http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกุมภาพันธ์ 2567)

เปิดผลผลิตอ้อยปี’66/67แตะ67.45ล้านตันลุ้นปิดหีบ76-78ล้านตันฤดูใหม่จับตาภัยแล้ง

เปิดผลผลิตหีบอ้อยและการผลิตน้ำตาลล่าสุดปี 2566/67 พบอ้อยเข้าหีบพุ่งขึ้นล่าสุดสะสมแล้ว 67.45 ล้านตัน คาดการณ์หลังปิดหีบมีโอกาสลุ้นที่ 76-78 ล้านตัน แต่ยอมรับผลผลิตน้ำตาลยังไม่ดีนักเหตุอ้อยโตช้า ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูง พ.ค.รอลุ้น 25 เซนต์ต่อปอนด์จูงใจชาวไร่ปลูกเพิ่มแต่ยังมีภัยแล้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ชาวไร่รอใกล้ปิดหีบจ่อร้อง”กอน.”เร่งหารือสรุปเงินตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันแน่

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า จากการ โรงงานน้ำตาลทรายในประเทศรวม 57 แห่งได้ดำเนินการเปิดหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายประจำปี 2566/67 ตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2566 จนถึง ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีปริมาณอ้อยสะสมแล้วประมาณ 67.45 ล้านตันอ้อยคิดเป็นปริมาณอ้อยสดที่ 48.2 ล้านตัน อ้อยไฟไหม้ที่ 19.2 ล้านตัน เฉลี่ยความหวาน(ข้อมูลเบื้องต้น)ที่ 12.12 ซี.ซี.เอส.(C.C.S.) เฉลี่ยน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ 102.7 กิโลกรัม(กก.)รวมประมาณน้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบและอื่นๆ ประมาณ 69.3 ล้านกระสอบ(กระสอบละ100กก.) กากน้ำตาลทราย(โมลาส) 2.73 ล้านตัน ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยเมื่อสิ้นฤดูหีบจะมีปริมาณอ้อยรวมประมาณ 76-78 ล้านตันซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากในระยะแรกที่เคยประเมินไว้

“ ทางกอน.เองได้มีการจัดสรรปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 66/67 ไว้ที่ 80 ล้านตันก็คงจะต้องดูในช่วงสุดท้ายนี้ซึ่งขณะนี้โรงงานมีปิดหีบบางส่วน 2-3 แห่งแล้ว ขณะที่ Wilmar International ยักษ์ใหญ่ในวงการเกษตรแห่งเอเชียคาดการณ์ว่าไทยอาจผลิตอ้อยฤดูหีบนี้ได้ถึง 79 ล้านตัน ขณะที่ซีซาร์นิโคว ( Czarnikow)ผู้ค้าน้ำตาลไทยยังมองที่ระดับ 73 ล้านตัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามคือปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายที่อาจจะไม่ได้สูงนักเนื่องจากแม้อ้อยจะมีปริมาณเพิ่มแต่กลับโตไม่ทัน”นายวีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้แม้ผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 2566/67 จะกระเตื้องขึ้นแต่หากเทียบกับผลผลิตอ้อยในปี 2565/66 อยู่ที่ 93.88 ล้านตันก็ยังคงถือว่าปริมาณผลผลิตอ้อยยังคงปรับลดลง อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเฉลี่ย 22-23 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งยังถือว่ามีทิศทางที่ดี แต่ระยะช่วงมี.ค.นี้อาจจะอ่อนตัวลงบ้างเนื่องจากจะเป็นช่วงขายตั๋วน้ำตาลออกตามอายุ คงจะต้องติดตามในช่วงพฤษภาคม 67 ที่ตลาดจะกลับมาซื้อน้ำตาลล่วงหน้าอีกครั้งซึ่งมีแนวโน้มว่าระดับราคาน่าจะไปถึง 25 เซนต์ต่อปอนด์ได้ซึ่งก็จะถือเป็นเรื่องที่จะจูงใจสำหรับชาวไร่อ้อยให้ปลูกเพิ่มในฤดูหีบหน้า แต่ทั้งนี้ก็ยังคงต้องติดตามภาวะภัยแล้งที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงใกล้ชิด

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ในช่วงมีนาคม นี้หลังเริ่มทยอยปิดหีบมากขึ้น 4 องค์กรชาวไร่อ้อยคงจะต้องหารือเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการประชุมกอน.เพื่อสะสางหลายเรื่องที่ยังค้างคาจากการที่ล่าสุดยังไม่มีประชุมมากว่า 2 เดือนแล้วโดยหนึ่งในประเด็นคือการผลักดันให้กอน.เสนอรมว.อุตสาหกรรมในการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่จะเพิ่มเงินตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่ 120 บาทต่อตันเช่นที่ผ่านมาซึ่งฤดูหีบนี้ก็ยังไม่ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขกฏหมายอ้อยเพิ่มเติมให้สอดรับกับพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วันที่ 18 ก.พ. 67 พบว่าการหีบอ้อยของโรงงานแต่ละภาคมีดังนี้ 1. ภาคเหนือได้รวมทั้งสิ้น 14.047 ล้านตัน โดยโรงงานไทยรุ่งเรืองหีบอ้อยได้ปริมาณสูงสุด 2. ภาคกลาง 15.5 ล้านตัน โดยมีโรงงานน้ำตาลมิตรผลหีบได้สูงสุด 3. ภาคตะวันออก 3.03 ล้านตันโดยมีโรงงานน้ำตาลอ้อยและตะวันออกหีบได้สูงสุด 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 35 ล้านตันโดยมีโรงงานรวมเกษตรกรหีบได้สูงสุด

จาก https://mgronline.com วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

 

ครม.ไฟเขียวราคาอ้อยขั้นต้น-ขั้นสุดท้าย 2 ฤดู 1,197-1,420 บาท/ตัน

ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นรายเขต 9 เขต ราคา 1,197-1,420 บาท/ตัน

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 และ ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ

สำหรับการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต โดยเขตมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาทต่อต้น ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาทต่อต้น

ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้

ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.2 หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,674.64 บาทต่อตัน และกำหนดอัตราขั้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตัน

 นายชัย กล่าวว่า การประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาทต่อต้น เมื่อเทียบกับราคาต้นฤดู 1,080 บาทต่อตัน ซึ่งราคาปลายฤดูสูงกว่าราคาต้นฤดู 117.53 บาท ซึ่งผลผลิตต่อปีประมาณปีละ 113 ล้านตัน

ดังนั้นจะทำให้ราคาขั้นสุดท้ายที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอครั้งนี้ จะทำให้ชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มขึ้นทั้งหมด 13,280 ล้านบาท ซึ่งรมว.อุตสาหกรรม แจ้งว่า โรงงานน้ำตาลได้ทยอยจ่ายเงินเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อยแล้ว

ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่ามีราคาสูงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเมื่อเทียบกับราคาอ้อยขั้นต้นปีก่อน คิดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นกว่า 38,420 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อรายจะมีเงินเพิ่มขึ้นเกือบแสนบาท

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขอความร่วมมือชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย เพื่อให้ได้เงินจากการผลิตมากขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

อัปเดต 'ราคาอ้อยล่าสุด' อ้อย 1 ตันราคากี่บาท เช็กที่นี่ หลัง ครม. เคาะปรับราคา

อัปเดต 'ราคาอ้อยล่าสุด' หลัง ครม. ปรับประกาศ ราคาอ้อย แล้ว อ้อย 1 ตัน ราคากี่บาท เช็กราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และราคาอ้อยต้นฤดู 2566/2567 ที่นี่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนด ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต และการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ส่งผลให้ "ราคาอ้อยล่าสุด" มีการปรับราคาจากเดิม

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (20 ก.พ. 2567) มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย หรือ "ราคาอ้อยล่าสุด" และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยเขตมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

-ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

-อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท/ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และ

-ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาท/ตันอ้อย

ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณ "ราคาอ้อยล่าสุด" เป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้

ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.2 หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,674.64 บาทต่อตันอ้อย) และกำหนดอัตราขั้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตันอ้อย

สำหรับ อ้อย 1 ตันราคากี่บาท ตามที่ ครม. มีมติให้ปรับ "ราคาอ้อยล่าสุด" ทำให้ อ้อย 1 ตันราคาอยู่ ในอัตรา 1,197.53 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.  อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท/ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ซึ่งเป็นราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

จาก https://www.komchadluek.net วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

 

ข่าวดี! ครม.เคาะเอกสาร ไทย-บราซิล ยุติข้อพิพาท อ้อย-น้ำตาล ขัด WTO

ข่าวดี! ครม.เห็นชอบการยุติกรณีข้อพิพาทเรื่องอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ระหว่างประเทศไทย และบราซิล เตรียมลงนามเอกสารเร็ว ๆ นี้

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการยุติกรณีข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO ระหว่างประเทศไทย และบราซิล ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ

“ตอนนี้ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยที่ได้ยุติข้อพิพาทกับทางบราซิลแล้ว ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะมีการลงนามในข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน” นางณัฐฎ์จารี

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ได้มีการเจรจาข้อพิพาทกับบราซิลมานานหลายปี พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างอ้อย และน้ำตาลทราย พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดมาตรการอุดหนุนที่จะขัดต่อ WTO ทำให้ทางบราซิลได้เห็นถึงความพยายามของไทย จึงได้ข้อยุติในเรื่องนี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอเอกสารการลงนามข้อยุติ ซึ่งเป้นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิล ว่าด้วยเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย โดยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ในช่วงวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ จะมีการลงนามต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบราซิลได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเรื่องการอุดหนุนน้ำตาล เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2559 โดยกล่าวว่าประเทศไทยได้อุดหนุนระบบน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตลาดของบราซิล ที่เป้นผู้ส่งออกน้ำตลาดอันดับ 1 ของโลก

จากนั้นทั้งสองประเทศได้เจรจากันมานานตั้งแต่ปี 2559 - 2566 ดังนั้นไทยจึงปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เช่น การยกเลิกระบบโควตา ก ข ค ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 โดยไม่กำหนดโควตาส่งออก ถือเป็นการปรับปรุงระบบอ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นไปตามกลไกตลาด

รวมทั้งยกเลิกการกำหนดการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายมาตรา 17 ภายใต้พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 พร้อมปรับแก้ไขการตัดเงินอุดหนุนจากรัฐบาลออกจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เงินชดเชยกับโรงงานน้ำตาลในกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น จึงไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

รวมถึงการยกเลิกให้ช่วยช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตัน ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2559 และการปรับการอุดหนุนเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนการเกษตรและชนบทของไทย เช่น การศึกษา การวิจัย การปรับปรุงพันธุ์พืช และการลดการเผาอ้อยด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

 

ครม.เคาะราคาอ้อยฯ สุดท้ายฤดูผลิต 65/66 รวม 9 เขต กับราคาขั้นต้นฤดูผลิต 66/67

ครม.มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูกาลผลิต 65/66 รายเขตรวม 9 เขต และการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูกาลผลิต ปี 2566/2567

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (20 กุมภาพันธ์ 2567) มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยเขตมีอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศ ดังนี้

ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตรา 1,197.53 บาท/ต้นอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.

อัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาท/1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เท่ากับ 513.23 บาท/ต้นอ้อย

ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ดังนี้

ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/2567 ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.2 หรือเท่ากับร้อยละ 91.43 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศ 1,674.64 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขั้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.

ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2566/2567 เท่ากับ 608.57 บาทต่อตันอ้อย

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

 

ก.อุตฯปัดข้อเสนอเงินตัดอ้อยสด120บ./ตันปรับแผนดึงแบงก์ลดดบ.จูงใจ

ก.อุตสาหกรรมส่งซิกชาวไร่อ้อย ไม่ชงครม.หนุนของบตัดอ้อยสด 120 บาท/ตันฤดูหีบปี 2566/67 ที่กำลังเปิดหีบ เล็งคลอดมาตรการใหม่ดึงแบงก์สารพัดหนุน ธ.ก.ส. อัดดอกเบี้ยต่ำเมื่อตัดอ้อยสดส่งโรงงาน ธพว. เสริมทัพให้สินเชื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรุงไทย ไทยพาณิชย์ มั่นใจสร้างความยั่งยืนให้ระบบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้จัดทำการออกแบบมาตรการส่งเสริมใหม่ที่ควบคู่กับมาตรการเดิมเพื่อสนับสนุนการตัดอ้อยสดในฤดูหีบปี 2566/67 เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นPM 2.5 เพื่อลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูผลิตดังกล่าวให้ไม่เกิน 25% โดยมาตรการใหม่ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วงเก็บเกี่ยวและเมื่อตัดอ้อยสดส่งเข้าน้ำตาลทราย 100% จะได้รับการลดดอกเบี้ยในอัตรา MRR -1

นอกจากนี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(ธพว.) จะมุ่งเน้นให้สินเชื่อผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม 1.ผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย 2. ผู้ประกอบการรับจ้าง และ 3. ผู้ประกอบการรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ ใบอ้อยและยอดอ้อย โดยมาตรการนี้จะดำเนินการควบคู่กับมาตรการเดิมคือ การยกเว้นอากรศุลกากรการนำเข้าสำหรับเครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับรถตัดอ้อยที่เป็นรถใหม่ขนาด 300 แรงม้าขึ้นไป เครื่องตัดใบอ้อย เครื่องกวาดใบอ้อย โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67

ขณะเดียวกันจะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์( ธ.กรุงไทยและไทยพาณิชย์)ในการสนับสนุนเงินทุนได้แก่ 1. ส่วนต้นน้ำให้แก่เกษตรกรและชาวไร่อ้อย 2. ส่วนกลางน้ำคือการสนับสนุนเงินทุนให้แก่โรงงานน้ำตาล และ 3. ส่วนปลายน้ำคือผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่รับซื้อเศษซากใบและยอดอ้อย รวมทั้งผู้ประกอบการที่นำเศษซากวัสดุเหลือใช้จากระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม

พร้อมกันนี้จะผลักดันนโยบายการตัดอ้อยสดลดการเผาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ผ่านทางคณะอนุกรรมการอ้อยระดับท้องถิ่น จำนวน 29 เขตและคณะอนุกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 29 เขต รวมถึงการเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนให้เกิดรับรู้ของเสียของการเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวและร่วมกันเฝ้าระวังการเผาอ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อย

“มาตรการเดิม เราก็ยังดำเนินการทั้งการหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานในอัตรา 30 บาทต่อตันเพื่อจัดสรรเงินนี้ไปให้กับผู้ที่ตัดอ้อยสด รวมถึงการที่สอน.ได้มอบเครื่องสางใบอ้อย 228 เครื่องยืมไปใช้ รวมถึงการส่งเสริมรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้ ฯลฯ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมองว่าแนวทางดังกล่าวจะสร้างความยั่งยืนให้กับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม”แหล่งข่าวกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า แนวทางดังกล่าวเป็นการปรับใหม่หลังจากในช่วงฤดูการผลิต 3 ฤดูการที่ผ่านมาได้ใช้แนวทางการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อนำงบประมาณมาสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มเติมเฉลี่ยตันละ 120 บาทให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศซึ่งคิดเป็นวงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อฤดูหีบ

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567