http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกรกฏาคม 2564]

BRR ลงนามเซ็นสัญญาคู่ค้ารายใหญ่

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR โชว์ความคืบหน้ากลุ่มธุรกิจ New S Curve  รับข่าวดีลูกค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ เหมาเครื่องจักรสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยลอตใหญ่ภายใต้สัญญาระยะยาว ป้อนให้ลูกค้ากลุ่มเชนร้านอาหารแบรนด์ชั้นนำ  รับโอกาสเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 คาดเฟสแรกใช้เครื่องจักร 4 เครื่อง กำลังการผลิต 4 ล้านชิ้นต่อเดือน เริ่มส่งออกเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ก่อนติดตั้งเพิ่มอีก 6 เครื่องภายในต้นปี 2565   

 นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจ New S Curve ของกลุ่ม BRR ในครึ่งปีหลัง จะเห็นทิศทางการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และจะเริ่มเข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงจาการดำเนินงานที่พึ่งพิงธุรกิจหลักคือการจำหน่ายน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ทำให้กลุ่ม BRR มีความมั่นคงของรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลาย และสามารถใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้ที่เกิดจากการกระบวนการผลิตน้ำตาล ช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ในระยะยาว โดยกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด หรือ SEW เป็นธุรกิจที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและจะขับเคลื่อนธุรกิจนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และลงทุนโรงเยื่อใหญ่ที่เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่กลุ่ม BRR  

ล่าสุด SEW ประสบความสำเร็จรุกขยายผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยไปตลาดต่างประเทศ หลังได้ลงนามรับจ้างผลิตสินค้าให้กับ Amercare Royal ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้นำเข้ารายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยประเภทชามภายใต้แบรนด์ลูกค้า (OEM) ส่งไปจำหน่ายให้แก่เชนร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐฯ หลังจากสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยใช้เครื่องจักรในการผลิตทั้งสิ้น 10 เครื่อง คิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งจะแบ่งการผลิตออกเป็น 2 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะใช้เครื่องจักร 4 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 4 ล้านชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะเริ่มผลิตสินค้าได้ภายในกันยายน-ตุลาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนเฟส 2 ที่ใช้เครื่องจักรผลิตจำนวน 6 เครื่อง กำลังการผลิต 6 ล้านชิ้นต่อเดือน คาดว่าจะเริ่มส่งออกได้ภายในไตรมาส 1/2565

 ความสำเร็จครั้งนี้ มาจากศักยภาพด้านการผลิตของ SEW ที่มีแหล่งวัตถุดิบเยื่อกระดาษสีน้ำตาลที่ผลิตจากชานอ้อยที่มีการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม BRR ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้านราคาขายที่ดีกว่าราคาในท้องตลาด ขณะเดียวกันคู่ค้าอย่าง Amercare Royal ต้องการกระจายความเสี่ยงด้านสงครามการค้าจากการว่าจ้างผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศจีน

 “สัญญาที่เราลงนามกับผู้นำเข้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ เป็นสัญญาจ้างผลิตระยะยาวที่เข้ามาช่วยเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นด้านผลการดำเนินงานจากกลุ่มธุรกิจ New S Curve ซึ่งมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลักดันการเติบโตให้แก่กลุ่ม BRR นับจากนี้เป็นต้นไป” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 21 กรกฎาคม 2564

"สุริยะ" เดินหน้าดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

"สุริยะ" เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน ย้ำต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง จากข้อมูลในปี 2563 ประเทศไทยมีการลงทุนหุ่นยนต์ฯ จำนวน 116,676 ล้านบาท และมีการสร้างอุปทานและพัฒนาเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (System Integrator: SI) ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (Center of Robotic Excellence: CORE)จำนวน 74 ราย มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 25% รวมถึงมีการผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าได้ 12% แม้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยการยกระดับการผลิตและเปลี่ยนวิกฤตสู่โอกาสเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเติบโตในอนาคต

"กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน โดยต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ"

ขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางด้านมาตรการรองรับอย่างมาก โดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์และการสร้างอุปทานที่สอดคล้องกัน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงกรมสรรพากรที่ให้ยกเว้นภาษีอากรตามประกาศและกระทรวงการคลังที่ยกร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและการสร้างอุปทาน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน SI จำนวน 74 ราย ฝึกอบรมยกระดับ SI รวมจำนวน 1,395 คน และบ่มเพาะ System Integrator (SI Startup) จำนวน 70 กิจการ

และพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ฯ รวม 185 ต้นแบบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ร่วมมือกับเครือข่ายได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนากำลังคน นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้เสนอแผนดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนเพื่อให้บริการทดสอบจัดทำมาตรฐานสนับสนุนอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อมและยกระดับทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ปัจจุบันได้พัฒนาระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ CoRE ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำ Platform เพื่อการบริหารจัดการเครือข่าย CoRE โดยจะยกระดับให้ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ Supply Chain ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงกับแฟลตฟอร์ม (Platform) ของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในลักษณะ Collaborative Platform เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับความต้องการของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ CoRE จะกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรม การทดสอบและวัดระดับของ SI ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเพิ่มจำนวน SI ในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อรองรับการขยายตัวและตอบสนองความต้องการระบบ Simplify Automation ทั่วประเทศ โดยยกระดับโรงกลึง อู่ซ่อมรถ ร้านซ่อมเครื่องจักรในพื้นที่  ซึ่งมีลักษณะเป็น Small shop ให้มีขีดความสามารถในการรับงานที่เป็น Automation มากขึ้น รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติและประเมินการปล่อยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบการได้ต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2564

ผลสำรวจนักวิเคราะห์หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้และปีหน้าเหลือ 1.3% และ3%

นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของจีดีพีไทยในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ1.3% และ 3.0% ตามลำดับประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะทรงตัวจากไตรมาส เดียวกันปีก่อน เหตุ COMD-19 ระลอกเดือน เม.ย. 64 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำรวจความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยจากนักวิเคราะห์( Analyst Survey ครั้งที่ 2 (ไตรมาส 3 ปี 2564)ที่เข้าร่วม Analyst Meetingจำนวน 42รายส่วนใหญ่มาจากธนาคารพาณิชย์(ธพ.)  บริษัทหลักทรัพย์(บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหลังปี 2565 ซึ่งช้ากว่าการสำรวจครั้งก่อน โดยปรับลดประมาณการฟื้นตัวของจีดีพีปีนี้และปีหน้าเหลือ 1.3% และ3.0% สาเหตุ 2ปัจจัยเสี่ยงกดดัน “การแพร่ระบาดของCOVID-19 และปัญหาหนี้ครัวเรือน” ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะทรงตัวจากไตรมาส เดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวจากการแพร่ระบาดของ COMD-19 ระลอกเดือน เม.ย. 64 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง

นักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าลงเหลือร้อยละ 1.3 และ 3.0 ตามลำดับโดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะทรงตัวจากไตรมาส เดียวกันปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวจากการแพร่ระบาดของ COMD-19 ระลอกเดือน เม.ย. 64 ที่ยืดเยื้อและรุนแรง

ขณะที่การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นเครื่องยนต์หลัก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจในภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว ได้เร็วกว่าธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิต จากการส่งออกที่มีแนวโน้ม ขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจ คือ นโยบายการเงินที่อยู่ใน ระดับผ่อนคลาย มาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจและประชาชน และมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของCOVID-19 และปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป

เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติช้ากว่าการสำรวจครั้งก่อน โดยนักวิเคราะห์ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติหลังปี 2565 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ส่วนระยะเวลาที่ประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตปกติยังมี ความไม่แน่นอนสูงโดยมีทั้งกลุ่มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้า ภายใต้สถานการณ์ที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันลดลงต่ำกว่า 500 ราย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 32.82บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจากแนวรับ 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่แนวต้านสำคัญอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอทยอยขายเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.82 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.80 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย โดย หากสถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท อาจทำให้ผู้นำเข้าต้องรีบกลับเข้ามาแลกซื้อเงินดอลลาร์ หรือ สกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่ผู้นำเข้ามักจะมีภาระจ่ายเงินออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมจากบรรดาผู้นำเข้าที่เร่งเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ จะทำให้โดยรวมค่าเงินบาทยังมีแนวรับที่สำคัญอยู่ในโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์  ขณะที่แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ดังนั้น ค่าเงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจากเดิมได้

นอกจากนี้ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ที่กดดันแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็ยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) ทำให้ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้นนี้

แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ทว่า ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึง แนวโน้มผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแข็งแกร่ง ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วน กล้าที่จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่ตลาดการเงินปรับฐานไปในวันก่อน หรือ Buy on Dip โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones พลิกกลับมาปิดตลาด +1.62% หนุนโดยกาปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้นราว +1.52% เช่นกัน ขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็รีบาวด์ขึ้นเช่นกัน หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.20% ขณะที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังรายงานผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่อาจขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ปิดบวกราว +1.57%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้น +0.71% จากแรงซื้อหุ้น Buy on Dip เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดกลับมาทยอยซื้อหุ้นในกลุ่ม Cyclical คืน หนุนให้ หุ้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินรีบาวด์กลับขึ้นมาบ้าง Safran +2.82%, Airbus +2.34%ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินก็รีบาวด์เช่นกัน ท่ามกลางความหวังว่า งบการเงินในไตรมาสที่ 2 จะออกมาสดใส Intesa Sanpaolo +1.94%, BNP Paribas +1.89% ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่เชื่อว่า การปรับฐานหุ้นยุโรปเป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มผลกำไรหุ้นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นยุโรปจะกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยมั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.22% ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) เพื่อหลบความผันผวนของตลาดในระยะสั้น  โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.97 จุด กดดันให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ทรงตัวที่ระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ (GBP) ที่ยังอยู่ ณ ระดับ 1.363 ดอลลาร์ต่อปอนด์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชีย ผ่านการติดตามทิศทางยอดการส่งออกและยอดการนำเข้า โดยเรามองว่า แม้ว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจะยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย ตามภาพเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะโตกว่า 40%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ยานยนต์และชิ้นส่วน เช่นเดียวกันกับในฝั่งไทย ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) อาจจะโตกว่า 38%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจร IC, ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 50%y/y ตามราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ ทั้งนี้ โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ยังคงเกินดุลไม่น้อยกว่า 540 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากรายงานยอดส่งออก ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งปัญหาการระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะยังคงกดดันมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ อย่างไรก็ดี เรามองว่า รายงานผลประกอบการขอบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของบรรดาผู้เล่นในตลาด อาจพอช่วยพยุงให้ตลาดไม่ได้ปรับฐานรุนแรงมากนักจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ความรุนแรงรวมถึงระยะเวลาของการปรับฐานอาจขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในแต่ละภูมิภาค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เช้าวันนี้ (21 ก.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมาเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศยังคงอยู่ในภาวะที่น่ากังวล โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ และสูงเกินจำนวนวันละหนึ่งหมื่นรายเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการสกัดโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2564

ไทย-บราซิลจ่อ MOU ลดข้อพิพาทอุดหนุนอ้อยน้ำตาล เดือนก.ค.นี้

ครม.เห็นชอบร่าง MOU ไทย-บราซิล ระงับข้อพิพาทอุดหนุนสินค้าน้ำตาล ย้ำชัดเลิกระบบโควตา งดจ่ายชดเชยโรงงาน คาดจะลงนามได้ภายในเดือนก.ค.นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิลว่าด้วย กรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจาก ในปี 2559 ทางบราซิลได้ยื่นเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวหาว่าไทยให้การอุดหนุนการผลิตและส่งออกสินค้าอ้อยและน้ำตาลซึ่งส่งผลกระทบต่อบราซิล และอ้างว่าระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการการแก้ไขข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ การยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล รวมทั้งการยกร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล  เป็นต้น ส่วนบราซิลได้เสนอให้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับไทยในปี 2562 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันปรับแก้ MOU จนเป็นที่ยอมรับแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามภายในเดือนกรกฎาคมนี้

สำหรับสาระหลักของร่าง MOU ประกอบด้วย การรับทราบปรับแก้มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราซิล ได้แก่ 1.ยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล เมื่อ 15 มกราคม 2561 2.ยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ โดยแก้ไขมาตรา17 (18)  พระราชบัญญัติอ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ.2527 3.ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เมื่อ 11 ตุลาคม 2559

4.ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงาน ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดยแก้ไขมาตรา 47 และมาตรา 56 พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการแก้ไข อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

จาก  https://www.posttoday.com   วันที่ 20 กรกฎาคม 2564

พาณิชย์จับมือ 3 สมาคมปุ๋ย ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตร

พาณิชย์จับมือ 3 สมาคมปุ๋ย ลดราคาปุ๋ย ช่วยเกษตรลดต้นทุนแล้วกว่า 11.8 ล้านบาท หลังราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้นสาเหตุสำคัญมาจากวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม รวมถึงปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

โดยการแก้ปัญหา เช่น ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรึงราคาออกไประยะหนึ่งเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและตรวจสอบสถานการณ์ราคาและเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพและเพื่อลดภาระการผลิตให้กับเกษตรกร

พร้อมกันนี้ กรมการค้าภายในได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จัดทำโครงการลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยขอความร่วมมือ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร จำนวน 3 สมาคม ประกอบด้วยผู้ผลิตและนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมี จำนวน 19 ราย โดยมีปุ๋ยที่ได้รับความนิยม รวม 84 สูตร อาทิ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 21-0-0 และสูตร 15-15-15 เป็นต้น

จำหน่ายผ่านสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยลดราคาเฉลี่ยกระสอบละ 20 บาท เป้าหมาย 208,411 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบที่ 1 ได้เชื่อมโยงจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร จำนวน 97 แห่งรวม 591,940 กระสอบ (29,597 ตัน) แบ่งเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 85 แห่ง ยอดรวม 587,980 กระสอบ (29,399 ตัน) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/แปลงใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ยอดรวม 3,960 กระสอบ (198 ตัน) ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 11,838,800 บาท ซึ่งสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์

กรมการค้าภายในยังมีมาตรการการกำกับดูแลด้านปริมาณและราคา โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณผลิต นำเข้า จำหน่าย คงเหลือ สถานที่เก็บ เป็นประจำทุกเดือน ภายในวันที่ 10 ของเดือน ผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย และผู้นำเข้าต้องแจ้งการนำเข้า (ปริมาณ ราคา ยี่ห้อ สูตร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้า ตามประกาศ กกร. ซึ่งกรมการค้าภายในจะได้ มีการติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2564

ลุย FTA ไทย-ปากีสถาน เชื่อมเส้นทางการค้าสู่ “จีน”

ข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ (FTA) ไทย-ปากีสถานหยุดชะงักมา 2 ปี จากปี 2562 หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในปากีสถาน ทำให้การเจรจาค้างอยู่ในรอบที่ 9 นับจากเริ่มเปิดการเจรจาเมื่อปี 2558 และยิ่งมาประสบภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำอีก ทำให้ความตกลงดังกล่าวแทบจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเลย

แต่ในวันที่ 10 ตุลาคม 2564 นี้จะครบรอบสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและปากีสถาน 70 ปี หากสองฝ่ายหวนคืนการเจรจากันอีกครั้ง นับได้ว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งสองฝ่ายในอนาคต

ในการสัมมนาออนไลน์ “เข้าถึง เข้าใจ โอกาสการค้าไทยในปากีสถาน” เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้กรมจะเจรจาความตกลงฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด

“ต้องยอมรับว่าปากีสถานเป็นประเทศที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมากมายที่จะดึงดูดการค้าและการลงทุน แต่ละปีมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยที่ 10 ล้านล้านบาท ประชากร 210 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 53,600 บาทต่อคนต่อปี

ในปี 2563 ไทย-ปากีสถานมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นประเทศคู่ค้าของไทยอันดับ 2 ของเอเชียใต้ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า”

นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักเอเชียแอฟริกาและตะวันออกกลาง กล่าวว่า ก่อนที่จะเจรจาเอฟทีเอนี้เมื่อปี 2558 กรมได้ศึกษาผลดีผลเสีย โอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทย ได้ผลสรุปเบื้องต้นว่า

เอฟทีเอนี้จะส่งผลให้จีดีพีไทยขยายตัว 0.08-0.32% ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยจะสามารถส่งออกเพิ่ม 170 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น เคมีภัณฑ์ พลาสติก เหล็ก ผัก ผลไม้ เป็นต้น และเพิ่มมูลค่าการลงทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ

และที่สำคัญ “ปากีสถาน” มีโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (ซีเปก) หรือ China Pakistan Economic Corridor (CPEC) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศประกาศทุ่มงบประมาณ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท

เดินหน้าความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีต่อพันธมิตรของทั้งสองประเทศ อีกทั้งปากีสถานได้ทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และศรีลังกา เป็นต้น

สำหรับเอฟทีเอจีน-ปากีสถานนั้นได้ลดภาษีระหว่างกันเป็นรอบที่ 2 ครอบคลุมสินค้า 90% ของสินค้าทั้งหมด ทำให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่จีนลดภาษีให้ปากีสถาน เช่น สิ่งทอ ฝ้าย หินอ่อนเป็นต้น

ส่วนปากีสถานลดภาษีให้จีน เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปปากีสถานเช่นกัน อีกทั้งปากีสถานยังมีเอฟทีเอกับต่างประเทศก็เป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย ไทยจึงต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอกับปากีสถานสร้างแต้มต่อการค้า

ทั้งนี้ ในการเจรจา 9 รอบที่ผ่านมาได้ข้อสรุปแล้ว 12 ข้อบท จากทั้งหมด 17 ข้อบท คือ ข้อบทบัญญัติพื้นฐาน คำจำกัดความทั่วไป การค้าสินค้าด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านมาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ด้านการเยียวยาทางการค้า ด้านความโปร่งใสด้านการบริหารจัดการและสถาบัน ด้านการระงับข้อพิพาท ข้อยกเว้น และบทบัญญัติสุดท้าย

แต่ยังอยู่ระหว่างเจรจาข้อบทด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และเตรียมจะเจรจาลำดับต่อไป คือ ข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านนโยบายการแข่งขัน ด้านการค้าบริการ และข้อบทด้านการลงทุน

นายส่องแสง ปทะวานิช รองประธานสภาธุรกิจไทย-ปากีสถาน กล่าวว่า หากไทยมีข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ปากีสถาน จะช่วยเพิ่มแต้มต่อของไทยในการแข่งขันส่งออกของไทยได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ปากีสถานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางทะเลเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อการส่งออก หากมีการเจรจาเอฟทีเอสำเร็จเชื่อว่าไทยจะเป็นโอกาสการลงทุนด้านการประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องซึ่งไทยเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสการส่งออกสินค้ากลุ่มพลาสติก เครื่องสำอาง ที่มีโอกาสเติบโต

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ช่วงโควิดส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่มากนัก แต่ที่ผ่านมาการซื้อ-ขายมีอัตราเติบโตดี กรมได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกผ่านระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการค้าให้มากขึ้น

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้า เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็นแช่แข็ง พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2564

พาณิชย์เข้มเช็กสต๊อกปุ๋ย ขู่กักตุนโก่งราคาแพงเจอคุกแน่! – จับมือ 3 สมาคมหั่นราคาช่วยเกษตรลดต้นทุนแล้วกว่า 11.8 ล้าน

พาณิชย์เข้มเช็กสต๊อกปุ๋ย – ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาปุ๋ยในตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้นสาเหตุสำคัญมาจากวัตถุดิบแม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม รวมถึงปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปที่ส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

กรมการค้าภายใน ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่ายปุ๋ยตรึงราคาออกไประยะหนึ่งเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและตรวจสอบสถานการณ์ราคาและเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรด้านปัจจัยการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพและเพื่อลดภาระการผลิตให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ กรมร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จัดทำโครงการลดราคาปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยขอความร่วมมือ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร จำนวน 3 สมาคม ประกอบด้วยผู้ผลิตและนำเข้าแม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมี จำนวน 19 ราย โดยมีปุ๋ยที่ได้รับความนิยม รวม 84 สูตร อาทิ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 21-0-0 และ สูตร 15-15-15 เป็นต้น จำหน่ายผ่านสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร ในราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยลดราคาเฉลี่ยกระสอบละ 20 บาท เป้าหมาย 208,411 ตัน ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งจะดำเนินการให้ครบตามเป้าหมายจนถึงสิ้นเดือนส.ค. 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบที่ 1 ได้เชื่อมโยงจำหน่ายผ่านสถาบันเกษตรกร จำนวน 97 แห่งรวม 591,940 กระสอบ (29,597 ตัน) แบ่งเป็นสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 85 แห่ง ยอดรวม 587,980 กระสอบ (29,399 ตัน) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน/วิสาหกิจชุมชน/แปลงใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ยอดรวม 3960 กระสอบ (198 ตัน) ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 11,838,800 บาท ซึ่งสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์

นอกจากนี้ กรมยังมีมาตรการการกำกับดูแลด้านปริมาณและราคา โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ตั้งแต่ 100 ตันขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณผลิต นำเข้า จำหน่าย คงเหลือ สถานที่เก็บเป็นประจำทุกเดือน ภายในวันที่ 10 ของเดือน ผู้ผลิตจะต้องขออนุญาตเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย และผู้นำเข้าต้องแจ้งการนำเข้า (ปริมาณ ราคา ยี่ห้อ สูตร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นำเข้า ตามประกาศ กกร. ซึ่งกรมการค้าภายในจะได้ มีการติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 20 กรกฎาคม 2564

รายงานพิเศษ : ก้าวสู่มิติใหม่...การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีเจตนารมณ์ต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นไปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับชาติ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ระดับลุ่มน้ำ คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และระดับพื้นที่ คือ องค์กรผู้ใช้น้ำ

ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ยังได้ออกกฎหมายลำดับรองคือ พระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 เพื่อให้เหมาะสมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชนจาก 25 ลุ่มน้ำเดิม เหลือ 22 ลุ่มน้ำใหม่

ดังนั้นในแต่ระดับจะต้องมีการคัดเลือกและสรรหากรรมการขึ้นมาบริหารซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ จะเป็นการบริหารจัดการโดย “องค์กรผู้ใช้น้ำ”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สนทช. ได้เปิดรับจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงล่าสุดวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มีกลุ่มบุคคลที่สนใจยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำกว่า 2,674 องค์กร อนุมัติแล้ว 2,487 องค์กร โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม 2,071 องค์กร ภาคอุตสาหกรรม 235 องค์กร และภาคพาณิชยกรรม 181 องค์กร ที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ยื่นคำขอนั้นจะอยู่ในลุ่มน้ำพื้นที่ภาคกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สทนช.ภาค 2 เป็นส่วนใหญ่ถึง 40% ลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สทนช.ภาค 1 จำนวน 38% ลุ่มน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สทนช.ภาค 3 จำนวน 15% และลุ่มน้ำพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สทนช.ภาค4 จำนวน 7% กระจายครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักทั่วประเทศ

 “องค์กรผู้ใช้น้ำเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพราะองค์กรผู้ใช้น้ำจะเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการใช้น้ำ สามารถสะท้อนแนวทางแก้ไขตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงต่อตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ องค์กรผู้ใช้น้ำยังเป็นช่องทางสำคัญในการออกเสียง เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหาที่แท้จริงจากพื้นที่ และนำเสนอโครงการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำได้โดยตรง ตลอดจนร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ไกล่เกลี่ย แก้ไขปัญหาร่วมกัน กรณีเกิดข้อขัดแย้งระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น”

เลขาธิการ สทนช. กล่าว

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับต่อมาคือระดับลุ่มน้ำ โดยจะมีจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำขึ้นมาบริหาร ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งหมด 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำนั้น จะประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยภาครัฐ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนจะมีผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ส่วนลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจะมีผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีผู้แทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำนั้น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งผู้แทนจากองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำจำนวน 4 คน ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนของกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนจาก อปท. นั้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีผู้บริหาร อปท. ครบทั้ง 3 ประเภท ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และยังไม่มีประธานกรรมการลุ่มน้ำที่จะทำหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้กรรมการลุ่มน้ำไม่ครบตามองค์ประกอบของกฎหมาย สทนช.จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงการได้มาซึ่งกรรมการลุ่มน้ำฯ เพื่อให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำชุดแรกเกิดขึ้นโดยเร็วโดยเปิดโอกาสให้ อปท. ใน 3 ประเภทข้างต้นที่มีผู้บริหารแล้วส่งรายชื่อผู้บริหาร จำนวน 1 คน เข้ารับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำแล้วสามารถเป็นกรรมการลุ่มน้ำในลุ่มน้ำข้างเคียงได้ ถ้าเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่บางพื้นที่ยังมีผู้บริหาร อปท. ไม่ครบทั้ง 3 ประเภท

นอกจากนี้ สทนช. ยังได้เสนอให้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดบุคคลผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ แต่งตั้งบุคคลทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมที่ประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ แต่เนื่องจากทุกลุ่มน้ำยังไม่มีประธานกรรมการลุ่มน้ำ จึงเสนอให้เลขาธิการ สทนช. ทำหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหากรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิแทน

“สทนช. จะเร่งเดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้” ดร.สมเกียรติ กล่าวยืนยัน

ส่วนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับสูงสุดคือ ระดับชาติ โดย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ นอกจากนี้กรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คนและกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 6 คน โดยมีเลขาธิการ สทนช. ปฏิบัติหน้าที่กรรมการและเลขานุการ และมีข้าราชการของ สทนช. ทำหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกิน 2 คน

“กนช. มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในทุกมิติ อาทิ การจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทฯ รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี การพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ เป็นต้น” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำหรับการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช.ทั้ง 6 คนนั้น ประธาน กนช. จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจำนวน11 คน ซึ่งจะมีเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานกรรมการคัดเลือก และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้ทันต่อกรอบการเสนอแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องจากกรรมการลุ่มน้ำจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการพิจารณาแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อแผนงาน/โครงการด้านพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเสนอในปี 2566 ด้วย

“เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทั้ง 3 ระดับ คือระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงรวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561”ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ฟันธง!!!

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งFTAไทย-ปากีฯจบปีนี้ กรมเจรจาฯชี้ช่วยเพิ่มGDP-การค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ปากีสถาน ว่า ขณะนี้การเจรจามีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยสามารถเจรจาในส่วนของการค้าสินค้าไปแล้ว 9 รอบ สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว 12 เรื่อง จากทั้งหมด 13 เรื่อง เหลือเพียงเรื่องพิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และประเด็นการเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ที่จะต้องเจรจากันต่อเพื่อเร่งหาข้อสรุปต่อไป โดยตั้งเป้าที่จะเจรจากันให้จบภายในปี 2564 เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

“การทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์กับไทย โดยในด้านเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.18-0.32% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200-800 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งถึง 1 ใน 5 ของตลาดปากีสถาน ปัจจุบันถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 30-100% เคมีภัณฑ์ 0-20% เหล็ก 3-30% ผักและผลไม้ 16-20% พลาสติก 0-20% และยางพารา 0-30% เป็นต้น” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ การทำ FTA จะช่วยให้ไทยสามารถใช้ปากีสถานเป็นฐานการผลิต เพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และจีน จากการที่ปากีสถานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีมากกว่า 22 แห่ง กระจายอยู่ทั้งในกรุงอิสลามมาบัด และ 4 แคว้นของปากีสถาน ได้แก่ ปัญจาบ สินธ์ บาลูจิสถาน และไคเบอร์ปัคตูนควา โดยนักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลเป็นเวลา 10 ปี ได้รับการยกเว้นภาษีสินค้าทุน และได้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ทางยกระดับ ท่าเรือน้ำลึก ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor SEZ : CPEC) มูลค่ากว่า 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ที่เน้นการเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานกับภาคตะวันตกของจีน

ในขณะเดียวกันปากีสถานยังได้เปิดเสรีการลงทุนในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเช่น แปรรูปอาหาร โลจิสติกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ ไอที การก่อสร้าง การท่องเที่ยวและการโรงแรม ยกเว้นสาขาด้านความมั่นคง อีกทั้งปากีสถานยังมีสินค้าที่น่าสนใจ และสามารถเป็นวัตถุดิบสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น สิ่งทอ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์กีฬา ผลไม้ (ส้มแมนดารินฝรั่ง อินทผลัม) ซีเมนต์ หินอ่อน หินแกรนิต เกลือหิมาลัย เคมีภัณฑ์ พรมเปอร์เซีย ข้าวบาสมาติเป็นต้น โดยสินค้าที่ผลิตในปากีสถานได้รับการยอมรับมาตรฐานสินค้าฮาลาลจากประเทศที่บริโภคสินค้าฮาลาลเป็นหลัก ทำให้สะดวกและช่วยเพิ่มแต้มต่อในการส่งออกไปกลุ่มประเทศเป้าหมายนี้ด้วย

นางอรมนกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปากีสถานเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 220 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากถึง 30 ล้านคนอีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ทองแดง ถ่านหิน ทองคำ และทรัพยากรประมง เช่น กุ้ง ปู ปลา และหอย ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของไทยได้รวมทั้งที่ตั้งของประเทศที่เชื่อมโยงกับเอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และจีน จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยสามารถปักหมุดสานสัมพันธ์ในด้านการค้าและการลงทุน

ส่วนในด้านการค้านั้น ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยการค้ารวมระหว่างไทย-ปากีสถานในปี 2563 อยู่ที่ 1,108 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปปากีสถาน 980 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น และนำเข้าจากปากีสถาน 128 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่น้ำอัดลม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เอกชนโอดกกท.บังคับถ่ายสินค้าท่าเรือเอ แหลมฉบังทำต้นทุนพุ่ง

ภาคเอกชน แห่ร้อง “คมนาคม-พาณิชย์-สุพัฒนพงษ์” จี้ “การท่าเรือ” ชะลอบังคับใช้ประกาศ ที่บังคับให้เรือชายฝั่งต้องขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้า เฉพาะที่ท่าเรือเอ แหลมฉบังเท่านั้น เหตุเป็นการผูกขาด เพิ่มภาระต้นทุนให้ 1.2-1.5 พันบาท/ตู้ ที่สำคัญ ไร้ประสิทธิภาพบริหา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ ภาคเอกชนหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และนำเข้า ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีละรมว.พลังงาน เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.64 ที่มีมติให้กทท.ชะลอบังคับใช้ประกาศ เรื่อง ให้เรือชายฝั่งที่รับตู้สินค้าขาเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container) ณ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือเอ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.63 ออกไปก่อน เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่ชะลอการบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ส่งออก-นำเข้า และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดือดร้อนมาก

ทั้งนี้เพราะการประกาศดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจผูกขาดของกทท. ทำให้เรือชายฝั่ง ที่จะขนถ่ายตู้สินค้าขาเข้าจากเรือคอนเทนเนอร์ ไม่สามารถขนถ่ายตู้ที่ท่าเรืออื่นๆ ในแหลมฉบังได้ เช่น ท่าเรือระหว่างประเทศได้ เพราะถูกบังคับให้ขนถ่ายตู้เฉพาะที่ท่าเรือเอเท่านั้น ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,236 บาท/ตู้ 20 ฟุต และ 1,500 บาท/ตู้ 40 ฟุต แม้กทท.เรียกเก็บจากสายการเดินเรือ แต่สายเรือหลายสายก็มาเรียกเก็บจากผู้นำเข้า 

นอกจากนี้ กทท.ยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารท่าเรือ ก่อให้เกิดความแออัดที่ท่าเรือแหลมฉบัง จนเกิดความล่าช้าในการขนส่ง 7-15 ชั่วโมง บางครั้งยาวนานเป็นสัปดาห์ โดยกทท. คาดว่า ท่าเรือเอ จะขนถ่ายตู้ได้ปีละ 300,000 ตู้ แต่กลับทำได้เพียงวันละ 560 ตู้ หรือปีละราว 200,000 ตู้ และปัจจุบัน มีตู้ขาเข้าตกค้างกว่า 4,000-5,000 ตู้ ต้องใช้เวลาเคลียร์ตู้นานกว่า 8 วัน ยังไม่นับรวมตู้ขาเข้าที่ทยอยเข้ามาทุกวัน ผู้ประกอบการจึงต้องเปลี่ยนมาขนถ่ายทางบกแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้เพิ่มต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังสร้างปัญหาการจราจรติดขัดในแหลมฉบังเพิ่มขึ้นด้วย 

สำหรับสาเหตุที่กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมติครม. น่าจะเป็นเพราะต้องการมีรายได้นำส่งกระทรวงการคลังตามเป้าหมาย เนื่องจากหลังการเปิดใช้ท่าเรือเอ เดือนก.พ.63 เกิดโควิด-19 ระบาดพอดี ส่งผลให้การใช้บริการลดลง จากการส่งออก และนำเข้าลดลง จึงออกประกาศบังคับใช้ท่าเรือเอ แต่ความพยายามแก้ปัญหาขาดทุนระยะสั้นของกทท. กลับสร้างภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ภาคเอกชนเห็นว่า การใช้ท่าเรือเอลดลง เป็นเพราะผลกระทบจากโควิด เมื่อโควิดคลี่คลาย การส่งออก นำเข้าจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม  

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้กทท. ทำตามมติครม. ที่ให้ชะลอการบังคับใช้ชั่วคราวออกไปก่อน และให้ทีดีอาร์ไอ ศึกษาโครงสร้างต้นทุนการขนส่งสินค้าชายฝั่งของท่าเรือแหลมฉบังให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อใช้กำหนดอัตราค่าภาระในการใช้บริการที่เหมาะสม และเร่งปรับปรุงการบริหารจัดการและการประกอบการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเรือเอ) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น

“ถ้ากทท.ยังไม่ยอมดำเนินการตามมติครม. ภาคเอกชนก็ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้อีกแล้ว เพราะครม.ใหญ่สุดแล้ว สรท.ทะเลาะกับกทท.เรื่องนี้แรงมาก เราเดินเกมมาสุดทางแล้ว ไม่มีทางให้เดินอีกแล้ว”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.81บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ15เดือน

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง กดดันให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย คาดเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้ คาดกรอบเงินบาทวันนี้ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์และสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.81 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสองประเด็นหลักที่ต้องจับตา แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย

โดยเรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผู้เล่นในตลาดคงกังวลปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก โดยสถานการณ์ที่เลวร้ายลงจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ต่อ คล้ายกับช่วงต้นปีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกว่า 4.5% (รอบล่าสุด เงินดอลลาร์แข็งค่าแล้วกว่า 3.6%)

นอกจากนั้น ปัญหาการระบาดโควิด-19 ในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น (อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

อนึ่ง แนวต้านสำคัญเงินบาทยังอยู่ในโซน 32.80 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวก็สามารถอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยกดดันเงินบาท คือ การระบาดในไทยที่เข้าขั้นวิกฤติและอาจมีการใช้มาตรการ ล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขั้นสูงสุด

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันให้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) สะท้อนผ่านเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น พร้อมกับยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรระวังและติดตามการระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด หลังเริ่มพบการระบาดมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ตลาดการเงินอาจกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ ฝั่งสหรัฐฯ – เรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส หนุนโดยแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึง ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.5 แสนราย ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติ โควิด-19 ขณะเดียวกัน ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ(Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม จะอยู่ที่ ระดับ 62 จุด และ 64.5 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุดหมายถึง ภาวการณ์ขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวได้ดีอยู่

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป – ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วยุโรปที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นรวดเร็ว จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่า นโยบายการเงินยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายต่อไปเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ-0.50% พร้อมกับ เดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอีต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่า ECB ก็มีโอกาสทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีหน้า ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หนุนโดยการลงทุนขนานใหญ่ผ่าน EU Recovery fund ที่จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายและลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ อย่างไรก็ตาม แม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA และ Viral vector ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกรกฎาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -2.5 จุด จาก -3.3 จุด ในเดือนก่อน หรือ คนยุโรปมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการในยุโรปก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการในเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.5 จุดและ 59.3 จุด ตามลำดับ

ในฝั่งเอเชีย – แม้ว่าปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจะยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย ตามภาพเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะโตกว่า 40%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ยานยนต์และชิ้นส่วน อนึ่ง ปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะทำให้บรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย เรามองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย(BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-Day Reverse Repo) ไว้ที่ระดับ 3.50% สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ +3.8% อย่างไรก็ดี เรามองว่า BI มีแนวโน้มทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในครึ่งหลังปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

และในฝั่งไทย – ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) อาจจะโตกว่า 38%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจร IC, ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 50%y/y ตามราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ ทั้งนี้ โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ยังคงเกินดุลไม่น้อยกว่า 540 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากรายงานยอดส่งออก ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปักธงโครงการ PIS ตั้งเป้า "ชลประทานสู่การบริหารน้ำอัจฉริยะ"

การบริหารจัดการน้ำแบบครบทั้งระบบ สามารถวิเคราะห์ได้ทุกมิติ และตลอดทุกช่วงเวลา เป็นนโยบายท้าทายที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารจัดการน้ำในอนาคตแบบไร้ข้อจำกัด ซึ่งจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่เกิดในปี2563 ต่อเนื่อง 64 ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้การบริหารน้ำได้เต็มกำลังแม้สถานการณ์จะมีข้อกำจัดเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ”มุ่งเป้าสู่การชลประทานอัจฉริยะ(The Project for Irrigation toward Smart (PIS)” ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมมาบริหารจัดการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกรมชลประทาน เป็นการผสานระหว่างคนและเครื่องมือ โดยจะเริ่มพัฒนาระบบปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องจำนวนบุคลากรและอุปสรรคที่คาดไม่ถึง ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานแล้ว เป้าหมายโครงการ 10 ปี เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นลักษณะของการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขให้มีการนำเทคโนโลยีปรับเข้ามาใช้ตามภาวะงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กรมจะมีการตั้งให้มาสอดรับกับพันธกิจที่วางไว้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาพื้นที่ทำโครงการนำร่อง 1 แห่ง คาดว่าจะเริ่มในปี 2565-66 เพื่อจัดวางระบบให้ครบสมบูรณ์และวัดผลสัมฤทธิ์ได้ใน 1 ปีก่อนที่จะขยายชุดโครงการนี้ไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะ ที่แม่นยำ มีความทั่วถึง และเป็นธรรม โดยประชาชนมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ รูปแบบการบริหารจัดการชลประทานอัจฉริยะ จะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะมีเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ มีระบบโทรมาตร เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำไหลลงอ่างที่สามารถติดตามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลจากระบบโทรมาตรที่วัดได้จะส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลฯ สามเสน เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการพยากรณ์และวางแผนบริหารจัดการ ประกอบการพิจารณาจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฯน้ำต้นทุนที่มีอยู่และเหมาะสมกับความต้องการใช้จริงและป้องกันอุทกภัย จากนั้นคำสั่งจากSWOC ที่สามเสน จะส่งไปยังที่ SWOC สำนักงานชลประทาน (สชป.) ที่ดูแลในพื้นที่ควบคุมบานประตูน้ำ (SCADA) ที่มีหน้าที่บริหารตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำและควบคุมบานประตูน้ำอัตโนมัติ ทำการเปิด-ปิด บานระบายอัตโนมัติตามข้อสั่งการ โดยระบบจะเชื่อมโยงทั้งหมดสามารถเช็คได้จากส่วนกลางเพื่อให้การจัดการน้ำบรรลุตามพันธกิจ

สำหรับโครงการ PIS เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้กรมชลฯจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อชลประทานอัจฉริยะเพิ่มในหลายด้านเพื่อทำให้ข้อมูลที่ส่งมา SWOC กรมชลฯสามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ อาทิ การจัดให้มีโทรมาตรในอ่าง โทรมาตรวัดพฤติกรรมเขื่อน โทรมาตรระดับลุ่มน้ำ การพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมบานระบายน้ำ (SCADA) ของ SWOC ของ สชป. การพัฒนาฝายพับได้ และการทำโมเดลคำนวณความต้องการใช้น้ำ การพัฒนา UAV หรือโดรน(UAV Sensor) ซึ่งกรณีโดรนอนาคตจะพัฒนาให้สามารถตรวจสอบแปลภาพจำแนกชนิดพืชได้ ติดตั้งเครื่องวัดความชื้นในดิน วัดระดับน้ำในแปลงนา เพื่อคำนวณความต้องการใช้น้ำได้ เพื่อความแม่นยำในการจัดสรรน้ำให้พื้นที่

 “ปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพองค์การตาม PIS นี้ได้ดำเนินการมาตลอดในช่วง 2ปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ยกระดับให้เป็นเป้าหมายชัดเจน เพื่อให้กรมมีหน้าที่พัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เป้าหมายโครงการคือหาเทคโนโลยี เครื่องมือมาช่วยเสริมการทำงานให้สมบูรณ์  เป็นการผสานระหว่างคน กับเทคโนโลยี เพราะบางพื้นที่กว้างขว้างมากแต่จำนวนคนจำกัด  ดังนั้นเครื่องมือ เช่น โทรมาตรกรมก็มีแล้ว จัดวางไว้ครบ 22 ลุ่มน้ำ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกมิติ การเปิด-ปิด บานระบายยังต้องใช้คนในการทำงาน บางครั้งอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ การมี SCADA ทำให้สามารถสั่งการได้ทันที แต่หากติดขัดคนในพื้นที่ก็ค่อยลงไป การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะดำเนินการโดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาของกรมชลฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือใช้ในงานชลประทานได้หลายชนิดและได้ผลเป็นที่น่ายินดีบางชนิดได้รับรางวัล ในขณะที่ด้านบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาให้สอดรับกับโครงการ“ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จคือความร่วมมือของประชาชน เกษตรกร ดังนั้นโครงการนี้จะต้องทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูล เช่นประชาชน เกษตรกรสามารถเข้าดูข้อมูลการระบายน้ำในโครงการ รอบเวรการส่งน้ำ และร่วมไปถึงนำไปวางแผนการเพาะปลูกได้อีกด้วย โดยกรมจะพัฒนาช่องทางสื่อสารให้เชื่อมโยงกับประชาชน เพราะเทคโนโลยีทั้งหมดที่กรมดำเนินการก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : กนช.กับการปฏิรูปทรัพยากรน้ำ

ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จะมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า กนช.มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำนโยบายและแผนแม่บทเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ การพิจารณาและให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการของหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ยังพิจารณาแผนงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในการจัดทำงบประมาณประจำปี การพิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ เป็นต้น

กนช.ในปัจจุบันยังเป็นชุดเดิม ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

อย่างไรก็ตามเมื่อ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ จำเป็นจะต้องมี กนช.ชุดใหม่ขึ้นมาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

กนช.ชุดใหม่จะประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการนั้นจะเป็นโดยตำแหน่งจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 9 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน และจากผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำอีก 6 คน โดยมีเลขาธิการ สทนช. ปฏิบัติหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

จุดเปลี่ยนของ กนช.ชุดใหม่ คือ การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านทาง กรรมการลุ่มน้ำทั้ง 6 คน ซึ่งจะทำให้สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะคัดเลือกมาจากกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ สทนช.ยืนยันว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะได้ผู้แทนกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 6 คนดังกล่าว จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งสทนช.จะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564

เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะได้คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำ จะองค์การผู้ใช้น้ำให้แล้วเสร็จก่อน เพราะในคณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำนั้นจะต้องมีผู้แทนจากองค์กรผู้ใช้น้ำถึง 9 คน ร่วมเป็นกรรมการลุ่มน้ำด้วย

องค์กรใช้น้ำคือ ผู้ใช้น้ำในระดับรากหญ้า

“องค์กรผู้ใช้น้ำจะเข้าใจสภาพปัญหาและความต้องการใช้น้ำ สามารถสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาตรงต่อตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

ล่าสุดขณะนี้กลุ่มบุคคลที่สนใจยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำกว่า 2,674 องค์กรสทนช.อนุมัติแล้ว 2,487 องค์กร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยุคใหม่จะเกียวโยงกัน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือ องค์กรผู้ใช้น้ำ ต่อเนื่องมาระดับลุ่มน้ำ คือ คณะกรรมการลุ่มน้ำ จนถึงระดับชาติ คือ กนช.

จึงมั่นใจได้ว่าภายหลัง กนช.ชุดใหม่ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ก็จะสามารถขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นไปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ และรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังจะสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยังช่วยเสริมศักยภาพในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอีกด้วย

จะเรียกว่า ปี 2565 เป็นปีเริ่มต้นทุนของการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศก็ว่าได้....

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

"UAC"ฉลุยโรงไฟฟ้าชุมชนขอนแก่น-มหาสารคามกำลังผลิตรวม 6 เมกะวัตต์

"UAC"ฉลุยโรงไฟฟ้าชุมชนขอนแก่น-มหาสารคามกำลังผลิตรวม 6 เมกะวัตต์ ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค พร้อมเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในโครงการที่ไม่ผ่าน

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ บริษัทย่อยของบริษัทฯ ทั้ง 2 บริษัทฯผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางเทคนิค จากการผลิตโรงไฟฟ้าประเภทชีวภาพ จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย บริษัทยูเอซี แอนด์ ทีพีที เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ตั้ง ตำบล นาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ครอป พาวเวอร์ 4 จำกัด ที่ตั้ง ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมราว 6 เมกะวัตต์

“UAC ยื่นประมูลไปทั้งสิ้น 6 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 18 เมกะวัตต์ เฉลี่ยโครงการละ 3 เมกะวัตต์ และผ่านคุณสมบัติ 2 โครงการ ส่วนอีก 4 โครงการที่ไม่ผ่านเกณฑ์ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุ และจะยื่นอุทธรณ์ในลำดับต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วง 1 เดือนถึงเดือนครึ่ง ก่อนจะแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้จริงช่วงประมาณเดือนก.ย.นี้”

ทั้งนี้ ภายหลังการพิจารณาจากยื่นอุทธรณ์แล้วเสร็จทาง กฟภ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 9 กันยายน 2564 และกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความพร้อมด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานจากก๊าซชีวภาพมากว่า 10 ปี และยังมีโรงไฟฟ้าต้นแบบอยู่ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง พร้อมทั้งยังได้ร่วมมือกับทางวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ในการจัดหาเชื้อเพลิงจะต้องมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนดไว้

“ UAC มีศักยภาพและความพร้อม ทั้งเทคโนโลยี แหล่งเงินทุน รวมถึงด้านเชื้อเพลิง ที่สำคัญยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และยังมีเครือข่ายความร่วมมือจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นจึงเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าว UAC พร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาช่วยต่อยอดและผลักดันภาพรวมธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพพืชพลังงานของพันธมิตรทุกราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืนมีนัยสำคัญในอนาคต ”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ไทยใช้สิทธิ FTA-GSP 5 เดือนทะลุ 31,863.45 ล้าน อาเซียน-สหรัฐ นำโด่ง

กรมการค้าต่างประเทศเผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ FTA-GSP 5 เดือน มูลค่าสูงถึง 31,863.45 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน สหรัฐ ประเทศที่ใช้ประโยชน์มากสุด

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 7,576.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.19 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่า 6,356.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 31,863.45 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 75.99 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 30,272.12 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,591.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 26.49

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 7,189.66 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.41 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ 6.021.14 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ FTA 5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 30,272.12 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.24 มีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 76.87 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก

ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 10,367.07 ล้านเหรียญสหรัฐ) 2) จีน (มูลค่า 10,083.66 ล้านเหรียญสหรัฐ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 3,441.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,784.53 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,957.81 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (ร้อยละ 95.43) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 94.28) 3) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 83.25) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 77.90) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 68.33)

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ เดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 387.02 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.25 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2564 ที่มีมูลค่า 335.81 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการใช้สิทธิภายใต้ GSP 5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 1,591.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 62.43

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิ 1,421.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.20 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 64.97 อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 107.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.35 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 39.32 อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 56.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 15.23 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 72.36 และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 6.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.65 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 61.24

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ สูง อาทิ ถุงมือยาง น้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ซอส เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 พบว่าผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ FTA ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปตลาดคู่ค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด อาทิ เปรู (เพิ่มขึ้นร้อยละ 126.19) ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.67) อินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.47) อาเซียน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.77) นิวซีแลนด์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.39) เป็นต้น

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร/เครื่องดื่ม และเกษตร อาทิ รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน (อาเซียน) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-อินเดีย) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย-ชิลี) เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ร่วมกำลาภพาวเวอร์ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

“ขยะ” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างมลพิษระยะยาว แค่เพียง “กำจัด” ให้พ้นไปไม่เพียงพอ แต่ถ้า “จัดการ” ให้ดี ขยะก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ยิ่งโดยเฉพาะของเสียจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ใครจะเชื่อว่า “ชานอ้อย” ของเสียจากโรงงานหนึ่ง สามารถกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานบริสุทธิ์อย่างไฟฟ้า บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ได้จัดทำโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อรับซื้อชานอ้อยที่เหลือมาจากโรงงานผลิตน้ำตาลมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อจัดตั้งโรงงาน และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ระหว่างการผลิตพลังงานนั้นไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมอีกต่อหนึ่ง

คุณณิชา อัษฎาธร ผู้บริหารร่วมกำลาภพาวเวอร์ กล่าวว่า “จากอ้อยปีละ 10 ล้านตัน เมื่อผลิตน้ำตาลแล้วทำให้เกิดชานอ้อยจำนวนมาก จึงทำให้เกิดโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย แน่นอนว่ากระบวนการผลิตไฟฟ้า ต้องเกิดเผาไหม้เกิดขึ้น เราต้องการลดปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมให้การสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้ากล่องดักจับเขม่าควันที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษในอากาศ จนทำให้ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 140 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งมีมูลค่า 420 ล้านบาท/ปี ซึ่งกระแสไฟเหล่านี้ได้กระจายสู่สังคม และยังไม่ทำร้ายชุมชนรอบข้างอีกด้วย

ถ้ามองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คงยากที่จะแก้ แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ยุ่งยากเกินจะรับมือ ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของ “โครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม” อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับภาคเอกชน เพื่อควบคุมบำบัดหรือขจัดมลพิษ เป็นการสร้างโอกาสให้แก่หลายธุรกิจในการดูแลโลก แถมได้สร้างเม็ดเงินจากขยะของเสียอีกต่อหนึ่ง

หากธุรกิจใดต้องการลงทุนโดยมีฐานคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองการสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน ดูรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ https://krungthai.com/th/corporate/ktb-business-loan/163/323

จาก https://www.thairath.co.th    วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“อีอีซี” เดินหน้า 4 เมกะโปรเจ็กต์ ขับเคลื่อนการลงทุนประเทศฝ่าล็อกดาวน์

วิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ใกล้แตะระดับหมื่นคนต่อวัน รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก กระทบต่อแรงงานและความเป็นอยู่ของประชาชน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง

ขณะที่การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นั้น ได้รับการยืนยันจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น แม้ว่าบางโครงการจะมีความล่าช้ากว่าแผนที่ได้ว่างไว้บ้างก็ตาม

ไฮสปีดฯ ส่งมอบพื้นที่ก.ย.นี้

ไล่เลียงตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กำลังจะเริ่มงานก่อสร้าง โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) เตรียมจะส่งมอบพื้นที่ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่โครงการประมาณ 5,521 ไร่ ให้กับเอกชนคู่สัญญาภายในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเอกชนได้เข้าพื้นที่ และเริ่มออกแบบเตรียมการก่อสร้าง เช่น งานปรับพื้นที่สำหรับเตรียมก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราวเพื่อลำเลียงวัสดุ งานก่อสร้างสำนักงานสนาม บ้านพักคนงาน โรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง งานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและการจัดจราจร โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี และจะเปิดให้บริการช่วงพญาไท สุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา ในปี 2568

ท่าเรือมาบตาพุดส่งอีเอชไอเอ

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นพื้นที่ถมทะเล จำนวน 1,000 ไร่ มูลค่าลงทุนทั้งโครงการตามสัญญาร่วมลงทุน  62,205 ล้านบาท กำหนดดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายในปี 2569

ความคืบหน้าที่ผ่านมา งานโครงสร้างพื้นฐานกนอ. ได้ส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ฉบับแก้ไข ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ (คชก.) ให้แก่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณารายงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรอการอนุมัติ

ส่วนงานบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง สำรวจสภาพภูมิประเทศ (บนบก) เจาะสำรวจสภาพธรณีวิทยาบนฝั่ง สำรวจภูมิสัณฐานทางกายภาพของท้องทะเล แล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างสำนักงานสนาม มีความก้าวหน้า 97% และงานเจาะสำรวจสภาธรณีวิทยานอกชายฝั่ง ดำเนินการเจาะแล้วเสร็จ 50 หลุม จากทั้งหมด 62 หลุม

อู่ตะเภาออกแบบทางวิ่งที่ 2

 อีกทั้ง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ได้ออกแบบทางวิ่งและทางขับที่ 2 งานทางขับเชื่อมระหว่างทางวิ่ง พร้อมลานจอดศูนย์ซ่อมอากาศยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย ทางวิ่งความยาว 3,505 เมตร ทางขับที่เกี่ยวข้อง 6 เส้นทาง อุโมงค์ลอดใต้ทางวิ่ง งานระบบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ในขณะที่สกพอ. ได้จัดทำร่างระเบียบการปฏิบัติงานในพื้นที่เขตส่งเสริมฯ ช่วงการก่อสร้างเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ งานก่อสร้างระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นได้ส่งมอบที่ดินที่เช่า เพื่อให้บริษัท บี กริม. ได้เข้าเคลียร์พื้นที่เรียบร้อยแล้ว งานก่อสร้างระบบประปาและระบบน้ำเสีย ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่

ส่วนความรับผิดชอบเอกชนคู่สัญญา (UTA) ได้เข้าสำรวจพื้นที่โครงการเรียบร้อย และได้ก่อสร้างรั้วมาตรฐานเขตการบิน (Airside) ความ ยาว 4.9 กิโลเมตร แล้วเสร็จประมาณ 95% เพื่อรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกในช่วงการก่อสร้าง พร้อมจัดทำค่าระดับในพื้นที่โครงการ และกำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอาคารผู้โดยสารกับสถานีรถไฟความเร็วสูง งานจัดทำแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ กำหนดส่งมอบตามสัญญาในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา และงานออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาระดับโลก กลุ่มบริษัท SOM (Skidmore, Owings and Merrill LLP : SOM) เพื่อออกแบบร่างขั้นต้นของอาคาร

สำหรับกิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (Aviation Technical Zone : ATZ) สกพอ. เตรียมพัฒนาพื้นที่ประมาณ 539 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจด้านอากาศยาน

ปัจจุบัน สกพอ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทและวางผังภายในพื้นที่กิจกรรม ATZ และมีแผนจัดทำการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (International Market Sounding) เพื่อศึกษาภาพรวมตลาดและเชิญชวนนักลงทุนในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2564 ซึ่งการดำเนินการ ATZ คาดว่าจะเพิ่มอัตราการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมการบินกว่า 3,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ภาครัฐจากเอกชนที่เข้ามาลงทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาคเอเชีย

แหลมฉบังรอลงนามสัญญา

 รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 อนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับตามที่มติครม.ได้อนุมัติไว้

ทั้งนี้ คณะทำงานเจรจาร่างสัญญาฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน และได้ประชุมคณะทำงานแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยยึดหลักเจรจาตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส รัดกุม และประเทศได้ประโยชน์สูงสุด โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้ สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว จะดำเนินการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ฝนทิ้งช่วง!! ฝนหลวงฯ เร่งเติมน้ำเขื่อนหลัก ช่วยพื้นที่เกษตรขาดน้ำ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในขณะนี้ระเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนมาเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อน-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง พบว่ามีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่หลายแห่ง รวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตร เช่น เขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันในบางพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำเกินความต้องการของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะนำมาวางแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ตรงพื้นที่เป้าหมาย โดยจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้ว

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำ ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ มีการขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 11 หน่วยฯ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มปริมาณน้ำฝนเก็บกักในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 7 แห่ง และ อ่างเก็บน้ำจำนวน 11 แห่ง และบึงบอระเพ็ด

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงเช้าวันนี้ ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการติดตามสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงของ 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.พะเยา หน่วยฯ จ.ตาก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ตาก จ.สุโขทัย จ.ลำปาง จ.กำแพงเพชร พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก และหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก ทั้งนี้ อีก 10 หน่วยปฏิบัติการฯ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากในช่วงบ่ายสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการทำฝน จะวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงได้ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งพัฒนาโครงการ‘รู้ดิน รู้ปุ๋ย’หนุนธุรกิจดินปุ๋ยพร้อมใช้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน(One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการดำเนินการพัฒนาธุรกิจโดยการสนับสนุนวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด แล้วนั้นกรมยังได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย เก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดระบบช่วยในการตัดสินใจการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกร และการบริหารเชิงธุรกิจของ ศดปช. โดยใช้ชื่อว่า “รู้ดิน รู้ปุ๋ย”

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนความคืบหน้าของโครงการ ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 ผลการดำเนินงานเบิกจ่าย + PO ร้อยละ 77.95 เป็นเงิน 132.42 ล้านบาท หากจำแนกตามประเภทของกิจกรรม มีความคืบหน้าดังนี้ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ และการจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช. ศพก. และ แปลงใหญ่ ดำเนินการครบแล้ว 394 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 100 ด้านการจัดซื้อจัดหาวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์แล้ว โดยแต่ละ ศดปช. จะได้รับวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน ส่งมอบแล้ว 62 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 98.44 แม่ปุ๋ย ส่งมอบแล้ว 62 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ98.44 เครื่องผสมปุ๋ย ส่งมอบแล้ว 57 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 90.47 ในส่วนการให้บริการในเชิงธุรกิจ การจดทะเบียนขายปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 387 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ98.22 การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการแล้ว 378 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 95.94 มีผู้ใช้บริการแล้ว 77,980 ราย การให้บริการจำหน่ายปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 273 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 69.29 จำหน่ายปุ๋ยแล้ว 35,949 กระสอบ และการให้บริการเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 241 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 61.17 บริการผสมปุ๋ยแล้ว 1,123.402 ตัน

ด้านการจัดทำแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น ขณะนี้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 68 ใช้ชื่อว่า “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” เพื่อให้เกษตรกรทั้งสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และเกษตรกรทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งในส่วนของการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงดิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจดินปุ๋ยของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เช่น การให้บริการสั่งจองปุ๋ย การคำนวณปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนด้านปุ๋ยเคมีลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นต้นโดยคาดว่าแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น“รู้ดิน รู้ปุ๋ย” จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้บริการในปลายเดือนสิงหาคม 2564

นอกจากจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรแล้ว ฐานข้อมูลและรายงานที่ได้รับจากแพลตฟอร์มสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวมต่อไป อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 กรกฎาคม  2564

ธนาคารโลกหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย จาก 3.4% เหลือ 2.2%ในปีนี้

ธนาคารโลก (เวิร์ลด์แบงก์) แถลงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ว่าได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.4 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3 ของโรคโควิด-19 ในไทยที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงอ่อนแอลงอย่างมาก

ธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยทรุดลงหนักมากถึง -6.1 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือเป็นการทรุดตัวลงต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปีเนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาด โดยนักวิเคราะห์ของธนาคารโลก คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยไม่น่าจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดได้จนกว่าจะถึง 2565 นอกจากนั้นการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่สม่ำเสมอทั่้วกันอีกด้วย

ธนาคารโลกคาดว่า นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปีนี้เพียง 600,000 คน ซึ่งปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ระหว่าง 4-5 ล้านคนสูงมาก และลดต่ำลงมากจากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยในปี 2562 ซึ่งมากถึง 40 ล้านคน

รายงานชี้ว่า การส่งออกที่ยังเป็นไปด้วยดีและการใช้มาตรการสนับสนุนทางการคลัง จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ โดยที่การฟื้นตัวจะเร่งระดับเร็วขึ้นในปี 2565 ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวสูงถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์ แต่เตือนว่า จนถึงขณะนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดให้จีดีพีลดต่ำลงได้และภาพโดยรวมก็ยังไม่แน่นอน ในขณะที่การใช้มาตรการรองรับการแพร่ระบาดก็ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สูงกว่าเป้าของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า การคาดการณ์ของธนาคารโลกนั้นยังคงสูงกว่าการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทยเอง ที่คาดว่า จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัว 1.8 เปอร์เซ็นต์และอีก 3.9 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้าเท่านั้น

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 15 กรกฎาคม  2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.66 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้าย -ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและทิศทางที่ผันผวนแนะป้องกันความเสี่ยง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.66 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย โดย เราประเมินว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มเลวร้ายลง ซึ่งปัญหาการระบาดจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อเงินบาทฝั่งอ่อนค่า อย่าง เงินดอลลาร์ที่พลิกกลับมาแข็งค่าหนักจากรายงานเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นกว่าคาด อาจทยอยลดลงไปได้ หากถ้อยแถลงของประธานเฟดยืนกรานว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว และเฟดจะยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งภาพดังกล่าว อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงได้ และรอบการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์อาจจบลงได้ หากตลาดประเมินว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในยุโรปไม่ได้น่ากังวล ซึ่งอาจจะต้องรอติดตามข้อมูลการระบาดในยุโรปในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ถึงจะมีความชัดเจนในแนวโน้มดังกล่าว

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ผันผวน ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.75 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังเงินเฟ้อ (CPI) เดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 5.4% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 และยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.0% ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจเร่งตัวขึ้นต่อและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จนทำให้เฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาดได้ ซึ่งภาพดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับฐานลง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลงราว -0.35% ส่วนในฝั่งหุ้นเทคฯ โดยรวมก็ปรับตัวลง หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 5bps สู่ระดับ 1.41% หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้น กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -0.38%

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดก็ทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาบ้าง โดยเฉพาะหุ้นในธีม Cylical อย่าง กลุ่มการเงิน หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี นับตั้งแต่ต้นปี (Santander -1.77%, ING -1.62%, Volkswagen -1.49%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปก็ยังมีแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มเทคฯ (Prosus +2.2%, ASML +1.34%, SAP +1.04%) อยู่บ้างจากความหวังผลกำไรหุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่ยังแข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกราว +0.03%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ตลาดเผชิญความผันผวนหนัก หลังรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลงในช่วงแรก หลังจากที่มีรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนอาจกังวลที่จะเพิ่มสถานะ Short บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลการประมูลบอนด์ 30ปี สหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด (ความต้องการน้อย) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ และบางส่วนก็เริ่มกลับมา Short บอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 5bps สู่ระดับ 1.41%

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วกว่าคาด หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.80 จุด ส่งผลให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.177 ดอลลาร์ต่อยูโร เงินปอนด์ (GBP) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.380 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้นนั้นยังคงกดดันให้ ราคาทองคำ ยังไม่สามารถทะลุโซนแนวต้านใกล้ระดับ 1,810 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Semi-Annual Testimony) ซึ่งอาจหนุนให้ตลาดการเงินคลายกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ รวมถึงคลายกังวลโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด หากประธานเฟดจะเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก

นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบรรดาจดทะเบียน อาทิ Bank of America, Morgan Stanley, United Health เป็นต้น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (14 ก.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 32.64-32.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังมีปัจจัยลบต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดในเดือนมิ.ย. ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า อาจเป็นสัญญาณที่กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิดในประเทศ และถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ของนายเจอโรม พาวเวลประธานเฟด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

นวัตกรรมเกษตรเคลื่อนศก. ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย

ภาคเกษตรนับว่ามีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากสร้างการจ้างงานสูงถึงกว่า30% ของกําลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมประมาณ 6.4 ล้านครัวเรือน และที่ดินทำการเกษตรครอบคลุมถึง 40% ของพื้นที่ทั่วประเทศ

ภาคเกษตรนับว่ามีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากสร้างการจ้างงานสูงถึงกว่า30% ของกําลังแรงงานทั้งประเทศ ครอบคลุมประมาณ 6.4 ล้านครัวเรือน และที่ดินทำการเกษตรครอบคลุมถึง 40% ของพื้นที่ทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ทั้งด้านการเพาะปลูก การประมง ปศุสัตว์ และการแปรรูปสินค้าเกษตร สร้างรายได้รวมกว่า 4.7 แสนล้านบาท ให้กับประเทศ

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร และการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อดึงดูดการลงทุนแล้ว EECยังมุ่งพัฒนาต่อยอดสู่ภาคการเกษตรสมัยใหม่เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรในพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยและขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve โดยมุ่งเน้นไปที่5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืชพลังงาน คลัสเตอร์สมุนไพร และคลัสเตอร์ พืชผลที่มีมูลค่าสูง

แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาด้านการเกษตรในEEC คือ การคิดค้นนวัตกรรมต่างๆเพื่อบำรุงรักษาพืชพันธุ์การเกษตรและปศุสัตว์ ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ และมีปริมาณผลผลิตที่มากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะต้องเผชิญกับปัญหา“โรคพืช”ไม่ว่าจะเกิดจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รวมไปถึงการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำ หรือไม่ได้คุณภาพ

“ซิงค์ออกไซด์นาโน” (ZnO NANO)ถือเป็นนวัตกรรมทางการเกษตรซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์(ZnO) ทำให้มีคุณลักษณะความเป็นอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆของพืชได้ดี เป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีชนิดน้ำ ประกอบด้วยปริมาณธาตุอาหารเสริมสังกะสีสูงถึง 23% ช่วยในการเจริญเติบโต เพิ่มคุณภาพของผลผลิต มีความปลอดภัยต่อพืช ทำให้พืชมีความต้านทานโรคสูง ช่วยให้พืชทนทานต่อสภาวะอากาศได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับการฉีดพ่นใช้งานทั้งในพืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และไม้ประดับ

ผลจากการลงพื้นที่นำซิงค์ออกไซด์นาโน ไปใช้กับแปลงทดลอง และพื้นที่สาธิตของเกษตรกรอาทิ นาข้าว สวนทุเรียน สวนมังคุด สวนลำไย ใน 4 ตำบล รอบเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC ได้แก่ ตะพง นาตาขวัญ บ้านแลง และตาขันภายใต้ “โครงการยกระดับความสัมพันธ์กับเกษตรกรรอบเขตประกอบการ IRPC โดยใช้ผลิตภัณฑ์นาโนอย่างยั่งยืน” พบว่าการทดลองนำซิงค์ออกไซด์นาโนมาใช้แก้ปัญหา ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้คุณภาพของผลผลิตดีขึ้นอีกด้วยสามารถขยายผลไปใช้ในพื้นที่ภาคการเกษตรต่างๆ ได้ทั่วประเทศ เนื่องจาก ซิงค์ออกไซด์นาโน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทยจึงลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายและช่วยให้ประหยัดต้นทุน อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดการสะสมของสารเคมีที่ดิน น้ำ และอากาศ ส่งเสริมความพร้อมในการขยายตลาดสู่การส่งออก

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงเกษตรนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการผลักดันและขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศซึ่งนอกจากจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนด้านเกษตรกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับการแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้วยังถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งอาหารโลกในอนาคตอีกด้วยซิงค์ออกไซด์นาโนจึงเป็นนวัตกรรมทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรในการแก้ปัญหาทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

“บีซีจี ภาคเกษตร” กลไกพัฒนา ความมั่นคงอาหารและการค้า

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว กลายเป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทย ในช่วง 6 ปี (2564-2569)

ในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่อง BCG Model เพื่อความยั่งยืนด้านเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม” ที่จัดขึ้นโดยราชบัณฑิตยสภา

สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวบรรยายนำเรื่อง “ความสำคัญของ BCG Model เพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทย” ว่า ประเทศไทยกำลังกลายเป็นคนป่วยของเอเชีย เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤติทั้งแรงประทุจากภายในประเทศและแรงกดดันจากภายนอกประเทศ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น BCG Model จะเป็นโมเดลขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด โดยถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับ หรือ ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เพราะที่ผ่านมาทำได้ช้ามาก และไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

โดยต้องใช้ BCG Model เข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ คือ 1.การพัฒนาที่ยั่งยืน 2.ความมั่นคงมนุษย์ทั้งในบริบทประเทศและบริบทโลก 3.ความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และ4.การเติบโตอย่างทั่วถึง

“ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ สูงทั้งด้านรายได้ และการถือครองที่ดิน จะเห็นว่า เกษตรกร 75% ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และ 50% ของครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ย 74 บาทต่อวัน จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 5.57 ล้านครัวเรือน เมื่อปี 2559”

อย่างไรก็ตาม  BCG Model จะต้องมีการลงทุนเพิ่มทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ใส่งบประมาณแผ่นดินเข้าไปเพิ่ม สร้างจุดเด่นหรือเพิ่มความน่าสนใจของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม มีกำลังซื้อเพิ่ม และสุดท้ายจะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด(GDP) เพิ่ม

ขณะที่การอภิปรายกลุ่มเรื่อง “ทางเลือกที่หลากหลายในการใช้ BCG Model เพื่อผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไทย” นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเกษตร กล่าวว่า ปัจจัยที่ท้าทายภาคเกษตร ได้แก่ เกษตรกรอายุมาก ขาดแรงงาน และเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยขณะที่ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ ซึ่งประชากรโลกปัจจุบันอยู่ที่ราว 7,000 ล้านคน อนาคตจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน และรูปแบบการตลาดเปลี่ยนไปเข้าสู่ ดิจิทัลมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนในช่วงโควิด-19 จึงต้องใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนการตลาด

ดังนั้น BCG จะเข้ามาตอบโจทย์ ความมั่นคงอาหาร ความยั่งยืนของทรัพยากร เสถียรภาพทางสังคม และความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ ทั้งด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

โดยกลไกปฏิรูปภาคเกษตร จะต้องประกอบด้วย การพัฒนาคนในภาคการเกษตร, คลังข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร,องค์ความรู้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “Hyienic kitchen of the world Reinventing” ภาคเกษตรไทย เพื่อเป้าหมาย “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง” โดยการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพภายใต้ทรัพยากรดินและน้ำที่จำกัดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การปฏิบัติตามมาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังยุคโควิด-19 เช่น คุณภาพความปลอดภัย,แรงงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้เกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคงมีคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร

การดำเนินการดังกล่าว ยังต้องอยู่ภายใต้ 7 โปรแกรมขับเคลื่อน คือ 1.ส่งเสริมการผลิตแม่นยำสูง(Precision Farming) ประสิทธิภาพสูง และเกษตรยั่งยืน 2.ส่งเสริมระบบการผลิตสินค้าเกษตรพรีเมียม เน้นคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และการผลิตที่ยั่งยืน 3.สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรมเกษตร 4.สร้างและพัฒนาบุคลากรสนับสนุนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร 5.พัฒนาตลาดเชิงรุก 6.พัฒนาปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียน และ7. โครงสร้างพื้นฐานสำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก

สำหรับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน BCG สู่พื้นที่เชิงบูรณาการนั้น เบื้องต้น ได้คัดเลือก 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1.จ.ราชบุรี(มะพร้าวน้ำหอม อ้อย สุกร โคนม) 2.จ.ลำปาง (ข้าวเหนียว ไผ่) 3.จ.ขอนแก่น(อ้อย หม่อนไหม) 4.จ.จันทบุรี (ทุเรียน มังคุด) 5.จ.พัทลุง (ข้าว)

วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมาย ผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและตลาดโลกในทุกสถานการณ์ ภายใต้ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเดิม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง กุ้ง ปลาทูน่า น้ำตาล ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพที่จะผลิตและส่งออกอยู่แล้ว

2.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารใหม่ เช่น อาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารฟังก์ชั่น อาหารกลุ่มนี้ยังไม่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และมีศักยภาพเติบโตสูง และ3. กลุ่มอาหารท้องถิ่น ซึ่งผู้ประกอการส่วนใหญ่เป็นรายเล็กกระจายอยู่ในท้องถิ่น แต่มีจุดเด่น คือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแสดงถึงวัฒนธรรมประจำถิ่น

โดยทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นการขับเคลื่อน BCG ด้านอาหารไปจนถึงปี 2570 แล้ว จะมีตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ จะพิ่ม GDP สาขาอาหาร 3 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมอาหารกลุ่มใหม่เพิ่ม ลดการสูญเสียอาการ จาก 30% ให้เหลือ 15% ในปี 2567 และเหลือ 10% ในปี 2573 โดยที่ประชาชนมีความมั่นคงทางอาหารตอบโจทย์ที่วางไว้

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบัน BCG Model ได้นำไปขับเคลื่อนกับภาคการเกษตรจนประสบความสำเร็จ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างที่เห็นผลใน 2 พืชเศรษฐกิจ คือ กัญชา และ ไผ่ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่ใช้จุดเด่นทางชีวภาพของท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการตามหลัก BCG ก็จะเกิดประโยชน์ได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

กรมชล สั่งตรวจเขื่อนรอรับฝนชุก

กรมชล สั่งสำรวจความมั่นคงของเขื่อนทั่วประเทศรอรับฝนใหม่ เผยน้ำใช้การได้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีหรือมีน้ำปริมาณ 51-80% ของความจุ เหลือพื้นที่รับน้ำใหม่ 42,263 ล้าน ลบ.ม.

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ช่วงนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นแต่ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากอย่างเคร่งครัด โดยกรมชลประทาน ได้เร่งสำรวจความพร้อมของเขื่อน                   พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศ 35 แห่ง ข้อมูล ณ 4 ก.ค.2564 สามารถรับน้ำได้อีก 42,263 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 56% ของความจุ โดยปี 2564 มีปริมาณน้ำใช้การได้สูงกว่าปี 2563 ประมาณ 5% หรือสูงกว่าประมาณ 1,725 ล้าน ลบ.ม.  มีน้ำใช้การได้ 9,875 ล้าน ลบ.ม.หรือสัดส่วน 19% ของความจุ ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีน้ำใช้การได้   84,091 ล้าน ลบ.ม. หรือสัดส่วน 18% ของความจุ

สำหรับปริมาณน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีความจุ 70,926 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำรวมกันทั่วประเทศประมาณ  31,424 ล้าน ลบ.ม.   หรือ ประมาณ 44% ของความจุ และเป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,882 ล้าน ลบ.ม.หรือ 17% ของความจุ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาณน้ำมีในอ่างใหญ่ทั่วประเทศประมาณ 15,201 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 43% ของความจุ และเป็นน้ำใช้การ ได้ 7,239 ล้าน ลบ.ม.หรือ 15% ของความจุ

ส่วนเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาณน้ำกว่า 23,801 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 46% ของความจุ ที่มีประมาณ 5,141 ล้านลบ.ม. และเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,993 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 13% ของความจุ

“กรมชลฯ พร้อมบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานน้ำที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ตลอดจนทำการตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทาน และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้พร้อมในจุดเสี่ยงต่างๆ และยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด อีกทั้งเร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน รวมถึงวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับประชาชน เพราะในบางพื้นที่ยังมีน้ำน้อย เกษตรกรจึงยังต้องใช้น้ำกันอย่างประณีต”

นายประพิศ กล่าวว่า ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 เขื่อนทั่วประเทศ ไม่มีเขื่อนไหนในประเทศไทยที่มีน้ำเกิน 81%ของความจุ โดยเขื่อนที่น้ำไม่เกิน 30% ของความจุ หรือมีปริมาณน้ำน้อย มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวง มีปริมาณน้ำ 21%            ของความจุ, เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำ 29% ของความจุ, เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำ 21% ของความจุ, เขื่อนทับเสลา มีปริมาณน้ำ 14 % ของความจุ, เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำ 30% ของความจุ, เขื่อนกระเสียว มีปริมาณน้ำ 29% ของความจุ, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 8% ของความจุ,        เขื่อนขุนด่านปราการชล มีปริมาณน้ำ 17% ของความจุ และเขื่อนสียัด มีปริมาณน้ำ 12% ของความจุ 

สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 30-50% ของความจุ ถือว่ามีน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่เขื่อนแม่งัด มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำ 41% ของความจุ, เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ, เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 35% ของความจุ, เขื่อนนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำ 31% ของความจุ,  เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำ 40% ของความจุ, เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 31% ของความจุ, เขื่อนบางพระ มีปริมาณน้ำ    37% ของความจุ, เขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำ 41% ของความจุ, เขื่อนแม่มอก มีปริมาณน้ำ 34% ของความจุ

ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีหรือมีน้ำปริมาณ 51-80% ของความจุ มีทั้งหมด 13 แห่ง ได้แก่เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำ   51% ของความจุ, เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ, เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ, เขื่อนลำตะคอง                     มีปริมาณน้ำ 64% ของความจุ, เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำ 54% ของความจุ, เขื่อนปากมูลบน มีปริมาณน้ำ 67% ของความจุ, เขื่อนลำแซะ มีปริมาณน้ำ 54% ของความจุ, เขื่อนลำนางรอง มีปริมาณน้ำ 65% ของความจุ, เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำ     60% ของความจุ, เขื่อนหนองปลาไหล มีปริมาณน้ำ 76% ของความจุ ,เขื่อนประแสร์ มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ ,เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำ 57% ของความจุ และเขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำ 63% ของความจุ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

กก.กองทุนฟื้นฟูฯ อนุมัติ 163 ล้าน ปลดหนี้ให้เกษตรกร คาดช่วยเหลือได้ 280 ราย

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงงบประมาณจากงบดำเนินการ ประจำปี 2564 ที่คาดว่าจะเหลือจ่าย จำนวน 103 ล้านบาท

พร้อมอนุมัติงบประมาณ หมวดงบเพื่อการจัดการหนี้ จำนวน 60 ล้านบาท จากกองทุนจัดการหนี้เกษตร รวม 163 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายในการชำระหนี้เกษตรกร คาดว่าจะช่วยเหลือได้ 280 ราย

นอกจากนั้น เห็นชอบรายชื่อเกษตรกรสมาชิก ที่ทางกองทุนฟื้นฟูฯจะเข้าไปซื้อทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาด (เอ็นพีเอ) จำนวน 40 ราย ยอดเงินรวม 34 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มรายชื่อสถาบันการเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯสามารถเข้าไปซื้อหนี้สมาชิกกองทุนได้ คือ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัทบริหารสินทรัพย์แอคนรีทีพี่(ไทยแลนด์) บริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์พหลโยธิน

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 14 กรกฎาคม 2564

ชู “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” กระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นเศรษฐกิจ

“พาณิชย์” ชู เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด กระชับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน ฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรหวังดันไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

นาย สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเข้าร่วมเป็นองค์ปาฐกถา ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของอาเซียนและจีนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง” ในงานสัมมนา FutureChina Global Forum โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์ และสภาธุรกิจสิงคโปร์-จีน ว่าอาเซียนและจีนมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอาเซียน ปี 2563 มีสัดส่วนถึง 24 %ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของอาเซียน

และถึงแม้ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าอาเซียน-จีน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2563 เป็นปีแรกที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน แทนสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 730,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้นโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดที่มุ่งสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้กับภาคการเกษตร ที่เป็นแหล่งจ้างงานถึง 49 %ในไทย โดยการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายในปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนภาคเกษตร กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว (BCG model) เป็นวาระแห่งชาติ

โดยโมเดลดังกล่าวอาศัยศักยภาพของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ(4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 13 กรกฎาคม 2564

าณิชย์อัพเกรดข้อตกลง เอฟทีเอ‘อาเซียน-คู่ค้า’ใหม่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเตรียมเชิญ

ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมประชุมหารือ เรื่องการยกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อาเซียนทำกับจีน (ACFTA) เกาหลีใต้ (AKFTA) และอินเดีย (AIFTA) ในวันที่ 15 ก.ค.2564 เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ต้องการให้มีการเพิ่มเติมในการเจรจาปรับปรุง FTA ทั้ง 3 ฉบับ ให้สอดรับกับพัฒนาการทางการค้าโลกและเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ การทบทวน FTA อาเซียน–จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เบื้องต้นอาเซียนกับจีน ได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% และเปิดเสรีเรื่องการลงทุน โดยจีนยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทย จำนวน 432 รายการ (5.2% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ กระดาษ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และลำไยกระป๋อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ปลายเดือนก.ค.2564  

ส่วนของ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 0% และเจรจาปรับปรุงข้อบทอื่นๆ รวมถึงเรื่องการลงทุน โดยเกาหลีใต้ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทยจำนวน 1,257 รายการ (10% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น ไก่และกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มะม่วง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำมันรำข้าว เคมีภัณฑ์ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือนก.ค.2564 เช่นเดียวกัน

สำหรับ FTA อาเซียน–อินเดีย (AIFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างสรุปขอบเขตการทบทวน FTA ซึ่งจะประกอบด้วย เรื่องการลดและยกเลิกภาษีนำเข้า มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย ในเดือนก.ย.2564 เพื่อพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและเริ่มการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA ต่อไป

จาก https://www.naewna.com    วันที่ 12 กรกฎาคม 2564

กรมเจรจาฯ จัดระดมความคิดเห็น อัปเกรดเอฟทีเออาเซียน-คู่ค้า 3 กรอบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระดมความคิดเห็นรัฐและเอกชน 15 ก.ค.นี้ ยกระดับเอฟทีเอ 3 ฉบับที่อาเซียนทำกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดียให้มีความทันสมัย เล็งเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ทั้ง 3 ประเทศยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้าให้ไทยเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก รวมถึงการเปิดเสรีด้านการลงทุน และประเด็นอื่นๆ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเชิญภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุมหารือเรื่องการยกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อาเซียนทำกับจีน (ACFTA) เกาหลีใต้ (AKFTA) และอินเดีย (AIFTA) ในวันที่ 15 ก.ค. 2564 เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ต้องการให้มีการเพิ่มเติมในการเจรจาปรับปรุง FTA ทั้ง 3 ฉบับ ให้สอดรับกับพัฒนาการทางการค้าโลก และเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้าเพิ่มเติมจากความตกลงเดิมที่ยังไม่ได้มีการลดภาษีเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้แก่สินค้าไทย รวมถึงการเปิดเสรีเพิ่มเติมในด้านการลงทุน และประเด็นอื่นๆ

ทั้งนี้ การทบทวน FTA อาเซียน-จีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เบื้องต้นอาเซียนกับจีนได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% และเปิดเสรีเรื่องการลงทุน โดยจีนยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทยจำนวน 432 รายการ (5.2% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ กระดาษ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และลำไยกระป๋อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนปลายเดือน ก.ค. 2564

ส่วนของ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 0% และเจรจาปรับปรุงข้อบทอื่นๆ รวมถึงเรื่องการลงทุน โดยเกาหลีใต้ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทยจำนวน 1,257 รายการ (10% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น ไก่และกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มะม่วง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำมันรำข้าว เคมีภัณฑ์ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ในเดือน ก.ค. 2564 เช่นเดียวกัน

สำหรับ FTA อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างสรุปขอบเขตการทบทวน FTA ซึ่งจะประกอบด้วย เรื่องการลดและยกเลิกภาษีนำเข้า มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดียในเดือน ก.ย. 2564 เพื่อพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและเริ่มการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA ต่อไป ทั้งนี้ อินเดียยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทยจำนวน 1,079 รายการ (20.97% ของรายการสินค้าทั้งหมด) เช่น ปูนซีเมนต์ เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องแปลงไฟฟ้าชนิดคงที่ เครื่องนุ่งห่ม และลวดทองแดง

นับตั้งแต่ความตกลง FTA ทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ ได้ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ขยายตัว 45-420% และมีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกจาก FTA ทั้ง 3 ฉบับ คือ ACFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงถึง 90% เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถยนต์และยานยนต์ขนส่งส่วนบุคคล สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้สด AKFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 70.74% เช่น เครื่องซักผ้า ยางนอกชนิดอัดลม แผ่นไม้อัด และพาร์ติเคิลบอร์ด และ AIFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 65.23% เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกล

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 กรกฎาคม 2564

ธนาคารกรุงไทยระบุค่าเงินบาทเปิด“แข็งค่า” ที่ระดับ 32.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกรุงไทยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้“แข็งค่า” จับตา 3ปัจจัย “ แนวโน้มเงินดอลลาร์ - แนวโน้มเงินหยวนของจีน และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.52 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.40-32.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45-32.60 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันตลาดการเงินฝั่ง EM และทำให้ธนาคารกลางหลายที่จำเป็นต้องเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป อาทิ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติกาณ์

สำหรับสัปดาห์นี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามต่อ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ GDP Q2/2021 รวมถึง ข้อมูลรายเดือน อาทิ Retail Sales ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงิน

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – เรามองว่า ในการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Semi-Annual Testimony) ประธานเฟดจะแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่า ประธานเฟดจะเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ แม้ ตลาดจะประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน จะหดตัว -0.4% จากเดือนก่อนหน้า แต่ไม่ได้แปลว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะมีปัญหา เนื่องจาก ยอดค้าปลีกอาจชะลอลงบ้าง หลังปัจจัยหนุนจาก Stimulus หมดลง แต่โดยรวมเทรนด์ยอดค้าปลีกยังปรับตัวสูงขึ้น หนุนโดยแนวโน้มการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึง ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.5 จุด สะท้อนว่า การบริโภคในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป – แม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปยังสดใส จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดในยุโรปที่พุ่งขึ้นรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังและควรติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 และ การเร่งแจกจ่ายวัคซีน อย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถควบคุมปัญหาการระบาดได้หรือไม่ เพราะหากการระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องใช้นโยบายควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น กดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า ประเทศในโซนยุโรป รวมถึงอังกฤษ จะเผชิญปัญหาการระบาดไม่นาน เพราะประชากรเกิน 50% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส และเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้หากเร่งแจกจ่ายวัคซีนให้เร็วขึ้นและเร่งการตรวจโรค ก็จะสามารถคุมการระบาดได้เร็ว กว่าประเทศในฝั่งเอเชีย หรือ อเมริกาใต้ ที่ยังแจกจ่ายวัคซีนได้ไม่ดีและเน้นแจกจ่ายวัคซีนหลักที่มีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกัน Delta

และในฝั่งเอเชีย – แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้ บรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ไว้ที่ระดับ 0.25% เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ -0.10% พร้อมคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไว้ที่ 0.0% และเดินหน้าทำคิวอีต่อ หลังเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่ดี เพราะแม้จะมีการจัด Tokyo Olympic แต่ก็ไม่มีผู้ชมสำหรับรายการแข่งใน Tokyo และพื้นที่ข้างเคียง ทำให้เศรษฐกิจแทบไม่ได้รับอานิสงส์จากการจัด Olympic ตามที่เคยประเมินไว้ ส่วนในฝั่งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ก็จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-day Repo Rate) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเกาหลีใต้ก็เริ่มเจอการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากการระบาดสงบลงและเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น BOK อาจเป็นธนาคารกลางแรกในเอเชียที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือ ต้นปีหน้า

นอกเหนือจากผลการประชุมของธนาคารกลาง ตลาดจะติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ที่โดยรวมโมเมนตัมการฟื้นตัวเริ่มอ่อนแรงลงมากขึ้น สะท้อนผ่าน ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน ที่จะขยายตัว 10.9%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และ ยอดการลงทุนสินทรัพย์คงทน (Fixed Asset Investment) ที่จะโตราว 8.0%y/y และ 12%y/y ตามลำดับ แต่ก็เป็นการชะลอตัวลงจากช่วงต้นปี นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวราว 8.0%y/y ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่โตถึง 18.3%y/y ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก เพราะไตรมาสแรกขยายตัวแข็งแกร่งนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากฐานที่ต่ำของปี 2020

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสามประเด็นที่ต้องจับตา 1. แนวโน้มเงินดอลลาร์ 2. แนวโน้มเงินหยวนของจีน และ 3. ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย

โดยเรามองว่า ในส่วนของเงินดอลลาร์อาจมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways หลังโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนแรงลง เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนเริ่มมองแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้ถึงจุด”Peak” ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากการระบาด COVID-19 ทั่วโลกเลวร้ายมากขึ้น

ส่วนทางด้านเงินหยวนของจีน (CNY) เรามองว่ามีโอกาสที่เงินหยวนจะผันผวนและอ่อนค่าลง กดดันให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียอ่อนค่าลงตามได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนในสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวที่ชะลอลงมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวจะยิ่งหนุนให้ ธนาคารกลางจีนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักลงทุนก็อาจชะลอการลงทุนในตลาดทุนจีนไปก่อน ทำให้เงินหยวนขาดแรงหนุนด้านแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนั้น ปัญหาการระบาด COVID-19 ในไทยที่เลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นแรงขายสุทธิสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ กดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้ดีขึ้น (อย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 5 แสนโดสขึ้นไป หากต้องการให้ถึงเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกัน 50% ของประชากรภายในปีนี้)

อย่างไรก็ดี ควรจับตาแนวต้านสำคัญในโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวไปได้ อาจอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.40-32.90 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.45-32.60 บาท/ดอลลาร์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (12 ก.ค.เวลา9.13น.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.60-32.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการดูแลสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี 

 สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสของนายเจอโรม พาวเวลประธานเฟดในช่วงกลางสัปดาห์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 กรกฎาคม 2564

แนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมเป็นเรื่องที่หมุนเวียนมาทุกปีไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดเข้ามาบริหารก็ไม่สามารถหาโซลูชั่นที่ลงตัวได้จนปัญหานี้เรื้อรังกระทบทั้งภาคเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม และบริการ นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ

ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 รับทราบผลสรุป รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน : การบริหารและการจัดการภาวะแล้ง ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

สาระสำคัญของรายงานสรุปได้ 3 ด้าน กล่าวคือ 1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งทาง สทนช.ได้จัดทำแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2559-2565 แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564 และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำ แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และภาวะน้ำท่วม

พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยได้มีการกำหนดกลยุทธ์การจัดการความต้องการ (เกษตร อุตสาหกรรม) และแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชทั้งฤดูแล้งและฤดูฝนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน กำหนดกลไกและจัดทำคู่มือให้เกิดการจัดทำแผนงานบูรณาการการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีปัญหาจากการดำเนินการทั้งเรื่องการจัดทำแผนและจัดการภัยแล้งเชิงพื้นที่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลนอกเขตชลประทานในระดับพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน การใช้น้ำและเพาะปลูกพืชไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงไม่สามารถควบคุมแผนการจัดสรรน้ำได้ เป็นต้น จึงควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้น้ำ กำหนดมาตรการควบคุมการใช้น้ำส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ และใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุม

2.ข้อเสนอแนะเชิงบริหารจัดการ ซึ่ง สทนช.เตรียมแผนการจัดการเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อปรับตัวต่อภัยแล้ง โดยจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ และคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในภาวะวิกฤต

และมีการพัฒนาและบูรณาการระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ (big data) ด้านการจัดหา มีการเผยแพร่แผนที่น้ำใต้ดิน จัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำ ด้านอุปสงค์ (demand) จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งเสริมกระบวนการบำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์

ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบประเด็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลเชิงสถิติมีความคลาดเคลื่อนส่งผลต่อการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่บูรณาการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขาดงบประมาณและเกิดการต่อต้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากภาคประชาชนในการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

จึงควรปรับปรุงการคาดการณ์พยากรณ์ โดยอาศัยปัจจัยด้านพื้นที่มาวิเคราะห์บูรณาการกำหนดแผนผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และต้องเร่งโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่

สุดท้าย 3.ข้อเสนอแนะเชิงการขับเคลื่อน สร้าง Thailand team ซึ่งมีกลไกอยู่ 2 ระดับ ได้แก่

1) ระดับประเทศ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดทำ กำกับและขับเคลื่อน นโยบายการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ

และ 2) ระดับพื้นที่ ได้แก่ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำทำหน้าที่จัดทำ กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ แต่ยังไม่มีอำนาจผลักดันแผนงานในพื้นที่ได้ทั้งหมด

จึง “ควร” ผลักดันให้มีการจัดทำแผนแม่บท/แผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ เพื่อเป็นกรอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีผ่านกลไกดังกล่าว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 11 กรกฎาคม 2564

“เกษตร”เร่ง5คลัสเตอร์ ยกระดับผลผลิต “อีอีซี”

 “ทองเปลว” ถกแผนพัฒนาการเกษตรอีอีซี กำหนดทิศทางการขับเคลื่อน 5 คลัสเตอร์สินค้าเกษตร กรมชลฯ ผุด 5 โครงการน้ำ รองรับการเติบโต 10 ปี“อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว-เกษตร”บูมแต่น้ำไม่พอใช้

แผนพัฒนาเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญที่จะทำให้รายได้แรงงานภาคการเกษตรขึ้นมาในระดับเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบให้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนใน 5 คลัสเตอร์

ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี ได้เห็นชอบในหลักการการจัดทำแผนงาน โครงการของแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการเกษตรในอีอีซี 2566–2570 และทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่สำคัญภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี 2566–2570

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอร่างทิศทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในสินค้าเกษตรสำคัญ 5 คลัสเตอร์ คือ

1.ร่างทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ผลไม้ ให้สามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและการจำหน่ายสินค้าเกษตร (E-commerce)

2.ร่างทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ประมงเพาะเลี้ยง ให้สามารถยกระดับผลผลิตสินค้าประมงเพาะเลี้ยงให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามความต้องการ พัฒนาผลผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างหรือพัฒนาตลาดกลางและระบบโลจิสติกส์

3.ร่างทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้สามารถยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดและเข้าถึงแหล่งเงินทุน

4.ร่างทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์พืชสมุนไพร ให้สามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตพืชสมุนไพรโดยใช้เทคโนโลยี ยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปพืชสมุนไพรให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีที่ทันมัย และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการตลาดและการจำหน่ายสินค้าเกษตร (E-commerce)

5.ร่างทิศทางการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ High Value Products คือ โคเนื้อ และ ผักปลอดสารพิษและอินทรีย์ โดยส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง และได้มาตรฐานระดับสากลให้เพียงพอแก่ความต้องการภายในประเทศ ตั้งศูนย์ชำแหละ ตัดแต่ง และการแปรรูปที่ได้มาตรฐานระดับส่งออก และสนับสนุนและจัดทำการตลาด ทั้งโคเนื้อและผลิตภัณฑ์แปรรูป โปรโมทให้การบริโภคเนื้อโคเพิ่มมากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวมีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อทำแผนงานโครงการด้านการเกษตรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอีอีซี และเป็นแผนงานที่สามารถรองรับต่อสถานการณ์หลังโควิดในรูปแบบนิวนอร์มอล รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ (Big Data) ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ National Agricultural Bigdata Center (NABC) ด้วย

ทั้งนี้ การใช้อีอีซีเป็นต้นแบบเพื่อปรับการทำเกษตรในรูปแบบทันสมัย จะเป็นโอกาสพัฒนาภาคการเกษตร โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ (โซนนิ่ง) เพื่อกำหนดพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม

การดำเนินการต้องบริหารจัดการน้ำรองรับความต้องการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการและการท่องเที่ยวอย่างสมดุลซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มตัวอย่างด้านการเกษตรของประเทศที่ยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง พร้อมทั้งเกิดประโยชน์กับภาคประชาชนในอีอีซีและจังหวัดใกล้เคียง

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับ อีอีซี ระยะเวลา 10 ปี (2564-2574) เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ที่อาจจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมีเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์แนวโน้มความต้องการน้ำในเขตอีอีซี ในปี 2574 คาดจะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 358 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) เป็น 1,412 ล้าน ลบ.ม.จากปี 2564 มีความต้องการใช้น้ำปริมาณ 1,054 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้พิจารณาแนวทางในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนรองรับการความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและป้องกันการขาดแคลนน้ำทั้งในการอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการรักษา ระบบนิเวศ มีแนวทางการดำเนินการดังนี้

ในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ดำเนินการเพื่อเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ปีละ 140 ล้าน ลบ.ม. มีแผนงานก่อสร้างในปี 2567-2670 และโครงการผันน้ำคลองวังโตนด-อ่างฯประแสร์ เส้นที่ 2 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 70 ล้าน ลบ.ม.

จ.ระยอง ดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างฯประแสร์ เส้นที่ 2 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้อีกปีละ 50 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินงานปี 2566-2567 ภายใต้งบประมาณ 810 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการ

จ.ชลบุรี ได้ดำเนินโครงการผันน้ำจากอ่างประแสร์-หนองค้อ-บางพระ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระ ปีละ 80 ล้าน ลบ.ม.รองรับความต้องการน้ำในการอุปโภค-บริโภค การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในอนาคต ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปี 2566-69) ภายใต้งบประมาณ 9,500 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบและทบทวนแบบเดิมแล้วเสร็จ และดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งขออนุญาตใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 กรกฎาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.54 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่า – ควรติดตามการประกาศใช้มาตรการ Lockdown รอบใหม่ จะมีความเข้มงวดขนาดไหน รวมถึงแผนการรับมือการระบาดของรัฐบาลว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.46 บาทต่อดอลลาร์-มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.65 บาท/ดอลลาร์

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกในขณะนี้ อาจกดดันให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกังวลว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าใกล้จุด Peak และเศรษฐกิจอาจเริ่มชะลอตัวลงได้ พร้อมกันนั้น โมเมนตัมการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงก็ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อผู้เล่นในตลาด

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่ม Cyclical กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวลดลง โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.86% หลังจากดัชนีเพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่วันก่อน ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดหุ้นฝั่งยุโรป ล้วนปรับตัวลงหนัก กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.13% ซึ่งมาจากแรงเทขายหุ้นในธีม Cyclical ไม่ว่าจะเป็น หุ้นสินค้าแบรนด์เนม (Kering -3.37%, Louis Vuitton -3.21%, L’Oreal -3.05%) หุ้นกลุ่มการเงิน (Intesa Sanpaolo -2.93%, BNP Paribas -2.86%) รวมถึง หุ้นกลุ่ม Industrial อย่าง หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Volkswagen -2.89%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมทั้งความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลง ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงย่อตัวลงต่อเนื่องกว่า 7bps สู่ระดับ 1.25% ก่อนที่จะรีบาวด์กลับสู่ระดับ 1.30% หลังมีผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไร (Take Profits on Bond rally) อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบใกล้ระดับ 1.40% เนื่องจากตลาดการเงินยังถูกกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทว่า หากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จนเฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เราก็คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นได้ โดยมองว่า ณ สิ้นปี 2021 อาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ใกล้ระดับ 1.75%

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความกังวลแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.37 จุด ส่งผลให้ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้น สู่ระดับ 1.185 ดอลลาร์ต่อยูโร  ส่วน เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็พลิกกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 109.9 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงยังได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 รวมถึงอัตราการแจกจ่ายวัคซีน ทั่วโลก หลังการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งในฝั่งไทย ตลาดจะรอจับตา แนวโน้มการประกาศใช้มาตรการ Lockdown รอบใหม่ ว่าจะมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน และมาตรการ Lockdown จะสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้หรือไม่

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย โดย สถานการณ์การระบาดในไทยมีแนวโน้มเข้าสู่จุดวิกฤติ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี ควรติดตามการประกาศใช้มาตรการ Lockdown ระลอกใหม่ รวมถึงแผนการรับมือการระบาดของรัฐบาลว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เพราะว่า มาตรการควบคุม เริ่มสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดการเงินก็พร้อมจะกลับมาอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจเป็นจุดกลับตัวของเงินบาท จากเทรนด์อ่อนค่า มาเป็น เทรนด์แข็งค่าขึ้นได้

อนึ่ง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบๆ 15 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ เช้านี้ (9 ก.ค.) เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปที่ระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบๆ 15 เดือน ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 32.69-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเร่งตัวขึ้น และทางการไทยต้องมีการยกระดับมาตรการสกัดและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งตลาดรอติดตามผลการพิจารณาของที่ประชุม ศบค. ในช่วงเช้าวันนี้  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.50-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สัญญาณการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญจะอยู่ที่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของจีน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

2 ยักษ์จีน-อเมริกา ปลุกเศรษฐกิจโลก อานิสงส์ไทย 4 ด้าน ลุ้นส่งออกโต 10%

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิเคราะห์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในระลอกที่ 4 ขณะที่อีกฟากฝั่งของโลก สหรัฐฯและจีน 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก สามารถคุมโควิดได้ดี อานิงส์ครั้งนี้จะตกกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ในขณะที่ทั่วโลกยังอยู่ในอาการสะพรึงกับการแพร่ระบาดของเจ้าวายร้ายไวรัสโควิด-19 มานานนับปี หลายประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจเดินหน้าบริหารจัดการต้านโรคร้ายจนเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่อีกหลายประเทศยังไม่สามารถควบคลุมได้ทั้งในแง่การเร่งตรวจคัดกรอง และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะประเทศไทย ความเคลื่อนไหวดังกล่าว รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  ให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศไว้อย่างน่าสนใจ

รศ.ดร.สมภพ เปิดประเด็นด้วยข่าวดีที่ภาพรวมเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปีนี้คาดจะยังเป็นไปตามเป้าจีดีพีโต 8.4-8.5%  ขณะที่จีดีพีโลกเติบโต 6% ถือว่าเติบโตมากถ้าเทียบจากที่โลกเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิดเมื่อปี 2563 ที่จีดีพีโลกติดลบที่ 4.3 %

สัญญาณบวกศก.โลกมาแล้ว

ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวก เนื่องจากการค้าต่างประเทศของจีนจะเป็นตัวนำที่ทำให้โลกฟื้นตัว  ขณะนี้จีนและสหรัฐอเมริกาทำให้การค้าต่างประเทศขยายตัว 40-50% ดังนั้น 2 ชาตินี้ จะทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มาจากการค้า การส่งออกและการนำเข้า  ซึ่งจีนและอเมริกาค้าขายร่วมกันต่อปีมีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.5 ล้านล้านบาท)

มองว่าการขยับตัวไปในทิศทางบวกของจีนและอเมริกานั้น  ไทยจะได้รับอานิสงส์ 4 ด้านหลักในเบื้องต้นคือ 1.การค้าระหว่างไทย-จีน และไทย-สหรัฐฯ ก็จะดีขึ้นด้วย พอจีนและสหรัฐฯดีขึ้นก็จะลากทั้งโลกดีขึ้นตาม โดยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2564 โตถึง 41% เป็นผลจากการค้าต่างประเทศฟื้นตัว

2.ถ้าไทยสามารถบริหารการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้ดีขึ้น นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะมาไทยคือจีน โดยจีนจะยังไม่ไปเที่ยวประเทศไกล ๆ อย่างสหรัฐฯา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่จะมาเที่ยวในประเทศกลุ่มเซาท์อีสท์เอเชียก่อน  โดยเฉพาะไทย ถ้ายิ่งฉีดวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มจำนวนมากคนจีนยิ่งมั่นใจเพราะเป็นวัคซีนที่มาจากจีน  ดังนั้นภายในสิ้นปี 2564 ถ้าฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมทั่วประเทศสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ก็จะดีต่อประเทศไทยอย่างมาก

3.จีนจะเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น และไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่จีนจะเดินหน้าการลงทุนต่อโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี จากที่ก่อนหน้านี้เข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอจำนวนมากก็จะเกิดการลงทุนต่อเนื่อง 

4.ต้นปี2565 ไทยจะได้รับอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป(RCEP) สมาชิกประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียนและ 5 ประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ก็จะเป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้จีนออกมาลงทุนมากขึ้น เพราะจะมีการลดภาษีสินค้าระหว่างกันในระดับที่มากกว่าเอฟทีเอทวิภาคี ซึ่งประเทศในกลุ่มอาร์เซ็ปมีจีดีพี 30% ของโลก และมีประชากร 30% ของโลก

ที่สำคัญการขยับตัวของจีน จะทำให้สินค้าส่งออกไทยที่น่าจับตามากที่สุดคือ 1.กลุ่มชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มสินค้าเกษตร เช่นยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล 3.เม็ดพลาสติก 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 5.กลุ่มอาหาร เช่น ทุเรียน มังคุด ผลไม้อบแห้ง เหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่จีนต้องการมากหลังฟื้นตัวจากโควิด

มองประเทศไทยครึ่งปีหลัง

 รศ.ดร.สมภพ ยังมองภาพรวมประเทศไทยในครึ่งปีหลังว่า จะขึ้นอยู่ที่ปัญหาในประเทศไทยเอง ที่ความเคลื่อนไหวด้านโควิดเดินสวนทางกับหลายประเทศที่การดูแลการแพร่ระบาดของโควิดดีขึ้น แต่ไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะการระบาดในโรงงานในขณะที่การส่งออกในขณะนี้เป็นอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยโลก ภาคการผลิตจึงสำคัญทุกกลุ่ม และถ้าโรงงานจะต้องล็อกดาวน์บ่อย ๆ ก็จะมีปัญหาด้านความมั่นคงด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้คือปัญหาของเราที่เกิดขึ้นในประเทศและถ้าคุมไม่อยู่จะเสียโอกาสการส่งออกที่เริ่มมีทิศทางที่ดีได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งฉีดวัคซีนครอบคลุมให้เร็วที่สุด จะต้องคัดกรองคนติดแยกออกมาให้มากที่สุดเร็วที่สุด แล้วฉีดวัคซีน ซึ่งวิธีปฏิบัติแบบนี้ทั้งจีนและเวียดนามทำได้สำเร็จแล้ว  รวมถึงการควบคุมแรงงานต่างด้าวที่ติดเชื้อลักลอบเข้ามาและที่เข้ามาถูกต้องให้ได้ด้วย

“ปี 2564 มีตัวช่วย 2 ตัวที่พอจะฝาก ผีฝากไข้ได้คือการส่งออกของไทย แต่ขึ้นอยู่ที่ต้องควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานให้ได้ด้วย และการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวที่ควบคุมได้เช่นสถานที่เที่ยวที่เป็นเกาะ เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ดังนั้นภาครัฐจะต้องระดมตรวจโควิดและระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด”

ครึ่งหลัง ปี 65 ศก.จะโงหัว

 เมื่อถามว่าประชาชนคนไทยจะเผชิญพิษโควิดอีกนานแค่ไหนนั้น รศ.ดร.สมภพมองว่าจะขึ้นอยู่ที่ว่าไทยจะบริหารการรับมือโควิดได้แค่ไหน โดยรัฐจะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกคือเร่งตรวจโควิด และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ก่อน ถ้าทำตรงนี้ได้คิดว่าครึ่งปีหลังปี 2565 ภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มโงหัวขึ้น

 “ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้จักจัดอันดับความสำคัญก่อน-หลังของการแก้ไขปัญหาและโดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนคือ ต้องระดมตรวจคนติดเชื้อโควิด และต้องระดมฉีดวัคซีน และไปกอบกู้ภาคการส่งออกและบริการให้ดีขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และมองว่าจีดีพีของประเทศปี 2564 น่าจะโตเต็มที่ที่ 1.8% ตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้ก่อนหน้านี้  และคิดว่าการส่งออกปีนี้ยังเติบโตได้ทั้งปีอย่างน้อย 10% เหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณดี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการ การรับมือวิกฤติโควิดของรัฐบาลด้วย”

2 ยักษ์จีน-อเมริกา ปลุกเศรษฐกิจโลก อานิสงส์ไทย 4 ด้าน ลุ้นส่งออกโต 10%

มองจุดแข็งประเทศไทย

รศ.ดร.สมภพยังมองถึงจุดแข็งของประเทศไทยด้วยว่า มีหลายส่วนที่ได้เปรียบหลายๆประเทศไล่ตั้งแต่ 1.สถานการณ์เงินในประเทศยังไม่ได้ขาดแคลนดูจากเงินฝากในสถาบันการเงินพาณิชย์มีเงินฝากประชาชนจำนวนมากแต่ปัญหาใหญ่ของเราคือใช้เงินไม่เป็น  

2.แบงก์ชาติมีทุนสำรองต่างประเทศจำนวนมากหรือมีครึ่งหนึ่งของจีดีพี ถือว่าสูงมาก 3. รัฐบาลไม่ได้มีหนี้สาธารณะมาก ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและรัฐบาลเป็นหนี้ต่างประเทศก็น้อยมาก 4.ธุรกิจของไทยยังไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมากแบบสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง

ดังนั้นในแง่เศรษฐกิจมหภาค ไทยเรายังมีจุดแข็งในลำดับต้น ๆ ของเอเชีย และเมื่อเศรษฐกิจมหภาคแข็งก็ต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วย

พร้อมทิ้งท้ายฝากรัฐบาลว่า ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้จักจัดอันดับความสำคัญก่อน-หลังของการแก้ไขปัญหาและโดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการก่อนคือ ต้องระดมตรวจคนติดเชื้อโควิด และต้องระดมฉีดวัคซีน  และไปกอบกู้ภาคการส่งออกและบริการให้ดีขึ้นโดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และมองว่าจีดีพีของประเทศปี 2564 น่าจะโตเต็มที่ที่1.8%ตามที่แบงก์ชาติประเมินไว้ก่อนหน้านี้  และคิดว่าการส่งออกปีนี้ยังเติบโตได้ทั้งปีอย่างน้อย 10%เหล่านี้น่าจะเป็นสัญญาณดี แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการ การรับมือวิกฤติโควิดของรัฐบาลด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 กรกฎาคม 2564

'จุรินทร์' ถกทูตชิลีสานต่อการค้าการลงทุน

 ‘พาณิชย์หารือเอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย หาแนวทางผลักดันการค้าสองฝ่ายให้เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลีพร้อมสานต่อการค้าการลงทุนระหว่างกันหลังโควิด-19’

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายคริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต เอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย ว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้ว่าการค้าระหว่างกันจะชะลอตัวจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2564

ทั้งสองฝ่ายเห็นควรสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยมีกับชิลีตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกระหว่างกัน 98% ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้ ไทยและชิลีได้จัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ปัจจุบัน ชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในลาตินอเมริกา รองจาก เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา

สำหรับช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. - พ.ค.) การค้าระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่า 476 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 14,453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกมูลค่า 258 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 7,793.1 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 217 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 6,660 ล้านบาท มีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์แปรรูป ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

กนศ.ชี้ 4 ปม ไทยเสียเปรียบร่วม 'ซีพีทีพีพี'

พาณิชย์ เผยผลศึกษา “กนศ.” กรณีไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ชี้มี 4 ประเด็นอ่อนไหว เสียเปรียบ แนะต้องปรับตัวอย่างรุนแรง คาดอีก 2-3 สัปดาห์ รู้ผลจะได้เข้าสมาชิกหรือไม่

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ เป็นประธานได้เสนอผลการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ข้อห่วงใย และการปรับตัวของไทยกรณีที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความ ตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) ที่ศึกษาเพิ่มเติมจากข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรอง เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาของครม. คาดว่า น่าจะบรรจุเป็นวาระได้ในอีก 2-3 สัปดาห์

“การเสนอครม. เพื่อให้พิจารณาว่า ไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ ครม.อาจเห็นชอบ หรือไม่ก็ได้ ถ้า เห็นชอบ ไทยก็จะส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกไปยังซีพีทีพีพี และสมาชิกก็ต้องพิจารณากันว่า จะให้ไทยเข้าร่วมหรือไม่ ถ้าอนุมัติ ไทยก็จะตั้งคณะเจรจา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมด้วย และยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่ว่า ครม.อนุมัติแล้ว จะเป็นสมาชิกได้ทันที และยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นเรื่องนี้ ทำทุกอย่างอย่างมีขั้นตอน และเปิดเผย”

สำหรับผลการศึกษาของกนศ. พบว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิก จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีจะทำให้ไทยได้ประโยชน์ด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน เป็นต้น ถ้าไม่เข้าร่วม ไทยอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และเสียศักยภาพการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่เข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ก็มีข้อเสียใน 4 ประเด็นอ่อนไหว เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ เป็นต้น ที่ไทยต้องปรับตัวอย่างรุนแรง ให้พร้อมรับการแข่งขัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองว่า การปรับตัวของไทยอาจทำได้ยาก และใช้เวลานาน และตนก็มองว่า ถ้าไทยไม่พร้อมก็ยังไม่ควรเข้าเป็นสมาชิก

นอกจากนี้ กนศ.ยังได้ศึกษาเบื้องต้นในประเด็นที่สหราชอาณาจักร จะเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว ซึ่งพบว่า จะมีทั้งข้อดี และข้อเสียกับไทย

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

“พาณิชย์”ลุยยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

รองนายกฯจุรินทร์ สั่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” มอบกรมส่งเสริมการค้าฯ เร่งผลักดันการส่งออกตอบโจทย์เทรนด์โลก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติม โดยได้วางแผนในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลกในหลายด้าน ทั้งเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความต้องการสินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูง อาหารฮาลาลสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม และสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19

สำหรับสินค้าที่กรมฯ ประเมินว่า กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของโลก และเป็นเทรนด์ที่จะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ได้แก่ สินค้าไลฟ์สไตล์ ที่พัฒนามาจากของเหลือใช้ 2 รูปแบบ คือ ผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร และขยะคุณภาพดีจากแหล่งอุตสาหกรรม ที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ สินค้าในกลุ่มอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ที่ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์นโยบาย BCG โดยกรมฯ มีแผนที่จะดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านการตลาด ผ่านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์สินค้า BCG ของไทยในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอาหารอนาคต สินค้าฮาลาล มีเป้าหมายจะเร่งส่งเสริมและผลักดันการส่งออกโดยมีตลาดเป้าหมายในกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ UAE รวมทั้งจะเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าในกลุ่มสมุนไพร เครื่องสำอาง ที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีตลาดเป้าหมาย ได้แก่ จีน เวียดนาม รัสเซีย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเดิมที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเฉพาะอาหาร ทั้งอาหารคน และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และ สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ และสินค้าเพื่อสุขภาพและอนามัย ซึ่งกรมฯ ยังจะเดินหน้าผลักดัน และจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าเหล่านี้ ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดอีกมาก

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

เศรษฐกิจโลก-คู่ค้าฟื้นตัว เกื้อหนุนส่งออกไทยปีนี้โตเกินเป้าหมาย 4%

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การันตี การส่งออกของประเทศไทย ครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มสดใส หลังเศรษฐกิจโลก-คู่ค้าฟื้น และยังได้ผลดีจากการที่ไทยใช้ดิจิทัล ดันยอดการค้า เชื่อมูลค่าขยายตัวโตเกินเป้าหมาย เป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการส่งออกของประเทศไทยช่วงครึ่งหลังปีนี้ว่า สถานการณ์จะดีขึ้นมาก เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้น หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้การใช้ชีวิต และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา อีกทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อประชาชนเพิ่มขึ้น และสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังได้รับผลดีจากการที่กรมได้ปรับแนวทางการทำงานส่งเสริม และผลักดันการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤติโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภารกิจงาน ทั้งพัฒนาช่องทางการตลาด พัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาสินค้า และการให้บริการข้อมูล เพื่อให้เดินหน้ากิจกรรมส่งเสริมส่งออกได้ ส่งผลให้สินค้าไทยยังส่งออกได้ดี

ส่งออกปีนี้โตเกินเป้า 4%

กรมยังร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อส่งออกสินค้าเกษตรคุณภาพ ใช้นวัตกรรมในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น, ทำงานร่วมกับภาคเอกชนในรูปคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาด้านการส่งออก, ใช้กลไกการทำงานของทูตพาณิชย์ ในฐานะเซลส์แมนประเทศ และพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัด ในการทำตลาดร่วมกัน, อบรมผู้ส่งออกให้ค้าขายออนไลน์ได้ สร้างนักรบการค้ารุ่นใหม่ ให้สามารถส่งออกได้อีกด้วย

“แผนงานทั้งหมดนี้ เป็นนโยบาย รมว.พาณิชย์ เราใช้ผลักดันการส่งออกมาตลอด ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีรายได้จากการส่งออกมากถึง 108,635 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.78% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงจะยังคงใช้แผนงานนี้ต่อเนื่อง และจะมีเพิ่มเติม เช่น การทำมินิเอฟทีเอกับไห่หนาน ของจีน, รัฐเตลังกานา อินเดีย, เมืองคยองกี เกาหลีใต้ และเมืองโคฟุ ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการค้าร่วมกัน คาดว่า จะลงนามร่วมกันในเร็วๆนี้ เพื่อทำให้มูลค่าส่งออกในภาพรวมของปีนี้โตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4%”

สำหรับสินค้าที่ยังส่งออกได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง, สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เตาอบไมโครเวฟเครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์และอุปกรณ์, สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยาง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงไม่น่าเป็นห่วง

สำหรับตลาดส่งออกที่คาดขยายตัวได้ดี พบว่าแทบจะทุกตลาด เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แคนาดา ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และบางประเทศกลับมาระบาดใหม่, การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น, เงินบาทที่ยังแข็งค่าเกินกว่าค่าเงินคู่แข่ง ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น และเสียศักยภาพแข่งขัน เป็นต้น

“ปัจจัยเสี่ยง ไม่น่าห่วงมาก เพราะเราปรับแนวทางการทำงาน และจัดกิจกรรมส่งเสริม ผลักดันการส่งออกครอบคลุมไว้หมดแล้ว ที่จะทำให้การส่งออกไทยไปต่อได้ เพียงแค่คอยมอนิเตอร์ไว้เท่านั้น”

สำหรับการนำดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน ที่มีทั้งการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจผ่านออนไลน์ (Online Business Matching), การจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริงผ่านออนไลน์ (Virtual Exhibition), การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด ที่มีทั้งการจัดงานผ่านออนไลน์ ร่วมกับการจัดงานแสดงสินค้าจริง, การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในรูปแบบ Mirror-Mirror โดยส่งตัวอย่างสินค้าไปให้ลูกค้าในต่างประเทศชม และเจรจาซื้อขายผ่านออนไลน์ ฯลฯ ช่วงครึ่งแรกปีนี้ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศสูงถึง 10,152 ล้านบาท

ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ ยังจะจัดงานในลักษณะดังกล่าวอีกหลายครั้ง ในหลายๆสินค้า เช่น อาหารคน-สัตว์เลี้ยง, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องมือแพทย์, ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม เป็นต้น ซึ่งจะมีรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก และช่วยผลักดันยอดส่งออกให้ขยายตัวได้มากที่สุด

“กิจกรรมใหม่ๆ ที่มีโอกาส อาทิ งานแสดงสินค้าดิจิทัลคอนเทนต์แบบเสมือนจริง ผ่านออนไลน์ (MOVE) ประสบความสำเร็จมาก ผมคิดว่าไทยอาจจะเป็นประเทศแรกๆ ที่จัดงานในลักษณะนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว และจัดปีนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และอีกงานที่สำเร็จมากคือ คอนเทนต์ วาย โดยจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตคอนเทนต์ วาย ของไทยที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลกกับผู้ซื้อในต่างประเทศ สร้างรายได้กว่า 300 ล้านบาท เราพยายามหาสินค้า และบริการที่มีศักยภาพใหม่ๆ ไปขายตลาดโลก”

นอกจากนี้ อีกงานที่ประสบความสำเร็จสูง คือ การทำตลาดร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ โดยเปิดไลน์กลุ่ม เพื่อให้พาณิชย์จังหวัดได้นำเสนอสินค้าดีในแต่ละจังหวัด และให้ทูตพาณิชย์หาตลาดให้ ที่ผ่านมาขายสินค้าให้กับผู้ผลิตในหลายจังหวัดได้เกือบ 130 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายสินค้า เช่น อุปกรณ์การแพทย์ ขิงดอง เครื่องสำอาง ธัญพืชอบกรอบ เป็นต้น

“ปีนี้ การส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แน่นอน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอะไร เราต้องทำทุกทางเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้”.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

"กระทรวงอุตสาหกรรม"เร่งดึงสถานประกอบการเข้า Platform ประเมินโควิด-19

กระทรวงอุตสาหกรรมร่อนหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดําเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม โดยให้เร่งรัดการเข้าสู่ Platform Online Thai Stop Covid Plus เพื่อประเมินตนเอง

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้เป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ด้วยการประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว  ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายในสถานประกอบกิจการโรงงาน กว่า 60,000 โรงทั่วประเทศ โดยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Thai Stop Covid Plus ทุกสองสัปดาห์ และให้พนักงานประเมินด้วย Thai Save Thai ก่อนเข้าปฏิบัติงาน โดยกำหนดให้โรงงานทุกแห่งดำเนินการภายใน 30 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ จากข้อมูลสรุปโรงงานที่ประเมินตนเองใน Platform Online Thai Stop Covid Plus  ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พบว่าผลการประเมินตนเองยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กําหนด จึงได้ขอความร่วมมือให้ ทุกหน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์ และเร่งรัดให้สถานประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานประเมินตนเองด้วย Platform Online Thai Stop Covid Plus ให้ครบถ้วนโดยเร็วที่สุด

“ที่น่าวิตกกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) มีจำนวนสูงขึ้น โดยมักจะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในแรงงานภาคอุตสาหกรรมทำให้ต้องหยุดประกอบกิจการ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงาน และเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้น การประเมินตนเองตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข  ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข    ได้พัฒนาขึ้น จะช่วยในการป้องกันการแพร่ระบาดฯ รวมทั้งสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันในส่วนของพนักงาน  ก็ต้องประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Save Thai เพื่อยกระดับการคัดกรองคนก่อนเข้าโรงงานอย่างเข้มงวดป้องกันผู้มีความเสี่ยงไม่ให้เข้ามาปฏิบัติงานและแพร่เชื้อในสถานประกอบการ”

อย่างไรก็ดี จากตัวเลข ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 มีผู้ประกอบโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศทยอยประเมินตนเองผ่าน Thai Stop Covid Plus แล้วจำนวน 15,152 แห่ง (โรงงานทุกขนาด) คิดเป็น 24% จากเป้าหมาย64,038 แห่ง โดยเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนงานมากกว่า 200 คน รวมทั้งสิ้น 3,290 แห่ง คิดเป็น 99.5% จากเป้าหมาย 3,304 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 2,353 แห่ง และไม่ผ่านเกณฑ์ 880 แห่ง  โดยโรงงานที่ประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ จะต้องใช้มาตรการเพื่อ Upgrade ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้วยการประเมินซ้ำทุก 2 สัปดาห์

ส่วนโรงงานที่ประเมินผ่านเกณฑ์ จะได้ร่วมในการสัมมนาออนไลน์ Fight Covid -19 เรียนรู้แนวทางบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงฯ รวมทั้งได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการฟื้นฟูและเสริมแกร่งสถานประกอบการอีกด้วย นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสภาอุตสาหกรรม เพื่อลงพื้นที่สุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (On-site) ในโรงงาน เป้าหมายจำนวน 955 แห่ง โดยขณะนี้ตรวจประเมินโรงงาน On-site ไปแล้ว  กว่า 953 แห่ง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

ฝนกระจายตัวหลายพื้นที่!! ฝนหลวงฯ พร้อมทำฝนช่วยเกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูก

 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ของประเทศไทยมีฝนตกกระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง ทำให้มีฝนตกบางแห่งในระดับปานกลางถึงหนักได้ โดยขณะที่มีร่องมรสุมพาดผ่านทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรง ส่งผลให้เกิดฝนได้ง่ายขึ้น ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ยังคงตั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการทั่วทุกภูมิภาค สนับสนุนอากาศยานและกำลังพล ในการร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตรอย่างเพียงพอ

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พะเยา อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เพชรบุรี เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 3 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง

นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า มี 3 หน่วยปฏิบัติการที่ไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ คือ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี ขอติดตามสภาพอากาศเนื่องจากกระแสลมค่อนข้างแรง และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากเครื่องบินของกองทัพอากาศเกิดการขัดข้องและอยู่ระหว่างการแก้ไข และบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวงในเช้าวันนี้ จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ตาก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำใน จ.พิจิตร จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำใน จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลพบุรี จ.อุทัยธานี จ.นครสวรรค์ จ.ชัยนาท และพื้นที่ลุ่มรับน้ำในพื้นที่ภาคกลาง

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ขอนแก่น มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.หนองบัวลำภู

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.มหาสารคาม

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สระแก้ว มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา

- หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ราชบุรี

อย่างไรก็ตาม สำหรับ 6 หน่วยปฏิบัติการ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

หอการค้าฯค้านตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ผวาอดีตเคยล้มเหลว

หอการค้าไทย ย้ำจุดยืน “ค้าน” ตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ หลังอดีตเคยล้มเหลวไม่มีเรือของตัวเอง ชี้ใช้กลไก บดท เหมาะกว่า ขณะสนับสนุนให้มี “กองเรือของชาติ” ส่งเสริมกองเรือและอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทย ให้แข่งขันได้อย่างเท่าเทียมบนเวทีโลก

กรณีกระทรวงคมนาคม มีนโยบาย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ รวมถึงการจัดตั้ง บริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับเรือไทยและอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีไทยนั้น

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานคณะกรรมการ Logistics & Supply Chain เผยว่า ในมุมมองของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความยินดีที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาการขนส่งทางทะเลให้มีศักยภาพและแข่งขันได้ แต่จากบริบทปัจจุบัน หอการค้าไทยฯ ไม่เห็นด้วย ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการตั้ง บริษัท สายเดินเรือแห่งชาติ จำกัด เนื่องจากในอดีตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็ได้มีการตั้งรัฐวิสาหกิจที่มีชื่อว่า บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด และในช่วง 20 ปี ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะปิดกิจการ บริษัทฯ ไม่มีเรือที่เป็นของตัวเองเลย แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปจ้างเดินเรือของต่างชาติขนส่งสินค้ารัฐบาลแทน

ต่อมา ได้มีการจัดตั้งเป็น บริษัท บทด จำกัด แทน โดยรัฐบาลถือหุ้น 30% เอกชนกว่า 20 บริษัทถือหุ้นอีก 70% ปัจจุบันมีเรือ 3 ลำ ซึ่ง บริษัท บทด จำกัด ตั้งขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจเดินเรือทะเล โดยดำเนินธุรกิจ 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1) ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมี (Tanker)  2) ธุรกิจเรือ BULK และ Container 3) ธุรกิจการขนส่งชายฝั่ง (Coastal) และ4) ธุรกิจ Logistics ซึ่งตอนนี้ บริษัท บทด จำกัด ได้มีการสั่งซื้อเรือน้ำมันขนาดใหญ่ ความยาว 240 เมตร ความจุ 1.05 แสนตัน จะเข้ามาประเทศไทยในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้แล้ว โดยให้บริการขนส่งน้ำมันกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศครบวงจร กล่าวคือ บริษัทเดินเรือของไทย ให้บริการบริษัทน้ำมันของไทย การซ่อมเรือก็ทำที่อู่เรือไทย ดังนั้น จึงขอให้รัฐ ใช้กลไกที่มีอยู่แล้วคือ บริษัท บทด จำกัด จะเหมาะสมกว่า

ขณะเดียวกันโดยทั่วไปค่าระวางเรือ ฝั่งการส่งออก ในสภาวะปกติ จะอยู่ที่ 7% ของมูลค่าสินค้า โดยประมาณ เท่ากับว่า ถ้าส่งสินค้าโดยเรือบริษัทไทย ขายสินค้า 100 บาท รายได้ก็จะเข้าประเทศ 100 บาท แต่ถ้าส่งสินค้าโดยเรือบริษัทต่างชาติ รายได้ก็จะเข้าประเทศ 93 บาท อีก 7 บาท ต้องจ่ายค่าระวางให้กับต่างประเทศ ในฝั่งการนำเข้า ค่าระวางเรือในสภาวะปกติ จะอยู่ที่ 4% ของมูลค่าสินค้า โดยประมาณ ถ้าสั่งของ 100 บาท โดยใช้เรือไทยบริษัทไทย ขนส่ง ประเทศไทยจะมีรายได้เข้ามา 4 บาท แต่ถ้าใช้เรือบริษัทต่างชาติ ประเทศไทยจะไม่มีรายได้เข้ามาเลย

“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ขอสนับสนุนให้มี “กองเรือของชาติ” ซึ่งกองเรือของชาติ คือเรือที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ และ ธุรกิจการเดินเรือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันโดยเสรีกับนานาชาติ จึงขอให้ภาครัฐสนับสนุน กองเรือของชาติ เพื่อให้กองเรือไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม”

 นอกจากนี้รัฐบาลควรมีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเล และกิจการพาณิชยนาวี (ธุรกิจเดินเรือ ท่าเรือ และอู่ซ่อมและสร้างเรือ) ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยภาคเอกชนสามารถแข่งขันได้ในระดับระหว่างประเทศประเทศ เพื่อใช้ภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการดำเนินการ เนื่องจาก ภาคเอกชนมีความคล่องตัวกว่าภาครัฐเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่รัฐจะไม่ทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

“พาณิชย์”ผุดคก.ใหม่ลุยตลาดเอเชียใต้  โอกาสการค้าไทยยังมีลู่ทาง

“พาณิชย์"เดินหน้าเร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal เตรียมจัดโครงการผลักดันการค้าในตลาดเอเชียใต้ โค้งสุดท้ายปีงบประมาณ 64 หวังดันยอดส่งออกไทยในตลาดเอเชียใต้เติบโตไม่สะดุดท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยว่า กรมได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการเร่งรัดการส่งออกของไทยในยุค New Normal ให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง โดยกำหนดจัด โครงการผลักดันการค้าในตลาดเอเชียใต้ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2564 ซึ่ง   นับเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ ส่วนกลางและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ รวม 4 แห่ง ได้แก่ สคต. ณ เมืองมุมไบ/กรุงนิวเดลี/เมืองเจนไน สาธารณรัฐอินเดีย และสคต. ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจ

“โอกาสทางการค้าของไทยในตลาดเอเชียใต้ที่ยังมีลู่ทางสดใสสำหรับสินค้าไทยในการขยายการส่งออกได้อีกมาก ตลอดจนมีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นและนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับปรุงสินค้า         ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดเอเชียใต้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”

ทั้งนี้ ตลาดเอเชียใต้นับเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทยที่กรมให้ความสนใจมาโดยตลอด โดยข้อมูลล่าสุดจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ จะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 9.5% และ 6.6 % ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และมีประชากรชนชั้นกลางที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงกว่า 400 ล้านคน คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2564 จะสูงขึ้นถึง11% จากติดลบ 8% ในปี 2563 และบังกลาเทศ แม้จะเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาค รองจากอินเดียและปากีสถาน แต่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 6.85% ในปี 2562-2563 โดยพบว่า    ในปี 2563 บังกลาเทศมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชียใต้ คือ  5.2 % และคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564-2565 คิดเป็น 6.8% และ 7.2% ตามลำดับ

สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) วันที่ 15 ก.ค. 64 โดยผู้อำนวยการ สคต. ทั้ง 4 แห่งจะร่วมบรรยายให้ความรู้ถึงลักษณะเฉพาะของตลาดเอเชียใต้ในกลุ่มสินค้าประเภทต่างๆ อาทิ เครื่องสำอาง สุขภาพและความงาม อาหารแปรรูป/อาหารพร้อมรับประทาน ของใช้ภายในบ้าน อาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ จากนั้นเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการมีโอกาสนำเสนอสินค้า (Product Pitching) ช่วงวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2564 เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความพร้อมและเหมาะสมมากที่สุดในการจับคู่เจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) กับผู้นำเข้าเอเชียใต้ ช่วงวันที่ 1-3 กันยายน 2564

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดัน “อ่อนค่า”ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-Off) ช่วยหนุนให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์มากขึ้นในระยะสั้นเพื่อหลบความผันผวน หนุนให้ โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.20 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.25-32.40 บาท/ดอลลาร์

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าและ มีโอกาสผันผวนตามเงินดอลลาร์สหรัฐ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและในไทยที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท

นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (Risk-Off) จะช่วยหนุนให้ ตลาดถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นในระยะสั้นเพื่อหลบความผันผวน หนุนให้ โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงมีอยู่

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดในไทยที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อรายวันในระดับสูง รวมถึง การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้าจะยังคงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวัง โอกาสที่ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อถึงระดับ 32.25-32.50 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 32 บาทต่อดอลลาร์ และผู้ส่งออกต่างก็ขยับไปรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 32.25-32.30 บาทต่อดอลลาร์

ดังนั้นจากทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

บรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบ -2%, ปัญหาการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Delta  และ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนมิถุนายน ที่ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 60.1 จุด

ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ที่ปรับตัวลดลงกว่า -1.36% ส่วนดัชนี Dowjones และ S&P500 ย่อตัวลงราว -0.60% และ -0.20% ตามลำดับ ในขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.17% หนุนโดย การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ล่าสุด ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.35%   

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดตลาด -0.85% จากแรงเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้น Industrial, Energy และ Financial อาทิ Daimler -4.01%, Volkswagen -3.93%, BNP Paribas -3.19%, ING -3.17%, Total Energies -2.08%, Eni -1.78%

ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเพื่อสถานะถือครองบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.35% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน หลังผู้เล่นส่วนใหญ่เริ่มปรับลดน้ำหนักโอกาสที่เฟดจะเร่งรีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงลดความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างบอนด์ ก็ถูกหนุนโดย ความผันผวนในตลาดการเงินจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึง ความวุ่นวายของการประชุม OPEC+ ที่ฉุดราคาน้ำมันดิบดิบเบรนท์และ WTI พลิกกลับมาลดลงเกือบ -2% สู่ระดับ 74.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 73.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทางด้านตลาดค่าเงินดอลลาร์ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สวนทางกับการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า เงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์หลบความผันผวนในตลาด (Safe Haven Assets) ทำให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.54 จุด กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง สู่ระดับ 1.182 ดอลลาร์ต่อยูโร  ส่วน ค่าเงินกลุ่ม Commodities-linked อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) ก็พลิกมาอ่อนค่าลง สู่ระดับ 0.749 ดอลลาร์ต่อ AUD ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นสวนทางกับเงินดอลลาร์ สู่ระดับ 110.5 เยนต่อดอลลาร์ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน นอกจากนี้ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ยังได้หนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำ ยังไม่สามารถผ่านแนวต้านระดับดังกล่าวได้ กดดันโดยการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะส่งผลให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง ทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOTLS Job Openings) พุ่งขึ้น สู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่ง นอกเหนือจาก รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม รายงานผลการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน หรือ FOMC Meeting Minutes  (ซึ่งจะทราบช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้)โดยเฉพาะรายละเอียด เกี่ยวกับการลดคิวอี (QE Tapering) รวมถึงแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ว่า เฟดจะใช้ข้อมูลใดเป็นหลักในการช่วยตัดสินใจ รวมถึง แผนการลดคิวอีและแนวทางการสื่อสารกับตลาดการเงิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตาม แนวโน้มการระบาดของ COVID-19 รวมถึงอัตราการแจกจ่ายวัคซีน ทั่วโลก หลังการระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย ยังมีความรุนแรงอยู่

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

สอท.ลุ้นผลิตอ้อยแตะ80-90ล้านตัน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่จะทำการเปิดหีบอ้อยในช่วงปลายปีนี้ซึ่งจะมีโรงงานทั้งหมด 57 แห่ง มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งปริมาณผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 80-90 ล้านตัน ที่สูงกว่าฤดูหีบปีที่ผ่านมา(ปี’63/64) ซึ่งอยู่ที่ 66.67 ล้านตัน ซึ่งจะส่งต่อผลผลิตน้ำตาลทรายและการส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยยังทรงตัวระดับสูงราว 17-18 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับฤดูหีบปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 30-31บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเอื้อต่อการส่งออก

“ผลผลิตอ้อยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและฤดูหีบใหม่ปี’64/65 ที่จะเปิดหีบช่วงปลายปีนี้หรือราวต้นธ.ค.2564 ไม่มีใครมองว่าจะลดลงเพราะปริมาณฝนมากกว่าปีก่อนๆ พอสมควรแม้จะทิ้งช่วง ประกอบกับปัจจัยในเรื่องของราคาตลาดโลกก็เอื้อเพราะบราซิลผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกประสบภาวะภัยแล้งทำให้ทิศทางราคายังยืนในระดับสูง”นายชลัชกล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณโรงงานน้ำตาลทรายแม้ล่าสุดจะมีการปิดโรงานกุมภวาปีไปแต่ยังมีโรงงานเกิดใหม่ที่นครราชสีมาจึงทำให้โรงงานที่จะเปิดหีบมีจำนวน 57 แห่ง คงเดิมและศักยภาพการหีบก็เพิ่มขึ้นโดยยอมรับว่าปริมาณอ้อยหากอยู่ในระดับ 80-90 ล้านตัน ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้แย่นักแต่หากจะให้ดีปริมาณอ้อยควรอยู่ราว 100-130 ล้านตัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามขณะนี้คือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีทิศทางอย่างไรหากสถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้นหรือการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึงอาจจะกระทบต่อการตัดอ้อยเข้าหีบได้เพราะไทยต้องอาศัยแรงงานจากต่างด้าวเป็นหลัก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

“ซุปเปอร์” กระทุ้งอีอีซี เพิ่มแผนพลังงานทดแทน

“ซุปเปอร์” กระทุ้งอีอีซี เพิ่มแผนพลังงานทดแทน ตอบโจทย์โลกและสงครามการค้า ที่นำคาร์บอนฯ มากีดกัน โดยบริษัทพร้อมจำหน่ายโซลาร์ฯ 2,000 เมกะวัตต์ ในอีอีซี ย้ำโมเดล เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ต้นทุนถูกกว่าไฟฟ้าฐานในระบบ

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า จากทิศทางการค้าโลกที่มุ่งไปสู่การลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และนำมาเป็นเรื่องกีดกันทางการค้า เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประชุมและทำหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ตระหนักเรื่องนี้ และขอให้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน ดังนั้น เพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว ทั้งลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถขายคาร์คอนฯ ได้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงควรพิจารณาส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อตอบโจทย์สิ่งนี้ โดยทางบริษัทฯ มีความพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าส่วนนี้ โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์

“โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น โซลาร์ฟาร์ม นับวันจะถูกแข่งขันได้กับเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะขยายการส่งเสริมจากร้อยละ 35 ของกำลังผลิตของประเทศในอนาคตเป็นร้อยละ 50 และยิ่งตลาดลดคาร์บอนเป็นตัวกดดันก็ควรยิ่งเร่งการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ถ้าจะดึงดูดการลงทุน” นายจอมทรัพย์ กล่าว

นายจอมทรัพย์ ยืนยันด้วยว่า ทิศทางของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม จะไม่สูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล และยังตอบสนองเรื่องเสถียรภาพได้ด้วย โดยจะเห็นจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ของบริษัทฯ ที่เป็นโครงการแรกของประเทศและอาเซียน ที่ใหญ่ที่สุดในการนำกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม ผสมผสานกับไบโอแก๊ส อีก 1 เมกะวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขนาด 136 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โครงการปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 16 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 49 เมกะวัตต์ สามารถขายไฟฟ้าแบบเฟิร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในต้นทุนราคาค่าไฟฟ้าตามช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 2.88 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุด และถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า ที่ค่าไฟฟ้าหลัก (Base Load) อยู่ที่ประมาณ 3.80 บาท/หน่วย

โครงการ SPP Hybrid Firm ของบริษัทฯ จะลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.สระแก้ว คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้ทำการสั่งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง ESS ที่คาดว่าจะจัดส่งเข้ามาภายในไตรมาส 3 ปี 2565 และจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าเอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม ที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศและใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นการติดตั้งผสมผสานกับ ESS ที่มีขนาดใหญ่ หรือเทียบได้กับตู้คอนเทนเนอร์มาวางเรียงกันประมาณ 136 ตู้

ขณะที่ราคาต้นทุนแบตเตอรี่ ปัจจุบันถือว่าถูกลงมาก และน่าจะเอื้อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จากเดิมช่วงแข่งประมูลโครงการนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน ต้นทุนอยู่ที่ราว 4-5 แสนดอลลาร์ฯ และเมื่อส่งมอบของในไตรมาส 3 ปี 2565 คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 1.2-1.4 แสนดอลลาร์ฯ ถูกลงประมาณ 3 เท่า หากโครงการนี้เสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 230-250 ล้านบาท/ปี และต่อเนื่องไปตลอด 20 ปี ตามอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 16%

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

จับตา ครม.เคาะร่วม "ซีพีทีพีพี" ชี้หายนะเกิดไทยยังไม่พร้อมแข่งหลายด้าน

“กนศ.” ชง “ครม.” ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิก “ซีพีทีพีพี” เร็วๆนี้ ย้ำได้ประโยชน์มาก ถ้าไม่เข้าร่วมสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแน่ แต่หลายเสียงรุมค้าน ถ้าไทยเข้าร่วม หายนะเกิด เหตุยังมีประเด็นอ่อนไหว ที่ยังไม่พร้อมแข่งขันและยังไม่ได้ปิดจุดอ่อน แนะศึกษาให้รอบคอบ และทำเอฟทีเอกับประเทศใหม่ๆดีกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นประธาน ได้นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) มาศึกษาเพิ่มเติมถึงผลดี ผลเสีย และข้อห่วงใยกรณีที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเสร็จสิ้นแล้ว และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่แล้ว คาด ครม.จะพิจารณาเร็วๆนี้ โดยกนศ.เห็นว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิก เพราะจะได้รับประโยชน์มาก แต่หากไม่เข้าจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมตั้งข้อสังเกตว่าไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมซีพีทีพีพีจริงหรือไม่ และประโยชน์ที่จะได้รับ จะคุ้มค่ากับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมถึงประชาชน และประเทศหรือไม่ เพราะปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอกับสมาชิกซีพีทีพีพีแล้วถึง 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม จากทั้งหมด 11 ประเทศ เว้นเพียงแคนาดา และเม็กซิโก แต่ในเดือน ก.ย.นี้ อาเซียนเตรียมประกาศจัดทำเอฟทีเอกับแคนาดา เหลือเพียงเม็กซิโกเท่านั้น ดังนั้น สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดทั้ง 10 ประเทศได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิก เพื่อขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดสมาชิกซีพีทีพีพี

นอกจากนี้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนไทยเข้าเป็นสมาชิกต้องปรับปรุงจุดอ่อน หรือเตรียมความพร้อมด้านความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติของการค้า แต่ขณะนี้ไทยปรับปรุงและเตรียมความพร้อมแล้วหรือไม่ หากรัฐบาลยังไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ก็ไม่ควรเข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกัน กนศ.ได้ศึกษาถึงผลดี ผลเสียที่มีต่อไทย กรณีที่สหราชอาณาจักร เตรียมเข้าเป็นสมาชิกแล้วหรือไม่ รวมถึงกรณีที่สหรัฐฯอาจเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต เพราะคาดว่า จะกระทบต่อไทยมาก เพราะทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพการแข่งขันในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคบริการ และอำนาจต่อรองสูงอาจทำให้ซีพีทีพีพีกลายเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้น (ซีพีทีพีพี พลัส)

สำหรับประเด็นอ่อนไหวที่ไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร, ภาคบริการ จะเสียเปรียบมาก เพราะสมาชิกจะเข้ามาประกอบธุรกิจบริการในไทยมากกว่าที่ธุรกิจไทยจะไปลงทุนในประเทศสมาชิก, จัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ธุรกิจของสมาชิก เข้ามาประมูลงานภาครัฐของไทยได้ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ถูกต่างชาติแย่งงาน ส่วนภาคเกษตรยิ่งเสียเปรียบ เพราะขาดเทคโนโลยี นวัตกรรมและจะทำให้สินค้าเกษตรจากทั้งแคนาดา และเม็กซิโก เข้ามาตีตลาดได้ และเกษตรกรไทยเสียหาย เป็นต้น

ทั้งนี้ จากประเด็นอ่อนไหวต่างๆทำให้เห็นว่า ไทยยังไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆเลย ดังนั้น การเข้าร่วมจะทำให้เสียประโยชน์มากกว่าได้ แม้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่น่าจะเพียงพอ ขณะนี้ไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆให้พร้อมรับการแข่งขันดีกว่า และการที่ไทยเข้าเป็นสมาชิกช้ากว่าสหราชอาณาจักร น่าจะทำให้ไทยได้รับทราบข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสมาชิกมากขึ้น และทำให้ไทยกำหนดแนวทางการเจรจาต่อรองได้ดีขึ้น อีกทั้งควรทำเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศใหม่ๆ ดีกว่า.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปีนี้โต 1.2% จากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย.64 เท่ากับ 99.93 เทียบกับเดือน พ.ค.64 เพิ่มขึ้น 0.38%, เทียบกับเดือน มิ.ย.63 เพิ่มขึ้น 1.25% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่วนเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 64 เพิ่มขึ้น 0.89% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจากการคำนวณ พบว่าดัชนีอยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.64 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.63 ส่วนเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 0.27%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด เป็นต้น แต่ได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาอาหารสดบางรายการลดลง ทำให้เงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป คาดว่าไตรมาส 3 จะขยายตัว 2.13% และไตรมาส 4 ขยายตัว 2.37% เพราะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ใหม่ เป็นคาดขยายตัว 0.7-1.7% โดยค่ากลาง 1.2%

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

น้ำมัน-อาหารสดพุ่งดันเงินเฟ้อขยับ คาดทั้งปีแตะ1.7%

'พาณิชย์’ประเมินสัญญาณเงินเฟ้อ ยังมีโอกาสผันผวน คาดการณ์ปีนี้อยู่ที่ 0.7-1.7 % ชี้เดือนมิ.ย.ขยับ 1.25% จากน้ำมัน-อาหารสดราคาสูงขึ้น

นายวิชานัน  นิวาตจินดา   รองผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมิถุนายน ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.44 ในเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยสำคัญจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.95 และอาหารสดบางประเภทปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะ เนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด และน้ำมันพืช

ขณะที่มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา และการลดลงของอาหารสดบางประเภท โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด เป็นปัจจัยทอนที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัว ด้านสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตและความต้องการในช่วงสถานการณ์ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19

การขยายตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ นอกจากปัจจัยด้านพลังงานและอาหารสดบางชนิดแล้ว ยังมีสัญญาณที่ชี้ว่าความต้องการสินค้าหลายชนิดเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ 

ทั้งนี้สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต มูลค่าการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังคงขยายตัวได้ อย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด                  

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี  2564ยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการบริโภคโดยรวม ประกอบกับโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีกครั้ง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว จะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัดและไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ร้อยละ 1.0 – 3.0

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานการประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนี้  ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเคลื่อนไหวในช่วง 60 – 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  อัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวในช่วง 30 – 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 – 2.5

ดังนั้นคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ในกรอบร้อยละ 0.7–1.7 หรือเฉลี่ยค่ากลาง ร้อยละ 1.2  ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่าเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เจาะผลประโยชน์ไทยในRCEP เกาหลีใต้ลดภาษีเหลือ0%อีก413รายการ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชำแหละผลประโยชน์ไทยภายใต้ความตกลง RCEP รอบนี้เจาะลึกตลาดเกาหลีใต้ พบมีสินค้ามากถึง 413 รายการ ที่จะมีการลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มเติม หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ส่วนสินค้ากลุ่มอื่น มีการลดภาษีภายใต้FTA อาเซียน-เกาหลีใต้อยู่แล้ว แนะผู้ประกอบการศึกษากฎถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละความตกลงอย่างละเอียด และเลือกใช้สิทธิ์ให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้ทำการวิเคราะห์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เจาะเป็นรายประเทศ ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ชำแหละผลประโยชน์ของไทย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์เป็นการล่วงหน้า

โดยล่าสุดได้ทำการศึกษาการลดภาษีของเกาหลีใต้ภายใต้ RCEP พบว่า เกาหลีใต้จะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด และมีสินค้าที่เกาหลีใต้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) มีจำนวนมากถึง 413 รายการ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผักผลไม้สดและแปรรูป สบู่ แชมพู น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งที่ทำจากรากหรือหัวของพืช (แป้งมันสำปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม) พลาสติก เครื่องแต่งกายเครื่องแก้ว ไม้ เครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ สินค้าประมง รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกนอกเหนือจากรายการข้างต้น เช่น เนื้อสัตว์ ดอกไม้ประดับ ผักสด (ต้นหอม ผักกาด หอมแดง) ชา ธัญพืช น้ำมันจากพืช ของที่ทำจากน้ำตาล ผักผลไม้ปรุงแต่ง น้ำผลไม้ยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ โฟลตกลาสและแก้วที่ขัดผิวหรือขัดมัน เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องจักร เป็นต้น เกาหลีใต้ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรให้อยู่แล้วภายใต้ AKFTA และไม่ได้เปิดเพิ่มให้ใน RCEP ซึ่งผู้ประกอบไทยควรพิจารณาสิทธิประโยชน์ในกรอบการค้าเสรี (FTA) ต่างๆ และเลือกใช้กรอบที่มีความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตน และจะต้องพิจารณาควบคู่กับเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านพิธีการศุลกากรที่กำหนดในแต่ละ FTA ด้วย

“ทั้งนี้ กรมได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่เกาหลีใต้มีการจัดเก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยทั้ง 2 FTA คือ AKFTA และ RCEP ในเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ http://tax.dtn.go.th แล้ว รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA ฉบับต่างๆ ที่http://www.thailandntr.com ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบไทยสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากแต้มต่อทางภาษีที่ไทยเจรจามาได้ใน FTA”นางอรมน กล่าว

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่า

ทั้งสิ้น 6,495.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.6% ทั้งนี้ เป็นการส่งออกสินค้าจากไทยไปเกาหลีใต้เป็นมูลค่า 2,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.9% โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น วงจรพิมพ์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์ไร้สาย เศษเหล็กและอะลูมิเนียม เนื้อไก่แปรรูป แผ่นไม้อัด ยางธรรมชาติ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ส่วนไทยมีการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้เป็นมูลค่า 4,120.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 27.3% โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สิ่งพิมพ์ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีด น้ำมันฟีดสต๊อกสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่นบุหรี่ เม็ดพลาสติก แคโทดที่ทำด้วยทองแดง ปลาสคิปแจ็กหรือปลาโอท้องแถบแช่แข็ง เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เอกชนตีปีก รับบาทอ่อน32บาท ส่งผลดีส่งออก-ห่วงปัจจัยลบยังอื้อ

สรท.-หอการค้าไทยชี้บาทอ่อน 32 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลดีส่งออกไทยระยะสั้น แต่ระยะยาวขึ้นอยู่กับแบงก์ชาติจะมีมาตรการอะไรออกมาดูแล ชี้แม้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแต่ส่งออกไทยยังมีปัจจัยลบอื้อ จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนคุมโควิดลามโรงงาน

กรณีที่ค่าเงินบาททำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 13 เดือน อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ(ณ 30 มิ.ย.64)นั้น นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ในระยะสั้นว่าจะส่งผลอย่างไรบ้าง เพราะค่าบาทเพิ่งอ่อนค่าลง 1-2 วันเท่านั้น คงต้องสัปดาห์หน้าถึงจะประเมินได้ว่าเป็นการอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคนี้หรือไม่ ยังเร็วไปที่จะตอบในเวลานี้ แต่แน่นอนว่าเงินบาทที่อ่อนค่าย่อมส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในช่วงนี้เพราะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาดีขึ้น แต่ค่าเงินบาทก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยบวกในช่วงหนึ่ง ยังมีปัจจัยบวกอื่นที่ช่วย เช่น เศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้หลายประเทศมีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

ส่วนปัจจัยลบนอกเหนือจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ระบาดไปในหลายโรงงานแล้ว ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายแต่ก็ยังไม่ 100% รวมถึงค่าระวางเรือที่ยังอยู่ระดับสูง และวัตถุดิบขาดแคลน เช่น ชิป เป็นต้น แต่ปัญหาที่เอกชนกังวลในขณะนี้คือ การขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิตเพื่อส่งออกโดยยังขาดอยู่มากกว่า 2 แสนคน ในขณะที่แรงงานในระบบตอนนี้มีเพียง 1 ล้านคน จากเดิมมีแรงงานในระบบถึง 2 ล้านคน ซึ่งมีแรงงานที่ออกจากระบบไปมากกว่า 6 แสนคน ไม่ว่าจะเป็นการลาออกเอง เลิกจ้าง กลับประเทศ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้แรงงานเหล่านี้หายออกไปจากระบบจำนวนมาก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของภาคเอกชน ขณะสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในขณะนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

“สรท.คงเป้าการส่งออกปีนี้ขยายตัว 6-7% โดยหากการส่งออกไตรมาส 2 ขยายตัว 15% หรือมีมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกเฉลี่ยทุกเดือนจากนี้ถึงสิ้นปีได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีขยายตัว 7% ซึ่งสรท.จะมีการแถลงตัวเลขการส่งออกในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อประเมินทิศทางส่งออกและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ด้วย  ทั้งนี้เอกชนมองว่า ค่าบาทในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจและสามารถแข่งขันได้ เชื่อว่าแบงก์ชาติจะมีมาตรการและแนวทางในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้คงที่”

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ถือเป็นการอ่อนค่าที่สมดุลกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าบาทไทยจะอ่อนกว่าประเทศอื่น เพราะยังมีความผันผวน แต่แน่นอนว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงนี้อย่างมาก เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาค่าบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ทำให้มีต้นทุนสินค้าสูงถึง 17% ดังนั้นผู้ส่งออกถ้าไม่อยากขาดทุนก็ต้องปรับราคาขึ้นมา 17% หากไม่ปรับราคาก็จะมีผลต่อการขาดทุนซึ่งผู้ส่งออกไม่ได้อยากมีกำไรจากค่าเงิน แต่ก็ไม่ต้องการที่จะขาดทุนจากค่าเงินเช่นกัน ที่ผ่านมาสินค้าที่เกี่ยวกับเกษตร และอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักมากจากค่าเงิน

 “สิ่งที่เอกชนกังวลในขณะนี้นอกเหนือเรื่องโควิดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายและลามเข้าไปในโรงงานและยังมีเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูงด้วยปัจจัยต่าง ๆ ค่าระวางเรือที่ปรับสูงถึง 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ จากเดิมแค่ 3 พันดอลลาร์ต่อตู้ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้หอการค้ามองว่า การขยายตัวของส่งออกไทยทั้งปีนี้ จะอยู่ในกรอบ 5-7% ตามที่ กกร.คาดการณ์ไว้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งออกจะขยายตัวมากกว่านี้หรือไม่ต้องประเมินตามสถานการณ์”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

วว.พัฒนาต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียวจากชานอ้อย

 กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียวจากชานอ้อย สำหรับให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล  ภายใต้แนวคิดความเป็นมิตรกับผู้คน  สิ่งแวดล้อม  และต้นทุนบรรจุภัณฑ์  ระบุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ  ช่วยลดขยะพลาสติก  ลดเศษอาหารเหลือทิ้ง  ลดการใช้น้ำและลดน้ำเสีย  ชี้บรรจุภัณฑ์มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้บรรจุอาหารในเชิงพาณิชย์ได้

 ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา    เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  วว.  โดย ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย  ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียว (Green Packaging) จากชานอ้อย  เพื่อใช้สำหรับให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล  โดยบรรจุภัณฑ์มีรูปลักษณ์ให้ความรู้สึกสะอาด ถูกสุขอนามัย ขนาดกะทัดรัด สอดคล้องกับการเสิร์ฟ น้ำหนักเบา สะดวกในการขนถ่าย  ทั้งนี้ วว. วิจัยและพัฒนาภายใต้แนวคิด (Concept) บรรจุภัณฑ์สีเขียว ที่หมายรวมถึง  1.ความเป็นมิตรกับผู้คน ทั้งผู้ป่วยและผู้ใช้งาน   ด้วยรูปแบบที่สะดวกในการใช้งานครั้งเดียว ทั้งการบรรจุอาหารและการตักรับประทาน   2.ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ด้วยวัสดุต้นทางคือ ชานอ้อย ที่เป็นวัสดุธรรมชาติ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดขยะพลาสติก ช่วยลดเศษอาหารเหลือทิ้งจากการไม่มีเวลารับประทานให้ทันกำหนดเก็บล้าง ลดการใช้น้ำ ลดน้ำเสีย จากการล้างภาชนะหลังการใช้งาน   3.ความเป็นมิตรกับต้นทุนบรรจุภัณฑ์  โดยใช้หลักการพัฒนาออกแบบแบบองค์รวม (Holistic  Design) ทำให้ผลิตได้ง่าย ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์มีต้นทุนต่ำลง อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถใช้บรรจุอาหารได้ทุกประเภท เพราะบรรจุภัณฑ์สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบรรจุอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat food) อาหารส่งถึงที่  (Delivery food) และอาหารจัดเลี้ยง  (Food catering)    

“วว. ให้ความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ผ่านการดำเนินงานที่สอดคล้องนโยบาย  BCG  Model  ของรัฐบาล  อันได้แก่  เศรษฐกิจชีวภาพ  เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว  ต้นแบบบรรจุภัณฑ์เขียวจากชานอ้อย  สำหรับให้บริการอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล  เป็นผลงานรูปธรรมที่ตอบโจทย์นโยบายดังกล่าว  วว. ยื่นจดสิทธิบัตรผลงานนี้แล้ว และอยู่ระหว่างการต่อยอดงานวิจัยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น  ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียวจากชานอ้อย พร้อมจะเปิดตัวและให้บริการในวงกว้างต่อไป.”

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  “ต้นแบบบรรจุภัณฑ์สีเขียวจากชานอ้อย”  และขอรับบริการด้านบรรจุภัณฑ์  ได้ที่  ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย  วว.  เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน ลาดยาว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0 -2579 -1121-30 ต่อ 3208, 3209 , 086 -546 -6114 โทรสาร. 0 2579 7573  E-mail : tpc-tistr@tistr.or.th

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ลุ้นแก้กฎหมายวัตถุอันตรายอีกรอบ เสียงแตกปมดึงต่างชาตินั่งกรรมการ

ลุ้นผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตรายอีกรอบ 7 ก.ค. หลังสภาล่มไม่ครบองค์ประชุม ปมเปิดช่องต่างชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการ มีส่วนกระบวนการพิจารณา หวั่นลามกระทบมติยกเลิกการแบน 2 สารเคมีอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส วงในคาดโควิดลากยาวไม่จบปี’64

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ที่รัฐสภาประสบเหตุองค์ประชุมไม่ครบจนไม่สามารถลงมติได้ อีกทั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีความเห็นขัดแย้งในหลายประเด็น ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะถอนหรือลงมติต่อไปให้เสร็จสิ้น ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าควรนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้สภาฯจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง วันที่ 7 กรกฎาคม 2564

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใจความสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ใหม่ดังกล่าวยังมีความเห็นต่างถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งในมาตรา 56/2 คือ การให้ “ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ” เข้ามาเป็นกรรมการหรือเข้าร่วมอยู่ในการพิจารณาหรือไม่ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรมีเพื่อความเห็นในเชิงวิชาการสำหรับสารเคมีทุกชนิดที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

แต่อีกหลายฝ่ายเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดึงบุคคลภายนอกจากต่างประเทศเข้ามา เพราะมีผลต่อกระบวนการพิจารณา กล่าวคือ จะเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาตินำข้อมูลการวิจัย หลักทางวิชาการต่าง ๆ มาใช้เป็นข้อมูล มีผลต่อการพิจารณา รวมถึงอาจจะชี้ช่องให้ดึงเรื่องที่ประเทศไทยแบน 3 สารเคมีอันตราย กลับมาพิจารณาใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ได้ถูกสั่งแบนไปแล้ว โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยึดมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ที่ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามการผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ส่วนไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้ตามมติเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 เพราะที่ผ่านมาการพิจารณามีเหตุผลรองรับถึงอันตรายต่อสุขภาพอยู่แล้ว ประกอบกับหลายประเทศห้าม (แบน) ใช้สารดังกล่าวเช่นกัน

“เราไม่ได้จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามานั่งในบอร์ดวัตถุอันตรายและเขาจะไม่มีอำนาจอะไรในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ที่เราต้องเพิ่มเข้าไป เพราะบางครั้งมันจะมีสารเคมีตัวใหม่เข้ามา ซึ่งไทยยังไม่มี และยังไม่เคยใช้ แต่มีบางประเทศเขาใช้กันแล้ว เราก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเหล่านี้มาให้ความเห็นในเชิงวิชาการ มีหลักวิชาการอย่างไร ว่าใช้ในประเทศเขาแล้วมีผลดีผลเสียอย่างไร มีการควบคุมอย่างไร กระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร”

“จากนั้นก็จะต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการต่าง ๆ หารือก่อนว่าคัดค้านผลวิชาการหรือไม่ อย่างไร จึงค่อยเสนอบอร์ด ซึ่งตามหลักวิชาการนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข คือ หน่วยงานหลักที่จะพิจารณาก่อน แล้วเสนอเข้ามาที่บอร์ดที่เป็นคนไทยที่มีอำนาจพิจารณา อนุมัติ อนุญาต โดยเอาข้อมูลเชิงวิชาการเหล่านี้มาประกอบ”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากผลกระทบโควิด จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการแก้ไขร่างฯดังกล่าวจะแล้วเสร็จทันปี 2564 หรือไม่ เพราะตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม ทำให้การนัดประชุมแต่ละครั้งยากขึ้น

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ขณะนี้ตนและทางสมาพันธ์ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับแก้ไขใหม่นี้ และยังไม่เห็นรายละเอียดความคืบหน้าใด ๆ ซึ่งตนและชาวเกษตรกร ยังคงยืนยันว่านับตั้งแต่การแบน 2 สารเคมีดังกล่าว ก็ได้รับผลกระทบอยู่จากราคาต้นทุนสารเคมีที่นำมาใช้แทน

ทั้งนี้ สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี และรองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการสำหรับหลักการและเหตุผลที่ต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้

เนื่องจากการพิจารณาวัตถุอันตรายมีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญองค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเพื่อดำเนินการดังกล่าว กรณีนี้จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

โดยให้มีผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเพื่อให้การพิจารณาวัตถุอันตรายมีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จะกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาวัตถุอันตราย และกำหนดอำนาจของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการได้มา และการขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญองค์กร ผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

อัตราค่าบัตรขั้นบัญชีสูงสุดและค่าขั้นบัญชีที่จะจัดเก็บ กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุด ประเภทค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินดังกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งศึกษาFTA อาเซียน-แคนาดา  เปิดประตูสู่ตลาดอเมริกาเหนือ

กรมเจรจาฯเร่ง ระดมความคิดเห็นผลการศึกษา FTA อาเซียน-แคนาดา เห็นตรงกัน ชี้แคนาดาเป็นตลาดกำลังซื้อสูง เป็นประตูสู่ตลาดอเมริกาเหนือ เพิ่มโอกาสให้สินค้าและภาคบริการของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ต่อผลการศึกษาเบื้องต้น เรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา ระหว่างวันที่ 14-29 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งกรมฯ มอบบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการศึกษา ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า หากทั้งสองฝ่ายลดภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้าลง 50-100% จะทำให้เศรษฐกิจไทย (GDP) เพิ่มขึ้น 7,968 - 12,416 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 36,288 - 77,184 ล้านบาท และการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น 7,808-16,416 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าขยายตัว

เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือและเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าจากแคนาดาจะเพิ่มขึ้น 7,456-15,840 ล้านบาท โดยสินค้าที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ธัญพืชปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ ไม้แปรรูป เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นว่า แม้แคนาดาจะมีประชากรเพียง 38 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ขณะที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของประชากรจากภูมิภาคอื่น รวมทั้งจากภูมิภาคเอเชีย แคนาดาจึงเป็นตลาดแห่งการบริโภค และมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น การทำ FTA ฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดแคนาดาแล้ว ไทยยังสามารถใช้แคนาดาเป็นประตูในการ กระจายสินค้าไปสู่ตลาดสหรัฐฯ และเม็กซิโก ซึ่งแคนาดามี FTA ด้วย แต่ไทยยังไม่มี ขณะเดียวกัน การเปิดตลาดให้กับสินค้าจากแคนาดาจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและลดต้นทุนให้ผู้นำเข้าสินค้าวัตถุดิบของไทย

นอกจากประโยชน์ด้านการค้าสินค้าแล้ว ภาคบริการของไทยก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบอาชีพพ่อครัวและแม่ครัว บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งแคนาดามองว่าไทยมีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น และมีบริการด้านสุขภาพในระดับโลก สำหรับด้านการลงทุน คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น พลังงาน ขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน อิเล็กทรอนิกส์ การจัดการสิ่งแวดล้อม และการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาที่แคนาดามีศักยภาพ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการของไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำ FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูง ถือเป็นความท้าทายของไทยที่ต้องเตรียมความพร้อมในประเด็นต่างๆ เช่น การเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าปศุสัตว์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น รวมทั้งต้องใช้ความรอบคอบในการเจรจา ทั้งนี้ การเจรจาในกรอบอาเซียนน่าจะช่วยให้ไทยมีแนวร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม และความคาดหวังใกล้เคียงกัน สำหรับขั้นตอนต่อไป เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว จะนำผลการศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ทางเว็บไชต์

กรมฯ www.dtn.go.th รวมทั้งจะจัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำกรอบเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณา เพื่อให้ไทยสามารถร่วมกับอาเซียนอื่น ตัดสินใจเรื่องการเปิดเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

รง.น้ำตาลปรับแผน ดันโควตาส่งออกเพิ่ม หลังโควิด-19ระบาด ยอดขายในประเทศลด

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรงงานได้ทำสำรวจปริมาณผลผลิตอ้อยขั้นต้นในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกปี 2564/2565 คาดมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 90 ล้านตันอ้อย สูงกว่ารอบการผลิตปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 66.67 ล้านตันอ้อย ปัจจัยหลักมาจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ในราคาขั้นต่ำที่ 1,000 บาทต่อตันณ ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมของภาครัฐที่ให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดอ้อยสด ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพื่อส่งมอบให้แก่โรงงาน รองรับความต้องการบริโภคน้ำตาลที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

แนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังมีโอกาสสูงขึ้นแม้ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก ได้คาดการณ์ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาจากสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อย ประกอบกับการคาดการณ์ว่า บราซิลจะนำผลผลิตอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น จะส่งผลสะท้อนต่อสภาวะราคาน้ำตาลตลาดโลกในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

สำหรับการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศในรอบการผลิตปี 2563-2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564)คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2.2 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 2 และ 3 เป็นผลให้การบริโภคภายในประเทศหดตัวโดยในช่วง 8 เดือน (ตุลาคม 2563 - พฤษภาคม2564) มีปริมาณขายน้ำตาลภายในประเทศได้ 1.5 ล้านตันเท่านั้น

“โรงงานน้ำตาลจัดสรรปริมาณน้ำตาลไว้สูงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค มิให้เกิดภาวะขาดแคลน ภายในประเทศ แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคลดลงมากและจากปริมาณการบริโภคในประเทศที่ลดต่ำกว่าที่คาดไว้ โรงงานจะนำน้ำตาลส่วนที่เหลือจากการขายในประเทศส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศแทนเพื่อประโยชน์สูงสุดของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย” นายปราโมทย์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564