|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนธันวาคม 2565] |
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว วันที่ 6 ธ.ค. นัดเคาะราคาอ้อย
ชาวไร่อ้อย เช็คด่วน ราคาอ้อยเบื้องสุดท้าย 2564/65 (เงินตามค่าอ้อยปีที่แล้ว) การหักเงินอ้อยไฟไหม้ 2565/66 และราคาค่าอ้อยเบื้องต้น 2565/66 (ค่าอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้)จะได้เท่าไร โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว นัดเคาะราคา วันที่ 6 ธ.ค.นี้ คอยฟังข่าวดี
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ค แจ้งข่าวความคืบหน้า การผลิตน้ำตาลทราย ประจำปี 2565/66 ได้เริ่มต้นตั้งแต่ วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ให้โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่ง เปิดการหีบอ้อยได้ประเด็นสำคัญที่ กอน. เลื่อนการประชุมออกเป็น วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2565 เรื่อง ราคาอ้อยเบื้องสุดท้าย 2564/65 (เงินตามค่าอ้อยปีที่แล้ว) การหักเงินอ้อยไฟไหม้ 2565/66 และราคาค่าอ้อยเบื้องต้น 2565/66 (ค่าอ้อยที่ตัดเข้าหีบปีนี้)
โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย แจ้งข่าว วันที่ 6 ธ.ค. นัดเคาะราคาอ้อย
สำหรับการเปิดหีบอ้อย 2565/66 หลายโรงงานน้ำตาลได้แจ้งเปิด แต่ต้องเลื่อนออก เนื่องจากพื้นที่แหล่งอ้อยมีฝนตก เป็นอุปสรรคอย่างมาก พี่น้องชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวไม่ได้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอ้อยค้างไร่และแปลงอ้อยถูกย่ำเสียหายสต๊อคน้ำตาลทรายและการส่งออกน้ำตาล มีสภาพตึงตัวมาก เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลต้องเลื่อนออกจากเวลาปรกติมากกว่า 2 ถึง 3 สัปดาห์ พื้นที่แหล่งอ้อยกาญจนบุรี ราชบุรี ปราณบุรี มีแนวโน้มลงตัดอ้อยได้หลังปีใหม่
จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 ธันวาคม 2565
โรงงานน้ำตาลนครเพชร เตรียมเปิดรับอ้อยปี 65/66 หลังแผนฟื้นฟูกิจการผ่านฉลุย
โรงงานน้ำตาลนครเพชร คาดอ้อยปี 65/66 แตะ 105 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 3 ปี เดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในพื้นที่เขตภาคเหนือ 2 หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ จับมือกับชาวไร่อ้อยและโรงงานในพื้นที่ ส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มอีก 5 แสนไร่ พร้อมเซ็น MOU ตัดอ้อยสด
วันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยในปีการผลิต 2565/66 มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้น 105 ล้านตัน หรือสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศเตรียมพร้อมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่อ้อยคู่สัญญา โดยจะเริ่มทยอยเปิดหีบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลนครเพชรนั้น เป็นโรงงานอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยภาคเหนือเขต 2 ที่มีศักยภาพและความพร้อมเตรียมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่อ้อยคู่สัญญา โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2562/63-2564/65) โรงงานมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ อยู่ที่ 2.89 ล้านตัน 2.02 ล้านตัน และ 2.11 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 3.15 ล้านกระสอบ 2.15 ล้านกระสอบและ 2.16 ล้านกระสอบ ตามลำดับ
และคาดว่าในปีการผลิต 2565/66 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น และใช้ประโยชน์จากกากอ้อยที่เป็นของเสียจากจากกระบวนการผลิต เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลนครเพชร พร้อมก้าวสู่การเติบโตครั้งใหม่เพื่อให้บริการแก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา หลังฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะนำศักยภาพการดำเนินงานที่มีความแข็งแกร่งด้านฐานะทางเงิน ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวไร่อ้อยให้ดียิ่งขึ้นด้วยการประกันราคาผลผลิตที่มีคุณภาพ ทำให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาได้ประโยชน์และสามารถยึดอาชีพเพาะปลูกอ้อยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวได้
พร้อมกันนี้ยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ การรับอ้อยสดคุณภาพดี แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน โดยร่วมมือกับโรงงานน้ำตาลในเขตบริหารงานอ้อยและน้ำตาลทราย 2 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือในการกำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการรับซื้ออ้อยให้ได้คุณภาพ ให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งมอบโรงงานแทนการเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้จะร่วมมือกันส่งเสริมการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มเติมอีก 500,000 ไร่ เพื่อความมั่นคงด้านผลผลิตอ้อยในพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมได้
นับตั้งแต่ที่เราเข้าสู่กระบวนการฟิ้นฟูกิจการได้ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด ทำให้กลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่ง และพร้อมนำศักยภาพการดำเนินงานเข้าไปช่วยสนับสนุนชาวไร่อ้อยคู่สัญญาในการเพาะปลูกและการจัดเก็บผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น
จาก https://www.prachachat.net/ วันที่ 1 ธันวาคม 2565
กลุ่มมิตรผล เปิดอาคาร "แก่น" ขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มมิตรผล พร้อมเปิดตัวอาคาร "แก่น" หรือ "ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์" จับมือพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด และพันธมิตรจากภาครัฐภาคเอกชน และภาคการศึกษาในจังหวัดขอนแก่น ร่วมเปิดอาคาร แก่น หรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ อาคารสูง 28 ชั้น บนย่านสร้างสรรค์และนวัตกรรมศรีจันทร์ ใจกลางเมืองขอนแก่น ที่มีสถาปัตยกรรมทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งและโดดเด่นให้กับกลุ่มธุรกิจภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่ Smart City รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอีสานให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของลุ่มน้ำโขงได้ในอนาคต
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมากว่า 65 ปี และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 27 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน เรามองเห็นว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพและความพร้อมในด้านของพื้นที่เกษตรกรรม การเชื่อมต่อเศรษฐกิจกลุ่มแม่น้ำโขงและจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง ASEAN Highway รวมถึงเป็นเมืองแห่งศูนย์รวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันทันสมัย อีกทั้งยังมีเป้าหมายในการยกระดับสู่เมืองแห่งนวัตกรรมและ Smart City เราจึงได้ตั้งใจที่จะปรับปรุงและพัฒนาอาคาร แก่นหรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านนวัตกรรมใจกลางเมืองขอนแก่น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับเป็นการสร้าง Innovation Ecosystem และการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ กล่าวว่า อาคาร แก่น หรือ ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ เป็นอาคารเดิมที่ตั้งอยู่ใจเมืองขอนแก่น มีขนาดความสูง 28 ชั้น และได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นอาคารอเนกประสงค์แบบ Multi-Used บนพื้นที่กว่า 53,000 ตารางเมตร ภายใต้คอนเซปต์ของการเป็นแก่นแห่งศูนย์กลาง แก่นแท้แห่งรากฐาน แก่นกลางของความร่วมมือ และแก่นของสาระและการแบ่งปัน
โดยอาคารได้ผ่านการตรวจสอบความมั่นคงทางโครงสร้างวิศวกรรมอย่างรอบคอบ พร้อมการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามผสมผสานอัตลักษณ์ความงามของท้องถิ่นอย่างลงตัว อีกทั้งยังเป็นอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำ Smart Technology มาประยุกต์ใช้ อาทิ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้าในอาคารฯ โดยอาคาร แก่น เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยสามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรมในย่านด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ Open Innovation ที่ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ เป็นศูนย์รวมของการบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่
กลุ่มมิตรผล เปิดอาคาร "แก่น" ขับเคลื่อนศูนย์กลางแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ ภายในพื้นที่ชั้น 9 ของอาคาร ยังมีศูนย์นวัตกรรมและวิจัยของกลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยพื้นที่แสดงผลงาน สินค้า การจัดประชุม และโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen)
ทั้งนี้ การเปิดตัวอาคาร แก่น ในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ร่วมกับระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยอาคารฯ พร้อมเปิดให้บริการผู้ที่สนใจและประชาชนทั่วไป เริ่มจากส่วนของโรงแรม แอดลิบ ขอนแก่น (Ad Lib Khon Kaen) คาเฟ่ ร้านอาหาร และจุดชมวิวเมืองขอนแก่น 360 องศา ณ สกายบริดจ์ (Sky Bridge) ชั้น 28 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จาก https://www.komchadluek.net/ วันที่ 1 ธันวาคม 2565