http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2561)

มข.พัฒนาเครื่องตรวจอ้อยพกพา

วิศวะ ม.ขอนแก่น ร่วมกับญี่ปุ่น พัฒนาและทดลองใช้เครื่องวัดคุณภาพอ้อยแบบพกพาโดยไม่ต้องตัดต้นอ้อย วัดค่าความหวานและไฟเบอร์แม่นยำ อนาคตพัฒนาต่อให้สามารถวัดค่าพลังงาน หนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอีสาน

ผศ.ขวัญตรี  แสงประชาธนารักษ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ได้จัดงานแสดงผลงานและทดทองใช้เครื่องต้นแบบตรวจวัดคุณภาพอ้อยเบบพกพาสมบูรณ์โดยเครื่องดังกล่าวออกแบบให้ใช้ในแปลงไร่อ้อยโดยไม่ต้องตัดทำลายต้นอ้อย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลที่มีศักยภาพทดลองใช้งานเครื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ทีมงานออกแบบให้เครื่องมีขนาดเล็กพกพาสะดวก มีความคล่องตัวสูง สามารถวัดได้อย่างรวดเร็วด้วยเวลาเพียง 5 วินาที วัดลำอ้อยได้โดยตรงไม่ต้องตัดทำลายตัวอย่างอ้อย วัดคุณภาพอ้อยได้ทั้งค่าความหวาน ไฟเบอร์และน้ำตาลของอ้อย(ค่าบริกส์ โพล ไฟเบอร์และซีซีเอส)

“ในอนาคตจะพัฒนาต่อเนื่องอีกเรื่อยๆ อาทิ ให้สามารถวัดค่าพลังงานจากอ้อยได้จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำนายแปลงใหญ่ๆ ให้ได้ค่าตรงกับสภาพจริงมากกว่าการใช้โดรนทำนาย” ผศ.ขวัญตรี กล่าว

นอกจากนี้ยังให้การวางแผนการจัดการไร่อ้อยการเก็บเกี่ยวแบบแปลงรวมได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หรือคัดเลือกพันธุ์ได้ตรงกับความต้องการตลาด เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอีสาน

โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนในต่างประเทศคือ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยริวกิว และบริษัท เอชเอ็นเคเอนจิเนียร์ริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องวัดคุณภาพอ้อยแบบพกพา ที่สามารถวัดค่าน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อยได้โดยไม่ต้องตัดหรือเจาะทำลายอ้อย

จึงช่วยให้นักพัฒนาพันธุ์อ้อยสามารถตรวจวัดและศึกษาพฤติกรรมการสะสมน้ำตาลและการสะสมน้ำหนักของพันธุ์อ้อยที่พัฒนาแต่ละลำในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะช่วยทำให้ได้พันธุ์อ้อยที่มีคุณภาพสูงขึ้นโดยใช้เวลาการพัฒนาพันธุ์ที่สั้นลง และสามารถนำไปใช้ในการสร้างแผนที่ผลผลิตเพื่อช่วยในการวิเคราะห์สาเหตุของผลผลิตต่ำและนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในการประเมินผลผลิตของรอบปี เพื่อประกอบการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า ตลอดจนสามารถนำไปใช้ในการวัดคุณภาพและน้ำหนักอ้อยในแปลงเพื่อสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบรวมแปลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต้อยตามแนวทางเกษตรแปลใหญ่อีกด้วย

ทั้งนี้ซีซีเอส หมายถึงปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย ที่สามารถหีบสกัดออกมาเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ราคาอ้อยถูกกำหนดจากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 และอิงกับค่าซีซีเอสนี้ด้วย ซึ่งคำนวณมาจาก 3 ส่วนคือ ค่าโพล(ปริมาณร้อยละโดยน้ำหนักของน้ำตาลซูโครสที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย) ค่าบริกซ์ (ปริมาณร้อยละโดยน้ำหนักของของแข็งทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย) และค่าไฟเบอร์หรือเปอร์เซ็นต์เส้นใยอ้อย(ชานอ้อย)

ที่ผ่านมาวิธีการหาค่าของทั้ง 3 ส่วนนี้ค่อนช้างมีความยุ่งยากและใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์กว่าจะได้ผลค่าวิเคราะห์ทางเคมีใช้ในการคำนวณค่าซีซีเอส รวมถึงต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์หลายชนิด

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561

จัดเวทีถก“ร่างพ.ร.บ.น้ำ”ครั้งสุดท้าย 25เม.ย.คลอดกม.“ปฏิรูปน้ำ”ทั้งระบบ

           เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหรือ“ประชาพิจารณ์”ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 25561 ณ ห้องประชุมอาคาร 99 ปีหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน สำหรับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ....สำหรับร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ....ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีพลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน หลังก่อนหน้านี้ได้เดินสายตระเวนรับฟังความคิดเห็นในต่างจังหวัดมาแล้ว 6 ครั้งใน 50 จังหวัด พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเปิดเวปไซต์รับฟังความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ด้วยเพื่อจะได้ข้อมูลครอบคลุมในทุกมิติมากที่สุด ก่อนนำมาประมวลสรุปแก้ไขเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา จากนั้นก็จะส่งกลับมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาในวาระ 2 และ 3 ซึ่งหากสนช.ลงมติเห็นชอบก็จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสู่กระบวนการโปรดเกล้าต่อไป โดยร่างพร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 101 มาตรา รวม 9 หมวด

          "ในส่วนชั้นกรรมาธิการฯหลังจากนี้ไม่เกิน 15 วันก็น่าจะแล้วเสร็จ ก่อนนำเข้าสู่ครม.พิจารณา ขั้นตอนนี้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่คิดว่าคงไม่นาน เพราะท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก จากนั้นก็ส่งกลับมายังสนช.พิจารณาในวาระ2 และ 3 ลงมติเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าในทุกขั้นตอนจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 25 เมษายน ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป"

           พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ....สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เผยกับ“คมชัดลึก”ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ....ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายใกล้จะมีผลบังคับใช้เต็มทีและถือเป็นกฎหมายที่ใช้เวลาพิจารณายาวนานที่สุด ซึ่งจะครบ 1 ปีเต็มในวันที่ 2 มีนาคม 2561 นี้หลังสนช.รับหลักการในวาระแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ เหตุที่ใช้เวลานาน เพราะเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นธรรม เนื่องจากเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของ 42 หน่วยงาน มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 38 ฉบับ อนุบัญญัติจำนวน 2,418 ฉบับ ระเบียบจำนวน 105 ฉบับ ประกาศอีก 855 ฉบับ ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับมีความทับซ้อน ไม่เชื่อมโยง มีช่องว่างและม่ครอบคลุมการปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นทั้งหมดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

          อีกทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็ได้มีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการบิรหารจัดการทรัพยากรน้ำออกมาจำนวน 3 ฉบับด้วย คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในร่างพร.บ.ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับคำสั่งดังกล่าวด้วย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาตืพ.ศ...ในวาระ2 ชั้นกรรมาธิการเสร็จเรียบร้อยแลทั้งฉบับ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 101 มาตรา รวม 9 หมวดใหญ่ ๆ

          ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเผยต่อว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกปฏิรูปประเทศเรื่องน้ำตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา258 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี(2558-69)หรือที่เรียกกันว่าฉบับท่านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก จากนั้นก็เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาคำสั่งม.44 ออกคำสั่งที่46 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ซึ่งมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นเลขาธิการคนแรกเป็นหน่วยงานมาดูแลกำกับให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว อีกเรื่องที่กำลังจะเกิดในลำดับถัดไปเรากำลังมีกฎหมายบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้น ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคัใช้ก็จะครบทั้ง 3 องค์ประกอบทันทีคือมีกฎหมาย มีแผนยุทธศาสตร์และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมด เกิดแล้วสองและกำลังจะเกิดอีกหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการสัมมนาในวันนี้

          “การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาได้เดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 6 ครั้ง จำนวน 50 จังหวัด 17 ลุ่มน้ำ มีผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 1,582 คน ซึ่งในแต่ละครั้งลงพื้นที่จะได้รับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อห่วงใยที่เป็นประโยชน์และได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาโดยตลอด ก่อนจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้”พลเอกอกนิษฐ์กล่าวรายงานต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)“ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย”ซึ่งได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธิเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ...เป็นครั้งสุดท้าย

          ศ.พิเศษ พรเพชรกล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาฯตอนหนึ่งว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต   สามารถตอบรับการใช้ทรัพยากรน้ำของภาคประชาชนและภาคอุตสาหกดรรมในอนาคตได้อันเป้นก้าวสำคัญในการพัฒนาน้ำอย่างยั่งยืนและร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการพัฒนา และฟื้นฟูทรัพยากนอย่างเป็นระบบ  ทำให้กฎหมายดังกล่าวมีโทษทางอาญาและให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางกรณี แต่มีไว้เฉพาะเพื่อให้เข้าหนา้ที่สามารถดำเนินการกับผู้ที่มีเจตนาที่ก่อให้เกิดปัญหากับการบิรหารจัดการพัฒนาและฟื้นฟูทรัพยากรน้ำเท่านั้น

           พลเรือเอกศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเรือง รองประธานคณะกรรมาธิการฯคนที่1 กล่าวในรายละเอียดที่น่าสนใจของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยระบุว่าเรื่องน้ำสนช.ให้ความสำคัญอย่างมาก มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาถึง 2 ครั้งในทุกมิติ ก่อนจะมาเป็นร่างในฉบับปัจจุบันเพื่อความรอบคอบและเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติจนกว่าจะนำข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งหมดมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง สิ่งสำคัญพ.ร.บ.ฉบับนี้เ)้นพ.ร.บ.ใหม่และเป้นพ.ร.บ.กลาง อาจจะเขียนไว้กว้าง ๆ เพื่อให้มีความครอบคลุมการใช้ประดยชน์กับประชาชนทั้งระบบ โดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ส่วนราชการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ภาคประชาชน ภาคสังคมและภาคองค์กรต่าง ๆ ต้องมีส่วนในการรับรู้และทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

           “ท่านประธาน(พลเอกอกนิษฐ์)ท่านพูดเสมอว่า แม่เกิดหลังลูก ฉะนั้นต้องแต่งตัวแม่ให้คล้ายลูก มันค่อนข้างจะทำงานยากนิดนึง นอกจากทำงานยากแล้วต้องรอบคอบด้วย การจะรอบคอบเกิดผลประโยชน์เกิดความชัดเจนเกิดผลที่ดีจึงขึ้นอยู่กับทุกท่านที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะฉะนั้นทำไมรัฐบาลจึงให้ความสำคัญเป็นกฎหมายกลาง ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ที่เกิดทีหลัง เพราะนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลจะต้องมีเรื่องน้ำเพื่อความยั่งยืนของลูกหลานเรานั่นเอง”รองประธานกรรมาธิการฯคนที่1กล่าวทิ้งท้าย

 ยก“จีน”ยิ่งใช้ยิ่งเก็บ “ไทย”เน้นบทลงโทษ

             อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และประธานที่ปรึกษา สภาหอการค้าไทย ในฐานะกรรมาธฺิการวิสามัญฯยกร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ...กล่าวกับ“คมชัดลึก”ถึงจุดเด่นของพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยระบุว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและเป็นนโยบายใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจด้านน้ำทั้งหมดประกอบด้วยน้ำบนดิน น้ำใต้ดินและน้ำในอากาศ  ทำให้เกิดความยุ่งยากที่ว่าอำนาจเดิมที่เขามีอยู่แล้ว  แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการบูรณาการทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีต้องมานั่งเป็นประธานและมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำกับดูแลนโยบายนั่งเป็นกรรมการแต่จะไม่มีข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งในตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติที่มีส่วนได้ส่วนเสียในนโยบายหรือกิจกรรมนั้น ๆ

         "ถามว่าในภาคธุรกิจจะมีผลกระทบหรือไม่จากพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยอมรับว่ามีแต่ไม่มาก เพราะในภาคธรุกิจเดิมก็จะต้องเสียค่าใช้น้ำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นน้ำาดาลหรือมาจากแหล่งน้ำไหนก็แล้วแต่ น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องเสียค่าน้ำตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่มันอาจจะมีผลกระทบหากการใช้มันสูงเกินไป เพราะน้ำมันมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนตรงนี้ก็มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายจะต้องมีอัตราส่วนเป็นเท่าไหร่จะต้องไปดูในกฎหมายลูกอีกทีและเป็นการอุดช่องโหว่การลักลอบใช้น้ำที่กฎหมายเอื้อมมาไม่ถึง"

      ประธานที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลกระทบกับชาวบ้านทั่วไปที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนหรือทำการเกษตรเพื่อยังชีพ ในส่วนนี้รัฐบาลจะเข้ามาดูแล ส่วนประเภทที่ 2 ทำธุรกิจขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านค้าต่าง ๆ โรงน้ำแข็งขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ก็จะมีการเก็บค่าน้ำ ซึ่งปัจจับันเขาก็จะเสียค่าน้ำอยู่แล้ว ส่วนประเภทที่3 น้ำเพื่ออุตสาหกรรมก็จะต้องเสียในอัตราที่สูงขึ้น

     "อย่างโรงงานน้ำตาลของผม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มันก็ต้องเสียในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศอื่นอย่างจีนการใช้น้ำต้นทุนจะไม่แพง แต่ถ้าใช้น้ำมากขึ้น ๆ ก็จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่แพงมากเป็นพิเศษคือน้ำทิ้งน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อันนี้จะเก็บเบิ้ลเป็นสองเท่า เพราะฉะนั้นเราก็เต้องไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีทิ้งน้อยที่สุด ใช้ประหยัดที่สุดเพื่อมันจะไม่เสียเงินเยอะ อย่างที่จีนยิ่งค่าบีโอดีสูงเกิน30 ก็จะยิ่งเก็บค่าน้ำเป็นอัตราก้าวหน้า ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ของเรายังไม่มี ของเราจะเน้นที่บททำโทษมากกว่า"อิสระกล่าวย้ำ

จาก www.komchadluek.net วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561

บาทเปิด 31.48 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มอ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.48 บาทต่อดอลลาร์แนวโน้มอ่อนค่า หลังดอลล์แข็งรับประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งปีนี้

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.48 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.35 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ภายหลังตลาดรับฟังถ้อยแถลงทิศทางนโยบายการเงินครึ่งปีของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ต่อสภาคองเกรสที่ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับเข้ามา

"บาทอ่อนค่าจากเย็นวานนี้ หลังถ้อยแถลงครั้งแรกของประธานเฟดคนใหม่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งดีอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ได้ถึง 4 ครั้ง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2-3 ครั้ง ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์กลับเข้ามา"

นักบริหารเงิน กล่าวนักบริหารเงิน คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.40-31.55 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561

KTISโชว์รายได้เพิ่ม 3.1 พันล้าน

จากปริมาณและคุณภาพอ้อยที่สูงขึ้นส่งผลให้กลุ่ม KTIS มีรายได้เพิ่มจากหลายธุรกิจ  ปิดปี 2560 ที่รายได้รวม 18,193.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,096.8 ล้านบาท หรือ 20.5%  มีกำไรสุทธิ 645.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 225.9% ชี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกทรงตัวระดับต่ำตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2560 ทำให้ไตรมาส 4 แผ่วลงไปบ้าง

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2560 (มกราคม – ธันวาคม 2560) มีรายได้รวม 18,193.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,096.8 ล้านบาท หรือ 20.5% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่มีรายได้รวม 15,096.2 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิ 645.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 225.9% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ขาดทุนสุทธิ 512.5 ล้านบาท

“การเพิ่มขึ้นทั้งรายได้และกำไรสุทธิในปี 2560 เป็นผลมาจากปริมาณและคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบในฤดูหีบปี 59/60 สูงขึ้น ทำให้ผลิตน้ำตาลได้ปริมาณมากขึ้น และวัตถุดิบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องมีผลผลิตที่มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง จากราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นค่อนข้างมาก” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า หากดูแยกในแต่ละธุรกิจ พบว่า รายได้ของธุรกิจเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย เติบโตสูงสุดถึง 40.7% เนื่องจากปริมาณการขายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาขายเฉลี่ยจะลดลง รองลงมาเป็นธุรกิจน้ำตาล รายได้เพิ่มขึ้น 19% จากปริมาณที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจเอทานอล รายได้เพิ่มขึ้น 1.2% จากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีรายได้ลดลง เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ประจำปี        

สำหรับผลผลิตอ้อยของฤดูการผลิตปี 2560/2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำอ้อยเข้าหีบ หากมองในภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งประเทศ คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยจะสูงกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีก่อนที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 93 ล้านตัน โดยกลุ่ม KTIS มีปริมาณอ้อยเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของทั้งประเทศ

จาก www.banmuang.co.th  วันที่  27 กุมภาพันธ์ 2561

ไทยเตรียมถกรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-RCEP

รัฐมนตรีช่วยฯพาณิชย์ เตรียมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและ รัฐมนตรี RCEP เร่งรัดเจรจา RCEP ให้คืบหน้า

 นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-3 มีนาคมนี้ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อร่วมหารือเป้าหมายของการดำเนินงานของอาเซียนให้สำเร็จภายในปีนี้ และติดตามความคืบหน้าของการเจรจา RCEP รวมทั้งการรื้อฟื้นการเจรจา FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายผลักดันให้สมาชิกอาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จในปี 2561 เช่น การหาข้อสรุปความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสมาชิก

ปัจจุบัน อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2560 มีมูลค่า 101,158 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 59,664 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.9 และการนำเข้า 41,494 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.6

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่  27 กุมภาพันธ์ 2561

“น้ำตาลบุรีรัมย์”โชว์กำไรพุ่ง3เท่า

ปีนี้เน้นลงทุนผลิตบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย-ไฟฟ้าชีวมวล

น้ำตาลบุรีรัมย์เผยผลประกอบการปี 60 กำไรสุทธิโต 363% อานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้นเคาะจ่ายปันผลหุ้นละ 0.30 บาท พร้อมเปิดแผนลงทุนปี 2561 เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตบรรจุผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยและขยายโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานในปี 2560 บริษัทมีรายได้รวม 5,928.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 363% เนื่องจากราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายส่งออกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ถึงกลางปี 2559 โดยเฉพาะในไตรมาส 1 และ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นจำนวนมาก

สำหรับในปีการผลิต 2560/61 คาดจะมีอ้อยเข้าหีบรวม 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีการผลิตก่อนหน้าที่มีอ้อยเข้าหีบ 2.21 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลทราย 247,860 ตัน หรือเติบโตกว่า 25% หากนับจากวันเริ่มเปิดหีบเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2560 ถึง 22 ก.พ.2561 บริษัทสามารถหีบอ้อยได้รวมทั้งสิ้น 1.53 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 179,973 ตัน ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยอยู่ที่ 117 กิโลกรัม สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ

ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริษัทได้มีมติจ่ายเงินปันผล จากกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของบริษัทสำหรับผลการดำเนินงานปี 2560 ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 243 ล้านบาท อนึ่งบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2560

สำหรับการลงทุนใหม่ในปี 2561 นั้นบริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ขณะที่ในส่วนของธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล บริษัทก็มีความพร้อมที่จะยื่นประมูลขายไฟฟ้าเมื่อภาครัฐเปิดให้มีการประมูล

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่  27 กุมภาพันธ์ 2561

ชำแหละร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ปมขัดแย้งผลพลอยได้แบ่ง 70 : 30

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันให้ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้โดยได้รับการ “ยอมรับ” จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ชาวไร่อ้อย กับโรงงานน้ำตาล โดยสถานะล่าสุดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวก็คือ “(กระทรวงอุตสาหกรรม) ได้รับผลการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพร้อมที่จะนำร่าง พ.ร.บ.ส่งเข้า ครม. จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือนเมษายนนี้”

โดยเป็นการส่งต่อร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยกร่างขึ้นโดย คณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ร่าง สนช.) ท่ามกลางบรรยากาศ “ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.” จากเสียงส่วนใหญ่ของผู้แทนชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่เข้าร่วมประชาพิจารณ์ และเรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ชาวไร่อ้อยกับโรงงานร่วมกันร่าง หรือไม่ก็นำข้อเสนอในระหว่างการทำประชาพิจารณ์กลับไปแก้ไขปรับปรุงร่างใหม่

ขัดแย้งหนักผลพลอยได้

สำหรับสาระสำคัญ ๆ ของ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับทำประชาพิจารณ์ครั้งล่าสุด จะประกอบไปด้วย 1) การแก้ไขนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” ให้ครอบคลุมถึง “น้ำอ้อย” ไม่ว่าจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายหรือไม่ เพื่อเปิดทางให้กับโรงงานน้ำตาลนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการผลิตเป็นน้ำตาลทรายอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “ผลพลอยได้” โดยกำหนดให้ กากอ้อย กับกากน้ำตาล เป็นผลพลอยได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะกากน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

ปรากฏประเด็นนี้ได้สร้างความขัดแย้งมาก และต้องการให้มีการเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์อื่นมาคำนวณในระบบแบ่งปันโดยไม่จำกัดว่า จะต้องมาจากอ้อยอย่างเดียว ในขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้นิยามของ “ผลพลอยได้” รวมไปถึง “กากอ้อย” โดยให้เหตุผลว่า กากอ้อยได้รวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานรับซื้ออยู่แล้ว การรวมกากอ้อยเข้าไปเป็นผลพลอยได้เช่นเดียวกันกับ “กากน้ำตาล” จึงไม่เป็นธรรม

2) การเพิ่มบทนิยามของคำว่า “สมาคมโรงงาน” ให้หมายถึง สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและได้จดทะเบียนไว้ตามระเบียบที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนดเพื่อรองรับการมีอยู่จริงของสมาคมโรงงานน้ำตาลในปัจจุบัน กับกำหนดให้ชาวไร่อ้อยสังกัดสถาบันชาวไร่อ้อยได้เพียงแห่งเดียว และสถาบันชาวไร่อ้อยที่มาจากสหกรณ์ 3) การเพิ่มอำนาจให้รัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.อ้อยฯ มีอำนาจในการกำหนดระเบียบ กฎกระทรวง และประกาศ จากเดิมที่มีอำนาจเพียงการกำหนดระเบียบเท่านั้น

4) การแก้ไขวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.อ้อยฯ ให้ครอบคลุมไปถึงการบริหารจัดการ การพัฒนาและส่งเสริมการผลิต-จำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย 5) มีการแก้ไของค์ประกอบและจำนวนกรรมการใน คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย-คณะกรรมการอ้อย-คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการน้ำตาลทราย 6) อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปลี่ยนไปเป็นทำหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ การกำกับดูแลคณะกรรมการชุดต่าง ๆ และการติดตามการประเมินผล

7) โอนอำนาจเดิมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ไปให้ คณะกรรมการบริหาร อาทิ การตรวจสอบคุณภาพอ้อย-กำหนดประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงาน-วันเริ่มต้นและวันปิดหีบอ้อย-เงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออกน้ำตาลทราย-การคำนวณต้นทุนการผลิต และการกำหนดอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อย-โรงงาน 8) การแก้ไขวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยการตัดเรื่องการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศออกไป และแก้ไขแหล่งที่มาของเงินกองทุนอ้อยฯจากเงินกู้โดยการอนุมัติของ ครม.เป็น “เงินกู้” รวมทั้งยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐบาลด้วย

9) กำหนดให้ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ต้อง “ไม่น้อย” กว่าร้อยละ 80 และไม่เกินร้อยละ 95 ของประมาณการรายได้ที่คำนวณได้ โดยให้คำนึงถึงต้นทุนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย 10) กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย “สูงกว่า” ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้โรงงานชำระค่าอ้อยเพิ่มให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

และ 11) การปรับปรุงบทกำหนดโทษใหม่ด้วยการแยกอัตราโทษของชาวไร่อ้อย และหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยออกจากกัน ด้วยการเพิ่มอัตราโทษเฉพาะโทษปรับจากเดิมเพิ่มอีก 4 เท่า

ชาวไร่-โรงงานแตก 2 กลุ่ม

ดูเหมือนว่า ชาวไร่อ้อยได้แตกออกเป็น 2 กลุ่ม หลังการเปิดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับ สนช.ข้างต้น โดย นายปัญญา ศรีปัญญา ประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากการระดมโดยชาวไร่อ้อย และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตกผลึกและสมบูรณ์ที่สุดแล้ว และโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย “การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นไปแล้วทั่วประเทศสะท้อนว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วย เมื่อเทียบประชาพิจารณ์วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้เข้ามาทำประชาพิจารณ์เพียง 300-500 คนเท่านั้น แล้วจะมีตีความว่า ล้ม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้อย่างไร ทางที่ดีควรนำข้อดี-ข้อเสียของทั้ง 2 ร่างมาเปรียบเทียบว่าเป็นอย่างไรจะดีกว่า”

ขณะที่ นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า สมาชิกชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ได้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จัดทำโดยชาวไร่อ้อยเสร็จแล้วและเตรียมเสนอต่อ สนช. ควบคู่กับร่าง พ.รบ.อ้อยฯ ฉบับ สนช. ที่ได้ผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็น 8 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วย

ส่วน นายนพพร ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทน้ำตาลไทยกาญจนบุรี เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับ สนช. ทางโรงงานส่วนหนึ่งก็ยังไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 เรื่องของ “ผลพลอยได้” “กากอ้อย-กากน้ำตาล” ให้หมายความรวมถึง “ผลพลอยได้อื่นใดที่ได้จากการผลิตน้ำตาลทรายโดยตรง”

ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ชาวไร่อ้อยเมื่อมีการขายอ้อยเข้าหีบจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ 70 : 30 จากการได้ผลผลิตน้ำตาลทราย และหลังจากนั้นกากอ้อยจะได้ชานอ้อย ซึ่งทางโรงงานจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน และต้องลงทุนมูลค่าหลายร้อยล้านบาท เช่นเดียวกันกับน้ำอ้อยที่สามารถนำไปผลิต “เอทานอล” ได้ แต่ทางชาวไร่กลับขอแบ่งปันผลประโยชน์

ส่วนโรงงานน้ำตาลแห่งอื่น ๆ ก็คัดค้านในเรื่องของการกำหนดอัตราหีบอ้อยปกติ/วันของโรงงาน ควรมีการกำหนดเกณฑ์ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเช่นเดียวกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อย และบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรมชลฯมั่นใจปีนี้ไร้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตร

กรมชลประทานกางแผนจัดสรรน้ำ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง มั่นใจไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั่วประเทศ ไม่มีความเป็นห่วงเรื่องขาดแคลนน้ำในเขตชลประทาน เนื่องจากการบริหารจัดสรรน้ำของกรมชลประทานฤดูแล้ง ปี 2560/2561 ในรอบ 3 เดือนถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งพบว่ามีการปลูกข้าวเกินแผนเพียง 4 แสนไร่

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานได้เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร จำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำและงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำรายปี ปีละ 500 ล้านบาท ขณะที่ได้เตรียมพื้นที่แก้มลิงไว้ทั้งหมด 13 ทุ่งเพื่อรับน้ำในฤดูฝนปี 2561

ด้านการเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2561 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นคาดการณ์ว่าวันที่ 1 พ.ค. จะมีปริมาณน้ำ 7,862 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยจะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประมาณ 3.83 แสนไร่ ให้เริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รมว.พณ.ย้ำดูแลราคาสินค้าเกษตรต่อเนื่อง

รมว.พาณิชย์ ย้ำดูแลราคาสินค้าเกษตรต่อเนื่อง พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายนำเข้าหากผลผลิตเพียงพอ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรโดยทั่วไปถึงว่าราคาให้อยู่ในระดับดี โดยมันสำปะหลังราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.40-2.50 บาท ในขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือว่าราคาเป็นที่น่าพอใจ เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 9.50-9.60 บาท โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นย้ำให้กับเกษตรกรได้เข้าใจว่ารัฐบาลมีนโยบายในการดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อทำให้ผลผลิตดีขึ้นในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง แต่อยากจะขอความร่วมมือให้เกษตรกรรักษาคุณภาพการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน เพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ และบริหารจัดการในเรื่องของต้นทุนให้ลดลงเพื่อที่จะให้ตนเองได้กำไรมากขึ้นและสามารถแข่งขันกับในตลาดต่างประเทศได้

และสำหรับนโยบายการนำเข้าข้าวสาลี 3 ต่อ 1 เพื่อนำมาใช้ในประเทศนั้น หากในอนาคตสถานการณ์สินค้าเกษตรในประเทศ มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการ รัฐบาลก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายในการนำเข้า ในสัดส่วนที่น้อยลง ตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวโพดหรือมันสำปะหลังของเกษตรกรในประเทศ

ในขณะที่ตัวแทนสภาเกษตกร และสมาคมการค้าพืชไร่ ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ผลผลิตของเกษตรกรถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นที่น่าพอใจ และต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าของเกษตรกรอยู่ในระดับดี และสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยนโยบายที่ผ่านมามองว่ารัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างถูกทางแล้ว

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คิกออฟระบบวนเกษตรเขตปฏิรูป สร้างต้นแบบปรับกระบวนการผลิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกังวลอย่างมาก โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูดินและเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา โดยส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และระบบวนเกษตรมาใช้ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน

ทั้งนี้ หากพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินกว่า 40 ล้านไร่ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรก็จะมีสุขภาพดีผลผลิตที่ได้ก็เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของทั่วโลกเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สูงสุดกับทุกภาคส่วน ทั้งตัวเกษตรกรเอง ประเทศชาติ และโลกด้วยนโยบายดังกล่าวมีความสอดคล้องกันตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 2 เน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 เน้นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านไร่ภายในปี 2564

นายสุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก. ได้จัดงานการจัดงานรวมพลังขับเคลื่อนระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินประจำปี 2561 เพื่อเป็นการเริ่มต้นขับเคลื่อนงานการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบของวนเกษตร อีกทั้งเป็นต้นแบบการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้ศึกษาทำความเข้าใจ สามารถนำไปขับเคลื่อนงานและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยศึกษาได้จากแบบจำลองโมเดล โคก หนอง นา และจากฐานนิทรรศการองค์ความรู้ด้านวนเกษตรตามภูมินิเวศน์ 4 ภาค และกิจกรรมการบริหารจัดการภาคเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเวทีเสวนาหัวข้อ “แนวทางการขับเคลื่อนวนเกษตรในลักษณะประชารัฐ” โดยมีเกษตรกร ภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจเข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้ความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของระบบวนเกษตร โดยสามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ให้เข้ากับบริบทพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือพื้นที่ของตนเองเพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ และขับเคลื่อนระบบวนเกษตร เพื่อลูกหลาน สู่มั่งคั่งอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กนอ.ลุยตั้งศูนย์ติวเข้ม ปั้นสตาร์ทอัพป้อนรง.

               นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย(กนอ.) กล่าวถึง โครงการจัดตั้งศูนย์ SMEsIndustrial Transformation Center : SME – ITC ของ กนอ.ว่า ปัจจุบันศูนย์ฯได้เปิดให้บริการอย่ างเต็มรูปแบบแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พร้อมขยายโครงการฯ ระยะที่ 1ไปสู่นิคมอุตสาหกรรมอีก 9 พื้นที่  ได้แก่ นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯ ภาคเหนือ นิคมฯ ภาคใต้ นิคมฯ บางปะอิน  นิคมฯ อมตะนคร นิคมฯ มาบตาพุด นิคมฯ บางปู  นิคมฯ สมุทรสาคร และ  นิคมฯ บางชัน ซึ่งจะใช้งบประมาณในการจัดตั้งเ บื้องต้น 20 ล้านบาท โดยจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ช่ วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2561

                 ส่วนแผนขยายโครงการฯระยะที่ 2 จะพัฒนาต่อไปอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ นิคมฯ ราชบุรี นิคมฯ เกตเวย์ นิคมฯ อัญธานี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงสิ้นปีนี้

                 นายวีรพงศ์  กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการบ่มเพาะวิสาหกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพของศูนย์ SME - ITC มีองค์ประกอบที่สำคัญ  คือCo-Working Space ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ,Sand Box สนามทดลองและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมด้วยบริการเครื่องมือทันสมั ย เช่น เครื่องพิมพ์ 3D  เครื่องสแกน 3DExperts Pool ,บริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ฯลฯ

จาก www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงอุตฯ ดันเอสเอ็มอีใช้หุ่นยนต์ ลดผลกระทบขาดแรงงาน-ขึ้นค่าจ้าง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมนี้กระทรวงฯเตรียมเร่งขับเคลื่อนโครงการการยกระดับการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนใช้หุ่นยนต์ และและระบบอัตโนมัติในการผลิตมากขึ้น โดยปี 2561 ตั้งเป้า 300 – 500 ราย เพื่อเพิ่มผลผลิต (โปรดักทิวิตี้) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการดำเนินงานจะร่วมมือกับหลายฝ่าย อาทิ การให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยทั่วประเทศคัดเลือกเอสเอ็มอีในพื้นที่ เข้าโครงการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยกระทรวงฯ จะประสานสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 4% จากดอกเบี้ยปกติ 7% รองรับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (คอร์) ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนโดยเฉพาะ 8 หน่วยงานด้านวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมคอร์จะทำงานประสานกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอซีที) หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของ กสอ. ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“ศูนย์ความเป็นเลิศฯ เป็นร่วมมือกันทั้งรัฐ เอกชน และกำลังเชิญสถาบันจากต่างประเทศทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และล่าสุดรัสเซียที่เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเข้ามาร่วมมือสนับสนุนการใช้ระบบอัตโนมัติให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนนำเอาระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้และยังสามารถเชื่อมโยงในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีภายใต้โครงการสนับสนุนเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีต่างๆ โดยจะทำงานแบบครบวงจรให้มากขึ้น” นายอุตตมกล่าว

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีมีความตื่นตัวที่จะปรับธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายเข้าไปสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่างๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดได้เน้นการหาเครื่องมือในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ โดยความร่วมมือบริษัทต่างๆ ที่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนาดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากเอสเอ็มอีมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ในปริมาณต่ำทำให้บริษัทส่วนใหญ่จะไม่รับทำ ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561

ไร้กฎคุม 'เงินดิจิตอล'!! 100 บริษัท จ่อขาย ICO

TDAX ชี้! กว่า 100 โปรเจ็กต์จ่อระดมทุน ICO ถ้ากฎเกณฑ์กำกับดูแลยังไม่ชัดเจนภายในเดือน มี.ค. นี้ ระบุ หน่วยงานรัฐออกมาเตือนคนเห่อเล่น ‘เงินดิจิตอล’ หวังชะลอความร้อนแรง

กระแสความคึกคักของการระดมเงินด้วยการออกขาย ‘เหรียญโทเคน’ (Initial Coin Offering หรือ ICO) และการตื่นตัวของนักลงทุนต่อการซื้อขายเงินสกุลดิจิตอล (Cryptocurrency) อาทิ บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้ ทำให้หน่วยงานภาครัฐต่างออกมาประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดกระแสไล่เลียงตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เตรียมออกกฎระเบียบสำหรับบริษัทที่ต้องการระดมทุน ICO ผู้จัดจำหน่าย ICO จะต้องขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. หรือการออกมากล่าวถึงมาตรการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการซื้อขายเงินสกุลดิจิตอลจากกระทรวงการคลัง

นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ TDAX.com ผู้ให้บริการเว็บไซต์ซื้อขายสกุลเงินดิจิตอลและ ICO กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีหน่วยงานภาครัฐออกมาตรการต่าง ๆ มาในช่วงนี้ เพราะต้องการชะลอความร้อนแรงของเงินสกุลดิจิตอล ซึ่งหากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลยังไม่มีความชัดเจนภายในเดือน มี.ค. นี้ เชื่อว่า จะมีผู้ระดมเงิน โดยขาย ICO ออกมาเป็น 100 บริษัท

ตอนนี้ทุกบริษัทกำลังรอดูความชัดเจนของกฎระเบียบอยู่ หากยังไม่มีความชัดเจน เชื่อว่า บริษัทต่าง ๆ จะทยอยเปิดตัวออกมาอีกมาก ในส่วนของ TDAX.com หาก ก.ล.ต. ให้จดทะเบียนและเพิ่มทุน ก็พร้อมดำเนินการ โดยขณะนี้เตรียมการไว้แล้ว รอความชัดเจนกฎระเบียบที่ออกมา

“เห็นด้วยกับการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกกฎระเบียบออกมากำกับดูแลบริษัทที่ต้องการระดมทุน ICO และผู้ให้บริการจำหน่าย ICO อย่างไรก็ตาม หากมาตรการคุมเข้มมากไป ท้ายสุดบริษัทจะออกไประดมทุน ICO ในต่างประเทศ” นายปรมินทร์ กล่าว

นายปรมินทร์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีจากผู้มีรายได้จากการซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล ซึ่งนับเป็นเงินได้ส่วนบุคคล ในส่วนของบริษัทก็ชำระภาษีรายได้ตามปกติ และพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง หากต้องการตรวจสอบหลักฐานทางการเงินต่าง ๆ กรณีที่มีความสงสัย

กรณี ‘ธนาคารกรุงเทพ’ สั่งระงับบัญชี TDAX.com ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซี นายปรมินทร์ กล่าวว่า บริษัทได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุการประกอบกิจการเพื่อซื้อขายเงินสกุลดิจิตอล โดยทางกระทรวงพาณิชย์ก็ได้เพิ่มเติมไว้ในวงเล็บให้ว่า “เมื่อได้รับใบอนุญาตหรือได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ทำให้ทางธนาคารกรุงเทพแจ้งขอดูใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งบริษัทก็ชี้แจงไปว่า ยังไม่มีหน่วยงานออกใบอนุญาต ทางธนาคารก็ขอปิดบัญชีดังกล่าวไป และถอนเงินจำนวน 88 ล้านบาท โอนไปฝากธนาคารอื่นแทน โดยบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย และกสิกรไทย ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ

ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังไม่ได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการซื้อขาย ICO เนื่องจากกรมสรรพากรให้ความเห็นว่า ยังไม่มีการตีความจาก ก.ล.ต. ว่า การระดมทุนด้วย ICO เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใด จึงยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ ก.ล.ต.

ด้าน นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ซื้อขายหุ้น ไม่ต้องเสีย VAT ภาษีที่ต้องเสียมีอย่างเดียว คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งได้รับการยกเว้นเช่นกัน ส่วนการจัดเก็บภาษี VAT จากการซื้อขาย ICO หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561

‘รัสเซีย’จ่อลงEEC ผุดศูนย์ซ่อมอากาศยาน/ปิโตรเคมี

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีนักลงทุนมีความสนใจในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)เป็นจำนวนมาก ล่าสุดนักลงทุนจากรัสเซีย 50 คน ที่เดินทางมาก็สนใจที่จะลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ระบบการจัดการความปลอดภัยในสนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันที่จะหาความร่วมมือซึ่งจะรวมถึงโอกาสที่ไทยจะไปลงทุนยังรัสเซียด้วยโดยจะมีความชัดเจน ใน 1 เดือน

นอกจากนี้ทางรัสเซียได้แจ้งว่าจะมีนักลงทุนจากรัสเซียกลุ่มใหญ่เดินทางมาไทยอีกครั้ง และเชิญชวนให้ไทยเดินทางไปยังรัสเซียที่ขณะนี้กำลังพิจารณาซึ่งอาจจะไปในช่วงพฤษภาคม 2561

นายอุตตมกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ ไบโอ อีโคโนมี จะมีการประชุมสัปดาห์หน้าอีก 1 ครั้ง ก่อนจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดว่าจะเป็นช่วงการประชุม ครม.สัญจรวันที่ 5-6 มีนาคมนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนมากขึ้นที่จะต่อยอดจากพืชเกษตร

ส่วนร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. .... ฉบับที่คณะทำงานของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)จัดทำซึ่งผ่านการประชาพิจารณ์ไปแล้วนั้นจะมีการเสนอเข้าสู่ครม.และสนช.พิจารณาได้ในช่วงต้นเมษายนนี้

รมว.อุตสาหกรรมกล่าวอีกว่า ในส่วนนักลงทุนจีน ล่าสุด นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา(Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนได้แต่งตั้งหัวหน้าทีมใหม่ในการเจรจาการจัดทำยุทธศาสตร์การลงทุนใน อีอีซี โดยหัวหน้าทีมใหม่จะเดินทางมาไทยในต้นเดือนมีนาคม 2561 เพื่อหารือการลงทุนเพิ่มเติมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่

“อาลีบาบาได้แต่งตั้ง นางสาวแองเจิ้ล เป็นหัวหน้าทีมใหม่ก็จะมาคุยโดยตรงกับสำนักงานอีอีซีเพื่อลงดูยุทธศาสตร์ร่วมกันซึ่งจะครอบคลุมการลงทุนที่มากขึ้นและลงลึกรายละเอียดจัดโครงการให้ชัดเจนว่าจะเริ่มจากโครงการใดบ้าง โดยมีความร่วมมือไม่น้อยกว่า 6-8 ด้าน และในยุทธศาสตร์นี้จะรวมถึงโครงการที่ลาซาด้า(Lazada)ที่ได้ประกาศลงทุนในอีอีซีไว้ก่อนหน้านี้แล้วแต่จะเป็นการขยายขอบเขตที่ไม่ใช่เพียงในอีอีซีเท่านั้นซึ่งเราก็ต้องเจรจาให้ชัดเจนว่าจะร่วมมือในแง่ไหนบ้าง”นายอุตตม กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ในความร่วมมือครั้งนี้ ทางไทยได้เสนอให้ลงระดับชุมชนด้วยกัน อาทิ การพัฒนาในเรื่องทักษะการใช้อีคอมเมิร์ซยุคใหม่ให้เป็น และลงไปถึงดีไซน์ที่จะทำให้คนเข้ามาช็อปตลาดออนไลน์มากขึ้น และด้านที่ 2 ที่จะตามมา คือ โลจิสติกส์ของอีคอมเมิร์ซซึ่งเข้าใจว่าโครงการลาซาด้าเดิมจะอยู่ในส่วนนี้ ด้านที่ 3 มองในเรื่องของการสนับสนุนสินค้าเกษตรไทย โดยการแปรรูปสินค้าไปสู่ตลาดการค้าออนไลน์

ด้านที่ 4 ความร่วมมือในการท่องเที่ยวเช่น ระบบการจองตั๋วต่างๆ ก็จะมาพิจารณาว่าจะช่วยกันพัฒนาในไทยซึ่งไทยเองต้องการให้เข้าถึงชุมชน และด้านที่ 5 ในเรื่องการร่วมพัฒนาระบบขนส่งในไทยที่ลาซาด้าจะร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ด้านที่ 6 การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพในเมืองไทยซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นการบ่มเพาะที่อาลีบาบามีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

จาก www.naewna.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ยักษ์ใหญ่ "น้ำ" และ "สื่อสาร" จับมือพัฒนาระบบน้ำครบวงจร

            บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ East Water ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร  ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เพื่อวางแผนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำแบบครบวงจรภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรือ Digital Park Thailand  ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด

          ความร่วมมือกันในครั้งนี้  ถือเป็นการขับเคลื่อนและสร้างความพร้อมในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน  สาธารณูปโภคด้านน้ำภายใน Digital Park Thailand  พื้นที่ขนาด 709 ไร่ ในอำเภอศรีราชา        จ.ชลบุรี  ให้รองรับความต้องการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอและยั่งยืน  โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสท์เทิร์น ซีบอร์ด  มากว่า 25 ปี ของ East Water โดยที่ East Water จะสนับสนุนข้อมูลและแนวทางในการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำดิบ  การให้คำแนะนำในการวางระบบน้ำอุตสาหกรรม  ระบบบำบัดน้ำเสีย  และน้ำรีไซเคิล  ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด  ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์  และถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพในการลงทุน

          นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่  East Water เปิดเผยว่า  "ปีนี้ East Waterเตรียมประกาศรุกธุรกิจน้ำครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ  พร้อมก้าวสู่การเป็น  Smart Water 4.0  เพื่อขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล  และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมตามนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ด้วยความพร้อมของโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบและศักยภาพของเรา  มั่นใจได้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในอนาคตได้อย่างครบวงจร  พร้อมให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ   รวดเร็ว  และมีประสิทธิภาพคุ้มค่าสูงสุด  เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน" 

          พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT กล่าวว่า  "เรามองว่า East Water มีศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC  ในขณะที่ CAT เอง มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ Digital Park Thailand ให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิตอลที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้แนวคิด Smart City  อันจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต   ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญ  โครงการจึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับการจัดหาน้ำในระยะยาวให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนาในอนาคต

          สำหรับความร่วมมือกันระหว่าง East Water กับ CAT  นั้นจะแบ่งการดำเนินงานเป็นระยะๆ โดยระยะแรกจะเป็นการวางแผนและออกแบบแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ   หลังจากนั้นจึงจะพิจารณารูปแบบในการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนร่วมกันต่อไปในโครงการ Smart Water 4.0" 

          ด้านคุณจิรายุทธ กล่าวเสริมว่า  "East Water ได้วางรากฐานการสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาวกว่า 500 กม. ครอบคลุมแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ EEC ไว้ทั้งหมด  ซึ่งแนวท่อหลักของเราอยู่ห่างจากพื้นที่โครงการDigital Park Thailand เพียง 400 เมตร  สามารถเชื่อมโยงระบบท่อส่งน้ำดิบได้ทันที"

          สำหรับการจัดตั้ง Digital Park Thailandภายใต้แนวคิด Smart City ของ CAT  นั้น  East Water ก็ส่งสัญญาณตอบรับแนวคิดดังกล่าว  โดยจะร่วมวางแผนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ชูความเป็น Smart Water 4.0  เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ  สามารถตรวจสอบข้อมูลการใช้น้ำ  คุณภาพ  แรงดัน  และการรั่วซึมในระบบได้แบบ Real-Time ผ่านระบบโครงข่าย IoT ของ CAT โดยทั้งหมดนี้สามารถดำเนินการได้ผ่าน Application  หรือเว็บเพจ  เพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำ  ลดปริมาณน้ำสูญเสียและต้นทุนในการดูแลระบบรวมถึงระบบการชำระค่าน้ำ  พร้อมการแจ้งเตือนอัตโนมัติหากมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นในระบบ  ด้วยการควบคุมทั้งระบบจาก Control Center เพียงจุดเดียว  ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำภายใน Digital Park Thailand  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น  พร้อมก้าวสู่การเป็น Smart City ที่สำคัญของประเทศ

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บาทเปิด 31.49 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่า

เงินบาทเปิดตลาด 31.49 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่า ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ คาดกรอบวันนี้ 31.38-31.55

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเช้านี้เปิดตลาดที่ระดับ 31.49 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.60 บาท/ดอลลาร์ ล่าสุดแข็งค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 31.42 บาท/ดอลลาร์ ช่วงนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าหลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐเริ่มเข้าสู่โหมด collection ประกอบกับตลาดยังไม่ค่อยมีปัจจัยอะไมากนัก จึงเป็นช่วงการพักตัวของดอลลาร์

"2 วันที่ผ่านมา บาทเริ่มยืนเหนือ 31.50 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะเริ่มปรับขึ้น ตอนนี้ต้องรอดูว่าบาทจะ hold อยู่ในระดับนี้ได้หรือไม่ถ้าดีดขึ้นไม่ได้ บาทก็ยังมีโอกาสจะเป็นขาลง" นักบริหารเงินระบุนักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.38-31.55 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ประธานหอฯต่างชาติ ขานรับกฎหมายอีอีซี

เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....หรือกฎหมายอีอีซี ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 พร้อมประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ความกระจ่างชัดที่นักลงทุนต่างชาติรอคอยมานานก็มีเพิ่มมากขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นายสแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิดใจว่า เรื่องนี้นับเป็นข่าวดีและน่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญอีกขั้นหนึ่งของอีอีซี

++ยิ่งชัดเจนก็ยิ่งมั่นใจ

โดยส่วนตัวยอมรับว่า มีรายละเอียดจำนวนมากของกฎหมายอีอีซี ที่ต้องศึกษาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น อีอีซีเป็นพื้นที่พิเศษที่ครอบคลุม 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี) แต่พื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก็ใช่ว่าจะครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด หากแต่มีพื้นที่เฉพาะที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นพิเศษด้านการลงทุน นอกจากนี้ ยังต้องอิงกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะได้รับการส่งเสริม ไม่ใช่ว่าเป็นโรงงานอะไรมาก็จะได้ทั้งนั้นรายละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องศึกษาให้ดีเพื่อจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากโครงการนี้

โครงการอีอีซี คือ การยกระดับการลงทุนและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เริ่มจากอุตสาหกรรมใหม่ 10 ประเภทที่เชื่อว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทย ผมคิดว่าความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความร่วมมือกัน ผลักดันอุตสาหกรรม 10 ประเภทนี้ให้เติบโตและเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิทธิพิเศษต่างๆนั้นดีแล้ว ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติและรายละเอียด เรื่องของผังเมืองและอื่นๆเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจ เราก็ต้องค่อยๆมาดูกัน ยกตัวอย่างนโยบาย International Head Quarter (IHQ) และ International Trading Quarter (ITQ) ที่ไทยอยากเชิญชวนให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานตัวแทนค้าในไทย ให้ไทยเป็นเซอร์วิส เซ็นเตอร์ เหมือนอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีข้อรายละเอียดที่ต้องพิจารณา

สแตนลีย์ คังประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) และผู้จัดการอาวุโสบริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด

ผมเชื่อว่าขวบปีนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าเต็มที่ที่จะนำแผนงานและนโยบายต่างๆ มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่ามีหลายโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเดินหน้าอย่างเต็ม ที่ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน ท่าเรือ และอื่นๆ โครงการเหล่านี้จะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติเข้ามา ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ที่มีอยู่แล้วก็จะต่อ ยอดยกระดับขึ้นไป “อีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นโครงการความสำเร็จในอดีต ที่ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมที่สำคัญในภูมิภาค เป็นดีทรอยต์ของเอเชียเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อยุคสมัยนั้นผ่านไปมาถึงเวลานี้ เรามีอีอีซีเป็นวิสัยทัศน์ของประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นความคิดฝันที่มาลอยๆ แต่มีพื้นฐานต่อยอดมาจากคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ไทยมีอยู่เดิม และกำลังจะก้าวสู่อีกระดับที่มีเทคโนโลยี มีนวัตกรรมดิจิตอลเข้ามาช่วย เช่นก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)เข้ามาเพิ่มมูลค่าซึ่งสอดคล้องกับกระแสแนวโน้มหลักๆ ของโลก”

++ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยง

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตแล้วก็ส่งออก ไทยตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดในเออีซี (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) แต่มาถึงยุคนี้เราต้องคิดถึงการเชื่อมโยง เช่นเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจของไทยกับนโยบายเส้นทางสายไหมของจีน (Belt and Road Initiative) เชื่อมโยงการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ จากภาคใต้และตะวันตกของจีนมาสู่ไทยและอาเซียน แล้วเชื่อมไปออกมหาสมุทรอินเดีย (ผ่านทางเมียนมา) และมหาสมุทรแปซิฟิก ให้เร็วที่สุด จะเห็นได้ว่าไทยอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดตามสภาพทางภูมิศาสตร์ ไทยต้องเร่งสร้างการเชื่อมโยง (connectivity) ให้ไว ทำอย่างไรจะเชื่อมให้อีก 4 ประเทศใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)เติบโตไปด้วยกันกับT(ไทย) เหมือนอย่างประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่เขาก็จับมือเติบโตไปด้วยกัน ไทยต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่า เราไม่ได้เป็นเพียงฐานการผลิตอีกแล้ว แต่เราต้องเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมบริการ และศูนย์กลางการค้าขาย-การขนส่ง เป็น Trading Nation เหมือนอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ เรื่องนี้สำคัญมากและเราต้องวางระบบ วางพื้นฐานให้ถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มันรวมอยู่ในอีอีซี

++3 ข้อฝากให้เร่งแก้ไข

สิ่งที่ผมเห็นว่าน่าจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็วเพื่อเอื้อให้อีอีซีและเศรษฐกิจไทยก้าวรุดหน้าได้เร็วขึ้นมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ1)การปฏิรูปกฎหมายที่ยังล้าหลัง หรือเป็นตัวถ่วง ทำให้เกิดความล่าช้าหรือยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจการค้า-การลงทุน ยิ่งไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เข้ามาประชุมสัมมนา หรือเข้ามาทำธุรกิจมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งควรจะทำให้กฎระเบียบต่างๆ มันเอื้อต่อการรองรับพวกเขาเข้ามา ไม่ใช่ว่าเข้ามาทำธุรกิจแล้วยังต้องเจอกับกระบวนการที่ต้องใช้เอกสารจำนวนมากๆ หรือต้องผ่านหลายขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ง่ายกว่านี้ สะดวกกว่านี้ได้ เรากำลังมี e-Government แล้ว พวกเอกสารขั้นตอนต่างๆ ก็ควรจะลดลง

2) เรื่องของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ ปัญหาขาดแคลนนั้นพูดกันมายาวนานแล้ว ต้องยอมรับว่าไทยผลิตบุคลากรเหล่านี้ป้อนตลาดแรงงานไม่ทัน ทุกวันนี้ก็ยังขาดแคลนอยู่ และถ้าคนในประเทศไทยเองไม่เพียงพอที่จะป้อนความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้นมา เราก็ควรจะต้องมีกฎระเบียบที่เอื้อให้คนต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานเหล่านี้ในประเทศไทยได้สะดวกขึ้นด้วย เพราะเราต้องการบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเข้ามาสู่พื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ ยังควรต้องดึงคนหนุ่มสาวจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในภูมิภาคเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาของไทย ให้ไทยเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรที่มีการศึกษา-มีความสามารถป้อนให้กับโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค แต่เราต้องเร่งมือให้ไวกว่านี้ โดยควรจะเน้นสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเทคโนโลยี 4 ด้านที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยใช้หุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ การประมวลและบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data หรือ Data Technology) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ Sharing Economy

และ 3) ที่จะขาดไม่ได้ คือการสร้างความโปร่งใสและแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน เป็นสิ่งที่ยังต้องทำเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะติดอันดับประเทศที่มีปัจจัยเอื้อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ง่าย (Ease of Doing Business) โดยไทยสามารถทำอันดับได้ดีขึ้น สะท้อนถึงมีการแก้ไข สร้างบรรยากาศและปัจจัยที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ แต่ไทยก็ยังสามารถทำได้ดีกว่านั้น และการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลและทุจริตประพฤติมิชอบก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นต้นทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจด้วย หากแก้ไขได้ดี ก็จะสร้างความมั่นใจและเชื่อใจได้ว่า เมื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็จะสามารถแข่งขันได้อย่างเสมอภาคและยุติธรรม ไม่มีใครได้เปรียบใครเพราะการทุจริตคอร์รัปชัน นี่เป็นเรื่องหลักๆที่ผมอยากจะฝากไว้เพื่อการพิจารณาแก้ไขเพื่ออนาคตของประเทศไทย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลุ้นจีดีพีปี’61 โต 4.6% ส่งออกเป็น “พระเอก” ดันเศรษฐกิจไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2560 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 เติบโต 4.0% ส่งผลให้ GDP ทั้งปีเป็นตามคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไตรมาส 4/2560 มาจากการบริโภคเอกชนขยายตัว 3.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.4% การส่งออกไตรมาส 4 เติบโตถึง 11.6% ส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 9.7% จากปีก่อนที่ขยายตัว 0.1% และรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งปี 2560 มูลค่า 2,754 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 39.38 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8.8%

ลุ้นเศรษฐกิจไทยโตกว่าเกิน 4.6%

สศช.ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 น่าจะเติบโตในกรอบ 3.6-4.6% หรือเฉลี่ย 4.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตในภาคการลงทุนภาครัฐจะอยู่ที่ 10.0% จากปีก่อนที่ติดลบ 1.2% โดยมาจากการลงทุนตามกรอบงบประมาณประจำปี และการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจ ความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน Action Plan และ EEC ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดจะขยายตัว 3.7% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 1.7% และจากเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางขยายตัวได้ดี ยังทำให้ไทยได้รับอานิสงส์การส่งออกจะเติบโต 6.8%

นอกจากนี้ ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการเร่งลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออกที่ดีจะหนุนให้เกิดการเร่งนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้มีทิศทางขาดดุลลดลง

ส่วนค่าเงินบาทแม้จะแข็งค่าในช่วงต้นปี แต่เชื่อว่าระยะถัดไปจะมีแนวโน้ม “อ่อนค่าลงได้บ้าง” จากการที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย และไทยมีการเร่งนำเข้า สภาพัฒน์ประมาณการค่าเงินปีนี้อยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“สมคิด” ขีดเป้าส่งออกปี’61 โต 8%

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ด้วยการวางเป้าหมายการส่งออกในปี 2561 ขยายตัว 8% มูลค่า 255,630 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทุกตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น (ตารางประกอบ) พร้อมเน้นย้ำให้ “ทูตพาณิชย์” ปรับบทบาทใหม่ให้เป็นพ่อค้ามากขึ้น ดึงการลงทุน ขยายตลาดส่งออก บูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้น้ำหนักและความสำคัญในการส่งออก “ภาคบริการ” พร้อมส่งเสริม SMEs ให้เป็น “นักรบใหม่” หรือ “นักธุรกิจใหม่” โดยผู้ส่งออกรายใหญ่จะเป็นพี่เลี้ยงพา SMEs ไปทำตลาด โฟกัสไปที่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ฮ่องกง-ไต้หวัน-จีน-เกาหลีใต้

ทูตพาณิชย์ทั่วโลกประเมินส่งออก

นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีเป้าหมายขยายตัว 6.5% โดยจะส่งเสริมการส่งออกสินค้านวัตกรรมให้มากขึ้น ทั้งซอฟต์แวร์-แอปพลิเคชั่น-เกม-แอนิเมชั่น โดยเฉพาะในตลาด CLMV การบุกตลาดเมืองรองและเชื่อมโยงโครงการ EEC และ OBOR ขณะที่ นายวิทยากร มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ประเทศจีน ระบุว่า เป้าหมายการส่งออกตลาดจีน ขยายตัว 10% โดยขณะนี้จีนมีนโยบายภายในที่ต้องการสร้างความเจริญไปสู่ชนบทให้มากขึ้น และจะมีการเพิ่มการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี FTA ในต่างประเทศมากขึ้น ไทยต้องเดินหน้าสร้างการร่วมทุนจีน-ฮ่องกง-ไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า

นางสาวสุวิมล ดิลกเรืองชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกอินเดีย จะขยายตัว 8% ขณะนี้ให้ความสนใจตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่ยังมีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่เป็นโอกาสที่ไทยน่าจะเข้าไปได้ ส่วนนางสาวณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกญี่ปุ่นขยายตัว 8% ไต้หวันขยายตัว 7% เกาหลีใต้ขยายตัว 12% และทวีปออสเตรเลียขยายตัว 8% โดยจะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือจับคู่ธุรกิจการค้า การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมสินค้าไทยออกสู่ตลาดให้มากขึ้น

นางสาวสุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ตลาดสหภาพยุโรปมีเป้าหมายขยายตัว 5% ภายหลังจากสหภาพยุโรปฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เป็นโอกาสที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้า การส่งออก ขณะที่ตลาดรัสเซียมีโอกาสจะขยายตัวได้ถึง 30% นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการส่งออกไปอเมริกาเหนือน่าจะขยายตัว 7% ละตินอเมริกาขยายตัว 3% เศรษฐกิจมีการเติบโต บวกกับขณะนี้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวดีขึ้น ที่สำคัญผลดีจากการจัดสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยได้ปรับดีขึ้น

เอกชนมองส่งออกได้แค่ 6%

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมองว่า ตัวเลขส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวเพียง 6% หรือ “ต่ำกว่า” เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ เนื่องจากคู่แข่งส่งออกที่สำคัญอย่าง “เวียดนาม” ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกับไทยได้มากขึ้น เช่น กุ้ง ขณะที่ค่าเงินบาทก็เป็นปัจจัยที่ยังกังวลต่อเนื่องอยู่ สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกมาจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของตลาดส่งออกที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ไทย-ญี่ปุ่นจับมือผุดรง.ผลิต“น้ำตาลเซลลูโลส”จากกากอ้อยแห่งแรกของโลก

นายธนัชชัย สามเสน ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี และที่ปรึกษา บ.น้ำตาลกุมภวาปี จก. เปิดเผยว่า ได้นำ นายทัสซุยา มาซูโน (Tatsuya Matsuno) และนายชยเดช รุ่งศิรธนะ ผู้จัดการ และรองผู้จัดการทั่วไป บริษัทเซลลูโลสิค ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด เข้าพบนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อแนะนำการลงทุนโรงงานสาธิตการผลิตน้ำตาลเซลลูโลส (Cellulosic Sugar Production Demonstration Plant) บริเวณโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เงินลงทุน 1,600 ล้านบาท

“ เทคโนโลยีการนำกากอ้อย หรือวัสดุเหลือจากการเกษตร มาผลิตเป็นน้ำตาลเซลลูโลส เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตได้จริง ในประเทศญี่ปุ่นแต่เป็นเซลขนาดเล็ก มีกำลังผลิตไม่สูงมากนัก โรงงานผลิตน้ำตาลเซลลูโลสแห่งนี้ จึงเป็นโรงงานแห่งแรกของโลก จะมีกำลังผลิตเริ่มต้นที่กากอ้อย 15 ตันต่อวัน ถือเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว และใช้พลังงานต่ำ และวัสดุที่เหลือยังใช้ผลิตพลังงานได้ ขณะนี้มีการก่อสร้างคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้สินเดือนมีนาคมนี้ ”นายธนัชชัยกล่าว

นายธนัชชัย กล่าวว่า โรงงานฯได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนเงินทุนบางส่วนจาก New Energy and Industrial Technology Development Organization (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น และการประสานงานจาก สนง.นวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงของบริษัทโทเรย์ (Toray) ที่นอกจากจะได้น้ำตาลเซลลูโลส ที่ราคาสูงกว่าน้ำตาลทั่วไป มีตลาดรองรับคือเครื่องดื่ม ยังจะได้ผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ อาหาร-อาหารเสริมของสัตว์ ที่เดิมต้องสังเคราะห์ขึ้น แต่ครั้งนี้ได้จากกากอ้อย

“การที่ญี่ปุ่นเลือก รง.น้ำตาลกุมภวาปี จ.อุดรธานี เพราะเป็นโรงงานในเครือ ของกลุ่มธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง มีวัตถุดิบอยู่จำนวนมาก นับเป็นบรรยากาศดีด้านการลงทุน ของต่างชาติที่มั่นใจเลือกอุดรธานี ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีใหม่วัตถุดิบจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่านำไปผลิตไฟฟ้า”นายธนัชชัยกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561

ส่งออกม.ค.โต17.56%สูงสุดในรอบ62เดือน

กระทรวงพาณิชย์เผยสินค้าเกษตรดี, เศรษฐกิจโลกฟื้นดันส่งออกม.ค.โต17.56%สูงสุดในรอบ 62 เดือน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการส่งออกของประเทศในช่วงเดือนมกราคม 2561 พบว่า ส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.56 คิดเป็นมูลค่า 20,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 24.26 คิดเป็นมูลค่า 20,220 ล้านเหรียญ ส่งผลทำให้ดุลการค้าของประเทศ ขาดดุล 119 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นการขาดดุลจากการนำเข้าสินค้าทุนมาผลิตเพื่อการส่งออก

โดยการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.56 เป็นการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือ สูงสุดในรอบ 5 ปี 2 เดือน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวสูง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง

และสำหรับแนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 1 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก โดยกระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ร้อยละ8ในปีนี้ โดยการส่งออกเฉลี่ยในแต่ละเดือนจะต้องอยู่ที่ 21,420 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561

‘สมคิด’ ย้ำรัฐบาลเร่งเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ Thailand’s development landscape forward ในงาน Digital Intelligent Nation 2018 ที่จัดโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ณ จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล โดยเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดไปสู่ดิจิตอล เพราะปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มเก่า และไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถทะยานไปได้มากกว่านี้ ซึ่งปีนี้จากตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของสภาพัฒน์ที่ 4.1% เชื่อว่าถ้าทำได้ตามแผน รัฐบาลลงทุนโครงการใหญ่ได้ตามเป้า และการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ตัวเลขจีดีพีทั้งปีนี้เชื่อว่าสูงกว่า 4.1% แน่นอน

“เศรษฐกิจทรุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ตัวเลขยังไม่สามารถทะยานไปมากกว่านี้ จากปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าที่ยังมีอยู่ ด้วยโครงสร้างการผลิต การค้าขายที่ยังล้าสมัย ในขณะที่ช่วง 5-6 ปีโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และการผลิตทั่วโลกไปสู่ดิจิตอลแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยตื่นสาย เราเพิ่งตื่นได้ 3 ปีที่ผ่านมา และตอนนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการให้ดิจิตอลไปสู่ทุกคนในประเทศนี้ให้ได้ จากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน หรือเน็ตประชารัฐ เพิ่งเกิดเมื่อ 2 ปี เพื่อให้อินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกพื้นที่ พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ มาเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ดิจิตอล ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต สร้างนวัตกรรม และสามารถค้าขายได้ทั่วโลก จะทำให้เติบโตเป็นทวีคูณ”

ใน 3 ปีนี้เป็นเวลาสำคัญ และรัฐบาลกำลังดำเนินการ ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งเอกชนที่ตื่นตัวมาโดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และทุกคนในประเทศ เพื่อให้ได้ดิจิตอลสำหรับทุกคน หรือ ดิจิตอลฟอร์ออล โดยไทยต้องเปลี่ยนผ่านไปให้ได้ และต้องก้าวไปข้างหน้าให้ได้

ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชน การยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการ เอไอเอส กล่าวว่า ศักยภาพด้านนวัตกรรม (อินโนเวชั่น) เป็นสิ่งที่อ่อนด้อยที่สุดของประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่เป้าหมายการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2544 อยู่ที่ 0.2% ของจีดีพี และคงที่อยู่แบบนี้มาหลายปี แต่เริ่มขยับในปี 2559 อยู่ที่ 0.78 ของจีดีพี รวมเป็นมูลค่าทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1 ของจีดีพีเป็นครั้งแรก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1.5% ของจีดีพี ส่วนจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาในปี 2557 อยู่ที่ 12.9 คนต่อหมื่นประชากร และมีแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาจนในปี 2559 คือ 17 คนต่อหมื่นประชากร โดยมีเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีบุคลากรด้านนี้อยู่ที่ 25 คนต่อหมื่นประชากร ซึ่งถือว่าไม่เลว และคาดการณ์ในปีนี้ไทยติดอันดับ 44 ที่มีการสำรวจดัชนีด้านอินโนเวชั่นทั่วโลก

“การวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีความหวัง จากการผลักดันนโยบายที่ทำให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีข้อกังวลเรื่องความต่อเนื่อง และในส่วนเอไอเอส ช่วงที่เข้ามาเป็นกรรมการเอไอเอสกว่า 2 ปีครึ่ง ได้มีโอกาสศึกษาด้านนวัตกรรมอย่างจริงจัง กับมหาวิทยาลัย และอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ของบริษัทรายใหญ่หลายๆ แห่ง อย่าง หัวเว่ย บริษัทเดียวลงทุนด้านวิจัยพัฒนาถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2559 ปี 2560 อยู่ที่ 10-11 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดถึงความสำคัญของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ถ้าประเทศไทยเฉพาะภาครัฐลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาถึงแสนล้านบาทจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนแน่นอน เพราะเอกชนก็มีการลงทุนอยู่แล้ว ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันจะเห็นผลแน่นอน”

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561

กลั้นใจบาทแข็งที่สุดในรอบ 5 ปี

นายกอบสิทธิ์ ศิลป์ชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.นี้ ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปีที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่เงินบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลในระดับสูง มาจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีนมาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง

 “ค่าเงินบาทในปีนี้ผันผวนสูงมาก ในเดือน มี.ค.ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งสุดในรอบ 5 ปี แต่พอหลังสงกรานต์เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง เนื่องจากจะมีการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 68,000-70,000 ล้านบาท เงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลออก ประกอบกับหมดฤดูกาลท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยลง และเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยคาดว่าจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายปี”

สำหรับมาตรการดูแลเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น มีข้อจำกัดการเข้าแทรกแซงค่าเงินบาท จะสุ่มเสี่ยงต่อการที่สหรัฐฯอาจใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทย เพราะขณะนี้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุล บัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ของจีดีพี หากแทรกแซงค่าเงินเกิน 2% อาจสุ่มเสี่ยงเข้าเงื่อนไขกีดกันทางการค้าไทย แม้ไทยอาจไม่ใช่เป้าหมายเหมือนจีนกับเม็กซิโก

ในส่วนของทิศทางอัตราดอกเบี้ย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ตลอดปี หลังเศรษฐกิจภาคเกษตรของไทยยังเปราะบาง ขาดนโยบายรัฐกระตุ้น ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโต 4% รอการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้บริหาร “น้ำตาลขอนแก่น”เก็บหุ้นหลังราคาดิ่ง

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ผู้บริหาร บริษัท  น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL รายงานซื้อหุ้นหลายรายการโดยจำรูญ  ชินธรรมมิตร์  ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ซื้อหุ้นจำนวน 1.9 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.93 บาท มูลค่ารายการรวม 7.46 ล้านบาท และดวงดาว ชินธรรมมิตร์ กรรมการซื้อหุ้น จำนวน 2 แสนหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 3.91 บาท มูลค่ารายการรวม 7.8 แสนบาท

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในรอบเดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลง โดยเดือน ม.ค.ราคาปรับตัวลดลง 3.80% จากราคา 4.70 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 4.38 บาทโดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 4.76 บาท ต่ำสุดที่ 4.36 บาท ขณะที่เดือนก.พ. ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 7.37% จากราคา 4.34 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 4.02 บาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 4.40 บาท ต่ำสุดที่ 3.86 บาท

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 จากปรากฎการณ์ลานีญ่าจะทำให้ผลผลิตอ้อยทั้งหมดของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 110 ล้านตัน ในปี 2560/2561 หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 93 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มออกมามากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้คาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลของประเทศไทยในปี 2560/2561 ที่ 12 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยฝ่ายวิจัยคาดปริมาณผลผลิตอ้อยของบริษัทในปี 2561 จะอยู่ที่ 8.5-9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 25-32% จากระดับ 6.83 ล้านตัน ในปี 2560 และปรับสมมุติฐานปริมาณยอดขายน้ำตาลของบริษัทในปี 2561 เพิ่มขึ้นอีก 10% มาอยู่ที่ 8.6 แสนตัน และปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 เพิ่มขึ้นอีก 8% มาอยู่ที่ 998 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงถูกกดดันจากประมาณการน้ำตาลเกินดุลจำนวนมากในปี 2560/2561 โดยผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทยที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย ปากีสถานรวมทั้งอียู ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในช่วงม.ค.-ก.พ. 2561

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กลางปี 2561 ตลาดจะมองข้ามภาวะน้ำตาลเกินดุลจำนวนมากของปี 2560/2561 และหันไปดูตัวเลขดุลน้ำตาลในปี 2561/2562 แทน

ซึ่งคาดว่าภาวะน้ำตาลเกินดุลในปี 2561/2562 มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2560/2561 ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวกลับขึ้นไปอยู่ที่ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ได้อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จากที่ลดลงไปต่ำสุดในช่วง 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561

บทบาทของภาคบริการ กับการพัฒนาประเทศยุคThailand 4.0

เศรษฐกิจไทยมีพัฒนา การอย่างต่อเนื่องจากยุคที่เน้นภาคการ เกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม เมื่อมองไปใน อนาคต การพัฒนาประเทศในบริบทของโลกยุคดิจิตอลและความคาดหวังถึงการเติบโตแบบองค์รวม (Inclusive Growth) นำมาสู่แนวทางการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า Thailand 4.0 แบบจำลองการพัฒนาดังกล่าว เน้นการสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-based Economy) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ จากแนวทางดังกล่าวนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ภาคเศรษฐกิจใดจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

จากการศึกษาของหน่วยงานระหว่างประเทศหลายแห่งพบว่า ภาคบริการเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศรายได้ระดับปานกลาง ภาคบริการมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตของทั้งระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากบริการหลายส่วน อาทิเช่น บริการด้านโทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และการเงิน เป็นปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่จำเป็นของทุกการผลิตในระบบเศรษฐกิจ พัฒนาการของ Modern IT ทำให้สามารถส่งออกบริการได้ และภาคบริการที่สนับสนุนการทำธุรกิจ (Business Services) ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของหลายประเทศ

ในกรณีของประเทศไทย ภาคบริการมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น โดยมีมูลค่าสูงถึง 55% ของ GDP และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 นอกจากนี้ภาคบริการยังเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของไทย โดยมีงานในภาคบริการถึง 40% ของกำลังแรงงานไทย ส่วนมูลค่าการส่งออกของภาคบริการ ถึงแม้จะมีสัดส่วนเพียง 20% ของมูลค่าการส่งออกแต่มีการขยายตัวที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาศักยภาพของภาคบริการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในบริบทของ Thailand 4.0 แล้วพบว่า

1.ธุรกิจบริการในส่วน Modern Services (ดิจิตอล) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม New S-Curve ที่ภาครัฐเน้นให้การสนับสนุนเพื่อเป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่นั้น นอกเหนือจากเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคดิจิตอลโดยเปิดโอกาสในการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่และในการสร้างนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาธุรกิจบริการที่เป็นส่วนประกอบในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย ส่วน Traditional Services (โลจิสติกส์ บริการทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว) นั้น มีส่วนช่วยการพัฒนาในวงกว้าง เนื่องจากเป็นภาคบริการที่สำคัญของไทยและเกี่ยวข้องกับแรงงานกลุ่มใหญ่ในประเทศ

2.ในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และ SMEs นั้น ธุรกิจบริการทั้งในส่วน Infrastructure Services (โทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และการเงิน) และ Business Services (กฎหมาย บัญชี ฐานข้อมูล และบริการคอมพิวเตอร์) มีส่วนสำคัญในกระบวนการดังกล่าว ดังนั้นภาคบริการจึงมีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาหน่วยธุรกิจรายย่อย และส่งผลให้มีโอกาสในการ สร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจาก SMEs เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในด้านดังกล่าว

3.การค้าระหว่างประเทศในส่วนของภาคบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินได้ดีขึ้น มีการสื่อสารและบริการด้านขนส่งที่ดีขึ้น จะช่วยลด Trade Cost เพิ่มการค้าระหว่างประเทศ และมีการผลิตในรูปแบบ GVCs เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในส่วนต่อเนื่อง รวมถึงเปิดโอกาสให้ SMEs ได้มีส่วนร่วมในการผลิตใน GVCs ซึ่งเป็นการขยายตลาด เรียนรู้เทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพในการผลิตของ SMEs ต่อไป

ภาคบริการมีศักยภาพในการเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามแนวทาง Thailand 4.0 อย่างไรก็ตาม การพัฒนาธุรกิจในภาคบริการต้องอาศัยการส่งเสริมจากภาครัฐในบริการสาขาที่มีความสำคัญ สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการขยายตัวของภาคบริการ และนโยบายภาครัฐที่ทำให้ผลจากการพัฒนาดังกล่าวกระจายในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การเติบโตแบบองค์รวมของเศรษฐกิจไทยต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์  2561

เจาะลึกอุตสาหกรรมเด่น ขานรับโครงการอีอีซี

นโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจากการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทตอล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 3 อุตสาหกรรมที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนาพื้นที่อีอีซี จากศักยภาพของผู้ประกอบการ ทักษะแรงงาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่เน้นรองรับเครื่องบินลำตัวแคบ (narrow body) จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินต้นทุนตํ่าเลือกใช้มีสัดส่วนกว่า 70% ของเครื่องบินที่ผ่านเข้าออกสนามบินของไทยทั้งหมดและมีปริมาณจะเติบโตอีกกว่า 1.5 เท่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ในประเภทชิ้นส่วนหลัก (กลุ่ม tier 2) และชิ้นส่วนรอง (กลุ่ม tier 3) ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอากาศยานราว 60% ชุดระบบสายไฟราว 30% และที่เหลือเป็นส่วนประกอบเครื่องยนต์และยางล้อเครื่องบิน

โครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลจะสร้างแรงดึงดูดการลงทุนด้าน Internet of Things (IoT) ซึ่งจะสร้างโอกาสต่อผู้ประกอบการในการพัฒนา IoT solution ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันการใช้จ่ายด้าน IoT ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคการเกษตรยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากนัก สะท้อนจากสัดส่วนการใช้ embedded software ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ มีความสามารถในการสื่อสารในภาคเกษตร มีการใช้เพียง 0.1% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการใช้ถึง 76% ของอุปกรณ์ทั้งหมด ประเมินว่าหากมีการใช้ IoT ในการเกษตรเพื่อควบคุมการให้นํ้า การควบคุมโรคและศัตรูพืช และการติดตามสภาพดิน จะสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 30-50% และหากนำไปใช้กับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว จะทำให้เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มผลผลิตได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 480 กิโลกรัมต่อไร่

ความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในปัจจุบันและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) โดยเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทดแทนแรงงานและค่าใช้จ่ายในการลงทุน พบว่าการใช้ระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 6-10 ปี ขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสูงสุดราว 12 ปี ซึ่งจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมระบบ (System Integrator: SI) ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ออกแบบ และจัดหาระบบอัตโนมัติจากผู้ผลิตหุ่นยนต์และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ มาติดตั้งตามความต้องการของ end users ซึ่งในอนาคตแรงงานกว่า 6.5 แสนคนมีโอกาสที่จะถูกทดแทนหากมีการนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็จะมีการสร้างงาน ใหม่ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเช่นกัน

ด้วยพลวัตของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นโยบายอีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายดังกล่าว นอกจากนโยบายที่ชัดเจนและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและสาธารณูปโภคแล้ว ภาครัฐต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน การสร้างแรงงานที่มีทักษะเหมาะสม และการเตรียมพร้อมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนผู้ประกอบการภาคเอกชนควรมีการเตรียมพร้อมศึกษากฎระเบียบวิธีปฏิบัติในการลงทุน ข้อกำหนดต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมถึงการศึกษาและวางแผนการใช้โครงสร้างพื้นฐานในด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำมากำหนดกลยุทธ์ในการประกอบกิจการต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์  2561

เชื่อมั่นอีอีซีดันรายได้ต่อคนเพิ่มเท่าตัว ปั๊ม‘จีดีพี’โต60ล้านล้าน

ร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือกฎหมายอีอีซี ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้โครงการอีอีซี ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของไทยในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เดินหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ

++ดันรายได้ต่อหัวเพิ่มเท่าตัว

โดยนายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) ภายใต้กระทรวงการคลังประเมินว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่อีอีซี จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นจากการเติบโตปกติอีก2%ส่งผลให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศจะเพิ่มแบบก้าวกระโดดจาก 15 ล้านล้านบาทในปี 2560เป็น 30 ล้านล้านบาทในปี 2570 และ 60 ล้านล้านบาทในปี 2580

ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรใน 3 จังหวัด ก็จะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 21,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 672,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจนบรรลุเป้าหมายการหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 320,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2569 เร็วกว่าการเติบโตปกติที่ไม่มีการดำเนินนโยบายถึง 5 ปี โดยในปี 2569 คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ยของประชากร 12,450 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 398,400 บาทต่อคนต่อปีจากปัจจุบันที่มีรายได้เฉลี่ย 6,600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือ 211,200 บาทต่อคนต่อปีในปี 2560

++จีดีพีโตจากการลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว คือ การลงทุนภาครัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้ผลิตภาพทุนและแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย11.3%ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนการสะสมทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีคุณภาพในระบบเศรษฐกิจ เฉลี่ย 8.9% ต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.1% ต่อปี

นอกจากนี้ การพัฒนาอีอีซี จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เกิน 3% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดุลการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงตามการลงทุนทางตรง ส่วนผลทางอ้อมจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.3% ต่อปีในระยะยาว อยู่ในระดับไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลิตภาพแรงงานและทุนขยายตัวเร่งขึ้นตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย

++20 ปีรายได้ 1.2 ล้าน/ครอบครัว

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยในระบบปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามเป้าหมายการลงทุนของภาครัฐจะทยอยลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้การขาดดุลเงินสดของรัฐบาลแต่ละปีไม่เกิน 3% ของจีดีพี ขณะที่อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในประเทศจะต้องไม่เกิน 60%

 อีกทั้งการพัฒนาอีอีซียังส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมลํ้ายกระดับรายได้ของประชาชน เนื่องจากแรงงานชั้นกลางจำนวนมากถูกดึงเข้ามาในระบบเพื่อยกระดับการผลิตให้สูงขึ้น ทำให้มีรายได้มากขึ้นลดความเหลื่อมลํ้าจากการกระจายรายได้มากขึ้น อัตราการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้น 74% ในปี 2580

“จากการประเมินโดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค พบว่าแนวทางการพัฒนาอีอีซี จะทำให้รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7% ต่อปี จาก 326,545 บาทต่อปีในปี 2560 เป็น 1,263,629 บาทต่อปีในปี 2580 จากผลิตภาพแรงงานและทุนที่สูงขึ้น ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้ของรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% ต่อปี ซึ่งรายได้ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากขึ้น” นายสุวิทย์ระบุ

++การจ้างงานเต็มศักยภาพ

นายสุวิทย์ ชี้ให้เห็นอีกว่า ผลของการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในอีอีซี จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ โดยในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า กำลังแรงงานและการจ้างงานอยู่ที่ระดับศักยภาพการผลิตเต็มที่ของประเทศ การสะสมทุนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า มีอัตราการผลิตเฉลี่ยสูงถึง60%ผลจากการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคบริการ ทำให้เกิดการสะสมทุนอย่างต่อเนื่องกว่า 9% ต่อปี คาดว่ามูลค่าการสะสมทุนของประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน

โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยปี2561-2580 อยู่ที่ประมาณ60%ผลิตภาพแรงงาน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย0.14%ต่อปี คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.0% ต่อปีในระยะยาว ในขณะที่ผลิตภาพทุนของประเทศเพิ่มขึ้นในระยะยาวเฉลี่ย 1.25% ต่อปี จากปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.35% ตามเทคโนโลยีและการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่

ทั้งนี้ จากการดำเนินนโยบาย อีอีซีในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนใหม่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3 อุตสาหกรรม รวม 257,053 ล้านบาท ประกอบด้วย เม็ดเงินลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 247,744 ล้านบาทแบ่งเป็นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 1,045 ล้านบาท อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์1,681ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 2,991 ล้านบาท อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 124,258 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอล 1,676 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 52,092 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 34,920 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ5,166ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 22,239 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 1,676 ล้านบาท

ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายสนับสนุน 3อุตสาหกรรมจะมีวงเงินลงทุนรวมในช่วง 5 ปี 9,309 ล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา 2,595 ล้านบาท อุตสาหกรรม IHQ และ ITC 1,370 ล้านบาท และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจากขยะ 5,344 ล้านบาท

จาก www.thansettakij.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์  2561

'คณิศ' โต้ข่าวลือบนโซเชียล! ยันทุกโครงการ 'อีอีซี' โปร่งใส อยู่ใต้กฎหมาย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงประเด็นข่าวการบิดเบือนข้อมูลร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ...  ในประเด็นที่ว่ามีการอนุญาตให้ต่างชาติซื้อและถือครองกรรมสิทธ์ที่ดินได้เบ็ดเสร็จ ให้สิทธิชาวต่างด้าวทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ รวมถึงการโอนเงินข้ามชาติที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2561 ที่มีข้อสังเกต ดังนี้

1. การอนุญาตให้ต่างชาติซื้อและถือครองกรรมสิทธ์ที่ดินได้เบ็ดเสร็จ

สรุป : พ.ร.บ. EEC ไม่ได้ให้ใครก็ได้ที่เป็นต่างด้าวถือที่ดิน เป็นการเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง

1.1 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

“ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน”

หมายความว่า : ต้องเป็นนิติบุคล ต้องถือเพื่อประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และถือเพื่ออยู่อาศัยไม่ได้

1) ผู้จะถือครองที่ดินได้ “ต้องเป็นนิติบุคคล” คือ “ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นคนทั่วไปที่เป็นคนต่างด้าว จะไม่ได้สิทธิ”

2) บริษัท หรือ นิติบุคลนั้นๆ ต้องถือเพื่อ “ประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น  คือ “ไม่สามารถถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย”

3) กิจการที่ได้รับอนุญาตเป็นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะพวกที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

1.2 มาตรา 49 วรรค 3

“ ทั้งนี้ผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิ และจำนวนที่ดิน...ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”

หมายความว่า : จำนวนที่ดินจะถือได้ต้องไม่เกินกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

1) เงื่อนไขที่จะให้นิติบุคล (ซึ่งไม่ใช่คนทั่วไป) นั้น ต้องไม่เกินที่มีอยู่ตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม

2) กรรมการนโยบายที่มี นรม.เป็นประธาน และมี รัฐมนตรี 14 คน เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ไม่เกิน กฎหมายส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม

3) การถือครองสิทธิ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ โดยคนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 100% ได้ แต่ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการ ตามที่ BOI ให้การส่งเสริม หรือเป็นผู้ประกอบกิจการ ในนิคมอุตสาหกรรม

1.3 มาตรา 51

“ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่มิได้มีการประกอบกิจการภายในเวลา 3 ปี หรือหยุดประกอบกิจการในที่ดินดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการนั้นต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายใน 1 ปี”

หมายความว่า ถ้าไม่ได้ประกอบกิจการ 3 ปี ให้ขายที่ดินภายใน 1 ปี

2. การอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อและถือครองกรรมสิทธ์คอนโดมีเนียม

สรุป :  พรบ. EEC ไม่ได้อนุญาตต่างด้าวทั่วไปซื้อคอนโดได้ แต่ต้องเป็นผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาทำอุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น

2.1 มาตรา 49 วรรค 2

“ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด”

หมายความว่า

1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธินี้ได้ คือ ต้องเป็นนิติบุคคล หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะพวกที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล  “คนต่างด้าวทั่วไปจะถือเงินเข้ามาซื้อคอนโดไม่ได้” จำนวนคนที่ได้รับอนุมัติจึงไม่มาก และเป็นไปตามความจำเป็น

2) หลังจากที่ต้องเป็นบริษัทหรือ ผู้เชี่ยวชาญตามเงื่อนไขข้อ 1 แล้วจึงสามารถที่จะได้รับได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งจะถือได้มากกว่า 49%  ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

3) สาเหตุที่ให้ถือได้มากกว่า 49% มีข้อเท็จจริง 5 ประการ คือ

3.1) เมื่อเราต้องการนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเทศ ก็ต้องให้เขามีอยู่อาศัย ไม่งั้นเขาก็ไม่มาลงทุน หรือมาถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย  เมื่อไมให้มีที่ดิน ก็ต้องให้ซื้อคอนโดได้ หลักการนี้ใช้กันทั่วโลก

3.2) EEC ไม่สนับสนุนให้เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (เช่นนิคมอุตสาหกรรม) สร้างที่อยู่อาศัยแข่งกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง  ดังนั้นจึงสนับสนุนให้ คนไทยในพื้นที่ทำคอนโดให้กับผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติใกล้กับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ(เช่นนิคมอุตสาหกรรม) ในกรณีนี้ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่อาจเป็นคนต่างด้าว ดังนั้นจึงให้มีสัดส่วนได้มากกว่า 49%

3.3) ในปัจจุบัน คอนโดมีเนียมเป็นออฟฟิตคอนโดด้วย คือสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ทำงาน เช่นกรณีของ ศูนย์ Software Park ซึ่งหากจำกัดที่ให้มีต่างด้าวได้ไม่เกิน 49% จะไม่คล่องตัว และอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน กรณีนี้จะเกิดขึ้นใน เขตส่งเสริมนวัตกรรม (EECi) และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล (EECd)

3.4) คอนโดมีเนียมที่ต่างด้าวถือ ไม่นับว่าเป็นการถือที่ดิน แต่ต้องขายคืนเมื่อไม่ได้ทำงานเช่นเดียวกับที่ดิน

3.5) การให้สิทธิก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะให้กรณีที่เป็นประโยชน์และเป็นความจำเป็น

3. ให้สิทธิชาวต่างด้าวทำงานโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่จำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ

มาตรา 55  ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้ผู้ได้รับอนุญาต (ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด) ให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 54(1) (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านใด ๆ ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ) 54(2) (ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ) มีสิทธิทำงานตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเลขาธิการ  ทั้งนี้ ให้ถือว่าหนังสืออนุญาตของเลขาธิการมีสถานะเป็นใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

สรุป สิทธิในการทำงานของคนต่างด้าว ในราชอาณาจักร จะให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (เขตเล็ก) และให้ผู้เฉพาะผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารหรือผู้ชํานาญการ โดยมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการนโยบาย กำหนด และมีสิทธิทำงานตำแหน่ง ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดเท่านั้น  ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวก และชักชวนผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเข้ามาทำงาน และถ่ายทอดความรู้ให้คนไทย

มาตรา 59  เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ คณะกรรมการนโยบายจะประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิพิเศษอื่นใด ตามที่เห็นสมควร ดังต่อไปนี้ก็ได้

1. ในกรณีที่การประกอบวิชาชีพใดมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ขออนุญาตต้องมีสัญชาติไทยหรือต้องได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองก่อนการประกอบวิชาชีพตามกฎหมายแล้ว  คณะกรรมการนโยบายอาจประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียน หรือรับรองให้ประกอบวิชาชีพนั้นในประเทศที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด  (ต้องมีการกำหนดประเทศก่อน) สามารถประกอบวิชาชีพนั้น เพื่อกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

สรุป การประกอบวิชาชีพ ตามมาตรา 59 (1 ) คณะกรรมการนโยบายประกาศให้ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาต จดทะเบียนและรับรองวิชาชีพจากประเทศที่กำหนด  ประกอบวิชาชีพในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษได้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนด ทั้งเพื่อให้สามารถรองรับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงให้เข้ามาทำงานในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ(เขตเล็ก)ได้

4. การโอนเงินข้ามชาติที่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ

มาตรา 58  ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน มีสิทธิ ดังต่อไปนี้

 1.ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินทั้งหมดหรือบางส่วน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

2.สามารถใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

หมายความว่า

ให้ผู้ประกอบการสามารถถือบัญชีเงินตราต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องรีบแลกเป็นบาท และสามารถให้เงินตราต่างประเทศนั้นใช้ชำระค่าสินค้าและบริการภายในเขตส่งเสริมได้

สาเหตุที่ให้สิทธิประโยชน์ข้อนี้เพราะ

1) โดยข้อเท็จจริงนักลงทุนต่างชาติปรกติจะไม่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในไทยหากบังคับให้ต้องแลกเป็นบาท นอกจากนั้น การชำระค่าสินค้ามักจะทำโดยใช้ธนาคารในต่างประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศเพราะไม่ต้องการแลกเป็นบาท  ดังนั้นการเปิดให้สิทธิเรื่องนี้จะทำให้ประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศเข้ามา และสามารถเห็นการชำระค่าสินค้าได้ภายในประเทศ

2) ได้รับการยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเพียงพอที่จะอำนวยความสะดวกในด้านนี้ให้กับธุรกิจส่งเสริมคือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC ได้ การดำเนินการครั้งนี้จึงเป็นกระบวนการที่จะปรับปรุงระบบการเงินในประเทศ

3) อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน ธปท.สามารถเข้ามากำกับดูแลได้ทันที

จาก www.thansettakij.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์  2561

จับตาผลผลิตอ้อยปี’60/61 จ่อทำสถิติทะลุ110ล้านตัน

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาลผลิตประจำปี 2560/61 ที่ทยอยเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 จนถึงขณะนี้มีแนวโน้มจะสูงเกิน 110 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณอ้อยทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาปริมาณฝนมีต่อเนื่องช่วยให้อ้อยเติบโตได้ดี ประกอบกับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยสูงขึ้นต่อเนื่อง

“แม้ปริมาณอ้อยปีนี้จะดีมาก แต่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกค่อนข้างต่ำ ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบบวกพรีเมียมแล้วเฉลี่ยเพียง 14 เซนต์ต่อปอนด์ จึงสะท้อนมายังราคาอ้อยที่ค่อนข้างต่ำเช่นกัน แต่ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานหลังการลอยตัวราคาแล้วขณะนี้เฉลี่ย ลดลงเล็กน้อย โดยยังอยู่ระหว่าง 17-18 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนตัวเห็นว่าราคาก็น่าจะอยู่ระดับนี้แม้โรงงานจะไม่มีโควตา ไม่มีการขึ้นงวด แต่ก็คงไม่มีการดัมพ์ราคาแข่งกัน เพราะราคานี้ก็ถือว่าไม่ได้สูงเลยเมื่อเทียบกับต้นทุนผลิต” นายบุญถิ่น กล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงตกต่ำเฉลี่ยเพียง 14 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2560/61 จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ 880 บาทต่อตัน ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองได้ร้องให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 50 บาทต่อตัน ดังนั้นกองทุนฯอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่

ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนฯมีหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 1,227 ล้านบาท ซึ่งปกติรัฐจะจัดงบประมาณให้ปีละ 450 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ โดยจะหมดหนี้ใน 3 ปีข้างหน้า ส่วนนี้จึงคิดที่จะเสนอของบกลางปี 1,227 ล้านบาทเลย ส่วนหนี้กับธนาคารกรุงไทย 4,415 ล้านบาท จะหมดภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะขอปรับโครงสร้างหนี้ยืดออกไป 3 ปี เพื่อที่จะนำเงินมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ แต่คงจะไม่ถึง 50 บาทต่อตัน

จาก www.naewna.com วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กฤษฎา’ สั่ง 17 จังหวัดภาคเหนือจับตา แล้ง-หมอกควัน กรมชลฯ พร้อมรับมือพื้นที่เสี่ยง

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังลงพื้นที่มอบนโยบายการประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ณ จ.พิษณุโลก ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เน้นย้ำใน 2 เรื่องหลัก คือ 1. ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำงานร่วมกันไม่แบ่งแยกกรมใครกรมมัน ต้องทำงานในภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯ ให้ได้ โดยเฉพาะงานโครงการตามนโยบาย 15 เรื่องสำคัญ เช่น แปลงใหญ่ที่ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่ม รวมผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่แล้วต้องเชื่อมโยงตลาดให้ได้ โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐทั้งพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หรือภาคเอกชนในพื้นที่ 2. การติดตามสถานการณ์และลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ผลกระทบภาคเกษตร ซึ่งขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะมีความเสี่ยงทั้งหมอกควัน ไฟป่า และปัญหาภัยแล้ง

ส่วนข้าราชการกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรต้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณาว่าจุดใดบ้างที่สามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ หรือการช่วยเหลือเยียวยาที่ต้องประสานกับกระทารวงมหาดไทย ก็ให้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของเกษตรกรได้ต่อสถานการณ์

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 53,049 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 75% ของปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน ประมาณ 7,239 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำใช้การได้ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ มีอยู่รวมกันประมาณ 29,505 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทานได้มีการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือแหล่งน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคไว้อย่างเพียงพอ ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ไปจนถึงเดือนก.ค. 2561

ส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งอาจประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ นายกฤษฎา สั่งให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ จากส่วนกลางเข้าไปเตรียมพร้อมสนับสนุนเพิ่มเติม จากของเดิมที่มีประจำการอยู่แล้วในโครงการชลประทานทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทานด้วยการใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำ ให้มีความพร้อมที่จะสามารถนำไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำได้ทันที

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เกษตรฯอัดฉีด 2 หมื่นล้าน เตรียมคิกออฟโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 21 ก.พ.นี้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม Web Conference ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบหลักในการดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง ประกอบด้วย 1) สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิธีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าเทียมเทคโนโลยี 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) โดยมีเป้าหมายการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด 878 อำเภอ และพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโรงการไทยนิยม ยั่งยืน รวม 7,663 ทีม พื้นที่ 83,151 แห่ง

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) คนไทยไม่ทิ้งกัน แผนงานเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ งบประมาณ 693 ล้านบาท 2) ชุมชนอยู่ดีมีสุข แผนงานการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ งบประมาณ 14,203 ล้านบาท และ 3) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) พัฒนาชุมชน/กลุ่ม ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับกลไกการบริหารราชการ งบประมาณ สร้างการรับรู้ และมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน งบประมาณ 10,090 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 24,294 ล้านบาท โดยทำการชี้แจงทำความเข้าใจเมนูโครงการอาชีพต่าง ๆ ให้ชัดเจนกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด อำเภอ และตำบล ทั่วประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน มีการเตรียมความพร้อมทั้งจำนวนคนที่จะร่วมทีมให้เพียงพอกับพื้นที่ รวมทั้งให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย นอกจากนี้ในวันที่ 21 ก.พ. จะเป็นการคิกออฟ พร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนเยี่ยมเยียนรายครัวเรือนและรายบุคคล ค้นหาความต้องการของประชาชนเพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ต่อไป

สำหรับเมนูอาชีพภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงเกษตรฯ 2. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร 3. โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน 4. โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลินสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม 5. โครงการศูนย์ขยายพันธ์พืช 6. โครงการผลิตเมล็ดพันธ์ดี 7. โครงการขยายพันธุ์สัตว์และส่งเสริมการผลิตการผลิตปศุสัตว์ 8. โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร 10. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ 11. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่สถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร 12. โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 13. เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 14. โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 15. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง 16. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (ยางแห้ง) 17. โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร 18. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมแปรรูป 19. โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำชุมชน และ 20. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ผู้ประกอบการยิ้ม “สมอ.” ใช้ระบบ E-license ออกใบอนุญาตภายใน 10 วัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา TISI Transformation เรื่อง สมอ. 4.0 : e-license ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 นั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางให้ชัดเจน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ซึ่งหนึ่งในแผนงานที่สำคัญได้แก่ การปฏิรูประบบการมาตรฐานโดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในกิจกรรมการมาตรฐานให้มีความสะดวก รวดเร็ว ดังนั้นจึงนำระบบ e-license เข้ามาใช้ใน สมอ. ถือเป็นก้าวแรกในการทำ Big Data กระทรวงอุตสาหกรรม

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ระบบ e-license เป็นระบบที่ให้บริการในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบอินเตอร์เน็ท ทำให้กระบวนการออกใบอนุญาตดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระให้กับผู้ประกอบการ

ซึ่งกระบวนการทำงานของ e-license ได้นำมาใช้เพื่อการรับรองผลิตภัณฑ์ของ สมอ. ซึ่งสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 10 วันทำการ ครอบคลุม 10 มาตรฐาน และจะดำเนินการให้ครอบคลุม 173 มาตรฐานภายในปี 2561 โดยมีเป้าหมายให้สามารถออกใบอนุญาตได้ครบทุกมาตรฐาน ภายในปี 2562 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล

ทั้งนี้ e-license จะประกอบด้วย 1.ระบบเว็บไซต์สำหรับผู้ประกอบการในการยื่นคำขอ และติดตามสถานะของคำขอรับใบอนุญาต 2.ระบบเว็บไซต์สำหรับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาต และบริหารติดตามการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกใบอนุญาต 3.ระบบเว็บไซต์สำหรับหน่วยงานเครือข่ายของ สมอ. ได้แก่ หน่วยตรวจ และห้องปฏิบัติการทดสอบในการประสาน สมอ. เพื่อการดำเนินการออกใบอนุญาต การนำระบบดังกล่าวมาใช้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สมอ. ได้เริ่มเปิดรับคำขอรับใบอนุญาตผ่านระบบ e-license แล้ว เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

อ้อยส่อทำสถิติใหม่ทะลุ 110 ล้านตันแต่ราคาดันต่ำ ลุ้นรัฐเพิ่มค่าอ้อย

จับตาผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 60/61 แนวโน้มส่อทำสถิติทะลุ 110 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ราคาตลาดโลกต่ำหนัก ลุ้นกองทุนอ้อยฯ ปรับโครงสร้างหนี้แบงก์กรุงไทยยืดเวลาชำระหนี้ออกไป 3 ปี หวังบริหารเงินนำมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้น

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตประจำปี 2560/61 ที่ทยอยเปิดหีบตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 60 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะสูงเกิน 110 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณอ้อยปีนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาปริมาณฝนมีต่อเนื่องช่วยให้อ้อยเติบโตได้ดี ประกอบกับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยที่ผ่านมาสูงขึ้นต่อเนื่อง

“แม้ปริมาณอ้อยปีนี้จะดีมากแต่ก็ยอมรับว่าราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกค่อนข้างต่ำมาก ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายดิบบวกพรีเมียมแล้วเฉลี่ยเพียง 14 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้นจึงสะท้อนมายังราคาอ้อยที่ค่อนข้างต่ำเช่นกัน แต่ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานหลังการลอยตัวราคาแล้วขณะนี้เฉลี่ยลดลงเล็กน้อย โดยยังอยู่ระหว่าง 17-18 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนตัวเห็นว่าราคาก็น่าจะอยู่ระดับนี้แม้ว่าโรงงานจะไม่มีโควตา ไม่มีการขึ้นงวดแต่ก็คงไม่มีการดัมป์ราคาแข่งกัน เพราะราคานี้ก็ถือว่าไม่ได้สูงเลยเมื่อเทียบกับต้นทุนผลิต” นายบุญถิ่นกล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงตกต่ำเฉลี่ยเพียง 14 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 60/61 จะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ 880 บาทต่อตัน ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองได้ร้องให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นอีก 50 บาทต่อตัน ดังนั้น กองทุนฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่

ปัจจุบันกองทุนฯ มีหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1,227 ล้านบาท ซึ่งปกติรัฐจะจัดงบประมาณให้ปีละ 450 ล้านบาทเพื่อชำระหนี้ โดยจะหมดหนี้ใน 3 ปีข้างหน้า ส่วนนี้จึงคิดที่จะเสนอของบกลางปี 1,227 ล้านบาทเลย ส่วนหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 4,415 ล้านบาทจะหมดภายใน ก.ค.นี้ ก็จะขอปรับโครงสร้างหนี้ยืดออกไป 3 ปีเพื่อที่จะนำเงินมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่แต่คงจะไม่ถึง 50 บาทต่อตัน

“จากการหารือจะเห็นว่าราคาขั้นสุดท้ายต่ำอยู่แล้วประมาณ 40 บาทต่อตัน และกองทุนฯ เองต้องจ่ายชดเชย ไหนๆ ก็เลยนำมาจ่ายให้เป็นค่าอ้อยขั้นต้นก่อนล่วงหน้าเพื่อช่วยชาวไร่ให้ได้ราคาอ้อยที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มให้ 40 บาทต่อตันหรือต่ำกว่านี้ก็คงต้องดูอีกครั้ง” นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ผ่อนปรน2ปีบังคับเก็บค่านํ้า ‘ฉัตรชัย’สั่ง สทนช.ประกบติด-ผวาร่างฯก.ม.ถูกตีตก

 “ฉัตรชัย” เต้น สั่ง สทนช.ประกบติด สนช. แจงร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าฯ ผวาถูกตีตก ขาดเสียงสนับสนุนในสภาฯ หลังกรมทรัพย์ฯเปิดปมขัดแย้ง ด้าน กมธ. แย้มข่าวดีกลุ่มผู้ใช้นํ้าประเภท 2 และ 3 ผ่อนปรน 2 ปี ถึงจะมีผลบังคับใช้เก็บค่านํ้า

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ....ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างฯ ชาติ (สนช.)ในวาระที่ 2 ครบ 9 หมวด 100 มาตราแล้ว แต่มีเสียงท้วงติงจากอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้าที่มองว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ กมธ.ได้พิจารณาและปรับแก้ไขแล้วขัดหลักเจตนาเดิม และขัดหลักวิชาการ หวั่นลามกระทบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวเนื่องที่บัญญัติไว้แล้ว ทั้งนี้ทางสนช. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.อีกครั้ง ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อผ่านขั้นตอนทางนิติบัญญัติให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไปนั้น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดได้สั่งการให้นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ลงไปชี้แจง ทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย และร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ....ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะ ให้ทำงานเชื่อมโยงกัน เพราะหลายเรื่องอาจจะไม่รู้รายละเอียดในเชิงปฏิบัติ จะได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ยืนยันว่ารัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อให้กฎหมายที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในเร็วๆ นี้ ให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศในทางปฏิบัติได้จริง ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้กรรมาธิการได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้าในวาระ 2 เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติฉบับที่ผ่านวาระที่ 2 ผ่านทางเว็บไซต์ของ สนช. 2 รอบ ได้แก่ รอบ 1 ตั้งแต่วันที่ 6-20 กุมภาพันธ์ 2561 จากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ ผลกระทบและเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผ่านทางเว็บไซต์อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์-14 มีนาคม 2561 จากนั้นจะนำส่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ผ่านวาระที่ 2 ชั้นกรรมาธิการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาให้พระราชบัญญัติดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ที่กรมชลประทาน โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 42 หน่วยงาน และผู้แทนคณะกรรมการ 25 ลุ่มนํ้าเข้ารับฟังด้วย

“กฎหมายนี้มีการปรับแก้ไขทั้งโครงสร้างการทำงาน มีการเพิ่มมาตราใหม่ 1-2 มาตรา มีการปรับเพื่อให้ปฏิบัติได้จริง ดังนั้นเมื่อกรมทรัพยากรนํ้า แย้งมาว่า ไม่เป็นไปตามหลักการที่เคยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยอมรับว่าจริง เนื่องจากต้องการแยกฝ่ายนโยบายกับฝ่ายปฏิบัติการออกจากกัน เมื่อแยกแล้วกรมทรัพยากรนํ้าก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในส่วนของปฏิบัติการ แต่จะไม่ได้มาบริหารเท่านั้น แล้วถ้ายืนตามหลักการตามเดิมก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเรื่องนํ้า เกี่ยวข้องหลายกระทรวง”

อย่างไรก็ดีทางคณะกรรมาธิการยอมรับว่ามีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ ประเภทที่ 2 เพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น ส่วนกลุ่มนํ้าประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้า หลังกฎหมายประกาศใช้แล้ว 120 วัน (ปรับแก้ไข จากเดิม 180 วัน) จะผ่อนปรน 2 ปี ถึงจะมีการจัดเก็บค่าใช้นํ้า

จาก www.thansettakij.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

ไทยเนื้อหอม!! 5 ประเทศรุมจีบร่วมมือค้าสินค้าเกษตรในอีอีซี

ไทยเนื้อหอม "รมว.เกษตร"เผย 5 ประเทศ" อิสราเอล โปแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และปากีสถาน"รุมจีบ ขยายความร่วมมือค้าขายสินค้าเกษตร ในอีอีซี

18 ก.พ.2561- นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ประจำประเทศไทยทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อิสราเอล โปแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และปากีสถาน ว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความยินดีที่ทูตแต่ละประเทศให้ความสนใจเข้าพบและพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ในหลายๆ ด้าน ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับแต่ละประเทศเช่นกัน ซึ่งประเด็นสำคัญที่ไทยได้หยิบยกและแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ระดับทวิภาคี แบ่งเป็น 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. ความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรภายใต้เอ็มโอยูระหว่างกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และระบบชลประทาน ทั้งในส่วนที่ได้มีการลงนามความตกลงแล้ว และอยู่ในระหว่างการหารือในรายละเอียดระหว่างคณะทำงานของแต่ละประเทศ

2.การพัฒนาบุคลากร นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร เช่น การพัฒนาสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของไทยโดยการเรียนรู้จากแรงงานไทยที่ไปทำการเกษตรที่อิสราเอลซึ่งมีประมาณ 2 หมื่นคน การทำการเกษตรอัจฉริยะกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เริ่มนำร่องสำหรับการผลิตมันสำปะหลังและผลิตข้าวแปลงใหญ่ โดยกระทรวงเกษตรฯ GISTDA และมหาวิทยาลัยฮอกไกโด จะได้ลงนามใน MOU ร่วมกัน เพื่อจะได้ร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสองประเทศ เป็นต้น

3.การเปิดตลาดสินค้าเกษตระหว่างกันทั้งสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ เช่น การส่งออกยางพาราไปยังโปแลนด์ และญี่ปุ่นที่ให้ความสนใจยางพาราไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมจะเป็นตัวกลางในการหาแหล่งซื้อยางที่ได้คุณภาพและราคาที่เป็นธรรมให้แก่ประเทศที่ให้ความสนใจด้วย การเร่งรัดการส่งออกมะม่วงมหาชนก และขยายสัดส่วนการส่งออกไก่สดไทยไปยังประเทศเกาหลีใต้ ขณะที่เกาหลีใต้สนใจส่งแอปเปิ้ลและเนื้อวัวเกาหลีมายังประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบทางเทคนิคที่คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

4. การลดปัญหาอุปสรรคการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ถือโอกาสขอบคุณญี่ปุ่นผ่านท่านทูตในกรณีเลื่อนการออกประกาศบังคับปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารฟอสอีทิล (fosetyl-aluminium) ซึ่งผสมในยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อนในสินค้าเกษตรออกไปก่อนจนกว่าจะหารือและได้ข้อสรุปกับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบแล้วเสร็จ ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตรจะร่วมกันติดตามความคืบหน้าของประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันที่สามารถยอมรับได้ และไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวจากไทยไปญี่ปุ่นต่อไป

และ 5. การเชิญชวนให้แต่ละประเทศเพิ่มการค้าการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ 6. การชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูของรัฐบาลไทย ซึ่งทูตแต่ละประเทศที่เข้าพบได้ชื่นชมและเห็นถึงความมุ่นมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย

"และพร้อมจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่ไทยได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น และเริ่มเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว ทั้งการจัดการเรือ เครื่องมือทำการประมง แรงงานประมง วิธีทำการประมง พื้นที่ทำการประมง การบังคับใช้กฎหมาย การตรวจสอบ การจับกุม และดำเนินคดีผู้กระทำผิด ซึ่งกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง"รมว.เกษตรฯ กล่าวในที่สุด

จาก www.nationtv.tv  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560

ชาวไร่อ้อยยื่นพรบ.ฉบับทำเอง ล่า2หมื่นชื่อเสนอสนช.พิจารณา

        นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่ามีหลายกลุ่มไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.รบ.)อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับใหม่ ซึ่งไม่สอดรับกับข้อเท็จจริง ซึ่งหลังจากที่กระทรวงนำมาเปิดประชาพิจารณ์แล้วจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อนไปสู่กฤษฏีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ตามลำดับ ซึ่งขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกกว่า 2 หมื่นคนเพื่อให้เป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จัดทำโดยชาวไร่อ้อยเพื่อไปยื่นเสนอต่อ สนช. ควบคู่เพื่อให้เกิดการแก้ไข

        ทั้งนี้ประเด็นที่ชาวไร่ส่วนใหญ่คัดค้านร่างที่คณะทำงานสนช.จัดทำอาทิ 1. คำจำกัดความของสถาบันชาวไร่อ้อยซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลที่ให้สิทธิพิเศษสหกรณ์ชาวไร่อ้อย และกลุ่มเกษตรกร มาอยู่ภายใต้พ.ร.บ.อ้อยฯผ่านการรกำหนดให้คณะกรรมการอ้อยในชุดต่างๆมีตัวแทนจากสหกรณ์ชาวไร่อ้อย 2 คนและกลุ่มเกษตรกร 1 คน โดยชาวไร่ไม่ขัดข้องหากสถาบันฯและกลุ่มเกษตรกรที่กำหนดขึ้นนี้จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสมาคมชาวไร่อ้อยคือสมาชิกต้องไม่น้อยกว่า 600 รายต้องส่งอ้อยให้โรงงานไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงานนั้นๆ ตามพ.ร.บ.อ้อยฯ

        2.มีการเสนอบทลงโทษใหม่มากขึ้นถึง 4 เท่าจากพ.ร.บ.เดิมฯ ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันบทลงโทษก็หนักพอสมควรอยู่แล้วและบางอย่างไม่สอดรับกับการดำเนินงานเช่น กรณีรถบรรทุกอ้อยที่เป็นปัญหาทุกปีและเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจว่าเป็นช่วงฤดูการเก็บเกี่ยที่มีเวลาจำกัด 3. ผลพลอยได้กำหนดไม่ชัดเจนชาวไร่ไม่ใช่อยากได้หมดแต่สิ่งใดที่พอจะช่วยให้ราคาอ้อยเพิ่มขึ้นก็ควรกำหนดให้ชัดเจนลงในรายละเอียด 4. คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการเสนอให้ราชการเข้ามาร่วมซึ่งเห็นว่าอาจขัดหลักองค์การการค้าโลก(WTO) 5. มีการลดอำนาจคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ไปยังบอร์ดย่อยอื่นๆ ซึ่งเห็นว่าเรื่องนโยบายควรนำมาสู่กอน. ส่วนงานอื่นๆก็ควรจบที่บอร์ดซึ่งปัจจุบันก็มีหน้าที่ชัดเจนแล้ว ฯลฯ

        แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลกล่าวว่า ฝ่ายโรงงานได้ส่งหนังสือไปยังสอน.แล้วเพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับสนช. ที่มีหลายข้อที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะคำว่า ผลพลอยได้ ที่ให้รวม กากอ้อยเพราะกากอ้อยรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อแล้วถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน ไม่เห็นด้วย ที่กำหนดบทลงโทษทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงาน เพิ่มสูงกว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม มากขึ้นหลายเท่า เป็นต้น.

จาก www.thaipost.net  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รวมชื่อ 2 หมื่น ค้านกฎหมายอ้อย

ายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สหพันธ์ฯได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ 20,000 คน เพื่อให้เป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จัดทำโดยชาวไร่อ้อยเพื่อไปยื่นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้นำไปพิจารณาควบคู่กับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ของ สนช. “ร่าง พ.ร.บ.ที่ สนช.จัดทำขึ้นนั้น ชาวไร่อ้อยเห็นว่ามี 7-8 ประเด็นสำคัญที่ไม่สอดรับกับข้อเท็จจริงและไม่เห็นด้วย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมาเปิดประชาพิจารณ์ เพื่อรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและ สนช.ตามลำดับ ดังนั้น ชาวไร่อ้อยจะเสนอร่างของชาวไร่เองเข้าไปควบคู่เพื่อให้เกิดการแก้ไขให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น”

ทั้งนี้ ประเด็นที่ชาวไร่ส่วนใหญ่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่คณะทำงาน สนช.จัดทำ อาทิ 1. คำจำกัดความของสถาบันชาวไร่อ้อย ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลที่ให้สิทธิพิเศษแก่สหกรณ์ชาวไร่อ้อย และกลุ่มเกษตรกร มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ผ่านการกำหนดให้คณะกรรมการอ้อย (กอ.) ในชุดต่างๆมีตัวแทนจากสหกรณ์ชาวไร่อ้อย 2 คน และกลุ่มเกษตรกร 1 คน ที่ชาวไร่ไม่ขัดข้องหากสถาบันฯและกลุ่มเกษตรกรที่กำหนดขึ้นนี้ แต่ก็จะต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสมาคมชาวไร่อ้อย คือต้องมีจำนวนสมาชิกแต่ละแห่ง ไม่น้อยกว่า 600 ราย หรือต้องส่งอ้อยให้โรงงานน้ำตาลไม่น้อยกว่า 55% ของกำลังหีบโรงงานนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

2.มีการเสนอบทลงโทษใหม่ให้เข้มข้นมากขึ้นถึง 4 เท่าจาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับปัจจุบัน ซึ่งเห็นว่าในปัจจุบัน บทลงโทษก็หนักพอสมควรอยู่แล้ว แต่บางกรณียังไม่สอดรับกับการดำเนินงาน เช่น กรณีรถบรรทุกอ้อยที่เป็นปัญหาทุกปีและเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจว่าเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อยที่มีเวลาจำกัด ควรมีบทลงโทษเป็นกรณีๆไปหากมีการทำผิดในเรื่องของน้ำหนักบรรทุกอ้อยเข้าไปสู่โรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลว่า ตัวแทนโรงงานน้ำตาลก็จะทำหนังสือขอคัดค้าน พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับของ สนช.ไปยัง สอน.ด้วยเช่นกัน.

จาก www.thairath.co.th   วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

แจงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ยังไร้พื้นที่การเกษตรขาดแคลน

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกัน 57,595 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างรวมกัน มากกว่าปี 2559 รวม 8,240 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 33,676 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,845 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนสถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ ข้อมูลณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 11.87 ล้านไร่คิดเป็นร้อยละ 81 ของแผน เฉพาะข้าวเพาะปลูกไปแล้ว 9.96ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผน ส่วนผลการเพาะปลูกฤดูแล้งเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.33 ล้านไร่คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผน เฉพาะข้าวเพาะปลูกไปแล้ว 6.69ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผน โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การเพาะปลูกข้าว ปี 2560/61 และ ปี 2559/60 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน มากกว่า 2.01 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่า 0.95 ล้านไร่

นายพีรพันธ์ คอทอง รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ อยู่ในเกณฑ์ดี มีพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภาวะแห้งแล้ง 47 จังหวัด 3.82 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงสูง 0.23 ล้านไร่ ปานกลาง 2.59 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวะการขาดแคลนน้ำ

จาก www.naewna.com วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลอยตัวนํ้าตาล ดันHTCกำไรพุ่ง ฟรีโฟลตเพิ่ม

บล.กรุงศรีฯชู HTC รับประโยชน์เต็มจากลอยตัวนํ้าตาล เหตุนํ้าตาลลด 1 บาท ทำกำไรเพิ่ม 60 ล้านบาท โวไม่ห่วงสภาพคล่อง หลังเปิดตัวให้นักลงทุนรู้จักแล้ว

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีฯเปิดเผยว่า บมจ.หาดทิพย์ หรือ HTC ถือเป็นหุ้น top picks ของบริษัทที่จะแนะนำให้นักลงทุนจับตามอง เพราะเป็นหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากการลอยตัวราคานํ้าตาล ซึ่ง HTC เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพียงรายเดียวของ Coca-Cola Company เพียงรายเดียวของภาคใต้ มีส่วนแบ่งการตลาดนํ้าอัดลมในภาคใต้ถึง 80% ขณะที่ตลาด soft-drink ในประเทศครึ่งแรกปี 2560 หดตัวลง 5% และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในครึ่งแรกปี 2561 จากกิจกรรมต่างๆ ที่จะกลับมาจัดได้หลังพระราชพิธีพระบรมศพไปแล้วรวมถึงไม่เกิดอุทกภัยในปีนี้ด้วย

นอกจากนั้นราคานํ้าตาลที่ลดลง 10% ซึ่งมีผลมาตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมหลังจากนโยบายลอยตัวราคานํ้าตาล จะส่งผลดีต่อ HTC ด้วย เนื่องจากบริษัทมีการใช้ผลิตภัณฑ์ความหวาน หรือนํ้าตาลในสัดส่วนถึง 35% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งทุกๆ 1 บาทที่นํ้าตาลปรับลดลงจะได้กำไรกลับเข้ามาในส่วนของ HTC ประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันราคานํ้าตาลอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหลังลอยตัวราคานํ้าตาลแล้วราคาน่าจะอยู่ที่ 17 บาท ดังนั้นจึงน่าจะมีกำไรกลับเข้ามาได้ถึง 180 ล้านบาทโดยในปี 2560 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ 270-280 ล้านบาทและน่าจะเติบโตขึ้นถึง 40% ในปี 2561

“เรายังคาดการณ์ว่า HTC จะสามารถปรับเพิ่มราคาขายได้จากอัตราภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะยังมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นติดสินค้าของบริษัท รวมถึงเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งด้วย โดย HTC มีศูนย์กระจายสินค้าถึง 20 แห่งและ Cash van อีกหลายร้อยคัน ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 40,000 แห่งในภาคใต้และยังอยู่ระหว่างพิจารณาการจัดจำหน่ายของบุคคลที่ 3 เพิ่มด้วย”

สำหรับผลการดำเนินงาน คาดว่า กำไรจะเติบโตจากยอดขายที่โต 8% ในครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากฐานตํ่าในปีที่แล้วและคาดว่าจะเติบโตได้ถึงปีละ 12% ในช่วงปี 2562-2563 จากการเติบโตแบบ organic และการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยคาดว่า จะปรับขึ้นราคานํ้าอัดลมเฉลี่ยเป็นกระป๋องละ 15 บาทและขวดละ 12 บาทในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ได้ ขณะที่แฟรนไชส์ CoCa-Cola ของ HTC จะหมดอายุในปี 2562 แต่คาดว่าจะยังได้ต่ออายุอีก 5 ปี เนื่องจากได้สิทธิ์แบบ exclusive มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทแล้ว

ส่วนสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น HTC นั้นนายชัยยศกล่าว ยอมรับว่า ก่อนหน้านั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องบ้างว่า เพราะเหมือนหุ้นที่คนมองไม่เห็น แต่หลังจากบริษัทออกบทวิจัยออกมาทำให้นักลงทุนมองและเริ่มเห็นและเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทำให้สภาพคล่องของหุ้นมีมากขึ้น ดังนั้นสภาพคล่องจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

แปรชานอ้อยเป็นผืนผ้า เตรียมถ่ายทอดสู่เอกชน

ชานอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำตาล แต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 20 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล แต่กระนั้นยังมีชานอ้อยเหลือทิ้งอีกถึง 2.14 แสนตัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ทุนสนับสนุน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ทำโครงการวิจัยการผลิตเส้นใยจากชานอ้อย (Regenerated Cellulose)

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้เส้นใยเซลลูโลสจากธรรมชาติในงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมากขึ้น แต่ปริมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอ สถาบันฯจึงมุ่งเน้นสร้างงานวิจัยพัฒนา สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนสามารถพัฒนาการผลิตเส้นใยจากชานอ้อยสำเร็จได้ครั้งแรกของประเทศ ทั้งกรรมวิธีแยกเยื่อแอลฟาเซลลูโลส และกระบวนการฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์

สำหรับการผลิตเยื่อเส้นใยจากชานอ้อย เริ่มจากการนำชานอ้อยมาผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำ เพื่อกำจัดเฮมิเซลลูโลสออก จากนั้นนำไปผ่านการต้มเยื่อด้วยสารละลายเบส เพื่อการกำจัดลิกนินออกจากเยื่อ ต่อมานำไปผ่านการฟอกขาวเยื่อ เพื่อกำจัดลิกนินที่เหลือ และลดปริมาณเถ้าในเนื้อ และเพิ่มความขาวสว่างให้กับเยื่อ ก่อนเข้าขั้นตอนการแยกเยื่อแอลฟาเซลลูโลสสูง ซึ่งจะเป็นส่วนวัตถุดิบต้นทางในการผลิตเป็นเส้นใย

ทั้งนี้ การจะทำ ให้เยื่อแอลฟาเซลลูโลสสูงกลายมาเป็นเส้นใยได้นั้น ต้องนำไปฉีดขึ้นรูปในเครื่องฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ ซึ่งนักวิจัยของโครงการก็สามารถพัฒนาจนสร้างเครื่องฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศเช่นกัน โดยกระบวนการผลิตเส้นใยจากชานอ้อยนี้ สามารถนำไปต่อยอดผลิตเส้นใยจากพืชเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ เส้นใยมะพร้าวอ่อน เส้นใยสับปะรด เส้นใยผักตบชวา ฯลฯ ในอนาคต

ขณะนี้เส้นใยจากชานอ้อยได้ถูกนำไปใช้สำหรับทอตัวอย่างแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคเอกชน และทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวออกไปสู่ภาคเอกชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 02-7135-4929.

จาก www.thairath.co.th   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

'กฤษฏา'สั่งเชิงรุกรับมือภัยแล้ง ทุ่มงบฯหมื่นล.งัดมาตรการลดเสี่ยง

'กฤษฏา' สั่งเชิงรุก วางจุดช่วยเหลือประชาชนรับมือภัยแล้ง ทุ่มงบฯ 11,730 ล้านบาท เตรียมมาตรการลดความเสี่ยง  4 มาตรการ 18 โครงการ

15 ก.พ.61 นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์รับมือภัยแล้งปีนี้ ว่า นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และเกษตรกร ได้สั่งให้เตรียมมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังพื้นที่คาดว่าจะเกิดภัยอย่างใกล้ชิดลดผลกระทบให้มากที่สุด โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียงมาช่วยเหลือประชาชนได้ทันการณ์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ อยู่ในเกณฑ์ดี และมีปริมาณมากกว่าปี 59 พบว่า พื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภาวะแห้งแล้ง มี 47 จังหวัด 3.82 ล้านไร่ (พื้นที่เสี่ยงสูง 0.23 ล้านไร่ ปานกลาง 2.59 ล้านไร่) ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน (ข้อมูล 18 ธ.ค. 60) และในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ได้เตรียมมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ประกอบดัวย 4 มาตรการ 18 โครงการ งบประมาณ 11,730.21 ล้านบาท สรุปผลการดำเนินงานดังนี้

มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยง

1 ติดตามสถานการณ์น้ำ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืช ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งช่วงเวลา พร้อมแจ้งข่าวสารพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งผ่านทางเว็บไซด์กรมพัฒนาที่ดิน

2 ปรับปรุงแผนที่แล้งซ้ำซากในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้วเสร็จ 42%

มาตรการที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร

1 โครงการปลูกพืชหลากหลาย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 38,629 ราย 326,711 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจแปลงเกษตรกร

2 โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 15,096 ราย พื้นที่ดำเนินการ 175,10 ไร่ อยู่ระหว่างไถเตรียมดิน 40,378 ไร่ ส่วนที่เพิ่มเติมอย่ะหว่างรับสมัครเกษตรกร

3 โครงการปลูกพืชอาหารสัตว์ รับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ ธ.ค. 60 – ก.พ. 61 ยื่นสมัครแล้ว 20 จังหวัด 731 ราย 5,770 ไร่ อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว 360 ราย 3,176 ไร่ 3 งาน(ข้าวโพดหมัก 2,674 ไร่ 2 งาน เมล็ด 502 ไร่ 1 งาน)

4 โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 610,753 ไร่

มาตรการที่ 3 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

1 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง ระบบกระจายน้ำ ดำเนินการแล้ว 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 7 ของเป้าหมาย

2 สร้างแหล่งน้ำนอกเขตชป. แล้ว 13,970 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 31 ของเป้าหมาย

3 ก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว 13 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 27 ของเป้าหมาย

นอกจากนี้ รวมถึงมาตรการที่ 4 การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย ประกอบด้วย

1 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบระทรวงการคลังฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง

2 การประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

3 การจ้างแรงงานชลประทาน โดยกรมชลประทาน

4 การสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์ที่ประสบสาธารณภัย โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์

จาก www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ลอยตัวแต่ห้ามขายเกิน 23.50 บ.

กรมการค้าภายในเตรียมประชาสัมพันธ์ราคาขายน้ำตาล ณ หน้าโรงงาน-ขายปลีกสะท้อนราคาตลาด ขู่หากพบจำหน่ายเกินมีโทษทางกฎหมาย

ผู้สื่อข่าย “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายบุญฤทธิ์  กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ ภายหลังจากการประกาศยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน และยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทรายภายในประเทศเพื่อการบริโภค (ลอยตัวราคาน้ำตาล)ร่วมกับผู้ประกอบการยี่ปั๊ว 20 ราย

ล่าสุดสถานการณ์ราคาขายน้ำตาลทรายหน้าโรงงานและขายปลีกได้ปรับลดลงตามการลอยตัวน้ำตาลของกระทรวง

”ไม่ได้มีผลกระทบต่อราค่าค้าปลีก” เพราะจากการหารือผู้ประกอบการส่วนใหญ่รวมไปถึงโรงงานน้ำตาลได้มีการปรับตัวไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้สต๊อกน้ำตาลไม่เหลือค้าง สามารถระบายออกไปได้ภายใน 3-4 วันก็หมด จึงไม่ควรคงขายราคาน้ำตาลทรายที่แพงเกินไป

หลังจากนี้ กรมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทั้งยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว “รับทราบ” ถึงราคาขายน้ำตาล ณ หน้าโรงงานกับราคาขายปลีกให้มีการจำหน่ายที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยราคาน้ำตาล ณ หน้าโรงงานขายส่งไม่เกินที่ราคา 1,104.75 บาท/50 กก. สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และราคาขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ขายไม่เกินราคา 23.50 บาท/กก. หากพบว่ายังมีการจำหน่ายน้ำตาลทราย “เกินกว่าราคาแนะนำ” กรมการค้าภายในก็จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ทันที โดยใช้อำนาจของคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.)

“กรมจะแจ้งไปทุกโรงงานน้ำตาลผู้ประกอบการ ตลาดสด ร้านค้าปลีกทั่วไป ให้ขายน้ำตาลทรายในราคาที่ไม่เกินราคาแนะนำ ซึ่งจะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 สัปดาห์ จากนั้นกรมก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายเกินราคาแนะนำหรือไม่ หากพบก็จะดำเนินการเข้าจับกุมและตรวจสอบในการกระทำความผิด หากให้เหตุผลว่า รับน้ำตาลมาแพงก็จะต้องสืบต่อไปถึงต้นต่อ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง หากพบกระทำผลจริงมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายบุญยฤทธิ์  กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายหลังการลอยตัวน้ำตาลยังพบปัญหาการขายน้ำตาลทรายในราคาที่สูงเกินราคาแนะนำ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสดกับร้านค้าทั่วไป ขณะที่ในห้างสรรพสินค้า – โมเดิร์นแทรด ยังขายต่ำกว่าราคาแนะนำ และจากการสำรวจราคาขายโดยทั่วไป ขายอยู่ที่ราคา 21.50 บาท/กก. ส่วนการนำน้ำตาลทรายออกจากบัญชีควบคุมหรือไม่นั้น ”เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา” โดยกรมจะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561

ส่งแตนเบียน สู่แมลงศัตรูพืช

                    นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มอบหมายให้ นายจิรประวัติณ์ ไทยประสิทธิ์ น.ส.สาวรีย์ จันทร์คำ และ น.ส.วิริยา พรมมารัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และ นายเอกพล มนต์เดช พร้อมด้วย นายสุรสร กุลวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบือ ติดตามงานการระบาดของศัตรูมะพร้าว อ้อย และข้าว                

                   นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร มอบหมายให้ นายจิรประวัติณ์ ไทยประสิทธิ์ น.ส.สาวรีย์ จันทร์คำ และ น.ส.วิริยา พรมมารัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร และ นายเอกพล มนต์เดช พร้อมด้วย นายสุรสร กุลวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบือ ติดตามงานการระบาดของศัตรูมะพร้าว อ้อย และข้าว ณ ตำบลโนนพลวง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

              โดยเบื้องต้นได้มีการปล่อยแตนเบียน (trichogramma sp.)เพื่อควบคุมระยะไข่ของหนอนหัวดำ อัตรา 10 แผ่น แผ่นละ 2,000 ตัว โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน เนื่องจากได้รับแจ้งจากเกษตรกร ว่าพบการทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าวถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพและสร้างอุโมงค์เป็นทางยาวอาศัยกัดกินอยู่ภายในอุโมงค์และจะเข้าดักแด้ภายในอุโมงค์และมีการกัดกินใบมะพร้าวด้วย

              สำหรับแตนเบียนเป็นแมลงที่อยู่ในอันดับเดียวกับ ผึ้ง มด ต่อ และแตน แต่เนื่องจากมีช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ต้องอาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกแมลงชนิดอื่นและกินแมลงนั้นเป็นอาหาร จึงได้ชื่อว่าแตนเบียน จะต่างจากปรสิตตรงที่ในที่สุดจะฆ่าแมลงอาศัยในขณะที่ปรสิตทำให้เจ้าบ้านอ่อนแอหรือเกิดโรค แต่ไม่ฆ่าเจ้าบ้าน แมลงในกลุ่มนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อาจสูงกว่าแมลงในกลุ่มด้วงซึ่งเคยคาดว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุดในกลุ่มแมลง       

     สาเหตุที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแตนเบียนมากเท่ากับผึ้งและมด ต่อ แตน นั้นอาจมาจากแตนเบียนเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก บางชนิดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจมีขนาดเล็กมากถึง 0.5 มิลลิเมตร ซึ่งแตนเบียนกลุ่มนี้จะเบียนไข่ของแมลงชนิดอื่น นอกจากนี้แตนเบียนมีลักษณะโครงสร้างของร่างกายที่เปราะบาง ต้องใช้ความระมัดระวังสูงในการเก็บรักษาและขยายพัน เนื่องจากแตนเบียนดำรงชีวิตกึ่งปรสิต จึงเป็นตัวควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นพาหะนำโรค สามารถนำความรู้นี้มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมโดยชีววิธี ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ลดการใช้สารฆ่าแมลง และรักษาสิ่งแวดล้อม       

     ในปัจจุบันประเทศไทยได้นำแตนเบียนมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูในธรรมชาติแล้ว เช่นใช้เบียนมวลลำไย เบียนหนอนใยผัก ซึ่งหนอนชนิดนี้ได้ก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะทำลายพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เช่น กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดหัว ผักกาดขาวปลี และผักอื่น ๆ อีกหลายชนิด     

     ซึ่งการนำแตนเบียนมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการผลิตและให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่เหมาะสมแก่การนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ อย่างกว้างขวางต่อไป

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561

เกษตรฯ ยื่นของบ '62 กว่า 2 แสนล้าน หวังกระตุ้นศักยภาพการผลิต

              เกษตรฯ เผย ปี 62 เสนอของบประมาณแล้ว รวมกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงบฯ พิจารณา              โดยกำหนดเดินหน้าแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิต ผนึก 7 กระทรวงต่อเนื่อง พร้อมรุก 16 นโยบายสำคัญ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็งและยั่งยืน

          นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  เปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอขอตั้งงบประมาณ รวมจำนวนกว่า 213,386 ล้านบาท โดยจำแนกงบประมาณเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

            1. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,969 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) ซึ่งประกอบด้วยแผนงานพื้นฐานหรือแผนงานยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 37,581 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 117,873 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวข้อง 11 แผนบูรณาการ ซึ่งมีงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานการบริหารจัดการน้ำ แผนงานพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และแผนงานการวิจัยและนวัตกรรม และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) เพื่อพัฒนาพื้นที่ระดับภาค จำนวน 30,961 ล้านบาท

              สำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร ปี 2562  ซึ่งอยู่ในกลุ่มงบประมาณ Agenda ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. เป็นเจ้าภาพ ได้เสนอของบประมาณ รวมทั้งสิ้น 20,365 ล้านบาท มีหน่วยงานร่วมบูรณาการ 7 กระทรวง 60 หน่วยงาน 4 รัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และรัฐวิสาหกิจ มีเป้าหมายหลัก 2 เป้าหมาย คือ

             เป้าหมายที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้น 5 สินค้า (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา) + 4 plus (สับปะรด มะพร้าว ปศุสัตว์ ประมง) โดยพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด พัฒนาศักยภาพกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร และพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตร  เป้าหมายที่ 2 เกษตรกรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็ง

              ทั้งนี้ คำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ในจำนวนกว่า 213,386 ล้านบาท เป็นงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 16 นโยบาย จำนวน 143,109 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะอยู่ที่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และเกษตรอินทรีย์

            เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า การเสนอของบประมาณปี 2562 ได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อเดินหน้าการผลิตภาคการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอคำของบประมาณ ไปยังสำนักงบประมาณพิจารณา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบต่อไป

จาก www.komchadluek.net วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

จ่อบีบโรงงานส่งออก ซื้อนํ้าตาลราคาในปท.

วงการนํ้าตาลปูดมีชาว ไร่อ้อยและโรงงานบางส่วน ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออกหันมาซื้อนํ้าตาลราคาในประเทศ จุดฉนวนเลิกซื้อจากราคาอนท. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารโอดจะทำให้ต้นทุนนํ้าตาลพุ่ง 20% อีกทั้งแบกภาระค่าแรงและยังต้องเผชิญปัญหาค่าเงินซํ้าเติมรอบด้าน

นับจากที่ราคานํ้าตาลลอยตัว โดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคภาคครัวเรือนยอมรับได้กับราคาใหม่ เพราะบริโภคนํ้าตาลขายปลีกในโมเดิร์นเทรดในราคาที่ถูกลง 2 บาทต่อกิโลกรัมจากราคา 23.50 บาทต่อกิโลกรัมลงมาอยู่ที่ 21.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้ามองในด้านภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตเพื่อส่งออกกลับอยู่ในสถานการณ์วิตกกังวล เนื่องจากมีกลุ่มชาวไร่อ้อยและโรงงานนํ้าตาลบางรายมองว่า ในเมื่อราคานํ้าตาลลอยตัวไปแล้ว ราคานํ้าตาลที่ขายให้ภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกควรจะซื้อนํ้าตาลในราคาในประเทศ จากเดิมที่ซื้อนํ้าตาลในราคาจากบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทย จำกัด หรืออนท.หรือซื้อนํ้าตาลในราคานํ้าตาลโควตา ค.เดิม

แหล่งข่าววงการอ้อยและนํ้าตาลกล่าวว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (สอน.) กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ เนื่อง จากมีทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่ได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อการส่งออกจะมีต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่ชาวไร่อ้อย โรงงานนํ้าตาลจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เพราะราคานํ้าตาลสูงขึ้น ส่วนความคืบหน้าการระบายสต๊อก นํ้าตาลราว 4 แสนกระสอบที่ค้างอยู่นั้น ขณะนี้ได้ระบายหมดไปแล้ว แปลว่าขณะนี้ราคานํ้าตาลหน้าโรงงานและราคาขายปลีกลอยตัว 100% แล้ว โดยผู้บริโภคใช้นํ้าตาลในราคาที่ถูกกว่าเดิม ส่วนอนาคตยังไม่สามารถตอบได้ว่าราคานํ้าตาลจะเป็นอย่างไรเพราะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายปัจจัย

นายปิยวงศ์ ศรีแสงนาม เลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตผลไม้อบแห้งส่งออกกล่าวว่า ถ้าให้ผู้ประกอบการหันมาใช้นํ้าตาลราคาในประเทศ และยกเลิกการซื้อในราคาอนท. จะทำให้ต้นทุนด้านนํ้าตาลของบริษัท เจริญอุตสาหกรรมฯสูงขึ้นทันที 20% เนื่องจากปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออกสัดส่วนสูงถึง 95% ยอมรับว่าเผชิญปัญหารอบด้านทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น ค่าแรงงานที่กำลังจ่อจะปรับขึ้นวันที่ 1 เมษายนนี้ รวมถึงปัญหาที่หนักใจที่สุดในขณะนี้คือผลกระทบจากบาทแข็งค่ากระทบต่อการส่งออกโดยตรง สำหรับต้นทุนด้านนํ้าตาล อยากจะให้คงที่ราคาอนท.ไว้ซึ่งจะถูกกว่าราคาในประเทศ

ด้านนายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท นํ้าตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้ถ้ามีการเสนอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย ก็ไม่น่าจะผ่าน เพราะเวลานี้ราคาในประเทศกับราคาตลาดโลกยังต่างกันอยู่ ซึ่งราคาในประเทศยังมีค่าบริหารจัดการ ค่าต้นทุน ค่าขนส่ง จึงมั่นใจว่าราคานํ้าตาลสำหรับผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อส่งออกยังซื้อที่ราคาอนท.ต่อไป ไม่เช่นนั้นแล้วกลายเป็นว่าผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่ใช้นํ้าตาลเป็นวัตถุดิบต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น

จาก www.thansettakij.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

เร่งยี่ปั๊วขายสต๊อกน้ำตาลยึดราคาใหม่

พาณิชย์ถกผู้ค้าส่งกระจายน้ำตาลทรายราคาใหม่ไปยังร้านค้าปลีก ชี้ราคาต้องลด 1.60-1.80 บาท/กก.

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ประชุมแนวทางการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศร่วมกับผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) น้ำตาลทรายจำนวน 20 ราย โดยทางยี่ปั๊วยืนยันที่จะกระจายน้ำตาลทรายตามราคาใหม่ที่ได้รับจากโรงงานไปยังซาปั๊วและร้านค้าปลีกทั่วไป

ทั้งนี้ ได้รับแจ้งว่าสต๊อกน้ำตาลทรายเก่าหมดแล้ว มีแต่สต๊อกใหม่ โดยเมื่อซาปั๊วและร้านค้าปลีกรับไปจำหน่ายต่อ ก็จะต้องขายในราคาที่ปรับลดลงตาม หากจำหน่ายในราคาที่สูงเกินไปกว่าประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะถือว่ามีความผิด มีโทษ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"การลอยตัวราคาน้ำตาลทราย ไม่ใช่ว่าจะขายในราคาไหนก็ได้ แต่ราคาจำหน่ายมีการประกาศเป็นเกณฑ์เอาไว้ โดยยึดตามราคาตลาดโลก ถ้าราคาตลาดโลกลง ก็จะปรับราคาลง ซึ่งขณะนี้ราคาตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาหน้าโรงงานลดลง 1.60-1.80 บาท/กิโลกรัม (กก.) ต้องยึดตามนี้ ดังนั้นราคาปลายทางก็ต้องลด 1.60-1.80 บาท/กก. เช่นกัน" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

จี้รื้อเกณฑ์โขกภาษีเกษตรกร สภาเกษตรฯร้องขยายเพดานเหมาหักค่าใช้จ่าย

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีมติแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบต่อเกษตรกร จากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะทำงานได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มาให้ข้อมูลและร่วมกันพิจารณา

โดยที่ประชุมเห็นว่า ในมาตรา 8ของพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60เว้นแต่จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น จึงยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น แต่เกษตรกรมีข้อจำกัดเรื่องการแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ประกอบกับจากข้อเท็จจริงจากข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปี 2555–2559 ของศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายจริงต่อรายได้เฉลี่ย 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 82.56 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ที่กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80-85 ของเกษตรกรภาคการผลิต ที่ประชุมจึงมีมติให้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่ายดังกล่าวอีกครั้ง

นายสิทธิพรกล่าวต่อว่า สภาเกษตรกรฯได้นำมติของที่ประชุมคณะทำงาน จัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือเสนอให้พิจารณาปรับปรุงกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินของภาคเกษตรกรรม ตามรายการที่ระบุในมาตรา 8กฎหมายดังกล่าว ซึ่งระบุผู้มีเงินได้จากภาคเกษตรกรรม จำนวน 7 รายการ คือการทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล, การจับสัตว์น้ำ, การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ, การอบ หรือบ่มใบยาสูบ, การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้, การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้, และการทำนาเกลือ ซึ่งจากกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 60 เป็นกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายโดยเหมาร้อยละ 85 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยขอให้การพิจารณาปรับปรุงมีผลบังคับใช้ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ปีปัจจุบัน เพื่อลดความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรมจากกฎหมายดังกล่าว

จาก www.naewna.com  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561

“พาณิชย์” ขีดเส้น 1-2 สัปดาห์ขายน้ำตาลให้ถูกต้องก่อนจับจริง

“พาณิชย์” ถกยี่ปั๊วน้ำตาลทรายลดราคาน้ำตาลทรายให้ตรงตามต้นทุนที่ลดลงก่อนกระจายไปยังซาปั๊วและผู้ขายปลีก เผยจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ตลาดสด ร้านค้าทั่วไป ปรับลดราคาตามต้นทุนที่ลดลง ขีดเส้นภายใน 1-2 สัปดาห์ก่อนส่งทีมออกตรวจสอบ ย้ำหากพบขายแพงกว่าราคาที่กำหนดเล่นงานตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อหารือแนวทางการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศร่วมกับยี่ปั๊วน้ำตาลทรายจำนวน 20 รายเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ว่า ทางยี่ปั๊วได้ยืนยันว่าจะกระจายน้ำตาลทรายตามราคาใหม่ที่ได้รับจากโรงงานไปยังซาปั๊วและร้านค้าปลีกทั่วไป เพราะขณะนี้สต๊อกเก่าหมดแล้วมีแต่สต๊อกใหม่ โดยเมื่อซาปั๊วและร้านค้าปลีกรับไปจำหน่ายต่อก็จะต้องขายในราคาที่ปรับลดลงตาม หากจำหน่ายในราคาที่สูงเกินไปกว่าประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ตอนนี้กรมฯ จะทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายไม่ได้หมายความว่าจะขายในราคาไหนก็ได้ แต่ราคาจำหน่ายมีการประกาศเป็นเกณฑ์เอาไว้ โดยยึดตามราคาตลาดโลก ถ้าราคาตลาดโลกลงก็จะปรับราคาลง ซึ่งขณะนี้ราคาตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาหน้าโรงงานลดลง 1.60-1.80 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ก็เอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง ราคาปลายทางก็ต้องลด 1.60-1.80 บาท” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า กรมฯ ได้ทำการสำรวจราคาน้ำตาลทราย หลังจากมีการลอยตัวราคาพบว่าในห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ มีการจำหน่ายในราคา 21.50 บาทต่อ กก. ลดลงเกินกว่าราคาหน้าโรงงานที่ปรับลดลง 1.60-1.80 บาท โดยทางห้างได้ปัดเศษให้ ให้เหตุผลว่าทอนเงินยาก ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ส่วนในตลาดสด ร้านค้าปลีกทั่วไปยังจำหน่ายในราคาขายปลีกสูงสุดที่ 23.50 บาทต่อ กก. และบางแห่งพบว่าจำหน่ายอยู่ที่ 24 บาทต่อ กก. โดยบอกว่าเป็นการปัดเศษ ซึ่งจริงๆ จะต้องจำหน่ายในราคาที่ลดลงตามสัดส่วน

ทั้งนี้ กรมฯ จะทำการประชาสัมพันธ์และให้เวลาปรับตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์เพื่อให้จำหน่ายในราคาที่ถูกต้อง และจากนั้นจะจัดส่งทีมงานลงไปตรวจสอบการจำหน่ายในตลาดสด ร้านค้าปลีกทั่วไป หากตรวจสอบพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคาที่กำหนดก็จะดำเนินการตามกฎหมายทันที และจะตรวจสอบย้อนกลับไปด้วยว่ารับน้ำตาลทรายมาจากใคร ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รายไหน หากเป็นการขายราคาสูงกว่าราคาที่กำหนดมาก่อนที่จะถึงผู้ค้าปลีกก็จะเล่นงานตามกฎหมายด้วย

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

พาณิชย์เต้นพ่อค้าโก่งราคาน้ำตาลทรายหลังลอยตัว ขู่ยังขายเกินราคาเจอคุกแน่

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวภายหลังได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายบรรจุถุงในท้องตลาด ว่า ขณะนี้พบว่ามีการปรับขึ้นราคาขึ้นสูงกว่าราคาเพดานขายปลีกที่กำหนดคือ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าหลังจากการลอยตัวแล้วจะจำหน่ายราคาใดก็ได้ และส่วนหนึ่งก็อ้างว่าน้ำตาลทรายที่จำหน่ายในปัจจุบันเป็นสต๊อกเก่าทำให้ต้องจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ลอยตัวอยู่นั้นทำให้ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในไทยลดลงเกือบ 2 บาท คือระหว่าง 1.80-1.90 บาทต่อก.ก. โดยราคาขายส่งหน้าโรงงานอยู่ที่ 1,104.75 ต่อกระสอบ50 ก.ก.

ดังนั้นจึงได้เชิญผู้ประกอบการ ร้านค้าขายส่ง ปลีก ยี่ปั๊วผู้แทนจำหน่ายน้ำตาลทราย ตัวแทนตลาดสดมาประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายว่าเป็นแบบลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ เนื่องจากน้ำตาลยังเป็นสินค้าในบัญชีควบคุมมีการกำหนดราคาเพดานไว้ไม่เกิน 23.50 บาทต่อก.ก. และการลอยตัวไม่ใช่การปล่อยให้ราคาปรับขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นราคาที่ขึ้นอยู่กับตลาดโลก

ดังนั้นทางกรมการค้าภายในจึงได้เรียกผู้ประกอบการ ยี่ปั๊ว ตัวแทนตลาสด เป็นต้น มาหารือถึงสาเหตุว่าทำไมจึงมีการขายน้ำตาลทรายในราคาที่สูงกว่าเพดานที่กำหนดไว้ทั้งๆ ที่ราคาหน้าโรงงานลดลง และอ้างว่าราคาที่จำหน่ายนั้นเป็นราคาน้ำตาลในสต็อกเดิมก็ไม่น่าจะจริงเพราะก่อนหน้าที่จะประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลก็ใช้เวลาพอสมควรก่อนจะประกาศใช้จริงและสต๊อกเก่าก็น่าจะหมดไปแล้ว ซึ่งในประเด็นนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ยืนยันมาเช่นกัน ดังนั้นจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสต๊อกน้ำตาลว่ายังเหลือมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคาที่กำหนดอยู่ จะมีโทษไม่ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาราคาสินค้าและบริการจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

“หลังการประชุมยี่ปั๊วยืนยันว่าสต๊อกเดิมขายหมดแล้วและลดราคาจำหน่ายไปตั้งแต่มีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล ดังนั้นผู้จำหน่ายทั้งระบบจะใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ว่าจำหน่ายในราคาสูงเพราะใช้สต็อกเดิม และหากมีการตรวจพบก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อไป” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

ไฟไหม้กากอ้อยโรงงานน้ำตาล แก้งสนามนางโคราช

 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.15 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้กากอ้อย บริเวณลานกากอ้อยโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่แล้ใกล้เคียงเร่งเข้าระงับเหตุ เบื้องต้นโรงงานดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพลิงที่ไหม้กากน้ำตาลอยู่ระหว่างการลุกไหม้

 ขณะที่โรงงานประการระงับการปฏิบัติงานภายในโรงงานชั่วคราว พร้อมอพยพพนักงานไปยังจุดปลอดภัย ล่าสุดสามารถควบคุมเพลิงได้เมื่อเวลา 14.00 น. เสียหาย 2 ไร่

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

“สมคิด”แนะใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบเกษตรไทย

“สมคิด”แนะใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบเกษตรไทย ยกระดับสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

วันที่ 12 ก.พ.61 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติในการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “แนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ” โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาด้านการเกษตร และแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการผลิตและแปรรูปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่านการร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ การจัดงานในวันนี้ถือเป็นการผลักดันแนวทางในการดำเนินงานเพื่อยกระดับภาคเกษตรของไทย โดยมองว่าการทำเกษตรยุคใหม่ต้องใช้การตลาดนำการผลิต โดยใช้ข้อมูลร่วมกันกำหนดทิศทางผ่านองค์กรการเกษตร สถาบันการเกษตรและระบบสหกรณ์ ด้วยตัวแปรของพื้นที่ที่มีความเหมาะสมแก่การผลิต คู่ไปกับการทำการตลาดเพื่อให้ข้อมูลในการผลิตตามความต้องการของตลาด โดยเชื่อว่าราคา ข้าว ยาง ปาล์ม จะดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งในตอนนี้เราต้องใช้ช้อมูลในการเพาะปลูกผสานการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับสินค้าของทั้งประเทศ

“ขอสถาบันเกษตรกรอย่าตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง เกษตรกรต้องต้องมีความเข้มแข็งด้วยการร่วมกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและชุมชน โดยมองว่าการสร้าง Yung Smart Farmers เพื่อเป็นผู้นำการเกษตรทุกหมู่บ้าน ซึ่งในขณะนี้มีกว่า 7,000 คนทั่วประเทศแล้ว ซึ่งเกษตรรุ่นใหม่จะเป็นแกนนำสำคัญในการสร้างความร่วมมือในชุมชน ใช้เทคโนโลยีในการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ”รองนากยกฯ กล่าว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาได้มีการช่วยเหลือและปูพื้นฐานในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในเฟสสองก็ขอให้เราขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานตามที่กำหนดให้ทัน ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานเต็มที่ และขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล ซึ่งจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

กษ.หวั่นภัยแล้ง47จังหวัด สั่งเตรียมเครื่องสูบน้ำช่วย

 “กฤษฎา” เร่งคุมพื้นที่ปลูกข้าว 8 ล้านไร่ หวั่นเผชิญ “ภัยแล้ง” สั่งกรมชลเตรียมเครื่องสูบน้ำช่วยพื้นที่ คาด “ประสบแล้ง 47 จังหวัด พื้นที่ 3.8 ล้านไร่” ชี้ “เพชรบุรี-โคราช” ปัญหาหนักสุด

เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรฯได้วิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่าง ซึ่งคาดการณ์ว่ามีโอกาสเกิดภัยแล้งในปี2560/2561 รวม 47จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 3.8ล้านไร่ ว่า ตนสั่งการให้กรมชลประทานเร่งนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งสแตนบายไว้ก่อนในพื้นที่ พร้อมกับให้เกษตรจังหวัด อำเภอ ตำบล เร่งเข้าไปสำรวจเกษตรกรที่สมัครเข้าโครงการการปลูกพืชหลากหลายทดแทนการทำนา อาทิ ข้าวโพด และปอเทือง ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับเงินสนับสนุน 2,000 บาทต่อไร่ ดังนั้นทางกระทรวงเกษตรฯจึงต้องลงไปติดตามว่าเกษตรกร ได้ลงมือปลูกพืชอื่นจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าว 15ล้านไร่ ให้ลดลงเหลือ 8ล้านไร่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมชลฯยืนยันว่า ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกยังไม่เกินแผน อยู่ในภาวะควบคุมได้ ซึ่งในสัปดาห์นี้ตนจะเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวง เพื่อแบ่งพื้นที่ลงไปติดตามแผนปฎิรูปการเกษตรและโครงการของรัฐบาล 15โครงการ อาทิ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ แผนข้าวอินทรีย แผนข้าวครบวงจร การลดพื้นที่ปลูกข้าว-ยาง เลี้ยงโค เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องเชื่อมกับพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด ให้มีตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายงานของเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ปัญหาภัยแล้ง2560/2561โอกาสเกิดความแห้งแล้งในปีนี้ รวม 47จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 3.8ล้านไร่ ลดลงจากปี60 โดยภาคเหนือจะมีพื้นที่เกษตรประสบความแห้งแล้งใน 16จังหวัด พื้นที่ 3.7แสนไร่ ภาคอีสาน14จังหวัด 2.42ล้านไร่ ภาคกลาง 8จังหวัด พื้นที่ 5.96แสนไร่ ภาคตะวันออก 6จังหวัด พื้นที่ 3.61แสนไร่ ภาคใต้ 3จังหวัด พื้นที่7.2หมื่นไร่ พื้นที่จับตามองพิเศษ จังหวัดที่จะประสบภัยแล้งรุนแรง โดยประเมินโอกาสที่พื้นที่ทางการเกษตรจะเสียหายมากที่สุดใน 2จังหวัด คือ จ.นครราชสีมาและจ. เพชรบุรี ที่จะขาดแคลนน้ำทำนา โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรัง พืชไร่และไม้ผลยืนต้นจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมทั้งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้วิเคราะห์และทำควบคู่กับการวางแผนผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังอย่างพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งสถานการณ์ราคาข้าวดีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูก ทั้งข้าวหอมมะลินาปรังในภาคอีสานและภาคกลาง โดยกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงเดือนมิถุนายนอาจประสบภัยแล้งที่กระทบคุณภาพในด้านความหอมและราคาตกต่ำได้โดยกระทรวงเกษตรฯได้เร่งลงพื้นที่ ชี้แจงให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง เพื่อเร่งวางแผนเพาะปลูกร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ป้องกันผลิตเสียหายได้

จาก www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

โหวตล้มพ.ร.บ.อ้อยฉบับสนช. ชาวไร่-รง.ขัดแย้งหนักปม”ผลพลอยได้”

ประชาพิจารณ์ - ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลหลายร้อยคนร่วมกันทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับ สนช.

ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาลโหวตล้มร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับของ สนช. เคลียร์ปม “ผลพลอยได้” ไม่ลงตัว ร้องให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมของกระทรวงอุตสาหกรรมมาปัดฝุ่น

 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ยกร่าง

โดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีชาวไร่อ้อยและโรงงานมาเข้าร่วมหลายร้อยคน และแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ดุเดือด พร้อมกับมีการโห่ร้อง และยกมือด้วยเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย และขอให้ล้มร่าง พ.ร.บ.อ้อยฉบับดังกล่าว โดยที่ประชุมขอให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ทาง สอน. กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล เคยร่วมกันทำมา และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วประมาณปีกว่าที่ผ่านมา เพราะร่างใหม่มีเปลี่ยนแปลงหลายมาตรา

โดยตัวแทนจากสหพันธ์ และสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ขอรับร่างฉบับดังกล่าว จะสร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องผลพลอยได้ โดยต้องการให้มีการเติมผลิตภัณฑ์อื่นมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยไม่จำกัดว่าต้องมาจากอ้อย นอกจากนี้ มีประเด็นที่ชาวไร่อ้อยด้วยกันขัดแย้งกันเองในมาตรา 20 ในเรื่องของ “สถาบันชาวไร่อ้อย” ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับสหกรณ์ รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นถึง 4 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า จะนำข้อคิดเห็นทั้งหมดไปดำเนินการใน 2 ทางเลือก ระหว่าง 1.เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หรือ 2.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดไปปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากภายในเดือน มี.ค. 2561 สอน.เตรียมเดินทางไปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อพบกับทางบราซิล ในการทำหนังสือแลกเปลี่ยนความตกลงระหว่างไทยกับบราซิล จากกรณีที่บราซิลยื่นเรื่องข้อห่วงกังวลต่อ WTO กล่าวหาไทยถึงการอุดหนุนน้ำตาล ส่งผลให้กลไกราคาไม่เป็นไปตามราคาตลาดโลก จึงผิดเงื่อนไขการค้า

โดยฝั่งไทยจะร่างหนังสือให้บราซิลชะลอการยื่นฟ้อง และตั้งคณะผู้พิจารณา (panel) ต่อ WTO เนื่องจากไทยได้ทำการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล อิงตามราคาตลาดโลก โดยใช้สูตรคำนวณ London No.5 +ไทยพรีเมี่ยม ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 และคาดว่าทางบราซิลจะร่างหนังสือว่าด้วยความพอใจในการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย โดยยังขอดูในทางปฏิบัติของไทย ซึ่งอาจใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1 ปีก่อน ซึ่งทางบราซิลเองคงยังไม่ยุติการถอนเรื่องที่ยื่นข้อห่วงกังวลต่อ WTO เมื่อแลกหนังสือกันเสร็จเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ทาง สอน.จะเสนอ ครม.รับทราบ แล้วเดินหน้าต่อในการแก้ พ.ร.บ.ให้แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ล่าสุดสอน.ได้ส่งหนังสือถึงโรงงานน้ำตาลน้ำให้จ่ายส่วนต่างเพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตามสูตรการคำนวณราคาน้ำตาลลอยตัว โดยกำหนดราคาสำรวจเฉลี่ยน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานเดือนม.ค.ที่ 17.22 บาท ซึ่งทางโรงงานต่างเห็นว่า ไม่สะท้อนราคาขายหน้าโรงงานที่แท้จริง และจะนัดหารือเรื่องนี้กันอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.นี้

รง.น้ำตาลร้องแก้ 4 มาตรา

ล่าสุด 2 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายโดยระบุข้อคิดเห็นเหมือนกัน ฉบับแรกลงนามโดยนายกฤษฎา มนเฑียรวิเชียรฉาย นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และฉบับที่ 2 ลงนามโดย นางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ นายกสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย ได้เสนอข้อคิดเห็น พอสรุปได้คือ

1.การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควร 1.1 ยึดกรอบแนวทางของคณะทำงานพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบที่ กอน.แต่งตั้ง ซึ่งชาวไร่และโรงงานเห็นพ้องกันแล้ว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ความเป็นไปได้ในการกำหนดวิธีปฏิบัติ การบริหารจัดการระบบให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่นำไปสู่ข้อขัดแย้ง และการล่มสลายของอุตสาหกรรมนี้

1.2 ต้องให้สอดคล้องกับกติกา WTO และ 1.3 ควรลด/เลิกข้อกำหนด/กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติ

2. ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ที่ยกร่างโดย สนช. 2.1 มาตรา 3 วรรค 3 คำว่า “ผลพลอยได้” ที่ให้รวม “กากอ้อย” เพราะกากอ้อยรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อแล้วและโรงงานลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นพันล้านบาท หากนำกากอ้อยมารวมเป็นผลพลอยได้ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ทั้งสองฝ่ายต้องมีการเจรจาใหม่

2.2ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 21 (4) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร โดยให้กำหนดอัตราการหีบอ้อยปกติต่อวันของแต่ละโรงงาน

2.3 มาตรา 30 ที่กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุน เห็นว่า (1) การทำหน้าที่ของกองทุนในการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ควรให้ความสำคัญในการดูแลชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านอ้อยและโรงงาน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ของระบบ และพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้

(2) การให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ใช้วิธีเพิ่มค่าอ้อยทุกตันอ้อยให้ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ส่งผลให้กองทุนต้องมีภาระหนี้สินมาก จึงเห็นควรกำหนดเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกับการช่วยเหลือของภาครัฐแก่พืชเกษตรอื่น ๆ เช่น การกำหนดปริมาณพื้นที่ที่ต้องให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของระบบ

2.4 ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 63 (3) หมวด 10 ที่ให้อำนาจหน้าที่ “ยึดหรืออายัดสมุดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอันสมควรเชื่อว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้” เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งอายัดดังกล่าวต้องมีคำสั่งศาลก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงสามารถดำเนินการได้

2.5 ไม่เห็นด้วยกับหมวด 11 ที่กำหนดบทลงโทษทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงาน เพิ่มสูงกว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม มากขึ้นหลายเท่า จึงเห็นว่า ตามกฎหมายเดิมกำหนดบทลงโทษมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว จึงไม่ควรปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยในอดีตที่ผ่านมา ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานก็มิได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแต่อย่างใด

จาก  https://www.prachachat.net   วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561

‘อุตตม’โรดโชว์ EEC ลุยปีนี้ 3 แสนล้าน

ร่างพ.ร.บ.อีอีซี ผ่านฉลุยสนช.170 เสียงโหวตเห็นชอบ “อุตตม” เร่งเครื่องวางแผนโรดโชว์ต่างประเทศทันที ตั้งเป้าดึงการลงทุนใน 3 จังหวัดปีนี้ 3 แสนล้านบาท ยืนยันมีแผนดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ... หรือพ.ร.บ.อีอีซี ในวาระ 2 และเห็นชอบวาระ 3 ให้ประกาศเป็นกฎหมายด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ใช้เวลาในการพิจารณาเกือบ 8 ชั่วโมง รัฐบาลหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศ

มาตราที่อภิปรายมาก เช่น มาตรา 6 ที่กำหนดพื้นที่อีอีซีครอบคลุมฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยนายวันชัย ศารทูตทัต สมาชิก สนช.เสนอตัดประเด็นการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มพื้นที่อีอีซี ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ชี้แจงว่า บางโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควรให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนต้นทางด้วย เช่น การพัฒนาพื้นที่มักกะสัน จึงมีเสียงเรียกร้องให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมได้

มาตรา 34 ประเด็นความจำเป็นในการหาที่ดินเพื่อการพัฒนาอีอีซี โดยมาตรานี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ตัดถมทะเลออกทั้งหมด แต่มีข้อเสนอจาก พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิก สนช.เสนอให้ใส่เรื่องนี้ไว้ตามเดิม เพราะการพัฒนาท่าเรือจำเป็นต้องถมทะเลแต่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า เป็นเรื่องอ่อนไหวจึงตัดออก แต่การถมทะเลยังทำได้ตามเงื่อนไขกฎหมายปกติ

การพิจารณาของ สนช.ครั้งนี้ มีการตัดออกเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 59/2 ที่ยกเว้นการใช้กฎหมายสถานศึกษาเอกชน และให้อำนาจเลขาธิการอีอีซีอนุมัติตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

หลังการลงมติ นายวิษณุ กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากขอบคุณสนช.ทุกคน และรัฐบาลจะใช้กฎหมายนี้ผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้ขยายตัวต่อจาก 35 ปีที่แล้วที่ รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผลักดันอีสเทิร์นซีบอร์ดสำเร็จ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากนี้ สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้คณะรัฐมนตรีภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกภายใน 60 วัน และสรรหาเลขาธิการสำนักงานอีอีซีภายใน 90 วัน ในขณะที่การทำพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายฯ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และสร้างความมั่นใจให้ภาคประชาชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค โดยจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข สถาบันการศึกษา

นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการทำงานไว้แล้ว โดยเฉพาะการชักจูงการลงทุนที่จะเริ่มทันทีในเดือน ก.พ.นี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป และการโรดโชว์รอบนี้จะเจาะกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อากาศยาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในอีอีซีได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะมีรายใหม่เข้ามาลงทุน ในขณะที่นักธุรกิจจีนวางแผนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเช่นกัน และปีนี้ตั้งเป้าหมายมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 300,000 ล้านบาท

นายคณิศ กล่าวว่า ในปี 2561 จะผลักดัน 5 โครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทยและแอร์บัส โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โดยโครงการส่วนใหญ่จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี

ทุนใหม่เด้งรับ พ.ร.บ.อีอีซี นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมเหมราช กล่าวว่า การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจ หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ล่าช้ามานาน และกฎหมายฉบับนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการลงทุนในอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เสนอความเห็นให้ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่

นางสาวจรีพร กล่าวว่า หลังเทศกาลตรุษจีนจะมีนักธุรกิจจีนเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนกว่า 600 ราย เพื่อมาดูลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ อากาศยาน โดยนักธุรกิจจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้โอกาสจากนโยบาย One Belt One Road ที่เชื่อมถึงประเทศไทย และถ้านักธุรกิจจีนกลุ่มนี้ลงทุนในไทยจริงเพียง 10% ก็เป็นที่น่าพอใจ

ส่วนนักธุรกิจญี่ปุ่น500 ราย ที่มาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 150 ราย ที่สนใจลงทุนในอีอีซี ซึ่งขณะนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำลังโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นก็จะเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนมากขึ้น

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561

เจาะลึกแผนจัดการน้ำรับ“อีอีซี” กรมชลฯผนึก“อีสท์วอเตอร์-กปภ.”ลุย!

               จากการขยายตัวของเมืองภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด หรือโครงการอีอีซี ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2579 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 780 ล้านลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 312 ล้านลบ.ม.ต่อปี กรมชลประทาน ร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค และอีสท์วอเตอร์ จึงได้วางแนวทางศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว 

             ประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานอธิบายว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำท่า 26,081 ล้านลบ.ม. สามารถเก็บกักได้ประมาณ 2,534 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 9 ของน้ำท่า โดยอยู่ในพื้นที่อีอีซีประมาณ 1,589 ล้านลบ.ม. และอยู่ในพื้นที่ชลประทานประมาณ 705.6 ล้านลบ.ม. ในจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งไปสนับสนุนพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศ 

                “คาดว่าความต้องการใช้น้ำในอีอีซีจะเพิ่มขึ้น ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 780 ล้านลบ.ม. ซึ่งตรงนี้กรมชลประทานมีแผนอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2560-2564 ระหว่างนี้การก่อสร้างจะดำเนินการไปเรื่อยๆ ก็จะเสร็จทันกันพอดี แต่ละโครงการใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง การวางแผนใช้น้ำในอีอีซี ประกอบด้วย 6 แผนหลัก คือปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำเดิม การสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำ การสูบน้ำกลับมาใช้ใหม่ การป้องกันน้ำท่วมและการใช้แหล่งน้ำเอกชนโดยร่วมกับอีสท์วอเตอร์ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มอีก 300 กว่าล้านลบ.ม.” ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการเผยข้อมูล

                ขณะที่ เกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 9 ได้แจงรายละเอียดในส่วนของการปรับปรุงแหล่งเก็บกักน้ำเดิม ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีอยู่ในพื้นที่ 7 แห่ง ได้แก่

              อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ หนองค้อ หนองปลาไหล บ้านบึง มาบประชัน คลองหลวง และคลองสียัด จะสามารถเพิ่มความจุได้ประมาณ 100 ล้านลบ.ม. โดยอ่างฯ คลองใหญ่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ส่วนอ่างฯ คลองสียัดจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 แล้วเสร็จในปี 2564 ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี โดยจะผันน้ำเข้ามาเติมที่อ่างฯ ประแสร์ ก่อนจะกระจายสู่พื้นที่อีอีซีต่อไป

                 “สำหรับการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันน้ำ จะมีการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำมาสู่อ่างฯ บางพระ จะเห็นว่าอ่างฯ บางพระเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำสู่เขตอีอีซี ถ้าดูเป้าหมายของแต่ละจังหวัดจะเห็นว่าในฉะเชิงเทรา น้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือน้ำเพื่อผลิตประปา เพราะรัฐบาลวางฉะเชิงเทราให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัย ชลบุรีวางไว้เป็นแรงงานคุณภาพดี การค้นคว้าและวิจัยในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนระยองเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำพวกปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นภาพรวมการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด” เกรียงศักดิ์กล่าวย้ำ

อีสท์วอเตอร์ผนึกกรมชลฯเดินหน้าเต็มสูบ

             โชคชัย ทิวสุวรรณ ผู้จัดการแผนกวิศวกรรมวางแผน อีสท์วอเตอร์ เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเตรียมพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อรองรับโครงการอีอีซีว่าขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งมีทั้งหมด 3 โครงการด้วยกันประกอบด้วยโครงการผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเดิมมีระบบสูบน้ำอยู่แล้วตรงบริเวณเขื่อนบางปะกง โดจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสูบน้ำให้มีกำลังสูงขึ้น จากเดิมได้วันละ 1.8 แสนลบ.ม.ต่อวันเป็น 3 แสนลบ.ม.ต่อวัน ทำให้สามารถสูบน้ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 ล้านลบ.ม.ต่อปี คาดว่าการดำเนินการก่อสร้างจะแล้วเสร็จปี 2562 โครงการต่อมาเป็นโครงการรับน้ำจากเอกชน โดยทางอีสท์วอเตอร์ได้วางท่อและระบบสูบน้ำเพื่อจะไปหาแหล่งน้ำเอกชนซึ่งเป็นบ่อดิน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ชลบุรี และระยอง ในส่วนนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้อีกเฉลี่ยปีละ 12 ล้านลบ.ม. บางส่วนเริ่มรับน้ำได้ในปีนี้(2561) และสามารถรับน้ำได้เต็มที่ในปี 2564 ส่วนโครงการที่ 3 เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดิบทับมา ในพื้นที่ จ.ระยอง

              โดยทางอีสท์วอเตอร์ได้เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาเป็นบ่อเก็บกักน้ำเพื่อดึงน้ำในฤดูฝนจากแม่น้ำระยองและคลองทับมามาเก็บกักไว้ ส่วนหนึ่งจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ระยองด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำได้อีก 47 ล้านลบ.ม.ต่อปี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564

              “นอกเหนือจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ทางอีสท์วอเตอร์ก็ยังร่วมกับกรมชลประทานในการจัดสรรน้ำเพื่อรองรองรับอีอีซี ซึ่งมีอยู่ 3 โครงการด้วยเช่นกัน คือโครงการแรกการขอจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร จ.ชลบุรี 20 ล้านลบ.ม. โครงการที่สองผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ประมาณ 50 ล้านลบ.ม. และโครงการที่ 3 การจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งผันมาจากอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรีประมาณ 70 ล้านลบ.ม.เพื่อส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในโครงการอีอีซี.” ผจก.แผนกวิศวกรรมวางแผน อีสท์วอเตอร์กล่าวย้ำ

กปภ.ทุ่ม9.3พันล.เพิ่มปริมาณน้ำดิบ 

             มงคล ประสิทธิ์คุ้มเพียร หัวหน้าแผนกแผนงาน การประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 กล่าวกับ "คม ชัด ลึก" ถึงการเพิ่มปริมาณน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่โครงการอีอีซี ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ล้านคนในปี 2570 โดยในส่วนของการประปาส่วนภูมิภาคนั้นปัจจุบันมีสาขาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 อยู่ทั้งหมด 13 สาขา ประกอบด้วยชลบุรี 6 สาขา ระยอง 3 สาขา และฉะเชิงเทรา 4 สาขา มีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยปัจจุบันการให้บริการอยู่ที่ 8.5 แสนลบ.ม.ต่อวัน มีผู้ใช้น้ำรวมประมาณ 6 แสนครัวเรือน หรือประมาณ 2.4 ล้านคน 

             มงคล เผยต่อว่า สำหรับแผนดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำดิบเพื่อรองรับโครงการรองรับอีอีซีนั้นมีทั้งหมดมี 5 โครงการ วงเงิน 9.3 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ  โดยระยะแรกลงทุนในปี 2561 จังหวัดละ 1 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 สำหรับโครงการ จ.ชลบุรี ขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทานในการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ จ.ชลบุรีตอนเหนือ ส่วนของ จ.ระยอง การประปาจะไปสร้างระบบประปาแห่งใหม่ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เพื่อที่จะรองรับการใช้น้ำใน จ.ระยอง รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาที่กำลังจะเกิดเมืองใหม่ขึ้นมา ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา จะไปสร้างที่ริมฝายท่าลาดเพื่อที่จะให้บริการพื้นที่ อ.พนมสารคาม อ.แปลงยาว รวม อ.บ้านโพธิ์ ที่จะมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอนาคต

              “สำหรับโครงการระยะที่สองจะเริ่มในปี 2563 มีจำนวน 2 โครงการอยู่ใน จ.ชลบุรี ทั้งหมดเพื่อที่จะให้บริการในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมและเมืองพัทยาที่จะเติบโตมากขึ้น ซึ่งถ้าโครงการทั้งสองระยะแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถรองรับประชาชนในอีอีซีได้ถึงปี 2570 หรือปรัมาณ 2 ล้านคนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 5 แผนงานเราได้ประสานกับทางกรมลประทานเป็นหลักที่จะทำงานร่วมกัน เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคใช้น้ำดิบจากแหล่งน้ำของชลประทานประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นแหล่งน้ำสำรองและซื้อน้ำจากเอกชน” หัวหน้าแผนงานกปภ.เขต 1 กล่าวทิ้งท้าย

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561

พรบ.อีอีซีผ่านฉลุย ‘อุตตม’ตีปีกลุยเมกะโปรเจกท์

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... (อีอีซี)แล้ว มั่นใจว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งนักลงทุนว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าพัฒนาการลงทุนโครงการต่างๆ และประชาชนที่จะมีกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในเบื้องต้นจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา ช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและชุมชน สร้างสมดุลให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์

ขั้นตอนต่อไป สำนักงานอีอีซีจะเร่ง 5 โครงการหลักที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมระบบราง ถนน น้ำ และอากาศ เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซี และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยจะประกาศร่างประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เพื่อเร่งระดมให้เกิดการลงทุนจริงก่อนเดือนธันวาคม 2561 ได้แก่

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO 4.โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และ 5.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3

นายอุตตมกล่าวว่า ในเดือนมีนาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปโรดโชว์นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศอย่างเข้มข้น อาทิ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงกลุ่มประเทศแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งนี้ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอีอีซีภายใน 60 วัน และต้องแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายอีอีซีภายใน 90 วัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย (อีอีซี) กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชัดเจน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้สามารถดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว และใช้เป็นตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต หากจะเพิ่มเติมต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและขยายได้เฉพาะพื้นที่อื่นในภาคตะวันออก

โดยสาระสำคัญ กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นองค์กรถาวร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำภารกิจระยะยาวให้บรรลุเป้าหมาย และมีโครงสร้างบริหารโดยคณะกรรมการนโยบายอีอีซีมาจากทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการประจำ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรวมทั้งสิ้น 28 ท่าน เป็นการแจ้งแบบสัญญาเพื่อการทำงานมีประสิทธิภาพ แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคต จะไม่ยึดติดกับตำแหน่ง

“เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีนักลงทุนทั้งจากญี่ปุ่น และจีนที่รอให้มีการตรากฎหมายดังกล่าว ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมเป้าหมายยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดการณ์ไว้ จากมูลค่าคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีนี้ทั้งปีคาดไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงภายในปีนี้ 30-40% จากคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปีก่อนที่มี 2 แสนล้านบาท” นายคณิศกล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561

ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลดแรงต้าน-หันพึ่งพลังงานทดแทน

จากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้เสนอข่าวนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ดับฝันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาในพื้นที่ภาคใต้ โดยการยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติแทน โดยอ้างเหตุผลการต่อต้านเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปจัดทำแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ใหม่ว่ายังมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักหรือไม่ รวมถึงมีความจำเป็นแล้วจะต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใด และนำมาเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตัดสินใจ

ขณะเดียวกันฝ่ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้มีการชุมนุมคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจที่จะชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

++สั่งชะลอกระบี่-เทพา 3 ปี

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมายืนยันถึงการชะลอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลากำลังการ ผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จ.กระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 3 ปี โดยสั่งการให้กฟผ.กลับไปศึกษาความจำเป็นและความเหมาะสมพื้นที่ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การจัดหาไฟฟ้าของภาคใต้ ยังมีความจำเป็น เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีเฉลี่ยปีละ 3.4-4 % โดยปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 2.6 -2.7 พันเมกะวัตต์ แต่ผลิตในพื้นที่เพียง 2 พันเมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือมาจากส่วนกลางเข้ามาเสริมในระบบ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะสมุย ภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่มีความต้องการใช้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า หากโครงการพัฒนาสายส่งไฟฟ้าล่าช้า จึงนับเป็นจุดเสี่ยงในอนาคต

++ส่งไฟจากภาคกลางช่วย

ดังนั้น มาตรการที่จะเข้ามารองรับสถานการณ์ความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันก็จะบริหารจัดการในช่วง 3-5 ปี โดยเพิ่มสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ คือโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังการผลิตรวม 2.4 พันเมกะวัตต์ ตรงไปยังฝั่งอันดามันและเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางไปยังสถานีสุราษฎร์ธานี จะช่วยแก้ไขปัญหาสายส่งที่มีปัญหาคอขวด ทำให้การใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ ดังนั้น หากโครงการขยายสายส่งจากภาคกลางไปยังภาคใต้สำเร็จในปี 2564 จะทำให้สามารถเพิ่มเป็น 1 พันเมกะวัตต์

++เล็งผุดโรงไฟฟ้าก๊าซแทน

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเร่งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินจะเป็นเพียงตัวเลือกในแผนพีดีพีฉบับใหม่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนลงในแผนเหมือนกับพีดีพี 2015 เนื่องจากต้องการให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้า และไม่ต้องการกำหนดแบบตายตัวว่าจะต้องใช้เชื้อเพลิงใดในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ปัจจุบันราคานำเข้าไม่แพง และสามารถแข่งขันกับถ่านหินได้ รวมทั้งการจัดหาแอลเอ็นจียังสามารถจัดหาได้จากหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ ขณะเดียวกันหากต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องสร้างในพื้นที่ใด

++พึ่งชีวมวล300เมกะวัตต์

นอกจากนี้ จากการศึกษาศักยภาพวัตถุดิบชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวลรวม 50 เมกะวัตต์ โดยจะส่งเสริมให้โครงการเป็นของชุมชน สำหรับการสร้างสายส่งเชื่อมจากโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาป้อนแก่ภาคใต้ด้านบนนั้น ทางรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนไม่ใช่ กฟผ. ลงทุนเพื่อไม่เพิ่มเป็นภาระค่าไฟฟ้า ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการขายไฟฟ้า ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งการขายเชื้อเพลิง และการจ้างงาน โดยภาครัฐจะดูแลเรื่องความมั่นคงในการก่อสร้างควบคู่กันไป คาดแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี อีกทั้ง ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการมาตรการดีมานด์ เรสปอน (DR) ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการดังกล่าว คาดว่าจะอยู่ที่ 100-200 เมกะวัตต์

++ชาวบ้านหนุนถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเครือข่ายพัฒนาเทพา ซึ่งประกอบด้วย 66 องค์กรในอำเภอเทพา มีตัวแทนกว่า 100 คน ยื่นหนังสือขอให้สนับสนุนและเร่งรัดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันชาวเทพาซึ่งมี 119 ครัวเรือน หรือประมาณ 7 หมื่นคน ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มีเพียง 10% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย

ดังนั้น ชาวเทพาไม่ต้องการให้ชะลอโครงการออกไป 3 ปี และไม่ต้องการให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และไม่ต้องการโรงไฟฟ้าก๊าซเข้ามาทดแทน จึงต้องการให้เดินหน้ารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะต้องถูกบรรจุในแผนพีดีพีฉบับใหม่ด้วย

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กฟผ. ทำอีเอชไอเอ ไปแล้วเป็นระยะเวลา 4 ปี ใช้งบ 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชน ซึ่งชาวบ้านจะรอความชัดเจนจากทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นระยะเวลา 45 วัน หากยังไม่มีความชัดเจนออกมา จะมีการรวมตัวเพื่อชุมชนที่กระทรวงพลังงานต่อไป

จากการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการปิดฉากของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นในประเทศก็ว่าได้ เพราะนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้เกิดการขัดแย้ง และหากจะรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มาตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องคำนึงฐานคะแนนเสียงเป็นหลัก

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561

ตื่นตัวรับมือภัยแล้ง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ข้อมูลปริมาณฝนและปริมาณน้ำในอ่าง และคาดการณ์โอกาสภัยแล้งที่จะประสบปัญหากับพื้นที่ภาคการเกษตรปี 2560/2561 ในเบื้องต้นจะเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งที่ไม่รุนแรงนัก แต่พื้นที่เกษตรที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ยืนต้น โดยประเมินว่าพื้นที่เกษตรมีโอกาสเกิดความแห้งแล้งในปีนี้ รวม 47 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 3.8 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน

ภาคเหนือจะมีพื้นที่เกษตรประสบความแห้งแล้ง ใน 16 จังหวัด พื้นที่ 3.7 แสนไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกษตรที่จะประสบความแห้งแล้งใน 14 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 2.42 ล้านไร่ ภาคกลาง  8  จังหวัด พื้นที่ 5.96 แสนไร่ ภาคตะวันออก พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 6 จังหวัด 3.61 แสนไร่ ภาคใต้ พื้นที่เกษตรจะสบประสบความแห้งแล้ง 3 จังหวัด พื้นที่ 7.2 หมื่นไร่

กระทรวงเกษตรฯจับตามองพิเศษ จังหวัดที่จะประสบภัยแล้งรุนแรง โดยประเมินโอกาสที่พื้นที่ทางการเกษตรจะเสียหายมากที่สุดใน 2 จังหวัด ประกอบด้วยนครราชสีมา เพชรบุรี ที่จะขาดแคลนน้ำทำนา โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรัง พืชไร่และไม้ผลยืนต้นใน 2 จังหวัดนี้ จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมทั้งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไม้ผล ไม้ยืนต้น

สถานการณ์น้ำแล้ง ภัยแล้ง ต้องวิเคราะห์และทำควบคู่กับการวางแผนผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังอย่างพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งสถานการณ์ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปีถึงต้นปีที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยเร่งให้มีการเพาะปลูกสูงขึ้น โดยไม่คำนึงผลกระทบขาดน้ำ ซึ่งปีนี้ชาวนาจะแห่ปลูกข้าวหอมมะลินาปรังทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง  โดยต้องฝ่าภัยแล้งไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมิ.ย.อันจะส่งผลให้ทั้งคุณภาพในด้านความหอมและราคาตกต่ำได้

รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะต้องตื่นตัว หารือกันอย่างใกล้ชิดโดยเร็ว พร้อมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง เพื่อเร่งวางแผนเพาะปลูก ควบคุมการผลิตร่วมกัน ไม่ให้เกิดการลงทุนผลิตไปแล้ว ไปประสบปัญหาขาดน้ำ ทำให้ผลผลิตเสียหายภายหลัง ต้องเป็นหนี้สินเพิ่มจากการลงทุน เข้าสู่วงจรหนี้เป็นปัญหาซ้ำซาก ต้องวางแผนตั้งแต่บัดนี้ ก่อนจะบานปลายไปปลายทาง จนกลายเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าวันต่อวัน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561

พบสารเคมี 3 ชนิดตกค้างในสินค้าเกษตร ‘ฉัตรชัย’สั่งเร่งแก้-ฝากภาคเอกชนช่วยทำความเข้าใจผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะผู้บริหารสภาหอการแห่งประเทศไทย เข้าพบพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เพื่อหารือแนวทางรณรงค์และสร้างความเข้าใจมาตรฐานปริมาณสารพิษสูงสุดที่ยอมรับได้ (เอ็มอาร์แอล) เพราะปัจจุบันมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรมากกว่า 48 ชนิด โดยเฉพาะสารเคมี 3 ชนิดที่มีข้อถกเถียงมาก คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกไฟเซต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังด้วย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการนำเสนอใน 3 ประเด็น คือ 1.ประเทศไทยได้กําหนดมาตรฐานด้านสารพิษตกค้าง หรือที่เรียกว่า ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ 2.ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) นําเสนอข่าวความไม่ปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย อ้างว่าได้ตรวจพบค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างที่เกินจากมาตรฐาน สร้างความกังวล และความไม่เข้าใจต่อผู้บริโภค และ 3.ควรสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ใน 2 ช่องทางผ่านสื่อโซเชียล และการจัดสัมมนา โดยขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า การผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสิ่งสําคัญ ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจรับรองสินค้าต่างๆ และยึดทําลายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจํานวนมาก แต่ยังมีหน่วยงานอื่นได้สุ่มตรวจสินค้าเกษตรด้วยเช่นกัน แต่ผลที่ออกมาแตกต่างกัน ทําให้ผู้บริโภคสับสน

รองนายกฯ กล่าวว่า ดังนั้น ต้องบูรณาการทํางานร่วมกันในลักษณะประชารัฐคือ หน่วยราชการ เอกชน และประชาชน รวมทั้งร่วมกันป้องกันไม่ให้สินค้าที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ถูกจําหน่ายไปยังผู้บริโภค ซึ่งคงไม่ใช่การตรวจจากหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว ทั้งผู้จําหน่าย ผู้บริโภค และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันไม่ซื้อ ไม่ใช้สินค้านั้น และมอบให้หน่วยที่เกี่ยวข้องรับไปดําเนินการ ซึ่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงจะต้องรอผลการพิจารณาในส่วนนี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สนช.ไฟเขียว กม.อีอีซี เปิดช่องเพิ่มพื้นที่ศก.พิเศษภาคตะวันออก

สนช.ผ่าน กม.อีอีซี กำหนดจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมเปิดช่องตรา พ.ร.ฏ.ให้พื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.61 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พ.ศ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้วในวาระ 2 และวาระ 3 โดยมีทั้งหมด 71 มาตรา มีการแก้ไข 49 มาตรา มีสาระสำคัญคือ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการบริหารจัดการ การพัฒนาพื้นที่เฉพาะ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่จะมีการส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ระบบการขนส่ง และการอำนวยความสะดวกในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และกำหนดนโยบายของรัฐ ที่จะต้องดำเนินการในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอันจำเป็น และการให้บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จในเขตพื้นที่นั้น รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การค้า การบริการ หรือบริการอื่นใด ที่ประกอบกิจการในเขตพื้นที่นั้น ส่งเสริมและดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากในและต่างประเทศ ให้มีคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบาย ประกาศกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ติดตามและประเมินผลออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ

จากนั้นได้เรียงลำดับรายมาตรา โดยในระหว่างการพิจารณา สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายสอบถามว่าทำไมถึงมีการแก้ไข มาตรา 6 ที่กำหนดให้ในกรณีที่มีความจำเป็นในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก จะตราพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)ให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดที่ติดต่อหรือเกี่ยวข้องกับพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยก็ได้

ทั้งนี้สมาชิก สนช. เห็นว่า การกำหนดเช่นนี้อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและขยายพื้นที่พิเศษเลยออกไปจากภาคตะวันออกได้ เนื่องจากการพิจารณาของสนช.ในวาระแรกนั้นได้รับหลักการว่าด้วยการกำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีเฉพาะ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และพื้นที่อื่นใดในภาคตะวันออกที่ถูกประกาศโดยพ.ร.ฎ.เท่านั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นว่าควรหาทางให้จุดที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเข้ามาอยู่ในการได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายด้วย ซึ่งตัวอย่างที่ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ สถานีรถไฟมักกะสัน จะกันเอาไว้สำหรับให้คนที่มาลงทุนและพัฒนาได้สิทธิประโยชน์ จึงถือเสมือนว่าเป็นพื้นที่ไข่ขาวด้วยโดยจะต้องออกเป็นพ.ร.ฎ.ที่ผ่าน ครม. ภายใต้ความจำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น จะเอาทำไปอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จึงคิดว่าเมื่อเราเขียนในมาตรา 6 เช่นนี้ก็ยังอยู่ในหลักการของกฎหมาย

ขณะที่มาตรา 10 ว่าด้วยสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่กรรมาธิการได้มีการแก้ไขเพิ่มให้รมว.กลาโหม และรมว.ศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ซึ่งนายมณเฑียร บุญตัน และ พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสนช.เสนอให้เพิ่ม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.ศึกษาธิการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายรัฐวิสาหกิจ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย เพื่อให้มีกรรมการที่มีคุณวุฒิครบทุกด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่เศรษฐกิจเท่านั้น

นายวิษณุ ชี้แจงว่า คณะกรรมการนโยบายฯตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้นครม.ได้มีการปรับแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายว่ากระทรวงไหนที่ไม่ได้มีผู้แทนเข้ามานั่งในกรรมการนโยบายฯ จะต้องดำเนินการขับเคลื่อนงานให้สอดรับไปด้วย ส่วนการเพิ่มสัดส่วนของ รมว.กลาโหมและรมว.ศึกษาธิการ เข้ามาเป็นกรรมการนโยบายฯโดยตำแหน่ง เนื่องจากมีสมาชิกสนช.เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และมีเหตุผลเป็นที่ยอมรับ โดยกรณีของรมว.กลาโหมนั้นพบว่าการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษจะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดน และชายฝั่งทะเล จึงคิดว่าควรให้รมว.กลาโหมที่มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาทุกเหล่าทัพเข้ามาทำหน้าที่ดูแล ขณะที่กรณีของรมว.ศึกษาธิการ มีเหตุผล คือ ในระยะยาวจะต้องพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับเข้าไปทำงานในอีอีซี

ต่อมาได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนจบและลงมติในวาระ 2 จากนั้นที่ประชุม มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในวาระ 3 .ด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1เสียง ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณา 8 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังการลงมติ นายวิษณุ ได้ กล่าวขอบคุณสมาชิกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ติดตามการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และฝากขอบคุณสนช.ที่ช่วยกันพิจารณากฎหมายนี้อย่างรอบคอบ โดยนายกฯและรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้กฎหมายนี้ขับเคลื่อนผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการต่อยอดจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ผลักดันอีสเทิร์นซีบอร์ดจนประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นกฎหมาย ฉบับที่ 2 ที่เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสมบูรณ์และเป็นธรรม

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรมชลลุยแก้น้ำภาคตะวันออกเด้งรับยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี-อีอีซี

            กรมชลประทานเผยแนวทางศึกษาการปรับปรุงการจัดการน้ำในลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง หวังแก้ปัญหาอุทกภัย น้ำขาดแคลน รวมทั้งเตรียมการรองรับอีอีซี เผยมีทั้งก่อสร้างปรับปรุงอาคาร-ระบบชลประทานเดิม เพิ่มความจุอ่างฯ คลองหลวง ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ 3 แห่ง

              นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงโครงการศึกษาการปรับปรุงระบบชลประทานในลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวง-ที่ราบฝั่งซ้ายแม่น้ำบางปะกง ว่า กรมชลประทานได้พัฒนาพื้นที่ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองสียัด คลองระบม และคลองหลวง มีความจุรวม 575 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาพื้นที่ชลประทานกว่า 4 แสนไร่ จากการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ทำให้มีความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำเหล่านี้ยังเผชิญปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

             กรมชลประทานจึงพิจารณาก่อสร้างปรับปรุงแหล่งน้ำ และอาคารชลประทานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และเตรียมการรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาลสำหรับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนประโยชน์การใช้ที่ดินมากขึ้น จากทุ่งนากลายเป็นชุมชนเมือง นิคมอุตสาหกรรม และบ่อเลี้ยงปลา ทำให้ลดพื้นที่รองรับน้ำ รวมทั้งอาคารชลประทานเดิมมีข้อจำกัด และลำน้ำเดิมตื้นเขินคับแคบ เมื่อน้ำหลากมาจึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเสียหาย

          ส่วนแนวทางในการศึกษา ส่วนหนึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรจาก 98 ล้านลูกบาศก์เมตรอีก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่งในลุ่มน้ำคลองท่าลาด ความจุรวมประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นและช่วยลดปริมาณน้ำหลาก

              ขณะเดียวกัน ยังต้องก่อสร้างและปรับปรุงอาคารชลประทาน ปรับปรุงลำน้ำให้กว้างขึ้น รองรับอัตราการไหลของน้ำได้มากขึ้น ปรับปรุงคลองส่งน้ำหรือท่อลอด ที่เป็นปัญหาต่อการไหลของน้ำหลากจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกก่อนลงแม่น้ำบางปะกง รวมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสำคัญบางสาย เพื่อช่วยหน่วงน้ำและจัดจราจรทางน้ำบริเวณจุดรวมน้ำที่สำคัญคือแยกคลอง 5 สายที่บริเวณอำเภอพานทองให้ดีขึ้น

                ส่วนการรองรับความต้องการใช้น้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในระยะ 20 ปีข้างหน้า นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า ในส่วนลุ่มน้ำท่าลาด-คลองหลวงนั้นมีการวางแผนผันน้ำส่วนเกินจากอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง จ.สระแก้ว มาลงอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ปีละประมาณ 128 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในพื้นที่และผันต่อไปยังสถานีสูบน้ำพานทองก่อนเข้าเส้นท่อเดิมจากคลองพระองค์ไชยานุชิตไปลงอ่างเก็บน้ำบางพระ

              “อ่างฯ คลองสียัด ออกแบบให้มีความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยซึ่งมีปริมาณปีละ 285 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจึงไม่เต็มอ่าง จึงมีแนวคิดผันน้ำส่วนเกินของอ่างฯ คลองพระสะทึง จ.สระแก้ว เนื่องจากน้ำล้นอ่างฯ ทุกปี มาเติม” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

จ.อำนาจเจริญ เปิดเวทีเสวนาหาทางออกระหว่างโรงงานน้ำตาลกับเมืองธรรมเกษตร

นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ  เป็นประธานเปิดเวทีสัมมนา ภายใต้หัวข้อเรื่อง “เมืองธรรมเกษตรกับการจัดการไร่อ้อย” ซึ่งเป็นเวทีเสวนาหาทางออกร่วมกัน หลังจากที่มีกระแสต่อต้านโรงงานน้ำตาล มิตรผลอำนาจเจริญ  ที่มีโครงการที่จะมาตั้งโรงงานในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ  ทำให้คนในพื้นที่แบ่งออก 2 ฝ่ายทั้งฝ่ายที่สนับสนุนคือกลุ่มเกษตรผู้ปลูกอ้อย และกลุ่มผู้ต่อต้าน หรืออนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย

โดยการสัมมนาได้หยิบยก ข้อดีและข้อเสียของการที่มีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ มาเปรียบเทียบ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากมีกลุ่มผู้ต่อต้านมาร่วมเวทีเพียงบางส่วน

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การบริหารจัดการน้ำของชาติเริ่มชัดเจนตั้ง 4 อนุกรรมการ - เพิ่มอำนาจ กนช.

ประชุมคณะกรรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติครั้งแรกของปีนี้  บทบาทสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเริ่มชัดเจนเพิ่มอำนาจ กนช. ตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่หน่วยงานด้านน้ำเสนอมา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับ EEC และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิของกรมชลประทาน

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( กนช.) ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้ง กนช. ชุดใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ เลขาธิการ สทนช. เป็นเลขานุการ โดยให้หน้าที่และอำนาจ กนช. ในการกำกับสั่งการเพื่อจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตได้  พร้อมทั้งมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีก 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิเคราะห์โครงการและติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นับจากนี้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจะเป็นระบบและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมี สนทช.ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การสั่งการน้ำในภาวะวิกฤต และกลั่นกรองการเสนอของงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ทั้งงบบูรณาการด้านน้ำ งบกลาง เงินกู้ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความสำคัญและโครงการขนาดใหญ่ และจะต้องผ่าน กนช. ก่อนที่จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า กนช.เห็นชอบให้ สทนช. ทบทวนและปรับโครงสร้างให้ครอบคลุมภารกิจที่ได้รับมอบหมายและสอดรับร่าง พรบ.น้ำ ที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยจะเพิ่มกองวิชาการ พิจารณาด้านน้ำทุกมิติ งานวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรวมศูนย์การติดต่อกับต่างประเทศด้านน้ำในเชิงนโยบาย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในระดับภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงจัดการน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานในระดับพื้นที่

“ สทนช. จะเร่งรัดและขับเคลื่อนแผนงานและโครงการด้านน้ำในปี 2561-2565 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2561 และให้เร่งแผนงานโครงการสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่ (Area Base) ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ พร้อมกำหนดแผนพัฒนาและฟื้นฟูการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญได้เห็นชอบโครงการตามที่ สทนช. ได้วิเคราะห์พื้นที่ ความพร้อมโครงการที่เสนอ ครม.สัญจร  เหลือผ่านเกณฑ์ 216 โครงการ 4,212 ล้านบาท ” นายสมเกียรติกล่าว

ส่วนแผนงานบรูณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 เดิมได้เสนอต่อสำนักงบประมาณจำนวน 3,295 โครงการ วงเงิน 130,220 ล้านบาท  ได้ตามหลักเกณฑ์และได้ปรับลดโครงการที่ไม่มีความพร้อมออก พร้อมกับเพิ่มแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เร่งด่วนแทนส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากควรทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ Area base ให้ชัดเจน และให้หารือกับสำนักงบประมาณพิจารณาหาแหล่งงบประมาณมาดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบปกติ

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนช. ยังเห็นชอบแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำอีกหลายโครงการ อาทิ แผนการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งกรมชลประทานมีแผนพัฒนาน้ำต้นทุนในประเทศ รองรับการเติบโตในพื้นที่ ในระยะ 10 ปี จำนวน 320 ล้านลบ.ม.โครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ตามที่กรมชลประทาน โดยจะผันน้ำจากลำประทาวตอนบนไปตอนล่างก่อนไหลลงน้ำชีเพื่อตัดยอดน้ำและเลี่ยงเขตเมือง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบบรูณาการ พื้นที่ 6 ตำบล อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเพื่อจัดหาน้ำให้พื้นที่ป่าจำปีสิรินธรและแปลงเกษตรเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น

กนช. ยังได้รับทราบสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานรายงานด้วยว่า ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ขนาดกลาง - ใหญ่ รวม 60,361 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของปริมาณความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,654 ล้าน ลบ.ม.  ส่วนสภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ในอนาคตคาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 2561 ใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งปริมาณฝนจะน้อย ยกเว้นภาคเหนือและใต้ มีโอกาสที่ฝนจะสูงกว่าค่าปกติ  ซึ่งในปัจจุบันปรากฎการณ์ ENSO พัฒนาเป็นลานีญา และจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางก่อนสิ้น มี.ค.2561 ทำให้ช่วง ก.พ. – เม.ย. จะมีฝนในภาคเหนือ อีสาน และกลางสูงกว่าค่าปกติ   ซึ่ง สทนช. ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เกาะติดอีอีซี :ชวนต่างชาติมาลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดการประชุมหารือกับหอการค้าต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจต่างชาติต่อการส่งเสริมการลงทุนของไทยและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อรองรับกิจกรรมทางธุรกิจ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรมารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆและที่สำคัญคือความพยายามในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจในประเทศไทย

โดยบีโอไอมั่นใจว่า การหารือครั้งนี้จะช่วยให้ผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในไทยเกิดความเข้าใจนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยคาดว่าจะช่วยให้หอการค้าต่างประเทศมีความมั่นใจนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และนำไปสู่การขยายธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่หนุนสร้างบุคลากร

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกนศ.ได้อนุมัติร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 โดยสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ได้นำแผนไปรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี สรุปได้ว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาด้านพัฒนาบุคลากร ที่ต้องสร้างเยาวชนให้มีความรู้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลัก และขณะนี้มีการทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกันของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกระดับ

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณและ สกรศ.ได้ร่วมกันปรับปรุงรายละเอียดโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนตามวัตถุประสงค์การพัฒนาบุคลากรในอีอีซี โดยปรับลดเหลือ 15 โครงการ วงเงิน 589 ล้านบาท จากที่เคยเสนอขอรับจัดสรรงบกลางไว้ 861 ล้านบาท จำนวน 19 โครงการ

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

“บิ๊กฉัตร”เปิดตัว สทนช. มั่นใจสร้างเอกภาพแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม

“ฉัตรชัย”เปิดตัว สทนช. อย่างเป็นทางการ พร้อมติดอาวุธให้พิจารณาข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ติดตามและประเมินผล พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำกว่า 30 หน่วยงาน เผยจะเป็นหน่วยงานด้านน้ำระดับประเทศ ที่มีความสำคัญและจะมีบทบาทมากในอนาคต มั่นใจจะสร้างความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

วันนี้ (7 ก.พ. 61) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้โอวาทและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ณ กรมชลประทาน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ

พล.อ. ฉัตรชัย เผยว่า สทนช .เป็นส่วนราชการ ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 46/2560 โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 30 หน่วยงานในปัจจุบัน และทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

สทนช. ยังจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ

5. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการวางรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งแผนงานเร่งด่วนและแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ Area Base ซึ่งขณะนี้มีแผนงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 216 โครงการ จำนวนเงิน 4,212 ล้านบาท โดยได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำได้ตรงตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์น้ำ ซึ่งมีกรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2562 จำนวน 128,783 ล้านบาท โดยขณะนี้ สทนช. ร่วมกับ สำนักงบประมาณเร่งจัดลำดับความสำคัญแผนงานโครงการ และงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ด้านน้ำ ปี 2562

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สทนช. จะต้องเร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านน้ำ ที่ขณะนี้มีเจ้าภาพกระจายในหลายหน่วยงาน โดยต้องการให้สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้ทันที เพื่อเป็นฐานข้อมูล และสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ

นอกจากนี้ สทนช. จะเพิ่มบทบาท เพื่อรองรับการเป็น Thailand 4.0 โดยการพัฒนาองค์ความรู้ เน้นการผสมผสานระหว่างศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้สากล มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติระดับภาค ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงตรงตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อีกทั้งยังจะดำเนินการผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินโครงการสำคัญ ๆ ให้เกิดขึ้นภายในปี 2562-2565 โดยจะกำหนดพื้นที่ Area Base ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ และวางแผนงาน เพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่

1. ภาคเหนือ พื้นที่ประสบปัญหาในภาคเหนือส่วนใหญ่ คือบริเวณแม่น้ำยม โครงการสำคัญปี 2561- 2562 คือ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยมตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และการบรรเทาอุทกภัยเมืองสุโขทัย ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนล่าง ทำระบบป้องกันเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ และการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นต้น

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ต้นน้ำ และน้ำท่วมบริเวณลำน้ำมูล-ชี และจุดบรรจบแม่น้ำสงคราม โครงการสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนในปี 2561 - 2562 ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำชี ทำระบบป้องกันน้ำท่วมในลำน้ำชี ควบคู่กับการผันน้ำเลี่ยงเมืองชัยภูมิ การทำประตูระบายน้ำ(ปตร.)เก็บกักน้ำในลำน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ได้แก่ ปตร.ศรีสองรัก ขณะเดียวกันต้องศึกษาหาแนวทางแก้ไขอุทกภัยบริเวณจุดบรรจบลำน้ำที่สำคัญ

ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ระบบผันน้ำเลี่ยงเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบผนังป้องกันน้ำล้นตลิ่ง การเติมลงใต้ดิน และการผันน้ำเพื่อเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ

3. ภาคกลาง แผนงานสำคัญปี2561- 2562 ได้แก่ โครงการที่สอดคล้องกับแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา เช่น การปรับปรุงคันกั้นน้ำ ขุดร่องน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ปตร.บางบาล และปรับปรุงโครงข่ายคลองระพีพัฒน์ ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาทั้ง 9 แผนงานให้เต็มรูปแบบ

4. ภาคตะวันออก เป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน มีทั้ง ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ภาคเกษตรใน จ.จันทบุรี และตราด รวมทั้งแหล่งต้นน้ำสำคัญใน เขต จ.นครนายก ปราจีนบุรี โดยในปี 2561 - 2562 เน้นการเพิ่มความจุอ่างฯเดิม

ควบคู่กับการสำรวจบ่อบาดาล รองรับ EEC ขณะที่พื้นที่บริเวณแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำปราจีนบุรี ต้องเร่งทำระบบป้องกันน้ำท่วม ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำข้างเคียงจากพื้นที่ EEC โดยเฉพาะบริเวณชายขอบผืนป่าด้านบน ควบคู่กับการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำ และการเติมน้ำใต้ดิน

5. ภาคใต้ และ6.ภาคใต้ชายแดน การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อตัดยอดน้ำทำได้ยาก อ่างฯส่วนใหญ่จึงเป็นขนาดเล็ก-กลาง อยู่บริเวณเทือกเขาตอนกลางของภาค เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้กระทบต่อชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยว ส่วนด้านล่างทั้งสองฝั่งจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การสร้างอ่างฯวังหีบ อ่างฯคลองสังข์ เป็นต้น ควบคู่กับระบบระบายน้ำ-ผันน้ำ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจและรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น สำหรับแผนใน ระยะกลาง-ยาว จะวางแผนเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบตอนล่าง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2557-2560 ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค สามารถ พัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน 7,234 หมู่บ้าน ประมาณ2 ล้านครัวเรือน ประปาโรงเรียน/ ชุมชน 1,964 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำ 58 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 2,358 ล้าน ลบ.ม. เป็นการ พัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.78 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 624 ล้าน ลบ.ม. ขุดสระน้ำในไร่นา 166 ล้าน ลบ.ม. และน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร 150 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย สามารถ ขุดลอกลำน้ำสายหลักและสาขามีความยาว 291.62 กิโลเมตร(กม.) ปริมาณดิน 13.14 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่งมีพื้นที่ 178,300 ไร่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ สามารถพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน 53 แห่ง

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมได้ 331,570 ไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) น้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. (วาระ 2) จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 และจัดตั้ง สทนช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 46/60 และ 2/61 เรียบร้อยแล้ว

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

ปตท.ผนึกกฟผ.ลุยพลังงานสร้างความมั่นคง-แข่งเอกชน

สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่เปิดกว้างมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ความเสมอภาคของการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจกับเอกชนเริ่มอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน รัฐวิสาหกิจทั้งหลายจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรักษาบทบาทของตัวเองไว้ก่อนที่เอกชนจะเข้ามาทำหน้าที่แทน

บทบาทหน้าที่สำคัญด้านพลังงาน ปัจจุบันมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่หลักในการจัดหาพลังงาน นํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่หลักในการผลิตไฟฟ้าป้อนประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างเพื่อให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการจัดหาพลังงาน โดยใช้กลไกการแข่งขันด้านราคาต้นทุนเป็นเกณฑ์การพิจารณา

++เพิ่มบทบาทปตท.-กฟผ.

จากกระแสการลดบทบาทการทำหน้าที่ของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมายืนยันว่า จะไม่มีนโยบายปรับลดบทบาทของ ปตท. และ กฟผ. แต่อย่างใด และรัฐบาลยังมอบหมายให้ทั้ง 2 องค์กร ทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งได้แก่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สายส่งไฟฟ้า รวมทั้งสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และโรงไฟฟ้าหลัก ที่จำเป็นในการสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ จะยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงาน

ในทางกลับกันทั้ง 2 องค์กร จะต้องร่วมมือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ หากการผลิตไฟฟ้า และการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นสำหรับความมั่นคงแล้ว เปิดให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในระบบที่มีการแข่งขัน กับปตท. และ กฟผ. ในพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โดยจัดให้มีการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม

++เดินองค์กรเดียวเชื่องช้า

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิ ภาพในการผลิตไฟฟ้า พร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยน แปลงในอนาคต โดยจะต้องเร่งปรับองค์กรให้รวดเร็วและลด ต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความคล่องตัวให้กับ กฟผ. ซึ่งแนวทางในการเร่งปรับองค์กรนั้น จะต้องมุ่งเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะ กฟผ.เป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.กฟผ.) ที่ควรเป็นผู้นำริเริ่มการลงทุนในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตํ่าลง

แต่ด้วยกระบวนการขั้นตอนที่ซํ้าซ้อน ทำให้การเดินหน้าโครงการเกิดความล่าช้า ซึ่งก่อนหน้านี้บางโครงการที่บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จับมือกับเอกชน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังนํ้านํ้าเงี้ยบ 1 ที่ สปป.ลาว กำลังการผลิต 289 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ 1 กำลังการผลิต 1.2 พันเมกะวัตต์ ที่เวียดนาม พบว่าขั้นตอนการขออนุมัติต้องใช้ระยะเวลานาน สุดท้ายจึงกลายเป็นตัวถ่วงโครงการ

“ที่ผ่านมา กฟผ.มีข้อจำกัดต่างๆทำให้เชื่องช้าในการออกไปลงทุนธุรกิจใหม่ๆ และพ.ร.บ.กฟผ.ไม่ได้เปิดกว้างเรื่องการลงทุน ดังนั้น จึงได้เสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ. เพียงหวังว่าขั้นตอน กระบวนการจะลดลง แต่พบว่าการแก้ไขเป็นเรื่องยาก ดังนั้นแนวทางจากนี้ กฟผ.จะพยายามลงทุนร่วมกับบริษัทอื่นๆเพื่อลดต้นทุน ซึ่งการจับมือกับ ปตท.เป็นสิ่งที่น่าดำเนินการ และไม่ขัดต่อพ.ร.บ. ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความแล้วเห็นว่าการลงทุนของ กฟผ.สามารถดำเนินการได้ในรูปแบบร่วมทุน

ทั้งนี้ กฟผ.พร้อมแข่งขันในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล เพราะที่ผ่านมาถูกกำหนดให้แข่งขันบนผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 5.7% ตํ่ากว่าภาคเอกชนที่มีผลตอบแทนการลงทุน 2 หลัก แต่ กฟผ.ก็ยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในต้นทุนที่ตํ่ากว่าประมาณ 10 สตางค์ต่อหน่วย และหากให้แข่งขันด้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ก็พร้อมที่จะแข่งบนกติกาเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่ง กฟผ.ยังจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะช่วยภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

++ปตท.ยันนโยบายถูกทาง

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ชี้ให้เห็นว่า อนาคต ปตท.มีแผนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่ง กฟผ. มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจะมีความร่วมมือกัน ศึกษาตั้งแต่ธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีไปจนถึงโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ปตท.มีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีโครงการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี รวมทั้ง ปตท.อยู่ระหว่างลงทุนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เพื่อเสริมความมั่นคงก๊าซฝั่งตะวันออก-ตะวันตก การขยายคลังรับแอลเอ็นจี และกำลังก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งที่ 2

ดังนั้น ความร่วมมือเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของ กฟผ. และ ปตท. ในครั้งนี้ นับว่าเดินมาถูกทาง เพราะนอกจากจะเพิ่มบทบาทด้านพลังงาน ทั้งนํ้ามัน ก๊าซธรรมชาติ และการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเสริมความเข้มแข็งให้กับรัฐวิสาหกิจ ยังเป็นการนำจุดเด่นของแต่ละหน่วยงานเข้ามาเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน เชื่อว่าผลสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับประเทศ

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

สภาอุตฯ นครสวรรค์หนุนไบโอคอมเพล็กซ์

 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์อ้าแขนรับไบโอคอมเพล็กซ์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จากการร่วมลงทุนของ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม KTIS กับ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ภายใต้นโยบายพลังประชารัฐสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0หวังเป็นพื้นที่ต้นแบบ นำร่องให้กับพื้นที่อื่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน จังหวัด และประเทศชาติ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างแท้จริงดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ นับเป็นภาคส่วนหนึ่งของพลังประชารัฐ ที่สนับสนุนโครงการไบโอคอมเพล็กซ์  ที่จังหวัดนครสวรรค์  ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นโครงการนำร่องในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย โดยที่โครงการนี้จะนำความคึกคักทางเศรษฐกิจมาสู่จังหวัดนครสรรค์อย่างมาก ทั้งจากการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การว่าจ้างแรงงาน และยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตกรและประเทศชาติในด้านของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย

 “เศรษฐกิจชีวภาพเป็นเทรนด์ของโลกมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเรามีปัญหาหลากหลายทั้งภาวะโลกร้อน ความต้องการอาหารและพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การสร้างวัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย ซึ่งโครงการนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และจะสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และที่สำคัญคือประชาชนหรือเกษตรกรในพื้นที่” ดร.ดารัตน์กล่าว

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์นั้น มีความพร้อมทั้งในด้านพืชพลังงาน คือมีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายแสนไร่ มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ของกลุ่ม KTIS ถึง 2 โรง มีสถาบันการศึกษาในภาคเหนือตอนล่างที่พร้อมจะเข้ามาช่วยในด้านงานวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาซึ่งอยู่ในเครือ KTIS เป็นต้น เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทำให้มีความสะดวกในการขนส่งผลิตผลและผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีบุคลากรที่พร้อมทั้งผู้ประกอบการ ผู้ชำนาญการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งยังมีกลุ่มเกษตรกร และมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดช่วยสนับสนุนอีกด้วย ซึ่งความพร้อมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมที่จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและเกิดประโยชน์กลับมาสู่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนท้องถิ่นและประเทศชาติ

 “การสร้างความแข็งแกร่งโดยโครงการเศรษฐกิจชีวภาพตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์นี้ จะเป็นต้นแบบนำร่องให้กับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย จะทำให้เราเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยว่าสามารถสร้างอุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันกับใครก็ได้ในโลกนี้ในระยะยาว อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างแท้จริง” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์กล่าว

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

‘GGC’ผนึกกำลัง‘KTIS’ ลุยโปรเจกท์นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโกลบอลกรีนเคมิคอล หรือ GGC เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์ ว่า สืบเนื่องจากแนวคิดเรื่อง ของรัฐบาลซึ่งนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) มาบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

โดยไบโออีโคโนมีจะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย เป็นตัวนำร่องนั้น GGC ในฐานะแกนนำด้านผลิตภัณฑ์เคมี เพื่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือกลุ่มพีทีทีจีซี จึงร่วมทุนกับบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS ในสัดส่วน 50 : 50 ก่อสร้างนครสวรรค์ ไบโอ คอมเพล็กซ์ หรือ NBC บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง เป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล ระบบสาธารณูปโภค และระบบส่งเสริมกระบวนการผลิตกลางของโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระยะที่สอง มูลค่าโครงการจากการประเมินประมาณ 7,650 ล้านบาท ส่วนโครงการระยะที่สองประกอบด้วย โรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุนจากการประเมินประมาณ 10,000-30,000 ล้านบาท

จากการลงทุนในพื้นที่นำร่องจังหวัดนครสวรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว และเกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ ในระยะเริ่มต้น รวมทั้งรายได้เกษตรกรจะเพิ่มเป็น 60,000-75,000 บาท/ต่อคน/ปี และเกิดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะกว่า 400 ตำแหน่ง พร้อมช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 180 ล้านลิตรต่อปี (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579)

ทั้งนี้ยังมีการพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ช่วยส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 10,000-30,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี

จาก www.naewna.com   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

ส่องเกษตร : เดินเครื่องบูรณาการแก้ปัญหา‘น้ำ’

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 46/2560 ได้เริ่มต้นดำเนินงานอย่างเป็นทางการแล้ว ว่ากันว่า เพื่อเปิดยุคใหม่แห่งการบูรณาการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศไทย

ทั้งนี้หลังจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 46/2560 เรื่องจัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2560 เพื่อทำหน้าที่สำคัญในการบูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกัน ต่อมา 22 ม.ค.2561 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และย้ายนายสมเกียรติ ประจําวงษ์ อธิบดีกรมชลประทานมาเป็นเลขาธิการคนแรก นายสำเริง แสงภู่วงศ์จากรองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาเป็นรองเลขาธิการ โดยหน่วยงานใหม่นี้ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 24/2561 เมื่อ 29 ม.ค.2561 แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.)ชุดใหม่ ตามด้วยคำสั่งเมื่อ 31 ม.ค.2561 โอนย้ายข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างประจำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 55 คน และจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีก 26 คน รวมเป็น 81 คน มาปฏิบัติราชการในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว...สามารถเริ่มงานได้จริงๆ เสียที

สำหรับกนช.หรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชุดใหม่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เป็นรองประธานฯ ส่วนกรรมการ มีอาทิ รมว.เกษตรฯ,รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ,รมว.มหาดไทย ตลอดจนปลัดกระทรวงต่างๆและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมชลประทาน,อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำฯ,กรมฝนหลวง,กรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงเลขาฯคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ตัวเลขาฯสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมเป็นกรรมการและเลขานุการ....กนช.ก็ได้เรียกประชุมกันครั้งแรกทันทีเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา

ตามคำสั่งในการจัดตั้ง กนช.กำหนดอำนาจหน้าที่ อาทิ ปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดสรรและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำในสภาวะวิกฤติ พร้อมกำกับ ติดตามประเมินผล บูรณาการแผนแม่บทและแผนงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น

ผลประชุมนัดแรก มีมติกำหนดกรอบการทำงาน กนช.โดยปีนี้จะประชุมกัน 4 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือนซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และได้แบ่งมอบอำนาจหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการ 4 คณะใน 4 ด้านได้แก่ การวิเคราะห์/ติดตามสถานการณ์น้ำ,การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่,การจัดทำ/ติดตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการกลั่นกรอง/วิเคราะห์/ประเมินผลโครงการ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวถึงการประชุม กนช.นัดแรกนี้ว่า นายกรัฐมนตรีอยากเห็นภาพการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งแผน,การแบ่งกลุ่มงบประมาณแต่ละปี ใช้ในส่วนไหนบ้าง โดยแบ่งเป็นงบฯปกติ เช่น การปรับปรุง ซ่อมบำรุง ขยายแหล่งน้ำที่มีอยู่และงบฯที่ใช้ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น แผนสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรที่ใช้งบฯกว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงให้ชี้แจงถึงการใช้งบฯปกติ 5-6 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2557-2558 ทำอะไรไปแล้วบ้าง และต่อไปจะทำอะไรบ้าง ในส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่แต่ละภาคเสนอมา 20-30 โครงการนั้น ต้องนำมาดูว่าจะใช้งบฯเท่าไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่

เอาเป็นว่า ตอนนี้การบริหารจัดการน้ำภายใต้การบูรณาการใหม่ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นตัวขับเคลื่อน ได้เริ่มขยับกันแล้ว ส่วนผลคงไม่ใช่จะเห็นได้ในทันที แต่ก็หวังว่า ในอีกไม่ช้าจะเกิดการ“บูรณาการจริงๆ”ให้งานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับ“น้ำ”ออกมาอย่างเป็นเอกภาพ ลดการซ้ำซ้อน ย้อนแย้ง เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จากเงินภาษีของประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพในการทำโครงการทั้งเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ“น้ำ”ทั้งหลาย

ไม่ใช่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีการตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่า บอกจะมีบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ แต่ก็เหลวเป๋วกันมาทุกที

จาก www.naewna.com   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

ชงตั้งเขตศก.ชีวภาพ อุตฯดันเข้าครม.เดือนนี้ให้สิทธ์ภาษีเพียบ

กระทรวงอุตฯเตรียมชงร่างแผนเศรษฐกิจชีวภาพ มูลค่าหลายแสนล้านบาทเข้า ครม.กพ.นี้ หลังแก้ผังเมืองสีเขียว จ.ขอนแก่นให้ตั้งโรงงานได้แถมเปิดช่องแก้กฏหมายอ้อยและน้ำตาลให้ตั้งโรงงานทั่วราชอาณาจักรได้ พร้อมออกมาตรการหนุนทั้งให้สิทธิประโยชน์เพียบ ทั้งภาษี green tax expense นิติบุคคล 5 ปี

นายศิริรุจ  จุลกะรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้ได้จัดทำร่างแผนเศรษฐกิจชีวภาพ (bioecnomy) และร่างแผนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยปี 2561-2570 เสร็จ และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนก.พ.นี้ ตามแผนจะมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ 1.เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) งบฯลงทุน 4,000 ล้านบาท 2. เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) งบฯลงทุน 62,500 ล้านบาท และ 3.เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) งบฯลงทุน 35,000 ล้านบาท (ดูตาราง) อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษชีวภาพในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหล่านี้ภาครัฐอยู่ระหว่างพิจารณาจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

สำหรับร่างมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ทำภายใน 6 เดือน เช่นออกมาตรการรับรองผลิตภัณฑ์ชีวภาพตาม green tax expense  เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของนิติบุคคลเช่น โรงงาน ห้างสรรพสินค้าให้สามารถหักลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีนิติบุคคล 5 ปี ปีแรกจะนำร่องกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ PLA และ PBS โดยพิจารณาตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบและคุณสมบัติการย่อยสลาย, กำหนดให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยวใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพโดยการทำ MOU  กับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ที่ผ่านมาการจะประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษชีวภาพต้องเกี่ยวพันกับกฎหมาย และประกาศกระทรวงหลายฉบับที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องใน จ.ขอนแก่น ตอนนี้ได้เคลียร์แล้วโดยภายใน 6 เดือน ได้แก่ 1.ปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนานใหญ่ได้เขตพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพได้ 2. ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ให้นำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ 3. ปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร 2559 โดยเพิ่มเติมข้อความ”ยกเว้นโรงงานที่ตั้งอยู่เดิมในพื้นที่ 50 กม. ให้ความยินยอม” 4. เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ภายใน 1-5 ปี จะผลักดันภาคการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยี(smart farming) เพื่อรองรับการใช้ในอุตสาหกรรมชีวภาพให้มีปริมาณวัตถุดิบที่เพียงพอ และวิจัยพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง และให้มีการสนับสนุนศูนย์สัตว์ทดลองที่มีความพร้อมในการขอมาตรฐาน OECD GLP และพัฒนามาตรฐานผู้ตรวจประเมิน รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการผ่านกองทุนพัฒนา SMEs

นายจิรวัฒน์  นุริตานนท์  กรรมการผู้จัดการ บมจ. โกลบอลกรีนเคมคอล (GGC) กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ biocomplex (NBC) ที่ร่วมทุนกับ บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น (KTIS) มีมูลค่า 7,650 ล้านบาท  ในเฟสแรกก่อสร้างกลางปี 2561 เสร็จปี 2563 บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ประกอบด้วยโรงงานผลิตเอทานอลไฟฟ้าชีวมวล และเฟส 2 ปี 2565-2567 เตรียมร่วมทุนกับญี่ปุ่นและไต้หวันตั้งโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ น้ำตาล แคลอรี่ต่ำ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

KTIS เดินหน้าไบโอคอมเพล็กซ์เฟส1 ผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยวันละ6แสนลิตร

กลุ่ม KTIS พร้อมลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์เฟสที่ 1 เผยเงินลงทุนเฟสแรก 8,000 ล้านบาท เตรียมที่ดินรองรับ 2,000 ไร่ ที่นครสวรรค์ ใช้ในเฟสแรก 1,000 ไร่ หีบอ้อย 2.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำน้ำอ้อยผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ที่จะตั้งขึ้นใกล้ๆ กับเคทิสคอมเพล็กซ์ (KTIS Complex) ที่จังหวัดนครสวรรค์ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว อีกทั้งรัฐได้มีความชัดเจนของการแก้ไขระเบียบการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ การลงทุนในเฟสแรก ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยผู้ร่วมลงทุน 2 ฝ่ายคือ KTIS และ GGC (บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล) ลงทุนฝ่ายละเท่าๆ กัน คือร้อยละ 50 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี หลังจากได้รับอนุมัติการลงทุน โดย KTIS ซึ่งรับผิดชอบด้านวัตถุดิบคืออ้อย จะต้องสร้างอ้อยขึ้นใหม่โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลอยู่เดิม

"การลงทุนในเฟสที่ 1 นี้ ยังรวมถึงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ด้วย โดยพื้นที่โครงการรวมทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ ใช้สำหรับเฟส 1 ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งการตั้งโครงการในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพราะเป็นแหล่งศูนย์กลางวัตถุดิบหลักคืออ้อย อีกทั้งยังไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ทำให้มีความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ทั้งเอทานอลในเฟสที่ 1 และเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพต่างๆ ในเฟสที่ 2" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แนวนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น

"กลุ่ม KTIS สามารถทำโครงการใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ได้ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ไม่มีปัญหาในการสร้างอ้อยเพิ่มเติม รวมถึงการอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์อย่างดีในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งการผลิตเอทานอล และไฟฟ้า ส่วนพันธมิตรอย่าง GGC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต และการตลาด จึงช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

GGC ผนึก KTIS ผุด “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” เผยเตรียมโรดโชว์ญี่ปุ่นหาพันธมิตร

GGC จับมือ KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยผุดโครงการก่อสร้างนำร่อง “นครสวรรค์ Biocomplex” ที่ อ.ตาคลี นครสวรรค์ บนพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ หนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เพิ่มมูลค่าเกษตรไทย ประเดิมเฟสแรกตั้งโรงงานผลิตเอทานอล 2 แสนตัน/ปี และโรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินรวม 7.6 พันล้านบาท รองรับการลงทุนเฟส 2 ที่จะต่อยอดไปสู่เคมีและพลาสติกขีวภาพ และธุรกิจอาหารเสริม

วันนี้ (6 ก.พ.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ หัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ได้ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในจังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และนายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ร่วมในพิธีฯ

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) เปิดเผยว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยพันธุ์ดีของไทย ได้แบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ประกอบด้วย โรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2 แสนตัน/ปี ไฟฟ้าชีวมวล 85 เมกะวัตต์ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมมูลค่าโครงการ 7,650 ล้านบาท โครงการระยะที่ 2 จะเป็นการนำเอทานอลไปต่อยอดการลงทุนไปยังโรงงานเคมีและพลาสติกชีวภาพ โรงงานอาหารเสริม มูลค่าการลงทุนจากการประเมินราว 10,000-30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปลายเดือน ก.พ.นี้บริษัทฯ จะร่วมกับ KTIS ไปโรดโชว์หานักลงทุนที่มีเทคโนโลยีมาร่วมลงทุนในนิคมฯ เฟส 2 หรืออาจจะซื้อเทคโนโลยีเพื่อลงทุน

ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เกิดการพัฒนาและส่งเสริมความรู้สมัยใหม่ด้านเกษตรกรรมในพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ในระยะเริ่มต้น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็น 60,000-75,000 บาท/ต่อคน/ปี จากอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงาน Knowledge workers / High-tech labor ในกลุ่มพลังงานชีวภาพ เคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 400 ตำแหน่ง ช่วยสนับสนุนการผลิตพลังงานชีวภาพที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนมากกว่า 180 ล้านลิตรต่อปี (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579) การพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตทางการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ผ่านความร่วมมือจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และท้ายที่สุดคือ ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติกชีวภาพกว่า 10,000-30,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี

นายจิรวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ 7,500 ล้านบาท โครงการผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 300 ล้านบาท โครงการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ ขนาด 1.4 หมื่นตัน/ปี เงินลงทุน 800 ล้านบาท และโครงการผลิตเมทิลเอสเทอร์ เฟส 2 เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอ และการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ เดินหน้าไบโอคอมเพล็กซ์ เฟสที่ 1

 “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” พร้อมลงทุนไบโอคอมเพล็กซ์ เฟสที่ 1 หลังรัฐชัดเจนกฎ เผยเงินลงทุนเฟสแรก 8,000 ล้านบาท จาก KTIS และ GGC ฝ่ายละครึ่ง เตรียมที่ดินรองรับ 2,000 ไร่ ที่นครสวรรค์ ใช้ในเฟสแรก 1,000 ไร่ หีบอ้อย 2.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำน้ำอ้อยผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน ก่อนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องชีวเคมีและชีวผลิตภัณฑ์ในเฟสที่ 2

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ (Biocomplex) ที่จะตั้งขึ้นใกล้ ๆ กับเคทิสคอมเพล็กซ์ (KTIS Complex) ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว อีกทั้งรัฐได้มีความชัดเจนของการแก้ไขระเบียบการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกเหนือจากน้ำตาลทราย

ทั้งนี้ การลงทุนในเฟสแรก ซึ่งใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยผู้ร่วมลงทุน 2 ฝ่าย คือ KTIS และ GGC (บมจ. โกลบอลกรีนเคมิคอล) ลงทุนฝ่ายละเท่า ๆ กัน คือ ร้อยละ 50 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี หลังจากได้รับอนุมัติการลงทุน โดย KTIS ซึ่งรับผิดชอบด้านวัตถุดิบ คือ อ้อย จะต้องสร้างอ้อยขึ้นใหม่โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออ้อยที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลอยู่เดิม

“การลงทุนในเฟสที่ 1 นี้ ยังรวมถึงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับโครงการในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ด้วย โดยพื้นที่โครงการรวมทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่ ใช้สำหรับเฟส 1 ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งการตั้งโครงการในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพราะเป็นแหล่งศูนย์กลางวัตถุดิบหลักคืออ้อย อีกทั้งยังไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ทำให้มีความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ทั้งเอทานอลในเฟสที่ 1 และเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพต่างๆ ในเฟสที่ 2” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้น ยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างต่ำ โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้แนวนโยบายการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่อยอดที่มีมูลค่าสูงขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสูงขึ้นด้วย รายได้ของเกษตรกรก็จะสูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น

“กลุ่ม KTIS สามารถทำโครงการใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ได้ เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ทำให้ไม่มีปัญหาในการสร้างอ้อยเพิ่มเติม รวมถึงการอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล มาเป็นเวลานาน มีประสบการณ์อย่างดีในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งการผลิตเอทานอล และไฟฟ้า ส่วนพันธมิตรอย่าง GGC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็มีความแข็งแกร่งทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต และการตลาด จึงช่วยเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

เปิดแผนยุทธศาสตร์น้ำปี 62  รัฐทุ่ม1.2แสนล.จัดการทั้งระบบ

          รัฐบาลเตรียมเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศเต็มสูบหลังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ หรือกนช. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำทั้งแผนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) ถือเป็นครั้งแรกหลังมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ปรับปรุงองค์ประกอบ กนช. และออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข้าราชการพนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ มาปฏิบัติราชการ หรือปฏิบัติงานในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

         โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า สืบเนื่องจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่และ มีหน้าที่บูรณาการเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เกี่ยวข้องกับรายกระทรวงด้วยกัน เพื่อจะทำให้บังเกิดผลทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไปในอนาคตจึงต้องมีการประชุมหารือกรอบการทำงาน

      “แม้ว่าวันนี้ทำอะไรก็จะเป็นปัญหาไปหมด แต่ต้องทำให้ได้ ทำให้สำเร็จ เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะทำเพื่อประเทศชาติของเรา ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า”

       การประชุมครั้งนี้ทำให้เริ่มเห็นภาพความชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ  โดยที่ประชุมมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 ชุด หวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  พร้อมพิจารณาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่หน่วยงานด้านน้ำเสนอมา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบและยั่งยืน  รวมถึงแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อรองรับอีอีซี 

       พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงภายหลังการประชุม โดยระบุว่าการประชุมครั้งแรกนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานได้รับทราบการแต่งตั้งกนช.ชุดใหม่ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ เลขาธิการสทนช. เป็นเลขานุการ โดยให้หน้าที่และอำนาจในการกำกับสั่งการเพื่อจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติได้ พร้อมทั้งมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีก 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองวิเคราะห์โครงการและติดตามประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล

         รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นับจากนี้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจะเป็นระบบและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมี สทนช.ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศ การสั่งการน้ำในภาวะวิกฤติ และกลั่นกรองการเสนอของงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ทั้งงบบูรณาการด้านน้ำ งบกลาง เงินกู้ รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีความสำคัญและโครงการขนาดใหญ่และจะต้องผ่านกนช. ก่อนที่จะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

         ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเสริมว่า กนช.เห็นชอบให้ สทนช. ทบทวนและปรับโครงสร้างให้ครอบคลุมภารกิจที่ได้รับมอบหมายและสอดรับ ร่างพ.ร.บ.น้ำ ที่จะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ โดยจะเพิ่มกองวิชาการ พิจารณาด้านน้ำทุกมิติ งานวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านน้ำ กองความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรวมศูนย์การติดต่อกับต่างประเทศด้านน้ำในเชิงนโยบาย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในระดับภูมิภาคเพื่อเชื่อมโยงจัดการน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและหน่วยงานในระดับพื้นที่

        “สทนช.จะเร่งรัดและขับเคลื่อนแผนงานและโครงการด้านน้ำในปี 2561-2565 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ เห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2561 และให้เร่งแผนงานโครงการสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในเชิงพื้นที่ (Area Base) ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ พร้อมกำหนดแผนพัฒนาและฟื้นฟูการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญได้เห็นชอบโครงการตามที่สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่ ความพร้อมโครงการที่เสนอ ครม.สัญจร เหลือผ่านเกณฑ์ 216 โครงการ 4,212 ล้านบาท” เลขาธิการสทนช.กล่าว

        ส่วนแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2562 เดิมได้เสนอต่อสำนักงบประมาณจำนวน 3,295 โครงการ วงเงิน 130,220 ล้านบาท ได้ตามหลักเกณฑ์และได้ปรับลดโครงการที่ไม่มีความพร้อมออก พร้อมเพิ่มแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เร่งด่วนแทน ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากควรทำแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ Area base ให้ชัดเจน และให้หารือกับสำนักงบประมาณพิจารณาหาแหล่งงบประมาณมาดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องบปกติ

         ดร.สมเกียรติ เผยต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนช.ยังเห็นชอบแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาน้ำอีกหลายโครงการ อาทิ แผนการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการพัฒนาเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งกรมชลประทานมีแผนพัฒนาน้ำต้นทุนในประเทศรองรับการเติบโตในพื้นที่ในระยะ 10 ปี จำนวน 320 ล้านลบ.ม. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ตามที่กรมชลประทาน โดยจะผันน้ำจากลำประทาวตอนบนไปตอนล่างก่อนไหลลงน้ำชีเพื่อตัดยอดน้ำและเลี่ยงเขตเมือง และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบบรูณาการพื้นที่ 6 ตำบล อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเพื่อจัดหาน้ำให้พื้นที่ป่าจำปีสิรินธรและแปลงเกษตรเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น

           นอกจากนี้ กนช.ยังได้รับทราบสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานรายงานด้วยว่า ในปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างขนาดกลาง-ใหญ่ รวม 60,361 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของปริมาณความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 15,654 ล้านลบ.ม. ส่วนสภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ในอนาคตคาดว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 2561 ใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งปริมาณฝนจะน้อย ยกเว้นภาคเหนือและใต้มีโอกาสที่ฝนจะสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งในปัจจุบันปรากฏการณ์อีเอ็นเอสโอ พัฒนาเป็นลานีญา และจะเข้าสู่ภาวะเป็นกลางก่อนสิ้นมีนาคม 2561 ทำให้ช่วงกุมภาพันธ์–เมษายน จะมีฝนในภาคเหนือ อีสาน และกลางสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งสทนช.ขอให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

             อย่างไรก็ตามจากการประชุมในครั้งนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีได้เห็นภาพรวมการบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งแผน มีการแบ่งกลุ่มงบประมาณในแต่ละปีว่าจะนำไปใช้ในส่วนไหนบ้าง โดยจะแบ่งเป็นงบประมาณปกติ เช่น การปรับปรุง ซ่อมบำรุง ขยายแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว และงบประมาณที่ใช้ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น แผนสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ที่ใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงชี้แจงให้เห็นถึงการใช้งบประมาณปกติจำนวน 5-6 หมื่นล้านบาทตั้งแต่ปี 2557-2558 ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไป รวมถึงในส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่แต่ละภาคเสนอมาจำนวน 20-30 โครงการนั้น ต้องนำมาพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ รวมถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการด้วย

 เร่งบูรณาการหน่วยงานจัด “แพ็กเกจน้ำ” 

         ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศว่า หลักๆ ก็คือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์น้ำชาติที่ขับเคลื่อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะน้ำอุปโภคอุบโภคซึ่งเป็นยุทธศาสตร์แรกที่ประกาศเอาไว้ในปี 2561 จะต้องให้ครอบคลุมในทุกหมู่บ้าน ซึ่งขณะนี้ยังมีประมาณ 256 หมู่บ้านที่ยังเป็นปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในปี 2562

          ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคการผลิต ไม่ว่าเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงอีอีซีด้วย ซึ่งภาคการเกษตรนั้นปรากฏว่าการพัฒนาแหล่งน้ำช้ามากได้ประมาณ 30% ของเป้าหมาย  ซึ่งที่ผ่านมาจะมุ่งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเท่านั้นเ ส่วนโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ยังมีปัญหา ทำได้แค่การศึกษาเท่านั้นเหลือเพียงการออกแบบก่อสร้างที่จะขับเคลื่อนต่อไปในแต่ละภาค

          สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันน้ำท่วมจะมีการปรับแผนใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะแผนงานของกรมเจ้าท่าและกรมกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งได้มีมาสเตอร์แพลนไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน จึงจำเป็นต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทั้งระบบ ส่วนพื้นที่ต้นน้ำนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

          “อะไรที่ทำพร้อมกันได้ให้ทำ ซึ่งเราปรับแผนของกรมเจ้าท่าเพื่อให้ลงมาแก้ปัญหาการขุดลอกแม่น้ำสายหลักให้ได้ภายในปี 2562-2563   สำหรับในปี 2562-2565 มีแผนงานโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น จะได้รับพิจารณาเป็นแพ็กเกจรวมกันให้ได้และมีความชัดเจนจึงจะดำเนินการต่อไปได้” เลขาธิการ สทนช.กล่าวย้ำ

จาก www.komchadluek.net วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

กกร.ห่วงค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกสั่งเกาะติดใกล้ชิด

กกร.ตรึงเป้าส่งออกปีจอไว้ที่  3.5-6.0% แม้ค่าเงินบาทแข็งระบุขอรอดูสถานการณ์ก่อน  ชี้เศรษฐกิจไทยยังสดใสคาดปีนี้อยู่ในกรอบ3.8-4.5%  เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1-1.6%                    

นายปรีดี  ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทย  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนหรือ เห็นว่า เศรษฐกิจหลักของโลกปีนี้ มีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษี ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)  ที่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจหลักต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.นี้ รวมทั้งความผันผวนของทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ กกร. เห็นว่า ยังมีแรงส่งของการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปี60 ขณะที่ การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ  61 (งบกลางปี) ของภาครัฐอีก 1.5 แสนล้านบาท น่าจะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในระยะเวลาเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจต่อประเด็นความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ดังนั้น แม้ขณะนี้ กกร. จะยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจและการส่งออกในปี  61 ไว้ตามเดิม แต่จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม   กกร. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะอยู่ในกรอบ 3.8-4.5% ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3.5-6.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1-1.6%

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

กมธ.ทรัพยากรน้ำเข็นกม.รีดภาษีน้ำเข้าสนช.เดือน เม.ย.

กมธ.ทรัพยากรน้ำเข็นกม.รีดภาษีน้ำเข้าสนช.เดือนเม.ย. โยนสนทช.ออกกฎกท.คุม ยืนกรานไม่ขูดค่าน้ำชาวนา ชี้สนามกอล์ฟ-โรงแรมโดนแน่

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่รัฐสภา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แถลงว่า กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้วในเบื้องต้น มีทั้งหมด 100 มาตรา มีการแก้ไขเนื้อหา 60 % และคงตามร่างเดิม 40% สาเหตุที่แก้ไขมาก เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสนช.ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี2560 จะประกาศใช้ จึงต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับรัฐธรรมนูญ ตลอดจนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ แผนปฏิรูปประเทศเรื่องน้ำที่ออกมาภายหลัง โดยรับฟังความเห็นประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญมาแล้ว 50 จังหวัด 17 ลุ่มน้ำ หลังจากนี้ในเดือนก.พ. กมธ.จะเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 42 แห่ง ในวันที่ 21 ก.พ.ที่กรมชลประทาน เพื่อรับฟังความเห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบการทำงานต่อหน่วยงานใด รวมทั้งจะส่งร่างกฎหมายไปรับฟังความเห็นจากผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย เมื่อรับฟังความเห็นเพิ่มเติมเสร็จแล้ว กมธ.จะนำมาปรับปรุงเนื้อหาอีกครั้งให้เกิดความรอบคอบ คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสนช.พิจารณาในวาระ2-3ได้ในเดือนเม.ย. จะไม่มีการขยายเวลารับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะขยายเวลามาแล้ว 5ครั้ง

พล.อ.อกนิษฐ์กล่าวว่า ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์มาตรา39-41 เกี่ยวกับการแบ่งประเภทการเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น กมธ.จะแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็น 3 ประเภท คือ 1.การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรายย่อย จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำแน่นอน 2.การใช้น้ำในเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ 3.การใช้น้ำในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สนามกอล์ฟ โรงแรม ซึ่งสองประเภทหลังจะต้องมีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำ โดยกมธ.จะให้สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.) ไปออกกฎกระทรวงออกหลักเกณฑ์แบ่งกลุ่มประเภทเกษตรกรในการใช้น้ำ 3ประเภท

“เบื้องต้นหากเป็นชาวบ้านที่ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรายย่อยที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์จำนวนไม่มากจะไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ ยกเว้นเกษตรกรเชิงพาณิชย์ที่เลี้ยงสัตว์หลายร้อยตัว หรือเป็นพันตัว โรงแรมขนาดใหญ่ สนามกอล์ฟ จะต้องเสียค่าใช้น้ำ ซึ่งสนทช.กำลังไปพิจารณาออกกฎกระทรวงต้องเสียค่าใช้น้ำในอัตราเท่าใด ทั้งนี้หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว จะทอดเวลาบังคับใช้เรื่องการเรียกเก็บค่าใช้น้ำไป 2ปี เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวในการปฏิบัติตามกฎหมาย”พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว

จาก https://www.siamrath.co.th  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561

เตือนรอบคอบทำ‘คอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง’ เกษตรฯเร่งสางปมพิพาทเอกชน-ชาวไร่อ้อย‘พบพระ’

นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกรณีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจังหวัดตากได้แจ้งความร้องเรียนว่าถูก บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ชำระหนี้จากกรณีการทำสัญญาร่วมโครงการปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลจำนวน 53 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 1,300 ล้านบาทนั้น นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา จัดส่งเจ้าหน้าที่กฎหมาย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนแล้ว

ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมีหนี้สินกับบริษัท 53 ราย มูลค่า 46 ล้านบาท ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญากับบริษัทในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการเจรจาฯ ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะมีการนัดเจรจาฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์

ขณะที่จากการตรวจสอบสัญญาที่บริษัททำกับเกษตรกร พบว่า เป็นสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงจะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่สำหรับสัญญาสิ้นสุดไปแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 23 กันยายน 2560 กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เนื่องจากอยู่ในขบวนการของศาลหรือดีเอสไอพิจารณาดูแล ส่วนสัญญาที่ไม่สิ้นสุดนับจาก 23 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทางสำนักงานจะเข้าไปดูรายละเอียดเอกสารอีกครั้งว่าจะมีการไกล่เกลี่ยอย่างไร รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะนำข้อมูลไปประกอบการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อไป

“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย อ.พบพระ ครั้งนี้ ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ให้เกษตรกรตระหนักว่า ต่อไปหากต้องทำคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งกับองค์กรหรือผู้ประกอบการรายไหน จะต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทนั้นๆ ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญากับทางสำนักงานหรือยัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้เข้ามาแจ้งจดเป็นผู้ประกอบในระบบแล้ว 104 รายและจะมีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ประเด็นที่สอง เมื่อมีเอกสารชี้ชวนหรือมาโฆษณาให้เข้าร่วมทำเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการ จะต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องแผนการผลิต มูลค่าและราคาที่ตกลงร่วมกันเป็นราคาคงที่หรือยึดตามราคาขึ้นลงของตลาด รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญคือปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย สารเคมี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยการผลิตที่ได้การรับคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เกษตรกรจะต้องดูเอกสารเหล่านั้นให้ละเอียดและให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน” นายพีรพันธ์ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ผู้บริหาร”น้ำตาลขอนแก่น”เก็บหุ้น

ข้อมูลของสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า จำรูญ  ชินธรรมมิตร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL รายงานซื้อหุ้นจำนวน 4 แสนหุ้น ที่กรอบราคาหุ้นละ 4.38-4.40 บาทมูลค่ารายการรวม 1.75 ล้านบาท

การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในรอบเดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงโดยเดือนธ.ค.ราคาปรับตัวลดลง 4.50% จากราคา 4.88 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 4.66 บาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 4.96 บาท ต่ำสุดที่ 4.34 บาท ขณะที่เดือนม.ค.ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 6.80% จากราคา 4.70 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 4.38 บาท โดยราคาสูงสุดอยู่ที่ 4.76 บาท ต่ำสุดที่ 4.36 บาท

ด้านบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่าจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศให้ราคาขายอิงตามราคาตลาดโลก รวมถึงการยกเลิกโควตาน้ำตาลในประเทศ เพื่อไม่ให้ผิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) จากการฟ้องของบราซิลซึ่งการลอยตัวราคาในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับตัวลงราว 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม หรือยู่ที่ 17-18 บาทต่อกิโลกรัมจากเดิมที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม

อีกทั้งการยกเลิกเก็บเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัม ส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล มองว่าจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมเนื่องจากจะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ได้มีการปรับประมาณการผลการดำเนินงานปี 2561 ขึ้นจากเดิม สะท้อนปัจจัยบวกจากการลอยตัวราคาน้ำตาล และคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัท บีบีจีไอ จำกัด หรือ BBGI จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปรับประมาณการยอดขายเป็น 14,094 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานปริมาณขายน้ำตาลเพิ่มขึ้น 20% ที่ราคาขายเฉลี่ย 17 เซนต็ต่อปอนด์และปริมาณขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8% แต่ราคาขายจะลดลง 3%

อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราการทำกำไรจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนโมลาสที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้กลุ่มเอทานอลมีอัตรากำไรลดลง

นอกจากนี้คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะลดลงเนื่องจากไม่มีเงินส่งเข้ากองทุน ขณะที่การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40%  จากเดิมที่ถือ 99.99% จะปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจไบโอดีเซลและเอทานอล แต่คาดว่าภาษีจ่ายจะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจน้ำตาลซึ่งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีโดยประมาณการกำไรก่อนรายการพิเศษที่ 1,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 335 แต่กำไรสุทธิจะลดลง 31% จากปีก่อนที่มีรายการพิเศษเข้ามา 2,553 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

“สุรชัย”ย้ำระบบบริหารจัดการคือหัวใจการปฎิรูปน้ำ

สนช.เปิดเวมีสัมมนาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ  พ.ศ.....รองประธานสนช.ชี้ การบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจำเป็นต้องปฏิรูป ให้เกิดความเป็นเอกภาพ หวังให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน

วันนี้(5ก.พ.2561) เว็บไซต์ http://www.radioparliament.net เผยแพร่ข่าวว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนา เรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ...." จัดขึ้นโดยคณะกรรมการวิชาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 213 – 216 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2

โดยนายสุรชัย ได้กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการกำหนดแนวนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2558 – 2569 โดยยึดหลักการบริหารจัดการน้ำในระดับลุ่มแม่น้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน บนพื้นฐานของการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ แต่พบว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีข้อจำกัดต่อการบูรณาการแผนงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ทำให้การดำเนินการขาดเอกภาพ อีกทั้งมีกฎหมายบางส่วนที่มีความซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ไม่เชื่อมโยง และไม่ครอบคลุมการปฏิบัติภารกิจที่จำเป็นทั้งหมดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ระบบบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นประเด็นสำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องปฏิรูป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สามารถแก้ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ภายในงานสัมมนาดังกล่าว มีการอภิปรายประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.... โดย พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ..... และนายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.....พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและหน่วยงานของรัฐได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น  เพื่อนำข้อมูลสาระสำคัญและความรู้ที่ได้รับจากการสัมมนาครั้งนี้  ไปใช้ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้อย่าง มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ชี้ราคาน้ำตาลช่วง‘ขาลง’ หน้าโรงงานเหลือ17-18บาท/กก.

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเดือนกุมภาพันธ์ 2561ภาพรวมคาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับ 17-18 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากเดิมอยู่ ที่ 19-20 บาทต่อกก.และหากระดับราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอนมีทิศทางเฉลี่ยยังคงที่ 350-360 เหรียญสหรัฐต่อตันราคาน้ำตาลทรายในประเทศก็จะทรงตัวในระดับดังกล่าว

“ราคาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรคงอยู่ที่ราคาน้ำตาลตลาดโลก แต่หากอยู่ 350-360 เหรียญสหรัฐต่อตันบวกด้วยพรีเมียมน้ำตาลไทยราคาจะเป็นกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานก็จะยังคงทรงตัวในระดับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ราคาขายปลีก เมื่อถึงปลายทางที่ต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว บรรจุภัณฑ์ราคาก็อาจจะลดลงไม่เท่ากับราคาหน้าโรงงาน แล้วแต่พื้นที่ของการแข่งขันและต้นทุนที่ต่างกันไปซึ่งเฉลี่ยขณะนี้ราคาขายปลีกจะอยู่ที่ 21-21.50 บาท/กก.” นายบุญถิ่นกล่าว

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่ลดลงต่ำเกิดจากผลผลิตโลกที่สูงขึ้น ขณะที่ประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ที่คาดว่าผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2560/61 จะสูงกว่าที่ประเมินไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 103 ล้านตัน และค่อนข้างชัดเจนหลังการหีบอ้อยมาครึ่งทางก็พบว่ามีอ้อยเข้าหีบเกือบ 50 ล้านตัน

นายสิริวุทธ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัทไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ราคาหน้าโรงงานที่ลดลงเฉลี่ย 2 บาทต่อกก.นั้นถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมแล้วโดยมีบางฝ่ายมองว่าควรจะลดลง 5 บาทต่อกก.เพราะก่อนหน้าได้เก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งต้องเข้าใจว่าราคา 14.50 บาทต่อกก. คือราคาที่โรงงานได้ และนำเข้าสู่ระบบแบ่งปันรายได้ ระหว่างชาวไร่และโรงงาน 70:30 ส่วน 5 บาทต่อกก. โรงงานไม่ได้รับประโยชน์เพราะเงินดังกล่าวนำไปชำระหนี้ให้กับชาวไร่และการอิง 5 บาทต่อกก.เป็นราคาที่ย้อนหลังไป 10 กว่าปีที่แล้วจึงต้องมองในแง่ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงด้วย

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พิจารณาแนวทางความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูกาลผลิตปี 60/61 ที่จะเพิ่มเงินค่าอ้อยอีก 50 บาทต่อตัน จากที่กำหนดราคาเฉลี่ยไว้ 880 บาทต่อตัน ซึ่งที่ประชุมให้นำ

กลับไปที่คณะทำงานพิจารณาเนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงและให้นำกลับมาพิจารณาในกอน.ใหม่

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า ปัญหาการจ่ายเงินค่าอ้อยเพิ่มอีก 50 บาทต่อตันยังเป็นข้อถกเถียงเพราะด้วยราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอาจนำไปสู่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ต่ำกว่าขั้นต้นถึงจุดนั้นแล้วใครจะเป็นคนจ่ายส่วนต่างเพราะระเบียบเดิมกำหนดให้กองทุนฯจ่าย ประกอบกับการจ่าย 50 บาทต่อตันเพิ่ม จะขัดหลักการค้าเสรีหรือไม่

จาก www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ค่าบาท 'อ่อนค่า' แนวโน้มยังผันผวน

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่าที่ "31.45 บาทต่อดอลลาร์" แนวโน้มการลงทุนผันผวนมากขึ้นและตลาดการเงินโลกจะปรับฐานเมื่อได้ปัจจัยใหม่ ฝั่งเงินเอเชียและเงินบาทยังแข็งแกร่ง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.45าทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ 31.32 บาทต่อดอลลาร์หลังตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ในส่วนของตลาดการเงิน แนวโน้มการลงทุนที่เริ่มผันผวนมากขึ้นกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนและตลาดให้ความสนใจในระยะสั้น เมื่อทั้งหุ้นและบอนด์ปรับตัวลง เงินดอลลาร์จะเป็นสินทรัพย์สุดท้ายที่นักลงทุนฝั่งอเมริกาต้องถือ เพราะการปรับตัวลงของราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะกระจายไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในยุโรปหรือเอเชีย

เราเชื่อว่าตลาดการเงินโลกเข้าสู่ช่วงปรับฐานเมื่อไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามากระตุ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อมั่นในสกุลเงินฝั่งเอเชียและเงินบาทอยู่ มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการค้าที่ฟื้นตัว เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสกุลเงินเอเชียและเงินบาทจะไม่ลดลง กรอบเงินบาทวันนี้ 31.40- 31.50 บาทต่อดอลลาร์กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.20- 31.70 บาทต่อดอลลาร์

ในสัปดาห์นี้สิ่งที่ต้องจับตาคือ ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยในอเมริกาจะเกิดขึ้นเร็วและมากน้อยเพียงใด

เริ่มต้นด้วยในวันจันทร์นายเจอโรม โพเวลล์ จะเข้าสาบานตนเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ วันพุธ นายวิลเลียม ดัดลีย์มีกำหนดจะให้ความเห็นในการสัมมนาที่นิวยอร์ก วันพฤหัสโรเบิร์ต แคปแลน นีล คาชคารี และเอสเตอร์ จอร์จ มีกำหนดการเข้าร่วมสัมนาในงานต่างๆเช่นกัน การให้ความเห็นเรื่องดอกเบี้ยจะสร้างความผันผวนให้ค่าเงินดอลลาร์แน่นอน

ขณะที่ในฝั่งเศรษฐกิจ จะมีการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในวันอังคาร แม้ตลาดคาดว่าจะ “คงดอกเบี้ย” ที่ระดับ 1.50% แต่เงินเฟ้อที่ยังสูงชี้ว่าดอกเบี้ยยังคงเป็นขาขึ้น

นอกจากนี้ในวันพฤหัส จะมีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้คาดว่าจะ “คงดอกเบี้ย” ที่ระดับ 0.50% แต่เชื่อว่านักลงทุนจะจับตาไปที่แถลงการของ BOE หลังจากที่ค่าเงินปอนด์ปรับตัวขึ้นขณะที่การเจรจา Brexit กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

จาก  www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ก.เกษตรฯโดดช่วยชาวไร่อ้อยถูกนายทุนฟ้องร้อง

              นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากกรณีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจังหวัดตากได้แจ้งความร้องเรียนว่าถูกบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีให้ชำระหนี้จากกรณีการทำสัญญาร่วมโครงการปลูกอ้อยเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต        เอทานอล จำนวน 53 ราย เป็นมูลหนี้รวมประมาณ 1,300 ล้านบาทนั้น

               ล่าสุดนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา  ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จัดส่งเจ้าหน้าที่          ด้านกฎหมายลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และรายงานสรุปข้อเท็จจริง เพื่อประกอบการวางแผนในบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา รวมทั้งนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเร่งด่วนแล้ว

            ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมีหนี้สินกับบริษัทฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 53 รายมูลค่าหนี้ 46 ล้านบาท ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญากับทางบริษัทฯ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย       ข้อพิพาทระหว่างบริษัทฯ กับเกษตรกรดังกล่าวในชั้นศาล โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการเจรจาฯ ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะมีการนัดเจรจาฯ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 นี้  

            ทั้งนี้ จากกรณีดังกล่าวสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาได้พิจารณาสัญญาที่บริษัทฯ ทำกับเกษตรกรแล้ว เห็นว่าเป็นสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นการทำสัญญาระหว่าง   ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับเกษตรกร (ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป) ที่มีเงื่อนไขในการปลูกอ้อยตามจำนวนคุณภาพ ราคา และระยะเวลาที่กำหนด และบริษัทฯ ตกลงรับซื้ออ้อย

            โดยผู้ประกอบธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิต โดยเป็นผู้จัดหาพันธุ์อ้อย ปุ๋ย ยา และปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ประกอบกับบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาดฯ ได้ดำเนินการ     จดแจ้งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ โดยมีการจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ และร่างสัญญาตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนด พร้อมทั้งได้ส่งให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันเป็นการยอมรับว่าบริษัทฯ ได้ประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา

​                  ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯจะนำ พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาฯ มาดูแลแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและมีความเห็น ดังนี้ ในกรณีที่สัญญาสิ้นสุดไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ 23 กันยายน 2560 กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ เนื่องจากอยู่ในขบวนการของศาลหรือดีเอสไอพิจาณาดูแล ส่วนสัญญาที่ไม่สิ้นสุดนับจาก 23 กันยายน 2560 เป็นต้นมา ทางสำนักงานฯ จะเข้าไปดูรายละเอียดอีกครั้งเอกสารอีกครั้งจะมีการไกล่เกลี่ยอย่างไร ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะติดตามความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะนำข้อมูลไปประกอบการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อไป

                  "ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยใน อ.พบพระครั้งนี้  ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ให้เกษตรกรได้ตระหนักว่า ต่อไปหากต้องทำคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งกับองค์กรหรือผู้ประกอบการรายไหน  สิ่งที่อยากฝากคืออันดับแรกจะต้องตรวจสอบด้วยว่าบริษัทนั้นๆ ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญากับทางสำนักงานหรือยัง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้เข้ามาแจ้งจดเป็นผู้ประกอบในระบบแล้ว 104 รายและจะมีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ประเด็นที่สอง เมื่อมีเอกสารชี้ชวนหรือมาโฆษณาให้เข้าร่วมทำเกษตรพันธสัญญาของผู้ประกอบการ  จะต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องแผนการผลิต มูลค่าและราคาที่ตกลงร่วมกันเป็นราคาคงที่หรือยึดตามราคาขึ้นลงของตลาด รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และที่สำคัญคือปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย สารเคมี    สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยการผลิตที่ได้การรับคุณภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เกษตรกรจะต้องดูเอกสารเหล่านั้นให้ละเอียดและให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน" นายพีรพันธ์ กล่าว

                นายพีรพันธ์กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การผลักดัน พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 เป็นเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการให้กฏหมายดังกล่าวมาอุดช่องโหว่ปัญหา  การทำธุรกิจทางการเกษตรที่ไม่เป็นธรรม  การเอารัดเอาเปรียบกันในอดีต ซึ่ง พรบ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ไปเชื่อมันว่าปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดจะหมดไปโดยเร็ว

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ยุครม.ควํ่าร่างกฎหมายนํ้า อธิบดีอ้างหลักการเพี้ยน-วิปสนช.อัดขวางทาง

กฎหมายนํ้าส่อวุ่น “อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า” ยุครม.ควํ่าร่างกฎหมายที่ กมธ.ปรับแก้ไขแล้ว อ้างขัดหลักเจตนาเดิม และหลักวิชาการ หวั่นลามกระทบกฎหมายอื่นที่บัญญัติไว้แล้ว สนช. สวดยับร่วมประชุมน้อยครั้งยังขวาง เคาะฟังความคิดเห็น 21 ก.พ.ก่อนชงครม.

ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ได้มีมติที่ประชุมครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2561 มอบให้กรรมาธิการฯ พิจารณาเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... มาตรา 1-มาตรา 100 ตามที่ได้พิจารณาปรับแก้ไขแล้วจำนวน 33 หน้าว่ามีความเห็นอย่างไรนั้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางนายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ในฉบับคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขแล้วเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าว เป็นการแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายให้มีหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไว้แล้ว รวมถึงเป็น การขัดต่อหลักการของเนื้อหาสาระร่าง พ.ร.บ. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณารับหลักการเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ไว้ อาจเข้าข่ายเป็นการแก้ไขเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ฉบับใหม่ โดยมิได้ผ่านกลไกตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ทั้งนี้นายวรศาสน์เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติ ฉบับคณะกรรมาธิการฯ ปรับแก้ไขดังกล่าวมีผลกระทบต่อเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...และขัดต่อหลักวิชาการ รวมถึงมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติไว้แล้ว นอกจากนั้นยังมีผลต่อโครงสร้างการบริหารจัดการที่ให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติในการพิจารณาทางปกครองในการพิจารณาอุทธรณ์การออกคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) รวมถึงออกคำสั่งทางปกครองส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเท่ากับให้ผู้บริหารสูงสุดของประเทศและหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีวัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานทำหน้าที่เฉพาะด้านนโยบายการบริหารจัดการนํ้าของประเทศเท่านั้น มาทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ

โดยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวไม่แตกต่างจากภารกิจที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรนํ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2545 และกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ กรมทรัพยากรนํ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 และเป็นการขัดต่อวัตถุ ประสงค์การจัดตั้งหน่วยงานตามคำสั่งคสช. ซึ่งในระหว่างการพิจารณา ทั้งอธิบดีกรมทรัพยากรนํ้า และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมแทนได้ให้ความเห็นแย้งในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด

“ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯได้ประชุมกว่า 100 ครั้ง แต่อธิบดีเข้าร่วมประชุม 46 ครั้ง ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมประชุมทำงานกันอย่างหามรุ่งหามคํ่า เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จทันตามกำหนด มองว่ามาทำแบบนี้ถือเป็นการขัดขวาง ซึ่งในส่วนของ สทนช.แม้จะเป็นสำนักงานใหม่ แต่ก็ล้อตามร่างกฎหมายที่ปรับแก้ ส่วนกรมทรัพยากรนํ้าก็ยังมีภารกิจอยู่ เพียงแต่นโยบายก็ให้หน่วยงานใหม่ทำไป”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ทางคณะกรรมาธิการ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 42 หน่วยงานพร้อมคณะกรรมการลุ่มนํ้า 25 ลุ่มนํ้าที่กรมชลประทาน คาดจะมีผู้เข้าร่วมฟังราว 150 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรับแก้ร่างฯอีกครั้ง ก่อนส่งเรื่องสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำไปผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.กรมทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... ที่เสนอโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้กรมทรัพยากรนํ้า เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้า ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ... จัดตั้ง สทนช.ขึ้นใหม่ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แล้วให้ เลขาฯ สทนช. เป็นเลขานุการของคณะทรัพยากรนํ้า

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ชี้ผังอีอีซีเสร็จไม่ทันกลางปีนี้

นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยถึงความคืบหน้าการวางผังเมืองรวม 3จังหวัด ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 กำหนดให้ กรมโยธาฯและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่ แผนแม่บทอีอีซีผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอีอีซี ในเดือนมกราคมนี้ แต่ยอมรับว่าแผนดังกล่าว ไม่สามารถเข้าสู่บอร์ดอีอีซีได้ทันภายในเดือนดังกล่าว ทำให้ต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปจากกลางปี 2561 เป็นประมาณเดือนสิงหาคม หากประกาศใช้จะยกเลิกผังเมืองเดิมที่มีอยู่ของ3 จังหวัดออกไป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 12 ผังย่อยแต่ละชุมชนและ 3 ผังใหญ่ซึ่งเป็นผังจังหวัดและนำผังรวม 3 จังหวัดอีอีซีใหม่มาบังคับใช้แทน หลังจากนี้ต้องใช้เวลาในการจัดทำผังย่อยขึ้นมาใหม่คาดว่าจะใช้เวลาในราว 1 ปีเพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

อย่างไรก็ดี การจัดทำผังไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้พื้นที่ที่ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินใน3 จังหวัด มีพื้นที่รวม 13,000ตารางกิโลเมตร หรือ 8 ล้านไร่ในจำนวนนี้กันเขตป่าออกไป 1ล้านไร่ พื้นที่อื่นๆ อาทิ นิคม เก่า1 ล้านไร่ ที่ใช้ประโยชน์จริง ตามผังอีอีซี มี 5 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัดที่ต้องกำหนดโซนพัฒนาว่าพื้นที่ไหนเป็นเมืองใหม่ ที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม เป็นต้น

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจัดทำผังอีอีซี จะกำหนดพื้นที่สีม่วง ประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะพื้นที่ที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนดไว้ แต่ที่ผ่านมา มักมีเจ้าของที่ดินเรียกร้องให้ปรับพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งกรมไม่สามารถปรับให้ได้

ด้าน นางพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ว่า นอกจากงบ 1.5 ล้านล้านบาท เฟสแรก 5 ปี ในการขับเคลื่อนอีอีซี ซึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ล่าสุดได้รับอนุมัติแล้ว 6 โครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงคาดเดือนกุมภาพันธ์เปิดยื่นซองทีโออาร์ และในเดือนกรกฎาคมได้ตัวผู้ลงทุน เปิดบริการปี 2566

ที่สำคัญ เมืองใหม่ซึ่งขณะนี้ มอบกรมโยธาธิการและผังเมืองศึกษา เบื้องต้นมี 11เมือง ทั้งเมืองเก่าและเมืองใหม่ซึ่งทั้ง 3 จังหวัด จะต้องมีเมืองใหม่ แต่เมื่อพิจารณาแล้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความน่าสนใจเป็นเมืองที่อยู่อาศัย รองรับการขยายตัวของกรุงเทพมหานครและกลุ่มคนทำงานใน 2 จังหวัดคือ ระยองและชลบุรี ซึ่งชลบุรีถูกกำหนดเป็นศูนย์บริการการเงินและธุรกิจการเงิน เมืองการบินในทำเลใกล้สนามบินอู่ตะเภาขณะที่ระยองกำหนดให้เป็นเมืองวิจัยและพัฒนา เมืองการศึกษา เพราะมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่หลายแห่ง

อย่างไรก็ดี สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ รูปแบบ กำหนดให้เอกชนเป็นผู้พัฒนา หรือเป็นเจ้าของที่ดิน อีกวิธีอาจนำที่ดินมาร่วมพัฒนาเป็นบล็อกๆ ได้แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบหน้าตาของเมืองให้แล้วเสร็จรวมทั้งตำแหน่งของเมือง

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กระทรวงอุตฯ ตรวจสอบ 14 จังหวัดโล่งโรงงานไม่ใช่ต้นเหตุฝุ่นละออง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกรณีกลุ่มกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปี 2560 โดยอ้างอิงการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 19 สถานีทั่วประเทศ พบว่า 14 จังหวัด มีผลการตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนเกินค่าคำแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก ว่า จากการตรวจสอบสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งของภาคการเกษตรและการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน การเผาขยะชุมชน และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ ตลอดจนช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงฤดูแล้งสภาพอากาศนิ่งและแห้งเป็นเวลานาน ทำให้เกิดฟุ้งของฝุ่นละอองสะสมในชั้นบรรยากาศบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามกระทรวงฯไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เข้มงวดในการกำกับ ดูแล สถานประกอบการอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนการปรับปรุงกฎหมายโรงงาน ปี 2561 – 2564 เพื่อการลดมลพิษทางอากาศจากภาคอุตสาหกรรม อาทิ ปรับปรุงค่ามาตรฐานปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า และโรงงานที่ใช้และผลิตสารอินทรีย์ระเหย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ได้อย่างสมดุล และยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรมชลเตือนลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกพืชเกินแผนเสี่ยงขาดน้ำ

           ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(2 ก.พ. 61)มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 59,153 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 35,232 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 จำนวน 8,602 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,530 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 11,834 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณน้ำใช้การได้

         กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2560/61 โดยใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักรวมกันทั้งสิ้น 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง(1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 60)จำนวน 7,700 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม.,รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม.ส่วนที่เหลืออีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2561

          ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 2560/61 ตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 –2 ก.พ. 61ได้มีการระบายน้ำ  ตามแผนฯไปแล้วจำนวน3,758 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ49ของแผนจัดสรรน้ำฯ และเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ โดยในวันนี้(2 ก.พ. 61)การระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ยังคงอยู่ในอัตรา90 ลบ.ม.ต่อวินาที(ปี 2560 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพียง 70 ลบ.ม.ต่อวินาที) เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงปากอ่าวไทย และควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลไม่ให้เกินเกณฑ์เฝ้าระวังที่กำหนดไว้ 0.25 กรัมต่อลิตร ปัจจุบัน(2 ก.พ. 61) วัดค่าความเค็มได้ 0.18 กรัมต่อลิตร ไม่มีผลต่อน้ำดิบที่การประปานครหลวงใช้ในการผลิตประปาได้ตามปกติส่วนการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน กรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด

         สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560/2561 ของทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 ม.ค. 61มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.03 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ(แผน 9.05 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.55 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนฯ(แผน 8.35 ล้านไร่)เฉพาะส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 105 ของแผนฯ(แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.45 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ105 ของแผนฯ(แผน 5.17 ล้านไร่)ซึ่งการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานกรมชลประทานยังสามารถสนับสนุนได้อย่างเพียงพอ ไม่เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกแต่อย่างใด

         ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่และเกินแผนไปแล้วจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ร่วมกันเพาะปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้ที่สำคัญเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำครอบคลุมทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอจึงต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตได้อย่างไม่ขาดแคลนด้วย

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ส่งออกขึ้นราคาสู้บาทแข็ง

ผู้ส่งออกแห่ปรับราคาสินค้า หลัง 4 ปัจจัยลบรุมกระหนํ่า “ศรีไทย” ร่อนหนังสือถึงคู่ค้าขอปรับขึ้น 5-10% กลุ่มอาหาร และเกษตรแปรรูปขอขยับตาม การ์เมนต์โอดออร์เดอร์ล่วงหน้า 6-9 เดือนหมดสิทธิ์ปรับ รอรอบใหม่

แม้การส่งออกของไทยภาพรวมปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 9.9% และปีนี้ทุกสำนัก พยากรณ์คาดจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เริ่มต้นปีภาคการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น (ปีที่แล้วแข็งค่าขึ้น 11% และปีนี้แข็งค่าขึ้นแล้ว 2.8%) ราคาวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ราคากระป๋องบรรจุภัณฑ์ก็ปรับขึ้นไม่หยุด ล่าสุดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นวันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป จากค่า จ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-22 บาทต่อวัน ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศที่รอถาโถมเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตส่งออกสินค้าของไทยต้องหาทางฝ่ามรสุมช่วงนี้ไปให้ได้ แนวทางหนึ่งคือการขอปรับขึ้นราคาสินค้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SITHAI ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับคู่ค้าต่างประเทศ พร้อมมีหนัง สือขอปรับขึ้นราคาสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกและเมลามีนตั้งแต่ 5% 8% และ 10% ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเป็นลูกค้าโซนใด ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก 25%

การปรับราคาสินค้าส่งออกครั้งนี้ ได้ชี้แจงเหตุผลต่อคู่ค้าว่าราคาสินค้าปรับขึ้นตามต้นทุนรวมที่สูงขึ้น โดยราคาเม็ดพลาสติกปรับขึ้นตามราคานํ้ามัน ยังไม่ได้นับรวมต้นทุนค่าแรงที่จะสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบหนักและน่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อาจสะเทือนถึงภาพรวมเศรษฐกิจได้ เนื่องจากไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสัดส่วน 80-90% และส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานเข้มข้นอยู่

“ศรีไทยตั้งเป้าปี 2561 ยอดขายรวมจะเติบโต 8% หรือจาก 9,600 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็นกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ จากราคาขายต่อหน่วยสูงขึ้นหลังจากมีการปรับราคาสินค้าเฉพาะ ในส่วนส่งออก อย่างไรก็ตามผลกระทบจากค่าเงินผันผวนกับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็น 2 เรื่องที่มาซํ้าเติมเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่บริษัทจะวางแผนธุรกิจอย่างระมัดระวังและพยายามลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ โดยมองแผนธุรกิจไว้ 3 ส่วนคือ 1.จะลงทุนให้น้อยที่สุดและระมัดระวังมากขึ้น 2.ลดต้นทุนภายในให้มากที่สุด 3.ไม่เพิ่มแรงงาน และดูความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีทดแทนคน ปรับระบบเอกสารทั้งหลายไปในรูปไอทีแทนเพื่อความรวดเร็วและคล่องตัวในการทำงาน”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าว ว่าสมาชิกสมาคมใน 6 กลุ่มสินค้า(สับปะรด,ผักและผลไม้,ข้าวโพดหวาน,อาหารพร้อมรับประทาน,ทูน่า และอาหารทะเล) รวมเกือบ 200 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ และค่าเงินที่ผันผวนมาเป็นระยะ และในการเจรจารับออร์เดอร์ที่ส่วน ใหญ่รับออร์เดอร์ล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก็จะมีการเจรจาต่อรองราคากันขึ้น-ลงตามต้นทุนที่เปลี่ยน แปลงไปเป็นรายไตรมาส ซึ่งในปีนี้จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีก ค่าจ้างขั้นตํ่าที่เตรียมปรับขึ้น และผล จากต้นทุนด้านกระป๋องบรรจุภัณฑ์ที่ปรับขึ้นในปีที่แล้ว 7.7% และต้นปีนี้เตรียมปรับขึ้นอีก 5% ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมาก

“คงต้องเจรจาขอคู่ค้าปรับราคา ไม่งั้นขาดทุนแน่ๆ เพราะสินค้าอาหาร และเกษตรแปรรูปของไทยส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่าในการนำเข้าวัตถุดิบได้ถูกลง อย่างไรก็ดีการปรับขึ้นราคาไม่ใช่ง่าย ขึ้นกับคู่ค้าจะยอมรับหรือไม่ เพราะในหลายสินค้าเราก็มีคู่แข่งเช่นสับปะรดกระป๋องก็มีฟิลิปปินส์ ข้าวโพดหวานมีฝรั่งเศส ฮังการี จีน เป็นต้น หากลูกค้ารับไม่ได้ก็จะไปซื้อจากประเทศอื่น แต่ก็มีสินค้าบางราย การที่พอปรับขึ้นราคาได้จากมีคู่แข่งขันไม่มาก เช่น ผลิตภัณฑ์จาก มะพร้าว อาทิ กะทิ นํ้ามันมะพร้าวคาดอย่างน้อยจะสามารถปรับราคา ขึ้นได้ครึ่งหนึ่งตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% อาจขอปรับขึ้นได้ 1% เป็นต้น

ด้านนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มฮงเส็ง หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ กล่าวว่า ลูกค้ารายใหญ่ปกติจะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 6-9 เดือน เวลานี้จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้เพียง 2-3 เดือน หลังจากนั้นต้องรับความเสี่ยงเอาเอง ขณะที่ค่าจ้างแรงงานคิดเป็นต้นทุนประมาณ 20% ของราคาสินค้า (เอฟโอบี) การปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยอีก 15 บาทต่อวัน คิดเป็น 5% ของต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่หนักเท่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแล้ว 12% นับแต่ปีที่ผ่านมาถึง ณ ปัจจุบัน ดังนั้นการเจรจาขอปรับราคาสินค้าคงต้องรออีก 9 เดือน ซึ่งหากถึงเวลานั้นสถานการณ์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีก ดังนั้นเพื่อลดต้นทุนผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มชั้นนำได้เร่งแผนนำเครื่องจักรอัตโนมัติ โรบอต (แขนกล) มาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น รวมถึงการขยายฐานผลิตในต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

“บิ๊กตู่” รื้อแผนจัดการน้ำตั้งอนุฯคุมโครงการ 20 ปี

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า ที่ประชุม กนช.มีมติเห็นชอบปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณประจำปีปกติเพื่อการบริหารจัดการและแผนงานโครงการน้ำในแต่ละปีงบประมาณ จำนวน 30 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 50,000-60,000 ล้านบาทต่อปี ให้ดำเนินเฉพาะโครงการขนาดเล็ก

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับแผนงานโครงการขนาดใหญ่ทั้งหมด นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พิจารณาจัดทำแผนงานโครงการระยะยาว 20 ปี (2561-2580) และจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ทั้ง 6 ภาค 44 พื้นที่

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า งบประมาณตามโครงการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่เป้าหมาย 6 ภาค ระยะเวลา 10 ปี มีจำนวน 50-60 โครงการ วงเงินไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนบางโครงการอาจพิจารณาเป็น PPP เงินกู้ และแหล่งงบประมาณปกติ

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ในปี”61-65 จำนวน 40-50 โครงการที่ผ่านการศึกษาแล้ว อาทิ โครงการเติมน้ำในลำตะคอง โครงการพนังกั้นน้ำลุ่มน้ำชี ระยะ 50-60 กิโลเมตร โครงการลุ่มน้ำก่ำ โครงการผันน้ำเลย ชี มูล โครงการบางบาล-บางไทร โครงการชัยนาท-ป่าสัก ป่าสัก-อ่าวไทย โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองฝั่งตะวันออก โครงการฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ สตรีทคาเนล ขุดลอกแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำพระยา เขื่อนป้องกันตลิ่ง ภาคเหนือ ใน จ.สุโขทัย

สำหรับภาคตะวันออกมีการปรับบทบาทเพื่อสนับสนุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ จ.จันทบุรี การดึงน้ำบางส่วนในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้กับภาคอุตสาหกรรม การนำน้ำจากลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำนครนายก เพื่อรองรับเมืองใหม่ ทั้งนี้ กรมชลประทานเสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมระยะเวลา 10 ปี ความต้องการใช้น้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี

นายสมเกียรติกล่าวว่า ขณะที่แผนงานโครงการใน 44 พื้นที่ ในรูปแบบแพ็กเกจ แบ่งตามภูมิภาค ตามแผนงานโครงการปี”62-65 อาทิ การแก้ปัญหาอุทกภัยบริเวณ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ห้วยหลวง จ.อุดรธานี แม่น้ำเลย รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ จ.ชัยภูมิ โครงการพนังกั้นน้ำ จ.ยโสธร และ จ.ร้อยเอ็ด ทางระบายน้ำเลี่ยงเมือง จ.นครราชสีมา ภาคใต้ เน้นโครงการแก้ปัญหาสิ่งขวางทางน้ำ 111 แห่ง ระบบระบายน้ำตอนล่างเชื่อมต่อทะเล ภาคเหนือ เน้น จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยมีทุ่งบางระกำรองรับน้ำและประตูระบายและกักเก็บน้ำ ภาคกลาง อาทิ การแก้ไขปัญหาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งระบบ 9 แผนงาน วงเงิน 200,000 ล้านบาท โดยเร่งรัดโครงการตามความสำคัญเร่งด่วน โครงการบางบาล-บางไทร วงเงิน 100,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปลายปี”62 หรือต้นปี”63

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

คลอดคู่มือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน วางแนวทางขับเคลื่อนสู่การเกษตรแบบแม่นยำ

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ดินและปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานหลักที่สำคัญมากในภาคการผลิตสินค้าเกษตร และจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี จึงจัดประชุมภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กิจกรรมพัฒนาศูนย์เครือข่าย (ศดปช.) ปี 2561 เพื่อจัดทำคู่มือพร้อมวางแนวทางขับเคลื่อนงานของ ศดปช. ซึ่งเป็นกลไกหลักในการให้บริการ พัฒนาเกษตรกรให้สามารถจัดการดินและปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นเกษตรกรผู้ประกอบการยุคใหม่ที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2561 “ปีแห่งการพัฒนาคนและยกระดับการบริหารจัดการ” นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมโยงสู่การผลิตในรูปแบบการบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ และสามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจชุมชนในการให้บริการด้านดินและปุ๋ยที่ประสบความสำเร็จ สร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่เกษตรกรได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน ศดปช. 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรและชุมชนเกิดความรู้ เข้าใจ เชื่อมั่นในเทคโนโลยี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยมากขึ้น เกษตรกรสมาชิกได้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีไปปฏิบัติ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 27.5 คิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการใช้ปุ๋ยเดิม ทำให้ ศดปช. ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในปี 2561 ศดปช. จึงวางแผนรับสมาชิกเพิ่ม ขยายเครือข่ายไปยังตำบลข้างเคียง เพื่อให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มบริหารจัดการ ตรวจวิเคราะห์ดิน ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิต จัดทำแปลงเรียนรู้ จุดสาธิต รวบรวมความต้องการและจัดหาแม่ปุ๋ยให้สมาชิกในชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอเป็นพี่เลี้ยง (coaching) ให้กับ ศดปช. เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้ จัดการดินและใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง ก้าวสู่การทำเกษตรแบบแม่นยำ (Smart Agriculture)

ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม50 คน ประกอบด้วย ศดปช. เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนดีเด่นระดับเขต โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจากกรมวิชาการเกษตร และเจ้าของงานวิจัยปุ๋ยมาให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น รู้จักดิน รู้จักปุ๋ย เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต การดำเนินธุรกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จ และการให้บริการด้านดินปุ๋ยที่ถูกต้องตามกฎหมาย

จาก www.naewna.com วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561

5 กฎหมายเศรษฐกิจไม่ถึงฝั่ง EEC อืด-ลงทุนต่างชาติชะงัก

แผนปฏิรูปเศรษฐกิจรัฐบาล คสช.สุดอืด สะเทือนงบฯลงทุนต่างชาติ “วิษณุ” เผยเร่งขั้นตอนยุ่บยั่บ 5 ร่างกฎหมายไม่เห็นฝั่ง พ.ร.บ. EEC สุดหิน จัดเวทีฟังความเห็น 7 ครั้งยังไม่ผ่าน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกเตะถ่วง 5 รอบ ต่อเวลามาแล้ว 300 วัน ยังต้องลุ้นต่อ

ผ่าตัดรัฐวิสาหกิจยื้อหาโมเดลต่างประเทศเทียบ เอาผิด 7 ชั่วโคตร ยังเพิ่งเริ่มคำนิยาม กม.น้ำไม่น้อยหน้า ต่อเวลามาแล้ว 4 รอบ

ถึงแม้ว่ารัฐบาล คสช.จะแถลงผลงานการออกกฎหมายในรอบ 3 ปี มี 280 ฉบับ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ 5 ฉบับหลัก ๆ ที่ตั้งใจให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ “รัฐบาลแห่งการปฏิรูป” ยังไม่สามารถผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังไม่มีความชัดเจนในการประกาศบังคับใช้ ส่งผลต่อความไม่มั่นใจต่อนักธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลจะเร่งรัดกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ยังล่าช้าในการพิจารณา 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2560 2.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. 3.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. 4.ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. 5.ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ….

“ทั้ง 5 ฉบับอยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาปรับแก้ ซึ่งผมไม่ขัดข้องที่จะให้ตรวจสอบให้รอบคอบ เพราะอาจจะกว้างเกินไปจนมีปัญหาการตีความ ทุกคำต้องแน่ใจว่า

แปลแบบนี้ ๆ ตรงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็อยู่ในระหว่างจัดทำ ซึ่งก็มีกำหนดเวลากฎเกณฑ์อยู่” นายวิษณุกล่าว

ยื้อ พ.ร.บ. EEC 2 รอบ 150 วัน

สำหรับร่าง พ.ร.บ.อีอีซี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 และเข้าสู่กระบวนการของการนำเสนอ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 สนช.มีมติรับหลักการ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 30 คน และกำหนดกรอบเวลาทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ประชุมมีมติรับหลักการ (ครบกำหนดวันที่ 26 พ.ย. 60) แต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กมธ.วิสามัญขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2561 ยังมีการขอขยายเวลาออกไปอีกเป็นครั้งที่ 2 อีก 30 วัน เมื่อ 19 มกราคม จะครบกำหนด 24 กุมภาพันธ์ 2561

นายวิษณุในฐานะประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น 7 ครั้ง ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี 3 ครั้ง ถือเป็นกฎหมายที่ผ่านการรับฟังมากที่สุดของรัฐบาลนี้ อีกทั้งโครงสร้างคณะกรรมการ EEC มีตัวแทนจาก ครม.ถึง 12 คน 12 กระทรวง”

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ โฆษก กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.อีอีซี กล่าวว่า เหตุผลที่ กมธ.วิสามัญขอขยายเวลาเป็นครั้งที่ 2 อีก 30 วัน ไม่ได้ติดขัดอะไร แต่เนื่องจากกฎหมายมีความยากและสลับซับซ้อน จึงต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบ แต่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จเรียบร้อยทั้งฉบับ และพร้อมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 คงใช้เวลาไม่นาน

กม. 7 ชั่วโคตร 120 วัน เพิ่งเริ่ม

ขณะที่ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ขั้นตอนล่าสุดอยู่ในวาระที่ 1 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานนั้น สนช.มีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 จากนั้น กมธ.ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาไป 2 ครั้ง ครั้งแรก 12 ตุลาคม 2560 ขอขยายไปอีก 60 วัน และวันที่ 8 ธันวาคม 2560 ได้ขอขยายเวลาครั้งที่ 2 ออกไป 60 วัน

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาว่า กมธ.เริ่มพิจารณาลงรายมาตราในส่วนของคำนิยาม เพราะแม้กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์จะมีตัวร่างกฎหมายมานานแล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่ในความเป็นจริง มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นคือ กรณีที่เกิดขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขที่ออกประกาศห้ามชาร์จโทรศัพท์ในที่ทำงาน แสดงว่ายังไม่ค่อยเข้าใจที่แท้จริง จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสรุปเนื้อหา ปรับเปลี่ยนในกฎหมาย

“ดังนั้นในส่วนของคำนิยามที่จะต้องมีการแก้ไข เช่น คำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” จะต้องรวมไปถึง “รัฐวิสาหกิจ” ด้วยหรือไม่ หรือคำว่า “ญาติ” จะกินความถึงญาติแค่ไหน และยังต้องดูว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายมีความทับซ้อนกับกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องตัดออก ในส่วนนี้จึงต้องพิจารณาต่อลงในรายมาตรา ดังนั้นยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกพอสมควร”

ควานหาโมเดลคุมรัฐวิสาหกิจ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญ ที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 โดยได้มีการขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ครั้งที่สอง วันที่ 25 ธันวาคม 2560

นายสมชาย แสวงการ โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างดังกล่าวว่า อยู่ระหว่าง กมธ.พิจารณาความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายที่เห็นต่าง มีทั้งคนคัดค้านที่ยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยคิดว่ากฎหมายดังกล่าวออกมาใช้แล้วจะเปิดช่องให้มีการขายรัฐวิสาหกิจได้

“อีกส่วนคือกลุ่มนักวิชาการที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เจ้าของรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ดังนั้น กมธ.อยู่ระหว่างการเปรียบเทียบโมเดลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในต่างประเทศว่ามีรูปแบบใดบ้าง และจะนำมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจไทยอย่างไร เช่น อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัท แต่ให้มีคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแลเหมือนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงทำให้การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ” นายสมชายกล่าว

ภาษีที่ดินฯเลื่อน 300 วัน

ด้านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. สนช.มีมติรับหลักการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 กมธ.วิสามัญขอต่ออายุการพิจารณามาแล้วเป็นครั้งที่ 5 ครั้งละ 60 วัน โดยขอขยายครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่สอง 20 กรกฎาคม 2560 ครั้งที่สาม 23 กันยายน 2560 ครั้งที่สี่ 23 พฤศจิกายน 2560 และครั้งที่ห้า 19 มกราคม 2561 ขยายออกไปอีก 60 วัน

พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กล่าวว่าได้ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มี.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกฎหมายลำดับรองประมาณ 7 ฉบับ รวมถึงประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศกระทรวงมหาดไทย

โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเพื่อปรับปรุงให้กฎหมายหลัก และกฎหมายรองสอดคล้องซึ่งกันและกัน โดยคณะอนุกรรมการได้ทบทวนเป็นครั้งที่ 3 แล้วส่วนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นรายมาตรา เพื่อให้ตอบคำถามในการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในการประชุมใหญ่ของ สนช.ได้

ดังนั้นหากกระบวนการพิจารณากฎหมายลำดับรองที่คณะอนุกรรมาธิการไปศึกษาดำเนินการเสร็จ กมธ.อาจจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวาระ 2-3 ก่อนกำหนด 25 มีนาคมได้

เปิดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดิน

ดร.พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ของ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ เมื่อ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เพื่อลดผลกระทบและกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่รัฐบาลตั้งเป้าประกาศบังคับใช้ 1 ม.ค. 2562 จะกำหนดบัญชีแนบท้ายกฎหมายลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 1.ที่เกษตรกรรม กับบ้านพักอาศัย 2.ที่พาณิชยกรรมและอื่น ๆ 3.ที่ดินรกร้างในส่วนที่ดินเกษตร เช่น 10 ไร่ เสียภาษีเต็มแปลงหรือไม่ ต้องดูการใช้ประโยชน์จริง เช่นเดียวกับบ้านพักอาศัย ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านและโฉนดที่ดิน เพราะสำรวจพบว่า 90% เป็นบ้านราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่บ้านหลังที่สองต้องเสียภาษี ที่พาณิชยกรรมก็จะดูการใช้ประโยชน์จริง

จากเดิมกำหนดเพดานจัดเก็บภาษีที่เกษตรกรรม 0.15% ที่อยู่อาศัย 0.3% พาณิชยกรรมและอื่น ๆ 1.2% ที่รกร้าง 3% แต่เพื่อคลายความกังวลใจ คณะกรรมาธิการได้กำหนดอัตราการจัดเก็บจริงให้ชัดเจนอาทิ ที่ดินเกษตรมูลค่า 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 1 หมื่นบาท มูลค่า 200 ล้านบาท เสียภาษี 6 หมื่นบาท บ้านหลังหลักยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก 50 ล้านบาทต่อไป เสีย 6 พันบาท มูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษี 2.6 หมื่นบาท 200 ล้านบาท เสียภาษี 1.26 แสนบาทที่พาณิชยกรรมมูลค่า 50 ล้านบาท ภาษีปีละ 1.5 แสนบาท มูลค่า 100 ล้านบาท ภาษี 3.5 แสนบาท มูลค่า 500 ล้านบาท ภาษี 2.25 ล้านบาท มูลค่า 1 พันล้านบาท ภาษี 4.75 ล้านบาท ที่ดินรกร้าง อัตราเดียวกับที่พาณิชยกรรม แต่หากไม่ทำประโยชน์เก็บเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

กม.น้ำ สะเทือนอีก 38 ฉบับ

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. สนช.มีมติรับหลักการเมื่อ 2 มีนาคม 2560 และขอขยายเวลาไปอีก 4 ครั้ง คือ 20 เมษายน 2560 ครั้งที่สอง 22 มิถุนายน 2560 ครั้งที่สาม 24 สิงหาคม 2560 และครั้งที่สี่ ขอขยายไปถึง 90 วัน จะครบกำหนดวันที่ 25 เมษายน 2561

ทั้งนี้ เหตุผลที่ขอขยายเวลาการคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ มีเนื้อหาสาระที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 42 หน่วยงานและมีกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมากถึง 38 ฉบับ มีวัตถุประสงค์การบังคับใช้และปัญหาที่แตกต่างกัน ซ้ำซ้อน ขัดแย้ง ไม่เชื่อมโยง มีช่องว่าง กมธ.จึงต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ

2.จากมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อ 8 สิงหาคม 2560 ให้รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดการบูรณาการ จำเป็นต้องรอการพิจารณาโครงสร้าง หน้าที่ และอำนาจของสำนักงานดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบกับร่าง พ.ร.บ. ให้สอดคล้องกัน

3.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 วรรคสอง

พล.ร.อ.วีระพันธ์ สุขก้อน รองโฆษก กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ กล่าวถึงความคืบหน้า ว่า ขณะนี้ กมธ.วิสามัญพิจารณาครบทั้ง 100 มาตราแล้ว และอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคทั่วประเทศ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

จากนั้น กมธ.จะต้องแก้ไข พร้อมกับเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยราชการต่าง ๆ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและไม่ติดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบในวงกว้าง และเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จากนั้น กมธ.วิสามัญจะส่งร่างกฎหมายไปให้รัฐบาลพิจารณาในเดือนมีนาคม 2561

“มั่นใจว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จตามที่ขอขยายเวลาเพิ่มเติม 90 วัน แน่นอน” พล.ร.อ.วีระพันธ์กล่าว

หวั่นสะเทือนลงทุนต่างชาติ

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ พ.ร.บ. EEC ล่าช้า ต้องพิจารณาว่าประเทศอื่นมีพื้นที่และนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจขนาดไหนเม็ดเงินลงทุนอาจมีผลกระทบบ้าง แต่อย่างน้อยไตรมาส 2 ปี 2561 น่าจะเริ่มทยอยซื้อที่ดินกันแล้ว ระหว่างรอกฎหมายประกาศในช่วงกรอบของเดือนมีนาคมนี้

“ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) นักลงทุนต้องใช้ไทยเป็นฐานการผลิตแน่นอน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินที่ไทยเป็นศูนย์กลาง อยู่ในเส้นทาง ไม่มีทางที่นักลงทุนจะถอดใจไปลงทุนที่อื่นเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นทั้งไบโอชีวภาพ ยานยนต์ ที่มั่นใจว่านักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve จะไม่ย้ายไปไหน เพราะใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมที่ไทยมีเป็นตัวกำหนด”

นายเจนกล่าวถึงความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนว่า ส่วนใหญ่อยากเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนของกฎหมายก่อน เพื่อขอความมั่นใจว่า กฎหมายฉบับที่สมบูรณ์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดใด ๆ อีก ก่อนนำเสนอต่อบอร์ดของบริษัท เพื่อตัดสินใจถึงแผนการลงทุนจริง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

"บิ๊กตู่" เคาะแผนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี 1 ล้านล.

 “บิ๊กตู่” เห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซี 168 โครงการ รวมวงเงิน 1 ล้านล้านบาท พร้อมไฟเขียวแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี และประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง                    

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี จำนวน 168 โครงการ กรอบวงเงินรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานเรื่องดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพ เข้าไปในแผนปฏิบัติการด้วย  เบื้องต้นคาดว่า การลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณ 30% งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 10% และรัฐร่วมทุนกับเอกชน หรือพีพีพี 60% พร้อมเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซีปี 60-64 มีโครงการทั้งหมด 53 โครงการ กรอบวงเงิน 31,028 ล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังเห็นชอบการประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 19 แห่ง ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกจำนวน 26,200 ไร่ รองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย จ.ระยอง 6 แห่ง,จ.ชลบุรี 12 แห่ง,จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ซึ่งทั้งหมดผ่านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและได้เปิดดำเนินการอยู่ได้ แต่ยังมีที่ดินเหลืออยู่ จึงไม่ต้องนำที่ดินอื่นๆนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาดำเนินการ

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

คลังขีดเส้น1เดือนธปท.-ก.ล.ต.-ปปง. ออกกฎคุมเงินดิจิทัล

คลังขีดเส้น1เดือน ธปท.ก.ล.ต. ปปง. ออกกฎคุมเงินดิจิทัล พร้อมหาข้อมูลจากต่างประเทศช่วยดู หลังบิทคอยน์ราคาป่วนหนัก                                           

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ขีดเส้นให้คณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปง.) เร่งประชุม พร้อมกับประสานหาข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่อสรุปแนวทางการกำกับดูแลการซื้อสกุลเงินดิจิทัลของไทยให้จบภายใน 1 เดือนหรือไม่เกินเดือนก.พ.นี้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลโดยตรง แต่การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลได้มีบทบาทในไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีราคาผันผวนในตลาดสูงมาก 

ปัจจุบันมีหลายประเทศได้ออกกฎระเบียบมากำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลกันบ้างแล้ว เช่น รัฐบาลจีนได้มีการห้ามไม่ให้ซื้อขาย มีการปิดเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็ต้องกำหนดแนวทางดูแลให้ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ศึกษาเรื่องนี้มามากแล้ว ก็จะนำผลการศึกษาของธปท.มาใช้ประกอบการพิจารณา และนำความเห็นเพิ่มเติมของหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ปปง. มาดูด้วย ตลอดจนการประสานขอข้อมูลจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปการกำกับดูแลการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลให้รอบด้านมากที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องสกุลเงินดิจิทัล จะไม่เกี่ยวข้องกับการคุมบล็อกเชน เพราะบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่บิทคอยน์เข้าไปใช้เท่านั้น

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปีนี้โต0.7-1.7%

พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อใหม่โต 0.7-1.7%  ชี้ค่าปรับเพิ่มค่าแรง-ศก.ดีขึ้น ส่วนเดือนม.ค. พุ่ง 0.68%  เหตุน้ำมัน-อาหารแพง                      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้ปรับคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (อัตราเงินเฟ้อ) ปี 61 ใหม่จากเดิมขยายตัว 0.6-1.6% เป็น 0.7-1.7%  มาจากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 5-22 บาทต่อวัน  รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยและโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น, ราคาน้ำมันและราคาสินค้าบางประเภทปรับเพิ่มความต้องการของผู้บริโภค

 “อัตราค่ากลางเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.2% ภายใต้สมมุติฐานจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 3.6-4.6% น้ำมันเชื้อเพลิง 55-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และได้เพิ่มผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง”

 สำหรับเงินเฟ้อ  เดือน ม.ค.61 เท่ากับ 101.44 เพิ่มขึ้น 0.68% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  และสูงขึ้น 0.07% เทียบกับธ.ค. 60  มาจากสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า มีสินค้าราคาสูงขึ้น 129 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 37.39% ของน้ำหนักรวม เช่น มะนาว เพิ่ม 6.10% ซีอิ้ว เพิ่ม 1.05% กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพิ่ม 2.84% ข้าวผัดเพิ่ม 0.32% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่ม 0.19% อาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง เพิ่ม 0.16%  อาหารตามสั่ง เพิ่ม 0.04% น้ำอัดลม เพิ่ม 0.40% น้ำยาล้างห้องน้ำ เพิ่ม 1.09% เบียร์ เพิ่ม 0.34% และสุรา เพิ่ม 0.08% เป็นต้น

 ส่วนสินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 206 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 50.50% ของน้ำหนักรวม และสินค้าราคาลดลง 87 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 12.11% ของน้ำหนักรวม

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

วรวรรณ  ชิตอรุณ  ตอบโจทย์ลอยตัวน้ำตาล

การใช้มาตรา 44 ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทสได้ก่อให้เกิดคำถามกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมากมาย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นางวรวรรณ  ชิตอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อตอบข้อสงสัยเหล่านั้น

Q: บราซิลเป็นเหตุให้ลอยตัว

บราซิลได้ยื่นประเด็นข้อห่วงกังวลและกล่าวหาประเทศไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า เราเข้าข่ายอุดหนุนการส่งออกมี 4 ประเด็นหลักคือ 1) มีการกำหนดโควตา 2) การจ่ายเงินชดเชย 160 บาท(เงินเพิ่มค่าอ้อย) 3) มีการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ และ 4) กองทุนรับเงินจากรัฐ  ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงของกระบวนการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา (panel)

ส่วนการบอกว่า ไทยผิดหรือไม่นั้นตามข้อตกลงทางการค้าของ WTO เราเข้าข่ายผิดเพราะเราอุดหนุนจริงๆ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้เงินของรัฐอุดหนุนโดยตรงแต่มันเป็นการใช้เงินประชาชนผ่านกลไกรัฐ ไปกำหนดราคาน้ำตาลแล้วเอาส่วนหนึ่งของราคาน้ำตาลในประเทศไปขายเพื่ออุดหนุนราคาอ้อย นี่ถือว่าผิดเต็มๆ เพราะเป็นการอุดหนุนในส่วนที่ส่งออกขายต่างประเทศด้วย การกำหนดโควตาการกำหนดเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยปีละ 160 บาทที่เข้า ครม. ถือว่าเป็นการบิดเบือนทั้งหมด ถ้าหากเราไม่สามารถยุติข้อพิพาทได้แล้วปล่อยให้เรื่องไปถึงขั้น panel มีแนวโน้มว่า เราจะถูกเอนเอียงว่าผิด

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมด เราได้เจรจากับบราซิลจะขอปลดล็อกทุกอย่างด้วยการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย การปรับตัวจึงเริ่มขึ้นโดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนที่บราซิลเริ่มฟ้อง เราได้มีการยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มค่าอ้อย 160 บาทที่ให้กับชาวไร่อ้อยทันทีในปีการผลิต 2559/2560 กับปี 2560/2561 เรายกเลิกกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ พร้อมทั้งยกเลิกการกำหนดโควตา (ก.-ข.-ค.) และได้ดำเนินการปรับแก้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินอุดหนุนจากรัฐ โดยการเจรจากับบราซิลครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2560 เราได้แจ้งบราซิลไปแล้วเหลือเพียงการลอยตัว และการกำหนดโควตาซึ่งเราให้กรอบเวลาไปว่า ไทยจะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในเดือนธันวาคม 2560

Q: จึงต้องใช้มาตรา 44

หลังจากการเจรจาครั้งสุดท้าย (กรกฎาคม 2560) เรามีเวลาเพียง 4-5 เดือน เท่านั้นก่อนที่จะลอยตัวราคาน้ำตาล ปรากฏว่าในระหว่างนั้นยังมีข้อตกลงที่ยังไม่เสร็จ ติดเงื่อนไขกฎหมายคือ ประเด็นการกำหนดราคาน้ำตาลตามาตรา 17(18) ในพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเขียนไว้ว่า ให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีหน้าที่กำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงานถ้าไม่ปลดล็อกตอนนี้จะทำอย่างไร จึงได้เข้าหารือกับทางกฤษฏีกาว่า ถ้าเราปล่อยลอยตัวไม่แก้กฎหมายถือว่าละเว้นหรือไม่ กฤษฏีกาบอกว่า ไม่ได้แก้กฏหมายไว้ แต่ถ้าเรารอแก้ไขกฎหมายอาจจะใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ซึ่งด้วยเวลาขนาดนั้น บราซิลอาจจะตั้งสินใจตั้ง panel ก็ได้

จนในที่สุดก็ได้เข้าไปหารือกับ คสช.เป็นที่มาของการประกาศใช้ มาตรา 44 ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายใน 2 ฤดูการผลิตเท่านั้น คือ ฤดูการผลิต 2560/2561 กับ 2561/2562 ระหว่างรอการแก้ไขกฎหมาย(พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย)

Q: แล้วราคาน้ำตาลใน ปท.

เรามีการออกราชกิจาจาฯ อีก 4 ฉบับจะมีเรื่องของการยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาทรายและออกแบบวิธีการคำนวณราคาใหม่ เมื่อราคาน้ำตาลในประเทศไม่ได้ถูก fix อีกต่อไปแล้ว เราจะใช้วิธีการอิงราคาตลาดโลกเป็น ราคาตลาดน้ำตาลทรายที่ตลาดลอนดอน No.5 เป็นราคาที่ใช้อ้างอิง หรือ reference  price มันเป็นตลาดดอมมิวนิตี้ จะขายกันบนกระดานเหมือนเราเล่นหุ้น ไม่ได้เป็นการซื้อขายน้ำตาลจริงๆ แต่เป็นราคาที่เทรดกัน (ราคา FOB) ซึ่งราคาส่งออกน้ำตาลทรายไทย ไม่ใช่ราคาลอนดอนอยู่ดี เพราะจะมีคำว่า ไทยพรีเมี่ยม เข้ามาเราก็จะใช้ส่วนนี้เป็นข้อมูลประกอบและจากการสอบถามจากเทรดเดอร์ที่ซื้อขายน้ำตาลกับประเทศไทยว่า ให้เท่าไร

ดังนั้นเมื่อมีการคำนวณสูตรแบบลอนดอน No.5 ไทยพรีเมี่ยมเราจะให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายขายที่เป็นของ อนท. ดูพรีเมี่ยม เพราะเขาประมูลน้ำตาลทรายดิบอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆเขาดูอยู่ ก็ให้เขาแทร็กดูน้ำตาลทรายขาวไปด้วย ดังนั้นตอนนี้เราจึงยังไม่รู้เป็นเท่าไหร่เพราะยังไม่มีการส่งตัวเลขมา แต่สิ้นเดือนนี้น่าจะรู้เพราะมันต้องใช้คำนวณส่วนต่าง ดังนั้นราคาน้ำตาลในประเทศจึงจะอยู่ที่ระหว่าง export parity กับ import parity ก็คือว่าถ้าตัวนี้เป็นฐาน น้ำตาลทรายไทย+ไทยพรีเมี่ยมแล้วคูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนออกมาเป็นเท่าไหร่นี่คือ ฐาน มันก็ต้องไม่ต่ำกว่านี้ เพราะถ้าราคาต่ำไปกว่านี้ผู้ขายก็จะขอส่งออกดีกว่าเพราะขายในประเทศได้น้อยกว่า

ดังนั้นถ้าเรานำเข้า import parity น้ำตาลทรายดิบจากออสเตรเลียมาไทยผ่านด่านศุลกากร จ่ายค่าภาษีนำเข้ามาที่โรงงานรีไฟน์ไทยและผลิตออกมาต้นทุนเท่าไร สมมติ 19 บาทไปแล้ว การขายน้ำตาลจะอยู่ import กับ export parity ซึ่งตอนนี้ราคา 14 บาทกว่า ๆ ถึง 15 บาท /กก. แล้วกลับไปดูที่ราคาข้างบนที่สมมุติไว้ที่ 19 บาท/กก. ราคามันก็จะวิ่งอยู่ตรงนี้ มันเกินจากนี้ไปไม่ได้ เพราะถ้าเกินจากนี้คนก็จะนำเข้าน้ำตาลมาแข่ง ต่ำกว่านี้คนก็ไม่อยากขายเพราะมันมีค่าเก็บรักษาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทางอุตสาหกรรมต้องดูแล ถามว่าที่ผ่านมามีคนเคยทำแบบนี้ไหม นำน้ำตาลทรายดิบเข้ามาแล้วรีไฟน์ก็ยังไม่เคยทำมาก่อนเพราะยังไม่เคยมีการขาดแคลนน้ำตาลเพราะน้ำตาลเราผลิตเกินความต้องการ ดังนั้นตราบใดที่ราคาไม่มีการ fix น้ำตาลจะไม่มีวันขาดแคลนแน่นอน

พรีเมี่ยมจึงจะมีทั้งบวกและลบขึ้นอยู่กับ 1) ราคาน้ำตาลในตลาด ณ วันนั้น 2) ความต้องการของคนซื้อ และ 3) คุณภาพและบริการ เรื่องพวกนี้จะเป็นองค์ประกอบในพรีเมี่ยม ดังนั้นราคาน้ำตาลทราย + ไทยพรีเมี่ยมนี่คือ ฐานมันจะต้องไม่ต่ำกว่านี้เพราะถ้าต่ำไปกว่านี้ผู้ขายก็จะบอกว่า ส่งออกดีกว่าเพราะขายในประเทศได้น้อย

Q: น้ำตาลจะไม่ขาด

เรืองของน้ำตาลขาดแคลนในประเทศ ในอดีตเราจะเกี่ยวข้องแค่ตัวโควตา ก. ดังนั้นเราจึงกำหนดให้มีการเก็บรักษาหรือการสำรองสต๊อกการป้องกันเราจะให้โรงงานน้ำตาลสำรองทั้งหมดเดือนละ 250,000 ตัน เป็นจำนวนรวมกันจากทุกโรงงานน้ำตาลที่ต้องมีสต๊อกตรงนี้เอาไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายตรงนี้ทางโรงงานต้อง support   ต้นทุนของอุตสาหกรรมก็จะอยู่ประมาณนี้ 17 บาท แล้วจะตกลงกันอย่างไรใครสำรองมาก-น้อย ในส่วนนี้เราจะเป็นคนจัดสรรว่า แต่ละโรงงานจะต้องสำรองตามกำลังการผลิตเรามั่นใจว่าน้ำตาลจะไม่หายแน่ ถ้าราคามันขึ้นลงตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตซื้อกับขายได้ว่า จะขายในประเทศหรือขายต่างประเทศ ทุกโรงงานจะต้องมีการสำรอง ซึ่งในระเบียบจะมีการบอกไว้ว่า ถ้าโรงงานใดไม่ผลิตน้ำตาลทรายขาวเลยสามารถไปรวมกับโรงอื่นได้ให้โรงอื่นสำรองแทนก็ไปตกลงกันเอาเอง แต่ทั้งหมดจะต้องสต๊อกรวมกันให้ได้ 250,000 ตัน/เดือน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

อุตฯชงบิ๊กตู่5เป้าหมายดันEEC BOIปรับยอดขานรับลงทุนทะลุ2.5แสนล.

กรศ.ชง บิ๊กตู่ 5 เป้าหมาย 18 นิคมรวมพื้นที่เฉียด 3 หมื่นไร่ 1 ก.พ.นี้ ด้าน BOI พร้อมปรับยอดขอรับส่งเสริมปี 2561 เป็น 2.5 แสนล้านบาท ขานรับลงทุน EEC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ก.พ. 2561 ทาง กรศ.เตรียมเสนอ 4 เรื่องหลัก คือ 1.เรื่อง 18 พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และ 1 นิคมอุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 26,461 ไร่ ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพี่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)ซึ่งได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอ ไอ) ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องเป็น 10 S-curve ร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศ ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงาน หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี เพื่อกระตุ้นให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 30 ธันวาคม 2562

2.เป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ปี 2561 ตั้งเป้าไว้ 250,000 ล้านบาท จากปี 2560 ตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 ล้านบาท และพบว่ามียอดขอรับการลงทุนสูงถึง 300,000 ล้านบาท 3.เป้าหมายการลงทุน 5 ปี (2560-2564) ที่มีการปรับตัวเลขการลงทุนจาก 500,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสูงกว่า 600,000 ล้านบาท 4.แผนพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด ที่ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มถึง 3 เท่าตัว เป็น 60 ล้านคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 20 ล้านบาท สัดส่วนเป็นนักลงทุนไทยและต่างชาติ 50:50

นอกจากนี้ กรศ.อยู่ระหว่างวางแผน ดึงเอกชนรายใหญ่ของไทยมาเป็นกลไกในการชักจูงนักลงทุนที่ตรงกับอุตสาหกรรมและ สามารถเป็นซัพพลายเชนให้กับเอกชนไทยได้ ล่าสุดได้หารือกับ ปตท. และเครือ SCG เป็นตัวหลักไกด์ให้นักลงทุนลงสำรวจพื้นที่ หรือแชร์ข้อมูล หรือสามารถร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ หรือร่วมลงทุนกันได้ในอนาคต ซึ่งหลังแนวทางเสร็จจะเสนอ กนศ. ในวาระประชุมครั้งถัดไป

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนา EEC ว่า ตอนนี้ภาครัฐเริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วรวมถึง internet ความเร็วสูงที่วางโครงข่ายครอบคลุมทุกหมู่บ้านจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ อุตสาหกรรมดิจิทัล และขยายผลไปสู่ SMEs สามารถใช้โครงข่ายเหล่านี้ทำธุรกิจได้ ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จึงประกาศให้พื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง 1,000 ไร่ ตั้งเป็นเขตนวัตกรรม EECi พัฒนาและบริหารโครงการโดย ปตท.EECi ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษที่ได้สิทธิบีโอไอ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย (สูงสุดไม่เกิน 13 ปี)ลดหย่อน 50% เวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ตรงกับพื้นที่ คืออุตสาหกรรมอากาศยาน ดิจิทัล งานด้านการวิจัย และร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สัดส่วน 10% ของจำนวนพนักงาน หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561-30 ธันวาคม 2562

“สิ่งที่รัฐทำไว้มีความจำเป็นต่อการ พัฒนาทั้งหมด ได้รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เดิมมีการเติบโตอยู่แล้ว และปีนี้จะได้เห็นการขยายการลงทุนกลุ่มเหล่านี้เพิ่ม รวมถึงเกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบิน และไบโอชีวภาพตามมา”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือWHA เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทยื่น9 นิคมอุตสาหกรรม รวมพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ ในพื้นที่ EEC นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจที่จะซื้อพื้นที่ในนิคมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาน ยนต์ อากาศยาน และหุ่นยนต์ เนื่องจาก WHA ได้เป็นเขตส่งเสริมเพี่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ปีนี้จึงตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 1,250 ไร่ ขณะเดียวกันเตรียมเม็ดเงินลงทุนปีนี้ไว้ 7,000 ล้านบาทจะใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจนิคมประมาณ 2,000 ล้านบาท

“เราไม่กังวล เรื่องกฎหมาย EEC หากจะช้าบ้างเล็กน้อย เพราะนักลงทุนเห็นโอกาสที่จะลงทุนอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยขอให้ประกาศใช้จริงก่อนเลือกตั้งก็พอ หากย้อนดูตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนาม FDI ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าไทยไม่พัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ทำ EEC เราจะเป็นแค่ทางผ่าน เพราะมันคือการเชื่อมโยง one belt one road (OBOR) ที่จะเชื่อมการค้าได้ทั้งภูมิภาค”

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในปีนี้พื้นที่ EECi จะเริ่มได้เห็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น STI Solution for Industries ร่วมกับผู้ประกอบการ 100 ราย รวมถึงเห็นโครงการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเป็นรูปธรรม เช่น การใช้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นตัวร่วมพัฒนา ถ่ายทอดนวัตกรรมให้กับ 6 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

นายสเตฟาน ทอยเชอร์ต ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย หรือ BMW กล่าวว่า บริษัทจะขยายการลงทุนในส่วนของการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในประเภทปลั๊ก-อิน ไฮบริดไปแล้วที่ จ.ระยอง และมีแผนการลงทุนในส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น สำนักงานใหญ่ (headquarters) ที่ไทยอีก 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ประเทศสิงคโปร์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561