http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมกราคม 2564]

ชป. จับมือหน่วยงานท้องถิ่น บริหารน้ำฤดูแล้งลุ่มเจ้าพระยาตามแผนฯ

กรมชลประทาน จับมือท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บูรณาการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เป็นไปตามแผนฯที่ได้วางไว้ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมย้ำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/ขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,547 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,616 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,658 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนฯ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,075 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,378 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้น ตามลำดับความสำคัญโดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศตลอดจนรักษาเสถียรภาพของคันคลอง และสำรองน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝนหน้า

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปีนี้ มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ การกำหนดให้ประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว และขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรไม่สูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก ส่วนสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามแผนการสูบน้ำที่ได้แจ้งไว้กับกรมชลประทาน พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากจะทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเจือจางน้ำที่เน่าเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้แก่เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 30 มกราคม 2564

โค้งแรก...ไบเดน กับ การค้าโลก-การค้าไทย

ผู้เขียน    พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

สวัสดีค่ะ ดิฉันหวังว่าทุกท่านได้ผ่านพ้นปี 2563 ที่ค่อนข้างยากลำบากไปได้อย่างเรียบร้อย และขอให้ปี 2564 นี้ ท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต สิ่งไม่ดีอย่าได้กล้ำกรายค่ะ

เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม ปีนี้ มีเหตุการณ์ใหญ่สำหรับการค้าโลกเกิดขึ้น ประการหนึ่ง คือ การเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของ นายโจเซฟ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ถือเป็นการปิดฉากอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์

ทรัมป์ ไปอย่างไม่ค่อยสวยงามนัก แต่ในส่วนของไทยคือ สหรัฐได้รัฐบาลใหม่แล้วพร้อมกับแนวนโยบายใหม่ ซึ่งเราควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดค่ะ ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะไปดูความเคลื่อนไหวล่าสุดของนโยบายการค้าสหรัฐ ดิฉันขอนำสรุปตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยที่จบไปเมื่อปลายปี 2563 เพื่อเป็นการปูทางกันก่อนนะคะ

สรุปการค้าระหว่างประเทศไทยปี 2563

การส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวในเดือนธันวาคม 2563 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว +4.71% ทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปี 2563 อยู่ที่ 231,468.44 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว -6.01% ส่วนการนำเข้าเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 19,119.16 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว +3.62% ทำให้การนำเข้าทั้งปี 2563 อยู่ที่ 206,991.89 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว -12.39% ทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยเกินดุลที่ 24,476.55 ล้านเหรียญเหรียญ ในปี 2563

โดยปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2563 นั้น นอกจากจะเกิดจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าแล้ว สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าดาวรุ่งจากยุคโควิดทั้งหลาย เช่น กลุ่มอาหาร สินค้า work from home และสินค้าสุขภาพ/ความปลอดภัย ก็ยังทำขยายตัวหรือติดลบน้อยลงมากอีกด้วย

ในด้านตลาดส่งออกสำคัญของทั้งปี 2563 ตลาดสหรัฐ ขยายตัวสูงสุดที่ 9.6% จีน 2% ส่วนตลาดอื่นๆ หดตัวหมด เช่น ญี่ปุ่นหดตัว 6.7% สหภาพยุโรปหดตัว 12.7% ตลาดอาเซียนหดตัว 12.2% เป็นต้น จากภาพรวมทั้งปี 2563 ขณะนี้สหรัฐถือเป็นตลาดเดี่ยวที่สำคัญที่สุดของการส่งออกไทย มีสัดส่วนการส่งออกของไทยที่ 14.8% ตามด้วยจีนที่ 12.9% ขณะที่อาเซียน (9) มีสัดส่วน 24%

แนวโน้มการส่งออกไทยไปสหรัฐ ปี 2564

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ทำการคาดการณ์เบื้องต้น การส่งออกของไทยไปสหรัฐในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว 6.2% มีมูลค่า 36,459 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่า 34,344 ล้านเหรียญสหรัฐ และขยายตัว 9.6% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังสามารถขยายตัวได้สูง และสินค้าไทยรักษาความสามารถทางการแข่งขันได้ดี รวมทั้งมีสินค้าใหม่เจาะตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดน ที่มุ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้สินค้าไทยได้อานิสงส์ต่อเนื่อง

จากการศึกษาของ สนค. พบว่าสินค้าในตลาดสหรัฐ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 คือ สินค้าที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง มีสัดส่วนประมาณ 82% และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี เป็นต้น

กลุ่ม 2 คือ สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือมีมูลค่าการส่งออกลดลงต่อเนื่อง จากสงครามการค้า มีสัดส่วนประมาณ 16.8% เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสิ่งทอ เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน คาดว่าสินค้ากลุ่มนี้กลับมาขยายตัวช้าๆ ในปี 2564

และกลุ่ม 3 คือ สินค้าที่มีปัญหาระยะยาว มีสัดส่วนประมาณ 1.2% โดยเฉพาะสินค้าประมง เช่น กุ้ง ที่มีปัญหาจากการขาดแคลนผลผลิตของไทยเอง หากมีการแก้ปัญหาดังกล่าว คาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะปรับตัวดีขึ้น

ในเชิงรับ มีสินค้าสำคัญอย่างน้อย 2 รายการ ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐหรือไม่ คือ ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งปี 2563 มีมูลค่าการส่งออก 3,909 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 11.4 % ของการส่งออกไปสหรัฐ และเหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออก 1,011 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 2.9% ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐ ติดตามตรวจสอบการสวมสิทธิอย่างใกล้ชิด

นโยบายล่าสุดของสหรัฐ และว่าที่ USTR

นโยบายของนายไบเดน คาดให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ กลับไปให้ความสำคัญกับกติกาการค้าสากล และหลีกเลี่ยงการสร้างข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการค้าโลก ถือเป็นผลดีต่อการค้าไทย ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญนโยบายสิ่งแวดล้อม อาจส่งผลกับสินค้ายานยนต์ของไทย

สำหรับว่าที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ที่นายไบเดนเลือกมา คือ แคทเธอรีน ไถ่ (Katherine Tai) ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่พูดภาษาจีนคล่อง และทำงานเกี่ยวกับการค้าในวุฒิสภาสหรัฐมานาน รวมทั้งเคยชนะคดีใน WTO ให้สหรัฐมาเป็นระยะ แต่เธอก็ไม่มีแนวคิดจะผ่อนปรนกับจีน จึงน่าจับตามองว่า จะทำให้ความตึงเครียดเรื่องสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ลดไปบ้างหรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐ ช่วงปี 2564 อย่างแน่นอน

จาก  https://www.matichon.co.th   วันที่ 30 มกราคม 2564

หลอน "ร่าง พรบ.  วัตถุอันตราย"  พลิกมติแบนสารพิษ

เอกชน ลุ้น ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ผ่านสภา เพิ่มผู้เชี่ยว ชาญต่างประเทศ ในบอร์ดวัตถุอันตราย ชี้ส่งผลทางบวก คาดดันยอดอุตสาหกรรมเคมีโตมากกว่า 3 หมื่นล้าน กมธ.เผยเตรียมประชุมนัดแรก 29 ม.ค.นี้ วงในหวั่นพลิกมติเลิกแบนสารพิษ

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เป็นเรื่องด่วน ซึ่งที่ประชุมมีจำนวนผู้ลงมติ 332 เสียง เห็นด้วย 254 เสียง ไม่เห็นด้วย 71 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในรัฐสภาว่า ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีทั้งสิ้น 10 มาตรา หลักการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  เหตุผลการพิจารณาวัตถุอันตรายมีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเพื่อดำเนินการดังกล่าว จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยให้มีผู้เชี่ยว ชาญดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาวัตถุอันตรายมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประเด็นการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ได้มีการป้องกันกรณีดังกล่าวไว้แล้ว ตามมาตรา 56/3 (1) ซึ่งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบจะต้องออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มาและการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากการกำหนดคุณสมบัติแล้วยังสามารถกำหนดลักษณะของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งสามารถเพิกถอนการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญได้หากพบว่า ขาด คุณสมบัติตามที่ประกาศกำหนด

ด้าน นายสุนทร แก้วสว่าง ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า หลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเพื่อให้มีความรวดเร็ว โดยการพิจารณา วัตถุอันตรายต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน และมีการพิจารณาเอกสารทางวิชาการ โดยภาคเอกชนไม่ได้ มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุญาต  ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และ 1 ใน 25 คน คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญนัดแรกในวันที่ 29 มกราคมนี้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าตามหลักกฎหมายไทยองค์กรต่างประเทศสามารถที่จะเป็นหนึ่งในกระบวนการพิจารณาการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นำเข้าวัตถุอันตรายซึ่งตั้งแต่เรียนกฎหมายมาไม่เคยเห็นกฎหมายแบบนี้ และไม่อยากให้เรื่องนี้ผ่านไปได้โดยง่าย ชาดา ไทยเศรษฐ์

เช่นเดียวกับ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เป็นการเล่นกล กับ 3 สารพิษ ที่วันนี้แบนไปแล้ว 2 ตัว (พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส)  ยังเหลือ “ไกลโฟเซต” แต่วันนี้กำลังเอากลับมาทั้งหมด เพราะอยู่ดีเอาอำนาจไปให้ต่างชาติ และถ้าไปทำวิจัยว่าตัวนี้ไม่มีพิษก็ต้องถอนการแบนอยู่ดีๆไปยื่นหอกให้คนต่างชาติ กลายเป็นว่าถูกตีเมืองขึ้นโดยกฎหมายของเราเองให้ต่างชาติมาครอบงำประเทศไทย ควรหรือไม่ 

ขณะที่ นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าว เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญในการประเมินเรื่อง “พิษวิทยา” ทั้งเรื่องสารก่อมะเร็ง หรือสิ่งแวดล้อม หรือ เรื่องคุณสมบัติวัตถุอันตราย ไม่แน่ใจว่าจะเชิญหน่วยงานใด (จากต่างประเทศ) เข้ามาเป็นกรรมการร่วม อาทิ หน่วยงานวิจัย หรือเอกชน จะมาช่วยสะท้อนผลกระทบข้อดีและข้อเสีย คุณสมบัติของสารเคมีต่าง ๆ มากกว่า คงไม่ใช่ให้เจ้าของผลิตภัณฑ์  “กรณีนี้แบบนี้หลายประเทศก็ทำกัน หากมองในแง่ธุรกิจก็จะทำให้การวิเคราะห์เรื่องพิษวิทยา เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเท่าที่ทราบมีเรื่องที่ค้างในการวิเคราะห์สารต่าง ประกอบทีมวิเคราะห์และพิจารณางานล้นมือ อยากให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น จำเป็นที่จะต้องใช้คนนอกมาทำ หรือ Outsource จะทำให้เทคโนโลยีใหม่สามารถเข้ามาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อมาทดแทนเทคโนโลยีเดิม น่าจะมีประโยชน์เกิดผลดีกับภาพรวมวัตถุอันตรายทั้งเกษตรและผู้ค้าสารเคมีในประเทศ (ปี 2563 มีมูลค่าการนำเข้าปริมาณวัตถุอันตราย ร่วม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2562  มูลค่านำเข้ากว่า  2.1 หมื่นล้านบาท”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มกราคม 2564

ส.ส.เมืองกาญจน์ จี้ ครม.เร่งเยียวยา ชาวไร่อ้อย 6.7 พันล้าน หลังกระทบหนักราคาตก

ส.ส.เมืองกาญจน์ จี้ ครม.เร่งเยียวยา ชาวไร่อ้อย 6.7 พันล้านบาท โดยเร็ว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปัญหาราคาตกต่ำ - ห้ามเผา

วันที่ 29 ม.ค นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงปัญหาของชาวไร่อ้อยในพื้นที่ อ.ท่ามะกา และอ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ว่าอยากฝากไปยังรัฐบาล และรมว. อุตสาหกรรม เนื่องจาก จ.กาญจนบุรี ขึ้นชื่อเรื่องอ้อย และโรงงานน้ำตาล ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูเปิดหีบที่มีการตัดอ้อยเข้าสู่โรงงาน

โดยปีที่ผ่านๆมาชาวไร่อ้อยจะเผาอ้อยเพื่อลดต้นทุนค่าตัดอ้อย เป็นการช่วยลดภาระต้นทุนจากราคาอ้อยตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาทุกปี ทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องเผาอ้อย วันนี้รัฐบาลออกระเบียบห้ามไม่ให้เผาอ้อย

ต่อมาองค์กรชาวไร่อ้อยทั้ง 4 องค์กร ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณางบประมาณมาช่วยเหลือจากการที่ประชาชนต้องงดเผาอ้อย โดยสำนักงานอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ได้เสนอขอวงเงิน 6,720 ล้านบาท เพื่อเยียวยา ซึ่งวันนี้เรื่องผ่านกระทรวงแล้วรอแค่ครม.อนุมัติ จึงอยากฝากเรื่องดังกล่าวให้ครม.ช่วยพิจารณาช่วยเหลือโดยเร็ว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 29 มกราคม 2564

ต่างชาติกุมส่งออก จี้ไทยปรับสมดุลลงทุน

ต่างชาติกุมชะตาส่งออกไทย ปีล่าสุด ยักษ์ใหญ่ 50 อันดับแรก ล้วนบริษัทข้ามชาติ “ซีเกท” จากสหรัฐฯปาดหน้า “โตโยต้า” ญี่ปุ่นผงาดเบอร์ 1 เอกชน-นักวิชาการจี้เร่งปฏิรูปโครงสร้างส่งออกครั้งใหญ่ เพิ่มจีดีพีในประเทศเป็น 50% ลดเสี่ยงต่างชาติย้ายฐานทำเศรษฐกิจทรุด

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขยายตัวลดลงจากปีก่อน 6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 5.9% โดยมีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับแสนล้านบาท มี 5 ราย มูลค่าส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท(สัดส่วน 8.79%), มูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท 108 ราย มูลค่าส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 39.47%) , มูลค่าการส่งออกระดับพันล้าน 859 ราย มูลค่าส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 31.85%), มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้าน 3,521 ราย มูลค่าส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 15.76%) และมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าร้อยล้าน 31,671 ราย มูลค่าส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท (สัดส่วน 4.13%) “ซีเกท” ผงาดเบอร์ 1 ทั้งนี้หากเจาะลึกลงไปในกลุ่มบริษัทส่งออก 50 อันดับแรก พบสัดส่วนกว่า 80% เป็นการส่งออกของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก โดยในจำนวนนี้ใน 10 อันดับแรกมีถึง 7 บริษัทที่เป็นบริษัทต่างชาติอาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด(บจก.) ยักษ์ฮาร์ดแวร์จากสหรัฐฯที่ผงาดครองผู้ส่งออกอันดับ 1 (จากได้รับอานิสงส์โควิด และ work from home) แซงหน้าโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยที่ครองอันดับ 1 ในปี 2562, บจก.เอชจีเอสทีฯในเครือเวสเทิร์นดิจิตอลจากสหรัฐฯ (อันดับ 5), บจก.ซิเลซติกาฯ จากแคนาดา(อันดับ 8), บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ (อันดับ 9) และบจก.เวสเทิร์น ดิจิตอลฯ (อันดับ 10) เป็นต้น ขณะที่มีบริษัทสัญชาติไทยที่ติดในกลุ่ม 50 อันดับแรก เพียง 12 บริษัท โดยที่ติดในกลุ่ม 10 อันดับแรกมี 3 บริษัทได้แก่ บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.เอ็มทีเอส โกลด์(หรือแม่ทองสุก) และ บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช ทั้งหมดทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกทองคำที่ได้รับอานิสงส์จากราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา

ลุย BCG ปรับสมดุล นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากประเมินในกลุ่มบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของมูลค่าการส่งออกของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี โดย 3 บริษัทไทยที่ติด 10 อันดับแรกทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกทองคำที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรส่วนต่าง ไม่ใช่ภาคการผลิตที่แท้จริง ทำให้เม็ดเงินรายได้ตกถึงคนไทยไม่มาก ขณะที่รายได้ส่งออกของบริษัทข้ามชาติจะไปตกกับบริษัทแม่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไทยได้เฉพาะค่าแรงรวมถึงตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี น่าห่วงว่าในอนาคตหากบริษัทบริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยเช่นไปที่เวียดนาม ตัวเลขส่งออกของไทยจะลดลงอย่างมาก ทำให้ช่องว่างการส่งออกระหว่างไทย-เวียดนามห่างกันมากขึ้น จากเวลานี้ตัวเลขส่งออกของเวียดนามแซงไทยไปแล้ว “สินค้าไทยที่ส่งออกไม่ติด 1 ใน 50 อันดับแรก สะท้อนได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่นสินค้าเกษตร พืชไร่ที่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ ใช้เทคโนโลนีการผลิตไม่สูง การแปรรูปไม่มาก รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบในเรื่องของต้นทุน และด้านราคาขาย จากความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากโลกอยู่ในช่วงปรับตัวจากโควิด หลายประเทศมีการปั๊มเงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯจะใช้งบกระตุ้นถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ จะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ค่าเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้น ปีนี้มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์” สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนคือการปฏิรูปโครงสร้างการส่งออก และการหารายได้ของประเทศ โดยต้องวางแผนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะต้องลดสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีลงเหลือ 50% และเพิ่มสัดส่วนจีดีพีจากในประเทศเป็น 50% จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและมั่นคง ขณะเดียวกันสินค้าไทยต้องเร่งพัฒนาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้นวัตกรรม การสร้างแบรนด์เนมตัวเอง ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ประกาศที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ส.อ.ท.เล็งเห็น และกำลังเป็นเทรนด์ของโลก และยังไปตรงกับทิศทางนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หากสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายจะช่วยให้เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้อีกมาก

ผู้ส่งออก 10 อันดับแรก

 6 เรื่องเร่งเหยียบคันเร่ง ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เวลานี้ถือว่าบริษัทต่างชาติเป็นผู้กุมชะตาภาคส่งออกไทย สิ่งที่ผู้ผลิตส่งออกของไทยต้องกลับมาทบทวนและเร่งดำเนินการได้แก่ 1.ประเมินตัวเองว่าถ้าเอาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นตัวตั้ง ตัวเองอยู่ตรงไหน ถึง 4.0 แล้วจริงหรือไม่ หากยังไม่ถึงต้องเร่งปรับตัว 2.ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 3.การบริหารจัดการให้มีต้นทุนต่ำสุดและมีผลิตภาพมากที่สุด 4.การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต 5.ต้องตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นเทรนด์ของโลก รวมถึง 6. รัฐบาลต้องประกาศวิสัยทัศน์ หรือจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยให้เป็นโปรดักต์แชมป์เปี้ยนในตลาดโลก และเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 29 มกราคม 2564

"กฟผ." เข้ม!งดเผาไร่อ้อยใกล้แนวสายส่ง

กฟผ. เข้าพบชาวไร่อ้อยขอให้งดเผาไร่อ้อยใกล้แนวสายส่งฯ ป้องกันฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ฝ่ายปฎิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อปอ.) โดย นายชุมพล สุขนิรันดร์ หัวหน้ากองบำรุงรักษาสายส่ง เปิดเผย ต่อสื่อมวลชนว่า ผู้ปฎิบัติงานหน่วยบำรุงรักษาสายส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รณรงค์เข้าพบชาวไร่อ้อยในพื้นที่ เพื่อขอความร่วมมือให้งดเผาไร่อ้อยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากควันไฟจากไฟไหม้ไร่อ้อยจะลอยขึ้นไปกระทบกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง

สำหรับในจังหวัดมหาสารคาม ได้เข้าดำเนินการในวันที่ 26 มกราคม 2564 แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์ ระบบส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองประชาสัมพันธ์ระบบส่ง ร่วมกับ ทีมงาน กองบำรุงรักษาสายส่ง นำโดย น.ส.อภิสราธรณ์ ปัณณะมณีธนโชติ วิทยากรระดับ 8 นายบุศรินทร์ ทัศมี ช่างระดับ 7 แผนกบำรุงรักษาระบบส่ง 1, นายจักรพันธ์ พานิคม ช่างระดับ 5 หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ และบำรุงรักษาสายส่ง 1-2, นายทศพร โพธิ์สาสิม ช่างระดับ 5 และ นายณัฐพล ชิณโฮง ช่างระดับ 5 ได้เข้าพื้นที่ ตรวจบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 230,000 โวลต์ ช่วง ขอนแก่น 3 – ร้อยเอ็ด 2 และประชาสัมพันธ์เชิงรุก การขอความร่วมมือ ประชาชน และ ชุมชนที่ปลูกอ้อยใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ขอให้ใช้วิธีตัดอ้อยสด ไม่ให้เผาไร่อ้อยใต้แนวสายส่งฯ

ในโอกาสนี้ ได้สานสัมพันธ์กับชาวไร่อ้อยโดยมอบผ้าห่มกันหนาว หมวก และปฏิทิน กฟผ.ให้กับประชาชน และ ชุมชน ที่เป็นเจ้าของไร่อ้อยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

ทั้งนี้ การรณรงค์ดังกล่าว ผู้ปฎิบัติงานทุกหน่วยปฎิบัติการและบำรุงรักษา กฟผ. ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกันเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันฤดูเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลตั้งแต่ประมาณเดือนธันวาคม 2563 และ โรงงานน้ำตาลจะทำการปิดหีบอ้อย โดยงดรับซื้ออ้อยประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณนี้ของทุกปีที่จะเกิดปัญหาไฟไหม้ไร่อ้อย ส่งผลให้สภาพอากาศที่เกิดฝุ่น ละอองที่เกินมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้ง ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างด้วย.

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 28 มกราคม 2564

“สุริยะ”สั่งปรับกฎหมายคุมโรงงานปล่อยมลพิษอากาศแก้ปัญหา "PM2.5"

“สุริยะ”สั่งปรับกฎหมายคุมโรงงานปล่อยมลพิษอากาศแก้ปัญหา PM2.5 คาดโรงงานกว่า 600 โรง ต้องติดเซนเซอร์ปลายปล่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ที่ให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 เพื่อให้สามารถตรวจสอบ ติดตามปริมาณการปลดปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสมและครอบคลุมเป็นการกำกับดูแลเฝ้าระวังเชิงรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่กลายเป็นปัญหาในระดับชาติทำให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเชิงรุก โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม ที่ให้มีการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ ควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ และให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) ที่เชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งสั่งการให้ขยายผลการติดตั้งระบบ CEMS ให้ครอบคลุมโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรอ. ได้ใช้ประกาศกระทรวงฯที่กำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือ หรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกำกับของ กรอ. โดยพื้นที่ที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ได้แก่โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยองสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ล่าสุดมีโรงงานที่ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) ในพื้นที่จังหวัดระยองจำนวน 5 โรง 33 ปล่อง และโรงงานในจังหวัดต่างๆ ที่ติดตั้งด้วยความสมัครใจอีกจำนวน 74 โรง รวมมีโรงงานที่ติดตั้งระบบ CEMS จำนวนทั้งสิ้น 79 โรงงาน 228 ปล่อง โดย กรอ.จะดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน

ซึ่งคาดว่าหลังจากประกาศกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ จะมีโรงงานทั่วประเทศติดตั้งระบบCEMSไม่น้อยกว่า 600 โรง 1,200 ปล่อง เพิ่มเติมจากเดิมที่บังคับใช้ในจังหวัดระยองแห่งเดียวเท่านั้น และเพื่อให้การควบคุมและกำกับดูแลการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดของโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมปัญหาด้านฝุ่นละออง กรอ.ได้ดำเนินการตรวจวัดการระบายฝุ่นจากปล่องโรงงาน ทั้งฝุ่นละอองรวม (Total Suspended Particle ; TSP) ฝุ่นขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน(PM10)และฝุ่น PM2.5 ตลอดจนฝุ่นในบรรยากาศบริเวณชุมชนรอบโรงงาน เพื่อเฝ้าระวังและติดตามปัญหาผลกระทบด้านฝุ่นละอองต่อประชาชน และนำข้อมูลผลตรวจวัดฝุ่นละอองทั้งหมดนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทาง และการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละอองและสารมลพิษต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป“กรอ. ได้จัดส่งแบบสำรวจข้อมูลโรงงานเพื่อประกอบการปรับปรุงกฎหมายฯไปยังผู้ประกอบการโรงงานทุกแห่ง เพื่อรับทราบข้อมูลโรงงาน ขนาดหน่วยการผลิต เชื้อเพลิงที่ใช้การดำเนินกิจการ เช่น ชีวมวล ถ่านหิน น้ำมันเตา หรือก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งระบบการบำบัดของเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้เหมาะสม อีกทั้งนำมาพัฒนาช่องทางและรูปแบบการปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลการระบายมลพิษโรงงาน ให้รองรับการขยายขอบเขตการบังคับติดตั้ง CEMS ทั่วประเทศ คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในต้นปี 2565”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 มกราคม 2564

ส่งเสริมเทคโนโลยีแทนการเผาในพื้นที่เกษตรลด PM2.5

รมว.เฉลิมชัยกำชับทุกหน่วยงานควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ตลอดจนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผา เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนหลายพื้นที่

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ดูแลปัญหาเรื่องการเผาพื้นที่เกษตรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา รวมถึงเร่งรัดจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร มีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรเข้าใจปัญหาที่เกิดจากการเผา รวมถึงทราบแนวทางการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา จัดให้มีการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อทดแทนการเผา ตั้งศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสาธิตการใช้เทคโนโลยีการไถกลบตอซังฟางข้าวทดแทนการเผาโดยให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้บริหารจัดการ การให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานและใกล้เคียง รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อใช้เป็นกลไกในการปฏิบัติการลดการเผาเศษซากพืช

ขณะนี้สามารถสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ใน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันรุนแรงเป็นประจำทุกปีประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ ตากและอุตรดิตถ์ โดนมีเกษตรกรดำเนินการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผาตามที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้แล้วเช่น ไถกลบตอซัง 22,683 แห่ง พื้นที่รวม 461,647 ไร่ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยกว่า 85 ล้านบาทโดยประมาณ (มูลค่า NPK เท่ากับ 184.38 บาท/ไร่) ผลิตปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ 24,623 แห่ง น้ำหนักรวม 4,668 ตัน ให้เกษตรกรได้ใช้ในไร่นาตนเอง แล้วจำหน่ายในราคา 4 บาท/กิโลกรัม การเพาะเห็ดฟาง จำนวน 521 แห่ง ผลผลิตรวมกว่า 550 ตัน จำหน่ายราคา 100 – 150 บาท/กิโลกรัม , ผลิตอาหารสัตว์/ฟางอัดก้อน 11,018 แห่ง 7,396,001 ก้อน น้ำหนักรวม 123,367 ตัน (น้ำหนักฟางอัดก้อน 15 – 20 กิโลกรัม/ก้อน) จำหน่ายราคา 30 บาท/ก้อน ผลิตวัสดุปลูก 285 แห่ง น้ำหนักรวม 91 ตัน จำหน่ายราคา 2 – 3 บาท/กิโลกรัม ผลิตถ่านอัดแท่ง 20 แห่ง น้ำหนักรวม 144 ตัน จำหน่ายราคา 20 บาท/กิโลกรัม ปลูกพืชทางเลือกเช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น ทดแทนหรือแซมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดบนที่สูง 83 แห่ง พื้นที่ รวม 1,618 ไร่ ผลิตกระดาษ 112 กิโลกรัม จำหน่ายราคาแผ่นละ 5 บาท ขายเศษวัสดุทางการเกษตรส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล 196,812 กิโลกรัม จำหน่ายราคาเฉลี่ย 807.77 บาท/ตัน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติปัญหาหมอกควันขนาดเล็กที่ปกคลุมทั่วทุกภูมิภาคที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรกำชับให้ทุกจังหวัดควบคุม กำกับดูแลพื้นที่การเกษตรอย่างเข้มงวด และกำหนดมาตรการดำเนินการ ในปี 2564 ได้แก่ การสร้างการรับรู้ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรงดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง การป้องกันและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยจัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ (ระดับอำเภอ) บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวัง ออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง แจ้งเหตุ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และ ระดมสรรพกำลังเครือข่ายอาสาสมัครเกษตร เตรียมความพร้อมเครื่องมือ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง และป้องกันการลักลอบเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การส่งเสริมและสร้างเครือข่ายในการงดเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยการส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรโดยไม่เผา โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุภาคการเกษตร เช่น การทำปุ๋ยหมัก การทำเชื้อเพลิงในครัวเรือน ธนาคารใบไม้ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการไถกลบตอซังหรือเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมแทนการเผา รวมถึงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่สูง

สำหรับแนวทางการส่งเสริมจะต้องเน้นให้เกษตรกร เกิดความตระหนัก และเกิดความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกันเฝ้าระวัง และสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการหยุดเผาด้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง .

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 28 มกราคม 2564

"สัมฤทธิ์" จี้ทบทวนแผนพลังงานทดแทน หลังข่าวเลื่อนยกเลิก "โซฮอล์ 91"

"มิสเตอร์เกษตร" จี้ ก.พลังงาน ทบทวนแผนพลังงานทดแทน หลังมีกระแสข่าว รมว.เตรียมเลื่อนยกเลิกโซฮอล์ 91 อ้างเอทานอลขาดแคลนผลิต E20 ไม่พอ หวั่นกระทบเกษตรกรชาวไร่อ้อย-มันสำปะหลัง ทำราคาตกฮวบ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานในการประชุม โดยในวาระการหารือของสมาชิก นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตนขอหารือผ่านไปยังกระทรวงพลังงาน ขอให้ดำเนินการตามแผนของสำนักงานนโยบายพลังงาน (สนพ.) จากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ได้มีนโยบายให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ และมีประกาศให้ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งมีผลบังคับในเดือน ก.ค.64 แต่ตนได้่ทราบข้อมูลตามสื่อต่างๆว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน มีนโยบานที่จะเลื่อนนโยบายการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ออกไป โดยอ้างว่าผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังไม่เพียงพอ และอ้างถึงโครงสร้างของราคาเอทานอล

นายสัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าหาก สนพ.ดำเนินการเช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยและมันสำปะหลังในประเทศ เพราะเอทานอลในประเทศไทยปัจจุบัน ผลิตจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง จะทำให้ราคาตกต่ำลงไปอีก สร้างความเสียหายให้เกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ซึ่งมีเกือบ 1 ล้านครัวเรือน สร้างความเสียหายให้กับนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล และที่สำคัญเป็นการไม่ปฏิบัติตามนโยบายแผนทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ซึ่งตนคิดว่าจะสร้างความเสียหายให้เกษตรกรและประเทศ ตนจึงขอให้กระทรวงพลังงานได้ทบทวนในเรื่องนี้ด้วย

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 28 มกราคม 2564

ผู้ว่าฯเลย ปลื้มลดเผาอ้อยเผาป่า PM 2.5 ลดได้กว่าครึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเลย ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จะมีเกษตรกรทำการเผาอ้อยเพื่อตัดส่งโรงงาน จนทำให้เกิดปัญหา PM 2.5  นั้นมีประมาณมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศใทย แต่ในช่วงเวลาปีที่ผ่านมานี้มีการรณรงค์อย่างหนักในกระบวนการจัดการ การให้ความรู้ การนำตัวช่วยในรูแบบต่างๆ การใช้เครื่องจักร การใช้แรงงานมากขึ้น เข้ามาเพื่อลดปัญหา PM 2.5 ให้น้อยลง ประกอบกับการรณรงค์อย่างหนักในเรื่องการเผาอ้อยจนปีนี้เป็นที่พอใจใจ ระยะหนึ่งถึง ปํญหาเหล่านี้ 

 นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ลงพื้นที่ เป็นประธานกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่สมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดเลย บริษัทน้ำตาล ขอนแก่น จำกัด (มหาชน) สาขาวังสะพุง ต.หนองหญ้าป้อง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมรับชมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

 นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า เรื่องของการเผาทำลายไม่ว่าจะเป็นก่อนการผลิตหรือหลังผลิตหรือในระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิต ในปีนี้ดูจากข้อมูลที่ทางอุตสาหกรรม เรื่องหลักการจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย สถานการณ์ pm2.5 โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอ้อยในจังหวัดเลย สถานการณ์การเผาอ้อยในพื้นที่ปีที่แล้ว ภาพรวมจังหวัดเลยทั้งสิ้น51% ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่เรามีความก้าวหน้าในการทำงาน แต่จากความเป็นจริงแล้วนั้นยังมีข้อกังวล แม้ว่าตัวเลขจะลดลงก็แล้วแต่จะมีผลกระทบระดับใหญ่ที่สุดคือ การสร้างก๊าซเรือนกระจกต่างๆ และเรื่องที่ใกล้ตัวคือเรื่อง pm2.5 หรือหิมะดำ ในปีนี้เรามีผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของแรงงานซึ่ง เป็นผลกระทบที่ในพื้นที่แก้ไม่ได้ เพราะแรงงานตรงนี้เรายังอาศัยแรงงานต่างด้าว ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านทำงาน แต่เนื่องจากโควิด19 เข้ามา วันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าในโอกาสข้างหน้าจะเกิดอะไร ดังนั้นเราจะต้องอาศัยนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วย ดำเนินชีวิตขอให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวข้องการผลิตอ้อยการนำอ้อยที่จะเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม

 ด้านนายประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จังหวัดเลย มีพื้นทั้งหมด 7,140,382 ไร่ เป็นพื้นที่กรเกษตร 2,554,818 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35.77 เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น พบปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ได้แก่ อ้อยโรงงานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และฟางข้าว พื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่เศษ ก่อให้เกิดหมอกควันและฝันละออง PM 2.5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ้อยโรงงาน มีพื้นที่ปลูกกว่า 278,958 ไร่ ที่มักประสบปัญหาต้นทุนการเก็บเกี่ยวอ้อย จากการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีการเผาใบอ้อย ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 มีปริมาณแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆปี

 ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหในพื้นที่จังหวัดเลย ให้เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อยและตัดอ้อยสด รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้ตระหนักและเห็นความสำคัญถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพความรู้เกษตรกรให้ปลอดการเผา จึงนำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการผา การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาเพื่อสร้างต้นแบบให้เกษตรหยุดผาอ้อย โดยการจัดกิจกรรมการรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมการรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรเป็นจำนวนมาก

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 27 มกราคม 2564

สินค้าไทยเสี่ยงโดนเท  หลัง อียูหันซื้อเวียดนามเหตุมีFTA

‘กรมเจรจาฯ’ จับตาสินค้าสำคัญ หลัง “FTA อียู-เวียดนาม” มีผลใช้บังคับ1 ส.ค.63 ที่ยกเว้นภาษีระหว่างกัน99%   แนะเอกชนเร่งปรับตัวสร้างจุดขาย ก่อนอียูหันไปซื้อสินค้าจากเวียดนามแทน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประเมินกลุ่มสินค้าสำคัญที่ไทยต้องจับตามองและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังความตกลงการค้าเสรีระหว่างอียูและเวียดนาม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งอียูและเวียดนามได้เปิดตลาดยกเว้นภาษีระหว่างกันในระดับสูง หรือกว่า 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด สำหรับกลุ่มสินค้าที่ต้องจับตามอง ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่อียูนำเข้าจากไทยจำนวนมาก แต่อาจพิจารณานำเข้าจากเวียดนามแทน หากต้นทุนการนำเข้าจากเวียดนามถูกกว่าไทย เช่น เส้นพาสต้า ข้าว ปลาปรุงแต่ง ปลาหมึกกระป๋อง ยางล้อรถจักรยาน ทุเรียน และน้ำผักและผลไม้ เป็นต้น ซึ่งไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียู

“เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดอียู ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมปรับตัว โดยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เน้นการพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้า รวมถึงใช้ช่องทางการส่งออกด้วยสิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอฉบับต่างๆ ที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ อาทิ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น รวมทั้ง “อาร์เซ็ป” ที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคต เพื่อเร่งขยายการค้าในตลาดอื่นๆ และลดความเสียเปรียบทางภาษีศุลกากรที่หายไปในตลาดอียู” นางอรมน กล่าว

นอกจากอียูจะทำเอฟทีเอกับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น อียูยังอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับอินโดนีเซีย และพิจารณาเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย โดยในส่วนของไทย ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณาเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียู หากทุกภาคส่วนเห็นพ้องว่าควรฟื้นการเจรจา กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาและความคิดเห็น รวมทั้งจัดทำกรอบเจรจาเสนอกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2563 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 17,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางทัศนศาสตร์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ในขณะที่ไทยนำเข้าจากอียูมูลค่า 15,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอัญมณีและเครื่องประดับ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม 2564

“จุรินทร์” เสนอแก้ พรบ.ลิขสิทธิ์  หวังเพิ่มประสิทธิภาพการค้าโลก

ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ...  โดยนายจุรินทร์  ระบุว่า การที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

หลักการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังต่อไปนี้ คือ  1. เพิ่มบทนิยามคำว่าผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา4  ,2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า มาตรการทางเทคโนโลยีโดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4 เช่นเดียวกัน,3. ยกเลิกบทนิยามคำว่า การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีโดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4  ,4. แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 21 ,5. แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ โดยยกเลิกมาตรา 32/3 เพิ่มส่วนที่ 7 ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการในมาตรา43/1 มาตรา 43/2 มาตรา 43/3 มาตรา 43/4 และมาตรา 43/5 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 53 ,6. แก้ไขเพิ่มเติมให้การทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเข้าถึงไม่เกิดผล เป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 53/4 

7. แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี โดยแก้ไขมาตรา 53/5 (1)  ,8. กำหนดให้การให้บริการผลิต ขาย หรือแจกจ่ายซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ที่ทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล เป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีและกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดสำหรับกรณีดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติโทษให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดยเพิ่มเติมมาตรา 53/6 มาตรา 53/7 มาตรา 53/8 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70/1  ,9. กำหนดให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ซึ่งพ้นตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ โดยเพิ่มเติมในมาตรา 57 วรรคสาม 

โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข มี 4 ประเด็น ดังนี้1. เป็นเรื่องของการแก้อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของภาพถ่าย จาก 50 ปี เป็น ตลอดชีวิตของเจ้าของลิขสิทธิ์ และบวกไปอีก 50 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ของ WIPO ได้ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เคยมีมติเห็นชอบให้เข้าเป็นภาคีแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 2. เป็นเรื่องของการแก้กฎหมายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งศาลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  3. เป็นการแก้กฎหมายให้จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือในเรื่องของการขายกล่องเถื่อนที่มีการดูดสัญญาณดูภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ กีฬา เอาผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้นั้น เมื่อแก้ไขแล้วก็จะสามารถที่จะเอาผิดกับกล่องเถื่อนที่ดูดสัญญาณเหล่านี้ได้ โดยมีโทษกำหนดไว้ในรายละเอียดของกฎหมาย   4. การแก้กฎหมายนี้จะช่วยให้ผู้ทรงคุณวุฒิตามกฏหมายลิขสิทธิ์ที่หมดวาระแล้วซึ่งปัจจุบันเมื่อหมดวาระก็ต้องพ้นไปเลยนั้น ก็จะสามารถอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีคนใหม่เข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม 2564

“พาณิชย์”ปรับปีฐานเงินเฟ้อ   ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

 “สนค.” "ปรับปีฐานเงินเฟ้อและดัชนีราคาผู้ผลิต ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการ 5 กุมภาพันธ์  นี้

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2564 นี้ สนค. จะเริ่มต้นการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้ผลิต โดยใช้ปีฐานใหม่ ซึ่งปกติต้องปรับทุก 4-5 ปี โดยรอบนี้ได้กำหนดรายละเอียดให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อ ได้ปรับโดยใช้ปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศเสร็จ และเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมั่นใจว่าเป็นปีฐานที่เหมาะสม

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตนั้น จะใช้ตาราง Input-Output ของสศช. ปี 2558 เป็นฐานเพราะเป็นข้อมูลล่าสุด โดยการปรับปีฐานของดัชนีทั้ง 2 ชุด มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

การปรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่ปีนี้ มีประเด็นที่สำคัญ เช่น ครอบคลุมครัวเรือนที่มีรายได้ 6,987 – 50,586 บาทต่อเดือน (จากเดิม 12,000 – 62,000 บาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของครัวเรือนทั่วประเทศ (จากเดิมร้อยละ 29) รวมค่าใช้จ่ายไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.19 (จากเดิมร้อยละ 30) ลดสัดส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงเป็นร้อยละ 22 (จากเดิมร้อยละ 42) ปรับรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต“พาณิชย์”ปรับปีฐานเงินเฟ้อ   ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

โดยเฉพาะยุคโควิด สุขภาพนิยม และสังคมผู้สูงอายุ โดยจะมีจำนวนสินค้าและบริการทั้งสิ้น 430 รายการ (จากเดิม 422 รายการ) ประกอบด้วยสินค้าจำนวน 341 รายการ และบริการจำนวน 89 รายการ โดยมีรายการสินค้าและบริการใหม่ๆ อาทิ หน้ากากอนามัย อาหารจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ผลิตภัณฑ์รองพื้น ค่าอาบน้ำและตัดแต่งขนสัตว์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ยาขับลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น โดยมีการปรับน้ำหนัก (weight) ของการบริโภคแต่ละรายการให้สอดคล้องกับโครงสร้างจากสำนักงานสถิติฯ

นอกจากดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปทั้งประเทศแล้ว ยังมีการปรับเงินเฟ้อของกลุ่มนอกเขตเทศบาล ชุดผู้มีรายได้น้อย และชุดรายจังหวัดให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณและปีฐานใหม่ด้วย โดยเงินเฟ้อชุดผู้มีรายได้น้อยจะปรับมาใช้นิยามของนโยบายรัฐบาล คือ เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือไม่เกิน 22,665 บาทต่อครัวเรือน/เดือน หรือ 8,333 บาท/คน/เดือน (เฉลี่ยครัวเรือนละ 2.72 คน) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ชัดเจนขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลต่อไป สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ได้เปลี่ยนจากปีฐาน 2553 เป็นปีฐาน 2558 (ใช้ข้อมูลน้ำหนักโครงสร้างจากตาราง I/O ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยมีการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหมวด/หมู่/รายการสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีความสอดคล้องกับการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในการนำข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตไปใช้ในการวิเคราะห์ กำหนด และวางแผนนโยบายด้านการค้าร่วมกับเครื่องชี้วัดด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ปรับปรุงรายการสินค้าและสัดส่วนความสำคัญของสินค้าให้มีความทันสมัยตามโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ปีฐาน 2558 มีจำนวนรายการสินค้าทั้งสิ้น 501 รายการ “การปรับปรุงปีฐานของทั้งสองดัชนีในครั้งนี้ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563 ทั้งในด้านวิธีการคำนวณ การคัดเลือกสินค้าและบริการลงตะกร้าการคำนวณ และการกำหนดขอบเขตกลุ่มตัวอย่าง จึงมั่นใจว่า เครื่องชี้วัดด้านราคาชุดนี้ จะสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการบูรณาการเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในระดับโครงสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ ดัชนีปีฐานใหม่ทั้งสองชุดจะเริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 มกราคม 2564

เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตปี 2564

กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – กรมส่งเสริมการเกษตรเชิญชวนเกษตรกร เร่งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พร้อมรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เผยวางเป้าเกษตรกรด้านพืชขึ้นทะเบียน 5.7 ล้านครัวเรือน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2564 กำหนดแนวทางการดำเนินงานขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยเน้นเกษตรกรทราบและติดตามเกษตรกรให้แจ้งข้อมูลการเกษตรอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ครบถ้วน เพื่อเก็บข้อมูลการเพาะปลูกพืชนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร พร้อมทั้งประมวลผลข้อมูลการจัดทำสารสนเทศด้านการเกษตรในภาพรวมของประเทศที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลไปเผยแพร่บูรณาการใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน โดยวางเป้าหมายไว้ 5.7 ล้านครัวเรือน

ล่าสุดมีผู้มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรแล้ว 1,037,976 ครัวเรือน รวม 2,116,273 แปลง พื้นที่เพาะปลูก 14,792,249.55 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 18.21 (ข้อมูลวันที่ 21 ม.ค. 2564) ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรยังเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อให้เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ตามโครงการที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขึ้น ได้แก่ โครงการประกันรายได้พืช 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเงินช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ก่อนในเบื้องต้น

ด้านนายสัมฤทธิ์ เทวะภูมิ ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนเกษตรกร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร เกษตรกรสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้หลังจากเพาะปลูกพืชไปแล้ว 15 วัน จนถึงก่อนวันเก็บเกี่ยวไม่เกิน 60 วัน และจะมีกระบวนการตรวจสอบ พื้นที่ จัดเก็บพิกัดแปลง กรณีแปลงใหม่ แต่สำหรับแปลงเดิมนั้น หลังจากรับแจ้งข้อมูลแล้ว จะใช้วิธีการปิดประกาศเป็นเวลา 3 วัน เพื่อการยืนยันหรือคัดค้านของเกษตรกรในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น โดยเกษตรกรต้องมาลงนามรับรองข้อมูลของตนเองด้วย สำหรับเกษตรกรรายใหม่สามารถแจ้งขึ้นและปรับปรุงข้อมูลได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก ในส่วนของเกษตรกรรายเดิมสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งหรือปรับปรุงผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการปรับปรุงแอปพลิเคชัน Farmbook ให้สามารถตรวจสอบผลการรับเงินจากการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เช่น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย และมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ จากภาครัฐให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบการรับเงินได้ภายในแอปพลิเคชัน โดยการเข้าสู่ระบบ จากนั้นเลือกหัวข้อ “ติดตามสิทธิ์” แล้วเลือกชื่อโครงการที่ต้องการตรวจสอบ ส่วนเกษตรกรรายใหม่ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนเกษตรกรสามารถสอบถามรายละเอียดที่สำนักงานเกษตรอำเภอ .

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 27 มกราคม 2564

อ้อยวูบดันราคาเชื้อเพลิงชีวมวลพุ่ง ไม้สับราคาสูงสุดรอบ 10 ปี

จับตาราคาเชื้อเพลิงชีวมวลพาเหรดขยับราคาหลังผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยลดต่ำ ดันราคาไม้สับพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี เอกชนเกาะติดประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์หลัง กกพ.เปิดรับฟังความเห็น รับการคัดเลือกด้วยวิธีประมูลหรือบิดดิ้งอาจเอื้อให้ทุนใหญ่ และวิสาหกิจชุมชนอาจได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่คาดไว้

นายวัฒนพงษ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ความต้องการไม้สับ หรือไม้ชิป (Wood chips) ที่ผลิตจากไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ไม้อื่นๆ ที่นำมาผ่านกระบวนการสับย่อยให้กลายเป็นชิ้นเล็ก เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวลมีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาไม้สับหน้าโรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300-1,350 บาทต่อตันซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 10 ปีเนื่องจากพืชเกษตรหลายตัวมีผลผลิตตกต่ำส่งผลให้เชื้อเพลิงที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรได้รับผลกระทบตามไปด้วย

“เชื้อเพลิงชีวมวลไทยมีการผลิตเฉลี่ย 30 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน โดย 50% เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ฯลฯ และอีก 50% มาจากไม้สับ ไม้ปลูก ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะอ้อยในฤดูหีบปี 63/64 ที่กำลังหีบกันอยู่ได้รับผลกระทบภัยแล้งทำให้ผลผลิตเฉลี่ยแค่ 70 ล้านตันส่งผลให้ชานอ้อยปีนี้จะลดลงไปจากเดิมถึง 50% โรงไฟฟ้าชีวมวลที่เคยใช้ชานอ้อยบางส่วนเริ่มวิ่งมาหาไม้สับ แกลบ มากขึ้น แต่ของก็มีน้อยเพราะผลผลิตข้าวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก” นายวัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับฟังความเห็น “ร่างระเบียบการจัดหาไฟฟ้าและร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ. 2564 ทางเว็บไซต์ของ กกพ.ที่จะใช้คัดเลือกรูปแบบ Competitive Bidding ในการเสนอส่วนลดค่าการลงทุนโรงไฟฟ้า ซึ่งรูปแบบนี้ท้ายสุดก็เท่ากับการไปลดราคาเชื้อเพลิงจากวิสาหกิจชุมชนที่จะเข้าร่วมอยู่ดี ประกอบกับไม่มีการประกันราคาพืชพลังงานตามเงื่อนไขเดิมที่เคยวางกรอบไว้โดยให้มีการเจรจากันเอง

“การบิดดิ้งแม้ว่ารัฐจะชี้แจงว่าแข่งขันเฉพาะการลงทุนโรงไฟฟ้าไม่ใช่เชื้อเพลิง แต่ต้นทุนมันแยกไม่ได้หรอก ภาพรวมถือว่าไม่เอื้อให้บริษัทรายเล็ก กลาง แต่เป็นการเอื้อให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพียงแค่มายื่นก็สามารถระดมเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าในการจะเสนอราคาต่ำอย่างไรก็ได้ เราเคยเสนอไปให้เป็นการให้คะแนนโดยเน้นให้ผลตอบแทนวิสาหกิจชุมชนสูงสุดก็ได้ไปหรือไม่ก็จับสลาก แต่เมื่อมาเป็นแบบนี้ก็ต้องเข้าใจ” นายวัฒนพงษ์กล่าว

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.กล่าวว่า ยอมรับว่าขณะนี้จากผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะอ้อยทำให้โรงไฟฟ้าหันไปซื้อแกลบแทนส่งผลราคาแกลบปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,800-2,000 บาทต่อตัน บางส่วนจึงเริ่มหันไปซื้อไม้สับ อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัต์ที่จะมีการเปิดให้ยื่นคำเสนอขาย 22 มีนาคม 2564-2 เมษายน 2564 นี้มีเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องเป็นการปลูกพืชใหม่เท่านั้น ก็ถือว่าจะทำให้ชัดเจนถึงเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าใหม่กับเก่าไม่แย่งกันในอนาคต

“ตอนนี้ กกพ.รับฟังความเห็นอยู่ เอกชนคงจะเสนอแนวทางไป แต่ทิศทางยังคงเป็นบิดดิ้งเช่นเดิมซึ่งเห็นว่าจะยังเอื้อให้บริษัทมหาชนหากยึดที่ต้นทุนทางการเงินต่ำ ก็คงต้องติดตามใกล้ชิดและหวังว่าที่สุดจะไม่ซ้ำรอยเหมือนโครงการ SPP Hybrid Firm” นายนทีกล่าว

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภาพรวมจะทำให้เกิดการลงทุนเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เห็นว่าจำเป็นต้องขับเคลื่อนออกมา ซึ่งเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการปลูกพืชใหม่โดยให้รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชน 80% และให้จัดหาเองได้อีก 20% ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่กังวลคือการใช้วิธีบิดดิ้งแม้ว่าจะระบุว่าแข่งขันราคาค่าก่อสร้างภาพรวมก็ยังห่วงว่าประโยชน์จะตกถึงวิสาหกิจชุมชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ทั้งหมดก็คงต้องติดตามเป็นสำคัญ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 26 มกราคม 2564

กษ.มุ่งสร้างรายได้ยั่งยืนด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา อาทิ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำไปสู่พืชทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่นโรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชน ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว สามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของกระทรวงพลังงานได้

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยมีนายชนินทร์ รุ่งแสง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ได้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชีวมวลในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเป้าหมาย พร้อมทั้งพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อ “มุ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางรายได้ของเกษตรกรไทย” ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

‘พาณิชย์’ ผนึกกำลังเอกชน   ค้านฟิลิปปินส์ตอบโต้การค้าไทย

กรมเจรจาฯ ร่วมกับภาคเอกชน เตรียมยื่นหนังสือและร่วมแสดงความเห็นค้านฟิลิปปินส์ กรณีเตรียมตัดสิทธิภาษีศุลกากรสินค้าไทย ตอบโต้ไทยกรณีข้อพิพาทเรื่องบุหรี่ใน WTO ชี้! คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ กระบวนการตัดสินยังไม่สิ้นสุด ฟิลิปปินส์ไม่มีสิทธิตอบโต้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่ฟิลิปปินส์จะเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในวันที่ 27 มกราคม 2564 เกี่ยวกับรายการสินค้าที่จะพิจารณาตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรกับไทย เพื่อตอบโต้กรณีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องไทยในกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ว่าไทยยังไม่ได้ปรับมาตรการประเมินราคาศุลกากรสินค้าบุหรี่ให้เป็นไปตามคำตัดสินของ WTO

โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา กรมฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหารือเตรียมโต้แย้งเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ฟิลิปปินส์เตรียมรับฟังความเห็น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อและผลิตภัณฑ์ พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะเข้าร่วมให้ข้อมูลในกระบวนการรับฟังความเห็นของฟิลิปปินส์ และจะคัดค้านการตอบโต้ทางการค้าของฟิลิปปินส์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ยังไม่สิ้นสุด และอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงไม่สามารถอ้างเรื่องข้อพิพาทใน WTO มาตอบโต้ทางการค้าไทยได้ อีกทั้งการตอบโต้ดังกล่าว จะเกิดผลเสียไม่ใช่เฉพาะผู้ส่งออกไทย แต่ผู้บริโภคและผู้นำเข้าของฟิลิปปินส์จะได้รับผลกระทบเช่นกัน‘พาณิชย์’ ผนึกกำลังเอกชน   ค้านฟิลิปปินส์ตอบโต้การค้าไทย

ทั้งนี้กรณีพิพาทนี้ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 โดยฟิลิปปินส์ฟ้องไทยในกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ว่า การประเมินราคาสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ไม่สอดคล้องกับหลักการของ WTO ซึ่งฝ่ายไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยมีกรมศุลกากรเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำตัดสิน และหารือกับฝ่ายฟิลิปปินส์เพื่อทำความเข้าใจและหาทางยุติข้อพิพาท ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์มีมูลค่า 8,084.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง 20.3% เมื่อเทียบกับปี 2562) คิดเป็น 1.8% ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มูลค่า 5,051.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 3,032.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 มกราคม 2564

เศรษฐกิจชีวภาพ: โอกาสความร่วมมือไทย-สาธารณรัฐเช็ก

บทความพิเศษ​: สถานเอก​อัครราชทูต​ ​ณ​ กรุง​ปราก​

เมื่อพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและพลังงานในปัจจุบัน กระแสของเศรษฐกิจแบบ BCG (หรือ Bio-Circular-Green Economy) ที่เรียกว่า เศรษฐกิจชีวภาพ เริ่มเป็นแนวทางที่ทุกประเทศต่างพูดถึง และไทยก็ได้ประกาศให้ BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ซึ่งต่อยอดจากการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่สอดคล้องกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการเติบโตแบบก้าวกระโดด

วันนี้จะพาไปรู้จักกับ แนวการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาพลังงานถ่านหินและพลังานงานนิวเคลียร์เป็นหลักและอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดของอียูตามแผน European Green Deal

เช็ก เป็นประเทศขนาดกลางในยุโรปที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และมีสภาพพื้นที่ที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคจึงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านภูมิศาสตร์หลายประการและยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เมื่อปี 2563 ได้เกิดภัยแล้งในระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปีผ่านมา

อย่างไรก็ดี เช็กเป็นสมาชิกใหม่ของอียูที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดี ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ของ GDP ต่อปี จึงเอื้อต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากที่เคยพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรกล โลหะและเคมีภัณฑ์เป็นหลัก ไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้วัตถุดิบชีวภาพแบบหมุนเวียน เช่น การผลิตที่เน้นการใช้พืช ป่าไม้ สัตว์ และจุลินทรีย์ แต่สำหรับเช็กแล้วการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพตามนิยามดั้งเดิมเป็นข้อจำกัดสำคัญ เนื่องจากเช็กขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อเศรษฐกิจชีวภาพ แต่เป็นประเทศที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเคมีภัณฑ์ ชีววิทยา และเทคโนโลยีชีวภาพจึงได้นำจุดแข็งดังกล่าวมาเป็นแกนหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในปัจจุบัน

สาธารณรัฐเช็ก

เช็กยังเป็นสมาชิกในกลุ่ม Visegrad ที่เป็นสมาชิกก่อตั้ง BIOEAST Initiative (The Central-Eastern European Initiative for Knowledge-based Agriculture, Aquaculture and Forestry in the Bioeconomy) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์และองค์ความรู้ในด้านการวิจัยและนวัตกรรมของเศรษฐกิจชีวภาพแบบยั่งยืนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ตลอดจนการร่วมกับประเทศสมาชิก Visegrad ในการกำหนดทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 2562 – 2563 ที่เช็กดำรงตำแหน่งประธาน Visegrad

รัฐบาลเช็กให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพโดยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพและสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเน้นการทำวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ และมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ (1) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (2) กระทรวงสิ่งแวดล้อม (3) กระทรวงเกษตร และ (4) กระทรวงศึกษา เยาวชน และกีฬา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ตลอดจนได้จัดตั้ง Technology Agency ขึ้นในปี 2552 เพื่อรับผิดชอบการดำเนินการด้าน R&D และนวัตกรรม

ในปัจจุบันเช็กยังไม่มียุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเป็นการเฉพาะ แต่ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพไว้ในยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ ได้แก่ (1) The Strategic Framework for the Czech Republic 2030 (2) The Czech Republic’s Innovation Strategy for 2019-2030 (3) Research and Innovation Strategy for Smart Specialization of the Czech Republic และ (4) The Strategy of the Ministry of Agriculture of the Czech Republic with Outlook up to 2030 ซึ่งทิศทางสำคัญของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และเศรษฐกิจ ของเช็กคือการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็น low-carbon economy และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจกซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและ สิ่งแวดล้อมของอียู

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

สถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก

เช็กมีการจ้างงานแรงงานในภาคเศรษฐกิจชีวภาพระหว่างปี 2558 – 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 376,000 คน/ปี คิดเป็นประมาณ 2% ของการจ้างงานในภาคดังกล่าวของอียู โดยสาขาเศรษฐกิจชีวภาพที่เช็กมีความโดดเด่น ได้แก่ (1) Agricultural Bioeconomy ซึ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ (2) เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ พลาสติก และ bio-based rubber และ (3) Bio-textile เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุ bio และอุตสาหกรรมเครื่องหนังและขนสัตว์ ซึ่งในทุกภาคการผลิตสินค้า bio มีสัดส่วนการจ้างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ของการจ้างงานในภาคดังกล่าวของอียู และแม้ในปัจจุบันทิศทางการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรชีวภาพจะมีจำนวนแรงงานลดลงแต่ผลผลิตกลับสูงขึ้นเนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้แทนแรงงานคน

เช็กใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ (geothermal) เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจชีวภาพ ระหว่างปี 2561-2563 มีการใช้พลังงานชีวมวลคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 65.15% ของแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด และใช้ประโยชน์จากพลังงานชีวมวลเพื่อการทำความร้อนเป็นหลัก และเช็กมองว่า ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศ พลังงานชีวมวลนับเป็นแหล่งพลังงานที่มีความเสถียรและสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำ

สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาเช็กที่มีบทบาทนำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ

ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเช็กจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา (2) ผู้สนับสนุนการถ่ายโอนเทคโนโลยี และ (3) ผู้ประกอบการ ซึ่ง Czech University of Life Science Prague และ Mendel University Brno เป็นสถาบันการศึกษาหลักที่มีบทบาทนำในด้าน R&D ในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ โดยได้ทำวิจัยและจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยสาขาที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ การตัดต่อพันธุกรรมพืช สุขอนามัยพืช ความปลอดภัยในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ชีววิทยาด้านโมเลกุล ความมั่นคงทางอาหาร การใช้ประโยชน์จากขยะชีวภาพและการใช้พลังงานจากชีวมวล

นอกจากนั้น ยังมีสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอีกหลายแห่ง ได้แก่ (1) The Center of the Regional Hana for Biotechnology and Agricultural Research ภายใต้ Palacky University Olomouc (2) Institute of Experimental Botany of the Czech Academy of Sciences and the Crop Research Institute (3) The Biology Center of the Czech Academy of Sciences (4) the Institute of Microbiology of the Czech Academy of Sciences และ (5) The Institute of Experimental Botany

เมื่อปี 2561 สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจชีวภาพในเช็กได้ร่วมกันก่อตั้ง Bioeconomy Platform of the Czech Republic โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมความรู้ในเชิงลึก และนำการวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพไปสู่การใช้งานในภาคเอกชนและการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาและแลกเปลี่ยนความเห็น และการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับกลุ่มผู้สนใจในหลายระดับ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและในภาคอุตสาหกรรม

ทิศทางและความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็ก

การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพมีความเชื่อมโยงกับแหล่งวัตถุดิบชีวภาพ วัตถุดิบหมุนเวียน ซึ่งการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตและการเพาะปลูกพืชเพื่อนำมาใช้ในภาคเกษตรกรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาลเช็ก อย่างไรก็ดี เทคนิคการพัฒนาพันธุ์พืชและการคิดค้นพืชสายพันธุ์ใหม่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางสำหรับประเทศสมาชิกอียูและมีบางประเทศที่เริ่มบังคับใช้มาตรการห้ามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) แล้ว ในขณะที่เช็กยังมีท่าทีผ่อนปรนต่อประเด็นพืช GMOs และยังไม่ได้เริ่มบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าว ซึ่งประเด็นการห้ามเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ GMOs อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพันธุ์พืชที่เช็กอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกภายในประเทศ เนื่องจากเช็กมีข้อจำกัดด้านพื้นที่การเกษตรและจำเป็นต้องพึ่งพาการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเพียงไม่กี่ชนิด

ดังนั้นความไม่ชัดเจนของข้อห้ามในการปลูกพืช GMOs กับข้อเรียกร้องของประเทศสมาชิกอียูให้สามารถปลูกพืชประเภท New Breeding Techniques (NBT) จึงเป็นประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของเช็กในอนาคต

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 มกราคม 2564

เดินหน้าอีอีซีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

     การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทยนั้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในระยะสั้นนั้นอาจจะโดนกระทบไปบ้าง แต่มั่นใจได้ว่าในโครงการขนาดใหญ่ที่มีระยะการลงทุนระยะยาวนั้นไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ขณะที่โครงการในพื้นที่อีอีซีนั้น เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ เนื่องจากหลายโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระยะยาว แต่ก็ต้องรอการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย

เทรดฟอเร็กซ์ไปกับโบรกฯที่มีความน่าเชื่อถือระดับโลก

        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วทั้งโลกต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย สร้างความเสียหายทั้งกับชีวิต ทรัพย์สิน อาชีพ และเศรษฐกิจ ทุกอย่างชะลอตัวลงและทยอยติดลบอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้นมากแล้ว มนุษย์เริ่มปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และสรรหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด รวมถึงแต่ละประเทศเองก็ออกมาตรการมาเยียวยาและช่วยเหลือทุกภาคส่วนให้สามารถคงอยู่และต่อสู้กับสิ่งที่เกิดได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะสามารถรับมือปัญหานี้ได้ ก็มีอยู่ที่ต้องได้รับผลกระทบที่เกินจะเยียวยา

        ประเทศไทยเองมีหลายภาคส่วนที่แทบจะเอาตัวไม่รอด หลายคนมองไม่เห็นเส้นทางที่จะไปต่อจนต้องยอมแพ้กันไป  และรอเริ่มต้นใหม่ในจังหวะที่ดีขึ้นกว่าตอนนี้ แต่หลายคนก็มองเห็นปัญหา เห็นหนทางที่จะต่อสู้หรือหาข้อได้เปรียบในปัญหานี้จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี และนโยบาย มาตรการ หรือโครงการที่ออกมาจากภาครัฐของประเทศไทย บางเรื่องก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นเห็นทางออก หรือได้รับการเยียวยา ชี้นำแนวทางจนสามารถเดินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด

อีอีซี โครงการแห่งความหวัง

        โครงการหรือนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมาครอบคลุมเกือบจะทุกกลุ่มคน หรือทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย และอีกหนึ่งเรื่องนี้ที่ถือว่าเป็นโชคดีของประเทศก็คือการเริ่มดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่พอจะเป็นความหวังให้กับหลายๆ ฝ่ายได้ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ และหนึ่งในโครงการสำคัญนั่นก็คือการเดินหน้าโครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เป็นเหมือนฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายมีกำลังใจว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนที่จริงจัง แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองหรือตัวเลขเศรษฐกิจจะติดลบแค่ไหนก็ตาม

        อีอีซีเป็นโครงการที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องถึงหลายฝ่ายอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่คนทำงานก็ยืนยันว่ายังเดินหน้าเต็มกำลัง และเหมือนเป็นโชคดีที่ทุกอย่างได้ถูกตัดสินใจ โดยตั้งเป็นกฎหมายของโครงการ และดำเนินการวางกรอบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงพูดได้อย่างมั่นใจว่าเป็นโครงการแห่งความหวังของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะกลุ่มธุรกิจหรือภาคเอกชนใดก็ตาม ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ไทยสามารถเดินหน้าทางด้านเศรษฐกิจต่อไป เพราะการลงทุนขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาร่วมทำงานครั้งนี้

        อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชน อย่าง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทยนั้น ความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ต้องการจะลงทุนในระยะสั้นนั้นอาจจะโดนกระทบไปบ้าง แต่มั่นใจได้ว่าในโครงการขนาดใหญ่ที่มีระยะการลงทุนระยะยาวนั้นไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ขณะที่โครงการในพื้นที่อีอีซีนั้น เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้ เนื่องจากหลายโครงการที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระยะยาว แต่ก็ต้องรอการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย

        "ปัจจุบันหลายฝ่ายอาจจะมีความกังวลเรื่องการเดินทาง ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องโควิดให้จบเรียบร้อยก่อน ในไทยเองก็อยากให้รัฐบาลเร่งเรื่องนี้เพราะจะช่วยกระตุ้น และสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนได้ดีที่สุด ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในปี 2564 นี้ ต้องเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่หวือหวาเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีสถานการณ์โควิด" นายสุพันธุ์กล่าว

5 เมกะโปรเจ็กต์หนุนลงทุน

        อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่อีอีซีเบื้องต้น นอกจากวางกรอบการทำงานและกำหนดกฎหมายที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่าอีอีซีจะเดินหน้าต่อเนื่องแล้ว การริเริ่มโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะตอกย้ำความพร้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ต่อไป และรัฐบาลเลือกที่จะเดินหน้า 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของพื้นที่อีอีซี ซึ่งประกอบไปด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2.โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 4.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ 5.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

        ซึ่งการลงทุนนี้เองที่หลายฝ่ายหวังว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตขึ้นมาได้บ้างท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ และขณะนี้โครงการต่างกำลังเร่งเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อสามสนามบิน จำกัด ดำเนินการระยะเวลาร่วมลงทุนกับภาครัฐคือ 50 ปี มีการก่อสร้างระยะทางรวม 220 กิโลเมตร(กม.)

        ปัจจุบันอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการตามแผนงาน ตามสัญญา ทุกด้านคู่ขนานกันไป ทั้งการออกแบบรายละเอียดก่อสร้าง การจัดหาแหล่งเงินลงทุนโครงการ และการรอส่งมอบพื้นที่จากภาครัฐ ซึ่งตามกำหนดการเส้นทางสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะแล้วเสร็จตามสัญญาในเดือน ม.ค.2569 และเส้นทางดอนเมือง-พญาไท จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2571

        โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กองทัพเรือ (ทร.) และมีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน โดยได้มีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมส่งมอบพื้นที่ใน 8 เดือน โดยเงื่อนไขบังคับก่อนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และเตรียมความพร้อมในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในเดือน ธ.ค.2564 เอกชนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง และใช้เวลา 3 ปี ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567 ซึ่งจะแบ่งเป็นการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ, อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน, เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์, ศูนย์ฝึกอบรมการบิน, ระบบสาธารณูปโภค และหอบังคับการบินแบบใหม่

        โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างเจรจาตอบแทนกับกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อยู่ โดยการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ ท่าเทียบเรือ F และ E ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยความสามารถในการรองรับของท่าเทียบเรือตู้สินค้าจะไม่น้อยกว่า 4 ล้าน TEU โดยจะมีระยะเวลาร่วมทุนในท่าเรือ F 35 ปี ขณะที่ท่าเรือ E จะมีความสามารถในการรองรับตู้สินค้าไม่น้อยกว่า 3 ล้าน TEU และมีความสามารถในการขนส่งถ่ายรถยนต์ 1 ล้านคัน โดยหากมีข้อสรุปจะมีการลงนามในสัญญาเดือน มี.ค.64 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนของเอกชนทันที ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างในท่าเทียบเรือ F และจะเปิดให้บริการในปี 2567 และท่าเรือ E จะเปิดให้บริการในปี 2573

        โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งมีการลงนามสัญญาไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ได้แก่ส่วนที่ 1 งานโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ พื้นที่ถมทะเลเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่หลังท่าและหน้าท่า พร้อมใช้งาน 550 ไร่, พื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่, เขื่อนหินกันทรายและเขื่อนกันคลื่น, ร่องน้ำเดินเรือและแอ่งกลับเรือ, ทุ่น เครื่องหมาย และอุปกรณ์ต่างๆ  รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยจะต้องสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่าพื้นที่ 200 ไร่, ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่า 200 ไร่, ท่าเทียบเรือบริการ และคลังสินค้า โดยในเดือน เม.ย.64 จะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและถมทะเล ปี 2566 จะก่อสร้างท่าเรือก๊าซส่วนที่ 1 และจะแล้วเสร็จในปี 2569 ก่อนที่จะมีการสร้างส่วนที่ 2 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573

        โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) กองทัพเรือ (ทร.) เป็นหน่วยงานบริการโครงการ ซึ่งขอบเขตของโครงการคือการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งลำตัวกว้างและลำตัวแคบ, ซ่อมใหญ่อากาศยาน, ซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด และการพ่นสีอากาศยานและส่วนประกอบอื่น โดยปัจจุบันกองทัพเรือได้ดำเนินการออกแบบอาคารซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ พร้อมที่จะก่อสร้าง แต่โครงการอยู่ระหว่างการชะลอ โดยรอความชัดเจนของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

        อย่างไรก็ตาม โครงการอีอีซีนั้นเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่และเป็นรูปแบบใหม่ๆ หรืออุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) เข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาต่างๆ โดยในปีที่ผ่านมาการลงทุนในพื้นที่อีอีซีตามมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  ตลอดช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย.2563 มีมูลค่าการลงทุนรวม 242,701 ล้านบาท แบ่งเป็นเอส-เคิร์ฟ กลุ่มเดิม 114,239 ล้านบาท กลุ่มเอส-เคิร์ฟ กลุ่มใหม่ 41,659 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่นๆ 77,154 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ แม้จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีตัวเลขที่สูงกว่าปี 2562

        ทั้งนี้ ในปี 2564 อีอีซียังคงเป็นความหวังหลักในการสนับสนุนการลงทุนอยู่ ทางทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชนที่มีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ก็เชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นทำเลทองที่จะสร้างให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินอีกมหาศาล ซึ่งต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าความเข้มแข็งและเอาจริงเอาจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อีอีซี จะลงทุนลงแรงในการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้รวดเร็วและมากน้อยเพียงใดในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดความสนใจจากต่างชาติหรือโลกใบนี้ได้.

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 25 มกราคม 2564

สั่งตรวจสอบรถบรรทุกทำอ้อยร่วงหล่นบนทางหลวง

จากกรณีที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คส่วนตัว โพสต์ข้อความ ระบุว่า ขณะขับรถอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3395 ที่บริเวณบ้านหนองยาง ตำบลท่าเกวียน อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยขับรถตามหลังรถบรรทุกอ้อยซึ่งวิ่งมาด้วยความเร็ว และได้เกิดเหตุอ้อยร่วงหล่นจนต้องเบรกกะทันหัน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ     

กรมทางหลวง (ทล.)โดยสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะได้ เร่งดำเนินการจัดชุดตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่หน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) 3 หน่วย และหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ในพื้นที่ใกล้เคียง รวม 10 สถานีฯ เข้าดำเนินการลงพื้นที่จับกุมรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกินในพื้นที่ จ.สระแก้ว โดยทันที ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมสั่งการสถานีตรวจสอบน้ำหนักทั่วประเทศให้เข้มงวดกวดขันจับกุมรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน อีกทั้ง ได้จัดตั้งจุดตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ร้องเรียนดังกล่าวที่จังหวัดสระแก้ว ในช่วงวันที่ 21-22 มกราคม 2564 จับกุมรถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน รวมทั้งสิ้น 5 คัน พร้อมแจ้งให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกอ้อย โรงงานน้ำตาล บรรทุกอ้อยตามกฎหมายกำหนด และปฏิบัติตามมาตรการ ขนส่งอ้อยโดยปลอดภัยกับผู้ใช้ทางหลวง โดยสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง มีสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในปีงบประมาณ 2563 รวมทั้งสิ้น 2,796 คัน       

ทั้งนี้ กระทำดังกล่าวถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งกำหนดไว้ว่าผู้ใดทำการทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใด ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งหากบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขอให้ผู้ประกอบการหยุดการกระทำดังกล่าว เพราะจะส่งผลต่อความปลอดภัย และทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางได้     

นอกจากนี้ เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน จึงขอความร่วมมือประชาชนและผู้ใช้เส้นทาง หากพบเห็นการกระทำดังกล่าว โปรดแจ้งสายด่วนกรมทางหลวง 1586 กด 5

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

ค่าเงินบาทแข็งฉุดส่งออกปี’63 ติดลบ 6.01% ต่ำสุดรอบ 6 ปี

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยส่งออกไทยทั้งปี 2563 หดตัว 6.01% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

วันที่ 22 มกราคม 2564 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.71% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง

เนื่องจากมีผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการมีวัคซีนโควิด -19 ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (มกราคม–ธันวาคม) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01%

“การส่งออกทั้งปี ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าที่มองไว้ติดลบ 7% เนื่องจากช่วงปลายปีสินค้าหลายกลุ่มของไทยฟื้นตัวส่งออกได้ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น การนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางมีการเติบโต ซึ่งสอดคล้องไปกับหลายประเทศที่ส่งออกขยายตัวเป็นบวก เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน เป็นต้น”

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้

นอกจากสินค้า 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าที่มีการกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณ

ขณะที่การนำเข้า เดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 19,119.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.62% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าทั้งปี 2563 (มกราคม-ธันวาคม) มีมูลค่า 206,991.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.39% ส่งผลให้ทั้งปี 2563 ไทยมีการค้าเกินดุล 24,476.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้อยู่ที่ 20,061 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากไทยสามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

โอกาสที่ไทยจะส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 5% หรือมีมูลค่า 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น

ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาของ WTO ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐที่ไทยต้องปรับตัวเพื่อดันการส่งออกในกลุ่มนี้ที่จะเติบโต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลส์

รวมถึงกลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันที่จะส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องทั้ง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก

ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

แต่เชื่อว่าหลังไตรมาส 1 ของปีจะดีขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า อาทิ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน

สำหรับปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เช่น การเจาะตลาดเมืองรอง การจัดแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ใน 13 เมืองสำคัญ

และขณะเดียวกัน ตลาดอื่นในอาเซียนจะมีการจัดงาน Top Thai Brand ควบคู่ไปกับงาน Mini Thailand Week ในเมืองรองของอาเซียนอีก 8 แห่ง การปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือโควิด-19 ของผู้ประกอบการ และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยให้เป็นสินค้าปลอดโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญไว้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : การบริหารจัดการแม่น้ำโขง

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ ต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ไหลผ่านจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และออกสู่ทะเลที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงหลายแห่งทั้งในจีน และ สปป.ลาว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

เมื่อวันก่อนได้อ่านข้อความที่ท่าน สส.เชียงราย นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คแสดงความเห็นถึงการไม่รักษาสุมดุลอำนาจระหว่างประเทศในการบริหารจัดการน้ำโขง ปล่อยให้ น้ำโขงแห้งเหือดส่งผลต่อระดับน้ำอิงที่เชียงแสนและส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนบนฝั่งน้ำ สาเหตุเพราะเขื่อนที่ขวางอยู่ตลอดแนวลำน้ำโขง โดยที่รัฐบาลไทยไม่ทำอะไรเลย

เรื่องนี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ บิ๊กหมายเลข1ของข้าราชการประจำในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ในเรื่องดังกล่าวว่า เป็นจริงหรือไม่ ประเทศไทยเป็นแค่ “มณฑลไท่กั๋ว” อย่างที่หมอเอกว่าเลยหรือ?

“รัฐบาลไทยทำงานเชิงรุกจัดการน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง และยังปรับปรุงการเชื่อมต่อข้อมูลใกล้ชิดมากขึ้นโดยยึดผลประโยชน์ประเทศสูงสุดภายใต้กรอบเวทีความร่วมมือลุ่มน้ำโขงตลอดสาย” ดร.สมเกียรติกล่าวยืนยัน

เลขาธิการ สทนช.ได้ขยายความให้ฟังว่า การบริหารจัดการน้ำโขง ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น มีการผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับน้ำและด้านอุทกวิทยาตลอดทั้งปีทุกเวทีการเจรจา ซึ่งทางจีนยินดีให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณน้ำจากสถานีวัดน้ำ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีจิ่งหง และสถานีหม่านอัน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน กับสทนช. ได้มีการลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตลอดทั้งปีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563ที่ผ่านมา จากเดิมเริ่มต้นเพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น

ส่วนกรณีที่เขื่อนจิ่นหง ของจีน ลดการระบายนั้น สทนช.ได้รับข้อมูลอุทกวิทยาจากสถานียุนจิ่นหง พบว่า มีระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เร่งติดต่อประสานงานทันที แต่ด้วยเป็นช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี ทำให้เกิดช่องว่างในการแจ้งยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการมาในวันที่ 5 ม.ค. 2564 ทำให้การแจ้งเตือนหน่วยงานระดับพื้นที่มีความล่าช้าลงบ้าง โดยระดับน้ำที่ อ.เชียงแสน ลดลงวันที่ 2-5 มกราคม 2564 ประมาณ 1 เมตร

คาดว่าในระยะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะมีค่าคงที่ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับตลิ่ง ประมาณ 10.61 เมตร

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาตัวเองเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ดังนั้น สทนช.กำลังเร่งปรับปรุงระบบการได้ข้อมูลยืนยันที่เป็นทางการให้รวดเร็วมากขึ้น โดยในเร็วๆนี้ จะมีการตั้งสถานีอุทกวิทยาที่เชียงกก บริเวณพรมแดนของลาว-เมียนมา-จีน ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลระดับน้ำได้ถูกต้อง รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะใช้ดาวเทียมในการยืนยันข้อมูลอุทกวิทยาตลอด

ลำน้ำโขงอีกด้วย

จริงๆ แล้วจีนไม่ให้ข้อมูลด้านอุทกวิทยายังได้เลยเพราะเป็นเขื่อนที่สร้างก็เป็นของเขา สร้างกั้นแม่น้ำในประเทศเขาด้วย แต่ด้วยการเจรจาและความสัมพันธ์อันดีของไทยและจีน รวมทั้งอีก 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลด้านอุทกวิทยา เพื่อให้ในการบริหารแม่น้ำโขงเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

เกษตรหนุน “สุพัฒนพงษ์” กางแผนปลูกพืชพลังงาน

เกษตรรับลูก “สุพัฒนพงษ์” ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนเกษตรกร เล็งเป้าหมายจัดหาพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว “กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สน ไผ่” ป้อนพลังงาน ด้านสภาเกษตรกรฯ ดันรัฐบาลหนุนเกษตรกรปลูกไผ่นำร่อง ชี้โตเร็วเหมาะกับสภาพประเทศ เสริมนโยบายพืชพลังงานชีวมวล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า วันที่ 14 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการประชุมฐานะประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกพืชของเกษตรกร ตามนโยบายหลักตลาดนำการผลิตโดยการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธ.ก.ส. สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำไปสู่พืชทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชน

ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว อาทิ กระถินเทพา ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ สน ไผ่ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ประชุมจึงได้พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการจัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชีวมวลในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชเป้าหมาย พร้อมทั้งพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชทางเลือก โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่ ซึ่งจัดเป็นพืชที่โตเร็ว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีและรวดเร็ว

ซึ่งนอกจากจะใช้ทำเป็นอาหารและเครื่องใช้สอยแบบดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบันยังได้ถูกพัฒนาไปใช้งานด้านต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ พลังงานทดแทน พลังงานชีวมวล รวมทั้งการป้องกันการเผาป่า การลดหมอกควัน การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และการสร้างออกซิเจน โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5

ดังนั้น หากมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นแล้ว ไผ่ในประเทศไทยจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ประกอบกับพื้นที่ของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีความเหมาะสมต่อการปลูกไผ่หลายชนิดในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีช่องทางรายได้จากเศษพืชที่เหลือใช้ในกิจกรรมการเกษตรขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล และสอดรับกับนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งสภาเกษตรกรฯได้ผลักดันวิสาหกิจชุมชนไผ่เพชรล้านนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การขยายพันธุ์ไผ่ครบวงจรในภาคเหนือ

มีตัวอย่างสวนไผ่ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมเป็นพืชพลังงานและพืชเศรษฐกิจ อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุนแนวทางการผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีช่องทางรายได้

จากเศษพืชที่เหลือใช้ในการเกษตรขายให้กับโรงไฟฟ้าสะอาดชีวมวล และยังช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และไฟป่าที่ลุกลามจากการเผาพืชไร่อีกทางหนึ่ง

“พืชที่สามารถใช้ทำพลังงานชีวมวลสภาเตรียมมานานแล้ว แต่หลายหน่วยงานยังไม่ค่อยมั่นใจ ขอให้เดินหน้าต่อ เพราะเรามีไผ่หลายพันไร่พร้อม ส่วนกระถินณรงค์ ไม้โตเร็วที่คาดว่าจะส่งเสริมนั้น ดีแต่อาจจะโตช้าไป ขอบคุณรัฐบาลที่ยังเดินหน้านโยบาย ผมมองว่าหลายพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสม เราอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนโยบายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ทั้งซังข้าวโพด และอื่น ๆ ต่อติดมาหลายปีแล้ว และเคยเสนอเรื่องนี้มาหลายปี ขออยากให้เกิดขึ้นจริงสักที”

รายงานข่าวระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากอยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับเงื่อนไขการปลูกพืชเพื่อผลิตไฟฟ้า และคาดว่าภายในเดือน มี.ค. 2564 นี้ จะออกระเบียบและประกาศดังกล่าวได้ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 15 วัน

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กำชับว่าโครงการดังกล่าวต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์เกษตรกร โดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มการสร้างงานสร้างรายได้ นำร่อง 100-150 เมกะวัตต์

โดยจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้น เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพ อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์)

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 21 มกราคม 2564

“อาเซียน”เตรียมถกนัดแรกปี64 เคาะแผนฟื้นเศรษฐกิจ-รับมือ 4IR

"อาเซียน" เตรียมนัดประชุมด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก หารือบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการรับมือ 4IR

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน หรือ Committee of the Whole (CoW) ครั้งที่ 11 ในวันที่ 23 มกราคม 2564 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 1/52 ระหว่างวันที่ 25-27 มกราคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งจะเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรกของอาเซียน ในปี 2564 ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม

สำหรับการประชุม CoW ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามเสาและองค์กรรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน อาทิ คณะกรรมการด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะร่วมหารือแผนการดำเนินงานสำคัญ และประเด็นที่แต่ละสาขาจะต้องดำเนินงาน เช่น การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เป็นต้น

นายดวงอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุม SEOM จะมีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การพิจารณาให้ความเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่บรูไนฯ จะเสนออาเซียนดำเนินการให้สำเร็จภายในปีนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน รวม 10 ประเด็น เช่น การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาการดำเนินงานขององค์กรรายสาขาที่อยู่ภายใต้การกำกับของ SEOM เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการอิสระด้าน NTM เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้านมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน

นอกจากนี้ จะหารือการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อาทิ การพิจารณาขยายบัญชีสินค้าจำเป็นที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกัน เพื่อรักษาความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็ง ในช่วงสถานการณ์ของโควิด-19 รวมทั้งหารือแผนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ย. 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่ารวม 86,312 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 50,564 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 35,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 มกราคม 2564

พาณิชย์-เกษตรลุย Big Data เชื่อมข้อมูลการผลิตถึงการตลาด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าได้ร่วมกับนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) เป็นครั้งแรก โดยนำเสนอสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการไปแล้วเกี่ยวกับฐานข้อมูลสินค้าเกษตร เพื่อพิจารณาจุดที่สามารถเติมเต็มให้กันได้(gap analysis) และหารือเกี่ยวกับแผนงานดำเนินการเบื้องต้นของปี 2564-2566

ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลภาคเกษตร ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ทั้งในระดับผู้บริหารและผู้ใช้งานทั่วไป ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และประชาชน ให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในทุกภาคส่วน

“โดยได้เห็นชอบแผนงานเร่งด่วน (Quick win)ได้แก่ การจัดทำข้อมูลและออกแบบการแสดงผลที่ตอบโจทย์เกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น ข้อมูลราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ส่วนระยะกลางและยาว จะร่วมสร้างชุดข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้โดยอาจพิจารณาขยายไปยังกลุ่มสินค้าอาหาร เช่น อาหารฮาลาล และสินค้าอินทรีย์ เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ทั้ง 2 กระทรวงต่างให้ความสำคัญงานด้านข้อมูลและจากหน้าที่ที่ต่างกัน คือ เกษตรเน้นด้านการผลิต พาณิชย์เน้นไปด้านการขาย ข้อมูลที่มีจึงสามารถนำมาต่อร้อยเรียงกันให้เห็นภาพได้ตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดขอบเขตและเป้าหมายการทำงานร่วมกัน คือ สร้าง Big Data เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อใช้วางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับให้เกษตรกรแข่งขันได้ในตลาดโลก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

'เกษตร' ของบเพิ่มหลังถูกหั่น 6.2 พันล้าน

เกษตร เล็งของบเพิ่มหลัง ครม.หั่นงบหาย 6.2 พันล้านบาท หลังผ่อนเกณฑ์หลายครั้ง เกษตรกรยังเมิน

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกาตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมปรับปรุงเงื่อนไขโครงการ1ตำบล1กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ อีกครั้งหลังมีการเสนอปรับปรุงโครงการมาหลายรอบ ก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป หลังจากที่ ครม.เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2564 มีการปรับปรุงงบประมาณ และรายละเอียดโครงการฯ

นายอนุชา บูรพชัยศรีโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม ครม.มีมติตัดงบประมาณของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เหลือ 3,550.9 ล้านบาท จากวงเงินที่ครม.อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2563 วงเงิน 9,805.7 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการจากเดิมสิ้นสุดเดือนก.ย.2564 ออกเป็นสิ้นสุดเดือนธ.ค.2564 เพื่อให้สอดคล้องกับการเสนอให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทันที

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการส่งข้อมูลถึง คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒนาการเศรษบฐกิจและสังคมแหงชาติ (สศช.) เป็นประธาน เพื่อปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ ซึ่งเป็นการขอปรับปรุงโครงการเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ ครม.อนุมัติงบประมาณ และโครงการให้เมื่อ 8 ก.ค.2563 ดังนี้คือ

โครงการ1ตำบล1กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ปรับปรุงเงื่อนไขรายละเอียดโครงการใฝหม่ ดังนี้ คือ ใช้รูปแบบมาตรฐานกรมพัฒาที่ดินและมีรูปทรงเรขาคณิตอื่นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร กำหนดไว้ 4 ขนาด ดังนี้คือ 1.ขนาดพื้นที่ 2.5 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินที่ขึชุดไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ,ขนาดพื้ที่ 3 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินที่ขึชุดไม่เกิน 2,100 ลบ.ม.,ขนาดพื้ที่ 4 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินที่ขุดดินไม่เกิน 2,800 ลบ.ม.และขนาดพื้ที่ 5 ไร่ พื้นที่เก็บกักน้ำปริมาณดินที่ขุดไม่เกิน 3,500 ลบ.ม.

จากเดิมกำหนดพื้นที่ขุดสระเก็บกักน้ำ 3 ไร่ ปริมาณดินขุด 4,000 ลบ.ม.โดยมีการขุดเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคกหนองนา คันนา ทองคำ และตกแต่งพื้นที่ตามที่ออกแบบ ซึ่งการขุดเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคกหนองนา คันนา ทองคำ และตกแต่งพื้นที่ตามที่ออกแบบ ไม่ได้ตั้งงบไว้ จึงจำเป็นต้องตัดออกไป

หลังจาก ครม.ตัดงบประมาณลงไป 6,254.8 ล้านบาท ส่งผลทำให้ต้องมีการปรับเป้าหมายการจ้างงานลงเหลือ 16,000 รายจากเป้าหมายเดิม 32,072 ราย และเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมปรับลงเหลือ 32,000 รายจากเป้าหมายเดิมกำหนดไว้ 64,144 ราย ส่วนจำนวนเกษตรกรที่ร่วมโครงการให้ปรับตามจริงรายตำบล

ทั้งนี้ต้องมีผู้สมัคีรตั้งแต่ 2 รายต่อตำบลขึ้นไปจึงจะสามารถดำเนินการได้ เพราะตั้งแต่เปิดรับสมัครถึงปัจจุบันมีตำบลที่เกษตรกรไม่มีผู้สมัครเลย 795 ตำบล จำนวนตำบลที่มีผู้สมัครเพียง 1 รายมี 445 ตำบล จากเป้าหมายเกษตรกร 4,009 ตำบล ตำบลละ 16 ราย

อย่างไรก็ตาม ตามรายละเอียดของดครงการเดิม กำหนดผลผลิตของดครงการ ต้องเพิ่มพื้นที่ป่า 19,243 ไร่ ในส่วนนี้ให้ดำเนินการตัดออกจากดครงการเพราะ การเขียนดครงการในครั้งแรกไม่ได้กำหนดงบประมาณไว้ ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบ เดิมมีจำน 7 หน่วยงาน ให้ตัดกรมชลประทานออกไป เหลือหน่วยงานที่รับผิดชอบเพียง 6 หน่วยงาน ดังนี้ คือ สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

จาก bangkokbiznews.com) วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564 

“สรวุฒิ” นั่งประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ประชุมนัดแรก เลือก “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ส.ส.ชลบุรี พปชร. เป็นประธาน กมธ. กำหนดประชุมทุกวันพฤหัสฯ ยึดร่างของ ครม.เป็นหลักควบคู่ 7 ร่าง ที่สมาชิกเสนอ และ 1 ร่างที่มาจากประชาชน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... นัดแรก ภายหลังการประชุม นายโกศล ปัทมะ และ นายประทวน สุทธิอำนวยเดช โฆษกคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...แถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. ว่า ในวันนี้ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรก โดยที่ประชุมได้พิจารณาเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ. โดย นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และ รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้รับเลือกเป็นประธาน กมธ. พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30 น.ที่ ห้องประชุม 601 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณากรอบการดำเนินงาน โดย กมธ.จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นหลักในการพิจารณาควบคู่กับร่างที่สมาชิก เสนอ จำนวน 7 ร่าง และร่างที่ประชาชนเสนอเข้ามาอีก 1 ร่าง และหากมีประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากหลักการและเหตุผลตามร่างที่ได้เสนอมา สามารถดำเนินการได้ โดยกฤษฎีกาจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ กมธ.จะศึกษาและพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อให้มีความทันสมัย มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ ชาวไร่อ้อยและผู้บริโภค

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 20 มกราคม 2564

"พาณิชย์-เกษตร”เดินหน้า   Big Data ภาคเกษตรขนาดใหญ่

สนค. และ สศก. เดินหน้าการจัดทำฐานข้อมูลภาคเกษตรขนาดใหญ่ร่วมกัน ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตั้งเป้าหมายผสานข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหารชุดเดียวกันในอนาคต

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดฯ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 25 หน่วยงาน โดยมีสนค. และ สศก. เป็นประธานและฝ่ายเลขานุการฯ ร่วม โดยการประชุมครั้งแรกนี้ มีการนำเสนอสิ่งที่ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการไปแล้วเกี่ยวกับฐานข้อมูลสินค้าเกษตร พิจารณาจุดที่สามารถเติมเต็มให้กันได้ (gap analysis) และหารือเกี่ยวกับแผนงานดำเนินการเบื้องต้นของปี 2564-2566

นางสาวพิมพ์ชนกฯ กล่าวว่า ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ต่างให้ความสำคัญงานด้านข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากหน้าที่ของสองกระทรวงที่ต่างกัน คือเกษตรเน้นด้านการผลิต พาณิชย์เน้นไปด้านการขาย ข้อมูลที่มีจึงสามารถนำมาต่อร้อยเรียงกันให้เห็นภาพได้ตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตรโดยที่อาจมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ฝ่ายเลขานุการจะหารือในรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดขอบเขตและเป้าหมายการทำงานร่วมกัน คือ “การสร้าง Big data เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร ให้มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และมีมูลค่าเพิ่ม ตรงกับความต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศ  เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูง มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และยกระดับให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก (Local to Global)”

โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ระบบฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลภาคเกษตรนี้ ต้องตอบโจทย์และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ทั้งในระดับผู้บริหาร และผู้ใช้งานทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน การดำเนินงานด้านข้อมูลจำเป็นต้องมีการทำธรรมาธิบาลข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในทุกภาคส่วน ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน (Quick win) ได้แก่ การจัดทำข้อมูลและออกแบบการแสดงผลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการ อาทิ ข้อมูลราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา สำหรับระยะกลางและยาว คือ การร่วมสร้างชุดข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยอาจพิจารณาขยายไปยังกลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ อาหารฮาลาล และสินค้าอินทรีย์

อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ จะได้ร่วมมือกันบูรณาการระบบข้อมูลของภาคเกษตรให้เป็นชุดเดียวกัน และจะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการใช้ประโยชน์จาก Big Data ของผู้ใช้งานทุกระดับ ได้แก่ ผู้บริหารกระทรวงและหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออก และประชาชน รวมถึงสามารถนำมาใช้ในการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของประเทศ การดูแลราคาสินค้าเกษตร แก้ปัญหาสินค้าขาด/ล้นตลาด และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มกราคม 2564

“กระทรวงพลังงาน”สั่งตรวจสอบทุกโครงการโซลาร์เซลล์พื้นที่ห่างไกล

“กระทรวงพลังงาน”สั่งตรวจสอบทุกโครงการโซลาร์เซลล์พื้นที่ห่างไกล ย้ำทิศทางใหม่ต้องชัดเจน และเห็นผลใช้ได้จริง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2564 (ครั้งที่ 2) ว่า ตามที่มีกระแสข่าวโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ดำเนินโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกล หลายแห่งไม่สามารถดำเนินการได้จริงนั้น ขณะนี้ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามกับหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบย้อนหลังในทุกพื้นที่ ทุกโครงการ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุน

ทั้งนี้ เพื่อเร่งหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากปัญหาใด หรือ มีข้อจำกัดในการดำเนินงานอย่างไร และสาเหตุใดที่บางโครงการไม่สามารถใช้งานได้จริงเกิดจากอะไร ซึ่งเบื้องต้นบางพื้นที่ได้จัดส่งรายงานข้อมูลเข้ามาบ้างแล้ว และได้มีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบ และประเมินผล ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามในทันที เพื่อให้สามารถหาแนวทางแก้ไขให้ทุกโครงการสามารถดำเนินการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็วที่สุด

​“ในการประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนฯ วันนี้ ได้เน้นย้ำว่าจะต้องหาเร่งหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และดำเนินการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด เพราะเป้าหมายของงบกองทุนฯ คือสนับสนุนโครงการและจะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สุงสุดต่อประชาชน  ซึ่งจะเร่งให้มีความชัดเจน โดยเร็วที่สุด ส่วนโครงการใหม่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกโครงการ อย่างเข้มงวดเช่นกัน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ มีการจ้างงาน สร้างอาชีพในพื้นที่”

อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการฯได้เห็นชอบร่วมกันว่าทุกโครงการที่ขอรับงบประมาณสนับสนุน จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ตอบสนองความต้องการของชุมชน และเป็นโครงการที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์เต็มที่ มีราคากลางที่ตรวจสอบได้ รวมถึงจะต้องมีความโปร่งใสในการอนุมัติโครงการโดยไม่ยึดติดกับหน่วยงานใด ที่สำคัญจะต้องมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับโครงการเศรษฐกิจฐานรากที่จะกระจายเงินให้จังหวัดทั่วประเทศ จะพิจารณาให้ความสำคัญในด้านความพร้อม การพัฒนาและการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและให้มีการรายงานผลต่อจังหวัดทุกปี จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มกราคม 2564

ค่าเงินบาท แข็งค่าทะลุแนว 30.00 มา เปิดตลาดที่ระดับ 29.98บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ระดับ 29. 98บาท/ดอลลาร์ระยะสั้นปรับตัวแข็งค่ากลับเร็ว โดยมีแรงซื้อหลักจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์-ระยะสั้นปรับตัวแข็งค่ากลับเร็ว โดยมีแรงซื้อหลักจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์  หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าตลาดการเงินยังคงคึกคักในช่วงคืนที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งความหวังเรื่องแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จากว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางเจเน็ต เยลเลน พร้อมกับการประกอบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฝั่งสหรัฐในไตรมาสสี่ที่สดใส ทำให้นักลงทุนเลือกขายทำกำไรหุ้นในยุโรปที่ปรับตัวขึ้นในวันก่อน กดดันให้ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวลง 0.19% และเข้าซื้อหุ้นสหรัฐนำโดยกลุ่มเทคโนโลยี หนุนให้ดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้น 0.81%

อย่างไรก็ดีนักลงทุนในตลาดเงินกลับไม่รีบร้อนกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง สังเกตุได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ทรงตัวระดับ 1.09% เนื่องจากตลาดมองว่า นโยบายการคลังของนายไบเดน อาจไม่สามารถทำได้ทันทีทั้งหมด ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับสูงมากแล้ว นอกจากนี้ตราสารหนี้ในประเทศเกิดใหม่ก็มียีลด์ต่ำหรือความผันผวนสูงไม่น่าสนใจ

ส่วนฝั่งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นปรับตัวแข็งค่ากลับเร็ว โดยมีแรงซื้อหลักจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่เชื่อว่าการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นจึงเริ่มขายทำกำไร และกลับเค้าถือเงินบาทเพื่อรอดูสถานการณ์ แนะนำจับตาทิศทางของตลาดทุนที่คาดว่าจะเป็นบวก และการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในวันนี้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (20 ม.ค.) แข็งค่าทะลุแนว  30.00 มาที่ระดับ 29.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า หลังว่าที่ รมว.คลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเดินหน้าจัดการกับประเทศที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาเพิ่มความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 29.90-30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มกราคม 2564

“กระทรวงพลังงาน” ศึกษาโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่เตรียมดัน E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารของกระทรวง นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต

“การทบทวนแนวทางปรับโครงสร้างราคาเอทานอลในครั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการให้เกิดความสมดุลทั้งปริมาณการผลิต การใช้ และราคา ของเอทานอลให้มีความเหมาะสม สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ปิดช่องว่างปัญหาระหว่างทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ โดยไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชนในอนาคต ตามแนวทางที่รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ไว้”               ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่กระทรวงพลังงานจะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันเบนซิน E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีหลากหลายชนิดมากจนเกินไป เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณและราคาของเอทานอลในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์ครอบคลุมทุกภาคส่วนตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน อ้อย มันสำปะหลัง ไปจนถึงประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มกราคม 2564

เลียนโมเดล“อีอีซี” จุดพลุเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ตั้งเป้า6เดือนรู้ผล

กระทรวงเกษตรฯ ซุ่มปั้นโปรเจ็กต์ ตั้งไข่เขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ เลียนโมเดล “อีอีซี”“ หวังพลิกชีวิตเกษตรกรก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม พ่วงกฎหมายใหม่พิเศษรองรับ สวก.รับลูกเร่งหานักวิจัย ป้อนการบ้าน ตั้งกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน

ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในระดับท็อปเท็นของโลก โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 6-8 ล้านล้านบาทต่อปี โดยตลาดส่งออกหลักสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ของไทยได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงในลำดับต้นๆ ได้แก่ ข้าวและ มันสำปะหลัง นํ้าตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา นํ้ามันปาล์ม เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์, ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ และกุ้งและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ และปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้แม้ไทยจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สูง และมีสินค้าที่หลากหลาย แต่มีคำถามคือ ทำไมเกษตรกรไทย จึงยังมีฐานะยากจน ดังนั้นเพื่อพลิกชีวิตเกษตรกร และสินค้าในพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าจนถึงการส่งออก กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายพิเศษเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (Special Agricultural Economic Zone : SAEZ) โดยเลียนโมเดลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่อง จัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (SAEZ) หรือ “อีอีซี ภาคการเกษตร” เป็นโครงการใหม่ มีแผนจะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้าว เขตเศรษฐกิจพิเศษยางพารา เขตเศรษฐกิจพิเศษมันสำปะหลัง  เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างการเตรียมศึกษาวิจัย จาก สศก.เห็นจุดอ่อนหลายอย่างในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย และมองว่าการพัฒนาในเชิงพื้นที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการพัฒนาในเชิงภาพรวม โดยจะดูพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งต่อไป

นอกจากนี้จะดูโอกาสทางการตลาดของสินค้า ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการใช้พื้นที่ กระบวนการจะทำตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนวทางจะทำในปีนี้โดยกำลังร่วมกับหลายสถาบันในการศึกษากฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายพิเศษออกมาเพื่อรองรับในพื้นที่ดังกล่าว

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อาจจะเคยได้ยินข่าว เช่น ซาอุดีอาระเบีย จะมาเช่าพื้นที่ไทยปลูกข้าว ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาต แต่การที่จะดึงซาอุดีอาระเบียมาเปิดโรงงานแล้วมีการทำสัญญากับเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแบบมีพันธสัญญา (คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง) ระยะ 10-20 ปี ก็จะมีความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน 

สอดคล้องกับ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  (สวก.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สวก.คือ การให้ทุนวิจัย ซึ่งหนึ่งในการวิจัยให้ทุนวิจัยเชิงนโยบายได้ด้วยนอกจากเชิงพาณิชย์ ซึ่งเรื่องจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษนี้เป็นการวิจัยเชิงนโยบาย เป็นผลจากรัฐบาลได้ออกนโยบายมาหลายมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องอีอีซี  สศก. มองว่าปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นต้นทางการผลิตวัตถุดิบทั้งหมด สามารถป้อนสินค้าให้พื้นที่อีอีซีได้ด้วย

“ทางเลขา สศก.ได้ให้แนวทางการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตร ควรจะมีเศรษฐกิจพิเศษ แล้วถ้ามีควรจะมีรูปแบบใดเพื่อยกระดับการผลิตของภาคการเกษตรโดยเฉพาะต้นทางกับกลางทาง หรือหากเป็นปลายทางก็จะเป็นการแปรรูปเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกษตรกรก็พัฒนาตนเอง เพิ่มมูลค่า เช่น ภาคอีสาน จะมีข้าวหอมมะลิ ถ้าต้องเสนอรัฐบาลจะต้องทำงานวิจัยเชิงนโยบายว่าทำไมถึงต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร จุดแข็งและข้อดีคืออะไร ใครได้รับประโยชน์บ้าง เป็นต้น”

สินค้าเกษตรส่งออก

สำหรับ กรอบแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ อาจจะมีได้ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ ภาคเหนือ 1 แห่ง หรือ 2 แห่ง จะส่งสินค้าไปที่ภาคตะวันออก เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับการศึกษาวิจัย โดยจะใช้งบประมาณของปี 2564 จะหารือกับ สศก.ให้จบในไตรมาส 2 เพื่อ สรุปว่าจะให้ใครมาทำงานวิจัย กรอบการศึกษา อยากทราบอะไร และไตรมาสที่ 3 จะส่งแนวคิดให้กับนักวิจัยไปศึกษา อยากจะให้แล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอออกมาในปลายปีงบประมาณ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มกราคม 2564

ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65

“รัฐมนตรีเกษตรฯ” ร่วมประชุมเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2565 เชื่อมความสัมพันธ์การค้า การลงทุน ร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมแล้ว

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ.2565 ครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายกรัฐมนตรีฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธาน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom Application) ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งเอเปค ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู เวียดนาม และรัสเซีย

ทั้งนี้ ความร่วมมือในกรอบเอเปคเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการกับสมาชิกเอเปคที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมกรอบความร่วมมือเอเปค (APEC) หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในปี 2565

รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการประชุมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยประจำปี 2565 แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับนโยบาย ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านความมั่นคงอาหาร ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี  ซึ่งในส่วนระดับปฏิบัติการ ได้แก่ กลไกคณะทำงานด้านการเกษตรภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค 5 คณะทำงาน ประกอบด้วย

1. หุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร (Policy Partnership on Food Security: PPFS) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก

2. คณะทํางานว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร (Agricultural Technical Cooperation Working Group: ATCWG) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก

3.กรอบการหารือเชิงนโยบายระดับสูงว่าด้วยเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร (High Level Policy Dialogue on Agricultural Biotechnology: HLPDAB) โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลัก

4. คณะทํางานด้านมหาสมุทรและการประมง (Ocean and Fisheries Working Group: OFWG) โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก และกรมประมง เป็นหน่วยงานสนับสนุน

5. คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการทําให้ได้มาตรฐาน กรอบความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) - Food Safety Cooperation Forum (FSCF) โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลัก และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสนับสนุน พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องข้างต้น ประสานงานในการเตรียมการเป็นเจ้าการประจัดประชุมเอเปค ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีลงนามในคำสั่ง ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565

องค์ประกอบของคณะกรรมการระดับชาติฯ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 มกราคม 2564

4 ชาติคว่ำร่างศึกษา “เขื่อนสานะคาม”

สทนช.เผย 4 ชาติ ลุ่มน้ำโขง ตีตกร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค “เขื่อนสานะคาม” หลังข้อมูลผลกระทบประเทศท้ายน้ำไม่ชัดเจน

วันที่ 18  มกราคม 2564  ประชุมคณะทำงานด้านเทคนิคคณะกรรมการร่วม (JCWG) ของสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และไทย ครั้งที่ 2  ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว (PNPCA) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า ในที่ประชุุมได้มีประเด็นหารือที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค (TRR) เขื่อนสานะคาม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำกลับไปทบทวนในรายละเอียดให้รอบด้านอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ยังมีข้อสรุปที่ได้ยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมที่ให้ประเทศสมาชิกเกิดความมั่นใจต่อโครงการดังกล่าวได้ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนที่ส่งกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ซึ่งไทยได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังประเทศผู้พัฒนาโครงการและสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ในหลายประเด็นสำคัญ

โดยเฉพาะข้อมูลที่ชัดเจนด้านอุทกวิทยาและระบบการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เนื่องจากจุดที่ตั้งของเขื่อนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งอยู่บริเวณโค้งน้ำที่ส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะร่องน้ำลึกที่อาจส่งผลกระทบต่อเขตแดนไทย-ลาว ดังนั้น จำเป็นต้องมีความชัดเจน และกรณีการปล่อยน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากหรือการดำเนินการอื่น ๆ ของเขื่อนสานะคามเมื่อระดับน้ำผันผวนอาจส่งผลกระทบต่อท้ายน้ำ แม้ว่าในรายงานทางเทคนิคจะมีการสร้างแบบจำลองทางกายภาพมานำเสนอ แต่มีการประเมินทางต้นน้ำจากตัวเขื่อน 2.5 กิโลเมตร และท้ายน้ำ 1.7 กิโลเมตร โดยไม่ครอบคลุมพื้นที่ท้ายน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน ยังต้องนำข้อมูลการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปากลาย และเขื่อนไซยะบุรีมาพิจารณาด้วย เนื่องจากมีผลต่อการระบายน้ำเช่นกันที่จะทำให้การวิเคราะห์ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรอบด้านให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการกระจายตัวของตะกอน ซึ่งจากการนำเสนอจากการทดสอบแบบจำลองทางกายภาพ พบว่า การระบายน้ำส่งผลให้เกิดตะกอนที่แตกต่างจากสภาพธรรมชาติ ทั้งในด้านลักษณะและปริมาณตะกอนที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรงซึ่งตั้งอยู่ท้ายน้ำ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำลึก ซึ่งทั้งประเทศไทย และสปป.ลาวใช้เป็นเส้นเบ่งเขตพรมแดน และต่อการเดินเรือ

ฝ่ายไทยได้ขอให้ทาง MRCS วิเคราะห์ผลกระทบและระบบติดตามตรวจสอบตะกอนและสัณฐานวิทยาของแม่น้ำด้านท้ายน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อนิเวศวิทยาทางน้ำและการประมง ด้านเศรษฐกิจสังคมที่จะกระทบประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างรอบคอบ รวมถึงมาตรการในการลด หลีกเลี่ยง และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อไปอีว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพบว่าข้อมูลโครงการไม่เพียงพอที่จะนำไปแจ้งกับภาคประชาชนในพื้นที่ และได้เรียกร้องผ่าน MRCS ให้ผู้พัฒนาโครงการปรับปรุงข้อมูลมาโดยตลอด ประกอบกับสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้กระบวนการ PNPCA ล่าช้าไปบ้าง แต่ไทยพยายามที่จะดำเนินการตามแผนงาน (Roadmap) มาโดยตลอดทั้งระดับปฏิบัติการ คือ การหารือภายในกับหน่วยงานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง

ตลอดจนระดับนโยบายที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน แต่เป็นเพียงสร้างการรับรู้ในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แม้จะได้เชิญผู้แทน 8 จังหวัดแม่น้ำโขงเข้าร่วมเวทีผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาคเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแต่ยังจะต้องจัดเวทีให้ข้อมูลประชาชนที่อาจได้อาจรับผลกระทบ จึงคาดหวังว่าการจัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงตามกระบวนการ PNPCA ของโครงการสานะคามจะเกิดขึ้นได้ตามขั้นตอน

เมื่อมีข้อมูลเพียงพอที่สามารถชี้แจงกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการเชิงป้องกันและบรรเทาผลกระทบข้ามแดนที่อาจเกิดขึ้นต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ในร่างรายงานการทบทวนทางเทคนิค (TRR) ให้ประเทศสมาชิกพิจารณาอีกครั้งก่อนนำไปสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น กระบวนการสร้างการรับรู้ข้อมูลของข้อเสนอการสร้างเขื่อนสานะคามของประเทศไทยต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 มกราคม 2564

พาณิชย์ยกเครื่องข้อมูลการค้า เพิ่มความสะดวกผู้ประกอบการ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเปิดให้บริการระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย (Thailand National Trade Repository หรือ Thailand NTR) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากดำเนินการปรับปรุงระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ ผ่านทาง www.thailandntr.com ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2557 และช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลทางการค้าของไทยแบบครบวงจร

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การปรับปรุงระบบครั้งนี้ เพื่อจัดทำระบบคลังข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ โดยเพิ่มฐานข้อมูลใหม่ ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และข้อมูลด้านการลงทุน

“กรมมีเป้าหมายจะทำระบบให้ใช้งานง่าย เป็นแหล่งข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ One Stop Trade Portal ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และยังเชื่อมโยงคลังข้อมูลทางการค้าของไทยกับคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Repository : ATR) ผ่านเว็บไซต์ www.atr.asean.org ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทั้งหมด”นางอรมนกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจศึกษาและใช้งานระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย กรมจะจัดการฝึกอบรมการใช้งานระบบคลังข้อมูลที่ได้ปรับปรุงใหม่ ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2564 ผ่านทาง Facebook Live กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแอพพลิเคชั่น ZOOM ลงทะเบียนการฝึกอบรม ฟรี ได้ที่ 0-2275-5854, 082-3650-5291 หรืออีเมล ntr@dtn.go.th ภายในวันที่ 18 มกราคม 2564

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 18 มกราคม 2564

คลอดยุทธศาสตร์การค้าฉบับแรก ตอบโจทย์โลกเศรษฐกิจใหม่

สนค.เปิด 3 ภารกิจเดินหน้านโยบายการค้า ออกแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี อิงปัจจัยแวดล้อมใหม่ ทั้ง สงครามการค้า - โควิด รองรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก-เศรษฐกิจใหม่

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.วาง 3 นโยบายสำคัญในปี 2564 ได้แก่แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ พร้อมปรับแผนงานให้รองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจการค้าไทยในอนาคต

ทั้งนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการค้า (Strategy) เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทย เช่น สงครามการค้า โรคโควิด-19 เทคโนโลยีสมัยใหม่ และประเด็นด้านสังคมสิ่งแวดล้อมและประชากร ซึ่งสนค. ได้ศึกษาประเด็นเหล่านี้มาเป็นระยะ และในปี 2564 นี้จะรวบรวมงานศึกษาทั้งหมดจัดทำยุทธศาสตร์การค้าฉบับแรกของไทยสำหรับปี 2564 –2568 ซึ่งขณะนี้ มีร่างฉบับแรกแล้ว แต่จะหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ให้มากที่สุด โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ  รองนายกรัฐมตรีและรมว.พาณิชย์ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการดำเนินการหารือ

นอกจากนี้ได้สั่งการให้กำหนดรายละเอียดเป้าหมายด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การพัฒนาภาคบริการ การเจรจาความตกลงการค้า การจัดทำแผนงานที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องดำเนินการต่อไป เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มกระบวนการหารือในปลายเดือนมกราคมนี้ และรายงานต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ. พณ.) ต่อไป

ส่วนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในของไทยนั้น สนค. ได้เริ่มวางฐานด้านการสร้างระบบข้อมูลการค้าขนาดใหญ่ (Trade Intelligence System) เพื่อให้ผู้บริหาร เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ตลอดจนนักวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการค้าที่เหมาะสมผ่านแพลทฟอร์ม www.คิดค้า.com ซึ่งปี 2564 นี้จะเร่งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภูมิภาคต่างจังหวัดเข้ามาส่วนกลางและเชื่อมต่อกับข้อมูลการค้าระหว่างประเทศนอกจากนี้ ยังมีระบบข้อมูล Big Data ภาคเกษตร ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 19 มกราคมนี้

นอกจากงานด้านข้อมูลแล้ว สนค. จะเดินหน้าหารือกับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการ SME ในต่างจังหวัดเพื่อกำหนดนโยบายสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจและหาต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่เหมาะสมกับการค้าไทย อีกทั้งจะขยายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMVT เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการไทยต่อไป

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาเกษตรกรและผู้ประกอบการนั้น โครงการสำคัญของ สนค. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 คือการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้บล็อกเชน (blockchain) ภายใต้ชื่อ TraceThai.com ซึ่งสินค้านำร่องตัวแรกคือข้าวอินทรีย์ โดยในปีนี้จะขยายสินค้านำร่องให้รองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ผักผลไม้อินทรีย์ สมุนไพรอินทรีย์ โดย สนค. จะร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นพาร์ทเนอร์เพิ่มจำนวนเกษตรกรรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับดังกล่าวมากขึ้น และเชื่อมโยงกับช่องทางการขายเพื่อให้ตรา TraceThai.com และระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในการขายทั้งในประเทศและส่งออก

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สนค. จะเพิ่มการวิเคราะห์ศึกษาและทำฐานข้อมูลเพิ่มเพื่อสนับสนุนงานที่เป็นรายสาขา คือ นโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” ที่จะเพิ่มการผลิตและการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารเทรนด์ใหม่ ๆ ให้มากขึ้น และนโยบายการพัฒนาภาคบริการ โดยเฉพาะบริการด้านค้าส่งค้าปลีก โลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ ร้านอาหาร และบริการด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป็นบริการเป้าหมายในการพัฒนาต่อไปด้วย ซึ่งมั่นใจว่า แนวนโยบายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้และ สนค. มีบทบาทสนับสนุนในเชิงยุทธศาสตร์และวิชาการนั้น จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไปในโลกยุคหลังความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างแน่นอน

จาก https://www.posttoday.com    วันที่ 18 มกราคม 2564

‘ยาง-น้ำตาล-ถั่วเหลือง’ขาขึ้น หนุนหุ้นสินค้าเกษตรวิ่งทำนิวไฮ

ผ่านปีใหม่มาครึ่งเดือนตลาดหุ้นไทยยังโชว์ผลงานได้ดี ดัชนีฯ กลับมายืนทะลุ 1,500 จุด ได้อีกครั้ง ท่ามกลางความหวังว่าเมื่อมีวัคซีนต้านโควิด สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น

ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งการค้า การลงทุน ภาคการผลิต การเดินทางท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง กลายเป็นปัจจัยหนุนหุ้นไทย ควบคู่ไปกับการอัดฉีดมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ ที่เติมเงินลงไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน กระตุ้นการใช้จ่าย กำลังซื้อในประเทศ และยังมอบส่วนลด ค่าน้ำ ค่าไฟ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน

รอบนี้เห็นหุ้นหลายกลุ่มโชว์ฟอร์มได้ดี ทั้งหุ้นพลังงานที่กลับมามีออร่าอีกครั้ง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหุ้นแบงก์ไม่น้อยหน้า อิงกับกระแสฟันด์โฟลว์ เชื่อว่าทั้งผลประกอบและราคาหุ้นได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

อีกกลุ่มที่ผลงานเด่น คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ล้อไปกับโลกยุคใหม่ การมาของเทคโนโลยี 5จี อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานสะอาด ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าราคาหุ้นตอนรับไปมากแล้ว หลายตัววิ่งแรงจนเกินพื้นฐาน

แต่ที่มาแบบนิ่งๆ เงียบๆ ต้องยกให้กับ “กลุ่มสินค้าเกษตร” ซึ่งหลายคนอาจจะมองข้าม หรือโฟกัสอยู่แค่บางตัว แต่จริงๆ แล้วผลงานแจ่มแทบยกกลุ่ม ราคาขึ้นมาทำนิวไฮกันคึกคักชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร สอดรับไปกับราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

นำทีมด้วย “หุ้นยางพารา” เชื่อว่าแค่เอ่ยชื่อก็คงจะทราบเหตุผลกันดี ด้วยสตอรี่ธีมโควิด ส่งผลให้ยอดขาย “ถุงมือยาง” ทั่วโลกโตกระฉูด ออเดอร์ล้นทะลักจนผลิตกันแทบไม่ทัน พี่ใหญ่ประจำกลุ่มคือหุ้นแม่ลูก บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ในฐานะผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 3 ของโลก

ที่ผ่านมาราคาหุ้นวิ่งรับข่าวดี นำเพื่อนๆ ในกลุ่มไปเยอะ เลยมีจังหวะปรับฐานลงมาให้พักหายใจบ้าง แต่เชื่อว่าจะยังอยู่ในสายตาของนักลงทุนไปอีกนานไม่จางหายไปง่ายๆ แน่นอน ส่วนอีกหนึ่งบริษัทที่กำลังเดินตามรอย ถอดแบบกันมาเป๊ะๆ เห็นจะเป็นบริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB เพราะล่าสุดเพิ่งจะตั้งบริษัทลูกเดินหน้าธุรกิจใหม่ถุงมือยางอย่างเต็มรูปแบบ ช่วยเติมเสน่ห์ดันราคาวิ่งฉิว

ข้ามจากยางพาราไปดูอะไรหวานๆ กันบ้าง อย่าง “หุ้นน้ำตาล” ช่วงนี้ท็อปฟอร์มเช่นกัน รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลตลาดโลกขึ้นไม่หยุด ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี จากปริมาณซัพพลายที่ลดลง หลังบราซิลในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ประสบวิกฤตภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักกลายเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นแรง ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่หันไปทำเอทานอลแทนน้ำตาล เป็นอีกปัจจัยหนุนราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น เชื่อว่าผลประกอบการปีนี้น่าจะฟื้นตัวเด่น เลยดันราคาหุ้นวิ่งกระหน่ำ

ที่โดดเด่นขึ้นแรงเมื่อวันศุกร์ (15 ม.ค.) เห็นจะเป็นบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ปิดการซื้อขายที่ 3.74 บาท เพิ่มขึ้น 0.34% หรือ 10% ขณะที่พื้นฐานเองดูดีเช่นกัน งบฯ ไตรมาส 3 ปี 2563 พลิกกลับมามีกำไร 62 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ที่กำลังจะตามมา อาจขาดทุนเล็กน้อยเนื่องจากเริ่มเข้าหีบอ้อย แต่ซาวด์เช็คจากบรรดากูรูแล้วยังมั่นใจว่าปี 2563 จะพลิกกลับมามีกำไร

ส่วนบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ทำนิวไฮรอบ 1 ปีครึ่ง ปิดที่ 2.90 บาท, บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ปิดล่าสุด 3.34 บาท เป็นนิวไฮรอบเกือบ 5 เดือน และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กำลังลุ้นยืนทะลุ 4 บาท โดยปิดซื้อขายล่าสุด 3.80 บาท

“ถั่วเหลือง” เป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่ราคายังอยู่ในช่วงขาขึ้น จากภาวะลานีญาในอาร์เจนติน่าซึ่งเป็นผู้ผลิตกากถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ปริมาณผลผลิตหายไปหลายล้านตัน สวนทางดีมานด์จากจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากนึกถึงหุ้นถั่วเหลืองคงหนีไม่พ้น บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO รับปัจจัยบวกไปเต็มๆ ราคาหุ้นทำจุดสูงสุดรอบเกือบ 3 ปี ปิดที่ 35.25 บาท

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 มกราคม 2564

ตลาดเงินห่วง บาทแข็งตลอดปี

ตลาดเงินห่วง 2 ปัจจัยในไตรมาสแรก“สภาพคล่องในรูปดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกสะดุด” กระทบฟันด์โฟล์และเกินดุลการค้า ย้ำผู้ส่งออกควรปิดเสี่ยงค่าเงิน เหตุทิศทางเงินบาทแข็งค่า ประเมิน 3 แรกปี 64  บาทเคลื่อนไหวที่ 29.30บาท/ดอลลาร์

การระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา กระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง รวมถึงค่าเงินบาทเอง ก็ผันผวนรุนแรงไม่ต่างกัน แม้ช่วงแรกเงินบาทจะอ่อนค่าลงมากจากที่นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น แต่เมื่อเริ่มคลี่คลายลงและมีการค้นพบวัคซีนและชัยชนะของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เงินบาทแข็งค่าตํ่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์อยู่หลายครั้ง และแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อเปิดศักราชใหม่ ปี 2564  เงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 29.84 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ 5 มกราคม  และสัปดาห์แรกของปี บาทแข็งค่าเล็กน้อยที่ 0.03% จากระดับ 29.95บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปี 2563 เป็นระดับ 29.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 7 มกราคม และมีโอกาสแข็งค่าต่อด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างและเทรนด์ดอลลาร์อ่อนค่า โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)สะท้อนความกังวลเงินบาทแข็ง ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามสร้างระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) ให้เกิดสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออกซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างในระยะยาวล่าสุดธปท. ดำเนินการเพิ่มเติม 2 เรื่องคือ 1.ผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้าโครงการ NRQC (Non-resident Qualified Company)และ 2.ปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทแบบไม่มีภาระ หรือไม่มี Underlying รองรับให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(NR) ไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR ต่อสถาบันการเงิน จากเดิม 600 ล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ทั้ง 2 มาตรการเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้น  อัตราแลกเปลี่ยนแต่ละสกุลเงิน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการของธปท.เป็นเครื่องมือที่ดี แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ซึ่งนอกจากธปท.ต้องประสานกระทรวงการคลังและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยไม่ปิดความเสี่ยง และเพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ ด้วยการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพราะหากกองทุนกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ แต่ปิดความเสี่ยงค่าเงิน จะยิ่งทำให้ทิศทางเงินบาทแข็งค่า “สิ่งที่แตกต่างจากที่เราคิดคือ ที่เราคิดว่า เงินบาทจะแข็งค่าเร็ว เงินร้อนที่จะไหลเข้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคือ มาตรการล็อคดาวน์ในต่างประเทศ อาจจะกระทบกับทั้งความกังวลเรื่องสภาพคล่องในรูปของดอลลาร์สหรัฐ หรือการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวอาจสะดุดได้ เพราะการบริโภคที่ลดลงจากต่างประเทศ ดังนั้น ทั้ง 2 ปัจจัย อาจจะกระทบเรื่องฟันด์โฟล์และการเกินดุลการค้าไม่ดีอย่างที่คาด ซึ่งต้องระวังในช่วงไตรมาสแรก”  นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่า ส่วนตัวจึงแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะการปิดความเสี่ยงอย่างน้อย แม้จะ Loss ก็อาจจะเกิดบนสัญญาฟอร์เวิร์ด แต่แลกมากับเงินที่จะได้รับ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถแลกทำฟอร์เวิร์ดบ้าง ออฟชั่นชั่นและปล่อยบางส่วนไว้ สำหรับประเด็นความเสี่ยงไตรมาสแรกชัดขึ้น นำโดยโควิด-19 ที่ระบาดหนักทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศ ถ้าใช้มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจชะลอแน่ เช่น ที่ผ่านมา ยุโรป สหรัฐ และตลาดมีความผันผวน ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้การบริโภคภายในประเทศที่โดนกดดันอยู่แล้ว ทั้งจากคนตกงานและหนี้ครัวเรือน แต่ในแง่ความรู้สึกคนอาจจะมีความหวังกับวัคซีน แต่ยังต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีนตอนไหน และเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน หากทำได้เร็ว นักท่องเที่ยวไตรมาส 4  และปัจจัยเสี่ยงจากการเมืองสหรัฐ ซึ่งต้องติดตามนโยบายเพิ่มเติม หากสหรัฐทำนโยบายใหญ่และธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อัดคิวอี อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทแข็งค่าต่อ

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์(SCBS)กล่าวว่า ผลจากเงินบาทแข็งค่าช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีกลุ่มนํ้าตาล ออกมาบ่นบ้างแต่ยังทำกำไรได้ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้นำเข้ามีปริมาณธุรกรรมไม่มาก เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 และความไม่ชัดเจนในการบริโภคแต่ละประเทศ และส่วนหนึ่งเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากซึ่งยังมองเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าที่ระดับ 29.25-29.30 บาทในไตรมาสแรกของปีนี้ ขึ้นกับเงินทุนไหลเข้า ภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19  สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ การเมืองในสหรัฐจะดำเนินมาตรการไหนออกมาไม่ว่ามาตรการการค้ากับพันธมิตร จีนและความตกลงสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP นอกจากนี้ความกังวลเงินเฟ้อ เนื่องจากราคานํ้ามันกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด แนวโน้มราคาอาจปรับขึ้นราคาสินทรัพย์โภคภัณฑ์ทั่วโลก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 มกราคม 2564

สรท.ไม่เห็นทางออกแก้ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน

ประธาน สรท.ไม่เห็นทางออกแก้ปัญหาตู้ขนสินค้าขาดแคลน ชี้ มีฉวยโอกาสปั่นค่าระวางเรือสูงเกินจริง ส่งออกไทยอาจชะลอตัวครึ่งปีแรก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่าเวลานี้ผู้ประกอบการส่งออกยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อการขนส่งสินค้า รวมถึงการปรับค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบมีนัยยะสำคัญ โดยมองว่าเกิดขึ้นจากการฉวยโอกาสในการต่อรองราคาของผู้ให้บริการ ทำให้เวลานี้ตู้ขนส่งสินค้า กระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากจีนมีการขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้าค่อนข้างสูงหลังการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการส่งออกของจีนในช่วงเดือนธันวาคม มีรายงานว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เป็นจำนวนมาก และจีนมีกำลังในการจ่ายค่าระวางเรือที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกมองว่าเวลานี้ ไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นเกินความเป็นจริงได้ แต่จะพยายามใช้ตู้ขนส่งสินค้าที่อยู่ภายในประเทศเวลานี้ให้หมุนเวียนเร็วขึ้น โดยจะไม่แข่งในเรื่องของการจ่ายค่าระวางเรือเพื่อดึงตู้กลับมาจากต่างประเทศ เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และการส่งออกของไทยอาจชะลอตัวตลอดในช่วงครึ่งปีแรก

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 18 มกราคม 2564

ขาดตู้ฉุดส่งออกวูบ 5 พันล้าน แนะตั้งกองทุนช่วยค่าขนส่ง

หอการค้าชี้ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กระทบส่งออกปี 2564 วูบ 5 พันล้านเหรียญ มั่นใจหากเศรษฐกิจโลกฟื้น มีวัคซีนโควิดครอบคลุมประชากรโลก ส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัว 3.6%

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น 3-5 เท่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกลดลงถึง 5,159 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว 2.2%

“เรื่องนี้ต้องการให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งกองทุนช่วยเหลือด้านภาระต้นทุนการขนส่ง จูงใจในการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยเหลือด้านภาษีหาช่องทางอื่นในการขนส่งสินค้าโดยเร็ว”

สำหรับทิศทางการส่งออกไทยปี 2564 ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 นั้น ทางหอการค้าไทยประมาณไว้ 2 กรณีสำคัญ คือ กรณีผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย 40% ของประชากรโลก ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 237,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.6% หรือส่งออกมีมูลค่าอยู่ในกรอบ 224,934-242,356 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวอยู่ในกรอบติดลบ 1.8 ถึงติดลบ 5.8%

อีกกรณีไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย ผลิตได้น้อยกว่า 40% ของประชากรโลก และจำนวนผู้ติดโควิด วันละ 7-8 แสนคน ไทยจะมีมูลค่าการส่งออก 227,165 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือติดลบ 0.8% หรือส่งออกมีมูลค่าอยู่ในกรอบ 214,899-232,321 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 6.2 ถึงติดลบ 1.4%

โดยปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ GDP โลกโต 5.2% เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าเริ่มพื้นตัว ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ GDP โลก ขยายตัว 4%

การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดให้กับประชากรโลกอย่างน้อย 40% ราคาน้ำมัน
ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 เฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราค่าเงินบาท 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และการลงนามความตกลงหุ้นส่วน
ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ไม่สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากรโลกได้ตามเป้าหมาย ประชากรโลกมีประมาณ 7,700 ล้านคนได้รับวัคซีนไปแล้วเพียง 0.3%

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิตมีเป้าไว้อยู่ที่ 6,000 ล้านโดส ฉีดได้ 3,000 ล้านคน หรือ 42% ของประชากรโลก หากผลิตไม่พอประชากรไม่ได้ตามเป้าหมายจะกระทบต่อกำลังซื้อ การขนส่ง และค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เพราะหากแข็งค่า 1% ส่งออกลดลง 0.11%

“ประเด็นที่ต้องติดตามจากนี้ที่จะมีผลต่อการส่งออกไทย คือ นโยบายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผลของ Brexit Deal ส่วนปัจจัยเสี่ยงสุดท้าย ผลกระทบจากกรอบความตกลง EVFTA (เวียดนาม-ยุโรป) ซึ่งกระทบให้การส่งออกไทยลดลง 1,107 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.47% เนื่องจากสินค้าเวียดนามถูกกว่าไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมีผลต่อการส่งออก”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 มกราคม 2564

จี้ส่งออกรับมือ “เบร็กซิทดีล” คู่แข่งฟัดเดือดแน่

นักวิชาการ-บิ๊กเอกชน จี้ส่งออกไทยรับมือ อังกฤษ-อียูบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทดีล ชี้มีได้-เสีย สั่งจับตาผู้ดีผุดมาตรฐานและมาตรการกีดกันการค้าขึ้นใหม่ ใครทำไม่ได้ชวดอานิสงส์ จี้รัฐสปีดทำเอฟทีเอ ลดเสียเปรียบคู่แข่งทิ้งห่าง

วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ก่อนเส้นตายสิ้นปี สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ และสหภาพยุโรป หรืออียูได้บรรลุข้อตกลงการค้าและความร่วมมือ (EU-UK Trade and Cooperation Agreement : TCA) หรือที่เรียกว่า”Brexit Deal” หลังจากใช้เวลาการเจรจากันมาอย่างยาวนาน 4 ปี 6 เดือน ซึ่งขณะนี้ในส่วนของอังกฤษได้ให้สัตยาบันเรียบร้อยแล้วเพื่อให้มีผลบังคับใช้ แต่ยังรอฝั่งอียูที่อยู่ระหว่างรอการให้สัตยาบันจากรัฐสภายุโรปที่คาดจะมีการประชุมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แน่นอนว่าข้อตกลง TCA จะมีผลได้-เสียกับทุกประเทศที่ค้าขายกับอังกฤษและอียูภายใต้บริบทการค้าใหม่ที่แยกออกจากกันอย่างแน่นอน

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เบร็กซิทดีลสำหรับประเทศไทยจะได้หรือเสีย ต้องหันกลับไปมองการค้าไทยกับอังกฤษว่าเป็นอย่างไร ปี 2562 อังกฤษนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นลำดับที่ 30 ของการนำเข้าจากทั่วโลก มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม แต่เมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งตลาดของไทยกับเวียดนามในตลาดอังกฤษระหว่างปี 2552-2562 พบว่า เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ไทยลดลง

ส่วนมุมมองผลกระทบต่อไทยหลังมีเบร็กซิทดีล เป็นดังนี้ 1.ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยมากนัก ขึ้นกับศักยภาพของสินค้าไทยมากกว่า เนื่องจากภายใต้ข้อตกลง TCA การค้าของอังกฤษกับอียูยังมีภาษีเป็นศูนย์เหมือนเดิม และไม่มีโควตาสินค้าระหว่างกัน 2.หลังจากนี้จะมีมาตรฐานสินค้าและการกีดกันทางการค้าของอังกฤษขึ้นใหม่ เพราะอังกฤษสามารถออกกฎระเบียบและกติกาด้านมาตรฐานสินค้าได้เองและรวดเร็วขึ้นกว่าที่อยู่ภายใต้อียู หากสินค้าไทยไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานก็จะได้รับผลกระทบ เช่น กรณีอังกฤษแบนน้ำกะทิของไทย จากถูกกล่าวหาใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว เป็นต้น โดยประเด็นมาตรฐานทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องนี้

3.ค่าเงินปอนด์จะกลับมาแข็งค่าขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยไปอังกฤษ จากมีอำนาจซื้อมากขึ้น 4.ให้ระวังสินค้าจากเวียดนาม จากมีต้นทุนต่อหน่วยและค่าขนส่งที่ถูกกว่าสินค้าไทยในตลาดอังกฤษ 5.ควรติดตามผลการเจราจา FTA ของอังกฤษกับประเทศนอกสหภาพยุโรป เฉพาะอย่างยิ่ง FTA กับประเทศในเอเชียและอาเซียนเช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินเดีย ว่าสินค้าไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียเปรียบมีอะไรบ้าง และ 6.สินค้าที่ขายช่องทางออนไลน์กับอังกฤษต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Import Vat)เพิ่มขึ้น จากเดิมเก็บ 15% (EU Vat) ของใหม่จะไม่เก็บ 15% อีกต่อไป

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า การค้าระหว่างไทยกับอังกฤษและกับอียู หลังเบร็กซิทในเรื่องภาษีและโควตาต่าง ๆ คงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่ที่ห่วงคือเรื่องมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ ของอังกฤษที่อาจเข้มงวดขึ้นหลังจากถอนตัวจากอียูเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านสุขอนามัยที่อังกฤษสามารถตั้งกฎเกณท์ของตัวเองได้ รวมถึงที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันเรื่อง FTA ในตลาดอียูและอังกฤษ โดยเวลานี้เวียดนาม และสิงคโปร์มีเอฟทีเอแล้วกับอียู รวมถึงเวียดนาม อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์อยู่ระหว่างเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษ เรื่องนี้รัฐบาลต้องเร่งการเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษและอียูเพื่อลดความเสียเปรียบการแข่งขัน

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปอังกฤษกล่าวว่า สินค้าไก่ของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษยังได้โควตาภาษีรวมกันเท่าเดิมคือประมาณ 2.7 แสนตันต่อปี ซึ่งมีข่าวดีหลังจากเบร็กซิท อังกฤษจะลดภาษีสินค้านอกโควตาลงมาครึ่งหนึ่ง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไก่ไทย อย่างไรก็ดีไทยจะส่งออกสินค้าไก่ไปอังกฤษและอียูในปีนี้ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ตัวแปรหลักคือโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดในยุโรปที่ยังกระทบภาคท่องเที่ยว โรงแรม และบริการร้านอาหารทำให้ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไก่ไปอียูได้ลดลง 15% จะคลี่คลายหรือไม่”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 มกราคม 2564

มหาวิทยาลัยหอการค้าชี้ทิศทางการส่งออกไทยยังลูกผีลูกคน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยปี 64 ว่า การส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 3.6% มูลค่า 237,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 63 ที่ติดลบ 7% ภายใต้เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าฟื้นตัวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย 40% ของประชากรโลก และวัคซีนมีประสิทธิภาพในการรักษา ราคาน้ำมันสูงขึ้นและความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีผลบังคับใช้กลางปี 64

แต่หากกรณีเลวร้าย ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้าหมาย คือน้อยกว่า 40% ของประชากรโลกและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มวันละ 700,000-800,000 คน การส่งออกของไทยจะติดลบ 0.8% มูลค่า 227,165 ล้านเหรียญเท่านั้น ดังนั้น แม้การส่งออกไทยจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง คือ ไม่สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ครอบคลุมประชากรโลก รวมทั้งต้องดูประสิทธิภาพวัคซีนด้วย, ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ประเมินว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% จะทำให้มูลค่าส่งออกไทยลดลง 0.11% หากเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญ มูลค่าส่งออกจะลดลง 0.5% หรือลดลง 1,039 ล้านเหรียญ หากอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญ มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หรือเพิ่มขึ้น 572 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น 3-5 เท่า และทำให้การส่งออกไทยปี 64 ลดลง 2.2% มูลค่า 5,159 ล้านเหรียญ รวมถึงผลกระทบจากกรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เวียดนาม-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดอียู ประเมินว่าส่งออกไทยจะลดลง 1,072 ล้านเหรียญ หรือลดลง 0.47% อีกทั้งต้องติดตามนโยบายสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดน รับตำแหน่งประธานาธิบดี กรณีเบร็กซิตของอังกฤษ และอังกฤษกับแคนาดาแบนสินค้าจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 15 มกราคม 2564

“ชาวไร่” ขอพบกันครึ่งทาง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต่างรับทราบปัญหาเรื่องคุณภาพอ้อยร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันโดยไม่มีการปิดหีบ

“การตัดอ้อยสด มีกากใบปนจะส่งผลให้คุณภาพผลผลิตต่อตันอ้อยลดลง แต่แรงงานคนไม่พอ รถตัดอ้อยไม่พอ ทำให้ปริมาณอ้อยที่ตัดได้ต่อวันนั้นลดลง จาก 40,000-50,000 เหลือเพียง 20,000 ตัน/วัน ชาวไร่บางรายใช้วิธีตัดล้ม จึงมีกากใบแห้งติดไปด้วย”

“หากต้องการให้ลดการเผาอ้อย โรงงานกับชาวไร่ ต้องพบกันครึ่งทาง ในส่วนของชาวไร่เองได้พยายามปรับวิธีการตัดอ้อย โดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก พยายามลดติดใบอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบ เป็นลักษณะการตัดแบบเป็นท่อน ๆ ซึ่งชาวไร่ก็ต้องลงทุนซื้อเครื่องสางใบใหม่ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเพื่อลดการเผาอ้อยตามที่รัฐต้องการ แต่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ”

นอกจากปัญหาต้นทุนจากการตัดอ้อยสดแล้ว ชาวไร่อ้อยยังมีต้นทุนจากการหาสารเคมีทดแทนสารพาราควอต ทั้งกลูโฟซิเนต และสารที่ใกล้เคียงประเภทอื่นมีราคาที่สูงกว่า รวมถึงการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย แต่แน่นอนว่าประสิทธิภาพมันไม่ได้ดีเต็ม 100% จึงส่งผลให้ผลผลิตต่ำลง บวกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ล่าสุดได้ส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อขอให้พิจารณาถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาสารพาราควอตเป็นหลักในการกำจัดวัชพืช เพียงช่วยปลูก 3-4 เดือน ไม่ได้ตลอดทั้งปี

“ชาวไร่อ้อย แค่ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคิดใหม่ โดยหลักแล้วเราไม่อยากให้ยกเลิก”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 มกราคม 2564

“กระทรวงอุตสาหกรรม”สั่งตรวจโรงงานทั่วประเทศสกัดฝุ่น “PM2.5”

 “กระทรวงอุตสาหกรรม”สั่งตรวจโรงงานทั่วประเทศสกัดฝุ่น “PM2.5” เสี่ยงปล่อยฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว

ทั้งนี้  ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑล พร้อมกับขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ ควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับแผนการผลิตและขอความร่วมมือให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS)

และเชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวมทั้ง การปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และลดปัญหามลพิษทางอากาศ และสำหรับในระยะยาวจะดำเนินการขยายผลการติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่และประเภทการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำพวก 3 เตาเผาที่มีการใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล และหม้อน้ำตามขนาดที่กำหนด รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)

มาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์  ได้จัดทำมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มาตรฐาน จากทั้งหมด 63 มาตรฐาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564

พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ "อีวี" (EV) ในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ และการกำหนดอัตราค่าไฟคงที่ทุกช่วงเวลาสำหรับการชาร์ตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

              นอกจากนี้ยังมีมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ : อ้อยสด เป็น 20:80% ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ

“กระทรวงฯ มีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิด ฝุ่นละออง PM2.5 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้ม ที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรอ. ได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล”

 ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้วยังช่วยลดปัญหา ฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้โรงงานลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุด

นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าค่า PM 2.5 มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 ของรัฐบาลที่ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มกราคม 2564

ดัน e-Commerce เป็นวาระแห่งชาติ

พาณิชย์ดันแผน e-Commerce แห่งชาติ พร้อมตั้งเป้าปี 2565 ต้องสร้างรายได้กว่า 5.35 ล้านล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) แห่งชาติ ตั้งเป้าเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อน e-commerce ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce ได้เข้ามีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามูลค่า e-Commerce ประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่ารวม 4.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 6.91 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

ดังนั้น ในปี 2564 จะผลักดันการค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้นผ่านโครงการสำคัญ เช่น การปั้นเด็ก Gen Z to be CEO , การผลักดันผู้ผลิตและผู้ส่งออกให้เป็นผู้ค้าออนไลน์, การพัฒนาตลาดสด ร้านธงฟ้า ให้สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้, การสร้างยี่ปั้วออนไลน์เพื่อให้เป็นฟันเฟืองเชื่อมโยงสินค้าของ SME รายเล็กเข้าสู่ช่องทางออนไลน์สู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการผลักดันสร้างทีมเซลส์แมนจังหวัดเผยแพร่ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตในระดับฐานรากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2565) ฉบับนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion) 2. การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) 3. การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) และ 4. การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building)

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะขยายการเติบโตของมูลค่า e-Commerce ของประเทศได้อย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมตั้งเป้าการเพิ่มการเติบโตของ e-Commerce ให้ได้ปีละร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่า 5.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.33 ล้านล้านบาทภายในปี 2565 ได้

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 14 มกราคม 2564

กลุ่มโรงไฟฟ้ามุ่งพลังงานทดแทน

กลุ่มโรงไฟฟ้ามุ่งพลังงานทดแทน GULF ซื้อหุ้นพลังงานสิงคโปร์ ลุยลงทุนเวียดนาม  ด้าน EA – TFG จ่ายไฟ โซลาร์ลอยน้ำ ครบ 4 โรงงาน รวม 13.78 เมกะวัตต์  ด้าน ACE ทยอย ลงนาม  PPA โรงไฟฟ้า SPP Hybrid กับ  กฟผ.

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้ Kolpos Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GULF ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์เข้าซื้อหุ้นสามัญของ Global Mind Investment Management Pte. Ltd. (“GMIM”) ในสัดส่วนร้อยละ70.5 จาก Nech Opportunities Fund VCC ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท  โดย GMIM เป็น Holding Company  ซึ่งจดทะเบียนในประเทศ สิงคโปร์ มีการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานน้ำ และพลังงานลม รวมถึงธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือสินค้า และคลังสินค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในประเทศเวียดนาม  อย่างไรก็ตามในการเข้าไปลงทุนใน GMIM เพื่อเป็นขยายการลงทุนในประเทศเวียดนามต่อไป

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า บริษัท ทีเอฟ เทค จำกัด (TFT) ซึ่งเป็นบริษัทที่ EA เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TFG) โดยเข้าร่วมถือหุ้นฝ่ายละ 40% และส่วนที่เหลือ 20% เป็นบุคคลธรรมดา  ร่วมกันติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในพื้นที่ของ TFG และบริษัทในเครือ  ระยะแรกเริ่มในโรงงาน 4 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 13.78 เมกะวัตต์ ทั้งในพื้นที่ โรงอาหารสัตว์ ใน จ.สุพรรณบุรีและ จ. ปราจีนบุรี,โรงชำแหละไก่ จ. ปราจีนบุรี และ จ. กาญจนบุรี  ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและได้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเรียบร้อยตามแผน โรงล่าสุดในเดือน ธันวาคม 63   

ทั้งนี้  EA ยังมีแผนที่จะขยายไปสู่การก่อสร้างและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างๆ ที่สนใจ ได้มีโอกาสในการใช้พลังงานสีเขียว และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อไป

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE  เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดคลองขลุง (SPP Hybrid คลองขลุง) จังหวัดกำแพงเพชร โรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 13.31 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบบ Feed-in Tariff (FiT) อายุสัญญา 20 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 และจะCOD ในปี 2565  ส่วนโครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid ที่เหลืออีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 73 เมกะวัตต์ ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนก็มีความคืบหน้าไปมากเป็นที่น่าพอใจ คาดการณ์ว่าอีกไม่นานน่าจะมีข่าวดีของการลงนาม PPA ทยอยตามออกมา

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 14 มกราคม 2564

บาทแข็งวันนี้โอกาสหลุด 30 บาท

บาทแข็งสวนดอลล์อ่อนค่า ผู้ส่งออกทยอยซื้อเก็บ วันนี้โอกาสหลุด 30 บาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 14 มกราคม อยู่ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.92-30.12 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.23% ด้วยความหวังว่าโจ ไบเดนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่หลังจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปิดบวก 0.12% แม้จะได้รับแรงหนุนจากภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ระยะสั้นยังคงถูกกดดันจากการระบาดของไวรัสที่ล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และเยอรมันส่งสัญญาณว่าอาจมีการล็อคดาวน์ต่ออีกสามถึงแปดสัปดาห์เป็นอย่างน้อย

ฝั่งตลาดเงิน บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 4bps หลับมาที่ 1.09% พร้อมกับส่วนต่างระหว่างยีลด์สหรัฐอายุสามสิบและห้าปีที่ลดลง 2bps สะท้อนภาพตลาดที่กังวลกับปัญหาการเมืองในสหรัฐมากขึ้น ประเด็นดังกล่าวหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่ราคาบิทคอยน์ปรับตัวสูงขึ้นถึง 12% มาที่ระดับ 38000 ดอลลาร์ พร้อมกับราคาทองคำที่ฟื้นตัวขึ้นมาที่ 1847 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพราะความหวังเรื่องนโยบายการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมราว 7.5-9 แสนล้านดอลลาร์

ด้านเงินบาท ระยะสั้นมีความเคลื่อนไหวไม่มาก โดยมีผู้ส่งออกทยอยซื้อเงินบาท สวนทางกับนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายบอนด์ไทยติดต่อกันเป็นวันที่เจ็ด

อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับแข็งค่าได้จากแนวโน้มของเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง

สำหรับวันนี้เชื่อว่าจะมีแรงซื้อบอนด์ไทยกลับจากบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวลง ประเด็นที่ต้องติดตามยังคงเป็นแนวโน้มของตลาดทุนและการควบคุมการระบาดของไวรัสในฝั่งเอเชีย

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 14 มกราคม 2564

เกษตร New Normal

คอลัมน์สามัญสำนึก

พิเชษฐ์ ณ นคร

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบภาคการเกษตรเช่นเดียวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกหลากหลายสาขา โดยเฉพาะเกษตรกลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ท่ามกลางปัจจัยลบก็มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ในฐานะเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก โจทย์ใหญ่อยู่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีแนวทางใดสนับสนุนผลักดันพลิกอนาคตภาคการเกษตรไทย

ต้นเดือน ธ.ค. 2563 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ถือโอกาสติวเข้มหน่วยงานในสังกัด มอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีภารกิจหลักครอบคลุมภาคการเกษตร ตั้งแต่เรื่องน้ำ ดิน การปลูกพืช ทำปศุสัตว์ ประมง ที่จะใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนงานในเชิงบูรณาการทั้งกระทรวง ในปี 2564 โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ และแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง

กำหนดตัวชี้วัด หรือเป้าหมายความสำเร็จ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 3.8% 2.ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.2% 3.เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี และ 4.พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 3.5 แสนไร่ ภายในปี 2565

สาระสำคัญอยู่ที่แผนปฏิบัติที่ต้องขับเคลื่อน ประกอบด้วยแผนย่อย 6 แผนงานที่จะมุ่งเน้น โดยให้ทุกหน่วยงานเร่งผลักดัน และจะใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2565 ได้แก่

เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ที่มีความโดดเด่นในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกรและชุมชน สร้างอัตลักษณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าด้วยเรื่องราว (story)

เกษตรปลอดภัย การผลิตสินค้าเกษตรจะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐาน ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันในการลด ละ เลิกใช้สารเคมี ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐาน ระบบการตรวจรับรอง

เกษตรชีวภาพ ให้ความสําคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมการผลิตและการแปรรูปพืชสมุนไพร ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ ฯลฯ

เกษตรแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตร ให้ความสําคัญตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร โดยพัฒนาและใช้วัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตร เชื่อมโยงสู่การแปรรูปในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัย

เกษตรอัจฉริยะ เป็นระบบการเกษตรที่ชาญฉลาด เริ่มต้นจากการมีข้อมูลทางการเกษตร ประกอบกับระบบเทคโนโลยีและแบบจําลองต่าง ๆ จุดเน้นในปีงบประมาณ 2565 คือ การให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล เทคโนโลยีและ applications ต่าง ๆ และเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เบื้องต้นได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ให้ดูแลและคาดการณ์ผลผลิตข้าวให้มีความถูกต้องแม่นยำ

การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร มุ่งเน้นในประเด็นการอนุรักษ์ การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเครือข่าย การพัฒนาโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แนวทางดำเนินการ จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วน อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ ผลักดันเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาช่องทางเชื่อมโยงการตลาดสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ การใช้ big data, smart farmer ครบวงจร การแก้ปัญหาของเกษตรกร อาทิ ผลกระทบจากโควิด ปัญหาหนี้สิน ฯลฯ

พร้อมวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (new normal) ทุกแนวทางตอบสนองเป้าหมาย การยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ ภาคการเกษตรไทยให้มั่นคงและยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 มกราคม 2564

“ลดเผาอ้อย”ป่วนโรงงานน้ำตาลชาวไร่หัวใสตัดต้นปนกาบใบรับส่วนต่าง

57 โรงงานน้ำตาลป่วน รับมือ “ชาวไร่หัวใส” ตัดอ้อยสดผสมกาบใบส่งขายโรงงาน หวังรับเงินค่าลดเผาอ้อยแก้ฝุ่น PM 2.5 ตันละ 20 บาท ไม่สนคุณภาพน้ำตาลวูบ 9 บาทต่อ กก. แถมซวยซ้ำบาทแข็งทุบตลาดส่งออกไตรมาส 1 ราคาโลกซึกยาว แต่ยังต้องแบ่งชาวไร่ 70 ต่อ 30 เท่าเดิม

แหล่งข่าวาจากวงการน้ำตาลทรายเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิต 2563/2564 กำลังทยอยเก็บเกี่ยว โรงงาน 57 แห่ง เริ่มเปิดหีบครบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฎว่าเกิดปัญหาอ้อยที่เข้าสู่โรงงานไม่ได้มีคุณภาพตามที่ต้องการ จึงเป็นเหตุให้ทางโรงงานอาจหยุดรับซื้อ ชาวไร่อ้อยก็ต้องขนย้ายจากอีกแห่งไปอีกแห่ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงาน ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาคุณภาพอ้อยที่เข้าสู่โรงงาน โดยที่ประชุมขอให้ทุกโรงงานไปรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ภายใน 7-10 วันนับจากนี้ หรือประมาณปลายเดือนมกราคม 2564

สาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการลดการเผาอ้อยจาก 100% ให้เหลือ 20% ในปีนี้ เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยชาวไร่ที่เผาอ้อยไปขายให้โรงงานจะถูกหักค่าอ้อย 20 บาท ต่อตัน หรือเฉลี่ยต่อ 1 คันรถ ประมาณ 2

 ตัน ราว 400 บาทจากราคาอ้อยขั้นต้น 800-900 บาท เพื่อเอาไปเพิ่มให้กับชาวไร่ที่ใช้วิธีตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน ถือเป็นมาตรการจูงใจนี้ทำให้ชาวไร่หันมาตัดอ้อยสดมากขึ้น ลดฝุ่น PM 2.5 เหมือนได้รางวัลจากการทำดี แต่ก็มีชาวไร่บางส่วนในบางพื้นที่ได้ตัดอ้อยสดแต่ผสมเอากาบใบไปส่งให้โรงงานทำให้คุณภาพน้ำตาลลดลง แต่กลับพลอยได้รับค่าอ้อยไฟไหม้ไปด้วย

“การตัดอ้อยสดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะถ้าไม่ใช้เครื่องจักรก็ต้องใช้แรงงานคน สุดท้ายพอตัดอ้อยสดมาแล้วก็ตัดมาทั้งลำต้นมีกาบใบผสมมาด้วย ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ไปลดเปอร์เซ็นต์น้ำตาล หรือยีลด์ ซึ่งตอนนี้โรงงานที่รับซื้อพบว่า ยีลด์หาย กก.ละ 9 บาทแล้ว การจะให้โรงงานไปแยกเองก็ลำบาก พอมีปัญหาคุณภาพนั้นก็กระทบเกิดภาวะหยุดซื้อ ชาวไร่ก็เดือดร้อนอีก”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การออกมาตรการเรื่องลดการเผาก็ต้องมีการวางแนวทางรองรับว่าจะทำอย่างไร เมื่อต้องตัดอ้อยสดจะใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักร และจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตหรือไม่ เท่าไรเช่นเดียวกัลป์การที่มีมาตรการให้แบบสารเคมีพาราควอต  ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชสูงขึ้น ยังไม่มีสารเคมีอะไรมาทดแทน จะดำเนินการอย่างไร

ต่อประเด็นที่ว่า รัฐบาลควรปรับขึ้นราคารับซื้ออ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือไม่นั้น ต้องพิจารณา 2 มุม การจะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรด้านเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาราคาขายด้วย ซึ่งตอนนี้ราคาขายน้ำตาลในตลาดโลกไตรมาส 1 เพิ่มจาก 12 เซนต์ เป็น 13  เซนต์ ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นน้อยมาก หากเพิ่มเป็น 15-16 เซนต์ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะปรับราคาอ้อย ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าไปมาก ทำให้รายได้จากส่งออกน้ำตาลที่คิดทอนกลับมาเป็นเงินบาทได้ ราคาลดลง และเรายังต้องพึ่งพารายได้จากตลาดส่งออก 70 % ดังนั้นเมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้น จะปรับราคาขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เสมือนตอนนี้ขึ้นเค้กลดลง แต่ผู้ประกอบการกับชาวไร่ก็ยังต้องแบ่งรายได้ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เท่าเดิม

“ปีนี้โรงงาน 57  โรงงานที่เปิดหีบไปประมาณ 4-5 วัน คาดว่าปีนี้จะหีบหมดภายในกลางเดือนมีนาคม เพราะปริมาณอ้อยปีนี้น่าจะมีเพียงไม่ถึง 70 ล้านตัน จากกำลังการผลิตสูงสุดของโรงงานที่รับอ้อยได้ 1.2 ล้านตันวัน เป็นเวลา 4 เดือน หรือราว 96 ล้านตัน ซึ่งปริมาณอ้อยที่ลดลดมาจากหลายสาเหตุ มีทั้งการหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีหรือมีความต้องการใช้มากกว่า เช่นข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง”

อีกด้านหนึ่ง นายนราธิป  อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลต่างรับทราบปัญหาเรื่องคุณภาพอ้อยร่วมกัน แก้ปัญหาร่วมกันโดยไม่มีการปิดหีบ

“การตัดอ้อยสด มีกากใบปนจะส่งผลให้คุณภาพผลผลิตต่อตันอ้อยลดลง แต่แรงงานคนไม่พอรถตัดอ้อยไม่พอ ทำให้ปริมาณอ้อยที่ตัดได้ต่อวันนั้นลดลง จาก 40,000-50,000 เหลือเพียง 20,000 ตัน/วัน ชาวไร่บางรายใช้วิธีตัดล้มจึงมีกากใบแห้งติดไปด้วย”

“หากต้องการให้ลดการเผาอ้อยโรงงานกับชาวไร่ ต้องพบกันครึ่งทางในส่วยของชาวไร่เองได้พยายามปรับวิธีการตัดอ้อย โดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก พยายามลดติดใบอ้อยก่อนตัดส่งเข้าหีบ เป็นลักษณะการตัดแบบเป็นท่อนๆซึ่งชาวไร่ก็ต้องลงทุนซื้อเครื่องสางใบใหม่ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเพื่อลดการเผาอ้อยตามที่รัฐต้องการแต่ก็เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ”

นอกจากนี้ปัญหาต้นทุนจากการตัดอ้อยสดแล้ว ชาวไร่อ้อยยังมีต้นทุนจากการหาสารเคมีทดแทนสารพาราควอต ทั้งกลูโฟซิเนต และสารที่ใกล้เคียงประเภทอื่นที่มีราคาที่สูงกว่า รวมถึงการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วย แต่แน่นอนว่าประสิทธิ์ภาพมันไม่ได้ดีเต็ม 100% จึงส่งผลให้ผลผลิตต่ำลง บวกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ล่าสุดได้ส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อขอให้พิจารณาถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ต้องพึงพาสารพาราควอตเป็นหลักในการกำจัดวัชพืช เพียงช่วยปลูก 3-4 เดือน ไม่ได้ตลอดทั้งปี

“ชาวไร่อ้อย แค่ขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคิดใหม่ โดยหลักแล้วเราไม่อยากให้ยกเลิก”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 มกราคม 2564

4 รัฐมนตรีฯ ชู นโยบายแก้ปัญหาภาคเกษตร

4 รัฐมนตรีเกษตรฯ แจงนโยบาย มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และนำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน ทำงานเชิงรุก สร้างฐาน บิ๊กดาต้า เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันที่ 13 มกราคม 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมนำเสนอแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายการจัดทำงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2565 ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณารายจ่ายของสำนักงบประมาณ ณ กรมชลประทาน สามเสน

บรรยากาศการแถลงนโยบายปี 2565

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ และยังเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังต้องการการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากภาครัฐ หากสามารถสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรได้ จะสามารถสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ ซึ่งจากการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ

ตั้งแต่ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการกระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ตลอดจนป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย  การป้องกันโรคระบาดจากพืชและสัตว์ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข็งขันของสินค้าเกษตร

พัฒนาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ในการเชื่อมโยงการทำการเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม  ลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างโอกาสในการแข็งขัน  

ด้าน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ในด้านของการตลาด กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นในการขยายตลาดให้กับเกษตรกร โดยในส่วนของ อ.ต.ก. พร้อมขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นตลาดกลางให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อสนับสนุนภารกิจในด้านการเพิ่มปริมาณน้ำด้วย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พร้อมดำเนินภารกิจในการส่งเสริมระบบสหกรณ์และการอบรมในด้านการทำบัญชีสหกรณ์ เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเน้นนำงานวิจัยมาช่วยพัฒนาการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชากรในประเทศไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องมีการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกรมที่กำกับดูแล จึงต้องมีการทำงานเชิงรุก ทั้งด้านปศุสัตว์ ในการสนับสนุกการปรับเปลี่ยนอาชีพและการป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอและได้คุณภาพด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 มกราคม 2564

นายกฯ ประชุม BCG ยกเกษตรอินทรีย์ลดโลกร้อน วาระแห่งชาติเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรีประชุม BCG ยกเกษตรอินทรีย์ลดโลกร้อน วาระแห่งชาติเร่งด่วน สร้างสินค้าแปรรูปแบบใหม่ เพิ่มมูลค่า-รายได้เกษตรกร ชี้รัฐบาลพร้อมหนุนทุกมิติ เดินหน้าขับเคลื่อนปี 64-69 มุ่งสู่ประเทศรายได้สูง

วันนี้ (13 ม.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model ) หรือ BCG ครั้งที่ 1/2564 ว่า วันนี้เป็นการประชุมที่เรากำลังจะพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ตามที่เราตั้งไว้ซึ่งเราเป็นประเทศเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่และประชากรทำอาชีพเกษตรกรรม แต่สิ่งที่ทำมาคือทำมากแต่ได้น้อย วันนี้จึงต้องมาหาวิธีการใหม่ คือ ในเรื่องของการทำเกษตร BCG ที่มีหลายอย่างเกี่ยวข้อง และเราจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาที่สอดคล้องกับวาระของโลก ในเรื่องการลดขยะ ลดการใช้พลังงาน รวมถึงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติ การประชุมวันนี้จึงเป็นการเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในช่วงปี 2564-2569 ตนแนะนำคณะกรรมการไปให้ปฏิบัติสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ไปกำหนดมาว่าจะทำที่ไหนอย่างไร ทุกฝ่ายต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าภาคธุรกิจ เอกชน ภาครัฐ วิสาหกิจ โดยเฉพาะเกษตรกร และประชาชน ที่เป็นต้นทางของกลไกและกระบวนทั้งหมด เราจะทำอย่างไรให้เกิดการแปรรูปสินค้าให้มีคุณภาพสูง แข่งขันได้ รวมถึงเรื่องสาธารณสุข การท่องเที่ยว โดยมีการหารือในคณะรัฐมนตรีมาแล้วว่าจะมีคณะกรรมการอย่างไรไปขับเคลื่อน เราต้องหาเป้าหมายตรงนี้ให้เจอ และขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น หาทุนสนับสนุนให้มากขึ้น

“ผมเคยพบปะกับบรรดาลูกๆ หลานๆ ที่อยู่ตามถิ่นทุรกันดาน ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเราจะนำทั้งหมดมาขับเคลื่อนด้วยกัน วันนี้จึงตัดสินใจว่าจะกำหนดให้การทำ BCG เป็นวาระแห่งชาติ เหมือนที่เคยกำหนดไว้ในนโยบายตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกฯ คือ 4.0 วันนี้ก็ 4.0 แล้ว ซึ่งจะทำตรงนี้อีกอันถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลภายใน 5 ปี เราจะทำได้ และจะลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และจะทำอย่างไรประทศไทยจะเป็นดินแดนแห่งความปลอดภัยในเรื่องสาธารณสุข นี่คือโอกาสของเรา เราจะทำอย่างไรให้เพิ่มมูลค่าการเกษตร และลดปัญหาโลกร้อนไปด้วย ซึ่งเกษตรอินทรีย์จะช่วยเรา เพื่อหารายได้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้เรื่องของค่าเงินบาทเราต้องระวังให้มากที่สุดไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ฉะนั้นการลงทุนของเราต้องเพิ่มมากขึ้น ตนได้เน้นย้ำฝ่ายเศรษฐกิจไปแล้ว เรามีเงินอยู่พอสมควรที่เป็นเงินบาทในประเทศไทย ช่วงที่ผ่านมามีการลงทุน แต่วันนี้ลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 เราจึงจำเป็นต้องใช้โอกาสตรงนี้ในการเตรียมความพร้อมมากที่สุด เป้าหมายรายปีต้องออกมาให้ได้ ไปหามาให้ได้อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ต้องจัดทำ และรัฐบาลจะเป็นนำร่องตรงนี้ในทุกมิติ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 13 มกราคม 2564

KTIS ยิ้มขายแอลกอฮอล์ KNAS พุ่งหลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS (เคทิส) ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่ม KTIS ได้ผลิตแอลกอฮอล์ 70 % พร้อมใช้ ภายใต้แบรนด์ KNAS ออกจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก ต่อเนื่องมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อเดือนเมษายน 2563 โดยเริ่มจากแนวความคิดที่ต้องการเห็นราคาแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือในท้องตลาดซึ่งเป็นราคาสูงเกินจริงในขณะนั้น ได้ปรับลดลงมาในระดับที่ไม่เป็นภาระของประชาชนทั่วไป โดย KNAS ขนาด 5 ลิตร จำหน่ายในราคาเพียง 300 บาท

“ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ราคาแอลกอฮอล์พุ่งขึ้นไปสูงมาก จากความต้องการ แอลกอฮอล์ที่สูง และตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ความต้องการใช้แอลกอฮอล์ก็กลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง ทางกลุ่ม KTIS ก็ยังคงยืนยันในเจตนารมณ์เดิม คือ สนับสนุนให้ประชาชนมีแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาดมืออย่างทั่วถึง ไม่ขาดแคลน ในราคาที่เป็นธรรม จึงได้ป้อนแอลกอฮอล์ 70 % ภายใต้แบรนด์ KNAS เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง” นายประพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ แอลกอฮอล์ 70 % แบรนด์ KNAS นี้ เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาดมือที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองสิ่งเจือปนถึง 7 หอกลั่น สามารถลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียได้ 99.99 % ผลิตและจำหน่ายโดย บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลของกลุ่ม KTIS ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ และมีเลขที่ใบรับจดแจ้งถูกต้องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 13 มกราคม 2564

จีนคลอดยุทธศาสตร์ชาติ กระทบ 3 อุตสาหกรรมไทย

‘พาณิชย์’ เกาะติดยุทธศาสตรชาติ 5 ปี ของจีน หันพึ่งในประเทศลดนำเข้าสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี-พลังงาน-อาหาร หวั่นกระทบส่งออกไทย แนะผู้ประกอบการปรับตัว

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตามที่จีนประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (Dual Circulation Strategy) ซึ่งจะเป็นนโยบายหลักในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี (ค.ศ. 2021 - 2025) (คาดว่าจะเผยแพร่เดือนมีนาคม 2564) มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจีนเล็งเห็นว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความเสี่ยง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้หลายประเทศพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน ส่งผลให้จีนมีข้อจำกัดมากขึ้นในการเข้าตลาดประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน จีนต้องการลดการพึ่งพาภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยจะมุ่งขยายตลาดในประเทศจากเดิมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งลดการพึ่งพาการนำเข้าและหันมาผลิตเองมากขึ้น ซึ่งจากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน การบริโภคภายในประเทศสามารถเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับจีนได้

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เห็นว่ามี 3 อุตสาหกรรมที่จีนมีความเสี่ยงสูงจากการพึ่งพาการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จีนจะลดการพึ่งพาการนำเข้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเทคโนโลยี  2. อุตสาหกรรมพลังงาน และ 3. อุตสาหกรรมอาหาร

สำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีสินค้าสำคัญที่จีนต้องการพึ่งพาตนเอง ได้แก่ สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และวงจรรวม (Integrated Circuit/IC) โดยเฉพาะวงจรรวมหรือไอซี เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสินค้าที่จีนนำเข้ามากที่สุด ซึ่งในปี 2562 จีนนำเข้าสินค้าไอซีเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน

แม้ทางรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าไอซี แต่ก็ยังยากในการก้าวทันคู่แข่ง (เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ) ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและการผลิตที่ซับซ้อนกว่ารวมถึงที่ใช้สำหรับอุปกรณ์ 5G และ 6G ซึ่งหากจีนจะพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้าโดยเร็ว ก็อาจทำได้โดยการควบรวมกิจการ (M&A) แต่การลงทุนของจีนโดยเฉพาะในธุรกิจเทคโนโลยีมักถูกเพ่งเล็งโดยประเทศเจ้าบ้านที่จีนเข้าไปลงทุนนอกจากไอซีแล้ว คาดว่าจีนจะใช้ซอฟท์แวร์และบริการสารสนเทศของตนเองมากขึ้น เนื่องจากมีประเด็นความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security)

ด้านอุตสาหกรรมพลังงาน จีนเป็นผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ของโลก ในปี 2562 จีนนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่า 2.4 แสนดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าก๊าซเป็นมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ น้ำมันและก๊าซที่จีนบริโภคมาจากการนำเข้าร้อยละ 85 และ 40 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย

ขณะที่มีการนำเข้าก๊าซจากเติร์กเมนิสถาน แต่ก็มีความเสี่ยงที่การขนส่งเกิดหยุดชะงัก รวมถึงการขนส่งผ่านทะเลจีนใต้ที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น จีนมุ่งผลิตพลังงานเองในประเทศ โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของการบริโภคพลังงานของจีน

สำหรับในบรรดาพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจีนให้ความสำคัญกับพลังงานลมและพลังงานนิวเคลียร์เป็นลำดับแรก และอนาคตคาดว่าจะลงทุนเพิ่มเพื่อผลิตพลังงานลมในทะเล และจะใช้เทคโนโลยีในประเทศด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ที่ผ่านมาจีนได้ผลกระทบรุนแรง (Shocks) หลายครั้ง เช่น การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทำให้ขาดแคลนสุกรสำหรับบริโภค นอกจากนี้ การที่จีนเข้าสู่สังคมเมืองและสังคมสูงวัย จึงขาดแคลนแรงงานในชนบท ปัจจุบันในส่วนของสินค้าเกษตร จีนพึ่งพาเพียงการนำเข้าถั่วเหลือง โดยมีบราซิล และสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ

ทั้งนี้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Chinese Academy of Social Sciences: CASS) คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2025 จีนจะขาดแคลนผลผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว รวม 25 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและความมั่นคงทางสังคม ซึ่งจีนได้พยายามนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาการปฏิรูปที่ดินในชนบททำให้จีนยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนานเป็นการใช้วงจรภายในประเทศ (Domestic Circulation) และวงจรระหว่างประเทศ (International Circulation) เสริมกำลังกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากมีนัยยะต่อการค้ากับไทย เช่น สินค้าไอซีเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยสูง (ปี 2562 จีนนำเข้าไอซีจากไทย เป็นมูลค่า 3,874 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หากจีนหันมาผลิตเองมากขึ้น ย่อมมีความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

นอกจากนี้การที่จีนมุ่งสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน พบว่าจีนนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและส่วนประกอบของเครื่องกังหันไอพ่นมากกว่ากังหันชนิดอื่นๆ และนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ปี 2562 จีนนำเข้ากังหันไอพ่น และส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่นจากโลก เป็นมูลค่า 3,466 และ 3,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ) ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สนค. มองว่าไทยสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะส่วนประกอบเครื่องกังหันไอพ่น โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนและวิจัยพัฒนานวัตกรรม ซึ่งสินค้าดังกล่าวนี้เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดโลกและตลาดจีน

ด้านสินค้าอาหาร แม้จีนจะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้า แต่น่าจะเน้นลดการนำเข้าในสินค้าอาหารหลัก (Staple Food) เช่น ข้าว  โดยหน่วยงาน CASS คาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจีนจะขาดแคลนผลผลิตข้าว จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย ขณะที่สินค้าอาหารอื่นๆ ที่ไทยส่งออกไปจีน เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง อาหารปรุงแต่ง ก็ยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่มาก ประกอบกับการที่จีนเข้าสู่สังคมเมืองทำให้คนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งการเป็นสังคมสูงวัย ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

กรมชลฯ ชูระบบ SSIS ต้นแบบส่งน้ำ หนุนพื้นที่โครงการปลวกแดงฯ

ชป. เสนอระบบ SSIS ต้นแบบส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่โครงการปลวกแดงฯ ระยอง

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง ในการนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ร่วมประชุมและเสนอโครงการ SSIS เพื่อแก้ไขปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกรมชลประทานสนับสนุนการส่งน้ำให้พื้นที่โครงการปลวกแดงฯ จังหวัดระยอง เป็นต้นแบบในการนำนวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อม กำหนดแนวทางการดำเนินงานสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำของโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เป็นผู้นำเสนอโครงการ SSIS หรือ SMART SYPHON FOR IRRIGATION SYSTEM เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรและผู้ใช้น้ำในศูนย์สาธิตการศึกษาฯ ได้ตลอดฤดูกาล โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบแพลอย Floating Solar Farm ในการสูบน้ำให้กับระบบ Syphon ที่มีอยู่ โดยสามารถติดตามและควบคุมการส่งน้ำและปริมาณน้ำ ผ่าน Smart Phone Application ได้ ซึ่งจะช่วยในการบริหารจัดการน้ำภายในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสมัย ช่วยให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอต่อความต้องการตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการศึกษาเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่

"กรมชลประทานยังมีการวางแผนในการสนับสนุนเพิ่มเติม ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซม คูคลอง ถนน ภายในโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ รวมถึง ปรับปรุงคูระบายน้ำ บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกรายด้วย"รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จังหวัดระยอง เป็นศูนย์กลางส่งเสริมการฝึกอาชีพ และแหล่งเรียนรู้ให้แก่ราษฎร จัดตั้งอยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำดอกกราย ในพื้นที่ หมู่ 3 และหมู่ 6 ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,314-1-76.8 ไร่ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบในพื้นที่ 7 หน่วยงาน ได้แก่ โครงการชลประทานระยอง (กรมชลประทาน) ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ระยอง (กรมปศุสัตว์) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง (กรมวิชาการเกษตร) ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี (กรมการข้าว) สถานีพัฒนาที่ดินระยอง (กรมพัฒนาที่ดิน) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดระยอง (กรมประมง) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนอาชีพการเกษตรจังหวัตระยอง (กรมส่งเสริมการเกษตร) โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานตามแผนแม่บทระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศูนย์บริการการฝึกอาชีพ แหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตร และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริการ ส่งเสริม สนับสนุน และขยายผลการพัฒนาอาชีพการเกษตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 30.00-30.30 ต่อดอลลาร์

กรุงศรีคาด คาดพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นปัจจัยชี้นำต่อการเคลื่อนไหวของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.00-30.30 ต่อดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 30.07 ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 29.85-30.15 ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกฟื้นตัวขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนคาดว่าข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความซบเซาในตลาดแรงงานจะเร่งให้สหรัฐฯออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยดัชนีสำคัญของตลาดหุ้น Wall Street ยังคงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 5.3 พันล้านบาท และขายพันธบัตร 2.5 พันล้านบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการแถลงแผนใช้จ่ายทางการคลังของว่าที่ประธานธิบดีโจ ไบเดน และความเห็นของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในงานสัมมนาออนไลน์ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน วันที่ 14 ม.ค. หลังรายงานการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดของเฟดระบุว่ามีมติใกล้เคียงเอกฉันท์ในการคงโครงการซื้อพันธบัตรไว้ตามเดิมจนกว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมาย โดยเฟดไม่ได้แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างชัดเจนสำหรับการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในระยะข้างหน้าหากจำเป็น กรุงศรีมองว่า ในสัปดาห์นี้ Momentum ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ราคาทองคำ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย

สำหรับปัจจัยในประเทศ หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 63 บ่งชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงจะกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจมาก ขณะที่มาตรการด้านการคลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนระดับหนี้สาธารณะที่ปรับสูงขึ้น กนง.เห็นว่าไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กรุงศรีจึงคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในปีนี้ แต่การเริ่มต้นปีอย่างอึมครึมทำให้มีความกังวลมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

แบน “พาราควอต” มุดใต้ดิน ของเถื่อนเกลื่อน-ไร้สารทดแทน

ผ่านไป 2 เดือน นับจากรัฐมีนโยบายชัดเจนให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมห้ามไม่ให้มีการผลิตนำเข้า ส่งออก และครอบครองสารเคมีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ส่งผลให้เกษตรกรต้องหันไปใช้สารเคมีทดแทนชนิดอื่น โดยเฉพาะสาร “กลูโฟซิเนต” แทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช

เกษตรกรซื้อของเถื่อน

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่มีมติแบนสารพาราควอต ยังไม่ได้รับแนวทางการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ ประสบปัญหาและเสียหายอย่างหนัก

แม้ว่าทางกรมวิชาการเกษตรจะมีการนำเสนอสารเคมีเกษตรชนิดอื่น ๆ มาให้เป็นทางเลือก แต่ไม่สามารถใช้แทนพาราควอตได้ โดยเฉพาะกลูโฟซิเนต ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำ แต่เมื่อนำไปใช้พบว่ามีคุณสมบัติ ราคา และประสิทธิภาพแตกต่างกับพาราควอตอย่างสิ้นเชิง หรือแม้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะพยายามนำไกลโฟเสตมาสลับใช้ได้บ้างก็ไม่สามารถทดแทนได้ 100%

“ผลที่ตามมาขณะนี้พบว่าเกษตรกรใช้ของเถื่อน โดยหากนับตั้งแต่ปี 2560 ที่นำเข้ามากว่า 30,000 ตัน กระทั่งปีที่ผ่านมา 2563 มีมติแบนโดยรัฐให้นโยบายว่าให้บริษัทส่งคืนและมีงบประมาณตั้งไว้เพื่อรองรับผลกระทบต่าง ๆ นั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริงทำให้ตอนนี้เกษตรกรซื้อพาราควอตที่ปัจจุบันเป็นสินค้าเถื่อนกันเยอะมาก และราคาสูง 2 เท่า จากราคา 370 บาท ขายในราคา 700 บาทต่อแกลลอน ทำไมออกนโยบาย ยิ่งแบนยิ่งขายดี”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองพิจารณาคัดค้านมติแบน ซึ่งต้องขอเลื่อนออกไปเนื่องจากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ คงต้องรอต่อไป แต่ห่วงว่าระหว่างนี้จะมีการซื้อขายของเถื่อนกันมากขึ้น และเกษตรกรยอมจ่ายราคาที่สูงมาก หน่วยงานควรเข้ามากำกับดูแล

ต้นทุนชาวไร่มันพุ่งขายได้เท่าเดิม

ขณะที่ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า หลังจากที่มีการยกเลิกการค้าพาราควอตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำเป็นต้องหันมาใช้กลูโฟซิเนต แทนพาราควอตในการฉีดพ่นหญ้า วัชพืช

แต่ทั้งนี้พบว่าสารดังกล่าวนอกจากเป็นสารที่ดูดซึมเข้าสู่ราก ผลผลิตอย่างมันสำปะหลังซึ่งมีผลต่อการเติบโตมันสำปะหลังแล้ว สารดังกล่าวเวลาใช้ต้องใช้ปริมาณมากพอสมควรถึงจะกำจัดหญ้า วัชพืชได้ และยังเป็นสารที่ตกค้างในดินอีกด้วย

“สารกลูโฟซิเนตนี้จะกระทบต่อผลผลิตมากน้อยเพียงใด หรือมีการตกค้างในมันสำปะหลังหรือในดินหรือไม่เกษตรกรยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นสารใหม่ที่ใช้กัน อย่างไรก็ดีสารดังกล่าวมีราคาสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับสารเดิม เช่น ซื้อพาราควอต 1 ลิตร ใช้เงินเพียง 75-100 บาท แต่ใช้กลูโฟซิเนต 1 ลิตร ใช้เงินกว่า 200 บาท เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรอย่างมาก แต่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังยังจำหน่ายมันสำปะหลังได้กิโลกรัมละ 2.10 บาท ต่ำกว่าราคาประกันที่ 2.50 บาท ส่วนราคามันเส้นยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท”

สวนปาล์มโอดต้องซื้อปุ๋ยเพิ่ม

ด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากแบนพาราควอตไม่ให้ใช้กับพืชทุกชนิด แม้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะใช้สารดังกล่าวน้อย เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้น แต่ก็ใช้บ้างเพื่อกำจัดหญ้า

แต่เมื่อยกเลิกและให้ใช้ไกลโฟเซตแบบจำกัด ทำให้เกษตรกรต้องหาวิธีอื่น เนื่องจากสารนี้มีผลต่อปาล์มน้ำมัน การใช้ก็น้อยลง ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพื่อบำรุงต้นและผลปาล์ม เพราะไม่สามารถกำจัดหญ้าได้หมด ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น หญ้าจะดูดซึมปุ๋ยไปจากต้นปาล์ม

“ปัจจุบันต้นทุนการซื้อปุ๋ยเฉลี่ยตันละ 14,000 บาท แต่เมื่อไม่สามารถกำจัดหญ้าได้ เกษตรกรก็ต้องซื้อปุ๋ยเพิ่มขึ้นเพื่อบำรุงผลผลิตให้ได้ผลและต้นโต ทั้งนี้ ผลผลิตปาล์มคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากสุดได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป”

ส่วนในช่วงนี้ ผลผลิตจะออกน้อย ประมาณ 30-40% เนื่องจากผลผลิตออกไปมากแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ส่วนราคาปาล์มในตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯเดินหน้าสกัดหมอกควันไฟ-ฝุ่น2.5 พด.เปิดโครงการไถกลบ-ผลิตปุ๋ยอินทรีย์

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาหมอกควันจากการเกิดไฟป่าและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ดินเสื่อมโทรม รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มเกิดเป็นปัญหาซ้ำซาก ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 มีพื้นที่เผาไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 9,483 จุด มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 ในอากาศเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งเกิดจากการเผาตอซังและเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมแปลงปลูกพืชในฤดูถัดไป ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศของโลก ส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน และทำให้พื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรเสื่อมโทรมจากการสูญเสียอินทรียวัตถุธาตุอาหารในดิน โครงสร้างดินถูกทำลายความชื้นในดินลดลงและความหลากหลายทางชีวภาพในดินลดลง ทำลายห่วงโซ่อาหารในดิน

กรมพัฒนาที่ดิน จึงจัดทำ “โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดปัญหาหมอกและควันไฟ” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 -กันยายน 2564 เพื่อบรรเทาแก้ปัญหาเร่งด่วนที่จะเกิดขึ้น โดยการส่งเสริมการไถกลบเศษวัสดุแก่เกษตรกร ถ่ายทอดองค์ความรู้การไม่เผาในพื้นที่ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนลดการเผาเศษใบไม้ เศษหญ้า วัชพืช ไม่จุดไฟเผาป่า สร้างแรงจูงใจในการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานให้เกษตรกรไว้ใช้เอง โดยการนำเศษวัสดุ จากพื้นที่การเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น มาผลิตปุ๋ยหมักซึ่งจะลดปัญหาการเผาเศษวัสดุ ได้ทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหล่านั้นในรูปของปุ๋ยอินทรีย์และช่วยเพิ่มศักยภาพสมบัติปรับปรุงอินทรียวัตถุให้แก่ดินด้วย โดยในปีงบประมาณ 2564 กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือกิจกรรมการไถกลบพื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 3,500 ตัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง และตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องและตำบลต้นแบบที่จะแสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการในการไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดและแก้ปัญหาหมอกควัน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

กรมพัฒนาที่ดิน ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เลิกพฤติกรรมการเผาเศษไม้ ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืชในพื้นที่โล่งเตียน และไม่จุดไฟเผาป่า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูงสูตรพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรนำใช้ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อยพื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารจัดการเศษวัสดุตามหลักวิชาการในพื้นที่ของตนเอง และให้ปรับเปลี่ยนความคิดตลอดจนวิธีการทำเกษตรกรรมจากเดิมที่เป็นการเผาทำลายทิ้ง ให้เป็นการใช้วิธีไถกลบแทน โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการทำเองใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพที่ดี ที่สำคัญยังช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

ไทยจับมือปากีสถาน เร่งเครื่องเอฟทีเอเพิ่มโอกาสการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ทางกรมได้หารือกับนายอะศิม อิฟติคัร อะห์หมัด เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าควรเร่งการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ปากีสถาน ที่เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2558 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ภาคเอกชนของไทยและปากีสถานสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีระหว่างกันได้ โดยเฉพาะหากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) มีผลใช้บังคับ จะช่วยหนุนให้สินค้าศักยภาพของทั้งสองประเทศ มีโอกาสขยายตลาดในภูมิภาคมากขึ้น

ทั้งนี้ ไทยและปากีสถานเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 และที่ผ่านมา โดยมีการจัดประชุมเจรจาไปแล้ว 9 ครั้ง สามารถเจรจารายละเอียดในส่วนของข้อบทความตกลงได้เกือบหมดแล้ว คงเหลือการเจรจาเปิดตลาดสินค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อเสนอ

สำหรับปากีสถานเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 200 ล้านคน เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยประชากรกว่า 30 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย จึงถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย ส่วนการค้าระหว่างไทยกับปากีสถาน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา(2558-2562) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 12.7% ต่อปี มีมูลค่าการค้า 1,374.48 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2563 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 35 ของไทย และอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย

ส่วนในช่วงเดือน 11 เดือนปี 2563 (มกราคม-พฤศจิกายน) การค้าระหว่างไทยและปากีสถาน มีมูลค่า 969.06 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 854.52 ล้านเหรียญสหรัฐสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยนำเข้ามูลค่า 114.54 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และแร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เป็นต้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แถลงแผนการทำงาน ปี 2564โดยกล่าวว่าเพื่อเป็นการขานรับนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ (นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฎ์) ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีแผนงานสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.เร่งรัดดำเนินกระบวนการภายในเพื่อเสนอรัฐสภาให้สัตยาบันความตกลง RCEP ภายในกลางปีนี้ 2.เดินหน้าเปิด ปิด และปรับปรุงการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) รวม 13 ฉบับ 3.พัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ และ4.เดินหน้าสร้างความเข้าใจกลุ่มเกษตรกร SME ภาคเอกชน และภาคประชาชน เรื่องการใช้ประโยชน์และการเตรียมรับมือผลกระทบจากเอฟทีเอ

ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 14 ฉบับ (รวม RCEP) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่า 302,991.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

“ไบโอไทย” ชี้ บราซิลยังแบนพาราควอต

อีกด้าน “นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐมีนโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ห้ามไม่ให้มีการผลิตนำเข้า ส่งออก และครอบครองสารเคมีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้

ส่วนในประเด็นของสารทดแทนนั้น ทางไบโอไทยเห็นว่าเมื่อยกเลิกสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงดังกล่าวแล้ว ทางเลือกแรก คือ ไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชอีก ขอให้รัฐบาลส่งเสริมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรจะดีกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่แบน แต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลบราซิลก็ลงมติยืนยันให้มีการแบนพาราควอตตามกำหนดการเดิม มีผลในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา และจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนการผลิต ผลกระทบต่าง ๆ ระยะเวลา 2 ปี

ซึ่งหลังจากได้ประกาศเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2560 นับว่าเป็นชัยชนะสำคัญขององค์กรด้านสุขภาพของบราซิล ซึ่งบราซิลเป็นทั้งผู้ผลิตถั่วเหลือง ข้าวสาลี อ้อย-น้ำตาล เช่นเดียวกับไนจีเรีย ที่มีนโยบายแบนสารเคมี ซึ่งไนจีเรียเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดของโลก ดังนั้น 2 ประเทศผู้ผลิตพืชรายใหญ่ได้เริ่มมีนโยบายแบนสารเคมีเหล่านี้ จะไม่เป็นข้อต่อรองการค้าของไทยได้อีกต่อไป

โดยเฉพาะยิ่งเกิดการระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้แรงงานภาคเกษตรลดลง กลับภูมิลำเนา และคนหันมาใส่ใจการบริโภคที่ปลอดภัยมากขึ้น รัฐบาลควรส่งเสริมการปลูกเกษตรไร้สารเคมี โดยนำงบประมาณงบฯฟื้นฟูที่ยังคั่งค้าง สามารถนำมาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯเคยเสนอไว้นั้นสูงเกินไป อยากขอให้นำมาปรับใช้ในภาคเกษตรมูลค่า 3,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอในการริเริ่มและตรงจุด

โดยยังคงยืนยันว่า สารทดแทนที่ดีที่สุดคือเทคโนโลยี ใช้เครื่องจักรกลทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืช เช่น เครื่องตัดหญ้า หรือปลูกพืชคลุมดินเพื่อชิงที่อยู่ของวัชพืช  ส่วนสถานการณ์จากการสำรวจภาพรวมหลังจากแบนสารพบว่าเกษตรกรใช้สารเคมีลดลงจริง โดยเฉพาะพาราควอต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต

สศก.ชี้รับจ้างด้านการเกษตรต้องมีใบอนุญาต หวังสร้างมาตรฐานลดปัญหาแรงงาน-ผู้จ้างโก่งราคา

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจแรงงานภาคการเกษตร หากไม่รวมบริการด้านการเกษตร ที่รับจ้างในแรงงาน มีจำนวนรวมทั้งหมดประมาณ 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ตามจำนวนครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ ส่วนจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามารับจ้างทำการเกษตร มีประมาณ 4 ล้านคน อาทิ เข้ามารับจ้างทำงานในสวนกล้วยไม้ และประมง เป็นต้น ซึ่งแรงงานเกษตรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้จำนวนแรงงานและเกษตรกรมีปริมาณลดลง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องเพิ่มอาชีพบริการด้านการเกษตรให้อยู่ในระบบอย่างถูกต้อง โดยเกษตรกรต้องมีการขึ้นทะเบียนตามประเภทการทำเกษตร มีการกำหนดอัตราค่าจ้างซึ่งคำนวนจากต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดมาตรฐาน ป้องกันการโก่งราคาจากแรงงาน หรือผู้รับจ้างกรณีแรงงานมีน้อย และไม่มีการกดราคาจากผู้จ้างในกรณีมีแรงงานจำนวนมากอีกด้วย

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บริการด้านการเกษตรมีอัตราที่ลดลง คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคเกษตรที่ส่วนหนึ่งใช้แรงงานต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในไทยช่วงนี้ได้ จึงเป็นที่มาของบริการด้านการเกษตรโดยมืออาชีพประจำตำบล อำเภอ ที่มีเกษตรตำบลและอำเภอประจำอยู่ ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มอาชีพบริการด้านการเกษตรเชื่อว่าต้องมีเพิ่มขึ้น เพราะบางขั้นตอนต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญ รัฐจึงพยายามสนับสนุนให้มีการทำการเกษตรแปลงใหญ่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เครื่องจักรการเกษตรมาช่วย ซึ่งอาชีพไถพรวนดิน โดยใช้เครื่องจักรต้องอบรมการใช้เครื่องจักร อาชีพเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักร ต้องอบรมการใช้เครื่องจักรเกี่ยวข้าว อาชีพหว่านปุ๋ยเคมี โดยใช้เครื่องจักร ก็ต้องอบรมการใช้เครื่องพ่นหว่ายปุ๋ย ดังนั้นอาชีพบริการด้านการเกษตรเหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีใบอนุญาตในการให้บริการ

“บริการด้านการเกษตรที่ผ่านมาไทยก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีการทำให้เป็นระบบ อาทิ แรงงานไถนา เกี่ยวข้าว ผสมเทียม แรงงานไถพรวนดิน แรงงานดำนา รับจ้างเก็บดอกกล้วยไม้และดูแลสวน และแรงงานในเรือประมง เป็นต้น ดังนั้น ทั้งหมดต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง อย่างคนเกี่ยวข้าว ไถนา ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่ผสมเทียมสัตว์ ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ ทั้งหมดต้องมีการอบรมให้ถูกต้อง มีใบอนุญาต มีราคากลางเป็นมาตรฐานในการรับจ้างแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบแรงงานหรือเกษตรกร” นายฉันทานนท์ กล่าว

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า สำหรับการบริการทางการเกษตร จำแนกกลุ่มการให้บริการทางการเกษตรออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.บริการเตรียมดิน-ปลูก เช่น บริการเตรียมดิน-ปลูกจำแนกออกเป็นกิจกรรมบริการรถไถ บริการล้าง บ่อปลา และล้างบ่อกุ้ง เป็นต้น 2.บริการดูแลรักษา กรณีรถไถที่ให้บริการกำจัดวัชพืชนี้อาจเป็นคันเดียวกับที่ให้บริการในกิจกรรมการเตรียมดิน ดังนั้น การคำนวณมูลค่าบริการของกิจกรรมใดจะต้องคิดเฉพาะมูลค่าและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการชนิดนั้นเท่านั้น 3.บริการเก็บเกี่ยว-นวด อาทิ กิจกรรมบริการเครื่องเก็บเกี่ยว เครื่องนวดข้าว และบริการลิงเก็บมะพร้าว และ 4.บริการหลังเก็บเกี่ยว ประกอบด้วย กิจกรรมบริการรถบรรทุกผลผลิตเกษตรบริการเก็บรักษาผลผลิต

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”เร่งชงสภาให้สัตยาบันRCEP

กระทรวงพาณิชย์ เร่งชงสภาให้สัตยาบันRCEP ใช้ทันกลางปีหนุนศก.ลุยถกกรอบ FTA ใหม่สร้างแต้มต่อการค้าไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2564 กรมฯ มีแผนเร่งรัดกระบวนการภายในเพื่อเสนอรัฐสภาให้สัตยาบันความตกลง RCEP ภายในกลางปีนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเดินหน้าปรับปรุงการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA พัฒนากลไกเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ดีที่สุด ซึ่งการจัดตั้งกองทุน FTA จะต้องเร่งหารือกับกรมบัญชีกลางและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการขอจัดตั้งกองทุนเสนอโดยเร็ว

ในขณะที่ภาคเอกชนเอง มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าประเทศไทยจะต้องเร่งเจรจากรอบความตกลงการค้าต่างๆให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้มากที่สุดเพื่อรองรับการค้าโลกที่ยังคงมีความผันผวนและยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยความตกลง FTA ที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การเปิดเจรจากับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และกรอบการเจรจาอาเซียน-แคนาดา เพื่อเป็นการสร้างแต้มต่อให้กับการค้าไทยในเวทีการค้าโลก

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

โรงงานน้ำตาลแฉชาวไร่‘หมกเม็ด’ตัดอ้อยมีกากใบเข้าหีบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลหลายแห่งกำลังประสบปัญหาชาวไร่อ้อยบางรายตัดอ้อยยอดติดกากใบเข้าหีบ เพื่อหวังเพิ่มน้ำหนักโดยใช้ห่วงโอกาสที่ทุกฝ่ายต่างร่วมรณรงค์ตัดอ้อยสดเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ดังนั้นโรงงานจึงขอความร่วมมือชาวไร่เลิกตัดอ้อยติดกากใบเข้าสู่กระบวนการหีบ เนื่องจากก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงในลักษณะเดียวกับการหีบอ้อยไฟไหม้ โดยกากใบถือเป็นสิ่งปนเปื้อนที่ทำให้ยิดล์น้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานในอ้อยลดลง และส่งผลเสียหายต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวม

“ที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยให้ความร่วมมือกับฝ่ายโรงงานจัดส่งอ้อยสดมีคุณภาพเข้าหีบ แต่ก็มีชาวไร่บางรายเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนตนอาศัยจังหวะที่ทุกฝ่ายรณรงค์ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ แต่กลับตัดอ้อยสดติดกากใบส่งมอบให้โรงงานแทน แม้ว่าอ้อยประเภทนี้จะไม่จัดเป็นอ้อยไฟไหม้แต่กากใบถือเป็นสิ่งปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลของอุตสาหกรรมโดยรวม การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทำให้รายได้ของระบบลดลง กระทบต่อชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดสะอาด ต้องได้รับค่าอ้อยลดลงตามไปด้วย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือเพื่อชี้แจงให้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รับทราบประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้ว และเตรียมหารือในการออกมาตรการกำกับดูแลปัญหาชาวไร่ส่งมอบอ้อยมีกากใบให้แก่โรงงาน หากชาวไร่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ทางโรงงานน้ำตาลมีความจำเป็นต้องหยุดรับอ้อยในลักษณะดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการหีบ เนื่องจากต้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวไร่ที่จัดส่งอ้อยสดที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

อุทัยฯตัดอ้อยสด ลดควัน-ฝุ่นพิษจิ๋ว

อุทัยธานี - เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายณรงค์ รักร้อย ผวจ.อุทัยธานี พร้อมด้วยหน่วยงาน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ผู้แทนสมาคมชาวไร่อ้อยอุทัยธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้า “การรณรงค์ตัดอ้อยสด-ลดการเผา” ที่แปลงอ้อยของเกษตรกร หมู่ 2 ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่

นายณรงค์กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ของจังหวัดในปีที่แล้ว มีอ้อยสดเข้าโรงงานเพียงร้อยละ 30 เป็นอ้อยไฟไหม้ ร้อยละ 70 ดังนั้นทางจังหวัดพยายามรณรงค์สร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดค่าหมอกควันหรือฝุ่นในพื้นที่ การตัดอ้อยสด และการไม่ต้องเผาใบอ้อย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยนำใบอ้อยไปขายโรงงาน เป็นพลังงานเชื้อเพลิง ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

รุกตลาดหลอดชานอ้อย  

รุกตลาดหลอดชานอ้อย - นายปัญญ์ ศิริวิริยะกุล วิศวกรผู้บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อย ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) บริษัทย่อยของกลุ่ม KTIS เพื่อให้บริการในร้านกาแฟลา คาบรา (La Cabra) ร้านกาแฟแนวอนุรักษ์แบรนด์ดังจากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่เปิดสาขาแรกในประเทศไทย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

“จีน-เวียดนาม”เปิดศึกชิงตู้สินค้า “ไทยกระอัก”ดันค่าระวางเรือพุ่ง

ผู้ส่งออกไข้ขึ้น ตู้สินค้าขาดแคลน ดันค่าระวางเรือขยับ ทำต้นทุนพุ่งปรี๊ด จีน-เวียดนามเปิดศึกชิงตู้คอนเทนเนอร์ ให้ค่าระวางเรือสูงจูงใจ ทำค้าโลกป่วน

นอกจากปัจจัยเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง นโยบายการค้าของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่”โจ ไบเดน” พิษโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ การกีดกันการค้า ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ต่อการส่งออกของไทยในปี 2564 แล้ว ปัญหาตู้สินค้า หรือตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นยังเป็นปัญหาซ้ำเติมลากยาวมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา สร้างปัญหาและสร้างภาระให้ผู้ส่งออกไทยในเวลานี้

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจาก 1.สายเดินเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า(Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน(Container Allocation กลับไปยังประเทศจีนและเวียดนามมาก จากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย และ 2.การระบาดของโรคโควิด-19 รอบสองในยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ข้อมูลอัตราค่าระวางเรือที่ทาง สรท.ได้รวบรวมเปรียบเทียบ ณ วันที่  25 ธันวาคม 2563 ระหว่างไทยกับจีน ในเส้นทางสำคัญ แตกต่างการดังนี้(ตู้ 40 ฟุต) 1.เส้นทาง  US WEST  จีน 4,080 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ไทย 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้ ต่างกัน 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ 2.เส้นทาง US EAST จีน 4,870 ดอลลาร์ฯ ไทย 4,700  ดอลลาร์ฯ ต่างกัน 870 ดอลลาร์ฯต่อตู้ 3.เส้นทาง Europe  จีน 3,797 ดอลลาร์ฯ ไทย 7,300 ดอลลาร์ฯ ต่างกัน 3,503 ดอลลาร์ฯต่อตู้ 4.เส้นทาง Australia จีน 2,460 ดอลลาร์ฯ ไทย 3,300 ดอลลาร์ฯ ต่างกัน 840 ดอลลาร์ฯต่อตู้ และ 5.เส้นทาง Middle east จีน 3,709 ดอลลาร์ฯ ไทย 1,400 ดอลลาร์ฯ ต่างกัน 2,309 ดอลลาร์ฯต่อตู้

ขณะที่สถานการณ์ค่าระวางในช่วงเดือนมกราคม 2564 สายเรือมีการปรับเพิ่มค่าระวาง ในเส้นทางเอเชีย 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ TEU (ตู้ขนาด 20 ฟุต) และ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ FEU (ตู้ขนาด 40 ฟุต) โดยเส้นทาง Shanghai อัตราค่าระวางอยู่ที่ 350 USD/TEU และ 800 USD/FEU เส้นทาง Hong Kong ค่าระวาง อยู่ที่ 250 USD/TEU และ 700 USD/FEU เส้นทาง Klang ค่าระวางอยู่ที่ 450 USD/TEU และ 1,000 USD/FEU และเส้นทาง Japan ค่าระวางอยู่ที่ 450 USD/TEU และ 900 USD/FEU

สำหรับเส้นทางแอฟริกาใต้ช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม ค่าระวางปรับตู้ขนาด 40 ฟุต ปรับเพิ่มขึ้น 200 USD/FEU ทำให้ค่าระวางอยู่ที่ 2,100 USD/TEU 4,200 USD/FEU โดยสามารถยืนยันราคาได้เพียงช่วงครึ่งเดือนแรก เนื่องจากยังพบปัญหาการขาดแคลนตู้ โดยเฉพาะตู้ 40’HQ ส่วนเส้นทาง Melbourne ค่าระวางยังคงที่ โดยเรียกเก็บอยู่ระหว่าง 1,350-1,450 USD/TEU และ 2,700-2,850 USD/FEU ส่วนท่าเรือ Sydney ค่าระวางคงที่เช่นเดียวกัน โดยเรียกเก็บอยู่ระหว่าง 1,650-1,750 USD/TEU และ 3,300-3,450USD/FEU โดยปรับเพิ่มการเรียกเก็บค่า FAF ในอัตรา 6 USD/TEU

สถานการณ์ขณะนี้ Space ช่วงครึ่งเดือนแรกของ มกราคมค่อนข้างแน่น อาจสามารถรับจองระวางได้ช่วงครึ่งเดือนหลังของมกราคม ซึ่งขอให้ผู้ส่งออกตรวจสอบกับสายเรือที่ใช้บริการ ในขณะที่ เส้นทาง Europe ค่าระวางมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยปรับเพิ่มขึ้น 1,450 USD/TEU และ 2,900 USD/FEU ทำให้ค่าระวางอยู่ที่ 3,650 USD/TEU และ 7,300 USD/FEU โดยมีการเรียกเก็บค่า Peak Season Surcharge เพิ่มเติมในอัตรา 500 USD/TEU และ 1,000 USD/FEU แต่เนื่องจากปัญหาสถานการณ์ระวาง และตู้ ขาดแคลน สายเรือจึงสามารถยืนยันราคาเพียงช่วงครึ่งเดือนแรกของมกราคม

ขณะที่เส้นทางสหรัฐอเมริกา ช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม ค่าระวางยังคงที่ โดยค่าระวางฝั่ง West Coast อยู่ ที่ 3,200 USD/TEU และ 4,000 USD/FEU และฝั่ง East Coast ค่าระวางอยู่ที่ 3,800 USD/TEU และ 4,700 USD/FEU ซึ่งขณะนี้พบปัญหาเรือเกิดความล่าช้า ทำให้มีการเปลี่ยนตารางเรือ โดยอาจมีกรณีที่ไม่สามารถไปต่อเรือแม่ได้ทัน ทั้งนี้ขอให้ผู้ส่งออกติดตามความคืบหน้าจากสายเรือที่ใช้บริการ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

3ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาท

ธนาคารกสิกรไทยแนะจับตา 3ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาทระหว่างวันที่ 11-15ม.ค.2564

ธนาคารกสิกรไทยแนะจับตา 3ปัจจัยชี้ทิศทางค่าเงินบาท "สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ -ฟันด์โฟล์ และความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

ธนาคารกสิกรไทยประเมินระหว่างวันที่ 11-15มกราคม 2564 กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย และความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) สำหรับเดือนม.ค. 64 และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด (Beige Book) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนธ.ค. 63 ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ตัวเลขการส่งออก ด้วยเช่นกัน

การเคลื่อนไหวเงินบาทในวันศุกร์ (8 ม.ค. 64) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.05 เทียบกับระดับ 29.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพุธก่อนหน้า (30 ธ.ค. 63)โดย เงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากขยับแข็งค่าเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ตามเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ มาสนับสนุน ในระหว่างสัปดาห์ ธปท. มีการผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทภายใต้โครงการ NRQC เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทที่เกิดจากการทำธุรกรรมในต่างประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

เตือนชาวไร่อ้อย! หยุดลักไก่ตัดอ้อยมีกากใบเข้าหีบ โรงงานน้ำตาลอาจไม่รับ

โรงงานน้ำตาล วอนชาวไร่ให้ความร่วมมือตัดอ้อยสดสะอาดส่งเข้าหีบ หลังพบบางรายลักไก่ตัดอ้อยติดกากใบหวังเพิ่มน้ำหนัก ทำผลผลิตต่อตันอ้อย(ยิลด์)น้ำตาลตก กระทบระบบอุตสาหกรรมโดยรวม พร้อมทำหนังสือแจ้ง สำนักงานอ้อยฯ ย้ำหากพบผลผลิตเข้าข่ายอาจไม่รับอ้อยเข้าหีบ เผย 27 วันเปิดหีบอ้อย พบอ้อยสดเข้าระบบถึง 80% จาก 11.96 ล้านตัน ส่งสัญญาณดี

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลหลายแห่ง กำลังประสบปัญหาชาวไร่อ้อยบางรายตัดอ้อยยอดติดกากใบเข้าหีบ เพื่อหวังเพิ่มน้ำหนักโดยใช้ช่วงโอกาสที่ทุกฝ่ายต่างร่วมรณรงค์ตัดอ้อยสด เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ดังนั้น โรงงานจึงขอความร่วมมือชาวไร่เลิกตัดอ้อยติดกากใบเข้าสู่กระบวนการหีบ เนื่องจากก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงในลักษณะเดียวกับการหีบอ้อยไฟไหม้ โดยกากใบถือเป็นสิ่งปนเปื้อนที่ทำให้ผลผลิตต่อตันอ้อย (ยิลด์) น้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานในอ้อยลดลง และส่งผลเสียหายต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวม

“ที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยให้ความร่วมมือกับฝ่ายโรงงานจัดส่งอ้อยสดมีคุณภาพเข้าหีบ แต่ก็มีชาวไร่บางรายเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนตนอาศัยจังหวะที่ทุกฝ่ายรณรงค์ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ แต่กลับตัดอ้อยสดติดกากใบส่งมอบให้โรงงานแทน แม้ว่าอ้อยประเภทนี้จะไม่จัดเป็นอ้อยไฟไหม้ แต่กากใบถือเป็นสิ่งปนเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลของอุตสาหกรรมโดยรวม การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ทำให้รายได้ของระบบลดลง กระทบต่อชาวไร่ที่ส่งอ้อยสดสะอาด ต้องได้รับค่าอ้อยลดลงตามไปด้วย”

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือเพื่อชี้แจงให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รับทราบประเด็นปัญหาดังกล่าวแล้ว และเตรียมหารือในการออกมาตรการกำกับดูแลปัญหาชาวไร่ส่งมอบอ้อยมีกากใบให้แก่โรงงาน หากชาวไร่ยังไม่ให้ความร่วมมือ ทางโรงงานน้ำตาลมีความจำเป็นต้องหยุดรับอ้อยในลักษณะดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการหีบ เนื่องจากต้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวไร่ที่จัดส่งอ้อยสดที่มีคุณภาพให้แก่โรงงาน

ส่วนการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงระยะเวลา 27 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยสด 9.55 ล้านตัน หรือคิดเป็น 79.82% จากปริมาณผลผลิตเข้าหีบทั้งหมด 11.96 ล้านตัน โดยมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 2.41 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหีบอ้อยได้ 21.99 ล้านตัน มีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบสูง ถึง 10.24 ล้านตัน หรือ 46.58% ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

กลุ่ม KTIS รุกเปิดตลาด “หลอดชานอ้อย” เจาะร้านกาแฟแนวอนุรักษ์ต่อเนื่อง

นายปัญญ์ ศิริวิริยะกุล วิศวกรผู้บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย เดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์ “หลอดชานอ้อย” ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) บริษัทย่อยของกลุ่ม KTIS เพื่อให้บริการในร้านกาแฟ “ลา คาบลา” (La Cabra) ร้านกาแฟแนวอนุรักษ์แบรนด์ดังจากโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่เปิดสาขาแรกในประเทศไทย โดยมีนางสาววรมนต์ เก่งถนอมศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งและบริหาร

สำหรับผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อย แตกต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป คือ มีความคงทนแข็งแรง ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายแม้แช่ในเครื่องดื่มเป็นเวลานาน ไม่ทำให้เสียรสชาติแต่กลับให้รสสัมผัสที่ดีของเครื่องดื่ม ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน มีความปลอดภัยในการบริโภค และใช้เยื่อชานอ้อยที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายของกลุ่ม KTIS จึงช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย หลอดชานอ้อยของกลุ่ม KTIS นี้ยังสามารถย่อยสลายได้ 100% ด้วยวิธีการฝังกลบธรรมดา นับได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

'จุรินทร์'นำพาณิชย์ลุย 14 แผนงานรับปี'64 เร่งทำ'มินิ FTA'ส่งออกภาคบริการเชิงรุก

"จุรินทร์"นำพาณิชย์ลุย 14 แผนงานรับปี'64 เร่งทำ"มินิ FTA"ส่งออกภาคบริการเชิงรุก ทำยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมเปิดบริการประชาชนแบบวันสต็อปเซอร์วิส

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ที่อาคารสํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวทิศทางกระทรวงพาณิชย์ปี 2564 และการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานที่จะเดินหน้าเฉพาะในเรื่องสำคัญประกอบด้วยแผนงานต่อเนื่องจากปีที่แล้วและแผนงานที่เริ่มต้นใหม่ในปี 2564 มี 3 ส่วน 1.การเดินหน้าใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" 2.การเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศ มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับภาคบริการควบคู่กันไปด้วย 3.มุ่งเน้นการทำงานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนในรูปของกลไก กรอ.พาณิชย์ ประกอบด้วย 14 แผนงาน

1.เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 2.โครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ลงลึกระดับตำบล 3.เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดโดยใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" 4.แผนงานอาหารไทยอาหารโลก และมุ่งเน้นการส่งออกอาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติและอาหารแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลก 5.ให้ความสำคัญ กระตุ้นทุกภาคส่วนให้ใช้ระบบการค้าออนไลน์มากขึ้น ขึ้นแพลตฟอร์ม และสร้างแพลตฟอร์มกลาง เช่น สร้างทีมเซลล์แมนจังหวัดให้เป็นเซลล์แมนแม่ไก่ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการค้าออนไลน์ให้กับผู้ผลิตและภาคเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัด เป็นต้น

6.พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคบริการ ทั้งกับผู้ค้าปลีก ค้าส่ง สมาร์ทโชห่วย กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่ม wellness กลุ่มดิจิตอลคอนเทนท์ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มบริการการพิมพ์ เน้นการทำฐานข้อมูลภาคบริการ ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ภาคบริการ 7.พัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานราก ทั้ง SME และ Micro SME อบรมให้ความรู้หาตลาดและเปิดโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำ blockchain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในตลาดที่กว้างขึ้นต่อไปในอนาคต 8.เร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal โดยการใช้นวัตกรรมใหม่ทางการตลาดของกระทรวงพาณิชย์ ใช้แพลตฟอร์มที่มีศักยภาพทั้งของไทยและแพลตฟอร์มระดับโลกเป็นช่องทาง เน้นการจัดเอ็กซิบิชั่นในรูปแบบไฮบริดและ Mirror Mirror และอื่นๆ เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องการส่งออกที่จะต้องพัฒนายุคโควิด 9.เดินหน้าการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนเชิงรุก ฝ่าวิกฤตโควิด ด่านที่เปิดอยู่แล้วนั้นถ้าไม่จำเป็นจะไม่ปิด และทันทีที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจะเปิดด่านโดยเร็วที่สุด

10.เร่งรัดการเจรจาการค้าเพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ โดยการเจรจา FTA โดยจะเร่งรัดการให้สัตยาบัน  RCEP เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปีนี้ และเริ่มเปิดเจรจา FTA กับ 5 กลุ่มประเทศสำคัญ เช่น EU UK EFTA สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย อาเซียน-แคนนาดา และอื่นๆ และเร่งรัดนโยบายใหม่ การลงนาม Mini FTA และจัดตั้งกองทุน FTA เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม  สร้างระบบจับตามองสำหรับเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของไทย

11.ด้านทรัพย์สินทางปัญญ เร่งรัดการจดทะเบียน GI สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในพื้นถิ่นภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศสิ้นปี 63 สามารถจดทะเบียน GI ได้ 134 รายการ ครบทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดอ่างทองที่กำลังเร่งรัดอยู่ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในภาพรวมทั้งปี ถ้าไม่มีจะมีมูลค่าสินค้า 20,000 ล้านบาท เมื่อมี GI สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็น 36,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 16,000 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์จะสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและให้ประชาชนเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และจะสร้างระบบเตือนในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา early warning เพื่อให้ภาคการผลิตของไทยได้เตรียมการสำหรับการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนไทย เมื่อสินค้าเหล่านั้นหมดสิทธิบัตรแล้ว และลดเวลาการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้สั้นลงให้เร็วขึ้น และให้ความคุ้มครองเชิงรุกกับทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในต่างประเทศที่ถูกละเมิด และเริ่มต้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ค้าขายอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ

12.แผนการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนรวดเร็วเชิงรุก มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการผ่านระบบอีเล็คทรอนิกส์ สนองนโยบายE-Government ของรัฐบาล และเพิ่มช่องทางการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 ให้สามารถเพิ่มช่องทางร้องเรียนผ่านไลน์ เป็นต้น 13.ร่วมงานกับทุกภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี เป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์แม่บทเพิ่มมูลค่าการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในปี 64 - 68 และ14.เดินหน้าให้บริการประชาชนแบบ One Stop Service ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวโดยมีบริการทั้งหมดรวมกัน 85 บริการ

ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าให้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงกับประโยชน์สูงสุดของประเทศต่อไปในปี 2564

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

กฟผ.-มิตรผลร่วมสู้โควิด-19 รอบใหม่ ผลิตเจล-สเปรย์แอลกอฮอล์มอบโรงพยาบาลกลุ่มเสี่ยง

กฟผ.และกลุ่มมิตรผลจับมือเป็นพันธมิตร ดึงศักยภาพ 2 องค์กรช่วยรับมือโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยกลุ่มมิตรผลสนับสนุนเอทานอล 95% กว่า 30,000 ลิตร สารตั้งต้นสำคัญ ร่วมผลิตเจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. และสเปรย์แอลกอฮอล์ มอบโรงพยาบาล แจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน เอาชนะโควิด-19

วันนี้ (7 มกราคม 2564) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับมอบเอทานอล 95% จำนวน 30,000 ลิตร จากนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล เพื่อนำมาผลิตเจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. และสเปรย์แอลกอฮอล์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดโดยไม่ใช้น้ำ แจกจ่ายสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ใช้ดูแลสุขภาพอนามัยและฆ่าเชื้อโรคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ณ อาคารเคมี สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

สำหรับ กฟผ.ได้จับมือกับพันธมิตรภายนอก กลุ่มมิตรผล ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบอ้อย สารตั้งต้นสำคัญในการผลิตเจลอนามัยและสเปรย์แอลกอฮอล์ โดยเอทานอล 95% จำนวน 30,000 ลิตรจะถูกนำไปใช้สำหรับผลิตสเปรย์แอลกอฮอล์บรรจุขวดแบบพกพา จำนวนประมาณ 200,000 ขวด สเปรย์แอลกอฮอล์บรรจุขวดใหญ่ จำนวนประมาณ 30,600 ขวด เจลอนามัยแบบขวดปั๊ม จำนวนประมาณ 10,000 ขวด และเจลอนามัย แบบบรรจุแกลลอน จำนวนประมาณ 1,700 แกลลอน ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 องค์กรได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันดูแลและช่วยเหลือสังคมในทุกช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเต็มที่

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ได้ส่งมอบอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ประกอบด้วย หน้ากาก KN95 หมวกทางการแพทย์ เจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ. และเสากดแอลกอฮอล์เจลแบบเท้าเหยียบ ให้แก่ โรงพยาบาลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จังหวัดสมุทรสงคราม สถาบันราชประชาสมาสัย จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดระยอง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของบุคลากรทางการแพทย์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

ธปท.-นักวิชาการ ประสานเสียง"เงินบาทผันผวนหนัก"

ธปท.-นักวิชาการ ประสานเสียงสองคำแด่เงินบาทปี 64 “ผันผวน และ ต้านทานยาก”

นายวศิน โรจยารุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตีมของอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2564 มีคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญอยู่สองคำ คือ ผันผวนสูง และ ต้านทานยาก ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด “ความผันผวนสูง” ยังคงเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากประเทศใดมีข่าวว่าเกิดการแพร่ระบาดหนัก กระแสเงินทุนจะไหลออกจากประเทศนั้นอย่างฉับพลัน หรือหากมีการประกาศใช้วัคซีน กระแสเงินทุนมีแนวโน้มจะไหลกลับเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสภาพคล่องล้นโลก จากธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้ามาเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องไหลไปสู่สินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ในอีกไม่ช้านโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาห์สหรัฐอ่อนลง และมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายมายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

อีกคำสำคัญคือ “ต้านทานยาก” โดยมีการศึกษาในธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทเคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศถึง 85% ไม่เคลื่อนไหวตามสกุลเงินต่างประเทศเพียง 15% หมายความว่าเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนขยับไปมาอย่างรวดเร็วมักเกิดจากปัจจัยภายนอก เวลาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐขยับ เราก็จะปรับตามทันที ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้งสิ้น นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ปี 2564 การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คาดการณ์ได้เลยว่าจะต้องเหวี่ยงสูงแน่นอน

ด้านผศ. ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาตั้งแต่ปี 1997 แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 สร้างปัญหาให้กลไกทางเศรษฐกิจหดตัว แต่ดุลการค้าของไทยยังเกินดุลเพราะกำลังการผลิตของไทยต่ำ การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และลดลงมากกว่าการส่งออกที่ชะลอตัวลง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่ต่ำ ซึ่งการลงทุนที่ต่ำทำให้การนำเข้าต่ำลงไปอีกด้วย

นอกจากนี้ เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการที่เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อของสหรัฐ ในเดือนธันวาคม 2563 เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ -0.27% ในขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ที่ 1.2% แสดงให้เห็นถึงระดับราคาสินค้าของไทยถูกกว่าสินค้าของสหรัฐโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยมีมากกว่า บาทจึงมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น สาเหตุเชิงโครงสร้างที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยต่ำคือการผลิตของประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับศักยภาพ จะเห็นได้ว่าทิศทางของเงินบาทจะขึ้นอยู่กับตลาดสินค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในระยะสั้น ความผันผวนของค่าเงินบาทขึ้นอยู่กับตลาดเงินเป็นสำคัญ ปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์มีมากกว่าปริมาณการซื้อขายสินค้าและบริการมาก เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลานี้ เนื่องจากมีเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนยังมองว่าไทยมีความเสี่ยงต่ำจากเสถียรภาพทางการเงิน ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น หนี้สาธารณะยังไม่สูงมากจนจะเกิดวิกฤตหนี้ อัตราดอกเบี้ยนโบบายในระดับต่ที่ 0.5% จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทยมากขึ้น มองการค้นพบวัคซีนต้านทานการแพร่ระบาดของโควิค-19 ซึ่งจะถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้จะทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของโลกโดยรวมจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาคเกษตรไทยต้องปฏิรูปอย่างไร ในยุคโรคใหม่ “ไล่ล่า”

 “พรศิลป์” เผย โลกเหมือนถูกสาป ซ้ำรอยอดีต เหตุระบบสาธารณสุขล้าหลัง ไล่ไม่ทันโรค ธุรกิจการเกษตร-อาหาร ต้องวิเคราะห์กันใหม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โลกเหมือนถูกสาบ เหมือนในช่วงปี ค.ศ 1347 (พ.ศ.1890) ถึง ค.ศ.1351 (พ.ศ.1894) เกิดโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เรียกว่า “Black Death” เป็นผลให้คนเสียชีวิตจำนวน 75 ถึง 200 ล้านคน โดยประมาณ (WIKI) โรคนี้ระบาดอยู่ประมาณ 4 ปี และหายไปเองเพราะคนกักตัวหรือย้ายถิ่น ฟังดูแล้วก็คล้ายกันกับ "Covid-19" ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้ คือทางแก้ที่ได้ผลคือการป้องกันโดยการกักตัวเอง

เวลาล่วงเลยมาประมาณ 600 ปีกว่าแต่มนุษย์ก็ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรคระบาดใหญ่ได้ วิเคราะห์ได้ว่าความสามารถของมนุษย์ยังต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก ดังนั้นจึงเสนอว่าให้พวกเรากลับไปเชื่อและทำในสิ่งที่บรรพบุรุษทำสำเร็จโดยวิธีธรรมชาติคือ “กักตัว” หรือ “รักษาระยะห่าง” เท่านั้น การเรียนรู้จากเหตุการณ์ Covid-19 คือ ระบบสาธารณสุขทั่วโลกยังล้าหลัง ไล่ไม่ทันโรค หรือ เรียกว่า "ล้มเหลว" ได้ แม้ว่าประเทศในแถบ Scandinavia เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ จะมีระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดหรือประเทศพัฒนาอื่นๆเช่นสหรัฐ ญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถป้องกันคนของเขาได้

ด้วยข้อบกพร่องหรือความสามารถของระบบสาธารณสุขดังกล่าวผมจึงขอให้กลับไปเริ่มต้นจากแนวคิดว่าเราต้องหามาตรการป้องกันที่ได้ผลก่อน และพัฒนาระบบสาธารณสุขควบคู่กันไป ดังนั้นสิ่งที่จะนำเสนอให้เน้นเป็นอย่างยิ่งต่อไปนี้คือยุทธศาสตร์ในทุกสาขาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์และพืช การผลิตสินค้า บริการ และปัจจัยอื่นๆจึงต้องยึดหลักนี้เป็นแกน

สำหรับประเทศไทยนั้น "ธุรกิจการเกษตรและอาหาร" จะต้องวิเคราะห์กันใหม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร ข้อเสนอคือ ผลิตผลสู่ตลาดต้องตอบโจทย์มาตรฐานความปลอดภัย คำถามคือจะเชื่อมโยงผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่นี้ได้อย่างไร รัฐจะต้องมีบทบาทอย่างไร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะต้องมีบทบาทนำหรือเสริมอย่างไร คำตอบนั้นไม่น่าจะยาก แต่ยังไม่ได้ยินว่าใครจะสมัครใจออกมาตอบให้ชัดๆทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องรอวิกฤติก่อนหรือไม่อย่างไร?

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

สทนช.ขับเคลื่อนกฎหมายลูกองค์กรผู้ใช้น้ำ..สร้างการมีส่วนร่วมตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ 2561

 พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 มีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ ทั้งในด้านการใช้น้ำ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไปในทิศทางเดียว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมในทุกมิติ มีความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสะท้อนกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

แต่การที่จะขับเคลื่อนพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้นั้น จำเป็นจะต้องมีกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูกรองรับด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกดังกล่าว จะช่วยสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สทนช. ก็จะเร่งขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยในส่วนที่ สทนช. ดำเนินการจัดทำและยกร่างกฎหมายลำดับรอง (เฉพาะมาตราเร่งด่วน) ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นั้น ขณะนี้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. .... ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งกฎหมายลำดับรองฉบับนี้เป็นการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยใหม่ ให้เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชน จาก 25 ลุ่มน้ำหลัก และ 254 ลุ่มน้ำสาขาเดิม เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขา

นอกจากนี้ ร่างกฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ พ.ศ. .... เป็นกฎหมายลำดับรองอีกฉบับ ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในปลายเดือนมกราคม 2564 ถือว่าเป็นกฎหมายลำดับรองอีกฉบับที่มีความสำคัญ

กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ จะมีความสัมพันธ์กับพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่ม พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าว จัดทำขึ้นตามหมวดที่ 3 ว่าด้วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ระบุไว้ว่า องค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ มี 3 ระดับ 1.ระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 2.ระดับลุ่มน้ำ ได้แก่ คณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และ 3.ระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน รวมตัวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำ

ซึ่งนอกจากองค์กรผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทในการบริหารทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกของตนแล้ว สมาชิกองค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรละ 1 คน สามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำในเขตลุ่มน้ำของตนได้ ซึ่งลุ่มน้ำหนึ่ง ๆ มีจำนวน 9 คน จากภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน โดยกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านั้น ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช. )ได้อีกด้วย ทั้งประเทศมีจำนวน 4 คน

“องค์กรผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารจัดการน้ำ กล่าวคือ องค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นช่องทางให้ผู้ใช้น้ำที่มีเป้าประสงค์ร่วมกันจากลุ่มน้ำเดียวกัน บริเวณเดียวกัน รวมตัวกันเพื่อเกิดให้การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการ สถานการณ์และปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลุ่มเครือข่ายและองค์กรต่างๆ เป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ โดยสามารถนำเสนอโครงการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้โดยตรง หรือกระทั่งสิทธิในการร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาร่วมกัน กรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้น้ำด้วยกันในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงเป็นตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำยังสามารถแสดงความคิดเห็นในคณะกรรมการระดับชาติ คือ กนช. ได้อีกด้วย องค์กรผู้ใช้น้ำจึงจัดเป็นฟันเฟืองสำคัญในการมีส่วนช่วยในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น”เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ปัจจุบันแม้หน่วยงานด้านน้ำหลายหน่วยงานมีการจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทาน ที่มีอยู่กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ แต่ยังไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และยังมีไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้นภายหลังจากที่กฎกระทรวงองค์กรผู้ใช้น้ำ มีผลบังคับใช้แล้ว องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจ ต้องมายื่นขอก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

การจดทะเบียนเพื่อขอก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ ปี 2561 กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่รวมตัวกัน ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อนายทะเบียน (นายทะเบียนคือเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือผู้ที่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติมอบหมาย) สามารถยื่นสมัครทางออนไลน์ได้ที่ website : twuo.onwr.go.th ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้กระดาษ และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สอดคล้องกับการบริหารราชการแบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า e-government ในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเพิ่มเติม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้กำหนดสถานที่ยื่นคำขอจดลงทะเบียนเพื่อก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำไว้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเปิดจุดลงทะเบียนออนไลน์ในส่วนกลางสามารถยื่นได้ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาคสามารถยื่นได้ที่สำนักงานของ สทนช. ภาค 1-4 ที่จังหวัดลำปาง จังหวัดสระบุรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งนายทะเบียนจะใช้เวลาตรวจสอบเอกสารข้อมูลประมาณ 30 วัน หากเอกสารประกอบคำขอจดทะเบียนถูกต้องครบถ้วนก็จะออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อเป็นเอกสารรับรองว่าเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำต่อไป รายละเอียดอื่นๆ ในการรับสมัคร สทนช. จะได้แจ้งให้ทราบในนโอกาสต่อไป

สำหรับกฎหมายลำดับรองฉบับอื่นๆ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ที่ สทนช. รับผิดชอบที่เป็นมาตราเร่งด่วนมีจำนวน 18 มาตรา รวม 23 ฉบับ ขณะนี้ได้ยกร่างผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแล้ว ซึ่ง สทนช. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากกฎหมายลำดับรองที่ สทนช. รับผิดชอบแล้ว ยังมีกฎหมายลำดับรอง ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน และหากกฎหมายรองทุกฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศก็จะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสะท้อนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 อย่างแท้จริง

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เงินเฟ้อติดลบยาว ‘พาณิชย์’รับเข้าข่าย‘เงินฝืด’ในทางทฤษฎี

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือเงินเฟ้อ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสนค. กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 ปรับตัวลดลง 0.85% ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ -1.5 ถึง -0.7 และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.29% ทั้งนี้ โดยมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลกส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุปสงค์ชะลอตัวลงโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคลดลง

นอกจากนี้ หมวดการบันเทิงการอ่านและการศึกษา โดยเฉพาะค่าทัศนาจรต่างประเทศและค่าห้องพักโรงแรมปรับลดลง จากการจำกัดการเดินทาง

และการท่องเที่ยว สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ หมวดอาหารสด โดยเฉพาะผัก ซึ่งราคาสอดคล้องกับผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่ม

ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ปรับสูงขึ้นเล็กน้อย ส่วนหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2563 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

“เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ติดลบต่อเนื่อง 10 เดือน เข้าข่ายเป็นเงินฝืดในทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเงินฝืด เพราะในเชิงเศรษฐกิจ สินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังมีราคาสูงขึ้น แต่ถูกฉุดโดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี และยังได้ผลดีจากมาตรการรัฐ ที่ดูแลทั้งราคาสินค้า ค่าสาธารณูปโภค ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นราคา” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2563 เพิ่มขึ้น 0.15% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2563และลดลง 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 ถือเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและหดตัวน้อยสุดในรอบ 10 เดือน นับจากมีนาคม 2563 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กำลังซื้อของเกษตรกรดีขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มพลังงานยังเป็นตัวฉุด แม้ราคาจะลดลงไม่มาก แต่ก็ลดอยู่ และยังได้ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกันที่มีส่วนกระตุ้นการบริโภค

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่จะส่งผลกระทบทำให้การบริโภคชะลอตัว แต่ราคาสินค้ายังเป็นปกติ ไม่มีการกักตุนสินค้า อาจจะมีปัญหาเรื่องการขนส่งบ้างในบางพื้นที่ และราคาน้ำมันคาดว่าจะยังทรงตัว โดยประเมินเงินเฟ้อไตรมาสแรก จะติดลบไม่เกิน 0.5% แต่ไตรมาส 2 ,3 และ 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การส่งออกดีขึ้น การมีวัคซีน และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีบวก0.7–1.7% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%

ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2564 มีสมมุติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

บาทแข็งไปต่อ ไม่ตอบสนองมาตรการธปท. คาดไตรมาสแรกถึง 29.3 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 6 มกราคม อยู่ที่ 29.93 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินฟื้นตัวอย่างผันผวน ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวลง 0.19% หลังจากเยอรมันเพิ่มระยะเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีกสามสัปดาห์ แต่ในฝั่งสหรัฐดัชนี S&P 500 กลับบวกขึ้นได้ 0.71% แม้ VIX Index ทรงตัวเหนือระดับ 25 จุด ด้วยความหวังว่าจะทราบผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภามลรัฐจอร์เจียในเร็ววันนี้ ถือเป็นการเพิ่มความชัดเจนทางด้านการเมืองอย่างหนึ่ง

ส่วนในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัยราคาทองก็ยังคงปรับตัวขึ้นต่อมาที่ระดับ 1951 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.5% หนุนให้ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ดีดกลับขึ้น 1.3% ถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นภายในวันเดียวที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2018 ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวสูงขึ้น 4bps มาที่ระดับ 0.95% สะท้อนภาพนักลงทุนบางส่วนที่เริ่มลดการถือสินทรัพย์ปลอดภัยลงบ้างในช่วงต้นปี

ฝั่งเงินบาทมีความเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาท ภายใต้โครงการ Non-resident Qualified Company หรือให้นิติบุคคลต่างประเทศทำธุรกรรมการเงินกับแบงก์ในประเทศ โดยไม่จำกัดยอดคงค้างบัญชีเงินบาทจากเดิมไม่เกิน 200 ล้านบาท ทำให้นักเก็งกำไรขายเงินบาทในต่างประเทศออกมา เนื่องจากมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่า เชื่อว่าประเด็นนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับทิศทางของเงินบาทในระยะยาว และมองเงินบาทแข็งค่าได้ถึง 29.3 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาสนี้

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

ผวจ.สระแก้วไม่ห่วงขาดแรงงานตัดอ้อยช่วงฤดูเปิดหีบ หลัง​กัมพูชาไม่ส่งแรงงานเข้าไทย

สระแก้ว -​ ผวจ.สระแก้วไม่ห่วงวิกฤต​โควิด-19 ทำกัมพูชาไม่ส่งแรงงานเข้าไทยช่วงฤดูเปิดหีบ ชี้ยังพอใช้แรงงานกัมพูชาที่ตกค้างในพื้นที่ประมาณ 8,000 คนได้ ยันหากสถานการณ์คลี่คลายพร้อมเจรจาทางการกัมพูชาอีกครั้ง 

วันนี้ (5 ม.ค.)​ นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ว่า ขณะนี้ยังคงมีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมเพียง 2 รายเท่านั้น และได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 รายมีอาการดีขึ้นเนื่องจากไม่มีโรคแทรกซ้อน

พร้อมยืนยันว่า จ.สระแก้ว ยังไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น และยังไม่มีผู้เสียชีวิตตามข่าวลือในโลกออนไลน์ โดยขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และอย่าหลงเชื่อข่าวลือใดๆ

ไม่หวั่นขาดแรงงานตัดอ้อยหลังกัมพูชาไม่อนุมัติให้เข้าไทยจากพิษโควิด-19

ส่วนกรณีจังหวัดพระตะบอง และบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ได้ออกประกาศงดส่งแรงงานชาวกัมพูชา​เข้าตัดอ้อยใน จ.สระแก้ว ช่วงฤดูเปิดหีบอ้อยนี้เนื่องจากหวั่นกลัวการติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในไทยนั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัด​สระแก้ว เผยว่า ยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากขณะนี้เพิ่งเริ่มเปิดหีบอ้อย จึงยังสามารถใช้แรงงานชาวกัมพูชาที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่จำนวน 7,000-​8,000 คนให้ทำงานร่วมกับเครื่องจักรไปก่อนได้

ส่วนในระยะต่อไปที่จำเป็นจะต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ทางจังหวัด​จะต้องขอเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ให้ผ่อนปรนมาตรการห้ามชาวกัมพูชาเดินทางเข้า จ.สระแก้ว อีกครั้ง

หรืออาจต้องรอให้สถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคในประเทศลดลงก่อน ซึ่งตนเองมีความเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาลที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 มกราคม 2564

ส.อ.ท.แนะทุกส่วนขับเคลื่อนเกษตรดั้งเดิมสู่สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ทางรอด ศก.ไทย

สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท.ย้ำอุตสาหกรรมเกษตรคือเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนศก.รับมือโควิด-19 ดีสุด เหตุพึ่งท่องเที่ยวและส่งออกยาก ทางรอดหลักของไทย หวังทุกฝ่ายช่วยกันเร่งขับเคลื่อนแผนที่มีอยู่ในปี 2564 เชื่อ 5-10 ปีจะเปลี่ยนโหมดสู่เกษตรอัจฉริยะ และเกษตรปลอดภัย หนุนส่งออกเป็นครัวของโลกได้ไม่ยาก

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องเร่งปรับเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ด้วยการมุ่งเน้นยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) และเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อเป็นทางรอดให้แก่ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพียง 5-10 ปีก็จะนำไปสู่การเพิ่มการส่งออกอาหารแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกได้จากที่ปัจจุบันไทยส่งออกอุตสาหกรรมอาหารอยู่อันดับที่ 11 ของโลก

“ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเปลี่ยนแปลงเกษตรดั้งเดิมด้วยการเร่งใช้เทคโนโลยี การทำเกษตรแปลงใหญ่ มีการวิเคราะห์ดิน หาเงินกู้อย่างเป็นระบบให้ ฯลฯ ผมคิดว่าปี 2564 ภาพจะชัดขึ้น และเชื่อว่าหลายส่วนจะหันมามองเกษตรมากขึ้นเพราะนี่คือทางรอดเป็นเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งปัญหาโควิด-19 ทั่วโลกเราไม่อาจพึ่งท่องเที่ยว ส่งออกได้มาก เราต้องพึ่งตัวเองหรือเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นต้องใช้เกษตรนำแต่ทำที่มีอยู่ให้ดีขึ้นตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงและเป็นครัวของโลกที่สมบูรณ์แบบ คือไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง” นายศักดิ์ชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้เสนอการขับเคลื่อนแผนงานด้านต่างๆ ให้แก่รัฐบาลอย่างต่อเนื่องในปี 2563 ว่าด้วยการเสนอเกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ การร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ รวมถึงโครงการเกษตรแม่นยำ นำร่อง 2 ล้านใน 6 พืชเศรษฐกิจไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน ข้าว และยางพารา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่งกับสมาชิก ส.อ.ท.ที่จะมาบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหากได้ผลก็จะนำไปขยายยังพื้นที่และเกษตรตัวอื่นๆ ขณะนี้เริ่มประสบความสำเร็จบางรายการแล้ว เช่น อ้อยในภาคอีสาน ที่มีการนำระบบเทคโนโลยีมาตรวจวัดค่าความหวานทำให้เห็นว่าแปลงอ้อยแปลงใดควรจะพัฒนาอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ร่วมมือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ล่าสุดได้ปรับแผนในปี 2564-65 ให้สอดรับกับโควิด-19 ที่จะมุ่งเน้นการสร้างโอกาสให้แก่คนตกงานเมื่อกลับไปยังพื้นที่บ้านเกิดให้มีงานทำและตอบโจทย์การพัฒนาด้านการเกษตรของไทยที่สำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ขณะนี้ยังมีการขาดแคลน เช่น คนบังคับโดรน ด้วยการเพิ่มหลักสูตรการฝึกบินโดรนเพื่อการเกษตรในระดับอาชีวะ ระบบเซ็นเซอร์ การพัฒนาโรงเรือน เป็นต้น

2. ยกระดับคุณวุฒิวิชาชีพ ด้วยการให้มีการประกาศคุณวุฒิวิชาชีพให้แก่กลุ่มที่มีการฝึกอบรมด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร และ 3. ยกระดับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) โดยการอบรมองค์ความรู้ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ที่มีทุกจังหวัดของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะรองรับคนตกงานประมาณ 2-3 ล้านคนในจุดนี้ได้ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานและจะชัดเจนมากขึ้นในปี 2564 นี้

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 มกราคม 2564

กำชับโรงงาน 4.9 หมื่นแห่งในพื้นที่เสี่ยง เข้มงวดป้องกันโควิดรอบใหม่

“สุริยะ”ออกคู่มือปฏิบัติสถานประกอบการ 28 จังหวัด พื้นที่เสี่ยงสูงสุด ป้องกันเฝ้าระวังโควิด สั่งข้าราชการอุตสาหกรรม Work From Home 50% เริ่ม 5 ม.ค. นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ในพื้นที่  28 จังหวัด ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและการเฝ้าระวัง พร้อมป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคดังกล่าวในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ต้องลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว ไม่ให้ติดต่อไปยังบุคคลอื่นที่อยู่ในหรือนอกโรงงาน โดยในพื้น 28 จังหวัด มีสถานประกอบการ 49,391 โรงงาน จำนวนคนงานกว่า 3,020,000 คน

สำหรับแนวทางการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่เสี่ยงสูงสุดให้ดำเนินการ ดังนี้  1. ปรับเวลาการปฏิบัติงานของคนงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด  2.  คัดกรองพนักงานทุกคน (ตรวจวัดอุณหภูมิ / ตรวจสอบประวัติการเดินทาง)  3.  สุ่มตรวจหาเชื้อโควิดในพนักงาน

4.เตรียมสถานที่กักตัวผู้ที่ติดเชื้อ 5.  ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด DMHTT (Distancing / Mask Wearing / Hand Washing / Testing / Thai Cha Na)   6. ใช้แอปพลิเคชัน หมอชนะในการ Monitor ความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

นอกจากนี้ ในส่วนของบุคลากรข้าราชการของกระทรวอุตสาหกรรม  ให้ปรับเวลาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โดยการเหลื่อมเวลาเข้าปฏิบัติการ   การทำงานแบบ  Work From Home ร้อยละ 50 ของบุคลากร  การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล แอปพลิเคชันไลน์ หรืออีเมล์มาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 5 มกราคม 2564

ไฟเขียว งบปี 65 วงเงิน 2,748 ล้านบาท ผูกพันข้ามปี 4 โครงการน้ำ

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป จำนวน 7 รายการ (ภายใต้โครงการ จำนวน 4 โครงการ) วงเงินรวม 2,748 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1.โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล – บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขออนุมัติ 2 รายการ รวม 4,611 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งบประมาณปี 65 วงเงิน 922 ล้านบาท ภาระผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆ ไป 3,688 ล้านบาท ได้แก่ ขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคาร ประกอบสัญญาที่ 4 งบประมาณปี 65 วงเงิน 676 ล้านบาท ภาระผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆ ไป 2,704 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568) รวมวงเงิน 3,381 ล้านบาท ขุดคลองระบายน้ำหลากพร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 5 งบประมาณปี 65 วงเงิน 246 ล้านบาท ภาระผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆ ไป 984 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567) รวม 1,230 ล้านบาท

2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ขออนุมัติ 1 รายการ ได้แก่ ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำหนองสองห้อง งบประมาณปี 65 วงเงิน 228 ล้านบาท ภาระผูกพันงบประมาณปีต่อ ๆ ไป วงเงิน 912 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567) รวม 1,140 ล้านบาท

3.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ขออนุมัติ 1 รายการ ได้แก่ ปรับปรุงคลองระบายน้ำหลาก D พร้อมอาคารประกอบ สัญญาที่ 1 งบประมาณปี 65 วงเงิน 772 ล้านบาท ภาระผูกพันปีงบประมาณต่อ ๆ ไป วงเงิน 3,088 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2569) รวม 3,860 ล้านบาท

4.โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ – หนองค้อ – บางพระ จังหวัดชลบุรี ขออนุมัติ 3 รายการ ได้แก่ ระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ – อ่างเก็บน้ำบางพระ สัญญาที่ 1งบประมาณปี 65 วงเงิน 275 ล้านบาท ภาระผูกพันปีงบประมาณต่อ ๆ ไป วงเงิน 1,102 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567) ล้านบาท รวม 1,378 ล้านบาท

ระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ –อ่างเก็บน้ำหนองค้อ – อ่างเก็บน้ำบางพระ สัญญาที่ 2 งบประมาณปี 65 วงเงิน 275 ล้านบาท ภาระผูกพันปีงบประมาณต่อ ๆ ไป วงเงิน 1,100 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 รวม 1,376 ล้านบาท

ระบบท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ –อ่างเก็บน้ำหนองค้อ – อ่างเก็บน้ำบางพระ สัญญาที่ 3 งบประมาณปี 65 วงเงิน 275 ล้านบาท ภาระผูกพันปีงบประมาณต่อ ๆ ไป วงเงิน 1,101 ล้านบาท (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 รวม 1,377 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการที่ 1 – 3 เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติ/รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินโครงการแล้ว โครงการที่ 4 เป็นโครงการที่เสนอมาใหม่ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ภายใต้กรอบวงเงิน 9,500 ล้านบาท และมีระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2567)

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 5 มกราคม 2564

“ITD” จับมืออังค์ถัด-WTO พัฒนาศักยภาพคน รับมือการค้า-ลงทุนยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน-โควิด

 อีกหนึ่งองค์กรที่คนไทยอาจจะเข้าใจผิดด้วยชื่อย่อที่เขียนเหมือนกัน คือ ITD ซึ่งหลายคนเข้าใจเป็น อิตาเลียนไทย แต่แท้จริงแล้ว ITD คือ International Institute for Trade and Development หรือ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ถึงแม้ว่า ITD จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากงานในประเทศแล้ว ITD ยังทำงานร่วมกับองค์กรระดับโลกอย่างอังค์ถัด (UNCTAD) และ WTO ในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาในระดับภูมิภาคอีกด้วย

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)หรือ ITD เปิดเผยว่า ITD จัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 โดยการริเริ่มจากการประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา โดยอังค์ถัดครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นที่บ้านเรา มีความเห็นตรงกันว่าควรมีศูนย์เพื่อการวิจัยและฝึกอบรม ตั้งอยู่ในเอเซีย เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นด้านการค้า และการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเดิม ITD สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี 2561 จึงย้ายมาสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ภารกิจของ ITD คือ การพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนา โดยสอดคล้องเชื่อมโยงและสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานเช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ โดยใช้กิจกรรมการฝึกอบรม การประชุมสัมมนา และการศึกษาวิจัย เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงาน

โดยปัจจุบัน ITD ได้ดำเนินงานด้านศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค การศึกษาวิจัยของ ITD จะครอบคลุมในประเด็น การค้า การเงิน การลงทุน การพัฒนา รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การลดและยกเลิกข้อจำกัดทางการค้าเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการค้าและการพัฒนาร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดย ITD จัดเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรที่ดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์การในระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ทั้งนี้จะเห็นได้ถึงความสำคัญของ ITD ที่มีบทบาทและหน้าที่เชื่อมโยงเป็นภาพใหญ่ในทุกๆด้าน ทั้งในระบบเศรษฐกิจ การขนส่ง และเทคโนโลยี ดิจิทัล ล้วนทำงานควบคู่กันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยิ่งอยู่ในยุคที่โควิด-19 ระบาดอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้พฤติกรรมของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ITD ก็เช่นกันที่จะคอยส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาบุคลากร และการเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบและวิจัยให้เกิดประสิทธิผลและใช้ประโยชน์กับทุกๆหน่วยงานมากที่สุด สำหรับข้อมูลข่าวสารต่างๆของ ITD หรือ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สามารถติดตามได้ที่ www.itd.or.th

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 5 มกราคม 2564

‘พาณิชย์’เปิดแผนดันส่งออกปี’64

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการทำงานในปี 2564 ของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)

เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” และการเจาะตลาดเมืองรอง ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ว่า ขณะนี้สำนักงานฯ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศได้จัดทำแผนมาแล้วมีทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย การจัดงานแสดงสินค้าไทยทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและเพิ่มความร่วมมือทางการค้า และการร่วมมือกับรัฐและเมืองรองของประเทศเป้าหมายในการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของตลาดจีน มีแผนที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ไทยในเมืองสำคัญรวม 13 เมือง ส่วนตลาดอาเซียน จะจัดงาน Top Thai Brands เพื่อบุกตลาดในทุกเมืองหลักของอาเซียน เน้นการขายออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไปจัดงาน Mini Thailand Week ในเมืองรอง 8 แห่ง กระจายทั่วอาเซียน ได้แก่ ตองยีในเมียนมา เชียงขวาง และไซยะบุรี ในสปป.ลาวเสียมราฐ ในกัมพูชา เกิ่นเทอ และไฮฟอง ในเวียดนาม ดาเวา ในฟิลิปปินส์ และสุราบายา ในอินโดนีเซีย ตลอดจนจัดคณะผู้แทนการค้าไปยะโฮร์บารู มาเลเซีย และติมอร์เลสเต เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า

ตลาดอินเดีย มีกำหนดจะจัดพิธีลงนาม MOU รูปแบบออนไลน์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ รัฐเตลังคานา ในวันที่ 18 มกราคม 2564 เพื่อร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุน และกิจกรรมอื่นๆ

ส่วนตลาดญี่ปุ่น จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยผ่านสื่อทีวีดิจิทัล (TV Shopping) และส่งเสริมการขายร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตอิออนในญี่ปุ่น ส่วนตลาดเกาหลีใต้จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีศักยภาพ เช่น Coupang, SSG (Shinsegae), Naver, Interpark, Gmarket และ 11st เป็นต้น ขณะที่ตลาดออสเตรเลีย จะเร่งสร้างภาพลักษณ์สินค้าการ์ตูนคาแร็กเตอร์(Cartoon Character) และสินค้าเครื่องปรุงรสไทย ในงาน Sydney Royal Easter Show 2021 ณ นครซิดนีย์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

‘สุริยะ’ผุด‘iSingleForm’ ปฏิรูปการทำงาน‘ก.อุตฯ’สู่ยุคดิจิทัล

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขยายการบริการให้ครอบคลุมส่วนงานด้านข้อมูลการประกอบกิจการโรงงาน โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พัฒนาจัดทำ และเปิดใช้งานแพลตฟอร์ม iSingleFormขึ้น เพื่อเป็นช่องทางการบริการแจ้งข้อมูลของผู้ประกอบการให้แก่หน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงให้เหลือเพียงแบบฟอร์มเดียวผ่านระบบออนไลน์ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายในการเร่งยกระดับการบริการของกระทรวงเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (DigitalGovernment) ขณะเดียวกันปัจจุบันกระทรวงฯ ได้เปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์ในหลายบริการ อาทิ บริการด้านใบอนุญาต บริการยื่นขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และบริการใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งจะเป็นการลดภาระผู้ประกอบการในการเดินทางมาติดต่อหน่วยงานราชการ

“การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภาครัฐจำเป็นจะต้องพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้พร้อม อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร

และคมนาคม การปรับกฎระเบียบให้ทันสมัย รวมทั้งการบริการของภาครัฐที่ต้องยกระดับให้สอดคล้องกับการทำงานในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งมีความคุ้นชินในการทำธุรกรรมออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ราชการเพื่อขอรับบริการ สามารถแจ้งข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้เร่งพัฒนาระบบ iSingleForm และเปิดใช้งานให้ผู้ประกอบการได้แจ้งข้อมูลตามแบบฟอร์มเดียว

ซึ่งได้รวบรวมข้อคำถามจากหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงฯ ไว้ในแบบฟอร์มเดียวเพื่อลดภาระการแจ้งข้อมูล ไม่ให้เกิดความความซ้ำซ้อน

โดยข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้แจ้งมาตามแพลตฟอร์ม iSingleForm จะถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำเป็นผลการประเมินสถานภาพของสถานประกอบการเป็นประจำทุกเดือนตามข้อมูลที่ได้แจ้งเข้ามา ซึ่งจะได้รับผลการวิเคราะห์สถานะของกิจการตนเองในแง่มุมต่างๆ อาทิ ประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการจำหน่าย ความสามารถในการบริหารต้นทุน โดยเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด และในรายสาขาอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่แจ้งข้อมูลอย่างต่อเนื่องจะได้รับแจ้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับทาง

สศอ. ซึ่งในปัจจุบันมี 2 ธนาคาร คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ได้รับแจ้งสิทธิการเข้ารับคำปรึกษาเพื่อการพัฒนาสถานประกอบการ และการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพสถานประกอบการโรงงาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ระดับ 29.96บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.96 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจาก 30.00 บาทต่อดอลลาร์ช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.88-30.08 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVESTบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสกุลเงินเอเชียบนการอ่อนค่าของดอลลาร์ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมวันอังคาร คาดว่าจะหดตัว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงบอนบอนด์ระยะยาวของไทยลดน้อยลง จึงมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาพักในเงินบาทถ้าดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.75-30.25 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้ แนะนำจับตาผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่มลรัฐจอร์เจีย ถ้าพรรค Democrat ชนะจะสามารถคุมเสียงข้างมากในทั้งสองสภาได้ ส่วนในฝั่งเศรษฐกิจแนะนำจับตาตัวเลขตลาดแรงงาน ในเดือนธันวาคม คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 100,000 ตำแหน่ง เป็นผลมาจากทั้งภาคเอกชนที่ชะลอการจ้างงานลงและแรงงานที่ระมัดระวังตัวกับภาวะการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19

 ด้านตลาดเงิน ดอลลาร์ถูกกดดันจากภาพรวมตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงโดยมีปอนด์อังกฤษ (GBP) และดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) เป็นสองสกุลเงินหลักที่แข็งค่าสวน ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีทรงตัวที่ 0.91% แต่ทองคำฟื้นตัวขึ้นเหนือระดับ 1900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ชี้ว่ามีเพียงนักลงทุนบางส่วนที่กลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง ในระยะสั้นจึงต้องจับตาว่าเงินทุนเหล่านี้จะกลับเข้ามาในตลาดเมื่อไหร่ แต่ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการระบาดของไวรัสที่ทำให้หลายประเทศต้องกลับไปล็อกดาวน์ จึงเป็นไปได้มากที่นักลงทุนจะยังระมัดระวังตัวสูงในช่วงสัปดาห์แรกของปี

 กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 89.4-90.4จุด ระดับปัจจุบัน 89.9จุด

 ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (4 ม.ค.) แข็งค่ามาที่แนว 29.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายต่อเนื่อง เนื่องจากยังขาดแรงหนุนใหม่ๆ ขณะที่ปัจจัยกดดันจากสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของเฟดน่าจะเห็นต่อเนื่องตลอดปีนี้

 สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 29.80-30.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก  ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564