http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกรกฎาคม 2562)

กรมฝนหลวงฯบินช่วยพื้นที่เกษตรต่อเนื่อง

กรมฝนหลวงฯ สรุปผลการปฏิบัติงาน 1 ก.ค.62 รวม 6 หน่วย เป้าหมายช่วยพื้นที่เกษตร เพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บ

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สรุปผลปฏิบัติการฝนหลวง 1 กรกฎาคม 2562 จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ มีดังนี้

1.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดตาก บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 13:52 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย บริเวณพื้นที่ จ.พิจิตร(วังทรายพูน) และ จ.เพชรบูรณ์(วังโป่ง)

2.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 14:40 น. เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิรินธร ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ จ.ยโสธร(คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย ค้อวัง)  จ.อำนาจเจริญ(หัวตะพาน ลืออำนาจ พนา) จ.อุบลราชธานี(เขื่องใน ม่วงสามสิบ เมืองอุบลราชธานี ตระการพืชผล เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง ตาลสุม สว่างวีระวงศ์ นาเยีย วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ศรีเมืองใหม่ สิรินธร เดชอุดม บุณฑริก โขงเจียม) และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิรินธร

3.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุรินทร์ บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 14:42 น. เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่ จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์

4.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดลพบุรี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 14:45 น. เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นแห่งๆ บริเวณพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

5.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกาญจนบุรี บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 13:23 น. เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.สุพรรณบุรี ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่บริเวณพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี

6.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสระแก้ว บินปฏิบัติการฝนหลวง เวลา 13:30 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บในพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ไทยเดินหน้าค้าเสรีอาเซียน 1กค.เชื่อมข้อมูล‘e-Form D’กับกัมพูชา

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า e-Form D อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้ดำเนินการกับประเทศสมาชิกอาเซียนสำเร็จไปแล้ว 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน โดยล่าสุดได้ทดสอบการเชื่อมโยงระบบ e-Form D กับกัมพูชาในทางเทคนิคแล้ว ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และพร้อมใช้งานจริง ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังตลาดกัมพูชา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว น้ำตาลทราย เป็นต้น

“ปัจจุบัน กรมมีเป้าหมายที่จะเร่งผลักดันประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เหลือให้สามารถเชื่อมโยงระบบ e-Form D ให้ได้โดยเร็วตามเป้าหมายภายในปี 2562 โดยประเทศเมียนมา และฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างการทดสอบเชื่อมโยงข้อมูล ส่วนสปป.ลาว อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบภายในประเทศ ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะเข้าร่วมทดสอบเชื่อมโยงข้อมูลต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window (ASW) ทั้งนี้ หากทุกประเทศในอาเซียนสามารถเชื่อมโยงระบบ e-Form D ASW ได้ทั้งหมดแล้ว จะทำให้การค้าขายภายในอาเซียน มีความคล่องตัวและสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น” นายอดุลย์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 6 ปีครั้งใหม่ 30.52 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ 30.52 บาท/ดอลลาร์ฯ ด้าน ธปท.ลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ธปท.มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง ซึ่งแม้จะไม่มีการประกาศโดยตรงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท แต่คงต้องยอมรับว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2560) ธปท. เคยใช้การลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มาเป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้าหรือลดแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นที่พักเงินในช่วงเวลาที่ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกมีความผันผวน

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นดังกล่าว ยังเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มีแรงหนุนให้เงินบาทแตะระดับค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 1 ก.ค. 2562) ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความระมัดระวัง และรอติดตามสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ธปท.เตรียมที่จะออกมาตรการมาดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

ทั้งนี้ วงเงินประมูลพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.จะปรับลดลงในเดือนกรกฎาคม 2562 ทั้งในส่วนของพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือน พันธบัตรอายุ 6 เดือน และพันธบัตรอายุ 1 ปี โดยวงเงินการออกพันธบัตร ธปท. ระยะสั้น 3 เดือน และพันธบัตรระยะ 6 เดือน ลดลงประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ขณะที่วงเงินการออกพันธบัตร ธปท. อายุ 1 ปี ลดลง 10,000 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2562

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯ สั่งรับมือฝนทิ้งช่วง

รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งเร่งช่วยพื้นที่เกษตรขาดน้ำ จี้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่แจงชาวนาคุมพื้นที่ปลูกข้าวรอบ 2 ไม่ให้เกินแผนจัดสรรน้ำ 11.21 ล้านไร่

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะช่วงปลายต่อเนื่องถึงกลางเดือนกรกฎาคม จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุว่าปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10  อีกทั้งการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรหลายพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด โดยก่อนหน้านี้เตรียมแผนบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/2562 เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและพื้นที่ทำการเกษตร

นายกฤษฎา กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปีนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 ตามแผนข้าวครบวงจร 11.21 ล้านไร่ เพื่อให้ใกล้เคียงแผนการจัดสรรน้ำที่วางเป้าหมายไว้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งมอบหมายกรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง สูบน้ำเติมโรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ ส่วนการเตรียมการด้านประมง ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง หากปริมาณน้ำลดลงให้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายก่อน ด้านพืชเน้นย้ำให้เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอทุกพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ

นอกจากนี้ เน้นย้ำให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา จากการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 62) ผลจากการปฏิบัติการฝนหลวงทำให้มีฝนตกร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีเปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร

“มอบหมายกรมฝนหลวงฯ เร่งติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณพื้นที่การเกษตรประสบปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเติมน้ำให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 17  แห่ง และขนาดกลาง 198 แห่ง เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการของพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน” นายกฤษฎา กล่าว

ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ระบุว่า ปัจจุบันนํ้าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง น้ำในอ่างฯ 37,474 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 นํ้าใช้การได้ 13,549 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 น้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (46,038 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61) น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 8,564 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลลงอ่างฯ 76.51 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน น้ำระบาย 113.61 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 38,594 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนรายงานสถานการณ์น้ำของสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร  (สสนก.) ระบุว่าเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การได้น้อยอยู่ในขั้นวิกฤติต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 0% เขื่อนสิรินธร 1% เขื่อนคลองสียัด 6% เขื่อนป่าสักฯ7% เขื่อนขุนด่านปราการชล 9% เขื่อนสิริกิติ์ 9% เขื่อนภูมิพล 10% เขื่อนกระเสียว 10% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 12% เขื่อนลำพระเพลิง 13% เขื่อนทับเสลา13% เขื่อนนฤบดินทรจินดา 13% เขื่อนวชิราลงกรณ์ 15% เขื่อนจุฬาภรณ์ 16% เขื่อนแม่กวง 18% เขื่อนห้วยหลวง 19% และเขื่อนศรีนครินทร์ 19% นอกจากนี้ ได้เตือนภัยฝนระดับเฝ้าระวังพิเศษบริเวณจังหวัดตราดอาจมีมีปริมาณฝนมากถึงวันละ 184.2 มิลลิเมตร

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ค่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชียแข็งค่า หลังจีน-สหรัฐตกลงเจรจาการค้าอีกครั้ง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/7) ที่ระดับ 30.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 30.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ตกลงที่จะสงบศึกการค้าชั่วคราว ในการเจรจานอกรอบการประชุม G20 ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเริ่มหารือด้านการค้าอีกครั้งบนพื้นฐานของความเท่าเทียม และความเคารพซึ่งกันและกัน ขณะที่สหรัฐระบุว่า จะไม่เพิ่มการเก็บภาษีใหม่กับสินค้าส่งออกของจีน และบริษัทสหรัฐสามารถขายอุปกรณ์ให้กับหัวเว่ยเพื่อช่วยลดสถานการณ์ตึงเครียดกับจีน ในขณะที่ ปธน.สี จิ้นผิง ได้ตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐ สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. ขยายตัว 0.87% จากตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1% ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัว 0.48%

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเงินเฟ้อปี 62 เหลือ 1% ในกรอบ 0.7-1.3% จากเดิม 1.2% ซึ่งอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% เนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลงจากแรงกดดันทางการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.51-30.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (1/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1354/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์  (28/6) ที่ระดับ 1.1386/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยผลสำรวจพบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นปลายของไอเอชเอส มาร์กิตอยู่ในระดับ 47.6 ลดลงจาก 47.7 ในเดือน พ.ค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจจะสนับสนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ผ่อนคลายนโยบายการเงิน ขณะที่สะท้อนถึงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่ลดลงด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1316-1.1375 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1330/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (1/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.20/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/6) ที่ระดับ 107.65/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 2 ลดลงสู่ระดับ +7 จากระดับ +12 ในไตรมาส 1 อยู่ในระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ +9 ซึ่งสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.11-108.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.24/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน มิ.ย.จากมาร์กิต (1/7) ดัชนีภาคการผลิตเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (1/7) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน มิ.ย. จาก ADP (3/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (3/7) ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน พ.ค. (3/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน มิ.ย. จากมาร์กิต (3/7) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. (5/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.5/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -42/-2.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แผนแม่บท 20 ปีเวอร์ชั่นใหม่ ขยายภาพชัดการจัดการน้ำของประเทศ

รับรู้กันอยู่ว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 เสาหลัก  เสาหลักที่ 1 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561

 เสาหลักที่ 2  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บทฯ อย่างมีเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีกว่า 40 หน่วยงานใน 7 กระทรวง

 เสาหลักที่ 3  พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้หมาดๆ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562

“ทั้ง 3 เสาหลักมีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว ทำให้เค้าโครงการบริหารจัดการน้ำชัดเจนขึ้น มีแผน มีองค์กรกำกับ และมีกฎหมายบังคับใช้” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

 แต่แผนแม่บทน้ำ 20 ปีดังกล่าวถือเป็นฉบับเบื้องต้น สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กนช. จึงได้ปรับปรุงและทบทวนร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เป็นการยึดโยงซึ่งกันและกันภายใต้เป้าหมายเดียวกัน

ในแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปีฉบับปรับปรุงใหม่ ยังคงประกอบด้วย 6 ด้านหลัก เช่นเดียวกับแผนแม่บท 12 ปีเดิม ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6.การบริหารจัดการ

“ครม.เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นชอบแผนแม่บทน้ำ 20 ปีฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางให้ทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

พร้อมกันนั้น สทนช. ยังได้ปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเสาหลักที่ 4  คือ การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่จะขับเคลื่อนแผนแม่บทไปสู่เป้าหมาย ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ

“ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

 ชัดเจนกว่านั้น น่าจะเป็นสาระสำคัญในแผนแม่บทน้ำเวอร์ชั่นใหม่ มีตัวกำหนดที่มีนัยสำคัญ ประกอบด้วย

1.กำหนดตัวชี้วัดเชิงผลผลิตเพิ่มเติม

2.เพิ่มกลยุทธ์/วิธีการ ให้ครอบคลุมหน่วยงานมากขึ้น เช่น เพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับน้ำอุปโภค-บริโภค ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ เป็นต้น

3.กำหนดหน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุน ไม่จำเพาะเพียงหน่วยงานราชการเท่านั้น หากยังมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เป็นความใหม่ที่ไม่เคยมี

 4. การกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) จำนวน 66 พื้นที่ 34.62 ล้านไร่ เป็นเป้าหมายที่ชัดเสียยิ่งกว่าชัด เหมือนการสแกนพื้นที่มีปัญหาและศึกษาหาแนวทางแก้ไข

ถ้าพูดถึงแผนอย่างเดียวคงไม่เห็นเป้าหมายรูปธรรม  ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี มีตัวเป้าหมายหลายอย่าง อาทิ

การยกระดับคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค ทุกหมู่บ้านเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้มาตรฐานในราคาเหมาะสม 75,032 หมู่บ้าน ภายในปี 2573  การพัฒนาน้ำต้นทุน 27,299 ล้านลูกบาศก์เมตร เพี่มพื้นที่กระจายน้ำ 31 ล้านไร่  พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนและแหล่งน้ำสำรองให้เป็นรูปธรรม การป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ 764 แห่ง การลดผลกระทบจากอุทกภัย 15 ล้านไร่ การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 741 แห่ง  การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 3.5 ล้านไร่ การก่อสร้างฝายชะลอน้ำ 541,894 แห่ง

“สทนช. จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการอำนวยการ ประสาน กำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ร่วมกับ 3 กระทรวงเกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทฯ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561” ดร.สมเกียรติกล่าว

เป็นความชัดเจนทั้งบทบาทหน่วยงานกลางอย่าง สทนช. การดำเนินการโดยการมีส่วนร่วม และเป้าหมายการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรม

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562