http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกรกฎาคม 2563]

ภัยแล้งฉุดอ้อยปี 63/64 วูบเหลือไม่เกิน 70 ล้านตัน

ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 63/64 กระทบหนักจากฝนแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ชาวไรอ้อยบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลัง เพราะเห็นว่าราคาดี ส่งผลกระทบผลผลิตเบื้องต้นปีนี้ลดลงเหลือ 70 ล้านตันอ้อย

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยสำนักข่าวไทยว่า ทางคณะกรรมการอ้อยคาดการณ์ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ที่จะเก็บเกี่ยวปีหน้านั้น ผลจากภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และไทยปลูกอ้อยประมาณร้อยละ 80 เป็นการปลูกที่ต้องอาศัยน้ำจากฝน จึงคาดว่าผลผลิตอ้อยในภาพรวมจะยังคงลดลงต่อเนื่องเหลือประมาณ 65-70 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลประมาณ 7.7-8 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 11 ล้านไร่ 

ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงต่ำต่อเนื่อง อีกทั้งบราซิลส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ผลิตน้ำตาลส่งออกมากขึ้น เพราะลดการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลใช้ในประเทศตามความต้องการที่ลดลงของชาวบราซิลจากผลกระทบโควิด-19  ประกอบกับชาวไร่อ้อยในประเทศไทยบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังแทน เนื่องจากเห็นว่าราคาดี อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการอ้อยจะทำการประเมินผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ใหม่อีกครั้งหลังผ่านฤดูฝน

นายวิฤทธิ์ กล่าวว่า นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดเป้าหมายลดอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลร้อยละ 80 ซึ่งการส่งอ้อยสดเข้าโรงงานชาวไร่อ้อยจะได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ขัดกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO)

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มส่งออกนั้น ล่าสุดสำนักงานอ้อยฯ พบว่า น้อยมาก โดยยอดใช้น้ำตาลลดลงเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ซึ่งแต่ละปีอุตสาหกรรมนี้จะขอใช้น้ำตาลประมาณ 470,000 ตัน

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 31 กรกฎาคม 2563

มิตรผล: ชาวบ้านกัมพูชา 700 ครัวเรือนฟ้องเรียกค่าเสียหายถูกไล่รื้อ-ยึดที่ทำกินเป็นไร่อ้อย

ไร่อ้อยในกัมพูชาเมื่อปี 2012 ซึ่งนักรณรงค์ระบุว่าอุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแย่งยึดที่ดินในประเทศและทำให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพออกจากที่ดินทำกิน

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องคดีแบบกลุ่มในคดีที่ชาวบ้านกัมพูชารวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทย เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท โดยกล่าวหาว่าตัวแทนของบริษัทในกัมพูชาได้ไล่รื้อและยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2551

คดีนี้ นางฮอย ไม (Hoy Mai) และ นายสมิน เต็ต (Smin Tet) เป็นตัวแทนของชาวกัมพูชากว่า 700 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการทำกิจการของบริษัท อังกอร์ชูการ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทมิตรผลในกัมพูชา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 ขอให้ศาลมีคำสั่งรับดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเยียวยาความเสียหายจากการถูกยึดที่ทำกินและเผาทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินเพื่อนำที่ดินไปทำไร่อ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล

ทั้งนี้ชาวกัมพูชาทั้งสองคนได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศกัมพูชา ซึ่งได้ประสานต่อมายังมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเพื่อให้ช่วยดำเนินการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทไทยที่ลงทุนข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งกฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่มอนุญาตให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มของผู้เสียหายมาฟ้องคดี และขอให้ศาลดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อตัวแทนมาฟ้องคดีแล้ว ถ้าชนะคดี คำพิพากษาจะมีผลรวมไปถึงคนอื่นด้วย โดยประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายให้ใช้การดำเนินคดีดังกล่าวเมื่อปี 2558 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ในคำฟ้องระบุว่า กลุ่มน้ำตาลมิตรผลของไทยตั้งบริษัทตัวแทนที่กัมพูชาเพื่อรับสัมปทานในการปลูกอ้อยจากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านทำกินอยู่ก่อนแล้ว 5 หมู่บ้าน ใน อ.สำโรง จ.โอดอร์ เมียนเจย์ แต่มีการใช้กำลังบุกรุกเข้าไปขับไล่ชาวบ้าน ทำให้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นเวลาร่วมสิบปี

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รับพิจารณาคดีนี้เป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาไม่สามารถสื่อสารกับทนายโจทก์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ อีกทั้งที่เกิดเหตุในกัมพูชาเป็นพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถเดินทางไปได้ง่ายในการจัดส่งหมายศาล

โจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งวันนี้รับฟ้องคดีแบบกลุ่ม

นางสาวส.รัตนฒณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่โจทก์ชาวกัมพูชาในคดีนี้ กล่าวว่า ศาลอุทรณ์ได้ยืนยันหลักการเรื่องของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของเหยื่อในลักษณะเป็นกลุ่ม

"คดีนี้ เหยื่อเป็นชาวบ้านที่ยากจน หากไม่มีองค์กรพัฒนาเอกชนมาให้ความช่วยเหลือเพื่อนำคดีมาฟ้องต่อศาลไทยเป็นลักษณะคดีแบบกลุ่ม ก็มองไม่เห็นทางว่าชาวบ้านเหล่านั้นจะได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร" เธอกล่าวและระบุว่ากระบวนการต่อจากนี้จะต้องมีการทำเอกสารสำนวนภายใน 30 วัน และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ให้แพร่หลายทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา

ทนายความให้ข้อมูลด้วยว่า วันนี้ไม่มีทนายความตัวแทนของบริษัทมารับฟังคำสั่งศาล ส่วน บ. อังกอร์ชูการ์ที่ถูกกล่าวหาก็ได้ปิดกิจการและถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ

คดีแรก

ก่อนหน้านี้ นางสาว ส.รัตนมณี เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อบริษัทข้ามชาติไทยที่ลงทุนและสร้างผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ

"ประเด็นที่ท้าทายคือการละเมิดสิทธิในต่างประเทศ โดยบริษัทซึ่งเราเชื่อว่าเป็นบริษัทตัวแทน เพราะฉะนั้นมันซ้อนกันอยู่ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิในต่างประเทศ และเป็นการกระทำของบริษัทมิตรผล เพราะมิตรผลไม่ได้ไปทำโดยตรง" นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว

"มิตรผล" ยืนยันทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หลังจากมีการฟ้องคดีเมื่อปี 2561 บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ชี้แจงกับบีบีซีไทยผ่านอีเมลระบุว่า ในโครงการนี้ มิตรผลเข้าไปลงทุนด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา และได้รับสัมปทานชั่วคราวจากรัฐบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าพื้นที่สัมปทานชั่วคราวนั้นได้มาอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ มิตรผล เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอันดับ 5 ของโลก โดยมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และเป็นมหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 22 จากการจัดอันดับของ Forbes ในปี 2560 อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ ได้ระบุคำกล่าวอ้างของชาวบ้านว่าบริษัทตัวแทนของมิตรผลได้มีการยึดครองที่ดินของคนในท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมาย โดยการพังทลายบ้านเรือนและฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน มีการลอบวางเพลิงหมู่บ้าน และการทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารเสียหาย

คำชี้แจงของมิตรผลต่อ กสม. ระบุว่า โครงการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในกัมพูชา ได้ลงทุนโดยตรง 1 บริษัท และลงทุนรวมกับบริษัทอื่นอีก 2 บริษัท โดยได้รับสัมปทานที่ดินประมาณ 110,000 ไร่ ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลไม่สนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ครอบครองของผู้อื่น รวมทั้งการบังคับไล่ที่หรือการทำลายทรัพย์สินของผู้ใด และการลงทุนของกลุ่มมิตรผลในประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายของประเทศกัมพูชาทุกขั้นตอน รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน โดยข้อตกลงตามสัญญานั้น รัฐบาลกัมพูชาจะเป็นผู้ทำการสำรวจและจัดสรรที่ดินสัมปทานเพื่อการเกษตรให้แก่กลุ่มมิตรผล และหากจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เจรจาจนได้ข้อยุติ

ต่อมา มิตรผลตัดสินใจที่จะยุติโครงการดังกล่าวในปี 2557 และได้คืนพื้นที่สัมปทานให้แก่รัฐบาล และทางมิตรผลได้แนะนำให้นำพื้นที่นั้นคืนให้แก่ชุมชน แต่ทนายของชาวบ้านบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับที่ดินคืนจากรัฐบาล

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 31 กรกฎาคม 2563

โอกาสจักรกลเกษตรไทย

อินเดีย หนึ่งในประเทศผู้นำด้านการเกษตร แต่การปิดประเทศช่วงโควิด-19 ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากชาติอื่น ภาคเกษตรได้รับความเสียหาย ขาดแคลนแรงงานเพาะปลูก และเก็บเกี่ยว และถูกระงับการขนส่ง

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน อินเดีย ระบุ ขณะนี้ อินเดียกำลังเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่ เกษตรกรต้องเร่งเพาะปลูก

ทำให้ต้องการเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถแทรกเตอร์ รถไถพรวน เครื่องมือปักกล้า เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องตัดอ้อย และเครื่องมือเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร รวมถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับรัฐบาลอินเดีย มีนโยบายสนับสนุนเกษตรกร ซื้อรถแทรกเตอร์ เครื่องจักรกลการเกษตร โดยให้เงินอุดหนุน 25% ของราคาเครื่องจักร ทำให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อของเกษตรกรอินเดียเพิ่มมากขึ้น

จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเครื่องจักรกลการเกษตร อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องจักรแบรนด์ไทย ที่จะขยายตลาดในอินเดีย

แม้อินเดียจะผลิตเครื่องจักรเกษตรอยู่แล้ว แต่ด้วยความเป็นประเทศใหญ่ พลเมืองมาก กำลังผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ปีที่แล้วมีการนำเข้าเครื่องจักรกลเกษตรมากกว่า 16.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ส่วนไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 5 รองจากจีน เดนมาร์ก อิตาลี และญี่ปุ่น โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยยังกระจุกอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนเครื่องจักรกลการเกษตร

แต่จากความขัดแย้งในเรื่องของพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย ที่มีมายาวนาน และทำท่าจะรุนแรงขึ้น ทำให้กระแสต่อต้านสินค้าจีนจากประชาชนอินเดียกำลังขยายวงกว้างมากขึ้น...จึงเป็นโอกาสของไทย.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 31 กรกฎาคม 2563

4เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาน้ำน้อยเท่ากับปี58

กรมชลประทาน ระบุ แม้ฝนตกแต่ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาน้ำยังน้อย ใกล้เคียงกับปี 58 หวังพึ่งฝนอีก 2 เดือน

นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้างในหลาย

พื้นที่แต่ยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้เล็กน้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่าง เขื่อนภูมิพล ที่เหลือปริมาตรน้ำใช้ได้ เพียง1% เขื่อนสิริกิติ์ เหลือ6% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เหลือ10% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือ9% ถ้ารวมทั้ง 4 เขื่อนเหลือน้ำใช้ได้ เพียง4% หรือ 7,000 กว่าล้าน ลบ.ม. ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก ใกล้เคียงกับปี 2558 แต่ยังเหลือฤดูฝนในอีก 2เดือน คือในเดือนสิงหาคม -กันยายน คาดว่าสถานการณ์น้ำจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกันด้านน้ำก็บูรณาการช่วยเหลือกันทุกฝ่าย ทางกรมชลทานได้คาดการ์ณไว้ 2 กรณี คือ 1.น้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย5% ก็จะเหลือน้ำประมาณ 9,000 ล้าน ลบ.ม. ณ ต้นฤดูแล้ง และกรณีที่ 2 ถ้าน้ำน้อยมาก ก็จะเหลือประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม ซึ่งก็ยังเพียงพอในปี 2564

อย่างก็ตาม ในขณะนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อนจนกว่าจะมีฝนตกในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 31 กรกฎาคม 2563

1 ส.ค. นี้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่บังคับใช้ “พาณิชย์” เร่งสร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เผยแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 พร้อมเดินหน้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ฉบับใหม่ที่จะมีผล 1 สิงหาคม นี้  พร้อมกันนี้กรมเจรจาฯ เตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ เพชรบุรี

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ว่าด้วยการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และที่ประชุมจึงร่วมกันรับรองแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นเป้าหมายสําคัญ 3 ประการ คือ รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างกัน บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 50 โครงการ เช่น มุ่งให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปีนี้ เร่งส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พัฒนาการค้าดิจิทัลระดับภูมิภาค ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการเสริมสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพของธุรกิจ MSMEs เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2563 เพราะจะเป็นการยกระดับความตกลง AJCEP ให้ครอบคลุมครบทั้งการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น แก่นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 225,915 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกไปญี่ปุ่นมูลค่า 109,835 ล้านเหรียญสหรัฐ และนําเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 116,080 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นไปอาเซียน มูลค่า 20,356 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมจัดงาน “สร้างโอกาสสินค้าเกษตรไทย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 1 – 2 สิงหาคม 2563 ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จังหวัดเพชรบุรี โดยเปิดพื้นที่ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และราชบุรี นำสินค้าเกษตรคุณภาพมาจัดแสดงและจำหน่ายรวม 20 บูธ เช่น น้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวทับสะแก สับปะรดเหลืองสามร้อยยอด นมอัดเม็ดจากสหกรณ์โคนมห้วยสัตว์ใหญ่ ผ้าเขียนลายทอง ผลิตภัณฑ์กระเป๋าจากป่านศรนารายณ์ เครื่องสำอาง และเกลือทะเลขัดผิวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

อีกทั้ง ยังมีเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง ช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ ขยายตลาดส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอกับประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย ซึ่งยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าและส่งออกจากไทยแล้ว ตลอดจนแนะนำช่องทางการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมพิเศษตลอดทั้งวัน อาทิ กิจกรรมนาทีทอง และกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามพร้อมรับของรางวัล

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยมีมูลค่า 10,829.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้าหลายรายการสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 อาทิ ผลไม้ มูลค่า 2,253.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 สินค้าผัก/ผลไม้แปรรูป มูลค่า 1,105.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33 และสินค้าปศุสัตว์ มูลค่า 2,264 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.46

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

“สุริยะ” ชี้ภาคอุตฯไทยผ่านจุดต่ำสุดคาดเศรษฐกิจฟื้นครึ่งปีหลัง รับอนิสงส์ภาครัฐลุยแผนฟื้นฟู

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นหลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 63 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 4.18% ขยายตัวจากเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 79.68 มาอยู่ที่ระดับ 83.02 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 5.48% ขยายตัวจากเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 52.34 มาอยู่ที่ระดับ 55.21

                ทั้งนี้  เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าบริโภคที่จำเป็นตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่รวมน้ำตาล) ที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง ผักและผลไม้กระป๋อง นมผง และเบียร์ เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์รักษาโรค

                โดยการผ่อนคลายการกิจกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นผนวกกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนที่กลับมาขยายตัวขึ้นมาจากเดือนก่อนติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม จึงคาดการณ์ได้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นี้จะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของ “โควิด-19” รอบที่ 2

                “คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัว โดยเป็นผลจากความร่วมมือรวมใจของคนไทยทั้งประเทศที่พร้อมฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ทำให้เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเป็นที่ยอมรับและชื่นชมของชาวโลก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักลงทุน ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง”

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการเงินเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในส่วนต่าง ๆ ที่คืบหน้าค่อนข้างมาก อาทิ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท รวมถึงการผ่อนคลายให้กิจกรรมและกิจการบางประเภทสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้

                การผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 มิถุนายน ระยะที่ 4 ในวันที่ 15 มิถุนายน และระยะที่ 5 ในวันที่ 1 กรกฎาคม จะช่วยสร้างให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ คืนกลับมา เช่นเดียวกันกับในหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ฯลฯ ได้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้ความต้องการสินค้า (โดยเฉพาะอาหาร) จากต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทย ทั้งนี้ภาครัฐได้เตรียมดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจงบประมาณ 4 แสนล้านที่จะเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสให้ประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไปได้

                 นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ “สศอ.” กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและการขาดแคลนวัตถุดิบได้บรรเทาลง ช่องทางการขายทั้งในและต่างประเทศกลับมาค้าขายได้อีกครั้ง จึงทำให้อุตสาหกรรมหลักของไทยบางประเภทกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องยนต์ ที่กลับมาขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 27.05% อุตสาหกรรม Hard Disk Drive ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 15.35%

                อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 29.80% และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.39% โดยการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหลักจะส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (Month-on-Month : MoM) และจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนในเดือนต่อไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

สทนช.เล็งจัดผังน้ำทั่วไทยในปี66

สทนช. เร่งจัดผัง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศเสร็จปี66 ชี้ ขจัดสิ่งขวางทาง ช่วยแก้ปัญหา น้ำท่วม-แล้ง เริ่ม 8 ลุ่มน้ำ ตามต้นแบบลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในการสัมมนาหัวข้อ “เดินเครื่อง 8 ลุ่มน้ำ จัดทำผังน้ำ เครื่องมือบริหารน้ำยุคใหม่” ว่า ตามที่ สทนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำเพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้และได้คัดเลือกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ศึกษาจัดทำผังน้ำเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการจัดทำผังน้ำ ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ นั้น

ในปีนี้ สทนช. ได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินการโดยคัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จำนวน 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน มาดำเนินการศึกษาก่อน และจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2566

สำหรับกระบวนการศึกษานั้นจะต้องมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1. แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง 2.แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 3.แผนที่แสดงจุดประกาศ ภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 

โดยใช้แบบจำลองในกรณีศึกษา อย่างน้อย 5 กรณี ดังนี้กรณีที่ 1 กำหนดขอบเขต ผังน้ำจากสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค (โครงข่ายถนน และช่องเปิดต่าง ๆ) ในสภาพปัจจุบัน กรณีที่ 2 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ กรณีที่ 3 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ กรณีที่ 4 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ กรณีที่ 5 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ แก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก

​​​​​​​สทนช. เดินเครื่องจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำ พร้อมขยายผลให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศภายในปี 66  มั่นใจแก้แล้ง ท่วมซ้ำซาก

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวและเปิดการสัมมนา หัวข้อ “เดินเครื่อง 8 ลุ่มน้ำ จัดทำผังน้ำ เครื่องมือบริหารน้ำยุคใหม่”  ว่า สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561   โดยเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้ และได้คัดเลือกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ศึกษาจัดทำผังน้ำเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับการจัดทำผังน้ำ ทั้ง  22 ลุ่มน้ำ ต่อไป

ในปีนี้ สทนช. ได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินการโดยคัดเลือกพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จำนวน  8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน มาดำเนินการศึกษาก่อนและจะทยอยดำเนินการให้ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2566

สำหรับกระบวนการในการดำเนินการศึกษานั้น จะต้องมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1. แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง 2. แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา

3.แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองในกรณีศึกษา อย่างน้อย 5 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 กำหนดขอบเขตผังน้ำจากสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค (โครงข่ายถนน และช่องเปิดต่าง ๆ) ในสภาพปัจจุบัน กรณีที่ 2 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ กรณีที่ 3 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ

กรณีที่ 4 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่างๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยผู้ศึกษา กรณีที่ 5 กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญในลุ่มน้ำ  ที่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยที่ปรึกษา

ทั้งนี้ในการศึกษาของทุกลุ่มน้ำจะต้องจัดทำแผนปรับปรุง ฟื้นฟูทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก และในกรณีที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจะต้องเสนอแนะขนาดของช่องเปิดของอาคารในลำน้ำ  รวมทั้งดำเนินการศึกษาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งแสดงรายละเอียดข้อมูลของผังน้ำ ประกอบด้วย ขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงตลอดทั้งสองฝั่งลำน้ำ ขอบเขตพื้นที่ผังน้ำ ขอบเขตโซนพื้นที่ในผังน้ำ (พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมระดับสูง กลาง ต่ำ ระดับต่าง ๆ) และรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงต่อการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในกรณีที่ได้รับอนุญาตให้มีการพัฒนาในพื้นที่ผังน้ำ จะมีหลักเกณฑ์ในการพัฒนาและการก่อสร้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมและความเสี่ยงจากการก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในพื้นที่ด้วย

“การศึกษาของทั้ง 8 ลุ่มน้ำในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ16 เดือน เริ่มวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และจะศึกษาแล้วเสร็จในวันที่ 20 กันยายน 2564  โดยจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

ดัชนี MPI มิ.ย. ขยายตัวจากเดือนก่อน 4.18% พุ่งขึ้น 2 เดือนติด

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมิถุนายน 63 ขยายตัว 4.18% จากเดือนก่อน ระบุเพิ่มขึ้น 2 เดือนติด

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ “สศอ.” เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 4.18%  โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมิถุนายนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 55.21% จากเดิมที่ 52.34% บ่งบอกถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม

              อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.66% โดยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัส “โควิด-19” (COVID-19) ที่กิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจรวมทั้งกิจกรรมด้านการขนส่งทั่วโลกหยุดชะงักลง เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม  ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.97%

              ทั้งนี้  พฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัวลงและส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน แต่ทว่า ความต้องการในสินค้าจำพวกอุปโภคและบริโภคกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมิถุนายน ได้แก่

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.78% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

              อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.46% โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

              ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.74% จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการทำโปรโมชั่นและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซียและพม่าเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

              เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.74% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเปิดประเทศของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะตลาดหลักจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นและบังคลาเทศ

              เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.30% อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.25%

ขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ 28.00% โดยตลาดในประเทศขยายตัว 43.50% และตลาดส่งออกขยายตัว 67.40% เนื่องจากในช่วงเดือนมิถุนายนผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิต ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทยที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว

              “รัฐบาลได้เตรียมดำเนินแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 และมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ที่จะอนุญาตให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติ เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร กองถ่ายภาพยนตร์ต่างชาติ กลุ่ม Medical and Wellness ฯลฯ โดยคาดว่าภาคการผลิตจะกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและแผนการดำเนินการให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่มีความต้องการในสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

“เฉลิมชัย” เร่งปลัดเกษตรฯ สรุปแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรจากการแบน 2 สาร

“เฉลิมชัย” กำชับปลัดเกษตรฯ รวบรวมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด เดินหน้านโยบายการผลิตตามมาตรฐาน GAP เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรส่งออกมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เรียกนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีการเกษตร ได้แก่ พาราควอตสารป้องกันกำจัดวัชพืชและคลอร์ไพริฟอสสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยสั่งการให้รวบรวมผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร ข้อมูลเกี่ยวกับสารหรือวิธีการทดแทน และแนวทางช่วยเหลือ โดยย้ำว่า ต้องเป็นประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคทั่วประเทศ

ทั้งนี้ จะต้องได้ข้อสรุปทั้งหมดเร็วที่สุด เนื่องจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน โดยเกษตรกรที่ครอบครองสารทั้ง 2 ชนิดต้องนำมาคืนที่ร้านค้าภายในวันที่ 29 สิงหาคมเพื่อส่งคืนแก่ผู้ผลิต-ผู้นำเข้าเพื่อทำลายตามระยะเวลาที่กำหนด

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กำหนดให้การทำ “เกษตรปลอดภัย” เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังยกระดับการผลิตให้ได้ผลผลิตคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ที่ผ่านมาแม้งบประมาณของกรมวิชาการเกษตรจะถูกตัด แต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มุ่งมั่นรับรองมาตรฐานแปลงเพาะปลูกทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถส่งออกได้เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มโอกาสของคนไทยที่จะได้บริโภคอาหารและสินค้าเกษตรปลอดภัยอย่างเท่าเทียม.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

พณ.ผนึกเอกชนดันสินค้าเกษตรไทยรุกตลาดอาร์เซ็ป

กรมเจรจาฯ เตรียมผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน ดันสินค้าเกษตรไทยรุกตลาดอาร์เซ็ป รับนโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ ของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยให้พร้อมสำหรับความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุด คือ อาร์เซ็ป ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ก่อนที่ประเทศสมาชิกจะร่วมลงนามความตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2563 จึงต้องเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยให้สามารถปรับตัว และใช้ประโยชน์จากความตกลงให้ได้มากที่สุด

ซึ่งถือเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพิ่มเติมจากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่แล้วกับสมาชิกอาร์เซ็ปรายประเทศ โดยเฉพาะกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลงฉบับนี้ เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้

ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไปประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ รวมมูลค่ากว่า 25,209 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 62.2 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปไทยไปตลาดโลก และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป รวมกว่า 10,870 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด"แข็งค่า"ที่ระดับ31.44บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.44 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.69 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.40-31.60 บาทต่อดอลลาร์-จับตาตลาดหุ้นทั่วโลกวันนี้ชี้ทิศทางสกุลเงินเอเชียและเงินบาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBS)ระบุ สำหรับสกุลเงินเอเชียและเงินบาทในวันนี้ ต้องจับตาทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกไปพร้อมกันด้วย เพราะแม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าแต่นักลงทุนอาจเลือกถือสกุลเงินปลอดภัยก่อนสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (EM) ถ้าตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงปรับฐาน

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.35-31.85 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดลบ จับตามาตรการกระตุ้นศก.สหรัฐ-ผลประชุมเฟด

อย่างไรก็ตามคืนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐเข้าสู่ช่วงปรับฐานด้วยความผิดหวังกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน S&P 500 ร่วงลง 0.6% สวนทางกับดัชนี Stoxx Europe 600 ที่ปิดตัวบวก 0.4% ไปก่อนหน้า

ในระยะสั้น เชื่อว่าตลาดจะกลับมาให้ความสำคัญกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังมีการประชุมอยู่ในช่วงวันนี้ถึงเช้าตรู่วันพรุ่งนี้ ประเด็นที่จะส่งผลกระทบกับตลาดมากที่สุด คือความเห็นของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงินในอนาคต และมุมมองต่อการอ่อนค่าของดอลลาร์ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าเฟดจะเลือกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อหนุนตลาดต่อไป

ฝั่งตลาดเงิน แนวโน้มหลักยังคงเป็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ เทียบกับสกุลเงินหลักและทองคำ ภาพดังกล่าวหนุนให้ฟรังก์สวิส (CHF) ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินปลอดภัยปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่มิถุนายน 2015 โดยมีบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวลง 3.8bps มาที่ระดับ 0.58% เป็นอีกหนึ่งแรงกดดัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ท้าทายประเทศไทย

ส่องประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ท้าทายประเทศไทย ทั้งช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่คั่งค้างและรอการแก้ไขมาหลายปี และเมื่อวิกฤติโรคระบาดเข้ามากล้ำกรายส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง? ขณะเดียวกันภาพของอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ในยุคที่โลกเผชิญกับ COVID-19 และประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจดั้งเดิมของไทยที่กำลังรอการแก้ไขอยู่นั้น

ผมขอรวบรวมประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ท้าทายประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตดังนี้

ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจาก COVID-19 ในส่วนนี้ผมมองว่ามีปัญหาต้องบริการจัดการ 5 เรื่องดังนี้

1.การท่องเที่ยว : เรื่องนี้ทุกคนเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้วว่าหนักหนาสาหัสมากเพียงใด ปัจจุบันการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18% ของจีดีพี แต่แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยกำหนดให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของจีดีพีในปี 2580 (2037) หรือเพิ่มจากประมาณ 3 ล้านล้านบาทเป็นกว่า 6 ล้านล้านบาท

2.แรงงานจากต่างประเทศ : ประเทศไทยขาดแรงงานเพราะพ่อแม่มีลูกน้อยลง ทำให้ประชากรในวัยทำงานของประเทศไทยคาดว่าจะลดลงจากปัจจุบัน 48.5 ล้านคนเหลือเพียง 43 ล้านคนในปี 2035

3.ภาคบันเทิง : เป็นกิจกรรมที่จะต้องมีการรวมตัวของคนและมีความใกล้ชิดกัน (high-contact) ซึ่งกำลังขยายตัวได้ดี แต่กำลังสะดุดตัวลงเพราะ COVID-19 ภาคส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งคือการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐเคยประเมินว่าทำรายได้เข้าประเทศสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท (ฐานเศรษฐกิจ 11 มิ.ย.2019)

4.นักธุรกิจต่างชาติ/การลงทุน : ประเทศไทยต้องพึ่งนักลงทุนต่างชาติทั้งในเชิงของทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ แต่ปัจจุบันจำกัดไม่ให้เขาเข้ามาในประเทศซึ่งย่อมจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจการลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพี

5.นักศึกษาจากต่างประเทศ : ในระยะหลังนี้สถาบันการศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาเพราะประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง ส่วนหนึ่งจึงได้พึ่งพานักศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันยังจะไม่สามารถกลับเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยได้

ปัญหาดั้งเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ก่อน COVID-19 จีดีพีประเทศไทยขยายตัวเพียง 1.5% เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่คั่งค้างและรอการแก้ไขมาหลายปีคือ

1.การแก่ตัวลงของประชากร : ไอเอ็มเอฟประเมินว่าประชากรไทยแก่ตัวลงรวดเร็วเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย (ตามหลัง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี) โดยประเมินว่าการแก่ตัวของประชากรดังกล่าวจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้ช้าลงปีละ 0.75%

2.การเกษตร : ประเทศไทยผลิตสินค้าเกษตรซึ่งในอนาคตความต้องการของประชากรโลกในสินค้าดังกล่าวไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะทุกคนแก่ตัวลงและเป็นห่วงสุขภาพของตัวเอง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล แม้กระทั่งยางธรรมชาติก็กำลังถูกทดแทนโดยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาหารกระป๋องที่ไทยส่งออก เช่น ปลากระป๋องก็แข่งขันสูงและมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ

3.รถยนต์ : ประเทศไทยเป็น Detroit of Asia แต่โลกกำลังปรับเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ที่สำคัญคือระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า (drivetrain) นั้นมีชิ้นส่วนที่สึกหรอเพียง 20 ชิ้น แต่ระบบขับเคลื่อนรถสันดาปภายในนั้นมีชิ้นส่วนกว่า 2,000 ชิ้นที่สึกหรอ และผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ก็ผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวที่ความต้องการจะลดลงอย่างรวดเร็วใน 10-20 ปีข้างหน้า

4.พลังงาน : ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาเกือบ 30 ปีจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย แต่ปัจจุบันก๊าซกำลังหมดลงแล้วและในอนาคตคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่าไม่ได้มากนัก เพราะพม่าก็กำลังพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งรีบ

ประเด็นปัญหาในอนาคต โลกหลัง COVID-19 น่าจะมีความไม่แน่นอนสูงและน่าจะมีปัญหาอื่นๆ ทับถมมา เช่น การช่วงชิงกันเป็นประเทศมาหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้น่าจะมีประเด็นปัญหาในอนาคตสำหรับประเทศไทยดังนี้

1.ความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจของ EEC : ปัจจุบัน EEC เป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทย การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตโดยมี 5 โครงการเร่งด่วนซึ่ง 3 ใน 5 โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบินและการท่องเที่ยว คือจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (โดยการบินไทยภายในปี 2021) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา (ภายใน 2023) และการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ภายใน 2023) แต่โครงการดังกล่าวคงจะต้องทบทวนว่าคุ้มค่าหรือไม่ในยุคหลัง COVID-19 (และอาจมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาได้อีก)

2.CPTPP : หาก Joe Biden ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2021 ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าสหรัฐจะหันกลับมาให้สัตยาบันกับ TPP ซึ่งจะทำให้ไทยถูกโดดเดี่ยวไปพร้อมๆ กับจีน และเสี่ยงมากที่เวียดนามจะแซงหน้าไทยในทางเศรษฐกิจ

3.5G : ประเทศไทยเร่งการสร้างเครือข่ายโทรคมนาคม 5G โดยอาศัย Huawei ซึ่งสหรัฐรณรงค์ต่อต้านอย่างหัวชนฝาและปัจจุบันประเทศพันธมิตรของสหรัฐ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษก็ประกาศห้ามการทำธุรกิจกับ Huawei ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่ต้องประเมินอนาคตอย่างระมัดระวัง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 กรกฎาคม 2563

ข่าวดีเศรษฐกิจจีนฟื้นต่อเนื่อง ฉุดส่งออกไทย มิ.ย.โต 12%

เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย จีดีพีไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3.2% คาดไตรมาส 3-4 โตไม่ต่ำกว่า 6% ไทยได้อานิสงส์ ส่งออกไปจีนขยายตัว เดือนมิ.ย.บวก 12%

รายงานข่าวจากสำนักงานเป่ยจิงเป้าเป้ยข่อของจีน เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจของจีนมีการชะลอตัวลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสที่ 1 จากเชิงลบเป็นบวก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า GDP ของจีนในไตรมาสที่ 2  เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ร้อยละ 3.2

นายผางหมิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทฮวาซิงเจิ้งฉวน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เศรษฐกิจของจีนจะมีเสถียรภาพและฟื้นตัวในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า โดยในช่วง ครึ่งปีหลังคาดว่า GDP จะมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 6 และเมื่อคำนึงถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ จึงคาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ ร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

 “อัตราการเติบโตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นเกินอัตราที่กำหนดถึงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2563 และมีอัตราการขยายตัวมากกว่าเดือนพฤษภาคมร้อยละ 0.4 หนึ่งในนั้นมีรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน บริษัทต่างประเทศรวมถึงฮ่องกงมาเก๊าและไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 , 4.8 และ 4.2 ตามลำดับ ในเดือนมิถุนายน มูลค่าการส่งออก 213.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.5 และมูลค่า การนำเข้า 167 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7  และตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 จนถึง เดือนมิถุนายน 2563 การส่งออกและการนำเข้ามีการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบหกเดือน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวทาง เศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อโควิด 19 ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 กรกฎาคม 2563

ดึง AI เพิ่มประสิทธิภาพบริหารเขื่อน จัดการน้ำต้นทุน

ในการศึกษากลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ สำหรับพัฒนาการบริหารจัดการน้ำต้นทุนระยะยาวของเขื่อนภูมิพล ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ หรือ โครงการวิจัยเข็มมุ่งฯ จึงทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มแรก

ผลงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า ใน 3 แนวทางของการวิจัยสามารถทำให้เขื่อนมีน้ำกักเก็บเพิ่มมากขึ้นได้ และในระยะต่อไปยังจะได้ประมวลข้อมูลผลลัพธ์ของการศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยี New Water Management Technology Development จากงานวิจัยอื่นๆ ในแผน มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคาดการณ์ปริมาณน้ำที่แม่นยำยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.อารียา ฤทธิมา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการศึกษากลยุทธ์การปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ สำหรับพัฒนาการบริหารจัดการน้ำต้นทุนในระยะยาวของเขื่อนภูมิพล (ระยะที่1) กล่าวว่า แม้เขื่อนภูมิพลจะมีศักยภาพการกักเก็บน้ำได้ถึง 2,700 - 4,000 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่จากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และปริมาณฝนที่ตกไม่แน่นอน มีผลต่อปริมาณน้ำกักเก็บ

หากย้อนกลับไปดูปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพล พบว่า หลังปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย ทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักมีแนวโน้มลดลง จำเป็นต้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต

เมื่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีกับปริมาณความต้องการใช้น้ำไม่สมดุลกัน จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของเขื่อนภูมิพล โดยเสนอ 3 แนวทางด้วยกัน คือ 1. การคำนวณความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงโดยใช้ข้อมูล Could-Based IrriSat Application ติดตามพื้นที่เพาะปลูกจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม วิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมบนพื้นที่โครงการเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งหากคำนวณความต้องการน้ำที่แท้จริงได้ ก็จะกำหนดการระบายน้ำที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องตามความต้องการใช้น้ำ และถ้าควบคุมพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตามปัจจัยน้ำต้นทุน จะสามารถประหยัดส่วนหนึ่งจาก

2. การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลใหม่ โดยนำเสนอแบบจำลองโดยอาศัยหลักปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือ แบบจำลองแบบ Fuzzy และ แบบจำลอง Neuro Fuzzy แบบปรับได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนก่อนฤดูฝนได้ 18.37% และก่อนฤดูแล้ง 15.57% และ 3. การใช้โปรแกรมเชิงสุ่มแบบข้อจำกัด โดยนำข้อมูลการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมากำหนดการระบายน้ำ โดยอาศัยเทคนิคการเรียนรู้แบบเคลื่อน (Machine Learning) ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า สามารถเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงก่อนฤดูฝนได้ 14% ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 10.36% 

ในระยะต่อไป จะได้นำผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการวิจัยอื่นในแผนฯ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าสองสัปดาห์ ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ที่ได้จากแบบจำลองที่มีความแม่นยำ หรือกระทั่งปริมาณความต้องการน้ำที่แท้จริงในพื้นที่ ถือเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญในแบบจำลองของการปฏิบัติอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพล เชื่อว่า หากการดำเนินงานแล้วเสร็จ จะเป็นส่วนสำคัญให้หน่วยงานภาคปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน และ กฟผ. นำไปใช้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีประสิทธิภาพในอนาคต หมายถึง สามารถบริหารจัดการน้ำต้นทุนในระยะยาวได้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งได้

ขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ในระหว่างปรับสมการข้อจำกัดให้สอดคล้องกับพื้นที่ศึกษา โดยหารือกับผู้ปฏิบัติงานในส่วนของกองการจัดการทรัพยากรน้ำ กฟผ.เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจ       

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงแหล่งน้ำต้นทุนอื่นๆ ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ/ประหยัดน้ำได้เพิ่มขึ้นนั้น ในงานศึกษาและประเมินปริมาณน้ำต้นทุน (น้ำท่า น้ำผิวดิน และน้ำบาดาล) ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดย ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งต้องการรู้ถึงปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยใช้แบบจำลองวิเคราะห์ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ เพื่อหาแหล่งน้ำและปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยา โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีขนาด 50 ไร่ขึ้นไปในชุมชนที่อยู่ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณความจุ และปริมาณน้ำผันแปรในแต่ละเดือน รวมถึงข้อมูลปริมาณน้ำ Side Flow หรือฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดสรรน้ำได้เมื่อรู้ว่าฝนตกเท่านี้จะเกิดน้ำท่าเท่าไหร่จะเป็นประโยชน์กับการส่งน้ำของชลประทาน และข้อมูลแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ทั้งหมด หากสามารถนำมาใช้ประโยชน์จะช่วยลดภาระการส่งน้ำของเขื่อนได้

ผลการศึกษาพบว่า ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา นอกจากจะมีแหล่งน้ำต้นทุนจากน้ำผิวดิน ไม่ว่าจะเป็นจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ยังมีแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก คือ แหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชน ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักได้ถึง 4,077– 4,554 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งในเบื้องต้นทีมวิจัยได้สำรวจภาคสนามและลงพื้นที่สัมภาษณ์การใช้ประโยชน์แหล่งน้ำขนาดเล็กในลุ่มเจ้าพระยา จำนวนกว่า 318 แห่ง ทำให้เห็นศักยภาพของแหล่งน้ำชุมชนและรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่น่าสนใจ อาทิ การใช้แหล่งน้ำขนาดเล็กร่วมกับน้ำชลประทาน เป็นต้น

ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ กล่าวว่า การมีงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยมีข้อมูลความต้องการน้ำที่ถูกต้องทันต่อเวลา มีข้อมูลปริมาณน้ำท่าบริเวณท้ายน้ำที่ละเอียดถูกต้อง จะทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการแก้ปัญหาเรื่องการจัดสรรน้ำนอกจากการหาแหล่งน้ำเพิ่มแล้ว จะต้องเรียนรู้วิธีการนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และมีรูปแบบที่เหมาะสม

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(spearhead)ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่าจากนี้ไปจะต้องประหยัดน้ำในฤดูฝน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง การบริหารเขื่อนเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องการให้เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำก่อนเข้าหน้าแล้ง หรือ 1 พ.ย.ของทุกปีจาก 65% ขึ้นเป็น 85%

ดังนั้น เพื่อให้ผลการวิจัยตอบโจทย์การใช้งานได้จริง กลไกวิจัยรูปแบบใหม่ จึงเน้นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ EGAT, กรมชลประทาน และ สทนช. เป็นต้น ซึ่งผลการศึกษาในปีแรกนี้ ได้ผลลัพธ์ของงานวิจัยในชุดโครงการ เป็นข้อมูลสำคัญที่สามรถนำมาเชื่อมโยงและปรับใช้แบบจำลอง อาทิ ข้อมูลปริมาณฝนคาดการณ์ล่วงหน้าสองสัปดาห์ ปริมาณความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ราบภาคกลางโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ปริมาณน้ำท่า น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน โดยใช้แบบจำลองการปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อใช้ในการบริหารเขื่อนต่อไป ซึ่งผลการวิเคราะห์จะถูกนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจปล่อยน้ำ และช่วยทำให้การเก็บกักน้ำของเขื่อนภูมิพลในช่วงฤดูฝนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย

ด้านนางวันเพ็ญ แก้วแกมทอง หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.นอกจากการผลิตและจัดหาไฟฟ้าแล้ว ยังดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 12 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับกรมชลประทาน คณะอนุกรรมการด้านน้ำ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ส่วนการพัฒนางานด้านการบริหารจัดการน้ำนอกจากงานวิจัยที่มีดำเนินการเองแล้ว งานวิจัยภายใต้โครงการวิจัยเข็มมุ่งฯ หรือ Spearhead ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำของ กฟผ. ได้ดียิ่งขึ้น

“การปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ การบริหารจัดการ Reservoir Reoperation เป็นงานวิจัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น AI ที่ช่วยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน หรือเทคนิควิธีที่นำมาช่วย Reoperation อ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในระยะยาวของเขื่อนภูมิพล ถือเป็นโครงการวิจัยที่สามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ดีขึ้น นอกจากนี้การประเมินปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะช่วยให้เราทราบถึงปริมาณน้ำท่าในท้ายเขื่อนหรือในพื้นที่ชลประทานเอง ถือเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจการวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้เช่นกัน”

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กฟผ.มีส่วนร่วมกับการทำวิจัยในครั้งนี้ ทั้งให้การสนับสนุนด้านข้อมูลและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงาน เข้าร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมวิจัย นอกจากจะได้ประโยชน์ในแง่ของการนำชิ้นงานมาประยุกต์ใช้แล้ว ในตัวขององค์ความรู้ยังเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดใช้กับอีกหลายเขื่อน เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนซึ่งมีความแปรผันค่อนข้างมาก

เพราะการบริหารจัดการน้ำนั้นมีความซับซ้อน จึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 กรกฎาคม 2563

‘พาณิชย์’ ประชุมทางไกลทบทวน AEC Blueprint รับมือเศรษฐกิจโลก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมประชุมคณะทำงานระดับสูง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน 28 กรกฎาคมนี้ ผ่านระบบทางไกล ทบทวนแผนงาน AEC Blueprint 2025 และติดตามความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์ 4IR รับมือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงผ่านระบบประชุมทางไกล เกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 38 ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 การหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การประเมินคู่ค้านอกภูมิภาคที่มีศักยภาพ และการจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ 4IR

การประชุม HLTF-EI เป็นการหารือในประเด็นเชิงนโยบาย ที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้อาเซียนมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจตาม AEC Blueprint 2025 มาได้ครึ่งทาง นับตั้งแต่การเข้าสู่ AEC เมื่อปี 2558 จึงต้องมีการติดตามความคืบหน้า การดำเนินการของแผนงานที่ผ่านมา รวมทั้งประเมินสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าโลก โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการรวมกลุ่มของอาเซียนในอนาคต โดยผลจากการประเมินจะนำไปวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ เพื่อประกอบการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 รวมทั้ง Blueprint ฉบับต่อไป

 คณะทำงานระดับสูงฯ จะประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแผนพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคหลังวิกฤตคลี่คลาย รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ ระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับหลักสากล และการจัดทำยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่มีความครอบคลุมการดำเนินงานของทั้ง 3 เสาอาเซียน ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในช่วงวิกฤตนี้ รวมถึงการประเมินคู่ค้านอกภูมิภาคที่มีศักยภาพและอาจเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนในอนาคต

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 41,218 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 24,697 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 16,522 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 กรกฎาคม 2563

สอน.ลงพื้นที่ราชบุรี ตรวจสอบผลการดำเนินงานโรงงานน้ำตาล และเยี่ยมชมการบริหารจัดการไร่อ้อย

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโรงงานน้ำตาลดีเด่น ประจำปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เดินทางไปตรวจสอบผลการดำเนินงานของโรงงานน้ำตาลที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในเบื้องต้น ณ โรงงานน้ำตาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี โดยได้ติดตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการลดอ้อยไฟไหม้ รวมถึงกิจกรรมที่โรงงานได้สนับสนุนชาวไร่อ้อยให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้รถตัดอ้อยแทนการเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงาน

จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการไร่อ้อยของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน โดยในปีนี้ สอน. จะเร่งกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปจากประเทศไทย

จาก https://www.thairath.co.th    วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

บาทนิ่งต่อวันที่สอง นักวิเคราะห์ชี้เหตุนักลงทุนรับข่าวเศรษฐกิจ-ภาคอุตฯทั่วโลกอืด

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 24 กรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 31.71 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.62-31.82 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบสี่เดือน โดยดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.2% ตามแรงขายหุ้นในดัชนี Nasdaq ที่ปรับตัวลดลง 2.3% ภาพดังกล่าว กดดันให้ตลาดการเงินเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลง 2bps ไปที่ระดับ 0.58% ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสลดลง 2.2% และราคาทองคำปรับตัวบวก 0.8%

 ประเด็นหลักที่ตลาดกลับมาให้ความสำคัญคือตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคมมาที่ระดับ 1.42 ล้านตำแหน่ง เป็นผลมาจากการชะลอตัวในภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ตลาดกังวลกับภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน ดอลลาร์ก็ยังคงอ่อนค่าต่ออีก 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักแม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง โดยมีสกุลเงินปลอดภัยอย่าง เยนญี่ปุ่น (JPY) และฟรังก์สวิส (CHF) เป็นสองสกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

ส่วนในฝั่งไทย การรายงานตัวเลขยอดขายรถยนต์เดือนมิถุนายน แม้จะฟื้นตัวจากเดืนอนก่อน แต่ก็ยังอยู่ในแดนลบถึง 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนมีความกังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกับภาพความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐและจีนที่กำลังกดดันภาพรวมเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนขายเงินบาทพร้อมกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ

ในวันนี้จึงต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนเอเชียต่อ ถ้ามีแรงขายปิดรับความเสี่ยงเข้ามากดดัน ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เกษตรกร บุกทำเนียบ ยื่นหนังสือร้องนายกฯ แบน ‘สารไกลโฟเซต-กลูโฟซิเนต’

กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคกว่า 30 ราย ยื่นหนังสือร้องเรียน นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทรโอชา ขอให้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่อีกครั้ง พร้อมเสนอแนวทาง 5 ประการ เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยและนายกสมาคมเกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยผู้บริโภคกว่า 30 ราย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ห้ามนำเข้า จำหน่ายและครอบครอง พาราควอต ในประเทศไทย นั่นหมายความว่า การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรจากต่างประเทศที่มีการใช้สารพาราควอต เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้ง องุ่น แอปเปิล กาแฟ และอื่น ๆ  ดังนั้น ภาครัฐจะต้องประกาศห้ามการนำเข้าจากประเทศต้นทางด้วย โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีก 72 ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลี จากต่างประเทศ จนถึง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (ปีหน้า)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารพิษอันตรายอีกสองชนิด ได้แก่ ไกลโฟเซตและกลูโฟซิเนต เพื่อกำจัดวัชพืชในกลุ่มพืชมันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและไม้ผล จากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร แต่สารทั้งสองชนิดมีการตกค้างในพืชผล และกลูโฟซิเนตถูกจัดอยู่ในวัตถุอันตรายระดับเดียวกับพาราควอต และถูกแบนไปในยุโรปแล้ว รวมทั้ง สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช จากการสุ่มตรวจสอบโดยกรมวิชาการเกษตรเอง ก็พบว่ามีการผสมสารพารา ควอตและไกลโฟเซต จึงไม่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและผลผลิตส่งถึงผู้บริโภค นับเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคและเกษตรกรอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรได้ยอมรับว่า ยังไม่สามารถหามาตรการหรือสารทดแทนพาราควอต ทั้งในด้านประสิทธิภาพและราคา รวมทั้ง ยังไม่มีแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรกรดำเนินการเป็นเพียงเสนอ “สารทางเลือก” ไม่ใช่ “สารทดแทน” โดยแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน แต่ไม่ได้ช่วยเกษตรกร เพราะไม่สามารถใช้สารดังกล่าวได้ในหลายพืช

จากสถานการณ์ดังกล่าว และตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ได้ติดตามการดำเนินการควบคุมการใช้สารเคมีด้านการเกษตรของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นถึงความไม่เป็นธรรมต่อเกตรกรและผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งความไม่โปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการเรียกร้องความยุติธรรมด้วยกระบวนการศาลไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากพยายามเข้าพบและชี้แจงรายละเอียดความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้บริโภคต่อรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการแก้ไขและจัดการอย่างเหมาะสม

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เน้นย้ำว่า “ในฐานะตัวแทนเกษตรกรและผู้บริโภคไทย จึงอยากขอให้ นายกรัฐมนตรี 1. พิจารณาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่อีกครั้ง ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เพราะไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาจากนโยบายหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ตั้งแต่มาดำรงตำแหน่งไม่มีความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร มีแต่ซ้ำเติมเกษตรกรด้วยการเพิ่มต้นทุนการผลิตและสร้างผลกระทบให้แก่เกษตรกรมากกว่าเดิม โดยหวังว่าจะได้รับการพิจารณาในวาระที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

นอกจากนี้ ทางกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคกว่า 30 ราย ก็ได้เดินทางไปพบ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้มูลนิธิฯ ผลักดันให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารต่อผู้บริโภค โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังในการ แบนสารไกลโฟเซต สารกลูโฟซิเนต สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช และสารเคมีเกษตรทุกชนิดในทันที เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน และขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม  กำหนดให้สารไกลโฟเซต กลูโฟซิเนต และสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยเร่งด่วน

รวมถึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และขอให้กระทรวงสาธารณสุข ทำการสอบสวนคณะกรรมการอาหารและยา ที่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นโดยการผ่อนปรนให้กลุ่มผู้นำเข้าเป็นการชั่วคราว หรือการละเลยความรับผิดชอบในการตรวจคุณภาพสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทย

นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังสำนักงานพรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน เพื่อทวงถามสัญญาจากนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย “ทวงคืนกำไรให้เกษตรกร” แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวอ้าง จึงเรียกร้องให้รีบทำตามคำสัญญา โดยเฉพาะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ หากทำไม่ได้ขอให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบทันที

“ในนามตัวแทนเกษตรกรและผู้บริโภค จึงขอนำเสนอแนวทางดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะดำเนินการด้วยความเที่ยงธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน หยุดเล่นเกมการเมือง และเป็นที่พึ่งของประชาชนไทยอย่างแท้จริง”

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ธปท.ย้ำไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า

ธปท.ย้ำไม่ได้แทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า หลังมีข่าวสหรัฐอาจจะขึ้น Watchlist

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวว่าประเทศไทยและไต้หวันอาจจะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐจับตาว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐนั้น ธปท.หารือกับกระทรวงการคลังสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลก พัฒนาการของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย และความจำเป็นของ ธปท.ที่ต้องเข้าดูแล เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบางช่วงจังหวะเวลาที่มีเงินทุนไหลเข้าอย่างเฉียบพลันจากการปรับมุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกและในประเทศอุตสาหกรรมหลัก

“ธปท.ย้ำเสมอว่าธุรกรรมของ ธปท.ในตลาดเงินตราต่างประเทศ มิได้มุ่งหวังที่จะบิดเบือนค่าเงิน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้ากับคู่ค้าของไทย เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า ไม่ได้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง และการทำธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศของ ธปท.เป็นไปทั้ง 2 ทางเช่นกัน คือ มีทั้งการซื้อและการขายเงินตราต่างประเทศ ตามปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้าออกอย่างผันผวนและรวดเร็ว” นางจันทวรรณ กล่าว.

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ส.อ.ท.ชี้ปลดล็อกเฟส 4 ดันดัชนีอุตฯขยับขึ้น เอกชนชงรัฐเร่งกระตุ้นศก.ภูมิภาคโดยเฉพาะ EEC

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ระยะที่ 3 และ 4 รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิวส์) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ขณะที่ด่านการค้าชายแดนเริ่มทยอยเปิดในหลายพื้นที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ตลอดเดือนมิถุนายนจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อโดยเฉพาะผู้ประกอบการ ขนาดย่อม ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท รวมทั้งต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่งโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,205 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 50.0, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 46.7, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 36.1 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 20.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 70.1

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 90.1 โดยลดลงจากระดับ 91.5 ในเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของกำลังซื้อในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจากความเปราะบางเศรษฐกิจ และความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกสอง ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูฝนมีไม่มากนัก ดังนั้นมาตรการภาครัฐฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากโควิด-19 มีความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขอให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

2. ขอให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาทต่อหลังจากหมด พ.ร.ก. เงินกู้ฯ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น

3. ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนภูมิภาคโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

วังขนาย ปรับโฉมผลิตภัณฑ์น้ำตาลใหม่

น้ำตาลวังขนาย ปรับโฉมใหม่ เน้นคอนเซปต์ Better Living  สวนกระแสเศรษฐกิจโลก

บริษัท ครีเดนซ์ จำกัด ในกลุ่มวังขนาย  เผยบริษัทได้ดำเนินการปรับโฉมใหม่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลภายใต้แบรนด์ ‘วังขนาย’ พร้อมกัน โดยปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่ของน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ให้สดใส สะดุดตาขึ้น ตรงตามคอนเซปต์ Better Living  เพราะกลุ่มวังขนายมีหลักการที่แน่วแน่ในการดำเนินธุรกิจ คือ อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มตั้งแต่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปลดหนี้ได้ ครอบครัวมีกินมีใช้ สามารถส่งลูกเรียนได้ตามที่ตั้งใจ พนักงานที่ทำงานในกลุ่มวังขนายเองมีความมั่นคง มีสวัสดีการที่ดี มีความสุขในการทำงาน จนไปถึงลูกค้าผู้บริโภค จะมีสุขภาพแข็งแรง เพราะเราใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต

 โดยใช้กระบวนการแบบ Low Chemical

พร้อมทั้งออกสินค้าใหม่ คือ น้ำตาลทรายขาวในรูปแบบขวด ราคา  22 บาท  เพื่อให้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน ทั้งนี้สามารถซื้อน้ำตาลทรายขาว และขาวบริสุทธิ์ชนิดถุง 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายขาวแบบบรรจุขวดขนาด 220 มิลลิกรัม ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารการตลาดที่เบอร์ 02-6758327-30

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 22 กรกฎาคม 2563

กรมเจรจาฯ ชี้ส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอช่วง 5 เดือน เพิ่ม 2.25%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยยอดส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปช่วง 5 เดือนปี 63 มีการส่งออกไปยังประเทศที่ทำเอฟทีเอกับไทยมูลค่า 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.25% คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด ระบุเนื้อสุกร ส่งออกเพิ่มมากสุด ตามด้วยทุเรียนสด ปลา ไก่ มังคุด และอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวและมะม่วง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยออกสู่ตลาดโลกในช่วง 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 16,731 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.57% และในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทยมูลค่า 11,263 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.25% คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก โดยประเทศที่ไทยส่งออก 5 อันดับ อาเซียนมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และฮ่องกง ซึ่งมีเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ที่ไทยไม่มีเอฟทีเอด้วย

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรกแปรรูปไปยังตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย พบว่า นิวซีแลนด์ ขยายตัวสูงสุด เพิ่ม 23.64% รองลงมา คือ ฮ่องกง เพิ่ม 19.98% จีน เพิ่ม 15.98% ออสเตรเลีย เพิ่ม 8.28% ส่วนอาเซียน 9 ประเทศ ลด 1.59% แต่กัมพูชา เพิ่ม 33.67%

ส่วนสินค้าที่การส่งออกขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ เนื้อสุกรสด เพิ่ม 693% รองลงมา คือ ทุเรียนสด เพิ่ม 66.5% สินค้าปลาสด เพิ่ม 29% ไก่สด เพิ่ม 27.85% มังคุด และอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นเท่ากัน 16% ผลิตภัณฑ์ข้าว เพิ่ม 10% และมะม่วงสด เพิ่ม 4% ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยพบว่าสินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์มากเป็นอันดับต้น เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด เนื้อไก่สดและแปรรูป กุ้งปรุงแต่ง ปลาทูน่าและปลาทูน่าปรุงแต่ง และปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น

“เอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่เอฟทีเอได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่วนใหญ่ของไทยแล้ว แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องรักษาคุณภาพสินค้า และศึกษาความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน” นางอรมนกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 กรกฎาคม 2563

กมธ. CPTPP จี้ กรมวิชาการเกษตร แจงสถานะประเทศไทยใน UPOV 1991

กมธ. CPTPP จี้ถามกรมวิชาการเกษตร หลังพบความผิดปกติในเว็บไซต์ UPOV ระบุให้ประเทศไทยเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ ทั้งที่ไม่เคยแสดงเจตจำนง หวั่นรัฐบาลแอบยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 63 คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบรายงานจากคณะอนุกรรมาธิการด้านการเกษตร ที่ขอคำชี้แจงจากสำนักเลขาอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ในประเด็นข้อกฎหมายในการป้องกันผลกระทบซึ่งจะเกิดกับเกษตรกร

โดย รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อนุกรรมาธิการเกษตร แจ้งต่อคณะกรรมาธิการว่า พบความผิดปกติในเว็บไซต์ UPOV ในสถานะของประเทศไทยที่ระบุว่า เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการที่อยู่ระหว่างการขอให้ทางสำนักเลขาธิการ UPOV ช่วยพัฒนากฎหมาย และยังได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วม 4 การประชุมสำคัญอนุสัญญา ซึ่งในเว็บไซต์ของทาง UPOV ระบุอย่างชัดเจนว่า การได้รับสถานะดังกล่าว ประเทศนั้นได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก UPOV แล้ว โดยยังได้ตอบอีเมลระบุว่า เจ้าหน้าที่ในกรมวิชาการเกษตรคนหนึ่ง เป็นผู้ประสานงานหลัก

นายนิกร จำนง รองประธานอนุ กมธ.เกษตร กล่าวเสริมว่า ทางอนุ กมธ.มีความกังวลว่า รัฐบาลไปยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 แล้วหรือไม่ ต้องให้ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กมธ. มองว่า เป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จะขอเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐขององค์การการค้าโลก ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่กรณีนี้ไม่เคยมีมติ ครม.เรื่องนี้เลย

ด้านนางสาวธิดากุญ แสงอุดม ผอ.กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ประเทศไทยยังไม่เคยแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ นี่เป็นสถานะที่ทาง UPOV ให้เอง

นายเกียรติ สิทธีอมร กมธ. ชี้ว่า นี่เป็นสาระสำคัญ เพราะองค์กรระหว่างประเทศเช่นนี้ มีกติกาหรือ Charter ที่ชัดเจนในการให้สถานะประเทศใด ถ้าไทยไม่เคยส่งหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการ ทางกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำหนังสือไปยัง UPOV ให้แก้ไขสถานะไทยให้ถูกต้อง แล้วนำมารายงานคณะ กมธ. "สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องกลับไปคิดและปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่าใช้วิธีแบบนี้ เพราะในที่สุดจะมีผลกระทบในสถานะของประเทศไทย"

สำหรับประเด็นคำตอบจาก UPOV ในประเด็นสำคัญๆ ตามที่ กมธ.ถามไป อาทิ

- พืชอ่อนไหวที่ปลูกมากกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ (ซึ่ง กมธ.ตั้งใจหมายถึงข้าว) จะขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษจากพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครองกลังจากเป็นภาคีอนุสัญญาฯเกิน 10 ปี

ทาง UPOV ตอบว่า ยกเว้นไม่ได้ หลังจากเป็นภาคี 10 ปี กฎหมายจะต้องบังคับใช้กับพืชทุกสกุลและทุกชนิด

- การปฏิบัติพิเศษกับเกษตรกรรายย่อย เช่น การเก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อ

ทาง UPOV ตอบโดยอ้างอิงข้อแนะนำจากที่ประชุมการทูต ปี 2017 ซึ่งมีเงื่อนไขมากมาย ต้องมีการจำกัดอย่างสมเหตุสมผลและปกป้องประโยชน์ตามกฎหมายของนักปรับปรุงพันธุ์

- การให้แจ้งแหล่งที่มาของพันธุ์ใหม่ที่ต้องการขึ้นทะเบียน

ทาง UPOV ตอบว่า ไม่ได้ เพราะการให้สิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์จะต้องไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเหนือแตกต่างจากที่ UPOV1991 กำหนดคือให้พิจารณาจาก แค่ 4 เงื่อนไข ความใหม่ ความแตกต่าง ความสม่ำเสมอ ความคงตัว

- สิทธิ์ของประเทศไทยในการปฏิเสธการคุ้มครองพันธุ์พืชที่ห้ามปลูกเชิงการค้าภายในประเทศ (กมธ.ตั้งใจให้หมายถึงพืชจีเอ็มโอ)

ทาง UPOV ตอบว่า การควบคุมการตลาดไม่ได้เป็นหน้าที่ของ UPOV หากจะมีมาตรการควบคุม ต้องไม่กระทบต่อการบังคับใช้ข้อกำหนดของ UPOV โดยไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนคุ้มครองที่นอกเหนือจาก 4 เงื่อนไขข้างต้นได้

นอกจากนี้ การเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 จะต้องส่งร่างกฎหมายของไทยให้ทางสภา UPOV ตรวจดูความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ก่อน ทำให้นายเกียรติ สิทธีอมร กมธ. แสดงความกังวลว่าอาจจะเป็นการแทรกแซงการออกกฎหมายของประเทศ หรือเกษตรกรที่แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กันอาจไม่ได้คิดเรื่องการค้า แต่ UPOV อาจมองว่าเป็นเรื่องการค้า และที่น่าห่วงคือเรื่องพืชจีเอ็มโอที่เป็นเรื่องใหญ่มาก

ทางด้านนายนิกร จำนง กมธ. สรุปว่า การตอบเช่นนี้แปลว่า กันข้าวออกไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมาก  และจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลได้.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 22 กรกฎาคม 2563

บาทเตรียมแข็งค่า รับธุรกิจทั่วเอเชียกลับมาดำเนินการปกติหลังโควิด

นักวิเคราะห์ชี้แนวโน้มบาทแข็งค่า รับธุรกิจทั่วเอเชียกลับมาดำเนินการปกติหลังโควิด

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้22กรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 31.56 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน 31.62 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.45-31.65 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินได้รับแรงหนุนจากความหวังว่านโยบายการคลังจะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.17% พร้อมกันกับ Euro Stoxx 600 ที่ปิดบวก 0.50% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี กลับขยับตัวลงแตะระดับ 0.6% ชี้ว่านักลงทุนไม่ได้ลดการถือสินทรัพย์ยังปลอดภัยลง

ด้านตลาดเงิน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากขึ้น เมื่อสถานะการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศของดอลลาร์ เริ่มถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังจากที่สหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ได้ ซึ่งกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทันทีถึง 0.8% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีเงินยูโร (EUR) ที่แข็งค่าขึ้นแต่ระดับ 1.15 ดอลลาร์ต่อยูโร สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2018 และสกุลเงินที่ผันผวนตามสินค้าโภคภัณฑ์อย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดถึง 1.5% ในวันเดียวไปพร้อมกับภาพราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้น 1.3% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ทรงตัวได้ที่ระดับ 43 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนในฝั่งของเงินบาท ช่วงวันที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านักลงทุนต่างชาติหยุดการขายเก็งกำไรเงินบาท เมื่อภาพใหญ่อย่างการอ่อนค่าของดอลลาร์กลับมาเป็นจุดสนใจ ประเด็นดังกล่าวจะส่งผลให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ มากขึ้น

“ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปน่าจะเปลี่ยนไปเป็นการกลับมา ดำเนินธุรกิจตามปกติของฝั่งเอเชีย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้ภายในไตรมาสนี้ ก็จะเป็นแรงส่งให้เงินบาทแข็งค่ากลับลงไปต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง”ดร.จิติพล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 22 กรกฎาคม 2563

กมธ.ออกคำสั่งให้โรงงานเอทานอลเมืองกาญจน์ กำจัดกลิ่นเหม็นจากบ่อพัก “น้ำกากส่า”หมดภายใน 2 เดือน

คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมารับฟังปัญหาจากเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นจากบ่อพักน้ำกากส่าของ โรงงานเอทานอล แห่งหนึ่ง ใน อ.ท่ามะกา โดยออกคำสั่งให้ทางโรงงาน กำจัดกลิ่นเหม็นจากบ่อพัก “น้ำกากส่า” ให้หมดภายใน 2 เดือน

สืบเนื่องจากประชาชนชาว ต.ยางม่วง อ.ท่ามะกา ได้ร้องเรียนไปทางอุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี ผ่านการประสานงานจาก สส.ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน (สส.กุ๊ก) สส.กาญจนบุรี เขต 3 เมื่อเดือนพ.ย. 62 ที่ผ่านมา และ สส.กุ๊ก ก็ได้นำปัญหานี้ขึ้นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมได้รับทราบปัญหา โดยเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวตำบลยางม่วงได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษทางกลิ่นจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่า ที่ทางโรงงานฯ ได้นำมาเก็บไว้ในบ่อจนทำให้เกิดแก๊สระเหยขึ้นมาจนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณโดยรอบ กระทบกับบ้านเรือนประชาชนนั้น โดยที่ทางโรงงานฯ แม้จะมีการดำเนินการจัดระบบป้องกัน และบำบัดกลิ่นอย่างดีแค่ไหนก็ตามแต่ก็ยังมีประชาชนร้องเรียนอยู่เป็นระยะว่ายังไงก็ยังมีกลิ่น

โดยวันนี้ (20 ก.ค. 2563) เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมาศึกษาและรับฟังปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อบต.ยางม่วง ต.ยางม่วง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม นำโดย สส.ประทวน สุทธิอำนวยเดช รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่สอง สส.สมัคร ป้องวงษ์ รองประธานฯคนที่ห้า นายพิษณุ ป้องวงษ์ ที่ปรึกษากมธ. นายปุณณชัย ฟูตระกูล และนายปริญญา พันธุ์ประสิทธิ์ เลขานุการประจำคณะกมธ. นางณัฐนันท์ ก้องประวัติ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ในส่วนของทางจังหวัดกาญจนบุรีนั้นมี นายบวรศักดิ์ วานิช รองผวจ.จ.กาญจนบุรี นายอนุชา หอยสังข์ นายอำเภอท่ามะกา สส.ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.กาญจนบุรี เขต 3 พรรคภูมิใจไทย นายสุเทพ แก้วทอง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี นายสมใจ ทองร้อยยศ  นายก อบต.ยางม่วง นายอาทิตย์ สิทธิวิไล กรรมการธรรมาภิบาล ภาคประชา และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กาญจนบุรี เขต 1 อำเภอท่ามะกา นายวิศิษฐ์ เลาหะกาญจนศิริ สมาชิก อบจ.กาญจนบุรี เขต 3 อำเภอท่ามะกา นายจิรวัฒน์ อารีย์ อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี นาย สุพจน์ เลิศวุฒิรงค์ ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลไทยเอทานอล และตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมประชุม

ในที่ประชุมนั้น สส.กุ๊ก ได้เล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนมาตลอด ระหว่างทางโรงงาน กับทางชาวบ้าน ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นมากว่า 10 ปี โดยมี สส.ประทวน สุทธิอำนวยเดช เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและรับทราบปัญหา ทั้งจาก สส.กุ๊ก ชาวบ้าน และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่อบต.ยางม่วง ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ชม. นั้นทางคณะทั้งหมดนั้นได้เดินทางไปยังบ่อกักเก็บน้ำกากส่าที่อยู่บริเวณ หมู่ 1 ต.ยางม่วง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เพื่อพิสูจน์ให้รู้ข้อเท็จจริง โดยทางชาวบ้านได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ต้อนรับ และเพื่อเป็นเวทีสำหรับสนทนารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งบรรยากาศในการประชุมนั้นดำเนินไปด้วยความเข้มข้นมีชาวบ้านผลัดกันยกมือแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก วัตถุประสงค์ก็เพื่อต้องการให้กลิ่นเหม็นหมดไปอย่างถาวร และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขระหว่างโรงงานและชาวบ้าน โดยใช้เวลากว่า 1 ชม. จึงยุติการประชุม

สส.ประทวน สุทธิอำนวยเดช รองประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมคนที่สอง ได้กล่าวสรุปว่า “จากนี้ไปจะให้เวลากับทางโรงงาน 2 เดือนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปอย่างถาวร โดยไม่อนุญาตให้ทางโรงงานนำน้ำกากส่าซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นเหม็นมากักเก็บไว้ที่บ่อพักเป็นเวลานาน ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องนำมาเก็บไว้ที่บ่อก็ขอให้แค่เป็นการกักเก็บชั่วคราวและให้รีบนำออกไปก่อนจะก่อให้เกิดแก๊ซซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็น ซึ่งถ้าไม่มีการมากักเก็บเลยหรือกักเก็บและนำออกไปก่อนจะเกิดกลิ่นจากนี้ไปก็จะหมดปัญหานี้ไปอย่างถาวรแน่นอน”

นายสุพจน์ เลิศวุฒิรงค์ ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลไทยเอทานอล ได้กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขอโทษชาวบ้านที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน วันนี้ทางเราได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมาธิการฯ และท่าน สส.กุ๊ก ในวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ทางโรงงานเราจะทำคือจะพยายามไม่นำน้ำกากส่าเข้ามากักเก็บไว้ที่บ่อ แต่ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องทำมากักเก็บก็จะรีบนำออกไปก่อนจะเกิดกลิ่นเหม็น แล้วทางเราก็ได้มีแผนที่จะสำรวจผ้าใบอยู่เสมอไม่ให้เกิดการรั่วซึม และตรวจสอบบ่อทุกบ่อไม่ให้อยู่ในสภาพที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้อีก โดยการแก้ไขในครั้งนี้ทางโรงงานมั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนแน่นอนครับ”

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมทางชาวบ้านก็ได้มอบของที่ระลึกให้แก่คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาและแนะแนวทางแก้ไข

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการอุตฯรับผลกระทบโควิดยกเว้นค่าธรรมเนียม สมอ.

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ขออนุญาตมาตรฐาน มอก.และขอรับรองระบบงานตามมาตรฐาน ISO โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. ค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน และค่าธรรมเนียมการตรวจสอบโรงงานตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 30,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 210 ล้านบาท

โดยการดำเนินการดังกล่าวเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และพยุงภาคอุตสาหกรรมให้มีการประกอบการ และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ.กล่าวว่า สมอ.จะเริ่มดำเนินการทันที เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และสร้างบรรยากาศในการลงทุน คาดว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้า ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการยกเว้นจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ชลประทานที่12เผย4เขื่อนหลักเหลือปริมาณน้ำใช้4%

สำนักงานชลประทานที่ 12 เผยสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การเพียง 4%

จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา ทำให้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังคงมีปริมาณน้ำที่ต่ำ หลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งเกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ โดยสถานการณ์ดังกล่าว นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่12 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังคงมีปริมาณน้อย จนส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีไม่สามารถทำนาได้ นอกจากนี้จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมจะมีพายุเข้ามาทางภาคเหนือและจะทำให้มวลน้ำดังกล่าวไหลลง 4 เขื่อนหลัก ซึ่งนั่นการทำนาปี เกษตรกรก็สามารถที่จะปลูกข้าวได้ในหลายพื้นที่

โดยนายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่12 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำของพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จาก4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งหมดมีน้ำใช้การได้เพียง 720 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ และมีการระบายน้ำของทั้งหมด4เขื่อนหลักลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอยู่ที่ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค ส่วนสถานการณ์การปลูกข้าวนาปีขณะนี้ต้องงดออกไปก่อนซึ่งต้องรอน้ำฝน และการบริหารน้ำท่า ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของกลางเดือนกรกฎาคม จะเห็นได้ว่าในหลายพื้นที่ เริ่มมีฝนตกชุกแต่ก็ยังไม่มากพอที่จะเป็นน้ำท่าเข้าสู่ระบบก็ทำให้เหนือเขื่อนเจ้าพระยายังคงมีระดับน้ำที่ต่ำ อยู่ที่ 14.40 เมตร รทก. ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ในช่วงของต้นเดือนสิงหาคมจะมีพายุเข้ามา หลายพื้นที่ก็สามารถที่จะเริ่มปลูกข้าวนาปีได้นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดการณ์ปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ และฝนในปีนี้น่าจะหมดในช่วงของกลางเดือนตุลาคม โดยทั้ง 4 เขื่อนหลักเมื่อสิ้นฤดูฝน ปริมาณน้ำของทั้ง 4 เขื่อน จะมีมากกว่า ในปี 2562 และอยากจะฝากถึงประชาชน และเกษตรกร ทางกรมชลประทานยืนยันปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งด้านอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ หากมีปริมาณของพายุเข้ามาและมีฝนตกชุก ทางกรมชลประทานก็จะบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรจับมือน้ำตาลมิตรผล หนุนใช้ชีวภัณฑ์คุมแมลงศัตรูอ้อยสร้างสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย

เมื่อเร็ว ๆนี้ ที่บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กับบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด  โดยนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูอ้อยและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยซึ่งกันและกัน วางเป้าหมายให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดการศัตรูพืช ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ สามารถผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ และจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองโดยนำร่องขยายผลผ่านแปลงใหญ่อ้อย จากนั้นจะขยายพืชและพื้นที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อำเภอละ 2 แห่ง ทุกจังหวัด รวม 1,764 ศูนย์ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ระหว่างบุคลากร และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการศัตรูอ้อยกับภาคเอกชน

นายเข้มแข็ง กล่าวอีกว่า สำหรับชีวภัณฑ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรผลิต และมีประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช ซึ่งมีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติและส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ ปัจจุบันดำเนินการ ทั้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ได้กว่า 14 ชนิด โดยในส่วน

ของอ้อยนั้น ที่แนะนำประกอบด้วย หนึ่ง แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมมา ใช้ควบคุมหนอนกออ้อยในระยะไข่ โดยวิธีการใช้ ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 20,000 -30,000  ตัวต่อไร่ต่อครั้ง (10 - 15 แผ่นต่อไร่) ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้งในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย สอง แมลงหางหนีบใช้ควบคุมหนอนกออ้อยในระยะไข่ และระยะหนอนวิธีการใช้ แนะนำให้ปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา 500 ตัวต่อไร่ และควรปล่อยซ้ำจนกว่าแมลงหางหนีบจะตั้งรกรากได้

“ และสาม คือ เชื้อราเมตาไรเซียม เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคในแมลง ส่วนใหญ่ใช้กำจัดแมลงที่อาศัยในดินเช่น ด้วงหนวดยาว ซึ่งวิธีการใช้ ให้นำข้าวที่มีสปอร์ของเชื้อราขึ้นปกคลุม จำนวน 2.5 กก. ผสมน้ำสะอาด จำนวน 100 ลิตร ผสมสารจับใบลงไปเล็กน้อย ใช้ไม้คนจนสปอร์หลุดจากเมล็ดข้าวกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อเอาเมล็ดข้าวออก นำไปราดตามร่องปลูกอ้อย แล้วกลบดินทันทีหรือ โรยเชื้อราเมตาไรเชนียมอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ บนท่อนพันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูก” นายเข้มแข็ง กล่าวในที่สุด

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กลุ่มน้ำตาลครบุรีตั้งกองทุน ระดม2.8พันล้านต่อยอดธุรกิจโรงไฟฟ้า

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี หรือ KBS เปิดเผยว่า กลุ่มน้ำตาลครบุรี ได้วางนโยบายเสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายและต่อยอดการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงแก่องค์กร โดยการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดผ่านการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลครบุรีมีทุนจดทะเบียน 700 ล้านบาท

ล่าสุด บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี หรือกองทุน KBSPIF วงเงินระดมทุนไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสิทธิในผลประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้าของ KPP ในอัตรา 62% ของรายได้ตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ. น้ำตาลครบุรี อีกจำนวน 3.5 เมกะวัตต์ รวมเป็น 25.5 เมกะวัตต์ ระยะเวลาประมาณ 20 ปี

นอกจากนี้ กองทุน KBSPIF มีนโยบายจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ2 ครั้ง ซึ่งกำหนดการจ่ายไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ได้ปรับปรุงแล้ว โดยจะแบ่งผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564อยู่ที่ 8.95% โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนภายใน อยู่ที่ประมาณ 7% กำหนดราคาเสนอขายหน่วยลงทุนอยู่ที่ 10 บาทต่อหน่วย และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำในการจองซื้อที่ 500 หน่วยและเพิ่มครั้งละ 100 หน่วย ซึ่งจะเริ่มเปิดให้ทำการจองซื้อหน่วยลงทุน ได้ตั้งแต่วันที่ 4-7 สิงหาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ KBS ถือหุ้น 99% เพื่อดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกับกำลังการผลิตรวม 73 เมกะวัตต์โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้า KPP มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง (2560-2562) โดยมีรายได้รวมจากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาในปี 2560 รวมทั้งสิ้น 689.21 ล้านบาท เพิ่มเป็น 901.59 ล้านบาท ในปี 2561 และในปี 2562ที่ผ่านมา มีรายได้ 972.71 ล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กกพ. พร้อมขยายความรู้ด้านพลังงานทางเลือกสู่สาธารณชน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มุ่งมั่นให้สังคมไทยใส่ใจกับพลังงานทางเลือก เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิล ลดมลภาวะ และช่วยให้ระบบนิเวศของประเทศไทยดีขึ้น

หลังจาก กกพ. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายสื่อมวลชนไทยเพื่อนำเสนอประเด็นพลังงานทางเลือกให้สาธารณชนได้รับทราบมาระยะเวลาหนึ่ง ล่าสุด กกพ. พร้อมนำเสนอแนวคิดพลังงานทางเลือกให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยจะจัดแถลงข่าวจัดตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00-10.30 น. การแถลงข่าวครั้งนี้ นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการ และนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน จะร่วมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนที่เป็นตัวแทนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วยสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์

การตั้งเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และจากขยะ โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ร่วมรณรงค์ ขยายผลของพลังงานทางเลือก เพื่อให้สาธารณชนมีความรู้ความเข้าใจพลังงานทางเลือกอย่างลึกซึ้ง แล้วช่วยแพร่ความรู้ และนวัตกรรมพลังงานทางเลือกให้กว้างขวาง และใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า     

กกพ. ดำเนินโครงการส่งเสริมพลังงานทางเลือกโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการ ตามมาตรา 97 (5) ประจำปีงบประมาณ 2562

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กองทุนFTAผนึกรัฐ-เอกชน แก้ปัญหาผลกระทบเปิดเสรีการค้า

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (FTA) เห็นชอบให้จัดทำแผนงานสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 - 2565 วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีศักยภาพแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ บทบาท ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ของแต่ละหน่วยงานร่วมส่งเสริมการดำเนินงานในกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ

สำหรับแผนงานสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด บริษัท สยามบีฟ จำกัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สหกรณ์โคเนื้อปางศิลาทอง และชุมนุมสหกรณ์โคเนื้อภาคตะวันตก และภาคใต้ รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่คาดว่าจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ทั้งนี้ สินค้าเป้าหมาย ได้แก่ โคเนื้อ โคนม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยแผนความร่วมมือมีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 - 2565

“แผนงานสร้างความร่วมมือฯครั้งนี้กองทุน FTA จะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนเร็วๆนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถแข่งขันของเกษตรกร โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางวิชาการ มีความร่วมมือในการจัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร กลุ่มเป้าหมายของกองทุน FTA เพื่อสร้างโอกาสเสวนา พบปะให้เกิดความร่วมมือทำโครงการ รวมทั้งสรรหากลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่ประสงค์จะดำเนินโครงการ และการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และวิชาการตามความเหมาะสม” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

ทั้งนี้ กองทุน FTA มุ่งหวังให้เกษตรกรพัฒนาขีดความสามารถ และมีศักยภาพแข่งขันผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรมั่นคงในอาชีพเกษตร มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยการผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผลักดันโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน FTA ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป สำหรับเกษตรกรที่ต้องการทราบขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกองทุน FTA สอบถามได้ที่ โทร. 0-2561-4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ www2.oae.go.th/FTA

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“ส.อ.ท.” ถกสรรพสามิตเว้นภาษีดึงเอทานอลป้อนภาคอุตสาหกรรม

ส.อ.ท.รุดหารืออธิบดีกรมสรรพสามิตหวังเปิดทางดึงเอทานอล 26 โรงงานป้อนเป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารและยาโดยเว้นภาษีเป็นศูนย์ สอดรับกับการดึงไปผลิตเจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อรับมือโควิด-19 ก่อนหน้านี้เล็งรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ไฟเขียว คาดได้ข้อสรุปไม่เกิน 30 ก.ย.นี้ มั่นใจต่ออายุภาษีฯ เป็นศูนย์ดึงเอทานอลผลิตเจลล้างมือต่ออีก 1 ปี

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยและกรรมการในคณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการฯ นำโดย นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ในฐานะประธานและคณะผู้แทนจาก ส.อ.ท.เข้าหารือกับ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อขอให้ส่งเสริมการนำเอทานอลมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหาร และยา โดยสนับสนุนด้านอากรให้เป็นศูนย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยทางกรมสรรพสามิตไม่ได้ขัดข้องแต่ขอให้กระทรวงพลังงานได้เห็นชอบก่อนเนื่องจากโรงงานเอทานอลเพื่อผลิตเชื้อเพลิง 26 รายปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 30 ก.ย. 2563

“เราคงต้องรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ แต่หากดูแล้วจะไม่ทันก่อน 30 ก.ย.ก็อาจจะหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ช่วยพิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้กรมสรรพสามิตร่วมกับกระทรวงพลังงานได้ปลดล็อกการนำเอทานอลและเว้นภาษีมาทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะขยายออกไปอีกและเอกชนได้เสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี หรือเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 63-30 ก.ย. 64 เพราะโควิด-19 ยังไม่แน่นอน ประกอบกับผู้ผลิตอาหารและยาต้องการให้เว้นอากรช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วยเป็นการถาวรเพราะส่วนนี้ใช้ไม่มาก” นายพิพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารและยาปัจจุบันจะใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ขนมปังจะใช้ฆ่าเชื้อที่บรรจุภัณฑ์ก่อนหีบห่อ อุตสาหกรรมยา ใช้ผสมยาเพื่อฉีดพ่น เช่น ยาแก้ไอ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ต้องซื้อจากผู้นำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าในประเทศ โดยเห็นว่าการใช้จากผู้ผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีโรงงาน 26 แห่งมีกำลังการผลิตตามเครื่องจักรถึง 6.25 ล้านลิตรต่อวันหรือราว 2,200 ล้านลิตรต่อปี แต่การใช้ด้านเชื้อเพลิงมีเพียง 1,600 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น ทำให้ยังมีศักยภาพในการป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารและยาเพิ่มเติมนอกเหนือจากถูกดึงไปเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ต่างๆ ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตกังวลเรื่องการนำเอทานอล (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95%) ไปใช้ผิดประเภทหรือทำสุราเถื่อน จึงมอบให้หาแนวทางที่จะสร้างกลไกในการควบคุม เบื้องต้นอาจจะต้องเติมสารต่างๆ เข้าไป เช่น กลีเซอรีน สารขม เป็นต้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมก็จะต้องการต่างกันไปจึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับความต้องการผลิตของสินค้านั้นๆ ขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลกำลังหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่โรงงานเอทานอลแต่ละรายจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้ในเชื้อเพลิงสัดส่วนเท่าใดเพื่อไม่ให้กระทบต่อส่วนนี้โดยจะต้องหารือรายละเอียดอีกครั้ง

“การดำเนินงานดังกล่าวจะยังช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เป็นการพึ่งพาตนเอง เพราะส่วนหนึ่งการใช้น้ำมันภาพรวมก็ลดลงและกระทรวงพลังงานก็ได้เลื่อนการกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานออกไป ดังนั้นปริมาณเอทานอลในประเทศมีมากพอแน่นอน ประกอบกับขณะนี้ความต้องการใช้เอทานอลเพื่อไปทำเจลล้างมือก็เริ่มอิ่มตัวเช่นกันเพราะผู้ผลิตก่อนหน้าได้ซื้อไปสต๊อกจำนวนมากแล้ว การมาซื้อตรงกับโรงงานเอทานอลน้อยมากตอนนี้” นายพิพัฒน์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

52 วัน เกษตรกรต้องส่งคืน โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

นับถอยหลัง 52 วัน เกษตรกร ส่งคืน “พาราควอต-คลอไพริฟอส” สมาคมค้าสาร เร่งประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกส่งสารถึงร้านค้าทั่วประเทศรับคืน ชี้ใครครอบครองโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท 

สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 19 พฤษภาคม 2563 ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม” เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1 ให้ยกเลิกรายการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556 ดังต่อไปนี้ โดยให้รายการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศฉบับนี้แทน

บัญชีที่1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ บัญชี 1.1 รายชื่อสารควบคุม ลำดับที่53 คอลร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์

ข้อ2. ให้ผู้ผลิจ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

กรมวิชาการเกษตร มีแนวทางการบริการจัดการ “พาราควอต-คลอไพริฟอส”   หลังแบน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 ซึ่งในส่วนของเกษตรกร จะต้องส่งร้านค้าที่ซื้อภายใน 90 วัน ไม่เกิน วันที่ 29 สิงหาคม 2563 ณ วันนี้ (20 ก.ค.63) เกษตรกรจะเหลือเวลาเพียง 52 วันเท่านั้น ที่จะต้องส่งคืนร้านค้า ไม่เช่นนั้น  หากมีไว้ครอบครอง หรือสารวัตรเกษตร ตรวจแล้วพบเจอจะมีโทษสูงสุด จำคุก 10 ปี หรือปรับ 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนร้านค้าจะส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าและแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 120 วัน หรือไม่เกิน 28 กันยายน 2563 ส่วนผู้ผลิตและนำเข้า สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ภายใน 270 วัน ไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

จี้​ ยกเลิกประกาศ​ 13​ สมุนไพรวัตถุอันตราย

จากกรณีที่ประชุม​คณะกรรมการวัตถุอันตรายแห่งชาติ​ มีมติจ่อขึ้นทะเบียน​ 13​ สมุนไพรไทยเป็นวัตถุอันตราย​ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็น​ วันนี้นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ในการขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเรื่องการประกาศพืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย สืบเนื่องมาจากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนพืชสมุนไพร 13 ชนิด ( สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นช่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก ) เป็นวัตถุอันตรายโดยอ้างว่า เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 นั้น

นายวัชระ กล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มแม่บ้าน แม่ครัวและพี่น้องเกษตรกรให้ส่งหนังสือมาเพื่อขอยืนยันให้กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศยกเลิกพืชสมุนไพร 13 ชนิดนี้ออกจากประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมดทันที เพราะพืชสมุนไพรเป็นสิ่งมีชีวิต

ไม่สอดคล้องกับกฎหมายในนิยามของคำว่าวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ในมาตรา 4 ที่ระบุว่า ต้องเป็นวัตถุระเบิดได้ เป็นวัตถุไวไฟ เป็นวัตถุออกซิไดซ์และเปอร์ออกไซต์ เป็นวัตถุมีพิษ เป็นวัตถุที่ทำให้เกิดโรค เป็นวัตถุกัมมันตรังสี และเป็นวัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งไม่มีสมุนไพรไทยชนิดใดที่มีคุณสมบัติตามคำนิยามของวัตถุอันตรายแต่อย่างใด และประกาศนี้ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดต่อภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทย และอาหารไทยไปทั่วโลก

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสมุนไพรไทย และรักษาความถูกต้องตามหลักของกฎหมาย รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้มีอำนาจโดยตรง จึงควรสั่งการยกเลิกประกาศดังกล่าวนี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งนายวัชระ ยืนยันว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเรื่องการเมืองใดๆ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายวัชระ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันนี้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาแล้วก่อนที่จะมายื่นหนังสือถึงนายสุริยะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม อีกครั้งในวันนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

ถก 11 ชาติ หาแนวทาง ทำ FTA เพิ่มเติม

 ‘พาณิชย์’ เตรียมประชุม SEOM ผ่านระบบทางไกล ทิ้งท้ายปี 63 หารือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และมาตรการที่ออกมาใหม่ช่วงการแพร่ระบาด เตรียมพร้อมความตกลงยอมรับร่วม APMRA ให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลงนามในเดือนสิงหาคม 2563 พร้อมถก 11 คู่เจรจา หาแนวทางจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 ผ่านระบบทางไกล ซึ่งเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งสุดท้ายของปี เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 52 ในเดือนสิงหาคม และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้การประชุม SEOM ครั้งนี้ จะหารือประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจตลอดจนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 รวมถึงมาตรการที่แต่ละประเทศออกมาในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการไหลเวียนของสินค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหารือเรื่องการดำเนินงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเตรียมพร้อมเพื่อลงนามความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (APMRA) ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะลงนามความตกลงร่วมกันในเดือนสิงหาคมนี้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนจะพบกับ 11 คู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐฯ แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหภาพยุโรป รวม 12 การประชุม โดยจะหารือประเด็นสำคัญ เช่น การเปิดเสรีเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงที่มีอยู่เดิมกับจีน ความเป็นไปได้ในการเจรจาทำความตกลง FTA ใหม่ๆ กับแคนาดาและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ที่มีรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ รวมถึงความคืบหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ความคืบหน้าการจัดทำขอบเขตการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป และการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น เป็นต้น

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 41,218 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 24,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 16,522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

ธปท.ชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นแบบ “Nike Shaped”

ธปท.ย้ำ เศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นแบบ “Nike Shaped” ขณะที่ภาคการเงินไทยแกร่งไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากIMF

สัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคประจำปี 2563 ในหัวเรื่อง "ชวนคุยชวนคิดปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่น ในโลกใหม่อย่างยั่งยืน"

นายวิรไท  สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวในเวทีสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาค ประจำปี 2563ในช่วง สนทนากับผู้ว่า "ก้าวต่อไป ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์" โดยผู้ว่าธปท.ระบุว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการเข้าสู่ช่วงการปฎิรูปอย่างจริงจัง เพราขณะนี้เป็นสภาวะวิกฤต ที่เกิดจากด้านสาธารณสุข ที่ใช่เพียงเฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงทั่วโลก

แม้วันนี้ จะสามารถเข้าสู่ช่วงที่3 โดยสามารถควบคุมการระบาดของโควิดจนผ่านช่วงที่2 มาได้ด้วยความร่วมมือทุกฝ่ายกับการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ แต่การ์ดยังตกไม่ได้เพราะถานการณ์หลายประเทศยังมีการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโควิดฉะนั้น"การ์ดอย่าตก"

ทั้งนี้จากที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงที่3 ได้เร็ว ขณะที่ประเทศอื่นยังออกจากล็อกดาวน์ไม่ได้ ซึ่งป็นโอกาสมาคิดเรื่องการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุมมองของธปท.ต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่2 เศรษฐกิจต่ำสุดและผ่านพ้นมาได้ เพราะไตรมาส 2 เป็นช่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักหยุดทั่วโลก จากทุกประเทศดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ ภาคส่งออกสินค้าไม่สามารถส่งออกหรือส่งออกไป ขณะที่ประเทศปลายทางไม่สามารถกระจายสินค้า

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงั้น ซึ่งในแง่ตัวเลขเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับหลายประเทศ แต่หลังไตรมาส 2 ธปท.ประเมินว่า ถ้าไม่มีการระบาดของโควิดรุนแรง หรือแม้จะควบคุมโควิดได้แต่เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวไม่เร็ว โดยจะเป็นลักษณะNike Shaped (Swoosh Shaped) คาดว่า จะใช้เวลา 2ปีกว่า จะปรับไปอยู่ระดับช่วงก่อนโควิด

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้เกิดวิกฤตพร้อมกันทั่วโลก แต่ภาคเศรษฐกิจมหภาคและด้านการเงินไทยไม่ได้มีปัญหา ซึ่งทุกคนยังจำได้วิกฤติปี 2540 และวิกฤกติแฮมเบอร์เกอร์ กลไกกำกับและบริหารความเสี่ยงที่เข้มแข็งในภาคสถาบันการเงิน ดังนั้นทำให้วิกฤติครั้งนี้ จึงผสานนโยบายและทุกเครื่องมือ เพราะไม่มีเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งจะนำมาใช้

“ครั้งนี้สามารถดำเนินนโยบายการเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.50% ต่อปี ให้ภาคธุรกิจลดต้นทุนและสถาบันการสามารถช่วยพักหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า โดยที่ภาครัฐก็ออกมาตรการต่างๆมา เพราะครั้งนี้ภาคเศรษฐกิจจริงถูกกระทบแรงไม่แพ้ปี 2540”

อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินไทยเป็นจุดแข็งของเรา จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ซึ่งมีข้อสังเกตุต่างประเทศ จะเห็นว่า  มีการขอรับความช่วยเหลือจาก IMF แล้ว 102 ประเทศเกินครึ่งจากที่มีสมาชิกอยู่ 145 ประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

สวพส.ดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ลดผลกระทบภัยแล้งยั่งยืน

นายภูธาดล ธีรอธิยุต รองผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สวพส. เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีพื้นที่ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่สูงกว่า 5 ล้านไร่ ซึ่งหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบเดือดร้อนขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ไม่สามารถเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ สถาบันเล็งเห็นความสำคัญและจัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” สนับสนุนงบประมาณวงเงิน 13.8 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือ ในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ตรงความต้องการของชุมชน และถูกต้องเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สถาบันได้สำรวจพื้นที่ร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลประสบจากปัญหาภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2563 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง44 แห่ง 296 ชุมชน 28,725 ครัวเรือน พื้นที่ทำเกษตรได้รับผลกระทบ 424,963 ไร่

ทั้งนี้ สถาบันดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 180 แห่ง ครอบคลุมในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 แห่ง 85 ชุมชน 10,256 ครัวเรือนพื้นที่เกษตร 131,821 ไร่ โดยเป็นการพัฒนาอย่างเป็นระบบครบวงจรและการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่กำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างถูกต้องเหมาะสม การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและระบบกระจายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรส่งเสริมทำการเกษตรอย่างประณีต ปลูกพืชด้วยระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและระบบน้ำ 180 แห่ง มอบให้ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 85 ชุมชน ทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารดูแลรักษาป่าชุมชนและป่าอนุรักษ์ 89,726 ไร่ และปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำ 3,690 ไร่

นอกจากนี้ ยังได้รับการบูรณาการของหน่วยงานตามแผนแม่บท อาทิเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรกรในชุมชนส่งเสริมและพัฒนาชุมชนถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกฎหมาย และแผนใช้ที่ดินทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคและการเกษตรเกษตรกรมีทางเลือกปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับบริบทและภูมิสังคม โดยนำเทคโนโลยี องค์ความรู้โครงการหลวงมาใช้พัฒนาอย่างยั่งยืนผลิตพืชปลอดภัยมีคุณภาพ ใช้พื้นที่น้อยลง สร้างรายได้พอเพียง ตามความต้องการตลาด ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาหารและทำเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและประเทศชาติ ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงพบว่า ในพื้นที่ดำเนินงานดังกล่าวมีจุด Hotspot ลดลงต่อเนื่อง เกิดความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน โดยวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กำหนดวันจัดกิจกรรมการปลูกป่าฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอบ้านแม่วาก หมู่ที่ 6 ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของชุมชน และการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ร่วมกับหน่วยงานร่วมบูรณาการ”นายภูธาดล กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "ทรงตัว"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงเหตุกังวลความตึงเครียดของการเมืองในประเทศระยะสั้น และส่งออกที่ยังคงหดตัว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.69 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.67-31.87 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงจากมีความกังวลความตึงเครียดของการเมืองในประเทศในระยะสั้น พร้อมกันกับที่การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งไม่ถือว่าเป็วข่าวในเชิงบวกของเงินบาท จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นนักลงทุนทยอยลดสถานะการถือครองสินทรัพย์ในรูปเงินบาทลง

ในสัปดาห์นี้ ต้องจับตาการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องโดยบริษัทที่นักลงทุนน่าจะจับตามองมากที่สุดในสัปดาห์นี้คือ Tesla และ Twitter ขณะที่ธนาคารใหญ่อย่าง UBS และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกใหญ่อย่าง Unilevel และ Coca-Cola ก็มีกำหนดรายงานผลประกอบการด้วยเช่นกัน

ส่วนฝั่งเศรษฐกิจ ก็ต้องจับตานโยบายการเงินธนาคารกลางจีน ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate) อายุหนึ่งปีและห้าปีที่ระดับ 3.85 และ 4.65% ตามลำดับ วันจันทร์

ต่อเนื่องในวันพุธ จะมีการรายงานตัวเลขนส่งออกและนำเข้าของไทย ซึ่งคาดว่าจะหดตัว 15.0% และ 17.0% ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยรายงานการเกินดุลการค้าในเดือนมิถุนายนราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ในวันพฤหัส การรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 1.2 ล้านตำแหน่ง แม้จะมีผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องลดลงเหลือเพียง 16 ล้านตำแหน่งแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติ

มุมมองตลาดการเงินช่วงสัปดาห์ประกาศผลประกอบการมีความเป็นไปได้มากที่จะเห็นการขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ในกรณีที่รายได้ไม่ดีตามที่หวัง ซึ่งจะกดดันให้ตลาดเข้าสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) และเงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่ากลับขึ้นได้ นอกจากนี้การที่สหภาพยุโรปไม่สามารถหาข้อตกลงเรื่องการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าพร้อมกัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

ศก.ไตรมาส3-4ยังน่าห่วง”ส.อ.ท.”จี้นายกฯตั้งทีมศก.เร่งด่วน

"ส.อ.ท." เกาะติดนายกฯตั้งทีมเศรษฐกิจแทน 4 กุมารใกล้ชิดหวังให้ชัดเจนโดยเร็ว รอถึงส.ค.อาจช้าไป เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้เกิดสะดุด เผยไตรมาส3-4 งานหินศก.ไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าเพียบแรงซื้อไทยอ่อนแรงหลังมาตรการดูแลเริ่มหมด ส่งออกดิ่ง ขณะที่กลุ่มพลังงานหมุนเวียนหวังรมว.พลังงานคนใหม่สานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังคงติดตามการแต่งตั้งทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลภายหลังการลาออกของทีม 4 กุมารใกล้ชิดเนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคมซึ่งหากเป็นไปได้ต้องการเห็นความชัดเจนโดยเร็วเพราะระหว่างนี้อาจกระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่ไม่ต่อเนื่องและล่าช้าออกไปได้ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้ยังคงอ่อนแอจากผลกระทบโควิด-19

" ยิ่งล่าช้าจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเอกชนคาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป และที่สำคัญควรเป็นทีมที่จะสามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกันได้เพราะที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างทำงานและขึ้นตรงกับรองนายกฯที่เป็นคนของพรรคเดียวกันดังนั้นสิ่งนี้หากเป็นไปได้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้กับกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด"นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้การปรับครม.ใหม่หากปรับทีมเศรษฐกิจเฉพาะตำแหน่งที่ว่างจากการลาออกไปและต่างคนยังต่างทำงานก็อาจไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงได้มากดังนั้นสิ่งสำคัญจึงควรปรับวิธีทำงานด้วยเพราะการบริหารเศรษฐกิจหลังจากนี้มีความท้าทายพอสมควรแม้ว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นไปแล้วจากการต้องปิดเมือง(ล็อกดาวน์)แต่เม็ดเงินในการกระตุ้นที่ผ่านมาต่างๆ เริ่มจะทยอยหมด จำเป็นต้องฝากความหวังกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมโดยเฉพาะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท เนื่องจากผลกระทบซึ่งต้องการขับเคลื่อนให้ต่อเนื่องและทันเวลา

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3-4 แม้ว่าจะดีขึ้นจากคลายล็อกดาวน์และไทยควบคุมโควิด-19 ในประเทศเป็นไปด้วยดีในภาพรวม แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ระบาดรอบ 2 และในแง่เศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทายถือเป็นงานหินที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องเร่งมาแก้ไขกับปัญหาของภาคธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากแรงซื้อในประเทศที่อ่อนแอ และการส่งออกที่ชะลอตัว ที่ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)เริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น

" งบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทีมเศรษฐกิจเดิมวางไว้เป็นสิ่งที่เอกชนเองก็ต้องติดตามว่าจะขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องไหมเราก็กังวล และขับเคลื่อนแล้วได้ใช้ให้ตรงจุดและทันเวลาหรือไม่ เปรียบเทียบเอสเอ็มอีเหมือนคนที่ป่วยต้องใช้ออกซิเจนหายใจแต่มีใช้แค่ 10 วันแต่ 20 วันรัฐค่อยออกมาตรการมาช่วยก็ถือว่าไม่ทันเวลาแล้วแบบนี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้น"นายเกรียงไกรกล่าว

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานด้านพลังงานชีวมวล กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานว่าด้วยโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นโครงการที่ยังเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะเป้นโครงการที่ดีที่ทำให้เอกชนจับมือกับชุมชนที่จะสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นหากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่สานต่อ

" ผมยังเชื่อว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปได้เพราะส่วนหนึ่งมติครม.ได้เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและโรงไฟฟ้าชุมชนก็อยู่ในนั้น แต่โครงการนี้ผูกติดในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี-2018)ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ต้องผ่านครม.ก่อนซึ่งก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาแม้ว่าบางฝ่ายอาจมองว่าโควิด-19 จะทำให้สำรองไฟฟ้าสูงขึ้นแต่โรงไฟฟ้าต้องมองในมิติการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากดังนั้นควรมองมุมกลับคือการกู้เศรษฐกิจ"นายนทีกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

ลุ้นพายุเติมน้ำเข้าเขื่อน กู้วิกฤติอ่างฯเหนือ-กลาง-อีสาน

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีคำสั่งให้ 14 หน่วยงาน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน ส่งผู้แทนหน่วยงานมาปฏิบัติการประจำที่ห้องประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่

15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์พายุ น้ำฝนน้ำท่า และน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ และน้ำหลาก ดินโคลนถล่ม การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง และจัดทำแผนที่น้ำท่วม ประชาสัมพันธ์การให้ความช่วยเหลือ และติดตามผลดำเนินการตามข้อสั่งการของผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาตินั้น จากการหารือติดตามประเมินแนวโน้มฝนตกหนัก 24 ชั่วโมงล่วงหน้า พบว่า ฝนในภาพรวมของประเทศระยะนี้ยังมีฝนตกต่อเนื่อง โดยจะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออก คาดว่า จ.จันทบุรีจะคงมีฝนตกหนักเฉลี่ย 50-100 มม. ซึ่งถือว่าเสี่ยงน้ำป่าไหลหลากน้ำท่วมฉับพลัน ดังนั้น กอนช.ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในการเฝ้าระวังผลกระทบ

สำหรับสถานการณ์ในแหล่งน้ำต่างๆพบ ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศขณะนี้ 33,995 ล้านลูกบาศก์เมตร( ลบ.ม.) คิดเป็น 41% เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 10,200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 18% โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ซึ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ยังน่าเป็นห่วงและต้องติดตามเฝ้าระวัง แจ้งเตือนกลุ่มผู้ใช้น้ำต่อเนื่องคือ 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 7,454 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 758 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% ของความจุน้ำใช้การ

ส่วนการจัดสรรน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ช่วงที่ผ่านมา แม้จะจัดสรรน้ำเกินกว่าแผนที่กำหนด 300 ล้านลบ.ม. แต่ถ้าเทียบกับสถิติแล้วยังถือว่าน้อยกว่า ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาจะจัดสรรเกินกว่าแผนเฉลี่ยถึง 1,000 ล้านลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากมีมาตรการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกร เข้าถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูก เมื่อมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น โดยใช้น้ำฝนเพาะปลูกเป็นหลัก

“ต้องยอมรับว่า แม้จะมีฝนตกหลายพื้นที่ แต่มีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีปริมาณน้ำไหลเข้า เพียง 2,409 ล้านลบ.ม. จากคาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 3,899 ล้าน ลบ.ม. และยังมีการระบายออกมากกว่าน้ำไหลเข้า ส่งผลกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั้งในภาคเหนือ อีสาน กลาง มีปริมาณคงที่หรือบางแห่งมีปริมาณลดลง ดังนั้นหากปริมาณฝนยังน้อยต่อเนื่อง ฤดูแล้งถัดไปน่าจะมีปัญหาและอาจต้องพิจารณามาตรการเข้มข้นมากขึ้นในการจัดสรรน้ำในแต่ละกิจกรรม อย่างไรก็ตาม จากการติดตามพายุของกอนช. คาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูก มาช่วยเติมน้ำในเขื่อนให้มากขึ้น พร้อมทั้งปรับลดการระบายน้ำลงตั้งแต่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้มีปริมาณน้ำเก็บกักน้ำในอ่างฯเพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สทนช.กล่าว

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

“อาเซียน”ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน

 “อาเซียน” ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของ “จีน” เผย ยอดนำเข้า-ส่งออกระหว่างกันสูงถึง 2.09 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 14.7% การค้าต่างประเทศของจีน

    วันที่ 18 ก.ค.63 พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ อาเซียนที่ได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

    1. สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรี ของจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14  ก.ค.63 โดยนายหลี่ ขุยเหวิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางสถิติ ในฐานะโฆษกศุลกากรแห่งชาติ ได้แถลงว่า การที่อาเซียนได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนนั้น มีปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งมาจากการจัดการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไว้อย่างดี

     ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียน ได้มีความลึกซึ้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการค้าทวิภาคีก็มีความมั่นคงและเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดการนำเข้า-ส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง 2.09 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 14.7% ของยอดการค้าต่างประเทศของจีน

    2.ข้อสังเกต นายสี่ว์ หนิงหนิง ประธานคณะกรรมาธิการธุรกิจจีน-อาเซียน ได้วิเคราะห์ว่า    2.1 ระยะเวลาเกือบ 20  ปีมานี้ จีน-อาเซียน ได้ดำเนินความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การประสานความเชื่อมโยง และด้านการเงินเป็นต้น บรรลุซึ่งผลสำเร็จที่น่าพอใจ ความร่วมมือดังกล่าวนี้ต่างช่วยเสริมให้การติดต่อทางการค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น

      การที่การค้าทวิภาคีระหว่างจีน-อาเซียนมีการเติบโต มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการด้านการผลิตและการใช้ชีวิตของกันและกัน อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มการลงทุนระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการจัดสรรอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ในพื้นที่ประเทศจีนและอาเซียน

        2.2  เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) ข้อตกลงการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน–อาเซียน มีผลบังคับใช้ต่อสมาชิกทั้งหมด โดยได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ให้น้อยลงและนำความสะดวกแก่กันมากยิ่งขึ้น อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับแหล่งผลิต ข้อตกลงการผ่านด่านศุลกากร การค้าการบริการ และขอบเขตการลงทุน เป็นต้น การเอื้อความสะดวกต่างๆจากเขตการค้าเสรีเหล่านี้ ได้ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการค้าระหว่างสองฝ่ายด้วย

      2.3 เมื่อหันกลับไปมองอดีต ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตการเงินของทวีปเอเชียเมื่อปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) หรือการเผชิญกับวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551) จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งหลังผ่านวิกฤตทุกครั้ง รวมทั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของปีนี้ ก็ยิ่งทำให้สองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างลึกซึ้ง

   บทสรุป นอกจากการที่อาเซียนได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนแล้ว มีรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค.63  การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศจีน ตามข้อริเริ่ม”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ได้เพิ่มขึ้น 6 % จากปีต่อปี และการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนก็เพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี

     โดยในขณะนี้การลงทุนได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีระหว่างจีนกับอาเซียน และในอนาคตคาดว่าจะมีแรงผลักดันใหม่เข้าสู่การรวมตัวกันของเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าการลงทุนสองทางจะเติบโตได้เร็วขึ้นและตลาดการลงทุนจะเปิดขึ้นต่อไป

     ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของหลายประเทศในอาเซียน และสัดส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าจีนและอาเซียนจะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 กรกฎาคม 2563

บาทอ่อนค่ามากสุดรอบ2เดือน นักวิเคราะห์ชี้ตลาดติดตามโผครม.ใหม่ เข้าฟื้นเศรษฐกิจ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 17 กรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 31. 73 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.69 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ ต้นเดือนมิถุนายน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.67-31.87 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเข้าสู่ช่วงพักฐาน หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงหลังเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 0.3% ขณะ Stoxx Europe 600 ก็ปรับตัวลง 0.5% ด้วย

ส่วนฝั่งเศรษฐกิจ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในสหรัฐสัปดาห์ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านตำแหน่ง แม้ผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่อง (Continuing Claims) จะปรับตัวลดลงเหลือเพียง 17.3 ล้านตำแหน่ง แต่ก็ถือว่าเป็นการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ช้ากว่าความคาดหวัง

ขณะที่ฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) “คง” นโยบายการเงินตามคาด โดยตั้งเป้าอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 1.35 ล้านล้านยูโร เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันก็คงนโยบายดอกเบี้ยติดลบ 0.5%

ส่วนตลาดเงิน ความเสี่ยงที่สูงขึ้นของหุ้น ทำให้เงินไหลกลับมาพักที่สินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลง 1.1% บนความกังวลว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อาจไม่ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม หนุนให้ดอลลาร์ปรับตัวสูงขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักวันแรกของสัปดาห์ และเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) เป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดราว 0.5%

ส่วนเงินบาทก็ยังคงอ่อนค่าต่อไม่หยุดจากแรงขายเก็งกำไรของต่างชาติในช่วงนี้ ภาพหลักยังคงเป็นความกังวลกับการกลับมาระบาดของไวรัสรอบใหม่ ผสมกับตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง และความไม่นอนของนโยบายเศรษฐกิจจากการปรับคณะรัฐมนตรี โดยมองว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเงินบาท จะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นโอกาสในการกลับมาเปิดทำการเต็มตัวของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทั่วทั้งเอเชีย

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 17 กรกฎาคม 2563

BCP เล็งลงทุนธุรกิจชีวภาพในปลายปีนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทฯ ได้ทยอยลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างประเทศ พบว่ามีบางโครงการเกี่ยวกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถต่อยอดพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดยบริษัทได้มีการเจรจาเพื่อให้มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทย คาดว่าจะเปิดตัวการลงทุนดังกล่าวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการนำพืชผลการเกษตรมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้เทคโนโลยี “Synthetic Biology” หรือ SynBio ที่เป็น Disruptive Technology ที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น อาหาร การเกษตร พลังงาน และการแพทย์ในอนาคต ซึ่งบางจากมีแผนลงทุนตั้งฮับอุตสาหกรรมชีวภาพด้วย

โครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีในการดำเนินการก่อสร้างและผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ควบคู่กับการหาตลาด โดยจะมีพันธมิตรร่วมลงทุนด้วย ซึ่งบางจากฯ จะให้บริษัทลูก คือ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุน โดยแหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งมาจากการนำบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปลายปีนี้ และซื้อขายหุ้นได้ในกลางปี 2564

ก่อนหน้านี้ บางจากได้คัดเลือกธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ โดยเน้นธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บริษัทโบนูเม้าส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผลิตน้ำตาลเพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบ พืชในกลุ่มที่มีปริมาณแป้งสูง, บริษัท เจลทอร์ ที่มีเทคโนโลยีชีวภาพสังเคราะห์คอลลาเจน เน้นการผลิตคอลลาเจนใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ ที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าที่ขายกันอยู่ทั่วไป เช่น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท เอนเนเวท เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตลิเทียมแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้สามารถรองรับการชาร์จพลังงานได้รวดเร็วขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับการชาร์จทั่วๆ ไป ซึ่งในอนาคตสามารถต่อยอดเทคโนโลยีให้เป็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ที่ชาร์จได้รวดเร็วเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน และสามารถติดตั้งได้ในทุกพื้นที่ และบริษัท เซ็มทีฟ ดำเนินธุรกิจด้านกังหันลมผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ชาวศรีสะเกษยื่นหนังสือถึงนายกฯ จี้เลิกแผนสร้างโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ณ วัดตำหนักไทร บ้านตำหนักไทร ตำบลบักดอง อำเภอขุญหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ เพื่อขอให้ยุติแผนผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง และตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมารับหนังสือ

ทั้งนี้ก่อนยื่นหนังสือ นายทองแดง พิมูลชาติ อายุ 41 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ ได้อ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า แผนผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดฯได้คัดค้านมาตลอด เนื่องจากพื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม กระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ถูกต้องเนื่องจากชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม

“พวกเราก็ยังได้ติดตามสถานการณ์ของรัฐและทุนต่อแผนผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดศรีสะเกษและในภาคอีสานมาตลอด ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษจึงอยากเสนอต่อรัฐบาลและนายกฯต้องยกเลิกโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดศรีสะเกษ และภาคอีสานทันที”นายทองแดงกล่าว

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวว่า มีข้อเสนอถึงพล.อ.ประยุทธ์ คือ1.ให้ยุติแผนผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล 2.ผังเมืองรวมจังหวัดศรีสะเกษ จะต้องคงพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรมปลอดจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง และตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

ส่วนทางเลือกในการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ คือ1.สนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม เลี้ยงวัว-ควาย เพื่อสร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชน 2.ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้านดิน น้ำ อากาศและคุณภาพชีวิต เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ ในพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง และตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

กรมชลประทาน เล็งนำเทคโนโลยี มาใช้กักเก็บน้ำ

หลังกรมอุตุฯ คาดการณ์ ก.ค.-ก.ย. ฝนมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย ส่วนลุ่มเจ้าพระยาขอความร่วมมือรอฝนก่อนเพาะปลูกข้าว 5.3 ล้านไร่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ช่วงเดือน ก.ค.-กลางเดือน ก.ย.นี้ จะมีฝนตกมากขึ้นทั่วประเทศ กรมชลประทานจึงเตรียมหารือหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสำรวจทางน้ำ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนเร่งด่วนในการเก็บกักน้ำและให้ทุกเขื่อนเตรียมทุกวิธี                   เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากสุดและให้สำรวจ ประเมินปริมาณน้ำและอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังมีน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ ปริมาณ 39.47 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่มีการระบายออกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็น 78.40 ล้าน ลบ.ม./วัน

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชเกษตรตามแผนการผลิตทั่วประเทศ 17.33 ล้านไร่ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2563 มีการเพาะปลูกได้ 7.07 ล้านไร่ หรือประมาณ 40% ของแผนฯ แบ่งเป็นแผนการปลูกข้าว 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกได้ 6.972 ล้านไร่ หรือ 41.53% ของแผนฯ พืชไร่และพืชผัก แผนการเพาะปลูก 0.54 ล้านไร่  เพาะปลูกได้ 0.098 ล้านไร่ หรือ 18.3% ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.47 ล้านไร่ ขณะนี้ยังมีฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานจึงได้วางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกลดลง เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกไปแล้วในลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 2.63 ล้านไร่ จากแผนการเพาะปลูก 8.01 ล้านไร่ โดยเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อย จากอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที เป็น 20 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน จะยังคงการรับน้ำไว้ที่ 15 ลบ.ม./วินาที

“กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน คาดว่าตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไปก็จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเกือบ 50% ของแผนการปลูกข้าว เหลือประมาณ 5.38 ล้านไร่ ขอให้รอน้ำฝนก่อน เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหาย หากมีการปลูกข้าว”

นายทวีศักดิ์  กล่าวว่า ผลการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 ทั้งประเทศ ระหว่าง 1 พ.ค.-12 ก.ค.ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศทั้งหมด 1,389 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 76,641 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 52,576 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 32,042 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 8,329 ล้าน ลบ.ม. หรือ 16% ของความจุเขื่อน แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้  70,926 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 47,384 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 30,322 ล้า ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 7,045 ล้าน ลบ.ม. หรือ 15% ของความจุเขื่อน

น้ำในเขื่อนขนาดกลางที่มีความจุตั้งแต่ 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 341 แห่ง ณ 1 พ.ค.มีปริมาตรน้ 5,039 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 4,661 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค.ปริมาตรน้ำทั้งหมด 1,521 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 1,161 ล้าน ลบ.ม. หรือ 25% ของความจุเขื่อน  น้ำในเขื่อนขนาดเล็กจำนวน 1,031แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 676 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 531 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำ 199 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 123 ล้าน ลบ.ม. หรือ 23% ของความจุเขื่อน 

กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ระหว่างปลายเดือน มิ.ย.-กลางเดือน ก.ค.มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 230 หมู่บ้านใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก เลย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรและระนอง

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อทุเลาสถานการณ์ คือ นำรถบรรทุกจำนวน 26 คัน รวม 101 เที่ยว ได้ปริมาณน้ำ 754,000 ลิตร ดำเนินการบรรทุกน้ำสะสมได้ 131 คัน รวม 8,002 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 53.2 ล้านลิตร ดำเนินการสูบน้ำจำนวน 69 เครื่อง สูบน้ำได้ 1.26 ล้าน ลบ.ม. และสามารถสูบน้ำได้สะสมปริมาณ 1,603 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำเพื่อช่วยภัยแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร 376.726 ล้าน ลบ.ม. สูบเพื่อผันน้ำ ช่วยในพื้นที่แห้งแล้งปริมาณ 1,226.37 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเครื่องจักรอื่นๆ เพื่อช่วยรับมือแล้งและฝนใหม่ที่จะมา จำนวน 145 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย รถแบ็คโฮ, รถบรรทุกเทท้าย, รถขุดตีนตะขาบ, รถตักหน้าขุดหลัง และเครื่องผลักดันน้ำ ยังมีการซ่อมแซม สร้างทำนบ ฝายจำนวน 7 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 37 แห่ง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ปล่อยผี 13 สมุนไพร เปิดทางนำเข้า จับตารง.ใหม่แห่แจ้งเกิด

ผู้ค้าสารชี้กระทรวงเกษตรฯปลดล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิด จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ปล่อยผีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จับตาโรงงานผลิตสารทดแทนสารเคมีแห่แจ้งเกิด

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช 13 ชนิดซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด)

หลังมีประกาศฉบับนี้ได้ถูกภาคประชาชนร้องเรียนให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณายกเลิกให้ถอดพืชสมุนไพรข้างต้นออกจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และประกาศฉบับนี้ได้ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2538 ที่ประกาศให้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 แทน

ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2556 ให้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ฯลฯ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 อีกครั้ง ล่าสุด (13 ก.ค. 63) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นชอบให้ปรับใหม่ให้เป็น “วัตถุอันตรายชนิดที่ 1” แทน โดยระบุมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนใช้สารสกัดจากพืชมาใช้ป้องกันกำจัดแมลง วัชพืช และโรคพืช ศัตรูพืชได้ด้วยตนเองนั้น

นายวีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อปรับวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 2 (วัตถุอันตรายที่มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) มาเป็นชนิดที่ 1 อาจเกิดผลตามมาคือมีการนำเข้าสินค้าที่มีสารสกัดจากพืชเข้ามาเพิ่มขึ้นเพราะไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นพิษของสารนั้น

ต่างจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ต้องนำสารนั้นไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้ เพื่อให้ทราบว่าจะใช้อัตราที่เท่าไรถึงจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้างจริง  เพียงแค่แจ้งให้กรมวิชาการรับทราบเท่านั้น ซึ่งคาดว่าในกลุ่มนี้เดิมที่มีผู้ค้าน้อยราย อาจจะเพิ่มจำนวนผู้ค้ามากขึ้น เนื่องจากปล่อยอิสระและจะเห็นโรงงานใหม่เกิดมากขึ้น จากสบช่องตลาดตรงนี้น่าจะเติบโตขึ้น หลังการแบน 2 สารเคมีเกษตร (มูลค่าตลาดสมุนไพรไทยปี 2562 อยู่ 18,200 ล้านบาท)

“ผลของการแบน 2 สารเคมีคือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมาเห็นชัดแล้วว่ามีของเถื่อนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายขายให้กับเกษตรกร จากเป็นสินค้าต้องห้าม ราคาขายตามท้องตลาดสูงมาก เกษตรกรจึงหันไปใช้ของลักลอบกัน ตอนนี้คนดีค้าขายลำบาก”

ขณะที่นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย  กล่าวว่า วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือ 2 ไม่สามารถใช้บังคับได้กับเกษตรกร เมื่อปรับลดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1  ก็คือ นำไปใช้ได้อย่างอิสระ  สามารถจะไปสกัดสารได้ ความจริงแล้ว ขิง ข่า ตะไคร้หอม ใช้ไม่ได้จริง แต่ที่พอจะใช้ได้คือ สะเดา ส่วนขมิ้นป้องกันเชื้อรา ก่อนหน้าที่ควบ คุมไว้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เพื่อไม่ให้ใช้สุ่มสี่สุ่มห้าต้องขึ้นทะเบียนผ่านราชการ แต่จากนี้รัฐมนตรีต้องการปรับลดระดับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1เพื่อให้ซื้อง่ายขายคล่อง ทำเป็นเรื่องใหญ่โตมาก

 “เป็นกรอบเก่า ที่ยกระดับในพืชสมุนไพรเหล่านี้ถ้านำไปประกอบในการทำสารชีวภาพ ไม่ใช่สารชีวภัณฑ์ ถ้าทำจะต้องมีสูตร ต้องหาค่าความเป็นพิษ เพราะในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ อาจมีสารพิษตัวใหม่ที่อันตรายยิ่งกว่าการใช้สารเคมี”

ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นสารสกัดเพื่อป้องกันกำจัดแมลง วัชพืชโรคพืช และศัตรูพืชได้ด้วยตนเองมานาน ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย ถึงมีก็น้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง

เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ดังนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไร ซึ่งจะสะดวกกับเกษตรกรที่จะนำไปใช้หรือนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายด้วย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างปลกล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เสร็จโดยเร็ว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

“เฉลิมชัย”ลั่นไทยเกษตรปลอดภัย ตอกย้ำเชื่อมั่นตลาดโลก

“เฉลิมชัย”จับมือพาณิชย์ ดันสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ตอกย้ำความเชื่อมั่นตลาดโลก เพิ่มมูลค่าส่งออก  ยกระดับเกษตรกรเกือบ 30 ล้านคนมีคุณภาพชีวิตและรายได้เพิ่ม

นายเฉลิมชัย    ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษในงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ในหัวข้อ “เกษตรไทย มาตรฐานโลก”ว่า  วันนี้เป็นอีกครั้งที่จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย ที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะได้ทำงานร่วมกัน โดยต้องยอมรับว่า วันนี้ไม่ว่าอุตสาหกรรม หรือ ธุรกิจที่พัฒนาขึ้นมา แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศเกษตรกรกรรม จากจำนวนพื้นที่ 138 ล้านไร่ ถือว่าเป็น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประเทศคือพื้นที่ทำการเกษตร ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าประเทศไทยคือประเทศเกษตรกรรม และ จีดีพีของประเทศ มาจากสินค้าภาคการเกษตร อยู่ที่เกือบ 20% เพราะฉะนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่อยู่ในแวดวงเกษตรกรทั้งหมด จำนวนกว่า 30 ล้านคน หมายถึงว่าวันนี้หากทำให้พี่น้องเกษตรกรก้าวผ่านความยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ จึงหมายถึงความเข้มแข็งของประเทศ หมายถึงจีดีพีของประเทศในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น

โดยสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ทำในวันนี้ คือความตั้งใจยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นั่นหมายถึงการเติมเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของราชการ

“เราทำอาชีพเกษตรกรรมมาคู่กับประเทศไทยมาแล้วหลายร้อยล้านปี เท่าที่ประเทศไทยมี หรือก่อนมีประเทศไทย แต่สิ่งที่ปรากฏเห็น นั่นคือพี่น้องเกษตรกรของเรายังยากจน ประเทศชาติ รัฐบาล ยังต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปดูแลเกื้อกูลพี่น้องเกษตรกร ผมให้มองย้อนไปว่า ถ้าพี่น้องเกษตรกรของเราสามารถที่จะยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง สามารถมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น งบประมาณที่จะนำไปดูแลพี่น้องเกษตรกรตรงนี้ก็จะช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญ เดินไปข้างหน้าได้มากกว่านี้อีกมากมาย เม็ดเงินก็จะเข้าประเทศ” นายเฉลิมชัย กล่าว

ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ เน้นก็คือ การที่จะรักษาคุณภาพ เพิ่มผลผลิต ใช้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” มาเป็นแนวทางในการที่จะให้พี่น้องเกษตรกรดำเนินวิถีชีวิตของเขา ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ มีสิ่งหนึ่งที่ได้ประกาศเป็นนโยบายก็คือ การปฏิรูปภาคการเกษตร หมายถึงว่าต้องให้พี่น้องเกษตรกรก้าวผ่านวิถีชีวิตเดิม ๆ ของเขาให้ได้ หมายถึงว่าสิ่งที่เขาเคยทำด้วยความเคยชิน ที่ผ่านมาจะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยน ไปเป็นพี่เลี้ยงให้ เพื่อให้เขาก้าวไปสู่เกษตรกรทันสมัยให้ได้ ในวันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่ประเทศไทยต้องต่อสู้กับประเทศที่ประกอบอาชีพเกษตรเหมือนกัน ก็คือต้นทุนการผลิต และผลผลิตต่อหน่วย

“กรณีที่เราต้องเสียแชมป์เรื่องการส่งข้าวไป เพราะว่า 1. ต้นทุนการผลิตของเราสูงกว่า 2. ช่วงที่ผ่านมา เราขาดการนำงานวิจัย นวัตกรรมไปพัฒนาพันธุ์ข้าว ไปพัฒนาสิ่งที่เราควรทำ เรื่องนี้เป็นโจทย์ข้อหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี จะต้องทวงแชมป์กลับคืนมาให้ได้ งานวิจัยที่มีความจำเป็น จะต้องถูกนำมาใช้ มีการไปต่อยอดถึงการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิต ลดต้นทุนให้ได้”

ดังนั้น การเกษตรในวันนี้จึงต้องหลุดพ้นจากวิถีเดิม ๆ ของเกษตรกรที่มีมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเป็นเรื่องง่าย ก็คงมีการปรับเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว แต่การปรับเปลี่ยนตอนนี้ไม่ใช่ว่าภาคราชการสามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่จะต้องเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ผู้ประกอบการจะต้องมาช่วยเป็นหลักในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร จากการผลิตสินค้าที่ทำตามฤดูกาล เป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด ส่วนราชการมีหน้าที่ลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกรให้ได้ นำงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี ไปช่วยพี่น้องเกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพสินค้า

“1 ในนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือนโยบายเกษตรปลอดภัย และเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากวันนี้ในสภาพความเป็นจริงการจะก้าวสู่เกษตรอินทรีย์ได้ จะต้องผ่านเกษตรปลอดภัย ดังนั้นการจะทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโลก ณ วันนี้ได้ เพราะต้องใช้เวลา และต้องเตรียมการ แต่วันนี้สำหรับการบริโภคแล้ว ถือว่าเกษตรปลอดภัยก็มีความเพียงพอ เพราะกว่าจะมาถึงเกษตรปลอดภัยได้ ต้องมีกระบวนการผลิต กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการการันตีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาพร้อมกับผลผลิต สิ่งเหล่านี้ถือว่าจะเป็นสิ่งที่พูดกันว่า New Normal หรือวิถีปกติใหม่ โดยจะต้องทำให้พี่น้องเกษตรกรมีความรู้สึกตรงนี้ให้ได้ ในสภาวะโควิด-19 ตอนนี้ทั่วโลกประสบเหมือนกัน เป็นวิกฤติที่ไม่เลือกเขาเลือกเรา เป็นเหมือนกันหมด แต่ความได้เปรียบทางภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้วันนี้ทั้งภาคการเกษตร และการแปรรูป สามารถรักษาระดับการส่งออกสินค้าและมูลค่าไว้ได้” รมว.เกษตรฯ กล่าว

ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าเกษตรต่อเนื่องอาหาร 1.25 ล้านล้านบาท และมีการบริโภคภายในคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เป็นสิ่งที่เราทำมาในวิถีเดิม วันนี้ในวิถีใหม่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าถ้าจะส่งออกเพิ่มการบริโภคภายในก็ต้องเพิ่มด้วย หากเกษตรกรไม่ปรับตัวผลก็จะไม่เกิด ดังนั้นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการที่เป็นพี่เลี้ยง และเกษตรกรต้องเข้ามาอยู่ในเงื่อนไขที่เราจะดำเนินการ รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จะหาตลาดให้กับพี่นอ้งเกษตรกรด้วย เพราะลำพังกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯจะช่วยหาตลาดคงไม่เพียงพอ

“ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ผมเชื่อมั่นว่าอนาคตของพี่น้องเกษตรกรของเราจะเห็นแสงรำไรในการที่จะก้าวผ่านความยากจน มีความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้น หมายถึงถ้าประชาชนในประเทศนั้น ๆ ส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งมีชีวิตที่ดีขึ้น นั่นหมายถึงประเทศชาติเข้มแข็ง ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น และมีการสานต่อให้สำเร็จ จากนี้หวังจะมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้จับมือกับกระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ประชาชนได้ใช้สินค้าที่ดี มีความปลอดภัย ซึ่งหากจับมือไปด้วยกัน และทำต่อเนื่อง เป้าหมายความสำเร็จคงอยู่ไม่ไกล ดังนั้นต้องจับมือเดินไปด้วยกันไปสู่ก้าวแห่งชัยชนะ และจุดมุ่งหมายที่เราตั้งใจไว้พร้อม ๆ กัน”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

ควรใช้โอกาสนี้… ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

จากวิกฤติโควิด-19 ที่ไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ สะท้อนภาพว่าที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เนื่องจากมีการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก นับว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีที่ไทยปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

เป็นที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาด้านโครงสร้าง เพราะเราพึ่งพาเศรษฐกิจโลกมากเกินไป และจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างให้เกิดความสมดุลให้เศรษฐกิจภายในมีรากฐานที่มั่นคงขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่สามารถแก้ปัญหานี้สำเร็จ

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้ประชาชาติ หรือ GDP ที่มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 42% มาอยู่ที่ 71% ในขณะที่สัดส่วน GDP ที่มาจากการลงทุนภาคเอกชนลดลงมากกว่าครึ่ง จาก 40% เหลือแค่ 18% และสัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนก็ลดลงจาก 54% มาอยู่ที่ 52%

แน่นอนการที่รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม เพราะสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ดีขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือภาคเศรษฐกิจภายใน ที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานาน เช่น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% หรือ ภาคการเกษตรที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 1% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ถ้าเศรษฐกิจไทยไม่ได้รายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละเกือบ 30% นับจากปี 2547 อัตราการขยายตัวของ GDP จะลดลงอย่างมีนัย เพื่อให้เห็นภาพ ถ้าเราลองคำนวณ GDP โดยไม่รวมภาคท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 2.6% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทียบกับตัวเลขจริงที่ 3.4%  การกระจุกตัวของรายได้ประชาชาติที่มาจากการส่งออกและท่องเที่ยว จึงถือเป็นความเปราะบางและความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

อีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามคือการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือจีน คิดเป็น 12% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งก็มาจากจีน คิดเป็น 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อันดับหนึ่งก็มาจากจีน คิดเป็นถึง 52% ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในปี 2562   

ผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ซึ่งทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวหายไปอย่างฉับพลัน และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวถึง -8% ในปีนี้ คือคำตอบที่ชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

การลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลกไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกเน้นการส่งออกและท่องเที่ยว รัฐบาลยังควรส่งเสริมภาคการส่งออกและท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ เพราะเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยและเรามีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง แต่ควรใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างการส่งออกเพื่อทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นภายใต้บริบทใหม่และโอกาสที่เกิดขึ้นใหม่ เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม สินค้าที่ใช้นวัตกรรม เร่งหาตลาดใหม่ๆ เพื่อลดการกระจุกตัวของตลาดส่งออก เป็นต้น

ภาคท่องเที่ยวก็เช่นกัน ควรเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มบนที่มีกำลังซื้อสูง และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานโลก เพื่อ Rebrand ประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูง เป็นต้น

ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องเร่งจัดทำเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข็มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจฐานราก เพื่อทำให้การบริโภคในประเทศ การลงทุนในประเทศ และภาคการเกษตร สามารถขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของ GDP ได้

หลายมาตรการชั่วคราวที่รัฐบาลกำลังทำอยู่เพื่อลดผลกระทบของวิกฤติ COVID-19 เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน หรือการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วยการให้เงินสมทบ เป็นมาตรการที่ดีและน่าจะทำต่อไปในระยะยาว เพื่อขยายฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

FDI เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่มาพร้อมกับวิกฤตนี้ เพราะธุรกิจข้ามชาติเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับการกระจายฐานการผลิต ประเทศไทยมีความได้เปรียบสูงทั้งในเรื่องของภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข รัฐฯ ควรใช้โอกาสนี้ทำการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตของประเทศ ไปสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการผลิต

ผมเชื่อว่าถ้าเราเริ่มทำการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เศรษฐกิจไทยจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าเดิมในระยะยาว

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 16 กรกฎาคม 2563

เงินบาทเปิด 31.47/49 แข็งค่าจากวานนี้ จับตามาตรการกระตุ้น ศก.อียู-สถานการณ์โควิดน่าห่วง

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.47/49 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.61 บาท/ดอลลาร์ วันนี้ตลาดน่าจะยังให้ความสำคัญไปที่สถานการณ์โควิด ขณะที่ต้องจับตาสหภาพยุโรป (EU)จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 31.40-31.60 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 15 กรกฎาคม 2563

กรมชลฯ เล็งนำเทคโนโลยีกักเก็บน้ำ หลังไหลลงเขื่อนน้อย ส่วนลุ่มเจ้าพระยาขอความร่วมมือรอฝนก่อนเพาะปลูกข้าว

กรมชลฯ เล็งนำเทคโนโลยีกักเก็บน้ำ หลังกรมอุตุฯ คาดก.ค.-ก.ย. ฝนมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อย ส่วนลุ่มเจ้าพระยาขอความร่วมมือรอฝนก่อนเพาะปลูกข้าว 5.3 ล้านไร่

กรมชลฯ เล็งกักเก็บน้ำ - นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ช่วงเดือนก.ค.-กลางเดือนก.ย.นี้ จะมีฝนตกมากขึ้นทั่วประเทศ กรมชลประทานจึงเตรียมหารือหน่วยงาน ด้านเทคโนโลยีสำรวจทางน้ำ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนเร่งด่วนในการเก็บกักน้ำและให้ทุกเขื่อนเตรียมทุกวิธี เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ได้มากสุดและให้สำรวจประเมินปริมาณน้ำและอุปสรรคที่ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าเขื่อน เพราะช่วงที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังมีน้อย โดยเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั่วประเทศ ปริมาณ 39.47 ล้านลบ.ม./วัน แต่มีการระบายออกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จำเป็น 78.40 ล้านลบ.ม./วัน

ส่วนผลการเพาะปลูกพืชเกษตรตามแผนการผลิตทั่วประเทศ 17.33 ล้านไร่ ณ วันที่ 8 ก.ค. 2563 มีการเพาะปลูกได้ 7.07 ล้านไร่ หรือประมาณ 40% ของแผนฯ แบ่งเป็นแผนการปลูกข้าว 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกได้ 6.972 ล้านไร่ หรือ 41.53% ของแผนฯ พืชไร่และพืชผัก แผนการเพาะปลูก 0.54 ล้านไร่ เพาะปลูกได้ 0.098 ล้านไร่ หรือ 18.3% ของแผนฯ สำหรับพื้นที่ส่วนที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีอีกจำนวน 5.47 ล้านไร่ ขณะนี้ยังมีฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานจึงวางแผนจัดสรรน้ำและหมุนเวียนการส่งน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกลดลง เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และส่งน้ำให้กับพื้นที่นาปีที่ได้เพาะปลูกไปแล้วในลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 2.63 ล้านไร่ จากแผนการเพาะปลูก 8.01 ล้านไร่ โดยเพิ่มการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อยจากอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที เป็น 20 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำท่าจีน จะยังคงการรับน้ำไว้ที่ 15 ลบ.ม./วินาที

“กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรให้รอฝนตกสม่ำเสมอก่อน คาดว่าตั้งแต่กลางเดือนก.ค. เป็นต้นไป ก็จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีเกือบ 50% ของแผนการปลูกข้าว เหลือประมาณ 5.38 ล้านไร่ ขอให้รอน้ำฝนก่อน เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหาย หากมีการปลูกข้าว”

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ผลการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2563 ทั้งประเทศ ระหว่าง 1 พ.ค.-12 ก.ค. ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศทั้งหมด 1,389 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 76,641 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 52,576 ล้านลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 32,042 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 8,329 ล้านลบ.ม. หรือ 16% ของความจุเขื่อน แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 70,926 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 47,384 ล้านลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 30,322 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 7,045 ล้านลบ.ม. หรือ 15% ของความจุเขื่อน

น้ำในเขื่อนขนาดกลางที่มีความจุตั้งแต่ 2 ล้านลบ.ม. จำนวน 341 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 5,039 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 4,661 ล้านลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำทั้งหมด 1,521 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 1,161 ล้านลบ.ม. หรือ 25% ของความจุเขื่อน

น้ำในเขื่อนขนาดเล็กจำนวน 1,031 แห่ง ณ 1 พ.ค. มีปริมาตรน้ำ 676 ล้านลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ปริมาตร 531 ล้านลบ.ม. ล่าสุด 12 ก.ค. ปริมาตรน้ำ 199 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือ 123 ล้านลบ.ม. หรือ 23% ของความจุเขื่อน

กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ระหว่างปลายเดือนมิ.ย.-กลางเดือนก.ค. มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 230 หมู่บ้านใน 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก เลย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อทุเลาสถานการณ์ คือ นำรถบรรทุกจำนวน 26 คัน รวม 101 เที่ยวได้ปริมาณน้ำ 754,000 ลิตร ดำเนินการบรรทุกน้ำสะสมได้ 131 คัน รวม 8,002 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 53.2 ล้านลิตร ดำเนินการสูบน้ำจำนวน 69 เครื่อง สูบน้ำได้ 1.26 ล้านลบ.ม. และสามารถสูบน้ำได้สะสมปริมาณ 1,603 ล้านลบ.ม. สูบน้ำเพื่อช่วยภัยแล้ง เพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร 376.726 ล้านลบ.ม. สูบเพื่อผันน้ำ ช่วยในพื้นที่แห้งแล้งปริมาณ 1,226.37 ล้านลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมเครื่องจักรอื่นๆ เพื่อช่วยรับมือแล้งและฝนใหม่ที่จะมา จำนวน 145 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย รถแบ็กโฮ, รถบรรทุกเทท้าย, รถขุดตีนตะขาบ, รถตักหน้าขุดหลัง และเครื่องผลักดันน้ำ ยังมีการซ่อมแซม สร้างทำนบ ฝายจำนวน 7 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 37 แห่ง

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 15 กรกฎาคม 2563

'สนพ.' ชง 2 แผนรื้อโครงสร้างก๊าซฯเสรี กบง.เคาะ 30 ก.ค.นี้

สนพ.จ่อชงกบง.30 ก.ค.นี้ เคาะแผนรื้อโครงสร้างกิจการก๊าซฯเสรี เปิด 2 ทางเลือก ยึด 3 สเตป กพช. หรือ ให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯเพียงรายเดียว ด้าน "กฟผ."ขอนำเข้า LNG เพิ่ม 4 แสนตันปลายปี63

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งได้จัดทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติหลักการ ภายในวันที่ 30 ก.ค.63

เบื้องต้น สนพ.ได้เตรียมเสนอ 2 ทางเลือกหลักในการแผนปรับโครงสร้างก๊าซฯ แบ่งเป็น แนวทางที่ 1การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด ซึ่งจะยึดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เดิม ที่เคยอนุมัติกรอบดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1กำหนดให้ กฟผ.ทดสอบนำเข้า 2 ลำปริมาณรวม 130,000 ตัน เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ซึ่ง ระยะที่ 2 คือ พิจารณาออกใบอนุญาตให้ภาคเอกชน ปัจจุบันได้ดำเนินการระยะที่ 1 และ 2แล้ว และ ระยะที่ 3 คือเปิดให้เอกชน นำเข้าก๊าซฯได้จริง ซึ่งต้องรอ กพช.เห็นชอบในก่อน

และแนวทางที่ 2 การกำหนดให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯเพียงรายเดียว ภายใต้รูปแบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) คล้ายกับธุรกิจไฟฟ้าที่ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ในส่วนของธุรกิจก๊าซฯ จะเปิดให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ ดำเนินจัดหาก๊าซฯเพื่อประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดเพื่อขายก๊าซฯให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว

ดังนั้น หาก กบง.เคาะเลือกหลักการปรับโครงสร้างธุรกิจก๊าซฯใหม่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำเสนอขอความเห็นชอบจาก กพช. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการนัดหมายประชุมที่แน่ชัด เนื่องจากต้องรอคิวนายกรัฐมนตรีฯในฐานะประธานการประชุมฯก่อน แต่น่าจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่เดือนนี้ หลังจากนั้น ทาง สนพ. ก็จะต้องไปหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อดำเนินการปรับสูตรโครงการราคาก๊าซฯให้สอดรับกับนโยบายต่อไป ซึ่งไม่ว่า กพช.จะเลือกแนวทางใดก็ตามสูตรราคาก๊าซฯ ก็จะต้องปรับใหม่ให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน 3 รายได้รับใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่จาก กกพ.แล้ว และเตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ในปลายปีนี้ เบื้องต้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น กัลฟ์ฯ และบี.กริม น่าจะดำเนินการได้เลย เพราะเป็นการนำเข้าก๊าซฯมาใช้สำหรับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งไม่ได้คำนวนผ่านต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ ต่างจากกรณีของ หินกองฯ ที่เป็นการนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับภาครัฐ

ทั้งนี้ เอกชน 3 รายที่คว้าใบอนุญาต LNG Shipper ประกอบด้วย คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 3 แสนตันต่อปี เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) มีแผนนำเข้า 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ปี2567 และ2568 และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 6.5 แสนตันต่อปี ป้อนให้โรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนด COD ในปี 2565

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยังส่งเรื่องมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อขออนุมัตินำเข้า LNG เพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ อีกประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งในส่วนนี้เป็นปริมาณส่วนที่เหลือจากการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือสัญญา Global DCQ ระหว่าง กฟผ.และปตท. ที่ยืดหยุ่นให้ กฟผ.สามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้เองในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. แต่ทั้งนี้ กฟผ.จะนำเข้าได้ตามที่เสนอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กบง. และกพช.ต่อไป รวมถึงทาง สนพ.และปตท. จะต้องไปพิจารณาด้วยว่า การนำเข้าLNG ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย(Take or Pay) กับ ปตท.หรือไม่ ขณะนี้กันความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ก็ต้องไปดูว่าจะกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯในอนาคตอย่างไร

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

มิตรผล เปิดตัว “SENORITA” พรีเมียมไซรัป ไม่หวั่นโควิด

มิตรผล เปิดตัว “SENORITA” พรีเมียมไซรัป 12 รสชาติใหม่ที่คัดสรรวัตถุดิบ-ผลไม้จากแหล่งผลิตคุณภาพทั่วโลก สวนกระแส โควิด-19

นางวิภาดา อัตศรัณย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานกลยุทธ์การตลาดและขายในประเทศ กลุ่มมิตรผล ผู้บริหารแบรนด์ Senorita กล่าวว่า บริษัทได้จัดงานเปิดตัวเครื่องดื่มพรีเมียมไซรัป แบรนด์Senorita

(เซนญอริตา) 12 รสชาติ ที่ให้ความหอมหวานแบบธรรมชาติ ซึ่งผ่านการคัดสรรวัตถุดิบและผลไม้จากจากแหล่งวัตถุดิบคุณภาพทั่วโลก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ และ กลุ่มลูกค้าทั่วไป

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ คลาสสิกไซรัป (Classic Syrup) 4 รสชาติ นำโดย วานิลลา ฮาเซลนัท คลาสสิคคาราเมล และ เฟรชมิ้นท์ ไซรัปกลิ่นผลไม้ (Fruit Syrup) 6 รสชาติ นำโดย มะพร้าวน้ำหอม เสาวรส สตรอเบอร์รี ลิ้นจี่ บลูครูราโซ่ และ เจแปนนิสเมลอน ไซรัปกลิ่นชา (Tea Syrup) 2 รสชาติ ได้แก่ ชาไทย และ ชาเขียวมัทฉะ

“ผู้ประกอบการทุกคนมีความฝันและ มี Passion ใฝ่หาความสำเร็จในแบบเฉพาะตน ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ แต่เราเชื่อมั่นในพลังแห่งความคิด สร้างสรรค์ และ การปรับตัว นี่เองเป็นที่มาของการเปิดตัวแบรนด์ Senorita เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความฝันและปลุก Passion ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ประกอบการต้องการทั้งกำลังใจ กำลังความคิดมากที่สุด แบรนด์มีการสื่อสารแบบ 360 องศา เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคและสร้างการจดจำ ทั้งทางด้าน Social Media Advertising, Blogger Reviews, Partnership Campaign ร่วมกับ คาเฟ่ชั้นนำ รวมถึงการจัดเวิร์คชอป Product Tasting กับกลุ่มผู้บริโภคทั้งที่จุดขายและที่ร้านค้า โดยเน้นภาพความเป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียม ใส่ใจและพิถีพิถันทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด และวางขายในราคาที่จับต้องได้ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่มและขนมให้ลุกขึ้นฝ่าฟันและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19”

โดยงานเปิดตัวในวันนี้ ยังได้แนะนำ 2 แบรนด์แอมบาสเดอร์ ได้แก่ ณิกษ์ อนุมานราชธน มิกโซโลจิสต์ฝีมือดีระดับแถวหน้าของเมืองไทย ( Master of the art of blending) เชี่ยวชาญในศิลปะการทำเมนูเครื่องดื่มพิเศษ และ บรูน่า ซิลวา Youtuber คนดังเจ้าของ Channel “สาวบราซิลรักไทย” ผ่านยูทูบซีรีส์

นอกจากนี้ Senorita ยังได้จัดแคมเปญ “แคมเปญ Senorita x Casa Lapin” สร้างสรรค์สูตรเมนูเครื่องดื่มร่วมกับ Casa Lapin และ Pacamara คาเฟ่ดังใน“เมนู Passion & Co” เครื่องดื่มที่มีรสชาติเข้มข้นแตกต่างอย่างลงตัวด้วยรสของไซรัปเสาวรสและมะพร้าวน้ำหอม วางขายแล้ววันนี้ ณ ร้าน Casa Lapin Specialty Coffee ทุกสาขา ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2563

ในขณะที่แคมเปญ “Senorita x Pacamara Coffee Roasters” เป็นการสร้างสรรค์เครื่องดื่มร่วมกับ ณิกษ์ อนุมานราชธน เพื่อเปิดประสบการณ์รสชาติแปลกใหม่โดดเด่นของ 3 เมนูในซีรีส์ “The Exquisite Taste of Siam” วางขายแล้ววันนี้ ณ ร้าน Pacamara Coffee Roasters ทุกสาขา ตั้งแต่วันนี้ – 7 กันยายน 2563

ทั้งนี้ ทาง Senorita ยังเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทดลองใช้ได้อย่างไม่มีข้อกังวลใจด้วยแคมเปญ Money Back Guarantee หากซื้อไปทดลองสูตรแล้วไม่พอใจ เรายินดีคืนเงินให้ พร้อมทั้งยังเสนอบริการอื่นๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น กิจกรรมเวิร์คช็อปกับมิกโซโลจิสต์ชั้นนำ ที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี

ด้าน ณิกษ์ อนุมานราชธน แบรนด์แอมบาสเดอร์ Senorita กล่าวว่า ช่วงที่ประเทศล็อคดาวน์ที่ผ่านมานั้น กลุ่มผู้ประกอบการบาร์เทนเดอร์นับเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 มีบาร์เทนเดอร์ตกงานเป็นจำนวนมาก พอมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารและทีมสร้างสรรค์ของ Senorita ได้รับรู้อุดมการณ์ร่วมกัน รวมถึงการได้ลองคุณภาพของสินค้าซึ่งทำได้ดีมากจนมีความมั่นใจที่จะเป็นตัวแทนให้กับแบรนด์

“ผมอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ และ ปรับตัว เราเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ แต่เราสามารถรอดและกลับมาฟื้นกิจการให้ยืนหยัดได้ ถ้าเราช่วยกัน”

สำหรับช่องทางจำหน่ายสามารถหาซื้อได้ ที่ห้างแมคโคร ร้านค้าส่งอุปกรณ์เบเกอรี่หรือ ช่องทางออนไลน์ได้ที่ www.senoritasociety.com/product และ FB: Senorita flavoured syrup พร้อมโปรโมชั่นส่งฟรีและรับฟรีสูตรชงเครื่องดื่มที่ครีเอทขึ้นมาเป็นพิเศษจาก Mixologist ชื่อดังรวมกว่า 100 เมนู จากการ add LINE @SenoritaSociety

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

4 เขื่อนหลัก เหลือน้ำใช้แค่ 778 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี '62 เกินเท่าตัว

เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ “4 เขื่อนหลัก” เหลือน้ำใช้รวมกันเพียง 778 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 4% และน้อยกว่าปี 2562 เกินเท่าตัว นายกฯ ขอร้องประชาชนอย่ากดดันขอปล่อยน้ำปลูกข้าว

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ก.ค.) เกษตรกรในพื้นที่เขต อ.แสวงหา และ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ประมาณ 300 คน รวมตัวกันที่บริเวณ ปากคลองส่งน้ำ 5 ซ้าย -1 ขวา โครงการชัณสูตร เรียกร้องให้กรมชลประทานปล่อยน้ำให้ทำนาปี ซึ่งทางกรมฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ชี้แจงถึงแนวทางการบริหารน้ำเพื่อการทำนาปี 2563

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ชี้แจงถึงปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบัน มีน้ำเหลือใช้การเพียง 778 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 4 และน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 1,048 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทานนั้น รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า กรมชลฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้วางแผนล่วงหน้าเพื่อดูแลพื้นที่ปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่กว่า 2.6 ล้านไร่ ที่ได้ปลูกพืชไว้แล้ว โดยวางแผนระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ลงมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาชัยนาทให้อยู่ที่ระดับ  13.45 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่แม่น้ำน้อยได้ จากอัตรา 10 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็น 20 ลบ.ม.ต่อวินาที

นายทวีศักดิ์อธิบายเสริมว่า คลองชัยนาท-ป่าสักและแม่น้ำท่าจีน จะยังคงรับน้ำไว้ที่ 15 ลบ.ม. ต่อวินาที ซึ่งวันนี้ (14 ก.ค.) น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในระดับ 13.45 จากน้ำทะเลก็สามารถที่จะบริหารน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายและขวาได้

“ดังนั้นในส่วนของพื้นที่การเกษตรอีก 5.4 ล้านไร่ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูก กรมชลฯ ขอความร่วมมือให้เกษตรกรรอช่วงกลาง ก.ค. ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว ซึ่งกรมชลฯ ยืนยันว่าต้องบริหารน้ำตามแผนที่วางไว้เพื่อสำรองไว้ในฤดูแล้งถัดไปด้วย” นายทวีศักดิ์กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้รับทราบปัญหาและแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องปัญหาประชาชนในพื้นที่จังหวัดอ่างทองจะปิดถนนเพราะไม่มีน้ำทำการเกษตรว่า

“ขอร้องชาวอ่างทองอย่าปิดถนน  เพราะต้องดูแหล่งน้ำด้วยว่า มีน้ำต้นทุนเท่าไหร่ อย่างไร ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค รัฐบาลก็ต้องดูแล ทั้งนี้ ได้ให้กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ไปดูแลแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แล้ว ซึ่งก็กำชับให้ดูแลทุกพื้นที่ เพราะการทำการเกษตรน้ำจำเป็น”

“แต่ขณะนี้ฝนไม่ตก  แต่ทั้งนี้ขอร้องอย่าปิดถนน เพราะทุกคนจะเดือดร้อน  ต้องร่วมมือกันทั้งหมดด้วย ทั้งการหาแหล่งน้ำเพิ่มในระดับมหภาคที่ต้องมีระบบชลประทานและระดับไร่นา ที่ต้องมีการทำบ่อบาดาลหรือทำหลุมขนมครก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศว่าในช่วงเดือน สค. หรือ ก.ย. 2563  อาจจะมีพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จึงได้สั่งการให้ชลประทานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือ

โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 13 ก.ค. 63 มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 31,838 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่าง โดยเป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,365 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 44,000 ล้าน ลบ.ม.

4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,545 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 849 ล้านลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ (1 พ.ค.- 30 ต.ค.) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 5,481 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,942ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 1,308 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ล่าสุด ตามข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ค. 63 ทั้งประเทศมีการทำนาปีไปแล้ว ประมาณ 6.97 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนที่วางไว้ 16.79 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 2.62 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 32 ของแผนที่วางไว้ 8.10 ล้านไร่

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

โควิดฉุดการใช้พลังงานทั่วโลกต่ำสุดรอบ 70 ปี ไทยเล็งรื้อแผนพีดีพีใหม่

กระทรวงพลังงานเกาะติดสถานการณ์โควิดต่อเนื่อง หลังการใช้ไฟฟ้า-น้ำมัน-ก๊าซ ลด เตรียมทบทวนแผนพีดีพีใหม่ หวั่นสำรองไฟฟ้าพุ่ง กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา "ทิศทางพลังงานประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด" จัดโดย คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การใช้พลังงานทั่วโลกลดลงมากที่สุดในรอบ 70 ปี แม้ว่าราคาน้ำมันและปริมาณความต้องการใช้ล่าสุดจะเริ่มขยับขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ในหลายประเทศ แต่ความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ก็มีการคาดการณ์ว่า การใช้น้ำมันจะยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีนี้

สำหรับไทยการใช้พลังงานปรับลดลงมากเช่นกัน โดยช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) การใช้น้ำมันลดลง 13.4% ขณะที่การไฟฟ้าลดลง 3.8% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพบว่าช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ความต้องการใช้พลังงานเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากมีการระบาดรอบ 2 จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในจ.ระยอง ข้อมูลเหล่านี้จะต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อปรับแผนพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ฉบับใหม่ (แผนพีดีพี 2021) รวมถึงแผนพลังงานหลักของประเทศ ซึ่งน่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส แรกของปี 2564

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาคพลังงานได้เข้าไปมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศผ่านการลดรายจ่าย เร่งรัดการลงทุน โดยตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ที่ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านการลดค่าไฟฟ้าภาคครัว และภาคธุรกิจ ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. อุดหนุนส่วนต่างราคาเอ็นจีวี และส่งมอบแอลกอฮอล์ รพ.สต. ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ และโฆษก กฟผ. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 35-40% ขณะที่ตัวเลขการเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าก็ลดลง ทำให้ต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการส่งออกไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน การสนับสนุนพลังงานทดทน สำหรบกฟผ.จะมีการลงทุนสายส่งรองรับส่วนนี้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในระยะ 5 ปีข้างหน้า รวมถึงส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนและส่งเสริมห้องเย็นเก็บผลไม้ ด้วยการให้อัตราค่าไฟฟ้าพิเศษ

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในช่วงล็อกดาวน์ประเทศได้ปรับลดลงไป 7-8 % ซึ่งในปีนี้ ปตท.เตรียมนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ตลาดจร ไว้ 11 ลำ คาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะลดลงกว่า 3,000 ล้านบาท หรือ 1.50 สตางค์(ส.ต.)ต่อหน่วย โดยปัจจุบันได้นำเข้ามาแล้ว 7 ลำ ซึ่ง 5 ลำแรก ราคาก๊าซฯเฉลี่ยอยู่ที่ 2.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และมีราคาต่ำสุดที่ 1.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท หรือ 1.04 สต.ต่อหน่วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพรจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร

กระทรวงเกษตรฯ ลุยปลด 13 สมุนไพร ได้แก่ สะเดา, ชา กากเมล็ดชา, ข่า, ขิง, ขมิ้นชัน, ตะไคร้หอม, ดาวเรือง, พริก, คื่นช่าย, สาบเสือ, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก ออกจากวัตถุอันตราย เปิดทางพัฒนายาปราบศัตรูพืชทดแทน หลังแบน 3 สาร - ยันไม่กระทบเกษตรกร

เกษตรฯลุยปลด 13 สมุนไพร - นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ปลดสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา, ชา กากเมล็ดชา, ข่า, ขิง, ขมิ้นชัน, ตะไคร้หอม, ดาวเรือง, พริก, คื่นช่าย, สาบเสือ, ชุมเห็ดเทศ, ดองดึง, และหนอนตายหยาก ออกจากทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2(วอ.2) เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1(ว.อ1) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการวิจัยและพัฒนาเป็นยาปราบศัตรูพืช และจำกัดแมลงทำลายพืช หลังมีการแบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่ใช้กำจัดแมลง และฆ่าหญ้า

ทั้งนี้ การดำเนินการปลดสมุนไพรออกจาก พืช วอ.2 เพราะ วอ.2 หากใครมีครอบครองต้องขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก หากปรับมาอยู่ใน วอ.1 กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า หรือผู้มีในครอบครองไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงว่าครอบครอง วอ.1 อยู่

“ตามกฏหมายกำหนดไว้สารใดๆ ก็ตามสามารถจำกัดแมลงได้ หรือมีฤทธิ์ทำให้แมลงเสียชีวิต และมีการขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตราย หมายถึงสาร หรือพืชชนิดนั้น สามารถเป็นสารตั้งต้น หรือเป็นส่วนผสม ทำเป็นยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืชได้ และต้องทำเพื่อการพาณิชย์ เข้าข่าย วอ.2 ต้องขึ้นทะเบียน ถือเป็นวัตถุอันตราย หากมีการพิจารณาปลดพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดนี้ มาอยู่ใน วอ.1 ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานให้ทราบว่ามีครอบครอง ส่วนเกษตรกรที่ประกอบการอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว มีการสกัดสารมาใช้ในครัวเรือน ตามวิถีของชาวบ้านไม่ต้องแจ้งเจ้าพนักงาน ถือว่าไม่เข้าข่าย ถือครองวัตถุอันตราย”

นายอนันต์ กล่าวว่า เรื่องทะเบียนวัตถุอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ให้ ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เป็นวัตถุอันตราย และมีการต่อต้านจากประชาชน ทำให้การปรับปรุงทะเบียน 13 พืชสมุนไพร เลื่อนจาก วอ.1 เป็น วอ.2 และเลื่อนจาก วอ.2 เป็น วอ.1 หลายครั้ง หลายสมัย เพราะคนไม่เข้าใจ เพราะ การปรับปรุงทะเบียน ไม่มีผลกระทบต่อการนำไปใช้ของประชาชน จะมีผลต่อการพัฒนา และการนำไปพัฒนาเพื่อการค้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากการขึ้นทะเบียนของกรมวิชาการเกษตร พบว่า สารธรรมชาติ จะแยกออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ สารสกัดธรรมชาติจากพืชได้จากการสกัดจริง จะได้สารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ในการกำจัดศัตรูพืช เพียว 100% ใช้เพียงนิดเดียวก็มีความเป็นพิษ และมีความเป็นพิษมาก สารสกัดธรรมชาติ จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ตามทะเบียน วอ.1 ส่วนสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด ซึ่งไม่สามารถทำการปลดล็อกสารธรรมชาติถือว่า เป็นสารธรรมชาติจากพืชที่ไม่ผ่านการสกัด เช่น การนำไปตากแห้ง บ่ม สับ แล้วนำมาใช้เลย ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน ไม่ต้องแจ้งว่ามีสารสำคัญในปริมาณเท่าไหร่ หรือใช้ในอัตราเท่าไหร่

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

ก.อุตฯเน้นทำงานตอบโจทย์ยุคNew Normal

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าเชิงรุกติดอาวุธ เน้นทำงานตอบโจทย์ยุค New Normal รวดเร็ว โปร่งใส

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ปรับแนวทางการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับสถานะ New Normal โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก “การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในภูมิภาคเพื่อรองรับการทำงานวิถีใหม่ (New Normal)” โดยเชิญอุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่หัวหน้างานจากทุกหน่วยงานทั่วประเทศ ร่วมเดินหน้ากำหนดทิศทางการทำงาน ด้วยหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางรากฐานอุตสาหกรรมสู่อนาคต

2. ประเมินผลงานของกระทรวงโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง

3. ทำงานเชิงรุกในส่วนของแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการทำงานวิถีใหม่ (New Normal) โดยแบ่งการดำเนินงานด้านหลักๆ ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ เริ่มจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไป โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มคนว่างงานและนักศึกษา จบใหม่ กลุ่มชุมชนและวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร

ตลอดจนยังมีแนวทางการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจไปสู่ การรักษากลุ่มเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 ล้านราย การสร้างธุรกิจรองเพื่อเสริมมั่นคง การส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมแปรรูปอาหาร

สุดท้าย ด้านปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร มุ่งเน้นการปรับโฉมงานบริการใหม่พร้อมส่งมอบบริการที่ดี โดยองค์กรต้องปรับตัวสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างอัตโนมัติ

ทั้งนี้การ Work from Home ทำให้เห็นว่าต้องพร้อมยืดหยุ่น ปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วหรือคาดไม่ถึง ทั้งหมดนี้คือ New Normal ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรุดดำเนินงานเพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้อย่างมีศักยภาพ พร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกเกิดความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมจะเป็น Hub ของการลงทุนในภูมิภาคและการลงทุนในอนาคต

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

เปิดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ดัน 'พลังงานสร้างไทย'

"พลังงาน" วางหลักเกณฑ์ฯพร้อมรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน รอ ครม.ไฟเขียวแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ เดินหน้าเปิดโครงการฯทันที หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ค.2563 พิจารณาอนุมัติ โดยถ้าผ่านการเห็นชอบแล้วจะนำไปสู่การประกาศเปิดยื่นข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ล่าช้ามาเกือบ 1 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ต้องใช้เวลาทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนให้ชัดเจนและโปร่งใส รวมทั้งต้องรอแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ที่บรรจุการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาในระบบปี 2563–2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์

แผนพีดีพีดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 19 มี.ค.2563 และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ โดย กพช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 4 ประเภท คือ 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 4.เชื้อเพลิงไฮบริด จาก 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อคัดเลือกโครงการและกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดให้ยื่นเสนอโครงการ

ปี 2563-2565 จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ประเภทโครงการ คือ

1.โครงการ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ

2.โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วน 60–90%

2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วน 10–40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้า

สำหรับอัตราส่วนแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 ส.ต.ต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริด ไม่ต่ำกว่า 50 ส.ต.ต่อหน่วย

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้า 4 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช.เห็นชอบเมื่อ 17 ก.พ.2560 ดังนี้

พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ 4.8482 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาทต่อหน่วย,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.76 บาทต่อหน่วย ,ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท และก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย-ของเสีย 4.7269 บาทต่อหน่วย

รวมทั้งกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พรีเมียมให้พื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

กระทรวงพลังงานได้รับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภทโครงการ Quick Win กำหนดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD ) ในปี 2563 แต่ถ้านำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ได้เพราะโควิด-19 อาจผ่อนพันให้เลื่อน COD ไปในช่วงกลางปี 2564

กระทรวงพลังงานได้แบ่งการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เป็นโครงการต้นแบบ ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 8 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2 โครงการ คือ ที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 1 โครงการ (เชื้อเพลิงชีวมวล) และ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 โครงการ (เชื้อเพลิงชีวภาพ)

โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2 โครงการ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี 1 โครงการ และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 1 โครงการ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 2 แห่ง กำหนด COD ปี 2563

ระยะที่ 2 เป็นโครงการเร่งด่วน Quick Win ที่ก่อสร้างบางส่วนแล้ว โดยรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์

ระยะที่ 3 เป็นโครงการทั่วไป หรือ โครงการก่อสร้างใหม่ จะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ กำหนด COD ภายในปี 2564 คาดว่าเปิดให้ยื่นเสนอโครงการหลังจากพิจารณาโครงการ Quick Win เสร็จแล้ว

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

นักวิเคราะห์ คาดนักลงทุนเริ่มเทขาย กดค่าเงินบาทอ่อน ผวาโควิดระบาดไทยรอบ 2

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้14กรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.35-31.55 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดทุนกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) หลังจากมีความกังวลกับปัญหาความขัดแย้งด้านเขตแดนทางทะเลระหว่างจีนและเพื่อนบ้าน แต่มีสหรัฐเข้ามาออกความเห็นด้วย ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 0.9% สวนทางกับดัชนี Stoxx Europe 600 ของยุโรปที่ปิดบวก 1.0% ไปก่อนหน้า

ภาพตลาดดังกล่าวกดดันให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงไปที่ระดับ 0.62% (-3bps) และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับตัวลง 2.5% หลุดระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาทองคำก็ฟื้นตัวขึ้นเหนือระดับ 1800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทันที

ฝั่งตลาดเงิน ช่วงนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากมีการ ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของหลายประเทศรออยู่ ทำให้ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นลงตามหุ้น เห็นได้จากล่าสุดที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 0.1% โดยมีสกุลเงินสแกนดิเนเวียและยุโรปเป็นปรับตัวขึ้น

“ด้านเงินบาท ระยะสั้นก็พลิกกลับมาเป็นอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว หลังจากมีความกังวลเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศรอบใหม่ ประกอบกับความเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ก็ทำให้นักลงทุนสถาบันจำเป็นต้องขายตัดขาดทุนสถานะซื้อเงินบาทซ้ำเติม “

โดยในวันนี้ต้องติดตามทิศทางของสกุลเงินเอเชียเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากมีทั้งการรายงานตัวเลขการค้าของจีน และประเด็นการเมืองระหว่างประเทศกับสหรัฐ ที่อาจกดดันให้นักลงทุนเลือกที่จะขายสินทรัพย์เสี่ยงในเอเชียเพื่อออกไปรอดูสถานการณ์ก่อน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 14 กรกฎาคม 2563

ไทย-สวีเดนถกการค้า ชวนลงทุนอีอีซี หนุนเปิดตลาดสินค้าเกษตร

“พาณิชย์” หารือเอกอัครราชฑูตสวีเดนกระชับความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้า แจงปมกะทิไทย ยันมีระบบตรวจสอบแหล่งที่มาชัดเจน เทียบเชิญผู้แทนฑูต ร่วมคณะลงพื้นที่จริงเร็วๆนี้

นายสรรเสริญ  สมะลาภา  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  นายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะเพื่ออำลาในโอกาสพ้นจากหน้าที่ โดยได้ใช้โอกาสนี้ หารือกระชับความสัมพันธ์การค้าการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างกัน หลังการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ได้เชิญนักลงทุนจากสวีเดนเข้ามาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในด้านที่สวีเดนมีความเชี่ยวชาญ  ขณะเดียวกัน ยังขอให้สวีเดนช่วยส่งเสริมสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ยางพาราคุณภาพสูงของไทย เข้าสู่ตลาดสวีเดนและกลุ่มนอร์ดิก รวมทั้งขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนภาคเอกชนสวีเดนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ ผ่านกิจกรรม Online Business Matching และการจัดงานแสดงสินค้าทั้งแบบปกติและแบบ Virtual Exhibition ในสินค้าอาหารและไลฟ์สไตล์

อย่างไรก็ตามเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสวีเดนแจ้งว่า สวีเดนสนับสนุนการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจระหว่างสองภูมิภาค และขอให้ไทยพิจารณาเปิดให้นักธุรกิจสวีเดนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้โดยเร็วด้วย

นายสรรเสริญ  กล่าวว่าได้ให้ข้อเท็จจริงเรื่องอุตสาหกรรมสินค้ากะทิของไทย ยืนยันมีระบบการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบและได้ใช้โอกาสนี้ เชิญผู้แทนทูตสวีเดนเข้าร่วมกับคณะทูตลงพื้นที่ดูการเก็บเกี่ยวมะพร้าวเชิงอุตสาหกรรม และระบบตรวจสอบย้อนกลับของผู้ผลิตและส่งออกของไทยด้วย

ปัจจุบันสวีเดนเป็นคู่ค้าอันดับ 40 ของไทย โดยในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 1,089.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.32%  การส่งออกมีมูลค่า 436.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้เเก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 652.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้เเก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ กระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เร่งช่วยธุรกิจเกษตรได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ     

กองทุนเอฟทีเอ ผนึกรัฐ-เอกชน-เกษตรกร เตรียมทำ MOU ความร่วมมือ 3 ปี ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (เอฟทีเอ) ได้เห็นชอบให้จัดทำแผนงานสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2563 – 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ บทบาท ความรู้ และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานร่วมในการส่งเสริมการดำเนินงานในกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร

สำหรับแผนงานสร้างความร่วมมือประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ ดังนี้ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)  บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด บริษัท สยามบีฟ จำกัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สหกรณ์โคเนื้อปางศิลาทอง และชุมนุมสหกรณ์โคเนื้อภาคตะวันตก และภาคใต้ เป็นต้น  รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่คาดว่า จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอ ทั้งนี้ สินค้าเป้าหมาย ได้แก่ โคเนื้อ โคนม มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 “กองทุนเอฟทีเอจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนเร็ว ๆ นี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุนเอฟทีเอ เพื่อสร้างโอกาสในการเสวนา พบปะให้เกิดความร่วมมือในการจัดทำโครงการร่วมกัน รวมทั้งการสรรหากลุ่มเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่มีความประสงค์จะดำเนินโครงการ และการเข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และวิชาการตามความเหมาะสม” นางอัญชนา กล่าว

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“มนัญญา” เปิดให้เกษตรกรผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชในไร่นาได้

รมช.เกษตรฯ เร่งรัดกรมวิชาการเกษตรจัดทำร่างกฎหมายปรับสารชีวภัณฑ์สกัดจากสมุนไพรสำหรับกำจัดศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้เป็นชนิดที่ 1 เพื่อจะได้ใช้ในไร่นาได้ โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ย้ำจัดทำร่างกฎหมายให้เสร็จใน 1 เดือน เพื่อส่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมร่วมกับนางสาวอิงอร ปัญจากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมอบหมายให้เร่งกฎหมายเพื่อปรับสารสกัดจากสมุนไพรมาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 สำหรับพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก โดยระหว่างนี้แม้จะยังอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 แต่ผ่อนปรนให้เกษตรกรผลิตใช้ได้เองในไร่นา แต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากการผลิตเพื่อจำหน่ายต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร

น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า ให้กรมวิชาการเกษตรจัดเตรียมรายละเอียดของร่างกฎหมายให้เสร็จใน 1 เดือนที่จะต้องระบุว่า การสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรดังกล่าวนั้น จะต้องใช้วิธีการใด จึงจะสามารถปรับให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้ โดยอาจต้องระบุว่า ไม่ผ่านกระบวนการทางเคมี เช่น การหมัก การตากแห้งแล้วบดเป็นผง เพื่อนำมาใช้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรนั้น สมควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ได้ เมื่อจัดทำร่างกฎหมายแล้วจะนำเสนอเลขานุการคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อบรรจุเข้าวาระการประชุมพิจารณาต่อไป

นักวิชาการเกษตร ระบุว่า จากงานวิจัยหลายชิ้น พืชสมุนไพรต่าง ๆ นั้นมีคุณสมบัติไล่แมลงได้ แต่ที่กำจัดวัชพืชได้พบอยู่เพียงชนิดเดียวคือ สาร Cineon (ซีนีออน) ซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากยูคาลิปตัส แต่กระบวนการสกัดยังมีมูลค่าสูง หากจะนำมาใช้กำจัดวัชพืชต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุนในการทำเกษตรกรรม มีผู้ผลิตบางรายอ้างว่า ใช้สารซีนีออนจากยูคาลิปตัสมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ซึ่งสารวัตรเกษตรเคยจับกุม เนื่องจากพบว่าปลอมปนสารเคมีกำจัดวัชพืชไปด้วย ขณะนี้ยังมีผู้ผลิตที่โฆษณาตามเว็บเพจต่าง ๆ ซึ่งจะมีการนำตัวอย่างมาตรวจ หากพบการปลอมปนสารเคมีจะจับกุมดำเนินคดี

น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า การส่งเสริมให้ใช้สมุนไพรเพื่อกำจัดศัตรูพืชเป็นแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันการหลอกลวงเกษตรกรด้วยการนำสารปลอมปนมาจำหน่ายแล้วอ้างว่าเป็นสารชีวภัณฑ์ เมื่อเกษตรกรผลิตเองได้ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตรจะทำให้ไม่ต้องไปซื้อทั้งสารเคมีหรือสารชีวภัณฑ์ปลอมปนมาใช้ รวมทั้งยังเป็นการขยายการทำเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์มีมูลค่าสูง อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สทนช.ลุยปฏิรูปบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช. เริ่มดำเนินการโครงการนำร่องศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำกับระบบการประเมินด้านเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาระบบบัญชาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาวะวิกฤติ โดยศึกษาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ลักษณะทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ พร้อมคัดเลือกพื้นที่ศึกษานำร่อง พัฒนาแบบจำลอง เพื่อเป็นต้นแบบใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภาวะปกติและภาวะวิกฤติ ได้เป็นรูปธรรม

“ผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้จะทำให้ได้มาซึ่งแบบจำลองที่เรียกว่า“Hydroeconomic Model” ซึ่งเป็นแบบจำลองที่เชื่อมโยงกลไกทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเข้ากับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรูปแบบต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบทุกด้าน นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยมีสทนช.เป็นศูนย์กลางดำเนินงาน ทั้งในภาวะปกติและการบัญชาการข้ามหน่วยงานในภาวะวิกฤติ การศึกษาโครงการนี้แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2564” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ทั้งนี้ สทนช. วางแนวทางศึกษาโครงการครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้อมูลอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา

อุทกธรณีวิทยา/น้ำใต้ดิน และชลศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนและระดับน้ำ ตลอดจนใช้วิเคราะห์ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำ ศึกษาทบทวนบทเรียนจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งภาวะปกติและวิกฤติ ทั้งในประเทศและแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากต่างประเทศ ตลอดจนศึกษาการทบทวนสภาพเศรษฐกิจและสังคมในระดับมหภาค รวมถึงแผนการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่นั้น รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ และประเมินความอ่อนไหวของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับพื้นที่นำร่องที่ได้รับการคัดเลือกจะดำเนินการศึกษาในเชิงลึกโดยศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ข้อมูล เช่น ความผันผวนของวัฏจักรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ ร่วมกับการศึกษาสภาพแวดล้อมทั่วไป การศึกษาสมดุลน้ำ วิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำครอบคลุมปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน รวมถึงศึกษาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ และศึกษาความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรม วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและคาดการณ์อนาคต อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ร่วมกัน พร้อมจัดทำแบบจำลอง Hydroeconomic Model ที่เป็นต้นแบบ ใช้ประกอบการตัดสินใจวางแผนบริหาจัดการทรัพยากรน้ำที่มองผลกระทบรอบด้าน ก่อนนำขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิด “อ่อนค่า”ระยะสั้นจะกลับมาแข็งค่าได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่ผ่านมาเคลื่อนไหวสวนทางดอลลาร์ เหตุนักลงทุนสถาบันลดสถานะถือเงินบาทลง -ประเมินระยะสั้นจะกลับมาแข็งค่าได้ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์และเศรษฐกิจฝั่งเอเชียที่ฟื้นตัวในอนาคต

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิด สิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.22-31.42 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวสวนทางกับดอลลาร์ เนื่องจากมีเงินทุนไหลออกของบริษัทใหญ่ ทำให้นักลงทุนสถาบันต้องลดสถานะการถือเงินบาทลง และเมื่อเงินบาทอ่อนค่าเร็วนักค้าเงินก็ต้องขายตัดขาดทุนเงินบาทตามไปด้วย ประเด็นดังกล่าวทำให้ เราจะมีการปรับประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสนี้ให้อ่อนค่าลงตามเช่นกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทมาจากปัจจัยระยะสั้น และไม่ได้กดดันภาพระยะยาว จึงยังมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์และเศรษฐกิจฝั่งเอเชียที่ฟื้นตัวในอนาคต

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.05-31.65 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้ มีตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจับตาทั้งในฝั่งของจีน สหรัฐ และการประชุมนโยบายการเงินทั่วโลกความน่าสนใจทางเศรษฐกิจจะเริ่มตั้งแต่วันอังคาร ที่จะมีการรายงานตัวเลขการนำเข้าส่งออกของจีนประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งตลาดคาดว่าจะเห็นการนำเข้าลดลงเหลือติดลบเพียง 9.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าดีขึ้นจากระดับหดตัวสูงกว่า 10% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

ถัดมาก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพุธ คาดว่าจะ “คง” นโยบายการเงินด้วยดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้น (BOJ Policy Balance Rate) และระยะยาว (BOJ 10-Yr Yield Target) ที่ระดับ -0.1% และ 0.0% ตามลำดับ ต่อเนื่องในวันพฤหัส ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะ “คง” อัตราดอกเบี้ย (ECB Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.5% เช่นกัน

 ขณะเดียวกันในวันพฤหัส ทางการจีนก็จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสอง คาดว่าจะมีการขยายตัวกลับมาเป็นบวกที่ 2.2% จากการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาเป็นปรกติทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เศรษฐกิจจีนจะเหลือหดตัวเพียง 0.2% จากที่ลงไปลบลึกถึง 6.8% ในช่วงไตรมาสแรก

ฝั่งตลาดเงิน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักราว 0.7% จากภาพตลาดทุนที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ส่วนในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของ BOJ และ ECB บ้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดยังคงเป็นทิศทางของตลาดหุ้นโลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว และเงินหยวน (CNY) ที่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่า จะหนุนให้นักลงทุนกล้าเปิดรับความเสี่ยง และกดดันให้ดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอ่อนค่าลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เสนอนโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหาส่งออกทรุดตัว

อดีตกรรมการแบงก์ชาติเสนอนโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหาส่งออกทรุดตัว แนวทางบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและกำกับดูแลสถาบันการเงิน 

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของภาคส่งออกจะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก การผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงครึ่งปีหลัง ธปท.จึงควรต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ที่กำลังสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม 2563 โดยอาจต้องต่ออายุไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเลื่อนชำระหนี้จะกระทบต่อสถาบันการเงินบางแห่งที่มีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่สูง และ ธปท.ควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มทุน หรือมีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงิน การที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่ต้องตระหนักว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาทนั้น ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย

ขณะเดียวกันต้องมุ่งเป้าไปที่การขยายการจ้างงานขนาดใหญ่และการช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ปิดกิจการเพิ่มเติม อย่าไปคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว ภาคการท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ธุรกิจการท่องเที่ยวและการจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทนไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ล้นเกินความต้องการมาก และไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่อย่างน้อย 3-4 ปี การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรนำเงินงบประมาณไปทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือความเดือนร้อดของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธปท.ต้องกล้าตัดสินใจเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้ามาในระบบชะลอการแข็งค่า พร้อมเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจ บริหารอัตราแลกเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง และอาจต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป และการที่ลูกหนี้ของสถาบันทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงินไม่มั่นใจต่อฐานะของกิจการโดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก การเคลื่อนตัวจากภาคการเงินที่มีเสถียรภาพสู่ภาคการเงินเปราะบางเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มเกิดภาวะหนี้เสียและวิกฤตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน มีความจำเป็นต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบ “countercyclical” หรือแบบต่อต้านภาวะเศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น ผลักดันให้เกิดระบบ Smart Banking and Financial Market System อย่างทั่วถึง มีนโยบายแก้ปัญหา Shadow Banking และการเงินนอกระบบ  การกำกับดูแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง.

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 12 กรกฎาคม 2563

กสก. จับมือ มิตรผล สร้างต้นแบบสินค้าเกษตรปลอดภัย หนุนใช้ชีวภัณฑ์คุมศัตรูพืชในอ้อย

กรมส่งเสริมการเกษตร มีเป้าหมายสำคัญคือการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management - IPM) เพื่อลดปริมาณศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและระบบนิเวศเกิดความสมดุล การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นวิธีหลักวิธีหนึ่ง เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตในการควบคุมประชากรของศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหากผสมผสานกับวิธีจัดการศัตรูพืชวิธีอื่นๆ นำไปสู่การจัดการศัตรูพืชที่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธี กับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัดณ โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ว่าโรคและแมลงศัตรูอ้อยเป็นสาเหตุหลักให้ผลผลิตอ้อยลดลงเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยโดยตรง ยังมีผลต่อเศรษฐกิจต่อภาพรวมของประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีมาโดยตลอด มีศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ทำหน้าที่ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติและส่งเสริมการใช้ศัตรูธรรมชาติ ปัจจุบันดำเนินการ ทั้ง ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ ได้กว่า 14 ชนิด เช่น แมลงหางหนีบ ใช้ควบคุมไข่แมลงศัตรูพืชเพลี้ยอ่อนหนอนชนิดต่างๆ แมลงช้างปีกใส ควบคุมเพลี้ยชนิดต่าง ๆ แตนเบียนไข่ทริโคแกรมม่า ใช้ควบคุมศัตรูพืชระยะไข่ เช่น ไข่หนอนกออ้อย ไข่หนอนกระทู้ข้าวโพด เชื้อราเมตาไรเซียม ใช้ควบคุมหนอนกออ้อย, หนอนด้วงหนวดยาวอ้อย เป็นต้น

เป้าหมายสำคัญในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธี กับ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูอ้อยและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยซึ่งกันและกัน ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการใช้ชีวภัณฑ์ให้ควบคุมศัตรูอ้อยได้หลากหลายชนิด วางเป้าหมายให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดการศัตรูพืช ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรกรและชุมชนให้มีความรู้ สามารถผลิตขยายศัตรูธรรมชาติ และจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน อำเภอละ 2 แห่ง ทุกจังหวัด รวม 1,764 ศูนย์ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ระหว่างบุคลากร และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการจัดการศัตรูอ้อยกับภาคเอกชน

นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผลกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มมิตรผล มีวิสัยทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความยั่งยืนในภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่การส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเปลี่ยนวิถีมาทำเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่ได้การรับรองมาตราฐานระดับโลกอย่าง Bonsucro โดยเน้นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ส่งเสริมการใช้สารเคมีในไร่อ้อย เช่น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เปลี่ยนมาใช้ชีววิธีในการควบคุมศัตรูพืช และรณรงค์ส่งเสริมให้ตัดอ้อยสดด้วยการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางของการทำเกษตรสมัยใหม่ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีกับกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยส่งเสริมและถ่ายทอดแนวทางการทางเกษตรสมัยใหม่ที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันถ่ายทอดความรู้เรื่องการควบคุมศัตรูอ้อยโดยชีววิธีให้แก่เกษตรกร เช่น การใช้แตนเบียนหนอน แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบรวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการทางเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยด้วยเช่นกัน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

เกษตรชูนโยบายจัดการน้ำ งบกรมชลปี”64 พุ่ง 7 หมื่นล้าน

ส่องงบฯกระทรวงเกษตรฯปี”64 บริหารจัดการน้ำ บำรุงรักษางานชลประทาน ครองแชมป์มากสุด 78,521 ล้านบาท พร้อมปรับ agenda แผนทำงานให้สอดคล้องเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติรวม 5 ด้าน เพิ่มการเชื่อมโยงดิจิทัลโผล่แผนพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ปีงบประมาณ 2564 กระทรวงได้รับการจัดสรรงบประมาณเบื้องต้น 113,980.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 4,867.44 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.46แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,210.41ล้านบาท 2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นฐานในภารกิจตามกฎหมายของกระทรวง/หน่วยงาน (function) 33,235.08 ล้านบาท 3.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (agenda) 46,854.25 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่ยังอยู่ที่แผนงานการบริหารจัดการน้ำ และแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และ 4.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (area) เพื่อพัฒนาพื้นที่ระดับภาค 8,680.96 ล้านบาท

โดยหากเทียบปี 2563 อยู่ที่ 109,113 ล้านบาท จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,536 ล้านบาท 2.กลุ่มรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน(function) 32,667 ล้านบาท 3.กลุ่มรายจ่ายบูรณาการ (agenda) 14 แผนงานวงเงินรวม 42,996 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วงเงิน 41,033 ล้านบาทและ 4.กลุ่มรายจ่ายพื้นที่ (area) วงเงิน 7,914 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นว่าปรับเพิ่มทุกรายการ

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ปรับแผนให้สอดคล้องเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติรวม 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ 31,867.60 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ประกอบด้วย ส่งเสริมการพัฒนาเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่น พัฒนาเกษตรปลอดภัย พัฒนาเกษตรชีวภาพ พัฒนาเกษตรแปรรูป ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะและส่งเสริมการจัดการระบบนิเวศเกษตร นอกจากนี้ยังมีแผนงาน/โครงการเพื่อขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนแม่บทอื่น ๆ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาระบบการให้บริการเชื่อมโยงทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW และพัฒนา SMEs

2.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณ 3,207.25 ล้านบาท ได้แก่ บริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง(smart farmer) ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร ยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนสร้างผู้ประกอบการเพื่อให้บริการทางการเกษตรในชุมชน และพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์กลุ่มเกษตรกร

3.ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมงบประมาณ 78,521.44 ล้านบาท ได้แก่ พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำและเชื่อมโยงวางระบบเครือข่ายน้ำ/ลุ่มน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน ปรับปรุงทางน้ำทางผันน้ำพื้นที่รับน้ำนอง วางระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ บำรุงรักษางานชลประทานเพื่อส่งน้ำ ระบายน้ำ

4.ด้านการสร้างการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐงบประมาณ 43.78 ล้านบาท ได้แก่ พัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตรผ่านศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NationalAgricultural Big Data Center : NABC)

5.ด้านความมั่นคงงบประมาณ 340.63 ล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมง และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ปีนี้มีการปรับบูรณาการ agenda เพิ่ม 11% จากปี 2563 ปรับสเกลจาก 14 แผนงาน เหลือรวม 8 แผนงาน คือแผนขับเคลื่อนชายแดนใต้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาเอสเอ็มอีสู่สากล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ด้านดิจิทัล ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และมุ่งเน้นบริหารจัดการน้ำ ซึ่งงบประมาณเบื้องต้นดังกล่าวได้บรรจุในร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

“วีระกร” ชี้ช่องรัฐ ผ่าทางตัน CPTPP ไฟเขียวเจรจาก่อนเส้นตาย

วีระกร” แนะรัฐผ่าทางตัน CPTPP กล้าไฟเขียวจองคิวร่วมเจรจาก่อนเส้นตาย 5 ส.ค. แล้วค่อยใช้ผลศึกษาพิจารณาของกรรมาธิการฯเป็นแนวทางในการเจรจาตามหลัง ช่วยลดความกังวลภาคเอกชน พาณิชย์ปัดไม่เป็นคนชงแน่ ด้านเอฟทีเอ ว็อทช์ชี้ต่อเวลาศึกษาอีก 60 วัน ส่งผลดีไม่ต้องรีบร้อน

คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.) พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้นำเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 60 วัน (จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ค.63) หรือขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 10 กันยายน 2563 ซึ่งหมายถึงความหวังของภาคเอกชนที่เสนอให้รัฐบาลยื่นหนังสือแสดงจำนงเพื่อขอเข้าร่วมเจรจา CPTPP ลางเลือนลง และอาจต้องรอเสนอในอีก 1 ปีข้างหน้า

นายวีระกร  คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP  สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขอขยายเวลาอีก 60 วัน เป็นผลจากมีหลายประเด็นอ่อนไหวที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาศึกษารายละเอียดอย่างละเอียดถ่องแท้ให้สิ้นความสงสัย อย่างไรก็ดีข้อเสนอแนะส่วนตัวหากรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอร่วมเจรจาเพื่อให้ทันการพิจารณาอนุมัติของรัฐมนตรีการค้า CPTPP ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ที่ประเทศเม็กซิโก ก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลที่สามารถทำได้

ทั้งนี้หากสมาชิก CPTPP พิจารณาให้ไทยเข้าร่วมเจรจาแล้ว รัฐบาลก็สามารถนำผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการฯไปเป็นแนวทางในการเจรจาได้  เพราะถึงที่สุดแล้วเมื่อรัฐบาลไปเจรจาแล้วเสร็จ หากเห็นว่าสมควรเข้าร่วมความตกลง ในขั้นตอนการให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก็ต้องนำกลับมานำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญอยู่ดี ซึ่งรัฐสภาจะอนุมัติหรือไม่ก็จะพิจารณาจากผลการเจรจาของรัฐบาลได้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการได้ชี้แนะแนวทางหรือไม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จะให้รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ต้องมีหน่วยงานนำเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม คำถามคือใครจะเป็นคนนำเสนอ ซึ่งคงไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ เพราะก่อนหน้านี้นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เคยประกาศแล้วว่าจะไม่นำเสนอเรื่องเพื่อขอให้ครม.พิจารณาอนุมัติไทยเข้าร่วมเจรจา หากยังมีความขัดแย้ง อย่างไรก็ดีจากสถิติการใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อประโยชน์ทางการค้า พบว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันของไทยหลายประเทศมีสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่สัญญาเอฟทีเอสูงกว่าไทย ชี้ให้เห็นว่าจากนี้ไปสมาชิกประเทศข้อตกลงเอฟทีเอต่างๆ ค้าขายกันเองภายในกลุ่มมากขึ้น (กราฟิกประกอบ)

“มีหลายฝ่ายระบุว่าในจำนวนสมาชิก CPTPP 11 ประเทศมีเพียง 2 ประเทศที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอด้วยคือเม็กซิโก และแคนาดา จำเป็นแค่ไหนที่เราต้องเข้าร่วม ซึ่งในข้อเท็จจริงเอฟทีเอที่ไทยทำอยู่แล้ว เช่นกับ ญี่ปุ่น เปรู ที่เป็นสมาชิก CPTPP ก็ยังไม่ลดภาษีให้เรา 100% ดังนั้นการเข้าร่วมจะสร้างโอกาสให้ไทยทำการค้ากับเขาได้เพิ่ม ในส่วนแคนาดา จากผลการศึกษาหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะได้รับประโยชน์ในหลายสินค้าจะส่งออกไปแคนาดาได้เพิ่มจากภาษีที่ลดลง เช่น เนื้อไก่ อาหารทะเล และเม็กซิโกในส่วนของสินค้ายานยนต์ และชิ้นส่วน เป็นต้น”

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) และสมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมาธิการฯได้ขยายเวลาพิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP  อีก 60 วันเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพราะมีหลายประเด็นที่ยังเป็นถกเถียงและยังได้คำตอบที่ไม่ชัดเจน เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชและภาคเกษตรที่จะกระทบกับคนหมู่มากของประเทศ ในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้คณะอนุกรรมาธิการด้าน

พันธุ์พืชและเกษตรจะเชิญผู้แทนจากหน่วยงานมาให้ข้อมูลถึงผลกระทบ ได้แก่ กรมประมง สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่ง

ชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

“สนธิรัตน์” โกอินเตอร์นั่งหัวโต๊ะถกผู้นำพลังงานโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอแนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน การส่งเสริมเรื่อง prosumerization และเน้นย้ำการเป็นผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าของไทยในภูมิภาคอาเซียน ในเวที IEA การประชุมด้านพลังงานระดับโลก  ในฐานะประธานร่วมการประชุม หัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาด”

การประชุมนี้ จัดขึ้นโดยทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในรูปแบบออนไลน์ (Virtual Dialogue) เพื่อเป็นเวทีในการแสดงบทบาทและวิสัยทัศน์จากผู้นำด้านพลังงานของทุกประเทศในการหารือร่วมกันในประเด็นการเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่แผนการดำเนินการระยะสั้นเพื่อการฟื้นฟูภาคพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อให้บรรลุแผนระยะยาวในการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และเพื่อส่งเสริมให้ภาคพลังงานมีความมั่นคง ราคาเข้าถึงได้ และยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 40 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซีย เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงนโยบายและวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในช่วงต้นของการประชุม ในหัวข้อ “บทบาทของภาคไฟฟ้าที่พึ่งพาได้และมีความยั่งยืน” โดยมีใจความว่าจากการประกาศนโยบาย “พลังงานเพื่อทุกคน” (Energy For All) ตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง และได้ดำเนินนโยบายจนเป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของภาคประชาชนและเอกชน จนปัจจุบันได้ประกาศนโยบายภาคต่อ “พลังงานสร้างไทย: RE-Energizing Thailand” เน้นทั้งด้านการลดรายจ่ายด้านพลังงาน การเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านโครงการต่าง ๆ โดยหนึ่งในโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานสะอาดที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ ฐานราก ด้วยการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และพัฒนาศักยภาพแหล่งเชื้อเพลิงด้านพลังงานในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เป็นกำลังสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยได้ออกมาตรการด้านการเงินและการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคพลังงานทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด อาทิ การขับเคลื่อนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 50 เมกะวัตต์  ซึ่งสอดรับกับทิศทางการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตและผู้ขายพลังงาน (Prosumerization) อีกด้วย

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณ IEA ที่ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปีที่ผ่านมา รวมถึงขอบคุณ IEA ที่ช่วยจัดทำรายงานผลการศึกษาทางวิชาการที่มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานในภูมิภาคอาเซียน เช่น การจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (RE Integration to grid) และการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน (MultilateralPower Trade) เป็นต้น โดยในช่วงท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังได้กล่าวยืนยันท่าทีของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการพัฒนาไปสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาดและพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ IEA ต่อไปในอนาคต

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

เดินหน้าเกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย

ก.เกษตรฯ จับมือ ส.อ.ท. ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย ดันไทยติด 1 ใน 10 ส่งออกอาหารโลก

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยจะสร้างต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย รับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากการประชุมร่วมกันได้เห็นชอบกรอบความร่วมมือด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4  ประการคือ เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มจีดีพีประเทศ โดยจะเริ่มต้นด้วยแผนพัฒนาภาคการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ได้แก่  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ในกลุ่มสินค้าเกษตร 5 ประเภท ได้แก่ ผลไม้ ประมง พืชพลังงาน พืชสมุนไพร และพืชมูลค่าสูงจำพวกไม้ยืนต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการฟื้นฟูภาคเกษตร ได้แก่ ให้เกษตรปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมเกษตรแม่นยำโดยนำร่องด้วยโครงการเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเพิ่มป่าชุมชนโดยมีการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มีค่าและให้มีการปลูกป่าในชุมชน ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ตลอดจนผลักดันให้รับรองการจัดการสวนป่า (Forest Management) ด้วยมาตรฐานชาติ มอก. 14061 อีกทั้งการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินโครงการจัดการสวนยางด้วยมาตรฐานชาติ มอก.14061 จำนวน 13 ล้านไร่ให้เสร็จใน 5 ปี โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรปลอดภัยและผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ใน 10 ของโลกตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

เกษตรกร อ้าแขนรับ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ฟื้นเศรษฐกิจฐานราก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในโอกาสเดินทางพร้อมทีมงานเพื่อศึกษาเรื่องพลังงานชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนไผ่เพชรล้านนา บ้านห้วยพระเจ้า ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปางว่า กระทรวงพลังงาน มีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะใช้มิติด้านพลังงานเข้ามาร่วมเสริมความเข้มแข็งพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพืชพลังงานนำมาทำโรงไฟฟ้าชุมชน หรือพืชพลังงานที่จะนำไปแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไบโอดีเซล หรือ เอทานอล สิ่งเหล่านี้คือความตั้งใจของกระทรวงฯ ที่เชื่อมโยงไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรฯ เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเริ่มต้นช่วงเวลายื่นเสนอโครงการฯ กระทรวงพลังงานจะขอข้อมูลจากสภาเกษตรกรแห่งชาติในการเข้าร่วมวิเคราะห์ว่าโครงการที่ขอเข้ามานั้นมีศักยภาพและความเป็นไปได้หรือประสบการณ์ในการปลูกพืชพลังงานกลุ่มนั้นๆอย่างแท้จริงหรือไม่

“โรงไฟฟ้าชุมชน คือความตั้งใจของกระทรวงพลังงาน ซึ่งหัวใจสำคัญคือความแข็งแรงของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการและมีส่วนในการเป็นเจ้าของ นำไปสู่ความมั่นคงในการขายพืชพลังงานป้อนสู่โรงไฟฟ้าชุมชน หากเกษตรกรมีความแข็งแรงประเทศไทยก็จะมีความแข็งแรงเพราะเกษตรกรเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นความแข็งแรงที่เป็นโครงสร้างที่มั่นคงของประเทศไทยมาโดยตลอด”นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประกาศนโยบายของกระทรวง​พลังงาน ​เป็นเรื่องที่ถูกใจพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ อาทิ การสูบน้ำจากบ่อบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) , พลังงานชุมชน เป็นต้น เกษตรกรต่างเฝ้าติดตามว่าเมื่อไหร่จะเกิดเป็นรูปธรรมจริงๆ สักที จนเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่พร้อมทีมงานเพื่อศึกษาพลังงานชุมชน และได้เห็นว่า “ไผ่” ใช้ประโยชน์ได้มากและหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เฟอร์นิเจอร์ ไม้ใช้สอยประจำวัน จนถึงเรื่องพลังงาน

“ไผ่” จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระทรวงพลังงานจะเอาใจใส่เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะช่วยวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพ ส่วนความห่วงใยและความกังวลเรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนหนีไม่พ้นเรื่องของมลภาวะ ความจริงคือปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่แพร่หลายในการเผาไหม้สมบูรณ์จนแทบไม่ปล่อยมลภาวะเลย สิ่งที่น่าห่วงคือภาครัฐมีความจริงจังแค่ไหน เช่น พื้นที่ปลูก เกษตรกรปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ต้องอนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์หรือเอามาขายได้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรมีความพร้อมมากที่จะนำศักยภาพอื่นๆมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของตนเอง เพียงภาครัฐต้องเข้าใจและมีนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกร

 “ต้องฝากพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศให้ความสนใจเรื่องพลังงานชุมชน หากสนใจเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เรื่องไผ่ ข้าวโพด พืชพลังงานอื่นๆ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นคำตอบที่จะเป็นรูปธรรมที่สุดที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจฐานราก แก้ปัญหารายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นรูปธรรมและยั่งยืน การขายพลังงาน ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไม่เคยมีปัญหาเรื่องราคาเพราะผู้ซื้อโดยเฉพาะภาคราชการเป็นผู้ซื้อหลักไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ขายไฟฟ้าเข้าระบบอย่างน้อยที่สุดเพื่อดูแลตัวเอง ใช้ในฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ หากเกษตรกรทั้งประเทศใช้โมเดลนี้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลดต้นทุนในการผลิตของตัวเองลงได้ ที่สำคัญคือหากกระทรวงพลังงานนำเรื่องนี้เป็นนโยบายก็จะสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ชนบท มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีเศรษฐกิจที่มั่นคงมากขึ้นได้”นายประพัฒน์ กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า" เหตุตลาดการเงินพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยง -กังวลการระบาดของไวรัสโควิด-19ในสหรัฐ กดดันให้นักลงทุนขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มโรงแรมกับสายการบินได้รับผลกระทบมากที่สุด

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า" จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.15-31.35 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ระบุว่า ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ด้วยความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสในสหรัฐ กดดันให้นักลงทุนขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่กลุ่มโรงแรมกับสายการบินได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 1.08% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีก็ร่วงลง 2bps มาที่ระดับ  0.64% หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเหนือระดับ1807 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจก็มีทั้งบวกและลบ โดยล่าสุดราคาบ้านในสหรัฐปรับตัวลง 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2012 ขณะที่ตัวเลขงานเปิดใหม่ (JOLT) เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 5.4 ล้านตำแหน่ง จากเดือนก่อน 5 ล้านตำแหน่ง ชี้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการทดถอยในส่วนของราคา แต่ธุรกิจส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในเชิงปริมาณไปพร้อมกัน

ด้านตลาดเงิน ดอลลาร์กลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้อีกครั้ง โดยในคืนที่ผ่านมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก พร้อมกับช่วงวันก่อนที่สกุลเงินเอเชียอ่อนค่าจากภาพตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง

นอกจากสองประเด็นดังกล่าว ระยะสั้นก็มีผลกระทบจากเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศของบริษัทใหญ่หนุนให้เงินบาทอ่อนค่าไปพร้อมกันด้วย จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

ส่วนในระยะกลาง เชื่อว่าตลาดยังไม่วางใจกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ โดยมีเศรษฐกิจสหรัฐเป็นตัวแปรหลัก ซึ่งถ้ายังไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ จนเศรษฐกิจต้องชะลอตัวต่อในไตรมาสที่สามนี้ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่กดดันให้นักลงทุนยังไม่กลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 กรกฎาคม 2563

“สุริยะ”ชูอินดัสตรีบับเบิลเชื่อมนิวซีแลนด์เสริมแกร่งเกษตรอุตสาหกรรมสองประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายทาฮาโมอานา ไอเซอา คลูนี แมกเฟอร์ซัน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมถึงแนวทางการลงทุนการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งกระทรวงโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) มีแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเกษตร จึงได้หารือกรอบความร่วมมือกับประเทศนิวซีแลนด์ในการเป็นพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรมเกษตร หรือ อินดัสตรีบับเบิล เพราะนิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกับไทยทั้งในด้านความปลอดภัยอาหาร และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน มั่นใจว่าแนวทางนี้จะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรของไทย มุ่งสู่เกษตรอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ดีขึ้น

“กรอบความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมหรือ อินดัสตรีบับเบิล ประเทศไทยจะนำเสนอองค์ความรู้ในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ บ้านบึงโมเดล จ.ชลบุรี ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าแม้ในภาวะวิกฤตยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการพัฒนานวัตกรรมระหว่างสองประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมเกษตรเพราะไทยและนิวซีแลนด์ ถือได้ว่าเป็นประเทศศูนย์กลางที่มีศักยภาพด้านการเกษตรของแต่ละภูมิภาคของตน”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่า ปัจจุบันนิวซีแลนด์เผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จึงอยากสร้างความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำเกษตรปลอดภัยและการบริหารจัดการความเสี่ยง อีกทั้งจากมาตรการทางสาธารณสุขที่ผ่านมา พบว่า ทั้งสองประเทศมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันจึงมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรแปรรูปไทย ในการส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป เชื่อว่าจะยกระดับความร่วมมืออินดัสตรีบับเบิลกับไทยในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเริ่มต้นจากความร่วมมือในด้านเกษตรอุตสาหกรรมที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก

นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยยาวนานกว่า64 ปีเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 31 ของไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่8 ของนิวซีแลนด์ โดยได้นำเข้าสินค้าทางการเกษตรมากที่สุดคือผลผลิตกลุ่มเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นการสั่งซื้อจากร้านอาหารไทยที่มีอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2563

‘สรท.’หั่นส่งออกปี’63 เหลือ -10% พร้อมเตรียมยื่นหนังสือเสนอนายกฯ พิจารณาค่าเงินบาท

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยว่า สรท. ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยปี 2563 ติดลบ10% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ8% บนสมมติฐานค่าเงิน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยความวิตกกังวลทั่วโลกที่อาจเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 รวมถึงปัจจัยค่าเงินบาทที่เริ่มกลับมาแข็งค่า ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง

สำหรับ สถานการณ์การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเป็นการลดลงติดลบ22.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงติดลบ 34.41% ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,694 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2563 หรือระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ไทยส่งออกรวมมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงติดลบ 3.71% โดยการนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงติดลบ 11.64% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ประเทศไทยเกินดุลการค้า 9,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้การส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สด แช่เย็น และแห้งจะขยายตัวดีถึง 20.9% หรือมีมูลค่าถึง 2,016 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ตาม แต่ภาพรวมส่งออกเดือนพฤษภาคมยังนับว่าปรับลดรุนแรงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน หรือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552

นางสาวกัณญภัค กล่าวต่อว่า โดยปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการส่งออก คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หลายประเทศยังต้องปิดประเทศอยู่ ส่งผลต่อปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะยังกระทบต่อการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ปรับลดมากถึง 60% ส่วนปัจจัยบวกจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (7 กรกฎาคม) ทางสรท.ได้เตรียมหนังสือเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาแนวทางลดผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าแล้ว มองว่าค่าเงินบาทควรอยู่ในระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะทำให้ภาคการส่งออกสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ มีข้อเสนอถึงภาครัฐ อาทิ ขอให้ลดและยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิต และกำหนดนโยบายการเก็บภาษีตามขั้นบันไดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เป็นต้น

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2563

ส่งออกระส่ำ เอกชนแห่ลดเป้า ทั้งปีติดลบหนัก

เอกชน-นักวิชาการแห่ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 63 หลังโควิดลากยาว กระทบเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า กำลังซื้อทั่วโลกหดตัว สภาผู้ส่งออก สภาอุตฯ-หอการค้า ฟันธงทั้งปีติดลบตัวเลขสองหลัก

วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจากเดิมคาดจะติดลบ 5.3% เป็นติดลบ 8.1% และการส่งออกเดิมคาดจะติดลบ 8.8% เป็นติดลบ 10.3% ถัดมาวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยจากเดิม ณ เดือนพฤษภาคมคาดการณ์ไว้จะติดลบ 3% ถึงลบ 5% เป็นติดลบที่ 5% ถึงลบ 8% และการส่งออกจากเดิมคาดจะติดลบ 5% ถึงลบ 10% เป็นติดลบ 7% ถึงลบ 10% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ออกมาคาดการณ์จีดีไทยปีนี้จะติดลบ 7.7% ซึ่งทุกสำนักชี้ปัจจัยหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจไทยและการค้าโลกหดตัวรุนแรงกว่าที่คาด ล่าสุดภาคเอกชนและนักวิชาการชี้แนวโน้มอาจต้องปรับลดคาดการณ์ลงอีก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากในเดือนพฤษภาคมล่าสุดมูลค่าการส่งออกของไทยติดลบที่ 22.50% ซึ่งเป็นการติดลบมากสุดในรอบ 4 ปี ส่วนตัวเลขเดือนมิถุนายนที่ยังไม่ออกมา คาดจะยังติดลบและยังไม่ดีขึ้น สรุปภาพรวมการส่งออกไทยครึ่งปีแรกจะยังติดลบแน่นอน ส่วนสถานการณ์ส่งออกช่วงไตรมาสที่ 3 ยังไม่น่าไว้ใจและยังต้องลุ้น เพราะเวลานี้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และในยุโรปหลายประเทศมีการกลับมาระบาดในรอบ 2

“การระบาดของโควิด-19 ถ้ามีรอบ 2 จะกระทบภาคการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 3 ตามไปด้วย ซึ่งเวลานี้มีทั้งกลุ่มสินค้าที่มีทั้งได้และเสียจากสถานการณ์ โดยที่ยังขยายตัวได้ดีคือกลุ่มผัก ผลไม้สดแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง และกลุ่มสินค้าอาหารในภาพรวม ขณะที่สินค้าคงทนและมีราคาสูงเช่น รถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยยังติดลบมาก ส่วนคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ทรอนิกส์ที่การส่งออกขยายตัวได้ดีช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจาก Work From Home พอถึงจุดหนึ่งยอดก็จะชะลอตัวลง ซึ่งหากไตรมาส 4 การขยายตัวของการส่งออกในภาพรวมยังกลับมาไม่ได้ การส่งออกของไทยปีนี้อาจติดลบถึงตัวเลขสองหลัก ซึ่งทาง สรท.จะได้มีการประชุมคาดการณ์ส่งออกใหม่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า จากที่คาดไว้เมื่อต้นเดือนมิถุนายนจะติดลบที่ 8%”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ล่าสุด กกร.ประกอบด้วยภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2563 ติดลบที่ -7% ถึง -10% ซึ่งเป็นผลกระทบหลักจากโควิด-19 ทำให้ดีมานต์ และบรรยากาศการค้าโลกหดตัวลง จากยังมีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศเป็นเวลานาน แม้เวลานี้หลายประเทศจะเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังทำ ได้ไม่เต็มร้อย และหลายประเทศอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขปัญหาภายในของตัวเอง ไม่ว่าจะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เอเชียใต้ แอฟริกา ส่วนที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิดอยู่ในฝั่งเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน ไทย เป็นต้น แต่การเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ

“ถามว่าตัวเลขเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยมีโอกาสจะปรับลดลงอีกหรือไม่ ก็มีโอกาส ขึ้นกับสถานการณ์โควิดของโลก หรือถ้ามีจุดเปลี่ยนเช่นมีการคิดค้นวัคซีนได้ คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่ข้ามประเทศได้ เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของโลกก็จะกลับมาปรับตัวดีขึ้น แต่มองว่าอย่างเร็วสุดจะเกิดขึ้นได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า”

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า คาดปีนี้การส่งออกของไทยจะติดลบสองหลักประมาณ -10% โดยสัดส่วนผลกระทบ 80% มาจากโควิด-19 และอีก 20% เป็นปัจจัยลบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่นข้อพิพาทจีน-อินเดียในดินแดนแคชเมียร์ สหรัฐฯผ่าน ร่างกฎหมายควํ่าบาตรจีนกรณีใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ที่ยังมีการตอบโต้กันไปมาจะส่งผลถึงบรรยากาศเศรษฐกิจ การค้าโลกฟื้นตัวช้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 กรกฎาคม 2563

อุตฯอ้อยน้ำตาลเจอศึกหนัก ศก.ซบคู่แข่งเยอะส่งออกลำบาก

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) เปิดเผยว่าภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยในประเทศไทยพบว่า ช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562-มิถุนายน 2563)มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตันหรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือน ที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่า อัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตัน ต่ำกว่า 10% จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่2.5 ล้านตัน

นอกจากนี้บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นหลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล สร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ (ปี 2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี 2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้ แต่ชาวไร่จำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่จะมีปริมาณฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูกก่อนเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในเดือนธันวาคม 2563

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด

“ผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทยและอินเดียที่มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้นแต่พอเจอผลกระทบ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันตกต่ำ บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 หันมาเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลก ดังนั้นโรงงานต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

พร้อมกันนี้ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางรอดโดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี รวมถึงการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และนำกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลของภูมิภาคนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ตั้งเวทีถกข้อตกลงCPTPP กกร.ศึกษาผลดี-ผลเสียก่อนร่วม

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดเสวนา “ความตกลงCPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี”โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และประเทศสมาชิกทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย ร่วม

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยว่า การพิจารณาเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (CPTPP) นั้น นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแล้ว จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย กกร. จึงได้จัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) กล่าวว่า กกร.ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อเท็จจริง รวมทั้งประเด็นที่ดีและไม่ดีต่างๆ สำหรับประเด็นที่ไม่ดีต้องกลับมาศึกษาว่าสามารถเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้ก่อตั้งจะช่วยให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดได้ และมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจโลกพอสมควร โดยเฉพาะในอาเซียน แต่ยังกังวลในเรื่องเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช และยา ที่ต้องมาทำความเข้าใจว่ากฎบัตรของ CPTPP ครอบคลุมลึกมากน้อยแค่ไหน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างต้องมองสิ่งที่เราได้เปรียบ เช่น การเกษตรที่สามารถวิจัยและพัฒนาได้ เป็นต้น

นายฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ผลกระทบจากการเข้าร่วมเจรจา CPTPP กล่าวได้ว่าจะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่แต่ละประเทศต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในประเทศของตนเอง โดยออสเตรเลียแสดงความยินดีที่ไทยจะพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

จับตาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้-เปิดตลาดอ่อนค่า –นักลงทุนกังวลเคลื่อนไหวผิดปกติ

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าจากเมื่อวาน เหตุนักลงทุนลดถือครองลงกังวลเคลื่อนไหวสวนทางสกุลเงินเอเซียอื่นที่ “แข็งค่า”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์  "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.09 บาทต่อดอลลาร์ -เหตุนักลงทุนลดการถือครองลงกังวลเคลื่อนไหวสวนทางสกุลเงินเอเซียอื่นที่ “แข็งค่า”  กรอบเงินบาทวันนี้ 31.02-31.22 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส  บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์(SCBS) ระบุว่า ตลาดเงิน ดอลลาร์อ่อนตัวลง 0.1% จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว  แต่เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทดูจะมีแรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศที่ลดการถือครองเงินบาทลง ด้วยความกังวลว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าผิดปกติเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ที่แข็งค่า ในวันนี้จึงต้องจับตาทิศทางของเงินบาทต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเชื่อว่าตลาดเงินจะมีความเคลื่อนไหวไม่มากเนื่องจากเข้าช่วงวันหยุดของฝั่งสหรัฐแล้ว

สำหรับคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐปรับตัวขึ้นได้ต่อ หลังจากที่ตัวเลขตลาดแรงงานชี้ว่าเศรษฐกิจบางส่วนกลับมาเปิดทำการแล้ว โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.5% ขณะที่ Euro Stoxx 600 ของยุโรป ก็ฟื้นตัวขึ้นถึง 2.0% ด้วยความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงิน ของธนาคารกลางยุโรปจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันและฝรั่งเศส

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Change in Nonfarm Payrolls) ที่เพิ่มขึ้นถึง 4.8 ล้านตำแหน่ง กดให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเหลือเพียง 11.1% จากเดือนก่อนที่ระดับ 13.3% โดยธุรกิจด้านท่องเที่ยวและสันทนาการเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานกลับมามากที่สุดถึง 2.08 ล้านตำแหน่ง ตามมาด้วยกลุ่มขนส่งและค้าปลีก

ฟากตลาดบอนด์ก็เป็นอีกหนึ่งแรงหนุนของตลาด เมื่อยีลด์สหรัฐไม่สูงขึ้น โดยยีลด์อายุ 10 ปีทรงตัวที่ 0.66% ด้วยความหวังว่าเฟด จะต้องมีนโยบายควบคุมยีลด์ระยะยาวในอนาคตเช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรปที่บอนด์ยีลด์ 10ปี เยอรมันและอิตาลีปรับตัวลง 4-6bps มาที่ระดับ -0.43 และ 1.20% ตามลำดับ ด้วยความหวังว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปจะผ่อนคลายลงอีก

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

'สมคิด' ดึงสหรัฐลงทุน EEC ดันไอเดียซิลิคอนวัลเลย์

 “สมคิด” กล่อมทูตสหรัฐลงทุนไทย ขยายซัพพลายเชน ย้ำไทยโดดเด่นภาคการผลิต ตลาดเงิน ตลาดทุน พร้อมให้ทำแพ็คเกจส่งเสริมจากบีโอไอ ผุดไอเดียซิลิคอนวัลเลย์ในอีอีซี

นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (2 ก.ค.) และได้หารือการเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐกับไทย

นายสมคิด กล่าวว่า เอกอัครราชทูตสหรัฐได้พัฒนากรอบแนวคิดบางอย่างในการสร้างความร่วมมือในการลงทุนระหว่างกันมาเสนอให้พิจารณาว่าอุตสาหกรรมอะไรบ้างที่จะต่อยอดความร่วมมือกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย

“ผมได้เสนอไปว่าให้สหรัฐโฟกัสที่ประเทศไทยเป็นพิเศษ เพราะเรามั่นใจว่าในขณะนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMVT ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน”

นอกจากนี้ ในปี 2564 จะเป็นปีที่โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศไทยจะยิ่งมีความโดดเด่น

ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความแข็งแรงและมีความน่าดึงดูดไม่แพ้ตลาดสิงคโปร์ โดยเฉพาะเมื่อไทยมีความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นของฮ่องกงและเสินเจิ้นในจีน จะทำให้ไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่สหรัฐควรจะให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ได้ชี้แจงบอกกับเอกอัครราชทูตสหรัฐว่าประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาคบริการและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งไทยสนใจที่จะให้สหรัฐมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในซิลิคอนวัลเลย์ จึงได้เสนอให้สหรัฐทำแพ็คเกจมาเสนอขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ซึ่งรวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพ สถาบันวิจัย และสถานศึกษา โดยไทยจะให้การส่งเสริมการลงทุนได้ทั้งมาตรการทางภาษีและการส่งเสริมผ่านกองทุนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

“ได้บอกกับเขาว่าเราจะเป็นฐานทั้งศูนย์กลางการผลิต ภาคบริการ และภาคการเงินของภูมิภาคได้ รวมทั้งในส่วนของการบริการทางการแพทย์ ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านนี้ จึงอยากให้สหรัฐเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ทางเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” 

นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร กล่าวว่า ได้หารือว่าไทยและสหรัฐจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะในด้านการลงทุนซึ่งในมุมมองของนักลงทุนสหรัฐมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเนื่องจากมองว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถที่จะเป็นที่ตั้งของซัพพลายเชนสหรัฐได้ 

“ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนการผลิตของอุตสาหกรรมได้ ซึ่งคาดว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังไทยมากขึ้น รวมถึงบริษัทและอุตสาหกรรมของสหรัฐด้วยซึ่งก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อไป”

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้นำร่องตั้งโครงการ Thailand Digital Valley @ Digital Park Thailand อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 30 ไร่ เป็นฮับธุรกิจดิจิทัลอีกแห่งของไทยและอาเซียน นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งมีธุรกิจดิจิทัลกระจุกอยู่มาก

Thailand Digital Valley ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาเมืองเป็น Smart City และเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมและบริการในอีอีซี รวมทั้งช่วยเร่งให้การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitization) ของผู้ประกอบการในพื้นที่ด้เร็วขึ้น

สำหรับดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เติบโตก้าวกระโดดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ยกระดับอุตสาหกรรมอื่น โดยช่วงปี 2558–2562 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล 990 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 40,000 ล้านบาท และปี 2562 มียอดคำขอในอุตสาหกรรมดิจิทัล 185 โครงการ มูลค่าการลงทุน 9,000 ล้านบาท

โครงการเฟส 1 ส่วนอาคารสำนักงานและ Intelligent Operation Center กำลังเดินหน้าพัฒนา ซึ่งมีพื้นที่รองรับผู้ประกอบการดิจิทัล 600 ตารางเมตร ในส่วนนี้บีโอไอร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เชิญชวนสตาร์ทอัพให้เข้ามาตั้งกิจการในอาคารนี้ก่อน โดยระยะแรกเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพในภาคตะวันออก และกลุ่มสตาร์ทอัพอื่นที่จะมาช่วยพัฒนาโซลูชั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาของเมือง หรือแก้ปัญหาของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและบริการในภาคตะวันออก

ส่วนอาคารถัดไป คือ Digital Knowledge Exchange Center ขนาด 4.5 พันตารางเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2564 บีโอไอกับ DEPA จะขยายเป้าหมายการเชิญชวนนักลงทุนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก (Tech Companies) เช่น Huawei, Google, Microsoft และบริษัทขนาดใหญ่และกลางที่ต้องการสร้างนวัตกรรม ให้เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มสตาร์ทอัพไทยด้วย

ทั้งนี้ การดึงดูดผู้ประกอบการและกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาตั้งกิจการในพื้นที่ Thailand Digital Valley บีโอไอได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนในอีอีซี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% อีก 2 ปี เพิ่มเติมจากการยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี และหากพัฒนาบุคลากรไทยตามเงื่อนไขจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 3 ปี รวมเป็นการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมทั้งหมด 5 ปี

นอกจากนี้ ยังชูจุดขายอื่นๆ ของพื้นที่ เช่น ระบบนิเวศน์ของธุรกิจดิจิทัลที่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า การพัฒนาโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีความท้าทาย และโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับนวัตกรและบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก

อีกทั้งยังจะมีโอกาสร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และผู้ประกอบการในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณติดกันภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อีกด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ร่วม-ไม่ร่วม 'CPTPP' รัฐบาลต้องตัดสินใจ

ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อเข้าหรือไม่เข้าร่วมนั้น รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อตัดสินใจให้รอบคอบ เพื่อสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ภาคสังคมและภาคเอกชน

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) (CPTPP) เป็นข้อตกลงที่เปลี่ยนมาจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำในการผลักดันอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงส่งผลให้ข้อตกลงซีพีทีพีพี ในปัจจุบันเหลือสมาชิก 11 ราย คือ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรูและเวียดนาม

รัฐบาลชุดที่แล้วมีนโยบายที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี และกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงมาพิจารณา รวมทั้งมีประเทศที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วม โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งเห็นว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมทั้งด้านการค้าและการลงทุน แต่รัฐบาลชุดที่แล้วหมดวาระไปก่อนที่จะได้ข้อสรุปและเรื่องนี้เป็นภาระต่อเนื่องมาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันตัดสินใจ

ทุกครั้งที่มีการหยิบยกประเด็นการเข้าร่วมข้อตกลงลงทีพีพี หรือซีพีทีพีพี จะมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยเมื่อครั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาแถลงการณ์การเข้าร่วมข้อตกลงเมื่อปี 2555 ในช่วงดังกล่าวได้รับการคัดค้านในวงกว้าง รวมถึงการคัดค้านในปัจจุบันที่เกิดขึ้นหลังจากมีการจัดวาระการประชุม ครม.เพื่อพิจารณาผลการศึกษาข้อดีข้อเสียและผลการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ที่เดินสายรับฟังทั่วประเทศ

แรงคัดค้านที่เกิดขึ้นส่งผลให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระนี้ออกก่อนเริ่มประชุม และต่อมาการพิจารณาเรื่องนี้กลับย้ายจากฝ่ายบริหารไปอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้แทนรัฐบาล และรัฐบาลส่งสัญญาณที่จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

ถึงแม้ว่ายังเหลืออีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะถึงการยื่นใบสมัครขอเข้าเป็นสมาชิก และเข้าสู่กระบวนการเจรจา ก่อนที่จะนำข้อตกลงลงกลับมาให้ ครม.และรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพื่อลงนามข้อตกลง ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยาวกว่าที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิก แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจาข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลต้องตัดสินใจ และเมื่อมีข้อมูลเพียงพอระดับหนึ่งควรตัดสินใจ เพื่อสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ภาคสังคมและภาคเอกชน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

จับตาอ้อย-น้ำตาลยุคไทยหวานน้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยขณะนี้ว่า กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยพบว่าในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่ เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ต.ค.2562-มิ.ย.2563) ประเทศไทยมีการบริโภค น้ำตาลรวม 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมกับการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ คาดว่าอัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ที่ 2.25 ล้านตันเท่านั้น จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน

ขณะที่ความต้องการในตลาดโลก ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง เพราะไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะที่ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2562/63 ลดลงเหลือเพียง 75 ล้านตัน

 “จากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า หรือปี 2563/64 คาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณการผลิตอ้อยใกล้เคียงกับปี 2562/63 ทำให้ชาวไร่อ้อยมีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2563/64 ก็อาจจะลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในเดือน ธ.ค.นี้”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

บริโภคน้ำตาลหดตัว 10% ทำราคาตลาดโลกร่วง ชาวไร่เร่งบริหารต้นทุน

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยในประเทศไทย พบว่าในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562 – มิถุนายน 2563) มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่าอัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่า 10% จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล สร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้  (ปี 2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธันวาคม 2563

ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด

“หลายประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทยและอินเดียที่มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่พอเจอผลกระทบ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันตกต่ำ บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 หันมาเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด”

พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมฯ โดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี รวมถึงการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และนำกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลของภูมิภาคนี้

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

กรมชลฯ วางยุทธศาสตร์จัดการน้ำสู่ชุมชนเพื่อเกษตรทุกภูมิภาค

เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในการใช้น้ำทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย “นายทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า กรมชลประทานได้วางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชุมชน ทั้งในด้านการขยายตัวของพื้นที่และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบรัดกุม ซึ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำแล้ง น้ำหลาก โดยเฉพาะการจัดเตรียมมาตรการป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยด้วยการแจ้งเตือนให้ทุกชุมชนได้ทราบกันล่วงหน้า เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

โดยกิจการชลประทานในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มด้วยมีพระราชดำริให้ขุดลอกคลองเก่าและขุดคลองขึ้นใหม่ในพื้นที่ราบภาคกลางของประเทศจำนวนมากเมื่อ พ.ศ.2431 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมคลองขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2445 ถึงวันนี้ ผ่านไป 118 ปีแล้ว และกรมชลประทานก็ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำขยายพื้นที่จากจุดเริ่มต้นประมาณ 680,000 ไร่ จนมีมากกว่า 33.98 ล้านไร่

“นายทองเปลว” สรุปการดำเนินงานของกรมชลประทานโดยแบ่งเป็น 4 ยุคสมัย ได้แก่ ยุคแรกนั้นเป็นยุคจัดหาดำเนินการเพื่อจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม มีการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น โครงการป่าสักใต้ : เขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ประกอบด้วยเขื่อนทดน้ำปิดกั้นแม่น้ำป่าสักพร้อมระบบส่งน้ำ รวมพื้นที่รับประโยชน์ 680,000 ไร่ การขุดคลองระพีพัฒน์ ยุคที่ 2 เป็น ยุคจัดเก็บ เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำหลักบนลำน้ำสาขาต่าง ๆ

ยุคที่ 3 เป็นยุคจัดสรร เป็นยุคของการขยายการชลประทานเพื่อจ่ายน้ำให้การเกษตรและพัฒนาระบบชลประทาน นำน้ำเข้าสู่ไร่นาแปลงเกษตรกรรม ด้วยการดำเนินงานก่อสร้างระบบคันคูน้ำและจัดรูปที่ดิน เพื่อแพร่กระจายน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นภาคีเครือข่าย,ทำระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ,บริหารจัดการระบบชลประทานโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม, จัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทานเพื่อพิจารณาแผนการส่งน้ำ , แผนการบำรุงรักษาระบบชลประทาน และประเมินผลการดำเนินงาน ,มีการใช้พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจัดรูปที่ดินให้สมบูรณ์ทั่วถึงทุกแปลง เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต การจัดระบบน้ำ จัดระบบชลประทานจากทางน้ำชลประทานในพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบัน พื้นที่จัดระบบน้ำ 11,209,820 ไร่ พื้นที่จัดรูปที่ดิน 2,017,298 ไร่ รวม 13.227 ล้านไร่ กำหนดเป้าหมายพื้นที่ทั้งหมดตามศักยภาพการพัฒนา 14.461 ล้านไร่ ตามแผนแม่บทการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558

ยุคที่ 4 เป็นยุคของการก้าวเข้าสู่มิติใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำภาคการผลิตของประเทศ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ศักยภาพของบุคลากร นวัตกรรมและองค์ความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย และเป็นยุคที่การดำเนินการของกรมชลประทานจะต้องสอดคล้องกับหลากหลายกิจกรรมในสังคม การวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนางานชลประทานอย่างมีทิศทาง ภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 และแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี

“นับว่าเป็นยุคที่การดำเนินงานจะต้องสอดประสานกับองค์ประกอบของสังคมในทุก ๆ ด้านอย่างลงตัว ต้องศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านน้ำ รวมถึงกระบวนจัดการน้ำ ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นหลัก”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

"โควิด" ฉุดยอดบริโภคน้ำตาลในประเทศลด 10%

"โควิด-19" ฉุดยอดบริโภค "น้ำตาล" ในประเทศลด 10% อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เร่งบริหารต้นทุนการผลิตรับมือความเสี่ยงด้านราคา

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ จากสถานการณ์ “โควิด-19” (COVID-19) ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี

ทั้งนี้ ในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่า อัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่า 10% จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ “สอน.” ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตันนอกจากนี้ ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล สร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์  ขณะเดียวกัน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้  (ปี2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธันวาคม 2563

นายสิริวุทธิ์  กล่าวต่อไปอีกว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด

“หลายประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทยและอินเดียที่มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่พอเจอผลกระทบ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันตกต่ำ บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 หันมาเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอล ส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด”

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมฯ โดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี รวมถึงการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และนำกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลของภูมิภาคนี้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

"บิ๊กป้อม" น้อมนำทฤษฎีแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำ

“บิ๊กป้อม” น้อมนำ ทฤษฎีแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำ กำชับ 2 หน่วยงานหลัก ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ-มหาดไทย นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดในวันนี้  (2 ก.ค.2563) พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเติมน้ำใต้ดิน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม มิราเคิล แกรนด์  คอนเวนชั่น  กรุงเทพฯ

พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุมโครงการเติมน้ำใต้ดินและการเตรียมขยายผลโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำทั่วประเทศโดยการประชุมได้มีการนำเสนอแนวทางและให้ความรู้เพื่อนำไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ พร้อมมอบคู่มือการเติมน้ำใต้ดินให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อนำไปถ่ายทอดผ่านผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ให้มีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ การยอมรับ เห็นคุณค่าการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ได้แก่ น้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำแล้ง

“บิ๊กป้อม” สั่งด่วนกำจัดผักตบชวา“แม่น้ำท่าจีน”รับฤดูน้ำหลาก

ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของตนและสามารถมีน้ำที่มีคุณภาพดีทั้งก่อนเก็บและหลังเก็บได้อย่างยั่งยืนตลอดไปซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณการแก้ปัญหาน้ำได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ สทนช. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นเจ้าภาพหลักในการศึกษาและกำหนดแนวทางการเติมน้ำใต้ดินเพื่อนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงน้ำท่วม/น้ำหลาก หรือจากน้ำฝนที่ตกลงมา เติมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาที่ต้องการ และเป็นการฟื้นฟูชั้นน้ำบาดาล แก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาลให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และเพิ่มน้ำต้นทุน ให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต

พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ ทส.และ มท.ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการเติมน้ำใต้ดินโดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ทฤษฎีแก้มลิงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง พร้อมกำชับ ผวจ.ทุกจังหวัดให้กำกับดูแล และควบคุม ท้องถิ่นที่ดำเนินการเติมน้ำใต้ดินจะต้องทำอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน/เกษตรกร เมื่อจำเป็นต่อไป พร้อมกันนี้ได้เชิญชวน ข้าราชการ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้ให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการและรณรงค์การประหยัดน้ำ รู้จักใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ทั้งการอุปโภคบริโภค การทำเกษตรปลูกพืชน้ำน้อย รวมถึง การมีแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเองได้ ของทุกภาคส่วน ในอนาคตข้างหน้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

โรงงานมึน! ยอดบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศส่อแววดิ่ง 10%

โรงงานน้ำตาลเกาะติดการใช้น้ำตาลใกล้ชิด หลังล่าสุด 9 เดือนแรกของฤดูการผลิตปี 62/63 (ต.ค. 62-มิ.ย. 63) ยอดใช้แตะระดับ 1.69 ล้านตัน คาดที่เหลืออีก 3 เดือนการใช้จะอยู่ที่ระดับเพียง 2.25 ล้านตัน จากที่ สอน.ประเมินไว้ปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน หรือต่ำกว่าที่ประเมิน 10% เร่งจับมือชาวไร่อ้อยบริหารต้นทุน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยพบว่าช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562-มิถุนายน 2563) มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่าอัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่า 10% จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล สร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ขณะเดียวกันไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ (ปี 2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน

“จากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี 2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธันวาคม 2563” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคอล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี เป็นต้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

รับมือความเสี่ยงราคาน้ำตาลตกต่ำ หลังโควิดฉุดการบริโภคลดลง

แนะเร่งบริหารต้นทุนการผลิต ต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ ชี้ไทยบริโภคน้ำตาลลดลง10 %จากผลกระทบโควิด -19 จับตาบราซิลชะลอผลิตเอทานอลเน้นส่งออกน้ำตาลเพิ่ม หวั่นกดราคาต่ำกว่าคาด

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี

สำหรับประเทศไทย พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ต.ค. 2562 - มิ.ย.2563)มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตันหรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2563 คาดว่า อัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาลสร้างแรงกดดันต่อราคาตลาดโลกซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ประมาณ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์

ขณะเดียวกันไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ (ปี2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี2563/64)จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้

ยอดเอทานอลพุ่ง คนเริ่มใช้รถยนต์ หลังปลดล็อคหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตามชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูกก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธ.ค. 2563

ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ร่วมมือกันเพื่อผ่านอุปสรรค โดยฝ่ายโรงงานและชาวไร่ร่วมกันดูแลอ้อยเข้าหีบให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดส่งเข้าหีบ ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงการจัดเก็บใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า โดยโรงงานดูแลประสิทธิภาพการหีบสกัดให้ได้น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงที่สุด

“หลายประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทยและอินเดียที่มีผลผลิตน้ำตาลลดลง ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่พอเจอผลกระทบ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและราคาน้ำมันตกต่ำ บราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 หันมาเพิ่มสัดส่วนนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลแทนการผลิตเอทานอลส่งผลกระทบต่อราคาตลาดโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย และสร้างความมั่นคงด้านผลผลิตในเชิงปริมาณและคุณภาพอ้อย รวมถึงประสิทธิภาพการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงที่สุด” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางรอดของอุตสาหกรรมฯโดยนำอ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มูลค่าเพิ่มสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไบโอเคมี รวมถึงการใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และนำกากน้ำตาลไปผลิตเอทานอล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) และส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลของภูมิภาคนี้

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิชาการเกษตรหนุนปลดล็อกสารชีวภัณฑ์

อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรหนุนแนวคิดการปรับสารชีวภัณฑ์จากบัญชีวัตุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ให้เกษตรกรผลิตได้โดยแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต ย้ำทำได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานนำเสนอและรับปฏิบัติ

นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวคิดจะปรับสารชีวภัณฑ์ ซึ่งสกัดจากธรรมชาติในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.1) มาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยระบุว่า เป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยมาพัฒนาสารชีวภัณฑ์ โดยไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติไล่แมลงและจุลชีพบางชนิดสามารถป้องกันและกำจัดโรคพืชบางโรคได้

สำหรับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เสนอข้อมูลตามหลักการ คณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาระดับความเป็นพิษของวัตถุดิบที่นำมาผลิตและกระบวนการผลิต ซึ่งต้องไม่ใช้กระบวนการทางเคมี เช่น หากนำสะเดามาคั้นน้ำ เพื่อใช้ไล่แมลงก็สามารถปรับมาเป็นบัญชีชนิด วอ.1 ได้ แต่หากนำไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์สมควรอยู่ในบัญชีชนิด วอ.2 เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติปรับบัญชีสารชีวภัณฑ์ใด จะมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมวิชาการเกษตรมีหน้าที่รับปฏิบัติ

นายอดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ปรับสารชีวภัณฑ์ใดให้อยู่ในบัญชี วอ.1 แล้วมีผู้ประสงค์ผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องมาแจ้งข้อเท็จจริงหรือจดแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะให้คำแนะนำเรื่องการติดฉลาก โดยระบุรายละเอียดถึงวัตถุดิบและกระบวนการผลิต วิธีและอัตราการใช้ ที่สำคัญ คือ วัตถุประสงค์การใช้ต้องเฉพาะเจาะจง เช่น ใช้ไล่หรือกำจัดแมลงชนิดใด ข้อที่เป็นห่วงคือ เกรงจะมีผู้ผลิตที่นำสารเคมีกำจัดแมลงมาผสมเหมือนกรณีที่ผู้ผลิตสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชนำพาราควอตมาผสมจำหน่าย ซึ่งเป็นการหลอกลวงเกษตรกร เพราะสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชได้ยังไม่มี สำหรับการผลิตจุลชีพมากำจัดโรคพืชนั้น ต้องพิจารณาผลข้างเคียง หากก่อให้เกิดการแพ้ได้ ต้องระบุในฉลากด้วย ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรต้องควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

“งานวิจัยจำนวนมากพบว่าสมุนไพรไทยหลายชนิดมีคุณสมบัติไล่แมลงได้ แต่ต้องพิจารณาระดับความเป็นพิษ โดยสะเดา พริก ตะไคร้ ดาวเรือง เป็นต้น ไม่อันตราย แต่โล่ติ๊นนั้นพิษรุนแรง จึงสมควรให้อยู่ใน วอ.2 ย้ำว่าปรับบัญชีสารชีวภัณฑ์ทำได้ แต่ต้องพิจารณาด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้” นายอดิศักดิ์ กล่าว

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สุริยะ เตรียมทนายสู้คดี ชี้แจงศาล เอกชนรุมฟ้อง “แบนพาราควอต”

“สุริยะ” ส่งทีมทนายสู้คดีหลังฝ่ายค้านแบนยื่นฟ้องศาลปกครอง หากแพ้ก็ไม่หวั่นเพราะประชาชนคนไทยได้ประโยชน์ เดินหน้าใช้งบฯ 1,900 ล้านบาท ลงช่วยเกษตรชุมชน ชู “บ้านบึงโมเดล” ต้นแบบใช้โดรนคุมผลผลิต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางศาลปกครองส่งหนังสือมาถึงตน เพื่อรับทราบคำฟ้องที่ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และบริษัทเอกชนฟ้องตนข้อหาที่เห็นชอบให้มีมติการแบนสารเคมีอันตราย ประกอบด้วย สารพาราควอต และสารคลอร์ไพริฟอส จากการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งตนได้เตรียมทีมทนายความไว้เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะนำเอกสารกระบวนการลงมติที่ประชุม

ในการชี้แจงต่อศาล และยังคงยืนยันว่าการลงมติแบนดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้อง แต่หากกระทรวงอุตสาหกรรมแพ้คดีการฟ้องในครั้งนี้ ก็จะยอมรับการตัดสินของศาล แต่ในทางกลับกันการแพ้คดีจะเป็นการทำให้ประชาชนชาวบ้านเองได้ประโยชน์ เพราะยังมีประชาชนเดือดร้อนอีกหลายรายที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดูแลเช่นเดียวกับการเตรียมนำงบฯ 1,900 ล้านบาท ลงมาช่วยด้านเกษตรชุมชน”

ในขณะนี้เราต้องยอมรับว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบศาลปกครองเขาไปดูแล้วว่าได้รับผลกระทบจริงกับผู้ประกอบการต่าง ๆ และเราก็ต้องดูแลเขา ส่วนกรณีที่ 3 ประเทศ บราซิล โคลอมเบีย อเมริกา ร้ององค์การการค้าโลก (WTO) เราจะดำเนินการอย่างไรต่อนั้นจะต้องรอผลการประชุมก่อนว่าออกมาเป็นอย่างไร”

สำหรับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เน้นไปที่ 4 กลุ่มเป้าหมายสำคัญคือผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และคนว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในภาคเกษตร จึงเริ่มโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 14,000 ล้านบาท ที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ยื่นขอจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลวงเงินรวม 400,000 ล้านบาทนั้น

เบื้องต้นเฟสแรก การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้พิจารณางบฯ 1,900 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการการจ้างงาน ฝึกอบรมเกษตรกร ช่วยในการแปรรูปสินค้าเกษตร การเข้าถึงเครื่องจักร เป็น 1 ใน 4 โครงการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กำหนดไว้โดยใช้ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นบ้านบึงโมเดลนำร่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 4 เท่าตัว หรือเป็นวงเงินที่พื้นที่ได้ประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท

สำหรับเศรษฐกิจฐานราก หัวใจหลักคือ การผลักดันเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งได้วางไว้ 3 ระดับคือ ระดับต้นน้ำ ที่จะเริ่มนำระบบการผลิตและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในฟาร์ม เช่น การพัฒนาโดรนอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการสำรวจผลผลิต สามารถฉีดพ่นสารอินทรีย์สำหรับพืชผลทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของเกษตรปลอดสารพิษในพื้นที่

ส่วนการพัฒนาในระดับกลางน้ำด้วยการนำกระบวนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร หรือยืดอายุด้วยหีบห่อ โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกล และนวัตกรรมการแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ และระดับปลายน้ำ เป็นการดำเนินธุรกิจขยายช่องทางการตลาด รวมถึงตลาดออนไลน์ที่มอบหมายให้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry Transformation Center (ITC 4.0) ในทุกภูมิภาคเป็นตัวเร่งดำเนินการ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า บ้านบึงโมเดลได้เริ่มการใช้โดรนในพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบอัจฉริยะ และเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่น Agricultural Machinery Services on Demand หรือ AMAS (อะ-มัส)เพื่อรวบรวมผู้ให้บริการทางการเกษตรซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีเครื่องจักรกลสมัยใหม่ที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนด้านเครื่องจักรกลและค่าบำรุงรักษา และยังช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตรงเวลาและเร็วขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 2 กรกฎาคม 2563

กรมเจรจาฯ เตรียมจัดสัมมนาชี้ช่องใช้ประโยชน์ “อาร์เซ็ป” หลังเป้าลงนามปลายปีใกล้เป็นจริง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตกลง “อาร์เซ็ป” หลัง 15 ชาติขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย คาดแล้วเสร็จเดือนนี้เพื่อเตรียมความพร้อม และชี้ช่องการใช้ประโยชน์ ก่อนสรุปเสนอ ครม.พิจารณาเดือน ต.ค. ขอความเห็นชอบลงนามเดือน พ.ย.ที่เวียดนาม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ ความเข้าใจผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยเตรียมจัดสัมมนาทั้งแบบออนไลน์ (Webinar) และการจัดสัมมนาแบบเชิญผู้เข้าร่วมมารับฟังและซักถามในห้องสัมมนาแบบพบปะกันจริงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องอาร์เซ็ป สาระสำคัญของการเจรจาอาร์เซ็ป การเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเจรจาอาร์เซ็ปของไทย

โดยการจัดสัมมนาจะให้ความรู้เกี่ยวกับอาร์เซ็ป ทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และประโยชน์ที่ไทยจะได้จากอาร์เซ็ป เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ และเตรียมการที่จะใช้ประโยชน์ หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และยังจะใช้โอกาสนี้รับฟังข้อกังวลที่จะนำไปสู่การเยียวยาช่วยเหลือได้ตรงจุดด้วย

สำหรับความคืบหน้าการลงนามความตกลงอาร์เซ็ป ขณะนี้สมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังอยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายของความตกลงทั้ง 20 บท รวมถึงการหารือข้อสรุปประเด็นปลีกย่อยในส่วนของการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนที่ค้างอยู่ โดยคาดว่าน่าจะจบได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ และเมื่อความตกลงสรุปได้ทั้งหมด กรมฯ จะรีบแปลเป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในช่วงเดือน ต.ค. 2563 เพื่อขอความเห็นชอบการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในเดือน พ.ย. 2563 ที่เวียดนาม

ทั้งนี้ แม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมความตกลงอาร์เซ็ป แต่ในภาพรวมอาร์เซ็ปที่มีสมาชิก 15 ประเทศ ยังถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเหมือนเดิม โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก โดยไทยค้าขายกับสมาชิกอาร์เซ็ปประมาณ 60% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย มีมูลค่าการส่งออก 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 57% ของการส่งออกทั้งหมด

ความตกลงอาร์เซ็ปเป็นความตกลงที่มีคุณภาพสูง ครอบคลุมทุกมิติการค้า ทั้งการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน โดยต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนมีอยู่เดิมกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือประเด็นใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยอยู่ในความตกลงที่อาเซียนทำไว้กับคู่เจรจา 6 ประเทศ เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การเคลื่อนย้ายชั่วคราวของบุคคลธรรมดา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขันทางการค้า

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

กกร.หั่นจีดีพีปีนี้เป็น -8% ถึง -5% หลังคาดไตรมาส 2 หดตัวสู่เลข 2 หลัก

“กกร.” ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ใหม่จีดีพีเหลือเป็น -8% ถึง -5% ส่งออก -10% ถึง -7% หลังประเมิน ศก.ไตรมาส 2 จะหดตัวสู่ตัวเลขสองหลัก เหตุโควิด-19 ต่างประเทศไม่ดีส่งผลทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ขณะที่ในประเทศแรงซื้อยังตกต่ำ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 ทั้งปีเป็น -8% ถึง -5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ -5% ถึง -3% การส่งออกเป็น -10% ถึง -7% จากเดิมคาด -10% ถึง -5% และเงินเฟ้อคาด -1.5% ถึง -1% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน และคาดว่าไตรมาส 2/2563 น่าจะหดตัวลงลึกสู่อัตราเลขสองหลัก

"แม้ไทยจะคลายล็อกดาวน์ทำให้กิจการหลายส่วนกลับมาปกติแต่กำลังซื้อยังคงอ่อนแรง ขณะที่การส่งออกยังเผชิญความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังรุนแรงและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบเมื่อใดทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวยังชะลอตัว ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และประเทศอื่นยังคงกดดันส่งออก รวมไปถึงการแข็งค่าของเงินบาทที่ กกร.มีความเป็นห่วงเพราะมีอัตราที่เร็วกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาคนี้และอาจแข็งค่าอีกในระยะข้างหน้า จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอกว่าที่คาด และการดำเนินนโยบายอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐฯ” นายปรีดีกล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยากให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือนที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และต้องให้เงินจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทเกิดการต่อยอดและหมุนเวียนเศรษฐกิจได้หลายรอบเพื่อประคองเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง

“ตอนนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ต่อเนื่อง แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนติดมาแล้วเกิดแพนิกรัฐไปล็อกดาวน์อีก จนไม่สามารถปลดล็อกประเทศได้ เอกชนคงไม่อยากเห็นเพราะจะยิ่งฉุดเศรษฐกิจมากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่โดยเฉพาะการวางตัวทีมเศรษฐกิจว่าเป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะตัดสินใจ แต่เอกชนต้องการบุคคลที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง ดูแลปากท้องประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทาง กกร.ไม่ได้มีวาระหารือเรื่องนี้

นอกจากนี้ กกร.ได้กำหนดจัดงานเสวนา "ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี" วันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อรับทราบข้อมูลประสบการณ์ และมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี ตลอดจนกระบวนการเจรจา

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

WTO กำชับสมาชิกห้ามส่งออกช่วงวิกฤติโควิด-19 หวั่นกระทบห่วงโซ่อุปทานโลก

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการเกษตร (Committee of Agricultural: COA) สมัยพิเศษในรูปแบบ Virtual Meeting ซึ่งจัดโดยองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) มี Ms. Christiane Daleiden ประธานคณะกรรมการด้านเกษตรขององค์การการค้าโลก เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรของโลกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากจะทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลกแล้ว ยังส่งกระทบในด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการสาธารณสุขที่เกิดการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ด้านการคมนาคมทางอากาศที่มีการห้ามการเดินทางเข้าออกนอกประเทศ ด้านห่วงโซ่อุปทานของโลกที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเนื่องจากการหยุดกิจกรรมทางด้านการผลิต

ปัญหาข้างต้นส่งผลให้บางประเทศได้ประกาศใช้มาตรการทางการค้าที่อาจขัดแย้งกับกฎระเบียบของ WTO เช่น การห้ามการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันรักษาโรค COVID-19 เพื่อบรรเทาภาวะความขาดแคลนสินค้าในประเทศของตน จึงจำเป็นต้องกำชับให้ประเทศสมาชิก WTO ร่วมกันหาแนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อไม่ก่อให้เกิดเป็นอุปสรรคทางการค้าของโลกโดยไม่จำเป็น เพราะการใช้มาตรการเช่นนี้ อาจทำให้อุปทานสินค้าอาหารของโลกลดต่ำลง ราคาสินค้าสูงขึ้น จนเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการค้าสินค้าเกษตร และเกิดการขาดแคลนสินค้าอาหารที่สำคัญ อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในที่สุด

โอกาสนี้ กลุ่มประเทศต่างๆ อาทิ กลุ่ม Cairns Ottawa และ EU ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืนในการใช้มาตรการทางการค้าในช่วงระหว่างสถานการณ์ COVID-19 โดยเน้นย้ำว่า การใช้มาตรการต้องสอดคล้องกับกฎ WTO และควรมีการบังคับใช้เป็นการชั่วคราว มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้เกิดการค้าที่เปิดกว้าง และคาดการณ์ได้ (open and predictable trade) โดยประเทศสมาชิก ได้ร่วมกันตรวจสอบมาตรการที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ประเทศสมาชิกได้แจ้งต่อ WTO เช่น เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกข้าว ส่วนอียิปต์ และฮอนดูรัส ได้ห้ามส่งออกพืชตระกูลถั่ว ขณะที่คาซัคสถาน รัสเซีย และคาจิกิสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น สำหรับประเทศไทยได้แจ้งให้ประเทศสมาชิกรับทราบเกี่ยวกับการใช้มาตรการห้ามการส่งออกไข่ไก่ โดยประกาศใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน 63 ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของ WTO

"ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิก WTO นำประเด็นข้อจำกัดในช่วงสถานการณ์ COVID-19 มาเป็นเหตุอ้างเพื่อนำมาตรการต่างๆ มาใช้เป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็น องค์การการค้าโลกในฐานะผู้ควบคุมการใช้มาตรการของประเทศสมาชิก ควรเร่งแสดงบทบาทอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการเร่งรัดสร้างกฎ กติกา และแนวทางสำหรับการใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงการสร้างช่องทางในการสื่อสารเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการค้า และติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์"รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

สุริยะ”เผยเริ่มจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยแล้ว ชาวไร่ 1.87 แสนรายเฮ!! รับ 9.6 พันล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/63 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวภายในเดือนมิถุนายน 2563 ล่าสุดได้รับรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 รอบแรกแล้ว

นายเมธากุล สุวรรณบุตร รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน สอน.เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 รอบแรกแล้ว ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาแต่ละรายโดยตรง เป็นไปตามกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้นโยบายไว้ ซึ่งมีปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือในรอบแรก จำนวน 73,203,956 ตัน มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบแรก จำนวน 187,885 ราย เป็นจำนวนเงิน 9,618,510,211 บาท

“ขณะนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขอแก้ไขข้อมูลผ่านระบบไลน์ตรวจสิทธิอ้อย โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ ธ.ก.ส. จำนวน 1,134 ราย คาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือในรอบที่สองประมาณเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้การจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2563″นายเมธากุลกล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย หากบัญชีของท่านไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่าโอนเงินสำเร็จแล้ว แต่กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่านว่าไม่สามารถรับโอนได้ ให้รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาและให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรับรองและส่งให้สอน. ตรวจสอบร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อเบิกจ่ายต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

“มนัญญา” จี้ปลดล็อกสารชีวภัณฑ์ออกจากบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2

มนัญญา” เดินหน้าเปิดทางเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เร่งกรมวิชาการเกษตรปรับจากบัญชีวัตุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายภายในเดือนกรกฎาคม ให้ครอบครองได้โดยแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต หวังใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ ดันไทยเป็นครัวโลก

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำรายละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางปรับสารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพ ซึ่งสกัดจากธรรมชาติในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2) มาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรที่ประสงค์ใช้แจ้งกรมวิชาการเกษตรเพื่อทราบเท่านั้น แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต เพราะไม่ต้องการให้พึ่งพิงกับสารเคมีกำจัดแมลงนำเข้าเพียงทางเดียว แต่หันกลับมาใช้ภูมิปัญญาไทยในการทำเกษตร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก

นางสาวมนัญญา กล่าวว่า การกำหนดให้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพเป็น วอ.1 จะเป็นการเปิดทางเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรและคนรุ่นใหม่คิดค้นหรือพัฒนาสูตรของสารกำจัดแมลง เพื่อใช้ในแปลงเกษตรให้มีหลากชนิดขึ้น โดยจะลดความกังวลของเกษตรกรต้องการผลิตสารกำจัดแมลงเพื่อใช้เองว่าจะผิดกฎหมาย แต่หากต้องการผลิตเพื่อการค้าจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ วอ. 2 ทั้งนี้ กำชับกรมวิชาการเกษตรกำหนดมาตรการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ในเอกสารเผยแพร่ของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ไม่มีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 คือ วัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการต่อกรมวิชาการเกษตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ประกอบด้วย สารชีวภัณฑ์รักษาโรคพืช เช่น บาซิลลัส ทูริงเยนซิส สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไวต์ออยล์ รีไฟน์ ปิโตรเลียมออยล์ ส่วนสารชีวภาพ คือ ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากพืชจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญหรือจุลชีพที่ทำขึ้น เพื่อใช้ในการป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลงหรือสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช และการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

“ประเทศไทยมีสมุนไพรกำจัดแมลงหรือวัชพืชหลายชนิด ใช้มาก คือ สะเดา แต่สะเดาถูกจัดไว้ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ.2 ทางวิชาการอาจจะท้วงติงเรื่องความเข้มข้นหรือยกอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การจะใช้ยากลำบาก อีกทั้งหากเกษตรกรจะผลิตใช้ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น คนไทยมีภูมิปัญญาไทยอยู่แล้ว หน่วยราชการมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการนำมาใช้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์สมุนไพรด้วย สำหรับอัตราส่วนการใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพนั้น ทางฝ่ายวิชาการต้องวิจัยเพื่อกำหนด แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้ามผลิต ทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาต่างชาติ ในอนาคตอาจมีสารสกัดจากพืชชนิดเยี่ยมก็เป็นได้ ลดการเสียดุลทางการค้าและลดสารเคมีตกค้างในร่างกาย และจะเป็นแนวทางส่งเสริมให้ไทยของไทยเป็นครัวโลกอย่างสมบูรณ์” นางสาวมนัญญา กล่าว.

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

เปิดเวทีผู้ส่งออกคุยทูตพาณิชย์ เจาะตลาดยุโรป-อาเซียน-เอเชียตะวันออก 

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรม มีกำหนดจัดโครงการเปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ออนไลน์ หรือ Online Export Clinic 2020 ประจำเดือนสิงหาคม 2563 โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะปรึกษาด้านการทำตลาดต่างประเทศ การส่งออกสินค้า ได้มีโอกาสปรึกษาโดยตรงกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ซึ่งครั้งนี้ มีทูตพาณิชย์จากกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป และ CIS ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออก มาให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ และแนวทางการเข้าสู่ตลาด โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2563

สำหรับภูมิภาคยุโรป รัสเซีย และ CIS กำหนดจัดวันที่ 4-5 สิงหาคม 2563 สามารถปรึกษาการทำตลาด และการเข้าสู่ตลาดสหราชอาณาจักร รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เดนมาร์ก ฮังการี เช็ก โปแลนด์ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ และสเปน

ภูมิภาคอาเซียน กำหนดจัดวันที่ 13-14สิงหาคม 2563 สามารถปรึกษาการทำตลาดและการเข้าสู่ตลาดกัมพูชาอินโดนีเซีย เมียนมามาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออก กำหนดจัดวันที่ 18-19 สิงหาคม 2563 สามารถปรึกษาการทำตลาดและการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น (โตเกียว โอซากา และฮิโรชิมา) เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย

นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่าผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมได้ที่ https://exportcliniconlineaug2020.as.me/ และเมื่อได้รับการสมัครจากท่านแล้ว ทางผู้จัดจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติ หากผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ทีมงานจะจัดตารางเวลาและทำการนัดหมายกับท่านต่อไป

การขอรับคำปรึกษา จะเป็นรูปแบบออนไลน์ด้วยระบบวีดีโอคอลผ่านโปรแกรม Zoom ผู้ประกอบการต้องมีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง ต้องแสดงตัวอย่างสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือภาพถ่ายระหว่างเข้ารับการปรึกษากับทูตพาณิชย์ โดยลงทะเบียนเข้ารับคำปรึกษากับเมืองที่ผู้ประกอบการสนใจ ซึ่งสามารถเลือกได้สูงสุด 5 เมืองและการลงทะเบียน 1 บริษัท มีสิทธิ์ลงทะเบียน 1 ครั้งหากลงทะเบียนซ้ำจะนับการลงทะเบียนครั้งสุดท้ายเท่านั้น

สำหรับประเภทสินค้าที่สามารถขอรับคำปรึกษาได้ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน ยาและอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ความสวยความงามและสปา เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร เครื่องประดับ การบริการ และอื่นๆ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด"อ่อนค่า"ที่ 30.92บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.92 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.87 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.80-31.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงซื้อขายในกรอบแคบ แม้สกุลเงินในภูมิภาคจะฟื้นตัวขึ้นจากตลาดหุ้นที่กลับมาบวก แต่เงินบาทดูจะไม่ได้รับความสนใจมากนักเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านนโยบายและในช่วงที่ผ่านมาก็แข็งค่าลงมาก่อนสกุลเงินเพื่อนบ้านแล้ว ซึ่งช่วงเดือนที่ผ่านมาถือเป็นการแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่มกราคม 2019 ในอนาคตจึงต้องจับตาทิศทางการคลายล็อคดาวน์ของทั่วโลก เชื่อว่าน่าจะเป็นปัจจัยหนุนจากสกุลเงินเอเชียและเศรษฐกิจไทยได้มากที่สุด

สำหรับหุ้นในสหรัฐปิดไตรมาสที่สองอย่างสดใส ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 1.5% รวมตลอดทั้งสามเดือนที่ผ่านมาถือเป็นการฟื้นตัวถึง 18.0% ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 สวนทางกับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างบอนด์ ที่ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ทยอยปรับตัวขึ้น 3bps มาที่ระดับ 0.66% และนักลงทุนเลือกที่จะถือทองคำบนความกังวลว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐยังไม่สามารถควบคุมได้ จนล่าสุดราคาขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 1781 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นอกจากตลาดหุ้น ราคาน้ำมันก็ทำสถิติใหม่ด้วยการปรับตัวขึ้นแรงที่สุดในรอบ 30ปี ถึง 91% ในไตรมาสนี้ ภาพดังกล่าวกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักจากการแข็งค่าของสกุลเงินที่เคลื่อนไหวอ้างอิงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นออสเตรเลีย (AUD) และนิวซีแลนด์ดอลลาร์ (NZD)

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ที่น่าสนใจมีเพียงการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในฝั่งสหรัฐ (U.S. Conf. Board Consumer Confidence) ซึ่งชี้ว่ามุมมองของชาวอเมริกันดีขึ้นใสกกว่าคาดขึ้นมาที่ระดับ 98.1จุด ขณะที่ความคาดหวังในอนาคต ปรับตัวสูงขึ้นต่อไปที่ระดับ 106จุด สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งปี 2019 ไปเป็นที่เรียบร้อย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 กรกฎาคม 2563