่งเรียนรู้นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์ ด้านระบบอัตโนมัติ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (ElectricVehicle) และด้านเทคโนโลยีของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ตลอดจนปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลาง สามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้า การผลิต การขาย และทางเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้ ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค (Prosumer)

ทั้งนี้ในงานสัมมนา Thailand ESCO Fair 2020 เป็นโอกาสที่จะได้นำผลงานความสำเร็จต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกของ ESCO มาเผยแพร่สู่สาธารณชน เปิดโอกาสให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน และพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

งานสัมมนาฯอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำหรับผู้ประกอบการด้วยบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สนับสนุนโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงพลังงาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : จุดเปลี่ยนการบริหารทรัพยากรน้ำ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 หน่วยงานด้านน้ำหน่วยงานใหม่ได้จัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 46/2560 ภายใต้ชื่อ “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ทั้งนี้เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ของหน่วยงานด้านน้ำ โดยจะทำหน้าที่ในการบูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ผ่านไป 3 ปี ก้าวขึ้นปีที่ 4 ผลงานสทนช.เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากเดิมที่หลายคนมองว่า สทนช.จะเป็แค่เสือกระดาษทำอะไรไม่ได้แน่นอน!!!!

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. คนแรกและคนปัจจุบัน สามารถนำทัพขับเคลื่อนภายใต้ขีดจำกัดในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงาน สถานที่ทำงานกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน การหวงงานดึงหรือถ่วงเรื่องจะของงานเดิม เป็นต้น แต่ก็สามารถขับเคลื่อนผลออกได้อย่างน่าพอใจ

ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งมี 5แผนงานและอีก 1 แนวทาง คือ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำเสียชุมชน 20 ปี แผนปฏิบัติการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562-2563 แผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน แผนปฏิบัติการด้านการจัดการน้ำต้นทุน จ.ภูเก็ต แผนบูรณาการอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนปี 2562-2563 และแนวทางด้านการจัดการคุณภาพน้ำ

นอกจากนี้ สทนช.ยังได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญอีก 526 โครงการ ในจำนวนนี้เป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถึง151 โครงการ รวมทั้งยังได้บูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณด้านทรัพยากรน้ำและติดตามประเมินผลโครงการรวมๆ แล้วมากกว่า 50,000 โครงการ มูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท

ทุกโครงการมุ่งประโยชน์สู่งสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ก็เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ สทนช.ผลักดันจนประสบผลสำเร็จ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง หรือ กฎหมายลูก เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งในเรื่อง การใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูอนุรักษ์ และการรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำไปในทิศทางเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติที่มีความสมดุลและยั่งยืน

พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ….. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกฉบับแรกได้ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยจะแบ่งลุ่มน้ำใหม่จาก 25 ลุ่มน้ำเหลือ 22 ลุ่มน้ำ และกฎหมายลูกอีกฉบับคือ กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ........ กำลังอยู่ขั้นตอนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง และเป็นธรรม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ค่าเงินบาท​ ทรงตัว​ที่​ 30.19 บาท​ วิเคราะห์​แนวโน้ม​วันนี้​ (4 ธ.ค.)​

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (4 ธ.ค.)​ ที่ 30.19 บาท/ดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) เปิด​เผ​ยว่า​ เงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (4 ธ.ค.)​ ที่ 30.19 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ทั้ง​นี้​ คาดการณ์​กรอบเงินบาทวันนี้ที่ 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์

โดย​ตลาดการเงินเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงคืนที่ผ่านมา เห็นได้จากดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ปรับตัวลง 0.1% และดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปิดไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงราคาน้ำมันดิบและทองคำที่ปรับตัวขึ้น 0.5 ถึง 0.8% สะท้อนภาพการอ่อนค่าของดอลลาร์และความเชื่อว่ากลุ่ม OPEC+ จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต

ส่วนฝั่งเศรษฐกิจ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. initial jobless claims) ปรับตัวลงมากกว่าคาด 6.6 หมื่นตำแหน่งมาที่ระดับ 7.12 แสนตำแหน่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (U.S. ISM Services Index) กลับปรับตัวลงมาที่ระดับ 55.9 จุดเช่นกัน จึงทำให้นักลงทุนไม่วางใจในภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

ด้านตลาดเงินดัชนีดอลลาร์ทยอยปรับตัวลงต่อ 0.5% โดยกลับเป็นสกุลเงินหลักอย่างเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่ามากที่สุด ขณะที่อัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลง 2bps มาที่ 0.92% สะท้อนภาพนักลงทุนที่ระวังตัวเพื่อรอการประกาศตัวเลขตลาดแรงงานในสหรัฐคืนนี้

“ส่วนเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีทั้งแรงซื้อดอลลาร์ของนักลงทุนในประเทศสลับกับแรงขายของผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงรอดูกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นหลัก เชื่อว่าจุดเปลี่ยนจะอยู่ที่ตลาดหุ้นโลก ซึ่งมีโอกาสผันผวนในช่วงที่เหลือของเดือนธันวาคม” ดร.จิ​ติ​พล​กล่าว​

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

กกร. ปรับคาดการณ์GDPไทยดีขึ้น-6ถึง-7%

กกร.ปรับคาดการร์GDP ไทยปี63 ดีขึ้น-6ถึง-7% เช่นเดียวกับส่งออกไทยคาดทั้งปีติดลบน้อยลงที่-7ถึง-8% ส่วนปี2564 คาดGDPไทย อยู่ที่2-4% ส่งออกไทยขยายตัว2-5%

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุมกกร.ว่า  ที่ประชุมมีมติปรับคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ดีขึ้น โดยที่ GDP ปี 2563 จะหดตัวในกรอบ -6% ถึง -7% จากเดิมที่คาดการณ์ที่-7%ถึง-9 %ขณะที่การส่งออกจะหดตัวในกรอบ -7% ถึง -8% จากเดิม-8%ถึง-10%ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะหดตัวอยู่ในกรอบ -0.9% ถึง -1%  จากเดิม -1% ถึง-1.5%   โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกและไทยในไตรมาสที่สี่ปี 2563 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม ส่วนความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นบวกต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ  เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงโค้งสุดท้ายของไตรมาสที่สี่ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวมีสัญญาณแผ่วลง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้นภายหลังจากการกลับมาระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ

สำหรับปี 2564 แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.0% ถึง 4.0% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.8% ถึง 1.2%

อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ  โดยภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ในหลังจากมีการใช้วัคซีนในวงกว้างในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังน่าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 10 ของ GDP ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด รวมถึงตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง

“ภาครัฐยังต้องเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือนที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็นในการประคับประคองเศรษฐกิจประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึง ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว”

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทยได้มาเสนอใน ที่ประชุม กกร. ขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอ 2 มาตรการ  1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับกรณีหนี้คงเหลือเดิมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2%  พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี และขอวงเงินสนับสนุนเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจไทย อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาท/โรงแรม ในอัตราดอกเบี้ย 2% ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี  เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้ บสย. หรือรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท 2. มาตรการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้างร้อยละ 50 Co-payment เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างพนักงานเดิมจำนวน 200,000 คน (จำนวนไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี   ทั้งนี้ขอให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการใช้จ่ายของภาครัฐและเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

พาณิชย์กางแผนปีหน้า ผุด343กิจกรรมดันส่งออกโต4%

พาณิชย์ กางแผนส่งออกปีหน้า ผุด 343 กิจกรรมช่วยดันส่งออกโต 4% พร้อมเปิดฉากถกเอฟทีเอ 5 เวที เพิ่มแข่งขันทางการค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำแผนส่งเสริมและผลักดันการส่งออกปี 64 เสร็จแล้ว โดยจะมีการทำงานร่วมกับเอกชนในการดำเนินกิจกรรม 343 กิจกรรม แบ่งเป็นกิจกรรมในประเทศ 135 กิจกรรม และต่างประเทศ 208 กิจกรรม  เพื่อผลักดันการส่งออกปีหน้าให้เติบโตถึง 4% ขณะเดียวกัน จะเร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบสินค้า เช่น ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่รอขออนุมัติกรอบเจรจาจาก ครม.  เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) กำลังเริ่มศึกษาแล้ว ขณะที่เอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย  เอฟทีเอไทย-เอฟต้า รวมทั้งเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ไทยมีแผนจะดำเนินการในปีหน้า

ทั้งนี้ มีตัวอย่างกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด นำสินค้าตัวอย่างไปโชว์ และเจรจาซื้อขายทางออนไลน์ และการผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ เช่น แอมะซอน ในตลาดสิงคโปร์ และสหรัฐ ลอตเต ในตลาดเกาหลีใต้ ทีมอล เครืออาลีบาบา ในตลาดจีน บิ๊กบาสเกตในตลาดอินเดีย  

จาก  https://www.dailynews.co.th   วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563

“พาณิชย์”ย้ำ FTA ไทย – อียู ดันส่งออกไทยเพิ่ม2แสนลบ.ต่อปี

พาณิชย์ เผยผลศึกษา FTA ไทย-อียู  ชี้ ช่วยส่งออกสินค้าไปอียูจะเพิ่มกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี รายได้เกษตรกรเพิ่ม 1.1 % คนจนลดลง 2.7 แสนคน แต่ยังมีประเด็นต้องหารือทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด ย้ำผู้บริโภคจะได้ประโยชน์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายให้กรมฯ ศึกษาและเตรียมการเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) เพื่อเสนอระดับนโยบายพิจารณา โดยเมื่อช่วงกลางปี 2562 กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียู ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้ว กรมฯ จึงได้นำผลการศึกษาเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมฯ www.dtn.go.th เพื่อผู้ที่สนใจสามารถใช้ประโยชน์จากรายงานการศึกษาดังกล่าว

สำหรับ ผลการศึกษาประเมินว่า หากไทยและอียู (27 ประเทศ) ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมดแล้ว จะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% (2.16 แสนล้านบาท) ต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81%  (2.09 แสนล้านบาท) ต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

นอกจากนี้ การเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% (8.01 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ จากการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบประเด็นท้าทายสำคัญของ FTA ที่อียูทำกับประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทาง UPOV 1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเรื่องการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อ SMEs มากนัก เนื่องจากโครงการที่ SMEs เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล

“ประโยชน์และผลกระทบจากการศึกษาดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานเชิงวิชาการ ซึ่งในทางปฏิบัติ กรมฯ ยังจำเป็นต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดทำท่าทีการเจรจาแต่ละประเด็นมีความรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์ภาพรวมกับประเทศสูงสุด รวมทั้งการหาแนวทางรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น” นางอรมนเสริม

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,036 ตัวอย่าง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การนำเข้าสินค้าจากอียูจะทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขันให้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และเห็นว่าหากไม่เปิดเสรีการค้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยล้าหลัง

ทั้งนี้ ในปี 2562 อียู (27 ประเทศ ไม่นับสหราชอาณาจักร) เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้ารวม 38,227.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ระบบขนส่งด้านศุลกากร ออนไลน์ใหม่ของอาเซียนและสหภาพยุโรป เพิ่มการค้าในภูมิภาคอาเซียน

ปัจจุบันภาคเอกชนในอาเซียนสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ใหม่อันทรงพลัง นั่นคือ ระบบการขนส่งด้านศุลกากรของอาเซียน (ASEAN Customs Transit System หรือ ACTS) ซึ่งจะลดอุปสรรคในการค้าภายในกลุ่มสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อให้บริษัทต่างๆได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเคลื่อนย้ายสินค้าได้อย่างมีอิสระตลอดทั่วภูมิภาคอาเซียน

โดยในปี พ.ศ.2560 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งเป้าหมายสองเป้าหมายที่เหมือนกันในการลดค่าใช้จ่ายด้านธุรกรรมการค้าลงถึง 10% ภายในปี 2563 และเพิ่มการค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นสองเท่าภายในปี 2560 ถึง 2563 เมื่อตระหนักถึงเป้าหมายนี้ จึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งด้านภาษีของอาเซียนเพื่อทำให้ภาคธุรกิจยื่นการแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าโดยตรงกับหน่วยงานด้านศุลกากรของอาเซียน และติดตามการเคลื่อนย้ายสินค้าจากการบรรทุกจากสถานที่นำสินค้าออกมาจนถึงจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า

นายดาโต๊ะ ลิม จ็อค ฮอย เลขาธิการอาเซียนเปิดเผยว่า การนำระบบ ASEAN Customs Transit System มาบังคับใช้ จึงมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างราบรื่นในภูมิภาค ผมเชื่อว่า ระบบนี้จะเป็นเครื่องมือยอดเยี่ยมในการเพิ่มการค้าและเครือข่ายการผลิตของอาเซียน เช่นเดียวกับการจัดตั้งตลาดที่รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้นสำหรับบริษัทและผู้บริโภค ระบบ ACTS ยังอาจช่วยการฟื้นฟูทางการค้าหลังวิกฤติโควิด-19 โดยการเร่งการเคลื่อนย้ายการขนส่งอุปกรณ์การแพทย์ วัคซีน และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลระหว่างประเทศสมาชิก

สำหรับระบบการขนส่งด้านศุลกรทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และคุ้มค่าต่อการลงทุน ภายใต้ระบบ ACTS นั้น ภาคเอกชนสามารถแจ้งด้านศุลกากรครั้งเดียวสำหรับการขนส่งสินค้า ซึ่งจะครอบคลุมการขนส่งสินค้าทั้งหมดในประเทศอาเซียนหลายประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งด้านศุลกากรซ้ำ หรือเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งทุกจุดพรมแดนของแต่ละประเทศ การจัดการเป็นพิเศษเช่นนี้ ทำให้ผู้ค้าที่น่าไว้ใจ สามารถบรรทุกสินค้าในสถานที่ตั้งของตนในประเทศที่เดินทางออก และส่งสินค้าไปยังสถานที่ตั้งของตน ณ จุดหมายปลายทาง พิธีการศุลกากรที่รวดเร็วขึ้น ณ พรมแดนช่วยเร่งการเคลื่อนย้ายสินค้าให้ไวขึ้น และช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายของการดำเนินการค้าในภูมิภาคในสินค้า เป็นประโยชน์กับผู้ผลิตและผู้บริโภคตลอดภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ระบบได้รับการจัดการโดยทีมถาวรในการจัดการศูนย์กลางของ ACTS ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ต้า โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ EU-funded ARISE Plus มีแผนกให้ความช่วยเหลือระบบ ACTS ทั้งในประเทศและในภูมิภาค (ดู https://acts.asean.org)

นายคูน ดูนส์ (Koen Doens) ผู้อำนวยการใหญ่ด้านความร่วมมือและการพัฒนาระหว่างประเทศ แห่งคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ระบบ ACTS คือความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่มั่นคง มีพลัง และมีมายาวนานระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยระบบ ACTS ช่วยให้การเคลื่อนย้ายสินค้าทางถนนเป็นไปได้ง่ายดายขึ้นและรวดเร็วขึ้นตลอดพรมแดนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วม ดังนั้น จึงลดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจและประชาชน สมาคมยุโรปมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับอาเซียนเพื่อทำให้ระบบ ACTS เป็นความจริง โดยการเสนอผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและเงิน 10 ล้านยูโรตั้งแต่ปี 2555 เพิ่มเติมจากเงินลงทุน 5 ล้านยูโรของพันธมิตรอาเซียน

ทั้งนี้ ARISE Plus ให้การฝึกอบรมมากมายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบ ACTS ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านศุลกากร หน่วยงานการขนส่งของรัฐ ผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ผู้ขนส่งสินค้า และบริษัทประกันภัย หลังการทดลองใช้งานระบบ ASEAN Customs Transit System ในกัมพูชา ลาว มาเลย์เซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียตนาม ในปัจจุบันได้มีการเริ่มใช้งานระบบอย่างเป็นทางการสำหรับการใช้งานทั่วไป ความสำเร็จแรกของขบวนการการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยระบบ ACTS เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 23 และวันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม โดยมีรถบรรทุกเดินทางจากสิงคโปร์ผ่านมาเลเซียมายังประเทศไทย และ จะมีระบบใช้งานในเมียนม่าในเร็วๆนี้ รวมถึงอาจขยายต่อไปยังบรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขึ้นอยู่กับความต้องทางธุรกิจ

"เรารู้สึกตื่นเต้นที่มีระบบ ASEAN Customs Transit System ใช้งาน” Mr.Yukki Nugrahawan Chairman of the ASEAN Federation of Forwarders Associations (AFFA) กล่าว ชุมชนการขนส่งจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากระบบนี้ เนื่องจากเป็นระบบที่เสนอขั้นตอนการควบคุมการขนส่งและศุลกากรที่ง่ายดายกับสมาชิกลุ่มประเทศอาเซียนมากมาย และเสนอเวลาการส่งสินค้าถึงที่ที่สามารถคาดการได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ระบบ ACTS จะเร่งการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเห็นได้ชัดเจนตลอดภูมิภาค และช่วยให้เราลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของการค้าข้ามพรมแดนในอาเซียน”

สำหรับ ASEAN Customs Transit System เป็นระบบออนไลน์ที่ได้รับการพัฒนาโดยอาเซียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากสหภาพยุโรปภายใต้โครงการ RISE Plus โดยรายละเอียดทั้งหมด สามารถดูได้ที่ https://acts.asean.org ซึ่งรวมถึงวิดีโอโปรโมชัน แผ่นพับที่สามารถดาวน์โหลดได้ คู่มือแบบสั้น กรอบการทำงานด้านกฎหมาย และคู่มือการดำเนินงานสำหรับภาคเอกชน

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ธปท.แก้บาทแข็งค่า แย้ม9ธ.ค.เล็งงัดมาตรการเพิ่ม

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของเงินบาท โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่แข็งค่าขึ้นมาก(แตะราว 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)จากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่า ธปท. ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ธปท. เตรียมเปิดเผยสถานการณ์และความคืบหน้าของมาตรการดูแลค่าบาทที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ และเตรียมเปิดเผยมาตรการเพิ่มซึ่งจะออกมาเป็นแพ็กเกจในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยนไทย

ส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2563 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนกันยายน 2563 จากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน หลังปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งจากผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น โดยละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวจากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกหมวด เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษในเดือนก่อนหมดลง ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อนจากผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้นทั้งการจ้างงาน รายได้ของครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประกอบกับได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐต่อเนื่อง

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 5.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 5.0 โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้า หดตัวร้อยละ 12.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 9.9 โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนสอดคล้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

'อธิบดี พพ.'ชี้ทิศทางพลังงาน ไฟฟ้าชุมชน-รถอีวีมาแน่

รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล-ชีวภาพ) ด้วยการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)

ตามที่เป็นข่าวไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ (ชีวมวล-ชีวภาพ) ด้วยการเปิดรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)  คาดว่าจะเปิดขายซองประกวดราคาในเดือน ม.ค.64 จากนั้นเดือน ก.พ.จะให้เอกชนยื่นข้อเสนอและคัดเลือกโครงการภายในเดือน มี.ค. 64

เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ทีมข่าว “1/4 Special Report” จึงต้องคุยกับ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในฐานะเจ้าภาพโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งมุมมองต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

สร้างโรงไฟฟ้ากระตุ้นศก.ช่วงโควิด

ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชนชีวมวล-ชีวภาพ เราคุยกันมาตลอดกับภาคเอกชนและชุมชน แต่สำหรับโครงการ 150 เมกะวัตต์ มีเหตุผลเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากภาวะโควิด-19 หรือหลังจากโควิด-19 แต่เศรษฐกิจยังถดถอย มีปัญหาคนว่างงาน ถึงแม้จะมีวัคซีน แต่ปัญหาเศรษฐกิจคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดังนั้นโครงการนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น

เนื่องจาก 1 โรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 65-70 ล้านบาท ถ้า 150 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 9,750-10,500 ล้านบาท จะพยายามกระจายไปทุกภาค ขนาดโรงละ 3 เมกะวัตต์ (บวก-ลบ) น่าจะได้ประมาณ 40-50 โรง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการปลูก เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชป้อนโรงไฟฟ้า 1.5-2 แสนไร่

โดย 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พื้นที่ปลูก 1,000 ไร่ เมื่อปลูกก็ต้องมีการเก็บเกี่ยว มีการจ้างงาน ตรงไหนเป็นที่ดินรกร้าง หรือที่นาดอน ก็มาเข้าร่วมปลูกพืชป้อนโรงไฟฟ้า เช่น หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด และไม้โตเร็ว เช่น ไผ่ กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส

“ประมูล” เพื่อการแข่งขัน-ลดภาระค่าไฟ

สำหรับโครงการนี้จะใช้วิธีประมูลคัดเลือกนักลงทุน โดยต้องระบุรายละเอียดไว้ทั้งค่าสร้างโรงไฟฟ้า และค่าเชื้อเพลิงแบบไม่มีการลดราคา โรงไฟฟ้าต้องรับซื้อพืชจากชุมชนในลักษณะการันตีราคาและปริมาณรับซื้อ ไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวนที่จะใช้ ผู้ปลูกจะมีรายได้ไร่ละ 4,000-8,000 บาท/ปี  ถ้า 150 เมกะวัตต์ ต้องซื้อพืชเชื้อเพลิง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็นรายได้ในชุมชนที่แน่นอนทุกปี และช่วยสร้างงานได้หลายหมื่นคน

ส่วนเงินลงทุนนั้น ผู้ประกอบการลงทุนทั้งหมด แล้วให้หุ้นลม หรือหุ้นบุริมสิทธิ์ 10% กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม และรู้สึกว่าเป็นเจ้าของด้วย แต่ต่อไปถ้าขายพืชเชื้อเพลิงแล้วมีเงินเก็บ อยากจะซื้อหุ้นเพิ่มก็ทำได้เช่นกัน

“หลักการโครงการนี้ระบุชัดเจน คือ 1. ผู้ประกอบการต้องให้หุ้นกับชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วม 2. ต้องรับซื้อเชื้อเพลิงจากชุมชน แต่มีความยืดหยุ่นให้ว่า 80% ต้องซื้อจากชุมชน ก็จะเกิดความผูกพันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน มีเชื้อเพลิงที่แน่นอน ไม่ได้แย่งชิงเชื้อเพลิงจากที่อื่น หรือไปตัดไม้ทำลายป่า แต่ให้อิสระโรงไฟฟ้ากับชุมชนให้ตกลงกันเรื่องผลประโยชน์ อาจเป็นการตั้งกองทุน หรือทำโครงการสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ แล้วแต่เขาตกลงกัน”

ดร.ประเสริฐ ระบุด้วยว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนหลายรายให้ความสนใจ ตอนแรกคิดกันว่าจะคัดเลือกอย่างไรเพื่อให้ได้ 40-45 โรงไฟฟ้า จะใช้ทางด้านเทคนิค ข้อเสนอโครงการ ผู้ประกอบการมีความพร้อม-เงินลงทุน-เทคโนโลยี-ประสบการณ์-วิสาหกิจชุมชน หรือว่าใช้วิธีการประมูล แต่สุดท้ายเราเลือกแบบประมูล เหตุผลที่ต้องใช้การประมูล เพื่อลดผลกระทบกับภาระค่าไฟของประชาชน ใครเสนอต่ำสุด ผลิตไฟฟ้าได้ราคาถูกที่สุดจะได้รับเลือก

“ถ้าใช้ด้านเทคนิค  จะมีดุลพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง กรรมการมองไม่เหมือนกัน คงมีการฟ้องร้องตามมาแน่ จึงต้องประมูล โดยไฟที่ผลิตได้การไฟฟ้าฯจะเป็นผู้รับซื้อ และสะท้อนไปยังต้นทุนค่าไฟในภาพรวม ทำให้ค่าไฟ ค่าเอฟทีสูงขึ้น 0.3-0.4 สตางค์/หน่วย อาจจะไม่มาก แต่ถ้ามองหลายเรื่อง ปัจจุบันเรามีภาระค่าไฟจากการซื้อพลังงานทดแทนกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี คิดเป็นค่าไฟ 29 สตางค์ ดังนั้นเฟสแรก 150 เมกะวัตต์ โครงการนำร่องอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ในแง่ต้นทุนค่าไฟ แต่ถ้ามันเวิร์ก และรัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1,000-2,000 เมกะวัตต์ จะเป็นภาระค่าไฟเพิ่มขึ้นอีก 7-8 สตางค์/หน่วย”

อธิบดี พพ.ย้ำว่าโครงการนี้ใครจะประมูลกี่โรงก็ได้แล้วแต่ความพร้อม แต่ถ้าเคลียร์กับชาวบ้านยังไม่ได้ ก็ไม่ต้องมา เพราะโรงไฟฟ้าเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม-ผังเมือง-ข้อกำหนดการตั้งโรงไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ว่าต้องทำอะไรบ้าง

ส่วนในระเบียบการประมูล จะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยเพื่อป้องกันคนที่มาประมูลดัมพ์ราคาแล้วไม่ทำจริง อย่ามาดัมพ์ราคาเพื่อสร้างสตอรี่ไปอวดตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนตัวมองว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ตื่นเต้นกับเรื่องนี้เท่าไหร่เพราะผลตอบแทนที่คิดกันไว้ไม่มาก 8-10% ต่อปี ดังนั้นอาจจะ 10-12 ปีคืนทุน ยกเว้นสามารถปลูกพืชพลังงานได้ดี ประสิทธิภาพเครื่องจักรดีมาก บริหารจัดการดี อาจคืนทุนได้เร็วกว่านี้ แต่ถ้าได้ 8 ปีถือว่าเก่งแล้ว

หัวเลี้ยวหัวต่อ “โซลาร์-รถอีวี” มาแน่!

สำหรับทิศทางการใช้พลังงานต่อจากนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะ 5-10 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1. แผงโซลาร์เซลล์ เปลี่ยนแสงแดดเป็นไฟฟ้า การลงทุนเมื่อ 10 ปีก่อนอยู่ที่ 150 ล้านบาท/1 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบัน 15-20 ล้านบาท/เมกะวัตต์ คือถ้า 15 ล้านบาทวางแผงโซลาร์ฯบนพื้น ถ้า 20 ล้านบาทวางไว้บนหลังคาบ้าน ใช้งาน 20 ปี ค่าไฟจากแสงแดดถูกมาก 0.70-1.20 บาท/หน่วย ขณะที่ปัจจุบันเราต้องจ่ายค่าไฟ 4 บาท/หน่วย  

2. คนถามอีกว่าประเทศไทยมีแดดแรงเฉลี่ยวันละ 4 ชม.ครึ่ง แล้วกลางคืนจะใช้ไฟที่ไหน คำตอบคือแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน กำลังมาแรง! จากเดิมทั้งระบบ 50 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ปัจจุบันเหลือ 10 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ถ้าเอาแผงโซลาร์ฯกับแบตฯ มาทำงานร่วมกัน ค่าไฟจะแค่ 3.20 บาท/หน่วย แต่อีก 5 ปีหน้า ทั้งระบบเหลือ 1.60-1.80 บาท/หน่วย ถูกกว่าไฟฟ้าจากพลังงานลม ถูกจนปฏิเสธไม่ได้ ถ้าไม่ติดแผงโซลาร์ฯ คุณก็จ่ายค่าไฟ 4 บาท/หน่วย ไปก็แล้วกัน

หลายคนบอกไม่มีเงินติดแผงโซลาร์ฯ+แบตฯ นั่นไม่ใช่ประเด็น! เพราะมีบริษัทเอกชนพร้อมลงทุน แล้วขายไฟให้ในราคาถูกกว่าการไฟฟ้าฯ ต่อไปการไฟฟ้าฯ บอกได้คำเดียวว่า “เหนื่อย” และการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะไม่สมเหตุผลแล้ว

3. “อีวี” คือรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่ไฮบริด ปัจจุบันผมจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ 2 บาท/กม. ถ้าใช้รถไฟฟ้าเต็มรูปแบบเหลือกม.ละ 50 สตางค์ และรถไฟฟ้าของจีนขายคันละ 1.2 ล้านบาท จีนทำราคาถูกลงเรื่อย ๆ แต่ที่น่ากลัวคือโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยยังเฉย ๆ เพราะถ้าทำรถไฟฟ้า บรรดาบริษัทลูกและโรงงานชิ้นส่วน-อะไหล่-อุปกรณ์ บ้างก็เป็นธุรกิจขนาดย่อมของคนไทย และคนงาน 5 แสนคน จะไปทำอะไร? เนื่องจากโครงสร้างรถยนต์เปลี่ยนเกือบทั้งหมด

แต่ถ้า “จีน” มา! เพราะไม่มีกำแพงภาษีตามข้อตกลงการค้าอาเซียน-ไชน่า อีก 1-2 ปี รถยนต์ไฟฟ้าโมเดลประมาณรถอัลติส-ซีวิค จะเหลือ 6-7 แสนบาท และอีก 5 ปี รถยนต์ไฟฟ้าเยอะแน่ คราวนี้ค่ายรถใหญ่ ๆ อยู่เฉยไม่ได้ เพราะจีนมาแล้ว

เมื่อถามว่าอยากทำอะไรช่วงที่เป็นอธิบดี พพ. ดร.ประเสริฐ ตอบว่า อยากแก้กฎระเบียบเรื่องซื้อ-ขายไฟ และการติดแผงโซลาร์ฯให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพื่อหน่วยงานราชการจะได้ใช้ไฟถูกลง รัฐไม่ต้องเสียเงินลงทุน แต่ให้เอกชนมาทำ หากหน่วยงานรัฐใช้ไฟไม่หมด เพราะหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ขายไฟกลับคืนไปได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีระเบียบอยู่พอสมควร ถ้าสามารถคุยกับราชพัสดุ-กรมบัญชีกลาง-สำนักงบประมาณ ช่วยปรับแก้กฎระเบียบได้ ภาระค่าไฟหน่วยงานรัฐจะลดลง

ส่วนอีกเรื่องคืออยากให้ภาครัฐกระตุ้นให้เกิด“ดีมานด์”การใช้รถไฟฟ้า เพื่อให้มีการสร้างแบตฯ ส่วนประกอบรถ และระบบการควบคุม เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการกล้าตัดสินใจลงทุนทำรถไฟฟ้า ซึ่งในบ้านเราอาจทำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก่อน เนื่องจากมีความพร้อมอยู่แล้ว 2-3 บริษัท ขายคันละ 6 หมื่นกว่าบาท ตรงนี้ต้องผลิตให้ได้คุณภาพ มาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าจะยี่ห้อไหนต้องวางแบตฯในขนาดเท่ากันได้

โดยอาจนำร่องใช้กับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ต้องอุดหนุนให้ราคารถเหลือคันละ 4 หมื่นบาท แล้วมีแบตฯเปลี่ยน คือมีแบตฯอีกตัวคอยชาร์จไว้สลับใช้ กรม พพ. อาจจะชวน ปตท.-บางจาก-การไฟฟ้าฯมาทำเรื่องแบตฯ ตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเสียงกับมลพิษ ส่วนพี่ ๆ วินมอเตอร์ไซค์จะเหลือเงินมากขึ้น ก็ต้องไปสอบถามว่าจะมีกี่วินสนใจเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้รวมไปถึงรถที่วิ่งในมหาวิทยาลัย จะสนับสนุนให้ใช้รถไฟฟ้า กับรถสี่ล้อแดง จ.เชียงใหม่ รถตุ๊กตุ๊ก รถสองแถวในพัทยา ปีหน้าอาจทำได้เลย เนื่องจากทำง่ายเพราะวิ่งอยู่ในวงรอบจำกัด และรถราชการ ซึ่งความยากไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี ต้องคุยกับสำนักงบประมาณ ถ้าซื้อรถไฟฟ้าต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้นในตอนซื้อ แต่ตอนชาร์จค่าเชื้อเพลิงมันถูกกว่า และต้องเป็นรถไฟฟ้าที่สร้างในประเทศ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการพัฒนาที่เข้มแข็งขึ้น

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563