http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมกราคม 2559)

แห่ผุดเตาเผากากอุตฯผลิต

          ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมเริ่มบูม เอสซีจี จับมือฮิตาชิ ผุดเตาเผาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ฟรี 1.8 พันล้านบาท ที่จ.สระบุรี คาดได้ข้อสรุปก.พ.นี้ กรอ.ยันเป็นโครงการนำร่องที่จะปูทางไปสู่โครงการต้นแบบในนิคมฯกำจัดกาก 6 ภูมิภาค ขณะที่เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน แม้ชวดโครงการเตรียมลุยทำเอง จับมือกฟผ.ตั้งโรงไฟฟ้าจากกากอุตฯ ในนิคม 3 แห่ง ด้านเจนโก้เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยจะเร่งรัดให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไปกำจัดไม่น้อยกว่า 90% เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดเตาเผากากอุตสาหกรรมร่วมกับขยะชุมชนและนำมาผลิตไฟฟ้าได้นั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือ จากกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสม ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง ขณะนี้ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าว่าพื้นที่ใดควรจะมีนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้นบ้าง

          ตั้งนิคม 6 แห่งทำเตาเผากาก

          ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากจะอยู่ใน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ที่จะมีการลงทุนด้านเตาเผาผลิตไฟฟ้าควบคู่ด้วย ประกอบด้วยภาคเหนือ จะอยู่ในจังหวัดลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันตก อยู่ในจังหวัดราชบุรี ตาก และกาญจนบุรี ภาคกลางอยู่ในจังหวัดสระบุรีและสมุทรสาคร ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว และภาคใต้อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา

          นอกจากนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่องทางองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะหรือ NEDO) ของญี่ปุ่น ยังได้ลงนามกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมอบเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าประมาณ 1.8 พันล้านบาท ให้กับรัฐบาลไทยเพื่อไปทำโครงการเตาเผากากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวันร่วมกับขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้บริษัท ฮิตาชิ เป็นผู้คัดเลือกเอกชนไทยเข้าร่วมลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจจำนวน 9 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และหลังจากนั้นจะมีการศึกษาในรายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการต่อไป

          เอสซีจีจับมือฮิตาชิลงทุน

          นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า จากที่เนโดะได้มอบหมายให้ฮิตาชิ เป็นผู้เชิญชวนผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมลงทุน มีเอกชนให้ความสนใจกว่า 20 ราย และคัดเลือกเหลือ 9 ราย และสุดท้ายสรุปลงมาเหลือ 3 ราย ได้แก่ เอสซีจี บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง และบริษัท บางปู เอนไวรอนเมนท์ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือให้ได้ผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไขที่เอกชนไทยจะต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ก่อสร้าง พร้อมกับจัดหากากอุตสาหกรรมให้ได้ตามปริมาณและตลอดอายุโครงการที่กำหนด

          โดยเอกชนไทยจะเป็นผู้ลงทุนด้านที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท ขณะที่เนโดะจะให้เปล่าเตาเผากากและผลิตไฟฟ้ามูลค่า 1.8 ล้านบาท และร่วมกันบริหารเป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับฝ่ายไทย และหลังจากนั้นทางเนโดะจะให้ทางผู้ลงทุนโครงการเป็นผู้ซื้อโครงการคืน

          สำหรับความเป็นไปได้ที่ทางฮิตาชิจะเป็นผู้คัดเลือกเอกชนรายใดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าทางเอสซีจีน่าจะได้รับการคัดเลือก เนื่องจากทางฮิตาชิจะพิจารณาจากการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถป้อนกากได้ตลอดอายุโครงการ เพราะปัจจุบันทางเอสซีจีก็มีธุรกิจในการรับกากอุตสาหกรรมไปกำจัดอยู่แล้ว

          เคลียร์สายส่งรับไฟเข้าระบบ

          ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้น คาดว่าไม่น่าจะเกินเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากยังมีข้อหารือถึงสถานที่ตั้งโครงการอยู่  ที่เดิมมีการเสนอพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ติดปัญหาการจัดหาที่ดิน และต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเพิ่ม ประกอบกับเอกชนไทยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะกากอุตสาหกรรมไม่เหมาะที่จะนำมาเผา จึงได้มีการเสนอขอเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ โดยให้แต่ละรายเสนอพื้นที่มา โดยเอสซีจีเสนอพื้นที่แก่งคอย จังหวัดสระบุรี เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์นครหลวง ส่วนบางปู เอนไวรอนเมนท์ไม่มีการเสนอพื้นที่เข้ามา นอกจากนี้ ในการเสนอพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วจะต้องไปพิจารณาดูว่าสายส่งที่จะรับไฟฟ้าเข้าระบบ สามารถรองรับได้หรือไม่ รวมถึงหากตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมฯ ค่าไฟฟ้าที่ส่งขายจะไม่ได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบฟิตอินทารีฟ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงานด้วยอย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการกำจัดกากอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ตั้งจะอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมที่หนาแน่น ช่วยให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง และจะเป็นโครงการนำร่อง ไปสู่การตั้งเตาเผาในนิคมฯกำจัดกากที่กรอ.มีแผนดำเนินงานต่อไป

          แหล่งข่าวจากเอสซีจี เปิดเผยว่า ขณะนี้เอสซีจีอยู่ระหว่างการเจรจาในเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงสถานที่ตั้งโครงการ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าน่าจะได้รับการคัดเลือกจากฮิตาชิ เพราะสถานที่ตั้งไม่ว่าจะเป็นที่แก่งคอย หรือหนองแค ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ประกอบกับสายส่งไฟฟ้า ยังสามารถรองรับไฟฟ้าเข้าระบบได้ ที่สำคัญเอสซีจี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมรายหนึ่งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันรับกากอุตสาหกรรมจากลูกค้าและบริษัทในเครือมากำจัดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นห่วงและพร้อมที่จะลงทุนร่วมกับฮิตาชิ

          เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนได้กฟผ.ร่วม

          ขณะที่นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการร่วมลงทุนกับทางฮิตาชิบริษัทก็มีความสนใจแต่ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

          แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการคัดเลือก ทางบริษัทก็มีแผนลงทุนอยู่แล้ว ที่จะนำกากอุตสาหกรรมมาเผาและผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะที่ผ่านมาได้มีการบันทึกความตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) กับทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันลงทุนจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากขึ้นมา 3 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้พื้นที่แล้วในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และรอยต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีขนาด 1 พันไร่ โดยทางบริษัทและกนอ.จะร่วมลงทุนและพัฒนาเป็นนิคมฯเพื่อขายพื้นที่ให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุน ตั้งโรงไฟฟ้าใช้กากอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง โรงงานรีไซเคิล รวมถึงโรงงานที่ตั้งอยู่นอกในพื้นที่นิคมฯไม่ได้ ซึ่งล่าสุดได้ลงนามกับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปแล้ว ที่จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ที่มีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า  การร่วมลงทุนดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งโรงไฟฟ้าจะเป็นขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนปีนี้สำหรับการลงทุนด้านไฟฟ้าที่ร่วมกับกฟผ.และที่บริษัทดำเนินการเองประมาณ 1 พันล้านบาท

          "ปัจจุบันบริษัทมีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ อยู่แล้ว ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี2560 ซึ่งหากการพัฒนานิคมฯ 3 แห่ง แล้วเสร็จ และการร่วมลงทุนกับกฟผ.เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะทำให้ปัญหาการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย"

          เจนโก้เล็งซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล

          ด้านผ.ช.(พิเศษ) รณชัย ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด(มหาชน) หรือเจนโก้(GENCO)ผู้ให้บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและกำลังขยายกำจัดกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายเพิ่มขึ้น  กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดเจนโก้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดธุรกิจโดยการลงทุนผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่ล่าสุดมีแผนจะเข้าซื้อกิจการต่อจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการอยู่แล้วแต่มีปัญหาไม่มีวัตถุดิบป้อน ทั้งแกลบ ปาล์ม ชานอ้อย  เมื่อซื้อกิจการมาได้บริษัทจะใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF) เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด ผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

          ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวล คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 8 เมกะวัตต์  โดยที่ผ่านมาบริษัทเปิดกว้างในการเจรจากับผู้ที่สนใจจะขายต่อกิจการทุกราย ล่าสุดมีหลายรายสนใจมาหารือด้วยแล้ว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่31 มกราคม 2559

'เขื่อนสิริกิติ์’เหลือน้ำ180วัน แล้งถล่มบุรีรัมย์เพลี้ยระบาด นราฯประกาศภัยพิบัติ6อำเภอ

สถานการณ์ภัยแล้งยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า แม้สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเกิดฝนตกบริเวณเหนือเขื่อนสิริกิติ์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยปริมาณกักเก็บของน้ำในอ่างเหลืออยู่ที่ระดับ 4,533 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 47 และเป็นน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 1,703 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 255 เท่านั้น

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันจะพอใช้ได้อีกประมาณ 180 วัน หากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมไม่มีฝนตกเที่หนือเขื่อนอีก ก็จะไม่มีน้ำเหลือให้ประชาชนใช้ จะเหลือเพียงหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์เท่านั้น จึงขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ และงดทำนาปรังอย่างเด็ดขาด

ส่วนที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนยกตัวขึ้นไปอยู่ที่ 14.25 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถือว่าพ้นจากระดับวิกฤต หลังจากก่อนหน้านี้ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าระดับวิกฤติ

ในขณะที่บริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก โครงการส่งน้ำปละบำรุงรักษามโนรมย์ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง เพื่อเตรียมสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อจ่ายเข้าพื้นที่ จ.ลพบุรี และ จ.ปทุมธานี สำหรับผลิตน้ำประปาในคลองระพีพัฒน์ จ.ปทุมธานี ที่เริ่มมีความกังวลว่าอาจต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำดิบเพื่อทำน้ำประ

ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรดำ หนอน และเชื้อราระบาดอย่างหนักในไร่ดาวเรืองของเกษตรกรบ้านหนองมะค่าแต้ หมู่ 9 ต.กลันทา อ.เมือง จนผลผลิตดอกดาวเรืองของเกษตรกรหลายรายเสียหาย และต้นดาวเรืองก็ทะยอยยืนต้นตายแล้วเกือบทั้งหมด ส่วนที่เหลือมีสภาพแคระแกรน ดอกไม่สมบูรณ์ ลีบไม่โต ทำให้ต้องปล่อยทิ้ง เพราะหากขายก็ได้ราคาต่ำ

นายทองพูน ทองทา เกษตรกรบ้านหนองมะค่าแต้ หมู่ 9 ต.กลันทา อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ปัญหาภัยแล้งและโรคระบาด ทำให้เกิดเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรดำ หนอน และเชื้อราระบาดกัดกินใบ และดอกดาวเรือง ทำให้ไม่สมบูรณ์ ไม่โต ดอกลีบเล็กเสียหายเกือบทั้งหมด พ่อค้าที่มารับซื้อให้ราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 5-10 บาท จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ยืนต้นตาย เพราะไม่คุ้มกับการลงทุนหากจะต้องมาซื้อยาฆ่าแมลงและปุ๋ยมาใส่อีก ส่งผลให้ปีนี้มีรายได้เพียง 4,000 - 5,000 บาทเท่านั้น จากปกติมีรายได้ถึง 15,000 บาท

วันเดียวกัน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความชื่นชมเกษตรกรที่ให้ความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจพบว่า พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประทศข้อมูล ณ เดือนมกราคมประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ ในปี 2557/2558 หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา ก็จะพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2559 มี 2.91 ล้านไร่ ลดลงจาก 4.84 ล้านไร่ในปี 2557/2558 ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่า จะสามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่เพื่อดูแลประชาชนทั่วประเทศให้มีน้ำกินน้ำใช้ได้จนพ้นฤดูแล้ง รวมทั้งจะเดินหน้าแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบประชารัฐ ร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 12 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมิให้ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนน้ำในอนาคต

สำหรับเหตุการณ์พายุและคลื่นถล่มซัดชายฝั่งในภาคใต้นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนหยุดตกติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมขังบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 6 อำเภอของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง อ.รือเสาะ อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก และ อ.เมือง รวม 18 ตำบล 76 หมู่บ้าน 2 ชุมชน เริ่มคลี่คลายลง โดยภาพรวมมีน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 30-40 ซ.ม. โดยเฉพาะที่ที่ชุมชนท่าประปา เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของราษฏรในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ล่าสุดระดับน้ำท่วมขังได้ลดลงเกือบคืนสู่สภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ประกาศให้พื้นที่ 6 อำเภอ 18 ตำบล 76 หมู่บ้าน 2 ชุมชน ซึ่งมีราษฎรอาศัยอยู่จำนวน 4,734 ครัวเรือน รวม 19,226 คน เป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งทางจังหวัดจะได้จัดสรรเงินงบประมาณช่วยเหลือต่อไป

ส่วนที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งประสบเหตุคลื่นซัดฝั่งอย่างหนักในช่วงก่อนหน้านี้นั้น พ.อ.ศราวุธ จันทร์พุ่ม ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 43 สำนักงานพัฒนาภาค 4 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้มอบหมายให้ เรืออากาศโท ปัญญาชาติ เกตุชู หัวหน้าชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว นำกำลังพลและรถแมคโคร์ 2 คัน เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นลมแรงพัดถล่มที่ ต.คลองแดน และ ต.ท่าบอน หลังจากที่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากอำเภอระโนดให้นำรถแมคโคร์มาช่วยเก็บกวาดขยะจากทะเลที่ถูกคลื่นลมแรงพัดขึ้นมาเกลื่อนชายหาดทั้งสองตำบล ระยะทาง 17 กิโลเมตร รวมทั้งยกต้นมะพร้าวริมชายหาดที่ถูกคลื่นซัดโค่นล้มออกจากชายหาด และปรับสภาพชายหาดให้กลับเข้าสู่สภาพเดิม

  จาก http://www.naewna.com วันที่31 มกราคม 2559

ห่วงแล้งกระทบกำลังผลิตอุตฯ กรอ.ทำแผนรับมือเสริมทั่วประเทศ กนอ.กังวลนิคมเหนือซื้อน้ำสำรองเพิ่ม   

          กรมโรงงานเตรียมแผนรับมือน้ำแล้งให้อุตสาหกรรม หวั่นกระทบการผลิต กนอ.เผยนิคมภาคเหนือน่าห่วงสุด เตรียมซื้อน้ำเอกชนสำรองป้อน 75 โรงงานในนิคม

          จากกรณีที่ผู้บริหารบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี แสดงความกังวลต่อปัญหาภัยแล้งปี 2559 จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกระดาษถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมาก ปัจจุบันมีโรงงานผลิตกระดาษทั่วประเทศประมาณ 74 โรง โดยในพื้นที่ภาคอีสานมีบริษัทในเครือ เอสซีจีคือ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีโรงงานของบริษัท รัฐประชา กระดาษคราฟท์ จำกัด อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ซึ่งทั้ง 2 โรงเดินเครื่องผลิตแล้ว และบริษัท ขอนแก่นกระดาษคราฟท์ จำกัด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ที่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) แล้วแต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ ดังนั้นหากโรงงานเหล่านี้ขาดแคลนน้ำจะส่งผลกระทบต่อการผลิต

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงาน (กรอ.) กล่าวว่า กรณีความกังวลของเอสซีจีต่อปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบัน กรอ.กำลังเร่งวางแผนรับมือ ทั้งการหารือกับตัวโรงงานที่มีความเสี่ยงเพื่อวางแผนป้องกันปัญหา โดยในเร็วๆ นี้จะเสนอแผนรับมือขั้นสองต่อนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา หลังจากนำเสนอแผนดำเนินการขั้นแรกและรายชื่อโรงงานที่มีความเสี่ยงปัญหาภัยแล้งให้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยแผนรับมือขั้นสองจะต้องประหยัดน้ำภายในโรงงานให้ได้ 5-10%

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า คาดว่าปีนี้จะเกิดภาวะแล้งมากกว่าปี 2558 เนื่องจากปริมาณฝนทิ้งช่วง ทำให้แม่น้ำสายหลักที่ป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผล กระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% หรือมีน้ำเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่นิคมฯดังกล่าวจะใช้น้ำสูงกว่า 60,000  ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง ล่าสุด กนอ.ได้เตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งสำหรับนิคมฯภาคเหนือด้วยการสูบน้ำดิบจากแม่กวงได้วันละ 10,000  ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าสูบได้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2559 และเริ่มใช้ระบบนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมทั้งจะมีการขุดบ่อบาดาล 1 บ่อ และจะทำสัญญาซื้อน้ำดิบจากบ่อเอกชนในบริเวณใกล้เคียง ปริมาณรวม 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำดิบให้นิคมฯภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ส่วนการดูแลนิคมฯทั่วประเทศ กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการรับมือ คือ 1.การนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2.การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559 

'บิ๊กตู่'ชมเกษตรกรรับปลูกพืชฤดูแล้ง ยันพร้อมลุยแผนบริหารจัดการน้ำ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมเกษตรกรที่มีความเข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ และให้ความร่วมมือกับนโยบายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชในหน้าแล้งจากข้าวนาปรัง ไปสู่พืชใช้น้ำน้อย และการเลี้ยงปศุสัตว์แทน

“จากข้อมูลการสำรวจภาพถ่ายทางอากาศพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า เกษตรกรให้ความร่วมมือต่อนโยบายของรัฐบาล มากขึ้นกว่าในอดีต  เกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่นพืชตระกูลถั่ว บางส่วนเลือกการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น สัตว์ปีก หรือเลี้ยงปลาในกระชัง  รวมทั้งการเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาล หลายโครงการ เพื่อ สร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากแบบประชารัฐ และชดเชยการสูญเสียรายได้ เช่น การจ้างงานขุดลอกคลองชลประทานในชุมชน ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 40,000 ราย ซึ่งมาตรการเหล่านี้ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประทศข้อมูล ณ เดือนมกราคมประมาณ 4 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ ในปี 57/58 และจาก 15 ล้านไร่ ในปี 56/57  หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกลุ่มเจ้าพระยา ก็จะพบว่าพื้นที่ปลูกข้าวลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน โดยข้อมูล  ณ  เดือนมกราคม 2559 มี 2.91 ล้านไร่ ลดลงจาก 4.84 ล้านไร่ในปี 57/58 และ  7.99 ล้านไร่ในปี 56/57

อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรบางรายที่ยินดีจะรับความเสี่ยง และยังคงยืนยันจะปลูกข้าวนาปรังต่อไป ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้เข้าใจดีว่าหากเกิดความเสียหายจะไม่ได้รับเงินชดเชย เพราะมิใช่ความเสียหายจากภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลแล้วว่าบางพื้นที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนน้ำได้จริงๆ  เพราะเป็นพื้นที่สูงไม่คุ้มต่อการผันน้ำ หรือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้ "

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากกรมชลประทานพบว่า ใน ปี  54 /55 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศ  18,000 ล้านลบม. แต่มีการปล่อยระบายออกถึง 14,000 ล้านลบม. ด้วยความกังวลของรัฐบาลในสมัยนั้นว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำซ้อน โดยมิได้คิดเผื่อว่าหากเกิดฝนตกน้อยจะเป็นอย่างไร  ยิ่งเมื่อมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดออกมา ทำให้มีพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชใช้น้ำมากทั่วประเทศเพิ่มอย่างมาก เป็น 15 ล้านไร่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ เวลาที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ในปี 57/58 มีน้ำต้นทุนในเขื่อนเหลือเพียง 6,777  ล้านลบม.  ประกอบกับภาวะอากาศที่แห้งแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้ต้นทุนน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

"ในปี 58/59 เรามีน้ำต้นทุน 4,247 ล้านลบม. ซึ่งแม้นไม่มาก แต่รัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกหน่วยและกองทัพ เพื่อดูแลให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ว และคาดการณ์ว่า ด้วยแผนการบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ เราจะมีน้ำใช้การได้ ณ วันที่ 1 พ.ค.ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง 1,590 ล้านลบ.ม. รวมทั้งรัฐบาลจะเดินหน้าแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบประชารัฐ ร่วมมือกันทั้งประชาชนและรัฐบาล ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 12 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมิให้ประเทศไทยเกิดความขาดแคลนน้ำ หรือต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำกินน้ำใช้อีกในอนาคต เป็นการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกรไทยทุกคนบนแผ่นดินไทย" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559 

8 มาตรการช่วยเกษตรกร

 รัฐบาลได้กำหนดมาตรการ 8 มาตรการวงเงิน 11,151.82 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 อาทิ มาตรการส่งเสริมความรู้ปัจจัยการผลิต แบ่งเป็น โครงการพืชทดแทนนาปรังวงเงิน 453.8 ล้านบาท, โครงการสร้างรายได้ปศุสัตว์ 372.4 ล้านบาท, โครงการสร้างรายได้ประมง 164.4 ล้านบาท, โครงการปรับปรุงอุดมสมบูรณ์ของดิน 9.1 ล้านบาท, โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน 10 ล้านบาท, โครงการศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน Farm Outlet 8.4 ล้านบาท, โครงการเชื่อมโยงตลาด 1.3 ล้านบาท

มาตรการชะลอ/ขยายระยะเวลาการชำระ หนี้ แบ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเขตปฏิรูปที่ดิน 7.2 ล้านบาท, สินเชื่อปรับปรุงระบบการผลิตรายละ 100,000 บาท, สินเชื่อสร้างงานในชุมชนรายละ 50,000 บาท, สินเชื่อธนาคารประชาชนรายละ 200,000 บาท, สินเชื่อธุรกิจห้องแถวรายละ 1,000,000 บาท, สินเชื่อองค์กรชุมชนรายละ 3,000,000 บาท, สินเชื่อ SMEs รายละ 50 ล้านบาท, การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์, การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ไม่เกิน 24 เดือน และมาตรการจ้างงาน 2,791 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อาทิ โครงการตามความต้องการของชุมชน, มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ, มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฝนหลวง-น้ำบาดาล, มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ จังหวัดละ 20 ล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน

“เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1,300 จุด โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย BOJ และราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าหลุดแนว 36.00 มาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคต่างทยอยปรับตัวขึ้น ภายหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณว่า จะจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ตลาดมองว่า โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบใกล้ๆ นี้กำลังลดน้อยลง นอกจากนี้ เงินบาทและสินทรัพย์เสี่ยงได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์ จากผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่มีการประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบกับบัญชีกระแสรายวันส่วนเกินที่สถาบันการเงินนำมาฝากไว้ที่ BOJ

สำหรับในวันศุกร์ (29 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (22 ม.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.50-35.90 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตารายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของไทย และผลการประชุมนโยบายการเงินของธปท. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนม.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายได้ส่วนบุคคล ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ เดือนธ.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะยังให้ความสนใจกับทิศทางกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการที่สะท้อนจากดัชนี PMI ของหลายๆ ประเทศ (โดยเฉพาะจีน) ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 1,300 จุด จากแรงหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย BOJ และราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,300.98 จุด เพิ่มขึ้น 2.60% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 3.13% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,010.58 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 508.77 จุด ลดลง 0.18% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ โดยนักลงทุนรอดูผลการประชุมเฟด ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากความคาดหวังว่าโอเปกและรัสเซียอาจจะปรับลดกำลังการผลิต ตลอดจนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,288 และ1,271 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,314 และ 1,330 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานดัชนี PMI ของจีน และสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน ข้อมูลภาคการผลิต และข้อมูลการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงาน ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆที่น่าสนใจ ได้แก่ การเปิดเผยดัชนี PMI ของ ยูโรโซน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งรุกหนัก 4 จังหวัดใกล้วิกฤติ

กรมชลโทษน้ำท่วม-จำนำข้าว จำใจระบายน้ำส่งผลปัจจุบัน

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ภัยแล้งรุนแรงในรอบ 20 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับภัยแล้งในปี 2537 โดยก่อนหน้านี้ในปี 2554/2555 ในลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระบายน้ำออกไป 14,000 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากในปี 2554 เกิดน้ำท่วมหนักจึงเกิดความตกใจต้องระบายน้ำออกไปมาก เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำ สร้างความเชื่อมั่นให้ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในขณะนั้นอยู่ที่ 11 ล้านไร่ และปีการผลิต 2555/2556 มีพื้นที่นาปรังจำนวน 11 ล้านไร่เช่นกัน ส่วนปีการผลิต 2556/2557 มีพื้นที่ทำนาปรัง 9 ล้านไร่ เป็นผลมาจากรัฐบาลในขณะนั้นมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาที่สูง จูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวกันมากจึงใช้น้ำมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ปี 2556/2557 มีน้ำใช้การเหลืออยู่ที่ 8,153 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2558 ที่ผ่านมามีน้ำใช้การอยู่ที่ 4,247 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดวันที่ 27 ม.ค.2559 มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 3,489 ล้าน ลบ.ม. โดยในวันที่ 1 พ.ค.2559 คาดว่าปริมาณน้ำใช้การจะอยู่ที่ 1,590 ล้าน ลบ.ม. สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 14 ส.ค.2559 เฉพาะเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ เพียงพอที่จะป้องกันความเสี่ยงช่วงรอยต่อช่วงหน้าแล้งไปฤดูฝน

ขณะที่นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำทั่วประเทศช่วง ม.ค.-เม.ย.2559 อยู่ที่ 15,487 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั่วประเทศมีน้ำใช้การได้ 20,000 ล้าน ลบ.ม. ถึงปริมาณน้ำจะเพียงพอแต่บางพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำอยู่ เพราะน้ำอยู่กันคนละที่ ซึ่งหากมีระบบท่อเชื่อมโยงจะช่วยลดการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ได้ ทั้งนี้พบว่าในจำนวน 928 อำเภอ มีอยู่ 548 อำเภอ คิดเป็น 59% ซึ่งรัฐบาลใช้วิธีการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาแบบแยกเป็นกลุ่มจังหวัด โดยจัดระดับการขาดแคลนน้ำเป็น 4 ระดับ คือ ระดับปกติ, เฝ้าระวัง, ใกล้วิกฤติ และวิกฤติ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ขาดแคลนน้ำสูงสุดยังอยู่ในขั้นใกล้วิกฤติ คือกลุ่มจังหวัดที่ 14 ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์และสุรินทร์ โดยรัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือตามจุดที่เกิดความเสียหาย และเจาะบ่อบาดาลเพิ่มในพื้นที่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559 

สศก. เผย ดีเซลร่วง ลดต้นทุนเกษตรกร-รายได้เพิ่ม ดันจีดีพีเกษตร ปี 59 โต

สศก. เผย ราคาดีเซลลดลงเหลือ 19.50 บาท/ลิตร ในปี 59 ดัน GDP ภาคเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.24 ระบุ ส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคเกษตรทั้งในแง่ต้นทุน-รายได้ของเกษตรกร ขณะที่ กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรลดลง...

วันที่ 29 ม.ค.59 นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงจากระดับ 24.50 บาท/ลิตร ในปี 2558 เป็น 19.50 บาท/ลิตร ในปี 2559 จะทำให้มูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร หรือจีดีพีภาคเกษตร ปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.24 และกรณีปรับลดลงเป็น 18.50 บาท/ลิตร จีดีพีภาคเกษตรจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.29

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันหลายชนิดในประเทศลดลงด้วย เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณมาก โดยเฉพาะจากแหล่งในตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการใช้ภายในประเทศมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47 ของการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งและภาคการผลิตต่างๆ และสำหรับภาคเกษตร มีการใช้น้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21.43 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศ (บัญชีพลังงานของประเทศไทยปี 2557) โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำมันดีเซลในกิจกรรมการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตร

ด้าน นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวว่า หากระดับราคาเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลลดลงไปอยู่ที่ระดับ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรโดยรวมลดลงประมาณร้อยละ 11.16 และ 13.40 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลกระทบเป็นรายสาขาการผลิต พบว่า สาขาบริการทางการเกษตร เป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล เป็นปัจจัยหลัก เช่น การเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิต ในกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 19.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 13.53 และกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 18.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 16.23

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

อรรชกาเปิดหลักสูตรนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่

รมว.อุตสาหกรรม เปิดอบรมหลักสูตร นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ รองรับการเปลี่ยนในอนาคต

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะเป็นประธานพิธีเปิดอบรมหลักสูตร

นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ว่า หลักสูตรอบรมนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ในทุกอุตสาหกรรม

ในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเรียนรู้ สร้างความคุ้นเคย ปรับแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน มีการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำและธุรกิจ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตการขยายตัวธุรกิจในประเทศ ต่างประเทศอีกด้วย รวมถึงมีการเตรียมตัวเรียนรู้การทำงานจากนักอุตสาหกรรมรุ่นอาวุโส เพื่อสานต่อภารกิจต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมบทบาทนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ให้ดำเนินกิจกรรมสังคมพัฒนาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์โดยผลที่ได้รับจะเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้รับความรู้นำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นี้ จะเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับสถานการณ์

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

คลังสารภาพศก.ไทยซึมอีกปี ส่งออกยังเดี้ยงเหตุคู่ค้าเจอปัญหาน้ำมันราคาดิ่ง-ลุ้นท่องเที่ยวเม็ดเงินรัฐช่วยพยุง

คลังยอมจำนน สารพัดปัจจัยลบรุมถล่มเศรษฐกิจไทยปี’59 ทั้งเรื่องราคาน้ำมันตกต่ำ ศก.โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน กดดันส่งออกไทย อยู่ในระดับ 0% ลุ้นเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยวช่วยพยุง ด้าน ม.หอการค้าไทย เผยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี เชื่อศก.ไทยจะดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ชี้โครงการเมกะโปรเจกท์ ต้องเกิดภายในไตรมาส 1 พร้อมเร่งบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ประมาณการ

 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว 3.7% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 3.2-4.2% จากประมาณการเดิมเมื่อต.ค. 2558 ว่าขยายตัว 3.8% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าภาคส่งออกขยายตัวเพียง 0.1% ต่อปี จากคาดการณ์เดิม 3.2% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการให้เงินกองทุนหมู่บ้านละ 5 แสนบาท วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น

“แม้ว่าจีดีพีที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% จะลดลงจากประมาณก่อนหน้าที่ 3.8% เนื่องจากเป้าหมายการส่งออกมีการปรับลดลง เหลือ 0.1% จากเดิมที่คาดขยายตัว 3.2% จากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แต่อย่างไรก็ตามยังมีในส่วนของตัวที่เข้ามาชดเชย คือ การลงทุนของรัฐที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยการบริโภคภาครัฐในปีนี้ คาดจะอยู่ที่ 2.462 ล้านล้านบาท การลงทุน 936,000 ล้านบาท ทำให้มีรายจ่ายภาคสาธารณะอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท”นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้การประมาณการเศรษฐกิจล่าสุด ของ สศค. ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ โดยการประมาณการครั้งนี้

 อยู่บนสมมุติฐานเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยขยายตัวได้ 3.56% ราคาน้ำมัน 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 37.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% การใช้จ่ายเงินจากงบประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่มี 29.9 ล้านคน ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มในปีที่ผ่านมารวมถึงปีนี้ด้วย

“คลังไม่ได้หั่นเป้าเศรษฐกิจลดลง การประมาณการเศรษฐกิจเป็นการคาดการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนได้ชัดเจน จากมาตรการของภาครัฐทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนดีขึ้น” นายกฤษฎา กล่าวว่า

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 0.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

 นอกจากนี้ ยังการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูงยังเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนการขยายตัวด้วย ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาครัฐ ประกอบกับเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 อยู่ที่ติดลบ 0.9% ลดลงจากปีก่อนหน้าตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงมาก

ขณะเดียวกันนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีหรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย โดยกล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เอสเอ็มอีเผชิญแรงกดดัน มีการขยายตัวต่ำ แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ธุรกิจเอสเอ็มอีปรับตัวดีขึ้นและฟื้นตัวจากงบลงทุนและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับประมาณ 49.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2558 คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 49.7 และ 50.4 จุด ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีนี้ตามลำดับโดยปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ การที่รัฐบาลประกาศให้เอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ และปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ จะมีผลทำให้ตลาดเงินเกิดความผันผวน และมีความกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีในปี 2559 หากจีดีพีของประเทศปีนี้เติบโต 3.0-3.5% จีดีพีของเอสเอ็มอีจะขยายตัว 2.6-3.1% แต่หากจีดีพีของประเทศขยายตัวได้ถึง 3.5-4.0% จีดีพีของเอสเอ็มอีจะขยายตัว 3.1-3.6% โดยผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งปีหลัง ทำให้หลังจากนี้ แม้ธุรกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว

 แต่ยังไม่โดดเด่น เพราะยังเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีสูง ปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อกำลังซื้อให้ลดลง และยังสะท้อนให้เห็นว่า กองทุนกระตุ้นเอสเอ็มอี 100,000 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอ ส่งผลต่อแผนการลงทุนเพิ่มเติม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ที่ส่วนใหญ่ คิดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนที่น้อย หรือประมาณ 100,000 – 250,000 บาทเท่านั้น

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านภาษี การให้ธนาคารของรัฐ เข้าไปขับเคลื่อนการลงทุนของเอสเอ็มอี รวมทั้งการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม โดยหันมาส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะทางด้านตลาดไอที และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนด้านการตลาด ที่ยังขาดอยู่ รวมทั้งสร้างให้เกิดการรับรู้ และใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้ฟื้นตัว

นอกจากนี้ ต้องเร่งดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และเร่งดำเนินโครงการเมกะโปรเจกท์ตั้งแต่ไตรมาสแรกทันที รวมทั้งผลักดันการส่งออก ที่เริ่มมีความเสี่ยงจะขยายตัวได้เพียง 2% ในปีนี้ และเศรษฐกิจไทย มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 3.5% จากความผันผวนเศรษฐกิจโลก แต่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจยังไม่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ตามกรอบ 3.5-4% และการส่งออกขยายตัวได้ 4%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ลุยพัฒนาเทคโนโลยี‘ฝนหลวง’ เกษตรฯจับมือ7หน่วยงานวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 25 มกราคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนลวงและการบินเกษตร โดยในปีนี้เป็นการครบรอบ 3 ปี ของวันสถาปนา กรมได้มีการปรับแผนการทำฝนหลวง

 ซึ่งแต่เดิมนั้นจะเริ่มดำเนินการทุกวันที่ 1 มีนาคม แต่เนื่องจากปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นจึงได้เริ่มดำเนินการทำฝนหลวงมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาคือ เดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน อีกทั้งได้ทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนช่วงวันที่ 20-24 มกราคมที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน ส่งผลในมีน้ำต้นทุนไหลเข้าเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนลำตะคอง มีปริมานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักที่มีปริมานน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ย 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร สำหรับแผนการปฏิบัติการทำฝนหลวงในรอบปี 2559 นี้ กรมได้วางแผนการบินไว้ทั้งหมด 6 พันกว่าเที่ยวบิน และเตรียมสารเคมีที่ใช้ในการทำฝนหลวงไว้อย่างเพียงพอ อีกทั้งได้ปรับแผนการทำฝนหลวงจากเดือนมีมาคม เป็น เดือนกุมภาพันธ์ และได้จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว 4 ชุดประจำที่สนามบินนครสวรรค์ เมื่อได้รับรายงานสภาพอากาศที่เหมาะสมก็พร้อมที่จะขึ้นดำเนินการทันที

นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังได้ลงนามความร่วมมือกับ 7 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม และบริษัท เอ็มอาร์เอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เพื่อพัฒนาความสามารถการทำงาน 3 ด้านคือ 1.ด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำ MOU ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการพัฒนาจรวดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ยากต่อการปฏิบัติการโดยเครื่องบิน 2.ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทำ MOU ร่วมกับ กรมชลประทาน เพื่อร่วมกันดำเนินการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำ

 ในชั้นบรรยากาศและน้ำผิวดิน และทำ MOU ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาในการใช้ข้อมูลตรวจสภาพอากาศเพื่อเอื้อต่อความสำเร็จในการทำฝนหลวง 3.ด้านวิศวกรรมการบิน ทำ MOU ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม และบริษัท M A R Engineering and Marketing จำกัด เพื่อยกระดับมาตรฐานการบิน การพัฒนาบุคลากรการบินและพัฒนาด้านวิศวกรรมการบิน

ทั้งนี้การร่วมมือทำงานกับทั้ง 7 หน่วยงาน จะส่งผลในกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนในด้านการดัดแปรสภาพอากาศและบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติอย่างบูรณาการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน (1)

นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สถานภาพเกี่ยวกับคุณภาพของทรัพยากรที่ดิน ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จำเป็นต้องปรับปรุงฐานข้อมูลต่างๆ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความเป็นจริง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรดิน สถานภาพทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศไทย โดยนำเทคโนโลยีด้านแผนที่และภูมิสารสนเทศ (GIS) มาใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ผลรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน คือ ทรัพยากรดินของประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะและสมบัติดินเฉพาะตัวแตกต่างกันไป จำแนกออกเป็น 4 ภูมิภาค ดังนี้

1.ทรัพยากรดินภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบ เป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง แต่มีข้อจำกัดของพื้นที่ของภาคที่เป็นเทือกเขาและมีความลาดชัดสูงมากเป็นส่วนใหญ่ มีเนื้อที่รวม 106.03 ล้านไร่ ดินปัญหาที่พบ ได้แก่ ดินทราย และดินตื้นภาคเหนือมีดินที่เหมาะสมสำหรับข้าว ประมาณ 16.90 ล้านไร่ และมีความเหมาะสมสำหรับพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นทั่วไป ประมาณ 18.87 ล้านไร่

2.ทรัพยากรดินภาคกลาง เป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรปานกลางถึงสูง ดินส่วนใหญ่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากได้พาตะกอนมาทับถมทุกปี ดินมีข้อจำกัดน้อย และจัดการดินได้ค่อนข้างง่าย มีเนื้อที่รวม 43.45 ล้านไร่ ปัญหาที่พบ คือ ดินเปรี้ยวจัด ดินเค็มชายทะเล ดินเค็มบก ดินทราย และดินตื้น

3.ทรัพยากรดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่มีศักยภาพทางการเกษตรต่ำ เนื่องจากดินมีข้อจำกัดในเรื่องเนื้อดิน เช่น มีเนื้อดินออกทรายจัดหรือดินร่วนหยาบ ทำให้มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ดินตื้นหรือดินมีก้อนกรวดลูกรังปะปนหนาแน่นในระดับตื้นถึงตื้นมาก ดินเค็มและพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากความเค็มของดิน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีเนื้อที่รวม 105.53 ล้านไร่ ปัญหาที่พบ ดินเค็มบก ดินทราย และดินตื้น

4.ทรัพยากรดินภาคตะวันออก เป็นดินที่มีศักยภาพทางการเกษตรต่ำถึงปานกลาง คล้ายกับทรัพยากรดินภาคใต้มีเนื้อที่รวม 21.49 ล้านไร่ ปัญหาที่พบ ดินเปรี้ยวจัด ดินเค็มชายทะเล ดินทราย และดินตื้น

5.ทรัพยากรดินภาคใต้ มีฝนตกชุกต่อเนื่อง นำพาหรือชะละลายธาตุอาหารออกไปจากดินสูงและดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื่องจากดินมีความชื้นค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้เหมาะสมในการปลูกพืชประเภทไม้ผลและไม้ยืนต้น จึงทำให้ปัญหาทางการเกษตรน้อยกว่าภูมิภาพอื่นๆ มีพื้นที่รวม 44.20 ล้านไร่ ดินมีปัญหาที่พบ ดินเปรี้ยวจัด ดิน

 อินทรีย์ ดินเค็มชายทะเล ดินทราย และดินตื้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

จัดระบบน้ำรับเขตศก.พิเศษ กปภ.เร่งลงทุนระยะเร่งด่วน

 „จัดระบบน้ำรับเขตศก.พิเศษ กปภ.เร่งลงทุนระยะเร่งด่วนดังนั้นเพื่อให้ถึงการเตรียมความพร้อมรองรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว

“ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงได้รวบรวมข้อมูลถึงการจัดระบบน้ำประปารองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าจนถึงปัจจุบันนี้ การเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่จะขาดไปเสียไม่ได้เลยนั่นก็คือระบบ “น้ำประปา” ซึ่งมีความจำเป็นสูงสุด คู่คี่กับระบบไฟฟ้า ก็เพราะทุก ๆ กิจกรรมหรือทุก ๆ โรงงานที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ต่างจำเป็นต้องใช้น้ำประปาด้วยกันแทบทั้งสิ้นดังนั้นเพื่อให้ถึงการเตรียมความพร้อมรองรับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว

 “ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงได้รวบรวมข้อมูลถึงการจัดระบบน้ำประปารองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าจนถึงปัจจุบันนี้ หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ นั่นคือ การประปาส่วนภูมิภาคหรือกปภ. ได้เตรียมความพร้อมไปถึงขั้นไหนแล้วบ้างเตรียมแผนรับเร่งด่วน

ล่าสุด...กปภ.ได้วางแผนดำเนินงานรองรับเป็นแผนเร่งด่วนครอบคลุมพื้นที่ 5 เขตเศรษฐกิจในระยะแรก 6 แห่ง เริ่มจากพื้นที่ กปภ.สาขาแม่สอด จังหวัดตาก, กปภ.สาขามุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร, กปภ.สาขาคลองใหญ่ จังหวัดตราด, กปภ.สาขาอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว, กปภ.สาขาสะเดา จังหวัดสงขลา และ กปภ.สาขาหนองคาย จังหวัดหนองคาย

ซึ่งตั้งแต่ปี 57-59 ก็ได้จัดงบประมาณลงทุนในภาพรวมเอาไว้แล้ว 2,960 ล้านบาท ทำระบบน้ำทุกพื้นที่

สำหรับงานที่ต้องดำเนินการนั้น ได้แยกแผนงานเร่งด่วนย่อยลงไปอีกเริ่มจากปี 58-61 เริ่มจากการจัดทำระบบน้ำดิบ ระบบการผลิต ระบบจ่ายน้ำ ระบบท่อส่งและการดำเนินงานเรื่องอื่น ๆ แยกออกเป็นแต่ละเขตพื้นที่ 4 แห่งที่มีความต้องการสูงก่อนรวมงบประมาณในส่วนนี้ 349 ล้านบาท โดยในพื้นที่แม่สอดได้เตรียมงบลงทุนพัฒนาระบบดังกล่าวไว้แล้ว 77.5 ล้านบาท ต่อมาที่มุกดาหาร ใช้งบลงทุน 113.6 ล้านบาท บริเวณอรัญ ประเทศ ใช้งบ 96 ล้านบาท และในพื้นที่สะเดา ใช้งบ 61 ล้านบาท ส่วนอีก 2 พื้นที่ คือ คลองใหญ่ และหนองคาย อยู่ระหว่างการพิจารณา

ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาขนาดกำลังผลิตน้ำเพิ่มขึ้นแบ่งเป็นในพื้นที่แม่สอด เร่งกำลังเพิ่มอีกวันละ 7,200 ลูกบาศก์เมตร, มุกดาหารเพิ่มวันละ 7,200 ลูกบาศก์เมตร, อรัญประเทศ เพิ่มวันละ 4,800 ลูกบาศก์เมตร และสะเดาเพิ่มวันละ 4,800 ลูกบาศก์เมตรส่วนระยะห่างการวางท่อ ที่แม่สอด วางไว้ 9 กิโลเมตร, มุกดาหาร 12 กิโลเมตร, อรัญประเทศ 14.2 กิโลเมตร และสะเดา 2 กิโลเมตร

สุดท้ายเป็นการจัดเตรียมความพร้อมของความต้องการใช้น้ำของนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดในพื้นที่แยกเป็นพื้นที่แม่สอด วันละ 8,800 ลูกบาศก์เมตร, มุกดาหาร วันละ 6,300 ลูกบาศก์เมตร, อรัญประเทศ วันละ 4,200 ลูกบาศก์เมตร และสะเดาวันละ 6,500 ลูกบาศก์เมตรขยายต่อเฟส 2

ขณะที่การพัฒนาระบบน้ำประปาในระยะต่อไปคือ เขตเศรษฐกิจชายแดนในระยะที่ 2 กปภ.วางแผนไว้ดำเนินการใน 4 พื้นที่หลัก คือ กปภ.สาขาแม่สายและกปภ.สาขาเวียงเชียงของ จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ครอบคลุมด่านสะพานข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 1-2 ด่านสามเหลี่ยมทองคำด่านเชียงแสน ด่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 และด่านเชียงของ ส่วน กปภ.สาขานครพนม จังหวัดนครพนม มีพื้นที่เชื่อมโยงกับด่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว และด่านนครพนมด้านกปภ.สาขากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ติดบริเวณด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อน ที่ติดกับประเทศเมียนมา

ซึ่งบริเวณนี้ต่อไปจะเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจทวายในฝั่งเมียนมา ซึ่งถือเป็นระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลตะวันตกและตะวันออกเข้าหากันและในอนาคตยังรองรับการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่อีกมาก

ส่วนสุดท้ายคือ กปภ.สาขานราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียบริเวณด่านตากใบ ด่านสุไหงโก-ลก และด่านบูเก๊ะตา ซึ่งวงเงินในการดำเนินงานของส่วนนี้กปภ.จะพิจารณากันอีกครั้งมอบนโยบายเร่งด่วน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้งานในด้านนี้เกิดผลสำเร็จในระยะอันสั้น ’จิรชัย มูลทองโร่ย“ ประธานคณะกรรมการ กปภ. ได้สั่งการไปยังสาขาที่รับผิดชอบให้เร่งการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่เร่งด่วน 6 แห่ง โดยนอกจากการเร่งลงทุนระบบต่าง ๆ แล้ว ยังให้บริหารจัดการเรื่องของการวางระบบท่อส่งน้ำการจัดหาแหล่งน้ำไว้คอยเสริม รวมไปถึงเพิ่มแรงดันน้ำให้สามารถรองรับเมื่อเกิดความต้องการใช้ในปริมาณมากเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหากระทบกับการดำเนินงานของหลากหลายกิจการที่จะเข้ามาตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สำหรับแผนทั้งหมดในเรื่องของการบริหารระบบน้ำรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ เชื่อได้ว่า จะช่วยหนุนให้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลตั้งใจปั้นให้เกิดได้มีความพร้อมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

อุตฯผนึก14แบงก์ช่วยSME ตั้งเป้า59ปล่อยกู้หมื่นล. กนอ.เตรียมรับภัยแล้ง

 อุตฯ จับมือ 14 แบงก์ปล่อยกู้หมื่นล้านช่วยเอสเอ็มอี คาดภายใน 6 เดือน-1 ปีได้รับเงินกู้ ด้าน กนอ. สั่งเตรียม 3 มาตรการองรับปัญหาภัยแล้ง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กับสถาบันการเงิน 14 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเน้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพของ กสอ.ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้อบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในระดับหนึ่งมาแล้ว ซึ่งทาง กสอ.จะส่งรายชื่อให้สถาบันการเงินทั้ง 14 แห่งพิจารณาคาดว่าภายใน 6 เดือน-1 ปี จะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับวงเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาทของรัฐบาล

นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดี กสอ. กล่าวว่า จะคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการของ กสอ. ซึ่งในแต่ละปีจะมีประมาณ 6,000 ราย ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้ว 783 ล้านบาท วงเงิน 2,744.93 ล้านบาท

"หลังจากส่งรายชื่อไปให้ธนาคารพิจารณา จากสถิติจะได้รับการพิจารณาประมาณ 40-50% ของจำนวนผู้ประกอบการที่ส่งรายชื่อไปทั้งหมด เชื่อว่าการลงนามเอ็มโอยูล่าสุดกับสถาบันการเงินทั้ง 14 แห่งเพิ่มเติมจากเอสเอ็มอีแบงก์ ยอดการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน" นายสมชายกล่าว

นอกจากนี้ เตรียมปรับปรุงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว (เจบิค) ที่มีกว่า 18 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของ กสอ.ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นให้มีความเข้มข้นขึ้น โดยจะร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อเพิ่มบทบาทให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ จะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะขาดการดึงให้ประชาชนมีส่วนร่วมโครงการ

สำหรับสถาบันการเงิน 14 แห่ง เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารธนชาต, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.เตรียม 3 มาตรการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบด้วยมาตรการนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล), มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง และมาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคกลางให้มีน้ำใช้ในภาคการผลิตอย่างเพียงพอในช่วงหน้าร้อนเดือน มี.ค.-เม.ค.นี้.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

เร่งหาแหล่งน้ำสำรองรับภัยแล้ง

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2559 นี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะแห้งแล้งมากกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายที่เป็นแม่น้ำสายหลักป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี โดย กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการ รับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง คือ 1.มาตรการการนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2.มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะนิคมฯต่างๆ ในภาคเหนือ และภาคกลางมีน้ำใช้ภาคการผลิตอย่างเพียงพอในช่วงหน้าร้อนมีนาคม-เมษายน 2559 นี้

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรม ภาคเหนือ จังหวัด ลำพูน นับว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากนิคมฯใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรอง มีเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำของนิคมฯ ดังกล่าว จะใช้น้ำปริมาณสูงกว่า 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย

ล่าสุด กนอ.ได้ให้การต้อนรับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุนทร คุณชัยมัง ประจำสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะที่เดินทางไปร่วมประชุมรับฟังการเตรียมการรับมือภัยแล้งและติดตามสถานการณ์น้ำในนิคมฯ ภาคเหนือ โดยนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนบรรยายสรุปเรื่องสถานการณ์ภัยแล้ง และมาตรการลดผลกระทบ พร้อมทั้งร่วมตอบข้อซักถาม จากนั้นได้เดินทางไปดูแหล่งน้ำของเอกชน ดูการขุดเจาะน้ำบาดาลและระบบรีไซเคิลน้ำโดยมีผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำบาลเข้าร่วมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

โดยสรุปการเตรียมความพร้อมรองรับภัยแล้งเฉพาะนิคมฯ ภาคเหนือ มีดังนี้ 1.รักษาปริมาณน้ำสำรองให้เต็มความจุอ่างน้ำดิบที่ 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร 2.สูบน้ำดิบจากแม่กวงได้วันละ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าสูบได้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2559 3.จัดให้มี Forum แลกเปลี่ยนเรียนรู้การประหยัดการใช้น้ำประปาโดยไม่ลดกำลังการผลิตของโรงงานที่ใช้น้ำในระดับ Top Ten เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา 4.เริ่มใช้ระบบ Reuse เพื่อนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ผลิตเป็นน้ำประปา การพัฒนาน้ำบาดาลสำหรับเป็นแหล่งน้ำสำรอง

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

พณ. เผยผลศึกษา ชี้ข้อดี ไทยร่วม 'ทีพีพี' ดันเศรษฐกิจไทยโต 0.77%

พณ. เปิดผลศึกษาปัญญาภิวัฒน์ หนุนไทยร่วม “ทีพีพี” ดันเศรษฐกิจไทยโต 0.77% ยกระดับผลิตสินค้า-บริการ แต่ผลเสีย เจอแข่งขันรุนแรง เข้มคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จ่อนำผลสรุป-ฟังความเห็นทุกภาคส่วน ชง รบ. ตัดสินใจปลาย ก.พ....

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ว่าจ้างสถาบันปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ให้ศึกษาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) โดยขณะนี้ได้สรุปผลศึกษาในเบื้องต้นแล้ว มีข้อเสนอให้ไทยเข้าร่วมทีพีพี เพราะจะเกิดผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 0.77% แต่ถ้าไทย และสมาชิกอาเซียนอื่น คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.06%

สำหรับผลดีคือ จะช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการของประเทศให้สูงขึ้น เพราะมีมาตรฐานสูงครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน และยังช่วยให้ภาคการผลิตที่สำคัญของไทย ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก (ห่วงโซ่อุปทาน) และจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมด้วย

ขณะเดียวกัน จะช่วยสร้างโอกาสในการออกไปลงทุน และแสวงหาวัตถุดิบในต่างประเทศ ช่วยให้ภาคการผลิตและภาคบริการของไทยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด ถือเป็นการผลักดันให้เกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น

ส่วนผลกระทบ จะทำให้ตลาดสินค้าและบริการมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด จะส่งผลกระทบด้านสาธารณสุข และทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ อีกทั้งไทยต้องปรับแก้กฎระเบียบภายในมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลง

“กรมฯ จะนำผลศึกษาดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับผลการรับฟังความคิดเห็นที่กรมฯ ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนไปแล้ว ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ และภาคเกษตร ก่อนนำเสนอให้คณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อการเข้าร่วมทีพีพี ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณา จากนั้นจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไรปลายเดือน ก.พ.นี้” น.ส.ศิรินารถกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กรมฯ มีแผนที่จะหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมความตกลงทีพีพีกับประเทศสมาชิก โดยจะหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ซึ่งจะหารือกับเจโทรก่อนในวันที่ 5 ก.พ. 59 เพื่อสอบถามว่า มีการทำความเข้าใจ และชี้แจงกับประชาชนอย่างไร หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมทีพีพี เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการชี้แจงของไทย

นอกจากนี้ ยังมีแผนหารือกับประเทศสมาชิกทีพีพีอื่น เช่น เวียดนาม น่าจะเป็นช่วงเดือนมี.ค. 59, สหรัฐฯ วันที่ 20-22 เม.ย. 59 ในช่วงการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ประมาณเดือนพ.ค. 59 ที่นิวซีแลนด์.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : วอนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ฝ่าวิกฤติภัยแล้งไปด้วยกัน

การส่งสัญญาณปัญหาภัยแล้งมีมาตั้งแต่ปี 2558 ยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากพี่น้องเกษตรกรเริ่มมีการกักเก็บ และแย่งชิงน้ำตามลำธารธรรมชาติมากขึ้น นั้นหมายถึงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จะส่งผลตามมา หากถ้าไม่มีน้ำเศรษฐกิจก็ไม่ขับเคลื่อน สังคมก็ไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อย ส่งผลให้เกิดอาการหวาดกลัวว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ

จากการติดตามตัวชี้วัดทำให้ทราบว่าปริมาณฝนตั้งแต่ปี 2558 มีน้อย ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ อีกทั้งน้ำในลำน้ำแห้งเร็วตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ขอความร่วมมือเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง และจัดทำโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59

จากการสำรวจสถานการณ์ภัยแล้ง พบว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งจำนวน 32 จังหวัด หรือประมาณ 400 อำเภอทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในปี 2559 นี้ โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม เตรียมแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในเรื่องน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และสร้างแหล่งน้ำ พร้อมกับให้เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัด ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเกษตรกร และสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำที่มีจำกัด โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณขุดเจาะบ่อบาดาล 6,000 บ่อ ซึ่งได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม และให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

และจากการลงพื้นที่สำรวจของกรมชลประทานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2559 ภายหลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือในการงดทำนาปรัง พบว่า เกษตรกรเกิดการรับรู้ว่าจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา จึงให้ความร่วมมือในการงดทำนาปรังมากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ทำนาปรัง 2.90 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันทำนาปรัง 1.77 ล้านไร่ ลดลง 1.13 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถานการณ์น้ำวันที่ 26 มกราคม 2559 พบว่า ปริมาณน้ำจากเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาณอยู่ในเกณฑ์น้ำพอใช้ (น้อยกว่า 50%) ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 116.18 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2.62 ปริมาณน้ำระบายรวม 444.77 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,501 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 กระทรวงเกษตรฯ จึงได้วางแผนระบายน้ำรวมกันวันละ 17.90 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ผู้อุปโภคบริโภคมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และรักษาระบบนิเวศน์ไปจนถึงเดือน ก.ค. นี้

“จึงขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่ามากที่สุด เพราะวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ ไม่ใช่ปัญหาของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องฝ่าฟันไปด้วยกัน เพื่อให้ข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : ความสำคัญของทรัพยากรดิน

 “ทรัพยากรดิน”เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนหรือรักษาไว้ได้ แต่การเกิดทดแทนตามธรรมชาติอาจต้องใช้เวลานานมากกว่าจะได้ดินหนา 2-3 ซม. เพราะธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างถึง 100-1,000 ปี ฉะนั้นมนุษย์จึงจำเป็นต้องรู้จักเข้าใจในคุณค่าของดิน รวมถึงดูแลรักษาดินให้คงคุณภาพได้ โดยใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม พร้อมกับมีการปรับปรุงบำรุงและอนุรักษ์ดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อรักษาความอุดสมบูรณ์ของดินให้สามารถใช้งานตลอดไป

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์มีการใช้ทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรมาโดยตลอด เช่น เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เป็นที่กักเก็บแหล่งน้ำ

 ตลอดจนเป็นรากฐานของเส้นทางคมนาคมและที่อยู่อาศัย ดังนั้น “ดิน” จึงเป็นสำคัญทางการเกษตร เป็นปัจจัยหลักต่อการเจริญเติบโตของพืช เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารและน้ำแก่พืช เป็นที่ยึดเกาะของรากให้พืชทรงตัวอยู่ได้ และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ ฉะนั้นเรื่องของการพัฒนาที่ดินจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลักการพัฒนาที่ดินสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง ดังนี้ 1.การพัฒนาที่ดินในพื้นที่ที่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์ให้มาอยู่ในรูปที่ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัย โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ถ้าจะส่งผลกระทบต้องจัดการให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด 2.การพัฒนาที่ดินใช้ประโยชน์อยู่แล้วให้ได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนอย่างเหมาะสม และใช้ได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับคุณภาพหรือความเหมาะสมของดิน การอนุรักษ์ดินและปรับปรุงดินด้วยวิธีการต่างๆ

เมื่อประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ใช้ “ทรัพยากรดิน” เป็นพื้นฐานหลักในการประกอบอาชีพตั้งแต่อดีตในสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ รัฐบาลไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินต่อภาคการเกษตร จึงได้จัดตั้ง “กรมพัฒนาที่ดิน” ขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแลภารกิจ เมื่อปี 2506 ภายใต้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และย้ายมาสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2515 พร้อมกับเริ่มต้นภารกิจจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดินและที่ดินของประเทศไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายแผนการใช้ที่ดิน รวมทั้งศึกษา วิจัย ค้นคว้าทดลองเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหา ตลอดจนการส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการพัฒนาที่ดิน ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเป็นวงกว้างมาจนถึงปัจจุบัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ฝนลมหนาวดึงน้ำเขื่อน 4 เขื่อนหลักเพิ่ม 7 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากที่มีฝนตกในฤดูหนาวในหลายภาคของไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก เจ้าพระยามีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 7 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานจำนวน 1 ล้านไร่ จะไม่ขาดน้ำแน่นอน ทั้งนี้ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมีเพิ่มขึ้นในวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึง 7 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยแบ่งเป็นน้ำจากเขื่อนภูมิพล 3 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 3 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 1 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่ปรากฏน้ำไหลเข้า ทำให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อน 38,334 ล้าน ลบ.ม. และน้ำใช้การได้จำนวน 14,831 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มีปริมาณน้ำใช้การได้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 59 รวมทั้งหมดจำนวน 3,501 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.90 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ การเพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2558/59 มีทั้งหมด 1.77 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 20,025 ไร่ ซึ่งเป็นการทำนาปรังในเขตนอกชลประทาน ส่งผลให้กรมชลประทานสนับสนุนการส่งน้ำได้เพียง 1 ล้านไร่ ส่วนอีก 700,000 ไร่ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีน้ำใช้สำหรับการเพาะปลูกในเดือน ก.พ.-มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงใช้น้ำมาก

ส่วนการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ล่าสุด (ณ 21 ม.ค.59) กรมชลประทานได้จ้างแรงงานไปแล้ว จำนวนกว่า 68,025 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 1,084.86 ล้านบาท จำแนกตามลุ่มน้ำได้ดังนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 18,114 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 4,337 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 45,574 คน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

กนอ. เร่งจัดหาแหล่งน้ำบาดาลรับมือภัยแล้ง

กนอ. เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มั่นใจผู้ประกอบการในนิคมฯมีน้ำใช้เพียงพอ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2559 นี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดสภาวะแห้งแล้งมากกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนทิ้งช่วง ทำให้น้ำในแม่น้ำหลายสายที่เป็นแม่น้ำสายหลักป้อนน้ำเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณน้ำน้อยกว่าทุกปี โดย กนอ.ได้เตรียม 3 มาตรการ รับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง คือ 1.มาตรการการนำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล 2.มาตรการการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลสำรอง 3.มาตรการการนำน้ำจากแหล่งพื้นที่ใกล้เคียงมาเสริมให้กับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะนิคมฯต่างๆในภาคเหนือ และภาคกลางมีน้ำใช้ภาคการผลิตอย่างเพียงพอในช่วงหน้าร้อนมีนาคม-เมษายน 2559 นี้

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรม ภาคเหนือ จังหวัด ลำพูน นับว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากนิคมฯใช้น้ำจากแม่น้ำกวง ซึ่งรับน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดที่ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำในอ่างไม่ถึง 20% ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรอง มีเพียง 400,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยความต้องการใช้น้ำของนิคมฯ ดังกล่าว จะใช้น้ำปริมาณสูงกว่า 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากจำนวนสถานประกอบการ 75 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 30 ราย

ทั้งนี้ กนอ. ได้ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการสำรวจและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเห็นควรสำรวจและขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 1 บ่อในเบื้องต้น เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำที่ได้ ความคืบหน้าในการขุดเจาะบ่อบาดาล ณ วันที่ 17 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา สามารถเจาะได้ที่ระดับความลึกเป้าหมาย 300 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ซึ่งจะต้องขยายขนาดเป็น 15 นิ้วก่อนที่จะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ต่อไปโดย กนอ.กำหนดเป้าหมายให้สามารถเริ่มสูบน้ำบาดาลมาเก็บไว้ในอ่างน้ำดิบได้ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กนอ. อยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อน้ำดิบจากบ่อเอกชนในบริเวณใกล้เคียง ปริมาณรวม 300,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำดิบให้นิคมฯ ภาคเหนือ ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า รอผลการประชุม FOMC

นักค้าเงินธนาคารกสิกรไทยระบุว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้ (28 ม.ค.) เปิดตลาดที่ระดับ 35.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าทรงตัวหากเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยหลักมาจากผลการรายงานของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐ มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อยังต่ำอยู่ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงจากประเทศอื่น ๆ ในโลก ส่งผลให้ทาง FOMC ต้องรอดูผลกระทบต่อสหรัฐก่อน ซึ่งตลาดคาดว่าสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ในขณะเดียวกันค่าเงินเอเชียก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหววันนี้ไว้ที่ 35.70-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันมีตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐไดเแก่ คำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค.ซึ่งตลาดมองว่าออกมาแย่กว่าเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินมากนัก

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ปภ.สรุปประกาศภัยแล้ง13จว.60อำเภอเร่งช่วย

อธิบดี ปภงประกาศภัยแล้งแล้ว 13 จว. 60 อำเภอ เร่งให้การช่วยเหลือตามระเบียบราชการแล้ว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 13 จังหวัด รวม 60 อำเภอ 333 ตำบล 3,092 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 4.12 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น พื้นที่ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร 12 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เชียงราย มหาสารคาม สระแก้ว นครราชสีมา นครพนม พะเยา เชียงใหม่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ พื้นที่ขาดแคลนน้ำด้านการอุปโภคบริโภค 1 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยระดมรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถสูบน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ นำน้ำไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปา การส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร และแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนรวมกว่า 6,631 ล้านลิตร พร้อมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น จำนวน 100 บ่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

อีกทั้งได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 2,229 โครงการ โดยขุดลอกคูคลองปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำเดิม และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,180 โครงการ คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการฯ ตามเป้าหมายจะมีปริมาตรน้ำเก็บกัก 294.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1.08 ล้านครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรกว่า 3.19 ล้านไร่ รวมถึงได้ขับเคลื่อนมาตรการจ้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 25 จังหวัด

จาก http://www.innnews.co.th    วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

เคเอสแอลดิ้นตั้งโรงงานน้ำตาล งัดคำสั่งศาลสู้หลัง ‘บิ๊กตู่’ เบรกลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

น้ำตาลขอนแก่นฮึดสู้ตั้งโรงงานน้ำตาลเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลัง”ประยุทธ์”เบรกการลงทุน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ห่าง 50 กิโลเมตร งัดคำสั่งศาลปกครองขึ้นมาค้านให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ระยะห่าง ยันต้องการสนับสนุนการลงทุนตามนโยบายรัฐบาล ไม่มีปัญหาแย่งอ้อย ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ยอมรับมีปริมาณอ้อยล้น จี้หาทางออกให้เกษตรกร

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีมติไม่อนุมัติการลงทุนของบริษัท โดยไม่ให้มีการย้ายโรงงานน้ำตาลทราย จากจังหวัดชลบุรี มาตั้งยังตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากที่ประชุมได้ยึดระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร แต่โรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่จะย้ายมาลงทุนมีรัศมีห่างจากโรงงานที่มีอยู่เดิมเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว ทางบริษัทคงต้องมาหาทางออก เนื่องจากมีความประสงค์ที่จะลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ดังกล่าว เพราะถือเป็นโครงการแรกที่มีความชัดเจนของภาคเอกชนที่จะเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบกับสามารถป้อนไฟฟ้าให้กับพื้นที่รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย เนื่องจากการตั้งโรงงานน้ำตาล ขนาด 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จะมีการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานเอทานอลควบคู่ไปด้วย ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมแผนการปลูกอ้อยไว้ตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตรงตามเงื่อนไขที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมีคู่สัญญาไม่ต่ำกว่า 50 %

สำหรับทางออกเรื่องนี้ ทางบริษัทจะหยิบยกข้อกฎหมายขึ้นมาหารือ เนื่องจากก่อนหน้านี้ 3-4 ปี บริษัทได้มีการฟ้องศาลปกครองถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายที่กำหนดไว้ต้องมีระยะห่างจากโรงงานน้ำตาลทรายเดิม 80 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เพราะมีการให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลบางรายไป ทั้งที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด ซึ่งศาลได้พิจารณาแล้ว มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการยกเลิกระยะห่างดังกล่าว แต่ก็มีการดึงเรื่องและเวลามาจนนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ลดระยะห่างลงมาเหลือเพียง 50 กิโลเมตร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้พิจารณาตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งออกมา

นายชลัช กล่าวอีกว่า การที่ภาครัฐไม่อนุมัติให้ย้ายโรงงานน้ำตาลครั้งนี้ จะส่งผลให้ชาวไร่ที่ปลูกอ้อยปัจจุบันมีกว่า 5 ล้านตันอ้อย เกินกว่าปริมาณกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมได้ ซึ่งเป็นผลจากที่บริษัทได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกส่วนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการผู้ขาดของโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ในการที่จะรับอ้อยเข้าหีบ และจากปริมาณอ้อยที่ล้นอยู่นี้ ทำให้ชาวไร่ต้องขนส่งอ้อยไปยังพื้นที่อื่น เช่น ระยอง ชลบุรี บุรีรัมย์ อีสานตอนล่าง ทำให้สิ้นเปลืองค่าขนส่ง

ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจริง ควรจะกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะหลักเกณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ในระยะ 50 กิโลเมตรจากโรงงานเดิมก็เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยเข้าหีบ ขณะที่ปัจจุบันปริมาณอ้อยล้นเป็นจำนวนมาก และบริษัทก็มีคู่สัญญาที่แน่นอน จึงมองว่าไม่น่าจะมีปัญหาการแย่งอ้อยเกิดขึ้น และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการลงทุนขึ้นจริง

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช.) เปิดเผยว่าในการประชุม(กนพ.) ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเข้าร่วมเพื่อหาทางออกต่อกรณีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่เกรงว่าปริมาณอ้อยจะล้นกำลังผลิต แต่ไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่า จะต้องให้ความเป็นธรรมกับโรงงานน้ำตาลรายเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งวัตถุดิบกัน โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล และไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นเกี่ยวกับระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล

ด้านนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วกล่าวว่า โรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่ขอย้ายมาตั้งในจังหวัดสระแก้ว มีระยะห่างไม่เข้าตามเกณฑ์กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด จึงไม่สามารถตั้งได้ อย่างไรก็ดีในฐานะจังหวัดจะต้องหาทางแก้ปัญหา ปริมาณผลผลิตจากการปลูกอ้อยที่เกิดขึ้นกว่า 4 แสนไร่ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีโรงงานแห่งใหม่มารองรับเพิ่ม เพราะโรงงานเก่าที่มีอยู่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพียง 2.4 หมื่นตันต่อวันเท่านั้น จะทำให้ผลผลิตของการปลูกอ้อยของเกษตรกรต้องล้นตลาดแน่นอน ซึ่งคงต้องมีการหารือแก้ปัญหาต่อไป ส่วนที่ดินของโรงงานน้ำตาลขอนแก่นที่ผ่านมาได้ซื้อไว้นานแล้วน่าจะไม่มีผลกระทบอะไร

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

เดินหน้ายุทธศาสตร์อาเซียน เร่งสรุปลดภาษีสินค้าอ่อนไหว

น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และการพิจารณาแนวทางในการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน โดยประเด็นที่หารือคือ ผลักดันการลดภาษีสินค้าเพิ่มเติมจากเดิมที่สมาชิกเก่า 6 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ได้ลดภาษีเป็น 0% ตั้งแต่ปี 53 แต่ยังมีสินค้าอ่อนไหวบางรายการ และมีสินค้าที่บางประเทศสงวนไว้เป็นสินค้าที่ไม่นำมาลดภาษี เช่น ปิโตรเลียมของเวียดนาม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นต้น ที่ต้องผลักดันให้ลดภาษี รวมถึงการผลักดันให้กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ยกเลิกภาษีสินค้ารายการที่เหลือจากที่นำมาลดเป็น 0% ในปี 58 ให้แล้วเสร็จภายในปี 61

ขณะเดียวกัน อาเซียนจะหารือแนวทางที่จะให้สมาชิกให้สิทธิประโยชน์กับอาเซียนโดยอัตโนมัติ หากสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งไปเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นนอกกลุ่มอาเซียนแล้วให้สิทธิประโยชน์ประเทศนั้นๆ มากกว่าที่ให้กับประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ยังจะเร่งหาข้อสรุปแผนยุทธศาสตร์ด้านการค้าสินค้าหลังจากที่อาเซียนได้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไปแล้ว และกำลังเข้าสู่การจัดทำแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน 10 ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปิดเสรีการค้าสินค้าในเชิงลึกและกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมของอาเซียนให้เข้มแข็งและผลักดันให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : เร่งช่วยเกษตรกร22จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ฝ่าวิกฤติ ‘ภัยแล้ง’

ปัญหาภัยแล้งไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ไม่เว้นแม้แต่ภาคครัวเรือน หรือภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากที่สุด

สำหรับภาคเกษตรถือว่าได้รับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 เพื่อสนับสนุนโครงการบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559 มีกรอบการดำเนินงานจำนวน 8 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2.มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3.มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4.มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7.มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8.มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบทั้งหมด 2 มาตรการ จากทั้งหมด 8 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมความรู้

 และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดช่วยเหลือแล้วทั้งหมด 18 จังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดที่บางพื้นที่อยู่ระหว่างการมอบปัจจัยการผลิต ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือครบทุกพื้นที่ภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งปัจจุบันมีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรแล้ว 38,645 ราย ส่งมอบปัจจัยการผลิต 37,521 ราย และดำเนินการเพาะปลูก 12,853 ราย

ส่วนมาตรการที่ 4 การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/2559 กรณีพืชน้ำน้อยทั้งประเทศ โดยระยะที่ 1 จำนวน 167 โครงการ งบประมาณ 167,566,685 บาท ดำเนินการแล้ว ส่วนระยะ 2 จำนวน 406 โครงการ อยู่ระหว่างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอ 206.23 ล้านบาท จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิกกว่า 1.34 แสนราย จาก 651 สถาบันเกษตรกร พร้อมจัดสรรเงิน กพส.วงเงิน 300 ล้านบาท ช่วยเหลือสหกรณ์ 183 แห่ง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่นำนโยบายดังกล่าว ไปช่วยเหลือเกษตรกร นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเน้นให้เชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแผนเร่งให้การช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้สิน และลดต้นทุนของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว โดยจัดสรรงบประมาณ จำนวน 206.233 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีสมาชิกเป้าหมาย จำนวน

 134,479 ราย จาก 651 สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีทั้งสัญญากู้เดิมและสัญญากู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 เมษายน 2559

อีกทั้งยังมีแผนสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งด้วย โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ได้อนุมัติกรอบวงเงิน กพส. จำนวน 300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนแบบไม่มีดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจากการสำรวจความต้องการของสหกรณ์ พบว่า มีสหกรณ์ขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 183 สหกรณ์ใน 19 จังหวัด โดยขณะนี้คณะกรรมการบริหาร กพส. อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาจัดสรรเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ดังกล่าวปลูกพืชใช้น้ำน้อยและอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อสร้างรายได้ในช่วงหน้าแล้งทดแทนการทำนาปรัง โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น ถั่วเขียว และถั่วเหลือง เป็นต้น โดยมุ่งสนับสนุนการผลิตและใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิกได้อย่างเป็นรูปธรรม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

เกษตรแฟร์ชูความรู้สู้ภัยแล้ง

รู้มาเล่าไป : เกษตรแฟร์ชูความรู้สู้ภัยแล้ง : โดย...ดลมนัส กาเจ

                      ตอนนี้บ้านเราประสบปัญหากับภาวะแห้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรค่อนข้างจะรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2558 และปีนี้เองก็รุนแรงไม่แพ้กัน สาเหตุคือส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลของเอลนีโญ และภาวะโลกร้อน

                      วันก่อนได้พูดคุยกับ ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ดำรง บอกว่า ภาวะโลกร้อนนั้น ทำให้โลกวิกฤติแล้งได้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) ที่ฝรั่งเศสมีการมีการตกลงที่จะให้มีการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

                      เนื่องเพราะทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากโลกร้อนกันแล้ว ฉะนั้นคนที่อยู่บนโลกนี้ต้องศึกษาให้แน่นอนว่าจากภาวะโลกร้อนจะเกิดอะไรขึ้น และทุกคนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะภาคการเกษตร

                      “ถ้าคนเราไม่ปรับตัวก็อยู่ลำบาก หน่วยงานของรัฐก็ต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เอง เรากำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้อยู่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ของโลกร้อน และปรากฏการณ์เอลนีโญ เรามีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์พืชสวน พืชไร่ที่ทนแล้ง โดยมีการนำพืชพื้นเมืองดั้งเดิมที่ทนกับภาวะแห้งแล้ง มาผสมกับพืชที่ให้ผลผลิตดี มาเป็นพืชลูกผสม ต่อไปภาคการเกษตรจะเป็นยุคของการปลูกพืชลูกผสมมากขึ้น เพราะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว” ดร.ดำรงค์ กล่าว

                      เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รักษาราชการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า “เกษตรแฟร์” ปีนี้ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2559 ในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น งานด้านงานนิทรรศการ และการเสวนาที่จะจัดขึ้น ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิรินั้น จะเน้นการเสนอเนื้อหาทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งทั้งหมด ตั้งแต่สาเหตุคืออะไรที่ทำให้เกิดภัยแล้ง การแก้ปัญหา เพื่อความอยู่รอดในภาวะวิกฤติจะทำอย่างไร ภายใต้แนวคิด “เกษตรศาสตร์นำไทยสู้ภัยแล้ง” รวมถึงการย้อนถึงสถานการณ์น้ำในอดีต วิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกร การเพาะพืชในช่วงฤดูแล้ง เป็นต้น

                      นอกจากนี้ จะมีการแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆด้านการเกษตรที่เป็นงานวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่อมือทางการเกษตร นวัตกรรมการให้น้ำระบบต่างๆ การอบรมอาชีพเสริมสู้ภัยแล้ง เช่น การเลี้ยงไส้เดือน ไก่สายพันธุ์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรฯ พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นไก่เบตงเคยู ไก่ดำภูพาน โดยจะมีวิทยากรคอยให้ความรู้ตามจุดต่างๆ

                      นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์พืชต่างๆ ที่ทนแล้ง ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะไร่ พืชสวน อาทิ พริกต่างๆ ถั่วฝักยาว และอื่นๆ อีกมากมาย สนใจไปชมได้ครับ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559

สศก. เผย ดัชนีราคา-ผลผลิต ธันวาคม 58 เพิ่ม มัน-อ้อยโรงงาน-หอมแดง ออกตลาดมกราคมนี้  - ThaiPR.net  26 ม.ค. 2559

           สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ดัชนีราคาสินค้าเกษตรธันวาคม 2558 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.73 ส่วนดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ระบุ ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นตามทิศทางตลาดล่วงหน้ามาเลเซีย ส่วนมันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่ ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลง แจง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และหอมแดง ออกตลาดมกราคมนี้

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมราคาสินค้าเกษตรซึ่งวัดจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (ปี 2557) ภาพรวมลดลง ร้อยละ 4.91 แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 พบว่าดัชนีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.73 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยสินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ที่ราคาสูงขึ้นตามทิศทางตลาดล่วงหน้ามาเลเซีย สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่ โดย มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับคุณภาพไม่ค่อยดี ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เดือนมกราคม 2559 คาดว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรจะใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา

          สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม (ปี 2557) พบว่า ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.92 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ เดือนมกราคม 2559 คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2558 แต่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในเดือนมกราคม 2559 ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และหอมแดง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ก.อุตฯ ออกประกาศให้โรงงานต้องมีเจ้าหน้าที่ซีเอสอาร์ 

          กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าให้ผู้ประกอบการตระหนักความรับผิดชอบต่อสังคม ล่าสุดเตรียมออกประกาศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน พ.ศ. 2559 ภายในเดือนมกราคมนี้ โดยเล็งเป้ายกระดับเป็นโรงงานมีมาตรฐานสากล และผู้นำในประชาคมอาเซียน

        รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า เพื่อให้ยุทธศาสตร์ตามที่ก.อุตฯ กำหนดไว้เป็นรูปธรรมพร้อมสามารถปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น จึงมีการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน โดย นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกำหนดออกประกาศนี้ภายในเดือนมกราคม 2559

        สำหรับหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน ได้กำหนดไว้ดังนี้

                “โรงงาน” หมายความว่า โรงงานจำพวกที่ 3 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

        “ผู้ประกอบกิจการโรงงาน” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

        “บุคลากรเฉพาะ” หมายความว่า บุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน

        “การอบรมและทดสอบ” หมายความว่า การอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่กรมโรงงาน อุตสาหกรรมกำหนด

        “ใบรับรอง” หมายความว่า ใบรับรองผ่านการทดสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากร เฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน

        “ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า การขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบ ต่อสังคมประจำโรงงาน

        ทั้งนี้ ด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ซึ่งหลักการดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการสนับสนุนและสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อให้การดำเนินกิจการโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความรู้ความสามารถเพื่อการยกระดับให้ผู้ประกอบการโรงงานมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของการแข่งขันในตลาดสากล และเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน

        รายงานข่าวระบุถึงการสนับสนุนให้มีบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงานจะต้องมีการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะ ตามลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

        1) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการ หรือ กิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2553 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        2) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        3) โรงงานที่เข้าข่ายต้องทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการการป้องกันและแก้ไข ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 29 กันยายน 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        4) โรงงานที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

        5) โรงงานอื่นๆ นอกเหนือจาก 1) ถึง 4) ที่มีความประสงค์มีบุคลากรเฉพาะ

        ด้านหลักเกณฑ์วิธีการแจ้งมีบุคลากรเฉพาะ การอบรมและทดสอบเป็นบุคลากรเฉพาะ ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น สามารถจัดให้มีบุคลากรเฉพาะ โดยส่งรายชื่อพนักงานเพื่อเข้ารับการอบรม และทดสอบ พร้อมเอกสารหลักฐานตามแบบ บฉ.ส1 ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดฝึกอบรมและทดสอบให้แก่พนักงานของโรงงาน หรืออาจจะมอบหมายให้องค์กรหรือหน่วยงานอื่นจัดอบรมและทดสอบแทนตามที่เห็นสมควร และกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกใบรับรองให้กับผู้ที่ผ่านการทดสอบ

        โดยบุคลากรเฉพาะดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) บุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน 2) บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป และ 3) บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส

โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Corporate Social Responsibility, Department of Industrial Works: CSR-DIW) เป็นส่วนหนึ่งในแนวทางส่งเสริมให้โรงงานมีซีเอสอาร์ก่อนหน้านี้

         บทบาทหน้าที่บุคลากรเฉพาะด้านซีเอสอาร์ประจำโรงงาน

                1.บุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน เป็นผู้จัดทำแผนงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปี ปฏิบัติงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปีตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย จัดทำรายงานด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนประจำปี และให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียนจากชุมชน และร่วมตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย โดยบุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชนนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน 1 โรงงาน

                2. บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป เป็นผู้จัดทำแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำปี ปฏิบัติงานให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือ ตามหลักเกณฑ์สากลโดยความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำรายงานตามมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม รวมถึงให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียนจากชุมชน และร่วมตรวจสอบหรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่บุคลากรเฉพาะด้านการบริหาร ความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน 1 โรงงาน

                3.บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส ทำหน้าที่จัดทำแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำปี ปฏิบัติงานให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมตามประกาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่อสังคม หรือตามหลักเกณฑ์สากลโดยความเห็นชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดทำรายงานตามมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโรงงาน อุตสาหกรรมต่อสังคม ให้ข้อมูลต่อผู้บริหารของโรงงานอุตสาหกรรม กรณีที่เกิดข้อร้องเรียน จากชุมชน และร่วมตรวจสอบ หรือแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่

                ทั้งนี้ บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส ให้มีหน้าที่ รับผิดชอบ ได้มากกว่า 1 โรงงาน แต่ไม่เกิน 5 โรงงาน โดยจะต้องได้รับความยินยอม หรือกระทำการที่ไม่ส่งผลเสียหายกับโรงงานที่บุคลากรเฉพาะปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

ครม.ไฟเขียวโครงการเศรษฐกิจฐานราก 3.5 หมื่นลบ.

กระทรวงคลัง เผย ที่ประชุม ครม. เห็นชอบโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก 3.5 หมื่นล้านบาท

กระทรวงการคลัง ระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มกราคม 2559 มีมติเห็นชอบโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเพิ่มปริมาณการลงทุนในระดับชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

โครงการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น และ 2) เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านฯ ตามโครงการนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด

โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการโดยเร่งด่วนให้มีการเบิกจ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีการลงทุนจำนวน 35,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในระดับฐานรากและชุมชน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไป

"เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคการเกษตรของประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ ได้แก่ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ เป็นต้น โดยสาเหตุประการหนึ่งมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนไม่ได้รับการพัฒนา ตลอดจนยังขาดปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ดังนั้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่กิจกรรมด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการตลาด จะส่งผลให้ชุมชนพัฒนาอย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป" เอกสารเผยแพร่กระทรวงการคลัง ระบุ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

เตือนปลูกพืชตามคำแนะนำจนท. ช่วยลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายที่ยังไม่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้องค์ความรู้ กระบวนการ และแนะแนววิธีการต่างๆ บ้างแล้วก็ตาม อีกทั้งที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการด้านการเกษตรในการลดราคาสินค้าและปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย

นายสมชายกล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นนโยบายในเรื่องของการลดต้นทุน ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรจึงได้นำเอาเทคโนโลยีการเกษตรเข้าไปช่วยส่งเสริมในเรื่องของการลดต้นทุน เช่น การสนับสนุนพันธุ์พืชพันธุ์ดี ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำเกษตรกรด้านการเลือกใช้พันธุ์พืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น พืชมีความแข็งแรง ทนต่อสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งจะช่วยให้เกษตรกรประหยัดในเรื่องของการดูแล บำรุงรักษา เนื่องจากในพื้นที่ของเกษตรกรนั้นมีแร่ธาตุอาหารเหมาะสำหรับพืชที่เกษตรกรปลูก อีกทั้งในขณะนี้พื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไทยหลายแห่งกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรควรจะประเมินความเสี่ยงและเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเป็นที่ต้องการของตลาด จะทำให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ในช่วงภัยแล้งนี้ได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะให้คำแนะนำเกษตรกรถึงวิธีการใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆอย่างถูกวิธี ถูกเวลาและถูกปริมาณ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจในการดูแลพืชแต่ละชนิด แต่ละช่วงอายุของพืชว่าต้องการการดูแลอย่างไร ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกษตรกรไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การลดต้นทุนเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด คือ ตัวของเกษตรกรเอง ซึ่งถ้าหากเกษตรกรได้รับความรู้ คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติต่างๆ จากเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่ไม่นำไปปฏิบัติหรือต่อยอด สิ่งที่ได้มานั้นก็จะสูญเปล่า การลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเริ่มจากเกษตรกร ปฏิบัติโดยเกษตรกร ต่อยอดโดยเกษตรกร จึงจะทำให้การลดต้นทุนการผลิตเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

สศก.ระดมความร่วมมือทุกหน่วย รุกงานพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร เปิดเผยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร ได้ประชุมหารือกันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร โดยคณะทำงานได้กำหนดกรอบแนวทางโดยมีเป้าประสงค์หลัก คือ จัดเก็บข้อมูลเกษตรกรที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ มาไว้ในฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer One) โดย สศก. จะเป็นหน่วยงานดูแลและจัดการระบบฐานข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ สศก. จะดำเนินการหารือร่วมกัหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่องของการให้การสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกษตรของแต่ละหน่วยงาน การจัดการข้อมูลเกษตรกรที่มีความซ้ำซ้อน พร้อมทั้งจัดทำระบบรายงานข้อมูลเกษตรกร เป็นต้น

รองเลขาธิการ กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลังจากนี้ ทาง สศก. จะเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ

 ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุน “การพัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกร (Farmer One)” ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เพื่อให้การดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกรเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

กรมโรงงานเตรียมจำหน่ายสินค้าราคาถูกชุมชนรอบ ก.อุตฯ 30 ม.ค.นี้

        กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมปล่อยคาราวานกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำหน่ายสินค้าตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าที่ดีมีคุณภาพจากโรงงาน อาทิ ข้าวสาร น้ำตาลทราย น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน สบู่ ยาสีฟัน ในราคาถูกกว่าท้องตลาดสูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์ จำหน่ายให้กับประชาชน โดยจะเปิดจำหน่ายสินค้าราคาถูกในพื้นที่ชุมชนบริเวณรอบกระทรวงอุตสาหกรรม 12 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก ชุมชนหลังกรมทางหลวง ชุมชนมั่นสิน ชุมชนโค้งยมราช ชุมชนวัดมะกอกส่วนหน้า ชุมชนวัดมะกอกกลางสวน ชุมชน 206 กองพลทหารม้าที่ 2 ชุมชนหน้าวัดมะกอก ชุมชนสารวัตรทหาร ชุมชนบ้านพักข้าราชการพระมงกุฎเกล้า และชุมชนมักกะสัน ในวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2559 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

'โรงงาน-เอสเอ็มอีภูธร'ฝ่าภัยแล้งประหยัด-กั้นกระสอบทรายตุนน้ำ 

          ขณะนี้หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุกไล่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับความพยายามที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการที่หลากหลายโดยเฉพาะการลดพื้นที่ทำนาปรัง และห้ามเลี้ยงปลากระชัง ในแม่น้ำสายหลักสำคัญ สร้างความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ได้มีการเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว

          นายชัยณรงค์ เทียนชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครปฐม ส่วนใหญ่ใช้น้ำน้อย หากเกิดปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำที่จะนำมาใช้ในไลน์ผลิต จะได้รับผลกระทบน้อย เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือ หากเกิดกรณีฉุกเฉินให้ดึงน้ำจากแม่น้ำนครชัยศรีมาใช้ เพราะมั่นใจว่า จะเพียงพอ สามารถรับมือภัยแล้งปีนี้ ไปได้

          นายสามารถ อังวราวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่นยังไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าขอนแก่นจะเป็นจังหวัดที่มีโรงงานมากลำดับต้น ๆ ของภาคอีสาน แต่โรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย แต่หากในอนาคตมีความรุนแรงมากขึ้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก

          สอดคล้องกับ นายสิทธิพงษ์ เจียมศรีพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพิจิตรมากนัก ในอนาคตหากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรง อาจได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมาก เช่น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โดยจะเร่งแจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือ ลดความเสี่ยงธุรกิจ

          โรงงานโคราชมั่นใจสู้แล้งได้

          ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน ลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้อยู่ที่ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30% ของความจุกักเก็บ 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นปริมาณน้ำที่ยังน่าห่วง และจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อรักษาน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ให้ผ่านวิกฤตแล้งนี้ไปได้

          นายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การลง พื้นที่สำรวจทั้งในเขตอุตสาหกรรมและนอกเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างอำเภอ ยังไม่ได้รับรายงานการขาดแคลนน้ำในการใช้กระบวนการผลิต และเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้แน่นอน แต่ละแห่งสามารถประคับประคองให้ผ่านพ้นไปได้ และในเขตอุตสาหกรรมก็มีการกักเก็บน้ำ ให้เพียงพอต่อการใช้ได้ตลอดทั้งปี

          ในส่วนของโรงงานที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม และในพื้นที่ต่างอำเภอที่ตั้งเป็น Stand Alone ก็มีระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ ใช้ระบบ 3R คือ การนำน้ำในโรงงานมาทำรีไซเคิล รียูส และรีดิวซ์ คือการนำมาใช้ใหม่และลดปริมาณการใช้น้ำลง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดได้พยายามรณรงค์ให้แต่ละโรงงานช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง

          นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำน้ำขุมเหมืองของโรงโม่หินโชคชัยความจุ 50,000 ลบ.ม. มาใช้ในภาคเกษตร แต่ในส่วนของโรงโม่หินศิลาทุ่งอรุณความจุ 30,000 ลบ.ม.ใช้ประโยชน์เฉพาะในการทำเหมืองแร่ ซึ่งต้องรอผลตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสาธารณสุขจังหวัดอีกครั้ง

          นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ ประธานศูนย์เครือข่ายธุรกิจจังหวัดนครราชสีมา หรือ BIZ CLUB นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกับกลุ่มเอสเอ็มอีในจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ซึ่งมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้ประกอบการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในธุรกิจของตนเอง แต่ก็เป็นการแก้ไขเพียงระยะสั้น โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงสัปดาห์ต่อสัปดาห์เท่านั้น

          นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการใช้บ่อทรายขนาดใหญ่ของภาคเอกชนมาทำเป็นแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำ และผันน้ำจากลำเชียงไกร และลำน้ำลำตะคอง มาเก็บไว้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ในตำบลหนองไข่น้ำ และโคกสูง อำเภอเมือง เบื้องต้นเอกชนจะมอบพื้นที่ 500 ไร่ให้มาทำแก้มลิง สามารถกักเก็บน้ำ ได้ 5 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเริ่มผันน้ำมาเก็บไว้ภายในปี 2559 ระยะทาง 3-5 กิโลเมตรจากลำเชียงไกร และลำน้ำลำตะคอง ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำมีการทดสอบแล้วยืนยันว่าสามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้

          ธุรกิจน้ำแข็ง-น้ำดื่มเสี่ยงนายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชี ตอนกลาง เปิดเผยว่า แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำ เหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งมหาสารคามจะเป็นแหล่งรองรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ช่วงนี้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยน้ำออกมาวันละประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตรเข้าสู่ ลำน้ำชีสำหรับใช้ผลิตน้ำประปา ซึ่งจะสามารถปล่อยน้ำออกมาได้อีกประมาณ 70-80 วันเท่านั้น เมื่อถึงช่วงนั้นจะไม่มีน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมาก็ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว

          นายสันทัด ศรีภัทรภิญโญ ผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดลีตังเซ้ง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็งหลอดเกือบทุกรายใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบในการผลิต หากภัยแล้งกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ก็ย่อมส่งผลต่อธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็ง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการสต๊อกน้ำไว้ใช้ สำหรับโรงงานของตนสต๊อกไว้ได้ ไม่เกิน 7 วันเท่านั้น หากมีการจ่ายน้ำเป็นเวลาก็คงต้องลดการผลิตลง หรือหากน้ำมีน้อยก็ต้องทำใจยุติการผลิตชั่วคราว คงต้องรอลุ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าช่วงที่เขื่อนอุบลรัตน์งดปล่อยน้ำลงในลำน้ำชี แต่มั่นใจว่าแหล่งน้ำสำรองคงสามารถแก้ปัญหาได้

          สารคามสูญรายได้กว่า 400 ล.

          ด้านนายไพสิทธิ์ ดนตรี กลุ่มผู้เลี้ยง ปลากระชังบ้านดินดำ ต.เกิ้ง อ.เมือง กล่าวว่า สมาชิกให้ความร่วมมืองดเลี้ยงปลาในกระชัง แต่บางรายได้ขอเลี้ยงต่อไป เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดย ลดปริมาณลงเหลือกระชังละ 400-500 ตัว ซึ่งปลาในตลาดยังไม่ขาดแคลน หรือปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 70-80 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากมีปลากระชังของบริษัทยักษ์ที่เลี้ยงอยู่ใน เขื่อนลำปาว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ส่งเข้าตลาดทุกวัน

          นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้มีการแจ้งไปยังเกษตรกรและประชาชน ในพื้นที่ อ.เมือง อ. กันทรวิชัย อ.เชียงยืน และ อ.โกสุมพิสัย โดยขอความร่วมมือให้แพสูบน้ำขนาดเล็กงดสูบน้ำทำนาปรัง งดการเลี้ยงปลาในกระชัง พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559 ด้วย

          ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวประเมินว่า การงดทำนาปรังปีนี้ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง กันทรวิชัย เชียงยืน และโกสุมพิสัย ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้เกือบ 400 ล้านบาท โดยคิดจากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกนาปรังที่เกวียนละ 5,000 บาท จากพื้นที่ปลูกปีละไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนไร่ ส่วนธุรกิจเลี้ยงปลากระชัง ในลำน้ำชีกว่า 4,000 กระชัง จะสูญเสียรายได้กว่า 30 ล้านบาท

          แพร่กั้นกระสอบทรายน้ำยม

          ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ในจังหวัดแพร่ว่า พื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้แก่ อำเภอเมือง สูงเม่น เด่นชัย และวังชิ้น ที่แม่น้ำยมไหลผ่าน รวมถึงลำน้ำสาขาแห้งขอด มีน้ำอยู่เพียงบางจุดตลอดเส้นทางแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ ของแพร่ ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันแกไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตรด้วยการกั้นกระสอบทรายในแม่น้ำยม และลอกรื้อผักตบชวาที่กีดขวางการไหลของน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งที่ผ่านมามีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายในการปลูกพืชฤดูแล้ง เพราะขาดน้ำทำให้ผลผลิตเสียหาย อาทิ ถั่วเหลือง พริก และข้าว เป็นความพยายามของหลายฝ่ายที่ช่วยกันฝ่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

ค่าเงินบาทผันผวน นักลงทุนรอประเมินสภาพเศรษฐกิจโลก

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/01) ที่ 36.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/01) ที่ระดับ 36.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงภายหลังจากที่มีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจนต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจำนวนคนขอรับสวัสดิการการว่างงาน ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 293,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ลดลงสู่ระดับ 279,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ นับเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันที่ตัวเลขจำนวนคนขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของฟิลาเดเฟีย ปรับตัวสูงขึ้นจาก -5.96 จุด เป็น -3.5 จุด ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ -5.8 จุด ในส่วนของตัวเลขยอดขายบ้านที่สร้างเสร็จแล้วปรับตัวสูงสู่ระดับ 5.46 ล้านหลัง สูงกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 4.76 ล้านหลัง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ -5.8 จุด ในส่วนของตัวเลขยอดขายบ้านที่สร้างเสร็จแล้วปรับตัวสูงสู่ระดับ 5.46 ล้านหลัง สูงกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 4.76 ล้านหลัง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.21 ล้านหลัง และตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ 52.7 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาที่ 51.2 จุด โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 51.5 จุด โดยในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.88-36.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐมาในช่วงใกล้ปิดตลาดทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 36.26/36.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น ในวันนี้ (25/01) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0796/1.0799 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/01) ที่ 1.0840/1.0844 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนลงหลังจากที่ยุโรปได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง โดยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยุโรปนั้นปรับตัวลดลงสู่ระดับ 52.3 ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 53.2 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราห์คาดการณ์ไว้ที่ 53.0 ในขณะที่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของยุโรปนั้นปรับตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยปรับตัวลดลงมาสู่ระดับ 53.6 จุด ซึ่งลดลงจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ระดับ 54.2 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทั้งนี้ นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางขนาดใหญ่ในหลายประเทศยังคงดำเนินการนโยบายที่แตกต่างกันอีกระยะหนึ่ง ซึ่งนายดรากีได้กล่าวย้ำว่า ทางธนาคารกลางของยุโรปนั้นพร้อมที่จะใช้มาตรการเพิ่มเติมในการกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน หากจำเป็น ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0786-1.0/355 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0890/1.0891 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (25/01) เปิดตลาดที่ระดับ 118.53/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/01) ที่ 118.19/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2.83 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นระดับการขาดดุลการค้าที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยนายฮารุฮิโกะ ดุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมากล่าวย้ำว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินการขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมารณ (QE) หากมีความจำเป็น ซึ่งราคาน้ำมันจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 118.16-118.85 ดอลลาร์สหรัฐ/เยน และปิดตลาดที่ระดับ 117.80/117.83 ดอลลาร์/เยนฃ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (26/01), ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลีย (26/01), สรุปผลการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐ (27/01), ตัวเลขดุลการค้าของประเทศนิวซีแลนด์ (27/01), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (28/01), ผลสรุปนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่น (28/01)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.00/5.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

"สมคิด" เตรียมเสนอโครงการพัฒนาความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก เข้าครม.พรุ่งนี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงาน สัมมนาประจำปี "F.T.I. Outlook 2016 : ทิศทางอุตสาหกรรมไทย 2559" ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยล่าสุดในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 87.5 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ทั้งเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการชะลอตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีที่กระทบกำลังซื้อ จากนี้ไทยจึงต้องขับเคลื่อนประเทศ 3 ด้านพร้อมๆ กัน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ที่ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพของแรงงานให้สามารถแข่งขันได้ในประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน เบื้องต้นได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการพัฒนาวิชาชีพในทุกกลุ่ม อุตสาหกรรม

ด้านความมั่งคั่ง ได้จัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรขึ้นมาผลักดันเรื่องการตลาด มาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตร รวมถึงการจับคู่ทางธุรกิจหาแนวทางแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร

ด้านความยั่งยืน ต้องผลักดันให้เกิดมาตรฐานทางบัญชี เพื่อลดการคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุนของภาคเอกชน ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ทางด้านเอกชนรายใหญ่ อาทิ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่ส่งสัญญาณการขยายตัวที่ชัดเจน เพราะเม็ดเงินที่รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆ ยังไม่ถึงมือประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงต้องติดตามวัดผลวงจรของเงินเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน และอย่ากลัวที่จะใช้นโยบายประชานิยมอย่างเหมาะสม

 นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC ระบุว่า แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะอุปทานล้นตลาด แต่อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราเดิม เพื่อนำเม็ดเงินส่วนนี้มาพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ

 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ระบุว่า แม้เศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ในภาวะไร้กำลังขับเคลื่อนและไร้ความแน่นอน แต่สภาพัฒน์ฯ และกระทรวงการคลังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดี แต่ภาครัฐก็ไม่ประมาท ยังเดินหน้าผลักดันการทำงานของกระทรวงต่างๆ ในเชิงรุก อาทิ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องเน้นการทำตลาดเชิงลึก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดท่ามกลางภาวะการส่งออกที่วิกฤติ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น เปลี่ยนจากโครงสร้างการผลิตที่ด้อยค่า เน้นการเป็นผู้รับจ้างผลิต มาเป็นโครงสร้างการผลิตที่มีมูลค่า เน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

นอกจากนี้ จะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 เพื่อให้เม็ดเงิน 1 แสนล้านบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วที่สุด ขณะเดียวกันจะนำเม็ดเงินจากองค์กรส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในระบบ 3 แสนล้านบาท แต่ยังไม่มีแผนดำเนินงาน มาใช้ในโครงการที่จะเกิดประโยชน์ เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศ อีกทั้งในวันพรุ่งนี้ยังเตรียมเสนอโครงการพัฒนาความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านทางกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละไม่เกิน 5 แสนบาท จำนวนกว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน รวมงบประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่างๆ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลุ่มภาคกลาง สั่งงดทำนาเพื่อกันน้ำไว้ใช้ปลายปี

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งจากที่ได้ขึ้นฮอลิคอปเตอร์ตรวจดูปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยา และพื้นที่ภาคกลางว่าหลังจากมีฝนตกมากในช่วงปลายสัปดาห์ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักเพิ่มขึ้น และเติมน้ำในแหล่งน้ำของเกษตรกร อีกทั้งการขึ้นปฎิบัติการฝนหลวงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกมากขึ้นด้วย

"ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จ. มีฝนตกมีความชุ่มชื้นมากขึ้น ซี่งฝนหลวงได้ขึ้นบิน ทำให้ฝนตกมากขึ้น ในลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นต้นน้ำเขื่อนป่าสักฯเติมน้ำเขื่อนได้บางส่วนและในแหล่งน้ำเกษตรกร นำมาใช้ได้ช่วงฤดูแล้ว ถือเป็นมาตรการล่วงหน้าที่เตรียมรับมือภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงแม้มีปริมาณเข้าเขื่อนใหญ่ ก็สามารถใช้น้ำปลูกพืชระยะสั้นเท่านั้นไม่สามารถทำนาปรังได้ การระบายน้ำยังเป็นไปตามแผนวันละ16-17 ล้านลบ.ม.เพื่อกิจกรรมหลักอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำทะเลเท่านั้น เพราะช่วงแล้งยังยาวนานถึงกลางปี" ปลักกระทรวงเกษตรฯกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

กรอ. แจ้งเตือนโรงงานรับมือภัยแล้ง

กรอ.รับมือภัยแล้ง ส่งหนังสือแจ้งเตือนโรงงาน พร้อมขอความร่วมมือกรมทรัพฯ ใช้แหล่งน้ำบาดาล

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ล่าสุด กรอ. ได้เตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยได้ส่งหนังสือ พร้อมให้อุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ปริมาณน้ำจำนวนมาก รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการอำนวยความสะดวกการจัดการแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ จะติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม นายพสุ กล่าวว่า ในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาครัฐและหน่วยงานได้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบผลิตน้ำของโรงงาน ดังนั้น จึงคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 

กระทรวงอุตสาหกรรม: กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสู่ "อุตสาหกรรมสีเขียว"ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน 

          ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันมากรวมทั้งประเทศไทยเอง นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า "โครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว" ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสามส่วนคือ ตัวโรงงานเอง สภาพแวดล้อม และชุมชน ทั้งนี้สถานประกอบการต้องไม่มุ่งแต่ในทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความสมดุลในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนเสมอ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้อยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีภารกิจสองด้าน คือ การกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามกฎหมาย และการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างสมดุลตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีแผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่รองรับนโยบายดังกล่าว และมีการติดตามประเมินผล รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับความหมายของ "อุตสาหกรรมสีเขียว" นั้น หัวใจหลักที่สำคัญคือต้องมีระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการจัดการของเสียและมลภาวะต่างๆ ระบบการจัดการพลังงาน กิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร การสร้างวัฒนธรรมและการสร้างเครือข่ายโซ่อุปทานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ชุมชนหรือสังคม และระบบนิเวศ ประโยชน์อันดับแรกคือ การลดทรัพยากรและพลังงานในการประกอบการ ทำให้ลดต้นทุนและส่งผลดีต่อผลประกอบการโดยตรง และโรงงานที่มีการพัฒนาระบบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต จะทำให้เห็นช่องทางในการปรับปรุงระบบคุณภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นผลพลอยได้อีกอย่างของผู้ประกอบการคือ สิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงภาพลักษณ์ที่ดี ส่วนประโยชน์ที่เกิดกับพนักงานก็คือ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และน่าทำงานมากขึ้น ส่วนชุมชนก็จะได้รับการปฏิบัติจากสถานประกอบการที่มีความรับผิดชอบ เป็นธรรม โปร่งใส และได้ข้อมูลข่าวสารจากการดำเนินกิจการของโรงงานในเชิงเปิดมากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจ ความไว้วางใจ และการยอมรับซึ่งกันและกันมากขึ้นด้วย และประโยชน์ที่สำคัญคือเป็นการรักษาความสมดุลและการอนุรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

          โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวนั้นได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นประมาณ 22,000 ราย และกระทรวงฯได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2561 จะมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับต่างๆ ไม่น้อยกว่า35,000 ราย ทั้งนี้เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาสู่การเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 15 จังหวัดตามแผนของกระทรวง และเพื่อเป็นไปตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีที่เน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และเป็นการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 25 มกราคม 2559

'โรงงาน-เอสเอ็มอีภูธร'ฝ่าภัยแล้งประหยัด-กั้นกระสอบทรายตุนน้ำ 

          ขณะนี้หลายจังหวัดกำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุกไล่มาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับความพยายามที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการที่หลากหลายโดยเฉพาะการลดพื้นที่ทำนาปรัง และห้ามเลี้ยงปลากระชัง ในแม่น้ำสายหลักสำคัญ สร้างความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ในภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ได้มีการเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว

          นายชัยณรงค์ เทียนชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดนครปฐม ส่วนใหญ่ใช้น้ำน้อย หากเกิดปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำที่จะนำมาใช้ในไลน์ผลิต จะได้รับผลกระทบน้อย เบื้องต้นได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมรับมือ หากเกิดกรณีฉุกเฉินให้ดึงน้ำจากแม่น้ำนครชัยศรีมาใช้ เพราะมั่นใจว่า จะเพียงพอ สามารถรับมือภัยแล้งปีนี้ ไปได้

          นายสามารถ อังวราวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่นยังไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าขอนแก่นจะเป็นจังหวัดที่มีโรงงานมากลำดับต้น ๆ ของภาคอีสาน แต่โรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อย แต่หากในอนาคตมีความรุนแรงมากขึ้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก

          สอดคล้องกับ นายสิทธิพงษ์ เจียมศรีพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งยังไม่กระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดพิจิตรมากนัก ในอนาคตหากปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรง อาจได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมาก เช่น โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร โดยจะเร่งแจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมรับมือ ลดความเสี่ยงธุรกิจ

          โรงงานโคราชมั่นใจสู้แล้งได้

          ด้านนายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน ลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้อยู่ที่ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 30% ของความจุกักเก็บ 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นปริมาณน้ำที่ยังน่าห่วง และจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขอให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อรักษาน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ให้ผ่านวิกฤตแล้งนี้ไปได้

          นายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การลง พื้นที่สำรวจทั้งในเขตอุตสาหกรรมและนอกเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างอำเภอ ยังไม่ได้รับรายงานการขาดแคลนน้ำในการใช้กระบวนการผลิต และเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้แน่นอน แต่ละแห่งสามารถประคับประคองให้ผ่านพ้นไปได้ และในเขตอุตสาหกรรมก็มีการกักเก็บน้ำ ให้เพียงพอต่อการใช้ได้ตลอดทั้งปี

          ในส่วนของโรงงานที่อยู่นอกเขตอุตสาหกรรม และในพื้นที่ต่างอำเภอที่ตั้งเป็น Stand Alone ก็มีระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ส่วนใหญ่ ใช้ระบบ 3R คือ การนำน้ำในโรงงานมาทำรีไซเคิล รียูส และรีดิวซ์ คือการนำมาใช้ใหม่และลดปริมาณการใช้น้ำลง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดได้พยายามรณรงค์ให้แต่ละโรงงานช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้ง

          นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำน้ำขุมเหมืองของโรงโม่หินโชคชัยความจุ 50,000 ลบ.ม. มาใช้ในภาคเกษตร แต่ในส่วนของโรงโม่หินศิลาทุ่งอรุณความจุ 30,000 ลบ.ม.ใช้ประโยชน์เฉพาะในการทำเหมืองแร่ ซึ่งต้องรอผลตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสาธารณสุขจังหวัดอีกครั้ง

          นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ ประธานศูนย์เครือข่ายธุรกิจจังหวัดนครราชสีมา หรือ BIZ CLUB นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคกับกลุ่มเอสเอ็มอีในจังหวัดนครราชสีมาแล้ว เช่น หอพัก อพาร์ตเมนต์ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ซึ่งมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผู้ประกอบการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในธุรกิจของตนเอง แต่ก็เป็นการแก้ไขเพียงระยะสั้น โดยการกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงสัปดาห์ต่อสัปดาห์เท่านั้น

          นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการใช้บ่อทรายขนาดใหญ่ของภาคเอกชนมาทำเป็นแก้มลิงเพื่อเก็บน้ำ และผันน้ำจากลำเชียงไกร และลำน้ำลำตะคอง มาเก็บไว้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ ในตำบลหนองไข่น้ำ และโคกสูง อำเภอเมือง เบื้องต้นเอกชนจะมอบพื้นที่ 500 ไร่ให้มาทำแก้มลิง สามารถกักเก็บน้ำ ได้ 5 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเริ่มผันน้ำมาเก็บไว้ภายในปี 2559 ระยะทาง 3-5 กิโลเมตรจากลำเชียงไกร และลำน้ำลำตะคอง ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำมีการทดสอบแล้วยืนยันว่าสามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้

          ธุรกิจน้ำแข็ง-น้ำดื่มเสี่ยงนายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชี ตอนกลาง เปิดเผยว่า แม่น้ำชีมีปริมาณน้ำ เหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งมหาสารคามจะเป็นแหล่งรองรับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ช่วงนี้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ ปล่อยน้ำออกมาวันละประมาณ 5 แสนลูกบาศก์เมตรเข้าสู่ ลำน้ำชีสำหรับใช้ผลิตน้ำประปา ซึ่งจะสามารถปล่อยน้ำออกมาได้อีกประมาณ 70-80 วันเท่านั้น เมื่อถึงช่วงนั้นจะไม่มีน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมาก็ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว

          นายสันทัด ศรีภัทรภิญโญ ผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดลีตังเซ้ง จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็งหลอดเกือบทุกรายใช้น้ำประปาเป็นวัตถุดิบในการผลิต หากภัยแล้งกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ก็ย่อมส่งผลต่อธุรกิจน้ำดื่มและน้ำแข็ง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการสต๊อกน้ำไว้ใช้ สำหรับโรงงานของตนสต๊อกไว้ได้ ไม่เกิน 7 วันเท่านั้น หากมีการจ่ายน้ำเป็นเวลาก็คงต้องลดการผลิตลง หรือหากน้ำมีน้อยก็ต้องทำใจยุติการผลิตชั่วคราว คงต้องรอลุ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้าช่วงที่เขื่อนอุบลรัตน์งดปล่อยน้ำลงในลำน้ำชี แต่มั่นใจว่าแหล่งน้ำสำรองคงสามารถแก้ปัญหาได้

          สารคามสูญรายได้กว่า 400 ล.

          ด้านนายไพสิทธิ์ ดนตรี กลุ่มผู้เลี้ยง ปลากระชังบ้านดินดำ ต.เกิ้ง อ.เมือง กล่าวว่า สมาชิกให้ความร่วมมืองดเลี้ยงปลาในกระชัง แต่บางรายได้ขอเลี้ยงต่อไป เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดย ลดปริมาณลงเหลือกระชังละ 400-500 ตัว ซึ่งปลาในตลาดยังไม่ขาดแคลน หรือปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 70-80 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากมีปลากระชังของบริษัทยักษ์ที่เลี้ยงอยู่ใน เขื่อนลำปาว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ส่งเข้าตลาดทุกวัน

          นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ได้มีการแจ้งไปยังเกษตรกรและประชาชน ในพื้นที่ อ.เมือง อ. กันทรวิชัย อ.เชียงยืน และ อ.โกสุมพิสัย โดยขอความร่วมมือให้แพสูบน้ำขนาดเล็กงดสูบน้ำทำนาปรัง งดการเลี้ยงปลาในกระชัง พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559 ด้วย

          ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวประเมินว่า การงดทำนาปรังปีนี้ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง กันทรวิชัย เชียงยืน และโกสุมพิสัย ส่งผลให้เกษตรกรขาดรายได้เกือบ 400 ล้านบาท โดยคิดจากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกนาปรังที่เกวียนละ 5,000 บาท จากพื้นที่ปลูกปีละไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนไร่ ส่วนธุรกิจเลี้ยงปลากระชัง ในลำน้ำชีกว่า 4,000 กระชัง จะสูญเสียรายได้กว่า 30 ล้านบาท

          แพร่กั้นกระสอบทรายน้ำยม

          ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้ง ในจังหวัดแพร่ว่า พื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ ได้แก่ อำเภอเมือง สูงเม่น เด่นชัย และวังชิ้น ที่แม่น้ำยมไหลผ่าน รวมถึงลำน้ำสาขาแห้งขอด มีน้ำอยู่เพียงบางจุดตลอดเส้นทางแม่น้ำยมที่ไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ ของแพร่ ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันแกไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตรด้วยการกั้นกระสอบทรายในแม่น้ำยม และลอกรื้อผักตบชวาที่กีดขวางการไหลของน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ซึ่งที่ผ่านมามีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายในการปลูกพืชฤดูแล้ง เพราะขาดน้ำทำให้ผลผลิตเสียหาย อาทิ ถั่วเหลือง พริก และข้าว เป็นความพยายามของหลายฝ่ายที่ช่วยกันฝ่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 มกราคม 2559

แนะรัฐคิดรอบคอบก่อนร่วม TPP

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP)  ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสียของการเข้าร่วมข้อตกลง TPP ของไทย พร้อมได้ทยอยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาครัฐตามพื้นที่ต่างๆ ไปแล้ว โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นได้มุ่งประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการทางการค้า การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ การขึ้นทะเบียนตำรับยา การคุ้มครองสิทธิบัตร สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลการหารือกับภาคประชาสังคมและนักวิชาการ อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฯลฯส่วนใหญ่เสนอแนะให้มีการศึกษารายละเอียดของความตกลงอย่างรอบคอบ รวมถึงประเมินผลกระทบและผลประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับทั้งในมิติด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

อีกทั้งได้เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเกษตรให้ความรู้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับผลกระทบและมาตรการเยียวยา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมต่อความตกลง TPP ส่วนเรื่องมาตรการควบคุมยาสูบ ไม่ถือเป็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมไทย เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นภายใต้ความตกลง TPP และสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

ส่วนภาคธุรกิจ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมต่างๆส่วนใหญ่มีความพร้อมและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลง TPP ในกลุ่มสินค้า เช่น ข้าว น้ำตาลทรายดิบ กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ยา การขนส่งสินค้าทางอากาศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจขายตรง เป็นต้น

ขณะ ที่ภาคเกษตรและปศุสัตว์ อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงโคนม และสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เห็นว่า ไทยยังไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์กับประเทศสมาชิก TPP อาทิ สหรัฐ และออสเตรเลียได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มกราคม 2559

พาณิชย์รื้อกม.การค้าใหม่ ชี้ฉบับเก่าเอาผิดใครไม่ได้ ชง‘สมคิด’ลดการผูกขาด

รมว.พาณิชย์ ดันร่างแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ให้ “สมคิด” มั่นใจเข้าครม.ทันไม่เกินต้นเดือนหน้า

มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้ลงนามส่งร่างแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอย่างเร็วสุดในวันที่ 26 ม.ค.2559 หรืออย่างช้าจะเป็นวันที่ 2 ก.พ.2559 ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบ และจากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าสาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ได้กำหนดให้การประกอบธุรกิจของเอกชนและรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายในกรอบกติกาเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการประกอบการธุรกิจ แต่ให้มีข้อยกเว้นว่าการกระทำของรัฐวิสาหกิจที่ทำเพื่อความจำเป็นต่อการทำงานของรัฐบาล และประโยชน์ต่อสาธารณะที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และยังได้ปรับให้องค์กรกำกับดูแลเป็นองค์กรอิสระ มีกระบวนการคัดสรรคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระ และปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง พร้อมแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์และโครงสร้างทางเศรษฐกิจการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนบทลงโทษ ได้ปรับให้มีบทลงโทษทั้งทางอาญาและปกครอง เพื่อช่วยยับยั้งพฤติกรรมที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดให้มีมาตรการลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งจะช่วยแสวงหาพยานหลักฐานในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

“ร่างฉบับใหม่จะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุน, สร้างความเท่าเทียมกันในการประกอบธุรกิจ, ลดการผูกขาด และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการพัฒนาและแข่งขันได้ในระดับสากล”

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่มีกฎหมายฉบับนี้ เมื่อปี 2542 มีกรณีต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ารวมทั้งหมด 85 คดี มี 1 คดีที่ถึงพิจารณาแล้วส่งถึงอัยการ แต่สุดท้ายไม่ส่งฟ้อง และมีอีก 3 คดีที่ไม่ครบองค์ประกอบ สรุปไม่เคยมีคดีไหนที่ตัดสินออกมาได้เลย ทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาโดยตลอด และกรมก็มีการปรับปรุงมาโดยตลอดเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยแก้ไขได้ แต่ครั้งนี้ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังเห็นชอบให้เร่งแก้ไขเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 มกราคม 2559

กรอ. แจ้งเตือนโรงงานรับมือภัยแล้ง

กรอ.รับมือภัยแล้ง ส่งหนังสือแจ้งเตือนโรงงาน พร้อมขอความร่วมมือกรมทรัพฯ ใช้แหล่งน้ำบาดาล

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ล่าสุด กรอ. ได้เตรียมรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ โดยได้ส่งหนังสือ พร้อมให้อุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการใช้ปริมาณน้ำจำนวนมาก รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการอำนวยความสะดวกการจัดการแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ จะติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม นายพสุ กล่าวว่า ในส่วนของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาครัฐและหน่วยงานได้มีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบผลิตน้ำของโรงงาน ดังนั้น จึงคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 มกราคม 2559

พัฒนาพืชทนแล้ง...สู้ภาวะโลกร้อน

พัฒนาพืชทนแล้ง...สู้ภาวะโลกร้อน ทางเลือกภาคเกษตรแห่งอนาคต : โดย...ดลมนัส กาเจ

     กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สรุปถึงสถานการณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง จนไม่สามารถที่จะทำนาปรังได้ตามปกติในปัจจุบันว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,660 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง คือเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,600 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวมวันละ 3.73 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวมวันละ 15.69 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่แหล่งน้ำอื่นๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไร่นานอกเขตชลประทาน ทั้ง 352,528 บ่อ มีปริมาตรน้ำ 187.46 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุทั้งหมด (ณ 13 ม.ค.59) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งประเทศอีก 4,789 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 1,102.01 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61% ของความจุทั้งหมด

     ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามและดำเนินการด้านปฏิบัติฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยกรมฝนหลวงฯ ได้เตรียมจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุด ใช้เครื่องบิน 8 ลำ ที่ จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะสามารถเริ่มปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในเขื่อนได้ในช่วงวันที่ 20-24 มกราคมนี้ โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี และเขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี

     ในส่วนของการช่วยเหลือนั้น นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะแม่งาน ระบุว่า ได้ดำเนินการใน 2 มาตรการ คือส่งเสริมความรู้ไปแล้วจำนวน 38,645 ราย และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ภายใต้โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งมอบปัจจัยการผลิตแล้ว จำนวน 37,521 ราย อีกมาตรการหนึ่ง คือเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 กรณีพืชน้ำน้อยทั้งประเทศ เป็นต้น

     ขณะที่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ได้เดินหน้าฝ่าวิกฤติภัยแล้ง ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยจัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชใช้น้ำน้อยแก่เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร 60 ราย และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบ

     พร้อมกันนั้นสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายให้แก่เกษตรกรที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 220 ตัน แยกเป็น เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียว 100 ตัน ถั่วเหลือง 100 ตัน ถั่วลิสง 20 ตัน และเชื้อไรโซเบียม 5.5 ตัน เพื่อนำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย ขณะนี้เกษตรกรเริ่มทยอยปลูกไปแล้ว คาดว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ไม่น้อยกว่า 2,200 ตัน เป็นเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 1,000 ตัน ถั่วเขียว 1,000 ตัน และถั่วลิสง 200 ตัน

     อย่างไรจากการประเมินถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบันถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติที่สุดในกว่าทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุหลักประการหนึ่งเกิดมาจากการผิดพลาดในการบริหารงานจัดการน้ำในรัฐบาลชุดก่อน อีกประการเกิดเหตุการณ์เอลนีโญที่ทำให้ฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาล และอีกสาเหตุหนึ่งที่น่าเป็นห่วงจากมาจากภาวะโลกร้อนที่ลุกลามไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก และนับวันที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จะกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร ทางออกจำเป็นอย่างที่ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งที่อาจจะรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต

     ในมุมมองของ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ต่อสถานการณ์ภัยแล้งว่า ปีนี้ไม่น่าจะรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว เพราะจากการประมวลภาพรวมของน้ำในมหาสมุทร และสภาพภูมิอากาศ คาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคม 2559 ฝนจะเริ่มตกแล้ว หากมีปริมาณมากเหมือนปี 2554 อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ พอจะมีน้ำต้นทุนสำรองไว้สำหรับการเกษตรในปีหน้าได้ แต่หากปริมาณน้อยเหมือนปีที่ผ่านต้องใช้เวลาในการกักเก็บอย่างน้อยอีก 2-3 ปี

     “ที่บางคนเข้าใจว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นเหตุทำให้เกิดภัยแล้ง จริงๆ แล้วเกี่ยวข้องน้อย คือปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาล ที่น่ากลัวคือภาวะโลกร้อน ที่เพิ่มขึ้นทุกปี เดิมเราโค่นป่ามาเยอะ แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์และ สปป.ลาว ป่ายังอุดมสมบูรณ์ทำให้ประเทศไทยมีผลพลอยได้ด้วย แต่ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีการโค่นป่าหันมาพัฒนาภาคการเกษตร ต่อไปน้ำฝนอาจมีน้อย” รศ.ดร.บัญชา กล่าว

     ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนที่เน้นด้านการเกษตรมายาวนาน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอาการที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นพัฒนาพืชให้ทนแล้ง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประเทศชาติที่จะไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต่อไป มิฉะนั้นภาคเกษตรของไทยมีปัญหาแน่นอนหากไม่รับมือตั้งแต่วันนี้

     “เมื่อน้ำมีน้อย การเพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ ต่อไปเกษตรกรต้องจัดหาแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง อาทิ การขุดสระรองรับน้ำในฤดูฝน เลี้ยงปลาด้วย เพื่อเพิ่มรายได้และบริโภคเอง หรือเจาะน้ำบาดาลก็ได้ น้ำที่เคยใช้สายลากรดต้นไม้ ต้องหันมาใช้ระบบน้ำหยด ที่ประหยัดน้ำกว่า เกษตรกรรายย่อย ต้องหันมาปลูกพืชผสมผสาน ปัญหาคือเกษตรกรในภาคกลางที่ยังเช่าที่ทำนา ตรงนี้จะลงทุนทำสระน้ำเองก็ไม่คุ้มเพราะไม่ใช่ที่ของตัวเอง” รักษาราชการแทนอธิการบดี มก. ระบุถึงภาคเกษตรไทย

     ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์แล้งที่จะเกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปในอนาคต

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 25 มกราคม 2559

พลังเกษตร

ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตเส้นศูนย์สูตร ได้เปรียบกว่าหลายประเทศ ภัยหนาว ภัยน้ำ และพายุ ไม่ได้เกิดบ่อยๆ เอาเมล็ดพันธุ์ฝังลงดิน ก็งอกเป็นอาหารให้มนุษย์ เลี้ยงสัตว์ทั้งบนดินและในน้ำก็เติบโตรวดเร็ว คนไทยจึงมุ่งผลิตเกษตร www.palangkaset.com คือเว็บไซต์ที่รวมองค์ความรู้เชิงลึกด้านการเกษตร ที่คัดสรรทักษะและปัญญาญาณของทีมงานมืออาชีพ

พืชพลังงาน ความรู้เคล็ดลับต่างๆ ประโยชน์ของมันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย ปาล์มน้ำมัน เช่น สัตว์บก รวบรวมความรู้ในการทำฟาร์มต่างๆทั้ง วัว ไก่ หมู นกกระทา รวมถึงแหล่งโปรตีนอาหารสัตว์ เรือนเลี้ยงสัตว์ สัตว์น้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆทั้งกบ ปลาต่างๆ กุ้ง รวมถึงสาหร่าย และอาหารของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆอีกเช่น ข้าวเศรษฐกิจ ยางเศรษฐกิจ ผักเศรษฐกิจ ไม้ดอกไม้ประดับ เมืองไม้ผล...

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 25 มกราคม 2559

สั่งรื้อต้นทุนเอทานอลปรับราคาน้ำมัน

สั่ง สนพ.ศึกษาต้นทุนเอทานอล หลังราคายังสูงแซงราคาน้ำมันในช่วงขาลง ย้ำไม่ทิ้ง อี85

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาต้นทุนราคาเอทานอล ตั้งแต่พืชวัตถุดิบ ด้านการตลาด รวมทั้งนำไปเปรียบเทียบกับราคาเอทานอลของประเทศเพื่อนบ้านว่าสูงไปหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาเอทานอลที่ใช้ในปัจจุบันส่งผลต่อต้นทุนการผลิตแก๊สโซฮอล์ที่ยังสูง สวนทางกับภาวะที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงเช่นนี้

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงว่าราคาเอทานอลที่สูงนั้นเกิดจากสาเหตุใดเพื่อนำผลการศึกษาไปสู่การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ให้มีความเหมาะสม เพราะท้ายสุดผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระ

“ราคาน้ำมันโลกอยู่ในช่วงขาลง แต่ต้นทุนการผลิตแก๊สโซฮอล์สูง เพราะเอทานอลที่ผลิตจากพืชวัตถุดิบยังสูงเมื่อเทียบกับเนื้อน้ำมัน จึงต้องการทราบว่าสาเหตุมาจากอะไร จะมีแนวทางใดในการแก้ไขในระยะยาวได้บ้าง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเอทานอลเท่านั้นที่สูง การผลิตไบโอดีเซลก็มีต้นทุนสูงเช่นกัน ดังนั้น จึงให้ไปศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งหมดเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับโครงสร้างราคาแก๊สโซฮอล์ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค”นายอารีพงศ์ กล่าว

นายอารีพงศ์ กล่าวถึงยอดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์อี85 ที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ราคาน้ำมันลดลง เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์นิยมเติมแก๊สโซฮอล์อี10 และอี20 มากกว่า แม้จะมีกลไกด้านราคาที่ถูกกว่าน้ำมันทั้งสองประเภทมาจูงใจก็ตาม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพลังงานพยายามปลดล็อกให้เกิดการแข่งขันในการผลิตแก๊สโซฮอล์อี85 ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคโรงกลั่นน้ำมันเพื่อที่จะผลักดันให้มีต้นทุนที่ลดลง

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันในตอนนี้แม้จะปรับลดลงต่อเนื่องแต่ก็ยังมีความผันผวนหากเทียบราคาน้ำมันตลาดโลกตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กับเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กับเมื่อ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สังเกตได้ว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันยังขึ้นลงเร็ว ดังนั้นจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ในขณะที่การดูแลราคาขายปลีกน้ำมันยังปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่เหมาะสม

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ส่วนจะมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มเพื่อชะลอการลดลงของราคาและทำให้การใช้น้ำมันเกิดประสิทธิภาพนั้น ยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ลดลงประชาชนจะได้ประโยชน์ในหลักการตอนนี้น่าจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคามากกว่า ซึ่งจะใช้ทั้งวิธีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และการปล่อยให้ราคาลดลงไปตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข้อเรียกร้องให้รัฐเข้าไปพิจารณาโครงสร้างต้นทุนของพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีราคาแพงกว่าน้ำมันถึง 50-60%

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 มกราคม 2559

โรงงานน้ำตาลขอนแก่นมึนนโยบายเขตศก.พิเศษ กนพ.ตีตกแผนตั้งโรงงาน3หมื่นล.

โรงงานน้ำตาลขอนแก่นมึนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษรัฐบาลหลัง กนพ.มีมติไม่อนุมัติโครงการตั้งโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้า-เอทานอล จ.สระแก้ว มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระเรื่องการขอจัดตั้งโรงงานน้ำตาลของบริษัท นิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลของกลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ในรูปแบบโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร หรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และฮาลาลปาร์ค บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 15,000-30,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาล กำลังการผลิต 35,000 ตันต่อวัน

 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 90 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปี ระยะที่ 2 ลงทุนทำอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โรงงานเอทานอล ขนาด 2 แสนลิตรต่อวัน โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ภายใน 5-7 ปี และระยะที่ 3 ลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประเภทไบโอพลาสติก ไบโอเคมี เชื่อมโยงนิคม อาหารฮาลาล อุตสาหกรรมขนมหวาน แปรรูปผักและผลไม้ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำสมุนไพร ภายใน 10 ปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติโครงการดังกล่าว เนื่องจากขัดต่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ต้องมีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่อนุญาตไว้แล้วไม่ น้อยกว่า 50 กิโลเมตรโดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้นตรง ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่ก็ตาม จึงไม่สามารถอนุญาตได้ ซึ่งมติดังกล่าวถือเป็นการยืนตามความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่ของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลตะวันออกที่ตั้งอยู่เดิมเพียง 22 กิโลเมตร จึงเกรงจะเกิดผลกระทบกันขึ้น

"ก่อนหน้านี้ดูเหมือนโครงการจะมีความ หวังเมื่อฝ่ายเลขานุการของ กนพ.ได้ให้ความเห็นให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการ กฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรา 30 และมาตรา 32(1) (2) (3) (4) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ภายในเวลา 1 เดือน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากนี้ทางบริษัทคงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป โดยเฉพาะกรณีการใช้เรื่องระยะห่างระหว่างโรงงาน 50 กม.มาเป็นเหตุผลในการพิจารณา แทนที่จะพิจารณาเรื่องความเหมาะสมและประโยชน์ของโครงการ ถือเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับการมีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าไปลงทุน

"ถ้ายังอิงกับกฎหมายปัจจุบัน แล้วจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษไปทำไม เหมือนกฎหมายสรรพากรยังให้เสียภาษี 20% กฎหมายผังเมืองสีเขียวสร้างอุตสาหกรรมไม่ได้ แล้วช่องทางพิเศษจะมีไว้ทำไม การนำเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานน้ำตาลมาพิจารณา ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ถ้าติงว่าจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตอันนั้น ผมรับได้ แต่ถ้ามาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหมดทุกอย่าง แล้วคนที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้อะไร ไม่ต่างกับการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปกติ ไม่มีสิทธิประโยชน์พิเศษอะไร" นายชลัชกล่าว 

  จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 มกราคม 2559

ภัยแล้งพ่นพิษ นำเข้าปุ๋ยปีก่อนลด5แสนตัน-ผู้ค้าหนุนขุดโปแตช

ภัยแล้งทำพื้นที่ปลูกข้าวลดกว่า 10 ล้านไร่ ส่งผลกระทบยอดนำเข้าปุ๋ยเคมี ปี 2558 ลด 5 แสนกว่าตัน สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทยหนุนโครงการอาเซียน โปแตช หวังให้ชาวนาใช้ปุ๋ยราคาถูกและเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิ หารือกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยที่โกดังก่อนส่งให้ตัวแทนจำหน่ายในต่างจังหวัดแทนการตรวจสอบปลายทาง

นางวรารัตน์ วีรยวรางกูร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในไทยปีที่ผ่านมาว่า มีการนำเข้าประมาณ 5 ล้านตัน เทียบกับปี 2557 ที่มีการนำเข้า 5.59 ล้านตัน ความต้องการใช้ที่ลดลงมาจากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งนาปี-นาปรังลดลงจาก 76.83 ล้านไร่ในปี 2557 เหลือ 65.53 ล้านไร่ จากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ทำให้พื้นที่นาปรังลดลง และจากการที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กำลังซื้อของเกษตรกรน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรลดลงไปด้วย ประกอบกับนโยบายรัฐบาลในการนำโซนนิ่งการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรปลูกพืชให้เหมาะสมกับดินและสภาพแวดล้อม อาจมีผลต่อการเลือกใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยเคมีที่เปลี่ยนไป

ส่วนความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตที่เติบโตตามกระแสความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น จากการประมาณการเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีปีละประมาณ 5.8 แสนตัน ขณะที่การนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ใน 9 เดือนแรกปี 2558 เท่ากับ 1,964 ตัน มูลค่า 144 ล้านบาท และส่งออก 59,686 ตัน มูลค่า 386 ล้านบาท

นางวรารัตน์ กล่าวต่อว่า ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศถึง 95% ส่งผลให้ราคาปุ๋ยต้องเป็นไปตามราคาที่นำเข้า ในขณะที่การจำหน่ายปุ๋ยเคมีในประเทศยังถูกควบคุมราคาโดยกรมการค้าภายใน ทางสมาคมจึงขอสนับสนุนให้มีการผลิตปุ๋ยโปแตชและปุ๋ยอื่น ๆในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตปุ๋ยโปแตชของไทยตามโครงการอาเซียน โปแตชที่จะผลิตออกสู่ตลาดในปี 2560 ปริมาณ 1 ล้านตัน จะช่วยให้ราคาปุ๋ยลดลงประมาณตันละ 20 เหรียญสหรัฐ เพราะไม่ต้องเสียค่าระวางเรือนำเข้า ซึ่งการใช้ปุ๋ยโปแตชในนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ที่ผ่านมา สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิจากไร่ละ 600 กว่า กก.เป็น 1,050 กก./ไร่มาแล้ว เนื่องจากปุ๋ยชนิดนี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักเพิ่มความเต่งของข้าวเต็มเมล็ดได้ดีมาก หากมีการขุดขึ้นมาใช้จะช่วยชาวนาภาคอีสานได้มาก อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงจัดสรรผลประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม

"เท่าที่ทราบมาโครงการอาเซียน โปแตช ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีพื้นที่โครงการ 4,000-5,000 ไร่ ใช้พื้นที่จริงประมาณ 2,000 ไร่ ที่เหลือจะเป็นบัฟเฟอร์โซน ป้องกันความปลอดภัย จากการไปดูงานที่เยอรมนีที่ทำเหมืองโปแตช ก็เป็นไปด้วยดี ทั้งที่ขุดตามสายแร่ใต้ดินยาวถึง 4,000 กม."

ส่วนปัญหาของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมีในขณะนี้ ทางสมาคมร่วมกับกรมวิชาการเกษตรกำลังหารือกันเรื่อง การให้กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบมาตรฐานปุ๋ยเคมีหน้าโกดัง ก่อนส่งให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแทนการตรวจสอบที่ปลายทางโดยสารวัตรเกษตร เพราะช่วงการส่งมอบปุ๋ยให้ตัวแทนจำหน่ายอาจมีการปลอมปนระหว่างการขนส่งได้

"ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลัก N-P-K ทางกรมวิชาการเกษตร กำหนดเคร่งครัด ธาตุอาหารแต่ละชนิดจะต่ำกว่ามาตรฐาน 10% จากที่กำหนดไว้ไม่ได้ ปุ๋ยเคมีที่ไทยส่งออกก็เหมือนกัน ต้องทำตามมาตรฐานนี้ ในขณะนี้จีนคู่แข่งไทยไม่สนใจว่าผู้ส่งออกของตนจะทำตามมาตรฐานหรือไม่ ทำให้ไทยส่งออกปุ๋ยเคมีไปยังประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างสูง เฉพาะปีที่ผ่านมาส่งออกผ่านด่านศุลกากรไม่ต่ำกว่าปีละ 3.3 แสนตัน"

  จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 24 มกราคม 2559

นายกฯลงพื้นที่แก้ภัยแล้งสั่งทำข้อมูลอีสานวิกฤติน้ำแห้ง

          “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่นครสวรรค์-ชัยนาท ตรวจมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งสั่งสำรวจขุดบ่อพื้นยาง 1,200 บ่อทั่วประเทศ บรรเทาความเดือดร้อน แนะทำข้อมูลใช้น้ำเพื่อให้มีใช้อย่างทั่วถึง ชาวอุบลฯภัยแล้งลาม แม่น้ำมูลเริ่มแห้งปลาในกระชังตายเกลื่อนเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ลำพูนตั้งศูนย์แก้ปัญหาภัยแล้ง เน้นบริหารน้ำให้เพียงพอในช่วงวิกฤติ ขณะที่ชาวปากแคว จ.สุโขทัย เร่งขนกระสอบทรายทำฝายกั้นน้ำยมรับมือภัยแล้ง

          สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มวิกฤติ หลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบ ขณะที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐไม่นิ่งนอนใจ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เดินทางลงพื้นที่ หมู่ 4 บ้านห้วยโรง ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เพื่อติดตามแปลงเกษตรต้นแบบปลูกพืชใช้น้ำน้อย แทนการปลูกข้าวในช่วงหน้าแล้ง พร้อมชมนิทรรศการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง 8 มาตรการ ภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร โดยมีนายธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ ข้าราชการ และประชาชนให้การต้อนรับ

          ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางมายังมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) กลุ่ม จ.ภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังประชุมว่า วันนี้ได้เห็นความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีหลายโครงการที่เกิดขึ้น เช่น ผู้นำ ภาคเอกชนเสนอความร่วมมือในผลผลิตอ้อยแบบ 1 ต่อ 1 โดยรัฐบาล เอกชน และสหพันธ์อ้อย รวมถึงอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ด การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขุดบ่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,200 บ่อทั่วประเทศ โดยนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุรองพื้นบ่อ 1,900 ตัน กำลัง สำรวจพื้นที่ดูสภาพดินว่ามีพื้นที่ไหนจำเป็นต้องใช้ยางแผ่นปู หรือใช้เครื่องฉีดน้ำยางดิบลงไป ตอนนี้ทางกองทัพบกกำลังเตรียมการอยู่

          จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางไปโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ หมู่ 7 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง มีนายคณิต เอี่ยม-ระหงษ์ ผวจ.ชัยนาท ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งานแรกคือเรื่องน้ำ แหล่งน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง ต้องทำข้อมูลพื้นที่ไหนใช้น้ำเยอะ พื้นที่ไหนใช้น้ำน้อย จากนั้นมาจัดสรร ส่วนด้านเศรษฐกิจต้องหาวิธีแก้ปัญหาสู่ความสำเร็จ เหมือนคำสอนของพ่อหลวงว่าต้องทำให้สำเร็จจากภายใน ต้องส่งเสริมตั้งแต่ภายในชุมชน เล็กๆ โดยเชื่อมโยงในทุกกิจกรรม

          ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังภายในแม่น้ำมูลในพื้นที่บ้านแพง ต.สว่าง อ.สว่างวีรวงศ์ และพื้นที่บ้านดงบัง ต.ดอนมดแดง อ.ดอนมดแดง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังเริ่มตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้เกษตรกร นายคำพอง แสนบุญศิริ อายุ 40 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เปิดเผยว่า ภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดต่ำ จนปลาขาดออกซิเจนและตายยกกระชังไปแล้ว 2 กระชัง รวม น้ำหนักกว่า 600 กิโลกรัม จากทั้งหมด 20 กระชัง นอกจากนี้พบว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบหลายราย มีปลาตายกว่า 30,000 กิโลกรัม ความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายเกษตรกรกว่า 30 ราย จะได้รับผลกระทบอีก

          จ.ศรีสะเกษ ประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่บ้านเตาเหล็ก หมู่ 8 ต.ละเอาะ อ.น้ำเกลี้ยง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน สระน้ำที่ชาวบ้านขุดไว้กลางทุ่งนาเพื่อกักเก็บน้ำฝนใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เริ่มแห้งขอด นายทรงวิทย์ สวัสิราช อายุ 40 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในพื้นที่เริ่มแห้งจนควายที่เลี้ยงไว้ไม่มีน้ำกิน ต้องไปตักน้ำจากสระที่ขุดไว้กลางทุ่งนามาให้วัวกิน คาดว่าน้ำในสระจะหมดภายใน 1 เดือน จากนั้นจะต้องเข็นรถไปตักน้ำจากหนองน้ำในพื้นที่ อ.พยุห์ อยู่ห่างไปประมาณ 4 กิโลเมตร

          ที่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พล.ต.อภิชาติ สุขแจ่ม ผบ.มทบ.17 เป็นประธานประชุมวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคในช่วงหน้าแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่น พล.ต.อภิชาติ เปิดเผยว่า พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการใช้น้ำ พร้อมกำชับให้ตรวจสอบแต่ละพื้นที่ ไม่ให้นำน้ำไปใช้ในการเกษตรเพราะอาจทำให้น้ำมีไม่เพียงพอ ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

          นายณรงค์ อ่อนสอาด ผวจ.ลำพูน เปิดเผยว่า ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี ทางจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีเจ้าหน้าที่คอยปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จังหวัดมุ่งบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เฝ้าระวังและตรวจสอบโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง ไม่ให้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเป็นอันขาด

          ที่บริเวณหน้าลานอนุสารีย์พ่อขุมงำเมือง ริมกว๊านพะเยา จ.พะเยา นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พะเยา เป็นประธานปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 30 คัน ตามโครงการ “กว๊านสวยน้ำใส ประชารวมใจบำบัดน้ำเสียกว๊านพะเยา” นายศุภชัยเปิดเผยว่า ปัจจุบันกว๊านพะเยามีประมาณน้ำเพียง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัญหาภัยแล้งทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย และมีการแพร่ระบาดของสาหร่าย สีเขียวแกมน้ำเงิน จึงนำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพมาฉีดพ่นลงกว๊านพะเยา เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้น ไม่ให้กระทบการผลิตน้ำประปาของจังหวัด

          ที่บริเวณแม่น้ำยม หมู่ 1 ต.ปากแคว อ.เมือง สุโขทัย นายบุญเสริม เชยวัดเกาะ นายก อบต.ปากแคว นำชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน นำกระสอบทรายมาทำฝายกั้นน้ำในแม่น้ำยม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร นายบุญเสริมเปิดเผยว่า นายปิติ แก้วสลับสี ผวจ.สุโขทัย ประกาศเตือนให้ทุกพื้นที่เตรียมรับมือภัยแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของ ต.ปากแคว อยู่ติดกับแม่น้ำยมเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตร ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเริ่มลดลงบางแห่งเริ่มแห้งขอด อบต.ปากแคว ขอความร่วมมือจากชาวบ้านนำกระสอบทราย 2,000 ใบ มากั้นเป็นฝายเพื่อกักเก็บน้ำช่วงดังกล่าวให้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมือให้ชาวบ้านใช้น้ำอย่างประหยัด

          วันเดียวกัน พ.ท.ณฑี ทิมเสน ผบ.ม.พัน. 28 ค่ายพ่อขุนบางกลางหาว กองพลทหารม้าที่ 1 เป็น ประธานเปิดโครงการกำจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำในแหล่งน้ำ ที่คลองห้วยโปร่ง หมู่ 1 ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พ.ท.ณฑีเปิดเผยว่า ทหารและชาวบ้านจะช่วยกันขุดลอกเก็บผักตบชวาภายในคลอง เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ พบว่าคลองบางช่วงมีดินเป็นสันดอนทำให้การไหลและการกับเก็บน้ำน้อย จะของบประมาณโครงการหัวใจเดียวกัน นำเครื่องจักรมาขุดลอกคลอกให้กว้างและลึกกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง เช่นเดียวกับ นายภานุ แย้มศรี ผวจ.ลพบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ดำริห์ สุขพันธ์ ผบ.มทบ.13 ร่วมกันนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกผักตบชวาภายในแม่น้ำบางขาม ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง พร้อมนำสารอีเอ็มใส่ในแม่น้ำเพื่อปรับสภาพที่เน่าเสียให้ใสสะอาด

  จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 24 มกราคม 2559

กรมพัฒนาที่ดินเตรียมช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

การส่งสัญญาณปัญหาภัยแล้งมีมาตั้งแต่ปี 2558 ยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากพี่น้องเกษตรกรเริ่มมีการกักเก็บ และแย่งชิงน้ำตามลำธารธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558

ที่ผ่านมา เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 เพื่อสนับสนุนโครงการบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559 มีกรอบการดำเนินงานจำนวน 8 มาตรการ1. มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการ ของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8. มาตรการสนับสนุนอื่น ๆ

กรมพัฒนาที่ดินถือเป็นหนึ่งกรมที่อยู่ในแผนการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นต้นไป แม้ว่าน้ำใน 4 เขื่อนหลักจะได้ปริมาณน้ำใช้การได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก เพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ได้ดังนั้นเพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้และต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม 2559 จึงขอให้เกษตรกรพิจารณางดการทำนาปรัง

เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสูง ทำให้ต้องประสบปัญหาการขาดทุน ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคตกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานสนองนโยบายดังกล่าว

โดยดำเนินการจัดทำแผนงาน/งบประมาณ ในการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 ตามข้อมูลโครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งด้านการเกษตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้กรอบมาตรการ ที่ 1 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน กิจกรรมการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการการจัดทำปุ๋ยหมัก เป้าหมาย 763 ตัน เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 1,180 ราย และโครงการทำน้ำหมักชีวภาพ เป้าหมาย 503,232 ลิตร เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 2,975 ราย

นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนกิจกรรมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 7,827 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 862 ราย และดำเนินการตามกรอบมาตรการที่ 4 โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/2559 โดยให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดเข้าไปร่วมบูรณาการ การทำงานด้าน ต่าง ๆ กับหน่วยงานอื่นๆ และชุมชนท้องถิ่น ในการทำหน้าที่สำรวจพื้นที่และชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายความช่วยเหลือของรัฐบาลกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งพร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้กับประชาชนตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลของโครงการตามแผนชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้ง ด้านการเกษตรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรพื้นที่เป้าหมายจำนวน 4,155 ราย จะได้รับประโยชน์โครงการดังกล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559 

นายกฯลุยภัยแล้งลงพื้นที่"แก้วิกฤติ"ทำข้อมูลช่วยเหลืออีสาน-น้ำแห้งขอด

          “บิ๊กตู่” ลงพื้นที่นครสวรรค์-ชัยนาท ตรวจมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งสั่งสำรวจขุดบ่อพื้นยาง 1,200 บ่อทั่วประเทศ บรรเทาความเดือดร้อน แนะทำข้อมูลใช้น้ำเพื่อให้มีใช้อย่างทั่วถึง ชาวอุบลฯภัยแล้งลาม แม่น้ำมูลเริ่มแห้งปลาในกระชังตายเกลื่อนเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ลำพูนตั้งศูนย์แก้ปัญหาภัยแล้ง เน้นบริหารน้ำให้เพียงพอในช่วงวิกฤติ ขณะที่ชาวปากแคว จ.สุโขทัย เร่งขนกระสอบทรายทำฝายกั้นน้ำยมรับมือภัยแล้ง

          สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มวิกฤติ หลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบ ขณะที่หลายหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐไม่นิ่งนอนใจ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เดินทางลงพื้นที่ หมู่ 4 บ้านห้วยโรง ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เพื่อติดตามแปลงเกษตรต้นแบบปลูกพืชใช้น้ำน้อย แทนการปลูกข้าวในช่วงหน้าแล้ง พร้อมชมนิทรรศการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง 8 มาตรการ ภายในศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร โดยมีนายธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ ข้าราชการ และประชาชนให้การต้อนรับ

          ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางมายังมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ร่วมประชุม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) กลุ่ม จ.ภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังประชุมว่า วันนี้ได้เห็นความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีหลายโครงการที่เกิดขึ้น เช่น ผู้นำ ภาคเอกชนเสนอความร่วมมือในผลผลิตอ้อยแบบ 1 ต่อ 1 โดยรัฐบาล เอกชน และสหพันธ์อ้อย รวมถึงอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาบึงบอระเพ็ด การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขุดบ่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,200 บ่อทั่วประเทศ โดยนำยางพารามาใช้เป็นวัสดุรองพื้นบ่อ 1,900 ตัน กำลัง สำรวจพื้นที่ดูสภาพดินว่ามีพื้นที่ไหนจำเป็นต้องใช้ยางแผ่นปู หรือใช้เครื่องฉีดน้ำยางดิบลงไป ตอนนี้ทางกองทัพบกกำลังเตรียมการอยู่

          จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางไปโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ หมู่ 7 ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง มีนายคณิต เอี่ยม-ระหงษ์ ผวจ.ชัยนาท ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งานแรกคือเรื่องน้ำ แหล่งน้ำเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง ต้องทำข้อมูลพื้นที่ไหนใช้น้ำเยอะ พื้นที่ไหนใช้น้ำน้อย จากนั้นมาจัดสรร ส่วนด้านเศรษฐกิจต้องหาวิธีแก้ปัญหาสู่ความสำเร็จ เหมือนคำสอนของพ่อหลวงว่าต้องทำให้สำเร็จจากภายใน ต้องส่งเสริมตั้งแต่ภายในชุมชน เล็กๆ โดยเชื่อมโยงในทุกกิจกรรม

          ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังภายในแม่น้ำมูลในพื้นที่บ้านแพง ต.สว่าง อ.สว่างวีรวงศ์ และพื้นที่บ้านดงบัง ต.ดอนมดแดง อ.ดอนมดแดง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังเริ่มตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้เกษตรกร นายคำพอง แสนบุญศิริ อายุ 40 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เปิดเผยว่า ภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลลดต่ำ จนปลาขาดออกซิเจนและตายยกกระชังไปแล้ว 2 กระชัง รวม น้ำหนักกว่า 600 กิโลกรัม จากทั้งหมด 20 กระชัง นอกจากนี้พบว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบหลายราย มีปลาตายกว่า 30,000 กิโลกรัม ความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายเกษตรกรกว่า 30 ราย จะได้รับผลกระทบอีก

          จ.ศรีสะเกษ ประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่บ้านเตาเหล็ก หมู่ 8 ต.ละเอาะ อ.น้ำเกลี้ยง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน สระน้ำที่ชาวบ้านขุดไว้กลางทุ่งนาเพื่อกักเก็บน้ำฝนใช้ในการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เริ่มแห้งขอด นายทรงวิทย์ สวัสิราช อายุ 40 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เปิดเผยว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในพื้นที่เริ่มแห้งจนควายที่เลี้ยงไว้ไม่มีน้ำกิน ต้องไปตักน้ำจากสระที่ขุดไว้กลางทุ่งนามาให้วัวกิน คาดว่าน้ำในสระจะหมดภายใน 1 เดือน จากนั้นจะต้องเข็นรถไปตักน้ำจากหนองน้ำในพื้นที่ อ.พยุห์ อยู่ห่างไปประมาณ 4 กิโลเมตร

          ที่เทศบาลเมืองสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พล.ต.อภิชาติ สุขแจ่ม ผบ.มทบ.17 เป็นประธานประชุมวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคในช่วงหน้าแล้ง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำท้องถิ่น พล.ต.อภิชาติ เปิดเผยว่า พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง จึงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการใช้น้ำ พร้อมกำชับให้ตรวจสอบแต่ละพื้นที่ ไม่ให้นำน้ำไปใช้ในการเกษตรเพราะอาจทำให้น้ำมีไม่เพียงพอ ทุกฝ่ายพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

          นายณรงค์ อ่อนสอาด ผวจ.ลำพูน เปิดเผยว่า ภัยแล้งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี ทางจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีเจ้าหน้าที่คอยปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จังหวัดมุ่งบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน เฝ้าระวังและตรวจสอบโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง และแม่น้ำกวง ไม่ให้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเป็นอันขาด

          ที่บริเวณหน้าลานอนุสารีย์พ่อขุมงำเมือง ริมกว๊านพะเยา จ.พะเยา นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผวจ.พะเยา เป็นประธานปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 30 คัน ตามโครงการ “กว๊านสวยน้ำใส ประชารวมใจบำบัดน้ำเสียกว๊านพะเยา” นายศุภชัยเปิดเผยว่า ปัจจุบันกว๊านพะเยามีประมาณน้ำเพียง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัญหาภัยแล้งทำให้น้ำเริ่มเน่าเสีย และมีการแพร่ระบาดของสาหร่าย สีเขียวแกมน้ำเงิน จึงนำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพมาฉีดพ่นลงกว๊านพะเยา เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดียิ่งขึ้น ไม่ให้กระทบการผลิตน้ำประปาของจังหวัด

          ที่บริเวณแม่น้ำยม หมู่ 1 ต.ปากแคว อ.เมือง สุโขทัย นายบุญเสริม เชยวัดเกาะ นายก อบต.ปากแคว นำชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน นำกระสอบทรายมาทำฝายกั้นน้ำในแม่น้ำยม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร นายบุญเสริมเปิดเผยว่า นายปิติ แก้วสลับสี ผวจ.สุโขทัย ประกาศเตือนให้ทุกพื้นที่เตรียมรับมือภัยแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่ของ ต.ปากแคว อยู่ติดกับแม่น้ำยมเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตร ขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเริ่มลดลงบางแห่งเริ่มแห้งขอด อบต.ปากแคว ขอความร่วมมือจากชาวบ้านนำกระสอบทราย 2,000 ใบ มากั้นเป็นฝายเพื่อกักเก็บน้ำช่วงดังกล่าวให้มากที่สุด พร้อมขอความร่วมมือให้ชาวบ้านใช้น้ำอย่างประหยัด

          วันเดียวกัน พ.ท.ณฑี ทิมเสน ผบ.ม.พัน. 28 ค่ายพ่อขุนบางกลางหาว กองพลทหารม้าที่ 1 เป็น ประธานเปิดโครงการกำจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำในแหล่งน้ำ ที่คลองห้วยโปร่ง หมู่ 1 ต.บ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พ.ท.ณฑีเปิดเผยว่า ทหารและชาวบ้านจะช่วยกันขุดลอกเก็บผักตบชวาภายในคลอง เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ พบว่าคลองบางช่วงมีดินเป็นสันดอนทำให้การไหลและการกับเก็บน้ำน้อย จะของบประมาณโครงการหัวใจเดียวกัน นำเครื่องจักรมาขุดลอกคลอกให้กว้างและลึกกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง เช่นเดียวกับ นายภานุ แย้มศรี ผวจ.ลพบุรี พร้อมด้วย พล.ต.ดำริห์ สุขพันธ์ ผบ.มทบ.13 ร่วมกันนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกผักตบชวาภายในแม่น้ำบางขาม ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง พร้อมนำสารอีเอ็มใส่ในแม่น้ำเพื่อปรับสภาพที่เน่าเสียให้ใสสะอาด

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559 

ไทย-ปากีสถาน ถกFTAรอบที่2 เปิดเสรีการค้า

น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 2 ณ กรุงอิสลามาบัด ระหว่างวันที่ 25-27 ม.ค.นี้

โดยจะหารือถึงรูปแบบการลดภาษี รวมทั้งข้อบทของความตกลงด้านการค้าสินค้าในส่วนของการค้าสินค้า กระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า รวมทั้งประเด็นด้านกฎหมายอื่นๆ

ทั้งนี้ จะมีการทบทวนแผนการเจรจา รวมถึงเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบ เพื่อให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในกลางปี 2560 ตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายไว้

การจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศ ทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ไทยและปากีสถานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยปากีสถานมีที่ตั้งที่สามารถเป็นแหล่งการลงทุนและกระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ขณะที่ไทยตั้งอยู่ตรงกลางของกลุ่มอาเซียน.

 จาก http://www.thaipost.net วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559 

ดันโซนนิ่งเกษตรสู้ภัยแล้ง นายกฯแนะปลูกพืชใช้น้ำน้อย-ลุยประชารัฐล็อต

          "สมคิด"เล็งผุดแพ็คเกจ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรกรอุตสาหกรรม

          นายกฯ นำทีมรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตาม แก้ปัญหาภัยแล้ง "นครสวรรค์-ชัยนาท" ท่ามกลางการต้อนรับอบอุ่น ยันรัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ-ทำโซนนิ่งการเกษตร พร้อมแนะชาวบ้านหันปลูกพืชใช้น้ำน้อยในสถานการณ์ภัยแล้ง ด้าน"สมคิด"เผยรัฐบาลเล็งผลักดัน"ประชารัฐ" ล็อตใหม่ ดึงตลาดเข้าหาชุมชน-ชักชวนร้านสะดวกซื้อรับซื้อสินค้าเกษตรถึงที่ พร้อมผุดโครงการ "1ตำบล1เอสเอ็มอี" สร้างเกษตรกรไทยให้เป็น"เถ้าแก่น้อย"

          วานนี้ (22ม.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และชัยนาท เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง ตาม 8 มาตรการของรัฐบาล

          คณะของนายกรัฐมนตรี เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ถึงโรงเรียนวัดราษฎร์อนุสรณ์ ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน เยี่ยมชมการปลูกพืช พร้อมรับฟังรายงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง  รวมถึงมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล

          โดยมีนายธนาคม จงจิระ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร

          ขณะเดียวกันตัวแทนอาจารย์และนักเรียนให้การต้อนรับพร้อมร้องเพลง "เพราะเธอคือประเทศไทย" โดยนายกฯ ได้ร้องเพลงคลอไปกับนักเรียน และยังได้พูดคุยกับคุณยายวัย 85 ปี โดยคุณยายกล่าวกับนายกฯว่า"เกิดมา 85 ปีไม่เคยมีนายกฯคนไหนมา ต.บึงปลาทู นายกฯคนนี้เป็นคนแรก แถมหล่อกว่าในโทรทัศน์ด้วย" นายกฯ ตอบว่า "ชมแบบนี้เขินตายเลย ถ้าเป็นนักการเมืองได้คะแนนเสียงไปแล้ว ดีนะผมไม่ใช่นักการเมือง"

          นายกฯแนะปลูกพืชใช้น้ำน้อย

          จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเดินเยี่ยมชมการจัดนิทรรศการสินค้าการเกษตร โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่ารัฐบาลอยากให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจ ในการเพาะปลูกการเพิ่มผลผลิต และการตลาด รวมทั้งให้ทำบัญชีครัวเรือน โดยการทำเกษตรต้องเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลกับเกษตรกร และภาคเอกชน โดยอยากเสนอให้ทุกพื้นที่จัดตั้งสหกรณ์ และต้องมีสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง ซึ่งอยากให้ชาวนากล้าตัดสินใจมาปลูกการใช้น้ำน้อยในช่วงนี้ และเมื่อมีน้ก็สามารถกลับมาปลูกข้าวได้ และรัฐบาลก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ

          นอกจากนี้คนที่แข็งแรงกว่าต้องช่วยเหลือผู้อ่อนแอ ต้องให้แนวทางประชารัฐ ที่จะต้องใช้สติปัญญาและมีการร่วมมือกันทางความคิดด้วย

          "ต่อไปนี้เจอหน้าผมทักทายคำเดียวประชารัฐ ซึ่งประชารัฐมี 3 ระดับ ในระดับบนคือรัฐบาล ทุกคนในประเทศนี้คือกลไกประชารัฐ วันนี้ผมเข้ามาไม่ใช่เพื่อสร้างปัญหาแต่เข้ามาเพื่อให้ปัญหาคลี่คลาย ทำอย่างไรไม่ให้ประเทศชาติล้มลงถ้าล้มลงทุกคนอยู่ไม่ได้ฉะนั้นก็ต้องมีการปฏิรูปและการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงซึ่งเราคิด 11 ด้าน 37 วาระ นั่นแหละคือการปฏิรูป"

          นายกฯ กล่าวอีกว่าผู้นำท้องถิ่นอย่าแบ่งแยกกันต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะนำไปสู่ความขัดแย้งไม่ได้ต้องนำไปสู่ความปรองดองความร่วมมือ ตอนนี้ที่รัฐบาลทำทุกอย่าง ไม่ใช่พูดอย่างเดียวต้องศึกษาด้วย เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำ การจัดโซนนิ่งการปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้ง

          เล็งผลักดันประชารัฐโครงการใหม่

          ขณะที่นายสมคิด กล่าวว่ารัฐบาลเข้าใจดีถึงความลำบากของชาวบ้านโดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ สิ่งที่รัฐบาลพยายามช่วยคือชดเชยจ่ายเงินช่วยเหลือ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยออกโครงการตำบลละ5ล้านบาทเพื่อลงไปช่วยเกษตรกรแต่บางครั้งการช่วยเหลือจำนวนมากขั้นตอนก็มีมากและเราต้องการให้ดีที่สุดก็อาจจะช้าไปบ้างแต่รมว.มหาดไทยก็พยายามเร่งให้เงินไปถึงข้างล่างและการช่วยเหลือไม่ได้มาจากราชการเท่านั้นบางครั้งนายกฯอยากให้ชาวบ้านพูดกันเองผ่านกองทุนหมู่บ้าน "กองทุนหมู่บ้านที่เป็นเครื่องมือของรัฐทุกรัฐบาลไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ผมเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งกองทุนหมู่บ้านเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดมาเคลมว่าเป็นของพรรคการเมืองเหล่านั้น กลไกที่ดีในการช่วยเหลือคนยากจนได้มันต้องเป็นเครื่องมือกลไกของรัฐบาลที่ช่วยเหลือคนไทยทุกคน"

          นายสมคิด กล่าวว่ากองทุนหมู่บ้านจัดสรรไปแล้ว 6 หมื่นกว่าล้านบาทผ่านสินเชื่อของธนาคารซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินไปถึงข้างล่างแล้วแต่แค่นั้นไม่พอเพราะนายกฯบอกว่าไม่ใช่แค่ว่าเอาเงินไปแจกแต่ต้องการรดน้ำที่รากไม่ต้องการรดน้ำที่ใบต้องการให้รากแข็งแรง ซึ่งนายกฯกำลังให้พวกตนเสนอโครงการประชารัฐโครงการใหม่ที่จะไปช่วยพัฒนาความเข้มแข็งของชนบท

          แนะใช้กองทุนหมู่บ้านสร้างความเข้มแข็ง

          "ต่อจากนี้จะให้ทุกตำบลทุกหมู่บ้านเอาเงินเหล่านี้ไปต่อยอดความเข้มแข็ง ไปเพิ่มรายได้ ไปคิดว่าจะปลูกอะไรที่มันมากกว่าสิ่งท่านปลูกอยู่ จะเป็นพืชใช้น้ำน้อยก็ได้

          ฉะนั้นประชารัฐล็อตใหม่ ชุมชนจะต้องประชุมคิดกันเองว่าจะเอาเงินเหล่านี้ไปสร้างเครื่องสีข้าวจะสร้างยุ้งฉางขนาดเล็กไหมไปเช่ารถแทร็กเตอร์ไปเก็บเกี่ยวไหม ไปทำโรงงานแปรรูปเล็กหรือไม่" นอกจากนี้อนาคตข้างหน้าจะเอาตลาดมาไว้ที่นี่ไม่ใช่ให้ท่านไปหาตลาด ประชารัฐจะมีโครงการตลาดประชารัฐลงสู่ทุกชุมชนไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลและท่านนายกได้ขอร้องให้ภาคเอกชนร้านสะดวกซื้อทั้งหลายมาช่วยกันรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรฉะนั้นแปลว่าสินค้าที่ผลิตได้จะมีโอกาสและช่องทางและตลาดได้มากขึ้น นายสมคิดกล่าวว่าสิ่งต่างๆจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากภาครัฐเอกชนเข้ามาร่วมกัน ทำให้เป็น"สมาร์ทฟาร์เมอร์"เพราะต้องการให้เกษตรกรเป็นเถ้าแก่น้อยๆในอนาคต และ ธกส.และธ.ออมสินกำลังจะออกแพคเกจ1ตำบล1เอสเอ็มอี และเกษตรกรอุตสาหกรรม คือเราจะยกระดับเกษตรกรเป็นเถ้าแก่น้อยให้ได้ โดยต้องหาผู้นำในชุมชนที่มีความสามารถสร้างให้เขาเป็นผู้ประกอบการรู้จักยกระดับมูลค่าสินค้าให้ดีสร้างยี่ห้อดีไซน์หีบห่อติดต่อตลาดขายในต่างประเทศแล้วช่วยเหลือคนในชุมชนทุกคนจะได้เรียนรู้ว่ามันทำกันอย่างไร

          กองทัพขุดบ่อขนมครก164แห่งเสร็จ

          พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลและ คสช. ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศอย่างยั่งยืน กองทัพบก ได้สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ ที่กำลังดำเนินการอยู่ คือ การใช้หน่วยทหารช่าง เข้าดำเนินการขุดลอกและพัฒนาแหล่งน้ำตามที่รัฐบาลมอบหมายในหลายโครงการ ได้แก่การขุดบ่อน้ำขนาดเล็กตาม "โครงการแก้ปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล ดำเนินการโดยกองทัพบก ประจำปี 2558" หรือการขุดบ่อขนมครก จำนวน 164 แผนงาน ในพื้นที่ 25 จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

          สามารถกักเก็บน้ำให้ชุมชนสามารถนำไปใช้ได้นาน 60-150 วัน จำนวน 7.8 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 190,000 คน

          น้ำใช้ทั่วประเทศ1.5หมื่นล้านลบ.ม.

          ขณะเดียวกันข้อมูลจากศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี2558/2559 ระดับชาติ (ศก.กช.) ระบุถึงสภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ พบน้ำที่ใช้การได้ทั่วประเทศ ณ วันที่ 22 ม.ค.2559 มีดังนี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่มีอยู่ 33 อ่างมีน้ำใช้ได้ 15,091 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 448 อ่าง 2,122 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4,789อ่าง น้ำใช้ได้ 1,070 ล้านลบ.ม. แหล่งน้ำในไร่นา รวม 352,528 บ่อ มีน้ำ 182 ล้านลบ.ม.

          ขณะที่น้ำใน 4 เจื่องหลักมีปริมาณน้ำใช้ได้รวมกัน 3,572 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำในเขื่อนภูมิพล 4,832 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 4,611 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 365 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 469 ล้านลบ.ม.

          กปภ.ผนึก4หน่วยงานรับมือภัยแล้ง

          ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค หรือ กปภ.ได้มีการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนปี2559 โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมี กปภ.57 สาขาในพื้นที่ 32 จังหวัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและได้ดำเ นินการขุดลอกคูคลอง สูบผันน้ำ เจาะบ่อบาดาล ปรับปรุงแหล่งน้ำ ขุดสระเก็บน้ำ วางท่อน้ำดิบ ก่อสร้างระบบผลิตและวางท่อส่งน้ำ รวมทั้งวางท่อขยายเขต เป็นเงิน 2,096 ล้านบาท แล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมรับมือภายในเดือนเม.ย.2559

          พร้อมกันนี้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือสถานกา รณ์ภัยแล้งที่จะมาถึง ดังนี้ 1.กรมชลประทาน ได้ผนวกพื้นที่ภัยแล้งของ กปภ.เข้าไปอยู่ในแผนรับมือภัยแล้งของกรมชล ประทาน ยืนยันพร้อมบริหารจัดการน้ำดิบส่งให้ กปภ.อย่างเพียงพอเป็นอันดับแรกตามนโยบายรั ฐบาล 2.กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือ กปภ.ในการดำเนินงาน 3.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมสนับสนุนในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับค วามเดือดร้อน 4.กรมการปกครอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมบูรณาการความร วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดร่วมแก้ปัญหาภัยแล้ง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2559 

ขู่แกนนำเกษตรกรใครปลุกม็อบถูกดำเนินคดีแน่

นายกฯ ขู่แกนนำเกษตรกรปลุกม็อบถูกดำเนินคดีแน่ ห่วงชาวไร่อ้อยผลผลิตล้นตลาด หวั่นเกิดปัญหา

เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 22 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึงการแก้ไขปัญหายางพาราแบบยั่งยืนและครบวงจรว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐนำยางพาราตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน เข้าสู่การผลิตให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของฝ่ายเศรษฐกิจ รวมทั้งวิจัยและพัฒนานำเข้าสู่การผลิตที่จะตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างนวัตกรรม ทำให้วัสดุต้นทุนมีราคาสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ยางเท่านั้น รวมทั้งพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นด้วย ซึ่งสิ่งที่ผลิตออกมาต้องมีประโยชน์ บางอย่างไม่มีประโยชน์ไม่ต้องไปคิด โดยความเร่งด่วนตอนนี้คือเอา ผลผลิตในประเทศที่มีล้นตลาดมีมากมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องพื้นที่การปลูกยางพาราที่มีการร้องขอรับการอุดหนุนจากรัฐบาล ก็ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งคณะกรรมการการยางแห่งชาติ(กยท.) หารือแนวทางในการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแต่ต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย ใครที่ทำผิดกฎหมายจะให้รัฐบาลยอมรับให้ถูกต้องไม่ได้ แต่เราจะต้องหามาตรการในการช่วยเหลือไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง ข้อกฎหมาย วันนี้ก็จะได้นำมาตรการของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มาร่วมกันพิจารณาด้วย เพราะที่ผ่านมามีการบุกรุกป่า ทำให้ป่าเสียหาย ลดจำนวนลง แล้วผลผลิตก็เกินความต้องการ จึงต้องเร่งลดปริมาณในการเพาะปลู ขณะเดียวกันขอให้ผู้ที่ปลุกระดมให้มีการเรียกร้อง บรรดาแกนนำต่างๆ ระมัดระวังและเคารพกฎหมายกันด้วย อย่าพาประชาชนไปเดือดร้อนด้วย ถ้าตัวเองอยากจะทำผิดกฎหมายก็ทำไป แต่จะถูกดำเนินคดี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นห่วงปัญหาการปลูกอ้อยเกินความต้องการ เพราะที่ผ่านมาพออะไรราคาดี ก็ปลูกกันจนมาก ราคาก็ตก จากมาตรการเดิมกฎหมายที่เราออกไปในสมัยรัฐบาลนี้ ก็คือการมีมาตรการที่เข้มงวดในการที่จะก่อตั้งหรือสร้างโรงน้ำตาลจากเดิมที่ว่า 80 กิโลเมตรในสมัยก่อนๆ ก็ได้ปรับลดลงเป็น 50 กิโลเมตรแล้ว แต่ก็ยังมีหลายบริษัทพยายามที่จะขอให้ลดลงไปอีก โดยให้ใกล้กว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งทำไม่ได้ เพราะได้กำหนดกติกากันแล้ว ตอนนี้ต้องมองว่าทำอย่างไรจะลดพื้นที่การปลูกลงเพราะพออ้อยผลผลิตมาก ก็มีปัญหาอีก โรงงานผลิตไม่ทัน รัฐบาลต้องการทำให้ยั่งยืน จึงขอให้เคารพกติกากันบ้าง เช่นเดียวกับการสร้างโรงน้ำตาล ถ้ามากเกินไปผลเสียในการที่ผลผลิตน้ำตาลออกมามากเกินไป ราคาก็ตกอีกอยากให้นึกถึงกฎหมายนึกถึงกระบวนการผลิต ที่ต้องสมดุลกันตลอดเวลา

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เราพยายามแก้ไขมาโดยตลอดมีมาตรการออกมาเป็นสิบๆมาตรการ แต่ประชาชนต้องร่วมมือทุกโครงการเหล่านั้นไม่ใช่ทุกคนก็จะเอาหมดทุกอย่าง ท้ายสุดจะต้องเอาเงินอีก ต้องพยายามเข้าใจข้อกฎหมาย เข้าใจนโยบายรัฐบาล การปลูกพืชเกินความต้องการ ปลูกในพื้นที่บุกรุก แล้วก็จะให้รัฐบาลรับผิดชอบทุกเรื่อง ก็ทำให้วงจรการแก้ไขปัญหาจับต้นชนปลายไม่ถูกวนไปวนมากลับที่เดิมหมด วันนี้เราต้องแก้ทั้งทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในลักษณะของประชารัฐ ขณะที่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งรัฐบาลประกาศให้ทราบมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ว่า ปีนี้น้ำจะแล้ง ฝนจะแล้ง ปรากฏฝนไม่ตก แล้งจริงๆ ปีหน้าก็อาจจะแล้งอีกก็ได้ ประมาทไม่ได้ รัฐบาลเตือนมาตลอด แต่อาจไม่ค่อยได้ฟัง ไม่สนใจ มุ่งแต่การจะปลูกพืชให้ได้ บางที่ก็แย่งน้ำกัน จนน้ำที่จะต้องปล่อยไปข้างล่างหายหมด ปัญหาน้ำเค็มเข้าในพื้นที่เพาะปลูกก็ตามมา เนื่องจากมีการผลิตโดยการเลี้ยงปลา กุ้ง ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ในพื้นที่ตอนในโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ

“ผมห้ามอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ทุกคนต้องเรียนรู้จะแก้ไขปัญหาของของตัวเอง ช่วยกันรักษาความสมดุลของธรรมชาติอย่างไร อย่ามองเฉพาะธุรกิจของตัวเอง หากว่าอะไรเสียหายไปแล้ว มันจะแก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของระบบนิเวศน์ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีผลกระทบทั้งสิ้น ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 22 มกราคม 2559 

น้ำโขงแห้ง จีนปิดเขื่อน เรือสินค้าไทยค้างเติ่ง!

ภัยแล้งล้อมประเทศไทย น้ำโขงเชียงแสนแห้งเร็วกว่าปกติ ระดับน้ำลดต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี เหตุจีนระเบิดเกาะแก่งหินสิ้นสุด ก.พ. 59 พร้อมจำกัดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเชียงรุ้ง สิบสองปันนา เรือสินค้าไทยติดค้างเพียบบริเวณม่องป่าแหล่ว วอนรัฐบาลตั้งศูนย์ประสานข้อมูลน้ำกับจีน

นางเกศสุดา สังขกร รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานหอการค้าอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปีถึงกลางเดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงตั้งแต่จีนตอนใต้-สปป.ลาว-เมียนมา จนถึงจังหวัดเชียงราย ลดต่ำลงอย่างมาก โดยเกิดจากสภาพความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศเหล่านี้ ทำให้ทางการจีนได้จำกัดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเชียงรุ้งที่เมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน จากเดิมวันละประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้เหลือเพียงวันละประมาณ 800-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การลดระดับน้ำดังกล่าว ทำให้ปริมาณน้ำลดลง และมีผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขงไทย-จีน เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่ต้องว่าจ้างเรือให้ทำการขนส่งสินค้าให้ ซึ่งต้องมีต้นทุนค่าขนส่งมากขึ้นตามมา

น้ำโขงแห้งเร็ว - ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงด้านอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว และลดต่ำลงมากที่สุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้าส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก

นางเกศสุดากล่าวว่า ช่วงที่ระดับน้ำเพียงพอจะมีเรือสินค้าที่สามารถบรรทุกสินค้าได้ลำละกว่า 400 ตัน โดยเรือเหล่านี้กินน้ำลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป แต่ช่วงนี้ระดับน้ำลดจึงต้องใช้เรือที่มีระวางบรรทุกเหลือเพียง 200-250 ตันเท่านั้น หรือใช้เรือบรรทุกสัญชาติลาวที่มีขนาดเล็กกว่าและกินน้ำลึกเพียง 1-1.50 เมตรเท่านั้น เพื่อความสะดวกในการขนส่งแต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณสินค้า ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะจำเป็นต้องเร่งขนส่งสินค้าให้มากในช่วงนี้ เนื่องจากตามปกติช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมของทุกปี ทางการจีนจะปิดกั้นน้ำในเขื่อนทำให้ช่วงนั้นไม่สามารถขนส่งสินค้าได้เลย

"ปีนี้ถือว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงมากที่สุดในช่วง2-3ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทางธุรกิจอย่างหนัก เช่น ต่อเรือแบบใหม่ที่กินน้ำตื้นที่สุด" นางเกศสุดากล่าวและว่า

นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานประสานกับทางการจีน เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำจากเขื่อนเชียงรุ้งเป็นประจำทุกเดือน โดยมีการแจ้งต่อผู้ประกอบการได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพราะหากรู้กำหนดการเปิดและปิดเขื่อนที่ชัดเจน จะสามารถวางแผนขนส่งสินค้าให้ถูกกับช่วงจังหวะเวลาในการเปิดและปิดเขื่อน

ปัจจุบันจุดที่แม่น้ำโขงมีความตื้น คือ ม่องป่าแหล่ว อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสน ประมาณ 200 กิโลเมตร พบว่าเรือสินค้าไทยต้องจอดเรียงราย เพื่อรอระดับน้ำนานกว่า 2-3 วัน ทำให้การรับ-ส่งสินค้าไปยังจุดหมายล่าช้าและเพิ่มต้นทุนมากขึ้นด้วย

ด้านศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 12 อำเภอเชียงแสน รายงานระดับน้ำวันที่ 18 ม.ค. 59 ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน มีความลึกเพียง 2.01 เมตร ทำให้เกิดหาดทรายโผล่ขึ้นมาหลายจุดโดยเห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเหลือร่องน้ำที่ให้แล่นเรือได้จำกัดเรือสินค้าที่ยังขนส่งต้องใช้ความระมัดระวังหรือเรือเล็กต้องทำเป็นท่าเรือชั่วคราวยื่นไปกลางหาดทรายเพื่อความสะดวกในการเข้า-ออกฝั่ง

ขณะที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคจังหวัดเชียงราย แจ้งว่าในปี 2558 มูลค่าการค้าผ่านท่าเรือ อำเภอเชียงแสน มีมูลค่ารวม 15,144.71 ล้านบาท แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 15,814.42 ล้านบาท และนำเข้า 669.71 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำตาลทราย เนื้อกระบือ โคมีชีวิต สุกรมีชีวิต น้ำมันดีเซล รถยนต์ใหม่ ฯลฯ สินค้านำเข้า คือ ทับทิมสด กระเทียมสด เมล็ดทานตะวัน กระเทียมอบแห้ง มันฝรั่ง ฯลฯ โดยสินค้าขนส่งมากับเรือสินค้ารวมจำนวน 11,907 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือสัญชาติลาวกว่า 10,480 ลำ เรือเมียนมา 599 ลำ เรือไทย 248 ลำ และเรือจีน 580 ลำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนด้านจังหวัดเชียงราย เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้รายงานต่อที่ประชุมว่า ทางการจีนวางแผนระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2558-5 ก.พ.2559 ต้องมีการปิดประตูระบายน้ำจากเขื่อนเชียงรุ้ง และเป็นผลทำให้แม่น้ำโขงแห้งลงดังกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 22 มกราคม 2559

สมคิด'ติวเข้ม65ทูตพาณิชย์เจาะตลาดโลกขายสินค้า

          หมายเหตุ - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มอบนโยบายแก่หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก 65 แห่ง โดยมี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร (ไอซีที) นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านส่งออก 1 ใน 12 คณะที่รัฐร่วมกับเอกชนจัดตั้งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วม ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อ วันที่ 20 มกราคม

          สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

          มี 2 ประเด็นหลัก ที่มอบให้ ประเด็นแรก ต้องการให้กำลังใจในการทำงาน เพราะเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังค่อนข้างซบเซา ไอเอ็มเอฟ(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเมินโตแค่ 3.4% แต่ไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง ปีก่อนแม้เศรษฐกิจโลกไม่ดีและไทยส่งออกติดลบ 5.5% แต่ประเทศส่วนใหญ่แย่กว่าไทย ไทยยังเป็นอันดับ 4 ที่ติดลบน้อย รองจากจีน ฮ่องกง และเม็กซิโก ส่วนแบ่งในตลาดสินค้าไทยก็ยัง ไม่ตก หากตัดรายการส่งออกน้ำมันแปรรูป ส่งออกไทยก็ยังเข้มแข็ง

          มาให้กำลังใจแต่จะไม่ลดเป้าหมายที่ให้ไว้โต 5% จึงให้กำลังใจ ให้ทำงานเต็มที่ ทำแบบวิ่งเต็มที่ ไม่ใช่นั่งทอดเข่า ยิ่งในภาวะไม่ปกติ ยิ่งต้องทำงานเชิงลึก หรือ Deep Penetration ต้องเจาะลึกในแต่ละเมือง ดูว่าแต่ละเมืองต้องการอะไร มีเมืองอะไรบ้าง จะเจาะอย่างไร และต้องจัดทีมทำงานให้พร้อม ประเทศใดมองว่ามีศักยภาพก็ต้อง เพิ่มคน เพิ่มที่ปรึกษา จ้างคนท้องถิ่นแบบชั่วคราวเพื่อมาเร่งทำงาน รวมถึงมีแผนการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ถ้าบริษัทใดขาดทุนคิด แต่จะตัดค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดียิ่งต้องเพิ่มคน การ ลดค่าใช้จ่ายจะยิ่งเสียหายหนัก ให้แต่ละประเทศรวบรวมมาประเทศใดควรเพิ่มควรอัดอย่างไรให้เติบโต ก็ต้องจัดไป

          ผมยังไม่เห็นด้วยที่จะปิดสำนักงานทูตพาณิชย์ อย่างกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเมืองแฟชั่นก็ควรคิดว่าจะใช้ประโยชน์อย่างใด ซึ่งผมไม่ขอแทรกแซงการทำงานของรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เมื่อเศรษฐกิจดีเราจะเสียโอกาสถ้ามัวแต่ประหยัด

          อีกประเด็นคือ ใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องปรับทัพ ปรับวิธีการทำงานใหม่ ต้องเจาะลึกว่าแต่ละเมืองในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอาเซียน และกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) เศรษฐกิจกำลังโตเฉลี่ย 7% ต้องปลุกไปพร้อมกับการค้าชายแดน ซึ่งต่อปีมูลค่าระดับแสนล้านบาท ให้คิดว่าตลาดอาเซียน และประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี คือตลาดหนึ่งในไทย คิดว่า ย่างกุ้ง พนมเปญ เวียงจันทน์ คือเมืองหนึ่งในไทย จังหวัดหนึ่งในไทย ความรู้สึกเข้า ทำตลาดก็จะใกล้ชิดมากขึ้น ลดอาการกังวลของธุรกิจไทยได้

          หรืออย่างประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา อาหารไทยก็ยังขายได้ดี แต่ขาดช่องทางขายหรือเอาต์เลตของคนไทย ที่มีอยู่ในสหรัฐ ก็เป็นคนเกาหลี คนเวียดนาม ต้องดูว่าจะส่งเสริมอย่างไรให้ ทุนไทยเข้าไปทำ อย่างสหรัฐหรือยุโรป ควรจูงใจให้คนไทยไปเทกโอเวอร์หรือรวมตัวกันไปซื้อขายและเปิดจุดขายเองในประเทศเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ หรือญี่ปุ่นมีถนนคนเดินเพิ่มขึ้น สินค้าโอท็อปไทยก็ขายได้ ซึ่งคนญี่ปุ่นกำลังซื้อดีชอบของคุณภาพ ก็ไปดูว่าจะเจาะเมืองใดได้เพิ่ม อินเดียในเมืองมุมไบ เป็นตลาดเศรษฐี จ้างคนท้องถิ่นช่วยงานเจาะ ตลาดสัก 2 ปี จะขยายส่งออกได้อีกมาก แม้แต่จีนเศรษฐกิจและ ส่งออกจะลดลง 2% ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อเขา เพียงเราจะ ทำอย่างไร เจาะลึกตามเมืองซึ่งมีศักยภาพถึง 20 เมืองให้ซื้อสินค้าไทย ก็ต้องหาวิธี งบประมาณอะไรต้องลงก็ต้องใช้

          ดังนั้น การหาตลาดใหม่ เชิงเจาะลึก อัดโปรโมชั่นกิจกรรมต่อเนื่อง เจาะค้าชายแดน พร้อมกับการจัดคณะออกไปเจรจาการค้าและเจรจา ลดอุปสรรคการค้า ถือเป็นเรื่องฝากไว้ต่อการผลักดันการค้าในปีนี้

          อีกเรื่องที่ต้องเร่งทำคือ ปลุกการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ผมอยากให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน ได้สั่งการให้นายสุวิทย์ ทำงานร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยและวิสาหกิจชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ระบบออนไลน์ในการเปิดตลาด การค้าสู่ต่างประเทศ ต้องการให้ธุรกิจไทยทั่วประเทศได้ใช้มากขึ้น

          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติการลงทุนด้านบรอดแบนด์ ก็เหลือว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทยใช้มากขึ้น จากวันนี้ใช้น้อยมาก ต้องไปดูว่าจะใช้เว็บไซต์อะไร เชื่อมกับเว็บไซต์โลกอย่างไร เช่น Alibaba และ Amazon ตอนนี้ก็ให้ไปคัดเลือกสินค้า เลือกกลุ่มเป้ามาย แล้วอบรมแนะนำให้เขาเข้าใจ จะปลุกเขาอย่างไร มุ่งเน้นที่สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพราะแม้เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ตลาดโลกก็ยังต้องบริโภคอาหาร

          เรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่อง 3-5 ปี ถึงตอนนั้นการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ จะเป็นตัวสำคัญต่อการผลักดันธุรกิจและส่งออกไทยให้ขยายตัวเข้าตลาดโลก ก็ควรเริ่มที่กลุ่มซีแอลเอ็มวีก่อน ภายใน 3 เดือนนี้ เว็บไซต์นี้ต้องเป็นที่รู้จัก จะใช้ไทยแลนด์เบส หรือไทยเทรดคอทคอมก็เลือกกัน

          มาตรการในประเทศเรามีประชารัฐ ในต่างประเทศต้องมีไทยแลนด์เบส ให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นอีคอมเมิร์ซจะเป็นหัวใจหลักให้เอสเอ็มอีไทย เป็นที่รู้จัก และเปิดตลาดนอก รวมทั้งผลักดันธุรกิจรุ่นใหม่ๆ

          อีกเรื่องที่จะฝากไว้คือ ประเทศไทยจะเติบโตลำบาก หาก เศรษฐกิจฐานรากยังไม่เข้มแข็ง ทั้งๆ ที่เกษตรไทยมีศักยภาพสูง เช่น ผลไม้ไทย เป็นที่รับรู้และต้องการในต่างประเทศ ขอให้ท่านอภิรดีทำโครงการเกษตรไทยสู่โลก โดยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างแหล่งผลิตผลไม้หรือเกษตร กับการค้าปลายทาง โดย ไม่ต้องผ่านตัวแทนกลาง อย่างที่กำลังเกิดขึ้น อย่างผลไม้ไทยไปจีน ก็จะมีล้งเป็นคนจีนมาตั้งขนส่งและกระจายสินค้า เราแต่ผลิตจะได้ราคาไม่สูง ให้พาณิชย์ไปดูว่าจะทำตลาดอย่างไร ปรับวิธีการอย่างไร เรื่องเงินลงทุนหรือสนับสนุน ให้คุยกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และออมสิน ขอให้ดำเนินการเร็วที่สุด

          อภิรดี ตันตราภรณ์

          กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายอย่างเต็มที่ จะให้ทูตพาณิชย์ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการต่างๆ ไปบ้างแล้วทั้งเรื่องการเจาะตลาดทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างเต็มที่ให้มากที่สุด ไม่เน้นเพียงเป้าหมายที่เป็นตัวเลข

          โครงการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ตามนโยบายที่นายสมคิดได้มอบหมายให้จัดทำโครงการนั้น กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอของบประมาณ 700 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเกษตร เชื่อมโยงและผลักดันสินค้าเกษตรไทยไปสู่ตลาดโลก ตลาดเพื่อนบ้านโดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี อันจะเป็นการยกระดับราคา สินค้าเกษตรไทย

          โดยศูนย์กระจายสินค้าจะมีตั้งแต่คลังเก็บสินค้า ห้องเย็น เพิ่มพื้นที่ลานจอดรถ รองรับการขนส่งและสินค้าเกษตรก่อนจะส่งไปตลาดโลก นอกจากนี้ ตามโครงการดังกล่าวจะพัฒนาเกษตรกรระดับชุมชน ให้ความรู้ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต และตลาดชุมชนทั้งของสินค้าเกษตรทั่วไปและเกษตรอินทรีย์

          โครงการเกษตรไทยสู่ตลาดโลกจะเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ย สนับสนุนด้านข้อมูล และจัดทำแผนงานต่างๆ ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

          ศูนย์กระจายสินค้าจะสร้างตามหัวเมืองใหญ่ เบื้องต้นมี 10 จังหวัดเป้าหมายที่จะทำ ได้แก่ จ.อุดรธานี ราชบุรี นครศรีธรรมราช เชียงราย จันทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สระแก้ว พิษณุโลก และ จ.ปทุมธานี

          การพาเอสเอ็มอีสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายที่ได้รับ มอบหมายจากนายสมคิดนั้น จะพาเอสเอ็มอีเชื่อมโยงการค้า ขายกับเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกด้วย อาทิ Alibaba ซึ่งได้พูดคุยกับเว็บไซต์บ้างแล้ว ที่ผ่านมาเคยพาเอสเอ็มอีไทย ไปค้าขายกับเว็บไซต์ชื่อดัง เบื้องต้นจะใช้เว็บไซต์ Thaitrade ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับเอสเอ็มอี แล้วเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก

          นอกจากนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความน่าเชื่อถือ ยอมรับได้ มีใบอนุญาตทางการค้า และพัฒนาระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน คาดว่าจะเห็น ผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้เอสเอ็มอีนำสินค้าออกสู่ตลาดและขายได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 22 มกราคม 2559

กรมชลยืนยันน้ำพอใช้พ้นแล้ง ยกเว้นทำ‘นาปรัง’ยังขั้นวิกฤติ

 นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงแผนการจัดสรรน้ำว่า เป็นไปตามกรอบการทำงานที่กำหนดไว้ รวมถึงการบริหารจัดการลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยยืนยันน้ำใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ จะไม่วิกฤติ

 มีใช้อย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล และมีสำรองไปจนถึงกรกฎาคมปีนี้ ยกเว้นน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมยังวิกฤติ โดยเฉพาะการทำนาปรัง คงมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับพืชสวน และสนับสนุนส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรณีเกษตรกรมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง เช่น บ่อน้ำตื้นต่างๆ

 อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่ออีกว่า วันนี้จนถึงเมษายน จะเกิดภัยแล้งแน่นอน ซึ่งเป็นภาวะต่อเนื่องจากภัยแล้งปี 2558 ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำมาสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ อีกทั้งน้ำในลำน้ำแห้งเร็วตามธรรมชาติ ฉะนั้นต้องดูว่า กลางปีนี้ฝนจะตกตามฤดูกาลหรือไม่

 อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรรับรู้จะมีน้ำใช้น้อย และได้รับความร่วมมืองดทำนาปรัง ชี้วัดผลความสำเร็จได้จาก ข้อมูลวันที่ 13 มกราคม 2559 ทำนาปรัง 1.75 ล้านไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับวันเวลาเดียวกัน ปี 2558 ทำนาปรัง 2.88 ล้านไร่ ลดลง 1.13 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าลดลงพอสมควร

 สำหรับสภาพน้ำในเเหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มเเม่น้ำเจ้าพระยา 4 อ่าง ได้เเก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ เเควน้อยฯ เเละป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 3,586 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 20 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 5.84 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 15.62 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มกราคม 2559

ภัยแล้งมาแน่4เขื่อนเหลือน้ำ20% ลดจ่ายน้ำประปา-คลอง13ไม่สนรุมสูบน้ำใส่บ่อ 

          ภัยแล้งกระหน่ำไทยตั้งแต่ต้นปี'59 น้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักชี้เป็นชี้ตายลุ่มน้ำ เจ้าพระยาหายไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 20% ต้องใช้ถึงสิ้นเดือน พ.ค. วอนช่วยกันประหยัดน้ำ ประปาเมืองกรุงเริ่มแล้ว ลดจ่ายน้ำช่วงกลางคืน ส.อ.ท. ห่วงภาคเกษตร-ปศุสัตว์ในอีสาน

" รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ วันที่ 19 มกราคม 2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 15,184 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 32% แต่เฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่ระบายน้ำเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน- ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย ถึงความอยู่รอดของกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลาง พื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศปรากฏ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงรวมกันแค่ 3,601 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 20% หายไปครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้ปีนี้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง

          ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งภาคมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือแค่ 1,956 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% โดยเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงน้อยที่สุด แค่ 126 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5% เขื่อนห้วยหลวง 25 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 46 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36%, เขื่อนลำปาว 736 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% และเขื่อนลำตะคอง 95 ล้าน ลบ.ม.

          ด้านกรมชลประทานยังคงยืนยันว่า การใช้น้ำของประเทศยังเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำจากต้นทุน 4 เขื่อนหลักตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-ต้นเดือนมกราคม 2559 มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของแผนจัดสรรน้ำ 2,900 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นสิ้นสุดฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน 1,889 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่มีการการันตีว่า ฝนจะต้องตกในต้นเดือนพฤษภาคม หากฝนมาล่าช้าออกไปก็จะเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างแน่นอน (ดูตารางประกอบ)

          นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ได้ลดการจ่ายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯนนทบุรี-สมุทรปราการ ในช่วงกลางคืน 23.00-05.00 น. และตั้งเป้าจะลดการจ่ายน้ำลงอีก ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตลงจาก 5% เป็น 10% และมีโครงการรณรงค์ชวนประหยัดน้ำ (งบประมาณ 20 ล้านบาท) ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ด้วยการคืนเงินสดให้กับประชาชนที่สามารถประหยัดน้ำได้"

          นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ภาพรวมการจ่ายน้ำยังไม่มีสาขาใดที่หยุดการจ่ายน้ำ แต่มีบางสาขาที่ต้องลดแรงดันหรือการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา โดยพื้นที่ที่เป็นกังวลมากที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มมีบางสาขาที่จ่ายน้ำเป็นเวลา โดยล่าสุดวันที่ 19 ม.ค. 59 เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือเพียง 5% ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาขอนแก่นและสาขาบ้านไผ่

          ส่วนที่บริเวณคลอง 13 ต่อเนื่องไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ ปทุมธานี พบว่ามีการวางท่อพญานาคเพื่อเตรียมสูบน้ำ กว่า 300 ท่อ สำหรับหล่อเลี้ยงพืชสวนและเลี้ยงปลา ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ หากท่อเหล่านี้สูบน้ำพร้อมกันน้ำจะหายไปจากคลองทันที

          นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้แจ้งให้สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งให้แจ้งกลับมายัง ส.อ.ท.ว่ามีปัญหาการใช้น้ำภายในโรงงานหรือไม่ นอกจากนี้ในช่วง ที่

ผ่านมาโรงงานมักจะติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีปริมาณการใช้น้ำลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและฟอกย้อม

          นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบต่าง ๆ จากพืชไร่ทั้งหมดและที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงในพื้นที่ภาคอีสาน

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอฯลำพูนได้ใช้งบ 20 ล้านบาทเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้แล้ว 20 บ่อ และเตรียมงบประมาณไว้ซื้อน้ำจากภาคเอกชน 1 รายที่ยื่นเสนอขายน้ำให้ในปริมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรอ.ประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือในการช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งแนะนำการขุดบ่อบาดาล คุมการปล่อยน้ำทิ้งให้มารีไซเคิลใช้ใหม่ และเร่งให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินการตามนโยบายนำขุม เหมืองเก่าใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ 36 แห่ง

          นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน ลำตะคอง "ยังน่าห่วงและจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" จึงอยากให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ให้ผ่านวิกฤตแล้งนี้ไปได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

กษ.สั่งทำฝนหลวงเติมเขื่อนภาคกลางบิ๊กตู่ลงพื้นที่22มค.ตรวจงานแก้ภัย

          เมื่อวันที่ 20 มกราคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงมาตรการรับมือภัยแล้งว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งรัดปฏิบัติการทำฝนหลวง หลังจากประเมินสภาพอากาศมีความชื้นพอเพียงในช่วงนี้ จึงได้ตั้งชุดปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษขึ้นที่ จ.นครสวรรค์ ใช้เครื่องบิน 8 ลำ ดำเนินการขึ้นบินตั้งแต่วันที่ 20-24 มกราคมนี้ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อน วชิราลงกรณ์ เขื่อนกระเสียวและเขื่อนทับเสลา ที่ปริมาณน้ำมีระดับต่ำ ซึ่งก่อนขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงต้องประเมินสถานการณ์และตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียดทุกครั้ง เพราะ บางพื้นที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งอาจเกิดผลกระทบได้

          กำชับเร่งช่วยเกษตรกร22จว.

          พล.อ.ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่า ได้กำชับหน่วยงานในพื้นที่ 22 จังหวัด เร่งนำมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเข้าช่วยเหลือเกษตรกรให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ตนได้เตรียมหารือกับ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรไปทำโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนทั่วประเทศ ตามโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตั้งพระราชหฤทัยดำเนินการอย่างมากในหลายโรงเรียน ต่อไปต้องสานต่อโครงการของพระองค์ในพื้นที่ชนบททุกโรงเรียนเด็กต้องมีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะร่วมมือให้ซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่โดยจะมีการศึกษาและวางแผนให้ชัดเจนต่อไป

          นายกฯลงพื้นที่ภาคกลาง22มค.

          ด้าน พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท ในวันที่ 22 มกราคมนี้ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง 8 มาตรการของรัฐบาล โดยช่วงเช้าจะเดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หมู่ 4 ต.บึงปลาทู จ.นครสวรรค์ เพื่อเยี่ยมชมนิทรรศการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้ง 8 มาตรการ จากนั้นจะเดินทางต่อไปยัง จ.ชัยนาท เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ 400 ไร่ ซึ่งประชาชนได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน และเป็นโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล

          แห่เจาะบ่อบาดาลดึงน้ำเลี้ยงข้าว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดภัยแล้งคุกคามหลายพื้นที่ และกรมชลประทานประกาศให้เกษตรกรงดการทำนาปรัง เนื่องจากแม่น้ำสายหลัก สายรอง คูคลอง ต่างแห้งขอดเป็นวงกว้าง แต่ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ชาวนายังคงมีการทำนาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าแม่น้ำยมสายหลัก ที่ไหลมาจาก จ.แพร่ ผ่าน จ.สุโขทัย เข้าสู่ เขต อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จะแห้งขอดยาวมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงไหลผ่าน อ.บางระกำ แทบไม่มีน้ำเลย ทำให้ชาวนาที่ทำนาริมแม่น้ำยม กว่า 100 ราย ใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาล กลางแม่น้ำยม ดึงน้ำใต้ดินมาหล่อเลี้ยงนาข้าว โดยให้เหตุผลว่า การทำนาคืออาชีพหลัก ถ้าไม่ทำ ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร และปีนี้ถือว่าแล้งกว่าทุกปีที่ผ่านมา น้ำในแม่น้ำยมแห้งขอด บ่อบาดาล ที่เคยขุดไว้ริมคันนา ไม่สามารถดึงน้ำมาใช้ได้

          ชัยนาทกวดขันสูบน้ำทำนาปรัง

          วันเดียวกัน ร.ต.เพิ่มศักดิ์ เจือทอง ผบ.ควบคุมชุดประสานงานประจำพื้นที่ ชุดที่ 8 จ.ชัยนาท พร้อมด้วย นายวรุตม์ จารุนาค นายอำเภอสรรคบุรี และนายวิชัย พาตา ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ นำกำลังทหาร และฝ่ายปกครองลงพื้นที่ ตรวจแม่น้ำน้อย บริเวณ ม.5 ต.โพงาม และ ม.6 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หลังได้รับแจ้งว่ามีเกษตรกรลักลอบสูบน้ำจากแม่น้ำน้อย เข้าพื้นที่การเกษตรอย่าง ต่อเนื่องเพื่อปลูกข้าวนาปรัง ทั้งที่ได้มีการ ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจต่อเกษตรกรไปแล้วว่า ห้ามทำการสูบน้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรังโดยเด็ดขาด เนื่องจากต้องสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และจากการตรวจสอบ พบเกษตรกรนำเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสูบน้ำจากแม่น้ำน้อยเข้าไปหล่อเลี้ยงข้าวนาปรัง จึงได้เข้าพูดคุย และทำความเข้าใจในสถานการณ์น้ำ ทำให้เกษตรกรได้ยอมหยุดสูบน้ำในทันที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

สุโขทัยเดือดร้อนหนัก! อ้อยขาดน้ำยืนต้นตาย เตรียมประกาศพื้นที่แล้ง

เกษตรกรสุโขทัยเดือดร้อนหนัก หลังประสบพิษภัยแล้ง อ้อยหลายพันไร่ต้องยืนต้นตาย ด้านผู้ว่าฯ เตรียมประกาศเป็นพื้นที่ฝนแล้ง ประสานทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหา เพื่อให้การช่วยเหลือ...

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 59 นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ หน.ปภ.สุโขทัย นายธนพงษ์ บุญเรือง นายอำเภอศรีสำโรง พร้อมหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง ร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นอ้อยขาดน้ำและยืนต้นตายประมาณ 1,700 ไร่ สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกร เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนย่อยยับ

นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายบุญยิ่ง คุ้มสุพรรณ หน.ปภ.สุโขทัย นายธนพงษ์ บุญเรือง นายอำเภอศรีสำโรง หารือกับ เกษตจรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง เรื่องปัญหาภัยแล้ง

นายประจวบ จั่นจีน นายก อบต.นาขุนไกร กล่าวว่า ชาวบ้าน ต.นาขุนไกร และ ต.ราวต้นจันทร์ อ.ศรีสำโรง ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกอ้อย โดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก แต่เมื่อปี 2557 ต่อเนื่องปี 2558 มีฝนตกในพื้นที่ปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่านมา ประกอบกับ ห้วยพะคง ที่ ม.7 ต.นาขุนไกร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติยาวประมาณ 15 กม. ที่เคยมีน้ำเหลือกักเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งเริ่มแห้งขอด ทำให้อ้อยที่เกษตรกรปลูกไว้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2557 ต้องขาดน้ำลำต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตและยืนต้นตายทั้งหมด ผลที่ตามมาคือ ไม่มีอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลตามโควตาที่ได้รับ ขณะนี้นอกเหนือจากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากทางราชการแล้ว ชาวบ้านทุกคนยังอยากได้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและเพาะปลูก ยามเกิดสถานการณ์ภัยแล้งอีกด้วย

นายปิติ แก้วสลับสี ผวจ.สุโขทัย เชิญเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในพื้นที่ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง ร่วมประชุมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง

ด้าน นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้ประกาศพื้นที่ประสบภาวะฝนแล้ง สำหรับไร่อ้อยที่ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน ตลอดจนพื้นที่ปลูกข้าวนาปีและพืชสวนพืชไร่ โดยได้มอบหมายให้ นายธนพงษ์ บุญเรือง นายอำเภอศรีสำโรง สำรวจความเสียหายตามข้อเท็จจริงให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาไร่ละ 1,148 บาทต่อไป จากนั้นได้ลงพื้นที่ บ้านลุเตา ม.8 ต.นาขุนไกร สำรวจความเสียหาย บริเวณไร่อ้อยของนายวชิระ เกิดทอง อายุ 37 ปี พบว่า ต้นอ้อยทั้งหมดที่ปลูกไว้ประมาณ 30 ไร่ แคระแกร็นยืนต้นตายทั้งหมด เนื่องจากขาดน้ำ สำหรับ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง มีพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 1,700 ไร่ เกษตรกรกว่า 200 ราย ต้องเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนถึงไร่ละ 8,000 บาท รวมความเสียหายในครั้งนี้ประมาณ 13,600,000 บาท.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

'สมคิด' ย้ำรัฐบาลเร่งช่วยเกษตรกร

"สมคิด" ยืนยันรัฐบาลเร่งช่วยเกษตรกร หลังราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ เตรียมเสนองบสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกษตร เข้า ครม.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานจัดงาน 100 ปี สหกรณ์ไทยพัฒนาเศรษฐกิจก้าวไกลสร้างสังคมไทยมั่นคง ที่ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต จังหวัดปทุมธานี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ก้าวผ่าน 100 ปี สหกรณ์ไทย พัฒนาเศรษฐกิจก้าวไกลสร้างสังคมไทยมั่นคง” โดย นายสมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า เวลานี้เกษตรกำลังลำบาก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ และราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งการขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้กำชับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. พยายามช่วยดูแลประคองเกษตรกรก้าวผ่านพ้นภาวะดังกล่าวนี้ไปให้ได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเตรียมเสนองบประมานเข้า ครม. โดยเร็วที่สุด เพื่อใช้เป็นงบช่วยเหลือเกษตรกรผ่านกองทุนหมู่บ้าน สำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตรในหมู่บ้าน อาทิ โรงสีข้าวชุมชน ลานตาก และโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. กำลังมีนโยบายสร้างผู้นำเกษตรกร เพื่อติดต่อสื่อสารประสานงานกับเกษตรกรในหมู่บ้าน ซึ่งจะมีทั้งเงินช่วยเหลือแต่ละตำบล ในโครงการ 1 ตำบล 1 SME อุตสาหกรรม อีกด้วย ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลกำลังพยายามช่วยเหลือเกษตรกรทุกช่องทาง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งมาแน่4เขื่อนเหลือน้ำ20% ลดจ่ายน้ำประปา-คลอง13ไม่สนรุมสูบน้ำใส่บ่อ 

          ภัยแล้งกระหน่ำไทยตั้งแต่ต้นปี'59 น้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักชี้เป็นชี้ตายลุ่มน้ำ เจ้าพระยาหายไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 20% ต้องใช้ถึงสิ้นเดือน พ.ค. วอนช่วยกันประหยัดน้ำ ประปาเมืองกรุงเริ่มแล้ว ลดจ่ายน้ำช่วงกลางคืน ส.อ.ท. ห่วงภาคเกษตร-ปศุสัตว์ในอีสาน

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ วันที่ 19 มกราคม 2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 15,184 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 32% แต่เฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่ระบายน้ำเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน- ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย ถึงความอยู่รอดของกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลาง พื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศปรากฏ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงรวมกันแค่ 3,601 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 20% หายไปครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้ปีนี้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง

          ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งภาคมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือแค่ 1,956 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% โดยเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงน้อยที่สุด แค่ 126 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5% เขื่อนห้วยหลวง 25 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 46 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36%, เขื่อนลำปาว 736 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% และเขื่อนลำตะคอง 95 ล้าน ลบ.ม.

          ด้านกรมชลประทานยังคงยืนยันว่า การใช้น้ำของประเทศยังเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำจากต้นทุน 4 เขื่อนหลักตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-ต้นเดือนมกราคม 2559 มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของแผนจัดสรรน้ำ 2,900 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นสิ้นสุดฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน 1,889 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่มีการการันตีว่า ฝนจะต้องตกในต้นเดือนพฤษภาคม หากฝนมาล่าช้าออกไปก็จะเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างแน่นอน (ดูตารางประกอบ)

          นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ได้ลดการจ่ายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯนนทบุรี-สมุทรปราการ ในช่วงกลางคืน 23.00-05.00 น. และตั้งเป้าจะลดการจ่ายน้ำลงอีก ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตลงจาก 5% เป็น 10% และมีโครงการรณรงค์ชวนประหยัดน้ำ (งบประมาณ 20 ล้านบาท) ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ด้วยการคืนเงินสดให้กับประชาชนที่สามารถประหยัดน้ำได้"

          นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ภาพรวมการจ่ายน้ำยังไม่มีสาขาใดที่หยุดการจ่ายน้ำ แต่มีบางสาขาที่ต้องลดแรงดันหรือการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา โดยพื้นที่ที่เป็นกังวลมากที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มมีบางสาขาที่จ่ายน้ำเป็นเวลา โดยล่าสุดวันที่ 19 ม.ค. 59 เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือเพียง 5% ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาขอนแก่นและสาขาบ้านไผ่

          ส่วนที่บริเวณคลอง 13 ต่อเนื่องไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ ปทุมธานี พบว่ามีการวางท่อพญานาคเพื่อเตรียมสูบน้ำ กว่า 300 ท่อ สำหรับหล่อเลี้ยงพืชสวนและเลี้ยงปลา ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ หากท่อเหล่านี้สูบน้ำพร้อมกันน้ำจะหายไปจากคลองทันที

          นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้แจ้งให้สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งให้แจ้งกลับมายัง ส.อ.ท.ว่ามีปัญหาการใช้น้ำภายในโรงงานหรือไม่ นอกจากนี้ในช่วง ที่ผ่านมาโรงงานมักจะติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีปริมาณการใช้น้ำลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและฟอกย้อม

          นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบต่าง ๆ จากพืชไร่ทั้งหมดและที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงในพื้นที่ภาคอีสาน

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอฯลำพูนได้ใช้งบ 20 ล้านบาทเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้แล้ว 20 บ่อ และเตรียมงบประมาณไว้ซื้อน้ำจากภาคเอกชน 1 รายที่ยื่นเสนอขายน้ำให้ในปริมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรอ.ประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือในการช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งแนะนำการขุดบ่อบาดาล คุมการปล่อยน้ำทิ้งให้มารีไซเคิลใช้ใหม่ และเร่งให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินการตามนโยบายนำขุม เหมืองเก่าใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ 36 แห่ง

          นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน ลำตะคอง "ยังน่าห่วงและจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" จึงอยากให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ให้ผ่านวิกฤตแล้งนี้ไปได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

 'สมคิด'ติวเข้ม65ทูตพาณิชย์เจาะตลาดโลกขายสินค้าไทย 

          หมายเหตุ - นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มอบนโยบายแก่หัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก 65 แห่ง โดยมี นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร (ไอซีที) นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านส่งออก 1 ใน 12 คณะที่รัฐร่วมกับเอกชนจัดตั้งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วม ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ เมื่อ วันที่ 20 มกราคม

          สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

          มี 2 ประเด็นหลัก ที่มอบให้ ประเด็นแรก ต้องการให้กำลังใจในการทำงาน เพราะเศรษฐกิจโลกปีนี้ยังค่อนข้างซบเซา ไอเอ็มเอฟ(กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ประเมินโตแค่ 3.4% แต่ไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง ปีก่อนแม้เศรษฐกิจโลกไม่ดีและไทยส่งออกติดลบ 5.5% แต่ประเทศส่วนใหญ่แย่กว่าไทย ไทยยังเป็นอันดับ 4 ที่ติดลบน้อย รองจากจีน ฮ่องกง และเม็กซิโก ส่วนแบ่งในตลาดสินค้าไทยก็ยัง ไม่ตก หากตัดรายการส่งออกน้ำมันแปรรูป ส่งออกไทยก็ยังเข้มแข็ง

          มาให้กำลังใจแต่จะไม่ลดเป้าหมายที่ให้ไว้โต 5% จึงให้กำลังใจ ให้ทำงานเต็มที่ ทำแบบวิ่งเต็มที่ ไม่ใช่นั่งทอดเข่า ยิ่งในภาวะไม่ปกติ ยิ่งต้องทำงานเชิงลึก หรือ Deep Penetration ต้องเจาะลึกในแต่ละเมือง ดูว่าแต่ละเมืองต้องการอะไร มีเมืองอะไรบ้าง จะเจาะอย่างไร และต้องจัดทีมทำงานให้พร้อม ประเทศใดมองว่ามีศักยภาพก็ต้อง เพิ่มคน เพิ่มที่ปรึกษา จ้างคนท้องถิ่นแบบชั่วคราวเพื่อมาเร่งทำงาน รวมถึงมีแผนการทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ถ้าบริษัทใดขาดทุนคิด แต่จะตัดค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดียิ่งต้องเพิ่มคน การ ลดค่าใช้จ่ายจะยิ่งเสียหายหนัก ให้แต่ละประเทศรวบรวมมาประเทศใดควรเพิ่มควรอัดอย่างไรให้เติบโต ก็ต้องจัดไป

          ผมยังไม่เห็นด้วยที่จะปิดสำนักงานทูตพาณิชย์ อย่างกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเมืองแฟชั่นก็ควรคิดว่าจะใช้ประโยชน์อย่างใด ซึ่งผมไม่ขอแทรกแซงการทำงานของรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เมื่อเศรษฐกิจดีเราจะเสียโอกาสถ้ามัวแต่ประหยัด

          อีกประเด็นคือ ใช้จังหวะนี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ต้องปรับทัพ ปรับวิธีการทำงานใหม่ ต้องเจาะลึกว่าแต่ละเมืองในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอาเซียน และกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) เศรษฐกิจกำลังโตเฉลี่ย 7% ต้องปลุกไปพร้อมกับการค้าชายแดน ซึ่งต่อปีมูลค่าระดับแสนล้านบาท ให้คิดว่าตลาดอาเซียน และประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี คือตลาดหนึ่งในไทย คิดว่า ย่างกุ้ง พนมเปญ เวียงจันทน์ คือเมืองหนึ่งในไทย จังหวัดหนึ่งในไทย ความรู้สึกเข้า ทำตลาดก็จะใกล้ชิดมากขึ้น ลดอาการกังวลของธุรกิจไทยได้

          หรืออย่างประเทศเศรษฐกิจใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา อาหารไทยก็ยังขายได้ดี แต่ขาดช่องทางขายหรือเอาต์เลตของคนไทย ที่มีอยู่ในสหรัฐ ก็เป็นคนเกาหลี คนเวียดนาม ต้องดูว่าจะส่งเสริมอย่างไรให้ ทุนไทยเข้าไปทำ อย่างสหรัฐหรือยุโรป ควรจูงใจให้คนไทยไปเทกโอเวอร์หรือรวมตัวกันไปซื้อขายและเปิดจุดขายเองในประเทศเศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ หรือญี่ปุ่นมีถนนคนเดินเพิ่มขึ้น สินค้าโอท็อปไทยก็ขายได้ ซึ่งคนญี่ปุ่นกำลังซื้อดีชอบของคุณภาพ ก็ไปดูว่าจะเจาะเมืองใดได้เพิ่ม อินเดียในเมืองมุมไบ เป็นตลาดเศรษฐี จ้างคนท้องถิ่นช่วยงานเจาะ ตลาดสัก 2 ปี จะขยายส่งออกได้อีกมาก แม้แต่จีนเศรษฐกิจและ ส่งออกจะลดลง 2% ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อเขา เพียงเราจะ ทำอย่างไร เจาะลึกตามเมืองซึ่งมีศักยภาพถึง 20 เมืองให้ซื้อสินค้าไทย ก็ต้องหาวิธี งบประมาณอะไรต้องลงก็ต้องใช้

          ดังนั้น การหาตลาดใหม่ เชิงเจาะลึก อัดโปรโมชั่นกิจกรรมต่อเนื่อง เจาะค้าชายแดน พร้อมกับการจัดคณะออกไปเจรจาการค้าและเจรจา ลดอุปสรรคการค้า ถือเป็นเรื่องฝากไว้ต่อการผลักดันการค้าในปีนี้

          อีกเรื่องที่ต้องเร่งทำคือ ปลุกการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ผมอยากให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน ได้สั่งการให้นายสุวิทย์ ทำงานร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีไทยและวิสาหกิจชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ระบบออนไลน์ในการเปิดตลาด การค้าสู่ต่างประเทศ ต้องการให้ธุรกิจไทยทั่วประเทศได้ใช้มากขึ้น

          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติการลงทุนด้านบรอดแบนด์ ก็เหลือว่าจะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีไทยใช้มากขึ้น จากวันนี้ใช้น้อยมาก ต้องไปดูว่าจะใช้เว็บไซต์อะไร เชื่อมกับเว็บไซต์โลกอย่างไร เช่น Alibaba และ Amazon ตอนนี้ก็ให้ไปคัดเลือกสินค้า เลือกกลุ่มเป้ามาย แล้วอบรมแนะนำให้เขาเข้าใจ จะปลุกเขาอย่างไร มุ่งเน้นที่สินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพราะแม้เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ตลาดโลกก็ยังต้องบริโภคอาหาร

          เรื่องนี้ต้องทำต่อเนื่อง 3-5 ปี ถึงตอนนั้นการค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ จะเป็นตัวสำคัญต่อการผลักดันธุรกิจและส่งออกไทยให้ขยายตัวเข้าตลาดโลก ก็ควรเริ่มที่กลุ่มซีแอลเอ็มวีก่อน ภายใน 3 เดือนนี้ เว็บไซต์นี้ต้องเป็นที่รู้จัก จะใช้ไทยแลนด์เบส หรือไทยเทรดคอทคอมก็เลือกกัน

          มาตรการในประเทศเรามีประชารัฐ ในต่างประเทศต้องมีไทยแลนด์เบส ให้เป็นที่รู้จัก ดังนั้นอีคอมเมิร์ซจะเป็นหัวใจหลักให้เอสเอ็มอีไทย เป็นที่รู้จัก และเปิดตลาดนอก รวมทั้งผลักดันธุรกิจรุ่นใหม่ๆ

          อีกเรื่องที่จะฝากไว้คือ ประเทศไทยจะเติบโตลำบาก หาก เศรษฐกิจฐานรากยังไม่เข้มแข็ง ทั้งๆ ที่เกษตรไทยมีศักยภาพสูง เช่น ผลไม้ไทย เป็นที่รับรู้และต้องการในต่างประเทศ ขอให้ท่านอภิรดีทำโครงการเกษตรไทยสู่โลก โดยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างแหล่งผลิตผลไม้หรือเกษตร กับการค้าปลายทาง โดย ไม่ต้องผ่านตัวแทนกลาง อย่างที่กำลังเกิดขึ้น อย่างผลไม้ไทยไปจีน ก็จะมีล้งเป็นคนจีนมาตั้งขนส่งและกระจายสินค้า เราแต่ผลิตจะได้ราคาไม่สูง ให้พาณิชย์ไปดูว่าจะทำตลาดอย่างไร ปรับวิธีการอย่างไร เรื่องเงินลงทุนหรือสนับสนุน ให้คุยกับ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และออมสิน ขอให้ดำเนินการเร็วที่สุด

          อภิรดี ตันตราภรณ์

          กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายอย่างเต็มที่ จะให้ทูตพาณิชย์ดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการต่างๆ ไปบ้างแล้วทั้งเรื่องการเจาะตลาดทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ หลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างเต็มที่ให้มากที่สุด ไม่เน้นเพียงเป้าหมายที่เป็นตัวเลข

          โครงการเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ตามนโยบายที่นายสมคิดได้มอบหมายให้จัดทำโครงการนั้น กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอของบประมาณ 700 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการสร้างศูนย์กระจายสินค้าเกษตร เชื่อมโยงและผลักดันสินค้าเกษตรไทยไปสู่ตลาดโลก ตลาดเพื่อนบ้านโดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี อันจะเป็นการยกระดับราคา สินค้าเกษตรไทย

          โดยศูนย์กระจายสินค้าจะมีตั้งแต่คลังเก็บสินค้า ห้องเย็น เพิ่มพื้นที่ลานจอดรถ รองรับการขนส่งและสินค้าเกษตรก่อนจะส่งไปตลาดโลก นอกจากนี้ ตามโครงการดังกล่าวจะพัฒนาเกษตรกรระดับชุมชน ให้ความรู้ตั้งแต่การผลิต การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต และตลาดชุมชนทั้งของสินค้าเกษตรทั่วไปและเกษตรอินทรีย์

          โครงการเกษตรไทยสู่ตลาดโลกจะเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ย สนับสนุนด้านข้อมูล และจัดทำแผนงานต่างๆ ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนเอง ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

          ศูนย์กระจายสินค้าจะสร้างตามหัวเมืองใหญ่ เบื้องต้นมี 10 จังหวัดเป้าหมายที่จะทำ ได้แก่ จ.อุดรธานี ราชบุรี นครศรีธรรมราช เชียงราย จันทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สระแก้ว พิษณุโลก และ จ.ปทุมธานี

          การพาเอสเอ็มอีสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายที่ได้รับ มอบหมายจากนายสมคิดนั้น จะพาเอสเอ็มอีเชื่อมโยงการค้า ขายกับเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ระดับโลกด้วย อาทิ Alibaba ซึ่งได้พูดคุยกับเว็บไซต์บ้างแล้ว ที่ผ่านมาเคยพาเอสเอ็มอีไทย ไปค้าขายกับเว็บไซต์ชื่อดัง เบื้องต้นจะใช้เว็บไซต์ Thaitrade ซึ่งมีอยู่แล้วเป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับเอสเอ็มอี แล้วเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก

          นอกจากนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความน่าเชื่อถือ ยอมรับได้ มีใบอนุญาตทางการค้า และพัฒนาระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน คาดว่าจะเห็น ผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือนตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้เอสเอ็มอีนำสินค้าออกสู่ตลาดและขายได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

ตะลุยหาลูกค้าทั่วโลกดันเป้าส่งออกโต5% ‘สมคิด’สั่งทูตพาณิชย์หาตลาด

 “สมคิด”สั่งทูตพาณิชย์เร่งทำตลาดทั่วโลกให้เต็มที่ มั่นใจจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และซีแอลเอ็มวี ยังต้องการสินค้าไทยมาก ย้ำต้องเห็นผลภายใน 3 เดือนนี้ ยืนยันเป้าส่งออกปี’59 ยังอยู่ที่ 5%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในการมอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จาก 65 สำนักงานทั่วโลกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกไม่ดี และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประกาศลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.4% ซึ่งไทยเองต้องพึ่งพิงการค้ากับต่างประเทศ ปัจจุบัน 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี )

ดังนั้นการส่งออกในวันนี้เราต้องทำงานอย่างเต็มที่และยอมเหนื่อยเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ประกาศดัชนีอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 9 เดือน เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนอนาคตในช่วง 3 เดือนเริ่มสะท้อนถึงความกังวลของภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ดี ดังนั้น ทุกภาคส่วนควรใช้ช่วงจังหวะที่เป็นวิกฤติให้เป็นโอกาส และควรสร้างสิ่งใหม่เพื่อรองรับอนาคต

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกอยู่ลำดับที่ 4 ของการส่งออกทั้งหมดทั่วโลก รองจาก จีน ฮ่องกง และเม็กซิโก และหากเอาสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันออกจะเห็นว่าจุดยืนสินค้าส่งออกไทยมีความเเข็งแรง ดังนั้น ปีนี้ ไทยจะเดินหน้าเต็มที่เพื่อให้การส่งออกเติบโตตามเป้าหมาย และจะไม่มีการปรับลดเป้า ขณะนี้กำลังซื้อโลกอ่อน ดังนั้น จะต้องเจาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูงโดยศึกษาเป็นรายตลาด เช่น จีน ส่งออกลดลง 2% ซึ่งเชื่อว่ากำลังซื้อของจีนยังมีความแข็งแรง เพราะคนรวยของจีนยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าจากไทย เช่น อาหาร บริการ ที่คาดว่ายังเติบโตได้ดีจะต้องทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น

“ต้องเปิดเกมรุก หาวิธีการขายสินค้าแบบใหม่ๆ เจาะเข้าไปให้ถึงกลุ่มผู้บริโภคแบบตัวต่อตัวโดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น จีน อินเดีย และตลาดภายใต้กรอบอาเซียน ยังมีโอกาสที่ต้องการสินค้าไทยมากน่าจะขยายตลาดสินค้าไทยได้ไม่มีปัญหา และรัฐบาลจะไม่มีการปรับเป้าหมายการส่งออกที่ทางกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ปีนี้อยู่ที่ 5% โดยมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือน 18,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ภาคเอกชนจะมองว่าทำได้ยากน่าจะโตได้เพียง 2% เท่านั้น ยังเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมืออย่างจริงจังก็ไม่น่าจะไกลเกินฝัน” นายสมคิด กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าตอนนี้สิ่งสำคัญ คือในแต่ละประเทศนั้น เรามีพนักงานไม่เพียงพอ ซึ่งเราจะต้องแก้ไข เดินหน้าหาบุคลากรที่เป็น Local เพื่อให้มีกำลังคนไปเสริม เพราะเมื่อเป็นนโยบายเราจะต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ ต้องคิดว่าเราจะเดินหน้าอย่างไรให้คนเหล่านี้มาซื้อของ เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจชะลอ แต่เมื่อดูตามพื้นที่ชายแดน เศรษฐกิจของเราเติบโตมากกว่าจีดีพีประเทศ เราจะปรับปรุงอย่างไร ชักชวนให้คนพม่า ลาวมาซื้อของเราให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ทั่วโลกดันสินค้าเกษตรของไทยไปสู่ตลาดโลก เพราะเชื่อมั่นว่าสินค้าเกษตรของไทยไม่แพ้ใครและสามารถที่จะเข้าไปเจาะตลาดและกระจายสินค้าเหล่านี้ ได้ โดยให้เน้นกลุ่มประเทศที่มีประชากรมากเป็นหลัก พร้อมกันนี้ให้ดึงกลุ่มสินค้าที่ยังไม่มีโอกาสในตลาดหรือยังไม่เป็นที่รู้จักให้มาอยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการสินค้าไทยรู้จักกันมากขึ้น

นายสมคิดกล่าวอีกว่าจากการพูดคุยกับภาคเอกชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงในการออกไปทำตลาดและพยายามให้ใช้จังหวะนี้พัฒนาตลาด พลิกวิกฤติเป็นโอกาส อย่าท้อใจกับยอดขายและต้องช่วยกัน ส่วนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออี-คอมเมิร์ซ

 เห็นว่าจะเป็นตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทยได้และทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมที่จะช่วยเหลือผลักดันธุรกิจนี้อย่างเต็มที่ หากดู

 มูลค่าการค้าของธุรกิจนี้ปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท และมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากและที่น่าเสียดายไทยปล่อยให้ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้เข้ามาเปิดศูนย์กระจายสินค้าในไทยมากขึ้น แต่ไทยยังไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าที่ประเทศเหล่านี้น้อยมาก จึงถึงเวลาที่จะเดินหน้าไปเปิดศูนย์กระจายสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้จะต้องเห็นเป็นรูปธรรม

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายเต็มที่และจะให้ทูตพาณิชย์ทำตามนโยบายที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาได้จัดทำโครงการต่างๆ บ้างแล้วทั้งการเจาะตลาดทั้งเก่าและตลาดใหม่ จากนี้จะไม่เน้นเป้าหมายที่เป็นตัวเลข แต่จะทำอย่างเต็มที่ให้มากที่สุด โดยกระทรวงเตรียมของบประมาณ 700 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัปดาห์หน้า เพื่อจัดทำศูนย์กระจายสินค้าเกษตรยกระดับราคาสินค้าเกษตรไทยและเชื่อมโยงสินค้าเกษตรไทยไปสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นโครงการระยะ 3 ปี รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้จัดทำโครงการเกษตรไทยสู่ตลาดโลกจะเป็นความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ย ข้อมูล การจัดทำแผน ซึ่งการลงทุนเอกชนจะเป็นผู้จัดการ

สำหรับศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวจะมีทั้งคลังเก็บสินค้าและห้องเย็น เพื่อรวบรวมสินค้าเกษตร โดยจังหวัดเป้าหมายที่จะจัดทำ ได้แก่ อุดรธานี ราชบุรี นครศรีธรรมราช เชียงราย จันทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สระแก้ว พิษณุโลก เป็นต้น

 จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

เกษตรฯ ยันน้ำในเขื่อนไม่แห้งขอด "ฉัตรชัย" ผุดแผนรับมือภัยแล้งโปรยฝนหลวงซับน้ำตาชาวนา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า โครงการฝนหลวงได้จัดชุดปฏิบัติการพิเศษ 4 ชุดลงไปที่จังหวัดนครสวรรค์เริ่มดำเนินการในวันที่ 20-24 ม.ค.59 โดยมีเป้าหมายคือเพื่อเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว และหลังจากวันที่ 24 ม.ค.59 จะเฝ้าติดตามผลของการทำฝนหลวงอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทางกระทรวงเกษตรฯได้สั่งขุดคลองส่งน้ำไส้ไก่ โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ชลประทาน โดยมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการ 52 โครงการ นำน้ำจากแหล่งน้ำไปถึงเกษตรกรให้มากที่สุด โดยเริ่มดำเนินการในวานนี้ (20 ม.ค.) ส่วนนอกเขตกรมชลประทาน ได้คุยกับกระทรวงกลาโหมหน่วยงานของกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด เข้าดำเนินการอีก 108 โครงการ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณางบประมาณภายใน 2 สัปดาห์

นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณการใช้ที่เพียงพอ โดยในช่วงเข้าสู่สภาวะภัยแล้งและช่วงน้ำทะเลหนุนสูง เนื่องจากมีลมฝ่ายตะวันตก ทางกรมชลประทานได้เตรียมน้ำไว้สำหรับบริหารจัดการวันละ 2 ล้าน ลบ.ม. จาก 15.7 ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 17-18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และจะระบายน้ำเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ในส่วนของการจ้างแรงงานในพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีปริมาณการจ้าง 17,500 ราย โดยทั้งประเทศมีแรงงาน 67,400 กว่าราย

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการใน 2 มาตรการคือ 1.การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โครงการสร้างรายได้จากพืชทดแทนนาปรัง ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืช สัตว์และประมง 385,000 ราย และพืชน้ำน้อย 155,813 ราย ในส่วนกลุ่มพืชไร่ที่อาศัยความชื้นในดินดำเนินการมอบปัจจัยการผลิตไปแล้ว เหลืออีกเพียง 4 จังหวัดและจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ และ 2. โครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/59 กรณีพืชน้ำน้อยทั้งประเทศ 155 โครงการ 151 ล้านบาท โดยชุมชนที่ทำโครงการเริ่มเบิกจ่ายแล้ว 96 ล้านบาท.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

คลังเร่งธ.ก.ส.ช่วยภัยแล้ง งัด3แผนอุ้มเกษตรกร ปล่อยกู้-พัฒนาสินค้า

“อภิศักดิ์” ไฟเขียว ธ.ก.ส. เข็น 3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบภัยแล้ง เคาะ 6 พันล้านบาท ปล่อยกู้รายย่อย 0% ระยะเวลา 6 เดือน พร้อมดันโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี หวังยกระดับมูลค่าสินค้าเกษตร แจงเตรียมเสนอ ครม.เดินหน้าปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำชุมชนหวังดันให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็น วงเงินรวม 6 พันล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง วงเงินกู้รายละ 1.2 หมื่นบาท ระยะเวลา 1 ปี โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ช่วง 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือน 7-12 จะคิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี โดยจะเริ่มปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.2559

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องการช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีเงินทุนหมุนเวียนและการใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ที่เข้าสู่ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ถือเป็นการประคับประคองเกษตรกรที่ประสบปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้ทำการเพาะปลูก รวมไปถึงจัดเตรียมเครื่องมือการเกษตร เพื่อเตรียมรับมือฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบและอนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มของ ธ.ก.ส.ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรแต่ละตำบลนำสินค้าเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร โดยธนาคารจะมีวงเงินปล่อยกู้ให้แต่ละตำบล รวมทั้งจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและช่วยพัฒนาให้โครงการต่างๆ ที่เกษตรกรเสนอมา โดยยืนยันว่าหากเป็นโครงการที่ดีก็สามารถกู้นำไปลงทุนได้ทันที

"รัฐบาลและ ธ.ก.ส.ต้องการสร้างให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยพร้อมจะให้การสนับสนุนในด้านแหล่งเงินทุน เพื่อให้เกิด 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี หรือมีหลายเอสเอ็มอีใน 1 ตำบลก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรเกิดการพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและรายได้ให้กับเกษตรกร" นายอภิศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชุมชนที่จ้างเกษตรกรผลิตสินค้าให้กับชุมชนเพื่อนำไปจำหน่วยต่อ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า เพราะรัฐบาลต้องชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. โดยมาตรการดังกล่าวเพื่อสร้างให้เกษตรกรในชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยจะเป็นลักษณะการช่วยเหลือระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรที่อยู่บริเวณรอบข้างในชุมชน เพื่อให้เกิดการว่าจ้างเกษตรกรกันเองเข้ามาช่วยเหลือเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือการเตรียมพื้นที่เพื่อรอการเพาะปลูกต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำนั้น ครม.ได้เห็นชอบเงินที่จะไปรับซื้อยางจากเกษตรโดยตรงให้ใช้เงินของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไปก่อน หากไม่พอค่อยมาใช้เงินจากธนาคารของรัฐ.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

เขื่อนเจ้าพระยายังวิกฤต เหลือน้ำใช้ 179 วัน มันสำปะหลังหลายร้อยไร่แห้งเฉา

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สถานการณ์ยังวิกฤตต่อเนื่อง โดยเหลือน้ำใช้ได้อีกเพียง 179 วัน และมีการงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรโดยสิ้นเชิงแล้ว ขณะที่ไร่มันสำปะหลังใน อ.หนองมะโมง เริ่มแห้งเฉาและแคระแกร็น เสียหายหลายร้อยไร่ โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดตรวจสอบระดับน้ำ ที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนลดลงไปอยู่ที่ 13.88 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับวิกฤต 12 ซ.ม. ขณะที่ระดับระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 75ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ ผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปา ในจังหวัดภาคกลางและกรุงเทพมหานคร โดยได้งดการส่งน้ำเข้าพื้นที่เกษตรแล้วอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนับถึงวันนี้จะมีน้ำใช้ได้อีก 179 วัน

ส่วนพื้นที่ อ.หนองมะโมง ที่ปกติจะมีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังจำนวนนับหมื่นไร่ แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากที่ปล่อยทิ้งที่ดินให้รกร้าง เนื่องจากเกรงจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง อีกทั้งตรวจสอบพบว่า ไร่มันสำปะหลังที่ทำการเพาะปลูกไว้บางส่วน กำลังแห้งเฉา แคระแกร็น และเสียหายจากภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรง เป็นจำนวนหลายร้อยไร่

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้มแก้ลักลอบทิ้งกากฯ ปีนี้จับตา 9 พันแห่งไม่มีแผนกำจัดไม่ต่อใบอนุญาตรง. 4

กรอ.ไล่เช็กบิลโรงงานจำพวก 3 ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปีนี้กว่า 9 พันแห่ง ไม่มีแผนนำกากเข้าสู่ระบบ ไม่ต่อใบอนุญาตรง. 4 ให้ เท่ากับต้องปิดกิจการ ฝ่าฝืนยังเปิดกิจการต่อมีโทษจำคุก 2 ปี และหากต้องขอใหม่ไม่ง่าย แนะ 3 แนวทางให้ผู้ประกอบการดำเนินงาน ทั้งบริหารจัดการภายในโรงงาน เก็บกากในระยะเวลา 90 วัน หรือส่งโรงงานกำจัดกาก พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือ 6 ภูมิภาคให้คำแนะนำ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กรอ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเร่งรัดโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีอยู่กว่า 6.82 หมื่นโรงงาน เข้าสู่ระบบได้ไม่น้อยกว่า 90% และเร่งรัดให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบ

ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า มีโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการหรือมาลงทะเบียนกับกรอ.มีเพียงจำนวน 75.6% หรือมีเพียง 5.16 หมื่นโรงงานเท่านั้นและมีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบการจัดการหรือถูกนำไปกำจัดเพียง 27.37 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 37.42 ล้านตัน แบ่งเป็นกากอันตรายที่เข้าสู่ระบบ 1.32 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ 2.84 ล้านตัน และกากไม่อันตรายเข้าสู่ระบบ 26.05 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ 34.57 ล้านตัน

โดยเฉพาะกากอันตรายที่ประเมินว่ายังเข้าสู่ระบบในปริมาณที่ต่ำ และส่วนใหญ่มาจากโรงงานขนาดใหญ่เพียง 7% จากจำนวนโรงงานทั้งหมด ในขณะที่ 93% ซึ่งเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กยังไม่มีการนำกากเข้าสู่ระบบมากนัก ที่ชี้ให้เห็นว่ายังมีการลักลอบทิ้งกากฯออกสู่สาธารณะอยู่

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติม นอกเหนือจากพ.ร.บ.โรงงาน ที่ใช้บังคับอยู่ ที่จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดกาก จะต้องมีการจัดทำแผนกำจัดกาก เพื่อใช้เป็นส่วนสำคัญในการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ถ้าไม่มีการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง เท่ากับว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวง และหากผลการตรวจสอบปรากฏว่าโรงงานไม่มีการดำเนินงาน ทางกรอ.จะไม่มีการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการให้ ซึ่งเท่ากับว่าโรงงานจะต้องหยุดประกอบการโดยทันที และหากเปิดประกอบกิจการหลังไม่ได้ต่อใบอนุญาตแล้ว ตรวจพบจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานนั้น จะมีอายุประมาณ 5 ปี เมื่อครบรอบผู้ประกอบการจะต้องมาต่อใบอนุญาตกับกรอ.ทุกสิ้นปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีโรงงานที่ครบรอบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นราย แต่ในปี 2559 คาดว่าจะมีกว่า 9 พันราย ซึ่งในจำนวนโรงงานดังกล่าวนี้ ทางกรอ.ก็ได้เสนอทางเลือกหรือแผนจัดการให้โรงงานไปดำเนินการในการกำจัดกากไว้ 3 ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการด้วยโรงงานเอง หรือจะมีการแจ้งกรอ.ในการจัดเก็บกากไว้ในระยะเวลา 90 วัน ก่อนจะถูกนำไปกำจัด และส่งให้โรงงานรับกำจัดกากไปดำเนินการ

ทั้งนี้ โรงงานที่ใบอนุญาตประกอบกิจการกำลังจะหมดภายในปีนี้ จะต้องเสนอแผนและดำเนินการให้ได้ตามแผนที่แจ้งไว้ โดยก่อนที่จะมีการต่อใบอนุญาตให้ทางกรอ.จะส่งเจ้าหน้าไปตรวจสอบโรงงานว่า มีการดำเนินงานจริงหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่ถูกต้องจะสั่งให้มีการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากพ้นระยะเวลาไปแล้ว ทางกรอ.จะมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้

ดังนั้น มาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยให้โรงงานจำพวก 3 ที่มีอยู่ จะมีการจัดการนำกากเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้กรอ.หวังว่า จะมีกากอันตรายเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.5 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 27-28 ล้านตัน

“การที่โรงงานไม่จัดทำแผนกำจัดกาก และไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ หรือเพิกเฉยต่อการปฏิบัติ ผลเสียที่เกิดขึ้นจะตกอยู่กับโรงงานเอง เพราะไม่เพียงประกอบกิจการไม่ได้แล้ว อาจจะมีโทษทางอาญาเพิ่มขึ้นมา หากมีการฝ่าฝืน อีกทั้งหากจะกลับมาขอใบอนุญาตประกอบกอบกิจการใหม่ จะเป็นเรื่องอยาก เพราะจะต้องกลับไปสู่ขั้นตอนแรกใหม่ ที่จะต้องเปิดทำประชาพิจารณ์ในชุมชนที่ตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่โรงงานจะกลับมาดำเนินการใหม่ได้”

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว และให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทางกรอ.จะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมขึ้นใน 6 ภูมิภาค โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่งที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ไปประจำสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำในการจัดทำแนวการดำเนินงาน ดังนั้น ทางกรอ.จึงเชื่อว่าหากมีมาตรการในลักษณะนี้ออกมาแล้วจะทำให้มีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้ตามแผนที่วางไว้

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 

คอลัมน์ เออีซี ไฮเวย์: ไทยศูนย์กลาง

          หลังการรวมกลุ่มของ 10 ประเทศภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 ความคึกคักทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็เริ่มต้น โดยเฉพาะไทย มีต่างชาติเตรียมเข้ามาลงทุนเพราะเล็งเห็นในศักยภาพเพื่อเชื่อมการค้าการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หนึ่งในนั้นคือนักลงทุนชาติญี่ปุ่น

          นายเซนตะ โมริโอกะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น นำทีมนักลงทุนญี่ปุ่นทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เดินทางมาไทยเพื่อเจรจาจับคู่ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทย และได้เข้าพบนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บอกว่าประเทศไทยมีการลงทุนและดำเนินกิจการที่ง่ายกว่าประเทศอื่นในอาเซียนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหลังการเปิดเออีซี ผู้ประกอบการญี่ปุ่นจำนวนมากที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในอาเซียนได้วางเป้าหมายจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก สาเหตุหลักคือไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน จะใช้ไทยเป็นฐานกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ

          จังหวัดไอจิมีขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งโรงงานในไทยแล้ว 416 โรงจาก 284 บริษัท นักลงทุนญี่ปุ่นจึงน่าจะคุ้นเคยดีกับการทำอุตสาหกรรมในไทย

          และสัปดาห์นี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเตรียมลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับจังหวัดเอฮิเมะ ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกลุ่มเอส-เคิร์ฟ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และแปรรูปอาหาร

          เป็นการเคลื่อนทัพลงทุนครั้งสำคัญที่ญี่ปุ่นหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ส่วนไทยเองก็ต้องการให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลงทุนเช่นกัน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 

'ณรงค์ชัย'แนะSMEรับมือศก.โลก ก.อุตฯประสาน17คลัสเตอร์ร่วมมือรบ.

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เศรณี เปิดเผยในการปาฐกถาหัวข้อ "เอสเอ็มอีไทย เตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจ ปี 2559 อย่างไร" ว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตและการทำตลาด ซึ่งเทคโนโลยีจะเพิ่มความสามารถในการทำงานของบุคลากร เพิ่มความยืดหยุ่นในการโยกย้ายภายในองค์กร และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี

"ปัจจุบันแรงงานในตลาดได้รับการศึกษาตามระบบการศึกษาไม่ถึง 9 ปี ซึ่งถือว่าน้อยมาก การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการขนาดเล็กควรมีการนำนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์มารวมกันเพื่อพัฒนาสินค้า เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีความสามารถในการออกแบบแต่ขาดการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้า" นายณรงค์ชัย กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องพัฒนาธุรกิจให้แข่งขันได้แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่หากไทยละเลยจะถูกกีดกัน เช่น แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และมาตรการป้องกันและขจัดการทำประมงผิดกฎหมายของอียู การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส) การปฏิบัติตามกฎการบินที่ดูแลโดยองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เกี่ยวกับกฎระเบียบการบินพลเรือนที่ไทยต้องแก้ไข และต้องเฝ้าระวังการก่อการร้ายสากลที่อาจกระทบได้

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการเชื่อมโยงสมอลคลัสเตอร์ 77 กลุ่ม ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เคยส่งเสริมมาก่อนหน้านี้เพื่อให้ประสานกับ 6 คลัสเตอร์ของรัฐบาล โดยให้ กสอ.ดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่ายเอสเอ็มอีใน 18 จังหวัด คัดเลือกกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ 17 เครือข่าย ภายใต้อุตสาหกรรมแฟชั่น เกษตรแปรรูป และเครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน โดยจะเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาศักยภาพ และเชื่อมโยงนวัตกรรม

ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายที่จะผลักดันในปีนี้ เช่น ผ้าทอพื้นเมือง จ.อุดรธานี กลุ่มผลไม้แปรรูปภาคตะวันออก ในจ.ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก กลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอ เพชรเกษม กทม. เป็นต้น ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ 2,000 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่ม 530 ล้านบาท และช่วยลดต้นทุน 65 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559 

สศอ. รื้อดัชนีอุตสาหกรรมใหม่แม่นยำกว่าเดิม พร้อมเพิ่ม 28 สินค้าและตัดสินค้าออก17 รายการ 

            สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมชุดใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือเชิงรุกสำหรับนักลงทุนและสะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างแม่นยำ โดยเพิ่ม 28 สินค้าใหม่ พร้อมตัด 17 สินค้าออกเนื่องจากมีการย้ายการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศ

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น จัดทำดัชนีอุตสาหกรรมชุดปรับปรุงใหม่ (New Manufacturing Production Index: MPI) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆที่จะมีบทบาทต่อการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต ผนวกกับจากกระแสโลกสมัยใหม่ (Global Trend) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็ว การเกิดขึ้นของตลาดเกิดใหม่ พลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พลิกโลกเศรษฐกิจและธุรกิจ ทำให้ความเชื่อมโยงของโลกเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตลาดฐานการผลิต รวมทั้งการเคลื่อนย้ายการลงทุน สินค้า และบริการจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

          ด้วยเหตุผลดังกล่าว สศอ. จึงตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจ (Key Indicators) ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามพลวัตรอย่างเหมาะสม เพื่อให้สะท้อนภาคเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและทันสมัย และเป็นเครื่องวัดภาวะเศรษฐกิจตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นระยะ จึงได้ดำเนินการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมใหม่นี้

          สำหรับ MPI ชุดปรับปรุงใหม่นี้ ได้ปรับปรุงน้ำหนักที่ใช้ในการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมให้สะท้อนโครงสร้างการผลิตที่ใกล้เคียงปัจจุบันมากขึ้น โดยภาพรวมได้มีการปรับกลุ่มอุตสาหกรรมจากเดิม 53 กลุ่มอุตสาหกรรม (216 ผลิตภัณฑ์) เป็น 56 อุตสาหกรรม (226 ผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลของ MPI ชุดปรับปรุงใหม่จะมีทิศทางสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 86.1

          ทั้งนี้ในเบื้องต้น สศอ. ปรับสินค้า/โรงงาน ที่เป็นตัวแทนจากรายการผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ใน MPI ชุดเก่าออกจำนวน 17 สินค้า ได้แก่ ลูกชิ้นไก่, ลูกชิ้นหมู, ข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง, น้ำมันถั่วเหลืองดิบ, ผ้านวม, ผ้าลูกไม้, ยางยืด, ใยสังเคราะห์, ผ้าถักเครื่องแต่งกายชั้นในบุรุษและเด็กชาย, รองเท้าพลาสติก, ไม้ปาร์เก้, น้ำมันดีเซลหมุนช้า, เครื่องสำอาง, Electric tubes Cathode For color TV /Electric tubes Ray tubes For computer & related equipment (โทรทัศน์สีจอโค้งซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอดภาพแบบเก่า) เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้โรงงานมีจำนวนลดน้อยลงและบางโรงงานเลิกกิจการไปแล้ว บางโรงงานย้าย หรือขยายฐานการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพื่อขยายการตลาดในต่างประเทศรวมทั้งเพื่อการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี

          ส่วนสินค้าใหม่ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นจากในอดีตได้ปรับเพิ่มมีจำนวน 28 สินค้า ได้แก่ เนื้อไก่สุกปรุงรส, น้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์, นมเปรี้ยว, นมผง, ซอร์ปิทอลเหลว (Sorbitol เป็นสารให้ความหวาน), พรีมิกซ์,น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, น้ำอัดลม, น้ำดื่มให้พลังงาน, รองเท้าผ้าใบ, กระดาษอนามัย, แก๊สโซฮอล 91, แก๊สโซฮอล 95, น้ำมันหล่อลื่น, Polyethylene resin (PE) LLDPE, LDPE, Expandable Polysthyrene (EPS), สีน้ำมัน, สีน้ำพลาสติก,น้ำยาทำความสะอาด, แอสฟัลท์, เครื่องยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร, เครื่องซักผ้า, เตาอบไมโครเวฟ, ชุดสายไฟสำหรับรถยนต์และจักรยานยานยนต์, เครื่องยนต์แก๊ส โซลีน, เครื่องยนต์ดีเซล

ดังนั้น MPI ชุดปรับปรุงใหม่นี้จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อใช้ติดตามหรือประเมินภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และมีแนวทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในการสะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้จะมีการพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ผ่านsmart phone เพื่อสะดวกในการสืบค้นข้อมูลด้านอุตสาหกรรม โดยรายละเอียดดังกล่าวสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ www.oie.go.th

          "โครงสร้างอุตสาหกรรมไทยในระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าถ่วงน้ำหนัก ของมูลค่าเพิ่ม (Value added) และส่งผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำดื่มให้พลังงาน แก๊สโซฮอล 91 หรือ 95 เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตน้อยในอดีตแต่ปัจจุบันกลับมีการผลิตมากขึ้น ในขณะที่บางผลิตภัณฑ์ที่เคยมีดัชนีผลผลิตสูงมากในอดีต เมื่อเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสำคัญแบบก้าวกระโดด (Disruptive Technology) จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจลดลงไปด้วย" นายศิริรุจ ผอ.สศอ.กล่าวทิ้งท้าย

จากhttp://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 มกราคม 2559

ไออีซี” โหมตลาดพลังงานทดแทน ขยายโรงไฟฟ้าพลังจากงานขยะ หวังโกยรายได้ปี 59 ประมาณ 1,700 ล้านบาท 

          "ไออีซี" ผู้นำทางธุรกิจด้านพลังงานทดแทน บุกตลาดปี 59 อย่างหนัก ดึง "ยูนานวอเตอร์ อินเวสเมนต์" จากประเทศฮ่องกง ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ หลังเข้าเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าขยะแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ที่มีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท ทำให้ปี 59 "ไออีซี" ก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดพลังงานทดแทน และผลิตเม็ดพลาสติกปนเปื้อนจากขยะ ด้วยโครงการถึง 11 แห่ง พร้อมเปิดตัวผู้บริหารชุดใหม่ทำให้ "ไออีซี" คาดการณ์ปี 59 จะกวาดรายได้กว่า 1,700 ล้านบาท

          ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC เปิดเผยว่า บริษัทฯ เป็นผู้นำทางธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ที่มีผลงานที่ผ่านมามากมายทั้ง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล อีกทั้งยังดำเนินการทางด้านการสื่อสาร และสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่องอย่างยาวนาน และที่ผ่านมาบริษัทฯ ร่วมลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะของบริษัทฯ ดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าชื่อ บริษัท จีเดค จำกัด โดยสร้างโรงงานกำจัดขยะชุมชนและแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า กำลังการขายกระแสไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 เมกกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯคาดว่าจะเพิ่มกำลังได้เป็น 5.8เมกกะวัตต์ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยบริษัทฯ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งแรกที่ใช้เทคโนโลยี Ash- Melting Gasification ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงจากประเทศฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร

          ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกำลังการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จึงทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานขยะของ IEC เป็นที่สนใจของสถาบันการลงทุนต่างๆ จากการพิจารณาอย่างดี IEC จึงได้เลือก บริษัท ยูนานวอเตอร์ อินเวสเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมทุนทั้งนี้ได้ลงนามกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 7มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ บริษัท ยูนานวอเตอร์ อินเวสเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงโดยมีผู้ถือหุ้นหลักที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนสองแห่งคือ Yunnan Metropolitan Construction Investment และ Beijing Origin Water และเพื่อเป็นการรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน 2558 บริษัท ยูนานวอเติอร์ อินเวสเมนต์ ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าขยะแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ในสัดส่วนทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

          ปัจจุบัน IEC มีโครงการที่รับรู้รายได้แล้ว 7 โครงการ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แม่ทา 1,2 จ.ลำพูน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2.638 MW โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) มูลค่า 6.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปี และมีอายุโครงการ 25 ปี โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แม่มาลัย จ.เชียงใหม่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2.379 MW มีกำลังไฟฟ้ารับซื้อ 1.92 MW โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) มูลค่า 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปี และมีอายุโครงการ 25 ปี และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แม่ระมาด จ.ตาก มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 6.3 MW มีกำลังไฟฟ้ารับซื้อ 5.25 MW โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยได้รับส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) มูลค่า 6.50 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปี และมีอายุโครงการ 25 ปี

          และโครงการ ไออีซี กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบการจัดการขยะส่วนหน้าประกอบด้วย การบดย่อยขยะด้วยเครื่อง Shredder ระบบสายพานลำเลียงขยะ การลดความชื้นขยะด้วย Rotary Dryer นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาระบบการจัดการขยะอย่างครบวงจรเพิ่มได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งผลิตน้ำหมักชีวภาพจากขยะอินทรีย์ (EM) ให้ได้น้ำหมักชีวภาพสมรรถนะสูงโดยระบบสามารถผลิตหัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้แก่ชุดผลิตน้ำหมักซึ่งจะทำงานอย่างต่อเนื่องและมีผลผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพปริมาตร 2,000 ลิตร ทุก 15 วัน

          นอกจากนี้ยังมี โครงการโรงไฟฟ้าขยะจีเดค ซึ่งได้ร่วมทุนกับ EGCO ในการดำเนินงานโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ กำลังการผลิตติดตั้ง 6.7 MW หาดใหญ่ จ.สงขลา และโครงการโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส จ.กำแพงเพชร บ่อก๊าซชีวภาพในทางการผลิต "หัวอาหาร (feed stock)" โดยใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตและนำจุลินทรีย์มาย่อยสลาย โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากบ่อหมักได้ถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตร (Cubic meter) ต่อวัน ซึ่งเพียงพอการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 6 MW ต่อชั่วโมง และ โครงการไบโอแก๊ส สุพรรณบุรี โรงไฟฟ้าไบโอแก๊สจากน้ำเสีย (Vinasse) ซึ่งเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตเอทานอลมีขนาดกำลังการผลิต10.6 MW โครงการ เอทานอล ระยอง ผลิตเอทานอลในนาม บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัดโดยมีกำลังการผลิตวันละ 170,000 ลิตร

          โรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดสระแก้ว 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 MW โครงการผลิตเม็ดพลาสติกจากพลาสติกปนเปื้อน จ.ระยอง ขนาดกำลังผลิตวันละไม่น้อยกว่า 120 ตัน เพื่อการส่งออก โครงการผลิตเม็ดพลาสติกจากพลาสติกปนเปื้อน หาดใหญ่ ขนาดกำลังผลิตวันละไม่น้อยกว่า 60 ตัน

          ดร.ภูษณ กล่าวต่ออีกไปว่า นอกจากนั้นยังมีอีก 4 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2559 นี้ อาทิเช่น โครงการโรงไฟฟ้าโอแก๊ส จ.กำแพงเพชร ด้วยกำลังการผลิตขนาด 5.25 MW และโครงการโรงไฟฟ้าโอแก๊ส จ.สุพรรณบุรี ด้วยกำลังการผลิตขนาด 10.6 MW โรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดสระแก้ว แห่งที่ 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 8 MW (สัญญา 7 ปีกับ PEA) และ โครงการผลิตเม็ดพลาสติกจากพลาสติกปนเปื้อนเพื่อการส่งออก ที่หาดใหญ่ ขนาดกำลังผลิตวันละไม่น้อยกว่า 60 ตัน ซึ่งถ้าประเมินมูลค่ากิจการจากปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ดังกล่าวพบว่าในปัจจุบันบริษัทฯ มีมูลค่ากิจการมากกว่า 7,000 ล้านบาท

          "ปี 2559 IEC มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทนโดยบริษัทฯจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพที่จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี และกำแพงเพชร โครงการโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โครงการขยะเชื้อเพลิงจากบ่อขยะในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดชลบุรี พัทลุง สงขลา โดยการร่วมทุนของบริษัท ยูนานวอเตอร์ อินเวสเมนต์ จำกัด (มหาชน) นั้น ทำให้บริษัทเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ลดภาระการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และคาดว่าในปี 2559 บริษัทฯ จะมีรายได้ประมาณ 1,700 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตจากนี้ไป 5 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 20-25% ต่อปี โดยคาดการณ์ในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 2,210 ล้านบาท ในปี 2561 มีรายได้ประมาณ 2,542 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ประมาณ 3,051 ล้านบาท และในปี 2563 มีรายได้ประมาณ 3,661 ล้านบาท" ดร.ภูษณ กล่าวสรุปในตอนท้าย

จากhttp://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 มกราคม 2559

ไทย-สหรัฐฯเดินหน้าขยายการค้าการลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่อย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมคอนราด ว่าสหรัฐฯ เชื่อมั่นในการปฏิรูปประเทศของไทย และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการเข้าสู่ประชาธิไตยที่สมบูรณ์ รวมทั้งยินดีกับบทบาทสำคัญของไทยในเวทีเศรษฐกิจโลก โดยในการหารือครั้งนี้ ไทยได้เน้นย้ำถึงการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ที่ทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนผ่านการจัดประชุมคณะมนตรี ภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) ทั้งระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในช่วงเดือนเมษายน 2559 เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งแสวงหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันของไทยนอกจากนี้ สหรัฐฯ ยินดีที่จะหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความตกลง TPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาความพร้อมของไทยต่อไป โดยไทยยืนยันเดินหน้าแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การยกระดับมาตรฐานแรงงานให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าการลงทุนที่ดีพร้อมรับการลงทุนจากต่างชาติรวมทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมิตรประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ Special ASEAN-U.S. Summit ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2559 ณ เมืองปาล์มสปริงส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมหารือกับผู้นำอาเซียนรวมทั้งไทยโดยเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะได้หารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในทุกมิติ ภายหลังจากที่ได้ยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในกรอบอาเซียน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 มกราคม 2559

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แม้ IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 20 มกราคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในระหว่างวัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคืนวันอังคาร (19/1) ที่ระดับ 36.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ในระหว่างวัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคืนวันอังคาร (19/1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้ (20/16) โดยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ในปี 2016 ปรับลดลง 0.2% จากการคาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2015 และคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.6% ในปี 2017 ลดลง 0.2% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะเดียวกันได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.6% ทั้งในปี 2016 และในปี 2017 ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน 0.2% นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.3% ในปี 2016 และ 63.0% ในปี 2017 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน และเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.0% ในปี 2016 ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน และขยายตัว 0.3% ในปี 2017 ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อน 0.1% นอกจากนี้ IMF ยังได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะสามารถขยายตัวอยู่ที่ 4.3% ในปี 2016 และ 4.7% ในปี 2017 ซึ่งต่างก็ปรับลดลง 0.2% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ทั้งนี้ เกิดจากภาวะผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก การชะลอตัวเศรษฐกิจของจีน และการปรับตัวลดลงอย่างหนักของราคาน้ำมัน ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 36.285-36.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 36.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.0928/29 ดอลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/1) ที่ระดับ 1.0872/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรปได้มีการเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายปี และทรงตัวเมื่อเทียบรายเดือน โดยถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของยูโรโซนที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน และ 0.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่กำหนดไว้ใกล้ระดับ 2.0% นอกจากนี้ สถาบัน ZEW ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเยอรมนีอยู่ที่ 10.2 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8.2 แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (20/1) ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 0.5% ในเดือนธันวาคม จากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลง 0.4% อีกทั้งยังปรับตัวลดลงมากกว่าเดือนพฤศจิกายนที่ -0.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.0901-1.0975 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0931/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 117.30/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (19/1) ที่ระดับ 117.95/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลัง IMF ประกาศปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งในปี 2016 และ 2017 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 115.96-116.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 116.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญต้องจับตาดู ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ธ.ค.ของสหรัฐ (20/1), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน-การอนุญาตก่อสร้างเดือน ธ.ค.ของสหรัฐ (20/1), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประชุมและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (21/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (21/1),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.2/+3.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +8.5/+9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 20 มกราคม 2559

มท.เน้นเพิ่มน้ำต้นทุนบรรเทาแล้ง

ปภ.เร่งขับเคลื่อนมาตรการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เน้นเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำคาดว่าหลายพื้นที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ย และปีที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือและบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยระดมรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถสูบน้ำ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ นำน้ำไปแจกจ่ายรวมทั้งสิ้น 6,115,181.924 ลูกบาศก์เมตร

พร้อมสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น จำนวน 86 บ่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 2,229 โครงการโดยขุดลอกคูคลองปรับปรุงสภาพแหล่งน้ำเดิม และสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,171 โครงการ คาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการฯ ตามเป้าหมายจะมีปริมาตรน้ำเก็บกัก 294.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชน ได้รับประโยชน์กว่า 1.08 ล้านครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรกว่า 3.19 ล้านไร่ รวมถึงได้ดำเนินมาตรการจ้างงาน เพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้วใน 25 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครปฐม นครราชสีมา นครสวรรค์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ศรีสะเกษ สกลนคร สระบุรี สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อ่างทอง และอำนาจเจริญ แยกเป็น จ้างแรงงาน จำนวน 161,961 คน เป่าล้างบ่อบาดาล จำนวน 3,137 บ่อ ฝึกอบรมอาชีพ จำนวน 189 รุ่น ขุดลอกแหล่งน้ำจำนวน 48 โครงการ และซ่อมแซมระบบประปา จำนวน 23 แห่ง เพื่อส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ

ตลอดจนดำเนินโครงการคลองสวยน้ำใส คนไทย มีความสุข ใน 26 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ สกลนคร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ พัทลุง ชุมพร ยะลา อุบลราชธานี พะเยา ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง ชลบุรี ตราด กระบี่ และระนอง รวม 169 โครงการ โดยสามารถกำจัดผักตบชวาและวัชพืชต่างๆ จำนวนกว่า 660 ล้านตัน 1,105 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่

ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของน้ำ การกระจายน้ำและการระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก จำนวน 1,173 บ่อ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้บูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยแล้งครอบคลุมทุกมิติอย่างยั่งยืนโทร.0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 20 มกราคม 2559

ผู้บริหาร"กลุ่มน้ำตาล" ทยอยซื้อหุ้น โบรกฯประเมินราคาน้ำตาลฟื้นตัว

ผู้บริหารบริษัทกลุ่มน้ำตาลซื้อหุ้นเพิ่มต่อเนื่อง เหคุราคาหุ้นร่วงต่ำพื้นฐาน รับมีแผนเข้าซื้อเพิ่มหากราคาหุ้นต่ำลงอีก ด้านโบรกเกอร์ประเมินราคาน้ำตาลปีนี้ทรงตัวระดับ 14 เซนต์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) พบผู้บริหารบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) KSL และบริษัทน้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) KBS รายงานการซื้อหุ้นต่อเนื่อง

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น รายงานว่า นายจำรูญ  ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น รายงานการซื้อหุ้นบริษัท 20,000 หุ้น ที่ราคา 3.89 บาทต่อหุ้น และซื้อหุ้น 20,000 หุ้น ราคา3.89 บาทรวมเป็นมูลค่าซื้อ 77,800 บาท ขณะที่บริษัท น้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) KBS รายงานว่า นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี รายงานการซื้อหุ้นบริษัท 52,000 หุ้น ราคา 6.20 บาทต่อหุ้น รวมมูลค่า 223,200 บาท

นายจรูญ ชินธรรมมิตร์  ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น กล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เนื่องจากประเมินว่าราคาหุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน จึงเข้าลงทุนในระยะยาว ทั้งนี้ หากราคาหุ้นยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็พร้อมจะซื้อหุ้นเพิ่มอีก โดยมองเป็นการลงทุนระยะยาว ทั้งนี้ ณ วันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 17 มี.ค.2558 นายจรูญ  ถือหุ้นในสัดส่วน 1.84%

ด้านนายทัศน์  วนากรกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี กล่าวว่า ไม่กังวลเรื่องสภาพคล่องหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะลดลง  เพราะเข้าซื้อในจำนวนไม่มาก

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังไม่ค่อยเน้นลงทุนในหุ้นน้ำตาลมากนัก เปิดผลมาจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ยังปรับขึ้นไม่แรง

ทั้งนี้ มองว่าการที่ราคาหุ้นบริษัทลดลงต่ำกว่าราคาตามปัจจัยพื้นฐานนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศการลงทุนโดยรวมของไทยที่รับแรงกดดันจากตลาดต่างประเทศ ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลในปี 2559 ประเมินว่าจะยังไม่เห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง แม้ว่าจะมีดีมานด์และซัพพลายที่บ่งชี้ถึงเทรนด์ที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

บล.คันทรี่ กรุ๊ป เผยแพร่ผ่านบทวิเคราะห์ว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง จากปัจจัยบวกเรื่องปริมาณการบริโภคสูงกว่าการผลิต และในฤดูการผลิตปี 2558/2559 คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกให้ราคาน้ำตาลยังทรงตัวในกรอบ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การผลิตลดลงเกิดจากผลผลิตจากประเทศจีนปรับตัวลดลงหลังจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน รวมถึงการที่เกษตรกรในบราซิลมีการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นทำให้ปริมาณน้ำตาลออกสู่ตลาดโลกลดลงอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นราคาน้ำตาลอาจจะถูกกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมและทำให้ราคาอ่อนตัวระยะสั้นแต่คาดว่าจะไม่ลดลงไปแตะระดับ 10 เซนต์ต่อปอนด์

คาดกลุ่มน้ำตาลกำไรปี 59 ฟื้นตัว

นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า แนวโน้มปี 2559 ผลประกอบการบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จะกลับมาฟื้นตัวจากราคาขายน้ำตาลที่ดีขึ้น เอทานอลทรงตัว ขณะที่ไฟฟ้าอ่อนลง

โดยภายหลังจากการประชุมกับผู้บริหารฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มในทางบวกต่อผลการดำเนินงานปี 2559 ของน้ำตาลขอนแก่น วามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาลจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น แต่กลุ่มเอทานอลคาดการดำเนินงานจะทรงตัว ส่วนไฟฟ้าคาดกำไรมีทิศทางที่อ่อนลง ทำให้ทางฝ่ายปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานปี 2559 ลงจากเดิม

โดยฝ่ายวิจัยปรับยอดขายเหลือ 20,761 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10 % จากงวดปี 2558 ภายใต้สมมติฐาน 1) ปริมาณขายน้ำตาลเพิ่ม 5% ราคาขาย 15 เซนต์ต่อปอนด์ 2) ปริมาณขายเอทานอล 107 ล้านลิตร  ราคาขาย 25 บาทต่อลิตร 3) ปริมาณขายไฟฟ้าลดลง 7%  ส่วนราคาขายลดลง 5% และคาดว่าแนวโน้มมาร์จินจะดีขึ้นเนื่องจากผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ปีก่อนหน้าเป็นรายการพิเศษ และปรับลดประมาณการกำไรสุทธิเหลือ 1,274 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 56%

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 มกราคม 2559

ร้อง คสช.สั่งโรงงาน งดรับอ้อยไฟไหม้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อถึงฤดูการหีบอ้อยได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองทั้งจากโรงงานน้ำตาล และใบอ้อยที่เกิดจากการเผาอ้อย ปลิวว่อนไปทั่วตลาดอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ในส่วนของโรงงานน้ำตาลที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่นละอองไปแล้วระดับหนึ่ง ขณะที่การเผาไร่อ้อยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและหนักขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้าจากฝุ่นละอองและใบอ้อยที่ถูกเผาแล้วปลิวว่อนกระจายเข้าสู่อาคารบ้านเรือนทันทีที่ถึงฤดูกาลหีบอ้อย เสื้อผ้าที่ตากไว้ต้องซักใหม่ตลอด อาหารต้องเก็บไว้อย่างมิดชิด และยังต้องกวาดบ้านกันทั้งวันอีกด้วย ชาวบ้านทนไม่ไหวจึงได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนให้ช่วยแจ้งให้ คสช.ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยและมีโรงงานน้ำตาล เข้าไปตรวจสอบและสั่งการให้มีการแก้ไขโดยด่วนทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของชาวบ้าน

ต่อมาผู้สื่อข่าวจากศูนย์ข่าวไทยรัฐสุพรรณบุรีได้พบกับ พ.อ.กุญช์ภัสร์ หาญสมบูรณ์ เสนาธิการ กกล.รส.มทบ.17 ทำหน้าที่หัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน จ.สุพรรณบุรี จึงได้แจ้งเรื่องราวความเดือดร้อนดังกล่าวของชาวบ้านให้ทราบ พร้อมขอให้ พ.อ.กุญช์ภัสร์ ดำเนินการตรวจสอบและช่วยแก้ไขปัญหาตามที่ชาวบ้านได้ฝากร้องขอมาให้ คสช.ประสานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว กับโรงงานน้ำตาลทั้งในเขต จ.สุพรรณบุรี จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ.ชัยนาท โดยขอให้ทุกโรงงานพร้อมใจและต้องปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมดด้วยการระงับการรับซื้ออ้อยไฟไหม้อย่างเด็ดขาด เพราะหากยังรับซื้ออยู่แม้จะมีการตัดราคาค่าอ้อยไฟไหม้แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะก็ยังคงมีการเผาอ้อยอยู่อีก โดยอ้างว่าคนงานไม่ยอมตัดอ้อยสด หลังจากได้รับทราบปัญหา พ.อ.กุญช์ภัสร์ ได้ตอบรับที่จะนำทีมออกตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขให้ทันที.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ภัยแล้งมาแน่4เขื่อนเหลือน้ำ20% ลดจ่ายน้ำประปา-คลอง13ไม่สนรุมสูบน้ำใส่บ่อ 

           ภัยแล้งกระหน่ำไทยตั้งแต่ต้นปี'59 น้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักชี้เป็นชี้ตายลุ่มน้ำ เจ้าพระยาหายไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 20% ต้องใช้ถึงสิ้นเดือน พ.ค. วอนช่วยกันประหยัดน้ำ ประปาเมืองกรุงเริ่มแล้ว ลดจ่ายน้ำช่วงกลางคืน ส.อ.ท. ห่วงภาคเกษตร-ปศุสัตว์ในอีสาน

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ วันที่ 19 มกราคม 2559 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 15,184 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 32% แต่เฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่ระบายน้ำเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน- ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย ถึงความอยู่รอดของกรุงเทพมหานครและจังหวัดภาคกลาง พื้นที่เกษตรกรรมสำคัญของประเทศปรากฏ มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงรวมกันแค่ 3,601 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 20% หายไปครึ่งต่อครึ่ง ส่งผลให้ปีนี้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง

          ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งภาคมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือแค่ 1,956 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% โดยเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงน้อยที่สุด แค่ 126 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 5% เขื่อนห้วยหลวง 25 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20%, เขื่อนจุฬาภรณ์ 46 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36%, เขื่อนลำปาว 736 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39% และเขื่อนลำตะคอง 95 ล้าน ลบ.ม.

          ด้านกรมชลประทานยังคงยืนยันว่า การใช้น้ำของประเทศยังเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำจากต้นทุน 4 เขื่อนหลักตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558-ต้นเดือนมกราคม 2559 มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% ของแผนจัดสรรน้ำ 2,900 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นสิ้นสุดฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน 1,889 ล้าน ลบ.ม. แต่ไม่มีการการันตีว่า ฝนจะต้องตกในต้นเดือนพฤษภาคม หากฝนมาล่าช้าออกไปก็จะเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคอย่างแน่นอน (ดูตารางประกอบ)

          นายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ได้ลดการจ่ายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯนนทบุรี-สมุทรปราการ ในช่วงกลางคืน 23.00-05.00 น. และตั้งเป้าจะลดการจ่ายน้ำลงอีก ในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตลงจาก 5% เป็น 10% และมีโครงการรณรงค์ชวนประหยัดน้ำ (งบประมาณ 20 ล้านบาท) ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ด้วยการคืนเงินสดให้กับประชาชนที่สามารถประหยัดน้ำได้"

          นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ภาพรวมการจ่ายน้ำยังไม่มีสาขาใดที่หยุดการจ่ายน้ำ แต่มีบางสาขาที่ต้องลดแรงดันหรือการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา โดยพื้นที่ที่เป็นกังวลมากที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มมีบางสาขาที่จ่ายน้ำเป็นเวลา โดยล่าสุดวันที่ 19 ม.ค. 59 เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเหลือเพียง 5% ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาของ กปภ.สาขาขอนแก่นและสาขาบ้านไผ่

          ส่วนที่บริเวณคลอง 13 ต่อเนื่องไปจนถึงคลองระพีพัฒน์ ปทุมธานี พบว่ามีการวางท่อพญานาคเพื่อเตรียมสูบน้ำ กว่า 300 ท่อ สำหรับหล่อเลี้ยงพืชสวนและเลี้ยงปลา ซึ่งไม่สามารถห้ามได้ หากท่อเหล่านี้สูบน้ำพร้อมกันน้ำจะหายไปจากคลองทันที

          นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้แจ้งให้สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดที่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้งให้แจ้งกลับมายัง ส.อ.ท.ว่ามีปัญหาการใช้น้ำภายในโรงงานหรือไม่ นอกจากนี้ในช่วง ที่ผ่านมาโรงงานมักจะติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่ามีปริมาณการใช้น้ำลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและฟอกย้อม

          นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะวัตถุดิบต่าง ๆ จากพืชไร่ทั้งหมดและที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เลี้ยงในพื้นที่ภาคอีสาน

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอฯลำพูนได้ใช้งบ 20 ล้านบาทเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้แล้ว 20 บ่อ และเตรียมงบประมาณไว้ซื้อน้ำจากภาคเอกชน 1 รายที่ยื่นเสนอขายน้ำให้ในปริมาณ 400,000 ลูกบาศก์เมตร

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรอ.ประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรับมือในการช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งแนะนำการขุดบ่อบาดาล คุมการปล่อยน้ำทิ้งให้มารีไซเคิลใช้ใหม่ และเร่งให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ดำเนินการตามนโยบายนำขุม เหมืองเก่าใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ 36 แห่ง

          นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ในเขื่อน ลำตะคอง "ยังน่าห่วงและจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" จึงอยากให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่ให้ผ่านวิกฤตแล้งนี้ไปได้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

เตรียมพร้อมเปิดเวที‘ชลประทานโลก’ 64ชาติระดมสมองจัดการน้ำ-ชวนคนไทยร่วมประกวดคำขวัญ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศครั้งที่ 67 ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) ในระหว่างวันที่ 6–12 พฤศจิกายน ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เพื่อหารือการจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำด้วยระบบชลประทาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนนโยบายนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของชาติสมาชิก 64 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1,000 คน

ทั้งนี้เพื่อเป็นการรณรงค์การมีส่วนร่วมของคนไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำ คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์จึงได้จัดกิจกรรมประกวดคำขวัญการประชุมชลประทานโลกโดยคำขวัญที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์การจัดการประชุมผ่านสื่อต่างๆ ขณะที่สำหรับผู้ได้รับการคัดเลือกคำขวัญจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร กำหนดส่งผลงานเข้าประกวดผ่านทาง E-mail : sloganwif2016@gmail.com ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่20 กุมภาพันธ์ 2559 และจะประกาศผลการตัดสินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID) กล่าวว่า การประกวดคำขวัญครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ทั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2ตลอดจนเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการชลประทาน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำต่างๆ และที่สำคัญจะเป็นการเรียนรู้งานด้านการชลประทานและร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านการคิดคำขวัญที่เกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของการชลประทาน

ทั้งนี้คำขวัญที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมความหมายเป็นภาษาไทยโดยสรุป โดยต้องสื่อสารให้เห็นถึงความสำคัญของการชลประทาน ในบริบทที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 คือ “การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร” (WaterManagement in a Changing World: Role Irrigation for Sustainable Food Production) โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน คือ ความสอดคล้องของเนื้อหาคำขวัญกับหัวข้อที่กำหนด ความถูกต้องของเนื้อหาตามหลักวิชาการภาษาอังกฤษ ความสวยงามของภาษา สั้น กระชับ ได้ใจความ และความคิดสร้างสรรค์

ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดใบส่งคำขวัญเข้าประกวดได้ที่เว็บไซต์ http://www.rid.go.th/thaicid/ โดยจะต้องระบุชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และ E-mail อย่างชัดเจนสามารถส่งคำขวัญได้ไม่จำกัดจำนวน และต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดคำขวัญ และไม่เคยได้รับการตีพิมพ์/เผยแพร่

 เพื่อการพาณิชย์มาก่อน ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินคำขวัญมีสิทธิ์กำหนดวิธีการตัดสิน และการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งคำขวัญเข้าประกวดไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

สศก.จับมือ‘หมอดิน’เสวนาใหญ่ เดินเครื่องวาระเกษตรอินทรีย์’59

นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การบูรณาการแผนงานสู่การขยายผล การผลิต และการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในวันที่ 15-16 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จังหวัดนครปฐม ตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2559 – 2564 รองรับนโยบายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการเสวนาในหัวข้อเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืน การรับรองมาตรฐาน        เกษตรอินทรีย์ของไทยและสากล และระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS)  และรูปแบบการผลิตและการเชื่อมโยงตลาดเกษตรอินทรีย์ โดยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้แทนกลุ่มเกษตรกร เพื่อหาแนวทางบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อน  ด้าน ได้แก่ 1) ด้านผู้บริโภคและผู้ประกอบการ มีความตื่นตัวเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ตลาดมีความต้องการอาหารอินทรีย์ 2) ด้านผู้ผลิตโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เห็นคุณค่าของระบบเกษตรนิเวศน์ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ ทำให้ลดต้นทุน ก่อเกิดรายได้ที่มั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้นดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจพอเพียง  3) การขับเคลื่อนของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ ในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2559

ชาวไร่อ้อยสุโขทัยสุดช้ำน้ำแล้ง ตายกว่า5พันไร่สูญเงิน40ล้านบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สุโขทัย ได้ส่งผลกระทบรุนแรงแก่เกษตรกรที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะไร่อ้อยที่ปลูกกันในพื้นที่หมู่ 4 หมู่ 6 หมู่ 7 หมู่ 8 หมู่ 9 หมู่ 10 หมู่ 11 และหมู่ 12 ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง จำนวนกว่า 5,000 ไร่นั้นยืนต้นแห้งตายไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรต้องขาดทุนรวมกันเกือบ 40 ล้านบาท

นายจำเนียร  กลาดเกลื่อน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาขุนไกร เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยทั้ง 8 หมู่บ้าน ต.นาขุนไกร ได้รับความเดือดร้อนกันหนักมาก หลังจากฝนทิ้งช่วงยาวนาน แหล่งน้ำในพื้นที่แห้งขอด ทำให้ต้นอ้อยขาดน้ำเหี่ยวแห้งตายแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ชาวไร่ขาดทุนกันทุกราย ส่วนตนเองมีปลูกไว้ 500 ไร่ แต่เก็บผลผลิตขายได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จึงขาดทุนมากกว่า 2 ล้านบาท

“ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก ทุกปีเคยปลูกอ้อยได้กำไร แต่ปีนี้ขาดทุนกันทุกราย จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือบ้าง เพราะเกษตรกรหมดหนทางที่จะหาเงินใช้หนี้คืนแล้ว” นายจำเนียร กล่าว

 นายเสนาะ ทองสุข อายุ 59 ปี เกษตรกรหมู่ 8 ต.นาขุนไกร เปิดเผยว่า ตนเองปลูกอ้อยทั้งหมด 70 ไร่ เพิ่งเริ่มปลูกเป็นปีแรกก็ขาดทุน และกลายเป็นหนี้ทันทีกว่า 400,000 บาท เพราะเจอสภาพอากาศแล้งทำให้อ้อยยืนต้นแห้งตายเกือบทั้งหมด ตอนนี้คนในครอบครัวเครียดมาก เพราะไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนไปใช้หนี้

ด้าน นางบังเอิญ ชัยรัตน์ อายุ 61 ปี บ้านเลขที่ 76/3 หมู่ 6 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม ก็มีไร่อ้อยเสียหายจากภัยแล้งจำนวนหลายร้อยไร่เช่นกัน สำหรับตนเองปลูกไว้ 30 ไร่ก็เจอแล้งแห้งตายไป 15 ไร่ เหลือ 15 ไร่เก็บขายได้ก็ยังขาดทุน 100,000 กว่าบาท ตอนนี้จึงต้องออกมาหางานรับจ้างล้างจานในตัวเมืองสุโขทัย เพื่อหาเงินใช้หนี้และส่งให้ลูกเรียนหนังสือด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ถึงเวลาปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์ โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ p_pochakorn@hotmail.com

วันนี้ขอนำเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง จำได้ว่าเล่าสู่กันฟังมา 2-3 ครั้งแล้วตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และมีคนพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเดาว่าปีนี้ตลอดทั้งปีจะมีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจพูดถึงเรื่องนี้หนาหูมากขึ้น เพราะรัฐบาลได้ออกมาบอกแล้วว่าเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งตัวเลขที่ผมจะพูดถึงในวันนี้จะเป็นตัวเลขพื้นฐานที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทุกท่านต้องทราบ รวมถึงท่าน ๆ ที่ชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจจะได้เข้าใจไปด้วยกันครับ

การวัดขนาดของเศรษฐกิจ มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ทุกประเทศในโลกนี้ใช้มาตรวัดเดียวกันคือดูจาก "มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ" หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า GDP นั่นเอง โครงสร้างของ GDP ก็คือโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในด้านอุปสงค์ หรือการใช้จ่ายนั้นมักเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่

 1.การบริโภคภาคเอกชน มีสัดส่วน 51% ของ GDP วัดการบริโภคอุปโภคบนสินค้าและบริการ สัดส่วนนี้ค่อนข้างคงที่มาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และถือเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกคนในระบบเศรษฐกิจ เพราะทุกคนต้องใช้จ่าย ต้องกินต้องใช้

2.การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน (บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นการลงทุนภาคเอกชน) มีสัดส่วน 24% ของ GDP วัดการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างในระบบเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นการลงทุนภาครัฐ 5% และการลงทุนภาคเอกชน 19% ของ GDP สัดส่วนนี้เคยอยู่ที่ 51% ของ GDP ในปี 2539 ก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 หลังจากนั้นลดลงมาอยู่ในระดับ 20-24% มาตลอดเกือบ 20 ปี รัฐบาลจึงประกาศให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการลงทุน เพื่อให้การลงทุนกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจในอนาคต

3.การอุปโภคภาครัฐ (บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นการอุปโภครวมกับการลงทุนของภาครัฐ) มีสัดส่วน 16% ของ GDP วัดการใช้จ่ายของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง และผลตอบแทน สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง

4.การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (การส่งออกสินค้าและบริการลบด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการ) มีสัดส่วนเพียง 7% ของ GDP แต่ถ้าแยกออกเป็นการส่งออกสินค้าและบริการจะมีสัดส่วน 77% ของ GDP ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการจะมีสัดส่วน 70% ของ GDP สัดส่วนซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยในปี 2539 สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 41% ของ GDP ส่วนการนำเข้าอยู่ที่ 53% ของ GDP สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก เศรษฐกิจเราจึงถูกเหวี่ยงไปพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นอย่างมาก

จากโครงสร้างเศรษฐกิจของเราจะเห็นว่า 1) เราพึ่งเครื่องยนต์ที่เป็นการค้าระหว่างประเทศสูงมาก (การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ) จนซึมซับผลกระทบทางลบมากเกินไปในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่น สถานการณ์ปัจจุบัน แต่ข้อดีคือเราจะเติบโตได้ดีหากเศรษฐกิจโลกกลับมาเฟื่องฟู และ 2) เราพึ่งเครื่องยนต์ภายในประเทศในสัดส่วนที่ต่ำมากเกินไปเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการลงทุนที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริง ๆ ในอนาคต ดังนั้น เราจำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันมาพึ่งพาการลงทุนภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อวางรากฐานการเติบโตในอนาคต และเพื่อเป็นชนวนรองรับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : พด.สนองนโยบายรัฐบาล ช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งปี’58/59

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 เพื่อสนับสนุนโครงการบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/2559 มีกรอบการดำเนินงานจำนวน 8 มาตรการ ดังนี้ (1) มาตรการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน (2) มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน (3) มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร (4) มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง (5) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (6) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน (7) มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (8) มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

สุรพล จารุพงศ์

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แม้ว่าน้ำใน 4 เขื่อนหลัก จะได้ปริมาณน้ำใช้การได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก เพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ได้

ดังนั้นเพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ที่จะถึงนี้และต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม 2559 จึงขอให้เกษตรกรพิจารณางดการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสูง ทำให้ต้องประสบปัญหาการขาดทุน ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต

นายสุรเดชกล่าวอีกว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานสนองนโยบายดังกล่าว โดยดำเนินการจัดทำแผนงาน/งบประมาณ ในการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 ตามข้อมูลโครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้กรอบมาตรการ ที่ 1 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน กิจกรรมการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการการจัดทำปุ๋ยหมัก เป้าหมาย 763 ตัน เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 1,180 ราย และโครงการทำน้ำหมักชีวภาพ เป้าหมาย 503,232 ลิตร เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 2,975 ราย

นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินได้สนับสนุนกิจกรรมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 7,827 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 862 ราย และดำเนินการตามกรอบมาตรการที่ 4 โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ปี 2558/2559 โดยให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดเข้าไปร่วมบูรณาการ การทำงานด้านต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ และชุมชนท้องถิ่น ในการทำหน้าที่สำรวจพื้นที่และชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายความช่วยเหลือของรัฐบาลกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พร้อมทั้งเสนอทางเลือกให้กับประชาชนตัดสินใจ โดยใช้ข้อมูลของโครงการตามแผนชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้ง ด้านการเกษตรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรพื้นที่เป้าหมายจำนวน 4,155 ราย จะได้รับประโยชน์โครงการดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

พัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง เกษตรจับมือ5หน่วยงานเดินหน้าวิจัยสู้ภัยแล้ง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 3 ปี ในวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ห้องจูปีเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00-12.30 น. โดยรูปแบบกิจกรรมจะสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนภารกิจของกรมฝนหลวงฯ ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยมี 2 กิจกรรมหลักประกอบด้วย การจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ฝนหลวงกับวิกฤติน้ำ” และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมมือเสริมกำลังในการปฏิบัติการฝนหลวงแก้วิกฤติปัญหาภัยแล้ง

สำหรับเวทีเสวนา เรื่อง “ฝนหลวงกับวิกฤติน้ำ” ต้องการให้ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาตระหนักถึงปัญหาวิกฤติน้ำและทางออกที่ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายจากมุมของของนักวิชาการ 2 ท่าน คือ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติมหาวิทยาลัยรังสิต และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน โดยมีอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นอกจากนั้นแล้ว พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการพัฒนาจรวดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ยากต่อการปฏิบัติการโดยเครื่องบิน และลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาวัสดุและเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำฝนหลวง

(2) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลงนามร่วมกับกรมชลประทาน ในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่น้ำในบรรยากาศลงมาถึงผิวดิน และลงนามร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ในการใช้ข้อมูลตรวจสภาพอากาศ ร่วมกันในการติดตามสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จในการปฏิบัติการฝนหลวง และ (3) ด้านวิศวกรรมการบิน ลงนามร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบินและอากาศยานร่วมกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ม.44 ดันเขตเศรษฐกิจ

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบกำหนดแปลงที่ดินของรัฐสำหรับให้เอกชนและหน่วยงานภาครัฐใช้ประโยชน์สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ในพื้นที่ จ.นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี รวม 12,000 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ใน จ.นครพนม เชียงราย รวม 3,912 ไร่ ต้องใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกาศถอนสภาพพื้นที่สาธารณประโยชน์ และ จ.นราธิวาส มีพื้นที่เอกชนที่เหมาะสมตั้งนิคมฯได้ 2,277 ไร่ ซึ่งมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปเจรจาขอซื้อที่ดินจากเอกชน

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบลดค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุตลอดเวลา 50 ปี หรือค่าแรกเข้าสำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรก โดยลดลง 50% เหลือไร่ละ 160,000-300,000 บาท และยังผ่อนชำระได้ ซึ่งใน 5 ปีแรกไม่ต้องผ่อนส่ง แต่ผ่อนส่งปีที่ 6-10 คิดดอกเบี้ยราคาตลาด ส่วนค่าเช่าที่ดินรายปีของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ใน จ.ตาก มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา และหนองคาย ไร่ละ 24,000-40,000 บาทต่อปี ให้เพิ่มค่าเช่า 15% ทุก 5 ปี นอกจากนี้ กรมสรรพากรได้ออกประกาศลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เหลือ 10% เป็นเวลา 10 รอบบัญชี สำหรับกิจการทั่วไปที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

กรมชลฯ มั่นใจแล้งนี้ น้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

ข้าวนาปรังที่เกษตรกรปลูกจำนวน 1.28 ล้านไร่ ดังกล่าว ไม่น่าจะได้รับความเสียหายเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และปริมาณน้ำที่นอนคลองเหลืออยู่บ้าง

 นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้ความร่วมมือกับกรมชลประทานในการงดทำนาปรัง ในปี 2558/59 ค่อนข้างน่าพอใจ แม้จะมีเกษตรกรส่วนหนึ่งยอมเสี่ยงทำนาปรังไปประมาณ 1.28 ล้านไร่ก็ตาม แต่ก็น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่มีการทำนาปรังมากกว่า 2 ล้านไร่ ทั้ง ๆ ที่ได้ขอความร่วมมือในการงดทำนาปรังเช่นเดียวกันกับฤดูแล้งปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ข้าวนาปรังที่เกษตรกรปลูกจำนวน 1.28 ล้านไร่ ดังกล่าว ไม่น่าจะได้รับความเสียหายเนื่องจากยังมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และปริมาณน้ำที่นอนคลองเหลืออยู่บ้าง แต่เกษตรกรไม่ควรจะทำนาปรังเพิ่ม เพราะน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับการจัดสรรเพื่อทำนาปรังแล้ว มีความเสี่ยงสูงที่ข้าวจะได้รับความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา

ล่าสุด ณ วันที่ 11 มกราคม 2559 เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 1,074 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 1,822 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 332 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 484 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งปกติเกษตรกรจะเริ่มทำนาปรังในเดือนมกราคมของทุก ๆ ปี

ในฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทานขอให้งดการทำนาปรังเช่นเดียวกันกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำมีปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 2,535 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 2,071 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น

ด้านการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จึงมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำเค็ม และการปลูกพืชในช่วงต้นฤดูฝนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง แม้จะงดการจัดสรรน้ำเพื่อทำนาปรัง แต่สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ อ้อย พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสวน ผลไม้ กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำให้ตามปกติ เนื่องจากพืชเหล่านี้จะใช้น้ำไม่มาก ไม่กระทบต่อปริมาณน้ำที่มีอยู่สำหรับสาเหตุสำคัญของปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ปีนี้ค่อนข้างน้อยนั้น เนื่องมาจากปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่ท้ายเขื่อน และพื้นที่ที่ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงจำเป็นจะต้องพัฒนาแหล่งน้ำกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เนื่องจากแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำนับวันที่จะดำเนินการยากขึ้น“ประชากรเราเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น ภาคการผลิตก็ใหญ่มากขึ้นการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับความเจริญเติบโตทั้งของประชากร และเศรษฐกิจของไทยด้วย” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว.จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ดัชนีเชื่อมั่นอุตพุ่ง4เดือนติด "สุพันธ์"ห่วงภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจผันผวน

ส.อ.ท.ปลื้ม ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค.58 ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จาก 85.8 มาอยู่ที่ 87.5 "สุพันธ์" ห่วงภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจผันผวน จี้รัฐเร่งผลักดัน เมกะโปรเจ็กต์พร้อม ขอกรมทรัพย์ผ่อนปรนใช้น้ำบาดาล ด้านยอดผลิตรถทั้งปี 58 อยู่ที่ 1.91 ล้านคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.95 ล้านคัน

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 87.5 จากในเดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 85.8 ซึ่งถือว่าปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในช่วงปลายปีทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการของผู้ประการดีขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับตัวลดลงจากเดือน พ.ย.58 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 104.4 ซึ่งมีผลมาจากความกังวลต่อการชะลอของอุปสงค์ของไตรมาสแรก ปี 2559 เนื่องจากมีการเร่งใช้จ่ายไปค่อนข้างมากในช่วงปลายปี 2558 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพารา รวมถึงความผั

"สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเร่งดำนินการคือ เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อสร้างกำลังซื้อในภาคเกษตร นายสุพันธ์กล่าว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,913,002 คันต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,950,000 คัน หรือต่ำกว่าเป้า 1.9% ส่วนในปี 2559 คราดว่าจะมียอดการผลิตรถยนต์โดยรวมอยู่ที่ 2 ล้านคัน

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เตรียมมาตรการเร่งด่วนแนวทางแก้ปัญหาไว้ 7 ด้าน ประกอบด้วย ชี้แจงสมาชิกถึงสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือ โดยใช้กลไกของ War room น้ำ ใน 4 ภูมิภาค, เร่งดำเนินงานด้าน CSR ด้านน้ำ โดยแบ่งปันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างและภาคส่วนอื่นๆ, ผลักดันให้มีการใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน และขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลผ่อนปรนข้อกำหนดการใช้น้ำบาดาลในพื้นที่วิกฤติแผนดินทรุดในช่วงภัยแล้งนี้

นอกจากนี้ เร่งสร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ, ผลักดันให้ภาครัฐอนุญาตให้นำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานวิชาการ ไปใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น, ส่งเสริมการประเมินปริมาณการใช้น้ำ และหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

“เกษตรไทย อินเตอร์ฯ” ไม่หวั่น ศก.โลกอึมครึม เก็บเกี่ยวรายได้จากการลงทุน

         กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” มั่นใจปีนี้ฝ่ากระแสอึมครึมของเศรษฐกิจโลกได้แน่ เตรียมกระจายความเสี่ยงในแต่ละสายธุรกิจไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ชี้โครงการผลิตน้ำเชื่อม และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สายธุรกิจน้ำตาลทราย ขณะที่เตรียมเก็บเกี่ยวรายได้จากการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่รวม 100 เมกะวัตต์ สร้างการเติบโตให้สายชีวพลังงาน และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง

                นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า แม้ว่าปี 2559 นี้ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกยังไม่ชัดเจนนักว่าจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ และจะมีปัจจัยใหม่ๆ อะไรเข้ามากระทบอีก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อาจส่งผลไปถึงประเทศอื่นๆ ในโลกด้วย อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายนั้นความต้องการในตลาดโลกก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก เช่น สภาพอากาศ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิล ดังนั้น จึงยังไม่สามารถประเมินการเติบโตของสายธุรกิจน้ำตาลของ KTIS ในปีนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะขึ้นกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ซึ่งคาดว่าราคาเฉลี่ยของปีนี้จะสูงกว่าปี 2558

                “กลุ่ม KTIS ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนา และต้องการสร้างการเติบโตให้ได้อย่างยั่งยืน เราจึงได้พยายามสร้างมูลค่าเพิ่มให้สายธุรกิจน้ำตาลด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ การร่วมกับบริษัท นิสชิน ชูการ์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ทำโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำเชื่อม 400 ตัน (400,000 กิโลกรัม) ต่อวัน และกำลังการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ 500 ตัน (500,000 กิโลกรัม) ต่อวัน ซึ่งได้ทดลองเดินเครื่องผลิตแล้ว และจะมีรายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้” นายประพันธ์ กล่าว

                ส่วนในสายธุรกิจชีวพลังงานนั้น เดิมมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากชานอ้อยขนาด 60 เมกะวัตต์ เพียงโรงเดียว ก็จะเพิ่มอีก 2 แห่ง ขนาดโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวม 3 โรงไฟฟ้า เท่ากับ 160 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโรงงานที่ผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย และโรงงานผลิต และจำหน่ายเอทานอลที่สร้างรายได้ให้แก่ KTIS อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

                “ปี 2557 และ 2558 เป็นปีที่กลุ่ม KTIS ได้นำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปมาลงทุนในโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งในปี 2559 นี้ เป็นปีที่เราจะได้เก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนเหล่านี้ โดยในไตรมาสแรกจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อม และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่อย่างน้อย 1 โรง จึงมั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของเรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าว

จาก http://manager.co.th วันที่ 18 มกราคม 2558

ฉัตรชัยชงครม.อนุมัติเจียดพันล้านอุ้มแล้ง 

พล.อ.ฉัตรชัย สั่งรับมือแล้งชง ครม.ของบ 1,200 ล้าน อุ้มชุมชน

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/ 2559 เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเริ่มอย่างเต็มที่ในเดือน ก.พ.นี้ และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดสรรงบ 1,213 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการที่ชุมชนเสนอความต้องการเข้ามาและคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติแล้ว 1,853 โครงการ

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรม ชลประทานได้เดินงานตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่ได้วางไว้อย่างเข้มงวด และจะไม่มีการปฏิบัตินอกแผนอย่างแน่นอน เพราะต้องสำรองให้ถึงเดือน ก.ค. 2559 เผื่อไว้หากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง

          "ได้ให้ชลประทานจังหวัดทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะการคุมสถานีสูบน้ำตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ยังมีการปลูกข้าวนาปรัง 1.7 ล้านไร่ เพราะเราไม่สามารถห้ามใครได้" นายสุเทพ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 18 มกราคม 2558

ส.อ.ท.แนะโรงงานรับมือภัยแล้ง ขอกรมทรัพย์ฯผ่อนปรนใช้น้ำบาดาล

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. เปิดเผยถึงความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมในการปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง คือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องมีการพึ่งพาน้ำในการผลิต

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากแหล่งน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์แล้วอาจแบ่งออกได้ดังนี้ 1.น้ำผิวดิน อุตสาหกรรมที่มีความต้องการน้ำสำหรับการผลิตในปริมาณสูง จะตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำท่าจีน และน้ำผิวดินซึ่งเป็นบ่อเก็บกักภายในโรงงาน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะมีการจัดเตรียมบ่อเก็บกักเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ภายในโรงงาน โดยรวบรวมทั้งมาจากน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง 2. น้ำบาดาล จากวิกฤตภัยแล้งของประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่จําเป็นต้องใช้น้ำบาดาลเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

นายบวร กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้เตรียมมาตรการเร่งด่วนแนวทางแก้ปัญหาไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.สื่อสารข้อมูลไปยังสมาชิกผู้ประกอบการเพื่อให้ทราบสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้กลไกของ War room น้ำ ใน 4 ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 2.การดำเนินงานด้าน CSR ด้านน้ำ โดยแบ่งปันน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับชุมชนรอบข้างและภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการนำน้ำบาดาลที่ยังมีเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมาแบ่งปันให้กับชุมชนใกล้เคียง

โดยในปีนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการสนับสนุนน้ำดื่มให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บจก. เอสซีจี เคมิคอลส์ บจก. ไทยน้ำทิพย์ บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก สมาคมฟอกย้อมตกแต่งและพิมพ์สิ่งทอไทย โดยจะผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นได้อำนวยความสะดวกให้สมาชิกในการขออนุญาตขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล รวมทั้งขอให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลผ่อนปรนข้อกำหนดการสูงน้ำบาดาลในพื้นที่วิกฤตแผนดินทรุดในช่วงภัยแล้งนี้ ซึ่งพื้นที่หลักๆที่จำกัดการสูบน้ำบาดาลจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล

4. เร่งสร้างต้นแบบโรงงานที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทุกภูมิภาค จำนวน 90 แห่ง ผ่าน "โครงการสร้างต้นแบบและขยายเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมฯ" ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล โดยจะคัดเลือกโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ จำนวน 15 โรงงาน จาก 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ เพื่อเป็นโรงงานต้นแบบด้านการบริหารจัดการน้ำ และเข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือโรงงานที่ต้องการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จำนวน 75 แห่ง 5. ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานวิชาการ ไปใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากยิ่งขึ้น

6. ส่งเสริมการทำ Water Footprint ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรม และนำมาหาแนวทางลดการใช้น้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ 7. การหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ESCO Fund ที่จะเพิ่มงบประมาณในส่วนของโครงการที่สามารถช่วยอนุรักษ์น้ำและพลังงานได้

"ส.อ.ท.ได้ประสานงานไปยังสมาชิกทั่วประเทศ ให้ช่วยเพิ่มปริมาณการสูบน้ำบาดาลของโรงงานออกมาช่วยเหลือชุมชนโดยรวมในด้านน้ำเพื่อการอุปโภค และบริโภค ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินว่าจะมีโรงงานทั้งหมดที่เข้าโรงงานกี่ราย และจะมีปริมาณน้ำที่ออกมาช่วยได้มากเท่าไร แต่การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคประชาชน ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาระดับชาติซึ่งภาครัฐได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ จนถึงภาคเกษตรที่ภาครัฐจำเป็นต้องลดปริมาณการส่งน้ำ เนื่องจากต้องเก็บน้ำเอาไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด"นายบวรกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มกราคม 2558

สภาอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง

ส.อ.ท. เตรียมพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้ง ติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤติภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์น้ำในปี 2559 จะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง โดย ส.อ.ท. ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาภัยแล้ง ทั้งการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้ประกอบการเพื่อให้ทราบสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือ โดยใช้กลไกของ War Room น้ำ ใน 4 ภูมิภาค การดำเนินงานด้าน CSR ด้านน้ำ แบ่งปันสำหรับการอุปโภคบริโภคให้ชุมชนรอบข้างและภาคส่วนอื่น ๆ การผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำบาดาลมาใช้ร่วมกับน้ำผิวดินในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณอนุญาตให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐาน ไปใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น และการส่งเสริมการทำ Water Footprint ในโรงงานตสาหกรรม

เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำ และนำมาหาแนวทางลดการใช้น้ำ รวมทั้งการหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพื่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสีย และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 18 มกราคม 2558

จับประเด็นปีวอก ส่งออกไทยไปยุโรปยังยาก

ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ปี 2559 ยังคงเผชิญความยากที่จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง กำลังซื้อของยุโรปปี 2559 ยังคงประคองตัว นโยบายการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปีนี้ แต่ยังต้องติดตามประเด็นความไม่สงบในภูมิภาคที่เป็นผลต่อเนื่องจากเหตุก่อการร้าย ที่หากสถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม

การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2558 เผชิญแรงกดดันหลักจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้านับตั้งแต่ไทยทยอยถูกตัดสิทธิ์ GSP ไปบางส่วนในปี 2557 และถูกตัดสิทธิ์ทั้งหมดเมื่อต้นปี 2558 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปลดลงต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูปที่คิดรวมเป็นสัดส่วนส่งออกราวร้อยละ 27 ที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการโยกย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ประเด็น IUU Fishing ที่ไทยได้สถานะใบเหลืองได้เพิ่มแรงกดดันให้ไทยท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาของภาครัฐและเอกชนของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไทยไป EU ในปี 2559 ยังเผชิญความท้าทายในการที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปยังติดลบอยู่ในกรอบร้อยละ -1 (YoY) ถึง -3 (YoY) น้อยลงจากปี 2558 ที่ประเมินไว้ที่หดตัวร้อยละ -7 (YoY) เพราะปัจจัยลบต่างๆ ในปี 2559 ที่ส่วนใหญ่ได้รับรู้และมีผลไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่ผลที่ต่อเนื่องทำให้ภาพรวมส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปยังหดตัวต่อไปอีกเป็นปีที่ 2 โดยมีปัจจัยหลักที่จะกระทบในปี 2559 ได้แก่

การที่ไทยได้รับใบเหลืองจาก EU ในการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เป็นประเด็นที่ต้องจับตาการพิจารณาสถานะอีกครั้งในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจซ้ำเติมสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูปที่ได้รับผลกระทบจากถูกตัดสิทธิ์ GSP ไปแล้วในปีที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในวันที่ 21 เมษายน 2558

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา น่าจะทำให้ภาพต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งในกรณีพื้นฐานสหภาพยุโรปน่าจะยังคงสถานะใบเหลืองให้กับประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าจะยังไม่มีมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ทำให้ไทยจะยังคงส่งออกไปสินค้าในกลุ่มนี้ต่อไปได้ หากยังต้องเร่งแก้ไขผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทย

การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย กดดันการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 และมีแนวโน้มว่าไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ทั้งจากผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องจากการถูกตัดสิทธิ์ GSP อีกทั้งแรงกดดันล่าสุดจากการลงนามข้อตกลงของการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ยิ่งเสริมให้เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยมีความได้เปรียบมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป

ขณะที่การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) ยังไม่บรรลุข้อตกลงและยังต้องอาศัยระยะเวลา ประกอบกับราคาน้ำมันของตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกระทบต่อราคาในสินค้ากลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยสินค้ากลุ่มนี้ก็เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 5.3

กำลังซื้อของชาวยุโรปปี 2559 ยังทรงตัวสะท้อนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่จะประคองการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2558 โดยประเด็นความไม่สงบในยุโรปจากเหตุก่อการร้ายในภูมิภาคยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงจะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่เศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของสหภาพยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ก็ยังไม่ฉายภาพแข็งแกร่งมากนัก

ทำให้ขาดแรงส่งที่ช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังซบเซาจากปัญหาหนี้สาธารณะเรื้อรังและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการรับภาระเลี้ยงดูผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปตลอดปีที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลกดดันรายจ่ายภาคการคลังของประเทศต่างๆ ในระยะข้างหน้า โดยในแผนงานในปี 2559 สหภาพยุโรปได้จัดสรรเงินช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบที่ทยอยเบิกจ่ายในช่วงปี 2558-2559 มีจำนวนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2559 มาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ECB ที่ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ได้มีมติทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.05 อีกทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับติดลบเพื่อกระตุ้นการปล่อยเงินกู้สู่ภาคธุรกิจ และการขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนออกไปถึงเดือนมีนาคม 2560

จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559 นอกจากนี้แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินยูโรยังมีบทบาทช่วยหนุนการส่งออกของภูมิภาค ตลอดจนราคาน้ำมันโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำก็ยังช่วยลดทั้งต้นทุนภาคการผลิตและมีผลให้การนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานมีราคาต่ำลง ช่วยเสริมฐานะดุลการค้า ซึ่งสหภาพยุโรปพึ่งพาการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของการนำเข้าทั้งหมด

กลุ่มสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 โดยคิดเป็นสัดส่วนส่งออกร้อยละ 8.5 จะเป็นตัวเสริมการส่งออกภาพรวมได้บางส่วน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้อานิสงส์จากความต้องการรถอีโคคาร์ในยุโรปที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายรถยนต์ในหลายประเทศได้ฟื้นกลับมามากขึ้น อาทิ สเปน เป็นต้น

โดยสรุป ภาพรวมส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยให้การส่งออกกลับมาดีขึ้นมากนักด้วยต้องเผชิญกับหลากปัจจัยลบ อาทิ การแข่งขันรุนแรงขึ้นจากการเสียสิทธิ์ GSP ของไทย ทำให้คู่แข่งทางการค้าของไทยค่อยๆ ชิงพื้นที่ตลาดในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กำลังซื้อในภาพรวมของสหภาพยุโรปก็ยังเป็นภาพเดียวกับปี 2558 ที่ค่อนข้างเปราะบาง รวมถึงยังต้องจับตาประเด็นการก่อการร้ายที่หากทวีความรุนแรงจะกระทบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ที่ขณะนี้ยังต้องอาศัยแรงผลักดันจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ ECB ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของภูมิภาค แต่ในอีกด้านหนึ่งการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมากก็ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบในสายตาผู้บริโภค จึงอาจกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยในระยะข้างหน้าเช่นกัน

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 18 มกราคม 2558

ก.อุตฯเช็กอ้อยไม่ถึง100ล้านตันชงครม.ก.พ.รื้อโครงสร้างแลกกู้เงิน 

                กอน.สั่งเช็คปริมาณอ้อยฤดูผลิต 58/59 เพื่อ ความชัวร์หลังพบตัวเลขส่อเค้าไม่ถึง 100 ล้านตันเหตุจากปัญหาภัยแล้ง พร้อมมอบชาวไร่ โรงงานไปหาข้อสรุปแนวทางเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นจากที่ประกาศไว้ 2 ราคาหลังแนวทางขอเงินงบประมาณรัฐเป็นไปไม่ได้ คาด ก.พ.ชง ครม.ปรับโครงสร้างฯแลกกู้เงินธ.ก.ส.

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะ กรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายเร่งเช็ก ปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายที่ชัดเจนให้เสร็จภายใน ม.ค.นี้เพื่อนำมาหาแนวทางการช่วยเหลือการเพิ่มราคาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 และแนวทางแก้ไขเนื่องจากล่าสุดการเปิดหีบอ้อยตั้งแต่ พ.ย.58 พบผลผลิตอ้อยต่อไร่และน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งจึงเกรงว่าปริมาณอ้อยอาจจะไม่ถึงระดับ 100 ล้านตันขณะที่ฤดูการผลิตที่ผ่านมามีการผลิตอ้อยได้ถึง 106 ล้านตัน

          ส่วนความคืบหน้าการเพิ่มราคาอ้อยคณะทำงาน พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเงินเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/2559 เพิ่มเติมจากที่ประกาศราคาไว้ 2 ราคาคือ 808 บาทต่อตัน และ 773 บาทต่อตัน(เฉพาะเขตสุพรรณบุรีและชลบุรี) ล่าสุดได้มอบให้ชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทรายไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)สรุปแนวทางมาเสนอที่ประชุมสัปดาห์นี้เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งโดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เร็วสุดภายในก.พ.นี้

          "เบื้องต้นที่หารือได้เสนอ 2 แนวทางคือให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)เช่นที่ผ่านมา กับ 2.ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลบางส่วนแต่ที่สุดทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่าเรื่องงบประมาณจากรัฐบาลคงเป็นเรื่องที่ยากมากในภาวะเช่นนี้และอาจขัดต่อองค์การการค้าโลกหรือ WTO จึงมอบให้ทุกฝ่ายไปตกลงว่าถ้ากู้ ธ.ก.ส.จะได้ในระดับใดเพราะกองทุนอ้อยฯมีหนี้เก่าสะสมค่อนข้างมาก" แหล่งข่าวกล่าว

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ครม.ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าหากจะมีการ กู้เงินเพื่อช่วยเหลือราคาอ้อยเพิ่มเติมจากที่ประกาศอีกทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทรายมาควบคู่กันด้วย ซึ่งสอน.ได้จัดเตรียมไว้เบื้องต้นแล้ว โดยแนวทางสำคัญได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อลดอุปสรรคในการผลิตและจำหน่าย และนำขอเสียจากโรงงานไป ใช้ในการเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้โดยตรง การกำหนดต้นทุนมาตรฐาน ประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายมาตรฐาน เป็นต้น

          "ระยะสั้น 1-2 ปีนี้การปรับโครงสร้างเน้นการเพิ่มผลผลิตและแนวทางการทำให้กองทุนอ้อยฯมีศักยภาพมากกว่าปัจจุบัน ส่วนของปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายคงเป็นเรื่องยากเพราะขณะนี้ราคาตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งการปรับโครงสร้างก็จะสอดรับกับยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลที่กำหนดว่าในปี 2569 จะมีอ้อย 180 ล้านตัน น้ำตาลทราย 20.36 ล้านตัน" แหล่งข่าวกล่าว.

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 18 มกราคม 2558

อุตฯสแกนขุมเหมืองกักเก็บน้ำช่วยแล้ง 

          เมื่อวันที่ 16 มกราคม นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหาร และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการประกอบการเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด และบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด ในพื้นที่ จ.สระบุรี ว่าได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้พื้นที่ขุมเหมืองเก่าช่วยกักเก็บน้ำเพื่อรับมือปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ในปี 2559 เบื้องต้นพบเหมืองหินทั่วประเทศมีศักยภาพรองรับน้ำเพื่อใช้หน้าแล้ง 36 แห่ง จุน้ำได้สูงสุด 166 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

          นางอรรชกากล่าวว่า ปัจจุบันมีขุมเหมืองที่บรรจุน้ำเพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งแล้ว 9 เหมือง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุน้ำได้ 32 ล้าน ลบ.ม.

          นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดี กพร. กล่าวว่า ได้ประสานกับผู้ประกอบการเหมืองส่วนที่เหลือ อยู่ระหว่างการตรวจเช็กความพร้อมพื้นที่ จะรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2559 สำหรับน้ำที่กักเก็บปกติจะนำมาใช้ในกิจการโรงโม่ของเหมืองเอง และบางส่วนได้แบ่งให้ชุมชนนำไปใช้เพื่อการเกษตร

          "สำหรับพื้นที่แล้งหนักอย่างเช่นภาคอีสาน สำรวจขุมเหมืองแล้วพบว่ามีทั้งสิ้น 11-12 แห่ง กระจายอยู่ใน จ.สุรินทร์ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู คาดว่ามีน้ำประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้าน ลบ.ม. บรรเทาภัยแล้งได้บางส่วน" นายชาติกล่าว

          นายนเรศ สุดประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมกับ กพร.ในการฟื้นฟูขุมเหมืองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำ 6.66 แสน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำบรรจุ อยู่ประมาณ 3.46 แสน ลบ.ม. โดยน้ำส่วนใหญ่เป็นน้ำที่สูบจากบาดาลและน้ำฝนที่ตกลงมา

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 

อุตฯสั่งปิดรง.กำจัดกาก126โรง

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการแก้ปัญหาการกำจัดกากอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้ กรมโรงงานได้เพิ่มความเข้มงวดโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาได้สั่งปิดปรับปรุงชั่วคราวไปแล้ว 126 โรง จากโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งหมดกว่า 1.7 พันแห่ง ซึ่งหากโรงงานเหล่านี้ไม่ปรับปรุงระบบการกำจัดที่ได้มาตรฐานก็จะสั่งปิดถาวร ยึดใบอนุญาตต่อไป ซึ่งในปี 2558 ได้สั่งปิดถาวรไปแล้ว 2 โรง และอยู่ระหว่างการจับตาอย่างใกล้ชิด 3 โรง หากไม่ปรับปรุงตามที่กำหนดก็จะสั่งปิดต่อไปโดยโรงงานที่สั่งปิดปรับปรุงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออก เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น

“โรงงานที่ถูกสั่งปิดปรับปรุงส่วนใหญ่จะมีปัญหาไม่สามารถกำจัดกากได้ตามที่ขออนุญาต เพราะมีเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆไม่พร้อม ซึ่งหากไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ตามที่กำหนด ก็จะสั่งปิดถาวรต่อไป” นายจุลพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้าโครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร โดยได้กำหนด 6 นิคมฯ ใน 15 จังหวัด และในแต่ละแห่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 3-5 พันไร่ ครอบคลุมขยะอุตสาหกรรมทั่วประเทศ สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้อีก 20 ปี ซึ่งจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนนี้ พร้อมกันนี้ยังได้ประสานงานไปยังโรงงานปูนซีเมนต์ทั้งหมด ให้ช่วยรับขยะอุตสาหกรรมไปกำจัดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับขยะอุตสาหกรรมในช่วงที่นิคมฯกำจัดขยะอุตสาหกรรมยังไม่เกิด โดยล่าสุดได้มีภาคเอกชน 2 ราย ให้ความสนใจลงทุนนิคมฯนี้  คือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) และ เอสซีจีนิคมฯแต่ละแห่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ซึ่งจะเห็นนิคมฯกำจัดขยะแห่งแรกภายในปี 2562

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : กรมวิชาการฯเร่งตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ สนองนโยบายกษ.

การสนับสนุนการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องขับเคลื่อนในปี 2559 เนื่องด้วยภาวะปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะขณะนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความใส่ใจสุขภาพมากขึ้น สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีความปลอดภัยและผ่านการรับรองคุณภาพจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า บทบาทของกรมวิชาการเกษตรเรื่องเกษตรอินทรีย์ มีอยู่ 2 ด้านหลักๆ ได้แก่ การคิดค้นเทคโนโลยีการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความเป็นอินทรีย์จริงๆ เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงที่ผ่านมายังคงใช้พันธุ์พืชเดิมที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาบนพื้นฐานของการใช้เคมี วันนี้จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ คาดว่าเร็วๆ นี้จะสามารถรับรองพันธุ์พืชอินทรีย์ได้หลายชนิด แต่จะเน้นกลุ่มพืชผักที่อายุสั้นเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เดิมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของเกษตรกรจะมีปัญหาเรื่องต้องใช้วัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ค่อนข้างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการหมักนานกว่าจะนำมาใช้ได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมหันไปใช้ปุ๋ยเคมีที่มีความสะดวกรวดเร็วกว่า กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ เพื่อให้การย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์เร็วขึ้น พร้อมกับสร้างโรงปุ๋ยอินทรีย์ต้นแบบ จำนวน 50โรง กระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานและนำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

สมชาย ชาญณรงค์กุล

อีกบทบาทหนึ่งคือด้านการตรวจและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการตรวจรับรองการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์นั้นจะต้องเป็นแหล่งผลิตที่ผ่านการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาก่อน และมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจาก GAP มาสู่

 ระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการเป็นระยะเนื่องจากการเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ระยะเวลา ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะเร่งเข้าไปถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตพืชอินทรีย์มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 เดือนนี้ จะเร่งตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย

กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและระบบตรวจสอบรับรองมาตรฐาน จึงมีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์ได้มากขึ้น ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญคือวันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น จึงเป็นตัวผลักดันให้เกษตรกรต้องผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด จะได้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะตลาดบนอย่างห้างสรรพสินค้าชั้นนำหรือ Modern Trade มีการคัดเลือกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานไปวางจำหน่าย เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ จะมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างระบบเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายนัก เพราะว่าเมื่อเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ออกมาอย่างดี เมื่อถึงเวลาจำหน่ายก็ถูกนำไปรวมกับสินค้าที่ไม่ใช่อินทรีย์ ราคาจึงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ขณะนี้มีระบบการจัดการที่ดี ทั้งระบบรับรองมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งผู้บริโภคก็ต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีตลาดรองรับที่ชัดเจน ที่สำคัญการทำเกษตรอินทรีย์เมื่อเปรียบเทียบกับเคมีแล้ว พบว่า การปลูกพืชผักอินทรีย์ใช้พื้นที่ 2-3 ไร่ แต่ถ้าดูแลอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นขึ้นจะสามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่าการปลูกพืชไร่เป็นจำนวน 100 ไร่ได้ ขณะที่ต้นทุนก็น้อยกว่าเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี

“เกษตรกรต้องตัดสินใจเองแล้วว่า จะกลับมาสู่วิถีการผลิตเกษตรอินทรีย์ที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ต้องเลือกระหว่างการทำเกษตรอินทรีย์แบบทำน้อยแต่ได้มาก หรือทำเกษตรแบบเดิมที่ทำมากแต่ได้น้อยแถมยังมีโอกาสขาดทุนสูง”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 

จีนปล่อยน้ำเขื่อนน้อยลง กระทบ"เรือขนส่งสินค้า

ประเทศจีนลดการระบายน้ำจากเขื่อนเหลือเพียงวันล่ะ 800-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเรือขนส่งสินค้าและเรือบริการท่องเที่ยว ไม่สามารถแล่นผ่านได้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่ท่าเรือผ่านแดนไทย-สปป.ลาว ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดวัดของศูนย์สำรวจอุทกวิทยาที่ 12 อ.เชียงแสน วัดได้ 2.01 เมตร ต่ำจากระดับตลิ่ง 10.99 เมตร ถือว่าระดับน้ำต่ำมาก ส่งผลให้เกิดเนินทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขงหลายจุด และได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือทุกชนิด ทั้งเรือบรรทุกสินค้าและเรือบริการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สัญชาติจีน ทำให้เรือบรรทุกสินค้าทั้งเรือจีนและเรือลาวต้องจอดเทียบท่าที่บริเวณริมแม่น้ำโขงตลอดแนวถนนเลียบแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสนมากกว่า 30 ลำ

ขณะที่ระดับแม่น้ำรวกที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง น้ำก็ได้ลดระดับลงจนแห้งเหลือพื้นที่น้ำกว้างประมาณ 8 เมตร จนมีเนินทรายโผล่ขึ้นมาเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวต้องทำสะพานยื่นลงไปในหาดยาวกว่า 100 เมตรเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินไปขึ้นเรือ เพราะเรือไม่สามารถเข้าเทียบท่ามารับได้

ด้าน นางเกศสุดา สังขกร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย สาขาอำเภอเชียงแสน เปิดเผยว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการที่ประเทศจีนได้ทำการระบายน้ำจากเขื่อนเหลือเพียงวันล่ะ 800-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลระดับแม่น้ำโขงลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบต่อผู้ประกอบการที่ทำการว่าจ้างเรือสำหรับขนส่งสินค้าไปประเทศจีน เพราะต้องแบกรับภาระค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 

ทูตพาณิชย์ ระดมทำแผนส่งเสิรมการค้า59

ทูตพาณิชย์ ระดมสมองทำแผนงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปี 59 เพิ่มเติม เตรียมเสนอ รองนายกฯ สมคิด 20 ม.ค.นี้

ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะมีการประชุมเตรียมการเกี่ยวกับการนำเสนอยุทธศาสตร์และแผนงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปี 2559 ของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตพาณิชย์เพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยมี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบนโยบายในการปฏิบัติงาน และรับฟังการนำเสนอแผนงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ ทูตย์พาณิชย์ สรุปเพื่อเตรียมรอนำเสนอเพิ่มเติมต่อรองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มกราคม นี้ ต่อไป

สำหรับเรือสัญชาติจีนจากที่เคยบรรทุกได้ในลำหนึ่ง 400 ตัน แต่ปัจจุบันจากภาวะน้ำโขงแห้งทำให้ต้องลดการบรรทุกลงเรือเพียงลำล่ะ 200-250 ตันเท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถให้เรือแล่นขึ้นไปได้ และในช่วงปลายเดือน ม.ค. นี้ ใกล้เทศกาลตรุษจีน ทางประเทศจีนก็จะหยุดการระบายน้ำจากเขื่อนเนื่องในวันหยุดอีก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

สำหรับในเรื่องระดับแม่น้ำโขงที่ต่ำลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการต่างพากันปรับตัวในการประกอบธุรกิจ เช่น การต่อเรือใหม่ต้องออกแบบให้เรือกินน้ำให้ตื้นที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้มีหน่วยงานที่ประสานกับทางประเทศจีนขอข้อมูลการปล่อยน้ำเป็นประจำเดือนมาแจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบ เพราะถ้าหากว่ารู้กำหนดปิดเปิดน้ำที่ชัดเจน ทางผู้ประกอบการก็จะได้วางแผนสั่งสินค้าหรือเตรียมเรือให้พร้อม เมื่อมีการปล่อยน้ำมาก็สามารถปล่อยเรือสินค้าไปได้ทันที.“

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 

ชาวไร่อ้อย'กำแพงเพชร'สุดช้ำ น้ำแล้ง จำใจตัดขายแม้ขาดทุน

ชาวไร่อ้อย อ.ด่านลานหอย จ.สุโขทัย สุดช้ำ น้ำแล้งหนัก จำใจตัดขายทั้ง 50 ไร่ ทั้งที่ต้นแคระแกร็น ดีกว่าปล่อยให้ยืนต้นตายแม้ขาดทุน

วันที่ 17 ม.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและปลูกอ้อย พบว่า ขณะนี้มีอ้อยยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก บางส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็มีสภาพยอดและใบเริ่มเหลือง ลำต้นแคระแกร็น ชาวบ้านบางรายต้องจำใจตัดขายส่งโรงงาน แม้ว่าจะขาดทุนยับเยินดีกว่าปล่อยให้ยืนต้นตายทั้งหมด อันเนื่องมาจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปลายปี 2557

นายบุญเทิน อาจใย นายก อบต.วังน้ำขาว กล่าวว่า ต.วังน้ำขาว เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแทบทุกปี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่อ้อย ปลูกมัน และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะต้องอาศัยแหล่งน้ำหลักเพื่อการเกษตร จากคลองวังน้ำขาว ม.2 ต.วังน้ำขาว ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาถ้ำเจ้าราม ในเขต ต.ตลิ่งชัน แต่ตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา เกิดสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ปริมาณค่อนข้างน้อย ทำให้น้ำในคลองวังน้ำขาว และคลองสาขาอื่นๆ เช่น คลองห้วยไคร้ คลองค้อน คลองโปร่ง คลองทราย และ คลองกระพง เริ่มลดลงจนแห้งขอด ที่พึ่งสุดท้ายในขณะนี้ก็คือ สระประปา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสาธารณะขนาดกว้าง 100 เมตร ลึก 5 เมตร ยาวประมาณ 1 กม. จัดสร้างโดยสำนักงาน รพช. กระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2527 ใช้ทำประปาในหมู่บ้าน ก็เริ่มมีปริมาณน้ำลดลง จนเหลือไม่ถึง 10% แล้ว ส่งผลให้ชาวบ้านโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 800-1,000 ไร่ ต่างได้รับความเดือดร้อน อ้อยส่วนใหญ่ยืนต้นตายในสภาพใบเหลืองแห้งเนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ทำให้เกษตรกรรายอื่นรวมทั้งตนเองซึ่งปลูกอ้อยอยู่ประมาณ 50 ไร่ จำใจต้องตัดอ้อยที่เหลืออยู่ในสภาพแกร็น ลำต้นลีบ เนื่องจากขาดน้ำ ส่งขายให้กับโรงงาน แม้ว่าจะขาดทุนก็ต้องยอม และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าน้ำที่เหลือในสระประปาจะไม่เพียงพอถึงเดือนเมษายนนี้แน่นอน จึงอยากจะฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถบรรทุกน้ำเข้ามาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น และจัดสรรงบประมาณเพื่อขุดลอกคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำในปีต่อไป

จาก http://www.thairath.co.th วันที่  17 มกราคม 2559

น้ำตาลขอนแก่น รอเงกใบอนุญาตตั้งโรงงานสระแก้ว

โรงงานน้ำตาลขอนแก่นชะงัก ยังเดินหน้าสร้างโรงงานที่จังหวัดสระแก้วไม่ได้ เหตุกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ออกใบอนุญาต หลังปลดล็อกคำสั่งศาลครบ 90 วันแล้ว ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร-ฮาลาลพาร์คในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดสระแก้วว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา, สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว กับพวกรวม 735 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด รวม 3 คน ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน.ที่ อก.0601/862 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2550 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล เฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ที่กำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า80กิโลเมตร

รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีในการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจากอ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 มกราคม 2559

ธปท.ห่วงหนี้เกษตรกร จับตาภัยแล้ง-ราคาสินค้าตกต่ำ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หนี้สินของเกษตรกรจัดเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงในปีที่ผ่านมา โดยปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังคงเป็นปัจจัยกดดันรายได้เกษตรต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดีเกษตรกรที่เป็นหนี้ในระบบ ยังคงได้รับการผ่อนผันจากมาตรการพักชำระหนี้ของรัฐ นอกจากนี้ ธปท. คาดว่ารายได้เกษตรกรช่วงครึ่งปีหลังจะปรับดีขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าค่อยๆ ดีขึ้น ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานภาครัฐยังคงติดตามผลกระทบภัยแล้งที่มีต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

ด้าน นางชนาธิป จริยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้ทางการเงินแก่กลุ่มเกษตรกร และ ธ.ก.ส. (BAAC) ได้ดำเนินการในด้านส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี strength คือ มีความเข้าใจและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ธปท. และ ธ.ก.ส.

 จึงได้ตกลงร่วมมือกันเพื่อพัฒนา content tools และ multipliers ในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกร ซึ่ง ธปท. และ ธ.ก.ส. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 และได้มีการประชุมหารือกันในรายละเอียดเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการในช่วงต้นเดือนม.ค. 2559 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ผลจากเศรษฐกิจชะลอตัวช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การจ้างงานยังหดตัวล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยข้อมูลผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 3 ของปี 2558 จากภาพรวมของการจ้างงานพบว่ามีการจ้างงานโดยรวม 38.33 ล้านคนเศษลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 90,000 คนเศษ ซึ่งสาขาที่เพิ่มน้อยที่สุดคือผู้จบปริญญาตรี (ร้อยละ 2.8) ตามมาด้วย ม.ปลาย ปวช. และ ปวส.ตามลำดับ ระดับการศึกษาที่การจ้างงานหดตัว ได้แก่ ผู้จบ ม.ต้น หรือต่ำกว่า คิดเป็นจำนวนที่ลดลง 0.72 ล้านคน โดยคนกลุ่มใหญ่เหล่านี้มีการจ้างงานอยู่ในภาคการเกษตรเป็นสำคัญไม่น้อยกว่า 0.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ขณะเดียวกัน ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตามปกติ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 มกราคม 2559

กรมชลฯ เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตะวันตก แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

กรมชลประทาน เปิดตัวโครงการศึกษาปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เตรียมประชุม 18-21 ม.ค. นี้ มุ่งแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 11 จังหวัดภาคกลาง

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 59 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 18-21 ม.ค. 59 ที่ผ่านมา กรมชลประทาน จะจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท จ.สุพรรณบุรี จ.นนทบุรี และ จ.นครปฐม มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานราชการระดับจังหวัด/อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ประชาชน สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างหลากหลาย เพื่อนำมาใช้ประกอบและปรับปรุงการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด โดยในวันที่ 18 ม.ค.59 จะจัดประชุมที่โรงแรมชัยนาทธานี

โครงการดังกล่าวมีขอบเขตการศึกษาครอบคลุมการจัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสม (FS) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการศึกษาความเหมาะสมการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จำนวน 1 โครงการ คือ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 60

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาอุทกภัยซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากฝนที่ตกปริมาณที่มากในช่วงเวลาที่สั้นและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประสิทธิภาพของการระบายน้ำน้อยลง ไม่ได้ตามศักยภาพ แม้ที่ผ่านมา กรมชลประทาน จะมีการขุดลอกคลองและปรับปรุงลำน้ำอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้

นอกจากนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดสภาวะน้ำแล้ง เนื่องจากปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อยมาก จนปริมาณน้ำที่เก็บกักในเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาสภาวะน้ำแล้งในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่และสำคัญของประเทศ ควบคู่กับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทาน จะทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้น้ำเพื่อการชลประทานและการระบายน้ำ

ทั้งนี้ พื้นที่ในการศึกษาครอบคลุมด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทานของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงอ่าวไทยที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรปราการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 11 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 67 อำเภอ (15 เขตในกรุงเทพมหานคร) 487 ตำบล (52 แขวงในกรุงเทพมหานคร).

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 15 มกราคม 2559

ภัยแล้งเริ่มวิกฤต เขื่อนปราณบุรีงดส่งน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว 

         ประจวบคีรีขันธ์ - ภัยแล้งประจวบฯ เริ่มวิกฤต เขื่อนปราณบุรีงดส่งน้ำเพื่อการเกษตร คลองสายใหญ่ และคลองซอยน้ำแห้งขอด แหล่งน้ำตามหมู่บ้านที่มีอยู่ก็มีน้ำเหลือยู่น้อยมาก ขณะที่เกษตรกรบางรายต้องเลิกปลูกพืชหันไปทำอาชีพอื่นแทน      

        วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพคลองส่งน้ำสายใหญ่ ตลอดจนคลองซอยที่รับน้ำมาจากเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้มีสภาพแห้งขอด ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรในพื้นที่ อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี ได้รับผลกระทบ พืชผลการเกษตรขาดแคลนน้ำหลังจากที่เขื่อนปราณบุรี งดส่งน้ำให้ภาคการเกษตรกรรมมานานหลายเดือน

                จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันเขื่อนปราณบุรี มีน้ำเหลืออยู่ 121.50 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 31.07 เปอร์เซ็นต์ แต่น้ำที่สามารถใช้ได้มีเพียง 103.91 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 26.58 เปอร์เซ็นต์ น้ำที่เหลือเขื่อนมีความจำเป็นต้องเก็บกักไว้เพื่อรักษาระบบนิเวศ และรักษาตัวเขื่อน โดยเขื่อนปราณบุรี สามารถส่งน้ำให้ประชาชนได้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และผลิตประปาหมู่บ้านเท่านั้น โดยการส่งน้ำเข้าระบบคลองชลประทานสายใหญ่ให้ในแต่ละอำเภอเป็นรอบเวร ได้เพียงอำเภอละ 3 วัน โดยจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน วันที่ 15-17 จะเริ่มเปิดให้ อ.ปราณบุรี วันที่ 18-20 อ.สามร้อยยอด และวันที่ 21-23 อ.กุยบุรี       

        สำหรับน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเขื่อนปราณบุรีได้มีการเรียกประชุม และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานได้ทราบถึงความจำเป็นที่ไม่สามารถส่งน้ำให้ภาคการเกษตรได้มาหลายเดือนแล้ว เนื่องจากในปีนี้ในพื้นที่จังหวัดประจวบฯ มีปริมาณน้ำฝนที่ตกเข้าเขื่อนมีปริมาณน้อยมากกว่าทุกปี ซึ่งเขื่อนปราณบุรี จะจัดสรรน้ำให้ได้จนถึงฤดูฝนหน้าประมาณเดือน มิ.ย.59       

        นอกจากนั้น แหล่งน้ำที่มีตามหมู่บ้านที่ประชาชนนำมาเพื่ออุปโภคบริโภคเริ่มมีน้ำเหลือน้อยบางแห่ง คาดว่าน่าจะมีใช้ได้อีกประมาณ 1 เดือนก็คงหมด ชาวบ้านคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนทุกปีที่ผ่านมา หวังว่าภาครัฐจะเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือ       

        ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด มะม่วง ว่านหางจระเข้ เผือก ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากการไม่มีน้ำมารดให้แก่พืชสวนที่กำลังต้องการน้ำ ซึ่งเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องเลิกทำการเกษตร หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน เนื่องจากไม่มีน้ำ หรือเกษตรบางรายที่มีกำลังก็จ้างมาคนขุดน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำมาใช้รดพืชไร่เป็นการเพิ่มต้นทุนสูงขึ้นให้แก่เกษตรกร

 จาก http://www.manager.co.th   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

อธิบดีกรมชลฯ ติดตามโครงการสร้างสถานีสูบน้ำโขงเข้าลำห้วยแก้ภัยแล้ง 

         หนองคาย - กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำทั้งแบบชั่วคราวและถาวร 2 แห่งในพื้นที่อำเภอโพนพิสัย หนองคาย สูบน้ำโขงเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งการเกษตร และประปาหมู่บ้าน ประชาชนทั้งหนองคายและอุดรธานีได้ใช้น้ำพอเพียงช่วงหน้าแล้ง

                เมื่อเวลา 09.45 น.วันนี้ (14 ม.ค.) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการพัฒนาห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ซึ่งอธิบดีกรมชลประทานได้ตรวจเยี่ยมจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองก่อน หลังจากนั้นเดินทางไปติดตามโครงการที่ท้ายประตูระบายน้ำห้วยหลวง

                อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า หลังจากเดือนมกราคมผ่านไป สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้น่าเป็นห่วงเพราะปริมาณฝนมีน้อยมาก ทั้ง จ.หนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น ซึ่งไทยมีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำต้นทุนที่ตรวจสอบแล้วว่ามีความเสถียรของระดับน้ำมากที่สุด จึงต้องหาวิธีการนำน้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในหน้าแล้ง และหน้าฝน กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง เป็นแบบชั่วคราว 1 แห่งที่เหนือสะพานห้วยหลวง ห่างจากแม่น้ำโขง 200 เมตร

        โดยท้ายประตูระบายน้ำโครงการห้วยหลวง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ใช้งบประมาณ 13 ล้านบาท สามารถสูบน้ำได้ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จเดินเครื่องได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

                ส่วนสถานีสูบน้ำถาวรที่บ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดอัตราสูบ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 10 เครื่องทำการสูบน้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง และสามารถระบายน้ำจากลำห้วยหลวงลงสู่แม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก ใช้งบประมาณ 2,580 ล้านบาท จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อไม่ให้การระบายน้ำในช่วงหน้าฝนเข้าไปท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชน

        เมื่อสถานีสูบน้ำทั้งสองแห่งนี้แล้วเสร็จจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตร 8 หมู่บ้าน 3 ตำบลของอำเภอโพนพิสัย หรือประมาณ 12,000 ไร่ ใช้เป็นน้ำต้นทุนในระบบประปาหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน นอกจากนี้สำหรับสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 250,000 ไร่ และช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.หนองคาย และอุดรธานี ได้ 13,000 ไร่ รวมถึงทำให้พื้นที่รอบชลประทานในลุ่มน้ำใกล้เคียงมีน้ำหล่อเลี้ยงประมาณ 1.3 ล้านไร่

                นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ศึกษาโครงการพัฒนาการใช้น้ำโขงเพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียง อาทิ โครงการพัฒนาการใช้น้ำโขง-ห้วยหลวง-ลุ่มน้ำสงคราม และโครงการผันน้ำหนองหานกุมภวาปี-อ่างเก็บน้ำลำปาว-น้ำพอง-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ซึ่งจะสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ประโยชน์ในอัตราสูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถเติมน้ำปริมาณ 2,178 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีให้อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ส่งน้ำตามฝาย คู คลองต่างๆ ได้

 จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

เขื่อนแควน้อยฯ เผยเหลือน้ำ 40% วอนเกษตรกรใช้ประหยัดที่สุด

วันที่ 14 ม.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ล่าสุดเช้าวันนี้ ปริมาณน้ำเหลือเพียง 374 ล้านลูกบาศกเมตร หรือ 40% ของปริมาณน้ำของความจุเขื่อน โดยที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 939 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายเฉลิมศักดิ์ ทักษาดิพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในขณะนี้ว่า น้ำในเขื่อนแควน้อย ยังเป็นไปตามแผนการจัดการน้ำของกรมชลประทาน การระบายน้ำของเขื่อนแควน้อย ยังอยู่ที่วันละ 1.04 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศของลำน้ำแควน้อย ตั้งแต่นี้จนถึงพฤษภาคม 2559 ทางเขื่อนยังรักษาระดับน้ำไว้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในฤดูกาลผลิตหน้า ตามแผนการควบคุมน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งที่จะกักเก็บและสำรองน้ำ สามารถใช้การได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูแล้งจนถึงฤดูฝนปีหน้า อย่างไรก็ตามก็ขอให้ผู้ใช้น้ำหรือเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด ให้ระมัดระวังการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมีน้ำใช้ในฤดูกาลผลิตหน้า

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

SETA 2016 ชูไทยสู่ศูนย์กลางพลังงานอาเซียน 23-25 มี.ค.นี้

นภปฎล สุขเกษม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้บริหารงานโครงการด้านการจัดแสดงสินค้า และงานประชุมนานาชาติ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 แกทได้ร่วมกับกระทรวงพลังงาน และสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทยจัดงานโครงการพลังงานและเทคโนโลยี่ที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย หรือ Sustainable Energy & Technology Asia (SETA) 2016 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคบางนา

ถือเป็นงานแสดงนิทรรศการและงานประชุมด้านพลังงานและเทคโนโลยีนานาชาติที่ครบวงจร จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแรงส่งให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรม และและประสบการณ์ด้านพลังงาน,เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม จากทั้งนักวิชาการ นักวิจัย นักลงทุน และผู้สนใจจากทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย และทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ และความเข้าใจในเรื่องพลังงานและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้กับคนไทยให้มากยิ่งขึ้น

"เราเล็งเห็นความสำคัญของพลังงานและเทคโนโลยี ที่ควรจัดขึ้นในประเทศไทย โดยผู้บริหารงานคนไทย นอกเหนือไปจากกระแสการตื่นตัวด้านพลังงานของทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนในการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับประเทศไทย เป็นการกระตุ้น การหมุนเวียนด้านการลงทุนการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศ และการต่อยอด ที่มุ่งหวังถึงภาพที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางหรือ Hub ด้านพลังงานของอาเซียนในที่สุด"

งาน SETA 2016 จะจัดขึ้นบนพื้นที่นิทรรศการ มากกว่า 5,500 ตารางเมตร มีผู้ประกอบการจากทั้งบริษัท ห้างร้าน สมาคมต่างๆ และองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตอบรับเข้าร่วมงานแสดงกว่า 150 บูธ

รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SETA 2016 กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1. นโยบายและทิศทางของพลังงาน 2. ระบบเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้า 3.การขนส่งและเชื้อเพลิงทางเลือก และ 4. พลังงานที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวโดยในแต่รายละเอียดของทั้ง 4 หัวข้อนั้นมีการแบ่งโซนนิทรรศการที่แสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในแต่ละด้าน รวมทั้งการแสดงผลงานสำคัญ ๆ จากกระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชกรณียกิจด้านพลังงานที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติกว่า 100 หัวข้อ ใน 4 เนื้อหาหลัก มากกว่า 30 ประเด็น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจที่เป็นไฮไลท์ภายในงาน คือ การเสวนาของตัวแทนในระดับองค์กรระหว่างประเทศ ในหัวข้อ "การเตรียมการการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) ในข้อตกลงการลดคาร์บอน ณ กรุงปารีส ของอาเซียน" และเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจน โดยผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกา เป็นต้น

และการจัดสัมมนาคู่ขนาน ภายในงาน SETA 2016 อาทิ การจัดประชุมเวิร์คชอพ โดยกลุ่มประชาคมเอเปค (APEC) ในหัวข้อทิศทางของพลังงานนิวเคลียร์ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเปค การจัดสัมมนาในหัวข้อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดย Energy Research Institute Network : ERIN จากตัวแทนสิบกว่าประเทศ, การร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการสัมมนาด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์, เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และอื่น ๆ อีกหลายงานที่จัดร่วมกับ SETA 2016 ในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม งาน SETA 2016 ได้รับการสนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGAT, บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG, บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BMW, บริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย, สำนักงานผู้แทน ไชน่า เจนเนอรัล นิวเคลียร์ พาวเวอร์ กรุ๊ป หรือ CGN และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB 

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

น้ำตาลยันหยวนอ่อนไม่สะเทือน จีนต้องนำเข้าผลิตในประเทศลดลงแต่การบริโภคยังขาด 

          หยวนอ่อนค่าไม่สะเทือนน้ำตาลส่งออก  ชี้จีนมีน้ำตาลไม่พอต่อการบริโภคภายในประเทศ  ขณะที่ปีนี้คาดผลผลิตน้ำตาลในจีนจะหายไป1-1.5 ล้านตัน หลังเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นแทนอ้อยมากขึ้น ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบยังไต่ระดับสูงขึ้นแบบช้าๆ เพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกอยู่อีกจำนวนมาก

          นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินหยวน ไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลส่งออก เนื่องจากขณะนี้จีนต้องการนำเข้าน้ำตาลจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลในจีนมีน้อยลง ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง จากที่ผลิตภายในประเทศได้ 10.5 ล้านตัน ปีนี้จะหายไปราว 1-1.5 ล้านตัน จากที่ก่อนหน้านี้จีนเคยมีกำลังผลิตในประเทศมากถึง 14-15 ล้านตัน ใกล้เคียงกับที่จีนมีการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศมากถึง 15 ล้านตัน จึงคาดว่าปีนี้จีนจะเพิ่มการนำเข้าน้ำตาลจากไทยมากขึ้นหรือไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่นำเข้าประมาณ 8-9 แสนตันต่อปี เพราะอยู่ในแหล่งผลิตที่ใกล้จีนที่สุดทำให้สะดวกต่อการขนส่งด้วยต้นทุนต่ำ

          อย่างไรก็ตามคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวโดยรวมในประเทศ ที่จะส่งมอบไตรมาสแรกปี 2559 มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้วมากกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 4 ล้านตัน(ตามปกติส่งออกน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตันต่อปี) เป็นการขานรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากที่น้ำตาลทรายดิบราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก็ขยับขึ้นมาเหนือระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้วในขณะนี้ เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาวราคาขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จากที่ราคาเคยลงไปอยู่ที่ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน สะท้อนให้เห็นว่าอ้อยเป็นพืชตัวเดียวที่ราคายังปรับตัวดีขึ้น

          สอดคล้องกับที่นายโสภณ ถิระบัญชาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามบริท จำกัด ผู้ค้าน้ำตาลส่งออก กล่าวว่า หยวนอ่อนค่าไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไทยส่งออกไปจีน เพราะจีนขาดแคลนน้ำตาล และปี 2559 จีนหันไปปลูกพืชอื่นๆ แทนอ้อยมากขึ้นทำให้กำลังผลิตภายในประเทศลดลง ส่วนการนำเข้าน้ำตาลจากจีนในแต่ละปีตัวเลขการนำเข้าจะไม่นิ่ง ขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ เป็นปัจจัยประกอบด้วย

          แหล่งข่าวจากผู้ผลิตน้ำตาลกล่าวว่าฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2558/2559 จะเป็นปีที่น่าห่วงเพราะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลก หากไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถปลูกอ้อยได้ สำหรับการผลิตอ้อยในประเทศคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยรวมกันทั้งสิ้น 101 ล้านตันอ้อย ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 106 ล้านตันอ้อย  จากเดิมที่มีปริมาณอ้อย 106 ล้านตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลได้ราว 11.33 ล้านตันน้ำตาล ปี 2558/2559 ผลิตอ้อยได้ 101 ล้านตันอ้อย จะผลิตน้ำตาลได้ราว 10 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะส่งออกน้ำตาลได้ราว 7-7.5 ล้านตัน และใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศราว 2.5 ล้านตัน

          ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC  กล่าวว่า ถ้าค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินหยวนอ่อนค่าเหมือนกัน ไม่ต่างกันมากก็ไม่กระทบต่อน้ำตาลส่งออกไปจีน และสินค้าที่ส่งออกจะขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกและคุณภาพน้ำตาล รวมถึงค่าขนส่งที่ขณะนี้ต้นทุนถูกลงตามราคาน้ำมัน

          อย่างไรก็ตามปี 2559 จะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกของราคาน้ำตาลที่ขณะนี้เริ่มขยับขึ้นไปอยู่ที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาขึ้นอยู่กับซัพพลายน้ำตาลของโลก ซึ่งในปี 2559 ปริมาณน้ำตาลโลกที่ออกมา ซัพพลายในตลาดน้อยกว่าการบริโภคของโลก ยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบค่อยๆ ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์

          "ความจริงแล้วราคาน้ำตาลทรายดิบควรจะไต่ระดับขึ้นไปที่ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่เป็นเพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกอยู่มาก โดยข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศหรือไอเอสโอ ระบุว่ามีน้ำตาลในสต๊อกถึง 81 ล้านตันน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลยังขยับตัวสูงขึ้นยังไม่มากเท่าที่ควร

          นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance: GSA) ประจำปี 2558 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่โลก (คิดเป็นสัดส่วน 85% ของการส่งออก น้ำตาลจากอ้อยในตลาดโลก) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บราซิล ไทย อินเดีย ชิลี กัวเตมาลา โคลอมเบีย และแอฟริกาใต้ ได้แสดงความกังวลต่อการประกาศอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา และไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลกมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงร้องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบมาตรการอุดหนุนของอินเดีย และพิจารณาดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO เนื่องจากขัดต่อหลักปฏิบัติภายใต้ WTO อย่างชัดเจน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

'สมคิด'สั่งก.อุตฯยกเครื่องหน่วยงาน บูรณาการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพิ่มขีดแข่งขัน 

"สมคิด" สั่งกระทรวง อุตสาหกรรม ยกเครื่องทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดบูรณาการยกระดับขีดแข่งขัน โดยเฉพาะกรอ. เน้นเป็นที่ปรึกษาโรงงาน 1.4 แสนแห่ง ไม่ใช่จ้องจับผิดเปิด-ปิดโรงงาน  พร้อมเร่งปรับภารกิจสถาบันในสังกัดภายใน 1 เดือน ถก 15 ม.ค.เร่งเปิดตัว โครงการไทยแลนด์ สปริงอัป ปั้นเอสเอ็มอี

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรมและมาตรฐานอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) ครั้งที่ 2/2559 ร่วมกับภาคเอกชน โดยมีนายสมคิด จาตุศรี พิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวง อุตสาหกรรมปรับบทบาทหน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพการผลิต เพื่อเพิ่มขีดแข่งขันโดยบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานภายในกระทรวงฯ พร้อมกับเร่งปรับบทบาทและภารกิจของสถาบัน ภายใต้สังกัด 11 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

          ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ควร ปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ/จับผิด และออกใบอนุญาต มาเป็นหน่วยงานที่พร้อมให้คำปรึกษา/แนะนำด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การประหยัดพลังงาน และประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันซึ่งปัจจุบันโรงงานทั่วประเทศมีจำนวนประมาณ 1.4 แสนแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ส่วนโรงงานขนาดใหญ่จะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่แล้ว

          "ก็ต้องทำงานแบบบูรณาการให้ มากขึ้นทุกหน่วยงานและสถาบันเครือข่ายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งโดยสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติก็จะ ต้องทำงานเพิ่มผลผลิตระดับชาติที่ร่วมกับเอกชนไม่ใช่เฉพาะทำตามนโยบาย กระทรวงฯ เท่านั้น สถาบันสิ่งทอก็ต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างการออกแบบ ฯลฯ" นางอรรชกากล่าว

          นอกจากนี้ เบื้องต้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาห- กรรม เตรียมจัดโครงการไทยแลนด์ สปริงอัป (Thailand Spring Up) ซึ่งเป็นโครงการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย (เอสเอ็มอี) ให้มีความรู้และสามารถนำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง รู้จักวางแผนการตลาด ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) เป็นต้น โดยวันที่ 15 ม.ค.นี้ จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดทำโครงการให้มีความชัดเจน คาดจะเน้นเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วเข้าร่วมอบรมเป็นประจำ ทุกเดือน เดือนละ 200 ราย เป็นต้น

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ส่วนสถาบันเหล็กที่ปัจจุบันที่ประสบปัญหาขาดทุน และมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจอย่างมากทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น ภาวะตลาดที่ซบเซา ทางกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือทบทวนบทบาทของสถาบันเหล็กว่าสมควรจะดำเนินการต่ออย่างไร หรือผู้ประกอบการควรต้องรวมตัวกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น

          นายกานต์ ตระกูลฮุน ประธานที่ปรึกษาบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้กระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง ลดอุปสรรคต่างๆ และพัฒนาคุณภาพการผลิต โดยให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการร่วมกันของหน่วยงาน อาทิ กรอ. เดิมทำหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมโรงงาน แต่จากนี้ต้องลงพื้นที่ทำงานเป็นทีม ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

ค้านตั้งโรงงานในพื้นที่สีชมพูชาวเกวียนหักหวั่นกระทบ สวล./อุตสาหกรรมจังหวัดฯเตรียมทำประชาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสินชัย ตุลารักษ์ แกนนำชาวบ้าน ต.เกวียนหักอ.ขลุง จ.จันทบุรี และอดีตสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเกวียนหัก เป็นแกนนำนำชาวบ้านต.เกวียนหัก ประมาณ 50 คน มาติดตั้งป้ายต่อต้านคัดค้านไม่เอาโรงงานทุกชนิด และไม่ยอมให้มีโรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.เกวียนหักเพราะชาวบ้านหวั่นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลองลงทะเล และกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากพื้นที่ ต.เกวียนหัก เป็นพื้นที่สีชมพูปราศจากโรงงานทุกชนิด

          นายสินชัย เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้มารวมตัวกันในการติดตั้งป้ายคัดค้านไม่เอาโรงงานทุกชนิดในพื้นที่ ต.เกวียนหัก ซึ่งถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีโรงงานอื่นตามมาเพราะจะสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้าน ต.เกวียนหัก ในส่วนนี้ชาวบ้านได้ฝากถึงอุตสาหกรรมจ.จันทบุรี ผังเมือง จ.จันทบุรี ร่วมให้ความคิดเห็นเสนอแนะกับชาวบ้าน ต.เกวียนหัก ว่าพื้นของ ต.เกวียนหัก เป็นพื้นที่สีชมพู คงจะไม่ให้มีโรงงานเกิดขึ้นใน ต.เกวียนหัก ได้

          ด้าน นายพินัย พะยม นายกเทศมนตรีตำบลเกวียนหัก กล่าวว่า วันนี้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างการก่อสร้างห้องเย็น หรือโรงงานในพื้นที่ ต.เกวียนหักซึ่งเป็นเรื่องปกติของผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามโรงงานห้องเย็นยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาต คือจะต้องขออนุญาตจากอุตสาหกรรม จังหวัดจันทบุรีซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้มาปิดประกาศรับฟังความคิดเห็น ถือว่าไปสู่กระบวนการหนึ่งที่จะนำไปสู่การทำประชาคมซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาวิจารณ์ โดยอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ได้มาปิดประกาศ

          "เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีซึ่งสุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ต้องมาทำผังประชาคม ที่เป็นกระบวนการขั้นตอนที่1 และขั้นตอนที่ 2 จนมาสู่การถามความคิดเห็นของชาวบ้าน และจะมีข้อสรุป ณ ตรงนั้นซึ่งทางเทศบาลตำบลเกวียนหักเองไม่ได้นิ่งนอนใจ รับฟังทุกฝ่ายทั้ง ฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย"

          ในส่วนนี้เมื่อก่อนตนไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี บริษัทแห่งนี้ได้เข้ามาขออนุญาตรับซื้อผลไม้ซึ่งเป็นการสร้างอาคารที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งตอนนั้นทางเทศบาลตำบลเกวียนหักได้มีการอนุญาตไปแล้ว จากนั้นตนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่อทางบริษัทได้เข้ามาต่อเติมภายในเป็นห้องเย็น ซึ่งทางบริษัท เองอยากจะทำให้ถูกต้องจึงมาขออนุญาต ซึ่งตนไม่มีอำนาจอนุมัติ  โดยให้บริษัทไปขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี 

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

ทบ.ผนึกกรมชลขุด‘แก้มลิง’อีสานแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วมน้ำมูลต่ำสุดใน 10 ปี

เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบกกล่าวว่า จากที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างยั่งยืนโดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการ“แก้มลิงกักเก็บน้ำก่อนไหลสู่แม่น้ำระหว่างประเทศ พ.ศ.2558”ในพื้นที่ 5จังหวัดในภาคอีสานคือจ.นครพนม,หนองคาย,เลย,บึงกาฬและมุกดาหาร จำนวน30โครงการ มีระยะเวลาดำเนินการช่วงเดือนพฤศจิกายน2558-มีนาคม2559โดยการขุดลอกและขยายแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติภายในประเทศก่อนไหลสู่แม่น้ำระหว่างประเทศ

รองโฆษกกองทัพบกกล่าวว่าทั้งนี้เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเร่งด่วนกรมชลประทานจึงขอความร่วมมือให้ กองทัพบกสนับสนุนการขุดลอกแก้มลิงใน24โครงการ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนี้ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 2และกรมการทหารช่างใช้ศักยภาพทั้งกำลังพล และเครื่องมือให้การสนับสนุนกรมชลประทานดำเนินโครงการฯให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ควบคู่การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และที่ขุดเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่

ในการขุดลอกแก้มลิง ครั้งนี้กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบ11โครงการในจ.นครพนม กับมุกดาหาร ส่วนกรมการทหารช่าง รับผิดชอบ 13โครงการใน จ.หนองคาย เลย และบึงกาฬ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2558 อยู่ระหว่างขุดลอกตะกอนดินและขยายแหล่งน้ำใน15พื้นที่ มีความคืบหน้าในภาพรวมแล้วร้อยละ27และขุดลอกเสร็จแล้ว1โครงการ

“ในวันที่14 มกราคมเวลา10.00น. ผบ.ทบ.มีกำหนดเดินทางตรวจเยี่ยม ติดตามความคืบหน้าของโครงการฯ และเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ ที่โครงการแก้มลิงบ้านชะโนด ต.ชะโนด อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ซึ่งกองทัพภาคที่ 2โดยกองพันทหารช่างที่202เป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งเมื่อดำเนินการเรียบร้อยตามแผนงานจะเพิ่มความจุในการเก็บกักน้ำได้ถึง12.77 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ ได้รับประโยชน์ 14,680 ไร่ ประชาชนในพื้นที่จะได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 6,030ครัวเรือนทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง ป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน” พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าว

จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ ลดระดับลงอย่างมากในรอบ10ปีโดยมีปริมาณน้ำสูงไม่ถึง2 เมตร จากความสูง 7 เมตรทำให้ชาวประมง สามารถจับ กุ้งฝอย กุ้งก้ามกรามรวมทั้งปลาแม่น้ำเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีราคาซื้อขายกิโลกรัมละ 200-500 บาท และขายได้ง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะกุ้งก้ามกรามที่แทบไม่มีเห็น ชาวประมง ก็สามารถจับ จากแม่น้ำส่งขายให้แพอาหาร ตามแหล่งท่องเที่ยวได้มากขึ้น สร้างรายได้ให้ชาวประมงในช่วงนี้เป็นอย่างดี ส่วนแม่น้ำโขง ที่สถานีวัดน้ำบ้านด่านใหม่ อ.โขงเจียม ระดับน้ำสูง 2.24 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 13 เมตร

จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ได้มาเร็วขยายวงกว้างครอบคลุมในพื้นที่หลายอำเภอ ในจ.บุรีรัมย์ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งไปทั่วทุกหนแห่ง น้ำในหนองน้ำขนาดเล็กในหลายหมู่บ้านต่างแห้งขอด รวมทั้งแหล่งน้ำข้างทาง ทำให้ชาวบ้านบ้านหนองไทร ต.หนองขมาร อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสรวมกลุ่มขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพร้อมอุปกรณ์จับปลาพื้นบ้านทั้งสวิง ตะแกรงและถังน้ำ ตระเวนจับปลาในหนองน้ำที่ใกล้แห้ง โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำก็สามารถจับปลา กุ้ง ปู กบ โดยเฉพาะปลาช่อน ปูและปลาซิว จำนวนมากเพื่อนำทำเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัวหากเหลือจะนำไปขายในหมู่บ้านและตามตลาดเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงหน้าแล้ง

ที่ จ.สตูล สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มเข้าสู่วิกฤตในหลายๆอำเภอ เกิดผลกระทบในพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.ท่าเรือ อ.ท่าแพจ.สตูล ที่มีพื้นที่ประมาณ 5ไร่เศษได้รับผลกระทบอากาศร้อนจัดจนน้ำแห้งขอด จนข้าวในท้องทุ่งนาหลีบ แห้งเหี่ยว มีสภาพยืนต้นตาย สาเหตุจากการขาดน้ำมาล่อเลี้ยง นายสามารถ สุวรรณมณี นายอำเภอท่าแพ พร้อม เกษตรอำเภอ ลงพื้นที่ดูผลกระทบความเดือดร้อนจากภัยแล้งเพื่อแจ้งให้ทางจังหวัดรับทราบต่อไป

ส่วนที่ จ.พังงา สถานการณ์ ปริมาณน้ำในคลองพังงา อ.เมือง ลดลงจนเห็นสันดอนทราย ส่งสัญญาณภัยแล้ง หลังฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายธันวาคม2558 ส่งผลให้แหล่งน้ำในพื้นที่พังงา เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะสำนักงานประปาภูมิภาคพังงาใช้แหล่งน้ำจากคลองพังงาผลิตน้ำประปา ส่งจ่ายให้เขตเทศบาลเมืองพังงา และอีก 4 ตำบล คือ ต.ถ้ำน้ำผุด ต.เกาะปันหยี ต.นบปริง ต.ตากแดด เมื่อแหล่งน้ำขาดแคลน จะส่งผลกระทบชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมากรวมถึงพืชผลทางการเกษตรอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ของจ.สงขลา เริ่มได้รับผลกระทบในพื้นที่ ต.ท่าโพธิ์ ต.พังลา อ.สะเดา จ.สงขลา พื้นที่ต้นน้ำคลองอู่ตะเภา หลังปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง บางจุดแห้งจนเห็นสันทราย โดยพื้นที่เป็นห่วงสุด พื้นที่สวนยางพาราอ่อนที่เพิ่งลงต้นกล้าปลูกใหม่ หรือ นำมาซ่อมแซมในช่วงฤดูฝนปลายปี เหี่ยวเฉาใกล้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ มีแนวโน้มที่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เริ่ม 3 อำเภอชัยภูมิหวังเพิ่ม 6 จังหวัด

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าผลักดันให้ 3 อำเภอ 7 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวระเหว และอำเภอแก้งคร้อ ในจังหวัดชัยภูมิ ให้เป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารพิษให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างช่องทางการจำหน่าย ภายใต้โครงการตลาดชุมชน ที่ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน “ถ้าเกษตรกรหันมาเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าปลอดสารพิษ ก็จะสามารถขายได้ ราคาที่สูงกว่าราคาปกติ เกือบ 2 เท่า เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ในระยะยาวช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรได้ โดยเฉพาะลดต้นทุนในการซื้อสารเคมี หรือยากำจัดแมลงศัตรูพืช และช่วยการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศด้วย”

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษที่ผลิตได้ในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวไรซ์เบอรี่, ชา, กล้วยหอมทอง, ข้าวโพด, มะม่วงหิมพานต์, พืชผักปลอดสารพิษ, การทำปศุสัตว์, เลี้ยงวัว หมู และไก่ รวมทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าฝ้าย และผ้าไหม โดยในปี 59 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดหมู่บ้านอินทรีย์ครบวงจร คือมีการปลูกพืชผัก ปศุสัตว์ และการผลิตสินค้าอื่นที่มาจากพืชอินทรีย์ จำนวน 6 จังหวัด จากที่มีอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อพัฒนาพื้นที่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

วิกฤติภัยแล้งคุกคาม6จว.ภาคกลางเผชิญดินสไลด์-ถนนทรุด

            “วันนั้นป้ากำลังขายของในร้าน อยู่ดีๆ บ้านป้าก็ทรุดตัวลงไป เหลือแต่เสาบ้าน ข้าวของเสียหาย ป้าแทบจะเป็นลม ของใช้และเสื้อผ้าเสียหายหมด ต้องให้ชาวบ้านแถวนี้มาช่วยกันขนของที่ยังใช้ได้ ตอนนี้ป้าก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านญาติ เพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า”

            เป็นเสียงเล่าปนสะอื้นย้อนถึงวินาทีชีวิต ของ “นางเที่ยง กำปั่น” ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ต้องสูญเสียบ้านและทรัพย์สินจนเกือบสิ้นเนื้อประดาตัวจากเหตุการณ์การทรุดตัวของดิน ขนาดกว้างกว่า 3 เมตร ยาว 50 เมตร ลึกกว่า 1 เมตร บริเวณถนนเลียบคลองสาน อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและที่ทำมาหากิน

            กว่าหนึ่งสัปดาห์แห่งความโศกเศร้าและความสูญเสียจากภัยธรรมชาติที่กระหน่ำเข้าใส่ ถึงวันนี้ยังคงปรากฏร่องรอยให้เห็น แต่นางเที่ยงได้ตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพราะรู้สึกหวาดผวา หากจะต้องพักอาศัยในบริเวณนี้

            ผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ นางเที่ยง เล่าว่า ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเจอปัญหาดินสไลด์ จนทำให้บ้านเสียหายและพังลงในที่สุด ที่ผ่านมา จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มักจะเกิดภัยแล้งอยู่แล้ว แต่ไม่รุนแรงเหมือนครั้งนี้ อีกทั้งยังทำให้ต้องเสียรายได้ เพราะบ้านหลังนี้นอกจากจะใช้พักอาศัยแล้ว ยังมีหน้าร้านขายของหาเงินเลี้ยงครอบครัวอีกด้วย

            “ป้าอยู่ตรงนี้มา 20 กว่าปีแล้ว หลายครั้งที่อยุธยาเกิดน้ำแล้ง น้ำในคลองบางคลองแทบไม่มีเลย แต่ก็ยังอยู่กันได้ ซึ่งป้าไม่คิดว่าพื้นดินตรงที่ป้าปลูกบ้านอาศัยอยู่ มันจะถล่มลงไปนะ ตอนแรกบริเวณดินริมคลองอีกฝั่งของบ้านมันสไลด์ลงไปก่อนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ซึ่งป้าก็เริ่มกลัวแล้วว่าบ้านป้าจะโดนด้วยไหม พอถึงวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา อยู่ดีๆ บ้านป้าก็ทรุดตัวลงไป ข้าวของเสียหาย ต้องให้ชาวบ้านแถวนี้มาช่วยกันขนของขึ้น ตอนนี้ป้าก็ต้องย้ายไปอยู่บ้านญาติ” นางเที่ยง กล่าว

            น้ำในคลองส่วนใหญ่จะเป็นตัวรับน้ำหนักถนนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดภาวะภัยแล้งเกษตรกรบางรายยังสูบน้ำจากคลองที่ยังเหลืออยู่ไปใช้ ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อไม่มีปริมาณน้ำช่วยรับน้ำหนัก รวมทั้งน้ำในดินที่หายไป เป็นสาเหตุทำให้ดินบริเวณนี้เกิดการทรุดตัว แต่หากมีน้ำเข้ามาในคลองก็จะช่วยลดปัญหาลงได้

            วิกฤติภัยแล้งในปี 2559 กำลังคุกคามประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างถนน โดยเฉพาะบริเวณริมคลองที่มีตลิ่งสูงชัน และถนนที่อยู่เลียบแม่น้ำลำคลองเกิดการทรุดตัว และพังทลายเกิดความเสียหายอย่างมาก

            สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ เพราะเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ รายได้ของเกษตรกรย่อมหดหายตามไปด้วย ภาระหนี้สินที่มีอยู่ เงินที่จะใช้เพื่อการดำรงชีพ ทำให้กำลังซื้อที่เป็นกำลังซื้อหลักลดน้อยลงไปอีก

            ไม่ได้มีแค่เพียงกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งลง ทำให้น้ำในลำคลองต่างๆ แห้งขอด คลองส่งไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยง เกิดผลที่ตามมาคือถนนหลายแห่งเกิดการทรุดตัวเป็นแนวยาว ริมคลองเกิดดินสไลด์ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ถนนที่ใช้สัญจรไปมาก็พังลง สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

            ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ที่ปรึกษาภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การเกิดถนนทรุดและดินสไลด์ มีสาเหตุมาจากชั้นของดินที่เดิมทีแล้วในพื้นที่ของภาคกลางป็นลักษณะดินทะเลเก่า มีแร่ธาตุในดินสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งแร่ธาตุตัวนี้มีคุณสมบัติซึ่งเมื่อเจอน้ำแล้วดินชนิดนี้จะเกิดการพองตัวและขยายตัว แต่เมื่อไม่มีน้ำหรือน้ำในคลองแห้ง ดินชนิดนี้จะคายน้ำจนทำให้ดินหดตัวและแห้ง จนเกิดการแตกตัวของดิน ทำให้เกิดดินสไลด์ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของชั้นดิน

            “โดยเฉพาะปีนี้ที่เป็นผลต่อเนื่องจากภาวะภัยแล้งจากปีที่แล้ว ในหน้าฝนมีปริมาณน้ำฝนน้อยและน้ำมาช้า ทำให้น้ำขาด จึงต้องจัดการทรัพยากรน้ำ ในคลองบางส่วนจึงมีน้ำน้อย การปล่อยน้ำลงมายังคลองมีปริมาณน้อย ทำให้ถนนทรุดเร็วกว่าปีที่ผ่านมา และตราบใดถนนที่อยู่ริมคลอง แล้วน้ำในคลองแห้งหรือไม่มีน้ำ ดินที่เกิดการแห้งและแตก ก็จะเกิดการสไลด์ลง โดยเฉพาะถนนที่มีรถบรรทุกน้ำหนักมากๆ วิ่งสัญจรผ่านไปมา ก็เป็นตัวส่งเสริมให้มีการทรุดตัวเพิ่มขึ้น” ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าว

            จุดเสี่ยงที่จะเกิดการทรุดตัวของถนนในขณะนี้ จึงอยู่ที่ถนนริมคลองเป็นหลักที่อาจเกิดการทรุดตัวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะคลองที่น้ำแห้งเป็นเวลานาน

            ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และปทุมธานี จะประสบปัญหาดินสไลด์และถนนทรุดเพิ่มหนักขึ้น เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะยิ่งน้อยลง ทำให้ไม่มีน้ำเข้าไปในแหล่งน้ำต่างๆ ที่จะช่วยพยุงดิน เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรระมัดระวัง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559 

เคาะงบ1.8หมื่นล้านพัฒนาพื้นที่ศก.พิเศษ

คมนาคมทุ่มงบ 18,383 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 110 โครงการ คาด 18 ม.ค.นี้ ชงแผนให้นายกฯ พิจารณาเห็นชอบ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ได้สรุปแผนงบประมาณการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2560 โดยแบ่งโครงการออกเป็น 2 ระยะ ในพื้นที่ 10 จังหวัด วงเงิน 18,383 ล้านบาท ประกอบด้วยงบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 110 โครงการ มูลค่า 4,777 ล้านบาท และงบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง จำนวน 59 โครงการ มูลค่า 13,606 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเสนอโครงการต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ กนพ. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้กรมทางหลวง (ทล.) ออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ และเตรียมแผนเวนคืนที่ดิน สำหรับงบประมาณในการดำเนินการนั้น ประเทศไทยจะให้เงินกู้แก่กัมพูชา เพื่อใช้ในการก่อสร้างสะพาน วงเงิน 928 ล้านบาท และคิดดอกเบี้ยอัตรา 1.5% รวมถึงให้งบสนับสนุนอีก 170 ล้านบาท

"การก่อสร้างโครงการถนนมอเตอร์เวย์ จากด่านน้ำพุร้อนไปยังเมียนมานั้น ได้สั่งให้กรมทางหลวงไปศึกษาความเหมาะสม รวมถึงหารือร่วมกับกรมศุลกากร ถึงแนวเส้นทางให้สอดรับกับการเชื่อมต่อไปยังด่านบ้านน้ำพุร้อน จ.กาญจนบุรี" นายชาติชายกล่าว

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ใน 5 พื้นที่ชายแดน ที่จะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 58 คือ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, จ.มุกดาหาร และ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท หรือกว่า 15% ของปริมาณการค้ารวมของทั้งประเทศ รวมถึงยังช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2559

สมศักดิ์ จันทรรวงทอง ตั้ง 12 รง.น้ำตาลใหม่-ขยาย 17 รง.เดิม

สอน.คาดว่าจะทำแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทรายเสร็จภายใน 5 ปี จะทำให้มีรายได้จาก 2 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 5 แสนล้านบาทในปี 2569

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล แต่พัฒนาการภายในของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่ต้องพัฒนาและปรับปรุง เพื่อจะได้ก้าวไปยืนในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "สมศักดิ์ จันทรรวงทอง" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ถึงนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

สมศักดิ์ จันทรรวงทอง

- ยุทธศาสตร์อ้อย-น้ำตาล 10 ปี

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ คือ ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 2.การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อย น้ำตาลทรายและการสร้างมูลค่าเพิ่ม 3.การดำเนินการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานน้ำตาล สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้กำหนดยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย 10 ปี (2558-2569) โดยมีเป้าหมาย

จากปี 2558 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 10.53 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 16 ล้านไร่ในปี 2569 มีปริมาณอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เพิ่มเป็น 180 ล้านตัน มีน้ำตาลจาก 11.34 ล้านตัน เพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน มีกำลังการผลิตเอทานอล 2.5 ล้านลิตร/วัน เพิ่มเป็น 5.38 ล้านลิตร/วัน มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 1,542 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ในปี 2569 ส่งผลให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจาก 2 แสนล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 5 แสนล้านบาทในปี 2569

สอน.คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (2558-2569) ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 5 ปี เพราะตอนนี้เราเปิดให้มีการยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และโรงงานเก่ามีการขอขยายกำลังการผลิตเพิ่ม หากก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเดินเครื่องการผลิตได้ทั้งหมดเราจะมีกำลังการผลิตถึง 50-60 ล้านตันอ้อย บวกกับปี 2558 ที่มีกำลังการผลิต 110 ล้านตันอ้อย รวมจะได้กว่า 170 ล้านตันอ้อยแล้ว ยิ่งหากเราไปเพิ่ม Productivity ตามนโยบายรัฐได้อีก 10% ก็ถึงเป้าพอดีภายใน 5-6 ปี

- มียื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่กี่ราย

ถึงสิ้นปี 2558 มีผู้ประกอบการยื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 36 โรง โรงงานใหม่ต้องอยู่ห่างจากโรงงานเดิม 50 กม. วัดจากเขตโรงงานไปหาเขตโรงงานทั้ง 8 ทิศ (เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้) หมายถึงสุดเขตรั้วโรงงานแล้ววัดออกไปตามรัศมีของแต่ละโรงที่ 25 กม. ซึ่งต้องตรงกับโฉนดหรือตามแบบแปลน มีบางรายยื่นคำขอซ้อนพื้นที่กันต้องตกไป ตอนนี้จึงเหลือ 12 โรง เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้งหมด รวมถึงมีแผนจัดหาอ้อยป้อนโรงงานไม่น้อยกว่า 50% คาดว่าจะผ่านการพิจารณาประมาณ 12 โรง เท่ากับจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มประมาณ 2.16 ล้านไร่ รวมวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท หลังผ่านการพิจารณาทั้ง 12 โรงต้องไปทำ EIA ก่อน และขอ รง.4 ถ้าไม่ผ่านก็ตั้งไม่ได้ หากจะทำโรงไฟฟ้าอีกก็ต้องไปยื่นคำขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป

- โรงงานเก่าขอขยายกำลังผลิตเพิ่ม

มีโรงงานเก่ายื่นขอขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 17 โรง ผ่านการพิจารณาให้ขยายโรงงานได้ 15 โรง และอนุมัติ 13 โรง ส่วนอีก 2 โรงยังไม่ผ่านการอนุมัติ เพราะเงื่อนไขยังไม่ตรงตามที่ประกาศกำหนด และก่อนนี้มีการอนุมัติไปแล้ว 1 โรง รวมเป็น 16 โรง และถอนคำขอ 1 โรง เพื่อนำเรื่องกลับไปทำใหม่ให้เรียบร้อย เพราะเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องมีอ้อยหีบเกินกำลังการผลิตติดต่อกัน 3 ปี แต่โรงงานดังกล่าวหีบเกินกำลังการผลิตได้เพียง 2 ปี จึงต้องรออีก 1 ปี คาดว่าจะได้รับอนุญาตทั้งหมด จะทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.38 ล้านไร่ รวมเป็นวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หากคิดรวมวงเงินลงทุนทั้งการขอตั้งโรงงานใหม่ และขยายกำลังการผลิตเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท รวมพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มประมาณ 4.54 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น 45.4 ล้านตัน และมีการจ้างงานโดยตรงเพิ่มกว่า 10,000 คน และการจ้างงานทางอ้อมอีกจำนวนมากในปี 2562 ทั้งหมดจะเห็นภาพภายใน 5 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย (2558-2569)

- ปรับโครงสร้างอ้อย-น้ำตาลทั้งระบบ

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีนโยบายจะดำเนินการ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ปรับปรุงกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี 2558 ได้จัดทำประกาศกระทรวงเพื่อการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลได้ 2.การพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย

3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุน และ 5.การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

- ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30

การปรับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทาง สอน.จึงไปคุมผลิตภัณฑ์ตัวอื่นให้ได้ก่อน เพราะการแบ่งปันผลประโยชน์ต้องมีข้อมูลมาสนับสนุนบอกว่าใครควรได้เท่าไร เมื่อแก้หัวได้เดี๋ยวหางก็จะทยอยปรับได้เอง

- อ้อย-น้ำตาลถูกมองเป็นพืชการเมือง

เราจะลบภาพที่มองว่าเป็นพืชการเมือง ให้เป็นภาพของพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าการค้าได้สูงมาก เช่นเดียวกับข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ปาล์ม แต่การผลิตรัฐยังคงต้องใช้เงินสนับสนุนด้วยทั้งต้นทุนการผลิตที่เอามาจากภาษีประชาชน เช่น ข้าว ขาดทุนรัฐก็ช่วย ดังนั้น แนวทางออก คือแปรรูปการเกษตรทำอย่างไรให้พึ่งตนเองได้ ใครทำไม่ไหว ควรหยุดไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ขณะที่อ้อยเองรัฐบาลมองว่า คือพืชพลังงาน สอดรับกับอดีตที่เรากลัวว่าน้ำมันจะหมดโลกจึงเอาอย่างในบราซิลเป็นผู้ผลิตอ้อยอันดับที่ 1 ของโลก 600 ล้านตัน/ปี 50% บราซิลนำไปทำเอทานอล ส่วนไทยมี 110 ล้านตัน ทำเอทานอลยังไม่มาก

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 13 มกราคม 2559

อาเซียนนัดถกเร่งสปีด"เออีซี"เดินหน้าพร้อมเปิดเอฟทีเอปท.คู่ค้า เล็งฟื้นเจรจาสหภาพยุโรปต่อเนื่อง

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 19-21 มกราคมนี้ โดยประเด็นหารือจะเป็นการรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการคงค้างตาม แผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2015) พร้อมทั้งหารือความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan: SAP) และการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนระยะเวลา 10 ปี หรือ AEC Blueprint 2025 ด้วย

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหภาพ ยุโรป (อียู) และอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการค้าและการลงทุนร่วมอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี ค.ศ.2015-2016 แนวทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่ชะงักงัน มาหลายปี ตลอดจนการหารือประเด็นเกี่ยวกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับฮ่องกง อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า นอกจากนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจ (CoW) สมัยพิเศษ จะพิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินการล่าสุด และการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ รวม 15 คณะ เช่น ความร่วมมือด้านมาตรฐาน การเงินการคลัง ศุลกากร เอสเอ็มอี พลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม ฯลฯ และหารือปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประเด็นคาบเกี่ยว (Cross Cutting Issues) ของความร่วมมือด้านต่างๆ

นางสาวศิรินารถกล่าวว่า นอกจากนี้ วันที่ 22 มกราคมนี้ ที่ สปป.ลาว จะมีการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ซึ่งเป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวงพาณิชย์ของอาเซียน จะหารือเกี่ยวกับการนำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ของ AEC 2025 ไปสู่การปฏิบัติ โดยจะรับทราบแผนการดำเนินงานของแต่ละสาขาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เพื่อผลักดันให้การดำเนินการตามแผนประสบความสำเร็จ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มกราคม 2559

เงินบาทแข็งค่า รับแรงหนุนจากส่งออกนำเข้าจีนดีเกินคาด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 มกราคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (22/12) ที่ระดับ 36.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากภาพรวมของตลาดที่มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น หลังจากเมื่อวานนี้ (12/1) ธนาคารกลางจีนได้เข้าแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อสร้างเสถียรภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเงินของจีน และค่าเงินหยวน นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนได้อนุญาตให้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศกลุ่มที่ 2 จำนวน 6 แห่ง สามารถทำธุรกรรมในตลาดปริวรรตเงินตราของจีนได้ นอกจากนี้สำนักศุลกากรของจีน (GAC) ได้เปิดเผยยอดการส่งออกในเดือนธันวาคม โดยปรับตัวลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าระดับคาดการณ์ไว้ที่ลดลง 8.0% และยอดการนำเข้าในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าระดับคาดการณ์ไว้ที่ลดลง 11.5% ทั้งนี้ยอดดุลการค้าของจีนในเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า โดยข้อมูลทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย และปัจจัยดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 36.22-36.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 36.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

 สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.0821/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (12/1) ที่ระดับ 1.0856/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของฝรั่งเศสในเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 0.1% นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางยุโรป นายโจเซฟ นอนนิรี ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.808-1.0/62 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.0815/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 118.13/118.14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (22/12) ที่ระดับ 117.70/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าเนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากจีนได้เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินหยวน นอกจากนี้ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมที่มีการเปิดเผยวานนี้ (12/1) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.7 ซึ่งสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.6 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 117.61-118.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 118.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่ต้องจับตาดูคืนนี้ ได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ (14/1), ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของประเทศญี่ปุ่น (14/1) ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศญี่ปุ่น (14/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.25/3.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +8/+10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 มกราคม 2559

ชง15 จ.ตั้งนิคมฯกำจัดกาก รองรับอุตสาหกรรม6ภูมิภาค

กรมโรงงานฯ เตรียมรายงานยุทธศาสตร์กำจัดกากอุตสาหกรรม ให้ครม.ทราบภายในม.ค.นี้ หลังศึกษาพื้นที่ตั้งนิคมฯทั้ง 6 แห่ง แล้วเสร็จ พบพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค มีความเหมาะสม ส่งเรื่องให้ กนอ.เร่งดำเนินงาน ขณะที่เตาเผาร่วมทุนกับญี่ปุ่น 1.8 พันล้านบาท คาดคัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยได้กลางม.ค.นี้

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่กรมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี (2558-2562) โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่อันตรายในอนาคต 20 ปีข้างหน้านั้น ทางกรอ.จึงได้ทำการศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และขณะนี้ได้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าภายในเดือนมกราคมนี้

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากจะอยู่ใน 15 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ จะอยู่ในจังหวัดลำพูน และลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น ภาคตะวันตก อยู่ในจังหวัดราชบุรี ตาก และกาญจนบุรี ภาคกลางอยู่ในจังหวัดสระบุรีและสมุทรสาคร ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว และภาคใต้อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลา

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณกากอุตสาหกรรมประมาณ 37.42 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นกากอันตราย 2.84 ล้านตันต่อปี และกากไม่อันตราย 34.57 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีกากอันตรายที่เข้าสู่ระบบการกำจัดกากแล้วประมาณ 1.3 ล้านตัน ส่วนกากไม่อันตรายเขาสู่ระบบประมาณ 25.75 ล้านตันต่อปี ซึ่งการจัดตั้งนิคมฯกำลังกากขึ้นมา เพื่อเป็นการรองรับปริมาณกากที่จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

 “สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ตั้งนิคม ทั้ง 6 แห่งนี้ ได้มีการพิจารณาจากพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเพียงพอที่จะคุ้มในการลงทุนกำจัดกาก และอยู่ในระยะทางที่ไม่ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งไม่แพงจนเกินไป ขณะที่การลงทุนจัดตั้งนิคมนั้น ได้ส่งผลการศึกษาไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อไปจัดทำหลักเกณฑ์ในการเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจให้เข้ามาลงทุน และการจัดหาสถานที่ตั้งนิคมแล้ว โดยนิคมที่จัดตั้งนั้นจะเป็นลักษณะแบบครบวงจร ทั้งการกำจัดกา โรงงานรีไซเคิล รวมไปถึงการนำกากของเสียมาผลิตไฟฟ้า เป็นต้น”

นายพสุ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้า เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเตาเผาขยะร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) มูลค่าการลงทุน 1.8 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าและเหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากมีความพร้อมและอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบ ที่จะใช้กากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวัน และขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนที่จะมาเข้าร่วมโครงการประมาณ 9 ราย ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น คาดว่าจะทราบผลประมาณกลางเดือนมกราคมนี้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า ในการจัดตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง นั้นทางกนอ.อยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะจัดทำแผนหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งนิคมฯขึ้นมา โดยเฉพาะการจัดหาพื้นที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของการตั้งนิคมฯ กำจัดกากในส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ทาง กนอ.ก็ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู)กับทางบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด(มหาชน) หรือ BWGซึ่งดำเนินธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อศึกษาและพัฒนานิคมฯกำจัดกากแล้ว โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาในการไปรวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ และศึกษาถึงความเป็นไปได้แล้ว

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 13 มกราคม 2559

กระทรวงเกษตรฯ ชี้คืบหน้า 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เดินหน้าเบิกจ่ายงบเร่งช่วยเหลือเกษตรกรผ่านวิกฤติภัยแล้งอย่างยั่งยืน

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุ มคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า การประชุมในวันนี้เน้นการติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ ประสบปัญหาภัยแล้งใน 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้ง 8 มาตรการ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้ มาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกร 385,958 ราย โดยขณะนี้ได้โอนเงินงบประมาณสู่ จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ส่วนบางจังหวัดที่ยังติดขัดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ด้านมาตรการลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจัดงานธงฟ้าช่วยเหลือภัยแล้งไปแล้ ว 164 ครั้ง ใน 21 จังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรั บจากประชาชนเป็นอย่างดี และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่ องให้ได้ตามเป้าหมาย 400 ครั้งต่อไปมาตรการที่ 2 การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่ เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสถาบั นการเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่ อเกษตรกรแล้ว 61,359  ราย วงเงิน 1,200 ล้านบาท ส่วนธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่ อให้แก่เกษตรกรแล้ว 7,210 ราย วงเงิน 6,396 ล้านบาท

มาตรการที่ 3 การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมื อไปแล้วกว่า 3.2 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 46 จังหวัด เบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 18 ล้านบาท มาตรการที่ 4การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุ มชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาค่อนข้างนานเนื่องจากมีรายละเอียดของโครงการค่อนข้างมาก โดยแยกเป็น 2 ระยะ คือ 1) การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขณะนี้ได้อนุมัติ โครงการและดำเนินการไปแล้ว 155 โครงการ วงเงิน 151 ล้านบาท 2) โครงการด้านการเกษตรอื่ นและนอกภาคการเกษตร มีการเสนอโครงการเข้ามา 7,419 โครงการ ได้รับการพิจารณาจากคณะอนุ กรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ในชั้นแรกอนุมัติเพียง 1,853 โครงการ วงเงิน 1,213 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,566 โครงการนั้น ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากผิดเงื่อนไข เอกสารไม่ครบ ไม่แสดงความเชื่อมโยงผลผลิตกับการตลาด ไม่มีรูปแบบการบริหารจัดการผลผลิตและรายได้ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้อนุมัติหลักการว่า เนื่องจากเป็นปัญหาเล็กน้อยจึงขอส่งเอกสารกลับไปปรับแก้หรื อเพิ่มเติมเอกสารให้ครบถ้วน จะขยายเวลาจนถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้ และเมื่อโครงการผ่านการพิจารณาแล้ว จะเสนอเข้าครม. ตามโครงการที่ผ่านการพิจารณาก่อนหน้านี้ต่อไป

ด้านการให้ความช่วยเหลือตามประกาศภัยพิบัตินั้น ที่ยังไม่มีการประกาศดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับวิธี การบริหารจัดการโดยให้ใช้เงินทดรองราชการเข้าไปดูแลในเชิงยับยั้งป้องกันการเกิดภัยพิบัติ และดูแลด้านมาตรการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และหากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงที่ จะเกิดปัญหาจะเข้าไปบริหารจัดการทันที

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 มกราคม 2559

พบวิธีผลิตเอทิลไบโอดีเซล โดยไม่ใช้ความร้อนรายแรกของโลก 

         นักวิจัย มจธ.คิดวิธีผลิตเอทิลไบโอดีเซลจากพืชแบบประหยัดพลังงานโดยไม่ใช้ความร้อนรายแรกของโลก แก้ปัญหาเอทานอลล้นตลาด พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรและโรงงานผู้ผลิตเพิ่มมูลค่ากลีเซอรอลและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

                รศ.ดร.คณิต กฤษณังกูร นักวิจัยคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการ “การผลิตเอทิลไบโอดีเซลแบบต่อเนื่องโดยไม่ใช่ความร้อนและกลีเซอรอลบริสุทธิ์” เปิดเผยว่า โครงการวิจัยดังกล่าวประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์พลังงานทดแทน จากสำนักนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน

                การนำเอทานอล (แอลกอฮอล์ชนิดที่ได้จากพืช) มาใช้ผลิตเอทิลไบโอดีเซล กำลังจะเป็นทางออกที่ดีที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปอีกขั้นในการคิดค้นเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรวมถึงภาคอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล (เชื้อเพลิงที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน) เพื่อทดแทนน้ำมันเบนซินหรือแก๊สโซลีน และน้ำมันดีเซล ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากกระบวนการทางปิโตรเลียม/ ปิโตรเคมี

 พบวิธีผลิตเอทิลไบโอดีเซล โดยไม่ใช้ความร้อนรายแรกของโลก  

รศ.ดร.คณิต กฤษณังกูร

         ในขณะที่เมทานอล (ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี) มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับเอทานอลที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองและเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ซึ่งหากมีการขยายการใช้ไบโอดีเซล จากบี 5 เป็นบี 7 หรือบี 10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซล 5, 7 และ 10% ตามลำดับ) ปริมาณความต้องการไบโอดีเซลก็จะสูงขึ้น การเติบโตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมก็จะโตตาม ทำให้คาดคะเนได้ไม่ยากว่าในอนาคตเอทิลไบโอดีเซลจะเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต

                “เราจึงคิดที่จะนำเอาเอทานอล ซึ่งล้นตลาดอยู่ ณ ขณะนี้มาศึกษาวิจัย ถึงความเป็นไปได้ในการผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนกระทั่งออกมาเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมไปด้วยพร้อมๆ กัน”

                ทีมวิจัยมีความเข้าใจเรื่องความไม่เข้ากันของเมทานอลและน้ำมันมายาวนาน พบความโดดเด่นของปฏิกิริยาที่ใช้เอทานอลจากห้องปฏิบัติการว่าแม้ไม่ต้องใช้ความร้อนเลยก็อาจจะผลิตเอทิลไบโอดีเซลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ลดการใช้พลังงานได้

                “ก่อนหน้านี้ เราพบว่าเมทานอลกับน้ำมันจะมีความไม่เข้ากันอยู่มาก ซึ่งพอไม่เข้ากันปฏิกิริยาก็จะเกิดช้า เราจึงคิดที่จะหาตัวที่จะไปกระทำให้เกิดความเข้ากันเพื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ เรายังเคยใช้ไมโครเวฟเป็นตัวส่งความร้อนให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นตามที่เราคาดคะเน ก็ได้ผลเช่นกัน แต่ยิ่งเราทำไปๆ ก็ค้นพบว่าการไม่ใช้ความร้อนเลยก็อาจจะทำได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการเขียนโครงการนี้ขึ้น และของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ใช้เวลาในการวิจัยประมาณ 1 ปีก็ทำสำเร็จ”

                รศ.ดร.คณิต กล่าวว่า การใช้น้ำมันพืชทำปฏิกิริยากับเอทานอลโดยมีด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เรียกว่า ปฏิกิริยาทรานส์เอทิเลชัน (Transethylation) ผลจากการทดลองพบว่าการผลิตไบโอดีเซลจากปฏิกิริยาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที ในสภาวะอุณหภูมิห้องหากมีการสัมผัสระหว่างน้ำมัน แอลกอฮอล์และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดี นอกจากนี้ ยังได้ประดิษฐ์ micro-reactor สำหรับปฏิกิริยา Transethylation ปฏิกิริยาจะสมบูรณ์ภายในเวลา 45 วินาที ที่อุณหภูมิห้อง เนื่องจากปฏิกรณ์นี้ออกแบบมาให้มีการสัมผัสระหว่างน้ำมัน แอลกอฮอล์และตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดได้ดี

                สำหรับเอทิลไบโอดีเซลที่ได้ พบว่ามีค่าซีเทน (Cetane Number) ตามมาตรฐานของยุโรปบ่งบอกถึงคุณภาพของการจุดระเบิดของเชื้อเพลิงที่ดี การเผาไหม้ดีกว่าจึงปลดปล่อย CO2 ได้ลดลง นอกจากนี้ ยังได้กลีเซอรีนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by-product) ที่ใสและบริสุทธิ์กว่าที่ได้จากกระบวนการผลิตเมทิลไบโอดีเซล สามารถนำกลีเซอรีนไปฟอกสีและทำสบู่ได้ดีกว่า นับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทยในอนาคต ที่นอกจากจะได้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ใช้วัตถุดิบที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้า ส่งเสริมภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างโรงงานผู้ผลิตเอทานอล และโรงหมักต่างๆ ได้จริง       

        ทั้งนี้ รศ.ดร.คณิต กฤษณังกูร เป็นผู้วิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยเชื้อเพลิงพลังงานมากว่ายี่สิบห้าปี และก่อนหน้านี้ยังได้คิดค้นปฏิกรณ์แบบต่อเนื่องซึ่งต้องใช้ความร้อนและตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent) เพื่อเตรียมเมทิลไบโอดีเซล ได้เป็นรายแรกๆ ของโลก

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 13 มกราคม 2559

น้ำตาลขอนแก่นรอเงกใบอนุญาตตั้งรง.สระแก้ว

โรงงานน้ำตาลขอนแก่นชะงัก ยังเดินหน้าสร้างโรงงานที่จังหวัดสระแก้วไม่ได้ เหตุกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ออกใบอนุญาต หลังปลดล็อกคำสั่งศาลครบ 90 วันแล้ว ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร-ฮาลาลพาร์คในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดสระแก้วว่าตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว กับพวกรวม 735 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด รวม 3 คน ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน.ที่ อก.0601/862 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2550 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ที่กำหนดให้โรงงานที่ตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งโรงงานที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร

รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ในการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจาก อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558

นายฐิติวรรธน์  ยิบยินธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สระแก้ว) บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาแล้วให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายภายใน 90 วัน โดยครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2559 แต่ก็ยังไม่มีหนังสืออนุญาตหรือท่าที่ใดๆ จากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่ง KSL  ได้เรียกประชุมด่วนผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเพื่อหาทางออกเรื่องนี้

แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่สระแก้วได้แต่บริษัท KSL ก็ได้เตรียมการมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 10 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมภาคเกษตรหรือชาวไร่อ้อยให้เข็มแข็ง โดยการลงมาให้ความรู้เรื่องวิธีการปลูกอ้อยอินทรีย์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ปุ๋ย การดูแลดินโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางดำเนินงาน เพราะอ้อยเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้ง แต่ในระหว่างนั้นเกษตรกรจะต้องมีรายได้อื่นเพื่อเลี้ยงชีพด้วย ในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วได้มีโครงการสระแก้วเมืองแห่งความสุข ภายใต้ 4 ดีวิถีพอเพียง (คนดี สุขภาพดี รายได้ดี สิ่งแวดล้อมดี) ทางบริษัทจึงเสนอตัวเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพื่อพยายามเสนอแนวทางเกษตรอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรที่ดำเนินมานานให้เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรสระแก้วภายใต้หลักคิด “อยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างมีความสุข โรงงานก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

นายฐิติวรรธน์  กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมว่า KSL มีพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ อยู่ที่หมู่ 4 ตำบลผักขะ  อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล ซึ่งบริษัทได้เสนอโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร และ Halal Park ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มูลค่าการลงทุนประมาณ 15,000-30,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้สร้างโรงงาน

โดยในเฟสแรกระยะเวลา 2 ปีจะสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าเฟสต่อไปจะสร้างโรงงานเอทานอล   โรงงานปุ๋ย  และโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ใช้สินค้าของ KSL เป็นวัตถุดิบ  ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีพันธมิตรมาร่วมในเขตประกอบการไม่ต่ำกว่า 10 โรง โดยจะเน้นโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อผลิตอาหารฮาลาล ในเบื้องต้นได้ประสานงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คำปรึกษาทางวิชาการและตรวจรับรองสู่ HOW Q Standard ด้วย

จาก ประชาชาติ วันที่ 13 มกราคม 2559

น้ำตาลยันหยวนอ่อนไม่สะเทือน จีนต้องนำเข้าผลิตในประเทศลดลงแต่การบริโภคยังขาด   

          หยวนอ่อนค่าไม่สะเทือนน้ำตาลส่งออก  ชี้จีนมีน้ำตาลไม่พอต่อการบริโภคภายในประเทศ  ขณะที่ปีนี้คาดผลผลิตน้ำตาลในจีนจะหายไป1-1.5 ล้านตัน หลังเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นแทนอ้อยมากขึ้น ส่วนราคาน้ำตาลทรายดิบยังไต่ระดับสูงขึ้นแบบช้าๆ เพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกอยู่อีกจำนวนมาก

          นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินหยวน ไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลส่งออก เนื่องจากขณะนี้จีนต้องการนำเข้าน้ำตาลจำนวนมาก เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลในจีนมีน้อยลง ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง จากที่ผลิตภายในประเทศได้ 10.5 ล้านตัน ปีนี้จะหายไปราว 1-1.5 ล้านตัน จากที่ก่อนหน้านี้จีนเคยมีกำลังผลิตในประเทศมากถึง 14-15 ล้านตัน ใกล้เคียงกับที่จีนมีการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศมากถึง 15 ล้านตัน จึงคาดว่าปีนี้จีนจะเพิ่มการนำเข้าน้ำตาลจากไทยมากขึ้นหรือไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่นำเข้าประมาณ 8-9 แสนตันต่อปี เพราะอยู่ในแหล่งผลิตที่ใกล้จีนที่สุดทำให้สะดวกต่อการขนส่งด้วยต้นทุนต่ำ

          อย่างไรก็ตามคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวโดยรวมในประเทศ ที่จะส่งมอบไตรมาสแรกปี 2559 มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้วมากกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 4 ล้านตัน(ตามปกติส่งออกน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตันต่อปี) เป็นการขานรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากที่น้ำตาลทรายดิบราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก็ขยับขึ้นมาเหนือระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้วในขณะนี้ เช่นเดียวกับน้ำตาลทรายขาวราคาขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จากที่ราคาเคยลงไปอยู่ที่ราว 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน สะท้อนให้เห็นว่าอ้อยเป็นพืชตัวเดียวที่ราคายังปรับตัวดีขึ้น

          สอดคล้องกับที่นายโสภณ ถิระบัญชาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามบริท จำกัด ผู้ค้าน้ำตาลส่งออก กล่าวว่า หยวนอ่อนค่าไม่มีผลต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลที่ไทยส่งออกไปจีน เพราะจีนขาดแคลนน้ำตาล และปี 2559 จีนหันไปปลูกพืชอื่นๆ แทนอ้อยมากขึ้นทำให้กำลังผลิตภายในประเทศลดลง ส่วนการนำเข้าน้ำตาลจากจีนในแต่ละปีตัวเลขการนำเข้าจะไม่นิ่ง ขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ เป็นปัจจัยประกอบด้วย

          แหล่งข่าวจากผู้ผลิตน้ำตาลกล่าวว่าฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2558/2559 จะเป็นปีที่น่าห่วงเพราะต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลก หากไม่มีน้ำ ก็ไม่สามารถปลูกอ้อยได้ สำหรับการผลิตอ้อยในประเทศคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยรวมกันทั้งสิ้น 101 ล้านตันอ้อย ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 106 ล้านตันอ้อย  จากเดิมที่มีปริมาณอ้อย 106 ล้านตันอ้อย สามารถผลิตน้ำตาลได้ราว 11.33 ล้านตันน้ำตาล ปี 2558/2559 ผลิตอ้อยได้ 101 ล้านตันอ้อย จะผลิตน้ำตาลได้ราว 10 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะส่งออกน้ำตาลได้ราว 7-7.5 ล้านตัน และใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศราว 2.5 ล้านตัน

          ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC  กล่าวว่า ถ้าค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินหยวนอ่อนค่าเหมือนกัน ไม่ต่างกันมากก็ไม่กระทบต่อน้ำตาลส่งออกไปจีน และสินค้าที่ส่งออกจะขึ้นอยู่ที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกและคุณภาพน้ำตาล รวมถึงค่าขนส่งที่ขณะนี้ต้นทุนถูกลงตามราคาน้ำมัน

          อย่างไรก็ตามปี 2559 จะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกของราคาน้ำตาลที่ขณะนี้เริ่มขยับขึ้นไปอยู่ที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ โดยราคาขึ้นอยู่กับซัพพลายน้ำตาลของโลก ซึ่งในปี 2559 ปริมาณน้ำตาลโลกที่ออกมา ซัพพลายในตลาดน้อยกว่าการบริโภคของโลก ยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบค่อยๆ ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์

          "ความจริงแล้วราคาน้ำตาลทรายดิบควรจะไต่ระดับขึ้นไปที่ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่เป็นเพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกอยู่มาก โดยข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศหรือไอเอสโอ ระบุว่ามีน้ำตาลในสต๊อกถึง 81 ล้านตันน้ำตาล ทำให้ราคาน้ำตาลยังขยับตัวสูงขึ้นยังไม่มากเท่าที่ควร

          นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (Global Sugar Alliance: GSA) ประจำปี 2558 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่โลก (คิดเป็นสัดส่วน 85% ของการส่งออก น้ำตาลจากอ้อยในตลาดโลก) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บราซิล ไทย อินเดีย ชิลี กัวเตมาลา โคลอมเบีย และแอฟริกาใต้ ได้แสดงความกังวลต่อการประกาศอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมา และไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลกมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงร้องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบมาตรการอุดหนุนของอินเดีย และพิจารณาดำเนินการยื่นข้อเรียกร้องต่อ WTO เนื่องจากขัดต่อหลักปฏิบัติภายใต้ WTO อย่างชัดเจน

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 13 มกราคม 2559

ภัยแล้งวิกฤติหนักสุดทำเกษตรกรอ่วม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พร้อมลงพื้นที่

 ตรวจเยี่ยมการช่วยเหลือเกษตรกรปลูกพืชทดแทนของกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก โดยมีคณะผู้บริหารกทม. ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้อำนวยการเขตกลุ่มกรุงเทพตะวันออก 9 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ที่สำนักงานเขตคลองสามวา โดยผู้ว่าฯ กทม.ได้ย้ำการบูรณาการร่วมหน่วยงานภายนอกสนับสนุนการเกษตรใช้น้ำน้อยไร้สารเคมีเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต พัฒนาพื้นที่เกษตรกรุงเทพฯเป็นตัวอย่าง ภาคเกษตรกรรมของประเทศ

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้แจ้งสถานการณ์น้ำในเขื่อน ซึ่งมีปริมาณน้อยสามารถใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมทั้งรักษาระบบนิเวศน์ได้ แต่ไม่สนับสนุนให้มีการทำการเกษตร โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล ร้อยละ 37 เขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ 50 เขื่อนแควน้อย

 ร้อยละ 42 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ร้อยละ 55 ขณะที่สำนักการระบายน้ำ รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำน้อยได้เตรียมแผนแก้ปัญหาระยะสั้น โดยการผลักดันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนเข้าสู่คลองต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำใช้บรรเทาช่วงหน้าแล้ง ส่วนระยะยาวคาดว่าจะไม่เพียงพอและไม่สามารถผลักดันน้ำได้ จึงได้กำหนดพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมอีก 10 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 25 แห่ง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.มีมาตรการป้องกัน บรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งมาต่อเนื่อง ในปีนี้แล้งหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากปริมาณน้ำในเขื่อนและระดับน้ำในคลองพื้นที่กรุงเทพฯ มีน้ำน้อยมากใกล้จุดวิกฤติ ต้องให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพขึ้น มีระบบการผลิตที่ใช้น้ำน้อย โดยต้องบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภายนอกสนับสนุนให้ความรู้เกษตรกรปรับวิถีการผลิตทำเกษตรกรรมใช้น้ำน้อยและมีคุณภาพสูงขึ้น เป็นหน้าที่ภาครัฐถือเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ

โดยจะหารือผู้ใหญ่ในรัฐบาลถึงแนวทางทำงานร่วมกัน ทำพื้นที่เกษตรกรรม 198,000 ไร่ ของกรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งต้องตกลงความร่วมมืออย่างเป็นระบบจริงจังให้ดำเนินการได้อย่างยั่งยืน แม้เปลี่ยนผู้บริหาร เกษตรกรก็ยังสามารถทำการเกษตรอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็ได้แก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว จัดหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนและสำรองน้ำใช้ในช่วงภัยแล้ง ซึ่งต้องพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมว่าจะใช้วิธีเช่าซื้อหรือเวนคืนที่ดิน

นายหัสฎิณ ปิ่นประชาสรร ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา ในฐานะหัวหน้ากลุ่มเขตตะวันออก กล่าวว่า พื้นที่กลุ่มกรุงเทพฯตะวันออก 9 เขต ประกอบด้วย หนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สะพานสูง บางกะปิ คันนายาว ประเวศ และบึงกุ่ม มีพื้นที่การเกษตร 128,862 ไร่ 8,286 ครัวเรือน คาดว่าจะประสบภัยแล้ง 59,390 ไร่ และเกษตรกรที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง 3,869 ครัวเรือน ทั้งนี้ได้ตั้งศูนย์ป้องกันปัญหาภัยแล้งในพื้นที่โดยจัดเตรียมน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค อุปกรณ์ส่งเสริมการใช้พืชน้ำน้อย ทำแนวกันไฟ เพิ่มเป็น 117 จุด จากเดิม 105 จุดโดยเฉพาะพื้นที่ใกล้บ้านเรือนประชาชน ส่วนกรมประมง ได้เตรียมพันธุ์ปลากบ มาแจกจ่ายให้ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงปลากระชังทดแทนในหน้าแล้ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 มกราคม 2559

กรมชลฯรายงานไทยร่วมประหยัดลดเสี่ยงขาดน้ำ

กรมชลฯ ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมใจกันใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ หลังน้ำในเขื่อนใหญ่ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ประจำวันที่ (12 ม.ค.59) มีปริมาณน้ำรวมกันเพียง 39,123 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 15,620 ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาคเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 69 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,868 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,666 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 374 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อยเช่นกัน อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24 เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 716 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 874 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 38 เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 66 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55

ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 485 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งเพียงพอใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในแต่ละลุ่มน้ำเท่านั้น จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการดำรงชีพของประชากรด้านท้ายเขื่อนอย่างไม่ขาดแคลน ตลอดในช่วงฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย

 จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 13 มกราคม 2559

กฟผ.อีสาน วอนงดเผาไร่อ้อย ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง

กฟผ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วอนชาวไร่อ้อยงดเผาไร่อ้อยบริเวณใกล้กับเสาไฟฟ้าแรงสูง แนะเปลี่ยนวิธีเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคนแทน เนื่องจากส่งผลต่อระบบสายส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดความเสียหายบ่อยครั้ง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท...

วันที่ 12 ม.ค. 59 นายเทวัญ ตันทนะเทวินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยถึงการเผาไร่อ้อยส่งผลกระทบต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้า ว่า ในระยะนี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มี.ค. เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะประเภทอ้อยในพื้นที่ภาคอีสาน ตามช่วงฤดูกาลของการเปิดหีบอ้อย ฤดูกาลเก็บเกี่ยว 2558/2559 ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ของภาคอีสาน จัดอยู่ในกลุ่มประเภทไร่อ้อยอย่างมาก ทำให้การไฟฟ้ายังคงต้องขอความร่วมมือจากชาวไร่อ้อย เปลี่ยนวิธีเก็บเกี่ยวผลผลิตจากเดิมที่ใช้วิธีเผาไร่อ้อย มาเป็นเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนแทน โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณไร่อ้อยที่ตั้งอยู่ในเขตการเดินสายไฟฟ้าแรงสูง จะส่งผลต่อระบบสายส่งไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากการเผาไร่อ้อย จนส่งผลกระทบต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าและการควบคุมกระแสไฟฟ้าในวงกว้าง

ในแต่ละปีจะประสบปัญหาที่กลุ่มเกษตรกรเผาไร่อ้อยและทำลายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงมากถึงปีละไม่น้อยกว่า 7-8 ครั้ง แต่ยอมรับว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย เป็นสิ่งที่กลุ่มเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในด้านนี้อย่างมาก อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ที่รับจ้างตัดอ้อย มักจะไม่ยอมเข้าไปตัดในไร่อ้อยที่มีใบหนาทึบ เนื่องจากมีความลำบากในการตัดและระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เจ้าของไร่อ้อยต้องทำการเผาไร่อ้อยก่อนเพื่อความสะดวกในการหาคนงาน ซึ่งได้ส่งผลเสียต่อระบบสายส่งของการไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างติดต่อกันหลายจังหวัด สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ หากเจ้าของไร่อ้อยที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตสายส่งไฟฟ้า ก็จะส่งผลต่อความเสียหายอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าเปลวไฟจะไม่ลุกลามหรือมีความสูงไปจนถึงสายไฟด้านบน แต่ควันไฟที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยจะมีเขม่า มีผงคาร์บอนทำให้สายตัวนำเกิดลัดวงจรเข้าหากัน ทำให้สายไฟฟ้าชำรุดหรือเกิดการช็อตขึ้น รวมไปถึงไอความร้อนของเพลิงที่ลุกไหม้ ที่จะส่งผลต่อความเสียหายทั้งในส่วนของสายไฟและสถานที่ตั้งของเสาไฟได้ง่ายอีกด้วย ทั้งนี้สายส่งกระแสไฟฟ้าดังกล่าวนั้นเป็นสายยาวต่อเนื่องกันจากจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่ง เมื่อเกิดไฟดับจึงมีบริเวณกว้างครอบคลุมหลายจังหวัด

นายเทวัญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมาแล้วที่จ.หนองคาย จนเป็นเหตุให้มีไฟฟ้าดับบริเวณภาคอีสานตอนบน 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย เลย และหนองบัวลำภู ส่งผลให้มีไฟฟ้าดับในพื้นที่ฝั่ง สปป.ลาว ปริมาณไฟฟ้าดับ 577.6 MW รวมมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 5,444,100 บาท อย่างไรก็ตามในช่วงของฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตนี้ กฟผ. ใคร่ขอความร่วมมือจากชาวไร่อ้อย เจ้าของโควตาไร่อ้อย งดเว้นการเผาไร้อ้อย โดยเฉพาะบริเวณแนวเขต เดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมทั้งการขอความร่วมมือกับเจ้าของกิจการโรงงานน้ำตาล ให้มีมาตรการเข้มงวดหรืองดเว้นการรับซื้ออ้อยเผา ซึ่งจะถือเป็นการป้องกันปัญหาได้อย่างถาวรอีกด้วย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 13 มกราคม 2559

เร่ง4โครงการฝ่าเศรษฐกิจโลก

"สมคิด" เร่งดัน 4 โครงการ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกปี 2559 เน้นเติบโตจากภายใน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจการบ้านติดตามความคืบหน้าการทำงานของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนของฝ่ายเศรษฐกิจนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีปัญหา โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจให้เติบโตจากภายใน ด้วยการขับเคลื่อน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การส่งเสริมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น การส่งเสริมให้เกิด 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการท่องเที่ยวในท้องถิ่นและสร้างตลาดกลางค้าขายสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ ส่วนแรกการสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบทเช่น การสร้างลานตากผลผลิตทางการเกษตร และการทำยุ้งฉาง รัฐบาลจะใช้การขับเคลื่อนแบบประชารัฐ ให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับ ผิดชอบไปเร่งดำเนินการ ส่วนที่ 2 การดำเนินการสร้าง 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี มุ่งส่งเสริมสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ (เทค สตาร์ทอัพ)

สำหรับงานส่วนที่ 3 คือ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการพิจารณาสิทธิประโยชน์จูงใจให้เกิดการลงทุน ส่วนสุดท้ายเป็นการสร้างตลาดกลางค้าขายสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรในพื้นที่สามารถนำผลผลิตมาจำหน่าย

 "รัฐบาลจะสร้างการตื่นตัวครั้งใหญ่ ด้วยการจับมือทุกฝ่ายทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตร ดิจิทัล เทคโนโลยี และธุรกิจบริการ มาร่วมกันคิดและสร้างเจ้าของธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมตั้งแต่ระดับเล็กกลาง ใหญ่ ช่วยให้ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นทางเลือกใหม่ของตลาด" พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดตั้ง เนชั่นแนล สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์ เชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรมที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวงและจดทะเบียนสตาร์ทอัพทั้งหมด เพื่อสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั้งจากธนาคารของรัฐและเอกชน รวมถึงมีกองทุนร่วมลงทุนให้เกิดความเข้มแข็ง

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 13 มกราคม 2559

อาเซียนเร่งเดินหน้าสานต่อความร่วมมือเตรียมจัดประชุมที่ สปป.ลาว

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 1/47 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2559 และการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องในวันที่ 22 มกราคม 2559 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

 อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ สมาชิกอาเซียนจะรับทราบประเด็นที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ในปีนี้จะเน้นความสำคัญการกำหนดการประชุมต่างๆ ในปี 2559 การรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการคงค้างตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2015) พร้อมทั้งหารือความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan: SAP) และการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025)

นางสาวศิรินารถ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการค้าและการลงทุนร่วมอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2015-2016 แนวทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ชะงักงันมาหลายปี ตลอดจนการหารือประเด็นเกี่ยวกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับฮ่องกง อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น ในส่วนของการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจ (CoW) สมัยพิเศษ ในวันที่ 21 มกราคม 2559 เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของการดำเนินการล่าสุด และการดำเนินการภายหลังปี 2558 ของคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ รวม 15 คณะ เช่น ความร่วมมือด้านมาตรฐาน การเงินการคลัง ศุลกากร SME พลังงาน การขนส่ง โทรคมนาคม ฯลฯ และหารือปัญหาอุปสรรค รวมทั้งประเด็นคาบเกี่ยว (Cross Cutting Issues) ของความร่วมมือด้านต่างๆ

นางสาวศิรินารถ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2559 เป็นการประชุมในระดับปลัดกระทรวงพาณิชย์ของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมฯ จะหารือเกี่ยวกับการนำ AEC 2025 Strategic Action Plan ไปสู่การปฏิบัติ โดยจะรับทราบแผนการดำเนินการของแต่ละองค์กรรายสาขา (AEC Sectoral Bodies) และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกัน พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านองค์กรเพื่อดำเนินการตาม AEC 2025 Strategic Action Plan การจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีนอกภูมิภาคและวาระต่างๆ ภายหลังปี 2558

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2559

เร่งอนุมัติ1.2พันล.ช่วยเกษตรกร 'บิ๊กฉัตร'ปัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังกาประชุมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ล่าสุดได้สรุปตัวเลขการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยช่วยเหลือไปทั้งหมดจำนวน 385,958 ราย และบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าปลายเดือน ม.ค.นี้ จะแล้วเสร็จ

ด้านกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดจำหน่ายสินค้าธงฟ้าไปแล้ว 164 ครั้ง ขณะที่มาตรการชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 613,593 ราย วงเงิน 1.2 พันล้านบาท ธนาคารออมสิน มีการพักชำระหนี้ 7,210 ราย วงเงิน 6.3 พันล้านบาท ขณะที่มาตรการจ้างงาน กรมชลประทาน มีการจ้างงานไปแล้ว 3.2 ล้านคน ขณะเดียวกันได้จัดฝึกอบรมการฝึกอาชีพเกษตรกรไปแล้ว 46 จังหวัด มีการเบิกบ่ายค่าอบรม ค่าเดินทาง ให้กับเกษตรกร 18 ล้านบาท

ในส่วนของมาตรการที่ 4 เกษตรกรในชุมชนมีการขออนุมัติโครงการไปแล้ว เช่น โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 155 โครงการ งบประมาณ 151 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย จำนวน 7,419 โครงการ จากพื้นที่ 61 จังหวัด แต่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองเพียงแค่ 1,853 โครงการ ผ่านขั้นตอนเอกสารอนุมัติงบประมาณเพียง 188 โครงการ เป็นเงินงบประมาณทั้งหมด 1,214 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะรีบนำเข้าขออนุมัติจาก ครม.ในสัปดาห์หน้า ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างส่งเอกสารที่ยังไม่ครบถ้วน ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลาส่งเอกสารไม่เกินสิ้นเดือนนี้ ส่วนโครงการที่ไม่ผ่านการอนุมัติ 5,566 โครงการ ให้จัดทำโครงการโดยละเอียดแล้วนำส่งเอกสารขึ้นมาใหม่

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติในพื้นที่ใดๆ และยืนยันว่าสถานการณ์น้ำยังปรกติ สามารถบริหารจัดการได้อย่างไม่ขาดแคลนแน่นอน แต่หากมีปัญหาก็ให้กรมชลประทาน เสนอมาที่คณะกรรมการบริการจัดการน้ำ เป็นกรณีพิเศษ ส่วนของพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา นั้น ยังมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้หารือกับการประปา ทั้งนครหลวงและภูมิภาค ยังไม่ได้รับรายงานว่าพื้นที่ใดขาดแคลนน้ำประปา จึงยังไม่มีแผนปรับเปลี่ยนการระบายน้ำแต่อย่างใด ยังใช้การระบายน้ำผ่านคลองต่างๆ ในอัตรา 30 % ตามเกณฑ์เดิม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

นายกฯสั่งทำแผนที่น้ำใหม่แก้แล้ง 

          เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ และรับทราบสถานการณ์น้ำล่าสุด โดยเฉพาะปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือใน 4 เขื่อนหลัก ทั้งนี้ในที่ประชุมได้หารือกันถึงข้อสรุปน้ำต้นทุน ซึ่งตนได้สอบถามถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำในเขื่อนหรือนอกเขื่อน โดยที่ประชุมได้จัดทำแผนที่น้ำใหม่ให้สมบูรณ์และสร้างความรับรู้ให้ได้มากขึ้น และต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และประชาชนที่ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ และต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการใช้น้ำอย่างประหยัด

          ด้าน นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงภายหลังการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์น้ำ และการเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จากจำนวน 928 อำเภอทั่วประเทศ มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 548 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 59 ตั้งแต่วันนี้-สิ้นเดือน พ.ค. จะมีการกำหนดมาตรการระบายน้ำ รวมถึงเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ส่วนระยะยาว สิ่งสำคัญคือการเติมน้ำในเขื่อน ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยผันน้ำจากทั้งในและต่างประเทศ ที่ประชุมอนุมัติในหลักการแล้ว จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงการต่างประเทศร่วมกันเพื่อหารือศึกษาในส่วนนี้ เพราะการใช้น้ำจากลุ่มน้ำโขงตอนล่างเกี่ยวข้องกับหลายประเทศทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชาและไทย ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมีการใช้น้ำในปริมาณที่มาก การประปานครหลวงใช้น้ำมากถึง 6 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แบ่งเป็นการใช้น้ำของส่วนราชการร้อยละ 19 อุตสาหกรรมร้อยละ 32 และครัวเรือนร้อยละ 49 จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ประหยัดน้ำด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2559

มั่นใจ‘แล้ง’ปีนี้รอดแน่ กรมชลชี้น้ำเหลือ2.9พันล.ช่วยผ่านวิกฤติ

เมื่อวันที่ 10 ม.ค.นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในขนาดใหญ่ 4 เขื่อนว่า ยังมีพอใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นช่วงเข้าฤดูฝนเต็มตัว โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 3.7 พันล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่กรมชลประทาน ได้วางไว้ให้กับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศผลักดันน้ำเค็ม เป็นภารกิจหลัก ได้จัดสรรไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งประมาณ 2.9 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยปล่อยระบายวันละ 17.60 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด

“ปริมาณน้ำปีนี้ใน 4 เขื่อนใหญ่ ยืนยันมีเพียงพอแน่นอนไปจนถึงก.ค.ซึ่งการจัดสรรน้ำต้องให้เป็นไปตามแผนคืออุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำทะเล และการเกษตร สำหรับพืชไร่พืชสวนเท่านั้น ซึ่งไม่มีน้ำเพียงพอให้กับพื้นที่ปลูกข้าวกรมได้ชี้แจงให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาต่อเนื่องแล้ว”

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าไปทุกจังหวัด ให้ขอความร่วมมืออบต.ทุกพื้นที่ ไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสถานีสูบน้ำทุกแห่ง 365 แห่งจะสูบน้ำเพื่อการปะปาเท่านั้น ทั้งนี้ได้ปิดระบบส่งน้ำเข้าคลองชลประทานทั้งหมดในลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง

จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีพื้นที่ได้ปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.7 ล้านไร่ นับว่าอัตราการเพิ่มต่อสัปดาห์น้อยลง เมื่อเทียบกับปี 2558 ในช่วงเดียวกันปลูกไปถึง 3.2 ล้านไร่ เป็นผลจากการชี้แจงว่าจะไม่ส่งน้ำให้ และชาวนา ได้เห็นปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ลดลงไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกปี

“การระบายน้ำจากเขื่อนมาตามลำคลองสายหลัก หากมีปัญหาลักสูบน้ำกลางทางหรือเกิดแย่งชิงน้ำกัน ต้องใช้มาตรการขอร้องกัน ซื่งเชื่อว่าทุกพื้นที่มีมาตรการควบคุมปัญหาได้ มั่นใจว่าเหตุการณ์จะดีกว่า ปี’58 เพราะปริมาณการปลูกข้าวน้อยลง ปี’58 ปลูกน้อยกว่าถึง 1.2 ล้านไร่ในเขตชลประทาน ซึ่งการบริหารน้ำปีนี้รอดแน่นอน แต่ช่วงข้าวตั้งท้อง อีกสองเดือนน่าห่วง รมว.เกษตรฯ

 ได้สั่งการให้กรมชลร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำเร่งขุดบ่อ บ่อน้ำบาดาล ให้เกษตรกรที่ร่วมกลุ่มกันมาร้องขอในหลายพื้นที่ประสบภัยแล้งใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว” นายสุเทพ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

จับตารัฐบาล ปฏิรูปภาคเกษตรฝ่าวิกฤตภัยแล้งคืนชีพเกษตรกร

          อาจเรียกได้ว่าฤดูกาลผลิตหรือฤดูเพาะปลูกข้าวปี 2558/2559 เจอสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุดและเกิดความโกลาหลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเจอปรากฏการณ์เอลนิโญ (ฝนแล้ง) หรือฝนตกล่าช้ากว่าปกติตั้งแต่ช่วงต้นฤดูของการเพาะปลูก ทำให้รัฐบาลถึงกับต้องออกประกาศลดการระบายน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อภาคการเกษตร พร้อมทั้งให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีชั่วคราว เพราะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อย เหลือใช้ได้เพียง 1,067 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือหากคิดเป็นวัน พบว่าน้ำในเขื่อนจะเหลือใช้ไม่ถึง 30 วัน ต่อมาเกิดสถานการณ์การแย่งน้ำของเกษตรกร ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

          อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอย่างหนักอยู่เกือบ 2 เดือน ในช่วงปลายกรกฎาคม 2558 ฝนเริ่มกลับมาตกอย่างสม่ำเสมอ จนส่งผลให้พอหมดช่วงฤดูฝน หรือเดือนพฤศจิกายน 2558 น้ำใน 4 เขื่อนหลักกลับมามีปริมาณเพิ่มขึ้นที่ 4,200 ล้าน ลบ.ม. แต่ปริมาณดังกล่าวยังอยู่ในความกังวลของหลายฝ่าย โดยเฉพาะเกษตรกร เนื่องจากในฤดูกาลผลิต 2557-2558 ช่วงหลังจบฤดูฝนนั้นพบว่าทั้ง 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าภายในปี 2559 นี้ ประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะภัยแล้งหนักหนาสาหัสอีกปี

          กรมชลฯลั่นปีหน้าน้ำต้องมีพอ

          ทั้งนี้ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่มีอยู่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือขนาดกลางยังเก็บได้ตามความต้องการพื้นฐานอยู่ ถึงแม้จะบอกว่าน้ำน้อยมากหรือต่ำกว่าปกติ 20-30% ก็ยังมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค (น้ำกินน้ำใช้) แต่เราต้องมีวินัยและต้องปฏิบัติตามแผนของกรมชลประทาน

          โดยขณะนี้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้ง หรือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 - ปลายเมษายน 2559 ไว้แล้ว โดยวางแผนจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศหรือผลักดันน้ำเค็มที่ 1,400 ล้าน ลบ.ม. แถมยังเตรียมน้ำเพื่อการเกษตรเอาไว้อีก 400 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วจะมีการใช้น้ำประมาณ 2,900 ล้าน ลบ.ม. และยังมีน้ำสำรองอย่างเพียงพอเพื่อใช้สำหรับเดือนพฤษภาคม-

กลางเดือนกรกฎาคม 2559 ไว้แล้ว

          ส่วนตัวมองว่าทำได้และยืนยันว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอ เพราะว่าภาพรวมในแต่ละวันตามแผนจะระบายน้ำในเขื่อนที่ 15.8 ล้าน ลบ.ม./วัน จาก 4 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่เราทำความตกลงไว้ตั้งแต่ต้น แต่ทุกแผนการระบายน้ำต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข โดยไม่เอาไปใช้นอกแผน ดังนั้นในเรื่องของการทำนาปรังที่เรารณรงค์กันอยู่ว่าไม่ให้เกษตรกรทำนาปรัง หรือสถานีท้องถิ่นจะสูบน้ำไปทำนาปรังไม่ได้ หากเกษตรกรปลูกจะต้องรับความเสี่ยงจากความเสียหายแทน มิฉะนั้นการปลูกข้าวนาปรังก็จะกระทบกับน้ำเพื่อไปรักษาระบบนิเวศแน่นอน ทำให้เกิดน้ำเค็ม มีผลต่อน้ำอุปโภคบริโภคตามมา

          "เรายังกันน้ำในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกปี 2559 ไว้อยู่ที่ประมาณ 1,350 ล้าน ลบ.ม. ถ้าเราระบายน้ำวันละ 16 ล้าน ลบ.ม. จะอยู่ได้ประมาณ 2 เดือนกว่าแน่นอน ถ้าไม่เอาไปใช้อย่างอื่น ห่วงอย่างเดียวคือคนของเราเอาไปใช้ผิดประโยชน์ นอกแผน โดยเฉพาะภาคการเกษตร คนจะกินน้ำทุกเวลาก็ไม่ใช่ จะล้างรถทุกชั่วโมงก็ไม่ใช่ และรัฐบาลก็รณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ให้ใช้เท่าที่จำเป็น 

จาก มติชน วันที่ 12 มกราคม 2559

ผลกระทบวิกฤติหยวนค้าขายจีน-บริหารบาท ‘ยากขึ้น’

ทันทีที่ธนาคารประชาชนจีน(PBOC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ปรับลดอัตราอ้างอิงของสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ลงมาอยู่ที่ 6.50 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลก เห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักติดต่อกัน จากความวิตกต่อความผันผวนของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้

กับความผันผวนในตลาดเงินโลกดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ถึงท่าทีการบริหารค่าเงินหยวนของจีน รวมถึงทิศทางการผันผวนของค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อตลาดโลก อีกทั้งความเป็นไปของการค้าที่จีนอยู่ในบทบาทมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯอเมริกา และมีบทบาททางการค้ากับตลาดอาเซียนหรือตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง

 จีนลดค่าหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ฉายภาพให้เห็นว่า การลดค่าเงินหยวนครั้งนี้ กำลังบ่งบอกว่าจีนจะใช้ค่าเงินหยวนที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น และถ้าติดตามนโยบายของจีนจะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี2558( 11 ธ.ค.58) จีนออกมาประกาศนโยบายว่า จะอิงค่าเงินหยวนกับเงินตรา 13 สกุลหลัก ไม่ใช่อิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว แต่จะอิงกับเงินตราสกุลหลักต่างๆเช่น เงินปอนด์ ยูโร เยน และอีกหลายๆสกุล โดยยึดหลักตามประเทศที่จีนค้าขายด้วยจำนวนมาก เพราะถ้าไปอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้จีนมีปัญหา เพราะค่าเงินหยวนต้องแข็งค่าตาม และเวลาที่จีนจะปรับลดค่าเงินหยวนลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าเมื่อปีที่แล้วเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง 3-4% แต่เทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆแข็งค่าเกือบ 1%

นับจากนี้ไปจีนจะใช้ประเทศคู่ค้าเป็นตัวกำหนดค่าเงิน เพราะถ้าค่าเงินหยวนแข็งค่าเกินไปก็จะเสียเปรียบ จะส่งออกยากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเปรียบจีนต้องยืดหยุ่นค่าเงินมากขึ้น และจีนจะต้องดูความเคลื่อนไหวสกุลเงินจากประเทศคู่ค้าที่จีนค้าขายด้วยว่าขึ้นลงเท่าไหร่ เคลื่อนไหวอย่างไร และมองว่าสุดท้ายแล้วจีนจะต้องลอยตัวค่าเงินหยวน แต่เกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่รู้ เพราะการที่ไปทำให้เงินหยวนนิ่ง ความจริงแล้วทำให้จีนเสียเปรียบ กลายเป็นเป้า ชาติไหนที่ไปฟิกซ์ค่าเงินชาตินั้นเสียเปรียบแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดการเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น คู่แข่งเข้ามาเก็งกำไรก็ไม่ต้องไปซื้อเรื่องการบริหารความเสี่ยงเลย จีนต้องหาทางทำให้ค่าเงินหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไปอิงกับตะกร้าเงินใหม่ 13 สกุล

 เหตุผล2ข้อทำหยวนอ่อนค่าลงอีก

เวลานี้(7 ม.ค.59)ค่าเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ที่ 6.58 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีครึ่ง และจากนี้ไปมีทิศทางเป็นไปได้สูงที่จะอ่อนค่าลงอีก บางสำนักบอกอาจจะอ่อนค่าถึง 7.3 หยวน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ข้อคือ 1.จีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 2.จีนอาจปรับลดการถือเงินสดสำรองตามกฎหมายจากที่เวลาที่คนนำเงินไปฝากแบงก์จะต้องเก็บไว้ 17.5% ก็อาจปรับลงเหลือ16% หรือ15% อาจจะลงไปเรื่อยๆจนเหลือตัวเลขหลักเดียว จะลดลงได้อีกหลายครั้ง เพราะประเทศอื่นๆถือเงินสดสำรองไม่ถึง10% แต่ที่ผ่านมาจีนให้สถาบันการเงินถือไว้เยอะมาก

หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ค่าหยวนอ่อนค่ามากๆ เมื่อ10 ปีที่แล้วที่อ่อนค่าอยู่ในระดับ 8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือก่อนปี 2005 อยู่ที่ 8.2-8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินหยวน อยู่ในสถานการณ์ที่ดีต่อจีนทำให้ส่งออกง่ายขึ้น และมีทุนทั่วโลกออกมาลงทุนในจีนมากขึ้น คนอยากเข้าไปลงทุน เพราะนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปลงทุนได้กว่า 8 หยวน ตอนนี้ค่าเงินเหลือเพียงกว่า 6 หยวน เช่นเดียวกับการส่งออกของจีนก็ได้กว่า 8หยวน ตอนนี้ได้แค่กว่า 6 หยวนเท่านั้น พอจีนมีปัญหาเรื่องส่งออกก็ต้องไปลดดอกเบี้ย ลดการถือเงินสดสำรอง เท่ากับว่าปล่อยเงินหยวนออกมามากๆ พอปล่อยออกมาแล้วอุปทานเงินหยวนก็จะมาก ซัพพลายเงินหยวนก็จะมาก ของมากก็ต้องมีราคาถูก และคนจีนเองก็นำเงินหยวนเหล่านี้ไปแลกดอลลาร์สหรัฐฯ ไปลงทุนในดอลลาร์มากขึ้น ลงทุนในอเมริกามากขึ้น

 ผลที่เกิดขึ้นกับไทยค่าบาทไม่นิ่ง

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทยผลที่เกิดขึ้นหลังเงินหยวนอ่อนค่า ประการแรกจะทำให้ไทยค้าขายกับจีนได้ยากขึ้น เราจะบริหารค่าเงินบาทได้ยากขึ้น ถ้าบาทไม่อ่อนค่าตาม จะเสียเปรียบในแง่ส่งออก จะลำบากเพราะแข่งขันไม่ได้ ประการที่ 2 ปีนี้เราเจอศึก 2 ด้านคือนอกจากส่งออกยังฟื้นตัวยากแล้ว ดูจากที่ติดลบ 3 ปีซ้อน(ปี 2556-2558) และเรายังเจอความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก ค่าเงินบาทจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เช่น จะต้องอ่อนค่าลงตามเงินสกุลอื่น ที่จะได้เห็นต่อไปคือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวน อ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงตามเงินเยน รวมถึงอ่อนค่าตามเงินสกุลต่างในอาเซียนที่เราค้าขายด้วยกัน ฉะนั้นแค่เราเจอศึกเด้งเดียวก็แย่แล้ว พอมาเจอศึก 2 เด้งยิ่งหนักไปใหญ่

อย่างไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวค่าหยวนต้องอ่อนค่าลงตาม และเวลานี้ทุนสำรองดอลลาร์สหรัฐฯในจีนตั้งแต่ปลายปี 2014-2015 หายไปแล้ว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 4 เท่าของทุนสำรองทั้งหมดของไทยที่มีอยู่ทั้งประเทศราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2014 จีนเคยมีทุนสำรองมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พอมาปลายปี 2015 ลดลงเหลือ 3.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หายไปกว่า 6แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

” ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้จีนเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งตรงนี้ประเทศคู่ค้าจีนอาจไม่สบายใจ ก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเทศไทยจะต้องปรับตัวเองให้คล่องตัวขึ้น รุกและรับอย่างมีจังหวะและรวดเร็ว เราต้องต่อยมวยสากล อย่าต่อยมวยไทย เพราะไหว้ครูนานถึง10 นาที ขึ้นไปต่อย เพียง 5 นาทีถูกน็อกแล้ว”รศ.ดร.สมภพ

 มีโอกาสเกิดสงครามค่าเงิน

รศ.ดร.สมภพ ให้มุมมองว่าการค้าขายกับจีน ต้องรู้เท่าทัน ตื่นตัวและเตรียมตัว แต่อย่าตื่นตูม เพราะถ้าค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีก สิ่งที่จะตามมาคือการส่งออกของไทยกับทุกประเทศจะรวนจากค่าเงินที่ผันผวน เพราะทุกครั้งที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เงินหยวนจะอ่อนค่า และจะทำให้เงินสกุลอื่นๆผันผวนตาม และโอกาสเกิดสงครามค่าเงินได้ง่ายขึ้น คือมีการลดค่าเงินแข่งกัน

 โยงไทยลากยาวถึงอาเซียน

ทั้งนี้ถ้าเกิดภาวการณ์เศรษฐกิจแบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้โดยที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับค่าเงินหยวนไปคนละทาง ก็จะทำให้ศักยภาพตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ลดลงด้วย เพราะทั้งอาเซียนค้าขายกับจีนสัดส่วนที่มาก ดังนั้นภาพเออีซีที่เรามองว่าจะเป็นบวกมากขึ้นก็จะน้อยลง เพราะเออีซีจะขับเคลื่อนได้ดีเศรษฐกิจต้องขาขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือกันสูงในประเทศสมาชิก และทุกประเทศในกลุ่มก็มีโอกาสค้าขายกับจีนมากทั้งนำเข้าและส่งออก แต่พอเศรษฐกิจขาลงก็ต้องตัวใคร ตัวมัน

“เวลานี้มูลค่าการค้าจีนกับอาเซียนสูงถึง 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็นอันดับ3 ของโลก จีนค้าขายกับอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นยุโรป และค้าขายกับอาเซียนเป็นอันดับ3 เมื่อการค้าจีนกับอาเซียนมีปัญหา ก็จะทำให้ไทยส่งออกไปอาเซียนยากขึ้นด้วย เพราะอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 26% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันไทยส่งออกไปญี่ปุ่นยากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมาก โดยนำเข้าจากไทย เพื่อส่งออกไปจีนจำนวนมาก เฉพาะประเทศญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมูลค่าสูงถึง 3.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าพอจีนมีปัญหาเศรษฐกิจจะไม่กระทบกับจีนอย่างเดียว แต่จะได้รับผลกระทบแบบงูกินหางไปทั่วโลก”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 12 มกราคม 2559

เผยเงินบาทได้รับผลกระทบลดค่าหยวนเล็กน้อย เชื่อ SET Idex อาจปรับฐานช่วงเดือน ก.พ.นี้ 

         บล.กสิกรไทย เผยค่าเงินบาทได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวนเล็กน้อย มองตลาดหุ้นไทยจ่อปรับฐานช่วงเดือน ก.พ.นี้ คาดน่าจะฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังปี 59 พร้อมระบุช่วงไตรมาส 1/59 ยังมีปัจจัยกดดันเกี่ยวกับค่าเงินหยวนอ่อนค่า เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ค่าเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าตาม โดยจะเห็นได้ว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มากจากปัจจัยภายนอก และยังเป็นช่วงขาลง พร้อมมองภาพรวมทั้งปี เคลื่อนไหวในกรอบ 1,150-1,460 จุด

                นายธิติ ตันติกุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KS กล่าวว่า ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบจากการความผันผวนของเศรษฐกิจจีนเล็กน้อย แต่ค่าเงินบาทยังค่อนข้างนิ่ง โดยอ่อนค่าลง 10-20 สตางค์ต่อดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น

                นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.59 จะมีการปรับฐานจากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 1/59 ที่คาดว่าในเดือน มี.ค.ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้ง ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน โดยคาดว่าจะเห็นความแรงกดดันมากขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.คงจะมีการปรับฐานที่ชัดเจน แต่หลังจากเฟดประกาศแล้วก็เชื่อว่าจะทำให้ตลาดคลายความกังวลลง

               “ตลาดหุ้นก่อนการขึ้นดอกเบี้ยโดยปกติจะตอบสนองในเชิงลบก่อน แต่หลังจากขึ้นไปแล้วตลาดก็จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเราคาดว่าในเดือนมีนาคมนี้ สหรัฐฯ มีโอกาสปรับขึ้นได้มากกว่าเดือนมกราคม เพราะสหรัฐฯ เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน เดือนมกราคมอาจจะยังเร็วไปที่จะปรับขึ้น ซึ่งการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยจะสงผลกดดันตลาด และทำให้ตลาดหุ้นไทยจะปรับฐานในช่วงเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์นี้”

                นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/59 ยังมีปัจจัยกดดันเกี่ยวกับค่าเงินหยวนอ่อนค่า เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกดดันให้ค่าเงินสกุลเอเชียอ่อนค่าตาม โดยจะเห็นได้ว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มากจากปัจจัยภายนอก และยังเป็นช่วงขาลง

                อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นหลังตลาดรับข่าวปัจจัยภายนอกไปมากแล้ว แต่จะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นที่ไม่แรงมาก และยังมีความผันผวนอยู่บ้าง เพราะต้องรอดูผลลัพธ์ของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ และเศรษฐกิจจีนจะยังชะลอหรือไม่หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ

                ส่วนในประเทศปีนี้ถือว่ามีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น หลังภาครัฐเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ส่วนผลกระทบจากภัยแล้งที่กังวลกันนั้นน่าจะลดลงจากการเตรียมพร้อมแก้ปัญหาของภาครัฐตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกทั้งราคาน้ำมันคาดว่าจะไม่ลงไปต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งจะไม่ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

                “เรามองว่าราคาน้ำมันคงไม่ลงไปต่ำกว่าปีก่อนแล้ว แต่หากลงไปต่ำกว่า 30 เหรียญต่อบาร์เรล ก็คงกระทบต่อประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงานอย่างมาก”

                ทั้งนี้ บล.กสิกรไทย ให้กรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ โดยแนวต้านอยู่ที่ 1,450-1,460 จุด แนวรับอยู่ที่ 1,150-1,200 จุด ที่ P/E 12-12.5 เท่า และประเมินอัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนไนประเทศ (EPS Growth) เติบโต 14% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 93 บาทต่อหุ้น จากปีก่อน 82 บาทต่อหุ้น

                ส่วนกลยุทธ์ในการลงทุนหากเป็นนักลงทุนในระยะกลาง-ยาว ให้ลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น และยังแนะนำให้ชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน และลดลง ประกอบกับรับผลกระทบจากแหล่งพลังงานใหม่ที่สามารถทดแทนน้ำมันได้ อีกทั้งชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มสื่อสาร เนื่องจากต้องรอดูภาวะการแข่งขันในตลาด ซึ่งคาดว่าจะรุนแรง และอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งกระทบกำไรของบริษัทในกลุ่มสื่อสาร แต่ถ้าหากต้องการลงทุนแนะนำ ADVANC

                กลุ่มที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย คือ กลุ่มการบิน เช่น AOT และ BA กลุ่มโรงแรม เช่น MINT CENTEL และ ERAWAN กลุ่มโรงพยาบาล เช่น BH และ BDMS นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มค้าปลีกที่จะได้รับผลดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ โดยแนะนำ HMPRO ROBINS และ GLOBAL อีกทั้งหุ้นกลุ่มรับเหมา อย่างเช่น CK ก็ยังน่าสนใจจากการลงทุนของภาครัฐ แต่หากอยากลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องต่อพลังงาน แนะนำหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี อย่างเช่น SCC 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2559

ส่อภัยแล้ง!เขื่อนเจ้าพระยาวิกฤต ชาวนาทิ้งข้าวแห้งตายหลายพันไร่

สถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรวจสอบระดับน้ำ ที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท วันนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 13.96 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับวิกฤติ  4 ซ.ม. ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.96เมตร โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศน์  ผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปาในจังหวัดภาคกลางและ กทม.จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบถึงนาข้าวของเกษตรกรใน ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี ที่ได้ลงมือไถหว่านไว้เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.2558 ที่ข้าวกำลังแตกยอดแต่ชาวนาไม่สามารถหาน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ เพราะน้ำในคลองชลประทานแห้งขอด ทำให้ชาวนาจำนวนมาก จำใจต้องทิ้งนาข้าวจำนวนกว่า 2,000ไร่ ให้แห้งตายบนพื้นนาที่กำลังแตก ระแหง จากการขาดน้ำ โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายจากการทิ้งนาข้าวของเกษตรกรใน ต.แพรกศรีราชา คิดเป็นเงินทุนไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มกราคม 2559

จีนจ่อลดค่าหยวนกดดันตลาด SET ผันผวน  

          บล.เออีซี ฟันธงค่าเงินหยวนของจีนมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่องในปี 59 กดดันตลาดหุ้นไทยผันผวน แนะถือเงินสดลดความเสี่ยง รอจังหวะชอปหุ้นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ ค้าปลีก ท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชู BDMS CENTEL BJC AOT IRPC แจ่มสุด เลี่ยงลงทุนกลุ่มแบงก์ อสังหาฯ การเกษตร

                นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) AEC เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินหยวนของจีนยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกหลายครั้งในปี 2559 ซึ่งเห็นได้จากค่าเงินหยวนในตลาดล่วงหน้ามีการอ่อนค่าไปที่ 6.8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ (อ่อนค่า 3.7% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา) ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มการอ่อนค่าเงินหยวนออกเป็น 2 กรณี คือ กรณี Base Scenario (ให้น้ำหนัก 60%) มีโอกาสอ่อนค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ระดับ 6.8-7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 และกรณีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจจีนต่ำกว่าที่คาดมาก (High Capital Outflow) (ให้น้ำหนัก 40%) ค่าเงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าไปที่ 7-8 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง

                อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงตลาดมีความเสี่ยงสภาพคล่อง คือ ค่าเงินเยน (USDJPY) และทองคำ ส่วนการลงทุนในหุ้นนั้น ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนในช่วงที่จีนมีการประกาศลดค่าเงิน ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นในทุกๆ ไตรมาสของปี 2559

                “ภาพของการลงทุนตลาดหุ้นไทยในปีนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนในการถือเงินสดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินหยวน แต่เรายังสามารถเลือกลงทุนในบริษัท หรืออุตสาหกรรมที่มีโอกาสฟื้นตัวเด่นกว่าตลาดได้ แนะนำลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเชิงคุณภาพ 3 ประการ ได้แก่ อุตสาหกรรมภาคบริการยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งเหนือกว่าภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่เราสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ มีแผนขยายการลงทุนออกนอกประเทศ ซึ่งมีความเข้มแข็งของกำลังซื้อที่สูงกว่า และสินค้าในอุตสาหกรรมต้องอยู่ในกลุ่มสินค้าจำเป็น ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นอย่างไรก็ยังต้องใช้” นายเกรียงไกร กล่าว

                สำหรับอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักมากกว่าตลาด ได้แก่ อุตสาหกรรมในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยวโรงแรม โรงพยาบาล และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ BDMS, CENTEL, BJC, AOT, IRPC ส่วนอุตสาหกรรมที่เราให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาด กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาฯ (ที่อยู่อาศัย, นิคมอุตสาหกรรม, และกลุ่มรับเหมาฯ วิศวกรรม) และกลุ่มเกษตร

                “ภาคเอกชนของจีนมีความเสี่ยงเรื่องภาระหนี้สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินหยวน จากข้อมูล BIS เราพบว่า ภาคเอกชนจีนมีภาระหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มสูง 1-1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (China Carry Trade) โดยมีสาเหตุสำคัญที่เกิดจากจากการที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของจีน และสหรัฐฯ ที่ต่างกันถึง 4% และมีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการควบคุมสูง (Manage Fix Currency Policy) การหดตัวของทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุนสำรองของจีนมีการปรับลดจากระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา” นายเกรียงไกร กล่าวในที่สุด       

        นอกจากนี้ สภาพคล่องโลกมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการทำตราสารอนุพันธ์ซับซ้อน (Structure notes) ปัจจุบัน เรามีการคาดการณ์ว่า มูลค่าของการทำธุรกรรม Structure notes อยู่ที่ 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การอ่อนค่าของ USDCNY ทุกๆ 3% จะส่งผลต่อผลขาดทุนที่ระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อสภาพคล่องโลก

จาก http://manager.co.th  วันที่ 12 มกราคม 2559

เกษตร - มท.โหมช่วยภัยแล้ง งบ 5.4 พันล.จ่อลง 73 จ. / เปิดตัวมิสเตอร์ดูแลสินค้าเกษตร

2 ปลัด ตื่นตัวแก้ภัยแล้ง “กฤษฎา” ปลัด มท. เร่งขับเคลื่อนแผนระยะ 2 เผยทางจังหวัดเสนอโครงการมาแล้ว 73 จังหวัด คาดใช้งบกว่า 5.4 พันล้านดำเนินการ ปูพรมพื้นที่ปฏิบัติการก.พ.นี้ ด้าน “ธีรภัทร” ปลัดเกษตรฯ เปิดตัวมิสเตอร์&มิสซิสเกษตร ดูแลสินค้าเกษตรครบวงจร/ยืดเวลาชำระหนี้ลดค่าเช่า-การให้สินเชื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำหยดจะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเมษายน

กฤษฎา บุญราช

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ในมาตรการที่ 4 (จากทั้งหมด 8 มาตรการ ที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อ 8 ก.ย.58) ว่า ในโครงการระยะที่ 1 กรณีปลูกพืชน้ำน้อย จังหวัดได้ส่งโครงการปลูกพืชน้ำน้อย อาทิ ปลูกถั่วเขียว ปลูกทานตะวัน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักบุ้งจีน เป็นต้น ทั้งนี้ได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีโครงการผ่านการวิเคราะห์แล้วจำนวน 167 โครงการใน 20 จังหวัดเป็นเงินงบประมาณ กว่า 167 ล้านบาท โดยครม.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

“โครงการที่ไม่ผ่านการวิเคราะห์ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ อาทิ การจัดซื้อพันธุ์วัว กระบือ และเครื่องจักร หรือไม่เป็นโครงการปลูกพืชน้ำน้อย หรือพื้นที่ไม่เป็นภัยแล้ง เป็นต้น จึงได้สั่งการให้มีการทบทวนโครงการใหม่ร่วมกับอำเภอ คณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดและสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ เพื่อปรับปรุงโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เพื่อเสนอในโครงการระยะที่ 2 ล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2559 มีจังหวัดที่เสนอโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว 73 จังหวัด จำนวน 1.12 หมื่นโครงการ คาดจะใช้งบประมาณราว 5.4 พันล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้”

ธีรภัทร ประยูรสิทธิ

เช่นเดียวกับนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวว่า ฤดูแล้งในหลายพื้นได้ที่เริ่มขึ้นแล้ว พร้อมกับมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรด้านต่างๆ ของรัฐบาลก็ได้เริ่มลงสู่พื้นที่แล้วเช่นกัน ทั้งการสนับสนุนปศุสัตว์ เช่นการสนับสนุนพันธุ์ไก่เนื้อ และไก่ไข่เพื่อสร้างรายได้ และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ลดค่าเช่านา ตลอดจนการให้สินเชื่อปรับเปลี่ยนอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำหยดสู้ภัยแล้ง และฟาร์มชุมชน ฯลฯ ซึ่งจะมีต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งเดือนเมษายน 2559

 “ในปีนี้จะขับเคลื่อนแผนมาตรการดูแลสินค้าเกษตร 11 ชนิดครบวงจร จึงได้แต่งตั้งผู้ตรวจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1.นางนฤมล พนาวงศ์ จะดูแลสินค้าข้าว 2.นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข ดูแลสินค้าอ้อย สับปะรดและพืชไร่อื่นๆ 3.นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ดูแลกลุ่มสินค้ามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน 4.นายสุรจิตต์ อินทรชิต ดูแลกลุ่มสินค้าประมง 5.นายธนิตย์ เอนกวิทย์ ดูแลสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ 6.นายสุรพล จารุพงศ์ ดูแลสินค้ายางพารา 7.นายนำชัย พรหมมีชัย ดูแลกลุ่มสินค้าผลไม้ 8.นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา ดูแลสินค้าลำไย 9.นางปาริชาติ ศรีวิพัฒน์ ดูแลกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ และ 10.นางวิมลพร ธิติศักดิ์ ดูแลสินค้า 2 กลุ่มได้แก่ สินค้าพืชหัวและพืชผัก ”

นายธีรภัทร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 8 มกราคม 2558 ว่า มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 26 จังหวัด อาทิ พะเยา พิจิตร และสกลนคร เป็นต้น และ 2 จังหวัดที่จะต้องเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (บางแสน) และอุบลราชธานี (ลำโดมใหญ่) ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 3.93 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 56% ของน้ำเก็บกัก ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 1.58 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 34% ทั้งนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาตรน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ 13 เขื่อน ส่วนแม่น้ำสายสำคัญอยู่ในสภาวะน้ำน้อย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 12 มกราคม 2559

สอท.เตือน4ปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจ หวังมาตรการรัฐช่วยกำลังซื้อในประเทศฟื้น

สอท.เชื่อเศรษฐกิจปี’59 ขยายตัว 3-3.5% ขณะที่การส่งออกน่าจะโต 2% แต่ยังต้องจับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเกาะติดทั้ง ราคาน้ำมัน–เศรษฐกิจจีนชะลอตัว-ก่อการร้าย และปัญหาภัยแล้ง ที่จะเข้ามาบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2559 น่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) จะขยายตัวระดับ 3-3.5% ขณะที่ภาวะการส่งออกน่าจะเติบโตประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ทุกฝ่าย ต้องติดตามใกล้ชิดหลักๆ ถึง 4 ด้านที่สำคัญที่จะมีผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

โดยปัจจัยเสี่ยง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ลดตามไปด้วย อีกทั้งราคาสินค้าการเกษตรของไทยโดยภาพรวมส่วนใหญ่เน้นการส่งออกจะได้รับผลกระทบในเรื่องของราคาที่ยังตกต่ำต่อไปอีกโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 นี้ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดหวังว่าไตรมาส 3-4 นี้ราคาน้ำมันน่าจะขยับเพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าภาคเกษตรให้มีโอกาสสูงขึ้นได้บ้าง

2.เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและจีนได้ประกาศลดค่าเงินหยวนจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งไทยเองที่พึ่งพิงตลาดส่งออกไปยังจีนถึง 11% ย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอการบริโภคภายในประเทศก็จะลดลงประกอบกับรัฐบาลจีนเน้นการบริโภคสินค้าในประเทศทำให้การส่งออกไปจีนอาจปรับลดได้เช่นกัน นอกจากนี้การที่จีนลด

 ค่าเงินก็จะผลักดันให้สินค้าจากจีนไหลออกสู่ตลาดการค้าหลักๆ ซึ่งหมายถึงตลาดเดียวกับที่ไทยส่งออกซึ่งการแข่งขันก็จะสูงขึ้นอีก

3.ภาวะความไม่สงบและสงครามที่หลายประเทศเริ่มมีความขัดแย้งกันมากขึ้นทั้งรัสเซียกับกลุ่มไอเอส ซาอุดีอาระเบีย กับอิหร่าน ฯลฯ ซึ่งการต่อสู้และความขัดแย้งเหล่านี้หากมีการขยายวงกว้างมากขึ้นเช่นกรณีที่เกิดก่อการร้ายที่ฝรั่งเศสก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการบริโภคได้โดยเฉพาะในแถบของสหภาพยุโรป หรืออียู

4.ภาวะภัยแล้ง ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการผลิตทั้งภาคเกษตรที่ปริมาณจะลดลงและยังกระทบต่อเนื่องในภาคผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากสินค้าแปรรูปการเกษตรขณะเดียวกันปริมาณน้ำที่น้อยในบางพื้นที่อาจกระทบโดยตรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ด้วยดังนั้นจุดนี้ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมแผนรองรับให้ดีโดยต้องส่งเสริมการใช้น้ำที่ลดลงนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมภาคการเกษตรให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่ากำลังซื้อภายในประเทศปี 2559 นี้น่าจะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาด้วยปัจจัยสำคัญ คือ การกระตุ้นแรงซื้อ

 ในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลทั้งการอัดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน ตำบลเพื่อให้เกิดการจ้างงาน นโยบายการซื้อยางพารา รวมถึงการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการสร้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะได้รับอานิสงส์การเติบโตทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้คาดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองก็จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นกำลังซื้อ

 ในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสอท. เชื่อมั่นว่าแม้เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก ชะลอตัวลง และจีนปรับตัวโดยลดค่าเงินหยวน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในวงกว้าง แต่สำหรับประเทศไทยถึงได้รับผลกระทบเช่นกันแต่ไม่มากนัก นักธุรกิจยังปรับตัวได้ โดยเชื่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ จะยังขยายตัวในระดับ 3-3.5% ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือกกร.ได้ประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนจากหลายส่วน การส่งออกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาครัฐ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยให้มีการลงทุนปรับตัวดีขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

ธ.ก.ส.ชงคลังเคาะมาตรการช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง เร่งวางกรอบหนุนปรับระบบการผลิต

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวยื่นลาออกจากตำแหน่งนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ทั้งในกรณีการลาออกหรือการถูกกดดันจากรัฐบาลให้พักหนี้เกษตรกร โดยขณะนี้ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เช่น ข้าว ยางพารา นอกจากนี้ ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนด้านการผลิตทางการเกษตร การสร้างเอสเอ็มอีเกษตรระดับตำบล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแนวทางจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้

“พร้อมยืนยันกับพนักงาน ธ.ก.ส. ด้วยว่า ไม่ได้คิดลาออกจากแรงกดดันจากรัฐบาลและมุ่งมั่นขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ พร้อมกับพนักงาน ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงอยากให้พนักงานทั่วประเทศอย่ากังวลกับข่าวดังกล่าว และขอให้พนักงานทุกคนมุ่งมั่นทำงาน เพื่อพิสูจน์ว่า ธ.ก.ส.ไม่ได้ละทิ้งเกษตรกร และยืดหยัดทำหน้าที่อย่างเต็มที่”นายลักษณ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กังธีรวัฒน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ในวันที่ 11 ม.ค. 2559 ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงแนวทางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งเพิ่มเติมจากเดิม โดยธ.ก.ส.จะพิจารณาแนวทางอย่างครอบคลุมทุกความช่วยเหลือ และจะนำกลับมาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ก่อนหน้านี้ มาตรการภัยแล้งเดิมที่ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 มีจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้สินเดิมลูกค้า ธ.ก.ส. โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมให้แก่เกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่อยู่ในพื้นที่วิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่มีหนี้เงินกู้เดิมรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท จะได้รับการลดดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.5% ต่อปี และ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.5% ต่อปี

สำหรับโครงการ 2 สินเชื่อ เพื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านการเกษตรเพื่อพัฒนาระบบน้ำ หรือเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต หรือประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรวงเงินให้สินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี กรณีพิเศษไม่เกิน 12 ปี โดยปลอดชำระต้นเงินไม่เกิน 3 ปีแรก คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR - 2 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 7% ต่อปี) หรือเท่ากับ 5% ต่อปี

ขณะที่โครงการ 3 สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างงานในชุมชนวงเงินให้สินเชื่อรวม 2,500 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR - 2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 7% ต่อปี) หรือเท่ากับ 5% ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี โดยใช้ทางเลือกอาชีพเสริมของกระทรวงแรงงาน และ 4.โครงการสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนวงเงินให้สินเชื่อรวม 2,500 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายวิสาหกิจชุมชน 3,000 แห่ง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตรา 4% ต่อปี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้วิสาหกิจชุมชนระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และหากเป็นการลงทุนมีระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 5 ปี

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

ผลกระทบวิกฤติหยวนค้าขายจีน-บริหารบาท ‘ยากขึ้น’

ทันทีที่ธนาคารประชาชนจีน(PBOC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ปรับลดอัตราอ้างอิงของสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ลงมาอยู่ที่ 6.50 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลก เห็นได้จากตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักติดต่อกัน จากความวิตกต่อความผันผวนของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้

กับความผันผวนในตลาดเงินโลกดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ถึงท่าทีการบริหารค่าเงินหยวนของจีน รวมถึงทิศทางการผันผวนของค่าเงินที่มีอิทธิพลต่อตลาดโลก อีกทั้งความเป็นไปของการค้าที่จีนอยู่ในบทบาทมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯอเมริกา และมีบทบาททางการค้ากับตลาดอาเซียนหรือตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง

 จีนลดค่าหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ฉายภาพให้เห็นว่า การลดค่าเงินหยวนครั้งนี้ กำลังบ่งบอกว่าจีนจะใช้ค่าเงินหยวนที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น และถ้าติดตามนโยบายของจีนจะเห็นว่า ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี2558( 11 ธ.ค.58) จีนออกมาประกาศนโยบายว่า จะอิงค่าเงินหยวนกับเงินตรา 13 สกุลหลัก ไม่ใช่อิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว แต่จะอิงกับเงินตราสกุลหลักต่างๆเช่น เงินปอนด์ ยูโร เยน และอีกหลายๆสกุล โดยยึดหลักตามประเทศที่จีนค้าขายด้วยจำนวนมาก เพราะถ้าไปอิงกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว เงินดอลลาร์สหรัฐฯจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้จีนมีปัญหา เพราะค่าเงินหยวนต้องแข็งค่าตาม และเวลาที่จีนจะปรับลดค่าเงินหยวนลงมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง จะเห็นว่าเมื่อปีที่แล้วเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง 3-4% แต่เทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆแข็งค่าเกือบ 1%

นับจากนี้ไปจีนจะใช้ประเทศคู่ค้าเป็นตัวกำหนดค่าเงิน เพราะถ้าค่าเงินหยวนแข็งค่าเกินไปก็จะเสียเปรียบ จะส่งออกยากขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเปรียบจีนต้องยืดหยุ่นค่าเงินมากขึ้น และจีนจะต้องดูความเคลื่อนไหวสกุลเงินจากประเทศคู่ค้าที่จีนค้าขายด้วยว่าขึ้นลงเท่าไหร่ เคลื่อนไหวอย่างไร และมองว่าสุดท้ายแล้วจีนจะต้องลอยตัวค่าเงินหยวน แต่เกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่รู้ เพราะการที่ไปทำให้เงินหยวนนิ่ง ความจริงแล้วทำให้จีนเสียเปรียบ กลายเป็นเป้า ชาติไหนที่ไปฟิกซ์ค่าเงินชาตินั้นเสียเปรียบแน่นอน เพราะจะทำให้เกิดการเก็งกำไรได้ง่ายขึ้น คู่แข่งเข้ามาเก็งกำไรก็ไม่ต้องไปซื้อเรื่องการบริหารความเสี่ยงเลย จีนต้องหาทางทำให้ค่าเงินหยวนยืดหยุ่นมากขึ้น โดยไปอิงกับตะกร้าเงินใหม่ 13 สกุล

 เหตุผล2ข้อทำหยวนอ่อนค่าลงอีก

เวลานี้(7 ม.ค.59)ค่าเงินหยวนอ่อนค่าอยู่ที่ 6.58 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีครึ่ง และจากนี้ไปมีทิศทางเป็นไปได้สูงที่จะอ่อนค่าลงอีก บางสำนักบอกอาจจะอ่อนค่าถึง 7.3 หยวน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ข้อคือ 1.จีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 2.จีนอาจปรับลดการถือเงินสดสำรองตามกฎหมายจากที่เวลาที่คนนำเงินไปฝากแบงก์จะต้องเก็บไว้ 17.5% ก็อาจปรับลงเหลือ16% หรือ15% อาจจะลงไปเรื่อยๆจนเหลือตัวเลขหลักเดียว จะลดลงได้อีกหลายครั้ง เพราะประเทศอื่นๆถือเงินสดสำรองไม่ถึง10% แต่ที่ผ่านมาจีนให้สถาบันการเงินถือไว้เยอะมาก

หากย้อนไปเมื่อครั้งที่ค่าหยวนอ่อนค่ามากๆ เมื่อ10 ปีที่แล้วที่อ่อนค่าอยู่ในระดับ 8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือก่อนปี 2005 อยู่ที่ 8.2-8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินหยวน อยู่ในสถานการณ์ที่ดีต่อจีนทำให้ส่งออกง่ายขึ้น และมีทุนทั่วโลกออกมาลงทุนในจีนมากขึ้น คนอยากเข้าไปลงทุน เพราะนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯไปลงทุนได้กว่า 8 หยวน ตอนนี้ค่าเงินเหลือเพียงกว่า 6 หยวน เช่นเดียวกับการส่งออกของจีนก็ได้กว่า 8หยวน ตอนนี้ได้แค่กว่า 6 หยวนเท่านั้น พอจีนมีปัญหาเรื่องส่งออกก็ต้องไปลดดอกเบี้ย ลดการถือเงินสดสำรอง เท่ากับว่าปล่อยเงินหยวนออกมามากๆ พอปล่อยออกมาแล้วอุปทานเงินหยวนก็จะมาก ซัพพลายเงินหยวนก็จะมาก ของมากก็ต้องมีราคาถูก และคนจีนเองก็นำเงินหยวนเหล่านี้ไปแลกดอลลาร์สหรัฐฯ ไปลงทุนในดอลลาร์มากขึ้น ลงทุนในอเมริกามากขึ้น

 ผลที่เกิดขึ้นกับไทยค่าบาทไม่นิ่ง

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทยผลที่เกิดขึ้นหลังเงินหยวนอ่อนค่า ประการแรกจะทำให้ไทยค้าขายกับจีนได้ยากขึ้น เราจะบริหารค่าเงินบาทได้ยากขึ้น ถ้าบาทไม่อ่อนค่าตาม จะเสียเปรียบในแง่ส่งออก จะลำบากเพราะแข่งขันไม่ได้ ประการที่ 2 ปีนี้เราเจอศึก 2 ด้านคือนอกจากส่งออกยังฟื้นตัวยากแล้ว ดูจากที่ติดลบ 3 ปีซ้อน(ปี 2556-2558) และเรายังเจอความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก ค่าเงินบาทจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เช่น จะต้องอ่อนค่าลงตามเงินสกุลอื่น ที่จะได้เห็นต่อไปคือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวน อ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงตามเงินเยน รวมถึงอ่อนค่าตามเงินสกุลต่างในอาเซียนที่เราค้าขายด้วยกัน ฉะนั้นแค่เราเจอศึกเด้งเดียวก็แย่แล้ว พอมาเจอศึก 2 เด้งยิ่งหนักไปใหญ่

อย่างไรก็ตามถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวค่าหยวนต้องอ่อนค่าลงตาม และเวลานี้ทุนสำรองดอลลาร์สหรัฐฯในจีนตั้งแต่ปลายปี 2014-2015 หายไปแล้ว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 4 เท่าของทุนสำรองทั้งหมดของไทยที่มีอยู่ทั้งประเทศราว 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2014 จีนเคยมีทุนสำรองมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พอมาปลายปี 2015 ลดลงเหลือ 3.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หายไปกว่า 6แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

” ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้จีนเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจในเวทีโลก ซึ่งตรงนี้ประเทศคู่ค้าจีนอาจไม่สบายใจ ก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะประเทศไทยจะต้องปรับตัวเองให้คล่องตัวขึ้น รุกและรับอย่างมีจังหวะและรวดเร็ว เราต้องต่อยมวยสากล อย่าต่อยมวยไทย เพราะไหว้ครูนานถึง10 นาที ขึ้นไปต่อย เพียง 5 นาทีถูกน็อกแล้ว”รศ.ดร.สมภพ

 มีโอกาสเกิดสงครามค่าเงิน

รศ.ดร.สมภพ ให้มุมมองว่าการค้าขายกับจีน ต้องรู้เท่าทัน ตื่นตัวและเตรียมตัว แต่อย่าตื่นตูม เพราะถ้าค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีก สิ่งที่จะตามมาคือการส่งออกของไทยกับทุกประเทศจะรวนจากค่าเงินที่ผันผวน เพราะทุกครั้งที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เงินหยวนจะอ่อนค่า และจะทำให้เงินสกุลอื่นๆผันผวนตาม และโอกาสเกิดสงครามค่าเงินได้ง่ายขึ้น คือมีการลดค่าเงินแข่งกัน

 โยงไทยลากยาวถึงอาเซียน

ทั้งนี้ถ้าเกิดภาวการณ์เศรษฐกิจแบบที่กล่าวมาข้างต้นนี้โดยที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับค่าเงินหยวนไปคนละทาง ก็จะทำให้ศักยภาพตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ลดลงด้วย เพราะทั้งอาเซียนค้าขายกับจีนสัดส่วนที่มาก ดังนั้นภาพเออีซีที่เรามองว่าจะเป็นบวกมากขึ้นก็จะน้อยลง เพราะเออีซีจะขับเคลื่อนได้ดีเศรษฐกิจต้องขาขึ้นด้วย รวมทั้งมีโอกาสร่วมมือกันสูงในประเทศสมาชิก และทุกประเทศในกลุ่มก็มีโอกาสค้าขายกับจีนมากทั้งนำเข้าและส่งออก แต่พอเศรษฐกิจขาลงก็ต้องตัวใคร ตัวมัน

“เวลานี้มูลค่าการค้าจีนกับอาเซียนสูงถึง 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็นอันดับ3 ของโลก จีนค้าขายกับอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นยุโรป และค้าขายกับอาเซียนเป็นอันดับ3 เมื่อการค้าจีนกับอาเซียนมีปัญหา ก็จะทำให้ไทยส่งออกไปอาเซียนยากขึ้นด้วย เพราะอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 26% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะเดียวกันไทยส่งออกไปญี่ปุ่นยากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมาก โดยนำเข้าจากไทย เพื่อส่งออกไปจีนจำนวนมาก เฉพาะประเทศญี่ปุ่นค้าขายกับจีนมูลค่าสูงถึง 3.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าพอจีนมีปัญหาเศรษฐกิจจะไม่กระทบกับจีนอย่างเดียว แต่จะได้รับผลกระทบแบบงูกินหางไปทั่วโลก”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

ชูมาตรการดันส่งออก3เดือนเห็นผล

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานประชารัฐ ด้านการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ว่า เป็นการหารือร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงการผลักดันการส่งออก การค้าการลงทุน และมุมมองของเอกชนเกี่ยวกับเป้าหมายการส่งออก 5% ของภาครัฐ ตลาด สินค้า รวมถึงสิ่งที่เอกชนต้องการให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน

 เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกและการลงทุน

“ในที่ประชุมได้คุยกันถึงเรื่องที่เอกชนต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนหรือแก้ไข ทั้งในเรื่องการส่งออก การลงทุน เช่น ต้องการให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน การส่งออก มาตรการทางการค้าในต่างประเทศ การให้รัฐบาลเข้าไปช่วยเจรจากับต่างประเทศในด้านต่างๆ เป็นต้น” นางอภิรดี กล่าว

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงจะมีมาตรการที่สามารถดำเนินการและเห็นผลได้ทันทีใน 3 เดือนก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่เน้นความต้องการของตลาดและจะเน้นการเจาะตลาดเมืองหลักและเมืองรองในประเทศคู่ค้าในอาเซียน เช่น เมืองไฮฟอง เกินเทอ ฮานอย ประเทศเวียดนาม, เมืองตองยี ประเทศเมียนมา,หลวงพระบาง สะหวันะเขต จำปาสัก สปป.ลาว,เสียมเรียบ กัมปงจาม กัมปงสะปือ ประเทศกัมพูชา, เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์, รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย รวมถึงการยกระดับตลาดในเมืองหลักเศรษฐกิจ ด้วยการขายสินค้าและบริการของไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ โดยเฉพาะจีน ที่ขณะนี้มีปัญหามาก ซึ่งในภาพรวมอาจยังไม่กระทบต่อการส่งออกมากนัก แต่ไทยก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือต่อปัญหาดังกล่าว โดยในที่ประชุมก็ได้หารือถึงกรณีดังกล่าวด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

‘ก.พลังงาน’เห็นชอบ รับซื้อไฟฟ้าในระบบAdder

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก

 พลังงานหมุนเวียน (RE) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Adder (ระบบที่การ

 ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนจากบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในราคาพิเศษ)อีก 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 46.022 เมกะวัตต์แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 3 โครงการ 39.122 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 4 โครงการ6.9 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้ระบบ Adder และได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้า

 ก่อนวันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะประกาศหยุดรับคำร้องขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้คืนสิทธิโครงการ

นายอารีพงศ์กล่าวว่า จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโครงการชีวมวลและก๊าซชีวภาพดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ และเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งจะเป็นการช่วยสร้างเสถียรภาพทางการตลาดของพืชผลทางการเกษตรอีกทางหนึ่ง

โดยจะส่งผลให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานได้มากกว่า 1,700 ตันต่อวัน ในพื้นที่ คิดเป็น

 มูลค่าการซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ จากการปลูกพืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่กว่า 750 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายพืชพลังงานไม่ต่ำกว่า 27 ล้านบาทต่อปี

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากรายงานของ กฟผ.ที่เผยถึงปริมาณ

 การใช้ฟ้าสูงสูด (peak) ของปี 2558 ว่าอยู่ที่ระดับ 27,345.8 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 และมีการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปี 2559 จะอยู่ที่ระดับ 29,000 เมกะวัตต์ และมีระดับการเฝ้าระวังอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ เพื่อเตรียมรับมือลด peak หน้าร้อนในปี 2559 สนพ.เตรียมจัดรณรงค์ประหยัดพลังงานลด peak หน้าร้อน ผ่านแคมเปญ “รวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์” ด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 มกราคม 2559

ก.พลังงานลุย'ชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ' จ่อเปิดตัวแอพฯกระตุ้นจิตสำนึก

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตอบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ Adder อีกจำนวน 7 โครงการ รวมทั้งสิ้น 46.022 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 3 โครงการ 39.122 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 4 โครงการ 6.9 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนภายใต้ระบบ "Adder" และได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าก่อนวันที่การไฟฟ้าจะประกาศหยุดรับคำร้องขอขายไฟฟ้าในรูปแบบ Adder และ กบง. มีมติให้คืนสิทธิโครงการ

จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโครงการชีวมวลและก๊าซชีวภาพดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์และเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งจะเป็นช่วยสร้างเสถียรภาพทางการตลาดของพืชผลทางการเกษตรอีกทางหนึ่ง โดยจะส่งผลให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นพลังงานได้มากกว่า 1,700 ตัน/วัน ในพื้นที่ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเกิดการสร้างงานสร้างรายได้จากการปลูกพืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่กว่า 750 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายพืชพลังงานไม่ต่ำกว่า 27 ล้านบาทต่อปี ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เผยถึงปริมาณการใช้ฟ้าสูงสูด (peak) ของปีที่ผ่านมาว่า อยู่ที่ระดับ 27,345.8 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 58 และมีการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปี 2559 จะอยู่ที่ระดับ 29,000 เมกะวัตต์และมีระดับการเฝ้าระวังอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ เพื่อเตรียมรับมือลดพีค (peak) หน้าร้อนในปีนี้ สนพ. เตรียมจัดรณรงค์ประหยัดพลังงาน ลดพีคหน้าร้อน ผ่านแคมเปญ “รวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์” ด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น "เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์" ที่จะมาช่วยให้คำนวณค่าไฟฟ้าแบบง่ายๆได้ด้วยตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงค่าประหยัดไฟฟ้าและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

โดยจะมี 2 เมนูหลัก คือ การเปรียบเทียบระหว่างการใช้หลอดไฟแบบเดิม คือ หลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ (หลอดตะเกียบ หลอดเกลียว หลอดผอม หลอดกลม) กับหลอดไฟ LED เพื่อแสดงให้เห็นผลต่างความประหยัดที่เกิดขึ้นหากเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดแบบเดิม ซึ่งสูตรการคำนวณอ้างอิงมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และในส่วนที่ 2 เป็นการคำนวณประสิทธิภาพการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยเปรียบเทียบระหว่างเครื่องปรับอากาศแบบ Fixed Speed กับเครื่องปรับอากาศแบบ Variable Speed (เครื่องปรับอากาศที่มีค่า SEER สูง หรือ เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์) เพื่อแสดงให้เห็นผลต่างความประหยัดที่เกิดขึ้นหากเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรับอากาศ ที่มีค่า SEER สูง แทนเครื่องปรับอากาศแบบเดิม

"การเปิดตัวแอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อให้ประชาชนหันมาเปลี่ยนใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หลอดไฟ LED ฉลากเบอร์ 5 ที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 85% (เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดไส้ขนาดเท่ากัน) และเครื่องปรับอากาศ ฉลากเบอร์ 5 ที่ผ่านการทดสอบแบบ SEER ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 30% (เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบ Fixed Speed) ดังนั้น สนพ. ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดทั้งปี" นายทวารัฐ กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 11 มกราคม 2559

ดึงJRFเปิดรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ขนสินค้าหนองปลาดุก-แหลมฉบังชี้ภาคเกษตรรับอานิสงส์

รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกดปุ่มเริ่มวันที่ 27 มกราคม 2559 นี้ ดึงกลุ่ม JRF ประเดิมทดลองเดินรถขนส่งสินค้าช่วงหนองปลาดุก-แหลมฉบัง ก่อนขยายเส้นทางเชื่อม 3 ประเทศ 3 ท่าเรือน้ำลึกและ 3 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ร.ฟ.ท. เชื่อปลุกราคาผลิตภัณฑ์การเกษตรโซนตะวันตกกระหึ่มแน่ ส่วนไจก้าแบไต๋พร้อมจูงเอกชนไทย-ญี่ปุ่นเข้าร่วมเส้นทางโลจิสติกส์หลังผ่านการทดสอบแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรางตามโครงการความร่วมมือทางรถไฟไทย-ญี่ปุ่นว่า การพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบังและกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 574 กม. ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นนั้น ในระยะแรกจะทำการปรับปรุงเส้นทาง โดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนราง เปลี่ยนหมอนเป็นช่วงๆ เพื่อเปิดทดลองเดินรถขนส่งสินค้าในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 เพื่อทดสอบคุณภาพรางขนาด 1 เมตร ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ก่อนเดินหน้าพัฒนาเป็นระบบทางคู่ และตั้งบริษัทร่วมทุนเดินรถในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้แนวเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นและไทยมีแผนเปิดโครงข่ายให้เชื่อมโยง 3 ท่าเรือของ 3 ประเทศและ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคนี้คือ ท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมา ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในประเทศไทย และท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ของเวียดนามที่จะใช้เส้นทางจากอำเภออรัญประเทศผ่านไปเข้ากัมพูชา นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีในประเทศไทยอีกด้วย

“เบื้องต้นขณะนี้ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานในวันที่ 27 มกราคม นี้เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายไทยดัดแปลงรถให้สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าขนาด 12 ฟุต กำหนดจุดขนส่งสินค้า และจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการยกขนสินค้า ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นจัดเตรียมตู้สินค้าขนาด 12 ฟุตและขนาด 20 ฟุต เตรียมเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำการยกขนตู้สินค้าที่จะมีการทดลองทุกสถานี โดยดึงกลุ่มบริษัท Japan Freight Railway Company หรือ JRF เข้ามาดำเนินงาน แต่จากการหารือร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) สำนักงานประจำประเทศไทยแล้วคงจะยังไม่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่นรายอื่นๆเข้าร่วมในครั้งนี้

แต่หากผลการทดสอบเป็นที่พึงพอใจก็จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่สนใจด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าการเกษตร อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง หรืออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างอุตสาหกรรมอาหารทะเลในพื้นที่สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้ามาร่วมในโครงการต่อไป”

ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กลุ่มธุรกิจการเดินรถ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการขนส่งตู้สินค้า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นครั้งนี้ กล่าวว่า การเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นในวันที่ 27 มกราคม 2559 จะใช้รถไฟของญี่ปุ่นทั้งหัวจักร และแคร่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุตในการทดลองเดินรถสินค้า แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นต้องการให้เป็นการทดลองวิ่งรถเปล่า แต่ฝ่ายไทยเห็นว่าควรต้องทดลองขนส่งสินค้าจริงๆ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อเตรียมขนส่งสินค้า และจะทำให้เห็นภาพจริง ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างเป็นทางคู่ ซึ่งเส้นทางจะต้องก่อสร้างเชื่อมไปที่ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาอีกด้วย โดยจะมีพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 มกราคม 2559 ที่สถานีหนองปลา-ท่าเรือแหลมฉบัง”

สำหรับความร่วมมือเพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบังและกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารการเดินรถ ซึ่ง ร.ฟ.ท. จะต้องเสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เช่นสัดส่วนหุ้น ขอบเขตของธุรกิจของบริษัทร่วมทุนภายในต้นปี 2559

นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ขาดอยู่ประมาณ 42 กม. แบ่งเป็นช่วงจาก กาญจนบุรี-พุนํ้าร้อน ระยะทาง 26 กม. และช่วงอรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทาง 6 กม. โดยแนวเส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ถือเป็นเส้นทางผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะสามารถพัฒนาได้รวดเร็ว เนื่องจากมีแนวเส้นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตรเดิมเปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบันนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 มกราคม 2559

ถกทำแผนเออีซี 10 ปี

น.น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 19-22 ม.ค. นี้ประเทศ ลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

โดยอาเซียนจะหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการคงค้างตามแผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธ์ศาสตร์ รวมถึงการดำเนินการตามแผนงานเออีซี 10 ปีข้างหน้า

“คณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจ จะพิจารณาความคืบหน้าด้านความร่วมมือด้านต่างๆ ของอาเซียน และแนวทางการดำเนินการภายหลังจากเปิดเออีซีแล้วว่าจะเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้นได้อย่างไร โดยมีคณะกรรมการต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ รวม 15 คณะ เช่น ความร่วมมือด้านมาตรฐาน, การเงินการคลัง, ศุลกากร, เอสเอ็มอี, พลังงาน, การขนส่ง, โทรคมนาคม เป็นต้น ที่จะมาร่วมหารือเพื่อกำหนดทิศทาง และปัญหาอุปสรรคต่างๆ

ขณะเดียวกัน จะหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการค้าและการลงทุนร่วมอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 58-59 รวมถึงแนวทางการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่ชะงักงันมาหลายปี ตลอดจนการหารือประเด็นเกี่ยวกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับฮ่องกง อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 11 มกราคม 2559

ลุยมาตรการเด็ดขาด กำหนดความสูงรถอ้อย

อุดรฯใช้มาตรการเด็ดขาดกำหนดความสูงคาน บังคับรถอ้อยหลังเกิดอุบัติเหตุบ่อย อ้อยหล่นเกลื่อนถนนจนกีดขวางจราจรมีผู้เสียชีวิตแล้ว5ราย บาดเจ็บอื้อ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มกราคม ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสุชัย บุตรสาระ รอง ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานประชุมกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากรถบรรทุกอ้อย โดยมี นายนิติธร เพชรคูหา ขนส่งจังหวัดอุดรธานี , นายธนวรรนธ์ เลิศสุคนธ์ อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี , พ.ต.อ.ชัยพงษ์ ทรงพลนพจร รอง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกับตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อย 3 สมาคม ตัวแทนโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม

นายนิติธร เพชรคูหา ขนส่งจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึง อุดรธานีมีประกาศมาตรการบังคับรถบรรทุกอ้อย ตั้งแต่ปี 2557 ให้รถบรรทุกอ้อยต้องมีสายรัดขณะบรรทุกอ้อย , บรรทุกสูงไม่เกิน 4 เมตร , ไม่ให้อ้อยบานปิดท้ายบังสัญญาณไฟ , กรณีรถจอดบนไหล่ทาง หรือประสบอุบัติเหตุ ต้องแจ้งผู้เกี่ยวข้องโดยเร็ว และวางกรวยห่างท้ายรถ 15 เมตร , ให้ติดผ้าแดงอย่างน้อย 2 ผืนที่ท้ายรถ และกลางคืนติดไฟอย่างน้อย 3 ดวงให้มองเห็นในระยะ 50 เมตร แต่ที่ผ่านมาพบยังคงมีการฝ่าฝืน

ที่ประชุมรายงานว่า ตั้งแต่เปิดหีบอ้อยมาเมื่อ 1 ธันวาคม 58 จนถึงปัจจุบัน มีอุบัติเหตุรถอ้อยล้ม ทำอ้อยตกบนถนนมีรถชนซ้ำ และรถอ้อยจอดเสียถูกชนท้ายมากกว่า 17 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย บาดเจ็บ 7 ราย รถอ้อยที่ล้มขวางถนนทำให้ปิดถนนมิตรภาพรวม 53 ชม. 47 นาที และต้องปิดถนนวงแหวนอุดรธานี 3 ชม. โดยบนถนนมิตรภาพช่วงโค้งทมนางาม-บ้านไร่ อ.โนนสะอาด มีเหตุเกิดขึ้น 6 ครั้ง เป็นรถอ้อยไปส่งโรงงานใน จ.ขอนแก่น สาเหตุเกิดจากบรรทุกสูง และมือใหม่หัดขับ

ขนส่ง จ.อุดรธานี ระบุว่า ที่ผ่านมาสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้ปฏิบัติตามมาตรการด้วยดี แต่ก็ยังมีชาวไร่บางส่วนยังฝ่าฝืน รวมไปถึงรถอ้อยที่ไปส่งโรงงานที่ ขอนแก่น , กาฬสินธุ์ , หนองบัวลำภู และ เลย ฝ่าฝืนมาตรการ จึงเสนอทำมาตรการ “คานกำหนดความสูง” ติดตั้งไว้ทางเข้าโรงงาน โดยจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออก นำไปใช้เพื่อควบคุมความสูงแล้ว ควบคู่ไปกับมาตรการตรวจจับอย่างเข้มงวดกับรถทุกคัน

ขณะที่ตัวแทนสมาคมฯ และตัวแทนโรงงาน ยอมรับพร้อมจะปฏิบัติตาม หากจะมีการใช้กฎหมายมาบังคับ แต่ก็ต้องขอความเห็นใจ เพราะในปีนี้เกิดภัยแล้งน้ำฝนเฉลี่ยหายไป 300 มม. ทำให้อ้อยมีน้ำหนักเบากว่าเดิม , ค่าความหวานของอ้อยก็ลดลง และราคาอ้อยต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุน ชาวไร่มีสภาพขาดทุนอยู่แล้ว จึงต้องบรรทุกอ้อยสูงเกิน และหากกำหนดให้สร้างคาน ต้องพิจารณาด้วยว่า จะให้มีความสูงเท่าไหร่ , อ้อยไม่ผ่านคานจะทำอย่างไรก็อ้อยที่ไม่ผ่านคาน จะบริหารจัดการอย่างไร และหากบังคับใช้เฉพาะอุดรธานี จะทำให้อ้อยไหลไปยังโรงงานในจังหวัดข้างเคียง น่าจะเป็นมาตรการภาพรวม ซึ่งไม่น่าจะบังคับใช้ในฤดูนี้

นายสุชัย บุตรสาระ รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า อยากจะนำมาตรการ “คานกำหนดความสูง” มาบังคับใช้ เพื่อให้เป็นภาพรวมของอ้อยอีสานตอนบน ขอให้อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี ในฐานะคณะกรรมการระดับเขต ประสานนำเสนอเรื่องนี้ให้เขตพิจารณา หากไม่ทันในปีนี้ก็น่าจะทำในปีหน้า ขณะเดียวกันขอให้ทางสมาคมฯ และโรงงานฯ ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจ โดยขอความร่วมมือกับชาวไร่อ้อย และผู้ประกอบการขนส่ง ให้ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดอย่างเคร่งครัด เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังต้องกวดขันอยู่ เพื่อไม่ให้อุบัติเหตุจากรถอ้อยเกิดขึ้นอีก

จาก http://www.bangkokbiznews.com    วันที่ 11 มกราคม 2559

'อรรชกา'ถกบิ๊กNew S-Curve จี้44อุตชงข้อเสนอกบพ.13ม.ค. 

          "อรรชกา" เรียกบิ๊กเอกชนประชุม New S-Curve นัดแรก ถกหลากปัญหาลงทุนกลุ่มคลัสเตอร์ จี 44 กลุ่มอุตสาหกรรมทำการบ้านเสนอ กบพ. 13 ม.ค.นี้

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะทำงาน New S-Curve เส้นทางสู่ความสำเร็จด้วยนวัตกรรมของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายว่า เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้ คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  12 ชุด (S-Curve) จึงเป็นที่มาของคณะทำงาน New S-Curve ชุดนี้ ซึ่งการประชุมครั้งแรกนี้ ได้มีการแจ้งให้ภาคเอกชนรับทราบว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำและจะทำมีอะไรบ้าง ตรงกับสิ่งที่เอกชนต้องการหรือไม่ จากนั้นเอกชนจะไป หารือกันในองค์กรและอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อเตรียมเสนอให้ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารการพัฒนา พื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) ในวันที่ 13 มกราคม 2559

          โครงสร้างของการเดินหน้านโยบายคลัสเตอร์ จะประกอบไปด้วย กบพ. มีนายสมคิดเป็นประธาน คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมีตนเองเป็นประธาน โดยมีคณะอนุกรรมการ 6 คลัสเตอร์เป็นตัวกำหนดทิศทางเป้าหมายการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีคณะทำงาน  New S-Curve และคณะทำงาน Spring Board ขนาบข้างเพื่อเสริม ชี้นำ ที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการควบคู่กันไป

          สำหรับคณะทำงาน New S-Curve ประกอบไปด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ภาคเอกชนทั้งหมด อาทิ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ จาก บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล, นายกานต์ ตระกูลฮุน บมจ. SCG, บริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ล็อกซเล่ย์, ทีซีซีโฮลดิ้ง  เป็นต้น โดยจะให้เอกชนเหล่านี้เป็นแกนหลักในการลงทุนสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้ New S-Curve ไปเสริมกับ คณะอนุกรรมการ 6 คลัสเตอร์ เพราะคณะอนุกรรมการฯ แม้จะมีเอกชนอยู่ด้วย แต่การให้ CEO ของ New S-Curve ไปเสริมจะทำให้รู้ถึงความต้องการ และจุดประสงค์ที่ชัดเจนมากที่สุด เช่น คลัสเตอร์ยานยนต์ จะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีมีอะไรบ้าง ต้องนำนักวิจัยจากที่ไหน จำนวนกี่คนถึงจะพอเข้ามาช่วยงาน เป็นต้น

          นอกจากนี้ ในส่วนของสถาบันเครือข่ายในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม 11 แห่งนั้น มีแนวโน้มจะปรับโครงสร้างของสถาบันทั้งหมดไปใน 3 แนวทาง คือ 1.การเพิ่มสถาบันใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ 2.การปรับโครงสร้างการทำงานรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 3.การบูรณาการการทำงานร่วมกันของสถาบันทั้งหมด เช่น สถาบันไฟฟ้า สถาบันเหล็ก สถาบันยานยนต์ อาจรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อต่อยอดและไปเสริมกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ คลัสเตอร์หุ่นยนต์ เป็นต้น

          นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.จะให้ 44 กลุ่มอุตสาหกรรมไปหารือกันว่าต้องการให้รัฐช่วยอะไร หากทำได้จริงจะเห็นการลงทุนภายใน 5 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย

ถึง 3.5%

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 11 มกราคม 2559

'สมคิด'สั่งบอร์ดนวัตกรรมหนุนสตาร์ทอัพภาคเกษตร 

          "สมคิด"สั่งคกก.นวัตกรรมเร่งส่งเสริม ธุรกิจสตาร์ทอัพ ขยายจากภาคอุตสาหกรรม สู่ภาคเกษตร เจรจาโมเดิร์นเทรดซื้อสินค้าและหาช่องทางขาย ดึงเอกชนทำเวนเจอร์ ฟันด์

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของ ประเทศ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับคณะกรรมการถึงแนวทาง การส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) โดยเน้นสร้างผู้ประกอบการ ด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมรายย่อย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กในท้องถิ่น

          โดยจะผลักดัน ให้เป็นโครงการ "1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี" ซึ่งทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จะรับเป็นแม่งานปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนไปถึงการเชื่อมโยงตลาด โดยให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งมีสาขาทั่วประเทศมารับซื้อสินค้าไปจำหน่าย

          ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็เตรียมจัดสิทธิประโยชน์พิเศษเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน ในเอสเอ็มอีภาคเกษตร โดยจะต้องเป็น รูปธรรมภายในปี 2559 รวมทั้งจะผลักดันแนวคิดจัดตั้งกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจใหม่ เป็นลักษณะเวนเจอร์ ฟันด์ ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เบื้องต้นอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ รายละเอียด เรื่องวงเงินประเดิมที่จะใส่เข้ามา ในกองทุน คาดว่า เร็วๆ นี้จะได้ข้อสรุป

          "จะประสานภาคเอกชนในการจัดทำ กองทุนร่วมลงทุน และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริม ให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบกอบรายใหม่ แห่งชาติ โดยให้กระทรวงการคลังรับดูแล" นายสมคิดกล่าว

          ขณะเดียวกันยังได้ประสาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยี รวมทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล ด้านการทรวงอุตสาหกรรมให้จัดทำ ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำเรื่องการการเตรียมความพร้อมด้านการบริการและ ยังให้เตรียมพร้อมเรื่องของเงินทุนสินเชื่อ และสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

ติวทูตพาณิชย์ปั๊มส่งออกโต5%

สมคิด” ถกทูตพาณิชย์ 20 ม.ค.นี้ ประเมินสถานการณ์ วางกลยุทธ์เจาะตลาด หวังดันส่งออกโต 5% ตามเป้า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) จากทั่วโลก เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในแต่ละตลาด พร้อมกับมอบนโยบายสำคัญเพื่อผลักดันให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2559 ให้ขยายตัว 5% จากปี 2558 ตามเป้าหมาย

"สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังมีความอ่อนไหว หลายตลาดยังชะลอตัว โดยเฉพาะจีนยังไม่ดี ขณะที่สหรัฐ และสหภาพยุโรปที่เหมือนกำลังจะดีขึ้น แต่เกิดความรุนแรง และเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านอีก จึงต้องมาประเมินสถานการณ์ว่าการส่งออก 5% จะทำอย่างไร จะมุ่งไปที่ตลาดใด และมีกลยุทธ์อะไรที่จะใช้บุกเจาะตลาด" นายสุวิทย์กล่าว

 สำหรับตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) รวมถึงจีน อินเดีย รัสเซีย และแอฟริกา

 สินค้าที่จะใช้ผลักดันการส่งออกของไทย นอกจากสินค้าสำคัญๆ เช่น รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร ฯลฯ แล้วยังจะเน้นสินค้าบริการด้วย ทั้งบริการด้านสุขภาพและความงาม โลจิสติกส์ บันเทิง/คอนเทนต์ การศึกษา เป็นต้น

 นายสุวิทย์กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & Start-up) ซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชารัฐ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

ชะตากรรมภาคเกษตรไทยวิกฤติภัยแล้ง..ลามถึงปี60

: ดลมนัส กาเจ

            หากดูตัวเลขจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ครั้งล่าสุด ณ ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่จำนวน 33 แห่งทั่วประเทศมีปริมาตรน้ำทั้งหมด 39,410 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากจำนวนเต็ม 70,370 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% ในจำนวนนี้มีปริมาตรน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 15,908 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% เท่านั้น ถ้าจะโฟกัสให้แคบลงเฉพาะ 4 เขื่อนสำคัญที่หล่อเลี้ยงลงสู่พื้นที่การเกษตรทั้งสองฟากฝั่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด อันเป็นพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉพาะมากที่สุดในประเทศไทย พบว่าเขื่อนภูมิพลที่ จ.ตาก มีปริมาตรน้ำ 4,891 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 13,462 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ในจำนวนนี้ใช้ได้จริง 1,091 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 8% เท่านั้น

            ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำ 4,704 จากความจุทั้งหมด 9,510 ล้าน ลบ.ม. เหลืออยู่ 49% ใช้ได้จริง 1,854 หรือ 19% ด้านเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาตรน้ำน้ำ 379 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 939 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40% สามารถใช้ได้จริง 336 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% ขณะที่เขื่อนปาสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาตรน้ำ 496 ล้าน บล.ม. จากความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ใช้ได้จริง 493 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51%

น้ำอุปโภคบริโภคมีถึงเดือนพฤษภาคม

            สอดคล้องกับตัวเลขที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (5 ม.ค.59) ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 10,499 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรวมกัน 4.25 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการใช้น้ำรวมกันประมาณวันละ 17.60 ล้าน ลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือรวมกันจำนวน 3,803 ล้าน ลบ.ม. (แผนการใช้น้ำระหว่าง 1 พ.ย.58-30 มิ.ย.59) ยืนยันว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนและรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559

            สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2558/2559 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ใช้น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึงปัจจุบัน (5 ม.ค.59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,011 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของแผนการจัดสรรน้ำ (แผนกำหนดไว้ 2,900 ล้าน ลบ.ม.) คงเหลือน้ำใช้การได้ตามแผนในฤดูแล้งนี้อีกประมาณ 1,889 ล้านลูกบาศก์เมตร (การส่งน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.-30 เม.ย. ของทุกปี)

            “ตัวเลขของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วกว่า 1,636,000 ไร่ ขณะที่ปริมาณน้ำที่ค้างในพื้นที่หลังหมดฤดูฝน ได้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีการปลูกข้าวนาปรังอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต หากยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดให้มากที่สุด” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย-ปศุสัตว์-ประมง

            ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พล.อ.ฉัตรชัย พร้อมคณะที่เป็นผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2558/59 และติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนในพื้นที่ จ.พิษณุโลก โดยมีนายชูชาติ กีฬาแปง ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ต้อนรับ

             สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนั้น มีการแจกปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง, การปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสดเกษตรกร เป้าหมาย 385,958 ราย งบประมาณ 971.98 ล้านบาท แจกปัจจัยการผลิต (ปลูกพืชน้ำน้อย เลี้ยงสัตว์ ทำประมง ปรับปรุงดิน/ปุ๋ยพืชสด) มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานในส่วนของพืชไร่ อาทิ ถั่วเหลือง/ถั่วเขียว/ถั่วลิสง 140.22 ตัน เกษตรกร 5,021 ราย จะให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 มกราคมนี้

            นอกจากนี้ในส่วนแรกโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย/ใช้ความชื้นในดิน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 กรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนเงินให้ 22 จังหวัด 57 อำเภอ 129 ตำบล 159 โครงการ งบประมาณ 153.02 ล้านบาท เกษตรกรจะดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 กระนั้นต้องยอมรับว่าหลายเรื่องยังติดขัดเรื่องกระบวนการจัดหาและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจจะทำให้การเพาะปลูกไม่สอดคล้องกับสภาพอากาศและความชื้นในดิน ดังนั้นจะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับความชื้นในดินเพื่อลดความเสียหาย

มอบเมล็ดพันธุ์ใช้น้ำน้อย 2.3 พันตัน

            ท่ามกลางความปั่นป่วนของเกษตรกรที่ไม่มีน้ำเพื่อการเพาะปลูกนั้น กรมวิชาการเกษตรได้สำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่ใช้น้ำน้อยและมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นไว้รองรับความต้องการของเกษตรกรที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกในช่วงหน้าแล้ง เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการทำนาปรัง รวมกว่า 2,300 ตัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง จำนวน 800 ตัน และถั่วเขียว 1,300 ตัน และถั่วลิสง 200 ตัน โดยพืชเหล่านี้ใช้เวลาปลูกไม่เกิน 110 วันหลังทำนา ทั้งยังเตรียมเชื้อไรโซเบียมเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชตระกูลถั่วด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นแนวทางช่วยให้เกษตรกรสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้

            นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะนำว่า การเลือกปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย เกษตรกรควรพิจารณาถึงพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ทั้งยังต้องมองความต้องการของตลาด ราคาผลผลิต และมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอน ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงความเหมาะกับสภาพแวดล้อมด้วย

            สอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนของ นายโอฬาร พิทักษ์ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำว่า ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังซึ่งใช้น้ำมากมาปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง เพราะพืชเหล่านี้มีอายุการเก็บเกี่ยวใกล้เคียง หรือสั้นว่าข้าว แต่ใช้น้ำน้อยกว่า ให้ผลตอบแทนในการผลิตมากกว่า โดยมีตลาดรองรับอีกด้วย เน้นในพื้นที่เขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดพบว่ามีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชไร่ดังกล่าวราว 4 ล้านไร่

ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือน

            ขณะที่ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ บอกว่า ส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 206.233 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยแล้ง อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีสมาชิกเป้าหมายจำนวน 134,479 ราย จาก 651 สถาบันเกษตรกร ซึ่งมีทั้งสัญญากู้เดิมและสัญญากู้ใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557-30 เมษายน 2559 นอกจากนี้มีแผนสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นให้แก่สมาชิกในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) อนุมัติกรอบวงเงิน กพส. จำนวน 300 ล้านบาท ให้สหกรณ์กู้ยืมไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนแบบปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน

            ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินภาพของสถานการณ์ภัยแล้งและมาตรการในการช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ขณะที่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่ามีข้อบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์ระบุว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า อุณหภูมิบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ภาคเกษตรอาจได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องปริมาณน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต และในแง่ของปริมาณผลผลิตอีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

เตรียมเปิดศักราชใหม่ต้อนรับ AEC

เร่งปลดล็อกมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 4.3-5.1 ในปี 2559 โดยได้อานิสงส์จากการเปิดเสรี AEC อย่างเป็นทางการในการประคองโมเมนตัมการเติบโตภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ประสบความสำเร็จในการลดอัตราภาษีนำเข้าตามกรอบ AFTA แต่ละประเทศสมาชิกกลับมีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษีมาใช้มากขึ้น สิ่งที่อาเซียนต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือการลด/ยกเลิกมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศอื่นๆ

เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2559 อันจะเป็นปีแห่งการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC อย่างเป็นทางการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนน่าจะได้อานิสงส์จาก AEC ในการประคองโมเมนตัมการเติบโตภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง บวกกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

โดยคาดว่าในปี 2559 เศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 4.3-5.1 ต่อเนื่องจากปี 2558 ที่น่าจะจบปีด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 4.4 ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนที่เชื่อมโยงเข้ากับตลาดการเงินของโลกอย่างไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์อาจต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกจากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐ และส่งผลต่อค่าเงินในประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสูง ขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) น่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อเนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พัฒนาก็ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายให้รัฐบาลประเทศกลุ่ม CLMV ต้องเร่งดำเนินการพัฒนา

ในอนาคตหลังการรวมกันเป็น AEC นั้น การที่เศรษฐกิจอาเซียนจะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ การบรรลุเป้าหมายการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันซึ่งจะต้องประกอบด้วยการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งทางด้านภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุนมากขึ้นจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าอาเซียนประสบความสำเร็จในการยกเลิกกำแพงภาษีระหว่างกันภายใต้กรอบ AFTA (ASEAN Free Trade Agreement) โดยในปี 2558 อาเซียนสามารถยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าไปแล้วถึงร้อยละ 96.0 ของรายการสินค้าทั้งหมด สำหรับอาเซียน-6 (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และบรูไน) ได้ทยอยยกเลิกภาษีนำเข้าตั้งแต่ปี 2553 จนปัจจุบันยกเลิกได้ถึงร้อยละ 99.2 ของรายการสินค้าทั้งหมด ขณะที่กลุ่มประเทศ CLMV ได้ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าไปแล้วถึงร้อยละ 90.8 ตามภาระผูกพันที่ต้องยกเลิกนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แม้จะมีสินค้าบางรายการ ที่กลุ่มประเทศ CLMV ได้รับการยืดระยะเวลาออกไปจนถึงปี 2561 อาทิ สินค้ายานยนต์และจักรยานยนต์ที่เวียดนามจะปรับลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในปี 2561 ซึ่งเป็นโอกาสต่อธุรกิจไทยในการส่งออกสินค้าไปยัง CLMV มากขึ้นภายหลังปี 2561

อย่างไรก็ดี นับจากปี 2553 ที่อาเซียน-6 ต้องเริ่มลดอัตราภาษีนำเข้าให้เหลือร้อยละ 0 แต่ละประเทศกลับมีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษี และกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ มาใช้มากขึ้น และแม้การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและสุขอนามัยของประชาชนในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติมาตรการเหล่านี้มักถูกนำมาใช้เพื่อกีดกันการค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญมาตรการต่างๆ เหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิต และระยะเวลาการนำเข้าส่งออกของผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้นอันจะบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของมูลค่าการค้าการลงทุนในภูมิภาคให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ปัจจุบันมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ที่ใช้กันมีอยู่หลายรูปแบบ อาทิ 1) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS) เช่น การห้ามนำเข้าสินค้าที่มีสารปนเปื้อนเกินกว่าอัตราที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด 2) มาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (Technical Barrier to Trade: TBT) เช่น การกำหนดการใช้เครื่องหมาย การบรรจุหีบห่อ และการติดฉลากผลิตภัณฑ์ 3) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) และ 4) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมาตรการที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในอาเซียน คือมาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)

ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ SPS ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตร ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มักจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ TBT ซึ่งสินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปอาเซียน

ดังนั้น ภายหลังการรวมกลุ่มกันเป็น AEC อย่างเป็นทางการ ประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องร่วมกันเจรจาหาทางออกให้กับปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อปลดล็อกอุปสรรคทางการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งวิธีหนึ่งคือการส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานอาเซียน โดยแต่ละประเทศสมาชิกต้องปรับมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคให้สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับซึ่งกันและกัน รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของประเทศสมาชิกที่เป็นผู้ส่งออก โดยไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบซ้ำในประเทศผู้นำเข้าเพื่อย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี อาเซียนเองก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและเริ่มดำเนินการไปแล้วในหลายด้าน อย่างเช่นการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน (ASEAN Consultative Committee for Standards and Quality-ACCSQ) กระนั้น การรวมตัวกันของทั้ง 10 ประเทศ เพื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแท้จริงยังต้องการการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของการลดมาตรการที่มิใช่ภาษีอย่างเป็นรูปธรรมในมิติที่ลึกและกว้างขึ้น

นอกจากมาตรการที่มิใช่ภาษีแล้ว การอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การค้าในอาเซียนมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการค้าผ่านทางชายแดน อาเซียนจึงมีการพัฒนาระบบ ASEAN Single Window ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรเพื่อช่วยลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าระหว่างกันได้

ขณะที่ ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Cooperation: GMS) ก็มีการจัดตั้งศูนย์การตรวจปล่อยสินค้าร่วมกัน (Single-Stop Service : SSI) ในการตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งประกอบด้วยไทย สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการค้าชายแดน แต่ในปัจจุบันทั้ง ASEAN Single window และ SSI ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่าที่ควร การขนส่งสินค้ายังคงมีข้อจำกัด เช่น การกำหนดโควตารถขนส่งสินค้าของไทยที่เข้าไปยังกัมพูชา และการเรียกเก็บค่าผ่านทางตามด่านที่ไม่เป็นทางการใน สปป.ลาว เป็นต้น

ดังนั้น การผลักดันให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดดำเนินการตามกรอบข้อตกลงดังกล่าว จะนำมาซึ่งการขยายตัวของมูลค่าการค้าการลงทุนในภูมิภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

จับตาทิศทางพลังงานปีวอก ชู 5 ยุทธศาสตร์ดันแผนพีดีพี

ส่งสัญญาณทิศทางพลังงานไทย “แย้มปี 59 จะมีการลงทุนด้านพลังงานเฉียด 7 แสนล้านบาท ระบุคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดรับการเติบโตภาคเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ชู 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผน PDP 2015”

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสำหรับแนวโน้มสถานการณ์การใช้พลังงานในปี 2559 กระทรวงพลังงานคาดว่า การใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ในอัตรา 3.0% ซึ่งเป็นการประมาณการตัวเลขที่สอดรับกับ GDP ของประเทศในปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.0-4.0% โดยแบ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นในชนิดต่างๆ ดังนี้ น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 9.7% น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนก๊าซ LPG จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปี 2558 เฉลี่ยลดลงประมาณ 2.5% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังอยู่ในช่วงการปรับตัวลดลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์/บาเรลล์

สำหรับสถานการณ์ด้านไฟฟ้า แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าปี 2559 คาดว่าเพิ่มขึ้น 3.5% ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าว ทั้งนี้ ประมาณการว่า ความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ปี 2559 จะอยู่ที่ไม่เกิน 29,000 เมกะวัตต์ และมีระดับการเฝ้าระวังอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์

 “จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง บวกกับภาคเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะที่กำลังขยายตัว ทำให้ความต้องการการใช้พลังงานของประเทศมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อให้สอดรับกับการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) กระทรวงพลังงานจึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด อาทิ ลดการใช้ไฟฟ้า ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน หรือมีเครื่องหมาย เบอร์ 5 ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในระดับ 25-26 องศา เพื่อรองรับการเกิด Peak ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน รวมถึงการลดใช้น้ำมัน ด้วยการบำรุงรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอและขับรถให้ถูกวิธีก่อนเทศกาลวันหยุดยาวครั้งต่อไปในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.”

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านพลังงาน 5 นโยบาย ประกอบด้วย 1.ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และให้ผู้บริโภคระมัดระวังไม่ให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย 3.ดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก 4.สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงและจากพลังงานทดแทนทุกชนิดอย่างเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม และ 5.ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาพลังงาน

พล.อ.อนันตพร กล่าวถึงโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสริมความมั่นคงทางระบบไฟฟ้าว่า ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้

ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานได้เดินหน้าดำเนินการตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว ปี 2558-2579 หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint. ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 2.แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP 2015 3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 4.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan 2015 5.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 2015

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. มีการดำเนินการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับความต้องการในอนาคตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

โดยในปี 2559 จะมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคพลังงานเรียงลำดับตามสาขาดังต่อไปนี้ คือ สาขาพลังงานปิโตรเลียม เงินลงทุน 342,284 ล้านบาท สาขาอนุรักษ์พลังงาน 126,000 ล้านบาท สาขาพลังงานไฟฟ้า 121,060 ล้านบาท และสาขาพลังงานทดแทน 102,228 ล้านบาท รวมการลงทุนทั้งสิ้น 691,572 ล้านบาท

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวระหว่างการอภิปราย เรื่อง “ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าตามแผน PDP 2015” ว่า บทบาทของ กฟผ. สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าไทยตามแผน PDP 2015 ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลพลังงาน ความมั่นคง ราคา สิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน

โดยการสร้างสมดุลพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไป จะทำให้ราคาต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น และค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะเพิ่มมากขึ้น และจะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเข้าระบบเกือบ 20,000 เมกะวัตต์ส่วนในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะมีการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าลงให้เหลือ 0.3 กก./หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ จากเดิม 0.5 กก./หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้

สำหรับการประหยัดพลังงานของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตามแผน PDP 2015 จะลดการผลิตไฟฟ้าได้เกือบ 10,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับแผน PDP ฉบับเก่า ดังนั้น PDP จึงเป็นหลักสำคัญทำให้ทราบว่า เราจะผลิตไฟฟ้าในอัตราส่วนเท่าไร อย่างไร แต่ก็ต้องทำการติดตามอยู่เป็นระยะ เพราะมีความผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นตลอด

นายสุนชัย กล่าวถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน อีกว่า ควรมีการนำมาใช้ แต่ต้องให้เหมาะสม กล่าวคือต้องพิจารณาความสมดุลของด้าน Demand และ Supply การใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกันในแต่ละพื้นที่ โดยโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร และโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ จะแล้วเสร็จประมาณปี 2566 ซึ่งจะสามารถรองรับพลังงานทดแทนได้เกือบ 16,000 เมกะวัตต์ เข้ามาในระบบได้เมื่อสิ้นแผน PDP 2015 (ปี 2579)

 จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

เตือน "ผู้ส่งออก-นำเข้า" อย่าชะล่าใจค่าเงินบาท

ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวผันผวนมาก กรอบการเคลื่อนไหวเงินบาททั้งปีอยู่ระหว่าง 32.30-36.65 บาท/เหรียญสหรัฐ ห่างกันถึง 4.35 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือ 13.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส 1/2558 โดยแตะระดับ 32.30 บาท/เหรียญสหรัฐ ในช่วงปลายเดือน ก.พ. เพราะในช่วงนั้นนักลงทุนและตลาดไม่แน่ใจจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในช่วงปลายเดือน ก.พ. เพราะในช่วงนั้นนักลงทุนและตลาดไม่แน่ใจจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ อย่างไรก็ดีเงินบาทกลับมาอ่อนค่าในปลายเดือน เม.ย. หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนต่อและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหนือความคาดหมายของตลาดจาก 1.75% เหลือ 1.5%

ทั้งนี้ ในรอบปี 2558 เงินบาทอ่อนค่าลง 8.8% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิในหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1.53 แสนล้านบาท ด้านยอดคงค้างพันธบัตรที่ของผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ หรือนันเรสซิเดนท์ถือครองลดลง 1.12 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2557

สำหรับปี 2559 แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องแต่ระดับการอ่อนค่านั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เห็นว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงไปแตะ 40 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะสัปดาห์แรกของปีใหม่นี้เกิดปัญหาการเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นจีนและการประกาศอ่อนค่าเงินหยวน ทำให้เงินบาทผันผวนมากขึ้น

โดย จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ

0.7% จากสิ้นปี 2558 พร้อมทั้งเตือนให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับความผันผวนที่คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไป

ซึ่งหากดูค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2558 ที่ ธปท. ระบุว่า อยู่ที่ 5.09% สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 4% ค่าความผันผวนของเงินบาทในปีนี้ก็น่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อดูจากสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงทำให้เงินยังคงไหลออกจากตลาดเงินไทยและกว่าที่ตลาดเงินไทยจะมีเสถียรภาพได้ก็น่าจะกลางปีนี้เป็นอย่างช้า

ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดว่าจะดำเนินการไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งตลอดทั้งปีนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนจากการคาดหมายผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยยิ่งกดดันค่าเงินบาทให้ปั่นป่วนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางการจีนที่ตลาดคาดว่าจะมีการทำสงครามค่าเงิน ด้วยการกดค่าเงินหยวนให้อ่อนค่า เพื่อพยุงความสามารถในการส่งออกไว้ ซึ่งจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยต้องทำสงครามค่าเงินตาม เพื่อดูแลการส่งออกเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องผ่อนคลายนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม เพื่อรักษาการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ เพื่อช่วยให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 

เปิดเออีซี-เขตพัฒนาศก.พิเศษ แม่เหล็กดูดทัพนักลงทุนบูม 10 จังหวัดชายแดน

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ผนวกกับการอ้าแขนรับทัพนักลงทุนให้เข้าพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัด ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการเห็นการตอกเสาเข็มของนักลงทุนมากที่สุดในปีนี้ นั่นคือ “แม่สอด-สระแก้ว” จะกลายเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดทัพนักลงทุน

 เออีซีตัวเชื่อม-เขตศก.พิเศษหนุน

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเชื่อมโยงการค้าชายแดนและค้าข้ามแดน ระหว่างเพื่อนบ้านด้วยกัน หรือใช้เพื่อนบ้านเป็นประตูผ่านไปสู่ประเทศใกล้เคียง อย่างจีน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป โดยเลาะไปตามแนวระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน ตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบีได้แบ่งเส้นทางคมนาคมไว้ อาทิ เส้นทางอาร์ 3 จากคุนหมิง-ผ่านลาวหรือเมียนมา-เชียงราย-กรุงเทพฯ เส้นทางอาร์ 9 เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้จากท่าเรือเมาะละแหม่ง-ไทย-ลาว-ท่าเรือดานัง ในเวียดนาม หรือแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่องโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปิดเออีซี มุมมองของภาคเอกชนอย่าง “นิยม ไวรัชพานิช” รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า ทุกอย่างจะสะดวกยิ่งขึ้น ที่สำคัญเกิดการรวมกลุ่มทางการค้าระดับอาเซียนที่มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรวมกันเป็นผืนใหญ่ เช่น ไทยมี 10 จังหวัดมากกว่า 10 แห่ง เมียนมา 7-8 แห่ง เวียดนาม 200 กว่าแห่ง กัมพูชากว่า 10 แห่ง ลาว 25 แห่ง เป็นต้น ที่สามารถขยายตลาดไปทั่วโลก

นอกเหนือไปจากประชากร 600 ล้านคนที่มีอยู่ในมือ ซึ่งจะสอดรับกับนักลงทุนรายใหญ่ของภาครัฐ “ดร.วีระพงศ์ ไชยเพิ่ม” ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ระบุว่า เออีซีจะเป็นตัว “เชื่อม”พัฒนาการค้า การลงทุนไปตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะเป็นตัว “เสริม” ให้การค้าแข็งแกร่งขึ้นและได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น ที่สำคัญไทยมีความพร้อมสุด ด้านโครงข่ายคมนาคมที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะเมื่อมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้น รองรับการค้าการลงทุน ก็ยิ่งได้รับการสนับสนุนลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น แต่จะค่อยเป็นค่อยไปตามแผนที่วางไว้

 ทัพลงทุนแห่ปักธงเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวนักลงทุน โดยเฉพาะรายใหญ่ อาทิ ค่ายปตท. ซีพี สหพัฒน์ ฯลฯ ได้ข้ามฝั่งไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน และในประเทศตะเข็บชายแดนก่อนเปิดเออีซีแล้ว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ อุปโภคบริโภค ขณะที่ที่ดินรัฐที่เตรียมไว้รับทัพลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กนอ.ระบุว่า มีนักลงทุนในประเทศสนใจเช่าพื้นที่ลงทุนโลจิสติกส์จำนวนมาก รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติ อาทิ สระแก้ว แม่สอด สงขลา ขณะเดียวกันพื้นที่สระแก้ว 600 ไร่ น่าจะเปิดให้ตั้งโรงงานได้ปลายปี 2559 ส่วนนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. น้ำตาลขอนแก่นเข้าพื้นที่ตั้งโรงงานที่อำเภอวัฒนานครเป็นรายแรก

ส่วนพื้นที่อื่นยังติดปัญหาบุกรุก ที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ระบุว่ามี 41 รายที่จะได้รับการส่งเสริมกระจายในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับสูงขึ้น อาทิ แม่สอดติดถนนสายเอเชีย ไร่ละ 20-30 ล้านบาท เชียงรายใกล้สะพานข้ามโขง 4 เฉลี่ยไร่ละ 6-7 ล้านบาท มุกดาหารริมโขง ไร่ละ 10 ล้านบาทเป็นต้น

  โอกาสมาพร้อมปัญหา

ขณะที่โอกาสการขยายตัวทางการค้าการลงทุนมาถึง แต่ในทางปฏิบัติยังมีอุปสรรคอีกมาก “ภมร เชาว์ศิริกุล” ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ย้ำว่า การเปิดเออีซีในช่วงต้นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ต้องอาศัยเวลา เพราะยังติดปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบที่มีความต่าง ขณะที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนยังนิ่งๆ ตัวอย่างที่มุกดาหารและหลายพื้นที่ยังไม่คืบหน้า รวมถึงติดปัญหาบุกรุก ราคาที่ดินแพงเกินจริง ผังเมืองยังไม่ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั้งบก ราง น้ำ อากาศในประเทศยังไม่เชื่อมกันได้อย่างสมบูรณ์โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ที่ ไทยเราแม้จะได้เปรียบเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังไม่ดำเนินการเท่าที่ควร เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและภาษาที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุน เป็นต้น

คงต้องจับตากันต่อว่า หลังเออีซีและมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 จังหวัด เชื่อมโยงและสนับสนุนกันแล้ว จะส่งผลทำให้การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวคึกคักเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว นั่นคือ ราคาที่ดินถูกปั่นจนทะลุเพดาน นายหน้าและเจ้าของที่ดินร่ำรวยไปพร้อมๆ กับการขายที่ดินรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเออีซีไปก่อนหน้านี้แล้ว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

กรมชลฯมั่นใจบริหารน้ำปีนี้รอด! มีใช้2.9พันล้านลบ.ม.ตลอดแล้ง

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในขนาดใหญ่ 4 เขื่อน ว่า ยังมีพอใช้ไปจนถึงเดือน ก.ค.59 เป็นช่วงเข้าฤดูฝนเต็มตัว โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำล่าสุดอยู่ที่ 3.7 พันล้านลูกบาศ์กเมตร อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่กรมชลประทานได้วางไว้ ให้กับการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศผลักดันน้ำเค็ม เป็นภาระกิจหลัก ได้จัดสรรไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งประมาณ 2.9 พันล้านลูกบาศ์กเมตร โดยปล่อยระบายวันละ 17.60 ล้านลูกบาศ์กเมตร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด

"ปริมาณน้ำปีนี้ใน 4 เขื่อนใหญ่ ยืนยันมีเพียงพอแน่นอนไปจนถึง ก.ค.ซึ่งการจัดสรรน้ำต้องให้เป็นไปตามแผน คือ อุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำทะเล และการเกษตร สำหรับพืชไร่ พืชสวนเท่านั้น ซึ่งไม่มีน้ำเพียงพอให้กับพื้นที่ปลูกข้าว ทางกรมได้ชี้แจงให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาต่อเนื่องแล้ว" นายสุเทพ กล่าว

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าไปทุกจังหวัด ให้ขอความร่วมมือ อบต.ทุกพื้นที่ ไม่ส่งน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งสถานีสูบน้ำทุกแห่ง 365 แห่ง จะสูบน้ำเพื่อการประปาเท่านั้น ทั้งนี้ ได้ปิดระบบส่งน้ำเข้าคลองชลประทานทั้งหมดในลุ่มเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง

จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีพื้นที่ได้ปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.7 ล้านไร่ นับว่าอัตราการเพิ่มต่อสัปดาห์น้อยลง เมื่อเทียบกับปี 58 ในช่วงเดียวกันปลูกไปถึง 3.2 ล้านไร่ เป็นผลจากการชี้แจงว่าจะไม่ส่งน้ำให้ และชาวนาได้เห็นปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ลดลงไปอย่างรวดเร็วกว่าทุกปี

"การระบายน้ำจากเขื่อนมาตามลำคลองสายหลัก หากมีปัญหาลักสูบน้ำกลางทางหรือเกิดแย่งชิงน้ำกัน ต้องใช้มาตรการขอร้องกัน ซึ่งเชื่อว่าทุกพื้นที่มีมาตรการควบคุมปัญหาได้ มั่นใจว่าเหตุการณ์จะดีกว่าปี 58 เพราะปริมาณการปลูกข้าวน้อยลง ปี 58 ปลูกน้อยกว่าถึง 1.2 ล้านไร่ ในเขตชลประทาน ซึ่งการบริหารน้ำปีนี้รอดแน่นอน แต่ช่วงข้าวตั้งท้อง อีก 2 เดือน น่าห่วง รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลฯ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ เร่งขุดบ่อ บ่อน้ำบาดาล ให้เกษตรกรที่ร่วมกลุ่มกันมาร้องขอในหลายพื้นที่ประสบภัยแล้งใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว" นายสุเทพ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

สอน.ไฟเขียวตั้ง 6 รง.นํ้าตาล ประเดิมล็อตแรกลงทุน 3 หมื่นล้านให้สิทธิ์60 วันต้องคืบหน้า

สอน.อนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแล้ว 6 แห่ง หลังไม่เปิดให้ใบอนุญาตมาร่วม 26 ปี แต่ให้ผู้ประกอบการเซ็นรับทราบเงื่อนไขต้องลงทุนจริงภายใน 60 วัน ทำไม่ได้ยึดใบอนุญาตคืน เปิดโอกาสให้รายอื่นเสียบแทน คาดเงินลงทุนสะพัด 3 หมื่นล้านบาท อ้อยเข้าหีบได้ 14.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ล็อต 2 จ่ออนุมัติอีก 6 โรง รอเพียงการพิสูจน์แผนส่งเสริมการปลูกอ้อย

โรงงานน้ำตาลทรายที่ได้รับอนุญาตตั้งโรงงานใหม่

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่ม และได้ออกมติใหม่ให้สามารถตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรได้นั้น โดยสอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล ยื่นเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่

ทั้งนี้ มีผู้สนใจยื่นเข้ามาจำนวน 30 คำขอ และสอน.ได้พิจารณาและสามารถออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือให้ย้ายโรงงานน้ำตาลในเบื้องต้นได้แล้วจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญ โรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง จังหวัด ร้อยเอ็ด โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โรงงานน้ำตาลมิตรผล จังหวัด ชัยภูมิ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จังหวัด เพชรบุรี และโรงงานน้ำตาลมิตร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแต่ละโรงานมีกำลังการผลิตแห่งละ 2 หมื่นตันต่อวัน หากรวมกำลังหีบอ้อยทั้งหมดจะตก 14.4 ล้านตันอ้อยต่อปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมกันประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอีก 6 โรงงาน ซึ่งสอน.กำลังอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ปริมาณอ้อย ตามแผนการส่งเสริมการปลูกอ้อย และอีกส่วนอยู่ระหว่างการหาข้อยุติในขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากที่มีผู้ประกอบการบางรายยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีที่บริษัท นํ้าตาลไทยเอกลักษณ์ฯ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่นำเรื่องขอย้ายโรงงานนํ้าตาล เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำหรับการพิจารณาให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ที่จะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตในฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และกำหนดให้โรงงานที่ได้ใบอนุญาตไปแล้วจะต้องเปิดดำเนินการหีบอ้อยได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากที่ได้ใบอนุญาตตั้งโรงงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว ทางสอน.ได้ให้ผู้ประกอบการมาลงนามรับทราบในเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งรัดการลงทุน หรือมีความเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับการทำอีไอเอ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุน แต่เพื่อเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ประกอบรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ที่สำคัญจะทำให้ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 11 ปี ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 16 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน

ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 60 วันนี้ ทางสอน.จะลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการ หากเห็นว่าโรงงานน้ำตาลไม่มีความเคลื่อนไหว ก็จะทำการยกเลิกใบอนุญาตทันที และเปิดให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการายใหม่ที่ยังเข้าคิวรออยู่แทน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

ราคาพืชศก.ตกต่ำภูมิภาคสูญเงิน4.5หมื่นล.

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ปี 2559 ถือเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากราคาตกต่ำ ประเมินเม็ดเงินหายจากภูมิภาคกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท บั่นทอนกำลังซื้อในท้องถิ่น กระทบยอดขายธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่

พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด มีมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรขายได้มากกว่า 7.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่กระจายไปสู่ครอบครัวเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็น 34% มูลค่า 2.54 แสนล้านบาท รองลงมาคือภาคใต้และภาคเหนือ มีสัดส่วน 27% และ 19% คิดเป็นมูลค่า 2.01 และ 1.42 แสนล้านบาทตามลำดับ

ผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า มูลค่าผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 2559 จะลดลง 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.52 หมื่นล้านบาท เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ลดลงมากที่สุด ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท จากราคาข้าวนาปีและราคามันสำปะหลังที่ลดลง เกษตรกรภาคใต้ได้รับผลกระทบรองลงมาจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ลดลง ทำให้เม็ดเงินหายไปจากพื้นที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

จากรายได้การขายผลผลิตที่ลดลงหลายหมื่นล้านจะทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลง กระทบต่อยอดขายและสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่ ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจค้า/จำหน่าย ปุ๋ยและเคมีการเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร และกลุ่มสินค้าที่ราคาสูงและอายุใช้งานนาน สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังทำให้ธุรกิจรับซื้อหรือรวบรวมผลผลิตมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

5 พืชเศรษฐกิจปี 2559 ปัจจัยลบรุมเร้า ห่วงเศรษฐกิจภูธรซึมยาว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด ปี 2559 ราคาพืชเศรษฐกิจตกต่ำ ประเมินเม็ดเงินหายจากภูมิภาคกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท บั่นทอนกำลังซื้อในท้องถิ่น กระทบยอดขายธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่

ปี 2559 ถือเป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับเกษตรกรผู้เพาะปลูก 5 พืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายปัจจัยเกิดขึ้นต่อเนื่องข้ามปี เริ่มต้นจากพืชสำคัญอย่าง ข้าว ที่มีมูลค่าผลผลิตกว่า 3.5 แสนล้านบาทนั้น ยังประสบปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ในหลายพื้นที่ อีกทั้ง ราคาข้าวไม่อาจเพิ่มขึ้นได้แม้ปริมาณผลผลิตลดลงเพราะยังมีข้าวในสต็อกของรัฐบาลกว่า 13 ล้านตันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น แอฟริกาและจีน

นอกจากนั้น ยางพาราและมันสำปะหลัง ที่ส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก เศรษฐกิจก็ยังคงชะลอตัวกดดันราคาต่อเนื่องในปีนี้ ประกอบกับการเปลี่ยนนโยบายข้าวโพดของจีน ที่อาจกระทบกับการส่งออกมันสำปะหลังซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก ในขณะที่ อ้อยเองก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่กดราคาน้ำตาลในตลาดโลก และท้ายสุด ปาล์มน้ำมันที่ราคาในประเทศสูงกว่าราคาคู่แข่งอย่างมาเลเซียก็มีแนวโน้มราคาลดลงจากภาวะสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีมากเกินไป

ทั้งนี้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด มีมูลค่าผลผลิตที่เกษตรกรขายได้มากกว่า 7.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้ที่กระจายไปสู่ครอบครัวเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 34 มูลค่า 2.54 แสนล้านบาท รองลงมาคือภาคใต้และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 27 และ 19 คิดเป็นมูลค่า 2.01 และ 1.42 แสนล้านบาทตามลำดับ

ผลการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า มูลค่าผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรจะขายได้ในปี 2559 จะลดลงประมาณ 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.52 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้ลดลงมากที่สุด ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท จากราคาข้าวนาปีและราคามันสำปะหลังที่ลดลง เกษตรกรภาคใต้ได้รับผลกระทบรองลงมาจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ลดลง ทำให้เม็ดเงินหายไปจากพื้นที่ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ทำให้มีความกังวลเพิ่มเติม จากรายได้การขายผลผลิตที่ลดลงหลายหมื่นล้าน จะทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรลดลง เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ลดลง กระทบต่อยอดขายและสภาพคล่องของธุรกิจ SMEs เป็นลูกโซ่

เราคาดว่า ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ธุรกิจค้า/จำหน่าย ปุ๋ยและเคมีการเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร และกลุ่มสินค้าที่ราคาสูงและอายุใช้งานนาน สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ยังทำให้ธุรกิจรับซื้อหรือรวบรวมผลผลิตมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย

ดังนั้นด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถูกรุมเร้าจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอในปีนี้ การช่วยพยุงเศรษฐกิจภูมิภาคและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญของการผลิกฟื้นเศรษฐกิจในปีนี้ โดยต้องระวังเป็นพิเศษกับมาตรการช่วยเหลือที่อาจกระทบกับกลไกตลาด ส่งผลต่อโครงสร้างตลาดและกลไกราคา รวมถึงมาตรการที่ส่งผลให้มีการสะสมสต็อกสินค้าเกษตร เช่น นโยบายจำนำข้าว หรือ นโยบายรับซื้อยางพารา จนกลายเป็นสต็อกที่ต้องใช้เวลานานในการระบายออก และส่งผลกดดันราคาข้าวและยางพาราในระยะยาวดังที่เป็นอยู่ แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือในระยะสั้น แต่กลายเป็นดาบสองคมกลับมาส่งผลลบต่อเกษตรกรเองในระยะยาว

จาก http://www.prachachat.net   วัน ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

อีสท์วอเตอร์ปักธงผู้นำภาค หนุน 'Water Complex' พลิกโฉมบริหารน้ำ

อีสท์วอเตอร์ ตั้งเป้าผู้นำการบริหารจัดการน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชูแนวคิดสร้างระบบน้ำของประเทศสู่ความยั่งยืนด้วย 3W ผุดโครงการ Water Complex เจาะนิคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่...

นายวิทยา ฉายสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เปิดเผยว่า อีสท์วอเตอร์พร้อมก้าวสู่ความเป็นอันดับหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการ Water Complex เน้นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานการสร้างระบบน้ำของประเทศสู่ความยั่งยืนด้วย 3W คือ Water Grid, Water Network, Water Complex เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนว่านับจากนี้จะมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลนในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ Water Complex เป็นการวางโครงสร้างด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบครบวงจรให้เหมาะกับแต่ละประเภทของอุตสาหกรรม ทั้งน้ำดิบ ระบบน้ำประปา ระบบน้ำแคลิฟาย ระบบน้ำ RO ระบบ Reuse และ Recycle รวมทั้งระบบน้ำดีมิน (Demineral Water) ที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้หม้อไอน้ำความดันสูง หรืออุตสาหกรรมที่ต้องมีการใช้น้ำในกระบวนการผลิตที่มีความสะอาดสูงมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และการปฏิบัติการทางการแพทย์ เป็นต้น โดยกลุ่มเป้าหมายสำหรับตลาดใหม่ในธุรกิจ Water Complex ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ตามแนวซุปเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นตามนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในอนาคตอันใกล้

"การบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจรในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ตามนโยบายรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาป่าต้นน้ำและการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยปัจจุบันมีน้ำทิ้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมกว่า 14 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน หากนำกลับเข้ามาใช้ในระบบได้ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรม และยังช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่ทิ้งลงแหล่งน้ำสาธารณะอีกด้วย ขณะเดียวกัน การใช้น้ำเหมาะกับ

จาก http://www.thairath.co.th   วัน ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : เทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิต

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศให้ปี 2559 เป็น “ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร” โดยมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1.การลดปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ) 2.เพิ่มผลผลิตต่อไร่ 3.เพิ่มการบริหารจัดการ (รวมแปลง+รวมทุน+เครื่องมือ) 4.การตลาด (วางแผน/เพิ่มช่องทาง) กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ศึกษา ค้นคว้าวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

โดยผลงานวิจัยที่เกษตรกรนำไปใช้นั้น มีทั้งด้านปัจจัยการผลิต เช่น พืชพันธุ์ดีปุ๋ยชนิดต่างๆ ที่ใช้ทดแทนหรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี สารสกัดจากพืชที่ใช้ทดแทน หรือใช้ร่วมกับสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร และวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้ก็มีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและคำแนะนำการปฏิบัติเพื่อลดต้นทุนการผลิตพืช มีดังนี้

ปัจจัยการผลิต 1.พืชพันธุ์ดี นับเป็นเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เข้าถึงเกษตรกรได้โดยง่าย เพราะไม่ต้องลงทุนสูง กรมวิชาการเกษตรตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยการทุ่มเทให้กับการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง สร้างระบบการรับรองพันธุ์ที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล มีพันธุ์พืชใหม่ที่กระจายสู่พี่น้องเกษตรกรทุกปี และพืชบางพันธุ์ได้รับความนิยมจากเกษตรกรมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น ข้าวหอมมะลิ 105 ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 1 ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ถั่วเหลืองพันธุ์ศรีสำโรง ถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า อ้อยพันธุ์อู่ทอง อ้อยพันธุ์ขอนแก่น งาพันธุ์อุบลราชธานี ยางพาราพันธุ์ RRIT 251 ถั่วฟักยาวพันธุ์พิจิตร เป็นต้น

ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีพืชพันธุ์ดีที่ได้รับการรับรองและนำจากกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย มันสำปะหลังระยอง 86-13 ข้าวโพดหวานลูกผสมชัยนาท 86-1 ข้าวโพดหวานลูกผสมชัยนาท 2 ฝ้ายตากฟ้า 86-5 ข้าวฟ่างสุพรรณบุรี 2 อ้อยอู่ทอง 14 อ้อยอู่ทอง 15 ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 4 ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี 5 ทุเรียนลูกผสมจันทบุรี6 และ มะนาวพิจิตร 1

จาก http://www.naewna.com วัน ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

เกษตรฯลุ้นงบแล้ง5.8พันล้าน 'บิ๊กฉัตร'รับมาตรการเดิมไม่ทัน ผอ.เขื่อนเจ้าพระยาแจงปีนี้หนัก 

คณะกรรมการ บูรณาการแก้ไขภัยแล้ง เตรียมเสนอ ครม.ขอเงินอีก 5,800 ล้าน

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้ผู้บริหารหน่วยงานทุกฝ่ายเร่งขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งใน 22 จังหวัด โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนวิกฤตนี้ หลังจากพบว่ามาตรการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ ซึ่งใช้ความชื้นในดินที่ได้อนุมัติไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ต้องปรับมาส่งเสริมการปลูกผักและเห็ดแทน

          ขณะที่มาตรการขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง ปรากฏว่ามีการปลูกข้าวไปแล้วถึง 1.6 ล้านไร่

          ด้าน นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอโครงการตามมาตรการที่ 4 โครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการ ของหมู่บ้านชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 8 มาตรการ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธาน เพื่อขออนุมัติโครงการ 4,765 โครงการ วงเงิน 5,800 ล้านบาท จากที่เสนอมาทั้งหมด 1.14 หมื่นราย ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านการพิจารณาจากพื้นที่แล้ว

          นายโอฬาร กล่าวว่า หากที่ประชุมเห็นชอบจะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันที่ 12 ม.ค.นี้ เพื่อให้ทันต่อการช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง สำหรับโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งที่เหลือจะมีการพิจารณาต่อไป

          สำหรับโครงการส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เป็นโครงการของชุมชนที่ ครม.อนุมัติงบไปเมื่อ 24 พ.ย. 2558 จำนวน 971 ล้านบาท ได้ส่งไปยังพื้นที่แล้ว มีเกษตรกรเข้าโครงการ 1.5 แสนราย ต้องการปลูกพืชอายุสั้น คือ พืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง 6.6 หมื่นราย โดยใช้ความชื้นในดินและต้องปลูกก่อนสิ้นเดือน ธ.ค. 2558 ล่าสุดแจ้งขอปลูกผักสวนครัวและเห็ด 8.8 หมื่นราย แต่ไม่สามารถปลูกได้ตามแผน จึงให้แต่ละพื้นที่ทำเวทีถามความเห็นประชาชนเพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกและการช่วยเหลือ คาดว่าจะได้ข้อยุติในเดือน ม.ค.นี้

          อย่างไรก็ตาม มาตรการจ้างแรงงานภาคเกษตรในโครงการชลประทาน พบว่าจ้างงานแล้ว 5.7 หมื่นคน เบิกงบไปแล้ว 746 ล้านบาท จากทั้งหมด 2,000 ล้านบาท

          นายเอกศิษฐ์ ศักดิ์ดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยา กล่าวว่า เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้ได้จริง 1,0992 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้ได้จริง 1,869 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าปี 2558 ถึง 2,360 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นสัญญาณว่าปีนี้ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าปี 2558

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

เขื่อนเจ้าพระยา น้ำต่ำกว่าจุดวิกฤติ ภัยแล้งลามหนักเทงบแสนล.ช่วย 

          ภัยแล้งรุนแรงหนักหนาสาหัสลุกลามทั่วประเทศ รัฐบาลทุ่มงบ 2.1 แสนล้านแก้ปัญหา ผอ.เขื่อนเจ้าพระยาเช็กสต๊อกน้ำเขื่อนหลักภูมิพล- สิริกิติ์น้อยกว่าปี 58 เกือบครึ่ง ต่ำกว่าจุดวิกฤติถึง 14 ซม. ลดลงวันละ 7 ซม. ระบายแค่ 75 ลบ.ม.ต่อวินาที รักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม ชี้ปิง-วัง-ยม-น่าน แห้งขอดเห็นสันทราย ชาวบ้านเดินข้าม-ผู้เลี้ยงปลากระชังทุกข์สาหัสปลาน็อกน้ำตาย  ขาดทุนย่อยยับเจ๊งระนาว โรงเรียนอยุธยาผวาตลิ่งทรุด ชาวนาอ่างทองน้ำตาตกขาดทุนหมดตัว

          เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้ง ได้ทวีความรุนแรงและลุกลามหลายจังหวัด โดยเฉพาะ จ. เชียงใหม่ ล่าสุดแม่น้ำปิงใน ต.ป่าแดด อ.เมือง บริเวณหลังประตูระบายน้ำบ้านป่าแดด มีสภาพแห้งขอด จนเดินผ่านข้ามไปมาได้ บางจุดมีเนินดินโผล่มาให้เห็น ชาวบ้านบางส่วนหน้าบานรีบนำอุปกรณ์ออกมาจับปลาที่ติดตามเกาะแก่งกลางแม่น้ำไปขายเป็นรายได้เสริม

          ด้านนายณรงค์ หลวงสุนทร อายุ 46 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง บ้านท่าวังศรี ต.สบแม่ข่า อ.หางดง ต้องหน้าเศร้าเป็นทุกข์หนักเพราะปลาที่เลี้ยงไว้เริ่มน็อกน้ำ เพราะคุณภาพน้ำลดลงจากปริมาณน้ำที่ลดลง  จนเริ่มป่วยและทยอยตายบางส่วน  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปิดกังหันเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และใช้เวลาประคบ ประหงมยืดเวลาการเลี้ยงออกไปอีก 2 เดือน จากปกติเลี้ยงไว้ 5 เดือน หลายรายสู้ต้นทุนไม่ไหวต้องเลิกกิจการ ทั้งนี้ จ.เชียงใหม่ มีผู้เลี้ยงปลากระชังริมแม่น้ำปิงใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของภาคเหนือถึง 167 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 102 ราย  860 กระชังจาก 1,800 กระชัง  ล่าสุดจังหวัดเชียงใหม่ยังประกาศให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กระชังงดเลี้ยงปลาเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายผลกระทบภัยแล้ง

          นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่ (ปภ.) เปิดเผยว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 31 ล้านลบ.ม. ของความจุเขื่อน  ใช้การได้  17  ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6 เท่านั้น ส่วนเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีระดับน้ำ  71 ล้าน  ลบ.ม. ใช้ได้ 51 ล้าน  ลบ.ม. ถือว่าปริมาณน้ำน้อยมาก สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติและน่าเป็นห่วง

          ที่ จ.แพร่  นายทรงฤทธิ์ แก้วสุทธิ นายอำเภอเมืองแพร่  ตรวจดูการกั้นกระสอบทรายขวางลำน้ำยมของชาวบ้าน ต.วังธง อ.เมือง ที่นายทะนงศักดิ์ แดงใจ กำนันตำบลวังธง และนายสุภวัฒน์  ศุภศิริ ส.อบจ.เขตอำเภอเมือง นำพระสงฆ์ ทหาร และชาวบ้านรวมพลังสามัคคีทั้งลงแรงและลงเงินกันกั้นกระสอบทรายแม่น้ำยมหมู่ 3 กับ หมู่ 6 เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สู้ภัยแล้ง ที่ จ.สกลนคร เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว ขาด แคลนน้ำ ทำให้เจริญเติบโตช้า ออกดอกออกผลช้า กระทบต่อรายได้ต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำประปารดต้นมะนาวก่อนจะยืนต้นตาย แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

          ด้านนายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ. โครงการเขื่อนเจ้าพระยา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบระดับน้ำพบปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ 13.82 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง วันนี้ลดลงอีก 7ซม. สู่ระดับต่ำกว่าจุดวิกฤติแล้ว 14 ซม. ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.96 เมตร  โดยเขื่อนเจ้าพระยารับน้ำมาจากแม่น้ำปิง วัง ยมและแม่น้ำน่าน ที่ขณะนี้มีสภาพแห้งขอดหลายจุดระบายมาจากจ.นครสวรรค์ วันละ 140 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่ำ

          กว่าปี 58 จึงคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 75 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำนายเอกสิษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์รวมกันมีน้ำใช้งานได้จริงเพียง 2,968 ล้านลบ.ม. เทียบกับปี 58 มี 5,328 ล้านลบ.ม. ต่ำกว่าถึง 2,360ล้านลบ.ม. เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าปีนี้ภัยแล้งรุนแรงหนักหนาสาหัส

          ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากนายจำรูณ หอบระรื่น  รักษาการ ผอ.โรงเรียนคู้สลอด 2 (ชมแช่มวิทย์อุปถัมภ์) ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง ว่าระดับน้ำในคลองขนมจีน ได้แห้งขอดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวดินทรุดตัวเป็นทางยาวกว่า 50  เมตร ทำให้ห้องน้ำของเด็กนักเรียนที่อยู่ใกล้กับคลองใช้ไม่ได้ เนื่อง จากทางโรงเรียนเกรงจะเกิดอันตราย และคาดว่าแนวคั้นดินจะทรุดตัวเพิ่มขึ้นอีก เป็นอันตรายกับเด็ก ๆ

          ที่ จ.อ่างทอง  ชาวนาใน  ต.ไผ่ดำพัฒนา อ.วิเศษชัยชาญ เร่งสูบน้ำจากบ่อบาดาล ฉีดใส่ไร่ข้าวก่อนยืนต้นตาย เนื่องจากน้ำในคลองชลประทานแห้งขอด และคาดว่าชาวนาต้องขาดทุนจนหมดตัว เพราะไม่มีน้ำไปฉีดไร่ข้าว อีกทั้งมีหนูนาหิวโซ ขาดแหล่งอาหารจากภัยแล้งกัดกินต้นข้าวเสียหายย่อยยับด้วย

          วันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยังติดขัดในกระบวนการจัดหาพันธุ์พืชใช้น้ำน้อย ให้เหมาะสมกับสภาพดินและความชื้นในดินแจกเกษตร กร ซึ่งมีเป้าหมายให้ถือมือเกษตกรเดือน ธ.ค.58 เนื่องจากติดระเบียบขั้นตอนของสำนักงบประมาณ เลยปรับเปลี่ยนชนิดพืชจากพันธุ์ถั่วต่าง ๆ  เป็นแจกจ่ายเมล็ดพืชผักสวนครัวแทนให้เสร็จในเดือน ม.ค.นี้

          ด้านนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการ กล่าวว่า ได้สำรวจเกษตรกร 87,000 ราย ต้องการปลูกพืชใช้น้ำน้อย จะตรวจสอบเกษตรกรที่มีความพร้อมก่อนแจกจ่ายครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่ ให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ม.ค.นี้  ส่วนนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าหน้าแล้งปีนี้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคจนถึงเดือน ก.ค.แน่นอน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำงบประมาณปี 60  จะเสนอเข้าครม.เดือน ก.พ.เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะภัยแล้งเป็น 210,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 อีก 120,000 ล้านบาท ที่ได้ งบ 92,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

'น้ำมูล'บุรีรัมย์ส่อวิกฤตแล้งหนัก ตอม่อ-สันดอนทรายโผล่รับต้นปี

7 ม.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์เริ่มคุกคาม ตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านบริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูลระหว่าง บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก กับ ต.ท่าตูม อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และประกอบอาชีพการประมง ทั้งหาปลา และเลี้ยงปลาในกระชัง ขณะนี้ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยระดับน้ำได้ลดลงตั้งแต่ต้นปีจากปกติทุกปีที่ผ่านมาจะลดลงช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน     

จากระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้มีสภาพตื้นเขินจนมองเห็นตอม่อสะพาน และบางจุดแห้งขอดจนสันดอนทรายโผล่ จนชาวบ้านสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้ถึงแม้ปีนี้เกษตรกรริมลำน้ำมูลจะงดทำนาปรังแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำมูลก็ยังลดเร็วกว่าปกติ

จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเกษตรกรหลายหมู่บ้านที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำมูล โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าเรือ ต้องหยุดเลี้ยงชั่วคราวเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ก็มีบางรายที่ยอมเสี่ยงเลี้ยงเนื่องจากไม่มีอาชีพอื่นรองรับ เพราะนาปรังก็ไม่สามารถทำได้

ส่วนชาวบ้านที่เคยอาศัยน้ำมูลหาปลาตามธรรมชาติเพื่อประทังชีวิต และส่งขายตามตลาด ปัจจุบันก็ไม่สามารถหาปลาได้ เนื่องจากปลาตามธรรมชาติเริ่มหดหายสูญพันธุ์ เหลือเพียงปลาขนาดเล็กหรือลูกปลาเท่านั้น

นายสุพล ธารินทร์รัมย์ ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาบริโภคและส่งขาย บอกว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูลได้ตื้นเขินและแห้งขอดเร็วกว่าทุกปี จากปกติทุกน้ำมูลจะแห้งประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน แต่ปีนี้ลดลงตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทั้งๆ ที่เกษตรกรก็ไม่ได้สูบน้ำไปทำนาปรัง

จากสภาพน้ำที่ตื้นเขินทำให้ไม่สามารถหาปลาได้เหมือนที่ผ่านมา จากปกติเคยหาได้วันละหลายกิโลกรัม นำไปขายมีรายได้วันละ 300-500 บาท แต่ปัจจุบันจะหาปลาไปบริโภคก็แทบจะไม่ได้ ทั้งปลาก็มีขนาดตัวเล็กลงหรือมีเพียงลูกปลาเท่านั้น จากเมื่อก่อนเคยจับได้น้ำหนักตัว 6-7 กิโลกรัม

ด้าน นายเปี่ยม เยี่ยมรัมย์ ชาวบ้านบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก บอกว่า ปีนี้น้ำมูลตื้นเขินแห้งขอดลงเร็วมาก จนมองเห็นตอม่อสะพานและสันดอนทรายโผล่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านบ้านท่าเรือที่ต้องอาศัยน้ำในลำน้ำมูลหาปลา และเลี้ยงปลากระชังไม่สามารถเลี้ยง ต้องปล่อยกระชังทิ้งร้าง จากเดิมเคยเลี้ยงมากกว่า 30 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 2 ราย จึงอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐเร่งเข้ามาสร้างเขื่อนยาง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและเกษตรกรด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

ชูบทบาทภาคเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก

 การประชุมดังกล่าว มีประเทศสมาชิกทั่วโลก 196 ประเทศ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมในพิธีเปิดและได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุมวันพฤหัสที่ 7 มกราคม 2559 เวลา 3:16 น.

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมประชุมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน–11 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อหารือให้ได้ผลลัพธ์ในรูปแบบของพิธีสารหรือข้อตกลงใหม่ว่าด้วยความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาฯ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศภาคีภายหลังปี ค.ศ. 2020

การประชุมดังกล่าว มีประเทศสมาชิกทั่วโลก 196 ประเทศ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมในพิธีเปิดและได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทยต่อที่ประชุม พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีพิเศษ และให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องเงินทุน งานวิจัย และองค์ความรู้เพื่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งประเทศไทย ได้แสดงความตั้งใจว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 - 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันการใช้พลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า และทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติอีกด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมCOPสมัยที่ 21 ได้มีมติเห็นชอบ“ร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก”หรือเรียกว่า“ข้อตกลงปารีส” โดยตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน และจะจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะมีการทบทวนความคืบหน้าทุก ๆ 5 ปี

โดยหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้สัตยาบัน ซึ่งจะต้องมีอย่างน้อย 55 ประเทศให้สัตยาบัน และประเทศเหล่านั้นต้องมีอัตราการลดก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 55 ของโลกขึ้นไป ข้อตกลงดังกล่าว จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ในปี ค.ศ. 2020

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมองค์กรย่อยว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมัยที่ 43 โดยมีการเจรจาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการ เช่น ประเด็นการบ่งชี้มาตรการการปรับตัว โดยพิจารณาความหลากหลายของระบบการเกษตร ระบบความรู้ดั้งเดิม ระดับความแตกต่างของแต่ละประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนา และประเด็นการบ่งชี้ประเมินแนวทางปฏิบัติและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงอาหาร และการมีภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ผู้แทนจากประเทศไทยจะได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อคิดเห็นและบทบาทของไทยในการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา และการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ กรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ต่อไป.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

สอน.ไฟเขียวตั้ง6รง.น้ำตาล ประเดิมล็อตแรกลงทุน3หมื่นล้านให้สิทธิ์60วันต้องคืบหน้า 

           สอน.อนุมัติตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแล้ว 6 แห่ง หลังไม่เปิดให้ใบอนุญาตมาร่วม 26 ปี แต่ให้ผู้ประกอบการเซ็นรับทราบเงื่อนไขต้องลงทุนจริงภายใน 60 วัน ทำไม่ได้ยึดใบอนุญาตคืน เปิดโอกาสให้รายอื่นเสียบแทน คาดเงินลงทุนสะพัด 3 หมื่นล้านบาท อ้อยเข้าหีบได้ 14.4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ล็อต 2 จ่ออนุมัติอีก 6 โรง รอเพียงการพิสูจน์แผนส่งเสริมการปลูกอ้อย

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2532 ที่ไม่อนุญาตให้มีการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่ม และได้ออกมติใหม่ให้สามารถตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรได้นั้น โดยสอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการ ยื่นเรื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลฉบับใหม่

          ทั้งนี้ มีผู้สนใจยื่นเข้ามาจำนวน 30 คำขอ และสอน.ได้พิจารณาและสามารถออกใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือให้ย้ายโรงงานน้ำตาลในเบื้องต้นได้แล้วจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในจังหวัดอำนาจเจริญโรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง จังหวัดร้อยเอ็ด โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์โรงงานน้ำตาลมิตรผล จังหวัดชัยภูมิ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จังหวัด เพชรบุรี และโรงงานน้ำตาลมิตร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแต่ละโรงงานมีกำลังการผลิตแห่งละ 2 หมื่นตันต่อวัน หากรวมกำลังหีบอ้อยทั้งหมดจะตก 14.4 ล้านตันอ้อยต่อปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมกันประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ในข่ายจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตอีก 6 โรงงาน ซึ่งสอน.กำลังอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ปริมาณอ้อย ตามแผนการส่งเสริมการปลูกอ้อย และอีกส่วนอยู่ระหว่างการหาข้อยุติในขั้นตอนของกฎหมาย หลังจากที่มีผู้ประกอบการบางรายยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีที่บริษัท น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ฯ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่นำเรื่องขอย้ายโรงงานน้ำตาล เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

          สำหรับการพิจารณาให้ใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ที่จะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตในฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีและไม่ใช่อ้อยของเกษตรปีที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก และกำหนดให้โรงงานที่ได้ใบอนุญาตไปแล้วจะต้องเปิดดำเนินการหีบอ้อยได้ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากที่ได้ใบอนุญาตตั้งโรงงาน

          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการอนุมัติใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายดังกล่าว ทางสอน.ได้ให้ผู้ประกอบการมาลงนามรับทราบในเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลา 60 วันนับจากวันประกาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการเร่งรัดการลงทุน หรือมีความเคลื่อนไหวที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมการปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับการทำอีไอเอ  เป็นต้น

          ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุน แต่เพื่อเป็นการกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ที่สำคัญจะทำให้ยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 11 ปี ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 16 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทราย ได้จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน

          ดังนั้น ในช่วงระยะเวลา 60 วันนี้ ทางสอน.จะลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบการ หากเห็นว่าโรงงานน้ำตาลไม่มีความเคลื่อนไหว ก็จะทำการยกเลิกใบอนุญาตทันที และเปิดให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการายใหม่ที่ยังเข้าคิวรออยู่แทน

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

สหกรณ์ดอนหอ...ก้าวไม่หยุด รุกคืบรับซื้อ...ยาง-มันฯ-อ้อย

สหกรณ์น้องใหม่เกิดเพียงปีเดียวก้าวไม่หยุด ด้วยการเอาสินค้าเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากยางก้อนถ้วยมาเป็นยางเครป ต่อยอดรับซื้อมันสำปะหลังกับอ้อยโรงงาน รุกแก้ปัญหาเกษตรกรถูกโกงตาชั่ง

นายสมพงษ์ หมั่นมา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด ต.ข้าวสาร อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เผยว่า แม้ว่าสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอจะเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ มี.ค.58 ประกอบรวบรวมยางก้อนถ้วยจากสมาชิกมาแปรรูปเป็นยางเครปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทางสหกรณ์ฯไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าบริการใช้เครื่องเครปยางจากสมาชิก ช่วยให้เกษตรกรได้ราคาเพิ่ม จากเดิมขายเป็นแค่ยางก้อนถ้วย กก.ละ 20 บาท เพิ่มเป็น 25-26 บาท ทำให้สมาชิกได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย กก.ละ 5 บาท

 “จากความสำเร็จในการแปรรูปยางก้อนถ้วยมาเป็นยางเครป ทางสหกรณ์ยังได้จัดหาแหล่งเงินทุนจากเงินสะสมของสมาชิกสหกรณ์ และกู้เพิ่มจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. เพื่อนำมาขยายกิจการซื้อเครื่องเครปยางเพิ่มอีก 2 เครื่อง เพื่อให้บริการแปรรูปยางเครปได้มากขึ้น พร้อมกับสร้างลานตากมันสำปะหลังและซื้อเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกผลผลิตมาติดตั้งเป็นของสหกรณ์เอง เพื่อรับซื้อหัวมันสำปะหลัง และอ้อยโรงงานจากสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป เนื่องจากเราได้รับการร้องเรียนว่า มันสำปะหลังและอ้อยที่นำไปขายพ่อค้าถูกโกงตาชั่งเป็นประจำ เพราะน้ำหนักที่ชั่งจากหน้าสวนกับหน้าร้านพ่อค้าคนกลางไม่เท่ากัน ต่างกันมาก ปรากฏว่าลดปัญหาถูกเอา เปรียบได้เป็นอย่างดี และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด เผยอีกว่า เพื่อให้เกิดการสร้างความสามัคคีในกลุ่มของสมาชิก ทางสหกรณ์ยังได้จัดทำโครงการ “ลดต้นทุนการผลิต” เน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตอ้อยโรงงาน อบรมให้ความรู้สมาชิกในเรื่องไม่ให้เผาอ้อยก่อนตัด ทำให้โรงหีบอ้อยรับซื้อในราคาสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ รวมทั้งยังไม่ทำให้เกิดมลภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษอีกทั้งยังได้ขยายพื้นที่ของสหกรณ์ สร้างบ่อกักเก็บบำบัดน้ำเสีย แล้วนำเข้าสู่กระบวนการหมักเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ในกิจการของสหกรณ์เพื่อลดต้นทุนด้วย.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

ภัยแล้งส่อรุนแรง เจ้าพระยาลดฮวบ น้ำโขงวิกฤติ50ปี

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังตรวจสอบระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 13.82เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้ลดลงอีก7 เซ็นติเมตรและเป็นระดับที่ต่ำกว่าจุดวิกฤติ 14เซ็นติเมตร ขณะที่ ระดับระดับน้ำท้ายเขื่อนทรงตัวอยู่ที่ 5.96 เมตรโดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่75ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ

นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการเขื่อนเจ้าพระยา เผยว่า เมื่อเทียบปริมาณน้ำต้นทุนของปี2558 กับปี2559ของเขื่อนใหญ่2แห่งแล้วพบว่า ในวันนี้เมื่อปี พ.ศ.2558 เขื่อนภูมิพล มีน้ำที่ใช้การได้จริง 2,302ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 3,026ล้านลูกบาศก์เมตร หรือรวมกัน 5,328ล้านลูกบาศก์เมตร

“โดยในปีนี้ เขื่อนภูมิพล มีน้ำที่ใช้การได้จริง 1,0992ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง 1,869ล้านลูกบาศก์เมต หรือรวมกันได้เพียง 2,968ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าปี2558 ถึง 2,360ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55.7เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าในปีนี้ ภัยแล้งจะรุนแรงกว่าปี2558”ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำ

เช้าวันเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.อ่างทอง หลังจากประสบปัญหาภัยแล้งชาวนาจำนวนมากต่างเร่งสูบน้ำในคลองเพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวในแปลงนาหลายพันไร่ทำให้คลองเริ่มแห้งขอดอย่างรวดเร็วและมีฝูงปลานานาชนิดจำนวนมากทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ที่อยู่ในคลองจำนวนมากที่อาศัยอยู่ภายในคลองและเมื่อนำแห้งลง ชาวนาได้วางลอบดักปลาในกลางคลองเพื่อนำไปเป็นอาหาร โดยเฉพาะบริเวณคลองชลประทาน หมู่ 8 ต.ไผ่ดำพัฒนา อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ได้พบฝูงนกกระยางหลายพันตัว ลงหากินปลาภายในคลองชลประทานที่กำลังแห้งขอด พร้อมแย่งชิงกับชาวนาหลังประสบภัยแล้งน้ำในคลองแห้งขอด

ด้านนางมาลี ผลแย้ม อายุ 58 ปี ชาวนาบ้านไผ่ดำพัฒนา กล่าวว่าเมื่อน้ำคลองในคลองแห้งขอดลงชาวนาหลายคนได้วางรอบดักปลาในคลองที่น้ำกำลังแห้งขอด ซึ่งมีปลาหลายชนิดจำนวนมากทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ในคลองเป็นฝูงใหญ่ มารวมตัวกันบริเวณแหล่งน้ำ หลังท่อสูบน้ำเป็นผลพลอยได้ให้ชาวนาเพื่อนำไปเป็นอาหาร แต่ต้องแย่งชิงกับฝูงนกกระยางหลายพันตัวที่หิวโซลงมาหาปลาเป็นอาหาร ตนจำต้องพยายามตบมือเสียงดังไล่เป็นระยะๆเพื่อไล่ฝูงนกกระยางให้ออกออกไปหากินที่อื่น แต่ไม่เป็นผล ฝูงนกกระยางยังคงวนเวียนหากินปลาในคลองชลประทาน เข้าไปอยู่ในนาข้าว พร้อมแย่งหาปลากับชาวนาต่อไป

ขณะที่ ระดับน้ำโขง ที่ จ.หนองคาย มีระดับลดลงอย่างต่อเนื่องอีกครั้งจนมีระดับต่ำกว่า2 เมตร ล่าสุด วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่1.84 เมตร ลดลงจากเมื่อวันที่ 5 มกราคม ไปถึง 12 เซ็นติเมตร เป็นระดับที่ต่ำที่สุด และ ยังมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งมีระดับต่ำกว่าถึง 1.14 เมตร และ มีเทียบกับระดับน้ำโขงเฉลี่ยในรอบ 50 ปี ระดับน้ำโขง ขณะนี้มีระดับต่ำกว่าถึง 56 เซ็นติเมตร และจากสถิติระดับน้ำโขงของปี2558 ระดับน้ำโขงต่ำสุดอยู่ที่ 1.21 เมตร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม2558

โดยระดับน้ำโขงในปีนี้ น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ยังมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าในช่วงปลายปี2558 จะมีระดับขึ้นลงจากการที่จีนปล่อยน้ำเพื่อให้เรือสินค้าสัญจรไป มาได้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ถือว่าต่ำกว่ามาก อาจจะเกิดจากปริมาณในเขื่อนของจีนมีปริมาณน้ำในเขื่อนน้อย จึงไม่สามารถปล่อยมาในปริมาณมากได้ เบื้องต้นในเขตอำเภอเมืองหนองคาย ยังไม่ส่งผลกระทบกับการสัญจรทางเรือ ในแม่น้ำโขงแต่อย่างใด

ที่ จ.ลพบุรี นางมะลิ แพรอำไพ ชาวบ้านหมู่ที่10 ต.บ้านข่อย อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้นำภูมิปัญญาชาวบ้านในอดีต โดยนำผ้าขาวบางและผ้ามุ้ง นำมาใช้กรองน้ำฝนจากรางน้ำบนหลังคาและบริเวณปากโอ่งน้ำเพื่อเก็บน้ำฝนช่วงนี้ เพื่อเก็บน้ำเอาไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง จากเป็นบ้านหลังเดียวในหมู่บ้านจากกว่า100 หลังคาเรือน เนื่องจากปี2558จ.ลพบุรีโดยเฉพาะในหมู่บ้านตน เกิดภัยแล้งอย่างหนัก แม่น้ำสายหลักแห้งขอด ชาวบ้าน ขาดน้ำอุปโภค บริโภค ต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้หมดเงินไปหลายหมื่นบาท พอหน้าฝนปีนี้ จึงปรับเปลี่ยนใหม่ ใช้โอ่งน้ำเก็บไว้ 9 ลูก 1ลูกจะจุน้ำได้1000-1500ลิตร หากน้ำเต็มโอ่ง ทั้งหมด จะมีน้ำใช้ได้กว่า10,000-14,000ลิตร สามารถใช้ได้ตลอดฤดูแล้งทั้ง3 ครอบครัวพี่น้อง

ด้านนายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เปิดเผยว่าจังหวัดลพบุรี จะทำการเริ่มรณรงค์ให้ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอรอบนอกหันมาใช้โอ่งน้ำที่มีอยู่ทุกบ้านให้เกิดประโยชน์ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านกรองน้ำเอาไว้ ซึ่ง1โอ่งมีความจุ1000ลิตร ก็สามารถประหยัดเงินซื้อน้ำได้3000-3500บาท มีอยู่ในบ้าน10โอ่งก็จะสามารถประหยัดเงินซื้อน้ำกินได้ถึง3-4หมื่นบาทต่อปี จึงขอฝากชาวบ้านให้หันมาใช้ภูมิปัญญา ดั้งเดิมเก็บกักน้ำจากฟ้าไว้กิน เมื่อถึงหน้าแล้ง ทุกบ้านก็จะมีน้ำกินน้ำใช้ไม่เดือดร้อน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ระดมสมองดันส่งออก คลังโวรายได้ทะลัก3.5แสนล้าน

”รมว.พาณิชย์” นัดถกคณะทำงาน หวังหาทางดันมูลค่าส่งออกไทยปีนี้โตตามเป้าหมาย 5% คลังแจงฐานะการคลัง 2 เดือนแรกปีงบ 59 ฉลุยแตะ 3.55 แสนล้านบาท อานิสงส์ภาษีน้ำมัน-ภาษีนิติบุคคล

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ม.ค.นี้ คณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีตนเป็นประธาน และเป็น 1 ใน 12 คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชารัฐ จะประชุมเป็นนัดแรก เพื่อหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% จากปี 58 ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้ายังชะลอตัว รวมถึงราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรยังลดลง ทำให้กำลังซื้อจากทั่วโลกลดลง

”จะหารือถึงแนวทางที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% ซึ่งต้องดูทั้งในด้านตลาดและสินค้าว่า จะมีตลาดใดบ้างที่ยังเติบโตอยู่ เราจะมุ่งไปที่ตลาดนั้น ยังมีสินค้าใดที่ยังขยายตัวได้ดี ในปี 59 ตลาดที่จะขยายตัวได้ดีน่าจะเป็นอาเซียน และเอเชียใต้ ทั้งอินเดีย บังกลาเทศ ฯลฯ ซึ่งจะมาดูกันว่าเราจะมีกลยุทธ์ใดในการเจาะตลาดเหล่านี้ให้ได้”

สำหรับในอาเซียน กลยุทธ์ที่ไทยจะใช้เจาะตลาด ไม่ใช่เพียงแค่การขายสินค้าเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนด้วย เพราะเศรษฐกิจอาเซียนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และเจ้าของแฟรนไชส์ต่างๆ ที่ยังมีโอกาสเข้าไปลงทุนในอาเซียนได้อีกมาก

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-พ.ย.2558) มีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 3.55 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.54 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีน้ำมันและภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการนำส่งเงินคืนจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการ

 ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณ อยู่ที่ 6.07 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.37 หมื่นล้านบาท หรือ 5.9% ซึ่งเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 5.68 แสนล้านบาท หรือ 20.9% และรายจ่ายปีก่อน 3.85 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.5% โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 2.08 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย.2558 อยู่ที่ 3.46 แสนล้านบาท.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559 

กกร.ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม 41

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว. พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) มีมติคงบัญชีสินค้าและบริการควบคุมตามประกาศ กกร.จำนวน 41 รายการเหมือนเดิมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณา

โดยประกาศดังกล่าวมีอายุ1ปี เนื่องจากแนวโน้มราคาสินค้าในปีนี้ยังคงทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสินค้าหลายประเภทยังมีการแข่งขันที่สูงแต่หากสินค้าจำเป็นที่จะควบคุมก็จะพิจารณาเพิ่มเข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุมใหม่ได้โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบต่อประชาชน

สำหรับรายการสินค้าควบคุม 41 รายการ เช่น กระเทียม ,ข้าวเปลือก ,ข้าวสาร,ข้าวโพด ,มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์,ไข่ไก่, สุกรและเนื้อสุกร, น้ำตาลทราย, น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ ที่บริโภคได้หรือไม่ได้,ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน, นมผง นมสด , แป้งสาลี, อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท,อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก ,ผลปาล์มน้ำมัน,ผงซักฟอก , ผ้าอนามัย, กระดาษชำระกระดาษเช็ดหน้า , ปุ๋ย,ยากำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช, หัวอาหารสัตว์ , เครื่องสูบน้ำ,รถไถนา ,รถเกี่ยวข้าวเป็นต้น

“การประกาศเป็นสินค้าและบริการควบคุมเป็นการเอาเข้ามาอยู่ในบัญชีติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและหากมีความผันผวนหรือมีความผิดปกติ ก็จะได้ใช้มาตรการเข้าไปบริหารจัดการได้ทันทีเพราะขณะนี้ แม้บางสินค้าและบริการจะอยู่ในบัญชีควบคุม ก็ไม่ได้มีการใช้มาตรการแต่อย่างใด”“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 

เถ้าแก่แม่สอดแจ้ง ตร.รวบหนุ่มคาสนามบิน โดนลวงซื้อโควตาน้ำตาลสูญร่วม 8 ล้าน 

         ตาก - เถ้าแก่ชายแดนแม่สอดแจ้งตำรวจรวบหนุ่มกรุงคาสนามบิน หลังร่วมกับพวกลวงซื้อโควตาน้ำตาลทราย สูญเงินมัดจำไปเกือบ 8 ล้าน บอกจะได้สินค้าใน 7 วัน จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ ขณะที่ผู้ต้องหาปฏิเสธเสียงแข็ง

                วันนี้ (6 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.จำแรง สุดใจ ผกก.สภ.แม่สอด จ.ตาก พร้อมด้วย ร.ต.อ.กู้เกียรติ กุลกั้ง พงส.ทำหน้าที่ร้อยเวร สภ.แม่สอด และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ได้ควบคุมตัว นายภคพล สัตตบุศย์ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 552/115 ถนนกาญจนาภิเษก แขวงประเวศ กรุงเทพฯ ที่สนามบินแม่สอด ตามหมายจับศาลจังหวัดแม่สอด ที่ จ.198/2558 ลงวันที่ 29 กันยายน 2558 ในคดีฉ้อโกง

               นายศรีวรรณ ชมนามล อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 61/2 ถนนอินทรคีรี เขตเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งเป็นผู้เสียหายเปิดเผยว่า ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2558 ตนได้รู้จักกับนายภคพล สัตตบุศย์ พร้อมพวกอีก 2 คน ที่ยังหลบหนีอยู่ คือ นายพลลภัตม์ รื่นรมย์กิติกุล อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ต.คลองปูน อ.แกลง จ.ระยอง และนางธนิดา สัตตบุศย์ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเดียวกับนายภคพล

                โดยทั้ง 3 ได้บอกว่า มีโควตาน้ำตาลทรายจำนวนมาก พร้อมนำตราบริษัท โคจรชิปปิ้ง จำกัด มาโชว์ด้วย ตนเองหลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำตาลทราย จำนวน 78 รถพ่วง โดยมีการวางมัดจำ 10% เป็นเงิน 7.8 ล้านบาท ซึ่งนายภคพล ได้บอกว่าจะได้น้ำตาลภายใน 7 วัน แต่เวลาผ่านมากว่า 4 เดือน ตนก็ยังไม่ได้รับน้ำตาลที่ได้ตกลงไว้ พอสอมถาม นายภคพล ก็มีการผัดผ่อนมาโดยตลอด จนตนเองเริ่มสงสัย และคิดว่าถูกโกงแน่นอน จึงได้ไปแจ้งความร้องทุกข์จนมีการออกหมายจับ

                กระทั่งตนเองกำลังจะไปขึ้นเครื่องบินจากสนามบินแม่สอด ก็พบเห็นนายภคพล กำลังลงเครื่อง จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวดังกล่าว

                ขณะที่เจ้าของคดีคือ ร.ต.อ.กู้เกียรติ กุลกั้ง ได้ทำการสอบสวน นายภคพล โดยเบื้องต้น นายภคพล ยังให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 

'โคราช'หารือปัญหาฤดูเปิดหีบอ้อยห้ามบรรทุกสูง-น้ำหนักเกิน   

          นครราชสีมา - นายสุรพันธ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา พร้อมนายอดุลย์ เชาว์วาทิน ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 10 (ทล.10) นครราชสีมา และนายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ในฐานะคณะกรรมการบริหารส่วนท้องถิ่น เขต 17 นครราช สีมา ร่วมประชุมหารือในวาระการขอความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกการบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ฤดูการผลิตปี 2557/2558 ว่าปัญหาที่พบทุกช่วงฤดูกาลเปิดหีบอ้อย กรณีรถบรรทุกอ้อยกระทำผิดหลายอย่าง เช่น มีความสูงและด้านหลังยื่นออกจากตัวรถ รวมทั้งบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด ส่วนหนึ่งไม่มีสัญญาณไฟ และไม่มีสาย สเตย์รัดอ้อย ทำให้อ้อยตกหล่นบนพื้นถนน

          ด้านนายบุญช่วย หลายทวีวัฒน์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานใต้ ชี้แจงปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิบุรีรัมย์ กว่า 8 พันราย ขอความอนุเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่รัฐผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการชั่งน้ำหนักบรรทุก โทษถึงขั้นถูกยึดยานพาหนะและเปรียบเทียบปรับหลายหมื่นบาท ระยะเวลา 4 เดือน นับตั้งแต่บัดนี้จนถึงมีนาคมเป็นฤดูกาลเปิดหีบอ้อย มีผลผลิตอ้อย 2.5-3 ล้านตันต่อปี เห็นรถบรรทุกขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลหลายหมื่นเที่ยว ขออภัยในความไม่สะดวกของผู้ใช้รถใช้ถนน ที่บรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเที่ยว มิเช่นนั้นต้นทุนการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเกษตรกรไม่มีเครื่องชั่งและเครื่องมือช่างในการวัดพิกัด

          นายสุรพันธ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เน้นย้ำถึงข้อตกลงซึ่งเป็นเอ็มโอยู 5 ข้อ เช่น น้ำหนักบรรทุก ความสูงตัวรถ ด้านท้ายห้ามมีสิ่งของยื่นเกินกำหนด ในระหว่างนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากส่วนกลาง ทุกภาคส่วนต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559 

'ฉัตรชัย'ชูซิงเกิลคอมแมนด์ลุยส่งเสริม'เกษตรอินทรีย์  

          กระทรวงเกษตรฯรุกขับเคลื่อนนโยบาย สู่การปฏิบัติแบบเบ็ดเสร็จ"ซิงเกิล คอมแมนด์" ชู 5 มาตรการหลักพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ไปสู่การปฏิบัติ

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ  รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการ ให้เร่งขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ หรือซิงเกิล คอมแมนด์จะเร่ง โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เป็นลำดับแรก

          โดยให้ดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การ เตรียมความพร้อม  2.การส่งเสริมการทำเกษตร อินทรีย์ 3.การรับรองมาตรฐาน 4.การพัฒนา ต่อยอดการผลิต แปรรูป สู่การตลาด และ5.การสร้าง ความรู้ ความเข้าใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์

          "จะทำให้ จ.ยโสธรให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ จะเซ็นเอ็มโอยูในเดือนนี้ เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ จัดทำกรอบแนวทาง การขับเคลื่อน สร้างความเชื่อมโยงด้านการตลาด จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนด้านโลจิสติกส์  พัฒนา ศักยภาพหน่วยตรวจรับรอง และอบรมเกษตรกร ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน เป็นต้น ซึ่งทุกขั้นตอนจะติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง"

          สำหรับภาพรวมของประเทศนั้น จะมีมาตรการ และแผนงาน โครงการต่างๆ ตามแนวคิดในการปฏิบัติ คือ การเสริมความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ผลิตเดิม และ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้จากกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ให้ขยายผลไปสู่กลุ่มใหม่

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ กล่าวว่า การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ จะต้อง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร โดยสนับสนุนวิชาการ งบประมาณ และบุคลากรเพื่อการผลิต การรับรองมาตรฐาน และเชื่อมโยงด้านการตลาด การส่งเสริมให้มีหมู่บ้านผลิตข้าวอินทรีย์ จัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งศูนย์ต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ จัดตั้งฟาร์มเครือข่าย พ่อ แม่พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์ เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559 

จีนขยับลดค่าหยวนไม่กระทบค่าเงินบาท

จีนลดค่าเงินหยวนรับปีใหม่ นักวิเคราะห์ชี้เงินบาทยังมีเสถียรภาพ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจีนลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนไปอยู่ที่ 6.5032 หยวน/เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ จีนน่าจะลดค่าเงินหยวนเพื่อประคองเศรษฐกิจมากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างการเรียนรู้ให้ตลาด โดยเงินหยวนอ่อนค่ามีผลโดยตรงต่ออาเซียน เพราะจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ แต่ละประเทศต้องจัดการให้ค่าเงินอ่อนตามเพื่อรักษาความสามารถแข่งขัน โดยมองเงินบาทสิ้นปีที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐ

สำหรับเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนกว่าปีก่อน โดยต้องจับตาสหรัฐอาจขึ้นดอกเบี้ยไม่ต่อเนื่อง และสงครามค่าเงินรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่เงินบาทอ่อนไปถึง 40 บาท

ด้านเงินบาทวานนี้ (4 ม.ค.) ปิดที่ 36.14-36.16 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจาก 36.03 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อเปิดตลาด

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559 

เกษตรฯลุยซิงเกิ้ลคอมมานรุกมาตรการเกษตรอินทรีย์เต็มที่ม.ค.59

กระทรวงเกษตรฯ รุกการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ชู 5 มาตรการหลักพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ นำร่องแล้วจังหวัดยโสธรสู่เมืองแห่งเกษตรอินทรีย์ พร้อมบูรณาการร่วมทุกหน่วย เดินหน้าเต็มกำลังมกราคม 59 นี้

     นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตามแผนปฏิบัติการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ซึ่งจากการประชุมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ กรมชลประทาน ปากเกร็ด ได้มีแผนปฏิบัติการ มาตรการ แผนงานและโครงการของหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ ใน 5 มาตรการ ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อม 2) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ 3) การรับรองมาตรฐาน 4) การพัฒนาต่อยอดการผลิต การแปรรูป สู่การตลาด และ 5) การสร้างความรู้ ความเข้าใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์

     การดำเนินการในเบื้องต้น จะเน้นพื้นที่จังหวัดยโสธรให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะมีการลงนามใน MOU ร่วมกับจังหวัดในเดือนมกราคม 2559 โดยเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ จัดทำกรอบแนวทางการขับเคลื่อน สร้างความเชื่อมโยงด้านการตลาด จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ พัฒนาศักยภาพหน่วยตรวจรับรอง และอบรมเกษตรกร ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน เป็นต้น ซึ่งในทุกขั้นตอนจะมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

     สำหรับภาพรวมของประเทศนั้น จะมีมาตรการ และแผนงาน โครงการต่างๆ ตามแนวคิดในการปฏิบัติ คือ การเสริมความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ผลิตเดิม และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้จากกลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ให้ขยายผลไปสู่กลุ่มใหม่

     ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเสริมถึงรายละเอียดขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติใน 5 มาตรการข้างต้นว่า ในส่วนของการเตรียมความพร้อม จะดำเนินการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูล การอบรมสัมมนาวิชาการแก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ การฝึกอบรมเกษตรกรทั้งด้านการผลิตพืช ประมง และปศุสัตว์อินทรีย์ และระบบมาตรฐาน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านปศุสัตว์อินทรีย์ ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ สศก. จะร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน กำหนดการอบรมสัมมนาแก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 5 รุ่น ให้มีความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ทั้งภาคทฤษฎี และการปฏิบัติในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยรุ่นแรกจะดำเนินการช่วงกลางเดือนมกราคม 2559 นี้

     การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร โดยการสนับสนุนทางวิชาการ งบประมาณ และบุคลากรเพื่อการผลิต การรับรองมาตรฐาน และเชื่อมโยงด้านการตลาด การส่งเสริมให้มีหมู่บ้านผลิตข้าวอินทรีย์ จัดกิจกรรมโรงเรียนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ จัดตั้งศูนย์ต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบเติมอากาศ จัดตั้งฟาร์มเครือข่าย พ่อ แม่พันธุ์ไก่ไข่อินทรีย์ เป็นต้น

     การรับรองมาตรฐาน จัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เรื่องการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ ดำเนินการตรวจรับรองการผลิตด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ สนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS (ระยะปรับเปลี่ยน PGS ในพื้นที่ สปก.) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (ACT : IFOAM)

     การพัฒนาต่อยอดการผลิต การแปรรูป สู่การตลาด โดยการรวบรวมผลผลิตข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ รวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์บริการ “สายใยออร์แกนิก” จัดตั้งและดำเนินการตลาดสีเขียวในจังหวัดต่างๆ พัฒนาเครือข่ายการตลาด รวมทั้งการฝึกอบรมการแปรรูปให้เกษตรกร

     การสร้างความรู้ ความเข้าใจ สื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สังคมทราบและเข้าใจประโยชน์ในการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ รวมทั้งการจัดนิทรรศการการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกระแสรักสุขภาพของคนเกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากอัตราการเจ็บป่วยที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารพิษ ปนเปื้อนมากขึ้น ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ให้คนหันมาบริโภคอาหารในกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นโอกาสของภาคเกษตรในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้ผลตอบแทนสูงมีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตผู้บริโภค และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

จาก http://www.siamrath.co.th วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559 

โรงงานโชว์หีบอ้อยโค้งแรกฤดูการผลิตปี 58/59 ได้เพียง 9.82 ล้านกระสอบ หลังภาพรวมผลผลิตอ้อยและค่าความหวานลดลงจากปัจจัยสภาพอากาศ

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รายงานการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 58/59 หลังเปิดหีบแล้ว 28 วัน ระบุภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบโค้งแรกตกต่ำเมื่อเทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังค่าเฉลี่ยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานลดลง ชี้จากอ้อยเจอแล้งในช่วงเติบโต ประกอบกับฝนตกในช่วงเปิดหีบ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอ้อย และอ้อยไฟไหม้ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตน้ำตาล

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/2559 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลารวม 28 วัน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 41 โรงจากทั้งหมด 52 โรง ซึ่งพบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 11.98 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 9.82 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือคิดเป็นผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 77.48 กิโลกรัม ลดลงจากช่วงระยะเวลาเปิดหีบเดียวกันของฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 86.63 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณน้ำตาลทราย 16.60 ล้านกระสอบ

ขณะที่ค่าความหวานของฤดูการผลิตหีบปีนี้ก็ลดลงเช่นกันอยู่ที่ 10.23 ซี.ซี.เอส. เทียบกับปีก่อนที่มีค่าความ หวาน 10.66 ซี.ซี.เอส. ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกของฤดูหีบปีนี้นั้น มาจากฝนทิ้งช่วงในช่วงอ้อยเติบโตและในช่วงเปิดหีบอ้อยหลายพื้นที่เพาะปลูก ประสบปัญหาฝนตกและสภาพอากาศไม่หนาวเท่าที่ควร ทำให้อ้อยสร้างความค่าความหวานลดลง

นอกจากนี้ ปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อยที่ส่งให้แก่โรงงานพบว่า ยังมีจำนวนมาก แม้ว่าที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้เข้าให้การช่วยเหลือเกษตรชาวไร่จัดเก็บผลผลิตอ้อยสดเพื่อเข้าหีบ โดยพบว่าปริมาณอ้อยสดในฤดูการหีบอ้อยปีนี้มีเพียง 5.24 ล้านตันอ้อยหรือคิดเป็น 43.74% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 6.74 ล้านตันอ้อยหรือคิดเป็น 56.26% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบในช่วง 28 วันแรก ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของฤดูการหีบอ้อยในช่วงแรกทั้งสิ้น

ส่วนในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทรายพบว่า โรงงานน้ำตาลใช้กำลังการผลิตหีบอ้อยลดลงจากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตต่อวันอยู่ที่ 1.04 ล้านตันอ้อย เหลือเพียง 8.74 แสนตันอ้อย เนื่องจากในช่วงแรกมีโรงงานน้ำตาลหลายแห่งยังไม่เปิดหีบ ซึ่งหากทุกโรงงานเปิดรับผลผลิตอ้อยครบทั้ง 52 โรง เชื่อว่า กำลังการผลิตหีบอ้อยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

"ในช่วงแรกของการหีบอ้อยฤดูการผลิต 58/59 นี้ คุณภาพอ้อยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย ค่าความหวานอ้อย และปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ลดลง ซึ่งเป็นผลจากสภาพอากาศแห้งแล้งต่อเนื่องในช่วงอ้อยต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโต และเกิดฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยว อีกทั้ง ชาวไร่อ้อยเผาอ้อยและอ้อยมีสิ่งปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอ้อยที่ส่งเข้าหีบ ทำให้ภาพรวมการผลิตน้ำตาลปีนี้ไม่ดีนัก" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้องและการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มกราคม 2559

ธุรกิจอ้อยน้ำตาลหนาว

โรงงานน้ำตาลเจอดีเปิดหีบอ้อยฤดูกาล 2558/2559 ผลผลิตลด ค่าความหวานต่ำ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/2559 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.-25 ธ.ค. 2558 ขณะนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 41 โรง จาก 52 โรงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 11.98 ล้าน ตันอ้อย คาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 9.82 ล้านกระสอบ คิดเป็นผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ยที่ 77.48 กิโลกรัม ลดลงจากปีก่อน ที่ผลิตได้ถึง 86.63 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณน้ำตาลทราย 16.60 ล้านกระสอบ

นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าความหวานของฤดูการผลิตหีบอ้อยก็ลดลง โดยมีค่าความหวานอยู่ที่ 10.23 ซี.ซี.เอส. ลดจากปีที่แล้วที่มีค่าความหวาน 10.66 ซี.ซี.เอส. ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยในช่วงแรกของฤดูนี้มาจากฝนทิ้งช่วง อีกส่วนหนึ่งจากปัญหาฝนตกและสภาพอากาศไม่หนาวเท่าที่ควร ทำให้อ้อยสร้างค่าความหวานลดลง ภาพรวมผลิตน้ำตาลในปีนี้จึงไม่ดีนัก

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อยที่มีจำนวนมาก เพราะชาวบ้านใช้วิธีเผาอ้อยเพื่อเก็บผลผลิต และพบว่าปริมาณอ้อยสดในฤดูการหีบอ้อยปีนี้มีเพียง 5.24 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 43.74% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 6.74 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 56.26%

 จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 5 มกราคม 2559

อุตสาหกรรมเล็งของบ 9 พันล้านเร่งดันโครงการคลัสเตอร์สนองรัฐบาล

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณปี 60 ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อใช้ดำเนินงานราว 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 59 ที่ได้งบราว 6,000 ล้านบาท โดยเงินที่เพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท จะนำไปผลักดันโครงการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปี 59 คาดว่าจะมีเอกชนเข้ามาขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย โดยนิคมฯใหม่ๆทั้ง 5 แห่งนี้ จะอยู่ในภาคตะวันออก เพราะมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ท่าเรือ และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศด้วย ส่วนปัญหาผังเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ที่กระทบต่อการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม ขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ไขร่วมกับชุมชน คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 เพื่อรองรับปีแห่งการลงทุนในปี 2559 ส่วนการลงทุนของ กนอ.จะเดินหน้านิคมฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดสระแก้ว และอยู่ระหว่างการศึกษาการตั้งนิคมฯ เพื่อรองรับคลัสเตอร์เป้าหมายของรัฐบาล โดยเน้นคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนคลัสเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายที่จะนำกากอุตสาหกรรมที่มีพิษเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้องให้ได้ 1.4-1.5 ล้านตัน คาดว่าจะสามารถนำกากอุตสาหกรรมที่มีพิษเข้าระบบได้ทั้งหมดภายในปี 63 ส่วนการดึงดูดให้โรงงานกำจัดกากเข้าสู่ระบบให้ได้ 90% ภายในปี 63 นั้น มั่นใจว่าจะไปถึงเป้าหมายตามเวลาที่กำหนดอย่างแน่นอน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 5 มกราคม 2559

เร่งให้ความรู้เอกชนใช้ประโยชน์AEC

น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อาจจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะที่ผ่านมาอาเซียนได้ร่วมกันทำงานมามาก โดยมีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งที่จะเห็นชัด คือ ภายในอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมือ ได้อย่างเสรี ทำให้การค้าขายในอาเซียนมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะอาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคนรองรับ

ทั้งนี้กรมได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง ในการใช้ประโยชน์จาก AEC โดยกรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ในการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วน ให้รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร หรือจะใช้ประโยชน์อย่างไรจาก AEC

ในขณะเดียวกันกรมยังได้ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับประเด็นที่คาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น หากไทยไม่เตรียมรับมือก็จะเสียโอกาสได้ อีกทั้งยังได้เปิดประตูการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยไปสู่ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียนด้วย เพราะอาเซียนกำลังจะขยายเป็นความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการดำเนินการภายหลังการเปิด AEC อาเซียนจะมีการหารือเพื่อเปิดเสรีเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้อาเซียนได้เห็นชอบทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (2559-2568) ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบัน ให้มีความกว้างและลึกมากขึ้น และยังเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆที่อาเซียนจะต้องเผชิญในอนาคต ตามการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

เจ้าพระยาน้ำลดแตะวิกฤตอีกครั้ง เผยงดส่งทำเพาะปลูกนอกฤดู

สถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท วันนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 13.89 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าจุดวิกฤติ 11 ซ.ม. ขณะที่ระดับระดับน้ำท้ายเขื่อนลดลงไปอยู่ที่ 5.96เมตร โดยเขื่อนเจ้าพระยาคงอัตราการระบายน้ำไว้ที่ 75 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มปากแม่น้ำ

นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยาเผยว่า จากระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะไม่มีการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกนอกฤดูอย่างเด็ดขาด ดังนั้นเกษตรกรที่ฝืนทำนานอกฤดู มีโอกาสสูงที่จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง จึงควรงดการเพาะปลูกเพิ่มและควรเตรียมแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในฤดูแล้งด้วย ส่วนประชาชนทั่วไปควรช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างมีค่าที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

เปิดมาตรการดัน"ส่งออก" ภารกิจหนัก"พาณิชย์" ปี 59

หลังจากใช้ความพยายามมาตลอดปี 58 เพื่อดันให้ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่บวก 4% แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าทั้งเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศไม่ได้เอื้อให้เป็นเช่นนั้น

 กระทั่งในเดือนมี.ค.58 กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายลงเหลือ 1.2% และท้ายสุดในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์ต้องตั้งเป้าหมายการส่งออกใหม่ของปี 58 ให้ได้แค่ลบ 3% หรือมูลค่าส่งออก 220,698 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ และต้องทำมูลค่าการค้าให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

 สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกตลอดปี 58 ที่ผ่านมา ที่พบว่าการส่งออกของไทยอยู่ในภาวะที่ร่อแร่ไล่มาตั้งแต่ต้นปีที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องทั้งปี จากปัจจัยหลักๆ คือการหดตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง และอาหารทะเลแช่แข็ง

 โดยเฉพาะยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เศรษฐกิจทั่วโลกที่ต่างซบเซาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าของไทย ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงเช่นเดียวกัน

 ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าการส่งออกของไทยไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังมองโลกในแง่ดี โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า แม้การส่งออกของไทยจะติดลบ แต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ส่งออกกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกพบว่าการส่งออกติดลบมากกว่าไทย

 รวมทั้งไทยยังรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยอันดับของไทยสูงขึ้นในทุกตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป และจากการได้ร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ทำให้ได้คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 59 ว่าจะขยายตัวได้ 5%

 ที่สำคัญต้องผลักดันยุทธศาสตร์การส่งออกปี 2559 ให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้

 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเปิดประตูการค้าและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP), การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น

 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุก โดยใช้ความต้องการตลาดเป็นตัวนำการผลิต

 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจและลงทุนในต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การปรับโครงสร้างการค้าสู่การค้าบริการ เพื่อเป็นจักรกลใหม่ในการขับเคลื่อนการค้า มีธุรกิจบริการที่ให้ความสำคัญ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ธุรกิจบันเทิงและคอนเทนต์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการต้อนรับ และธุรกิจบริการวิชาชีพ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และยุทธศาสตร์สุดท้ายคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมการส่งออก

นอกจากนี้หยิบยกประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของคลัสเตอร์อัญมณีและเครื่องประดับ คลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ด้านสุขภาพ และคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไขจะสามารถผลักดันให้เกิดรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภาครัฐจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากร

เพื่อสู่เป้าหมายในปี 2563 ไทยจะส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกต่อไป

ในส่วนของคลัสเตอร์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศด้วยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนคนไข้ ประเทศที่มาเยือน และรายได้

ทำให้ปัจจุบันมีรายได้จากการรักษาพยาบาลคนไข้ชาวต่างชาติในโรงพยาบาลเอกชนไม่ต่ำกว่า 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีเป้าหมายในระยะสั้น คือการออกใบอนุญาตทำงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และใบอนุญาตชั่วคราวให้แก่แพทย์จากต่างประเทศ เพื่อมาเสริมบุคลากรที่ขาดแคลนเป็นการชั่วคราว

ส่วนการแก้ไขในระยะยาวจะกำหนดแผนการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีสัดส่วน 9-10 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือต้องผลิตแพทย์ให้ได้ประมาณปีละ 7,500 คน

ในส่วนของคลัสเตอร์ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้เสนอให้พิจารณาการตีความประเภทยานยนต์เพื่อประเมินพิกัดภาษีศุลกากรขาเข้าที่ชัดเจน

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับสหภาพแรงงานได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนต่างชาติ ตลอดจนร่วมกันจัดทำแผนการผลิตบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ อุตสาหกรรมในระยะยาว

รมว.พาณิชย์ยังย้ำอีกว่า ในปีหน้านั้นนอกจากจะส่งเสริมการส่งออกในรูปแบบของสินค้าแล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่าเรายังมีภาคบริการที่ยังเป็นบวกและมีแนวโน้มว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"ต่อไปนี้กระทรวงจะต้องให้ความสำคัญในการรวบรวมและเก็บข้อมูลภาคบริการเพื่อแถลงต่อสาธารณชนด้วย เพราะทำให้รู้ว่าการส่งออกของไทยมีสองส่วนและไม่ได้แย่ไปทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวในฐานะหนึ่งในภาคอุตสาห กรรมบริการที่มีศักยภาพสร้างรายได้กว่า 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการที่จะทำให้ไทยเป็น ศูนย์กลางการถ่ายทำภาพยนตร์ของโลก" นางอภิรดีกล่าว

ขณะที่ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจเอสเอ็มอี ว่าจากการสำรวจความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ผู้ประกอบการระบุว่าปี 59 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4% ลดลงจากที่คาดการณ์เดิมที่จะขยายตัว 4.1%

  มีความเป็นไปได้ใน 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ดีที่สุดที่รัฐบาลสามารถผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไป ตามแผนและการส่งออกสูงกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ถึง 4.5%

  กรณีพื้นฐาน คือการลงทุนและการส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบางโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ที่ 4% กรณีที่แย่ที่สุด คือ เกิดการก่อการร้ายและภาวะสงครามในช่วงครึ่งปีแรก 2559 จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ที่ 2.5%

 ส่วนการส่งออกปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว 4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีขยายตัว 1.4% จำนวนนักท่องเที่ยว 31.8 ล้านคน

 "โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นตาม" นางเสาวณีย์กล่าว

และว่าสำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจปีหน้า ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพและการอ่อนค่าของเงินบาท

 ในส่วนปัจจัยลบได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จะทำให้ตลาดเงินผันผวน สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนยังสูง ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะสงครามและก่อการร้าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

 ทั้งหมดนี้ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่า เป้าการส่งออกขยายตัวที่ 5% ในปี 2559 ที่วางไว้นั้น จะทำได้สำเร็จหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยลบที่ถาโถมทั้งจากในและต่างประเทศ

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

ผลผลิตอ้อยปี 58/59 โค้งแรกวูบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2558/59 ว่า หลังโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน นับตั้งแต่เปิดหีบอ้อยวันแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2558 มีโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อยแล้ว 41 โรง จากทั้งหมด 52 โรง พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 11.98 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 9.82 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือคิดเป็นผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 77.48 กิโลกรัม ลดลงจากช่วงระยะเวลาเปิดหีบเดียวกันของฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 86.63 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณน้ำตาลทราย 16.60 ล้านกระสอบ ขณะที่ค่าความหวานของฤดูการผลิตหีบปีนี้ก็ลดลงเช่นกันอยู่ที่ 10.23 ซี.ซี.เอส. เทียบกับปีก่อนที่มีค่าความหวาน 10.66 ซี.ซี.เอส.โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงแรกของฤดูหีบปีนี้นั้น มาจากฝนทิ้งช่วงในช่วงอ้อยเติบโตและในช่วงเปิดหีบอ้อยหลายพื้นที่เพาะปลูก ประสบปัญหาฝนตกและสภาพอากาศไม่หนาวเท่าที่ควร ทำให้อ้อยสร้างความค่าความหวานลดลง      

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในอ้อยที่ส่งให้แก่โรงงานพบว่ายังมีจำนวนมาก แม้ว่าที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้เข้าให้การช่วยเหลือเกษตรชาวไร่จัดเก็บผลผลิตอ้อยสดเพื่อเข้าหีบ โดยพบว่าปริมาณอ้อยสดในฤดูการหีบอ้อยปีนี้มีเพียง 5.24 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 43.74% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 6.74 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 56.26% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบใน 1 เดือนแรก ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนส่งผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของฤดูการหีบอ้อยในช่วงแรกทั้งสิ้น

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

1 ปีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไฟเขียว รง.4 ยอดตั้งโรงงาน 1 ล้านล้าน!

กระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ได้ผ่านการบริหารงานของนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และส่งไม้ต่อมายังดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาดูแลการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ไปจนถึงการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ตลอดจนการควบคุมดูแลโรงงานไม่ให้มีการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบ ขยายตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58

 เน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

โดยผลงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.อรรชกา ชี้ให้เห็นว่า ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาสินค้า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบลหรือโอท็อป และวิสาหกิจชุมชน โดยสามารถเข้าไปสร้างทายาทวิสาหกิจได้จำนวน 294 ราย เกิดการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจได้จำนวน 170 ราย ทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนได้ถึง 45 ล้านบาท และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน 36.72 ล้านบาท

พร้อมได้เข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 1.053 พันผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการได้ 2.66 พันคน ส่งผลให้มีมูลค่ายอดขยาย 315 ล้านบาท ลดต้นทุนได้ 84 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้นำผู้ประกอบการไปทดสอบตลาดภายในประเทศจำนวน 12 ครั้ง สร้างรายได้ 215 ล้านบาท

 ปรับโครงสร้างอุตฯใหม่

ส่วนที่ 2 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม ได้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ โดยมีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมา พร้อมด้วยนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ผ่านการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่จะมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีนั้น ได้เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขึ้นมาจำนวน 1.596 พันราย ช่วยสร้างสังคมผู้ประกอบการได้ 900 ราย สร้างมูลค่าการลงทุน 760 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานโดยรวมได้ 2.6 พันคน อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ 154 กิจการ เพิ่มผลิตภาพได้ 1.931 พันกิจการ พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมได้ 65 กิจการ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการได้ 6.763 ราย และพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ได้ 400 กิจการ ซึ่งช่วยให้มีมูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้น 2.55 พันล้านบาท ลดต้นทุนได้ 1.9 พันล้านบาท และลดของเสียได้ 1 พันล้านบาท และยังได้พัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 850 กิจการใน 5.828 พันราย คิดเป็นมูลค่า 410 ล้านบาท ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจโดยรวมได้ 6.62 พันล้านบาท

 อนุมัติ รง.น้ำตาลลงทุนแสนล้าน

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ เพื่อดำเนินการในอีก 11 ปีข้างหน้า(2558-2569) โดยจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อยจาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายจาก 11.34 ล้านตัน เพิ่มเป็น 20.36 ล้านตัน ผลิตเอทานอลจาก 2.5 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 5.38 ลิตรต่อวัน สามารถนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้าจาก 1.542 พันเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4 พันเมกะวัตต์ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 2 แสนล้านบาท เป็น 5 แสนล้านบาท ภายในปี 2569

ที่สำคัญในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายเดิมได้ขอขยายกำลังการผลิตเข้ามาจำนวน 17 ราย ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.38 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี2559เป็นต้นไป โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ประกอบกับในเร็วๆ นี้ จะมีการอนุมัติการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขึ้นมาใหม่อีกประมาณ 12 แห่ง มีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 2.4 ล้านไร่ โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท

การออกใบอนุญาติประกอบ/ขยายและโรงงานที่เริ่มประกอบการตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 24 ธ.ค. 58

ไฟเขียว รง.4 เม็ดเงินลงทุนสะพัด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนที่ 3 จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ได้ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงาน(รง.) 4 จากเดิม 90 เหลือเพียง 30 วัน ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นส่งผลดีกับผู้ประกอบการ ทำให้มีโรงงานที่ได้รับรง.4 จำนวน 9.598 พันราย มูลค่าเงินลงทุน 1.056 ล้านล้านบาท

ขณะที่การลดขั้นตอออกประทานบัตรเหมืองแร่ อาชญาบัตรสำรวจแร่ ได้มีการปรับปรุงระเบียบและขั้นตอนที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ได้รวม 154 ใบ ก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐ 3.7 พันล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนสำหรับการสำรวจแร่อีก 1.6 พันล้านบาท รวมถึงการลดขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ลงมา 15-26 วัน ทำให้มีการออกใบรับรองมอก.ไปแล้วจำนวน 6.217 พันฉบับ

อีกทั้ง การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้มีการยกเลิกบัญชีท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมือง/ชุมชน/และจัดทำข้อกำหนดที่มีลักษณะยืดหยุ่นใน 51 จังหวัด ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น

 จี้นำกากอุตฯเข้าระบบ

ส่วนสุดท้ายนั้น จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดร.อรรชกา ยืนยันว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในส่วนนี้ค่อนข้างมาก โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม 258-2562 ที่จะเร่งรัดให้โรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 6.8 หมื่นโรง นำกากเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90 % โดยในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า มีโรงงานที่นำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบแล้วจำนวน 5.1605 หมื่นโรงงาน คิดเป็น 75.6 % ของโรงงานทั้งหมด แบ่งเป็นกากอันตราย 1.3 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 25.75 ล้านตัน

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบจีพีเอส มาติดตั้งกับรถขนส่งกากอันตราย จำนวนประมาณ 3.3 พันคัน เพื่อเป็นการติดตามรถขนส่งไม่ให้นำกากไปทิ้งนอกพ้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะเริ่มทดสอบในเดือนมกราคมปีหน้า และคาดว่าจะสามารถใช้บังคับได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559

ทั้งนี้ จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปเข้มงวดกับโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และมีโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาสามารถระงับการให้บริการโรงงานผู้รับกำจัดกากได้ 103 ราย และระงับการให้บริการบางส่วนจำนวน 23 ราย ส่วนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากที่ทำผิด สามารถจับกุมนำมาดำเนินคดีได้ 176 ราย

อีกทั้ง กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ยังได้ศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมไว้ 6 แห่ง ใน 6 ภูมิภาค ใน 15 จังหวัด ซึ่งได้ส่งผลการศึกษาให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไปแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการในการตัดสินใจที่จะลงทุนของภาคเอกชนต่อไป รวมถึงขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างการหาเอกชน ที่จะมาผู้ร่วมทุนกับเอกชนของทางญี่ปุ่น เพื่อมาลงทุนสร้างเตาเผาขนาด 500 ตันต่อวัน มูลค่าลงทุนราว 1.8 พันล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางเดือนมกราคมปีหน้า น่าจะสามารถคัดเลือกผู้สนใจได้

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นผลงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในรอบปีที่ผ่านมา โดยดร.อรรชกา ได้ทิ้งท้ายถึงผลงานที่เกิดขึ้นว่า ตัวเองมีความพอใจ หากคะแนนเต็ม 10 ผลงานที่ออกมาก็คงให้ที่ 9 คะแนน ส่วนอีก 1 คะแนนนั้น คงต้องไปแก้ไขเรื่องการร้องเรียนต่างๆ เพราะในแต่ละปีมีการร้องเรียนเก็บกับโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

เปิดศักราชเออีซี แนะขจัดมาตรการกีดกัน

สภาหอการค้าฯชี้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดันการค้า -การค้าลงทุนขยายตัวคึกคัก แนะเร่งขจัดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมุ่งหลอมรวมอย่างแท้

วันนี้ (1 ม.ค.59) เป็นวันแรกของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)อย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสมาชิกอาเซียนได้ดำเนินการตามข้อตกลงมาแล้วเกือบครบทุกด้าน อาเซียนจึงกำหนดร่วมกันว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หรือที่ผู้นำอาเซียนประกาศไว้ในชื่อ "แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568" (AEC Blueprint 2025)

10 ปีที่ผ่านมาอาเซียน 10 ประเทศสมาชิกตกลงที่จะลดภาษีเป็น 0% ระหว่างกัน ปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 99.2% สำหรับสมาชิกเก่า 6 ประเทศ (ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์และไทย ) ส่วนสมาชิกใหม่(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ดำเนินการไปแล้ว 90.85%

การยกเลิกมาตรการโควตาภาษี การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง การริเริ่มจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และคลังข้อมูลอาเซียน การทยอยลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดด้านบริการและการลงทุน การจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ SMEs โดยสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่สนับสนุนขีดความสามารถการแข่งขัน การเข้าถึงตลาดและเงินทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมกันเพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าเดียวกัน การจัดทำข้อตกลงการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง และการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาค

แนะทลายกำแพงกีดกัน

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังเป็น AEC โดยรวมทุกอย่างจะยังเหมือนเดิม เพราะมาตรการต่างๆได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้หมดแล้ว โดยหลักการของAEC คือการสร้างความสะดวกให้การค้าและการลงทุนให้เคลื่อนย้ายระหว่างกันได้ง่ายขึ้น สร้างความเป็นตลาดเดียวกัน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจะยังมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) เพื่อปกป้องสินค้าและอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหลังจากนี้ ต้องจับตาดูและช่วยกันลดมาตรการดังกล่าว ไม่ให้มาเป็นอุปสรรคการบรรลุเป้าหมายหลักแห่ง AEC

ค้าชายแดนคึกรับเออีซี

นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2559 จะมีความคึกคักทั้งการค้าและการลงทุนในอาเซียนมากที่สุด เพราะอาเซียนรับรู้อย่างเป็นทางการแล้วว่า การเคลื่อนไหวทางการค้าและการลงทุนที่เหมือนคลื่นขนาดใหญ่ ที่จะทั้งเข้ามาในประเทศไทยและที่ไทยจะต้องออกไปนอกประเทศได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

ความคึกคักของ “การค้าชายแดน” จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่วัดความสำเร็จAEC ได้อย่างชัดเจน เพราะปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้า ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านและยังมีปริมาณการค้าเดิมที่เคยหลบอยู่ใต้ดินจะขึ้นมาเป็นสถิติให้นับจำนวนกันได้ หลังจากที่กฎระเบียบต่างๆคลายตัวและเอื้อต่อการค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลง AEC

"จะมีคนมาลงทุนมากขึ้น รวมถึงค้าชายแดนจะบูมมาก การกีดกันทางการค้าจะลดลง สินค้าใต้ดินจะขึ้นมาอยู่บนดินทำให้มูลค่าทางการค้าเพิ่มอย่างเห็นได้ชัด แต่ขึ้นกับว่าไทยจะอำนวยความสะดวกในแต่ละด้านได้อย่างไร หากทำได้ดี เชื่อว่ามูลค่าเป้าหมายที่ 1.5-2 ล้านล้านบาทในแต่ละปี จะทำได้ไม่ยาก ตลาดจะใหญ่ตามอาเซียนที่มีทั้งจำนวนประชากรและกำลังซื้อที่สูงขึ้น จากเดิมค้ากัน 60 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 100-600 ล้านคนทันที การบริโภคจะเพิ่มขึ้น การขนส่งสินค้าจะดีขึ้น ซึ่งจะทำให้จากการค้าชายแดนกลายเป็นค้าข้ามแดน ซึ่งเป็นผลพวงจากกรอบความตกลงกับประเทศคู่เจรจาหรืออาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้)+6 (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย)"นายนิยม กล่าว

ชี้ค้า-ลงทุนภายในกลุ่มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเฟื่องฟูที่กล่าวมานี้จะเป็นเหมือนกับดักของการค้าระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต เนื่องจาก ความสะดวกภายใต้ AEC จะทำให้การค้าและการลงทุนมีมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจหลายประเทศดีจนขึ้นชั้นเป็นตลาดขนาดใหญ่ อันเป็นแรงดึงดูดการลงทุน เพื่อผลิตสินค้าป้อนความต้องการในตลาดนั้นๆ จากเดิมที่เคยเป็นรูปแบบการนำเข้าจากต่างประเทศ ก็จะผันตัวมาเป็นการผลิตและใช้ในประเทศนั้นๆเอง และข้ามขั้นไปถึงการผลิตเพื่อการส่งออก

"ตอนนี้การค้าชายแดนส่วนใหญ่เป็นการนำสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยเข้าไปตามชายแดนต่างๆ เพื่อไปกระจายต่อยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ลาว เมียนมา และข้ามแดนไปเวียดนาม ซึ่งสินค้าไทยได้รับความนิยมเพราะเชื่อว่าเป็นของดี เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ถ้าความต้องการที่ว่านี้มีขนาดใหญ่มากขึ้น นักลงทุนมองเห็นโอกาสก็เลือกที่จะเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในประเทศเหล่า นี้แทนการนำเข้าจากไทย ส่งผลให้ความจำเป็นของการค้าชายแดน จะค่อยๆลดลงและหมดความสำคัญในที่สุด ปรากฏการณ์นี้จะชัดเจนภายในไม่เกิน 5 ปีจากนี้" นายนิยม กล่าว

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ปัจจุบันตลอดแนวชายแดนประเทศไทยระยะทางกว่า 5,656 กิโลเมตร ประกอบด้วยจุดผ่านแดนระหว่างประเทศถึง 93 จุด มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 377,000 ล้านบาท ในปี 2547 เป็นกว่า 990,000 ล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า และยิ่งกว่านั้น พบว่ามูลค่าการค้าชายแดนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 7% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับโลก แสดงให้เห็นได้ว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการค้าขายกันเองมากขึ้น

จี้รัฐปรับกม.ใช้ประโยชน์เออีซี

นายนิยม กล่าวว่า เพื่อยึดบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งของไทยไว้ ไทยเองต้องปรับตัวโดยเฉพาะด้านข้อกฎหมายและการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆที่ไทยมีอยู่ เนื่องจากศักยภาพของไทยเป็นแหล่งขนส่งสินค้าทางบกเชื่อมกับภูมิภาค หรือ Dry port อยู่แล้ว และยังมีภาคเอกชนก็ตื่นตัว จากความคึกคักของการค้าชายแดน ก็จะส่งผลให้การพัฒนาทางการค้าเพื่อเชื่อมไทยกับภูมิภาคสามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันพบว่า ข้อกฎหมายของไทยยังไม่เอื้อต่อการนำสินค้าผ่านเข้าออกประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ. การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งหากไม่มีการปรับข้อบังคับให้เหมาะสมกับสภาพการค้าจริง ก็จะทำให้ไทยตกขบวนการเป็นตัวเชื่อมทางการค้าไปในที่สุด เช่นเดียวกับ ข้อบังคับเรื่องการขนส่งทางบกที่พบว่ารถบรรทุกของเพื่อนบ้านไม่สามารถเข้าไทยได้ และรถบรรทุกของไทยก็ไม่สามารถเข้าเพื่อนบ้านได้ เป็นอุปสรรคที่ยิ่งเป็นตัวเร่งให้การลงทุนโดยเฉพาะภาคการผลิตทิ้งตัวออกห่างจากการค้าชายแดนและมุ่งไปสู่การลงทุนยังประเทศเศรษฐกิจใหม่โดยสิ้นเชิง

"ถ้าเราอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน กฎระเบียบต่างๆ ให้สินค้าเข้าออกได้สะดวก ไม่เพียงยังคงเรื่องการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ไว้ได้ แต่ยังคงบทบาทการเป็นตัวเชื่อมของภาคการผลิตแห่งภูมิภาคไว้ได้เช่นกัน" นายนิยม กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากไม่ทำอะไรเลย อีก 10 ปีข้างหน้าหลายประเทศจะแข่งกันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งพม่า เวียดนาม ที่พร้อมจะเข้ามาเล่นบทบาทนี้ เพราะศูนย์กลางทางการค้าในอนาคต จะไม่ใช่เพียงการเชื่อมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่ทิศทางการค้าโลกกำลังจะมองไปถึงการเชื่อมเอเชียเข้าด้วยกัน และอาจก้าวไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งไทยไม่ได้มีที่ตั้งที่ได้เปรียบที่สุดหากมองในภาพที่กว้างขึ้นดังกล่าว

ปรับตัวเป็นศูนย์ผลิตภูมิภาค

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ต้องมองอาเซียนเป็นทางผ่านสำหรับการค้าไปสู่จีนและอินเดีย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าผ่านรูปแบบการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ส่วนรูปแบบการลงทุนที่ประเทศนอกภูมิภาคกำลังขนเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก เข้ามาในประเทศต่างๆของอาเซียนนั้น ไทยควรเร่งบทบาทการเข้าไปมีส่วนในห่วงโซ่การผลิตแห่งภูมิภาค เพราะปัจจุบันไทยส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปไปในอาเซียนเพียง 5.7% หากปรับรูปแบบการค้าให้อยู่ในรูปการค้าเพื่อการผลิตแห่งภูมิภาค ก็จะทำให้การค้าสินค้าของไทยยังขยายตัวได้ในตลาดอาเซียน

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนได้เริ่มหารือกันถึงทิศทางของภูมิภาคหลังปี 2558 หรือวางวิสัยทัศน์ปี2025 ในอีก10ปีข้างหน้า โดยทำให้เศรษฐกิจมีการรวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง โดยด้านการเปิดเสรีสินค้าให้ยกเลิกและลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) การปรับปรุงกระบวนการพิธีการศุลกากร ด้านการเปิดเสรีบริการก็ให้มีความกว้างขึ้นและลึกขึ้น ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองการลงทุนให้เข้มแข็งขึ้นและสร้างความโปร่งใสทางกฎหมาย กฎระเบียบ แนวทางการจัดการด้านการลงทุน การเปิดเสรีทางการเงินเพิ่มขึ้น การบูรณาการและพัฒนาตลาดทุน การพิจารณาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพและแรงงานฝีมือในภูมิภาค

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559