http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกุมภาพันธ์ 2562)

'กฤษฎา' สั่งปฎิรูป "วิสาหกิจแปลงใหญ่"

ผ่าตัดวิสาหกิจแปลงใหญ่! กำหนดโควตาผลิต หวังดันสินค้าเกษตรยกแผง แก้ไขปัญหาล้นตลาด ทุบราคาดิ่งเหว สั่งปลัดเกษตรขับเคลื่อนนโยบายร่วม 77 ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ให้แยกเด่นชัดเกษตรเคมี อินทรีย์ หวังตัดวงจรเกษตรจนซ้ำซาก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรในรูปแบบวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) เพื่อเพิ่มพูนรายได้เกษตรกรนั้น ให้จัดทำ "แผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ" ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ การวางแผนการผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมงแต่ละชนิด ตามความต้องการของตลาด หรือ การกำหนดโควตาทำเกษตรกรรมให้เหมาะสม ว่า จะทำเกษตรกรรมอะไร จำนวนเท่าไร เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรสมดุลกับความต้องการของตลาดนั้น

"เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร (Agricultural Production Plan) ภายใต้แนวทาง "การตลาดนำการผลิต" และ "โครงการเกษตรแปลงใหญ่" (Mega Farm) มีความสอดคล้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบการเกษตรของไทย ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต จนกระทั่งมีผลผลิตจำหน่ายออกสู่ตลาด ให้มีศักยภาพก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้"

นายกฤษฎา กล่าวว่า จึงขอให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Maga Farm Enterprise) ที่มีเกษตรกรและภาครัฐ รวมทั้งภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรตามแนวทางการดำเนินงาน

"1.องค์กรบริหารโครงการที่ครอบคลุมทั้งประเทศ จัดตั้งองค์กรการบริหารจัดการรูปแบบวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) 2 ระดับ โดยในส่วนกลางมอบหมายให้ปลัดเป็นหัวหน้าคณะทำงานโครงการระดับกระทรวง โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขานุการ และมีกรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่าต่าง ๆ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนในสังกัด กษ. เป็นคณะกรรมการอำนวยการ เพื่อทำหน้าที่อำนวยการวางแผนและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่"

สำหรับในระดับพื้นที่จังหวัดให้ใช้โครงสร้างคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อพก.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ในระดับพื้นที่ โดยมีเกษตรจังหวัดเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการระดับจังหวัด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการจัดทำโครงสร้างองค์กรบริหารโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการและแนวทางการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมตามขั้นตอน ในข้อ 2 - ข้อ 7 ภายในระยะเวลา 12 เดือน แล้วให้รายงานผลให้รัฐมนตรีทราบทุกระยะด้วย

สำหรับลักษณะและขนาดพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เพื่อประหยัดการลงทุนขอให้ อพก.จ. ประสานงานกับปฏิรูปที่ดินจังหวัด และ/หรือเกษตรจังหวัด หรือ สหกรณ์จังหวัด เพื่อสำรวจพื้นที่ สปก. หรือ พื้นที่ตามโครงการจัดที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) หรือ พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรอยู่แล้ว หรือ พื้นที่ซึ่งมีเกษตรกรรวมตัวกันทำเกษตรกรรมในรูปแบบแปลงใหญ่อยู่แล้วหลาย ๆ แปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน ซึ่งมีความสมัครใจจะเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ทั้งนี้ ควรกำหนดเป้าหมายของโครงการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 แปลงใหญ่ ต่อ 1 ภูมิภาค ตามการแบ่งพื้นที่ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่กำหนดไว้ 6 ภูมิภาค โดยการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ควรมีขนาดพื้นที่ติดกันรวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดในการผลิตต่อขนาดพื้นที่ลงทุน (Economy of Scale) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

นายกฤษฎา กล่าวว่า การเลือกวิธีผลิตให้ได้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรที่เน้นในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น จึงให้พิจารณาเลือกวิธีการทำเกษตรปลอดจากการใช้สารเคมี (GAP) หรือ เกษตรอินทรีย์ (Organic) หรือ การทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือ เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและสภาพแวดล้อมในพื้นที่และคุณภาพดินตามแผนที่จัดการด้านเกษตรกรรม (Agri-Map) หรือ อาจเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมซ้ำซาก หรือ การเกษตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำไปสู่การทำเกษตรชนิดใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือ ลงทุนน้อยกว่าเกษตรกรรมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

เช่น เปลี่ยนการทำนามาปลูกพืชตระกูลถั่วหรือพืชผัก หรือ การลดพื้นที่การปลูกยางพาราไปปลูกกาแฟหรือโกโก้ หรือ ปลูกกล้วยหอมหรือพืชอื่น ๆ แซมในสวนยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ อาจนำความรู้ทางเทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องมือและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต เพื่อทดแทนการใช้แรงงาน โดยให้คำนึงด้วยว่า ผลผลิตเหล่านั้นต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งผลิต รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ละเมิดกติกาสากลด้วย โดยขอให้ ปล.กษ. ประสานกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันจัดวิทยากรมาให้ความรู้กับผู้จัดการเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการและราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดก่อนเริ่มฤดูการผลิต

อย่างไรก็ดี ในการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่แบบมีส่วนร่วมที่ทันสมัย ขอให้เกษตรอำเภอร่วมกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัด รวมกลุ่มเกษตรกรเจ้าของที่ดิน เพื่อจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือ วิสาหกิจชุมชน ขณะเดียวกัน ให้คัดเลือกเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่มีศักยภาพและมีความต้องการทำการเกษตรเอง หรือ คัดเลือกบุตรหลานของเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmers) มาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ หรือ ประสานงานกับภาคเอกชนในพื้นที่ หรือ พื้นที่ใกล้เคียง มาจัดหลักสูตรอบรมร่วมรัฐกับเอกชน โดยเน้นวิธีการจัดการสมัยใหม่แบบเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)

หรือ ขอให้ภาคเอกชนส่งวิทยากรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมมาแนะนำวิธีการผลิตและการจัดการธุรกิจ การเกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ต้นทุนต่ำและให้ผลผลิตสูง โดยอาจปรับเป็นการทำธุรกิจที่ลงทุนร่วมกันระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดินกับภาคเอกชนเหมือนการร่วมกันทำนาด้วยการลงแขกเช่นในอดีต หรือ ให้เอกชนลงทุนโดยออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องจักร หรือ แนะนำวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ ขณะที่ เกษตรกรเจ้าของที่ดิน หรือ บุตรหลาน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อดำเนินการผลิต โดยให้สหกรณ์การเกษตร หรือ วิสาหกิจชุมชน รวบรวมผลผลิตขายให้เอกชนหรือนำไปแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรแปลงใหญ่ หรือ ประสานให้ภาคเอกชนมาตั้งโรงงานแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ เปิดเป็นโรงรวบรวมผลผลิตเพื่อติดต่อหาตลาดส่งขายเอง หรือ วางขายในระบบออนไลน์ เป็นต้น

ส่วนบทบาทภาคเอกชนในวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ในฐานะผู้ร่วมลงทุนและทำการตลาดมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ติดต่อประสานงานกับภาคเอกชนในส่วนกลางผ่านกลุ่มสานพลังประชารัฐ คณะทำงานด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D.6) เพื่อขอให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกรแปลงใหญ่ในกระบวนการผลิต

อาทิ ทำสัญญารับซื้อผลผลิตของเกษตรแปลงใหญ่ หรือ ร่วมลงทุนกับเกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ หรือ ขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนจัดอบรมวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่และสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจับคู่ทางการค้าเพื่อรับซื้อผลผลิตรวมถึงการให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตได้ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกด้วย ทั้งนี้ ให้มีแบ่งปันผลประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วน ระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดิน สหกรณ์ หรือ วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนที่มาร่วมลงทุนดำเนินการในกิจการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ให้เป็นไปตามหลักความเป็นธรรม ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตร (มก.อช.) กรมชลประทาน องค์การตลาด (อตก.) ฯลฯ ร่วมกันวางแนวทางและส่งเสริมการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มความรู้ในการผลิต การคัดเลือกพันธุ์ การจัดการแปลง การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมทั้งให้วางแนวทางและสนับสนุนการดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างยั่งยืน และประสานงานขอให้ ธกส. สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำแก่กลุ่มธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ พร้อมช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย

"ติดตามและประเมินผลให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาวางแผนเพื่อดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นรายแปลงเกี่ยวกับผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิต การใช้เครื่องจักรกล ชนิดของพืช/ปศุสัตว์/สัตว์น้ำ พร้อมระบุ สายพันธุ์และข้อมูลสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรสมาชิกธุรกิจการเกษตรแปลงใหญ่ทุกคนและทุกครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ ว่า มีรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร หนี้สิ้นโครงการอื่นของภาครัฐที่เข้าร่วมในทุกพื้นที่ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างฐานข้อมูลและทำการติดตามและประเมินผลการเข้าร่วมโครงการของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ"

นายกฤษฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการ ก็คือ ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องปรับแนวคิดและมุมมองต่องานด้านการเกษตร เพื่อปรับวิธีการทำงานให้ก้าวทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วบนพื้นฐานของการมีจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบในหน้าที่การงานโดยยึดหลักซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานอย่างเข้มแข็งด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

กลุ่มเกษตรกรลงชื่อกว่า 10,000 ราย ร้องขอนายกฯ ชะลอใช้ภาษีเกษตร 5 ปี

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.62 กลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้ายื่นเอกสารรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบและร้องขอให้พิจารณาช่วยเหลือ จำนวนกว่า 10,000 ราย โดยมีนายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบดังกล่าว

ภายหลังการยื่นเอกสารนางเยาวมาลย์ ค้าเจริญ ประธานคณะกรรมการด้านปศุสัตว์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้แก้ไขอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเป็นการเหมาที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 จากเดิมหักได้ ร้อยละ 85 เปลี่ยนมาให้หักได้ร้อยละ 60 ซึ่งมีผลกระทบต่อเกษตรกรที่ประกอบอาชีพภาคเกษตร เช่น การทำป่าไม้ สวนยาง ไม้ยืนต้น การจับสัตว์น้ำ การทำเกษตรกรรมพืชล้มลุก การเลี้ยงสัตว์ การทำนาเกลือ ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติได้รับการร้องขอจากเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรต่างๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เครือข่ายโคเนื้อ กลุ่มชาวไร่อ้อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ เป็นต้น เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรเหล่านี้มีความเห็นว่าการประกอบอาชีพของพวกเขายังประสบปัญหาเป็นอย่างมากที่รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตจะมีผลกำไรบ้างในรอบการผลิต และบางรอบการผลิตก็ขาดทุน แต่ในปีภาษีต่างๆนั้นไม่เคยได้กำไรถึงร้อยละ 40 ของราคาขายผลผลิต โดยข้อเท็จจริงนี้สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือเปรียบเทียบข้อมูลการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงภาคราชการ

ด้าน นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ได้ร่วมลงชื่อกว่า 10,000 ราย เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีที่มีเจตนาบริหารประเทศให้ประชาชนอันรวมถึงเกษตรกรด้วย ได้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไปได้ก็ต้องให้เกษตรกรสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆได้ด้วย การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนแต่ก็ต้องเรียกเก็บอย่างสมเหตุสมผล การเรียกเก็บภาษีจากวงเงินร้อยละ 40 ของรายได้โดยให้ยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60 ของรายได้นั้น เป็นการแตกต่างจากความเป็นจริงมาก จึงขอได้โปรดพิจารณาปรับค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินกลับไปใช้ร้อยละ 85 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือขอให้โปรดชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก 5 ปี

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

บาทเปิดอ่อนค่า ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอ เจรจาการค้าสหรัฐ-จีนยังไม่จบ สงครามอินเดีย-ปากีสถานส่อรุนแรง

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากช่วงสิ้นวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินโลกแกว่งตัวในกรอบแคบ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐปรับตัวลง 0.1% พร้อมกับ Stoxx600 ของยุโรปที่ย่อตัวลง 0.3% โดยตลาดกลับมากังวลกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาหนี้ในอิตาลีที่สูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่ดูทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก็กลับมาห่างไกลความจริง หลังผู้แทนการค้า นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ยืนยันกับสภาคองเกรสว่า ทางการจีนต้องปรับโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจก่อน แม้นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะส่งสัญญาณว่าเฟดพร้อมที่จะยุติการลดงบดุลลง แต่ตลาดก็ไม่ตอบรับมากนัก

นายจิติพล กล่าวว่า สำหรับวันนี้ เชื่อว่าตลาดจะยังจับตาความคืบหน้าของการพบปะกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ และคิมจองอึน ที่กรุงฮานอย โดยตลาดคาดหวังว่าการเจรจาดังกล่าวจะนำไปสู่การลดกำลังทหารสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ มองว่าอัตราดารขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) สหรัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ขยายตัวเพียง 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากผลกระทบสงครามการค้าและการบริโภคเอกชนที่ลดลง นอกจากนี้ คาดว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการของจีนในเดือนกุมภาพันธ์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ยืนยันการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน

“ในส่วนของค่าเงินบาท มีแนวโน้มผันผวนด้านอ่อนค่าตามตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง แม้ในระยะสั้นตลาดจะไม่ได้มองว่าเงินบาทแข็งค่าเงินไปแล้ว แต่การเมืองในประเทศก็ร้อนแรงในช่วงนี้ ยังคงเป็นปัจจัยลบที่กดดันให้ตลาดต้องลดสถานะการถือครองเงินบาทลง กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.36-31.46 บาทต่อดอลลาร์” นายจิติพล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

'กฤษฎา'ร่อนหนังสือด่วน!ป้องกัน-แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง "การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562" ระบุว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ประกอบกับมีเกษตรกรหลายกลุ่มทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้เพาะปลูกทำการเกษตรกรรมเช่นเดิม เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งนี้ จึงขอมอบหมาย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำแล้งปี 2562 ประจำกระทรวงเกษตรฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปี 2562 ดังนี้

1.ขอให้แจ้งทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการขาดแคลนน้ำประจำพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยให้ใช้โครงสร้างคณะอนุกรรมการ อพก. จังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับจังหวัด

2.ขอให้ชลประทานจังหวัดจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหน้าแล้ง ปี 2562 ประจำพื้นที่โดยให้นำเสนอต่อที่ประชุม อพก.เพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด รับทราบสถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบไปปฎิบัติตามแผนดังกล่าว

3.องค์ประกอบสำคัญของแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562 ควรประกอบด้วย

-ข้อมูลแหล่งน้ำทั้งแหล่งธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ทำขึ้นพร้อมปริมาณน้ำในแต่ละแหล่งน้ำ

-ข้อมูลจำนวนพื้นที่เพาะปลูกหรือทำการเกษตรและประมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่เดือน มี.ค. - พ.ค.62

-ข้อมูลปริมาณการใช้นำพื่ออุปโภค/บริโภคของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

-นำข้อมูลปริมาณน้ที่อยู่ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง2562 เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์นำว่าจะเพียงพอต่อการใช้เพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคเพียงพอหรือไม่

4.ขอให้ประสานงานกับสำนักงานป้องเกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อยกร่างแผนงานมอบหมายให้ส่วนราชการต่างๆไปปฎิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งในด้านต่างๆ คือ

-หน่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนร่วมกันประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งนี้

-จัดทำบัญชีรวมเครื่องมือ/อุปกรณ์การสูบน้ำหรือนำน้ำไปบริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบโดยอาจแบ่งพื้นที่พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบประจำแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ฯลฯ

5.ขอให้ทุกกรม รวมทั้งส่วนราชการเทียบเท่ากรมในสังกัด กษ.ที่มีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานอยู่ในพื้นที่ในฐานะราชการส่วนภูมิภาคและหรือหน่วยงานส่วนกลางที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัด/เขตต่างๆ ได้ร่วมกันสนับสนุน/ปฎิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งโดยพร้อมเพียงกัน โดยให้ ผต.กษ.ได้ไปตรวจราชการเพื่อสดับตรับฟังและติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งนี้โดยใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ ผบช.ทราบทุกระยะด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

'ฝนหลวง'ขึ้นบินทำฝนภาคอีสาน ช่วยพื้นที่เกษตรเจอภัยแล้งหลายจังหวัด

"ฝนหลวง"ขึ้นบินทำฝนภาคอีสานแล้ว ช่วยพื้นที่เกษตรเจอภัยแล้งหลายจังหวัด ทั้งภาคกลาง-ภาคเหนือ ปัญหาฝุ่นพิษยังลามไม่หยุด โดนลมตะวันตกหอบฝุ่นละอองจากเพื่อนบ้านเข้าไทย เร่งติดตามสภาพอากาศหากมีความชื้นเหมาะสม ทุกหน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วพร้อมขึ้นทำฝนทันที

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัดเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง และ จ.ขอนแก่น มีคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยได้ตรวจสภาพอากาศเพื่อปฏิบัติการฝนหลวง พบว่าสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา มีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 91% และ 79% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 55% และ 32% สำหรับค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.3 และ -1.1 มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติการฝนหลวงได้ในขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน และ 2 พัฒนาก้อนเมฆ โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จ.ขอนแก่น จึงวางแผนขึ้นบินเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในบริเวณอำเภอหนองแวง จ.ขอนแก่น - อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม รวมทั้งบริเวณ อ.สตึก - อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับการร้องขอ โดยจะติดตามระหว่างวันหากว่าเมฆมีการพัฒนาตัวที่ดีจะวางแผนขึ้นโจมตีต่อไป นอกจากนี้ ในภาคตะวันออก ได้ติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งบริเวณ อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และ จ.ตราด บางแห่ง

ในส่วนพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาฝุ่นละออง เช่น จ.สระบุรี พื้นที่ภาคกลาง โดยหน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครสวรรค์ ได้ติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีแนวโน้มการพัฒนาตัวของเมฆได้ดี จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟไหม้พื้นที่ป่าบางส่วนของ จ.ราชบุรี และพื้นที่ภาคเหนือ จ.ลำพูน ลำปาง แพร่ และเชียงใหม่ ยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากพบจุด Hot Spot หรือจุดที่เกิดการเผาไหม้กระจายตัวอยู่ พร้อมกับมีลมตะวันตกพัดพาฝุ่นละอองจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือด้วย จึงทำให้บริเวณพื้นที่ภาคเหนือยังมีฝุ่นละอองค่อนข้างมาก

จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ ยังไม่เหมาะกับการปฏิบัติการฝนหลวง จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากในช่วงบ่ายมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาทันที

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กรอ.ยันยกเลิกต่ออายุ รง.4 ทุก 5 ปี ปิดช่องทุจริตแต่ยังคุมเข้มสิ่งแวดล้อม

กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกโรงยืนยันร่าง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรมฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบ รง.4 จากเดิมที่ต้องต่ออายุทุก 5 ปี ส่งผลดีต่อภาคการผลิตและปิดช่องทุจริตของภาครัฐ ดึงดูดการลงทุน ลดขั้นตอน แต่ยังคงคุมเข้มด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม ส่วนโรงงานขนาดเล็กไม่ต้องขออนุญาตจาก กรอ.ต่อไปเพราะมีกฎหมายอื่นดูแลแล้ว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขใหม่ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของประเทศ และเป็นผลให้โรงงานมากกว่า 60,000 ทั่วประเทศ ได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่นี้นั้นขอยืนยันว่าเป็นการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการอนุญาตเท่าที่จำเป็นไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการ เกิดความสะดวกรวดเร็วสำคัญปิดช่องไม่ให้มีการกล่าวอ้างเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐมีการแสวงหาประโยชน์ นำมาซึ่งบรรยากาศที่ดีในการดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้ การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจะยังคงมีกฎหมายกำกับดูอยู่เช่นเดิม โดยจะให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเอง หรือ Self-declared ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย กำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในแต่ละปี และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม (Third Party) ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ

“กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานหลุดพ้นจากการควบคุม กำกับ ดูแล แต่อย่างใด เพียงแต่จะทำให้การประกอบกิจการลดภาระลงซึ่งเป็นผลดีต่อการประกอบกิจการในภาพรวม และที่สำคัญสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น โดยส่งผลดี 2 เพิ่ม 2 ลด คือ 1. เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ 2. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ และ 1. ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม 2. ลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต” นายทองชัยกล่าว

ส่วนกรณีการอนุญาตให้โรงงานเอกชนขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า และคนงานต่ำกว่า 50 คน ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมอีกต่อไปนั้น เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าโรงงานที่มีการใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หรือใช้คนงานไม่เกิน 50 คน เป็นโรงงานขนาดเล็ก ประกอบกิจการไม่มีความซับซ้อน และไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ประกอบกับโรงงานขนาดดังกล่าวจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กรณีเป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรณีที่การประกอบกิจการเป็นแห่งกำเนิดมลพิษ

“โรงงานขนาดเล็ก เราได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข จึงสามารถกำกับดูแลโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานต่ำกว่า 50 คนได้ทันที” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

คลังมึนส่งออกเดือนม.ค. ติดลบ 5.7% ทรุดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ฉุดเศรษฐกิจดิ่ง แต่ยังฝืนยืนเป้าจีดีพีปีนี้โต 4.5%

คลังมึนส่งออกม.ค. ติดลบ – นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค. 2562 ว่า ยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ที่ระดับ 17.4% ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 5.5%

ขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่า ในเดือนม.ค. 2562 การส่งออกติดลบ 5.7% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการค้าโลกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อระหว่างประเทศให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวลงนั้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และยังต้องติดตามดูสถานการณ์ในช่วง 11 เดือนที่เหลือของปีนี้ด้วย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จะมีการผลักดันมาตรการเพื่อสนับสนุนการส่งออกของไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ 4.5%

“จากคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ของกระทรวงการคลัง มองว่าปีนี้แรงขับเคลื่อนหลักๆ จะมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกมองว่าจะชะลอตัวลงอยู่แล้ว เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากดดันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้า และการตั้งกำแพงภาษีต่างๆ” นายพรชัย กล่าว

นายพรชัย กล่าวอีกว่า ด้านการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวได้ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัว 17.3% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 โดยขยายตัวได้ดีตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่เติบโตสูงถึง 21% ต่อปี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในเดือนม.ค. 2562 อยู่ที่ 3.72 ล้านคน ขยายตัว 4.9% ต่อปี จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ขยายตัวสูงถึง 10.3% ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวอินเดีย ขยายตัว 24.9% ไต้หวัน ขยายตัว 31% ส่งผลทำให้เดือนม.ค. 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่า 1.95 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.4% ต่อปี จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงผ่านนโยบายที่สนับสนุนด้านสวัสดิการต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณในการดำเนินการนั้น หากพรรคการเมืองใดได้เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ อาจจะต้องดูข้อจำกัดภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ตามนโยบายที่ได้หาเสียง โดยเฉพาะงบประมาณปี 2563 ซึ่งสำนักงบประมาณได้มีการวางกรอบการจัดทำงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว

“มีหลายพรรคการเมืองที่หาเสียงผ่านนโยบายต่างๆ รวมถึงมีการสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจว่าอาจจะยังขยายตัวได้ไม่ดีนั้น ในส่วนนี้กระทรวงการคลังยืนยันว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้มีการประกาศออกมา เป็นข้อมูลจริง เป็นข้อเท็จจริง มีการเก็บข้อมูลจริง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เกิดจากการบริโภค ก็จะสะท้อนการใช้จ่าย ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ส่วนการหาเสียงในมุมต่างๆ อาจใช้เรื่องของความรู้สึก ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนครบทุกกลุ่ม กลุ่มที่มีปัญหาก็จะสะท้อนออกมา ส่วนกลุ่มที่ไม่มีปัญหาไม่ได้มีการพูดถึงในจุดนี้” นายพรชัย กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ตรวจโรงงานน้ำตาลสกัดฝุ่น

นายศิริรุจ  จุลกะรัตน์  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ เข้าตรวจเยี่ยมบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์  จ.สระแก้ว เพื่อดูกระบวนการผลิตป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีนายอุดมเขต  ราษฎร์นุ้ย  รอง ผวจ.สระแก้ว นายวิฤทธิ์  วิเศษสินธุ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล นายประกอบ  คณูวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ใหการต้อนรับ

นายศิริรุจเปิดเผยว่า ได้รับฟังการบรรยายสรุปจากผู้บริหารบริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ถึงการป้องกันปัญหาต่างๆ รวมถึงตรวจตราเฝ้าระวังเรื่องฝุ่นเป็นอย่างดีและมั่นใจว่าผลกระทบจากโรงงานอาจไม่มีเลย ขณะนี้ได้มีการรณรงค์เกษตรกรไม่เผาอ้อยในพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันจนเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่ได้อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีเกษตรกรลอบเผาอ้อยอยู่ ขอให้ฝ่ายโรงงานและอนุกรรมการท้องถิ่นกับผู้ปลูกอ้อยหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันเพื่อปิดช่องว่างไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

นายมนตรี  คำพล นายกสมาคมเกษตรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ปัญหาของชาวเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่คือการเผาอ้อย การขาดแรงงานคนตัดอ้อย  ขอฝากให้มีการส่งเสริมเรื่องเครื่องจักรกลในการตัดอ้อย เพื่อลดต้นทุนการผลิต

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชูศพก.ผนึกเครือข่ายเกษตรกร หยุดเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เดินหน้าลดพื้นที่หมอกควันพิษกระจายความรู้สร้างชุมชนต้นแบบ

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเร่งจัดการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดมลพิษและหมอกควันทำลายสภาพแวดล้อมแล้ว ยังทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหารและโครงสร้างดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยตั้งศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา เพื่อนำร่องสาธิตการใช้เทคโนโลยีการไถกลบตอซังฟางข้าวทดแทนการเผา โดยให้ชุมชนเกษตรบริหารจัดการการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตร ทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งตั้งเครือข่ายเกษตกรปลอดการเผาในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผาสูง

โดยในปี 2557 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้สร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ประสบปัญหาหมอกควันรุนแรงเป็นประจำทุกปี ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ ตาก และอุตรดิตถ์ โดยถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ส่งเสริมให้รวมตัวกันของเกษตรกรเป็นเครือข่ายปลอดการเผา สร้างวิทยากรอาสาสมัครด้านทำเกษตรปลอดการเผา สนับสนุนให้เกิดจุดสาธิตเรียนรู้ทำเกษตรแบบปลอดการเผาตามบริบทของชุมชน เช่น ไถกลบตอซัง นำเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาหารสัตว์ เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน เพาะเห็ดฟาง รวมทั้งปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นบนพื้นที่สูง เพื่อลดการเผาซังข้าวโพดบนพื้นที่สูง การจัดเวทีเสวนาเพื่อวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และระดมความเห็นจัดทำแผนชุมชน ป้องกันการเผาในพื้นที่ การทำสัตยาบันในชุมชน เพื่อใช้เป็นมาตรการกำกับควบคุมในชุมชนเอง รวมทั้งเฝ้าระวังช่วงภาวะวิกฤติหมอกควันช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี จากเครือข่ายที่ผ่านการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า มีเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา 1,374 เครือข่าย เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้รวม 64,250 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการพัฒนาเป็นวิทยากรเกษตรปลอดการเผา 7,710 ราย ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 1.37 ล้านไร่ โดยในปี 2561 ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการเผาได้ 35,664 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 142 ล้านบาท เกิดพื้นที่การเกษตรปลอดการเผา รวม 100,320 ไร่

สำหรับในปี 2562 นอกจากจะดำเนินการใน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังขยายไป 16 จังหวัดที่มีการเผาในพื้นที่เกษตรสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี รวมทั้งเดินหน้าขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผา ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายแปลงใหญ่ เพื่อให้รณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตรมีประสิทธิภาพ และกระจายความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2562 พร้อมจัดกิจกรรมหรือนิทรรศการให้ความรู้เรื่องการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นหนึ่งในกิจกรรมการจัดงานดังกล่าว ตลอดจนให้บรรจุประเด็นหยุดเผาเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการเครือข่าย ศพก. และเครือข่ายแปลงใหญ่ ระดับจังหวัดและเขต และให้บรรจุเนื้อหาวิชาการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เป็นหนึ่งในหลักสูตรเสริมของศพก. สำหรับการอบรมเกษตรกรทุกพื้นที่ โดยหวังช่วยลดปัญหาหมอกควันในไร่นาโดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปีเพิ่มขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“สมคิด” ย้ำ EEC ต้องอยู่ต่อ ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยทุกรัฐบาล อนาคตไทยต้องไม่ทะเลาะ หวังดัน GDP ทะลุ 4.1%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่าแม้ช่วงใกล้เลือกตั้งข้าราชการเกียร์ว่าง ดังนั้นครึ่งแรกของปี 2562 นี้จะเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่มีพลัง เพราะทุกคนหยุดดู การลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็หยุดดู การขับเคลื่อนก็ไม่มีพลังเหมือนปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะประคองครึ่งปีนี้ให้ผ่านไปได้

จนเมื่อถึงหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ ถ้ามีสัญญาณความต่อเนื่องของนโยบาย เชื่อว่าครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะไปได้ต่อเนื่องแน่นอน เพราะยังคงมีโครงการลงทุนอยู่ในมือ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่อยู่ระหว่างการแข่งขันประมูล ทั้งโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า EEC ได้เกิดแล้ว

ขณะที่การส่งออกครึ่งปีหลังก็ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่าครึ่งปีแรก การบริโภคภายในก็จะดีขึ้น การผลิตภาคอุตสากรรมขยายตัว การท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่น เมื่อทุกภาคส่วนมั่นใจขึ้นรับรองว่าเศรษฐกิจไปได้แน่นอน

ขณะเดียวกัน พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เห็นได้จากเศรษฐกิจไทยปี 2561 ปีที่ผ่านมาเติบโต 4.1% มีเงินสำรอง 2.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะกว่า 40% เงินเฟ้อ 1% ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลชำระเงินเกินดุล ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 3 ไตรมาส 8.7 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 11% กำไรบริษัทจดทะเบียนในตลท. 8 แสนกว่าล้านบาท เติบโต 16% กำไรสุทธิ 7 แสนกว่าล้านบาท

ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและท่ามกลางการส่งออกที่ถดถอยเช่นนี้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังโตได้ขนาดนี้แสดงว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี ถ้าแบบนี้ไม่ดีแล้วอย่างไรจึงเรียกว่าดี ลองนึกย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรดีบ้าง ที่ผ่านๆ มาทำอะไรถึงจะได้เท่านี้ เรามัวเสียเวลาตีกันตั้ง 6-7 ปี นี่เป็นครั้งแรกธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ชมเชยเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี มีความสมดุลสามารถประคับประคองภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะต้านปัจจัยลบได้

อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทแข็ง สะท้อนความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เพราะไทยมีความสงบและมีเสถียรภาพเป็นสวรรค์ของนักลงทุน โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนอยู่แล้ว แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงต้องยอมรับว่าได้อย่างก็เสียอย่าง จะได้ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย

และขณะนี้ SMEs ไทยน่าเป็นห่วงมาก เพราะยังไม่มีการปรับตัวโดยเฉพาะโชห่วย ถ้าไม่ช่วยกันรับรองได้อีก 5 ปีจะไม่เหลือโชห่วยให้เห็นแล้ว ในส่วนของภาคการเกษตรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มีต้นทุนที่ต่ำลง โดยนำเทคโนโลยีและการวิจัยมาใช้ เน้นพัฒนาเรื่องการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร เชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวเข้ามาเสริมจึงจะอยู่ได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 4.1% หากรัฐบาลใหม่มีการลงทุนต่อเนื่อง ไม่มีการทะเลาะกัน นักลงทุนก็จะเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สานต่อจากรัฐบาลเก่า โดยเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องภายในประเทศ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการหนุน “เกษตรไทย” เปลี่ยนผ่านสู่ “เกษตรยั่งยืน”

ภาคเกษตรไทยเผชิญหลากความท้าทาย ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการปรับทิศการทำเกษตรด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภค แก้ปัญหาการบุกรุกป่าผิดกฎหมายและใช้สารเคมีทำเกษตร พร้อมแนะมาตรการพักชำระหนี้ หรือ เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เสริมแกร่งให้เกษตรกรไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การทำเกษตรยั่งยืน

ในงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ “มาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร” จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

ดร.กรรณิการ์ ธรมพานิชวงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาว่า เนื่องด้วยภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาคเกษตรนำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาการสูญเสียหน้าดิน ปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำแนวคิดสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการสำคัญในการสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตร มีหลายประการ ประการแรก เน้นการแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบไม่ยั่งยืนโดยบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่บุกรุกป่าปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสานแบบปราศจากสารเคมี โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้

ประการที่สอง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้ อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรก จึงควรนำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อเป็นเงินทุนให้เกษตรกรใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ

ประการที่สาม ใช้มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีสารเคมีเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช และการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าเกษตรยั่งยืน อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการเก็บภาษีสารเคมี จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีและไม่กระทบผลิตผล (Yield)

นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนยังมีช่องทางการจำหน่ายที่จำกัดและเข้าถึงยาก ดังนั้นมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืนและสร้างตลาดท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อรับรองสินค้าสำหรับการส่งออก มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรยั่งยืนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ดี เห็นได้ว่ามาตรการที่สนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรมีหลายประการ หากให้ลำดับความสำคัญมาตรการที่สำคัญเพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน ควรมุ่งเน้นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกมีความจะเป็นต้องเงินทุนสูงและใช้ระยะเวลานานกว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ควรมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนเอง เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรของประเทศไทยนำไปสู่การปฏิบัติจริง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

ทุ่ม1.3พันล.ช่วยเกษตรลดต้นทุน ใช้"สหกรณ์"ผลิตปุ๋ยใช้เอง

           แนวทางการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตผ่านสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรนั้น เป็นอีกนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมเองที่มีธาตุอาหารพืชที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินแต่ละพื้นที่ และตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งรัดจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรได้ใช้ในราคาที่ถูกลง 30% เนื่องจากปัจจุบันราคาปุ๋ยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดิน ส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน

              “รัฐบาลมีแนวคิดที่จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยการสนับสนุนให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการผลิตปุ๋ยผสมใช้เองตามค่าการวิเคราะห์ดิน และจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในแต่ละพื้นที่  ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำโครงการปุ๋ยผสมใช้เองฯ โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม และผลักดันให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวกลางในการสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้แก่สหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้จำหน่ายให้แก่สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป”

                บางช่วงบางตอนที่ "กฤษฎา บุญราช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 900 คนจากกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 462 แห่ง ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ โดยโครงการนี้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหาวิธีลดต้นทุนปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ซึ่งจะมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด และส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและบำรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม

                ส่วนกรมวิชาการเกษตรจะให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยเพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะมีการตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยนั้น ขณะนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโดยให้สหกรณ์กู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

                “การประชุมในครั้งนี้เพื่อเชิญชวนสหกรณ์ทั่วประเทศ กว่า 400 แห่ง มาร่วมกับขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วิธีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเอง โดยให้ 4 เสือ ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ร่วมกันให้ความรู้วิธีการผสมปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดินบริเวณนั้น โดยมีเป้าหมาย 1 แสนตัน ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์แจ้งความต้องการปุ๋ยผสมใช้เอง รวม 7 หมื่นตัน ในเดือนมีนาคมจะเริ่มลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร และเมษายนจะเริ่มฤดูกาลผลิต” กฤษฎากล่าว

                รมว.เกษตรฯ ย้ำว่าสำหรับแนวทางเพิ่มเติมในการลดต้นทุนการทำเกษตรนั้น ได้แก่ การทำเกษตรระบบโควตา โดยกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันสำรวจความต้องการสินค้าเกษตร พื้นที่ไหนจะปลูกอะไรต้องดูตลาด เพื่อกำหนดโควตาตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ให้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก.กว่า 35 ล้านไร่ ที่จัดสรรให้เกษตรกร 7 ล้านครัวเรือนว่าพื้นที่ใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็ให้เข้าไปปรับปรุงทำเป็นแปลงใหญ่ โดยเชิญภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามาร่วมกันบริหารจัดการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชในพื้นที่นั้นๆ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่รกร้างหรือเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำการเกษตรเนื่องจากอายุมาก ลูกหลานไม่ทำกิจการต่อ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจหาวิธีการช่วยเหลือ โดยใช้ Young Smart Farmer เข้าไปบริหารจัดการ เป็นการจ้างแรงงาน ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

                  ด้าน พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ได้ให้สหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด แจ้งรายละเอียดของโครงการนี้ไปยังสหกรณ์ต่างๆ และมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 462 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่ง ได้แจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว จำนวน 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป จำนวน 161,462 ราย

                     ทั้งนี้หากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มาจากค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตปุ๋ยให้แก่เกษตรกรได้ประมาณปีละ 2,000 บาท/ตัน และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมใช้เองของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 228.38 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้หากมีสหกรณ์เห็นประโยชน์ที่จะช่วยสมาชิกและเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยผสมเอง ก็สามารถแจ้งความประสงค์และแจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยได้เพิ่มเติม โดยติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด

                   “ในอนาคตคาดหวังว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจะสามารถนำข้อมูลจากการเก็บค่าวิเคราะห์ดินของสมาชิกเป็นรายแปลงมาเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดหาปุ๋ยหรือบริการผสมปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกและเกษตรกรต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวทิ้งท้าย                                       

                                มารู้จักความหมายสูตรปุ๋ยเคมี“N-P-K”

              ศ.ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน ปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ย อดีตอาจารย์ด้านปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวในรายการ “เกษตรวาไรตี้” ทางสถานีวิทยุ ม.ก. ถึงรายละเอียดของปุ๋ย โดยระบุว่าเมื่อพูดถึงปุ๋ยเกษตรกรจะนึกถึงสองอย่างคือปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรมีความจำเป็นจะต้องใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน  หลังจากที่ดินใช้งานมานานแล้วความเสื่อมโทรมของดินก็ย่อมเกิดขึ้น  โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและมีความสำคัญในปรับปรุงบำรุงดิน

            “ถ้าเกษตรกรรู้จักปุ๋ยเคมีที่ตัวเองใช้อย่างถูกต้องก็จะช่วยประหยัดเงินค่าปุ๋ย ใช้ปุ๋ยถูกลงและผลผลิตดีขึ้น นี่คือประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ”

                ศ.ดร.สรสิทธิ์ยังได้แนะนำวิธีการใช้ปุ๋ยเคมี  ประการแรกเกษตรกรจะต้องรู้จักสูตรปุ๋ยก่อนในเองต้น โดยให้สังเกตเลข 3 ตัวตรงใต้คำว่าปุ๋ยเคมีด้านข้างกระสอบ ที่ระบุ 10-10-10  หรือ 15-0-0 ซึ่งหมายควมว่าเป็นปริมาณเนื้อธาตุอาหารในกระสอบที่เกษตรกรซื้อ โดยตัวเลข 10 ตัวแรกเป็นเปอร์เซ็นต์ของเนื้อธาตุอาหารไนโตรเจน 10 ตัวที่สองเป็นฟอสฟอรัส และ 10 ตัวที่สามเป็นโปแตสเซียม

              “ถ้าสังเกตปุ๋ยที่ขายตามท้องตลาด จะเห็นว่ามีเป็นร้อยๆ สูตร ซึ่งมักจะเกิดปัญหาสับสนแก่เกษตรกร ฉะนั้นสิ่งที่เกษตรกรต้องรู้อีกอย่างคือเรโชของปุ๋ยหรือสัดส่วนของธาตุอาหารในปุ๋ยนั้นๆ เช่นสูตร 10-10-10 เรโชปุ๋ยก็คือ 1:1:1 เรโชปุ๋ยความสำคัญมากเพราะเราจะรู้ได้ว่าการผลิตปุ๋ยนั้นๆ ผลิตมาเพื่อให้ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินหรือเพื่อใช้กับพืชชนิดไหนอย่างไร อย่างเช่นปุ๋ยที่มีตัวหน้าสูง ตัวกลางและตัวหลังต่ำ แสดงว่าปุ๋ยสูตรนี้มีธาตุอาหารเน้นการบำรุงต้น บำรุงใบให้โตเร็ว แต่การเจริญเติบโตของรากหรือดอกจะไม่มีหรือมีน้อยมาก แต่ตัวกลางสูง ก็หมายความว่าจะเป็นปุ๋ยเร่งดอกเร่งรากให้เจริญเติบโต ส่วนถ้าตัวท้ายสูงจะเร่งผลและเพิ่มความหวาน” ปรมาจารย์ด้านดินและปุ๋ยคนเดิมกล่าว

                 อัธยะ พินจงสกุลดิษฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตของดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยระบุว่านับเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร โดยใช้สหกรณ์เป็นกลไกในการดำเนินการ ก่อนที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่สมาชิก ซึ่งหากให้เกษตรกรไปดำเนินการเองคงยาก เนื่องจากความพร้อมของแต่ละรายไม่เหมือนกัน 

                “สมาชิกสหกรณ์กว่า 7 ล้านครัวเรือน ถ้าจะให้แต่ละรายไปทำเองคงลำบาก การผสมปุ๋ยใช้เองโดยผ่านกลไกสหกรณ์จะเป็นการดีที่สุด จะเห็นว่าที่ผ่านมามีโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

               เขาย้ำด้วยว่าในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินนั้นจะเข้าไปดูแลใน 3 ระดับ เริ่มจากเข้าไปแนะนำสูตรการผสมตามที่เกษตรกรต้องการใช้ จากนั้นจะมุ่งไปที่การผสมปุ๋ยให้มีธาตุอาหารให้เหมาะกับพืชชนิดนั้นและสุดท้ายจะเน้นการผสมปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินโดยให้เกษตรกรนำดินในพื้นที่นั้นๆ ส่งมาตรวจวิเคราะห์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในพื้นที่เพื่อหาธาตุอาหารในบริเวณนั้น ก่อนจะทำการผสมปุ๋ยเพื่อนำไปใช้ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร

                อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มี 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูลชุดดิน โดยสอบถามจากสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่หรือศึกษาจากแผนที่ชุดดินระดับตำบลหรือที่เว็บไซต์ www.soil.doae.go.th ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์เอ็น-พี-เค (N-P-K) โดยชุดตรวจสอบเอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็วใช้เวลาเพียง 30 นาที และเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี ขั้นตอนที่ 3 ใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำ โดยศึกษาจากคู่มือปุ๋ยสั่งตัดหรือโปรแกรม SimRice สำหรับข้าวได้ที่เว็ปไซต์ http://www.ssnm.info

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

กรมชลฯ วอนเกษตรกรลดทำนาปรัง

กรมชลประทานวอนเกษตรกรลดปลูกข้าวนาปรังทั้งในและนอกเขตชลประทาน หลังแม่น้ำชีลดจนแห้งขอด แต่ยังมีน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลำน้ำชีแห้งขอดเป็นประจำเกือบทุกปีในตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย ซึ่งบริเวณโค้งน้ำแห้งขอดจนเห็นสันดอนทรายระยะทางประมาณ 200 ม. โดยเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/2562 ประมาณ 1,000 ไร่ อาศัยสูบน้ำจากแม่น้ำชีด้วยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทำฝายกระสอบทรายขวางกั้นลำน้ำชี ล่าสุดดำเนินการเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง

สำหรับหน้าแล้งนี้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปี 2561 สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 และ 8 เพื่อเตรียมการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลประจำปี 2561/2562 และได้จัดประชุมคณะกรรมการเปิด-ปิด บานระบายของเขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำและเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากน้ำต้นทุนในลำน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่มีน้อย โดยให้ความสำคัญในเรื่องการอุปโภค – บริโภค และการรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดการปลูกข้าวนาปรังทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน พร้อมส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนในฤดูแล้ง

นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ดำเนินการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี และขอสนับสนุนน้ำจากสำนักงานชลประทานที่ 6 ในช่วงฤดูแล้งประจำปี 2561/2562 แต่ยืนยันว่ายังคงมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่โรงสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร พบว่า โรงสูบน้ำเป็นแบบแพลอยขึ้นลงได้ตามระดับน้ำ ปัจจุบันระดับน้ำลึกประมาณ 3 – 4 ม. สามารถสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้สะดวก สถานการณ์ทั่วไปปกติ

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญของแม่น้ำชีมีเกณฑ์บริหารจัดการน้ำตามหลักวิชาการ และสามารถจัดสรรน้ำจากปริมาณน้ำต้นทุนให้สอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อการอุปโภค – บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรกรรมอย่างเพียงพอตลอดลำน้ำชีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

ปั้นช่างเกษตรท้องถิ่นได้ผล เกษตรกรทำเอง-ลดค่าซ่อมบำรุง

นางอัญชนา  ตราโช  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยผลติดตามการดําเนินกิจกรรมสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ในโครงการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน ปีงบประมาณ 2561 ที่ได้จัดถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านทักษะเทคนิคการใช้และบํารุงรักษา บริหารจัดการเครื่องจักรกล โดยหน่วยงานกรมส่งเสริมการเกษตรแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 1 ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้น พัฒนาทักษะเทคนิคการใช้งาน บำรุงรักษาเครื่องยนต์เบื้องต้น หลังการอบรมจะได้รับวัสดุอุปกรณ์ อาทิ ไส้กรองและน้ำมันเครื่อง เพื่อนำไปใช้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ของตนเอง  ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2  ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นด้านบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร และช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 3  ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นด้านการวิเคราะห์และแก้ปัญหาการทำงานของเครื่องจักรกล โดยเมื่อผ่านการอบรม ช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 2 และ 3 จะได้รับอุปกรณ์เพื่อใช้ดูแลและซ่อมแซมเครื่องจักรกล เช่น ประแจแหวนปากตาย ประแจบล็อกตัวที และด้ามขันบล็อก

จากการที่สศก. ลงพื้นที่ติดตามเกษตรกรที่ผ่านการอบรมช่างเกษตรท้องถิ่นระดับ 1-3 ในจ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม และศรีสะเกษ พบว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรร้อยละ 97มีเครื่องจักรกลทางการเกษตรเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตัดหญ้า เครื่องพ่นยา/ปุ๋ย รถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งรถไถขนาดใหญ่และรถอีแต๋น  โดยเกษตรกรมีความรู้การบํารุงรักษา/ซ่อมบํารุงเครื่องจักรกลทางการเกษตรอยู่บ้าง จากการอบรมของกรมฝีมือแรงงาน ช่างในหมู่บ้านและจากญาติพี่น้องที่มีความรู้ด้านนี้  ซึ่งหลังเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้ง 3 ระดับ ร้อยละ 98 เห็นว่า เนื้อหาแต่ละหลักสูตรตรงความต้องการ ร้อยละ 97นําความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศ และสายพา นอกจากนี้เกษตรกรที่ผ่านการอบรม ร้อยละ 73 นําความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้เพื่อนบ้านและสมาชิกในครอบครัว สามารถซ่อมบํารุงด้วยตนเองได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78 เป็นร้อยละ 98 และหลังเข้าโครงการเกษตรกรลดการจ้างแรงงานในการซ่อม ปรับปรุงเครื่องจักรกลทางเกษตรลดลง ลดรายจ่ายซ่อมบํารุงรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเฉลี่ย 624.44 บาท/เครื่อง

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องการให้จัดอบรมทุกปี เน้นฝึกปฏิบัติหรือฝึกจากเครื่องที่เสียจริงเพิ่มระยะเวลาอบรมแต่ละระดับ และเนื้อหาอบรมให้มีหลากหลาย และให้มีการติดตามให้คําแนะนําจากเจ้าหน้าที่ต่อเนื่อง  ต้องการให้จัดอบรมในชุมชนจะได้เดินทางสะดวก รวมถึงต้องการให้สนับสนุนเครื่องมือซ่อมให้ชุมชนไว้ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ติดต่อที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งใกล้บ้าน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

คาด "เงินบาท" มีแนวโน้มแข็งค่าอีก ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจโลกและค่าเงินเอเชีย

ธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26 ก.พ.) ที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จากช่วงสิ้นวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวบวกอ่อน ๆ ดัชนี Stoxx50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น 0.29% พร้อมกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ปรับตัวขึ้น 0.12% ประเด็นเชิงบวกยังคงเป็นความคาดหวังกับการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มีโอกาสที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดนับตั้งแต่ต้นปี ทำให้นักลงทุนบางส่วนเริ่มขายทำกำไร นอกจากนี้ ความเสี่ยงการเจรจาข้อตกลง Brexit ในยุโรป ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ตลาดค่อย ๆ ลดสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงเช่นกัน

เชื่อว่า ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตลาดจะจับตาไปที่ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส โดยสิ่งที่นักลงทุนคาดหวัง คือ เฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยและยุติการลดงบดุลลง

ฝั่งของค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ นักค้าเงินส่วนใหญ่ยังคงจับตาไปที่ดีลควบรวมใหญ่ ๆ ในตลาด ที่อาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะที่ ในระยะยาว เรายังคงมีมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้อีก ถ้าตลาดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เมื่อมีข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจโลกและค่าเงินเอเชีย

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.23-31.33 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562

กกพ.ไฟเขียว “มิตรผล” เดินหน้าโรงไฟฟ้าชีวมวลต้นแบบ หลังพ่วงเงื่อนไขแนบท้าย

“กกพ.” ลงมติออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล “มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ)” หลังพ่วงเงื่อนไขแนบท้ายประกอบการอนุญาตตามข้อเรียกร้องของชุมชน

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร (อ.1) และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า (รง.4) ให้แก่ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด พร้อมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในการดูแลผลกระทบต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมในพื้นที่

“โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบโดยกลุ่มมิตรผล ที่ได้แสดงเจตจำนงในการที่จะจัดทำมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดข้อวิตกกังวลของประชาชน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างเป็นสุข สามารถสร้าง พัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมได้อย่างยั่งยืน” นางสาวนฤภัทรกล่าว

ทั้งนี้ การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500.00 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ โดยกำหนดเงื่อนไขประกอบการอนุญาตให้บริษัทฯ ต้องดำเนินโครงการโดยจะต้องบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด หากพบว่าฝ่าฝืนหรือไม่มีการปฏิบัติ กกพ.จะระงับการก่อสร้างโครงการได้ทันที

ก่อนที่จะมีมติอนุมัติโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 กกพ.ได้มีมติให้ชะลอการอนุญาตโครงการการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 32,500.00 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) หรือ 26 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.น้ำปลีก อ.เมืองฯ จ.อำนาจเจริญ หลังจากที่กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกพ.เพื่อขอให้ระงับการอนุญาตและตรวจสอบข้อเท็จจริงในการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่อาจจะไม่ครอบคลุม และยังมีความห่วงใยกับผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

โดยในการดำเนินการ นายเสมอใจ ศุขสุเฆษ ประธาน กกพ. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กกพ.พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สำนักงาน กกพ. ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง ภายหลังจากการลงพื้นที่และการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการให้บริษัท มิตรผลฯ เข้าชี้แจง และแสดงเจตจำนง จนเกิดความมั่นใจ จึงได้นำไปสู่การอนุญาตดังกล่าว

“ในส่วนของใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า กกพ.ได้มีมติให้เพิ่มเงื่อนไขเฉพาะในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เป็น 9 ข้อ เช่น ต้องปฏิบัติตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่อสำนักงานเป็นประจำทุก 6 เดือน เป็นต้น”

สำหรับมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อวิตกกังวลของประชาชนเพิ่มเติมตามที่ตัวแทนกลุ่มบริษัทมิตรผลฯ ได้แสดงเจตจำนงยินดีที่จะจัดทำมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมมี 12 ข้อ เช่น 1. บริษัทฯ จะควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศให้น้อยที่สุดและจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMs) 2. จัดส่งรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินให้แก่สำนักงาน กกพ.ทุกเดือน 3. ยินดีจะเชิญผู้ร้องเรียนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี จัดตั้งกองทุนมวลชนสัมพันธ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นในรัศมี 5 กิโลเมตร เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สอศ.จับมือกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ผลิต-พัฒนากำลังคนอาชีวะป้อนธุรกิจน้ำตาล

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับกลุ่มมิตรผล พร้อมผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในระดับช่างฝีมือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ช่างเทคนิคระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และนักเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของการผลิตอ้อยและน้ำตาล ให้มีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของของภาคอุตสาหกรรม โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การเข้ารับการฝึกอบรม และการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ การพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่ครู และบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีความรู้ และทักษะ ซึ่งจะเป็นการผนึกกำลังผลักดันให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อย่างมีระบบ มีแผนงานและเป้าหมาย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรม ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยการนำทรัพยากร จากกระบวนการการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ในรูปแบบวัสดุอินทรีย์นำไปเป็นเชื้อเพลิง นำสิ่งที่จะเกิดจากผลผลิตของน้ำตาลไปสู่การผลิตชีวพลังงาน และส่งต่อการนำชีวพลังงานไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ต่อไป

"ความร่วมมือระหว่าง สอศ.กับกลุ่มมิตรผล เป็นความร่วมมือที่ต่อเนื่องมาจากปี 2557 ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 249 คน และเข้าทำงานกับกลุ่มมิตรผล จำนวน 149 คน โดยครั้งนี้จะดำเนินงานความร่วมมือในการจัดการศึกษารูปแบบอาชีวศึกษาทวิภาคี ระดับ ปวส.กับ 4 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น , วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา , วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาเทคนิคการผลิต , สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง , สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ , สาขาวิชาพืชศาสตร์ และสาขาวิชาช่างกลเกษตร ซึ่งกลุ่มมิตรผลมีโรงงานอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี , สิงห์บุรี , กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น , เลย และชัยภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียง และครอบคลุมกับสถานศึกษา ที่สามารถดำเนินงานตามกรอบกิจกรรมได้" เลขาธิการ กอศ.กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการหนุน “เกษตรไทย” เปลี่ยนผ่านสู่ “เกษตรยั่งยืน”

ภาคเกษตรไทยเผชิญหลากความท้าทาย ทีดีอาร์ไอเสนอมาตรการปรับทิศการทำเกษตรด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้าถึงมือผู้บริโภค แก้ปัญหาการบุกรุกป่าผิดกฎหมายและใช้สารเคมีทำเกษตร พร้อมแนะมาตรการพักชำระหนี้ หรือ เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เสริมแกร่งให้เกษตรกรไทยพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่การทำเกษตรยั่งยืน

ในงานประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ “มาตรการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร” จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย

ดร.กรรณิการ์ ธรมพานิชวงค์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลการศึกษาว่า เนื่องด้วยภาคการเกษตรของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตอาหาร แหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ที่สำคัญ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาคเกษตรนำมาซึ่งปัญหาหลายด้าน อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ปัญหาการสูญเสียหน้าดิน ปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำแนวคิดสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนมาใช้ในภาคเกษตรของไทย อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการสำคัญในการสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคเกษตร มีหลายประการ ประการแรก เน้นการแก้ปัญหาการทำเกษตรแบบไม่ยั่งยืนโดยบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร ควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่บุกรุกป่าปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมีมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสานแบบปราศจากสารเคมี โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้

ประการที่สอง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้เวลานานกว่าจะสร้างรายได้ อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรก จึงควรนำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อเป็นเงินทุนให้เกษตรกรใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ

ประการที่สาม ใช้มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีสารเคมีเกษตร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพเพื่อกำจัดศัตรูพืช และการลดหย่อนภาษีให้ผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าเกษตรยั่งยืน อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาครัฐจะดำเนินการเก็บภาษีสารเคมี จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีและไม่กระทบผลิตผล (Yield)

นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรยั่งยืนยังมีช่องทางการจำหน่ายที่จำกัดและเข้าถึงยาก ดังนั้นมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืนและสร้างตลาดท้องถิ่น มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อรับรองสินค้าสำหรับการส่งออก มีการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรยั่งยืนไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ดี เห็นได้ว่ามาตรการที่สนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืนในภาคการเกษตรมีหลายประการ หากให้ลำดับความสำคัญมาตรการที่สำคัญเพื่อที่จะช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน ควรมุ่งเน้นมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรที่จะปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืน รวมถึงการให้เงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เนื่องจากในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะแรกมีความจะเป็นต้องเงินทุนสูงและใช้ระยะเวลานานกว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ควรมีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนเอง เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตรของประเทศไทยนำไปสู่การปฏิบัติจริง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ส่งออกสูญ4แสนล้าน ค่าเงินบาทแข็งทำรายได้หาย

บาทแข็งทุบส่งออกสูญรายได้แล้ว 4 แสนล้าน หลังแข็งค่าขึ้น 6% ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน พาณิชย์เรียกถกด่วน 25 ก.พ.นี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 หรือแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 6% ทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทสูญเสียไป 4 แสนล้านบาท หรือคำนวณจากการส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 ที่มีมูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านบาท ถือเป็นปัญหาใหญ่ของภาคการส่งออกในขณะนี้

“กลุ่มที่กระทบหนักคือเกษตรและอาหาร เพราะใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกือบ 100% ที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามหาวิธีลดต้นทุนเพื่อเสนอราคาสินค้าให้กับผู้ซื้อถูกลง แต่พอลดมากๆ เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อมาถึงจุดหนึ่งตั้งราคาลำบาก บางรายแก้ปัญหาด้วยการยอมขายขาดทุน บางรายแก้ปัญหาด้วยการลดกำลังการผลิต เพราะรู้ว่าขายไปก็ขาดทุน”นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ แม้ผู้ส่งออกจะทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวน แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ ไม่ใช่ความผันผวน เพราะได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจาก 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เหลือเหลือ 31 บาท/ดอลลาร์ และไม่มีแนวโน้มว่าจะอ่อนค่าลงภายใน 1-2 เดือน ทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบมาก หากค่าเงินบาทยังเป็นเช่นนี้ เกรงว่าจะกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว และทำให้ไทยเสียตลาดส่งออกสินค้าให้กับคู่แข่ง

“ได้หารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยแข่งขันไม่ได้ ทางออกคือแบงก์ชาติต้องผลักดันลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และมาใช้เงินสกุลทางตรงกับประเทศที่เป็นคู่ค้า เช่น ค้าขายกับจีนก็ควรจะใช้เงินหยวน” นายวิศิษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อประเมินการส่งออกไตรมาสแรกปี 2562 ในวันที่ 25 ก.พ. 2562 จะนำประเด็นค่าเงินบาทหารือ รวมถึงผลกระทบของสงครามการค้า (เทรดวอร์) ที่ทำให้รูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไป

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินจีดีพีไทยเฉลี่ยโต 4% โดยการส่งออกต้องได้ 4% เช่นกัน จึงจะทำให้จีดีพีโตตามเป้าหมาย

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

คลังสะกดกนง. ตรึงดอกเบี้ย 1.75% อุ้มเศรษฐกิจ

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คลังเป็นห่วงผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากมานานแล้ว แต่เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ขณะที่กระทรวงการคลังคงจะไม่เข้าไปก้าวก่ายมากนัก โดยมองว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2562 ก็น่าจะเป็นส่วนในการพยุงเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศที่จะทำให้สินค้าส่งที่ออกจากไทยยังสามารถเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐได้โดยไม่มีอุปสรรคมาก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 1.75% นั้น น่าจะยังอยู่ในระดับที่ช่วยเอื้อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ และเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงสิ้นปี

“ถ้าถามคลัง มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ ไม่ควรขึ้น คลังส่งสัญญาณชัดว่าควรจะคงอยู่ในระดับนี้ เพราะเศรษฐกิจบ้านเรา คนที่ลำบากมีเยอะ พวกล่างๆ รากหญ้ายังลำบากกันเยอะ ถ้าขึ้นดอกเบี้ย สินเชื่อบ้านจะกระทบไหม ถ้าขึ้นดอกเบี้ย ก็มีความเสี่ยงทำให้คุณภาพหนีเสียเพิ่ม ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ก็ไม่ลด เชื่อว่า กนง.เข้าใจว่าควรจะช่วยประคอง SMEs หรือธุรกิจในระดับล่างๆ ไว้อย่างไร” นายประสงค์ กล่าว

นายประสงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 4% เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้คาดการณ์ไว้ โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากหลายส่วนประกอบกัน เช่น เม็ดเงินที่สะพัดลงสู่ท้องถิ่นต่างๆ จากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการหาเสียงเลือกตั้ง, ความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายงบลงทุนทั้งรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐให้เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2561, การมี พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ฉบับใหม่ที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น รถไฟรางคู่ เป็นต้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เหม็นจนทนไม่ไหว! ชาวบ้านปิดถนนประท้วงโรงน้ำตาลส่งกลิ่นเหม็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน บ้านโนนสมบูรณ์ ต.คำบง อ.บ้านผือ รวมตัวกันนำเต้นท์ผ้าใบ มาวางปิดถนนบ้านคำบง-บ้านโนนสมบูรณ์ ทางเข้าบ้านโนนสมบูรณ์ หมุ่ 7 ที่เป็นเส้นทางเข้าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยกลุ่มชาวบ้านทั้งชาย หญิง คนชรา และ เด็ก ใช้ผ้าอนามัยปิดจมูก ร่วมถือป้ายประท้วงโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน เป็นข้อความต่าง ๆ ถึงความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับจากโรงงาน

ต่อมา พ.ต.อ.อดุลย์ ขวัญมั่น ผกก.สภ.บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และจัดการจราจร พร้อมกำลัง อส.บ้านผือ และ นายธวัชชัย ทองทิพย์ นายกเทศมนตรีตำบลคำบง มาร่วมสังเกตการณ์ โดยมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ผลัดกันพูดผ่านเครื่องขยายเสียง ระบายความในใจ จากการได้รับผลกระทบจากกลิ่นของโรงงานน้ำตาล ที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และกลิ่นเหม็นทำให้มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็น ขณะที่มีกลิ่นของเหม็นคล้ายอ้อยบูด โชยมาจากโรงงานน้ำตาลทางทิศเหนือเป็นระยะ ซึ่งทางชาวบ้านบอกจะปิดถนนไป จนกว่าทางโรงงานน้ำตาล จะส่งผู้รับผิดชอบมารับฟังปัญหา และแนวทางการแก้ไข

จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน ได้มอบหนังสือเรียกร้องให้ทางโรงงานฯแก้ไขปัญหา ต่อ พ.ต.อ.อดุลย์ ขวัญมี่น ผกก.สภ.บ้านเทื่อม ที่ระบุว่า ชาวบ้านบ้านโนนสมบูรณ์ ที่อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีไม่มาก และชุมชนใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นจากโรงงานฯ มานานถึง 7 ปี รวมทั้งปัญหาฝุ่นละอองจากปล่องของโรงงาน และปัญหารถอ้อยจอดขวางถนน ทำให้ชาวบ้านสัญจรไปมายากลำยาก ซึ่งมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มีการแก้ไข ชาวบ้านจึงรวมตังชุมนุมเรียกร้องให้ทางโรงงาน แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง การจราจร ปัญหาน้ำเสียของโรงงาน และการเพิ่มแสงสว่างบนถนนที่เข้าสู่โรงงาน

ต่อมา นายชัชวาลย์ ปทานนท์ นายอำเภอบ้านผือ ได้เดินทางมา พร้อมเชิญ นายผดุงศักดิ์ ชัยรุ่งเรืองสิน รอง ผอ.โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี มาร่วมชี้แจงกับชาวบ้าน โดยใช้ห้องประชุมของสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ สาขาไทยอุดรบ้านผือ ที่อยู่ติดกับจุดที่ชาวบ้านปิดถนน โดยตัวแทนชาวบ้าน ได้ระบายถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากทางโรงงาน  หลังจากที่โรงงานน้ำตาลตั้งมาได้ 7 ปี ชาวบ้านหลายครอบครัวเดือดร้อนจากกลิ่นที่ออกจากปล่องของโรงงาน ซึ่งนอกจากกลิ่นแล้ว ยังมีฝุ่นละอองที่ออกมาจากปล่อง และถูกลมพัดกระจายไปทั่วบริเวณรัศมีหลายกิโลเมตร ทำให้มีชาวบ้านหลายคนป่วยในเรื่องระบบทางเดินหายใจ

นอกจากนี้ถนนที่รถบรรทุกอ้อยบรรทุกเข้าโรงงาน จอดกีดขวางเส้นทางจราจรของชาวบ้าน ซึ่งเป็นทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้มานาน และโรงงานไม่ทำตามข้อตกลงที่ว่าจะสร้างถนนเส้นนี้ให้เป็น 12 เลน และมีชาวบ้านบางคน ที่รับผลกระทบจากโรงงานโดยตรง ที่ทางโรงงานมีการปล่อยน้ำเสียลงในพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่สามารถปลูกพืชผัก ข้าวหรืออ้อย ได้ เพราะน้ำที่ออกมามีสีดำ มีกลิ่นเน่าเหม็น โดยการร้องเรียนไม่ได้ต้องการให้ปิดโรงงาน และต้องการให้ทางโรงงานชี้แจง และปรับปรุงปัญหาต่าง ๆ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ปลูกอ้อยส่งให้กับโรงงาน

นายผดุงศักดิ์ ชัยรุ่งเรืองสิน รอง ผอ.โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ชี้แจงว่า ปัญหากลิ่นเหม็นจากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ที่มีการทดสอบเพิ่มกำลังผลิตจากเดิม ซึ่งคนงานก็มาจากชาวบ้านใน ต.คำบง ที่ยังไม่ชำนาญงาน จนทำให้น้ำอ้อยล้น และไหลไปสู่บ่อบำบัดน้ำเสียและบ่อน้ำสะอาด ซึ่งกำลังดำเนินการแก้ไขเฉพาะหน้า เบื้องต้นใช้ปูนขาวโรย และใช้อีเอ็มช่วยย่อยสลาย โดยมีการดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งการแก้ไขระยะยาวหลังปิดหีบ จะมีการลงทุนทำถังเก็ยน้ำเสีย 40 ล้านบาท และปิดผ้าในที่บ่อบำบัดอีก 5 ล้านบาท ส่วนปัญหาอื่นๆ ทางโรงงานจะเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งเรื่องการจราจร ไฟส่องสว่าง โดยจะประสานหน่วยงาน่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย

นายชัชวาลย์ ปทานนท์ นายอำเภอบ้านผือ กล่าวสรุปว่า ไม่อยากให้ประชาชนปิดถนน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีการตั้งตณะกรรมการขึ้นมาดูแลแก้ไขปัญหาไปแล้ว ตั้งแตหลังจากประชุมรับฟังปัญหาของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา เพียงแต่เราทำงานไป แต่ยังไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ตนทราบว่าเชาวบ้านเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจริง เพราะว่าตนก็เหม็น ซึ่งหลังจากนั้นจะให้ทาง สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 อุตสาหกรรมจังหวัด และสาธารณสุขอำเภอเข้ามาดูแลแก้ไข แต่บางเรื่องคงต้องใช้เวลาบ้าง ซึ่งทางโรงงานรับจะแก้ไขให้หมดทุกเรื่อง เหลือเพียงเรื่องกลิ่นเหม็นที่คงต้องใช้เวลาบ้าง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เจ้าของไร่อ้อยไม่สนคำขู่ผู้ว่าฯตร.เผาต่อเนื่อง

ชาวบ้านโคราชเดือดร้อนหนักหลังเจ้าของไร่อ้อยไม่สนคำขู่ผู้ว่าฯและตำรวจ ยังเดินหน้าเผาอ้อยควันพิษขยายเป็นวงกว้าง

ที่บริเวณ ริมถนน ในตำบลโคกกระเบื้อง ต.โคกกระเบื้อง อำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีกลุ่มควันลอยเข้าปกคลุมไปตามถนน บ้านเรือนประชาชน และลอยไปทั่วบริเวณอำเภอบ้านเหลื่อม เหตุจากการเผาไร่อ้อย ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมาและผู้บังคับการตำรวจภูธรนครราชสีมา ได้ออกคำเตือนและรณรงค์ห้ามเผาทุกชนิดหากฝ่าฝืนจะถูกจับกุมดำเนินคดีทันทีแต่มาถึงวันนี้ประกาศห้ามดังกล่าวยังไม่ได้ผล ยังคงมีเจ้าของไร่อ้อยในหลายอำเภอในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาจุดไฟเผาไร้อ้อยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่บ้านโคกกระเบื้อง ต.โคกกระเบื้อง อำเภอบ้านเหลื่อม มีการลักลอบเผาไร่อ้อยจนทำให้กลุ่มควันจากการเผาอ้อยลอยไปตามกระแสลม เข้าปลกคลุมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ขับรถสัญจรผ่านไปมาเป็นอย่างมาก ซึ่งควันไฟจากการเผาไร้อ้อย ทำให้มีควันลอยเข้ามาปกคุมตามท้องถนน รถของประชาชนที่ผ่านในเส้นทางดังกล่าวจึงต้องเปิดไฟ เพื่อการมองเห็น และเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยในครั้งนี้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

นางนวล อายุ 73 ปี ชาวบ้านอำเภอบ้านเหลื่อมที่ได้รับผลกระทบจากการเผาไร่อ้อยกล่าวว่าตนซึ่งเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว และจะต้องมานั่งดมกลิ่นควันอีก รู้สึกแย่ ทั้งแสบตา แสบจมูก สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้หายใจลำบาก จึงอยากให้ เกษตรกรเห็นใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการจุดไฟเผาไร่อ้อยด้วย และอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชงแผนการค้า5ปีให้ครม.พิจารณา

พาณิชย์เตรียมเสนอยุทธศาสตร์การค้า 5 ปีให้ครม.พิจารณาเน้นพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ                

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี เพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณา เน้นการพัฒนาและจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย, การเพิ่มโปรดักส์สินค้าตัวใหม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมมาเป็นจุดขาย โดยเฉพาะรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการของไทย เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันการค้าของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและ ประเทศไทยมีคู่แข่งทางการตลาดจากหลายๆประเทศ ส่วนใหญ่เน้นตลาดจีน อาเซียน และสหรัฐ เป็นหลัก

สำหรับสินค้าเกษตรนั้นสินค้าไทยเน้นการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็สามารถพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรใกล้เคียงกับไทยและเน้นทำตลาดจีนเป็นหลักเหมือนกัน  ที่สำคัญการซื้อสินค้าของจีนจากประเทศต่างๆก็จะกระจายไปในหลายๆประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ และมีการเจรจาการทำบาร์เตอร์เทรดกันมาก เช่น การซื้อสินค้าเกษตร แลกกับการลงทุนสร้างเขื่อน รถไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เป็นต้น

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.10-31.50 บาทต่อดอลล์

กสิกรไทย คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าที่ 31.10-31.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ                

รายงานข่าวจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 31.10-31.50 บาทต่อดอลาร์ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนม.ค. และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ขณะที่ จุดสนใจเพิ่มเติมในต่างประเทศ น่าจะอยู่ที่ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) และสถานการณ์เบร็กซิทของสหราชอาณาจักร รวมทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจอื่นๆของสหรัฐฯ

ทั้งนี้หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปี ที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลด ช่วงบวกลงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก สอดคล้องกับทิศทางสินทรัพย์เสี่ยง เงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ท่ามกลางความคาดหวังต่อสัญญาณเชิงบวกจากการเจรจาทางการค้าสหรัฐฯ-จีน            

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วิกฤติหนัก!"เขื่อนอุบลรัตน์"เหลือน้ำใช้การเพียงร้อยละ5

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ก.พ.สถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เหลือน้ำใช้การได้เพียง 117.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 5 ของความจุอ่าง กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อย  

นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย (ผคบ.หนองหวาย)  จ.ขอนแก่น กล่าวว่านับตั้งแต่เดือน ส.ค. - ต.ค. 62 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทำให้เสี่ยงต่อการประสบภัยแล้ง จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อสนับสนุนแหล่งน้ำชุมชน สำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

นายทรงวุฒิ กล่าวด้วยว่าสำหรับการวางแผนช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อยู่ในขณะนี้ว่า ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้รับการร้องขอจากประชาชนหลายพื้นที่ เพื่อให้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ดำเนินการส่งน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำตามหมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ เนื่องจากแหล่งน้ำดิบตามธรรมชาติที่ชาวบ้านนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปามีไม่เพียงพอ ดังนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จึงทำหนังสือถึง ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อขอปรับแผนการใช้น้ำ โดยได้เริ่มส่งน้ำเข้าระบบตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 2 เมษายน 2562

นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่าสำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ลำน้ำพองเป็นโครงการที่รับน้ำมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ส่งจ่ายไปตามระบบชลประทานของโครงการฯ ผ่านลำน้ำพองและลำน้ำชี ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบคลองส่งน้ำชลประทานไปยังชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ทางคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรังและให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน

สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ วันนี้มีน้ำประมาณ 699 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่าง มีน้ำใช้การได้ประมาณ 117.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุอ่าง

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เกษตรกรกว่า 3 หมื่นรายขอบคุณ 3 กระทรวงฯ ไม่แบนพาราควอต

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนคณะเกษตรกร 3 หมื่นราย เปิดเผยว่า เกษตรกร 5.7 ล้านครัวเรือน หรือ 25 ล้านคน มีความยินดีดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดโดยยึดหลักพื้นฐานความจริงที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพทุกคน และสิ่งแวดล้อม ในด้านความปลอดภัย ด้วยประสบการณ์ตรงของครอบครัว และคนใกล้ชิดภาคการเกษตร ตลอดระยะเวลา 50 ปี ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากพาราควอตตามข้อกล่าวอ้างต่างๆ ทั้งเนื้อเน่า พาร์กินสัน ขี้เถาในทารก มะเร็ง หรือต่างๆ สอดคล้องกับ ผลการประชุมของกลุ่มนักวิชาการและแพทย์จำนวน 15 ราย เกี่ยวกับผลกระทบพาราควอตในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นประธาน ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า สารกำจัดวัชพืชพาราควอตที่เกษตรกรไทยได้นำมาใช้เป็นประโยชน์ ถ้านำไปใช้ตรงจุดประสงค์และปฏิบัติถูกต้องตามข้อแนะนำ หากใช้ผิด ก็ไม่ต่างไปจากสารพิษที่แพทย์นำไปใช้บำบัดโรคและรักษาผู้ป่วย พาราควอตก็ยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยต่อไปจนกว่าจะมีสารกำจัดวัชพืชที่ดีกว่ามาใช้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้านระบาดวิทยา ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2559 พบว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่า การสัมผัสพาราควอตมีส่วนสัมพันธ์กับพาร์กินสัน และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540, 2546, 2549 และ 2555 พบว่า พาราควอต ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ไม่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ไม่มีผลต่อระบบประสาท ไม่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไม่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส และไม่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง สอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์กรอนามัยโลก และการศึกษาภายในประเทศไทยของโดยแพทย์ในหลายสถาบัน รวมทั้งมีรายงานจากหน่วยงานของออสเตรเลียว่ามีการใช้พาราควอตในอีก 80 ประเทศ

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดมาทดแทนพาราควอตได้ และสารชีวภัณฑ์บางยี่ห้อที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง และมีการผสมของสารเคมี ไม่ได้เป็นสารธรรมชาติตามที่กล่าวอ้าง โดยมีผลการตรวจสอบล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากกรมวิชาการเกษตร จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ตรง ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ จึงได้ตัดสินใจ ไม่ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ในขณะที่ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ นั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

“สุดท้ายนี้ อยากให้ผู้ต่อต้านพาราควอต รณรงค์ยกเลิกห้ามจำหน่ายบุหรี่และสุราในประเทศไทย เพราะอันตรายมากกว่าพาราควอต 300 เท่า ซึ่งมีการเสียชีวิตจากบุหรี่ต่อปีมากกว่า 100,000 ราย” นางสาวอัญชุลี กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ก.อุตฯถกพลังงานรับยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

กระทรวงอุตสาหกรรม ถก พลังงานทำแผนรับยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาประเทศ สร้างสมดุล

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือเรื่องความร่วมมือด้านพลังงานที่สอดคล้องกับร่างแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ถึงการตั้งศูนย์ One-Stop-Service ด้านพลังงาน การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การส่งเสริม EV ในประเทศไทย จัดทำข้อมูลเชื่อมต่อออนไลน์ทั้งหน่วยงาน ภายนอก ภายใน และ Online Monitoring การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเตรียมการเพื่อรองรับการนำ Euro 5 มาใช้และมาตรฐานของเครื่องยนต์ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ผ่านคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นกลไกในการดำเนินการร่วมจัดทำนโยบายให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการสมดุลในการส่งเสริมผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยอำนาจเจริญ-ยโสธรขอบคุณ กกพ.ออกใบอนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า ลดต้นทุน-จ้างงานเพิ่ม

ชาวไร่อ้อยในยโสธร-อำนาจเจริญ นัดรวมตัวแสดงพลังขอบคุณ กกพ. ที่ออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลของโรงานน้ำตาลมิตรผลในพื้นที่ เผยช่วยชาวไร่อ้อยลดต้นทุนขนส่งได้มาก จ้างแรงงานท้องถิ่นเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(23 ก.พ.) นายอุทิศ สันตะวงศ์ ประธานสหกรณ์ชาวไร่อ้อยลำเซบาย พร้อมชาวไร่อ้อยจากจังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันบริเวณสถานีขนถ่ายอ้อย หน้าโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ เพื่อแสดงความขอบคุณคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ได้พิจารณาอนุมัติออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลมิตรผล ไบโอเพาเวอร์อำนาจเจริญ หลังจากที่ยืดเยื้อมานาน ซึ่งพี่น้องชาวไร่อ้อยดีใจเป็นอย่างมากที่เห็นแก่ประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ลูกหลานที่ไปทำงานไกลบ้านก็จะได้กลับมาทำงานใกล้บ้าน ทำให้ครอบครัวอบอุ่นและเป็นสุข และหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานน้ำตาลเปิดรับซื้ออ้อยและหีบอ้อยได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าเศรษฐกิจ การจ้างงาน การค้าขายในชุมชนจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว ถือเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับชาวอำนาจเจริญ และยโสธรเป็นอย่างมาก

นางเดือนสาย จันโทวงศ์ ชาวไร่อ้อย จาก อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ทราบข่าวว่า กกพ. อนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ โรงงานน้ำตาลจะได้เปิดรับซื้ออ้อยได้ซักที ช่วยลดค่าบรรทุกอ้อยที่ตอนนี้ต้องขนส่งไปขายยังโรงงานน้ำตาลที่อำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ และรอคิวการลงอ้อยนานมาก เนื่องจากโรงงานที่กุฉินารายณ์เองก็มีชาวไร่อ้อยของโรงงาน ส่งอ้อยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก

หากมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ ตำบลน้ำปลีก อ.เมืองอำนาจเจริญ จะช่วยลดค่าบรรทุกในการขนส่งอ้อย และลดเวลาการติดคิวรอลงอ้อย จะทำให้ต้นทุนและการสูญเสียน้ำหนักอ้อยลดลงอย่างมาก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่นางสาววราภรณ์ บัวสุวรรณ พนักงานโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญ บอกว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่มีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้ามาตั้งในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ช่วยประหยัดต้นทุนค่าครองชีพในเมืองไปได้เยอะมาก ทำให้มีเงินเหลือเก็บ แต่ที่สำคัญที่สุดคือสามารถดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้ในเวลาเดียวกัน เชื่อว่าถ้ามีการก่อสร้างโรงงานเมื่อไหร่ ก็จะมีลูกหลานยโสธรและอำนาจเจริญกลับมาทำงานในบ้านเกิดตัวเองเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มธุรกิจอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงโครงการลงทุนของโรงงานน้ำตาลมิตรอำนาจเจริญจะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธรเป็นอย่างมาก จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในโรงงานประมาณ 400 คน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้ชาวไร่อ้อยได้กว่า 7,500 ครัวเรือน สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญ จะช่วยลดภาระค่าขนส่งอ้อยของพี่น้องเกษตรกรได้ปีละกว่า 120 ล้านบาท

จาก https://mgronline.com วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อธิบดี พด. ประกาศหนุนผสมปุ๋ยใช้เอง ลดต้นทุนการผลิต

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.62 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด เตรียมพร้อมการให้คำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ย และพร้อมรับการตรวจวิเคราะห์ดินของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผสมปุ๋ยใช้เอง ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบาย ของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ผ่านสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการปุ๋ยผสมใช้เอง ซึ่งมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสหกรณ์การเกษตร บริการสมาชิก หรือเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย โดยการผสมปุ๋ยใช้เองตามชนิดพืชและลักษณะดิน

ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรจะจัดหาแม่ปุ๋ย และมีบริการผสมแม่ปุ๋ย ซึ่งมีทางเลือกให้เกษตรกร 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 สหกรณ์การเกษตรผสมปุ๋ยตามสูตรที่เกษตรกรต้องการโดยใช้แม่ปุ๋ยและไม่ใส่สารเติมเต็ม (filler ) รูปแบบที่ 2 สหกรณ์การเกษตรผสมปุ๋ยสูตรแนะนำตามชนิดพืชและชนิดดินในพื้นที่นั้นๆ โดยไม่ใส่สารเติมเต็ม และรูปแบบที่ 3 เกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ใช้คำแนะนำจากโปรแกรมปุ๋ยรายแปลงได้โดยตรง หรือเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน โดยติดต่อเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดิน หมอดินอาสา ศพก. หรือสหกรณ์การเกษตรที่มีชุดตรวจสอบดิน

ในด้านของกรมพัฒนาที่ดิน มีคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินพื้นฐานเป็นรายตำบล โดยที่เกษตรกรเพียงทราบลักษณะดินพื้นฐาน เช่น เนื้อดิน สีดิน หรือลักษณะสำคัญ เพื่อไปเปรียบเทียบกับชุดดินในตำบลนั้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีการจัดการดินเป็นปกติ ค่าวิเคราะห์ดินมักจะไม่แตกต่างจากค่าวิเคราะห์ดินพื้นฐานมากนัก สามารถใช้เป็นแนวทางในการใช้ปุ๋ยได้โดยไม่ต้องตรวจวิเคราะห์ดิน

“เชื่อว่าการผสมปุ๋ยใช้เอง ทั้งตามสูตรของเกษตรกร หรือตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ย จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีได้ 10-30 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสูตรปุ๋ยและปริมาณการใช้แต่ละพืชในแต่ละพื้นที่ และหากเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับปุ๋ยเคมีจะช่วยปรับสมดุลธาตุอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ธาตุอาหารของพืช ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตที่สูงยิ่งขึ้น”อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

จาก www.siamrath.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

ผัวเมียไม่ยอมเผาไร่อ้อย แรงงานหายเกลี้ยง บอก "ก็ตัดเองไปเรื่อยๆ"

สองผัวเมียชาวไร่อ้อยที่ขอนแก่น เชื่อฟังทางราชการ ไม่อยากเพิ่มมลพิษทางอากาศ ไม่ยอมเผาไร่อย่างรายอื่น ส่งผลให้แรงงานหายเกลี้ยง ไม่มีใครมารับจ้างตัด ต้องช่วยกันตัดเอง บอกก็ทำไปเรื่อยๆ

เวลา 09.30 น. วันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจการตัดอ้อยของชาวไร่อ้อยที่ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบ นายประเสริฐ แก้วพิพรม อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 4 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทุ่งโปร่ง อ.เขื่อนอุบลรัตน์ และภรรยา กำลังช่วยกันตัดอ้อยในไร่ของตัวเองที่มีอยู่กว่า 10 ไร่ เนื่องจากหาจ้างแรงงานมาตัดอ้อยในไร่ให้ไม่ได้ ด้วยเหตุที่สามีภรรยาคู่นี้ไม่ยอมจุดไฟเผาอ้อยของตัวเอง จึงไม่มีแรงงานในหมู่บ้าน หรือหมู่บ้านใกล้เคียงมาตัดให้

นายประเสริฐ กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่ยอมเผาอ้อยในไร่นั้น เนื่องจากตนได้ติดตามข่าวจากสื่อว่าการตัดอ้อยได้สร้างมลพิษทางอากาศเป็นอย่างมาก มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ถึงขั้นเจ็บป่วย ประกอบกับทาง ผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศทางหอกระจายข่าวว่าทาง ผวจ.ขอความร่วมมือไม่ให้จุดไฟเผาอ้อยในไร่ จึงปฏิบัติตาม และการที่ไม่ยอมเผาอ้อย จึงจำเป็นต้องตัดเอง เนื่องจากหาแรงงานไม่ได้ แรงงานส่วนใหญ่นั้น เมื่อรู้ว่าอ้อยยังไม่ได้เผาก็ไม่รับจ้าง อ้างว่าตัดยาก เพราะต้องฝ่าดงใบอ้อยเข้าไปเกิดอาการคันตามผิวหนังร่างกาย ถูกใบอ้อยบาดมือ และใช้เวลานานกว่าการตัดอ้อยที่ถูกเผา

"สำหรับค่าจ้างตัดอ้อยที่เผา และอ้อยที่ไม่ได้เผานั้น ค่าจ้างก็แตกต่างกันคือ อ้อยที่ถูกไฟเผากองละ 40 ต้น ได้ค่าจ้าง 3 บาท ส่วนอ้อยที่ไม่เผา กองละ 15 ต้น ค่าจ้าง 3 บาทเช่นกัน แต่แรงงานก็ยังต้องการให้เผาอยู่ดีถึงแม้จะตัด 40 ต้น แต่ก็ตัดได้เร็วกว่าอ้อยที่ไม่เผา 15 ต้นอยู่ดี ส่วนราคาอ้อยเมื่อนำไปขายโรงงาน อ้อยที่ถูกเผาจะถูกหักเงินตันละ 30 บาท แต่อ้อยที่ไม่เผารับเงินราคาเต็ม เมื่อหาแรงงานตัดอ้อยไม่ได้ จึงช่วยกันตัดเอง ตัดไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ไปได้หลายไร่แล้ว"

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

ซีอีโออาเซียนมองเศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอ

PwC เผยความเชื่อมั่น CEO อาเซียนลดลง กังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าสูงสุด กระทบรายได้ลดลง ขณะที่จีนครองอันดับหนึ่งประเทศน่าลงทุน

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจ CEOทั่วโลกครั้งที่ 22 ประจำปี 2562 หรือ Global CEO Survey ซึ่งใช้ในการประชุม Economic forum ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากความเห็น 1,378 CEO โลก จาก 91 ประเทศ โดยพบว่า CEO ของอาเซียนกว่า 78 ราย ต่างมองเศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตัวถึง 46% เพิ่มจากปีก่อนที่มองเพียง 10% ขณะที่ CEO โลกมองเศรษฐกิจชะลอ  28 % เพิ่มเช่นกันจากปีก่อนที่มองเพียง 5 %

โดย 5 ปัจจัยเสี่ยงในสายตาของ CEO อาเซียน อันดับ 1 คือ ความขัดแย้งทางการค้า 83 % (CEO โลก 70 %) 2.ความไม่แน่นอนการเมือง โดยเฉพาะในไทยและฟิลิปปินส์ ที่จะมีการเลือกตั้ง 81 % (CEO โลก 75% ) 3.ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 78 % เท่ากับโลก 4.กฎระเบียบข้อบังคับที่มากเกินไป 77 % (CEO โลก 73 %) และ 5.ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก 73 % เท่ากับผลสำรวจ CEO โลก

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้ CEO ในอาเซียน กว่า 29 % ปรับกลยุทธ์ ด้วยการหันไปส่งออก และน้ำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน พร้อมทั้งชะลอการลงทุนเพื่อติดตามสถานการณ์ ส่วนอีก 17 % เปลี่ยนฐานการลงทุนไปในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนามและไทย

ส่วนความเชื่อมั่นการเติบโตด้านรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นของ CEO อาเซียนลดลงจาก 44 % ในปีก่อน เหลือ 33 % ในปีนี้ โดยอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจสูงสุด คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 82 % ภัยคุกคามไซเบอร์ 81 % และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เป็นไปอย่างรวดเร็ว  72 %

ส่วนประเทศน่าสนใจลงทุนในมุมมองของ CEO อาเซียน คือ 1. จีน  2. อินโดนีเซีย 3.สหรัฐ  4.เวียดนาม 5.อินเดีย 6.เมียนมา 7.มาเลเซีย 8 .ไทย  ลดลงจากอันดับ 5 ในปีก่อน สาเหตุเนื่องมาจากช่วงเวลาสำรวจคือเดือนกันยายน 2561 ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองของไทยและความเชื่อมั่น ถ้าสำรวจตอนนี้ อันดับไทยน่าจะดีขึ้นมีโอกาสจะขยับขึ้นไปได้มากกว่าอันดับ 8 ในปัจจุบัน อาจเป็นอันดับ 7 หรือ 6 ส่วนญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์  อยู่อันดับ 8 เช่นกัน 9.เยอรมนี และ 10.บราซิล ฮ่องกง เกาหลีใต้

สำหรับความพร้อมของอาเซียนในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในธุรกิจนั้น นายศิระ กล่าวว่า 72% ของ CEO อาเซียน คาดว่าการปฏิวัติของ AI จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90 และ 87% ยังเห็นด้วยว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจกลับพบว่าธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำ AI เข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำ AI เข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วนอีก 28% มีการใช้งาน AI ในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้ AI อย่างกว้างขวาง

นายศิระ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยคาดว่าคงไม่สามารถต้านกระแส  AI ได้ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีการนำ AI เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

เงินบาทเสี่ยงแข็งค่าหลุด 31.00 บาทต่อดอลล์ทุบสถิติใหม่

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล กดดันเงินบาทแข็งค่าหลุด 31.00 บาทต่อดอลลาร์ไตรมาสแรก                 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยในงานสัมมนาจับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62 ว่า มีโอกาสที่ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะแข็งค่าต่ำกว่า 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเป็นสถิติใหม่ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุล คาดว่าปีนี้จะเกินดุล 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มี 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง จากปีที่แล้วปรับขึ้น 4 ครั้ง

"โอกาสที่จะเงินบาทจะแข็งค่าหลุดระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์มีมากขึ้นภายในมี.ค.ปีนี้ แต่หลังเดือนเม.ย.ที่จะหมดฤดูกาลท่องเที่ยวและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะจ่ายเงินปันผลไปให้บริษัทแม่ในต่างประเทศ  ซึ่งคาดว่าจะมีเงินปันผลออกไปใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และอาจมีเงินไหลออกจากการถอนเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝากเอฟซีดี ที่ปัจจุบันมียอดคงค้างที่ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงได้ประมาณ 1-2% ในช่วงไตรมาส 2 นี้”

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

‘สมคิด’ สั่งระดมสมอง ลดพึ่งพาส่งออกเน้นโตจากภายใน สศช.ตั้งวอร์รูมแจ้งเตือน

รองนายกฯสมคิด สั่งสศช.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดพึ่งพาส่งออก หันมาเน้นเติบโตจากภายในประเทศ ระดมนักเศรษฐศาสตร์คลัง สมองปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ หากพบสัญญานผิดปกติ ตั้งวอร์รูมแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 3 แนวทาง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับคณะผู้บริหาร สำนักงานสภาพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4 ต่อเนื่องนับเป็นเรื่องที่ยาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจ ไทย ยังมีปัญหา โดยเฉพาะ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สศช. ต้องวางบทบาทของตัวเองให้เป็น หน่วยงานกลาง ศึกษาแนวทางออกมาให้เป็น รูปธรรม

โดยเฉพาะจุดอ่อนในการพึ่งการส่งออก จำนวนสินค้า ประเภทสินค้า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง เศรษฐกิจในประเทศ กับพึ่งพาภาคการส่ง ออก   เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการเกษตร เพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับ สร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี  รองรับกระแสโลกยุคใหม่  ยอมรับว่า ไทยเน้นพึ่งพาการส่งออกสูงมาก มีสัดส่วนภาคการส่งออกถึงร้อยละ 70 ของ GDP ในขณะที่การพึ่งพา เศรษกิจในประเทศ ( Local Economy) ยังมีสัดส่วนน้อย  เมื่อเกิดปัญหาความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ไทยจึงได้รับผลกระทบ ไปด้วย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้ มอบนโยบายให้ สศช. เป็นหน่วยงานกลาง ออกแบบแนวคิดให้เป็นรูปธรรม (Think Tank)  ด้วยการแยกแต่ละเรื่อง นำออกมาปฏิบัติให้ ชัดเจน ทั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจ การบริหารงานความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและท้องถิ่นให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยให้ สศช .เป็นผู้ศึกษาและจัดทำแผนออกไปสู่การปฏิบัติของส่วนราชการ ผ่านสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ซึ่งจะเริ่มตั้งขึ้นมาในเดือน เมษายน 2562

“สศช. ต้องทำงานในเชิงรุก ในฐานะหน่วยงานที่มีข้อมูลเฉพาะด้านการค้าการลงทุน หากพบสัญญานผิดปกติ ต้องตั้งวอร์รูมรีบแจ้งเตือนหน่วย งานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน  รีบเข้ามาหารือเพื่อเตรียมรับมือให้ทันท่วงที และเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดความดุล ไม่ พึ่งพิงด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ และเป็นผู้นำพัฒนาศักยภาพใน กลุ่ม CLMV” นายทศพร  กล่าว

สำหรับการ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) กำหนดไว้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก การยกระดับห่วงโซ่การผลิตของไทยไป สู่ระดับโลก ด้วยการส่งเสริม bio economy หรือ การแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและวัตกรรม ช่วยเหลือภาคการเกษตร สร้าง ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้ชาวบ้าน ส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่มกันเป็น  Cluster ห่วยโซ่พึ่งพาซึ่งกันและกัน

แนวทางที่ 2 การต่อยอดของเดิมที่มีศักยภาพ นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และแนวทางที่ 3 คือ การสร้างธุรกิจ ใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสนับสนุนโมเดลธุรกิจ Ecommerce และการส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social  Enterprises หรือ SE มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการเติบโตของธุรกิจ เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาที่ดินทำกิน  รวมไปถึงเดินหน้าในหลายโครงการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาค เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

ไทยสวมบทประธานอาเซียนเยือนอิเหนาหวังเดินหน้าสรุปผลเจรจาRCEPภายในสิ้นปี

ไทยดำเนินบทบาทประธานอาเซียน เดินทางเยือนอินโดนีเซีย ร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปครั้งที่ 25 ขับเคลื่อนการเจรจา เร่งหารือประเทศสมาชิก หวังสรุปผลความตกลงภายในสิ้นปี 62

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ตั้งเป้าให้การสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสำเร็จในปีนี้ โดยไทยจะแสดงบทบาทนำในอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนการเจรจา และจะร่วมมือกับสมาชิกอีก 15 ประเทศ เร่งดำเนินงานตามแผนการทำงานเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์ภายในปี 2562 โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 19-28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยรอบนี้เป็นการหารือต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 24 เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเร่งหาข้อสรุป 13 บทที่เหลือ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขัน และบทกฎหมาย เป็นต้น โดยข้อบทที่สรุปได้แล้วมี 7 บท ได้แก่ บทเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ กฎระเบียบทางเทคนิค สถาบัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งหลังจากการประชุมรอบบาหลีสมาชิกอาร์เซ็ปจะรายงานให้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปทราบในการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 ในวันที่ 2 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อให้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปพิจารณามอบแนวทางให้คณะเจรจาต่อไป โดยมุ่งมั่นให้การเจรจาสามารถสรุปผลทั้งหมดภายในปีนี้

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ผู้นำไทยและอาร์เซ็ปร่วมกันตั้งไว้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ในการเยี่ยมกระทรวงพาณิชย์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะต้องเร่งหารือกับประเทศสมาชิกที่ยังคงมีประเด็นติดขัดอยู่ เพื่อหาทางออกและจุดสมดุลของผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกเพื่อให้การเจรจาอาร์เซ็ปสามารถหาข้อสรุปได้ในปีนี้รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงให้เท่าทันกับสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในวาระที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน มีประเด็นเศรษฐกิจที่เสนอให้สมาชิกอาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในปีนี้ ซึ่งครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ การก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคต (Future Orientation) การส่งเสริมความเชื่อมโยง  (Enhanced Connectivity) และการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainable in all dimensions) โดยเรื่องของการเร่งขับเคลื่อนการเจรจาอาร์เซ็ปให้บรรลุข้อตกลงได้ทั้งหมดภายในปีนี้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในและกับภายนอกภูมิภาคอาเซียน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

'กฤษฎา'​ ขานรับมาตรการกำจัดการใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

"กฤษฎา" ขานรับมาตรการกำจัดการใช้ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สั่งห้ามขึ้นทะเบียนผู้ค้าหรือผู้ครอบครองรายใหม่ทันที ลั่นประกาศเลิกใช้ภายใน 2 ปี ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับสารพาราควอต ไกลโฟเสท และคลอไพริฟอส ได้สั่งการถึงมาตรการ จํากัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยขอให้อธิบดีกรมที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำให้สำเร็จตามแผนจำกัดการใช้ของกระทรวงฯ ภายใน 24 เดือนหรือ 2 ปีจะมีการประกาศเลิกใช้ทันทีโดยจะมีการขับเคลื่อนในระดับจังหวัดใช้โครงสร้างของผู้ว่าราชการจังหวัดและเกษตรจังหวัดเกษตรอำเภอประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเกษตรกร รวมทั้งมีการสำรวจผู้ค้าและผู้ที่ครอบครองสารเคมีดังกล่าว

ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรรายงานว่าปัจจุบันมี 200 กว่าบริษัท ที่ยังใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอยู่และมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 23,000 ตันซึ่งหลังจากนี้จะมีการประกาศกระทรวงฯ เพื่อกำหนดการลดละเลิก ซึ่งร่างไว้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ยังไม่ได้ประกาศเพราะต้องรอฝ่ายกฎหมายดำเนินการ แต่ในระหว่างที่รอประกาศกระทรวงฯ ให้มีการสำรวจผู้ค้าและผู้ที่ครอบครองสารเคมีดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งและไม่รับขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับผู้ค้าหรือผู้ครอบครองสารเคมีทั้ง 3 ชนิดใหม่ ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไปโดยใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกอีกว่าหากต้องการให้กระทรวงฯ ยกเลิกสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งอีกช่องทางหนึ่งคือให้เอาผู้ที่ได้รับผลกระทบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมกับขอใบรับรองแพทย์ว่าผู้ป่วยโดนสารเคมีชนิดใดจากบริษัทอะไรแล้วนำใบรับรองแพทย์มาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังจากนั้นให้นำใบรับรองแพทย์และใบแจ้งความไปยื่นให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะประกาศยกเลิกการใช้ทันที แต่ขั้นตอนที่ว่ามานั้นก็เป็นการแก้ปัญหาด้วยปลายเหตุ

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือการหาผลิตภัณฑ์หรือสารทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่ามีสารทดแทนหรือไม่ กำลังอยู่ระหว่างการคิดค้น แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร บอกว่าจำเป็นต้องมีมาตรการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์กับเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจังซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ในการทำเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่แต่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัยเพียง 7 แสนไร่ หรืออาจจะมีพื้นที่มากกว่านั้นขอให้ไปทำการสำรวจตรวจสอบเพิ่มเติม โดยในปีงบประมาณ 2563 จะเพิ่มงบสำหรับการสนับสนุนพื้นที่เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยที่เกิดขึ้นจริง

จาก www.bangkokbiznews.com   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สั่งห้ามขึ้นทะเบียนใหม่ 3 สารเคมีเกษตรอันตราย

รมว.เกษตรฯ สั่งเลิกจดทะเบียนนำเข้าใหม่ "พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส" เดินหน้าส่งเสริมารทำเกษตรปลอดภัยนายกฤษฎา   บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ไม่ให้รับการขอจดขึ้นทะเบียนใหม่สำหรับ สารเคมีเกษตร 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และเป้าหมายเป็นไปตามหนังสือของกระทรวงเกษตรฯที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่าเมื่อครบกำหนด 2 ปีคือประมาณกลางปี 64 หรืออาจเร็วกว่านั้นหากมีสารทดแทนจะยกเลิกทั้ง 3 สารทันที โดยระหว่างนี้จะจำกัดการใช้ทั้ง 3 สาร และเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯได้ทำแผนปฏิบัติการเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วเมื่อพ.ค. 2561 และกรรมการฯเห็นชอบเมื่อ กลางเดือน ม.ค. 62 ที่ผ่านมาขณะนี้รอแผนปฏิบัติการ 5 ฉบับ ที่คณะกรรมการฯจะปรับแก้และประกาศในราชกิจานุเบกษาเพื่อจะได้ปฏิบัติการ

"ระหว่างที่รอประกาศ เราต้องทำงานคู่ขนานกันไปเลย ขอให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานขับเคลื่อนไปดำเนินการเลยว่า ทั้งมาตรการจำกัดการใช้ การส่งเสริมการให้ความรู้ผู้ใช้สาร ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า และได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรไม่รับขึ้นทะเบียนใหม่ให้กับ 3 สาร และกรณีที่มีรายการนำเข้าค้างก็ให้ดำเนินการตามแผนปกติ"

"กรมวิชาการรายงานว่ามีผู้ค้า 3 สารเคมี ประมาณ 200 กว่าบริษัท ตัวเลข 20 ก.พ. มีปริมาณนำเข้าประมาณ 23,000 ตัน ไม่ได้มากถึง 7-8 หมื่นตันอย่างที่มีการพูดกันทั่วไป และการนำเข้าสารก็ลดลงมาตั้งแต่ต.ค. 61- ปัจจุบัน หลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อปี 23 พ.ค. 2561 และมีมติว่าจำกัดการใช้ ระหว่างนี้ก็ต้องบริหารการอนุญาตนำเข้าของเก่า และต้องมีการจัดระเบียบนำเข้าของใหม่"รมว.เกษตรฯกล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯเลิกเองไม่ได้เพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งฝากว่า หากประชาชนคนใด มีญาติ มีเพื่อนที่มีแผลจากสารเคมีเหล่านี้ แล้วไปให้แพทย์ตรวจแล้วมีใบรองแพทย์ว่าเป็นผลจากสารเหล่านั้นก็จะสามารถใช้เป็นเหตุในการที่จะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายในการเพิกถอนสารดังกล่าวได้ หรือห้ามนำเข้า

สำหรับในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจำกัดปริมาณการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยสามารถลดการนำเข้า สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในปี 2562

ได้เท่ากับ21,709 ตัน 48,501 ตัน และ 1,178 ตัน ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากสถิติเฉลี่ยการนำเข้า ปี 2557 ถึง 2559 โดยสารพาราควอต ไกลโฟเซต ลดลง 25% และคลอร์ไพริฟอส ลดลง 55%

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เงินบาทแข็งสุดรอบกว่า 5 ปี

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 ปี ใกล้ 31.00 บาท หวังผลเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนออกมาดี

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าเงินบาทแข็งค่าทะลุแนว 31.10 ไปที่ระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม ท่ามกลางความคาดหวังมากขึ้นว่า การเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน  น่าจะมีสัญญาณที่โน้มเอียงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการลดความกังวลของนักลงทุน ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์ฯ และเงินเยน ลดลงตามไปด้วย

ส่วนปัจจัยสำคัญระยะสั้นที่อาจมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ประกอบด้วย ผลการเจรจาเพื่อลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สัญญาณดอกเบี้ยจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบวันที่ 19-20 มีนาคม 2562  และประเด็นความเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ สถานการณ์ BREXIT ของอังกฤษ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากความคืบหน้าของผลการเจรจาของสหรัฐและจีนเป็นไปในทางบวก และสหรัฐมีท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นต่อกำหนดเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีน หรือเฟดยังคงสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ เงินดอลลาร์ฯ อาจจะยังคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสที่จะขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังจากขยับเข้าใกล้แนว 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ แล้วขณะนี้

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ก.เกษตรฯ ปักธงทำรูปแบบ “แปลงใหญ่” ให้สำเร็จ

รมว.เกษตรฯ ปักหมุดปฏิรูปภาคการเกษตรให้เป็นผลสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ใช้ระบบเกษตรแปลงใหญ่เชื่อมธุรกิจการเกษตรหวังเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเอง เพราะอายุมากหรือลูกหลานไม่ทำเกษตรแล้ว

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า จะใช้เวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ปฏิรูปภาคการเกษตรให้เป็นผลสำเร็จด้วยเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะมีการทำแปลงใหญ่กันทั่วประเทศแล้ว แต่ส่วนใหญ่รวมกันแต่ชื่อ โดยไม่ได้รวมกันในการบริหารจัดการตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย จึงจะเร่งทำโครงการแปลงใหญ่ขนาด 1,000 ไร่ขึ้นไปต่อ 1 แปลง ให้ทำอย่างน้อย 6 แปลงใน 6 ภูมิภาคตามที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแบ่งพื้นที่พัฒนาประเทศไว้ เป็นไปตามหลัก Economy of Scale คือ จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากเช่น รณีการจ้างเครื่องจักรมาใช้ค่าจ้างจะถูกกว่าการที่เกษตรกรต่างคนต่างจ้างหรือการหาผู้ซื้อมาตั้งจุดรับซื้อผลผลิตหรือต้งโรงงานแปรรูปผลผลิตจะหาผู้มาทำได้ง่ายกว่าแปลงเล็ก ซึ่งในการประชุมผ่านระบบทางไกลจากกระทรวงเกษตรฯ ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ทั่วประเทศวันนี้ได้สั่งการให้ทุกส่วนช่วยกันหาพื้นที่และดูว่า จะส่งเสริมให้ทำเกษตรกรรมประเภทใดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โดยจะต้องทราบความต้องการของตลาด จับคู่ค้ากับภาคเอกชนตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้เป็นการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ทั้งในขั้นตอนเตรียมแปลง ดูแลแปลง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว ส่วนในขั้นตอนการจำหน่ายผลผลิตนั้นต้องทำข้อตกลงซื้อขายกับภาคเอกชนล่วงหน้าเพื่อให้มีผู้รับซื้อแน่นอน ราคาขายเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคารับประกัน

นายกฤษฏา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังสำรวจพื้นที่การเกษตรที่รกร้างหรือเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำการเกษตรเนื่องจากอายุมาก อีกทั้งลูกหลานไม่ทำต่อซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะประสานงานขอใช้พื้นที่ลักษณะนี้ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ส่งเสริมให้ Smart Farmer Young Smart Farmer และสหกรณ์การเกษตรเข้าไปทำกินและบริหารจัดการทำเกษตรแปลงใหญ่เชิงธุรกิจการเกษตรโดยมีเกษตรกรเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินเป็นทุนและลูกหลานทำหน้าที่บริหารธุรกิจการเกษตร เน้นให้เจ้าหน้าที่นำภาคเอกชนมาเชื่อมโยงมีบทบาทเป็นผู้รับซื้อผลผลิตหรือกำหนดชนิด ปริมาณ หรือคุณลักษณะผลผลิตที่จะรับซื้อหรือตลาดต้องการเป็นต้น ส่วนในกรณีที่ลูกหลานไม่ทำการเกษตรแล้ว ใช้รูปแบบการจ้าง Smart Farmer Young Smart Farmer และสหกรณ์การเกษตรดำเนินธุรกิจการเกษตร แล้วปันส่วนกำไรกันตามข้อตกลง

นายกฤษฏา กล่าวอีกว่า สั่งการให้เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 35 ล้านไร่จัดซึ่งสรรให้เกษตรกรเข้าทำกิน ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่ใดไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว โดยจะเชิญนักวิชาการจากสถาบันกศึการศึกษามาร่วมกันบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ผ่านมานั้นพื้นที่ส.ป.ก. ที่จัดสรรให้เกษตรกรคุณภาพดินไม่ดีจึงจะให้กรมพัฒนาที่ดินไปช่วยปรับปรุง อีกทั้งขาดระบบการส่งน้ำซึ่งมอบหมายกรมชลประทานไปดำเนินการ ตรวจสอบว่า คุณลักษณะดินและศักยภาพการจัดสรรน้ำในพื้นที่นั้นๆ เหมาะสำหรับทำเกษตรกรรมใด ทั้งนี้รวมถึงพื้นที่ที่ส.ป.ก. ได้รับมอบจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ด้วย ซึ่งจะจัดสรรให้เกษตรกรซึ่งไม่มีที่ดินทำกินและผู้ยากไร้เข้าใช้ประโยชน์ โดยทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิตและมีอำนาจต่อรองราคาจำหน่ายผลผลิตได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจับคู่ค้า หาผู้รับซื้อให้ เพื่อที่เกษตรกรผลิตแล้ว จะมีตลาดแน่นอน รวมทั้งไม่ผลิตเกินความต้องการของตลาด จนประสบปัญหาราคาตกต่ำ

ทางด้านนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการส.ป.ก. กล่าวว่า กำลังเร่งสำรวจที่ดินส.ป.ก. และที่ดินซึ่งได้รับมอบจากคทช. เพื่อจำแนกพื้นที่ที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จะอนุมัติงบประมาณให้ ล่าสุดที่ประชุมคปก. อนุมัติให้ ส.ป.ก. ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.)จังหวัดชลบุรี รวมถึงเห็นชอบให้ใช้เงินจ่ายขาดจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการดังกล่าวเพื่อขยายเขตไฟฟ้าในชุมชนและใช้ในระบบประปาบาดาลและหอถังสูง ในพื้นที่ชุมชนเขาซก ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่และขยายเขตไฟฟ้าในชุมชนและใช้ในระบบประปาบาดาลและหอถังสูง ในพื้นที่ชุมชนบ่อทอง ตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง วงเงินรวม 5.3 ล้านบาท ซึ่งเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน 89 ราย เนื้อที่ 1,640 ไร่ มีระบบไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไปได้อย่างมั่นคง

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

1 ปีลอยตัวราคา “น้ำตาล” ผลพวงไทยถูกบราซิลฟ้อง WTO

จากความกดดันที่ “บราซิล” ยื่นขอหารือกับไทย(Cosultation) ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 ในประเด็นไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก รองจากบราซิล ใช้นโยบายอุดหนุนส่งออกน้ำตาลในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลง WTO ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก

พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายปี 2527 การกำหนดระบบโควตาน้ำตาลของไทย ซึ่งได้จัดแบ่งเป็นโควตา ก. (น้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (น้ำตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย) โควตา ค. (น้ำตาลดิบหรือน้ำตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล)  ซึ่งมีกำหนดทั้งปริมาณและราคา ตลอดจนโครงการช่วยเหลือชาวไร่ ด้วยการกำหนดราคารับซื้ออ้อยและการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาล จูงใจให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น

ประกาศลอยตัวราคา

ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลว่า หากไทยแพ้บราซิลในการฟ้อง WTO จะต้องจ่ายเงินชดเชยมหาศาล หลายฝ่ายได้มีการวางแนวทางแก้ไขร่วมกัน

นำมาสู่การออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 เรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศ “ลอยตัวราคาน้ำตาล” ของไทย อย่างเป็นทางการกล่าวคือ ไทยยกเลิกระบบโควตา และการกำหนดราคาขายน้ำตาลภายในประเทศ ส่วนวิธีการคำนวณราคาอ้อยให้กับชาวไร่นั้น ได้อาศัยกลไกอิงราคาน้ำตาลโลก หรือลอนดอน No.5 บวกพรีเมี่ยม

“นายสมชาย หาญหิรัญ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กลไกราคาน้ำตาลในประเทศอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งจะแข่งขันกันตามความเป็นจริง เป็นการส่งสัญญาณว่าไทยมีเจตนาในการพยายามปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย และแสดงบทบาทให้โลกเห็นว่า ไทยยอมรับในกติกาการแข่งขันโลก ควบคู่ไปกับแก้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ซึ่งเมื่อกฎหมายเสร็จ บวกกับการปรับโครงสร้างอ้อยฯ ทั้ง 2 ส่วนถึงจุดที่ปฏิวัติได้จนสอดรับกัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยระบบจะสมบูรณ์

พาณิชย์ถอดบัญชีสินค้าควบคุม

ขณะที่การควบคุมราคาขายปลีกน้ำตาลนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ให้ถอดสินค้าน้ำตาลทรายออกจากบัญชีสินค้าควบคุม จากเดิมกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้สินค้านี้เป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้จำหน่ายปลีกได้ในราคาไม่เกิน กก.ละ 23.50 บาท โดยจะมีการส่งเงินเข้ากองทุนอ้อย กก.ละ 5 บาท

โดยภายหลังจากการลอยตัวราคาน้ำตาล ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาว ขนาด 1 กก. ในห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า และตลาดสด พบว่า น้ำตาลทรายขาวบรรจุถุงทั้งแบรนด์มิตรผล วังขนาย    ลิน   เคบีเอส    เทสโก้   และษฎา   จำหน่ายอยู่ในช่วงราคาตั้งแต่ กก.ละ 21.50-22 บาท

ชาวไร่รายได้ลด-ต้นทุนทรงตัว

นายนราธิป  อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ราคาตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกไทยปรับตัวลดลงตามไปด้วย ประมาณ 1 บาท แต่ก็ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ทรงๆ ตัวอยู่ วันนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบอย่าง อุตสาหกรรมน้ำดื่ม  อุตสาหกรรมอาหาร/เบเกอรี่ ซึ่งแม้ว่าระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวไร่จะอยู่ที่ 70:30 ก็จะมีรายได้ลดลงจากราคาขายน้ำตาลที่ลดลง ขณะต้นทุนยังเท่าเดิม ชาวไร่อ้อยเองก็ต้องยอมรับกติกาและกลไกที่มันได้ขับเคลื่อนไป

สต๊อกน้ำตาลโลกลด ปี 63 ราคาสูงขึ้น

ด้าน นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี  รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) กล่าวในฐานะประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายว่า คาดการณ์ว่าในฤดูการผลิตปี 61/62 อ้อยเข้าหีบน่าจะมีปริมาณลดลงจากฤดูการผลิตปี 60/61 จากสภาวะทางอากาศที่แปรปรวน บวกกับการบริโภคน้ำตาลที่อาจจะลดลงเล็กน้อย จากการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพและที่มีการผลักดันเก็บภาษีความหวาน ขณะเดียวกันได้คาดการณ์ว่า supply  จะมากกว่า demand ส่งผลให้สต๊อกของโลกที่ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านตัน จะลดลง 1-2 ล้านตันในปี 2563 ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาตลาดโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่จะยังไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในประเทศในทันที

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังลอยตัวราคาน้ำตาลทางสมาคมอยู่ระหว่างประมวลผลที่ผ่านมาตลอด 1 ปี โดยรวบรวมข้อมูลเชิงบวกและลบ เพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก่อนที่จะได้รับผลกระทบกันทั้งหมด แน่นอนว่าจะได้เห็นราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวลดลง เพราะสต๊อกน้ำตาลยังมีปริมาณมากสูงถึง 10 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ London No.5 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานยังทรงตัว กก.ละ 17-18 บาท

จับตาร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวราคาน้ำตาลนับว่าเป็นผลดี แต่ก็ยังมีองค์ประกอบเหตุการณ์หลายอย่างทำให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย รายได้ขึ้นลงเป็นลูกระนาด ซึ่งส่วนใหญ่ในขณะนี้ยังถือว่ามีรายได้ที่ลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังทรงตัว แน่นอนว่าการลอยตัวในระยะแรก ระบบและกลไกเดิมของไทยที่ใช้อยู่ยังไม่เข้าที่ และอยู่ระหว่างการปรับตัวอยู่นั้น ขณะที่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขหลังจากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 ไปแล้ว

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ การกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์วัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อย เช่น การนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เช่น เอทานอล ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งระบบของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่จากนี้จะไม่ได้มีเพียงการสร้างรายได้มากขึ้น แต่ก็จะนำมาสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับชาวไร่ด้วยหรือไม่

บราซิล เลิกตั้ง Panel

และนับได้ว่าภายหลังจากมีการหารือ (Consultation) กระทั่งไทยประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลถือว่าเป็นความสำเร็จเพราะขณะนี้บราซิลระงับการยื่นขอตั้งผู้พิพากษา(Panel) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 เนื่องจากพอใจการแก้ไขปัญหาทั้งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเป็นไปตามกลไกตลาด การยกเลิกการกำหนดโควตาน้ำตาลทราย และให้มีการสำรองน้ำตาลทรายตามปริมาณสำรองที่กำหนด(Reserve Stock) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขที่สอดคล้องตามข้อตกลง WTO  แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางบราซิลยังจะติดตามการดำเนินการของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เอกชนพร้อมผลิตรถตัดอ้อย ส่งขายป้อนตลาดช่วยชาวไร่ลดต้นทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เร่งประสาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท กรอบ 3 ปี (ปี 2562-64) เพื่อซื้อรถในกระบวนการผลิตอ้อย เป็นมาตรการสำคัญในการลดการเผาอ้อย ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมีความพร้อมในการผลิตเครื่องตัดอ้อยรองรับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังเป็นปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศได้ และช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรราคาสูงได้ 30-50%

ทั้งนี้ภาครัฐควรกำหนดให้โรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยจากชาวไร่ไม่รับซื้ออ้อยที่ใช้วิธีการเผาเด็ดขาด รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลตัดอ้อยในลักษณะโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือทุนในการจัดซื้อเครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยแก้ปัญหามลภาวะ โดยการใช้เครื่องจักรกลเกษตร จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็กและขนาดกลาง เกษตรกรไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อระดมเงินทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยก็ไม่แข็งแรงพอ

“ภาคเอกชนโดยสอท.มีนโยบายส่งเสริมไทยทำไทยใช้ (เมดอินไทยแลนด์) อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะมีโครงการเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะผู้ซื้อให้ซื้อเครื่องตัดอ้อย ก็อยากให้สนับสนุนภาคการผลิตให้มีการลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยไม่เพียงผลิตใช้ในประเทศ แต่ยังส่งออกจนเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม รวมถึงแอฟริกา คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรให้เติบโตได้ 10-15%”นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับปัญหาปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่มีปริมาณเกินมาตรฐาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคการเกษตร อาทิ วัชพืช ตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะเดียวกันยังมีการเผาในภาคเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาในช่วงที่ทิศทางลมพัดฝุ่นควันเข้ามาในไทย 10% และเกิดจากการก่อสร้างต่างๆ ทั้งคอนโดมิเนียม รถไฟฟ้าอีกประมาณ 4% ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นมลภาวะส่วนใหญ่ จึงมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์โดยเฉพาะรถที่ให้บริการสาธารณะ รถที่ใช้น้ำมันดีเซล และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จำนวนไม่น้อยมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ตามจากรายงานธ.ก.ส. แจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอครม.เพื่อให้ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 6,000 ล้านบาท นำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย อาทิ รถสางใบ รถคีบอ้อยและรถตัด โดยรถดังกล่าวมีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อคัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ จึงต้องซื้อผ่านกลุ่ม เชื่อว่ามาตรการนี้ จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทำให้เข้าถึงเครื่องจักร ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดการเผาไร่อ้อย โดยคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็น สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน มีโรงงานอ้อยเป็นผู้ค้ำประกัน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 2% รัฐบาลสนับสนุนอีก 2% เป็นระยะเวลา 3 ปี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เอกชนรับลูกรัฐพร้อมส่งรถตัดอ้อยป้อนตลาด ลดปัญหา PM 2.5 ลดต้นทุนชาวไร่ 30-50%

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)เร่งประสาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติสินเชื่อ 6,000ล้านบาท กรอบ3ปี(ปี2562-64) เพื่อซื้อรถในกระบวนการผลิตอ้อย เป็นมาตรการสำคัญในการลดการเผาอ้อย ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรมีความพร้อมในการผลิตเครื่องตัดอ้อยรองรับนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยใช้เครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองที่กำลังเป็นปัญหามลภาวะทางอากาศของประเทศได้ และช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักรราคาสูงได้ 30-50%

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ภาครัฐควรกำหนดให้โรงงานน้ำตาลที่รับซื้ออ้อยจากชาวไร่ไม่รับซื้ออ้อยที่ใช้วิธีการเผาเด็ดขาด รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลตัดอ้อยในลักษณะโครงการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือทุนในการจัดซื้อเครื่องตัดอ้อยแทนการเผา เพื่อช่วยแก้ปัญหามลภาวะ โดยการใช้เครื่องจักรกลเกษตรจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการตัดอ้อย ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงาน เนื่องจากชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็กและขนาดกลาง เกษตรกรไม่มีเงินทุนมากพอที่จะจ้างแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อระดมเงินทุนซื้อเครื่องจักรตัดอ้อยก็ไม่แข็งแรงพอ

“ภาคเอกชนโดยส.อ.ท.มีนโยบายส่งเสริมไทยทำไทยใช้ (เมดอินไทยแลนด์) อยู่แล้ว ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะมีโครงการเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรในฐานะผู้ซื้อให้ซื้อเครื่องตัดอ้อย ก็อยากให้สนับสนุนภาคการผลิตให้มีการลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยไม่เพียงผลิตใช้ในประเทศ แต่ยังส่งออกจนเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงแอฟริกา คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรให้เติบโตได้ 10-15%”นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวยอมรับว่าปัญหาปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็กไม่เกิน 2.5ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่มีปริมาณเกินมาตรฐาน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคการเกษตร อาทิ วัชพืช ตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต รวมถึงเศษพืชเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการเผาทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ยังมีการเผาในภาคเกษตรของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชาในช่วงที่ทิศทางลมพัดฝุ่นควันเข้ามาในไทย 10% และเกิดจากการก่อสร้างต่างๆ ทั้งคอนโดมิเนียม รถไฟฟ้าอีกประมาณ 4% ทำให้เกิดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลพวงให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้นมลภาวะส่วนใหญ่ 50% จึงมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะรถที่ให้บริการสาธารณะ รถที่ใช้น้ำมันดีเซล และรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่จำนวนไม่น้อยมีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปี

รายงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) แจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 6,000 ล้านบาท นำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย อาทิ รถสางใบ รถคีบอ้อย และรถตัด โดยรถดังกล่าวมีราคาสูงกว่า 10 ล้านบาทต่อคัน เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อได้ จึงต้องซื้อผ่านกลุ่ม เชื่อว่ามาตรการนี้ จะทำให้เข้าถึงเครื่องจักร ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดการเผาไร่อ้อยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็น สหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน มีโรงงานอ้อยเป็นผู้ค้ำประกัน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 2% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 2% เป็นระยะเวลา 3 ปี

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โคราชบุกจับชาวบ้านลักลอบเผาไร่อ้อย

ภายหลังจากหลายจังหวัดเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องของฝุ่นควันพิษ หรือ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทางจังหวัดนครราชสีมามีหลายหน่วยงานออกมาตรการป้องกันเพื่อให้ค่าฝุ่นควันพิษลดลง โดยทางจังหวัดได้ออกคำสั่งห้ามชาวบ้านห้ามเผาหญ้า หรือเผาอ้อย เพื่อเป็นการลดฝุ่นควันพิษอีกทางหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้ที่ฝ่าฝืน ทางจังหวัดจึงได้กำชับให้ทางอำเภอลงไปทำความเข้าใจกับชุมชน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อป้องกันและป้องปรามอีกด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ต.ต.นิรันดร์ ถวัลย์ภูวนาท เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว ได้รับแจ้งเหตุจากนายพรเทพ วัชกีกุล นายอำเภอวังน้ำเขียว ว่า มีผู้ฝ่าฝืนเผาไร่อ้อย บริเวณหลังวิลเลจฟาร์ม บ้านไผ่งาม ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จึงนำกำลังเข้าไปตรวจสอบพร้อมจับกุมผู้กระทำความผิดได้ 1 ราย นำส่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอวังน้ำเขียวเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ขณะเดียวกัน บริเวณ หมู่ 7 ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้เกิดเหตุไฟไหม้หญ้าลุกลามเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่ปภ.ต้องออกมาช่วยกันดับไฟอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะเกิดความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ผุด 3 โมเดล!! พยากรณ์อากาศทำเกษตรแม่นยำ

เกษตรฯ ก้าวล้ำสู่เกษตรอัจฉริยะ จับมือกรมอุตุฯ ร่วมพัฒนาโมเดลพยากรณ์อากาศรองรับเกษตรระบบเกษตรแม่นยำ 3โมเดล ทั้งเตือนหยุดเผาไร่นา ก่อน 7 วันช่วงอากาศปิด แจ้งพื้นที่เสี่ยงเกิดโรคแมลงระบาด แจ้งช่วงเวลาทำเกษตร 120 วัน ส่งข้อมูลถึงเกษตรกรวางแผนการผลิตในพื้นที่ล่วงหน้าได้ตลอดฤดูเพาะปลูก กำหนดวันปลูก ใส่ปุ๋ย ผสมเกสร เก็บเกี่ยว ตาก ลดความเสี่ยงการผลิต

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.62 นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เตรียมการและกำหนดประเด็นการร่วมกันพัฒนาโมเดลพยากรณ์สภาพภูมิอากาศเพื่อแจ้งเตือนภาวะเสี่ยง และแนะนำภาวะเหมาะสมสำหรับกิจกรรมการเกษตรแก่เกษตรกร ได้ข้อตกลงในการพัฒนาการพยากรณ์ จำนวน 3 โมเดล คือ 1.การพยากรสภาพอากาศปิด ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อแจ้งเตือนการหยุดเผาในไร่นาของพื้นที่เสี่ยงต่อการสะสมฝุ่นละออง ป้องกันไม่ให้กระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน 2.การพยากรณ์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดของโรคแมลงชนิดต่างๆ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย เพื่อการแจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมการป้องกันและวางแผนควบคุมล่วงหน้า และ3.การพยากรณ์สภาพอากาศรองรับระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ล่วงหน้าถึง 120 วัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่ล่วงหน้าได้ตลอดฤดูเพาะปลูก สามารถกำหนดวันปลูก ใส่ปุ๋ย ผสมเกสร เก็บเกี่ยว ตาก ฯลฯ และเตรียมพร้อมปัจจัยการผลิต ทำให้ลดความเสียหายของการผลิต เช่น การพยากรณ์วันฝนตก วันปลอดฝน ช่วงอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) สำหรับการเกษตรในพื้นที่เปิด

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมที่จะดำเนินการพยากรณ์สภาพอากาศปิดเพื่อสนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปใช้ในการแนะนำแก่เกษตรกรได้ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตร ก็พร้อมที่จะส่งพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา เงื่อนไขของสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค แมลงชนิดต่างๆ และสภาพที่เหมาะสมต่อการทำกิจกรรมเกษตรขั้นตอนต่างๆให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ทันทีและต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาโมเดลการพยากรณ์ร่วมกัน

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมอุตุนิยมวิทยายังได้มีแผนการจัดทำพื้นที่นำร่องสังเกตการณ์ผลการพยากรณ์เพื่อการปรับโมเดลพยากรณ์ภูมิอากาศเพื่อการเกษตรดังกล่าวให้มีความแม่นยำขึ้นเป็นลำดับต่อไป โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยได้พัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุดบนฐานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม

จาก www.siamrath.co.th  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘แข็งค่า’ ที่ 31.13 บาทต่อดอลลาร์

เฟดมีแนวโน้มไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าตามดการอ่อนค่าของดอลลาร์ จากควาหวังสงครามการค้าเจรจาได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงสิ้นวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากมุมมองของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเฟดที่ออกมาสนับสนุนการชะลอมาตรการลดงบดุลของเฟดมากขึ้น ชี้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะไม่เร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวและเฟดจะมองภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งตลาดการเงินก่อนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

นอกจากนี้ตัวเลขตลาดแรงงานของอังกฤษและดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจยูโรโซนที่ออกมาดีเกินคาด ส่งผลให้ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์อังกฤษแข็งค่าขึ้น ล่าสุดค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นไปที่ระดับ 1.133 ดอลลาร์ต่อยูโร ค่าเงินปอนด์อังกฤษแข็งค่าแตะระดับ 1.306 ดอลลาร์ต่อปอนด์  ในขณะที่ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นไม่มากสู่ระดับ 110.5 เยนต่อดอลลาร์  หลังผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นให้ความเห็นว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นพร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หากการแข็งค่าของเงินเยนกระทบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลดลง 3bps  หลังตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยกว่าคาด และอาจมีการชะลอการลดงบดุล  ล่าสุดยิลด์ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.63% แม้นักลงทุนยังเปิดรับความเสี่ยงต่อ ท่ามกลางแนวโน้มการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯที่สดใสมากขึ้น

ฝั่งของค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ รวมทั้งการแข็งค่าของค่าเงินเอเชีย จากความหวังว่าสหรัฐฯกับจีนจะบรรลุข้อตกลงการค้าได้ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นมองว่า ปัจจัยการเมือง จะเป็นปัจจัยหลักที่สามารถกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.08-31.18 บาทต่อดอลลาร์

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เสียงสะท้อนจากแกนนำเกษตรกร ไม่แบน3สารอันตราย"ใครได้-ใครเสีย"

            ในที่สุดการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม “อภิจิณ โชติกเสถียร” เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีมติยืนตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายในภาคเกษตรทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอร์ไพริฟอส โดยจะยืดเวลาออกไปอีก 2 ปี หรือภายในวันที่  1 มกราคม 2564 หรือจนกว่าจะหาสารทดแทนได้

            โดยที่ประชุมมีมติสนับสนุนให้ใช้ต่อ 16 เสียง ให้ยกเลิก 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง หลังกรรมการแต่ละคนได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย หากยกเลิกเกษตรกรจะได้รับผลกระทบทันที เพราะยังไม่มีสารอื่นมาทดแทน

             “อย่าไปกล่าวโทษกรรมการวัตถุอันตรายเลย เขาก็ตัดสินใจไปตามข้อมูลที่ได้รับ ต้องไปถามองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดีกว่าว่าได้ชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุมอย่างไร ทำไมก่อนหน้านี้ให้สัมภาษณ์บอกว่าพร้อมถ้าหากกรรมการมีมติให้มีการยกเลิก แต่พอชี้แจงในที่ประชุมกลับเป็นอีกอย่าง” แหล่งข่าวในกรรมการวัตถุอันตรายให้ความเห็นต่อ “คม ชัด ลึก”

           สอดรับกับการยืนยันของ “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า หากยกเลิกสารทั้ง 3 ชนิดในปีนี้จะกระทบต่อเกษตรกร 25 ล้านคนที่คุ้นเคยกับการใช้สารเคมีมานาน กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เสนอความเห็นในที่ประชุมว่า ควรใช้ระยะเวลา 2 ปีในการหานวัตกรรมใหม่ๆ มาทดแทน โดยระหว่างนี้ทุกส่วนต้องเร่งทำเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ ให้เต็มพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ 149 ล้านไร่  พร้อมกันนี้ภายใน 2 ปี หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ จะจูงใจเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเข้ามาทำเกษตรปลอดภัย ปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ และหาตลาดเข้ามารองรับสินค้าดังกล่าว

        “หากให้เลิกใช้สารเคมีใน 1 ปี เรากังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรจำนวนมาก และการเผาซากพืชจะมีมากขึ้น เพราะใช้ยาปราบศัตรูพืชไม่ได้ จึงได้มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการ ใช้เวลาปรับวิธีปฏิบัติทำเกษตรปลอดภัยทั่วประเทศใน 2 ปี ผมยืนยันจะทำให้เห็นเป็นแผนชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งรู้ว่าจะต้องโดนกระแสโจมตีจากกลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิก แต่หากให้เลิกภายใน 1 ปี ก็สามารถทำได้ และถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้นกับเกษตรกร อย่ามาต่อว่ากระทรวงเกษตรฯ” กฤษฎากล่าวย้ำ

         อย่างไรก็ตามในการประชุมดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ส่งร่างแผนปฏิบัติการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีในการดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด พร้อมทั้งการจัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตร ผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชในมันสำปะหลังและอ้อยใน จ.นครราชสีมา และนครปฐม ตลอดจนการจัดทำโครงการวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีการทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค

           สุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรพันธุ์แท้มาแต่กำเนิด โดยยึดอาชีพทำไร่อ้อยที่บ้านดอนหอคอย ต.ยุ้งทะลาย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย  เป็นหนึ่งในแกนนำเกษตรกรที่ต่อต้านการห้ามใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะพาราควอต เนื่องจากยังไม่มีสารเคมีตัวใดทดแทนได้ ในขณะอีก 2 ตัวไกลโฟเสตและคลอร์ไพริฟอสยังพอจะมีสารตัวอื่นทดแทน โดยเขาให้เหตุผลว่าหากยกเลิกหรือแบนทันทีธุรกิจเกษตรต้องล่มสลายอย่างแน่นอน เพราะยังไม่มีสารเคมีตัวใดที่มีประสิทธิภาพมากพอและยังมีราคาถูกเทียบเท่ากับพาราควอต

           “อย่างสวนทุเรียนยังจำเป็นต้องใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืชในสวน พาราควอตจะทำลายเฉพาะสีเขียวจะไม่ทำลายระบบรากของพืชหลัก ไม่เหมือนกับไกลโฟเสต เช่นเดียวกันอ้อยที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็ต้องใช้สารพาราควอตเหมือนกันในการกำจัดวัชพืชในแปลงหรือข้าวโพดในช่วง 45 วันแรกวัชพืชจะต้องไม่มี ไม่อย่างนั้นธาตุอาหารที่เราใส่ลงไปก็จะไม่ไปถึงพืชหลัก ถามว่าถ้าไม่ใช้สารพวกนี้แล้วจะไปใช้อะไร ก็ไม่มีให้เลือก จะจ้างแรงงานก็สู่ค่าแรงไม่ไหว แล้วก็หาแรงงานยากมากทุกวันนี้”

        เขายอมรับว่าที่ผ่านมารัฐได้ออกประกาศให้มีการจำกัดการใช้ ทำให้สารเคมีเหล่านี้มีราคาพุ่งพรวดเกือบเท่าตัว อย่างพาราควอตจากเมื่อก่อนลิตรละ 80-90 บาท ขณะนี้ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ 160-180 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น นอกจากนี้พ่อค้าเริ่มมีการกักตุนสินค้าเหล่านี้กันแล้ว ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน

          “ถามว่าอันตรายไหมต้องบอกว่าสารเคมีทุกตัวเป็นอันตรายหากใช้ไม่ถูกวิธี ยาพาราเซตามอลก็เหมือนกัน หากกินเข้าไปมากกว่าปกติก็อาจเสียชีวิตได้ ยาพาราปกติเขาให้กินครั้ง 1-2 เมตร ถ้าคุณกินทีเดียว 18 เม็ด ถ้าล้างท้องหรือพบแพทย์ไม่ทันรับรองเสียชีวิตแน่นอน สารเคมีเหล่านี้ก็เหมือนกัน”

          เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยมองว่าถึงแม้กรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติไม่แบน แต่ความเสียหายของภาคการเกษตรในวันนี้ก็เกิดขึ้นแล้วจากการจำกัดการใช้ ทั้งในเรื่องของราคาสูงขึ้น การลดการนำเข้า ส่งผลทำให้มีการลักลอบนำเข้ามามากขึ้นและที่สำคัญสารเคมีเหล่านี้หมดอายุสิทธิบัตรแล้วใครก็สามารถผลิตได้ หากไม่มีการเข้มงวดในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานก็จะมีผลเสียต่อภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน

         “เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้ พวกคุณบริษัทผู้ผลิตทั้งหลายจะต้องเข้ามาช่วยเกษตรกร ช่วยข้าราชการในการแนะนำให้ความรู้ถึงวิธีการใช้ เพราะไม่มีใครไม่ว่าข้าราชการหรือเกษตรกรจะรู้ดีไปกว่าเจ้าหน้าที่บริษัทผู้ผลิต อันนี้ประการแรก ส่วนประการต่อมาราคาขายจะต้องลดลงเหมือนตอนที่ยังไม่มีการจำกัดปริมาณการใช้ เพราะไม่เช่นนั้นคนที่รวยก็คือพ่อค้า ส่วนเกษตรกรก็ยังจนเหมือนเดิมหรืออาจจนลงมากกว่าเดิมด้วย เพราะต้นทุนจากราคาสารเคมีที่สูงขึ้น นี่คือ 2 ประเด็นหลักที่พวกผมเตรียมจะเดินหน้าเรียกร้องกับบริษัทค้าสารเคมีต่อไป” สุกรรณ์ยืนยัน

           เช่นเดียวกับมุมมองของ “อุทัย สอนหลักทรัพย์” ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ระบุว่าเห็นด้วยกับมติกรรมการวัตถุอันตรายที่ยังไม่แบนสารเคมีทั้ง 3 รายการ แม้โดยส่วนตัวเห็นว่าสารเคมีทั้ง 3 ตัวนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้หรือผู้ที่ได้รับสารเหล่านี้เข้าไป เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีตัวใดมาทดแทนสารเหล่านี้ได้ จึงยังมีความจำเป็นต่อภาคเกษตร

          “เห็นด้วยกับมติดังกล่าวแต่มีข้อแม้ว่าต้องหาสารตัวอื่นมาทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหมือนกันหรือใกล้เคียงและราคาต้องไม่แพงกว่าสารตัวนี้ ถ้าแบนทันทีเกษตรกรเดือดร้อนแน่นอน จ้างแรงงานก็ไม่ไหว ค่าแรงสูงแล้วก็หาคนทำก็ยากมากด้วย ผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาการใช้สารเคมีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ก็มีการประชุมในเรื่องนี้ เขาก็เสนอสารทดแทนเหมือนกันแต่ราคาแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า แล้วประสิทธิภาพการใช้งานก็น้อยว่าแล้วจะเอามาทำไม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตไม่ใช่หรือ” อุทัยกล่าวย้ำ 

         อย่างไรก็ตามในส่วนของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ก็ได้ออกแถลงการณ์ในทันทีที่กรรมการวัตถุอันตรายมีมติออกมา โดยเนื้อหาระบุว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม แพทยสภา เครือข่ายประชาคมวิชาการ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ ภายในปี 2562

               สำคัญที่สุดผิดหวังต่อบทบาทของ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรง ซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามาดูโลก

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อชาวไร่อ้อย 6 พันล้าน

ธ.ก.ส. เตรียมปล่อยสินเชื่อ 6,000 ลบ. ดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี นำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และช่วยลดการเผาอ้อยที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) อภิรมย์ สุขประเสริฐ  ระบุ ธ.ก.ส.เตรียมปล่อยสินเชื่อให้กับสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อรถที่ใช้ในกระบวนการผลิตอ้อย ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และช่วยลดการเผาอ้อยที่ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาสัปดาห์นี้ สำหรับคุณสมบัติผู้กู้จะต้องเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน มีโรงงานอ้อยเป็นผู้ค้ำประกัน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี โดยสหกรณ์ฯ จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 2% และรัฐบาลสนับสนุนอีก 2% เป็นระยะเวลา 3 ปี

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ภายใน 2 ปี เมืองน้ำดำตั้งเป้ารณรงค์เผาอ้อยให้เหลือศูนย์

จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมภาคเอกชนและสมาคมชาวไร่อ้อยจัดสาธิตใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและเครื่องจักรกลตีใบอ้อย เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาอ้อย ป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 พร้อมตั้งเป้าการเผาอ้อยต้องเป็นศูนย์ภายใน 2 ปี

ที่บริเวณแปลงไร่อ้อย บ้านกลางหมื่น ต.กลางหมื่น อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ นายคำสี แสนศรี ผู้อำนวยการด้านอ้อยบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายโสภณ เจริญพร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ และผู้นำท้องถิ่นร่วมกันจัดกิจกรรมสาธิตการใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและตีใบอ้อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อยลดปัญหามลพิษทางอากาศ

เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งการเผ่าอ้อยนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย พร้อมตั้งเป้ารณรงค์ พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 2 ปี

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งพื้นที่ผลิตอ้อยอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีศักยภาพของประเทศ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 350,000 – 4000,000 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 11,080 ต่อไร่ มีมูลค่าการจำหน่ายเฉลี่ย 4,165,719,373 บาท ต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ใช้แรงงานคนในการตัด

จึงทำให้มีการเผาอ้อย เพื่อความสะดวกของแรงงานเข้าไปตัด ซึ่งการเผาอ้อยในที่โล่งแจ้งจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ดังนั้นทาง จ.กาฬสินธุ์จะดำเนินการบูรณาการกับหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และเกษตรกรชาวไร่อ้อยเร่งรณรงค์ให้พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ปราศจากการเผาอ้อยให้เป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

ด้านนายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นนั้นดังกล่าว จึงได้ร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์และสมาคมชาวไร่อ้อยจัดการสาธิตใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและเครื่องจักรกลตีใบอ้อย รณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย และส่งเสริมให้มีการนำเครื่องจักรกลมาใช้ หยุดยั้งการเผา ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่นายคำสี แสนศรี ผู้อำนวยการด้านอ้อยบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทางโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวจึงได้จัดโครงการณรงค์ “ร่วมใจ ไม่เผาอ้อย” ระหว่างชาวไร่อ้อยและสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยลด ละ เลิก เผาอ้อยก่อนตัดและหลักตัด นอกจากนี้ยังเป็นการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาเพื่อทดแทนแรงงานคนและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

รวมทั้งเป็นการบูรณาการการประกอบอาชีพโดยไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน สำหรับอ้อยสดนั้นสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าอ้อยเผา และที่สำคัญการเผาอ้อนนั้นยังเป็นการทำลายหน้าดินอีกด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ทหารเมืองเลยลุยช่วยชาวไร่ตัดอ้อยลดต้นทุน-รณรงค์ไม่เผาลดฝุ่นจิ๋ว

เลย- ผบ.มทบ.28 นำกำลังพลลุยช่วยเกษตรกรตัดอ้อยลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่สำคัญช่วยรณรงค์งดเผาอ้อยลดฝุ่นจิ๋วในอากาศ เผย ผบ.มทบ.ลงแรงทั้งตัดทั้งแบกขนช่วยชาวไร่อ้อยเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณพื้นที่ไร่อ้อยของนายจีรบูรณ์ ทองโคตร บ้านซำพร้าว ม.2 ต.บ้านเพิ่ม อ.ผาขาว จ.เลย มณฑลทหารบกที่ 28 นำโดย พล.ต.เกียรติศักดิ์ วิเวก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 พร้อมด้วย พ.อ.อำนวย ยอดพันธ์ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 28 และกำลังพลจำนวน 20 นาย ร่วมลงแขกตัดอ้อยช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน และช่วยลดต้นทุนในการทำไร่อ้อย

ที่สำคัญยังเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล เป็นการลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ P.M.2.5 ในอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นได้

ในการนำกำลังทหารช่วยชาวบ้านตัดอ้อยในครั้งนี้ มีรายงานว่า พล.ต.เกียรติศักดิ์ วิเวก ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 28 ได้ทุ่มเทแรงกายอย่างเต็มที่ ทั้งตัด ทั้งแบกขน และขับรถขนอ้อยด้วยตัวเอง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กาฬสินธุ์เร่งรณรงค์ลดการเผาอ้อย

จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ สมาคมชาวไร่อ้อย รณรงค์ลดการเผาอ้อยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งพื้นที่ผลิตอ้อยอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีศักยภาพของประเทศ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 350,000 – 400,000 ไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 11,080 ต่อไร่ มีมูลค่าการจำหน่ายเฉลี่ย 4,165,719,373 บาท ต่อปี ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยในปัจจุบันพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ใช้แรงงานคนในการตัด จึงทำให้มีการเผาอ้อย เพื่อความสะดวกของแรงงานในการเข้าไปตัด โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการดูแล พร้อมตั้งเป้ารณรงค์ พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีการเผาอ้อยเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 2 ปี

ขณะที่นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นนั้นดังกล่าวทาง จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์และสมาคมชาวไร่อ้อยจัดการสาธิตใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและเครื่องจักรกลตีใบอ้อยจัดกิจกรรมการสาธิตใช้เครื่องจักรกลตัดอ้อยและเครื่องจักรกลตีใบอ้อยเพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย และส่งเสริมให้มีการนำเครื่องจักรกลมาใช้ หยุดยั้งการเผา ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นายคำสี แสนศรี ผู้อำนวยการด้านอ้อยบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า ทางโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวจึงได้จัดโครงการณรงค์ “ร่วมใจ ไม่เผาอ้อย” เป็นการนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาเพื่อทดแทนแรงงานคนและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นการบูรณาการการประกอบอาชีพโดยไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน ทั้งนี้สำหรับอ้อยสดนั้นยังสามารถจำหน่ายได้ราคาดีกว่าอ้อยเผา และที่สำคัญการเผาอ้อนนั้นยังเป็นการทำลายหน้าดินอีกด้วย

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ถอดโมเดล “ฮังการี”บริหารจัดน้ำ

สทนช.เล็งเอ็มโอยูด้านน้ำไทย-ฮังการี หลังพลเอกฉัตรชัยเยือนกรุงปูดาเบสต์เป็นทางการ หวังดึงเทคโนโลยีจัดการน้ำ พร้อมเร่งนำโมเดลจัดการลุ่มน้ำดานูบพัฒนาสู่ลุ่มน้ำโขง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางเยือนประเทศฮังการี ตามที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 14 – 16 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันว่า ฮังการีนับเป็นประเทศระดับต้นๆ ของยุโรปตะวันออกที่มีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์น้ำ พลังงานหมุนเวียนจากน้ำเสีย วิศวกรรมน้ำ รวมถึงการจัดการน้ำระหว่างประเทศ ซึ่งจากการหารือร่วมกับผู้นำระดับสูงของฮังการี ได้แก่ นาย โชลท์ เชเมน รองนายกรัฐมนตรี นาย เปเตอร์ ซิยาโท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า และ นายอิชวาน ยาคอบ รองประธานรัฐสภา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการบริหารจัดการน้ำของฮังการี

ในเบื้องต้นทั้งสองประเทศได้เห็นพ้องร่วมกันทำความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ความรู้ ผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานทั้ง 2 ประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาจัดทำโครงการร่วมในประเด็นที่สนใจร่วมกันใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนระหว่างลุ่มน้ำดานูบ และลุ่มน้ำโขง 2. การบริหารจัดการตะกอนในลำน้ำ 3 การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้ง รวมถึงการจัดการน้ำเสีย 4 การเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน และ 5 การพัฒนาพื้นที่ชลประทาน โดยมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งช่าติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานกลางประสานกับฮังการี เพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจด้านน้ำ (MOU) ระหว่างไทย-ฮังการีอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทฯน้ำ ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ และรูปแบบการพิจารณาผลกระทบข้ามลุ่มน้ำซึ่งตรงกับแผนแม่บทฯน้ำ ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงลุ่มน้ำระหว่างประเทศ โดยพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านทรัพยากรน้ำเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้วย

“ฮังการีมีบทบาทเด่นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการดานูบ และเป็นผู้ผลักดันยุทธศาสตร์สหภาพยุโรป ที่กำกับดูแลทำข้อตกลงการบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศ คือ แม่น้าดานูบ ซึ่งมีความยาวประมาณ 2,845 กม. ไหลผ่านและเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตของ 10 ประเทศ โดยมุ่งเน้นความเสมอภาคในการใช้น้ำร่วมกัน รวมถึงความโดนเด่นในการบริหารจัดการน้ำผิวดินและน้ำบาดาล ที่ฮังการีมีแหล่งน้ำปิด 4,000 แห่ง มีพื้นที่ผิวน้ำรวม 1.05 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 75 ที่เป็นแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการหารือความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันแล้ว ยังหารือเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 จึงเสนอให้ทั้งสองประเทศใช้ประโยชน์ของลักษณะกายภาพในที่ตั้งที่เหมาะสมของทั้งสองประเทศ ในการเป็นศูนย์กลางและเป็นประตูสู่ของอาเซียนและยุโรปในทุกๆ ด้านด้วย

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติม การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำระหว่างประเทศได้มีการถ่ายโอนมาให้ สทนช.กำกับดูแล และเป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องพัฒนาและสานต่อ ดังนั้น การหารือในระดับนโยบายระหว่างสองประเทศครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินการจัดการลุ่มน้ำระหว่างประเทศที่ฮังการีประสบความสำเร็จ สามารถนำมาเป็นโมเดลในการดำเนินการได้ ซึ่ง สทนช.จะเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน และหารือในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การลงนามความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างไทย – ฮังการีในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ ฮังการียังได้เชิญรองนายกฯ ของไทยเข้าร่วมงาน Budapest Water Summit ระหว่าง 15-17 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันวิกฤตด้านน้ำ ซึ่งมีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำโดยบริษัทชั้นนำของฮังการีและประเทศอื่น ๆ ด้วย

 “ที่ผ่านมาแม้ว่าไทย-ฮังการีจะมีการติดต่อประสานงานความร่วมมือด้านน้ำ แต่ยังไม่มีผลดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากนัก ดังนั้น การหารือในระดับนโยบายครั้งนี้จะนำไปสู่การเพิ่มบทบาทภาครัฐในการทำงานร่วมกันระหว่างสองประเทศมากขึ้น ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลข่าวสาร งานวิจัย ซึ่งไทยให้ความสนใจการแก้ไขปัญหาการตกตะกอนในแม่น้ำสายใหญ่ทั้งลุ่มน้ำโขง และแม่น้ำสายใหญ่ภายในประเทศ การวางแผนระดับลุ่มน้ำที่กำหนดอยู่ใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งฮังการีมีแผนการบริหารจัดการแม่น้าดานูบ ซึ่งเป็นแผนบริหารจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศที่ดีประเทศหนึ่ง ที่ไทยจะนำมาประยุกต์ใช้กับแม่น้ำแม่โขงที่ฮังการีมีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศในกลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งต้องการงานวิจัยพัฒนาทั้งการคาดการณ์ แจ้งเตือน และ การบริหารจัดการน้ำในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การส่งน้ำ การผลิตน้ำประปา การบริหารจัดการน้ำ และ การบำบัดน้าเสีย เป็นต้น” นายสมเกียรติ กล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บาทแข็งโป็กกระทบแข่งขันส่งออก สรท.ลุยถกแบงก์ชาติ4มี.ค.นี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า วันที่ 4 มีนาคมนี้ สรท. จะมีการหารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ตามกำหนดการที่จะมีการหารือกันปีละ 2 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแระหว่างกัน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งขึ้นค่อนข้างมากและแข็งค่าเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาค จะมีการหารือประเด็นนี้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้อยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง รวมทั้งได้รับผลกระทบด้านยอดขายเพราะเมื่อแลกเงินจากดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทได้เงินน้อยลง เริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว โดยเฉพาะสินค้าที่ใกล้เคียงตลาดอื่น แต่ประเทศเหล่านั้นค่าเงินอ่อนกว่าไทย ทั้งนี้ ในภาวะที่การค้าโลกอาจจะชะลอจากสงครามการค้า ผู้ประกอบการที่มีสต็อกอยู่ก็ต้องขายแม้ว่าจะได้เท่าทุน หรือขาดทุนบ้าง

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สรท. คาดการณ์มูลค่าส่งออกปีนี้ขยายตัวที่ 5% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องอาจจะกระทบกับเป้าหมายการส่งออกได้ สำหรับยอดคำสั่งวื้อขณะนี้ยังไม่คึกคักมากนัก คู่ค้ายังมีการรอจังหวะและมีการสั่งซื้อที่ล็อตเล็กลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าจีนที่ยังรอความชัดเจนการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนว่าจะออกมาอย่างไร

“ผู้ประกอบการพยายามปรับตัวเพื่อผลิตสินค้าที่เน้นคุณภาพและความแตกต่างเพื่อลดการแข่งขันด้านราคา รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต แต่ไม่ใช่ทุกรายที่ทำได้ ซึ่งการที่ค่าบาทแข็งทำให้ราคาสินค้าไทยแพงเทียบประเทศอื่น ด้านการทำประกันความเสี่ยง ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำอยู่แล้ว หรือบางรายถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติจากการนำเข้าวัตถุดิบ ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในจังหวะที่ค่าเงินบาทผันผวนพบว่าการทำประกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่การทำประกันความเสี่ยงของเอสเอ็มอีต้นทุนยังสูงอยู่” นายวิศิษฐ์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เร่งแผนกำจัด "สารพิษ" พ้นแผ่นดินไทย

'กฤษฎา' เร่งรัดกรมวิชาการเกษตร จัดทำแผนปฏิบัติงานที่จะนำไปสู่การ "ลด-ละ-เลิก" ใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามมติ คกก.วัตถุอันตราย ให้ปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้ โดยวันนี้ต้องนำเสนอรายละเอียดของแผนดังกล่าว ตามที่สั่งการไปให้ทำด่วนที่สุด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดของกระทรวง ซึ่งมี นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นเลขานุการ นำรายละเอียดแผนปฏิบัติงานมานำเสนอ โดยเรื่องที่ให้ทำเร่งด่วน คือ การสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่าย ว่า มีอยู่เท่าไร เนื่องจากยังมีองค์กรต่าง ๆ ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้นำเข้าเกินกำหนด จึงต้องสำรวจให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้ เพื่อให้กระจ่างต่อสังคม ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดชื่อผู้ครอบครอง รวมทั้ง วัน เดือน ปี ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า โดยการอนุญาตครั้งต่อไปต้องระบุชัดเจน ว่า บริษัทใดเคยนำเข้าเท่าไร แล้วจะลดเหลือเท่าไร แผนการควบคุมในพื้นที่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไม่ให้มีการจำหน่าย ครอบครอง หรือใช้อย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งกำหนดวิธีการฝึกอบรม ทั้งผู้จำหน่าย เกษตรกร ลูกจ้างรับฉีดพ่นสารเคมี ซึ่งต้องมีหลักสูตรที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทราบถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย โดยจะให้กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล ครอบคลุมทั่วประเทศเข้ามาช่วย รวมถึงใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร (ศพก.) ซึ่งมี 882 แห่งในทุกอำเภอ และ ศพก. เครือข่ายอีก 10,000 กว่าแห่งเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งจะประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มาสนับสนุน

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการ หรือ สารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด สิ่งสำคัญที่ต้องทำทันที คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งรัดขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายใน 2 ปี โดยคณะอำนวยการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก 3 เดือน ซึ่งวันนี้ทั้งปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรต้องนำแผนปฏิบัติงานมานำเสนอ

ทางด้าน รองศาตราจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่มีผู้กล่าวว่า พบสารพาราควอตตกค้างในผักผลไม้นั้น ไม่น่าจะจริง เนื่องจากหากฉีดพ่นที่ใบพืชโดยตรง ใบจะไหม้ เกษตรกรจึงใช้ฉีดพ่นตอนเตรียมดินก่อนปลูก หรือ ฉีดพ่นรอบโคนต้นสำหรับพืชไร่ ทั้งนี้ พาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้าที่มีประสิทธิภาพดีมาก สลายตัวในสิ่งแวดล้อมได้ดี ราคาประหยัด แต่หากนำมาใช้ในความเข้มข้นสูงจะมีความเป็นพิษสูง ประเทศที่ให้ยกเลิกใช้พาราควอตมักระบุถึงสาเหตุการยกเลิก ว่า เนื่องจากเกรงคนนำไปฆ่าตัวตาย ส่วนประเทศที่ใช้อยู่ยังมีอีกมาก ซึ่งได้กำหนดมาตรการความปลอดภัย เช่น การเจือจางก่อนบรรจุขาย ผู้ใช้ต้องฝึกอบรมการใช้อย่างถูกวิธี และจำหน่ายให้เฉพาะผู้ที่อบรมแล้วเท่านั้น หากบีบให้ยกเลิกใช้พาราควอต เกษตรกรต้องไปใช้ยาฆ่าหญ้าชนิดอื่น ซึ่งมีอันตรายเช่นกัน อีกทั้งมีราคาแพงกว่าด้วย ทางฝั่งเกษตรกรจึงเรียกร้องให้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ไม่ใช่ยกเลิก

สำหรับไกลโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่นิยมใช้กันทั่วโลกอีกชนิด มีพิษน้อยมาก น้อยกว่าเกลือแกงเสียอีก ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรรับได้ แต่การออกฤทธิ์เป็นแบบที่วัชพืชดูดซึมเข้าไป แล้วค่อย ๆ ตาย ต่างจากพาราควอตที่ทำให้ใบไหม้อย่างรวดเร็ว โดยผลวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ยืนยันตรงกันว่า ไกโฟเซตไม่อันตรายและไม่ได้ก่อมะเร็ง แต่หน่วยงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า ถ้าให้เป็นปริมาณมากอาจก่อมะเร็งได้ ทั้งนี้ กลุ่มผู้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) นิยมใช้ไกลโฟเซต จึงทำให้ NGO ที่ต่อต้านพืช GMO โจมตีไกลโฟเซตที่เป็นพิษต่ำด้วย

"ทั้งนี้ เป็นเทคนิคการปั่นความกลัวสไตล์ NGO ที่ทำให้คนเข้าใจผิด ว่า พาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชนั้น ตกค้างในพืชผักที่เรากินได้เหมือนยาฆ่าแมลง อย่าง คลอร์ไพรีฟอส ซึ่งถ้าเราทำตาม NGO ที่กำลังปั่นหัวคนไทยขณะนี้ หมายความว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกพาราควอตและไกลโฟเซต แล้วเกษตรกรจะใช้สารอะไรกำจัดวัชพืช เป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้เกษตรกรที่ยากจนอยู่แล้ว ต้องยากจนหนักขึ้นไปอีกอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งทำให้พ่อค้าสารเคมีได้กำไรมากขึ้นอีก จากการขายสารอื่นที่ไม่ถูกแบนและมีราคาแพง" รองศาสตราจารย์เจษฎา กล่าว

รองศาสตราจาย์เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขณะนี้ คือ ฝ่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่เถียงกันโดยไม่คำนึงเกษตรกร ทั้งนี้ ควรให้เกษตกร ซึ่งเป็นผู้ใช้สารเคมีนี้โดยตรง เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้เอง อีกทั้งระบุว่า รู้ว่าการแสดงความคิดเห็นที่ต้านกระแสสังคมเช่นนี้จะทำให้ถูกโจมตีหนักอย่างแน่นอน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กรมชลฯยันตุนน้ำพอใช้ถึงต้นปี63 มั่นใจแล้งปีนี้ไม่ถึงขั้นวิกฤต

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า สถานการณ์​ภัยแล้งปี 2562 จากการตรวจสอบในเขตพื้นที่ของกรมชลฯ ในหลายพื้นที่ พบว่า จะมีปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค​บริโภค​ และทำการเกษตรเพียงพอ ขอยืนยันว่าปีนี้ประเทศไทยไม่เข้าขั้นประสบปัญหาภัยแล้ง เพราะทางกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการศึกษาข้อมูลการใช้น้ำรวมช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แล้วทำการวางแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งเป็นอย่างดี และคาดว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอใช้จนถึงต้นปี 2563

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า แต่ยังคงมีเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง ยังต้องเฝ้าระวังน้ำแล้ง ประกอบด้วย 1.เขื่อนอุบลรัตน์ 2.เขื่อนทับเสลา 3.เขื่อนแม่มอก 4.เขื่อนกระเสียว 5.เขื่อนลำพระเพลิง และ6.เขื่อนลำนางรอง  โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์​ และเขื่อนแม่มอก มีการสั่งห้ามทำการเกษตรทุกชนิด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง หรือระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน​ 2561- 30 เมษายน 2562 เพื่อให้เพียงพอกับการใช้เพื่ออุปโภค​บริโภค​มากกว่า ส่วนในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ ทางกรมชลฯ ได้เตรียมแผนจ้างงานโดยจะดูทักษะของเกษตรกรแต่ละราย อาทิ การขุดลอกคูคลอง และงานที่เกี่ยวกับระบบชลประทาน เป็นต้น ซึ่งจะต้องจัดหางานที่เหมาะสมเพื่อจ้างงานต่อไป

“ส่วนอีก 4 เขื่อนที่เหลือ ได้มีการสั่งห้ามในการปลูกข้าวนาปรัง แต่อนุญาตให้ปลูกพืชผักที่สามารถกินได้เพื่อการดำเนินชีวิต ซึ่งการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งจะมีการจำกัดการใช้น้ำ โดยจะต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง คือ การใช้น้ำเพื่อการอุปโภค​บริโภค​ หลังจากนั้นถึงจะนำไปใช้ในส่วนของการเกษตร ตามประเภทที่กำหนด และนำไปใช้เพื่อการอุตสาหกรรม​ เป็นลำดับสุดท้าย”

นายทวีศักดิ์ ​กล่าวว่า ยังได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด วัสดุอุปกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือพื้นที่เกษตรที่รอเก็บเกี่ยวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้กรมชลฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (เจเอ็มซี)​ ไว้กำหนดหลักเกณฑ์​การจัดสรรน้ำด้วยความเป็นธรรม เพื่อลดความขัดแย้งอีกด้วย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ครม.อนุมัติร่างพรบ.อุตสาหกรรม

ที่ประชุมครม. อนุมัติในหลักการร่างพรบ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปประกอบการพิจารณาด้วย หลังจากนั้นส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “อุตสาหกรรม” ให้สอดคล้องกับการประกอบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยให้ครอบคลุมถึงกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม เช่น การวิจัย พัฒนา และบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เกิดขึ้น พร้อมแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของ ส.อ.ท.ให้สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านอุตสาหกรรมของภาครัฐ ในการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการทุกระดับ

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ดึงสหกรณ์ผลิตปุ๋ยใช้เองจำหน่าย ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้กว่า30%

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังมอบนโยบายส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตรว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์เร่งหาวิธีลดต้นทุนการผลิตช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องปุ๋ย เนื่องจากปุ๋ยราคาสูง ประกอบกับ ที่ผ่านมาเกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามความเหมาะสมของดิน ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐบาลจึงมีแนวคิดช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตผ่านสถาบันเกษตรกร โดยให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางผลิตปุ๋ยผสมใช้เองตามค่าการวิเคราะห์ดินและจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะมีต้นทุนถูกกว่า และได้ผลดีกว่าการใช้ปุ๋ยสำเร็จ

ทั้งนี้ มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักจัดทำโครงการปุ๋ยผสมใช้เองผ่านสหกรณ์การเกษตร โดยให้สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอผลิตปุ๋ยมีคุณภาพและจำหน่ายราคาเป็นธรรม และให้กรมพัฒนาที่ดินช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต รวมถึงให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดีในการผลิตปุ๋ยใช้เอง ตลอดจนให้กรมวิชาการเกษตรให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ย เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพมาตรฐาน และจะตรวจสอบปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้น ก่อนออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้ ส่วนเรื่องเงินทุนผลิตปุ๋ยนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสินเชื่อ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนโดยให้สหกรณ์กู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 462 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีสหกรณ์ 242 แห่งแจ้งปริมาณความต้องการแม่ปุ๋ยแล้ว 67,609.55 ตัน เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยผสมใช้เองจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป 161,462 ราย โดยให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวกลางสั่งซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้า ในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้สหกรณ์การเกษตรแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้ โดยในฤดูกาลผลิตนี้มีเป้าหมายผลิตปุ๋ยผสมใช้เอง 1 แสนตัน ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์แจ้งความต้องการปุ๋ยผสมใช้เอง รวม 70,000 ตัน ซึ่งเดือนมีนาคมจะเริ่มลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกร และต้นเดือนเมษายนเริ่มดำเนินการได้ เชื่อว่าหากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยที่มาจากค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสม จะลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่า 30% เลยทีเดียว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สินเชื่อเลิกเผา มาไม่ทัน ขอไร่อ้อยปี’64 เลิกเด็ดขาด

การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62 หลายหน่วยงานดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในมาตรการระยะกลาง-ระยะยาว คือ การลดปัญหาการเผาอ้อย ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอด ว่าเกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนการเผาเพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ระบุว่า ในการประชุมร่วมกับทางผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาลมีมติให้ สอน. เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหลือ 1% และขยายระยะเวลาผ่อนชำระคืนภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ตาม “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น จากระยะที่ 1 (2559-2561) มีการอนุมัติเงินไป 1,760 ล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณการเผาอ้อยลดลง 4-5% จาก 60.45% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบ 90 ล้านบาท เหลือปริมาณการเผาอ้อยอยู่ที่ 57.05% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบในปัจจุบันอยู่ที่ 120 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ สอน.ได้ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบ 60% ต่อวัน ส่วนอ้อยไฟไหม้ 40% ต่อวัน รวมทั้งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจติดตามป้องกันการเผาอ้อย

ส่วนมาตรการระยะยาว ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมชาวไร่คู่สัญญาจัดทำแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรอย่างครบวงจร และขอให้ส่งเสริมโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร การค้ำประกันแบบกลุ่มสำหรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญารายเล็ก รวมถึงให้โรงงานน้ำตาลจัดทำแผนการลดไฟไหม้ในแต่ละฤดู

ทั้งนี้ จากมาตรการที่ออกมาคาดว่าปี 2564 จะไม่มีการเผาอ้อย และจะไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าระบบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า มาตรการที่ สอน.สรุปออกมาเป็นไปตามที่ทาง 3 สมาคมได้ยื่นหนังสือเข้าไป โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือด้านสินเชื่อและดอกเบี้ยสำหรับโรงงานน้ำตาลนำไปซื้อรถตัดอ้อยนำมาให้บริการกับเกษตรกร นอกจากนี้ยังขอให้เร่งบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาอ้อย และการหักลดราคาอ้อยที่เผาไปเพิ่มให้กับอ้อยสดด้วย

“มาตรการเหล่านี้คงบังคับใช้ไม่ทันปีการผลิต 2561/2562 เพราะขณะนี้ตัดอ้อยและเริ่มเผา เพื่อนำอ้อยเข้าโรงงานแล้ว 80 ล้านตัน เหลือ 40 ล้านตันจากผลผลิตที่คาดว่าจะมี 120 ล้านตัน จึงน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในปี 2562/2563 ส่วนเป้าหมายการลดฝุ่นจากการเผาอ้อยให้หมดไปในปี 2564 เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเผาอ้อยทำมานานกว่า 10 ปี อาจจะทำได้เพียงแค่ลดสัดส่วนการเผาอ้อยจากปัจจุบันเผาประมาณ 64-65% ให้ได้ลงครึ่งหนึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนจะทำให้หมดไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมาตรการระยะยาวด้านอื่น ๆ ที่ออกมาบังคับใช้ร่วมกันต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562

ปลัดเกษตรฯ ชี้ แบนพาราควอต เป็นอำนาจคกก.วัตถุอันตราย ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ

ปลัดเกษตรฯ ชี้มติการจำกัดใช้สารเคมี 3 ชนิดเป็นดุลพินิจของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 29 ท่าน ระบุเป็นตัวแทนจากกระทรวงเกษตรเพียง 5 อธิบดีเท่านั้น

กระทรวงเกษตรฯ ชี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสั่งยกเลิกหรือแบนได้ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างถ้าวันนี้กระทรวงเกษตรฯสั่งยกเลิกการใช้สารเคมีด้วยตนเองโดยไม่มีมติ คณะกรมการวัตถุอันตรายรองรับก็ทำไม่ได้ผิดกฎหมายอาญาหรือถ้า

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้ หรือแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วกระทรวงเกษตรฯยังไม่ยกเลิกการใช้ก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้นขอให้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ศึกษากฎหมายวัตถุอันตรายให้ชัดเจนแตกฉานด้วย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2562 นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตต่อไปได้โดยจำกัดการใช้นั้น เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรฯ โดยคณะ กรรมการฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด ยืนยัน ไม่ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือกดดันการพิจารณาเพื่อยื้อการยกเลิกออกไป

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังรอรับหนังสือมติการพิจารณาทบทวนการควบคุมสารพาราควอตอย่างเป็นทางการแต่ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า คกก. วัตถุอันตรายซึ่งมีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้คงมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 61 ต่อไปที่ให้ใช้แนวทางจำกัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งออกประกาศควบคุมการนำเข้า การใช้ และการจำหน่าย จัดทำแผนปฏิบัติการขยายการทำการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม (GAP) และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายใน 2 ปี และให้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ หานวัตกรรมในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชให้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อให้เกษตรกรปรับตัวลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายดังกล่าว

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า การพิจารณาเป็นดุลพินิจของคกก. โดยแนวทางจำกัดใช้เป็นข้อเสนอจากกระทรวงเกษตรฯ ที่ยื่นต่อประธาน คกก. เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา แต่กลุ่มผู้ต้องการให้ยกเลิกพาราควอตทันทีออกแถลงการณ์แสดงความผิดหวัง อีกทั้งมีบุคคลและองค์กรภาคเอกชนนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียตำหนิกระทรวงเกษตรฯ ในวงกว้างด้วยความไม่เป็นธรรม เพราะกระทรวงเกษตรฯไม่สามารถยกเลิกหรือสั่งแบนการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดด้วยตนเอง ต้องให้มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายสั่งก่อน กระทรวงเกษตรฯจึงจะสั่งห้ามนำเข้าได้มิฉะนั้น ก็จะถูกฟ้องได้เช่นกัน

จึงขอให้ผู้คัดค้านได้ศึกษามติทั้งในการประชุมล่าสุดและมติเดิมอย่างละเอียด ซึ่จะเห็นว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้เพิ่มเติมข้อความใดดังที่กลุ่มผู้คัดค้านกล่าวหาว่า เดิมให้ใช้พาราควอตเฉพาะในพืช 5 ชนิดคือ ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด แต่ล่าสุดให้ใช้ในไม้ผลด้วยนั้น รายละเอียดชนิดพืชเป็นแผนปฏิบัติงานของกรมวิชาการเกษตรเดิมที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนอยู่แล้วไม่ได้ให้ขยายการใช้แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อความในโซเชียลมีเดียว่า คณะกรรมการบริหารและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการกระทรวงเกษตรฯ นั้น ตนไม่เคยเห็นข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งในการประชุมวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เชิญทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯทั้ง 2 คนร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวง ซึ่งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธรรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ก็เข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่ได้นำเสนอรายงานหรือกล่าวถึงเลยว่า มีสารทดแทนที่ได้ผลดีและปลอดภัย

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาถึงวิธีการปฏิบัติอย่างการใช้เครื่องจักรกลกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมีนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึง 4 เท่า หรือหากใช้สารเคมีอื่นซึ่งยังไม่มีผลยืนยันว่า ประสิทธิภาพและระดับพิษเป็นอย่างไร ต้นทุนจะสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าเนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่สิทธิบัตรหมดแล้ว ทำให้ผู้ผลิตหลายรายผลิตแล้วแข่งขันกันจำหน่าย ราคาจึงถูกกว่าสารอื่น

นายอนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฏา บุญราช ได้สั่งการด่วนที่สุดให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดทันที โดยเร่งให้ความรู้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้จำหน่าย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้างรับฉีดพ่นสารเคมี โดยจะทำให้เร็วที่สุด จัดตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีระดับกระทรวง โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นเลขานุการ ต้องรายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน ให้กรมวิชาการ

สำรวจสต๊อกสาร 3 ชนิดทั้งจาก ผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายซึ่งมีถูกระบุว่า มีการได้กักตุนสารเคมีเหล่านี้ไว้เป็นจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อยืนยันให้สาธารณชนมั่นใจในการลดการนำเข้า รวมทั้งให้เร่งจัดทำแผนขยายทำการเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในเดือน 31 ธันวาคม 2563

จาก www.thansettakij.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562

รับมือความเสี่ยงค่าเงิน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาชี้แจงสาเหตุการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่แข็งค่าขึ้น 3.93% มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง แม้ว่าการส่งออกจะชะลอลงจากภาวะการค้าโลกที่ตึงเครียด แต่การนำเข้าชะลอลงด้วย ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปรับดีขึ้นมากในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีชั่น รวมทั้งยังมีเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนระยะยาวมากขึ้น

เมื่อเจาะลึกลงตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2561 จำนวน 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ พบว่าเป็นการเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และเป็นการเกินดุลบริการ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่าเป็นการเกินดุลที่เกิดขึ้นจากภาคเศรษฐกิจจริง ขณะตลาดเงินตลาดทุนตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเงินไกลออกจากตลาดพันธบัตรไทย 407 ล้านดอลลาร์ ไหลเข้าตลาดหุ้น 123 ล้านดอลลาร์ ทำให้ภาพรวมมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องค่าเงินเป็นประเด็นอ่อนไหว เปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน ที่เวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อน จะมีทั้งคนได้คนเสีย โจทย์สำคัญไม่ใช่ดูว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับเท่าใด แต่ควรดูว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้อย่างไร โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ยังนำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันด้านราคาจะต้องเร่งปรับตัว เพราะการแข่งแต่ราคาอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า ให้มีจุดขาย มีความต่าง

อันที่จริงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การใช้เครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่จากข้อมูลพบว่าผู้ส่งออกมักจะเร่งทำตอนค่าเงินแข็ง ไม่ใช่ได้ทยอยทำ หรือ การเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นหรือเงินสกุลของคู่ค้าเป็น invoice currency แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันแม้เราจะค้าขายโดยตรงกับสหรัฐเพียงประมาณ 10% แต่ในการซื้อขายส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปเงินดอลลาร์กว่า 70%

ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีหลายปัจจัยรุมเร้า ที่พร้อมส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

จาก www.thansettakij.com วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562

ก.เกษตรฯรับลูก’สมคิด’หนุนเกษตรกรร่วมแปลง สั่งสำรวจที่ดินส.ป.ก.35ล้านไร่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องปรับแนวคิดในการแก้ปัญหาในเรื่องของที่ดินในการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรประกอบอาชีพโดยปราศจากความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงให้น้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายในการปฏิรูปภาคเกษตรให้เกิดความยั่งยืน โดยนำบิ๊กดาต้ามาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งต้องมีข้อมูลของเกษตรกร และพื้นที่ทำการเกษตรที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยดึงเอกชนเข้ามาเชื่อมโยงเพื่อหาตลาดรองรับในสินค้าที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก เพิ่มรายได้และหวังให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนโดยเร็ว

“จากการสำรวจข้อมูลเกษตรกร พอรู้ว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อลดต้นทุน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูกไปจนถึงการหาตลาดรองรับ เมื่อรวมแปลงได้ ให้ดึงเอกชนเข้ามา และจัดหาวิธีและรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสินค้า อาจให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ แล้วให้เกษตรกรรับจ้าง หรือเมื่อรวมแปลงกันได้ ให้นำที่ดินให้เอกชนเช่าลงทุนทำเกษตร โดยมีเงื่อนไขว่าต้องจ้างเกษตรกรในพื้นที่มาเป็นแรงงาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกหนึ่งทาง แล้วเมื่อผลผลิตออกมาก็แบ่งปันผลผลิตระหว่าง เอกชนผู้เช่า และเกษตรกรเจ้าของที่ดิน แบบนี้เกษตรกรจะได้ประโยชน์ 2 ต่อ โดยไม่ต้องลงทุนมากและไม่มีความเสี่ยง” นายสมคิด กล่าว

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ไปสำรวจพื้นที่ โดยมีพื้นที่ที่จัดสรรไปแล้ว 35 ล้านไร่ ว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่ถือครองได้ใช้ประโยชน์หรือไม่ ในด้านใดบ้าง มีเกษตรกรสูงวัย ที่ทำการถือครองสิทธิแล้วทำไม่ไหว และลูกหลานไม่สนใจภาคการเกษตรบ้างหรือไม่ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลทั้งหมด มาวิเคราะห์และจัดทำแผนการจัดการที่ดินเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในภาคการเกษตรให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีเกษตรกรสูงวัยที่ถือครองอยู่ หากเริ่มเพาะปลูกไม่ไหว ไม่มีลูกหลานสืบทอด ก็ควรปล่อยเช่า โดยการรวมกับพื้นที่ข้างเคียงเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ เชื่อมโยงกับภาคเอกชน ตามแผนปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาด ที่มีผู้จัดการแปลงดูแล ซึ่งวิธีการดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วยังเป็นการใช้ที่ดินให้คุ้มประโยชน์ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ส.ป.ก. ต้องส่งมอบข้อมูลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ขณะนี้ที่ดิน ส.ป.ก.มีจำนวน 39 ล้านไร่ มีการจัดสรรแล้ว 35.9 ล้านไร่ คอรบคลุมเกษตรกรจำนวน 2.85 ล้านคน โดยพื้นที่ประมาณ 31.54 ล้านไร่ เหมาะสมกับการทำการเกษตร ซึ่งในพื้นที่ที่เหมาะสมก็มีการจัดระดับความเหมาะสม คือ 7% ของพื้นที่ที่เหมาะสมทำการเกษตร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมาก 59% ของพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำการเกษตร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมปานกลาง 19% ของพื้นที่ ที่เหมาะสมในการทำการเกษตร และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมน้อย 5.07% ของพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำการเกษตร เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมเลย ประมาณ 9%

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562

ชาวไร่อ้อยครวญตกเป็นจำเลยปม pm2.5

ชาวไร่อ้อยร้องอย่าให้เกษตรกรตกเป็นจำเลยสังคมกรณีต้นเหตุปัญหาฝุ่น ชี้ควรแก้ที่โรงงานรับซื้อก่อนเป็นอันดับแรก

จากการที่หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้ประสบกับปัญหามลภาวะเป็นพิษ pm2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงปัญหาไฟป่าที่ลุกลามไหม้ตามสถานที่ต่างๆเป็นวงกว้าง ซึ่งจากปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการเล็งมาที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยซึ่งจะมีการเผากันมากในช่วงเวลานี้ว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหามลพิษโดยมีการระบุสาเหตุของฝุ่นมาจากกิจกรรมการเผาของเกษตรกร จนทำให้ชาวไร่อ้อยกลายเป็นจำเลยของสังคมไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบถามถึงสาเหตุจำเป็นในขั้นตอนการเก็บผลผลิตของเกษตรกรพบว่าชาวไร่อ้อยหลายรายยังคงใช้วิธีการเผาใบอ้อยเพื่อเก็บผลผลิตเช่นเดิมมิได้ใส่ใจกับคำเตือนห้ามเผาจากทางภาครัฐเท่าใดนัก

จากการสอบถามนางเทียน วิลัย เกษตรกรชาวไร่อ้อยในตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สาเหตุหลักที่เกษตรกรใช้วิธีการเผาใบอ้อยก่อนทำการตัดก็เพราะแรงงานในการตัดนั้นหายากมักปฏิเสธการตัดอ้อยสดเนื่องจากต้องสางใบอ้อยออกก่อนทำการตัดซึ่งทำให้ยุ่งยากและมีราคาแพงกว่า โดยอ้อยตัดสด 10 ลำอ้อยจะตัดในราคา 4 บาท ส่วนอ้อยเผาไฟ 15 ลำ 2 บาท ซึ่งความแตกต่างทางด้านราคาก็เป็นอีกปัจจัยที่เกษตรกรใช้วิธีการเผาใบก่อนตัด ซึ่งตามความจริงเกษตรกรไม่มีใครอยากเผาใบอ้อย เพราะทราบดีถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งมลพิษทางอากาศและการที่ส่งผลกับหน้าดิน รวมถึงถูกหักค่าปนเปื้อนแต่เพราะว่าเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการที่ผลักให้ชาวไร่อ้อยเป็นตัวการก่อมลพิษนั้นคงไม่ถูกต้องเสียทีเดียวเนื่องจากการเผาก่อนตัดอ้อยนั้นได้ทำการเผามาก่อนหน้านี้เป็นสิบๆปี ไม่เคยมีปัญหารวมถึงสภาพอากาศในเมืองกรุงที่ไม่ได้มีไร่อ้อยแต่ก็ประสบปัญหามลพิษได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เพียงแค่ชาวไร่อ้อยเท่านั้นที่ควรรับผิดชอบกับปัญหานี้เพียงลำพัง ส่วนการแก้ปัญหาถ้าจะไม่ให้เกษตรกรเผาใบอ้อยควรให้โรงงานน้ำตาลลงมาทำความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยในการรับซื้อ เนื่องจากถ้าตัดอ้อยสดส่งโรงงานแล้วมีใบอ้อยติดไปด้วยโรงงานก็ปฏิเสธการรับซื้อทำให้เป็นปัญหากับชาวไร่ รวมถึงการเพิ่มปริมาณรถในการตัดอ้อยเพื่อลดการรอคิวนานข้ามเดือนของชาวไร่อ้อยอีกด้วย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ผู้ว่าฯโคราชเตือนเกษตรกรเผาอ้อยถูกจับแน่

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โชว์เครื่องวัดฝุ่น PM2.5 ยันพื้นที่ไม่มีปัญหา เตือนเกษตรกรเผาอ้อยถูกจับแน่

 ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้นำเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดนครราชสมา และผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกันรณรงค์งดจุดธูปเทียน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา โดยได้นำเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จำนวน 1 เครื่อง มาตรวจวัดค่าฝุ่นละอองในพื้นที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เพื่อยืนยันกับสื่อมวลชนว่าพื้นที่นี้ไม่มีปัญหาค่าฝุ่นละออกขนาดเล็ก PM2.5 เกินมาตรฐาน

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ในสวนของพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตนยืนยันว่ายังไม่มีปัญหาค่าฝุ่นลองขนาดเล็ก PM2.5 แน่นอน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายนนี้ ทางจังหวัดนครราชสีมา ก็ได้มีการวางมาตรการรณรงค์ป้องกันไว้ 6 มาตรการ ประกอบไปด้วย 1.มาตรการตรวจจับควันดำ รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล 2.มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง 3.มาตรการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด 4.มาตรการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ 5.มาตรการเร่งคืนสภาพพื้นผิวการจราจรจากการก่อสร้าง และ 6.มาตรการรณรงค์ขอความร่วมมือลดการจุดธูปเทียน

และเพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา เกิดความมั่นใจว่าในพื้นที่ยังไม่มีปัญหาค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน จึงได้นำเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ของ มทส.ซึ่งมีอยู่เพียง 1 เครื่อง มูลค่ากว่า 7 แสนบาท โดยจะนำมาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเมืองนครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีการจราจรหนาแน่นมากในช่วงเช้า และช่วงเย็น คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจะวัดค่าฝุ่นละอองโดยใช้เวลาวัดค่าเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง แล้วจะนำข้อมูลการวัดค่าได้มาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป

ส่วนการตรวจวัดค่าโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่จำนวนกว่า 1,700 กว่าแห่ง ซึ่งได้คัดแยกออกมาจำนวน 98 แห่ง ตั้งอยู่ใน 13 อำเภอ ที่เสี่ยงต่อการปล่อยค่าฝุ่นละออง PM2.5 เพราะเป็นโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงชีวะมวล โรงงานแป้งมัน และโรงสีข้าว เป็นต้น โดยตนเองได้สั่งการให้แต่ละอำเภอได้จัดตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้ก็ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย งดการเผาอ้อย เพราะการเผาอ้อยนอกจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการลุกลามไปไหม้บ้านเรือน และบ่อยครั้งจะพบมีผู้สูงอายุถูกไฟครอกเสียชีวิตในไร่อ้อยด้วย ดังนั้นถ้าตรวจพบว่ามีใครเผาอ้อยในช่วงนี้ จะต้องถูกจับดำเนินคดีทันที ขณะเดียวกันโรงงานน้ำตาลต่างๆ ก็ได้ตัดเงินสำหรับอ้อยที่ถูกเผาลงตันละ 30 บาทด้วย เพื่อเป็นการรณรงค์ไม่ให้เกษตรกรเผาอ้อยก่อนตัดส่งโรงงานในช่วงนี้

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เกษตรฯแจงอีกรอบ!คืบหน้า6มาตรการแก้ปัญหา'พาราควอต'

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ.62 ที่ประชุมมีมติยังไม่แบนการใช้ 3 สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ พาราควอต , คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แต่ต้องมีการขึ้นทะเบียน รวมทั้งมีมติเห็นชอบมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร เสนอใน 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านกฎหมาย โดยเตรียมเสนอร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ การออกกฎหมาย ซึ่งมีสาระสำคัญในการประกาศควบคุม จำกัดปริมาณการใช้ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ ชนิดพืชที่ใช้ได้ เป็นต้น โดยห้ามใช้ในนาข้าวและพืชผัก แต่ยกเว้นพืชไร่พืชสวนบางชนิด เช่น อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น

2.มาตรการให้ความรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ โดยการอบรมให้ความรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คนนำไปใช้มีองค์ความรู้ในการใช้อย่างปลอดภัย ซึ่งได้อบรมไปแล้ว 2 หลักสูตร ผู้เข้าอบรม 100 คน และเตรียมขยายผลในวงกว้างต่อไป 3.ให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาหาแนวทางเพื่อทางเลือกในการทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีดังกล่าว รวมทั้งการหาแนวทางนำสารเคมีชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย 4.มาตรการติดตามและบันทึกข้อมูลการใช้วัตถุอันตรายอย่างเป็นระบบ 5.มาตรการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และ 6.มาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งได้เสนอขอรับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้แต่งตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงานระดับกระทรวง และวางแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีเจ้าหน้าที่กระจายอยู่ในระดับพื้นที่ โดยจะต้องมีการรายงานความก้าวหน้าทุก 3 เดือน สำหรับประเด็นการตรวจสอบสต็อกสารเคมีภายในสถานประกอบการนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งรัดให้สารวัตรเกษตรลงพื้นที่สำรวจปริมาณสารเคมี แล้วรายงานกลับมายังกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการมาตรการลดการนำเข้าวัตถุอันตรายอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยสามารถลดการนำเข้า สารพาราควอต , ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในปี 2562 ได้เท่ากับ 21,709 ตัน 48.501 ตัน และ 1,178 ตัน ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากสถิติเฉลี่ยการนำเข้า ปี 2557 ถึง 2559 คิดเป็นร้อยละ 25 (พาราควอต และไกลโฟเซต) และร้อยละ 55 ตามลำดับ นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการ ทั้งงบประมาณ การขอความร่วมมือช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน ซึ่งอาจช่วยให้ระยะเวลาดำเนินการเร็วขึ้นใน 2 ปี (ธ.ค.63)

สำหรับรายละเอียดร่างประกาศ ที่กรมวิชาการเกษตรเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ.62 อาทิ การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้ ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการพ่นสารเคมีจะต้องผ่านการอบรมก่อน รวมทั้งกำหนดให้มีการปิดฉลากที่เห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด ที่สื่อความหมายว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตมนุษย์ การประกาศเขตห้ามใช้/ครอบครอง/จำหน่ายสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในพื้นที่ต้นน้ำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนปริมาณที่เกษตรกรสามารถซื้อได้จะสัมพันธ์กับชนิดพืชที่ปลูกและจำนวนไร่ สอดคล้องกับที่เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

จี้ ธปท.คุมค่าบาทห่วงกระทบส่งออก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องดูแล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. แล้ว และกำชับให้ดูแลสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้ เพราะยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรแพงขึ้น กระทบรายได้เกษตรกรให้ลดลงตาม แต่ในขณะเดียวกัน ภาคเกษตรก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกด้วย

ด้านนายวิรไท กล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่พบความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ยอมรับว่าในบางช่วงเงินบาทอาจแข็งค่าเร็วเกินไป โดย ธปท.ได้เข้าไปดูแล และพบว่าเงินทุนที่ไหลเข้าไทยเป็นเงินที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด โดยในปี 2561 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการเกินดุลด้านการท่องเที่ยวและบริการอีก 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากการท่องเที่ยวจีนที่กลับมาเที่ยวตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/2561

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลล่าร์สหรัฐ ที่ส่งผลให้เงินสกุลของประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย ธปท. ได้มีการติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด

โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่เห็นความผิดปกติ ซึ่งในระยะสั้นหากเห็นความผิดปกติจากการเก็งกำไร หรือการเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงไม่สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแลเหมือนที่ผ่านมา

“อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมากจากการเก็งกำไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีก 0.25% จนทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในปีนี้ต่างจากปีก่อน ๆ คือ ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย 407 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 123 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ภาพรวมมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยนโยบายของไทย อยู่ที่ 1.75% ยังต่ำกว่าของสหรัฐ ที่ 2.25-2.5% และต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม ที่ 6.25% อินโดนีเซีย 6.75% ฟิลิปปินส์ 4.75% มาเลเซีย 3.25%” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวยืนยันอีกว่า เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนคงไม่สามารถกำหนดอัตราคงได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลต่อกระทบค่าเงินบาทมาก โดยเฉพาะความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ เศรษฐกิจโลก และการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเรื่องค่าเงินจึงกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว เหมือนเหรียญสองด้านที่เวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า จะมีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ รวมทั้งเป็นประเด็นที่ถูกจับตา ทำให้ ธปท. ต้องระวังไม่ให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้า นั่นจะส่งผลให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลง

ดังนั้น โจทย์สำคัญไม่ใช่ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับใด แต่อยู่ที่ว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมากกว่า โดยหากพิจารณาตัวเลขความผันผวนของค่าเงินบาท ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่ มองว่าเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนได้มากขึ้น และอยากให้ใช้ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้และยังต้องปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้สินค้าไทยแข่งขันกับคู่แข่งได้ ไม่ใช่เน้นเรื่องราคา เพราะจะไม่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบการเงินมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายให้มากขึ้นด้วย

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ผลิตเอทานอล จากกากน้ำตาล-มันสำปะหลัง

เรื่อง วราภรณ์ เทียนเงิน

การทำวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมคือสิ่งสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรไทยที่ต้องยกเครื่องใหม่ ทำให้หน่วยงานภาครัฐไทย ทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพิ่มมูลค่าให้แก่กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง

 “สายันต์ ตันพานิช”รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วว.ได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานทำโครงการ พัฒนาเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล โดยผลการวิจัยสามารถผลิตเอทานอลด้วยการใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูง ทำได้จากวัตถุดิบจากทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ส่งผลต่อการเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลและลดต้นทุนในการผลิต

ตามแผนของประเทศไทยกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและใช้เอทานอลให้ได้ 11.3 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 และปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลรวม 26 โรงงานมีกำลังการผลิตรวม 5.79 ล้านลิตร/วัน และมีการใช้เอทานอลในประเทศช่วงปีก่อน (ม.ค.-พ.ย. 2561) รวม 4.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 5.6% จากปีก่อนหน้านี้ จึงจำเป็นต้องมีการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้การผลิตเอทานอลของไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน

“พพ.ได้ร่วมกับ วว. ภายใต้การสนับสนุนการวิจัย จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอล ในปัจจุบันโครงการวิจัยได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว” สายันต์ กล่าว

นักวิจัยของ วว. ระบุว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรทางชีวภาพจำนวนมาก สามารถที่จะผลิตเชื้อยีสต์ที่มีศักยภาพในการผลิตเอทานอล เทียบเท่ากับยีสต์อุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ดังนั้นประเทศไทยควรส่งเสริมการวิจัยทางชีวภาพและลงทุนในด้านนี้มากขึ้นเพื่อขยายสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ของประเทศไทยในระยะยาว

“พงศธร ประภักรางกูล” นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. กล่าวว่า การทำวิจัยในครั้งนี้เพื่อร่วมส่งเสริมการใช้เอทานอลในประเทศไทยและการร่วมสร้างเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืน ที่ต้องมีการส่งเสริมด้านต้นน้ำด้วย เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคเกษตรกรในระยะยาว

 “โครงการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และโครงการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ที่จะส่งผลต่อการผลิตเอทานอลให้แก่ประเทศไทยมีความยั่งยืน และทำให้ลดต้นทุนในการผลิตลง พร้อมกับการพัฒนาเชื้อยีสต์ให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมโดยผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อปรับระบบการผลิตใหม่” พงศธร กล่าว

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

"สภาเกษตรกรฯ"ตามรอยพ่อใช้ไบโอดีเซล

"สภาเกษตรกรฯ"รณรงค์ขยับใช้น้ำมันปาล์ม ไบโอดีเซล B100 ตามรอยเท้าพ่อ เร่งพัฒนาปาล์มน้ำมันเพิ่มทางเลือกในการใช้และมีปริมาณ ที่สมดุ

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปาล์มน้ำมันปัจจุบันยังไม่ดีขึ้นเกษตรกรขายปาล์มได้ในราคา 2.8  – 3 บาท  ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน ราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่สามารถที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ เพราะราคาน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ตกต่ำเช่นกัน การใช้ปาล์มในประเทศไทยต้องมีแผนการใช้ภายในประเทศทั้งการบริโภค การผลิตไบโอดีเซล และสต็อกน้ำมันปาล์ม แล้วนำมากำหนดเสถียรภาพราคาภายในประเทศให้เกษตรกรขายปาล์มคุณภาพในราคากิโลกรัมละ 4 บาท

ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ก็ขยับราคา 18 – 20 บาท ปาล์มจะอยู่ได้ตลอดทุกวงจร เกษตรกร โรงงานสกัดน้ำมันดิบ โรงงานแปรรูปอยู่ได้หมด การขยับจาก B7 เป็น B10  B20  B100  เพื่อให้เป็นทางเลือกผู้ใช้น้ำมัน ปาล์มที่ผลิตภายในประเทศจะไม่เพียงพออย่างแน่นอนขอยืนยัน แต่ต้องแยกประเภทการใช้ B10 เหมาะกับการใช้ในรถรุ่นใหม่ รถเล็ก รถที่ใช้หัวฉีดคอมมอนเรล B20 รถคันใหญ่ B100เครื่องจักรกลหนัก ใหญ่ เช่น เรือข้ามฟาก เรือเดินทะเล รถแบคโฮ รถแทรกเตอร์ 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติโดยนายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เคลื่อนไหวการรณรงค์ใช้น้ำมัน B100 อยู่ ด้วยการจัดโครงการ “รณรงค์การใช้น้ำมันไบโอดีเซลคาราวาน B100 ตามรอยเท้าพ่อ”  โดยจัดขบวนรถคาราวาน B100 วิ่งจากจังหวัดกระบี่ ปล่อยขบวนรถวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ณ หน้าสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ เข้าสู่กรุงเทพฯ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 และการสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร” ณ โรงแรมเอส ดี อเวนิว ถนนบรมราชชนนี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปรับโครงสร้างการผลิตและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พืชพลังงานเป็นพลังงานทางเลือก รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นไบโอดีเซล B100

"คณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานได้น้อมนำพระราชดำริเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาภาระของประเทศในยามวิกฤติในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานทางเลือกไบโอดีเซล B100 ตามพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศไทยให้มีทางเลือกในการใช้และมีปริมาณการผลิตที่สมดุลเพียงพอกับความต้องการของประเทศ ทั้งด้านอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป" นายสิทธิพร กล่าว

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ธปท.ห่วงเงินบาทแข็งค่าเร็ว ย้ำ! ความผันผวนยังคงอยู่

ธปท. ห่วงเงินบาทแข็งค่าเร็ว ย้ำ! ความผันผวนยังคงอยู่ต่อไป เหตุทั้งปัจจัยดอลลาร์อ่อน-พื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี เผย เงินทุนไหลออกกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมยกระดับดูแล ถ้าพบความผิดปกติ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น สอดคล้องกับสกุลเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัย อาทิ ผลจากการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ เหตุการณ์ซัตดาวน์ที่ยาวนาน ขณะที่ บางประเทศขายหุ้นจำนวนมากเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุน แม้กระทั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับท่าทีการจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจากเดิม นอกจากนี้ ประเด็นเจรจาการค้าที่ยังไม่คืบหน้า หรือ ภาวะเศรษฐกิจโลก และการเมืองเหล่านี้ส่งผลต่อความมั่นใจ ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลกระทบสกุลเงินกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเงินบาทอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับค่าเงินกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เช่น รูเบิล เรอัล เป็นต้น

"กรณีเงินบาทที่แข็งค่านั้น ยังมีเสถียรภาพค่อนข้างดีจากปัจจัยพื้นฐาน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว แต่ข้อสังเกตุที่ระบุว่า ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินทุนไหลเข้านั้น ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยอดขายพันธบัตรสุทธิ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนตลาดหุ้นนักลงทุนขายออก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ"

ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเห็นว่า มีเงินทุนไหลออกมากกว่าไหลเข้า ขณะที่ ดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศอัตราสูงกว่าไทย นอกจากนี้ ปัจจัยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูงในปี 2561 จำนวน 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็น การเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกินดุลบริการ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. เดือนเดียวไทยเกินดุลฯ 5,000 ล้านดอลลาร์ฯ (เป็นสินค้า 50% และบริการอีก 50%) บวกกับเงินลงทุนโดยตรงและราคาทองคำทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็ว

โจทย์ของประเทศไทยต้องทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งความผันผวนยังอยู่ต่อไป ดังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วนช่วยกันแก้ปัญหาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เช่น ไทยยังมีการลงทุนต่ำ

ผู้ว่าการ ธปท. ยังแนะนำให้ภาคธุรกิจเห็นความสำคัญการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกไทย ทั้งการทำฟอร์เวิล์ดและโครงการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยขอให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมในโครงการทดลองกับธนาคาร 8 แห่ง เพื่อทดลองซื้อ FX Optionในวงเงิน 50,000 บาทต่อรายฟรี

"จึงเป็นโอกาสนำเข้าสินค้าทุนหรือหันมาแข่งขันด้วยคุณภาพไม่ใช่แข่งกันที่ราคา ซึ่งเราเห็นผู้นำเข้ามีวินัยปิดความเสี่ยงแต่ผู้ส่งออกทำเป็นช่วง ๆ คือ แห่ทำตอนเงินบาทแข็งซึ่งยิ่งกดบาทเคลื่อนไหวเร็ว"

ทั้งนี้ ธปท. ยังติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด แต่ยังไมพบความผิดปกติ โดยพร้อมจะเข้าดูแลและยกระดับติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างระมัดระวัง

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แก้ปัญหาเผาไร่อ้อย

การจุดไฟเผาไร่อ้อยถูกระบุว่าเป็นอีกสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นมลพิษ ซึ่งเกษตรกรหลายรายเผยว่าจำเป็นต้องเผาเพื่อให้คนงานเข้าไปตัดอ้อย และปัญหาราคาของรถตัดอ้อยที่สูงมากราว 5-10 ล้านบาท

เกษตรกรที่ปลูกอ้อยในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เร่งใช้รถตัดอ้อยเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งเข้าโรงหีบอ้อยให้ทันตามกำหนด ซึ่งแต่ละปีมีระยะเวลาเปิดหีบเพียงประมาณ 120 วัน การใช้รถตัดอ้อยแบบนี้ช่วยประหยัดเวลาและลดการใช้แรงงาน หากไม่ใช่รถตัดจะต้องเผาไร่อ้อย เพื่อให้ตัดง่ายขึ้น แต่จะทำให้เกิดฝุ่นควันจำนวนมากลอยกระจายในอากาศ  

รถตัดอ้อย 1 คัน สามารถตัดอ้อยได้กว่า 20,000 ตันต่อปี แต่ไม่ใช่เกษตรกรทุกคนที่จะมีรถตัดอ้อยเป็นของตัวเองได้ เพราะรถ 1 คัน มีราคาสูงตั้งแต่ 5 ล้านบาท ไปจนถึงหลักสิบล้านบาท

อ้อยที่ตัดขายมีอายุเฉลี่ย 11-12 เดือน เมื่อถึงช่วงการเปิดโรงหีบอ้อยต้องรีบตัดขายทันที หากเลยกำหนดจะไม่สามารถขายได้ ต้องตัดทิ้งหรือขายเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีรถตัดอ้อยต้องพึงพาแรงงานคน แต่ด้วยสภาพไร่อ้อยที่รกทึบ มีใบจำนวนมากและมีความคม ทำให้คนงานเลือกรับงานเฉพาะไร่อ้อยที่มีการจุดไฟเผาต้นอ้อย เพราะตัดง่าย ใช้เวลาน้อยกว่าการตัดอ้อยสด หากไม่ยอมเผาจะทำให้หาคนงานตัดอ้อยไม่ได้

ในฤดูการผลิตอ้อยปี 61/62 ประเมินว่ามีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 11 ล้านไร่ ขณะนี้มีปริมาณผลผลิตอ้อยไฟไหม้เข้าสู่โรงงานกว่า 34 ตัน แม้ปริมาณอ้อยไฟไหม้จะลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมา แต่ยังพบว่าการเผาอ้อยเป็นอีกสาเหตุในการสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในหลายจังหวัดที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา และกาญจนบุรี

เกษตรกรรายนี้ระบุว่า หากเลือกได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากเผาไร่อ้อย เพราะเมื่อขายให้โรงงานจะถูกหักราคา 30 บาทต่อตัน เพื่อนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด และการเผาไร่อ้อยยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยหลายรายยอมรับว่ามีหลายพื้นที่ที่แม้ภาครัฐจะขอความร่วมมืองดการเผาไร่อ้อย แต่ก็ยังมีการลักลอบเผา ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิด

กฎหมาย มีโทษทั้งปรับและจำคุก ปัญหาการเผาไร่อ้อยมาจากสาเหตุหลัก คือ การขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยมากที่สุด ขณะเดียวกันรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละฤดูการผลิต จึงไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยได้ เพราะมีราคาสูงหลักล้านถึงสิบล้านบาท และยังมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ขอสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยจะต้องมีโรงงานที่รับซื้อผลผลิตเป็นผู้ค้ำประกัน.

จาก https://www.tnamcot.com    วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แฉเบื้องหลัง!จำกัดการใช้ 'สารเคมี' ก.เกษตรฯ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เวลา 15.30 น. ได้เชิญนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนายลักษณ์ วจนานวัช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 2 ท่านพร้อมปลัดเกษตร และ 5 อธิบดี ได้แก่ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  (มกอช.)ได้ประชุมหารือว่าจะใช้แนวทางไหนในการพิจารณาอย่างไรกับการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด

"โดยในที่ประชุมได้มีการหารือ มีปลัดเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเสนอให้ใช้เวลาจำกัดการใช้สารฯเป็นเวลา 3 ปี แต่ผมหักดิบให้เหลือ2 ปีโดยให้เหตุผลว่า 3 ปีเหมือนไปถ่วงเวลาสังคมไม่ยอมรับแน่! พร้อมทั้งลงมือร่างแผนขั้นตอนการจำกัดสารเคมีด้วยตนเองเพราะกลุ่มอธิบดีเขียนมาแล้วอ่านแล้วเข้าใจยากไม่รู้ว่ามีขั้นตอนการจำกัดอย่างไรที่จะนำไปสู่การประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด"

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า  วันนี้มีการประชุมคณะวัตถุอันตรายฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ปรากฎว่ามีข้อความดังที่ให้ร้ายและไม่เป็นความจริงๆ ปรากฎในเพจโซลเซียล ซึ่งทำให้นายกฤษฎา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีที่ขยันที่สุดในรัฐบาลประยุทธ 5 โมโหปรี๊ดที่ถูกคนเป็นหมอใช้คำพูดแบบเเรงมาด่ากันทั้งที่ตั้งใจทำอย่างดีที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงมีข้อความผ่านไลน์ ให้กำลังใจข้าราชการ พร้อมกับให้ปลัดเกษตรฯส่งให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาคำพูดที่เขาเขียนในเฟสบุคส์นี้เข้าเงื่อนไขผิดกฎหมายหรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ ให้แจ้งความดำเนินคดีด้วย"

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

"กฤษฏา"ชงแผนทำเกษตรทดแทนเคมีวันนี้ 

"กฤษฏา"เคาะแผนปฏิบัติวิธีทำเกษตร ทดแทน เลิกใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3ชนิด ชง กก.วัตถุอันตราย วันนี้ 

                      นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานทึ่เป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย 

                    ทำร่างแผนปฏิบัติการทำการเกษตร และวิธีปฏิบัติทดแทนการใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิดในการเพาะปลูก เช่น พาราควอต คอร์ไพริฟอส ไกลโฟรเซต โดยไม่ต้องใช้สารเตมี เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันนี้ซึ่งจะต้องนำร่างมาให้ตนดูก่อนเที่ยง  และเสนอเข้าที่ประชุม จะพิจารณาทบทวนมติอนุญาติให้ใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด

                    "ยืนยันว่ารมว.เกษตรฯและปลัดกระทรวง และ 5 อธิบดีที่เป็นกรรมการวัตถุอันตราย ไม่เห็นด้วยกับการทำเกษตรใช้สารเคมี ที่มีผลเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ มาใช้ในการทำเกษตรกรรม และเมื่อไม่เห็นด้วยแล้ว เราต้องแสวงหาวิธีแนวทางการทดแทนใช้สารเคมี ซึ่งขณะนี้พบแล้วเราจำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยวิธีการที่จะมาแทนขอไปอธิบายให้คณะกรรมฯเห็นชอบก่อน จึงจะประกาศว่ามีขั้นตอนดำเนินการทำเกษตรอย่างไรที่ถูกวิธี โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี"นายกฤษฏา กล่าว

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วังขนาย ผนึก อาชีวะ ผลิตคนป้อนอุตฯ

 วังขนายจับมืออาชีวะ ผลิตคนคุณภาพป้อนอุตสาหกรรม (ความหวาน) อ้อยและน้ำตาลทราย

 ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับบริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด และบริษัทในกลุ่มวังขนาย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งรับมอบทุนสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 45 คน จาก 9 สาขาวิชา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 24 คน จาก 5 สาขาวิชา ซึ่งการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ และเป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการในเรื่องการจัดหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน การจัดการฝึกอาชีพ การวัดและประเมินผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ที่ยังต้องการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

 สำหรับการลงนามความร่วมมือ ระหว่างสอศ. และกลุ่มวังขนายในครั้งนี้ เป็นการลงนามความร่วมมือต่อเนื่องจากปี 2557 ที่กลุ่มวังขนายเปิดโอกาสให้บุตร หลานของเกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่ผ่านการคัดเลือกได้เข้ามาศึกษาในระบบทวิภาคีกับ 10 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม วิทยาลัยสารพัดช่างมหาสารคาม วิทยาลัยเทคนิคชัยภูมิ วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม วิทยาลัยการอาชีพบัวใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง วิทยาลัยการอาชีพอู่ทอง และวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี

 ทั้งนี้ ความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ระหว่างทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการส่งเสริมการเรียนการสอนสายวิชาชีพ เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาที่สามารถพัฒนากำลังคน ด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมประเภทนี้ รวมถึงเพื่อเป็นการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมภาพรวมของประเทศ

 ด้านนายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของกลุ่มวังขนาย คือ การพัฒนามนุษย์ พนักงาน และเยาวชน ให้มีความรู้ เพิ่มทักษะวิชาชีพ แลเห็นว่าสอศ.     เป็นสถานศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี จึงมีความร่วมมือกันตั้งแต่ ปี 2557 โดยมีพนักงาน และบุตรหลานชาวไร่ของกลุ่มวังขนาย เข้าศึกษาในระบบทวิภาคีและจบการศึกษาแล้ว จำนวน 290 คน ซึ่งในปี 2562 กลุ่มวังขนาย และสอศ.ได้คัดเลือกนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาในระบบทวิภาคีกับ 10 วิทยาลัย สังกัดสอศ. จำนวน 69 คน ระดับปวช. จำนวน 45 คน สาขาช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างซ่อมบำรุง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน เทคโนโลยีโลหะการ เครื่องกล ช่างยนต์ ช่างเชื่อมโลหะ และสาขาพืชศาสตร์ และระดับปวส.จำนวน 24 คน สาขาเทคโนโลยีเครื่องกล เทคโนโลยีไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกลโรงงาน และช่างยนต์ พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา ตลอดระยะเวลาการศึกษา จำนวน 3 ล้านบาท โดยนักเรียน นักศึกษา จะได้รับความรู้จากวิทยาลัย ได้ฝึกปฏิบัติจริงในโรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย และเมื่อจบการศึกษาจะมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับกลุ่มวังขนายอีกด้วย

จาก www.banmuang.co.th    วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เร่งแก้ปัญหาเผาไร่อ้อย โรงกลั่นทุกแห่งผลิตน้ำมัน EURO ปี 66

เร่งสนองวาระแห่งชาติแก้ฝุ่นอันตราย โรงกลั่นทุกแห่งผลิตน้ำมันยูโร 5 ปี 66 ส่วนปี 64 ปัญหาไร่อ้อยไฟไหม้ต้องเป็นศูนย์

สถานการณ์ฝุ่นอันตราย PM 2.5 กลับมารุนแรงในเขตกรุงเทพอีก ในขณะที่หลายพื้นที่ทั้งเหนือ อีสานก็ประสบปัญหาเช่นกัน เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข กระทรวงอุตสาหกรรมประชุมประกาศปี 64 อ้อยไฟไหม้จะเป็นศูนย์ กระทรวงพลังงานเร่งแผนประกาศใช้น้ำมัน EURO ภายในปี 66

โดยกรมควบคุมมลพิษได้ระบุถึงปัญหาของ ฝุ่น PM 2.5 ว่าร้อยละ 60 เกิดจากรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ร้อยละ 35 เกิดจากการเผาในภาคเกษตร และร้อยละ 5 เกิดจากภาคอุตสาหกรรม ทุกหน่วยงานจึงไปหาทางแก้ปัญหาทุกรูปแบบมีการเข้มงวดจับรถควันดำ วานนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับค่ายรถยนต์ประกาศจะผลิตรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ทั้งหมดภายในปี 64

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าโรงกลั่นทั้ง 6 รายพร้อมผลิตน้ำมันดีเซลคุณภาพยุโรประดับที่ 5 หรือยูโร 5 ได้ทั้งหมดภายในปี 2566 จากเดิมเริ่มผลิตปี 2567-2568 ซึ่งจะทำให้ช่วยลดปริมาณฝุ่นดีขึ้น เพราะมาตรฐานยูโร 5 ปลดปล่อยกำมะถันได้ต่ำลงเหลือ 10 PPM (หรือ 10 ส่วนในล้านส่วน) จากปัจจุบันมาตรฐานยูโร 4 อยู่ที่ 50 PPM ซึ่งในกรณีที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ประกาศผลิตรถยนต์ยูโร 5 ตั้งแต่ปี 2564 นั้น นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะรถยนต์ยูโร 5 เมื่อใช้น้ำมันยูโร 4 จะช่วยลดฝุ่นได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากใช้น้ำมันยูโร 5 แล้วจะลดฝุ่นประมาณร้อยละ 25

แต่ในระหว่างนี้ก่อนถึงปี 66 ก็จะมีมาตรการ จูงใจให้เกิดการผลิตยูโร 5 ให้มากที่สุด จากปัจจุบันมีเพียงกำลังการผลิตบางส่วนของโรงกลั่นจีซีและบางจากฯ ที่ผลิตยูโร 5 ได้ และปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้ดีกว่า ยูโร 4 โดยออกเป็นยโร 4 พลัส ซึ่งจะปล่อยกำมะถันลดลงจาก 50 พีพีเอ็ม เหลือ 30 พีพีเอ็ม  ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรก็ตาม โรงกลั่นจะต้องมีต้นทุนสูงขึ้นด้วยการปรับปรุงอุณหภูมิการกลั่นสูงขึ้นและนำเข้าน้ำมันดิบคุณภาพสูง ทางกระทรวงพลังงานจึงจะช่วยในการลดต้นทุนโรงกลั่น เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค โดยเตรียมจะประกาศลดสำรองน้ำมันดิบทางกฎหมายลงจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 1 จะกำหนดพื้นที่ให้มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซลยูโร 5 เป็นลักษณะโซนนิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ให้มีการขายน้ำมันยูโร 5 หรือเกรดพรีเมี่ยมให้มากที่สุด ด้วยราคาขายใกล้เคียงหรือสูงกว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 ไม่มาก จากราคาจำหน่ายมีความแตกต่างประมาณ 3.50 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันจะมีการรณรงค์เพิ่มการใช้น้ำมันดีเซลเกรดพิเศษบี 20 เพิ่มมากขึ้น โดยเตรียมความพร้อมถึงการทดสอบในกลุ่มรถยนต์ทั่วไป เช่น รถกระบะ 1 ตัน จากปัจจุบันบี 20 ใช้เฉพาะรถบรรทุก รถโดยสารขนาดใหญ่  และเรือโดยสารสาธารณะ ขณะนี้การทดสอบการใช้บี 20 ในรถของ ขสมก. 2,075 คัน พบว่าช่วยลดปัญหาการปล่อยควันดำไอเสียได้สูงถึงร้อยละ 50 นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหา PM 2.5 แล้ว และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มอีกด้วย

ด้านการเผาไร่อ้อยขณะนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกอ้อยที่จำนวนอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตันอ้อยต่อปี  เป็นเพราะขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ต้องใช้ต่างด้าว ที่สำคัญแรงงานจะไม่ยอมตัดอ้อยสด หากไม่เผาไร่อ้อย หรือหากตัดอ้อยสดต้องเพิ่มค่าแรงเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นปัญหาปวดหัวในหลายพื้นที่ วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. ประชุมร่วมกับโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ก็เห็นร่วมกันว่าควรกำหนดเป้าหมายตามเดิมคือปี 64 จะตัดอ้อยสดทั้งหมด ไม่มีการเผาไร่ และจะเสนอ ครม.ใช้งบประมาณสนับสนุน โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจรทั้งด้านแหล่งน้ำ รถตัดอ้อย รถบรรทุกอ้อย รวม 6,000 ล้านบาทในปี 62-64 อัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรจะจ่ายจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ให้รัฐอุดหนุนเพิ่มจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 4 ต่อปี  ซึ่งปัจจุบัน พบว่า รถตัดอ้อยของไทยขณะนี้มีเพียง 1,000 คัน หากตัดอ้อยทั้งหมด จะต้องมีไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 คัน และพื้นที่อ้อยเมืองไทยเป็นพื้นที่แปลงเล็ก จะต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวเป็นเกษตรแปลงใหญ่เพื่อให้เกิดการบริหารใช้รถตัดอ้อย และที่สำคัญ ราคารถตัดอ้อยสูงมาก ราคาประมาณ 8-15 ล้านบาท/คัน ส่วนรถมือ 2 อยู่ที่ 3 ล้านบาท/คัน

จาก https://www.tnamcot.com    วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ยื้อแบนพาราควอต กก.วัตถุอันตรายขอหาแนวทางรับมือรอบด้าน2ปี

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยหลังการประชุมที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการห้ามใช้พาราควอต โดยมีมติยืนตามมติเดิมเมื่อวัน 23 พฤษภาคม 2561 ที่ระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น และระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามมาตรการ 5 ข้อ อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดว่าจะมีความชัดเจนว่าจะเลิกหรือไม่เลิกภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปี

“ที่ประชุมวันนี้พบว่ามีมติสนับสนุนใช้ต่อ 16 เสียง มติยกเลิก 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ไม่เช่นนั้นอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตของกรรมการแต่ละคน อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะหากยกเลิกทันทีเกษตรกรจะได้รับกระทบทันที เพราะยังไม่มีสารอื่นมาทดแทน และฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก”นายอภิจิณกล่าว

นายอภิจิณกล่าวว่า หลังจากนี้ตัวแทนกรรมการวัตถุอันตราย เตรียมเข้าชี้แจงมติดังกล่าว โดยจะนำข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 นอกจากนี้ในช่วง3เดือนจากนี้ทางคณะกรรมการฯจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าของข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีทั้งกลุ่มที่หนุนการใช้ารพาราควอต และกลุ่มที่คัดค้าน แต่ทั้งกลุ่มแยกการนั่ง กลุ่มหนุนนั่งในอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯเพราะเดินทางมาถึงก่อน ส่วนกลุ่มค้านนั่งภายนอกอาคาร โดยทั้ง 2 ฝ่ายเดินทางถึงกระทรวงประมาณ 12.00 น. ขณะที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเริ่มประชุมเวลา 13.00 น. เสร็จ 17.00 น.และระหว่างการแถลงผลการประชุมมีตำรวจเข้ามาดูแลความเรียบร้อย โดยทั้ง 2 ฝ่ายแยกย้ายกลับโดยไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

686 เครือข่ายหนุนแบนสารพิษออกแถลงการณ์ผิดหวังที่สุดกับ ‘รมว.เกษตรฯ’

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต ใจความว่า

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวัง และเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข, คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สภาเภสัชกรรม, แพทยสภา, เครือข่ายประชาคมวิชาการ, เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

เครือข่ายฯ ผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 5 คน ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้พิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่น และเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามมาดูโลก

รัฐบาล คสช.ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้ง มีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงาน และผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

เครือข่ายฯ ขอขอบคุณกรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก สธ.และ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชน และปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษ โดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

เครือข่ายฯ ขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้ยกเลิกพาราควอต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้า และบริการจากผู้ผลิต และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรง สะท้อนให้เห็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตรายที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้ และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลากรบางกลุ่มในคณะกรรมการกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้ และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก

เราเห็นการเติบโต และตื่นขึ้นของพลังประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการลุกขึ้นขององค์กร และสภาวิชาชีพต่างๆ ที่ลุกขึ้น เปล่งเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเกษตรกรรม อาหาร และชีวิตของพวกเราทั้งหมด พลังเหล่านี้จะเติบโตขยายตัวมากขึ้น

เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชน ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้น ในระยะเวลาอันใกล้

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชงครม.เคาะสินเชื่อรถตัดอ้อย ปล่อยกู้6พันล้านเกษตรกรจ่ายดบ.1%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ได้ประชุม“แนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้” ร่วมกับผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล ประกอบด้วย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ที่สำนักงานสอน.

โดยที่ประชุมมีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งระยะสั้นเห็นชอบร่วมกันในการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี(2562-2564) อัตราดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% รัฐรับภาระ 3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ปรับเป็นเกษตรกรรับภาระ 1% และรัฐรับภาระ 4% ระยะเวลา 9-10 ปี จากนี้จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโดยเร็วที่สุด

“เกณฑ์สินเชื่อเดิมผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือกอน.แล้ว แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เข้าขั้นวิกฤติและส่วนหนึ่งมาจากการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องตัดอ้อยจึงจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่สินเชื่อ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรเพื่อซื้อรถตัดอ้อยเป็นหลักอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนรถตัดอ้อยปัจจุบันหากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6-7ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องมีสินเชื่อสนับสนุน”นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ลดดอกเบี้ยสินเชื่อรถตัดอ้อย ชาวไร่รับภาระ 1% จูงใจร่วมมือลดปัญหาฝุ่นพิษ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า สอน.ได้ประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ที่เกิดจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยเผาอ้อย เพื่อให้สามารถตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาลได้ง่ายขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงานตัดอ้อย ร่วมกับผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย อาทิ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล อาทิ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, โดยที่ประชุมได้มีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ

สำหรับระยะสั้นได้เห็นชอบร่วมกันในการปรับเกณฑ์สินเชื่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) ที่เดิมคิดดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% ภาครัฐรับภาระ 3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ก็ปรับเป็นเกษตรกรรับภาระ 1% และภาครัฐรับภาระ 4% ระยะเวลา 9-10 ปี โดยหลังจากนี้จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“เกณฑ์สินเชื่อเดิม ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แล้ว แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เข้าขั้นวิกฤติ และส่วนหนึ่งมาจากการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องตัดอ้อยจึงจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่สินเชื่อ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร เพื่อซื้อรถตัดอ้อยเป็นหลักอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนรถตัดอ้อย หากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ จึงต้องมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุน”

ขณะเดียวกัน สอน.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมแปลงเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบปกติ และแบบเล็กราคา 300,000 บาท แต่ต้องศึกษาประสิทธิภาพอีกครั้ง รวมทั้งตั้งเป้าหมายลดพื้นที่อ้อยไฟไหม้ลง และกำหนดให้เลิกทั้งหมดภายในปี 2564 แต่ขณะนี้ปริมาณอ้อยทั่วประเทศมีปริมาณปีละ 120 ล้านตันอ้อย ก็ยอมรับเป็นเรื่องยาก แต่จะคงเป้าหมายไว้.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชงครม.กดสินเชื่อรถตัดอ้อย 6,000ล.ให้ชาวไร่รับแค่1% ผ่อนนอน10ปี แก้ปมเผาสร้างมลพิษ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ สอน.ได้ประชุม“แนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้” ร่วมกับผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และ 4 สมาคมโรงงาน ประกอบด้วย น้ำตาล 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ที่สำนักงานสอน. ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเห็นชอบร่วมกันในการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี(2562-2564) อัตราดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% รัฐรับภาระ3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ปรับเป็นเกษตรกรรับภาระ 1% และรัฐรับภาระ 4% ระยะเวลา 9-10 ปี โดยหลังจากนี้จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโดยเร็วที่สุด

“เกณฑ์สินเชื่อเดิมผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือกอน.แล้ว แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เข้าขั้นวิกฤตและส่วนหนึ่งมาจากการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องตัดอ้อยจึงจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่สินเชื่้อ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรเพื่อซื้อรถตัดอ้อยเป็นหลักอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนรถตัดอ้อยปัจจุบันหากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6-7 ล้านบาทแต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุน”นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณกล่าวว่า อย่างไรก็ตามสอน.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตรรวมแปลงเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบปกติ และแบบเล็กราคาประมาณ 3 แสนบาทแต่ต้องศึกษาประสิทธิภาพอีกครั้ง รวมทั้งตั้งเป้าหมายลดพื้นที่อ้อยไฟไหม้ลง และกำหนดให้เลิกทั้งหมดภายในปี 2564 แต่ขณะนี้ปริมาณอ้อยทั่วประเทศมีมากกว่า 120 ล้านตันอ้อยก็ยอมรับเป็นเรื่องยากแต่จะคงเป้าหมายไว้ ซึ่งล่าสุดจากการรณรงค์ให้เกษตรกรลด/เลิกเผาอ้อยก่อนหีบพบว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง ขณะที่อยู่ที่ 57%ของปริมาณอ้อยรวมที่เข้าหีบ ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 60% ขณะที่เกษตรกรชาวไร่เองมีความตื่นตัว เพราะหากส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบก็จะโดนหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งปีนี้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 700 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าน้อย เกษตรกรจึงไม่อยากถูกหักเงินอยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็อยากให้เข้าใจเกษตรกรเพราะปัจจุบันขาดแคลนแรงงานจึงจำเป็นต้องเผา หรือหากมีแรงงานและตัดสดก็จะมีต้นทุนการตัดสูงกว่าเผาถึง 3 เท่าตัว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

จี้คกก.วัตถุอันตราย แบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

สภาเภสัชกรรม-แพทยสภา ออกแถลงการณ์ จี้คกก.วัตถุอันตราย ยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.62 สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์ ในนามของรศ.ดร.เภสัชกรหยิงจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เนื้อหาระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลวิชาการ ที่น่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ สภาเภสัชกรรม ได้พิจารณาหลักการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวในประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสมดุลการพัฒนาประเทศ พร้อมกับคุณภาพชีวิตของประชาชนสรุป 3 ประการดังนี้

1.หลักการป้องกันไว้ก่อน ซึ่เป็นหลักสากลในการพิจาณาการควบคุมวัตถุอันตาย 2.เกษตรกร ควรมีสิทธิและทางเลือกที่จะทำเกษตรกรรม ที่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพตนเอง และผู้บริโภค3.นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการพัฒนาเกษตรกรรมของไทย เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ "เกษตรมันงคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน"

จากหลัก 3 ข้อ สภาเภสัชกรรม จึงของเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอให้ยกเระดับการควบคุม พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4

เนิ่องจาก พาราควอตค เป็นสารมีพิษเฉียบพลัน ได้รับเพียงเล็กน้อย 1-2ช้อนชา ก็อาจถึงแก่ชีวิต มีงานวิจัยมากมายแสดงว่า พาราควอต เข้าสู่สมองมนุษย์ได้ และทำลายสมองโดยการสร้างสาร synmuclein เช่นเดียวกับที่พบในสมองของผู้ที่ตายจากการได้รับพาราควอตและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และจากการหาปริมาณสารพาราควอตในคนไทย พบทั้งเลือดในหญิงตั้งครรภ์ เลือดจากสายสะดือด และขี้เทาทารกแรกเกิด และพบปริมาณสารนี้ในสิ่งแวดล้อม น้ำ พืช อาหาร นอกจากนี้ ยังพบว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช้พาราควอตและได้ผสมและได้ผลผลิตสูงแม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม ส่วนในต่างประเทศได้ยกเลิกาการใช้พาราควอต จำนวนกว่า 53 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพาราควอตที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ด้านสารคลอร์ไพริฟอส มีผลวิจัยจำนวนมากแสดงว่า มีผลต่อสมองเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบคลอร์ไพริฟอส ในสิ่งแวดล้อม จากากรศึกษาในคนไทยพบปริมาณคลอร์ไพริฟอสในเลือดหญิงตั้งครรภ และในสายสะดืดเด็กทารก และยังพบอีกว่า สามารถทำการเกษตรกรรมที่ไม่ใช่คลอร์ไฟริฟอส และมีผลผิตสูงได้ แม้ในระดับเกษตรอุตสาหกรรม หลายประเทศยกเลิกการใช้สารนี้แล้ว และต้นเดือนส.ค.2561 ศาลรัฐบาลสหรัฐส่งสำนังานปกป้องสิ่งแวดล้อม ให้ห้ามขาย คลอร์ไพริฟอส ภายใน 60วัน

ส่วนสารไกลโฟเสต เป็นสารพิษที่ International Agency for Research on cancer ได้จัดเป็นกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ไกลโฟเสตตกค้างในซีรัมของแม่ และสายสะดือทารก ในมารดาที่พักอาศัย ในบริเวณใกล้เคียงกับบริเวณที่มีการฉีดพ่นไกลโฟเสต หลายประเทศได้ยกเลิกการใช้สารนี้ และจากข้อมูลล่าสุด บริษัท ไบเออร์ มอนซานโตในเยอรมัน แพ้คดี จากการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ และมีการฟ้องถึงหมื่นกรณี

"ด้วยเหตุนี้ สภาเภสัชกรรม จึงมีมติให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกระดับการควบคุม 3สารเคมี ให้เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 และยกเลิกการใช้สารที่มีพิษสูงทั้ง3 ภายในพ.ศ.2562" แถลงการณ์ระบุ

ด้านแพทยสภาได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายเช่นกันว่า ตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2524 ม.7 กำหนดให้แพทยสภามีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือ แนำนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข พร้อมทั้งให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข

จากกรณีปัญหาในสังคมเรื่องผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต่อมนุษย์ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืลที่มีความเสี่ยงสูง ได้มีความเห็นในปี 2560 เห็นขอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต ต่อมาในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้มีความเห็นชอบให้มีการเลิกใช้สารเคมี 3ชนิดดังกล่าวนั้น

คณะอนุกรรมการบริหารของแพทยสภา ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้ว เห็นชอบการยกเลิกการใช้สารเคมี 3ชนริด ดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืลที่มีความเสี่ยงสูง และกระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้มีความปลอดภัย ในสุขภาพ อนามัย

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชง ครม. ลดดอกเบี้ยให้สินเชื่อเครื่องตัดอ้อยเหลือ 1% คาดปี’64 ไม่มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับทางผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ว่า เร็วๆนี้ สอน. เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงให้เหลือ 1% และขยายระยะเวลาผ่อนชำระคืนเป็น 9-10 ปี ภายใต้วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2562- 2564 (ปีละ 2,000 ล้านบาท)

หลังจากที่ผ่านมารัฐได้มี “โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร” ให้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมาแล้วก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ 2% ชำระคืน 7 ปี ผ่านทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบ แต่ด้วยหลายจังหวัดยังคงมองว่า สินเชื่อดังกล่าวยังทำให้เกษตรเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

“รถตัดอ้อยของต่างประเทศมีราคาสูงถึงคันละ 12 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นรถตัดอ้อยของไทยจะมีราคาถูกลงหรือคันละ 6-7 แสนบาท และก็มีรถเครื่องอ้อย Raptor ตัวนี่ราคา 2-3 แสนบาทเท่านั้นก็จะทำให้ชาวไร่เกษตรกรมีกำลังพอที่จะซื้อได้”

ซึ่งจากโครงการสินเชื่อฯ ระยะที่ 1 (2559-2561) ที่ผ่านมา มีการอนุมัติวงเงินเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ซื้อรถตัดอ้อย/รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์/รถบรรทุกอ้อย ไปแล้ว 1,760 ล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณการเผาอ้อยลดลง 4-5% จาก 60.45% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบ 90 ล้านบาท เหลือปริมาณการเผาอ้อยอยู่ที่ 57.05% ของปริมาณอ้อยที่ตัดเข้าระบบในปัจจุบันอยู่ที่ 120 ล้านบาท ดังนั้นหลายๆ มาตรการที่ออกมาคาดว่าจะทำให้ปี 2564 จะไม่มีการเผาอ้อย และจะไม่อ้อยไฟไหม้เข้าระบบ

สำหรับมาตรการ การลดปัญหาการเผาอ้อยระยะสั้น ได้ ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยเข้าหีบในสัดส่วนอ้อยสด 60% ต่อวัน ส่วนอ้อยไฟไหม้ 40% ต่อวัน รวมทั้งขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล สมาคมชาวไร่อ้อย และหน่วยงานในท้องถิ่นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่ในการตรวจจับไร่อ้อยในพื้นที่ จะเป็นอีกส่วนในการช่วยกันดูแลและป้องกันไม่ให้มีการเผาอ้อย

ส่วนมาตรการระยะยาว ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมชาวไร่คู่สัญญาในการจัดทำแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรอย่างครบวงจร และขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำตาลส่งเสริมโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร การค้ำประกันแบบกลุ่มสำหรับชาวไร่อ้อยคู่สัญญารายเล็ก หรือโครงการสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับการเกษตร รวมถึงให้โรงงงานน้ำตาลจัดทำแผนการลดไฟไหม้ในแต่ละฤดูการผลิตโดยความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

แพทยสภา-สภาเภสัชกรรมแถลงการณ์ยกระดับการควบคุม 3 สาร “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต”

แพทยสภา-สภาเภสัชกรรมแถลงการณ์ยกระดับการควบคุม 3 สาร “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต” เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก-มีไว้ในครอบครอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ได้ทำหนังสือให้ความเห็นต่อประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าให้เลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต เป็นวัตถุอันตราย

เช่นเดียวกับแถลงการณ์ของสภาเภสัชกรรม ที่ออกโดย รศ.ดร.ภกญ.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ ที่ขอให้ยกระดับการควบคุม 3 สาร ‘พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก-มีไว้ในครอบครอง ภายในปี 2562

เนื่องจากการศึกษาข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศชี้ชัดถึงพิษร้ายของสารทั้งสามชนิด ประกอบกับในหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้แล้ว โดยในส่วนของพาราควอตมี 53 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้ หรือล่าสุดศาลรัฐบาลกลางสหรัฐสั่งห้ามขายสารคลอร์ไพริฟอส เมื่อปลายปี 2561 และบริษัทไบเออร์มอนซานโต้ในเยอรมัน แพ้คดีจากการฟ้องร้องเรื่องการใช้สารพิษไกลโฟเสต มีสารตกค้างและยังมีคดีที่ค้างอยู่นับหมื่นคดี

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

จ่อชง ครม.กดดอกเบี้ยเหลือ 1% ซื้อรถตัดอ้อยวางเป้าปี 64 ไม่มีเผา

สอน.เตรียมหารือ ธ.ก.ส.เพื่อดันสินเชื่อรถตัดอ้อย 6,000 ล้านบาท เสนอ ครม.เร่งด่วนลดการเผาอ้อยปรับเงื่อนไขลดภาระดอกเบี้ยให้เกษตรกรรับเหลือ 1% ส่งคืน 9-10 ปี วางเป้าปี 64 ต้องไม่มีการเผาอ้อยเข้าหีบ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลว่า เพื่อเป็นการลดการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบันจึงกำหนดมาตรการระยะสั้นและยาวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยระยะสั้นได้เห็นชอบร่วมกันในการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) ปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงซึ่งจะได้หารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโดยเร็ว

“โครงการนี้ก็เป็นโครงการเดิมที่เราทำอยู่ก็จะทำให้ต่อเนื่อง จะพยายามลดดอกเบี้ยที่ให้เกษตรกรรายบุคคลลดลงจากเดิมคิดอัตราดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% รัฐรับภาระ 3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ปรับเงื่อนไขให้เกษตรกรรับภาระ 1% และรัฐรับภาระ 4% ระยะเวลาส่งคืน 9-10 ปี ปัจจุบันหากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6-7 ล้านบาท แต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุน” นางวรวรรณกล่าว

สำหรับมาตรการระยะยาว สอน.ได้ตั้งเป้าหมายลดพื้นที่อ้อยไฟไหม้ลง และกำหนดให้เลิกทั้งหมดภายในปี 2564 แต่ขณะนี้ปริมาณอ้อยทั่วประเทศมีมากกว่า 120 ล้านตันอ้อย จึงยอมรับเป็นเรื่องยากแต่จะพยายามที่จะดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกันนี้จะเร่งส่งเสริมให้เกษตรรวมแปลงเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย เป็นต้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

รง.น้ำตาลขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เอาไปซื้อรถตัดอ้อยช่วยชาวไร่เก็บผลผลิต

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทไทยชูการ์ มิลเลอร์(TSMC)เปิดเผยว่าปัญหาไฟไหม้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเนื่องจากอ้อยไฟไหม้มีผลทำให้คุณภาพอ้อยและยิดล์ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง และส่งผลเสียต่อกระบวนการผลิตโดยรวมที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อย ได้ร่วมกันรณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบทั้งการจัดหาสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำโดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ชาวไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้แก่โรงงาน จะถูกหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ตันละ30 บาท เพื่อนำไปให้แก่ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถลดการเผาอ้อยลงได้มากนัก

ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอ้อยไฟไหม้ โรงงานน้ำตาลจึงทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)เพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน สำหรับจัดซื้อรถตัด และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยเฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20,000-25,000 ตันอ้อยต่อปี

นอกจากนี้ โรงงานจะร่วมมือกับภาครัฐจัดทำโครงการ Smart Farming รวมแปลงเพาะปลูกให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลง โดยฝ่ายไร่ของโรงงานจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเพาะปลูกการดูแลรักษาและการจัดเก็บผลผลิตด้วยรถตัดอ้อย

“เราจึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยไปช่วยเหลือชาวไร่จัดเก็บผลผลิต เชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้ดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

หนุนเกษตรปลอดสารเคมี เล็งเสนอแผนให้บอร์ดวัตถุอันตรายพิจารณา

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน มีจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยในการใช้สารเคมีทุกชนิดกับการทำเกษตร เพราะสารเคมีส่งผลกระทบและนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนในภาคเกษตร ตลอดทั้งส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำทั้งด้านอุปโภค-บริโภคสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล เด็กนักเรียน และนักท่องเที่ยว จะต้องสะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ

นายวิวัฒน์กล่าวต่อว่า นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯกำหนดให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งรัดและต่อเนื่อง เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 2560-2564 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯให้ความสำคัญและเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยให้ที่ประชุมหาแนวทางมาตรการทดแทนการใช้สารเคมีให้เกษตรกร ทั้งด้านใช้เครื่องกลและเทคนิคการผลิตต่างๆ ให้ได้ข้อมูลชัดเจนและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาฯยังพิจารณาประเด็นต่างๆ อาทิ 1.(ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.... 2.โครงการพัฒนาวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ โดยเห็นควรให้จัดประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาความร่วมมือและแนวทางพัฒนาร่วมกันทั้งระดับนโยบายและขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ตลอดทั้งทำความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรฯและสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาวิจัยการค้าเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรใน 4 ภูมิภาคของประเทศ 3.การจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนให้จัดต่อเนื่องครบทุกภาค และ4.พิจารณาแผนงานเกษตรกรรมยั่งยืน ปีงบประมาณ 2562 ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยมีงบประมาณ 1,175.01 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 697,343 ไร่ แบ่งเป็น เกษตรอินทรีย์ 468,973 ไร่ เกษตรทฤษฎีใหม่ 180,330 ไร่ เกษตรผสมผสาน 46,500 ไร่ และวนเกษตร 1,175.01 ไร่ ทั้งนี้ จากแนวทางขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนกำหนดจังหวัดนำร่องขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเชิงพื้นที่ ในจ.มหาสารคาม เชียงใหม่ และยโสธร อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามแผนงาน /โครงการในปี 2562 ขณะนี้เป็นเพียงไตรมาสแรก จึงควรบูรณาการทำงานเชิงพื้นที่ต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการในพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ค่าเงินบาทแข็งค่า เหตุ “ทรัมป์” มีท่าทีโอนอ่อนต่อประเด็นสงครามการค้า-งบประมาณใช้จ่ายด้านความมั่นคงมากขึ้น

ค่าเงินบาทแข็งค่าในกรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 31.10-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุประธานาธิบดีทรัมป์มีท่าทีโอนอ่อนต่อประเด็นสงครามการค้า-งบประมาณใช้จ่ายด้านความมั่นคงมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 13 ก.พ. 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดเมื่อวานที่ 31.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 31.18-31.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางแข็งค่าสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค โดยปัจจัยหลักมาจากการที่ตลาดลดความกังวลต่อความเสี่ยงต่างๆ หลังจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้ข้อตกลงเบื้องต้นด้านงบประมาณใช่จ่ายด้านความมั่นคงทำให้ความเสี่ยงการปิดทำการของรัฐบาลลดลง และนักลงทุนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าสหรัฐฯ–จีน เนื่องจากทรัมป์ยินยอมให้มีการขยายระยะเวลาการเจรจาออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มี.ค. เนื่องจากข้อตกลงมีแนวโน้มจะบรรลุผล โดยวันนี้ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บทเรียนรัฐกับการพัฒนาแหล่งน้ำ  ชะลอ4โครงการใต้"ได้ไม่คุ้มเสีย"

             แม้จะให้มีการชะลอการก่อสร้างออกไปก่อนเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา สำหรับ 4 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคใต้ ประกอบด้วย โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการคลองประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยรัฐบาลได้ชะลอการดำเนินก่อสร้างออกไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาผลกระทบอย่างรอบด้าน ตามที่เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง เสนอก็ตาม

             ทว่าหากมองอีกด้านหนึ่ง เท่าเป็นการยืดระยะเวลาในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำออกไปอีก ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในพื้นที่ยังอยู่เหมือนเดิม ความเสียหายก็ยังมีเหมือนเดิม

                 คณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายประชาชน ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายหน่วยงานของรัฐ จะทำหน้าที่ประเมินเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างทางเลือกทางการจัดการน้ำ ศึกษาว่าโครงการทั้ง 4 โครงการ สามารถแก้ปัญหาตามที่ระบุไว้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ สรุปแนวทางการจัดการน้ำที่ดีที่สุด ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และวิถีชีวิตประชาชนที่จะได้รับความเดือดร้อน โดยการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มเป้าหมาย มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี

               ในขณะที่ทั้ง 4 โครงการได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 โครงการคือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบฯ ซึ่งได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ทำกระบวนการสร้างการรับรู้แก่ชาวบ้านไปหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เห็นด้วย คณะรัฐมนตรีถึงได้เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ และโครงการคลองประฯ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ

              “กำนันและผู้ใหญ่บ้านรู้จักลูกบ้านดี สามารถนำข้อมูลทะเบียนราษฎร์มากางดูได้เลยว่าใครมีชื่อและทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ใด แล้วหากพบว่าคนที่อยู่ต่างพื้นที่หรือผู้ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการมาเกี่ยวข้อง ต้องถามว่ามีเหตุผลใดจึงมาแสดงความคิดเห็น ทำไมจึงต้องไปร่วมประท้วงคัดค้าน มีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงหรือไม่”

              ยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ให้มุมมองในประเด็นการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านให้ยกเลิกการก่อสร้าง 4 โครงการดังกล่าว โดยมองว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ที่ไปประท้วงหน้ากระทรวงเกษตรฯ และทำเนียบรัฐบาลนั้นเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการทั้ง 4 แห่งจริงหรือไม่ จึงเสนอให้ใช้กลไกการมีส่วนร่วมภาคประชาชนผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านในแต่ละอำเภอที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้ง 4 โครงการ รวมทั้งอำเภอที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยจัดประชุมหมู่บ้านตามมาตรา 27 ซึ่งตามปกติมีการประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว และหากมีวาระเร่งด่วนสามารถเรียกประชุมได้ทันที ให้ลูกบ้านแต่ละพื้นที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นให้ชัดเจนว่า มีผู้เห็นด้วยจำนวนเท่าไร ไม่เห็นด้วยเท่าไร และมีเหตุผลอะไร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายมาประท้วงที่กรุงเทพฯ

               ยงยศ ย้ำด้วยว่า เพื่อให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ให้มาประชุมหมู่บ้าน เมื่อได้รับข้อมูลและความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างหรือพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการออกมาเป็นอย่างไร กำนันและผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่รวบรวมเสนอรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะยังดำเนินการก่อสร้างหรือยกเลิกการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

               ประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เผยความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ ว่านอกจากคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างแล้ว ยังเคยมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 3 ปี คือภายในปี 2563 พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการด้านบริหารจัดการน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ จ.นครศรีธรรมราช อีกด้วย

               “ขณะนี้การก่อสร้างอยู่ระหว่างการดำเนินงานแต่ก็ต้องชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน ซึ่งอาจจะทำให้งานล่าช้ากว่ากำหนด ปัญหาน้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไข ยังคงเป็นปัญหาต่อไป ความเสียหายในแต่ละปียังเกิดขึ้นซ้ำซาก ในฤดูฝนที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วมถึง 3 ครั้ง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงเรียกร้องให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดความเสียหายจากน้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละปี”

                ทั้งนี้ หากโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง คิดเป็นครัวเรือน ที่ได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อกิจกรรมการใช้น้ำในด้านต่างๆ ในฤดูแล้งประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์อยู่บริเวณสองฝั่งคลองระบายน้ำ ประมาณ 17,400 ไร่ มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) เท่ากับร้อยละ 9.84

               ส่วนอีกโครงการคืออ่างเก็บน้ำวังหีบฯ โดยมีแผนดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 งบประมาณทั้งสิ้น 2,377.64 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำปิดกั้นคลองวังหีบและอ่างเก็บน้ำสาขา ที่บริเวณบ้านนาหลวงเสนและบ้านนาประดิษฐ์ ตลอดจนฝายทดน้ำต่างๆ ในเขต อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ตามที่ราษฎรได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานแหล่งเก็บกักน้ำเขต อ.ทุ่งสง

                วังหีบเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุ 20.10 ล้าน ลบ.ม. ได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เมื่อปี 2552 และปี 2557 ต่อมาปี 2559 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบต่อรายงานอีไอเอ ผ่านการสำรวจ ออกแบบมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้ดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชน การจัดประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นราษฎรผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2550 จนถึงเดือนธันวาคม 2560 ทั้งหมดรวม 55 ครั้ง สรุปประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ก่อสร้างโครงการวังหีบฯ

                ส่วนที่เหลืออีก 2 โครงการที่รัฐบาลให้ชะลอออกไปคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นอ่างฯ ขนาดกลาง มีความจุ 36.57 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 11,200 ไร่ และโครงการคลองประฯ จ.พัทลุง เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมอาคารควบคุมน้ำ สถานีสูบน้ำ และการขุดลอดคลองธรรมชาติ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 49,800 ไร่ และช่วยป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มเข้ามาในคลองประและคลองสาขา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบ แม้ทั้ง 2 โครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี แต่ในการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยทั้งสิ้น                                      

เกษตรกรมั่นใจ“อ่างฯวังหีบ”แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

           ประเวศ เกศรินทร์ เกษตรกรอายุ 50 ปี หมู่ 1 ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง ปลูกยาง 20 ไร่ สวนผลไม้ 7 ไร่ พร้อมเลี้ยงปศุสัตว์ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2533 เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งน้ำจำนวนมากในฤดูฝนจะไหลลงทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมด ไม่มีที่กักเก็บ พอถึงฤดูแล้งน้ำจึงขาดแคลน หากสร้างอ่างฯ แล้ว จะทำให้มีที่เก็บน้ำไว้ให้ราษฎรหมู่ 1 และ หมู่ 5 ต.นาหลวงเสนกว่า 4,000 ครัวเรือน และราษฎรตำบลใกล้เคียงเช่น ต.ชะมาย ต.หนองหงส์ ต.ถ้ำใหญ่ ต.ที่วัง และ ต.นาไม้ไผ่ มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การปศุสัตว์อย่างพอเพียง

           ประเวศ ระบุอีกว่า ผู้ที่คัดค้านการสร้างอ่างฯ วังหีบนั้น เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนด้านบนประมาณ 70 หลังคาเรือน ที่นายทุนเข้ามาแผ้วถาง จับจองและบุกรุก ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบร่วมประท้วงด้วย จึงอยากให้ภาครัฐบาล นักวิชาการ และประชาชนมาสำรวจลงพื้นที่ร่วมกัน จะได้เห็นสภาพพื้นที่สร้างอ่างฯ ที่แท้จริงว่าโดนบุกรุกและเสื่อมโทรมมากน้อยแค่ไหน

             “ประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ต้องการให้สร้างอ่างฯ เพราะจะเกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ประชาชนกว่า 150,000 คน ในเขต อ.ทุ่งสง ตลอดจนหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงานต่างๆ จะได้รับประโยชน์โดยตรง ถ้าหากวันนี้ไม่มีอ่างฯ ต่อไปข้างหน้าอีก 5-10 ปี เมืองทุ่งสงจะเกิดวิกฤติขาดน้ำอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันมกราคม-พฤษภาคม ถ้าไม่มีน้ำฝน สวนผลไม้ เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน จะยืนต้นล้มตายจำนวนมาก ต้องดึงน้ำจากคลองมาเข้าทำนาลำบากเพราะคลองอยู่ต่ำกว่าที่นา ซึ่งส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนมาปลูกยางพารา สวนทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น” เกษตรกรรายเดิมกล่าว

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ถกปัญหาเผาอ้อย ก.อุตฯระดมชาวไร่-โรงงานน้ำตาลพรุ่งนี้ หาทางแก้ หัก 30 บาท/ตันเข้ากองทุนฯอาจไม่พอ

ถกปัญหาเผาอ้อย ก.อุตฯระดมชาวไร่-โรงงานน้ำตาลพรุ่งนี้ (13 กพ.) หาทางแก้ หัก 30 บาท/ตันเข้ากองทุนฯอาจไม่พอ

จากปัญหาเรื่องของมลพิษทางอากาศ และฝุ่นละออง PM2.5 จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งได้มุ่งเป้าไปยังการเผาอ้อย หรือที่เรียกว่า “อ้อยไฟไหม้” แม้ว่าภาครัฐจะมีการรณรงค์ไม่ให้เผาอ้อย โดยการหักเงิน 30 บาท/ตัน เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายให้กับชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดแทน แต่การเผาอ้อยก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง

ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2562) เวลา 14.00 น. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เตรียมประชุมหารือ “แนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้” โดยมี นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นประธาน โดยมีผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และ 4 สมาคมโรงงานน้ำตาล เพื่อหารือและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ล่าสุดโรงงานน้ำตาล ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงานสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังชาวไร่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่อย่างหนัก ส่งผลให้ชาวไร่ใช้วิธีเผาอ้อยก่อนตัด พร้อมจับมือภาครัฐเดินหน้าโครงการ ‘Smart Farming’ รวมแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวไร่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ปัญหาไฟไหม้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องร่วมมือกัน เพื่อลดปัญหาเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม เนื่องจากอ้อยไฟไหม้มีผลทำให้คุณภาพอ้อยและยิดล์ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง และส่งผลเสียต่อกระบวนการผลิตโดยรวม ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ โรงงานน้ำตาล และสมาคมชาวไร่อ้อย ได้ร่วมกันรณรงค์และสนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ทั้งการจัดหาสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ชาวไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประกอบกับปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดมากขึ้น โดยชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้แก่โรงงาน จะถูกหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท เพื่อนำไปให้แก่ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนสัดส่วนการเผาอ้อยลงได้มากนัก อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาที่ชาวไร่อ้อยเผชิญอยู่

ดังนั้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาอ้อยไฟไหม้ โรงงานน้ำตาลจึงทำหนังสือถึง สอน. เพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน สำหรับจัดซื้อรถตัด และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยเฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20,000-25,000 ตันอ้อยต่อปี นอกจากนี้ โรงงานจะร่วมมือกับภาครัฐจัดทำโครงการ Smart Farming รวมแปลงเพาะปลูกให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลง โดยฝ่ายไร่ของโรงงานจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเพาะปลูก การดูแลรักษาและการจัดเก็บผลผลิตด้วยรถตัดอ้อย

“ที่ผ่านมา เรารณรงค์ให้ชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าสู่โรงงานและไม่สนับสนุนการเผาอ้อยมาตลอด โดยรับซื้อใบอ้อยเพื่อจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน หรือการเข้าไปค้ำประกันเงินกู้รถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่ แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาเผาอ้อยได้ เราจึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยไปช่วยเหลือชาวไร่จัดเก็บผลผลิต ซึ่งเชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้ดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ปธ.สภาอุตฯโคราชย้ำเผาอ้อยต้นเหตุฝุ่นพิษ รง.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า หลังจากที่หลายภาคส่วนของ จ.นครราชสีมา ตื่นตัวปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 และ PM2.5 ทางสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าฝุ่นละอองขนาด PM2.5 นั้น ร้อยละ 60 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล และร้อยละ 30 มาจากการเผาพืชตามไร่นา ซึ่งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ขณะนี้ส่วนใหญ่จะมาจากการเผาอ้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวไร่อ้อยทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงานไม่ทันปิดหีบ ทำให้มีอ้อยจำนวนมากค้างอยู่ในไร่ของเกษตรกร ดังนั้นมาในช่วงนี้เกษตรกรจึงได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่ เพื่อเร่งส่งให้กับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ส่งผลให้มีการเผาใบอ้อยเกิดขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ดังนั้นเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรต้องเข้าไปควบคุมดูแล

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ขณะนี้ทางสภาอุตสาหกรรม จ.นครราชสีมา ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งใน จ.นครราชสีมา เพื่อให้ตรวจสอบเครื่องจักรต่างๆ และระบบควบคุมมลพิษของโรงงานให้อยู่ในค่ามาตรฐานอุตสาหกรรม พร้อมกับได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ปกครองจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งได้พร้อมใจกันหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อช่วยลดค่าฝุ่นละออง เนื่องจากช่วงดังกล่าวจะมีค่าฝุ่นละอองจากการเผากระดาษจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบโรงงาน ขณะนี้พบว่าทุกโรงงานมีการควบคุมมลพิษอย่างเข้มงวด และอยู่ในค่ามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากได้มีการเปลี่ยนเครื่องจักรรุ่นใหม่ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษขึ้นมาแทนเครื่องจักรรุ่นเก่าอีกด้วย

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

'กฤษฎา'ยืนยัน!ไม่เห็นด้วยใช้สารเคมีทำเกษตรกรรม

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือเพื่อหาแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร (พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส) ร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้มีความคิดเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มาใช้ในการทำการเกษตรกรรม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้หาวิธีการ เครื่องมือ หรือวัตถุอื่นๆ และสารบางชนิดเพื่อมาใช้ในการทำเกษตรแทนการใช้สารเคมี

โดยที่ประชุมได้มีการเสนอวิธีการและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน อาทิ การประกาศเขตห้ามจำหน่ายหรือครอบครองสารอันตรายทั้ง 3 ชนิด ในบางพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งจะนำเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบ ในวันที่ 14 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะต้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับทราบด้วย จากนั้นจึงจะประกาศเป็นขั้นตอนในการดำเนินการต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เกษตรฯ ชงงบปี 63 แผนบริหารทรัพยากรน้ำ กว่า 1.27 แสนล้าน

"เกษตรฯ" ชงงบรายจ่ายปี 63 กรอบวงเงินรวม 246,998 ล้านบาท ขับเคลื่อน 4 กลุ่มงาน เทงบลงแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก้อนใหญ่กว่า 1.27 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานจัดทำงบประมาณในภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินเสนอขอเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 246,998 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,656 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 82,838 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) ที่กษ. เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 135,135 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการ และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 127,132 ล้านบาท และแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 7,117 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) วงเงินรวม 2,368 ล้านบาท

จากคำของบประมาณดังกล่าว มีงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 175,563 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 154,790 ล้านบาท 2) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว กาแฟ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และพืชอื่นๆ) วงเงิน 4,646 ล้านบาท 3) แผนการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร วงเงิน 2,473 ล้านบาท 4) การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 4,226 ล้านบาท 5) การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร วงเงิน 3,272 ล้านบาท

6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงิน 703 ล้านบาท 7) ประมงพื้นบ้าน วงเงิน 62 ล้านบาท 8) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ วงเงิน 2,103 ล้านบาท 9) การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยภาครัฐ วงเงิน 1,997 ล้านบาท 10) การพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง/การปลูกพืชแซม วงเงิน 352 ล้านบาท 11) การส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 543 ล้านบาท และ 12) การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)/ Young Smart Farmer/ เกษตรกรรุ่นใหม่ วงเงิน 389 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

10เขื่อนเสี่ยงแล้งหนัก เผยปริมาณฝนช่วง3เดือนหน้าต่ำกว่าปกติ

รองนายกฯรายงานครม.พบ 10 เขื่อนมีความเสี่ยงแล้งหนัก สทนช.เผยแนวโน้มปริมาณฝนช่วง 3 เดือนหน้าต่ำกว่าปกติเมื่อวันที่ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานสถานการณ์น้ำต่อที่ประชุมว่า ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำให้ดีโดยเน้นในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค

เนื่องจากขณะนี้พบว่ามี 10 เขื่อนที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำทั้งนี้มีรายงานว่าเขื่อนที่เสี่ยงแล้งมาก อาทิ 1.เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีน้ำเหลือใช้การได้การได้ 132 ล้านลบ.ม.หรือ 7% 2.เขื่อนทับเสลา ความจุ 160 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 24 ล้าน ลบ.ม. หรือ 17% 3.เขื่อนสิรินธร ความจุ 1,966 เหลือน้ำ 202 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% 3.เขื่อนกระเสียว ความจุ 289 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำน้ำ 28 ล้านลบ.ม.หรือ 29 % 4.เขื่อนแม่มอก ความจุ 110 ล้านลบ.ม. เหลือ 28 ล้านลบ.ม. หรือ 29% 5.เขื่อนห้วยหลวง ความจุ 136 ล้านลบ.ม. เหลือ 41 ล้านลบ.ม. หรือ 32% 6.เขื่อนลำนางรอง ความจุ 121 ล้านลบ.ม. เหลือ 35 ล้านลบ.ม. หรือ 29% เขื่อนลำปาว ความจุ 1,980 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 893ล้านลบ.ม. หรือ 43%

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าปริมาณฝนตกโดยรวมจะต่ำกว่าปกติ 5% โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ 10% ประกอบกับอากาศร้อนทำให้การเสียน้ำเพิ่มขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารน้ำอย่างเคร่งครัดตามแผน

ทั้งนี้ได้ประสานขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มข้นการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน งดการส่งน้ำนอกแผน การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนจัดทำทะเบียนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชรอบสอง

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เร่งคลอด 5 แผนคุมผลกระทบเสี่ยงแล้ง!!

สทนช. ถกหน่วยเกี่ยวข้องติวเข้มมาตรการป้องกันผลกระทบขาดน้ำอุปโภค ระบบนิเวศ พื้นที่เพาะปลูก ทั้งใน-นอกเขตชลประทาน หลังกรมอุตุฯ คาดไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปลาย ก.พ.-พ.ค. ส่อสัญญาณแล้งมาเร็ว เตรียมชง “บิ๊กฉัตร”เห็นชอบมาตรการป้องผลกระทบ ย้ำหน่วยคุมแหล่งน้ำแจงฐานข้อมูลหวังเป็นกลไกบรรเทาเหตุตามกฏหมายน้ำ

วันนี้ (12 ก.พ.62) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทนช.จัดการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.62 ที่ผ่านมา เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศของประเทศไทย เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศ คาดหมายปริมาณฝน 3 เดือนล่วงหน้า ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติใน ภาคเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ 5% ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณฝนรวมต่ำกว่าปกติ 10% และฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม โดยฤดูร้อนปีนี้คาดว่าอุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10-30 เว้นแต่ในเดือนเมษายนที่มีฝนใกล้เคียงปกติบริเวณภาคเหนือ จากลักษณะอากาศดังกล่าวอาจส่งผลให้เพิ่มความสูญเสียน้ำในระบบและแหล่งน้ำมากขึ้น

ดังนั้น สทนช.ได้ประสานขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน พร้อมงดการส่งน้ำนอกแผน การตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกเกินแผน จัดทำทะเบียนเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชรอบสอง แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนขอความร่วมมือทุกภาคส่วนก่อนจะดำเนินการตาม พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผน ปี 2561/62 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน GISTDA กรมทรัพยากรน้ำ โดยมีการเปรียบเทียบแผนและผลการเพาะปลูกทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานรายจังหวัด พบว่า ในเขตพื้นที่ชลประทานมีแผนเพาะปลูกข้าว 8.03 ล้านไร่ ผล 7.69 ล้านไร่ คิดเป็น 96% ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมมีพื้นที่ปลูกไม่เกินแผน แต่พบว่ามีบางพื้นที่มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผน 822,082 ไร่ ใน 24 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ขอนแก่น อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว สุพรรณบุรี และตรัง ขณะที่นอกเขตพื้นที่ชลประทานภาพรวมยังไม่เกินแผนเช่นเดียวกัน โดยแผนเพาะปลูกข้าว 3.18 ล้านไร่ ผล 2.02 ล้านไร่ คิดเป็น 64% มีการเพาะปลูกข้าวเกินแผนบางพื้นที่จำนวน 34,142 ไร่ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก บุรีรัมย์ สุรินทร์ และพระนครศรีอยุธยา ซึ่ง สทนช.ได้ประสานขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรน้ำทั้งในและนอกเขตขลประทาน วิเคราะห์หาสาเหตุพื้นที่ที่มีการปลูกพืชต่ำกว่าแผน ที่ส่งผลทำให้พื้นที่อื่นที่มีความพร้อมอาจขาดโอกาสในการใช้น้ำเพื่อการปลูกพืชด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันกำหนดกอรบแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 ประกอบด้วย 5 มาตรการหลักๆ โดย สทนช.จะได้นำเสนอต่อ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำฯ รับทราบ ได้แก่ 1.ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำมาตรการควบคุมพื้นที่เพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำ 2.ติดตามเฝ้าระวังสภาพน้ำในลำน้ำสายหลักและพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน 3.การประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประหยัดโดยเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว และปรับเปลี่ยนอาชีพอื่น เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนมากกว่าแผนฯ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายมากกว่าแผนเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน รวมถึงควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด 4.การเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องจักร-เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด เรือขุด วัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนหรือพื้นที่เกษตรที่รอเก็บเกี่ยวให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และ5.ขอให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการแหล่งน้ำเตรียมการจัดทำบัญชีรายชื่อแหล่งน้ำ ผู้ใช้น้ำ โดยแสดงขอบเขตของพื้นที่ที่รับผิดชอบในเชิงพื้นที่ตามที่ระบุใน พ.ร.บ. น้ำ พ.ศ. 2561 โดย สทนช จะกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไป

จาก www.siamrath.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

สอน.เรียกโรงงาน-ชาวไร่อ้อยถกด่วน!พรุ่งนี้แก้ข้อร้องเรียนการเผาอ้อย

"สอน."เรียกโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยหารือด่วนวันพรุ่งนี้หลังพบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 หลายพื้นที่และมีข้อร้องเรียนปัญหาเขม่าควันจากการเผาอ้อย ขณะที่โรงงานน้ำตาลร่อนหนังสือถึง"สอน."ให้หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหนุนชาวไร่ซื้อรถตัดอ้อย

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า ตามที่เกิดปัญหาสถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในหลายพื้นที่ และมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเขม่าควันจากการเผาอ้อย ดังนั้นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 14.00 น. ได้เชิญผู้แทนจากสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย เพื่อร่วมประชุมหารือและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือถึง สอน. เพื่อให้การสนับสนุนสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำแก่โรงงาน สำหรับจัดซื้อรถตัด และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยเฉลี่ยรถตัดอ้อย 1 คัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 20,000-25,000 ตันอ้อยต่อปีเพื่อลดการเผาอ้อย รวมถึงจะร่วมมือกับภาครัฐจัดทำโครงการ Smart Farming รวมแปลงเพาะปลูกให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลง โดยฝ่ายไร่ของโรงงานจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเพาะปลูก การดูแลรักษาและการจัดเก็บผลผลิตด้วยรถตัดอ้อย

"ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการหาสินเชื่อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ชาวไร่เพื่อซื้อรถตัดอ้อยแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันก็มีกติกาให้ชาวไร่ที่ส่งอ้อยไฟไหม้แก่โรงงาน จะถูกหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท เพื่อนำไปให้แก่ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนสัดส่วนการเผาอ้อยลงได้มากนัก อันเนื่องมาจากสภาพปัญหาที่ชาวไร่อ้อยเผชิญอยู่ การเพิ่มรถตัดอ้อยจะช่วยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้ดีขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

ดีเดย์18ก.พ.ชาวไร่อ้อยรับเงิน4พันล. ส่วนค่าผลผลิตตันละ50บ.ลุ้นปลายเดือน

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ได้เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนอ้อยฯที่เป็นรายได้จากระบบมาดูแลปัญหาราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่อยู่ระดับ 700 บาทต่อตันเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยนั้น ล่าสุดกองทุนฯเตรียมนำเงินจากการบริหารมาจ่ายเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยในช่วงแรกก่อนหลังหีบระยะหนึ่ง จำนวน 53 บาทต่อตันเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปคาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,500- 4,000 ล้านบาทจากนั้นจึงจะจ่ายส่วนที่เหลืออีกในช่วงปิดหีบ

“ล่าสุดอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 65 ล้านตันอ้อย กองทุนฯจะตัดระบบบัญชีจ่ายงวดแรกก่อน ใครพร้อมก็มาดำเนินการได้ทันที โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยตรง ทำให้เม็ดเงินนี้ไปช่วยเสริมสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีและจากนั้นเมื่อปิดหีบอ้อยส่วนที่เหลือก็จะจ่ายงวด 2 ต่อไป คาดว่าจะเป็นวงเงินรวม7,000 ล้านบาท”นายวีระศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า กองทุนฯกำลังพิจารณาว่าจะมีวงเงินเหลือมาส่งเสริมการจัดซื้อรถตัดอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยเพื่อเตรียมตัวในฤดูการผลิตปี 2562/63 ได้หรือไม่ ระหว่างรอขั้นตอนการขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ที่จะจัดวงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564)

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หากรถตัดอ้อยจะสามารถตัดอ้อยสดได้แทนการเผาอ้อยก่อนตัดที่เป็นปัญหาในเรื่องของมลพิษ ปัจจุบันรถตัดอ้อยในระบบประมาณ 1,000 กว่าคัน สามารถตัดอ้อยคิดเป็น 30% ของปริมาณอ้อยแต่ละปี ที่เหลือเกือบ 70% ยังเน้นใช้แรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดกติกาส่งเสริมการตัดอ้อยสดด้วยการให้เงินเพิ่มขึ้นกับชาวไร่ที่ขายอ้อยแต่การตัดอ้อยสดต้องพึ่งพารถตัดเป็นหลัก

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ มติครม.ยังเห็นชอบให้นำเงินงบประมาณกลางวงเงิน 6,500 ล้านบาทมาช่วยเหลือปัจจัยการเพิ่มเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน ช่วยรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 2.5 แสนบาทต่อราย ล่าสุดได้รับแจ้งจากสอน.ว่าอยู่ในขั้นตอนการขอเสนองบ คาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้น่าจะได้รับเงิน เมื่อเงิน 2 ส่วนรวมกันมากกว่า 100 บาทต่อตันจะทำให้ชาวไร่อ้อยมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นรวม

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

ไบโอไทยเผย’กฤษฎา’ชงแบนพาราควอต3ปี

รายงานข่าวจากไบโอไทยแจ้งความคืบหน้าแบนพาราควอตในประเทศไทย ว่า หลังจากนิ่งเฉยกับข้อเรียกร้องของกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรต่างๆมานาน ในที่สุด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งข้อความไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อหารือเกี่ยวกับการแบนพาราควอตแล้ว โดยเสนอให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงนี้ภายในไม่เกิน 3 ปี

ข้อเสนอให้มีการแบนภายใน 3 ปี เท่ากับยื้อการแบนออกไปอีก 2 ปี เนื่องจาก มติของกระทรวงสาธารณสุขและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีข้อเรียกร้องให้มีการแบนภายในสิ้นปี 2562 นี้ หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอครั้งแรกให้มีการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ต่อกระทรวงเกษตรตั้งแต่เดือนเมษายน 2560

โดยข้อความดังกล่าว เป็นข้อความที่ส่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ไปถึงข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องเมื่อเวลาประมาณ 20.45 น. ของคืนที่ผ่านมา หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติจะทบทวนการแบนพาราควอต ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ปรากฎข้อความ ดังต่อไปนี้

————–

เรียน ปล.กษ.และ อ.กรมวิชาการเกษตร

ขอส่งแนวทางตามความคิดเห็นของผม มาให้พวกเราได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมด้วยครับ

ข้อเสนอ ของ กษ.เพื่อให้เกษตรกรได้มีเวลาปรับตัวในการเรียนรู้การยกเลิกการใช้สารคมีในการทำเกษตรกรรม โดยขอเสนอทางเลือกในการยกเลิก/ยุติการใช้สารเคมีพาราควอต ดังนี้

แนวทางที่ 1 ประกาศยกเลิกแบบเป็นขั้นตอน

1.กำหนดระยะเวลาในยกเลิกการนำเข้าและการใช้พาราควอต ภายใน.3.ปี (ไม่ควรเกิน 3 ปี)

2.กำหนดพื้นที่ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย พาราควอต

2.1 ปีแรก พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ที่มีการทำเกษตรอินทรีย์ ตามประกาศ กษ.

โดยให้ จว.มีส่วนเสนอ (ประกาศทั้งจังหวัด หรือเฉพาะอำเภอ /ตำบล)

2.2 ปีที่สอง พื้นที่ที่มีการทำเกษตรปลอดภัย (gap) เกษตรยั่งยืน พื้นที่ชลประทาน (ประกาศทั้งจังหวัด หรือเฉพาะอำเภอ/ตำบล)

2.3 ปีที่สาม ยกเลิกทั้งประเทศ

แนวทางที่ 2:ใช้หลักการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เป้าหมายโดยให้เป็นไปตามมติของ คกก. เกษตรอินทรีย์จังหวัดโดยเสนอให้กำหนดวิธีลด /ละ /เลิก การใช้สารเคมีในระยะเวลา 3 ปีโดยให้แต่ละจังหวัดกำหนดแผนงานลด/ละ/เลิก การใช้สารเคมีพาราควอตโดยเริ่มตั้งแต่ในปีที 1ใช้มาตรการลดและในปีที่ 2 ใช้มาตรการ ละ และปีที่ 3 ยกเลิกเด็ดขาด

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

เกษตรฯ ชงงบปี 63 แผนบริหารทรัพยากรน้ำ กว่า 1.27 แสนล้าน

"เกษตรฯ" ชงงบรายจ่ายปี 63 กรอบวงเงินรวม 246,998 ล้านบาท ขับเคลื่อน 4 กลุ่มงาน เทงบลงแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก้อนใหญ่กว่า 1.27 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานจัดทำงบประมาณในภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินเสนอขอเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 246,998 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,656 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 82,838 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) ที่กษ. เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 135,135 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการ และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 127,132 ล้านบาท และแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 7,117 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) วงเงินรวม 2,368 ล้านบาท

จากคำของบประมาณดังกล่าว มีงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 175,563 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 154,790 ล้านบาท 2) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว กาแฟ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และพืชอื่นๆ) วงเงิน 4,646 ล้านบาท 3) แผนการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร วงเงิน 2,473 ล้านบาท 4) การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 4,226 ล้านบาท 5) การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร วงเงิน 3,272 ล้านบาท

6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงิน 703 ล้านบาท 7) ประมงพื้นบ้าน วงเงิน 62 ล้านบาท 8) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ วงเงิน 2,103 ล้านบาท 9) การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยภาครัฐ วงเงิน 1,997 ล้านบาท 10) การพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง/การปลูกพืชแซม วงเงิน 352 ล้านบาท 11) การส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 543 ล้านบาท และ 12) การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)/ Young Smart Farmer/ เกษตรกรรุ่นใหม่ วงเงิน 389 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

รักษ์เกษตร : ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เรื่องที่น่ารู้

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เป็นระบบทางการผลิตเกษตรแบบธรรมชาติจะเน้นการนำวัสดุอินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ในการผลิตพืชและสัตว์ เพื่อลดการนำปัจจัยการผลิตจากภายนอกมาใช้ให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นระบบแบบพึ่งพาตนเองพยายามลดต้นทุนปัจจัยการผลิตต่างๆหรือซื้อให้น้อยที่สุด แต่เน้นการผลิตโดยปัจจัยการผลิตเหล่านี้ ด้วยตนเองในไร่นาของตน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ จึงเป็นทางออกสำคัญในระบบการผลิตแบบเกษตรธรรมชาติ รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ด้วย

เกษตรกร ได้มีความพยายามในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ เพื่อให้การผลิตพืชหรือสัตว์มีคุณภาพดีขึ้นเมื่อคุณภาพของดินดีขึ้น ดินมีการอุ้มน้ำและความชื้นดีขึ้น เกิดระบบการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม จะทำให้ธาตุอาหารในพืชไม่สูญเสียไปจากระบบนิเวศในดินได้ง่าย ทั้งหมดนี้ เป็นการลดต้นทุนจากการนำปัจจัยการผลิตที่มีราคาแพง เช่น ปุ๋ยเคมี ได้เป็นอย่างดี

ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่ช่วยเพิ่มเติมธาตุอาหารของพืชและอาหารสัตว์กลับคืนสู่ระบบนิเวศในดิน เป็นการนำวัสดุอินทรีย์ต่างๆ กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ช่วยการปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติดีขึ้น โดยมีการเพิ่มเติมปริมาณอินทรียวัตถุกลับคืนสู่ดิน ทำให้ดินมีชีวิต

ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่ทำจากอินทรียวัตถุ ซึ่งผลิตด้วยวิธีทำให้ชื้น สับ หมัก บด ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ เพื่อทำให้วัตถุอินทรีย์ย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดิน ส่งเสริมการปลดปล่อยธาตุอาหารให้เพียงพอ ให้พืชสามารถนำไปสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพได้ ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน แหนแดง และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงต่างๆ รวมทั้งเศษวัสดุอินทรีย์เหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรอีกด้วย

ปุ๋ยชีวภาพ คือปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิต มีความสามารถในการสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งทางชีวภาพ ทางกายภาพ หรือชีวเคมี ทั้งยังรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์อีกด้วย ปุ๋ยชีวภาพช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืช ช่วยสร้างอาหารให้พืช แต่ไม่มีธาตุอาหารในตัวมันเอง เมื่อปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาให้พืชได้ ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ ปุ๋ยชีวภาพที่มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลไว้  มีหลายชนิดด้วยกัน ชนิดของปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ ไรโซเบียม อะโซโตแบคเตอร์ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินแหนแดง เชื้อราไมคอร์ไรซ่า เชื้อราไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต และจุลินทรีย์เร่งปุ๋ยหมัก  

ปุ๋ยทั้งสองชนิดนี้ เหมือนกัน มีประโยชน์ที่ใช้ก็เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันที่กระบวนการทำหรือกระบวนการผลิตเท่านั้น และที่สำคัญคือ ปุ๋ยทั้งสองชนิดนี้ ต่างมุ่งการเป็นมิตรต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน และเป็นทางเลือกที่สำคัญมากสำหรับเกษตรกร การใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพกันทั่วไปมีมากบ้างน้อยบ้าง และต่างก็ประสบปัญหาอยู่พอสมควร ดังนั้นต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ทั้งทางด้านวิชาการ กรรมวิธีการผลิต การใช้ประโยชน์ รวมทั้งการเก็บรักษา จะมีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการหันมาใช้ปุ๋ยเหล่านี้กัน อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

ชง ครม.21 โครงการยักษ์ ก.พ.นี้ หวังเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านดันเศรษฐกิจพุ่ง

“สมคิด” จี้คมนาคมจัดซื้อจัดจ้างเมกะโปรเจกต์ให้เสร็จเดือน ก.พ.นี้ หวังช่วยดันเศรษฐกิจทะยาน ส่วนเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ เร่งหาข้อสรุปให้ได้ ลั่นถ้าให้ยุติ ขอให้เดินตามแผนแม่บท “สศช.” ปี 46 ขณะที่ “อาคม” เด้งรับ จ่อชง ครม.ไฟเขียว 21 โครงการยักษ์ รวม 1.29 ล้านล้านบาท ในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการติดตามงานของกระทรวงคมนาคมว่า ได้เร่งรัดให้กระทรวงเร่งจัดซื้อจัดจ้าง หรือลงนามสัญญาโครงการต่างๆโดยเร็ว เพื่อให้เบิกจ่ายได้ในไตรมาส 1-2 นี้ตามแผน สำหรับโครงการที่ต้องให้มีความชัดเจน และได้ข้อสรุปในเดือน ก.พ.นี้ ประกอบด้วย การจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ของการบินไทย กับบริษัทแอร์บัส, โครงการขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ, เร่งเจรจารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด เทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทิศตะวันตก 110,000 ล้านบาท ให้เร่งเดินหน้า ส่วนโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) สนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.นั้น ต้องการให้กระทรวง และ ทอท.เร่งให้ได้ข้อสรุปในเดือน ก.พ.นี้ หากจะมีข้อสรุปว่าให้ยุติโครงการ ก็อยากให้ ทอท.ดำเนินการตามแผนแม่บทเดิมปี 46 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ เบื้องต้นมี 21 โครงการ รวมกว่า 1.29 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการทางอากาศ 4 โครงการ มูลค่า 201,000 ล้านบาท เช่น จัดหาเครื่องบินลอตใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย, โครงการเอ็มอาร์โอ เป็นต้น ส่วนโครงการทางน้ำ 3 โครงการ รวม 112,000 ล้านบาท คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, ขยายความสามารถท่าเรือคลองเตย และปรับปรุงท่าเรือระนอง นอกจากนี้ ยังมีโครงการทางราง 13 โครงการ มูลค่า 816,000 ล้านบาท เช่น ไฮสปีด เทรน ไทย-จีน, ไฮสปีด เทรน เชื่อม 3 สนามบิน, ไฮสปีด เทรน กรุงเทพฯ-หัวหิน เป็นต้น รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี, สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และสายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นต้น

ส่วนการก่อสร้างเทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิว่า ได้ส่งความเห็นของ สศช. และของกระทรวง ไปให้ ทอท.แล้ว และให้ ทอท.ดำเนินการตามความเห็นของ สศช.ที่เห็นว่าควรก่อสร้างส่วนต่อขยายเทอร์มินอล 1 ด้านตะวันออกและตะวันตกก่อน จากนั้นให้ก่อสร้างด้านทิศใต้ตามแผนแม่บทปี 46 แต่หาก ทอท.ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคน/ปี ก็ขอให้ ทอท.นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพก่อนจะตัดสินใจเดินหน้าโครงการเทอร์มินอลอื่นๆ รวมถึงเทอร์มินอล 2 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

“สศช.ให้ ทอท.ทำตามแผนแม่บทปี 46 เพราะพิจารณาแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเห็นว่า การคาดการณ์ผู้โดยสารตามแผนแม่บทปี 61 ของ ทอท. ที่จะมีผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปีนั้น ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยแผนที่ ทอท. เสนอทบทวนมาหลายครั้ง สศช.ก็ยังไม่ค่อยสนิทใจ สศช.เลยยึดแผนปี 46 หากดำเนินการตามแผนปี 46 ก็สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 120 ล้านคน/ปี”

ส่วนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า วันที่ 20 ก.พ.นี้ จะเสนอผลการศึกษา และแผนแม่บทเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.พิจารณา ก่อนรวบรวมผลการศึกษาทั้งหมด ให้ สศช.พิจารณา หากหลังจากนี้ สศช.ให้ดำเนินการอย่างไร ก็จะดำเนินการตาม.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562

ขอนแก่นจับจริงมือเผาไร่อ้อยปรับ2,000บาท

ตำรวจขอนแก่น จับจริงมือเผาไร่อ้อย ปรับ 2,000 บาท ขณะที่เครือข่ายเพื่อนเตือนภัยเข้าร้องเรียนจังหวัด

ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายพัฒน์พงษ์ ภู่สิงห์ สมาชิกเครือข่ายเพื่อนเตือนภัยจังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางเข้าพบนายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.ขอนแก่น เพื่อนำคลิปภาพของผู้ใช้เฟซบุกชื่อ “ญิ๋ง เล็ก” ที่ได้มีการโพสต์คลิปภาพวิดีโอที่เป็นการไลฟ์สด การเผาไร่อ้อย และภาพไฟที่กำลังลุกไหม้ไร่อ้อยในพื้นที่บ้านกนองกุงขี้ควง ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มอบให้กับรอง ผวจ.ขอนแก่น ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่สร้างมลภาวะให้กับชาวขอนแก่นจากสถานการณ์ปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ นายสุเทพ มณีโชติ รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า การเผาไร่อ้อย เป็นความผิดในคดีอาญา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าว ผิดกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเผาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขัดคำสั่งคณะกรรมการจังหวัดที่ประกาศห้ามเผาไร่อ้อยในทุกพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น

ด้าน พ.ต.อ.สุวัฒน์ สมจิตต์ ผกก.สภ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าบุคคลที่ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดและดำเนินการเผาไร่อ้อยและได้มีการไลฟ์สดนั้นคือ น.ส.พิมพ์ชนก อายุ 34 ปี ชาวบ้านหนองแวง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวมาทำการสอบสวนที่ สภ.น้ำพองแล้ว โดยเบื้องต้นเจ้าตัวให้การรับสารภาพว่ามีการไลฟ์สดจริง แต่ไม่ใช่คนจุดไฟเผา และไม่รู้ว่าจังหวัดขอนแก่นมีประกาศห้ามเผาไร่อ้อย เมื่อเห็นไฟไหม้ไร่อ้อย จึงไลฟ์สดผ่านโซเซียลมีเดีย

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุและควบคุมตัวผู้ต้องหาทำการชี้จุดเกิดเหตุพบว่ามีไร่อ้อยถูกเผาทั้งแปลง จำนวน 10 ไร่ แจ้งข้อหาว่า ทำผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดควัน กลิ่นพิษหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความผิดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งในความผิดทั้งสองข้อหานั้น พนักงานสอบสวน เปรียบเทียบปรับจำนวน 2,000บาท

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

พณ.รับลูก”สมคิด”นำเทคโนโลยีสู่ภาคเกษตรไทย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.จะร่วมกับ WEF Grow Asia จัดงานแฮ๊คกาธอน (Hackathon) รวมพลเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มาประกวดไอเดียเฟ้นหาแนวทางการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อโครงการ #ThailandFoodHeroes หรือประกวดไทยแลนด์ฟู้ดฮีโร่ ในวันที่ 26-28 มีนาคม 2562 ที่จังหวัดเชียงราย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ว่าต้องการเห็นกระทรวงพาณิชย์นำเกษตรกรรุ่นใหม่(young smart farmers) มาช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยนั้น เป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับโครงการที่ สนค. เตรียมจะทำอยู่แล้ว โดย สนค. ได้ริเริ่มโครงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มายกระดับการค้าและการลงทุนในขณะนี้ 2 โครงการ คือ นำบล็อกเชนมาช่วยเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้ได้เวลาที่จะคิกอ๊อฟโครงการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว

“หลายท่านคงเคยอ่านข่าวผ่านตามาบ้าง เรื่องที่จีนสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆมาช่วยพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรเขาได้อย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการนำโดรนมาช่วยสำรวจพื้นที่และทำเกษตรประณีต (precision farming) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและเอไอมาช่วยบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ เพื่อนำสินค้าเกษตรไปกระจายสู่ตลาดและผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว หรือการนำระบบเพย์เมนต์บนมือถือมาช่วยให้เกษตรกรอายุมากของจีนสามารถขายของและได้เงินภายในเวลาอันสั้น เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรน่าจะพัฒนาโมเดลของเราขึ้นมาช่วยเหลือภาคเกษตรไทยบ้าง เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในประเทศอื่น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า นอกจากตัวอย่างเทคโนโลยีในประเทศอื่นแล้ว สนค. ได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชุม และภาคเอกชนในจังหวัด พบว่า ประเทศไทยมีบุคคลหรือกลุ่มคนในภาคเกษตรจำนวนมาก ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ของตน แต่บุคคลเหล่านี้ยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังไม่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งที่จะช่วยให้สามารถถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์กันได้ แต่การมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง และการรวมกลุ่มที่มีความรู้ จะช่วยให้การพัฒนาภาคเกษตรของไทย และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เพื่อรองรับทั้งเป้าหมายการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับภาคเกษตร และการสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ สนค.จึงเตรียมการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการระดมสมองเพื่อประกวดหาไอเดียสุดยอดในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตรไทย ภายใต้ชื่อ #ไทยแลนด์ฟู้ดฮีโร่ (#ThailandFoodHeroes) โดยร่วมกับ WEF Grow Asia ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านเกษตรของ World Economic Forum และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่จังหวัดเชียงราย โดยจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียด เพื่อหาคนที่มีความคิดและความตั้งใจจะพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างแท้จริงเข้าร่วมงานครั้งแรกนี้ จำนวนไม่เกิน 60 คนเท่านั้น รูปแบบงานแฮ๊คกาธอน จะมีผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคเกษตร เสร็จแล้วจะแบ่งกลุ่มช่วยกันคิดโครงการที่จะทำในไทย โดยมีเงินรางวัลให้กลุ่มที่ชนะ หลังจากนั้น สนค. จะนำไอเดียที่น่าสนใจมาสานต่อ และให้เหล่าฮีโร่ทั้งหลายได้รับประกาศเกียรติคุณ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนไอเดียให้เป็นจริงต่อไป

“ดิฉันมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาภาคเกษตรและเกษตรกรไทย รวมทั้งต้องการเห็นการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรที่มีความรู้และจิตใจที่เสียสละ ต้องการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท่านอยากเห็นเรา ระเบิดจากข้างใน มั่นใจว่าเกษตรไทยต้องก้าวไกลได้แน่นอน” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

เกษตรฯยื่นของบฯปี63วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะหน่วยงานจัดทำงบประมาณในภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินเสนอขอเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 246,998 ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 26,656 ล้านบาท 2) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 82,838 ล้านบาท 3) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) ที่กษ. เกี่ยวข้อง รวม 8 แผนงาน วงเงินรวม 135,135 ล้านบาท โดยมีแผนงาน/โครงการ และงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 127,132 ล้านบาท และแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 7,117 ล้านบาท และ 4) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) วงเงินรวม 2,368 ล้านบาท

จากคำของบประมาณดังกล่าว มีงบประมาณตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 175,563 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 154,790 ล้านบาท 2) การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรด มะพร้าว กาแฟ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หม่อนไหม ประมง ปศุสัตว์ และพืชอื่นๆ) วงเงิน 4,646 ล้านบาท 3) แผนการผลิตการตลาดข้าวครบวงจร วงเงิน 2,473 ล้านบาท 4) การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 4,226 ล้านบาท 5) การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร วงเงิน 3,272 ล้านบาท 6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงิน 703 ล้านบาท

7) ประมงพื้นบ้าน วงเงิน 62 ล้านบาท 8) ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ วงเงิน 2,103 ล้านบาท 9) การส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยภาครัฐ วงเงิน 1,997 ล้านบาท 10) การพัฒนาอาชีพชาวสวนยาง/การปลูกพืชแซม วงเงิน 352 ล้านบาท 11) การส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร วงเงิน 543 ล้านบาท และ 12) การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)/ Young Smart Farmer/ เกษตรกรรุ่นใหม่ วงเงิน 389 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

"พาณิชย์"สนองนโยบายรัฐเฟ้นหาเกษตรรุ่นใหม่

"พาณิชย์"สนองนโยบายรัฐเฟ้นหาเกษตรรุ่นใหม่รับลูก “สมคิด” ประกาศรวมพลเกษตรกรรุ่นใหม่เฟ้นหาไทยแลนด์ฟู้ดฮีโร่ นำเทคโนโลยีสู่ภาคเกษตรไทย

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าจากที่นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายที่กระทรวงพาณิชย์โดยต้องการเห็นกระทรวงพาณิชย์นำเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ young smart farmers มาช่วยยกระดับภาคเกษตรไทยนั้น เป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับโครงการที่ สนค. เตรียมจะทำไว้อยู่แล้ว โดย สนค. ได้ริเริ่มโครงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มายกระดับการค้าและการลงทุนในขณะนี้ 2 โครงการ คือ นำบล็อกเชนมาช่วยเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา ขณะนี้ได้เวลาที่จะคิกอ๊อฟโครงการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยแล้ว โดยสนค. จะร่วมกับ WEF Grow Asia จัดงานแฮ๊คกาธอน (Hackathon) รวมพลเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มาประกวดไอเดียเฟ้นหาแนวทางการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ชื่อโครงการ #ThailandFoodHeroes หรือประกวดไทยแลนด์ฟู้ดฮีโร่ ในวันที่ 26-28 มีนาคม 2562 ที่จังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้สนค. ได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชุม และภาคเอกชน พบว่ามีบุคคลหรือกลุ่มคนในภาคเกษตรจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ของตน แต่ยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังไม่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งที่จะช่วยให้สามารถถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์กันได้ ดังนั้นความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับภาคเกษตร และการสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมงาน เพื่อหาคนที่มีความคิดและความตั้งใจจะพัฒนาภาคเกษตรไทยอย่างแท้จริงเข้าร่วมงานครั้งแรกนี้ จำนวนไม่เกิน 60 คน ทั้งนี้รูปแบบงานแฮ๊คกาธอน จะมีผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคเกษตร เสร็จแล้วจะแบ่งกลุ่มช่วยกันคิดโครงการที่จะทำในไทย โดยมีเงินรางวัลให้กลุ่มที่ชนะ หลังจากนั้น สนค. จะนำไอเดียที่น่าสนใจมาสานต่อ และให้เหล่าฮีโร่ทั้งหลายได้รับประกาศเกียรติคุณ และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนไอเดียให้เป็นจริงต่อไป

“กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะช่วยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาภาคเกษตรและเกษตรกรไทย รวมทั้งต้องการเห็นการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรที่มีความรู้และจิตใจที่เสียสละ ต้องการพัฒนาประเทศ ตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ” ผอ. สนค. กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

กท.จัด4พันล้านจ่ายไร่อ้อยลอตแรก ดีเดย์18กุมภาพันธ์นี้ทั่วประเทศ

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ได้เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนอ้อยฯที่เป็นรายได้จากระบบมาดูแลปัญหาราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2561/62 ที่อยู่ระดับ 700 บาทต่อตันเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยนั้นล่าสุดกองทุนเตรียมที่จะนำเงินจากการบริหารกองทุนมาจ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยในช่วงแรกก่อนจำนวน 53 บาทต่อตันเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปคาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 3,500- 4,000 ล้านบาท จากนั้นจึงจะจ่ายส่วนที่เหลืออีกในช่วงปิดหีบ

“ประเมินล่าสุดอ้อยเข้าหีบแล้วราว 65 ล้านตันอ้อยเราจะตัดระบบบัญชีจ่ายงวดแรกก่อนโดยใครพร้อมก็มาดำเนินการได้ทันทีโดยจะโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยตรง ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินนี้

ไปช่วยเสริมสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีและจากนั้นเมื่อปิดหีบอ้อยส่วนที่เหลือก็จะจ่ายงวด 2 ต่อไปรวมทั้งหมดคาดว่าจะเป็นวงเงินราว 7,000 ล้านบาท” นายวีระศักดิ์กล่าว

ขณะนี้กองทุนกำลังพิจารณาว่าจะมีวงเงินเหลือที่จะบริหารนำมาส่งเสริมการจัดซื้อรถตัดอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยเพื่อเตรียมตัวในฤดูการผลิตปี 2562/63 ได้หรือไม่ในช่วงที่ระหว่างรอ

ขั้นตอนการขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะจัดวงเงินปีละ2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564)

“โครงการของธ.ก.ส.ได้ปิดไปเมื่อกันยายน 2561 คงจะต้องรอการนำเสนอครม.เพื่อขยายโครงการต่อไปแต่ระหว่างรอชาวไร่บางส่วนมองว่าน่าจะนำเงินจากกองทุนหากมีพอมาทำได้ก่อนไหมก็คงต้องดูรายละเอียด ซึ่งยอมรับว่าโอกาสของการใช้รถตัดอ้อยทั้งระบบในอนาคตยังมีได้อีกนับ 1,000 คัน เพราะขณะนี้ชาวไร่อ้อยเองก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ประกอบกับการมีรถตัดอ้อยก็จะทำให้สามารถตัดอ้อยสดได้แทนการเผาอ้อยก่อนตัดที่เป็นปัญหาในเรื่องของมลพิษ”นายวีระศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันรถตัดอ้อยมีในระบบประมาณ 1,000 กว่าคัน สามารถตัดอ้อยได้คิดเป็น 30% ของปริมาณอ้อยแต่ละปีขณะที่เหลือเกือบ 70% ยังคงต้องเน้นใช้แรงงานและแรงงานทั้งหมดก็จะเป็นแรงงานต่างด้าวซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดกติกาส่งเสริมการตัดอ้อยสดด้วยการให้เงินเพิ่มขึ้นกับชาวไร่ที่ขายอ้อยแต่ก็ต้องยอมรับว่าการตัดอ้อยสดนั้นต้องพึ่งพารถตัดเป็นหลัก

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือจากกองทุนแล้ว ครม.เมื่อ 8 ตุลาคม 2561 ได้เห็นชอบให้นำเงินงบประมาณกลางวงเงิน 6,500 ล้านบาท มาช่วยเหลือเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน ซึ่งจะช่วยรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 2.5 แสนบาทต่อราย โดยล่าสุดได้รับแจ้งจากสอน.ว่าอยู่ในขั้นตอนการขอเสนองบคาดว่าปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ น่าจะได้รับเงินเมื่อเงิน 2 ส่วน รวมกันก็จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นรวมแล้วก็จะได้เงินค่าอ้อยเพิ่มอีกอย่างต่ำ 100 บาทต่อตัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

ควัก 4พันล้านอุ้มชาวไร่อ้อยตันละ 53 บาท

กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเตรียมเงิน 3,500-4,000 ล้าน จ่ายเงินเสริมสภาพคล่องชาวไร่อ้อยทั่วประเทศตันละ 53 บาท เริ่ม 28 ก.พ.นี้

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 ได้เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนอ้อยฯ มาดูแลปัญหาราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2561/2562

อยู่ที่ระดับ 700 บาท/ตัน เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยนั้น ล่าสุดกองทุนฯ เตรียมนำเงินจากการบริหารกองทุนฯ มาจ่ายเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยในช่วงแรกก่อน 53 บาท/ตัน เริ่มวันที่ 18 ก.พ.นี้เป็นต้นไป คาดจะใช้เงิน 3,500-4,000 ล้านบาท

“ประเมินล่าสุดอ้อยเข้าหีบแล้ว 65 ล้านตันอ้อย โดยจะตัดระบบบัญชีจ่ายงวดแรกก่อน ใครพร้อมก็มาดำเนินการได้ทันที จะโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยตรง ซึ่งก็จะทำให้เม็ดเงินนี้ไปช่วยเสริมสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีและจากนั้นเมื่อปิดหีบอ้อยส่วนที่เหลือก็จะจ่ายงวด 2 ต่อไป รวมทั้งหมดคาดว่าจะเป็นวงเงินราว 7,000 ล้านบาท” นายวีระศักดิ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อย ระบุว่า นอกจากนี้มติ ครม.ยังเห็นชอบให้นำเงินงบกลางวงเงิน 6,500 ล้านบาทมาช่วยเหลือปัจจัยการเพิ่มผลผลิตอีก 50 บาท/ตัน กำหนดรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 2.5 แสนบาท/ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอเสนองบ คาดว่าปลายเดือน ก.พ.นี้น่าจะเริ่มจ่ายเงินได้

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

ชาวไร่อ้อยเฮ!18 ก.พ.กดปุ่มจ่ายเงินทั่วปท.

 18 ก.พ. กดปุ่มจ่ายเงินชาวไร่อ้อยทั่วปท. 53 บาทต่อตัน เสริมสภาพคล่อง คาดใช้เงินสองงวด 7 พันล้าน ลุ้นอีกต่อรอเงินรัฐเพิ่มอีกตันละ 50 บาทปลายเดือนนี้                   

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าครม. เห็นชอบใช้กลไกกองทุนอ้อยฯที่เป็นรายได้จากระบบมาดูแลปัญหาราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 61/62 ที่อยู่ระดับ 700 บาทต่อตันเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.นี้เป็นต้นไป จะนำเงินกองทุนฯมาจ่าย เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยในช่วงแรกก่อนจำนวน 53 บาทต่อตัน คาดว่า ใช้วงเงินประมาณ 3,500- 4,000 ล้านบาท  จากนั้นจึงจะจ่ายส่วนที่เหลืออีกประมาณ 17 บาทต่อตันในช่วงปิดหีบ

 “ประเมินล่าสุดอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 65 ล้านตันอ้อยเราจะตัดระบบบัญชีจ่ายงวดแรกก่อนโดยใครพร้อมก็มาดำเนินการได้ทันทีโดยจะโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยตรง ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินนี้ไปช่วยเสริมสภาพคล่องได้เป็นอย่างดีและจากนั้นเมื่อปิดหีบอ้อยส่วนที่เหลือก็จะจ่ายงวด 2 ต่อไปรวมทั้งหมดคาดว่าจะเป็นวงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตามขณะนี้กองทุนฯกำลังพิจารณาว่า จะมีวงเงินเหลือที่จะบริหารนำมาส่งเสริมการจัดซื้อรถตัดอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยเพื่อเตรียมตัวในฤดูการผลิตปี 62/63 ได้หรือไม่ในช่วงที่ระหว่างรอขั้นตอนการขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ที่จะจัดวงเงินปีละ2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท หรืองบประมาณปี 62-64

รายงานข่าวจากชาวไร่อ้อย กล่าวว่า  นอกจากเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯแล้ว ครม.เมื่อ 8 ต.ค. 61ได้เห็นชอบให้นำเงินงบประมาณกลางวงเงิน 6,500 ล้านบาทมาช่วยเหลือปัจจัยการเพิ่มอีก 50 บาทต่อตัน ซึ่งจะช่วยรายละไม่เกิน 5,000 ตัน หรือไม่เกิน 250,000 บาทต่อราย ล่าสุดได้รับแจ้งจากสอน.ว่าอยู่ในขั้นตอนการขอเสนองบ คาดว่า ปลายเดือนก.พ.นี้ น่าจะได้รับเงินเมื่อเงิน 2 ส่วนรวมกันก็จะทำให้ชาวไร่อ้อยมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นรวมแล้วก็จะได้เงินค่าอ้อยเพิ่มอีกอย่างต่ำ 100 บาทต่อตัน                   

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562

ปัจจัยเสี่ยงตปท.กดเงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวน

ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้ายังเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 31.30-31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ชี้สารพัดปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศกดดันตลาดเงิน              

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาแจ้งว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 31.30-31.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างผันผวน โดยประเด็นที่ติดตามเป็นเรื่องเบร็กซิทหรือการออกการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษว่า รัฐสภาจะมีมติในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง  รวมถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์  ประธานาธิบดีสหรัฐขู่ว่าวันที่ 15 ก.พ.นี้จะเกิดภาวะชัตดาวน์หน่วยงานรัฐรอบใหม่หากร่างกฎหมายงบประมาณฉบับใหม่ไม่ได้บรรจุประเด็นงบประมาณก่อสร้างกำแพงบริเวณชายแดนระหว่างสหรัฐและเม็กซิโก  ซึ่งต้องดูว่ามีซัตดาวน์ต่อไปอีกหรือไม่  ตลอดจนความไม่แนน่อนเรื่องการลดข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน  อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทั้งนำเข้า-ส่งออกควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และซื้อขายเป็นสกุลเงินท้องถิ่นแทนดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ตั้งแต่สิ้นปี 61 จนถึง 8 ก.พ.ที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าสุด 3.41% รองลงมาเป็นรูเปียห์-อินโดนีเซีย 3.04% ริงกิต-มาเลเซีย 1.59% หยวน-จีน   1.27% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.97% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.49% ส่วนค่าเงินที่อ่อนค่า เช่น ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.08% วอน-เกาหลีใต้ 0.71%  %  รูปี-อินเดีย 2%

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562

คำสั่งห้ามเผา!ชาวไร่อ้อยหันใช้รถตัดมากขึ้น

ชาวไร่อ้อยหันมาใช้บริการรถตัดอ้อยมากขึ้น หลังมีคำสั่งห้ามเผา ได้ผลดีเกินคาดขายได้ราคาดี แถมค่าใช้จ่ายถูกกว่าใช้แรงงานคนตัด

จากปัญหาค่าฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ซึ่งได้ก่อปัญหากระทบกับสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ รวมถึงปัญหาจากการเผาตอซังข้าวและการเผาไร่อ้อยลุกลามกลายเป็นปัญหาไฟป่าทำพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ทำให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรห้ามเผาเด็ดขาดในช่วงฤดูแล้งปี 2562 แต่ยังคงมีเกษตรกรบางยังคงฝ่าฝืนไม่ใส่ใจกับคำประกาศ จนเริ่มมีหน่วยงานจากหลายภาคส่วนเข้ามาตักเตือนถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในอำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา หันมาใช้บริการรถตัดอ้อยกันมากยิ่งขึ้นทดแทนการใช้แรงงานคนตัด

นายอธิวัฒน์ มากมาย เกษตรกรชาวไร่อ้อยตำบลหนองพลวง อำเภอจักราช เปิดเผยว่าได้หันมาใช้บริการรถตัดอ้อยเนื่องจากหากใช้แรงงานคนในการตัดอ้อยมักจะรับตัดเฉพาะอ้อยที่มีการเผาใบแล้วเท่านั้นเนื่องจากความสะดวกและง่ายต่อการตัด แต่เมื่อไปส่งโรงงานน้ำตาลก็จะถูกหักค่าไฟไหม้ตันล่ะ 30 บาท รวมถึงไม่ได้เงินชดเชยราคาอ้อยจากโรงงาน จึงได้หันมาใช้บริการรถตัดอ้อยเนื่องจากคำนวณราคาต่อไร่แล้วถูกกว่าจ้างแรงงานตัด เมื่อนำไปส่งโรงงาน อ้อยตัดสดจะได้สิทธิพิเศษปล่อยคิวเข้าโรงงานเร็วกว่าอ้อยที่ถูกไฟไหม้ โดยปัจจุบันราคาอ้อยเมื่อรวมค่าความหวานจะอยู่ที่ตันล่ะประมาณ 800-900 บาท การที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาใช้บริการรถตัดอ้อยเนื่องจากรถตัดอ้อยสามารถตัดได้รวดเร็วกว่าใช้แรงงานคน และอ้อยที่ตัดได้

ก็เป็นอ้อยสดไม่ถูกหักค่าไฟไหม้ ทำให้เกษตรกรมีได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งราคาตัดอ้อยรวมขนย้ายส่งโรงานจะอยู่ที่ตันล่ะ 300 บาท โดยเกษตรกรเป็นผู้ซื้อนำมันเติมรถตัดอ้อยเอง ซึ่งถ้าเป็นการจ้างแรงงานคนตัดจะเสียทั้งค่าจ้างคนตัด ค่ารถขนย้าย ค่ารถคีบอ้อยขึ้นรถขนย้ายและค่าอ้อยไฟไหม้ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะมากกว่าค่าจ้างรถตัดทำให้เกษตรกรหันมาใช้บริการรถตัดอ้อยกันมากขึ้น นายอธิวัฒน์กล่าว

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562

จับตา!14 ก.พ.สารเคมีผวาวูบ 2.7หมื่นล้าน

ลุยเต็มสูบโค้งสุดท้าย! “รมช.วิวัฒน์”นำทีมหนุนเกษตรปลอดสารเคมี เตรียมเสนอแนวทางและมาตรการทดแทนการใช้สารเคมีต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ 14 ก.พ.นี้ ย้ำพื้นที่เป้าหมาย 5 ล้านไร่เกษตรอินทรีย์ เล็งนำงบกว่าพันล้านขยายพื้นที่ต่อเนื่อง

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)รายงานปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ใน พ.ศ. 2560 มีการนำเข้ารวม 198,317 ตัน เพิ่มขึ้น จาก พ.ศ. 2559 ร้อยละ 23 ที่มีการนำเข้ารวม 160,824 ตัน โดยประเภทของสารอันตราย ภาคเกษตรกรรมที่นำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ร้อยละ 75 สารกำจัดแมลง ร้อยละ 11 และสารป้องกันกำจัดโรคพืช ร้อยละ 10 เมื่อพิจารณาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553-2560) พบว่า การนำเข้าสารอันตรายภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากกรณีดังกล่าวนี้จึงทำให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน มีจุดยืนอย่างชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยในการใช้สารเคมีทุกชนิดกับการทำเกษตร เนื่องจากสารเคมีได้ส่งผลกระทบและนำพาไปสู่ความไม่ยั่งยืนในภาคการเกษตร อาทิ เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ หรืออื่น ๆ ตลอดทั้งส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค ด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล เด็กนักเรียน และนักท่องเที่ยวจะต้องมีความสะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ

นโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งรัดและต่อเนื่อง เพราะเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงด้านอาหาร และความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องเชื่อมโยงบูรณาการทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ขับเคลื่อนการดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมาย โดยให้ที่ประชุมร่วมกันหาแนวทางมาตรการทดแทนการใช้สารเคมีให้แก่เกษตรกร ทั้งด้านการใช้เครื่องกล และเทคนิคการผลิตต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาต่อไป

ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ยังได้มีการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อาทิ 1.(ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ.... 2.โครงการพัฒนาวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ โดยเห็นควรให้จัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาความร่วมมือและแนวทางการพัฒนาร่วมกันทั้งระดับนโยบายและการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ ตลอดทั้งจัดทำความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรฯ และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาวิจัยการค้าเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรใน 4 ภูมิภาคของประเทศ 3. การจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้จัดครั้งที่ 1 ในภาคใต้แล้ว จึงเห็นควรให้มีการจัดต่อเนื่องอีก 3 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4.พิจารณาแผนงานเกษตรกรรมยั่งยืน ปีงบประมาณ 2562 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ

โดยมีงบประมาณจำนวน 1,175.01 ล้านบาท กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 697,343 ไร่ แบ่งเป็น เกษตรอินทรีย์ 468,973 ไร่ เกษตรทฤษฎีใหม่ 180,330 ไร่ เกษตรผสมผสาน 46,500 ไร่ และวนเกษตร 1,175.01 ไร่ ทั้งนี้ จากแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ได้กำหนดจังหวัดนำร่องในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเชิงพื้นที่ ในจังหวัดมหาสารคาม เชียงใหม่ และยโสธร อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามแผนงาน /โครงการในปี 2562 ขณะนี้เป็นเพียงไตรมาสแรก จึงควรบูรณาการทำงานเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานพิจารณาในส่วนที่ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย ให้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องเพื่อบูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไป

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562

ชาวลานอ้อยอำนาจเจริญเดือดร้อนหนัก โอดโดนตร.รีบไถส่วยรถบรรทุก

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกษตรกรที่ขนบรรทุกอ้อย ที่ลานอ้อยอำเภอหนึ่งของ จังหวัดอำนาจเจริญ ร้องเรียนว่า นั้นมีความลำบากมาก มาขายอ้อยในแต่ละวันก็วิ่งได้ 2-3 รอบต่อวันกำไรก็มีน้อย ขนตามขอบเขตของกฎหมายกำหนด และที่สำคัญที่สุดมี ทางตำรวจภูธรสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนึ่ง ในจังหวัดอำนาจเจริญดักจับปรับและแนะนำให้เข้าสู่ ระบบส่วยรถบรรทุกอ้อย และให้จ่ายค่าส่วย เดือนละ 200 บาทต่อคัน ชึ่งมีรถบรรทุกอ้อยกว่า 150 คัน ตนเดือดร้อนมากและไม่อยากให้มีระบบส่วยขนอ้อยในลักษณะเช่นนี้ เลยในเขตพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ

ตำรวจที่มาจับกินเป็นตำรวจภูธรอำเภอหนึ่งบนเส้นทางหลวงจากอำเภอพนาไปถึงลานอ้อย พวกตนเดือดร้อนมากอยากให้ทางหน่วยเหนือลงมาตรวจสอบดำเนินคดีกับส่วยตำรวจนอกรีตเหล่านี้ด้วย มีใบเสร็จที่ตำรวจพวกนี้จับตนด้วย ตำรวจพวกนั้นยังบอกพวกตนว่าจะเรียกเก็บคันละ 200 บาทต่อคันและให้ส่งเป็นเดือนๆต่อคันอีกด้วยด้วย ซึ่งมีรถอยู่จำนวนกว่า 100 คันตกเป็นเงินก็เกือบ 20,000 บาทพวกตนเดือนร้อนมาก วอนผู้รับผิดชอบลงพื้นที่ดำเนินการด่วนอย่างปล่อยให้ตำรวจนอกรีตเหล่านี้ย่ามใจและปล่อยให้ลอยนวลอยู่ได้

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

สารเคมีกระทบอุตฯอ้อยหวั่นโรงงานน้ำตาลปิดตัว

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์  นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลทรายแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทย ผลิตอ้อยเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก นิคมอุตสาหกรรมซีโรว์เวสโปรดัก มีเพียงแห่งเดียวในโลกคือ ประเทศไทย และโรงงานผลิต้อยที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ประเทศไทยเช่นกัน ในแต่ละวันผลิตอ้อยวันละ 1 ล้านตัน (เท่ากับว่ากำลังตัดอ้อยที่ 100,000 ไร่ต่อวัน สมมุต 1 ตัน ใช้คนตัดอ้อย 1 คน ต้องใช้เกษตรกรนับล้านคนในการตัดอ้อยหากไม่มีเครื่องจักร ขณะเดียวกันการดูแลรักษาอ้อย 100,000 ไร่ เพื่อไม่ให้วัชพืชขึ้นเป็นสิ่งที่ยากเช่นกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาคนมาถางหญ้า การใช้ปัจจัยการผลิต หรือสารเคมีพาราควอตจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

ทั้งนี้การเพาะปลูกอ้อยของไทย มีพื้นที่รวมกว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี หากมีการยกเลิกใช้สารพาราควอต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่สามารถผลิตอ้อยส่งได้ตามเป้าหมาย กระทบเป็นห่วงโซ่ในสายการผลิต ส่งผลถึงโรงงานน้ำตาลขาดวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ สุดท้ายผลเลวร้ายที่สุด อาจเกิดการปิดตัวของโรงงานน้ำตาลผลมาจากเหตุขาดทุนได้ ปัญหาสำคัญคือ การใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากรภาคเกษตรทุกรายที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตร มีเครื่องมือการเกษตรปลอดภัยมาตรฐาน GAP แล้ว ควรกำหนดกรอบและมาตรฐานการใช้สารเคมีผ่านมาตรฐาน GAP เพราะมาตรฐานไม่ได้กำหนดว่า ห้ามใช้สารเคมี แต่จะบอกวิธีการใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง

“กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณามาตรการใช้สารเคมีอยากให้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ขอให้เกษตรกร คนจนมีทางเลือกหรือทางออกสำหรับข้อเสนอแนะที่จะให้ปลูกพืชระหว่างร่องอ้อยเป็นไปไม่ได้ เกษตรกรไม่ได้ปลูกเพียงไม่กี่ไร่ แต่ปลูกเป็นร้อยไร่ แสนไร่ ส่วนการหาสารทดแทนขอให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติ ราคา และประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช”

จาก www.siamrath.co.th  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

ขอนแก่น ขึ้น "บัญชีดำ" พวกเผาอ้อย ฝุ่นพิษพุ่ง

ฝุ่นพิษลดลงเกือบทุกพื้นที่แล้วหลังมีการดำเนินมาตรการลดฝุ่นอย่างเข้มข้น กองบัญชาการตำรวจจราจรยังไม่วางใจในสถานการณ์ ปฏิบัติการต่อลดมลพิษในอากาศ จัดเจ้าหน้าที่ 20 ชุดตรวจเข้มข้นรถควันดำ ด้านกระทรวงคมนาคมยังลุยตรวจควันดำรถบรรทุกลดฝุ่นพิษ ผู้ประกอบการพร้อมใจร่วมมืองดวิ่งรถบรรทุกเข้ากรุงช่วงกลางวัน วอนภาครัฐหนุนใช้ก๊าซเอ็นจีวี และลดภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า กระทรวงอุตสาหกรรมแจงผลตรวจสอบโรงงานกว่า 2 พันแห่งไม่พบค่าฝุ่นละอองเกินกำหนด ขอนแก่นวาง 4 มาตรการปราบฝุ่น ขึ้นบัญชีดำเกษตรกรที่เผาอ้อยส่งเข้าโรงงาน

แม้จะเป็นข่าวที่น่ายินดีว่าค่าฝุ่นพิษลดลงเกือบทุกพื้นที่ที่เคยมีปัญหา แต่หลายฝ่ายยังไม่วางใจในสถานการณ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชม. ลดลงจากเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เกือบทุกพื้นที่ มีค่าฝุ่นละอองที่ 12-38 มคก./ลบ.ม. ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันคาดการณ์สถานการณ์ จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ในวันที่ 8 ก.พ. ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ โดยเหตุที่ค่าฝุ่นลดลงมาจากการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เกี่ยวกับมาตรการ “One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5” ว่า สาเหตุหลักของปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นมาจากการใช้น้ำมันดีเซลจำนวนมาก โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ ขณะนี้ภาครัฐได้รณรงค์ลดการปล่อยควันดำ โดยตรวจเข้มรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถโดยสารประจำทาง ของ บขส.พร้อมให้เปลี่ยนการใช้น้ำมันจากดีเซลเป็นบี 20 มาตรการลดฝุ่นจะให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะแค่ช่วงเวลานี้และหากจะแก้ปัญหาทั้งระบบ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย โดยทั้ง 2 องค์กรยินดีให้ความร่วมมือในการดูแลเครื่องยนต์ให้สะอาดไม่ปล่อยควันดำ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง รักษาการประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก มีกว่า 1 ล้านคัน แต่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ แค่ 2.4 แสนคัน สมาชิกทั้งหมดให้ความร่วมมือกับภาครัฐ มาโดยตลอด ในการไม่ทำผิดกฎหมาย การแก้ปัญหา ระยะเร่งด่วน สหพันธ์ฯจะปรับเวลาการวิ่งของรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซลที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯและปริมณฑลจากกลางวันเป็นกลางคืนแทน เพื่อลดปัญหาจราจรแออัดและบรรเทาการเกิดฝุ่นละออง เพราะหากไม่ให้ รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯเพื่อส่งสินค้าอาจส่งผลกระทบต่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว วอนให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนส่วนลดราคาก๊าซเอ็นจีวีออกไปอีก จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.62 พร้อมหาแนวทางช่วยลดภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า จากการติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่หน้าด่านทับช้าง 1 มุ่งหน้าบาง–พลี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจค่าฝุ่นละอองลดลงอย่างมาก ขณะที่พื้นที่หน้าด่านทับช้าง 2 มุ่งหน้าบางปะอิน ค่าฝุ่นยังไม่ลดลง อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่กรมทางหลวงมีแผนจะติดตั้งเครื่องฉีดพ่นเพิ่มบริเวณสะพานลอยก่อนถึงทางต่างระดับบางขุนเทียน อีก 2 จุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯหลายรายได้เรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำสัญลักษณ์หรือสติกเกอร์ แสดงให้เห็น ว่ารถได้ผ่านการสุ่มตรวจควันดำบนท้องถนนแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการเรียกตรวจซ้ำ เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้วยังส่งผลให้รถติดและก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นละอองได้ ผู้ประกอบการหลายรายยินดีเปิดอู่รถของตนเองให้เป็นจุดตรวจควันดำโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานจราจร กล่าวถึงการกวดขันจับกุมรถควันดำต้นเหตุทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐานว่า ช่วงแรกใช้แผนตั้งจุดตรวจควันดำประจำจุดต่างๆ หลังจากวันที่ 1 ก.พ. พบว่ามีรถส่วนหนึ่งหลบเลี่ยงการตรวจและฝ่าฝืนนำรถที่มีควันดำมาใช้ จึงเปลี่ยนไปใช้มาตรการเชิงรุกตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ 5 ชุดเข้าไปจับกุมได้วันละ 500-600 รายต่อวัน ขณะนี้ลดลงเหลือวันละประมาณ 400 กว่าราย สันนิษฐานว่าผู้ประกอบการหรือผู้ที่ขับรถน่าจะไม่นำรถควันดำออกมาใช้ เพราะรู้ว่าตำรวจกวดขันจับกุมอย่างเข้มข้น

“นอกจากนี้ ยังเชิญสมาคมรถบรรทุก ผู้ประกอบการต่างๆ ขอความร่วมมือให้ตรวจสอบสภาพรถยนต์ หากต้องการให้ บก.จร.เข้าไปตรวจยินดีไปตรวจให้ ทั้งนี้ จากมาตรการเข้มรถควันดำทำให้ผู้ประกอบการรถขนส่งสาธารณะและรถบรรทุก ทำให้ปริมาณรถควันดำบนท้องถนนลดลง หากตรวจพบรถควันดำเกินกฎหมายกำหนดถ้าเป็นรถใหญ่จะพ่นสีบ่งบอกว่าห้ามขับเข้าในพื้นที่กวดขัน ส่วนรถเล็กกรมควบคุมมลพิษจะติดสติกเกอร์แทน ด้านผลการจับกุมรถควันดำจนถึงวันที่ 4 ก.พ. มีรายงานว่าจับกุมได้เกือบ 8,000 ราย” พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าว

อีกด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของกระทรวง ได้ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นเสี่ยงทั่วประเทศ รวม 2,095 โรง ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน แต่พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆจำนวน 45 โรงงานจึงได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุง จำนวน 35 โรง ให้หยุดประกอบกิจการจำนวน 3 โรง และอื่นๆ จำนวน 7 โรง ส่วนกลุ่ม โรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนอกจากจะมีการติดตั้งระบบบำบัดต่างๆแล้วยังมีผู้ควบคุมเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ในการควบคุมระบบบำบัดต่างๆ ปัจจุบันมีโรงงาน 2,000 โรงงานจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่า มีค่าการระบายฝุ่นรวมเฉลี่ย 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ตอนสายวันที่ 7 ก.พ. ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมนัดไต่สวนครั้งแรก พิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนย่านจตุจักร-บางเขน-ลาดพร้าว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานเป็นผู้ฟ้อง โดยขอให้สั่งนายกรัฐ มนตรีกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย และความเสียหายที่เกิดจาก ปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวอย่างทันท่วงทีภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่งและให้นายกฯสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดยึดกำแพงเพชรโมเดลเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยการสั่งห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ห้ามเผาซังนาข้าวหลังเก็บเกี่ยว ขอให้ศาลสั่งผู้ว่าฯ กทม.ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาฝุ่นพร้อมเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ ห้ามตัดต้นไม้ที่มีอยู่บริเวณริมทางเท้า-ริมถนนโดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงาม หรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น

ที่จังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ. เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ก.พ. มีค่าฝุ่นสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดย ได้เชิญตัวแทนโรงงานน้ำตาลในจังหวัดขอนแก่น อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 10 วาง 4 มาตรการลดฝุ่นละออง คือ ต้องบังคับใช้กฎหมายการเผาอ้อยอย่างเคร่งครัด โรงงานจะต้องวางมาตรการเรื่องอ้อยที่จะนำเข้าโรงงาน หากมีอ้อยที่เผาถูกนำเข้าโรงงาน ให้ขึ้นบัญชีดำเกษตรกรที่นำอ้อยแบบเผามาส่ง ยืดเวลาการปิดหีบอ้อยจากวันที่ 10 เม.ย.ออกไป และตั้งคณะอนุกรรมการรับซื้ออ้อยส่วนหน้าตามอำเภอต่างๆ ที่มีอยู่ใน จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นหาอ้อยที่มีการเผา

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ว่า วันเดียวกันนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสห-ประชาชาติ (WMO) ระบุว่า ในรอบ 4 ปีหลัง โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา เป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (ภาวะโลกร้อน) ระยะยาวได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง สรุปด้วยว่าอุณหภูมิ พื้นผิวโลกของปี 2561 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 องศาเซลเซียส (1.8 องศาฟาเรนไฮต์) สูงกว่าระดับค่าบรรทัดฐานช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ.2562 จะยังเกิดภัยพิบัติเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนเหมือนกับปีที่แล้ว เช่น เดือน ม.ค. 62 ออสเตรเลียเพิ่งเผชิญสภาพอากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ พร้อมเตือนภาวะคลื่นความร้อน (ฮีตเวฟ) ระดับเข้มข้นจะเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน WMO ยังแถลงเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า พ.ศ.2561 จะถือเป็นปีสภาพอากาศร้อนที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกมา ดังนั้นต้องมีมาตรการเร่งด่วนจัดการภาวะโลกร้อนที่ควบคุมไม่อยู่ ก่อนหน้านี้ มีรายงานสภาพอากาศโลกขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) กับสำนักงานมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุทำนองเดียวกันว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่อากาศโลกร้อนที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

นโยบายเกษตรที่อยากเห็น

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เราทราบข่าวกันอยู่แล้วว่าระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ. 2562 เป็นช่วงรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ ดังนั้นเพื่อให้เข้าบรรยากาศการรับสมัครการเลือกตั้ง ผมจึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเกษตร ด้วยประสบการณ์การทำวิจัยสินค้าเกษตรมาหลายปีของผม จึงอยากแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "นโยบายเกษตรที่ผมอยากเห็น" หรือสมมติว่าผมเป็นหัวหน้าพรรคที่ชื่อว่า "พรรคหน้าหัวอัทธ์" ผมจะมีนโยบายเกษตรอย่างไร

จากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน ปัญหาภาคเกษตรไทยมีหลากหลายประเด็นทั้งที่ทำกิน รายได้ต่ำ ขาดแคลนน้ำ ต้นทุนสูงและผลผลิตล้นตลาด เป็นต้น แต่ในมุมมองของผมๆ คิดว่า มี 2 เรื่องคือที่สำคัญที่พรรคผมต้องทำคือ  "นโยบายการบริหารจัดการผลผลิตสินค้าเกษตร และนโยบายตลาดต่างประเทศสินค้าเกษตร"

สำหรับการจัดการผลผลิตเกษตรภายในประเทศนั้น ผมจะใช้สโลแกนในการหาเสียงว่า "เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันสินค้าเกษตรไทย" ผมจะไม่เน้นการแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยการแทรกแซงราคา แต่จะเน้นสร้างให้เกษตรกรมีศักยภาพการผลิตเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกให้ได้ โดยจะแก้ปัญหาจากต้นเหตุหลักๆ คือผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูง ซึ่งทั้งสองสาเหตุ ส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรติดลบ หากสามารถแก้ปัญหาต้นทางหรือต้นเหตุได้ เราจะได้ 2 อย่างไปพร้อมๆ กันคือ ศักยภาพการผลิตสูงขึ้นและรายได้ของเกษตรกรก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าเราแก้ปลายเหตุ เราช่วยเรื่องรายได้ของเกษตรกรเท่านั้น แต่เราไม่ได้ช่วยศักยภาพการแข่งขัน

ปัญหาต้นทางของภาคเกษตรไทย ผมพอจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่องใหญ่ คือ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และการจัดการผลผลิตในแต่ละปี ตรงต้นทุนสูงและผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้องเปรียบเทียบกับอาเซียนที่มีผลผลิตสินค้าเกษตรเหมือนกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งไทยจะมีต้นทุนสูงและผลผลิตต่อไร่อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งของอาเซียน ขอยกตัวอย่าง ชาวนาเวียดนามในจังหวัด Long An (จังหวัดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ห่างจากโฮจิมินห์ 56 กม.) มีต้นทุนปลูกข้าว 3,125 บาท/ตัน มีกำไรอยู่ที่ไร่ละ 3,876 บาท เมื่อชาวนามี 15 ไร่ ทำให้มีกำไรเท่ากับ 84,496 บาท และเขาทำนา 2 ครั้ง/ปี มีรายได้เดือนละ 14,082 ถึง 2 หมื่นบาท

สำหรับนโยบายการตลาดต่างประเทศของสินค้าเกษตรไทย ในแต่ละปีไทยต้องบริหารจัดการผลผลิตสินค้าเกษตรปีละ 180 ล้านตัน แบ่งเป็นร้อยละ 80 เป็นพืชไร่ คือ ข้าว มันฯ อ้อย สับปะรด และประเภทถั่ว และ 15% เป็นไม้ผลและยืนต้น และในจำนวนนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือบริโภคในประเทศ คือ ปาล์ม เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง ส้ม กล้วยไข่ กล้วยหอม (ส่งออกน้อย) ส่งออก (ข้าว ยางพารา ทุเรียน เป็นต้น) และนำเข้า คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  กาแฟ ชา พริกไทย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง (ไทยผลิตน้อยกว่าความต้องการ) และปัจจุบันสินค้าเกษตรไทยและสินค้าอื่น ร้อยละ 60 ขายให้กับจีน สหรัฐ ยุโรป และอาเซียน ซึ่งผมเรียกว่า "ตลาดเก่า" ในแต่ละปี เราส่งออกได้ประมาณนี้

สิ่งสำคัญคือต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้ ตลาดเก่านี้ งานหินสุดๆ เพราะคู่แข็งเยอะมาก ส่วน "ตลาดต่ำ 5" หรือตลาดใหม่ที่ไทยต้องเจาะและขยายการส่งออกให้ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกต่อมูลค่าส่งออกรวมต่ำกว่า 5% ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลาง รัสเซีย บราซิล อินเดีย แคนาดา และแอฟริกา กลุ่ม 6 นี้ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9 แสนล้าน พรรคของผมจะตั้งเป้าว่า หรือ เป็น "KPI" ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการส่งออกใน 6 ตลาดนี้ ต้องเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท อย่างน้อยในปี 2562 ต้องเพิ่มขึ้น 1% มูลค่าเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้าน

อีกเรื่องคือการจัดการสินค้าเกษตรไทย วันนี้เรามี "ล้งต่างชาติ" เข้ามาจัดการผลผลิตของเรา เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เขามาซื้อผลผลิตเราไปขายในประเทศของเขา แต่บทบาทของเกษตร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ก็ต้องมีหรือเข้าไปร่วมกับล้งต่างชาติด้วย สหกรณ์การเกษตรต้องเป็นหนึ่งกลจักรสำคัญในการนำสินค้าเกษตรไทยไปขายในต่างประเทศ ไม่อยากเห็น "ผลผลิตเกษตรไทย แต่ต่างชาติจัดการถาวร"

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

เอกชนยอมรับบาทแข็งเร็วมาก หากหลุด31บ./เหรียญสหรัฐขอหารือธปท.ทันที

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาท และเตรียมหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หากค่าเงินบาทแข็งค่าหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ไม่ได้ไปในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เนื่องจากเป็นประเด็นผลกระทบของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตามล่าสุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค่าเงินเคลื่อนไหวระดับ 31.20-31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้ยิ่งกังวลว่าเร็วๆนี้เงินบาทอาจแข็งค่าและหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐก็เป็นได้

“ต้องติดตามปัจจัยเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงภาวะเลือกตั้งว่าจะมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นไม่ เพราะจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าลงไปอีก ขณะเดียวกันอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ค่าเงินแข็งค่ายังมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้นแน่นอน”นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

“สอน.” รุดจับมือชาวไร่-โรงงานน้ำตาลไม่เผาอ้อยช่วยลดฝุ่นละออง

 “สอน.” จับมือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลรณรงค์ไม่เผาอ้อยก่อนตัด พบฤดูหีบปีนี้อ้อยไฟไหม้ลดลงจากปีก่อนแล้ว 56% เร่งเดินหน้าโครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยต่อเนื่อง หวังแนวทางทั้งหมดลดฝุ่นละออง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ วันหีบที่ 70 ของฤดูการผลิต มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงถึง 4% โดยอ้อยไฟไหม้ของฤดูการผลิตปี 2560/2561 มีปริมาณ 37,357,786 ตัน คิดเป็น 60% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ส่วนอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2561/2562 มีปริมาณ 34,628,902 ตัน คิดเป็น 56% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้

ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จับมือรณรงค์ไม่ให้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลและให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเผาอ้อย เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่องมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โทษของฝุ่น PM 2.5 การตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมาก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ

ทั้งนี้ สอน.จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2562 สอน.ได้เสนอขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) โดยมีอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนผู้กู้ในอัตรา 3% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระในอัตรา 2% ต่อปี

สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR-3 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตรา 2% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระในอัตรา 1% ต่อปี ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

พ่อเมืองขอนแก่นสั่งใช้กม.เด็ดขาดชาวไร่เผาอ้อยก่อนตัด ด้าน รง.น้ำตาลขยายเวลาปิดหีบให้2-3เดือน

พ่อเมืองขอนแก่นเอาจริง สั่งใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดลงโทษเกษตรกรที่เผาอ้อย ขณะที่โรงงานน้ำตาลเพิ่มโควตาส่งอ้อยให้ชาวไร่เพิ่มหากไม่เผาก่อนตัดและขยายเวลาปิดหีบออกไปอีก 2-3 เดือนเพื่อให้ชาวไร่อ้อยไม่ต้องเร่งตัดด้วยการเผา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเที่ยงวันนี้( 7 ก.พ. ) ที่ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานประชุม เรื่อง มาตรการป้องกันการเผาอ้อยฤดูกาล ผลิต ปี พ.ศ. 2561 / 2562 โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สิงห์สุนีย์ อุตสาหกรรม จ.ขอนแก่น นายไกรฤทธิ์ วงษ์วีระนิมิต นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง ผู้แทนโรงงานน้ำตาล ผู้แทนชาวไร่อ้อย และหน่วยงาน ราชการที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม

การประชุมครั้งนี้เป็นการนัดประชุมเร่งด่วนภายหลังผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น พบปริมาณฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 วัดได้ 212 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ใน เกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบฝุ่นละออง ขนาด PM 10 มีค่า 250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ การประชุมใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง

ภายหลังประชุม นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าในที่ประชุมได้รับทราบปัญหาสภาวะอากาศในจังหวัดขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ที่มีผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กับผู้ที่จงใจ "เผาไร่อ้อย" ก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล ในส่วนของโรงงานน้ำตาลได้มีมาตรการช่วยเหลืออ้อยที่เข้าโรงงานโดยไม่เผาก่อนตัด จะได้ สิทธิพิเศษคือได้โควตาส่งอ้อยเพิ่มขึ้น ถ้าอ้อยที่ไหม้มาส่งโรงงาน จะต้องมีบทลงโทษทางสังคมตามความ เหมาะสม ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นสมควร

นอกจากนี้ทางโรงงานน้ำตาลได้ขยายเวลาปิดหีบอ้อยจาก 10 เม.ย.ไปอีก 2 - 3 เดือน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการตัดอ้อยมากขึ้น

ขณะที่ตอนบ่ายวันเดียวกันนี้ ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ได้มีการนำรถบันไดหอน้ำสูง 37 เมตร รถบรรทุกน้ำ 10,000 ลิตร จำนวน 5 คัน และหุ่นยนต์ดับเพลิงควบคุมระยะไกล LUF 60 ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น เพื่อพ่นละอองน้ำที่บริเวณสนามหน้าอาคารศาลากลางจังหวัด เนื่องจากเป็นศูนย์ราชการ มี ประชาชนเดินทางมาใช้บริการจำนวนมาก มีโรงเรียนอยู่ใกล้หลายแห่ง เพราะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ชัดเจนด้วยว่ามีม่านฝุ่นละอองหนาแน่นมาก

ดังนั้นจึงแก้ปัญหาด้วยการพ่นน้ำในที่สูง ช่วยบรรเทาปัญหาในระยะสั้นไปก่อน และชุมชนในอำเภอ 26 อำเภอ ได้มีการให้รถดับเพลิงของเทศบาลตำบล และ อบต. นำรถน้ำฉีดพ่นน้ำใน อากาศให้เป็นละอองน้ำเพื่อให้อากาศในจุดนั้นมีอากาศที่ดีขึ้น.

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

สอน.ลุยโครงการสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อย

สอน. เดินหน้าโครงการสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อย ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้-ฝุ่นละออง

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า สอน. จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลผลิต และคุณภาพอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วลดลงถึงร้อยละ 4 คิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงลดปัญหาฝุ่นละออง

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562 สอน. ได้เสนอขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

สรท.หารือธปท.4มี.ค.แก้บาทแข็ง

สรท. เตรียมพบธปท. 4 มี.ค. 2562 หารือบาทแข็ง คาดไตรมาสแรกโต 5 % คงเป้าทั้งปี 5% ปัจจัยตปท.กดดันหนัก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม 2562 คาดว่าการส่งออกมีโอกาสจะติดลบ และอาจส่งผลให้ไตรมาสแรกไม่เติบโตเช่นกัน ทั้งนี้ มองว่าไตรมาสแรกจะเติบโตไม่เกินร้อยละ 5 อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีนเริ่มส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกไทยแล้ว หากวันที่ 1 มีนาคม การเจราจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ประสบความสำเร็จ คาดว่าการส่งออกไทยจะโตไม่เกินร้อยละ 5 พร้อมกันนี้ สรท.เตรียมเข้าหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยใน 4 มีนาคม 2562 เพื่อขอแลกเปลี่ยนข้อมูล

อย่างไรก็ตาม สรท. คาดการณ์การส่งออกปี 62 โตร้อยละ 5 บนสมติฐานค่าเงินบาท 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและอังกฤษในกรณีของ Brexit และเหตุจลาจลในภาคพื้นยุโรป ความผันผวนของค่าเงิน ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเป็นต้น

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

ก.อุตฯเช็ค2,095โรงงานเสี่ยงมลพิษยันไม่พบฝุ่นเกินมาตรฐาน

กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลตรวจสอบโรงงานเสี่ยงมลพิษ 2,095 แห่งยืนยันไม่พบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานPM 2.5 แต่พบทำผิดประเด็นอื่นๆ 45 แห่งสั่งหยุดแล้ว 3 แห่ง พร้อมเดินหน้าให้ผลิตรถยนต์เป็นไปตามมาตรฐานยูโรป 5 ภายใน 1 ปี

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) ได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ลงพื้นที่ตรวจอย่างเข้มข้นและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นเสี่ยงทั่วประเทศ จำนวน 2,095 โรง ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.พ. ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน แต่พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆ จำนวน 45 โรง กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 37 จำนวน 35 โรง และสั่งให้หยุดประกอบกิจการ จำนวน 3 โรง อื่นๆ จำนวน 7 โรง

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการตามมาตรฐานการระบายฝุ่นจากโรงงานรวม ไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับเชื้อเพลิงน้ำมันเตา) และ 320 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ (สำหรับเชื้อเพลิงถ่านหิน) ซึ่งกระทรวงฯ มีการดูแลเรื่องฝุ่นละอองที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม 3 ระดับได้แก่ กลุ่มโรงงานทั่วไป เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่นละออง ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบบำบัด 4

2. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะมีการติดตั้งระบบบำบัดต่างๆ แล้วยังมีผู้ควบคุมเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ในการควบคุมระบบบำบัดต่างๆ ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 2,000 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่นรวมเฉลี่ยประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ

3. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เป็นโรงงานที่มีแหล่งกำเนิด 10 ประเภท เช่น โรงงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 29 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงงานที่มีหม้อน้ำขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงงานผลิตซีเมนต์ ปูนขาว ฯลฯ ต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง ( CEMS) ตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งกลุ่มนี้มีโรงงาน 600 โรง โดยแบ่งเป็น การตรวจสอบ CEMS Online โดยกนอ. 90 โรง โดยกรอ. จำนวน 59 โรงงาน ตรวจสอบโดยโรงงานและเก็บข้อมูลไว้ที่โรงงาน จำนวน 451 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่น 2-50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้เตรียมเสนอที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศ ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และกำหนดให้โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 นอกจากนี้ได้ประสานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กลุ่มปตท. และ กทม. เพื่อสร้างเครื่องต้นแบบ "ระบบขจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่" แบบชนิด Wet Scrubber ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วยลดความหนาแน่นฝุ่นละออง ช่วยลดฝุ่นละอองทั่วไปจากการก่อสร้าง และช่วยลดไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ บนท้องถนน เพิ่มอีก 10 เครื่อง กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

รณรงค์ไม่เผาไร่อ้อยช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง

ภาครัฐและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จับมือรณรงค์ไม่เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล เพื่อช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และเกษตรกร ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จับมือรณรงค์ไม่ให้เก็บเกี่ยวอ้อยด้วยวิธีการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล และให้ความรู้เกี่ยวกับการเผาอ้อย อาทิ กาญจนบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และอุดรธานี จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรื่องมาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โทษของฝุ่น PM 2.5 การตัดอ้อยเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยจำนวนมาก

นางวรวรรณ กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณอ้อยไฟไหม้ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 ณ วันหีบที่ 70 ของฤดูการผลิต มีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงถึง ร้อยละ 4 โดยอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2560/2561 มีปริมาณ 37,357,786 ตัน คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ส่วนอ้อยไฟไหม้ฤดูการผลิตปี 2561/2562 มีปริมาณ 34,628,902 ตัน คิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเดินหน้าโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 สอน.เสนอขอขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ระยะที่ 2 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวม 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี 2562 – 2564) โดยมีอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรรายบุคคลอยู่ที่ MRR-5 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระร้อยละ 2 ต่อปี สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR-3 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.แทนผู้กู้ร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตอ้อย อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตระยะยาวส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและลดปริมาณอ้อยไฟไหม้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

ก. เกษตรฯ เดินหน้าโครงการผลิตปุ๋ยผสมเองให้เกษตรกรใช้ปู๋ยคุณภาพดี-ราคาถูก

เกษตรฯ หนุนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศผสมปุ๋ยคุณภาพดีใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 30 ระบุปุ๋ยสหกรณ์ ขายถูกตันละ 3, 300 บาท ลดต้นทุนได้ไร่ละ 400 บาท

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯ  ได้เร่งรัดให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินโครงการลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์รับผิดชอบในการคัดสรรสหกรณ์การเกษตรและเกษตรกร ทำปุ๋ยผสมใช้เอง จะช่วยลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 30 ในขณะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตรียมออกใบอนุญาตผลิตปุ๋ยผสมให้แก่สหกรณ์การเกษตรที่มีศักยภาพผลิตปุ๋ยคุณภาพได้และจำหน่ายราคาถูกกว่าท้องตลาดให้กับสมาชิกในฤดูกาลผลิตนี้ เนื่องการเจรจาให้กลุ่มเอกชนขายปุ๋ยลดราคาลงมาเป็นยาก โดยนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯได้กำชับให้ช่วยเกษตรกรได้เข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ราคาเป็นธรรม

ด้านนายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯมีโครงการสนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรผลิตปุ๋ยใช้เองจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นดิน ซึ่งส่งผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาตรฐาน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต โดยให้สหกรณ์การเกษตรในระดับอำเภอผลิตปุ๋ยที่มีคุณภาพและจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินจะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อกำหนดสูตรปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับสภาพดินให้สหกรณ์นำไปผลิต กรมส่งเสริมการเกษตรจะจัดเวทีให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงข้อดี  ในการผลิตปุ๋ยใช้เองแทนปุ๋ยสำเร็จรูป และกรมวิชาการเกษตรจะออกใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงการให้คำแนะนำตามหลักวิชาการการผสมปุ๋ยและมอบใบรับรองปุ๋ยที่สหกรณ์ผลิตขึ้นว่ามีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่จะเลือกซื้อไปใช้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเจรจากับผู้ประกอบการนำเข้าแม่ปุ๋ย เพื่อให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยได้ซื้อแม่ปุ๋ยจากบริษัทนำเข้าในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดและกระจายต่อให้กับสหกรณ์การเกษตรในแต่ละจังหวัดนำแม่ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักพืช คือ N P K สูตรเข้มข้น เป็นวัตถุดิบเพื่อนำไปผสมและผลิตปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือสูตรที่เกษตรกรต้องการใช้ จำหน่ายให้กับเกษตรกร สำหรับเงินทุนในการผลิตปุ๋ยจำหน่ายให้เกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดสรรวงเงินสินเชื่อ  1,300 ล้านบาท  ให้สหกรณ์กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 และธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี

“ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเข้าฤดูทำนาเกษตรกรจะสามารถใช้ปุ๋ยผสมเองนี้ได้ ขณะนี้กรมฯได้เปิดรับสมัครสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 403 แห่งในพื้นที่ 66 จังหวัด และได้ประสานสหกรณ์เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการปุ๋ยผสมใช้เองของสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งสหกรณ์จะได้มีข้อมูลในการผลิตปุ๋ยได้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร คาดว่าสหกรณ์จะเริ่มผลิตปุ๋ยและจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป้าหมายประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งจะจำหน่ายราคาถูกกว่าปุ๋ยสำเร็จที่ขายตามท้องตลาด ในราคาตันละ 3,378 บาท คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 300 – 400 บาท และสามารถลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 337.8 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

'กฤษฏา'เร่งกรมชลฯตั้งคกก.3ฝ่าย ทบทวนผลกระทบ4โครงการ

กฤษฏา เร่งกรมชลฯ ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ทบทวนผลกระทบ 4 โครงการ ผันน้ำเลี่ยงเมืองนคร เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ ประตูน้ำปากประ ชี้ยกเลิกได้ถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เดือดร้อน

7 ก.พ.62 นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรฯ ครม.ว่าได้สั่ง นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เร่งรัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย มีกรมชลประทาน นักวิชาการ และชาวบ้านที่มีผลกระทบจาก 4 โครงการในสองจังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง เช่นโครงการผันน้ำบรรเทาอุทกภัยตัวเมืองนครศรีธรรมราช ตามแนวพระราชดำริ เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ และประตูกั้นน้ำเค็ม ปากประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง หลังจากที่สำนักนายกรัฐมนตรี รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบขอให้ยกเลิกทั้งหมด ได้เดินทางมาปักหลักข้างทำเนียบฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยได้ให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าคณะกรรมการฯ จะได้ผลสรุปร่วมกันเพื่อศึกษาผลกระทบในพื้นที่อย่างรอบด้าน

นายกฤษฏา กล่าวว่าในการพิจารณาโครงการ ตนได้ให้แนวทางว่าโครงการใดที่มีกฏหมายออกมามีผลบังคับใช้แล้ว ต้องทำต่อไปตามกฏหมาย เช่น มี พ.ร.ฏ.เวรคืนที่ดิน ในส่วนโครงการที่เป็นมติ ครม.ให้ไปทบทวน โดยให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายไปดูทั้งหมด ถ้าตรวจสอบในพื้นที่แล้ว พบว่าปัญหาไม่เกิดขึ้น ไม่มีความเสียหาย ไม่มีความเดือดร้อนเกิดกับประชาขน ไม่ต้องทำยกเลิกได้เลย ตนขอขีดเส้นใต้สี่ห้าเส้นเลยประเด็นนี้เน้นย้ำ ถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เดือดร้อนแล้วไม่ต้องทำ

“อธิบดีกรมชลฯยืนยันว่าสำหรับเขื่อนวังหีบ ยังไม่มีอะไรที่เป็นกฏหมายออกมา และยังไม่งบประมาณลงไป ส่วนประตูน้ำปากประ จ.พัทลุง เป็นเพียงขั้นตอนออกแบบและประชาชนในพื้นที่ไม่เดือดร้อนก็ยกเลิกได้ ส่วนเขื่อนคลองสังข์ กรมชลฯ ดำเนินการไปแล้ว ให้ประสานกับคณะกรรมการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อทบทวนโครงการ” นายกฤษฏา กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

ก.อุตฯชูเทคโนโลยีนวัตกรรมขับเคลื่อน

รมช.อุตสาหกรรม ชูแนวคิดขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับบริการพื้นฐานเป็นบริการทักษะขั้นสูง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน 20 ปี สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง อุตสาหกรรมไทยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตและนวัตกรรม ว่า สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชากรโลก และเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เทคโนโลยีจะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดกลยุทธ์เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุกๆ ด้าน ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) มีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เป็นศูนย์กลางที่ดึงความหลากหลายของหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ จากสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยร่วมที่สำคัญ และได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครบวงจร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ ITC

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

พณ.รับส่งออกปีนี้ชะลอ แต่ไม่ถึงขั้นแย่ แบงก์กรุงศรีห่วงเศรษฐกิจซึมยาวผลพวงเศรษฐกิจโลก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวในงานสัมมนา “มองโลก มองไทย: ทิศทางการส่งออก ปี 2562” จัดโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่โรงแรมคอนราดว่า ในปี 2561 สินค้าส่งออกในกลุ่มอิเล็คทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีขนาดใหญ่ของไทย ขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก แต่มีการชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากได้รับลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จนในไตรมาสสุดท้ายของปี สินค้าส่งออกทั้ง 2 กลุ่มติดลบ สะท้อนให้เห็นว่า ในฐานะที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบสูงจนดึงตัวเลขการส่งออกในกลุ่มสินค้าสำคัญลงมา โดยเรื่องนี้ สนค. ได้มีการดูแลและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงต้นปี 2561 มีบางรายการที่ไปได้ดี อาทิ มันสำปะหลังที่ราคาดีขึ้น แต่ก็มีการปรับตัวลดลง ซึ่งก็ยังมองว่าในปี 2562 การส่งออกสินค้าเกษตรจะไปได้ดีหลายรายการ แต่อาจมีบางรายการที่มีปัญหาบ้าง ในแง่ของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฐ์ เม็ดพลาสติก ก็ทำได้ดีในปีที่ผ่านมา รวมถึงทองคำที่เป็นการส่งออกขนาดใหญ่ ก็ยังไปได้ดีด้วยเช่นกัน

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ตัวเลขการส่งออกสะสมยังถือว่าดี แต่ก็มีการชะลอตัวลดลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังทำการบ้านอยู่ จึงมองว่าการส่งออกของไทยยังไม่ถึงขั้นแย่ แต่มีการชะลอตัวบ้างเท่านั้น สำหรับคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยคือ จีน ในปี 2559-2560 การส่งออกเป็นบวกค่อนข้างมาก แต่ในปี 2561 ลดลง และในช่วงไตรมาสสุดท้ายติดลบ เป็นผลกระทบจากสงครามการค้า แต่การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีเป็นประเทศแถบอาเซียนและ CLMV ที่เริ่มมีการขยายตัวได้ดีมากขึ้น และเข้ามาเป็นคู่ค้าที่สำคัญแทน ซึ่งที่ผ่านมาคู่ค้าสำคัญของไทยจะเป็นประเทศในเอเชีย อาทิ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่ประเทศอื่นขยายตัวน้อยลงบ้าง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด กล่าวในงานเดียวกันว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเผยการคาดการณ์จีดีพีโลกและจีดีพีของหลายประเทศลดลง จึงมองว่าจะสร้างความกังวลกับเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น เนื่องจากการวิจัยของบริษัท คาดว่าจีดีพีของประเทศไทยจะโต 4.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับลดลงจากปีที่ผ่านๆ มาลงเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเรื่องการส่งออกในปีนี้ ที่คาดว่าจะโตประมาณ 4.5% ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ทุกคนรอให้มีการเจรจาร่วมกันของ 2 ประเทศอยู่ ซึ่งหากเจรจากันไม่สำเร็จ อาจมีการขึ้นภาษีอีก 25% และหากเข้าสู่ภาวะที่ดุเดือดมากขึ้น อาจจะขึ้นภาษีทุกรายการสินค้า 25% หากเป็นดังที่คาดการณ์จะทำให้ประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การค้าของทั้ง 2 ประเทศได้รับผลกระทบ ส่วนผู้ที่จะได้ประโยชน์เป็นประเทศที่สามารถส่งสินค้าเข้าไปทดแทนในทั้ง 2 ประเทศได้

นายสมประวิณ กล่าวว่า สหรัฐฯต้องการให้จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น เพื่อลดดุลการค้าให้น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก ที่จะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกัน ซึ่งหากทั้ง 2 ประเทศหันกลับมาทำการค้าร่วมกัน จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและจีนเป็นประเทศที่มีซัพพลายขนาดใหญ่มาก โดยถึงแม้การส่งออกของไทยจะดูไม่สูงมากนัก แต่มีมูลค่าขนาดใหญ่มาก ซึ่งในอนาคตเรื่องราคาสินค้าอาจไม่มีผลในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากนัก จะเปลี่ยนนำเรื่องคุณภาพจะเข้ามาเป็นอันดับแรกๆ ในการตัดสินใจแทน รวมถึงเทรนด์ความต้องการในอนาคต ที่ความสะดวกสบายในปัจจุบันอาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร และพฤติกรรมของคนในปัจจุบันก็ชื่นชอบสินค้าที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการและประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

“โดยจะมองเพียงคู่ค้าของประเทศตนเท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องมองไปถึงคู่ค้าของคู่ค้าของไทยด้วย เนื่องจากหากคู่ค้าของคู่ค้าไม่ซื้อสินค้าจากไทย ประเทศปลายทางก็จะดับ และประเทศไทยก็จะดับไปด้วย เพราะขาดคู่ค้าในการซื้อขายไป ทำให้มีความกังวลในสถานการณ์ระยายาวมากกว่า”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

ก.อุตฯเร่งแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เดินหน้าคุมเข้มการระบายฝุ่นจากโรงงาน-ผลักดันมาตรฐานรถยนต์ยูโร5

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เร่งดำเนินการตามมาตรฐานการระบายฝุ่นจากโรงงาน พร้อมผลักดันมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 แก้ปัญหาฝุ่นพิษ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกันและแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) เดินหน้าตรวจสอบตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562) โดยระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจอย่างเข้มข้นและเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นเสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้วรวมจำนวน 2,095 โรง ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แต่พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆ จำนวน 45 โรง กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 37 จำนวน 35 โรง และสั่งให้หยุดประกอบกิจการ จำนวน 3 โรง อื่นๆ จำนวน 7 โรง

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งดำเนินการตามมาตรฐานการระบายฝุ่นจากโรงงานรวม    ไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (สำหรับเชื้อเพลิงน้ำมันเตา) และ 320 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ (สำหรับเชื้อเพลิงถ่านหิน) ซึ่ง กระทรวงฯ มีการดูแลเรื่องฝุ่นละอองที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรม 3 ระดับ ดังนี้

1. กลุ่มโรงงานทั่วไป เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะโดยเฉพาะฝุ่นละออง ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบบำบัด 4 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (Wet Scrubber) ใช้น้ำหรือของเหลวสเปรย์ลงมาจากด้านบนสวนทางกลับทิศทางการไหลของอากาศ 2) เครื่องดักฝุ่นแบบผ้ากรอง (Bag Filter) 3) ไซโคลนดักฝุ่น (Cyclone) 4) เครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator : ESP)

2. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะมีการติดตั้งระบบบำบัดต่างๆ แล้วยังมีผู้ควบคุมเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องมีคุณวุฒิและประสบการณ์ในการควบคุมระบบบำบัดต่างๆ ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 2,000 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่นรวมเฉลี่ยประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอากาศ

3. กลุ่มโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เป็นโรงงานที่มีแหล่งกำเนิด 10 ประเภท เช่น โรงงานไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 29 เมกกะวัตต์ขึ้นไป โรงงานที่มีหม้อน้ำขนาด 30 ตันไอน้ำต่อชั่วโมงขึ้นไป โรงงานผลิตซีเมนต์ ปูนขาว ฯลฯ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ.2544 ซึ่งจะต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศจากปล่องที่แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) โดยมีการตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันโรงงานกลุ่มนี้มีประมาณ 600 โรง โดยแบ่งเป็น การตรวจสอบ CEMS Online โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 90 โรง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 59 โรงงาน ตรวจสอบโดยโรงงานและเก็บข้อมูลไว้ที่โรงงาน จำนวน 451 โรง ซึ่งจากผลการตรวจวัดฝุ่นละอองของโรงงานในกลุ่มนี้ พบว่ามีค่าการระบายฝุ่น 2-50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้เตรียมเสนอที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศ ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 5 ภายใน 1-2 ปี และกำหนดให้โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานยูโร 6 ในเบื้องต้นได้ประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการออกมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีซึ่งแนวทางนี้จะเป็นมาตรการที่ค่ายรถต้องดำเนินการ

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กลุ่มปตท. และ กทม. เพื่อสร้างเครื่องต้นแบบ "ระบบขจัดมลพิษทางอากาศแบบเคลื่อนที่" แบบชนิด Wet Scrubber ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วยลดความหนาแน่นฝุ่นละออง ช่วยลดฝุ่นละอองทั่วไปจากการก่อสร้าง และช่วยลดไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ บนท้องถนนพื้นผิวการจราจรที่หนาแน่นให้มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น เพิ่มอีก10 เครื่อง กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะนำไปติดตั้งช่วยขจัดมลพิษทางอากาศให้บริการประชาชนในพื้นที่สวนสาธารณะต่างๆ ของกรุงเทพฯ และจุดที่กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบแล้วพบว่ามีระดับอากาศที่มีมลภาวะสูงกว่ามาตรฐานต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

งดปลูกข้าวต่อเนื่อง!! ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

กรมชลประทาน วอนเกษตรกรงดปลูกข้าวต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

วันนี้ (7 ก.พ.62) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(7 ก.พ. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 53,602 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 70 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 29,672 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,703 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 9,007 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2561/62 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 61 ถึงปัจจุบัน (7 ก.พ. 62) มีการใช้น้ำไปแล้ว 11,489 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,965 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งมากกว่าแผนฯตามช่วงเวลาดังกล่าวเล็กน้อย เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนเกินกว่าแผนฯที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำมากกว่าแผนฯเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยในวันนี้(7 ก.พ. 62) ยังคงการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 90 ลบ.ม.ต่อวินาที

ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ทั้งประเทศ ณ วันที่ 6 ก.พ. 62 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.15 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 78 ของแผนฯ(แผน 10.46 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 7.70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ(แผน 8.03 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.21 ล้านไร่ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูก ไปแล้ว 5.89 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนฯ (แผน 6.07 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 110 ของแผนฯ เกินจากแผน 0.5 ล้านไร่(แผน 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.12 ล้านไร่

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนและเพียงพอต่อการใช้น้ำของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร งดปลูกข้าวต่อเนื่อง(นาครั้งที่ 3)หลังการเก็บเกี่ยวข้าว(นาครั้งที่ 2)เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในการสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่างๆมีอยู่อย่างจำกัด พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้าและเผื่อไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลน

จาก www.siamrath.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

นครสวรรค์ขอส.ไร่อ้อยงดเผาหลังPM2.5สูง

จังหวัดนครสวรรค์ ประสานสมาคมเกษตรไร่อ้อย ขอความร่วมมืองดเผา หลังค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน

นายปรีชาญ สามารถ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีมีการพบค่าฝุ่นละอองสูงว่า จากสถานีวัดคุณภาพอากาศบริเวณ ต.ปากน้ำโพ, อ.เมือง, นครสวรรค์ ของกรมควบคมุมลพิษ พบว่ามีค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานมาประมาณ 2-3 วันแล้ว แต่เป็นการเกินในปริมาณที่ไม่มากนัก ส่วนค่า PM 10 ก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตราฐาน ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับสาเหตุหลักน่าจะมาจากเรื่องของการเผาอ้อย เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูปิดหีบ ประกอบกับทางจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร มีการปลูกอ้อยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดนครสวรรค์ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับทางสมาคมเกษตรไร่อ้อย ขอความร่วมมือให้หยุดเผา ซึ่งก็ได้รับการร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนควันที่มาจากท่อไอเสียของรถ ก็ได้ประสานตรวจเข้ม รถชนิดต่างๆ หรือการเข้าไปตรวจโรงงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ฉะนั้นแล้วจึงคาดว่า อีกไม่กี่วัน ค่า PM2.5 ในจังหวัดนครสวรรค์ จะลดสู่ภาวะปกติอย่างแน่นอน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

เงินบาทขยับอ่อนค่า 0.2% แตะระดับ 31.37 บ.ต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.37-31.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่า 0.2% จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทขยับอ่อนค่าลงกลับมาอยู่ใกล้ๆ ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง หลังจากธปท. ส่งสัญญาณว่า ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลหากพบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากข้อมูลดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่ขาดดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีมุมมองที่ดีต่อสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามวันนี้ น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

จาก www.thansettakij.com วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

กกร.ถกปัญหาบาทแข็ง กังวลแข่งขันลำบากส่งออกแย่

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันได้แก่ สอท.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยหรือกกร.วันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้จะมีการหารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ภาคเอกชนมีความกังวลว่าจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของไทย ดังนั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในภาวะสมดุลที่สอดรับกับภูมิภาคเป็นสำคัญ

“ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 31.24-31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบ โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะกระทบแตกต่างกันไปอยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ มีค่าการตลาดหรือมาร์จิ้นต่ำก็ย่อมได้รับผลกระทบสูง ก็คงจะต้องมาหารือในภาพรวมโดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรจะมีมาร์จิ้นต่ำ”นายเกรียงไกรกล่าว

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สอท.กล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยค่อนแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าซึ่งคาดว่ารัฐบาลเองเข้าใจและกำลังติดตามเพื่อดูแลอยู่ ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ต้องการค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแต่รัฐบาลเองคงจะต้องดูแลภาพรวมดังนั้นขอให้พิจารณาในจุดที่สมดุลค่าเงินบาทควรจะสะท้อนภูมิภาค

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.คงจะหารือถึงอัตราแลกเปลี่ยนของไทยช่วงที่ผ่านมามีการแข็งค่าต่อเนื่องเพื่อรวบรวมและสรุปแนวทางดำเนินการโดยพบว่าค่าเงินบาทของไทยมีอัตราการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทยทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งขณะนี้สินค้าอาหารแปรรูปได้รับผลกระทบค่อนข้างมากซึ่งหากแข็งค่าก็จะกระทบต่อส่งออกภาพรวม จึงต้องการให้ภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทดูแลให้อยู่ในภาวะสมดุล

อนึ่งก่อนหน้านี้นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังบอกว่าค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าในช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเป็นคนดูแล ซึ่งจะการตอบว่าระดับใดเหมาะสมนั้น ก็ต้องให้ ธปท. ตอบ เพราะกระทรวงการคลังไม่มีข้อมูลมากพอ ทั้งนี้ค่าเงินบาทแข็งค่ามีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้าอยู่ในช่วงที่ประเทศต้องลงทุนบาทแข็งก็จะดี เพราะต้นทุนจะถูก แต่ผลเสียก็คือ จะกระทบการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกพืชผลเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบมาถึงคนยากไร้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

โดยรมว.คลังย้ำว่าค่าเงินบาทต้องไม่แกว่งมาก หรือผันผวนน้อยถ้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ธปท. จะต้องออกมาแทรกแซงเพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่ง เพราะจะทำให้เราเสียเปรียบในหลายๆ เรื่อง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

บาทเปิดตลาด 31.24 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทเปิดตลาด 31.24 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดรอติดตามการแถลงนโยบายประจำปีของทรัมป์

- ผลประชุมกนง. นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.24 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์

"ตลาดรอดูปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจัยต่างประเทศคือรอดูประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะแถลงนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯในวันนี้เวลา 09.00 น. ตามเวลาไทย ส่วนปัจจัยในประเทศตลาดรอผลโหวตของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งคาดว่าน่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% แต่ก็ต้องดูมติของคะแนนเสียงที่ออกมาจะเป็นอย่างไร รวมทั้งความเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจว่าจะไปในโทนไหน"นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 - 31.30 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

'สมคิด' สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมปรับบทบาทด่วน!

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการเข้าไปตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องปรับบทบาทการดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการจากที่บังคับหรือกำกับ ปรับบทบาทมาเป็นการดูแลและส่งเสริม รวมถึงการแก้กฎหมายและกฎกระทรวง โดยเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) ให้ก้าวทันต่างประเทศ ภายใน 3 เดือนนี้ จะต้องเริ่มเห็นแนวทางการดำเนินงาน เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและอาจจะก้าวหน้าไปมากกว่าประเทศไทย จำเป็นต้องพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของไทย จะต้องมีการปรับแก้บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง

"ไม่อยากให้ใครคิดแบบไดโนเสาร์ เพราะมันก็จะออกลูกเป็นไดโนเสาร์ อยากคิดให้ก้าวหน้ามากขึ้น" นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เร่งขับเคลื่อนการจัดตั้ง บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) หรือ การจัดตั้งศูนย์ Innospace โดยจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับฮ่องกงในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางช่วยส่งเสริมและพัฒนา สตาร์ทอัพไทยครบวงจร เพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์น หรือ ธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมูลค่าสูง และเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมยั่งยืน ให้ประสานการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตและเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อไป

"การจัดตั้งศูนย์ Innospace อาจมีการทบทวนชื่อเป็น Thailand Cyberport โดยใช้ต้นแบบจาก Hong Kong Cyberport และผู้ที่จะเข้ามาบริหารอินโนสเปซ จะต้องเป็นคนที่ทำงานได้และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งจะต้องไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ใช่หน่วยงานวิทยาศาสตร์ แต่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการ และคนที่น่าจะมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ก็มีหลายคนในประเทศ เช่น นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. หรือ นายวีระพงษ์ มาลัย รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานวัตกรรม และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ" นายสมคิด กล่าว

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยเรียกร้อง กกพ.อนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า ย้ำสร้างงานสร้างรายได้ปีละกว่า 300 ล้าน

อุบลราชธานี - ชาวไร่อ้อย 2 จังหวัดอีสานล่างตบเท้ายื่นหนังสือคณะกรรมการ กกพ.เร่งพิจารณาให้ใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าจากชานอ้อย เพื่อให้โรงงานเปิดทันฤดูการผลิตปีนี้ ย้ำช่วยลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง และสร้างงานให้คนในท้องถิ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.พ.) นายอุทิศ สันตะวงค์ ประธานชาวไร่อ้อยลำเซบาย จ.อำนาจเจริญ และยโสธร นำสมาชิกชาวไร่อ้อยกว่า 100 คนยื่นหนังสือต่อนายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี เพื่อแจ้งให้บอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางรีบออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษสิ่งเหลือใช้ของอ้อยขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ในพื้นที่ตำบลเชียงเพ็ง จ.ยโสธร และพื้นที่ตำบลน้ำปลีก จ.อำนาจเจริญ

กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มายื่นหนังสืออ้างว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกอ้อยในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญกว่า 7,300 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยกว่า 171,000 ไร่ สามารถผลิตอ้อยป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลในฤดูกาลผลิต 2562/2563 ประมาณ 2 ล้านตันอ้อย คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,000-20,000 หมื่นล้านบาทต่อปี

แต่ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาระค่าขนส่งผลผลิตจากจังหวัดอำนาจเจริญไปยังโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 150 กิโลเมตร ทำให้สูญเสียรายได้จากค่าขนส่งปีละกว่า 300 ล้านบาท และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานตลอดมา

หากมีโรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ รวมทั้งมีการตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากสิ่งเหลือใช้จากอ้อย นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้ถูกลงมากว่าครึ่ง ทำให้ชาวไร่อ้อยของจังหวัดอำนาจเจริญมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละกว่า 300 ล้านบาทแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการจ้างแรงงานในพื้นที่ ลูกหลานของชาวอำนาจเจริญไม่ต้องเดินทางไปขายแรงงานยังต่างถิ่น รวมทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สร้างขึ้นก็ใช้เทคโนโลยัสมัยใหม่ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยกำจัดเศษสิ่งเหลือใช้จากชานอ้อยไม่ให้ตกค้างกลายเป็นขยะในพื้นที่ รวมทั้งโรงงานผลิตน้ำตาล ซึ่งมีโรงไฟฟ้าจะไม่ทำให้เกิดการแย่งใช้กระแสไฟจากบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ด้วย

จึงต้องการมาเรียกร้องให้บอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางรีบออกใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด เพื่อให้โรงงานน้ำตาลสามารถเปิดดำเนินการทันการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตของปีนี้ด้วย เพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและพี่น้องชาวจังหวัดอำนาจเจริญที่จะได้งานทำมากขึ้น

โดยแนบรายชื่อของชาวไร่อ้อยที่สนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด กว่า 4,000 รายชื่อส่งถึงบอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางด้วย

ด้านนายปฏิภาณ แก้วรินขวา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 5 อุบลราชธานี ได้ลงมาพบกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่มาชุมนุมเรียกร้อง พร้อมได้รับหนังสือและแจ้งว่า จะส่งข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรให้กับบอร์ดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานส่วนกลางรับไปพิจารณาภายในวันเดียวกัน ทำให้กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยพอใจได้พากันเดินทางกลับไปในวันเดียวกัน

จาก https://mgronline.com    วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ใครเผามีความผิดตามกฎหมาย ปัญหาเขม่าจากซางอ้อยต้องให้สมาคมไร่อ้อยจัดการ

ศูนย์ข่าวศรีราชา - เดือดร้อนต่อไป แหล่งข่าวระดับสูงชลบุรี ชี้ปัญหาเขม่าจากซางอ้อยที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ต.นาป่า อ.เมืองชลบุรี เป็นเรื่องที่อยู่ในการดูแลของสมาคมที่ชาวไร่อ้อยสังกัดที่ต้องเข้ามาจัดการ ชี้มีความผิดตามกฎหมาย

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ภาพเขม่าไฟจากซางอ้อยที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยในพื้นที่ ต.นาป่า อ.เมือง จ.ชลบุรี จนทำให้บ้านเรือนประชาชนและรถยนต์ในโครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.7 ต.นาป่า เต็มไปด้วยคราบเขม่าไฟ จนผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นเชิงเหน็บแนมในโพสต์ดังกล่าวว่า เกิดหิมะดำขึ้นในพื้นที่ จ.ชลบุรี จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหนัก และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานต่างๆ ได้ให้หน่วยงานในท้องถิ่นทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องความผิดจากการเผาหญ้ากลางแจ้ง และห้ามไม่ให้มีการเผาไร่อ้อยที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM2.5 นั้น

วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้สอบถามแหล่งข่าวระดับสูงในจังหวัดชลบุรี ถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และผู้อยู่อาศัยโครงการบ้านจัดสรร และประชาชนในพื้นที่ ม.7 ต.นาป่า อ.เมืองชลบุรี ที่ให้ข้อมูลว่าการลักลอบเผาไร่อ้อยในพื้นที่มักเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน

โดยได้รับคำชี้แจงว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท แต่ชาวไร่อ้อยในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของสมาคมแห่งหนึ่งที่จะต้องแก้ปัญหาการกระทำของสมาชิก

ส่วนปัญหาที่พบว่ายังมีการเผาไร่อ้อยอยู่นั้น เป็นเพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามารับจ้างตัดอ้อยและจะไม่ยอมตัดอ้อยหากไม่มีการเผาเพราะกลัวเรื่องอันตรายจากงู และใบอ้อยบาดจนเกิดอาการบาดเจ็บ จึงต้องให้สมาคมแห่งนี้จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหมู่บ้านที่มีปัญหาจนพบว่า ในวันนี้ชาวบ้านในโครงการยังคงต้องทำความสะอาด และกวาดถูบ้านเพื่อทำความสะอาดคราบเขม่าดังกล่าวอยู่ บางรายถึงขั้นต้องใช้น้ำฉีดล้างพื้นถนน

ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ในหมู่บ้านเต็มไปด้วยฝุ่นและเขม่าจากซางอ้อยที่เผาเกลื่อนหมู่บ้านและถนน ซึ่งขณะนี้ทุกคนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และอยากขอให้ชาวบ้านหยุดเผา รวมถึงฝากไปยังผู้ที่รับผิดชอบช่วยจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการด่วน

จาก https://mgronline.com    วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กกร.เตรียมหารือบาทแข็งค่าหวั่นระยะยาวกระทบส่งออก

"กกร."ถกวันนี้(6ก.พ.) เตรียมถกปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าหวั่นกระทบส่งออกปี 2562 ย้ำต้องการให้สะท้อนภูมิภาคเพื่อศักยภาพการแข่งขัน รับบางอุตสาหกรรมเริ่มมีผลกระทบแล้ว

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หรือ กกร. วันที่ 6 ก.พ.นี้จะมีการหารือถึงภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ภาคเอกชนมีความกังวลว่าจะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในการส่งออกของไทย ดังนั้นจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในภาวะสมดุลที่สอดรับกับภูมิภาคเป็นสำคัญ

" ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย 31.24-31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งยอมรับว่าบางอุตสาหกรรมเริ่มได้รับผลกระทบ โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะกระทบแตกต่างกันไปอยู่ที่ว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ มีค่าการตลาดหรือมาร์จิ้นต่ำก็ย่อมได้รับผลกระทบสูง ก็คงจะต้องมาหารือในภาพรวมโดยเฉพาะสินค้าภาคการเกษตรจะมีมาร์จิ้นต่ำ"นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 60-70% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้จึงต้องดูในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทยค่อนแข็งเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าซึ่งคาดว่ารัฐบาลเองเข้าใจและกำลังติดตามเพื่อดูแลอยู่ ซึ่งหากเป็นไปได้ก็ต้องการค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแต่รัฐบาลเองคงจะต้องดูแลภาพรวมดังนั้นขอให้พิจารณาในจุดที่สมดุลค่าเงินบาทควรจะสะท้อนภูมิภาค

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.คงจะหารือถึงอัตราแลกเปลี่ยนของไทยช่วงที่ผ่านมามีการแข็งค่าต่อเนื่องเพื่อรวบรวมและสรุปแนวทางดำเนินการโดยพบว่าค่าเงินบาทของไทยมีอัตราการแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้ของไทยทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ

" ขณะนี้สินค้าอาหารแปรรูปได้รับผลกระทบค่อนข้างมากซึ่งหากแข็งค่าก็จะกระทบต่อส่งออกภาพรวม จึงต้องการให้ภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทดูแลให้เกิดภาวะสมดุล"นายพจน์กล่าว

จาก https://mgronline.com    วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พณ.เปิดตัวเลข FTA ปี61 โตต่อเนื่อง อาเซียนแชมป์ครองส่วนแบ่งสูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ ของไทยกับประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) 12 ฉบับ 17 ประเทศ ตลอดทั้งปี 2561 พบว่ามูลค่าการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด คืออาเซียน มีมูลค่า 1.139 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 กว่า 13% โดยสินค้าส่งออกของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า จีนอยู่อันดับ 2 มีมูลค่าการค้า 8.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.7% สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

นางอรมน กล่าวว่า ตามด้วยญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 6.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.2% สินค้าส่งออกหลักของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์ เป็นต้น สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องจักรกล เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์

ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 1.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ ถ่านหิน และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น และเกาหลี มีมูลค่าการค้า 1.37 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% สินค้าส่งออกของไทย เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าหลักของไทย เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า และสินแร่โลหะ เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ ในปี 2561 ช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) พบว่าไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกไปอาเซียนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 2.47 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 36.2% ของมูลค่าการส่งออกไปอาเซียน ตามด้วยจีนมูลค่า 1.62 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 53.7% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน ออสเตรเลีย มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 79.5% ของมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มูลค่า 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28.2% ของมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่น และอินเดีย มูลค่า 4.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 53.9% ของมูลค่าการส่งออกไปอินเดีย

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการนำเข้า จีนมาเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 26.6% ของการนำเข้าจากจีน ตามด้วยอาเซียน มูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 20.3% ของการนำเข้าจากอาเซียน ญี่ปุ่นมูลค่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23.4% ของการนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 27.4% ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย มูลค่า 0.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 11.9% ของการนำเข้าจากออสเตรเลีย

นางอรมน กล่าวว่า อาเซียนยังคงครองตำแหน่งประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนการค้ามากถึง 22.7% นอกจากนี้ ในปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้มีการนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของไทย เช่น การเชื่อมโยงเอกสารใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ การเร่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบการค้าของอาเซียน ทั้งอัตราภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การเตรียมบุคลากรรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th     วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

โรงงานชี้เผาอ้อยทำคุณภาพน้ำตาลลด

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2561/62 ทั่วประเทศแล้ว 69 วัน ซึ่งคิดเป็นครึ่งทางของจำนวนวันหีบอ้อยโดยเฉลี่ยที่จะใช้เวลาหีบอ้อย 120 วันต่อ 1 ฤดูการผลิต พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 59.71 ล้านตันอ้อย ลดลงจากระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 60.97 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 1.26 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลทรายได้ 6.08 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิตก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 6.25 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ 180,000 ตัน

นายศิริวุทธิ์กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลทรายที่ลดลง มาจากคุณภาพผลผลิตอ้อยในปีนี้มีคุณภาพไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านมาจากสภาพอากาศที่ไม่หนาวเย็นจึงสร้างค่าความหวานในต้นอ้อย สกัดน้ำตาลจากอ้อยลดลงจากเดิมปีก่อน ประกอบกับผลผลิตต่อตันอ้อย(ยิลด์) ก็ลดลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นปัญหามาจากอ้อยไฟไหม้ ซึ่งปัญหานี้โรงงานน้ำตาลทรายมีนโยบายที่ชัดเจนในการเข้าไปแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยรณรงค์ให้ชาวไร่จัดส่งอ้อยสดเข้าหีบ และมีการลงโทษชาวไร่อ้อยที่จัดส่งอ้อยไฟไหม้ เช่น การหักเงินจากอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน เพื่อชดเชยให้แก่ชาวไร่ที่จัดส่งอ้อยสดตามระเบียบ กอน. ที่กำหนด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กษ.รณรงค์หยุดเผาพื้นที่เกษตร ตั้งเป้าปี’62เพิ่มเครือข่ายอีก16จว.

เนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดเดินหน้าส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกร โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาและขยายพื้นที่นำร่องหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2562

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นควันที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ให้ถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในชุมชนของตนให้มีความรู้พื้นฐานเพื่อหยุดเผา และนำเทคโนโลยีจัดการเศษวัสดุการเกษตรมาใช้ทดแทนการเผาได้ เช่น ใช้เครื่องสับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นวัสดุปกคลุมหน้าดิน ทำปุ๋ยหมักน้ำหมักเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การไถกลบตอซัง จัดเก็บเศษวัสดุฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมและสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน รวมถึงเข้าร่วมทำกิจกรรมฐานเรียนรู้การปฏิบัติดังกล่าว ในวันสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผาและรณรงค์หยุดเผาที่แต่ละจังหวัดกำหนดประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2562

สำหรับปี 2562 มุ่งถ่ายทอดความรู้พัฒนาศักยภาพและสร้างเกษตรกร-ชุมชนต้นแบบขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเผาได้เป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เป็นจุดเรียนรู้ขยายผลไปพื้นที่อื่น ขยายเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผาจาก 120 ตำบลใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ น่าน เชียงราย ตาก ลำปาง พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอนและอุตรดิตถ์ สู่พื้นที่ 16 จังหวัดที่พบว่ามีการเผาในพื้นที่การเกษตรสูง ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี ทั้งนี้ ร่วมผลักดันเกษตรกรในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา ตามชุมชนต้นแบบปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตรจ.น่าน 2 ชุมชนคือ ชุมชนทุ่งศรีทอง อ.เวียงสา ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมัก ไถกลบตอซัง และเก็บเศษวัสดุฟางข้าว และ ต.ผาสิงห์ อ.เมืองฯ ลดการเผาด้วยการทำปุ๋ยหมักและเพาะเห็ดฟางจากเศษฟางข้าวกว่า 57 ตัน/ปี ลดการเผาฟางข้าวได้กว่า 72 ไร่ มีสมาชิก 43 ราย ผลิตเห็ดฟางได้ 600 กก. /เดือน จำหน่ายในพื้นที่ 80 บาท/กก. สร้างรายได้ 48,000 บาทต่อเดือน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ข้าว-อ้อย-มัน-มะพร้าวราคาลง ฉุดดัชนีรายได้เกษตรกรม.ค.ลด

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.45 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.12 จากสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และกุ้งขาวแวนนาไม

สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนธันวาคม 2561 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 1.62 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากด้านเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลก ทำให้เกิดการชะลอซื้อ และชะลอซื้อ-ขายในตลาดล่วงหน้าจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลัก และ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้าในประเทศและการส่งออกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นเพราะผลผลิตเสียหายจากภัยแล้ง จึงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว หัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด และสุกร ราคาเพิ่มขึ้นเพราะความต้องการบริโภคเพิ่มรองรับนักท่องเที่ยวและวันหยุดต่อเนื่องท้ายปี

ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 3.12 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และกุ้งขาวแวนนาไม ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2562 จะลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 1.88 เป็นผลมาจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.21 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และมะพร้าว ในขณะที่ดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.29 ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ สำหรับสินค้าสำคัญ ที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนมกราคม 2562 ได้แก่ มันสำปะหลัง และหอมแดง ทั้งนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีราคามีแนวโน้มลดลง ส่วนดัชนีผลผลิตจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

BBGI พร้อมสนับสนุนภาครัฐรณรงค์ใช้ไบโอดีเซล – เอทานอล ลดฝุ่นละอองในอากาศ

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (BBGI) ซึ่งประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมทั้งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรรณรงค์ให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมัน

การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซพิษและฝุ่นละอองในอากาศ โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล จากร้อยละ 7 (B7) เป็นร้อยละ 10 (B10) หรือร้อยละ 20 (B20) จะมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเขม่าของไบโอดีเซลมีขนาดเล็กกว่าเขม่าของน้ำมันดีเซลทั่วไป ในขณะที่การใช้แก๊สโซฮอลล์ E20 หรือ E85 จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าการใช้แก๊สโซฮอลล์ 91 หรือ 95 เนื่องจากการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินจะช่วยเพิ่มค่าออกเทนและเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเบนซินปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พบว่ารถยนต์ยังมีอัตราการใช้ E20 น้อยกว่าที่ควรจะเป็นค่อนข้างมาก ดังนั้น BBGI บริษัทย่อย และบริษัทร่วม (“กลุ่มบริษัทฯ”) พร้อมสนับสนุนให้ภาครัฐเร่งผลักดันการใช้น้ำมันดีเซล B10 หรือ B20 และรณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้แก๊สโซฮอลล์ E20 หรือ E85 เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเอทานอล 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 930,000 ลิตรต่อวัน ล่าสุด กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนโครงการขยายกำลังการผลิตเอทานอลและเงินทุนหมุนเวียน รวม 1,125 ล้านบาท กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 300,000 ลิตรต่อวัน ทำให้กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมดคิดเป็น 1,200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีการเผาไหม้สมบูรณ์กว่า ซึ่งสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

อากาศสระแก้วเลวร้าย ไฟไหม้ภูเขาขยะซ้ำเติม หลังชาวไร่เผาอ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ว่าหลังจากที่นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วได้มีคำสั้งไปถึงนายอำเภอทุกอำเภอ ให้ออกไปขอความร่วมมือกับฃาวไร่อ้อยในพื้นที่ ให้ยุติการเผาอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล เนื่องจากการเผาอ้อยเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดฝั่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนได้ แต่ดูเหมือนว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการปฏิบัติใด ๆ ชาวไร่อ้อยยังคงระดมเผาอ้อยในทุกพื้นที่ จนชาวบ้านทั่วไปได้รับความเดือดร้อนจากเขม่าที่เกิดจากเผาไหม้ และอันตรายจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ต้องสุดลมหายใจเข้าไป จนไม่สามารถอดทนต่อเหตุการณ์ที่เกืดขึ้นได้ จึงต่างพากันหันไปใช้ สื่อทางโชเชียล ระบายถึงความเดิอดร้อนที่ได้รับ และ เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าไปแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกมาชี้แจงว่า ทางวจังหวัดได้ดำเนินการทุกอย่าง เพื่อลดปริมาณ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ แต่การเผาป่าอ้อย ก่อนตัดส่งโรงงาน เป็นวิถีของชาวไร่อ้อย ที่ยากจะควบคุมและหยุดยั้งการกระทำได้ และถึงแม้จะมีการเผา แต่ชาวไร่ก็ยังควบคุมจำนวนพื้นที่ที่ต้องการเผา ไม่ให้มากเกินไป และไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นที่อยู่ใกล้เคียง แต่ก็ยังมีชาวไร่อีกประเภทหนึ่งที่ขาดความรับผิดชอบ ที่จุดไฟเผาแล้วไม่ได้อยู่ควบคุม ปล่อยให้ไฟลามไปเผาไหม้พื้นที่ป่า หรือ ไร่อ้อยที่อยู่ใกล้เคียง และยังโทรศัพท์ไปแจ้งให้ทางราชการนำรถน้ำไปช่วยดับไฟอีกด้วย ซึ่งคนประเภทนี้หากมีการสืบสวนแล้วพบว่ากระทำแบบนั้นจริง ๆ จะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษ อย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากการเผาป่าอ้อยจะสร้างปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับจังหวัดแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เกิดไฟไหม้กองขยะขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่กว่า 10 ไร่ ในหมู่ที่2 บ้านโนน ต. ท่าเกวียน อ. วัฒนานครริมถนนสาย วัฒนานคร-บ้านคลองทับจันทร์ ของเทศบาลตำบลวัฒนานคร ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของเทศบาลวัฒนานครแล้ว ยังเป๋นพื้นที่ทิ้งขยะของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต) ในอำเภออรัญประเทศ และ อำเภอวัฒนานครอีกประมาณ 10 อบต ทำให้ปริมาณขยะสะสม และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุก ๆ วัน เนื่องจากยังไม่มีการกำจัดขยะเหล่านั้น ตามหลักวิชาการที่ถูกต้องแต่อย่างใด นอกจากการเผาทำลาย ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พลังงานหมุนเวียน ต้านแผน PDP ไฟฟ้า ถูกเฉือนทำ “โซลาร์”

8 สมาคมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต้าน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 หลังอ่านฉบับเต็มพบกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มหายไปกว่า 4,183 MW ถูกเฉือนไปให้โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์มากกว่า 10,000 MW พร้อมคำถามปริมาณสำรองไฟฟ้าหายไปไหน

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ฉบับเต็มที่ถูกเผยแพร่ออกมา หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากแผน PDP ฉบับนี้มีรายละเอียดแตกต่างไปจากแผน PDP ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2015) ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมมากถึง 13,156 เมกะวัตต์ (MW) รวมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 MW และไม่ยอม “ทบทวน” แผนตามความเห็นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ชี้ให้เห็นว่า แผน PDP 2018 จะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น จนกลายเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะยาว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากแผน PDP 2018 มากที่สุด โดยจะพบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มลดลงเหลือแค่ 15,451 MW ตลอดทั้งแผน เมื่อเทียบกับแผน PDP 2015 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ถึง 19,634 MW โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของโรงไฟฟ้าชีวมวลรับซื้อแค่ 3,376 MW, ลม 1,485 MW โดยกระทรวงพลังงานนำกำลังผลิตที่ลดลง ไปเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมากมายถึง 10,000 MW และยังถูกแบ่งไปให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 2,725 MW

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้ง 8 สมาคม อาทิ สมาคมผู้ผลิตก๊าซชีวภาพไทย, สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล, สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะ ได้หารือถึงแผน PDP ฉบับนี้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า มีการปรับลดการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนลดลง แต่หันไปรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่น (โรงไฟฟ้าโคเจเนอเรชั่น-โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม-โรงไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งน่าจะมี “ความเสี่ยง” จากต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ LNG ที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตตลอดแผน 20 ปีข้างหน้า

โดยที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติของแผน PDP 2018 ไว้ 7 ประเด็น คือ 1) ตามขั้นตอนการจัดทำแผน PDP จะต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ AEDP (Alternative Energy Development Plan 2558-2579) รวมไปจนถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558-2579 หรือ EEP (Energy Effiency Plan) เพื่อนำไปประกอบรวมเข้ากับแผน PDP ดังนั้น เท่ากับว่า “แผน PDP 2018 ฉบับนี้ มีการทำแบบรวบรัดและข้ามขั้นตอนหรือไม่”

2) ในช่วง 10 ปีมีการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทนน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพของประเทศที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก 3) แผน PDP ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ ปัญหาเรื่องฝุ่นและมลพิษต่าง ๆ 4) การจัดทำแผน PDP เน้นให้ความสำคัญในมิติเดียว คือ “ราคา” เพื่อไม่ให้กระทบต้นทุนไฟฟ้าที่จะส่งผ่านไปถึงประชาชนหรือไม่ เพราะมองในแง่ต้นทุนพลังงานทดแทนในปัจจุบันลดลงค่อนข้างมาก บางประเภทเชื้อเพลิงต้นทุนการผลิตไม่ต่างจากการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

5) ส่วนของการผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า และ/หรือผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าโดยตรง หรือ IPS (independent power supply) ถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่ ตรงกันข้ามกับการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่มีจำนวนมากกว่า 10,000 MW จากเหตุผลที่ว่าเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้มีราคาถูกลง แต่กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จากกลุ่มผู้ประกอบการ IPS กลับลดลง ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาขึ้นเหมือน ๆ กัน

6) เป็นเรื่องน่าประหลาดมากที่แผน PDP 2018 ไม่ระบุถึงปริมาณสำรองไฟฟ้า (reserve margin) ในแต่ละปีมีสัดส่วนอย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาปริมาณสำรองทั้งระบบสูงถึงกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งเมื่อพิจารณาจำนวนโรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบเป็นจำนวนมาก จะยิ่งทำให้ปริมาณสำรองสูงมากขึ้น จนกลายเป็นมีกำลังผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ไปมากในแต่ละปีใช่หรือไม่ และ 7) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องนำเข้าเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านั้น มีการการันตีได้หรือไม่ว่าราคาก๊าซจะไม่สูงขึ้น

“ทางกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ แต่เราต้องการให้จำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะในช่วงที่ผ่านมา ตามแผน PDP 2015 ก็มีการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็นอยู่แล้ว โดยจะสังเกตจากปริมาณสำรองที่สูงขึ้น และกำลังผลิตไฟฟ้าเท่าที่มีอยู่ก็ยังใช้ไม่เต็มที่เลย ที่สำคัญคืออยากให้มองย้อนกลับไปในอดีตที่ภาครัฐสนับสนุนพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง มีการทยอยรับซื้อ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเป็นอีกฟันเฟืองที่กระตุ้นเศรษฐกิจ คำนวณเฉพาะโครงการที่ลงทุนไปแล้ว รวมกว่า 200,000 ล้านบาท แต่แผน PDP ฉบับใหม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนน้อยมาก สุดท้ายผู้ประกอบการอาจจะล้มหายตายจากไปในที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“สมคิด” จี้ InnoSpace ต้องเกิด คาดทาบทาม “วีระพงศ์ มาลัย” ช่วยด้านนวัตกรรมดันภาคเกษตร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2562 ว่า ได้เร่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรม หรือ InnoSpace (Thailand) โดยร่วมกับ 16 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ Hong Kong Cyberport และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ตอัพของอิสราเอล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ตอัพไทยและนานาชาติอย่างครบวงจร มีกระบวนการการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาอุตสาหกรรมการเกษตร

เพื่อพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ พร้อมผลักดันให้สตาร์ตอัพไทยมีขีดความสามารถในการทำการค้าในระดับนานาชาติได้รวดเร็วขึ้นนั้นเห็นว่าควรจะเปลี่ยนชื่อใหม่ที่สื่อดีกว่านี้ ขณะเดียวกันได้เสนอให้ทาบทาม นายวีระพงศ์ มาลัย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเก่งด้านนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหาร

นอกจากนี้ได้หารือว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม ควรจะเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดจากทำหน้าที่กำกับมาเป็นหน่วยงานสนับสนุน โดยเฉพาะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่ต้องออกแบบการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดสินค้าเกษตรให้มากขึ้น กว่าการที่จะไปส่งเสริมอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ

ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่เน้นกำกับดูแลโรงงานทั่วประเทศก็ต้องมามุ่งเน้นการส่งเสริมฯให้โรงงานเหล่านี้ปรับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้ทันสมัย พร้อมไปกับการมองมิติให้เกิดโรงงานที่สนับสนุนภาคการเกษตรควบคู่กันไปด้วย ส่วนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องไปพัฒนามาตรฐานสินค้าให้สอดรับกับสินค้าของชุมชนและวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความเชื่อถือได้ ไม่ใช่ไปตรวจจับแต่สินค้าไม่ได้มาตรฐาน

โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณาส่งเสริมการลงทุนที่กระจายไปยังท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งหากไทยไม่เร่งยกระดับการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอีก 3 ปีไทยอาจจะถูกเวียดนามแซงหน้าได้ เพราะขณะนี้เวียดนามเร่งการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม กสอ.กำหนดลงนาม (MOU) กับจังหวัดวาคายามะ เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์อุตสาหกรรมเครื่องเขินภาคเหนือในช่วงเดือนกรกฏาคมนั้นขอให้ไปพิจารณาเป็นช่วงเวลา เนื่องจากทางผู้ว่าราชการของ จ.วาคายามะ จะเดินทางมากรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคมนี้ ขอให้ไปหารือและขยายความร่วมมือที่จะไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

พณ.ชี้ช่องเกษตรกรขยายส่งออกผ่านFTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตร ลงพื้นที่ภาคเหนือ ชี้ช่องเกษตรกรขยายส่งออก ผ่านความตกลงเอฟทีเอ

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” โดยในปีนี้จะดำเนินการ จำนวน 6 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและปลอดภัย และเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไปตลาดโลกด้วยเอฟทีเอที่ไทยมีกับประเทศต่างๆ

โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้ดำเนินโครงการไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ จังหวัดอุดรธานี และครั้งที่ 2 ในเดือนมกราคม 2562 ที่ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดี สำหรับครั้งที่ 3 จะดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยการสัมมนาครั้งนี้จะมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี และการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เทศบาลตำบลนาป่าสั่งคุมไม่ให้เผาอ้อย หลังเขม่าตกใส่บ้านประชาชน

เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลนาป่า เผยการเผาอ้อยในพื้นที่เป็นเรื่องปกติ สั่งคุมไม่ให้เกิดขึ้นอีกหลังชาวบ้านในพื้นที่เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายชนะ เนาวรัตน์ หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลนาป่า อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ถึงเหตุการณ์เศษละอองจากเขม่าการเผาอ้อยกระจายเต็มพื้นหมู่บ้านแห่งหนึ่งว่า การเผาแบบนี้เป็นเรื่องปกติของคนทำไร่อ้อย และจังหวัดชลบุรีก็เป็นเมืองชายทะเลมีลมแรงควบคุมทิศทางลำบาก ส่วนเหตุการณ์นี้เกิดการแอบเผาตอนตี 5 ตอนนี้ได้สั่งการให้ไปหาตัวคนทำไร่อ้อยมาสอบถาม

เบื้องต้นทราบเพียงว่าเป็นคนนอกพื้นที่มาเช่าทำไร่อ้อยซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ตอนนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้เลิกเผาเปลี่ยนไปใช้วิธีตัดอ้อนแทน พร้อมยืนยันจะควบคุมไม่ให้การณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยอำนาจเจริญโวยต้องแบกค่าใช้จ่ายขนส่งข้ามจังหวัด!

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เมื่อวันที่3 กุมภาพันธ์ 2562 นายอธิจิตร ธนูชัย หนึ่งใน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในอำเภอหัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ในช่วงนี้เกษตรกรชาวอำนาจเจริญ ทำการปลูกอ้อยกว่า 2 แสนกว่าไร่มีปัญหาเรื่องการขนส่งนำอ้อยไปจำหน่ายในตัวเมืองที่มีโรงงานผลิตน้ำตาล หรือโรงน้ำตาลนั่นเอง ต้องจ้างรถบรรทุกจากไร่อ้อยที่ตนปลูกไปส่งโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดกาฬสินธิ์ หรือจังหวัดขอนแก่นทำให้มีกำไรเหลือน้อย ซึ่งต้นอ้อยที่ชาวเกษตรกรปลูกตกไร่ละ 18-20 ตัน และที่สำคัญจุดที่จะเข้าหีบไปยังโรงงานน้ำตาลมิตรผลที่กาฬสินธุ์ก็ไกลค่าขนส่งก็แสนจะแพงอยากให้ทางภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนให้อำนาจเจริญเปิดโรงงานเร็วๆ จะได้ไม่เสียค่าขนส่งไปส่งอ้อยที่ปลูกในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ จำนวนหลายแสนไร่ไปขายที่อื่น เพื่อให้ชาวเกษตรกรชาวอำนาจเจริญมีรายได้ดีขึ้นนั้นเอง และที่สำคัญการขนส่งก็ลำบากหารถขนส่งยาก ราคาก็แพง รถหีบอ้อยขึ้นรถก็เสียต้องรอกันเป็นวันๆ กว่าจะซ่อมเสร็จ

ด้านนางพิจิตรา ไชยธรรม อายุ 36 ปี เกษตรกรบ้านคำพระ ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ตนทำนามากว่า 30 ปี มีพื้นที่นาจำนวน 35 ไร่ ได้ข่าวว่าจะมีโรงงานน้ำตาลมาเปิดใกล้บ้านที่ตำบลน้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ จึงได้เปลี่ยนสภาพจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อย 30 ไร่ ซึ่งได้ผลผลิตกว่า 500 ตันสร้างรายได้แล้วกว่า 400,000 บาท จากการขายอ้อย และส่งอ้อยเข้าหีบ นับว่าสร้างรายได้มากกว่าแต่ก่อนกว่าที่เคยปลูกข้าว โดยเฉพาะเพื่อนๆ เกษตรกรที่มีนาดอน (นาในที่สูงไม่มีน้ำพอที่จะปักดำนาข้าวได้) หันมาปลูกอ้อยกันเป็นจำนวนมากสร้างรายได้ ทำให้ชีวิตมีความสุขอยู่ดีกินดี ปลดหนี้ปลดสิน และบางรายมีเงินเก็บฝากธนาคารก็เป็นจำนวนมาก บอกเลยว่าการปลูกอ้อยแทนนาข้าวนับว่าสร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าวเพราะผลผลิตได้มากกว่า มีกำลังมากกว่าปลูกข้าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

เถ้าชานอ้อย ผลิตอิฐบล็อคดินซีเมนต์ คุณภาพสูง

 ผศ.ดร.ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวว่า แนวความคิดของโครงการวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อคดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อยนั้น เป็นการดำเนินงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเถ้าชานอ้อยและช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม จากการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของเถ้าชานอ้อยในเบื้องต้นพบว่า เถ้าชานอ้อยมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี มีราคาถูก สามารถนำมาพัฒนา เป็นส่วนผสมคอนกรีตเพื่อการผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะการนำมาผลิตเป็นอิฐบล็อค แทนการใช้คอนกรีตบล็อคซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากจะช่วยให้อิฐบล็อคมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น แข็งแรงไม่แตกหักง่าย ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่า ความทนทานสูงกว่า แต่ราคาใกล้เคียงกัน เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างสามารถนำมาใช้ก่อเป็นผนังรับน้ำหนักสำหรับการก่อสร้างบ้านปกติ และถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักซึ่งเหมาะแก่ชุมชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาชุมชนซึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น ผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน

 การนำเถ้าชานอ้อยจากเตาเผาโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้และถือเป็นปอซโซลานที่มีคุณภาพดีเมื่อพิจารณาตามมาตรฐาน ASTM C618  ผนวกกับการใช้หินฝุ่นซึ่งเป็นวัสดุที่ถูกคัดทิ้งจากขบวนการผลิตหิน วัตถุดิบที่กล่าวมาทั้งหมดเมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของอิฐบล็อคร่วมกับสารเคมีผสมเพิ่มที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของคอนกรีตได้นั้น งานวิจัยพบว่า สามารถนำมาพัฒนาอิฐบล็อคให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ สามารถผลิตอิฐบล็อคที่มีคุณภาพดีจากส่วนผสมของ ดินซีเมนต์ (ดินคัดเลือก+ซีเมนต์)+ เถ้าชานอ้อย + หินฝุ่น ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอาจเพิ่มศักยภาพของอิฐบล็อคให้มีคุณภาพสูงกว่าเดิมได้ ในขณะที่ราคาต่อหน่วยยังคงเดิม จากการใช้วัสดุปอซโซลานเข้ามาแทนที่ปูนซีเมนต์ที่ใช้ผสมคอนกรีตบล็อคบางส่วน สามารถสร้างเพิ่มมูลค่าเพิ่มของเถ้าชานอ้อยจากโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและหินฝุ่น ซึ่งจากเดิมเป็นวัตถุดิบที่สร้างมลภาวะและไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ ดังนั้นนอกจากจะเกิดผลดีต่อชุมชนแล้ว อาจนำไปสู่ธุรกิจการผลิตอิฐบล็อกที่มีประสิทธิภาพของภาคเอกชนได้ สามารถนำไปสู่การเผยแพร่บทความวิจัย การจดอนุสิทธิบัตร การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ตามภารกิจที่ผู้ดำเนินการวิจัยมีเป้าหมายอย่างชัดเจน การนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การผลิตชิ้นงานและนำไปเป็นวัสดุเพื่อการก่อสร้างได้จริง

เมื่อดำเนินการทดสอบอิฐบล็อกมาตรฐานที่ได้ผลิตขึ้นครบทุกขั้นตอนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ได้จริง ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการทำผลิตภัณฑ์ไปก่อสร้างเป็นห้องจำลองขนาด 2.5x3.5 เมตร สำหรับการจัดนิทรรศการ แสดงวิธีการผลิตอิฐบล็อกมาตรฐานจากเถ้าชานอ้อย เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น งานวิจัยนี้ นำวัสดุวิจัยคือ ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย ไปใช้ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นห้องกิจการนักศึกษาพบว่าวัสดุมีความสวยงามและทนทาน  มีคุณสมบัตรต้านทานความร้อนได้ดีกว่าอิฐบล็อคคอนกรีด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 081-839-6772  โทรสาร 035-544-299

จาก www.banmuang.co.th   วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ผุดพ.ร.บ.พันธุ์พืชฉบับประชาชนเสนอตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ สกัดโจรสลัดชีวภาพ

ภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เพื่อช่วยขยายผลการค้า การลงทุนและเสริมสร้างสินค้าและการบริการของไทย หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคประสังคม มีข้อกังวลอย่างยิ่งในการเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนซึ่งมีมาตรฐานสูงในครั้งนี้ โดยเฉพาะประเด็นอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV1991 พร้อมทั้งได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรียกเสียงฮือฮามาแล้วหลายครั้ง และเรื่องค่อยๆ เงียบไป

ล่าสุดความเคลื่อนไหวของ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ภายหลังมีข่าวความเคลื่อนไหวที่ไทยจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ CPTPP รวมทั้งบรรยากาศการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง  ซึ่งประเทศไทยอาจจะต้องทำตามข้อกำหนดให้เร็วที่สุด

มาจนถึงปัจจุบันภาคประสังคมก็ยังไม่ให้การยอมรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเป็นการเอื้อสิทธิการผูกขาดให้กับบรรษัทมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกร

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ซึ่งคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช มาโดยตลอด ให้ความเห็นว่า ในร่างพ.ร.บ. มี 3 ประเด็นใหญ่ที่ตนเห็นว่าไม่ได้เอื้อต่อเกษตรกรไทย คือ 1.ไม่เปิดช่องให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ไปปลูกต่อได้  ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเกษตรกรอย่างร้ายแรง เพราะถ้านำไปปลูกต่อถือว่าผิดกฎหมายมีโทษถึงจำคุก นั่นเท่ากับว่าไปคุ้มครองบริษัทโดยตรง

2.มีการปรับระยะเวลาการคุ้มครองตามกลุ่มพืชจากเดิม พืชล้มลุก 12 ปี เพิ่มเป็น 20 ปี พืชไม้ผลไม้ยืนต้นจาก 17 ปีเป็น 25 ปี และพืชให้เนื้อไม้ลดลงจาก 27 ปีเหลือ 25 ปี ซึ่งเป็นการคุ้มครองด้วยระยะเวลานานเกินไป และ ประเด็นที่ 3 การขยายความคุ้มครองตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงผลผลิต การเก็บผลผลิตนำไปปลูกต่อ หรือมีการนำไปแปรรูปก็ถือว่ามีความผิดด้วย

“ร่าง พ.ร.บ. ไมได้ตอบโจทย์เลย แต่กลับไปเอื้อให้กับบริษัทมากกว่าที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางชีวภาพ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโจรสลัดชีวภาพก็ได้ ซึ่งส่วนทางกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่ต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรมากกว่านี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวและย้ำว่า กฎหมายนี้สร้างระบบให้สิทธิผูกขาด ไม่ก่อให้เกิดความหลากหลาย กระทบต่อเกษตรกรและระบบอาหารของโลกที่จะไม่มีความมั่นคงอีกด้วย

สอดรับกับความเห็นของ ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงศ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ให้ความเห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ได้ลิดรอนสิทธิเกษตรกรและเปิดช่องให้บริษัทอย่างมากที่สุด เช่น การตัดประเด็นที่ให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ แต่ต้องแสดงที่มาได้ออกไป หรือการจดสิทธิบัตรพืชที่ตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMO ไม่ต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการให้อำนาจ รมต.แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการเสนอ ครม.ให้ประกาศคุ้มครองพันธุ์พืชตัวไหนก็ได้

ใจความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ที่อ้างอิงมาจาก UPOV1991 นั้น คือ ต้องการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ แต่การนำมาใช้กับบ้านเราไม่เหมาะสม เพราะเกษตรกรไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นหาก ร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่าน ครม. จ

ด้วยเหตุนี้-เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่นี้ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้ค้า จึงต้องมีการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเกษตรกร แม้แรงต้านในภาคประชาสังคมที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะการคัดค้านแบบหัวชนฝา แต่กลับไม่มีการหาทางออกร่วมกัน จึงเป็นที่มาของข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับประชาชน

นายวิฑูรย์ เผยถึงที่มาของ ข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนดังกล่าว ว่า ช่วงนี้กำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แน่นอนว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช จะต้องถูกยกขึ้นมาอีกครั้งและน่าจะพยายามประกาศใช้โดยเร็วที่สุด ที่ผ่านมาเกษตรกรและภาคประชาชนคัดค้านโดยไม่เคยเสนอข้อกฎหมายร่วม มีแต่คัดค้านร่างที่ภาครัฐเสนอมาให้ แต่คราวนี้ภาคประชาสังคมจะทำงานเชิงรุกด้วยการ ทำร่างข้อเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ขึ้นมา เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิม เพิ่มทางเลือกและคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรอย่างจริงจัง

สำหรับ ร่างข้อเสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ประเด็นสำคัญ คือ การให้สิทธิในเมล็ดพันธุ์ สามารถปลูกต่อ หรือแจกจ่ายได้ จัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทาวชีวภาพ และการส่งต่อภูมิปัญญาการเพาะปลูก และท้ายสุด คือ การมีกลไกป้องกันการปนเปื้อน  เช่น การจัดระบบป้องกันพื้นที่เกษตร (Buffer Zone) หรือเกษตรกรสามารถเรียกร้องความเสียหายจากการปนเปื้อนที่ไม่ได้ตั้งใจได้ เป็นต้น

“การเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชที่มาจากการคัดเลือกของภาคเกษตรกรมากขึ้น  เอาคนที่รู้เรื่องเกษตรมาเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงเพื่อมารักษาและคุ้มครองสิทธิให้เกษตรกรไทย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราพยายามผลักดันกันอยู่ในขณะนี้” ผอ.มูลนิธิชีววิถี ทิ้งท้าย

คณะกรรมการร่วมขับเคลื่อน ตั้งเป้าคลอด ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในมีนาคมนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี จะขานรับกับข้อเสนอนี้หรือไม่อย่างไร

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประกาศความสำเร็จเพิ่มกำลังผลิต-ลดต้นทุนเอทานอลจากกากน้ำตาล

วว.จับมือ พพ. เผยผลสำเร็จ “โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล” เพิ่มกำลังผลิตและลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เผยผลสำเร็จการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล” โชว์ผลวิจัยผลิตเอทานอลด้วยการใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงหรือ High gravity fermentation (HG) สามารถทำได้จากทั้งวัตถุดิบที่เป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลและลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมีนัยสำคัญ

โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเชื้อยีสต์สายพันธุ์จากในประเทศไทย มีคุณสมบัติเหมาะกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เทียบเท่ากับยีสต์อุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ย้ำประเทศไทยควรส่งเสริมงานวิจัยทางชีวภาพและการลงทุนพัฒนาทรัพยากรทางชีวภาพเหล่านี้ไปสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ชี้แจงว่า จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและการใช้เอทานอลที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน ภายในปี พ.ศ.2579 ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งสิ้น 26 โรง มีกำลังการผลิตเอทานอลรวม 5.79 ล้านลิตรต่อวัน และมีการใช้เอทานอลระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.16 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.6 จากปี 2560

“เพื่อให้การผลิตและการใช้เอทานอลของประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอล ทั้งในด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกระบวนการผลิต”

นายสายันต์กล่าวอีกว่าในปี 2559 วว. ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลังสด/มันเส้น” โดยใช้แนวคิดในการเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของสารตั้งต้น ซึ่งจะปรับเปลี่ยนการใช้มันสำปะหลังประมาณ 20% โดยน้ำหนัก หรือที่เรียกว่า Normal gravity fermentation (NG) มาเป็นการใช้ที่ประมาณ 30% โดยน้ำหนัก หรือที่เรียกกันว่า High gravity fermentation (HG)

“โครงการนี้ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพ โดยการใช้เชื้อยีสต์ที่พัฒนาได้จากโครงการ ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้เทียบเท่าและในบางกรณีมีประสิทธิภาพดีกว่ายีสต์อุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยีสต์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในส่วนของการพัฒนากระบวนการผลิต ได้นำต้นแบบระบบกู้คืนเอทานอลในระหว่างการหมัก (In Situ Ethanol Recovery; ISER) ที่ได้ออกแบบและพัฒนาภายใต้โครงการนี้มาทดสอบในถังหมักระดับกึ่งโรงงาน (300 ลิตร) ซึ่งสามารถดึงเอทานอลบางส่วนออกจากระบบในระหว่างการหมัก มาใช้ร่วมกับยีสต์ของโครงการพบว่า สามารถลดสภาวะที่เป็นพิษของเอทานอลต่อยีสต์ได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอล ตลอดจนลดต้นทุนการผลิตเอทานอลต่อหน่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะเดียวกันจากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม การหมักเอทานอลแบบ HG ร่วมกับยีสต์ของโครงการ จะทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลขึ้นได้อีกประมาณ 30% โดยที่ไม่ต้องทำการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลักของโรงงาน ทั้งยังช่วยลดค่าพลังงานในการผลิตเอทานอลลง เนื่องจากเอทานอลในน้ำหมักที่ได้จากการหมักแบบ HG (14-16%) มีความเข้มข้นสูงกว่าการหมักแบบ NG (8-10%) จึงช่วยลดปริมาณการใช้ไอน้ำในระบบหอกลั่นเอทานอลลง และยังช่วยลดปริมาณน้ำเสียลงได้อีกด้วย

ต่อมาในปี 2561 วว. ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล” ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการในปี 2559 โดยใช้แนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพและทางกระบวนการผลิตเพื่อรองรับการผลิตแบบ High gravity fermentation เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในส่วนของการผลิตเอทานอลกากน้ำตาลจะมีความแตกต่างจากการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดนี้มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน

ดร.พงศธร ประภัทรางกูล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางชีวภาพ โครงการ ฯ เน้นการพัฒนาเชื้อยีสต์ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะกับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากกากน้ำตาลจะประกอบไปด้วยน้ำตาลทั้งที่เป็นโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กลูโคส และฟรักโตส และน้ำตาลโมเลกุลคู่ ได้แก่ ซูโครส ผสมอยู่ด้วยกัน ซึ่งจะแตกต่างจากมันสำปะหลังที่เมื่อแป้งถูกย่อยด้วยเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตแล้วจะได้น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว คือ กลูโคสเพียงชนิดเดียว

“ดังนั้น เชื้อยีสต์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนกากน้ำตาลเป็นเอทานอลได้นั้น ต้องเป็นเชื้อยีสต์ที่มีค่ากิจกรรมของเอนไซม์อินเวอร์เทส (Invertase enzyme) ที่สูงเพื่อให้สามารถเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสไปเป็นกลูโคส และฟรักโตส ได้ดี ซึ่งเชื้อยีสต์จะใช้น้ำตาลทั้งสองชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเป็นเอทานอลต่อไป โครงการนี้ได้ทำการคัดเลือกเชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ในประเทศไทยที่สามารถทนความร้อนในระหว่างการผลิตได้ถึง 40°C และทน เอทานอลได้สูงสุดถึง 18% โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอล (88 – 90%) เทียบเคียงกับเชื้อยีสต์อุตสาหกรรมในกรณีที่ใช้กากน้ำตาลไม่เกิน 25°Bx ในการผลิตเอทานอลซึ่งจัดเป็นระดับความเข้มข้นแบบ NG”

ส่วนการพัฒนากระบวนการผลิตนั้น โครงการได้ทดสอบการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลในระดับความเข้มข้นแบบ HG โดยเริ่มต้นกระบวนการหมักด้วยความเข้มข้นของกากน้ำตาลที่ 30°Bx แล้วจึงทำการเติมกากน้ำตาลในช่วงความเข้มข้นตั้งแต่ 30 – 50°Bx ในชั่วโมงที่ 12 ของการผลิตเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการผลิตเอทานอลของยีสต์โครงการ ฯ และเชื้อยีสต์อุตสาหกรรม จากผลการทดลองชี้ให้เห็นว่าเชื้อยีสต์ทั้ง 2 ชนิดสามารถผลิตเอทานอลได้สูงสุดถึง 14 % โดยเหลือน้ำตาลในน้ำหมัก (น้ำส่า) น้อยกว่าร้อยละ 1 เมื่อใช้กากน้ำตาลเริ่มต้นที่ 30 °Bx แล้วเติมกากน้ำตาลเพิ่มอีก 40 °Bx

นอกจากนั้นโครงการ ฯ ยังได้ทำการทดสอบเดินระบบ ISER ควบคู่ไปกับการหมักแบบ HG และพบว่าการดึงเอาเอทานอลออกจากน้ำหมัก (น้ำส่า) ในระหว่างกระบวนการหมักจะช่วยลดความเป็นพิษของเอทานอลต่อเชื้อยีสต์ในการผลิตเอทานอลแบบ HG ลงได้ ส่งผลให้เชื้อยีสต์สามารถใช้กากน้ำตาลเพื่อผลิตเอทานอลได้มากขึ้นเป็น 45 °Bx

“ผลการดำเนินการของทั้งสองโครงการ อันได้แก่ โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลังสด/มันเส้น และ โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล สามารถสรุปได้ว่า การผลิตเอทานอลโดยใช้ความเข้มข้นของสารตั้งต้นสูงหรือที่เรียกว่า High gravity fermentation (HG) สามารถทำได้จากทั้งวัตถุดิบที่เป็นกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง โดยสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล และลดต้นทุนการผลิตเอทานอลได้อย่างมีนัยสำคัญ”

“นอกจากนี้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางชีวภาพอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เชื้อยีสต์ที่มีศักยภาพในการผลิตเอทานอลได้ใกล้เคียงกับยีสต์อุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประเทศไทยจึงควรเน้นในด้านการส่งเสริมการวิจัยทางชีวภาพ และการลงทุนในด้านการพัฒนาทรัพยากรทางชีวภาพเหล่านี้ไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ และเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศต่อไป” ดร.พงศธร ประภัทรางกูล กล่าวสรุป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2562

ก.อุตฯ ขอโรงงานชะลอ-หยุดผลิตลดฝุ่น 4-6 ก.พ.

ก.อุตฯ ขอความร่วมมือโรงงานชะลอ-หยุดผลิตลดฝุ่น 4-6 ก.พ. คาดมี 1,300-1,500 โรง

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงปัญหาฝุ่นละอองชะลอการผลิตหรือหยุดเดินเครื่องจักรในช่วงเวลาที่มีค่ามลพิษสูงสุดแต่ละพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายสุรพล กล่าวว่า ส.อ.ท.ให้ความร่วมช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยให้โรงงานสมาชิก ส.อ.ท. 15 จังหวัดซึ่งตั้งอยู่โดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑลลดกำลังการผลิตหรือหยุดการผลิตระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์นี้อย่างไรก็ตาม ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมที่สัดส่วนการปล่อยฝุ่นละอองออกสู่อากาศคิดเป็นร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่ประมาณร้อยละ 30-35 เป็นปัญหาควันและฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาวัชพืชของเกษตรกรซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรภาคกลาง เนื่องจากสามารถทำนาได้ถึง 3 รอบ รวมทั้งมีการเผาอ้อยเพื่อนำส่งโรงงาน ซึ่งเรื่องนี้ได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรลดการเผาอ้อยโดยน้ำอ้อยสดเข้าสู่โรงงานน้ำตาล

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า แม้โรงงานมีสัดส่วนการปล่อยฝุ่นควันออกสู่อากาศในสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ ส.อ.ท.มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือ โดยให้โรงงานใน 15 จังหวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอยู่ในกลุ่ม GI หรือ green industry และโรงงานที่อยู่ในกลุ่ม Eco Factory ช่วยลดการปล่อยฝุ่นควัน คาดหวังว่าเบื้องต้นประมาณ 1,300- 1,500 โรงงาน จากทั้งหมด 2,599 โรงงาน การดำเนินการครั้งนี้เรียกว่า "ลดหลี่กำลังการผลิตลง"  โดยลดและหยุดบางช่วง และระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์นี้ยังจัดกิจกรรม Big cleaning day ภายในโรงงาน เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่อาจฟุ้งกระจายออกมาสู่บรรยากาศ ทางโรงงานจะมีการตรวจและลงมือทำความสะอาดเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ มีการปรับปรุงอุปกรณ์ในส่วนที่เป็นไส้กรองและระบบต่าง ๆ ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้เป็นอย่างดีอยู่หรือไม่ หรือต้องซ่อมแซม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญถึงรถขนส่งของภาคโรงงานอุตสาหกรรมด้วย รถทุกคันจะต้องตรวจตรามาตรฐานการปล่อยควันออกสู่บรรยากาศด้วย

ทั้งนี้ มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม ทาง ส.อ.ท.จะรณรงค์ขยายผลความร่วมมือเหล่านี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและดำเนินการเป็นเรื่องระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ อยากให้ ส.อ.ท.ที่ร่วมมือกันครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้นและจุดประกายลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการเผาวัชพืช ปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง และอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมไม้ร่วมมือกันจะลดปัญหามลพิษในอากาศได้อย่างแน่นอน

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2562

เงินเฟ้อเดือน ม.ค.ยังขาขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ระบุเงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราชะลอในเดือนมกราคม บวกเพียงร้อยละ 0.27 เหตุจากน้ำมันลดมาก แต่ทั้งปีมั่นใจอยู่ในกรอบคาดการณ์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค. ) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2562 ว่า ยังคงขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 5 แต่ยังเป็นบวกร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 19 โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2562 ลดลงบ้างมาจากกลุ่มพลังงานลดลงค่อนข้างมากตามตลาดโลกถึงร้อยละ 6.09 รองลงมาจะเป็นกลุ่มผักผลไม้ลดลงถึงร้อยละ 4.36 ตามช่วงฤดูกาลเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.34 โดยเฉพาะข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 5.02 และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้นร้อยละ 3.04 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง ถือว่าไม่น่ากังวลอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังดีไม่ได้หยุดนิ่ง ทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มไม่มาก โดยเฉพาะในช่วง 2-4 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2562 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 โดยน้ำหนักค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยสมมติฐานคาดการณ์จีดีพีของประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5-4.5 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80  ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 จะขยับตัวสูงขึ้น แบ่งเป็นไตรมาสแรกร้อยละ 0.86 ไตรมาส 2 ร้อยละ 0.98 ไตรมาส 3 ร้อย 1.27 และไตรมาส 4 ร้อยละ 1.81 โดยมีหลายปัจจัยหนุนในช่วงไตรมาสแรกจากมาตรการของภาครัฐสนับสนุนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและการเลือกตั้งที่จะมีการหาเสียงในช่วง 1-2 เดือนนี้เป็นต้น

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 1 กุมภาพันธ์  2562