http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฎาคม 2561)

11เขื่อนวิกฤต! กรมชลฯเผยน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุม สั่งกฟผ.เพิ่มระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ

อ่างเก็บน้ำ เขื่อน เฝ้าระวัง กักเก็บน้ำ ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล กรมชลประทาน เขื่อนวชิราลงกรณ ฝน

กรมชลฯเผยเขื่อนใหญ่11แห่งมีน้ำสูงเกินเกณฑ์ควบคุม เร่งทำโมเดลจำลองสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนปี54-57 สั่งกฟผ.เพิ่มระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นวันละ36ล้านลบ.ม.เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนในระดับที่ปลอดภัย ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯกาญจน์รีบแจ้งเตือนประชาชนท้ายน้ำ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 51,677 ล้าน ลบ.ม.หรือ 68% ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้รวม 27,757 ล้าน ลบ.ม.หรือ 53% ยังรับน้ำได้อีก 24,331 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ สำหรับ4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำรวม 14,253 ล้าน ลบ.ม.หรือ 57% เป็นน้ำใช้การ 7,557 ล้าน ลบ.ม.ยังรับน้ำได้อีก 10,618 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักในบางแห่ง ส่งผลให้เขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม มี 11 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล , น้ำอูน , น้ำพุง , จุฬาภรณ์ , อุบลรัตน์ , ลำปาว , ลำพระเพลิง , ป่าสักชลสิทธิ์ , วชิราลงกรณ , แก่งกระจาน และปราณบุรี โดยมีทำการจำลองปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนจากเครื่องมือ ROS จำนวน 3 สถานการณ์ เทียบปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างปี 2554 , 2557 และปีเฉลี่ย นำมาบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นการระบายน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงกว่าเกณฑ์ควบคุม เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีระดับน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จะรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 70 - 80 และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุอ่างฯสองเท่า ให้รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60 - 70 เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน

สำหรับสถานการณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณเป็นจำนวนมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 123 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ที่ 7,146 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ วันละ 28 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ เป็นวันละ 36 ล้าน ลบ.ม.ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และรักษาเสถียรภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ได้อีกในระยะต่อไป สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบผลต่อกลุ่มผู้ใช้น้ำที่อยู่ทางด้านท้ายเขื่อน กรมชลประทานจึงมอบหมายให้ กฟผ.ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงพร้อมทำความเข้าใจต่อกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบทราบต่อไปแล้ว

"ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเดิม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่ หากเกิดฝนตกหนักจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้กำชับให้ติดตามตรวจสอบอาคารและระบบชลประทาน ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ควบคุมและรักษาระดับน้ำในเขื่อนต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถบรรทุก/ยานพาหนะ 324 คัน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ" นายทวีศักดิ์ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผู้แทนกระทรวงการค้าฯ ออสเตรเลีย หารือพาณิชย์ เร่งสรุปผลการเจรจา RCEP

ผู้แทนกระทรวงการค้าฯ ออสเตรเลีย เข้าหารือพาณิชย์และพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทย ในการเร่งหาทางออกเพื่อสรุปผลการเจรจา RCEP อีกทั้ง สนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ด้านไทยเชิญนักลงทุนออสเตรเลียเข้าลงทุนใน EEC ด้วย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับ มอบหมายจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับ Honourable Mark Coulton ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยการหารือครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการค้าการลงทุน อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และความตกลงการค้าเสรี ไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA)

สำหรับ ในเรื่องการเจรจา RCEP หรือ FTA อาเซียนกับคู่เจรจา 6 ประเทศ ไทยขอให้ออสเตรเลียสนับสนุนอาเซียนในการร่วมมือเจรจาให้มีความคืบหน้า และสรุปผลได้ตามแผนที่ผู้นำของแต่ละประเทศตั้งไว้ โดยเห็นว่าสมาชิกควรปรับท่าทีของตนเองเข้าหากัน เพื่อให้สรุปผลได้โดยเร็ว และสมาชิกจะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเพื่อให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ไทยยังได้ยืนยันความสนใจการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยออสเตรเลียยินดีและพร้อมสนับสนุนไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งคาดว่าความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2562 ทั้งนี้ ไทยแจ้งว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการประเมิน วิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบของความตกลงฯ อีกทั้งจะเร่งหารือกับภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ เนื่องจากความตกลง CPTPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง

สำหรับความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าที่ผ่านมาการค้าระหว่างไทยและออสเตรเลียขยายตัวมาก นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในปี 2548 อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียเห็นว่าที่ผ่านมาความตกลงจะมุ่งเน้นการค้าสินค้าเป็นหลัก จึงต้องการให้มีการหารือเรื่องการเปิดตลาดการค้าบริการมากขึ้น ซึ่งไทยยอมรับว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนามากขึ้น การค้าบริการก็จะเพิ่มความสำคัญขึ้นควบคู่กัน แต่เนื่องจากบริการมีสาขาจำนวนมาก จึงอาจต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ ผลกระทบต่อสาธารณะและภาคเอกชนด้วย

ด้านออสเตรเลีย พร้อมที่จะสนับสนุนไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 เพราะเชื่อมั่นว่าไทยจะมีส่วนให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดำเนินการในการรวมกลุ่มให้คืบหน้าลึกซึ้งต่อไปได้ และในโอกาสนี้ ไทยได้เชิญชวนออสเตรเลียมาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในด้านที่ออสเตรเลียมีศักยภาพ อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ โดยรัฐบาลไทยมีแผนการดำเนินการพัฒนา EEC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งออสเตรเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูในการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าที่สำคัญและเป็นลำดับที่ 9 ของไทย โดยในปี 2560 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลียมีมูลค่ากว่า 14,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณร้อยละ 9 โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลียเป็นมูลค่าราว 10,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียเป็นมูลค่าราว 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ ได้แก่ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ/เศษโลหะ ถ่านหิน สินค้าเกษตรและปศุสัตว์ และก๊าซธรรมชาติ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อนุมัติงบกลางปี60 วงเงินกว่า 468 ล.ปรับปรุงแหล่งน้ำ 9 จังหวัด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (31ก.ค.61) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 468.91 ล้านบาท ให้กองทัพบกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำประจำปี 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินการระหว่างกองทัพบกกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ในการปรับปรุงแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้บางส่วน จำนวน 47 โครงการ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ พะเยา พิจิตร สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และจังหวัดพัทลุง

โดยจะดำเนินการขุดลอกตะกอนแหล่งน้ำและนำดินไปปรับพื้นที่สาธารณประโยชน์ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงต้องจัดทำพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ในการนี้จะประสานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเพื่อดูรายละเอียดโครงการที่จะดำเนินการทั้งหมดว่า มีพื้นที่ทับซ้อนกันหรือไม่ และโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำนี้จะบรรจุอยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลด้วย

จาก  www.thansettakij.com  วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชงครม.ขอ 1.6หมื่นล.อุ้มเกษตรกร

บอร์ดธกส.ไฟเขียว มาตรการพักหนี้ ลดดอกช่วยเกษตรกร 3.8 ล้านราย ชงครม.31ก.ค.นี้ ขอเงินชดเชยดอกเบี้ย 1.6หมื่นล้าน                     

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังเป็นประธาน ได้เห็นชอบโครงการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ เรียบร้อยแล้ว และจะมีการเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาวันที่ 31 ก.ค.นี้ พร้อมกับขอวงเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล1.63หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปช่วยลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยมีเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย 3.81 ล้านราย

ทั้งนี้ในรายละเอียดประกอบด้วย 2ส่วนหลัก ส่วนแรกเป็นการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ โดยธ.ก.ส.จะพักชำระเงินต้นตามความสมัครใจแก่เกษตรกรที่มีหนี้กับธ.ก.ส.ก่อนวันที่ 31 ก.ค. 61 ระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1ส.ค. 61- 31 ก.ค.64และให้มีการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย โดยถ้าเป็นดอกเบี้ยเดิมก่อนเข้าโครงการ จะให้ชำระตามงวดอย่างน้อยปีละ1ครั้ง ส่วนต่อมาเป็นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยธ.ก.ส.จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นใหม่เป็นเวลา 1ปี สำหรับเงินกู้ 300,000บาทแรก ในอัตรา 3% ต่อปี

 “ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดให้เกษตรกร 3% เวลา 1 ปี จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.61-31ก.ค.62 โดยเป็นส่วนที่ ธ.ก.ส.ลดให้ 0.5% อีกส่วนมาจากที่รัฐบาลช่วยชดเชยอีก2.5% นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการพักชำระหนี้ ธนาคารยังเปิดให้เกษตรกรสามารถกู้เงินปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้ หรือกู้ทำการผลิตโครงการใหม่ได้ใหม่ได้ ทั้งโครงการของตนเองหรือโครงการปฏิรูปการเกษตรของกระทรวงเกษตร”

นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่เป็นภาระหนี้เสีย ธนาคารยังเปิดให้มีการปรับโครงสร้างหนี้พร้อมกับ ให้ขอใช้สินเชื่อฉุกเฉินและจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบซ้ำ รวมถึงกรณีลูกหนี้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพดอกเบี้ยพิเศษได้ด้วย อีกทั้งยังมีโครงการส่งเสริมการออมเงิน เช่น เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร ชยดอกเบี้ย 1.6หมื่นล้าน พร้อมจัดสินเชื่อใหม่ช่วยปรับเปลี่ยนการผลิต 

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561             

เงินบาทเปิดตลาดแข็งค่า 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตลาดจับตานโยบายการเงินธนาคารหลัก

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 33.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและแกว่งตัวใกล้ระดับ 94.15 จุด แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสที่ 2 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็ตาม

ซึ่งแรงเทขายดอลลาร์ส่วนหนึ่งอาจมาจากการ “sell on fact” เนื่องจากตลาดยังคงไม่แน่ใจว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถขยายตัวได้อย่างร้อนแรงกว่าที่อื่นๆได้นานขนาดไหน นอกจากนี้ ตลาดเริ่มกลับมาให้ความสนใจ แนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอังกฤษ และเฟด ซึ่งสามารถกระทบตลาดการเงินได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในสัปดาห์นี้ตัวเลขเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางหลัก

ดังนั้น เงินบาทมีแนวโน้มที่ผันผวนมากขึ้นและอาจแกว่งตัวในกรอบกว้าง 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่สามารถกระทบตลาดการเงินได้ อาทิ ผลการประชุมธนาคารกลางหลัก (BoJ, BoE และ Fed) รวมทั้ง รายงานตัวเลขเศรษฐกิจจำนวนมาก อาทิ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ และLeading indicators อย่าง PMI ของยูโรโซน,จีนและสหรัฐฯ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

แม้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ทว่าแรงซื้อดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากผู้นำเข้าอาจทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้เร็ว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชงครม.ทุ่มงบ1.63หมื่นล้านพักหนี้เกษตรกร3ปี

กระทรวงการคลังเสนอ ครม.ทุ่ม 1.63 หมื่นล้าน พักหนี้เกษตรกร 3 ปี 3.8ล้านรายแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง จะเสนอโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในวันนี้ โดยขอวงเงินชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล 1.63 หมื่นล้านบาท

จะช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายได้ 3.81 ล้านราย

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะพักชำระเงินต้นให้เกษตรกรตามความสมัครใจ ที่มีหนี้กับธนาคารก่อนวันที่ 31 ก.ค. 2561 เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยให้ผ่อนชำระแต่เฉพาะดอกเบี้ยปีละครั้งเท่านั้น

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นใหม่เป็นเวลา 1 ปี สำหรับเงินกู้ 3 แสนบาทแรก ในอัตรา 3% ต่อปี เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารลดให้ 0.5% และอีก 2.5% รัฐบาลชดเชยให้

อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ธนาคารยังให้ปรับโครงสร้างหนี้และขอใช้สินเชื่อฉุกเฉินและจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหนี้นอกระบบซ้ำ รวมถึงลูกหนี้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถขอสินเชื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพดอกเบี้ยพิเศษได้ด้วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เดินหน้าระบายน้ำตาล 6 ล้านตันใน 6 เดือนข้างหน้า

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ตั้งเป้าหมายส่งออกน้ำตาลที่เหลือในสตอกอีก 6 ล้านตัน ให้หมดภายในม.คปี 62

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำตาลตลาดโลกขณะนี้มีน้ำตาลส่วนเกินค่อนข้างมาก ราคาน้ำตาลตกต่ำ แต่การส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยในภาพรวมปีนี้ หรือฤดูการผลิตปี 60/61 แม้ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา  สามารถส่งออกน้ำตาลได้มากกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า ด้วยยอดส่งออกรวมประมาณ 6 ล้านตัน แต่จากผลผลิตน้ำตาลรวมที่มากถึงประมาณ 14 ล้านตัน จึงยังคงมีน้ำตาลเหลือจากการบริโภคในประเทศอีกประมาณ 6 ล้านตัน ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย จึงตั้งเป้าหมายที่จะส่งออกน้ำตาลที่เหลือให้ได้ประมาณเดือนละ 1 ล้านตัน เพื่อระบายสตอกให้หมดภายใน 6 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงตั้งแต่ เดือน ส.ค.61 ถึง ม.ค.62  แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามแผนนี้ โดยอาจมีผลกระทบจากการขายน้ำตาลออกมาในตลาดโลกอย่างไม่ปกติของอินเดียและปากีสถาน  ก็จะทำให้โรงงานน้ำตาลไทย มีภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาน้ำตาลที่เหลือ ขณะที่จะมีน้ำตาลผลผลิตจากฤดูการผลิตใหม่ ปี 61/62 ที่คาดว่า จะมีผลผลิตมากถึง 13 ล้านตัน เข้ามาสมทบอีก

สำหรับทางออกของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยในระยะสั้นคือ เร่งพิจารณาหาทางพิจารณานำน้ำตาลไปผลิตผลิตภัณฑ์อย่างอื่นมากขึ้น เช่น นำไปผลิตเอทานอลเพิ่มมากขึ้นจากที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 6.25 ล้านลิตรต่อวัน  มีความต้องการใช้ในประเทศ  4 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นจึงยังมีโอกาสมีโอกาสที่จะนำโมลาส น้ำตาลหรือน้ำอ้อย ไปผลิตเอทานอลเพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น ผ่านวิธีการปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงาน โดยลดประเภทของน้ำมันเบนซินให้เหลือเท่าที่จำเป็น แนวทางนี้ คาดว่า จะช่วยสร้างความต้องการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ ส่วนในระยะยาวต้องรอการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ที่จะช่วยเปิดทางให้สามารถนำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้มากขึ้นจากปัจจุบันถูกกำหนดให้อ้อยต้องนำไปผลิตน้ำตาลเท่านั้น

จาก www.mcot.net วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“บางจาก” ผนึก “น้ำตาลขอนแก่น” BBGI ตั้งเป้าผลิตเอทานอลล้านลิตร-

เมื่อเทรนด์พลังงานโลกเปลี่ยนไปสู่การแข่งขัน by product ที่มีมูลค่าสูง การนำเอาพืชผลทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์จึงมีความสำคัญ และยังเป็นการรองรับนโยบายรัฐ “bioindustry” BBGI หนึ่งในกลุ่มบริษัทจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพ ผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซลรายใหญ่ของไทย ภายใต้การนำของ นายพงษ์ชัย ชัยจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI

บางจากผนึก KSL

กลุ่มบางจากและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ได้ร่วมทุนกันจัดตั้ง “BBGI” เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยถือหุ้นในบริษัทย่อย 3 บริษัท ได้แก่ บมจ.เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น (KGI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ บริษัท บางจากไบโอเอทานอล (ฉะเชิงเทรา) จำกัด (BBE) ผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอลจากมันสำปะหลังสดและมันสำปะหลังเส้น และบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) ผู้ผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ล่าสุด BBGI ได้ขยายธุรกิจเอทานอล รองรับเทรนด์ใหม่ของธุรกิจพลังงาน สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้สินค้าเกษตรด้วย

สยายปีกรุกขายเอทานอล

แผนธุรกิจระยะ 2 ปี BBGI อยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มอีก 3 แสนลิตร/วัน มูลค่า 15,500 ล้านบาท จากกำลังการผลิตเอทานอล 5 แสนลิตร/วัน มาอยู่ที่ 8 แสนลิตร/วัน โดยมีแผนใช้เงินสดผลิต 1 แสนลิตร อีก 2 แสนลิตร และจะใช้วิธีระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตถึง 1 ล้านลิตร/วัน เช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มี 9.3 แสนลิตร/วัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไบโอดีเซล หรือ B100 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ดังนั้นสิ้นปีนี้กำลังการผลิตไบโอดีเซลได้ 7 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบัน 4.5 ล้านลิตร/วัน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเติบโต 2.8% ต่อปี และกลุ่มเบนซินเติบโต 3-4% ต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลในปริมาณ 4.4 ล้านลิตร/วัน กำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวเฉลี่ย 6-7% ต่อปี และคาดว่าจะโตต่อเนื่อง เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมัน E20 และ 85 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

“ผมมองว่าธุรกิจไบโอเอทานอลยังคงโตอยู่ แต่เราจะไม่ประมาท ซึ่งได้เตรียมแผนการรองรับแล้ว ดังนั้น เราจึงเพิ่มกำลังผลิต จากน้ำตาลโมลาสสู่เอทานอล โดยวางแผนทั้งวัตถุดิบและโลจิสติกส์มันสำปะหลัง เพื่อทำเอทานอล ในประเทศไทยยังคง over supply ประกอบกับปัจจัยน้ำอ้อยจะทำให้ภาพการผลิตเปลี่ยนไป ดังนั้นการต่อยอดงานวิจัยจึงจำเป็น การแข่งขันตลาดนี้ไทยยังมีเพียง 3-4 ราย ถือว่ายังน้อยไป แต่อนาคตเชื่อว่าจะสูงขึ้น”

จี้รัฐหนุนไบโอดีเซล

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไบโอดีเซลต้องคำนึงถึงทิศทางนโยบายของรัฐบาลที่จะใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 10% ในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งบริษัทมองว่า ตลาดมีอัตราการเติบโตทุกปี เพราะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้เอง จึงมั่นใจได้ว่าถ้ามีการเพิ่มกำลังการผลิตจะมีตลาดรองรับแน่นอน แม้ว่าเอทานอลจะอยู่ในช่วงขาลง รวมทั้งปัจจัยอื่น เช่น ข้อจำกัดพระราชบัญญัติอ้อย ข้อกฎหมายพื้นที่ผังเมือง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ หากรัฐบาลส่งเสริมการใช้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมได้อีก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เตือนขึ้นทะเบียน‘เกษตรกร’ ขีดเส้นภายในส.ค.ก่อนถูกตัดสิทธิช่วยเหลือจากรัฐ

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการรับขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรของประเทศไทย โดยในปี 2560 มีเป้าหมายการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 6,700,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรมาขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร 5,568,100 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 83.11 จากเป้าหมายการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งยังมีเกษตรกรอีกประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ที่ยังไม่มีการมาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรต้องเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าวนี้

ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมส่งเสริมการเกษตรได้เร่งรัดติดตามงานการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกร

เป้าหมายเหล่านี้ให้มาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยเร็ว โดยแจ้งหลังปลูกพืชแล้ว 15-60 วัน และให้ทันกับกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ในปี 2561 ในกรณีที่เกษตรกรไม่มาปรับปรุงทะเบียนนานเกิน 3 ปี นับถัดจากวันที่ 23 มิ.ย.2560 จะถูกตัดบัญชีทะเบียนเกษตรกรทิ้งทันที ทำให้หมดสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

สำหรับวิธีการแจ้งขึ้น/ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทำได้หลายช่องทาง ได้แก่ 1.ให้เกษตรกรติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทำการเกษตร 2.แจ้งผ่านอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 3.แจ้งผ่านสมุดทะเบียนเกษตรกรอิเล็กทรอนิกส์หรือแอพพลิเคชั่น DOAE Farmbook ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้เกษตรกรทราบข้อมูลของตนเองได้ตลอดเวลา และสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรนั้น คือ 1.เป็นฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรในการพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ หรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ของรัฐ 2.เป็นเอกสารยืนยันตัวตนความเป็นเกษตรกร และ 3.เกษตรกรได้รับสิทธิความช่วยเหลือในกรณีประสบภัยพิบัติ หรือ ตามมาตรการแก้ปัญหาและจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากภาครัฐ และล่าสุด ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ โดยการจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 12 ไร่ หรือคิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท เพิ่มขึ้น 3,000 บาท จากปีที่ผ่านมา ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ก.ย. 2561-30 ก.ย. 2562

จาก www.naewna.com วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือถกสมาชิกรับมือผลกระทบสงครามการค้าโลก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สรท. ได้เชิญกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ส่งออก 24 กลุ่มหารือสถานการณ์การส่งออกไทยและการพิจารณาปรับเป้าส่งออกในปี 2561 จากเดิมที่ตั้งเป้าขยายตัว 8% รวมถึงการหามาตรการรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าโลก และมาตรการกีดกันด้านการค้าของประเทศต่างๆ ที่กลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความกังวลอย่างมาก

ทั้งนี้ กลุ่มที่มีความโดดเด่นการส่งออกไทยยังเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่คาดว่าจะส่งออกรวมกันขยายตัว 10% แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการกังวลจะเป็นเรื่องมาตรการกีดกันการค้าของเวียดนามที่คุมเข้มการตรวจสอบมาตรฐาน และมาตรการการค้าของสหรัฐ โดยในส่วนของรถยนต์คาดว่าในปีนี้ได้ตั้งเป้าการผลิต 2 ล้านคัน แบ่งเป็นส่งออก 1.12 ล้านคัน โดยส่งออกขยายตัวทุกตลาดยกเว้นตลาดอียู

นอกจากนี้ ยังมีเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 18-20% ตามทิศทางราคาน้ำมัน, ผลิตภัณฑ์ยางที่คาดว่าจะขยายตัว 8% โดยยางคอมปาวด์ ซึ่งเป็นยางธรรมชาติที่มีส่วนผสมของยางกับสารเคมี บดผสมให้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน และพร้อมที่จะขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยังมีความโดดเด่น

ส่วนกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังขยายตัวต่อเนื่องและมีผู้ประกอบการได้ขยายฐานการผลิตทั้งในและประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก เพราะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชุดกีฬา เพื่อรองรับฤดูกาลบอลโลกและการแข่งขันฟุตบอลสโมสรหรือฟุตบอลลีกในประเทศต่างๆ ดังนั้นคาดว่าทั้งสองกลุ่มจะมีมูลค่าการส่งออกในปีนี้ขยายตัว 5-6%

ขณะที่กลุ่มเคมีภัณฑ์ขยายตัวในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมพลาสติกและราคาน้ำมัน คาดส่งออกกลุ่มนี้ขยายตัว 155 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูป คาดส่งออกขยายตัว 15%, กลุ่มคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบ, ฮาร์ดดิสก์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ คาดส่งออกขยายตัวรวม 5-7% อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกกังวลหากสหรัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีน อาจทำให้ไทยได้รับผลกระทบในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่อุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการว่าไทยมีความสามารถแข่งขันโดยเฉพาะด้านฝีมือแรงงานที่ดีกว่าคู่แข่งอย่างจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง แต่ปัญหาคือเรื่องของกฎระเบียบการค้าที่ยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะกรอบการค้าเสรีอย่างอาเชียน อินเดีย และราคาทองคำยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าส่งออก ส่งผลให้ในปีนี้ส่งออกติดลบ 3% แต่หากหักทองคำออก ส่งออกขยายตัว 7.5%

สำหรับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น การส่งออกข้าวนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ 10-10.5 ล้านตัน และมูลค่าส่งออกขยายตัว 5% แต่ผู้ส่งออกเริ่มกังวลแนวทางการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เนื่องจากที่ผ่านมาฝนตกชุกทำให้ตอนนี้เริ่มมีปัญหาในการขนส่งถ่ายสินค้า และมีสินค้าตกค้างจำนวนหนึ่ง, ส่วนยางพาราคาดว่าส่งออกไม่ขยายตัวจากราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องแต่ปริมาณยังขยายตัว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คาดส่งออกขยายตัว 5% อานิสงส์ราคาที่ปรับตัวสูง, อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องสำเร็จรูป ผัก ผลไม้ ไก่สดและแปรรูป คาดขยายตัว 8-10% และน้ำตาลทราย ที่คาดว่าจะไม่ขยายตัวจากปริมาณน้ำตาลทรายล้นตลาด 4 ล้านตัน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บีบีจีไอตั้งเป้าผลิตเอทานอลล้านตัน เตรียมเงินลงทุน1.5พันล้านขยายธุรกิจ

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ เปิดเผยแผนธุรกิจว่าบริษัทบีบีจีไอ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบางจากและกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นอยู่ในขั้นตอนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ซึ่งปี 2562 บริษัทเตรียมเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มอีก 3 แสนลิตรต่อวัน เป็น 8 แสนลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตเอทานอล 5 แสนลิตรต่อวัน โดยมีแผนใช้เงินสดเพื่อเพิ่มการผลิต 1 แสนลิตร อีก 2 แสนลิตรจะใช้วิธีระดมทุนในตลท.และในอนาคตตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเอทานอลเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อวันจากปัจจุบันอยู่ที่ 9.3 แสนลิตรต่อวัน

ความต้องการใช้เอทานอลทั้งประเทศอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน กำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน อัตราการเติบโตอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ อี20 และ อี85 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโต 4-5% ขณะที่ไบโอดีเซล หรือบี100 คาดสิ้นปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับทิศทางการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ต้องรอความชัดเจนของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทแม่ว่าจะมีนโยบายเข้าไปลงทุนอย่างไร รูปแบบใด ขณะเดียวกันแม้บริษัทแม่จะตัดสินใจลงทุนแล้วทางบีบีจีไอก็ต้องดูความเป็นไปได้ของธุรกิจด้วย โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบว่าจะเพียงพอหรือไม่ หรือถ้าลงทุนจะต้องมีต้นทุนเท่าใดเพื่อยกระดับตัวสินค้าให้มีมูลค่าสูง ทั้งหมดคือปัจจัยที่ต้องพิจารณา

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอกล่าวว่าการขยายการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายด้าน โดยยังมีความกังวลเรื่องราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซี ที่ปัจจุบันสูงขึ้นมาก เพราะบริษัทที่ต้องใช้พื้นที่เยอะ เช่น โรงเอทานอล อีกทั้งยังกังวลเรื่องเอกสารสิทธิในพื้นที่อีอีซี และอยากให้ภาครัฐลดขั้นตอนการขออนุญาตสำหรับกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้การลงทุนในอีอีซี มีความน่าสนใจมากขึ้นจากปัจจุบันรัฐเน้นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก

สำหรับการขยายกำลังการผลิตเอทานอลจะเน้นพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากในพื้นที่มีวัตถุดิบเพียงพอในการขยายกำลังการผลิต ประกอบกับต้นทุนราคาเอทานอลอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นวัตถุดิบได้ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายระยะห่างของโรงงานที่จะไม่มีการกำหนดระยะห่าง 50 กม. แต่จะต้องเป็นความเห็นชอบของโรงงานเดิมที่อยู่ในพื้นที่ หากทำให้ยุติธรรมกับทุกฝ่ายได้ ก็ถือเป็นความน่าสนใจในการขยายการลงทุนต่อไป

ส่วนความต้องการใช้ไบโอดีเซล บี 20 ยอมรับว่ายังไม่จูงใจ เพราะค่ายรถส่วนใหญ่ยังไม่รับรอง ขณะนี้รถยนต์ในประเทศรองรับไบโอดีเซลถึงแค่ บี 7 หากรัฐบาลต้องการให้เกิดการใช้ปาล์มน้ำมันมากขึ้น ควรหารือกับค่ายรถยนต์ให้พัฒนาเครื่องยนต์เพื่อรองรับน้ำมันเกรดพิเศษ โดยเฉพาะ บี 10 ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้ค่ายรถหันมาใช้บี 20 มากขึ้น

จาก www.naewna.com วันที่ 28 กรกฎาคม 2561

รมว.เกษตรชี้อาชีพเกษตรกรควรมีการประกันรายได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย อาชีพเกษตรกรควรได้รับการประกันรายได้ขั้นต่ำ กำไรต้องไม่ต่ำกว่า 20-30%

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขอให้คำนวณและประเมินความพึงพอใจหรือความเป็นธรรมทางรายได้ของเกษตรกรไทย ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ว่าเกษตรกรไทยควรได้รับค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อเดือนหรือต่อปี เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ถึงจะเป็นธรรมสำหรับผู้มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งอาจใช้ปัจจัยหรือเหตุผลทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ คำนวนออกมาให้เห็นข้อเท็จจริงด้วย เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท หรือรายได้ขั้นต่ำของคนที่จบปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท เป็นต้น

โดยจากการหารือในเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่าในการประกอบอาชีพเกษตรกร ควรได้รับการดูแลโดยมีการประกันรายได้ขั้นต่ำ ต้องไม่ขาดทุนและมีกำไรไม่น้อยกว่า 20 – 30% ของค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำการเกษตร (รวมค่าแรงของตัวเองด้วย) เกษตรกรรายที่ปฏิบัติตามหรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล นอกจากจะได้รับการคุ้มครองรายได้ขั้นต่ำแล้ว ภาครัฐควรเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นนอกจากนี้ การสร้าง value added ของสินค้าเกษตร ภายใต้แผนการพัฒนาที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพืช จะทำให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้เกิด Smart farming และ Smart farmer ต่อไปในอนาคต

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 28 กรกฎาคม 2561

ชาวไร่อ้อยเพิ่มผลผลิต รองรับ‘ไบโอคอมเพล็กซ์’

ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ และประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพโดยมีพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องทางหน่วยราชการในพื้นที่ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานีและพิจิตร ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 ก็ได้เตรียมดำเนินการสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องเช่นการพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกร การทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบเกษตรแปลงใหญ่ตามแนวเกษตร 4.0 การเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการทำไร่อ้อยด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

“ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและครม.ที่มีมติให้เกิดไบโอคอมเพล็กซ์ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งโครงการไบโอคอมเพล็กซ์นี้จะนำความคึกคักทางเศรษฐกิจมาสู่จังหวัดภาคเหนือตอนล่างอย่างมาก ทั้งจากการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การว่าจ้างแรงงาน และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมในด้านของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย” ทันตแพทย์สุพจน์กล่าว

นายทองคำ เชิงกลัด ประธานสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและนายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 11 นครสวรรค์ กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยตื่นตัวกันมากในการเตรียมพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มเติม เพราะเมื่อ ครม. อนุมัติหลักการแล้ว ข้อจำกัดต่างๆ ก็กำลังได้รับการแก้ไข เช่นเรื่องที่ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้และจัดสรรวัตถุดิบที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรโดยโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมในรัศมี 50 กิโลเมตร ให้ความยินยอม

จากการพูดคุยกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่ ยืนยันว่ามีความพร้อมในการสร้างอ้อยเพิ่มเพื่อรองรับโรงงานใหม่ เบื้องต้นจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มอีกกว่า 2 แสนไร่ คิดเป็นผลผลิตอ้อยประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี จะมีการสร้างงานให้กับคนในชุมชน ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะดีตามไปด้วย

จาก www.naewna.com วันที่ 27 กรกฎาคม 2561

อาเซียนผนึกความร่วมมือด้านพลังงานรุกคืบเชื่อมโยงไฟฟ้า-ท่อก๊าซฯ-พลังงานทดแทน

ก.พลังงานร่วมเวทีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน (SOME) บรรลุความก้าวหน้าระบบการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การศึกษาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด นิวเคลียร์ และด้านวางแผนนโยบายพลังงานร่วมกัน ชี้เป็นความร่วมมือที่สร้างความมั่นคงพลังงานในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้นำทีมคณะผู้แทนจากประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือ 36th ASEAN Senior Officials Meeting on Energy: 36th (SOME) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 กรกฎาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานและผู้แทนจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม และประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ตลอดจนทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งการประชุม ฯ ครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) ปี 2016-2025 ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2016-2020 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการบูรณาการด้านพลังงาน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

ความก้าวหน้าการพัฒนาระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีจาก สปป.ลาว ไปขายยังมาเลเซีย โดยใช้ระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของไทย (LTM) จำนวนไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดหวังว่า ในอนาคตจะมีประเทศอื่นๆเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานด้านการควบคุมและด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าอาเซียน การศึกษาระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี การศึกษาจัดทำแผนโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียนระยะที่สามอีกด้วย โดยการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาค ระหว่างสปป.ลาว ไทยและมาเลเซีย ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ได้มีการซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วรวมจำนวน 4 ล้านหน่วย ซึ่งนับเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญของการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และเป็นที่ชื่นชมในการประชุม ฯ ครั้งนี้

ด้านโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันอาเซียนมีระยะทางยาวรวม 3,673 กิโลเมตร เชื่อมโยงใน 6 ประเทศ และมีสถานีปรับเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นของเหลว 6 แห่ง กำลังการผลิตรวม 36.5 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2562 ไทยจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยและอาเซียนด้านพลังงานทดแทน ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศและประเทศ คู่เจรจา เช่น การศึกษาต้นทุนเฉลี่ยของพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า การศึกษาการสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อการใช้พลังงานสีเขียว รวมไปถึงการร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา

ด้านการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์แสงสว่างของอาเซียน และในอนาคตจะมีการขยายไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ ไทยเป็นศูนย์ฝึกอบรมภาคปฏิบัติแก่ผู้ฝึกอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานของอาเซียน เป็นปี่ที่สามติดต่อกัน รวมทั้งได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปพัฒนาระบบการจัดการพลังงานและบุคลากร ใน สปป. ลาว และกัมพูชา

ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของอาเซียนใน การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีในการประกอบกิจการถ่านหินและพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ตลอดจนการพัฒนาระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลถ่านหินอาเซียน ด้านนิวเคลียร์เพื่อประชาชน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาบุคลากรของอาเซียนให้เรียนรู้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ การสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงาน และการร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถเข้าใจกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากสถานที่จริง

ด้านนโยบายและแผนพลังงาน มีการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียนระยะกลาง เพื่อประเมินความสำเร็จและปรับปรุงแผนการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเงินและลงทุนด้านพลังงาน ด้านพลังงานและดิจิทัล ที่ร่วมมือกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

"สงครามค่าเงิน" ปะทุ!! ศึกการค้าลากโลกติดกับดัก เศรษฐกิจเสี่ยงชะงักงัน

ผู้ว่า ธปท. หวั่นเสี่ยงติดกับเศรษฐกิจโลกชะลอ! เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้น เร่งเอสเอ็มอีรีบประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ... 'กรุงไทย' ชี้! ศึกจีน-สหรัฐฯ ไถลสู่สงครามค่าเงิน ... "ทิสโก้-ทหารไทย" มองบวก เชื่อไม่เลยเถิดจนเจ็บตัวทุกฝ่าย

ความขัดแย้งการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ล่าสุด ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมาเป็นมูลค่าฝ่ายละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบนั้น ล่าสุด มีความกังวลว่าอาจลามเป็น "สงครามค่าเงิน" หลังจากที่จีนและอียูใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย สวนทางกับสหรัฐอเมริกา

เตือนระวังดอกเบี้ยขาขึ้น

ความขัดแย้งทางการค้าโลกนี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เสี่ยงกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป แม้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น กำลังเติบโตร้อนแรง แต่ถ้านโยบายหลายอย่างทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรการกีดกันการค้า หรือ เศรษฐกิจโลกร้อนแรง จะยิ่งเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ที่อาจเกิดภาวะเงินไหลออกรุนแรงและส่งผลต่อค่าเงิน

สัญญาณเบี้ยวหนี้เริ่มโผล่

ความเสี่ยงอีกประการจากที่ดอกเบี้ยโลกอยู่ในระดับต่ำมานาน ทำให้เกิดหนี้เพิ่มสูงขึ้นทั้งโลกเป็นประวัติการณ์ ทั้งประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ของบริษัทเอกชน และหนี้ภาคครัวเรือนด้วย ถือเป็นจุดเปราะบาง หากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับสูงขึ้น หรือ มาตรการกีดกันการค้า ฉุดเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวทำให้คนที่มีหนี้เยอะ และประเมินความเสี่ยงโดยชะล่าใจได้รับผลกระทบ อย่าง จีนมีหนี้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูง จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยต่อไปด้วย

ที่ผ่านมา ธปท. พยายามส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยตั้งวงเงินเป็นค่าธรรมเนียม แต่ปรากฏว่า ผลตอบรับยังน้อย มาใช้บริการเพียง 2,000 ราย จากเป้าหมาย 1.7 หมื่นราย

ลามสู่สงครามค่าเงิน

ด้าน นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันการค้า มีโอกาสขยายวงต่อเป็นสงครามค่าเงิน ซึ่งต้องจับตาการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอียู-จีน ว่า มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งสวนทางสหรัฐฯ ที่เข้มงวดการดำเนินนโยบายทางการเงิน

ยกเว้น กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ซึ่งมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ทำให้แคนาดาและเม็กซิโก ทั้ง 2 ประเทศ ตั้งรับเพื่อไม่ให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยพยายามทำให้ค่าเงินไม่อ่อนค่ามากนัก

สำหรับจีนนั้น ประสบภาวะเงินทุนไหลออกและเศรษฐกิจภายในชะลอลงด้วย โดยทางการจีนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแนวทางดำเนินนโยบายดังกล่าว หากมองผิวเผิน ตลาดอาจประเมินจีนทำสงครามค่าเงิน แต่ในความเป็นจริง จีนต้องการประคองเศรษฐกิจภายใน

มองบวกขัดแย้งจำกัดวง

ขณะที่ นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มองว่า ความขัดแย้งการค้าจีน-สหรัฐฯ ไม่รุนแรงและเลยเถิดไปเป็นสงครามค่าเงิน เนื่องจากจีนค่อนข้างระมัดระวังตัว ไม่ตัดสินใจผลีผลาม และตัวแปรสำคัญอยู่ที่ 'ประธานาธิบดีทรัมป์' ที่ฟาดไปทั่ว ยังไม่ได้ชี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือ ประเทศใดประเทศหนึ่ง คาดว่า สถานการณ์ไม่น่าขยายวงกว้าง หรือ ไม่น่าไปไกลมากกว่านี้ แต่ถ้าทุกคนตอบโต้กลับจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง

"ครั้งนี้จีนเดินเกมได้ลุ่มลึกมาก ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนทรัมป์ตอนนี้ไม่ได้สนใจกติกา เพราะส่วนหนึ่งทรัมป์มีเรื่องทางการเมือง จึงต้องทำทุกอย่างที่สัญญาไว้ว่า สหรัฐฯ จะต้องมาเป็นที่หนึ่ง เพื่ออย่างน้อยให้อยู่ได้ครบเทอม และรักษาฐานเสียงตัวเอง ดังนั้น มองว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะลุกลาม แต่ทุกคนหาทางออกรวมกันในระยะสั้น อาจมีแรงกระเพื่อมบ้าง แต่คงไม่ไกลไปมากกว่านี้"

เจ็บตัวทุกฝ่าย

นายพูน พานิชพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี ก็เห็นว่า สงครามการค้าเต็มรูปที่สหรัฐฯ จะทำกับคู่ค้านั้น เป็นไปได้ยาก เพราะท้ายสุด เอกชนที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์จะไม่เห็นด้วย และกลับมากดดันทรัมป์ในการเลือกตั้งปลายปีที่จะถึงเสียเอง ต้องมีการเจรจาเกิดขึ้น แม้หากเกิดสงครามการค้าขึ้นจริง ก็ไม่น่าจะไปไกลถึงสงครามค่าเงิน

ขณะเดียวกัน จีนมีทางเลือกเยอะมากในการตอบโต้ หรือ ใช้ไม้ตาย เช่น ลดการลงทุนในสหรัฐฯ หรือ ถอนการลงทุน พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจตัวเองเพิ่มเติม หรือ ลดการถือบอนด์สหรัฐฯ และถ้าหากจีนจะเล่นเรื่องค่าเงินจริง ๆ อาจจะต้องผ่านธนาคารกลางอยู่ ๆ จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือ การลดอัตราดอกเบี้ยสู้ ซึ่งมองว่า ไม่น่าจะใช้วิธีขนาดนั้น เพราะถ้าถึงขั้นต้องลดดอกเบี้ย แสดงว่า เศรษฐกิจแย่แล้ว ซึ่งจะเล่นเรื่องค่าเงินจะต้องแข่งกันชะลอขึ้นดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ย

"ผมคิดว่า ถ้าเงินอ่อน อันนี้น่าจะช่วยส่งออกที่แย่จากสงครามการค้าแบบยอดลด แต่เงินอ่อนค่าก็ช่วยลดผลกระทบที่ยอดตกได้ แต่อย่าลืมว่า ตัวทรัมป์เองที่เป็นคนทำให้ดอลลาร์ผันผวน เพราะจริง ๆ การตีความสงครามค่าเงินมองได้หลายมุม แต่หากพูดเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายการเงินก็ได้เหมือนกัน คือ กลับไปที่เรื่องขึ้นดอกเบี้ย หรือ ลดดอกเบี้ย"

กับดัก ศก.โลก โจทย์ยากเฟด

ดังนั้น ประเด็นที่อาจจะน่าติดตาม คือ ถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้นจริง ๆ ธนาคารกลางจะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นได้ตามเป้าหรือไม่ หรือยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพราะน่าจะกระทบกับตลาดทุนพอสมควร แต่ถ้าหากเกิดทำจริงขึ้นมา จนถึงกีดกันกลุ่มยานยนต์ ซึ่งอันนี้กระทบสหรัฐฯ เต็ม ๆ อาจจะเห็นเฟดไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเริ่มจัดการยาก เพราะสงครามการค้าน่าจะตามมาด้วยสภาวะของแพงขึ้น เงินเฟ้อก็ต้องมา แต่เศรษฐกิจดันชะลอตัว ซึ่งบอกยากว่า เฟดจะแก้แกมยังไง

"ถ้าสงครามการค้ามันหนัก แล้วเศรษฐกิจชะลอ แต่เงินเฟ้อมาเต็ม เฟดจะทำงานยากขึ้น และหากดอกเบี้ยขึ้นต่อ ก็เร่งให้เศรษฐกิจแย่ เพราะดอกเบี้ยแพงขึ้น ทำให้การรีไฟแนนซ์ก็ลำบาก จะออกหุ้นกู้ใหม่มาโปะหนี้เก่าก็ยาก ผมว่า ตัวกุญแจ คือ ภาคยานยนต์นำเข้าสำคัญสุดของสหรัฐฯ"

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

เปิดจีดีพีเกษตรQ2โต6.2%!! สศก.ประเมินพืชเศรษฐกิจครึ่งปีหลังขยายตัวเพิ่มขึ้น

 สศก. ระบุ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 โตร้อยละ 6.2 ทุกสาขาขยายตัวหมด โดยสาขาพืช โตถึงร้อยละ 8.4 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและการบริหารจัดการที่ดีตามนโยบายรัฐบาล ส่งผลพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดทั้งปียังคงขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ย้ำ ยังต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 (เม.ย.-มิ.ย.) พบว่า ขยายตัว 6.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2560 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่สำคัญ อาทิ การตลาดนำการผลิต การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยสามารถแยกเป็นรายสาขาได้ดังนี้ สาขาพืช ขยายตัว 8.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และเงาะ ด้านราคา สินค้าที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน และมังคุด โดยข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเพราะความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 0.3 % โดยผลผลิต ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น ด้านราคา ไก่เนื้อและสุกร มีราคาเฉลี่ยลดลง 10.6 % และ 9.9 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น 4.05 % ส่วนราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 0.81 % เนื่องจากมีการพัฒนาการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบตามคุณภาพน้ำนม สาขาประมง ขยายตัว 0.4 % สำหรับผลผลิตประมงทะเลที่สำคัญ คือ กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้การผลิตกุ้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการทำประมงน้ำจืด ผลผลิตที่สำคัญ เช่น ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากนโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้านราคา กุ้งขาวแวนนาไม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลงจากปีที่แล้ว สอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน เช่นเดียวกับปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุยราคาลดลงจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 5.6 % จากการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น อีกทั้งการใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก จากการส่งเสริมของภาครัฐและโรงงานน้ำตาล และหลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อย เกษตรกรได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ทำให้มีการจ้างบริการไถพรวนดินเพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ ขยายตัว 1.8 % เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพารา ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ เพื่อการส่งออก ขณะที่รังนกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกนางแอ่นหลังจากห้ามนำเข้ารังนกจากทุกประเทศ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น

นายวิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3-4 % โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรและประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี 2561

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

“ปุ๋ยสั่งตัด”..... กลไกปฏิรูปการลดต้นทุนการผลิต

แต่ละปี ประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตพืชเพิ่มสูงขึ้น สังเกตจากปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญ ในปี 2559 มีจำนวน 4,882,923 ตัน มูลค่า 49,301 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 5,821,559 ตัน มูลค่า 57,803 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีการนำเข้าแม่ปุ๋ยสูตรสำคัญ อาทิ สูตร 46-0-0, 18-46-0, 0-0-60, 21-0-0, 16-20-0, 16-16-8, 15-15-15 และสูตร 13-13-21 แล้วกว่า 2,287,322.37 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22,831.90 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 เป็นหนึ่งกลไกที่จะปฏิรูปการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสม ตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยสูงขึ้น ที่สำคัญยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยตามหลักวิชาการให้เหมาะสมกับสภาพดิน และชนิดพืช หลายรายใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น หรือใช้ปุ๋ยที่ไม่เหมาะสมกับสภาพดินและพืช ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยบูรณาการร่วมกับสถาบันเกษตรกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อน “โครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร” มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2561-2563) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรทั่วไป ปรับพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งจะทำให้เลือกใช้ปุ๋ยได้ถูกชนิด ถูกปริมาณ และตรงตามค่าวิเคราะห์ดินและชุดดินในแปลงของตนเอง ทั้งยังเป็นช่องทางช่วยให้ได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพและราคาถูก สามารถประหยัดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรแจ้งความจำนงและสนใจที่จะเข้าโครงการฯ แล้วกว่า 202 แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 500 แห่ง ในจำนวนนี้มีสถาบันเกษตรกรที่สามารถผลิตหรือผสมปุ๋ยเพื่อบริการให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปแล้ว ประมาณ 100 แห่ง กำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี ซึ่งมีทั้งที่เป็นปุ๋ยสูตรทั่วไปและปุ๋ยสั่งตัด ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งขับเคลื่อนและขยายผลโครงการฯ อย่างเต็มที่

และต่อเนื่อง อาทิ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ดินและปุ๋ยแก่สหกรณ์ การเก็บตัวอย่างดินส่งตรวจ การใช้ชุดวิเคราะห์ดินอย่างง่าย (Test Kit) และการส่งโมบายยูนิต (Mobile unit) ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการผลิตและสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เป็นต้น โดยใช้กลไกสถาบันเกษตรกรเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก เพื่อให้สหกรณ์ปรับตัวเป็นผู้ผลิตตลอดจนให้บริการผสมปุ๋ยสั่งตัดแก่สมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งขยายต่อไปยังเกษตรกรทั่วไป และสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และเสริมภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันเกษตรกรอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเอื้อประโยชน์และส่งผลดีต่อเกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย สถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้จัดหาปุ๋ยสั่งตัดโดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาผลิตปุ๋ยสั่งตัดที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพดินหรือชุดดินของแต่ละรายเกษตรกร รายพื้นที่ พร้อมส่งจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไปในราคาย่อมเยา ขณะนี้มีสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ยื่นความประสงค์ที่จะกู้เงินเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดแล้วกว่า 150 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรที่มีความตื่นตัวและสนใจหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัดเพิ่มมากขึ้น คาดว่า ในปี 2562 โครงการฯจะเดินหน้าได้เต็มรูปแบบและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เพื่อการวิเคราะห์ธาตุอาหาร เกษตรกรอาจทำไม่ทันเพราะดินแฉะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนที่ชุดดินและข้อมูลการวิเคราะห์ชุดดินระดับตำบลไว้แล้ว จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการคำนวณหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับพืชหลัก เกษตรกรแต่ละพื้นที่สามารถที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวมาปรับหรือเป็นแนวทางใช้ปุ๋ยสั่งตัดระดับตำบลได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปต้องเก็บตัวอย่างดินวิเคราะห์รายแปลงเพื่อหาสูตรปุ๋ยสั่งตัดเฉพาะเจาะจงรายแปลงซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

“โครงการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรให้เหมาะสม เน้นให้เกษตรกรหันมาใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือชุดดิน และตรงตามความต้องการของพืช สามารถช่วยแต่งเติมการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังได้ปุ๋ยสูตรที่มีอาหารพืชเหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเกษตรกรต้องมีการวิเคราะห์ดินรายแปลงเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้เหมาะสมกับดินและตรงชนิดพืช อนาคตคาดว่า ปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ กระสอบละ 100-300 บาท หรือตันละ 3,000-4,000 บาท หรือไม่น้อยกว่า 500 บาท/ไร่ และยังทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นด้วย”นางสาวดุจเดือน กล่าว

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

รมว.เกษตรฯ สั่งตรวจเขื่อนทั่วประเทศ

รมว.เกษตรฯ สั่งตรวจสอบเขื่อนทั่วประเทศ ขณะที่อธิบดีกรมชลฯ ยืนยันเขื่อนไทยมั่นคงและแข็งแรง มีระบบบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม และมีแผนบำรุงรักษาตลอดทั้งปี

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำชับอธิบดีกรมชลประทานตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ แม้กรมชลประทานจะมีเครื่องมือติดตามสถานการณ์เขื่อน รวมถึงแผนตรวจรอบเขื่อนและแผนบำรุงรักษาตลอดทั้งปีแล้ว ก็ขอให้อย่าประมาทเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นที่ประเทศลาว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขอให้คนไทยมั่นใจในความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่กรมชลประทานดูแล โดยเขื่อนขนาดใหญ่ 25 แห่ง เขื่อนขนาดกลาง 478 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็ก 1,097 แห่ง ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ติดตั้งเครื่องมือติดตามพฤติกรรมเขื่อน (Dam Instrument) ทุกแห่ง เครื่องมือดังกล่าวจะตรวจสอบการเคลื่อนตัวของเขื่อน ปริมาณน้ำที่ซึมออกมาท้ายเขื่อนว่าเกินเกณฑ์หรือไม่ เป็นเครื่องมือที่ทำงานอัตโนมัติรายงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา (Real Time) นอกจากนี้ ยังมีแผนการตรวจสอบเขื่อนประจำปีเป็นการเดินสำรวจรอบเขื่อน ซึ่งกำหนดว่าช่วงใดต้องตรวจสอบส่วนใดบ้าง ซึ่งฤดูฝนจะเพิ่มความถี่ของการตรวจมากขึ้น อีกทั้งหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีการตรวจซ้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ หากตรวจพบว่ามีส่วนใดชำรุด กรมชลประทานจะเร่งซ่อมแซมทันที

นอกจากนี้ ยังมีแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยให้เก็บกักไม่เกินเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve) โดยเฉลี่ยจะไม่ให้มากกว่าร้อยละ 70 ของความจุอ่าง เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอรองรับฝนที่จะตกลงมาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนด้วย

สำหรับเขื่อนที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ได้แก่ เขื่อนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดูแล เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่โอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บริหารจัดการนั้น กรมชลประทานได้ให้คำแนะนำทางเทคนิคในการรักษาความมั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ

ส่วนกรณีคันดินอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จังหวัดสกลนคร ยุบตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนั้น ไม่ใช่เกิดจากการแตกแบบเขื่อนในลาว แต่เป็นเพราะมีฝนตกปริมาณมาก คันดินถูกน้ำเซาะจนน้ำล้น ซึ่งจากเหตุการณ์นี้กรมชลประทานได้กำชับทั้งเรื่องการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมทุกเขื่อน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกหรือเขื่อนพังแน่นอน

จาก www.mcot.net   วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

ภาคปชช.เตรียมหารือ 7 ส.ค.หนุนร่างกม.พัฒนาเกษตรยั่งยืน หลังพบอุตสาหกรรมค้านสุดตัว

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน  โดยอยู่ในขั้นตอนการเปิดให้ประชาชนในแต่ละภาคได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันเสนอไห้มีการยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภายในปี 2564 มีเกษตรแบบยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12  โดยมีการขับเคลื่อนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร แต่ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกลับพบว่าภาคอุตสาหกรรมผู้ค้าสารเคมี ซึ่งบางคนอ้างว่าเป็นตัวแทนของเกษตรกร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในหนังสือมีใจความหลักๆ 3 ข้อ คือ 1. อ้างว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะไม่นำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ของรัฐบาล 2.จะไม่นำพาเกษตรกรไทยให้ก้าวหน้า และ3. อ้างว่าพ.ร.บ.จะทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์ โดยจากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มที่คัดค้านส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีการคัดค้านไม่ให้มีการแบนสารพาราควอตและสารเคมีอีก 2ชนิดตามมติของ 5 กระทรวงหลัก ที่นำโดยกระทรวงสาธารณสุข

“แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการที่คนพวกนี้ไม่ต้องการให้มีเกษตรแบบยิ่งยืนก็เพื่อหวังผลประโยชน์แก่ตัวเอง ดังนั้นในส่วนของภาคประชาชนจะมีการหารือร่วมกันและแถลงข่าว ในวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อสนับสนุนการยกร่างกฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรโดยรวม และสะท้อนกลับไปยังบริษัทอุตสาหกรรมว่าการคัดค้านไม่ได้มีน้ำหนักอะไรเลย และแสดงให้ประชาชนเห็นว่าคนกลุ่มเหล่านี้ต้องการมีผลประโยชน์อย่างไร” นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

บีบีจีไอเร่งกำลังผลิตเอทานอล-ไบโอดีเซลแตะ2ล้านลิตร/วัน

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยแผนธุรกิจว่า บริษัทบีบีจีไอ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบางจาก และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น อยู่ในขั้นตอนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งปี 2562 บริษัทเตรียมเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลเพิ่มอีก 3 แสนลิตรต่อวัน เป็น 8 แสนลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตเอทานอล 5 แสนลิตรต่อวัน โดยมีแผนใช้เงินสดเพื่อเพิ่มการผลิตตัว 1 แสนลิตร อีก 2 แสนลิตรจะใช้วิธีระดมทุนในตลท. และในอนาคตตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตเอทานอลเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน เช่นเดียวกับไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.3 แสนลิตร/วัน

สำหรับความต้องการใช้เอทานอลทั้งประเทศอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน กำลังการผลิตอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน อัตราการเติบโตอยู่ที่ 6-7% ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันกลุ่มแก๊ซโซฮอล์ อี20 และ อี85 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยมีอัตราการเติบโต 4-5% ขณะที่ไบโอดีเซล หรือบี100 คาดสิ้นปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น  7 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

ห่วง บ.ยักษ์ใหญ่ค้านโละ "พาราควอต"

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหาการกำหนดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและแมลงพาราควอต ครอไพรีฟอส และไกลโฟเสท เพราะยังไม่สามารถห้ามการใช้และห้ามการนำเข้าได้ และจากข้อมูลของเครือข่ายต้านสารพิษ และ bioth

พบว่าขณะนี้มีการกระทำบางอย่างของทางกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่รวมตัวทำหนังสือส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสานเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรธรรมชาติ เป็นต้นให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเพื่อให้สอดคล้องกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแน่นอนว่า ซึ่งการคัดค้านดังกล่าว จะรวมไปถึงการไม่เห็นด้วยที่จะแบนการนำเข้าสารเคมีพาราควอตเช่นกัน

 “การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนานทำให้ดินหมดความสามารถในการดูดซับและในที่สุดก็ต้องปล่อยให้สารเคมีละลายในน้ำ เข้าไปในพืชล้างไม่ออกและยังเข้าไปในอาหารเมื่อคนกินไปนานก็เกิดโรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง และบริษัทที่ขายสารเคมีก็ยังผลิตยาฆ่ามะเร็ง ได้กำไรครบวงจร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

ไทยอาจฟ้องปากี-อินเดียต่อ WTO ฐานอุดหนุนน้ำตาล

 สอน.เตรียมส่งปลัดอุตฯ พิจารณาฟ้องปากีและอินเดียต่อ WTO ฐานอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลจนส่งผลกระทบไทย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า  การเดินทางไปร่วมสังเกตุการณ์ประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำตาลโลก หรือ GSA กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลียและบราซิลแจ้งว่าจะร่วมกันฟ้องร้องประเทศปากีสถานและอินเดียต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพราะจากการศึกษานโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว พบว่ามีการอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยอุดหนุนทั้งภายในประเทศและอุดหนุนการส่งออก ซึ่งขัดกับข้อตกลง WTO ซึ่งในส่วนของไทย สอน.ในฐานะหน่วยงานดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีความเห็นว่า หากข้อมูลที่บราซิลและออสเตรเลียถูกต้องเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายการผิดข้อตกลงทางการค้าแน่นอนและจะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น สอน.จะสรุปความเห็นนำเสนอนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาต่อไป ส่วนการจะฟ้องร้องประเทศปากีสถานกับอินเดียต่อ WTOหรือไม่ เป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณารายละเอียดต่อไป

สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยปีนี้หรือฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 สามารถสร้างสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย ทั้งด้านยอดผลผลิตอ้อยในภาพรวมทั่วประเทศ ด้วยยอดผลผลิตถึง 135 ล้านตันอ้อย สามารถส่งเข้าหีบอ้อยแปรรูปเป็นน้ำตาลมากถึงประมาณ 14 ล้านตัน ในภาวะที่ขณะนี้น้ำตาลตลาดโลกเกินความต้องการถึง 6 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาน้ำตาลดิบล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 11 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ต้นทุนโรงงานไทยอยู่ในช่วงประมาณ 15-16เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้น เมื่ออินเดียและปากีสถานยังคงอุดหนุนและส่งออกน้ำตาลมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลล้นตลาดโลกมากขึ้นกดดันราคาลดลงไปอีก ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยไม่อาจทนรับภาวะขาดทุนได้ หากราคาน้ำตาลตกต่ำต่อเนื่องระยะเวลานาน

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

BBGI เล็งต่อยอดผลิตสินค้าชีวภาพรู้ผลปลายปีนี้

BBGI ทุ่มลงทุนกว่า 1.55 พันล้านบาท ขยายกำลังผลิตเอทานอล-ไบโอดีเซล และต่อยอดผลิตสินค้าชีวภาพ รู้ผลปลายปีนี้จะลงทุนผลิตภัณฑ์ตัวใดบ้าง ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท/โครงการ ด้าน เคเอสแอลชี้ราคาอ้อยขั้นปลายอาจได้ราว750-800 บาท/ตัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เปิดเผยว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้ของบริษัทในปีนี้เพิ่มขึ้น 60% มาที่ระดับ 11 ล้านตันอ้อย จากระดับ 6.8 ล้านตันอ้อยในปีที่แล้ว สอดคล้องกับปริมาณอ้อยทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นระดับสูงสุดประวัติการณ์ที่ 135 ล้านตันอ้อย จาก 94-96 ล้านตันอ้อยในปีที่แล้ว  ทำให้ปีนี้บริษัทจะน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านตัน ส่วนใหญ่ราว 80% เป็นการส่งออก โดยแนวโน้มรายได้รวมงวดปี 60/61 (พ.ย.60-ต.ค.61)จะใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับลดลงจากปีก่อน

          “ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกขณะนี้อยู่ราว 11-12 เซนต์/ปอนด์ แต่คาดว่าทั้งปี ราคาจะเฉลี่ย ราว 40% มาอยู่ที่เฉลี่ย 14-15 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งราคาขายน้ำตาลของบริษัทก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากตลาดที่โอเวอร์ซัพพลายตามปริมาณอ้อยที่มากจากภาวะฝนที่ดี ส่วนรายได้เกษตรกรจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น แม้ราคาอ้อยอาจตกต่กที่ขั้นปลายอาจได้ 750-800 บาท/ตัน ก็จะทำให้รายได้โดยรวมไม่ลดลง” นายชลัช กล่าว

          สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทในปีนี้จะมาจากธุรกิจน้ำตาลราว 85% และธุรกิจไฟฟ้าราว10%ส่วนที่เหลือเป็นอื่น ๆ ขณะที่เอทานอล ได้เปลี่ยนการรับรู้จากเดิมจะบันทึกอยู่ในงบการเงินรวม ก็จะมาเป็นการรับรู้ส่วนแบ่งกำไร หลังจากที่นำธุรกิจเอทานอล ไปควบรวมกับธุรกิจชีวภาพของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ภายใต้ชื่อ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) โดย KSL ถือหุ้น 40% และ BCP ถือหุ้น 60% ส่วนธุรกิจไฟฟ้าปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ระดับ 250-270 เมกะวัตต์ โดยเป็นการขายไฟฟ้าเข้าระบบราว 50 เมกะวัตต์ ขณะที่อีกประมาณ 200 เมกะวัตต์จะใช้ในโรงงานน้ำตาลกลุ่มบริษัท

        “  BBGI เตรียมแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนกำหนดเวลาจะเป็นเมื่อใดจะเป็นไตรมาส4/61 หรือ ปี 2652 ก็ต้องรอขั้นตอนอนุมัติ รวมถึงต้องดู ภาวะตลาดฯหากเป็นในภาวะตกต่ำ ก็คงจะเหงาหงอย”  นายชลัช กล่าว

            นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BBGI เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุน 1.55 พันล้านบาท รองรับแผนการขยายธุรกิจเอทานอลเป็น 8 แสนลิตร/วัน จาก 5 แสนลิตร/วันในปัจจุบัน และขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล (B100) เป็นระดับ 1 ล้านลิตร/วัน จาก 9.3 แสนลิตร/วันในปัจจุบัน โดยการขยายกำลังผลิตดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 62

           นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (High Value Products) ในอนาคต ทางด้านธุรกิจเอทานอล, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Based)  ศึกษาร่วมกับสถาบันวิจัยทั่วโลกทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น สหาภาพยุโรป เกาหลีใต้ เพื่อตอบโจทย์เรื่องการช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง เพื่อต่อยอดงานวิจัยในด้านเพาะเลี้ยงสาหร่ายเพื่อผลิตสารสกัดมูลค่าสูง (Astraxantin) เป็นอาหารเสริมและเครื่องสำอาง บริษัทคาดว่าจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีความชัดเจนต่อแผนลงทุนของผลิตภัณฑ์ได้ในสิ้นปี เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อผลิตภัณฑ์ และใช้เวลาลงทุนสร้างโรงงานจนมีผลผลิตออกมาน่าจะใช้ระยะเวลาราว 3 ปี

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

BBGI สยายปีกรุกธุรกิจชีวภาพ ทุ่ม 1.5 พันล้านขยายเอทานอล-ไบโอดีเซล

บีบีจีไอสยายปีกรุกธุรกิจชีวภาพ นำวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตรต่อยอดผลิตไบโอพลาสติก และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แย้มมีความชัดเจนในครึ่งหลังปีนี้ พร้อมทุ่มงบกว่า 1.5 พันล้านบาทขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล เสร็จปลายปี 2562

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)(BBGI) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ติดต่อกับหน่วยงานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศพื่อหาเทคโนโลยีต่อยอดไปธุรกิจชีวภาพ ( Bio-Based) โดยจะนำวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตร เช่น ชานอ้อย ฟางข้าว หรือซังข้าวโพด มาผลิตไบโอพลาสติก ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริม ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก คาดว่าในครึ่งปีหลังนี้จะมีความชัดเจนการลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 1.55 พันล้านบาท โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตเอทานอลจากเดิม 5 แสนลิตร/วัน เป็น 8 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2562 หลังจากนั้นจะพิจารณาการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่มเติมเพื่อให้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 1 ล้านลิตร/วัน ส่วนไบโอดีเซล ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตอยู่ 9.3 แสนลิตร/วัน ก็จะดำเนินการขยายคอขวด (Debottleneck) เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านลิตร/วัน

แม้ว่ากระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเข้ามารุกตลาด แต่คงไม่เร็วนัก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้า หากรัฐไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล B7 และ B20 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เชื่อว่าความต้องการใช้ไบโอดีเซล และเอทานอลยังเติบโตขึ้น ทำให้แผนการขยายกำลังการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลดังกล่าวข้างต้นช่วยลดปัญหาการขาดแคลนได้

ด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีบีจีไอได้ยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 216.60 ล้านหุ้นให้แก่นักลงทุนทั่วไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในราวไตรมาส 4/2561

ทั้งนี้ บีบีจีไอเกิดจากการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบางจากกับกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น โดยบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ถือหุ้น 60% และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) ในสัดส่วน 40% โดยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพครบวงจรรายแรกของประเทศที่ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล มันสำปะหลัง และไบโอดีเซลจากปาล์ม โดยมีปริมาณการผลิตใหญ่มากที่สุดในประเทศรวม 1.4 ล้านลิตร/วัน และปลายปี 2562 จะเพิ่มเป็นเกือบ 2 ล้านลิตร/วัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

"อุตตม" เผยผล กรอ. ให้ตั้งคณะทำงานร่วม 4 กระทรวง ศึกษาคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบพื้นที่อีสานใต้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ (จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) ได้เห็นด้วยในหลักการศูนย์กลางนวัตกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (Innovative Food -Processing Hub) ในพื้นที่อีสานใต้ ที่อุทยานวิทยาศาสาตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมกับกลุ่มจังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ และหน่วยงานภาคี ภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการเงิน ผลักดันให้เกิดโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร (Pilot Plant) ที่สามารถแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม/นํ้าผลไม้ และเครื่องสำอาง

ซึ่งโรงงานต้นแบบนี้จะให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการเพื่อผลิตสินค้าต้นแบบในการทดสอบตลาด โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเชื่อมโยงโรงงานต้นแบบแห่งนี้เข้ากับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรแปรรูป ที่คาดว่าโครงการความร่วมมือนี้จะสามารถสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย ยกระดับเอสเอ็มอีรายเก่าได้มากกว่า 1,000 ราย และเกิดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม กรอ. ให้เร่งศึกษาเกษตรอุตสาหกรรมโดยเร็วที่สุด และกำหนดเป้าหมายการผลิตตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก จึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะประชุมร่วมกันครั้งแรกภายในเดือนนี้ เพื่อบูรณาการยกระดับกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ ให้เป็นกลุ่มธุรกิจ หรือคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยให้ศึกษาด้านการสนับสนุนการขยายตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ การรับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออก การนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูป และหาแหล่งเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายอุตตมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือกับเอกชนในพื้นที่อีสานใต้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้ผลักดันพื้นที่อีสานใต้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งที่ 4 ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ในการพัฒนาเป็นไบโอฮับ (Bio Hub) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ เน้นการเชื่อมโยงภาคเกษตรอินทรีย์สู่ภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ พื้นที่อีสานใต้มีความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio economy) ที่มีแหล่งวัตถุดิบ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา รวมกว่าปีละ 4 ล้านตัน และผู้ประกอบการมีศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารออแกนิค (Organic Food Ingredient) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สารให้ความหวานอินทรีย์ แป้งดัดแปลงอินทรีย์ (Organic Modified Starch) และอาหารที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น ผังเมือง การนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลน รวมถึงการนำระบบเกษตรอัจริยะ (Smart Farming) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้โครงการฯ ตามข้อเสนอเบื้องต้นของ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง ที่ต้องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท และจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท

จาก www.thansettakij.com วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

บีบีจีไอลุยธุรกิจไปโอฟิลครบวงจรรายแรก

BBGI เดินหน้าผลิตไบโอฟิลครบวงจรรายแรก ระบุเตรียมขยายกำลังผลิตเอทานอลสู่เป้า1 ล้านลิตรต่อวันอนาคต และไบโอดีเซล 1 ล้านลิตรต่อวันในปี62 เหตุนโยบายรัฐส่งเสริมแก๊สโซฮอล์

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด(มหาชน)​หรือ BBGI  เปิดเผยว่า  BBGI ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเอทานอลให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีกำลังผลิต อยู่ 5 แสนลิตรต่อวัน โดยระยะแรกจะขยับขึ้นไปเป็น 8 แสนลิตรต่อวัน ภายในสิ้นปี 2561 นี้ โดยใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายเพิ่มเป็น 1 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ยังต้องรอดูความต้องการใช้ในประเทศว่าจะสามารถเพิ่มจากปัจจุบันที่  4.5 ล้านลิตรต่อวันแค่ไหน และถ้ารัฐอนุญาตให้นำน้ำอ้อยมาผลิตเอทานอลได้  บริษัทฯ มีความพร้อมจะขยายกำลังการผลิตเป็น 1 ล้านลิตรต่อวันได้ทันที

ส่วนไบโอดีเซลได้ตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2562 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 9 แสนลิตรต่อวัน 

ทั้งนี้หากนับรวมกำลังการผลิตทั้งไบโอดีเซลและเอทานอลในปัจจุบันได้ 1.4 ล้านลิตรต่อวัน นับเป็นกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ(ไบโอฟิล)​ ครบวงจรและปริมาณมากสุดในประเทศ โดยผลิตได้จากกากน้ำตาล มันสำปะหลัง และไบโอดีเซลจากปาล์ม

โดยสาเหตุที่บริษัทฯ ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากเห็นว่าภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนการใช้เอทานอลผ่านการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทั้งโซฮอล์E 20 และE 85 รวมถึงการใช้ไบโอดีเซลผ่านการจำหน่ายน้ำมันไบอดีเซล B7สำหรับรถทั่วไป และB20 สำหรับรถบรรทุก รถสาธารณะ เป็นต้น  ซึ่งในอนาคตหากผลการทดสอบให้ใช้B10 สำหรับรถทั่วไปใช้ได้ จะทำให้ความต้องการใช้สูงขึ้น  ซึ่งบริษัทฯ ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ที่มากขึ้นในอนาคต ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในอนาคตได้

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด(มหาชน)​หรือ BBGI กล่าวว่า ในอนาคตเทคโลโลยีรถยนต์ไฟฟ้า(EV)​จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการจำหน่ายน้ำมันและการใช้เอทานอลรวมถึงไบโอดีเซลได้  ดังนั้นในขณะนี้ บริษัทฯได้เตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเตรียมต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ไปสู่ธุรกิจใหม่ คือ สินค้าไบโอเบส หรือการนำพืชผลทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก  ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและอาหารเสริม เป็นต้น  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยี ซึ่งต้องสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟอสซิลเบสได้ และคุณภาพต้องไม่แตกต่างกัน โดยสิ้นปี61 จะสรุปความชัดเจนได้

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

ครม.อนุมัติแผนพัฒนาแหล่งน้ำอีสานตอนล่าง 2

 ครม.อนุมัติแผนพัฒนาแหล่งน้ำอีสานตอนล่าง 2 ยกระดับเป็นเกษตรอินทรีย์ 1 ล้านไร่ ภายในปี 2564

พลโทสรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เสนอให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 40 โครงการ ประกอบด้วย แก้มลิง 25 โครงการ อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ ฝาย 3 โครงการ การสูบน้ำด้วยระบบโซล่าเซล 3 โครงการ และระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ 1 โครงการ แต่บางโครงการมีการทับซ้อนกัน จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง หากโครงการใดไม่มีการทับซ้อนเชิงพื้นที่ก็จะอนุมัติให้ดำเนินการได้

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนการยกระดับพืชผลและการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร ซึ่งกลุ่มจังหวัดตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ จากเดิม 170,000 ไร่ เป็น 1 ล้านไร่ ภายในปี 2564 รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตามที่กลุ่มจังหวัดขอรับการสนับสนุน ทั้งการสร้างโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าเกษตรใน 3 กลุ่ม คือ แปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มและเครื่องสำอาง การก่อสร้างอาคารวิจัยพัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตร การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ของเกษตรอินทรีย์ ด้วยการขยายตลาดการค้า มีการรับรองมาตรฐานสินค้าในพื้นที่ เพื่อให้สะดวกต่อการส่งออกกาค้าชายแดน แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมแบบชีวภาพ ด้วยการประกาศให้เป็นพื้นที่ไบโออินทรีย์

พลโทสรรเสริญ  กล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังอนุมัติหลักการการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นศูนย์กลางการรับผู้ป่วยและเห็นชอบให้ขยายการตั้งศูนย์ย่อยของโรงพยาบาลที่มณฑลทหารบกที่ 22  โดยเน้นการดูแลรักษาโรคทั่วไปก่อน ขณะเดียวกันส่งเสริมการดำเนินงานศูนย์แผนแพทย์ไทยครบวงจรในพื้นที่อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ แต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงเห็นชอบให้ตั้งศูนย์ย่อยในเขตตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสะดวกต่อการมาใช้บริการ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังอนุมัติหลักการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดฯ โดยให้เพิ่มมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และตั้งเป้าหมายเพิ่มการประชาสัมพันธ์จุดขายของแต่ละจังหวัด ชูเอกลักษณ์ที่สำคัญ โดยจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนา จังหวัดศรีสะเกษเน้นท่องเที่ยวเชิงกีฬา จังหวัดยโสธรเน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณีและจังหวัดอำนาจเจริญ ให้เป็นเมืองแห่งศาสนา.

จาก www.mcot.net  วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

ครม.ไฟเขียวสารพัดโครงการพัฒนาศก.-สังคมในอีสานตอนล่าง5ด้าน

ครม.สัญจร เห็นชอบโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อีสานตอนล่าง 5 ด้าน พัฒนาแหล่งน้ำ สร้างมูลค่าผลผลิตการเกษตร

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวได้มีการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และการแก้ปัญหาอุทกภัย 2.ยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร 3.การพัฒนาคุณภาพชีวิต 4.พัฒนาการท่องเที่ยว และ 5.พัฒนาด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์

ส่วนที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ปัญหาอุทกภัย ทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ได้ขอรับการสนับสนุนดังนี้

1. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 40 โครงการ ประกอบด้วย แก้มลิง 25 โครงการ, อาคารบังคับน้ำ 8 โครงการ, ฝาย 3 โครงการ, สูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ 3 โครงการ และระบบส่ง-กระจายน้ำ 1 โครงการ

2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย 5 โครงการ ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำ 4 โครงการ และระบบการระบายน้ำและบริหารจัดการน้ำ 1 โครงการ

3.ขอให้ศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการศึกษาความเหมาะสมทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูล เพื่อบรรเทาอุทกภัย.จ.อุบลราชธานี 2) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยัง และลำน้ำชีตอนล่าง (พื้นที่ร้อยเอ็ด, ยโสธร) 3) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลาเซบาย 4) โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและเพื่อพื้นที่ชลประทานลาเซบก 5) โครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองยโสธร

ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2557-2561 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในกลุ่มจังหวัดนี้ไปแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และตั้งงบประมาณไว้ในปี 2562 อีก 2,000 ล้านบาท โดยกลุ่มจังหวัดนี้มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 20 ล้านไร่ และมีพื้นที่การเกษตรมากถึง 13 ล้านไร่ แต่กลับพบว่ามีพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 1.4 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งในพื้นที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าวหอมมะลิ อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก ผลไม้ และสมุนไพร จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวจากรัฐบาล

ส่วนที่ 2 การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร เนื่องจากในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 มีพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) และเกษตรอินทรีย์ประมาณ 179,000 ไร่ ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 5,000 ราย และมีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 2564 แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตรดังนั้นจึงขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปสู่การเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประกอบการ Start up และ SMEs โดยสร้างโรงงานเพื่อให้บริการแปรรูปสินค้าเกษตร 3 ประเภท ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง

2. โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์โดยขอรับการสนับสนุนการขยายตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์, ระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เพื่อการส่งออก, การนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับการรวบรวมผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์

3. ขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่ โดยประกาศให้เป็นพื้นที่ Bio Hub ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ส่วนที่ 3 การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.2 ล้านคน และมีที่ตั้งของโรงพยาบาลศูนย์ที่ จ.อุบลราชธานี แต่ยังประสบปัญหาความแออัด ไม่สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงขอรับการสนับสนุนดังนี้

1) โครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดยจะขอใช้พื้นที่ 200 ไร่ ของมณฑลทหารบกที่ 12 เพื่อตั้งโรงพยาบาลศูนย์ย่อย คาดใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

2) ขอรับการสนับสนุนศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร บริการคลินิกแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ รักษา และฟื้นฟู ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพด้านการแพทย์แผนไทย ศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย

3) ขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดมโดยจัดบริการห้องผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก ตา ระบบทางเดินปัสสาวะ และศัลยกรรมทั่วไป

ส่วนที่ 4 พัฒนาด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากบุคลากรด้านการท่องเที่ยวยังขาดมาตรฐานและศักยภาพที่จะพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนขาดการประชาสัมพันธ์ว่าในแต่ละพื้นที่มีจุดขายด้านการท่องเที่ยวอย่างไร จึงได้ขอรับการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวดังนี้ จ.อุบลราชธานี พัฒนาให้เป็นศูนย์การเชื่อมโยงกับประเทศลุ่มน้ำโขง และพุทธศาสนา , จ.ศรีสะเกษ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกีฬา, จ.ยโสธร พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี และ จ.อำนาจเจริญ พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา

ส่วนที่ 5 พัฒนาด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ได้มีการขอรับการสนับสนุนโครงข่ายคมนาคมทางถนน ทางราง และทางอากาศที่สำคัญดังนี้ 1.การปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 2169 ตอนยโสธร-เลิงนกทา เพื่อเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจเชื่อมต่อกับมุกดาหาร และมีโครงข่ายเชื่อมโยงสายหลักไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 โดยขอขยายเป็น 4 ช่องจราจร 2.ปรับปรุงถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานีฝั่งตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 231 ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและเดินทางสู่ด่านชายแดนช่องเม็ก โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจร 3.การศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ระยะทาง 1 กม. มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะได้มีการเจรจาทำข้อตกลงกับ สปป.ลาวต่อไป

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางราง ขอให้เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ-ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในปี 2563 รวมทั้งเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา.เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ จะมีการพัฒนาสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี โดยขยายหลุมจอดเพิ่มเป็น 10 หลุม จากปัจจุบัน 5 หลุม คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 การเพิ่มสะพานเทียบพร้อมส่วนต่อเติมเป็น 4 จุด จากปัจจุบัน 2 จุด การปรับปรุงและต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งจะรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเป็น 2,000 คน/ชม. จากปัจจุบัน 1,000 คน/ชม. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565-2567 รวมทั้งการก่อสร้างอาคารจอดรถ 4 ชั้น

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 24 กรกฎาคม 2561

กรอ.ผลักดันโรงงานอัจฉริยะ อัดมาตรการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) มากขึ้น ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เตรียมแผนส่งเสริมสถานประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาผ่านระบบออนไลน์ โดยจะมุ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในการลดขั้นตอนการพิจารณา-อนุมัติ กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน โดยในเบื้องต้น ได้ตั้งเป้าให้การดำเนินการต่างๆ เหลือระยะเวลาในการจัดการเพียง 3-10 วัน

2.ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนเพื่อขยายการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยทางกรมให้การส่งเสริม อาทิ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การยกเว้นภาษีหรือออกสิทธิพิเศษเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน เป็นต้น

3.ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Big Data) เพื่อกำกับดูแลกระบวนการกำจัดของเสียจากโรงงานให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 4.เสริมการจัดการด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพประหยัดพลังงาน ให้กับผู้ประกอบการ

5.ระบบ Monitoring ครบวงจร โดยทางกรอ.ได้จัดทำระบบการกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมคุณภาพอากาศ น้ำ ดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกินค่ามาตรฐานจากการประกอบกิจการ

นอกจากนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเร่งดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมก้าวสู่

Smart Factory อย่างเต็มรูปแบบผ่าน 7 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry 2.โครงการนำร่องการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำ 3.อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industry Town

4.โครงการขับเคลื่อน Factory 4.0 5.โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 6.โครงการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลแก่โรงงานอุตสาหกรรม 7.โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี กรอ.คาดว่าจะสามารถยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory ได้กว่า 1,000 โรงงาน

จาก www.naewna.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยคณะทำงาน CPTPP เตรียมนัดหารือครั้งที่ 2 เดือน ส.ค.นี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยคณะทำงาน CPTPP เตรียมนัดหารือครั้งที่ 2 เดือนสิงหาคมนี้ พร้อมเตรียมเดินสายรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ รับต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ด้านเวที RCEP ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ พร้อมเปิดวาระพิเศษรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ของไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร มีวาระพิเศษ 2 ช่วง ที่เปิดให้หัวหน้าคณะเจรจา RCEP จาก 16 ประเทศ ได้พบกับผู้แทนภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของ RCEP รวมแล้วกว่า 40 องค์กร โดยมีผู้แทนภาคประชาสังคมของไทยเข้าร่วมด้วย อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในช่วงบ่ายของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่อการเจรจา RCEP ในหลากมิติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส

ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนนโยบายที่ได้รับจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เน้นการหาตลาดและช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าของไทย เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) กว่า 20 ราย ได้นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและจำหน่ายให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,000 คน จาก 16 ประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตร หัตถกรรม และ GI ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมให้ได้เห็นศักยภาพสินค้าไทย และขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้ กรณีที่มีภาคประชาสังคมแสดงความกังวลต่อการที่ไทยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 25 หน่วยงาน ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งได้มีการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 มีมติมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และจัดหารือรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ และต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561

อีกทั้ง กรมฯ ยังเตรียมจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนสิงหาคม- กันยายน 2561 โดยจะเชิญผู้แทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมขึ้นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ ข้อกังวล มาตรการเยียวยาที่ต้องการจากรัฐบาลหากไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งกรมฯ จะรวบรวมความเห็นของทุกภาคส่วน เป็นข้อมูลเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยยังมีเวลาในการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะกว่าความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ และเปิดรับสมาชิกใหม่ คาดว่าจะประมาณช่วงต้นปี 2562

ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้จัดจ้างสถาบันวิจัย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอก ที่มีความเป็นกลาง ดำเนินการศึกษาผลประโยชน์ ผลกระทบ ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วม CPTPP เพิ่มเติมจากที่เคยจ้างศึกษาไว้แล้วเมื่อครั้งยังเป็นความตกลง TPP ซึ่งมีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้น พบว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในการขยายการค้า การลงทุน ได้เพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่ภาคประชาสังคมมีความกังวล เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ในการเจรจาจะยึดหลักการบนพื้นฐานของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (TRIPs) รวมทั้งความยืดหยุ่นที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับ โดยเฉพาะในส่วนของการสาธารณสุข การเข้าถึงยาของประชาชน วิถีชีวิต วัฒนธรรมของเกษตรกร ตลอดจนสิทธิพลเมือง และสิทธิส่วนบุคคล และในส่วนของประเด็นการคุ้มครองการลงทุนของ CPTPP ได้รับการยืนยันจากสมาชิก CPTPP ว่ารัฐบาลของสมาชิก CPTPP ยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป สำหรับในส่วนของการเจรจา RCEP ไม่มีประเทศใดผลักดันเรื่องนี้ในการเจรจา โดยรัฐบาลยังคงสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความมั่นคง และผลประโยชน์สาธารณะได้ตามที่เห็นสมควรเช่นกัน

ส่วนประเด็นข้อกังวลอื่นๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในกรอบ CPTPP ไม่มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ในกรอบ RCEP ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเจรจาเช่นกัน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้าง และการจัดบริการของภาครัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ และพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ กรมฯ พร้อมรับฟัง และหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องผลประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายประกอบการตัดสินใจต่อไป โดยในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่ประชุม RCEP ตกลงให้ประเด็นนี้เป็นเพียงความร่วมมือระหว่างสมาชิกเท่านั้น

“กรมฯ ยืนยันว่า ในการเจรจา FTA ทุกกรอบ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และในการจัดทำหนังสือสัญญาที่จะมีผลผูกพันประเทศไทยในอนาคต ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ CPTPP เป็นเรื่องที่ไทยสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซึ่งยังมีเวลา เพราะกว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบัน คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2562 ทำให้ไทยยังมีเวลาศึกษาผลดี ผลเสียอย่างรอบด้าน ส่วนความตกลง RCEP ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หากการเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้ กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการขอความเห็นชอบการลงนามจากรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต่อไป” นางอรมนกล่าว

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กรอ.เร่งระบบติดตามกากขยะโรงงานทั่วไทย

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งยกระดับโรงงานไทยให้ก้าวสู่ Smart Factory คาดว่าภายใน 5 ปี จะสามารถยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ได้ กว่า 1,000 โรงงาน

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อยกระดับการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้มีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติเป็น Smart Factory มากขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2561-2562 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เตรียมแผนส่งเสริมสถานประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ รวมถึงพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่

-ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาผ่านระบบออนไลน์ โดยจะมุ่งสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในการลดขั้นตอนการพิจารณา-อนุมัติ กระบวนการขออนุญาต การต่ออายุ หรือแม้กระทั่งการขยายโรงงาน ที่แต่เดิมกระบวนการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน ทั้งนี้ กรอ.จะนำระบบดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาช่วยควบคุมทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมั่น และการเข้าถึงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของ กรอ.ในแบบเรียลไทม์ รวมถึงลดข้อผิดพลาดในงานเอกสารที่อาจเกิดขึ้น โดยในเบื้องต้น ได้ตั้งเป้าให้การดำเนินการต่างๆ เหลือระยะเวลาในการจัดการเพียง 3-10 วัน

-ผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่วนสนับสนุนเพื่อขยายการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะให้การส่งเสริม อาทิ การปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การยกเว้นภาษีหรือออกสิทธิพิเศษเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงิน การร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดทำมาตรการรองรับด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เช่น การกำจัดแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วในกลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต การกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและความรู้ด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

-ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม 4.0 โดยจะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Big Data) เพื่อกำกับดูแลกระบวนการกำจัดของเสียจากโรงงานให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ กรอ.ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำฐานข้อมูลการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมให้เป็นระบบเดียวกัน พร้อมกับพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อติดตามดูแลการกำจัดขยะอุตสาหกรรมในโรงงานทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือ Auto E-license โดยมั่นใจว่าจะช่วยให้กระบวนการทำงานด้านดังกล่าวมีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ กรอ.ยังจะเร่งทบทวนกฎหมาย หรือกฎระเบียบบางประการที่ยังเป็นช่องโหว่ และอุปสรรคของการรีไซเคิลหรือกำจัดขยะอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ภาคสังคม ชุมชน และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

-เสริมการจัดการด้านพลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพประหยัดพลังงาน ภายในปี 2561-2565 กรอ.จึงมุ่งที่จะยกระดับโรงงานให้มีการใช้ระบบ Smart Boiler หรือหม้อน้ำอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้ได้กว่า 13,000 เครื่องหรือประมาณ 7,840 โรงงาน ซึ่งการสนับสนุนด้านดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในภาพรวมได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้ลดการปลดปล่อยมลภาวะ ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยดีขึ้น

-ระบบ Monitoring ครบวงจร กรอ.ได้จัดทำระบบการกำกับดูแล ติดตาม และควบคุมคุณภาพอากาศ น้ำ ดิน และน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกินค่ามาตรฐานจากการประกอบกิจการ โดยมีตัวอย่างเช่น ระบบ BOD Online ที่จะคอยเตือนระดับค่าน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งธรรมชาติ ระบบ CEMs หรือ ระบบการการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายความร้อน ฯลฯ โดยระบบเหล่านี้จะทำการตรวจสอบ ประมวลผล และรายงานผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการรายงานตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะพัฒนาให้การทำงานของระบบให้ครบวงจร มีประสิทธิภาพการส่งข้อมูล การรายงานและการติดตามให้ดียิ่งขึ้น

นายมงคล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเร่งดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมก้าวสู่สมาร์ท แฟคตอรี่ อย่างเต็มรูปแบบผ่าน 7 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry 2. โครงการนำร่องการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำ 3. อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco Industry Town 4. โครงการขับเคลื่อน Factory 4.0 5. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 6. โครงการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิตอลแก่โรงงานอุตสาหกรรม และ 7. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ภายใน 5 ปี กรอ.คาดว่าจะยกระดับโรงงานให้ก้าวสู่ความเป็น Smart Factory ได้กว่า 1,000 โรงงาน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ทีดีอาร์ไอ ชี้ เหตุขยะล้นเมืองเพราะมีโรงงานกำจัดถูกกฎหมายน้อย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลงานวิจัยวันนี้ (23 กรกฎาคม) ระบุ เหตุขยะล้นเมือง เนื่องจากโรงงานกำจัดถูกกฎหมายมีน้อย โดยบทความปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้

เรื่องขยะ เรื่องใหญ่ รู้หรือไม่คนไทยผลิตขยะพิษเพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วง กำจัดได้ไม่ถึงครึ่ง ขยะพิษอันตรายต้องกำจัดอย่างพิเศษ แต่โรงงานกำจัดถูกกฎหมายได้มาตรฐานยังมีน้อย แถมยังมีธุรกิจสีเทาลักลอบทิ้งหรือกำจัดโดยไม่ถูกต้อง ทีดีอาร์ไอแนะควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความรู้และเทคโนโลยีสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น ควบคู่กับปรับปรุงกระบวนการจัดการขยะและเพิ่มการกำกับดูแลให้เข้มข้น เพื่อ “โละ” ธุรกิจผิดกฎหมาย ส่งเสริมการขจัดขยะพิษ ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และสำคัญที่สุดคนไทยต้องตระหนักและช่วยกันลดพฤติกรรมการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น และสร้างพฤติกรรมคัดแยกขยะก่อนทิ้ง

จากสถานการณ์ การตรวจจับโรงงานนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์พิษ ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา เข้าตรวจโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีทั้งหมด 7 โรงงาน พบโรงงานที่มีกิจการการคัดแยก รีไซเคิล และกำจัดผิดกฎหมาย ถึง 5 โรงงาน การตรวจจับครั้งใหญ่นี้เป็นผลจากการขยายผลจับ จากผู้ร้องเรียนมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาขยะทำให้เกิดควันและมลพิษบริเวณโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัด ฉะเชิงเทรา จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมศุลกากรออกมาเผยว่า ตั้งแต่ที่จีนมีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมาทำให้ขยะจากทั่วโลกจำเป็นต้องหาช่องทางการกำจัดในประเทศอื่น จากสถิติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2560 พบว่ามีการนำเข้า 7 หมื่นตัน แต่ในครึ่งแรกของปี 2561 พบว่ามีการนำเข้ามาแล้วมากผิดปรกติเป็นจำนวนกว่าแสนตัน

ล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตและระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้นำเข้าจำนวน 5 ราย ที่พบการกระทำผิด และออกประกาศ ชะลอการพิจารณาอนุญาตซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเข้ามาในราชอาณาจักร และกำลังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา   สั่งห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต

นางสาว กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร  นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาขยะพิษของประเทศไทย โดยระบุว่า ปัญหาขยะของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะตามข่าวที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาขยะพิษอื่นๆ ที่ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด

ขยะพิษเกิดขึ้นจากกิจกรรมหลัก 2 ประเภท คือ ขยะครัวเรือน เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระป๋องสเปรย์ และขยะจากภาคอุตสาหกรรม (การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิลถือเป็นกิจกรรมภาคอุตสาหกรรม) ขยะพิษจากทั้งสองแหล่ง ต้องได้รับการกำจัดจากโรงงานกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาตและมาตรฐาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่สถานการณ์และประเด็นปัญหาการกำจัดขยะพิษในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วงจรการกำจัดขยะพิษที่เกิดจากภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมไปไม่ถึงโรงงานที่สามารถกำจัดได้อย่างถูกต้อง

กรณี ขยะครัวเรือน มีปัญหาเรื่องการกระบวนการจัดการเพื่อนำไปกำจัด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในปี 2559 คนไทยผลิตขยะพิษจากบ้านเรือนทั้งหมด 6 แสนตัน ประกอบไปด้วย อิเล็กทรอนิกส์ 65% และขยะอันตรายอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์ 35% ขยะเหล่านี้มีสารอันตรายเป็นองค์ประกอบอยู่ เช่น ปรอท ตะกั่ว และสารหนู ต้องมีการกำจัดถูกต้อง ถูกวิธีในโรงงานกำจัดขยะอันตราย แม้มีกฎหมายสาธารณสุขที่ให้อำนาจ ส่วนราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ในการกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล แต่กฎหมายไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดแยกและกำจัดขยะที่เป็นระบบ ครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่มีการแยกขยะก่อนทิ้ง ซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่านำขยะอันตรายมาคัดแยกและขายส่วนที่มีมูลค่า

ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่สามารถติดตามได้ว่าถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องหรือไม่ กระบวนการคัดแยกและการกำจัดขยะพิษที่เหลือจากการคัดแยกส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 ดำเนินการสำรวจการปนเปื้อนของสารพิษจากการคัดแยกขยะของชุมชนแยกขยะขนาดใหญ่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ พบสารหนู ตะกั่ว เกินค่ามาตรฐาน ในบริเวณที่เผาขยะกลางแจ้งจากการแยกชิ้นส่วนซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ (รายงาน TDRI: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย 2016)

ส่วนขยะในภาคอุตสาหกรรม หรือกากอุตสาหกรรมอันตรายนั้น พบว่า เกิดปัญหาโรงงานลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม แม้มีกฎหมายโรงงาน และกฎหมายวัตถุอันตราย ให้อำนาจแก่ กรอ. ในการกำกับดูแลโรงงานในภาคอุตสาหกรรม กฎหมายกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดขยะ หรือ Waste Generator ต้องขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานเพื่อนำไปกำจัด (สก.2) โดยในรายงานจะต้องระบุจำนวนขยะที่นำไปกำจัด ผู้ขนส่ง และโรงงานรับกำจัดที่มีใบอนุญาตจาก กรอ. แต่จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ในปี 2559 ประเทศไทยผลิตกากอุตสาหกรรมอันตรายออกมา 2.8 ล้านตัน

พบว่ามีผู้ขออนุญาตตามแบบ สก.2 หรือนำไปกำจัด  โดยโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ได้รับใบอนุญาตเพียง 40% เท่านั้น ที่เหลืออีกประมาณ 1.6  ล้านตัน คือขยะพิษที่ไม่มีการขออนุญาตนำไปกำจัด และอาจเข้าสู่กระบวนการลักลอบทิ้งขยะผิดกฎหมาย เช่น บริษัทลักลอบรับกำจัดขยะทุกประเภทด้วยต้นทุนต่ำ แต่เป็นการรับขยะมาแล้วไม่นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง อาทิ ขยะอันตรายไปฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะไม่อันตราย  และนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่ง กรอ. ไม่มีการเปิดเผยว่ามีโรงงานใดบ้างที่ไม่ได้สำแดงขยะในจำนวนนี้ และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการติดตามและดำเนินคดีตามกฎหมาย  ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าขยะอันตรายเหล่านั้น ถูกนำไปกำจัดอย่างไรและผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมดหรือไม่

จากการที่การจัดการกากอุตสาหกรรมประสบปัญหาการลักลอบทิ้งและกำจัดผิดกฎหมาย  ไม่แปลกเลยที่โรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย หรือ ขยะพิษ ซึ่งมีจำนวนน้อยรายในตลาด พบว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่สามารถกำจัดขยะพิษที่สามารถกำจัดสารพิษได้ทุกประเภทเพียง 4 โรงงานเท่านั้น โดย มี 3 โรงงาน ฝังกลบ และ 1 โรงงาน ที่ได้รับอนุญาตให้เผาอันตรายโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาเฉพาะ ที่เหลือเป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีประเภทการเผาโดยใช้เตาปูนซีเมนต์ซึ่งสามารถเผาขยะพิษได้บางประเภท เตาเผาขยะไม่อันตราย และโรงงานฝังกลบกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย เป็นต้น ซึ่งการมีผู้ประกอบการโรงงานกำจัดขยะพิษในตลาดน้อยรายอาจทำให้เกิดการกำหนดราคาและผูกขาดตลาดได้

เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนในการกำจัดขยะอันตราย ทีมวิจัยได้ศึกษาราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายของบริษัทรับเผากากอุตสาหกรรมอันตราย ด้วยเตาเผาเฉพาะ พบว่า ขยะอันตราย 1 ตัน มีต้นทุนราคาการกำจัดสูงตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาท นอกจากนี้ราคาการกำจัดกากอุตสาหกรรมยังสามารถเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สวนทางกับโทษตามกฎหมาย พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน โดยกำหนดค่าปรับสูงสุดไว้ 200,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบปรับในราคาต่ำกว่าโทษปรับสูงสุดที่กฎหมายกำหนดได้  จึงเป็นข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมอยู่

นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แค่ขยะที่ผลิตกันเองในประเทศยังไม่มีระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถรับจัดการขยะจากประเทศอื่น (นำเข้าขยะ) ตามที่เป็นข่าว ไทยไม่ควรเป็นถังขยะให้ใคร หากประเทศไทยต้องการแก้ปัญหาขยะพิษ ให้เกิดขึ้นจริง จะต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 เรื่อง ดังนี้

1) แก้ปัญหาการจัดการขยะพิษจากครัวเรือน โดยสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอย ให้แก่ส่วนราชการท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยตามกฎหมาย และผลักดันกฎหมาย "ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipments)” ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับคืนซากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปกำจัด ให้ออกมาบังคับใช้โดยเร็ววัน เพราะการรณรงค์หรือการขอความร่วมมือเป็นครั้งคราวยังไม่เพียงพอในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จะมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานการแยกขยะครัวเรือน และมาตรฐานการจัดการขยะของหน่วยงานที่ัีัรับผิดชอบในการรวบรวม นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท และบางประเภทผู้ใช้หรือครัวเรือนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการกำจัดร่วมกับผู้ผลิต

2) แก้ปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลให้ดีขึ้น เริ่มจาก กรอ. ควรเปิดเผยข้อมูลปริมาณการขออนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรมต่อสาธารณะ มีความโปร่งใสในการตรวจจับโรงงานที่ไม่ถูกต้อง และมีมาตรการในการยกเลิกใบอนุญาตของบริษัทที่กระทำผิดชัดเจนและจะต้องเพิ่มโทษปรับ ในระยะยาวต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ให้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลตามกฎหมาย เนื่องจาก กรอ. ทำหน้าที่้เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านมลพิษอุตสาหกรรม อาจทำให้การกำกับดูแลไม่เป็นกลาง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลมาตรฐานมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม คือ หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ Environment Protection Agency (EPA)

3) เมื่อประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษครัวเรือน และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น  เนื่องจากหากมีขยะพิษและขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดอย่างถูกหลักเพิ่มขึ้น จะทำให้โรงงานรับกำจัดขยะอันตรายที่มีอยู่น้อยรายในตลาดถือโอกาสเพิ่มราคาการกำจัด ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ กำลังการกำจัดขยะอันตราย อาจไม่เพียงพอกับขยะที่จะเข้ามาในระบบกว่าเท่าตัว

ต้นเหตุของขยะส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของเรา  การไม่คัดแยกขยะ ทิ้งขยะพิษรวมกับขยะมูลฝอย ไม่สามารถกำกับดูแลและจัดการขยะครัวเรือนได้ รวมถึงการผลิตขยะอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมในแต่ละวัน รัฐต้องเข้ามาจัดการปฏิรูปการกำจัดขยะของประเทศ ออกกฎหมาย และแคมเปญรณรงค์อย่างยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนตระหนักเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะจากครัวเรือน และแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายให้ได้ เพราะแม้เราสามารถห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่หากขยะพิษที่ทับถมภายในประเทศไม่สามารถกำจัดอย่าง “หมดจด” ประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาพมลพิษล้นประเทศได้ในอนาคต

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ก.อุตฯ ดัน 'อุบลราชธานี' เป็น Bio hub

 ก.อุตฯ รับ 6 ข้อเสนอเอกชนอีสานใต้ พร้อมเปิดโครงการ E-San Start Up สร้างผู้ประกอบการใหม่ 4.0

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ (จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ และ จ.อำนาจเจริญ) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 ณ จ.อุบลราชธานี โดยมีนายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายณพพงศ์ ธีระวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางเบญจมาพร เอกฉัตร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารจากภาคราชการและเอกชน ร่วมหารือ

โดยนายสมชายฯ ได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) การผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียน 2) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ ต.นากระแซง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ โดยมีโครงการรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน 3) โครงการ E-San Start Up เป็นโมเดลในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคการค้าและภาคบริการ 4) โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Pilot Plant) ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเครือข่ายร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ 5) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ โดยโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่มีความพร้อมในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และ 6) โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีสานใต้

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หัวใจการขับเคลื่อนปัญหาน้ำของประเทศ

ต้องถือว่ารัฐบาล คสช.สร้างผลงานการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบเห็นเนื้อเห็นหนังได้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้มาตรา 44 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการร่วมกับ 38 หน่วยงาน 7 กระทรวง เมื่อปลายปี 2560

ทันทีที่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2557 รัฐบาล คสช.เร่งสร้างผลงานด้วยโครงการที่ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2558-2559) ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ลงมือทำได้ทันที เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน เช่น แก้มลิง สระน้ำในไร่นา ตามมาด้วยการเสริมประสิทธิภาพความจุอ่างเก็บน้ำเดิม ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณน้ำที่ง่ายและเร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทั้งจากการศึกษาความเหมาะสมและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน ให้ศึกษาเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญด้วย

ก่อนจัดตั้ง สทนช.ไม่นานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น (พ.ศ. 2560-2561) โดยเริ่มพัฒนาโครงการขนาดกลาง และทำแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ เช่น แผนบรรเทาอุทกภัย-ภัยแล้งในลุ่มเจ้าพระยา การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งใน จ.จันทบุรี ได้แก่ อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำวังโตนด เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เมื่อจัดตั้ง สทนช.สำเร็จ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2565) เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ โดยเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่กับการสำรวจออกแบบโครงการ เช่น คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย เป็นต้น

“การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญครั้งนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำของรัฐบาล (พ.ศ. 2561-2580) ผมเองจะร่วมรับฟังปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไข โดยจะลงพื้นที่ติดตามโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทรเป็นแห่งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าว

ถ้าดูตามแผนยุทธศาสตร์ที่แบ่งซอยเป็นระยะๆ แล้ว เป็นท่าทีที่รัฐบาล คสช.ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่เน้นเฉพาะอันใดอันหนึ่งแต่รวมหมดทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสูตรสำคัญสำหรับประเทศไทยที่ไม่อาจแยกดำเนินการเฉพาะโครงการขนาดใดขนาดหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ (Area based) ซึ่งมีความหลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กระดับชุมชน จนถึงจังหวัด และกลุ่มจังหวัดตามขนาดของลุ่มน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีด้วยกันทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ เฉพาะที่จะพัฒนาในแผนยุทธศาสตร์ระยะกลาง (พ.ศ. 2562-2565) มีจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ภาคละ 2 โครงการ

“ประเดิมในปี 2562 รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมจำนวน 9 โครงการ เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณน้ำได้ถึง 370 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 840,201 ไร่”

ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่และขนาดสำคัญทั้ง 9 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย 3. โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย 4. โครงการประตูระบายน้ำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร 5. โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร 6. โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 7. โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จ.ชัยภูมิ 8. โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และ 9. โครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

โครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญไม่อาจขับเคลื่อนโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งตามลำพังอีกแล้ว หากเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องออกแรงขับเคลื่อนเองโดยตรง โดยผ่านการบูรณาการทุกส่วนโดย สทนช.ที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้โครงการสามารถเดินได้และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงเป็นก้าวใหญ่ๆ ของรัฐบาล คสช.ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

จาก https://mgronline.com  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จี้กรมชลฯ ! รับมือฤดูฝนมาเร็ว

"กฤษฏา"จี้กรมชลประทานเร่งรับมือฤดูฝนมาเร็วมีแผนชัดเจนบูรณาการทุกหน่วยงานป้องกันอุทกภัยตอนล่างภาคกลาง

 "กฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์"จี้กรมชลประทานเร่งรับมือฤดูฝนมาเร็วมีแผนชัดเจนบูรณาการทุกหน่วยงานป้องกันอุทกภัยตอนล่างภาคกลาง

 นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำกรมชลประทาน 2 ประเด็นในการจัดการน้ำภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ให้ทันเหตุการณ์เนื่องจากขณะนี้ฤดูฝนมาเร็ว  โดยให้จัดการน้ำเชิงรุก วางเครือข่ายเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทุกพื้นที่เฝ้าระวังทั้งแล้ง-ท่วม ติดต่อสื่อสารกันอย่างชัดเจนช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็ว ขอให้ทำงานแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันอย่าทำงานแบบตัวใครตัวมัน

 "ขอให้มีความตระหนักรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ทำเพื่อประชาชน ซี่งคนกรมชลประทานทำงานด้านข้อมูล เป็นเครือข่ายสำนักองคมนตรี ถวายพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ต้องรักษาภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือทั้งความเชี่ยวชาญทางเทคนิก และพฤติกรรม ถ้าคนกรมชลฯทำตามคำแนะนำนี้ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ลบภาพกรมชลฯชอบคุยสังสรรค์แต่กับผู้รับเหมาจะได้เปลี่ยนไป"รมว.เกษตรฯกล่าว

 นายกฤษฏา กล่าวว่า รัฐบาลนี้เร่งจัดการน้ำภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ลงสู่ตอนล่าง ภาคกลาง ต้องไปหาจุดแก้ไขให้ถูกต้อง หาจุดกำเหนิดน้ำให้เหมาะสม ไม่กระทบตอนล่าง -ภาคกลาง ซี่งจะปล่อยตามธรรมชาติไม่ได้ เวลานี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง น้ำยวม แม่แตง ลงเขื่อนภูมิพล การดำเนินการไม่เป็นตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง แม่งัด แม่กวง จะสิ้นสุดสัญญาปี 2564 เหลือ 3 ปี แต่ผ่านมา 3 ปี บางสัญญาทำไปได้กว่า10%  ติดปัญหาที่คนหรือเทคนิก ต้องตั้งคณะทำงานติดตามหาวิธีแก้ไข ซี่งทำงานแข่งกับเวลา และปีหน้ามีรัฐบาลใหม่ อาจเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ จะโดนเพ่งเล็งมากขึ้น

"อธิบดีกรมชลฯต้องไปคุยกับผู้รับเหมา และคนในพื้นที่ ระมัดสระวังอย่าไปกระทบ ปิดถนนขนอุปกรณ์บ่อยๆอาจมีผลกระทบต้องมีการซ่อมถนนให้ท้องถิ่น ผมฝากนโยบายสำคัญ ให้มีคณะติดตาม ดูความก้าวหน้า แยกต่างหากจากฝ่ายควบคุมงาน ที่ต้องทราบดีถึงปัญหาปะทะกับชาวบ้านด้วย ให้คนกรมชลฯมีสำนึก ทำงานรับใช้ถวายพระราชวงค์ อย่าให้ใครว่าได้ พฤติกรรมเราทำอะไรแล้วชาวบ้านยกย่องยอมรับ"นายกฤษฏา กล่าว

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รัฐบาลเร่ง4ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์5ปี

รัฐบาลมุ่งแผนงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์ 5 ปี จัดตั้งสถาบันการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ นำร่องพื้นที่ “ยโสธร” แล้ว พร้อมจัดทำพิกัดศุลกากรสำหรับเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด “ชา-มะพร้าว-กะทิ-มังคุด-ทุเรียน”

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตรมีเรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยในแผนงานกำหนดการขับเคลื่อนไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1 .การส่งเสริมความรู้ และนวัตกรรม

2 .การผลิตสินค้าและบริการที่จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

3.การตลาดและการบริการ

4.การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และจัดทำพิกัดศุลกากรสำหรับเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด ได้แก่ ชา มะพร้าว กะทิ มังคุดและทุเรียน ส่วนกลไกขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่จะใช้หลักการตลาดนำการผลิต อีกทั้งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 7 ประเภท คือ ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ใกล้พื้นที่ที่เป็นการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ พื้นที่ สปก. พื้นที่เอกชนกลุ่มเกษตรกร และพื้นที่ที่เกษตรกรมีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยจะใช้กลไกขับเคลื่อนระหว่างกลุ่มจังหวัดร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงมหาดไทยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการนำร่องทำเกษตรอินทรีย์แล้วที่จ.ยโสธร

“เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายของภาครัฐที่กำลังจะขับเคลื่อนไปใน 5 ปี เพื่อให้เกษตรกรดำเนินการผลิตและแปรรูปจนถึงการจัดจำหน่าย ให้ครบองค์ประกอบในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยพล.อ.ประวิตรให้ความสำคัญ อีกทั้งกำชับให้กระทรวงมหาดไทยประสานเชื่อมโยงไปกับทางจังหวัด และกลุ่มจังหวัดที่เป็นเป้าหมาย เพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 5 ปี ได้บรรลุตามที่ตั้งใจไว้” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุม RCEP เน้นสรุป 3 เรื่องสำคัญ พร้อมทำประเด็นที่ยังตกลงไม่ได้รายงานรัฐมนตรี

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม RCEP เร่งสรุป 3 เรื่องสำคัญ พิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัยพืช และกฎระเบียบทางเทคนิค พร้อมทำประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ เพื่อเสนอรัฐมนตรีพิจารณาปลายส.ค.นี้ ก่อนรายงานผู้นำพ.ย.ต่อไป เผยการประชุมรอบนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เอ็นจีโอ เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้วย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-27 ก.ค.2561 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ โดยในการประชุมครั้งนี้ จะมีการหารือในระดับคณะทำงานหรือคณะทำงานกลุ่มย่อยอีก 14 คณะไปพร้อมกัน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 800 คน จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐมนตรีจาก 16 ประเทศ เห็นตรงกันที่จะให้เร่งสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ให้เสร็จภายในปีนี้

สำหรับเป้าหมายในการเจรจารอบกรุงเทพฯ คณะเจรจาจะต้องสรุปและปิดการเจรจาใน 3 เรื่องสำคัญ คือ พิธีการศุลกากร มาตรฐานสุขอนามัยพืช และกฎระเบียบทางเทคนิค และจะต้องเร่งสรุปประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาให้ได้ข้อยุติในการประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 6 ในปลายเดือนส.ค.2561 ที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะรายงานผลต่อผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพ.ย.2561 ต่อไป

ทั้งนี้ 3 เรื่องสำคัญยังมีหลายประเด็นที่ติดปัญหาอยู่ เช่น ประเด็นการตรวจปล่อยสินค้าและคำวินิจฉัยล่วงหน้าในเรื่องพิธีการศุลกากร ประเด็นการใช้มาตรการฉุกเฉินและการจัดทำเอกสารเป็นภาษาอังกฤษในเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยพืช ประเด็นกระบวนการตรวจสอบรับรองและความโปร่งใสในเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิค เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการหารืออย่างเข้มข้นเพื่อปิดการเจรจาให้ได้ในการประชุมครั้งนี้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมจะเร่งรัดให้ทุกประเทศต้องยื่นปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ให้ดีขึ้น โดยจะต้องเป็นข้อเสนอเปิดตลาดที่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสมาชิกให้มากที่สุด รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เหลือ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเยียวยาทางการค้า การเงิน โทรคมนาคม ที่จะต้องให้การเจรจามีความคืบหน้ามากที่สุดด้วย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อุตฯเร่งแก้พรบ.อ้อยน้ำตาล จ่อยกเลิกข้อกำหนดระยะห่างรง.

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยแล้ว สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินงานต่อไป ก็คือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพใน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำอ้อยไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีชีวภาพให้เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างการนำเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ต่อ ครม.

2.ปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้โรงงานที่ใช้อ้อยต้องมีระยะห่างระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องยกเลิกข้อกำหนดนี้ เพื่อให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อต่อยอดการผลิตจากโรงงานน้ำตาลได้ แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากโรงงานน้ำตาล และสอน. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์โรงงานชีวภาพ เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนที่จะเข้าไปตั้งโรงงานเคมีชีวภาพ ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายผังเมือง เปิดทางให้ตั้งโรงงานเคมีชีวภาพ และการแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรมได้

จาก www.naewna.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

แนวโน้มบาทอาจอ่อนค่าอีกหลังต่ำสุดรอบ9 เดือน

กสิกรไทยประเมินค่าเงินบาทสัปดาหน้า กรอบ 33.20-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสัปดาห์นี้ อ่อนค่า แตะ33.52 บาท/ดอลลาร์ฯ อ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน

 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน ที่ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับแรงกดดันต่อค่าเงินหยวนและสกุลเงินในเอเชียท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในระหว่างสัปดาห์จากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต่อสภาคองเกรส ซึ่งยังคงส่งสัญญาณทยอยคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี

 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังการอ่อนค่าของเงินหยวนชะลอลงก่อนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยในวันศุกร์ (20 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.41 อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ก.ค.)

 ด้าน ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,671.06 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.68% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้น 7.15% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,176.17 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 431.45 จุด เพิ่มขึ้น 0.48% จากสัปดาห์ก่อน

สัปดาห์ถัดไป (23-27 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,660 และ 1,645 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,680 และ 1,700 จุด ตามลำดับ  โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2561 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/2561 ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตลอดจนดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ และยูโรโซนเดือนก.ค.รวมไปถึงประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สถานการณ์ค่าเงินหยวน

จาก www.tnamcot.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

แผนไบโออีโคโนมี 2 แสนล้านสะดุด หลังกม.ผังเมืองถ่วงตั้งรง.พื้นที่เกษตร

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย หรือไบโออิโคโนมี มูลค่าการลงทุน 200,000 ล้านบาท ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ว่า ต้องเร่งแก้กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติการผังเมือง เพื่อเปิดทางให้ตั้งโรงงานเคมีชีวภาพ และการแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่การแก้ไขพ.ร.บ.การผังเมือง ต้องใช้ระยะไม่ต่ำกว่า 1 ปี หากพื้นที่ใดล่าช้า อาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในภาพรวมทั้งประเทศได้

“แหล่งพื้นที่เกษตร ถือเป็นแหล่งผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยโรงงานจะต้องอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนและเวลาการขนส่ง ลดความเสียหายของถนน เรื่องนี้จึงต้องเร่งแก้ไขต่อไป โดยพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ 3 พื้นที่ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์และกำแพงเพชร และภาคอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น ในพื้นที่จ.ของแก่น จะติดปัญหาผังเมืองมากที่สุด หากการแก้ไขกฎหมายผังเมืองล่าช้า อาจทำให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพช้ากว่าพื้นที่อื่น และอาจส่งผลกระทบทำให้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพในภาพรวมทั้งประเทศได้”

นอกจากนี้ ต้องแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ให้สามารถนำอ้อยไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ หรือน้ำอ้อย ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีชีวภาพให้เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อที่ประชุม ครม.

ขณะเดียวกันต้องแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้โรงงานที่ใช้อ้อย ต้องมีระยะห่างระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ต้องยกเลิกข้อกำหนดนี้ เพื่อให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อต่อยอดการผลิตจากโรงงานน้ำตาลได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และสอน. ก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์โรงงานชีวภาพ เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ชุมชนที่เข้าไปตั้งโรงงานเคมีชีวภาพว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลที่ได้จากมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวม 200,000 ล้านบาท ใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ แบ่งเป็นพื้นที่ อีอีซี ในระหว่างปี 2560-2564 จะเกิดการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,740 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการผลิตน้ำยาล้างไต ไบโอคอมเพล็กซ์จากผลผลิตปาล์ม เฟส 1

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ระหว่างปี 2560-2569 มีมูลค่าการลงทุนรวม 51,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ การผลิตกรดแล็กติก สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ การผลิตโพลี แลคทิค แอซอิด, โพลี แลค, ไบโอ ซัสซินิค แอซอิดไบโอ-1, และแลคทิค แอซอิด สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โครงการผลิตดรายด์ ยิสต์, ยิสต์ แอคแทค, เบต้า กลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารเบต้า กลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และฟังชั่นเนล ซูก้า ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง

พื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง หรือขอนแก่น ในระหว่างปี 2560-2569 จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 35,030 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เพื่อผลิตยิสต์ โพไบโอทิค เอนไซม์น้ำเบตา-กลูแคน จากกระบวนการหมักด้วยราแมลง เอนไซม์ไฟเตสสำหรับอาหารสัตว์ และแป้งทนการย่อยด้วยเอนไซม์ ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พัฒนาแหล่งน้ำ‘ลำห้วยขะยุง’ กรมชลช่วยคนกันทรลักษ์ เล็งผุดอ่างความจุ40ล้านลบ.ม. เพิ่มพื้นที่เกษตรอีก4.2หมื่นไร่

ลำห้วยขะยุงไร้แหล่งเก็บน้ำ เกษตรกรมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกอย่างจำกัด ชลประทานเผยโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง ความจุ 40 ล้านลบ.ม. จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้การเกษตร สามารถเปิดพื้นที่เกษตรเพิ่มได้อีก 4.2 หมื่นไร่ สนับสนุนการปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด อีกทั้งบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้ชาวเมืองกันทรลักษ์ร่วมพันครอบครัว

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า บริเวณลำน้ำห้วยขะยุง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำถาวร มีเพียงฝาย 3 แห่งตลอดลำน้ำ ได้แก่ ฝายบ้านกะมอล ฝายบ้านน้ำเย็น และฝายขะยุง ที่เป็นเครื่องมือทดน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก อีกทั้งยังไม่มีระบบส่งน้ำสมบูรณ์ เกษตรกรต้องดำเนินการสูบน้ำจากฝายด้วยตนเอง ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ฝายแต่ละแห่งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ราวพันไร่เท่านั้น ปัจจุบันชาว อ.กันทรลักษ์ใช้น้ำจากลำห้วยขะยุงผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน้าแล้งไม่มีน้ำในลำห้วย และเมื่อถึงหน้าฝนน้ำจะหลากเข้าท่วมอำเภอเมืองกันทรลักษ์ ทำให้ประชาชนและเกษตรกรบริเวณนี้ไม่มีเสถียรภาพในการใช้น้ำ

“ลำน้ำห้วยขะยุงมีต้นน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงเร็ก ไหลลงมาที่ลำห้วยขะยุง จ.ศรีสะเกษ ผ่าน อ.กันทรลักษ์ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล มีน้ำท่าไหลเข้าลำห้วยปีละประมาณ 70 ล้านลบ.ม. ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยขะยุง สามารถกักเก็บน้ำได้ 40 ล้านลบ.ม. ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร ได้แก่ การนำน้ำไปใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญสำหรับผลิตน้ำประปา การช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรอีก 42,500 ไร่ ซึ่งแม้ตอนนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำนาและปลูกยางพาราเป็นหลัก แต่คาดว่าในวันข้างหน้าแผนการเพาะปลูก มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนการผลิตส่วนหนึ่งจากสวนยางพาราเป็นสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เพราะไม้ยืนต้นมีความเสถียรของราคามากกว่า ตลาดนิยมชัดเจน อีกทั้งดินบริเวณนี้คุณภาพดี เป็นดินภูเขาไฟ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อทุเรียนภูเขาไฟผลไม้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ราษฎรและเกษตรกรในกันทรลักษ์ใช้น้ำจากห้วยขะยุงเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือหากความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำเกษตร อุปโภค-บริโภคของราษฎรเพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ ซึ่งหากลำห้วยขะยุงมีแหล่งกักเก็บน้ำ นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่การเกษตร เกษตรกรมีน้ำปลูกพืชชนิดอื่นต่อหลังจากทำนา ช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังจะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองช่วยราษฎรได้ร่วมพันครอบครัว ราษฎรมีความมั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ในอนาคต ซึ่งถ้าทำได้จะเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด

“เวลานี้รัฐบาลมีนโยบายปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เช่น โค่นยางเพื่อปลูกพืชอย่างอื่น เกษตรกรของเราก็เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากกับทุเรียนภูเขาไฟ ณ ตอนนี้จังหวัดศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟอยู่ใน 3 อำเภอ คือ กันทรลักษ์ ขุนหาญ และศรีรัตนะ รวมพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ ทางจังหวัดตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 1 หมื่นไร่ภายใน 3 ปี โดยเน้นปลูกทุเรียนคุณภาพดี อย่างไรก็ตามปัจจัยที่สำคัญของการปลูกทุเรียนคือ น้ำ หากมีแหล่งน้ำที่มั่นคงจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างแน่นอน” ผู้ว่าราชการ จ.ศรีสะเกษ กล่าว

จาก www.naewna.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2561

รายงานพิเศษ : ‘กรมส่งเสริมการเกษตร’สานต่อโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ให้บริการเกษตรกรทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” เป็นวิธีการที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ให้กับเกษตรกรจนบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ให้บริการตรงตามความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งการดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการบูรณาการทุกสาขา ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ฯลฯ โดยการให้บริการกับประชาชน ถึงพื้นที่ โดยการนำคลินิกต่างๆ เข้าไปหาเกษตรกร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเป็นหน่วยบริการให้กับเกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาทางการเกษตรได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับการจัดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นการร่วมบูรณาการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สามารถให้บริการและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้กว่า 3,500,000 ราย โดยคลินิกดินเป็นคลินิกที่เกษตรกรมาเข้ารับบริการมากที่สุดมีจำนวนเกษตรกรเข้ารับบริการ กว่า 619,000 ราย รองลงมา เป็นคลินิกปศุสัตว์ กว่า 615,000 ราย คลินิกพืช รวมทั้งคลินิกอื่นๆ เช่น คลินิกส่งเสริมการเกษตร เช่น จักรกลการเกษตร ผึ้ง ศัตรูพืช กว่า 485,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลก็ยังสามารถเข้าถึงบริการทางวิชาการ และได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 นี้ ขอเชิญชวนเกษตรกรร่วมงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ซึ่งจะจัดขึ้นทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยกิจกรรมภายในคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ที่เปิดให้บริการ จะให้บริการทั้ง คลินิกดิน โดยให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและให้บริการด้านวิเคราะห์ ตรวจสอบดินและปุ๋ย คลินิกพืช ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและให้บริการด้านโรคและแมลง ศัตรูพืช วัชพืชการเก็บเกี่ยวพืชการผลิตเมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ การทดสอบความงอกการขาดธาตุอาหารพืช สารพิษตกค้าง วัตถุมีพิษทางการเกษตร คลินิกปศุสัตว์ ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคและการตรวจรักษา พยาบาลสัตว์ การให้วัคซีน ทำหมันสัตว์ การผสมเทียมการควบคุมโรคระบาดในสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ คลินิกประมงให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยและรักษาโรคในสัตว์น้ำ การควบคุมโรคระบาดในสัตว์น้ำการตรวจคุณภาพน้ำ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

คลินิกชลประทาน ให้คำปรึกษา แนะนำการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ และการให้น้ำแก่พืช คลินิกสหกรณ์ให้คำปรึกษา แนะนำการจัดตั้งสหกรณ์ การบริหารงานในสหกรณ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับสหกรณ์ คลินิกบัญชี ให้คำปรึกษา แนะนำการจัดทำบัญชีฟาร์ม บัญชีครัวเรือน คลินิกกฎหมาย ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานความรู้ด้านกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คลินิกข้าวให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคที่เกิดในข้าว การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูข้าว การกำจัดวัชพืชในนาข้าว การลดต้นทุนการผลิตข้าว การใช้ข้าวพันธุ์ดี การตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว การบริการตรวจรับรอง GAP ข้าว การแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากข้าว คลินิกหม่อนไหม ให้คำปรึกษา แนะนำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พันธุ์หม่อนที่ควรปลูก การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาแปลงหม่อน การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูหม่อน การดูแลรักษาผลหม่อนสุก และการทำชาใบหม่อน คลินิกอื่นๆได้แก่ คลินิกบริหารศัตรูพืช คลินิกพันธุ์พืชเพาะเลี้ยง คลินิกจักรกล คลินิกพืชสวน คลินิกผึ้ง คลินิกยางพารา คลินิกเศรษฐกิจการเกษตร และคลินิกสาธารณสุข ทั้งนี้ในแต่ละจังหวัดจะจัดงานไม่พร้อมกัน ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน

จาก www.naewna.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2561

พณ.จัดกิจกรรมหนุนเสริมความรู้เกษตรกร

กรมการค้าต่างประเทศ จัดกิจกรรมพัฒนาสินค้าเกษตรนวัตกรรม ดันสินค้าสู่ตลาดคาบสมุทรมลายู

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดงาน “Agrinnovation 2018” ที่จังหวัดสงขลา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการจัดงานครั้งที่3 ในส่วนของภูมิภาค โดยครั้งแรกจัดที่ จ.ขอนแก่น เดือนพฤษภาคม และครั้งที่2 จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับการจัดงานครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การสัมมนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยก้าวไกลด้วยสินค้าเกษตรนวัตกรรม” โดยต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับทราบ และตระหนักรู้ถึงการนำสินค้าเกษตรมาเพิ่มมูลค่าโดยเริ่มต้นจากการจุดประกายความคิดผ่านวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจสินค้าเกษตรนวัตกรรม

ภายในงานยังมีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจากประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเชีย ฟิลิปินส์ และบรูไน เพื่อเป็นช่องทางให้กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมและผู้นำเข้าได้มีเวทีในการเจรจาจับคู่การค้า และเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างประเทศร่วมกัน คาดการณ์ว่าจะมียอดสั่งซื้อไม่น้อยว่า 10 ล้านบาท

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 19 กรกฎาคม 2561

รมช.พณ.ถกสหรัฐมาตรการค้าระหว่างปท.

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเจรจามาตรการการค้าสหรัฐฯ หวังบรรเทาผลกระทบต่อไทย

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคมนี้ โดยจะเดินหน้าหารือผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ รวมทั้งภาคเอกชน เร่งสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน ในสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าโลกในปัจจุบัน และมุ่งเจรจาลดอุปสรรคและมาตรการทางการค้าสหรัฐฯ ร่วมกับรองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ,รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และที่ปรึกษาอาวุโสของ นายโดนัลล์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้มาตรการ 232 ในสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม และการไต่สวนมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ ในสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งต้องการเน้นย้ำให้สหรัฐฯ ตระหนักว่าการนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นการค้าที่เกื้อกูลต่ออุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ เอง และไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 19 กรกฎาคม 2561

“กฤษฎา” พักหนี้เกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอโครงการพักหนี้เกษตรกรลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลา 3 ปี โดยพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งระหว่างการพักชำระหนี้จะมีแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ ที่กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ เตรียมงบประมาณไว้ 5,000 ล้านบาท คาดว่าเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีลูกค้าเกษตรกร 3.5 ล้านครัวเรือน โดยธนาคารจะเปิดกว้างให้ลูกค้าทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ได้ โดยจะแบ่งลูกค้าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรกลุ่มที่มีภาระหนี้น้อย คิดเป็นสัดส่วน 70% หรือ 2.45 ล้านครัวเรือนจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนการเรียนรู้อาชีพ และ 2.กลุ่มเกษตรกรที่มีภาระหนี้มาก มีสัดส่วน 30% หรือ 1.05 ล้านครัวเรือน จะเน้นสร้างอาชีพเสริม เพิ่มความหลากหลายในการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกษตร โดย ธ.ก.ส.จะสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างอาชีพตามแผนของของกระทรวงเกษตรฯ รายละ 30,000 บาท.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 19 กรกฎาคม 2561

พรุ่งนี้ จับตาเคาะหลักเกณฑ์จำกัดการใช้ 3 สารเคมี ชงบอร์ดวัตถุอันตรายใน 60 วัน

แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 19 ก.ค.61) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณามาตรการจำกัดการใช้ 3 วัตถุอันตราย ได้แก่ พาราควอต คอลร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจาณาภายใน 60 วัน ที่ผ่านมาทางกรมได้จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และพิจารณาร่างมาตรการจำกัดการใช้สารดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2561 และครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ ณ กรมชลประทานสามเสน

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน  กล่าวว่า จะไปยื่นหนังสือเพื่อเจตนารมณ์ก็คือ ต้องแบนไม่ให้สารอันตรายเข้าประเทศไทย เนื่องจากมองสารดังกล่าวเป็นอันตราย ต่อให้ไปจำกัดก็ยังอันตรายอยู่ ดังนั้นยืนยันสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยยุติการขึ้นทะเบียนในปี 2561 และยุติการใช้ภายในปี 2562

จาก www.thansettakij.com วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

ก.พลังงานจับมือIEAหนุนพลังงานทดแทนดันโซลาร์ภาคประชาชน

กระทรวงพลังงานร่วมมือทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) วางแผนพัฒนาพลังงานระยะยาว ชูพลังงานทดแทนเร่งวางกรอบพัฒนาโซลาร์ภาคประชาชน "ศิริ"ลั่นสิ้นปีสรุปยืนยันไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ด้าน IEA ชี้เทรนด์โซลาร์ฯต้นทุนอีก 3 ปีข้างหน้าจะต่ำลงได้อีก

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการหารือกับนายฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 14.5% เป็น 30% ให้ได้ภายในปี 2573 โดยอยู่ระหว่างการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) ใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำและจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตของประเทศ(พีดีพี)ฉบับใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะจะเน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชน

" ยืนยันว่ารัฐจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมโซลาร์ภาคประชาชนใดๆ ตรงกันข้ามเราจะวางระบบบริหารจัดการที่จะรองรับมากขึ้นที่จะผลิตเองใช้เองและที่เหลือสามารถขายเข้าระบบที่เชื่อมโยงกันได้ซึ่งแนวทางนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องรอสรุปสิ้นปีอีกครั้ง"นายศิริกล่าว

สำหรับบทบาท IEA ได้มีส่วนสำคัญในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในสาขาต่างๆ เข้ามาให้คำปรึกษากับไทย โดยเฉพาะในด้านการวางแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานระยะยาวของไทย 3 ด้านหลัก คือ 1.การบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มากขึ้น 2. การจัดทำศูนย์ข้อมูลพลังงานที่จะขยายผลไปสู่ระบบBig data 3.ศึกษากรอบ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา IEA ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) เกี่ยวกับประมาณการไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบในอนาคต ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปีที่ล่าสุดได้จัดทำแล้วเสร็จและจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป แต่หลังจากนี้ IEA จะร่วมกับ กฟผ.ศึกษาระยะที่ 2 เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการรับซื้อพลังงานทดแทนว่าจะรับซื้อมากน้อยแค่ไหน เป็นประเภทใดบ้าง โดยให้เสร็จภายใน 1 ปี

นายฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการพลังงานในไทยมีการเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจและบทบาทของก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จะมีมากขึ้นและเป็นความท้าทายของไทยในการนำเข้ามาเพราะแหล่งผลิตก๊าซฯในประเทศเริ่มลดลง อย่างไรก็ตามพลังงานทดแทนมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาเสริมความมั่นคงที่ไทยมีแนวโน้มจะจัดหาส่วนนี้มากขึ้น

"ขณะนี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ 3 ปีที่ผ่านมาลงถึง 30% แนวโน้มในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะลดลงได้อีกซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาได้มากขึ้นซึ่งอดีตนั้นหากพูดเรื่องนี้จะมองว่าเป็นเรื่องของความฝันหรือโรแมนติก แต่วันนี้คือ Real Business " นายฟาร์ตี้กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ รองรับ Bio Hub of ASEAN ปี 2570

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) โดยเริ่มมกราคม 2560 และขยายผลในพื้นที่ EEC ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนกลาง หวังเชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเน้นภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน

ขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท แบ่งเป็น Biochemicals 5,000 ล้านบาท Food ingredient 120 ล้านบาท Feed ingredient 300 ล้านบาท และ Biopharma 6,940 ล้านบาท และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 187,205 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastics Biochemicals และ Biopharmaceutical

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบจะได้เร่งให้เกิดการดำเนินงานภายในปี พ.ศ. 2561-2570 ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับและติดตาม และในส่วนมาตรการเร่งด่วน จะดำเนินการขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญให้อุตสาหกรรมชีวภาพเกิดขึ้นได้ ดังนี้

1) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม

2) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

3) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง โดยในหลักการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ควรอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูป หากแยกกันอยู่จะส่งผลกระทบด้าน Logistic ถนนชำรุด สูญเสียพลังงาน และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับการผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ กลุ่ม New S-Curve และเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5) เพื่อผลักดันภาคเอกชนให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศ

ในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น) มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเกษตรไทยเกิดการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Smart Farming หรือฟาร์มอัจฉริยะ

คาดว่าการดำเนินการภายใต้มาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นระหว่าง 65,000 ถึง 85,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2570 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมากกว่า 80,000 ครัวเรือน เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และเกิด High-tech labor / knowledge workers เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คน

“ดังนั้น การกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน” ดร.ณัฐพลกล่าวสรุป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

ลุยสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 9 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 379 ล้าน ลบ.ม.

 “บิ๊กฉัตร" ใส่เกียร์เดินหน้าก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 9 โครงการใน ปี 62 ยึดตามพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ประเดิมลงพื้นที่ติดตามโครงการคลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร 25 ก.ค.นี้ พร้อมสั่งทุกหน่วยเฝ้าระวังพายุ “เซินติญ”ใกล้ชิด

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้เป็นไปตามมติ กนช. ที่ต้องการขับเคลื่อนโครงการสำคัญให้ได้จนถึงขั้นตอนการก่อสร้าง ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่การแก้ไขอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) 66 พื้นที่ รวม 29.70 ล้านไร่ พบว่า มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580) รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ โดยในช่วงปี 2562-2565 มีโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญจำนวน 31 โครงการ แบ่งเป็นภาคเหนือ 4 โครงการ ภาคกลาง 13 โครงการ ภาคอีสาน 10 โครงการ ภาคตะวันออก 2 โครงการ และภาคใต้ จำนวน 2 โครงการ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการที่รัฐบาลจะเริ่มขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ในปี’62 มีจำนวน 9 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 379 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 840,201 ไร่ ได้แก่ 1.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย 3.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย 4.โครงการประตูระบายน้ำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร 5.โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร 6.โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ 7.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) จ.ชัยภูมิ 8.โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงตอนล่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ และ 9.โครงการคลองระบายน้ำ บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

“การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญครั้งนี้ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำที่ได้กำหนดเป้าหมายเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ปี 58-59 โดยพัฒนาโครงการขนาดเล็กที่ทำได้ทันที เช่น แก้มลิง สระน้ำในไร่นา การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิม พร้อมศึกษาเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่ โครงการสำคัญที่มีผลกระทบ ระยะสั้น ปี 60-61 เริ่มพัฒนาโครงการขนาดกลาง และทำแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ เช่น แผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา การศึกษาพื้นที่ Area Based การก่อสร้างอ่างฯ 4 แห่ง ใน จ.จันทบุรี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา และระยะกลาง ปี 62-65 เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โครงการสำคัญ โดยเร่งทำความเข้าใจกับชุมชน ควบคู่กับการสำรวจออกแบบโครงการอย่างรอบคอบ เช่น คลองระบายน้ำหลากบางไทร-บางบาล ดังนั้น เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ผมจะลงพื้นที่ติดตามโครงการที่เริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วน โดยจะเริ่มติดตามโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรเป็นแห่งแรกในวันที่ 25 ก.ค.นี้ และจะลงติดตามทุกเดือนตามความเหมาะสมต่อไป”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์พายุ “เซินติญ”ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค.61 จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ รองนายกฯ ได้กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์และแนวโน้มอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินแผนการป้องกันเหตุ การให้ความช่วยเหลือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้ทันต่อสถานการณ์ตามแผนรับมือน้ำหลาก ปี 61 ที่ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้ จากการรายงานของศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาณรวมกันทั้งสิ้น 43,831 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของปริมาณความจุ โดยพบว่าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าความจุอ่างฯ 30% มีจำนวน 57 อ่างฯ

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วที่สุด โดยกรมชลประทานได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่จะได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1,800 เครื่อง ล่าสุดยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมใน 3 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด ยโสธร และนครพนม โดย จ.ร้อยเอ็ด มีแนวโน้มที่จะลดลง หากไม่มีฝนตกจะเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 1-2 วัน ส่วน จ.ยโสธร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และ จ.นครพนม ขณะนี้ระดับน้ำลดลงในบางพื้นที่แล้ว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

โพนพิสัยค้านตั้งรง.น้ำตาล-ไฟฟ้าหวั่น”วิรรธน์การเกษตร”ก่อมลพิษน้ำ-อากาศ

ชาวโพนพิสัย จ.หนองคาย ออกโรงค้านตั้งโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล “วิรรธน์การเกษตร” หลังเปิดประชาพิจารณ์ EIA 2 ครั้งไม่ฉลุยประชาชนในพื้นที่หวั่นปัญหามลพิษส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ทั้ง “น้ำ-อากาศ-เสียง-จราจร-อุบัติเหตุ” โดยเฉพาะ “น้ำดิบ” ที่จะนำมาใช้ในโรงงานอาจกระทบแย่งแหล่งน้ำใช้ของชุมชน ด้านตัวแทนโรงงานแจงทำทุกอย่างอยู่ในมาตรฐานสิ่งแวดล้อมน้ำดิบจะขุดบ่อใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านลบ.ม.กักเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการภาคีร่วมทุกฝ่ายเข้าตรวจสอบ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดให้ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะขอตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาลรวมไปถึงการขอขยายกำลังการผลิต ยื่นขอเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ประกฏว่ากลุ่มตระกุลไกรพิสิทธิ์กุล ได้ยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัทวิวรรธน์การเกษตร อ.โพนพิสัย  จ.หนองคาย 2. บริษัทแอ๊บโซลูท ปาล์ม จังหวัดบึงกาฬ 3. บริษัทที.เค.เอช.ฟู้ดส์  โปรดักส์ อ.บ้านแพง จ. นครพนม

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้บริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด ซึ่งมีแผนจะจัดตั้งโรงงานน้ำตาล ขนาดกำลังการหีบอ้อย 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือต.จุมพลและ ต.กุตบง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ซึ่งตามขั้นตอนต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านมาบริษัท วิวรรธน์การเกษตรได้มอบให้ บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรากฎว่าในการทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้งมีผู้เข้าร่วมประชุมาบางส่วนได้คัดค้านการสร้างโรงงาน โดยให้เหตุผลว่ามลพิษต้องตามมาเหมือนในหลายพื้นที่ที่มีการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุจากคาดการณ์ที่ว่าจะมีรถบรรทุกอ้อยถึง 1,000 คัน อีกทั้งคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา โรงงานที่มาตั้งควรเป็นโรงงานที่เกี่ยวข้องกับยางพารากว่า

โดยในส่วนโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาดกำลังการหีบ 20,000 ตันอ้อย/วัน จะตั้งอยู่ในที่บ้านนาอ่าง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย อยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลมีพื้นที่รวม 902.91 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานประมาณ 597.16 ไร่ พื้นที่บ่อผันน้ำประมาณ 5.75 ไร่ และพื้นที่แปลงทดลองปลูกอ้อยและบ่อพักน้ำที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 300 ไร่จึงมีการใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกันและทำให้สะดวกในการบริหารจัดการในภาพรวม ทั้งในส่วนของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง ปรากฏว่าประชาชนแสดงวิตกกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับครั้งที่ 1  เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 700 คน โดยเฉพาะน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ เสียงและปัญหาการจราจร รวมถึงเป็นห่วงในเรื่องน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน อาจกระทบกับแหล่งน้ำของชุมชน

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดพื้นที่ 165.036 ตารางเมตร หรือประมาณ 103.59 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องกับโรงงานผลิตน้ำตาล มีการนำชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการหีบอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งชานอ้อยสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของเตาหม้อน้ำ ใช้ผลิตไอน้ำสำหรับเป็นแหล่งพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล โดยผ่านเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน และสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยการนำไปขับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น

ปรากฏว่าในการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คนได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อวิตกกังวลไม่ต่างจากครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 คือวิตกกังวลในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ขณะที่บางคนมีความวิตกกังวลในเรื่องน้ำเสียของโรงงานที่อาจจะรั่วซึมเข้าสู่ระบบน้ำใต้ดินในชุมชนนอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าประชุมบางส่วนได้คัดค้านการสร้างโรงงานโดยให้เหตุผลว่ามลพิษต้องตามมาเหมือนในหลายพื้นที่ที่มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแล้วก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จนส่งผลต่อสุขภาพของคนที่อยู่ในชุมชน

ISET แจง รง.ตั้งยึดกฎสิ่งแวดล้อม

ด้านนายกิตติวัฒน์  ธนพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บริษัท ไอเอสอีที (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชี้แจงให้ผู้ที่เข้าประชุมทราบเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่ในมาตรฐาน ยกตัวอย่างการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลจะมีการแผ่นพลาสติกปูพื้นบ่อบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างโรงงานที่มิดชิด ของเสียมีอาคารจัดเก็บแบบปิดเพื่อรอบริษัทที่รับกำจัดของเสียจากภาคอุตสาหกรรม การปลูกต้นไม้ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษ ส่วนเรื่องจราจรจะมีลานจอดไม่ให้รถบรรทุกอ้อยเข้าในพื้นที่ชุมชนในช่วงเวลาเร่งด่วน เป็นต้น ส่วนเรื่องน้ำดิบที่จะใช้ในโรงงานจะมีการขุดบ่อน้ำดิบขนาดใหญ่ความจุไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน ลบ.ม. จะมีการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ใช้โดยจะไม่มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการโดยมีประชาชนและผู้นำชุมชนเข้าร่วมเป็นกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างโรงงานจนแล้วเสร็จได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ จากรายงานผลการสำรวจพื้นที่ปลูกอ้อยที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประจำปี 2559/2560 พบว่า จ.หนองคายมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 64.352 ไร่ ซึ่ง อ.โพนพิสัย ที่ตั้งโรงงานมีพื้นที่ปลูกอ้อย 3,666 ไร่และเมื่อพิจารณาความเหมาะสมของดินพบว่าพื้นที่ จ.หนองคายมีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการปลูกอ้อย และปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ความรู้กับผู้สนใจในการปลูกอ้อย

อนึ่ง กลุ่มตระกูลไกรพิสิทธิ์กุล อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารมานาน และได้ขยายมาทำธุรกิจพลังงานทดแทนมาหลายปี โดยมีธุรกิจในเครือ เช่น บริษัทวิวรรธน์การเกษตร จำกัด ประกอบกิจการทำสวนปาล์ม, บริษัท แอ๊บโซลูท ปาล์ม จำกัด ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ และ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP ทำโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกขนาด 40 เมกะวัตต์ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 18 กรกฎาคม 2561

ก.อุตสาหกรรม เร่งแก้กฎหมายรับอุตสาหกรรมชีวภาพ

ก.อุตสาหกรรม เร่งแก้กฎหมายรับอุตสาหกรรมชีวภาพ หลังผ่าน ครม. ตั้งโรงงานได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมยินยอม

ผ่าน ครม. เรียบร้อยสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ดันไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 กระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจเกิดการลงทุน สร้างมูลค่าพืชเศรษฐกิจอ้อย มัน ปาล์ม นำร่อง 3 พื้นที่ ทั้ง EEC ขอนแก่น นครสวรรค์/กำแพงเพชร

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจาก ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. ‪2561-2570 โดยมีเป้าประสงค์ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ไปแล้ววันนี้ (17 ก.ค. 2561) ภายใต้มาตรการดังกล่าวจะเน้น

ภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุน และขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ หรือเศรษฐกิจชีวภาพแล้วในหลายพื้นที่

ซึ่งมีการลงทุนไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท แบ่งเป็น Biochemicals 5,000 ล้านบาท Food ingredient 120 ล้านบาท Feed ingredient 300 ล้านบาท และ Biopharma 6,940 ล้านบาท และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคตอีก 187,205 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และเกิดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastics Biochemicals และ Biopharmaceutical

จากนี้ได้เร่งให้เกิดการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. ‪2561-2570 เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยผ่าน คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการกำกับการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยจะเร่งดำเนินการในส่วนมาตรการเร่งด่วน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุน

1. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ที่เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งสามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม

2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะเพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-Curve) ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

3.กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง โดยในหลักการพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ควรอยู่ใกล้กับโรงงานแปรรูป หากแยกกันอยู่จะส่งผลกระทบด้าน Logistic ถนนชำรุด สูญเสียพลังงาน และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เป็นต้น

อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้ถูกเริ่มในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุน 9,740 ล้านบาท เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) มีมูลค่าการลงทุน 51,000 ล้านบาท และเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (ขอนแก่น)มีมูลค่าการลงทุน 35,030 ล้านบาท

ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเกษตรไทยเกิดการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น Smart Farming เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต และสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ให้กับพืชเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพที่หลากหลาย

จะส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 48,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นระหว่าง 65,000 ถึง 85,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2570 สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรมากกว่า 80,000 ครัวเรือน เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพภายในประเทศ 200,000 ล้านบาท และเกิด High-tech labor / knowledge workers เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คนจาก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ครม.ไฟเขียวแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอ ระยะ 10 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 ก.ค.51) มีมติรับทราบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ โดยให้ดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามการดำเนินงานตามมาตรการฯ เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยเร็วต่อไป

สาระสำคัญของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 มีเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยผลิตภัณฑ์เป้าหมาย คือพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) เช่น วัคซีน ยาชีววัตถุ

ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1. เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างน้อย 190,000 ล้านบาท

2.เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 85,000 บาทต่อคนต่อปี

3.ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร อย่างน้อย 800,000 ครัวเรือน

4.มีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญสูง (Knowledge workers/High-tech labor) อย่างน้อย 20,000 ตำแหน่ง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กรุงไทย' ชี้! IMF จ่อปรับลดจีดีพีโลก เหตุ 'สงครามการค้า' กระทบภาคการผลิต

กรุงไทยประเมิน IMF มีโอกาสปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในเดือน ต.ค. นี้ เหตุสงครามการค้าส่งสัญญาณฉุดภาคผลิตอุตสาหกรรมชะลอ หลัง IMF ยังคงประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้-ปีหน้าโต 3.9%

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้มุมมองเศรษฐกิจโลกในรายงาน World Economic Outlook (WEO) update เดือน ก.ค. โดยคงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 2561 และ 2562 ไว้ที่ 3.9% นั้น ธนาคารกรุงไทยมองว่า มีโอกาสสูงที่ IMF จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในการประเมินครั้งถัดไปในเดือน ต.ค. นี้ เนื่องจากยังไม่ได้นำปัจจัยเรื่องสงครามทางการค้าเข้ามาประเมินอย่างเต็มที่ เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมแล้ว

สำหรับภาวะตลาดเงินและตลาดทุนในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสผิดหวังจากการปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม อาจส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนสูง และคาดว่าตลาดยังมีการปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ยังเกิดขึ้นต่อ

ดร.พชรพจน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรระมัดระวังความเสี่ยงจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ที่เกิดขึ้นจากภาวะตลาดที่ Risk Off และปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเอื้อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

อย่างไรก็ตาม ธนาคารประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปก่อนในปีนี้ เนื่องจากกว่าจะเห็นตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค. ที่จะประกาศในเดือน ส.ค. และจะเริ่มเห็นผลกระทบตัวเลข GDP อาจจะเป็นการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ในเดือน พ.ย.

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บูรณาการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ สทนช.ระดมสมองทั่วประเทศเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองประธานอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี 2561 โดยจัดการเสวนาเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาค 5 ครั้ง โดยที่ผ่านมาได้จัดไปแล้ว 3 ครั้ง ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล, พื้นที่ภาคเหนือ ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่ และล่าสุดที่โรงแรมวิวิช จ.ขอนแก่น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองทัพไทย มาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนอย่างคับคั่ง

โดยที่เหลืออีก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 3 จะจัดในพื้นที่ภาคกลาง ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร และครั้งที่ 4 จัดในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ณ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด โดยภายในงานจะมีการเสวนาในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมจัดการน้ำหลากปี 2561 ในระดับพื้นที่(จังหวัด) พร้อมทั้งได้มีการจัดนิทรรศการในเรื่องต่างๆ เช่น แผนแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ของ สทนช. การบริหารจัดการและแจ้งเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2561 ของกรมชลประทาน และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการจัดการน้ำหลากปี 2561 ในระดับพื้นที่ของทุกจังหวัดในแต่ละพื้นที่ด้วย

“การจัดเสวนาดังกล่าว จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ได้รับรู้แผนงานและผลงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศของรัฐบาล รวมทั้งมีความเข้าใจและทราบถึงสถานการณ์น้ำ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ช่วงฤดูฝน ปี 2561 และก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความพร้อม ด้านแผนงาน ด้านการบริหารจัดการ การให้ความช่วยเหลือ ด้านเครื่องจักรเครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น ทั้งนี้ การเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทำได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา โดยเฉพาะในประเด็นความพร้อมของแผนงาน การบริหารจัดการ ตลอดจนการรับมือกับวิกฤติภัยน้ำ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

จาก www.naewna.com วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

5 เดือนใช้ FTA และ GSP กว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

พาณิชย์เผยเอกชนใช้สิทธิ  FTA และ GSP ช่วง 5 เดือนสูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯมั่นใจปี 61 ทะลุเป้าขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 9

นางมนัสนิตย์ จิรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี (มกราคม-พฤษภาคม 2561) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อยู่ที่ 28,030.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 76.22 ของมูลค่าการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง และเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 20.48

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน (มูลค่า 10,524.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน มูลค่า 7,050.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯออสเตรเลีย มูลค่า 3,924.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,029.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและอินเดีย มูลค่า 1,816.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ แยกตามรายประเทศพบว่าอยู่ที่ระดับ 2 หลัก ในทุกตลาดยกเว้นนิวซีแลนด์ที่อัตราการขยายตัวเป็นลบ โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ อินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.48 รองลงมาคือ เกาหลีและจีน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 27.84 และ 27.43 ตามลำดับ

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนของภาคเอกชนจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว หากแต่การขยายการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นมีพลังขับเคลื่อนมากพอที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับออสเตรเลียซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการอัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าและบริการของจีนและออสเตรเลียปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และ 4.2 ตามลำดับสะท้อนความต้องการบริโภคสินค้าและบริการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ดังนั้น จีนและออสเตรเลียจึงยังคงเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญนอกเหนือจากอาเซียน และญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าดั้งเดิมของไทย รายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่รถยนต์บรรทุก รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ น้ำตาลจากอ้อย และเครื่องปรับอากาศ

ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2561 จะมีอัตราการขยายตัวไม่น้อยกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการประเมินไว้ที่ร้อยละ 9 ทั้งนี้ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 43 ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่กรมการค้าต่างประเทศวางไว้ที่ไม่น้อยกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ปัจจุบันไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซียและเครือรัฐเอกราช โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยทั้งในเชิงมูลค่าและอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ คือ สหรัฐอเมริกา กล่าวคือ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-พฤษภาคม) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP อยู่ที่ 1,878.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 60.98 ของมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP รวม ซึ่งมีมูลค่า 3,079.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ทั้งหมด พบว่ากว่าร้อยละ 90 เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,753.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 67.43 ของมูลค่าการส่งออกในรายการสินค้าได้สิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 2,600.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.28 สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์.-

จาก www.tnamcot.com  วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลุยปฏิรูปเกษตรกรรม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานความคืบหน้าของผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น อาทิ โครงการรับจำนำยุ้งฉาง จึงขอให้กระทรวงเกษตรฯ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งการลงทะเบียนเกษตรกร เพื่อที่ชาวนาได้รับเงินอุดหนุนให้เร็วที่สุด ส่วนชาวนาที่ไม่มียุ้งฉาง ต้องเร่งให้มาลงทะเบียนให้เร็วที่สุดเพื่อที่ข้าวจะได้ไม่เสียหาย

“โครงการปฏิรูปภาคการเกษตรฯ โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต จะเริ่มโครงการระยะที่ 1 เดือน ส.ค.นี้ โดยกระทรวงเกษตรฯได้เสนอแผนงานแล้ว อาทิ ลดการปลูกข้าวนาปรัง เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนได้มาประสานงานว่าจะให้ความร่วมมือเต็มที่ รวมทั้งล้ง หรือโรงคัดบรรจุผลไม้ต่างๆ ก็จะมาหารือสถานการณ์ตลาดร่วมกับรัฐบาล เพื่อวางแผนร่วมกัน ขณะที่เรื่องของระบบสหกรณ์ ปัจจุบันมีสหกรณ์การเกษตร 800 แห่ง ที่เข้มแข็งเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ จึงสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ ทำแผนพัฒนาสหกรณ์กลุ่มนี้ให้แข็งแรงมากขึ้น”

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เสนอขอเพิ่มพื้นที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยาง ไปปลูกพืชอื่นจากปีละ 400, 000 ไร่ เป็น 600,000 ไร่ นายสมคิดเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และต้องเป็นยางใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทำให้ราคายางไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ยางที่จะโค่นได้ เป็นต้นเก่าที่กรีดยางแล้วเกินกว่า 25 ปี และยางใหม่ที่เพิ่งปลูกได้ 7 ปี ที่มีอยู่ 3-4 ล้านไร่ ตามแผนการนี้จะโค่นทิ้งให้หมดภายใน 5 ปี.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยเล็งเสนอ ปตท.ตั้งโรงงานเอทานอล-รับซื้ออ้อยไปเป็นวัตถุดิบ

นายธีระชัย แสนแก้ว ที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีความเป็นห่วงสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ล่าสุดราคาอยู่ในระดับประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ การส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยทำได้ช้าและส่งออกได้ปริมาณที่น้อย ขณะที่ราคาตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง และผลจากการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของชาวไร่อ้อย เนื่องจากขณะนี้ใกล้ที่โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2561/2562 ซึ่งชาวไร่อ้อยมีความกังวลและไม่แน่ใจว่าปริมาณอ้อยปีนี้ที่จะออกมามีมากถึง 131 ล้านตัน ชาวไร่อ้อยจะได้รับราคาอ้อยขั้นต้นตันละกี่บาท จะถึงตันละ 700 บาทหรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งสถานการณ์ราคาอ้อยตกต่ำจะส่งผลให้ปี 2562-2563 ผลผลิตลดลง เพราะเดือนตุลาคมปีนี้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะไม่ปลูกอ้อย ทำให้อีก 1-2 ปี ปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงในที่สุด ขณะที่ชาวไร่อ้อยบางส่วนจะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ราคาดีกว่าแทน เช่น มันสำปะหลัง และในที่สุดมันสําปะหลังจะมีผลผลิตมากขึ้นจนทำให้ราคาตกต่ำลง ภาวะราคาตกต่ำหนุนเวียนเป็นวัฏจักรที่แก้ไขยาก

ดังนั้น ในระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคมนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย จะจัดประชุมครั้งสำคัญที่พัทยา เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอผลการประชุมต่อภาครัฐต่อไป

นายธีรชัย กล่าวว่า ในการประชุม 4 องค์กรชาวไร่อ้อย จะเสนอแนวคิดลดการพึ่งพิงส่งออกน้ำตาล โดยขอให้ภาครัฐกำหนดให้อ้อยเป็นพืชพลังงาน และขอให้ภาครัฐมีนโยบายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ ปัจจุบันนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศปีละประมาณ 600,000 ล้านบาท แบ่งเงินจำนวนหนึ่งอาจ 200,000 ล้านบาท มาตั้งโรงงานผลิตเอทานอลและรับซื้อผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรมาผลิตเอทานอล แนวทางนี้จะช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับราคาขายอ้อยที่สมเหตุสมผล ช่วยลดผลผลิต อ้อยส่งเข้าโรงงานน้ำตาล ขณะเดียวกันยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อีก และอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตเครื่องดื่มให้มีการนำน้ำตาลไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มและอาหารรูปแบบต่าง ๆ ส่งออกขายต่างประเทศมากขึ้น

ส่วนผลกระทบจากการลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการของภาครัฐหลังจากประเทศบราซิลขู่ว่าจะฟ้องร้องประเทศไทยต่อองค์การค้าโลก (WTO) ว่าอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ซึ่งเรื่องลอยตัวราคาน้ำตาลนี้เริ่มต้นปีนี้เป็นปีแรก กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเก็บเงินจากโรงงานที่ขายน้ำตาลไปต่างประเทศประมาณเดือนละ 800-1,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะนำมาใช้รักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยแบ่งสัดส่วนชาวไร่ร้อยละ 70 โรงงานร้อยละ 30 ซึ่งฤดูการผลิตปี 2560/2561 ชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยรวม 4,300 ล้านบาทหรือตันละ 32.20 บาท โรงงานน้ำตาลได้ประมาณ 13 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำตาลโลกตกต่ำจะต้องหาหนทางแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้โรงงานและชาวไร่อ้อยอยู่ได้ ซึ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวไร่อ้อยจะหยิบยกขึ้นมาหารือด้วยเช่นกัน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2561

เตรียมเสนอขอพักหนี้เกษตรกร 3 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า จากที่ภาคเกษตรมีปัญหา ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่ ผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และยังมีภาระหนี้สิน   ดังนั้นเพื่อลดภาระให้เกษตรกร  จึงมีแผนจะช่วยพักหนี้ให้กับเกษตรกรที่กู้ยืมเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นรายบุคคล เป็นเวลา 3 ปี ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และจะให้เกษตรกรมาจ่ายหนี้ต่อในปีที่ 4 เป็นต้นไป    โดยมีเป้าหมายหลัก   คือให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่เหมาะสม แล้วให้มีตลาดรองรับ

 ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะต้องคิดแผนพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ครั้งนี้  เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ในปีที่ 4 เนื่องจากจำนวนหนี้และดอกเบี้ย ไม่ได้ลดลง ยังต้องจ่ายตามสัญญาที่มีไว้กับ ธ.ก.ส.  ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดภาระของเกษตรกร และเป็นความท้าทายของกระทรวงเกษตรฯ ว่าในช่วง 3 ปีนี้จะต้องดำเนินการฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างไร

 จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 16 กรกฎาคม 2561

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์

 ตลาดคาดแนวโน้มเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์อ่อนค่าและบาทกลับมาแข็งค่าได้ระยะสั้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.30บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจและการเมืองโลกยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก ตลาดมีท่าทีระมัดระวังตัว แม้ดัชนีตลาดหุ้นสำคัญในสหรัฐปรับตัวบวกขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบห้าเดือนทั้งหมดจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งและราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว แต่บอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงเล็กน้อยไปที่ระดับ 2.83% (-3bps) ชี้ว่านักลงทุนยังคงมีความกังวลกับความเสี่ยงการเมือง

ฝั่งตลาดเงิน ปอนด์อังกฤษคือสกุลเงินที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด ล่าสุดขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.32 ปอนด์ต่อดอลลาร์ หลังจากที่ปรับตัวลงแตะระดับ 1.30 ปอนด์ต่อดอลลาร์เนื่องจากความกังวลเรื่อง Brexit ในช่วงสัปดาห์ก่อน

ทางด้านค่าเงินบาท เรามองว่าความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์จะเป็นประเด็นหลักเนื่องจากมีการเข้าให้ถ้อยแถลงของประธานเฟดกับรัฐสภาสหรัฐ เชื่อว่าความเสี่ยงในการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบหลายปี อาจทำให้สภาสหรัฐตั้งคำถามกับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จึงมีความเสี่ยงที่นายโพเวลล์อาจเอนเอียงไปในทิศทางชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าและเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในระยะสั้น มองกรอบเงินบาทระหว่างวันที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้มีหลายเรื่องที่ต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการพบกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์และวลาดิเมียร์ ปูติน ที่เฮลซิงกิในวันจันทร์ การเข้าให้ถ้อยแถลง (Testimony) ต่อรัฐสภาสหรัฐของนายเจอโรมโพเวลล์ในวันอังคาร ตัวเลขค้าปลีกของฝั่งสหรัฐที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงระดับ 0.8% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองของจีนที่คาดว่าจะขยายตัว 6.8%

เรามองว่าภาพรวมทั้งหมดไม่ได้เป็นลบกับตลาดทุน นอกจากนี้ในระยะสั้นรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐน่าจะยังดึงให้ตลาดสามารถกลับสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ได้ต่ออีกด้วย

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2561

ก.เกษตรฯ เสนอแผนการผลิตภาคเกษตรประเทศพรุ่งนี้

ก.เกษตรฯ เสนอแผนการผลิตภาคเกษตรประเทศ  พร้อมแนวทางพัฒนาอาชีพและช่วยเหลือเกษตรกรให้รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา 16 ก.ค.นี้  คาดประกาศใช้  3 เดือนข้างหน้า

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 16 กรกฎาคมนี้  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมาตรวจเยี่ยมและหารือข้อราชการโดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ร่วมด้วย

นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ จะรายงานแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศและประกาศใช้ใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งมีแนวทางจะประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ โดยกำหนดว่าควรปลูกพืชหรือทำปศุสัตว์ใดในปริมาณพื้นที่เท่าไร อีกทั้งให้ทำกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม (Agri-map) กำหนดแผนการผลิตเกษตรกรรมอะไรบ้าง มีมาตรการอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรทำการผลิตไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ โดยจะเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา 2 แนวทาง คือ ประกาศเต็มพื้นที่ทั้งประเทศหรือทำเฉพาะทดลองในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลังในพื้นที่เขตชลประทานภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสาน รวมทั้งพื้นที่ที่สหกรณ์การเกษตรมีความเข้มแข็ง

นายกฤษฎา กล่าวว่า เบื้องต้นข้าวมีแผนปฏิบัติงานภายใต้แผนการผลิตและตลาดข้าวครบวงจร โดยจะลดการทำนาครั้งที่ 2 และ 3 หรือการทำนาปรัง 2-3 ล้านไร่ ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง  ส่วนข้าวโพดที่ผ่านมามีมาตรการจูงใจให้ชาวนาปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพด โดยรัฐสนับสนุนไร่ละ 2,000 บาท แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ล่าสุดได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในฤดูนาปรัง 2561 จะลดการปลูกข้าวจากปกติมีพื้นที่ปลูก 12 ล้านไร่ให้เหลือเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งความต้องการใช้ในประเทศมีมากถึง 3.5 ล้านตันต่อปี แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอต้องนำเข้า สำหรับมันสำปะหลังมันได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ หารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์สำรวจความต้องการใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วจึงมาวางแผนการผลิต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ประการสำคัญต้องมีมาตรการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรที่ผลิตตามแผนการผลิตภาคเกษตรของประเทศว่าจะมีรายได้มากขึ้น ไม่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทำอย่างรวดเร็วที่สุด ให้ทันฤดูกาลผลิตหน้า หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว  นอกจากนี้ จะมีการหารือแนวทางพัฒนาอาชีพและช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ 3 ปี เพื่อทำให้อาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงทั้งภัยธรรมชาติ โรค และแมลงระบาด รวมถึงขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนเปลี่ยนเป็นอาชีพที่มีมาตรการต่าง ๆ เหมือนมีสวัสดิการรองรับและมีความมั่นคง

จาก www.mcot.net วันที่ 15 กรกฎาคม 2561

“บิ๊กตู่” ปลื้ม WIPO ปรับอันดับดัชนีนวัตกรรมไทยดีขึ้น

พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้เปิดเผยรายงานการประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2561 โดยประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 44 ในปีนี้ จากทั้งหมด 126 ประเทศทั่วโลก

“นายกฯ รับทราบว่า ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็นผู้นำในหลายด้าน เช่น การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง อันดับที่ 8 และการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร อันดับที่ 11 นอกจากนี้ WIPO และหน่วยงานที่ร่วมกันจัดทำรายงานฉบับนี้ได้ระบุด้วยว่า ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศ ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาด้านนวัตกรรม”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริม คุ้มครอง การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และป้องกันปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

“นายกฯ เน้นย้ำว่า อยากให้คนไทยเรียนรู้ที่จะพัฒนานวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ใช้ รวมทั้งคำนึงถึงความต้องการของตลาดเพื่อให้เกิดการผลิตที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ ที่สำคัญคือนักวิจัยจะต้องช่วยคิดค้นผลงานที่ตอบโจทย์ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างยั่งยืน ให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตของตนได้โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำอย่างไรให้ผลิตน้อยแต่ได้ราคาดี แทนที่จะผลิตออกมามาก ๆ แต่ขาดทุน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 15 กรกฎาคม 2561

โรงงานน้ำตาลเสี่ยงขาดทุนหลังตลาดโลกร่วง

โรงงานน้ำตาลเสี่ยงขาดทุน จากวิกฤติราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำเหลือ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ด้าน สอน.เดินหน้ารับฟังผลกระทบ พ.ร.บ.อ้อยฯ ย้ำเป็นธรรมทุกฝ่าย

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายระบุว่า  ขณะนี้ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำอย่างมากอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำตาลทันที โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่มีกว่า 50 โรงงานทั่วประเทศ ขณะนี้รายได้ที่ได้รับการจัดสรรร้อยละ 30 ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 และชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 แม้ปีนี้จะมีผลผลิตอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์เกือบ 135 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลภาพรวมกว่า 13 ล้านตันก็ตาม แต่โรงงานน้ำตาลในภาพรวมยังคงมีความเสี่ยงว่ารายได้ที่ได้รับร้อยละ 30 นั้น จะเพียงพอหรือไม่ กับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนผลิตน้ำตาล และบางรายมีต้นทุนสูงอาจมีภาวะเสี่ยงที่จะขาดทุน เพราะมีรายได้ลดลงอย่างมากจากผลกระทบวิกฤติราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำได้

สำหรับราคาน้ำตาลปัจจุบัน ถือเป็นระดับราคาที่ตกต่ำ ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับราคาน้ำตาลในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ทันที โดยมีระดับความรุนแรงของผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งระดับผลกระทบพิจารณาได้จาก ลักษณะการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ หากรายใดดำเนินธุรกิจเชิงเดี่ยวเพียงโรงงานน้ำตาลเท่านั้น ไม่ได้กระจายความเสี่ยงด้วยการขยายไปทำธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ผลกระทบก็จะมากกว่าผู้ประกอบการที่มีการกระจายความเสี่ยงขยายไปลงทุนทำธุรกิจที่หลากหลาย เช่น พลังงานไฟฟ้า เอทานอลและกระดาษ และอื่น ๆ เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างแก้ไข  นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยให้มีประสิทธิภาพและกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ยังเป็นการตามคำมั่นที่ให้ไว้กับรัฐบาลบราซิลด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุดเว็บไซต์ของ สอน.เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... ซึ่งเริ่มตั้งแต่วั นที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2562  เพื่อรับฟังความเห็นจากสาธารณะอีกครั้งก่อนจะประมวลข้อคิดเห็นต่าง ๆ เข้ากระบวนการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.และดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายต่อไป

สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย หากเกษตรกรมีความต้องการผลประโยชน์เพิ่มเติม หรือเคยได้รับ ก็ควรอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมทั้ง 2  ฝ่าย ทั้งโรงงานและเกษตรกร โดยคำนึงถึงรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการลงทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  รวมถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

จาก www.mcot.net วันที่ 13 กรกฎาคม 2561

พาณิชย์จี้ทูตพาณิชย์ตีตลาดสินค้าไทยในประเทศที่มีศักยภาพในการนำเข้าสูง 10 ประเทศ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจศักยภาพการนำเข้าจาก 168 ประเทศทั่วโลก พบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงสุด 10 ประเทศ คือ 1. จีน 2. สหรัฐอเมริกา 3. อินเดีย 4. เยอรมัน 5. ฮ่องกง 6. สิงคโปร์ 7. ญี่ปุ่น 8. เกาหลีใต้ 9. เนเธอร์แลนด์ 10. สหราชอาณาจักร ในกลุ่มนี้เป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งไทยยังมีโอกาสในการส่งออกไปตลาดเหล่านี้ได้อีกมาก เพราะจากการศึกษาพบว่าหลายประเทศต้องการสินค้าจากไทย เช่น จีน และเกาหลีใต้มีความต้องการนำเข้าสูงสุดในสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออก ดังนั้นจึงควรส่งเสริมการลงทุนจากทั้งสองประเทศนี้ในไทย ขณะที่อินเดียก็ขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมีประชากรมาก แต่ภาษีนำเข้าสูงจึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น

และในจำนวน 10 อันดับแรกนี้มีหลายประเทศที่ไทยยังส่งออกไปไม่มาก เช่น อินเดีย เยอรมัน และเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบว่า จีนและเกาหลีใต้ มีความต้องการนำเข้าสูงในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การสื่อสาร ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออก ดังนั้น การส่งเสริมการลงทุนจากจีนและเกาหลีใต้มาไทยในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกไปตลาดจีนและเกาหลีใต้มากขึ้น ขณะที่อินเดียมีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจ ขยายตัวสูงและมีประชากรจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ ภาษีนำเข้าสูง และมีระดับการเปิดประเทศต่ำ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอินเดียและสร้างพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดอินเดีย ได้แก่ น้ำมันพืช อัญมณี อุปกรณ์สื่อสาร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

“เราจะนำผลการศึกษานี้มอบให้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประสานให้มีการค้าขายในประเทศเหล่านี้มากขึ้น เพราะจากการศึกษาพบว่าหลายประเทศมีการนำเข้าสินค้าที่ประเทศไทยผลิตได้ แต่กลับไม่ได้นำเข้าจากไทย ต้องไปดูว่าทำไมเขาจึงไม่เลือกไทย รวมทั้งต้องสั่งการให้ทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศทำงานให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อให้ไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้มากขึ้น” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

นอกจากนี้ น.ส.พิมพ์ชนก ยังกล่าวถึงการติดตามภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ว่า สงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 ขั้ว ทำให้รูปแบบการค้าของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไทยจำเป็นต้องปรับสินค้าตามความต้องการหรืออุปสงค์ที่เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งทางสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จะนำผลศึกษาครั้งนี้เสนอไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย สามารถตอบสนองนโยบายการตลาดนำการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีผลทางอ้อมต่อไทย คือจะทำให้ภาวะการค้าโลกชะลอตัวลง ขณะที่ผลกระทบทางตรงต่อไทยจะมีไม่มาก ซึ่งในภาพรวมการส่งออกไทยไปสหรัฐยังเติบโต เพราะในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐมีมูลค่าส่งออกไม่มาก และสามารถกระจายไปตลาดใหม่ได้ไม่ยากนัก สำหรับปัจจัยที่น่ากังวลในระยะสั้นคือ ราคาน้ำมันลดลง อาจทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงได้ แต่ยังมั่นใจว่ายอดส่งออกไทยในภาพรวมน่าจะขยายตัวได้ถึง 9% โดยกระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ประกอบการส่งออกหารือสถานการณ์ ก่อนปรับเป้าหมายการส่งออกประเทศใหม่ในสัปดาห์หน้า

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 13 กรกฎาคม 2561

กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งแก้ปัญหาการระบาดของ “จักจั่น” ในไร่อ้อย

ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากอาจมีผลให้สมดุลของระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อาหารตามธรรมชาติมีปริมาณลดลง จากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลให้จักจั่น (Platypleura cespiticola Boulard) ซึ่งจัดเป็นศัตรูป่าไม้ เริ่มเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร โดยตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบจักจั่นระบาด และเข้าทำลายพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอสามชุก ศรีประจันทร์ และอำเภอแสวงหา และพื้นที่ปลูกอ้อยในจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงที่เสี่ยงต่อการระบาดของจักจั่น

ในอดีตการศึกษาวงจรชีวิตของจักจั่นมีค่อนข้างน้อยจึงทำให้ไม่ทราบวงจรการระบาดของจักจั่นเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 2 – 3 ที่ผ่านมาพบจักจั่นในระยะตัวเต็มวัยตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม ในไร่อ้อยและเมื่อเดินเข้าไปในไร่จะเห็นจักจั่นบิน หรือได้ยินเสียงร้องในไร่อ้อย ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากสำรวจพบจักจั่น ให้ขอคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดทันที

ระยะที่ทำความเสียหายให้กับอ้อย คือ ระยะตัวอ่อน ซึ่งอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตรถึง 2.5 เมตร โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ทำให้ระบบรากเสียหายเกิดอาการเหี่ยว และแห้งตายได้ในที่สุด

ตัวอ่อนมีขาหน้าขนาดใหญ่สำหรับขุดดิน บางครั้งจะเห็นดินเป็นแท่งทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวโผล่ขึ้นมาจากดินสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือนแต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน อาศัยอยู่ในดิน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานและทำความเสียหายให้กับผลผลิตอ้อยได้มาก

ในส่วนของแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของจักจั่นในไร่อ้อย นั้น เนื่องจากจักจั่นเป็นศัตรูพืชที่ไม่พบเข้าทำลายอ้อยบ่อยนัก การป้องกันกำจัดจึงยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจน กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่บุกรุกทำลายป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของจักจั่น เพื่อไม่ให้เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร หากพบระบาดในอ้อยไม่ควรใช้สารเคมีเนื่องจากลงทุนสูงแต่ได้ผลน้อย อีกทั้งจักจั่นไม่ได้ระบาดเป็นประจำ สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดให้ใช้วิธีเขตกรรมเช่น การขุดหรือไถพรวนเพื่อจับตัวอ่อนในดิน หรือการเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน หรือการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของคนในชุมชน เช่นเดียวกับการรณรงค์เก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน แมลงนูนหลวง และด้วงหนวดยาวอ้อย เป็นต้น

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2955-1514 , 0-2955-1626

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อุตฯขู่ฟันเจ้าหน้าที่แหกกฎ เรียกรับผลประโยชน์จากโรงงาน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ออกหนังสือเวียนแจ้งไปยังข้าราชการและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบและปฏิบัติตามนโยบายป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบโดยเฉพาะงานการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต และการกำกับดูแลโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์อันมิชอบ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใสและตรวจสอบได้

“เจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรพนักงานเจ้าหน้าที่ และแจ้งวัตถุประสงค์ในการเข้าไปตรวจสอบโรงงานอย่างชัดเจนทุกครั้ง ซึ่งการตรวจกำกับโรงงานในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำกากอุตสาหกรรมมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องมีแผนการตรวจกำกับที่ชัดเจน มีหลักฐานการอนุญาตให้เข้าตรวจสอบโรงงาน โดยใช้แบบรายงานผลการตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงาน (แบบตรวจ 02) เป็นแบบมาตรฐานการตรวจสอบทุกโรงงาน”

นายพสุ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันไม่มีนโยบายในการเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และการชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต้องออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงินด้วย

หากผู้ประกอบการพบเห็นหรือมีการแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมขอให้แจ้งข้อมูลโดยตรงมายังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือโทร 0-2202-3683 ต่อ 5 ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์หากตรวจสอบว่ามีความประพฤติตามที่กล่าวอ้าง จะต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด

จาก www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

นายกฯ เจรจาเอฟทีเอ “ไทย-ศรีลังกา” 13 ก.ค.เอกชนฝากเปิดไทยลงทุนโรงไฟฟ้า-น้ำตาลทราย

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 12 กรกฎาคม ตามเวลท้องถิ่น ที่กรุงโคลัมโบ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับนักธุรกิจไทย ขณะเยือนศรีลังกา จากนั้นเป็นสักขีพยาน ร่วมกับนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เพื่อประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย – ศรีลังกา

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเจรจาเริ่มทำ FTA ไทย – ศรีลังกา รอบแรก ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ โดยตั้งเป้าหมายให้การเจรจาเสร็จสิ้นภายในปี 2563 โดยผลการศึกษาจะเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไทย สินค้าศักยภาพของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากการเจรจา FTA อาทิ สินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า FTA ไทย – ศรีลังกา และเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันแบบก้าวกระโดด บรรลุเป้าหมายการค้ารวมที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.ชุติมากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์การพัฒนาและการค้าระหว่างประเทศของศรีลังกา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ MOU ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ครอบคลุมสาขาความร่วมมือ 10 ด้าน ที่ไทย และศรีลังกาเห็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร การประมง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การเงิน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อมั่นว่าความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าว จะช่วยยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ

“รวมทั้ง ยังช่วยกระตุ้นการลงทุนของไทยในศรีลังกาให้เพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2558 โดยในปี 2560 ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยการค้าระหว่างไทย และศรีลังกามีมูลค่า 512.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8.7 โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 442.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากศรีลังกา 70.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” น.ส.ชุติมา กล่าว

น.ส.ชุติมากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของไทย มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคี และพหุภาคี อีกทั้ง เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอัญมณีและประมง และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวมถึง อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ Belt and Road ของจีน นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการเป็นฐานการลงทุนของไทยในภูมิภาค เนื่องจากศรีลังกามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในหลากหลายสาขา อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ความร่วมมือจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุน โดยภาคเอกชนได้เสนอผ่านนายกฯ ให้ส่งสัญญาณในการหารือกับนายไมตรีปาละ ถึงการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าลงทุนในศรีลังกา เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล ท่องเที่ยว อาหาร เกษตร บริการ รวมถึง ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

'อุตตม' ฉายภาพยุทธศาสตร์ 'ไทยแลนด์ 4.0' ชู 'อีอีซี' หัวใจผลักดันเศรษฐกิจ

"อุตตม" ฉายภาพยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ต่อสายตานานาชาติ เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชูอีอีซีหัวใจหลักผลักดันเศรษฐกิจ เชื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นตัวช่วยโครงการอื่น ๆ ในอีอีซีเดินได้ตามแผน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจในอาเซียน หรือ บลูมเบิร์ก อาเซียน บิสสิเนส ซัมมิต (Bloomberg ASEAN Business Summit) ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี กรุงเทพฯ ว่า การบริหารงานภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับคนไทยและนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการปฏิรูประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ การดำเนินยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาวนั้น จะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องมุ่งไปสู่นวัตกรรม หรือ อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อน โดยการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ขึ้นมารองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมใน 10 กลุ่มเป้หมาย ที่ขณะนี้มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าการลงทุนราว 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนถึง 31 ราย ถือเป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยหนุนให้โครงการอื่น ๆ ในอีอีซี เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

นายอุตตม ยังชี้ให้นานาชาติเห็นว่า การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลไทยต้องการพัฒนาประเทศให้เติบโต พร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่จะเน้นถึงความร่วมมือ ความเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบรางรถไฟ ที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการเชื่อมต่อทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกด้วย

ที่สำคัฐยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศระยะยาว ช่วยลดการพึ่งพาการส่งออก และหากสามารถเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าด้วยกันได้ จากความร่วมมือต่าง ๆ จะทำให้ไม่มีสงครามการค้าระหว่างกัน และยังเป็นเกาะป้องกันความผันผวนของการค้าโลกได้ในอนาคต

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จับตาค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อ นลท.ชะลอลงทุนหวั่นสหรัฐ-จีนตอบโต้การค้ารุนแรง

นักลงทุนหวั่นสงครามทางการค้ารุนแรง หลังสหรัฐเพิ่มวงเงินเก็บภาษีนำเข้าจีนเป็น 2แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนหวั่นความรุนแรงระหว่างจีน-สหรัฐมากขึ้น ทำให้ชะลอลงทุนชั่วคราว มองค่าเงินสัปดาห์นี้อ่อนค่าต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท วันที่ 12 ก.ค. 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 33.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากระดับปิดวานนี้ที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ที่ระดับ 33.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ค่าเงินบาทธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันนี้ มีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังนักลงทุนส่วนใหญ่มีการชะลอการลงทุน หลังสหรัฐ ประกาศเพิ่มวงเงินเก็บภาษีนำเข้าจีนเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มองความนรุนแรงเกี่ยวกับการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีการชะลอการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงในระยะนี้ จึงทำให้ประเมินว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าต่อ โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แนวต้านให้ไว้ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือท่าทีของจีน ว่าจะมีการออกมาตอบโต้สหรัฐหรือไม่ ซึ่งหากจีนไม่มีการนำเงินหยวนมาใช้ตอบโต้ทางการค้า คาดว่าค่าเงินหยวน และค่าเงินในภูมิภาค ไม่น่าจะกดดันและเคลื่อนไหวอ่อนค่ามากนัก แต่ก็ต้องติดตามว่า จีนจะจับมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อออกมาตอบโต้ทางการค้าสหรัฐหรือไม่

นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย.ของสหรัฐ ที่จะออกมาสัปดาห์นี้ ซึ่งหากตัวเลขปรับเพิ่มขึ้น ก็จะมีผลทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

มท.ร่วมถกหลายหน่วยงานทำข้อมูลแก้ปัญหาพืชเกษตรครบวงจร

  เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์  เป็นประธานการประชุมร่วมกับ นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือการบริหารจัดการแผนการผลิตและการตลาดพืชเกษตรอย่างครบวงจร โดยมีผู้แทนหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุม

 น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มาจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19มิ.ย.2561 ที่สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับพืชเกษตรอย่างครบวงจรของพืชเศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด (ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย และข้าวโพด)  พืชเพื่อการพาณิชย์ เเละพืชเพื่อการบริโภค   

ทั้งนี้ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรหลัก 6 ชนิด รวมทั้งแผนการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตรทั้ง 6 ชนิด ซึ่งที่ประชุมมีมติให้แต่ละหน่วยงานไปจัดทำสรุปข้อมูลพร้อมแผนการดำเนินงานรวบรวมส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนสินค้าเกษตรในพื้นที่ทุกระดับต่อไป 

นายนิสิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยมีกลไกการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในทุกระดับตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ และระดับตำบล ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงมหาดไทยจะนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดเป้าประสงค์และแผนการผลิตผลผลิตของพืชแต่ละชนิด พร้อมทั้งวางแผนการส่งเสริมการผลิตและการบริหารจัดการในแต่ละท้องที่ให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด  ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าการเกษตรล้นตลาดได้

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

จบไม่ลง! พรุ่งนี้จับตากฎหมายน้ำ - ขอมติสนช. เห็นชอบขยายเวลาออกอีก 90 วัน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันพรุ่งนี้ (วันที่ 12 ก.ค.61) ว่า พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ....สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะขอที่ประชุมสนช.ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... เป็นครั้งที่ 7 ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งความจริงทุกมาตราที่ปรับเพิ่ม แก้ไข เสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 แล้วได้นำส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สทนช. จะต้องทำกฎหมายรองกลับมาก่อนเข้าสู่วาระ 2 และในระหว่างนี้อาจจะเชิญผู้แปรญัตติมาสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ที่สงสัย จะได้ทำความเข้าใจในคราวเดียวกัน

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกปฏิรูปประเทศเรื่องน้ำตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา258 ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี (2558-69) หรือที่เรียกกันว่าฉบับท่านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก จากนั้นก็เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาคำสั่งม.44 ออกคำสั่งที่46 จัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ซึ่งมีดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เป็นเลขาธิการคนแรกเป็นหน่วยงานมาดูแลกำกับให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว อีกเรื่องที่กำลังจะเกิดในลำดับถัดไปเรากำลังมีกฎหมายบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้น ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะครบทั้ง 3 องค์ประกอบทันทีคือมีกฎหมาย มีแผนยุทธศาสตร์และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมด

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

ฝนหลวงฯบูรณาการพัฒนาเทคโนฯบริหารจัดการน้ำบาดาล MOU แก้วิกฤตขาดแคลนน้ำ

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกรมพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเพิ่มประสิทธิ์ภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อบูรณาการด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำบาดาลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

นายวิวัฒน์  ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดการน้ำบาดาลระหว่างนายสุรสีห์  กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นางสาวมาลินี  สุทธิรัตน์  รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหารกับนางอรัญญา  เฟื่องสวัสดิ์  รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล  และนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี  รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ณ สนามบินนครสวรรค์

นายวิวัฒน์   กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับภาวะวิกฤติ และความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการร่วมวางแผน วิเคราะห์  ประเมินผล และติดตามผลการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณการในระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติต่อไป

ด้านนายสุรสีห์  กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯ เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดการกระจายตัวของฝนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วงและการกระจายตัวของฝนไม่ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก แนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ ทั้งน้ำบนฟ้า น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ดังนั้น กรมฝนหลวงฯจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 เพื่อดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการมุ่งเน้นความร่วมมือด้านวิชาการและวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับภาวะวิกฤตและภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาลในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดการทำงานร่วมกันหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า โดยวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ 1.ร่วมกันกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมในการเติมน้ำบาดาลลงสู่ใต้ดินตามธรรมชาติโดยการปฏิบัติการฝนหลวง 2.สร้างแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมวางแผน วิเคราะห์ประเมินผล และติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับภาวะวิกฤติและความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

มหาอำนาจเกษตร

โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

 “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร” หัวข้อเสวนาที่สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยจัดขึ้น ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา หลายคนมองว่าอาจไกลเกินฝัน แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันจริงจังอย่างน้อยก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประเทศ

เพราะด้วยจุดแข็งด้านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ จากทำเลที่ตั้ง บวกภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากคนรุ่นต่อรุ่น กับวิถีชีวิตคนไทย โดยเฉพาะคนในชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรมมาแต่ในอดีต ถ้าหากคนรุ่นปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ยังเห็นความสำคัญ และไม่ทิ้งภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานเดิม การเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเกษตร หรือจะเป็นครัวโลกตามนโยบายที่หลายหน่วยงานพยายามผลักดันอาจทำได้ใกล้เคียงขอเพียงแค่ศึกษาค้นคว้า พร้อมกับนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้

วัตถุประสงค์ในการระดมสมองครั้งนี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐนำไปพิจารณา และบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 179 ต่อ 0 เสียง เมื่อ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561-2580

เนื่องจากมองว่าร่างยุทธศาสตร์ที่ถูกยกร่างขึ้นยังไม่มีประเด็นด้านการเกษตรบางประเด็น ทั้งที่จะมีผลผูกพันทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องปฏิบัติตามอีก 20 ปีจากนี้ไป

หลังพิจารณากรอบยุทธศาสตร์ชาติในขอบเขตของภาคการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย จึงมี

ความเห็นในหลักการ 4 ประเด็น

1.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้ยกร่างขึ้นจะมีผลผูกพันเป็นกฎหมาย ตามที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 (ฉบับปราบโกง) มาตรา 65 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดทำนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐจะต้องดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติจึงมีความสำคัญและต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมต่อประชาชน ทั้งนี้ จากที่สมาคมได้ตรวจสอบจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนกลยุทธ์ และการวิเคราะห์นโยบาย พบว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ถูกจัดทำขึ้นยังมีจุดอ่อน เห็นสมควรปรับปรุงแก้ไข

2.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่าน ครม.เมื่อ 5 มิถุนายน 2561 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ปรากฏในประเด็น ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงตรวจสอบพบว่าเป็นร่างยุทธศาสตร์ที่เน้นการสร้างถ้อยคำและโวหาร อาทิ เกษตรอัจฉริยะ เกษตรอัตลักษณ์ เกษตรดิจิทัล เป็นต้น

ขณะที่โวหารและถ้อยคำดังกล่าว ไม่ได้บ่งบอกถึงแนวทาง หรือวิธีปฏิบัติที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต้องนำไปปฏิบัติจะไม่มีความชัดเจนว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ทำด้วยวิธีใด ใช้เวลาปฏิบัตินานเท่าใด ใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และได้รับมากน้อยเพียงใด ฯลฯ สวนทางกับการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำให้เกิดการสูญเปล่าในการใช้ทรัพยากรแผ่นดิน

3.การตรวจสอบเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งเป้าหมายรวมและเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน พบว่าเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ระบุเชิงปริมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องในหลักการจัดทำเป้าหมาย จึงควรกำหนดเป้าหมายที่กำกับด้วยเชิงปริมาณ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของการบรรลุเป้าหมายอย่างสมเหตุสมผล เพื่อลดการสูญเสีย

และ 4.ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ต้องสอดคล้องและเกื้อกูลกันในการปฏิบัติ ฯลฯ เวทีเสวนาจึงหยิบยกยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านที่ถูกยกร่างขึ้น ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในมุมมองที่อาจจะแตกต่าง แต่ไม่ได้แตกแยก

หากรัฐรับไปพิจารณาก็น่าจะยกชั้นเกษตรไทยก้าวไปอีกขั้น แม้ไม่ถึงกับเป็นมหาอำนาจทางการเกษตรแต่จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

เงินบาทขยับอ่อนค่า 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังสหรัฐฯ ประกาศตั้งภาษีจีน กดดันค่าเงินเอเชีย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 33.17 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ หลัง ค่าเงินยูโรถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจในยูโรโซนที่ยังคงออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังกลับมาแข็งค่าต่อได้ หลังสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้ามาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ด้วยการประกาศรายชื่อสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพิ่มเติมกับจีน คิดเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้งหนึง

สำหรับวันนี้ นักลงทุนและผู้ประกอบการควรติดตามความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง และอาจจะส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดเอเชียเริ่มกลับมาปิดรับความเสี่ยงกันมากขึ้น ทำให้ค่าเงินเอเชีย อาทิ ค่าเงินบาท ดอลลาร์สิงคโปร์ สามารถอ่อนค่าต่อได้ ตามแนวโน้มค่าเงินหยวนของจีน มองเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

“กรมส่งเสริมสหกรณ์” ร่วมลุย “เกษตรแปลงใหญ่” ใช้ข้อมูลสมาชิกนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ นำร่อง 6 นิคมฯใน 3 จังหวัดที่มีศักยภาพ

 “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ร่วมลุย “เกษตรแปลงใหญ่” ใช้ข้อมูลสมาชิกนิคมสหกรณ์ทั่วประเทศ วางระบบบริหารจัดการผลผลิต-ลดต้นทุน พร้อมตลาดรองรับชัดเจน เพิ่มรายได้เกษตรกร นำร่อง 6 นิคมฯใน 3 จังหวัดที่มีศักยภาพ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการเตรียมการจัดพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง เพื่อดำเนินการตามนโยบายในการวางแผนการผลิตทางการเกษตร ว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะมีนโยบายจะปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการสินค้าและขยายช่องทางการตลาด โดยใช้วิธีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่นิคมสหกรณ์เป้าหมาย 6 แห่ง จำนวน 131,670 ไร่ เกษตรกร 4,630 ราย ประกอบด้วย นิคมสหกรณ์สวรรคโลก นิคมสหกรณ์หนองบัว นิคมสหกรณ์ศรีสำโรง จ.สุโขทัย นิคมสหกรณ์พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นิคมสหกรณ์แม่สอด จ.ตาก และนิคมสหกรณ์นครชุม จ.กำแพงเพชร โดยเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์ทุกแห่งจะต้องดำเนินการผลิตสินค้าการเกษตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด ให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีการควบคุมการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดย กรมฯได้จัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สหกรณ์ในพื้นที่เป้าหมายจัดหาเครื่องจักรกลต่าง ๆ รวมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ตลอดจนขั้นตอนการดูแลต่าง ๆ ด้วย

“สิ่งที่ รมว.เกษตรฯเป็นห่วงตอนนี้ คือปัจจุบันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยเกือบ 60 ปี และพบว่ามีการจ้างแรงงานเข้ามาทำทุกขั้นตอน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ผลผลิตออกมาก็ไม่มีคนรับซื้อ เนื่องจากไม่มีการวางแผนการผลิต จึงสนับสนุนให้พื้นที่นิคมสหกรณ์นำข้อมูลสมาชิกที่มีอยู่ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อดูแลส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยวางระบบบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลง มีตลาดรองรับที่แน่นอน และส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นในที่สุด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 กรกฎาคม 2561

กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้า Zoning by Agri-Map

การส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพของดิน หรือ การทำการเกษตรตามข้อมูลแผนที่ Zoning by Agri-Map ถือเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นย้ำมาโดยตลอด ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จึงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri–Map Online) โดยให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนต เพื่อให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน สามารถตอบสนองการใช้งานในพื้นที่ได้ จึงมีการพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ให้อยู่ในระบบโมบาย (Agri-Map Mobile) เกษตรกรสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) ได้ ซึ่งได้ประสานไปยังทุกสถานีพัฒนาที่ดินทั่วประเทศลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่อง Zoning by Agri-Map อีกด้วย

ด้าน นายตระกูล นามโลมา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานี กล่าวว่า ในส่วนของโครงการ Zoning by Agri-Mapเป็นกิจกรรมการปรับเปลี่ยนโดยให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามระบุในแผนที่ โดยจะแนะนำให้เกษตรกรว่าสมควรจะปรับเปลี่ยนมาเป็นพืชชนิดใด ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีหลายหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาบูรณาการด้วย อย่างเช่นปี 2561 จะมีทั้งหมด 7 หน่วยงานที่เข้ามา สำหรับในจุดที่ดำเนินการบางส่วนเราได้ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นาข้าวที่ไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากว่าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แล้วก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการเก็บกักน้ำ ข้าวอาจจะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูปลูกได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง เราถึงแนะนำให้เกษตรกร ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นวิธีการใช้ประโยชน์ที่ดินไปเป็นอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่า ปีนี้ก็ถือว่าเราเอากิจกรรมด้านพัฒนาที่ดินมาให้ อย่างเช่น สนับสนุนเรื่องของแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ประโยชน์ เอาไว้ปลูกพืช เอาไว้เลี้ยงสัตว์ เพื่อจะลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร ทั้งหมดนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่าการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยการปลูกพืชให้เหมาะสมตามแผนที่ Zoning by Agri-Map เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกร เพราะนอกจากจะช่วยให้สภาพของดินเกิดความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารพืชชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุน เสริมรายได้

ขณะที่ นาย สาโรช แถมพยัคฆ์ เกษตรกร อ.หนองขาหย่าง จ.อุทัยธานี ซึ่งเข้าร่วมโครงการ Zoning by Agri-Map กล่าวว่า แต่ก่อนตนเองทำนาแต่ประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ ทำให้นาข้าวเสียหาย ทางสถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานี จึงได้มาให้ความรู้ส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบผสมผสาน ปลูกพืช ผัก ผลไม้แทนการปลูกข้าวแต่เพียงอย่างเดียว หลังจากการปรับเปลี่ยนมาปลูกลักษณะผสมผสานแล้วสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองเป็นอย่างมา

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 10 กรกฎาคม 2561

พาณิชย์มั่นใจส่งออกพุ่งเกิน 8% เตรียมปรับเป้าใหม่สัปดาห์หน้า

นายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า วันที่ 16 ก.ค. นี้ กรมจะปรับคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ใหม่ เนื่องจากภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้มากกว่า 11% ดังนั้น จึงมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 8% อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้า สถานการณ์ราคาน้ำมัน ตลาดหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงผันผวนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สถาบันผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่เปิดตัวโครงการ ได้เปิดตัวโครงการ Passport to Global Challenge : PGC เพื่อยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการค้าระหว่างประเทศตามมาตรฐานสากลภายใต้บริบทการค้าใหม่ หรือ New Economy โดยจะรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมแข่งขันประกวดแนวคิดแผนกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศ พร้อมอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1,250 ราย ใน 5 ภูมิภาค ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจและต่อยอดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ Passport to Global Challenge : PGC by NEA ว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบการแข่งขันท้าทาย ประกวดแนวคิดแผนกลยุทธ์และการเตรียมพร้อมธุรกิจสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยให้จัดทำแผนธุรกิจเป็นกิจกรรมกระตุ้นความสนใจและสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง พร้อมทั้งเสริมสร้างและเพิ่มทักษะ ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศและให้คำปรึกษาเชิงลึก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคมีศักยภาพและสามารถเข้าสู่กระบวนการการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเป็นมาตรฐานสากลภายใต้บริบททางการค้า New Economy ในปัจจุบัน

สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2507-7999 หรือ www.nea.ditp.go.th

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 10 กรกฎาคม 2561

กรมชลมุ่งวิจัยพัฒนานวัตกรรม n สร้างแนวร่วม‘มวลชน’เพิ่มประสิทธิภาพงานจัดการน้ำ

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในโอกาสการก้าวสู่ปีที่ 117 กรมชลประทานมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จน่าพอใจ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่หลายหน่วยงานมาศึกษาดูงานเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปถ่ายทอดและขยายเครือข่ายในพื้นที่อื่นๆ จนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

นอกจากนี้ งานวิจัยเป็นอีกหนึ่งที่กรมชลประทานให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อตอบสนองการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม โดยปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา สำนักวิจัยและพัฒนา มีผลงานวิจัยถึง 23 เรื่อง เช่น การประยุกต์ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาการบริหารจัดการอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก โครงการควบคุมกำจัดผักตบชวาด้วยวิธีการบูรณาการในอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น

นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหน่วยงาน นำนวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์อัตรากำลังของข้าราชการและพนักงานราชการ เพื่อให้สามารถพิจารณาเกลี่ยกำลังและขอจัดสรรพนักงานราชการเพิ่มเติมได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนการขอทุนเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลแก่บุคลากรอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติผ่านกิจกรรม KM และ Unit School

โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติผ่านหลักสูตรการอบรมเตรียมการรองรับแผนปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทรัพยากรน้ำ)

จาก www.naewna.com  วันที่ 9 กรกฎาคม 2561

บาทเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าที่ 33.14 บาทต่อดอลลาร์

คาดตลาดการเงินกลับทิศเป็นบวก หลังรับข่าวปัญกาสงครามการค้าสหรัฐและจีนไปก่อนหน้านี้แล้ว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 33.14 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจาก 33.17 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปิดตลาดสัปดาห์ก่อน ในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าทั่วทั้งตลาดจับตาไปที่การโต้ตอบของจีนในสงครามการค้า พร้อมกับสหรัฐที่อาจมีการเพิ่มการกีดกันการค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่า ตลาดการเงินรับรู้ปัญหานี้ไปแล้วส่วนใหญ่ จึงมีโอกาสไม่มากที่ความผันผวนจะปรับตัวขึ้นต่อ นอกจากนี้สัปดาห์นี้จะเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ตลาดการเงินจึงน่าจะกลับมามีทิศทางเป็นบวก เนื่องจากรายได้ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งมากในปีนี้

ในส่วนของเงินบาท สิ่งที่ต้องติดตามคือความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์และค่าเงินหยวน เชื่อว่าในช่วงสั้นโอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนต่อมีไม่มาก และโอกาสที่ค่าเงิน ดอลลาร์จะพักฐานก็มีสูง ถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เงินบาทจะแข็งค่ากลับลงไปได้ กรอบเงินบาทวันนี้ 33.10-33.20 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 32.80-33.30 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่สิ่งที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้คือ สงครามการค้า ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในยุโรป

วันพุธ คาดว่าเงินเฟ้อสหรัฐ (CPI) จะเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนที่ผ่านมาไปอยู่ที่ระดับ 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาน้ำมันและสินค้าภาคการบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหลักขณะที่สินค้าอื่นๆปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย

วันพุธ ธนาคารกลางแคนาดาจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปที่ระดับ 1.50% เนื่องจากรายได้ในประเทศยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และธนาคารกลางพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกดดันอนาคตของเศรษฐกิจ

วันพฤหัส ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยุโรป (Eurozone Industrial Production) จะหดตัวลง 0.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามภาพรวมการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป ปัญหาการเมืองและสงครามการค้าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนชะลอการทำธุรกรรม

ศุกร์ราคาสินค้านำเข้าในฝั่งสหรัฐ (Import Prices) คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น 0.6% ในเดือนก่อน คิดเป็น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในครั้งนี้ยังไม่มีเรื่องภาษีใหม่ของทรัมป์เข้ามาเพิ่มความกดดัน

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 9 กรกฎาคม 2561

เงินทุนต่างชาติไหลออกฉุดเงินบาทอ่อนค่า

สหรัฐฯประกาศตัวเลขจ้างงานอกเกษตรมิ.ย.ดีเกินคาด ฉุดค่าเงินบาทอ่อน  คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวแตะระดับ 33-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้านเงินทุนยังไหลออกตั้งแต่ 2-5 ก.ค. ต่างชาติขายหุ้นไทย 8,800 ล้านบาท                

น.ส.รุ่ง  สงวนเรือง ผู้อำนวยการ  ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวแตะระดับ 33-33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เป็นผลมาจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย. โดยเพิ่มขึ้น 213,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4 % โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% จะทำหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี นอกจากนี้ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น  เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูง

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 2-5 ก.ค. ต่างชาติมีการขายหุ้นไทยไปแล้ว 8,800 ล้านบาท และตราสารหนี้ขายสุทธิ 171 ล้านบาท ส่วนการเคลื่่อนไหวค่าเงินบาทของไทยหากเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคยังอ่อนค่าระดับกลาง ๆ แต่การเคลื่อนไหวยังสอดคล้องกับภูมิภาค  โดยนับตั้งแต่สิ้นเดือนมิ.ย.-5 ก.ค. ค่าเงินรูเปียห์-อินโดนีเซียอ่อนสุด  0.6% รองลงมาเป็นรูปี-อินเดีย 0.5% หยวน-จีน 0.4%  บาท-ไทย 0.2% วอน-เกาหลีใต้ 0.2% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.1%

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 8 กรกฎาคม 2561

พัฒนาดินเพื่อการเกษตร!! เสริมความรู้เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการเเห่งรัฐ หลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ประจำปีงบประมาณ 2561 กรมพัฒนาที่ดิน” พร้อมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่วันดินโล” และประชุมติดตามความก้าวหน้าการเตรียมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาค (CESRA) ตรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์ CESRA และร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 โดยมีนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้เล็งเห็นความสำคัญของแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจัดอบรม หลักสูตร “การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ประจำปีงบประมาณ 2561ของกรมพัฒนาที่ดิน” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้และทักษะด้านการพัฒนาที่ดินเพิ่มขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่ตนเอง รวมถึงได้มีการวางเเผนการใช้ที่ดิน มีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม ตามสภาพของดินและสภาพการใช้ประโยชน์ และสอดคล้องกับมาตรการ โครงการรับรองการพัฒนาคุณภาพชีวิต มิติที่ 2 การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษาที่เป็นการเเก้ไขปัญหาเชิงรุกสู่เกษตรกร ให้แก่ เกษตรกร ผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้จัดอบรมเพิ่มความรู้ให้แก่เกษตรกรจำนวน 6 รุ่นๆละ100 ราย โดยรุ่นที่ 1 จำนวน 100 ราย ซึ่งการอบรมจะมีการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องความเหมาะสมของดิน การจัดการดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ การวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการดินมีปัญหา การจัดการพืชให้เหมาะสมกับดิน พร้อมทั้งให้เกษตรกรแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติจริงตามฐานการเรียนรู้ อาทิ ฐานการวิเคราะห์ดิน ฐานการเรียนรู้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 พด.6 และ พด.7 ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และหญ้าแฝก การฝึกอบรมเรื่อง การประยุกต์ใช้ที่ดินตามศาสตร์พระราชา และการเข้าถึงสารสนเทศและการใช้ประโยชน์ Application ของกรมพัฒนาที่ดิน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 8 กรกฎาคม 2561

เกษตรกรปลื้มนายกฯ เข้าใจวิถีเกษตรชงแนวทางจำกัดการใช้สารเคมี

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และสมาคมเกษตรปลอดภัย ผู้แทนเกษตรกร 30,000 รายยื่นหนังสือขอบคุณ นายกฯ-กรมวิชาการเกษตรในการพิจารณาอย่างรอบคอบที่มีมติไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส พร้อมนำเสนอ มาตรการจำกัดการใช้ฉบับเกษตรกร เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้จริง

สัญญา ปานสวี รักษาการเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรได้รวบรวมรายชื่อกว่า 30,000 ราย นำเสนอรายชื่อคัดค้านการยกเลิกใช้สารเคมีทั้งสามชนิดไปยัง พล.อ.ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อนำเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดยกลุ่มเกษตรกรได้จัดทำหนังสือขอบคุณผ่านสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยถึงนายกฯสำหรับการพิจารณาอย่างรอบด้านบนพื้นฐานข้อเท็จจริงของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จนมีมติไม่ยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส สอดคล้องกับประสบการณ์จริงของเกษตรที่ไม่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพตามข้อกล่าวอ้างต่างๆที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยร่วมกับสมาคมเกษตรปลอดภัย และกลุ่มเกษตรกรกว่า 30,000 ราย ได้รวบรวมแนวคิด แนวทางปฏิบัติ ยึดหลักตามความเป็นจริงที่สามารถปฏิบัติได้ และจัดทำเป็นบทสรุปมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ฉบับเกษตรกรขึ้น ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบบ้างในระยะแรก เกษตรกรก็พร้อมปรับตัว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว และการทำเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เกษตรกรดีเด่นสาขาทำไร่ ทำนา และไร่นาสวนผสม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของสมาพันธ์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจังในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกรผ่านการอบรมการฉีดพ่นสารเคมี การป้องกันตนเองและสิ่งแวดล้อมจากการฉีดพ่นสารเคมีไปจนถึงการปลูกฝังความคิด สร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ค่ายธรรม(ชาติ)เกษตร เพื่อสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพในอนาคต

สำหรับมาตรการจำกัดการใช้ฉบับเกษตรกร นายสุกรรณ์ กล่าวสรุปเป็น 6 มาตรการหลักว่า การแบนไม่ใช่คำตอบ แต่การใช้ที่ถูกต้องคือสาระสำคัญ โดยต้องมีมาตรการควบคุมและดูแลใน 6 กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ 1.ร้านค้าเคมีต้องออกกฎบังคับให้มีการอบรมอย่างเข้มข้นไม่ใช่สองวันจบ ร้านค้าต้องเสียสละเวลามาอบรมในแต่ละเรื่อง และภาครัฐจะต้องประเมินผลสม่ำเสมอ บังคับให้มีนักวิชาการเกษตรประจำร้าน เหมือนเภสัชกร 2. บริษัทเคมีเกษตร ออกกฎบังคับให้จัดอบรมเกษตรกรและจัดทำรายงานให้แก่ภาครัฐ หากเอกชนรายใดปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีความรับผิดชอบ ก็ไม่ควรให้มีการทำธุรกิจ ประเภทมีแต่ขายไม่มีทีมงานวิชาการก็ไม่ควรมีอีกต่อไป 3.ผู้ซื้อ จำกัดเฉพาะผู้ถือบัตรเกษตรกรเท่านั้น ควบคู่ไปกับร้านค้าจัดทำบันทึกการซื้อขาย เพื่อการตรวจสอบในอนาคต

4.ภาครัฐ ถ่ายทอดความรู้ด้านการวินิจฉัยศัตรูพืช รวมทั้งการฉีดพ่นอย่างต่อเนื่อง และระบุข้อความในฉลากให้ครบ โดยเฉพาะคำเตือนต่างๆ ต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ทุกวัน5.ผู้รับจ้างฉีดพ่น ออกกฎบังคับให้มีการขึ้นทะเบียน ผู้รับจ้างฉีดพ่นจะต้องผ่านการอบรมและทดสอบ รวมทั้งมีการวัดระดับความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก) 6.เกษตรกรทุกรายต้องเข้าสู่ระบบกระบวนการเกษตรปลอดภัย หรือ GAP ภาคบังคับ ไม่ใช่ระบบสมัครใจแบบเดิม และพัฒนาระบบบันทึกการใช้สารเคมีของเกษตรกรให้มีความเหมาะสม ท้ายที่สุดเกษตรกร 5 ล้านครอบครัว และเกษตรกรรายย่อย 17-20 ล้านคน เชื่อว่ามีความยินดีและพร้อมที่จะดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่จะเดินไปพร้อมกับเกษตรกรและให้เกษตรกรได้เรียนรู้ถึงการเกษตรที่ดีและปลอดภัย (GAP) ดีกว่าการแบนหรือยกเลิกและปราศจากทางออกที่ยั่งยืน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 7 กรกฎาคม 2561

“พาณิชย์” ร่วมมือ “อังค์ถัด” สานต่อเศรษฐกิจ

พาณิชย์ร่วมมืออังค์ถัดสานต่อพันธมิตรทางเศรษฐกิจทุกภูมิภาคเน้นสร้างความแข็งแกร่งทางการค้ากับประเทศกำลังพัฒนา

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับ ดร.มูคิสะ คิทูยิ เลขาธิการอังค์ถัด (UNCTAD) เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 ในประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยกับอังค์ถัด และการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเลขาธิการอังค์ถัดเห็นว่า ไทยและอังค์ถัดมีความสัมพันธ์เชิงวิชาการและความร่วมมือด้านการค้าและการพัฒนาที่แน่นแฟ้นระหว่างกันมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาไทยมีบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน

การหารือครั้งนี้ ไทยได้สร้างความมั่นใจกับอังค์ถัดว่าไทยพร้อมร่วมมือและสานต่อการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าในทุกภูมิภาค รวมทั้งประเทศในกลุ่มแอฟริกา นอกจากนี้ ไทยยังคงสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกัน โดยในปี 2562 ที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนจะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากอาเซียนแล้ว ไทยยังต้องการขยายความร่วมมือและการเชื่อมโยงกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน อาทิ การสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมไปสปป.ลาว และจีน ตาม Belt and Road Initiative ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปเส้นทางมหาสมุทรสู่อินเดียและแอฟริกาได้

“ไทยขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการเพิ่มบทบาทและพัฒนาศักยภาพของ SMEs ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก และการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และยังได้ให้การสนับสนุนแก่ SMEs ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายสนธิรัตน์ เสริม

จาก www.thansettakij.com วันที่ 6 กรกฎาคม 2561

กรมฝนหลวง-กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำบาดาล รับภาวะวิกฤต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำโดยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนางสาวมาลินี สุทธิรัตน์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำโดยนางอรัญญา เฟื้องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับภาวะวิกฤตและความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการร่วมวางแผน วิเคราะห์ ประเมินผล และติดตามผลการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการ ในระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติต่อไป จากนั้นคณะได้เดินทางเยี่ยมชมพื้นที่ศักยภาพโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ณ บ้านหนองระกำ หมู่ 5 ต.เขาชายธง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 6 กรกฎาคม 2561

กรมฝนหลวงจับมือกรมทรัพยากรฯ เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำบาดาล

รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ระบุความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงฯ กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ดอนมีน้ำใช้ทำการเกษตรมากกว่าในอดีต

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาลระหว่างนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับนางอรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การลงนามครั้งนี้จะทำให้ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ บูรณาการงานร่วมกันทั้งด้านวางแผน วิเคราะห์ ประเมินผลและนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันระยะเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเติมน้ำบาดาลลงสู่ใต้ดินธรรมชาติ โดยการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งปีแรกจะเน้นพื้นที่อำเภอตากฟ้าและทุกอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ปีต่อไปจะขยายผลไปยังทุกพื้นที่เขตเงาฝนทั่วประเทศ

ในโอกาสนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะยังได้ลงพื้นที่บ้านหนองระกำ หมู่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่อยู่ในเขตเงาฝน ก่อนหน้านี้เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำปลูกอ้อยได้เพียง 1 รอบต่อปี ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ภายหลังได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล ทำให้มีน้ำเพาะปลูกอ้อย เพิ่มผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น อีกทั้งเมื่อมีน้ำทำการเกษตรยังได้ต่อยอดไปปลูกพืชผสมผสาน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทานตะวัน กล้วย ไผ่หวาน มะเขือเทศ มะเขือยาว มะนาว มะพร้าว และมะม่วง สามารถปลดหนี้ได้ภายใน 3 ปี

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า การขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ตำบลเขาชายธงนี้เพียง 50 เมตร จะได้น้ำมาใช้ในการเกษตรและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำการเกษตรในพื้นที่ดอน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทำให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

จาก www.tnamcot.com วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ก.เกษตรฯ ดันไทยมหาอำนาจทางเกษตร

ก.เกษตรฯ จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรฯ ควบคู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  มุ่งสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตร เชื่อดันไทยเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการเสวนาเรื่อง “ไทยจะเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร (ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ได้อย่างไร” ว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี (ปี 2560 – 2579) รวมทั้งแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ควบคู่กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร กำหนดเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ 390,000 บาทต่อคน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร กำหนดจีดีพีภาคเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน มีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรปีละ 2 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 49.52 ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาระบบริหารจัดการภาครัฐ พัฒนาให้บุคลากรของรัฐเป็น Smart Officer และ Smart Researcher เชื่อมโยงการทำงานทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ โดยการปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปรับปรุงกฎหมายด้านการเกษตรให้ทันสมัย ซึ่งทั้ง 5 ยุทธศาสตร์นี้ คือ สิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการให้บรรลุผลใน 20 ปีข้างหน้า

นายลักษณ์ กล่าวว่า การพัฒนาภาคการเกษตรจาก 3.0 ไปสู่ 4.0 เพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีการจ้างแรงงาน และเป็นต้นแบบของประเทศอื่น ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยยังมีปัญหาและช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำของภาคการเกษตร เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างต่ำ และเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยมีความเข้มแข็ง ทั้งเรื่องความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรไทย เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากภาคเกษตรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ รวมถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ แต่ภาคเกษตรไทยยังเป็นความหวังของไทยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต.

จาก www.tnamcot.com วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“พาณิชย์” เปรียบเทียบสินค้าไทย-อาเซียน พบต่ำสุดหลายรายการ

 “พาณิชย์” เปรียบเทียบราคาจำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยกับประเทศในอาเซียน เผยหลายสินค้าไทยต่ำสุดในอาเซียน บางรายการไทยอยู่อันดับสอง แต่โดยรวมดีกว่าหมด ชี้ให้เห็นว่าค่าครองชีพของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไก่สดชำแหละ (น่องติดสะโพก) ไข่ไก่ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ปลากระป๋อง นมสดพาสเจอไรซ์ น้ำมันปาล์ม ข้าวสาร เนื้อหมู และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยพบว่าราคาจำหน่ายของไทยเฉลี่ยต่ำสุดเมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายในประเทศอาเซียนเกือบทุกสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นของไทยมีราคาถูกกว่าและมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าชาติอาเซียนอื่น

สำหรับราคาจำหน่ายไก่สดชำแหละของไทยเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 67.50 บาท ต่ำที่สุดในอาเซียน รองลงมาคือ สปป.ลาว กก.ละ 97 บาท เวียดนาม กก.ละ 104.20 บาท กัมพูชา กก.ละ 104.30 บาท ฟิลิปปินส์ กก.ละ 104.60 บาท มาเลเซีย กก.ละ 105.80 บาท อินโดนีเซีย กก.ละ 139.40 บาท พม่า กก.ละ 161.70 บาท บรูไน กก.ละ 164.20 บาท และสิงคโปร์สูงสุด กก.ละ 218.70 บาท

ไข่ไก่ เวียดนามต่ำสุดเฉลี่ยฟองละ 3.10 บาท ไทยอันดับ 2 ฟองละ 3.35 บาท ตามมาด้วยมาเลเซียฟองละ 3.65 บาท สปป.ลาว ฟองละ 3.80 บาท พม่าและกัมพูชาเท่ากันฟองละ 4 บาท ฟิลิปปินส์ฟองละ 4.20 บาท อินโดนีเซีย ฟองละ 4.30 บาท สิงคโปร์ฟองละ 5.60 บาท และบรูไนสูงสุด ฟองละ 6 บาท

น้ำตาลทราย บรูไนต่ำสุด กก.ละ 16 บาท ไทยอันดับ 2 กก.ละ 22 บาท ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ กก.ละ 26 บาท พม่า กก.ละ 28 บาท เวียดนาม กก.ละ 31 บาท มาเลเซียและสิงคโปร์ กก.ละ 32 บาท สปป.ลาวและกัมพูชา กก.ละ 33 บาท อินโดนีเซียสูงสุด กก.ละ 36 บาท

ปลากระป๋อง (155 กรัม) ฟิลิปปินส์ต่ำสุด กระป๋องละ 14 บาท เวียดนามอันดับ 2 กระป๋องละ 16 บาท ตามด้วยไทย 18.50 บาท กัมพูชา 19.50 บาท สปป.ลาว 20 บาท อินโดนีเซีย 21 บาท พม่า 25 บาท มาเลเซีย 33 บาท สิงคโปร์ 36 บาท และบรูไนสูงสุด 39 บาท

นมสดพาสเจอไรซ์ (200 มล.) ไทยต่ำสุดเฉลี่ย 12.25 บาท รองลงมา คือ เวียดนาม 12.37 บาท บรูไน 12.97 บาท อินโดนีเซีย 14.97 บาท สปป.ลาว 15.62 บาท ฟิลิปปินส์ 16.80 บาท กัมพูชา 17.79 บาท มาเลเซีย 18.44 บาท สิงคโปร์ 18.80 บาท และพม่าสูงสุด 18.88 บาท

น้ำมันปาล์ม (1 ลิตร) ไทยต่ำสุดเฉลี่ยขวดละ 31 บาท รองลงมาคือ มาเลเซีย 36 บาท อินโดนีเซีย 38 บาท พม่า 40 บาท สปป.ลาว 49 บาท บรูไน 50 บาท กัมพูชา 56 บาท เวียดนาม 64 บาท สิงคโปร์ 70 บาท และฟิลิปปินส์สูงสุด 86 บาท

นอกจากนี้ ยังได้มีการสำรวจราคาจำหน่ายข้าวสาร โดยไทยและเวียดนามราคาใกล้เคียงกันที่ กก.ละ 28-30 บาท ส่วนกัมพูชา กก.ละ 31.35 บาท สปป.ลาว กก.ละ 36.40 บาท และพม่า กก.ละ 37.92 บาท สำหรับราคาเนื้อหมูของไทยต่ำสุด กก.ละ 120-125 บาท สปป.ลาว กก.ละ 132-140 บาท เวียดนาม กก.ละ 136.5-138.88 บาท และกัมพูชา กก.ละ 140.25 บาท ในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อซองของไทย 5 บาท เวียดนาม 5.40 บาท กัมพูชา 7 บาท และ สปป.ลาว 8 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการดูแลราคาสินค้าไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยมอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าให้มีราคา คุณภาพ ปริมาณที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ตลอดจนการตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า โดยหากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เงินบาททรงกรอบ 33.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ สงครามการค้ายังกดดันค่าเงินในตลาดเอเชีย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (5 ก.ค. 61) ที่ระดับ 33.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทรงตัวจาก 33.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นวันทำการที่ผ่านมา แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะถูกกดดันจากค่าเงินปอนด์และค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Markit Services PMI) ของฝั่งยุโรป ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตลาดจะรอลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงานนอกภาคเกษตรและการเติบโตของรายได้ รวมทั้ง รายงานการประชุมล่าสุดของเฟดในวันศุกร์นี้ (6 ก.ค. 61) ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองดอลลาร์ อนึ่ง ความกังวลสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะยังสามารถกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดเอเชีย และกระทบค่าเงินเอเชียให้ผันผวนได้ ซึ่งถ้าหากค่าเงินหยวนยังคงอ่อนค่าต่อ ค่าเงินอื่น ๆ อย่าง ค่าเงินบาท ดอลลาร์สิงคโปร์ ก็จะอ่อนค่าตามได้เช่นกัน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตารายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ของสหรัฐฯ เพื่อหาแนวโน้มการขยายตัวของภาคการบริการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจ โดยตัวเลขที่ดีกว่าคาด (มากกว่า 58.5) จะช่วยหนุนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจช่วยให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย มองเงินบาทวันนี้ (5 ก.ค. 61) มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 33.08-33.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ชาวไร่อ้อยกว่า100คนยื่นศาลปค.เพิ่มเติม ปมพิพาทก.อุตสาหกรรมเอื้อประโยชน์นายทุน

ชาวไร่อ้อย ยื่นศาล ก.อุตสาหกรรม เอื้อประโยชน์ นายทุน ศาลปกครองกลาง

ที่ศาลปกครองกลาง นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา จ.สระแก้ว ได้เป็นแกนนำตัวแทนเกษตรกรประมาณ 100 คน เข้ายื่นหนังสือและเอกสารเพิ่มเติม จากกรณีคดีทางสมาคมเกษตรกรชายแดนบรูพา สภาเกษตรกรสระแก้ว และเกษตรกรไร่อ้อย จ.สระแก้ว และ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 735 คน ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 , ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 , บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2555 เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ผู้ฟ้อง 735 คน ชนะคดีแต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1และ 2 ไม่ดำเนินตามคำพิพากษาที่สั่งให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน.ที่ อก.0601/862 ลงวันที่ 12 เมษายน 2550 เรื่องการกำหนดเงื่อนไข เรื่องการย้ายสถานที่ตั้ง และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลเฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อหนึ่งที่กำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร

นอกจากผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว แต่ก่อนหน้าวันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.1118/2558 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2558 สรุปว่าศาลปกครองสูงสุด เห็นพ้องกับการที่ศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนในประเด็นดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่ในเรื่องระยะห่างระหว่างโรงงานใหม่และเก่าจากระยะทาง80 กิโลเมตรลดลงมาเหลือระยะห่าง 50 กิโลเมตร จึงทำให้คำพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่มีผลใช้บังคับ

จากการกระทำดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงฯ ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสมาคมฯประมาณ 5,000 คน เดือดร้อนเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการรับซื้อผลผลิตอ้อย เนื่องจากการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทำให้มีข้อจำกัดต้องส่งอ้อยขายให้กับโรงงานน้ำตาลและอ้อยที่มีอยู่ใน จ.สระแก้ว เพียงโรงงานเดียวเท่านั้น ทำให้เกษตรกรขาดอำนาจต่อรอง เพราะจะเกิดการผูกขาดของนายทุนโรงงานน้ำตาลรายเดิมและรายเดียวใน จ.สระแก้ว

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ดังนั้น วันนี้ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงมายื่นเอกสารเพิ่มเติมกรณีพิพาทระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กับบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้รอดพ้นจากหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนรายเดียว

ทั้งนี้ มีผู้แทนสำนักงานศาลปกครองมารับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และรับปากว่าจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป

จาก www.naewna.com วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ไทยถกอียูลดเสี่ยงสงครามการค้าขยายความร่วมมือทางศก.  

‘พาณิชย์’ หารือสหภาพยุโรปแลกเปลี่ยนความเห็นสถานการณ์การค้าโลก ในการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 13 โดยพร้อมจะร่วมมือผลักดันการปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และจะผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮาให้คืบหน้าโดยเร็ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ เน้นการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบัน ที่หลายประเทศเริ่มมีการนำมาตรการกีดกันและตอบโต้ทางการค้ามาใช้ระหว่างกันมากขึ้น จนเกิดความตึงเครียดและเสี่ยงต่อการเกิดสงครามการค้า ที่ไทยและสหภาพยุโรปในฐานะสมาชิก WTO จะต้องร่วมมือกันผลักดันการปฏิรูปการทำงานของ WTO เพื่อให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี และให้สมาชิก WTO หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียวแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า

โดยเฉพาะขณะนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าของ WTO ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องผลักดันให้ WTO แต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่ว่างอยู่ 3 ตำแหน่งให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้องค์กรอุทธรณ์มีสมาชิกครบทั้ง 7 ตำแหน่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO เกิดการชะงักงัน โดยเฉพาะระบบระงับข้อพิพาท WTO ถือเป็นที่พึ่งของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา ในการผลักดันให้ประเทศที่แพ้คดีต้องปรับแก้ไขมาตรการ และดำเนินการตามผลคำตัดสินของคณะผู้พิจารณาและองค์กรอุทธรณ์ของ WTO

นางอรมน กล่าวเสริมว่า ฝ่ายไทยยังได้ใช้โอกาสนี้หารือกับสหภาพยุโรป เรื่องการผลักดันการเจรจา WTO รอบโดฮาให้คืบหน้า โดยเฉพาะข้อสั่งการจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่จัดขึ้นที่อาร์เจนตินาในปี 2560 เรื่องการจัดทำกฎระเบียบ WTO เรื่องการอุดหนุนประมง บทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการขนาดย่อยเล็กกลางในการค้าโลก และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสหภาพยุโรป เรื่องพัฒนาการด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนของทั้งสองฝ่ายในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผนการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืชรวมทั้งน้ำมันปาล์ม ในปี 2573 ของสหภาพยุโรป โดยเหตุผลเรื่องการทำลายป่าไม้และเพิ่มก๊าซเรือนกระจก การออกกฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการเตรียมออกกฎระเบียบของสหภาพยุโรป เพื่อจัดเก็บภาษีดิจิทัลกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นต้น

ซึ่งมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป ไทยจึงขอให้สหภาพยุโรปจัดหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานและให้ข้อมูลในรายละเอียด เพื่อช่วยให้ฝ่ายไทยเข้าใจสาระสำคัญและแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ขณะที่สหภาพยุโรปได้ให้ความสนใจและสอบถามไทย เรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ความคืบหน้าการจัดทำระบบการส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างอาเซียน การปรับแก้ไขกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต เป็นต้น ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่า ไทยมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่ก้าวหน้าขึ้นมาก ทั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแข่งขันทางการค้า และกฎหมายศุลกากร ที่ช่วยทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนดีขึ้น

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทย ปี 2560 มีมูลค่าการค้า 44,302 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 10.39 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 23,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 20,602 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ 13.8 ตามลำดับ ไทยมีสัดส่วนการค้าประมาณร้อยละ 1 ของสหภาพยุโรปเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 18 สัดส่วนร้อยละ 1.2 และเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 29 สัดส่วนร้อยละ 0.8 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ไก่แปรรูป เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรป ได้แก่ เครื่องจักรกลเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น

ในปี 2560 สหภาพยุโรปมีการลงทุนในไทยมูลค่าประมาณ 6,575.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยมีการลงทุนในสหภาพยุโรปมูลค่าประมาณ 11,622.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีการจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ และได้สรุปการเจรจา FTA กับเวียดนามและสิงคโปร์แล้ว และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อจัดทำ FTA กับฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ต้องเสร็จภายในเดือนนี้! “ปลัดพสุ” เร่งหน่วยงานตรวจ-กำกับโรงงานกำจัด คัดแยกขยะ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบโรงงาน 3 ประเภท ได้แก่ 1.โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (โรงงานลำดับที่ 101) 2. โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัตถุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานลำดับที่ 105) และ3. โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ (โรงงานลำดับที่106) จำนวน จำนวน 2,265 โรงงานทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้

โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานไปแล้ว จำนวน 1,288 โรงงาน ซึ่งจังหวัดระยองนับว่ามีจำนวนโรงงานคัดแยกขยะมากถึง 179 โรงงาน ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 81 โรงงาน เหลือจำนวนโรงงานอีก 98 โรงงานที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ

การลงพื้นที่จังหวัดระยองของนายพสุฯ ในวันนี้ เพื่อกำกับการดำเนินการตรวจสอบโรงงานกลั่นตัวทำละลายแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ของ บริษัท เอเซีย รีไฟนิ่ง จำกัด จังหวัดระยอง เป็นโรงงานประเภท 106 ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ กลั่นตัวทำละลายที่ใช้งานแล้ว เช่น ทินเนอร์ อีเธอร์ แอลกอฮอล์ ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้

ส่วนบริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO) เป็นโรงงานประเภท 101 และ 105 ประกอบกิจการบำบัด/กำจัด และฝังกลบกากของเสียอุตสาหกรรม ประเภท น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เศษพลาสติก เศษไม้ เศษยาง เศษกระดาษที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี เป็นต้น รับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมปริมาณปีละ 80,000 ตัน

ทั้งนี้ภายหลังที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อุตสาหกรรมจังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบโรงงานแล้วเสร็จทั้ง 2,265 โรงงาน จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พณ.เสนอ’สมคิด’ดันเกษตรกรขึ้นทะเบียน คุมกำเนิดผลผลิตเกินบริโภค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ รวมกันจัดทำแผนงานปฏิบัติสำหรับการดูแลสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นและราคาตกต่ำ อาทิ ลำไย ลองกอง รวมถึงพืชเกษตรกรโดยรวม เนื่องจากปีนี้พืชมีผลผลิตสูงกว่าปีก่อน และที่กำลังเป็นปัญหาคือมะพร้าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เตรียมแนวทางในการแก้ปัญหามะพร้าวราคาตกต่ำ เสนอต่อคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาที่กำหนดประชุมวันที่ 16 กรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ในแผนงานการดูแลปัญหาผลผลิตพืชล้นตลาดหรือขาดแคลนในระยะยาว คือ ผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรพืชแต่ละชนิด เพื่อให้รู้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วง หากพบว่าผลผลิตเกินความต้องการ หรือการนำเข้าจากต่างประเทศลดลง ก็จะออกมาตรการช่วยเหลือหรือชดเชยเกษตรกร รวมถึงเจรจากับประเทศผู้นำเข้าหลักของพืชชนิดนั้น หากต้องใช้มาตรการป้องกันอุตสาหกรรมในประเทศก็ต้องเร่งดำเนินการ เช่น มะพร้าวก็ต้องหารือกับอินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าการเอาผิดกับผู้รวบรวมผลผลิตการเกษตร(ล้ง) เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า วันที่ 9 กรกฎาคมนี้ เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการเอาผิดอย่างไร รวมถึงเปิดพิจารณาไต่สวนเรื่องร้องเรียนต่างๆ และผลักดันการจัดตั้งบอร์ดแข่งขันทางการค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 5 กรกฎาคม กรมการค้าต่างประเทศเตรียมแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแก้ปัญหาราคามะพร้าวต่ำสุดรอบ 10 ปี หลังจากชาวสวนมะพร้าวของไทยออกมาระบุว่าการเปิดเสรีนำเข้าจากประเทศในอาเซียน และจำหน่ายในราคาถูกกว่าในประเทศ ทำให้ราคามะพร้าวในประเทศตกลงจากลูกละเกิน 10 บาทในปีก่อน เหลือ 3-5 บาทในขณะนี้ โดยทำหนังสือร้องให้รัฐบาลเข้าแก้ไขด่วน

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

รมว.พลังงานชี้อนาคตพลังงานไทยมั่งคั่ง

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้อนาคตพลังงานไทยเน้นมั่งคั่ง ขณะแหล่งเอราวัณ - บงกช ถือเป็นร้อยละ 76 ของก๊าซที่ผลิตในอ่าวไทย

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า อนาคตพลังงานไทย ระบบจะต้อง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ – บงกช ถือเป็นร้อยละ 76 ของก๊าซที่ผลิตในอ่าวไทย และกำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานวันที่ 25 มีค. 65

ขณะที่เงื่อนไขการประมูลผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ-บงกช โดยมีข้อกำหนด อาทิ ปริมาณการผลิตและขายก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณ ขั้นต่ำ 10 ปีแรก ต้องมีปริมาณการขาย 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน บงกช 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน สำหรับราคาอ้างอิงจากสูตรราคาปัจจุบัน โดยมีค่าคงที่ (Pc) เป็นตัวแปร อีกทั้งข้อเสนอหลัก คือ ใช้ค่าคงที่ (Pc)ต้องไม่สูงกว่า 214.26 บาท/ล้านบีทียู รัฐจะต้องได้ส่วนแบ่งกำไรตามข้อเสนอไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตลอดสัญญา และต้องเสนอการจ้างงานไทย สิ้นปีที่ 1 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สิ้นปีที่ 5 ไม่ต่ำกว่า 90

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สงครามการค้าฉุดส่งออกปี62โตต่ำ5%

ธปท. มองมาตรการกีดกันการค้ารุนแรงมากขึ้นในปี 62 ปริมานการค้าลดลง ฉุดส่งออกไทยขยายต่ำกว่าที่คาดร้อยละ 5

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ประจำเดือนมิถุนายน 2561 ว่า เศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ในปีนี้ และในปีหน้าขยายตัวร้อยละ 4.2 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 9 แต่ยังคงต้องจับตามาตรการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ในต่างประเทศ ที่ถึงแม้ว่าจะส่งผลกับการส่งออกในปีนี้ไม่มากนัก แต่ในปีหน้าเชื่อว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น อาจส่งผลกระทบทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าการส่งออกจะขยายตัว ร้อยละ 5

ในขณะที่ มองว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ภาครัฐยังคงมีมาตรการควบคุมราคาพลังงานเพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนการขนส่งและต้นทุนอาหารสำเร็จรูปมากนัก คาดว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และในปีหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.2

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ตั้งบอร์ดจัดการปัญหาขยะอุตฯ กำกับคุมเข้มโรงงาน ไม่ทำชาวบ้านเดือดร้อน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมโดยมีตนเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล การประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชน

องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ชุดนี้ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ มีนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นรองประธานกรรมการ มีผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมทุกเขต ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ผู้อำนวยการด้านกฎหมาย อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ

คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมภายในประเทศและต่างประเทศตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด บริหารจัดการ กำกับ ดูแลโรงงาน

นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานอีก 5 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย 2.คณะทำงานฝ่ายวิชาการและระบบไอที 3.คณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ 4.คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ และ 5.คณะทำงานฝ่ายรายงานการประชุม โดยวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 คณะทำงานทั้ง 5 ชุดจะได้รายงานความก้าวหน้าทั้งหมดและทำแผนการทำงานให้คณะกรรมการบริหารฯได้รับทราบ

การตรวจกำกับดูแลโรงงานเกี่ยวกับการคัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก 2,420 โรงงาน ขณะนี้ตรวจสอบไปแล้ว 1,066 โรงงาน และได้สั่งการตามพ.ร.บ.โรงงานพ.ศ. 2535 มาตรา 37 ให้โรงงานปรับปรุงและแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย 179 โรงงาน และสั่งการให้หยุดประกอบกิจการตามมาตรา 39 จำนวน 7 โรงงาน

จาก www.naewna.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

KTIS ลุยไบโอฮับนครสวรรค์

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์แนชั่นแนล ชูการ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการไบโอคอมเพล็กซ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ทางกลุ่ม KTIS ได้ร่วมทุนกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) บริษัทลูกในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ได้แก้แบบวิศวกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว พร้อมดำเนินการทันที โดยมีงบฯลงทุนรวม 8,000 ล้านบาท บนที่ดิน 1,000 ไร่ ในเฟสแรก จากพื้นที่โครงการรวมทั้งหมด 2,000 ไร่ และทำการหีบอ้อยจำนวน 2.4 ล้านตัน/ปี เพื่อผลิตเป็นเอทานอลโดยตรง คาดมีกำลังการผลิตเอทานอลได้ 6 แสนลิตร/วัน

ด้านนายชนะศิริ วานิช ผู้จัดการฝ่ายโครงการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์นครสวรรค์ดำเนินงานแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกเป็นการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ประกอบด้วย การผลิตไฟฟ้าโดยใช้ไบโอแมสจากชานอ้อย ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นใช้หมุนเวียนในโครงการประมาณ 50 เมกะวัตต์ และจะจำหน่ายอีก 30 เมกะวัตต์ รวมถึงการผลิตไบโอเอทานอล นอกจากนี้จะมีการพัฒนาการปลูกอ้อยและการสร้างความรู้ให้เกษตรกร เพื่อรองรับการผลิตเอทานอล คาดใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี หรือภายในปี 2563

ในส่วนของเฟส 2 ตั้งเป้าไว้ภายใน 5 ปีจากเฟสแรก จะพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงผลิตพลาสติกชีวภาพและอุตสาหกรรมยา รวมถึงอาหารสัตว์ และสารอาหาร ซึ่งจะเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคต และชีวเวชภัณฑ์ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตอ้อยในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียงอีก 1.5 ล้านตัน รวมเป็น 3.9 ล้านตัน รวมถึงอาหารสัตว์และสารอาหารซึ่งจะเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารในอนาคตและชีวเวชภัณฑ์

“การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 48,000 บาท/คน/ปี เป็น 75,000 บาท/คน/ปี พร้อมกับการจ้างงานในภาคเกษตรอย่างน้อย 10,000 ครัวเรือน เมื่อสำเร็จตามเป้าในเฟส 1 ด้วยกำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน หรือแปลงเป็นรายปีประมาณ 186 ล้านลิตร/ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มซัพพลายเข้าไปในตลาด ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้เอทานอลในราคาที่เป็นธรรม”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สรท.ชี้สงครามการค้ายังไม่กระทบส่งออกไทยคาดQ4เห็นผลชัด

สรท. ชี้ขณะนี้สงครามการค้ายังไม่กระทบการส่งออกไทย แต่เสี่ยงว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในไตรมาส 4 ระบุยังต้องจับตาสถานการณ์ พร้อมหารือกับกระทรวงพาณิชย์หาทางรับมืออย่างใกล้ชิด

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยถึงสถานการณ์ส่งออกว่า การส่งออกไทยยังคงขยายตัวได้ดี โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การส่งออกมีมูลค่า 22,257 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวได้ถึง 11.4 % เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกเติบโตที่ 11.7% อย่างไรก็ตามเมื่อคำนวณเป็นเงินบาทมูลค่าส่งออกในเดือน พ.ค.61 ขยายตัวเพียง 1.37% ส่วนยอดส่งออกช่วง 5 เดือน หากคิดเป็นเงินบาทก็เติบโตได้เพียง1.7% เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างตกต่ำ

สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้า ระยะสั้นในภาพรวมยังไม่กระทบการส่งออกไทย มีเพียงสินค้าในกลุ่มเหล็กเท่านั้นที่กระทบ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบก็จะมีทั้งเชิงบวกและลบ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหารเป็นดาวรุ่งที่ยังมีแนวโน้มส่งออกไปสหรัฐและจีน ได้อีกมาก ขณะที่สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงยานยนต์และส่วนประกอบ มีโอกาสได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งยังต้องรอให้สหรัฐประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะปรับขึ้นภาษีสินค้าในกลุ่มใดบ้างและจะปรับขึ้นอย่างไร

คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดย สรท.พร้อมทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการรับมือกับผลกระทบดังกล่าว และจะหาทางเปิดเจรจาในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ หากเกิดผลกระทบก็จะเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ แต่ขณะนี้ยังเชื่อว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ยังจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 8%

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผู้ว่า ธปท. เตือนค่าเงินบาทผันผวนยาว ชี้ลงทุนผงกหัว

ธปท.ชี้ค่าเงินผันผวนยาว หลังธนาคารกลางหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ย และสงครามทางการค้ายังไม่ยุติ ส่งผลตลาดเงินตลาดทุนผันผวนต่อไม่หยุด ด้านเศรษฐกิจแววดีต่อเนื่อง แรงบริโภค ลงทุนผงกหัว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในระยะนี้ ถือว่าอยู่ในทิศทางอ่อนค่า และเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค หลังธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่เห็นข้อยุติในเร็ววันนี้ ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนไปอีกพักใหญ่

“ค่าเงินบาทยังเป็นสภาวะที่ผันผวนสูง ต่อเนื่องไปอีกระยะทีเดียว สหรัฐก็ขึ้นดอกเบี้ยต่อ ธนาคารกลางยุโรป(ECB)ก็หยุดการซื้อพันธบัตร การกีดกันทางการค้าก็ยังไม่เห็นข้อยุติ และปลายปีก็มีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐเหล่านี้จะเป็นประเด็นให้ค่าเงินผันผวนต่อ เราจึงวางใจไม่ได้ เพราะตลาดเงินตลาดทุนยังผันผวนต่อได้ คงไม่จบเร็วๆ นี้” วิรไทกล่าว

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยอมรับว่า เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง ทำให้ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีการปรับตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 % จาก 4.1% ในปีนี้ ทั้งการส่งออก ท่องเที่ยวและการบริโภค การลงทุนในประเทศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

มั่นใจเศรษฐกิจครึ่งปีหลังสดใส พาณิชย์ฟุ้งส่งออกทั้งปีทะลุ 9%

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ แถลงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการค้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มที่ดี โดยการส่งออกทั้งปีจะเป็นบวกไม่ต่ำกว่า 9% มูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากปัจจัยค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ซึ่งเชื่อว่าทั้งปีก็น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ 32-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่การส่งออก 5 เดือนก็ยังขยายตัวในระดับสูงถึง 11.6% สอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของไทยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ขยายตัวได้ดี รวมทั้งสินค้าเกษตรสำคัญก็มีแนวโน้มปรับตัวที่ดีตามลำดับ ทั้งจากความต้องการและราคาที่ยังขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายของแรงกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการปรับลด TIP Report ลงมาเป็น Tier 2 ในขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวและเอื้อต่อการผลิตและสนับสนุนการบริโภคในประเทศ โดย 5 เดือนขยายตัว 16.6% โดยรวมแล้วการค้าระหว่างประเทศยังเกินดุลในระดับที่ดี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ตลอดเวลา ขณะที่สงครามการค้าไม่ได้กระทบกับประเทศไทยมากนัก ขณะเดียวกันพบว่าเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มจะสดใส เนื่องจากการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ราคาเป็นบวกต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้รายได้ของแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงเดินหน้าลดค่าครองชีพให้กับประชาชนภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ถือบัตรตั้งแต่เริ่มโครงการ 7% หรือกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนด้านเสถียรภาพราคา พบว่าเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับแบบค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุด มิ.ย. 1.38%, และ 6 เดือนแรก 0.97% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับที่ดี

นายสกนธ์ กล่าวอีกว่าการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐและการค้าระหว่างประเทศ มีสัญญาณที่ดีขึ้นทุกตัวโดยการบริโภค มีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับปริมาณเงินในระบบ ในขณะที่การลงทุนขยายตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ยังขยายตัวได้ดีจากการดำเนินนโยบายแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเห็นว่าการใช้จ่ายของรัฐขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 0.2% ในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา เป็น 1.9% ในไตรมาสล่าสุด

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

มิตรผลชง4พันไร่ตั้งนิคมบ้านไผ่ BOIเล็งเว้นภาษีไบโอเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า10ปี

“มิตรผล” เตรียมที่ดิน 4 พันไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขึ้น “นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ” “อิสระ” เผย BOI เตรียมพิจารณาสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ธุรกิจไบโอชีวภาพแบ่งตามเทคโนโลยีระดับกลาง-เทคโนโลยีขั้นสูง อาจได้รับยกเว้นมากเป็นพิเศษกว่า 10 ปี ด้าน “เกษตรไทย” ผนึก GGC เดินหน้าไบโอฮับนครสวรรค์ แก้แบบวิศวกรรมขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว พร้อมลุยเฟสแรกทันที 8 พันล้านบาท

หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชนใช้นวัตกรรมไปวิจัยต่อยอดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีพื้นที่นำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้แผนพัฒนาอุตสาหกรรม (2561-2570) อยู่ระหว่างรอกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโส บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้เตรียมที่ดินประมาณ 4,000 ไร่ บริเวณอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว แต่พื้นที่บางส่วนยังติดผังเมืองไม่สามารถจัดตั้งโรงงานได้ เท่าที่ทราบเวลานี้ทางรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาแก้ไข เพราะเดิมในการจัดทำผังเมืองไม่ได้คิดถึงภาคเกษตร ว่าโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรควรต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตร หากโรงงานไปตั้งไกลจากพื้นที่ปลูกพืชเกษตร จะทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรลำบาก เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งไกล ซึ่งคิดว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร พวกอุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก รวมถึงการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพิจารณาว่าเป็นเทคโนโลยีระดับกลาง เทคโนโลยีระดับสูง อาจจะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นเทคโนโลยีระดับสูงอย่างการวิจัยพวกฟาร์มาซูติคอล วิตามิน ยาฆ่าเชื้อ อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมาก 10 กว่าปี จะได้รับสิทธิประโยชน์มากเป็นพิเศษ

“จริง ๆ แล้วโรงงานไบโอชีวภาพควรขึ้นได้ทั่วประเทศ เพราะไบโอชีวภาพใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต ขึ้นอยู่กับใช้พืชชนิดไหน อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ โดยนำร่องที่จังหวัดขอนแก่น และนครสวรรค์ก่อน อยู่ที่การวิจัย การผลิตจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไร เช่น ผลิตยีสต์ วิตามิน อาหารเสริม ผลิตได้ตั้งแต่ทางภาคเหนือจดใต้ ผมคิดว่าเรื่องไบโอชีวภาพมันเกิดอยู่แล้ว พวกผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ที่ทำพวกอาหารเพื่อสุขภาพก็ถือว่าใช่ และพวกน้ำตาลแคลอรีต่ำก็ใช่ มิตรผลก็เริ่มทำยีสต์ และน้ำตาลแคลอรีต่ำเราก็ทำอยู่ แต่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก เพียงแต่ใครวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งต้องใช้การวิจัยอย่างลึกซึ้ง จะได้รับสิทธิประโยชน์มากหน่อย” นายอิสระกล่าว

เล็งวิจัยเบกกิ้งยีสต์ชนิดพิเศษ

นายอิสระกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันที่ดิน 4,000 ไร่ ที่จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังตั้งไม่ได้ ต้องใช้เวลา ตามแผนที่วางไว้ภายในนิคมอุตสาหกรรมจะมีบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ เข้ามาร่วมภายในนิคมอุตสาหกรรมด้วย สำหรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เฟสแรก ได้เริ่มทำวิจัยน้ำตาลที่มีแคลอรีต่ำ เริ่มทำอาหารสัตว์ กำลังดูจะทำเบกกิ้งยีสต์ (baking yeast) ที่นำไปทำขนมปัง จะเป็นยีสต์ชนิดพิเศษ ซึ่งทำจากกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งจะเป็นยีสต์ที่บริษัทคนไทยผลิตได้เอง โดยทุกวันนี้ยีสต์ที่ขายในท้องตลาดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ต้องมีโนว์ฮาวมาก จึงควรต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจเหล่านี้ในตลาดอยู่แล้ว

“เราอยากทำผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ท้องตลาดเร็วที่สุด แต่ยังบอกไม่ได้ว่า ภายในกี่ปี เพราะการทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ต้องลึกซึ้ง ไม่ใช่อยู่ ๆ ทำออกมาแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ก็ไม่ควรทำ ต้องรอความพร้อม ตอนนี้อาหารสัตว์เราก็ทำอยู่ ทั้งโรงงานน้ำตาลของมิตรผลที่ประเทศจีนและโรงงานน้ำตาลของมิตรผลที่ประเทศไทยช่วยกันทำการวิจัย โดยประเทศจีนมีเทคโนโลยี มีงานวิจัยที่รวดเร็ว มหาวิทยาลัยในจีนก็ช่วยในเรื่องงานวิจัยอยู่มาก” นายอิสระกล่าวว่าสำหรับงบฯลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายจะลงทุนปีละ 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง เพราะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ว่าจะวิจัยเรื่องอะไรแล้วได้ผลไปดูนักวิจัยด้วย ไม่ใช่อยู่ ๆ นำเงินไปให้ใครก็ได้ ต้องคัดสรรคนที่เชี่ยวชาญทั้งนักวิจัยคนไทยและชาวต่างประเทศ

รง.ใหม่ อ.บ้านไผ่ติดผังเมือง

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ได้แก้ปัญหากรณีโรงงานในเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ติดปัญหาผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เสนอให้แก้ประกาศแนบท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดประเภทโรงงานใหม่จาก “เคมี” เป็น “เคมีชีวภาพ” กับเสนอให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งโรงงานไบโอชีวภาพในเขตที่เป็นสีเขียวได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแก้สีผังเมือง ซึ่งทั้ง 2 แนวทางอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

สำหรับส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางลงทุน 29,705 ล้านบาท ในขอนแก่น ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ร่วมกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG), โครงการผลิตเอนไซม์น้ำ Yeast Probiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด (AST) และบริษัท เอเชีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ Dried Yeast-เอนไซม์ไฟเตส สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ดีเอสเอ็ม นิวทริชั่นแนล โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด (UENO)

ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลมิตรผลถือเป็น 1 ใน 36 โรงงานที่ยื่นขอจัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตั้งแต่ปลายปี 2558 และได้ใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว แต่พื้นที่ยังติดปัญหาผังเมือง โดยกลุ่มมิตรผลยื่นเสนอขอตั้งโรงงานใหม่ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด)-บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ) และบริษัทชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ (อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กรมชลเปิดตัวเครื่องตรวจดินไฮเทค แบบพกพา-ประหยัดเวลา-ค่าใช้จ่าย

นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้สนับสนุนบุคลากรภายในหน่วยงานให้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้ามาช่วยเสริมการทำงาน โดยล่าสุดในงาน “ย้อนรอย 116 ปีกรมชลประทาน” ได้มีการเปิดตัวเครื่องมือใช้ควบคุมคุณภาพและตรวจสอบงานฐานรากและงานถมดินแบบพกพา ซึ่งช่วยให้ประหยัดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา

นายชาญชัย ศรีสุธรรม วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า เครื่องมือตอกทดลองขนาดเล็กแบบพกพาเป็นเครื่องมือที่ใช้ทดสอบความแน่นของชั้นดิน เพื่อเอาค่าความแน่นของชั้นดินไปประเมินค่าคุณสมบัติด้านวิศวกรรมชั้นดิน เพื่อใช้ในการออกแบบฐานรากของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งในทางชลประทานได้แก่การสร้างเขื่อน คลอง อาคารชลประทาน เป็นต้น

“ปกติเราใช้เครื่องมือวัดที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า เครื่องตอกทดลองแบบมาตรฐาน ความสูง 3 เมตร การใช้งานต้องมีการขนย้าย ใช้แรงงาน 3-5 คน ในการประกอบและใช้เวลาหลายวันในการประมวลผล ทำให้บางกรณีอาจทำงานไม่ทันเวลา เพราะต้องรอคน รอของ ดังนี้เราจึงคิดค้นพัฒนาของใหม่ให้เล็กลง เคลื่อนย้ายง่ายเพราะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 15 กิโลกรัม สามารถนำขึ้นไปบนภูเขาสูงได้สะดวกกว่า ใช้บุคลากรเพียง 1-2 คน ก็อ่านค่าต่างๆ ของชั้นดินได้ ส่งผลให้การตัดสินใจรวดเร็วเหมาะกับการใช้งานในกรณีฉุกเฉินเช่นกัน”

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ได้นำเครื่องมือตอกขนาดเล็กฯ ไปใช้งานจริงแล้ว 2 แห่ง คือ ที่คันคลองของอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อตรวจสอบประเมินชั้นดินที่เกิดการสไลด์ว่าต้องซ่อมแซมและป้องกันอย่างไร กับตรวจสอบชั้นดินเพื่อออกแบบฐานรากให้กับโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ณ ศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูง ด้านหลังเป็นเหว ด้านข้างเป็นภูเขา แต่ปรากฏว่าการทำงานทำได้สะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน งานก็เสร็จสิ้น นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมในยุคที่กรมชลประทาน กำลังจะพัฒนาและเดินไปสู่องค์กรอัจฉริยะได้อย่างเหมาะเจาะจริงๆ

จาก www.naewna.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ก.อุตฯตั้งคกก.แก้ปัญหากากอุตสาหกรรม

ก.อุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรม พร้อมทำแผนปฏิบัติการตามอนุสัญญาบาเซล

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม จัดทำแผนปฏิบัติการตามอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด พัฒนาระบบการกำกับดูแลและระบบฐานข้อมูล บริหารจัดการ กำกับ ดูแลโรงงาน ทั้งบูรณาการการทำงานระหว่างสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่การตรวจกำกับดูแลโรงงานเกี่ยวกับการคัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก จำนวน 2,420 โรงงาน ได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 1,066 โรงงาน และได้สั่งการตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มาตรา 37 ให้โรงงานปรับปรุง และแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 179 โรงงาน และได้สั่งการให้หยุดประกอบกิจการ ตามมาตรา 39 จำนวน 7 โรงงาน

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ยัน‘พาราควอต’ช่วยลดต้นทุน กรมวิชาการฯออกหน้าการันตี กฤษฎาเร่งถกแนวทางควบคุม

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งคณะกรรมการทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ ร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยต้นเดือนกรกฎาคม 2561 จะเชิญองค์กรอิสระ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน มาช่วยกันยกร่างว่า สิ่งที่กรมได้ศึกษามา ยังขาดเหลืออะไร และควรเพิ่มเติมอะไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกัน และจะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการนำไปยกร่างกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ด้าน นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จะยังไม่มีการยกเลิกการใช้สารดังกล่าว แต่จะส่งนักวิชาการเกษตรลงพื้นที่ร่วมกับท้องถิ่นทุกจังหวัด เร่งให้ความรู้กับเกษตรกร เช่น การจำกัดการใช้ โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักสวนครัว จะห้ามไม่ให้เกษตรกรใช้สารดังกล่าวในการกำจัดวัชพืช เพราะไม่เหมาะสมและเป็นอันตราย แต่สารดังกล่าวเหมาะกับพืชกลุ่มอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง มากกว่า และหลังจากนี้จะเดินหน้าส่งนักวิชาการให้ความรู้ การใช้ที่ถูกวิธี เช่น การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน จะช่วยลดปัญหาการได้รับอันตรายจากการใช้สาร เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ใช้แบบถูกวิธีจนทำให้ไม่เกิดอันตราย ทั้งนี้ยืนยันว่า การใช้สารพาราควอตถ้าใช้ถูกวิธีจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรอย่างมาก เพราะจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาล โดยมีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างสารพาราควอต กับสารกลูโฟซิเนต ซึ่งพาราควอตจะออกฤทธิ์ให้วัชพืชตายภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังฉีดพ่น และมีระยะปลอดฝนหรือระยะเวลาที่ฝนจะไม่ตกชะล้างสารเคมีก่อนที่ต้นพืชจะดูดซึมเข้าไป เพียงครึ่งชั่วโมง

จาก www.naewna.com วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สสก.4ย้ำเตือน‘เกษตรกร’ ขึ้นทะเบียน-ปรับปรุงข้อมูล

นายสมจิตร ธีระบุญชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 (สสก.4) ขอนแก่น กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรเป็นหน้าที่ของเกษตรกรไทยทุกคนที่ต้องแจ้งปรับปรุงทะเบียนทุกปี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เกษตรกรต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริงให้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อทราบสถานการณ์การผลิตและใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และสนับสนุนงานตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น ซึ่งการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ ปี’61 หากเกษตรกรท่านใดเตรียมวางแผนเพาะปลูกพืชใหม่ หรือปรับเปลี่ยนชนิด พื้นที่ในการเพาะปลูก ขอได้โปรดปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปรับปรุง/ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในส่วนของเกษตรกรรายเดิมเมื่อปลูกพืชแล้วไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้มาแจ้งปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรายใหม่ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน ให้ไปแจ้งขึ้นทะเบียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูก เพื่อกรอกคำร้องขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรพร้อมแนบสำเนาเอกสารสิทธิที่ดินที่ทำการเกษตร สัญญาเช่าที่ดิน (กรณีเช่า) บัตรประจำตัวประชาชน ยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าระบบ หลังจากที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลรับแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หลังจากนั้นจะแจ้งให้เกษตรกรนำสมุดทะเบียนเกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลลงบนสมุดจัดเก็บไว้เพื่อแสดงตัวตน หากเมื่อใดที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบและรับรองสิทธิ์ภายในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

จาก www.naewna.com วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

4องค์กรชาวไร่จ่อถกรับมือราคาอ้อยส่อตกต่ำซ้ำกองทุนฯถังแตก

4 องค์กรชาวไร่อ้อยเตรียมเปิดสัมมนาใหญ่ระดมสมอง 4 ส.ค.นี้รับมือฤดูหีบใหม่(ปี 61/62 ) ที่จะต้องเปิดหีบสิ้นปีนี้หลังปิดหีบฤดู 60/61 ผลผลิตอ้อยไทยสูงสุดประวัติการณ์134.95 ล้านตัน สุดมึนราคาอ้อยฤดูใหม่ถอยหลังเขาคลองไม่ถึง 800บาทต่อตันตามทิศทางโลกแถมกองทุนอ้อยฯจ่อถังแตกขาดเงินอีก 5,000 ล้านบาทเตรียมมาตรการชงรัฐช่วยเหลือ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงาน สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า วันที่ 7 สิงหาคมนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยจะจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นของชาวไร่อ้อยเพื่อรับมือกับการผลิตอ้อยฤดูใหม่(ปี 61/62 ) เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศรับรู้สถานการณ์ภาพรวมโดยเฉพาะราคาอ้อยและมาตรการเพื่อรองรับในการแก้ไข

สำหรับประเด็นที่ต้องหารือหลักๆมี 2 เรื่องได้แก่ 1. ราคาอ้อยภาพรวมตกต่ำ ได้แก่ ราคาขั้นต้นฤดูการผลิตใหม่ปี 61/62 ที่ประเมินเบื้องต้นจะตกต่ำราคาอาจไม่เกิน 750 บาทต่อตันหากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยยังเคลื่อนไหวในระดับไม่เกิน 13 เซ็นต์ต่อปอนด์ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเดือดร้อนเนื่องจากราคาต่ำกว่าต้นทุน ขณะเดียวกันราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูผลิตปี 60/61มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นซึ่งกำหนดไว้เฉลี่ย 880 บาทต่อตัน ที่ความหวาน 10 CCS ซึ่งคาดว่าราคาขั้นสุดท้ายจะต่ำกว่าราว 100 บาทต่อตันหรือยู่ที่ประมาณ780 บาทต่อตันซึ่งจะส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาวะติดลบไม่สามารถนำมาบริหารจัดการทั้งการจ่ายคืนโรงงานในส่วนของค่าอ้อยขั้นสุดท้ายและการช่วยเหลือเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ได้

ประเด็นที่ 2 ที่ต้องหารือได้แก่ การบริหารจัดการอ้อยในฤดูผลิตใหม่ที่ล่าสุดการปิดหีบอ้อยฤดูปี 60/61 ที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยเข้าหีบสูงถึง 134.95 ล้านตันซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งคาดว่าฤดูหีบใหม่ที่จะเปิดในช่วงปลายปีนี้จะต้องบริหารการขนอ้อยอย่างไร รวมถึงจะมีการพิจารณาเปิดหีบอ้อยให้เร็วขึ้นหรือไม่ซึ่งจะต้องมาประเมินร่วมกันเพราะฤดูหีบปีนี้มีหลายเรื่องที่จะต้องนำไปแก้ไขเช่น การขนส่งที่รัฐเข้มงวดการบรรทุกและน้ำหนัก ฝนที่ตกเร็ว ฯลฯ

“เราคงจะต้องมาพิจารณาว่าหากเกิดปัญหาหลักๆ เช่นนี้แล้วจะทำอย่างไรโดยเฉพาะหากราคาอ้อยตกต่ำแล้วกองทุนอ้อยฯเงินก็ไม่มีเราจะมีทางออกอย่างไรที่จะไม่ขัดกับกติกาองค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งเมื่อได้แนวทางก็จะได้หารือกับโรงงานและภาครัฐที่จะเสนอแนวทางให้ช่วยแก้ไขต่อไป”นายนราธิปกล่าว

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผุ้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อย และน้ำตาลทราย กล่าวว่า ภาพรวมกองทุนอ้อยฯมีเงินสะสมอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาทล่าสุดได้นำเงินไปช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 60/61 ที่ขณะนี้ได้เริ่มทยอยจ่ายแล้วรวมเป็นวงเงิน 6,200 ล้านบาทโดยเพิ่มค่าอ้อยตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงาน70:30 โดยชาวไร่จะได้รับราคาอ้อยเพิ่มอีกตันละ 32.60 บาทต่อตัน โรงงานรับ 13.79 บาทต่อตันจึงเหลือวงเงินที่สามารถบริหาร 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 60/61 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าขั้นต้นประเมินคร่าวๆ จะทำให้กองทุนฯมีแนวโน้มติดลบประมาณ 5,000 ล้านบาท

“ แม้ว่าเราจะมีเงินจากส่วนต่างของรายได้จากราคาน้ำตาลในประเทศและตลาดโลกที่หักทุกๆเดือนเข้ามากองทุนฯที่รวมประมาณกว่า 15,000 ล้านบาทแต่ก็ยังไม่เพียงพอในการบริหารจัดการซึ่งจำนวนเงินที่ขาดประมาณ 5,000 ล้านบาทก็คงต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะจ่ายอย่างไรเพราะจะต้องคืนโรงงานในส่วนของการชดเชยค่าอ้อยและผลตอบแทนการผลิตตามกฏหมาย”นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“พาณิชย์” แจงนโยบายการค้าไทยให้สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนโชว์ความคืบหน้า EEC เศรษฐกิจดิจิทัล

 “พาณิชย์” ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และบริษัทชั้นนำจากสหรัฐฯ กว่า 40 บริษัท แจงนโยบายการค้าไทย ทั้ง EEC เศรษฐกิจดิจิทัล การขับเคลื่อนนวัตกรรม เผยสหรัฐฯ เข้าใจไทยมากขึ้น ด้านสหรัฐฯ มุ่งมั่นร่วมมือไทยพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หวังช่วย SMEs มีโอกาสค้าขายออนไลน์

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับนายอเล็กซานเดอร์ เฟลด์แมน ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council - USABC) พร้อมบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ กว่า 40 บริษัท เช่น Agoda, Chevron, Google, Microsoft, UL, Ford, Caterpillar, Netflix, Visa, Novartis, Pfizer, Paypal, Cisco และ Harley Davison เป็นต้น ซึ่งไทยได้แจ้งให้ทราบถึงนโยบายรัฐบาลและพัฒนาการทางการค้าที่สำคัญของไทย เช่น โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน การผลักดันให้การเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) บรรลุผลตามเป้าหมายโดยเร็ว รวมถึงความพร้อมในการเตรียมการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ซึ่งทำให้นักธุรกิจสหรัฐฯ รับทราบถึงนโยบายการค้าของไทยดีขึ้น

“นักธุรกิจสหรัฐฯ ยินดีและพร้อมมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ไทยประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายสู่ไทยแลนด์ 4.0 การเตรียมการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 และสนับสนุนไทยในการผลักดันการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ในภูมิภาคอาเซียน”

นอกจากนี้ บริษัท IT ชั้นนำของสหรัฐฯ ยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับไทย โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ของไทยให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2560 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่า 41,401 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย รองจากจีน ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,536.64 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 14,864.18 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ อุปกรณ์ยานยนต์

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

พาณิชย์เร่งยกระดับเกษตรกรรับFTA

กระทรวงพาณิชย์ เร่งยกระดับเกษตรกร รับมือเปิด FTA แนะนำการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนา “การค้าเสรีเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยก้าวสู่ Smart Enterprises 4.0” ในวันนี้ที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และยโสธร เข้าใจเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการเตรียมพร้อมใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเต็มที่

ซึ่งกรมฯ มีแผนลงพื้นที่จะพบปะเกษตรกร เพื่อรับฟังความต้องการและแนะนำการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมถึงติดตามความพร้อม รองรับการเปิดเสรีในสินค้าอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆต่อไปด้วย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561