http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2559)

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ ยันโรงไฟฟ้าขายไฟ Q2 ปีนี้ดันผลงานโต  

           “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” ลุยแก้ปัญหาเรื่องผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เริ่มขายไฟฟ้าได้ 1 โรง ภายใน Q2 นี้ ส่วนอีกโรงจะเร่งให้เสร็จก่อนการเปิดหีบอ้อยปลายปี ด้านโครงการผลิตน้ำเชื่อม และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ จะเริ่มรับรู้รายได้ Q2 เช่นกัน คาดปี 59 แม้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะลดลง แต่ไม่กระทบรายได้นัก เพราะราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสูงกว่าปีก่อน ส่วนสายธุรกิจชีวพลังงานคาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เผยผลงานปี 58 ทำกำไรสุทธิได้ 730 ล้านบาท

                นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ในสายธุรกิจน้ำตาล คือ โครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้น คือ บริษัท นิสชิน ชูการ์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น นั้น

                ขณะนี้ได้ก่อสร้างโรงงาน และติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พร้อมทดลองเดินเครื่องแล้ว โดยอยู่ระหว่างทำข้อตกลงซื้อขายกับลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการนี้ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559

                “สายธุรกิจน้ำตาลในปีนี้อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยที่เข้าหีบลดลง ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนซึ่งจะไปชดเชยกัน ทำให้รายได้จากการขายน้ำตาลน่าจะไม่ลดลงจากปีก่อนมากนัก เพราะเรามีน้ำตาลที่ส่งออกในสัดส่วนประมาณ 75% ของทั้งหมด” นายประพันธ์ กล่าว

                ด้าน นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่ม KTIS กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมเปิดเดินเครื่องขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 2 โรงในปีนี้ ที่ผ่านมา ประสบปัญหาล่าช้าในการก่อสร้างสาเหตุจากผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญารับเหมาฯ ซึ่งทาง KTIS ได้เข้าไปแก้ปัญหาร่วมกับผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะสามารถทำการผลิต และขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าได้ 1 โรง ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ คือ โรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนโรงไฟฟ้ารวมผล ที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้พยายามเร่งให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดหีบอ้อยในปลายปีนี้

                “โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 2 โครงการนี้เราต้องการให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ดังนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อประหยัดการใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ที่เหลือจึงขายให้แก่การไฟฟ้าฯ” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

                ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของ KTIS ในปี 2558 ยังคงมาจากการผลิต และจำหน่ายน้ำตาล และกากน้ำตาลประมาณ 79.4% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 20.6% ซึ่งในปี 2559 ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่าสัดส่วนรายได้จากสายธุรกิจชีวพลังงานจะเพิ่มมากขึ้น และด้วย Profit Margin ที่ดีกว่าก็จะส่งผลดีต่ออัตราการทำกำไรของ KTIS ที่ดีขึ้นด้วย

                สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 19,456.5 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2557 ที่ทำได้ 20,348.8 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในปี 2558 ที่ 729.95 ล้านบาท

จาก http://manager.co.th วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

BRR โชว์ธุรกิจน้ำตาลทราย-โรงไฟฟ้าชีวมวลปี 58 หนุนทำกำไรสุทธิโต 15% แม้ราคาน้ำตาลทราย ในตลาดโลกต่ำสุดในรอบ 7 ปี บอร์ดฯ เคาะจ่ายปันผล 0.22 บาทต่อหุ้น 

          มั่นใจปี 59 เติบโตต่อเนื่อง หลังขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเสริมความมั่นคงด้านวัตถุดิบ

          'บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์' หรือ BRR โชว์ผลการดำเนินงานปี 58 ทำรายได้พุ่ง 8.64 % ขณะที่กำไรเติบโต 15% หลังปริมาณผลผลิตและประสิทธิภาพการหีบอ้อยดีขึ้นต่อเนื่อง ช่วยผลักดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงช่วยดันผลกำไรเติบโตได้ดีแถมโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่งสร้างเม็ดเงินรายได้เต็มปี ด้านบอร์ดฯ บริหารไฟเขียวอนุมัติจ่ายเงินปันผลงวด 0.22 บาทต่อหุ้น ขณะแผนงานปี 59 BRR มั่นใจธุรกิจน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลเติบโตได้ดีต่อเนื่อง หลังขยายกำลังการหีบอ้อยเป็น 23,000 ตันอ้อยต่อวัน พร้อมนำผลพลอยได้ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เตรียมเดินเครื่องในปีนี้

          นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี2558 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.64 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 3,954 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิ 236 ล้านบาท

          ผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นนั้น มาจากปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจผลิตน้ำตาลทรายที่มีการบริหารจัดการด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายที่ดีขึ้น ทั้งประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานที่ดีขึ้น ส่งให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ได้ถึง 119 กิโลกรัมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ทำได้เพียง 107 กิโลกรัม ประกอบกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ธุรกิจน้ำตาลทรายของ BRR มีการเติบโตที่ดี แม้ว่าปี 2558 ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 7 ปีก็ตาม แต่ BRR ก็ยังคงความสามารถในการเติบโตและทำกำไรจากนโยบายการเสริมความสามารถในการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพของการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

          ขณะเดียวกัน BRR ยังสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งช่วยสนับสนุนในด้านวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่ง สามารถเดินเครื่องและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตลอดทั้งปี

          "ผลการดำเนินงานในรอบปี 2558 ที่เติบโตได้โดดเด่นนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งบริษัทฯ มา สะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ BRR ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพทำให้เราสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถนำผลพลอยได้ไปสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่ดีของ BRR" นายอนันต์ กล่าว

          ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบการดำเนินงานปี 2558 ในอัตราหุ้นละ 0.22 บาท หรือคิดเป็น 55 % ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทฯ กำหนดปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559

          ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า สำหรับปี 2559 บริษัทฯ คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบจำนวน 2.3ล้านตันอ้อยและสามารถผลิตน้ำตาลได้ 2.7 แสนตันหลังได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มเป็น 200,000 ไร่และกำลังการหีบอ้อยเพิ่มเป็น 23,000 ตันต่อวัน โดยตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยเพิ่มเป็น 120 กิโลกรัม เนื่องจาก BRR ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพผลผลิตที่ดี ซึ่งจะช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจน้ำตาลทรายในปีนี้ให้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังสามารถนำชานอ้อยที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปช่วยสร้างความมั่นคงด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 2 แห่งและยังมีปริมาณเพียงพอในการรองรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่3 ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องได้ภายในกลางปีนี้

          ส่วนแผนลงทุนในระยะยาวนั้น ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้รูปแบบการลงทุนและอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมทุนจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตของโรงงานแต่ละแห่งอยู่ที่ 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงงานทั้ง 2 แห่งรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยรูปแบบโครงสร้างการดำเนินธุรกิจจะคล้ายคลึงกับโรงงานแห่งเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทำให้ BRR สามารถสร้างรายได้สูงสุดจากการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตั้งคณะทำงานฯ พัฒนาแหล่งน้ำ เตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้ง คาดรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา 

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง หวั่นกระทบฤดูการเพาะปลูกอ้อยปี 59/60 ตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบจัดการน้ำในไร่ปลูกอ้อย ชี้นับวันสถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อย หลังแนวโน้มผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ไม่ดีเท่าปีก่อน คาดอ้อยเข้าหีบไม่ถึง 100 ล้านตัน

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารของ TSMC ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อศึกษาข้อมูล ประเมินศักยภาพ วิเคราะห์นโยบายและโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำในการเพาะปลูกอ้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

          ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าว จะทำให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรง สามารถนำไปใช้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยอย่างเพียงพอ หลังแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อฤดูการเพาะปลูกอ้อยประจำปี 59/60 และคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในอนาคต

          "ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยมากขึ้นทุกปี ยิ่งในปีนี้ที่หลายฝ่ายคาดว่า ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้โรงงานน้ำตาลมีความเป็นกังวลและเป็นห่วงว่าน้ำจะมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงได้จัดตั้งคณะทำงานฯ เร่งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลการพัฒนาแหล่งน้ำ นำมาใช้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้โรงงานน้ำตาลได้เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการ" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ TSMC กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 91 วัน พบว่า คุณภาพผลผลิตอ้อยปีนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานยังลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 72.92 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 71.91 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ลดลง 6.84 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาหีบอ้อยของปีก่อนที่ผลิตได้ถึง 79.76 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 98.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 102.98 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 4.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่า ผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน

          ส่วนค่าความหวานของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 11.53 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 11.89 ซี.ซี.เอส. ซึ่งได้รับผกระทบมาจากสภาพอากาศแล้งในช่วงเพาะปลูกและจากปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน จึงทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมปีนี้ไม่ดีนัก

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2559

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2559 พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภั ยแล้งและภัยพิบัติ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด

พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปฏิบัติ การฝนหลวงประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2559 เพื่อแสดงถึงความพร้อมของบุ คลากร เครื่องมืออุปกรณ์ การปฏิบัติการฝนหลวง เสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้ าหน้าที่ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ ผู้แทนส่วนราชการ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และอาสาสมัครฝนหลวงในทุ กภาคของประเทศ ได้ทราบถึงการปฏิบัติการฝนหลวง ตลอดจนเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบั ติการฝนหลวง ตามแผนปฏิบัติการ ประจำปี 2559 โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดพิธีสงฆ์  การจัดพิธีมอบปีกฝนหลวงพิเศษ พระราชทาน การเปิดปฏิบัติการฝนหลวง การจัดแสดงนิ ทรรศการของกรมฝนหลวงและการบิ นเกษตรภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ อบรรเทาภัยแล้ง” และนิทรรศการความร่วมมือระหว่ างภาครัฐและเอกชน

พลเอก ปัฐมพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากปริมาณฝนตกในปี 2558 มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้ าพระยาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ ำอย่างมาก ตลอดจนปริมาณน้ำใช้งานของ 5 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเหลือน้อย รวมกันไม่ถึง 25% ตลอดจนมีปริมาณน้ำใช้การได้ รวมกันของเขื่อนทั่วประเทศ เพียง 13,449 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงปี 2559 เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ ำเพื่อการเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กั บเขื่อนต่าง ๆ โดยใช้อากาศยานเพื่อปฏิบัติ การฝนหลวงทั้งสิ้น 30 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบิ นเกษตร จำนวน 22 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุ นจากกองทัพอากาศ จำนวน 8 ลำ จัดสรรตามความเหมาะสมในการปฏิบั ติการแต่ละพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติ การฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ มีแผนการดำเนินการจัดตั้งหน่ วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 – 12 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลื อพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบั ติให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการ

“การปฎิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 จะมีการดำเนินการตั้งหน่วยปฏิบั ติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว และมีการตั้งหน่วยปฏิบัติ การฝนหลวงดูแลในทุกภาคส่ วนของประเทศ เป็นที่มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รั บการดูแลช่วยเหลือจากหน่ วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งมีการปรับแผนปฏิบัติการ และอาสาสมัครฝนหลวง ซึ่งเป็นเครือข่ายฝนหลวง ในการให้บริการที่รวดเร็วและมี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” พลเอก ปัฐมพงศ์ กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

TDRI แนะไทยรอบคอบ ใช้บทเรียน12ปท.ถกTPP

ทีดีอาร์ไอ แนะไทยศึกษา TPPโดยละเอียด นำประสบการณ์ของ 12 ประเทศมาปรับใช้ในการเตรียมเปิดเจรจานอกรอบ ชี้ยังมีเวลาให้ตัดสินใจอีก 2 ปี เจโทรห่วงไทยตกขบวนทำขีดแข่งขันวูบ ด้านญี่ปุ่น-มาเลเซียเปิดประสบการณ์เจรจานอกรอบสหรัฐฯไม่ให้เสียเปรียบ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการสัมมนาเรื่องสาระสำคัญและข้อกังวลแห่งการเข้าสมาชิก TPP ว่า ไทยยังมีเวลาคิดอีก 2 ปีในการจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ซึ่งการเข้าร่วมในรอบหลังมองว่าอาจเสียเปรียบ เพราะต้องเจรจากับอีก 12 ประเทศที่เข้าร่วมก่อนหน้านี้เพื่อให้ยอมรับไทยเข้าเป็นสมาชิกด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งไทยสามารถนำเอาประสบการณ์ของประเทศในการเจรจา TPP ของประเทศต่างๆ มาปรับใช้ เพราะที่ผ่านมาข้อบทของ TPP ไม่ค่อยเปิดให้เห็น ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ไทยได้ศึกษาและประเมินได้ว่าได้หรือเสีย ซึ่งการเจรจานอกรอบน่าจะเป็นทางออกของไทย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP มากนัก

ส่วนการทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลนั้น หากรัฐบาลมีข้อมูลเพียงพอก็ควรจะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบ ว่ามีข้อมูลที่เหมาะสม ดีหรือไม่ดีมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งควรจะเปิดเผยข้อมูลแต่ละบริบทว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เรื่องใดไทยได้หรือเสียประโยชน์

ด้านนางปรียานุช มาลากุล ณ อยุธยา รองประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเข้าร่วมทีพีพี ภาคปศุสัตว์ของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่ไม่มีกองทุนไหนเยียวยาได้ ดังนั้นต้องพยายามดันให้อยู่ในบัญชีอ่อนไหวให้นานที่สุด โดยระหว่างนี้ใช้กรณีศึกษาจากเวียดนามเป็นตัวอย่างในการเจรจาลดภาษี เพราะเวียดนามมีความใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเป็นประเทศเกษตรกรรมเหมือนกัน

ดาโต๊ะ สตีเวน หวัง ชิง หมิง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร Institute of Strategic and International Studies (ISIS) กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลง TPP จะมีการเจรจานอกรอบหรือที่เรียกว่าไซด์เลตเตอร์( Side Letter) ของแต่ละประเทศสมาชิกซึ่งว่าด้วยเรื่องข้อตกลงในประเด็นอ่อนไหวที่สมาชิกบางส่วนมีต่อกัน รวมถึงการเจรจาเพื่อกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวซึ่งจะมีข้อตกลงเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก TPP ต่อสินค้าหรือประเด็นนั้นๆ ในส่วนมาเลเซีย มีรายการสินค้าอ่อนไหวและมีประเด็นที่ระบุใน Side letter หลายเรื่องเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายของประเทศที่ต้องการสร้างรถยนต์แห่งชาติ การเปิดตลาดสินค้ายาสูบ ซึ่งเป็นเรื่องของสุขภาพที่แม้จะยังเปิดตลาด แต่ก็มีเงื่อนไขว่าด้วยเรื่องการจับตาดูตลาดสินค้านี้อย่างใกล้ชิด อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เป็นต้น

นายไดซึเกะ ฮิราซูกะ ประธานสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ไทยจะเข้าร่วม TPP หรือไม่อยู่ที่ไทยจะตัดสินใจเอง แต่ถ้าไม่เข้าร่วมไทยก็จะมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันที่อาจสู้มาเลเซียหรือเวียดนามไม่ได้ นักลงทุนอาจย้ายฐานไปประเทศเหล่านี้แทน เพราะขยายตลาดได้มากกว่า และไทยเองขณะนี้ก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

กรมอุตุฯชี้ปี59ฝนตกเท่าปีที่แล้ว วอนปชช.ใช้น้ำมีคุณค่า-ประหยัด

ที่กรมชลประทาน นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โดยมีกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) และ สำนักสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก4 แห่งยังมีน้ำใช้การได้ปริมาณ 2,980 ล้านลบ.ม. ระบายวันละ17.8 ล้านลบ.ม. เขื่อนภูมิพล ระบาย 5 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ระบาย 10 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ ระบาย 1 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯระบาย 1.7 ล้านลบ.ม. ซึ่งได้ปริมาณที่ระบายลงมายืนยันว่าไม่มีการนำไปใช้นอกแผน หรือดักสูบกลางทาง จะคงอัตรการระบายนี้ไปจนถึงเดือน พ.ค.จะสิ้นสุดฤดูแล้ง ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)ที่ดูแลเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ ระยุว่า ยังมีระดับน้ำ16%ของเขื่อน สามารถผลิตไฟฟ้าได้

"การระบายน้ำคงปริมาณนี้ไว้สำหรับการทำประปาส่งให้กับ360 สถานีสูบน้ำตลอดลุ่มเจ้าพระยา 22 จ. จนถึงปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาให้คนกรุงเทพ ไม่ขาดแคลน และผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศ โดยวัดระดับที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราการไหล 150 ลบ.ม.ต่อวินาที และท้ายเขื่อน 75 ลบ.ม.ต่อวินาที ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าทุกจังหวัด ให้ประสานท้องถิ่น ไม่ให้สูบน้ำเข้าพื้นที่นาปรัง ตอนนี้ทุกพื้นที่ให้ความร่วมมืออย่างดี

ทั้งนี้ได้เตรียมปริมาณน้ำสำรองไว้อีก1,500 ล้านลบ.ม.ในรกรณีฝนมาล่าช้า ช่วงเดือนมิ.ย.และก.ค.อีกด้วย เนื่องจากกรมอุตุนิยมฯคาดการณ์ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยปีนี้อยู่ในเกฑณ์น้อยเท่ากับปี58 ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพ.ค.จะมีฝนตกเท่ากับปีที่แล้ว โดยมีน้ำไหลเข้าเขื่อน4 แห่งตอนต้นฤดูประมาณ 150 ล้านลบ.ม.ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลดีกับภาคเกษตร สามารถเริ่มฤดูปลูกข้าวนาปีได้ แต่อย่างไรให้เกษตรกรติตตามสภาพอากาศ อย่างใกล้ชิดก่อนลงมือปลูกข้าวเพราะคาดว่า สภาพฝนจะเหมือนกับปี58 กว่าสองเดือนเข้าฤดูฝนเต็มตัว นับว่าเป็นปีฝนน้อยอีกปี ขอวิงวอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งประเมินว่าช่วงเดือนมี.ค. เม.ย.จะแล้งจัด ร้อนมาก การระเหยของน้ำมีมาห ชาวนาจะกลัวข้าวตาย อาจสูบน้ำกันเข้านากันในช่วงนั้น ได้ให้ผู้ว่าฯและท้องถิ่นต้องเฝ้าระวัง  เพราะกระทบการทำประปาในพื้นที่ด้วย

นายณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 12 จ. 47 อำเภอ 217 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติด้านเกษตรแล้ว 10 จ. และอีก2 จ เป็นภัยพิบัติขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค คือจ.นครสวรรค์ และอุตรดิตษ์ โดยการประปาส่วนภูมิภาค ได้ลดแรงดันน้ำ และปล่อยน้ำสลับเวลา ซึ่งการประปาฯรายงานว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา 11 สาขา เป็นพื้นที่ภาคเหนือ 5 จ. ภาคอีสาน 4 จ. ภาคกลาง 4 จ. และภาคตะวันออก 3 จ. รวมทั้งมีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำประปา 51 สาขา โดยทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ว่าฯเป็นประธาน บูรณาร่วมกับทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่แก้ไขอย่างรวดเร็วทำให้ยังไม่วิฤกติ ใช้รถบรรทุกน้ำ ขุดบ่อบาดาล ขุดลอกคลองเชื่อมแหล่งน้ำใกล้เคียง โดยกรมชลฯมีรถบรรทุกน้ำ271 คัน เครื่องสูบน้ำ1,500 เครื่อง นำลงไปช่วยประชาชนได้ทันที

ทั้งนี้กปภ.สาขาที่มีความเสี่ยงสูง 11 สาขา ได้แก่ กปภ.สาขาฉะเชิงเทรา บางคล้า บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กปภ.สาขาพิมาย จ.นครราชสีมา สาขาศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี สาขาปากท่อ จ.ราชบุรี สาขาสายบุรี จ.ปัตตานี สาขาหนองเรือ จ.ขอนแก่น สาขาแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สาขาหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู และสาขาท่าตะโก จ.นครสวรรค์

สำหรับ กปภ.สาขาที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 51 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย กปภ.สาขาจันทบุรี จ.จันทบุรี สาขาชลบุรี พนัสนิคม บ้านบึง พัทยา จ.ชลบุรี สาขากบินทร์บุรี ปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี สาขาอรัญประเทศ จ.สระแก้ว สาขานครนายก จ.นครนายก สาขาปักธงชัย จ.นครราชสีมา สาขาคลองหลวง ธัญบุรี ปทุมธานี รังสิต จ.ปทุมธานี สาขาพระนครศรีอยุธยา ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา สาขาชัยบาดาล บ้านหมี่ ลพบุรี จ.ลพบุรี สาขาบ้านหมอ พระพุทธบาท มวกเหล็ก หนองแค จ.สระบุรี สาขาบ้านโป่ง จ.ราชบุรี สาขาอู่ทอง สุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี สาขากระบี่ จ.กระบี่ สาขากันตัง จ.ตรัง สาขาเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี สาขาตะกั่วป่า ท้ายเหมือง จ.พังงา สาขานครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช สาขาเมืองพล จ.ขอนแก่น สาขาจัตุรัส จ.ชัยภูมิ สาขาบ้านผือ อุดรธานี จ.อุดรธานี สาขาพังโคน จ.สกลนคร สาขาหนองบัวลำภู(หน่วยบริการโนนสัง นากลาง ศรีบุญเรือง) จ.หนองบัวลำภู สาขารัตนบุรี สุรินทร์ จ.สุรินทร์ สาขาอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ สาขาเดชอุดม อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี สาขาเลิงนกทา จ.ยโสธร สาขานางรอง จ.บุรีรัมย์ สาขาเชียงใหม่ แม่ริม จ.เชียงใหม่ สาขาพะเยา จ.พะเยา สาขาแพร่ จ.แพร่ สาขาลำพูน จ.ลำพูน และสาขาชนแดน จ.เพชรบูรณ์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

24จว.แล้งหนักพันโรงงานป่วนงัดแผน3Rรับมือประหยัดน้ำ 

          "ดุสิตโพล"เผยปชช.ส่วนใหญ่วิตกสถานการณ์ภัยแล้ง จี้รัฐเร่งสร้างฝายเขื่อน แก้ไขปัญหาระยะยาว! ด้านกรมอุตุฯ เผยโรงงาน 24 จังหวัดวิกฤติหนัก1,131แห่งได้รับผลกระทบภัยแล้ง แนะยึดหลัก3Rบริหาร ขณะที่"โคราช"อ่วม! เขื่อนลำตะคองน้ำลดฮวบ คาดเหลือใช้ได้อีกแค่ 2 เดือน

          เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 59 สวนดุสิตโพลจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งพบ 52.85% รู้สึกค่อนข้างวิตกเพราะกลัวไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ประชาชนต้องแย่งน้ำกัน ขณะที่ 78.55% จะคอยติดตามข่าวภัยแล้ง การประกาศแจ้งเตือนต่างๆ ของภาครัฐ ในการรับมือส่วน 84.72% อยากให้แก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น การสร้างฝาย เขื่อน ขุดลอกคูคลองต่างๆ ฟื้นฟูป่าและหาแหล่งน้ำเพิ่ม

          ด้าน นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ได้ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและแหล่งกักเก็บน้ำสำรองจากกรมชลประทานและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อีกทั้งยังข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยพบโรงงานที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 24 จังหวัด อาทิเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปางกำแพงเพชร ตาก

          "ทาง กนอ.ได้วางมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำและระบายน้ำเสียมาก จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้คืออุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ประมาณ 1,131 โรงงานซึ่งต้องหาแนวทางในการลดการใช้น้ำที่เหมาะสมและใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพตามหลัก 3 R ที่ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้ซ้ำ(Reuse)และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recy cle) และขอความร่วมมือให้โรงงานทุกแห่งช่วยกันลดการใช้น้ำและระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำทิ้ง โดยเฉพาะโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม.ต่อวัน ควรหาแนวทางลดการใช้น้ำ หรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.59 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย"

          ขณะที่ นายสุทธิโรจน์ กองแก้วผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่เพียง 105 ล้านลูกบาศก์เมตรจากความจุ 314 ล้านลูกบาศก์เมตรสถานการณ์ค่อนข้างวิกฤติ และคาดว่าจะมีน้ำใช้ได้อีก 2 เดือนเท่านั้น

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งเริ่มพ่นพิษรง. นับพันโรงอ่วม อุตฯปลอบปีนี้รับมือได้

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและแหล่งกักเก็บน้ำสำรองจากกรมชลประทานและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมทั้งข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา

ล่าสุดพบโรงงานที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม โดยบางพื้นที่ก็มีโรงงานอยู่หนาแน่น ส่วนโรงงานในภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งมากเพียงพอ อย่างไรก็ตามหากในเดือนพฤษภาคม 2559 ฝนตกลงมาสถานการณ์จะเป็นปกติ

“กรอ.และอุตสาหกรรมจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งเตือนตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว จึงไม่น่าเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และการท่องเที่ยว และประเมินว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะมีใช้เพียงพอในการผลิตไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำน้อย ทาง กนอ.ได้วางมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำและมีการระบายน้ำเสียมากจะได้รับผลกระทบ จากภัยแล้งในปีนี้

 นั่นคือ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ประมาณ 1,131 โรงงาน ซึ่งต้องหาแนวทางในการลดการใช้น้ำที่เหมาะสม” นายอาทิตย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ไทยรับเจ้าภาพประชุม AEM Retreat l เชิญรมต.อาเซียนถก2-3มีค. l จัดแผนเร่งด่วนการค้า-ลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค. 2559 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 22 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการพบปะกันครั้งแรกของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หลังจากที่อาเซียนได้ประกาศจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปี 2558 โดยในการประชุมจะมีการหารือถึงมาตรการที่จะต้องดำเนินการต่อหลังเปิด AEC และมาตรการสำคัญภายใต้แผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ที่จะต้องเร่งดำเนินการ

สำหรับประเด็นสำคัญที่จะหารือ เช่น การดำเนินมาตรการสำคัญภายใต้ AEC Blueprint 2015 ที่ยังต้องดำเนินการ

 ต่อเนื่อง เช่น มาตรการด้านการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASW) ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Self-Certification) การจัดทำความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ (ATISA) การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การดำเนินการระบบคลังข้อมูลการค้าอาเซียน (ATR) เป็นต้น

ทั้งนี้จะมีการหารือตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรืออาเซียน 10 ปีข้างหน้า(พ.ศ. 2559-2568) และจะมีการหารือมาตรการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายในปี 2559 เช่น การเสริมสร้างศักยภาพของ MSMEs หรือธุรกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งประเด็นที่ลาวในฐานะประธานอาเซียนปีนี้จะให้ความสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน การจัดทำกรอบระเบียบของอาเซียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

ขณะเดียวกันในที่ประชุมจะหารือถึงการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจา FTA ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ให้สรุปผลการเจรจาความตกลงฯ ให้ได้ภายในปี 2559 ตามที่ผู้นำอาเซียนประกาศไว้ อีกทั้งจะประชุมสานต่อการหารือ ในประเด็นที่ผู้นำอาเซียนและสหรัฐ ได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 15-16 ก.พ. 2559 ณ เมืองแรนโซมิราจ และการประชุม ASEAN-US TIFA JC ในระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐ ในระหว่างกิจกรรม AEM Roadshow to U.S. ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ. 2559 ณ นครซานฟรานซิสโก และ Silicon Valley โดยเฉพาะแนวทางการเชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายใน 4 เรื่อง ได้แก่ ธุรกิจ พลังงาน นวัตกรรม และนโยบาย ผ่านข้อริเริ่ม ASEAN-US Connect และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางการค้า (ASEAN-US Trade Workshop) ของสหรัฐ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของอาเซียนต่อความตกลงการค้าเสรีมาตรฐานสูง อาทิ TPP รวมทั้งหารือการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างอาเซียน-สหรัฐ

นอกจากนี้จะหารือกับ H.E.Ms. Cecilia Malmstrom กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรป ในฐานะประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป และเพิ่มความร่วมมือในด้านการค้า การลงทุน รวมไปถึงการดำเนินการพิจารณาความเป็นไปได้เพื่อรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการ ค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่ได้หยุดชะงักมาแล้วหลายปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปสรุปความตกลง FTA กับสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ กับเวียดนาม และกำลังจะเริ่มเจรจากับฟิลิปปินส์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

อุตฯหวั่นภัยแล้งสะเทือนโรงงานวอนประหยัด

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับโรงงานอุตสากรรมที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 24 จังหวัด

          ทั้งนี้โรงงานส่วนใหญ่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว แต่กลุ่มที่ที่มีการใช้น้ำและระบายน้ำเสียมาก จะได้รับผลกระทบจากภัย แล้งในปีนี้ประมาณ 1,131 ราย อาทิ อุตสาหกรรมเยื่อและกระ ดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และ อุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ดังนั้น ต้องหาแนวทางลดการใช้น้ำน้อยและมีประสิทธิภาพ 3R ที่ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

          "ช่วงฤดูแล้งขอความร่วมมือให้โรงงานทุกแห่งช่วยกันลดการใช้น้ำและระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลบ.ม.ต่อวัน ควรหาแนวทางลดการใช้น้ำ และให้ลดหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.นี้ เพื่อ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา น้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรม ชาติ" อาทิตย์กล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

จับตาเงินเฟ้อ-ศก.สหรัฐฯกระทบเงินบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าจับตาเครื่องชี้เศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระทบเงินบาทไทย

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้า (29 ก.พ.-4 มี.ค.) ที่ 35.55-35.80บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาเครื่องชี้เศรษฐกิจและตัวเลขเงินเฟ้อของไทย เช่นเดียวกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนก.พ.ยอดสั่งซื้อของโรงงาน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย รายจ่ายด้านการก่อสร้างข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนม.ค. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามรายงานตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และดัชนีพีเอ็มไอ ภาคการผลิต/บริการของจีน และประเทศอื่นๆเดือนก.พ. ด้วยเช่นกัน“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

รัฐ-เอกชนฝ่าวิกฤติภัยแล้ง คลอดสารพัดมาตรการอุ้ม

สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้กำลังทวีความรุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤติหนักที่สุดในรอบ 20 ปี หลังกรมชลประทานออกมาระบุสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือน้ำต้นทุนให้ใช้ได้จนถึงเดือน มิ.ย. 59 เพียง 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร และในจำนวนนี้สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้เพียง 272 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น!!! ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ต้องผจญความเดือดร้อนอย่างสาหัสเพราะจากนี้ไปคงไม่มีน้ำมาทำการเกษตรได้เหมือนทุก ๆ ปี

แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นทันด่วนจนตั้งตัวไม่ทันเพราะเมื่อปีที่แล้ว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำนักย้ำหนาถึงเรื่องภัยแล้งให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมเสียแต่เนิ่น ๆ โดยขอความร่วมมือให้ชาวนาลดการปลูกข้าวนาปรังและใช้น้ำอย่างประหยัดจริง ๆ แถมยังประกาศพื้นที่ภัยแล้งรวม 12 จังหวัด ครอบคลุม 46 อำเภอ ที่คาดว่าต้องได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ อีกด้วยคลอด 25 กิจกรรมช่วย

ขณะเดียวกันช่วงปลายปีรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤิตภัยแล้งปี 58/59 มา 8 มาตรการ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเป็นแม่งานไปดูแลมีกิจกรรมต่าง ๆ รวม 25 กิจกรรม ตัวอย่างเช่น ส่งเสริมความรู้การใช้น้ำอย่างประหยัด จ้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกรและหาทางเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนด้วยการขุดลอกคลอง ขุดน้ำบาดาล และทำฝนหลวงไม่เพียงเท่านั้น...

เมื่อสถานการณ์กำลังใกล้งวดเข้ามาทุกทีเมื่อเห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังประสบความเดือดร้อนหนักดังนั้นในการประชุมครม.ครั้งล่าสุดก็ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกรอีกระลอกเป็นมาตรการทางด้านการเงินโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมสินเชื่อวงเงินรวม 93,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ลงไปยังเกษตรกรเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและที่สำคัญยังเป็นการปรับโครงสร้างทางการเกษตรของประเทศไทยใหม่ทั้งหมด

ธ.ก.ส.เร่งปล่อยกู้ เริ่มจากมาตรการแรก เป็นโครงการที่มุ่งตรงไปช่วยเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเป็นหลัก โดย ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินปล่อยกู้แบบฉุกเฉินให้กลุ่มลูกค้าของ ธ.ก.ส.เป็นการเฉพาะมีวงเงินรวม6,000ล้านบาท นำไปปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรรายละไม่เกิน12,000บาทระยะเวลาการกู้1ปีฟรีดอกเบี้ย6เดือน ส่วนเดือนที่7–12คิดอัตราดอกเบี้ย4% โดยหวังว่าเงินก้อนนี้จะลงไปช่วยให้ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งได้ทุเลาลงและช่วยป้องกันไม่ให้เกษตรกรไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ คาดว่าโครงการแรกจะมีเกษตรกรที่ได้ประโยชน์รวม500,000 ราย

ต่อมาเป็น โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชทดแทนข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาด เน้นการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนเร็วโดยให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองที่เคยปลูกข้าวนาปรังได้รวมกลุ่มกันเพื่อปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมีวงเงินเตรียมไว้ให้ 15,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนละไม่เกิน3ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ3ปี เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรนำไปใช้ซื้อปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ และปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก และ ธ.ก.ส.เองคิดดอกเบี้ยในอัตรา0.01%คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 100,000 ราย หรือครอบคลุม1,400 ชุมชนยกเครื่องเกษตรไทย

ส่วนสุดท้ายเป็น โครงการที่ช่วยปรับโครงสร้างการเกษตรของไทยให้มีรูปโฉมใหม่ โดยรัฐจะปั้นให้แต่ละตำบลมีกลุ่มผู้ประกอบการในภาคการเกษตรอุตสาหกรรมขึ้นหรือเป็น“1ตำบล 1เอสเอ็มอี” โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกร สหกรณ์ชุมชน วิสาหกิจชุมชนหรือนิติบุคคลที่เกษตรกรมีส่วนร่วมมีวงเงินเตรียมไว้แล้ว72,000ล้านบาท โดยเงินก้อนนี้จะปล่อยให้รายละไม่เกิน20ล้านบาท มีระยะเวลาในการกู้เงินไม่เกิน10ปี โดยในช่วง7ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ย4% ส่วนในปีที่8–10คิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติ

ทั้งนี้เกษตรกรที่กู้เงินไปก็เพื่อมีทุนไปต่อยอดพัฒนาสินค้าเกษตรในชุมชนให้สามารถเพิ่มมูลค่าได้ อาจนำไปสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าขนาดเล็กในชุมชนหรือพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการขายสินค้า โดยคาดว่าโครงการนี้จะมีผู้เข้าร่วมทั่วประเทศกว่า 72,000 รายเอกชนร่วมลดใช้น้ำ

ไม่เพียงรัฐบาลเท่านั้นที่เร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภาคเอกชนก็เช่นกันที่ไม่ได้ละทิ้งหรือนิ่งนอนใจกับปัญหาใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยล่าสุด 10 องค์กรยักษ์ใหญ่กลุ่มมิตรผล, กลุ่มเอสซีจี, บมจ.ปตท., ธนาคารกสิกรไทย, เครือเบทาโกร, บริษัท ไทยน้ำทิพย์, สมาคมโรงแรมไทย, เซ็นทรัล กรุ๊ป, บริษัท เอ็มเคเรสโตรองต์ กรุ๊ป, บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หอการค้าไทย สถานีโทรทัศน์ไทยทีพีเอส จัดโครงการแบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจสู้ภัยแล้งตั้งเป้าหมายลดการใช้น้ำในภาคสถานประกอบการ 30% ซึ่งเป็นการนำร่องที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเพราะแต่ละองค์กรใช้น้ำในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมากยักษ์ใหญ่ช่วยประหยัด

สำหรับแนวทางการรณรงค์ประหยัดน้ำและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่าของแต่ละภาคธุรกิจมีแนวทางแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่เหมือนกันคือ เริ่มจากรณรงค์จากพนักงานในองค์กรตัวเองซึ่งมีเป็นจำนวนมากและปรับกระบวนการผลิตให้ใช้น้ำคุ้มค่ามากที่สุด เช่น กลุ่มมิตรผลซึ่งใช้น้ำในกระบวนการผลิตน้ำตาลตั้งแต่การสกัดน้ำอ้อยจนเป็นน้ำตาลแต่ละกระบวนการจะมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ทางกลุ่มมิตรผลจะใช้น้ำที่ใช้แล้วมารีไซเคิลใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ใช้น้ำเท่าไรก็จะคืนสู่สังคมมากเท่านั้น และมีการขุดบ่อน้ำไว้ใช้เอง

ด้าน บมจ.ปตท. ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่มาตั้งแต่ปี 37 ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลชักชวนให้ผู้ใช้บริการสถานีบริการน้ำมัน ปตท.แต่ละวันซึ่งมีกว่า 1.5 ล้านคัน ให้ช่วยกันประหยัดน้ำและรณรงค์ให้ทุกบริษัทในเครือของ ปตท.ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่ามากที่สุด ซึ่งขณะนี้แต่ละบริษัทในเครือ ปตท.มีแนวทางในการประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่องแล้ว

ส่วนกลุ่มเอสซีจีที่ผ่านมาได้สร้างฝายทดน้ำให้กับแต่ละชุมชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ปรับกลยุทธ์กระบวนการผลิตต่าง ๆ ให้ใช้น้ำคุ้มค่ามากที่สุดโดยเฉพาะการรีไซเคิลน้ำดันวาระแห่งชาติ

นอกจากนี้ในด้านของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ คปภ.โดย “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ คปภ. ได้เสนอว่า คปภ.เตรียมชงแนวทางให้รัฐบาลกำหนดวิธีการขับเคลื่อนประกันภัยพืชผลโดยผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อรับมือกับวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นโดยให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องดำเนินการไปพร้อมกันเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาเข้ามาทำประกันภัยเพิ่ม ปีนี้ตั้งเป้าหมายมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเข้ามาทำประกัน3-5 ล้านไร่

อย่างไรก็ตามแม้เวลานี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า “วิกฤติแล้ง” ปีนี้จะสาหัสสากรรจ์มากน้อยเพียงใด แต่ที่ทุกภาคส่วนได้พยายามเสาะแสวงหาสารพัดมาตรการออกมา ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของใคร? หรือเรื่องของคนใดคนหนึ่ง? แต่ทุกคนต้องร่วมกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ให้ได้!!.

ทีมเศรษฐกิจเกษตรกรต้องงดสูบน้ำ“สุเทพ น้อยไพโรจน์” อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า เวลานี้ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลักขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง

เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจไม่เพียงพอใช้ในอนาคตทั้งนี้สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน (23 ก.พ. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิ.ย.59 ประมาณ 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า มีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1.96 ล้านไร่ มีแนวโน้มทรงตัว และปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 2.4 แสนไร่ ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1.72 ล้านไร่ น้อยกว่าปี 57 และ 58

เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลมารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯคนเมืองยังชะล่าใจ“เสรี ศุภราทิตย์” คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ได้ประมาณการความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจนถึงเดือน พ.ค.นี้ จะอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งความต้องการใช้น้ำสูงกว่าที่มีอยู่ถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นในช่วง120 วันจากนี้ นับตั้งแต่ประมาณเดือน มี.ค.-มิ.ย.นี้ จึงเป็นช่วงที่ต้องจับตาภัยแล้ง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเร่งหาแนวทางรับมือร่วมกัน โดยเฉพาะคนในเมืองที่ยังไม่ตื่นตระหนกภัยแล้งเท่าที่ควรทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างของหน้าแล้งปีนี้ คือฝนปีนี้มาล่าช้ากว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรข้อมูลจากแบบจำลองภูมิอากาศคาดการณ์ฝนในปีนี้ชี้ว่า ฝนจะมาจริงๆ ช่วงเดือนส.ค.

ขณะที่ต้นฤดูฝนในเดือนพ.ค. ฝนจะมาล่าช้าและมีตกบ้างเล็กน้อย ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในช่วงเดือน พ.ค. จนถึง ก.ค.มีความเสี่ยงสูงที่จะขาดแคลนน้ำเพาะปลูก จนทำให้ข้าวเสียหาย คาดว่าช่วงแล้งดังกล่าวจะมีการปลูกข้าวนาปีกว่า 4 ล้านไร่

ขณะเดียวกันได้ประเมินขั้นเลวร้าย หากไม่มีน้ำใช้พอทำการเกษตรหน้าแล้งนี้จนทำให้ข้าวที่ปลูกเสียหายทั้ง 4 ล้านไร่ คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหาย 12,000 ล้านบาท ประมาณการจากต้นทุนทำนาไร่ละ 3,000 บาท

อีกทั้งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอาจต้องเปิดปิดน้ำเป็นเวลาก็ได้ร่วมกันลดใช้น้ำ“เดช เฉิดสุวรรณรักษ์” กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า เอกชนได้เข้าร่วมโครงการแบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง ซึ่งเป็นการจับมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 10 แห่ง เพื่อร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ เพราะหอการค้าไทยเป็นศูนย์รวมของภาคธุรกิจทั่วประเทศ มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงคาดหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะเป็นการปลุกพลังของภาคธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมเพื่อการใช้น้ำอย่างประหยัดและการแบ่งปันทรัพยากรอันมีค่าร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมของหอการค้าไทยในการรณรงค์ คือการให้ภาคธุรกิจทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลดการใช้น้ำประปา 30%ทั้งนี้หอการค้าไทยได้สร้างต้นแบบ 10 ธุรกิจนำร่องของโครงการ

ในส่วนภูมิภาคได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัด ในการสร้างธุรกิจต้นแบบลดการใช้น้ำให้ครบทุกจังหวัด ซึ่งมีความมุ่งหวังที่จะช่วยให้สังคมไทยฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน และการรณรงค์ลดการใช้น้ำจะเป็นการสร้างพลังในการปลูกจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างประหยัด มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กนอ.ทำแผนรับมือภัยแล้งปี 59สั่งนิคมฯ ทั่วประเทศเตรียมพร้อม

บอร์ด กนอ.กำชับนิคมฯ ทั่วประเทศ เตรียมแผนรับมือภัยแล้งปี 2559 เดินหน้าจับมือพันธมิตรจัดงาน “โครงการนิคมอุตสาหกรรมไทยปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง” มอบถังเก็บน้ำสำรองขนาดความจุ 2,000 ลิตร ให้กับ 6 ชุมชน นำร่องรอบนิคมฯภาคเหนือ จ.ลำพูน เป็นแห่งแรก

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งปี 2559 ส่งผลทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำใช้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เร่งรัดให้ กนอ.เตรียมพร้อมในการรับมือปัญหาภัยแล้งกับภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วประเทศ

 “จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ มีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทั่วประเทศที่สามารถนำมาใช้งานได้ มีปริมาณต่ำกว่าปีที่ผ่านมา และอาจไม่เพียงพอต่อหลายภาคส่วน อาทิ ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม เนื่องจากปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนเกิดการทิ้งช่วงทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายที่เป็นแม่น้ำสายหลักป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กนอ.จะต้องเตรียมแผนบริหารจัดการปัญหาภัยแล้งเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่นิคมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศอย่างเต็มที โดยเฉพาะนิคมฯ ที่อยู่ในจุดเสี่ยง อาทิ นิคมฯ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน หากนิคมฯ ใดที่มีน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพียงพอแล้ว ขอให้จัดสรรแบ่งปันน้ำเพื่อช่วยเหลือชุมชนโดยรอบนิคมฯ นั้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งนับเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ของ กนอ.” พล.อ.วรพงษ์ กล่าว

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดทำแผนบริหารจัดการปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่นิคมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดย กนอ.ที่เป็นหน่วยงานกลางในการเป็นศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ด้านข้อมูลปริมาณน้ำกัก และน้ำท่าจากกรมชลประทาน ข้อมูลสภาพอากาศจากรมอุตุนิยมวิทยา และเป็นศูนย์กลางบัญชาการในการสั่งการแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่นิคมฯ ต่างๆ จะต้องประสานข้อมูลไปยังผู้พัฒนานิคมฯ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งแจ้งเตือนผู้ประกอบการเป็นระยะๆ เพื่อเตรียมการด้านต่างๆ อาทิ การลดปริมาณการใช้น้ำ ลดปริมาณน้ำสูญเสีย ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมไปถึงการเตรียมการสำรองน้ำในบ่อเก็บกักน้ำของนิคมฯ และของโรงงาน และการหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติม อาทิ บ่อบาดาล บ่อน้ำดิบ ของเอกชนบริเวณใกล้เคียง

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จะอยู่ในพื้นที่นิคมฯ ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และนิคมฯ ภาคกลางในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสระบุรี ซึ่งปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรมดำเนินการ กนอ. และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ กนอ.รวมทั้งสิ้น 55 แห่ง ใน 16 จังหวัด ซึ่งแผนป้องกันดังกล่าว กนอ.ได้ดำเนินการจัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด กนอ.ได้ร่วมกับผู้พัฒนาและผู้ประกอบการในนิคมฯ จัดกิจกรรมโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมไทยปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง” ขึ้นในพื้นที่ชุมชนบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน เพื่อให้ความช่วยเหลือและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมฯ ภาคเหนือ

โดยนิคมฯ ภาคเหนือเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยการมอบถังเก็บน้ำสำรองขนาดความจุ 2,000 ลิตร สำหรับอุปโภคบริโภคในชุมชนให้แก่ชุมชนโดยรอบนิคมฯ ภาคเหนือจำนวน 6 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนบ้านวังทอง 2.ชุมชนบ้านศรีบุญยืน 3.ชุมชนบ้านสันป่าฝ้าย 4.ชุมชนบ้านขี้เหล็ก 5.ชุมชนบ้านสันปูเลย 6.ชุมชนบ้านเวียงยอง (หมู่ 3) รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 ถัง ชุมชนละ 4 ถัง โดยมี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ กนอ. เป็นประธานในการมอบถังเก็บน้ำสำรองในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม กนอ.มีแผนในการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่โดยรอบนิคมฯ และพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยประสานความร่วมมือกับผู้พัฒนาและผู้ประกอบการในนิคมฯ ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว นับว่าสอดรับกับแผนงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม Corporate CSR ขององค์กรในด้าน “Care” กนอ.รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ กนอ.ในภาพรวม

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

อุตฯชี้แล้งกระทบ1,200โรงงานขอชะลอระบายน้ำทิ้ง

กระทรวงอุตสาหกรรม สแกนภัยแล้งกระทบ 1,200 โรง ขอความร่วมมือโรงงานลดใช้น้ำ แจ้งเตือนลดการระบายน้ำทิ้ง ช่วง ม.ค. - มิ.ย.59 หวั่นทำน้ำเสียได้

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้พบโรงงานที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี  นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม ส่วนใหญ่เป็นประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำและมีการระบายน้ำเสียมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ประมาณ 1,131 โรงงาน ส่วนโรงงานในภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งมากเพียงพอ อย่างไรก็ตามหากในเดือนพฤษภาคม นี้ มีปริมาณฝนตกลงมา จะช่วยให้สถานการณ์เป็นปกติ

ทั้งนี้ โรงงานส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว จึงไม่น่าเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคประชาชน ที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และการท่องเที่ยว และประเมินว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรมจะมีใช้เพียงพอในการผลิตไม่มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ได้หาแนวทางในการลดการใช้น้ำที่เหมาะสม เพื่อให้โรงงานใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพตามหลัก 3R ที่ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมขอความร่วมมือให้โรงงานทุกแห่งช่วยกันลดการใช้น้ำและระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ควรหาแนวทางลดการใช้น้ำ และให้ลดหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กรมฝนหลวงส่งเครื่องบิน9จังหวัดแก้ภัยแล้ง

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมส่งเครื่องบินทำฝนหลวง 9 จังหวัดทั่วประเทศ 29 ก.พ. 2559

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบกับหลายจังหวัดของประเทศ เบื้องต้น ทาง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับแผนบินขึ้นทำฝนหลวงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ รวมถึงการจัดส่งเครื่องบินไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่สำคัญ 9 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ คือ จ.นครสวรรค์, เชียงใหม่, พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.อุบลราชธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา ภาคกลาง คือ จ.สระบุรี,ประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคตะวันตก คือ จ.กาญจนบุรี  ในวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนภายในเขื่อนต่าง ๆ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าค่าเฉลี่ยน้ำฝนของ ทั้งประเทศ ต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 10

อย่างไรก็ตาม คาดว่า กรมชลประทาน จะสามารถบริหารจัดการน้ำให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติก่อนถึงต้นฤดูฝนไปได้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ซีพีเอฟ เดินหน้าอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ซีพีเอฟ เดินหน้าอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรลดผลกระทบภัยแล้ง

ซีพีเอฟ เดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงาน พร้อมปันน้ำให้เกษตรกรพืชสวนพืชไร่รอบโรงงานแปรรูปและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดผลกระทบภัยแล้ง

นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนรอบข้าง ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่แหล่งน้ำเดียวกัน และได้นำเครื่องมือที่เป็นสากลมาใช้ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ เครื่องมือของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการขาดน้ำสำหรับการผลิตและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะเดียวกัน บริษัทมีมาตรการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำสำรองที่เชื่อถือได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกขั้นตอนให้ดียิ่งขึ้น การวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จัดทำแผนฉุกเฉินหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักและไม่กระทบต่อชุมชนรอบข้าง และประสานติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ซีพีเอฟยังนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีคุณภาพตามกฎหมายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด กลับมาใช้ในส่วนอื่นๆ นอกกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น รดต้นไม้และสนามหญ้า ใช้ทำความสะอาดพื้นบริเวณรอบโรงงาน อาทิ พื้นถนน ลานจอดรถ และใช้ในระบบชะล้างในห้องน้ำ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์น้ำตามแนวทางการใช้ซ้ำ (Reuse) ช่วยลดการนำน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ และกำลังศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้โรงงานสามารถนำน้ำหลังบำบัดกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า โรงงานแปรรูปได้แบ่งปันน้ำหลังการบำบัดให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชผัก ในชุมชนรอบข้างโรงงาน ขณะเดียวกันยังมอบน้ำดิบที่โรงงานผลิตได้ให้ชุมชนในยามวิกฤติแล้ง ล่าสุดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งท่อประปาแก่ชุมชนหมู่ที่ 2 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน

ด้าน นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมจึงไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์น้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรม “ส้วมน้ำ” ที่ช่วยแบ่งแยกจุดขับถ่ายในคอกเลี้ยงสุกรทำให้พื้นคอกสะอาด ช่วยลดการใช้น้ำในการล้างคอก ขณะเดียวกันน้ำในส้วมน้ำเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียเกิดเป็นแก๊สชีวภาพใช้ในการปั่นไฟกลับมาใช้ในฟาร์ม

นอกจากนี้ หลังกระบวนการบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊สแล้ว ยังได้ “น้ำปุ๋ย” ซึ่งเป็นน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับนำไปใช้รดต้นไม้และแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานได้รับประทานผักคุณภาพดี และมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม ตลอดจนนำน้ำที่บำบัดแล้วมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้ในการล้างเล้าทดแทนการใช้น้ำดี โครงการนี้ทำให้สายธุรกิจสุกรสามารถลดการใช้น้ำในส่วนดังกล่าวลงปีละ 5% ในปี 2015 สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 750,000 คิว คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท

นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในบริเวณรอบฟาร์ม ด้วยการแบ่งปัน “น้ำปุ๋ย” เพื่อนำไปรดไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนกล้วย ไผ่ตง และหญ้าขนเลี้ยงวัวชน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และยังช่วยเพิ่มผลผลิตจากคุณภาพของน้ำที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนิเซียม และโซเดียม

 “ผลการตรวจคุณภาพของน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีแร่ธาตุที่พืชต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมที่มีสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมีไนโตรเจนถึง 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชที่ได้รับน้ำปุ๋ยเติบโตเร็วและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ซีพีเอฟภูมิใจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งของทุกปีให้กับเกษตรกรมานานกว่า 10 ปี” นายสมพร กล่าว

นายสมพร ยังแนะนำการจัดการน้ำในฟาร์มเกษตรกรด้วยว่า เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอกับปริมาณสัตว์ที่เลี้ยง น้ำต้องมีคุณภาพดี ใส สะอาด รสชาติไม่เค็ม และต้องใช้สารส้มปรับคุณภาพน้ำก่อนใช้ ในอัตราส่วนสารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยความเข้มข้น 3-5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) สำหรับในโรงเรือนสุกรที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรมีการขังน้ำไว้ให้พอดีด้วย

นายสนุน มะนาวหวาน หนึ่งในเกษตรกรที่นำ “น้ำปุ๋ย” จากฟาร์มซีพีเอฟ มาใช้ในไร่อ้อยกว่า 62 ไร่ ที่บ้านไร่ จ.กำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่า ไร่อ้อยของตนไม่ต้องประสบกับภาวะขาดน้ำในช่วงแล้ง เพราะขอแบ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดจากฟาร์มมาใช้เดือนละประมาณ 10,000-12,000 ลูกบาศก์เมตร และน้ำดังกล่าวยังอุดมด้วยธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืช ช่วยให้ต้นอ้อยเขียวงามดี ผลผลิตอ้อยมีน้ำหนักดี ช่วยให้ตนได้ราคาดี และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยร่วม 2 แสนบาทอีกด้วย

สอดคล้องกับนายโชติ ไหมทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรทำสวนผลไม้รวม 35 คนที่เข้าร่วมโครงการขอปัน “น้ำปุ๋ย” จากฟาร์มสุกรจันทบุรี 2 กล่าวว่า น้ำปุ๋ยมีข้อดีที่ช่วยปรับสภาพดินทำให้ดินร่วนซุย มีสภาพดีขึ้น ช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ถึง 40% ผลผลิตมีคุณภาพดี รสชาติอร่อยขึ้น และที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรที่อยู่รอบฟาร์มจันทบุรี 2 ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาหลายปีแล้ว

  ขณะที่ นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกของชุมชน โรงงานของบริษัทที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ จึงให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการใช้น้ำอย่างประหยัด ลดใช้น้ำกับกิจกรรมไม่จำเป็น และยังช่วยแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัด ให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้สำหรับการเพาะปลูกในช่วงนี้อีกด้วย

 “โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมาและโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ได้ติดตั้งปั๊มสูบน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานไปใช้ในแปลงพืชผักของตนเอง บรรเทาความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ และสามารถประกอบอาชีพได้อย่างต่อเนื่อง” นายสิริพงศ์กล่าว

การแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรจากฟาร์มสุกร และโรงงานแปรรูปอาหารของซีพีเอฟในช่วงนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายปัญหาน้ำในภาวะที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติ ได้เป็นอย่างดี

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ไทยเตรียมถกสหรัฐฯหนุนร่วมวงTPP ดีเดย์เมษานี้-เล็งส่งออกมะกันโต3.1%

ไทยจ่อถกตัวต่อตัวกับสหรัฐฯ ขอข้อมูลและช่วยติวเข้มเข้าเป็นสมาชิกทีพีพี ขณะแจงสหรัฐฯไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวตามหลักสากลขอยังคงสิทธิให้จีเอสพี ขณะตั้งเป้าส่งออกไปสหรัฐฯปีนี้โต 3.1% สั่งลุยค้าออนไลน์ทีวีช็อปปิ้ง รุกกลุ่มเป้าหมายใหม่ผู้สูงอายุ ผู้อพยพ และคนรักสุขภาพ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกันนี้ตนได้เข้าร่วมประชุม AEM Roadshow ที่สหรัฐฯ โดยในการประชุมครั้งนี้มีในหลายประเด็น เช่น การประชุมกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน(TIFA JC)ไทย-สหรัฐฯ โดยทางสหรัฐฯได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม TIFA JC ครั้งต่อไป แบบตัวต่อตัว(face to face) ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2559

ทั้งนี้จะหารือในระดับรัฐมนตรี ต่อเนื่องด้วยการหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมทั้งจะมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังการประชุมTIFA JC ทั้งนี้สหรัฐฯเองยินดีที่จะหารือในรายละเอียดของความตกลง TPP กับฝ่ายไทย เพื่อตอบข้อซักถามและชี้แจงเกี่ยวกับความตกลงดังกล่าวซึ่งจะทำให้ไทยเข้าใจเนื้อหาของบริบทการเจรจาและพันธกรณีภายใต้ความตกลงTPP ได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พบปะกับคณะเจรจาความตกลง TPP ของสหรัฐฯ ด้วย

สำหรับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก TPP นั้นไทยเองเห็นว่า TPP เป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมในประเด็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย เน้นประเด็นทางการค้าสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องสำคัญภายใต้นโยบายการปรับความสมดุลไปยังเอเชีย(Rebalance to Asia)ของสหรัฐฯ และปัจจุบันไทยเองก็สนใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ทันทีที่มีการเปิดรับสมาชิกใหม่ ขณะที่เวลานี้ไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียของการเข้าร่วมเจรจาทีพีพีอย่างรอบด้าน

 “กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกทีพีพียังไม่ชัดเจน ดังนั้นไทยจึงต้องหารือกับสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวเข้าร่วมเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆในการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับทีพีพีไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจและภาคเกษตร”

นอกจากนี้การประชุม TIFA JC ครั้งล่าสุดยังมีประเด็นการชี้แจงการดำเนินของไทยต่อสหรัฐฯ ในกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้รับคำร้องจากสมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ(AFL-CIO) โดยกล่าวหาว่าไทยไม่มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายแรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แรงงานต่างด้าวถูกกีดกันไม่ให้มีเสรีภาพ และกฎหมายไทยจำกัดสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานของต่างด้าว เป็นต้น ทั้งนี้คำร้องดังกล่าวได้ขอให้ทบทวนและถอดถอนไทยออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)จากสหรัฐฯ

 ในเรื่องนี้ไทยได้ชี้แจงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และได้ให้ข้อมูลถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯเพื่อหาแนวทางเกี่ยวกับความคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดีในส่วนของการค้าไทย-สหรัฐฯ คาดปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 ไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯขยายตัวที่ 3.1% โดยยังคงเน้นกลุ่มตลาดเป้าหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้อพยพ และคนรักสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมสินค้าใหม่ๆเช่นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าออร์แกนิก ส่วนช่องทางการตลาดจะมีมากขึ้น เช่น การค้าออนไลน์ ทีวีช็อปปิ้ง หรือผ่านตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

การส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง ผู้ส่งออกเริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหาเงินบาทแข็งค่า

ที่มา : TISCO ECONOMIC STRATEGY

การส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่อง

•การส่งออกเดือน ม.ค. หดตัว -8.9% YoY (vs. -8.7% เดือนก่อน; -7.5% ESU คาด; -6.5% ตลาดคาด) ขณะที่ การนำเข้าหดตัวแรง -12.4% YoY (vs. -9.2% เดือนก่อน; -14% ESU คาด; -8.5% ตลาดคาด) ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล +238 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่ขาดดุล -411 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนม.ค. ปีก่อน

•เราคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ที่ -2% เนื่องจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน ซึ่งเราพบว่าเป็นดัชนีชี้นำการส่งออกของไทยยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด

ความกังวลเรื่องเงินบาทแข็งค่าเพิ่มสูงขึ้น

•การส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกมีความกังวลในเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งกดดันกำไรของผู้ส่งออก โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ได้เตรียมหารือกับธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของค่าเงินบาท

การส่งออกยังคงอ่อนแอ

•ในเดือน ม.ค. การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหดตัวในอัตราที่ลดลง (-4.1% YoY vs. -9.8% เดือนก่อน) จากปริมาณการส่งออกข้าว (+30% YoY vs. -22.5% เดือนก่อน) และน้ำตาล (+25.8% YoY vs. -8.5% เดือนก่อน) ที่ขยายตัวดี

•แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังอ่อนแอ (-8.5% YoY vs. -6.7% เดือนก่อน) โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันดิบ (-42.0% YoY vs. -40.8% เดือนก่อน) เม็ดพลาสติก (-13.0% YoY vs.-10.0% เดือนก่อน) และเคมีภัณฑ์

(-16.8% YoY vs. -23.6% เดือนก่อน) ซึ่งยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (-9.7% YoY vs. -12.2% เดือนก่อน) ฟื้นตัวเล็กน้อยแต่ยังคงอ่อนแอ

•อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (+84.9% YoY vs. +81.7% เดือนก่อน) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (+51.6% YoY vs. +46.9% เดือนก่อน) ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

•การส่งออกสินค้าไปประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลงเป็นส่วนใหญ่ โดยประเทศญี่ปุ่นหดตัว -10.1%YoY (vs. -9.8% เดือนก่อน) สหรัฐฯ -8.5% YoY (vs. -7.2% เดือนก่อน)  ยุโรป -2.4% YoY (vs. +2.3% เดือนก่อน) และฮ่องกง -13.9% YoY (vs. -1.0% เดือนก่อน)

•ส่วนประเทศกลุ่มประเทศอาเซียน  (-14.9% YoY vs. -15.2% เดือนก่อน) และจีน (-6.1% YoY vs. -9.5% เดือนก่อน) ยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่ลดลง ในขณะที่ประเทศกลุ่ม CLMV ชะลอตัวแรง +1.2% YoY (vs. +7.4% เดือนก่อน)

•การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น +0.93 YoY (vs. -8% เดือนก่อน) ชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง -1.5% YoY (vs. +1.28% เดือนก่อน), การนำเข้าวัตถุดิบหดตัว -15.27% YoY (vs. -2.69% เดือนก่อน) และการนำเข้าน้ำมันหดตัว -40.68% YoY (vs. -25.8% เดือนก่อน)

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ช่วยกันคิดช่วยกันคุย : ผลกระทบจากภัยแล้ง

: โดย...ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี

                      ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบกับปริมาณฝนในไทยตั้งแต่ปี 2557 และเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนในปี 2558 ในช่วงฤดูฝนทำให้ชาวนาต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปและไม่สามารถปลูกข้าวได้ในอีกหลายพื้นที่ และปรากฏการณ์นี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี

                      ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ชาวนา เนื่องจากภัยแล้งติดต่อกันกระทบผลผลิตข้าวลดลงแล้ว 3 ฤดูกาล คือข้าวนาปรัง 2557/58 ข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 และข้าวนาปรัง 2558/59 โดยประเมินว่าผลผลิตลดลงรวม 10.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 84,228 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเสียหายกว่าร้อยละ 50 เกิดกับผลผลิตข้าวนาปรังปี 2558/59 (พฤศจิกายน 2558-มีนาคม 2559)

                      ทั้งนี้ ปริมาณฝนที่ลดลงต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในภาคเหนือตอนล่างและเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลางมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้รวมเหลือเพียง 2,425 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากระดับ 4,810 ลบ.ม. ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 50.4 จึงถือได้ว่าปี 2559 เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือและภาคกลาง ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                      โดยภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตข้าวลดลงมากที่สุด 4.5 ล้านตัน มูลค่า 3.69 หมื่นล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ส่วนภาคกลางได้รับผลกระทบมาเป็นอันดับสอง คือผลผลิตข้าวลดลง 4.0 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3.19 ล้านบาท จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูง คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และชัยนาท

                      ส่วนผลกระทบต่อเนื่อง แน่นอนว่ากลุ่มสินค้าคงทนได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าแฟชั่น ฯลฯ ในส่วนของธุรกิจ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าจำเป็น ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและราคาไม่สูงนัก อีกด้านหนึ่ง ชาวนายังเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย เมื่อไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ธุรกิจปุ๋ย เคมีภัณฑ์การเกษตร อุปกรณ์และเครื่องจักรกลเกษตร โรงสีข้าว ฯลฯ ก็ย่อมมีรายได้ลดลงเช่นเดียวกัน

                      “มาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทนแล้ง” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากปริมาณผลผลิตข้าวที่ลดลง และยังได้ประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย คือปรับโครงสร้างพืชเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น ลดปริมาณการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเกษตรกรชาวนามีทางเลือกในการเพาะปลูก ส่วนประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ธุรกิจในพื้นที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของเกษตรกร และธุรกิจภาคการเกษตรที่จะขายปัจจัยการผลิตจากการเพาะปลูกพืชทดแทนข้าว เสมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว...

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เอกชนหวั่นภัยแล้งกระทบปลูกอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารของ TSMC ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อศึกษาข้อมูล ประเมินศักยภาพ วิเคราะห์นโยบายและโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำในการเพาะปลูกอ้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงสามารถนำไปใช้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยอย่างเพียงพอ หลังแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อฤดูการเพาะปลูกอ้อยประจำปี 2559/2560 และคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในอนาคต

 “ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยมากขึ้นทุกปี ปีนี้หลายฝ่ายคาดว่าภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้โรงงานน้ำตาลมีความเป็นกังวลและเป็นห่วงว่าน้ำจะมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงจัดตั้งคณะทำงานฯ เร่งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลการพัฒนาแหล่งน้ำนำมาใช้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้โรงงานน้ำตาลได้เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/2559 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 91 วัน พบว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยปีนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานยังลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 72.92 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 71.91 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ลดลง 6.84 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาหีบอ้อยของปีก่อนที่ผลิตได้ถึง 79.76 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตยิลด์เฉลี่ยลดลงเหลือ 98.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 102.98 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 4.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน ส่วนค่าความหวานของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 11.53 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 11.89 ซี.ซี.เอส. ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสภาพอากาศแล้งในช่วงเพาะปลูกและจากปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน จึงทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมปีนี้ไม่ดี

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งทุบอาหาร คาดผลผลิตข้าว มัน น้ำตาล ร่วงยกแผง 

สถาบันอาหารชี้ภัยแล้งทำผลผลิตเกษตรเสียหายหนัก หวั่นเป็นตัวฉุดส่งออกกลุ่มอาหารหดตัว

          นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การส่งออกอาหารชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ ข้าวเปลือกนาปรัง คาดว่าผลผลิตลดลง 8.1% ทำให้อาจเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออกและทำให้มูลค่าส่งออกทั้งปีอาจ ลดลง 3.5%

          สำหรับสินค้ากลุ่มน้ำตาลทราย คาดว่าผลผลิตจะลดลง 1.2% จากพื้นที่ ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบภัยแล้ง ทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีขยายตัวเพียง

          0.1% และมันสำปะหลังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน อาจติดลบถึง 3.5% ทำให้ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน เพื่อแปรรูป โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง 1.5%

          นอกจากนี้ ยังต้องจับตาความขัดแย้งด้านการเมืองในต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ของไทย ที่อาจมีปัญหาด้านการชำระ เงินค่าสินค้า ปัญหาการใช้แรงงาน ผิดกฎหมาย (เทียร์ 3) และการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) รวมถึงการลดค่าเงินของจีน และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น

          อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกกลุ่มอาหารในปี 2559 คาดว่ามีมูลค่า 9.5 แสนล้านบาท ขยายตัว 5.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 8.97 แสนล้านบาท ปริมาณจะอยู่ที่ 30.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.6% จากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 30.46 โดยสินค้าส่งออกหลัก 8 รายการ มี 3 รายการน่าเป็นห่วง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลังจากภัยแล้ง ขณะที่อีก 5 รายการมีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่  ไก่ขยายตัว 3% ทูน่ากระป๋องขยายตัว 10% กุ้งขยายตัว 10% เครื่องปรุงรส 10% และสับปะรดกระป๋อง 10%

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าการส่งออกอาหารและอาหารแปรรูปของไทยขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ในช่วง 5 ปีจากนี้ และพยายามหาแนวทางเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอาหารแปรรูปจากปัจจุบัน 49% เป็น 50-55% เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกอาหารอยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลกจากปัจจุบันอยู่อันดับ 14 ของโลก

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งกระทบอุตฯอ้อย-น้ำตาลทราย ‘TSMC’ตั้งคณะทำงานรับมือ l จัดหาแหล่งน้ำให้พอเพาะปลูก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC

 เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารของ TSMC ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อศึกษาข้อมูล ประเมินศักยภาพ วิเคราะห์นโยบายและโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำในการเพาะปลูกอ้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรง สามารถนำไปใช้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยอย่างเพียงพอ หลังแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อ

 ฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยประจำปี 2559/2560 และคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในอนาคต

“ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยมากขึ้นทุกปี ยิ่งในปี 2559 นี้ที่หลายฝ่ายคาดว่าภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้โรงงานน้ำตาลมีความเป็นกังวล และเป็นห่วงว่าน้ำจะมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงได้จัดตั้งคณะทำงาน เร่งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลการพัฒนาแหล่งน้ำ นำมาใช้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้โรงงานน้ำตาลได้เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการ”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 91 วัน พบว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยปี 2559 นี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานยังลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 72.92 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 71.91 ล้านกระสอบ (100 กิโลกรัมต่อกระสอบ) ลดลง 6.84 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาหีบอ้อยของปี 2558 ที่ผลิตได้ถึง 79.76 ล้านกระสอบ โดยมียิลด์เฉลี่ยลดลงเหลือ 98.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปี 2558 ที่มียิลด์อยู่ที่ 102.98 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 4.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปี 2559 นี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า ค่าความหวานของฤดูการหีบปี 2559 นี้อยู่ที่ 11.53 ซีซีเอส.ลดลงจากปี 2558 ที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 11.89 ซีซีเอส. ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสภาพอากาศแล้งในช่วงเพาะปลูก รวมถึงจากปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน จึงทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมปี 2559 ไม่ดีนัก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : ภัยแล้งปี’59เรื่องจริงที่ภาครัฐต้องรับมือ ภาคเกษตรต้องปรับตัว

ปัญหาภัยแล้งยังคงเป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐและเอกชน นักธุรกิจ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ทั่วประเทศกำลังติตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ฉุดจีดีพีของประเทศให้ลดลง 0.52% และแนวโน้มส่อเค้าว่า ปี 2559 จะทวีความรุนแรง เพราะน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ เหลือน้อยมาก สาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ไหลเข้าเขื่อน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้ง 8 มาตรการ ที่วางไว้อย่างเต็มกำลัง ทั้งอัดงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังเร่งเข้าไปสำรวจสรรหาแหล่งน้ำสำรอง ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ การทุ่มงบประมาณในการสร้างแก้มลิงในหลายพื้นที่ การขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อดึงน้ำจากใต้ดินมาใช้น้ำยามวิกฤติ รวมถึงการทำฝนหลวง เพื่อเติมน้ำเข้าเขื่อนที่สำคัญๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังสั่งการให้ อบจ. อบต. ทุกพื้นที่ดูแลประชาชนเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด ซึ่งผ่านมาจะมีรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

ไม่เพียงเท่านั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังมีการประกาศขอความร่วมมือให้ชาวนาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรัง และมีการจัดสรรน้ำที่รัดกุมมากขึ้น อีกทั้งได้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและส่งเสริมอาชีพในการปลูกพืชน้ำน้อยและพืชระยะสั้น เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือพืชผักสวนครัวที่ใช้น้ำน้อย เพื่อสร้างรายได้ในระยะสั้นทดแทน แต่ช่วงที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่ก็ยังฝ่าฝืนลักลอบสูบน้ำเข้านาตัวเอง บางพื้นที่เปิดศึกแย่งน้ำกัน ส่วนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย บางพื้นที่ก็ยังไม่ปลูกพืชตามคำแนะนำ

แม้จะยังมีเกษตรกรบางส่วน ที่ยังไม่ให้ความร่วมมือและยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับดำเนินการของภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจและตอบรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรในหมู่ 18 ต.โพรงอากาศ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 30 ราย ได้งดการทำนา แล้วหันมารวมกลุ่มกัน กลุ่มละ 3-4 คน เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน โดยได้รับการสนับสนุนก้อนเชื้อจากภาครัฐ รายละ 1,000 ก้อน สร้างรายได้ให้แต่ละกลุ่มไม่ต่ำกว่าวัน 2,000 บาท อีกทั้งยังมีเกษตรกรในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้งกว่า 50 ราย เลือกที่จะพักการปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาสร้างรายได้ด้วยการเพาะเห็ดฟางขายโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม สอนวิธีเพาะเห็ดฟางในตะกร้า หรือเพาะเห็ดฟางแบบคอนโด

 ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่หมู่ที่ 9 อำเภอสามง่าม  จังหวัดพิจิตร ประสบปัญหาภัยแล้งหนัก แม่น้ำลำคลองแห้งขอด เหลือเพียงน้ำในสระที่กักเก็บไว้ไม่เพียงพอต่อการทำนา จึงหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย อย่างพริกอ่อนแทน เนื่องจากเป็นพืชที่ลงทุนต่ำ สร้างรายได้งาม โดยลงทุนเพียงไร่ละประมาณ  10,000 บาท ปลูกเพียง 2 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตไปขาย สร้างรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการภายใต้โครงการ

 บูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามมาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง เพื่อให้เกษตรกรนำไปพัฒนาเรื่องการเกษตร อาทิ การ แปรรูปผลิตภัณฑ์ การถนอมอาหาร ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละชุมชน รวมทั้งการขุดลอกคูคลอง การกักเก็บน้ำทั้งหมดนี้คือความพยายามของภาครัฐ ที่จะรับมือภัยแล้งและช่วยเหลือเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเกษตรกรเองด้วยว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ครม.ช่วย ‘ภัยแล้ง’ เทงบกว่า 9 หมื่นล้านรับมือผู้กู้ 6 แสนราย

ครม.ไฟเขียว เทงบกว่า 9.3 หมื่นล้านผ่าน ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ฉุกเฉินเกษตรกรสู้ภัยแล้ง-หนุนวิสาหกิจชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า-จูงใจเกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพ คาดรอบนี้มีผู้ขอสินเชื่อไม่ตํ่ากว่า 6 แสนราย รัฐช่วยลดดอกเบี้ย500 ล้าน ด้านโครงการผันนํ้าโขง เพิ่มนํ้าชี-มูล ภาคอีสานคืบ คาดลงทุนเฟสแรกกว่า 1.2 แสนล้าน ขณะกรมชลฯเผยเกษตรกรแห่ทำนาปรังเกินแผน เสี่ยงขาดนํ้ากว่า 2.21 ล้านไร่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรภัยแล้งตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เสนอมาตรการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคการเกษตรกู้ฉุกเฉินสำหรับลูกค้าธนาคารที่ประสบภัยแล้ง โดยเกษตรกรที่อยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด เป็นกลุ่มนำร่องวงเงินฉุกเฉินรายละ 1.2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 ปีโดย 6 เดือนแรกปลอดดอกเบี้ย และ 6 เดือนหลังคิดดอกเบี้ยอัตรา 4% คาดว่าจะมีการใช้วงเงิน 6 พันล้านบาทมีเกษตรกรขอสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย

ส่วนโครงการที่ 2 โครงการสินเชื่อ “1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีภาคการเกษตร” ครั้งนี้ ครม.โฟกัสภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยตรงมากขึ้น วงเงินสินเชื่อตลอดโครงการอยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาทระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปีโดยปีที่ 1-7 คิดดอกเบี้ยอัตรา 4% ต่อปี ส่วนปีที่ 8-10 คิดดอกเบี้ยปกติตามระดับชั้นลูกค้า วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อตำบลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน โดยห้ามกู้ไปชำระหนี้หรือรีไฟแนนซ์ และโครงการที่ 3 สำหรับปล่อยกู้เกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยให้กู้ในลักษณะการรวมกลุ่มวิสาหกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อกลุ่มคิดดอกเบี้ยที่อัตรา 0.1% ต่อปี คาดว่าจะมีเกษตรกรสนใจไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย

ทั้ง 3 มาตรการภาครัฐมีการอุดหนุนวงเงินช่วยเหลือในส่วนของอัตราดอกเบี้ยจำนวน 500 ล้านบาท โดยโครงการที่ 3 รัฐอุดหนุนในอัตรา 0.1% ต่อปี เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพจากเดิมที่ทำนาไปเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชหรือการเกษตรระยะสั้นแทน

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือรอบนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับสิทธิประโยชน์อีกไม่ต่ำกว่า 1.38 แสนราย (เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 มติครม.อนุมัติ 8 โครงการได้ช่วยเกษตรกรไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3.4 แสนราย) ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น สสว.,วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานอย่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ตลอดจนกรมพัฒนาชุมชนเพื่อคัดเลือกวิสาหกิจที่มีความสามารถและเป็นวิสาหกิจชั้นดีเข้าโครงการไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นวิสาหกิจจาก 7 หมื่นวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศให้สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อรับสินเชื่อสำหรับปรับเปลี่ยนภาคการผลิตเพิ่มเติมได้

“มั่นใจว่ามาตรการที่ ธกส.เสนอจะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งครอบคลุมโดย 80% ของเกษตรกรทั่วประเทศล้วนเป็นลูกค้าของ ธกส.โดยเฉพาะวงเงินกู้ฉุกเฉินต่อราย 1.2 หมื่นบาทนั้นประเมินว่าหลังจากนี้ 6 สถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายดีขึ้นซึ่งค่าใช้จ่ายต่อเดือนของเกษตรกรเฉลี่ยอยู่ที่ 2 พันบาทต่อเดือน”

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เพื่อนำเอาน้ำเข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ผ่านลำน้ำชี และมูล ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยจะมีการทำอุโมงค์ผันน้ำ และคลองส่งน้ำ โดยได้มีการออกแบบอุโมงค์ออกเป็น 2 เส้น แบ่งเป็นเส้นทางอีสานตอนบนความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร และเส้นทางอีสานกลางและล่าง ประมาณความยาว 85 กิโลเมตร

“แนวโน้มคาดจะเลือกเส้นทางอีสาน-กลางและล่าง โดยพิจารณาความคุ้มค่าการลงทุน และการไหลของน้ำในแง่เทคนิค และมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะผันเข้ามาเก็บกักได้ คาดในเฟสแรกจะลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่ หลังจากตัดสินใจจะลงทุนจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ให้ความเห็นชอบก่อน คาดว่าจะสรุปโครงการได้ประมาณเดือนธันวาคม 2559

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังลุกลามทั่วประเทศ ได้สั่งการให้ทุกกรมของกระทรวงฯ ลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาผลกระทบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลลงพื้นที่และดำเนินการอย่างเต็มที่ภายในเดือนนี้ ทั้งในส่วนกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกษตรกรผ่านพ้นภัยแล้งไปได้

ขณะกรมชลประทานรายงานผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั้งประเทศ และในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ในส่วนของข้าวนาปรังรวมทุกภาคพบมีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้ว 3.343 ล้านไร่ จากแผนที่ตั้งไว้ที่ 1.127 ล้านไร่ หรือเกินจากแผน 2.216 ล้านไร่ (อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1.96 ล้านไร่) ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้วใน 12 จังหวัด ประกอบด้วย อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงใหม่ สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และเพชรบุรี

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ไทยเตรียมถกสหรัฐฯหนุนร่วมวงTPP ดีเดย์เมษานี้-เล็งส่งออกมะกันโต3.1%

ไทยจ่อถกตัวต่อตัวกับสหรัฐฯ ขอข้อมูลและช่วยติวเข้มเข้าเป็นสมาชิกทีพีพี ขณะแจงสหรัฐฯไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าวตามหลักสากลขอยังคงสิทธิให้จีเอสพี ขณะตั้งเป้าส่งออกไปสหรัฐฯปีนี้โต 3.1% สั่งลุยค้าออนไลน์ทีวีช็อปปิ้ง รุกกลุ่มเป้าหมายใหม่ผู้สูงอายุ ผู้อพยพ และคนรักสุขภาพ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงเดียวกันนี้ตนได้เข้าร่วมประชุม AEM Roadshow ที่สหรัฐฯ โดยในการประชุมครั้งนี้มีในหลายประเด็น เช่น การประชุมกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน(TIFA JC)ไทย-สหรัฐฯ โดยทางสหรัฐฯได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม TIFA JC ครั้งต่อไป แบบตัวต่อตัว(face to face) ระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2559

ทั้งนี้จะหารือในระดับรัฐมนตรี ต่อเนื่องด้วยการหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รวมทั้งจะมีการหารือในประเด็นเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP) ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังการประชุมTIFA JC ทั้งนี้สหรัฐฯเองยินดีที่จะหารือในรายละเอียดของความตกลง TPP กับฝ่ายไทย เพื่อตอบข้อซักถามและชี้แจงเกี่ยวกับความตกลงดังกล่าวซึ่งจะทำให้ไทยเข้าใจเนื้อหาของบริบทการเจรจาและพันธกรณีภายใต้ความตกลงTPP ได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ไทยจะได้พบปะกับคณะเจรจาความตกลง TPP ของสหรัฐฯ ด้วย

สำหรับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก TPP นั้นไทยเองเห็นว่า TPP เป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมในประเด็นอย่างกว้างขวางและหลากหลาย เน้นประเด็นทางการค้าสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องสำคัญภายใต้นโยบายการปรับความสมดุลไปยังเอเชีย(Rebalance to Asia)ของสหรัฐฯ และปัจจุบันไทยเองก็สนใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ทันทีที่มีการเปิดรับสมาชิกใหม่ ขณะที่เวลานี้ไทยอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียของการเข้าร่วมเจรจาทีพีพีอย่างรอบด้าน

 “กระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกทีพีพียังไม่ชัดเจน ดังนั้นไทยจึงต้องหารือกับสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวเข้าร่วมเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆในการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับทีพีพีไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจและภาคเกษตร”

นอกจากนี้การประชุม TIFA JC ครั้งล่าสุดยังมีประเด็นการชี้แจงการดำเนินของไทยต่อสหรัฐฯ ในกรณีที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้รับคำร้องจากสมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ(AFL-CIO) โดยกล่าวหาว่าไทยไม่มีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายแรงงานในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ แรงงานต่างด้าวถูกกีดกันไม่ให้มีเสรีภาพ และกฎหมายไทยจำกัดสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานของต่างด้าว เป็นต้น ทั้งนี้คำร้องดังกล่าวได้ขอให้ทบทวนและถอดถอนไทยออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)จากสหรัฐฯ

ในเรื่องนี้ไทยได้ชี้แจงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และได้ให้ข้อมูลถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯเพื่อหาแนวทางเกี่ยวกับความคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ดีในส่วนของการค้าไทย-สหรัฐฯ คาดปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 ไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯขยายตัวที่ 3.1% โดยยังคงเน้นกลุ่มตลาดเป้าหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้อพยพ และคนรักสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมสินค้าใหม่ๆเช่นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าออร์แกนิก ส่วนช่องทางการตลาดจะมีมากขึ้น เช่น การค้าออนไลน์ ทีวีช็อปปิ้ง หรือผ่านตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ลุย8ยุทธศาสตร์เชื่อมค้าโลก

สศช.วาง 8 ยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจบริการ ลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เชื่อมภูมิภาค

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มีนายเกริกไกร จีระแพทย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธาน ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่เป็นเลิศและเป็นจุดเชื่อมโยงโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า และการบริการในอนุภูมิภาคและภูมิภาค

ทั้งนี้ ได้ร่วมกันวางประเด็นยุทธศาสตร์หลักในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในทางการค้าและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคจำนวน 8 ข้อ ได้แก่ 1.คิดเสรี เปิดเสรี และเปิดโอกาส 2.เตรียมความพร้อมในเชิงรุกและเชิงรับ 3.สร้างความเป็นเลิศทางการผลิตทั้งสินค้าและบริการ 4.พัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทยให้มีความเป็นสากล 5.ขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศในอนุภูมิภาค 6.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 7.บูรณาการในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค และ 8.ปรับปรุงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ

สำหรับแนวทางการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศที่คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนา ประกอบด้วย 9 ข้อสำคัญ ได้แก่ 1.เร่งพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ภายใต้ความร่วมมืออนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน 2.ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า/ห่วงโซ่การผลิต ทั้งด้านการค้า การลงทุน และบริการ 3.ส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการประกอบธุรกิจ การให้บริการ ทางการศึกษา การเงิน สุขภาพ โลจิสติกส์ และการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา 4.มุ่งเน้นบทบาทและการมีส่วนร่วมของไทยในองค์การระหว่างประเทศในการผลักดันการพัฒนาในอนุภูมิภาค ภูมิภาค รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่น

แนวทางที่ 5 สร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ 6.ส่งเสริมความร่วมมือกับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาชาติในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน อาหาร สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการภัยพิบัติ 7.สร้างองค์ความรู้ด้านการต่างประเทศ และให้ความรู้ความเข้าใจด้านการต่างประเทศและผลประโยชน์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศต่อภาคส่วนต่างๆ 8.ปรับตัวตามกลไก กฎระเบียบ และมาตรฐานทั้งในระดับอนุภูมิภาคและในระดับโลก และ 9.บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศและภารกิจด้านการต่างประเทศ

"ในร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ความได้เปรียบจากที่ตั้งของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญให้ไทยเป็นฐานการผลิตการลงทุน และบริการ" แหล่งข่าวเปิดเผย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แล้งฉุดน้ำตาลทรายวูบแล้ว 6.84 ล้านกระสอบ TSMC เร่งตั้งคณะทำงานรับมือ 

         ผลพวงภัยแล้งฉุดปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดู 58/59 ส่อไม่ถึง 100 ล้านตัน แต่ที่หนักสุดยิลด์ต่ำหนักทำปริมาณน้ำตาลทรายหายวูบแล้ว 6.84 ล้านกระสอบ TSMC เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง หวั่นกระทบฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยปี 59/60 ตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย

                นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า การหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 91 วัน พบว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 72.92 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 71.91 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ลดลง 6.84 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาหีบอ้อยของปีก่อนที่ผลิตได้ถึง 79.76 ล้านกระสอบ

                โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 98.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 102.98 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 4.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน ส่วนค่าความหวานของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 11.53 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 11.89 ซี.ซี.เอส. ซึ่งได้รับผกระทบมาจากสภาพอากาศแล้งในช่วงเพาะปลูกและจากปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน จึงทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมปีนี้ไม่ดีนัก

                จากปัญหาภัยแล้งล่าสุดคณะกรรมการบริหารของ TSMC ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อศึกษาข้อมูล ประเมินศักยภาพ วิเคราะห์นโยบายและโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำในการเพาะปลูกอ้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

                ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรง สามารถนำไปใช้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยอย่างเพียงพอ หลังแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อฤดูกาลเพาะปลูกอ้อยประจำปี 59/60 และคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในอนาคต 

จาก http://manager.co.th   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งกระทบหนักสินค้าเกษตร

สถาบันอาหารเผยภัยแล้งกระทบสินค้าเกษตร 3 ชนิดหลัก คาดติดลบระนาว ส่วนอุตฯอาหาร คาดเพิ่มขึ้น แต่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อปี

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งปี 59 จะส่งผลกระทบโดยตรงกับสินค้าเกษตร 3 ชนิดหลัก คือ ข้าว ที่ผลผลิตใหม่จะขาดแคลน เนื่องจากข้าวนาปรังลดลง คาดว่า ผลผลิตติดลบ 8.1% ส่งออกติดลบ 3.5% , น้ำตาล ปริมาณติดลบ 1.2% มูลค่าส่งออก ติดลบ 1.2% และความหวานจะลดลง และมันสำปะหลังที่ผลผลิตเข้าโรงงานลดลง ส่งผลให้ที่ผ่านมานำเข้ามันสำปะหลังจากเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้น โดยเฉพาะจากกัมพูชา คาดว่า ผลิตผลิตติดลบ 1 % และมูลค่าส่งออก ติดลบ 1.5%

ขณะเดียวกันอุตฯอาหารยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่า ปีนี้ปริมาณส่งออกอาหาร อยู่ที่ 30.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.6% โดยมีมูลค่า อยู่ที่ 950,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% แต่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 6.5% ต่อปี

นอกจากนี้ สถาบันอาหารอยู่ระหว่างเดินหน้าแผนการทำงาน เพื่อให้ส่งเสริมการส่งออกอาหาร และให้สอดคล้องกับนโยบาย 1 ชุมชน 1 อุตสาหกรรมการเกษตรของรัฐบาล โดยจะดำเนินการสร้างโรงงานต้นแบบแปรรูปเกษตรขึ้นในภูมิภาคต่างๆ 5 แห่งทั่วประเทศ เริ่มปีงบประมาณ 2560 คาดว่า จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 300-500 ล้านบาท โดยรูปแบบการดำเนินการจะให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาเช่าพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป โดยจะมีสายการผลิตอาหารแปรรูปที่หลากหลายในแต่ละภูมิภาค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม สารสกัดจากพืช “

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย เตรียมรับมือภัยแล้ง

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมรับมือภัยแล้ง หวั่นกระทบฤดูการเพาะปลูกอ้อย พร้อมตั้งคณะทำงานพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารของ TSMC ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย เพื่อศึกษาข้อมูล ประเมินศักยภาพ วิเคราะห์นโยบายและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการน้ำในการเพาะปลูกอ้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้โรงงานน้ำตาลทรายทุกโรงสามารถนำไปใช้วางแผนในการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยอย่างเพียงพอ หลังแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อฤดูการเพาะปลูกอ้อยประจำปี 2559/2560 และคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในอนาคต

“ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยมากขึ้นทุกปี ปีนี้หลายฝ่ายคาดว่าภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้โรงงานน้ำตาลมีความเป็นกังวลและเป็นห่วงว่าน้ำจะมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงจัดตั้งคณะทำงานฯ เร่งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลการพัฒนาแหล่งน้ำนำมาใช้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้โรงงานน้ำตาลได้เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในการจัดหาแหล่งน้ำเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/2559 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 91 วัน พบว่า คุณภาพผลผลิตอ้อยปีนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานยังลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 72.92 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 71.91 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) ลดลง 6.84 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาหีบอ้อยของปีก่อนที่ผลิตได้ถึง 79.76 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตยิลด์เฉลี่ยลดลงเหลือ 98.62 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 102.98 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 4.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่า ผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน ส่วนค่าความหวานของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 11.53 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากปีก่อนที่มีค่าความหวานอยู่ที่ 11.89 ซี.ซี.เอส. ซึ่งได้รับผกระทบมาจากสภาพอากาศแล้งในช่วงเพาะปลูกและจากปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน จึงทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยโดยรวมปีนี้ไม่ดี

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน (9) แนวทางการพัฒนาที่ดิน จากฐานข้อมูลทรัพยากรดิน

การปรับปรุงบำรุงดิน การปรับปรุงบำรุงดินเป็นการพัฒนาที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร ให้สามารถทำการเพาะปลูกพืชให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ ประกอบด้วย

-การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากพืชและสัตว์ รวมทั้งส่วนต่างๆของพืชและสัตว์ที่ตายแล้ว ตลอดจนสิ่งขับถ่ายออกมาจากสัตว์ ซึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 3 ชนิด คือ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด สำหรับการผลิตปุ๋ยหมัก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานวิธีการผลิตเป็นองค์ความรู้แก่ประชาชน โดยกรมพัฒนาที่ดินได้สนองพระราชดำริศึกษาวิจัยจุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยหมักช่วยลดต้นทุน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต นำสูตรปุ๋ยดังกล่าวไปขยายผลให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการทำเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินได้ทำการส่งเสริมตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

-การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาวิจัยจุลินทรีย์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับผลิตปุ๋ยหมัก สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ใช้ควบคุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพืชในดิน สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ใช้ผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินกรดดินเปรี้ยว จุลินทรีย์สำหรับพืชบำรุงดิน พด.11 มีประสิทธิภาพสูงในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศเพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สร้างธาตุอาหารพืช ช่วยให้ธาตุอาหารในดินเป็นประโยชน์ต่อพืชยิ่งขึ้น

-การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี การปรับปรุงบำรุงดินทางกายภาพจะเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ส่วนการปรับปรุงบำรุงดินด้านเคมีโดยเฉพาะธาตุอาหารพืช จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยต้องทราบชนิดพืช ปริมาณธาตุอาหารสร้างผลผลิต สมบัติของดิน และการสูญเสียธาตุอาหาร ด้วยการใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงและชุดตรวจสอบดินภาคสนาม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ไทย" จับมือ "ฟิจิ" พัฒนาเกษตร-ประมงแก้ IUU

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังกรุงซูวา สาธารณรัฐฟิจิ เพื่อหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรการพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ ตามที่ไทยได้ลงนามเอ็มโอยูว่าด้วยความร่วมมือด้านเกษตรและประมงเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ 1.นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล 2.นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และ 3.นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย รวมทั้งผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสร่วมคณะเดินทางในครั้งนี้ด้วย

การหารือระหว่าง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับนายไอเนีย เซตูอิราตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การพัฒนาชนบท และทะเลและการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ ประเด็นสำคัญคือการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมด้านเกษตร โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันภายใต้คณะทำงานร่วมด้านเกษตรของสองประเทศ (MOU) ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยคือ น.สพ.ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน โดยจะมีการประชุมทุก 2 ปี ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ทั้งสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการค้าเป็นช่องทางให้ประเทศไทยขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศฟิจิ สามารถเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอื่น ๆ ได้

ขณะที่ไทยสนใจด้านวิชาการเรื่องมะพร้าว เพราะฟิจิเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านการผลิตมะพร้าว ทั้งมีเทคโนโลยีการเพาะกล้าพันธุ์และการปลูกมะพร้าวอินทรีย์ รวมถึงระบบการจัดทำพันธุกรรมมะพร้าว ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์มะพร้าวน้ำหอมแต่ยังคงขาดแคลนมะพร้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปจนต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องและไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงน่าสนใจว่า รัฐบาลฟิจิมีนโยบายชัดเจนในด้านการผลิตมะพร้าว โดยมีการเปิดโครงการปลูกมะพร้าว 1 ล้านต้น ทดแทนต้นมะพร้าวที่มีอายุมาก เพื่อเป็นวัตถุดิบรองรับอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวในอนาคต น่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการพัฒนาต่อยอดของไทย เพราะลักษณะภูมิประเทศภูมิอากาศฟิจิและไทยใกล้เคียงกัน แต่ทว่าต้องมีการจัดสรรพื้นที่ให้พร้อมก่อนจึงจะสามารถทำได้

เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์กองวิจัยในสังกัดกระทรวงเกษตรฯให้ข้อมูลว่า การปลูกมะพร้าวหนึ่งต้นกว่าจะได้ผลผลิตต้องใช้เวลา 7-8 ปี จึงจะสร้างรายได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลฟิจิมีการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับ Zoning Area แก่เกษตรกรมาโดยตลอด ไม่เพียงเพื่อรายได้เท่านั้น หากแต่เป็นแนวนโยบายให้ประชาชนหันมาปลูกมะพร้าวควบคู่ไปกับการรักษ์โลกร้อน ใต้ต้นมะพร้าวให้มีการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ แซม และที่สำคัญคือผลผลิตต้องเป็นมะพร้าวบริสุทธิ์ออร์แกนิก ดังนั้นคุณภาพและรสชาติจึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้มะพร้าวฟิจิหอมหวานอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด ขณะที่ฟิจิเองก็สนใจในพืชเศรษฐกิจของไทย เช่น ข้าว พืชไร่ โดยเฉพาะมะขามหวานและมะม่วง รวมถึงการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

นอกจากนี้ไทยพร้อมเป็นฐานกระจายสินค้าเกษตร (HUB) แก่ฟิจิในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งฟิจิก็พร้อมเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าไทยประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเช่นกัน รวมไปถึงร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนและช่วยเหลือกันในเวทีระหว่างประเทศ ด้านการเกษตร การค้า มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ FAO WTO Codex และ ESCAP และที่สำคัญหากไทยและฟิจิช่วยผลักดันสินค้าเกษตรของกันและกันไปยังประเทศที่สาม นับว่าเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น

"ประเทศไทยเองมีนโยบายที่จะใช้โครงสร้างพื้นฐานเรื่องรถไฟเพื่อจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของอาเซียนได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็เชิญชวนฟิจิไปลงทุนในประเทศในไทยด้วย ในโอกาสเดียวกันก็มองว่า ฟิจิเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีความหลากหลายด้านทรัพยากร ฉะนั้นเราเองก็มีโอกาสที่จะใช้ช่องทางนี้ในการขยายสินค้าของเราไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกนี้ได้" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

ส่วนด้านการประมง พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ไทยและฟิจิได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงไปเมื่อปลายปีที่แล้วเช่นเดียวกัน ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการพบปะกันครั้งนี้อยู่ในกรอบ MOU 3 ประเด็น คือ 1.ความร่วมมือทางวิชาการประมงและอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนด้านประมงระหว่างกันเพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งรายชื่อคณะทำงาน นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เป็นประธานคณะทำงาน โดยประเทศไทยยินดีเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งแรกเดือนเมษายนนี้ 2.ฝ่ายไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือทางวิชาการกับฟิจิ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมประมงร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการออกเอกสารใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าประมงจากฟิจิปีละประมาณ 230 ล้านบาท เพื่อให้สะดวกแก่การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งทำการประมงได้ และไม่เป็นสินค้าประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่สำคัญคือ 3.การหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU ซึ่งฟิจิถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ฟิจิได้ใบเหลืองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ต่อมาได้รับการปรับสถานะเป็นใบเขียวเมื่อ 14 ตุลาคม 2557

ผู้สื่อข่าวได้ดูงานในส่วนของโรงงานผลิตของบริษัทโกลเด้น โอเชียน ฟิช จำกัด เป็นโรงงานผลิตอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในหมูเกาะฟิจิ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำประมงเบ็ดราวทูน่า (Tuna Long-line Fishing) มีการแปรรูปและส่งออกปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่าพันธุ์ตาโตและอื่น ๆ มีเครื่องมือในการรักษาความสดและแช่แข็งอาหารทะเลได้ตลอดปี ซึ่งสามารถแปรรูปสัตว์ทะเลสายพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 1,000 ตัน/ปี โดยบริษัทไทย ยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ก็เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าปลาทูน่าจากบริษัทเอกชนรายนี้เช่นกัน

นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ซึ่งเดินทางร่วมคณะครั้งนี้เช่นเดียวกัน โดยได้กล่าวว่า เราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกองทัพเรือฟิจิ เรื่องระบบการอนุญาตเรื่องการประมงซึ่งฟิจิทำอยู่ในรูปของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงประมง ศุลกากร หน่วยงานด้านลงทุน ซึ่งการทำการประมงฟิจิเป็นการทำการประมงนอกน่านน้ำ เป็นการจับปลาขนาดใหญ่ ข้อแตกต่างของระบบ VMS ไทยเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า ขณะที่ฟิจิยังเป็นการเชื่อมโยงระหว่างสองหน่วยงาน ข้อมูลไม่ได้ลงลึกมากนัก จึงง่ายต่อการตรวจสอบ ส่วนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำบริษัทเอกชนฟิจิ ระยะหลังมีการลดจำนวนเรือลงเพื่อรักษาทรัพยากรภาพรวมในแปซิฟิก ดังนั้นเรือทุกลำของที่นี่จึงต้องดำเนินการตามระเบียบของการทำการประมง เช่น ต้องกรอกข้อมูลจำนวนปลาที่จับได้ ต้องติด VMS บนเรือประมง และเวลาซื้อขายปลาก็ต้องมีการรายงานว่าไปที่ใดอย่างไร ระบบนี้จึงง่ายต่อการตรวจสอบ

รวมถึงระบบ E-monitoring เป็นจุดเด่นสำคัญ โดยรัฐบาลจะตรวจสอบดูตลอดเวลาโดยไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บนเรือว่ามีการทำการประมงถูกต้องหรือไม่ ซึ่งฟิจิและกานาเป็นประเทศที่พัฒนาระบบนี้เพียงสองประเทศในโลก ตรงนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในการนำไปปรับใช้ในแง่ของการนำระบบตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมายได้ดีทีเดียว

ขณะเดียวกันการประมงของฟิจิยังเป็นเพียงเพื่อการยังชีพแต่ได้มีแนวทางการต่อยอดไปที่การพัฒนา R&D โดยใช้การวิจัยพัฒนาเข้ามาจับปลา ซึ่งทางฟิจิก็สนใจการเลี้ยงกุ้ง หอย ปู โดยไทยมองว่ายังมีหลายจุดที่เราสามารถมาช่วยเหลือฟิจิ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ให้ความเห็นว่า การทำประมงของประเทศฟิจิเป็นการทำการประมงแบบเครื่องมือชนิดเดียว และสัตว์น้ำที่จับก็เป็นปลาไม่กี่ชนิด และเน้นไปที่ปลาทูน่า ฉะนั้นการทำการประมงที่นี่ค่อนข้างแตกต่างจากไทยมาก การบริหารจัดการจึงง่ายกว่าและจำนวนเรือมีน้อยมาก ทั้งประเทศมีแค่ 60 ลำ ส่วนหลักการการออกอาชญาบัตรจะคล้าย ๆ กันแต่การคำนวณทรัพยากรทางทะเลจะใช้คนละสูตร ทั้งนี้ทั้งนั้นศักยภาพทางทะเลก็คนละรูปแบบ ฟิจิใช้เครื่องมือชนิดเดียวคือเบ็ดราวทูน่าแต่ไทยมีหลายชนิด เช่น อวนลาก ส่วนระบบที่จะนำไปประยุกต์กับไทยได้คือการประมงเบ็ดราวทูน่านี้ ถือเป็นเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบกับทะเลน้อยที่สุดและเป็นที่ยอมรับของโลก หลายประเทศสนับสนุน ถ้าประเทศไทยมีแนวความคิดว่าการประมงทางทะเลเป็นอาชีพทำรายได้และสำคัญก็น่าจะมีการพัฒนาให้ใช้เรือเบ็ดราวทูน่าให้มากขึ้นและไทยเราเองมีปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานแต่ฟิจิยังเป็นการประมงเพื่อยังชีพจึงง่ายต่อการควบคุมปัญหาด้านแรงงานและการออกอาชญาบัตรตรงนี้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันถือว่ามาถูกทาง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พาณิชย์ชิมลางเอฟทีเอไทย-อีอียู ขอรัสเซียหนุนปูทาง"นายกตู่"ขายข้าว-ยาง-น้ำตาล

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานการเดินทางไปเยือนรัสเซีย-เบลารุสของคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์นี้ว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าที่จะเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ไทย-EEU ซึ่งประกอบด้วยรัสเซีย-เบลารุส-คาซัคสถาน-คีร์กีซสถาน-อาร์เมเนีย ทั้ง 5 ประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน

"การเจรจา FTA ไทย-EEU นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยรายละเอียด เป็นการหารือในเบื้องต้น อาทิ จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง มีการลดภาษีอย่างไรกับสินค้าอะไร การลงทุนด้านอื่น ๆ แต่เนื่องจากต้องเจรจากันถึง 5 ประเทศ เราจึงต้องการการสนับสนุนจากรัสเซียเพื่อให้สามารถเปิดการเจรจาได้ หากสามารถเปิดเจรจา FTA ได้ ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศให้ความมั่นคงทางด้านอาหาร ขณะที่กลุ่มประเทศ EEU ก็จะเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับไทย นอกจากนี้การมารัสเซียครั้งนี้กระทรวงยังนำภาคเอกชนกว่า 60 รายมาเจรจาการค้าในกลุ่มสินค้าข้าว ยางพารา และน้ำตาล" นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นอกจากนี้ฝ่ายไทยจะ เจรจาเพื่อลดปัญหาอุปสรรคโดยเฉพาะเรื่องของผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ที่รัสเซียให้ความสำคัญและเข้มงวดมาก สำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าปศุสัตว์มายังรัสเซียได้จะต้องผ่านการ ประเมินและตรวจสอบจากผู้นำเข้ารัสเซียก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ขบวนการ ขั้นตอนซับซ้อนมาก ทำให้เกิดการล่าช้า มีผลต่อการส่งออก

ด้านนาง มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียในปีที่ผ่านมายังไม่ขยายตัวมากนัก แต่สำหรับปี 2559 การส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการประเมินว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เศรษฐกิจรัสเซียจะปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับเรื่องของการถูกคว่ำบาตรของรัสเซียกับหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้รัสเซียเองลดการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวและจะเป็นผลดีต่อไทยที่ จะทำการส่งออกสินค้ามายังรัสเซียได้มากขึ้น "ปีนี้รัสเซียมีนโยบายจะฟื้นฟูกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ขณะที่ไทยมีการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าว"

ส่วนการส่งออก ข้าวไทยไปรัสเซียนั้น ปกติไทยส่งออกเฉลี่ยปีละ 7,000-20,000 ตัน แต่ในปีนี้เชื่อว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวไปรัสเซียได้ประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ ที่ชาวรัสเซียนิยมบริโภคอย่างมาก แต่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามขณะนี้ก็คือค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า จัดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าหรือการนำเข้าสินค้าของผู้ นำเข้ารัสเซียลดลง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ครม.อนุมัติโครงการกว่า4พันโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้ง

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ว่า ตามที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2558/59 ระยะที่ 2 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อ 23 ก.พ. 2559 จำนวน 4,937 โครงการ วงเงิน 2,967.41 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1. โครงการเกษตรอื่นๆ 70 จังหวัด 4,041 โครงการ วงเงิน 2,695.54 ล้านบาท อาทิ ลานตาก ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ขุดลอกคลอง เลี้ยงสัตว์ปีกกบ เป็นต้น 2. โครงการนอกภาคเกษตร 44 จังหวัด 896 โครงการ วงเงิน 271.87 ล้านบาท อาทิ แปรรูปอาหาร ผลิตของใช้ในครัวเรือน  เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างแหล่งอาหารในชุมชน ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ จนถึงเดือนพฤษภาคม2559 สำหรับโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา มีสาเหตุมาจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ คือ ไม่มีการจ้างแรงงานตามเงื่อนไข และดำเนินงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

ขณะที่ความคืบหน้า การดำเนินงานตามมติครม. เมื่อ 2 ก.พ. 2559 จำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน1,614.04 ล้านบาท อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติเงินให้กรมส่งเสริมการเกษตร คาดว่าจะอนุมัติเงินภายในสัปดาห์นี้ และกรมส่งเสริมการเกษตรจะโอนเงินถึงชุมชนภายในเดือนนี้ ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงาน ระยะที่ 1 โครงการการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (อาศัยความชื้นของดิน) มติครม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 ปัจจุบันโอนเงินให้ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว จำนวน 155 โครงการ วงเงิน 151ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 24,204 ครัวเรือน มีการเบิกจ่ายแล้ว 85.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 เพาะปลูกพืชน้ำน้อยแล้ว 150โครงการ พื้นที่ปลูก 51,873 ไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียวถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(23 ก.พ. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868  ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน 59 ประมาณ 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,960,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,720,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต

ส่วนสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยกรมชลประทาน ได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดตรวจวัดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำแล มีค่าความเค็มเฉลี่ยประมาณ 0.15 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อการผลิตประปาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง รวมทั้ง ในลุ่มน้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ที่ปากคลองจินดา 0.30 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กล้วยไม้รับได้คือ 0.75 กรัมต่อลิตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ในคลองจินดาแต่อย่างใดเช่นกัน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนอย่างใกล้ชิด

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกหากเกิด Brexit

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทรายงานเรื่อง ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกหากเกิด Brexit

นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงกำหนดการทำประชามติเพื่อตัดสินว่า สหราชอาณาจักร (UK) จะออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) หรือไม่ หรือที่เรียกว่า Brexit (British Exit) โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. ปีนี้ หลังจากได้บรรลุการเจรจาต่อรองกับผู้นำประเทศอื่นๆ ใน EU เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสมาชิก เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงใหม่ทำให้ UK คงสถานภาพพิเศษใน EU เหมือนเช่นที่ผ่านมา โดยยังคงใช้เงินปอนด์และสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมกับ EU ในรูปแบบอื่นซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การรวมกลุ่มในเชิงการเมือง (political integration) และยังสามารถปลดล็อคข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์สำหรับแรงงานชาวต่างชาติใน UK เพื่อลดภาระผู้อพยพซึ่งเป็นประเด็นกดดันให้ออกจาก EU อีกด้วย

ความเสี่ยงที่ UK จะออกจาก EU ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น แต่ยังมีความรุนแรงน้อยกว่าในกรณีของกรีซ หลังการประกาศกำหนดการทำประชามติค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงถึง 2.3% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้รับผลกระทบ อีไอซีมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นความผันผวนระยะสั้นซึ่งมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ตามการทำประชามติในเดือนมิ.ย. 2016 หากผลโหวตคือไม่ออกจาก EU จะเป็นการเพิ่มความมั่นคงในสถานภาพของ UK ในฐานะสมาชิกของ EU และในกรณีที่ผลโหวตคือให้ออก ซึ่งสนธิสัญญาลิสบอน (2009) ระบุว่าการสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปีหลังจากแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นการยืดระยะเวลาให้แต่ละฝ่ายได้วางแผนปรับตัวและเจรจาต่อรองข้อตกลงใหม่ ทั้งนี้ กรณีของ Brexit นั้นแตกต่างจากกรณีความเสี่ยงที่กรีซจะออกจาก EU ในปี 2015 (Grexit) เนื่องจากในกรณีกรีซนั้นมีความเชื่อมโยงต่อการผิดชำระหนี้ของรัฐบาลกรีซเป็นปัจจัยหลัก ในขณะที่ Brexit ไม่มีความเชื่อมโยงนี้

อีไอซีมองว่าโอกาสที่ผลประชามติที่ UK จะออกจาก EU นั้นมีต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะตามมา ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของผลสำรวจเลือกที่จะคงสถานภาพสมาชิกหรือออกจาก EU อยู่ที่ 43% ต่อ 40% (17% ยังไม่ตัดสินใจ) ซึ่งผลการโหวตให้ออกในช่วงที่ผ่านมาได้รับความนิยมมากขึ้นจากเมื่อกลางปี 2015 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในยุโรปและการกดดันให้สมาชิก EU แบ่งรับภาระผู้อพยพเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีภาระทางการคลังต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก EU ที่อ่อนแอ และอิสรภาพในการตัดสินใจทางการเมืองที่จำกัดเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าผลประชามติจะให้คงสถานภาพสมาชิก เนื่องจากข้อตกลงใหม่จะทำให้ UK คลายความกังวลเรื่องผู้อพยพและแรงกดดันในการรวมกลุ่มกับ EU ในด้านการเมือง ถึงแม้ว่านักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงอย่าง นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีลอนดอนจะออกมาเรียกร้องให้ UK ออกจาก EU แต่การออกจาก EU จะทำให้มีความเสี่ยงว่าสก็อตแลนด์ซึ่งเอนเอียงไปทางฝ่าย EU มีการทำประชามติว่าจะออกจาก UK อีกครั้ง ซึ่งชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้นน่าจะทำให้กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจเอนเอียงไปทางการโหวตให้คงสภาพสมาชิก EU มากขึ้นด้วย

กรณี Brexit จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้ง UK และยุโรปโดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนทางข้อตกลงทางการค้าและแรงงาน การพ้นสภาพสมาชิก EU อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่าง UK และ EU ซึ่งคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศของ UK ทั้งหมด เนื่องจากมีความไม่แน่นอนว่าจะสามารถเจรจาเพื่อคงสภาพการเป็นตลาดเดียวกันต่อไปได้หรือไม่ อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนต่อข้อตกลงทางการค้าที่ UK ทำกับประเทศอื่นๆ ในฐานะประเทศสมาชิกของ EU เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีระหว่างประเทศจะทำให้บริษัทข้ามชาติพิจารณาย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป โดยล่าสุด HSBC เตือนว่าอาจจะย้าย investment banking office ไปปารีส นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง Fitch Ratings และ Moody’s ต่างก็ออกความเห็นว่าจะลดระดับความน่าเชื่อถือของ UK ซึ่งจะกระทบต่อตลาดการเงินอย่างรุนแรง ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจของทั้ง UK และ EU เข้าสู่ภาวะถดถอยได้

การลงประชามติของ UK เพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกบนพื้นฐานความเปราะบางที่มีอยู่เดิม การอ่อนตัวของทั้งยูโรและปอนด์หลังความเสี่ยง Brexit มีเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงความกังวลของตลาดต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย อีไอซีมองว่าความ ผันผวนที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความตื่นตระหนกของนักลงทุนในระยะสั้นมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐาน และจะปรับคืนสู่สภาวะเดิมเมื่อความกังวลผ่อนคลายลง อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นระยะสั้น แต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในด้านการค้าการลงทุนทำให้เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม ดังนั้น โอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะขยายมาตรการอัดฉีดทางการเงินภายในเดือนมี.ค.นี้ มีสูงขึ้น

ผลกระทบต่อค่าเงินบาทและส่งออกไทยมีจำกัด มูลค่าการส่งออกจากไทยไป UK อยู่ที่ประมาณ 2% ของส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ในระยะสั้นผลต่อการค้าของไทยมีจำกัด อีกทั้งผลกระทบต่อค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีไม่มากเช่นกัน อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูท่าทีของผลประชามติต่อไป เนื่องจากกรณีของ Brexit จะทำให้เศรษฐกิจทั้งยุโรปและ UK มีความเสี่ยงต่อสภาวะถดถอยได้ และจะกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง (รวม 12% ของส่งออกทั้งหมด) นอกจากนี้ การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับ EU ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าถูกระงับชั่วคราวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 จะไม่ครอบคลุมการค้ากับ UK และอาจจะต้องมีการเจรจาแยก

ผู้เขียน: ดร. ชุติมา ตันตะราวงศา

จาก  http://www.thansettakij.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ชลประทานน้ำหยด วิธีรับมือแล้งสไตล์อิสราเอล 

รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ (Associate Professor Dr.Naftali Lazarovitch)

         เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ประเทศที่เป็นทะเลทรายกว่าครึ่งและขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้งอย่าง "อิสราเอล" กลายเป็นผู้ผลิตพืชอาหารเลี้ยงปากท้องคนสหรัฐฯ และยุโรปได้ปีละมหาศาล ในวาระที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากอิสราเอลเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายถึงแนวทางด้านการจัดการน้ำอันชาญฉลาด ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงขออาสาเก็บเกี่ยวแนวเทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่าง "ระบบชลประทานน้ำหยด" ที่ใช้น้ำน้อยแต่พืชสามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ถึง 95%

                “อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ เรามีฝนตกน้อยมากและอีกเกือบครึ่งเป็นทะเลทราย ถ้าให้เทียบกันประเทศไทยถือว่าโชคดีกว่ามากครับในเรื่องของธรรมชาติ” รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองชลประทาน สัญชาติอิสราเอล กล่าวอย่างเป็นกันเองกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ขณะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและการบริหารจัดการน้ำที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

                รศ.ดร.นัฟตาลี ลาซาโรวิทซ์ (Associate Professor Dr.Naftali Lazarovitch) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการให้น้ำ, การฟื้นฟูดิน และการให้อาหารพืช จากสถาบันเบน-เกอเรียล แห่งมหาวิทยาลัยเนจีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกกลาง มีพื้นที่ประมาณ 20,770 ตารางกิโลเมตร อิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศสูงคือมีทั้งภูเขา, ทะเลทราย และทะเลสาบเดตซีอันเลื่องชื่อ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีเพียง 20-50 นิ้ว รัฐบาลของประเทศอิสราเอลจึงให้ความสำคัญด้วยการทุ่มงบประมาณมากกว่า 4% ของรายได้มวลรวมของประเทศ ไปกับการวิจัยพื้นฐานและประยุกต์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการบริหารและจัดการน้ำของประเทศ

                รศ.ดร.นัฟตาลี กล่าวว่า ประเทศอิสราเอลมีรูปร่างแคบและยาวคล้ายกับลิ่ม ภาคเหนือของประเทศเป็นพื้นที่สูง มีความอุดมสมบูรณ์ ด้านตะวันออกของประเทศเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเดตซีซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ต่ำจากระดับน้ำทะเลที่สุดในโลก และทางใต้ของประเทศเป็นทะเลทรายอันแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำ ไม่สามารถทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพใดๆ ได้ รัฐบาลจึงดำเนินการเชื่อมน้ำจืดเข้าด้วยกัน ด้วยการต่อท่อใต้ดินรวมระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อนำน้ำจืดจากทางเหนือลงมาทางใต้ทำให้ทะเลทรายมีแหล่งน้ำ ประกอบกับการทำฝนเทียม, การกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล ควบคู่กับนโยบายใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการนำน้ำที่ใช้แล้ว มาบำบัดใช้ซ้ำสำหรับการชักโครก การชำระล้างและการเกษตร

                "ประเทศเราไม่ค่อยมีน้ำ แถมยังเล็กมาก ไทยน่าจะใหญ่กว่า 25 เท่า ที่สำคัญคือเราไม่ถูกกับประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างอย่างเลบานอน, ซีเรีย, จอร์แดน และอียิปต์ทำให้เราต้องพึ่งพาตัวเองทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งไม่เช่นนั้นเราก็จะอดตาย แต่โชคดีที่เราทำได้ เรามีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างชาญฉลาดโดยการใช้ระบบน้ำหยดและการพ่นน้ำแบบฝอย จนทุกวันนี้อิสราเอลเลี้ยงตัวเองได้ และยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตสินค้าการเกษตรส่งขายสหรัฐฯ และยุโรป"

                รศ.ดร.นัฟตาลี เผยว่า ระบบชลประทานแบบน้ำหยด (Drip Irrigation) เป็นระบบที่เกษตรกรชาวอิสราเอลกว่า 70% เลือกใช้ เกิดจากการประกอบกันระหว่างคำ 2 คำ คือ Fertilization ที่แปลว่าปุ๋ย และคำว่า Irigation ที่แปลว่าการให้น้ำ เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายโดยรวมว่าการให้ธาตุอาหารแก่พืชผ่านระบบการให้น้ำ โดยระบบชลประทานแบบน้ำหยดนิยมใช้กับการปลูกแอปเปิ้ล, ทับทิม, พริกหวาน, มะเขือเทศ, ส้ม, มันฝรั่งและอินทผาลัม ผลิตผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกล้วยที่นิยมในเรือนกระจกทางตะวันตกของประเทศ ส่วนอีก30% ที่เป็นการให้น้ำผ่านระบบสปริงเกิลจะนิยมใช้กับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ต้องการความประณีตในการปลูก

                เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบชลประทานแบบน้ำหยด กับการรดน้ำทั่วไปที่คนไทยคุ้นเคย รศ.ดร.นัฟตาลี ระบุว่า พืชที่มีการให้น้ำแบบระบบน้ำหยดสามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้ถึง 95% ของปริมาณน้ำที่ให้ ในขณะที่การให้น้ำแบบทั่วไปพืชสามารถดึงน้ำมาใช้ได้เพียง 50% ระบบชลประทานน้ำหยดจึงเป็นที่นิยมมากในประเทศที่ขาดแคลนน้ำอย่างอิสราเอล แต่สถิตินี้ รศ.ดร.นัฟตาลี ระบุว่าอาจใช้ไม่ได้กับทุกพื้นที่ เพราะประสิทธิภาพของการชลประทานแบบน้ำหยดต้องขึ้นกัองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น พันธุ์พืชและลักษณะของดิน ซึ่งผู้ที่จะนำระบบนี้ไปใช้ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งความสำเร็จอันเป็นที่ประจักษ์ทำให้คนทั่วโลกนิยมเดินทางไปดูงานด้านการจัดการน้ำและการเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่นักวิจัยไทยจาก สวทช. ที่ในขณะนี้ได้นำเทคโนโลยีน้ำหยดกลับมาใช้ที่ จ.น่านแล้วระยะหนึ่ง

                นางวิศรา ไชยสาลี นักวิชาการหน่วยบริการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า เมื่อปี 2554 เธอได้รับทุนมาชาร์ฟ ( MASHAV) ของสถานฑูตอิสราเอลผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ในหลักสูตร Agri-Green Management : Agri-Environmental Consideration under Climate Changes ไปฝึกอบรมที่อิสราเอลเป็นเวลาประมาณ 25 วัน ซึ่งหลังกลับมาได้นำความรู้และประสบการณ์จากการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน มาถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนและปรับใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธอดูแลอยู่

                นางวิศรา เผยว่า ตลอดการดูงานที่อิสราเอล เธอได้เรียนรู้การจัดการ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภครวมถึงการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์, การทำเกษตรแบบผสมผสาน การจัดการแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี และระบบการควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management,IPM) และสุดท้ายคือ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะและการจัดภูมิทัศน์พื้นที่ทิ้งขยะ ซึ่งเธอได้รวบยอดความรู้ทั้งหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ อ.บ่อเกลือ ใน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาอาชีพการเกษตรหลังการทำนา ด้วยการส่งเสริมการปลูกข้าวสาลีเพราะเป็นพืชใช้น้ำน้อย ต้องการความเย็น เหมาะกับดินทางภาคเหนือ และขายได้ราคา ส่วนที่สอง คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการป่าชุมชนที่จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นตู้กับข้าวใหญ่ที่ใครๆ ก็สามารถมาใช้ประโยชน์

                “ระบบชลประทานน้ำหยดเป็นเรื่องทีมองว่า ค่อนข้างเป็นไปได้และน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับประเทศไทย แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้นำมาใช้เพราะอุปกรณ์ค่อนข้างราคาสูง และเราต้องศึกษาก่อนว่า พื้นที่แบบใดของประเทศไทยที่เหมาะสมกับการใช้ระบบนี้ เพราะดินของไทยและอิสราเอลไม่เหมือนกัน คำว่าแล้งของเขากับของเราก็ไม่เหมือนกัน จึงไม่ใช่ว่าเห็นดีงามแล้วจะนำมาใช้ได้เลย ยังคงต้องศึกษาต่อ แต่ที่ตอนนี้เรานำมาปรับใช้คือการเลือกพันธุ์พืชให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ก็คือการปลูกข้าวสาลีซึ่งได้ผลดีมาก และเรากำลังจะสนับสนุนเรื่องการทำตลาด ส่วนเรื่องระบบชลประทานน้ำหยดเร็วๆ นี้ทางสวทช. ก็จะร่วมมือกับทางผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลไปเปิดคอร์สนำร่องแก่ผู้สนใจที่มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง แต่จะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต” นักวิจัย สวทช.กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

จาก  http://manager.co.th   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กระทรวงอุตสาหกรรมน้ำตาริน แปรรูปเกษตรเพิ่งได้งบพัฒนา!           

นายประสงค์ นรจิตร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานในโครงการ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค (โอปอย) หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมางบประมาณโอปอยถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ กระทรวงฯได้คัดเลือกจาก 6 แผนงานที่กระทรวงฯกำหนดคือ การบริหารจัดการขนส่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน การลดต้นทุนพลังงาน การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และรบบมาตรการสากล กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด โดยโครงการเริ่มต้นตั้งปี 2550 ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่เข้ารวม 1,100 ราย เพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ 4,000 ล้านบาท

          โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 โดยงบประมาณ โครงการอยู่ที่ 72 ล้านบาท จากนั้นก็ถูกปรับลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2555 ได้รับจำนวน 36 ล้านบาทปี 2556 ได้รับจำนวน 36 ล้านบาท ปี 2557 ได้รับจำนวน 30 ล้านบาท ปี  2558 ได้รับจำนวน 37  ล้านบาท ปี 2559 ได้รับจำนวน 31 ล้านบาท และล่าสุดปี 2560 ได้รับงบประมาณ 50 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลโดยทีมเศรษฐกิจชุดนายสมคิด จาตุศีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรแปรรูป โดยมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คลัสเตอร์) เกษตรแปรรูปขึ้นมาด้วย

จาก  http://www.matichon.co.th วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

อุตสาหกรรมฯอุบลแจงสั่งระงับรง.เอทานอลส่งน้ำให้เกษตรกร 

           นายวรกาญจน์ สุวรรณไตรย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล ทำโครงการกระจายน้ำเพื่อการเกษตร โดยวางท่อส่งน้ำให้เกษตร 41 ราย รวม 94,320 ลูกบาศก์เมตร/เดือน ทำให้เกษตรกรมีน้ำทำการเกษตรตลอดปี แต่ล่าสุดอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งระงับโครงการ

          นายวิชัย วุฒานุรักษ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า สั่งระงับโครงการเนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนการวางท่อน้ำทิ้งในพื้นที่ อีกทั้งบริษัทไม่แจ้งรายละเอียดการขออนุญาตตามขั้นตอน ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน จึงมีคำสั่งให้บริษัทระงับการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.จนกว่าจะได้รับอนุญาตปล่อยน้ำให้เกษตรกรจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

          นางนิตยา จันเพ็ง ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ต.นาดี กล่าวว่า ไม่เคยร้องเรียน แต่มีชื่อถูกกล่าวอ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการวางท่อส่งน้ำผ่านที่ดินไปให้เกษตรกร ทั้งๆ ที่เป็นผลดีกับตนเองเพราะได้รับน้ำทำไร่มันสำปะหลังและทำนา

          นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล กล่าวว่า โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดทำประชามติความต้องการใช้น้ำ และศึกษาข้อกฎหมาย ทั้งได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานแล้ว

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ “A+/Stable” 

           ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ "A+" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานในเชิงภูมิศาสตร์ แบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากความเป็นวัฏจักรของราคาน้ำตาล ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยรวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของธุรกิจในต่างประเทศ

          แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป การมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตได้แก่ราคาน้ำตาลที่ตกต่ำอย่างมากจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนอ่อนแอลง ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะสั้นมีอยู่ไม่มากเนื่องจากการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังไม่มีเสถียรภาพ

          บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2557/2558 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 3.97 ล้านตัน

          บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2557/2558 โรงงานในประเทศไทยของบริษัทผลิตน้ำตาลได้ 2.3 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.4% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.06 ล้านตันในปีการผลิต 2557/2558 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ในประเทศจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาว และในประเทศออสเตรเลียผลิตน้ำตาลรวมกันได้ 0.7 ล้านตันในฤดูการผลิต 2557/2558 นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยรวมถึงขยายไปธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้และธุรกิจโลจิสติกส์

          ในปี 2557 บริษัทมีรายได้รวม 89,378 ล้านบาท ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุดคิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 44% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียมีสัดส่วน 7% รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลคิดเป็น 15% ของรายได้รวม

          การกระจายตัวทางด้านการดำเนินงานช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ท่ามกลางราคาน้ำตาลทรายที่ลดลงต่อเนื่อง ธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากราคาขายน้ำตาลทรายที่ลดลง 12.9% แต่ผลกระทบดังกล่าวได้รับการชดเชยจากการฟื้นตัวของธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนและธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ในขณะที่ธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ายังคงสร้างกำไรในระดับที่ดีต่อเนื่อง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทรวมกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า ปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จาก 15.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากเนื่องจากต้นทุนอ้อยที่ลดลง 9% ขณะที่ราคาขายน้ำตาลในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น 31.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลผลิตน้ำตาลในประเทศจีนลดลงมากกว่า 10% จากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ลดลงและอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลในประเทศไทยยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีจากนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก ส่วนธุรกิจวัสดุทดแทนไม้มีอัตรากำไรที่สูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ 14,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานทรงตัวอยู่ที่ 11,410 ล้านบาทเนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 775 ล้านบาทแต่บริษัทได้รับเงินชดเชยจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในฤดูการผลิต 2557/2558 ต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งตาม พรบ. อ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่าหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายส่วนต่างให้กับโรงงานน้ำตาลตามระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ขณะที่ชาวไร่ไม่ต้องคืนส่วนต่างราคาอ้อย เงินชดเชยนี้ทำให้บริษัทมีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 665 ล้านบาท อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 7.5 เท่าถือว่าน่าพอใจในช่วงที่อุตสาหกรรมน้ำตาลอยู่ในภาวะตกต่ำ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 19.1% ในปี 2557 และ 22.0% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 48%-51% ในช่วงสิ้นปี 2555 จนถึงเดือนกันยายน 2558

          ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกได้ฟื้นตัวขึ้นจากราคาเฉลี่ย 12 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มาอยู่ในระดับ 13-15 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงต้นปี 2559 การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลทรายส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่สำคัญของโลกอาทิ เช่น ประเทศไทย อินเดีย จีน มีผลผลิตน้ำตาลลดลงในฤดูการผลิต 2558/2559 ทำให้ดุลน้ำตาลของโลกในฤดูการผลิต 2558/2559 อยู่ในสถานะขาดดุลเป็นปีแรกหลังจากที่น้ำตาลโลกเกินดุลมา 5 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของราคาน้ำตาลยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน การอ่อนค่าของเงินเรียลของประเทศบราซิลรวมถึงแนวโน้มผลผลิตน้ำตาลที่จะสูงขึ้นของประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ในกรณีฐานคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนประจำเฉลี่ย 5,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัทได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เพิ่มกำลังการหีบน้ำตาลรวม 84.000 ตันอ้อยต่อวัน คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทซึ่งจะมีการทยอยลงทุนเป็นลำดับ ดังนั้นคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับ 20%-25% และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 6-7 เท่า

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MPSC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+

MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC179A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC199B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC186A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 126 ล้านหยวน ไถ่ถอนปี 2561 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน แนวทางการพัฒนาที่ดิน จากฐานข้อมูลทรัพยากรดิน(8)

แนวทางการจัดการดินปัญหา

-ดินบนพื้นที่ภูเขาหรือดินในพื้นที่สูงชัน โดยทั่วไปดินบนพื้นที่ภูเขาจะมีความชันมากกว่า 35% ลักษณะของดิน ผันแปรไปตามชนิดของหิน มีทั้งที่เป็นดินตื้นและดินลึก บางแห่งจะมีหินโผล่มาก ลักษณะดินส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการถูกชะล้างพังทลาย ง่ายต่อการเกิดแผ่นดินถล่ม จึงไม่เหมาะจะนำมาใช้ในการเกษตร สมควรกำหนดให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร เขตต้นน้ำลำธาร เขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

-การจัดการดินดานการไถระเบิด การไถระเบิดดินดานโดยใช้ไถสิ่งหรือที่เรียกว่า Ripper ไถทำลายชั้นดานการสลายชั้นดินดานด้วยรากหญ้าแผ่ การไถพรวนควรไถ่ในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม ไม่ไถพรวนบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดชั้นดานใต้ชั้นไถพรวน ควรมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุควบคู่ไปกับการจัดการดินดาน

-การป้องกันและแก้ไขปัญหาดินปนเปื้อนโดยการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกจากโรงงานการตรวจสอบการปนเปื้อนของน้ำใช้หรือน้ำชลประทานก่อนนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร หลีกเลี่ยงการนำวัสดุที่อาจเป็นอันตรายมาถมที่ดิน สอดส่อง ดูแลพื้นที่ขยะไม่ให้มีการใช้ที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะหรือของเสียที่สงสัยว่าจะเป็นอันตรายจากสารปนเปื้อน และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน

-การจัดการดินเหมืองแร่ร้าง พื้นที่เหล่านี้ถ้าจะพัฒนาควรเน้นหนักไปในเรื่องของการปรับสภาพพื้นที่ การปลูกพืชคลุมดิน หรือปลูกไม้โตเร็ว เพื่อบูรณะให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจจะเหมาะสมที่สุด

-การจัดการพื้นที่เลี้ยงกุ้งแล้วปล่อยทิ้งร้าง การนำพื้นที่ดังกล่าวมาทำนาต้องปรับสภาพพื้นที่ให้ราบเรียบและให้สะดวกในการระบายน้ำที่มีเกลือปะปนออกไปจากดิน ถ้าจะใช้ปลูกพืชล้มลุก พืชผัก หรือไม้ผล จำเป็นต้องมีการยกร่องเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำแช่ขัง สำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน ต้องดำเนินการหลายๆ วิธีการร่วมกัน อาทิ การแก้ไขปัญหาความเค็ม การปรับปรุงดินให้ร่วนซุยโดยใช้อินทรียวัตถุรูปแบบต่างๆ การเพิ่มแร่ธาตุอาหารก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งอัตราและชนิดของปุ๋ยที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูก

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

สัญญาณบวก..เศรษฐกิจปี59

เล่าสู่กันฟัง : สัญญาณบวก..เศรษฐกิจปี59 : โดย...บัญญัติ คำนูณวัฒน์

                      การประกาศขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ของรองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ซึ่งรับผิดชอบดูแลทางด้านเศรษฐกิจ โดยประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2559 ว่า น่าจะมีตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 3.3% สูงกว่าจีดีพีปี 2558 ที่อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.8% เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่รัฐบาล

                      มาถึงวันนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกที่บ่งชี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น แม้จะยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาคเอกชน ที่มีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกค้างจากปลายปีที่แล้วต่อเนื่องปี 2559 เป็นตัวช่วย

                      ตัวเลขทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่น่าสนใจคือ การจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มียอดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเดือนมกราคม 2559 มีจำนวนถึง 5,749 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2558 จำนวน 2,512 ราย หรือประมาณ 78% โดยมีทุนจดทะเบียนรวมเป็นมูลค่า 28,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,576 ล้านบาท หรือเพิ่ม 51% เทียบเดือนมกราคม 2558

                      สะท้อนภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดังนั้น ปี 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่ายอดจัดตั้งบริษัทใหม่ จะมีไม่น้อยกว่า 60,000–65,000 ราย โดยธุรกิจที่เฟื่องฟู 5 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ ให้คำปรึกษาด้านการจัดการ ขายส่งวัสดุก่อสร้าง และขายส่งเครื่องจักร

                      สอดรับกับข้อมูลจากกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมในปีงบประมาณ 2559 คาดการณ์ว่าจะสูงกว่า 5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ 4.96 แสนล้านบาท เนื่องจากผลดีจากการปรับขึ้นภาษียาสูบในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังมีปัจจัยเสริมจากรายได้ภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีบาปต่างๆ ที่มีทิศทางการจัดเก็บดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจด้วย

                      ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการไปแล้วถึง 2,700 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี และในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2559 ยังต้องติดตามสถานการณ์ตลาดรถยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มกลับมามีการขยายตัวได้ดีตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์คาดการณ์ว่าการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2559 จะอยู่ที่ 8 แสนคัน

                       สัญญาณการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่เดินไปในทิศทางที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้านตั้งแต่ต้นปี ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนในมุมมองของชาวต่างชาติเริ่มดีขึ้น ดังนั้นแม้เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะถดถอย แต่ก็เชื่อกันว่าเศรษฐกิจประเทศไทยน่าจะไม่กระทบเหมือนประเทศอื่นๆ โอม....เพี้ยง

 จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ครม.อนุมัติ 9.3 หมื่นล้านอุ้มเกษตรกร

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเกษตรกร 3 โครงการวงเงิน 93,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแรก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะปล่อยกู้ฉุกเฉินให้ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรายละ 12,000 บาทไปใช้จ่าย มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 500,000 ราย เป็นเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ส่วน 6 เดือนที่เหลือคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ส่วนโครงการที่ 2 เป็นโครงการสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคเกษตรในระดับตำบล โดยจะให้สินเชื่อเอสเอ็มอี เกษตรวงเงิน 72,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 72,000 ราย ปล่อยกู้สูงสุด ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 10 ปี โดย 7 ปีแรกคิดดอกเบี้ย 4% และ 3 ปีที่เหลือคิดดอกเบี้ยอัตราปกติ

สำหรับโครงการที่ 3 สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตพืชที่ไม่เหมาะสมวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเป็นรายกลุ่มหรือชุมชน ให้กู้ชุมชนละไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลาโครงการ 5 ปี โดยส่วนนี้รัฐบาลจะสนับสนุนในส่วนดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.จำนวน 525 ล้านบาท มีประชาชนได้ประโยชน์ราว 100,000 ราย มีชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลองเข้าร่วมโครงการ 1,400 ชุมชน

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับชุมชนเพื่อส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อยและทำกิจกรรมนอกภาคการเกษตรอื่นๆ ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ตามโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชนเพิ่มเติม ระยะที่ 2 จำนวน 4,937 โครงการ วงเงิน 2,967 ล้านบาท ซึ่งอยู่ใน 8 มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

หวั่นบาทอ่อนกระทบงบลงทุน

สคร.เกาะติดค่าเงินบาท ประเมินผลกระทบต่องบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ชี้บาทอ่อนกระทบน้อย เพราะส่วนใหญ่กู้เงินต่างประเทศน้อย แถมป้องกันความเสี่ยงไว้แล้ว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้มีการติดตามดูสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนว่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหรือไม่ หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เท่าที่ติดตามการลงทุนที่อิงกับอัตราแลกเปลี่ยนผลกระทบไม่มาก เพราะรัฐวิสาหกิจกู้เงินต่างประเทศค่อนข้างน้อย อีกทั้งส่วนใหญ่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงไปแล้ว ส่วนที่ไม่ได้ปิดความเสี่ยง ก็เพราะมีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศเข้ามา จึงเป็นการปิดความเสี่ยงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

“เราได้มีการติดตามดูสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนไว้เหมือนกัน อาจจะมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่มาก แผนการลงทุนโดยรวมของรัฐวิสาหกิจจึงยังไม่ได้มีการทบทวนใหม่ ยังยืนไว้แผนเดิม ซึ่งปีงบประมาณ 2559 นี้รัฐวิสาหกิจมีแผนการลงทุนรวม 3.2 แสนล้านบาท”

สำหรับเป้าหมายการเบิกจ่ายนั้น ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาคราชการ หรือประมาณ 75% ของงบลงทุนรวม โดยการเบิกจ่ายรอบ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท อาจจะมีบางรัฐวิสาหกิจที่ยังล่าช้า เช่นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็จะมีการเร่งรัด อย่างไรก็ตามตามกระบวนการลงทุนของการรถไฟ จะต้องรอให้เปิดการประมูลก่อน หลังจากเปิดประมูลแล้วก็จะติดตามการเบิกจ่ายได้

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โรงงานยาสูบติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทใกล้ชิด เพราะจากสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้กังวลว่าจะกระทบต่องบลงทุนการซื้อเครื่องจักร ทำให้งบลงทุนปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งงบลงทุนไว้กว่า 6.1 พันล้านบาท ซึ่งได้ปรับลดลงแล้ว จากเดิมตั้งไว้ที่ 7 พันล้านบาท

“ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ห่วงว่าเงินเครื่องจัดไม่พอ แม้ว่ารอบนี้เราได้กันวงเงินสำหรับรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว 700 ล้านบาท เนื่องจากเราไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรือซื้อล่วงหน้าไม่ได้ เพราะตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)กำหนดให้เราใช้ค่าเงิน ณ เวลาที่ซื้อขาย จึงป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้”

ทั้งนี้ในสัญญาการซื้อเครื่องจักรทั้งหมด 12 สัญญา จะมีส่วนที่เป็นเงินไทย ค่าติดตั้ง แต่ค่าเครื่องจักร ให้สกุลต่างประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ 2 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐ และยูโร ซึ่งในสัญญาระบุชัดเจนจะจ่ายวันไหน ใช้สกุลอะไร ซึ่งจะเริ่มทยอยจ่ายเงินค่าเครื่องจักรในช่วงปลายปีนี้

“ที่กังวลคืออัตราแลกเปลี่ยน แต่เราก็มีแผนสำรองไว้ หรือในกรณีที่บาทอ่อนลงอีกจนผิดปกติ ก็จะขอครม.เพิ่มงบลงทุน แต่ถ้ายังอยู่ในเกณฑ์นี้ คิดว่ายังเอาอยู่ แต่หากดูแนวโน้มแล้วว่าไม่พอ ก็ต้องเอาเข้าครม. เพื่อขอเพิ่มงบลงทุน”

  จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

เอาจริง! คุมเข้มรถบรรทุกอ้อย ห้ามสูงเกิน 4 เมตร

     วันที่ 23 ก.พ. 59 ที่ห้องประชุมโรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย พล.ต.ชัยวิน ผูกพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบประจำจังหวัดเลย เป็นประธานประชุมแนวทางจัดระเบียบการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานผลิตน้ำตาล โดยมีนายเสน่ห์ นนทะโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พ.ต.อ.ศรีพงษ์ เตียประพงษ์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูหลวง , สมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูงจังหวัดเลย โรงงานน้ำตาลขอนแก่น (สาขาวังสะพุง) และผู้แทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย

     การประชุมครั้งนี้ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายของ คสช. และผู้บัญชาการทหารบกเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน หลังจากได้เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากรถบรรทุกอ้อย สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วหลายครั้ง โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงผลิตน้ำตาล 19 ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับกองทัพภาคที่ 3 ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

     สำหรับแนวทางทั้ง 19 ข้อ ที่สำคัญ ประกอบด้วย การบรรทุกอ้อยต้องสูงไม่เกิน 4 เมตร ความยาวพ้นจากตัวรถไม่เกิน 2.30 เมตร มีเข็มขัดรัดลำอ้อยอย่างแน่นหนา ต้องติดตั้งไฟ และสัญลักษณ์ ป้ายผ้าสะท้อนแสงท้ายรถ ให้คนขับรถบรรทุกอ้อย มีความระมัดระวังในการขับในเขตหมู่บ้าน และเขตเมือง ต้องมีความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

     มาตรการดังกล่าวระบุอีกว่า กรณีที่อ้อยตกหล่นบนถนน ให้สมาคมชาวไร่อ้อยนำรถและเจ้าหน้าที่ออกเก็บทันที หากรถเสียรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุต้องจอดรถชิดขอบทางด้านซ้ายของถนน และให้มีกรวยสีขาวแดงวางแสดงเป็นเครื่องหมายปิดหัวท้ายเพื่อเป็นสัญญาณว่ารถหยุดจอด หากเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากรถบรรทุกอ้อยทุกกรณีให้สมาคมชาวไร่อ้อยแต่ละแห่งรับผิดชอบค่าเสียหาย และรับผิดชอบทางคดีทั้งหมด และให้โรงงานน้ำตาลทำคานสูง 4.20 เมตร เพื่อกันปริมาณอ้อยที่บรรทุกอ้อยสูงเกินไป

     ภายหลังการประชุม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อย ได้รับปากว่าจะให้ความร่วมมือกับภาคราชการอย่างเต็มที่ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ พร้อมได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับทางราชการด้วย

     ทั้งนี้ นับตั้งแต่เปิดฤดูกาลหีบอ้อยในปีนี้เป็นต้นมา ได้เกิดอุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อยแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 เวลาประมาณ 03.00 น. รถทัวร์โดยสารสายเลย-กรุงเทพฯ ชนท้ายรถบรรทุกอ้อยที่จอดเสียอยู่ริมถนนมลิวรรณ ต.ห้วยส้ม อ.ภูกระดึง จ.เลย โดยไม่ติดตั้งสัญญาณไฟ หรือวางกรวยรอบรถทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 13 ราย ซึ่งจากการสอบสวนทราบว่า คนขับรถบรรทุกอ้อยอายุเพียง 20 ปี ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ รถบรรทุกไม่มีทำประกัน หรือต่อภาษีใดๆ

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

ดัน8มาตรการสู้แล้งมท.สั่ง'ผู้ว่าฯ'เร่งแก้5รพ.แย่ขาดแคลนน้ำ 

          ธ.ก.ส.ชง ครม.ขอวงเงินสินเชื่อ เกือบแสนล้านวันนี้ช่วยเกษตรกรกรมชลฯถก'กปภ.-กปน.'ยันน้ำกิน-ใช้เพียงพอ 'บิ๊กฉัตร'เข็น 8 มาตรการช่วย

          กรมชลฯถก'กปภ.-กปน.'

          เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลฯกังวลในเรื่องแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่รัฐบาลจะเปิดรับนักท่องเที่ยว 30 ล้านคนในปี 2559 และจำนวนแรงงานแฝงที่เข้ามาทำงานทั้งแบบไปกลับและอยู่ประจำ จำนวนมากอาจกระทบต่อแผนการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้น จึงเชิญการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการประปานครหลวง (กปน.) มาร่วมหารือเป็นวาระพิเศษ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำขาดแคลนในช่วง กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2559 ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนหน้าที่จะถึง เพื่อนำแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลและแรงงานแฝงมาประมวลเข้าในแผนบริหารจัดการน้ำ

          "กรมชลฯยอมรับว่าการรับมือกับภัยแล้งมีการหารือกันทุกสัปดาห์อยู่แล้ว โดยหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักการระบายน้ำ กทม. กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) แต่เมื่อลำดับความสำคัญของน้ำกินน้ำใช้ต้องมาก่อน กรมชลฯก็ต้องเชิญ กปภ.และ กปน. มาเพื่อหารือเป็นพิเศษ เพราะกังวลว่า ภัยแล้งจะกระทบน้ำกินน้ำใช้จากปัจจัยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น" นายสุเทพกล่าว

          ยันน้ำกิน-ใช้เพียงพอตามแผน

          นายสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำกำลังวิกฤต กรมชลประทานยังคงเคร่งครัดต่อการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ แต่เมื่อกังวลเรื่องของแรงงานแฝงและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จึงได้เชิญ กปภ.และ กปน.เพื่อจะร่วมกันวางแผนรับมือ โดยหลังการหารือนั้น กปภ.และ กปน. ยืนยันว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและแรงงานแฝงได้คำนวณเข้าไปในแผนการสำรองน้ำเพื่อใช้ในแต่ละปีแล้ว และเชื่อว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงแล้งนี้ จนกว่าจะมีฝนรอบใหม่เข้ามา

          นายสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักคือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมกันทั้งสิ้น 3,196 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยมีการระบายวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น น้ำสำหรับใช้ประโยชน์ด้านอุปโภคบริโภค 14 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 3 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 1 ล้าน ลบ.ม.  ซึ่งยังอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่คาดว่าปริมาณน้ำดังกล่าวจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนถึงเดือน สิงหาคมนี้ ซึ่งจะประจวบเหมาะกับฝนที่คาดว่าจะตกในช่วงนั้น และจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ  โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,590 ล้าน ลบ.ม.

          รบ.ออก8มาตรการช่วยเกษตรกร

          ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้ง ได้สำรวจและพบว่า เกษตรกรลดการผลิตข้าวลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง โดยในปี 57/58 มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 10.03 ล้านไร่ แต่ในปี 58/59 เหลือเพียง 5.07 ล้านไร่ ซึ่งสาเหตุที่เกษตรกรลดการเพาะปลูกข้าวลง มาจากการประชาสัมพันธ์ และการสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรทราบถึงสถานการณ์ภัยแล้งของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเกษตรกรได้ลดการผลิตลง ทำให้รายได้หายไป ทางภาครัฐก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมไว้แล้ว 8 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 386,809 ราย 2.มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 782,789 ราย 3.มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 98,888 ราย 4.มาตรการเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 9,771 โครงการ 5.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7,829 แห่ง 7.มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8.มาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เป็นต้น

          "ต้องเข้าใจในสถานการณ์น้ำว่า ประเทศไทยเจอปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือ ฝนแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ประกอบกับไม่มีพายุพัดเข้ามาเติมน้ำในเขื่อนจนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2558 ทำให้ภาคการเกษตรต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลัก แทนที่จะใช้น้ำฤดูฝน โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 เรามีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักเหลืออยู่เพียง 4,247 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่มีอยู่ 6,777 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เราต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุดและเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          สธ.เฝ้าระวังโรคจากภัยแล้ง

          นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งว่า ได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีภัยแล้ง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสนับสนุนสารเคมีและงบประมาณ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังป้องกันโรค การสำรวจและพัฒนาคุณภาพน้ำให้เหมาะสมเพียงพอ โดยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่ประสบภัยแล้งดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจคุณภาพน้ำ ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พัฒนาคุณภาพน้ำให้เหมาะสม จัดทำน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยสนับสนุนคลอรีน ชุดทดสอบคลอรีนคงเหลือในน้ำ ชุดทดสอบแบคทีเรียในน้ำและอาหาร 2.สำรวจเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากภัยแล้ง เน้นในจังหวัดที่เสี่ยงภัยแล้งมาก และ 3.การสำรองน้ำสำหรับสถานบริการให้เพียงพอกับการจัดบริการประชาชน จัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนการขนส่งน้ำ

          เดือนมกราฯอุจจาระร่วงแชมป์

          ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ในส่วนการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพในจังหวัดประสบภัยแล้งในเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วย 2,216 คน โรคที่พบคือโรคอุจจาระร่วง 1,425 คน อาหารเป็นพิษ 147 คน ไข้ไทฟอยด์ 1 คน ไข้เลือดออก 125 คน ปอดบวม 147 คน ไข้หวัดใหญ่ 45 คน ที่เหลือป่วยเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยให้สอบสวนควบคุมป้องกันทันที ไม่ให้โรคแพร่ระบาด นอกจากนี้ ให้เร่งรัดตรวจมาตรฐานน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแข็ง ความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ส้วมสาธารณะ พร้อมให้ความรู้ประชาชนถึงวิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้ป่วย ด้วยมาตรการ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดขยะมูลฝอย แยกเขียงและมีดหั่นอาหารดิบกับอาหารสุก หากมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำติดต่อกันมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลทันที ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับหน่วยงานในสังกัดทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด แก้ไขปัญหาได้ทันที

          เผยรพ.กระทบแล้ว5แห่ง

          "ขณะนี้ได้รับรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ 13 จังหวัด 60 อำเภอ 333 ตำบล มีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอยงาม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าหุง จ.เชียงราย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาไม่ไหลกระทบบริการทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โรงพยาบาลเวียงเก่า จ.ขอนแก่น ขาดแคลนน้ำใช้ ส่วนโรงพยาบาลพระทองคำ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำให้บริการผู้ป่วย น้ำมีตะกอนแร่ธาตุเกินมาตรฐาน ทั้งหมดได้รับการแก้ไขปัญหา โดยการประสานกับหน่วยบริการประปาในพื้นที่ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดทำระบบประปาผิวดิน ปรับปรุงคุณภาพน้ำตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" นพ.โสภณกล่าว

          ปลัดมท.สั่งผู้ว่าฯเร่งแก้แล้ง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้รับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ และสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวสารการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการบริโภค จึงขอให้ผู้ว่าฯดำเนินการดังนี้ 1.จังหวัดที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าน้ำขาดแคลนถึงขั้นวิกฤตคือ จ.พิจิตร เลย นครสวรรค์ หนองคาย และ จ.แพร่ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าขาดแคลนน้ำจริงหรือไม่ และจังหวัดรวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อย่างไร ให้รายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ พร้อมทั้งชี้แจงสื่อมวลชนให้ทราบถึงการดำเนินการของจังหวัด 2.สั่งการให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ จัดชุดปฏิบัติการร่วมออกตรวจสอบแหล่งน้ำและเส้นทางน้ำสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้ปิดกั้นหรือลักลอบสูบน้ำที่จะเข้าสู่แหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา

          สั่งหาแหล่งน้ำสำรองผลิตประปา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 3.หากพบว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรองเพื่อผลิตน้ำประปาเหลือน้อย ไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ให้ดำเนินการหาแหล่งน้ำสำรองใหม่แล้วใช้เครื่องสูบน้ำเข้าแหล่งกักน้ำ หรือดำเนินการแจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค ให้ประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการร้องเรียน หรือมีการนำเสนอข่าวสารในลักษณะขาดแคลนน้ำ โดยไม่มีหน่วยงานราชการให้ความช่วยเหลือประชาชน 4.ให้จังหวัดที่ได้รับแจ้งว่ามีสาขาประปาส่วนภูมิภาค ที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำรวม 11 สาขา และเฝ้าระวัง 51 สาขา ตามหนังสือกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ รวมถึงจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และ จ.สระแก้ว ซึ่งได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด หากเกินขีดความสามารถให้ขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง

          ชงครม.ช่วยภัยแล้งเกษตร6พันล.

          แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในการปล่อยกู้เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนั้น ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่ง ธ.ก.ส.เตรียมพร้อมด้านสินเชื่อและเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทั้งสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558/2559 วงเงินรวม 6 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ให้มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน ให้กู้ต่อรายไม่เกิน 12,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วง 6 เดือนแรก เดือนที่ 7-12 อัตราดอกเบี้ย 4% มีเป้าหมายคือเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศที่มีสินเชื่อกับ ธ.ก.ส.ไม่เกิน 500,000 บาท

          สินเชื่อชุมชน-เอสเอ็มอี8.7หมื่นล.

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เสนอ ครม.พิจารณาเพื่ออนุมัติโครงการสินเชื่อชุมชน เพื่อให้ชุมชนนำไปปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ช่วงภัยแล้ง มีเป้าหมายในพื้นที่ 26 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง วงเงินสินเชื่อ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยกับชุมชนในอัตราต่ำมากเพียง 0.01% ที่เหลือรัฐบาลชดเชยให้ โดยการดำเนินการครั้งนี้ ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อกับชุมชนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตร และว่าจ้างเกษตรกรในการผลิต ในลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเกษตรกรจะมีรายได้เข้ามาใน 3 ทาง คือ ค่าเช่าจากการใช้พื้นที่เพาะปลูก ค่าแรงงานจากการรับจ้างผลิต และส่วนแบ่งรายได้จากการขายผลผลิต คาดว่าตรงนี้ช่วยเกษตรกรได้ 100,000 ราย และเกษตรกรมีรายได้ในช่วงภัยแล้งประมาณรายละ 3,500 บาท ถึง 15,000 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต ตรงนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายรัฐมนตรี ไม่อยากให้เป็นการแจกเงิน และต้องการให้ชุมชนและคนชุมชนมีการช่วยเหลือกันเองจึงเป็นที่มาของสินเชื่อดังกล่าว ซึ่งในการขอสินเชื่อเข้าชุมชนต้องเสนอโครงการเข้ามาให้ ธ.ก.ส.พิจารณา

          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้รวมตัวผลิตสินค้าเกษตรในระดับตำบลขึ้นมา ตรงนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร กำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% เท่ากับอัตราดอกเบี้ยมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือซอฟต์โลน เป็นเวลา 7 ปี

          น้ำเขื่อนแม่สรวยเหลือเพียง3%

          ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดเชียงราย ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำแห้งลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับ เขื่อนแม่สรวย ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำแหล่งใหญ่ของจังหวัด ที่สามารถจุน้ำในปริมาณความจุ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดพบว่าน้ำในเขื่อนแม่สรวย เหลือเพียง 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 3% ของความจุ ทั้งนี้เนื่องจากทางเขื่อนแม่สรวยได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน จากเดิมเคยปล่อย 10.58 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือเพียง 0.38 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรได้เพียง 1,000 ไร่ และจะมีน้ำปล่อยให้แก่เกษตรกรจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยปริมาณน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนแม่สรวย ถือว่าไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรอย่างแน่นอน

          เชียงใหม่ยันน้ำมีพอกิน-พอใช้

          นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ลำน้ำปิงมีปริมาณน้ำลดลง จากสภาพฝนแล้งที่ทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จึงใช้วิธีเติมน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ที่มีปริมาณน้ำ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 22% ความจุอ่าง ปล่อยลงสู่ลำน้ำปิง 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศ และใช้ผลิตประปา เพื่ออุปโภคบริโภคบางส่วน ซึ่งเขื่อนแม่งัดงดปล่อยน้ำ เพื่อทำการเกษตรหรือเพาะปลูก สำหรับฝายแม่แตง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2.36 ลูกบาศก์เมตร/วินาที หรือ 230,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน บางส่วนใช้ผลิตประปา 3 แห่ง พร้อมส่งน้ำเพาะปลูกเพียง 35,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน รวมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด มีปริมาณน้ำ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 11% ความจุอ่าง จึงจัดสรรน้ำเป็นรอบเวร เริ่มวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ได้สำรองน้ำ จำนวน 16 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อปลูกกล้าข้าวนาปี หากไม่มีฝนตกลงมา ส่วนการผลิตประปาเพื่ออุปโภคบริโภค ไม่มีปัญหา ยังมีน้ำเพียงพอ

          นครนายกน้ำประปาเริ่มรสเค็ม

          ที่ จ.นครนายก นายบุญมา สร้อยระย้า อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ 6 ต.ทองหลาง อ.บ้านนา จ.นครนายก เผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ ต.ทองหลาง กว่า 200 ไร่ กำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะน้ำในคลอง 30 ที่อยู่ใน ต.ทองหลาง และต.บางปลากด ได้แห้งขอดจนไม่สามารถที่จะสูบไปใช้ในการเกษตรได้ สาเหตุมาจากภัยแล้งและเศษวัชพืชที่อยู่ในลำคลองที่มีมากจนน้ำไม่สามารถที่จะไหลผ่านมาได้ จนบางครั้งชาวบ้านต้องใช้มีดลงไปฟันเศษวัชพืชเองที่บริเวณในคลอง และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเอาเศษวัชพืชออกและเปิดทางน้ำ เพื่อรอน้ำต้นทุนจากเขื่อนขุนด่านปราการชลปล่อยมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ถือว่าเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤต และคาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์ น้ำในคลอง 30 จะแห้งสนิท จนตอนนี้ชาวบ้านบางส่วนต้องหันมาซื้อน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคกันบ้างแล้ว เนื่องจากน้ำประปาในหมู่บ้านเริ่มมีรสเค็มจนไม่สามารถนำมาบริโภคได้

          ประจวบฯเริ่มทำฝนหลวง1มี.ค.

          ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคำสั่งให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้งและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เพื่อเตรียมพร้อมกำลังคน รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที โดยยืนยันว่าประชาชนจะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อการใช้งานตลอดช่วงหน้าแล้ง ส่วนกรณีที่อ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ.ปราณบุรี มีระดับน้ำลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของความจุอ่าง ล่าสุดมีการประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ให้ตั้งฐานปฏิบัติการทำฝนเทียมที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน สนามบินบ่อฝ้าย เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำปราณบุรี รวมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าและพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะเริ่มขึ้นบินปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายวิกฤต โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

กษ.7.5หมื่นล.งบภัยแล้ง3พันล.เสนอครม.วันนี้กยท.เคาะผู้ว่าฯ

          "สมคิด" ชง 2 มาตรการปฏิรูปเกษตร 7.5 หมื่นล้านเข้าครม. วันนี้พร้อมขอไฟเขียวงบเพิ่ม 3 พันล้านช่วยภัยแล้งขณะที่ กยท. เคาะชื่อผู้ว่าฯ ใหม่พรุ่งนี้ ด้านแบงค์กสิกรไทย ชี้ราคาน้ำมันลดต่ำ ทำกระทบรายได้ชาติผลิตน้ำมัน กดดันการส่งออกไทยและภาคท่องเที่ยว

          เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายสุรพลจารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมครม. อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตามมาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกร ตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ให้เกษตรกรนำไปพัฒนาเรื่องการเกษตร อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การถนอมอาหาร ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละชุมชน รวมทั้งการขุดลอกคูคลอง การกักเก็บน้ำ

          ส่วนความคืบหน้าการสรรหาผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการสรรหาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะประชุมเพื่อพิจารณาผ่านความเห็นชอบในวันพุธที่ 24 ก.พ.นี้ ก่อนส่งรายชื่อผู้ว่าการยางฯให้กับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรกรและสหกรณ์ รับทราบ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อนุมัติได้ภายในสัปดาห์หน้า

          ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปาฐกถาเรื่อง"โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ"ว่า เขาจะเสนอ 2 มาตรการเพื่อการปฏิรูปการเกษตร ต่อครม.ในวันอังคารที่ 23 ก.พ.นี้โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรในวงเงินรวมประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท

          โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของเกษตรกรไทย โดยให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับเปลี่ยนพืชในการเพาะปลูกมาตรการนี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแม่กลองรวม 26 จังหวัด จำนวนราว1 แสนราย

          ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการยกระดับการผลิตแปรรูป และเพิ่มมูลค่า โดยจะให้ ธ.ก.ส.และ ธ.ออมสินปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้สร้างเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม

          "วันอังคารนี้ จะมีโครงการเข้าครม. 2 เรื่อง เน้นการปฏิรูปเกษตรทั้งหมดจะทำเพื่อสร้างอนาคตให้กับเกษตรกร"

          ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การอ่อนแรงของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศของผู้ค้าน้ำมันโดยเฉพาะตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลางจะส่งผลกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 59 เผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกไปยังประเทศผู้ค้าน้ำมันในปีนี้ จะหดตัวราวร้อยละ 8 - 17 ต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 17.6 กระทบต่อสินค้าอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ อาทิ สินค้ายานยนต์ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรกลนอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศผู้ค้าน้ำมันอาจระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น จากแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในภาพรวมนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 19.4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาไทย หรือคิดเป็นจำนวน 5.8 ล้านคน ในปี 58 นำโดยชาวมาเลเซีย ตามมาด้วยรัสเซีย ชาติอาหรับ และอินโดนีเซีย  ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซีย น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมัน ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ ขณะที่ชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียอาจจำกัดการใช้จ่ายมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำลง จะช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตของไทย แต่ในทางตรงกันข้าม ผลลบที่เกิดต่อราคายางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ราคาอิงกับน้ำมันเป็นปัญหาเร่งด่วนของเกษตรกรไทยในขณะนี้ และกระทบการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทย (น้ำมันสำเร็จรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก) ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานออกไป อาจเป็นปัจจัยฉุดภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างๆ ในปี 59 ต่อเนื่องจากปี58 โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

จาก พิมพ์ไทย วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

แล้งวิกฤติหนัก ต้องซื้อน้ำใช้ สั่งห้ามทำนาปรัง ผวาน้ำทะเลหนุน 

          น้ำในคลองแห้งขอด เรือจอดนิ่งสนิท นครนายกวิกฤติ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำใช้ ส่วนที่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำใช้แค่ร้อยละ 6.23 เท่านั้น จังหวัดสั่งห้ามทำนาปรังเด็ดขาด อ่างเก็บน้ำในกาฬสินธุ์ 18 แห่งเหลือน้อย มีแค่ใช้อุปโภคบริโภค ปทุมธานีชลประทานสั่งปิดประตูระบายน้ำริมเจ้าพระยาทุกบาน เพราะน้ำทะเลทะลักเข้ามา ขณะที่เชียงราย ระทึกแผ่นดินสะเทือน 3.2 ริคเตอร์ ผู้ว่าฯสั่งนายอำเภอทุกแห่ง ออกสำรวจความเสียหายโดยด่วน

          เมื่อวันที่ 21 ก.พ. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานรับฟังบรรยายสรุป พร้อมมอบนโยบายแผนการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการเกษตร โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ กว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟัง โดย รมว.เกษตรฯกล่าวว่า หลังจากรองอธิบดีได้แบ่งสายงานลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรด้านการ แก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการปลูกพืชทดแทน เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพบว่าชาวนาที่ปลูกข้าวลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 4,000 บาท แต่จะได้กำไรคืนมา ไร่ละ 800 บาทเท่านั้น ถือว่าน้อยมาก หากเกษตรกรมีความรู้และเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการปลูกพืชทดแทนหรือใช้น้ำน้อย จะสามารถต่อสู้กับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย

          พล.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยต่อว่า ตนสั่งให้ทุกกรมฯลงไปดูแลช่วยเหลือเกษตรกรอย่าง ต่อเนื่อง โดยประชาชนส่วนใหญ่พอใจมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ อีกทั้งเกษตรกรให้ความ ร่วมมืออย่างดี นอกจากนี้นายกฯยังได้สั่งการ ให้นำมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลลงพื้นที่ และเดินหน้าเต็มที่ภายในเดือนนี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทยเพื่อให้เกษตรกรผ่านภัยแล้งให้ได้

          สำหรับสถานการณ์ต่างจังหวัด จ.นคร นายก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในคลอง 30 ที่อยู่ระหว่าง ต.ทองหลาง กับ ต.บางปลากด อ.บ้านนา ได้แห้งขอดจนเรือจอดแน่นิ่งบนพื้นดิน ทำให้ชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล เดือดร้อนอย่างหนัก ต้องหันมาซื้อน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค เนื่องจากน้ำประปาในหมู่บ้านเริ่มมีรสเค็มไม่สามารถนำไปใช้ได้ ไร่สวน-นาเสียหายเป็น วงกว้าง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรหรือชาวบ้านโดยด่วน

          ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีเพียง 600 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น ร้อยละ 25 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้ได้ แค่ 115.20 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 6.23 เท่านั้น ทางจังหวัดได้ประกาศห้ามไม่ให้เกษตรกรทำนาปรังในปีนี้ทั้งหมด พร้อมกับเร่งประชาสัมพันธ์ผู้ที่จะทำนาปรัง หากนาข้าวได้รับความเสียหายจะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการแต่อย่างใด ที่ จ.กาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 18 แห่ง มีปริมาณน้ำเหลือใช้แค่ 24 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ไม่เพียงพอกับการทำนาปรัง เพราะจะเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคเท่านั้น

          ที่ จ.ปทุมธานี ทางกรมชลประทาน ได้สั่งให้ปิดประตูระบายน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกบาน ในเขตสำนักชลประทานที่ 11 เนื่อง จากน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ความเค็มทะลัก เข้ามาทำให้น้ำในคลองสายต่าง ๆ เริ่มลดลงและแห้งขอด

          ขณะที่สถานการณ์ภัยหนาว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.สกลนคร มีอากาศเย็นและ ลมแรง โดยอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาฯ กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16 องศาฯ ส่วนบนยอดภูอุณหภูมิต่ำสุด 7-10 องศาฯ นอกจากนี้ระดับน้ำในหนองหาร บางจุดมองเห็นสันทรายจนเรือจอดเกยตื้น

          วันเดียวกันเมื่อเวลา 08.58 น. สำนัก เฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา  รายงานว่าได้เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 3.2 ตามมาตรวัดริคเตอร์ ความลึก 1 กม. มีจุดศูนย์กลางที่ อ.แม่ลาว ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ นายบุญส่ง เตชะมณีสถิต ผวจ.เชียงราย สั่งให้นายอำเภอและองค์การปกครองท้องถิ่นทุกแห่งเร่งออกสำรวจความเสียหายโดยด่วน เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายแต่อย่างใด.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

คอลัมน์ ทำเองได้หายจน: รณรงค์ 10 จังหวัดภาคเหนืองดเผาช่วงเตรียมดินปลูก 

          รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งให้มีการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการตรวจพบจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก

          จากข้อมูลในปี 2558 ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี พบว่าจะเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ รวม 1.83 ล้านไร่ มีตำบลที่มีการเผาในระดับสูงกว่า 200 ตำบล ซึ่งจะมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้างในช่วงเวลาดังกล่าว

          สาเหตุหลักก็เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่า เพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรรอบใหม่ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผานี้จะเกิดหมอกควันและฝุ่นละออง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้สูญเสียน้ำในดิน เนื้อดินจับตัวกันแน่นแข็ง สูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดินที่เป็นอาหารของพืช

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาและเป้าหมายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในปี 2559 ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีการวางแผนในระดับพื้นที่ทุกจังหวัด ตั้งศูนย์อำนวยการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รณรงค์ให้เกษตรกรทำแนวกันไฟพื้นที่เกษตรที่อยู่ติดกับป่า

          และมอบหมายไปยังกรมพัฒนาที่ดิน นำหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน รณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกรงดเผาตอซัง และส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดหมอกควัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือแล้ว

          พร้อมกันนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ก็จะเร่งสร้างเกษตรกรต้นแบบสร้างชุมชนเกษตรปลอดเผาต้นแบบใน 20 จังหวัด และเป็นจุดเรียนรู้ขยายผลไปยังพื้นที่ที่มีปัญหา การเผาต่อไป อีกทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วย

          ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ล่าสุดตนได้ลงพื้นที่ เปิดโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังและเศษพืช ที่บ้านสันทราย อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และได้มีการกำชับให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 10 จังหวัด ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร

          เพื่อทราบถึงผลเสียของการเผาตอซังพืช รับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ของการใช้วิธีการไถกลบตอซังพืชลงไปในดิน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ได้ผลในการปรับปรุงโครงสร้างดินและบำรุงดินเป็นอย่างดี และใช้ร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพและนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน โดย การทำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 หมักกับพืช ผัก หรือเศษอาหารตามบ้านเรือนนำมาช่วยในการหมักย่อยสลายตอซัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ดินซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดีอีกด้วย

          นับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลงได้อย่างดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ว่า ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้น ทุนการผลิตอีกด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

พพ. นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวล เจ้าของรางวัล Thailand Energy Awards และ ASEAN Energy Awards 

          โรงไฟฟ้าทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ โรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 36 MW ใช้วัตถุดิบจากชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการบีบสกัดน้ำอ้อยของโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ นำมาผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้ กฟภ. และผลิตไอน้ำจำหน่าย ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโรงงานและระบบไฟฟ้าของจังหวัดสุโขทัย

          นายกุศล ชีวากร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ ว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 36 MW ของ บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด เป็นการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่งผลดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมในระดับชุมชนและประเทศ ซึ่งการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามีการจัดหาและการใช้งานเทคโนโลยีไม่ยุ่งยาก สามารถนำไปประยุกต์ดำเนินการให้กับโรงงานในทุกพื้นที่มีวัตถุดิบชีวมวลเพียงพอ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและกำลังการผลิตให้มีความเหมาะสม จนสามารถคว้ารางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน Thailand Energy Awards 2015 และรางวัลชนะเลิศ ASEAN Energy Awards 2015 ประเภทโครงการพลังงานความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (Co-generation) ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่นๆ ในการร่วมกันสร้างสรรค์พัฒนาพลังงานของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

          นายวิธันยา นามลี ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ทิพย์สุโขทัย ไบโอเอนเนอยี่ จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย มีชานอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลปริมาณมาก จึงได้ออกแบบจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 36 MW ภายในบริเวณโรงงานน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการหีบสกัดน้ำอ้อยของโรงงานน้ำตาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยนำมาเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานน้ำตาลและจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่โรงงานและระบบไฟฟ้าในจังหวัดสุโขทัย

          การดำเนินงานของโรงไฟฟ้า จะมีการทำสัญญาซื้อเชื้อเพลิงชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำ ขนาด 150 ตันต่อชั่วโมง จำนวน 3 ชุด ใช้ในการผลิตไอน้ำ โดยไอน้ำแรงดันต่ำจะจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล ส่วนไอน้ำแรงดันสูงจะจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลเพื่อใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักรในการหีบอ้อยเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปยัง Steam Turbine ที่เชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 18 MW จำนวน 2 ชุด เพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 4 ช่วง สอดคล้องกับฤดูกาลผลิตของโรงงานน้ำตาล ได้แก่

          1. เดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลหยุดการผลิตหรือนอกฤดูหีบ (Off Season) โรงไฟฟ้าจะผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟภ. เพียงอย่างเดียว

          2. เดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม เป็นช่วงฤดูหีบอ้อย (Crushing Season) ซึ่งโรงงานน้ำตาลต้องใช้พลังงานค่อนข้างมาก โรงไฟฟ้าจะผลิตไอน้ำแรงดันสูงและไฟฟ้าจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลและ กฟภ. โดยมีกำลังการผลิตสุทธิ 27 MW จำหน่ายให้แก่โรงงานน้ำตาล 15 MW, จำหน่ายให้ กฟภ. 8 MW และนำมาใช้เองภายในโรงไฟฟ้า 4 MW คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42%, 22% และ 16% ตามลำดับ

          3. เดือนเมษายน-เดือนสิงหาคม เป็นช่วงฤดูละลายน้ำตาล (Remelt Season) ซึ่งโรงงานน้ำตาลใช้พลังงานไม่มากนัก โรงไฟฟ้าจะผลิตไอน้ำแรงดันต่ำและไฟฟ้าจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลและ กฟภ.

          4. เดือนกันยายน เป็นช่วงการหยุดเพื่อซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรของโรงไฟฟ้า (Plant Shut down) โรงไฟฟ้าจะหยุดการผลิตไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟภ. เข้ามาใช้ภายในโรงไฟฟ้าแทน

          ปัจจุบันโรงไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้ กฟภ. ได้ประมาณ 61.4 MWh ต่อปี และผลิตไอน้ำจำหน่ายให้โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย 818,919 ตันต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก 34,437 tCO2 ต่อปี และ 188,251 tCO2 ต่อปี (รวม 222,688 tCO2 ต่อปี) โรงไฟฟ้าใช้เงินลงทุนประมาณ 1,663 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินหมุนเวียน) IRR 17.4% ระยะเวลาคืนทุน 5 ปี มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย 46 ล้านบาทต่อ MW รายได้จากการขายไอน้ำและไฟฟ้า ประมาณ 516 ล้านบาทต่อปี

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

ซีพีเอฟ เดินหน้าอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรลดผลกระทบภัย

          บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงาน พร้อมปันน้ำให้เกษตรกรพืชสวนพืชไร่รอบโรงงานแปรรูปและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดผลกระทบภัยแล้ง

          นายสุชาติ วิริยะอาภารองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนรอบข้าง ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่แหล่งน้ำเดียวกัน และได้นำเครื่องมือที่เป็นสากลมาใช้ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ เครื่องมือของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการขาดน้ำสำหรับการผลิตและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะเดียวกัน บริษัทมีมาตรการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำสำรองที่เชื่อถือได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกขั้นตอนให้ดียิ่งขึ้น การวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จัดทำแผนฉุกเฉินหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักและไม่กระทบต่อชุมชนรอบข้าง และประสานติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

          ซีพีเอฟยังนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีคุณภาพตามกฎหมายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด กลับมาใช้ในส่วนอื่นๆ นอกกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น รดต้นไม้และสนามหญ้า ใช้ทำความสะอาดพื้นบริเวณรอบโรงงาน อาทิ พื้นถนน ลานจอดรถ และใช้ในระบบชะล้างในห้องน้ำ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์น้ำตามแนวทางการใช้ซ้ำ (Reuse) ช่วยลดการนำน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ และกำลังศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้โรงงานสามารถนำน้ำหลังบำบัดกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก

          นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า โรงงานแปรรูปได้แบ่งปันน้ำหลังการบำบัดให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชผัก ในชุมชนรอบข้างโรงงาน ขณะเดียวกันยังมอบน้ำดิบที่โรงงานผลิตได้ให้ชุมชนในยามวิกฤติแล้ง ล่าสุดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งท่อประปาแก่ชุมชนหมู่ที่ 2 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน

          ด้าน นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมจึงไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์น้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรม "ส้วมน้ำ" ที่ช่วยแบ่งแยกจุดขับถ่ายในคอกเลี้ยงสุกรทำให้พื้นคอกสะอาด ช่วยลดการใช้น้ำในการล้างคอก ขณะเดียวกันน้ำในส้วมน้ำเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียเกิดเป็นแก๊สชีวภาพใช้ในการปั่นไฟกลับมาใช้ในฟาร์ม

          นอกจากนี้ หลังกระบวนการบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊สแล้ว ยังได้ "น้ำปุ๋ย" ซึ่งเป็นน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับนำไปใช้รดต้นไม้และแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานได้รับประทานผักคุณภาพดี และมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม ตลอดจนนำน้ำที่บำบัดแล้วมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้ในการล้างเล้าทดแทนการใช้น้ำดี โครงการนี้ทำให้สายธุรกิจสุกรสามารถลดการใช้น้ำในส่วนดังกล่าวลงปีละ 5% ในปี 2015 สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 750,000 คิว คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท

          นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในบริเวณรอบฟาร์ม ด้วยการแบ่งปัน "น้ำปุ๋ย" เพื่อนำไปรดไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนกล้วย ไร่ไผ่ตง และหญ้าขนเลี้ยงวัวชน ช่วยบรรเทาความเดือนร้อน และยังช่วยเพิ่มผลผลิตจากคุณภาพของน้ำที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนิเซียม และโซเดียม

          "ผลการตรวจคุณภาพของน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีแร่ธาตุที่พืชต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมที่มีสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมีไนโตรเจนถึง 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชที่ได้รับน้ำปุ๋ยเติบโตเร็วและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ซีพีเอฟภูมิใจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งของทุกปีให้กับเกษตรกรมานานกว่า 10 ปี" นายสมพร กล่าว

          นายสมพร ยังแนะนำการจัดการน้ำในฟาร์มเกษตรกรด้วยว่า เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอกับปริมาณสัตว์ที่เลี้ยง น้ำต้องมีคุณภาพดี ใส สะอาด รสชาติไม่เค็ม และต้องใช้สารส้มปรับคุณภาพน้ำก่อนใช้ ในอัตราส่วนสารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยความเข้มข้น 3 - 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) สำหรับในโรงเรือนสุกรที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรมีการขังน้ำไว้ให้พอดีด้วย

 จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

KSAM ชี้ปี 2558 AUM โต15% เกือบสองเท่าของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่พร้อมแนะนำการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อผลตอบแทนที่ดีระยะยาว 

           น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า "สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2559 นั้น บริษัทตั้งเป้าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร 373,000 ล้านบาท และขยายฐานลูกค้าเพิ่ม 14% โดยใช้กลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าผ่านเครือข่าย ธ.กรุงศรี มากกว่า 630 สาขาและBTMU ที่มีความแข็งแกร่งในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น เน้นมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีแนวโน้มดีเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกในพอร์ตการลงทุนของลูกค้า และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว ในส่วนของการบริหารกองทุนยังคงรักษามาตรฐานของกระบวนการลงทุน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจกับผู้ลงทุนเรื่องการวางแผนการลงทุนระยะยาวให้เหมาะสมกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่มุ่งหวังการเก็งกำไรให้ได้ผลตอบแทนสูงแค่ระยะสั้น ๆ

          "สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) มูลค่า 3.2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 15% จากสิ้นปี 2557 ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต 8% โดยในส่วนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.6 แสนล้านบาทหรือเติบโต 20% ในขณะที่อุตสาหกรรมโต 6.7% และมีส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนรวมเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่อันดับที่ 5 จากอันดับ 6 ในปีก่อนหน้านี้ รวมทั้งมีจำนวนลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น 20% ด้วยเช่นกัน" (ข้อมูล: AIMC ณ 30 ธ.ค. 58)

          "ด้านผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นของ บลจ.กรุงศรี ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมต่างประเทศ(FIF) ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีเงินลงทุนสุทธิไหลเข้าสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นมียอดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิสูงที่สุดในอุตสาหกรรมเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นปันผล (KFSDIV) ครองตำแหน่งกองทุนรวมหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา" (ข้อมูล: Morningstar ณ 30 ธ.ค. 58)

          "ในส่วนของกองทุนรวมต่างประเทศก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) มีการเติบโตกว่า 220% จากสิ้นปี 2557 และมียอดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิสูงที่สุดในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 ของอุตสาหกรรมจากอันดับ 4 ในปีก่อนหน้านี้" (ข้อมูล: Morningstar ณ 30 ธ.ค. 58)

          "บลจ.กรุงศรี ยังเป็น บลจ.แรกๆในอุตสาหกรรมที่แนะนำกองทุนประเภท "Income Fund" ให้กับนักลงทุน ถึงแม้ว่าระยะหลังจะเริ่มมีกองทุนประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นในตลาด โดยกองทุน KF-INCOME เป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมียอดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิสูงที่สุดในช่วงปี 2558 (ข้อมูล: Morningstar ณ ธ.ค.58) นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำกระแสการลงทุนในกองทุนเฮลท์แคร์ ทั้งนี้กองทุน KF-HEALTHD ที่บริษัทจัดตั้งในเดือน ส.ค. 57 ถือเป็นกองทุนเฮลท์แคร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีขนาดกองทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 570% ภายในระยะเวลาเพียง 16 เดือน" (ข้อมูล: Morningstar ณ ธ.ค. 58)

          "นอกจากนี้ ในปี 2558 บลจ.กรุงศรี ยังได้รับรางวัล Fund Management Company of the Year in Thailand จากนิตยสาร The Asset ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำด้านการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย และรางวัล Outstanding Asset Management Company ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รางวัลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพด้านการบริหารจัดการกองทุนและความมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง"

          นางสุภาพร ลีนะบรรจง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า "ข้อมูลจาก ธนาคารกรุงศรีคาดการณ์ว่าจีดีพีไทย (GDP) เติบโต 3.2% ในปี 2559 เนื่องจากมีปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่หลายประการทั้งในส่วนพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่มีความแข็งแกร่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการลงทุนในโครงการลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการเร่งลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภคและการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้การบริโภคของภาคเอกชนจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ภาคการท่องเที่ยวยังคงสดใสโดยปัจจัยหนุนหลักมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการส่งออกจะปรับตัวสูงขึ้นจากแรงหนุนของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และได้รับประโยชน์จากการเปิดเขตเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) ที่มีการปรับลดอากรระหว่างประเทศ ปัจจัยต่างๆดังกล่าวจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีขึ้น"

          "บลจ.กรุงศรี ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะยาวถึงแม้ว่าในระยะสั้นตลาดจะยังคงมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่เชื่อมั่นว่าในระยะยาวตลาดหุ้นไทยยังมีศักยภาพและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งและกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ ปี 2559 จะเติบโต 10% และตลาดหลักทรัพย์ไทยยังเป็นที่น่าสนใจต่อนักลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ การฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้เป็นอย่างดี"

          "ด้านภาพรวมของตลาดตราสารหนี้นั้น บริษัทมีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ 1.50% ต่อไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ในส่วนของตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวยังคงมีความผันผวนสูง ตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลก เนื่องจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกของนักลงทุนต่างชาติ"

          "สำหรับสัดส่วนการลงทุนในปี 2559 ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะฟื้นตัว แนะนำให้ผู้ลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นเติบโตและหุ้นของตลาดที่พัฒนาแล้วโดยเน้นที่ยุโรปและญี่ปุ่น ด้านการลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ยังคงมีแนวโน้มที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นจะมีความผันผวนอยู่บ้าง โดยตัวเลขการจ้างงานในภาคเฮลท์แคร์ของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงให้น้ำหนักกับการลงทุนในตราสารหนี้ไทยที่มีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (FED)"

          "กองทุนแนะนำภายใต้การบริหารของ บลจ.กรุงศรี ได้แก่ KFSPLUS, KFMTFI, KFSEQ, KFTHAISM KF-HJAPAND, KF-EUROPE, KF-HEALTHD, KF-EM และ KF-CHINA" นางสุภาพร กล่าว

           นักลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี จำกัด โทร. 02-657-5757 หรือ เว็บไซต์ www.krungsriasset.com หรือ ติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยาทุกสาขา

          การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

กองทุน KF-HJAPAND, KF-EUROPE, KF-HEALTHD, KF-EM , และ KF-CHINA มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก กองทุนจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/หรือ การเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน

          กองทุน KF-EUROPE, KF-HEALTHD, KF-EM, และ KF-CHINA จะไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน จึงอาจมีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

          กองทุน KF-INCOME เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น โดยกองทุนอาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ในอัตราส่วนที่มากกว่าอัตราส่วนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชาระหนี้ ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

กรมชลเร่งดันแผนอุโมงค์ผันน้ำ ดึงโขง-เลย-ชี-มูลแก้วิกฤตแล้ง

ที่กรมชลประทาน ปากเกร็ด นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลจากการประชุมสัมมนาวิชาการในวันนี้ เพื่อนำไปศึกษาออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำที่มีความยาวมาก ใช้วางท่อใต้ดินผันน้ำแม่น้ำโขง-เลย ชี-มูล มีสองเส้นทางให้เลือกว่าเส้นทางใดจะเกิดประโยนช์ต่อคนในพื้นที่ภาคอีสาน 24 จ.และความเป็นไปได้ของโครงการเกิดความคุ้มทุนมากที่สุด โดยเส้นทางแรกใช้ระยะทาง54 กม.และเส้นทางที่สองใช้ระยะทาง 85 กม. เป็นโครงการที่ได้สอบถามความต้องการมาแล้วซึ่งประชาชนต้องการน้ำมากโดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง และพื้นที่เกษตร โครงการนี้จะทำให้มีปริมาณน้ำมาหล่อเลี้ยงถึง 2 พันล้านลบ.ม.  ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มีอังกฤษ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทยเข้าร่วม โดย จะมีการใช้แบบจําลองคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาชลศาสตร์อุโมงค์ที่มีความยาวมากว่าน้ำจะไหลตามแรงโน้มถ่วงได้หรือไม่ และมีผลกระทบกับแม่น้ำโขงอย่างไร โดยจะนำข้อมูลนี้ให้กับคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง พิจารณาด้วย ซึ่งระยะเวลาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้ระยะเวลา 5 ปี จึงเริ่มลงมือได้ก่อสร้างได้

"ขณะนี้เร่งแก้ปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ มีโครงการนำร่อง ผันน้ำจากห้วยหลวง มาลงเติมเขื่อนอุบลรัตน์ กำลังเร่งดำเนินการติดตั้ง ประตูน้ำ เครื่องสูบน้ำชั่วคราวเพื่อช่วยหน้าแล้งเร่งด่วน"

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ต้องศึกษาให้เกิดความชัดเจนเพราะการออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่กว้าง10 เมตร รับแรงโน้มถ่วงและลดแรงเสียดทาน ซึ่งขุดฝั่ง ลึกลงใต้ดิน ไม่น้อยกว่า20-40เมตร ขณะนี้กำลังทดสอบทางกายภาพ โดยใช้โมเดลของหลายประเทศ แต่ประเทศจีนมีอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินยาวมากที่สุดในโลก เป็น100 กม. เพื่อให้แก้ไขข้อสงสัยว่า ทำแล้วน้ำไหลจริงไหม ใช้น้ำแม่โขงเท่าไหร่ เพราะ เงินลงทุนสูงมาก โครงการนี้ได้เริ่มมีแนวคิดเมื่อ30ปีที่แล้วสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหวัณ แต่เป็นระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้งหมดซึ่งใช้งบมหาศาลจึงเปลี่ยนมาเป็นใช้พลังงานตามแรงโน้มถ่วงของโลกในการส่งน้ำ

"ใช้งบศึกษา90 ล้านบาท ในโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ตามแรงโน้มถ่วงของโลก สามารถส่งน้ำให้พื้นที่20 ล้านไร่ และเชื่อมกับระบบสูบอีก 10 ล้านไร่ โดยจะต้องใช้อุโมงค์ที่มีความยาวมากในการผันน้ำจากปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ทำประตูกักเก็บน้ำตรงปากน้ำศรีสองรัก มีการทำแผนเส้นทางวางท่ออุโมงค์ส่งน้ำไว้สองเส้น ประเมินว่าใช้งบ1-2 แสนล้านบาท ซึ่งใช้น้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง  ที่ความสูง 210 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อกระจายน้ำผ่านคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรภาคอีสานบน อีสานกลาง และอีสานใต้ โดยจะมีโครงการขุดคลองใหม่รับน้ำจากอุโมงค์ มาเชื่อมกับแม่น้ำมูล-ชี ความยาว 2 พันกม.ความกว้าง 200-250 เมตร จะเป็นโครงการต่อเนื่อง อาจจะเห็นว่าใช้งบสูงมากแต่ถ้าเทียบกับใช้งบเท่ากับรถไฟฟ้าเส้นเดียวก็คุ้มค่าที่จะลงทุนทำระบบน้ำให้กับคนอีสาน ได้ทำการเกษตรได้มั่นคง แก้ไขการขาดแคลนน้ำเมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ลดการอพยพย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นได้ ซึ่งการศึกษาในเบื้องต้นเชิงวิศวกรรม จะแล้วเสร็จภายใน31 ธ.ค.59 "นายสมเกียรติ กล่าวและว่าโครงการนี้ ใช้ข้อมูลศึกษาครบ นำเสนอรัฐบาลมั่นใจว่า ทำแล้วไม่เสียใจ ในปีนี้รัฐบาลให้เริ่มทำก่อนใช้น้ำจากห้วยหลวง เป็นหลัก โดยขออนุมัติ ครม.ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการผันน้ำแม่น้ำสาละวิน จากผลการศึกษา มี 19 เส้นทางที่สามารถเชื่อมลุ่มน้ำลาสะวิน เติมเขื่อนภูมิพล ที่ยังมีช่องว่างรับน้ำได้ 2-4 พันล้านลบ.ม. ซึ่งมีระยะทางสั้นที่สุด 20 กม. จากแม่น้ำเมย มาเติมเขื่อน ภูมิพล สร้างประตูตรงปากแม่น้ำใช้งบไม่มาก ประมาณ 3-4 หมื่นล้าน แต่ ขึ้นอยู่กับประเทศเมียนมาด้วย จึงต้องมาพิจารณาอีกเส้นทางใช้น้ำจากลำ น้ำยวม อยู่ฝั่งไทย ระยะทาง 60 กม. ใช้งบ5-6 หมื่นล้าน ในโครงการศึกษาเบื้องต้นเมื่อ10ปีกว่ามาแล้ว

นายสมเกียรติ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าจะรุนแรงที่สุดช่วงเดือนเม.ย. ขณะนี้ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ 584 อำเภอ เป็นจุดเสี่ยง ขาดแคลนนน้ำ ในการเกษตร  และรักษาระบบนิเวศ  การแก้ไข เบื้องต้นใช้รถขนน้ำไปแจก ขุดบ่อบาดาล

"จากนี้ความต้องการใช้น้ำมากขึ้น แต่น้ำกินน้ำใช้การันตีว่ามีถึงเดือนมิถุนายน พื้นที่น่าห่วงคือกรุงเทพ เพราะเป็นจุดปลายสุดในการรับน้ำ จำเป็นอย่างยิ่งควบคุมการใช้ให้เป็นตามแผน นับวันความต้องการมากขึ้น แต่ในช่วงเดือนเมษายน การประปาควรมีแผนสำรองไว้ด้วย ส่วนกรมชลฯได้ดูแลวางแผนจัดการส่งน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก หากปล่อยเขื่อน ภูมิพล สิริกิติ์  มาแถวจ.กำแพงเพชร อาจดักสูบจะหายกลางทาง "นายสมเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงค์ อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการผู้ชำนาญด้านพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก. )พิจารณาอีกรอบถึงความเหมาะสม

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

เร่งเครื่องตรวจร้านค้าปุ๋ย-สารเคมี ส่ง‘สารวัตรเกษตร’สอบเข้ม-รอบ1เดือนอายัดแล้วกว่า3พันกก.

 “กรมวิชาการเกษตร” สั่งสารวัตรเกษตรและเครือข่าย เดินหน้าตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศอย่างเข้มข้น สกัดปุ๋ย-สารเคมีปลอม เผย 1 เดือนอายัดเพื่อตรวจสอบคุณภาพไปแล้วกว่า 3,000 กก. พร้อมแจงปริมาณนำเข้าปุ๋ยย้อนหลัง 2 ปี ลดลงต่อเนื่องเหตุภัยแล้งกระทบเกษตรกรอย่างหนักส่งผลผู้ประกอบการชะลอการลงทุน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืชอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและให้เห็นผลภายใน 3 เดือน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กรมได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 นาย ตรวจสอบสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศอย่างละเอียดซึ่งดำเนินการไปแล้ว 4,606 แห่งพร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างและสั่งอายัดเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ แบ่งเป็นปุ๋ย จำนวน 60 ตัวอย่าง อายัดปุ๋ยชนิดเม็ด 3,151.18 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 6 ลิตร วัตถุอันตราย จำนวน 64 ตัวอย่างอายัด 37 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 452.5 ลิตรและพันธุ์พืช จำนวน24 ตัวอย่าง อายัด 41.38 กิโลกรัม

เมื่อลองเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าปุ๋ยในประเทศไทยย้อนหลังไป 2 ปี พบว่า ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2557 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยมาประมาณ 5,400,000 ตัน เป็นเงินถึง 66,375,000,000 บาท ต่อมาในปี 2558 นำเข้าปุ๋ยทั้งประเทศลดลง เหลือเพียง 4,650,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 56,700,000,000 บาท ลดลงจากปี 2557 ถึงร้อยละ 14 และเมื่อมาเปรียบเทียบกับการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม 2559 เพียงเดือนเดียว มีการนำปุ๋ยเข้ามาทั้งสิ้น 151,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีการนำเข้ามา จำนวน 310,000 ตัน ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 51 เลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีการนำเข้าปุ๋ยลดลงนั้น อาจเกิดจากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้พื้นที่ในการทำการเกษตรลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนผลิตปัจจัยการผลิตไว้เพื่อรอจำหน่ายเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทั้งเรื่องต้นทุนสินค้าและการตลาด จึงชะลอการผลิตไว้ก่อน ประกอบกับการที่เกษตรกรงดทำนาปรังและปัญหาราคายางตกต่ำ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปุ๋ยสำหรับข้าวและยางพาราลดลงตามไปด้วย

“จากการที่กรมเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยมอบหมายให้สารวัตรเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งตรวจสอบและจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีปลอมให้กับเกษตรกรมาดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งกำชับให้สารวัตรเกษตรติดตามตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตตามฤดูกาลผลิตพืช รวมถึงจับตาสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรนิยมใช้ทุกสูตรและทุกระยะเวลาที่ใช้ในพืชด้วย เพื่อควบคุมและลดปัญหารถเร่จำหน่ายปุ๋ยปลอมในพื้นที่ ถือเป็นต้นทางของการลดต้นทุนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการะกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากเกษตรกรจะได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ผลผลิตที่ได้ออกมาก็มีคุณภาพ ขายได้ราคา” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

  จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

'รมว.พาณิชย์' เผยรัสเซียเชิญไทยร่วมสมาชิกอีอียู

"รมว.พาณิชย์" เผย รัสเซียแนะไทยเร่งพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกอีอียู เหตุมองไทยเป็นผู้ผลิตและแหล่งความมั่นคงด้านอาหาร

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัสเซียได้เสนอผ่านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ไทยเร่งพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (อีอียู) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกแล้ว 5 ประเทศ คือรัสเซีย,เบลารุส, คาซัคสถาน,คีร์กีซสถานและอาร์มีเนีย โดยมีประชากรรวมกว่า 180 ล้านคน และผลิตภัณฑ์มวลรวม 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรัสเซียมองว่าไทยจะเป็นผู้ผลิตและแหล่งความมั่นคงด้านอาหารในกลุ่มอีอียูได้เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการศึกษาผลดีและผลเสียการเข้าเป็นสมาชิกคาดว่าในเร็วๆนี้จะได้ข้อสรุป

“พาณิชย์มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถหาตลาดใหม่เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นโอกาสการผลักดันสินค้าหลักๆในกลุ่มนี้ได้โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร,สินค้าเกษตร,รถยนต์,แฟชั่น,อัญมณีเป็นต้นเพราะหากเป็นสมาชิกก็จะมีสิทธิพิเศษด้านภาษีและความอำนวยสะดวกต่างๆในการส่งออกสินค้าไทยเป็นอย่างมาก”

ขณะเดียวกันระหว่างการเยือนประเทศรัสเซียในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของรัสเซียซึ่งคาดว่าจะมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-รัสเซียรวมถึงการหารือเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าทวิภาคีเพื่อเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยโดยเฉพาะยางพารา ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย

  จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เร่งเครื่องตรวจร้านค้าปุ๋ย-สารเคมี ส่ง‘สารวัตรเกษตร’สอบเข้ม-รอบ1เดือนอายัดแล้วกว่า3พันกก.

 “กรมวิชาการเกษตร” สั่งสารวัตรเกษตรและเครือข่าย เดินหน้าตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศอย่างเข้มข้น สกัดปุ๋ย-สารเคมีปลอม เผย 1 เดือนอายัดเพื่อตรวจสอบคุณภาพไปแล้วกว่า 3,000 กก. พร้อมแจงปริมาณนำเข้าปุ๋ยย้อนหลัง 2 ปี ลดลงต่อเนื่องเหตุภัยแล้งกระทบเกษตรกรอย่างหนักส่งผลผู้ประกอบการชะลอการลงทุน

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืชอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและให้เห็นผลภายใน 3 เดือน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กรมได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 นาย ตรวจสอบสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศอย่างละเอียดซึ่งดำเนินการไปแล้ว 4,606 แห่งพร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างและสั่งอายัดเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ แบ่งเป็นปุ๋ย จำนวน 60 ตัวอย่าง อายัดปุ๋ยชนิดเม็ด 3,151.18 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 6 ลิตร วัตถุอันตราย จำนวน 64 ตัวอย่างอายัด 37 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 452.5 ลิตรและพันธุ์พืช จำนวน24 ตัวอย่าง อายัด 41.38 กิโลกรัม

เมื่อลองเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าปุ๋ยในประเทศไทยย้อนหลังไป 2 ปี พบว่า ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2557 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยมาประมาณ 5,400,000 ตัน เป็นเงินถึง 66,375,000,000 บาท ต่อมาในปี 2558 นำเข้าปุ๋ยทั้งประเทศลดลง เหลือเพียง 4,650,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 56,700,000,000 บาท ลดลงจากปี 2557 ถึงร้อยละ 14 และเมื่อมาเปรียบเทียบกับการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม 2559 เพียงเดือนเดียว มีการนำปุ๋ยเข้ามาทั้งสิ้น 151,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีการนำเข้ามา จำนวน 310,000 ตัน ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 51 เลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีการนำเข้าปุ๋ยลดลงนั้น อาจเกิดจากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้พื้นที่ในการทำการเกษตรลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนผลิตปัจจัยการผลิตไว้เพื่อรอจำหน่ายเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทั้งเรื่องต้นทุนสินค้าและการตลาด จึงชะลอการผลิตไว้ก่อน ประกอบกับการที่เกษตรกรงดทำนาปรังและปัญหาราคายางตกต่ำ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปุ๋ยสำหรับข้าวและยางพาราลดลงตามไปด้วย

“จากการที่กรมเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยมอบหมายให้สารวัตรเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งตรวจสอบและจับกุมร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีปลอมให้กับเกษตรกรมาดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งกำชับให้สารวัตรเกษตรติดตามตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตตามฤดูกาลผลิตพืช รวมถึงจับตาสูตรปุ๋ยที่เกษตรกรนิยมใช้ทุกสูตรและทุกระยะเวลาที่ใช้ในพืชด้วย เพื่อควบคุมและลดปัญหารถเร่จำหน่ายปุ๋ยปลอมในพื้นที่ ถือเป็นต้นทางของการลดต้นทุนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการะกระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากเกษตรกรจะได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ผลผลิตที่ได้ออกมาก็มีคุณภาพ ขายได้ราคา” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

น้ำเค็มทะลักเจ้าพระยา‘รอยล’เตือนรัฐเร่งเฝ้าระวังกรมชลยันไม่เกินมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีคลื่นแรงในอ่าวไทยที่ได้รับอธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และอยู่ในช่วงพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำทะเลยกตัวสูง อย่างไรก็ตามหากกรมชลประทาน สามารถควบคุมให้การระบายน้ำเป็นตามแผน ภาคเกษตรไม่เอาน้ำในระบบไปใช้ ก็จะผลักดันน้ำเค็มได้ไม่เข้าระบบประปาได้

ทั้งนี้ต้องระวังน้ำเค็มไม่ให้รุกพืชด้วยซึ่งพืชทนได้ประมาณ 2 กรัมต่อลิตร ก็ควรมีแผนสำรองป้องกันไว้ด้วย ซึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ พื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จะมี6-7 แห่งที่มีปัญหา เช่นบางปะกง อุทัยธานี สุโขทัย ชัยภูมิ นครราชสีมา และภาคเหนือตอนบน โดยทุกภาคส่วนเตรียมแผนหาน้ำสำรองไว้ในขณะนี้ยังเป็นตามแผน

“อยากให้ไปดูพื้นที่จ. เพชรบูรณ์ ชุมชนต่างๆได้ขุดบ่อ ขุดสระไว้จำนวนมากสามารถรับน้ำได้40-70% และช่วงแล้งได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำตนเอง ทำให้ประสบปัญหาน้อย เป็นตัวอย่างให้ประเทศได้ว่าถ้าเราทำโครงการเล็ก ๆอย่างนี้ให้ชุมชนจัดการ ฝ่ายรัฐสนับสนุน จะเกิดความยั่งยืน ทั้งลำน้ำป่าสัก ลำน้ำยม แก้ด้วยทำฝ้าย แต่ในจังหวัดภาคเหนือ มีปัญหาขาดแคลนน้ำเต็มไปหมด ภาคกลาง ไม่เคยทำที่ที่กักเก็บน้ำเอง เพราะใช้น้ำจากเขื่อนเป็นหลักพอฝนไม่ตกภาคเหนือ ป่าภาคเหนือก็เหลือน้อย ก็เกิดปัญหาไม่มีน้ำให้ใช้ ส่วนกรณีที่กรมชลฯมีโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำโขง มาลงห้วยหลวง ผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน มาเติมเขื่อนภูมิพล มีสองโครงการใช้น้ำจากลำน้ำในไทยเองด้วย ต้องใช้งบมากมายมหาศาล แต่ขณะนี้โครงการสูบน้ำด้วยท่อเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ จากลำน้ำชี แค่ระยะสั้นๆในจ.ข่อนแก่น หมดงบไปแล้ว 5 พันล้านบาท ตอนนี้ใช้ได้หรือไม่”

นายรอยล กล่าวต่อว่า ภาวะแห้งแล้งครั้งนี้ เกิดกับภาคเกษตรไม่มีน้ำให้เพาะปลูก ซี่งรัฐบาลก็ได้ใช้แผนช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปแล้ว มีทั้งมาตการปรับเปลี่ยนจากข้าว เป็นปลูกพืชทนแล้ง จ้างงาน ขุดลอกคูคลอง ส่งเสริมปลูกพืชอื่น เป็นการหาทางออกแก้ไขให้กับเกษตรกร ส่วนจะได้ผลอย่างไร คาดการณ์ไว้ได้เป็นตามแผนหรือไม่ ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันติดตาม เพราะงบประมาณแก้ภัยแล้งลงไปหมื่นๆล้าน และเท่าที่รู้ก็มีส่วนที่ไม่เป็นตามแผน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จะแก้กันไขอย่างไรเพื่อให้ทันการณ์

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกรณีปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นถึงพื้นที่ จ.ปทุมธานี ว่า ค่าความเค็มยังไม่กระทบกับน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับพื้นที่กทม.และปริมณฑล แน่นอน ซึ่งจากการตรวจสอบค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบผลิตประปา ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พบว่า อยู่ที่ระดับ 0.16 กรัมเกลือต่อลิตร ยังไม่เกินค่าเฝ้าระวัง คือ ระดับ 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร ส่วนปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ที่ 0.43 กรัมเกลือ ยังไม่กระทบกับสวนกล้วยไม้ และไม้ดอก รวมทั้งปากคลองดำเนินสะดวก ยังอยู่ที่ 0.44 กรัมเกลือ ทั้งลำน้ำสองแห่งยังไม่ถึงค่าเฝ้าระวังที่ระดับ 0.75 กรัมเกลือ

นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณ 3.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม จนถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยปล่อยระบายจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง วันละไม่เกิน18 ล้านลบ.ม.ยังไม่พบการนำน้ำไปใช้นอกแผนโดยไม่นำน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร

“ขณะนี้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในปริมาณ 75 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายผ่านเขื่อนพระราม 6 ปริมาณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ซี่งไม่ต้องเพิ่มการระบายแต่อย่างไร เพราะค่าความเค็มยังอยู่ระดับปกติ แม้เข้า ฤดูแล้งเต็มที่แล้วก็สามารถปล่อยน้ำได้ตามแผน ควบคุมค่าความเค็มไม่เกินเกณฑ์และไม่กระทบระบบผลิตประปาอย่างแน่นอน” นายสุเทพ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานสถานการณ์ภัยแล้งโดยมีโรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอยงาม และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลป่าหุง จ.เชียงราย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปาไม่ไหลกระทบบริการทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โรงพยาบาลเวียงเก่า จ.ขอนแก่น ขาดแคลนน้ำใช้ ส่วนโรงพยาบาลพระทองคำ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำให้บริการผู้ป่วย น้ำมีตะกอนแร่ธาตุเกินมาตรฐาน จึงได้เร่งประสานกับหน่วยบริการประปาในพื้นที่ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดทำระบบประปาผิวดิน ปรับปรุงคุณภาพน้ำแล้ว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพในจังหวัดประสบภัยแล้ง ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วย 2,216 คน โรคที่พบคือโรคอุจาระร่วง 1,425 คน อาหารเป็นพิษ 147 คน ไข้ไทฟอยด์ 1 คน ไข้เลือดออก 125 คน ปอดบวม 147 คน ไข้หวัดใหญ่ 45 คน ที่เหลือป่วยเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ต่อเนื่อง หากพบผู้ป่วยให้สอบสวนควบคุมป้องกันทันที ไม่ให้โรคแพร่ระบาด

วันเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0622/ว 41 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดังนี้ 1.จังหวัดที่มีการเสนอข่าวสารว่าขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤติ ได้แก่ พิจิตร เลย นครสวรรค์ หนองคาย และแพร่ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นจริงหรือไม่ และมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยให้รายงานให้กระทรวงกระทรวงมหาดไทยทราบ พร้อมทั้งชี้แจงสื่อมวลชน 2.ให้สั่งการนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริการองค์กรปกคลองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ร่วมกันป้องกันไม่ให้มีการปิดกั้นหรือลักลอบสูบน้ำที่จะเข้าสู่แหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา 3.หากพบว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรองเพื่อการผลิตน้ำประปาเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ให้ดำเนินการหาแหล่งน้ำสำรองใหม่ทันที หรือดำเนินการแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้ประชาชน และ 4.ให้จังหวัดที่ได้รับแจ้งว่ามีสาขาการประปาส่วนภูมิภาคที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลนน้ำ ให้ติดตามสถานการสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเกินขีดความสามารถของจังหวัด ให้ขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลางทันที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

จนท.สำรวจเด็กไร่อ้อยเล็งพ้น “บัญชีดำ” สหรัฐ

น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยวา กสร.ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครแรงงานรวมกว่า 190 คน เพื่อจะส่งลงสำรวจเด็กทำงานในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร สุโขทัย ขอนแก่น กาญจนบุรี อุดรธานี ฯลฯ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 9 ล้านไร่ โดยวิธีการใช้แบบสอบถามซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้แบบสอบถามทั้งหมด 32,000 ชุด และใช้การเก็บข้อมูลแบบสัมถาษณ์กลุ่มแรงงานในไร่อ้อยและผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาลเพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึก ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์   ถึงวันที่ 25 มีนาคมนี้

น.ส.พรรณี  กล่าวอีกว่า กสร.คาดว่าจะสามารถสรุปข้อมูลผลสำรวจและเสนอไปยังกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อขอปลดจากบัญชีสินค้าที่มี่เหตุอันเชื่อได้ว่าผลิตจากแรงงานบังคับและแรงงานเด็กที่ไทยถูกขึ้นบัญชีไว้ 4 สินค้า คือ อ้อย กุ้ง  ปลา  และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลจากการสำรวจและการแก้ปัญหาแรงงานเด็กที่ผ่านมาจะทำให้ไทยมีโอกาสได้รับการปลดจากบัญชีดังกล่าว เพราะมีข้อมูลที่ชัดเจน  อีกทั้งจะนำข้อมูลนี้มาใช้วางแผนป้องกันและแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อยต่อไปด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน แนวทางการพัฒนาที่ดิน จากฐานข้อมูลทรัพยากรดิน (7)

แนวทางการจัดการดินปัญหา จากข้อมูลดินปัญหาต่างๆ กรมพัฒนาที่ดินได้มีการศึกษา วิจัย และทดลองหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ปฏิบัติได้ง่าย ลงทุนต่ำ ได้ผลตอบแทนสูง และแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเอง เช่น

- การจัดการดินเปรี้ยวจัด การใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาสภาพกรดจัดของดินไทย การใช้น้ำล้างกรดออกจากดิน และการใช้ปูนทางการเกษตร การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินด้วยการใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ตลอดจนธาตุอาหารเสริมต่างๆ การปรับปรุงกายภาพดินให้เหมาะสม การจัดการน้ำที่เหมาะสม การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม และการยกร่องปลูกพืชผัก ไม้ผลต่างๆ ซึ่งต้องใช้เทคนิคการยกร่องที่เป็นพิเศษแตกต่างจากดินทั่วๆ ไป

- การจัดการดินอินทรีย์ การใช้ประโยชน์พื้นที่ดินอินทรีย์ แนวทางที่แนะนำส่งเสริม คือ การอนุรักษ์ไว้ให้เป็นป่าพรุชุมชน ปลูกป่าทดแทนโดยใช้ไม้ที่ขึ้นในป่าพรุ ปลูกเสม็ด หลุมพี หรือปาล์มสาคู เป็นต้น สำหรับวิธีการจัดการดินอินทรีย์ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ข้าว พืชผัก พืชไร่ หรือไม้ผล ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบ

- การจัดการดินเค็ม ถ้าเป็นดินเค็มบกใช้วิธีการใช้น้ำฝนหรือน้ำชลประทานช่วยชะล้างเกลือที่อยู่ในดินปรับปรุงดินและสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืชที่จะนำมาปลูกหากเป็นแปลงนาควรปรับพื้นที่ให้อยู่ในระดับเดียวกันเลือกปลูกพืชชนิดที่เหมาะสมกับระดับความเค็มของดิน เป็นต้น สำหรับการจัดการดินเค็มชายทะเล แนะนำให้ปลูกพืชโดยยกร่องแล้วปลูกพืชทนเค็มบนร่อง ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง หรือบ่อเลี้ยงปลาทำนาเกลือ เป็นต้น

- การจัดการดินทราย ได้แก่ การปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ การอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม โดยการปลูกพืชคลุม การเลือกชนิดพืชปลูกที่เหมาะสม ปลูกพืชทนแล้ง หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย การจัดการน้ำที่เหมาะสมเพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ใช้ปุ๋ยเคมี ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำมาก และมีปริมาณธาตุอาหารพืชไม่เพียงพอ

- การจัดการดินตื้น โดยเลือกพื้นที่ทำการเกษตรที่มีหน้าดินไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร และไม่มีก้อนกรวดหรือลูกรังกระจัดกระจายอยู่ที่ผิวดินมากนัก ส่วนพื้นที่ที่เป็นดินตื้นมากและมีเศษชิ้นส่วน ก้อนกรวด หินเนื้อหยาบปะปนอยู่หน้าผิวดินจำนวนมาก ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ ควรใช้ปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว หรือทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยการปลูกหญ้าผสมถั่ว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

แล้งเริ่มวิกฤติ! ลุยทำฝนหลวง 9 จังหวัด 1 มี.ค.

            จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงวิกฤติหนักในหลายพื้นที่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมที่จะปฏิบัติการฝนหลวงอีกครั้งในวันที่ 1 มีนาคม ใน 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุดรธานี กาญจนาบุรี นครราชสีมา จันทรบุรี และ จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็ยังคงเกิดวิกฤติเช่นกัน

บุรีรัมย์-น้ำดิบผลิตประปาเริ่มวิกฤติ

            สถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.บุรีรัมย์ยังคงขยายวงกว้าง ล่าสุดน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองที่ใช้ในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตเศรษฐกิจ และประชาชนในเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ กว่า 27,000 ครัวเรือน มีปริมาณลดต่ำลงอย่างมาก โดยมีปริมาณน้ำเหลือกักเก็บในอ่างเพียง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ชลประทานจังหวัด จึงจำเป็นต้องงดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร โดยจะปล่อยให้หมู่บ้านรอบอ่าง 5 หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้าน บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงหน้าแล้งนี้เท่านั้น เนื่องจากสระกลางหมู่บ้านแห้งขอด และชลประทานจังหวัด ได้พยายามหาแหล่งน้ำทดแทน เพื่อให้เพียงพอใช้ในการผลิตประปาได้ตลอดหน้าแล้ง

นครพนม-เร่งขุดลอกคลองสาธารณะ

               ด้าน จ.นครพนม ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 2 อำเภอ คือ อำเภอนาหว้า และอำเภอโพนสวรรค์ ชาวบ้านได้รับผลผลกระทบ รวม 6 ตำบล 54 หมู่บ้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,687 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 10,487 ไร่ ซึ่งส่วนมากเป็นนาข้าว ส่วนที่ อำเภอโพนสวรรค์ ได้รับผลกระทบ 1 ตำบล 14 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,236 ราย พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 1,751 ไร่ ซึ่งส่วนมากเป็นนาข้าวเช่นกัน

              ขณะที่ กรมชลประทาน เร่งขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะที่ตื้นเขิน ให้เป็นแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อย่างยั่งยืนต่อไป

ระนอง-ระดมรถน้ำบรรเทาแล้ง

              ปิดท้ายที่ภาคใต้ครับ นายกรีฑา ยกย่อง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองบางริ้น เปิดเผยว่าในพื้นที่ จังหวัดระนอง ขณะนี้มีสภาพอากาศร้อนจัด และมีปัญหาขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.บางริ้น ได้รับความเดือดร้อนหลายร้อยครัวเรือน ขณะที่ระบบประปาก็มีปัญหาน้ำไหลอ่อน หรือบางจุดไม่ไหลเลย ทางเทศบาลเมืองบางริ้น จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านด้วยการระดมรถบรรทุกน้ำจาก อปท.ใกล้เคียง กว่า 10 คัน นำน้ำออกแจกจ่าย และเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล ได้ขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559

‘ชุติมา’สั่งพาณิชย์จังหวัด ประสาน‘เกษตร’ดูแลปัญหาภัยแล้ง

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด เข้าไปประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดูพื้นที่ปลูกสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนของผักและผลไม้ รวมถึงให้ศึกษาเรื่องของตลาด ความต้องการสินค้า ว่าสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อยชนิดใดเป็นที่ต้องการ และสามารถปลูกทดแทนสินค้าเกษตรเดิมได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าล้นตลาด เกิดปัญหาราคาตกต่ำ หรือการขาดแคลนสิ

“กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเข้าไปดำเนินการจัดระบบการเพาะปลูกสินค้าเกษตร เพราะปี 2559 นี้ยังมีปัญหาภัยแล้งอยู่ โดยความต้องการข้าวที่ประเมินว่าความต้องการของตลาดจะอยู่ที่ 25 ล้านตัน เผื่อเหลือ

 เผื่อขาด 8% คือ ต้องผลิตข้าวที่ประมาณ 27 ล้านตัน ดังนั้นต้องลดพื้นที่ปลูกข้าว และหันมาปลูกพืชเกษตรตัวอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน”น.ส.ชุติมา กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกษตรมีการปลูกสินค้าเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชเกษตรชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนการปลูกข้าว โดยตอนนี้มีหลายพื้นที่ผลผลิตได้เริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำการช่วยเชื่อมโยงตลาด และกระจายสินค้าที่กระจุกตัวออกไปยังพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังโรงงานผลิตในต่างพื้นที่ด้วย

ในขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการวางแผนรับมือผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาด เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และเงาะ โดยผลไม้จะทยอยออกสู่ตลาดเริ่มจากภาคตะวันออก เริ่มจากมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ส่วนภาคใต้และภาคเหนือ ผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย ซึ่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 นี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเรียกประชุมเพื่อประเมินแนวโน้มผลผลิต และแนวทางในการรับมือกับผลผลิตที่จะออกมาสู่ตลาด

สำหรับในแผนการตลาดนั้น กระทรวงพาณิชย์จะช่วยกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ เช่น ตลาดกลาง ห้างค้าปลีกค้าส่ง ตลาดชุมชนศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (Farm Outlet) และตลาดที่ติดกับชายแดน เป็นต้น รวมถึงจะส่งเสริมการบริโภคผลไม้ โดยจัดงานเทศกาลผลไม้ทั้งในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนี้จะส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลไม้ให้เพิ่มมากขึ้น และจะผลักดันให้มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน ที่ต้องการผลไม้จากไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามคาดว่าปี 2559 นี้ผลไม้ไทยจะไม่มีปัญหาด้านราคาตกต่ำ เพราะผลผลิตได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงมาก และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : กรมพัฒนาที่ดินกับความคืบหน้าการโซนนิ่งภาคเกษตร 

การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และถือเป็นภารกิจหลักอีกภารกิจหนึ่งที่ กรมพัฒนาที่ดิน มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง และปศุสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ ให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ด้านปฏิบัติการ ในฐานะโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายฯ ดังกล่าว ว่า กรมมีแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม 5 มาตรการด้วยกัน คือ 1)การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ 2)การกำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร 3)การกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสม การผลิตสินค้าเกษตร 4)การขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ และ 5)การติดตามและประเมินผล ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งในส่วนการสื่อสารนั้นได้ดำเนินการสื่อสารหลายช่องทาง เช่น การสื่อสารผ่านบุคคล ได้แก่ เกษตรตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร หมอดินอาสา ผู้รวบรวมสินค้าเกษตร นักเรียน เป็นต้น การสื่อสารผ่านองค์กร ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ สหกรณ์การเกษตร สถานศึกษาแหล่งกระจายสินค้า ร้านค้าชุมชน เป็นต้น และผ่านทางอุปกรณ์การสื่อสารต่างๆ ได้แก่ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น รวมทั้งสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ เป็นต้น

นายเข้มแข็งกล่าวอีกว่า การกำหนดพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับประเทศ เจ้าหน้าที่ในภูมิภาคกำลังเร่งเตรียมข้อมูลแผนที่เป็นรายอำเภอ และรายตำบลที่มีศูนย์เรียนรู้ตั้งอยู่ และนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่แล้วเสร็จทั้ง 76 จังหวัด หรือ 76 แปลงต้นแบบ และในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินประจำสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ได้จัดเตรียมข้อมูลเขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดนั้นๆ สำหรับการประชุมชี้แจงให้คณะทำงานประจำจังหวัดหรือเกษตรกรไว้แล้ว

ส่วนการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้นโยบายแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Single Command ได้ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศแล้ว แต่ในระยะเริ่มต้นนี้เจ้าหน้าที่ผู้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่ อาจยังมีข้อสงสัยหรือยังไม่เข้าใจในบางประเด็น กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีการชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าใจตรงกันแล้ว

“อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าการสร้างความเข้าใจและนำหลักการการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ไปประยุกต์ใช้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและเกษตรกร จะทำให้เกิดความสมดุลของการผลิตและความต้องการของตลาด มีผลให้ปัญหาทางการเกษตรที่ผ่านมาสามารถลดลงหรือหมดไปในอนาคตได้” รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน (6) แนวทางการพัฒนาที่ดิน จากฐานข้อมูลทรัพยากรดิน

ฐานข้อมูลทรัพยากรดินที่มีการสำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกดิน ทำให้ทราบสถานภาพและปัญหาของดินในประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษา วิจัย เพื่อหาแนวทาง พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ และถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปใช้พัฒนาที่ดินในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย

 การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นภารกิจหลักของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ดำเนินการเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน รักษาสภาพดินและน้ำให้เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร ช่วยให้มีการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ป้องกันดินให้พ้นจากการกัดเซาะพังทลาย รักษาความสมบูรณ์ของดินและอนุรักษ์น้ำไว้ในดินให้คงอยู่พอแก่การเพาะปลูกพืชได้ มี 2 ประเภท คือ

- มาตรการวิธีกล เป็นการปรับสภาพของพื้นที่ซึ่งลดความยาวและความลาดเทของพื้นที่ โดยสร้างสิ่งกีดขวางความลาดเทของพื้นที่และทิศทางการไหลของน้ำ ควบคุมน้ำไหลบ่าหน้าดิน ชะลอความเร็วของกระแสน้ำและลดการเคลื่อนย้ายของตะกอนดิน รูปแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน อาทิ การไถพรวนตามแนวระดับ คันดินรับน้ำรูปครึ่งวงกลมและคันดินรับน้ำรูปสี่เหลี่ยมคางหมู บ่อดักตะกอน บ่อน้ำในไร่นาและทางลำเลียงในไร่นา เป็นต้น

- มาตรการวิธีพืช เป็นการเพิ่มความหนาแน่นของพืชคลุมดินป้องกันเม็ดฝนกระทบผิวดิน ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดิน ลงทุนต่ำ

 เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง โดยรูปแบบที่มีการนำมาใช้ทั่วไป ได้แก่ การใช้พืชตระกูลถั่ว หญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือหญ้าธรรมชาติ ปลูกเป็นแถวขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือปลูกคลุมดิน การปลูกหญ้าแฝก เป็นต้น

นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินยังดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นการจัดการกักเก็บน้ำฝน

 ที่ตกลงมาให้ไหลซึมลงใต้ดินอย่างช้าๆ ทำให้เกิดความชื้น ช่วยไม่ให้น้ำไหล่บ่าไปกัดเซาะดินในพื้นที่ตอนล่าง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เขื่อนแควน้อยงดจ่ายน้ำ ส่งผลคลองชลแห้งขอด

สภาพคลองส่งน้ำระบบชลประทาน พื้นที่ ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มด้านล่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ที่เคยได้รับระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ ผ่านเข้ามาภายในพื้นที่ ต.ท่างาม ก่อนที่จะแยกเป็นสายซอยออกไปตามหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากคลองส่งน้ำดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง แต่ในวันนี้เหลือแต่สภาพของลำคลองส่งน้ำที่แห้งขอด อันเนื่องมาจาก โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้สิ้นสุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตร ในพื้นที่โครงการชลประทาน จำนวนกว่า 150,000 ไร่

เนื่องจากในปีนี้ เขื่อนแควน้อยสามารถเก็บน้ำได้น้อยมาก ประมาณ 36.64% หรือ มีน้ำใช้การเพียงแค่ได้ 33.59% หรือ 301.04 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุอ่างที่สามารถกักเก็บได้ 939 ล้านลบ.ม. แต่ทั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับ เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งนับจากนี้ ไปตลอดจนถึงฤดูฝนปี 2559 ทำให้เกษตรกรงดการทำนาปรัง หรือหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน

ทั้งนี้ เป้าหมายและแผนของกรมชลประทาน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลัก ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ต้องบริหารจัดการน้ำร่วมกัน กำหนดให้มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์เป็นประการแรก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้นมีไม่เพียงพอ จึงต้องงดการส่งน้ำในระบบคลองชลประทาน จนกว่าสถานการณ์ของน้ำเหนือเขื่อนจะดีขึ้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ธ.ก.ส.อุ้มเกษตรกรช่วยภัยแล้ง ชงปล่อยกู้ดอกถูกปลูกพืชทดแทน

ธ.ก.ส.เตรียมชง ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการอุ้มภาคเกษตรรับปัญหาภัยแล้ง พร้อมเคาะเดินเครื่องโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร

 แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนหันมาปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกข้าว เพื่อลดการใช้น้ำจากปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าว จะเน้นไป 22 จังหวัดที่มาการประกาศภัยแล้ง เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนยังมีรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว เพื่อลดการใช้น้ำ ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลา 12 เดือน แล้จะมีการขอรับการชดเชยอัตราดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตรา 3% โดยต้นทุนของธนาคารอยู่ที่ราว 2.9%

"โครงการนี้จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนและเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งได้ทางหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว เพื่อลดการใช้น้ำทำการเกษตร" แหล่งข่าวกล่าว

 นอกจากนี้ จะเสนอให้ ครม.รับทราบมาตรการเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ได้เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยการขยายวงเงินในการสนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรเพิ่มเติม วงเงิน 1.2 หมื่นล้านลาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือน หลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย 4% เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องให้เกษตรกร

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จะเสนอให้ ครม.รับทราบโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีภาคเกษตร โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อวงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ในช่วงระยะเวลา 1-7 ปี ส่วนปีที่ 8 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR ตามประเภทลูกค้า

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวจะมุ่งสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตร โดยเงื่อนไขที่จะได้รับพิจารณาต้องดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ปี มีผลประกอบการดี ประกอบธุรกิจเพื่อส่งเสริมสมาชิกในชุมชน และเป็นสถาบันการเงินชุมชนให้กู้เงินทุนหมุนเวียนแก่สมาชิก และส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ผ่านการใช้ความรู้ นวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีรายงานว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญหรือภัยแล้ง ที่มีผลกระทบกับปริมาณฝนในไทยลดลงตั้งแต่ปี 2557 ถึงต้นปี 2558 ทำให้ชาวนาต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปและไม่สามารถปลูกข้าวได้ในอีกหลายพื้นที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือว่าไทยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวนา เนื่องจากภัยแล้งกระทบผลผลิตข้าวลดลงแล้ว 3 ฤดูกาล คือ นาปรัง 2557/2558 นาปี 2558 และนาปรัง 2558/2559 ประเมินผลผลิตลดลงรวม 10.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 84,228 หมื่นล้านบาท ซึ่งความเสียหายกว่า 50% เกิดกับผลผลิตนาปรังปี 2558/2559 ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงมีนาคม 2559.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กสิกรฯคาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.55-35.85 บาท/ดอลลาร์ฯ จับตาตัวเลข’ส่งออก’เดือนม.ค.

   “เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท้ายสัปดาห์ ขณะที่ หุ้นไทยฟื้นตัวจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นไปในกรอบแคบๆ ในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ตามคำสั่งซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก สลับกับปัจจัยหนุนเงินบาทจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติและการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตร การอ่อนค่าของสกุลเงินภูมิภาค และการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ

สำหรับในวันศุกร์ (19 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-26 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.55-35.85 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนม.ค. และรายงานเบื้องต้นของดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือนก.พ. ของหลายประเทศในยุโรป ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ (ขั้นต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่/บ้านมือสอง รายได้ส่วนบุคคลเดือนม.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนธ.ค. และจีดีพีประจำไตรมาส 4/58 (ประกาศรอบ 2) นอกจากนี้ ตลาดอาจรอจับสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับฟื้นตัวจากกระแสเงินทุนไหลเข้า และการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,320.19 จุด เพิ่มขึ้น 3.44% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 25.44% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 42,323.16 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 498.21จุด ลดลง 0.63% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อประเด็นธนาคารในยุโรปลงบางส่วน รวมทั้ง ตลาดยังได้รับอานิสงส์จากแรงซื้อเก็งกำไรผลประกอบการ และรายงานข้อมูลจีดีพีของไทยที่ออกมาค่อนข้างดี ก่อนที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในวันพุธจากแรงขายทำไร อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ โดยราคาน้ำมันปรับที่เพิ่มขึ้นช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมทั้ง มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาอีกครั้ง

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (23-26 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,307 และ1,285 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,335 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการเฟด สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี Markit PMI เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน จีดีพีไตรมาส 4/58 (ประกาศรอบ 2) และความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานจีดีพีไตรมาส 4/58 ของเยอรมนี และการรายงานข้อมูลราคาอสังหาริมทรัพย์ของจีน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559

ซีพีเอฟ เดินหน้าอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแบ่งปันน้ำให้เกษตรกรลดผลกระทบภัยแล้ง

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงาน พร้อมปันน้ำให้เกษตรกรพืชสวนพืชไร่รอบโรงงานแปรรูปและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดผลกระทบภัยแล้ง

นายสุชาติ วิริยะอาภารองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนรอบข้าง ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่แหล่งน้ำเดียวกัน และได้นำเครื่องมือที่เป็นสากลมาใช้ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำได้อย่างเหมาะสม อาทิ เครื่องมือของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการขาดน้ำสำหรับการผลิตและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะเดียวกัน บริษัทมีมาตรการเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การหาแหล่งน้ำสำรองที่เชื่อถือได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกขั้นตอนให้ดียิ่งขึ้น การวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จัดทำแผนฉุกเฉินหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักและไม่กระทบต่อชุมชนรอบข้าง และประสานติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ซีพีเอฟยังนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีคุณภาพตามกฎหมายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด กลับมาใช้ในส่วนอื่นๆ นอกกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น รดต้นไม้และสนามหญ้า ใช้ทำความสะอาดพื้นบริเวณรอบโรงงาน อาทิ พื้นถนน ลานจอดรถ และใช้ในระบบชะล้างในห้องน้ำ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์น้ำตามแนวทางการใช้ซ้ำ (Reuse) ช่วยลดการนำน้ำดิบจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ และกำลังศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้โรงงานสามารถนำน้ำหลังบำบัดกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า โรงงานแปรรูปได้แบ่งปันน้ำหลังการบำบัดให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชผัก ในชุมชนรอบข้างโรงงาน ขณะเดียวกันยังมอบน้ำดิบที่โรงงานผลิตได้ให้ชุมชนในยามวิกฤติแล้ง ล่าสุดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา สนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งท่อประปาแก่ชุมชนหมู่ที่ 2 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน

ด้าน นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสุกร ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมจึงไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขณะเดียวกัน ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์น้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรม “ส้วมน้ำ” ที่ช่วยแบ่งแยกจุดขับถ่ายในคอกเลี้ยงสุกรทำให้พื้นคอกสะอาด ช่วยลดการใช้น้ำในการล้างคอก ขณะเดียวกันน้ำในส้วมน้ำเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สเพื่อบำบัดของเสียเกิดเป็นแก๊สชีวภาพใช้ในการปั่นไฟกลับมาใช้ในฟาร์ม

นอกจากนี้ หลังกระบวนการบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊สแล้ว ยังได้ “น้ำปุ๋ย” ซึ่งเป็นน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส และผ่านการบำบัดจนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับนำไปใช้รดต้นไม้และแปลงผักปลอดสารที่ปลูกภายในฟาร์ม ทำให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี พนักงานได้รับประทานผักคุณภาพดี และมีรายได้เสริมจากการขายผักเข้าโรงครัวของฟาร์ม ตลอดจนนำน้ำที่บำบัดแล้วมาผ่านการฆ่าเชื้ออีกครั้ง เพื่อใช้ในการล้างเล้าทดแทนการใช้น้ำดี โครงการนี้ทำให้สายธุรกิจสุกรสามารถลดการใช้น้ำในส่วนดังกล่าวลงปีละ 5% ในปี 2015 สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 750,000 คิว คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท

นายสมพร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันซีพีเอฟมีมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในบริเวณรอบฟาร์ม ด้วยการแบ่งปัน “น้ำปุ๋ย” เพื่อนำไปรดไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง สวนยางพารา สวนผลไม้ สวนกล้วย ไร่ไผ่ตง และหญ้าขนเลี้ยงวัวชน ช่วยบรรเทาความเดือนร้อน และยังช่วยเพิ่มผลผลิตจากคุณภาพของน้ำที่มีแร่ธาตุที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนิเซียม และโซเดียม

“ผลการตรวจคุณภาพของน้ำปุ๋ยในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีแร่ธาตุที่พืชต้องการอยู่มาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมที่มีสูงถึง 297 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และมีไนโตรเจนถึง 154 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้พืชที่ได้รับน้ำปุ๋ยเติบโตเร็วและได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ซีพีเอฟภูมิใจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งของทุกปีให้กับเกษตรกรมานานกว่า 10 ปี” นายสมพร กล่าว

นายสมพร ยังแนะนำการจัดการน้ำในฟาร์มเกษตรกรด้วยว่า เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอกับปริมาณสัตว์ที่เลี้ยง น้ำต้องมีคุณภาพดี ใส สะอาด รสชาติไม่เค็ม และต้องใช้สารส้มปรับคุณภาพน้ำก่อนใช้ ในอัตราส่วนสารส้ม 1 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร และใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ด้วยความเข้มข้น 3 – 5 ppm. (คลอรีน 3-5 ลิตร ต่อน้ำ 1 ล้านลิตร) สำหรับในโรงเรือนสุกรที่มีส้วมน้ำด้านท้ายคอกควรมีการขังน้ำไว้ให้พอดีด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559

สั่ง157ขรก.เกษตรฯ ลงพื้นที่แก้วิกฤติแล้ง

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาวิกฤติภัยแล้งในขณะนี้ว่า ได้สั่งการให้ข้าราชการระดับผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไป ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้งหนักในขณะนี้ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัดอยู่ในภาวะวิฤกติน้ำน้อยสุดและเริ่มขยายไปทั่วประเทศ ต้องช่วยกันลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ดูแลเรื่องความเป็นอยู่เกษตรกรและเรื่องน้ำให้เพียงพอไปถึงต้นฤดูฝนหน้า โดยกรมชลประทานต้องเฝ้าระวังอย่าให้มีการนำน้ำไปใช้นอกแผน

“ถือเป็นครั้งแรกที่ให้ไปยกกระทรวง ติดตามสภาพปัญหาในพื้นที่จริงบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานแก้ปัญหาให้เกษตรกรและประชาชน ให้ผ่านพ้นวิฤกตินี้ไปได้ซึ่งย้ำกับข้าราชการ อย่าท้อ นำข้อมูลวิชาการให้เห็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชเดิมๆได้ มีการจัดการตลาดร่วมกับสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เท่ากับพลิกวิฤกติวางรากฐานปฎิรูปภาคเกษตรจะอยู่ในอาชีพเกษตรได้อย่างยั่งยืน”รมว.เกษตรฯ ย้ำ

พล.อ.ฉัตรชัยระบุว่าการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ลงสู่การปฎิบัติซึ่งรอบแรก ในวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ใน4 จังหวัด คือ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรีและอ่างทอง โดยตนจะเดินทางไปตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และรับฟังสรุปปัญหาอุปสรรคจากการลงพื้นที่ของข้าราชการขั้นผู้ใหญ่กว่า157 ราย นำมาปรับปรุง 8 มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลได้บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยโปรแกรมการลงพื้นที่ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ แบ่งจุดดูงาน ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (ศพก.)และพื้นที่การเกษตรแปลงใหญ่ใน4 จังหวัด ภาคกลาง โดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็น ผู้นำทีม MOAC แบ่งเป็น 4 ทีม ประกอบด้วย 1.ทีม M จ.สิงห์บุรี มีนายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต(ศพก.)ต.หัวป่า อ.พรหมบุรี และแปลงใหญ่ด้านข้าว ต.ท่างาม อ.พรหมบุรี

2.ทีม  จ.สระบุรี นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดฯ ไป ศพก.และแปลงใหญ่ด้านข้าว ต.ห้วยขมิ้น อ.หนองแค 3.ทีม A จ.อ่างทอง นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดฯ ไป ศพก.ด้านข้าว ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา ศพก.เครือข่ายด้านผักGAPและแปลงใหญ่ด้านมะม่วงส่งออก ต.ธรรมนิมิต อ.สามโก้ 4.ทีม C 0.ลพบุรี นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ รองปลัดฯไป ศพก.และแปลงใหญ่ ด้านมันสำปะหลังระบบน้ำหยด และใช้ Solar Cell ต.ดงดินแดง อ.หนองม่วงแต่ละกลุ่มจะระดมองค์ความรู้ในพื้นที่สู่แนวปฏิบัติ และแผนการขับเคลื่อนต่อรมว.เกษตรฯ ในวันที่ 21กุมภาพันธ์ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งจ.พิจิตรว่า ที่บริเวณวังราหูในแม่น้ำยม ในพื้นที่หมู่ที่ 8 ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร มีชาวบ้านจำนวนนำอุปกรณ์หาปลา ทั้งแหและตาข่ายจับปลาในบริเวณวังน้ำที่เหลืออยู่ใกล้แห้งขอด ได้ปลาเป็นจำนวนมากทั้งปลากลาย ปลาม้า ปลาบึก ปลาสวาย สร้างรายได้งามวันละ500-1,000บาท ซึ่งภัยแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปี

ที่จ.สุโขทัย นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าฯสุโขทัย ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งฉุกเฉิน 8 อำเภอ(ยกเว้น อ.กงไกรลาศ)มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง40 ตำบล286 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25,199 ครอบครัว นาข้าวเสียหาย137,574ไร่ และยังมีพืชไร่ทั้ง มันสำปะหลัง ข้าวโพดและอื่นๆเสียหายอีกรวมกว่า 200,000 ไร่ จึงมีการมอบหมายให้แต่ละอำเภอเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเตรียมจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกร คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้

ในส่วนจ.เชียงใหม่ สภาพ แม่น้ำปิงช่วงไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างจะแห้งขอดที่บริเวณสะพานนวรัฐในตัวเมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำลดลงจนสันดอนทรายโผล่ขึ้นมากลางลำน้ำ เห็นโคนตอม่อของสะพานได้ชัดเจน ขณะที่นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559

'สมคิด' เตรียมจะเสนอ 2 มาตรการปฏิรูปการเกษตร

"สมคิด" เตรียมเสนอ 2 มาตรการปฏิรูปการเกษตรวงเงิน 7.5 หมื่นลบ. เข้าที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาเรื่อง"โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ"ว่า จะเสนอ 2 มาตรการเพื่อการปฏิรูปการเกษตร ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันอังคารที่ 23 ก.พ. โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร ในวงเงินรวมประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท

โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของเกษตรกรไทย โดยให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับเปลี่ยนพืชในการเพาะปลูก มาตรการนี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแม่กลองรวม 26 จังหวัด จำนวนราว 1 แสนราย

ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการยกระดับการผลิต แปรรูป และเพิ่มมูลค่า โดยจะให้ ธ.ก.ส.และ ธ.ออมสิน ปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้สร้างเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม

"วันอังคารหน้าจะมีโครงการเข้าครม. 2 เรื่อง เน้นการปฏิรูปเกษตรทั้งหมดจะทำเพื่อสร้างอนาคตให้กับเกษตรกร" นายสมคิด กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรมโรงงานฯ ผนึก สวทช. ตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศ เตรียมอัดฉีดสูงสุดรายละ 4 แสนบาท   

          เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างก้าวกระโดด ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) เรื่อง 'ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม' มุ่งเน้นนำโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่การทำวิจัย สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสของการเข้าถึงของอุตสาหกรรมในบริการของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในการยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และพลังงานให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้า 2 ปีแรก จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการโรงงานอย่างน้อย 100 ราย พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายละไม่เกิน 400,000 บาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าของการลงทุน

          นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนออุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ต่อรัฐบาล ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมของประเทศนั้น จะต้องเน้นการวางรากฐานทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นเรื่องสำคัญ

          ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่า GDP เป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญโดยช่วยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมถึงร้อยละ 34 ส่งผลให้มีมูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 จัดอยู่ในประเภทที่มีขีดความสามารถ แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงผลิตเพื่อการส่งออก และยังคงพึ่งพิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ

          ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกกำลังกับ สวทช. โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 'ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม' พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมของอาเซียน สร้างโอกาสการเข้าถึงของอุตสาหกรรมในบริการของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

          ดร.พานิช เหล่าศิริรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งกับ SMEs เพื่อให้เป็นแกนหลักเศรษฐกิจของประเทศในการก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะมีบทบาทในการรับ SMEs ต่อจากการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตขั้นพื้นฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ได้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต มีการปรับปรุงและเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ทำให้ SMEs มีต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และมีการสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          "เมื่อกล่าวถึงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้คือ ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคมและชุมชนใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น เสียง กลิ่น ควัน น้ำเสีย และอื่นๆ หากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของประเทศ"

          ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้ SMEs สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ หากมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ผลที่ได้รับนอกจากจะเกิดต่อ SMEs แล้วยังส่งผลที่ดีต่อสังคมและชุมชนใกล้เคียงด้วย นับเป็นโอกาสอันดีที่สองกระทรวงผนึกกำลังร่วมสร้างอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ SMEs ไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป"

          ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการ ให้มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการดังกล่าว

          โดยโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการให้กรมโรงงานฯ ช่วยแก้ไขปัญหาจะได้รับการสนับสนุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานรายละไม่เกิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นภารกิจของกรมโรงงานฯ ในการดำเนินการเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม หรือ 'วทน.' ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program: ITAP) ของ สวทช. ที่ให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต จึงนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในการยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม

          "การร่วมมือครั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะผลักดันให้เพิ่มการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนา หรือปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมทั้งกระบวนการกำจัดกากของเสีย โดยสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยผ่านกลไกทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การบริหารการผลิต ปรับปรุงกระบวนการผลิต และวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงการอบรมสัมมนาและการจัดหาทรัพยากรสนับสนุนที่จำเป็น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อแข่งขันกับระดับสากลต่อไป โดยในส่วนของ สวทช.จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความพร้อมและความมุ่งมั่นตั้งใจเข้าร่วมโครงการสำหรับส่งเสริมการพัฒนา โดยตั้งเป้าใน 2 ปี จะมีผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ราย คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าจากการลงทุน" ดร.พสุ กล่าวสรุป

จาก http://www.iqnewsclip.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ระดมสมองผู้บริหารเกษตรฯ ลุยขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูป

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมจัดการประชุมสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ เพื่อศึกษา วิเคราะห์แนวทาง และนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนตามนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีการบูรณาการองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำงาน สร้างการประสานเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ อันจะนำไปสู่การทำงานเชิงบูรณาการร่วมคิดร่วมทำ และเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้แนวนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการจัดสัมมนาจะมีการศึกษาดูงานการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของ รมว.เกษตรฯ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยแบ่งกลุ่มระดมองค์ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ชัดเจน และจะมีการนำเสนอในที่ประชุมสัมมนา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สร้างวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กร ได้แนวทางการขับเคลื่อนงานนโยบายการปฏิรูปการเกษตรของ รมว.เกษตรฯสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ เกิดการร่วมคิดร่วมทำมุ่งมั่นไปสู่การทำงานเชิงบูรณาการต่อไปด้วย” นายสุรพล กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"บิ๊กตู่"เซ็นจ่าย2.9พันล้านอุ้มแล้ง

พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติจัดสรรงบเพิ่มเติมอีก 2.9 พันล้าน หนุนโครงการตามความต้องการชุมชน

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบให้จัดสรรงบกลางปี 2559 จำนวน 2,900 ล้านบาท ให้แก่ กระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชนทั่วประเทศ 4,900 โครงการ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้เกษตรกรผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง และจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติอนุมัติงบกลางปี 2559 จำนวน 1,614 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน 3,135 โครงการ โดยอยู่ระหว่างการขอรับจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้รับจัดสรรงบก่อนจัดสรรเงินไปให้กับชุมชนต่างๆ

"ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. จะมีเงินจากโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชนทยอยลงสู่พื้นที่ทั่วประเทศ และภายในกลางปีนี้จะมีเม็ดเงิน 4,500 ล้านบาท จาก 8,000 โครงการ จะเข้าระบบ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย ยืนยันว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ 4 แห่ง มีเพียงพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการดูแลพืชสวนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพียงพอจนถึงวันที่ 14 ส.ค. ซึ่งเพียงพอก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางปีนี้ แต่จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ เพื่อเตรียมมาตรการรับมือหากฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะทางฝั่งญี่ปุ่นประเมินปรากฏการณ์เอลนินโญจะสิ้นสุดเดือน พ.ค. มิ.ย.-ก.ค.นี้

พล.อ.ฉัตรชัย ระบุว่า กระทรวงจะดูแลข้าวนาปรังที่ปลูกไปแล้วและยังไม่ได้เก็บเกี่ยว 1.72 ล้านไร่ เท่าที่จะดูแลได้ แต่จากข้อมูลพบว่ามีข้าวที่อายุไม่ถึง 8 สัปดาห์ ซึ่งเสี่ยงต่อนาล่ม 3 แสนไร่

 "ถ้าจะใช้มาตรา 44 ไปห้ามเขาไม่ให้ปลูกข้าวมันก็ดูตลก และชาวนากลุ่มนี้ก็รู้ดีว่ามีความเสี่ยง เพราะน้ำไม่มี แต่ยังลุ้นไปตายดาบหน้า ซึ่งเราจะดูแลเท่าที่ทำได้ แต่จะไม่กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เปลี่ยนวิถี! จากเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงาน สู่การปลูกขายท่อนพันธุ์ ได้ราคาดีกว่าเท่าตัว

ตัวอย่างเกษตรกรที่เลือกใช้อ้อยสายพันธุ์ที่ดีและเหมาะสมกับพื้นที่ นอกจากให้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้คุ้มค่ากับทุนและแรงที่ลงไปแล้ว สายพันธุ์ที่ดีก็ยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอีกด้วย อย่างคุณสรวิชญ์ ศรีพิมานวัฒน บ้านเลขที่ 381 หมู่ 13 ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี (โทร 08-1858-9961) จากที่ทำไร่อ้อยส่งโรงงานน้ำตาลมานานปี ได้เปลี่ยนวิถีมาเป็นปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายพันธุ์ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้มากกว่าเดิมกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

“ก่อนหน้านี้ปลูกอ้อยส่งให้โรงงานเหมือนเกษตรกรทั่วไป แต่ทว่าประสบปัญหาเรื่องของผลผลิตตกต่ำ ทั้งเปอร์เซ็นต์ความหวานไม่ได้ตามที่โรงงานต้องการ ตลอดจนบางช่วงมีปัญหาทั้งโรคและแมลงรบกวนด้วย จึงได้เสาะหาอ้อยสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตดีมาปลูกทดแทนพันธุ์เดิม ก็ทำให้มีโอกาสรู้จักกับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี จึงได้นำมาทดลองปลูก”

คุณสรวิชญ์บอกว่า เริ่มนำอ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 มาปลูกเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ครั้งแรกได้ท่อนพันธุ์มาปลูกเพียง 1 งานเท่านั้น แต่ด้วยเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี จึงขยายท่อนพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งปัจจุบันในแปลงปลูกขนาดกว่า 80 ไร่ ได้ใช้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ทั้งหมด จากนั้นก็ได้เปลี่ยนจากจำหน่ายอ้อยให้โรงงานน้ำตาล มาเป็นการจำหน่ายท่อนพันธุ์ให้เกษตรกร เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านั่นเอง

“อ้อยพันธุ์อู่ทอง 12 ปลูกที่ระยะห่าง 1.8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ได้ผลผลิตตอแรกประมาณ 15 ตัน แต่ตอที่ 2 ขึ้นไป ซึ่งอ้อยมีขนาดลำใหญ่และสูงกว่าเดิม รวมทั้งแตกกอกันแน่นมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 25 ตัน/ไร่ หลังจากนั้นผลผลิตที่ได้จะค่อยๆ ลดลง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลและสภาพของดินด้วย หากดูแลดีก็สามารถปล่อยไว้ได้หลายตอ หากเห็นว่าผลผลิตลดลงจนไม่คุ้มค่า ก็รื้อเพื่อปลูกตอให้อีกครั้ง”

การปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายพันธุ์ก็มีวิธีการแบบเดียวกันกับการปลูกเพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานน้ำตาล เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เตรียมท่อนพันธุ์ที่นำมาปลูก ซึ่งท่อนพันธุ์ที่นำมาควรมี 3 ข้อ ในหนึ่งไร่ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 1 ตัน แต่การปลูกเพื่อจำหน่ายพันธุ์ต้องพิถีพิถันมากกว่าหน่อย กล่าวคือต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เมื่อเห็นความผิดปกติ อย่างเช่น ใบมีสีซีด หยิกงอ หรือเกิดรอยโรคต่างๆ ต้องเร่งหาสาเหตุเพื่อแก้ไขทันที เพราะหากเป็นโรคที่สำคัญก็จะจำหน่ายเป็นสายพันธุ์ไม่ได้

และความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างปลูกอ้อยส่งโรงงานกับการปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ ก็คือ ระยะเวลาการปลูก ซึ่งอ้อยโรงงานต้องใช้เวลาปลูกนานถึง 1 ปี ถึงส่งจำหน่ายได้ แต่สำหรับอ้อยที่ปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ต้นมีขนาดเล็ก 2-3 เดือนก็จำหน่ายได้แล้ว กล่าวคือหากมีข้อมีตาก็นำไปทำเป็นท่อนพันธุ์ได้หมด ทว่าให้ผลผลิตได้น้อย ถ้าให้ดีอ้อยที่นำมาใช้ทำพันธุ์ควรมีอายุประมาณ 6 เดือน ทำให้ได้ผลผลิตสูงที่สุด

“ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างอ้อยโรงงานกับอ้อยที่ปลูกทำพันธุ์ อ้อยโรงงานปลูกเพื่อเอาต้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งการจัดการดูแลต้องเน้นให้อ้อยเจริญเติบโตเป็นหลัก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันมากนัก ขณะที่อ้อยที่ใช้ทำพันธุ์ ลำต้นต้องสวยงาม มีลักษณะที่ดี ไม่มีรอยโรคหรือแมลงเจาะทำลาย ดังนั้นจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องมีการตรวจสอบท่อนพันธุ์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อโรคที่แฝงอยู่ด้วย หากมีโรคก็นำไปทำเป็นท่อนพันธุ์ไม่ได้ ทำให้ต้นทุนการปลูกอ้อยเพื่อทำพันธุ์จึงสูงกว่าอ้อยที่ส่งโรงงาน”

คุณสรวิชญ์บอกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการปลูกอ้อยเพื่อจำหน่ายเป็นท่อนพันธุ์ก็คือราคาที่สูงกว่าอ้อยโรงงาน ซึ่งหากเกษตรกรที่มาซื้อ โดยดำเนินการตัดและขนส่งเอง ราคาอยู่ที่ 16,000-18,000 บาท/ไร่ แต่ถ้าเกษตรกรที่อยู่ไกลๆ อย่างในภาคอีสาน หากมาตัดก็อาจไม่คุ้มกับค่าแรงและการเดินทางขนส่ง เกษตรกรจึงนิยมให้ทางไร่ดำเนินการตัดไว้ให้ ซึ่งท่อนพันธุ์ลักษณะนี้มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ตันละ 1,800-2,000 บาท นับเป็นราคาที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ปุ๋ย วว. เพิ่มผลผลิตการเกษตร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พัฒนาเกษตรกรไทยให้ยั่งยืน 

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

          ภาคการเกษตรจะมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลได้นั้น ปัจจัยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตการเกษตรที่สำคัญคือการใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ มีปริมาณและคุณสมบัติเหมาะสมกับพืชที่ปลูก ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในระดับต้นๆ ของตลอดห่วงโซ่กิจกรรมการเกษตร

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา "ปุ๋ย" หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการนำไปใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลาย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยจากนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจุบัน วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงจากมูลสัตว์แก่เกษตรกรทั่วทุกภาคของประเทศ ภายใต้ "โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงปุ๋ย" ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจในคุณสมบัติของปุ๋ยดังกล่าวอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งพืชและบำรุงดิน ทำให้ต้นข้าว ไม้ผล เช่น ทุเรียน ขนุน ลองกอง ลำไย ส้มโอ เจริญงอกงามดี ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต

          จากการให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงภายใต้โครงการนี้ของ วว. ก่อให้เกิดการสร้างโรงปุ๋ย 317 โรง สามารถผลิตปุ๋ยได้ 1,300,000 กระสอบ สร้างรายได้รวม 1,350 ล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าในการสร้างรายได้ประมาณ 340 ล้านบาทต่อปี)

ในการวิจัยพัฒนาสูตรปุ๋ยของ วว. ในแต่ละประเภทนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ประโยชน์ให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ซึ่งมีความหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

          ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา/ข้าว/และพืชอื่นๆ เป็นปุ๋ยที่บำรุงทั้งต้นและบำรุงดิน ให้ผลผลิตสูง ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน อันจะส่งผลถึงการเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อความต้องการของพืชและการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน ลดการสูญเสียปุ๋ยส่วนเกินที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          วว. ดำเนินการวิจัยและพัฒนากระบวนการหมักปุ๋ย โดยใช้วัตถุดิบที่มีมากในแต่ละชุมชน มาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ อันได้แก่ มูลสัตว์ ของเหลือใช้จากผลิตผลการเกษตร ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรม เช่น กากทะลายปาล์ม กากตะกอนอ้อย เป็นต้น โดยนำวัตถุดิบดังกล่าวมาหมักตามกรรมวิธี วว. จนได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง จากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวมาผสมกับแม่ปุ๋ยเคมีตามผลวิเคราะห์ดิน แล้วนำมาคำนวณเพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามความต้องการของแต่ละพืชในแต่ละพื้นที่

          ปุ๋ยปลาจากวัสดุเหลือใช้ โดยนำเศษวัสดุเหลือใช้จากปลา ได้แก่ หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลาและเลือด ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้หลังจากการหมักจนได้ที่แล้วจะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม โดยมีธาตุกำมะถัน เหล็ก ทองแดง และ แมงกานีส เป็นธาตุอาหารรอง นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและอะมิโนแอซิด ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการบ่งชัดถึงผลของอะมิโนแอซิดที่มีต่อพืช แต่จากคำบอกเล่าของเกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ยปลา พบว่า ปุ๋ยปลาจะไปช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้ให้สีสดขึ้นและผลไม้มีคุณภาพดีขึ้น และช่วยเร่งการแตกยอดและตาดอกใหม่ให้แก่ต้นไม้อีกด้วย

          ปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน มีต้นทุนที่ต่ำและประหยัดแรงงาน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการประยุกต์ใช้ของเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก โดยลูกหมุน (Mechanical roof's ventilation fan) ที่ใช้ในระบบเป็นชนิดเดียวกันกับลูกหมุนที่ระบายอากาศตามหลังคาบ้าน อาคาร หรือโรงงาน ซึ่งมีความสามารถในการระบายความร้อนได้ดี จึงนำหลักการนี้มาใช้กับปุ๋ยหมักในซองหมักที่ทำจากบล็อกประสาน วว. และพบว่าการหมักปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุนทำให้ได้ปุ๋ยหมักเร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน

          ปุ๋ยชีวภาพจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในนาข้าว มีประโยชน์ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้โดยเฉลี่ย 20-30% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 25-30% เมล็ดข้าวมีคุณภาพดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณกรดอะมิโน "ไลซีน" ที่จำเป็นต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นฟูสภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน จากคุณสมบัติการตรึงไนโตรเจนของสาหร่าย เพิ่มอินทรียวัตถุและให้ออกซิเจนแก่ข้าวในสภาพน้ำขัง และกระตุ้นการเจริญเติบโตให้พืช/ทนทานต่อโรค

          สารปรับปรุงดินจากสาหร่ายสกุลนอสตอค มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน รักษาความชุ่มชื้นของดิน ช่วยป้องกันการกัดเซาะผิวดินโดยน้ำและการกัดกร่อนผิวดินโดยลม ฟื้นฟูและอนุรักษ์ดิน

          ปุ๋ยละลายช้า MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) ใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับการเพาะปลูก มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยจะมีอัตราการละลายที่ต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป การใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการใช้ปุ๋ยละลายช้าอย่างแพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้

          ทั้งนี้การตกตะกอนเกลือ MAP นอกจากจะเป็นวิธีการกำจัดไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำเสียที่มีแร่ธาตุได้อีกด้วย ให้สามารถผลิตปุ๋ยที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง หรือนำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์จาก filter cake ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ โดยเฉพาะนำมาผสมกันตามสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมแก่พืชแต่ละชนิด ซึ่งจะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อพืช และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน สำหรับน้ำเสียที่ผ่านการแยกเกลือ MAP แล้ว จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อีกทั้งคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมเกลือในดิน และวิธีการตกตะกอนเกลือ MAP นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับน้ำเสียที่มีไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น น้ำเสียชุมชน หรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ หรืออุตสาหกรรมห้องเย็น หรือน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านปุ๋ย วว.

โทร. 0-2577-9000 หรือ Call Center 0-2577-9300 E-mail : marketing_tistr@tistr.or.th

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

กลุ่มชีวมวลล้วงสูตรค่าไฟ FiT ชี้รายได้หด-ลดอายุโครงการ

เอกชนชีวมวลตั้งข้อสังเกตการเปลี่ยนอัตราค่าไฟฟ้าจาก Adder ของคณะอนุกรรมการแก้ไขโรงไฟฟ้าชีวมวลมาเป็น FiT แท้จริงเป็น "FiT ปลอม" ค่าไฟคำนวณจากฐานของเดิมของ Adder แถมหั่นจำนวนปีของโครงการ-รายได้ลดลง ผู้ผลิตไฟแค่รอดตายช่วงนี้แต่ไม่รู้อนาคต ชี้พลังงานชีวมวลต้นทุนต่ำ ผลิตไฟได้ตลอดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มี พล.อ ณัฐติพล กนกโชติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าชีวมวลซึ่งได้รับเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Ad-der) สามารถเปลี่ยนระบบสนับสนุนเป็นเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in Tariff ) หรือ FiTได้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ผลิตที่ต้องประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่อง เพราะราคาเชื้อเพลิง เช่น แกลบปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ราคา 800-1,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลอีกครั้ง ก่อนนำเสนอแนวทางดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มี.ค. 59 นี้

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าถึงการปรับรูปแบบค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้ผลิตชีวมวลจากเดิมคือส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) มาเป็นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุน หรือ FiT เพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนสะสมว่า แม้ภาพรวมจะเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนสูตรคำนวณและเพิ่มค่าไฟฟ้าให้นั้น เมื่อพิจารณาจากการคำนวณจะพบว่าเป็นการคำนวณโดยใช้ฐานของ Adder เดิมในการคำนวณ และมีการแปลงรายได้ต่อปีเป็นแบบ Fit เท่านั้น ใช้อัตราค่าไฟฟ้าฐาน บวกรวมกับอัตรา Adder และบวกรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยในปีแรกจะมีอัตรา Fix Cost ไว้ที่ 2.39 บาท/หน่วย รวมกับต้นทุนแปรผันที่ 1.85 บาท/หน่วย และรวมกับอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (Premium) ที่ 30 สตางค์/หน่วย รวมอัตราค่าไฟที่จะได้รับอยู่ที่ 4.54 บาท/หน่วย

จากการใช้วิธีคำนวณดังกล่าวส่งผลให้อายุของโครงการสั้นลง รวมถึงรายได้ของทั้งโครงการ "ต่ำกว่า" ระบบ Fit แบบที่ใช้ล่าสุด ประมาณร้อยละ 30 โดยรายได้ต่อเดือนจากการจำหน่ายไฟฟ้าจะอยู่ที่ 26 ล้านบาท/เดือน เมื่อคำนวณรวม 20 ปี โครงการจะมีรายได้เพียง 6,240 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ค่อนข้างต่ำจากที่เคยประเมินไว้ ในขณะที่รูปแบบ FiT ที่ประกาศใช้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่จะมีองค์ประกอบของการคำนวณคือ 1) กำหนด Fix Cost ไว้ที่ 2.39 บาท/หน่วย 2) ต้นทุนแปรผัน (Avariable cost) ที่ 1.85 บาท/หน่วย และจะปรับเพิ่มให้ในระดับร้อยละ 2 ทุกปี และ 3) อัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ (Premium) อีก 30 สตางค์หน่วย รวม 8 ปี และนำมาคูณกับจำนวนหน่วยไฟที่ผลิตได้ที่ร้อยละ 70 ราคาค่าไฟฟ้ารวมเฉลี่ยประมาณ 4.90 บาท/หน่วย ถือเป็นรูปแบบที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ด้วย

"วิธีการแก้ปัญหาด้วยอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เป็นเพียงทำให้ผู้ผลิตรอดตายในช่วงนี้ที่ต้องเจอปัญหาขาดทุนสะสม แต่อนาคตยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะทุกโครงการถูกปรับลดอายุโครงการลงด้วยสูตรนี้ ที่สำคัญเม็ดเงินที่ควรจะได้ก็ปรับลดลงด้วย ที่บอกว่าเปลี่ยนเป็นค่าไฟแบบ FiT ให้ตามที่ภาคเอกชนขอก็เป็นเพียงแค่ FiT ปลอมเท่านั้น เอกชนยังยืนยันที่ต้องการให้เปลี่ยนเป็นค่าไฟฟ้าแบบเดียวกันคือ แบบ FiT ทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่เพื่อความเป็นธรรม

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่มีประเด็นข้อกังวลของกระทรวงพลังงานว่าต้องส่งเสริมพลังงานทดแทนแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องเก็บจากประชาชนนั้น เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันจะพบว่ามีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพียงร้อยละ 3.1 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 3.52 บาท/หน่วย ผลิตจากพลังงานลมร้อยละ 1.6 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ 6.52 บาท/หน่วย และผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 0.9 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 10.22 บาท/หน่วย จะเห็นว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าของชีวมวลค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟน้อยมาก ที่สำคัญคือสามารถใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในประเทศทั้งเศษไม้ ทะลายปาล์ม แกลบและชานอ้อยเท่ากับช่วยเหลือเกษตรกรด้วย

ก่อนหน้านี้สมาคมโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานเพื่อขอหยุดเดินเครื่องในช่วงปลายปี58 ที่ผ่านมารวมประมาณ 3 วัน เพื่อลดการขาดทุนสะสม รวมถึงบางโรงไฟฟ้าถึงกับประกาศขายกิจการ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น แกลบปรับตัวสูงขึ้นจาก 300 บาท/ตัน ที่ได้ประเมินโครงการไว้ในช่วงแรก ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 800-1,000 บาท/ตัน เนื่องจากมีการแย่งวัตถุดิบเพราะไม่มีการโซนนิ่งที่ชัดเจนและยังมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโครงการใหม่ ๆ อีกต่อเนื่อง จนส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องร้องให้ภาครัฐแก้ปัญหาดังกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

นักวิชาการแนะอบรมใช้ให้ถูกต้องแทนยกเลิก "พาราควอต"

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยเปิดเวทีสัมมนา บทบาทของพาราควอตต่อพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย เปิดมุมมองนักวิชาการ-เกษตรกร ภายใต้คำถาม ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะห้ามใช้สารพาราควอต

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวทีสัมมนาครั้งนี้ว่า "พาราควอต" หรือที่เกษตรกรเรียกกันทั่วไปว่า กรัมม็อกโซน ที่ผ่านมาได้ทำการวิจัยการใช้สารชนิดนี้และมีการสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า 1.วัชพืชเป็นศัตรูสำคัญอันดับหนึ่งของเกษตรกร 2.ปัจจุบันแรงงานภาคเกษตรกรหายากและมีต้นทุนสูงมากกว่าการใช้สารกำจัดวัชพืช 3.ประสิทธิภาพเป็นเหตุผลที่เกษตรกรเห็นว่าสำคัญที่สุดในการห้ามใช้สาร ดังนั้นหากจะมองในภาพรวมแล้วสารพาราควอตมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่เห็นได้ชัดเจนคือข้าวโพดมีการใช้สารพาราควอตมากกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ และใช้มามากกว่า 20 ปี ข้อดีคือสามารถคุมวัชพืชได้ทุกชนิดและวัชพืชตายเร็ว ขณะเดียวกันข้อเสียคือต้องฉีดพ่นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง วัชพืชงอกใหม่เร็ว มีกลิ่นเหม็น เกิดอันตราย ดังนั้นในจำนวนข้อดีข้อเสียนี้โดยรวมเกษตรกรมองว่ายังมีความจำเป็น ทุกครั้งที่ได้พูดคุยกับเกษตรกรมักจะถูกถามกลับมาว่า หากมีการยกเลิกใช้แล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้นหากจะถามว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรจะเลิกใช้สารพาราควอตก็ต้องย้อนถามกลับไปถึงหน่วยงานภาครัฐหรือภาคส่วนเกี่ยวข้องว่า ก่อนการยกเลิกการใช้สารควรจะต้องมีสารทดแทนที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร

ขณะที่ศาสตราจารย์วินัย วนานุกูล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หากมองในมุมของทางการแพทย์ไกลโฟเสตและพาราควอตก็เกี่ยวข้องกับระบบมะเร็ง ทางการแพทย์ก็ไม่อยากให้ใช้เพราะเป็นพิษ ประเทศไทยเรามีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่คงตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน "การเข้าถึงพาราควอตไม่ควรจะง่ายเกินไป" ไทยมีระบบการขายสารเคมีและมีการใช้ยาปฏิชีวนะง่ายเกินไป ควรจะมีการจำกัดการเข้าถึงยาและสารต่าง ๆ ให้มากกว่านี้

ด้านนายรังสิต สุวรรณมรรคา อดีตอาจารย์ภาควิชาการพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสพืชอินทรีย์มาแรง กรณีใช้พาราควอตหรือสารเคมีต่าง ๆ ไม่ใช่ประเด็น เพราะมีการใช้มานานแล้ว หากอนาคตจะมีการห้ามใช้หรือแบนตัวหนึ่งตัวใด สินค้าคู่แข่งอื่นก็จะได้เปรียบหรือราคาแพงขึ้น หลายประเทศก็มีการยกเลิก หรือจำกัดการใช้สารเหล่านี้ และอนาคตพืชจีเอ็มโอ พืชตัดต่อทางพันธุกรรมก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกใช้หรือไม่ใช้สารเคมี

นางนวลศรี ทยาพัชร ผู้ทรงคุณวุฒิ หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยตรวจแค่สารนำเข้า แต่ไม่ได้ดู FAO SPECIFICATION ข้อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานที่จะเอามาใช้ สาระสำคัญเหนือการห้ามหรือยกเลิกการใช้สารพาราควอตคือ การประเมินความเสี่ยงมากกว่า ว่าหากใช้แล้วจะมีผลต่ออะไรมากน้อยแค่ไหน และต้องบริหารความเสี่ยงนั้นให้ได้ด้วย ไม่มีเหตุผลในการแบนหรือการยกเลิกใช้ อย่างมาเลเซียเคยประกาศแบนแต่ในที่สุดก็นำกลับมาใช้ ในอนาคตปี 2020 จะให้หยุดใช้อีกครั้ง แต่ประเทศมาเลเซียก็มีการบริการความเสี่ยงกับหลายหน่วยงาน มีการตั้งข้อจำกัดดูแลเรื่องใบอนุญาต ในลักษณะนี้หากมองกลับมาในเมืองไทยก็ต้องฝากการบ้านที่กรมวิชาการเกษตรเห็นควรให้มีการควบคุมตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล กล่าวว่า ประเทศไทยผลิตอ้อยและส่งออกน้ำตาลในปริมาณมาก ในการดูแลรักษาก็ต้องมากตามไปด้วย 1 วัน 1 คนต่อ 1 ตัน การดูแลในปัจจุบันจะเอากำลังคนที่ไหนมาดูแล ฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะไม่ใช้สารเคมี คำถามก็คือ เราจะใช้อย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย ที่สำคัญคือพืชส่งออก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจต้องทำตามข้อบังคับของประเทศนั้น ๆ ดังนั้นจะให้ยกเลิกการใช้คงไม่ใช่ประเด็น ผู้ขาย ผู้นำเข้า ต้องมีระบบในการรับผิดชอบร่วมกันมากกว่า นั่นคือทางออก

นายสัญญา ปานเสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จังหวัดชุมพร กล่าวตอนท้ายว่า หากจะพูดถึงพาราควอต หรือ FAO Spect บอกได้เลยว่าเกษตรกรไม่รู้จักหรือน้อยมากที่จะรู้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประชาสัมพันธ์ หน่วยงานราชการ กรมวิชาการเกษตร ต้องให้ความรู้เกษตรกร การที่จะประกาศห้ามใช้ไปเสียทีเดียวคงไม่เป็นผล เพราะเกษตรกรบางรายก็ใช้มาตลอด ดังนั้นต้องให้ความรู้ถึงข้อดีข้อเสียที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจเมืองไทยมักจะเจอปัญหาโค่นตอนถูกแล้วมาปลูกตอนแพง ดังนั้น เวทีสัมมนาวันนี้เป็นวาระที่ดีที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะมีการร้องเรียนหรือยกเลิกการใช้โดยที่เกษตรกรไม่ทราบอะไรเลย การประชาสัมพันธ์จึงสำคัญและทุกภาคส่วนต้องมีบทบาทร่วมกันให้มากที่สุด

ปัจจุบันสถิติการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชที่มีความสำคัญต่อระบบการผลิตพืชเป็นอย่างยิ่ง แหล่งข้อมูลจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรปี 2558 พบว่า ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสารกำจัดวัชพืชสูงสุด ได้แก่ ไกลโฟเสต ปริมาณ 63,166 ตัน มูลค่า 4,530 ล้านบาท รองลงมาคือ พาราควอต ปริมาณ 21,325 ตัน มูลค่า 2,712 ล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ดัชนีราคา-ผลิตเดือนมค.ปรับตัวลด l จับตากพ.‘มัน-อ้อย-หอมแดง-กาแฟ’ทะลักตลาด

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภาพรวมราคาสินค้าเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา ประจำเดือนมกราคม 2559 ลดลงร้อยละ 1.44 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และหอมแดง โดยมันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับคุณภาพไม่ค่อยดี ส่วนยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง และหอมแดง ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นตามทิศทางตลาดล่วงหน้ามาเลเซีย

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว (ปี 2558) ภาพรวมลดลงร้อยละ 6.27 โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา และไก่เนื้อ โดยอ้อยโรงงาน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับคุณภาพไม่ค่อยดี เพราะค่าความหวานต่ำ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอ และไก่เนื้อ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และหอมแดง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม (ปี 2558) พบว่า ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.79 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สินค้าสำคัญ ที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง

หากเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2558 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 34.53 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และสุกร ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง และกาแฟ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

เลื่อนแผนซ่อมก๊าซ‘ยาดานา’เป็น25ก.พ.

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่ผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติแจ้งแผนดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯยาดานาในสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 20-23 ก.พ. 2559 นั้น ล่าสุดผู้ผลิตแจ้งว่าจำเป็นต้องขอเลื่อนการหยุดผลิตและหยุดจ่ายก๊าซฯ ออกไปก่อน

ในเบื้องต้น ปตท.ได้ประสานแจ้งไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อทราบ โดยการเลื่อนแผนฯ ครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ

ทั้งนี้ สาเหตุของการขอเลื่อนแผนการทำงานของผู้ผลิตแหล่งก๊าซฯ ยาดานา เนื่องจากงานเชื่อมท่อสำหรับหลุมผลิตใหม่ “บาดัมยาร์” ยังไม่เสร็จ ส่งผลให้กำหนดการทำงานล่าช้าจากแผนเดิม โดยเลื่อนออกไปเป็นระหว่างวันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์นี้ โดยยังคงระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 4 วันเช่นเดิม ซึ่ง ปตท.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ กฟผ. เพื่อปรับแผนการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลสำหรับโรงไฟฟ้า รวมถึงปรับแผนการสำรองก๊าซธรรมชาติเหลวและก๊าซฯ จากฝั่งตะวันออกให้เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานในช่วงเวลาใหม่ เพื่อให้พร้อมชดเชยปริมาณก๊าซธรรมชาติที่จะหายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง

“ปตท.ขออภัยในความไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานด้วยเหตุดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ แต่ละครั้ง ปตท.ได้ประสานงานกับผู้ผลิตแหล่งก๊าซฯ ผู้ใช้พลังงานและภาครัฐอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยมีการเตรียมแผนรองรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ทันท่วงที และมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนน้อยที่สุด”นายนพดล กล่าว

สำหรับการเลื่อนแผนการทำงานครั้งนี้ ปตท.จะเจรจาให้ดำเนินการในช่วงคาบเกี่ยววันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งการใช้พลังงานน้อยกว่าวันทำการปกติ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้พลังงานแต่อย่างใด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ยันมีน้ำใช้สำรองใน 22 จว.ลุ่มเจ้าพระยาพอถึงส.ค.

"ฉัตรชัย"ยันมีน้ำใช้สำรอง 1,590 ล้านลบ.ม.สำหรับลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดเพียงพอถึงกลางส.ค. หวั่นซ้ำรอยปี 58 เกิดฝนทิ้งช่วงนาน 3 เดือน

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเชิญบรรณาธิการสื่อมวลชน 23 แห่ง ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอความร่วมมือในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนและเกษตรกร ในการแก้ไขวิฤกติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่า วิฤกติภัยแล้งครั้งนี้กระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงประชาชนมากให้หาทางลดผลกระทบในช่วงฤดูแล้งที่คาดว่าอาจไปถึงเดือน ก.ค.นี้

ในส่วนของตนสั่งให้ข้าราชการระดับ 9 ระดับรองอธิบดีขึ้นไปทุกกรม ลงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคกลางในวันที่ 20-21 ก.พ.นี้ เพื่อดูปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งจริง พร้อมกับขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลอย่างเต็มที่ใน 8 มาตรการ วงเงินกว่า 1.8 พันล้านบาท และจะเข้าครม.วันที่ 23 ก.พ.นี้ อีก 2.9 พันล้านบาท โครงการที่เสนอมาจากชุมชนทั้งหมดช่วยเหลือด้านรายได้ ค่าครองชีพให้เกษตรกรและประชาชนกระทบภัยแล้งทั่วประเทศภายในเดือนก.พ.นี้

หากมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร นำมาเสนอตนเพื่อมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า จากนี้จับตาดูปรากฎการณ์แอลนินโญ่ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝนน้อยจะคลี่คลายลงในช่วงเดือนพ.ค.หรือ มิ.ย.นี้ แต่กรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าอย่างช้าสุด จะเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้น่าจะมีฝนเข้าประเทศไทย ถ้าเราจะรอฝนอย่างเดียวคงไม่ได้ ตนจึงสั่งการให้กรมชลประทานเร่งศึกษาแนวทางผันน้ำจากแม่น้ำนานาชาติมากักเก็บไว้บ้านเราเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ ตนเชื่อว่าในระยะ 10 ปี จะเดินตามแผนบริหารจัดการน้ำ 10 ปีได้จะไม่เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ขึ้นอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำเพาะปลูกอุดมสมบูรณ์มาก โดยผันน้ำจากแม่น้ำยวม เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำสาละวิน มาเติมเขื่อนภูมิพลเป็นหมื่นล้านลูกบาศ์กเมตร จะมีเส้นทางที่ต้องเจาะภูเขาจึงต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และผันแม่น้ำโขง โดยในปีนี้ได้ให้งบก่อสร้างประตูน้ำดึงน้ำจากแม่น้ำโขงมาสู่ประเทศเข้าหนองห้วยหลวง จ.หนองคาย เพื่อมาเติมเขื่อนอุบลรัตน์ที่ใกล้จุดน้ำตายของเขื่อน ต้องชักน้ำจากก้นเขื่อนมาผลิตปะปา

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ส่วนการสร้างการรับรู้ของประชาชนนั้น ขอให้สื่อมวลชนนำข้อเท็จจริงไปนำเสนอเพื่อไม่สร้างความแตกตื่นกับวิฤกติภัยแล้ง โดยตนยืนยันว่าปริมาณน้ำเขื่อนหลักที่ใช้การได้ อยู่ในระดับ 3,196 ล้านลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.) ยังเพียงพอใช้ถึงกลางเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ฤดูฝนมาแล้ว แต่ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ โดยปีนี้เกษตรกรับรู้ร่วมมือไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จะเห็นจากพื้นที่นาปรังลดไปครึ่งหนึ่ง จากทั่วประเทศปลูกปีละ 10 ล้านไร่ เหลือเพียง 5 ล้านไร่เท่านั้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ทส.เร่งเครื่องเจาะบ่อบาดาลให้ทันแล้ง ตั้งเป้าเมษาฯ 4 พันบ่อ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงความคืบหน้าการเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง พร้อมเสนอวิธีการเพิ่มน้ำต้นทุนจากบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำประปา และการบูรณาการ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง  ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ร่วมกับนายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เรื่อง        "น้ำบาดาล : ปฏิบัติการเพิ่มน้ำต้นทุน" เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจาะบ่อน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค และจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งในปีงบประมาณ 2559 จำนวนกว่า 6,000 บ่อ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,000 บ่อ คาดว่าจะดำเนินการเจาะเพิ่มอีก 2,000 บ่อ รวมเป็น 4,000 บ่อ ให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 ปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 225,733 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 131,600 ไร่

สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐ   ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ หรือแม้กระทั่งภาคการเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้อง  ลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ขณะที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศ เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 11 จังหวัด 43 อำเภอ 212 ตำบล 1,862 หมู่บ้าน ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระแก้ว

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้ง 8 มาตรการ โดย 1 ใน 8 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล คือ มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งมีการดำเนินการดังนี้

1.ดำเนินงานโครงการหลักของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้แก่  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป้าหมายรวมกว่า 6,000 บ่อ ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 338,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 197,400 ไร่ ปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ    จำนวน 2,000 บ่อ และคาดว่าภายในสิ้นเดือนเมษายน 2559 จะดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาลได้เพิ่มขึ้นอีก 2,000 บ่อ รวมเป็น 4,000 บ่อ ปริมาณน้ำที่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 225,733 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์กว่า 131,600 ไร่

2.เฝ้าระวังระดับน้ำบาดาลและตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลผ่านเครือข่ายบ่อสังเกตการณ์     ทั่วประเทศ 864 สถานี จำนวน 1,524 บ่อ ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของน้ำบาดาลแล้ว ยังสามารถพัฒนาบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อผลิตน้ำบาดาลเพื่อปรับเป็นจุดแจกจ่ายน้ำบาดาลสำหรับประชาชนทั่วไป โดยมีปริมาณน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 161 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

3.เตรียมการผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลในกรณีที่เกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรง ดังนี้

- บ่อน้ำบาดาลภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลแล้ว แต่อนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลยังไม่เต็มตามศักยภาพของบ่อน้ำบาดาลนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะพิจารณาอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล      ได้เต็มตามศักยภาพของบ่อน้ำบาดาล

- กรณีเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) โรงงานอุตสาหกรรมที่มีบ่อน้ำบาดาลอยู่แล้ว ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ออกใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลแบบบ่อสำรอง คือ ใช้ในกรณีน้ำประปาเกิดขัดข้องหรือแรงดันน้ำประปาไหลอ่อน หรือกรณีที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ออกใบอนุญาต ใช้น้ำบาดาลให้ใช้ตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ คือ ให้ใช้น้ำบาดาล เพื่อเป็นวัตถุดิบหรือในกระบวนการผลิตเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบให้ใช้น้ำประปาของการประปานครหลวงหรือการประปาส่วนภูมิภาค ทั้งสองกรณีดังกล่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะอนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำบาดาลได้ตามปริมาณน้ำสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนการใช้น้ำบาดาลดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินปริมาณน้ำบาดาลที่ยอมรับได้ในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลได้วันละ 1.25 ล้านลูกบาศก์เมตร

- กรณีโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสงค์จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเพื่อทดแทนบ่อเดิมที่ชำรุดหรือเจาะบ่อน้ำบาดาลเพิ่มขึ้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมข้อมูลศักยภาพน้ำบาดาลเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำบาดาล และได้แจ้งให้พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ผู้ได้รับมอบหมายให้ออกใบอนุญาต และพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ประจำเขตน้ำบาดาลกรุงเทพมหานคร และเขตน้ำบาดาลจังหวัด ให้เร่งตรวจสอบสถานที่ประกอบกิจการน้ำบาดาล และอำนวยการความสะดวกในการดำเนินการออกใบอนุญาตให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การเจาะน้ำบาดาลและใช้น้ำบาดาลถูกต้องตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520

4.บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ผ่านโครงการ"ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง" ประจำปี พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน คือ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยเปิดจุดจ่ายน้ำถาวรทั่วประเทศ 89 แห่ง เพื่อให้บริการน้ำบาดาลสะอาด  และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน โดยจะมีการแถลงข่าวเปิดโครงการในวันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 นี้ รวมถึงการลงนาม MOU ความร่วมมือเจาะบ่อน้ำบาดาลและพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับระบบประปาผิวดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรม

5. ศึกษาและสำรวจเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลโดยนำพลังงานความร้อนใต้พิภพ มาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าหรือใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ตามศักยภาพของพื้นที่แต่ละแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมทรัพยากรธรณี และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสำรวจและผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ขนาด 5 เมกกะวัตต์ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานความร้อนใต้พิภพประมาณ 112 แห่ง ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่เขตภาคเหนือ สามารถที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ไม่น้อยกว่า 130 เมกกะวัตต์ หรือนำไปใช้ในการอบแห้งพืชผลทางการเกษตร (โรงอบแห้ง) เช่น ลำไย พริก สตรอว์เบอร์รี ใบยาสูบ ใช้ในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร (ห้องเย็น) เช่น มะนาว ส้ม รวมถึงใช้ในระบบปรับอากาศ กิจกรรมอาบน้ำแร่ สปา เป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 26/83 ซอยงามวงศ์วาน 54 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือสายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

ผนึกกำลังลุยช่วยเหลือ เกษตรกรประสบภัยแล้ง

นายประสาร อันโนนจารย์ สหกรณ์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ จัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งในปี พ.ศ.2558/2559 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ การใช้เทคโนโลยีเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรและอาชีพเสริมช่วยเพิ่มรายได้ในช่วงดังกล่าวได้ โดยใช้พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ เป็นสถานที่ในการจัดอบรม จำนวน 220,500 ราย รวม 4,410 รุ่น

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครปฐม ได้จัดทำหลักสูตรและถ่ายทอดความรู้หัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิถีสหกรณ์” แก่เกษตรกรด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559

เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ ( ตอนที่ 1 )

          ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,700 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณมวลน้ำก็จะอยู่ประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าเยอะเพราะบางส่วนซึมลงสู่ชั้นใต้ดินบ้าง และระเหยคืนกลับสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เหลือเพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือประมาณเกือบ 30% ที่กระจัดกระจายไปตามเขื่อนใหญ่และเขื่อนขนาดกลางต่างๆ กว่า 650 แห่ง รวมถึงเช็คแดม ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ เฉลี่ยแล้วเก็บน้ำได้เพียงปีละ 70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาทั้งหมด ซึ่งน้ำส่วนที่เหลือตามนี้ก็ยังถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเลไปแบบไร้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

          จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศไทยเราจึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหาภัยแล้งมาก โดยเฉพาะตัวเลขสถิติที่สามารถจับต้องได้จากกรมทรัพยากรน้ำ ก็ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผล ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก และนอกจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นในทุก 4-5 ปี แต่บางทีก็อาจไม่ได้เกิดจากเอลนีโญไปเสียทั้งหมด เพราะจากภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2557 ยังคาดการณ์กันว่าน่าจะแล้งยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2559 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์โลกร้อน (Global Warming) และเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยของโลก ที่ไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกต่อไปหรืออาจจะเรียกว่าเลวร้ายกว่าเดิม โดยเราสามารถสังเกตความแปรปรวนนี้ได้จากช่วงปลายเดือนมกราคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับอุณหภูมิตั้งแต่ติดลบไปจนถึงสิบกว่าองศาเซลเซียส ที่เข้ามาปกคลุมบ้านเราแบบกะทันหันเกือบค่อนประเทศ และแว่วๆ มาว่าในอีกไม่ช้านี้ก็จะมีหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนอีกระลอกหนึ่งเข้ามาอีก สภาพการณ์นี้ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวน ซึ่งพวกเราชาวไทยจะได้สัมผัสกับอากาศหนาวกันแบบรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว (หนาว 1 สัปดาห์ ร้อน 1สัปดาห์) แต่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตภาคการเกษตรอีกก็เป็นได้

          จากปัจจัยลบหลายๆ ด้านที่กล่าวมานี้ ทำให้เรามิอาจนิ่งนอนใจหรือรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ระบบการชลประทานที่เราฝันกันว่าจะมีให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้าน หรือทุกพื้นที่การเพาะปลูกก็คงจะนานเกินรอ หรือจะมัวหวังให้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เพิ่มมากขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งเสียก็ว่าได้ เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที รวมถึงการประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากต่างประเทศ ที่ดูๆ ไปเหมือนประเทศเหล่านั้นจะรู้ว่าถ้าเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงพอ เราก็จะร่ำรวยมั่งคั่งเกินหน้ากว่าเขาเป็นแน่แท้ และเมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนหรือฝายเก็บน้ำได้ ประเทศที่มีความโดดเด่นเชี่ยวชาญเรื่องเกษตรกรรม แผ่นดินที่เคยได้ชื่อว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" ก็อาจกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน

          ปัจจุบันประเทศไทยเรามีขนาดพื้นที่ประมาณ 512,000 ตารางกิโลเมตร หรือถ้าคิดเป็นจำนวนไร่ ก็มี 320,696,888 ไร่ มีพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรอยู่ 149,236,233 ( สถิติปี 2556 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รวบรวมไว้เมื่อปี 2557 ) และถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วก็จะพบว่าพื้นที่การเกษตรของเราลดลงอย่างมาก เพราะเมื่อปี 2553 เรายังมีพื้นที่ใช้สอยทางการเกษตรอยู่ที่ 149,416,681 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วหายไป 180,449 ไร่ และส่วนที่เหลือก็จะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่นอกการเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามเรายังมีทางเลือกอยู่เสมอ เช่น การน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการสร้างสระนำประจำไร่นา สระน้ำแก้มลิง ให้มากเพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเอง เรียกได้ว่าสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเกษตรกร เพื่อรองรับกับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะขอยกยอดเรื่องเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติไปไว้ในฉบับหน้าหรือตอนที่ 2 ครับ

สนับสนุนบทความโดย

นายมนตรี บุญจรัส

กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ นายภูวาดล แสนยากุล

ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02 000 8499

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

กลุ่มมิตรผลซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล เพาเวอร์ พรอสเพค เสริมศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 

          ในภาพ ตัวแทนกลุ่มมิตรผล ได้แก่ นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ (ขวาสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มพี เอ็นเนอร์ยี จำกัด และนายจิรศักดิ์ ว่องกุศลกิจ (ที่ 2 จากขวา) (ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานจัดซื้อ) ร่วมลงนามในพิธีสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท เพาเวอร์ พรอสเพค มูลค่า 510 ล้านบาท จากบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นเดิม โดยมี นายเสวก ศรีสุชาต (กลาง) ประธานกรรมการ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) นายอำนวย กาญจโนภาศ (ที่ 2 จากซ้าย) รองประธานกรรมการ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และนายชัยยิ่ง ศรีประเสริฐ (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอสแพค ทูล แอนด์ ดาย จำกัด เป็นผู้ลงนาม

          โรงไฟฟ้าเพาเวอร์ พรอสเพค ตั้งอยู่ที่ จังหวัดอยุธยา มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ มีสัญญาการขายไฟ 8เมกะวัตต์ ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และมีศักยภาพในการใช้วัตถุดิบชีวมวลหลากหลายประเภทในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แกลบ ไม้สับ ใบอ้อย การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าเพาเวอร์ พรอสเพค ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผลในการนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน มาปรับปรุงให้โรงไฟฟ้าสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต และจัดหาวัตถุดิบให้มีต้นทุนที่ถูกลง นอกจากนั้นแล้ว โครงสร้างผู้ถือหุ้นโรงไฟฟ้าเพาเวอร์ พรอสเพค มีผู้ถือหุ้นจากโรงสีที่อยู่ติดกันจะช่วยให้โรงไฟฟ้ามีความได้เปรียบเรื่องค่าขนส่งวัตถุดิบ และความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำภายในโรงสีข้าว โดยกลุ่มมิตรผลตั้งเป้าในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้มาจากชานอ้อยให้ได้ 200เมกะวัตต์ภายในปีพ.ศ. 2563

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

ทูตฝรั่งเศสผนึกภาคเอกชน ผลักดันไทยกลับคืนเวทีการค้าโลก -TPP

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางไปดูโรงงานผลิตกระดาษ และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ จำกัดในเมืองรวง (Rouen) ประเทศฝรั่งเศส ว่า ข้าราชการไทยจำเป็นต้องพึ่งพาภาคเอกชนไทยที่ตัดสินใจไปลงทุนในฝรั่งเศสเพื่อผนึกกำลังกันสร้างความเชื่อมั่นแก่รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำสหภาพยุโรปว่า แม้การเมืองของไทยอาจหยุดชะงักในช่วงการปฏิรูปประเทศ แต่การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจยังไม่หยุด

“ผมอยากให้รัฐบาลฝรั่งเศสทราบว่า การเมืองไทยยังคงเป็นประชาธิปไตยเหมือนเดิม และมีโรดแม็ปที่นำพาเศรษฐกิจ สังคม ให้มีความก้าวหน้า และทำให้การเมืองไทยเข้มแข็ง ฝรั่งเศสจึงควรให้เวลาแก่ไทยอย่างเข้าใจและไม่ทอดทิ้งประเทศไทยไป โดยเฉพาะเมื่อไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่ออาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจ AEC ซึ่งจะยิ่งทำให้ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสมีมากขึ้น”

เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส กล่าวว่า ผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนของสองประเทศควรมองไปข้างหน้า อย่างไรเสียประเทศไทยก็ต้องกลับมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อไทยกลับมาก็อยากจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ต่อกันไว้ ที่สำคัญก็คือ เศรษฐกิจไทยกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าภายใต้บริบทของการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“เรากำลังเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้แก่ฝรั่งเศสในการเสนอตัวเข้ามาลงทุน เช่นเดียวกับญี่ปุ่น และจีน ซึ่งสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างระบบรางในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อฝรั่งเศสมีศักยภาพสูงในเรื่องนี้ และเราก็อยากให้เขามาสำรวจดูว่า การลงทุนในประเทศ ไทยไม่ได้หยุดนิ่ง”

ทูตปารีสผนึกกำลังเอกชนไทย

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลฝรั่งเศสมองไปข้างหน้า ก็จะพบว่าประเทศไทยเข้าสู่การเป็นหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในฐานะเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจ และเป็นสะพานให้เขาสามารถเข้าไปค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านโดยผ่านไทยได้ง่ายขึ้น “รอบบ้านเราล้วนแต่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นเรื่องง่ายที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน”

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี แม้ไทยจะขาดดุลอยู่บ้าง แต่การค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมา ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะไม่ดี และเศรษฐกิจอียูจะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตาม แต่การค้าไทยกับฝรั่งเศสก็ยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น และสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นของเราส่วนใหญ่ก็เป็นพวกชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์

“สิ่งที่ผมพยายามจะบอกกับรัฐบาลเขาก็คือ ไม่ใช่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีปัญหาการเมืองภายใน แต่หลายประเทศที่เกิดใหม่ก็มีปัญหาไม่ได้แพ้กัน แน่นอนว่าแต่ละประเทศต้องมีทั้งช่วงเฟื่องฟูและไม่เฟื่องฟู และแต่ละประเทศ โดยเฉพาะไทยอาจเป็นประชาธิปไตยในแบบของเรา ไม่ใช่ในแบบฉบับของตะวันตก”

เมื่อถามถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มนักลงทุนไทยดีต่อระบบเศรษฐกิจประเทศหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ผมเห็นศักยภาพของบริษัทใหญ่หลายแห่งที่สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ เช่น ในญี่ปุ่น ก็มี SCG และบ้านปู ไปลงทุนในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ส่วนที่ฝรั่งเศส นอกจาก จะมีบริษัทดั๊บเบิ้ลเอ มาลงทุนแล้ว ก็ยังมี PTTGC มีไทยยูเนียนฟู้ดส์ รวมทั้งเครือซีพีกรุ๊ปด้วย

สร้างเครือข่าย Friend of Thailand

นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนไทยมีศักยภาพมากพอจะออกไปขยายการลงทุนของพวกเขาในต่างประเทศ อย่างดั๊บเบิ้ลเอ ไม่ใช่แค่ศักยภาพในการลงทุนเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนที่ได้มาตรฐานสากล เทคโนโลยีที่ใช้ก็เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ที่สำคัญคือเป็นการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม มีการใช้พลังงานที่สะอาด พลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ผู้คนในท้องถิ่น และแรงงานจำนวนมากด้วย

“ผมคิดว่า สิ่งที่นักลงทุนไทยเราทำ จัดเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของผม เพราะช่วยทำให้รัฐบาลของฝรั่งเศส รวมถึงพลเมืองของเขาเกิดความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทย เรา จริงๆเมื่อเขามาลงทุนก่อนหน้าที่ผมจะมารับตำแหน่ง เขาย่อมมีอิทธิพลต่อการเมืองในประเทศฝรั่งเศสด้วย นั่นเป็นช่องทางให้ผมมีโอกาสรู้จักกับผู้แทนฯ (ส.ส.) ในพื้นที่ที่เขาไปสร้างงานสร้างรายได้ให้...

หน้าที่ทูตคือ การผลักดันผลประโยชน์ของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องรู้จักคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาล และเครือข่ายที่จะสามารถสร้างความเป็น Friend of Thailand ได้โดยมีน้ำหนักมากขึ้นด้วย”

ในฐานะเป็นตัวแทนประเทศไทย นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จะต้องให้การสนับสนุน อย่างต่อเนื่อง แต่จริงๆจะบอกว่า เอาแค่เรื่องเศรษฐกิจแต่ไม่เอาการเมืองเลยคงไม่ได้เหมือนกัน สมมติเรื่องการลงทุนระบบราง นายสีหศักดิ์เปิดเผยว่า ทูตฝรั่งเศสพยายามผลักดันให้เอกชนของเขาเข้าไปทำ เพราะฉะนั้นจะหลีกเลี่ยงไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ไม่ได้ คือ คุณก็ต้องลงทุนด้วยเหมือนกัน

หรืออย่างขณะนี้ เรากำลังมีปัญหาเรื่อง GSP ถูกตัด ก็จำเป็นต้องเร่งกระบวนการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส แต่ขณะนี้เขาบอกยังเจรจาไม่ได้ แม้แต่ในทางเทคนิคก็ทำไม่ได้ ทุกเรื่องจึงถูกชะลอตัวไปหมด “แม้ฝรั่งเศสอาจต้องทำตามมติของกลุ่มประเทศสมาชิกยูเอ็น แต่ละประเทศมีแบบฉบับไม่เหมือนกัน และความจำเป็นในการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ต่างกัน”

หนุนข้อตกลง TPP

นายสีหศักดิ์กล่าวว่า ระหว่างที่ประเทศไทยยังคงติดปัญหาการเมือง เวียดนามกลับทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปอย่างเงียบๆได้เรียบร้อย คู่แข่งที่น่ากลัวของเราจึงเป็นเรื่องการปฏิบัติที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น สหรัฐฯเชิญรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน แต่ทำไมประเทศไทยที่เป็นสังคมเปิดเคยมีและจะต้องมีการเลือกตั้งต่อไป ไฉนจึงปฏิบัติต่อไทยแตกต่างกันเป็น 2 มาตรฐาน

เพราะฉะนั้นในที่สุดก็คือ เรื่องของผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องชี้ให้เขาเห็นคือ ผลประโยชน์ที่เรามีต่อกัน ถ้าเขามองข้ามเราไปโดยคิดแต่เรื่องการเมือง เขาเองอาจจะสูญเสียโอกาสนั้นได้ เมื่อสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเผชิญเป็นไปเช่นนี้ นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP : Trans-Pacific Partnership) ใน 12 ประเทศซึ่งจะกลายเป็นการจัดระเบียบการสร้างมาตรฐานใหม่ทางเศรษฐกิจ ระหว่าง แคนาดา สหรัฐฯ เม็กซิโก ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และญี่ปุ่น

“เราอาจเสียเปรียบอยู่บ้างในบางเรื่องแต่ TPP จะทำให้รูปแบบ และสภาพคล่องทางการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไป เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ต่อไปถ้าจะไปลงทุนในเวียดนาม ก็ต้องคิดว่าจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆในหลายด้าน ซึ่งบางทีไทยอาจจะต้องกระจายความเสี่ยงไปยังเวียดนามบ้าง ก็คงจะถึงเวลาต้องตัดสินใจกันจริงๆเสียทีว่าเราจะอยู่ในกลุ่มซึ่งมีตลาดใหญ่กลุ่มนี้หรือไม่”.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

'ประยุทธ์'ขอสหรัฐใช้กม.แรงงานโปร่งใส ป้องกันกีดกันการค้า

นายกฯประยุทธ์ ยันไทยร่วมมืออาเซียน-สหรัฐรับมือภัยข้ามชาติ ย้ำแก้ปัญหาค้ามนุษย์เต็มที่ ขอสหรัฐใช้กฎหมายแรงงานอย่างโปร่งใส ป้องกันกีดกันการค้า

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ ซันนีแลนด์ เมืองรานโช มิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และได้กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific”

โดย พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมว่า การประชุมช่วงที่ 2 (Retreat II) การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในหัวข้อ “Protecting Peace, Prosperity, and Security in the Asia-Pacific” ที่ประชุมได้หารือในประเด็นต่างๆ ครอบคลุม การก่อการร้าย การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลก การสาธารณสุข และปัญหาการค้ามนุษย์

นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับอาเซียนและสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายข้ามชาติ ซึ่งเป็นทั้งภัยเร่งด่วนและไม่สามารถแก้ไขโดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงงานสาธารณสุข โดยชื่นชมความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีโอบามาและสหรัฐที่มีส่วนสำคัญ ในการช่วยยุติการระบาดของไวรัสอีโบลาไม่ให้แพร่กระจายไปทั่วโลก และยังได้ริเริ่มวาระความมั่นคงทางสุขภาพระดับโลก (GHSA) ช่วยคุ้มครองโลกจากภัยคุกคามของโรคระบาด อื่นๆ เช่นไวรัสซิกา ในอนาคตได้ ในฐานะประเทศที่มีบทบาทนำ (lead country) ไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือในกรอบด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน และสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของห้องแล็บทางการแพทย์ การฝึกอบรมบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้มีความร่วมมือด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบอาเซียนด้วยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC (ซีดีซี) ได้ให้ความช่วยเสริมในการส่งเสริมสมรรถภาพของหน่วยงานไทยในการป้องกันและควบคุมโรคและลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งระดับภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ในระดับทวิภาคี ไทยและสหรัฐ ฯ ก็มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดผ่านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร หรือ AFRIMS (แอ็ฟฟริมส์) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย มีผลงานโดดเด่นในด้านการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคติดต่อและล่าสุด ไทยได้รับความเห็นชอบให้เป็นที่ตั้งของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรทั้งเวลา บุคคลากรและทุน เพื่อปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น การลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด การนำผู้กระทำผิด โดยเฉพาะรายใหญ่ มาดำเนินคดี การเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และการคุ้มครองความปลอดภัยของเหยื่อ เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ทุกมิติ รวมทั้งเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก

อย่างไรก็ตาม ไทยต้องแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่ายทั้งในระดับทวิภาคี ซึ่งไทยมีความร่วมมือ อย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ อาทิ FBI กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โดยเฉพาะสถาบันฝึกอบรมว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วยฝึกอบรมหน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายจากทั่วภูมิภาค เพื่อรับมือกับปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมอื่นๆ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของทุกฝ่าย

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุน กฎหมายที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนาม ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อ

นอกจากนี้ ไทยยังให้มีการจริงจังในการแก้ไขปัญหาการประมง IUU ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสร้างความมั่นใจว่าสินค้าของไทยถูกต้องตามจรรยาบรรณและได้มาตรฐานสากล และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภาสหรัฐฯ ก็เพิ่งผ่านกฎหมายเรื่องการอำนวยความสะดวกและการบังคับเรื่องการค้า โดยมีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานบังคับด้วย ซึ่งไทยเองก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานของสหรัฐฯ จะนำเอากฎหมายฉบับนี้ไปปฏิบัติอย่างโปร่งใส เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้าในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในภูมิภาคต่างๆ ในปีที่ผ่านมายังส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องเป็นอย่างครอบคลุมและภายใต้หลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ โดยอาเซียนได้แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพยายามแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียทอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สมาชิกอาเซียนมีส่วนร่วมที่แข็งขันในการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานฯ ทั้งสองครั้งในปีที่ผ่านมา เห็นได้อย่างชัดเจนจำนวนผู้อพยพชาวโรฮิงญาลดลงอย่างมากจากปีที่แล้ว

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่แสดงความพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการพัฒนาศักยภาพด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนหนึ่ง แม้จะมีภาระรับผู้พลัดถิ่นจากทั่วโลกจำนวนมากอยู่แล้วก็ตาม

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังหวังว่า สหรัฐฯ จะยังคงร่วมมือกับอาเซียนในการตอบโต้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามอาเซียนอย่างรุนแรงในทุกปี และขอให้สหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดตั้งคลังเก็บสิ่งของบรรเทาทุกข์และให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเตือนภัยพิบัติและการแพทย์ฉุกเฉินด้วย

โดยภายหลังเสร็จสิ้นนายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ด้วย จากนั้นในเวลาประมาณ 23.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และจะเดินทางถึงประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 13.30 น.

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

เอกชนหนุนส่งเสริมวิจัยเกษตรรับAEC

ภาคเอกชน พร้อมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้า รับการเปิดประชาคมอาเซียน เพิ่มคุณภาพสินค้า และราคาหนุนรายได้เกษตรกร

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันรายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ สร้างมาตรฐาน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน พร้อมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตรให้ก้าวหน้า ขณะเดียวกัน เปิดประชาคมอาเซียน ก็ถือเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทย โดยแผนระยะสั้น ภาครัฐ และภาคเอกชนจะร่วมส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งร่วมมือกับภาครัฐส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ขึ้นเป็น SMART FARMER ส่วนผลการดำเนินโครงการ "การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ ด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และองค์พันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ถือว่าประสบผลสำเร็จ โดยมีการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่บริษัทจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP แล้ว 10 ราย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทรัพยากรโปแตสใต้ดิน

มนุษย์ยุคปัจจุบันติดยึดอยู่กับความเจริญทาง “วัตถุ” มากเกินไปแล้ว ความเจริญทางวัตถุนั้นจำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในโลก ซึ่งมันก็มีอยู่อย่างจำกัดที่เห็น ๆ กับตาขณะนี้คือคนไทยจำนวนมากขาดแคลนน้ำ แล้วก็อาจจะขาดแคลนต่อไป ถ้าขาดน้ำติดต่อกันหลาย ๆ ปี เกษตรกรรมก็พินาศทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีจำกัด มนุษยชาติจึงควรใช้อย่างมีสติปัญญา มิใช่ใช่อย่างล้างผลาญ

         ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติโลกรวมหมู่ ทรัพยากรในแต่ละประเทศจึงเป็นสมบัติของพลเมืองทั้งชาติ ประโยชน์โภชน์ผลที่เกิดจากทรัพยากรนั้น ๆ จึงต้องจัดสรรกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรมการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ต้องคำนึงถึงการรักษาความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมธรรมชาติด้วย นั่นคือไม่ก่อมลภาวะ ทำลายสมดุลของโลกธรรมชาติปัจจุบันนี้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในโลก ในประเทศไทย มีจุดผิดพลาดในทั้งสามด้านที่กล่าวข้างต้น

       มองปัญหาประเทศไทยระยะนี้ เรื่องที่น่ากลัวที่สุดคือเรื่อง “เหมืองแร่โปแตส” ในภาคอีสาน“เนื้อดิน”อีสานนั้น อยู่บนตะกอนเกลือมหาสมุทรและฟอสซิลที่นำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ “อภิทุนข้ามชาติ” ที่ต้องการทรัพยากรนำไปผลิตเป็นสารเคมีใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และนำไปใช้เป็นพลังงาน ย่อมต้องการได้กรรมสิทธิ์ขุดขึ้นมาและก็เป็นธรรมดาผู้ที่กุมอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจการเมืองในประเทศไทยทุกกลุ่มทุกสมัย อยากจะ “ขาย” เพราะเห็นแต่เพียงว่าจะได้เงินมาพัฒนาเมืองในทางวัตถุแต่ปัญหาใหญ่ ๆ คือ 1. ค่าสัมปทานที่ได้มากน้อยเพียงใด มันคุ้มกับการแลกความอุดมของแผ่นดินกับทรัพยากรใต้ดินหรือไม่2.การจัดสรรกระจายผลประโยชน์ที่ได้มา มันเป็นธรรมหรือไม่

       3. การประกอบการเหมืองสร้างความเสียหายทางภาวะแวดล้อมมากเพียงใด ในส่วนนี้ต้องให้ข้อมูลว่า การขุดเกลือใต้ดินขึ้นมาแยกเอาแร่โปแตสมาใช้นั้น จะต้องทิ้งเกลือชนิดอื่นไว้ เหมืองโปแตสส่วนใหญ่ใช้วิธีเอาเกลืออื่น ๆ กองทิ้งไว้เป็นภูเขาเลากา ในต่างประเทศเขาทำได้เพราะเขาทำเหมืองในพื้นที่ซึ่งทำการเกษตรอะไรไม่ได้ เทคโนโลยีเหมืองโปแตสขอเยอรมันใช้วิธีฝังเกลือชนิดอื่นกลบไปไว้ใต้ดิน แต่เนื่องจากทำเหมืองกันมานานแล้ว ฝังกากเกลือลงไปมหาศาล จนเกินอัตราแล้ว

       ยิ่งถ้าให้ทุนจากจีนมาทำเหมือง ยิ่งน่ากลัว เพราะทุนจีนขึ้นชื่อลือชาว่าไม่สนใจรักษาสภาพแวดล้อมถ้าหากทุนเหมืองแร่โปแตส แยกแร่โปแตสไปด้วยวิธีการทางเคมี ต้องมีมลภาวะ และยังมีกองภูเขาเกลือเค็ม ๆ กองทิ้งไว้อีก พื้นดินอีสานจะเป็นอย่างไร เนื้อดินอีสานยังอุดม สามารถเลี้ยงคนไทยได้ชั่วกาลนาน การทำลายสภาพแวดล้อมอีสาน หวังเศษเงินจากโปแตสนั้นมัน “เงินทองของมายา ข้าวปลาสิของจริง”

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

นายกฯย้ำความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐ

นายกฯกล่าวประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ย้ำความร่วมมือเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ ระบุไทยสนใจพัฒนาการ"ทีพีพี"

ที่ซันนีแลนด์ เมืองรานโช มิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วมการประชุมช่วงที่ 1 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ และได้กล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อ “การส่งเสริมความมั่งคั่งของภูมิภาค โดยผ่านนวัตกรรมและการประกอบการ” (Promoting Regional Prosperity Through Innovation and Entrepreneurship)  เน้นความเป็นหุ้นส่วนเพื่อประชาชนและความเป็นหุ้นส่วนแห่งอนาคต      

โดยพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งนี้ เน้นย้ำความสำคัญที่สหรัฐฯ ให้กับอาเซียนผ่านการดำเนินนโยบายปรับสมดุล หรือ “Rebalancing”   

ทั้งนี้สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนหลักของอาเซียนและผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคและอาเซียนได้เป็นประชาคมแล้วและได้กำหนดวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2015  สหรัฐฯ จะสนับสนุนการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่ง รวมทั้งความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของสหรัฐฯไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้าง ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ให้เข้มแข็งและครอบคลุมทุกมิติ ไม่เพียงด้านการเมืองและความมั่นคงแต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาด้วย โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ดังนั้น ขอเสนอแนวทางที่สหรัฐฯ จะขยายความร่วมมือกับอาเซียนในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนี้   

ประการ1 ในปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับปัญหาจากการชะลอตัวและความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกดังจะเห็นได้จากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ และการไหลเวียนของเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต (Emerging Economies) และโดยที่เศรษฐกิจโลกมีสภาวะการพึ่งพากันและกันมากขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอื่นๆ ในวงกว้างในระดับประชาชน ดังนั้น อาเซียนกับสหรัฐฯ จำเป็นต้องหารือแนวทางในการเผชิญกับปัญหานี้ร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยทุกฝ่ายควรดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างระหว่างกันให้มากขึ้น    

แนวทางสำคัญอีกประการหนึ่งในการรับมือกับปัญหานี้คือการสร้างบรรยากาศทางการค้าที่ส่งเสริมให้ภูมิภาคเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริงโดยสนับสนุนให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจในกรอบ RCEP (อาร์เสป) และ TPP (ทีพีพี) สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ และเพื่อให้สามารถบรรลุการจัดทำ FTAAP (เอฟแทป) ได้ต่อไป         

ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯจะเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดในการรองรับกฎระเบียบที่มีมาตรฐานสูง ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนไทยสนับสนุนให้มีการจัดทำ RCEP เสร็จสิ้นภายในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ไทยก็สนใจและติดตามพัฒนาการของ TPP  อย่างใกล้ชิด  โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อการเข้าร่วม TPP ซึ่งจะรายงานผลการศึกษาภายในเดือนนี้ โดยจะหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง      

ประการที่2 เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เราควรเร่งร่วมมือเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นการลดอุปสรรคทางการค้า การปรับประสานกฎระเบียบ การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการส่งเสริมการลงทุนสองทาง  

ทั้งสองฝ่ายควรเร่งสานต่อการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ โดยเฉพาะกรอบ Trade and Investment Framework Arrangement หรือ TIFA (ทิฟ่า) และ Expanded Economic Engagement หรือ E3 (อีสาม) ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การสร้างกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่มีมาตรฐานสูง และเป็นการพัฒนาศักยภาพของระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยรวม  

นายกฯกล่าวชื่นชมผลสำเร็จที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเทคนิค อาทิ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในกรอบ Trade and Environment Dialogue ภายใต้ E3 ซึ่งได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการประมง IUU ไทยสนับสนุนให้อาเซียนและสหรัฐฯ ดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบ E3 อย่างเป็นรูปธรรมเช่นนี้ต่อไป รวมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือทางเทคนิคเช่นนี้ให้ครอบคลุมปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่าและการค้าไม้ผิดกฎหมาย เป็นต้น 

ประการที่3 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราควรขยายความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG (เอสดีจี) โดยเน้นนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสนับสนุนให้สหรัฐฯ ขยายบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือทั้งด้านเงินทุนและเทคนิค ทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยในส่วนของไทย เราให้ความสำคัญ เป็นลำดับต้นต่อการลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกฯ กล่าวถึงแนวทางที่เสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายหลักในการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป 

พล.ต.วีรชน กล่าวด้วยว่า ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้หยิบยกถึงความร่วมมือเพื่อความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตนั้น โดยนายกรัฐมนตรีได้ กล่าวแสดงความคิดเห็น ดังนี้ว่า แนวโน้มด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะในแง่ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและที่นี้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ถือเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทีสำคัญแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ และของโลกสำหรับหุ้นส่วนเพื่ออนาคตระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ จะต้องครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้ 

ประการที่ 1 เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ให้สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยินดีที่สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของอาเซียน เพราะความเชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ในด้านการส่งเสริมผลิตภาพ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการเข้าสู่ตลาด และความเป็นสากล จะช่วยพัฒนา SMEs ของอาเซียนให้ก้าวไกลได้

โดยนายกฯเสนอให้มีการจัดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจและผู้ประกอบการ  เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และถ่ายโอนเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการสตรี ทั้งในกรอบอาเซียนและ Lower Mekong Initiative (LMI) 

ประการที่ 2 เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ และแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับภาคธุรกิจของสหรัฐฯ จึงจะต้องมีการขยายความร่วมมือกับผู้นำอุตสาหกรรมดิจิทัลในสหรัฐฯ และเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนพิจารณาให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนา การถ่ายโอนเทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต รวมทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจสมัยใหม่  

ประการที่ 3 คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีก้าวหน้า และนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานสะอาด การเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ดาวเทียมและอวกาศ ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้คือการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM (สเต็ม)  ทั้งนี้สหรัฐฯกับอาเซียนสามารถแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านนี้เพื่อปูทางสู่อนาคตร่วมกัน โดยเน้นกลุ่มเยาวชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐฯ มีกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ระหว่างกัน ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผมจึงขอเสนอว่า อาเซียนกับสหรัฐฯ อาจพิจารณาแนวทางในการขยายความร่วมมือในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อสนับสนุนการสร้าง"Creative ASEAN"และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ     

นายกฯกล่าว แสดงความเชื่อมั่นในตอนท้ายว่า แนวทางทั้งหมดนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคต เพื่อนำไปสู่โอกาส ผลประโยชน์ และความมั่งคั่งร่วมกันอย่างยั่งยืนของทั้งอาเซียนและสหรัฐฯต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สภาพัฒน์เคาะจีดีพีปี’59โต3.3% เศรษฐกิจโลกผันผวนกดดันส่งออก

สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี’59 จาก 3.5% เหลือแค่ 3.3% ชี้เศรษฐกิจโลกผันผวนปัจจัยเสี่ยงสำคัญของไทย กระทบการส่งออก ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ หวังเม็ดเงินจากโครงการลงทุนภาครัฐเข้าหล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าได้ทำการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีปี 2559 จากเดิม 3.5% เป็น 3.3% สูงขึ้นจาก 2.8%ในปี 2558 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558-มกราคม 2559

“การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำรวมอยู่ที่ 2,541,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายโดยรวมในปีงบ 2559 ที่ 93.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนได้ 444,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75% ของกรอบวงเงินรวม 592,435 ล้านบาทโดยจะมีความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วน 2559 ที่มีความพร้อม 20 โครงการ คาดว่าจะมีเงินเบิกจ่ายในปี 2559 ที่ 66,834 ล้านบาท” นายปรเมธี กล่าว

ขณะที่แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น โดยคาดการณ์เงินบาทอ่อนค่าจาก 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.2-36.5 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันลดลงจากคาดการณ์เดิม 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 32-42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ชะลอปรับอัตราดอกเบี้ย 2.6% อัตราเงินเฟ้อลบ 0.1-0.9%

สำหรับมูลค่าการส่งออกชะลอ 1.2% เนื่องจากการค้าโลกขยายตัวจาก 3.8% เหลือ 3.2% เพราะแนวโน้มเงินบาทยังอ่อนค่า การส่งออกหลายประเทศติดลบอย่างมาก กลุ่มรถยนต์ยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ขณะที่ไทยต้องติดตามเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะค่าเงินหยวนของจีนถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอีกปีหนึ่ง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% ปรับตัวดีขึ้นจาก 2.0.% ในปี 2558 แต่ปรับลดลงจากประมาณการ 4.7% เนื่องจากกำลังการผลิตยังอยู่ระดับต่ำและยังมีข้อจำกัดการผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 11.2% เนื่องจากเงินลงทุนภาครัฐออกสู่ระบบสูงมากถึง 29.8% ทำให้ปี 2559 มีอัตราชะลอลง รัฐบาลจึงต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ การเร่งรัดลงทุนด้านคมนาคม การส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดน

โดยยังมีปัจจัยบวกเพื่อรอเงินจาก 7 มาตรการภาครัฐออกสู่ระบบ 180,000 ล้านบาท ในปี 2559 เช่น สินเชื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี การอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ โครงการประชารัฐดูแลเศรษฐกิจฐานรากการเดินหน้าขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การดูแลรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และหาทางป้องกันภัยแล้ง เพราะทำให้ภาคเกษตรกลับมาฟื้นตัวได้ช้า รัฐบาลกำลังเร่งออกมาตรการแก้ปัญหา

“ภาพโดยรวมปีนี้ เราห่วงเศรษฐกิจโลก แม้ในประเทศจะมีการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาคเอกชน แต่ต้องหล่อเลี้ยงด้วยบทบาทรัฐ ต้องทำให้เม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค้างจากปลายปีที่แล้ว ออกมาในต้นปีนี้ตลอดถึงปลายปีอย่างต่อเนื่อง รองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นอีกปี”นายปรเมธีกล่าว

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 ที่ผ่านมาขยายตัว 2.8% ใกล้เคียงกับ 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้าในด้านการผลิต การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% แต่การผลิตภาคเกษตรลดลง 3.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

ด้านการใช้จ่ายอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคของเอกชนการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล และการลงทุนรวม 2.5% 4.8% และ 9.4% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการลดลง 3.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการลดลง 1.4% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัว 0.8% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน ขยายตัว 2.5% เร่งตัวขึ้นจาก 1.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายจ่ายในหมวดการบริโภคสินค้าคงทน สินค้ากึ่งคงทนและค่าใช้จ่ายบริการสุทธิ ขณะที่สินค้าไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง

สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 4.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของค่าใช้จ่ายหมวดค่าตอบแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการการลงทุนรวมขยายตัว 9.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.9% ปรับตัว

 ดีขึ้นจากที่ลดลง 10.1% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 41.4% เร่งขึ้นจาก 21.9% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2558 ขยายตัว 2.8% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในปี 2557 โดยการบริโภคขยายตัว 2.1% การลงทุนขยายตัว 4.7% การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว 3.6% สำหรับการผลิตในภาคเกษตรขยายตัว 4.2% กำหนดอัตราเงินเฟ้อลบ 0.9%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

BRRจีบต่างชาติร่วมหุ้น สร้างโรงงานน้ำตาลมูลค่าหมื่นล.

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR เปิดเผยว่าบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้รูปแบบการลงทุนและหาพันธมิตรร่วมทุน จากต่างประเทศ เพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตของโรงงานแต่ละแห่งอยู่ที่ 20,000 ตันอ้อยต่อวัน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

สำหรับโครงสร้างการจัดการโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นั้น คาดว่าจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับโรงงานเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีโครงสร้างธุรกิจประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดสู่กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงงานเอทานอล โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทำให้ BRR สร้างรายได้สูงสุดจากการดำเนินธุรกิจ และยังนำองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกและวิจัยพันธุ์อ้อยมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของโรงงานแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเพาะปลูกและพัฒนาผลผลิตอ้อยให้มีคุณภาพสูงสุด

ทั้งนี้บริษัทประเมินว่าจะก่อสร้างโรงงานและเริ่มหีบอ้อยเข้าสู่โรงงานได้ในปี 2562 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่กำหนดให้โรงงานแห่งใหม่ต้องเปิดรับหีบอ้อยเข้าสู่โรงงานภายใน 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

“การได้รับใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต และรองรับความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายของเอเชียซึ่งเป็นทวีปที่มีอัตราการบริโภคน้ำตาลทรายมากที่สุดและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ จึงมีผลให้ BRR สามารถเพิ่มการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจของ BRR ได้ดียิ่งขึ้น” นายอนันต์ กล่าว

ปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ มีกำลังการผลิต 23,000 ตันอ้อยต่อวัน ในฤดูการหีบอ้อยปี’58/59 และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจำนวน 2 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กำลังการผลิต 30,000 ตัน ขณะเดียวกัน BRR ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลกำลังการผลิตขนาด 150,000 ลิตรต่อวัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปตท.รับมือ‘เมียนมา’ซ่อมท่อก๊าซ l แหล่งยาดานา20-23กพ. l ยันไม่กระทบการใช้ไฟ

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าตามที่ผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติจะเริ่มดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ยาดานา ในสหภาพเมียนมาเป็นระยะเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 20-23 ก.พ.2559 นั้น ปตท. ได้ประสานงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมวางแผนการดำเนินงานและเตรียมมาตรการรองรับล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว พร้อมดูแลลูกค้าทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง มั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ โดยจัดทีมติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ครั้งนี้ เป็นการเชื่อมต่อหลุมก๊าซฯ หลุมใหม่บาดัมยาร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และรักษาความสามารถในการจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งให้เป็นไปตามสัญญา แต่ด้วยข้อจำกัดด้านคุณภาพก๊าซฯ ของผู้ใช้ก๊าซฯฝั่งตะวันตก ปตท.จึงจำเป็นต้องหยุดการรับก๊าซฯ จากแหล่งก๊าซฯ เยตากุนและแหล่งก๊าซฯ ซอติก้า ในช่วงดังกล่าวด้วย ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติขาดหายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประสานงานกับ ปตท. เพื่อจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติรวมทั้ง ปตท. ได้สำรองก๊าซธรรมชาติเหลวและก๊าซฯ จากฝั่งตะวันออกเพื่อเตรียมการเรียกใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอสำหรับลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและสถานีบริการเอ็นจีวีด้วยเช่นกัน

ในปี 2559 นี้ ยังมีการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ยาดานา ที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจ่ายก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกทั้งหมด อีกหนึ่งช่วง คือในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2559-ต้นเดือนม.ค.2560 เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและสะพานเชื่อมต่อระหว่างแท่น ทั้งนี้ ปตท. เจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ ให้ดำเนินการในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ซึ่งมีความต้องการใช้ก๊าซฯต่ำ ซึ่งทำให้ ปตท. จะสามารถจ่ายก๊าซฯ ได้ต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ใช้พลังงาน

นายนพดลกล่าวเสริมว่า การซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ประจำปีในแต่ละแหล่งมีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการตามกำหนดเวลาเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดย ปตท.ได้ทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตฯ ถึงช่วงเวลาแผนการซ่อมบำรุงในแต่ละครั้งเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ปตท. ใคร่ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ พร้อมขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านให้ร่วมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการใช้พลังงานอย่างประหยัดในทุกด้าน อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พาณิชย์เตรียมมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจ l นำทรัพย์สินทางปัญญาใช้เชิงพาณิชย์

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เตรียมจัดการคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจดีเด่นด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือ IP Champion 2016 เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้จดทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า บริการ หรือการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง ให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นต้นแบบและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการค้าและการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับรางวัล IP Champion นั้น กรมได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และกำหนดมอบรางวัลดังกล่าวในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี และล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผู้ประกอบธุรกิจดีเด่นด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในแต่ละประเภท

โดยในปี 2559 นี้ รางวัล IP Champion แบ่งออกเป็น 4 สาขา สาขาละ 3 ประเภท ประเภทละ 1 รางวัล รวม 12 รางวัล คือ สาขาเครื่องหมายการค้า สาขาสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สาขาสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และสาขาลิขสิทธิ์ แบ่งธุรกิจเป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจขนาดเล็ก มูลค่าสินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือจำนวนการจ้างงาน ไม่เกิน 50 คน, ธุรกิจขนาดกลาง มูลค่าสินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือจำนวนการจ้างงาน ไม่เกิน 200 คน และธุรกิจขนาดใหญ่ มูลค่าสินทรัพย์ถาวร เกิน 200 ล้านบาท หรือจำนวนการจ้างงาน เกิน 200 คน

สำหรับหลักเกณฑ์พิจารณา แบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่ การบริหารองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา การขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ธรรมาภิบาล และความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจ โดยผู้สมัครที่เข้ารับการประกวด สามารถสมัครได้มากกว่า 1 ประเภทรางวัล

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละประเภท จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกรม ได้แก่ ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติคุณจาก รมว.พาณิชย์, ได้รับโอกาสพิเศษในการร่วมแสดงสินค้าในงานของกรมและหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งยังได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และกิจกรรมต่างๆ ของกรม อาทิ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ของกรม วารสารต่างๆ เป็นต้น และยังสามารถนำรางวัล IP Champion ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้อีกด้วย

“รางวัล IP Champion จะเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน และยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ด้วยว่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับรางวัล เป็นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เนื่องจากการได้รับรางวัลดังกล่าวจะช่วยการันตีคุณภาพของสินค้าและบริการให้กับผู้ประกอบธุรกิจ และเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในเวทีการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นางนันทวัลย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รมว.กษ.ไทย-ฟิจิถกแผนเดินหน้าการเกษตร

รมว.กษ.ไทย - ฟิจิ ถกแผนเดินหน้าความร่วมมือการเกษตร หลังตั้งคณะทำงานของสองประเทศ ภายใต้ MOU ชี้ ไทยพร้อมเป็นฮับกระจายสินค้าฟิจิในอาเซียน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายไอเนีย เซราอิราตู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร การพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิ ณ กระทรวงเกษตร การพัฒนาชนบทและทะเลฯ ว่า การพบปะหารือกันในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาการเกษตร การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศในอนาคต ซึ่งประเด็นสำคัญที่ได้หารือร่วมกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันภายใต้ คณะทำงานร่วมด้านเกษตรของสองประเทศ ซึ่งฝ่ายไทย มี นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรเป็นประธาน

สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ ได้แก่ ฝ่ายไทยสนใจความร่วมมือด้านวิชาการในเรื่องมะพร้าว เทคโนโลยีการเพาะกล้าพันธุ์ และการปลูกมะพร้าวอินทรีย์ รวมถึงระบบการจัดทำพันธุกรรมมะพร้าว ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าว และอุตสาหกรรมกรรมแปรรูปมะพร้าวของไทย ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคได้ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล ซึ่งประเทศไทย ยินดีพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและสนับสนุนวิชาการที่ฝ่ายฟิจิเสนอต่อมาคือ การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยประเทศไทยสามารถเป็นฐานการกระจายสินค้า (HUB) จากฟิจิ ไปยังประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ดังนั้นหากไทยและฟิจิ ช่วยผลักดันสินค้าเกษตรของกันและกันไปยังประเทศที่ 3 จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น

และสุดท้ายที่จะมีความร่วมมือระหว่างกัน คือ การสนับสนุนและช่วยเหลือกันในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจาก ประเทศไทย และฟิจิ เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การค้า และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เหมือนกันในหลายองค์กรดังนั้น การร่วมเป็นพันธมิตร จะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการสนับสนุนเสียงระหว่างกันในเวทีนานาชาติ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ คณะทำงานของสองประเทศ จะเป็นกลไกผลักดันความร่วมมือจะร่วมกันดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆ ใน MOU ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

คอลัมน์ ดิน น้ำ ลม ป่า: ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแก้วิกฤติแล้ง 

          ท่ามกลางวิกฤติสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน มีการคาดว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้ 20,733 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ความต้องการน้ำในภาพรวมมีความต้องการสูงถึง 70,249 ล้าน ลบ.ม.

          แบ่งเป็นความต้องการใช้ในภาคเกษตรจำนวน 53,034 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าปริมาณน้ำที่จำเป็นต้องใช้ยังขาดแคลนอยู่มหาศาล ส่งผลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเร่งงัดมาตรการในการรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนในวงกว้าง

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า  จากปัญหาน้ำในเขื่อนต่ำสุดในรอบ 20 ปี คาดความเสียหายเบื้องต้นภาคเกษตร 6.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอีกหนึ่งแนวทางออกนอกจากมาตรการดังกล่าวคือ พร้อมเสนอรัฐในการเพิ่มมาตรการจูงใจลดการใช้น้ำในครัวเรือน-ภาคธุรกิจให้มากขึ้น รวมทั้งได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ควบคุมปริมาณน้ำให้สูงกว่าเกณฑ์ ซึ่งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาประมาณ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557-59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่อนแม่งัด น้ำต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2557-59 ซึ่งมีน้ำน้อยที่สุด 50 กว่าล้าน ลบ.ม. น้ำในอ่างมีเพียง 64 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง จ.เชียงใหม่จะได้รับผล กระทบจากภัยแล้งมากที่สุด ขณะที่เขื่อนอุบล รัตน์ จ.ขอนแก่น มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

          นอกจากนี้ทางกรมชลฯ จะพยายามไม่ใช้น้ำจากอ่างในช่วงฝนตกเพื่อให้น้ำในอ่างสูงกว่าเกณฑ์ให้ได้ และคาดว่าเดือนเมษายน 2559 ทิศทางสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยมีเป้าหมายในปลายปีจะเติมน้ำในอ่างให้เต็มขณะที่ในช่วงภัยแล้งที่เหลืออีก 100 วัน ถ้าไม่ใช้น้ำในการเพาะปลูกมากเกินไป เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน  พร้อมกันนี้ยังได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในการงดการปลูกข้าวนาปรัง โดยควรเร่งส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และทนแล้งและสำหรับการปลูกข้าวนาปี พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการเพาะปลูกออกไปจากช่วงปกติด้วย

          'ผลสัมฤทธิ์จากการแก้ไขปัญหาภัยแล้งสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จาก 8 ล้านไร่ ในปี 57/58 เหลือ 4 ล้านไร่ ในปี 58/59 ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สร้างโอกาสทางด้านอาชีพที่เกิดจากความต้องการของชุมชน รวมถึงการมีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีแนวทางการบริหารงานโดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญทั้งในเรื่องพืช ประมง และปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีการพัฒนา Single Com-mand ให้มีความเข้มแข็ง มีการบูรณาการการทำงาน รวมถึงสามารถประสานงานในเชิงนโยบายได้" นายธีรภัทร กล่าว

          นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง 1,814 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/2559 ระยะที่ 2/1 จำนวน 3,135 โครงการ จากที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอขอไป 1,833 ล้านบาท โดยส่วนที่ตัดเป็นงบการบริหารโครงการออกไป โดยใช้งบกลาง 1,659 ล้านบาท มาดูแลพืชใช้น้ำน้อย 27 จังหวัด 152 ล้านบาท 408 โครงการ ด้านการเกษตรอื่น ๆ 58 จังหวัด 1,218 ล้านบาท งบกิจกรรมนอกภาคเกษตร 58 จังหวัด 521 ล้านบาท

          ทั้งหมด คือแนวทางที่รัฐบาลและ กระทรวงเกษตรฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องได้ร่วมมือร่วมแรงกันภายใต้ยุทธศาสตร์ "ประชารัฐ" มุ่งหวังฝ่าวิกฤติการณ์ภัยแล้งที่ส่อเค้ารุนแรงขึ้นครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือนร้อนของเกษตรกรและประชาชน.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กระทรวงเกษตรฯ เกาะติดสถานการณ์ “ปุ๋ย-สารเคมี” เร่งด่วน

เกษตรฯโชว์ผลเกาะติดสถานการณ์ “ปุ๋ย-สารเคมี” เร่งด่วน ฟันไม่เลี้ยงผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย 7 ราย พร้อมยึดของกลางกว่า 247 ตัน มูลค่า 14.37 ล้านบาท ชี้ภัยแล้งกระทบพื้นที่เกษตรลด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอผลิต อัตราซื้อน้อย สั่งจับตาการใช้ปุ๋ยตามฤดูกาลผลิตพืชทุกภาค ลดปัญหารถเร่ขายปุ๋ยปลอม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึงผลการตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามภารกิจเร่งด่วนว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ย วัตถุอันตราย และพันธุ์พืชอย่างเร่งด่วนตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรและให้เห็นผลภายใน 3 เดือน โดยให้สารวัตรเกษตรและเครือข่ายสารวัตรเกษตรกว่า 400 นาย สแกนสถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งช่วงเดือนที่ผ่านมา ได้เข้าตรวจสอบแหล่งผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแล้ว 4,606 แห่ง พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างและสั่งอายัดเพื่อวิเคราะห์คุณภาพ แบ่งเป็น ปุ๋ย จำนวน 60 ตัวอย่าง อายัดปุ๋ยชนิดเม็ด 3,151.8 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 6 ลิตร วัตถุอันตราย จำนวน 64 ตัวอย่าง อายัด 37 กิโลกรัม ชนิดน้ำ 452.5 ลิตร และพันธุ์พืช จำนวน 24 ตัวอย่าง อายัด 41.38 กิโลกรัม

 ขณะเดียวกันสารวัตรเกษตรยังได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าจับกุมดำเนินคดีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย จำนวน 7 ราย พร้อมยึดของกลาง 25 รายการ ปริมาณ 247 ตัน มูลค่ารวม 14.37 ล้านบาท ซึ่งพบประเด็นความผิด คือ 1.ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ประเทศไทยห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท 3.ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท 4. ผลิตปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท 5.ผลิตปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุก 1-5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท 6.ขายปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 7.ผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่ ปีหรือเกิน 5 ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ8.ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 37,500-375,000 บาท โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม และปทุมธานี

 “จากการคาดการณ์ว่า อาจเกิดปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลให้พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมลดลงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนผลิตปัจจัยการผลิตไว้เพื่อรอจำหน่ายเนื่องจากเกรงว่าจะไม่มียอดสั่งซื้อ และสินค้าที่เก็บสต็อกไว้เป็นเวลานานอาจเสื่อมคุณภาพได้ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันทั้งเรื่องต้นทุนสินค้า และการตลาด จึงชะลอการผลิตไว้ก่อน ซึ่งผู้ประกอบการที่ยังมีการผลิตในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ส่วนการซื้อขายปัจจัยการผลิตผู้ประกอบการเลือกที่จะขายแบบเงินสด เพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่าการขายแบบเงินเชื่อ ทำให้มีลูกค้าลดลง ทั้งยังพบว่า การที่เกษตรกรไม่ได้ทำนาปรังและปัญหาราคายางตกต่ำ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตปุ๋ยสำหรับข้าวและยางพาราลดลงตามไปด้วย และพบอีกว่า มีวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่วางจำหน่ายในร้านค้าบางส่วนมีเลขทะเบียนเก่าซึ่งหมดอายุแล้ว กรมวิชาการเกษตรจะเร่งวางมาตรการเพื่อกำจัดสินค้าดังกล่าวออกจากระบบทั้งหมดโดยเร็ว” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว

 อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้กำชับให้สารวัตรเกษตรติดตามตรวจสอบและควบคุมปัจจัยการผลิตตามฤดูกาลผลิตพืช และจับตาสูตรปุ๋ยทุกสูตรที่เกษตรกรนิยมใช้มากและมีความเสี่ยงที่จะมีการผลิตปุ๋ยปลอม เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 16-20-0, 21-0-0, 16-8-8, 15-15-15, 8-24-24, 16-16-8, 16-16-16 และ 15-9-20 เป็นต้น เพื่อควบคุมและลดปัญหารถเร่จำหน่ายปุ๋ยปลอมในพื้นที่ช่วงเกษตรกรต้องการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกจะใช้ปุ๋ยมากในระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม ทั้งในข้าว ยางพารา เงาะ ลำไย สับปะรด ทุเรียน ลองกอง และมันสำปะหลัง จึงได้กำหนดมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ได้แก่ วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่เป็นทะเบียนเก่าต้องมีเอกสารซื้อขายและแหล่งที่มาเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายเบื้องต้นในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร

 “ภาคใต้และภาคกลางเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยตลอดทั้งปี โดยใช้ในข้าว ไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เงาะ ทุเรียน ลองกอง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เบื้องต้นได้ประสานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในท้องถิ่นให้แจ้งเบาะแสเมื่อพบการเร่ขายปัจจัยการผลิตในพื้นที่ ส่วนภาคเหนือเน้นเฝ้าระวังร้านค้าที่มีความเสี่ยงกระทำความผิด โดยจัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ประเทศไทยห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง จำนวน 98 รายการ แจกจ่ายตามร้านค้า จัดทำแผ่นพับแนะนำการเลือกซื้อปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืชให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันยังได้สร้างเครือข่ายสารวัตรเกษตรอาสาเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อป้องกันการเร่ขายปัจจัยการผลิตปลอม พร้อมจัดทีมเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรด้วย” นายสมชายกล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คสช.สั่งคุมเข้มสินค้าเกษตรเข้าไทย พรัอมบังคับใช้กฎหมายรถขนอ้อยจริงจัง  

พล.อ.ธีรชัย นาควานิช  เลขาฯคสช. กำชับคุมเข้มลักลอบนำสินค้าเกษตรประเทศเพื่อนบ้านเข้าไทย พร้อมสั่ง กกล.รส.สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายรถขนอ้อยเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ขณะเดียวกันเอาจริงการจัดระเบียบสังคม ใครฝ่าฝืนปรับสูงสุด 5 หมื่น ถูกดำเนินคดี กระตุ้นใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมช่วยแก้ปัญหาชาวบ้าน

                ที่กองบัญชาการกองทัพบก วันนี้ (15 ก.พ.) พล.อ. ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมสำนักงานเลขาธิการ คสช. โดยได้กล่าวขอบคุณทุกส่วนงานที่เร่งรัดดำเนินงานในทุกด้านอย่างเรียบร้อย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สั่งการให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) และ กองกำลังป้องกันชายแดน เข้มงวดในมาตรการป้องกันมิให้มีการลักลอบนำเอาพืชผลทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านออกนอกพื้นที่ชายแดน หรือนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต โดยให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับภารกิจสกัดกั้นการลักลอบนำพืชผลทางการเกษตรที่ผิดกฎหมายที่มักจะลักลอบเข้ามาทางช่องทางตามธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนอีกด้วย ที่สำคัญให้มีการประสานข้อมูลกับกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องโควตาการนำเข้า เพื่อให้สอดคล้องกันกับการปฏิบัติในพื้นที่

                อย่างไรก็ตาม การเข้มงวดในการดูแลผลิตผลทางการเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศ ก็เพื่อรักษาสิทธิ์ของเกษตรกรไทยและป้องกันมิให้มีผลกระทบต่อราคาพืชผลในประเทศ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว เป็นต้น

                นอกจากนี้ เลขาธิการคสช. ได้สั่งการให้ กกล.รส.สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายในการจัดระเบียบการจราจรและการขนส่งสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะการขนส่งต้นอ้อยจากพื้นที่ปลูกไปยังโรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งบางพื้นที่มีการบรรทุกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และการผูกรัดตรึงไม่เรียบร้อย สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยให้กกล.รส.ประสานความร่วมมือกับสำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, ผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำตาลเกษตรกร และตำรวจ เข้มงวดในมาตรการและแนวทางการปฏิบัติที่มีอยู่แล้วในทุกพื้นที่ เช่น การควบคุมความสูงของรถบรรทุกอ้อย, การติดสัญลักษณ์ไฟสัญญาณ, การทำประกันภัยประเภทอุบัติเหตุสำหรับรถบรรทุกอ้อยทุกคัน ,การตรวจสภาพรถให้พร้อมใช้งาน ,การขอความร่วมมืองดรับซื้ออ้อยเข้าสู่โรงงานในเทศกาลสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางสัญจรที่คับคั่งโดยการจัดระเบียบรถขนส่งอ้อยดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการนำร่องแล้วในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 จ.สุโขทัย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

                ทั้งนี้ เลขาธิการ คสช. ได้สั่งการให้ กกล.รส. ทุกกองทัพภาค เริ่มจัดระเบียบทันที เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมการขนส่งสินค้าทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย

                สำหรับความต่อเนื่องในเรื่องการจัดระเบียบสังคม กกล.รส. ได้ดำเนินการในหลายมิติ ล่าสุดในพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม. จากการหารือร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดต่อผู้กระทำผิดคือ ปรับ 50,000 บาท ยกเลิกสัญญา ดำเนินคดีตามความผิด

                นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลมอบให้ คสช.ช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาแฟลตดินแดง กทม. ซึ่งขณะนี้ กกล.รส.กองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ารับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้พักอาศัย และการตรวจสอบข้อจำกัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่ง เลขาธิการ คสช. ได้กำชับให้ ตรวจสอบทุกสภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อโครงการ พร้อมเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนงานที่รัฐบาลกำหนด ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน

                ส่วนเรื่องการรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรนั้น ให้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชนผู้รับซื้อยางและเกษตรกร ถึงปัญหาและรวบรวมข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลนำไปสู่การปรับปรุงโครงการ ให้เป็นไปตามกลไกและความต้องการของเกษตร อาทิ ปริมาณหรือข้อจำกัดของการรับซื้อ

                เลขาธิการ คสช. ยังคงห่วงใยและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยย้ำถึงการใช้กลไกศูนย์ดำรงธรรมในการแก้ปัญหาในทุกเรื่องในทุกพื้นที่ ด้วยวิธีการลงไปสืบค้นปัญหาควบคู่ไปกับการรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน ที่ผ่านมาปัญหาที่ได้รับการแก้ไขส่วนใหญ่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

จาก http://manager.co.th   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผวา‘หมอกควัน’ลามหนักช่วงแล้ง เกษตรฯปูพรมเตือนเกษตรกร10จว.งดเผาตอซังพืชเตรียมดิน

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งให้มีการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีการตรวจพบจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลในปี 2558 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ตรวจพบว่าเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเหนือรวม 1.83 ล้านไร่ มีตำบลที่มีการเผาในระดับสูงกว่า 200 ตำบล จะมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง อันมีสาเหตุหลักเกิดจากเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาและการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรรอบใหม่ซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผานี้จะเกิดหมอกควันไฟและฝุ่นละออง ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัดส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้สูญเสียน้ำในดิน เนื้อดินจับตัวกันแน่นแข็ง สูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดิน

ดังนั้น มาตรการแก้ไขปัญหาและเป้าหมายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรในปี 2559 กระทรวงเกษตรฯ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยมี 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมฝนหลวงฯ เร่งส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกร ทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย /ทำการเกษตรปลอดการเผา โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสร้างเกษตรกรต้นแบบสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบใน 20 จังหวัด และเป็นจุดเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีปัญหาการเผาต่อไป ในพื้นที่เป้าหมาย คือ ตำบลที่มีการเผาในระดับสูงขณะที่กรมพัฒนาที่ดินร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่างๆ ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรทราบถึงผลเสียของการเผาตอซังพืช และให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้วิธีการไถกลบตอซังพืชร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.2แล้วไถกลบ พร้อมจัดทำแปลงสาธิตการเรียนรู้การไถกลบตอซัง จำนวน 50 แปลง แปลงละ 20 ไร่ ใน 10 จังหวัด และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยขับเคลื่อนด้วยกลไกของศูนย์บริการการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อลดหมอกควัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ติดตามสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยพร้อมออกปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติการ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาปัญหาหมอกควันโดยใช้อากาศยาน CASA 2 ลำ

ด้าน นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 10 จังหวัด ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านต่างๆ ทำการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรทราบถึงผลเสียของการเผาตอซังพืช รับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ของการใช้วิธีไถกลบตอซังพืชลงไปในดิน ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำ ได้ผลในการปรับปรุงโครงสร้างดินและบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยการทำน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 หมักกับพืช ผัก หรือเศษอาหารตามบ้านเรือนนำมาช่วยในการหมักย่อยสลายตอซังพืช ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ดินซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังได้ดี ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิต และช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีลงได้อย่างดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กอน.ยังไม่เคาะเงินเพิ่มอ้อย 160 บาท 

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้หาแนวทางในการช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 โดยเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตันอ้อย จากเดิมที่กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นเป็นรายเขต 2 ราคา คือ 773 บาท/ตัน และ 808 บาท/ตัน แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากต้องการข้อมูลปริมาณอ้อยที่เข้าหีบและวงเงินกู้ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

          ทั้งนี้ ที่ประชุม กอน.มอบหมายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) รวบรวมข้อมูลและวงเงินที่จะขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาจ่ายค่าอ้อยส่วนเพิ่มดังกล่าว

          ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมปรับลดปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิต 2558/2559 ที่คาดว่าจะเข้าหีบจาก 109 ล้านตัน เหลือ 100-103 ล้านตัน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางต่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

พาณิชย์เล็งดึงกลุ่มทุนสหรัฐ เข้ามาในไทย-อาเซียน หลังรวมกันเป็น‘เออีซี’

 “อภิรดี”เตรียมร่วมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน บินไปสหรัฐจัดกิจกรรม AEM Roadshow to U.S. ประชาสัมพันธ์ ศักยภาพ “อาเซียน” หลังเข้าสู่ AEC พร้อมดึงดูดการค้าและการลงทุนจากสหรัฐ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.2559 ณ เมือง Sunnylands รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งผู้นำอาเซียนและสหรัฐ จะมีการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ในทุกมิติ ภายหลังจากที่ได้ยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในกรอบอาเซียน (Strategic Partnership) และเชื่อว่าการเดินทางเยือนสหรัฐ ของผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ จะเป็นบันทึกหน้าสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐ”

นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 17-18 ก.พ. 2559 ตนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรวม 10 ประเทศ จะเข้าร่วมกิจกรรม AEM Roadshow to U.S. ที่นครซานปรานซิสโก และ Silicon Valley เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน หลังจากที่อาเซียนได้ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558ไปแล้ว เพื่อให้สหรัฐ ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อการค้าและการลงทุนของสหรัฐ ซึ่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะเข้าร่วมงานสัมมนาU.S.–ASEAN Business Council Conference ของสภาธุรกิจสหรัฐ–อาเซียน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหมุนเวียนกันเป็นองค์ปาฐกอภิปรายการที่อาเซียนเข้าสู่การเป็นAECและวิสัยทัศน์อาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้นักธุรกิจสหรัฐ เห็นถึงความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน และยังคงทำการค้า การลงทุนกับอาเซียน

“จะมีการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้แผนงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน–สหรัฐให้เป็นรูปธรรม และหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียน โดยเฉพาะการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) และนวัตกรรม”

ทั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ยังมีกำหนดเยี่ยมชมการจัดแสดงเมืองอัจฉริยะและการพัฒนาเมืองสีเขียวของนครซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคของเมือง รวมทั้งพบปะหารือกับผู้แทนจากบริษัทสหรัฐ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของนครซานฟรานซิสโก และ Silicon Valley อาทิ บริษัทGoogle Prospect SiliconValley และ Silver Spring Networks ซึ่งนับเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐของอาเซียนกับภาคเอกชนสหรัฐ ในการส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันในอนาคต

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุลรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตและการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมว่า จะมีการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและขนส่ง เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะรายงานต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 ก.พ. นี้ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ผุด3โปรเจกท์ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำสาขา‘กำแพงเพชร’

นายอาจิตร์ สุวานิชวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 เปิดเผยว่า กรมชลประทานกำลังดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำปิงในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการฝายท่ากระดาน ต.ท่าขุนราม อ.เมือง เนื่องจากเกิดการชำรุดเสียหาย เพราะใช้งานมายาวนานถึง 34 ปี น้ำไหลลอดตัวฝาย และมีตะกอนตกจมบริเวณหน้าฝายจำนวนมาก โดยมีการออกแบบใหม่ให้เป็นฝายผสมกับประตูระบายน้ำ กรณีน้ำหลากจากด้านบนลงมา สามารถปิดบานประตูเพื่อชะลอการไหลไว้ไม่ให้ไหลลงไปท่วมพื้นที่ด้านล่างและสามารถปล่อยน้ำได้ตามความต้องการ

“ฝายท่ากระดานจะทำหน้าที่ทั้งการเป็นฝายเพื่อยกระดับน้ำส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม และเป็นประตูระบายน้ำเพื่อช่วยในการระบายน้ำและตะกอนทราย ใช้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 176.1 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 ซึ่งจะทันกับช่วงน้ำหลากในปีนี้อย่างแน่นอน”

นายอาจิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองไพรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 6 ต.นาบ่อคำอ.เมืองกำแพงเพชร เมื่อก่อสร้างเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 15 ล้านลบ.ม. ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 9,600 ไร่ค่าก่อสร้าง 328 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี 2558-2560 และโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำวัดบรมธาตุและประตูระบายน้ำบ้านสว่างอารมณ์ต.นครชุม อ.เมืองกำแพงเพชร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมากเพื่อควบคุมการไหลก่อนบรรจบแม่น้ำปิง และมีการสูบกลับของสถานีสูบน้ำในกรณีที่น้ำในคลองสวนหมากมีน้อย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในลำคลองสวนหมากเพื่อใช้ทำการเกษตรได้ 5,000 ไร่ และยังสามารถพัฒนาบริเวณ 2 ฝั่งคลองสวนหมากให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนนครชุมอยู่ในแผนงานก่อสร้างปี 2559-2561 คาดว่าจะใช้งบก่อสร้างประมาณ 350 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงพาเหรดลดราคา รับอานิสงส์น้ำมันร่วงจับตานมผงจ่อคิว

เฮ! ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลงลดราคารับอาสิสงส์น้ำมันร่วง "กรมการค้าภายใน” ชี้จับตาผู้ประกอบการ นม-ข้าวสาร และสินค้าชีวิตประจำวันแจ้งความจำนงเป็นราคาต่อไป เผย 59 ทำรายการสินค้าลดลงแล้วรวม 13 สินค้า 112 รายการ ลดลงเฉลี่ย 1.6-25%

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมมีมาตรการดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน โดยมีสูตรการคำนวณที่ชัดเจนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงอีกภายหลังจากที่รัฐบาลมีแผน จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

"แม้ราคาน้ำมันลดลง แต่กรมยืนยันจะเดินหน้าดูแลราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่อไป ล่าสุดผู้ประกอบการปุ๋ยแจ้งมายังกรมว่า จะลดราคาขายลงอีก 5 บาท จากก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2558 ที่ได้ลดราคาลงไปกระสอบละ 35-70 บาท หรือ 4.04-10.53% ทำให้ราคาจำหน่ายเฉลี่ยที่กระสอบละ 500 กว่าบาท-600 บาท เช่นเดียวกับยาฆ่าแมลง ได้แจงว่าจะลดราคาลงอีก จากก่อนหน้านี้ที่ลดราคาเฉลี่ยที่ 8-10%

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมานั้น มีสินค้าที่ลดราคาแล้วจำนวน 13 สินค้า 112 รายการ ปรับราคาลดลงเฉลี่ย 1.6-25% ได้แก่ นมผง นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ข้าวหอมมะลิ ปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำส้มสายชู ซอสปรุงรส ปูนซีเมนต์ สายไฟฟ้า เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กเส้น ส่วนสินค้าชีวิตประจำวัน ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน อยู่ระหว่างรวบรวมการปรับลดราคาลง เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการแจ้งความจำนงขอปรับลดราคาสินค้าเข้ามาที่กรมอย่างต่อเนื่อง

นางสาววิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า จะหารือกับผู้ผลิตสินค้ายางรถยนต์ ถึงแนวการปรับลดราคาลงอีก เพราะเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการลดลงทั้งจากราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต คือยางพารา แต่เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีสต็อกสินค้าคงค้าง และเป็นสต็อกที่อยู่กับผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก ดังนั้นการลดราคาจึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบผู้ประกอบการายย่อยจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยสินค้ายางพาราได้ปรับลดลงในปี 2558 สัดส่วน 5-10% เนื่องจากใช้ต้นทุนยางพาราในราคาเดิมที่ กก.ละ 77-80 บาท ส่วนราคารุ่นใหม่ลดลงแล้ว 16-39% ตามต้นทุนราคายางในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดีเซล เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2559 อยู่ที่ 20.24 บาทต่อลิตร ลดลงจากช่วงปลายปี 2558 ที่ลิตรละ 20.64 บาท กระทบต่อราคาสินค้า โดยคำนวณจากต้นทุนค่าขนส่งเฉลี่ยที่ 2-17% แล้วแต่าชนิดของสินค้า โดยสินค้าที่มีน้ำหนักมากได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก กระเบื้องมุงหลังคา จะมีสัดส่วนต้นทุนค่าขนส่งสูง สำหรับสินค้าที่มีน้ำหนักน้อย ได้แก่ สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำมันพืช ปลากระป๋อง และสินค้ากลุ่มของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ ผงซักฟอก เป็นต้น จะมีสัดส่วนต้นทุนค่าขนส่งต่ำ

"โดยทั่วไปแล้ว ต้นทุนค่าขนส่งมีสัดส่วนของต้นทุนน้ำมันดีเซล คิดเป็น 40% ดังนั้น ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลง 32.51% ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง 13% และกระทบต่อต้นทุนสินค้ารวมสัดส่วนเพียง 0.26-2.21%" นางสาววิบูลย์ลักษณ์.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานฯผนึกสวทช.ลุยตรวจ รง.ทั่วไทยนำงานวิจัยช่วย

          กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างก้าวกระโดด ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) เรื่อง "ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม" พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายละไม่เกิน 4 แสนบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าของการลงทุน

          นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)การจะยกระดับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ จะต้องเน้นการวางรากฐาน ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในปี 2557 ประเทศไทยมีมูลค่าจีดีพีเป็นอันดับที่ 32 ของโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญโดยช่วยสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมถึงร้อยละ 34 ส่งผลให้มี มูลค่าจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 30 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน+3 จัดอยู่ในประเภทที่มีขีดความสามารถ

          "แต่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงผลิตเพื่อ การส่งออก และยังคงพึ่งพิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงนำโจทย์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม มาสู่การทำวิจัย แล้วสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผนึกกำลังกับ สวทช. ลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางวิจัย และพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมของอาเซียน ซึ่งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงของอุตสาหกรรมในบริการของรัฐ ตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต" นายพรชัย กล่าว

          ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่ต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการ ให้มุ่งเน้นบทบาทในการเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการนี้ เพื่อพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด

          "โดยความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มบูรณาการด้วยการยกระดับการตรวจโรงงาน ซึ่งในการตรวจสอบโรงงานนี้ กรมโรงงานฯ จะร่วมกับนักวิชาการของ สวทช. เมื่อพบปัญหาในการประกอบกิจการของแต่ละรายแล้ว จะนำปัญหามาวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้โรงงาน และให้ความรู้แก่อุตสาหกรรมรายอื่นๆ ต่อไป โดยโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต้องการให้กรมโรงงานฯ ช่วยแก้ไขปัญหาจะได้รับการสนับสนุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน รายละไม่เกิน 4 แสนบาท ซึ่งเป็นภารกิจของกรมโรงงานฯ ในการดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม (วทน.) ในกระบวนการผลิต ทั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ของ สวทช. ที่ให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต จึงนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในการยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม" อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าว

          ดร.พสุ กล่าวสรุปว่า การร่วมมือครั้งนี้ กรมโรงงานฯ จะผลักดันให้เพิ่มการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนา หรือปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมทั้งกระบวนการกำจัดกากของเสีย โดยสนับสนุนให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยผ่านกลไก ทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การบริหารการผลิต ปรับปรุงกระบวนการผลิต และวิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงการอบรมสัมมนาและการจัดหาทรัพยากรสนับสนุนที่จำเป็น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อแข่งขันกับระดับสากลต่อไป

          ในส่วนของ สวทช. จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความพร้อม และความมุ่งมั่นตั้งใจเข้าร่วมโครงการสำหรับส่งเสริมการพัฒนา โดยตั้งเป้าใน 2 ปี จะมีผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 100 ราย คาดว่า จะสร้างผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าจากการลงทุน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2202-4000 และ 3967 หรือสำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 1-5 หรือสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ที่รับผิดชอบกำกับดูแลการดำเนินการตามประเภทโรงงาน หรือกลุ่มอุตสาหกรรมของท่าน และ www.diw.go.th

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

ก.เกษตรมั่นใจน้ำในเขื่อนพอใช้ถึงหน้าฝน

โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มั่นใจน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ใช้พอถึงฤดูฝน ขณะ 18 ก.พ. เชิญร่วมเสนอความเห็นแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ล่าสุดอยู่ที่ 3,258 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขอให้มั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอจนถึงช่วงฤดูฝนของปีนี้ อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ ยังมีโครงการอีกกว่า 6,000 โครงการ วงเงิน 3,600 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหาและดูแลเกษตรกรช่วงภัยแล้ง อยู่ระหว่างการเสนอให้ ครม. พิจารณา นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม ได้มีการจัดโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตรทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 220,000 ราย ซึ่งล่าสุดดำเนินการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น มีเกษตรกรร่วมโครงการ 68,500 ราย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเสนอให้ความเห็นนอกเหนือจากแผนงานที่กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการอยู่ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559

ปุ๋ย สารเคมีปลอม อาชญากรทางการเกษตร 

          เป็นที่ทราบกันในภาคการเกษตรว่าในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกพืชของเกษตรกร แน่นอนว่าปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้งปุ๋ย เมล็ดพันธุ์และสารเคมี จะเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอย่างมากในช่วงเวลานี้ทำให้มีผู้ประกอบการบางรายฉวยโอกาสผลิตสินค้าปลอม และด้อยคุณภาพออกมาจำหน่ายเกษตรกรซึ่งนอกจากจะใช้ไม่ได้ผลแล้วยังทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นตามไปด้วย

          นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหน่วยปฏิบัติกาสารวัตรเกษตรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรออกตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศ พร้อมๆ กัน ซึ่งการออกตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษจากภารกิจเดิมที่เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรได้ออกตรวจสอบเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มักพบการระบาดของปุ๋ยและสารเคมีปลอมมาก   ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตรทั้งประเทศรวมจำนวน 42,480 ราย

          ภายหลังส่งหน่วยปฏิบัติการสารวัตรเกษตรออกตรวจสอบในทุกพื้นที่ ได้สั่งการให้มีการรายงานผลการออกตรวจสอบทุก 15 วัน  ซึ่งรายงานล่าสุด ณ วันที่ 26 มกราคม 2559 ได้ออกตรวจสอบสถานที่ผลิตปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมจำนวน 200 แห่ง ได้อายัดปุ๋ยเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 784 กิโลกรัม สารเคมีจำนวน 173 ลิตร  และพันธุ์พืชอีกจำนวนหนึ่ง

          ตรวจสอบร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จำนวน 2,265 ร้านค้า อายัดปุ๋ยเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ จำนวน 1,561 กิโลกรัม สารเคมี 11.5 ลิตร และพันธุ์พืชอีกเล็กน้อย ซึ่งตัวอย่างที่อายัดไว้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร

          อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เข้าไปดูแลปกป้องผลประโยชน์ให้เกษตรกรตามนโยบายลดต้นทุนการผลิตของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้การปราบปรามปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ได้คุณภาพมีความเข้มข้นเช่นเดียวกับการปราบปรามยาเสพติด เนื่องจากการหลอกขายปัจจัยการผลิตที่ด้อยคุณภาพส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

          การส่งหน่วยปฏิบัติการสารวัตรเกษตรออกตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรพร้อมกันทั่วประเทศในครั้งนี้  เป็นการส่งสัญญาณว่า  ถึงแม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสารวัตรเกษตรจะปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ในระยะเวลา 3 เดือนที่เข้าสู่ช่วงวิกฤตนี้ กรมวิชาการเกษตรจะทำหน้าที่สำรวจ ตรวจสอบ สถานที่ผลิตและร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทั้งประเทศให้มีแต่ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพเพื่อที่จะนำไปสู่ความมั่นใจของเกษตรกรในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตมาใช้ และเชื่อมั่นในนโยบายลดต้นทุนการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มิใช่เพียงแค่การลดราคาสินค้าแต่จะดูแลคุณภาพของสินค้าให้แก่เกษตรกรด้วย

          ทั้งนี้ นอกจากการควบคุมกำกับดูแลและปราบปรามผู้กระทำผิดแล้ว  กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (Q shop) ควบคู่ไปด้วย เพื่อยกระดับร้านค้าให้ได้มาตรฐาน และจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ Q shop แล้วจำนวน 2,774 ร้านค้า และในปี 2559 นี้กรมวิชาการเกษตรมีแผนการดำเนินงานตรวจสอบรับรองร้าน Q shop เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ร้านค้า

จากhttp://www.matichon.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เกษตรลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้ง 13 จังหวัด 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งครอบคลุม 13 จังหวัด ประกอบด้วย 50 อำเภอ 257 ตำบล รวม 2,407 หมู่บ้าน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะพุ่งเป้าในการหาเวลาลงพื้นที่เพื่อพบปะกับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในสัปดาห์นี้

          นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ดังนี้ การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยจัดทำโครงการอบรมเพิ่มความรู้ในการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรผ่านศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) มีเป้าหมายจัดการอบรมทั้งหมด 5 รุ่น และใช้ศูนย์การเรียนรู้ 882 เป็นพื้นที่อบรมเกษตรกร

          ทั้งนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.พ. พื้นที่ทั้งหมด  46 จังหวัด 536 ศูนย์ เกษตรกรเข้ารับการอบรมทั้งหมด 26,800 ราย โดยวันที่ 8-12 ก.พ. พื้นที่ทั้งหมด 28 จังหวัด 305 ศูนย์ เกษตรกรเข้าอบรมทั้งหมด 15,250 ราย และ 3 จังหวัดสุดท้าย คือ วันที่ 15-19 ก.พ. ใช้ศูนย์อบรม 41 ศูนย์ เกษตรกรจำนวน 2,050 ราย โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมอบรมแล้วทั้งหมดจำนวน 68,850 ราย จ่ายเงินแล้ว 52 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าอาหารและเดินทางในการเข้ารับการอบรม

          ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเร่งแก้ปัญหาการประปาสาขาดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีที่ขาดแคลนน้ำ โดยเพิ่มวันส่งน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ส่งผลให้น้ำไหลถึงจุดสูบน้ำประปาดอนเจดีย์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สศก.เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตร-ผลผลิต ม.ค.59 ลดลง

สศก.เผย ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือน ม.ค. ลดลง 1.44% ชี้มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง กาแฟ ออกสู่ตลาดมากสุด ทำราคาร่วง

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาสินค้าเกษตร ซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมกราคม 2559 ลดลงร้อยละ 1.44 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 สำหรับสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และหอมแดง โดยมันสำปะหลังลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับคุณภาพไม่ค่อยดี ส่วนยางพาราลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง และหอมแดงลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นตามทิศทางตลาดล่วงหน้ามาเลเซีย

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2558 ภาพรวมลดลงร้อยละ 6.27 โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา และไก่เนื้อ โดยอ้อยโรงงาน ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับคุณภาพไม่ค่อยดี เพราะค่าความหวานต่ำ ยางพาราราคาลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอ และไก่เนื้อราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงานราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และหอมแดง ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2558 พบว่า ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.79 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง หากเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2558 ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 34.53 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และสุกร ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน หอมแดง และกาแฟ

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สอน.อนุมัติตั้งอีก 6 โรงงานน้ำตาล รวมแล้วไฟเขียว 12 แห่งเงินลงทุน6หมื่นล้านเหลือ 1 รายจ่อคลอด

สอน.ปล่อยใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 6 ราย รวมกำลังผลิต 14.76 ล้านตันต่อปี รวมที่อนุมัติแล้ว 12 ราย กำลังผลิต 29.16 ล้านตันต่อปี มูลค่าเงินลงทุนรวม 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ไทยเอกลักษณ์ จ่อไฟเขียว หากได้ข้อยุติจากศาล ด้านน้ำตาลครบุรีเดินหน้าทำอีไอเอ ผุดคอมเพล็กซ์ มูลค่าลงทุน 7 พันล้านบาทรองรับโรงงานน้ำตาลใหม่

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่สอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล ยื่นเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่ ซึ่งได้มีผู้สนใจยื่นคำขอเข้ามา 30 คำขอ โดยได้พิจารณาออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือให้ย้ายโรงงานน้ำตาลในเบื้องต้นได้แล้วจำนวน 6 แห่ง(ดูตารางประกอบ) เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสอน.ได้พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลครบุรี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีกำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน บริษัท เรโนไทย อินตัสทรี้ จำกัด อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กำลังผลิต 1.5 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ อำเภอโนนนารายณ์ จังหวัดสุรินทร์ กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน โรงงานน้ำตาลมิตรผล อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน และโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 2.8 หมื่นตันต่อวัน รวมกำลังผลิต 1.23 แสนตันต่อวัน ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 12 แห่ง รวมกำลังผลิต 2.43 แสนตันต่อวันหรือประมาณ 29.16 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดเงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว ทางสอน.ได้ให้ผู้ประกอบการมาลงนามรับทราบในเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งรัดการลงทุน หรือมีความเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับการทำอีไอเอ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุนหรือนำไปดองไว้ เพื่อเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ประกอบรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอีก 1 โรงงาน ของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่จะย้ายมาตั้งในจังหวัดสุโขทัย กำลังผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งได้มีการฟ้องร้องกระทรวงอุตสาหกรรมที่ไม่ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลให้ ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตและกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการยื่นอุทธรณ์ศาลไปแล้ว ดังนั้น หากคดีดังกล่าวได้ข้อยุติก็จะสามารถอนุมัติการออกใบอนุญาตให้ได้ หากรวมทั้งหมดจะมีโรงงานน้ำตาลใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพียง 13 แห่งเท่านั้น

 นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำภายใต้แบรนด์ “KBS” เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมแผนลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ไว้แล้ว โดยได้มีการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จและได้รับการอนุมัติอีไอเอได้ราวช่วงกลางปีนี้ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ตามเงื่อนไขที่สอน.กำหนด พร้อมกับคู่สัญญาที่ทำไว้กับชาวไร่อ้อยแล้ว

ดังนั้น เมื่อสอน.อนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่แล้ว ทางบริษัท จะมีการหารือกับบริษัท มิตซุย ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมทุนเพื่อสรุปแผนการลงทุนที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ โดยแผนการลงทุนนั้นจะมีการจัดตั้งเป็นคอมเพล็กซ์ขึ้นมา นอกเหนือจากลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตันอ้อยแล้ว จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ และการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล ขนาดกำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดราว 6-7 พันล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแผนโรงงานน้ำตาลคาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ในปลายปี 2562

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ไทยผู้นำผลิต-ส่งออกน้ำตาลของอาเซียน

ทำกินถิ่นอาเซียน : ไทยผู้นำผลิต-ส่งออกน้ำตาลของอาเซียน : โดย ... รศ.สมพร อิศวิลานนท์

                      ในปี 2557 อาเซียนมีปริมาณการผลิตน้ำตาลที่มาจากการแปรรูปอ้อย โดยรวม 19.23 ล้านตัน เป็นผลผลิตจากประเทศไทยเกินกว่าครึ่ง และรองลงมา 3 ลำดับ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่เหลือเป็นการผลิตจากเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน มีการผลิตเพียงเล็กน้อยจนถึงไม่มีการผลิต

                      ในด้านการบริโภค หรือการใช้ประโยชน์น้ำตาลทรายในอาเซียน มีปริมาณการบริโภคโดยรวม 14.34 ล้านตัน ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำตาลรายใหญ่ของอาเซียน หรือประมาณหนึ่งในสามของปริมาณการบริโภคน้ำตาลของอาเซียน รองลงมาได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย

                      การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นมา มีผลให้ตลาดการค้าน้ำตาลทรายในอาเซียนกำลังปรับตัวเข้าสู่การเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่เคยจัดสินค้าน้ำตาลอยู่ในกลุ่มของสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง โดยที่ฟิลิปปินส์เรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 38 และอินโดนีเซียเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 30-40 นั้น ฟิลิปปินส์ได้ตกลงที่จะลดระดับภาษีการนำเข้ามาเป็นร้อยละ 5 อินโดนีเซียได้ตกลงที่จะลดภาษีการนำเข้ามาเป็นร้อยละ 5-10

                      ส่วนไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้ลดภาษีลงเป็นศูนย์มาตั้งแต่ปี 2553 สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา ตกลงที่จะลดอัตราภาษีลงเป็นศูนย์ภายใต้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเมื่อสิ้นปี 2558 เป็นต้นไป และที่จะจัดเก็บอัตราภาษีที่ร้อยละ 5 ได้แก่ เมียนมาร์ และเวียดนาม

                      อย่างไรก็ตาม การที่อาเซียนผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์ ทำให้อาเซียนมีปริมาณอุปทานการผลิตส่วนเกินเกือบ 5 ล้านตัน ที่จะต้องส่งออกไปยังตลาดนอกอาเซียน ซึ่งส่วนมากก็เป็นการส่งออกไปในตลาดนอกอาเซียนแต่อยู่ในเอเซียเป็นสำคัญ

                      ประเทศไทยจัดได้ว่าเป็นแหล่งผลิตและแหล่งส่งออกน้ำตาลทรายที่สำคัญของอาเซียน ประมาณว่า ร้อยละ 58.71 ของผลผลิตน้ำตาลทรายในอาเซียนเป็นการผลิตจากไทย อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญของอาเซียนอีกด้วย โดยจากปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของอาเซียนทั้งหมด 10.23 ล้านตันนั้น เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยถึงร้อยละ 85.92 ตลาดผู้นำเข้าน้ำตาลที่สำคัญในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียมีประชากรมากและการผลิตไม่เพียงพอกับการใช้ประโยชน์ภายในประเทศ ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นผู้นำเข้า เพราะขาดแหล่งเพาะปลูกอ้อยในประเทศ

                      หากย้อนดูอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ได้ขยายตัวเติบโตจนมีเสถียรภาพและมีการผลิตส่วนเกินจำนวนมากจนเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายลำดับ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิลได้นั้น เกิดจากการรวมภาคการผลิตอ้อยและภาคการผลิตน้ำตาลเข้าด้วยกันภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527

                      เนื่องเพราะก่อนหน้านั้นประเทศไทยก็เคยประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลทรายไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และต้องนำเข้าอยู่เป็นประจำ อีกทั้งราคาน้ำตาลก็ไม่มีเสถียรภาพ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ได้เป็นเครื่องมือในการจัดระบบการผลิตและการจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายโดยนำผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อย โรงงานและผู้บริโภคมาสร้างความเป็นธรรม รวมถึงเสถียรภาพด้านราคา

                      ปัจจุบันไทยมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 9.3 ล้านไร่ มีผลผลิตอ้อย 103 ล้านตัน โดยผลิตเป็นน้ำตาลทรายชนิดต่างๆ ได้โดยรวม 11.29 ล้านตัน ผลผลิตดังกล่าวถูกใช้ภายในประเทศร้อยละ 22.14 และเป็นการส่งออกร้อยละ 77.86 ของผลผลิตน้ำตาลที่ผลิตได้

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สมคิดเลิกหวังการค้าโลก หนุนเติบโตภายในประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา“10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ โอกาสทองสู่อาเซียน” ว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผ่านการพัฒนาสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เช่น นำความรู้ทางการเกษตรผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วยดูแล การนำบทวิจัยมารวมเป็นศูนย์ทางวิชาการ เพื่อสร้าง “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” และการสร้างอุตสาหกรรมตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านผ่านการพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ความร่วมมือแบบคลัสเตอร์ และสร้างสิ่งจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ ยังต้องดึงประเทศเพื่อนบ้าน CLMV+T เพื่อรวมประเทศไทยเข้าไปด้วย จึงเสนอให้จัดประชุมนานาชาติในช่วงกลางปีนี้ เพื่อดูสภาพตลาดร่วมกัน ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อรอโอกาสเหมาะบุกตลาดร่วมกัน

“ยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงต้องการเน้นการเติบโตจากภายในประเทศด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายแทนการปลูกพืชหลักที่ราคาตกต่ำ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีภาคเกษตร ด้วยการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้มีทุนในการทำสินค้าเกษตรแปรรูป คาดว่าเสนอครม.อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า”

นายนิยม ไวรัชพาณิชย์ รองประธาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงเป็นโอกาสทองของภาคเอกชนขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และขณะนี้การถือครองเงินสดตามแนวชายแดนเริ่มขยายตัว จึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในอำนวยความสะดวกโอนย้ายเงินจากการค้าขาย การออกใบอนุญาตผ่านแดนให้สอดคล้องกับวันเดินทางสอดคล้องกับกลุ่มอาเซียน ซึ่งอนุญาตเดินทางหลายวัน ขณะที่ไทยอนุญาตให้เดินทางไปเช้าเย็นกลับ

ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหพัฒน์อินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า สหพัฒน์บุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านหลายปี จึงเสนอให้พัฒนาด้านคมนาคมเพื่อความสะดวกขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกผ่านแดน ระบบการเงินต้องอำนวยความสะดวกให้ชัดเจน และควรเร่งเดินหน้า (NSW) ศูนย์กลางข้อมูลของกรมศุลกากรโดยเชื่อมกับหลายหน่วยงาน เพื่ออำนวย

 ความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ

นายวิเชษฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเบฟฯ มองตลาดอาเซียนมีความท้าทายและมีลูกค้า 700-800 ล้านคน เพราะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในภูมิภาคนี้ คาดว่าจีดีพีอาเซียนเติบโต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เร่งกำจัด‘วัชพืช’แม่น้ำ6สาย กรมชลเพิ่มประสิทธิภาพระบายลุ่มภาคกลาง

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามคณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เร่งดำเนินการขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ พร้อมทั้งกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ 20 จังหวัด ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การระบายน้ำ และฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ให้มีสภาพสมบูรณ์มากขึ้นนั้น

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้รับมอบหมายให้กำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำของแม่น้ำ 6 สายในลุ่มน้ำภาคกลาง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ถึงพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยเริ่มตั้งแต่ประตูน้ำบรมธาตุ จ.ชัยนาท ถึงประตูน้ำอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำท่าจีนเริ่มตั้งแต่ประตูน้ำพลเทพ จ.ชัยนาท ถึงสุพรรณบุรี และตั้งแต่เหนือประตูน้ำโพธิ์พระยาถึงสุดเขต จ.สุพรรณบุรี แม่น้ำลพบุรีเริ่มจาก จ.สิงห์บุรี ลพบุรี ถึงพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสักตั้งแต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี ถึงพระนครศรีอยุธยา และที่แม่น้ำแม่กลอง เริ่มตั้งแต่ใต้เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ถึงสมุทรสงคราม รวมปริมาตรกว่า 3.5 ล้านตัน

“ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะดำเนินการในแม่น้ำสายหลักแล้ว ยังรวมถึงคลองซอยชลประทาน ผักตบชวาที่ลอยนิ่งตามห้วยหนอง คลอง บึง ที่ลอยตามน้ำและมากองรวมอยู่หน้าประตูน้ำทุกแห่งด้วย” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

นายสมภพ สมประสงค์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี กล่าวว่า โครงการได้รับผิดชอบงานกำจัดวัชพืชบริเวณเหนือประตูระบายน้ำยางมณี รวมไปถึงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย-ขวา จำนวน 2 สาย คลองระบาย 5 สาย

“งานกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรจะสามารถกำจัดวัชพืชได้ประมาณ 70,000 ตัน และเรากำลังประกาศรับสมัครแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการงดทำนาปรังอีกประมาณ 160 คน เพื่อมาช่วยงาน ซึ่งงานกำจัดวัชพืชด้วยแรงคนจะสามารถกำจัดได้ 57,600 ตัน โดยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2559 นี้ รวมปริมาณวัชพืชที่กำจัดโดยเครื่องจักรและแรงงานคนแล้ว คิดเป็น 127,600 ตัน อย่างไรก็ตามทางโครงการฯ ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดวัชพืชทางน้ำถาวรไว้ที่หน้า ปตร.ยางมณี ซึ่งจะสามารถกำจัดวัชพืชทางน้ำได้ตลอดทั้งปี ในปริมาณวันละ 20 ตัน” นายสมภพ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปภ.ประกาศ 13 จังหวัดเป็นเขตภัยแล้ง พร้อมขุดบ่อบาดาลเพิ่ม 100 บ่อ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 13 จังหวัด 50 อำเภอ 254 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรีและเพชรบุรี ภาคตะวันออกคือ จ.สระแก้ว

ทั้งนี้ได้ทำการสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบส่งเข้าพื้นที่การเกษตร รวม 1,602,572 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อส่งน้ำเข้าแหล่งน้ำดิบสนับสนุนการผลิตน้ำประปา จำนวน 4,920,365,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รวม 107,860,000 ลิตร และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายแก่ประชาชนรวม 1,104,000 ลิตร พร้อมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น จำนวน 100 บ่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 2,224 โครงการ โดยขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำเดิม และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,386 โครงการ คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการฯ ตามเป้าหมายจะมีปริมาตรน้ำเก็บกัก 294.58 ล้านลบ.ม. รวมถึงได้ขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท

ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 27 จังหวัด รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 116,876,113 ล้านบาท ได้แก่ จ.กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครปฐม นครราชสีมา นครสวรรค์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา แพร่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สกลนคร สระบุรี สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง และอำนาจเจริญ แยกเป็นจ้างแรงงาน จำนวน 165,749 คน เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ ตลอดจนได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก จำนวน 1,173 บ่อ.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เกษตรสั่งชาวนาลดปลูกข้าวนาปรัง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีแผนผลิตข้าวแบบครบวงจร โดยจะเริ่มผลิตข้าวตั้งแต่ปี 2559/60 เป็นต้นไป และกำหนดให้มีการทำนาปรังเพียงรอบเดียว หลังจากนั้นให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน โดยให้เหลือผลผลิตทั้งปีประมาณ 27 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาผลผลิตข้าวไม่สมดุลกับความต้องการของตลาด โดยขณะนี้ไทยผลิตข้าวเกินความต้องการประมาณ 5.8 ล้านตันข้าวเปลือก ทำให้ไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาสูง

“ผมให้สั่งปลัดกระทรวงเกษตรฯไปหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยแนะนำให้สภาหอการค้าและเอกชนรับประกันสินค้าที่เกษตรกรปลูก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกษตรกรดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ จึงต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทยช่วยเข้าทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ แก้ไขปัญหาค่าเช่านาด้วย”

ทั้งนี้การจูงใจเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จะไม่ใช้วิธีการรับจำนำข้าวแน่นอน แต่จะสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร กรณีไม่ปลูกข้าวแล้วยังมีสินค้าอื่นที่ให้รายได้เท่าเทียมกัน ในกรณีที่ปีนี้มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอกับความต้องการในการทำนาปีและนาปรัง แต่เกษตรกรยังดื้อทำนาปรังครั้งที่ 2 รัฐบาลจะไม่รับผิดชอบความเสียหายใดๆ

“แผนการนี้ผมอยากให้ประสบผลสำเร็จ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาเอง โดยเฉพาะราคาข้าวจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ อย่างในปีหน้าผมก็มั่นใจว่าราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นแน่ แต่เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านปลูกข้าวที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก การแข่งขันในตลาดและการส่งออกจะมีปัญหา การตั้งเป้าไว้สูงถึง 10 ล้านตันข้าวเปลือก/ปี นั้นจะทำไม่ได้ต้องลดเป้าส่งออกลง โดยในปีหน้าคาดว่าไทยจะทำได้เพียง 9 ล้านตันข้าวสารเท่านั้น”

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนการผลิตและการตลาดข้าวแบบครบวงจรว่า สัปดาห์หน้าจะเชิญสมาคมโรงสีข้าวไทยมาหารือถึงแผนการรับซื้อข้าวเปลือกในแต่ละพื้นที่เพาะปลูกข้าว เพื่อป้องกันปัญหาขายไม่ได้

“เชิญสมาคมโรงสีข้าวไทยมาเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ว่าในแต่ละพื้นที่ เมื่อผลผลิตออกมาแล้ว โรงสีในพื้นที่จะมีกำลังการรับซื้อได้ทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะได้วางแผนแก้ปัญหาต่อไปคือ อาจให้กรมการค้าภายใน หาโรงสีนอกพื้นที่เข้ามารับซื้อ หรืออาจจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้ชาวนาขายได้”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

'สมคิด'เปิดแผนพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

"สมคิด"เปิดแผนพัฒนา 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ระบุเป็นยุทธศาสตร์ดันไทย"ศูนย์กลาง" การค้าในภูมิภาคอาเซียน หวังผนึกกำลังประเทศเพื่อนบ้าน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยในการสัมมนา “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย2016 :โอกาสทองสู่AEC”วานนี้ (11 ก.พ.) ว่าเป้าหมายของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง10แห่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงจากประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับธุรกิจที่ยังไม่พร้อมในการออกไปลงทุนในอาเซียน

โดยในแต่ละพื้นที่จะผลิตสินค้าตามความถนัดและศักยภาพของพื้นที่ เพื่อป้อนให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับชายแดน โดยใช้ความได้เปรียบของไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศค่อนข้างมาก ในการเป็นประตูให้กับประเทศต่างๆเข้ามาลงทุน หรือใช้ไทยเป็นเกตเวย์ส่งสินค้าเข้ามายังอาเซียน ซึ่งจากการหารือกับผู้นำประเทศต่างๆที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน โอมาน หรืออินเดีย ต่างก็มุ่งที่จะเข้ามาลงทุนในไทยใช้เป็นประตูเข้าสู่อาเซียน โดยในปัจจุบันอาเซียนเป็นภูมิภาคทีมีความสำคัญสูงมากของโลก เป็นแหล่งผลิตในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมต่างๆส่งไปขายทุกภูมิภาค

หนุนผนึกภูมิภาคเพิ่มขีดแข่งขัน

ทั้งนี้ การแข่งขันในปัจจุบันประเทศเดี่ยวๆไม่สามารถจะแข่งขันกันได้ ต้องผนึกกำลังร่วมกันเป็นภูมิภาค โดยในเบื้องต้นไทยจะต้องผนึกความแข็งแกร่งในกลุ่มปะเทศ ซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่มีประชากรรวมกันกว่า200ล้านคน ให้เป็นหนึ่งเดียว จากนั้นขยายวงไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เชื่อมโยงซัพพลายเชนให้เกิดประโยชน์กับทุกประเทศ ซึ่งจะแตกคอกันไม่ได้ จากนั้นก็จะขยายปสู่อาเซียนบวก3บวก6ดังนั้นเมื่ออาเซียนมีความสำคัญ และมีประตูหลายบาน ต่างชาติจะเข้ามาประตูใหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย หรือไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่การแข่งขันว่าใครจะดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาในประตูของตัวเองได้มากกว่ากัน ซึ่งการแข่งขันนี้จะเกิดประโยชน์โดยรวมกับอาเซียน เป็นการแข่งขันที่เกี่ยวกูลกระจายความเจริญไปยังอาเซียนทั้งหมด

“ประเทศไทยเชิญสภาพัฒน์ของประเทศกัมพูชาลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้อาเซียนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม และระบบโลจิสติก์ต่างๆ ซึ่งหากต่างคนต่างทำก็จะขาดการประสานงานจนเกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาของสมาชิกอาเซียน โดยคาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในช่วงกลางปีนี้”

เร่งมหาดไทยเบิกจ่ายงบ“ชุมชน”

นายสมคิด ยังกล่าวว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกผันผวนมาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มที่จะดีกลับปรับตัวแย่ลง ทำให้ทุกประเทศเศรษฐกิจลดลงหมด และทุกประเทศต่างก็หันไปพึ่งพาตลาดภายในประเทศมากขึ้น ดังนั้นไทยจะต้องปรับสมดุลทางเศรษฐกิจลดการพึ่งพาการส่งออกหันมาขยายกำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะพยายามรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ให้ได้ตามเป้าหมาย3.5%ซึ่งจะโตจากปี2558ที่ขยายตัว2.9%

โดยแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการอัดฉีดงบลงทุนโครงการขนาดใหญ่ออกมาประมาณ6หมื่น ถึง1แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ในช่วง2ไตรมาสแรกจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งจะเร่งผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยเบิกจ่ายงบประมาณ3หมื่นล้านบาท เข้าสู่ชุมชน ในเดือนนี้จะออกมาอีก1.5หมื่นล้านบาท และในเดือนมี.ค.จะผลักดันให้ออกมาทั้งหมด

นอกจากนี้จะมีโครงการประชารัฐจำนวน3.5หมื่นล้านบาท อุดหนุนหมู่บ้านละ5แสนบาท เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไทยมีโครงการแบบนี้ออกมา เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรขาดกำลังต่อรองราคาพืชผลการเกษตร และต้องพึ่งพาโครงการจำนำข้างเพียงอย่างเดียว เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ไม่มีลานตากข้าว ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลผลิตเบื้องต้น โรงสีข้าวโรงอบข้าวขนาดเล็ก เพื่อพูมมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดทำแหล่งน้ำ รวมตัวกันใช้เครื่องจักรการเกษตรสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุน เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะต้องกระจายไปทั่วประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมาเป็ประธานเปิดโครงการในวันที่19ก.พ.นี้ ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยเสร้างสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และจะทำให้การบริโภคภายในเข็มแข็งตามไปด้วย

ในส่วนของการสร้างความเข็มแข็งให้กับเกษตรกร จะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชชนิดเดียว มาเป็นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสานหลายประเภท เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเพียงตัวเดียว และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะเข้ามาอุดหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรไปสู่การผลิตในพืชตัวอื่นเป็นเรื่องยาก เพราะการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ชน่ดใหม่จะไม่มีความถนัด ทำให้ไม่กล้าเสี่ยงในการลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ทำโครงการ1ตำบล1เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยจะคัดเลือกเกษตรกรในทุกหมู่บ้านที่เป็นเกษตรกรแนวใหม่ที่เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ที่ทำการเกษตรหลากหลาย จากนั้นจะส่งเสริมให้ก้าวไปสู่การเป็นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมในทุกตำบล ซึ่งจะเกิดเอสเอ็มอีรายเล็กๆในการแปรรูปการเกษตร การทำแพกเกจจิ้ง การทำตลาด ทั่วประเทศกว่า7พันแห่ง โดยโครงการนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆนี้

เอกชนจี้รัฐเจรจาทวิภาคีเพื่อนบ้าน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ี้ ในการขยายการค้าชายแดน อยากให้รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดการบูรณาการทำงานของด่านการค้าชายแดนของทั้ง2ฝั่งประเทศ โดยอาจจะยุมรวมเหลือด่านเดียว หรือปรับปรุงระเบียบขั้นตอนการทำงานให้เหมือนกัน เพื่อให้การส่งสินค้าผ่านแดนสะดวกรวดเร็วขึ้น จากในปัจจุบันที่ต้องเสียเวลามาก เพราะกฎกติกาของ2ประเทศ ต่างกัน

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษและการสร้างถนนเชื่อมโยงพื้นที่สู่ชายแดนก็เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนพอใจ ซึ่งบวกกัยภูมิศาสตร์ที่ดีของประเทศไทย ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนได้อีกมหาศาล นับได้ว่าเป็นโอกาสทองของภาคเอกชนที่ต้องเร่งเข้าไปลงทุนในพื้นที่เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐเปิดให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทยได้ตามข้อตกลงทวิภาคีที่ได้ลงนามไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะเปิดให้ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในไทยได้ตามที่กำหนดไว้ให้บุคคลที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนจะเข้ามาในไทยได้ไม่เกิน14วัน และประชาชนทั่วไปเข้ามาในไทยได้ไม่เกิน7วัน จากในปัจจุบันที่ไทยกำหนดให้เข้าไปเย็นกลับ

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกิดการค้าผ่านแดน ซึ่งจะทำให้ไทยขยายการค้าไปสู่ประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และเวียดนามได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาสปป.ลาว และกัมพูชา ต่างก็ได้ลงนามกับเวียดนามไปแล้ว ซึ่งหากไทยไม่เร่งเจรจาแก้ปัญหาการค้าผ่านแดน ก็จะทำให้สินค้าจากเวียดนามทะลักเข้ามายังไทยได้อย่างเต็มที่

นายวิเชษฐ์ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมีความสำคัญกับการเป็นประตูไปสู่อาเซียน ซึ่งไทยเบฟฯ ได้ก้าวเข้าไปลงทุนมานานหลายปีแล้ว โดยตลาดดังกล่าว จะไม่ใช่มีจำนวนประชากรเพียง 600 ล้านคน เพราะหากมองรวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยว จะมีเพิ่มขึ้นมามากถึง 700-800 ล้านคน ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีจากนี้ จะขยายตัวเพิ่มอีก 50-100% จึงถือเป็นโอกาสทองของการทำธุรกิจที่ภาคเอกชนต้องมองให้เห็นเป็นโอกาสของการเข้าไปทำธุรกิจที่มีอยู่อย่างหลากหลายด้วย รวมทั้งตลาดสินค้าฮาลาล โดยจะใช้บริษัทF&Nในมาเลเซีย ที่มีจุดจำหน่ายสินค้าหลายหมื่นจุดบุกตลาดเครื่องดื่มฮาลาล

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรายใหญ่พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการายใหญ่เหล่านี้ด้วย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาช่วยเหลือรายย่อยมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ภัยแล้งปีนี้เสียหาย6.2หมื่นล.นักวิชาการจี้รัฐ'เก็บค่าน้ำดิบ

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในงานเสวนา "เกษตรศาสตร์นำไทยสู้ภัยแล้ง" ว่า ในอดีตไทยประสบปัญหาภัยแล้ง 3-4 ปีติดต่อกันในปี 2534-2537 น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปี 2537 เหลืออยู่เพียง 2,043 ล้าน ลบ.ม.ที่จะต้องใช้ในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน ปีนั้นมีการทำนาปรัง 1.7 ล้านไร่ และแล้งรอบที่สองปี 2555-2558 น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ข้างต้น ณ วันที่ 1 ม.ค. 2559 เหลือ 3,018 ล้าน ลบ.ม. หากรวม 2 เขื่อนใหม่คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีน้ำรวม 3,800 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้ว 1.88 ล้านไร่ ฤดูแล้งปีนี้เหลือ 100 วัน หาก ไม่มีการนำน้ำไปเพาะปลูกมากนัก 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามปรากฏการณ์ธรรมชาติร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพอากาศน่าจะเริ่มเป็นใจ ภาวะภัยแล้งที่เป็นสีแดงในแผนที่เอเชียจะเริ่มถดถอยตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป

          ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงมาก เนื่องจากดัชนีชี้วัดปรากฏการณ์เอลนิโญ มีค่าสูงที่สุดในรอบ 65 ปี ปริมาณน้ำ ใน 2 เขื่อนหลักอยู่ในระดับที่ต่ำ ชี้ให้เห็นว่า ภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเฉลี่ยปีละ 1.5-6.2 หมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับระดับ ความรุนแรง ดังนั้น ต่อไปไทยต้องบริหารจัดการน้ำเชิงอุปสงค์ จากเชิงอุปทานที่ทำอยู่ ต้องใช้กลไกราคามากำหนดเหมือน ต่างประเทศ

          ภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงมาก คาดว่า การผลิตภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท หากภัยแล้งยาวนานถึงเดือน มิ.ย. 2559 นี้ ดังนั้น ภาครัฐ ควรร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยระยะสั้นต้องรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ควรมีมาตรการเพิ่ม เช่น ครัวเรือน ภาคธุรกิจ หรือหน่วยราชการที่ใช้น้ำน้อย จะได้ส่วนลดค่าน้ำ ควรเพิ่มระดับการขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรัง เร่งส่งเสริม ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย

          ทางด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ภัยแล้งในขณะนี้ ภาครัฐมีแผนขุดเจาะน้ำบาดาล 6,000 แห่ง ภายในเดือน ก.พ.นี้ จะต้อง แล้วเสร็จ 3,000 แห่ง ในขณะที่ภัยแล้งที่ คุกคาม 500 กว่าอำเภอ ตามยุทธศาสตร์น้ำ ปี 2558-2569 ภาครัฐจะต้องบริหารจัดการน้ำให้กับ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประเทศให้มีน้ำกินน้ำใช้ภายในปี 2560

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ผ่าทางออก สินค้าเกษตรไทย "เพิ่มผลผลิต" ดันเศรษฐกิจฟื้น

ออกบูท - เครือเบทาโกรได้ร่วมออกบูทแสดงสินค้าอาหารคุณภาพและปลอดภัยในงาน Top Thailand Brand ซึ่งกระทรวงพาณิชย์นำทีมจัดที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 3-7 ก.พ.ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน ดูจะเป็นคำถามยอดฮิตในช่วงเศรษฐกิจโลกยังคลำหาทิศทางที่จะฟื้นตัว ต่อไปในอนาคต ไทยอาจประสบปัญหาเหมือนดั่งญี่ปุ่นในขณะนี้ที่นำเงินไปฝากธนาคารเมื่อถอนออกมาเงินน้อยกว่าเดิม จากดอกเบี้ยติดลบ จะนำเงินไปลงทุนผลิตสินค้าก็ไม่รู้จะขายให้ใคร ทั้งที่สินค้าไทยมีคุณภาพในระดับแถวหน้าของโลก อนาคตของประเทศจึงน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่างที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่า 50 ล้านคน กลับชักหน้าไม่ค่อยถึงหลัง ภาระหนี้ครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี

คนรวยไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แต่คนจน โดยเฉพาะเกษตรกรในประเทศ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ดูจากเทรนด์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ที่ดีมาตั้งแต่ปี 2540 ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เนื่องจากตัวขับเคลื่อนรับซื้อสินค้ารายใหญ่เหล่านี้คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อจีนผู้นำประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ลดลงทุกปี ราคาน้ำมัน ถ่านหิน แร่ต่าง ๆ สินค้าเกษตรจึงไหลลงต่อเนื่อง

ดังนั้น ไทยต้องรีบหาทางออก ก่อนที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะเดือดร้อนมากกว่านี้ เห็นได้จากกรณีล่าสุด ไทยต้องจับมือกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย พลิกตำราเศรษฐศาสตร์ดีมานด์-ซัพพลายลดปริมาณการส่งออกยางในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคมนี้ถึง 6.15 แสนตันแทน โดยเฉพาะมาเลย์ถ้าไม่จับมือลดการส่งออกก็เดือดร้อนเหมือนกัน เพราะช่วงที่ผ่านมาค่าเงินริงกิตลดลงไปมาก เนื่องจากการส่งออกน้ำมัน น้ำมันปาล์ม สินค้าหลักมีปัญหาด้านราคาลดต่ำลงพอสมควร

ในส่วนของไทย แม้จะมีความหลากหลายในการผลิตสินค้า ไม่เน้นหนักตัวใดมากเกินไป แต่โดยรวมในส่วนสินค้าเกษตรหลักเกือบทุกชนิดราคาลดลงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล ฯลฯ ซึ่งจุดอ่อนในการผลิตสินค้าเกษตรไทยคือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ การปลูกกระจัดกระจาย ทำให้การรวบรวมผลผลิตป้อนตลาดมีต้นทุนสูง

เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ขณะนี้มีเกษตรกรหัวก้าวหน้าจำนวนมาก หันมาเพิ่มผลผลิตสินค้าด้วยการปลูกด้วยระบบน้ำหยด มีการวางแปลนขุดสระน้ำรองรับในช่วงที่สภาพภูมิอากาศของไทยเกิดภาวะภัยแล้งหลายปีติดต่อกัน มีการใช้สารฉีดพ่นดินแล้วไถก่อนปลูกเพื่อทำให้ดินร่วนซุยมากขึ้น มีการให้อาหารเสริมที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยและผลิตจากน้ำตาลโมเลกุลเชิงเดี่ยว โดยให้ทางใบนอกเหนือจากปุ๋ยเคมีทุก 15 วัน

การให้อาหารเสริมเพื่อสั่งลงหัวมัน การเพิ่มเมล็ดสมบูรณ์ช่วงออกรวงหรือทำให้ข้าวโพดฝักใหญ่ขึ้น ซึ่งขณะนี้ นอกจากจะมีบริษัทขายตรงจากสหรัฐบุกตลาดด้านนี้แล้ว ยังมีบริษัทคนไทยหันมาผลิตสินค้าประเภทนี้เช่นกัน มันสำปะหลังที่ปลูก 40 ไร่ เพียง 8 เดือนให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 15 ตัน จากปกติ 3-4 ตัน/ไร่ หรืออย่างข้าวโพดที่ไทยยังขาดแคลนการจะเพิ่มผลผลิตจากไร่ละ 600-700 กก.เป็นมากกว่าไร่ละ 1.5 ตันก็ไม่น่าจะยากเย็น แถมระยะเวลาการปลูกและเก็บเกี่ยวก็สั้นกว่ามันสำปะหลัง เป็นต้น

สิ่งที่ภาครัฐจะสนับสนุนในเรื่องนี้ได้คือ เรื่องเงินทุนที่จะนำมาดำเนินการสนับสนุน นอกเหนือจากงบฯปกติ โดยอาจจะเก็บเงินเพิ่มเติมจากบริษัท เอกชนที่ใช้น้ำบนดินและน้ำบาดาลเพราะถือเป็นทรัพยากรของชาติมาผลิตน้ำดื่ม ชาเขียว เครื่องดื่มชูกำลัง เบียร์และอื่น ๆ ลิตรละ 2 บาทเข้ากองทุนปีละ 1-2 หมื่นล้านบาทมาดำเนินการทำอ่างเก็บน้ำและระบบชลประทานทางท่อเหมือนจีนจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่าที่ติดตามการทำงานของกระทรวงเกษตรฯเพื่อยกระดับการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ ได้แก่ การเร่งทำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศจำนวนมาก นอกเหนือจากศูนย์เรียนรู้ 882 แห่งทั่วประเทศ ที่กำลังจะเปิดอบรมเกษตรกร 2.2 แสนคนในเร็ว ๆ นี้ อนาคตภาคเกษตรไทยจึงมีแนวโน้มสดใสพอสมควร

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

'อรรชกา'มั่นใจไทยเป็นHubอุตฯอาเซียน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจไทยเป็น "Hub" อุตสาหกรรมอาเซียน ชูนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ ผ่อนเงื่อนไขเอื้อเอสเอ็มอี แจง เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสระแก้ว พร้อมดำเนินการ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อุตสาหกรรมไทยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ" ในงานสัมมนา "10 เขตเศรษฐกิจพิเศษโอกาสทองสู่อาเซียน" ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ) ถือเป็นโอกาสทองของการรวมเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน (ASEAN as one) ทั้งในการเปิดตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน โดยปัจจัยที่จะทำให้ไทยเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน คือ ทำเลที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค แรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ และประเทศเพื่อนบ้านชื่นชอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทยและมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

ซึ่งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยส่งเสริมการค้า การลงทุน เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปิด AEC ขณะที่ภาคเอกชน จะมีบทบาทในด้านการลงทุน และภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความเห็นและให้ข้อแนะนำ โดยเฉพาะในด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพื้นที่ กิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุดแล้ว ยังมีการผ่อนปรนเงื่อนไขสำหรับ SMEs ด้วย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของไทย ให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้ง่ายขึ้น อาทิ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วในประเทศมาใช้ใน โครงการที่ขอรับการส่งเสริมได้มีมูลค่า ไม่เกิน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการของกระทรวงการคลัง และมาตรการเร่งรัดการลงทุนกรณีอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ว่า ขณะนี้บางพื้นที่จำเป็นจะต้องเลื่อนการจัดตั้งพื้นที่ออกไปก่อน เช่น จังหวัดตาก อ.แม่สอด เนื่องจากยังมีประชาชน ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งการขอใช้พื้นที่จากกรมธนารักษ์ยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลให้เอกชนไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ ส่วนจะเลื่อนไปถึงเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอความชัดเจนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่จังหวัดที่สระแก้ว ถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมา กนอ. ได้เตรียมของบประมาณที่จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งแล้ว ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นได้ภายในปี 2560

สำหรับผลการศึกษาพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของ กนอ. ใน 3 จังหวัด คือ สระแก้ว มีอุตสาหกรรมเป้าหมายเด่น อาทิ อุตฯ แปรรูปสินค้าเกษตรและถนอมอาหาร, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการตัดเย็บเครื่องหนัง, เครื่องใช้จากไม้, ชิ้นส่วนยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องสำอาง, ศูนย์กระจายสินค้า ส่วนจังหวัดตาก มีอุตฯ เป้าหมาย เช่น แปรรูปสินค้าเกษตร และถนอมอาหาร, กิจการผ้าทอ และสิ่งทอ ที่ไม่ใช่ฟอกย้อม, ขณะที่จังหวัดสงขลา เช่น อุตฯ แปรรูปสินค้าเกษตร และถนอมอาหาร, กิจการห้องเย็น

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แจงมาตราการภัยแล้งช่วยเกษตรกร เชิญบก.สื่อระดมความคิดกู้วิฤกติแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่ากระทรวงเกษตรฯและตนได้เริ่มทำมาตรการแก้ปัญหารับมือปัญหาภัยแล้งและคิดวาง 8 มาตราการช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ แต่ที่เกิดความล่าช้าเพราะติดขัดในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในมาตรการที่1 แจกพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยและพันธุ์สัตว์ จากเดิมตั้งเป้า เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปี58 จึงทำให้การแจกล่าช้าไป1 เดือน แต่ขณะนี้สำหรับเกษตรกร 3.8 แสนครัวเรือน ในพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัด ได้รับสนับสนุนไปหมดแล้ว ยังเหลือมาตรการที่ 4 ที่สำรวจความต้องการจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบภัยแล้งทั่วประเทศ ได้ทำโครงการเสนอมา 1 หมื่นกว่าโครงการ แต่ผ่านการพิจารณา 9 พันโครงการ ซึ่งได้อนุมัติงบไปแล้วกว่า 3 โครงการ ที่เหลืออีก 6 พันโครงการกำลังเร่งเสนอครม.สัปดาห์หน้าวงเงิน 3.6 พันล้านบาท

"ผมได้เชิญบรรณาธิการทุกสื่อให้มาร่วมแสดงความคิดเห็นกับผมในวันที่18 ก.พ.เรื่องภัยแล้ง ซี่งผมเห็นว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญที่ช่วยกันให้ประชาชนและเกษตรกรผ่านพ้นวิฤกติภัยแล้งครั้งนี้ไปได้ ที่ผ่านมาผมเป็นรัฐมนตรีที่นี่ ได้คิด8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ได้เริ่ม 6 ต.ค. ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง กระบวนล่าช้าไปบ้าง รวมทั้งนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลคิดแผนงานลงไปไม่ค่อยตรงความต้องการของชาวบ้าน คราวนี้จึงให้ประชาชนได้รับผลกระทบภัยแล้ง รวบรวมเสนอโครงการขึ้นมาแล้วอาจล่าช้าอีก เพราะบางพื้นที่เสนอมาไม่อยากได้ ไปแก้ใหม่ เช่นไม่อยากได้ลานตากมันสำประหลัง เปลี่ยนโครงการใหม่จะ เริ่มกลับลงไปพื้นที่ จริงๆลงกลางเดือนก.พ. มี.ค.และ เม.ย. เพราะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรอง ระดับจังหวัดกว่าจะมา  ซึ่ง น่าเห็นใจที่สุดบุคคลากรในส่วนจังหวัดและท้องถิ่นเพราะ ทั้งหมดจะทำอะไรลงไปที่จังหวัดส่วนใหญ่ ขณะนี้ งานลงไปอำเภอ มีถึง 7 พันโครงการจากทุกหน่วยงาน แต่คนจังหวัดเท่าเดิม "รมว.เกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือให้เกษตรอยู่ได้มีรายได้ช่วงแล้ง จบไปหมดแล้ว ในเขตเป้าหมายลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้จัดหาตามที่ต้องการ แต่ที่มีปัญหาเพราะเวลาพอเอาไปแจกคนที่ไม่อยากได้ตอนแรกไม่สนใจ มาอยากได้บ้างตอนนี้จึงเกิดการร้องเรียนขึ้น ในช่วงนี่กำลังเข้าโค้งเดือน ก.พ.จะแล้งมาก ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นภัยพิบัติแล้ว 13 จ.2.4 พัน หมู่บ้าน โดยตนจะ ลงไปดูพื้นที่แล้งซ้ำซากที่จ.กาญจนบุรี  จุดนี้ได้ช่วยเหลืองบภัยพิบัติ 1,113 บาท ต่อไร่ ไปดูให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมในการขุดว่าบาดาล และให้เงินช่วยเหลือถึงมือได้เร็วขึ้น

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าได้สั่งการให้ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ซี9 หรือรองอธิบดีขึ้นไป ปูพรหมลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรรอบแรก ในวันที่ 20-21 ก.พ.นี้ โดยทุกกรมเกือบ100 คนแบ่ง 4 สาย ลงพร้อมกัน 4 จ. เช่นลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลงจริงไปติดตามนโยบายรัฐบาลทั้งหมด ศูนย์เรียนรู้เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เกษตรอินทรีย์ มาตรการภัยแล้ง แต่ละสายมีรองปลัดคุม ไปดูแล้วตอนเย็นกลับมารวมกันที่จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วให้มารายงานกับตนปัญหาอุปสรรคในพื้นที่และแผนช่วยเหลือสำเร็จหรือไม่ จะให้เวลา 3 ชั่วโมง จะแก้ไขในพื้นที่ได้ทันเหตุการณ์ ซึ่งในเดือนหน้าจนถึงหมดช่วงแล้งจะระดมลงพื้นที่ต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ไฟเขียวร่างแผนพัฒนาเกษตรฉบับ12 เข็น4ยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรเพื่อใช้เป็นกรอบกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศ เนื่องจากแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555 - 2559) จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ จึงได้จัดทำร่างแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12(พ.ศ. 2560-2564) ขึ้น โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังดำเนินการและกำหนดจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน 3.เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 4.การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยจะนำร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ ดังกล่าว ให้ สศช. พิจารณาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนฯ ยังได้เห็นชอบในหลักการการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป และการนำผ่านสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ กรณีสินค้ากระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง โดยให้มีการบริหารนำเข้า ภายใต้เงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง กำหนด โดยการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง ให้เปิดตลาดตามข้อผูกพัน WTOปี 2559 ไม่จำกัดจำนวน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125 ส่วนหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ให้เปิดตลาดตามข้อผูกพัน WTO ปี 2559 ในปริมาณโควตา 45,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 287 และนอกโควตาร้อยละ 125

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2559 - 2563 และ ร่างยุทธศาสตร์ชา ปี 2559 – 2563 โดยร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์กาแฟโรบัสตา มีเป้าหมายในการรักษาผลผลิตกาแฟโรบัสตาไม่น้อยกว่า 30,000 ตัน/ปี เพิ่มผลผลิตต่อไร่กาแฟโรบัสตาให้มากกว่า 250 กก./ไร่ การส่งเสริมการลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟโรบัสตา และยุทธศาสตร์อะราบิกา มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ผลิตกาแฟอะราบิกาเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มมูลค่าการค้ากาแฟอะราบิกาอย่างน้อย ร้อยละ 10 ภายใน ปี 2563 โดยทั้ง2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 กุลยุทธ์ ได้แก่ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต 2.พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.พัฒนาด้านการตลาด 4.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และ 5.ด้านการบริหารจัดการ ส่วนร่างยุทธศาสตร์ชา มีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้ผลิตชาเข้าสู่ระบบมาตรฐานการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมตามมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มมูลค่าการค้าชาอย่างน้อย ร้อยละ 10 ภายในปี 2563 ประกอบด้วยกลยุทธ์การส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาด้านตลาด การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา และการบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรมหมอดินรวมพลประชุมใหญ่ ขับเคลื่อน6แผนงานสำคัญรัฐบาล

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่ารมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันในเรื่อง 6 เรื่อง ได้แก่ การลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และธนาคารสินค้าเกษตร โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) และรัฐบาลมีนโยบายให้มีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) เพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ในส่วนของกรมเกี่ยวข้องกับการกันแนวเขตป่าไม้ถาวร ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ 1,000 คน ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ห้องวายุภักษ์ 3-4 โรงแรมเซ็นทรา

 ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับจังหวัด ที่เข้าร่วมการประชุมมีความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเชื่อมโยงนโยบาย บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้ ตลอดจนปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถอธิบายถ่ายทอดให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรโดยตรง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รณรงค์ทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานเพื่อบำรุงดิน

การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกร งดเผาตอซัง และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน

ในหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสภาวะแวดล้อมโดยทั่วไป การเผาทำลายเศษพืชหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นการทำลายอินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสู่สภาวะโลกร้อน

ดังนั้น การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกร งดเผาตอซัง และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสภาวะมลพิษทางอากาศได้อีกแนวทางหนึ่ง

กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำโครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากตอซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและลดปัญหาหมอกควัน ปีงบประมาณ 2559 ณ บ้านป่าแดด หมู่ 4 ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้น

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี หรือจะเป็นการใช้ผสมผสานกันอย่างเหมาะสม ส่วนขบวนการในการทำปุ๋ยหมักนั้น ได้น้อมนำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเผยแพร่ให้เกษตรกรหันมาตื่นตัวในการทำปุ๋ยหมักใช้เอง เป็นการลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนประกอบกับการขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีความจำเป็นต้องให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูพัฒนา ทรัพยากรดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ ได้มีการถ่ายทอดความรู้ในการไถกลบตอซังข้าว ข้าวโพด และวัชพืชอื่น ๆ เพื่อให้เป็นปุ๋ยในพื้นที่นา รู้โทษจากการเผาส่งผลให้ธาตุอาหารในดินสูญหายไป พร้อมแจกสารเร่ง พด. ให้กับเกษตรกรนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลง เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรม เป็นพื้นฐานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการทำเกษตรกรรมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ มีปริมาณธาตุอาหารในดินสูงเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่ทรัพยากรดินที่มีอยู่ในประเทศไทยถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน ขาดการดูแลรักษาที่ดี ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมและเกิดข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์มากขึ้น

“วิธีที่จะรักษาคุณภาพดินและฟื้นฟูให้กลับมามีระดับความอุดมสมบูรณ์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องพึ่งพาและให้ความสำคัญต่อการเกษตรธรรมชาติ เกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อลดการใช้สารเคมีที่มีต้นทุนสูง และแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พันช์น้ำอ้อยเพื่อสุขภาพ...วิศวกรรมอาหารเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทย 

          วิศวกรรมอาหาร หรือ Food Engineering กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยสู่ตลาดประชาคมอาเซียน ตลาดและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าปีละกว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะตลาดน้ำผลไม้พร้อมดื่มมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้พัฒนาวิศวกรรมอาหาร เครื่องดื่มพันช์น้ำอ้อยโปรไบโอติกส์ เป็นโมเดลของเครื่องดื่มไทยเพื่อสุขภาพ ที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในยุคที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ

          ในการสาธิตผลงานวิจัยการแปรรูปเครื่องดื่มพันช์น้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์แก่ผู้ประกอบการและผู้นำเกษตรกร ดร.วรีสา ชูวัฒนกูล หนึ่งในทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ทีมงานซึ่งประกอบด้วยตัวดิฉัน, รศ. ดร.เฉลิมชาติ มานพ, ผศ. ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, อาจารย์สมัคร รักแม่ และ รศ.ดร.ปิ่นมณี ขวัญเมือง จากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม และ รศ.กตัญญู หิรัญสมบูรณ์จากวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สจล.ได้ร่วมกันสร้างผลงาน พันช์น้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์ ที่มาของการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเรามีวัตถุดิบอ้อยอุดมสมบูรณ์ สถิติพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ 47 จังหวัดในภาคเหนือ กลาง อีสานและตะวันออกรวมประมาณ 10.5 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบ 106 ล้านตัน ขณะที่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมมากและทางเลือกของผู้บริโภคและคนรุ่นใหม่ รวมทั้งช่องทางในตลาดยังมีมากและกว้างขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนตั้งแต่มกราคมปี 59 เป็นต้นไป ทีมทำงานจึงได้ร่วมกันคิดทำอย่างไรจึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ให้กับน้ำอ้อยให้มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้นและเก็บได้นานขึ้น รสชาติอร่อย รับประทานได้ง่าย สอดรับกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของผู้บริโภค ถูกหลักอนามัย อีกทั้งเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกายด้วย

          ...น้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์ จัดอยู่ในเครื่องดื่มประเภทน้ำหมักพืช ตามมาตรฐานการผลิตชุมชนน้ำหมักพืช (มผช 841/2547) มีประโยชน์ที่ให้คุณค่าต่อผู้บริโภค เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดโอกาสการเป็นภูมิแพ้ในเด็ก ช่วยลดอาการท้องผูก ขับถ่ายง่าย ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ ลดอาการท้องเสีย ในการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยหมัก พบว่า น้ำอ้อยหมักสูตรน้ำแครอทปริมาตร 100 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 68 แคลลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการมาก (ตามตารางภาพ 10)

          ทีมงานใช้เวลาพัฒนา 10 เดือนเต็ม ได้ผลิตภัณฑ์ที่น่าพอใจมาก ผู้ประกอบการใช้เงินลงทุนประมาณ 250,000 บาท เป็นค่าเครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ ในเชิงเศรษฐกิจนั้น น้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์นอกจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายแล้ว ยังมีต้นทุนในการผลิตต่ำ ให้กำไรสูง อีกทั้งยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายได้อีก เช่นการพัฒนาปรุงแต่งกลิ่น โดยใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ แทนสารเคมี เช่น ตะไคร้ กระชาย ขิง หรือพืชชนิดอื่นๆที่ใช้เป็นเครื่องดื่มได้ เช่น เก๊กฮวย ชาเขียว ส่วนการพัฒนาสีสันของน้ำอ้อยหมัก สามารถใช้สีจากพืชชนิดต่างๆ อาทิ ดอกอัญชัญ ลูกหว้า ฟักข้าว แครอท ผลหม่อน ดอกคำฝอย หรือพืชบางชนิดที่ให้ทั้งสีและกลิ่น เช่น กระชายดำ เป็นต้น"

          ในการสาธิตการแปรรูปเครื่องดื่มพันช์น้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์แก่ผู้ประกอบการและผู้นำเกษตรกร ณ คระวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ทางทีมงานได้ใช้ จุลินทรีย์และวัตถุดิบในการผลิต ประกอบไปด้วย อ้อยสายพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ลักษณะของลำอ้อยมีขนาดใหญ่ สีเขียวอมเหลือง ให้ผลผลิตของน้ำอ้อยถึง 4,600 - 5,200 ลิตรต่อไร่ มีความหวาน 15 - 17 องศาบริกซ์ และเชื้อจุลินทรีย์ Lactobacillus johnsonii เป็นแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นแท่งสั้นจนถึงยาว ขนาดกว้าง 0.5 - 1.5 ยาว 1.5 - 1.10 ไมโครเมตร มีการจัดเรียงตัวเป็นเซลเดี่ยว เป็นโซ่คู่ ลักษณะโคโลนีบนอาหารแข็งมีรูปร่างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 - 2.0 มิลลิเมตร เป็นเชื้อที่ผ่านการทดสอบให้ผลลัพธ์ที่สามารถผลิตกรดแลคติกได้ดี จึงเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถนำมาใช้ในการหมักและถนอมผลผลิตทางการเกษตร

          นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมเพิ่มเติมในการทำน้ำอ้อยหมักให้มีคุณค่ารสชาติ มีกลิ่นและสีสันที่น่ารับประทาน ได้แก่ สูตรน้ำแครอท ได้จากการนำหัวแครอทสดมาปั่นแยกกากเป็นน้ำแครอท ช่วยให้มีสีสันสวยงาม มีสารเบต้า-แคโรทีน ไลโคฟีน อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี รวมไปถึงธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใย หรือสูตรน้ำสับปะรด ซึ่งเป็นสูตรเริ่มต้นได้จากการสับปะรดสดมาปั่นแยกกากเป็นน้ำสับปะรด และนำมาเป็นส่วนผสมในการหมัก ส่วนผสมสุดท้ายในสูตรการผลิตคือ น้ำตาลซูโครส ใช้เป็นส่วนผสมในการปรับปริมาณของแข็งที่ละลายทั้งหมดในส่วนผสม ทำให้น้ำอ้อยมีรสหวานตามความชอบ และใช้เครื่องมือหลักที่จำเป็นในการผลิตน้ำอ้อยหมักโปรไบโอติกส์ ได้แก่ เครื่องคั้นน้ำอ้อย ถังหมักแสตนเลสขนาด 100 ลิตร ถังบรรจุเครื่องดื่มพร้อมหัวบรรจุ ปั๊มแสตนเลสและท่อเกรดอาหาร ถังก๊าซหุงต้ม ขนาด 48 กิโลกรัม เครื่องวัด pH และเครื่องปิดฝาขวด เป็นต้น

          ดร.วรีสา ชูวัฒนกูล อธิบายเพิ่มเติมถึงการเตรียมส่วนผสมสำหรับการผลิตน้ำอ้อยหมักว่า สูตรเริ่มต้นที่ทีมงานเลือกใช้ คือ น้ำอ้อยหมักสูตรน้ำสับปะรด โดยการนำน้ำอ้อยมาผสมกับสับปะรดที่ผ่านการปั่นแยกกาก โดยส่วนผสมระหว่างน้ำอ้อย น้ำสับปะรด และน้ำกลั่น เท่ากับ 50 : 25 : 25 มิลลิลิตร ปรับความหวานให้ ได้ 15 องศาบริกซ์ นำไปหมักด้วยหัวเชื้อLactobacillus johnsonii จากนั้นพัฒนาด้านกลิ่นและสีเพิ่มเติม จนได้ผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยหมักสูตรสุดท้ายคือ สูตรน้ำแครอท ซึ่งมีส่วนผสมของ น้ำอ้อย น้ำสับปะรด น้ำแครอท และน้ำขิง ในอัตราส่วน 50 : 25 : 20 : 5 มิลลิลิตร และสำหรับการเตรียมหัวเชื้อ โดยการเขี่ยเชื้อจากหลอดเก็บเชื้อมาเลี้ยงบนอาหารแข็ง MRS บ่มเป็นเวลา 2 วัน จนเชื้อขึ้น จากนั้นใช้ลูปเขี่ยเชื้อมาละลายในน้ำกลั่นที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ผสมให้เข้ากันจนได้สารละลายเชื้อ นำมาเติมในส่วนผสมของน้ำอ้อยที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วนำไปบ่มในตู้บ่มที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน จะได้สารละลายหัวเชื้อสำหรับการหมักน้ำอ้อย

ขั้นตอนสุดท้ายของการหมักเพื่อเพิ่มปริมาตรการผลิตและตรวจสอบ ผสมสูตรน้ำอ้อยในการหมักปริมาตร 50 ลิตร ปรับปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด 15 องศาบริกซ์ จากนั้นพาสเจอไรซ์ โดยใช้อุณหภูมิที่ 70 องศาเซลเซียส เวลา 30 นาที ซึ่งการเตรียมในปริมาณมาก สามารถทำการ พาสเจอไรซ์โดยนำส่วนผสมใส่ถังหมักและพาสเจอไรซ์ในถังหมักได้ทันที หากการเตรียมในปริมาณที่น้อยสามารถนำส่วนผสมใส่ขวดหรือหม้อต้มน้ำร้อนที่ตั้งอุณหภูมิได้ จากนั้นปล่อยให้เย็น นำมาใส่ภาชนะและเติมหัวเชื้อ 5 -10 เปอร์เซ็นต์ หมักทิ้งไว้ 9 -12 ชั่วโมง นำมาบรรจุขวดที่ต้องล้างขวดให้สะอาดและผ่านการต้มเพื่อฆ่าเชื้อก่อน เมื่อบรรจุแล้วควรนำไปเก็บไว้ในตู้แช่ หรือตู้เย็น ที่อุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส

          วิศวกรรมอาหาร สร้างสรรค์พัฒนาอาหารไทยสู่คุณภาพ ตอบสนองความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าให้พืชผลเกษตรไทย...สู่ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไทยและอาเซียน

          สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ดร.วรีสา ชูวัฒนกูล โทร. 02-3298356-8 หรือ อีเมล์ varesa06@hotmail.com)

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ปลัดแรงงาน" เผยสหรัฐฯ สนใจการสำรวจแรงงานเด็ก

ก.แรงงาน หารือที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประเด็นนโยบายและโครงการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ ‘ปลัดแรงงาน’ เผยสหรัฐฯ ให้ความสนใจการทำแบบสำรวจเรื่องแรงงานเด็ก พร้อมทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ Ms. Anjana  Modi ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า สหรัฐอเมริกาเข้าพบหารือและขอรับทราบนโยบายและโครงการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาให้ความสนใจ ที่กระทรวงแรงงานจะทำแบบสำรวจเรื่องแรงงานเด็ก โดยขอความร่วมมือว่าอาจจะให้สหรัฐอเมริกาช่วยให้คำแนะนำในกรณีที่กระทรวงแรงงานทำแบบสำรวจแรงงานเด็ก เนื่องจากผลสำรวจที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลให้แก่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาเพื่อขอถอดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีต่อไป ฉะนั้น หากได้หารือกับผู้ที่จะพิจารณาข้อมูลก็ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ จากการหารือสหรัฐอเมริกานับว่ามีท่าทีที่ดีในการที่จะตอบรับ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเชิญผู้แทนของสถานทูตสหรัฐฯ ร่วมคณะเจ้าหน้าที่ในการนำแบบสอบถามที่ได้ไปสอบถามกับทางโรงงานน้ำตาลหรือชาวไร่อ้อยว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานเด็กอยู่หรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพและรับทราบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ในส่วนของการค้ามนุษย์ได้แจ้งให้ทางสหรัฐฯ ทราบว่ากระทรวงแรงงานได้จัดทำคู่มือการดูเรื่องแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ ฯลฯ ซึ่งทางสหรัฐฯ แสดงความพอใจและขอคู่มือไปศึกษาเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม โดยรวมสหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุนหรือทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ทำแบบสำรวจมอบให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จัดทำแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้จะส่งให้ทางเจ้าหน้าที่ของทางสำนักงานสถิตินำแบบสอบถามที่ได้ไปสอบถามสถานประกอบการเพื่อทำการสำรวจอีกครั้ง โดยคาดว่าจะออกสำรวจได้ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ก่อนหมดฤดูกาลตัดอ้อยซึ่งไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคม 2559

"สหรัฐฯ มีความเข้าใจว่าด้วยปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน ในหลายๆ ประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการ ทั้งนี้ จะทำให้มีการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานมาโดยตลอด จึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีมาตรการต่างๆ ได้แก่ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การควบคุมผู้ให้บริการจัดหางาน การตรวจแรงงาน การปรับปรุงแก้ไขและยกร่างกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง การจัดระเบียบแรงงานไทยไปต่างประเทศ การขจัดปัญหาแรงงานเด็ก และการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พลังงานพร้อมรับมือแหล่งก๊าซหยุดซ่อม

กระทรวงพลังงาน พร้อมรับมือแหล่งก๊าซหยุดซ่อมบำรุง 20 - 23 ก.พ. มั่นใจไม่กระทบการใช้ไฟฟ้าประชาชน

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ. เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพเมียนมา ในระหว่างวันที่ 20 - 23 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะทำการเชื่อมต่อระบบผลิตก๊าซแหล่งบาดัมยาร์ ที่เป็นหลุมผลิตก๊าซใหม่ เพราะมีคุณภาพค่าความร้อนก๊าซเทียบเท่ากับแหล่งยาดานา รวมถึงจะทำให้คุณภาพการส่งก๊าซมาไทยดีขึ้น โดยจากแผนดังกล่าว ทำให้ไทยต้องขาดก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม สนพ. คาดว่า ช่วงดังกล่าว จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 25,000 - 26,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ประมาณการกำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายอยู่ที่ 36,773 เมกะวัตต์ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน

โดยมาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานา ซึ่งเบื้องต้นจะมีโรงไฟฟ้าในฝั่งตะวันตกได้รับผลกระทบ อาทิ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอยี่ จำกัด โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 3 ที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงถึง 3,394 เมกะวัตต์ โดยกระทรวงพลังงานได้เตรียมพร้อมในด้านระบบผลิต อาทิ ให้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 เดินเครื่องเสริมความมั่นคงไฟฟ้าเขตนครหลวง ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซตะวันออก ให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากลาว เดินเครื่องเต็มความสามารถ เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น รวมถึงให้โรงไฟฟ้าราชบุรีและไตรเอ็นเนอยี่ เดินเครื่องด้วยน้ำมันเตาทดแทน ที่มีการสำรองไว้ 22.3 ล้านลิตร หรือสามารถใช้ถึง 5 วัน และน้ำมันดีเซล ที่สำรองไว้ 6.9 ล้านลิตร หรือใช้ได้ 3 วัน รวมถึงเตรียมพร้อมด้านระบบส่ง ได้ตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์ ที่สำคัญให้พร้อมใช้งานช่วงดังกล่าวแล้ว

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กษ.เห็นชอบหลักการร่างแผนพัฒนาการเกษตร

มติกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบหลักการของร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ พร้อมเตรียมเสนอต่อ ครม.พิจารณา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน และเห็นชอบในหลักการการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป และการนำผ่านสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กาแฟ ปี 2559 - 2563 และร่างยุทธศาสตร์ชาติ ปี 2559 - 2563 โดยทั้ง 2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 กุลยุทธ์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิต การพัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาด้านการตลาด การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และด้านการบริหารจัดการ ทั้งนี้ จะเสนอร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ครม.เห็นชอบแผนสนับสนุนการส่งออก

ครม. เห็นชอบแผนสนับสนุนการส่งออก พร้อมจัดสรรงบ 1,500 ล้านบาท หวังดันส่งออกขยายตัว 5% ตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์

พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้กระทรวงพาณิชย์ขับเคลื่อนการส่งออกปี้นี้ขยายตัวร้อยละ 5 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงได้จัดสรรงบประมาณกลางปีวงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ 620 ล้านบาท ขณะที่กรมการค้าภายในหวังส่งเสริมผู้ประกอบการด้านเกษตรให้เป็น Smart SME เพื่อให้รู้จักวางแผนการผลิต การใช้นวัตกรรมการผลิต การเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศวงเงิน 880 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนการส่งออก หลังจากตัวเลขการส่งออกลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะเวลา 3 ปี การค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ การผลักดันสินค้าส่งออก 6 กลุ่มเป้าหมาย การปรับแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดอาเซียนและบุกตลาดอาเซียนมากขึ้น ทดแทนตลาดอื่นที่ชะลอลง เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์บุกตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

คุมเข้มบริหารน้ำเขื่อนสิริกิติ์ งัดทุกมาตรการกำกับ-งดสูบป้อนการเกษตรเด็ดขาด

นายสมหวัง ปานสุขสาร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุตรดิตถ์ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งภายใน จ.อุตรดิตถ์ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่เกษตรกร ซึ่งล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนสิริกิติ์ หลังสิ้นเดือนมกราคม เหลือปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 27 ของปริมาณความจุ ถือว่าน้อยมากติดต่อกัน 2 ปีแล้ว

“เกษตรกรอาจจะเห็นว่า ในแม่น้ำน่าน ยังมีน้ำอยู่ เนื่องจากมีการระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ประมาณวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. แต่อาจยังไม่เข้าใจว่า น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนนั้น เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศตลอดลำน้ำ และยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่สามารถสูบขึ้นมาเพื่อทำการเกษตรได้ ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ลงพื้นที่ชี้แจงให้เกษตรกรได้เข้าใจแล้ว ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” นายสมหวังกล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำของ จ.อุตรดิตถ์ช่วงปี 2558/2559 นั้น เนื่องจากปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อย ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงทำให้เก็บน้ำไว้ไม่ได้ รวมทั้งพื้นที่ในจังหวัดมีบ่อน้ำ สระน้ำเก็บกักน้ำจำนวนน้อยมาก จะต้องใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนสิริกิติ์ที่ปล่อยลงมาตามลำน้ำน่านด้วยวิธีการสูบเป็นหลัก ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆของไทย ไม่มีน้ำสนับสนุนการปลูกพืชในฤดูแล้งเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

นายสมหวังกล่าวต่อว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประธาน ได้ออกประกาศแจ้งเตือนสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรทั้งจังหวัด ตลอดลำน้ำน่าน 88 สถานี ให้งดสูบน้ำ รวมถึงขอความร่วมมือไปที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ลดการสนับสนุนค่าไฟในการสูบน้ำด้วย เหลือไว้เพียงสถานีสูบน้ำเพื่อการประปาจำนวน 86 สถานี ซึ่งลดการสูบน้ำลงจาก 24 ชั่วโมงเหลือวันละ 12 ชั่วโมง คิดเป็นน้ำปริมาณ 0.4 ล้านลบ.ม./วัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำ 8 มาตรการ ตามมติครม.ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยได้มีการจ้างแรงงานเพื่อมาซ่อมแซมเครื่องมือชลประทานที่ชำรุดอย่างต่อเนื่อง

“ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืองดสูบน้ำ และงดทำนาปรังเป็นอย่างดีเนื่องจากเห็นว่าตัวเลขปริมาณน้ำใช้การดังกล่าวข้างต้นนั้นน้อยจริง ประกอบกับหน้าแล้งที่ติดต่อกันในปี 2557 และ 2558 ทำให้ทุกคนเกรงว่า ถ้าฝนน้อยในปี 2559 อีกครั้งจะทำให้ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จึงร่วมใจกันประหยัดน้ำ” นายสมหวัง กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กกร.หนุนไทยเข้าร่วมTPP

กกร.หนุนไทยเจรจาเข้าร่วม TPP ชี้ประโยชน์มากกว่าเสีย หากไม่ร่วมลงทุนใหม่อาจไม่มา พร้อมแนะรัฐต้องเยี่ยวยาอุตฯ ที่ได้รับผลกระทบ "สุพันธุ์" แจงตั้งคณะทำงานอาเซียนฮับดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน บริการ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ซึ่งจากการสำรวจสมาชิก กกร. พบว่า 80-90% ที่เห็นด้วย แต่มีบางอุตสาหกรรมที่คัดค้าน เพราะได้รับผลกระทบ เช่น ปศุสัตว์ พันธุ์พืช สิทธิบัตรยา เป็นต้น จึงต้องหารือร่วมกับภาครัฐ เอกชนถึงมาตรการเยียวยา

"หากมีปัญหาก็ต้องมีมาตรการเยียวยา เช่นเดียวกับกรณีเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศต่างๆ 12 กรอบเจรจาภาครัฐได้ตั้งกองทุน FTA เข้ามาดูแลอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้เงินก็ยังเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องมองที่ประโยชน์ภาพรวมที่จะเสียมากกว่าได้ ซึ่งนักลงทุนเองก็ติดตามอยู่ หากไทยไม่เข้าร่วม TPP อาจกระทบต่อการลงทุนใหม่ แต่การย้ายฐานหนีจากไทยคงไม่ง่ายนัก” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.ยังเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานอาเซียนฮับ เพื่อศึกษาการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและการบริการ โดยให้แต่ละสถาบันส่งตัวแทนเข้าร่วม เพื่อที่จะศึกษาว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางได้อย่างไร และการให้ 10 ประเทศในอาเซียนยอมรับไทย เช่น กรณีฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นฮับด้านการเงิน โมเดลนี้ก็จะมาใช้ศึกษากับไทยด้วย โดยเรื่องดังกล่าวจะเร่งดำเนินการศึกษาโดยเร็วเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและบริการ

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นที่ย้ำให้เห็นว่า หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ขยายตัวได้อีก 0.77% และหากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วยแล้ว จะทำให้การค้าขายเชื่อมโยงกันมากขึ้น และทำให้ GDP ของไทยโตขึ้นอีก 1.06% ดังนั้นไทยจะต้องพิจารณาผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบางกลุ่ม.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ค่าเงินบาทเปิด 35.40/42แนวโน้มแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิด 35.40/42 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่าตามภูมิภาค คาดกรอบวันนี้ 35.30-35.50 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.40/42 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.47/48 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าได้ต่อ ซึ่งเป็นไปตามค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนมีการไล่ซื้อเงินเยนกันในช่วงนี้ เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

"บาทวันนี้น่าจะยังแข็งค่าต่อ เป็นไปตามภูมิภาค ช่วงนี้มีการไล่ซื้อเงินเยนกัน หลังจากที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นลดดอกเบี้ย...ตอนนี้ราคาอะไรก็ไม่ค่อยดี คนมองว่าเงินเยนเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย" นักบริหารเงิน ระบุนักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.30-35.50 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

'รมว.อุตสาหกรรม' เตรียมโรดโชว์ญี่ปุ่น-อเมริกา

"อรรชกา" รมว.อุตสาหกรรม เตรียมเดินสายโรดโชว์ญี่ปุ่น-อเมริกา 11- 20 ก.พ. นี้ หวังดึงต่างชาติลงทุนไทยเพิ่ม

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนก.พ.นี้ มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อโรดโชว์หวังดึงการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดย ระหว่างวันที่ 11-15 ก.พ. นี้ จะเดินทางไปญี่ปุ่น ร่วมการสัมมนาเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น ซึ่งจะมีธุรกิจขนาด กลางและขนาดเล็กของญี่ปุ่นเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการชักชวนให้ เข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ Super Cluster

หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 15-20 ก.พ.นี้ จะเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อพบกับนักธุรกิจชั้นด้านดิจิตอล คือ ซีเกท และ เวสเทิร์น ดิจิตอล รวมถึงฟอร์ด ชักชวนให้ขยายการลงทุนในประเทศไทยไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมาทาง ซีเกท เทคโนโลยี ระบุว่า มีแผนลงทุนในไทยใน ช่วง 5 ปี หรือ 58-62 ด้วยวงเงิน 1.53 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างอาคารใหม่ ในพื้นที่ โรงงาน ที่จ.นครราชสีมา ซึ่งจะทำให้พื้นที่การผลิตเพิ่ม ขึ้น 49% เป็น 2.37 แสนตาราง เมตร จากเดิมที่ 1.6 แสนตารางเมตร

ขณะที่เมื่อก.ย.ปีที่แล้ว คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนในการขยายกิจการผลิตรถยนต์ ปิคอัพ ของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 6.27 พัน ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่เขต เศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งตามแนวชายแดน เพื่อจะกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค ต่างๆ ของไทย รวมถึงกำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายไว้หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ในจำนวน นี้ รวมถึงกลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, คลัสเตอร์ดิจิ ทัล และด้านการแพทย์ รัฐบาลไทยยังออกมาตรการต่างๆ เพื่อจูงใจนักลงทุน เช่น การลด ภาษีนิติบุคคล และการเพิ่มเงื่อนไขพิเศษในการส่งเสริมการลงทุน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

“รวงข้าว” คาดเงินบาทมีโอกาสอ่อนแตะ 38 มองขึ้น ดบ.นโยบายอาจทำให้เม็ดเงินไหลเข้าเก็งกำไร 

         แบงก์กสิกรฯ คาดแนวโน้มเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปลายปีนี้ ขณะที่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนปีนี้จะมีความผันผวนน้อยกว่าปีก่อน พร้อมมอง กนง.อาจต้องคง ดบ.นโยบายที่ 1.5% เพื่อดูแล ศก. เพราะหากปรับขึ้น ดบ.อาจทำให้เงินไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดน้อยลง

                นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนปีนี้จะมีความผันผวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปี 2558 เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากถึงร้อยละ 8-9 ดังนั้น ปีนี้อัตราการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐจึงน้อยลง อย่างไรตาม มองว่าดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีที่สุด ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัว เศรษฐกิจยุโรปค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนญี่ปุ่นยังคงต้องใช้มาตราการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น เงินจึงไหลเข้าไปลงทุนในสกุลดอลลาร์สหรัฐต่อไป ส่งผลให้เงินบาท และเงินสกุลเอเชียอ่อนค่า โดยประเมินว่าปลายปีนี้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

                นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ โดยครั้งแรกจะปรับขึ้นในช่วงมีนาคมนี้ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เพราะหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้เงินไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดน้อยลง

                ส่วนแนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ธนาคารกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 และจะมีการทบทวนอีกครั้งในช่วงปลายเดือนมิถุนายน โดยยังต้องติดตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดการณ์ว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 และความคืบหน้าการปฏิรูป และการลงประชามติรัฐธรรมนูญ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเร่งแก้ปัญหาอ้อยปนเปื้อน รับผ่าน 70 วัน คุณภาพร่วง ฉุดปริมาณน้ำตาลทรายวูบ 

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์คุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย หวังสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของเขตคำนวณราคาอ้อย คาดเริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 59/60 เพื่อสร้างมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย หลังจากฤดูการหีบอ้อยปีนี้ ครบ 70 วัน พบคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลงทั้งในแง่ของปริมาณอ้อยและ ยิลด์การผลิตน้ำตาลร่วงจากปัญหาภัยแล้ง อ้อยสกปรกมีสิ่งปนเปื้อน และอ้อยไฟไหม้

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูการหีบอ้อยปี 2558/59 ก่อนนำเสนอให้แก่ กอน. ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยและสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของแต่ละเขตคำนวณราคาอ้อย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เป็นต้นไป

          สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอ้อยนั้น ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รวบรวมวิธีการตรวจสอบมาตรฐานอ้อยที่ใช้ปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำหนดแนวทางให้โรงงานน้ำตาลทรายเก็บอ้อยตัวอย่างด้วยการแยกอ้อยสด อ้อยไฟไหม้และอ้อยรถตัด โดยการสุ่มตรวจวันละ 3 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้คำนวณค่าอ้อยปนเปื้อน หากมีสิ่งปนเปื้อนไม่เกิน 3% ในวันที่มีการสุ่มตรวจถือว่าคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่า 3% ให้คณะทำงานเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายมองว่า การหาสิ่งปนเปื้อนในอ้อยด้วยเครื่อง NIRS (Near Infrared Spectroscopy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล และแอฟริกาใต้ควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างการทดลองและศึกษา โดยเก็บตัวอย่างชิ้นอ้อยที่ผ่านการเตรียมอ้อยแล้ว เพื่อนำมาหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนในอ้อย แล้วนำไปวัดด้วยเครื่อง NIRS เพื่อหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนต่อไป

          "สิ่งปนเปื้อนในอ้อยถือเป็นอีกต้นตอปัญหาของคุณภาพผลผลิตอ้อยที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยลดลง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมจึงเร่งแก้ไขโดยการกำหนดค่ามาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

          ส่วนความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 หลังโรฟงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 70 วัน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา พบว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีคุณภาพลดลงทั้งในแง่ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานที่ลดลงอย่างรุนแรง โดยขณะนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 51.74 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 58.71 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยรวมจะลดต่ำกว่าปีที่แล้วแน่นอน โดยหลายฝ่ายเห็นว่าปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน

          ขณะที่ค่าความหวานในอ้อยของฤดูการหีบปีนี้ก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ 11.07 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีค่าความหวานในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบที่ 11.52 ซี.ซี.เอส. ซึ่งคุณภาพผลผลิตน้ำตาลโดยรวมที่ตกต่ำลงนั้น นอกจากปัจจัยจากสภาพอากาศแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน โดยพบว่าปริมาณอ้อยสดเข้าหีบในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 20.56 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 40% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 31.19 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 60% ส่วนในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทรายพบว่า โรงงานน้ำตาลใช้กำลัง

          การผลิตหีบต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 1.02 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่หีบอ้อย 1.01 ล้านตันอ้อย เนื่องจากโรงงานเปิดรับผลผลิตอ้อยครบทั้ง 52 โรง จึงสามารถรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

กลุ่มมิตรผลเผยโมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) สานพลังประชารัฐ ส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างยั่งยืน 

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เยี่ยมชม การดำเนินงานของอุทยานมิตรผล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมทั้งกระบวนการผลิตน้ำตาล  ไฟฟ้าชีวมวล และเอทานอล รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการไร่อ้อยภายใต้โมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) สะท้อนเจตนารมณ์ในการสนับสนุนโครงการ "1 ตำบล 1 SME เกษตร" ตามแนวนโยบายประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนอย่างยั่งยืน

          นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจกลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "เราดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพของผลผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการร่วมสนับสนุนและสานพลังตามแนวนโยบายประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้โครงการ "1 ตำบล 1 SME เกษตร" ของรัฐบาล"

          โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผล ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการ "1 ตำบล 1 SME เกษตร" เพื่อสนับสนุน SME เกษตร กับ 6 ภาคีจากภาครัฐและภาคประชาชน ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคาร ออมสิน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย โมเดลการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนด้วยการจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) ของกลุ่มมิตรผล ครอบคลุมสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่

          ชาวไร่อ้อยรายเล็ก – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อย 1-50 ไร่ ใช้โมเดลการปลูกพืชเชิงผสมเพิ่มเติมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทั้งปลูกอยู่ และปลูกกิน เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว และ

การเลี้ยงปลา เลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ เพิ่มเติมในพื้นที่ไร่ของตนเอง นอกจากนั้น ยังเกิดการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยรายเล็กด้วยกัน เพื่อรับบริการการทำงานในไร่อ้อยจากชาวไร่อ้อยขนาดกลาง ทั้งการปลูก บำรุง และเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายการจ้างผู้รับเหมาและได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ

          ชาวไร่อ้อยรายกลาง – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อย 50-250 ไร่ ใช้โมเดลการพัฒนาสู่การเป็น SME ผู้ให้บริการชาวไร่รายเล็ก ด้วยแนวทางการส่งเสริมให้มีใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และพัฒนา เพิ่มมูลค่าของเครื่องจักรกลเกษตรด้วยธุรกิจการเป็นผู้รับเหมา ทำงานในไร่อ้อยให้กับชาวไร่อ้อย ขนาดเล็ก ทั้งการปลูก บำรุง และเก็บเกี่ยว เพื่อพัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmer)

          ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ – ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 250 ไร่ขึ้นไป ใช้โมเดลการเกษตรสมัยใหม่ แบบ ModernFarm ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ระดับเวิลคลาสจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบแปลงใหญ่ อาทิ การรวมการผลิต การทำฟาร์มแบบแม่นยำ (Precision Farming) และการเทียบเคียงสิ่งที่ดีที่สุด (Benchmarking)

          การดำเนินงานโครงการการจัดการแบบเกษตรสมัยใหม่ (ModernFarm) ของกลุ่มมิตรผล ก่อให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืนในชุมชน อันเห็นได้จากการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นหมุนเวียน เพราะคนในท้องถิ่นมีงานทำ ไม่ต้องละทิ้ง ถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมือง และยังเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรของไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังมีระบบการส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ การสนับสนุนเงินส่งเสริมในรูปแบบสินเชื่อระยะสั้นเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต พันธุ์อ้อย ดิน ปุ๋ย สารควบคุมวัชพืช สินเชื่อระยะกลางเพื่อส่งเสริมระบบชลประทานขนาดเล็กและอุปกรณ์ชลประทาน และสินเชื่อระยะกลาง-ยาว เพื่อส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนการให้ความรู้และเพิ่มประสบการณ์แก่เกษตรกร จนถึงการรับซื้อผลผลิตอย่างเป็นธรรม

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

เติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล เรียกความมั่นคงด้านน้ำกลับคืนมา

อย่างไรก็ตามโครงการผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพลไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หากคิดกันมานานและมีการศึกษาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไจก้า) ของญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกต่อต้าน

เขื่อนภูมิพลนับเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2507 สามารถจุน้ำได้ถึง 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่มีประโยชน์มหาศาล แต่สภาพปัจจุบันเกิดภาวะแห้งแล้งขึ้น โดยเฉพาะฤดูแล้งปีนี้ เหลือน้ำแค่ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

จากสถานการณ์นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล ซึ่งมีแนวทางผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาเติมด้วยกัน สองทาง คือ โครงการผันแม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน และโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเมย จ.แม่ฮ่องสอนแต่การผันน้ำจากแม่น้ำเมย ติดขัดปัญหาตรงที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศกั้นชายแดนเมียนมากับไทย ซึ่งต้องเจรจากัน จึงมุ่งพิจารณาโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม โดยสร้างเขื่อนและเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ส่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำมายังเขื่อนภูมิพล ความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร เท่านั้น

อย่างไรก็ตามโครงการผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพลไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หากคิดกันมานานและมีการศึกษาจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ (ไจก้า) ของญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกต่อต้าน และสถานการณ์น้ำยังไม่วิกฤติเหมือนระยะหลัง ๆ ที่สะท้อนว่าภาวะความแห้งแล้งรุนแรงอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ ยังกล่าวถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า มีเขื่อนขนาดใหญ่คอยสนับสนุน 4 เขื่อนได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งสร้างประโยชน์อย่างมากมาย ในการเก็บกักน้ำ ช่วยตัดยอดน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ให้ไหลบ่าลงมาท่วม พอฤดูแล้งก็นำน้ำที่เก็บไว้มาใช้ได้อีก ลุ่มเจ้าพระยาจึงมีน้ำมั่นคง และสร้างอู่ข้าวอู่น้ำ

ปัจจุบันเกิดภาวะแห้งแล้งเราจำต้องประหยัดน้ำทุกวิถีทาง ไม่ว่าน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร ซึ่งต้องหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรังการที่เขื่อนภูมิพลประสบปัญหาวิกฤติน้ำต้นทุน

นอกจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาพลอยได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่แล้ว เขื่อนภูมิพลได้รับการออกแบบให้มีความจุกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 2.6 เท่า ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หมายความว่าออกแบบเผื่อให้มีความจุมาก ๆ อยู่แล้ว เพื่อเป็นแหล่งน้ำหลักสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาการผันน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเติมจึงเป็นทางออก โดยมุ่งสู่ลุ่มน้ำสาละวินเป็นเป้าหมาย เพราะอยู่ใกล้ลุ่มน้ำปิง ที่ตั้งของเขื่อนภูมิพล อีกทั้งมีปริมาณน้ำท่ามากถึง 10,200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ขณะนี้ยังไม่มีอ่างเก็บโครงการขนาดใหญ่ เท่าที่มีอยู่เป็นโครงการขนาดกลาง 16 โครงการ และโครงการขนาดเล็ก 355 โครงการ รวมความจุเก็บกักน้ำได้เพียง 29 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นน้ำส่วนเกิน 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พอ ๆ กับความจุของเขื่อนสิริกิติ์ ไหลลงแม่น้ำสาละวินไปออกทะเลอันดามัน โดยที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

ทั้งนี้การสร้างอุโมงค์ส่งน้ำที่เจาะภูเขาและระบบท่อ ความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร เท่า ๆ กับยกน้ำจากเขื่อนป่าสัก 2 เขื่อน ไปเทใส่ให้เขื่อนภูมิพล จะเรียกความมั่นคงด้านน้ำกลับคืนมาได้ทันทีและหากเขื่อนภูมิพลมั่นคง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็พลอยมั่นคงไปด้วย ปริมาณน้ำใช้การที่น้อยมากในปีนี้ จึงสะท้อนวิกฤติน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ชัดเจน และเป็นสัญญาณเตือนให้เร่งแก้ไขก่อนสายเกินไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

ภัยแล้งปีนี้เสียหาย6.2หมื่นล.นักวิชาการจี้รัฐ'เก็บค่าน้ำดิบ

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในงานเสวนา "เกษตรศาสตร์นำไทยสู้ภัยแล้ง" ว่า ในอดีตไทยประสบปัญหาภัยแล้ง 3-4 ปีติดต่อกันในปี 2534-2537 น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปี 2537 เหลืออยู่เพียง 2,043 ล้าน ลบ.ม.ที่จะต้องใช้ในช่วงฤดูแล้ง 6 เดือน ปีนั้นมีการทำนาปรัง 1.7 ล้านไร่ และแล้งรอบที่สองปี 2555-2558 น้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ข้างต้น ณ วันที่ 1 ม.ค. 2559 เหลือ 3,018 ล้าน ลบ.ม. หากรวม 2 เขื่อนใหม่คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีน้ำรวม 3,800 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดลุ่มเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้ว 1.88 ล้านไร่ ฤดูแล้งปีนี้เหลือ 100 วัน หาก ไม่มีการนำน้ำไปเพาะปลูกมากนัก 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามปรากฏการณ์ธรรมชาติร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา สภาพอากาศน่าจะเริ่มเป็นใจ ภาวะภัยแล้งที่เป็นสีแดงในแผนที่เอเชียจะเริ่มถดถอยตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป

          ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า วิกฤตภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงมาก เนื่องจากดัชนีชี้วัดปรากฏการณ์เอลนิโญ มีค่าสูงที่สุดในรอบ 65 ปี ปริมาณน้ำ ใน 2 เขื่อนหลักอยู่ในระดับที่ต่ำ ชี้ให้เห็นว่า ภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเฉลี่ยปีละ 1.5-6.2 หมื่นล้านบาทขึ้นอยู่กับระดับ ความรุนแรง ดังนั้น ต่อไปไทยต้องบริหารจัดการน้ำเชิงอุปสงค์ จากเชิงอุปทานที่ทำอยู่ ต้องใช้กลไกราคามากำหนดเหมือน ต่างประเทศ

          ภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงมาก คาดว่า การผลิตภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท หากภัยแล้งยาวนานถึงเดือน มิ.ย. 2559 นี้ ดังนั้น ภาครัฐ ควรร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยระยะสั้นต้องรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดน้ำ ควรมีมาตรการเพิ่ม เช่น ครัวเรือน ภาคธุรกิจ หรือหน่วยราชการที่ใช้น้ำน้อย จะได้ส่วนลดค่าน้ำ ควรเพิ่มระดับการขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรัง เร่งส่งเสริม ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย

          ทางด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ภัยแล้งในขณะนี้ ภาครัฐมีแผนขุดเจาะน้ำบาดาล 6,000 แห่ง ภายในเดือน ก.พ.นี้ จะต้อง แล้วเสร็จ 3,000 แห่ง ในขณะที่ภัยแล้งที่ คุกคาม 500 กว่าอำเภอ ตามยุทธศาสตร์น้ำ ปี 2558-2569 ภาครัฐจะต้องบริหารจัดการน้ำให้กับ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประเทศให้มีน้ำกินน้ำใช้ภายในปี 2560

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

สุดทน! ชาวบ้านด่านบุรีรัมย์ร้องรถบรรทุกดิน-อ้อยวิ่งถนนพังเดือดร้อนกว่า 5 ปี วอนช่วย  

ชาวบ้านอ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ร้องรถบรรทุกดินและอ้อยวิ่งผ่านถนนกลางหมู่บ้านเชื่อมต่อตำบล -อำเภอชำรุดตลอดสาย หน้าแล้งฝุ่นกระจาย กระทบชีวิตสุขภาพและสัญจรลำบาก เดือดร้อนมากว่า 5 ปี วอนช่วยเหลือ วันนี้ ( 8 ก.พ.) 

         บุรีรัมย์ - ชาวบ้านบุรีรัมย์สุดทนรถบรรทุกดินและอ้อยวิ่งผ่านถนนกลางหมู่บ้านเชื่อมต่อตำบล อำเภอชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทั้งสาย หน้าแล้งฝุ่นฟุ้งกระจาย กระทบการดำรงชีวิต สุขภาพ และการสัญจรลำบาก เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมานานกว่า 5 ปี วอนช่วยเหลือซ่อมสร้างถนน

                วันนี้ (8 ก.พ.) ชาวบ้านบ้านโยนช้า ม.7 ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้ร่วมกันออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน หลังได้รับผลกระทบจากรถบรรทุกดิน และอ้อยวิ่งผ่านถนนสายหลักเข้าออกหมู่บ้านซึ่งเป็นถนนลาดยางและเชื่อมต่อระหว่างตำบล อำเภอ ทำให้ถนนมีสภาพชำรุดเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงหินหลุดร่อนคล้ายถนนลูกรัง

                สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านผู้สัญจร รวมถึงบุตรหลานที่เดินทางไปโรงเรียนด้วยความยากลำบากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ประกอบกับหน้าฝนมีน้ำท่วมขังตามหลุม หน้าแล้งฝุ่นฟุ้งกระจายสร้างมลภาวะต่อชุมชน กระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านเกรงว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องขอความช่วยเหลือไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอแล้ว แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือทำให้ได้รับความเดือดร้อนมานานกว่า 5 ปีแล้ว

                ล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งดูแลรับผิดชอบถนนสายดังกล่าวได้นำรถมาเกรดปรับพื้นผิวถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ชาวบ้านอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการซ่อมสร้างถนนลาดยางใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างถาวรดังกล่าวด้วย เพราะขณะนี้ยังมีรถบรรทุกอ้อยและดินวิ่งผ่านทุกวันซึ่งจะทำให้ถนนชำรุดอย่างเช่นที่ผ่านมา

                ด้าน นายธนศักดิ์ ปะโคธานัง ผู้ใหญ่บ้านโยนช้า พร้อมด้วยนายแก้ว พันลิ และนางผาง วาวิลัย ชาวบ้านระบุว่า ถนนสายดังกล่าวไม่ได้รับการซ่อมแซมมานานกว่า 5 ปีแล้ว มีสภาพที่ชำรุดผุพังเสียหายเนื่องจากมีรถบรรทุกอ้อยและรถบรรทุกดินวิ่งผ่านเป็นประจำ จนทำให้ถนนพังเสียหายสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านและผู้สัญจรมานานหลายปี

                จึงร้องขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งเข้ามาช่วยเหลือซ่อมสร้างถนนให้เป็นคอนกรีต หรือราดยางใหม่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านโดยเร่งด่วนด้วย

 จาก http://manager.co.th วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

สศอ.ทุ่มงบ 1,017 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลก

สศอ.จับมือ 18 หน่วยงาน จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2559-2564) เพื่อยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม พร้อมทุ่มงบประมาณ 1,017 ล้านบาท ดันอันดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยเทียบชั้นในเวทีโลก

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2560 สศอ.ได้จัดทำคำของบประมาณจำนวน 1,017 ล้านบาท เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ 1.ยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและระบบบริหารจัดการ 2.ยกระดับผลิตภาพแรงงานให้มีทักษะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และ 3.พัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ

เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยอาศัยปัจจัยทุน และแรงงานเป็นหลัก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตโดยรวม (Total Factor Productivity: TFP) ของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ดังจะเห็นได้จากในปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวติดลบร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของปัจจัย TFP ติดลบร้อยละ 2.52 ส่วนปัจจัยทุน และปัจจัยแรงงานขยายตัวร้อยละ 0.80 และ 0.64 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตโดยรวม และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สมดุลของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยทางด้านผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม ของ International Institute for Management Development : IMD ในปี 2558 ยังพบว่า ประเทศไทยมีอันดับผลิตภาพที่ต่ำ อยู่อันดับที่ 51 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ส่วนผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มีอันดับผลิตภาพที่ต่ำเช่นกัน โดยอยู่อันดับที่ 52 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคงไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว

ดังนั้น สศอ.จึงได้ประชุมหารือร่วมกับ 18 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง  กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) ภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น

โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ 1.พัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 1,600 โรงงาน 2.พัฒนาบุคลากร จำนวน 10,000 คน และ 3.พัฒนาเครือข่าย 36 เครือข่าย ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถขยับอันดับผลิตภาพของประเทศไทยจากอันดับที่ 51 มาอยู่อันดับที่ต่ำกว่า 45 จาก 61 ประเทศทั่วโลกได้ในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

“เสี่ยเจ้าของโรงงานน้ำตาล” เมืองอุดรฯ ใจป้ำ ควัก 3 ล้านแจกอั่งเปาคนชรา-ผู้ยากไร้ 

นักธุรกิจเมืองอุดรธานี เจ้าของโรงงานน้ำตาล-โรงแรมใจป้ำ ควักเงินสด 3 ล้านบาทแจกอั่งเปาเนื่องในวันตรุษจีนแก่คนชรา ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ชาวบ้านกว่า 5,000 คนเข้าคิวรับอั่งเปาแถวยาวเหยียด เจ้าตัวเผยแจกมากว่า 30 กว่าปีเป็นการทำบุญ มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

                ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานีว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (7 ก.พ.) ที่บริเวณบ้านสำลีเงิน เลขที่ 559 ถ.นิตโย เขตเทศบาลนครอุดรธานี นายปรีชา ชัยรัตน์ หรือ “เสี่ยปรชา” ประธานกิติมศักดิ์มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่าอุดรธานี, นายประชา ชัยรัตน์ ประธานกรรมการศาลเจ้าปู่-ย่า สมัยที่ 66 และครอบครัวซึ่งเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงานน้ำตาลทรายขาวเริ่มอุดม อ.หนองหาน จ.อุดรธานี และเจ้าของโรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้ร่วมกันแจกอั่งเปาแก่คนชรา ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส

                โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ได้มีประชาชนกว่า 5,000 คนทั้งเด็ก และคนชราหลากหลายอาชีพ คนขับรถสามล้อรับจ้างและรับจ้างทั่วไปต่างพากันมารอเข้าแถวยาวเหยียดตั้งแต่เช้ามืด จนทำให้การจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารต้องมาคอยอำนวยความสะดวกให้

        นายปรีชา ชัยรัตน์ เจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงแรมเมืองอุดรธานี เปิดเผยว่า การแจกอั่งเปาแก่คนยากคนจนนั้นตนกับครอบครัวได้ทำมาแล้วกว่า 30 ปี โดยแต่ละปีจะใส่เงินสดซองละ 200 บาทตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มแจกก็ซองละ 200 บาทเช่นกัน โดยจะทำเป็นประจำในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญแก่คนชรา คนยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส

                “สำหรับในปีนี้ได้เตรียมเงินสดเอาไว้จำนวน 3 ล้านบาทเพื่อใส่ซองจำนวน 15,000 ซอง ซองละ 200 บาทแจกอั่งเปา เนื่องจากมีชาวบ้านที่ทราบข่าวมาเพิ่มขึ้นทุกปี ดีใจและมีความรู้สึกว่าเมื่อได้ทำไปบุญไปแล้วใจก็เป็นสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้คนในวันตรุษจีนนี้”

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน คาดสัปดาห์หน้าอยู่ในกรอบ 35.35-35.65 บาท/ดอลลาร์ฯ

“เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจชะลอการตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน มี.ค. 59 ออกไป”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทกลับมาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 35.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าในช่วงแรกตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าตั้งแต่ในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากการที่ตลาดประเมินว่า จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดต่างก็มีท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นในการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงิน นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติช่วงท้ายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (5 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ 35.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.35-35.65 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาการปรับตัวของตลาดการเงินโลกหลังรับรู้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. (เบื้องต้น) ยอดค้าปลีก ดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนม.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง/ภาคธุรกิจเดือนธ.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามสุนทรพจน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ต่อสภาคองเกรสในช่วงกลางสัปดาห์ด้วยเช่นกัน อนึ่ง ตลาดการเงินจีนจะปิดทำการตลอดสัปดาห์เนื่องในวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ว่าเฟดอาจชะลอการตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน มี.ค. 59 ออกไป โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,306.29 จุด เพิ่มขึ้น 0.41% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 0.13% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,066.22 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 507.81จุด ลดลง 0.19% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ โดยได้รับแรงกดดันจากข้อมูลดัชนี PMI ของจีนที่อ่อนมาแย่ รวมทั้ง ยังมีแรงขายในหุ้นกลุ่มโทรคมนาคมจากความกังวลต่อการเพิ่มทุน อย่างไรก็ดี ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ โดยกลับไปยืนเหนือระดับ 1,300 จุดอีกครั้ง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น หลังเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า ท่ามกลางคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปอีก

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,295 และ1,280 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ แถลงการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดต่อสภาคองเกรส สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดค้าปลีก และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ การรายงานข้อมูล GDP ของประเทศในยูโรโซน รวมทั้ง การรายงานข้อมูลเงินสำรองระหว่างประเทศของจีน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

โรงงานน้ำตาลตั้งเกณฑ์ยีลด์ขั้นต่ำ เลิกสูตรรายเขตสะท้อนต้นทุน

กอน. เร่งปรับโครงสร้างคำนวณราคาอ้อยน้ำตาลแยกรายโรงงาน หลังกำหนดเกณฑ์มาตรฐานชั้นต่ำยีลด์สะท้อนต้นทุนแท้จริง เผยเล็งกำหนดสูตรหักเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย ขึ้นมาทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูการหีบอ้อยปี 2558/59 ก่อนนำเสนอให้แก่ กอน.ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยและสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของแต่ละเขตคำนวณราคาอ้อย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เป็นต้นไป

 สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอ้อยนั้น ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รวบรวมวิธีการตรวจสอบมาตรฐานอ้อยที่ใช้ปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำหนดแนวทางให้โรงงานน้ำตาลทรายเก็บอ้อยตัวอย่างด้วยการแยกอ้อยสด อ้อยไฟไหม้และอ้อยรถตัด โดยการสุ่มตรวจวันละ 3 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้คำนวณค่าอ้อยปนเปื้อน หากมีสิ่งปนเปื้อนไม่เกิน 3% ในวันที่มีการสุ่มตรวจถือว่าคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่า 3% ให้คณะทำงานเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป

ส่วนการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยรวม 70 วัน พบว่ามีคุณภาพลดลงทั้งในแง่ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยีลด์) และค่าความหวานที่ลดลงอย่างรุนแรง โดยขณะนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 51.74 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 58.71 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยีลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียีลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยรวมอาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน ขณะที่ค่าความหวานลดลงอยู่ที่ 11.07 ซีซีเอส เมื่อเทียบกับปีก่อนมีค่าความหวานที่ 11.52 ซีซีเอส เนื่องจากสภาพอากาศ ปัญหาอ้อยไฟไหม้ และอ้อยปนเปื้อน

แหล่งข่าวจากวงการอ้อยน้ำตาล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย ได้มีการหารือกันเบื้องต้นว่า จะมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำ หากโรงงานใดทำไม่ได้ อาจมีการกำหนดค่าปรับให้ชดเชย เนื่องจากที่ผ่านมามีการคำนวณค่าความหวานของอ้อย แต่ไม่มีการกำหนดประสิทธิภาพอัตราขั้นต่ำในการผลิตน้ำตาลของแต่ละโรงงาน ทำให้บางครั้งถึงชาวไร่จะปลูกอ้อยมาอย่างดี ได้ค่าความหวานที่สูง แต่หากประสิทธิภาพการผลิตของบางโรงงานได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำ ส่งผลให้การคำนวณราคาเกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวไร่ โดยเฉพาะเมื่อต้องถูกนำไปเฉลี่ยรวมทั้งเขตที่มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่หลายแห่ง ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างให้เห็นในบางเขต มีโรงงานน้ำตาลอยู่ 3 แห่ง โรงงาน 2 แห่งมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ขณะที่อีก 1 แห่งมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ แต่เวลาคำนวณรายเขตจะถูกดึงให้ยีลด์ต่ำลงไปด้วย จึงมีแนวคิดเสนอให้ปรับโครงสร้าง โดยแยกโรงงานออกมาคำนวณยีลด์ของแต่ละโรงไป ไม่ต้องคิดคำนวณรวมเขต

นอกจากนี้ การทราบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของแต่ละโรงงานน้ำตาล ส่งผลให้ทราบว่า โรงงานมีกำไรหรือขาดทุน จากเดิมจะทราบเฉพาะต้นทุนค่าปลูกอ้อยของชาวไร่ จะทำให้สามารถหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้ โดยที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลจะอ้างว่าขาดทุนตลอด หลังจากทราบต้นทุนของทั้งชาวไร่และโรงงานจะนำไปสู่การกำหนดสูตรในการหักเงินเข้ากองทุนต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

มุ่งแก้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ทันใช้ปี′59 

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง และจะเสนอให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและออกประกาศราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2559 นี้

ประเด็นที่มีการแก้ไขประกอบด้วย การปรับเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันกับธุรกิจอื่น แต่ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ปรับเพิ่มการควบรวมกิจการสามารถดำเนินการได้เลย แต่ต้องแจ้งหลังควบรวมแล้ว และจะมีการปรับปรุงนิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้มีความเป็นสากลมากขึ้น พร้อมกันนี้ได้ปรับในส่วนการคัดเลือกคณะกรรมการและหน่วยงานจะเป็นอิสระในการบังคับใช้กฎหมาย โดยคณะกรรมการจะมีการคัดเลือกจากปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ 4 กระทรวง ร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้คัดเลือก ทั้งนี้ สำนักงานแข่งขันฯจะแยกออกเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับกระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ ปรับโทษทางอาญา-โทษทางปกครอง และให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งปรับธุรกิจที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบได้ และยังเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจว่าจะมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม สอดรับกับการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีต่าง ๆ ช่วยดึงดูดการเข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

รมว.อุตฯ ลงพื้นที่ รง.มิตรผล ลุยผลิตภัณฑ์จากอ้อยครบวงจร

รมว.อุตสาหกรรม-เลขาฯ บีโอไอ ลงพื้นที่อุทยานมิตรผลที่ จ.ชัยภูมิ ตรวจเยี่ยมการผลิตสินค้าจากอ้อยครบวงจรทั้งน้ำตาล ไฟฟ้า และเอทานอล...

มีรายงานว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานมิตรผล และศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย ตั้งอยู่ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ อุทยานมิตรผลประกอบด้วยโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานเอทานอล โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการอันทันสมัย เช่น ระบบการบรรจุน้ำตาลอัตโนมัติ ระบบการหีบอ้อยจากรถตัด พร้อมด้วยจัดการไร่อ้อยภายใต้โมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนอย่างยั่งยืน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 

กพร.เร่ง25เหมืองแร่พัฒนาที่เก็บน้ำรับมือแล้ง

กพร. เร่งดัน 25 เหมืองแร่ พัฒนากักเก็บน้ำให้ทัน มีนาคม 59 ใช้ประโยชน์กระจายสู่ชุมชน รองรับภัยแล้ง

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ปัจจุบัน มีขุมเหมืองที่บรรจุเก็บกักน้ำ เพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นแล้ว 9 เหมือง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เหมืองอีก ประมาณ 25 เหมืองทั่วประเทศ ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสภาพพื้นที่ พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำในเหมืองมาวิเคราะห์ว่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง เพื่อกระจายสู่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง รองรับปัญหาภัยแล้ง โดย กพร. ได้ประสานผู้ประกอบการเหมืองแร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลักดันทั้ง 25 เหมือง ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนมีนาคม 2559 นี้

พร้อมกันนี้ นายชาติ กล่าวว่า การตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์กระจายสู่ชุมชนข้างเคียงสามารถนำมาใช้ในระบบสาธารณูปโภค และภาคเกษตร โดยผู้ประกอบการเหมืองส่วนใหญ่ยินดีที่สนับสนุนการลงทุนในระบบการจัดส่ง ปั๊มสูบน้ำ เพื่อกระจายสู่ชุมชนให้มีการนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 

เร่งทำฝนหลวงสู้ภัยแล้ง

          เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการบรรเทาปัญหาภัยแล้งในปีนี้ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้สถานการณ์น้ำในขณะนี้มีน้ำไหลเข้าเพิ่มจากช่วงก่อน เฉลี่ยวันละ 8.25 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) มีการระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 17.8 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าจะมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ได้ถึงกลางเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนปริมาณน้ำใช้การจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ มีน้ำใช้การได้รวม 3,423 ล้าน ลบ.ม. ขอให้มั่นใจว่าจะมีน้ำอุปโภคบริโภค น้ำรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ ด้านการดูแลข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ไม่เสียหายแน่นอน ในขณะที่ข้าวนาปรังได้รับผลกระทบ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทั้งหมด 4.5 ล้านไร่ อยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.7 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการอย่างดีที่สุด โดยไม่ให้กระทบกับแผนที่วางไว้

          "ด้านความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น มีความคืบหน้าในมาตรการที่ 4 ระยะที่ 1 โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย/ใช้ความชื้นในดินจำนวน 155 โครงการใน 20 จังหวัด 60 อำเภอ 132 ชุมชน จำนวน 151.94 ล้านบาท ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และในระยะที่ 2 การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ล่าสุด ครม.อนุมัติโครงการแล้ว 3,135 โครงการ วงเงิน 1,833 ล้านบาท ส่วนโครงการที่เหลืออีก 6,481 โครงการ กำลังทยอยพิจารณาและเตรียมเสนอ ครม. ภายในสัปดาห์หน้า" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า พื้นที่ที่น่าห่วงที่สุดขณะนี้คือภาคอีสานตอนกลาง พื้นที่รอยต่อ จ.นครราชสีมา และเขตอำเภอโดยรอบ อาจจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเนื่องจากบริเวณนั้นไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำรองน้ำอุปโภคบริโภค และภาคเหนือ บริเวณพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ยังคงน่ากังวลเช่นกัน จึงขอเตือนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมทั้งให้ติดตามการประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดด้วย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 

หนุน กรอ.ดึงเทคโนโลยียกโรงงาน

สวทช.หนุน กรอ.ใช้เทคโนโลยียกระดับคุณภาพโรงงาน นำ ไอทีเอพี ต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้ลงนามบันทึกความตกลงร่วมกันกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้า 2 ปี จะพัฒนาผู้ประกอบการอย่างน้อย 100 โรงงาน ในการประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ และมีระบบตรวจติดตามสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมรายละไม่เกิน 4 แสนบาท

ทั้งนี้จะใช้โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ของ สวทช. ที่ให้บริการภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกระดับเทคโนโลยีการผลิต เพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าของการลงทุ “กรอ.มีการติดตามการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยจะเลือกโรงงานที่มีความพร้อม 500 โรงงาน ครอบคลุมอุตสาหกรรม เพื่อติดตามการทำงานและใช้การพัฒนาเทคโนโลยีจาก สวทช.เข้าช่วยเหลือ แต่เบื้องต้น 2 ปีแรกจะดำเนินการ 100 โรงงานก่อน เมื่อพบปัญหาในการประกอบกิจการแต่ละรายแล้วจะนำปัญหามาวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้โรงงานและให้ความรู้แก่อุตสากรรมรายอื่น ๆ ต่อไป”

นายพสุ กล่าว นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านอุตสาหกรรมของประเทศนั้น ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมของไทยไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงนำความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมมาสู่การทำวิจัย แล้วสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เป็นต้น และอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมต้องเกิดจากความสมัครใจ“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 

กอน. ตั้งทีมเพิ่มมาตรฐานอ้อย-น้ำตาล

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูการหีบอ้อยปี 2558/59 ก่อนนำเสนอให้แก่ กอน. ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยและสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของแต่ละเขตคำนวณราคาอ้อย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เป็นต้นไป

สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอ้อยนั้น ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รวบรวมวิธีการตรวจสอบมาตรฐานอ้อยที่ใช้ปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำหนดแนวทางให้โรงงานน้ำตาลทรายเก็บอ้อยตัวอย่างด้วยการแยกอ้อยสด อ้อยไฟไหม้และอ้อยรถตัด โดยการสุ่มตรวจวันละ 3 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้คำนวณค่าอ้อยปนเปื้อน หากมีสิ่งปนเปื้อนไม่เกิน 3%ในวันที่มีการสุ่มตรวจถือว่าคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่า 3% ให้คณะทำงานเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป  อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายมองว่า การหาสิ่งปนเปื้อนในอ้อยด้วยเครื่อง NIRS (Near Infrared Spectroscopy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล และแอฟริกาใต้ควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างการทดลองและศึกษา โดยเก็บตัวอย่างชิ้นอ้อยที่ผ่านการเตรียมอ้อยแล้ว เพื่อนำมาหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนในอ้อย แล้วนำไปวัดด้วยเครื่อง NIRS เพื่อหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มึนแล้งจัด-อ้อยไฟไหม้พุ่ง ฉุดยอดผลิตน้ำตาลหลุดเป้า

โรงงานน้ำตลาดมึนเปิดหีบ 70 วัน ผลิตน้ำตาลต่ำกว่าเกณฑ์ ส่อแววมีอ้อยไม่ถึง 100 ล้านตัน แจงปัจจัยหลักมาจากภัยแล้ง-อ้อยไฟไหม้ ด้าน กอน. ”เร่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทรายหวังใช้ในปี 59/60

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 ว่า หลังจากเปิดหีบอ้อยตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2558 เป้นต้นมา รวมแล้วระยะเวลา 70 วันพบมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบของปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีคุณภาพลดลง ทั้งในด้านของปริมาณอ้อยเข้าหีบ, ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานที่ลดลงอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ล่าสุดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 51.74 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 58.71 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยรวมจะลดต่ำกว่าปีที่แล้วแน่นอน และเห็นว่าปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน

ขณะที่ค่าความหวานในอ้อยของฤดูการหีบปีนี้ ก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ 11.07 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะอยู่ที่ 11.52 ซี.ซี.เอส. แสดงให้เห็นว่าคุณภาพผลผลิตน้ำตาลโดยรวมที่ตกต่ำลง ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัจจัยจากสภาพอากาศ ยังมีผลได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน โดยพบว่าปริมาณอ้อยสดเข้าหีบในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 20.56 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 40% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 31.19 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 60%

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เตือนทุกภาคส่วนร่วมประหยัดน้ำ กรมชลย้ำปริมาณเหลือน้อย-เร่งขุดลอกแก้มลิงอีสาน

กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ปริมาตรน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ รวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,119 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกัน 7.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน รวมจำนวน 3,423 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,492 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ ซึ่งกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การตามแผน ได้ถึงเดือนเมษายน 2559 ประมาณ 1,408 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า มีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,884,000 ไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มากกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ยังคงย้ำขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการแก้ไขและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการขุดลอกแก้มลิงในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม 9 แห่ง มุกดาหาร 8 แห่ง หนองคาย 6 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง และเลย 3 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้นรวมกันกว่า 12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,030  ครัวเรือน

ในส่วนของผลการจ้างแรงงาน ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 กรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 69,760 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,118.54 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,262 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,467 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 47,031 คน 

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559            

เร่งเครื่องลดต้นทุนผลิต ผ่านระบบ‘Single Command’เพิ่มศักยภาพแข่งขัน

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ผ่านระบบ Single Command

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะทำงานลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ฉัตรชัยสาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงแผนปฏิบัติงานสำคัญโดยต้องการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบ Single Command มาขับเคลื่อนการทำงานด้านการลดต้นทุนทางการเกษตรและเพิ่มโอกาสการแข่งขันของสินค้าการเกษตรให้เกิดผลทางปฏิบัติและเป็นรูปธรรม

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานในขณะนี้ ทุกหน่วยงานได้เร่งขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ และมีการดำเนินไปแล้วในเบื้องต้น ทั้งจากทางกระทรวงพาณิชย์ซึ่งได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนลดค่าปุ๋ยเคมี จำนวน 11 สูตร และลดค่าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 7 สูตร หรือลดลงร้อยละ 5-10 เริ่มมีผลตั้งแต่ธันวาคม 2558 จนถึง 31 พฤษภาคม 2559 รวมระยะเวลา 6 เดือน ส่วนทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าวได้ประกาศลดค่าพันธุ์ข้าวลงกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนกรมปศุสัตว์ได้ปรับลดราคาจำหน่ายสัตว์พันธุ์คัดออกของกรม โดยมีผลตั้งแต่ 5 มกราคม - 31 ธันวาคม 2559

นอกจากนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้แจ้งไปยังปฏิรูปที่ดินจังหวัด ในส่วนของมาตรการการยกเว้นค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และการลดอัตราดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อที่ดินให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 56 จังหวัด เพื่อถือปฏิบัติและประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายรับทราบเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การติดตามและประเมินผล สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะทำงานลดต้นทุนฯ จะรวบรวมผลการดำเนินงานทุกวันที่ 5 ของเดือน ทั้งจากกรมต่างๆ และจากเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ที่รายงานผ่าน Single Command โดยครั้งแรกเริ่ม 5 กุมภาพันธ์ 2559 และเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการลดต้นทุนฯ ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะรายงานความก้าวหน้าและผลสำเร็จของโครงการ ให้ทราบเป็นระยะต่อไป       

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559            

รณรงค์ทำปุ๋ยสูตรพระราชทาน ใช้ตอซังข้าวโพดลดหมอกควัน

“กรมหมอดิน” ปลุกจิตสำนึกเกษตรกรภาคเหนือ รณรงค์ทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากตอซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและลดปัญหาหมอกควันนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดงาน “โครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากตอซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและลดปัญหาหมอกควัน ปีงบประมาณ 2559” ณ บ้านป่าแดด หมู่ที่ 4 ต.ท่าผาอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ว่า เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป นอกจากนี้ การเผาทำลายเศษพืชหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นำไปสู่การเกิดภาวะเรือนกระจกที่เป็นปัญหาโลกร้อน

ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ด้วยการงดเผาตอซัง และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อเป็นวัสดุที่มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดินช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหามลพิษทางอากาศได้อีกแนวทางหนึ่ง

“ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้น้อมนำปุ๋ยสูตรพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานวิธีการทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับคนไทย โดยได้นำมาขยายผลให้พี่น้องเกษตรกรหันมาทำปุ๋ยหมักใช้เอง เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้ขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์ เพื่อตอกย้ำให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟู พัฒนาทรัพยากรดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่ใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว             

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559            

ดอกเบี้ยลบทุบส่งออกไปญี่ปุ่น เยนอ่อนค่าลดนำเข้าต่อเนื่อง/จี้หาตลาดอื่นเสริม

ผลพวงBOJ งัดมาตรการดอกเบี้ยติดลบกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำเยนอ่อนค่า จ่อทุบส่งออกไทยไปแดนปลาดิบติดลบต่อเนื่อง รถยนต์ การ์เมนต์ เป่าปาก นับวันยิ่งวูบ สวนทางไก่ยังหวังนำเข้าเพิ่ม ขณะนโยบายรัฐบาลอาเบะหนุนผู้บริโภคใช้สินค้าเมด อิน เจแปนหวดซ้ำลดนำเข้าจากต่างประเทศ

จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น(BOJ) วันที่ 29 มกราคม 2559 ได้มีมติให้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบคือ -0.1% สำหรับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ ทั้งนี้เพื่อกดดันให้สถาบันการเงินเหล่านี้ปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น และลดการออมของประชาชนให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งหลายฝ่ายระบุจะเป็นผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งไทยนั้น

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มาตรการดังกล่าวที่ล่าสุดมีผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงทันทีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ(จาก 118 เยน เป็น 121 เยน) สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ มีการเทขายเงินเยนเพื่อนำไปฝากในสกุลดอลลาร์ในต่างประเทศ หรือนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า หรือไม่ก็ไปถือสินทรัพย์อื่น เช่นทองคำที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

“เมื่อเยนอ่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้น สินค้าไทยไปญี่ปุ่นจะมีราคาแพงขึ้นไม่จูงใจนำเข้า ขณะเดียวกันจากมาตรการดอกเบี้ยติดลบ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ชาวญี่ปุ่นลดการออม และจับจ่ายมากขึ้นหรือไม่ เพราะการจับจ่ายเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้น การนำเงินออมเพื่ออนาคตไปใช้จ่ายย่อมเป็นความเสี่ยง ขณะเดียวกันมองการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบทำให้เยนอ่อนครั้งนี้จะทำให้เกิดสงครามค่าเงิน เพราะเยนอ่อน เงินหยวนจีนก็อ่อน และ 2 ประเทศนี้ก็พึ่งพาการส่งออก สินค้าไทยนอกจากจะส่งไปญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มแล้ว จะได้รับกระทบการแข่งขันกับสินค้าจากญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ด้วย”

เช่นเดียวกับนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษก กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปญี่ปุ่น(ดูตารางประกอบ) ที่กล่าวว่า จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอาเบะที่มีผลให้เงินเยนอ่อนค่า ส่งผลให้การส่งออกสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปญี่ปุ่นติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน(2556-2558) รวมถึงการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมทุกสินค้าก็ติดลบต่อเนื่องมา 4 ปีเช่นกัน(2555-2558) ซึ่งมาตรการดอกเบี้ยติดลบของแบงก์ชาติญี่ปุ่นที่มีผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีกถือมีความน่ากังวล เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่ลดลง

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงคงไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตลาดหลัก(อีก 1 ตลาดหลักคือสหภาพยุโรป)มากนัก เพราะก่อนหน้านี้เงินเยนเคยอ่อนค่าอยู่ที่ 121 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผ่านมาในแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าไก่จากทั่วโลกปีละกว่า 9 แสนตันโดยนำเข้าจากไทยประมาณ 3 แสนตัน อีก 4 แสนตันนำเข้าจากบราซิล ที่เหลือจากแหล่งอื่นๆ

“ช่วงที่ญี่ปุ่นปิดบัญชีเพื่อเคลียร์สต๊อกเก่าอยู่ คงต้องรอดูหลังเดือนมีนาคมว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร”

ด้านนายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ดี ค่าเงินเยนอ่อน รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายให้ผู้บริโภคใช้สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น(เมด อิน เจแปน)จะกระทบต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ดังนั้นคงต้องหาตลาดอื่นเสริมโดยเฉพาะอาเซียน         

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559            

ภัยแล้งฉุดผลผลิตอ้อยวูบ-ความหวานลด

ผลผลิตอ้อยปี 58-59 ส่อแววไม่ถึง 100 ล้านตันครั้งแรกในรอบ 4 ปี ฉุดปริมาณน้ำตาลวูบ แถมค่าความหวานต่ำ เหตุภัยแล้ง - อ้อยไฟไหม้ ด้าน“กอน.” เร่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอ้อย หวังใช้ปี 59/60

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 58/59 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 70 วัน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรกวันที่ 25 พ.ย.ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ มีคุณภาพลดลงทั้งปริมาณอ้อย ค่าปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวาน เนื่องจากภัยแล้ง และยังได้รับผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ และอ้อยปนเปื้อน โดยผลผลิตอยู่ที่ 51.74 ล้านตันอ้อย และคาดว่า ผลผลิตอาจต่ำกว่า 100 ล้านตันอ้อย ครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก.ต่อกระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อน "ตอนนี้ค่ายิลด์ เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนค่าความหวาน อยู่ที่ 11.07 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีค่าความหวานในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบที่ 11.52 ซี.ซี.เอส. ซึ่งคุณภาพผลผลิตน้ำตาลโดยรวมที่ตกต่ำลดลง เป็นผลจากภัยแล้ง"

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย โดยจะทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูการหีบอ้อยปี 58/59 ก่อนนำเสนอกอน. ภายในเดือนก.ย. 59 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยและสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของแต่ละเขตคำนวณราคาอ้อย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 59/60 เป็นต้นไป

สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอ้อยนั้น ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รวบรวมวิธีตรวจสอบมาตรฐานอ้อยที่ใช้ปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำหนดแนวทางให้โรงงานน้ำตาลทรายเก็บอ้อยตัวอย่างด้วยการแยกอ้อยสด อ้อยไฟไหม้และอ้อยรถตัด โดยการสุ่มตรวจวันละ 3 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้คำนวณค่าอ้อยปนเปื้อน หากมีสิ่งปนเปื้อนไม่เกิน 3% ในวันที่มีการสุ่มตรวจถือว่าคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่า 3% ให้คณะทำงานเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป

 “สิ่งปนเปื้อนในอ้อยถือเป็นอีกต้นตอปัญหาของคุณภาพผลผลิตอ้อยที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยลดลง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมจึงเร่งแก้ไข โดยการกำหนดค่ามาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

ของบอีก3,600ล. เร่งช่วยเกษตรกร 

เกษตรฯ เสนอ ครม.ของบกลางอีก 3,600 ล้าน ช่วยเกษตรกรประสบภัยแล้ง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ก.พ. 2559 เพี่อของบกลางประมาณ 3,600 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 2558/2559 รวม 6,481 โครงการ

          ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ครม.อนุมัติงบกลางให้กับโครงการระยะแรก 1,800 ล้านบาท สำหรับ 3,135 โครงการ พร้อมสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงในทุกช่วงที่สภาพอากาศอำนวย เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น

          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกจังหวัดสำรวจ แหล่งน้ำและปริมาณน้ำเพื่อที่ จะใช้บริหารและแจกจ่ายให้ทั่ว ทุกพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำใช้ได้อยู่ที่ 3,423 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปริมาณการระบายอยู่ที่ 17.8 ล้าน ลบ.ม./วัน

          "ยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการใช้อุปโภคและบริโภคไปถึงเดือน ส.ค. 2559 อย่างแน่นอน ส่วนพื้นที่ทำนาปรังทั่วประเทศ 4.5 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา 2.7 ล้านไร่ นั้นตอบไม่ได้ว่าจะเสียหาย เท่าไหร่" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงว่าจะขาดแคลนน้ำคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และขอนแก่น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

พด.เร่งเครื่องโซนนิ่งพื้นที่เกษตรยันภายในปี'64เห็นผลชัดเกษตรกรเข้มแข็ง 

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่ภาคการเกษตร หรือ โซนนิ่ง โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ พร้อมกับมอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดิน เป็น ผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง และปศุสัตว์ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน บูรณาการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งทีมงานระดับจังหวัด หรือ Single Command เป็นผู้รับผิดชอบประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด โดยให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป

          ทั้งนี้การดำเนินการ การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ 5 มาตรการหลัก คือ 1.เตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2.กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร 3.กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร 4.ขับเคลื่อนและ ส่งเสริมในระดับพื้นที่ และ 5.ติดตามประเมินผล โดยขณะนี้กำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในภาพรวมทั้งประเทศและท้องถิ่น ในเดือนมกราคมนี้ อีกทั้งกรมกำลังดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการคู่ขนานโดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิด ให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย

          "เป้าหมายของการทำโซนนิ่งภาคเกษตรครั้งนี้ วางไว้ 2 ระยะด้วยกัน คือ ระยะแรก ในช่วงปี 2559-2560 จะให้เห็นผลการทำงานในพื้นที่รอบศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการเกษตรของกระทรวง ซึ่งมี อยู่ทั้งหมด 882 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ อำเภอละ 1 ศูนย์ และให้เห็นผลอีกที่หนึ่งคือบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 76 แปลง ระยะที่สอง ระหว่างปี 2561-2564 จะยังคงให้ข้อมูลการโซนนิ่งเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าพืชเศรษฐกิจที่ปลูกจะมีความเหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น การบริหารจัดการ การผลิต การรับซื้อผลผลิต การตลาดล่วงหน้าจะสามารถทำได้ง่าย พร้อมกับจะจัด Mr.โซนนิ่ง คอยให้ความรู้ คำแนะนำ และให้ความรู้ในด้านการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของเพื่อรักษาเขตโซนนิ่งให้ยั่งยืนต่อไปด้วย" นายเข้มแข็ง กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

ย้ำวิกฤติแล้งปีนี้สาหัสรอบ 65 ปี เกษตรพล่านเร่งเครื่องดัน 8 มาตรการรับมือ 

          กระทรวงเกษตรฯ เร่งผลักดัน 8 มาตรการรับวิกฤติภัยแล้ง รับน้ำในเขื่อนหลักต่ำสุดในรอบ 20 ปี เร่งควบคุมปริมาณน้ำในอ่างให้สูงกว่าเกณฑ์ ด้านนักวิชาการเกษตรชี้ดัชนีเอลนินโญชี้ชัดสูงสุดในรอบ 65 ปีแนวโน้มวิกฤติภัยแล้งสาหัสกว่าอดีตแน่ คาดความเสียหายเบื้องต้นภาคเกษตร 6.5 หมื่นล้าน พร้อมเสนอรัฐเพิ่มมาตรการจูงใจลดการใช้น้ำในครัวเรือน-ภาคธุรกิจให้มากขึ้น

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการเปิดสัมมนา "เกษตรศาสตร์นำไทย สู้ภัยแล้ง" ในหัวข้อสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ ม.เกษตรฯ จัดขึ้นว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในไทยเฉลี่ยลดลง 10% ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำกว่า 70,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยเฉฑาะภาคการเกษตรที่ใช้น้ำถึง 75% โดยปีนี้เป็นปีที่น้ำในเขื่อนน้อยที่สุดซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก และเขื่อนภูมิพล ควรมีน้ำไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในปี 58 นี้กลับมีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 6,000 ล้าน ลบ.ม.และปี 59 มีเพียง 3,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศ กระทรวงเกษตรฯและรัฐบาลจึงเร่งผลักดัน 8 มาตรการตามมติที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติอย่างจริงจัง เพราะน้ำต้นทุนมีน้อยเกษตรกรทุกคนต้องช่วยกันประหยัดน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่า

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ในปี 59 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 เป็นต้นมาปริมาณน้ำใช้การใน 2 เขื่นนหลัก  คือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีเพียง 3,018 ล้าน ลบ.ม.เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯมีปริมาณ 3,800 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเป็นการประสบภัยแล้งขั้นวิกฤติในรอบ 20 ปี เป็นรองแค่ปี 2537 ซึ่งขณะนั้นมีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ 2,100 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

          ทั้งนี้ทางกรมชลฯมีเป้าหมายจะควบคุมปริมาณน้ำให้สูงกว่าเกณฑ์ ซึ่งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาประมาณ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2557-59 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขื่นอแม่งัด น้ำต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่ปี 2557-59 ซึ่งมีน้ำน้อยที่สุด 50 กว่าล้าน ลบ.ม. น้ำในอ่างมีเพียง 64 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง จ.เชียงใหม่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

          นอกจากนี้ทางกรมชลฯ จะไม่พยายามใช้น้ำจากอ่างในช่วงฝนตกเพื่อให้น้ำในอ่างสูงกว่าเกณฑ์ให้ได้ และคาดว่าเดือน เม.ย.ทิศทางสถานการณ์น้ำจะดีขึ้น โดยมีเป้าหมายในปลายปีจะเติมน้ำในอ่างให้เต็มขณะที่ในช่วงภัยแล้งที่เหลืออีก 100 วัน ถ้าไม่ใช้น้ำในการเพาะปลูกมากเกินไป เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะไม่ขาดแคลน้ำอย่างแน่นอน

          ด้าน ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งในปีนี้น่าจะมีความรุนแรงอย่างมาก เนื่องจากดัชนีชี้วัดปรากฎการณ์เอลนินโญมีค่าสูงที่สุดในรอบ 65 ปี และปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่ใช้การได้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก และชี้ให้เห็นว่าภาคการเกษตรโดยรวมของไทยจะได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเฉลี่ยปีละ 1.5-6.2 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงซึ่งการประเมินข้างต้นไม่รวมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบอาหารและภัยแล้งในปีนี้ซึ่งมีความรุนแรงมาก โดยคาดว่าการผลิตในภาคเกษตรจะได้รับความเสียหายถึง 6.2 หมื่นล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือน มิ.ย.ปีนี้

          ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเสียหาย รวมถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต ภาครัฐควรร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นแ ละระยะยาว โดยในระยะสั้นเห็นว่าการรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดน้ำอาจไม่เพียงพอ ควรมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ครัวเรือน ธุรกิจ หรือหน่วยราชการไหน ใช้น้ำน้อยลงจะได้ส่วนลด เป็นต้น

          นอกจากนี้ควรเพิ่มระดับการขอความร่วมมือเกษตรกตในการงดการปลูกข้าวนาปรัง โดยควรเร่งส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และทนแล้งและสำหรับการปลูกข้าวนาปี ปีนี้รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้เลื่อนการเพาะปลูกออกไปจากช่วงปกติเดือน พ.ค.เป็นกลางเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป

          สำหรับมาตรการรับมือภัยแล้งในระยะยาวมีดังนี้ 1) ควรเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์และการประเมินความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ 2) ควรคำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุปสงค์ให้มากกว่าอุปทาน ทั้งนี้อาจนำน้ำบาดาลมาใช้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้แผ่นดินทรุดตัว และปริมาณน้ำผิวดินในบริเวณใกล้เคียงลดลง ดังนั้น จึงควรมีการปล่อยน้ำกลับไปยังใต้ดินในช่วงที่ปริมาณน้ำเกินความต้องการ

          4) ส่งเสริมการสร้างระบบชลประทานกับภาคเอกชนให้มากขึ้น 5) เพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้ใช้น้ำทุกระดับ  และ 6) อาจพิจารณาเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดใช้ในพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

กรมชลฯยันน้ำไม่ขาดช่วงแล้ง เชื่อเม.ย. ทิศทางเริ่มกลับมาดี

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่รัฐบาลได้มี 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมองเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการไขปัญหา ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มในการแก้ปัญหาออกเป็นระดับจังหวัด เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันโดยแต่ละจังหวัดก็จะมีการจัดตั้งศูนย์ในการดูแลเรื่องนี้ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะลดลง10%

“สิ่งที่กระทรวงอยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรคือการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือแม้แต่งาดำที่ใช้น้ำน้อยและให้ผลิตผลิตเร็ว ส่วนผลกระทบตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลชัด คงต้องอีก 1-2 เดือนจากนี้น่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น ปีนี้ต้องบอกว่าน้ำต้นทุนเรามีน้อยดังนั้นต้องวางแผนการใช้น้ำให้ดีเพื่อที่จะไม่เกิดผลกระทบในระยะยาว”

อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 2 กุมภาพันธ์2559 ทางกระทรวงได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน 8 มาตรการภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ ระยะที่ 2 ในส่วนกระทรวงฯได้ของบประมาณ 1.81พันล้านบาทในการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 7.4แสนรายซึ่งได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนว่า ปีนี้น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 2 เขื่อนร่วมกันมีปริมาณน้ำ 3.018 พันล้านลูกบาศก์เมตร และถ้าร่วมกับปริมาณน้ำในงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีปริมาณน้ำ 3.800 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ถือว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลดต่ำมากติดต่อกัน3ปีซ้อน ดังนั้นกรมจะระบายน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่นใช้ในอุปโภคบริโภค ในครัวเรือน และในการเกษตรที่จำกัด ม้ว่าจะมีน้ำจากฝนเข้ามาเติมในอ่างก็ตาม ซึ่งกรมได้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมแผนงานในการบริหารจัดน้ำไว้พร้อมโดยจะมีการติดตามสถานการร์อย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าปรากฎการณ์ตามธรรมชาติน่าจะเริ่มคลี่คลาย ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนนี้สถานการณ์น้ำน่าจะกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้กรมเองต้องมีแนวทางในการระบายน้ำที่ชัดเจน มั่นใจว่าฤดูแล้งปีนี้ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด หากมีการบริหารจัดการที่ดีจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรกรของไทย หากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์จะมีมูลค่าความเสียหายระหว่างปี 2548-2588 มี 2 ระดับ คือมูลค่าความเสียหายแบบรุนแรงจะมีมูลค่าความเสียหายถึง 2.5 ล้านล้านบาท แต่ถ้าได้รับผลกระทบน้อย ความเสียหายจะมีเพียง 6 แสนล้านบาท ส่วนปี 2558/2559 คาดว่าการผลิตในภาคเกษตรจะได้รับความเสียหาย 6.2 หมื่นล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน 2559

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือระยะสั้นกับระยะยาว โดยในระยะสั้นเช่น ลดการปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น ส่วนในระยะยาว เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมากขึ้น มีการกำหนดราคาน้ำในรูปแบบต่างๆโดยผู้ที่ได้ประโยชน์ต้องรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหาย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

สงครามค่าเงินดันเงินร้อนทะลัก ไหลเข้าบอนด์สั้นพุ่ง 4.6 หมื่นล้าน

เงินร้อนทะลักเข้าตราสารหนี้ระยะสั้นพุ่ง 4.6 หมื่นล้าน หลังธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ดันมันนี่ ซัพพลายท่วม นักวิเคราะห์คาดต่างชาติเก็งกำไรค่าบาท ฟากตลาดหุ้นบล.ภัทร มองหุ้นไทยยังผันผวนทั้งปี กดดัชนีให้เป้า 1,350 – 1,380 จุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะเลือกจังหวะลงทุนสั้น ส่วน TMB คาดไตรมาสแรกยังเห็นธนาคารกลางจีน ,ยุโรป อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดเงินในระยะข้างหน้าคือ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น หรือการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจีนจะถดถอยลงหรือไม่ ทั้งนี้ต้องจับตาดูตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ และที่ผ่านมาตัวเลขในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ดีนัก เฟดจึงต้องรอดูพร้อมประเมินเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาพรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ส่งผลเชิงบวกต่อญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนอ่อนค่า ตลาดหุ้นโตเกียวปรับขึ้น โดยหลังประกาศค่าเงินเยนอ่อนมาอยู่ที่ 121 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ระดับ 117 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจกิจญี่ปุ่นอย่างไรยังต้องติดตามอีกระยะ โดยเฉพาะหากธนาคารพาณิชย์ยังถือสภาพคล่องไว้โดยไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของนโยบายดอกเบี้ยติดลบครั้งนี้ ขณะที่เงินเฟ้อยังห่างเป้าที่ระดับ 2% ดังนั้นแนวโน้มในอีก 4-5 เดือนหลัง BOJ ประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคม 2559 หากเศรษฐกิจจีนยังแย่ ก็มีโอกาสที่ BOJ จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น

“การที่ธนาคารกลางต่างดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเพื่อประคองเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มที่ BOJ จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น อีกทั้งการที่เฟดคงดอกเบี้ยต่อ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยบวกดันให้เม็ดเงินกลับไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงตลาดเงินและตลาดทุน แต่ตลาดหุ้นจะดีช่วงสั้นๆ เพราะนโยบายการเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ตลาดหุ้นดีตลอด ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ,ผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่ต้องติดตาม”

อย่างไรก็ดีในระยะหลังนักลงทุนต่างชาติ จะกลับเข้ามาโดยเลือกลงทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรระยะสั้น เฉลี่ยไม่เกิน 1เดือนเพื่อลดความเสี่ยง เพราะตลาดตีความทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแกว่งตัว

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

วงการอ้อยมึน! ผลผลิตส่อไม่ถึง 100 ล้านตัน น้ำตาลวูบ 5.3 กก./ตัน 

         จับตาผลผลิตปี 58/59 ที่อยู่ระหว่างการหีบเดินมากว่าครึ่งทางพบอ้อยส่อแววไม่ถึง 100 ล้านตันครั้งแรกในรอบ 4 ปีแถมยีลต์ยังต่ำเกินคาดจากภาวะภัยแล้งและอ้อยไฟไหม้ “กอน.” เร่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทรายหวังใช้ในปี 59/60             

        นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 70 วัน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา พบว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีคุณภาพลดลงทั้งในแง่ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) และค่าความหวานที่ลดลงอย่างรุนแรง โดยขณะนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 51.74 ล้านตันอ้อยโดยหลายฝ่ายเห็นว่าปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน       

        ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 58.71 ล้านกระสอบ โดยยิลด์ เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่วนค่าความหวาน อยู่ที่ 11.07 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีค่าความหวานในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบที่ 11.52 ซี.ซี.เอส. ซึ่งคุณภาพผลผลิตน้ำตาลโดยรวมที่ตกต่ำลงนั้น นอกจากปัจจัยจากสภาพอากาศที่ประสบภัยแล้งแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน

                “คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้” นายสิริวุทธ์กล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

เอกชนจี้รัฐหนุนใช้เอทานอล ดันยอดแก๊สโซฮอล์อี20พุ่ง

สมาคมเอทานอลจี้รัฐเร่งทำความเข้าใจรถยนต์ใช้แก๊สโซฮอล์อี20 หวังดันยอดใช้เอทานอลเพิ่มจากปัจจุบัน 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เผยปีนี้โรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังจะเข้าระบบอีก 1 ล้านลิตรต่อวัน หวั่นปริมาณล้นตลาดกดราคาขายต่ำลงอีก ปัจจุบันอยู่ที่ 22 บาทต่อลิตร ฟากนักวิชาการเสนอเปลี่ยนสูตรเอทานอล อิงราคานำเข้าบวกพรีเมียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นายอุกฤษฎ์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรืองฯ ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพิ่มขึ้นจำนวนมากคิดเป็นประมาณ 50-60% ของรถยนต์ทั้งหมด แต่พบว่ารถยนต์กลุ่มนี้ใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพียง 10-20% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี20ได้ เท่านั้น ดังนั้นต้องการให้ทางกระทรวงพลังงานเร่งหามาตรการเพื่อทำความเข้าใจกับผู้บริโภคหันมาใช้แก๊สโซฮอล์อี20 เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการติดสติกเกอร์ชนิดน้ำมันที่รถยนต์ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคมากขึ้น

ขณะที่ยอดใช้เอทานอลปัจจุบันทรงตัวอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตเต็มกำลัง รวมอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน และในปีนี้คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังเข้าระบบอีก 4-5 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยมี 1 โรงงาน กำลังผลิต 3 แสนลิตรต่อวันที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและเตรียมผลิตเอทานอลเข้าระบบแล้ว ส่วนที่เหลือจะทยอยเข้าระบบตามมา ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น

สำหรับราคาขายเอทานอล ทางกระทรวงพลังงานได้ปรับสูตรอ้างอิงราคาเอทานอลเพื่อสะท้อนต้นทุนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 23 บาทต่อลิตร แต่ราคาขายเอทานอลจริงอยู่ที่ 22 บาทต่อลิตร เนื่องจากตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จากปริมาณการผลิตที่ล้นเกินความต้องการ ดังนั้นสูตรอ้างอิงที่กำหนดออกมา ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่เป็นเพียงเพดานควบคุมไม่ให้สูงจากราคาอ้างอิงเท่านั้น จึงทำให้เอทานอลมีราคาต่ำลงมาจากการกดราคาของผู้ซื้อ

ส่วนยอดใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 ที่ลดลง ปัจจุบันไม่ถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่ทางสมาคมไม่กังวลสำหรับยอดใช้ในส่วนนี้ เนื่องจากยอดใช้แก๊สโซฮอล์อี85 ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับแก๊สโซฮอล์อี10 และอี 20 ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มยอดใช้เอทานอลได้

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดเผยว่า สูตรคำนวณราคาเอทานอลของไทย ควรมีการปรับปรุง จากปัจจุบันใช้คำนวณจากต้นทุนวัตถุดิบ บวกค่าใช้จ่ายของโรงงาน(Cost plus) แต่ควรเปลี่ยนมาใช้สูตรคำนวณจากราคาเอทานอลนำเข้า แบ่งเป็นต้นทุนเอทานอลจากบราซิล ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย และบวกค่าพรีเมียมจำนวนหนึ่งโดยกำหนดระยะเวลาส่งเสริมที่แน่นอน เพื่อให้โรงงานเอทานอลในประเทศเกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นก็ทยอยลดค่าพรีเมียมลง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้โรงงานสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาไม่สูงมาก โดยเกษตรกรไม่ถูกกดราคา นอกจากนี้จะช่วยให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ต้องอุดหนุนราคา

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

พาณิชย์ คาด ก.ม. แข่งขันการค้าฉบับใหม่ มีผลใช้ภายในปีนี้

พาณิชย์ คาด ก.ม. แข่งขันทางการค้าฉบับแก้ไขใหม่ มีผลใช้ในปีนี้แน่ มั่นใจ คุมพฤติกรรมเอาเปรียบในการทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้ต่างชาติ...

วันที่ 4 ก.พ. 59 นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ร่างปรับปรุง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาด จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน หลังจากนั้นจะส่งกลับให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง หากผ่านจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 6 เดือน หรือบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันพฤติกรรมแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจได้ ทำให้ธุรกิจเกิดความเกรงกลัว เพราะได้ปรับปรุงกฎหมายให้เข้าไปดูแลพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบได้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ ที่จะเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และดึงดูดการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในไทยได้เพิ่มขึ้น

สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขนั้น ได้ปรับโทษทางอาญาให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของพฤติกรรม และเพิ่มโทษทางปกครอง โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีอำนาจสั่งปรับธุรกิจที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบได้ และยังเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ลดขั้นตอนการพิจารณา ลดหย่อนโทษ เอาผิดกับการกระทำนอกราชอาณาจักร การเอาผิดกรณีการร้องเรียนที่เป็นเท็จ

นอกจากนี้ ยังได้ปรับเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขัน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการแข่งขันกับธุรกิจรายอื่น แต่มีข้อยกเว้นการกระทำที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ปรับเพิ่มการควบรวมกิจการสามารถดำเนินการได้เลย แต่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบภายหลังการควบรวมแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และปรับปรุงคำนิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้เป็นสากลมากขึ้น

ส่วนคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการฯ จะเป็นอิสระในการบังคับใช้กฎหมาย โดยคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกจากปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ 4 กระทรวง ร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานฯ จะแยกออกเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์

"หากกฎหมายฉบับแก้ไขนี้มีผลบังคับใช้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย และกลับมาเป็นต้นแบบอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ ไทยเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายแข่งขันตั้งแต่ปี 42 และบังคับใช้มา 17 ปี เพิ่งจะมาแก้ไขสำเร็จเอาตอนนี้" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559

“รมว.อุตฯ” ควง “เลขาฯ บีโอไอ” เยือนอุทยานมิตรผลชัยภูมิ ชมโมเดลอุตฯ อ้อยน้ำตาลยั่งยืน 

         เมื่อเร็วๆ นี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พร้อมคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานของอุทยานมิตรผล และศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ โดยมี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกลุ่มมิตรผลให้การต้อนรับ

                อุทยานมิตรผล ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานเอทานอล โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการจัดการอันทัยสมัย เช่น ระบบการบรรจุน้ำตาลอัตโนมัติ ระบบการหีบอ้อยจากรถตัด พร้อมด้วยจัดการไร่อ้อยภายใต้โมเดลการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm) ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย และชุมชนอย่างยั่งยืน

 จาก http://manager.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรมพัฒนาที่ดิน ขับเคลื่อนการจัดโซนนิ่งภาคเกษตร วางเป้าหมายภายในปี 2564พื้นที่โซนนิ่งทั่วประเทศจะเห็นผลได้ชัดและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง 

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า นโยบายการจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหรือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญมาโดยตลอดโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัยสาริกัลยะ กำหนดให้เป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ที่มอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง และปศุสัตว์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทีมงานระดับจังหวัด ที่เรียกว่าSingle Command เป็นผู้รับผิดชอบประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด

          โดยให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไปทั้งนี้การดำเนินการ การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ 5 มาตรการหลัก คือ 1.เตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้2.กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร3.กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร4.ขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ และ 5.ติดตามประเมินผล โดยขณะนี้กำลังดำเนินการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในภาพรวมทั้งประเทศและท้องถิ่น ในเดือนมกราคมนี้ อีกทั้งกรมฯกำลังดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการคู่ขนานโดยเฉพาะการจัดทำแผนที่ความเหมาะสมสำหรับพืชเศรษฐกิจ 13 ชนิด ให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย

          "เป้าหมายของการทำโซนนิ่งภาคเกษตรครั้งนี้ วางไว้ 2 ระยะด้วยกัน คือ ระยะแรก ในช่วงปี 2559-2560 จะให้เห็นผลการทำงานในพื้นที่รอบศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงฯ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 882 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ อำเภอละ 1 ศูนย์ และให้เห็นผลอีกที่หนึ่งคือบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 76 แปลง ระยะที่สอง ระหว่างปี 2561-2564 จะยังคงให้ข้อมูลการโซนนิ่งเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าพืชเศรษฐกิจที่ปลูกจะมีความเหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น การบริหารจัดการ การผลิต การรับซื้อผลผลิต การตลาดล่วงหน้าจะสามารถทำได้ง่าย พร้อมกับจะจัด Mr.โซนนิ่ง คอยให้ความรู้ คำแนะนำ และให้ความรู้ในด้านการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของเพื่อรักษาเขตโซนนิ่งให้ยั่งยืนต่อไปด้วย" นายเข้มแข็ง กล่าว

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ชงเติมเงินชาวไร่อ้อยจ่ายเพิ่ม160 บาท/ตัน

กนอ.เพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตัน เติมเงินชาวไร่ 1.6 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า การประชุม กนอ. ในวันที่ 3 ก.พ. จะมีการเสนอแนวทางช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/2559 ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยเสนอปรับเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตัน จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติราคาอ้อยขั้นต้น 2 ราคา คือ พื้นที่เขต 5 และพื้นที่เขต 8 ราคา 773 บาท/ตัน ส่วนพื้นที่เขตอื่นๆ 808 บาท/ตัน

ทั้งนี้ หาก กนอ.เห็นชอบปรับเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตัน จะต้องเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.6 หมื่นล้านบาทมาจ่ายค่าอ้อยขั้นต้นส่วนเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย จากปัจจุบันที่กองทุนมีหนี้ 1.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินจาก ธ.ก.ส.จะอยู่บนเงื่อนไขว่า หากราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2558/2559 สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นจะหักเงินไม่เกิน 25 บาท/ตัน หรือ 2,500 ล้านบาท เข้ากองทุนอ้อย "มีการประเมินว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบราคาเพิ่มขึ้น" แหล่งข่าวระบุ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ครม.ไฟเขียวกม.แข่งขันการค้า ‘สรรเสริญ’เชื่อช่วยลดผูกขาด

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ได้เห็นชอบตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขฉบับเดิมเมื่อปี 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าในประเทศมีความเป็นธรรม ลดการผูกขาดทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันเข้าสู่การเปิดเสรีการค้า และการลงทุน รวมถึงการเข้าร่วมภาคีการตกลงทางการค้า และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

(เออีซี) เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันมีความเป็นธรรม ลดการแทรกแซงจากรัฐบาล รวมทั้งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนด้วย

นอกจากนี้จะมีการตั้ง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าขึ้นมา โดยจะผ่านกระบวนการคัดสรร ซึ่งให้ นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. รวมทั้งจะมีการตั้งสำนักงานดังกล่าว โดยไม่เป็นข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ แต่จะให้เป็นนิติบุคคลที่ทำงานอิสระ

สำหรับการตั้งสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าว นั้นในปีแรกจะใช้งบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนก่อน หลังจากนั้นจะใช้ค่าจดทะเบียนทางการค้าโดยหัก 10% มาใช้จ่าย ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจทุกประเภท จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย ยกเว้นที่เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐ เช่น การบริการสาธารณะ

“ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดตลาดได้ แต่จะมีการทบทวนทุก 5 ปี ว่าลักษณะแบบไหน ถึงมีอำนาจเป็นการผูกขาด เพราะธุรกิจมีชั้นเชิง ในการผูกขาดหลากหลายรูปแบบ อาจมีวิธีการใหม่ๆ ต้องมีการทบทวนทุก 5 ปี”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน การชะล้างพังทลายของดิน และดินถล่ม(4)

กรมพัฒนาที่ดิน ได้เริ่มศึกษาด้านการชะล้างพังทลายของดิน เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยปี 2524 ได้ศึกษาและจัดทำแผนที่การชะล้างพังทลายของดินระดับประเทศ ต่อมาได้จัดทำแผนที่การสูญเสียดินระดับประเทศ มาตราส่วน 1 :1,000,000 และระดับภาค มาตราส่วน 1: 500,000 โดยใช้สมการการสูญเสียดินสากล ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อหน่วยงานในประเทศไทย จนมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย จากนั้นในปี 2547 จึงได้ประยุกต์แบบจำลองคณิตศาสตร์ของ MMF (0984) ประเมินการชะล้างพังทลายของดินทั่วประเทศในปี 2545 และ 2546

อย่างไรก็ตาม การประเมินทั้ง 2 ครั้งเป็นการประเมินในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันและประยุกต์ใช้แบบจำลองที่แตกต่างกัน และไม่มีปริมาณการสูญเสียดินในพื้นที่จริงมาเปรียบเทียบ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าผลการประเมินจากแบบจำลองใดมีความถูกต้องมากกว่ากัน แต่แบบจำลองที่ กรมพัฒนาที่ดิน สามารถนำมาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมได้มาก คือ สมาการการสูญเสียดินสากล (USLE) ส่วนแบบจำลอง MMF นั้นเหมาะสมกับพื้นที่ลาดชันสูง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมป่าไม้ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินอาจนำมาประยุกต์ใช้สำหรับโครงการในพื้นที่ศึกษาต่างๆ ได้

สำหรับการเกิดดินถล่มประเทศไทย ในอดีตมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้มีการบันทึกสถิติไว้ แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเข้าไปใช้พื้นที่ที่มีความลาดชันเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดดินถล่มที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจากการรวบรวมสถิติการเกิดดินถล่มตั้งแต่ปี 2503 ถึงปี 2557 ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า มีเหตุการณ์ดินถล่ม 152 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคใต้ บางส่วนในภาคตะวันออก โดยมีเหตุการณ์ดินถล่มขนาดใหญ่ทีเกิดเนื่องมาจากฝนตกหนักเกินปกติ และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากจำนวน 5 เหตุการณ์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โพลล์นักเศรษฐศาสตร์ชี้ศก.ไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน

กรุงเทพโพลล์ เผยดัชนีเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อ เศรษฐกิจไทย 3-6 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 33.93 จากเต็ม 100 สูงสุดรอบ 2 ปี

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 28 แห่ง จำนวน 62 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค. - 1 ก.พ. 59 ที่ผ่านมา พบว่า

ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 33.93 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้น จากการสำรวจครั้งที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 31.69 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือนมกราคม 57 อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมากสะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่าปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 5.74) การลงทุนภาคเอกชน(ดัชนีเท่ากับ 9.84) และการบริโภคภาคเอกชน(ดัชนีเท่ากับ 12.30)

ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 60.66 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจากเริ่มมีการจัดทำดัชนีเมื่อปี 2553 เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงสุดนับจากมีการจัดทำดัชนีเช่นเดียวกัน โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 81.15

 เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 58.17 ลดลงจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ 67.39) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 67.69 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (ค่าดัชนีเท่ากับ 79.69) เมื่อพิจารณาจากดัชนีองค์ประกอบพบว่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รองลงมาเป็นปัจจัยด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศส่วนปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในระยะ 6 เดือน ข้างหน้าคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และการบริโภคภาคเอกชน ตามลำดับ

ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ร้อยละ 54.8 เห็นว่าอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว รองลงมาร้อยละ 25.8 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย ร้อยละ 11.3 เห็นว่าอยู่ที่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ ขณะที่ร้อยละ 6.5 เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดและอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า

(1)เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากที่สุด ในรอบ 2 ปี

(2)ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ดัชนีอยู่ในระดับสูงที่สุดนับจากเริ่มมีการจัดทำดัชนี

(3)เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2559

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เคาะเพิ่มค่าอ้อยตันละ 160 บาท

กอน.เปิดประชุม เคาะเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 58/59 อีกตันละ160 บาท ก่อหนี้ธกส.เพิ่ม 2.4 หมื่นล้าน ตั้งเงื่อนไขชาวไร่ -โรงงานส่งเงิน 25 บาท เข้ากองทุนฯ

 รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 ก.พ. กอน. จะประชุมแนวทางช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี58/59 เพิ่มขึ้นอีกตันละ 160 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย จากราคาประกาศเป็นรายเขต 2 ราคา คือ 773 บาทต่อตัน และ 808 บาทต่อตัน ก่อนเสนอที่ประชุมครม. ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สนับสนุนเงินกู้ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) วงเงิน16,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญในการกู้เงิน คือต้องให้ภาครัฐ ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะหักเงินไม่เกิน 25 บาทต่อตัน กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 58/59 สูงกว่าขั้นต้น เพื่อนำเป็นเงินรักษาเสถียรภาพกองทุนฯ เพราะอุตฯอ้อยและน้ำตาลประเมินแล้วว่า ราคาขั้นสุดท้ายจะสูงกว่าขั้นต้นค่อนข้างแน่นอน

เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปัจจุบันอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ และล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบที่กท.ส่งออกแล้ว 54% ที่เหลือคาดว่า จะทยอยส่งออกในระดับราคาที่ดีขึ้น“การหักเงินรักษาเสถียรภาพครั้งนี้ จะเป็นการทำให้รายได้ของกท.มีเพิ่มขึ้น จากปกติรายได้หลักในการชำระหนื้คืนธ.ก.ส.มีเพียงเงินที่เก็บจากการขึ้นราคาน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 1.3หมื่นล้านบาท เมื่อมีเงินรักษาเสียรภาพที่จะหักไม่เกิน 25 บาทต่อตัน คาดว่าจะมีเพิ่มอีก 2,500 ล้านบาท และหากครม.อนุมัติเงินกู้เพิ่มจะทำให้กท.มีหนี้รวม 24,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีหนี้เก่าธ.ก.ส.อีก 8,000-9,000 ล้านบาท"

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่เห็นด้วยกับการที่จะหักเงินกรณีที่ราคาอ้อยสูงกว่าขั้นต้นเพิ่มอีกไม่เกิน 25 บาทต่อตัน ซึ่งที่ผ่านมาก็เก็บอยู่แต่ค่อนข้างน้อยมาก

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกองทุนฯ เพื่อให้เห็นว่า ระบบจะต้องพึ่งพิงตนเองให้มากขึ้นยิ่งปัจจุบันการจะขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ เพื่อเพิ่มราคาอ้อยก็ยาก เพราะรัฐเองก็มีเงินจำกัด และการมีรายได้เพิ่มการจะกู้เงินใหม่กับธ.ก.ส.ก็จะง่ายกว่าเดิมเพราะสามารถแสดงฐานะรายรับได้ดีกว่า

รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า ฝ่ายโรงงานก็ไม่ได้คัดค้านอะไรในประเด็นการเก็บเงินค่ารักษาเสถียรภาพหากไม่เกิน 25 บาทต่อตัน เพราะเบื้องต้นก็ได้ตกลงกันไว้แล้วแต่รายละเอียดทางปฏิบัติจะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แห่ผุดเตาเผากากอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมเริ่มบูม เอสซีจี จับมือฮิตาชิ ผุดเตาเผาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ฟรี 1.8 พันล้านบาท ที่จ.สระบุรี คาดได้ข้อสรุปก.พ.นี้ กรอ.ยัน เป็นโครงการนำร่องที่จะปูทางไปสู่โครงการต้นแบบในนิคมฯกำจัดกาก 6 ภูมิภาค ขณะที่เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน แม้ชวดโครงการ เตรียมลุยทำเอง จับมือกฟผ.ตั้งโรงไฟฟ้าจากกากอุตฯ ในนิคม 3 แห่ง ด้านเจนโก้ เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยจะเร่งรัดให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไปกำจัดไม่น้อยกว่า 90 % เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดเตาเผากากอุตสาหกรรมร่วมกับขยะชุมชนและนำมาผลิตไฟฟ้าได้นั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือ จากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง และขณะนี้ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าว่าพื้นที่ใดควรจะมีนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบ้าง

 ตั้งนิคม 6 แห่งทำเตาเผากาก

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากจะอยู่ใน 15 จังหวัด ใน6 ภูมิภาค ที่จะมีการลงทุนด้านเตาเผาผลิตไฟฟ้าควบคู่ด้วย ประกอบด้วยภาคเหนือ จะอยู่ในจังหวัดลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันตก อยู่ในจังหวัดราชบุรี ตาก และกาญจนบุรี ภาคกลางอยู่ในจังหวัดสระบุรีและสมุทรสาคร ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว และภาคใต้อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา

นอกจากนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่องทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะหรือNEDO) ของญี่ปุ่น ยังได้ลงนามกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมอบเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านบาท ให้กับรัฐบาลไทย เพื่อไปทำโครงการเตาเผากากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวัน ร่วมกับขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้บริษัท ฮิตาชิ เป็นผู้คัดเลือกเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจจำนวน 9 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนิน คาดว่าจะได้สรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และหลังจากนั้นจะมีการศึกษาในรายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการต่อไป

 เอสซีจีจับมือฮิตาชิลงทุน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า จากที่เนโดะได้มอบหมายให้ฮิตาชิ เป็นผู้เชิญชวนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมลงทุน มีเอกชนให้ความสนใจกว่า 20 ราย และคัดเลือกเหลือ 9 ราย และสุดท้ายสรุปลงมาเหลือ 3 ราย ได้แก่ เอสซีจี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนท์ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขที่เอกชนไทยจะต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ก่อสร้าง พร้อมกับจัดหากากอุตสาหกรรมให้ได้ตามปริมาณและตลอดอายุโครงการที่กำหนด

โดยเอกชนไทยจะเป็นผู้ลงทุนด้านที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ขณะที่เนโดะจะให้เปล่าเตาเผากากและผลิตไฟฟ้ามูลค่า 1.8 ล้านบาท และร่วมกันบริหารเป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฝ่ายไทย และหลังจากนั้นทางเนโดะจะให้ทางผู้ลงทุนโครงการเป็นผู้ซื้อโครงการคืน

สำหรับความเป็นไปได้ที่ทางฮิตาชิจะเป็นผู้คัดเลือกเอกชนรายใดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทางเอสซีจีน่าจะได้รับการคัดเลือก เนื่องจากทางฮิตาชิจะพิจารณาจากการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถป้อนกากได้ตลอดอายุโครงการ เพราะปัจจุบันทางเอสซีจีก็มีธุรกิจในการรับกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอยู่แล้ว

 เคลียรด์สายส่งรับไฟเข้าระบบ

ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้น คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากยังมีข้อหารือถึงสถานที่ตั้งโครงการอยู่ ที่เดิมมีการเสนอพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ติดปัญหาการจัดหาที่ดิน และต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเพิ่ม ประกอบกับเอกชนไทยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมสม เพราะกากอุตสาหกรรมไม่เหมาะที่จะนำมาเผา จึงได้มีการเสนอขอเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ โดยให้แต่ละรายเสนอพื้นที่มา โดยเอสซีจีเสนอพื้นที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์นครหลวง ส่วนบางปู เอนไวรอนเมนท์ไม่มีการเสนอพื้นที่เข้ามา

นอกจากนี้ ในการเสนอพื้นที่ดังกล่าวมาแล้ว จะต้องไปพิจารณาดูว่าสายส่งที่จะรับไฟฟ้าเข้าระบบ สามารถรองรับได้หรือไม่ รวมถึงหากตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมฯ ค่าไฟฟ้าที่ส่งขายจะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบฟิตอินทารีฟ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงานด้วยอย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ตั้งจะอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมที่หนาแน่น ช่วยให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง และจะเป็นโครงการนำร่อง ไปสู่การตั้งเตาเผาในนิคมฯกำจัดกากที่กรอ.มีแผนดำเนินงานต่อไป

แหล่งข่าวจากเอสซีจี เปิดเผยว่า ขณะนี้เอสซีจีอยู่ระหว่างการเจรจาในเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงสถานที่ตั้งโครงการ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าน่าจะได้รับการคัดเลือกจากฮิตาชิ เพราะสถานที่ตั้งไม่ว่าจะเป็นที่แก่งคอย หรือหนองแค ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ประกอบกับสายส่งไฟฟ้า ยังสามารถรองรับไฟฟ้าเข้าระบบได้ ที่สำคัญเอสซีจี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมรายหนึ่งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรับกากอุตสาหกรรมจากลูกค้าและบริษัทในเครือมากำจัดอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงและพร้อมที่จะลงทุนร่วมกับฮิตาชิ

 เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนได้กฟผ.ร่วม

ขณะที่นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการร่วมลงทุนกับทางฮิตาชิ บริษัทก็มีความสนใจแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการคัดเลือก ทางบริษัทก็มีแผนลงทุนอยู่แล้ว ที่จะนำกากอุตสาหกรรมมาเผาและผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ผ่านมาได้มีการบันทึกความตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) กับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันลงทุนจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากขึ้นมา 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้พื้นที่แล้วในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีขนาด 1 พันไร่ โดยทางบริษัทและกนอ.จะร่วมลงทุนและพัฒนาเป็นนิคมฯเพื่อขายพื้นที่ให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุน ตั้งโรงไฟฟ้าใช้กากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง โรงงานรีไซเคิล รวมถึงโรงงานที่ตั้งนอกอยู่ในพื้นที่นิคมฯไม่ได้ ซึ่งล่าสุดได้ลงนามกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ที่มีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า การร่วมลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งโรงไฟฟ้าจะเป็นขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนปีนี้สำหรับการลงทุนด้านไฟฟ้าที่ร่วมกับกฟผ.และที่บริษัทดำเนินการเองประมาณ 1 พันล้านบาท

“ปัจจุบันบริษัทมีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ อยู่แล้ว ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 25560 ซึ่งหากการพัฒนานิคมฯ 3 แห่ง แล้วเสร็จ และการร่วมลงทุนกับกฟผ.เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้ปัญหาการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและ กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย”

 เจนโก้เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล

ด้านผ.ช.(พิเศษ) รณชัย ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) หรือเจนโก้(GENCO)ผู้ให้บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและกำลังขยายกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายเพิ่มขึ้น กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าล่าสุดเจนโก้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจโดยการลงทุนผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่ล่าสุดมีแผนจะเข้าซื้อกิจการต่อจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการอยู่แล้วแต่มีปัญหาไม่มีวัตถุดิบป้อนทั้งแกลบ ปาล์ม ชานอ้อย เมื่อซื้อกิจการมาได้บริษัทจะใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF)เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมดผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า1 พันล้านบาทขึ้นไป มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 8 เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมาบริษัทเปิดกว้างในการเจรจากับผู้ที่สนใจจะขายต่อกิจการทุกราย ล่าสุดมีหลายรายสนใจมาหารือด้วยแล้ว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เร่งรณรงค์ปชช.ใช้น้ำประหยัด เตือนปท.ไทยฝนล่าช้าไปถึงมิ.ย.

ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ แสดงปาฐกถาเปิดสัมมนา"เกษตรศาสตร์นำไทย สู้ภัยแล้ง "ในงาน"วันเกษตรศาสตร์ เขียวขจี ทำดีทั่วแผ่นดิน" โดยกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ว่ากระทรวงเกษตรฯได้เสนอของบจากครม.1,700 ล้านบาท ตามแผนของทุกชุมชนทั่วประเทศที่เสนอโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มรายได้ช่วงฤดูแล้ง โดยผ่านการเห็นชอบโครงการระดับจังหวัดมาแล้ว ทั้งนี้จากนี้ไปจนถึงเดือนเม.ย.เข้าสู่ช่วงแล้งรุนแรง ได้พร้อมหากเกิดกรณีขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เตรียมทำแผนที่รถส่งน้ำไปช่วยทุกตำบล ทุกอำเภอ รวมทั้งในช่วง3 เดือนนี้เริ่มอบรมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ในทุกอำเภอประเทศ เป้าหมาย 2.5 แสนคน นำเทคโนโลยีปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงรับรู้ปัญหาหากวิฤกติภัยแล้งในอนาคต  ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก หาช่องทางการตลาด นำภาคเอกชนมาช่วย รัฐบาลนี้ได้คิดรอบด้านตามแนวประชารัฐช่วงนี้เข้าสู่ภัยแล้งจริง เร่งนำมาตราการต่างๆช่วยเหลือ ทั้งนี้ขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำด้วย

ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้เท่ากับปี 37 ในปี59 มีน้ำใช้การได้ 3.8 พันล้านลบ.ม. จากภัยแล้งต่อเนื่องมาปี57-59 ปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ต่ำกว่าเส้นต่ำสุด 3 ปีติดต่อกัน โดยเฉพาะ ภาคเหนือตอนบนย่ำแย่มาก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีน้ำน้อยที่สุดตั้วแต่สร้างเขื่อนมา น้ำในอ่างมี 64 ล้าน ทำให้พื้นที่จ.เชียงใหม่ มีความเสี่ยงมาก

"ผมได้สั่งการไปทุกเขื่อนเดือนพ.ค.นี้มีโอกาสที่ฤดูฝนเข้ามาจะไม่ปล่อยจากอ่างเลย โดยเป้าหมายปลายปีเก็บน้ำให้ได้เต็มอ่าง  จะเห็นว่าปรากฎทางธรรมชาติดีขึ้น ทั้งสภาวะเอลนิโญ่ ลานินญ่าเริ่มคลายปลายเดือนเม.ย. มั่นใจสถานการณ์น้ำกลับมาให้ทางที่ดี ตอนนี้เหลือเวลาแค่100 วันจะพ้นฤดูแล้งนี้ หากไม่นำน้ำจากลุ่มเจ้าพระยา ไปใช้เพาะปลูกมาก จะไม่ขาดแคลนน้ำเลยในพื้นที่22 จ.รวมถึงกรุงเทพด้วย"อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

นายบัญชา ขวัญยืน รักษาการอธิการบดีม.เกษตรฯกล่าวว่าภาคการใช้น้ำทั้งการประปา การอุตสาหกรรม ใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นในกรุงเทพ วันละ6 ล้านลบ.ม.เพราะฉะนั้นปริมาณน้ำเท่าเดิมการบริหารจัดการทำอย่างเดิมไม่ได้  มองว่ามีปัญหาการขาดแคลนน้ำปัจจุบัน สภาพอากาศแปรปรวนประเทศไทยได้รับการเตือนมา10 กว่าปีแล้วเรื่องฝนมาก ฝนน้อย เกิดบ่อยขึ้น ลักษณะอุหภูมิโลกเปลี่ยนชัดเจนเดือนที่แล้ว ประเทศไทยอุณหภูมิตกฮวบเหลือต่ำกว่า10 องศา ดังนั้นการวิเคาระห์เรื่องน้ำ จะเกณฑ์ค่าเฉลี่ยน้ำวงรอบ 30 ปีมาเฉลี่ยไม่ได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปหมด  การปรับเปลี่ยนพืช ประมง ปศุสัตว์เป็นทางออกแก่เกษตรกร ปัญหาผลิตผลการเกษตร ข้าว มัน ยาง ราคาตกต่ำ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลทำอย่างไรให้นโยบายไปสู่การปฎิบัติจริงของประเทศให้ได้

นายสุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร กล่าวว่าสถานการณ์น้ำน้อยผลกระทบระดับประเทศมูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 6 หมื่นล้านบาท เฉพาะพื้นที่ลุมเจ้าพระยาแห่งเดียว  คำแนะนำให้ปลูกพืชอายุสั้น พืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรปฎิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะรัฐมองเป็นจุดๆไม่ครบมุม สำคัญที่สุดคือการตรึงเกษตรกรให้อยู่พื้นที่ ให้เกิดเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตเกษตร นำไปสู่ปฎิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ เป็นระบบเกษตรดิจิตอล มีข้อมูลไปปฎิบัติได้จริง พัฒนาเป็นดิจิฟาร์มมิ่ง เศรษฐกิจดิติตัล บูรณาการศาสตร์ การมองประเทศไทยเป้าหมายเดียวกันนี่คือความสำเร็จ

นายวิษณุ อรรถวานิช ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ม.เกษตรฯ กล่าวว่าปัญหาภัยแล้งเกิดปี48 เป็นต้นมา จากการประเมินการผลิตในภาคเกษตรขาดแคลนน้ำเสียหาย  2.4 ล้านๆบาท เฉพาะปีนี้6.2 หมื่นล้านบาทในกรณีเกิดฝนล่าไปถึงเดือนมิ.ย.จากกรมอุตุนิยมของสหรัฐฯคาดการณ์ ไปกระทบข้าวนาปีจะเสียหาย 6.2 หมื่นล้านบาท หรือหากภัยแล้งลดลงอาจเสียหายแค่1.4 หมื่นล้านบาท ภาครัฐอย่ามองว่าเกษตรใช้น้ำมากอย่างเดียว ควรรณรงค์ให้มากในภาคอื่นรู้ต้นทุนการใช้น้ำแท้จริง อย่ามองว่าเป็นของสาธารณะสุดท้ายน้ำหมดเร็ว ควรส่งเสริมเอกชนลงทุนจัดหาน้ำ มีระบบชลประทานกระจายได้มาก  ในอนาคตประเทศไทยควรนำเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลมาเป็นน้ำจีด เพราะราคาไม่แพงแล้ว ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพและปริมนฑล มีศักยภาพทำได้ จะได้มีน้ำสำหรับภาคเกษตรได้มีน้ำใช้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กฟผ.ย้ำระบายน้ำตามมติคกก.แก้ไขภัยแล้ง

กฟผ. ย้ำ การระบายน้ำของเขื่อนใหญ่เป็นไปตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง เน้นเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ

นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติภัยแล้งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้นั้น กฟผ. ได้เตรียมพร้อมวางแผนรับมือไว้โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ โดย กฟผ. เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งแผนการบริหารน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเขื่อนหลักที่ กฟผ. ดูแล ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มิใช่การตัดสินใจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามแนวโน้มสถานการณ์น้ำ รวมทั้งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วย โดย กฟผ. จะดำเนินการระบายน้ำตามมติคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ภายใต้แผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 จากเขื่อนทั้ง 4 แห่ง (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวม 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำต้นทุน จากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวม 4,748 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำพอง (เขื่อนอุบลรัตน์) มีปริมาณน้ำต้นทุน เพียง 230 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก และไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำพอง 

ทั้งนี้ กฟผ. ได้มีการระดมความช่วยเหลือภัยแล้งแก่ชุมชนโดยรอบ และวางแผนการระบายน้ำในฤดูแล้ง ให้เป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2559 ที่จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนศรีนครินทร์ ระบายน้ำวันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนวชิราลงกรณ์ ระบายน้ำวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนอุบลรัตน์ ระบายน้ำวันละ 0.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทุนไหลออกกดบาทยวบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการเคลื่อนย้ายของเงินทุนล่าสุดสิ้นปีที่ผ่านมา พบว่าดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นปี 58 เป็นการไหลออกของเงินทุนทั้งจากนักลงทุนต่างประเทศที่ทยอยนำเงินที่เคยลงทุนออกไปจากประเทศ และจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นของนักลงทุนไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยสิ้นปีมีเงินไหลออกสุทธิทั้งสิ้น 18,788 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 676,368 ล้านบาท (ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2558 ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

โดยเป็นการไหลออกของเงินทุนสุทธิจากฝั่งนักลงทุนไทยไปลงทุนในกิจการ หุ้น และตราสารหนี้ในต่างประเทศ 5,574 ล้านเหรียญฯ หรือ 200,664 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกิจการ และโรงงานในต่างประเทศของนักธุรกิจไทย 8,615 ล้านเหรียญฯ และเป็นการออกไปลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของนักลงทุนไทยทั้งสิ้น 6,995 ล้านเหรียญฯ เป็นการไปลงทุนในหุ้น 3,949 ล้านเหรียญฯ และเป็นการไปลงทุนในตราสารหนี้ทั้งสิ้น 3,046 ล้านเหรียญฯ

 ขณะที่การไหลออกสุทธิของเงินทุนของนักลงทุนต่างประเทศ 13,214 ล้านเหรียญฯ หรือ 515,346 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลดการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยสูงที่สุด 10,746 ล้านเหรียญฯ โดยเป็นการลดการลงทุนในตราสารทุนทั้งสิ้น 6,465 ล้านเหรียญฯ และเป็นการลดลงของการลงทุนในตราสารหนี้ 4,281 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงในกิจการในภาคเศรษฐกิจจริงของไทย หรือเอฟดีไอของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นปี 58 ยังเป็นการไหลเข้าของเงินทุนสุทธิ 5,271 ล้านเหรียญฯ.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หมอดินเข็น3ภารกิจสู้ภัยแล้ง l ส่งเสริมทำปุ๋ยหมัก-น้ำชีวภาพเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากมติ ครม. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ให้ความเห็นชอบตามความเห็นชอบของสำนักงบประมาณที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ทันต่อฤดูเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2558/2559 ตามมาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนการปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายครัวเรือน 4 โครงการกรอบวงเงิน 971,979,936 บาท

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินการจัดทำแผนงาน/งบประมาณ ตามข้อมูลของโครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งด้านการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยขอรับการสนับสนุนงบกลาง จำนวน 9,135,500 บาท ภายใต้กรอบมาตรการที่ 1

 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งด้านการเกษตร กิจกรรมการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน

นายสุรเดช กล่าวถึงความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำกิจกรรม 3 กิจกรรมด้วยกัน โดย ณ ปัจจุบันสามารถดำเนินการไปแล้ว 64.74% ได้แก่ 1.ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก มีพื้นที่ดำเนินการ 12 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, นครสวรรค์, กำแพงเพชร,สุโขทัย, พิษณุโลก, นครปฐม และพิจิตร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 1,180 ราย ผลการดำเนินงาน 230 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.49 และเป้าหมายในการดำเนินการ 763 ตัน ผลการดำเนินงาน 150.19 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19.68

2.ส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพ มีพื้นที่ดำเนินการ 11 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร,ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, นครสวรรค์, กำแพงเพชร, สุโขทัย, พิษณุโลก, นครปฐม มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 2,975 ราย ผลการดำเนินงาน 2,102 ราย คิดเป็นร้อยละ 70.66 มีเป้าหมายในการดำเนินการ 503,232 ลิตร ผลการดำเนินงาน 355,102 ลิตร คิดเป็นร้อยละ 70.56

3.ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) มีพื้นที่ดำเนินการ 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร, ลพบุรี, ชัยนาท, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, อุตรดิตถ์, กำแพงเพชร, สุโขทัย,พิจิตร, นครปฐม มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 862 ราย

 ผลการดำเนินงาน 862 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 มีพื้นที่เป้าหมาย 7,827 ไร่ สามารถดำเนินงานได้ 8,457 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 108.05

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังมีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยปีงบประมาณ 2559 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 63% อีกทั้งได้ก่อสร้างแหล่งน้ำชุมชน จำนวน 7 แห่ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งนี้ไปให้ได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หนุนพลิกงบหาแหล่งน้ำก่อนเจอแย่ง

หาแหล่งน้ำเพิ่มรับสงครามแย่งน้ำนานาชาติ คาด 10 ปี ต้องการเพิ่มเท่าตัว

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งและความแปรปรวนของสภาพอากาศและรูปแบบการใช้พลังงานจากน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ ทำให้คาดว่าในอนาคตจะเกิดสงครามแย่งน้ำระหว่างประเทศได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะฝากความหวังไว้กับการพึ่งพาน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านน้ำในอนาคตจึงควรเน้นพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอีสาน

"ผมเห็นว่ารัฐควรใช้งบโครงการตำบลละ 5 ล้าน และกองทุนหมู่บ้าน มาใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนเป็นหลัก แทนการก่อสร้างอื่นเพราะการมีน้ำจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในภาคอีสานมีฝนตกมากถึง 4 แสนล้าน ลบ.ม. แต่มีแหล่งน้ำเก็บได้เพียง 7%" ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากไม่วางแผนให้ดีจะมีปัญหาขาดน้ำแน่นอนเนื่องจากในปีอีก 10 ปี การประปาจะต้องมีครบทุกหมู่บ้าน ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มจาก 1,500 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 3,500 ล้าน ลบ.ม./ปี คำถามคือเราเตรียมพร้อมหรือยัง ขณะที่ปริมาณฝนเข้าเขื่อนภูมิพลน้อยลง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

‘กรมหมอดิน’เดินหน้าโซนนิ่ง พื้นที่ไม่เหมาะปลูกข้าว27ล.ไร่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การโซนนิ่งภาคการเกษตรเปรียบเหมือนแผนที่นำทางในการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ดิน ภูมิอากาศ แหล่งรับซื้อ ตลาด หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.กรณีเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว กรมจะส่งเสริมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้องค์ความรู้ข้อมูลด้านการผลิตและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การแนะนำพันธุ์พืชที่ดี การใช้แปลงต้นแบบจากผู้มีประสบการณ์จริงซึ่งประสบความสำเร็จในการทำอาชีพเกษตรกรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงมาเรียนรู้และพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP

2.หากเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง เนื่องจากการใช้พื้นที่ที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดิน กรมจะแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตสินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยนำเสนอทางเลือกการผลิตในรูปแบบต่างๆ ทดแทน

ทั้งนี้ กรมจะดำเนินการพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเป็นอันดับแรก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้ต่ำ มีผลผลิตต่ำเฉลี่ย 350-450 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม 27.41 ล้านไร่ ให้เกษตรกรเลือกพิจารณาการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น อ้อยโรงงาน พืชผัก พืชสมุนไพร พืชพลังงาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปทำปศุสัตว์ เช่น โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น ปลานิล ปลาน้ำจืด การเพาะเลี้ยงกุ้ง นอกจากนี้อาจปรับเปลี่ยนไปทำการผลิตแบบไร่นาสวนผสม เกษตรผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรมชลฯเผยแล้งหนักในรอบ22ปี คาดฤดูฝนเข้าประเทศไทยพ.ค.นี้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าล่าสุดปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักเช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหลืออยู่ 3,457 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีปริมาตรน้ำรวม 6,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 แต่ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพื่อผลักดันน้ำเค็มได้เตรียมปริมาณน้ำไว้แล้วช่วงเดือนก.พ. มี.ค.นี้จะเป็นบางช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูงเพราะมีกระแสลมตะวันตกทำให้มีลมพัดปากอ่าวทำให้น้ำทะเลหนุนเร็วขึ้น

ในส่วนปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกัน 5.48 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.90 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิ.ย. 59

"จากคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่ากลางเดือน พ.ค.จะเข้าสู่ฤดูฝนตามฤดูกาลไม่น่าจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเหมือนสองปีที่ผ่านมา เพราะขณะนี้พบว่าปรากฏการณ์เอลนินโญส่งสัญญานเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับปกติ จะเห็นว่าจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีฝนตกในหลายพื้นที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและไม่มีปัญหาไฟป่าที่เคยเกิดช่วงนี้ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเช่นทุกปี"นายสุเทพ กล่าว

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 1,772,000 ไร่ มีแนวโน้มเสี่ยงหายและขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากเมื่อเทียบกับปี 57/58 ที่ผ่านมา จากที่ลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์น้ำ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล  แต่ได้ขอความร่วมมือไปทางผู้ว่าราชการทุกจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ พะเยา ที่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตร ขอให้ผู้ว่าฯบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทาน อย่างเข้มข้น จะมีน้ำใช้พอเพียงตลอดช่วงฤดูแล้ง ให้เน้นย้ำกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้

โดยกรมชลประทาน ได้มีมาตรการจ้างแรงงานเกษตรกรช่วงพักทำนำ ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ  ล่าสุด จำนวน 68,025 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,084.86 ล้านบาท โดยแบ่งตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,114 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,337 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 45,574  คน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรมชลประทานรายงานน้ำล่าสุดลดลงต่อเนื่อง

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก ลดลงอย่างต่อเนื่อง ใช้ได้เพียง 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากข้อมูลกรมชลประทาน ณ วันที่ 31 ม.ค.59 ชี้แจงสถานการณ์ ดังรายละเอียดดังนี้ : สถานการณ์น้ำ ขณะนี้สถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำ ภาคเหนือ ภาคกลาง ปริมาณน้ำท่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,707 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33 สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ ลดน้อยลง หลังสิ้นสุดฤดูฝน ล่าสุดมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อน รวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,142 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,446 ล้านลูกบาศก์เมตร

1.เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 1.38 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 979 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 10)

2.เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 5.37 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 1,698 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 25)

3.เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 1.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 318 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 35)

4.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 0.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้ 451 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 47)

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กษ. ชี้ฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเข้าอ่างฯ วันละกว่า 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร 

          ฝนหลวงได้ผลดี เผยปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ วันละกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร สั่งติดตามสภาพ ความชื้นในอากาศเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง เติมน้ำในเขื่อนบรรเทาภัยแล้งต่อเนื่อง พร้อมเร่งทุกหน่วยงานสแกนสินค้าเกษตร ได้รับ ผลกระทบภัยหนาว

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการและกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่สำรวจว่าสินค้าเกษตรตัวไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากภัยหนาวที่เกิดขึ้น ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ เพื่อจะเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างทันต่อสถานการณ์

          สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนหลักนั้น ตามที่ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามสภาพอากาศและเตรียมพร้อมที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวงทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งจากการคาดการณ์สภาพอากาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมาพบว่า ระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม 2559 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อีกทั้งมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับสูงจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ และมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สภาพอากาศเช่นนี้เป็นโอกาสดีเอื้ออำนวยที่จะทำฝนบริเวณภาคกลางได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1 ชุด ในวันที่ 20 มกราคม 2559 และเพิ่มเติมในวันที่ 22 มกราคม อีก 1 ชุด เข้าประจำการที่สนามบินนครสวรรค์ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 มีเครื่องบิน CASA จำนวน 2 เครื่อง ชุดที่ 2 มีเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 เครื่อง ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำลงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำป่าสักชลสิทธิ์ ลุ่มน้ำทับเสลา และลุ่มน้ำลำตะคอง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์และบางส่วนของลพบุรี ซึ่งจากการปฏิบัติการพบว่ามีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ วันละประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้ฝนหลวงติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากสภาวะอากาศเหมาะสมก็พร้อมปฏิบัติการทันที

          "หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเป็นการปฏิบัติการเฉพาะกิจ นอกแผนปฏิบัติการและระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ต่อเนื่อง (ตามการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา) โดยใช้เครื่องบินฝนหลวงซึ่งปัจจุบันได้ประจำการอยู่ที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อการซ่อมบำรุงและการฝึกบินทบทวนของนักบินประจำปี ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในพื้นที่เป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 - 5 วัน เช่น เมื่อวันที่ 25 - 26 ม.ค. สภาพอากาศก็ไม่สามารถทำฝนหลวงได้ แต่ชุดปฏิบัติการข้างต้นจะออกปฏิบัติการในพื้นที่ดังกล่าวทันที เมื่อเสร็จภารกิจ ชุดปฏิบัติการจะกลับประจำการ ณ สนามบินนครสวรรค์ตามเดิม" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

          ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำ เจ้าพระยา ล่าสุด ว่า (26 ม.ค. 59) ปริมาณน้ำ ในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำ ในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น จำนวน 10,197 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกัน 5.48 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.90 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 59 รวมกันจำนวน 3,501 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย. 58 - 30 มิ.ย. 59)

          ขณะที่ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/59 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน (26 ม.ค. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,367 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ(แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือน้ำใช้การได้ถึงเดือนเมษายน 59 ประมาณ 1,533 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. - 30 เม.ย. ของทุกปี)

          ทั้งนี้ ในส่วนการของเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,772,000 ไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับปี 57/58 อันเนื่องมาจากการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรฯ และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ ยังคงย้ำขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย

          ในส่วนของผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุดกรมชลประทาน ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว จำนวน 68,025 คน เป็นงบประมาณ ทั้งสิ้น 1,084.86 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,114 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,337 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 45,574 คน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

 มหันตภัย "แล้ง 2559" ถึงเวลา "รัฐ-ราษฎร์" ร่วมใจฝ่าวิกฤติประเทศ เปิด8แผนงานรัฐบาลหนุนเกษตรกรรับวิกฤติภัยแล้ง 

          เป็นอีกคำรบที่ประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับ “วิกฤติภัยแล้ง”

          และนัยว่าวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ จะเป็นวิกฤติครั้งที่ “รุนแรง” หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าครั้งไหนๆ และจ่อจะ “ทอดยาวนาน” เป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว!

          ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2559 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง หรือ “พื้นที่ภัยแล้งฉุกเฉิน” แล้ว 14 จังหวัด 71 อำเภอ 371 ตำบล

          ลำพัง “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เมื่อผสมโรงด้วยวิกฤติภัยแล้งซ้ำเติม เศรษฐกิจไทยที่ “เปราะบาง” จมปลักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งข้นแค้นขึ้นเป็นทวีคูณ!

          น่าแปลก! ทั้งที่เป็นข้อมูลที่ทุกฝ่ายรับทราบมาโดยตลอด ว่าประเทศไทยเรานั้นมีปริมาณน้ำฝนที่ตกเฉลี่ยในประเทศปีละ 732,975 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นน้ำที่ระเหยและไหลซึมลงใต้ดิน 519,672 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ส่วนน้ำผิวดินอยู่ที่ 213,303 ล้าน ลบ.ม. แต่...เรากลับมีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้เพียง 79,890 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10% ของปริมาณฝนที่ตกลงมาเท่านั้น

          ถือว่าฉิวเฉียดมากๆเมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศที่มีถึงปีละ 70,249 ล้าน ลบ.ม. จากน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตร 53,034 ล้าน ลบ.ม. หรือ 75% ของน้ำรวม เพื่อรักษาระบบนิเวศ 12,359 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค 2,460 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4% และเพื่อภาคอุตสาหกรรมและท่องเที่ยว 2,396 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3% รวมทั้งเสี่ยงสูงที่จะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ

          และที่สำคัญ ทุกวันนี้เรายังคงยังพึ่งพา “โชคชะตา” ฟ้ากำหนด หากคราใดที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจตกกระหน่ำจนน้ำท่วมทะลัก วิถีชีวิตของผู้คนก็ต้องเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมจนสำลัก แต่เมื่อใดฝนทิ้งช่วงเราต้องเผชิญกับภัยแล้ง

          ทำให้อดย้อนถามกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ว่า เกิดอะไรกับการบริหารจัดการ “น้ำ” ของประเทศ? ปีนี้น้ำจะเพียงพอบริโภคและใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่? วิถีชีวิตคนไทยต้อง “ยืนอยู่บนเส้นด้าย” อีกกี่ปีกี่ชาติ!!!

          “ทีมเศรษฐกิจ” ขอประมวลภาพรวม “วิกฤติภัยแล้ง” ที่กำลังลามเลีย พร้อมสะท้อนมุมมองนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมไขความกระจ่าง “วิกฤติภัยแล้ง”ครั้งนี้ ดังนี้...

          วิกฤติแล้งรุนแรงสุดในรอบ 20 ปี

          เริ่มต้น “ทีมเศรษฐกิจ” ขอเสนอภาพรวมของสถานการณ์น้ำล่าสุดของประเทศ จากข้อมูลของกรมชลประทานที่ได้เปิดเผยในภารกิจ “รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจรับมือภัยแล้ง” ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

          โดยปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของประเทศ ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนแควน้ำบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำรวมกันน้อยมากอยู่ที่ 3,489 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 19% ของความจุระดับปกติ และต่ำลงเกือบครึ่งหนึ่งเทียบกับต้นปี 2558 ที่อยู่ในระดับ 6,300 ล้าน ลบ.ม.

          “เป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงในรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับภัยแล้งในปี 2537 ทำให้กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด มีอัตราการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักอยู่ที่ 15.9-18.9 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น” นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

          ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ย้อนรอยต้นเหตุที่ทำให้สถานการณ์น้ำในไทยพลิกผันมาถึงจุดนี้ว่า ก่อนหน้านี้ในปี 54/55 ลุ่มเจ้าพระยายังมีน้ำใช้การได้ถึง 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการระบายทิ้งไป 14,000 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากในปี 2554 หลังเกิดวิกฤติน้ำท่วมหนักสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2555 รัฐบาลจึงเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนอย่างหนัก เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และภาคอุตสาหกรรม

          แต่ถือว่า “พลาด” เมื่อปริมาณฝนที่ตกทั่วประเทศในปี 2555 น้อยลง ไม่เป็นไปดั่งที่คาดการณ์ไว้ จึงยังผลให้ “น้ำต้นทุน” หรือปริมาณน้ำใช้ของประเทศอยู่ในภาวะ “หมิ่นเหม่” ยิ่งมาเจอกับการโหมปลูกข้าวนาปรังของชาวนาในช่วงปี 2554/2555 ที่ทะลักขึ้นไปกว่า 11 ล้านไร่จากระดับปกติที่อยู่ในราว 4-6 ล้านไร่ จากผลพวงของนโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาลขณะนั้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำภาคเกษตรดึงน้ำต้นทุนที่เหลือน้อยอยู่แล้วไปใช้มากขึ้น

          ขณะที่น้ำต้นทุนจะเหลือน้อยลง แต่ในปีการผลิต 2555/2556 พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังยังคงมีถึง 11 ล้านไร่ แม้ปีการผลิต 2556/2557 จะลดลงมาเหลือ 9 ล้านไร่ แต่สถานการณ์น้ำต้นทุนในเวลานั้นเริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่จุดวิกฤติแล้ว เพราะมีน้ำใช้เหลืออยู่ที่ 8,153 ล้าน ลบ.ม. เสี่ยงสูงมากที่จะไม่พอใช้!

          มาถึงปี 2558 ที่แม้รัฐบาล คสช.จะเพิ่มความเข้มงวดในการงดการทำนาปรัง ออกประกาศงดการจ่ายน้ำในเขตลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด แต่ก็ยังมีการลักลอบทำนาปรังกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้น “แย่งน้ำ” กันในหลายพื้นที่

          ขณะที่ปริมาณน้ำใช้ของประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2558 ลดระดับลงมาอยู่ที่ 4,247 ล้าน ลบ.ม. และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค.59 มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 3,489 ล้าน ลบ.ม. และยังคาดการณ์กันว่าปริมาณใช้การของประเทศในระยะ 4 เดือนข้างหน้า ณ วันที่ 1 พ.ค.59 จะอยู่ที่ 1,590 ล้าน ลบ.ม. สามารถใช้เฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงรอยต่อไปยังฤดูฝนใหม่ถึงวันที่ 14 ส.ค.59 เท่านั้น

          ถึงเวลาคนไทยปันน้ำกิน-น้ำใช้

          รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำอันดับต้นๆของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับ “ทีมเศรษฐกิจ” ย้อนรอยต้นตอที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งอย่างรุนแรงในครั้งนี้ว่า

          “เป็นผลมาจากอิทธิพลของปรากฏการณ์ “เอลนินโญ” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 และเพิ่มระดับความรุนแรงเป็น “ซุปเปอร์เอลนินโญ” ปลายปี 2558 ซึ่งนับเป็นความรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี”

          ส่งผลกระทบให้ปริมาณฝนและปริมาณน้ำเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยสุดในรอบ 20 ปี กล่าวคือปี 2558 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน 5,620 ล้าน ลบ.ม. ทั้งที่ปริมาณเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ 10,810 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาประมาณเกือบ 50% ดังนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในต้นปี 2559 จึงอยู่ที่ประมาณ 3,018 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปี 2558 ซึ่งมีประมาณ 5,638 ล้าน ลบ.ม.

          “จากน้ำต้นทุนข้างต้น รัฐบาลได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย พืชอายุสั้น รวมทั้งผลักดัน 8 มาตรการช่วยเหลือ” (รายละเอียดในหน้า 9) และผลจากการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทานและผู้นำชุมชนต่างๆ ซึ่งลดพื้นที่เพาะปลูกนาปรังลงไปได้กว่า 70% จากฤดูนาปรังปี 2556-57 และ 40% จากฤดูนาปรังปี 2557-58”

          ตัวเลขพื้นที่ทำนาปรังในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้นปี 2559 มีประมาณ 1.8 ล้านไร่ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2557 และ 2558 ที่มีประมาณ 5.7 ล้านไร่ และ 2.9 ล้านไร่ตามลำดับ ส่งผลให้ใช้น้ำลดลงอย่างน้อย 2,500 ล้าน ลบ.ม. ลดความเสี่ยงผลผลิตที่จะเสียหาย และลดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในหลายชุมชนลงได้ในทางตรงกันข้าม แม้พื้นที่ปลูกนาปรังจะลดลงเหลือ 1.8 ล้านไร่ แต่ยังต้องใช้น้ำเพาะปลูก 1,000 ล้าน ลบ.ม. ทั้งๆที่ตามแผนของรัฐบาล คือ “การงดปลูกนาปรัง” ดังนั้น ปริมาณน้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม.นี้จึงไม่ได้อยู่ในโควตาจัดสรรน้ำ นาปรังเหล่านี้จึงสุ่มเสี่ยงเสียหาย ยกเว้นพื้นที่ที่มีน้ำของตัวเองจากบ่อบาดาล บ่อน้ำ หรือสระน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรที่ให้ความร่วมมืองดเพาะปลูกนาปรัง จะมีความคาดหวังกับการทำนาปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ แต่ความคาดหวังดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของปริมาณฝนฤดูกาลใหม่ หากฤดูฝนล่าช้า หรือ “ฝนทิ้งช่วง” ไปอีก ก็จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตได้

          แต่จากการคาดการณ์ฝนระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. ปีนี้จะมีปริมาณน้อยกว่าปกติ การทำงานเชิงรุก การให้ข้อมูลข่าวสารกับเกษตรกรเกี่ยวกับการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกนาปีจึงมีความจำเป็น และต้องจัดสรรน้ำให้เหมาะสม

          “หากทุกภาคส่วนขาดวินัยในการใช้น้ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวม ตัวอย่างคือพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง 1.8 ล้านไร่นี้ หากมีการดึงน้ำในโควตาภาคส่วนอื่นๆไปใช้ ก็จะส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำอุปโภคและบริโภค รวมทั้งป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวมีความต้องการน้ำมาก”

          อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุการณ์น้ำแล้งมากกว่าน้ำท่วม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด การลดการใช้น้ำทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำกว่า 75% การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Reuse Recycle) และมีประสิทธิผลจึงมีความจำเป็น

          สงกรานต์ปีวอกอาจไม่มีน้ำสาด!

          นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายต่างประเทศ บริษัททีม กรุ๊ป ออฟคัมปานีส์จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ในฐานะภาคีร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในนาม “คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.) รุ่น 2550” รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า

          ปัญหาภัยแล้งในปีนี้หนักหนาสาหัสกว่าปี 2558 มาก เนื่องเพราะน้ำในเขื่อนใหญ่ๆมีเหลือน้อยกว่าปีที่แล้วเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือ จาก 8,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้ในกลางเดือน ม.ค. มีน้ำเหลือในเขื่อนเพียง 3,800 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

          “ขณะนี้มีหมู่บ้านมากกว่า 10,000 แห่งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตรแล้ว หลายจังหวัดต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ปีที่แล้วเราได้เห็นภาพเกษตรกรรายย่อยรวมตัวกันตั้งเครื่องสูบน้ำเรียงรายกันหลายเครื่องเพื่อแย่งน้ำ ทั้งยังมีการรวมตัวกันปิดคลองเพื่อสูบน้ำเข้านาข้าวกัน ปีนี้เราอาจเห็นภาพดังกล่าวซ้ำรอยอีก”

          ขณะที่สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน กรมอุตุนิยมวิทยาเองได้คาดการณ์ว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ไปจนถึงเดือน มิ.ย.ปีนี้ จะไม่มีฝนตกลงเขื่อนอีกเลยเมื่อไม่มีฝนตก รัฐบาลจำเป็นจะต้องประกาศมาตรการชัดเจนเกี่ยวกับการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หลังจากที่มีการประกาศห้ามเกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยางดปลูกข้าวแล้ว

          “กลุ่มเราได้เสนอให้รัฐบาลประกาศเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้หลักการประหยัดน้ำของกลุ่มต่างๆที่ใช้น้ำเริ่มจากประชาชนชาวกรุงเทพฯ หากรณรงค์ให้คนกรุงลดการใช้น้ำลง 20% จะประหยัดน้ำได้ถึงวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. จากน้ำที่คนกรุงใช้กันวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีน้ำเพียงพอจะดันน้ำทะเลออกไป ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้หลัก 3 R คือ Reduce หรือใช้น้ำลดลงเท่าที่จำเป็น, Reuse คือใช้ซ้ำ และ Recycle บำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่

          นายชวลิตกล่าวด้วยว่า นับแต่เดือน ก.พ.จะเริ่มเห็นคุณภาพน้ำจืดค่อยๆกลายเป็นน้ำกร่อย และเราอาจมีน้ำจืดไม่พอไล่น้ำทะเลที่หนุนขึ้นมา และในเดือน มี.ค.-เม.ย.คนกรุงเทพฯจะได้รับผลกระทบจากน้ำกิน-น้ำใช้หนักกว่าปีที่แล้ว จึงจำเป็นต้องเตรียมสำรองน้ำดื่มสะอาดและมีคุณภาพไว้

          ส่วนที่มีผู้เสนอให้รัฐบาลประกาศว่า สงกรานต์ปีนี้ขอให้งดการเล่นน้ำนั้น อาจต้องใช้การออกข่าวดู เพื่อให้ประชาชนมองเห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ส่วนข้อเสนอนี้จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลและประชาชนคนไทยยอมรับได้หรือไม่ อาจต้องฟังความเห็นหลายฝ่าย

          “บางทีความพยายามจะรักษาจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินไป หรือเห็นแก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเล่นสงกรานต์มากเกินไปโดยไม่พิจารณาความเป็นจริง และปัญหาที่ประชาชนประสบอยู่ ก็อาจจะสร้างความยากลำบากให้แก่เกษตรกร และคนในประเทศต้องได้รับความเดือดร้อน”

          นายชวลิตกล่าวว่า ถ้าเรายังใช้น้ำกันโดยไม่คิดถึงอนาคต ที่สุดการประปาอาจต้องส่งหยุดน้ำ เพราะปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ๆทั้ง 5 แห่งมีน้ำเหลืออยู่เพียง 3,400 ล้าน ลบ.ม.เศษๆเท่านั้น!!!

          อุตสาหกรรมร่วมปันน้ำชุมชน!

          ด้านบวร วงศ์สินอุม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน กล่าวถึงวิกฤติภัยแล้งที่กำลังลามเลียอยู่ในขณะนี้ว่า สืบเนื่องจากปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 นี้ประเทศไทยจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง

          โดยการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคประชาชน เพราะปัญหานี้เป็นปัญหา “ระดับชาติ” ซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ จนถึงภาคเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้องลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำเอาไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด

          สำหรับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการรณรงค์และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนรอบข้าง โดยยึดหลักการมีธรรมาภิบาลที่ดีสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

          ส.อ.ท.จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติภัยแล้ง ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ โดยมาตรการเร่งด่วนที่จะนำมาใช้คือ 1.สื่อสารข้อมูลไปยังสมาชิกผู้ประกอบการเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์และเตรียมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยใช้กลไกของ War room น้ำใน 4 ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ

          2. การดำเนินงาน CSR ด้านน้ำแบ่งปันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ลักษณะเดียวกับ “โครงการ ส.อ.ท.ปันน้ำใจช่วยภัยแล้ง” ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแบ่งปันน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคกับชุมชนรอบข้าง และนำน้ำบาดาลที่เหลือใช้แบ่งให้กับชุมชนใกล้เคียง โดยในปีนี้มีโรงงานที่แสดงเจตนารมณ์ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการสนับสนุนน้ำดื่มให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บจก. เอสซีจี เคมิคอลส์, บจก. ไทยน้ำทิพย์, บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก, สมาคมฟอกย้อมตกแต่งและพิมพ์สิ่งทอไทย

          3.ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น4.เร่งสร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทุกภูมิภาคจำนวน 90 แห่ง ผ่าน “โครงการสร้างต้นแบบและขยายเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมฯ” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยจะคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพตามหลักการ 3Rs จำนวน 15 โรงงาน จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ

          5.ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานวิชาการ ไปใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น 6. ส่งเสริมการทำ Water Footprint ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม และ 7.การหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย เช่น ESCO Fund ที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนของโครงการที่สามารถช่วยอนุรักษ์น้ำและพลังงานได้

          เมื่อ “รัฐ-ราษฎร์-เอกชน” ร่วมใจ เชื่อว่าฝ่าวิกฤติภัยแล้งไปได้ด้วยกัน!

          เปิด 8 แผนงานรัฐบาลหนุนเกษตรกรรับวิกฤติภัยแล้ง

          ฟากฝั่ง “รัฐบาล” ยังมั่นใจ ยังมีโอกาสฝ่าวิกฤติภัยแล้งปี 2559 ไปได้ แต่จำเป็นต้อง “ปรับใหม่ทั้งระบบ” บริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ขณะที่เตรียม 8 แผนงานช่วยเหลือเกษตรกรรับมือ “วิกฤติภัยแล้งครั้งหฤโหดในรอบ 20 ปี”

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลเพื่อการฟันฝ่า “วิกฤติภัยแล้ง” ในปีนี้ โดยระบุว่า เรายังมีโอกาสที่จะผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งครั้งนี้ไปได้ โดยหากพิจารณาสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก เรายังมีปริมาณน้ำใช้การได้ 16,870 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุปกติ

          ขณะที่ยังมีแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานทั้งประเทศอีกจำนวน 352,528 บ่อ มีปริมาตรน้ำ 182.10 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุทั้งหมดและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั้งประเทศ 4,789 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 1,072.55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ของความจุทั้งหมด

          แต่ทั้งหลายทั้งปวง หากต้องการผ่านพ้นภัยแล้งปีนี้ไปได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด!

          ขณะที่มาตรการรับมือวิกฤติภัยแล้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็น “เจ้าภาพหลัก” ในการดำเนินการนั้น ครม.ได้อนุมัติแผนการดำเนินงาน 8 มาตรการ ภายใต้ “โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559” ดังนี้

          มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการสร้างรายได้จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปศุสัตว์ ประมง และปรับปรุงดิน วงเงิน 1,009.07 ล้านบาท ซึ่ง ครม.เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2558 ในวงเงินเบื้องต้น 971.98 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายดำเนินการ 386,809 ราย ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค.59 ได้มอบปัจจัยการผลิตแล้ว 58,129 ราย คิดเป็น 15% ที่เหลือคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.59

          นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพภายใต้โครงการ “ธงฟ้า ช่วยภัยแล้ง” มีผลการจัดจำหน่ายสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.58 ที่ผ่านมา จำนวน 199 ครั้ง ในพื้นที่ 20 จังหวัด มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 21.51 ล้านบาทและลดภาระค่าครองชีพ 14.34 ล้านบาท และมีประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 71,684 คน

          มาตรการที่ 2 ชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ ได้แก่ การลดค่าเช่าที่ดิน ค่าเช่าซื้อที่ดิน และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 22,613 ราย วงเงิน 60.23 ล้านบาท รวมทั้งการให้สินเชื่อเกษตรกร 61,369 ราย วงเงิน 1,213.02 ล้านบาท การให้สินเชื่อกับประชาชน 10,078 ราย วงเงิน 818.38 ล้านบาท ลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรและประชาชน 630 ราย วงเงิน 109.25 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน

          มาตรการที่ 3 การจ้างงานทดแทนการทำเกษตร โดยมีการจ้างแรงงานแล้ว 237,855 ราย แบ่งเป็นจ้างแรงงานชลประทาน 68,025 คน การจ้างแรงงาน เร่งด่วน 7,869 คน และจ้างงานจากเงินทดรองราชการของจังหวัด 161,961 คน นอกจากนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.58 ได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

          มาตรการที่ 4 การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.58 และ 15 ธ.ค.58 ได้อนุมัติกรอบวงเงินโครงการฯระยะที่ 1 กรณีการปลูกพืชใช้น้ำน้อย วงเงิน 167.56 ล้านบาท ซึ่งทางจังหวัดได้โอนเงินให้ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151.94 ล้านบาท

          นอกจากนั้นยังมีมติคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 59 ได้เห็นชอบโครงการตามแผนพัฒนาชุมชนฯ ระยะที่ 2 ครั้งที่ 1 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีจำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน 1,614.0439 ล้านบาท คาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประ– โยชน์ 740,184 ราย

          มาตรการที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกข้าว โดยวิธีเปียกสลับแห้งเพื่อการประหยัดน้ำ ได้จัดทำแปลงสาธิตแล้วจำนวน 37 แปลง ในพื้นที่ 9 ศูนย์ทดลอง คิดเป็น 37% ของแปลงสาธิตเป้าหมายทั้งหมด

          มาตรการที่ 6 การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจังหวัดนครสวรรค์ มีการขึ้นปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.58 จำนวน 66 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 11 จังหวัด การขุดเจาะบ่อบาดาล ดำเนินการเสร็จแล้ว 1,257 บ่อ และการทำแก้มลิง 30 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ และเลย

          ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุน้ำเก็บกักได้ 12.77 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,680 ไร่ เกษตรกร 6,030 ครัวเรือน

          มาตรการที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยกระทรวงสาธารณสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และเจ้าหน้าที่สายตรวจลงพื้นที่ 30,488 ครั้ง

          มาตรการที่ 8 การสนับสนุนอื่นๆ เช่น ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชน 11 กลุ่ม วงเงิน 9.30 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 45 สหกรณ์ วงเงิน 83.82 ล้านบาท

          ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการระยะสั้นๆ เพื่อฟันฝ่าภัยแล้งปีนี้ไปให้ได้ ขณะเดียวกันพวกเราทั้งประเทศกำลังรอคอย “มาตรการระยะยาว” เพื่อให้คนไทยรับมือกับ “ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ” ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีได้อย่างยั่งยืน.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อ ม.ค.59 ลดง 0.53% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อมกราคม 59 ลดง 0.53% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากมกราคม 58 ผลจากราคาน้ำมัน การขนส่ง คาดแนวโน้มไตรมาส 2 จะกลับเป็นบวกหากราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1-2%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือ อัตราเงินเฟ้อ เดือนมกราคม 2559 พบว่า เงินเฟ้อเดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 105.46 ลดลง 0.53% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2558 แต่เมื่อเทียบเดือนธันวาคม 2558 ลดลง 0.26% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงรับว่าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ทั้งนี้ เหตุผลที่เงินเฟ้อลดลงเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นหลัก และเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สำนักงานฯคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2559 อยู่ที่ 1-2%

ทั้งนี้ โดยอยู่ภายใต้สมมุติฐานหลัก คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2559 อยู่ที่ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระหว่าง 48-54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อีกทั้งทางสำนักงานจะประเมินอัตราเงินเฟ้ออีกครั้งในเดือนมีนาคม 2559 นี้ ถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 นี้จะมีแนวโน้มอย่างไร เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ มีแนวโน้มลดลง แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบ ราคาแนวโน้มไปในทิศทางดี โอกาสเงินเฟ้อของไทยอาจจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมา 2 ของปีนี้ แต่หากราคาน้ำมันยังลดลง โอกาสจะติดลบก็มีโอกาสเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นนอกจากราคาน้ำมันที่ลดลง ก็ยังมีปัจจัยเรื่องของภัยแล้ง ราคาอาหาร เป็นต้น แต่ยังมั่นใจว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน เพราะยังเห็นว่าความต้องการบริโภค ความต้องการซื้อสินค้าของคนไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหากดูอัตราเงินเฟ้อถ้าตัดเรื่องของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อไทยในตัวอื่นก็ยังเป็นบวกอยู่ และแนวโน้มราคาสินค้านั้นคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ลดลงและมีการคาดการณ์จะลดลงมาอยู่ในระดับที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ทางสำนักงานฯไม่ได้มีความเป็นห่วงผลกระทบภายในประเทศ แต่กังวลจะมีผลตอ่การค้าระหว่างประเทศมากกว่า เพราะจะมีผลต่อการนำเข้าสินค้าของผู้ผลิตน้ำมันเนื่องจากรายได้หายไป

นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า อัตราค่าโดยสารที่ปรับลดลงซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน เช่น รถโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั่น 1 ปรับลดลง 4.54% ค่าเรือโดยสาร ปรับลดลง 9.51% กลุ่มอาหารสดและพลังงาน เช่น ผักและไม้ผลไม้ ลดง 1.69% ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ลดลง 3.92% ค่ากระแสไฟฟ้า ลดลง 0.73% ซึ่งการลดลงมีผลกระทบบต่อเงินเฟ้อของไทย อีกทั้งยังพบว่าเงินเฟ้อของไทยลดลงต่ำสุดกว่าหลายประเทศในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา โดยสิงคโปร์ เงินเฟ้อ ลดลง 0.5% ไต้หวัน เงินเฟ้อ ลดลง 0.41% และเวียดนามเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.63% เป็นต้น

ขณะที่การสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ จำนวน 450 รายการ พบว่าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น 144 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเหนียว มะนาว กระเทียม สบู่ น้ำอัดลม ค่าเช่าบ้าน น้ำยาปรับผ้านุ่ม เบี้ยประกันชีวิต เป็นต้น สินค้าที่ปรับลดลง 104 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า  เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ได่ ผักสด หัวหอมแดง ผลไม้สด น้ำมันพืช น้ำปลา ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าโดยสารเรือ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น และสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 202 รายการ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รายงาน: นานาทรรศนะ... ก่อนคลอด'กฎหมายเกษตรพันธะสัญญา

          โต๊ะข่าวเกษตร-การค้า

          กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง เมื่อ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)จะเร่งขับเคลื่อน 1 ในร่างกฎหมาย 5 ฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามใบสั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญาให้เป็นธรรม พ.ศ.... เพราะที่ผ่านมา หลายฝ่ายเห็นว่าเกษตรกรมักไม่ได้รับความเป็นธรรม ตกเป็นเบี้ยล่างของเอกชน บ้างก็ว่าเป็นสัญญาทาสทำให้เกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำความคิดเห็นและมุมมองของภาคเอกชนและตัวแทนเกษตรกร ที่ต่างมีความเห็นพ้องกันว่าอยากจะเห็นกฎหมายออกมาอย่างเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย  หนุนคนกลางลดขัดแย้ง

          นายอนุรัตน์ โค้วคาศัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท ยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี) ดำเนินธุรกิจส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง กล่าวว่า ผลจากปริมาณกุ้งในประเทศลดลงเพราะเกิดจากปัญหาโรคตายด่วน หรือ EMS ส่งผลให้ปัจจุบันจากที่เคยส่งออกกุ้งวันละ 100 ตัน เหลือวันละไม่ถึง 20 ตัน มีผลให้บริษัทไม่ได้ทำเกษตรพันธะสัญญา หรือ contract farming กับเกษตรกรเหมือนในอดีต ส่วนใหญ่จะซื้อขายตามออร์เดอร์ และติดต่อกับผู้เลี้ยงโดยตรงในราคาตลาด

          "การจับมือเป็นคลัสเตอร์ทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง มองว่าเป็นระบบที่เป็นประโยชน์เพราะทำให้ผู้เลี้ยงทราบว่าผู้ขายต้องการใช้อะไร ปริมาณเท่าไร ส่วนลูกค้าปลายทางก็จะมั่นใจได้ว่ามีปริมาณกุ้งเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ทั้งนี้การทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งจะดีเมื่อปริมาณกุ้งเหมาะสม แต่ถ้ากุ้งขาด จะทำให้เกษตรกรเกิดความลังเล อยากจะนำไปขายในตลาดเพราะราคากุ้งจะสูงกว่า เช่นเดียวกันกับกุ้งล้นตลาด ผู้ประกอบการจะมองว่าราคากุ้งในตลาดถูกกว่าของเกษตรกรที่เป็นคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ดังนั้นเมื่อมีร่างกฎหมายเกิดขึ้นก็เห็นด้วยที่จะมีภาครัฐมาช่วยดูแลประสานงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย"

          จับมาตรฐานโลกดูแล เกษตรกร

          เช่นเดียวกับนายพงศธร อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการแผนกบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ที่กล่าวว่า บริษัทแม่ได้เริ่มนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานเกษตร (Agricultural Labor Practices-ALP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาสภาพการทำงานในไร่และความเป็นอยู่ของชาวไร่ยาสูบ ครอบครัว และแรงงานในไร่กว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่รับซื้อใบยา โดยหลักปฏิบัติ ALP นี้พัฒนาขึ้นโดยมีความสอดคล้องกับปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ด้วย

          สำหรับประเทศไทย โครงการ ALP ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2555 โดยครอบคลุมการทำงานในไร่ยาสูบหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันปัญหาการใช้แรงงานเด็กและการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในการทำงานในไร่ยาสูบ เรามีการทำงานร่วมกับบริษัทผู้จัดหาใบยาในชุมชนท้องถิ่นและจัดกิจกรรมส่งเสริมการรับรู้ในหลักปฏิบัติด้านแรงงานให้กับชาวไร่ยาสูบเพื่อให้มั่นใจว่านอกเหนือจากคุณภาพของใบยาสูบที่ดีแล้ว ใบยาที่เราจัดหามานั้นจะต้องมาจากแหล่งแรงงานที่ทำงานด้วยความปลอดภัยและยุติธรรม

          "ฟิลลิป มอร์ริส ไม่ได้ทำสัญญากับเกษตรกรโดยตรง แต่ร่วมกับบริษัท อดัมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับซื้อและส่งออกใบยาสูบที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 46 ปี โดยมูลค่าการรับซื้อใบยาสูบของเราในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(2553-2557) รวมประมาณ 4.33 พันล้านบาท และในปี 2558 อยู่ที่ 773 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 4.5 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ"

          แฉเกษตรกรถูกเอาเปรียบ

          ขณะที่ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเห็นด้วยที่จะผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการคุ้มครองระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. .   เพื่อส่งเสริมคุ้มครองสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ในระบบเกษตรพันธะสัญญาโดยเร็ว จึงได้เสนอเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกร 1.ก่อนทำสัญญา มีการควบคุมโดยให้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์พื้นที่ควบคุมหรือส่งเสริมสำหรับการผลิตและบริการทางการเกษตร กำหนดรูปแบบของสัญญา การให้เกษตรกรได้ทราบเป็นการล่วงหน้าถึงข้อมูลการตลาด แผนการผลิต คุณภาพผลผลิต ปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องตามสัญญา ความคุ้มค่าในการผลิต ภาระความเสี่ยงที่อาจต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากมีข้อตกลงในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้ถือว่าข้อสัญญา ส่วนนั้นเป็นโมฆะ และให้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หากมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมต้องรับผิดร่วมกัน มีการทำประกันภัยผลผลิต การบอกเลิกสัญญาต้องกำหนดเงินชดเชยการลงทุนอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ในการทำสัญญา ควรจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร และนำไปจดทะเบียน หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ให้มีคณะกรรมการระงับข้อพิพาท ให้ความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจ  เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรเสียเปรียบบริษัท ผลที่ได้รับก็คือมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

          ยันความเสี่ยงอยู่กับบริษัท

          ส่วนนายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติงาน บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่าการทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ ของบริษัทนั้นยอมรับว่าไม่ใช่คอนแทร็กต์ธรรมดา เพราะบริษัทกว่าจะพัฒนาสายพันธุ์ที่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี แล้วให้เกษตรกรนำไปปลูก แต่หากเกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับคนอื่นต่อ บริษัทแย่เลย ดังนั้นเมื่อนำไปปลูกแล้วจะต้องขายคืนมาให้แก่บริษัท จะเห็นว่าความเสี่ยงอยู่กับบริษัท 100% แต่ถ้าเกษตรกรรายใดไม่พอใจก็สามารถหันไปปลูกให้คนอื่นได้ ทุกวันนี้คู่แข่งมาก และเกษตรกรก็มีทางเลือกมากขึ้น

          ก.เกษตรฯยินดีเป็นคนกลาง

          ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน" ซึ่งมักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนด สัญญา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องเข้าไปทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างภาคเอกชนและประชาชน ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรีเรื่องประชารัฐให้เอกชนดำเนินงาน และรัฐกำกับดูแลให้เป็นธรรม โดยจะดูแลทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความเป็นธรรมไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกเอาเปรียบ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

TDRIเป็นแกนนำ เร่งผลักดันไทย เป็น‘ชาติการค้า’ ฝ่าวิกฤติส่งออก

มีรายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) แจ้งว่า ขณะนี้ทีดีอาร์ไอ กำลังเดินหน้าศึกษาศักยภาพทางการค้าของไทย โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางสำหรับการวางยุทธศาสตร์ “ชาติการค้า” ต่อกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นชาติการค้าอย่างมีทิศทางต่อไป

ในการนี้จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยยุทธศาสตร์ชาติการค้า (Trading Nation) วิเคราะห์สภาพปัญหาส่งออกไทย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่างประเทศขนาดเล็กที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตด้วยการเป็นชาติการค้า คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่ถนัดการต่อยอด สามารถสร้างตราสินค้าของตนเองและจัดจำหน่ายเอง และฮ่องกง ที่เน้นการออกแบบ วิจัย ไม่เน้นผลิตในประเทศ แต่บริหารการผลิตในต่างประเทศได้ดี

สำหรับประเทศไทยแม้จะมีศักยภาพด้านการผลิตสูง แต่ทำกำไรได้น้อย เพราะยังเน้นเฉพาะการรับจ้างผลิต ต้องเผชิญกับปัญหาถูกกดราคา ดังนั้นจึงต้องมีวิธีคิดแบบชาติการค้า คือ มุ่งสู่ตลาดเฉพาะ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ขณะที่ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีส่งเสริม และเอกชนต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

สอท.เร่งตั้งสถาบันอุตฯเพื่อการเกษตร ใช้R&Dสร้างนวัตกรรมใหม่ หวังเพิ่มมูลค่าสินค้ามากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า สอท.อยู่ระหว่างจัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรม

 เพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นสถาบันที่ 11 ของ สอท. เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิตทางด้านเกษตร อาหาร แปรรูป ผลิตภัณฑ์

 ไม้เศรษฐกิจ พลังงานทดแทน ให้เข้าถึงอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่สร้างมูลค้าสินค้ามากขึ้น รวมทั้งเป็นศูนย์ปรึกษาปัญหาอุปสรรคทางการค้าจากประเทศต่างๆ ให้ผู้ประกอบการ และสร้างมาตรฐานการตรวจสอบ รับรองในระดับสากล เนื่องจากขณะนี้สินค้าเกษตรต่างๆ มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้เพิ่งเริ่มประชุมครั้งที่ 1 ไป เพื่อพิจารณาโครงสร้างของสถาบัน ให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการมากที่สุด คาดว่าจะจัดตั้งอย่างเป็นทางการได้เร็วๆ นี้เพราะที่ผ่านมาอุปสรรคทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าเกษตรในอุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง และตอนนี้อยากให้อุตสาหกรรมเกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอท.จึงเห็นว่าควรตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านเกษตรเพื่ออุตสาหกรม รวมทั้งยังช่วยสร้างตลาด โอกาสทางการแข่งขัน โอกาสทางการตลาดให้กับอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรทุกรูปแบบ และจะยกระดับการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และยกระดับภาคการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น” นายสุพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้บทบาทสถาบันจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรมเพื่อการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ โดยใช้การวิจัยและพัฒนา (R&D) สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาด และสร้างมูลค่าทั้งระบบ โดยจัดประเภทอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น 1.อุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ประกอบด้วยอาหารและเครื่องดื่ม, อาหารแปรรูป, เกษตรขั้นต้น, ปศุสัตว์และประมง 2.อุตสาหกรรมเกษตรพลังงาน, เศษวัตถุดิบในการเกษตรเหลือใช้หรือของเสีย,เกษตรอุตสาหกรรมหรือไม้เศรษฐกิจ

สำหรับแผนระยะสั้น-ระยะกลาง (1-6 ปี) เริ่มจากการพัฒนาส่งเสริมสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น, ส่งเสริมเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น,ส่งเสริมการแปรรูปอาหารให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น, ส่งเสริมภาคการจำหน่าย ให้เกิดการกระจายตัวของการขนส่ง และดูแลพลังงานทดแทนจากพืช ส่วนแผนระยะยาว (6-10 ปี) จะจัดโซนนิ่ง กำหนดพืชพลังงาน ประเภท จำนวน สถานที่ปลูก ให้ชัดเจนในระยะยาว และกำหนดนโยบายซื้อ-ขายล่วงหน้า บนพื้นฐานความต้องการซื้อ-ขายอย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน (2) สภาพการใช้ที่ดินของประเทศไทย

จากการสำรวจและจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินของประเทศไทยในปี 2553-2556 โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูง “ไทยโชต” ตรวจสอบหาพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจัดทำแผนที่การใช้ที่ดินและคำนวณเนื้อที่การใช้ที่ดินประเภทต่างๆ รายจังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ 320.67 ล้านไร่ และแบ่งตามสภาพการใช้ที่ดินหลักได้ 5 ประเภท ประกอบด้วย

พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง มีเนื้อที่ประมาณ 16.52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 5.05 ของเนื้อที่ประเทศ

พื้นที่เกษตรกรรม เป็นประเภทการใช้ที่ดินที่มีเนื้อที่มากที่สุด ประมาณ 174.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 54.36 ของเนื้อที่ประเทศ แบ่งเป็น 7 กลุ่ม คือ นาข้าว 77.11 ล้านไร่ พืชไร่ 40.71ล้านไร่ ไม้ยืนต้น 36.43 ล้านไร่ ไม้ผล 11.23ล้านไร่ พืชไร่หมุนเวียน 4.04 ล้านไร่ และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.90 ล้านไร่

พื้นที่ป่าไม้ มีเนื้อที่ประมาณ 109.26 ล้านไร่ หรือร้อยละ 34.06 ของเนื้อที่ประเทศ

พื้นที่แหล่งน้ำ มีเนื้อที่ประมาณ 8.98 ล้านไร่ หรือร้อยละ 2.80 ของเนื้อที่ประเทศ

พื้นที่เบ็ดเตล็ด มีเนื้อที่ประมาณ 11.63 ล้านไร่ หรือร้อยละ 3.63 ของเนื้อที่ประเทศ

ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินของประเทศไทย

จากการติดตามสถานการณ์ของทรัพยากรดินไทยในปัจจุบันพบว่า มีแนวโน้มที่ทรัพยากรดินจะเกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้นในอนาคต สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสมบัติของดินเปลี่ยนแปลง เพราะขาดการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และการจัดการดินที่ไม่เหมาะสม มีการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายรุนแรงจนถึงขั้นดินถล่ม ตลอดจนการใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับสมรรถนะหรือคุณภาพของที่ดิน และสาเหตุจากภัยพิบัติธรรมชาติ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศมากขึ้น เกิดปัญหาโลกร้อน ภัยแล้ง ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

มองหน้า..เหลียวหลัง1เดือนรุกและรับอย่างไรในเออีซี

: ดลมนัส กาเจ

           ล่วงเลยไปแล้ว 1 เดือนเต็มๆ สำหรับการรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แม้ในส่วนของประชาชนทั่วไปยังรู้สึกเฉยๆ กับการรวมตัวในครั้งนี้ แต่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการเตรียมตัวและมองช่องทางที่จะขยายกิจการไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มเดียวกัน แต่กระนั้นในบางครั้งยังขาดข้อมูลในหลายๆ ด้านที่ยังเป็นอุปสรรคกันอยู่

           ล่าสุด สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้เวทีสัมมนา “การเกษตรทันสมัยเพื่อความยั่งยืนในสังคม AEC” ณ อาคาร ซีพีออล อคาเดมี่ เพื่อสะท้อนให้เห็นในมุมต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจจากวิทยากรที่มีคุณวุฒิและความรู้ในด้านเออีซี โดยเฉพาะเรื่อง “รุกและรับอย่างไรใน AEC”

           รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้สะท้อนในมุมมองว่า เออีซีหมายถึงการเคลื่อนย้ายเสรีใน 5 เรื่องคือ 1.นำเข้าเสรี : นำเข้าส่งออกเสรีเกือบหมด นั้นคือตลาดจะขยายจาก 60 ล้านคนในประเทศไทย เพิ่มเป็น 600 ล้านคนทั่วอาเซียน 2.การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี : สามารถลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยถือหุ้นได้ร้อยละ 70 3.การเคลื่อนย้ายงานบริการเสรี 4.การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี : ธนาคารสามารถโอนเงินได้ทันที และ5.การเคลื่อนย้ายของแรงงานฝีมือ 8 อาชีพที่ (แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักสำรวจและการท่องเที่ยว)

           ในฐานะนักวิชาการได้มีการติดตามในเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีทั้ง 5 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การเกษตรได้ เพราะการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยมีการเปิดกว้างมาตั้งแต่แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้านคือ การขยายพื้นที่ทางการเกษตร, การกระจายชนิดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่อไปแนวโน้มการขับเคลื่อนของเออีซีจะผลักดันให้เกิดการโตของเมือง ซึ่งจะไม่โตเฉพาะกรุงเทพฯ แต่จะโตขยายไปจนถึงชายแดนด้วย

           ด้าน นสพ.ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระ แนะว่า อยากเชิญชวนให้มองศักยภาพของสินค้าเกษตรของไทยก่อน เพราะถ้าศักยภาพของไทยสูงจะรุกหรือรับก็ดีหมด แต่ถ้าศักยภาพการเกษตรของไทยต่ำจะรุกก็ลำบาก จะตั้งรับก็มีรูรั่วมาก จะเห็นได้จากประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน เรามีแรงงานภาคการเกษตรราว 19-20 ล้านคน รองจากอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรกว่า 200 ล้านคน เป็นแรงงานเกษตรประมาณ 47 ล้านคน ส่วนเวียดนามมีแรงงานภาคเกษตรราว 19 ล้านคน แต่ถ้าแยกพื้นที่การเกษตรในอาเซียนทั้งหมดมีกว่า 820 ล้านไร่ ไทยมีพื้นที่การเกษตร 138 ล้านไร่ รองจากประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 360 ล้านไร่ ตามด้วยเมียนมาร์มีพื้นที่การเกษตรเพียง 78 ล้านไร่ ฟิลิปปินส์มีเพียง 78 ล้านไร่ เวียดนาม 68 ล้านไร่ และมาเลเซีย 49 ล้านไร่

           กระนั้นเมื่อเทียบรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ภาคการเกษตรของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกลับพบว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ต่อปี มาเลเซียเป็นอันดับ 1 ทำรายได้ไร่ละ 2.2 หมื่นบาท เวียดนามอันดับ 2 ทำได้ 1.8 หมื่นบาท ตามด้วยฟิลิปปินส์ ทำได้ 1.5 หมื่นบาท อินโดนีเซียทำได้ 1.2 หมื่นบาท ขณะที่ประเทศไทยทำได้เพียง 1.1 หมื่นบาท เมื่อหักต้นทุนแล้วไทยมีกำไรไร่ละ 1,000-2,000 บาท ถือว่ารายน้อยมาก

           ฉะนั้นไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิตคือการตั้งรับต้องตั้งรับอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าจะรุก ต้องรุกอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะตลาดอาเซียนจะรุกแบบหน้ากระดานไม่ได้ แต่ควรรุกแบบมีเป้าหมาย อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าด้านปศุสัตว์ที่ไทยมีประสิทธิภาพการผลิตดีที่สุด

           ขณะที่ นายไกรสิน วงศ์สุรไกล กรรมการบริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า สมาชิกในเออีซีทั้ง 10 ประเทศเป็นทั้งประเทศคู่ค้า และคู่แข่ง ในฐานะผู้ประกอบการไทยต้องยอมรับว่า การหาวัตถุดิบภายในประเทศเป็นเรื่องยาก และมีราคาค่อนข้างแพง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องมอง 2 ด้านคือ ที่ไหนมีวัตถุดิบ และที่ไหนมีตลาด แต่การจะเข้าไปหาวัตถุดิบ หรือตลาดในประเทศสมาชิกอีกทั้ง 9 ประเทศ ต้องมองว่าในประเทศนั้นมีจุดแข็งเรื่องไหน มีเจ้าถิ่นหรือไม่ มีสินค้าแบบเดียวกับเราหรือไม่เปล่า ไทยมีกรอบของเขตการค้าเสรี หรืออาฟต้า กับประเทศไหนบ้าง ที่จะสามารถเข้าไปหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนได้

           “เราต้องมองว่า เออีซี ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการค้าและบริการจริงขนาดไหน และภาษีที่เปลี่ยนเป็น 0% จริงหรือไม่ เช่น การส่งสินค้าเข้าประเทศมาเลเซีย ด่านศุลกากรทางมาเลเซียเก็บตามอัตราองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เนื่องจากขาดหลักฐาน เพราะความเป็นจริงภาษี 0% ไม่ได้เป็นอัตโนมัติ แต่จะต้องไปดำเนินการขอรับสิทธิที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือใบรับรองแหล่งสินค้าอาเซียน จึงจะได้ 0% จะเห็นได้ว่า "การเข้าสู่เออีซี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง ซึ่งมีอุปสรรคและปัญหามากมาย เราจึงควรที่จะวิเคราะห์อย่างละเอียดแยกเป็นประเทศอาเซียนที่มีชายแดนติดกัน และมีความใกล้เคียงกันมากกว่า” นายไกรสิน กล่าว

           หากจะประเมินข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิจะเห็นได้ว่า การรวมตัวเป็นเออีซี ใครก็ตามที่คิดจะทำการค้าการลงทุนในประเทศกลุ่มเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด หากแต่ต้องเรียนรู้อีกในหลายๆ เรื่องจึงจะทำได้ โดยเฉพาะเรื่องภาษี 0% เป็นต้น

เกษตรทันสมัยมุมมอง “ศุภชัย เจียรวนนท์”

           อีกครั้งที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ / กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกมาแสดงทัศนะในการพัฒนาด้านการเกษตรบนเวทีสัมมนา เรื่อง “การเกษตรทันสมัยเพื่อความยั่งยืนในสังคม เออีซี” ในหัวข้อ “การเกษตรทันสมัย และความรับผิดชอบต่อสังคม” สรุปได้ว่าการเกษตรสมัยใหม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม

           “คำจำกัดความคำว่า ความยั่งยืน คือการพัฒนาความเป็นอยู่ ระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงชีวิต การพัฒนามิติทางสังคม คุณค่าทางสังคม ความปลอดภัย การอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข และสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง และกระทบด้านการเกษตรมากด้วย ที่เรารู้จักกันดีก็คือภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับทุกบริษัทในโลก เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ มีการพัฒนาการเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการปฏิบัติที่ดี แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่เราต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเกษตรของบ้านเราก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของตลาดโลก ที่ต้องการสินค้าที่มีที่มาที่ไป ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ศุภชัย กล่าว

           อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการศึกษาพบว่าปัญหาการเหลื่อมล้ำในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเกษตรกรมีรายได้ที่ต่ำ และคิดว่าเป็นแรงงาน ทั้งที่ความจริงคือธุรกิจขนาดเล็กสุด หรือธุรกิจครอบครัว แต่กลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด และสารพัดปัญหา อีกทั้งทุกครั้งที่จะเพาะปลูกก็ต้องลงทุนตั้งแต่การเตรียมแปลง ค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องทำทุกๆ ครั้งการของการผลิต คำถามคือ ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กจะทำอย่างไรกับภาวะที่ผลผลิตล้นตลาด หรือกรณีเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีแล้ว สินค้าเกษตรสามารถถ่ายเทระหว่างประเทศสมาชิกได้ง่าย เกษตรกรรายย่อยจะทำอย่างไร ซึ่งภาวะแบบนี้บริษัทขนาดใหญ่ยังพอที่จะปรับตัวได้

           ปัจจุบันภาคการเกษตรกรไทยขาด 3 เรื่อง คือ องค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ ขาดการบริหารจัดการและขาดความเข้าใจตลาดรวมถึงและการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ทำให้ประเทศไทยมีกว่า 200 อำเภอที่รายได้ประชากรอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ยังขาดในเรื่องของสิทธิ์ในที่ทำกิน จึงเกิดปัญหาการบุกรุกป่า ถือเป็นปัญหาระดับโลก เพราะความไม่ชัดเจนว่าควรทำกินในพื้นไหน จึงกลายเป็นเรื่องของการต่อรอง ภาครัฐจะเข้าไปใช้กฎหมายก็อาจกลายเป็นรังแกชาวบ้านที่ยากจน ขณะที่ชาวบ้านก็ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และอยากส่งให้ลูกเรียนสูงๆ จึงกู้เงิน กลายเป็นว่าการกู้เงินในภาคเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ในชีวิตประจำวัน

           ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหาของเกษตรกรมีหลายมิติ ฟังดูแล้วเหมือนจะหมดความหวัง แต่ความจริงแล้วมีวิธี ซึ่งในต่างประเทศนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้จนทำให้ปัญหาลดลงและแม้จำนวนเกษตรกรจะลดลงเหลือเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ก็มีความเข้มแข้งได้ โดยในส่วนของยุโรปซึ่งประเทศไทยใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนานั้น ใช้เรื่องของระบบสหกรณ์มาแก้ไขปัญหา 3 เรื่องหลักของเกษตรกรที่กล่าวมาคือ องค์ความรู้ การบริหารจัดการ และการตลาดเป็นต้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559