http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฏาคม 2559)

จ่อชงแผนขับเคลื่อนอุตฯ4.0เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอีอีซีหัวหอกลงทุน5ปี1.5ล้านล.

          กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 หวังปฏิวัติโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เตรียมชงแผนให้ครม.เห็นชอบ ตั้งเป้า 10 กลุ่มเป้าหมาย เอสเอ็มอี และโอท็อป ใช้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า หนีกับดักรายได้ปานกลาง ขณะที่อีอีซีตัวชูโรงหนุนการลงทุนให้เกิดช่วง 5 ปี 1.5 ล้านล้านบาท

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนาปฏิวัตอุตสาหกรรมใหม่ประเทศไทย 4.0 ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ ที่ต้องการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างนวัตกรรม การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในกิจการ โดยแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และหลังจากนั้นจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

          ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะจัดทำระยะเร่งด่วนก่อนในช่วง 2 ปี(2560-2561) ภายใต้ยุทธศาสตร์ของประเทศ 20 ปี ซึ่งในแผนปฏิบัติการนี้  จะมีการลงลึกในรายละเอียดของแต่ละประเภท 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนหรือโอท็อป ด้วย โดยจะมาพิจารณาว่าในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีแผนปฏิบัติอย่างไร มีกิจกรรมช่วยผลักดัน และงบประมาณในการสนับสนุนจำนวนเท่าใด เพื่อให้เกิดการผลักดันไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ว่า ประเทศจะต้องหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ให้ขึ้นไปอยู่ในระดับ 1.3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีได้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-6 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี

          ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในการผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนอยู่ จะมีมาตรการสนับสนุนเข้ามาช่วยเหลือนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา จาก 8 ปีเป็น 13 ปี ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานกฤษฎีกา รวมถึงพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นด้านภาษีถึง 15 ปี

          นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในเร็วๆนี้ จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะลงทุนตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนในระยะ 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นของกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงกว่า 3 แสนล้านบาท มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบิน ท่าเรือ ถนน รถไฟ อีก 4 แสนล้านบาท การสร้างเมืองใหม่ ที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาท ท่องเที่ยวคุณภาพหรือเชิงคุณภาพอีก 2 แสนล้านบาท

          โดยเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวนี้ หากดำเนินการตามเป้าหมายได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัวในระดับ 5-6% และจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงเหลือ 5% จาก 15% และพ้นจากรายได้ระดับกลางขึ้นไปอยู่ที่ 1.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีได้

          ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจะผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 มี 3 ปัจจัยหลักที่ต้องมีการพิจารณาแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับ ซึ่งขณะนี้ยังขาดแคลนอยู่ การแก้ไขอุปสรรคด้านระเบียบ และกฎหมาย เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้ธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะดิจิตอล และภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนหรือมีมาตรการอะไรมาช่วยผลักดันได้บ้าง เพราะขณะนี้เองภาคเอกชนตื่นตัวกันมาก และจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเดินตามแผนที่วางไว้ได้ ซึ่งส.อ.ท.ต้องเข้าไปช่วยจัดทำแผนตรงนี้ เพื่อตอบโจทย์ในการช่วยเหลือตามความต้องการของภาคเอกชนให้ได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 31 กรกฎาคม 2559

ปุ๋ยหมัก"เพื่อเกษตรกรไทยทั่วหล้า

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

        "ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต พูดง่ายๆ เราต้องใส่ปุ๋ย ไร่นา สวนของเรา พืชผลจึงจะงามดี เดี๋ยวนี้ปุ๋ยที่ซื้อตามท้อง ตลาดแพงเหลือเกิน เรามาทำปุ๋ยหมักใช้เองดีกว่า"

       พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ที่ทรงพระราขทานสูตรและวิธีการทำปุ๋ยหมัก ด้วยกรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริ พัฒนาสูตรปุ๋ยดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไทย

วิธีทำ

ของที่ต้องเตรียม

          1.ซากพืช ได้แก่ ใบไม้ ผักตบชวา หญ้าแห้ง ลำต้นถั่ว ลำต้นข้าวโพด ใบ และต้นมันสำปะหลัง กระดูกปอ ตามที่มี สับเป็นท่อน ๆ  สั้น ๆ ให้เปื่อยเร็ว

          2.ปุ๋ย

           ก.ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว อะไรก็ได้

           ข.ปัสสาวะคน หรือสัตว์

           ค.กากเมล็ดนุ่น,กากถั่ว ,ซากต้นถั่วชนิดต่าง ๆ (พืชตระกูลถั่ว)

          3.ดินร่วน พอสมควร ถ้าเป็นหน้าดินยิ่งดี 

การกองปุ๋ย     

          1.กองในหลุม ต้องขุดหลุมขนาดกว้างราว 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระวังดินพังทลายลงในหลุม ถ้ามีการระบายน้ำได้ยิ่งดี      

         2.กองในคอก ปรับดินบริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้แน่น ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่ทำได้ กั้นเป็นคอกกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1 เมตร แบ่งคอกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งใส่ปุ๋ยหมัก อีกครึ่งหนึ่งไว้กลับกองปุ๋ย ทำหลังคาใบจากหรือใบมะพร้าวคลุมหลังคา ถ้ามีถุงพลาสติกคลุมกันฝนชะปุ๋ยก็ดี

          3.เอาซากพืชที่เตรียมไว้กองเกลี่ยในคอก (หรือในหลุม) ให้เป็นชั้น เหยียบตามขอบให้แน่นขนาดคนเหยียบแล้วไม่ยุบอีก ชั้นหนึ่งๆ สูงราว 1 คืบ (30 ซม.) รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 2 องคุลี (5 ซม.) ถ้ามีปุ๋ยเคมี (สูตร 16-20-0 หรือ 14-14-14,แอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรีย) ก็โรยบางๆ ให้ทั่ว แล้วทับด้วยดินละเอียดหนาประมาณ 1 องคุลี สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้นๆ อย่างนี้จนปุ๋ยเต็มคอก (น้ำที่รดจะผสมด้วยปัสสาวะด้วยก็ได้)  

 ข้อควรระวัง

           1.อย่าให้มีน้ำขัง การรดน้ำมากไปจะทำให้ระบายอากาศไม่ดี

           2.ปุ๋ยกองใหญ่ไปจะเกิดความร้อนสูง ปุ๋ยจะเสีย ถ้าในกองปุ๋ยมีความร้อนสูงให้เติมน้ำบ้าง

           3.ปุ๋ยกองเล็กไป จะสลายตัวช้า

           4.อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับใส่ปูนขาว จะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัว

การกลับปุ๋ย

           ทุก 30 วัน ควรกลับกองปุ๋ย โดยเอาชั้นบนสุดของกองนำไปเกลี่ยในอีกส่วนของคอกเป็นชั้นล่างสุด แล้วเอาชั้นสองเกลี่ยทับแล้วรดน้ำ ควรกลับปุ๋ย (ทุก 30 วัน) จนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง กินเวลา 3-4 เดือน เมื่อปุ๋ยใช้ได้ สังเกตุจากความร้อนในกองจะใกล้เคียงกับความร้อนของอากาศ ปุ๋ยหมักจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เอาตะแกรงร่อนปุ๋ยหมักเก็บไว้

การใช้ประโยชน์

                        ประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้ดินร่วน อุดมสมบูรณ์ เพิ่มธาตุไนโตรเจน ไม่เป็นอันตราย รักษาความชุ่มชื้นของดิน

        ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน ได้สนองพระราชดำริ โดยได้ทำการศึกษา คิดค้น นวัตกรรม วิจัยจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร ผลิตสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยหมักได้ในระยะเวลาอันสั้น ประหยัด สะดวก ง่าย ตรงกับความต้องการของเกษตรกร

          ทว่า มีปัญหาในเรื่องปริมาณธาตุอาหารหลักในปุ๋ยหมักไม่เพียงพอกับความต้องการ ธาตุอาหารของพืช กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยหมักให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร จึงได้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูง

         โดยใช้วัตถุดิบ ที่มีปริมาณธาตุอาหารสูง เช่น มูลไก่ มูลสุกร มูลนกกระทา มูลกระบือ มูลวัว กระดูกป่น และหินฟอสเฟต ฯลฯ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถปรับปรุงสมบัติทางกายภาพ ชีวภาพ ทางเคมีในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช

         ผลจากการ ทดลองพบว่า สามารถเพิ่มผลผลิตพืชได้ 20 – 30 % ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทาน พระราชานุญาตนำสูตรปุ๋ยดังกล่าว ไปขยายผลเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร ปรับใช้ในการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองในวงกว้าง               

        นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังมีแผนงานส่งเสริมการผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทานที่มีธาตุอาหารสูง โดยมีการอบรม สาธิต ส่งเสริม ให้องค์ความรู้ รวมทั้งสนับสนุนวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิต เพื่อผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทานที่มีธาตุอาหารสูง ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และหมอดินอาส

         โดยในปีงบประมาณ 2557 กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินงานส่งเสริมการผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทาน จำนวน 1,000 ตัน เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ต่อเนื่องกระทั่งถึงปัจจุบัน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 30 กรกฎาคม 2559

กทพ.เล็งพัฒนาทางพิเศษเชื่อมโยงเขต ศก.พิเศษ ดันไทยเป็น 4 แยกเออีซี

         นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างสำรวจศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาทางพิเศษเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ และตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นสี่แยกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนทั้ง 4 ทิศ คือ ทิศเหนือที่แม่สาย ทิศตะวันตกที่แม่สอด ทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มุกดาหาร และทิศใต้ที่สะเดา โดยบริเวณที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการมากที่สุดในปัจจุบัน คาดว่าจะเป็นด้านทิศตะวันออก บริเวณ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เนื่องจากพบว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโครงข่ายที่จะเชื่อมโยงไปยังทางพิเศษอื่นๆ อีกทั้งแนวเส้นทางยังสนับสนุนการขนส่งสินค้าเชื่อมมายังพื้นที่แหลมฉบัง ซึ่งจะเป็นเขตการค้าสำคัญของไทยอีกด้วย

         นอกจากนี้ กทพ.ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี – พัทยา โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี โครงการทางพิเศษใน จ.เชียงใหม่ โครงการทางพิเศษใน จ.ขอนแก่น และโครงการทางพิเศษในระยะเร่งด่วน มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท

         2. โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E – W คอร์ริดอร์ ด้านตะวันออก มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท และ 3. โครงการทางพิเศษสายกระทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม 2559

จี้งานร้อน2ปีสู่ยุค4.0 อุตฯรอส.ค.นี้ชงครม.  

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ OIE Forum 2559 ปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ : ประเทศไทย 4.0 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในยุคใหม่ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เพื่อเป็นการปรับบทบาทและทิศทางอุตสาหกรรมไปสู่อินดัสทรี 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนระยะเร่งด่วน 2 ปี เพื่อใช้ในการพัฒนาช่วงปี 2560-2561 ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เสนอแผนมาที่กระทรวงภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะเดียวกัน กระทรวงอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างสถาบันภายใต้สังกัดกระทรวง เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส เคิร์ฟ) อาทิ สถาบันพลาสติกต้องปรับบทบาทไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และไบโอพลาสติก สถาบันยานยนต์ต้องปรับบทบาทไปสู่การส่งเสริมยานยนต์ทางรางทางเรือ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด สถาบันอาหารต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารประเภทนันฟู้ด เป็นต้น

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า แผนที่ สศอ.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้เห็นผลในเชิงรูปธรรม เช่น เน้นการพัฒนาด้านคลัสเตอร์ โดยแต่ละคลัสเตอร์จะให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ ยกระดับผู้ประกอบการ กระบวนการผลิต และการใช้ดีไซน์พัฒนาผลิตภัณฑ์.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 30 กรกฎาคม 2559

ลงนาม MOU จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการค้าน้ำตาลในภูมิภาค

            อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ร่วมมืออุตสาหกรรมน้ำตาลในกลุ่มประเทศอาเซียน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) สานความร่วมมือด้านธุรกิจ การค้าและการลงทุน หวังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและ น้ำตาลทรายในภูมิภาค และสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตน้ำตาลทรายให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน ที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมประกาศความมั่นใจปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของไทยเพียงพอต่อความต้องการของตลาด

          นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า การประชุม Bangkok Sugar Conference และงาน Sugar Dinner ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้เชิญผู้แทนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ภายใต้แนวคิด Thailand: Challenges, Opportunities, Sustainability and Windfall เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจและแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์คู่ค้าและสร้างพันธมิตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

          โอกาสนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยและเป็น

          ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก ยังได้ประชุมหารือกับชาติสมาชิกในอาเซียน เพื่อร่วมกันจัดตั้ง กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) หลังจากที่ได้หารือแนวคิดการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำตาลทราย เห็นชอบร่วมกัน โดยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASA เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือทางธุรกิจการค้า การลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และการค้าน้ำตาลทราย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคนิคทางวิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน

          ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีการผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในเอเชียและอาเซียน ซึ่งปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยมากกว่า 50% ถูกส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งมีความต้องการนำเข้าปีละ 5-6 ล้านตัน และคาดว่า ภายในปี 2563 การนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2558 ไทยส่งออกน้ำตาลทรายที่ไปอินโดนีเซียมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ตามลำดับ

          "การเซ็น MOU ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภูมิภาคอาเซียนและของประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ในการจับมือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของภูมิภาคให้เข้มแข็ง และในอนาคตกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนจะขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศนอกสมาชิกอาเซียนอีกด้วย" นายเชิดพงษ์ กล่าว

  จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทางเลือกสู่ทางรอดของพลังงานไทย

ช่วงนี้หากใครขับรถไปแถบจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เมื่อขับเข้าเส้นทางด้านในที่เคยผ่านแนวต้นไม้เรือกสวนไร่นาหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า อาจจะแปลกตากับแผงโซลาร์เซลล์เรียงรายสุดลูกหูลูกตา

ด้วยว่าตอนนี้แสงอาทิตย์กลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราทำให้การลงทุนโซลาร์ฟาร์มขยายตัวค่อนข้างเร็ว ธุรกิจนี้ยังตอบรับนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเพราะรัฐบาลมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในราคาส่วนเพิ่ม (Adder) ทั้งนี้ พลังงานสะอาดที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไม่ได้มีแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่ประเทศเรายังสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นได้อีกด้วย เช่น พลังงานชีวมวลที่ได้จากการใช้เศษวัสดุหรือกากจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมเกษตร ก๊าซชีวภาพจากซากพืชและมูลสัตว์ พลังน้ำ พลังลม และขยะ เป็นต้น

พลังงานทดแทนเหล่านี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกมุมหนึ่งยังช่วยให้ประเทศเรามีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณปีละ 4-5% และการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยปริมาณความต้องการ 29,403 เมกะวัตต์ แม้ตอนนี้เรายังมีกำลังการผลิตเพียงพอ แต่แน่นอนว่าจะมีการทำลายสถิตินี้อีกหลายครั้งเพราะแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจ หากเรายังต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่กำลังหมดไปเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเกือบ 90% อย่างในปัจจุบันในอนาคตเราอาจมีไฟฟ้าไม่พอใช้กระทรวงพลังงานจึงกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579

เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งภาครัฐวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนจากปัจจุบันที่มีเพียง 10% ให้เป็น 20% ในอีก 20 ปีข้างหน้า เป้าหมายดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝัน เพราะความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยนั้นจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค ASEAN โดยข้อมูลจากรายงาน ASEAN Renewable Energy Development 2006-2014 พบว่า ในปี 2557 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย และมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยถึง 8% ต่อปี โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์และชีวมวลที่ไทยมีกำลังการผลิตสูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ การสนับสนุนของภาครัฐยังช่วยให้การลงทุนในธุรกิจนี้มีความเสี่ยงต่ำและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต ดังจะเห็นได้จากบริษัทที่มาลงทุนมีทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กหน้าใหม่ บริษัทที่อยู่ในธุรกิจอื่นแล้วขยายการลงทุนมาทำไฟฟ้า เช่น ผลิตน้ำตาลเป็นหลักแล้วแตกไลน์ธุรกิจมาผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่แต่เดิมใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ก็เริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังงานชีวมวล และกลุ่มบ้านปูที่มีการลงทุนโซลาร์ฟาร์มทั้งในจีนและญี่ปุ่น 

สำหรับภาคการเงิน แม้ดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ก็เป็นตัวกลางหลักในการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังภาคธุรกิจต่างๆ และเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของภาครัฐ เช่น ไม่นานมานี้ธนาคารเจพีมอร์แกน แบงก์ออฟอเมริกา ซิตี้กรุ๊ป มอร์แกนแสตนลีย์ และเวลส์ ฟาร์โก ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแสดงจุดยืนในการหยุดหรือชะลอการให้สินเชื่อแก่เหมืองถ่านหินในประเทศพัฒนาแล้ว ตอบรับกระแสลดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ตอนนี้ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งมีพอร์ตสินเชื่อพลังงานทดแทนใหญ่กว่าพอร์ตถ่านหินที่เคยเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในอดีตถึงสามเท่า สะท้อนว่าโลกเรากำลังเข้าสู่สังคมสิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ส่วนในประเทศเราระบบธนาคารพาณิชย์ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนเป็นอย่างดี เห็นได้จากสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในปี 2558 สินเชื่อของธุรกิจนี้มีจำนวนถึง 2 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบ 20% ขณะที่สินเชื่อรวมของระบบเติบโตเพียง 4.3% สะท้อนว่า ยังมีความต้องการเม็ดเงินไปขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมจะสนับสนุนโครงการดังกล่าว ปัจจุบันสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดีแทบไม่มีหนี้เสียเลย เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตสูงและมีรายรับที่แน่นอนจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของทางการ สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นก็ปรับสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจนี้

อนาคตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดูจะสดใส แต่ธุรกิจนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงและมีระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างนาน อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อประสิทธิภาพและความเสถียรของกำลังการผลิตไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบซึ่งแปรผันตามฤดูกาลและค่าขนส่ง ภาครัฐและเอกชนจึงควรส่งเสริมผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจมากกว่าพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และที่สำคัญที่สุดคือต้องให้ประชาชนทุกคนตื่นตัว เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกของเราให้ยั่งยืนต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

  จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ชงแผนปฎิวัติอุตสาหกรรม20ปี

              ชงแผนปฏิวัติอุตฯ 20 ปีเสนอครม. ส.ค. นี้ เน้นนวัตกรรม รื้อโครงสร้างใหญ่ 10 สถาบัน ฯ รับทิศทางอุตสาหกรรมอนาคต                               

             นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเปิดงานประชุมวิชาการโอไออีฟอรั่ม 2559 ปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ : ประเทศไทย 4.0 ว่า  เดือนส.ค. นี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)  เตรียมเสนอแผนปรับโครงสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมระยะ 20 ปี  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลมายังกระทรวงฯ ก่อนนำเสนอที่ประชุมครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นการปรับบทบาททิศทางอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (อินดัสทรี 4.0)  แบ่งเป็นการพัฒนาระยะๆ เริ่มจากระยะเร่งด่วน 2 ปี (ปี 60-61)    

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า  แผนที่ สศอ.จะเร่งดำเนินการภายใน 2 ปี เพื่อให้เห็นผลในเชิงรูปธรรม เช่น เน้นการพัฒนาด้านคลัสเตอร์ โดยในแต่ละคลัสเตอร์จะให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ ยกระดับผู้ประกอบการกระบวนการผลิต และการใช้ดีไซน์พัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเร็วๆ นี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ออกแบบเพื่อเพิ่มการอัพเดทเทรนด์ทั้งการออกแบบและ คุณภาพเพื่อให้แข่งขันได้

ขณะเดียวกันกระทรวงอยู่ ระหว่างปรับโครงสร้าง 10 สถาบัน ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตฯ เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล คลัสเตอร์ เนื่องจากบทบาทของสถาบันเดิมตั้งมาตั้งแต่ปี 40 -42 เช่น สถาบันพลาสติกต้องปรับบทบาทไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และไบโอ พลาสติก สถาบันยานยนต์ต้องปรับบทบาทไปสู่การส่งเสริมยานยนต์ทางรางทางเรือ รถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด สถาบันอาหารต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารประเภทธุรกิจที่ไม่ใช่อาหาร (นอนฟู้ดส์)

  จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ธปท.แนะเอกชนจับตาค่าบาทผันผวน

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายตลาดการเงิน กล่าวถึงกรณีที่ช่วงที่ผ่านมา คนไทยหันมาซื้อธนบัตรสกุลปอนด์ของประเทศอังกฤษสะสมไว้จำนวนมาก หลังเงินปอนด์ อ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์ หลังจากสหราชอาณาจักรมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ส่งผลธนบัตรเงินปอนด์ขาดตลาด โดยสาขาธนาคารพาณิชย์ไม่มีธนบัตรสกุลปอนด์ให้ประชาชนแลกซื้อ ว่าในขณะนี้สถานการณ์ดังกล่าวได้ผ่อนคลายลงแล้ว เท่าที่ติดตามสถานการณ์ความต้องการธนบัตรสกุลปอนด์ของไทยปรับดีขึ้น และตามสาขาของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีเสียงสะท้อนว่าขาดแคลนเหมือนช่วง Brexit

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีลูกค้าสนใจขอซื้อเก็บไว้เรื่อยๆ ดังนั้น ในบางวันลูกค้าที่ไปแลกซื้อที่สาขาธนาคารพาณิชย์อาจจะยังต้องรอบ้าง สำหรับกรณีที่ต้องการธนบัตรสกุลปอนด์ไปเพื่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ธปท.ชี้แจงไปแล้วว่า ในกรณีแลกเพื่อการไปท่องเที่ยวอังกฤษนั้น สามารถที่จะแลกเป็นเช็คเดินทาง (Traveller Cheque) ได้เช่นกัน โดยจะได้อัตราเดียวกับการแลกธนบัตรสกุลปอนด์ในวันนั้นๆ ส่วนกรณีที่ต้องการเก็บเงินปอนด์ไว้ สำหรับอนาคต เช่น การส่งเงินให้ลูกเรียน สามารถจะเอาเงินบาทไปแลกเงินปอนด์ฝากเข้าบัญชี FCD ไว้ก่อนก็ได้ โดยไม่ต้องรอเก็บเป็นธนบัตร และเมื่อต้องการนำไปใช้ในต่างประเทศก็สามารถโอนออกไปได้เลย โดยธปท.อนุญาตให้เปิดได้อยู่แล้วภายในวงเงิน 5 ล้านเหรียญ แม้ยังไม่มีธุรกรรมรองรับในทันที (underlying)

สำหรับเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะเข้ามาในไทยมากขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ Brexit เนื่องจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในนโยบาย และยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ จึงอาจจะมองหาช่องทางที่จะพักเงินไว้ระยะสั้นนั้นว่า จากการประชุมของเฟด ซึ่งผลออกมาเมื่อวันที่ 28 ก.ค. ตามเวลาประเทศ ไทย ซึ่งแม้ว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ก็คิดว่านักลงทุนจะต้องปรับมุมมอง เพราะถ้อยคำของเฟดระบุว่า เฟดมองความเสี่ยงต่อแนวโน้มข้างหน้าได้ลดลงไป ซึ่งทำให้หลายฝ่ายก็ตีความว่าเป็นการเปิดทางให้เฟดสามารถจะปรับดอกเบี้ยในครั้งต่อๆไปได้

“ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายจึงยังมีต่อเนื่อง ดังนั้น การวางแผนธุรกิจสำหรับครึ่งปีหลังของนักลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศของไทย ควรจะติดตามข่าวสาร และให้ความสำคัญ กับการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

BRR อนุมัติตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า พร้อมต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทราย พลังงาน และธุรกิจต่อเนื่อง 

          บอร์ด 'BRR' อนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า หวังนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายกิจการโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่และลงทุนในโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจน้ำตาลทราย เพื่อผลักดันการเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อไป

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติ การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) โดยจะโอนสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของทั้ง 2 บริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ

          สำหรับ ธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ผลิตจากกากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย กฟภ. ตกลงรับซื้อปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบ FiT Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาทต่อหน่วย และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน

ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีเป้าหมายเพื่อนำเงินทุนที่ได้รับไปใช้ใน การลงทุนขยายธุรกิจโรงงานน้ำตาลทราย ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จำนวน 2 โรงได้แก่ ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์และ ที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตหีบอ้อยโรงงานละ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน/โรง ซึ่งจะใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบเดียวกับที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านไร่ การยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน การผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล และที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนคือ โครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย หรือ Refinery เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูง ที่ช่วยเพิ่มยอดขายต่อหน่วยได้สูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ มีผลให้รายได้จากการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่จะสูงขึ้นในอนาคต

          โดยหลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว บริษัทฯ จะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน และบริษัทฯ ยังจะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน

          "การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมของบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย และการขยายธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัทฯ ในอนาคต อีกทั้งการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาวที่น่าสนใจจากการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น" นายอนันต์ กล่าว

          นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ภาษีของกองทุนตามประเภท เช่น นักลงทุนบุคคลจะได้รับผลตอบแทนเต็มที่โดยยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายถึง 10 ปี ตามสภาวะปัจจุบัน มูลค่าของกองทุนฯจะมีโอกาสสูงที่มีมูลค่ากองทุนสูงกว่ามูลค่าขั้นต่ำนี้ ทั้งนี้มูลค่าสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับกระบวนการกำหนดราคาด้วยระบบ Book-Building ในช่วงเวลาเตรียมการเสนอขายซึ่งจะไม่ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ 3,600 ล้านบาทตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ปลดล็อกตั้งโรงงาน107ประเภท เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้าไม่ต้องขออนุญาต/ช่วยลดต้นทุน

รัฐบาลปลดล็อกโรงงาน 107 ประเภทกิจการไม่ต้องขอใบประกอบการรง.4 หากใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานคาดกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับไม่เกินสิ้นปีนี้ กรอ.ชี้ช่วยสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และลดภาระต้นทุน ส่งผลให้มีโรงงานที่ไม่ต้องมาต่อใบอนุญาตหายไป 2 หมื่นแห่ง

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงงาน พ.ศ….ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เป็นการแก้ไขนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมการประกอบกิจการโรงงานต้องมีเครื่องจักรขนาด 5 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 5 คน เปลี่ยนเป็นการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีขนาดเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 50 คน ถึงจะเข้าข่ายเป็นโรงงาน ซึ่งจะต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือใบ รง.4 และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรอ. ส่วนโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า จะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำกับดูแล เพื่อติดตามดูแลโรงงานในท้องถิ่น ภายใต้พ.ร.บ.สาธารณสุข ที่จะควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับได้ไม่น่าจะเกินสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรงงาน เนื่องจากเห็นว่าการขออนุญาตตั้งโรงงาน ถือเป็นต้นทุนในการประกอบการ และทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำธุรกิจ เมื่อมีการแก้ไขแล้วจะช่วยให้โรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยไม่ต้องมาขออนุญาต เป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ ในการช่วยผู้ประกอบการรายเล็กลดอุปสรรคการดำเนินงาน และช่วยให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดบทบาทของกรอ.ในการกำกับดูแลมาเป็นผู้ส่งเสริมมากขึ้น

นายมงคล กล่าวอีกว่า ส่วนกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน จะครอบคลุมอยู่ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 107 ประเภท ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเภทโรงงานใดที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 จากกรอ. ยกตัวอย่างกรณีอยู่ซ่อมรถยนต์ต่างๆ กำหนดไว้ให้โรงงานทุกขนาดจะต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 กับกรอ.ก่อนถึงจะตั้งโรงงานได้

แต่หากอู่ซ่อมรถดังกล่าวใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาต แต่หากใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ต้องมาขออนุญาตตั้งโรงงานอยู่ดี หรือกรณีของห้องเย็นที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ที่มีไว้สำหรับแช่อาหารสด ก็ไม่เขาข่ายเป็นโรงงาน แต่หากเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมแช่แข็ง ยังถือว่าเป็นโรงงานอยู่ หรือแม้แต่กิจการซักอบรีดเสื้อผ้าที่อยู่ตามห้องแถวหรือคอนโดมิเนียม มีขนาดเล็กจะไม่เข้าข่าย ในขณะที่กิจการซักอบรีดที่มีกิจการขนาดใหญ่ ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงาน

ดังนั้น การที่จะเข้าข่ายเป็นโรงงานหรือไม่เป็นโรงงานนั้น จะพิจารณาจากขนาดของเครื่องจักรเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้ขึ้นกับประเภทของโรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ใหม่ ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจที่จะลงนามประกาศประเภทโรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าได้ หากเห็นว่าประเภทโรงงานนั้น ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ อยากจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสิ้นสุดลงในปีนี้ จะต้องรอติดตามข่าวสารว่าพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อใด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงให้ไปต่อใบอนุญาต โดยจะมีกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานที่ถูกตัดออกไปจำนวน 2 หมื่นแห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 8 หมื่นแห่ง เหลือเพียง 6 หมื่นแห่ง ที่ไม่ต้องมาขออนุญาตจากกรอ.แล้ว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

รู้จัก พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าใหม่

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าปรับปรุงใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ "พาณิชย์" หนุนเอกชนจดเครื่องหมายการค้าเสียง-เพิ่มโทษหนักจำคุก 4 ปี ปรับ 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแก้ปัญหาสินค้าปลอมทั้งสุรา น้ำมันเครื่อง แชมพูในบรรจุภัณฑ์จริง

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ที่ปรับปรุงใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.นี้ โดยสาระสำคัญการแก้ไข ได้ขยายการให้ความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายเสียง เพื่อให้สามารถรับจดทะเบียนเสียงเป็นเครื่องหมายการค้าได้ นอกเหนือจากเครื่องหมายการค้าที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาที่มีการจดทะเบียนอยู่ในปัจจุบัน  เช่น เสียงดนตรีจาการขายไอศกรีม เสียงเริ่มต้นรายการโทรทัศน์ เสียงเริ่มต้นรายการข่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถใช้เครื่องหมายเสียงในการส่งเสริมการตลาดและเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้า

พร้อมทั้งยังกำหนดบทลงโทษสำหรับการนำหีบห่อหรือภาชนะที่แสดงเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ มาใช้บรรจุสินค้าของตนเองหรือบุคคลอื่น เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น

ทั้งนี้ พบว่าที่ผ่านมามีการระบาดของการนำสินค้าปลอมมาบรรจุในขวดหรือหีบห่อของแบรนด์สินค้าแท้ เช่น สุรา น้ำมันเครื่อง แชมพู รวมถึงผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยผู้ที่กระทำผิดจะมีโทษ

ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 คือโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นการเพิ่มโทษจากเดิมที่จะใช้กฎหมายอาญาในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังสามารถไกล่เกลี่ยยอมความได้

"การใช้กฎหมายฉบับใหม่ ถือเป็นการดูแลผู้บริโภค ซึ่งพบว่ามีการระบาดของการจำหน่ายสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก เช่น เหล้า ล่าสุดตำรวจก็ได้ดำเนินการจับกุมแหล่งผลิตปลอมแปลงเหล้าไป 2,000 ขวด โดยยี่ห้อที่มักถูกปลอมแปลงคือแบล็ก เลเบิ้ล และเรด เลเบิ้ล ส่วนไวน์ก็มีการปลอมแปลงโดยนำไวน์ Bin 2 มาติดฉลากเป็น Bin 389 เพื่อให้ขายได้ราคาสูงขึ้น เป็นต้น ดังนั้นเชื่อว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นการป้องปรามและทำการปลอมแปลงหีบห่อสินค้าลดลง" นางนันทวัลย์กล่าว

นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้มีความชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้นรวมทั้งการลดขั้นตอน การวินิจฉัยอุทธรณ์จาก 90 วัน เหลือ 60 วัน และการปรับปรุงค่าธรรมเนียมท้ายกฎหมายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวทุกรายการ เช่น ค่าธรรมเนียมคำคัดค้านเดิมฉบับละ 1,000 บาท เป็นฉบับละ 2,000 บาท

และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าภายใต้พิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไทยในการยื่นจดเครื่องหมายการค้า ไปยังสมาชิกอีก 97 ประเทศ โดยหลังจากนี้กรมจะเร่งออกพระราชกฤษฏีกา เพื่อบังคับใช้ต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สมคิดมุ่งไทยศูนย์กลางอาเซียนเชื่อมโยงขนส่ง

"รองนายกฯสมคิด" มุ่งไทยศูนย์กลางอาเซียนที่แท้จริง เชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง หวังดึงลงทุนต่างประเทศ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างเมกะโปรเจกต์ ขับเคลื่อนประเทศ ในโอกาสครบรอบ 63 ปี นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้จะต้องปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สร้างการเติบโตและความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งเน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนที่แท้จริง เกิดการเชื่อมโยงด้านคมนาคมและขนส่งในภูมิภาคอย่างสะดวก ซึ่งเมื่อภาครัฐเกิดการลงทุน จะหนุนความเชื่อมั่นภาคเอกชนเกิดการลงทุนตามมา

พร้อมทั้งจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ โดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาพัฒนาการออกแบบ สร้างมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งหากประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ นักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาเป็นพันธมิตรลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างภาษีนั้นจะมีการออกกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ, พ.ร.บ.วินัยการคลัง โดยรัฐบาลพยายามเดินหน้าให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และหากถามว่ารัฐบาลมีผลงาน ได้ผลมากน้อยเพียงใด ควรปล่อยให้อนาคตเป็นตัวตัดสิน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมาทะเลาะกันในนี้  โดยอุปสรรคสำคัญที่สุด คือ ความเชื่อถือในสังคม ไม่มียุดไหนอีกแล้วในประเทศไทย ที่ ความเชื่อถือในสังคมจะต่ำสุดเท่ากับสมัยนี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

จับตาศก.ไทยครึ่งปีหลังโตต่ำ3%-ภัทรฯชี้ซึมทั่วโลก

จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโตต่ำ 3% หวั่นปัจจัยเศรษฐกิจโลกกดดันส่งออก ฉุดการลงทุนภาคเอกชนไม่ขยับ เผยไม่มีปัจจัยบวกนอกจาก "ลงทุนรัฐ" ภัทรฯยอมรับเศรษฐกิจเป็นรูปตัว "L" ทุกฝ่ายประสานเสียง "กนง.-เฟด" คงดอกเบี้ยนโยบาย

GDP ครึ่งหลังใกล้ 3%

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตในระดับที่ใกล้เคียง 3% เนื่องจากประเมินว่าปัจจัยด้านการส่งออกจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทย ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งเศรษฐกิจจีนและยุโรปที่ประสบปัญหา ทำให้ครึ่งปีหลังหวังพึ่งได้แต่การลงทุนภาครัฐเข้ามาหนุนเศรษฐกิจเท่านั้น

"สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าไม่ชัดเจน ไม่แย่มาก แต่ก็ไม่คลี่คลาย ซึ่งคาดว่าเฟดคงยืนยันคำพูดแบบเดิมว่า รอดูเศรษฐกิจให้ทยอยฟื้นตัวก่อน คิดว่าคำพูดไม่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก และหากเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้" นายเชาว์กล่าว

ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26- 27 ก.ค.นี้ มีโอกาส 90% ที่เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากต้องรอดูประเด็นปัญหาเศรษฐกิจของยุโรป จากกรณี Brexit ที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาด รวมถึงอาจรอตัวเลขทางเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มเติม โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ เชื่อว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% เนื่องจากแรงผลักดันจากภาคเศรษฐกิจที่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้ดี เพราะภาคการท่องเที่ยวยังสามารถโตได้ อีกทั้งงบประมาณภาครัฐที่จะทยอยออกมาต่อเนื่องจากการประมูลต่าง ๆ ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวเท่ากับไตรมาส 1 ที่ 3.2%

ห่วงลงทุนภาคเอกชนชะลอ

นางสาวถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ไว้ที่ระดับ 3% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่เติบโตดี แม้ในช่วงต้นไตรมาสจะมีปัจจัยภาวะภัยแล้งกดดันอยู่บ้าง และคาดว่าภาพรวมปีนี้จะเติบโตที่ 2.8% โดยเศรษฐกิจมีทิศทางทรงตัวค่อนไปทางซึมตัว

อีกทั้งยังน่าห่วงในเรื่องการลงทุนภาคเอกชน เพราะยังมีแรงส่งต่อเศรษฐกิจน้อยมาก เนื่องจากกำลังการผลิตของภาคเอกชนยังเหลืออยู่มาก ขณะที่การส่งออกยังติดลบ แม้จะติดลบลดลง แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้ และทำให้ปีนี้ทั้งปีการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังคงโตต่ำ จากปีที่ผ่านมาเติบโตที่ระดับ 2.1%

"เศรษฐกิจปีนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกที่ทำให้ตื่นเต้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลง จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเป็นตัวแอล (L) เพราะยังหาจุดที่จะทำให้เกิดการขยายตัวไม่เจอ ในเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกก็ซึมตัวเป็นตัวแอลเหมือนกัน และเศรษฐกิจไทยยังต้องมาจากการส่งออก ส่วนจะซึมอีกนานแค่ไหน ก็ต้องดูว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแข็งแกร่งเมื่อไร" นางสาวถนอมศรีกล่าว

ภาคผลิตกดดัน ศก.ครึ่งปีหลัง

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาช่วงครึ่งปีหลังได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้น ถ้ากลุ่มนี้ไม่โตและค้างชำระหนี้ ก็จะส่งผลต่อการจ้างงานและกำลังซื้อภายในประเทศที่จะซบเซาลง ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกจุดที่ต้องจับตา เนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่มีอัตราจ้างงานปรับตัวลดลง สะท้อนว่าดีมานด์ในประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ

ส่วนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค. นางสาวถนอมศรีกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ แต่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นในระยะยาว หากผลประชามติออกมาว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือถ้าประชามติผ่าน ก็จะทำให้กรอบระยะเวลาทางการเมืองเดินไปตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งในระหว่างนี้นักลงทุนก็จะรอดูไทม์ไลน์และรอความชัดเจน

นางสาวถนอมศรีกล่าวว่า การประชุมเฟดในสัปดาห์นี้น่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่ก็ยังคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยในครึ่งปีหลังจะมีธนาคารกลางถึง 3 แห่งได้แก่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น ลดดอกเบี้ย เพิ่มการซื้อพันธบัตร ขณะที่เฟดยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ผลที่เกิดขึ้นคือตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทยก็จะดีขึ้น และเงินไหลเข้าโดยเฉพาะในตลาดบอนด์

รวมทั้งคาดว่าการประชุม กนง.ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อไป และจะอยู่ระดับนี้ไปถึงสิ้นปี เนื่องจาก กนง.พูดมาตลอดว่า มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและต้องรักษากระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น หากการขึ้นดอกเบี้ยเฟดเลื่อนเวลาออกไป การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ก็จะทอดเวลาออกไปตาม

เก็บกระสุนรับมือสงครามค่าเงิน

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ แต่จะปรับขึ้นในเดือนธันวาคมเช่นกัน รวมทั้งเชื่อว่าการประชุม กนง.ต้นเดือน ส.ค. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมต่อไป ซึ่งไม่ใช่แค่ปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องแรงกดดันของธนาคารกลางหลายประเทศ เช่น Fed, ECB และ BOJ ที่จะมีการจัดประชุมช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทำให้การเก็บกระสุนเพื่อรองรับสงครามค่าเงินกลายเป็นปัจจัยสำคัญของ กนง.

ขณะที่มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 อยู่ที่ประมาณ 2.7-2.8% ลดลงจากไตรมาสแรกที่โต 3.2% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอตัว สำหรับครึ่งปีหลังคาดว่าจีดีพีเท่าเดิมที่ 2.7% จากปัจจัยลบเชิงโครงสร้างทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ และปัญหาของ SMEs รายย่อย รวมถึงปัจจัยต่างประเทศจากจีน ที่หากมีปัญหาจะกระทบด้านการส่งออกและปริมาณนักท่องเที่ยว

ปัจจัยบวกหนึ่งเดียวที่จะผลักดันเศรษฐกิจโตได้ คือ นโยบายด้านการคลัง ที่จะมาเป็นพระเอกแทนการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากปีที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายทางการเงินของ ธปท.ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ไทยน้ำทิพย์โต้ขึ้นราคาน้ำอัดลม

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ขอชี้แจงว่าเรื่องขึ้นราคาสินค้าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และยืนยันว่าบริษัทฯ ไม่ได้ทำการขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทมีผลิตภัณฑ์ในขนาดบรรจุภัณฑ์และราคาที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่องทางที่แตกต่างกัน โดยในกรณีที่เป็นข่าวซึ่งมีการอ้างอิงถึงผลิตภัณฑ์ชนิดกระป๋องของบริษัทฯ ว่ามีการขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 12 บาท นั้น แท้จริงแล้ว บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ชนิดกระป๋องจำหน่ายทั้งสองราคา กล่าวคือ กระป๋องขนาด 240 ซีซี. จำหน่ายในราคา 10 บาท และกระป๋องขนาด 245 ซีซี. จำหน่ายในราคา 12 บาท โดยกระป๋องขนาด 240 ซีซี. มีวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2555 ในขณะที่กระป๋องขนาด 245 ซีซี. มีวางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2557 ผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดมีการจดทะเบียนก่อนวางจำหน่ายทั้งกับกรมการค้าภายใน และกรมสรรพสามิตอย่างชัดเจนโดยมีหลักฐานเอกสารที่ตรวจสอบได้ชัดเจน

นายธงชัย ศิริธร ผู้อำนวยการกิจกรรมสังคมและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า การมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในแต่ละช่องทางนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่ม ไทยน้ำทิพย์เองก็ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการเจ้าเดียวที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์และราคาในช่วงดังกล่าว ส่วนกรณีที่กรมการค้าภายในแจ้งว่ามีผู้ประกอบการขอขึ้นราคานั้น อันที่จริงแล้ว น้ำอัดลม ไม่ได้เป็นสินค้าที่รัฐควบคุมซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขออนุมัติกรมฯ ก่อนขึ้นราคา แต่เป็นการที่กรมฯ ขอความร่วมมือมาที่ผู้ประกอบการในการตรึงราคาเพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ซึ่งไทยน้ำทิพย์ก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แน่นอนว่า บริษัทฯ อาจต้องมีการปรึกษาหารือทางกรมฯ เรื่องราคาในบางครั้ง เมื่อมีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติของผู้ประกอบการเครื่องดื่มแทบทุกรายที่ต้องแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

'รมว.อุตฯ'สั่ง'สอน.' ศึกษาลอยตัวราคาน้ำตาลทราย

"รมว.อุตสาหกรรม" สั่ง "สอน." ศึกษาแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทราย หลังหารือกระทรวงพาณิชย์ แล้วไม่ขัดข้อง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีระดับราคาน้ำตาลทรายคงที่ จนถูกมองว่านำรายได้จากการขายในประเทศที่ราคาสูงกว่านำไปอุดหนุนการส่งออก ดังนั้น ในโอกาสที่ระดับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากที่อยู่ในระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์ พ้นจุดต่ำสุด และปีนี้คาดว่าจะปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้โอกาสนี้ในการเดินหน้านโยบายลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลทรายในประเทศสอดคล้องกับระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกมากขึ้น จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งศึกษาในเรื่องนี้แล้ว ในอดีตกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวนโยบายที่จะลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้จากการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องนี้ ดังนั้น นโยบายนี้จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยด้วย

สำหรับนโยบายลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่จะมีขึ้นในอนาคต จะเป็นการลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ โดยมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลเสถียรภาพราคาน้ำตาลทรายในประเทศ โดยมีช่วงที่ระดับราคาน้ำตาลทรายอยู่ในระดับสูงก็จะเก็บเงินเข้ากองทุน โดยจัดสรรสำหรับใช้ในด้านการวิจัยและพัฒนา และช่วยดูแลชาวไร่อ้อยในช่วงที่ระดับราคาน้ำตาลทรายในประเทศตกต่ำ ซึ่งถือเป็นการช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ไม่ต้องพึ่งการเก็บเงิน 5 บาทต่อกิโลกรัมจากการเพิ่มราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่เก็บจากราคาขายน้ำตาลทรายให้กับผู้บริโภค และไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาดูแล ชาวไร่อ้อยในช่วงราคาอ้อยตกต่ำอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

บอร์ดน้ำตาลบุรีรัมย์อนุมัติจัดตั้งกองทุนสร้างโรงไฟฟ้า

บอร์ดน้ำตาลบุรีรัมย์อนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า หวังนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายกิจการโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่

             27ก.ค.2559 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติ การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) โดยจะโอนสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของทั้ง 2 บริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ กำหนดวันจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ

             สำหรับ ธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ผลิตจากกากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดย กฟภ.ตกลงรับซื้อปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานโดย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นรูปแบบ FiT Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาทต่อหน่วย และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน

             ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีเป้าหมายเพื่อนำเงินทุนที่ได้รับไปใช้ใน การลงทุนขยายธุรกิจโรงงานน้ำตาลทราย ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่จำนวน 2 โรงได้แก่ ที่อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์และ ที่อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ กำลังการผลิตหีบอ้อยโรงงานละ 2 หมื่นตันอ้อย/วัน/โรง ซึ่งจะใช้โมเดลธุรกิจรูปแบบเดียวกับที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านไร่ การยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชน การผลิตน้ำตาลทรายและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล และที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผนคือ โครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย หรือ Refinery เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูง ที่ช่วยเพิ่มยอดขายต่อหน่วยได้สูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ มีผลให้รายได้จากการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทรายของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่จะสูงขึ้นในอนาคต

             โดยหลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว บริษัทฯ จะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน และบริษัทฯ ยังจะได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน

             “การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมของบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย และการขยายธุรกิจต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัทฯ ในอนาคต อีกทั้งการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในครั้งนี้ จะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาวที่น่าสนใจจากการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น” นายอนันต์ กล่าว

             นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าของกลุ่ม บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ ในครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาวะตลาดที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ โดยผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์ภาษีของกองทุนตามประเภท เช่น นักลงทุนบุคคลจะได้รับผลตอบแทนเต็มที่โดยยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายถึง 10 ปี ตามสภาวะปัจจุบัน มูลค่าของกองทุนฯจะมีโอกาสสูงที่มีมูลค่ากองทุนสูงกว่ามูลค่าขั้นต่ำนี้ ทั้งนี้มูลค่าสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับกระบวนการกำหนดราคาด้วยระบบ Book-Building ในช่วงเวลาเตรียมการเสนอขายซึ่งจะไม่ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ 3,600 ล้านบาทตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

จับตาประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน2-6 ส.ค.ที่ลาว ผลักดันเปิดความตกลงหุ้นส่วนฯเดียว

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2559 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (เออีเอ็ม) มีกำหนดพบกันที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อหารือร่วมผลักดันแผนงานของอาเซียนและการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้มีความคืบหน้าและสรุปผลได้ในปีนี้  ซึ่งเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปลายปี 25598

โดยเออีเอ็มจะร่วมกันกำหนดแผนงานใน 10 ปีข้างหน้า และรับรองเอกสารสำคัญ 21 ฉบับ เช่น การรับรองแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจช่วง 10 ปี การรับรองกรอบการตรวจสอบและประเมินผลตามแผนปฎิบัติการปี 2025 การรับรองเรื่องที่ลาว ซึ่งเป็นประธานอาเซียนปีนี้ให้ความสำคัญอันดับต้น เรื่องแนวทางความร่วมมือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การควบคุมดูแลความปลอดภัยของอาหาร การขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการจัดตั้งธุรกิจ และการพัฒนาและความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนี้ เออีเอ็ม จะรับรองเอกสารร่วมกับประเทศนอกอาเซียนด้วย ได้แก่ แถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ขอบเขตการทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความร่วมมือด้านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านความโปร่งใสและข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบระหว่างอาเซียน-สหรัฐอเมริกา การเปิดตัวระบบ Tariff Finder ซึ่งเป็นระบบค้นหาข้อมูลภาษีของประเทศในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งการเปิดตัวระบบ ASEAN Solutions and Settlements for Investments, Services and Trade (ASSIST) ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในอาเซียนสามารถสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯเตรียมปล่อยน้ำจากเขื่อนแควน้อย-ป่าสักฯเพิ่มหลังน้ำเริ่มมากเพาะปลูกขยายตัวเร็ว

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เตรียมเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากปัจจุบันมีปริมาณการระบาย 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และ 7 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ตามลำดับ เนื่องจากน้ำในเขื่อนมีปริมาณค่อนข้างจะมากจากฝนที่ตกลงมาเป็นระยะในช่วงนี้ และพบว่าพื้นที่การเพาะปลูกพืชในเขตพื้นที่ชลประทานในสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านกว่าไร่ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่เพาะปลูก 6.8 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกพืชลุ่มเจ้าพระยาในสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5- 3.6 ล้านไร่ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามี 2.8 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม กรมฯจะยังไม่เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ และอาจจะลดการระบายน้ำลงอีก จากปัจจุบันมีระดับการระบาย 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และ 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ตามลำดับ

“สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปัจจุบัน (27 กรกฎาคม 2559) มีปริมาตรน้ำในอ่างรวม 8,957 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36% ของความจุอ่างทั้งหมด มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,261 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถรับน้ำได้อีก 15,914 ล้าน ลบ.ม. โดยภาพรวมปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556-58 เนื่องจากภาพรวมฝนปีนี้ค่อนข้างดี มามากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เพิ่มขึ้นแล้ว” นายสุเทพกล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ตลาดจับตาดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 27 กรกฎาคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.98/35.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (26/7) ที่ระดับ 35.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าเมื่อคืนวาน (26/7) สหรัฐได้มีการเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board) ประจำเดือนกรกฎาคมออกมาสูงเกินคาดอยู่ที่ระดับ 97.3 มารกกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 96.0 อีกทั้งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้มีการเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 592,000 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 และเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6% สู่ระดับ 560,000 ล้านยูนิต แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมาร์กิตได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการชั้นต้นประจำเดือนกรกฎาคมออกมาลดลงเกินคาดอยู่ที่ระดับ 50.9 จากระดับ 51.4 ในเดือนมิถุนายน และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 52.0 ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูแถลงการผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีขึ้นในเวลา 01.00 น. วันนี้ (27/7) ตามเวลาในประเทศไทย โดยคาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ เพิ่มเติม แต่ยังคงจับตาดูแนวโน้มในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐว่าจะมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้เมื่อใด

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าประจำเดือนมิถุนายน 2559 โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,146 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.1% จากเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัว -1.5% ถึง -2.6% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,181 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -10.1% จากเดือนพฤษภาคม ซึ่งหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์ไว้ว่าจะหดตัว -8.90% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยประจำเดือนมิถุนายนออกมาเกินดุล 1,965 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดียังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.98-35.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.98/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.0992/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (26/7) ที่ระดับ 1.1009/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวันนี้สถาบัน GfK ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีประจำเดือนสิงหาคมออกมาอยู่ที่ระดับ 10.0 ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอยู่ที่ระดับ 9.9 และสำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศสได้มีการเปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของฝรั่งเศสประจำเดือนกรกฎาคมออกมาลดลงสู่ระดับ 96 ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คารดการณ์ไว้ จากระดับ 97 ในเดือนมิถุนายน โดยทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง  1.0982-1.1004 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1000/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 105.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร  (26/7) ที่ระดับ 104.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ของนักลงทุนต่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่จะมีขึ้นในการประชุมวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ ซึ่งนักลงทุนต่างมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น และการเพิ่มขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นจะมีการระดมเม็ดเงินกว่า 28 ล้านล้านเยนมาใช้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 20 ล้านล้านเยน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะรวมถึงมาตรการทางการคลังขนาด 13 ล้านล้านเยน ซึ่งจะครอบคลุมถึงรายจ่ายของรัฐบาลระดับประเทศและระดับท้องถิ่น รวมถึงโครงการสินเชื่อด้วย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 104.63-106.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 105.50/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (27/7), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (27/7), ยอดสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (27/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมของยูโรโซน (28/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +2.4/2.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.25/+3.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ยืนยัน! น้ำอัดลมไม่มีการปรับขึ้นราคา

กรมการค้าภายในได้รับการยืนยันจากผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ว่าในขณะนี้ไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำอัดลมแต่อย่างใด โดยราคาที่มีการนำเสนอข่าวเป็นราคาเดิมที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2556 ที่มีการปรับลดขนาดและราคา

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวว่ามีร้านค้าร้องเรียนว่าสินค้าน้ำอัดลมชนิดบรรจุกระป๋องมีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายจาก 10 บาท เป็น 12 บาท หรือเพิ่มขึ้นกระป๋องละ 2 บาท นั้น กรมการค้าภายในได้มีการประสานกับผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด (ตราโค้ก) บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (ตราเป๊ปซี่) และบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) (ตราเอส) ได้รับการยืนยันว่า ในขณะนี้ไม่มีการปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำอัดลม รวมทั้งผู้ผลิตไม่มีการขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายแต่อย่างใด

สำหรับราคาน้ำอัดลมตามที่มีการนำเสนอข่าวนั้น เป็นราคาเดิมที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2556 แต่เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันกันสูง จึงมีการปรับลดขนาดจาก 325 มล. ที่มีราคาจำหน่ายกระป๋องละ 15 บาท เป็นขนาด 245 มล. และปรับลดราคาจำหน่ายเป็นกระป๋องละ 12 บาท และมีบางรสชาติปรับลดขนาดเหลือ 240 มล. และจำหน่ายในราคากระป๋องละ 10 บาท เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะกับความต้องการดื่มในปริมาณที่ลดลง และทำให้ผู้บริโภคจ่ายน้อยลงด้วย โดยราคาจำหน่ายที่ปรับลดขนาดสอดคล้องกับปริมาณที่ลดลง

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้มีการกำกับดูแลสินค้าน้ำอัดลม ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ติดตามดูแล 205 รายการ ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน และกรมการค้าภายในจะมีการพิจารณาราคาที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับต้นทุน หากไม่มีเหตุผลที่สมควรก็จะไม่พิจารณาให้มีการปรับขึ้นราคาจำหน่าย

อธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนพบว่าร้านค้าใดมีการปรับราคาจำหน่ายน้ำอัดลมสูงขึ้น ขอให้แจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งกรมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตามข้อร้องเรียน และหากพบว่ามีการจำหน่ายสูงเกินสมควรจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

‘วังขนาย’ขยายการเรียนรู้สู่ชัยนาท รับ นศ.อาชีวะเข้าร่วมเรียนแบบทวิภาคี

นายธิป โรจนกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มวังขนายผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิครายเดียวของประเทศไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท เพื่อเร่งสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า นโยบายด้านการศึกษาของกลุ่มวังขนายคือต้องการให้พนักงานมีการพัฒนาความรู้และมีวุฒิการศึกษา เพื่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ กลุ่มวังขนายจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในพื้นที่ของโรงงานน้ำตาล พร้อมยังเปิดโอกาสให้กับบุตรหลานพนักงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตลอดจนเยาวชนทั่วไปที่มีความสนใจ ได้มีโอกาสทางการศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาเกษตรกรรม และประเภทวิชาอุตสาหกรรม โดยในปีการศึกษา 2558 นี้ได้ รับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 70 คน เน้นการถ่ายทอดความรู้จากสถานศึกษาและเรียนรู้ ฝึกฝนจากสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยเฉพาะการจัดทำแปลงสาธิตเกษตรด้านอ้อยอินทรีย์ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้เข้าเรียนจะได้รับการสนับสนุนด้านสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก และสวัสดิการอื่นๆ ในระหว่างการฝึกงาน และสนับสนุนค่าลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียนทั้งระดับ ปวช. และระดับ ปวส. ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของนักศึกษาและยังเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างแรงงานฝีมือที่พร้อมแข่งขันในระดับ ASEAN ได้อีกด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ระวัง"ด้วงหนวดยาว"ระบาดไร่อ้อย!!

เกษตรราชบุรีจัดรณรงค์ป้องกันและกำจัดด้วงหนวดยาว หลังระบาดหนักในไร่อ้อย

      เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 กรกฏาคม 2559 นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี ได้มาเป็นประธานในการเปิดงาน วันรณรงค์ป้องกันและกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยโดยวิธีผสมผสาน โดยมีนายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอจอมบึง และนายพินิจ เจริญเร็ว เกษตรจ.ราชบุรี มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน ที่บริเวณศาลาเอนกประสงค์วัดแก้มอ้น ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยมีเกษตรกรในพื้นที่และใกล้เคียงมาร่วมงานในวันนี้จำนวนมาก

            สำหรับพื้นที่ภาคตะวันตก มีพื้นที่ปลูกอ้อย รวม 1,888,204 ไร่ ผลผลิตที่ผ่านมา 11,045,466 ตัน เฉลี่ยไร่ 12.78 ตันต่อไร่ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา เกิดสภาวะฝนแล้งเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดด้วงหนวดยาวระบาดหนักในไร่อ้อย โดยด้วงหนวดยาว จะเข้าไปกัดกินโคนต้นในส่วนที่เป็นเหง้าทำให้ต้นอ้อยแห้งตาย ทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

            ทางสำนักงานเกษตร จ.ราชบุรี จึงได้จัดงานรณรงค์ป้องกันและกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยโดยวิธีผสมผสาน เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันด้วงหนวดยาวอ้อย ให้กับเกษตรกรที่ปลูกอ้อย เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดที่หนักไปกว่านี้ ซึ่งมีทั้งวิธีการใช้เชื้อราเมตตาไรเซี่ยม กำจัดตัวอ่อนของด้วง การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง

            นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี ได้สาธิตวิธีการฉีดยาพ่นในไร่อ้อย การนำตัวอ่อนของด้วงมาประกอบอาหาร ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรของด้วงหนวดยาวไม่ให้มีการแพร่พันธุ์และระบาดต่อไป โดยแบ่งเป็น 5 ฐานการเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและกำจัดด้วงหนวดยาวในไร่อ้อยและถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับให้กับเกษตรกรรายอื่นที่ไม่ได้มาเข้าร่วมในกิจกรรมวันนี้ได้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ปลดล็อกตั้งรง.107ประเภทเครื่องจักรไม่เกิน50แรงม้าไม่ต้องขออนุญาต/ช่วยลดต้นทุน 

          รัฐบาลปลดล็อกโรงงาน 107 ประเภทกิจการไม่ต้องขอใบประกอบการรง.4 หากใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน คาดกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับไม่เกินสิ้นปีนี้ กรอ.ชี้ช่วยสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และลดภาระต้นทุน ส่งผลให้มีโรงงานที่ไม่ต้องมาต่อใบอนุญาตหายไป 2 หมื่นแห่ง

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงงาน พ.ศ. .ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

          โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เป็นการแก้ไขนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมการประกอบกิจการโรงงานต้องมีเครื่องจักรขนาด 5 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 5 คน เปลี่ยนเป็นการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีขนาดเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 50 คน ถึงจะเข้าข่ายเป็นโรงงาน ซึ่งจะต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือใบ รง.4  และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรอ. ส่วนโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า จะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กำกับดูแล เพื่อติดตามดูแลโรงงานในท้องถิ่น ภายใต้พ.ร.บ.สาธารณสุข ที่จะควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับได้ไม่น่าจะเกินสิ้นปีนี้

          ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรงงาน เนื่องจากเห็นว่าการขออนุญาตตั้งโรงงาน ถือเป็นต้นทุนในการประกอบการ และทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำธุรกิจ เมื่อมีการแก้ไขแล้วจะช่วยให้โรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยไม่ต้องมาขออนุญาต เป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ ในการช่วยผู้ประกอบการรายเล็กลดอุปสรรคการดำเนินงาน และช่วยให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดบทบาทของกรอ.ในการกำกับดูแลมาเป็นผู้ส่งเสริมมากขึ้น

          นายมงคล กล่าวอีกว่า ส่วนกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน จะครอบคลุมอยู่ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 107 ประเภท ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเภทโรงงานใดที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 จากกรอ. ยกตัวอย่างกรณีอู่ซ่อมรถ ยนต์ต่างๆ กำหนดไว้ให้โรงงานทุกขนาดจะต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 กับกรอ.ก่อนถึงจะตั้งโรงงานได้

          แต่หากอู่ซ่อมรถดังกล่าวใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาต แต่หากใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ต้องมาขออนุญาตตั้งโรงงานอยู่ดี หรือกรณีของห้องเย็นที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ที่มีไว้สำหรับแช่อาหารสด ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน แต่หากเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมแช่แข็ง ยังถือว่าเป็นโรงงานอยู่ หรือแม้แต่กิจการซักอบรีดเสื้อผ้าที่อยู่ตามห้องแถวหรือคอนโดมิเนียม มีขนาดเล็กจะไม่เข้าข่าย ในขณะที่กิจการซักอบรีดที่มีกิจการขนาดใหญ่ ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงาน

          ดังนั้น การที่จะเข้าข่ายเป็นโรงงานหรือไม่เป็นโรงงานนั้น จะพิจารณาจากขนาดของเครื่องจักรเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้ขึ้นกับประเภทของโรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ใหม่ ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจที่จะลงนามประกาศประเภทโรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าได้ หากเห็นว่าประเภทโรงงานนั้น ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ

          ทั้งนี้ อยากจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสิ้นสุดลงในปีนี้ จะต้องรอติดตามข่าวสารว่าพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อใด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงให้ไปต่อใบอนุญาต โดยจะมีกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานที่ถูกตัดออกไปจำนวน 2 หมื่นแห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 8 หมื่นแห่ง เหลือเพียง 6 หมื่นแห่ง ที่ไม่ต้องมาขออนุญาตจากกรอ.แล้ว

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กระทรวงเกษตรเดินหน้า น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้

                    นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้กิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ จัดกิจกรรมงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ ภายใต้กิจกรรมเดินตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง” ขึ้น    

       นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้กิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้ ณ ห้องประชุม 3 อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนา   และถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ กรม  ส่งเสริมสหกรณ์ เขตดุสิต กรุงเทพมหานครเมื่อวันก่อน ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้        จัดกิจกรรมงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความ    รู้ ภายใต้กิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้   (CoP) เรื่อง “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมใจ เดินตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง” ขึ้น

     โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในการน้อมนำหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ เพื่อให้เกิดกระบวน  การเรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมถึงเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การ   ทำงานจากผู้บริหาร ข้าราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ พร้อมกันนี้ได้รณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ ได้ดำรงชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

   ทั้งนี้ จากสภาวการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาประเทศให้เกิดประสิทธิภาพต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคน โดยทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญและกำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา

   นอกจากนี้ยังได้มุ่งเน้นให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผลประโยชน์จากการพัฒนาเพื่อให้ประเทศก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ได้ตระหนักถึงความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกร จึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการปฏิบัติในการส่งเสริมสนับสนุนงานด้านการเกษตร  และเริ่มต้นที่งานของส่วนราชการ โดยเน้นการบริหารจัดการแบบการมีส่วนร่วม การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เกษตรกรตามความต้องการ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิสังคม โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

   ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า

อยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 โดยรณรงค์ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่       ในสังกัดดำรงชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งนำมาประยุกต์     ใช้ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมในการส่งเสริมให้บุคลากรของกระทรวงฯ นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงาน

  “เป็นที่คาดหวังกันว่าจะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนัก งานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงานต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง” นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 กรกฎาคม 2559

เงินบาทเปิด 34.99 แข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 34.99 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่า คาดวันนี้เคลื่อนไหวกรอบ 34.95-35.05 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.99 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ 35.02 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน

"บาทแข็งค่าจากเย็นวานนี้เล็กน้อย ขณะที่ภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน รอดูผลประชุม FOMC คืนนี้ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร" นักบริหารเงิน กล่าว

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ประเมินไว้ระหว่าง 34.95-35.05 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้บาทน่าจะแกว่งตัวแคบๆ ในกรอบ รอปัจจัยใหม่เข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 กรกฎาคม 2559

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ SIMA ASEAN Thailand 2016 ระหว่าง 8 - 10 ก.ย. 59 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี 

          กระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ SIMA ASEAN Thailand 2016 ระหว่าง 8 - 10 ก.ย. 59 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมขนทัพโชว์ผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิตที่โดดเด่น ส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทย พร้อมเป็นช่องทางเจรจาธุรกิจของ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หวังสร้างโอกาสขยายเครือข่ายธุรกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียน

          นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือการเปิดเสรีทางการค้า ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารไทยเคลื่อนย้ายผ่านกลไกการขนส่งได้อย่างเสรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมให้เพิ่มขึ้น ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปีละหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเกษตรกรยังมีความเชี่ยวชาญในการผลิต เนื่องจากทำเกษตรกรรมมาเป็นเวลานาน ประกอบกับมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการแปรรูปของผู้แปรรูปสินค้าเกษตร ส่งผลให้ไทยสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรของไทยยังต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อภาคการผลิต โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และส่งเสริมการลดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น แรงงาน เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลกได้

          ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกร และสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน SIMA ASEAN Thailand2016 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยร่วมจัดแสดงผลงานเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร และปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกร และนักธุรกิจการเกษตร สามารถเลือกสรรเรียนรู้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพการผลิต รวมทั้งเป็นช่องทางในการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ที่ปรึกษาองค์กรภาครัฐ และเอกชน ตลอดทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ของเกษตรกรไทยและสร้างโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียน

          สำหรับผลงานเทคโนโลยีของกระทรวงเกษตรฯ ที่เข้าร่วมการจัดงานดังกล่าวนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่ 378 ตารางเมตร พร้อมทั้งนำผลงานไฮไลท์ของกรมในสังกัดทั้ง 4กรม ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ดังนี้

          กรมวิชาการเกษตร จัดแสดงเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 3 เครื่อง ได้แก่

          1. เครื่องปลูกสับปะรดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ปลูกหน่อสับปะรดที่ช่วยลดการใช้แรงงานคน แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนการผลิตสับปะรด ความสามารถในการทำงาน0.63 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2.15 ลิตรต่อไร่ เปอร์เซ็นต์การปักหน่อ 96.05%

          2. เครื่องปลิดฝักข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เล็ก สามารถปลิดฝักข้าวโพดที่สูงกว่า 75 เซนติเมตร มีความสามารถในการทำงาน 2 - 3 ไร่ต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2 ลิตรต่อชั่วโมง โดยใช้คนทำงานเพียงแค่สองคน

          3. เครื่องหยอดปุ๋ยอ้อยแบบผสมแม่ปุ๋ยภายในตัวเองติดพ่วงรถแทรกเตอร์ ใช้สำหรับเกษตรกรไร่อ้อยที่ต้องการผสมปุ๋ยใช้เอง หรือใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยไม่ต้องผสมปุ๋ยก่อนนำมาใส่เครื่อง ทำให้ไม่เสียเวลา และประหยัดแรงงานในการผสมปุ๋ย

          กรมประมง จัดแสดงนิทรรศการ 2 ส่วน ได้แก่

          1.นิทรรศการแสดงระบบเชื่อมโยงคำขอกลางและระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เน็ตของกรมประมง Fisheries Single Window (FSW) ซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าประมง ยื่นคำขออนุญาต/คำรับรอง ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาต/ใบรับรอง ครอบคลุมสินค้าสัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ และวัตถุอันตรายทางการประมง ซึ่งเป็นการให้บริการในลักษณะเบ็ดเสร็จจากหน้าต่างบริการเดียว พร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลการอนุญาต/การรับรอง ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ไปยังกรมศุลกากร และรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลรับรองไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน

          2.นิทรรศการแสดงระบบระบุตำแหน่งเรือประมงไทย VMS (Vessel Monitoring System) หนึ่งในมาตรการที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา IUU ของไทย ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ทราบถึงโอกาสปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาระบบติดตามเรือของประเทศไทย อาทิ การเลือกใช้เทคโนโลยี VMS ที่เหมาะสมในเรือประมงแต่ละประเภท การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและคาดการณ์ด้านการประมง ทัศนคติและความตระหนักของชาวประมง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขประมง IUU ให้เรือประมงตามขนาดตันกรอสที่ทางราชการประกาศกำหนด ต้องติดอุปกรณ์ VMS ตามเวลาที่กำหนดและรายงานตำแหน่งอัตโนมัติทุก ๆ 1 ชั่วโมง

         กรมปศุสัตว์

          นิทรรศการจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารโคนมในการเลี้ยงโคนมยุคใหม่ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร กรมปศุสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ โดยเกษตรกรมีการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่มาใช้ในแปลงหญ้าขนาดใหญ่กว่า 1,200 ไร่ ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการเครื่องมือจักรกลการเกษตรในการเลี้ยงโคนมขนาดใหญ่ (Motor pool) เพื่อลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอาหาร และการใช้อาหาร TMR (Total Mixed Ration) ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพน้ำนมโค โดยสหกรณ์จะเป็นผู้รวบรวมน้ำนมดิบของสมาชิกไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม และจำหน่ายอย่างครบวงจร ซึ่ง ธ.ก.ส จะสนับสนุนวงเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับสหกรณ์แห่งละ 300 ล้านบาท

         กรมส่งเสริมการเกษตร

          จัดนิทรรศการส่งเสริมวิศวกรรมเกษตร ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่มีความทันสมัย สวยงามมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบด้วย

          1. ส่วนแลนมาร์ค (Exhibition Landmark) ตกแต่งด้วยผลผลิตพืชไร่ และไม้ประดับคุณภาพดี

          2. ส่วนนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

          ส่วนที่ 1 เทคโนโลยีการไถระเบิดดินดานในพื้นที่การปลูกพืชไร่ โดยการแสดงลักษณะดินดานและลักษณะการไถระเบิดดินดาน รวมถึงผลการไถระเบิดดินดานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดิน

          ส่วนที่ 2 การสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น โดยแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ข้อแนะนำการใช้และบำรุงรักษาเครื่องยนต์เกษตร และเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร โดยช่างเกษตรท้องถิ่นจากกรมส่งเสริมการเกษตร

          ส่วนที่ 3 ระบบให้น้ำเพื่อการเกษตร โดยการสาธิตระบบสูบน้ำและความเสียดทานในบ่อ สาธิตหัวปล่อยน้ำชนิดต่าง ๆ และคุณลักษณะของเทปน้ำหยด

          "กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งการเข้าร่วมจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2016 ในครั้งนี้ จะนำผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่เข้าชมงานได้รับทราบถึงประโยชน์ของเครื่องจักรกลการเกษตรที่หลากหลาย และเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการเกษตรของตนเอง ตลอดจนเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตเครื่องจักรกลเกษตรของไทยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรให้ดียิ่งขึ้น เกิดการเชื่อมโยงการผลิต การตลาด ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า รวมถึงเกษตรกรจะได้รับทราบถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน" นายศักดิ์ชัย กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : ปุ๋ยชีวภาพ วิธีผลิตและวิธีใช้

 คำตอบ ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช มาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ หรือทางชีวเคมี ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น

คุณสมบัติของจุลินทรีย์ในปุ๋ยชีวภาพพด.12 นักวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำ ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 ประเภท คือ

1.จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจน เป็นจุลินทรีย์ที่อยู่อย่างอิสระในดิน สามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนในอากาศ และเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแอมโมเนียมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยกิจกรรมเอนไซม์ ไนโตรจีเนส

2.จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัส เป็นจุลินทรีย์ที่สามารถผลิตกรดอินทรีย์ ปลดปล่อยออกมาละลายสารประกอบอนินทรีย์ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปไม่ละลาย เช่น หินฟอสเฟต ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดใช้ได้

3.จุลินทรีย์ที่ให้ธาตุโพแทสเซียม เป็นจุลินทรีย์ที่ปลดปล่อยกรดอินทรีย์ ช่วยละลายแร่ธาตุโพแทสเซียม เป็นองค์ประกอบในกลุ่มไมกา เช่น ไบโอไทต์ มัสโคไวต์ และกลุ่มของเฟลด์สปาร์ เช่น ไมโครไคลน์ออโทเคลส ให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

4.จุลินทรีย์ที่สร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือฮอร์โมนพืช เป็นฮอร์โมนที่แบคทีเรียสร้าง ได้แก่ ออกซินจิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน ช่วยกระตุ้นการเจริญของรากขนอ่อน และช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวราก ทำให้ความสามารถในการดูดน้ำและธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้น

5.เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่แยก และคัดเลือกได้จากบริเวณรากพืช

6.จุลินทรีย์สามารถเจริญที่อุณหภูมิระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส

7.จุลินทรีย์สามารถเจริญในสภาพที่มีความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 6-8

จุดเด่นของปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ช่วยเพิ่มไนโตรเจน เพิ่มการละลายได้ของหินฟอสเฟต15-45 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มการละลายได้ของโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ 10 เปอร์เซ็นต์ สร้างฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตของรากและต้นพืช และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหารของพืช

วิธีการขยายเชื้อปุ๋ยชีวภาพ พด.12 วัสดุสำหรับขยายเชื้อ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก 300 กิโลกรัมรำข้าว 3 กิโลกรัม ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง 100 กรัม มีขั้นตอนวิธีการขยายเชื้อ ดังนี้

1.ผสมปุ๋ยชีวภาพ พด.12 และรำข้าวในน้ำ 1 ปี๊บ หรือ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

2.รดสารละลายปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ลงบนกองปุ๋ยหมัก และคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับความชื้นให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยตรวจสอบความชื้นด้วยวิธีการกำปุ๋ยหมักเป็นก้อน และไม่มีน้ำไหลออกมาเมื่อคลายมือออกปุ๋ยหมักยังคงสภาพเป็นก้อนอยู่ได้

3.ตั้งกองปุ๋ยหมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้มีความสูง 50 เซนติเมตร และใช้วัสดุคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้น

4.กองปุ๋ยหมักไว้ในที่ร่มเป็นระยะเวลา 4 วัน แล้วจึงนำไปใช้

อัตราละวิธีการใช้ปุ๋ยหมัก

-ข้าว ให้ใช้อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่หว่านให้ทั่วพื้นที่ ในช่วงเตรียมดินปลูก

-พืชไร่ พืชผัก หญ้าอาหารสัตว์ ให้ใช้อัตรา 300 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน

-ไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ให้เตรียมหลุมปลูก ให้ใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อต้น ใส่โดยคลุกเคล้ากับดินรองไว้ก้นหลุม เมื่อพืชที่เจริญเติบโตแล้ว ให้ใส่รอบทรงพุ่ม หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม

ประโยชน์ของปุ๋ยชีวภาพ ช่วยสร้างความสมดุลของธาตุอาหารพืช และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย โดยช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในดิน ทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ 25-30 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ได้ในปริมาณน้อย ราคาถูก ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชให้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

ปรับทิศทางพืช-เครื่องจักร เป้าลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตเกษตรกร!

ก.เกษตร รุกปรับทิศทางวิจัย เน้นพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลัก พืชเเฉพาะท้องถิ่นให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ วางเป้าต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

         นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ บางส่วนใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม พันธุ์พืชยังมีจำกัด ทั้งยังมีการจัดการพื้นที่ไม่ถูกต้อง

         โดยในปีงบประมาณ 2560 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตามนโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งศึกษา วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาการผลิตพืชให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งพืชเศรษฐกิจหลัก พืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่หรือพืชท้องถิ่น

          ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงมอบหมายให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เร่งวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชท้องถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้ต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เพิ่มผลผลิต พร้อมแนวทางการลดต้นทุนผลิต

          "จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ"

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

ครม.อนุมัติ 300 ล้านหนุนเกษตรกรสร้างแหล่งน้ำสำรองยามฉุกเฉิน นำร้องขุดสระเก็บน้ำ100ไร่

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 เวลา 14.00 น. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอครม.พิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ยืมเงินจำนวน 300 ล้านบาท โดยจัดเก็บดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0 กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยอนุมัติเงินจ่ายขาด สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการจำนวน 2,997,500 บาท ซึ่งจากแนวคิดเดิมที่เกษตรกรต้องพึ่งพาระบบน้ำชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำการเกษตร

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า โดยนายกฯได้ให้แนวคิดในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในระดับไร่นาแบบใหม่ เน้นให้เกษตรกรแต่ละรายต้องพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ให้มีระบบสำรองน้ำเพื่อการเกษตรไว้ใช้ในเหตุฉุกเฉิน โดยเริ่มขุดสระกักเก็บน้ำในพื้นที่ ประมาณ 100 ไร่ ความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตรพร้อมอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ ท่อน้ำไว้ระบบน้ำหยด หรือพ่นละอองน้ำ งบเฉลี่ยแหล่งละ 50,000 บาทไว้ใช้ในไร่นา หรือขุดเจาะบ่อบาดาลงบเฉลี่ยแหล่งละ 50,000 บาทไว้ใช้ทดแทนน้ำชลประทานในบางช่วงที่เกิดการขาดแคลนน้ำ

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย คือ สถาบันเกษตรกรทั้งในเขตชลประทานและเขตรับน้ำฝนใน 50 จังหวัดประกอบด้วย สหกรณ์กลุ่มเกษตรกรจำนวน 100 แห่งมีสมาชิก 6,000 รายคิดเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่เป็นพื้นที่รับน้ำได้มากกว่า 60,000 ไร่ ทั้งนี้ใช้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 2559-2564 รวม 5 ปี ใช้งบกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรวงเงิน 302,997,500 บาท

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

น้ำอัดลมขึ้นราคา2 บาท อ้างน้ำตาลแพง-รัฐขึ้นภาษี

                    บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลมเนียน แจ้งร้านค้าขึ้นราคาขายอีก 2 บาท ทั้งขวดแก้วและขวดกระป๋อง จากเดิม 10 บาทเป็น 12 บาท อ้างน้ำตาลแพง รัฐขึ้นภาษีน้ำหวาน

                รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่ม ได้ร้องเรียนเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม ได้แจ้งปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำอัดลม ทั้งน้ำอัดลมขวดแก้ว และน้ำอัดลมกระป๋อง เพิ่มอีกขวดละ 2 บาท ทำให้ราคาขายปลีกเดิม จากขวดละ 10 บาท เป็น 12 บาท โดยอ้างว่า มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ที่ราคาสูงขึ้น อีกทั้งได้รับผลกระทบจากการที่กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษีกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล จึงต้องขอปรับราคาจำหน่ายให้สูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงอ้างว่า ได้เพิ่มปริมาณบรรจุให้มากขึ้นด้วย โดยแบบกระป๋องเพิ่มปริมาณจาก 240 มิลลิลิตร เป็น 245 มิลลิลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 มิลลิลิตร แต่แบบขวดแก้วยังปริมาตรสุทธิเท่าเดิม คือขวดละ 250 มิลลิลิตร

ทั้งนี้ น้ำอัดลม ถือเป็น 1 ในรายการสินค้าที่กรมการค้าภายในขึ้นเป็นบัญชีที่ต้องติดตามดูแล จากทั้งหมด 205 รายการ และปัจจุบันถูกกำหนดอยู่ในบัญชีต้องจับตามมอง (วอทช์ ลิสต์) ซึ่งเป็นบัญชีต่ำสุดในการติดตามดูแลภาวะราคาสินค้า โดยจะดำเนินการเพียงแค่ติดตาม และตรวจสอบสถานการณ์เป็นประจำทุก15 วัน รวมถึงตรวจสอบไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค

ด้านนายภานุวัตร  แตงงาม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย บริษัท อาเจไทย จำกัด  ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมแบรนด์บิ๊ก  กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีการปรับขึ้นราคาน้ำอัดรมทุกรส ทุกแบบ และยังไม่แนวโน้วที่จะปรับด้วย มีแต่แนวทางที่จะเพิ่มขนาดและจำหน่ายราคาเดิม ตามนโยบายของบริษัทที่จะจำหน่ายสินค้าที่คุ้มค่าคุ้มราคาสูงสุด เพราะมองว่าการขึ้นราคาจะทำให้การแข่งขันในตลาดยากมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาวัตถุดิบขณะนี้ก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำตาล ที่บริษัทยังคงซื้อได้ในราคาเดิม ในโควต้า ก สำหรับบริโภคในประเทศ  ไม่ได้มีการสั่งเพิ่มเติม

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีก-ส่งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นน้ำอัดลมยี่ห้อใดปรับขึ้นราคาเลย และไม่เคยทราบข่าวเรื่องการปรับขึ้นราคามาก่อนด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าในด้านของการแข่งขันไม่น่าการปรับขึ้นราคาในภาวะเศรษฐกิจ แบบนี้ เห็นได้จากตัวอย่างในตลาดชาเขียว ซึ่งใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ มีแต่จะแข่งขันกันลดราคา หรือปรับขนาดมากกว่า

รายงานข่าวจาก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเรื่องการปรับราคาและไม่ทราบว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวออกมา โดยในส่วนของบริษัทขอยืนยันยังไม่ได้แจ้งขึ้นราคากับร้านค้าเลย ในสินค้าทุกรูปแบบที่จำหน่าย

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีน้ำหวาน เนื่องจากภาษีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป โดยการปรับขึ้นของราคานั้น คงต้องดูรายละเอียดจากผู้ประกอบการว่าสาเหตุหลักมาจากส่วนใด แต่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาษีแน่นอน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

กรมการค้าฯเตรียมพร้อมธุรกิจให้ทันการค้ายุคใหม่

กรมการค้าต่างประเทศ จัดสัมมนาให้ความรู้ เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย ให้ทันการค้ายุคใหม่

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านช่องทางการส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ ได้ศึกษาโอกาสและช่องทางในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย จึงจัดซีรีส์ สัมมนาการค้าต่างประเทศ (The DFT’s Foreign Trade Seminar Series : Driving Forward to The New Era) เพื่อตอบแทนและคืนกำไรให้กับประชาชน รวมถึงให้ความรู้ และเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย ปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์การค้ายุคใหม่

ทั้งนี้ จากที่ผ่านมา กรมฯ จึงได้จัดซีรีส์ 4 “เล็งจีน...เดินหน้า ผ่าแดนมังกร” ขึ้น เพราะจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกด้วยขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐอเมริกา และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 9.55 ต่อปี (WDI, World Bank) และเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจโตบวกมาตลอด นอกจากนี้ ขนาดผู้บริโภคภายในประเทศยังมีกว่า 1,300 ล้านคน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ทั้งไทยและโลกจะต้องจับตามองจีน เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

พาณิชย์ยันยังไม่มีผู้ประกอบการขอขึ้นราคาน้ำอัดลมหลังลือหึ่งขอปรับขึ้น2บาท

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนว่ามีร้านค้าปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมด้วยตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นร้านค้าที่ไหน และดูเหตุผลของการขึ้นราคาว่าจากอะไร หรือเป็นเพียงการฉวยโอกาสหรือไม่ ในส่วนผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมไม่ได้ส่งข้อมูลมายังกรมฯ แจ้งการขอขึ้นราคา 2 บาทต่อขวดหรือต่อกระป๋องแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ประกอบการร้านค้าบางรายที่ดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น

นายภานุวัตร แตงงาม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำประเทศไทย บริษัท อาเจไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำอัดลมแบรนด์ “บิ๊ก” กล่าวว่า บริษัทยังไม่มีการปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมทุกรสและทุกแบบ มีแต่นโยบายทำให้ลูกค้าสามารถบริโภคได้ในราคาที่ถูกลง ผ่านการเพิ่มขนาดแต่ยังคงจำหน่ายราคาเดิม เพราะการขึ้นราคานั้นยิ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดยากมากขึ้น

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ปีนี้การแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มค่อนข้างรุนแรงเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากแทบจะทุกแบรนด์ทำโปรโมชั่นทางด้านราคากันเป็นหลัก มองว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมไม่น่าจะทำการปรับราคาสินค้าตอนนี้ เพื่อให้แข่งขันได้ ส่วนการซื้อน้ำตาลมาผลิตน้ำอัดลม ผู้ผลิตอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำตาล (โควต้า ก.) สำหรับใช้บริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอ แต่ความต้องการของตลาดมีอยู่จำนวนมาก ส่งผลให้ต้องไปใช้โควต้าน้ำตาลส่งออก ทำให้ราคาแพงกว่าเดิม หากจะปรับราคาขายน้ำอัดลมคงทำได้ในลักษณะของการจำหน่ายยกแพ็คมากกว่าที่จะมาปรับราคาต่อหน่วย เชื่อว่าแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าขึ้นราคาสินค้าตอนนี้

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ภูมิอากาศสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตร 

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร พ.ศ.2560-2564 โดยจะสังเคราะห์และทบทวนผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ปี 2555-2557 รวมทั้งประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาห่วงโซ่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของภาคการเกษตร ซึ่งจะทำให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่โลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเทศไทยเองก็ตั้งอยู่บนบริเวณที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากรอบปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณน้ำฝนไม่เป็นตามฤดูกาล พื้นดินและสภาพดินมีความเสื่อมโทรม ภูมิอากาศหรืออุณหภูมิภายในประเทศมีความผันผวนตลอดทั้งปี รวมทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติขนาดใหญ่อีกหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณให้ประเทศไทยและนานาประเทศร่วมมือกันในการจัดการบรรเทาและปรับตัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

          โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 197 ประเทศ โดยนอกจากการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาแล้ว ยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาความสามารถในการปรับตัว และสร้างความรู้หรือความตระหนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป ในส่วนของประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม และได้เสนอแนวทางการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ.2020

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในระดับนานาชาติ ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมกันจัดทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) วัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นขึ้น ซึ่งการจะบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศโดยการลงสัตยาบัน(ratification) อย่างน้อย 55 ประเทศ และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อย 55% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ปัจจุบันมีประเทศภาคีลงสัตยาบัน 18 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ระหว่างวิเคราะห์สถานการณ์และพิจารณาการลงสัตยาบรรณภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว

จาก พิมพ์ไทย  วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

เร่งพัฒนากลุ่มเกษตรกรไทยสมาร์ทฟาร์เมอร์ทางรอดวันนี้   

          ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งภารกิจนี้ถูกจัดเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทย ระหว่างปี 2560 - 2564 รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นสร้างรากฐานที่เข้มแข็งแก่ภาคเกษตร ด้วยการพัฒนาเกษตรกรในทุกช่วงวัย ทั้งระดับบุคคล กลุ่ม/องค์กร และชุมชน ให้ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

          พล.อ. ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายด้านการปฏิรูปภาคการเกษตรไทย โดยเน้นให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ยึดประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปทำงาน

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

'พาณิชย์' เตรียมหั่นขั้นตอนส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์

"รมว.พาณิชย์" เตรียมปรับลดขั้นตอนซ้ำซ้อนในการส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ นำร่อง "ข้าว" ชี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายกว่า 60% ประหยัดเวลามากถึง 20 วัน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการลดขั้นตอนการยื่นเอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐาน และเอกสารประกอบการขอทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก Digital Singature จำนวน 25 ฉบับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.2559 เป็นต้นไป จากนั้นจะทำการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ 45 ฉบับ รวมทั้งพัฒนาระบบรองรับ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานในภาพรวมทั้งหมดให้ได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในปี 2560

ทั้งนี้ ในการส่งออกข้าวมีขั้นตอนต่างๆ มากถึง 14 กิจกรรม ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าข้าว การขอเอกสารประกอบ ไปจนถึงการส่งออก โดยได้ปรับลดเหลือเพียง 4 กิจกรรม หรือลดกิจกรรม ได้ถึง 71.42% และยังได้ลดขั้นตอนที่ต้องดำเนินการจากเดิม 134 ขั้นตอน เหลือเพียง 68 ขั้นตอน หรือลดลง 48.87% ลดคำขอจาก 18 คำขอเหลือ 15 คำขอ หรือลดลง 16.66% และลดเอกสารจาก 70 เอกสาร เหลือ 38 เอกสาร หรือลดลง 45.71% ซึ่งจากขั้นตอนทั้งหมด สามารถลดระยะเวลาที่ใช้จากเดิม 24 วัน เหลือเพียง 4 วัน โดยลดลง 20 วัน หรือลดลงถึง 83.33%

ส่วนในด้านการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเอกชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางและค่าจัดทำเอกสาร ค่าธรรมเนียมคำร้องและใบอนุญาต รวม 12,140 บาท แยกเป็นค่าเดินทาง 12,000 บาท และ ค่าเอกสาร 140 บาท แต่หลังจากปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเหลือเพียง 4 วัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 2,076 บาท ซึ่งมาจากการลดค่าเดินทางและค่าเอกสาร

“ถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินการลดขั้นตอนการส่งออกนำเข้าสำหรับสินค้าข้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สินค้ายุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถทำแผนในการลดขั้นตอนต่างๆ ออกมาได้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยจะผลักดันให้มีการนำโมเดลสินค้าข้าว ไปใช้สำหรับการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในส่วนของสินค้าอื่นๆ ต่อไป”นางอภิรดี กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เกษตรกร 84% พอใจผลส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

"สศก." เผยเกษตรกร 84% พอใจผลส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ชี้ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พร้อมตั้งเป้าปีนี้เดินหน้าครบ 650 แปลง

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าการเกษตร การบริหารจัดการ และการตลาดร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพื่อผลผลิต และแข่งขันตลาดได้ ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามแนวประชารัฐนั้น

สศก.ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ รอบ 9 เดือน (ณ 30 มิถุนายน 2559) โดยสัมภาษณ์เกษตรกร 729 ราย 15 จังหวัด พบว่าได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 76 จังหวัด พื้นที่ 1.34 ล้านไร่ เกษตรกรเข้าร่วม 85,000 ราย ซึ่งในขณะนี้ได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นแปลงใหญ่ประชารัฐ 512 แปลง จำนวน 31 ชนิดสินค้า มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 15 หน่วยงาน หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ด้าน น.ส.จริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า นอกจากนี้เกษตรกรกว่า 90% มีการรวมกลุ่มและได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตร ได้แก่ การลดต้นทุน, การเพิ่มผลผลิต, การเพิ่มคุณภาพผลผลิต, การบริหารจัดการ และการตลาด โดยขณะนี้มีเกษตรกรได้นำความรู้ไปปฏิบัติตาม เช่น การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน, การใช้พันธุ์ดี, การรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาถูกลง เป็นต้น

ทั้งนี้ เกษตรกรเห็นว่าหลังจากการนำความรู้ดังกล่าวไปปฏิบัติตามแล้วต้นทุนการผลิตลดลง ในขณะที่ผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 84% มีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เพราะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และได้รับการถ่ายทอดความรู้โครงการ

สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไปนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายจะดำเนินการในปี 2559 ให้ครบ 650 แปลง พร้อมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลา 3 ปี ให้เกษตรกรนำไปพัฒนาในพื้นที่ตนเอง เช่น แหล่งน้ำ เงินลงทุนในการเกษตร และอีก 3 ปีข้างหน้าจะพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเป็นผู้จัดการแปลงแทนเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตั้งทีมขรก.อุตฯเลือดใหม่วางแผนระยะ20ปีดัน4.0 

          กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งทีมข้าราชการ รุ่นใหม่ ปรับโครงสร้างกระทรวงฯ รองรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี ยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 ระบุ นักลงทุนสหรัฐฯเล็งเข้ามาตั้งฐานการผลิตอุตฯไฮเทคเพียบรับนโยบายส่งเสริมอุตฯเป้าหมายของรัฐบาล

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งปรับโครงสร้างองค์กร ให้ทันสมัยรองรับอุตสาหกรรมแห่ง อนาคต ว่าจะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา โดยคัดเลือกข้าราชการรุ่นใหม่ ระดับซี 7 -9 ที่มีความคิดทันสมัย มาร่วมระดมสมองกำหนดเป้าหมายว่า ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอย่างไรในอนาคต

          โดยมีกรอบการทำงานตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปี ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลัก คือ การผลักดัน ภาคอุตสาหกรรม และเอสเอ็มอีไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งคาดว่า แผนจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

          สำหรับแผนปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม เบื้องต้นอาจ มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มหน่วยงาน หรือสำนักงานเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับภารกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลเพิ่มเติม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยแผนดังกล่าวจะแบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี โดยระยะแรกภายในปีหน้า จะพัฒนาผู้ประกอบการให้ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามากระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

          ทั้งนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาด ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี โดยลงนามเอ็มโอยู ร่วมกับ บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

          นายสมชาย ยังกล่าวถึงการหารือร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจจากสหรัฐฯ ว่า นักลงทุนสหรัฐฯได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพ โดยคาดว่าจะเข้ามาตั้งโรงงาน ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพราะใกล้แหล่ง ปลูกอ้อยที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์เผยกม.แข่งขันการค้าเข้าครม.ส.ค.นี้

กระทรวงพาณิชย์ เผย กฎหมายแข่งขันเข้า ครม. ได้ต้น ส.ค. นี้ คาด 3 เดือน ผ่าน สนช. บังคับใช้ได้

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืบหน้าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า ว่า ล่าสุดขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการตรวจสอบร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งกลับมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรอเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ และในระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการส่งร่างกฎหมายดังกล่าว ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีส่วนได้เสียในการรับรู้ถึงอนาคตการบังคับใช้ของกฎหมายฉบับดังกล่าว และหลังจากเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว จากนั้นจะมีการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาต่อไป คาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เมื่อกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ จะทำให้การแข่งขันทางการค้า ระหว่างผู้ประกอบการ มีความทัดเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สศอ.เร่งศึกษาความพร้อมแรงงานสู่อุตฯ4.0

สศอ. เร่งศึกษาแผนเตรียมพร้อมด้านแรงงานจากการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ยันไม่วิตก เตรียมพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ

นายสุรพล ชามาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สศอ. ร่วมกับกระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างจัดทำแผนและยุทธศาสตร์เพื่อรองรับภาคแรงงานไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะมีการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีมาจัดการกระบวนการผลิตและการค้าที่มากขึ้น โดยจะศึกษาผลกระทบจากการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ มองว่าการปรับเปลี่ยนระบบมาใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม 4.0 จะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ปัญหาวิตกเรื่องแรงงานตกงานจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากกลุ่มแรงงานจะถูกย้ายไปสู่อุตสาหกรรมภาคบริการ แต่ทั้งนี้มีความเป็นห่วงถึงการที่สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2567 นี้ ดังนั้นจะต้องเร่งหาแนวทางพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะคลัสเตอร์ด้านการแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร เพื่อรองรับและเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย  

อย่างไรก็ตาม นายสุรพล กล่าวว่า ในอนาคตเชื่อว่าแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ AEC จะไหลกลับสู่ประเทศของตน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ จะเกิดการพัฒนาเช่นกัน ดังนั้น หุ่นยนต์และเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

อุตฯปรับโฉม! ดึงเด็กรุ่นใหม่ ดันอินดัสทรี4.0

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของแต่ละหน่วยงานในสังกัด เพื่อกำหนดเป้าหมายการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งปรับโครงสร้างองค์กร ให้ทันสมัยรองรับทิศทางอุตสาหกรรมอนาคตมากขึ้น

"จะตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมา เน้นข้าราชการรุ่นใหม่ ระดับซี 7-8 ที่มีความคิดทันสมัย มาร่วมระดมสมองกำหนดเป้าหมายว่า ต้องการเห็นอนาคตกระทรวงอุตฯ เป็นอย่างไร โดยมีกรอบการทำงานตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม ระยะ 20 ปี ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลัก คือ ต้องผลักดันอุตฯไทยเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 (อินดัสทรี 4.0) และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้าสู่ เอสเอ็มอี 4.0 เช่นกัน คาดว่า แผนจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน "นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า แผนปรับโครงสร้างกระทรวงอุตฯ เบื้องต้นจะปรับเปลี่ยนเพิ่มหน่วยงาน หรือสำนักงานเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่กระทรวงอุตฯ ดูแลเพิ่มเติม เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยแผนดังกล่าวจะแบ่งเป็นระยะละ 5 ปี โดยระยะแรกภายในปีหน้า จะพัฒนาผู้ประกอบการให้ใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามากระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง การซื้อขายผ่านตลาดอี-มาร์เก็ต นำเครื่องจักรมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เฮ!ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนใหญ่เพิ่ม ปล่อยน้ำ'พื้นที่เกษตร'22จังหวัด

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ดีขึ้น โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก เฉลี่ยมีน้ำฝนเข้าวันละ 40 ล้าน ลบ.ม.ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้รวม 2.1 พันล้าน ลบ.ม.มากกว่าปีที่แล้วถึง 4 เท่าตัว โดยช่วงเดียวกันนี้ปี 58 เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 122 ล้าน ลบ.ม.ปีนี้ 373 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนสิริกิติ์ 284 ล้าน ลบ.ม.ปีนี้ 1,120 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 81 ล้าน ลบ.ม.ปีนี้ 389 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 35 ล้าน ลบ.ม.ปีนี้ 301 ล้าน ลบ.ม.

"ปีนี้น้ำมากกว่า 4 เท่า หากเทียบปีปกติถือว่ายังไม่มาก เพราะช่วงต้นฤดูฝนมีน้ำเข้าน้อย แต่อย่างไรอยู่ในช่วงปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น คาดหวังจากฤดูฝนที่เหลืออีก 3 เดือน สถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาชัดเจน" นายทองเปลว กล่าว

รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ปริมาณฝนตอนนี้มีปริมาณเข้าเกณฑ์เฉลี่ยของฤดูฝนปีปกติแล้ว มีน้ำเข้าเขื่อนทุกวัน ขณะที่ระบายออกวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.จากช่วงเริ่มต้นฤดูน้ำเข้าน้อยเพราะสภาพดินแห้งมาก ตอนหลังฝนตกต่อเนื่องกลายเป็นน้ำเข้าอ่างมากกว่าต้นฤดู เขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำดี แต่ฝั่งเขื่อนภูมิพลยังน้อยอยู่ แม้ไหลเข้าทุกวัน 5 - 6 ล้าน ลบ.ม.

"เริ่มต้นฤดูฝน 1 พ.ค.มีน้ำ 4 เขื่อนหลัก 1.7 พันล้าน ลบ.ม.ตอนนี้มีปริมาณ 2.1 พันล้าน ลบ.ม.หักจากที่ใช้เหลือสะสมมา 400 ล้าน ลบ.ม.ได้ปรับลดการระบายจากเขื่อนสิริกิติ์ จาก10 ล้าน ลบ.ม.เหลือ 8 ล้าน ลบ.ม.ส่วนเขื่อนภูมิพลคงที่ 3 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 8 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 7 ล้าน ลบ.ม.ได้ปรับขึ้นสองเขื่อนๆ ละ 5 ล้าน ลบ.ม.เพื่อมาช่วยพื้นที่ปลูกข้าว 2.8 ล้านไร่ จากแผนปลูกข้าววางไว้ 7.6 ล้านไร่ ช่วงนี้มีฝนตกและเขื่อนปล่อยน้ำมาสนับสนุนขยับขึ้นสัปดาห์ละ 1 ล้านไร่ ได้เปิดประตูน้ำเข้าพื้นที่ชลประทาน 22 จังหวัด เข้าสู่ระบบทั้งลุ่มเจ้าพระยา คลองชัยนาท - ป่าสัก แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน คลองมะขามเฒ่า - อู่ทอง คลองส่งน้ำตามน้ำปิง ลำน้ำน่าน คลองส่งน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คลองระพีพัฒน์" รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าว

โดยคาดการณ์ว่า เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้ำจะเต็มเขื่อนเมื่อเข้าหน้าฝนเต็มตัว ต้องปล่อยระบายทิ้งช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.จึงมาระบายช่วงนี้ จะได้ช่วยพื้นที่เกษตรจะมีประโยชน์กับเกษตรกรมาก ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ แม้มีน้ำไหลมาแต่ยังติดลบ นำน้ำสำรองมาใช้วันละ 5 ล้าน ลบ. ม.ยังต้องเฝ้าระวังต่อไปเก็บน้ำฝนให้มาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มิตรผล ชูมาตรฐาน Bonsucro รายแรกในไทย เพิ่มโอกาสแข่งขันตลาดโลก

กลุ่มมิตรผล นำร่องรายแรกในไทย คว้ามาตรฐาน Bonsucro ภายใต้รูปแบบเกษตรสมัยใหม่ เตรียมขอรับรองพื้นที่เพิ่มอีก 127,450 ไร่ หวังเปิดโอกาสสู่การแข่งขันตลาดโลก

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวระหว่างนำสื่อมวลชนร่วมชมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของกลุ่มมิตรผล ตลอด Value Chain ตามหลักมาตรฐานของ Bonsucro ณ โรงงานมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ว่า การได้มาตรฐาน Bonsucro ถือเป็นอีกหนึ่งดัชนีวัดความสำเร็จในการดำเนินงานของมิตรผลในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่มีมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี เนื่องจากมิตรผลเป็นรายแรกในประเทศไทย ในประรายที่สองในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ห้าของโลกที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรในทุกภาคส่วนให้ดียิ่งขึ้น เปิดโอกาสทางด้านธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก

"สำหรับมาตรฐานตัวนี้ คือการวัดระบบเมตริกของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลรายแรกของโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมทั้งยังเป็นการตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ" นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองผลผลิตน้ำตาลมาตรฐาน Bonsucro ลอตแรกของกลุ่มมิตรผล จำนวน 7,000 ตัน ส่วนแนวทางขั้นต่อไปในปี 2560 กลุ่มมิตรผลมีแผนที่จะขอรับมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 42,450 ไร่ และในปี 2561 จะขยายการขอรับรองพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 127,450 ไร่ โดยคาดว่า ภายในปี 2563 จะสามารถขอรับรองพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 127,450 ไร่ โดยคาดว่า ภายในปี 2563 จะสามารถขอรับรองพื้นที่ได้ทั้งหมด 4 แสนไร่

ด้าน นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล กล่าวเสริมว่า สำหรับกระบวนการดำเนินงานของกลุ่มมิตรผลที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ Bonsucro คือ การจัดการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Farm ด้วยทฤษฎี 4 เสาหลัก ได้แก่ การปลูกพืชบำรุงดิน การบดการไถพรวน การควบคุมแนววิ่งของรถ และการลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ที่ได้นำต้นแบบจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดในโลก มาประยุกต์ใช้ตลอดระยะเวลา 2 ปี นอกจากจะช่วยลดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพ รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอีกด้วย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เคบีเอสผุดคอมเพล็กซ์9พันล้าน ชงบอร์ดอนุมัติตั้งโรงงานนํ้าตาล-ไฟฟ้า-เอทานอล

นํ้าตาลครบุรีเตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติวงเงิน 9 พันล้านบาท เดินหน้าโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ปี 2560 แต่ย้ายพื้นที่ไปอยู่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เหตุพื้นที่พร้อม โลจิสติกส์สะดวก “อิสสระ” เผยอยู่ระหว่างรออีไอเอ คาดชัดเจนสิ้นปีนี้ มั่นใจโรงงานนํ้าตาล 2-3 หมื่นตันต่อวัน โรงงานเอทานอล 2 แสนลิตรต่อวัน เสร็จปี 2562

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเร็วๆ นี้ บริษัทจะเสนอให้คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด พิจารณาสถานที่ตั้งโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ใหม่ จากเดิมที่ตั้งอยู่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มาเป็นอำเภอสีคิ้วแทน เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และระบบด้านโลจิสติกส์มีความสะดวกกว่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง รอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ทั้งนี้ หากได้รับอีไอเอเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจะเร่งเสนอแผนการลงทุนให้บอร์ดพิจารณาโดยทันที เพื่ออนุมัติกรอบของเงินลงทุนและวงเงินกู้ ของคอมเพล็กซ์ทั้งหมด ที่จะประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาลทราย ที่เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2-3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1.5-2 ปี จากนั้นในปีถัดไปจะลงทุนโรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณอีก 2,000ล้านบาท รวมการลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการชูการ์เอ็นเอนร์ยี่คอมเพล็กซ์ อยู่ในแผนลงทุน 5 ปี(2559-2563)ที่บริษัทจัดทำไว้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และเอทานอล ซึ่งนับว่าครบวงจร แม้ว่าจะอยู่คนละพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลเดิมที่อำเภอครบุรี แต่ก็ไม่ไกลกันมากนัก โดยเฉพาะความต้องการกากน้ำตาลที่จะต้องนำมาใช้ในการผลิตเอทานอล สามารถที่จะขนส่งมากป้อนให้โรงงานที่สีคิ้วได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าการตั้งโรงงานเอทานอลเพิ่มขึ้นมานั้น น่าจะเป็นจังหวะที่ดี ที่จะมีการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้มากขึ้นได้ จากปัจจุบันความต้องการใช้ไม่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น

 “ปีหน้าคงจะมีความชัดเจนโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ แต่ตอนนี้ต้องรออีไอเอชัดเจนก่อน หากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เสร็จจะทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 2-3 หมื่นตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.6 หมื่นตันต่อวัน โดยโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่คงจะทำเป็นเฟส ซึ่งเฟสแรกอาจจะอยู่ที่ 2 หมื่นตันต่อวัน และเฟส 2 อีก 1 หมื่นตันต่อวัน จากนั้นค่อยเดินหน้าโรงงานเอทานอล 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งมั่นใจว่ามีโมลาสเพียงพอ”

นายอิสสระ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่คอมเพล็กซ์นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 30 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาสายส่งที่รับซื้อไฟฟ้าเต็ม ดังนั้น จึงอยากจะให้ทางกฟผ.หาทางออกในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการตั้งโรงงานน้ำตาลทราย จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าใช้เองส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือขายให้กับกฟผ.ได้ด้วย ถึงจะทำให้การดำเนินงานมีความคุ้มค่า

ส่วนกรณีกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีโครงการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ(ไบโอพลาสติก) โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการน้ำตาลหลายรายนั้น บริษัทยอมรับว่าสนใจโครงการดังกล่าวเช่นกัน แต่บริษัทคงไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่ม ปตท. ขณะเดียวกันโครงการไบโอพลาสติกในช่วงแรกอาจมีความต้องการใช้น้ำตาลไม่มากนัก เพราะตลาดยังไม่เติบโตมากนัก

ดังนั้นในระยะแรก กลุ่ม ปตท. คงจัดหาหรือซื้อน้ำตาลจากผู้ประกอบการไปก่อนในปริมาณที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าหากต้องการให้ตลาดไบโอพลาสติกเติบโต ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพื่อส่งเสริการใช้ แต่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ การแข่งขันอาจยากขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรุงไทยชี้ลูกค้าเกษตรแกร่งปล่อยกู้'กอน.'1.5หมื่นล้าน 

          "กรุงไทย" ยันลูกค้าเกษตรของธนาคารยังแกร่งแม้เศรษฐกิจโลกยังผันผวน เดินหน้าปล่อยกู้กองทุนอ้อยและน้ำตาล 1.5 หมื่นล้าน ช่วยชดเชยชาวไร่อ้อย 1.5 แสนราย หลังครม.เปิดทางแบงก์พาณิชย์ ร่วมปล่อยสินเชื่อได้

          นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมกลุ่มลูกค้าภาคเกษตรของธนาคารนั้น กลุ่มยางพารายังแข็งแกร่งแม้ว่ายางพาราจะมีปริมาณสินค้าเกินความต้องการ เนื่องจากลูกค้าไม่ใช่ภาคผลิต แต่เป็นธุรกิจกลางน้ำ ส่วนกลุ่มลูกค้าอ้อยและน้ำตาลทราย ยอมรับว่าได้รับผลกระทบบ้างเพราะราคาสินค้าในตลาดตกต่ำ

          อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ช่วยเหลือผ่านกองทุนอ้อยและน้ำตาล  (กอน.) ซึ่งกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหลัก แต่เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลกู้เงินจากธนาคารธ.ก.ส.หรือธนาคารพาณิชย์อื่น เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย  ธนาคารจึงได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อ จำนวน 15,047.53 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4%ต่อปี เพื่อช่วยเหลือ ชาวไร่อ้อยประมาณ 153,000 ราย โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้จ่ายเงินกู้งวดแรกเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยไปแล้ว จำนวน14,236.04 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94.61% ของวงเงินกู้ทั้งหมด ให้แก่ชาวไร่อ้อย จำนวน 130,975 ราย และกำหนดจ่ายเงินกู้ งวดที่ 2 ในวันที่ 27 ก.ค. จำนวน 603 ล้านบาท ให้แก่ชาวไร่อ้อย จำนวน 16,772 ราย และหลังจากนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเร่งจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ส่วนที่เหลือโดยเร็ว

          นอกจากนี้ จะประสานงานกับคณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานน้ำตาล และเขตประสานงานของ สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายให้จัดทำเอกสารการขอรับเงินของชาว ไร่อ้อย ตลอดจนตรวจสอบความ ถูกต้องของเอกสารต่างๆ ส่งที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางที่เคยดำเนินการทุกปี  กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการกำกับตรวจสอบดูแลการจ่ายเงินอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เงิน เข้าบัญชีชาวไร่อ้อยทุกรายที่ส่งเอกสารครบถ้วนถูกต้อง และได้ผ่านการ ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและโปร่งใส

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เลื่อนเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาล

นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับกระทรวงการคลังโดยมี ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เรื่องขึ้นภาษีน้ำตาลในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม ว่ามีข้อสรุปให้เลื่อนการเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบในหลายภาคส่วน ทั้งอุตสาหกรรม ผู้บริโภค เกษตรกรชาวไร่อ้อย ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้ขอให้ไปศึกษาแนวทางอื่นๆ ที่จะใช้ในการรณรงค์การบริโภคน้ำตาลให้ถูกต้องแก่ประชาชน ให้ความรู้เรื่องการบริโภคน้ำตาล เพราะอาหารที่ทานอยู่ทุกวันก็มีน้ำตาลเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรบริโภคน้ำตาลหรือความหวานในปริมาณที่พอดี

 ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าในกระแสที่มีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพก็ต้องผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลน้อยลง ทั้งนี้ ผลกระทบในแต่ละส่วนนั้นประการแรก การเก็บภาษีสรรพสามิตจะมีผลทำให้ราคาสินค้าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตอาจผลักภาระไปให้ผู้บริโภครับไป ซึ่งจะกระทบต่อผู้ขายที่จะทำให้ยอดขายลดลงส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ การจำหน่ายน้ำตาลในประเทศมีราคาส่วนหนึ่งที่เป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงาน 70:30 ซึ่งหากยอดขายน้ำตาลในประเทศลดลง ก็จะทำให้รายได้รวมของทั้งอุตสาหกรรมลดลงด้วย เพราะปัจจุบันราคาน้ำตาลส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ เมื่อการบริโภคน้ำตาลในประเทศน้อยลง รายได้รวมน้อยลง เมื่อคำนวณเป็นราคาอ้อยก็อาจทำให้ราคาลดลงด้วย ผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับก็น้อยลงตามไปด้วย

สำหรับประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 30 กก./คน/ปี มีอัตราการเติบโตราว 2-3% ต่อปีตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เป็นทั้งผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม ขนมส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย ซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมด้วย นอกจากนี้การบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยยังเติบโตตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทย รวมทั้งเติบโตตามจำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรุงไทยสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

          ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย วงเงิน 15,047.53 ล้านบาท ในอัตราตันละ 160 บาท จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งประเทศ 94.05 ล้านตัน เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 รักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

          วันนี้ ( 22 กรกฎาคม 2559 ) ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และ นางจรี วุฒิสันติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ร่วมแถลงข่าว การสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิต ปี2558/59 ที่ห้องประชุม ธนาคารกรุงไทย อาคารสำนักงานใหญ่

          ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือธนาคารพาณิชย์อื่น เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 ในอัตราตันละ 160 บาท เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้รับค่าอ้อยในระดับใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอ โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเห็นชอบให้กู้เงินจาก ธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารอนุมัติให้การสนับสนุนสินเชื่อวงเงินจำนวน 15,047.53 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยประมาณ 153,000 ราย และรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ได้ลงนามในสัญญากู้เงินไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 โดยเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง ธนาคารกรุงไทย และ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

          ในการนี้ ธนาคารกรุงไทย ได้จ่ายเงินกู้งวดแรกเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2559 เป็นเงินจำนวน 14,236.04 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94.61% ของวงเงินกู้ทั้งหมด ให้แก่ชาวไร่อ้อย จำนวน 130,975 ราย และกำหนดจ่ายเงินกู้ งวดที่ 2 ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 เป็นเงินจำนวน 603.93 ล้านบาท ให้แก่ชาวไร่อ้อย จำนวน 16,772 ราย

          อนึ่ง กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยส่วนที่เหลือโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย โดยได้ประสานงานกับคณะทำงานควบคุมการผลิตประจำโรงงานน้ำตาล และเขตประสานงานของสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายให้จัดทำเอกสารการขอรับเงินของชาวไร่อ้อย พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ส่งที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางที่เคยดำเนินการทุกปี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการกำกับตรวจสอบดูแลการจ่ายเงินอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้เงินเข้าบัญชีชาวไร่อ้อยทุกรายที่ส่งเอกสารครบถ้วนถูกต้องและได้ผ่านการตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างถูกต้องโปร่งใสตรวจสอบได้

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สกลนครจ่อตั้งโรงงานน้ำตาลพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าสู่อาเซียน 

   สกลนคร/ นายชัยมงคล ไชยรบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ ประเทศเรามีพื้นที่ปลูกข้าวค่อนประเทศ แต่ก็ประสบปัญหาจิปาถะ เช่น ราคาข้าวที่ตกต่ำ ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ เราใช้พื้นที่ในการเกษตรจำนวนมาก แต่ได้ผลผลิตจำนวนน้อย ได้ทราบข่าวว่ามีนักลงทุนที่จะมาลงทุนจะเข้ามาทำโรงงานน้ำตาล ซึ่งต้องการปริมาณอ้อยปีละสี่แสนตัน ตนเชื่อว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งของพี่น้องประชาชน จะได้เปลี่ยนจากชีวิตชาวนามาเป็นชาวไร่ และแบ่งพื้นที่ทางการเกษตรได้หลากหลาย ซึ่งพี่น้องประชาชนใน จ.สกลนคร ย่ำอยู่กับความยากจนมาตลอด ทางเลือกใหม่ชาวไร่อ้อย น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีของพี่น้องประชาชน นอกจากจะปลูกอ้อยแล้วยังส่งเสริมเรื่องการส่งออกน้ำตาลอุตสาหกรรมต่างๆ ตนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องประชาชนไปในทางที่ดีขึ้น อยากเห็นพี่น้องชาวสกลนคร มีการรายได้เพิ่มขึ้น ตนเชื่อมั่นว่าถ้าโรงงานน้ำตาลมาจริง แล้วลงทุนประมาณสี่พันล้านบาท น่าจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนของสกลนครดีขึ้น มีการสร้างงานสร้างอาชีพ แล้วรายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของพี่น้องชาวสกลนคร

 “เท่าที่ผมทราบเขาจะทำประชาพิจารณ์ ที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ในการที่จะเอาโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งไว้ที่นี่ และผมเชื่อว่าโรงงานสมัยใหม่ สามารถจัดการกับเรื่องมลภาวะเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบ ผมเชื่อในความเป็นข้าราชการไทย เพราะในการตั้งโรงงาน ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องได้กำกับดูแลเพื่อไม่ให้เกิดเพศภัยกับประชาชน เชื่อมั่นต่อไปว่าโดยแผ่นดินที่แห้งแล้งที่กุสุมาลย์ ถ้าโรงงานน้ำตาลไปตั้งอยู่ จะสามารถพลิกฟื้นชีวิตของพี่น้องชาวกุสุมาลย์ ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของ อบจ.เรา ทำความเข้าใจกับประชาชน วันนี้มันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน วันนี้สิบประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ไร้พรมแดนการค้าขายเสรีการไปมาหาสู่ เราจำเป็นต้องปรับตัว วันนี้น้ำตาลเป็นสินค้าส่งออกที่ดี ถ้าทำสกลนครให้เป็นจุดศูนย์รวม ให้การขนส่งการค้ากับสิบประเทศ โดยเริ่มจากโรงงานน้ำตาลก็ดี โรงงานยางก็ดี ผมเชื่อมั่นว่านี้ จ.สกลนคร จะเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจ แม้นว่าสกลนครจะไม่เป็นพื้นที่ติดชายแดน จะไม่มีสะพานเชื่อมไปยังต่างประเทศ แต่เราก็ยังสร้างประโยชน์จากสะพานไปสู่อาเซียนสิบประเทศให้ได้ ผมเชื่อว่าสกลนครถ้าเราทำดีๆ สักวันหนึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทางนี้อย่างแน่นอน”

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ราคาน้ำมันต่ำฉุดใช้เอทานอล ปีหน้าโมลาสขาดกระทบผลิต

สมาคมเอทานอลร้องรัฐ ยอดใช้เอทานอลไม่ขยับ เหตุไม่มีมาตรการส่งเสริม เข็นการใช้ช่วงราคานํ้ามันราคาตํ่าไม่ขึ้น ต้องปรับแผนผลิตแค่ส่งตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ขณะที่ปีหน้ามองแนวโน้มราคาเอทานอลขยับอีก10% จากปัญหากากนํ้าตาลขาดแคลนกระทบต่อการผลิตของบริษัท ไทยรุ่งเรืองต้องลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก

นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ยอดใช้เอทานอลในประเทศยังไม่ขยับเพิ่มมากนัก โดยยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาครัฐไม่ออกนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลในช่วงนี้มากนัก โดยเฉพาะการเพิ่มส่วนต่างของราคาแก๊สโซฮอล์แต่ละชนิดให้ห่างกันมากขึ้น เนื่องจากเอทานอลมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมัน ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนนั้นเชื้อเพลิงอุดหนุนค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ประกอบการเอทานอลก็เข้าใจสถานการณ์ทีเกิดขึ้น และต้องปรับตัวเพื่อผลิตตามปริมาณคำสั่งซื้อเท่านั้น

ขณะที่แนวโน้มราคาเอทานอลในปีหน้า คาดว่าจะปรับสูงขึ้น 10% จากปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกากน้ำตาล(โมลาส) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดว่าในฤดูหีบ 2559/2560 ยังมีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้นอาจส่งผลต่อราคาเอทานอลปีหน้า อยู่ที่ 22-23 บาทต่อลิตร เทียบกับปีนี้ยู่ที่ 21 บาทต่อลิตร แต่หากเทียบกับปี 2558 อยู่ที่ 25-26 บาทต่อลิตร ซึ่งต้นทุนแต่ละโรงงานจะแตกต่างกัน หากเป็นโรงงานขนาดเล็กก็อาจมีต้นทุนสูงกว่า

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอทานอลบางรายจึงหันมาใช้มันสำปะหลังแทนโมลาส เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากมันสำปะหลังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีสัดส่วนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% เทียบกับปีนี้ที่ 30% ของกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมด ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลกำลังการผลิตรวม 4-5 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลจริงเพียง 3-4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตตามความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนในปี 2559 ยังไม่มีการส่งออกเอทานอล เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับสหรัฐอเมริกาได้ เพราะนอกจากเอทานอลจากสหรัฐฯจะผลิตจากข้าวโพดจีเอ็มโอแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนผู้ประกอบการจำนวนมากด้วย ซึ่งประเทศบราซิล ที่เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆของโลกยังไม่สามารถแข่งขันได้

นายอุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานเอทานอลของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ที่ผ่านมาได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตจาก 1.2 แสนลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 2.7 แสนลิตรต่อวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่อง แต่เนื่องจากปัญหาวัตถุดิบโมลาสที่ขาดแคลน ทำให้การผลิตเอทานอลของกลุ่มฯ ไม่เป็นไปตามคาด โดยในปี 2560 คาดว่าจะผลิตอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนลิตรต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ยังรอท่าทีของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เอทานอลด้วย

“ขณะนี้ต้นทุนผลิตเอทานอลสูง เพราะราคาโมลาสปรับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการบางรายต้องหันมาใช้มันสำปะหลังแทน แต่เชื่อว่าภาครัฐเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวดี เพียงแต่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงอดีตที่ราคาน้ำมันขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งขณะนี้ภาครัฐมองว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนช่วงนี้เป็นภาระมาก แต่สมาคมฯก็หารือกับภาครัฐว่าแม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่กำลังการผลิตเอทานอลในประเทศต้องเพียงพอ ขณะที่โรงงานเอทานอลของกลุ่มบริษัทฯ ลงทุนเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเท่าตัว แต่ก็ประสบปัญหาโมลาสขาดแคลนเช่นกัน”นายอุกฤษฏ์ กล่าว

สำหรับการขยายธุรกิจน้ำตาล ล่าสุดบริษัทได้มีการขยายโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน จากเดิมมีโรงงานน้ำตาลทั้งสิ้น 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1.21 แสนตันต่อวัน โดยโรงงานแห่งที่ 9 อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูหีบปีนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เชียร์รัฐปรับแผนถกFTA เล็งเปิดค้าเสรีไทย-อังกฤษ

สรท.เห็นด้วยพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์เจรจรา FTA เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคี เหตุช่วยให้การค้ามีความคล่องตัวและได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย “สมคิด”สั่งนำร่องถกจีน อินเดีย หวังเปิดเสรีเฉพาะรายสาขาที่ 2 ฝ่ายสนใจ ส่วน CLMV เตรียมหารือเน้นช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานชี้จะส่งผลดีต่อไทยในฐานะเกตเวย์อาเซียน ขณะเอกชนเชียร์ไทยทำเอฟทีเอกับอังกฤษ

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นลักษณะหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคี (strategic partnership)โดยการคัดรายอุตสาหกรรมที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกันไปเจรจานั้น เอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและก็ต้องการมาโดยตลอด จะส่งผลดีในแง่การค้า 2 ฝ่าย และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย

ทั้งนี้3 กลุ่มประเทศที่ดร.สมคิดต้องการให้เจรจาก่อน ได้แก่ จีน อินเดีย และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ก็ตรงกับที่สรท.พูดมาโดยตลอด เช่น เอฟทีเอกับอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และเอฟทีเอไทย-อินเดีย การเจรจาก็ยังไม่สมบูรณ์(ลดภาษีระหว่างกันไปแล้ว 83 รายการ และอยู่ระหว่างการเจรจาฉบับสมบูรณ์)ถ้ามีการเจรจาแบบรายสินค้าก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยขยายสู่ตลาดอินเดียได้เพิ่มขึ้น และช่วยผู้ประกอบการรายใหม่(สตาร์ตอัพ)ในการเจาะตลาดได้มากขึ้น ส่วนจีนที่ไทยเสียดุลการค้าปีหนึ่งหลายแสนล้านบาท หากมีการเจรจาแบบรายอุตสาหกรรมน่าจะช่วยให้สินค้าไทยไปตลาดจีนง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเอกชนต่างคนต่างการค้ากันเอง ประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เต็มที่แต่การที่รัฐบาลจะเจรจาเอฟทีเอแบบรายอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่สภาผู้ส่งออกเห็นด้วย เพราะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง”

 ส่วนกรณีที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป(อียู) หากไทยและอังกฤษสนใจจะทำเอฟทีเอระหว่างกันนั้น น่าจะดีเพราะอังกฤษเองก็ต้องการมิตรทางการค้าเพื่อทำให้ประเทศแข็งแกร่งเพราะการไม่พึ่งพาสหภายุโรป(อียู)อาจทำให้การค้าของ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวคิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาเอฟทีเอข้างต้นเป็นผลจากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์และได้มีการสั่งการให้เริ่มเดินหน้าการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคีแทนมุ่งทำ FTA เพียงอย่างเดียวโดยการนำอุตสาหกรรมเป้าหมายไปเจรจากับประเทศที่มีศักยภาพเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่ายได้มากกว่าการเจรจาทางการค้าแบบเดิม ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนประเด็นทางการค้าในทุกด้าน

“เราจะเน้นเฉพาะประเด็นเจรจาที่ 2 ประเทศมีความเห็นตรงกันที่จะสร้างประโยชน์เท่านั้น ซึ่งประเทศเป้าหมายตั้งไว้ 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และประเทศใน CLMV โดยจะเริ่มที่ จีน ซึ่งมีความสนใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเช่นเดียวกับไทยพร้อมทั้งสนใจที่จะออกไปลงทุนนอกประเทศ เบื้องต้นตั้งเป้าจะไปเยือนจีนในเร็ว ๆนี้ และคาดว่าจะเริ่มเจรจาได้ในช่วงดังกล่าว เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ไทยมีความสนใจให้เข้ามาลงทุนด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่อินเดียสนใจให้ไทยไปพัฒนาด้านบริการและการท่องเที่ยวมีแผนจะให้รัฐมนตรีว่ารกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนเร็วๆนี้และเปิดการเจรจาทันที” ดร.สมคิด กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พัฒนาจอบหมุนสับกลบใบอ้อย กำจัดวัชพืชในร่องอ้อย พ่วงรถแทรกเตอร์

 ถึงแม้ประเทศไทยจะสามารถส่งออกอ้อยในรูปน้ำตาลและกากน้ำตาลได้เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งนำเงินตราเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาทก็ตาม ขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย dH ก็ประสบปัญหาในเรื่องราคาอ้อยตกต่ำและมีปริมาณล้นตลาด ที่สำคัญ คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังสูง โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวอ้อย ปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตอ้อยทั้งหมดต่อฤดูปลูก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ ทำให้เกษตรกรบางส่วนหันมาใช้วิธีการเผาใบอ้อยทั้งก่อนการเตรียมดินและก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย

ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี พบว่ามีการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเผาฟางข้าวและใบอ้อย ซึ่งมีการปล่อยมลพิษ คือ ก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์สูงกว่าปริมาณที่ปล่อยจากโรงงานไฟฟ้าและอุตสาหกรรมถึง 14 เท่าตัว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสภาพการเผาที่ไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเป็นการเผาวัสดุที่มีความชื้นสูง  นอกจากจะสร้างมลภาวะทางอากาศแล้ว การเผายังทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินทำให้ดินเสื่อมคุณภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

จาก http://www.khaosod.co.th   วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

มิตรผลทุ่ม2หมื่นล.สร้างเพิ่ม4โรงน้ำตาล

กลุ่มมิตรผลเผยแผนลงทุน 5 ปี ทุ่มงบ 2 หมื่นล้าน สร้างเพิ่มโรงงานน้ำตาลในประเทศ 4 แห่ง ประเมินราคาน้ำตาลตลาดโลกครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นจากพิษภัยแล้ง

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า แผนดำเนินธุรกิจ 5 ปี (2560-2564) ของกลุ่มมิตรผล จะมีการสร้างโรงงานแปรรูปอ้อยน้ำตาลใหม่ใน 4 พื้นที่ของประเทศไทย ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่นและร้อยเอ็ด เพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งใช้งบลงทุนแห่งละ 5,000 ล้านบาท เฉพาะตัวโรงงาน รวม 4 แห่งกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

โดยแต่ละแห่งจะใช้พื้นที่สร้างโรงงานประมาณ 1,000 ไร่ และต้องมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพื่อป้อนเข้าโรงงาน 300,000-400,000 ไร่ โดยแห่งแรกจะเริ่มสร้างในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ซึ่งกำลังทำผลสรุปรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ และต้องขอใบอนุญาตสร้างโรงงาน (รง.4) ต่อไป โดยน่าจะเริ่มสร้างได้ทันสิ้นปีนี้แน่นอน

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ในครึ่งปีหลัง ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าตลาดนิวยอร์ก เดือน ต.ค.59 อยู่ที่ 19.91 เซนต์ต่อปอนด์ จากต้นปีอยู่ที่ประมาณ 14 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ และภัยแล้งในช่วง 1-2 ปี ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั่วโลกลดลง

รวมถึงประเทศไทยที่ผลผลิตอ้อยฤดูการผลผลิตปี 2558/59 อยู่ที่ 94 ล้านตัน ลดลงจากปี 2557/58 อยู่ที่ 106 ล้านตัน หรือปริมาณอ้อยลดลง 10% ส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลทรายปีนี้ ลดลงอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยเข้าหีบลดลง ประกอบกับช่วงฤดูร้อนคนไทยมีความต้องการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. สำหรับการบริโภคในประเทศ เป็น 2.6 ล้านตัน จากช่วงต้นปีกำหนดไว้ที่ 2.4ล้านตัน

ส่วนกรณีบราซิลเตรียมยื่นฟ้องไทยอุดหนุนการปลูกอ้อยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เชื่อว่าภาครัฐรับรู้ถึงปัญหา แต่ต้องเร่งชี้แจงข้อมูลให้เห็นถึงความโปร่งใสของไทย ทั้งการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ ให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ซึ่งไทยยังมีเวลาที่จะนำเสนอข้อมูล และเชื่อว่าไทยจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาได้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 22 กรกฎาคม 2559

กต.ประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน ถกความสัมพันธ์อาเซียน-อียู 23-26 ก.ค.นี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ มีกำหนดเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 49 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ค. 2559 ที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จะหารือถึงแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน รวมทั้งเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในภูมิภาค ผ่านการใช้มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานของอาเซียนในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งจะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสหภาพยุโรป ที่มี รมว.ต่างประเทศของไทยเป็นประธานในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่อผลักดันการยกระดับความสัมพันธ์ของสองภูมิภาค

นอกเหนือจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิ

มนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights-AICHR) เข้าร่วมการประชุมกับประเทศคู่เจรจา (อาเซียน+1) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน+3 การประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum-ARF)

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 22 กรกฎาคม 2559

เงินบาทเปิดตลาด 34.95 บาท/ดอลล์ ทิศทางแข็งค่า

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (22 ก.ค.) ที่ระดับ 34.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในแดนแข็งค่า โดยแข็งค่าเทียบระดับปิดเมื่อวาน 0.13% เคลื่อนไหวตามสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินเยน ญี่ปุ่นกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาระบุว่า ไม่มีความสนใจที่จะใช้นโยบาย "เฮลิคอปเตอร์ มันนี่" ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่เป็นส่วนผสมของนโยบายการเงินและการคลัง ด้วยการที่รัฐบาลออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการออกพันธบัตรที่ไม่มีการไถ่ถอน หรือ perpetual bond ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับคาดการณ์กรอบเคลื่อนไหวเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 22 กรกฎาคม 2559

“2 วิทยาลัยชัยนาท-กลุ่มวังขนาย” ร่วมพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตอ้อย ยกระดับความรู้ นศ.ภาคเกษตร-อุตฯ  

         ชัยนาท - 2 วิทยาลัยในชัยนาท จับมือบริษัทผลิตน้ำตาลกลุ่มวังขนาย ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการผลิตอ้อยและการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อยกระดับความรู้แก่นักศึกษาภาคเกษตร-อุตสาหกรรม พัฒนาสู่แรงงานฝีมือระดับอาเซียน

                เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 ก.ค.) ที่อาคารเรือนรับรอง สวนนกชัยนาท นายธิป โรจนกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มวังขนาย พร้อมด้วย นายสมหมาย สว่างศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท และนายถาวร ทิพวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการผลิตอ้อยและการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อเร่งสร้างบุคลากร และยกระดับความรู้เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ให้แก่นักศึกษาระดับ ปวช.และ ปวส.สาขาเกษตรกรรม วิชาพืชศาสตร์ และสาขาอุตสาหกรรม วิชาช่างซ่อมบำรุง เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาในการประกอบอาชีพภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาฝีมือไปสู่ระดับอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สร้างแรงงานฝีมือที่พร้อมแข่งขันในระดับอาเซียน

                นายธิป โรจนกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของกลุ่มวังขนาย คือ ต้องการให้พนักงานมีการพัฒนาความรู้ และมีวุฒิการศึกษาเพื่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ กลุ่มวังขนาย จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในพื้นที่ของโรงงานน้ำตาล พร้อมยังเปิดโอกาสให้แก่บุตรหลานพนักงาน บุตรหลานของเกษตรกร ตลอดจนเยาวชนทั่วไปที่มีความสนใจ ได้มีโอกาสทางการศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาเกษตรกรรม และประเภทวิชาอุตสาหกรรม

                โดยในปีการศึกษา 2557 กลุ่มวังขนายมีพนักงานที่ศึกษาในระบบทวิภาคีจำนวนกว่า 100 คน จากโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย ที่มีด้วยกัน 4 แห่ง คือ โรงงานน้ำตาลวังขนาย จ.มหาสารคาม โรงงานน้ำตาลราชสีมา จ.นครราชสีมา โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. จ.ลพบุรี และโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

                และในปีการศึกษา 2558 ทางกลุ่มวังขนาย ได้ขยายการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเพิ่มเติมขึ้นในจังหวัดชัยนาท อีก 2 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท และวิทยาลัยเกษตร และเทคโนโลยีชัยนาท โดยนักศึกษาในระบบทวิภาคีจะเรียนภาคทฤษฎีสลับกับการเรียนภาคปฏิบัติงานจริงในโรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนาย ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และจะได้รับการสนับสนุนด้านสวัสดิการต่างๆ ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก และสวัสดิการอื่นๆ ให้แก่นักศึกษาในระหว่างการฝึกงาน และสนับสนุนค่าลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคเรียนทั้งระดับ ปวช. และระดับ ปวส. ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของนักศึกษา และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการสร้างแรงงานฝีมือที่พร้อมแข่งขันในระดับอาเซียนได้อีกด้วย

                นายสมหมาย สว่างศรี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เพื่อยกระดับความรู้ และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำตาลทราย รวมถึงเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และบริการวิชาชีพเฉพาะทางให้แก่สังคม ชุมชน โดยนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เรียนภาคทฤษฎี 2 ปี และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียนภาคทฤษฎี 1 ปี จากคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของวิทยาลัย และด้านปฏิบัตินักเรียนจะมีโอกาสได้ลงมือฝึกหัดอาชีพในสถานประกอบการกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตลอดช่วงระยะเวลาการฝึกงาน ซึ่งในปีการศึกษา 2558 มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในระดับ ปวช.สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาช่างซ่อมบำรุง จำนวน 40 คน

                นายถาวร ทิพวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท กล่าวว่า ทางวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตอ้อย ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาเกษตรศาสตร์ และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาพืชศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะ และประสบการณ์อาชีพ ซึ่งในปีนี้นักศึกษาในระดับ ปวส. จำนวน 13 คน กำลังอยู่ในช่วงการฝึกปฏิบัติงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกอ้อยอินทรีย์ของโรงงาน ตลอดระยะเวลาการฝึกงาน 7 เดือน

                นอกจากนี้ ทางวิทยาลัยยังได้รับความอนุเคราะห์จากทางกลุ่มวังขนาย ได้เข้ามาจัดทำแปลงเกษตรอินทรีย์ จำนวน 12 ไร่ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติงานจริงอีกด้วย 

จาก http://manager.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

KTISตั้งเป้าบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยโตเท่าตัว

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากการที่กลุ่ม KTIS ได้เพิ่มสายการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทำจากเยื่อชานอ้อย 100% ขึ้นมา ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ด้วยกำลังการผลิต2.4 ตันต่อวัน ขณะนี้ได้ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทแรก เป็นจานกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว 7 นิ้ว 9 นิ้วและ 10 นิ้ว ออกจำหน่ายแล้ว และมีแผนงานที่จะผลิตชามกล่องใส่อาหาร และถาดหลุมใส่อาหาร ออกมาในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในช่วงปีแรกของการเริ่มผลิตสินค้าใหม่นี้ สัดส่วนของรายได้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% จะไม่สูงนัก โดยจะอยู่ที่ประมาณ 4% ของการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย และมีแผนจะสร้างรายได้จากบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยอีกเท่าตัวภายใน 3 ปี ซึ่งสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น 8% ของสายการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อย

“กลุ่ม KTIS มีนโยบายชัดเจนที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต หลังจากที่ได้ดำเนินการด้วยแนวทาง Zero Waste หรือการลดของเหลือทิ้งให้เหลือศูนย์ และนำมาสร้างรายได้ได้ทั้งหมดแล้วซึ่งบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% นี้ คือการต่อยอดจากที่จำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อยมาเป็นเวลา 10 กว่าปีนอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงการนำอ้อย น้ำตาลทราย และเอทานอลไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เลื่อนเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ไม่มีกำหนด

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุรัฐประหารที่ตุรกีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลื่อนกำหนดการนำคณะเดินทางเยือนกรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี เพื่อประกาศเปิดเจรจา FTA ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของตุรกี (นาย Nihat Zeybekçi) จากเดิมกำหนดในวันที่ 19 -20 กรกฎาคม 2559 ออกไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ทั้งนี้ การเจรจา FTA มาจากเจตนารมณ์ของทั้งสองประเทศในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลตุรกี ฉบับที่ 1 (ปี 2556 - 2561) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ในระหว่าง การเดินทางเยือนตุรกีของนายกรัฐมนตรี แผนปฏิบัติการร่วมดังกล่าวนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญ เนื่องจากได้ระบุ ให้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำ FTA  ไทย - ตุรกี         

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ G20 ที่มีประชากรประมาณ 80 ล้านคน และมีนักท่องเที่ยวปีละกว่า 30 ล้านคน ตุรกีมีที่ตั้งที่ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ สามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป และเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้า 

ทั้งด้านเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เป็นประเทศมุสลิมแบบเปิดจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันสำคัญจากทะเลแคสเปียนและภูมิภาคเอเชีย ไทยจึงสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ประเทศต่างๆได้ อาทิ ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือ ในขณะเดียวกัน ตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียนและ CLMV ได้ นอกจากนั้น ตุรกีมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน และให้การคุ้มครองนักลงทุน จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในตุรกีและโอกาสในการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และประมง รวมทั้งการผลิตอาหารฮาลาล เป็นต้น

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับแผนการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ตุรกี รอบที่ 1 ที่ประเทศตุรกีเป็นเจ้าภาพ ในระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2559  กำหนดให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ) เป็นประธานร่วมกับอธิบดีกรมสหภาพยุโรป กระทรวงเศรษฐกิจตุรกี (Mr. Murat Yapici) โดยการเจรจารอบที่ 1 ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเพื่อหารือโครงสร้างของข้อบทความตกลงการค้าสินค้า การแบ่งกลุ่มการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แผนการเจรจาและความคาดหวัง รวมถึงเป้าหมายการเจรจาในแต่ละรอบเพื่อให้การดำเนินการเจรจาสามารถเสร็จสิ้นได้ภายในกลางปี 2560

โดยที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จ้างมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ  การคลัง (มูลนิธิ สวค.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยผลการศึกษาพบว่า GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น 0.03-0.04% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 74-99 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปโลกจะเพิ่มขึ้น 0.03-0.05% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50-90  ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ รายการสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตรีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ในปี 2558 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 5 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,212.17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.29 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 745.58 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 979 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 233 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 445.67ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.09 และมูลค่าการค้าสองฝ่ายคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.34 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด  ของไทย และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 281.96 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 363.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 1.81 และนำเข้ามูลค่า 81.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 15.61

สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย ได้แก่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพารา ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สินค้านำเข้าจากตุรกี เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผ้าผืน สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับอัญมณี เป็นต้น

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ยกระดับสินค้า เกษตรอินทรีย์ ไทยสู่โลก

วาง 4 ยุทธศาสตร์หลัก ยกระดับสินค้า เกษตรอินทรีย์ ไทยสู่โลก

                ปัจจุบันเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกยังคงมาแรง ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของการเล่นกีฬา และออกกำลังกายนานาชนิดแล้ว ยังรวมไปถึงการบริโภคอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะเป็นการดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอก อย่างที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งกับประโยคที่ว่า “กินอาหารให้เป็นยา”

               นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้ตลาดอินทรีย์เติบโตเร็วที่สุดในภาคอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าสินค้าอินทรีย์ในตลาดโลกมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท และประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 45% รองมาคือสหภาพยุโรป 36% จีน 6% แคนาดา 4% สวิตเซอร์แลนด์ 3% ญี่ปุ่น 2% และตลาดอื่นๆ อีก 4% ในด้านการผลิต ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรกว่า 2 ล้านครอบครัวทั่วโลก ที่ผลิตระบบ เกษตรอินทรีย์ มีพื้นที่รวมกันกว่า 273.125 ล้านไร่ ประเทศผู้ผลิตอินทรีย์มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อินเดีย 650,000 ฟาร์ม ยูกันดา 190,552 ฟาร์ม และเม็กซิโก 169,703 ฟาร์ม

               ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ เกษตรอินทรีย์ รวม 235,000 ไร่ จำนวนประชากรที่ทำ เกษตรอินทรีย์ 9,961 ฟาร์ม มีการขยายพื้นที่โดยรวมประมาณ 3.8% ผลผลิตหลักคือ ชา กาแฟ ขยายตัวสูงสุด 10.2% รองมาเป็นผัก ผลไม้ 6.9% และพื้นที่ปลูกข้าว 0.6% ส่วนตลาดส่งออก เกษตรอินทรีย์ ที่สำคัญของไทยคือ สหภาพยุโรป สหรัฐ และสิงคโปร์

               “สินค้าอินทรีย์ของไทยยังมีข้อจำกัด คือ ยังไม่สามารถผลิตในลักษณะเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้ จึงมีราคาสูง ส่วนการส่งออกมีอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะปัญหาการรับรองมาตรฐานการผลิตตามหลัก เกษตรอินทรีย์ ของภาครัฐที่น่าเชื่อถือในระดับสากล ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีโอกาสน้อยที่จะเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ แต่เชื่อว่า หากร่วมกันแก้ปัญหาไปได้ก็จะเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาด สอดรับกับนโยบายครัวของโลก” นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

               สินค้าอินทรีย์ที่ไทยส่งออกมาก ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ รองมาคือ กลุ่มผัก ผลไม้ ชา และที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และอื่นๆ ส่วนสินค้าที่มีโอกาสขยายตลาดส่งออกได้มากคือ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกสูงถึง 96% และเป็นสินค้าที่ตลาดยุโรปต้องการอย่างมาก

               สำหรับตลาดอินทรีย์ในประเทศยังจำกัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ และมีรายได้สูง แหล่งจำหน่ายส่วนมากอยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าเฉพาะทางที่มีอยู่มากในเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายขยายตลาดไปยังผู้ซื้อระดับกลาง หรือผู้ซื้อในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยการสนับสนุนให้จัดตลาดนัดสีเขียวในส่วนภูมิภาค และงานแสดงสินค้าในภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสการบริโภคสินค้าอินทรีย์ทั่วประเทศ

               อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ วางแนวทางการขับเคลื่อนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2564 รวม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย 1.สร้างการตระหนักรับรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการทำอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และส่งเสริมเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งปลูกฝังสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์ ให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ เกษตรอินทรีย์ อย่างถูกต้อง

               2.ผลักดันการผลิตตามมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรอง เกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เกษตรอินทรีย์ และช่องทางการเข้าสู่ตลาด ยกระดับสินค้า เกษตรอินทรีย์ ของไทยให้ได้รับรองมาตรฐานสากล โดยผลักดันผ่านกลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสากล และกลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS และที่ได้รับเครื่องหมาย Organic Thailand

               3.เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายสินค้า เกษตรอินทรีย์ ในประเทศ ผลักดันการส่งออก ขยายตลาดสินค้า เกษตรอินทรีย์ ในต่างประเทศ และยกระดับการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ของไทยสู่ระดับสากล

               4.พัฒนาและสร้างมูลค่าให้สินค้าอินทรีย์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ศึกษาการเพิ่มมูลค่าสินค้าอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่ และอำนวยความสะดวกและพัฒนาโครงการพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างมูลค่าสินค้าอินทรีย์

               “การจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระทรวงได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน และหากไทยสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าอินทรีย์ก็จะสามารถเพิ่มยอดการส่งออก เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลได้เพิ่มขึ้น” นางอภิรดีกล่าวและว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกระทรวงยังได้จัดให้มีงานออร์แกนิก แอนด์ เนเชอรัล เอ็กซ์โป 2016 ระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในธีม “สังคมอินทรีย์ ชีวิตดี อย่างยั่งยืน”

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หอค้ามั่นใจจีดีพีปีนี้อาจโตได้ถึง 3.5%

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2559 จะขยายตัว 3.3% จาก 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวไตรมาสละ 3.2% และทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวเฉลี่ย 3.2-3.5% โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของการส่งออกกลับมาเป็นบวก 2.6% จากครึ่งปีแรกติดลบ 0.8% และทำให้ส่งออกทั้งปีขยายตัว 0.8% โดยเป็นสัญญาณจากราคาโภคภัณฑ์ขยับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งราคาข้าว น้ำตาลทราย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยกเว้นมันสำปะหลัง ซึ่งประเมินว่าราคาโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาทและทำให้ราคาส่งออกสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นจาก 30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็น 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล พร้อมกับมาตรการกระตุ้นภาครัฐ การเร่งเบิกจ่าย การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวขยายตัว ดอกเบี้ยเชิงนโยบายระดับต่ำที่ 1.50%

นายอิสระกล่าวว่า ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ ผลผลิตการเกษตรจะต่ำกว่าปกติผลจากภัยแล้ง การขาดสภาพคล่องของธุรกิจจากสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยกู้ ความกังวลแบนสินค้าประมงชั่วคราวจากปัญหาไอยูยู และการถูกตัดจีเอสพีของสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจจีนยังเสี่ยงเรื่องหนี้ภาคเอกชนและหนี้นอกระบบสูง

นายอิสระ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของเมียนมาจะเดินทางมายังประเทศไทย และเยี่ยมแรงงานพม่าในไทย ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทย จะทำความเข้าใจในเรื่องการดูแลแรงงานพม่าในไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจแรงงานประมง และโรงงาน ที่ผ่านมาเอกชนไทยได้ปรับตัวเพื่อให้แรงงานพม่าเป็นแรงงานคุณภาพมี ฝีมือ ด้วยการฝึกอบรม ทำให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยอมรับว่ากังวลต่อกระแสข่าวว่า แรงงานพม่าอาจไหลกลับไปพม่าจนกระทบต่อภาคธุรกิจ นั้น เชื่อว่านายจ้างไทยได้ให้การดูแลแรงงานพม่า ทั้งเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการอย่างดี เทียบเท่าแรงงานไทย ประกอบกับมองว่าพม่ายังไม่ได้มีความต้องการแรงงานมากจนจะทำให้แรงงานไหลกลับไปยังพม่าหมด จึงเชื่อว่าแรงงานพม่ายังคงอยู่ทำงานในไทยต่อไป แต่หากมีแรงงานไหลกับ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในธุรกิจประมง และโรงงานอุตสาหกรรม แต่ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ทั้งนี้ เศรษฐกิจพม่าที่ขยายตัว 7% และมีมูลค่าการค้ากับไทยปีละ 261,000 ล้านบาท ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่า และใช้โอกาสนี้ในเปิดด่านผ่อนปรนเจดีย์สามองค์ และจุดผ่อนปรนพิเศษมะริด-สิงขร

นายอิสระ กล่าวถึงการที่อังกฤษจะลงประชามติถอนตัวเองออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปนั้น หากเกิดขี้นจริงจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวน และค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงอย่างมาก เช่นเดียวกับอังกฤษหากออกมา ค่าเงินปอนด์น่าจะอ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่ระยะยาวจะสิทธิในการดำเนินนโยบายที่เป็นเอกเทศมากขึ้น ไม่ต้องรอการลงมติของสมาชิกสหภาพยุโรป รวมทั้งยังมีความปลอดภัยจากผู้อพยพจากประเทศอื่นๆ ที่ขณะนี้หนีเข้ามาในอังกฤษเป็นจำนวนมากขึ้นด้วย แต่เชื่อว่าแม้อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ก็ไม่ได้กระทบต่อการค้ากับไทย เพราะปัจจุบันไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีสัดส่วนเพียง 10%เท่านั้น และไทยมีสัดส่วนการค้ากับอังกฤษเพียง 2% แต่หากอังกฤษไม่ออกจากสหภาพยุโรป ก็มองว่าปัญหาทุกอย่างคงยังเหมือนเดิม และทำให้อังกฤษอาจต้องแบกรับหนี้ของสหภาพยุโรปไว้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

"แอพดิน-ปุ๋ย"จาก พด.สุดยอดตัวช่วยเกษตรกรยุคไอที

กรมพัฒนาที่ดิน แนะนำแอพพลิเคชั่น เพื่อเกษตรกรจัดการดินและปุ๋ยได้ตรงสภาพความต้องการของพืชที่ปลูกในพื้นที่

           น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ โฆษกกรมพัฒนาที่ดิน (พด.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ หรือโมบายแอพพลิเคชั่น ให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยขึ้น 2 แอพพลิเคชั่น ได้แก่ LDD Soil Guide ซึ่งนำเสนอแผนที่ดิน ข้อมูลดิน สมบัติดินพร้อมคำแนะนำในการจัดการดิน ปุ๋ย ความเหมาะสมสำหรับพืชและข้อจำกัดต่างๆ ในเบื้องต้น และปุ๋ยรายแปลงแอพพลิเคชั่นที่เน้นให้คำแนะนำจัดการดินและปุ๋ยเมื่อมีการเก็บตัวอย่างดิน มีผลวิเคราะห์ดินเป็นรายแปลง

           โดยในการใช้งาน เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ควรใช้แอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide ในการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ก่อน เพื่อให้ทราบสมบัติ ลักษณะของดิน ข้อจำกัด แนวทางจัดการดินและปุ๋ยของดินนั้นๆ หากหาแนวทางการจัดการดิน ปุ๋ยได้ตามต้องการ สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในพื้นที่แล้วก็สามารถนำคำแนะนำนั้นไปปรับใช้ได้ทันที

            โฆษกกรมพัฒนาที่ดินกล่าวอีกว่า กรณีมีข้อสงสัยในคำแนะนำที่อาจไม่ตรงกับสภาพปัจจุบันเนื่องจากมีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้นหรือคาดการณ์ว่ามีปุ๋ยตกค้างมากก็ให้เก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ได้ ต่อเมื่อได้รับผลวิเคราะห์แล้ว ก็จะมีคำแนะนำการจัดการดินและปุ๋ยประกอบมาด้วย ซึ่งนำไปปรับใช้ได้ทันที

            ทั้งนี้ หากเกษตรกรยังต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการปรับผลวิเคราะห์ดินใช้ในกรณีอื่นๆ ให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้โปรแกรมปุ๋ยรายแปลงเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบข้อมูลและคำนวณการผสมปุ๋ยได้

             สำหรับ LDD Soil Guide นอกจากใช้บนโทรศัพท์มือถือแล้วยังใช้บนคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ด้วย โดยเข้าไปในเว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ไทยผนึก6ประเทศ ​ตั้งกลุ่มพันธมิตรธุรกิจน้ำตาล

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า การประชุม Bangkok Sugar Conference และงาน Sugar Dinner ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้เชิญผู้แทนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ภายใต้แนวคิด Thailand: Challenges, Opportunities, Sustainability and Windfall เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจและแลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์คู่ค้าและสร้างพันธมิตร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก ยังได้ประชุมหารือกับชาติสมาชิกในอาเซียน เพื่อร่วมกันจัดตั้ง กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) หลังจากที่ได้หารือแนวคิดการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำตาลทราย เห็นชอบร่วมกัน โดยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASA เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือทางธุรกิจการค้า การลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์และการค้าน้ำตาลทราย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาและถ่ายทอดเทคนิคทางวิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน

สำหรับภูมิภาคอาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่มีการผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในเอเชียและอาเซียน ซึ่งปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยมากกว่า 50% ถูกส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งมีความต้องการนำเข้าปีละ 5-6 ล้านตัน และคาดว่า ภายในปี 2563 การนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2558 ไทยส่งออกน้ำตาลทรายที่ไปอินโดนีเซียมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ตามลำดับ

“การเซ็น MOU ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายในภูมิภาคอาเซียนและของประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ในการจับมือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของภูมิภาคให้เข้มแข็ง และในอนาคตกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนจะขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศนอกสมาชิกอาเซียนอีกด้วย” นายเชิดพงษ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อุตฯเร่งเคลียร์'ไร่อ้อย-รง.

          ดันลงทุนเกษตรแปรรูป ก้าวสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

          กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งสอน.เร่งหารือโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย เคลียร์ข้อจำกัดด้านกฎหมายเปิดช่องเอกชนเร่งลงทุนคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป หวังดันไทยฮับอุตสาหกรรมชีวภาพ

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงทุนในคลัสเตอร์เกษตรแปรรูปว่า ในส่วนของการลงทุนต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก และไบโอเคมี ยังมีความล่าช้า เนื่องจากผู้ประกอบการยังรอความชัดเจนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของการนำวัตถุดิบจากอ้อย ไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง ซึ่งยังติดปัญหาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 ที่ยังไม่มีความชัดเจน

          "ไบโอเคมี ยังมีปัญหาเพราะผู้ประกอบการต้องการซื้ออ้อย ไปผลิตเป็นน้ำอ้อยเอง ไม่อยากซื้อจากโรงงานน้ำตาลอีกต่อ โดยให้เหตุผลว่า ต้องการน้ำอ้อยที่ไม่ผ่านกระบวนการความร้อน แต่หากมีการซื้ออ้อยโดยตรงจากเกษตรกร เราก็กังวลว่า อาจจะเกิดปัญหาราคาซื้อขายอ้อยไม่เท่ากับที่โรงงานน้ำตาลซื้ออยู่ และหากผู้ประกอบการซื้ออ้อยไปผลิตเองก็จะติดปัญหาข้อจำกัดระยะห่างของการตั้งโรงงานที่กำหนดว่าต้องห่างจากที่ตั้งโรงงานเดิม 50 กิโลเมตร และเมื่อมีการหีบอ้อยเกิดขึ้น เท่ากับเป็นการตั้งโรงงาน จึงต้องเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์70/30 แต่ผู้ประกอบก็ไม่เห็นด้วย เรื่องนี้จะต้องเร่งเคลียร์ให้จบ"

          ดังนั้น นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ต้องเร่งหารือกับผู้ประกอบการ โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้น มองว่า ทางออกในเรื่องนี้การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฯ อย่างเดียวคงไม่พอ อาจต้องรื้อโครงสร้างทั้งระบบใหม่

          นางอรรชกา กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพในการส่งออกน้ำตาลเป็นเบอร์2 ของโลก แต่ยังใช้ประโยชน์จากอ้อยน้อยอยู่ จึงมีแนวทางส่งเสริมใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-based Industry) เพื่อดึงดูดการลงทุน

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี (2559-2563) ภายใต้งบประมาณ 9 ล้านบาท โดยมอบหมายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กำหนดกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแปรรูปเกษตร (Agro – based Industry) และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี (Engineering- based) รวมถึงภาครัฐยังมีงบการปฎิรูปสู่การเป็น Thailand 4.0 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชีวภาพ

          โดยมีหลายกระทรวงบูรณาการขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพฯ การพัฒนาบุคลากรทั้งผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรปฏิบัติการ การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหาร การเชื่อมโยงความต้องการของผู้ประกอบการไปสู่นักวิจัย การพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า การหารือร่วมระหว่างชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาล ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะต่างฝ่ายยังมองไม่ตรงกัน โดยเฉพาะระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ส่วนเรื่องระยะห่างของการตั้งโรงงานที่กำหนดว่าต้องห่างจากที่ตั้งโรงงานเดิม 50 กิโลเมตร ถือว่ากฎหมายเปิดช่องให้มีการตั้งโรงงานได้แล้ว

          นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า KSL ยังชะลอแผนก่อสร้างโรงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประเภทไบโอพลาสติก ไบโอเคมี ที่ตั้งเป้าหมายหีบอ้อย 3-4 ล้านตัน งบลงทุน 8,000 –10,000 ล้านบาท ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ในรูปแบบโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร หรืออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะยังรอความชัดเจนจากภาครัฐเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงาน 50 กิโลเมตร หากปลดล็อกก็พร้อมเดินหน้าการลงทุนทันที

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

คุมเข้มกำจัดกากอุตสาหกรรม 

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา รักษาราชการแทนอธิบดีกรม โรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามมาตรการการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วให้ถูกต้อง และก่อนนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานเพื่อไปกำจัดทุกครั้ง โดยจะต้องกรอกข้อมูลในใบกำกับการขนส่งและแจ้งปริมาณกากฯ ที่จะนำออกตามความเป็นจริงพรอมระบุชนิด ปริมาณ ชื่อผู้รับบำบัด หรือกำจัดให้ครบถ้วนหากตรวจสอบพบว่าฝ่าฝืนนำกากฯ ออกนอกโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จะดำเนินการตามกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.3) โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และในทุกๆครั้งที่มีการละเมิดหากพบเกินจำนวนละเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการโรงงานทันที

          นายมงคลกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการผลักดันให้การอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมระหว่างปี 2559-2562 โดยได้กำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำวิธีการขออนุญาตการนำกากฯออกนอกโรงงานอย่างถูกต้องแก่ผู้ประกอบการในโรงงาน 20 ประเภทโรงงาน ที่มีกากของเสียอันตรายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งยังไม่เข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม

          ทั้งนี้ มีโรงงานเข้าสู่ระบบแล้วจำนวน 2,136 โรงงานและให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งตรงถึงผู้ประกอบโรงงานจำพวกที่ 3 หรือขนาดใหญ่ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 24,500 โรงจากทั้งหมด 80,000 โรงงาน ให้ดำเนินการติดต่อยื่นขออนุญาตนำกากฯออกนอกโณงงานอย่างเร่งด่วน.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (5) การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี

การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจโดยทั่วไปมุ่งเน้นการให้ได้ผลผลิตสูง ซึ่งย่อมหมายถึงปริมาณธาตุอาหารจำนวนมากที่พืชต้องการนำไปใช้ในการสร้างผลผลิต การใช้ปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจจึงมักหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีไม่พ้น เนื่องจากให้ปริมาณธาตุอาหารได้มากเมื่อเทียบกับปุ๋ยชนิดอื่นในปริมาณเท่ากัน อย่างไรก็ดีการใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพสูง ดินต้องมีปริมาณอินทรียวัตถุมากเพียงพอ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี จึงเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพืชเศรษฐกิจทั่วไป

การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างจำเพาะเจาะจงในระดับที่ประหยัด มีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องมีการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งปกติต้องใช้งบประมาณและเวลาในการศึกษามาก ต่อมาเมื่อมีแบบจำลองการปลูกพืชมาใช้สนับสนุนการวิจัย ทำให้สามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่เหมือนสภาพจริง และให้ผลสอดคล้องกับการทดสอบทดลองในแปลงมากขึ้น ผลการศึกษาการจัดการธาตุอาหารพืชตามปัจจัยแวดล้อมจำเพาะ เรียกว่า การจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปุ๋ยสั่งตัด”

หากลดระดับความเข้มข้นของปัจจัยแวดล้อมที่ใช้ในการประเมินปริมาณธาตุอาหารที่พืชต้องการลง เหลือเพียงค่าวิเคราะห์ดินกับชนิดของพืชปลูก เรียกว่า “การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน” ซึ่งมีความแปรปรวนมากกว่า เพราะการประเมินการสูญเสียธาตุอาหารในดินจากปัจจัยแวดล้อมถูกกำหนดเป็นค่าเฉลี่ยกลาง ไม่จำเพาะต่อชนิดดินและสภาพแวดล้อมอื่นๆ

อย่างไรก็ดี การนำคำแนะนำการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ และการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปใช้ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ดินและต้องมีการแปลงผลที่จำเพาะกับชนิดพืช ต้องมีฐานข้อมูลสำหรับผู้ให้หรือผู้รับคำแนะนำในการตรวจหาคำแนะนำที่ตรงกับผลวิเคราะห์ดินและพืช ฐานข้อมูลนี้สามารถจัดทำเป็นเอกสารคำแนะนำได้ แต่เพื่อให้สะดวกต่อการสืบค้นและคัดกรองข้อมูล ควรใช้เป็นระบบสารสนเทศจึงเหมาะสมกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำไว้แล้วในชื่อ “โปรแกรมปุ๋ยรายแปลง”

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ระดมสมองครั้งสุดท้ายทำแผนพัฒนาฯ ฉบับ 12

                    สศช.จัดประชุมใหญ่ 22 ก.ค.นี้ ระดมความเห็นร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนรวมรวมเป็นร่างแผนฯ เสนอให้ครม.พิจารณา                   

                    นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ สศช.จะจัดการประชุมประจำปี 59 เรื่องร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 64) ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้สศช.จะระดมความเห็นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนรวมรวมเป็นร่างแผนฯ เสนอให้ครม.พิจารณา

สำหรับการประชุมดังกล่าว สศช.จะเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้การจัดทำแผนดังกล่าวมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ รวมทั้งเพื่อรายงานผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของสังคมไทยในช่วง 4 ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-59) อีกด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รัฐมั่นใจบราซิลถอนฟ้องWTO ชี้ไทยมีแผนปรับโครงสร้างอ้อย/นํ้าตาลทรายชัดเจน

สอน.มั่นใจบราซิลถอนฟ้ององค์การการค้าโลก หลังเจรจารอบแรกส่งสัญญาณที่ดี ไม่ตั้งคณะผู้พิจารณาไต่สวน ชี้กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนชัดเจนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลทราย แก้ไขกฎหมายให้นำนํ้าอ้อย ไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้ และนำผลพลอยได้จากโรงงานนํ้าตาลมาเป็นรายได้ช่วยชาวไร่

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมาทางกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการเจรจารอบแรกกับทางรัฐบาลบราซิล กรณีที่ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย โดยครม.พิจารณารายงานผลการเจรจาแล้ว ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ไปรจัดเตรียมข้อมูลเพื่อให้พร้อมเปิดเจรจาในครั้งที่ 2 ต่อไปในอีก 2 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม จากการเจรจากับทางรัฐบาลบราซิลเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่ามีสัญญาณค่อนข้างดี ที่เห็นว่าฝ่ายไทยมีการตื่นตัวที่จะปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปกติหลังจบการเจรจารอบแรกแล้ว ทางบราซิลจะต้องตั้งคณะผู้พิจารณา ( Panel) ขึ้นมาเพื่อเปิดไต่สวน แต่ได้ชะลอออกไป เพื่อเปิดให้มีการเจรจาในรอบที่ 2 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้มีความชัดเจนขึ้น

โดยเฉพาะการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ทั้งระบบ ที่ทางบราซิลอยากจะเห็นแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ ที่จะมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 ใหม่ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้นอกจากน้ำตาลทราย เช่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี เหมือนกับทางบราซิลที่ใช้น้ำอ้อยผลิตเป็นเอทานอลกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตอ้อย ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกน้ำตาลลดลงไม่กระทบต่อตลาดโลก ซึ่งทางบราซิลเห็นดีด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ส่งออกไทยในบริบทใหม่ของการค้าโลกชะลอตัว 

          รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

          ส่งออกไทยในบริบทใหม่ของการค้าโลกชะลอตัว

          Key highlight:

          วิจัยกรุงศรีสรุป 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยซบเซาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า 2. โครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวของไทยจากขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยทุกชนิด ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก

          วิจัยกรุงศรีใช้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยและแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกในช่วงปี 2554-58 เป็นเกณฑ์แบ่งสินค้าส่งออกไทยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าส่งออกที่ 'แกร่ง' คิดเป็น 19.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คือ สินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก และไทยได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น กลุ่มที่ 2 สินค้าส่งออกที่ 'พลาด' คิดเป็น 14.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สินค้าในกลุ่มนี้กำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดี เช่น แผงวงจรรวม อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว และอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มที่ 3 สินค้าส่งออกที่ 'ยังดิ้นรน' คิดเป็น 27.6% ของมูลค่าการส่งออก ได้แก่ สินค้าที่แนวโน้มความต้องการในตลาดโลกลดลง ทั้งที่ไทยได้และเสียส่วนแบ่งการตลาดไป โดยส่วนแบ่งของสินค้าไทยอาจเพิ่มขึ้นเพราะคู่แข่งรายอื่นออกจากตลาด หรือลดลงเพราะผู้ส่งออกไทยหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมน้ำตาล จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสปรับตัว เพื่อขึ้นไปแข่งขันในตลาดสินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก จึงยังต้องติดตามและประเมินความสามารถในการแข่งขันต่อไป

          ทั้งนี้ จะเห็นว่าสินค้าส่งออกที่ "แกร่ง" คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่า และน่าจะพอเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกแทนสินค้าส่งออกที่ "พลาด" ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ 'ยังดิ้นรน' อีกกว่า 1 ใน 4 ที่ต้องติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทำให้ในภาพรวม ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา วิจัยกรุงศรีเสนอแนะให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ

          ส่งออกไทยในบริบทใหม่ของการค้าโลกชะลอตัว

          นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง จากที่เคยขยายตัวได้ในระดับสูงและเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปีนี้การส่งออกอาจหดตัวเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน หลังจากในช่วงห้าเดือนแรก มูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 1.9% วิจัยกรุงศรีสรุป 3 ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกไทยซบเซาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า 2. โครงสร้างทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวของไทยจากขีดความสามารถในการแข่งขัน

          นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกลดลงแล้ว โครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปยังเป็นอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การส่งออกซบเซาทั่วโลก ปรากฎการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากภาคธุรกิจลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและเครื่องจักร ขณะที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าที่ผลิตเองในประเทศแทนสินค้านำเข้า ด้วยเหตุนี้ มูลค่าการค้าโลกจึงไม่ได้เติบโตตามรายได้ของประชากรโลกเหมือนในอดีต จากข้อมูลในปี 2556 ที่การขยายตัวของการค้าโลกอยู่ในอัตราเท่ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งลดลงจากที่เคยขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าถึง 2 เท่า ในช่วงปี 2533-42

          ในขณะที่ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าไทยตอบสนองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่ามูลค่าการค้าโลก สิ่งดังกล่าวจึงสะท้อนว่า นอกเหนือจากผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าที่กระทบการส่งออกทั่วโลก ไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเฉพาะตัวจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ทั้งจากการขาดแคลนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ค่าแรงที่สูงขึ้น และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยทุกชนิด ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก วิจัยกรุงศรีใช้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยและแนวโน้มความต้องการในตลาดโลกในช่วงปี 2554-58 เป็นเกณฑ์แบ่งสินค้าส่งออกไทยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าที่ "แกร่ง", "พลาด" และ "ยังดิ้นรน"

          กลุ่มที่ 1 สินค้าส่งออกที่ 'แกร่ง' คิดเป็น 19.9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คือ สินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก และไทยได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น

          รถยนต์และชิ้นส่วน : ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญ เนื่องจากมีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ มี สายการผลิตค่อนข้างสมบูรณ์ และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน

          ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง : ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ล้ำหน้ากว่าคู่แข่ง

เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเครื่องทำความเย็น (Cooling) : ไทยมีความได้เปรียบจากการมีสายการผลิตที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้สามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตเองได้เกือบทั้งหมด

          กลุ่มที่ 2 สินค้าส่งออกที่ 'พลาด' คิดเป็น 14.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สินค้าในกลุ่มนี้กำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดส่งออกที่เติบโตได้ดี เช่น

          แผงวงจรรวม: ไทยเสียศักยภาพในการแข่งขัน เพราะขาดการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เทคโนโลยีของไทยไม่รองรับการผลิตส่วนประกอบของ smartphone ที่มีแนวโน้มสดใสในตลาดโลก

          อัญมณีและเครื่องประดับ: ในตลาดเครื่องประดับ คู่แข่งอย่างจีนและอินเดียพัฒนาการผลิตและการออกแบบเครื่องประดับขึ้นมาใกล้เคียงกับไทย นอกจากนี้ ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในส่วนของเครื่องประดับเงิน ทำให้แข่งขันได้ยาก

          ข้าว ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบาลไทยที่มีมาต่อเนื่องทำให้ต้นทุนของไทยปรับสูงขึ้น ประกอบกับคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาแข่งกับข้าวหอมมะลิไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยแล้งยังส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และปัญหาด้านคุณภาพที่กดดันให้ราคาส่งออกลดลง

          อาหารทะเลแปรรูป ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดเนื่องจากการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ และได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในกุ้ง อีกทั้งผู้นำเข้าหลักอย่างสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าไทย

          กลุ่มที่ 3 สินค้าส่งออกที่ 'ยังดิ้นรน' คิดเป็น 27.6% ของมูลค่าการส่งออก ได้แก่ สินค้าที่แนวโน้มความต้องการในตลาดโลกลดลง ทั้งที่ไทยได้และเสียส่วนแบ่งการตลาดไป โดยส่วนแบ่งของสินค้าไทยอาจเพิ่มขึ้นเพราะคู่แข่งรายอื่นออกจากตลาด หรือลดลงเพราะผู้ส่งออกไทยหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมน้ำตาลที่ผู้ประกอบการไทยลดการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ แล้วหันมาส่งออกน้ำตาลทรายขาวที่มีมูลค่าสูงกว่า รวมทั้งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น น้ำเชื่อม และไซรัป เป็นต้น จะเห็นได้ว่าผู้ส่งออกในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสปรับตัว เพื่อขึ้นไปแข่งขันในตลาดสินค้าที่เติบโตได้ดีในตลาดโลก จึงยังต้องติดตามและประเมินความสามารถในการแข่งขันต่อไป ทั้งนี้ จะเห็นว่าสินค้าส่งออกที่ "แกร่ง" คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวมสูงกว่า และน่าจะพอเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออกแทนสินค้าส่งออกที่ "พลาด" ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ 'ยังดิ้นรน' อีกกว่า 1 ใน 4 ที่ต้องติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทำให้ในภาพรวม ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา

          คงต้องยอมรับว่า การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิด ดังนั้น หลายภาคส่วนจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว คำถามที่สำคัญ คือ 'เราจะอยู่รอดได้อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าโลก?' ไทยควรปรับปรุงโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ก่อให้เกิดสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง และพัฒนาระบบตลาดภายในประเทศให้มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (4)

7.ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหารพืช หรือช่วยธาตุอาหารพืชในดินมีความเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น ส่งผลให้ดินอุดมสมบูรณ์ สามารถสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มปริมาณไนโตรเจนในดิน เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม กระตุ้นการเจริญของระบบรากและต้นพืช เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี 25-30%

สำหรับอัตราและวิธีการใช้ ให้นำผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 จำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 100 กรัม ไปขยายเชื้อในปุ๋ยหมัก 300 กก.และรำข้าว 3 กก. ปรับความชื้น 70% กองปุ๋ยในที่ร่มเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูงประมาณ 50 ซม. 4 วัน แล้วนำไปใช้ดังนี้ ในข้าว ใช้ 300 กก./ไร่ โดยหว่านให้ทั่วพื้นที่ช่วงเตรียมปลูก ในพืชไร่ พืชผัก หญ้าอาหารสัตว์ ใช้ 300 กก./ไร่ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกพืชแล้วคลุกเคล้ากับดิน ในไม้ผล ไม้ยืนต้น ใช้ 3-5 กก./ต้น ช่วงเตรียมหลุมปลูก ใส่โดยคลุกกับดินรองไว้ก้นหลุมก่อนปลูกพืช ช่วงต้นพืชเจริญแล้วใส่รอบทรงพุ่มหรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม

การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยเคมี

ในการปรับปรุงบำรุงดิน การปรับปรุงดินทางกายภาพจะเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ส่วนการปรับปรุงบำรุงดินด้านเคมีโดยเฉพาะธาตุอาหารพืช จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร ซึ่งเกษตรกรมักสงสัยว่า ควรใส่ปุ๋ยอะไรและใส่เท่าไร จึงต้องเข้าใจก่อนว่า การใส่ปุ๋ยไม่ว่าปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมี คือ การเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของพืช และคงความสมบูรณ์ของดิน จึงต้องทราบว่า พืชที่ปลูกต้องการธาตุอาหารเท่าใดในการสร้างผลผลิต และดินมีโอกาสสูญเสียธาตุอาหารเพียงไร

การวิเคราะห์ดินทำให้ทราบปริมาณธาตุอาหารต้นทุนที่มีในดิน หากปริมาณธาตุอาหารในดินมีมากพอสำหรับพืชเพื่อดึงไปใช้สร้างผลผลิต ไม่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงเกินกำหนด ดินนั้นย่อมปลูกพืชได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย แต่หากดินมีปริมาณธาตุอาหารไม่เพียงพอสำหรับพืช การใส่ปุ๋ยเพื่อชดเชยธาตุอาหารที่ขาดจึงจำเป็นต้องทำโดยไม่คำนึงว่าธาตุอาหารนั้นจะมาจากปุ๋ยชนิดใด จะเป็นปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ก็ย่อมกระทำได้ หากให้ปริมาณธาตุอาหารตามที่พืชต้องการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สอน.เปิดศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งในอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิด “ศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Sugarcane Breeding Center Opining Schedule : TSBC: หน่วยงานกลางสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ วิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยภายในประเทศ ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเป็นศูนย์กลางเครือข่ายวิชาการด้านอ้อยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยโครงสร้างทันสมัยมีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นความรวดเร็ว และความถูกต้องในการทำงานสร้างความสัมพันธุ์กับหน่วยงานวิจัย และพัฒนาพันธุ์อ้อยในระดับนานาชาติวางแผนการจัดตั้งแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์อ้อย

ดร.อรรชกา  สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในปีการผลิต 2558/59 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 94  ล้านตัน ครอบคลุมพื้นที่ 49 จังหวัด เนื้อที่กว่า 10 ล้านไร่ และสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งเป็นแหล่งสร้างงานให้แก่ชาวไร่อ้อย แรงงานรับจ้างในไร่อ้อย พนักงานโรงงานน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

โดยประเทศไทยมีจุดแข็งในการผลิตอ้อยและน้ำตาลาทรายที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ยังมีบางจุดที่ต้องเร่งพัฒนาแก้ไข คือการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค โดยการได้มาซึ่งพันธุ์ใหม่ด้วยวิธีการแบบเดิม ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี ให้เหลือเพียง 5 – 6 ปี รองรับปัญหาพันธุ์อ้อยที่ใช้อยู่เริ่ม มีผลกระทบต่อผลผลิตของอ้อย

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลาสทรายมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการพัฒนาและขยายอ้อยพันธุ์ดี ผ่านศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (Thailand Sugarcane Breeding Center) หรือเรียกว่า TSBC ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายๆ ด้านมาใช้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของประเทศและที่สำคัญ คือ เป็นนวัตกรรมที่คนไทยคิดและทำเอง สามารถตอบสนองกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของไทย ให้มีความรวดเร็วแม่นยำ ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรชาวไร้อ้อยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้วยวิชาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับอ้อยที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศเข้ามาใช้แบบ read time อีกด้วย โดยมีแผนการจัดตั้งเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2564

ด้านนายสมศักดิ์  จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (Thailand Sugarcane Breeding Center) มีภารกิจสำคัญในหลายด้าน ประกอบด้วย เป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทย ในการดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อยด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในระดับนานาชาติ ซึ่งมีการเก็บรวบรวม GERMPLASM ด้านอ้อยของประเทศไทย ตลอดจนเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการผสมเกสรอ้อยด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายนักปรับปรุงพันธุ์อ้อย ที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยของประเทศไทยและเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับ โดยกิจกรรมที่สำคัญอาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักย์ภาพในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ได้แก่ โรงควบคุมสภาวะแวดล้อม โรงเรือนผสมพันธุ์อ้อย ธนาคารเมล็ดพันธุ์อ้อย โรงเรือนเพาะชำเมล็ดอ้อย  โรงเรือนอนุบาลกล้าอ้อย อาคารชีวะโมเลกุล อาคารกักกันพืช อาการวิเคราะห์ CCS อาคารเตรียมสารเคมีและโรงปฎิบัติการเครื่องจักรกลและซ่อมบำรุงพัฒนาระบบเครือข่ายคัดเลือกพันธุ์อ้อย ด้วยระบบสารสนเทศที่ทันสมัย  โดยมีการพัฒนาโปรแกรม Appllcation ต่างๆ ที่สนับสนุนให้เครื่อข่ายสามารถติดต่อ ประสานความร่วมมือ ได้เป็นปัจจุบัน พัฒนาระบบฐานข้อมูล  และบุคลากรเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์อ้อย พัฒนาระบบการปลูกอ้อยแบบ smat farm ที่เหมาะสมกับพันธุ์อ้อยที่พัฒนาขึ้น เป็นต้น

เชื่อว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะสามารถพัฒนาพันธุ์อ้อยใหม่ๆ ได้มากกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ และสามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงในอ้อย ช่วยสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สำนักบริหารอ้อยยันน้ำตาลไม่ขาดตลาด เร่งระบายเพิ่มโควตา ก. เพิ่มล้านกระสอบ

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ว่า หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภค ภายในประเทศ (โควตา ก.) เพิ่มเป็น 26 ล้านกระสอบ หรือ 2.6 ล้านตัน จากเดิม 25 ล้านกระสอบ หรือ 2.5 ล้านตัน ทำให้สัปดาห์ทำให้สัปดาห์นี้สำนักบริหารฯได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายส่งผ่านไปยังผู้บริโภค เพิ่มขึ้นแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าปริมาณดังกล่าวจะเพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศไม่มีปัญหาการขาดแคลน

นายบุญถิ่นกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ยอมรับว่ามีความต้องการน้ำตาลทรายภายในประเทศเพิ่มขึ้น จนเกิดการตึงตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีอากาศร้อนทำให้เกิดการใช้น้ำตาลเพื่ออุตสาหกรรมน้ำอัดลม น้ำหวาน ชาเขียว น้ำผลไม้จำนวนมาก ทำให้ต้องมีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังด่านชายแดนทั่วประเทศ ก็พบว่าไม่ได้มีการลักลอบส่งออกน้ำตาลที่ผิดปกติ ส่วนน้ำตาล ถุงบรรจุ 1 กิโลกรัม (กก.) ที่โรงงานน้ำตาลบางแห่งนำมาบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆนั้น ทางผู้ผลิตที่ทำตลาดอยู่ 3-4 ราย ไม่ได้ขยายการผลิตเพิ่ม ขณะที่ห้างร้านสะดวกซื้อ เพิ่มสาขาจำนวนมาก จึงอาจเกิดขาดแคลนในบางแห่งทำให้ผู้บริโภคมองว่าน้ำตาลขาดแคลน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำตาลช่วงที่ผ่านมามีภาวะตึงตัวจริง แต่เมื่อรัฐกำหนดเพิ่มโควตา ก.อีก 1 ล้านกระสอบ ปัญหาคงผ่อนคลายลง ขณะที่น้ำตาลถุง 1 กก. ที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดอาจตึงตัวตึงตัวเนื่องจากจำนวนห้างต่างๆและร้านสะดวกซื้อขยายตัวสูงมาก แต่ผู้ค้าหลักที่จำหน่ายน้ำตาลถุง 1 กก. ไม่มีนโยบายจำหน่ายเพิ่มขึ้นเพราะกระทรวงพาณิชย์คิดค่าบรรจุภัณฑ์ให้เพียง 0.75 บาทต่อถุงไม่คุ้มค่ากับการลงทุนทำน้ำตาลบรรจุถุงขนาด 1 กก.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

รัฐมั่นใจบราซิลถอนฟ้องWTO ชี้ไทยมีแผนปรับโครงสร้างอ้อย/น้ำตาลทรายชัดเจน 

          สอน.มั่นใจบราซิลถอนฟ้ององค์การการค้าโลก หลังเจรจารอบแรกส่งสัญญาณที่ดี ไม่ตั้งคณะผู้พิจารณาไต่สวน ชี้กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนชัดเจนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไขกฎหมายให้นำน้ำอ้อย ไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้ และนำผลพลอยได้จากโรงงานน้ำตาลมาเป็นรายได้ช่วยชาวไร่

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมาทางกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานผลการเจรจารอบแรกกับทางรัฐบาลบราซิล กรณีที่ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับสินค้าน้ำตาลทราย โดยครม.พิจารณารายงานผลการเจรจาแล้ว ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ไปจัดเตรียมข้อมูลเพื่อให้พร้อมเปิดเจรจาในครั้งที่ 2 ต่อไปในอีก 2 เดือนข้างหน้า

          อย่างไรก็ตาม จากการเจรจากับทางรัฐบาลบราซิลเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่ามีสัญญาณค่อนข้างดี ที่เห็นว่าฝ่ายไทยมีการตื่นตัวที่จะปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปกติหลังจบการเจรจารอบแรกแล้ว ทางบราซิลจะต้องตั้งคณะผู้พิจารณา(Panel) ขึ้นมาเพื่อเปิดไต่สวน แต่ได้ชะลอออกไป เพื่อเปิดให้มีการเจรจาในรอบที่ 2 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาให้มีความชัดเจนขึ้น

          โดยเฉพาะการจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ทั้งระบบ ที่ทางบราซิลอยากจะเห็นแผนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ ที่จะมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 ใหม่ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้นอกจากน้ำตาลทราย เช่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี เหมือนกับทางบราซิลที่ใช้น้ำอ้อยผลิตเป็นเอทานอลกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตอ้อย ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกน้ำตาลลดลงไม่กระทบต่อตลาดโลก ซึ่งทางบราซิลเห็นดีด้วย

          อีกทั้ง ให้นำผลพลอยได้จากการหีบอ้อย ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายกาก น้ำตาลหรือโมลาส เพื่อไปทำเอทานอล กากอ้อย นำไปผลิตไฟฟ้า รวมถึงกากตะกรัน ที่นำไปทำปุ๋ย ให้นำมาเป็นรายได้ส่งเข้าระบบ เพื่อให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายได้ที่จำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งในแผนปรับโครงสร้างดังกล่าว จะมีการกำหนดระยะเวลาในการนำมาบังคับใช้ที่ชัดเจนออกมา ให้สอดคล้องกับข้อท้วงติงของบราซิลและ WTO

          นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ทางบราซิล กล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนการผลิตในประเทศ ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายสู่ตลาดโลกในปริมาณที่มาก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดน้ำตาลโควตา ก. ที่เป็นราคาควบคุมในประเทศ การอุดหนุนต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่อ้อยในอัตรา 160 บาทต่อไร่ รวมถึง การประกันราคาอ้อยขั้นต่ำ เป็นต้นนั้นในส่วนนี้ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้วว่า รายได้ต่างๆ ที่ชาวไร่อ้อยได้รับ ไม่ได้เป็นเงินที่อุดหนุนมาจากรัฐบาล แต่เป็นโครงสร้างของอุตสาหกรรมอ้อยที่ดำเนินการมานาน

          อีกทั้งเมื่อชี้แจงถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะมีการแก้ไขในข้อกล่าวหาดังกล่าว ทางบราซิลมีความสบายใจโดยเฉพาะการให้เปิดเสรีลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ก็รวมอยู่ในการปรับโครงสร้างดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่าทางบราซิลคงจะถอนฟ้องWTO หลังจากที่มีการเจรจาเกิดขึ้นอีกครั้ง

          นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ทางกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อจ่ายให้กับชาวไร่อ้อยในฤดูหีบ 2558-2559 โดยจะโอนเงินงวดแรกในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ไทย-อินเดียฟื้นเจรจา FTA อีกรอบ l หลังยืดเยื้อนานนับ10ปี l สาเหตุยังตกลงกันไม่ได้

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เปิดเผยว่า จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม 2559 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

“การเจรจาเปิดเสรีการค้า FTA ไทย-อินเดีย ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า การจัดทำข้อบทการค้าบริการ การจัดทำข้อบทการลงทุน เป็นต้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมหลังเว้นว่างมากว่า 1 ปี ทั้งนี้ การพบปะหารือระหว่างผู้นำไทย-อินเดีย ที่ผ่านมาหลายครั้ง สองฝ่ายมีความเห็นพ้องกันให้เร่งหาข้อสรุปการเจรจาโดยเร็ว”

สำหรับการเจรจาครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจากการค้า (TNC) ควบคู่ไปกับการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย อาทิ คณะทำงานด้านการค้าสินค้า คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและศุลกากร คณะทำงานด้านการค้าบริการ คณะทำงานด้านการลงทุน คณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และคณะทำงานด้านมาตรการอุปสรรคที่เป็นเทคนิคทางการค้า (TBT) โดยไทยหวังว่า หากสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ระหว่างกันได้ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี การเพิ่มโอกาสการนำเข้าสินค้า รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

สำหรับไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยตั้งอยู่ใจกลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอินเดียสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางทาง

 โลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงไปยังประเทศอาเซียนอื่น รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ปัจจุบันนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย เดเวล๊อปเมนต์ จำกัด และบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด

ในปี 2558 อินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 7,924.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.44 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,667.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 5,295.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.68 และนำเข้ามูลค่า 2,628.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 13.53

ส่วนสินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียที่มีศักยภาพ เช่น เพชรพลอย อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค น้ำผลไม้ ผลไม้แปรรูปอื่นๆ อาหารแปรรูป ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และสินค้าส่งออกของอินเดียมาไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ เศษโลหะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เภสัชกรรม เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เดินหน้าพัฒนา‘Smart Officer’ เกษตรฯเร่งสร้างบุคลากรรองรับการบริหารยุคใหม่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2559 กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะบุคลากรในพื้นที่ทุกระดับที่จะต้องมีความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน วิธีปฏิบัติและประสานงานกับทุกภาคส่วน โดยต้องได้รับการพัฒนาให้เป็น Smart Officer ที่มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ มีความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการโครงการต่างๆ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้โครงการเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer จะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรในอนาคต และสามารถเรียนรู้สถานการณ์เร่งด่วนที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี สามารถคิด วิเคราะห์สถานการณ์ และวางแผนการพัฒนาให้เกษตรกรได้เปรียบในการแข่งขัน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องสู่เกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นทิศทางเดียวกันและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการการเตรียมความพร้อมบุคลากรสู่การเป็น SmartOfficer จะพัฒนาให้เจ้าหน้าที่เป็น Smart Officer เพื่อให้สอดคล้องกับ Smart Farmer และ Young Smart Farmer เนื่องจากการทำการเกษตรในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามากขึ้น เห็นได้จากหลายพื้นที่นำเอาเทคโนโลยี เครื่องจักรกลทางการเกษตร เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้น ซึ่งการเตรียมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมนั้นจะสอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯที่ต้องการดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญคือ 1.สร้างความเข้มแข็งในเกษตรกร 2.ทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน และ 3.ส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรกร

“กระทรวงเกษตรฯมีแนวทางการพัฒนาเกษตรกร 7 หมื่นรายให้หันมาทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งด้านภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติโดยจะดำเนินการผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 882 ศูนย์เรียนรู้ อีกทั้งจะมีการจัดทำเว็บไซต์ของกรมให้มีความทันสมัยเพิ่มเติมข้อมูล องค์ความรู้ และข่าวสารที่น่าสนใจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ เข้าไปศึกษาเพื่อถ่ายทอดสู่เกษตรกร อีกทั้งเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไปสามารถโหลด Application “Smart co-op” ของกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปไว้ใน Smart Phone ได้ ซึ่งใน App จะประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ มากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรอย่างแน่นอน” นายวิณะโรจน์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สศก.เร่งคลอดยุทธศาสตร์5ปี รองรับเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่โลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณน้ำฝนไม่เป็นตามฤดูกาล พื้นดินและสภาพดินมีความเสื่อมโทรม ภูมิอากาศหรืออุณหภูมิภายในประเทศมีความผันผวนตลอดทั้งปี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณให้ประเทศไทยและนานาประเทศร่วมมือกัน จัดการบรรเทาและปรับตัวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกภายใต้อนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศร่วมเป็นสมาชิก 197 ประเทศ เป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พัฒนาความสามารถการปรับตัว และสร้างความรู้หรือความตระหนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2559 ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสศก.และกรมพัฒนาที่ดิน ได้ร่วมประชุมติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่มประเทศ G77-China เสนอให้นานาประเทศเพิ่มการให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ เพื่อพัฒนาเป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายของโลกต่อไป รวมทั้งกระตุ้นให้มีการเสริมสร้างการปรับตัวในทุกมิติ ซึ่งในส่วนภาคเกษตร กลุ่มประเทศอาเซียน ได้มีแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการดำเนินการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารและภาคการผลิตอื่นๆ รวมทั้งระบบนิเวศน์ซึ่งต้องมีการสร้างระบบข้อมูลการเกษตรที่เหมาะสม และฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถรับมือและเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ สศก. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร พ.ศ.2560-2564 โดยดำเนินการสังเคราะห์และทบทวนผลการปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา (2555-2557) รวมทั้งประชุมกลุ่มย่อย เพื่อศึกษาห่วงโซ่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการปรับตัวของภาคการเกษตร เพื่อให้ภาคเกษตรมีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

หวั่นค่าบาทอ่อนหลุด 37 บาท หากประชามติ 7 ส.ค.สะดุด

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2559 คาดจะขยายตัว 3% จากแรงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ และสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ทำให้รายได้เกษตรกรเริ่มขยับขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 3% แต่ต้องจับตาดูปัจจัยเสี่ยงด้านส่งออกอาจติดลบ 2% โดยเห็นว่าเฟดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพราะรอดูผลอังกฤษออกจากอียู เงินหยวนเข้าตะกร้าสกุลเงินไอเอ็มเอฟ ส่วนปัจจัยการเมืองที่วันที่ 7 สิงหาคม ไทยจะมีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ หากผ่านไปด้วยดีค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงไม่มาก อยู่ระดับ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่หากไม่เป็นไปตามคาดหมายจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นลดลง ค่าเงินบาทจะอ่อนลง อยู่ระดับ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปลายปีค่าบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวระดับ 36.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% จนถึงสิ้นปี 2560 ส่วนลงทุนยังคงเก็บลงทุนพันธบัตรถึงสิ้นปีเพราะดอกเบี้ยดีกว่าสหรัฐ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

รัฐเร่งระบายน้ำตาลสู่ตลาด เพิ่มมั่นใจไม่ขาดแคลน  

         สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเร่งระบายน้ำตาลอีก 1 ล้านกระสอบสู่ตลาดป้องกันภาวะตึงตัว มั่นใจไร้การขาดแคลนแน่นอนโควตา ก.สูงถึง 26 ล้านกระสอบแล้ว ด้านโรงงานน้ำตาลชี้ตึงตัวจริง แนะให้เกาะติดชายแดนหลังจีนราคาพุ่งเอื้อให้ลักลอบ ขณะที่ถุง 1 กก.ที่ขายในโมเดิร์นเทรดตึงตัวจริงเพราะเมินผลิตเพิ่ม เหตุพาณิชย์คุมค่าบรรจุภัณฑ์

                นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นชอบการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ (โควตา ก.) เพิ่มเป็น 26 ล้านกระสอบ (2.6 ล้านตัน) จากเดิม 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) ทำให้สัปดาห์นี้สำนักงานฯ ได้มีการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อจำหน่ายส่งผ่านไปยังผู้บริโภคเพิ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าปริมาณดังกล่าวจะเพียงพอต่อความต้องการไม่มีการขาดแคลนแต่อย่างใด

                “ก่อนหน้านี้ยอมรับว่ามีความต้องการน้ำตาลทรายภายในประเทศเพิ่มขึ้นจนเกิดการตึงตัวโดยเฉพาะจากยี่ปั๊ว ซึ่งเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ไทยร้อนจัดทำให้เกิดการใช้น้ำตาลเพื่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะทำเครื่องดื่มจำนวนมาก เราจึงมีการจัดสรรน้ำตาลจากเดิม 24.5 ล้านกระสอบและทยอยเพิ่มขึ้นจนถึง 26 ล้านกระสอบคิดว่าเพียงพอ นอกจากนี้ยังได้มีการประสานไปยังการค้าชายแดนก็พบว่าไม่ได้มีการลักลอบที่ผิดปกติอะไรตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต” นายบุญถิ่นกล่าว

                อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำตาลถุงบรรจุ 1 กิโลกรัม (กก.) ที่โรงงานผลิตเพื่อสร้างแบรนด์จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดต่างๆ นั้นยอมรับว่าทางผู้ผลิตที่ปัจจุบันทำตลาดอยู่ประมาณ 3-4 รายนั้นไม่ได้มีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ห้างร้านสะดวกซื้อต่างๆ กลับเพิ่มสาขาจำนวนมาก ส่วนนี้ก็อาจจะตึงตัวบ้างเล็กน้อยแต่ภาพรวมก็ไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นขาดแคลน

                แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลทรายช่วงที่ผ่านมามีภาวะตึงตัวจริง โดยเฉพาะมีความต้องการจากยี่ปั๊ว ซาปั๊วสูงขึ้น แต่เมื่อรัฐกำหนดเพิ่มโควตา ก.อีก 1 ล้านกระสอบคงจะไม่น่าทำให้เกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤตขาดแคลนเช่นอดีตที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เกิดภาวะตึงตัวและต้องการให้รัฐดูแลใกล้ชิดเพราะราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่เริ่มสูงขึ้นช่วงนี้ทำให้มีการส่งออกน้ำตาลโควตา ค. ซึ่งเป็นน้ำตาลส่งออกตามกฎหมายไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ดังนั้น เมื่อส่วนต่างราคามีสูง หากไม่พอแนวโน้มการลักลอบโควตา ก.ส่งออกไปก็มีโอกาสเช่นกันจึงต้องติดตามใกล้ชิดในส่วนนี้

                ขณะเดียวกัน ในส่วนของน้ำตาลถุง 1 กก.ที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดก็อาจจะตึงตัว เนื่องจากจำนวนห้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ห้างขนาดเล็กๆ ร้านสะดวกซื้อมีการขยายตัวสูงมากแต่ผู้ค้าหลักที่จำหน่ายน้ำตาลถุง 1 กก.ให้มีเพียงกลุ่มมิตรผล ไทยรุ่งเรือง และวังขนาย ไม่มีนโยบายจะทำเพิ่มขึ้นเพราะกระทรวงพาณิชย์คิดค่าบรรจุภัณฑ์ให้เพียง 0.75 บาทต่อถุง ซึ่งต้นทุนดังกล่าวต่ำไปไม่คุ้มกับการลงทุนเครื่องจักรบรรจุใหม่รายอื่นๆ จึงไม่เข้ามาทำ ดังนั้นถ้าห้างฯ ขาดแคลนน้ำตาลก็ควรไปซื้อถุง 50 กก.มาบรรจุขายเอง

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

‘3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย’ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน

อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเจ้าภาพประชุมถกสถานการณ์น้ำตาลโลก

 พร้อมจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนเ พื่อสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค

 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายทราย จัดการประชุม Bangkok Sugar Conference และ Bangkok Dinner 2016 ซึ่งมีผู้แทนองค์กรภาครัฐและเอกชนในแวดวงธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรมน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าร่วม โดยมี นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมภายใต้หัวข้อหลัก เรื่อง ‘Thailand: Challenges and Opportunities, Sustainability and Windfall’ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 12.30 น. ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 นอกจากนี้ ในภาคบ่ายเวลา 14.30 – 16.00 น. ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากชาติสมาชิกในอาเซียนจะได้มีการประชุมหารือจัดตั้ง “กลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน” หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ส่วนในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 18.00 น. จะมีการจัดงานดินเนอร์ โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็น Keynote speaker

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (2)

3.สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืชในดิน มีคุณสมบัติสามารถทำลายหรือยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ในดินที่เป็นสาเหตุอาการรากเน่า ได้แก่ โรครากและโคนเน่าของไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน ยางพารา โรคเน่าคอดินและลำต้นเน่าของพืชไร่ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง พืชเส้นใย พืชตระกูลถั่ว โรคเน่าและเหี่ยวของพืชผักไม้ดอกไม้ประดับ เช่น พริก เบญจมาศ โรคเน่าเละของพืชผัก เช่น ผักกาดกะหล่ำปลี โรคถอนฝักดาบของข้าว และโรคผลเน่าของไม้ผลเรี่ยดิน เช่น สตรอเบอร์รี่ นอกจากนั้นยังช่วยลดและควบคุมปริมาณเชื้อโรคพืชในดินทั้งสภาพที่ดอนและที่ลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ก่อนนำสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ไปใช้ ต้องทำการเพิ่มปริมาณเชื้อในปุ๋ยหมักก่อน โดยนำสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 1 ซอง น้ำหนัก 25 กรัม ไปขยายเชื้อในปุ๋ยหมัก 100 กก. และรำข้าว 1 กก. ปรับความชื้นให้ได้ 60-70% กองปุ๋ยในที่ร่มเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง 50 ซม. 7 วัน แล้วใช้กับพืชชนิดต่างๆ ในอัตราและวิธีการดังนี้ ข้าว ใช้ 100 กก./ไร่ โดยหว่านให้ทั่วช่วงเตรียมดินปลูก พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ ใช้ 100 กก./ไร่ ใส่ระหว่างแถวตามแนวปลูกแล้วคลุกเคล้ากับดิน ไม้ผลไม้ยืนต้น ใช้ 3-6 กก./ต้น ช่วงเตรียมหลุมโดยคลุกเคล้ากับดินรองไว้ก้นหลุม ช่วงต้นพืชเจริญแล้วใส่รอบทรงพุ่มหรือหว่านใต้ทรงพุ่ม

4.สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 สำหรับผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดสารออกฤทธิ์และสารไล่แมลงที่อยู่ในพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ สำหรับอัตราและวิธีการใช้สารควบคุมแมลงศัตรูพืช สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 คือ เจือจางสารป้องกันแมลงศัตรูพืชในน้ำ 1 ต่อ 100 ใส่สารจับใบ เช่น น้ำยาล้างจาน 10 มิลลิลิตร ลงในสารควบคุมแมลงศัตรูพืช 10 ลิตร หรือ ฉีดพ่นที่ใบ ลำต้น หรือบริเวณที่มีหนอนหรือเพลี้ยอาศัยอยู่ และฉีดพ่นทุกๆ 3-5 วัน และฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการระบาดของหนอนและเพลี้ย และควรฉีดพ่นในช่วงที่เป็นตัวอ่อน หรือช่วงที่เพลี้ยยังไม่สร้างแป้ง สำหรับพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก ฉีดพ่นสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจอจางแล้วอัตรา 50 ลิตรต่อไร่ ส่วนไม้ผล ฉีดพ่นสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่เจือจางแล้วอัตรา 100 ลิตรต่อไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

85%ชี้ปุ๋ยเคมีเมล็ดพันธุ์ลดจริง!-53%เกษตรกรพอใจมาก

ภาพรวมโครงการลดต้นทุนผลิตและการเพิ่มโอกาสแข่งขันสินค้าเกษตร รอบ 9 เดือน ต้นทุนผลิตข้าวนาปรังลดมากสุด ตามด้วยปาล์มน้ำมัน ยางพารา ด้านปศุสัตว์ ไก่เนื้อ

            นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศรณรงค์ให้ปี 2559 เป็น “ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร” ใน 4 แนวทาง ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ด้านการตลาด และด้านการบริหารจัดการ โดยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้ดำเนินการในกิจกรรม ครบทั้ง 4 มาตรการ จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าภาพรวมในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 58 - มิถุนายน 59) ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 83.24 มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

            มาตรการที่ 1 การลดต้นทุน ได้ความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ ลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี/สารเคมี โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ/ร้านค้าทั้ง 77 จังหวัด สหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ ลดค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าว นอกจากนี้ ธ.ก.ส. กำหนดโครงการให้สินเชื่อกับเกษตรกร ปี 2559 จำนวน 7 โครงการ และธนาคารออมสิน มีโครงการให้สินเชื่อกับประชาชนทั่วไป 3 โครงการ

          มาตรการที่ 2 การเพิ่มผลผลิต กรมพัฒนาที่ดิน ให้บริการวิเคราะห์ดิน กรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเพื่อให้ปลูกข้าวตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ในพื้นที่ 4 หมื่นแปลง จัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ โดยส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ 26 แห่ง ซึ่งได้รับการรับรองคุณภาพ GAP ตามเป้าหมายแล้ว 5 พันราย และส.ป.ก. พัฒนาองค์ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการผลิต GAP โดยส่งเสริมเกษตรกร 2,338 ราย ใน 65 จังหวัด ได้ร้อยละ 104 ของเป้าหมาย (2,260 ราย)

         มาตรการที่ 3 ด้านการตลาด กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความรู้ด้านการตลาด ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครบทั้ง 77 จังหวัด และ 154 กลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการได้ร้อยละ 80 ของปริมาณงาน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้แจงทำความเข้าใจข้อมูลการตลาด ใน 76 จังหวัf

         มาตรการที่ 4 การบริหารจัดการ กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร วางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดำเนินการแล้วใน 77 จังหวัด และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จัดอบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนจำนวน 9,383 ราย ได้ร้อยละ 82.72 ของเป้าหมาย (11,343 ราย)

          นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าพืชเกษตรที่สำคัญ ปี 2559 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2559) เทียบกับปี 2558 ลดลงร้อยละ 1.21 - 12.67 โดยต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังลดลงมากที่สุด ร้อยละ 12.67 รองลงมา คือ ปาล์มน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 7.01 ยางพารา ลดลง ร้อยละ 6.18 มันสำปะหลัง ลดลง ร้อยละ 2.17 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลง ร้อยละ 1.21

          สำหรับต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์และประมง ปี 2559 (ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2559) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 1.14 - 5.84 โดยต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ ลดลงมากที่สุดร้อยละ 5.84 กุ้ง ลดลงร้อยละ 3.84 และ สุกร ลดลงร้อยละ 1.14

           ทั้งนี้ ผลติดตามประเมินโครงการรอบ 9 เดือน โดยสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 729 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วทุกภาค ช่วงระยะเวลาที่สำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2559 ภาพรวม พบว่า เกษตรกรร้อยละ 53 มีความพึงพอใจระดับมาก เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร และมีเงินลงทุนทำการเกษตร

            ร้อยละ 42 มีความพึงพอใจปานกลาง เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าช่วยลดต้นทุนได้ และเห็นว่าควรให้ลดราคาให้มากกว่านี้ โดยเกษตรกรร้อยละ 85 เห็นว่าราคาได้ปรับลดลง โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยเคมี เกษตรกรร้อยละ 82 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และเกษตรกรร้อยละ 70 มีการรวมกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรฯ ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ผู้เลี้ยงโค-กระบือ ผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือ และแลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มร่วมกัน

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

“คลัง” ยังไม่ฟันธงเลิกคิดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง และขอรอผลศึกษาเพิ่มเติม  

         ปลัดคลัง ยังไม่ฟันธงเลิกคิดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง และขอรอผลศึกษาเพิ่มเติม โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการในการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อสุขภาพ

               นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูล ณ ขณะนี้ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะยกเลิกแนวความคิดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง เพียงแต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการในการสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อสุขภาพ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว

               “ยอมรับว่ามีหลายแนวทางที่จะดำเนินการได้ โดยเรื่องภาษีเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้ง่าย แต่ยังต้องรอข้อสรุปในเร็วๆ นี้” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ไทยรับอานิสงส์‘สหรัฐ’ คงสิทธิ‘จีเอสพี’ ยกเว้นภาษีนำเข้า2กรณี

รมว.พาณิชย์ เผยสหรัฐฯคงสิทธิทางภาษี “จีเอสพี”สินค้าไทยรวม 12 รายการ โดยมีผลบังคับใช้แล้วแนะผู้ประกอบการและ

 ผู้ส่งออกเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการทบทวนโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สหรัฐฯปี 2558 สหรัฐฯผ่อนผันการระงับสิทธิจีเอสพีตามคำร้องขอผ่อนผันของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร โดยแยกเป็น 2 กรณี คือ

1.กรณีสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯเกินร้อยละ 50 แต่มูลค่าที่สหรัฐฯนำเข้าจากทั่วโลกแต่ละรายการต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯกำหนด ซึ่งปี 2558 กำหนดไว้ที่ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สินค้าไทยได้รับการผ่อนผัน 11 รายการ ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด เมล็ดถั่วหรั่งที่ใช้เพาะปลูก ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง ข้าวโพดปรุงแต่ง ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม มะละกอแปรรูป ตะกร้าจับปลาทำจากไม้ไผ่ กระเปาะแก้วหลอดแคโทเรย์ และอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าที่มีมอเตอร์

2.กรณีที่ไทยได้รับการผ่อนผัน คือ สินค้าหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าน้ำมะพร้าว โดยสหรัฐฯกำหนดเพดานมูลค่านำเข้า (CNL) ปี 2558 ไว้ที่ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าจากไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 174.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกินจาก CNL ที่สหรัฐฯกำหนด แต่จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ยื่นคำร้องต่อสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯพิจารณาคงสิทธิจีเอสพีสินค้าดังกล่าว โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป

นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไทยไม่มีรายการสินค้าใดๆ ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในการทบทวนโครงการจีเอสพีสหรัฐฯประจำปี 2558 ส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯจะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการเช่นเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกจึงควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิจีเอสพีที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ก.เกษตรฯเตรียมปรับแผนระบายน้ำ 2 เขื่อนหลัก

ก.เกษตรฯเตรียมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนปาสักฯ รองรับน้ำหลากปลายฤดูฝน หลังกรมอุตุคาดฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนตกชุกกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

              กระทรวงเกษตรฯเตรียมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนปาสักฯ รองรับน้ำหลากปลายฤดูฝน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนตกชุกกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ส่งผลดีต่อพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

              พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์ตรงกันว่าขณะนี้คาดว่าไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว แต่ปรากฏการณ์ลานีญาอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2559 ประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. 59 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าทุกภาค แต่ปริมาณฝนยังใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนในปัจจุบันมากกว่าปี 2558 โดยปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายภาค ระหว่างวันที่ 1ม.ค. -6 ก.ค.59 สูงกว่าปี 2558 ในทุกภาค และส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับค่าปกติ

               สำหรับสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลัก ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค.59)มีปริมาณ7,816ล้าน ลบ.ม.เปรียบเทียบกับปี 2556, 2557, 2558 พบว่ามีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยมีปริมาณ 8,600 , 9,200 และ 8,400ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับส่วนน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขณะนี้มีปริมาณรวม 1,579ล้าน ลบ.ม.ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณ 703ล้าน ลบ.ม.จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบใน 4 เขื่อนหลัก น้ำในเขื่อนภูมิพลยังคงมีปริมาณน้อย โดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้เพียง 287ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่เก็บกักน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556,2557 และ 2558 ในวันเดียวกัน ที่มีปริมาณ 3,090ล้าน ลบ.ม.290ล้าน ลบ.ม.และ 200ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับดังนั้น จึงต้องหาแนวทางเก็บกับน้ำในเขื่อนภูมิพลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน33เขื่อนหลักนั้น ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค.59) มีปริมาณน้ำ7,816ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ ณ วันที่1ส.ค. 59 จะมีปริมาณ10,134ล้าน ลบ.ม. , วันที่1ก.ย. 59 มีปริมาณ16,038ล้าน ลบ.ม. และวันที่1ต.ค.59มีปริมาณ23,746ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำใช้การได้ใน4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีน้ำใช้การได้1,579ล้าน ลบ.ม. นั้น คาดการณ์ ณ วันที่1ส.ค. 59 จะมีปริมาณน้ำ 2,155ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่1ก.ย. 59 มีปริมาณ4,614ล้าน ลบ.ม. และ ณ วันที่1ต.ค.59 คาดการณ์ว่ามีปริมาณ8,304 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรับน้ำฝนจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะมีน้ำเข้ามามากในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อน จึงต้องระบายออก ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อนต้องระบายออก

                 นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมปรับแผนการระบายน้ำ ว่า ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะอยู่ที่ประมาณ1,200ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ประมาณ2,000ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งสองเขื่อนสามารถรับน้ำได้เพียง611ล้าน ลบ.ม. และ784ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน เขื่อนทั้งสองแห่งมีแนวโน้มที่น้ำจะเต็มเขื่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. นี้ จากเดิมเขื่อนแควน้อยฯ ระบายน้ำในอัตราวันละ2.44ล้าน ลบ.ม. เป็นระบายน้ำวันละ5ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักฯ จะเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมที่ระบายในอัตราวันละ2.16ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น3 – 5ล้านลบ.ม. ต่อวัน

                 โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและส่งผลดีต่อพื้นที่เพาะปลูก ข้าวนาปี ในเขตของโครงการชลประทานเขื่อนแควน้อยฯ และโครงการชลประทานเขื่อนป่าสักฯ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ220,000ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกกว่า814,000ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ การเพิ่มการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อน จะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ10เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในน้ำเขื่อนทั้งสองแห่ง จะมีปริมาณเต็มเขื่อนพอดี

                  ขณะที่การประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้สำรวจข้อมูลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.-15 พ.ค.59 ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ จำนวน 61 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,085 ราย พบว่า เกษตรมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในภาพรวมทุกมาตรการ ร้อยละ 53 และมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในมาตราที่ 3 การจ้างงาน ร้อยละ 48มาตราที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน ร้อยละ 66 มาตราที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ร้อยละ 62 และมาตรการที่ 8 การช่วยเหลือตามระเบียบ ของกระทรวงการคลัง การอบรมเพิ่มผลิตภาพการผลิต (อบรมช่วงภัยแล้ง) ร้อยละ 53

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

คลังวืดรีดภาษีน้ำหวานหวั่นกระทบอุตฯน้ำตาล หันรณรงค์ประชาชนลดบริโภค

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีน้ำหวานจะชะลอออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมาธิการด้านการเก็บภาษีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และผู้แทนจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ซึ่งเป็นผู้เสนอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีน้ำหวาน โดยการหารือได้พิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียด และได้สรุปในที่ประชุมว่า การควบคุมปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้ใช้กฎหมายของหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบันบังคับใช้ควบคุมไปก่อน

นอกจากนี้ ควรให้หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้กับประชาชนผู้บริโภคเข้าใจถึงผลดีผลเสียของการบริโภคน้ำหวาน ให้มากและเป็นเวลานานมากพอกว่าช่วงที่ผ่านมาเสียก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำหวานลงได้ โดยการจัดเก็บภาษีน้ำหวานให้เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะดำเนินการ เนื่องจากจะส่งผลกระทบความเป็นธรรมในการเก็บภาษี เพราะไม่ใช่มีแต่เครื่องดื่ม เท่านั้นที่ใส่น้ำตาลจำนวนมาก ยังมีขนมหวานอีกจำนวนมากที่ใช้น้ำตาลสูงกว่าน้ำหวาน

ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีน้ำหวาน จะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตน้ำตาลทั้งประเทศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีส่วนสำคัญของเศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบ ตามไปด้วย ส่งผลต่อเนื่องให้การบริหารเศรษฐกิจมีปัญหาความยากลำบากมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ประชุม 3 ฝ่าย จะมีการสรุปร่วมกันว่าไม่ได้เร่งให้จัดเก็บภาษีน้ำหวาน แต่ทางกระทรวงการคลังเองก็จะทำการศึกษาแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าว ถึงผลดีผลเสีย เพื่อที่ในอนาคตฝ่ายนโยบายต้องการดำเนินการก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลดังกล่าวได้ทันที

ด้านแหล่งข่าว กล่าวว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานการศึกษาเก็บภาษีน้ำหวาน โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานหลัก พร้อมทั้งได้เชิญฝ่ายเอกชนโดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ เข้ามาหารือแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ เนื่องจากผู้ผลิตน้ำตาลไม่ต้องการให้ความเห็น เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ หากแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำหวาน เพราะจะกระทบกับยอดขายน้ำตาลของบริษัท

“การจัดเก็บภาษีน้ำหวานไม่ได้เป็นเรื่องเร่งรัด การเก็บภาษีเพิ่มไม่ได้กระทบกับผู้ผลิตน้ำหวาน เพราะภาษีขึ้นไม่กี่บาท ไม่สามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ แต่การลดน้ำตาลในการผลิตน้ำหวานจะกระทบกับการผลิตน้ำตาลลดลงไปจำนวนมาก” แหล่งข่าว กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

อุตฯเดินหน้าปรับระบบใบอนุญาต'รง.4'อนุมัติ2พัน 

          กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าปรับระบบออกใบอนุญาต เผยครึ่งปีอนุมัติ ร.ง.4  เกือบ 2 พันราย พร้อมฟันข้าราชการทุจริต 10 ราย

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง แนวทางการปรับปรุงการทำงานของ กระทรวงฯว่า ได้จัดทำคู่มือบริการประชาชน จำนวน  269 เรื่อง ให้เป็นไปตามพ.ร.บ. อำนวยความสะดวกว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558  ขณะนี้ไม่มีปัญหาทั้งเรื่องการออก ใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และการขอใบอนุญาตต่างๆของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มีเพียงเรื่องเหมืองแร่ ซึ่งการขออนุญาตมีหลาย ขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

          ช่วงสองปีที่ผ่านมา มีข้าราชการถูกสืบสวนว่า มีมูลกระทำความผิด 10 ราย โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายและขั้นตอนของทางราชการ

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเอกสารครบถ้วน การออกใบอนุญาต ร.ง.4 ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน การออกประทานบัตร/อาชญาบัตรเหมืองแร่ ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน และการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน

          ปี 2559 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2559) มีการยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 2,477 โรงงาน ได้อนุญาตประกอบ/ขยายโรงงาน จำนวน 1,996 โรงงาน คิดเป็น 80.58% ไม่อนุญาตเพียง 5 ราย คิดเป็น 0.20%

          นอกจากนี้ในปี 2559-60 กระทรวงฯ ได้ปฏิรูปการให้บริการสู่การเป็นประเทศ ไทย 4.0 เพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวก โดย กรอ. ได้พัฒนาระบบการให้บริการอนุญาตวัตถุอันตรายแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ใช้งบ 25 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : ‘สถานีพัฒนาที่ดินตรัง’ส่งเสริมเกษตรจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ‘ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน’ลดต้นทุน บำรุงดิน

ปัญหาดินเสื่อมโทรม ขาดธาตุอาหารถือเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงและประสบกับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาที่ดินระดับชุมชน จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปต่อยอดขยายผล เพื่อพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของตัวเองที่ประสบปัญหาดินเสื่อมโทรมให้สามารถทำการเกษตรได้ ยกตัวอย่าง ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ที่ร่วมกันจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ภายใต้การสนับสนุนและส่งเสริมของสถานีพัฒนาที่ดินตรัง นำปุ๋ยที่ผลิตได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นไปพลิกฟื้นผืนดินที่เคยเสื่อมโทรม ให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ และยังถ่ายทอดไปยังเกษตรกรอีกหลายๆ ราย ในพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายนรา สุขไชย ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินตรัง เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญเรื่องดิน เป็นอันดับแรกในการทำเกษตรกรรม เพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการผลิตพืชทุกชนิด จึงมีเป้าหมายที่จะทำอย่างไรให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพิ่มพูนผลผลิต โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน คือ ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ก็จะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่า จะทำอย่างไรให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่อเนื่องและยั่งยืน ส่วนดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืช ก็ต้องหาวิธีการในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในทางเกษตรได้ อันดับแรกจะต้องเข้ามาทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการใช้ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง คิดว่าดินทุกที่สามารถปลูกอะไรก็ได้ บางครั้งปลูกพืชตามกระแส โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพดิน พืชที่ปลูกไม่เหมาะสมกับสภาพดินในพื้นที่นั้นๆ ทำให้ไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ เสียเวลา และมีต้นทุนที่สูงขึ้น

สถานีพัฒนาที่ดินตรัง จึงต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกษตรกรปลูกพืชตามความเหมาะสมกับสภาพดิน และให้ความสำคัญกับการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช โดยมีแนวทางส่งเสริมผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินในชุมชน ดังตัวอย่างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินตรังเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ นำไปปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรในพื้นที่เข้ามาเรียนรู้อีกด้วย

“เกษตรกรได้ร่วมกันจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์เพื่อที่จะนำปุ๋ยหมักสูตรต่างๆ ไปใส่เพิ่มลงในดินเพื่อให้ดินมีโครงสร้างที่ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดความสำเร็จ ความสุข ความยั่งยืนในชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถเผื่อแผ่ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไปได้ สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับเกษตรกรในชุมชน”นายนรา กล่าว

นายสมหมาย ธรรมกิจ ประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินตำบลควนเมา อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมสภาพพื้นดินที่ศูนย์ แห่งนี้เป็นหนองน้ำ สภาพดินเป็นกรด ไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตร สถานีพัฒนาที่ดินตรังได้เข้ามาให้คำแนะนำถึงการเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับดินและให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินด้วยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มีความเหมาะสม โดยส่งเสริมให้จัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นมาผลิตปุ๋ยเป็นปุ๋ยหมักตามสูตรพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยหมักก็สามารถมาเบิกไปใช้ได้ตามอัตราส่วนที่นำวัสดุมาฝาก ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต รู้ถึงประโยชน์เหลือใช้ทางการเกษตรในชุมชน ลดการเผาทำลายเศษวัสดุทางการเกษตรอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย : การปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (1)

กรมพัฒนาที่ดิน ได้ศึกษาวิจัยคัดเลือกจุลินทรีย์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร พร้อมกับผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์

 เผยแพร่สู่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2529 โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. มีทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ โดย 7 ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร

1.สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 สำหรับปุ๋ยหมัก เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัตสดุเหลือใช้การเกษตรที่มีองค์ประกอบของเซลลูโลสไขมันย่อยสลายยาก เช่น ทลายปาล์ม ขี้เลื่อย เปลือกถั่ว เปลือกเมล็ดกาแฟ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็ว มีอัตราและวิธีการใช้ดังนี้ ข้าวใช้ 2 ตัน/ไร่ หว่านทั่วพื้นที่ไถกลบก่อนปลูกพืช พืชไร่ใช้ 2 ตัน/ไร่ ใส่เป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน พืชผักใช้ 4 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วแปลงปลูก ไถกลบขณะเตรียมดิน ไม้ตัดดอกใช้ 2 ตัน/ไร่ หว่านทั่วพื้นที่แล้วสับกลบ ไม้ดอกยืนต้นใช้ 5-10 กก./หลุม ใส่คลุกเคล้ากับดิน รองก้นหลุม

2.สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพ เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่เพิ่มประสิทธิภาพย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือความชื้นสูง เพิ่มประสิทธิภาพการย่อยโปรตีนไขมัน ลดกลิ่นเหม็นระหว่างการหมัก เพิ่มการละลายธาตุอาหารในการหมักเปลือกไข่ ก้าง และกระดูกสัตว์ ใช้ส่งเสริมการเติบโตของพืช กระตุ้นการงอกของราก ช่วยพืชแข็งแรงต้านทานโรคและแมลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น

สำหรับอัตราและวิธีการใช้น้ำหมักชีวภาพ คือ ใช้ในข้าว แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวผสมน้ำหมัก 20 ม.ล.ในน้ำ 20 ลิตร แช่เมล็ดข้าว 20 กก. 12 ชั่วโมง นำขึ้นพัก 1 วัน แล้วนำไปปลูก ช่วงไถกลบตอซังใช้น้ำหมัก 5 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ราดทั่วแปลงในพื้นที่ 1 ไร่ หมักไว้ 10-15 วัน ช่วงการเติบโตผสมน้ำหมัก 100 มล.ในน้ำ 50 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินในพื้นที่ 1 ไร่ หรือใช้น้ำหมักชีวภาพ 50 ลิตร เทลงนาข้าวโดยปล่อยตามน้ำเมื่อข้าวอายุ 30, 50 และ 60 วัน ใช้ในพืชไร่ ผสมน้ำหมัก 200 ม.ล.ในน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 15-30 วันในพื้นที่ 1 ไร่ ก่อนออกดอก พืชผักและไม้ดอก ผสมน้ำหมัก 100 ม.ล.ในน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 10 วันในพื้นที่ 1 ไร่ ไม้ผล ผสมน้ำหมัก 500 มล.ในน้ำ 250 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดลงดินทุก 1 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

คลังล้มแผนเก็บภาษีน้ำหวาน

หวั่นกระทบหนักการผลิตน้ำตาล ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจ แนะคุมเครื่องดื่มทางอ้อมผ่านกฎหมายที่มีอยู่

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีน้ำหวานจะชะลอออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากได้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมาธิการด้านการเก็บภาษีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี

และผู้แทนจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จากการหารือได้พิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียด และมีข้อสรุปว่าการควบคุมปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มให้ใช้กฎหมายของหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบันบังคับใช้ควบคุมไปก่อน ซึ่งเป็นผู้เสนอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีน้ำหวาน

นอกจากนี้ ควรให้หน่วยงานภาครัฐให้ความรู้กับประชาชนผู้บริโภคเข้าใจถึงผลดีผลเสียของการบริโภคน้ำหวานให้มาก และเป็นเวลานานมากพอกว่าที่ผ่านมาเสียก่อน เพื่อจะทำให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำหวานลงได้ ส่วนการเก็บภาษีน้ำหวานให้เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะดำเนินการเนื่องจากจะส่งผลกระทบความเป็นธรรมในการเก็บภาษี เพราะไม่ใช่มีแต่เครื่องดื่มเท่านั้นที่ใส่น้ำตาลจำนวนมาก ยังมีขนมหวานอีกจำนวนมากที่ใช้น้ำตาลสูงกว่าน้ำหวาน

ขณะเดียวกัน การเก็บภาษีน้ำหวานจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตน้ำตาลทั้งประเทศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบ ทำให้การบริหารเศรษฐกิจมีปัญหาความยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีการสรุปว่าไม่ได้เร่งให้เก็บภาษีน้ำหวาน แต่ทางกระทรวงการคลังก็จะศึกษาแนวทางการเก็บภาษีถึงผลดีผลเสีย เพื่อที่ในอนาคตฝ่ายนโยบายต้องการดำเนินการก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลได้ทันที

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานการศึกษาเก็บภาษีน้ำหวาน โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานหลัก และได้เชิญฝ่ายเอกชนโดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เข้ามาหารือ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ เนื่องจากผู้ผลิตน้ำตาลไม่ต้องการให้ความเห็น เพราะกลัวเสียภาพลักษณ์หากแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีน้ำหวาน เพราะจะกระทบกับยอดขายน้ำตาลของบริษัท

“การเก็บภาษีน้ำหวานไม่ได้เป็นเรื่องเร่งรัดการเก็บภาษีเพิ่ม ไม่ได้กระทบกับผู้ผลิตน้ำหวาน เพราะภาษีขึ้นไม่กี่บาทสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ แต่การลดน้ำตาลในการผลิตน้ำหวานจะกระทบกับการผลิตน้ำตาลลดลงไปมาก”แหล่งข่าวเปิดเผย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทเปิด35.18/20แนวโน้มแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.18/20 บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มแข็งค่า มองกรอบวันนี้ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.18/20 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 35.24/26 บาท/ดอลลาร์

"เมื่อคืนวันศุกร์ ตัวเลข Non Farm ออกมาดีมาก ดีกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้ดอลลาร์พุ่งขึ้นรุนแรง เงินบาทไปทำHigh 35.32 แต่ว่าอยู่ได้แป๊บเดียวไม่ทันข้ามคืนก็ร่วงลงมาปิดตลาดคืนนั้นอยู่ที่ 35.18 เช้ามาวันนี้เปิดที่ 35.18 และลงต่อมา" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.00-35.30 บาท/ดอลลาร์

"มองว่า แนวต้านแถว 35.30 บาท/ดอลลาร์ ค่อนข้างแข็งสำหรับวีคนี้ ส่วนแนวรับน่าจะกลับไป Test แถวๆ Lowเดิม แถวๆ Figure" นักบริหารเงิน กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์-เอกชนย้ำส่งออกฟื้น ประเมินรายกลุ่ม"สดใส" ยืนเป้าทั้งปีขยายตัว5%

พาณิชย์ถกเอกชนประเมินส่งออกรายกลุ่ม ต่างมั่นใจฟื้นตัวดีขึ้นแน่ในครึ่งปีหลัง เผยข้าว น้ำตาล สดใส แต่ยางพารา มันสำปะหลังลด ส่วนกลุ่มอาหารดีขึ้นทุกตัว หลังตลาดมีความต้องการสูง ยืนเป้าหมายทั้งปีโต 5% เช่นเดิม

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าแนวโน้มการส่งออกกำลังฟื้นตัวดีขึ้น

โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารคาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 33,939 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3% เพิ่มจากเดิม 1.9% กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก คาดว่าจะส่งออกได้ 123,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.1% ลดลงจากเดิม 4.9% กลุ่มแฟชั่น มูลค่า 13,859 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.6% ลดลงจากเดิม 4.8% กลุ่มไลฟ์สไตล์ มูลค่า 2,915 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% เพิ่มจากเดิม 3.5%

“จากแนวโน้มการส่งออกที่ประเมินร่วมกับภาคเอกชน ทำให้กรมยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่ 5% แม้ที่ผ่านมา หน่วยงานอื่นจะปรับลดลง หรือมองลดลง ซึ่งจะปรับเป็นเท่าไรก็ได้ แต่เป้าหมายของเรายังยืนไว้ที่ 5% เอาไว้เป็นเป้าในการทำงาน และเอาไว้เป็นเป้าให้ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศรับไปทำงาน เพื่อผลักดันการส่งออก” นางมาลีกล่าว

นางมาลีกล่าวว่า การประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรพบว่า ข้าวจะส่งออกได้ดีขึ้น คาดว่าจะส่งออกได้ 9.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 9% น้ำตาลเพิ่มขึ้น 20% จากเดิม 4% เพราะตลาด CLMV มีความต้องการมากขึ้น แต่ยางพาราจะลดลง 10% เพราะราคาตกต่ำ และมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่มันสำปะหลังคาดว่าจะลดลง 10% เช่นเดียวกัน เพราะจีนลดการนำเข้าหันไปใช้ข้าวโพดทดแทน

ส่วนกลุ่มอาหารคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.2% เพิ่มจาก 2.7% โดยเฉพาะอาหารทะเลจะส่งออกเพิ่ม 3.1% หลังอันดับการค้ามนุษย์ดีขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีขึ้น ทูน่ากระป๋องจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น หลังไม่มีปัญหาวัตถุดิบ กุ้งคาดเพิ่ม 12% จากเดิม 4% หลังคู่แข่งเจอโรคระบาด แต่ไทยไม่มี ไก่เพิ่ม 5% โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นจะดีขึ้น และหากเกาหลีเปิดตลาดจะยิ่งดีขึ้นอีก และตลาดอังกฤษจะได้รับผลดีจาก Brexit เพราะอาจมีการปรับนโยบายนำเข้า ไม่ใช้ของอียู และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานมีแนวโน้มดีขึ้นทุกรายการ

สำหรับกลุ่มผัก ผลไม้ คาดว่าจะส่งออกได้ 5% โดยเฉพาะสับปะรดกระป๋อง น้ำมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวจะดีขึ้น และยังพบว่าตลาดจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มีความต้องการผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ทำให้มีความต้องการผักและผลไม้มากขึ้น

ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม ประเมินว่า อิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้น 2% จากเดิม 4% เพราะอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าลดเหลือ 0.5% จากเดิม 4% เพราะมีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม และสินค้าไทยถูกกีดกันจากตะวันออกกลาง และจีนเป็นคู่แข่งสำคัญ ยานยนต์และชิ้นส่วน คาดว่าจะส่งออกได้ 5% แม้รถ ECO ไปสหรัฐจะลดลง แต่รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ SUV และ PPV จะส่งออกได้ดีขึ้น คาดยอดรวมส่งออก 1.22-1.25 ล้านคัน

เม็ดพลาสติกคาดโต 3% ลดจาก 5% เพราะตลาดโลกชะลอตัวและจีนลดนำเข้า ผลิตภัณฑ์ยางลดลง 5% จากเดิมโต 3% เพราะเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่วนวัสดุก่อสร้างจะโต 2% ลดจากเดิม 7% เพราะมีการย้ายฐานผลิตไป CLMV และสินค้าส่วนใหญ่ถูกใช้ป้อนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในประเทศมากกว่าส่งออก ขณะที่เครื่องจักรคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% เพิ่มจากเดิม 3% เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

รอบสุดท้ายก่อนขึ้นศาลคดีน้ำตาล บราซิลฟ้อง WTO ไทยอุดหนุนค่าอ้อยโควตากขค.

ไทย หารือ (Consaltation) บราซิลแก้ปมถูกฟ้องอุดหนุนการผลิตส่งออกน้ำตาลใน WTO ยื่น 80 คำถามให้รัฐบาลไทยตอบภายใน 60 วัน หากไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ก็จะไปถึงขั้นตั้ง Panel เผยประเด็นหลัก ระบบโควตา ก.ข.ค. กับเงินเพิ่มค่าอ้อย เข้าข่ายมาตรการอุดหนุนหรือไม่ ด้านกระทรวงพาณิชย์ยันกระบวนการฟ้องร้องจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาล ของประเทศ พร้อมจับตาออสเตรเลียจะเข้าร่วมเป็นภาคีกับบราซิลเปิดศึกฟ้องไทยอีกประเทศ หรือไม่

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีรัฐบาลบราซิลยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับ สินค้าน้ำตาล จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลบราซิลและกระทบต่อ อุตสาหกรรมภายในน้ำตาลของบราซิลจนมีการปิดโรงงานน้ำตาลไปกว่า 50 โรงงาน โดยบราซิลยื่นฟ้องไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์-สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปพบกับตัวแทนรัฐบาลบราซิล เมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหารือ (Consaltation) ตามขั้นตอนแรกของการยื่นฟ้อง WTO มีกำหนดระยะเวลาในการหารือภายใน 60 วันนับจากวันที่ยื่นคำร้อง หลังจากนั้นทางฝ่ายไทยจะได้จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลบราซิลตาม ประเด็นที่รัฐบาลบราซิลสอบถามมา ซึ่งมีประมาณ 70-80 คำถาม

ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่บราซิลร้องว่าไทยอุดหนุนส่งออกน้ำตาลสูงมาก หากเทียบกับที่ผูกพันไว้กับ WTO คือปีละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐในสินค้าเกษตรทั้งหมด และการจัดระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายออกเป็น โควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ, โควตา ข. ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และโควตา ค.

น้ำตาลที่ส่งออกไปต่างประเทศที่หักจากโควตา ก. และโควตา ข. อาจเป็นระบบที่เรียกว่า Cross Subsidy หรือ การอุดหนุนที่ให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งซื้อน้ำตาลแพง/ถูกกว่าผู้บริโภคอีก กลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล กำหนดให้จ่าย "เงินชดเชย" ให้กับชาวไร่อ้อยในอัตรา 160 บาทต่อตันนั้น

แม้ว่าจะเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ตาม แต่บราซิลมองว่า การที่ ธ.ก.ส.ให้กู้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการอุดหนุน หากรัฐบาลไม่มีนโยบายจะต้องปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างเสรี ขณะที่คณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงในรอบ Consaltation ว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นการเข้าใจผิดเพราะ เงินชดเชยดังกล่าวไม่ได้มาจากเงินของรัฐบาล แต่มาจากเงินของระบบอ้อยและน้ำตาล ซึ่งประเทศไทยดำเนินการมานานกว่า 30 ปีจนเป็นกลไกของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศ

"ภาพรวมคณะชี้แจงฝ่ายไทยเชื่อว่า รัฐบาลบราซิลค่อนข้างพอใจในข้อมูลของฝ่ายไทย ซึ่งแสดงความจริงใจว่า ไทยพร้อมที่จะหารือและแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้ประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำลังอยู่ระหว่างหารือกับตัวแทนชาวไร่อ้อยและโรงงานเพื่อปฏิรูปกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้ดีขึ้นและให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ หากสิ่งที่ฝ่ายไทยกำลังปรับแก้ไข พ.ร.บ.ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้และรัฐบาลบราซิลยอมถอนฟ้องเรื่อง ก็จะจบ" น.ส.สุนันทากล่าว

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ยังต้องหารือกับ บราซิลอีกครั้งก่อนที่จะมีการตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ขึ้น ซึ่งตามหลัก WTO กำหนดระยะเวลาไว้ว่า เมื่อได้รับหนังสือยื่นขอหารือจะต้องหารือให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าไม่จบใน 60 วันก็ยื่นเรื่องขอตั้ง คณะผู้พิจารณาตามขั้นตอน เบื้องต้นตามกำหนดระยะเวลาการฟ้องร้องใน WTO อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง แต่หากกระบวนการหารือ ซึ่งจัดเป็นกลไกการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ใน WTO เปิดโอกาสให้มีการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจนสำเร็จ อาทิ ประเทศที่ถูกฟ้องได้มีการปรับระบบภายในเพื่อให้สอดคล้องกับหลักข้อบท WTO ก็อาจไม่มีการตั้ง Panel ก็ได้

น.ส.สุนันทากล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ได้มีประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายอื่น ได้แก่ สหภาพยุโรป กับกัวเตมาลา ได้แสดงความสนใจขอเข้าร่วมรับฟังกระบวนการหารือด้วย แต่ฝ่ายไทยไม่อนุญาตให้ร่วม เพราะเดิมประเทศไทยเคยร่วมกับ บราซิล-ออสเตรเลีย ฟ้องสหภาพยุโรปอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลใน WTO มาก่อนและเคสนั้นปรากฏว่าไทย-บราซิล-ออสเตรเลียเป็นฝ่ายชนะ

ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่า ออสเตรเลียซึ่งเป็นอีก 1 ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอาจตัดสินใจร่วมเป็นภาคี (Third Party) ร่วมกับบราซิล ในการกล่าวฟ้องไทยในครั้งนี้ปรากฏ ในประเด็นนี้ยังไม่มีการตัดสินใจ แต่เชื่อว่าภาคเอกชนออสเตรเลียและไทยมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก อย่างไรก็ตามไทยต้องติดตามสถานการณ์เพราะในเร็ว ๆ นี้จะมีประชุมน้ำตาลโลกที่ลอนดอน

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายในช่วงที่มีฟ้องร้องใน WTO นั้น "ไม่น่ากระทบต่อการส่งออก" เนื่องจากผู้ซื้อน้ำตาลในตลาดโลกไม่สนใจการฟ้องร้องใน WTO "เนื่องจากเป็นคนละประเด็นกัน" ประกอบกับการค้าน้ำตาลในตลาดโลกเป็นการซื้อขายกันในตลาดล่วงหน้า

มีรายงานข่าวแจ้งเข้ามาว่า สาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลบราซิลได้รับผลกระทบ น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกตกต่ำ ซึ่งไม่เพียงแต่บราซิลที่ส่งออกน้ำตาลลดลง แต่การส่งออกน้ำตาลและกากน้ำตาลของประเทศไทยในปี 2558 ก็ลดลงถึง 18.34% เช่นกัน แต่การฟ้องต่อ WTO ครั้งนี้คาดว่า บราซิลจะต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และการค้าน้ำตาลทรายมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยส่งสัญญาณมาก่อนว่า จะฟ้องประเทศไทย ทั้งที่มีการหารือในระดับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน Global Sugar Aliance ก่อนหน้านี้ด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เปิดเวทีแจง ปชช.สร้างโรงงานน้ำตาล

วันที่ 9 ก.ค. ที่อาคารหอประชุมวิโรจน์อิ่มพิทักษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ พร้อมกับเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร โดยใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัย และจะมีการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวหรือพืชเกษตรอื่นๆ ซึ่งโครงการฯได้รับความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการที่กำลังการผลิต 12,500 ตันอ้อย/วัน ส่วนระยะที่ 2 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 40,000 ตันอ้อย/วัน

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯยังมีโครงการที่จะก่อตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยใช้กากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย และกำหนดแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการผลิตของโรงงานน้ำตาล แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 กำลังการผลิต 66 เมกะวัตต์ และระยะที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 98 เมกะวัตต์ โดยพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จะนำมาใช้ภายในโรงงานน้ำตาล ส่วนที่เหลือจะนำส่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ จำเป็นต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ดังนั้นจึงกำหนดให้มีการชี้แจงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่จะช่วยเติมเต็มให้การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครอบคลุมทั้งในมิติของนักวิชาการ และมุมมองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่

นายชัยมงคลเปิดเผยว่า นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่จะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องเกษตรกรที่หันมาทำไร่อ้อยทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯผู้ดำเนินโครงการจำเป็นที่จะต้องชี้แจงถึงผลดีและผลเสีย ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นสำหรับตนมองว่าหากเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถนำพาโรงงานน้ำตาลก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในขณะที่ชาวบ้านบอกว่า เชื่อว่าโรงงานน้ำตาลเข้ามาตั้งมีแต่ข้อดี เพราะทำเศรษฐกิจรุ่งเรืองแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพวกตน.

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ส่งออกโล่ง! สหรัฐไม่ตัดจีเอสพีไทย

สหรัฐประกาศคงสิทธิจีเอสพีให้สินค้าไทย พาณิชย์เร่งผู้ส่งออกใช้โอกาสทอง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการทบทวนโครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) สหรัฐอเมริกาประจำปี 2558 โดยสหรัฐผ่อนผันการระงับสิทธิจีเอสพี ตามคำร้องขอผ่อนผันของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร แยกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณีสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐเกิน 50% แต่มูลค่าที่สหรัฐนำเข้าจากทั่วโลกในแต่ละรายการต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐกำหนด โดยปี 2558 กำหนดไว้ที่ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้สินค้าไทยได้รับการผ่อนผัน 11 รายการ เช่น ดอกกล้วยไม้สด อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ เป็นต้น

สำหรับกรณีที่ 2 คือ สินค้าหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าน้ำมะพร้าว ทั้งนี้ สหรัฐกำหนดเพดานมูลค่านำเข้าในปี 2558 ไว้ที่ 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 174.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เกินจากมูลค่าซีเอ็นแอลที่สหรัฐกำหนด แต่จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ยื่นคำร้องต่อสหรัฐ ทำให้สหรัฐพิจารณาคงสิทธิจีเอสพีสินค้าดังกล่าว โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี

 “การที่ไทยไม่มีรายการสินค้าใดๆ ที่ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในการทบทวนโครงการจีเอสพีสหรัฐ ประจำปีที่ผ่านมาส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐจะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการเช่นเดิม ซึ่งผู้ประกอบการควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิจีเอสพีที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด”นางอภิรดี กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯ ชูงานอนุญาตลื่นไหล-โปร่งใส ปี 59 ออกใบ ร.ง.4 ถึง 2,477 โรง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำคู่มือบริการประชาชน จำนวน 269 เรื่อง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งระบุขั้นตอน ระยะเวลา และเอกสารประกอบการยื่นคำขอ เพื่อให้อีกฝ่ายได้รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใด นอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนแล้ว ยังป้องกันปัญหาการตุกติกล่าช้า รวมทั้งสามารถลดปัญหาการติดสินบน โดยมุ่งให้การอนุญาตต่างๆ ต้องมีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นางอรรชกากล่าวว่า จากความเข้มงวดดังกล่าวทำให้ปัจจุบันไม่มีปัญหาทั้งเรื่องการออกใบ ร.ง.4 และการขอ มอก. แต่อาจมีเรื่องเหมืองแร่ ซึ่งการขออนุญาตมีหลายขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาบ้าง หากผู้ประกอบการรายใดพบเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ เรียกรับสินบน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้รับความสะดวก ขอให้ทำหนังสือมายังกระทรวงฯ เพื่อเป็นต้นเรื่องจะได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และหากปรากฏว่ามีมูล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะถูกย้ายออกจากพื้นที่และตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย  ซึ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีข้าราชการถูกสืบสวนว่ามีมูลกระทำความผิดจำนวน 10  ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายและขั้นตอนของทางราชการ ทั้งนี้ปัญหาการร้องเรียนดังกล่าวได้ลดลง เพราะกระทรวงฯ มีการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) อย่างใกล้ชิด ช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลสอดส่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้า ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาการอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบติดตามการดำเนินการอนุญาตโรงงาน ผ่านเว็บไซต์กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า เมื่อเอกสารครบถ้วน การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง.4 ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน การออกประทานบัตร/อาชญาบัตรเหมืองแร่ ใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน และการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ใช้เวลาไม่เกิน 15 วันในกรณีมีผลการทดสอบผลิตภัณฑ์และผลตรวจสอบโรงงาน ซึ่งหากไม่อนุญาตทั้งที่ยื่นขออนุญาตประกอบและขยายกิจการโรงงาน จะต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทราบ พร้อมแจ้งเหตุผลการไม่พิจารณาอนุญาตในทุกกรณี เป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลโรงงานที่พิจารณาไม่อนุญาตในปี 2559 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2559) มีการยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 2,477 โรงงาน  ได้อนุญาตประกอบ/ขยายโรงงาน จำนวน 1,996 โรงงาน คิดเป็น 80.58%  ไม่อนุญาตเพียง 5 ราย คิดเป็น 0.20%  และอื่นๆ เช่น อยู่ระหว่างดำเนินการ คืนคำขอ ยกเลิกคำขอ จำหน่ายคำขอ จำนวน 476 โรงงาน คิดเป็น 19.22%

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

“มิตรผล” ส่งตู้ Infinite Gift มอบของขวัญจากต้นอ้อย กระจายความสุขทั่วไทย

ผ่านมาเกินครึ่งทางแล้ว สำหรับกิจกรรม Infinite Gift ของกลุ่มมิตรผล ที่นำตู้ของขวัญจากต้นอ้อยไปมอบรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมายังสถานสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อส่งความสุขให้กระจายไปทั่วประเทศไทย

กิจกรรม Infinite Gift จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 ของกลุ่มมิตรผล และสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด From Waste to Value ไร้ของเหลือทิ้ง เปลี่ยนเป็นสิ่งมีคุณค่า ซึ่งทางมิตรผลใช้เป็นแนวคิดในการขับเคลื่อนธุรกิจเสมอมา โดยมุ่งมั่นที่จะต่อยอดทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการใช้นวัตกรรมและความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาอ้อยในส่วนที่เหลือจากการทำน้ำตาลออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ วัสดุทดแทนไม้ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารเสริม ฯลฯ นอกจากนี้ มิตรผลยังต้องการมอผลยังต้องการมอบของขวัญขอบคุณผู้บริโภคที่ให้การสนับสนุนกลุ่มมิตรผลมาตลอด 60 ปี

สำหรับกิจกรรมนี้ จัดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยจะนำตู้ของขวัญ Infinite Gift ไปตั้งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อมอบของขวัญจากต้นอ้อยกว่า 20,000 ชิ้น ให้กับคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และของขวัญที่นำมามอบให้นั้น เป็นของที่พัฒนาและต่อยอดมาจากต้นอ้อย เช่น น้ำตาล ขนม บัตรเติมน้ำมัน กล่องใส่หนังสือ เครื่องปั่นน้ำผลไม้ เครื่องเล่นดีวีดี ฯลฯ

ใครที่อยากสัมผัสของขวัญเซอร์ไพรส์ และรู้จักกับต้นอ้อยให้มากขึ้น ยังสามารถไปพบกันได้ถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตามสถานที่ต่างๆ แล้วมาลุ้นกันว่าต้นอ้อยจะสร้างเซอร์ไพรส์อะไรได้บ้าง

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เกษตรปรับแผนการระบายน้ำ เขื่อนแควน้อยฯ-เขื่อนปาสักฯ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์ตรงกันว่า  ขณะนี้คาดว่าไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว แต่ปรากฏการณ์ลานีญาอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2559 ประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. 59  ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าทุกภาค แต่ปริมาณฝนยังใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนในปัจจุบันมากกว่าปี 2558 โดยปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายภาค ระหว่างวันที่ 1ม.ค. -  6 ก.ค.59 สูงกว่าปี 2558 ในทุกภาค และส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับค่าปกติ

สำหรับสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลัก ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค.59) มีปริมาณ 7,816 ล้าน ลบ.ม.เปรียบเทียบกับปี 2556, 2557, 2558 พบว่ามีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยมีปริมาณ 8,600 , 9,200 และ 8,400 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ขณะนี้มีปริมาณรวม 1,579 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณ 703 ล้าน ลบ.ม. จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบใน 4 เขื่อนหลัก น้ำในเขื่อนภูมิพลยังคงมีปริมาณน้อย โดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้เพียง 287 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ30 ของพื้นที่เก็บกักน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556,2557 และ 2558 ในวันเดียวกัน ที่มีปริมาณ 3,090 ล้าน ลบ.ม. 290 ล้าน ลบ.ม. และ 200 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ  ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางเก็บกับน้ำในเขื่อนภูมิพลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลักนั้น ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค. 59) มีปริมาณน้ำ7,816ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 59 จะมีปริมาณ 10,134 ล้าน ลบ.ม. , วันที่ 1 ก.ย. 59 มีปริมาณ 16,038ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 1 ต.ค.59 มีปริมาณ 23,746 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีน้ำใช้การได้1,579 ล้าน ลบ.ม. นั้น คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 59 จะมีปริมาณน้ำ  2,155 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 1 ก.ย. 59 มีปริมาณ 4,614 ล้าน ลบ.ม. และ ณ วันที่ 1 ต.ค.59 คาดการณ์ว่ามีปริมาณ8,304  ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรับน้ำฝนจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะมีน้ำเข้ามามากในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อน จึงต้องระบายออก ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อนต้องระบายออก

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมปรับแผนการระบายน้ำ ว่า ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ประมาณ 2,000ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งสองเขื่อนสามารถรับน้ำได้เพียง 611 ล้าน ลบ.ม. และ 784 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน เขื่อนทั้งสองแห่งมีแนวโน้มที่น้ำจะเต็มเขื่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. นี้ จากเดิมเขื่อนแควน้อยฯ ระบายน้ำในอัตราวันละ 2.44ล้าน ลบ.ม. เป็นระบายน้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักฯ จะเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมที่ระบายในอัตราวันละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 3-5ล้านลบ.ม. ต่อวัน โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและส่งผลดีต่อพื้นที่เพาะปลูก ข้าวนาปี ในเขตของโครงการชลประทานเขื่อนแควน้อยฯ และโครงการชลประทานเขื่อนป่าสักฯ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 220,000 ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกกว่า 814,000ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ การเพิ่มการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อน จะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในน้ำเขื่อนทั้งสองแห่ง จะมีปริมาณเต็มเขื่อนพอดี

ขณะที่การประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้สำรวจข้อมูลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.-15 พ.ค.59 ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ จำนวน 61 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,085 ราย พบว่า เกษตรมีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ในภาพรวมทุกมาตรการ ร้อยละ 53 และมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในมาตราที่ 3 การจ้างงาน ร้อยละ 48  มาตราที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน ร้อยละ 66 มาตราที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ร้อยละ 62 และมาตรการที่ 8 การช่วยเหลือตามระเบียบ ของกระทรวงการคลัง การอบรมเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยอบรมช่วงภัยแล้งด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งผลิต Smart Farmer 

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์เปิดเผยว่า การเกษตรของประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาเกษตรกรรมมีจำนวนลดน้อยลงจนเหลือเพียงร้อยละ 38 ของประชากรทั้งหมด และเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนมาก ขาดแรงงานภาคเกษตรวัยหนุ่มสาว อีกทั้งยังขาดการพัฒนาความรู้และทักษะ

          จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดเข้าสู่ภาคการเกษตรการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเรียกว่า Young Smart Farmerให้เป็น Smart Farmer ที่มีความพร้อม มีความรู้มีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร และสอดคล้องกับวิถีชีวิตลักษณะการประกอบการของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการให้ความสำคัญในการใช้องค์ความรู้และข้อมูลประกอบการตัดสินใจ นำเทคโนโลยี ภูมิปัญหา และวิธีการปฏิบัติที่ดีมาใช้หรือพัฒนา โดยตระหนักถึงคุณภาพมาตรฐานและปริมาณตามความต้องการของตลาด รวมถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

          จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรเกษตรกรเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีการบริหารจัดการกลุ่มขั้นพื้นฐานไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย การมีส่วนร่วมเสริมสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมทั้งนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้

          นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการผลการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ปี 2559 ภายใต้แนวคิด "Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย" เพื่อแสดงศักยภาพและพลังของ Smart Farmer, Young Smart Farmer, Smart Group และอาสาสมัครเกษตร ในงานส่งเสริมการเกษตร โดยกำหนดจัดงานในวันที่ 13 - 15 กรกฎาคม 2559 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer และ Smart Farmer Model ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ปี 2559 ของกรมส่งเสริมการเกษตรตลอดจนการเชื่อมโยงประสานงานกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกรดีเด่นและอาสาสมัครเกษตร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาหรือเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างได้ เป้าหมายรวม 400 คน

          กิจกรรมภายในงานมีการสัมมนาทางวิชาการ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปภาคเกษตรไทย การบรรยาย เรื่อง Smart Farmer ทางรอดเกษตรกรไทย : การบริหารจัดการความเสี่ยงและการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตรในอนาคตจัดสถานีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ Smart Farmer และ Smart Group ต้นแบบ 8 สถานี มีเวทีเฉพาะกลุ่มเพื่อสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับนิทรรศการกำหนดไว้ในหัวข้อ Smart Farmer ทางรอดเกษตรไทย แบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ 1. นโยบายการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 2. ผลงานความสำเร็จของต้นแบบ Smart Farmer และ Smart Groupใน 6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร ในหัวข้อ "ลดต้นทุน ขยายโอกาส" กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในหัวข้อ "ความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน" Young Smart Farmer ในหัวข้อ "อนาคตเกษตรไทย" อาสาสมัครเกษตร ในหัวข้อ "จิตอาสา พัฒนาการเกษตร" เป็นต้น 3. นิทรรศการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรจากหน่วยงานภาคีในหัวข้อ "ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรไทย" กิจกรรมมอบเข็มขัดเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรที่มีผลงาน Smart Products จาก Smart Farmer ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร 7 สาขา รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

'ฉัตรชัย'เล็งถกแผนจัดการน้ำ

          "ฉัตรชัย" เตรียมหารือทำแผนบริหารจัดการ หลังน้ำไหลลงเขื่อนมาก หวังพ้นแล้งปี59/60 ขณะที่กรมชลประทานยังระบุปริมาณน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์    เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำในเขื่อนหลักให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ในภาวะปัจจุบันและในฤดูแล้งปี 2559/60 โดยน้ำในเขื่อนภูมิพลนั้นสามารถจัดเก็บได้ถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าปริมาณกักเก็บน้ำในปี 56,57 และ 58 ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ที่จะสามารถมีน้ำไว้ใช้มากขึ้นตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรม ชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ  ล่าสุด   (5 ก.ค. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,178 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44%ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,746 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

          ทั้งนี้ ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา(ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค. 59) มีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมในเขื่อนต่างๆมากขึ้น เช่น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก63.99 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์  184.91 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก  71.62 ล้านลูกบาศก์เมตรเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 11.67 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ 3.39 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง 9.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร 2.89 ล้านลูกบาศก์เมตรเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น  15.96  ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 53.22 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก 4.78 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง 2.12ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นต้น  สถานการณ์น้ำไหลลงอ่างฯในภาพรวม แม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯจะเริ่มมีมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย   ในส่วนของการทำนาปีในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ พบว่า(ณ 29 มิ.ย. 59) มีการเพาะปลูกไปแล้วกว่า 3,020,000 ไร่ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกนาปีไปแล้วประมาณ 1,113,389 ไร่ และในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีการเพาะปลูก นาปีไปแล้วกว่า 119,000 ไร่

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ครึ่งปีแรกลงทุนแค่2.24แสนล. ยอดขอใบอนุญาตเปิดโรงงาน-ขยายกิจการวูบ

กรมโรงงานเผยครึ่งปีแรกยอดขอใบอนุญาต รง.4และขยายกิจการรวมมูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านบาทลดลง 7.7 % แต่ยังมั่นใจทั้งปีโตไม่น้อยกว่า 5% จากแรงหนุนมาตรการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมของรัฐ รวมทั้งการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยเพิ่มความมั่นใจนักลงทุน

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาต รง.4 และขยายกิจการช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 (มกราคม-มิถุนายน) มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 2,407 โรงงาน ลดลงช่วงเดียวกันในปี 2558 ที่มีอยู่ที่ 2,468 โรงงาน หรือลดลง 2.47% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่อยู่ที่ 2.42 แสนล้านบาท หรือ ลดลงประมาณ 7.7%

 โดยแบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 2,052 โรงงานลดลง 0.67% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 2,066 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 1.39 แสนล้านบาท ลดลง 22.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 1.79 แสนล้านบาท ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 355 โรงงานลดลง 11.69% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 402 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 8.49 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ 6.28 หมื่นล้านบาท

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 2.2 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 1.1 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะ 1.04 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์อโลหะ 9.4 พันล้านบาท ตามลำดับ

“ยอดขอ รง.4 และขยายกิจการในช่วง 6 เดือนแรกลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับปี 2558 ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่จะมาเร่งเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ซึ่งก็จะมีการขอ รง.4ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี และเชื่อว่าในปีนี้ยอดการขอใบ รง.4 อาจจะสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐมีนโยบายและมาตรการกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเช่นนโยบายการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, ไทยแลนด์ 4.0,อินดัสเทรียล 4.0 เป็นต้น รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนต่างๆ ที่รัฐบาลได้อัดฉีดไปในโครงการต่างๆ เริ่มเห็นผลมากขึ้นทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและเริ่มมีการลงทุนและขยายกิจการมากขึ้น ทำให้คาดว่าในปีนี้การขอ รง.4 และขยายกิจการน่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาหรือโตขึ้นประมาณ 5%” นายพสุ กล่าว

สำหรับการแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี พบว่า มีจำนวน 2,020 โรงงาน ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามี 2,500 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 2.30 แสนล้านบาท ลดลง 52% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.89 แสนล้านบาท มีการจ้างงาน 9,820 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา14.4% ขณะที่ในเดือนมิถุนายนมีจำนวน 336 โรงงาน ลดลง 24.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 454 โรงงาน

โดยอุตสาหกรรมที่มีการแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานที่มีมูลค่ามากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก ได้แก่ การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มูลค่าการลงทุน 2.74 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 1.88 หมื่นล้านบาท ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 1.33 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์จากพืช 1.1 หมื่นล้านบาทผลิตภัณฑ์อโลหะ 1.21 หมื่นล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 1.2 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนจังหวัดที่มีมูลค่าการลงทุนมากสุดที่เข้ามาแจ้งประกอบและเริ่มขยายโรงงงานมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 3.14 หมื่นล้านบาท ปราจีนบุรี 2.55 หมื่นล้านบาท ปทุมธานี 2.48 หมื่นล้านบาท สระบุรี 1.48 หมื่นล้านบาท สมุทรปราการ 1.13 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

“การแจ้งประกอบและเริ่มส่วนขยายโรงงานนั้น ขณะนี้มีการเปิดกิจการจริงแล้วประมาณ 80-90%ของยอดขอ รง.4 ทั้งหมด โดยจะเห็นว่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) เริ่มมีขยายตัวมากขึ้นหลังรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนในเรื่องนโยบาย ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีโรงงานที่เปิดและขยายกิจการจริงแจ้งเข้ามาประมาณ 5 พันโรงงาน มูลค่าการลงทุนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท” นายพสุกล่าว

อนึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยว่า แนวโน้มปี 2559 การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในระดับ 45,0000 ล้านบาทจากที่ครึ่งปีแรกประเมินว่าจะมีการยื่นคำขอ 300,000 ล้านบาท ส่วนเม็ดเงินลงทุนจริงปีนี้จากโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วก่อนหน้าคาดว่าจะมีวงเงิน 600,000-700,000 ล้านบาท จากไตรมาสแรกปี 2559 มียอดลงทุนจริงแล้ว 100,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 อุตสาหกรรมที่นักลงทุนสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย จะอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และภาคบริการ ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาหารเพื่อสุขภาพ ชิ้นส่วนโทรคมนาคมอย่างออฟติกไฟเบอร์ และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ไฟเขียว ธ.ก;ส.ปล่อยกู้เกษตรกร ดอกเบี้ยต่ำ!

ครม.ไฟเขียว ธ.ก.ส.ปล่อยกู้เกษตรกรเกีอบแสนราย ใน 35 จังหวัด ที่พื้นที่ประกอบอาชีพได้รับความเสียหายจากภัยแล้งที่ผ่านมา ยื่นเรื่องถึง 31 ส.ค.นี้

             พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 มีมติเห็นชอบอนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2559 ในพื้นที่ 35 จังหวัด พื้นที่รวมทั้งสิ้น 328,500 ไร่ เกษตรกร 95,000 ราย

              โดยเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถฟื้นฟูการผลิตไม้ผลที่ได้รับความเสียหาย และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีแนวทางปฏิบัติต่อสวนไม้ผลเพื่อประกอบอาชีพชาวสวนผลไม้ได้อย่างยั่งยืน

              สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จำแนกเกษตรกรเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. เกษตรกรที่สวนไม้ผลเสียหายสิ้นเชิง 2.เกษตรกรที่สวนไม้ผลได้รับผลกระทบทำให้ต้นเหี่ยวเฉาหรือผลผลิตลดลง โดยในแต่ละกลุ่มมีแนวทางการช่วยเหลือ ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ

              1.มาตรการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เดิมของเกษตรกร ออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปี นับถัดจากงวดชำระเดิม และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกร ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลา 2 ปี ให้ช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด จำนวน 95,000 ราย

              2.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรอง และการบริหารจัดการน้ำ รายละไม่เกิน 130,000 บาท โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR-2 (ปัจจุบัน MRR=7) และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกรอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีแรก

              โดยให้เกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 ปี และช่วยเหลือเกษตรกรทั้งหมด เป้าหมาย 95,000 ราย สำหรับกำหนดชำระคืน และหลักประกันเงินกู้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. กำหนด ทั้งนี้ การดำเนินการมาตรการนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งน้ำที่ทางราชการดำเนินการให้มาก่อน

             3.มาตรการการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการปลูกใหม่ ทดแทนผลไม้เดิมหรือเป็นประเภทไม้ผลที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อัตราไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ให้แก่เกษตรกรประเภทเสียหายสิ้นเชิงที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 11,600 ราย

             4.มาตรการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตไม้ผลคุณภาพดี การบริหารจัดการผลิต และการตลาด ตลอดจนถึงระบบโลจิสติกส์ โดยให้ดำเนินการกับเกษตรกรทั้งหมด จำนวนเป้าหมาย 95,000 ราย

             ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาใกล้บ้าน ภายใน 31 สิงหาคม 2559 โดย ธ.ก.ส.จะพิจารณาอนุมัติเงินกู้ภายใน 31 ตุลาคม 2559 สำหรับการอบรมให้ความรู้เกษตรกรดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใน 31 ธันวาคม 2559

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ไทยมุ่งยกระดับสู่สากล

กระทรวงพาณิชย์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ของไทยสำหรับปี 2559-2564 และยกระดับการจัดงาน Organic & Natural EXPO 2016 สู่สากล เพิ่มช่องทางการตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ โดยมุ่งพัฒนาการตลาดทั้งในและต่างประเทศและมีความตั้งใจที่จะยกระดับการผลิตสินค้าอินทรีย์ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ควบคู่ไปกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยการส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้าอินทรีย์ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักการขายสินค้าที่เน้นปริมาณมากราคาต่ำ มาเป็นการขายสินค้าที่คุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ของไทย สำหรับปี 2559-2564 รวม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างการรับรู้ของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Awareness Raising) โดยสร้างการตระหนักรับรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจากการทำอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และส่งเสริมเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมปลูกฝังสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้อง ยุทธศาสตร์ที่ 2 ผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ (Standardize) ผลักดันการผลิตตามมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์และช่องทางการเข้าสู่ตลาด ยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้ได้รับรองมาตรฐานสากล โดยผลักดันผ่านกลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสากลและ กลุ่มที่ได้ผ่านการตรวจรับรองระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) และที่ได้รับเครื่องหมาย Organic Thailand ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและขยายตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์ (Market Expansion) เพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ผลักดันการส่งออก ขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ และยกระดับการจัดงานแสดงสินค้าอินทรีย์ของไทยสู่ระดับสากล และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาสร้างมูลค่าสินค้าและบริการอินทรีย์ (Value Creation) พัฒนาและสร้างมูลค่าให้สินค้าอินทรีย์ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ศึกษาการเพิ่มมูลค่าสินค้าอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่ และอำนวยความสะดวกและพัฒนาโครงการพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างมูลค่าสินค้าอินทรีย์

 ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจในสินค้าอินทรีย์ผลักดันสินค้าอินทรีย์ให้ก้าวหน้าและเกิดการยอมรับอย่างกว้างขวาง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จึงเดินหน้าเตรียมความพร้อมจัดงาน Organic and Natural Expo 2016 ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 28 – วันอาทิตย์ 31 กรกฎาคม 2559 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องเพลนนารี่ ฮอลล์ 1-3 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอินทรีย์และธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นับเป็นการรวบรวมผู้ผลิต ผู้ประกอบการธุรกิจ เกี่ยวกับสินค้าและบริการอินทรีย์และธรรมชาติอย่างครบวงจร และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในปีนี้ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่กระทรวงพาณิชย์ได้นำประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะประเทศ CLMV กัมพูชา ลาว เมียรมาและเวียดนาม เข้าร่วมงาน โดยดึงแนวร่วมอย่างธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ Asia Development Bank (ADB) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีโครงการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับประเทศในกลุ่ม ASEAN ถือเป็นการยกระดับเข้าสู่สากล เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดงาน Organic and Natural Expo 2016 ในครั้งนี้ว่า กรมการค้าภายในยังร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการผลักดันผู้ประกอบการจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมาเข้าร่วมด้วย คาดว่าจะมีประเทศ ASEAN เข้าร่วมงานจำนวนมากว่า 6 ประเทศ โดยขณะนี้มีหลายประเทศได้ให้การตอบรับเข้าร่วมงานฯ ซึ่งถือเป็นปีแรก และจะเป็นการยกระดับการจัดงาน Organic and Natural Expo ให้เป็นสากลต่อไปในอนาคต 

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

BRR ยื่นกกพ.ขอปรับรูปแบบการซื้อขายไฟจากAdderเป็นFiT

   ‘BRR’ เด้งรับ กกพ. คลอดเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระบบ Adder มาเป็น Feed-in-Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 4.54 บาทต่อหน่วย จากระบบ Adder ที่ให้ 3.60 บาทต่อหน่วย เร่งยื่นเรื่องของปรับเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงที่ 1 ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 8 MW มาใช้ระบบ FiT ช่วยหนุนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่ม

 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายไปต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของกลุ่ม BRR ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา หลังจากเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. ได้ประกาศปรับรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ชีวมวล) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็นFreed-in Tariff (FiT) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.54 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่า Adder ที่กำหนดอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย

 ดังนั้น BRR จึงได้เร่งยื่นเรื่องเปลี่ยนรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Adder ของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่ 1 ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท บุรีรัมย์ พลังงาน จำกัด (BEC) กำลังการผลิต 9.9 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาด 8 MW เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาเป็นรูปแบบของ FiT ให้ กกพ. เป็นผู้พิจารณาซึ่งคาดว่าจ กกพ. จะมีผลการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้ปรับเปลี่ยนการจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FiT ได้แล้ว จะส่งผลต่อรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 1 มาอยู่ที่หน่วยละ 4.54 บาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 19 ล้านบาท เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท

 “เดิมโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโรงที่ 2 ของเราได้ใช้ระบบ FiT อยู่แล้ว แต่โรงไฟฟ้าโรงที่ 1 ยังคงใช้แบบ Adder ซึ่งเมื่อภาครัฐมีนโยบายปรับเปลี่ยนจาก Adder มาเป็น FiT ทางเราก็ยื่นเรื่องเพื่อขอปรับเปลี่ยนการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 1 มาใช้ในระบบ FiT ซึ่งส่งผลดีต่อรายได้รวมจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของกลุ่ม BRR ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี” นายอนันต์ กล่าว

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ฝนมาแล้วแต่น้ำยังน้อย 

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ในวันที่ 5 ก.ค.59 มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 31,178 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 44% ของความจุอ่างฯรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,746 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 39,200 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค.59) มีน้ำไหล ลงอ่างฯสะสมในเขื่อนต่างๆมากขึ้น อาทิ เขื่อนภูมิพล 63.99 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 184.91 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 71.62 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น ซึ่งถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำไหล ลงอ่างฯในภาพรวมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณน้ำที่บรรจุในอ่างฯส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานจึงต้องกำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเน้นการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกลงมาเพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

          ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการทำนาปีในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ พบว่ามีการเพาะปลูกแล้วกว่า 3 ล้านไร่ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกนาปีแล้วประมาณ 1,113,389 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองมีการเพาะปลูกนาปีแล้วกว่า 119,000 ไร่ ทั้งนี้ กรมชลฯจะใช้อาคารบังคับน้ำและอาคาร ชลประทานต่างๆ ควบคุมน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อส่งน้ำเข้าระบบชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อ่วม!ยอดขอ'รง.4'วูบ7% สปริงบอร์ดเร่งสรุปร่างพ.ร.บ.อีอีซีเสนอ'สมคิด'14ก.ค.นี้

          กรอ.มึน 6 เดือนแรกยอดขอ ร.ง.4 วูบ 7.7% ลุ้นมาตรการรัฐดันทั้งปีโต 5% ด้าน "สปริงบอร์ด" เร่งสรุปร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เสนอ "สมคิด" 14 ก.ค.นี้ สร้างคลื่นลูกใหม่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในอาเซียน

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และขยายกิจการช่วง 6 เดือนแรกปี 2559 (ม.ค.- มิ.ย.) มีทั้งสิ้น 2,400 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอยู่ที่ 2,460 ราย คิดเป็น 2.47% ขณะที่มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 224,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 242,000 ล้านบาท คิดเป็น 7.7% เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่จะเข้ามาขอ ร.ง.4 ช่วงครึ่งปีหลัง

          ขณะที่การขอ ร.ง.4 และขยายโรงงาน ในเดือน มิ.ย.59 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 433 โรงงาน เป็น 446 โรงงาน ขยายตัว 2.91% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 362 โรงงาน ขยายตัว 23% ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่ภาครัฐบาลอัดฉีดไปในโครงการต่างๆ เริ่มเห็นผลมากขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มมีการลงทุนและขยายกิจการมากขึ้น คาดในปีนี้การขอ รง.4 และขยายกิจการโตขึ้นประมาณ 5%

          สำหรับการแจ้งประกอบกิจการและเริ่มส่วนขยายโรง งานในช่วง 6 เดือนแรกของปี มีจำนวน 2,020 โรงงาน ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 2,500 โรงงาน มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 230,000 ล้านบาท ลดลง 52% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 489,000 ล้านบาท ขณะที่ใน เดือน มิ.ย. มีการประกอบกิจ การจำนวน 336 โรงงาน ลดลง 24.49% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 454 โรงงาน

          นายกานต์ ตระกูนฮุน กรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับ เคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงรายละ เอียดในแผนพัฒนาเขตเศรษฐ กิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเตรียมเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 14 ก.ค.นี้ ก่อนนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบภายในกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องการ ให้แผนดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากเสนอร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจในรองนายก รัฐมนตรี จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (สบพ.) ในวันที่ 22 ก.ค.2559 นี้

          นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวง อุตสาหกรรม กล่าวว่า แผนการพัฒนาในพื้นที่อีอีซีครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ ที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม หลังจากที่ไทยเคยมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและแหลมฉบังมาแล้ว ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจถึงแนวทางและรูปแบบการลงทุนเป็นอย่างมาก หากแผนการดำเนินงานมีความชัด เจน มั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซี  และผลักดัน ให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่แข็ง แกร่งในอาเซียนได้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เจาะลึก50เมืองทั่วโลกดันส่งออก

“พาณิชย์” เจาะลึกข้อมูล 50 เมืองทั่วโลก หวังโฟกัสสินค้าส่งออกให้ชัดเจนขึ้น นำร่องกลุ่ม CLMV พร้อมสั่งทูตพาณิชย์ตามหาข้อมูลเชิงลึกด้านการลงทุน-การค้าบริการอีกทาง

                นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเชิงลึกของ 50 เมืองทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อใช้ในการเจาะตลาดสินค้าส่งออกของไทย แต่เบื้องต้น จะเน้นข้อมูลของตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ก่อน เพราะจะเป็นตลาดมีศักยภาพและได้ให้ทูตพาณิชย์ในตลาด CLMV หาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุน และขยายการค้าบริการของไทยเข้าสู่ตลาดเหล่านี้เพิ่มเติม

               โดยระหว่างนี้ กรมฯ จะเริ่มจัดทำโครงการคัดกรองผู้ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในตลาด CLMV ก่อน ซึ่งจะจัดอบรมสัมมนาให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่สนใจจะเข้าไปลงทุน และเมื่อได้ผู้ที่สนใจจริงๆ แล้ว ก็จะพาไปเจรจาธุรกิจ (บิสสิเนส แมชชิ่ง) กับผู้ประกอบการในตลาดเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการลงทุนจริง

               “ตอนนี้ หากมีการจัดงาน Top Thai Brand หรืองาน Mini Thailand Week ในตลาดอาเซียน กรมฯ ก็จะจัดให้มีการเจรจาแมชชิ่งด้านการลงทุนด้วย ไม่ใช่แมชชิ่งแค่การค้าขายสินค้าและในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ก็จะให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้ไปเจรจาหาโอกาสในการลงทุนด้วย” นางมาลี กล่าว

               ส่วนแนวโน้มในอนาคตรายได้จากการส่งออกของไทยจะลดลง แต่จะมีรายได้จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานมาก หรือต้องอาศัยวัตถุดิบในต่างประเทศ หรือต้องการเพิ่มความได้เปรียบจากการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศที่ไทยไปลงทุน เพราะไทยได้ปรับนโยบายการลงทุน โดยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ลังยันสรุปเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูงภายใน 1 เดือน

"กระทรวงคลัง" เลื่อนสรุปแนวทางการเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ยืนยันจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือนแน่นอน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง แต่ยืนยันว่าภายใน 1 เดือนจากนี้จะได้ข้อสรุปแน่นอน โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือเพื่อตกผลึกอีกประมาณ 2 ครั้ง เนื่องจากในการหารือก่อนหน้านี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะเรื่อง non-tax และเรื่องของสลากปิดขวดที่จะต้องให้ความรู้กับผู้บริโภค

"จะกลับไปหารือผู้เกี่ยวข้องให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าการดำเนินการในส่วนนี้เป็นการทำเพื่อเป้าหมายในการส่งเสริมการบริโภคน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ"นายกฤษฎา กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ปลดล็อกพ.ร.บ.รง.ฉบับใหม่6หมื่นรายไม่ต้องขอใบอนุญาตรัฐกางปีกอุ้มเอสเอ็มอีรายย่อย

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ใช้มานานกว่า 20 ปี ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะการปลดล็อกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานขนาดเล็ก ที่มีเครื่องจักรกำลังต่ำกว่า 50 แรงม้า และมีคนงานต่ำกว่า 50 คน รวมประมาณ 60,000 ราย ไม่ต้องมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการตามพ.ร.บ.โรงงาน ทำให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยในการอนุญาตได้มอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้พิจารณาเอง ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

          ทั้งนี้ตามกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ได้กำหนดคำนิยามของผู้ที่เข้าข่ายการเป็นโรงงาน ต้องมีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 5 แรงม้า และมีคนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันมีกลุ่มโรงงานที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.โรงงานกว่า 140,000 แห่ง แยกเป็นกลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 5-20 แรงม้า มีอยู่ 42,000 แห่ง, กลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 21-50 แรงม้า มีอยู่ 17,000 แห่ง และกลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป มีอยู่ 78,000 แห่ง ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้นับเฉพาะกลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปเท่านั้น โดยกลุ่มที่ถูกตัดออกไปนั้น จะให้ทาง อปท. รับหน้าที่ไปบริหารจัดการด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันในอนาคต รัฐก็เตรียมผ่องถ่าย กลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 50-75 แรงม้า และกลุ่มที่มีเครื่องจักรกำลังตั้งแต่ 76-100 แรงม้า ให้ อปท.รับไปบริหารในอนาคตด้วย

          ขณะเดียวกันยังกำหนดให้เพิ่มบทลงโทษกับโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ปล่อยน้ำเสีย อากาศ หรือมลพิษอื่น ๆ จากที่มีเพียงโทษทางแพ่ง ซึ่งมีอายุความเพียงแค่ 1 ปี ให้มีโทษจำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นโทษทางอาญาเพิ่มเข้ามา เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการมีความระมัดระวังต่อการกระทำผิดมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากเดิมที่คิด ใบละ 100,000 บาท เป็นใบละ 1 ล้านบาทด้วย

          อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับใหม่ ยังได้เพิ่มอำนาจของ รมว.อุตสาหกรรม สามารถกำหนดประเภทของโรงงานตามลักษณะของการประกอบกิจการได้ กำหนดให้เพิ่มอำนาจของผู้ตรวจสอบเอกชน รวมถึงกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบการกิจการโรงงานต้องปฏิบัติ ซึ่งผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องรายงานผลการปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด โดยให้มีผู้ตรวจสอบเอกชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเป็นผู้รับรอง ลดบทบาทภาระของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงอุต สาหกรรมจะไปกำหนดเกณฑ์ออกมาอีกครั้ง

          พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้โรงงานต้องทำประกันภัย มีหลักประกัน และต้องตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเดิมเมื่อเกิดปัญหากว่าจะสิ้นสุดกระบวนการทางศาลจำเป็นต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นเมื่อมีกองทุนขึ้นมาจะทำให้โรงงานสามารถจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายได้ทันที อีกทั้งยังกำหนดให้ในกรณีการย้ายโรงงานไปแล้วใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเดิมจะสิ้นสุดทันทีเมื่อได้รับอนุญาตให้เริ่มประกอบกิจการใหม่แล้ว

          นอกจากนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนใบอนุญาต

          โดยขยายระยะเวลาการโอนใบอนุญาตประกอบกิจการจากเดิม 7 วันเป็น 30 วัน กำหนดระยะเวลาที่สามารถโอนใบอนุญาต กรณีผู้ขอใบอนุญาตตั้งโรงงานไม่ได้ ให้มีกำหนด 5 ปีเท่ากับอายุของใบอนุญาต และกำหนดบังคับใช้กับผู้รับโอนทอดแรกและทอดต่อ ๆ ไปด้วย ขณะที่การเลิกประกอบกิจการ กำหนดวิธีการและระยะเวลาการแจ้งยกเลิกประกอบกิจการโรงงานใหม่ ไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันเลิกประกอบกิจการ เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

          พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับอานิสงส์ ประกอบกิจการโรงงานได้สะดวกมากขึ้น และอำนาจการพิจารณาจะมอบให้กับท้องถิ่นไปบริหารจัดการเอง เพื่อให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ออกมาตรการจัดการน้ำ รับมือฤดูฝน!

กรมชลประทานประกาศพร้อมรับมือน้ำในฤดูฝน เร่งงานขุดลอกคูคลองและเก็บวัชพืช มั่นใจบริหารจัดการน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ พร้อมสั่งเก็บน้ำสำรองไว้ให้ได้มากที่สุด

              นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าฝนนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยใช้การติดตาม คาดการณ์ และประมวลผลทุกๆ เดือน

              สำหรับมาตรการที่กรมชลประทานได้จัดเตรียมไว้เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2559 คือ 1.จัดสรรน้ำให้เพียงพอเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) ระบายรวมกันในอัตราวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งเพียงพอต่อทั้งสองกิจกรรม 2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และ 3.บริหารน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานจะใช้อาคารชลประทาน อาคารประกอบต่างๆ รวมไปถึงฝายที่มีอยู่ ทำการอัดทดน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน เพื่อให้น้ำมีระดับสูงขึ้น สามารถส่งน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำกระจายไปสู่พื้นที่เพาะปลูกได้        

              นอกจากนี้ แผนงานดังกล่าวแล้ว ยังมีการดำเนินงานในส่วนอื่นๆ อาทิ การขุดลอกคูคลอง และการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ การจัดทำแก้มลิงจำนวน 30 แห่ง มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 ทุกอย่างพร้อมที่จะรับน้ำในเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างแน่นอน ส่วนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนั้น จะระบายตามความจำเป็น เพื่อเก็บกักน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด เพื่อไว้ใช้ในกรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วง อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา มีปริมาณน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลักมากขึ้น และดีขึ้นเป็นลำดับ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กอน.จ่อถกเพิ่มน้ำตาล'โควตา ก.

          เอกชนแนะรื้อโครงสร้าง รับบราซิลฟ้องอุดหนุน

          กอน.ถกวันนี้ เล็งเพิ่มปริมาณน้ำตาลทราย โควตา ก. เป็น 2.6 ล้านตัน หลังการบริโภค ในประเทศเพิ่ม เผยน้ำตาลทรายไหลออกเพื่อนบ้านมากขึ้น

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภัภดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด(TSMC) เปิดถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) วันนี้( 6 ก.ค.) เตรียมพิจารณาปรับเพิ่ม สัดส่วนน้ำตาลทรายที่จัดสรรใน โควตา  ก. ฤดูการผลิตปี 2558/2558 เป็น 26 ล้านกระสอบ (2.6 ล้านตัน) จากเดิมกำหนดสัดส่วนที่ 25 ล้านกระสอบ(2.5 ล้านตัน) ตามที่คณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) อนุมัติ เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

          ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ถูกควบคุมราคาไว้ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศเพื่อนบ้านที่จำหน่ายอยู่ 33-37 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนต่าง 8-9 บาท ต่อกิโลกรัม จึงกังวลว่า ความต้องการน้ำตาลทรายที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทราย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่20เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้นการเพิ่มปริมาณ น้ำตาลทราย โควตา ก. อาจทำให้โรงงานน้ำตาล บางแห่งต้องซื้อน้ำตาลทรายกลับคืนในราคาที่สูงขึ้นเพราะได้ขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว

          ส่วนกรณีบราซิลเตรียมฟ้องไทยต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ว่า ไทยควรเร่ง แก้ไขปัญหานี้โดยเร็วด้วยการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย และแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เช่นการยกเลิกการจัดสรรน้ำตาลในระบบโควตา ยกเลิกจ่าย ส่วนเพิ่มค่าอ้อยให้แก่ชาวไร่ในราคา 160 บาทต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยังมีแนวทางปรับให้เกิดความเหมาะสมได้ ถึงแม้ว่าหากคำตัดสินออกมากรณีเลวร้ายไทยแพ้คดี จะไม่มีผลกระทบกับการส่งออก แต่ที่น่ากังวล คือบราซิลอาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย

          นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะ กรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า 3 สมาคมฯได้จัดทำ แพ็คเก็จข้อเสนอแนะแก้ไขผลกระทบกรณีบราซิลฟ้องไทยต่อ WTO เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร็วๆ นี้ พิจารณานำไปประกอบแผน ปรับโครงสร้างอ้อยฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลของบราซิล

          นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า แนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั้น มองว่าควรจะแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527ให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปที่มีการค้าที่เสรีมากขึ้น ทั้งในกรอบของอาเซียน และเวทีการค้าอื่นๆ ที่มุ่งไปสู่การยกเว้นเก็บภาษี  โดยเฉพาะใน เรื่องวิธีเก็บเงินจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 5 บาท เข้ามาเป็น รายได้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ปัจจุบันรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราการจัดเก็บ ควรจะยกไปให้เป็นหน้าที่ของโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยเป็นผู้กำหนด การที่รัฐเข้ามา แทรกแซงจะผิดหลักการค้าของ WTO

          นอกจากนี้ รัฐควรจะผ่อนปรนให้มีการส่งออกน้ำตาลมากขึ้น โดยการยกเลิกการกำหนดโควตา ก. ที่เป็นน้ำตาลทรายใช้บริโภคภายในประเทศ และหันไปใช้ระบบการจัดทำสต็อกน้ำตาลภายในประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำตาล ป้องกันไม่ให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศสูงจนเกินไปแทน ซึ่งสอดคล้องกับการค้าเสรีในตลาดโลก

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการปรับโครงสร้างน้ำตาลทราย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยจะเริ่มทำในส่วนแรกที่เป็นการระบบการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การคำนวณส่วนแบ่งรายได้ระหว่างโรงงานกับเกษตรกร โดยนำผลผลิตปลายทางที่เกิดจากอ้อย มาคำนวณเพิ่มเช่นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ไบโอเคมีต่างๆที่เกิดขึ้น คาดว่าจะใช้เวลา อีกประมาณ 2-3 เดือน ส่วนระยะที่ 2 จะปรับ ข้อกำหนดต่างๆ และวิธีการดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางของดับเบิลยูทีโอ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เปิด8ประเด็นรื้อพรบ.โรงงาน 

          กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ใน 8 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรก การเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ รมว.อุตสาหกรรม ให้มีอำนาจกำหนดประเภทของโรงงานตามลักษณะของการประกอบกิจการ เพื่อให้โรงงานบางประเภทไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงานได้ เช่น โรงงานของรัฐ โรงงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อการฝึกอบรม ซึ่งจะเอื้อต่อการให้เกิดโรงงานที่มีประโยชน์การศึกษาการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

          ประเด็นที่ 2 การแก้ไขนิยามของคำว่าโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน จากเดิมที่โรงงานนั้นคือกิจการที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือมีพนักงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ซึ่งเมื่อเข้าข่ายนี้จะต้องขออนุญาตใบประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) แต่ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่โรงงานจะต้องมีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปและมีคนงานมากกว่า 50 คนขั้นไป ซึ่งตามนิยามใหม่นี้จะทำให้โรงงานที่เกิดจากกิจการที่เป็นเอสเอ็มอีเกิดได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่การขอใบอนุญาต ร.ง.4 ต้องใช้เวลานานมาก

          ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โรงงานจำพวกที่ 1 คือ กลุ่มที่มีแรงม้าตั้งแต่ 5-20 แรงม้า มีอยู่ทั้งสิ้น 4.24 หมื่นแห่ง โรงงานจำพวกที่ 2 ซึ่งมีกำลังแรงม้าของเครื่องจักรตั้งแต่ 21-50 แรงม้า  มีทั้งสิ้น 1.79 หมื่นแห่ง และโรงงานจำพวกที่ 3 ซึ่งมีกำลังแรงม้าของเครื่องจักรอยู่ 7.8 หมื่นแห่ง หรือรวมแล้วเท่ากับมีโรงงานประมาณ 1.4 แสนแห่ง ที่อยู่ ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงานในปัจจุบัน แต่หากเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่จะมีโรงงานที่อยู่ในกำกับ 63,265 แห่ง

          "ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมให้โรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงานด้วยแต่ตามฉบับนี้ 2 กลุ่มแรกจะไปอยู่ภายใต้การดูแลอนุญาตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีเพียงจำพวกที่ 3 กำลังแรงม้าตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไปจะอยู่ภายใต้การอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการขอรับใบอนุญาตของ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งในอนาคตจะมีการขยายอำนาจการอนุญาตในส่วนโรงงานกำลังแรงม้าตั้งแต่ 50-100 แรงม้า ให้ไปอยู่ในอำนาจของ อปท. และ กรอ.จะอนุญาตเฉพาะโรงงานที่กำลังแรงม้าสูงกว่า 101 แรงม้าขึ้นไป" กอบศักดิ์ กล่าว

          ประเด็นที่ 3 จะปรับปรุงการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ให้มีความคล่องตัวขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้อง ยื่นเอกสารให้พร้อมและผ่านการตรวจสอบอนุมัติก่อน  จึงจะดำเนินการตั้งโรงงานได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ให้ยื่นเอกสารครบก็สามารถตั้งโรงงานได้ ส่วนกระบวนการตรวจสอบจะดำเนินการภายหลัง โดยใช้บุคคลที่ 3 หรือ Third Party เข้าไปตรวจสอบ แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่จะต้องผ่าน EIA และ EHIA ก่อน จึงจะตั้งโรงงานได้

          ประเด็นที่ 4 การต่อในอนุญาตตามกฎหมายใหม่เพียงแค่ผู้ประกอบการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมก็ให้เป็นการต่อใบอนุญาตอัตโนมัติ หลังจากนั้นจึงให้ Third Party เข้าไปตรวจสอบ และผู้ประกอบการจำเป็นต้องรายงานผลการปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดด้วย ซึ่ง Third Party จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการเป็นผู้รับรอง และเพื่อเป็นการคุ้มครองสาธารณะ การกำหนดคุณสมบัติผู้ตรวจสอบภายนอกจะต้องออกเป็นกฎกระทรวง

          ประเด็นที่ 5 กำหนดให้โรงงานมีการจัดทำการประกันภัยหลักประกันหรือกองทุนสำหรับเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินบุคคลภายนอก รวมถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองเกี่ยวกับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานมากขึ้น เนื่องจากกรณีที่เกิดปัญหากับโรงงานขึ้น เดิมกว่าจะมีการฟ้องร้องกว่าจะได้รับการเยียวยาต้องใช้เวลานานมาก แต่ตามกฎหมายใหม่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับค่าชดเชยอย่างรวดเร็วจากประกันที่ทำไว้แล้วหรือจากกองทุนประจำโรงงาน

          ประเด็นที่ 6 ที่มีการแก้ไขคือการเพิ่มบทลงโทษ ผู้ประกอบการโรงงานที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่เดิมมีเพียงโทษปรับและอายุความ 1 ปี แต่จะเพิ่มโทษจำคุกเข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้คดีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมีอายุความยาวขึ้น ทำให้เจ้าของโรงงานต่างๆ ระมัดระวังการทำความผิดมากขึ้น

          ประเด็นที่ 7 การขยายโรงงานบางประเภท เช่น โรงงานที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือลดมลพิษไม่จำเป็นต้องขออนุญาตโรงงาน และประเด็นที่ 8 การกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโรงงานจากเดิม 1 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท เนื่องจากอัตราเดิมใช้มาเป็นเวลา 24 ปีแล้ว

          กอบศักดิ์ ระบุว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของคณะกรรมการการ กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนเสนอ สนช.ต่อไป

          "กฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการออกใบอนุญาตที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแล ผู้ประกอบการจะต้องระวังในการกระทาผิดมากขึ้น ตลอดจนดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงาน" กอบศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เอกชนผวาค่าเงินผันผวนหนัก ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย-โลกในช่วงครึ่งปีหลัง-ส่งออกหมดทางฟื้น

ภาคธุรกิจยอมรับ ตลาดเงิน ตลาดทุนยังคงผันผวนอย่างหนัก นโยบายของสหภาพยุโรป และธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลต่อค่าเงินบาทไทยให้แข็งค่าขึ้นอีก ขณะที่สภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ฉุดรั้งการส่งออกให้ย่ำแย่ต่อไป และสะเทือนถึงศก.ไทยครึ่งปีหลังด้วย ภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดการเงินในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความผันผวนจากผลกระทบที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าสุดในรอบ 31 ปี โดยคาดว่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1.20 ปอนด์ต่อดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปีนี้ และต้องจับตาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลเข้า โดยมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี และจะแข็งค่าถึง 35.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1/2560 และ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 2/2560 เนื่องจากธนาคารกลางอังกฤษ ยุโรป มีแนวโน้มใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินเพิ่มและอังกฤษดอกเบี้ยเหลือ 0% ในไตรมาส 4ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบมีมากขึ้นและต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนในประเทศเกิดใหม่เพื่อหาผลตอบแทนที่สูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2559 แต่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคม หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐที่จะมีขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่ค่าเงินเยน มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องคาดว่าสิ้นปีเงินเยนจะแข็งค่ามาอยู่ที่ 0.3620 เยนต่อบาท ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าอยู่ที่ 43.90 ปอนด์ต่อบาท และเงินยูโร อ่อนค่าอยู่ที่ 38 ยูโรต่อบาท ดังนั้น เอกชนควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าได้ผลบวกมาจากการลงทุนภาครัฐที่จะนำร่องให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันยังต่ำ คาดว่าอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ระดับต่ำที่ 1.5% รวมทั้งยังมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐที่จะกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเอสเอ็มอี ปัญหาภัยแล้งบรรเทาลง และธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี ขณะที่ปัจจัยลบ คือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเปราะบาง ปัญหาโครงสร้างภาคการส่งออกที่สินค้าไทยยังล้าสมัย และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย และทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกอาจต้องใช้เวลามากกว่าที่คาด ที่ประชุม กกร.จึงเห็นควรปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกในปี 2559 ลงมาเป็นลบ 2%ถึง 0% จากเดิมที่ 0-2% ซึ่งไม่ต่ำมากจากที่หดตัว 1.9% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี และน่าจะยังเป็นอัตราการหดตัวที่น้อยกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในปี 2559ไว้ที่ 3-3.5% ตามเดิม

ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นหลังจากผลการลงประชามติของ สหราชอาณาจักรสนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ BREXITเนื่องจากความไม่แน่นอนในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอียู ซึ่งยังต้องรอกระบวนการเจรจาที่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลก ถึงแม้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจาก BREXIT น่าจะอยู่ในวงจำกัดในช่วงที่เหลือของปี 2559 นี้ เนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ของไทยกับ สหราชอาณาจักร มีสัดส่วนไม่มาก อีกทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่กระบวนการในการเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปต่อจากนี้ยังคงใช้เวลาอีกพอสมควร จึงต้องติดตามความคืบหน้าจากประเด็น BREXIT นี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2559 ยังคงได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการขยายตัวของการท่องเที่ยว รวมทั้งมีสัญญาณบวกที่ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมและในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่ยังคงหดตัว สะท้อนภาวะอุปสงค์ของคู่ค้าที่ยังอ่อนแอและกระทบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า กรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2559 ปรับระดับประเทศไทยขึ้นเป็นระดับ 2 บัญชีที่ต้องจับตามอง (เทียร์ 2 วอทช์ ลิสต์) มั่นใจว่าจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขื้น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้า และผู้บริโภคมีความมั่นใจและสบายใจในการบริโภคสินค้าจากประเทศไทย ส่งผลให้การส่งออกของไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้ดีขึ้น นอกจากนี้การที่ประเทศไทยได้ปรับระดับเป็นเทียร์ 2 วอทช์ ลิสต์ จะเป็นผลดีต่อเนื่องถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ซึ่งรวมเรื่องค้ามนุษย์ไว้ด้วย

“ที่ผ่านมาเราละเลยมากในเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะประมง แต่ตอนนี้รัฐบาลทุ่มเทจนแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ทำให้เชื่อว่าหลังจากนี้ไทยมีโอกาสหลุดจากวอทช์ ลิสต์ ได้ไม่ยาก โดยสินค้าส่งออก อาทิ กุ้ง ของไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้นซึ่งไม่รวมเฉพาะกุ้งที่จับจากทะเลซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 30% แต่รวมถึงกุ้งที่เลี้ยงในประเทศซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะบางประเทศเดิมอาจไม่สั่งกุ้งจากไทย แต่เมื่ออันดับค้ามนุษย์ดีขึ้น ก็จะหันมาสั่งกุ้งไทย ทำให้ภาพรวมได้รับผลดีไปด้วย” นายอิสระกล่าว

ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.มีมติเห็นชอบศึกษาความเป็นไปได้ผลได้ผลเสียในการเจรจาการค้าเสรีระบบทวิภาคีกับสหราชอาณาจักรหลังจากแยกตัวออกจากอียูด้วย เพราะยังมีโอกาสในการส่งออกด้านบริการ หากไทยจะต้องการให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาที่มีรายได้จากภาคบริการมากขึ้น แม้สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกในปัจจุบันจะมีไม่มากก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเบร็กซิททำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนในรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและอียู ที่กระบวนการเจรจาต้องใช้เวลานานพอสมควร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กอน.จ่อเพิ่มโควตา ก.เป็น 2.6 ล้านตัน ชี้ไทยกินน้ำตาลพุ่ง-ทะลักประเทศเพื่อนบ้าน  

          กอน.เตรียมปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. เป็น 26 ล้านกระสอบ จากเดิมที่จัดสรรไว้เพียง 25 ล้านกระสอบ เนื่องจากมีการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้น รวมทั้งทะลักไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่า

                นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (6 ก.ค.) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จะพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) ฤดูกาลผลิตปี 2558/2559 เป็น 26 ล้านกระสอบ (2.6 ล้านตัน) จากเดิมที่จัดสรรน้ำตาลทราย โควตา ก.ที่ 25 ล้านกระสอบ (2.5 ล้านตัน) ตามที่คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เห็นชอบก่อนหน้านี้

                ทั้งนี้ การเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก.นั้น สืบเนื่องจากการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตอ้อยได้ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งมีการนำน้ำตาลทรายออกไปขายตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านหลังจากเปิดตลาดเออีซี เนื่องจากราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศอยู่ที่ 23 บาท/กิโลกรัม (กก.) ต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายในประเทศเพื่อนบ้านที่จำหน่ายอยู่ 33-37 บาท/กก. เพราะราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ 20 เซ็นต์/ปอนด์ อีกทั้งการเพิ่มปริมาณน้ำตาลทราย โควตา ก.นี้ทำให้โรงงานน้ำตาลบางแห่งต้องซื้อน้ำตาลทรายกลับคืนเนื่องจากได้มีการขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว

                การผลิตอ้อยและน้ำตาลประจำฤดูกาลผลิต 2558/2559 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 94.04 ล้านตันอ้อย ลดลงจากปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 106 ล้านตันอ้อย เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ 9.78 ล้านตันจากปีก่อนที่ 11.3 ล้านตัน

                ขณะที่วันนี้ (5 ก.ค.) 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลโดยมีไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) ในฐานะตัวแทนโรงงานน้ำตาลทั้ง 52 โรง ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย พร้อมด้วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดงาน Bangkok Sugar Dinner 2016 และ Bangkok Sugar Conference 2016 ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ที่ แกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ 450 คน โดยในงานจะมีการประชุมหัวข้อหลักเรื่องความท้าทายและโอกาสที่ส่งผลดีต่อความยั่งยืนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านธุรกิจ และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นต่างๆ

                นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน (Asean Sugar Alliance) โดยมีผู้แทนภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลอาเซียนทั้งไทย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และพม่า เข้าร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าวด้วย 

จาก http://manager.co.th   วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ครม.เห็นชอบกฎหมายโรงงานใหม่เพิ่มโทษอาญา-ขอโรงงาน 4 ฉบับละ 1 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 เวลา 14.00 น. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2534 มีประเด็นแก้ไขสำคัญ ดังนี้ 1.ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้โรงงานของหน่วยงานรัฐหรือโรงงานบางประเภทได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงงาน ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ และกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้โรงงานบางประเภทหรือชนิดที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่ไม่ถึง 50 แรงม้า หรือคนงานตั้งแต่ 7 คน แต่ไม่เกิน 50 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ได้

2.ปรับปรุงแก้ไขความหมายของคำว่า "โรงงาน" เสียใหม่ จากเดิมคำว่าโรงงานจะต้องมีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าหรือคนงานตั้งแต่ 7 คน เปลี่ยนเป็น จะต้องมีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าหรือคนงานไม่เกิน 50 คน ไม่เป็นโรงงานภายใต้กฎหมายโรงงานอีกต่อไป ทำให้ลดอุปสรรคในการตั้งโรงงาน สามารถตั้งโรงงานได้ง่ายขึ้น เป็นผลดีต่อผู้ประกอบกิจการ SMEs อย่างไรก็ตามยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสาธารณสุข ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

3.ปรับปรุงวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดยหลักการใหม่เมื่อได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเรียบร้อยแล้ว กำหนดให้ผู้ขออนุญาตยื่นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา ตรวจสอบทำเลที่ตั้งโรงงาน เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ให้ออกใบอนุญาต ร.ง.4 ทันที

4.ปรับปรุงแก้ไขการต่ออายุใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการโรงงาน โดยผู้ขอเพียงขอยื่นคำขอและชำระค่าธรรมเนียม โดยไม่ต้องตรวจโรงงานเหมือนเช่นแต่ก่อน อย่างไรก็ตามคงกำหนดให้มีการตรวจสอบกำกับดูแลเช่นเดิมตามกฎหมายทุกปี

5.กำหนดให้โรงงานต้องจัดให้มีประกันภัย หลักประกันหรือกองทุน เพื่อเยียวยาความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยไม่ต้องรอผลการฟ้องร้องต่อศาล

6.การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีโทษจำคุก

7.ยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเดิมทั้งหมดและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใหม่ อาทิ ใบอนุญาตฉบับละ 1 ล้านบาท การประกอบกิจการโรงงาน ปีละ 3 แสนบาท

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

สกู๊ป : สารวัตรเกษตรอีสานล่าง เร่งเครื่องตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้ให้นโยบายในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ดีมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการการควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตด้านปุ๋ย วัตถุอันตรายและพันธุ์พืชให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเตรียมการเข้าฤดูเพาะปลูกใหม่ของเกษตรกร

โดยได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างภาคราชการ คือ กรมวิชาการเกษตรกรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. กับภาคเอกชน คือ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ 7 สมาคม ภายใต้โครงการ “สานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ” เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงแหล่งปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและราคาที่เป็นธรรม

กรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของประเทศ ได้มอบนโยบายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วประเทศ เร่งดำเนินการตรวจสอบควบคุมคุณภาพปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร นำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

ดร.อุดม คำชา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี กล่าวว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 เป็นหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างรับผิดชอบ 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอำนาจเจริญ ปัจจุบันมีร้านค้าผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 7,854 ร้านค้า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 โดยกลุ่มควบคุมตามพระราชบัญญัติ ได้ดำเนินกิจกรรมในการควบคุมกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติที่อยู่ในความรับผิดชอบ 3 กิจกรรม

ประกอบด้วย 1.จัดประชุมชี้แจงการควบคุมกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติให้กับผู้แทนสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. หรือ ส.ก.ต. และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความระมัดระวังในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่จะมาจำหน่ายให้เกษตรกร รวมถึงมีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัจจัยที่ไม่มีคุณภาพมาจำหน่ายในพื้นที่ ทั้งหมด 8 ครั้ง มีผู้เข้าประชุม จำนวน 412 ราย 2.จัดชุดเฉพาะกิจในการระดมตรวจสถานประกอบการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

ทั้งนี้ พบมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ ได้มีการยึดอายัด เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดี จำนวน 445 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท และ 3.ดำเนินงาน “ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ” และร่วมจัดนิทรรศการทางวิชาการ “ตลาดนัดปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ”ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล โดยได้มีการมอบตราสัญลักษณ์ในพื้นที่รับผิดชอบไปแล้ว 782 ร้าน และได้ทยอยมอบอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเกษตรกรมีความประสงค์จะเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย สารเคมีทางการเกษตร หรือเมล็ดพันธุ์พืชควบคุม ควรเลือกซื้อจากร้านที่เข้าร่วมโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือร้าน Q-Shop โดยสังเกตจากร้านที่มีตราสัญลักษณ์ “ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ” เท่านั้น จึงจะมั่นใจได้ว่าได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและในราคาที่เป็นธรรม ที่สำคัญหากพบเห็นการกระทำผิดทั้งการลักลอบขายปุ๋ยปลอม ไม่ได้คุณภาพ หรือรถเร่ขายปุ๋ย สามารถแจ้งได้ที่หน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ได้ทันที

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ฟันธงส่งออกไทยติดลบปีที่4-เศรษฐกิจโลกฉุด

สรท.ปรับตัวเลขส่งออกปี 59 ติดลบ 2% และติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เหตุเศรษฐกิจโลก-ค่าเงินยังผันผวน มองแง่ดีปีหน้าอาจพลิกกลับเป็นบวก ระบุ ก.พาณิชย์ ยอมปรับเป้าส่งออกลงเป็นเรื่องที่ดีที่ยอมรับความจริง แนะผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ และพัฒนาสินค้าให้ทันคู่แข่ง

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในครึ่งหลังของปี 2559 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน หลักๆโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของคู่ค้าทั่วโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำให้ปริมาณการอุปโภคบริโภคของลูกค้าในตลาดเป้าหมายลดลง เช่น ในสหาภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ที่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย บวกกับกรณีอังกฤษจะออกจากอียู(เบร็กซิท)ที่สร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยน และตลาดเงินตลาดทุน อาจจะสร้างความกังวลและกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

ดังนั้นสรท.จึงมองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้โอกาสขยายตัวเป็นบวกคงไม่มี ซึ่งตรงกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ส่งออกทั้งปีนี้จะติดลบ 2% สรท.เองได้ปรับเป้าส่งออกเดิมตั้งไว้ขยายตัวที่ 0-2% เป็น-2% หากปีนี้ไทยยังคงส่งออกติดลบ ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะการส่งออกไทยไม่ควรติดลบต่อเนื่องนานเช่นนี้ แต่ในปีหน้าการส่งออกไทยน่าจะกลับมาเป็นบวกจากที่ปีนี้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว

สำหรับการปรับลดประมาณการส่งออกใหม่ของ สรท.ในครั้งนี้ ไทยจะมีมูลค่าการการส่งออกทั้งปี 2559 ที่ 210,089 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการปรับคาดการณ์ใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะปรับเมื่อครบไตรมาส 2 เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยลบหลัก ๆ มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้เงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าลง ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคาสินค้า ส่วนผลการทำประชามติอังกฤษออกอียู จะส่งต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น และไม่มีผลให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆมาเป็นตัวฉุดอยู่

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์เล็งปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้จากเดิมตั้งไว้ขยายตัวที่ 5% จะลดลงเหลือ 3% ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวเลขการทำงานไม่ใช่ตัวเลขประมาณการส่งออกจริง การที่กระทรวงยอมปรับตัวเลขส่งออกลงมาก็เป็นการยอมรับความเป็นจริงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้

ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงพอไปได้ เช่นกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ที่คิดเป็นสัดส่วน 15%ของการส่งออกในภาพรวม คาดตัวเลขการส่งออกของเดือนมิถุนายนจะยังพอไปได้จากคำสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ในเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้น่าเป็นห่วงเพราะมีปัญหาในตลาดตะวันออกกลางที่รายได้หายไปจากราคาน้ำมันตกต่ำที่อาจเป็นตัวฉุดส่งออกในปีนี้ ขณะที่ สรท.ยังเป็นห่วงตลาดหลักของไทย เช่น ตลาดจีนที่เศรษฐกิจยังชะลอ สหรัฐอเมริกาที่อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรืออาจปรับลดลงอีกก็เป็นได้ และยิ่งเจอเบร็กซิทตลาดยิ่งผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทันสถานการณ์

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

กฟผ.ลุ้นน้ำเข้า2เขื่อนหลัก

กฟผ.ชี้น้ำเริ่มไหลเข้าเขื่อนหลังฝนมาเร็วตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่สองเขื่อนหลักยังต้องลุ้นถึงเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้

นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในภาคอีสานมากขึ้นหลังจากฤดูฝนมาเร็วตั้งแต่เดือน มิ.ย. ในขณะที่สองเขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีส่วนสำคัญในการระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปริมาณน้ำยังไม่มากนักแต่ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีฝนตั้งแต่เดือน มิ.ย.

นายธนรัชต์ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาฝนจะเริ่มมาปลายเดือน ก.ค. ดังนั้นต้องติดตามร่องมรสุมที่จะผ่านภาคเหนือ เพราะจะมีส่วนสำคัญในการเติมน้ำให้สองเขื่อนนี้ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นฤดูฝนช่วงเดือน ต.ค.นี้จะมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนอยู่ในระดับใด หากน้ำเฉลี่ย 80% ของความจุอ่างก็จะสามารถระบายน้ำเพื่อทำนาปรังได้

ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. เขื่อนภูมิพลมีน้ำอยู่ระดับ 4,075 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 30% ของความจุอ่างที่ 13,462 ล้าน ลบ.ม. เริ่มมีน้ำไหลลงเขื่อน 10.84 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 3 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำอยู่ 3,617 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% ของระดับความจุอ่างมีน้ำไหลลงเขื่อน 43.81 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายออก 10.63 ล้าน ลบ.ม. หากพิจารณาจะพบว่าระดับน้ำต้นทุนยังต่ำ แต่ฤดูฝนจริงๆ ที่จะมาเติมเต็มก็คงจะต้องรอดูช่วงเดือน ก.ค.นี้อีกครั้ง

 ทั้งนี้ การระบายน้ำของ กฟผ.จะเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งหลักการของการระบายน้ำโดยเฉพาะสองเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1.น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 2.น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะต้องปล่อยควบคู่ไปกับเขื่อนป่าสัก และ 3.น้ำเพื่อการทำนาปรังเป็นการทำนานอกฤดูนี้

ซึ่งจะเป็นลำดับสุดท้ายหากมีเหลือมากพอ

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจะยังมีความจำเป็นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในทุกปี แต่ปริมาณน้ำจากเขื่อนที่กักเก็บได้ยังคงมีเท่าเดิมดังนั้นการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกที่เหมาะสมจะช่วยได้มากในระยะยาว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ค่าเงินบาทเปิด35.10/12อ่อนค่า

ค่าเงินบาทเปิด 35.10/12 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากวานนี้ นลท.รอดูผลประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียวันนี้ มองกรอบวันนี้ 35.10-35.20 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.10/12 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.04/06 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้รอดูปัจจัยรายวัน เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลียว่าจะมีผลออกมาอย่างไร คาดว่าเงินบาทน่าจะแกว่งแคบๆใน 35.10-35.20" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.10-35.20 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ส่งเสริมใช้สารชีวภัณฑ์  ป้องกันศัตรูพืชเพื่อลดต้นทุนการผลิต

           นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ห 7 ต.หัวถนน อ.คลอง ขลุง จ.กำแพงเพชร โดยมีนายศักดา บุญสังวาลย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ

         โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเรื่องการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติใช้ในการเพาะปลูกฤดูการผลิตปี 2559 นี้ ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาการเพาะปลูกพืช ทั้งไม้ผล พืชไร่ และพืชสวน ทุกชนิดล้วนมีการใช้สารเคมีในการป้องกันการเกิดโรคและ กำจัดแมลง เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ซึ่งการเกิดโรคเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตพืชทำให้ผลผลิตลดลงและราคาตก จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันกำจัด การใช้สารเคมีจึงเป็นวิธีหนึ่งที่เกษตรกรนำมาใช้ในการควบคุมโรคพืช ซึ่งใน

           ปัจจุบัน  มีการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และมีสารพิษตกค้างเป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

จากเหตุผลดังกล่าวนักวิจัยจึงได้มีการศึกษากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อสาเหตุ ที่มีความสามารถป้องกัน หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุโรคพืชได้ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการเกษตร ซึ่งจะทำให้การผลิตพืชผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมีและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางด้วย

      ที่สำคัญปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้อง การเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพตามมาตรฐานความปลอดภัย ด้านอาหาร ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศและเป็นที่มาของกฎระเบียบที่กำหนดขึ้น เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภคโดยอ้างอิงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่ใช้ในการควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตและนำเข้าด้าน    พืชยังไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มี   สารเคมีตกค้าง มีศัตรูพืชและจุลินทรีย์ปนเปื้อน คุณภาพความปลอดภัยของผลผลิตยังไม่เป็นตามมาตรฐานสากลและประเทศผู้นำสินค้าทางการเกษตร เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตสินค้ายังขาดความรู้ในเรื่องระบบนิเวศโรคและแมลงศัตรูพืช

       และยังมีการใช้สารเคมี ในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชเป็นสำคัญ พร้อมยัง  ขาดทักษะและความชำนาญในการผลิตที่มีการควบคุมและต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน

ระบบการผลิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยส่งเสริมให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์การผลิตพืชอาหารของประเทศ

      จึงได้มีการผลิตการขายเชื้อราบิวเวอเรียมาและการนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลอารักขาพืช ซึ่งเชื้อราบิวเวอรี  และเชื้อราไตรโครดอร์ม่า เป็นจุลินทรีย์ ประเภทเชื้อราที่มีคุณสมบัติเป็นเชื้อปฏิปักษ์ สามารถทำลายแมลงหรือทำให้เกิดโรคแมลงหลายชนิด ลักษณะของเส้นใย และ สปอร์มีสีขาวหรือ      สีครีมซีด จัดเป็นเชื้อประเภทแซบโปรไฟท์  อาศัยและกินเศษซากที่ผุพังในธรรมชาติ สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หนอนผีเสื้อศัตรูพืช   ต่าง ๆ หนอนห่อใบข้าว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่นต่าง ๆ เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว ด้วงงวงต่าง ๆ เป็นต้น  

     งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) และบริการการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิต  ใหม่ ปี 2559 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิ ภาพการผลิตสินค้าเกษตร ห 7 ต.หัวถนน อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ในครั้งนี้จึงได้มีการนำแนวทางและวิธีการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ในการทำการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร ที่เข้าร่วมงาน เพื่อให้เกษตรกรรู้วิธีป้องกัน กำจัดศัตรูข้าวโดยชีววิธี อันเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีมากำจัดแมลงศัตรูพืชในการทำการเพาะปลูก

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 5 กรกฎาคม 2559

สมชาย หาญหิรัญ ปลัดอุตสาหกรรม 4.0 "เร็วไว โปร่งใส"

กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ และยังทำหน้าที่ชักจูงให้นักลงทุนต่างชาตินำเม็ดเงินเข้ามาลงทุน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐมอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นแม่งานหลัก ในการกระตุ้นการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โอกาสนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "ดร.สมชาย หาญหิรัญ" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ซึ่งเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2559

- ภารกิจเร่งด่วนหลังรับตำแหน่ง

มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.กรณีอ้อยและน้ำตาลที่กำลังถูกบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงกรณีของเหมืองทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 2.เรื่องตามนโยบายรัฐ อย่าง S-Curve เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และนโยบายคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพนวัตกรรมและมาตรฐานภาคอุตสาหกรรม (Spring Board) อย่างเรื่องการสะสางปัญหาอ้อยและน้ำตาล และอัคราฯ มันค้างสะสมมาเราต้องมารื้อใหม่หมด มีการหารือกับฝ่ายกฎหมาย เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบในวงกว้าง

อย่างเรื่องเหมือง กรอบนโยบายจากนี้ คือต้องทำความเข้าใจกับชุมชน ชาวบ้าน และต้องไม่ให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

- นโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงานในสังกัด

จะปรับโครงสร้าง 4 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง ไม่ใช่การย้ายคน แต่เปลี่ยนกระบวนการหน้าที่จากองค์กรกำกับดูแลควบคู่กับการมาเป็นฝ่ายสนับสนุน ได้แก่ กรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกเว้นสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ทั้ง 4 หน่วยงานไม่เพียงปรับบทบาท แต่รวมไปถึงการแก้กฎหมายที่ต้องสอดรับกับภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ต้องมีความไว โปร่งใส ภายใต้กรอบของ พ.ร.บ. ขณะเดียวกันต้องเชื่อมโยงไปยัง "Thailand 4.0" และนำมาสู่ "Industry 4.0" ด้วย เมื่อบทบาทเปลี่ยนจะทำให้ข้าราชการทำงานได้เร็วขึ้น ลดขั้นตอน ถูกต้องตามระเบียบ และจำเป็นต้องมีบุคคลที่ 3 เข้ามาร่วม เช่น การพัฒนาเรื่อง Lab เอกชนสามารถมาตรวจ หรือรับรองบางอย่างแทนเราได้ตามกฎหมาย รวมถึงการนำระบบไอทีเข้ามาให้บริการ One Stop Service หรือรูปแบบของ Single Window

- บทบาทการเป็นองค์กรสนับสนุน

เราตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 การเป็นที่ปรึกษาสนับสนุน ให้คำแนะนำ เช่น สมอ. ไม่ใช่แค่ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แต่ต้องแนะนำเอกชนด้วยว่า จะต้องทำมาตรฐานอย่างไร และ กรอ.ที่กำกับดูแลโรงงาน ต้องเข้าไปแนะนำโรงงานทำอย่างไรให้ถูกต้อง เพื่อส่งต่อให้ กสอ.ไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

- ผลหลังไปโรดโชว์ 10 อุตฯเป้าหมาย

มีบริษัทแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนเช่น บริษัท Thai OSAKA ซึ่งผลิตอาหารเสริมด้านการแพทย์ และสารตั้งต้นที่ส่งให้กับโรงพยาบาล

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ประกาศอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐเดินสายโรดโชว์ไปยังประเทศต่าง ๆ แต่กว่าจะตกลงมาลงทุนได้ต้องใช้เวลานับปี เราใช้ทั้ง Super Cluster และเขตเศรษฐกิจพิเศษชักจูงนักลงทุน นับตั้งแต่ประกาศ S-Curve มีแนวโน้มและแผนของนักลงทุนชัดเจนขึ้น หลายรายกำลังเข้ามาหารือกับเรา

- จะปรับให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก

ทั้งเราและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกไปคุยโดยตรงกับนักลงทุนทุกครั้งที่ไปโรดโชว์ เป้าหมาย รายชื่อบริษัท ประเทศ ชัดเจนทั้งหมด และก็มีการปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์การลงทุน บวกกับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ 10,000 ล้านบาทเข้าไป ขณะที่สิทธิประโยชน์เหล่านี้ก็ต้องกลับมาดูว่านักลงทุนยังต้องการสิทธิประโยชน์อะไรอีก และเรามีให้พอหรือไม่

- สานต่อเรื่อง SMEs และ OTOP

เป้าหมายคือต้องการสร้าง OTOP Couture Village ดึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาช่วยเป็นแม่งานเพื่อปั้น "โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

ล่าสุดไปดูต้นแบบที่หมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช และบ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย ทำให้เห็น Business Model ว่าจะเป็นสินค้าตัวไหน จุดท่องเที่ยวใด จะพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะทำเป็น 1 หมู่บ้าน 1 จังหวัด และเมื่ออังคารที่ผ่านมา 76 จังหวัด ส่งรายชื่อหมู่บ้านที่มีความพร้อมเข้ามาแล้ว

- การสร้างขีดความสามารถแข่งขัน

บทบาทต่อจากนี้ กสอ.ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ ต้องนำความรู้กระจายออกไปให้ทุกคนได้รับรู้มากขึ้น ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก คนที่ยังเข้าไม่ถึงก็จะเข้าถึงเรามากขึ้น

อย่างการรับเรื่องช่วยเหลือ SMEs บวกกับการใช้ระบบ e-Consult ให้คำปรึกษา และบริการผ่าน Application Industry Partner (IP) เปิดโอกาสให้ SMEs ทุกรายเข้ามาปรึกษา เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Packaging) จากนั้นทางศูนย์และผู้เชี่ยวชาญ (Expert) แนะนำว่าควรปรับแก้อย่างไร ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนรายใหญ่พร้อมให้ความร่วมมือ 300 ราย ขณะเดียวกัน SMEs เองต้องไขว่คว้าเองด้วย

นับจากนี้ไปทุกอุตสาหกรรมจังหวัดต้องเดินตามนโยบายนี้โดยเร็ว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 4 กรกฎาคม 2559

พาณิชย์พัฒนา ยุทธศาสตร์5ปี เกษตรอินทรีย์

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติระยะ 5 ปี (2560-2564) เสร็จแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้มีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ซึ่งครบกำหนดในปีนี้

โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานใน 4 ด้าน คือ การสร้างการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง การผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการอินทรีย์ และการพัฒนาตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์

โดยได้ตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันในเอเชีย เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ประมาณ 23 ล้านไร่ หรือ 10% ของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งโลก ที่มี 232.5 ล้านไร่ จีนมีพื้นที่มากสุด รองลงมา คือ อินเดีย ส่วนไทยอยู่อันดับ 8 ในเอเชีย และอันดับ 4 ในอาเซียน ส่วนประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลก คือ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา และสหรัฐ

ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 3.7 แสนตารางกิโลเมตร มีประชากรที่ทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 7,000 ราย มีผลผลิต 80,000 ตัน ปัจจุบันมีการส่งออกประมาณ 135 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐ และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งไทยยังมีโอกาสในการขยายจำนวนผลผลิตและตลาดส่งออกได้อีกมาก.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 4 กรกฎาคม 2559

ข่าวดี! ผลิตไฟจากกระแสน้ำ

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า นอกจากกลุ่มพลังงานทดแทนหลักๆ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และได้พัฒนาจนถือได้ว่า อยู่ลำดับต้นๆของกลุ่มประเทศในอาเซียน กระทรวงพลังงานพบว่า ขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการภาคเอกชนได้สนใจและเริ่มลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำ (Hydro kinetic electrical generation system) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี พลังงานทดแทนที่ใช้กังหันน้ำสร้างพลังงานจากการเคลื่อนไหวของน้ำ โดยแรงดันของน้ำจะส่งผลให้ใบพัดกังหันหมุน ซึ่งหากกระแสน้ำไหลแรงเท่าไร แรงหมุนของใบพัดก็จะแรงขึ้น โดยการหมุนของใบพัดดังกล่าวจะทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้า

นายสราวุธกล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากกระแสน้ำดังกล่าว เป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน ที่ขณะนี้ภาคเอกชนได้ประยุกต์และเริ่มทดลองลงทุนติดตั้งตั้งระบบไว้แล้ว 2 จุด ที่บริเวณ แพกลางแม่น้ำ จังหวัดหนองคาย และในทะเลพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการนำร่อง กำลังผลิตแห่งละ 330 กิโลวัตต์ ซึ่งถือเป็นพลังงานทดแทน ที่สร้างขึ้นจากการไหลของแม่น้ำในธรรมชาติ เพราะโดยปกติเทคโนโลยีนี้ ต้องการการไหลของน้ำอยู่ที่ 2.2 เมตรต่อวินาที และการผลิตพลังงานทดแทนจากกระแสน้ำจะสามารถผลิตพลังงานได้คงที่ และอาจผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันต่อ 1 เมกะวัตต์ ต้องลงทุน 300-350 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความคุ้มค่าในอนาคตต่อไป “ประเทศไทยยังมีศักยภาพของพลังงานทดแทนที่แอบซ่อนอยู่หลายชนิด ซึ่งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกัน ผลักดันโครงการลงทุนและทดลองพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำพลังงานจากกระแสน้ำมาใช้ ถือเป็นโครงการที่ดี คาดว่าในอนาคตหากมีการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้”.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 4 กรกฎาคม 2559

ปรับโครงสร้างอ้อย-น้ำตาลโจทย์ใหญ่บนเวทีการค้าโลก   

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมส่งออกที่มีศักยภาพของไทย เพราะมีการส่งออกน้ำตาลทรายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล สร้างรายได้เข้าประเทศ 3 แสนล้านบาท ต่อปี เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า 1 ล้านคน รัฐบาลจึงเร่งวางแนวทางส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนวัตกรรม มาต่อยอดในการนำผลิตภัณฑ์จากอ้อยและกากน้ำตาลไปสู่ การผลิตอาหาร ยา เครื่องสำอาง และพลาสติก ชีวภาพหรือไบโอพลาสติกไบโอเคมี เพื่อเพิ่มความต้องการใช้อ้อยสร้างมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับชาวไร่อ้อย ตามนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve)ใน 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายที่จะนำไปสู่การยกระดับประเทศ- ไทยตามนโยบาย"ประเทศไทย 4.0"  ด้วยศักยภาพของไทยที่ผลิตอ้อย ในฤดูการผลิต ปี 2557/2558 ได้มากถึง 106 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายทำสถิติใหม่ที่11ล้านตัน แต่ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกกลับตกต่ำลง ในช่วงปลายปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์

          ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของบราซิล ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลบราซิล ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ดำเนินคดีทางการค้าต่อไทย เพราะตีความว่าไทยมีนโยบายอุดหนุนราคาในการเพาะปลูกส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่ให้ความสนใจมาเพาะปลูกอ้อยมากขึ้นทำให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มและ ผลิตน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดโลกมาก จนเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกตกต่ำ

          ประเด็นดังกล่าวนับเป็นอีกโจทย์สำคัญ ที่รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาให้กับชาวไร่อ้อย

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยมีแนวโน้วที่จะแพ้คดี หากบราซิล ยื่นฟ้องต่อ WTO รัฐบาลจึงพยายาม หาทางออกเรื่องนี้  โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์อย่าง ใกล้ชิดเพื่อหาทางเจรจากับบราซิล ให้เปลี่ยนใจ ไม่ยื่นฟ้องไทย และเห็นว่าแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลไทยจะแสดง ความบริสุทธิ์ใจ และให้เห็นถึงความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

          การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบซึ่งอาจนำไปสู่การยกเลิกราคาควบคุมน้ำตาลทรายในประเทศในอนาคต

          "กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างทำแผนปรับโครงสร้างฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559ได้เห็นชอบใน หลักการแล้ว เหลือเพียงการจัดทำ รายละเอียดในแต่ละหลักการให้ ชัดเจน และนำกลับมาเสนอครม.ใน วันที่ 10 ก.ค.นี้ แม้ว่าสุดท้าย หากมีการฟ้องร้องจริง และไทยแพ้คดี ก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทราย แต่เรื่องนี้ถือเป็นเครดิตประเทศ ที่ต้องแสดงถึงความโปร่งใสเป็นสากล" นางอรรชกา กล่าว ด้านนายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและ น้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ก.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำเสนอครม. ให้รับทราบถึงข้อกังวลของบราซิล หลังเจรจาร่วมกันระหว่าง2ประเทศที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังไม่เป็นผลให้บราซิลเปลี่ยนใจที่จะไม่ ยื่นฟ้องไทย โดยจะขอให้ ครม.ทบทวนและมอบอำนาจให้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)นำข้อกังวลของบราซิล บรรจุลงไปในแผนปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ครม. อนุมัติหลักการณ์ไปแล้ว เพื่อจัดทำแผนให้สมบูรณ์

          ทั้งนี้ ข้อกังวลของบราซิลที่ต้องการให้รัฐบาลไทยแก้ไข ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก คือ

          1. การช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ได้รับการตอบแทนจากการขายอ้อย โดย มอบหมายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปจ่ายช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยแก่ ชาวไร่อ้อย ในอัตราตันละ 160 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐให้ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น 2.ระบบจำหน่ายน้ำตาลทรายภายใน ประเทศและส่งออก ที่แบ่งสรรโควตาปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายที่ได้ในแต่ละฤดูกาลผลิต เป็น 3 ส่วน คือ โควตา ก คือ น้ำตาลทรายขาวที่ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ  โควตา ข คือ น้ำตาลทรายดิบ ที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ และโควตา ค คือ น้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการจัดสรรให้ โควตา ก และโควตา ข แล้ว นำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้บราซิลมองว่า เป็นการเบี่ยงเบนอุปสงค์อุปทาน ที่นำไปสู่การกำหนดราคาน้ำตาลทรายได้

          3. ทบทวนการกำหนดราคาน้ำตาลทรายของไทย ที่มีการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ 23.50 บาทต่อกิโลกรัม และที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายของไทยสูงกว่าราคาน้ำตาลทรายในต่างประเทศ

          4. การกำหนดราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้าย ซึ่งบราซิลมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล

          "เอกสารต่างๆ เราให้ทางบราซิลไปหมดแล้ว แต่เขาอยากเห็นแผนปรับ โครงสร้างอ้อยฯ ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว และมีการบรรจุข้อกังวลเหล่านี้ อยู่ในแผนด้วย ดังนั้น สอน.จึงรอให้ ครม.มอบอำนาจให้บรรจุเรื่องนี้ให้แผนปรับโครงสร้างฯ ซึ่งหากครม.สั่งการคาดว่า จะทำเสนอแผนที่ชัดเจนได้ภายใน ปลายเดือนก.ค.หรือ ต้นเดือน ส.ค.นี้ ช้าออกไปจากกำหนดเดิมเล็กน้อย และระหว่างนี้ ทางบราซิล อาจรอดูแผน หรืออาจจะยื่นฟ้องไทยไปก่อนได้อยู่ที่บราซิลตัดสินใจ แต่ถ้าบราซิล พอใจในแผนค่อยไปถอนฟ้องทีหลังได้"

          แผนปรับโครงสร้างอุตฯอ้อย-น้ำตาลทราย

          1. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายและกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เพื่อให้สามารถนำอ้อยไปใช้ผลิตในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้เช่น ผลิตเป็นเอทานอลและผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติกไบโอเคมีซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้อ้อยสร้างมูลค่า และสร้างรายได้ให้กับชาวไร่อ้อย

          คณะทำงานพิจารณาร่างฯพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายได้เปิดรับฟัง ความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์ไปแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอร่างกฎหมาย เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ภายใน 15 มิ.ย.2559 หากผ่านการเห็นชอบจากครม.

          2.การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องดำเนินการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่สมัยใหม่ใช้จักรกล เช่น จัดทำโครงการนำร่องโดยต่อยอด จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการน้ำในไร่อ้อย โดยเสนอขอใช้ งบประมาณกลางปี 2559 จำนวน 30 ล้านบาท จัดทำนโยบายเกษตรสมัยใหม่ให้โรงงาน/ชาวไร่/ส่วนราชการดำเนินการตามโครงการประชารัฐ

          3.การกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย ต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทรายจะต้องดำเนินการกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทราย เพื่อเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำทราย ลดข้อโต้แย้ง และรักษาระบบแบ่งปัน ผลประโยชน์ที่เป็นธรรมซึ่งคณะทำงานฯอยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทรายโดยมีเป้าหมายนำมาใช้ในฤดูการผลิตปี 2559/2560 รวมถึงจะต้องกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มโอกาสการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนในอนาคต

          4. การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ต้องจัดทำ แผนบริหารจัดการทรัพย์สินกองทุนให้เพิ่มขึ้น ภายใต้กิจกรรมที่ช่วยแก้ไข ปัญหาหรือลงทุนในระบบอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น การปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อย เครื่องจักรกลการเกษตร ก่อสร้างแหล่งน้ำ ระบบสูบน้ำในไร่อ้อย ให้สินเชื่อโรงงานที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในฤดูหีบอ้อย

          5.จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อ ยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4 ให้เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเฉพาะด้าน โดยกำหนดให้ศูนย์ 1 (จ.กาญจนบุรี) เป็นการ ผสมพันธุ์และคัดเลือกอ้อยพันธุ์ดีเหมาะสมกับพื้นที่ที่ปลูก ศูนย์ 2 (จ.กำแพงเพชร)เป็นการจัดการไร่อ้อยเขตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตร ศูนย์ 3 (จ.ชลบุรี)เป็นเรื่องโรคและแมลงศัตรูอ้อยและ ศูนย์4  (จ.อุดรธานี) เป็นเรื่องดินน้ำปุ๋ยระบบชลประทานในไร่อ้อย

          "การปรับโครงสร้างทั้งระบบอาจนำไปสู่การยกเลิกราคาควบคุมน้ำตาลทรายในประเทศ"

          อรรชกา สีบุญเรือง

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 4 กรกฎาคม 2559

โหมโรงอีอีซีปฏิรูปอุตฯไทย ประเคนสิทธิประโยชน์ล่อนักลงทุน...ระวังสะดุดประชามติ 

          ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่องสำหรับการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลกำหนดให้ไทยมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต จากที่เน้นรับจ้างผลิตมานานกว่า 30 ปี มายก ระดับการผลิตสู่เทคโนโลยีขั้นสูง

          รบ.ลุย10อุตฯเป้าหมาย-โฟกัสพท.ลงทุน

          ซึ่ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย กลุ่ม 5 อุตสาหกรรมใหม่ หรือนิวเอสเคิร์ฟ ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การแพทย์ครบวงจร การขนส่งและการบิน เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิตอล และ 5 อุตสาหกรรมที่ต้องต่อยอด ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร

          พร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 15 ปี จากปัจจุบัน 8 ปี กำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์เพื่อรองรับ โดยแบ่งเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ยานยนต์และชิ้นส่วน 2.เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม กระจายในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา 3.ดิจิตอล กระจายในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต 4.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กระจายในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี 5.ฟูด อินโนโพลิส และ 6.เมดิคอล ฮับ อยู่ระหว่างกำหนดพื้นที่เป้าหมาย

          และคลัสเตอร์อื่นๆ ที่กระจายเกือบทั่วประเทศ คือ 1.เกษตรแปรรูป กระจายในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และ 2.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ฝั่งตะวันตก เชื่อมพม่า / ฝั่งตะวันออก เชื่อมกัมพูชา / กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางดีไซน์

          เปิดตัวอีอีซีรับลงทุนครั้งใหม่

          และเพื่อให้เป้าหมายมีความชัดเจนขึ้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) พร้อมเดินหน้าจัดทำร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ มีโมเดลจากเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ของจีน กำหนด 3 จังหวัดนำร่อง คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยความพิเศษของอีอีซี คือ มีทั้งการลงทุน การค้า ท่องเที่ยว และความเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคครบครัน ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด

          ซึ่งหลังมีข่าวออกมาปรากฏว่าเอกชนให้การตอบรับดี เพราะแว่วว่ามีสิทธิประโยชน์มากมาย

          เอกชนขานรับพร้อมลงทุน

          นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า อีอีซีจะส่งผลดีต่อภาคการลงทุน เนื่องจากพื้นที่ที่รัฐบาลสนับสนุนมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นจุดเชื่อมต่อกับอีสเทิร์น ซีบอร์ด และอยู่ไม่ไกลจากสนามบินมากนัก ส่วนธุรกิจที่รัฐบาลจะสนับสนุนก็อยู่ในกลุ่มต่อยอดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของภาคการผลิต เชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และหากรัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องและชัดเจน เชื่อว่าพื้นที่ลงทุนในอมตะจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเต็มพื้นที่เร็วขึ้นเป็นภายใน 4-5 ปี จากเดิมคือ 5-6 ปี

          ด้านนายอมร ดารารัตนโรจน์ ประธานฝ่ายบริหาร บริษัท ไทยนิปปอน รับเบอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงยางซึ่งมีโรงงานในภาคตะวันออก ระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะเป็นผลดีในการดึงดูดการลงทุนแก่ภาคเอกชน ซึ่งบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จ.ชลบุรี อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ สามารถขนส่งสินค้าได้หลายรูปแบบ แต่ก็ต้องขอดูความชัดเจนของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกครั้งก่อนที่ตัดสินใจลงทุนในอนาคต

          ยกชั้นอู่ตะเภาเป็นสนามบินอินเตอร์ฯ

          ต่อมาเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เพื่อดูความพร้อมของพื้นที่ก่อนพัฒนาเป็นอีอีซี ทำให้ทราบว่าภาครัฐได้ตั้งเป้าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไว้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีจากนี้ พร้อมกับดำริให้สนามบินอู่ตะเภา เป็นท่าอากาศยานนานาชาติรองรับการเดินทางจากทุกมุมโลกโดยไม่ต้องผ่านสุวรรณภูมิ

          และเมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ที่กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ได้หยิบยกนโยบายอีอีซีมาฉายให้นักลงทุนจีนทราบ เพื่อเลือกลงทุนไทย

          'สมคิด'ประกาศนโยบายช่วงโรดโชว์จีน

          โดยนายสมคิดระบุระหว่างโรดโชว์ว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปข้างหน้า โดยเฉพาะนโยบายอีอีซี ที่อยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... พร้อมกันนี้คณะก็ได้เดินทางไปเยี่ยมชมเขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ หรือ China (Shanghai) Pilot Free Trade Zone เพราะสนใจที่จะนำแนวทางการดำเนินการของเขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ ไปใช้กับอีอีซี ศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงการคลัง ศึกษาเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น คือ ด้านสิทธิประโยชน์ การเงิน การบริหารจัดการ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจน ลงลึกในรายละเอียด

          รัฐบาลจีนตั้งเขตการค้าเสรีดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองเปิดเสรีทางการค้า การเงิน การลงทุนและศูนย์กลางขนส่งระดับโลกมีพื้นที่ 28.78 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจและการค้า 4 แห่ง คือ คลังสินค้าทัณฑ์บนไว่เกาเฉียว เขตขนถ่ายสินค้าไว่เกาเฉียว ท่าเรือน้ำลึกหยางซาน และคลังสินค้าทัณฑ์บนครบวงจรแห่งท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตง โดยให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร ซึ่งจีนหวังให้เขตดังกล่าวเป็นเขตการค้าเสรีแห่งแรกที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันมหานครเซี่ยงไฮ้สู่การเป็นศูนย์กลางการเงินและการขนส่งระดับโลก ปัจจุบันมีนักลงทุนมาลงทุนแล้วกว่า 5,000 ราย และนักลงทุนจากเขตดังกล่าวลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในนี้แล้ว 1 ราย คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์

          สั่งทีมที่ปรึกษาเร่งชี้แจงนโยบายอีอีซี

          นายกานต์ ตระกูลฮุน ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และประธานคณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการลงทุนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก อธิบายรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ว่า อีอีซีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย และทำให้ไทยเป็นแนวหน้าของอาเซียน เชื่อมการลงทุนไปยังพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เน้นการลงทุนที่ไฮเทคมาก และการเลือก 3 จังหวัด เพราะเปรียบเหมือนไข่แดงของภาคตะวันออก พร้อมตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นเมืองที่คุณภาพชีวิตสูง มีผังเมืองที่ดี ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาการท่องเที่ยว โดยคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 2-3 เดือนนี้

          นอกจากนี้จะมีนโยบายด้านภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจนักวิจัยต่างชาติ อัตราภาษีจะอยู่ที่ 0-10% โดยจะกำหนดคุณสมบัติของนักวิจัยอีกครั้ง และจะอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทยได้นาน 5 ปี จะจัดหาที่ดินให้นักลงทุนระยะยาว อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือครองดอลลาร์เพื่อใช้ทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องแปลงเป็นบาท ถือเป็นครั้งแรกที่ดำเนินการลักษณะนี้ และจะพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้รองรับผู้โดยสารมากขึ้น พร้อมตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องบิน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์การบิน และจะตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนใน อีอีซีด้วย เพื่อให้ชาวบ้าน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ประโยชน์

          แพค3กม.หนุนลงทุนครั้งใหม่

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ ให้ข้อมูลว่า นอกจาก พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่รัฐบาลดำเนินการแล้ว ล่าสุดก็อยู่ระหว่างปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.บีโอไอด้วย  สาระสำคัญคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีจาก 8 ปี เป็น 13 ปีในอุตสาหกรรมขั้นสูง และร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท สาระสำคัญ คือ ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี ซึ่งทั้ง 2 ฉบับอยู่ในขั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงคาดว่ารัฐบาลจะสามารถประกาศแพคเกจ การลงทุนครั้งใหญ่ใน 10 อุตสาหกรรม ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้

          ส่วนผลการชักจูงการลงทุนกรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายนนั้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากนักลงทุนจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และจากสถิติการโรดโชว์ปีนี้ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย อินเดีย พบว่านักลงทุน 17 บริษัท ตอบรับที่จะเข้ามาลงทุนในไทยถึง 90% ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

          แม้องค์ประกอบจะราบรื่น แต่!!! รัฐบาลก็ยังกังวลลึกๆ ต่อสถานการณ์ของการลงประชามติรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากจบสวยก็ดีไป แต่หากไม่สวยก็คงลำบาก เพราะนั่นหมายถึงกฎหมายต่างๆ ที่รอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้รับผลกระทบไปด้วย และหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หัวใจหลักของอีอีซี

          หากเป็นเช่นนั้นก็คงสะเทือนถึงความเชื่อมั่นลงทุนประเทศ...

          "อีอีซีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย และทำให้ไทยเป็นแนวหน้าของอาเซียน เชื่อมการลงทุนไปยังพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เน้นการลงทุนที่ไฮเทคมาก และการเลือก 3 จังหวัด เพราะเปรียบเหมือนไข่แดงของภาคตะวันออก"

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม 2559

กรอ.เร่งปรับตัวรับอุตฯ4.0 ชู'ส่งเสริม'แทนกำกับดูแล

          กรมโรงงานฯเร่งปรับโครงสร้าง โอนงานกำกับดูแลโรงงานให้หน่วยงานภายนอกดูแล เพิ่มบทบาท ส่งเสริมโรงงานไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมแก้ก.ม.โรงงาน เพิ่มโทษจำคุก 1 ปีกับผู้ประกอบการทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้ กรอ. ปรับปรุงการทำงานให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลก และสอดรับ กับนโยบายรัฐบาล โดยจะต้องลดการ ทำงานในส่วนการกำกับดูโรงงานไปเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้มากขึ้น

          รวมทั้งทั้งการเข้มงวดในการกำจัดกากอุตสาหกรรม การส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมโรงงาน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.กรมโรงงาน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย "กรมโรงงานจะใช้ระบบไอทีเข้ามาควบคุมการกำกับดูแลให้มากขึ้น จัดทำฐานข้อมูลโรงงานให้มีความแม่นยำ เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้ฐานข้อมูลของกรอ. เป็นหลักในการออกนโยบายต่างๆ และให้เกิดความรวดเร็วในขั้นตอนการทำงาน และมีความโปร่งใส"  โดยการปรับบทบาทจากการกำกับดูแลไปเป็นการส่งเสริม ซึ่งในส่วนของการกำกับดูแล จะมอบหมายให้เติร์ดปาร์ตี้หรือหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ตรวจรับรองทั้งหมด เพื่อให้บุคลากรของ กรอ. หันไปสู่งานส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น ซึ่งจะลงไปร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมจังหวัด ในการอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องจัดทำแผนงานทั้งหมดให้มีความชัดเจน และส่งแผนไปให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาต่อไป

          ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เบื้องต้นจะเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ทำผิดด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลยันพร้อมรับมือน้ำฤดูฝน แนะที่ดอนรอปลูกกลาง‘ก.ค.’

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2559 ประกอบด้วย 1.จัดสรรน้ำให้เพียงพอเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ระบายรวมกันในอัตราวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งเพียงพอต่อทั้ง 2 กิจกรรม 2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และ 3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน เพื่อทดน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานให้น้ำมีระดับสูงขึ้น สามารถส่งเข้าคลองกระจายไปสู่พื้นที่เพาะปลูกได้ นอกจากนี้ยังดำเนินงานในส่วนอื่น อาทิ การขุดลอกคูคลอง การจัดทำแก้มลิง 30 แห่ง ซึ่งมีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 90 ทุกอย่างพร้อมที่จะรับน้ำในเดือนกรกฎาคมนี้แน่นอน

นายทองเปลวกล่าวต่อว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 26 มิถุนายน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้การรวมเพียงร้อยละ 7 หรือ 1,308 ล้านลบ.ม. จึงต้องสำรองน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอจนถึงฤดูแล้งปีหน้า ส่วนการเพาะปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ลุ่มและมีฝนตกอย่างต่อเนื่องให้ทำการเพาะปลูกได้เลย แต่สำหรับที่ดอนให้รอไว้ก่อน เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ร่องมรสุมเลื่อนขึ้นไปตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนปริมาณการกระจายของฝนในประเทศจะลดลง อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ ถ้าทำการเพาะปลูกประมาณกลางเดือนกรกฎาคมจะเหมาะสมกว่า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ปุ๋ยสั่งตัดปี 59

บายไลน์ - รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

คำว่าปุ๋ยสั่งตัด เริ่มใช้กันมาได้หลายปีแล้ว โดยมีแนวคิดว่าจากเดิมเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีโดยขาดความรู้ การใช้ปุ๋ยจึงไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งคำแนะนำการใช้ปุ๋ยทั่วไปก็ยังเป็นแบบกว้างๆ ไม่ได้จำเพาะเจาะจง มีการใช้ปุ๋ยสูตรกลางๆ ที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในปริมาณที่พอๆ กัน โดยไม่ได้คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารเดิมที่มีอยู่ในดิน เหมือนกับการตัดเสื้อโหลแล้วแจกจ่ายให้ทุกคนใส่ ทั้งๆ ที่มีขนาดตัวไม่เท่ากัน

ดังนั้นคำว่าปุ๋ยสั่งตัด จึงคล้ายกับการตัดเสื้อให้พอดีกับผู้ใส่ นั่นก็หมายความว่าต้องมีการวัดตัวก่อน กรณีปลูกพืชต้องตรวจดินก่อนว่ามีธาตุอาหารอะไร จึงใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม ผลที่เกิดขึ้นคือประหยัดค่าปุ๋ยลงได้มาก และหลายกรณีได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะว่าใช้ปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช

ความจริงแล้วความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในดินแต่ละชนิดและพืชแต่ละอย่าง กว่าจะได้ความรู้เหล่านั้นขึ้นมา ต้องลงทุนทั้งคน เงินและเวลาเป็นอย่างมาก เพราะต้องพิจารณาชนิดของดิน ซึ่งแบ่งเป็นชุดๆ ได้มากกว่า 200 ชุดดิน ดังนั้นความต้องการปุ๋ยในดินแต่ละชนิดก็ไม่เท่ากันถึงแม้จะวิเคราะห์ดินแล้วได้ผลออกมาเหมือนกันก็ตาม นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูกอีกว่ามีความต้องการธาตุอาหารอะไรอย่างไร

ตอนนี้เรามีความรู้และข้อมูลสำหรับการใช้ปุ๋ยกับข้าว ข้าวโพด และอ้อยแล้ว ซึ่งเฉพาะเรื่องอ้อย ยังทำได้เฉพาะชุดดินในภาคอีสานก่อน คาดว่าอนาคตอาจขยายผลไปยังแหล่งปลูกอ้อยในภาคอื่นๆ ได้ อย่างเรื่องคำแนะนำการใช้ปุ๋ยในข้าวโพด งานนี้ได้ทำต่อเนื่องกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว ใช้งบประมาณในการวิจัยไปมากพอสมควร แต่ความรู้ที่ได้คือวิธีการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับข้าวโพดแต่ละพันธุ์ในดินชุดต่างๆ สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดในแหล่งต่างๆ อย่างที่พิษณุโลก รู้จักคำว่าปุ๋ยสั่งตัด ทำให้ต้นทุนการใช้ปุ๋ยลดลงเกือบ 30% ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขั้น

ความสำเร็จนอกเหนือจากข้าวโพดก็เข้ามาสู่เรื่องของข้าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะว่าพื้นที่ปลูกข้าวมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีชุดดินที่แตกต่างกันมาก และมีพันธุ์ข้าวแตกต่างกันหลายพันธุ์ ดังนั้น กว่าจะได้ข้อมูลของแต่ละพื้นที่และข้าวแต่ละพันธุ์ก็ต้องใช้เวลาและงบประมาณมาก ความรู้ด้านนี้จึงยังไม่สมบูรณ์และยังไม่สามารถกระจายความรู้ไปใช้ทั่วประเทศได้

ตอนนี้ก็เริ่มมีการถ่ายทอดความรู้ลงพื้นที่บ้างแล้ว อาทิ ที่ศูนย์ข้าวชุมชนห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี โดยมีผู้ใหญ่ร่ม วรรณประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งได้ใช้เทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด และเป็นผู้ที่นำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยแบบนี้ไปเผยแพร่ให้สมาชิกอย่าต่อเนื่องหลายปี จนกระทั่งปัจจุบันสามารถลดการใช้ปุ๋ยลงได้ 69% จากการใช้ปุ๋ยมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านบาทในพื้นที่รวมประมาณ 4,000 ไร่ เหลือค่าปุ๋ยเพียง 5 แสนกว่าบาทเท่านั้น แต่ว่าผลผลิตข้าวกลับเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% และปัญหาข้าวเมล็ดลีบหมดไป เดิมใช้ปุ๋ยข้าวตามคำแนะนำ ซึ่งปุ๋ยที่แนะนำนั้น มักจะไม่มีโพแทสเซียม เพราะเชื่อว่าดินนามีโพแทสเซียมสูงอยู่แล้ว แต่กลับใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไป ผลก็คือเมื่อดินขาดโพแทสเซียม ปัญหาข้าวเมล็ดลีบก็ตามมา และเมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปเท่ากับเป็นการสูญเปล่า แถมต้นข้าวอ่อนแอ ล้มง่าย และโรคแมลงต่างๆ ชอบที่จะเข้าทำลาย แต่พอมีการวิเคราะห์ดินก่อนแล้วให้ปุ๋ยตามความต้องการ ปรากฏว่าต้นข้าวแข็งแรง โรคและแมลงเข้าทำลายน้อยลง ทำให้ประหยัดค่ายาศัตรูพืชถึงไร่ละราว 300 บาท

ดังนั้นเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด จึงเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดต้นทุนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพทางหนึ่งครับ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทเปิด 35.05 ทิศทางแข็งค่า

ค่าเงินบาทเปิด 35.05 บาท/ดอลลาร์ ทิศทางแข็งค่าต่อ รอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯสัปดาห์นี้

นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเช้านี้เปิดมาที่ระดับ 35.05 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับช่วงเย็นวันที่ 30 มิ.ย.ที่อยู่ที่ระดับ 35.16/17 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงิน กล่าวว่า ธนาคารไทยหยุดทำการไป 1 วัน เงินบาทแข็งค่าลงมา ดอลลาร์อ่อนไป 10 สตางค์ ส่วนปัจจัยเกี่ยวกับ Brexit น่าจะเบาบางลงแล้ว คนหายตกใจก็กลับมาลงในสินทรัพย์เสี่ยง พวกหุ้น พันธบัตร แต่เงินปอนด์ยังอ่อนค่าอยู่

"คาดว่าวันนี้คงจะอยู่แถวๆนี้ โดยวันนี้ตลาดนิวยอร์คหยุด ตลาดอาจจะเงียบ ด้านล่างน่าจะอยู่ที่ 35.00 ถ้วน ด้านบนน่าจะอยู่ประมาณ 35.20 สัปดาห์นี้ก็ไปรอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ หรือ Non Farm Pero" นักบริหารเงิน กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

โชวห่วยร้องยี่ปั๊วป้อนน้ำตาลลดลงกอน.ชงเพิ่มโควตาก.อีก1แสนตัน 

          ร้านโชวห่วยมึน โรงงานไม่มีน้ำตาลป้อน หลังปริมาณอ้อยไม่เข้าเป้าขณะที่ผู้ผลิตน้ำตาลต้องจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักก่อน กอน.เสนอเพิ่มโควตาก. เป็น 2.6 ล้านตัน รอปลัด "สมชาย"เคาะในการประชุมนัดต่อไปเร็วๆนี้  ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังพุ่งต่อเนื่องน้ำตาลดิบทะลุ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่น้ำตาลทรายมีโอกาสแตะ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันขึ้นไป

          แหล่งข่าวจากวงการค้าน้ำตาล เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยไม่ได้ตามเป้าจากที่ตั้งเป้าว่าจะมี 107 ล้านตันอ้อยแต่มีอ้อยเข้าระบบเพียง 94 ล้านตันอ้อย หายไปมากถึง 18% ทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายลดลงไปด้วย ทำให้ร้านโชวห่วยได้รับผลกระทบเนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลป้อนให้น้อยลง โดยซื้อน้ำตาลทรายจากยี่ปั๊วยากขึ้น เพราะโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ทำตลาดน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศหรือโควตาก. โดยทำตลาดล่วงหน้าไว้กับคู่ค้าจากภาคอุตสาหกรรม เช่นอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ทำสัญญาซื้อ-ขายกันไว้ล่วงหน้า

          อย่างไรก็ตามต่อเรื่องนี้ในเบื้องต้นทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ได้อนุมัติโควตาก.เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านตันน้ำตาล หรือ 25 ล้านกระสอบ เพิ่มเป็น 2.6 ล้านตันน้ำตาล หรือ 26 ล้านกระสอบ แต่ยังไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ เนื่องจากต้องรอประชุมกอน. นัดถัดไปที่มี ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนั่งเป็นประธานเป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเร็วๆนี้

          "ปริมาณน้ำตาลทรายที่ใส่เพิ่มเข้ามาในโควตาก.อีก 1 แสนตันน้ำตาลนั้น ถ้าโรงงานผลิตน้ำตาลรายใดส่งออกล่วงหน้าไปหมดแล้ว ไม่มีน้ำตาลทรายใส่เข้ามาในระบบ ก็ต้องซื้อกลับมาป้อนเข้าระบบให้ได้ เพราะตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลกำหนดว่าจะต้องมีปริมาณน้ำตาลโควตาก.รองรับการบริโภคภายในประเทศอย่างเพียงพอก่อน"

          ด้านนายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผยว่าขณะนี้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกไต่ระดับทะลุ 20 เซ็นต์ต่อปอนด์แล้ว หรือราคาอยู่ที่ 20.82-21 เซ็นต่อปอนด์ ส่วนราคาน้ำตาลทรายมีโอกาสไต่ระดับไปที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันขึ้นไป จากที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 568.20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

          ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไต่ระดับสูงขึ้นมาจากที่ขณะนี้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในไทย อินเดีย และจีนลดลง จากปัญหาภัยธรรมชาติ ขณะที่บราซิลในฐานผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับที่ตลาดโลกต้องการ

          "สำหรับการส่งออกน้ำตาลของไทยเวลานี้อินโดนีเซียนำเข้าสูงสุด หลังจากที่การค้าในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเสียภาษีในอัตรา 5% รองลงมาคือส่งออกไปญี่ปุ่นและกัมพูชา"

          ทั้งนี้ข้อมูลจากบริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC ระบุว่า สถิติการส่งออกน้ำตาลของไทยระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2559 เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปี 2558 ว่า ไทยมีการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศอินโดนีเซียมากเป็นอันดับ 1 โดยส่งออกเป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1.386 ล้านตัน น้ำตาลทรายขาว 32 ตัน น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 1.474 ล้านตัน ขณะที่ปี 2558 ช่วงเดียวกันส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปอินโดนีเซียเพียง 4.493แสนตัน น้ำตาลทรายขาว 3,774 ตัน น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่ 1.491 ล้านตัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่นปีนี้ในช่วง 5 เดือนแรก ไทยส่งออกน้ำตาลทรายดิบจำนวน 2.24 แสนตัน น้ำตาลทรายขาว 42 ตัน น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 5,113 ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วไทยส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปญี่ปุ่น 3.18 แสนตัน น้ำตาลทรายขาว 21 ตัน น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 3,446 ตัน ที่เหลือคือเมียนมา กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เหล่านี้เป็น 5 อันดับแรกที่ซื้อน้ำตาลจากไทยมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

“พาณิชย์” คลอดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ 5 ปี ลุยปั้นสินค้าไทยชิงส่วนแบ่งโลก  

         “พาณิชย์” คลอดยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ 5 ปีแล้ว มุ่งพัฒนาสินค้าและบริการอินทรีย์ป้อนความต้องการของตลาดโลก หวังชิงส่วนแบ่งตลาดอินทรีย์โลกที่มีอยู่มากถึง 2.3 ล้านล้านบาท เตรียมแผนให้ความรู้เกษตรกร ยกระดับให้ได้มาตรฐาน เพิ่มช่องทางขายทั้งในและต่างประเทศ และพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย

                นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ระยะ 5 ปี (2560-2564) เสร็จแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ครบกำหนดในปีนี้ โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานใน 4 ด้าน คือ การสร้างการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง การผลักดันมาตรฐานและระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการอินทรีย์ และการพัฒนาตลาดสินค้าและบริการอินทรีย์

                ทั้งนี้ การจัดทำยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ตั้งเป้าผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การค้า และการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันในเอเชีย เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ประมาณ 23 ล้านไร่ หรือ 10% ของพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั้งโลก ที่มีอยู่รวมกันประมาณ 232.5 ล้านไร่ จีนมีพื้นที่มากสุด รองลงมาคือ อินเดีย ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 8 ในเอเชีย และอันดับที่ 4 ในอาเซียน ส่วนประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลก คือ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา และสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศที่มีประชากรทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุด คือ อินเดีย ยูกันดา และเม็กซิโก

                นางอภิรดีกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 3.7 แสนตารางกิโลเมตร มีประชากรที่ทำเกษตรอินทรีย์ประมาณ 7,000 ราย มีผลผลิต 80,000 ตัน โดยปัจจุบันมีการส่งออกประมาณ 135 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ตามลำดับ ไทยยังมีโอกาสในการขยายจำนวนผลผลิตและตลาดส่งออกได้อีกมากเพื่อป้อนความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะประชากรโลกได้ตื่นตัวเกี่ยวกับสุขอนามัย อาหารปลอดภัย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

                “ปัจจุบันตลาดเกษตรอินทรีย์โลกมีมูลค่ามากถึง 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวถึง 12.8% โดยประเทศที่ครองตลาดใหญ่ที่สุด คือ สหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่หากไทยมีการเพิ่มปริมาณผลผลิตก็จะสามารถเพิ่มยอดการส่งออกเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดซึ่งมีมูลค่ามหาศาลได้เพิ่มขึ้นแน่นอน” นางอภิรดีกล่าว

                นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับยุทธ์ศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการนั้น ยุทธศาสตร์ที่ 1 จะเร่งสร้างความตระหนักให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 จะผลักดันให้การผลิตมีมาตรฐาน และได้รับเครื่องหมายรับรอง ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะเพิ่มช่องทางจำหน่ายในประเทศ เช่น การตั้งตลาดกลาง ตั้งศูนย์รวบรวม การสร้างชุมชนต้นแบบอินทรีย์ การขายผ่านห้าง ออนไลน์ และในต่างประเทศ จะเน้นการนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ ส่งเสริมให้ร้านอาหารไทยใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอินทรีย์ระดับโลก และยุทธศาสตร์ที่ 4 จะผลักดันให้มีการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของตลาด โดยใช้นวัตกรรมในการต่อยอด และจะมีการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการตลาด

จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สินค้าไทยอ่วม! สหรัฐฯ-แคนาดา-จีน เพิ่มมาตรฐานคุมสารพิษตกค้าง “พาณิชย์” จับตา หวั่นเป็นการกีดกัน   

         “กรมการค้าต่างประเทศ” เผยแคนาดา-สหรัฐฯ ออกมาตรการคุมปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากทั่วโลกสูงเกินมาตรฐานสากล ข้าวไทยโดนเต็มๆ จับตาใกล้ชิดหวั่นเป็นมาตรการกีดกันการค้า ส่วนจีนกำหนดระเบียบนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารละเอียดยิบ เพิ่มภาระผู้ส่งออก

                นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศได้เพิ่มความเข้มงวดนำเข้าสินค้าเกษตรจากทั่วโลกมากขึ้น โดยล่าสุดแคนาดา และสหรัฐฯ ได้ออกประกาศกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRL) ของสารกำจัดศัตรูพืชในสินค้าเกษตรสูงกว่าค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้างในระดับสากล ที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (CODEX) ส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยมีภาระสูงขึ้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด

                สำหรับประเทศจีน สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน (AQSIQ) ได้ออกมาตรการกำหนดให้สินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าต้องได้รับใบรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรองในประเทศต้นทางว่าคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกนั้นสอดคล้องกับระเบียบที่จีนกำหนด ซึ่งกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องได้มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงไร่นา โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของไทย หน่วยงานตรวจรับรอง คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น

                “ทราบจาก มกอช.ว่า แคนาดา สหรัฐฯ และจีนเข้มงวดนำเข้าสินค้าเกษตรมากขึ้น ซึ่งกำหนดค่าสารพิษตกค้างสูงกว่าที่ CODEX กำหนด โดย มกอช.กำลังดูอยู่ว่า บังคับใช้กับสินค้าเกษตรในประเทศด้วยหรือไม่ และเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีหรือไม่ ถ้าใช่ ไทยซึ่งได้รับผลกระทบอาจฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า”

                อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยควรผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด เพื่อพัฒนาตนเองให้ไปสู่มาตรฐานระดับโลก เชื่อว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ มีมาตรฐานในกระบวนการผลิตอยู่แล้ว ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ แต่รายเล็กได้จะรับผลกระทบ เพราะต้องลงทุนปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิตใหม่

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แคนาดาได้ออกประกาศใช้ค่า MRL ของสารกำจัดศัตรูพืช Clothianidin ในใบชาแห้งที่ 70 ppm., ใบผักยกเว้นกะหล่ำปลีที่ 3 ppm., กะหล่ำ cole ที่ 1.9 ppm., พืชตระกูลหัว นิด Tuberous และ Corm ที่ 0.3ppm., ทับทิม ที่ 0.2 ppm., มะเดื่อ ที่ 0.05 ppm.และข้าว ที่ 0.01 ppm. โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 59 ส่วนสหรัฐฯ คาดจะประกาศใช้ค่าสารตกค้างกำจัดศัตรูพืชในสินค้าเกษตรเร็วๆ นี้

จาก http://manager.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

ธนาคารกลาง ทั่วโลกกุมขมับ รับมือแรงสะเทือน "Brexit"

ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อต่ำมากหรือติดลบ เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับธนาคารกลางทั่วโลกอยู่แล้วในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หลังมรสุมลูกล่าสุดอย่าง "Brexit" ยิ่งทำให้ภารกิจของบรรดาแบงก์ชาติยากกว่าเดิมหลายเท่า

จากการรายงาน วอลล์สตรีต เจอร์นัล ธนาคารกลางหลายประเทศเผชิญแรงกดดันครั้งสำคัญในการใช้มาตรการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมา หลังการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (UK) จากสหภาพยุโรป (EU) ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางอังกฤษ หรือ BOE มีแนวโน้มจะต้องรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่มาพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง อันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ ถ้า BOE หั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะกดดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอีก

แต่ถ้า BOE ไม่เคลื่อนไหวเลย ตัวเลขการเติบโตก็จะยิ่งทรุดหนักหรือกรณีของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่วางแผนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบต่อไปภายในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นครั้งแรก

ในรอบ 9 ปีเศษเมื่อเดือนธันวาคม 2558 แต่สถานการณ์แวดล้อมในขณะนี้กลับไม่เอื้ออำนวย ผลประชามติในยูเคที่ฝ่ายแยกตัวจากอียูคว้าชัย ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินปอนด์และเงินยูโร ถ้าเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ จะกดดันให้ดอลลาร์แข็งขึ้นอีก เป็นอุปสรรคต่อผู้ส่งออกชาวอเมริกัน และจะส่งแรงกระเพื่อมไปยังบริษัทสหรัฐที่ไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ทำให้มีผลกำไรในรูปสกุลดอลลาร์ลดลง

แม้นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด จะยังไม่ออกมาให้มุมมองถึงผลประชามติในยูเค แต่ความกังวลของเจ้าหน้าที่เฟดก็สะท้อนอยู่ในความเห็นของ นายเจอโรม พาเวลล์ ผู้ว่าการเฟด "ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเคลื่อนไปทางลบมากขึ้น ผลโหวต Brexit มีแนวโน้มจะสร้างแรงต้านใหม่ ๆ ให้กับเขตเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงสหรัฐด้วย"

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจากหางเลขของ Brexit ทำให้เฟดเข้าสู่โหมด "Wait and See" คาดว่าปีนี้เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว และอาจจะรอจนถึงการประชุมนัดสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคม จึงจะขยับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง

ด้านญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบผลกระทบอย่างรุนแรงจาก Brexit โดยค่าเงินเยนแข็งขึ้นมาก เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความปั่นป่วนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก เงินเยนที่แข็งค่าสร้างความปวดหัวให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่พยายามกดเงินเยนให้อ่อนเพื่อเอื้อต่อการส่งออกและกระตุ้นตัวเลขเงินเฟ้อให้ถึง 2%

คาดว่า BOJ อาจจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงคุณภาพและปริมาณ (QQE) ในเดือนกรกฎาคมนี้ จากปัจจุบันทุ่มเงินซื้อตราสารการเงิน 80 ล้านล้านเยนต่อปี แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังกังขาถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าว หลังมาตรการล่าสุดของ BOJ อย่างการหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่แดนลบไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้จ่ายเงินมากขึ้นอย่างที่หวังไว้

นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) หนึ่งในผู้ได้รับแรงสะเทือนโดยตรงจากการแยกตัวของยูเค ออกมาเตือนธนาคารกลางทั่วโลกว่า ควรวิเคราะห์นโยบายของตนอย่างรอบคอบว่า "สอดคล้องอย่างเหมาะสม" กับธนาคารกลางอื่น ๆ หรือไม่ พร้อมเตือนว่า ความพยายามลดค่าเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นกลยุทธ์ที่ "Lose-lose" หรือส่งผลเสียต่อทุกฝ่าย ตลอดจนซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจโลก

คอมเมนต์ของนายดรากิเป็นการดักคอธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่กำลังพิจารณาแนวทางรับมือผลกระทบจาก Brexit ซึ่งนอกจากดึงให้ดอลลาร์และเยนแข็ง ส่วนปอนด์กับยูโรอ่อนแล้ว ยังกระตุ้นให้นักลงทุนแห่เทขายสินทรัพย์ที่มองว่ามีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้น และหันไปถือสินทรัพย์ที่มองว่าปลอดภัยกว่า เช่น ทองคำ

ด้านนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดของประธาน ECB สะท้อนถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปของนายดรากิเอง "คำพูดนี้ชี้ว่า ECB กังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในประเทศสมาชิกยูโรโซนเป็นหลัก" นายเฟรดเดอริก ดูโครเซท นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Banque Pictet&Cie ระบุ

ECB คาดการณ์ว่า การหย่าขาดของยูเคจะส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตของยูโรโซนหายไป 0.3-05% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากยูเคเป็นคู่ค้ารายสำคัญและภาคธุรกิจกังวลกับความไม่แน่อน ทั้งนี้ ECB ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัว 1.7% ในปี 2560 และ 2561

นักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวลกับทิศทางของ ECB ไม่น้อย เนื่องจากธนาคารกลางดังกล่าวแทบไม่มีเครื่องมือเหลือในการกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน 19 ประเทศ อาทิ นายมาติน ลุก นักกลยุทธ์การลงทุนจากแบล็กร็อก อิงก์ที่ระบุว่า "ผมคิดว่า ECB ไม่มีกระสุนเหลืออยู่แล้ว อย่างน้อยก็อันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้"

ธนาคารกลางทั่วโลกจะมีฟีดแบ็กอย่างไรต่อผลกระทบจาก Brexit โดยเฉพาะในภาวะที่ภาคการคลังยังง่อยเปลี้ยจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และวิกฤตหนี้สาธารณะ จนไม่สามารถเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐหรือลดภาษีได้มากนัก คงต้องรอดูชนิดตาไม่กะพริบ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ประเมินส่งออกดีขึ้นหลังสหรัฐขยับไทยขึ้นเทียร์2

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศคาดสถานการณ์ส่งออกไทยดีขึ้น หลังสหรัฐฯขยับอันดับขึ้นเทียร์ 2ในรายงานค้ามนุษย์

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณี กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report 2559 )

หรือ TIP Report 2559 ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะขึ้นเป็นเทียร์ 2 วอท์ช ลิสท์ (Tier 2 Watch List) จากที่เคยถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 3 ตั้งแต่ปี 2557 แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล

“แม้ผลการจัดลำดับจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศ โดยหวังว่าไทยจะถูกปรับสถานะในลำดับที่ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

ทั้งนี้กรมฯ ได้ประเมินสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะสั้นผลกระทบต่อภาคการค้าไทยโดยตรงทันที ได้แก่ ภาพลักษณ์สินค้าไทยด้านแรงงานดีขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้บริโภคโดยทั่วไปในวงกว้างว่า รัฐบาลไทยและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญ และร่วมมือกันเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งจะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบเรื่องการประมงผิดกฎหมาย (IUU) จากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งปัจจุบันไทยได้ใบเหลืองอยู่

สำหรับระยะยาว ไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและการแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น สินค้าไทยได้รับการยอมรับว่า สามารถควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายสากลมากยิ่งขึ้นแล้ว จะสามารถลดการกีดกันทางการค้าและลดการโจมตีจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้ อีกทั้งยังเกิดผลดีทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าปลีกในการสนับสนุนสินค้าและบริการของไทย ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล อ้อย และสิ่งทอ

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเล แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เป็นมูลค่า 1,532 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.4 คิดเป็นสัดส่วน 1.76 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในขณะที่สินค้ากุ้งซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการใช้แรงงานบังคับในการจับปลาป่น ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารกุ้งนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้มีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการเตรียมความพร้อมต่อกฎระเบียบใหม่เรื่อง Traceability ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะบังคับใช้ โดยในปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งเป็นมูลค่า 574 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.9 เป็นสัดส่วน 0.6 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย มีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักด้วยสัดส่วนร้อยละ 41 ในปีนี้มีแนวโน้มดี เนื่องจากปัญหาโรค EMS ผ่อนคลาย

ในด้านของสถานะของประเทศคู่แข่งนั้น แม้อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเอควาดอร์ อยู่ในอันดับเทียร์ 2 แต่ต่างประสบปัญหาโรคกุ้ง (EMS) และสินค้าได้รับการตรวจสอบเข้มงวดจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (US FDA) เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ขณะเดียวกันเวียดนามก็ประสบปัญหาปริมาณกุ้งลดลงในปีนี้ อินโดนีเซียยังคงเป็นคู่แข่งที่สำคัญ แต่เสียเปรียบไทยในด้านราคาจำหน่ายที่เฉลี่ยสูงกว่าไทย ในขณะที่มาเลเซียมีปัญหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน เพื่อปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ จนเกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุกมิติ ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ การจับกุมดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด การแก้ไขและจัดระเบียบแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย เป็นต้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้นำเข้ารายใหญ่สหรัฐฯ ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย พร้อมกับตรวจสอบสถานการณ์และผลกระทบของกรณีดังกล่าวต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา 5 สำนักงาน ซึ่งผู้นำเข้ารายใหญ่ส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายไทยและยินดีที่จะประกอบธุรกิจต่อเนื่องและยังคงสั่งซื้อสินค้าไทยมาโดยตลอด แม้ว่าไทยจะอยู่ใน Tier 3 ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสินค้าไทยโดยเฉพาะในกลุ่มอาหารทะเลมีคุณภาพสูง

อนึ่ง Tier 2 Watch List คล้ายกับ Tier 2 (คือประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไข) แต่เพิ่มเติมที่มีจำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลเพิ่มความพยายามดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

คลังย้ำกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ มีผลบังคับใช้แล้ว

"โฆษกกระทรวงการคลัง" ย้ำกฎหมาย "หลักประกันทางธุรกิจ" พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เพื่อให้มีการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจำนองหรือจำนำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ในลักษณะที่ผู้ให้หลักประกันไม่ต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่ผู้รับหลักประกัน อันจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยสามารถนำกิจการ สิทธิเรียกร้อง สินค้าคงคลัง วัตถุดิบในการผลิตสินค้า และทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติฯ นี้จะมีระบบบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ให้หลักประกัน และยังเป็นการลดภาระของศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาส และช่องทางให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนสถาบันการเงินก็จะมีทางเลือกในการรับหลักประกันได้เพิ่มมากขึ้น มีความมั่นใจในการให้สินเชื่อ เนื่องจากหลักประกันมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน รวมถึงกระบวนการบังคับหลักประกันตามกฎหมายมีความรวดเร็วขึ้นไม่ทำให้มูลค่าของหลักประกันด้อยค่าลง และเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะทำให้อันดับของ Ease of Doing Business เพิ่มมากขึ้น อันจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งธุรกิจ และเป็นประเทศที่น่าลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 สำนักงานทะเบียนหลักประกัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะเริ่มเปิดให้จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้ หากผู้ประกอบธุรกิจมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการกำหนดให้มีผู้รับหลักประกันเพิ่มเติมนอกเหนือจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะเป็นการกำหนดให้บุคคลอื่น สามารถเข้ามาเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายได้เพิ่มเติม เช่น นิติบุคคลเฉพาะกิจที่มีวัถตุประสงค์เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง เป็นต้นไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สินค้าเกษตรไทยเจอพิษหลังสหรัฐฯ ออกกฎเข้ม

                    แคนาดา-สหรัฐฯ ออกมาตรการคุมปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากทั่วโลก จับตาใกล้ชิด หวั่นเป็นมาตรการกีดกันการค้ากระทบไทย โดยเฉพาะข้าว ส่วนจีนกำหนดระเบียบนำเข้าสินค้าเกษตร-อาหารละเอียดยิบ เพิ่มภาระผู้ส่งออก                   

                  นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะข้าว อาหาร ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศ เพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากทั่วโลกมากขึ้น ด้วยการออกมาตรการคุมปริมาณสารพิษตกค้างในสินค้าสูงเกินมาตรฐานสากลปัจจุบัน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ประกอบการไทยมีภาระต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตาดูเกณฑ์ที่เข้มงวดเหล่านี้ ว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือว่าเข้าข่ายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าหรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็มองเชิงบวกว่าเป็นเรื่องดี ที่ผู้ประกอบการไทยจะปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สินค้ามีมาตรฐานที่สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะที่สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งประเทศจีน ได้ออกมาตรการกำหนดให้สินค้าเกษตร และอาหารที่นำเข้า ต้องได้รับใบรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรองในประเทศต้นทาง ว่าคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่ส่งออกนั้น สอดคล้องกับระเบียบที่กำหนด หรือไม่ ซึ่งกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนนั้น ต้องได้มาตรฐาน และตรวจสอบย้อนกลับ มาจนถึงไร่ นา ที่ปลูกได้ด้วย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 58 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยมีภาระสูงขึ้นจากการปรับปรุงกระบวนการ ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลต่อยอด‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ แก้ปัญหาขาดแคลนช่วงฤดูแล้งนอกเขตชลประทาน

นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีความสนใจทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ และกรมทหารราบที่ 6 ได้ทดลองดำเนินการประสบผลสำเร็จมาแล้วที่บริเวณบ้านหนองปลาดุก ตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและที่ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ในขณะเดียวกันในช่วงฤดูน้ำหลากก็ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำมีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน

สำหรับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น มีหลักการง่ายๆ คือ ขุดสระหรือบ่อลึกเพื่อให้น้ำขังและซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นน้ำบาดาลและจะถูกสูบมาใช้เมื่อยามหน้าแล้ง ซึ่งที่บ้านหนองปลาดุกได้มีการขุดสระเพื่อเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากช่วงต้นปีจำนวน 11 บ่อ โดยขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ระดับ 5-10 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ กระจายตามจุดรับน้ำของลำห้วยสายต่างๆ ซึ่งราษฎรที่อยู่ภายในรัศมีประมาณ 8 กิโลเมตรของสระเก็บน้ำจะสามารถสูบน้ำไปใช้ได้

“ในหน้าแล้งที่ผ่านมาชาวบ้านบริเวณนี้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และยังมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกด้วย

 จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานและเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมด้วย” นายอนันต์กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่อำเภอ น้ำยืน เป็นโมเดลที่กรมชลประทานสนใจและมองว่าสามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้จริง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาวิธีการทางเทคนิคต่างๆ อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น เพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

Brexit บทเรียนสำหรับเออีซี     

        เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตอนที่อังกฤษ ตัดสินใจว่าจะใช้เงินปอนด์ต่อไป ไม่เปลี่ยนไปใช้เงินยูโร เหมือนประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ต่างยกเลิกสกุลเงินประจำชาติ แล้วหันไปใช้เงินยูโรแทน อังกฤษถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่สนับสนุนการใช้เงินตราสกุลเดียวว่า เศรษฐกิจจะเสื่อมทรามลง เงินปอนด์ จะด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ

                เวลาผ่านไปจนถึงวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับความเห็นของบรรดาผู้รู้ทั้งหลายโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจของอังกฤษโดยเฉลี่ย มีอัตรการขยายตัวดีกว่าทุกประเทศในอียู ยกเว้นเยอรมนี ในขณะที่ที่ประเทศสมาชิกอียู ในยูโรโซน ล้วนแต่มีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย อัตราคนว่างงานสูง หนี้สินบานเบอะถึงขั้นล้มละลายหลายประเทศ

                การที่อังกฤษไม่อยุ่ในยูโรโซน ทำให้ป้องกันตัวจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศในยูโรโซนได้ รวมทั้งรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะมีอิสระในการใช้นโยบาย เครื่องมือทางด้านการเงิน การคลัง เพื่อแก้ไขปัญหสได้มากว่า

                ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังจากคนอังกฤษลงประชามติว่า อังกฤษควรออกจากการเป็นสมาชิกอียู ที่เรียกกันว่า Brexit ด้วยคะแนน 52 % ต่อ 48 % เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ที่สนับสนุนการคงอยู่ในอียูต่อไป ต่างคาดหมายอนาคตของอังกฤษในทางลบทั้งสิ้น       

        เสียงข องผู้ที่มองโลกในแง่ร้ายเหล่านี้คือ เสียงของนักการเมือง นักวิชาการ นักการเงิน ซีอีโอของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั่วโลก เสียงของสื่อ ก่อนหน้าการลงประชามติ คนเหล่านี้คือ ผู้ที่สนับสนุนให้อังกฤษคงอยุ่ในอียูต่อไป สถาบันการเงินของสหรัฐฯหลายแห่ง อย่างเช่น โกลด์แมน แซคส์ เจพี มอร์แกน ฯลฯ ถึงกับลงขันเป็นเงินหลักแสนดอลลาร์ เป็นทุนในการรณรงค์ให้อังกฤษยังคงอยู่ในอียูต่อไป

                แน่นอนว่า บรรดาคนเหล่านี้ ซึ่งเรียกกันว่า ชนชั้นนำ ที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ คือ คนที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่อังกฤษเป็นสมาชิกอียู เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่แลกมาด้วยการยอมสูญเสียความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย ยอมรับเอากฎหมาย เงื่อนไขของอียูมาปฏิบัติตาม

                หลังผลการลงประชามติออกมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ตลาดหุ้น ทั่วโลกจะถูกเทขาย ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงมากที่สุดในรอบ 30 ปี มันเป็นปฏิกิริยาของความผิดหวัง ความตื่นตระหนกของคนเหล่านี้ ที่มีอำนาจควบคุมตลาดการเงินโลก

                เสียงที่บอกให้อังกฤษออกจากอียู เป็นเสียงของคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยมากมาย ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของอังกกฤษ การณรงค์ให้อังกฤษออกจากอียูมีความเข้มแข็งที่สุด คนอังกฤษลุกขึ้นมาบอกว่า พอแล้ว พวกเขาต้องการ รัฐบาลที่สามารถกำหนดนโยบายของตนเองได้ ไม่ต้องการนโยบายที่ออกมาจากคณะกรรมาธิการอียู ที่กรุงบรัสเซล์ ประเทศเบลเยี่ยม

                การลงประชามติว่า อังกฤษจะออกจากอียูหรือไม่ จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่าง ชนชั้นนำหรือ establishment กับ ประชาชน ผลปรากฎว่า ประชาชนชนะ แม้จะเป็นชัยชนะที่คะแนนห่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้โลกของบรรดาชนชั้นนำสั่นสะเทือน

                บางคนเรียกผลการลงประชามติครั้งนี้ว่า การปฏิวัติของประชาชน

                การลงประชามติชองคนอังกฤษนี้ ยังส่งผลสะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆในอียู พรรคการเมืองในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ฯลฯ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลของตนจัดให้มีการลงประชามติว่าจะแยกตัวออกจากอียูหรือไม่ แบบเดียวกับอังกฤษ

                ในวันที่ อังกฤษแยกตัวออกจากอียู ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นการพังทลายของสหภาพยุโรป ถ้ามีประเทศอื่นเจริญรอยตาม เออีซี หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีอียู เป็นต้นแบบ ก็เพิ่งจะตั้งไข่ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเพียงครึ่งปี

                ความผิดพลาดและล้มเหลวของอียู เป็นเพราะให้ความสำคัญกับ เรื่องเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียว ละเลย การหลอมรวมทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก ที่มีความแตกต่างกัน การรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในทางปฏิบัติแล้วก็เพื่อ เป็นตลาดซื้อขายสินค้า บริการ แรงงาน การลงทุน อย่างเสรี ไม่มีขีดจำกัด เท่านั้น คนที่ได้ประโยชน์จึงมีแต่ชนชั้นนำ ที่ “เข้าถึง” ตลาดนี้ได้       

        คำขวัญของอาเซียนคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม ( One Vision ,One Identity , One Community) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการ พูดคุย สื่อสารกัน ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจและความร่วมมือกันทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยอมรับในความแตกต่าง อยู่ร่วมกันได้

                การเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้เออีซี เป็นแค่ตลาดสินค้า บริการ การลงทุน อย่างเสรี ที่มีแต่การแข่งขัน แสวงหาผลประโยชน์ทางเศราฐกิจของชนชั้นนำ เท่านั้น โดยที่ประชาชนของอาเซียนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

                ความผิดพลาดของอียุ ที่นำไปสู่การแยกตัวของอังกฤษ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับ เออีซี

******************************

                 ในวันที่ อังกฤษแยกตัวออกจากอียู ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นการพังทลายของสหภาพยุโรป ถ้ามีประเทศอื่นเจริญรอยตาม เออีซี หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีอียู เป็นต้นแบบ ก็เพิ่งจะตั้งไข่ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเพียงครึ่งปี

                 ความผิดพลาดและล้มเหลวของอียู เป็นเพราะให้ความสำคัญกับ เรื่องเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียว ละเลย การหลอมรวมทางด้านสังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิก ที่มีความแตกต่างกัน การรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในทางปฏิบัติแล้วก็เพื่อ เป็นตลาดซื้อขายสินค้า บริการ แรงงาน การลงทุน อย่างเสรี ไม่มีขีดจำกัด เท่านั้น คนที่ได้ประโยชน์จึงมีแต่ชนชั้นนำ ที่ “เข้าถึง” ตลาดนี้ได้

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

กรมวิชาการปรับ ทิศทางงาน“วิจัย” เน้นพืช-เครื่องจักร

กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางวิจัย เน้นพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลักและพืชเเฉพาะท้องถิ่นให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ วางเป้าต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

               นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ บางส่วนใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม พันธุ์พืชยังมีจำกัด ทั้งยังมีการจัดการพื้นที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นปีงบประมาณ 2560 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตามนโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาการผลิตพืชให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งพืชเศรษฐกิจหลัก และพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่หรือพืชท้องถิ่น

               ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชท้องถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้ต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เพิ่มผลผลิต พร้อมแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 

สอน.ดำเนินโครงการพัฒนาและขยายอ้อยพันธุ์ดีปลอดโรค มอบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศปลูกทำพันธุ์จำนวน 1,800,000 ต้น หวังเพิ่มผลผลิตและปริมาณอ้อยให้สูงขึ้น

สถานการณ์ภันแล้งในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการผลิตอ้อยของประเทศเป็นอย่างมาก โดยผลผลิตอ้อยลดลงจาก 106 ล้านตัน ในฤดูผลิต 2557/58 ลดเหลือเพียง 94.5 ล้านตัน ในฤดูการผลิต 2558/59 หรือลดลงร้อยละ 10.85 และปริมาณผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูการผลิต 2559/60 ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับจาก 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มเป็น 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ภัยแล้งยังนำมาซึ่งการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อย โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรีบเร่ง ประกอบกับภัยแล้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว มีฝนตกในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) จึงเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นให้เกษตรกรบำรุงแปลงอ้อย  พร้อมทั้งได้จัดหาอ้อยพันธุ์ดี ปลอดโรคและแมลงศัตรูอ้อย แจกจ่ายให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อรักษาผลผลิตและปริมาณอ้อยมิให้ตกต่ำ และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณอ้อยให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อันเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็ก ให้มีรายได้และสามารถขยายพันธุ์อ้อยรองรับการเพาะปลูกตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงดำเนินโครงการพัฒนาและขยายพันธุ์ดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและขยายอ้อยพันธุ์ดีที่ปลอดโรค ด้วยวิธีทันสมัยไปสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,800,000 ต้น ภายใต้เงื่อนไข  ซึ่งทางสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ จะเป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จำนวน 2,000 คน เข้ารับมอบอ้อยจากโครงการฯ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ 2 ด้าน ดำเนินควบคู่กันไป ดังนี้

1.       การผลิตและขยายอ้อยพันธุ์ดีที่สะอาดและปลอดโรค และการขยายอ้อยพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตรงความต้องการและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ให้มีจำนวนตั้งต้นเพียงพอในการส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยนำไปปลูกขยายพันธุ์ เพื่อใช้ในฤดูการผลิตปีต่อๆ ไป โดยจะดำเนินการมอบอ้อยพันธุ์ดีให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อใช้ปลูกเป็นพันธุ์ในฤดูการผลิตปี 2560/61 โดยมีแผนการดำเนินการตามโครงการ ดังนี้

1) เขตพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 150,000 ต้นกล้า มอบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 200 คน ในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว

2) เขตพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 500,000 ต้นกล้า มอบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 500 คน ในวันที่ 27 มิถุนายน 2559 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ สมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

3) เขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,000,000 ต้นกล้า มอบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 1,000 คน ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ โรงแรมเทพนคร จังหวัดบุรีรัมย์

4) เขตพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 150,000 ต้นกล้า มอบให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 300 คน ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 เวลา 08.00 – 16.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 จังหวัดกาญจนบุรี

        2.   การจัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย หรือ                 Thailand Sugarcane Breeding Centrer  ทำ   หน้าที่เป็นศูนย์กลางการผสมพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้ได้อ้อยพันธุ์ใหม่ที่ดีและมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ซึ่งจะลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์อ้อย จากเดิมต้องใช้เวลากว่า 11 ปี ให้เหลือเพียง 5 ปี เท่านั้น ก็จะมีอ้อยพันธุ์ใหม่ๆ ออกมามอบให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย

             โดย ดร. อรรชกา สีบุญเรือง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดศูนย์ฯ ในวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2559 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 ตำบลอู่ทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

  จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กรมชลต่อยอด‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ แก้ปัญหาขาดแคลนช่วงฤดูแล้งนอกเขตชลประทาน

นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีความสนใจทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ และกรมทหารราบที่ 6 ได้ทดลองดำเนินการประสบผลสำเร็จมาแล้วที่บริเวณบ้านหนองปลาดุก ตำบลเก่าขาม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและที่ประสบปัญหาภัยแล้งทุกปี ในขณะเดียวกันในช่วงฤดูน้ำหลากก็ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำมีลำห้วยหลายสายไหลผ่าน

สำหรับการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น มีหลักการง่ายๆ คือ ขุดสระหรือบ่อลึกเพื่อให้น้ำขังและซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นน้ำบาดาลและจะถูกสูบมาใช้เมื่อยามหน้าแล้ง ซึ่งที่บ้านหนองปลาดุกได้มีการขุดสระเพื่อเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากช่วงต้นปีจำนวน 11 บ่อ โดยขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ระดับ 5-10 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ กระจายตามจุดรับน้ำของลำห้วยสายต่างๆ ซึ่งราษฎรที่อยู่ภายในรัศมีประมาณ 8 กิโลเมตรของสระเก็บน้ำจะสามารถสูบน้ำไปใช้ได้

“ในหน้าแล้งที่ผ่านมาชาวบ้านบริเวณนี้ไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และยังมีน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกด้วย

 จึงนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานและเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมด้วย” นายอนันต์กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่อำเภอ น้ำยืน เป็นโมเดลที่กรมชลประทานสนใจและมองว่าสามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้จริง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาวิธีการทางเทคนิคต่างๆ อย่างลึกซึ้ง อีกทั้งศึกษาเพิ่มเติมให้ครบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีวิทยา วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น เพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กรมวิชาการปรับ ทิศทางงาน“วิจัย” เน้นพืช-เครื่องจักร

กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางวิจัย เน้นพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลักและพืชเเฉพาะท้องถิ่นให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ วางเป้าต้องลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

               นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ บางส่วนใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม พันธุ์พืชยังมีจำกัด ทั้งยังมีการจัดการพื้นที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นปีงบประมาณ 2560 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตามนโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาการผลิตพืชให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งพืชเศรษฐกิจหลัก และพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่หรือพืชท้องถิ่น

               ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชท้องถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้ต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เพิ่มผลผลิต พร้อมแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เจ้าท่าฯลุ้น3เดือนผุดท่าเรือปากบารา

กรมเจ้าท่าลงพื้นที่ครั้งสุดท้าย 3 เดือน รู้ผลสร้างหรือยกเลิกท่าเรือปาก บารา สนข.กางแผนลงทุนภาคใต้ 1 ล้านล้าน

นายนครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชาย ฝั่งทะเลภาคใต้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ค.นี้ กรมเจ้าท่าจะลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จ.สตูล เป็นครั้งสุดท้าย และคาดว่าภายในประมาณ 3 เดือน จะได้ข้อสรุปว่าจะสามารถเดินหน้าต่อหรือจะยกเลิกโครงการ

"การศึกษาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว โดยจะนำเสนอรายละเอียดทุก ด้านให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบทั้งข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสินใจเองว่าต้องการจะให้ก่อสร้างหรือไม่ หากไม่ก็จะยกเลิกโครงการทันที แต่หากให้เดินหน้าต่อก็จะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อก่อสร้างต่อไป" นายนครินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ สนข.ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยรวบรวมโครงการไว้ทั้งหมด 55 โครงการ วงเงินรวมไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาระยะแรก 10 โครงการ และระยะที่ 2 อีก 10 โครงการ เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ประมาณ 4,000 ล้านบาท การก่อสร้างรถไฟทางคู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ปิโตรเคมี ประมาณ 6 แสนล้านบาท การก่อสร้างทางพิเศษประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

"แต่ละโครงการที่ สนข.จัดทำแผนขึ้นมา บางส่วนก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้าง ดังนั้นวงเงินรวมจึงยังไม่แน่นอน และต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการจะดำเนินการอย่างไร เช่น โครงการทางพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ทางกรมทางหลวง (ทล.) หรือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อาจจะใช้เงินจากกองทุนค่าผ่านทางมาก่อสร้างก็ได้ เป็นต้น" นายนครินทร์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ท่าเรือปากบารามีความสำคัญมากในการขนส่งสินค้าที่จะช่วยพัฒนาประเทศและภาคใต้แต่ทางกรมเจ้าท่าต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้าน ไม่ใช่ให้แต่เรื่องดีๆ

ด้าน นายพรศักดิ์ แก้วถาวร กรรมการหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าจาก จ.ระนอง ไปยัง เมียนมาอยู่ที่นมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท/ปี แต่หากส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ปากีสถานและกลุ่มประเทศตะวันออกได้มูลค่าจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว หรือ 1 แสนล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าการ โหวตเบร็กซิตจะมีผลกระทบในระยะสั้นต่อจีดีพีของอังกฤษอยู่ในระดับประมาณลบ 1% ถึงลบ 6% ภายในปี 2561 กรณีที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเจรจาการค้ากับ อียูไม่เป็นผล จีดีพีมีโอกาสลดลงไปถึง ลบ 5.5% ภายในปี 2561

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559