|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนธันวาคม 2565] |
ลอบเผาอ้อย 2.3 ล้านตัน ทำฝุ่น PM2.5 หวั่นหนักกว่า 3 ปีที่แล้ว
กระทรวงอุตสาหกรรม กังวลสถานการณ์ฝุ่นพิษจากการเผาอ้อยแย่กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ทำโควิดระบาดรุนแรง-ทุบท่องเที่ยวไทยที่เพิ่งลืมตาอ้าปาก ซ้ำเติมประชาชน หลังพบเปิดหีบแล้ว 21 วัน ลอบเผาอ้อยมากถึง 2.3 ล้านตัน เร่งประสาน กระทรวงมหาดไทย ชี้เป้าสกัดจุดเผาซ้ำซาก เดินหน้าแผนลดอ้อยไฟไหม้เหลือในฤดูหีบ 65/66 บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากปัญหาฝุ่นพิษ
วันที่ 24 ธันวาคม 2565 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึง แผนปฏิบัติการเร่งด่วนกำหนดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ. 2562 -2567 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ว่า หลังจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเริ่มเดินหน้าเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต 2565/2566 ในโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566
ล่าสุดพบว่าระหว่างที่ 1-21 ธันวาคม 2565 มีการลักลอบเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลมากถึง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 25.70% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 9.09 ล้านตัน
ปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผาในฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า 5 จังหวัดที่มีการเผามากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 3.532 ล้านตัน อุดรธานี 2.649 ล้านตัน กาฬสินธุ์ 2.359 ล้านตัน ขอนแก่น 1.952 ล้านตัน และเพชรบูรณ์ 1.950 ล้านตัน และสำหรับ 5 จังหวัดที่สามารถบริหารจัดการควบคุมการลักลอบเผาได้ดีที่สุด คือ จังหวัดสุโขทัย 0.059 ล้านตัน อุตรดิตถ์ 0.064 ล้านตัน ราชบุรี 0.070 ล้านตัน ประจวบคีรีขันธ์ 0.073 ล้านตัน และพิษณุโลก 0.078 ล้านตัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สอน. ในการนำอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิต 2564/2565 พบว่า กลุ่มโรงงานที่มีการรับอ้อยถูกเผาเข้าหีบสูงสุด คือ โรงงานในกลุ่มบริษัทมิตรผล 5.36 ล้านตัน กลุ่มบริษัทไทยรุ่งเรือง 3.86 ล้านตัน กลุ่มบริษัทน้ำตาลขอนแก่น 2.27 ล้านตัน ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดควันไฟที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในทั่วพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงพื้นที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น และพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (ประมาณการณ์อ้อยที่ถูกลับลอบเผา 10 ล้านตัน เสมือนกับการ เผาป่า 1 ล้านไร่)
โดยคาดการณ์ฤดูหีบอ้อยปี 2565/2566 จะมีปริมาณอ้อยสูงถึง 106 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2564/2565 ซึ่งอยู่ที่ 92.07 ล้านตัน หากการลักลอบเผาอ้อยไม่ลดลง เท่ากับว่าปีนี้สภาพมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากการหีบอ้อยในฤดูท่องเที่ยวเทศกาลตั้งแต่ก่อนปีใหม่จนถึงหลังสงกรานต์ จะวิกฤตกว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก
อีกทั้งประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีผลงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศค้นพบความเชื่อมโยงกันว่า เมื่อประชาชนหายใจสูดฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เข้มข้น จะส่งผลให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลง โรคโควิด-19 ระบาดได้ง่ายขึ้น ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง และนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น
นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 60 ล้านคนแล้ว การเผาอ้อยยังส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัว ล่าสุดรัฐบาลตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 ไว้ที่ 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ซึ่งทะลุ 10 ล้านคนแล้ว ณ เวลานี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงต้องไม่เป็นภาระต่อสังคมเศรษฐกิจ ทำลายบรรยากาศในการดึงดูดการท่องเที่ยว ทำให้สภาพอากาศของไทยแย่ลงในช่วงไฮซีซั่นหลายเดือนจากนี้
นายภานุวัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่ผ่านมา ได้มีการหารือในมาตรการจัดการลักลอบเผาอ้อยก่อนส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลอย่างจริงจัง แต่พบว่า ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร เพราะเพียง 21 วันที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีการลักลอบเผาอ้อยไปแล้วมากถึง 2.3 ล้านตัน
ดังนั้น หลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะยกระดับการบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สอน. จะแจ้งข้อมูลจุดที่มีการลับลอบเผาอ้อยซ้ำซาก เพื่อให้หน่วยงานปกครองสามารถป้องปรามการลักลอบเผา และเร่งดับไฟได้ทันท่วงที รวมทั้งขอร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อหามาตรการสนับสนุนการไม่รับอ้อยที่ถูกเผาเข้าหีบฤดูการผลิตนี้
สำหรับสถิติการลักลอบเผาอ้อยอันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในช่วง 3 ปีการผลิตที่ผ่านมา พบว่า ปี 2562/2563 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 37.18 ล้านตัน ปี 2563/2564 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 17.61 ล้านตัน และปี 2564/2565 มีอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 25.12 ล้านตัน
ขณะที่ฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2565/2566 คาดการณ์ปริมาณอ้อยรวมจะสูงถึง 106 ล้านตัน หากโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ผลกระทบฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่จะเกิดกับภาคเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพพี่น้องคนไทยกว่า 60 ล้านคน จะแย่กว่า 3 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 24 ธันวาคม 2565
มิตรผล ชู BCG ปลุกอีสาน ต่อยอดธุรกิจกระตุ้นลงทุนนวัตกรรม
ปิดฉากไปแล้วสำหรับงานมหกรรมและนวัตกรรม Isan BCG Expo 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน นำโดยบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) และกลุ่มมิตรผล ร่วมกับ 50 เครือข่ายพันธมิตร
พร้อมการเปิดตัวแนะนำ อาคารแก่น หรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ อาคารสูง 28 ชั้น ใจกลางเมืองขอนแก่น ย่านถนนศรีจันทร์ หลังจากกลุ่มมิตรผลซื้อที่ดินพร้อมอาคารร้างนานกว่า 23 ปีของ กลุ่มโฆษะ มาพลิกฟื้นเมื่อปี 2560
หลังการตรวจสอบความมั่นคงทางโครงสร้างวิศวกรรมอย่างรอบคอบ ได้มีการออกแบบให้กลายเป็นอาคารอเนกประสงค์แบบ multiused บนพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตร มีการวางสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยผสมผสานอัตลักษณ์ความงามของท้องถิ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า มุ่งสู่การเป็น แก่น แห่งศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคอีสาน
โดยอาคาร แก่น เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรม ด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ open innovation ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมการบ่มเพาะนวัตกรรมรุ่นใหม่
นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ชั้น 9 ของอาคาร ยังมีศูนย์นวัตกรรมและวิจัยของกลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยพื้นที่แสดงผลงาน สินค้า การจัดประชุม และโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen) มีคาเฟ่ ร้านอาหาร และจุดชมวิวเมืองขอนแก่น 360 องศา ณ สกายบริดจ์ (Sky Bridge) ชั้น 28
กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด (KKIC) เปิดเผยว่า การจัดงาน Isan BCG Expo 2022 ใช้เงินลงทุนเพียง 25 ล้านบาท ขณะที่ภายในงานมีกว่า 300 บูท ถือเป็นความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกัน
จุดประสงค์หลัก เพื่อใช้จังหวัดขอนแก่นเป็นเจ้าบ้านดึงคนในภาคอีสานมาร่วมมือกันผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ซึ่งคนในพื้นที่เก่งอยู่แล้ว แต่รายได้จากภาคเกษตรยังน้อย ถ้านำเรื่องนวัตกรรมเข้าไปช่วยในภาคเกษตรแล้วประสบความสำเร็จจะเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้แก้จนได้ทันที โดยภาคเอกชนที่เข้ามาจะช่วยให้เกิดการลงทุนและเงินสะพัดในพื้นที่ตามมา
นอกจากนี้ ภาคอีสานมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีทรัพยากรหลากหลาย แต่การแข่งขันในด้านการท่องเที่ยวกับภูมิภาคอื่นอาจจะลำบาก เพราะแต่ละจังหวัดไม่มีกำลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
ยกตัวอย่าง ด้านการท่องเที่ยว หลายจังหวัดมีขนาดเล็กและเป็นเมืองรองมีจุดเด่นที่น่าสนใจเพียงไม่กี่จังหวัด เช่น ร้านกาแฟดีอยู่ในนครพนม สายมูจะเป็นจังหวัดบึงกาฬ ธรรมชาติริมแม่น้ำโขงมีไม่กี่จังหวัด รายได้ของประชากรต่อหัวในภาคอีสานค่อนข้างน้อย
ขณะที่ภาคอีสานต้องพัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันกับคนอื่นให้ได้ ดังนั้น ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับเครือข่ายหอการค้า 20 จังหวัดในภาคอีสานผลักดันเรื่อง BCG เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้คนสนใจเข้ามาลงทุนด้านอื่นมากกว่าธุรกิจท่องเที่ยว
ความร่วมมือกันสำคัญที่สุด ถ้ารวมตัวกันทำการตลาดจะเป็นภูมิภาคที่แข็งแรงมากกว่าเดินไปคนเดียวเพียงลำพัง เรื่องอื่นเราอาจจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ทัน แต่เรื่องอาหารเราชนะเขาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรม เรื่องดนตรี โดยการนำ BCG มาขับเคลื่อนจะเพิ่มกำลังให้ไปต่อได้ ไม้ตายของเราไม่ใช่ทำทุกอย่าง แต่ทำสิ่งที่เราชนะได้และสื่อสารออกไปให้มากที่สุด หวังว่า BCG จะช่วยกระตุ้นคนอีสานและยกระดับคนอีสานได้มากที่สุด
ตอนนี้นอกจากการลงทุนอาคารแก่น ของกลุ่มมิตรผลในย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังมีนักลงทุนรายอื่น ๆ มาลงทุนต่อยอดเพิ่มขึ้นถึง 40% แม้ไม่ใช่การสร้างครั้งเดียวเสร็จ แต่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละอย่าง ทำให้ย่านนี้กลายเป็นเซ็นเตอร์ของจังหวัดขอนแก่นจริง ๆ โดยก้าวแรกที่คาดหวังอยากเห็นคือการเกิดคอมมิวนิตี้ กลุ่มเป้าหมายคือคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีพลัง มีไอเดียสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ต้องใหญ่โต แต่โครงการที่นำเสนอต้องมีความเป็นอินเตอร์ และเสนอขายออกไปยังต่างประเทศได้
ผลักดันคนอีสานรู้จัก BCG
ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ภาคเอกชนอย่างกลุ่มมิตรผลที่มาลงทุนในจังหวัดขอนแก่นถือเป็นแม่เหล็กขนาดยักษ์ ที่ดึงดูดการลงทุนให้กับจังหวัดขอนแก่น โดยในเขตเทศบาลมีการขออนุญาตก่อสร้างธุรกิจเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 40% ทำให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งโอกาสที่จะสร้างเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่าหลายหมื่นล้าน
การจัดงาน Isan BCG Expo 2022 ครั้งนี้ ทำให้ทราบถึงทิศทางการค้าใหม่สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้สร้างผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ได้มากขึ้น และเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยกันรักสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
แต่สิ่งสำคัญคือ การเติบโตด้วยตัวเองของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็กไม่ง่ายนัก ต้องมีเครือข่าย มีเรื่องเทคโนโลยี มีการวิจัย และการสนับสนุน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ภาคอีสานมีความหวังจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจและการจัดบูทจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดเงินสะพัดเบื้องต้นประมาณ 40-50 ล้านบาท จากผู้ร่วมงาน 30,000-50,000 คน
ตอนนี้ต้องยอมรับว่า หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า BCG เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทำไมกลุ่มผลิตภัณฑ์เป็นสินค้า BCG ดังนั้น ก่อนที่จะก้าวเดินไป ผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังไว้อันดับแรกคือ 1.ให้ประชาชนได้รู้จักว่า BCG คืออะไร ถ้ารู้เฉพาะกลุ่มแล้วพูดกันในเชิงเทคนิค ประชาชนจะเข้าใจได้ยากมาก 2.ให้ประชาชนรับรู้ว่า BCG มีประโยชน์อย่างไร และ 3.ทำอย่างไรประชาชนจะเข้าถึง BCG และพัฒนาเป็นธุรกิจได้ ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่หลายคนอาจจะทำกันอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากขึ้นอย่างไร
ปกติเทศบาลขอนแก่นทำ BCG อยู่แล้ว แต่คำนี้บูมขึ้นมาโดยนโยบายของรัฐบาล สิ่งสำคัญคือเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ เพราะปกติทุกคนจะคิดถึงเรื่องกำไร หากต้องการกำไรมากต้องใช้ทรัพยากรมาก ขณะเดียวกันทิศทางใหม่คือ ทำกำไรมาก แต่ใช้ทรัพยากรน้อย เช่น เนื้อวัวปกติ 250 บาท/กก. เมื่อมาเพิ่มมูลค่าด้วยทิศทางของ BCG กลายเป็นเนื้อโคขุน 750 บาท/กก.
ภายในงานทางเทศบาลนครขอนแก่นได้นำส่วนหนึ่งของโครงการ Khon Kaen Low Carbon City คนขอนแก่นหัวใจไร้มลพิษ เข้ามาร่วมงานเป็น pocket park หรือสวนกระเป๋า เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ใช้วัสดุธรรมชาติ สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้
นอกจากนี้มีเรื่องวัฒนธรรมและซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของจังหวัดขอนแก่นอีกหลายอย่าง ที่นำมาประยุกต์ใช้โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์และความงามเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนจะได้เรียนรู้ความเป็น BCG ว่าดีอย่างไร
จาก https://www.prachachat.net วันที่ 16 ธันวาคม 2565
3 รัฐมนตรี หักดิบใช้อำนาจตั้งกรรมการอ้อยฯ ดันเปิดหีบ-เคลื่อนอุตฯไปต่อ
3 รัฐมนตรีผ่าทางตัน ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ แต่งตั้งผู้แทนฝ่ายโรงงาน 7 คนร่วมเป็นกรรมการ กอน. ดันอุตสาหกรรมไปต่อ ดีเดย์เปิดหีบอ้อยทั่วประเทศตั้งแต่ 1 ธ.ค. สั่งคุมเข้ม PM 2.5 ใครส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานถูกหักตันละ 30 พร้อมปรับตันละ 90 บาท หากส่งยอดอ้อย-กาบใบอ้อยเข้าโรงงาน
จากที่โรงงานน้ำตาลทราย ไม่เห็นด้วยกับการนำ กากอ้อย อยู่ในนิยามผลพลอยได้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่ใกล้มีผลบังคับใช้ โดยต้องนำมาคิดคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อยเพิ่ม ส่งผลผู้แทนฝ่ายโรงงานได้ลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และคณะกรรมการบริหาร (กบ.) มีผลต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมานั้น
แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า ล่าสุดได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการแต่งตั้งผู้แทนโรงงานเป็นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ชุดใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 9 และมาตรา 14 วรรคสองแห่งพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565
คณะกรรมการอ้อยฯ ที่ 3 รัฐมนตรีใช้อำนาจแต่งตั้งข้างต้น มาจากกลุ่มน้ำตาลมิตรผล 3 คน กลุ่มเกษตรไทยฯ 1 คน กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 1 คน กลุ่มน้ำตาลสระบุรี 1 คน และกลุ่มน้ำตาลครบุรี 1 คน ในมุมโรงงานน้ำตาล เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกลับเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะต้องการเดินหน้าสู่ระบบเสรี เพื่อลดการแทรกแซงจากภาครัฐ และเพื่อแก้ปัญหาบราซิลฟ้องไทยอุดหนุนส่งออกน้ำตาลในระยะยาว
ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายจะมีการประชุมหารือเรื่องความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ 3 รัฐมนตรีในการแต่งตั้งผู้แทนโรงงานเข้าไปเป็นกรรมการ กอน.ที่ถือเป็นการแหกมติโรงงานน้ำตาลที่อาจนำไปสู่ความแตกแยก และขัดแย้งของสมาชิก รวมถึงจะหารือถึงการบอกยกเลิกสัญญาของโรงงานน้ำตาลจะไม่ส่งน้ำตาลทรายดิบให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) จำนวน 8 แสนตันต่อปี เพื่อใช้ทำราคาส่งออกในปีการผลิต 2566/2567
อย่างไรก็ตามในปีนี้โรงงานน้ำตาลยังส่งยังส่งน้ำตาลทรายดิบให้ อนท. อยู่เนื่องจาก อนท.ได้ทำราคาส่งออกล่วงหน้าไปแล้วกว่า 70% โดยปีนี้ราคาส่งออกบวกพรีเมียมเฉลี่ยที่ 20.12 เซนต์ต่อปอนด์ สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 18 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ในฤดูการผลิตหน้าจะใช้บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) ซึ่งเป็นบริษัทกลางของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเข้ามาทำหน้าที่แทน อนท.
อย่างไรก็ดีหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการ กอน. และคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ชุดใหม่ มีผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเดินหน้า ล่าสุด กอน.มีมติเห็นชอบให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2565/2566 ได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้น ยังรอคณะกรรมการบริหารเร่งพิจารณา
ขณะเดียวกันในการเปิดหีบอ้อยปีนี้ มีระเบียบคุมเข้มให้ชาวไร่อ้อยต้องปฏิบัติ คือ ต้องไม่เผาไร่อ้อยก่อนตัดอ้อยส่งเข้าโรงงาน เนื่องจากทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 หากรายใดเผาไร่อ้อยและส่งอ้อยเข้าโรงงานจะถูกหักค่าอ้อยตันละ 30 บาท รวมถึงหากมีการส่งอ้อยยอดยาวและอ้อยมีกาบใบเข้าโรงงาน ซึ่งจะมีผลทำให้ได้น้ำอ้อยจากการหีบอ้อยเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายของโรงงานลดลง จะถูกปรับตันละ 90 บาท โดยเงินส่วนนี้โรงงานจะนำไปจ่ายชดเชยให้ชาวไร่ในรายที่ตัดอ้อยสดและคุณภาพดีเข้าโรงงานในอัตราไม่เกิน 120 บาทต่อตัน
เรื่องอ้อยไฟไหม้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน เพราะชาวไร่อ้อยก็ไม่อยากให้หักค่าอ้อย ขณะที่โรงงานก็กลัวจะโดนหางเลขไปด้วยหากรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงาน
ด้าน นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) (ผู้อำนวยการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย) กล่าวว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างรอประกาศราคาอ้อยเบื้องต้น ในส่วนของโรงงานน้ำตาลทรายได้ประกาศประกันราคาอ้อยขั้นต้นไปก่อนหน้านี้แล้วที่ 1,040 บาทต่อตัน(ณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) หากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรายเขตที่ สอน.จะประกาศสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ทางโรงงานจะจ่ายเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อย
จาก https://www.thansettakij.com/ วันที่ 8 ธันวาคม 2565
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว วันที่ 6 ธ.ค. นัดเคาะราคาอ้อย
ชาวไร่อ้อย เช็คด่วน ราคาอ้อยเบื้องสุดท้าย 2564/65 (เงินตามค่าอ้อยปีที่แล้ว) การหักเงินอ้อยไฟไหม้ 2565/66 และราคาค่าอ้อยเบื้องต้น 2565/66 (ค่าอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้)จะได้เท่าไร โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว นัดเคาะราคา วันที่ 6 ธ.ค.นี้ คอยฟังข่าวดี
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ค แจ้งข่าวความคืบหน้า การผลิตน้ำตาลทราย ประจำปี 2565/66 ได้เริ่มต้นตั้งแต่ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่ง เปิดการหีบอ้อยได้ประเด็นสำคัญที่ กอน. เลื่อนการประชุมออกเป็น วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565 เรื่อง ราคาอ้อยเบื้องสุดท้าย 2564/65 (เงินตามค่าอ้อยปีที่แล้ว) การหักเงินอ้อยไฟไหม้ 2565/66 และราคาค่าอ้อยเบื้องต้น 2565/66 (ค่าอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้)
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว วันที่ 6 ธ.ค. นัดเคาะราคาอ้อย
สำหรับการเปิดหีบอ้อย 2565/66 หลายโรงงานน้ำตาลได้แจ้งเปิด แต่ต้องเลื่อนออก เนื่องจากพื้นที่แหล่งอ้อยมีฝนตก เป็นอุปสรรคอย่างมาก พี่น้องชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวไม่ได้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอ้อยค้างไร่และแปลงอ้อยถูกย่ำเสียหายสต๊อคน้ำตาลทรายและการส่งออกน้ำตาล มีสภาพตึงตัวมาก เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลต้องเลื่อนออกจากเวลาปรกติมากกว่า 2 ถึง 3 สัปดาห์ พื้นที่แหล่งอ้อยกาญจนบุรี ราชบุรี ปราณบุรี มีแนวโน้มลงตัดอ้อยได้หลังปีใหม่
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 ธันวาคม 2565
โรงงานน้ำตาลนครเพชร เตรียมเปิดรับอ้อยปี 65/66 หลังแผนฟื้นฟูกิจการผ่านฉลุย
โรงงานน้ำตาลนครเพชร คาดอ้อยปี 65/66 แตะ 105 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 3 ปี เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในพื้นที่เขตภาคเหนือ 2 หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ จับมือกับชาวไร่อ้อยและโรงงานในพื้นที่ ส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มอีก 5 แสนไร่ พร้อมเซ็น MOU ตัดอ้อยสด
วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยในปีการผลิต 2565/66 มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 105 ล้านตัน หรือสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศเตรียมพร้อมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่อ้อยคู่สัญญา โดยจะเริ่มทยอยเปิดหีบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลนครเพชรนั้น เป็นโรงงานอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยภาคเหนือเขต 2 ที่มีศักยภาพและความพร้อมเตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่อ้อยคู่สัญญา โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562/63-2564/65) โรงงานมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ อยู่ที่ 2.89 ล้านตัน 2.02 ล้านตัน และ 2.11 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 3.15 ล้านกระสอบ 2.15 ล้านกระสอบและ 2.16 ล้านกระสอบ ตามลำดับ
และคาดว่าในปีการผลิต 2565/66 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น และใช้ประโยชน์จากกากอ้อยที่เป็นของเสียจากจากกระบวนการผลิต เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลนครเพชร พร้อมก้าวสู่การเติบโตครั้งใหม่เพื่อให้บริการแก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา หลังฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำศักยภาพการดำเนินงานที่มีความแข็งแกร่งด้านฐานะทางเงิน ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวไร่อ้อยให้ดียิ่งขึ้นด้วยการประกันราคาผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาได้ประโยชน์และสามารถยึดอาชีพเพาะปลูกอ้อยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้
พร้อมกันนี้ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ การรับอ้อยสดคุณภาพดี แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน โดยร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลในเขตบริหารงานอ้อยและน้ำตาลทราย 2 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือในการกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการรับซื้ออ้อยให้ได้คุณภาพ ให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งมอบโรงงานแทนการเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้จะร่วมมือกันส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มเติมอีก 500,000 ไร่ เพื่อความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมได้
นับตั้งแต่ที่เราเข้าสู่กระบวนการฟิ้นฟูกิจการได้ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด ทำให้กลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่ง และพร้อมนำศักยภาพการดำเนินงานเข้าไปช่วยสนับสนุนชาวไร่อ้อยคู่สัญญาในการเพาะปลูกและการจัดเก็บผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น
จาก https://www.prachachat.net/ วันที่ 1 ธันวาคม 2565
กลุ่มมิตรผล เปิดอาคาร "แก่น" ขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มมิตรผล พร้อมเปิดตัวอาคาร "แก่น" หรือ "ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์" จับมือพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด และพันธมิตรจากภาครัฐภาคเอกชน และภาคการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ร่วมเปิดอาคาร แก่น หรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ อาคารสูง 28 ชั้น บนย่านสร้างสรรค์และนวัตกรรมศรีจันทร์ ใจกลางเมืองขอนแก่น ที่มีสถาปัตยกรรมทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งและโดดเด่นให้กับกลุ่มธุรกิจภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่ Smart City รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอีสานให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของลุ่มน้ำโขงได้ในอนาคต
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมากว่า 65 ปี และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 27 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน เรามองเห็นว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพและความพร้อมในด้านของพื้นที่เกษตรกรรม การเชื่อมต่อเศรษฐกิจกลุ่มแม่น้ำโขงและจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง ASEAN Highway รวมถึงเป็นเมืองแห่งศูนย์รวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันทันสมัย อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการยกระดับสู่เมืองแห่งนวัตกรรมและ Smart City เราจึงได้ตั้งใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาอาคาร แก่นหรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านนวัตกรรมใจกลางเมืองขอนแก่น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับเป็นการสร้าง Innovation Ecosystem และการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ กล่าวว่า อาคาร แก่น หรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ เป็นอาคารเดิมที่ตั้งอยู่ใจเมืองขอนแก่น มีขนาดความสูง 28 ชั้น และได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารอเนกประสงค์แบบ Multi-Used บนพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตร ภายใต้คอนเซปต์ของการเป็นแก่นแห่งศูนย์กลาง แก่นแท้แห่งรากฐาน แก่นกลางของความร่วมมือ และแก่นของสาระและการแบ่งปัน
โดยอาคารได้ผ่านการตรวจสอบความมั่นคงทางโครงสร้างวิศวกรรมอย่างรอบคอบ พร้อมการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามผสมผสานอัตลักษณ์ความงามของท้องถิ่นอย่างลงตัว อีกทั้งยังเป็นอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำ Smart Technology มาประยุกต์ใช้ อาทิ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าในอาคารฯ โดยอาคาร แก่น เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรมในย่านด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ Open Innovation ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมของการบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่
กลุ่มมิตรผล เปิดอาคาร "แก่น" ขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ชั้น 9 ของอาคาร ยังมีศูนย์นวัตกรรมและวิจัยของกลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยพื้นที่แสดงผลงาน สินค้า การจัดประชุม และโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen)
ทั้งนี้ การเปิดตัวอาคาร แก่น ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ร่วมกับระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยอาคารฯ พร้อมเปิดให้บริการผู้ที่สนใจและประชาชนทั่วไป เริ่มจากส่วนของโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen) คาเฟ่ ร้านอาหาร และจุดชมวิวเมืองขอนแก่น 360 องศา ณ สกายบริดจ์ (Sky Bridge) ชั้น 28 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จาก https://www.komchadluek.net/ วันที่ 1 ธันวาคม 2565