http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกรกฏาคม 2565]

ส.อ.ท.หวั่นวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย “ฉุดกำลังซื้อ”

ส.อ.ท.เตือนรับมือวิกฤติอีกระลอกจากคลื่นเศรษฐกิจโลกถดถอย สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75-1% ส่งผลค่าเงินเอเชียอ่อนค่ากระทบการนำเข้าวัตถุดิบ ห่วงสหรัฐจ่อลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนกระทบส่งออกไทย เผยสัญญาณคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศลดลง

ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศเจอปัญหาเงินอ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิต โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของหลายประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ทำสถิติใหม่สูงสุดในรอบ 40 ปี สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 9.1% ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง 0.75-1% ในการประชุมเดือน ก.ค.นี้ ทำให้กรอบอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยายขึ้นจากเดิม 3.4% เป็น 4% ตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าส่งผลกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาคอื่นๆ ในเอเชียรวมถึงค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าลงแล้วประมาณ 7% ทำให้ทุกอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนทุกประเภท อาทิ เครื่องจักร ต้องประสบปัญหาสองเด้งคือซื้อในราคาแพงขึ้นจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าจะส่งผลดีกับผู้ส่งออกรวมถึงผู้นำเข้าที่มีตลาดในต่างประเทศ แต่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหนักคืออุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบและมีตลาดหลักในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าควบคุมที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ผู้ประกอบการต้องเลือกผลิตในปริมาณที่น้อยลงเพื่อลดปริมาณความสูญเสีย

สำหรับยอดการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของไทย ตัวเลขยังขยายตัวได้ดี เฉลี่ยแล้วขยายตัวเกิน 10% โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าปี 2565 ยอดส่งออกของไทยจะโต 5-7% แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์ครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิดว่าจะกระทบกับผู้ส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังสูงขึ้น รวมทั้งสงครามยูเครนที่ยังยืดเยื้อและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงอาจทำให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

ห่วงแนวโน้มคำสั่งซื้อลดลง

ทั้งนี้ การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบและการออกมาตรกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศ 6-10 ล้านคนตลอดทั้งปี จะช่วยเพิ่มความต้องการค่าเงินบาทและหน่วงราคาค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังทำการสำรวจว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทอย่างไรบ้าง รวมถึงปริมาณคำสั่งซื้อ ซึ่งหลายอุตสาหกรรมส่งออกให้ความเห็นว่าปริมาณคำสั่งซื้อเริ่มแผ่วลง ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าสหรัฐจะดำเนินมาตรการลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียประโยชน์ จากเดิมในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้สหรัฐหันมาค้าขายกับไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

สศอ.เร่งประเมิน ศก.โลกถดถอย

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า สศอ.อยู่ระหว่างการประเมินว่ากำลังการผลิตช่วงครึ่งปีหลังของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยค่อนข้างน้อยโดยคาดว่ากำลังการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2564 โดยคาดว่ากำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 63.00

โดยเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และภาคการส่งออกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยคาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ส่งผลต่อกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยนั้นส่วนใหญ่ได้ส่งกระทบต่ออุตสหากรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนอุปทาน (Supply Shortage) โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ แต่เชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไม่ช้า

ราคาพลังงานสูงดันต้นทุนสูงขึ้น

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 101.17 ขยายตัว0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 5 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.11

ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.2565 อยู่ที่ 98.05 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.46% มีอัตราการใช้กำลังผลิตที่ 62.42% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็นที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19.97% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการเปิดประเทศ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว

ทั้งนี้ สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนมีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกันภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ขยายตัวที่ 11.8% เร่งตัวขึ้นจากเดือน เม.ย.ขยายตัวที่ 11.4%

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 31 กรกฎาคม 2565

แก้ปัญหาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ขับเคลื่อนมาตรการ 3 ระยะ

”เฉลิมชัย” เดินหน้าแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ขับเคลื่อนมาตรการ 3 ระยะ ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมผสาน ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจากราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลุยแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 ด้านกรมปศุสัตว์ เร่งส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงในรายละเอียดว่า จากสถานการณ์ที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน และขาดเสถียรภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าว  เกิดจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งปุ๋ยในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออก ปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ได้ชะลอการส่งออก รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น  โดยปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ถึงร้อยละ 98  รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40,000 - 50,000 ล้านบาท

ในเรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกียวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง และปุ๋ยขาดแคลน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและวางแนวทางการแก้ไขปัญหา

โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ย                     จากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว ดังนี้

มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น  อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 299 ศูนย์ พื้นที่ 58 จังหวัด เกษตรกร 52,170 ราย พื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่ การชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก                 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2568  กลไกตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน

โดยเน้นขับเคลื่อน  4 ด้าน คือ (1) การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี”              (2) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช/ การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานแก่เกษตรกร (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ)/ปรับปรุงดินให้ pH เหมาะสม (3) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงปุ๋ยและจัดหาปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนอย่างพอเพียงและทั่วถึง (4) พัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ครอบคลุมทุกชนิด พืชเศรษฐกิจที่สําคัญ และ การเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซีย (หุ้นส่วนอุตสาหกรรมตามข้อตกลง Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation) ซึ่งเป็นความตกลงพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน

มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง (ระยะเวลา 3 - 5 ปี) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโปแตช และแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โปแตช ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี  นครราชสีมา เป็นต้น และ การเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซีย และอื่น ๆ โดยนำ Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation หรือข้อตกลงอาเซียนหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการเจรจา มาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย เมื่อมีความพร้อมในการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียมแล้ว (หากจำเป็น)                     เจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ร่วมกับ ประเทศมาเลเซีย และ จีน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของแม่ปุ๋ย ทั้งปริมาณและราคา

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งในนาข้าว พืชสวน พืชไร่ ในการบำรุงดิน การรองพื้นในหลุมปลูก ซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้ในการผลิตพืชในครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้  และจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของปริมาณมูลสัตว์แห้งจากฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณรวมปีละกว่า 27 ล้านตัน โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการนำเอามูลสัตว์ไปผลิตเป็นปุ๋ยคอก ทั้งในรูปแบบผง อัดเม็ด และแบบน้ำ เพื่อนำไปใช้เอง และจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป ในภาคการเกษตร และเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ปุ๋ยคอก ควรต้องได้รับการแนะนำ วิธีการบริหารจัดการ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพืชและปุ๋ยโดยตรง

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการจัดการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมร่วมกับหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้ การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยแนวทาง ต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพดินตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง โดยมีการเก็บตัวอย่างดิน นำมาตรวจวิเคราะห์สมบัติทางเคมี  ประเมินผลให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนแจกผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ พด. ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และต่อยอดขยายผลการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์โดยมีกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินทำการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ พัฒนาและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ  ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยพืชสด ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอซังพืช  ป้องกันปัญหาหมอกควันและลดสภาวะโลกร้อน รวมทั้ง ผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม  สร้างรายได้  ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 30 กรกฎาคม 2565

กรมชลฯ จับมือ ม.เกษตรฯ เปิดตัวแอปพลิเคชั่น รายงานสถานการณ์น้ำแบบมีส่วนร่วม

สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดตัวแอปพลิเคชั่นการรายงานสถานการณ์น้ำแบบมีส่วนร่วม SWOC PR สำหรับรายงานสถานการณ์น้ำจากทั้งสถานีตรวจวัด เจ้าหน้าที่และประชาชน ได้อย่างบูรณาการ พร้อมการแสดงผลรายงานแบบเรียลไทม์ที่ทุกคนสามารถเข้าดูได้อย่างโปร่งใส ภายใต้การดำเนินงาน “โครงการพัฒนาระบบตรวจวัดระดับน้ำแบบการมีส่วนร่วม” สอดคล้องพันธกิจการพัฒนากรมชลประทานให้เป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการให้ได้ภายในปี 2579

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญ และมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น และการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ

การพัฒนาแอปพลิเคชั่น SWOC-PR ของกรมชลประทานในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรายงานสถานการณ์น้ำ ให้ทางกรมชลประทานทราบถึงข้อมูลสภาพน้ำท่วม น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมทั้งเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการทำงานให้แก่กรมชลประทาน และยังเป็นช่องทางให้ข้อมูลด้านบริหารจัดการน้ำและการชลประทานกลับคืนไปยังประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น SWOC-PR ยังช่วยให้เจ้าหน้าของกรมชลประทานเองได้รายงานสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ไขและบรรเทาปัญหาดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ และเป็นการพัฒนายกระดับการให้บริการด้านชลประทานสู่ภาคประชาชน

ด้านนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ทางกรมชลประทานได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนาระบบและเครื่องมือการรายงานสถานการณ์น้ำสำหรับเจ้าหน้าที่กรมชล ประทานและประชาชนทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชั่น SWOC-PR รวมทั้งการวิจัย ออกแบบ พัฒนา และทดสอบ นวัตกรรมระบบตรวจวัดระดับน้ำโดยใช้ QR Code ผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งได้ดำเนินการนำร่องติดตั้งในลำน้ำต่าง ๆ กว่า 42 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่าง ๆ ที่สำคัญจะทําให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำสำหรับใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน

แอปพลิเคชั่น SWOC PR จะช่วยทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของการรายงานสถานการณ์น้ำ ทั้งจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ เจ้าหน้าที่ และภาคประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยความสามารถของแอปพลิเคชั่นจะครอบคลุมการรายงานสถานการณ์น้ำจากสถานีตรวจวัดน้ำฝน อ่างเก็บน้ำ และโทรมาตรขนาดเล็ก จากสถานีที่ใกล้ที่สุด ตลอดจนการรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง และอื่น ๆ จากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน

ขณะที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปในส่วนของกระดานสื่อสารสำหรับประชาชน เพื่อการตั้งกระทู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การแจ้งเรื่องร้องเรียนและข้อเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ พร้อมการประยุกต์ใช้ระบบ QR code เพื่อเข้าข้อมูล รายงานสรุปสถานการณ์น้ำของพื้นที่จุดเฝ้าระวังในลำน้ำหลักและลำน้ำสาขาได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่และภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในลำน้ำต่าง ๆ ที่สำคัญผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างทันท่วงที

การพัฒนาระบบรายงานสถานการณ์น้ำ พร้อมเชื่อมโยงเป็นระบบร่วมกับการแสดงผลแบบ Real Time ผ่าน Application SWOC PR (Smart Water Operation Center) จะทําให้กรมชลประทานได้รับข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์น้ำในลําน้ำต่าง ๆ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ต่อสถานการณ์น้ำในรูปแบบต่าง ๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมความพร้อมสําหรับรองรับสถานการณ์น้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 29 กรกฎาคม 2565

เฉลิมชัย เดินหน้าแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ขับเคลื่อนมาตรการ 3 ระยะ  ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมผสาน ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจากราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลุยแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 ด้านกรมปศุสัตว์ เร่งส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงในรายละเอียดว่า จากสถานการณ์ที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน และขาดเสถียรภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าว เกิดจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งปุ๋ยในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออก ปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ได้ชะลอการส่งออก รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ถึงร้อยละ 98 รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40,000 – 50,000 ล้านบาท

ในเรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกียวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง และปุ๋ยขาดแคลน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและวางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว ดังนี้

มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 299 ศูนย์ พื้นที่ 58 จังหวัด เกษตรกร 52,170 ราย พื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่ การชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2568 กลไกตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน โดยเน้นขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ (1) การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี” (2) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช/ การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานแก่เกษตรกร (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ)/ปรับปรุงดินให้ pH เหมาะสม (3) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงปุ๋ยและจัดหาปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนอย่างพอเพียงและทั่วถึง (4) พัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ครอบคลุมทุกชนิด พืชเศรษฐกิจที่สําคัญ และ การเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซีย (หุ้นส่วนอุตสาหกรรมตามข้อตกลง Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation) ซึ่งเป็นความตกลงพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน

มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง (ระยะเวลา 3 – 5 ปี) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโปแตช และแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โปแตช ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น และ การเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซีย และอื่น ๆ โดยนำ Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation หรือข้อตกลงอาเซียนหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการเจรจา มาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย เมื่อมีความพร้อมในการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียมแล้ว (หากจำเป็น) เจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ร่วมกับ ประเทศมาเลเซีย และ จีน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของแม่ปุ๋ย ทั้งปริมาณและราคา

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งในนาข้าว พืชสวน พืชไร่ ในการบำรุงดิน การรองพื้นในหลุมปลูก ซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้ในการผลิตพืชในครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้ และจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของปริมาณมูลสัตว์แห้งจากฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณรวมปีละกว่า 27 ล้านตัน โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการนำเอามูลสัตว์ไปผลิตเป็นปุ๋ยคอก ทั้งในรูปแบบผง อัดเม็ด และแบบน้ำ เพื่อนำไปใช้เอง และจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป ในภาคการเกษตร และเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ปุ๋ยคอก ควรต้องได้รับการแนะนำ วิธีการบริหารจัดการ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพืชและปุ๋ยโดยตรง

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการจัดการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมร่วมกับหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้ การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยแนวทาง ต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพดินตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง โดยมีการเก็บตัวอย่างดิน นำมาตรวจวิเคราะห์สมบัติทางเคมี ประเมินผลให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนแจกผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ พด. ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และต่อยอดขยายผลการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์โดยมีกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินทำการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ พัฒนาและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยพืชสด ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอซังพืช ป้องกันปัญหาหมอกควันและลดสภาวะโลกร้อน รวมทั้ง ผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

ส่งออกไทย เอกชนมั่นใจ 6 เดือนแรกคาดโต10%

ส่งออกไทย 6เดือนแรกโต10% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่าง ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้น สหรัฐฯปรับขึ้นดอกเบี้ย มั่นใจทั้งปีไทยยังส่งออกโต8% จับตาสงครามรัสเซียอาจคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงภาพรวมการส่งออกไทยช่วงครึ่งปีแรกปี2565 ว่าน่าจะขยายตัว10% ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและคำสั่งซื้อล่วงหน้าส่งผลให้เดือนมิถุนายนตัวเลขส่งออกน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า10% ถือว่ายังโตอย่างต่อเนื่อง

เพราะความต้องการสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่องที่มีคำสั่งซื้อมาตั้งแต่ไตรมาส2 และบางรายสั่งยาวไปถึงไตรมาส3 ดังนั้นภาพรวม6เดือน(ม.ค.-มิ.ย.)ส่งออกไทยคงยังขยายตัวไม่ต่ำกว่า10%

แต่ที่น่ากังวล คือ ไตรมาส4 ที่ทั่วโลกยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐฯอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อในยุโรปและสหรัฐฯได้ ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้

“ส่งออกไตรมาส3อาจจะไม่หวือหวา แต่ยังโชคดีที่ยังมีค่าเงินบาทช่วยทำให้สินค้าที่ต่างประเทศมีคำสั่งซื้อซื้อไปในราคาไม่แพง ดังนั้นคิดว่าไตรมาส2 ภาพรวมจะโตที่10% ไตรมาส3น่าจะต่ำกว่า10%  ส่วนไตรมาส4 คำสั่งซื้อน่าจะแผ่วลงเพราะถ้าไม่มีภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยคำสั่งซื้อจากต่างประเทศอาจจะลดลงเพราะช่วงปลายปียังถือว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ที่จะเป็นแรงกดให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่เป้าส่งออกไทยทั้งปียังคงขยายตัวที่8% หรือเฉลี่ยเดือนละ24,000ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ต้องมาลุ้นกันอีกครั้งว่าในแต่ละเดือนจะสามารถทำได้หรือไม่ ”

อย่างไรก็ตาม กล่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปยังคงเติบโตได้ดีในครึ่งปีหลัง โดยกลุ่มอาหารคาดว่าน่าจะโต10%จากเป้าที่ตั้งไว้เดิม5-8%  ส่วนปัจจัยบวกในครึ่งปีหลังนอกจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจจะคลี่คลายลงในบางประเด็น เช่น มีการผ่อนปรนให้ยูเครนสามารถส่งออกวัตถุดิบได้บางอย่างซึ่งจะบรรเทาการขาดแคลนวัตถุดิบได้ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ในวันนี้(27ก.ค.65)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะแถลงตัวเลขส่งออกไทยประเดือนมิถุนายนและตัวเลขการค้าชายแดน-ผ่านแดนและภาพรวม6เดือน(ม.ค.-มิ.ย.) น่าจะมีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า10%

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 กรกฎาคม 2565

เปิดตัว “กวก. สุพรรณบุรี 1”อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่

เปิดตัวอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ “กวก.สุพรรณบุรี 1” หลังนักวิจัยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์ 17 ปี หวังเป็นทางเลือกใหม่หลังเกษตรกรใช้พันธุ์ดั้งเดิมนานกว่า 20 ปี ส่อเกิดปัญหาพันธุ์เสื่อม สะสมโรคและแมลง โชว์พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูงทั้งน้ำอ้อยและผลผลิตอ้อย สีน้ำอ้อยเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม และรสชาติหวาน ถูกใจผู้บริโภค

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำประมาณ 120,000 ไร่ กระจายทั่วทุกภาคของประเทศ โดยนิยมนำอ้อยคั้นนำมาบริโภคเป็นน้ำอ้อยสดและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น น้ำเชื่อมอ้อย น้ำตาลอ้อยก้อน และน้ำตาลอ้อยผง ซึ่งมีการนำไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่เกษตรกรนิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมได้รับการรับรองพันธุ์ในปี 2539 ปลูกกันมายาวนานมากกว่า 20 ปี ซึ่งการที่เกษตรกรใช้อ้อยพันธุ์เดิมปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์ มีการสะสมโรคและแมลง อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่จึงเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมพร้อมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่ให้แก่เกษตรกร

ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาทั้งด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมของอ้อย จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยคั้นน้ำที่มีผลผลิตน้ำอ้อย ผลผลิตอ้อย สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และมีคุณภาพน้ำอ้อย ได้แก่ สีน้ำอ้อยและรสชาติ ดีกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เพื่อเป็นพันธุ์ทางเลือกให้แก่เกษตรกร สำหรับลดความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์ และเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำอ้อยสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำอ้อย สามารถดำเนินอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

จากการดำเนินงานวิจัยในระหว่างปี 2547-2564 รวมระยะเวลา 17 ปี ตั้งแต่กระบวนการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และประเมินผลผลิตขั้นต่างๆ เพื่อศึกษาข้อมูลด้านผลผลิตและคุณภาพน้ำอ้อยในแปลงทดลองหน่วยงานเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรและในไร่เกษตรกร ที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทย จนถึงการประเมินความพึงพอใจและการยอมรับจากเกษตรกรผู้ผลิต จำหน่าย และบริโภค จนประสบผลสำเร็จ ได้อ้อยคั้นน้ำพันธุ์ใหม่ผ่านการรับรองพันธุ์พืชจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565  ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “กวก. สุพรรณบุรี 1” มีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 3,622 ลิตรต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 26 ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 11.43 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ร้อยละ 21 สีน้ำอ้อยมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอม รสชาติหวาน มีความหวาน 21.54 องศาบริกซ์ เจริญเติบโตเร็ว ลำแตกน้อย 

การวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ กวก.สุพรรณบุรี 1 ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสื่อมของพันธุ์จากการใช้พันธุ์เดิมต่อเนื่องมานานแล้วยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์อ้อยคั้นน้ำ ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำอ้อยสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำอ้อย สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สามารถดำเนินอาชีพได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยจากพื้นที่ปลูกอ้อยคั้นน้ำทั้งหมดประมาณ 120,000 ไร่ ให้ผลผลิตน้ำอ้อยเฉลี่ย 336 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 16,800 ล้านบาท (ราคา 50 บาทต่อลิตร) อ้อยคั้นน้ำ กวก.สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตน้ำอ้อย 3,622 ลิตรต่อไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตน้ำอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 434.64 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 21,732 ล้านบาท 

ส่วนด้านผลผลิตอ้อยจากที่ให้ผลผลิตอ้อย 1,080,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,860 ล้านบาท (ราคา 4,500 บาทต่อตัน) อ้อยคั้นน้ำ กวก. สุพรรณบุรี 1 ให้ผลผลิตอ้อย 11.43 ตันต่อไร่ จะได้ผลผลิตอ้อย 1,371,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,172.2 ล้านบาท โดยรวมแล้วผู้ผลิตและผู้บริโภค มีความพึงพอใจอ้อยคั้นน้ำพันธุ์ กวก.สุพรรณบุรี 1 ทั้งด้านผลผลิตน้ำอ้อย ผลผลิตอ้อย ความหวาน กลิ่นหอม และสีของน้ำอ้อย สามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0-3552-8255... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/1290110/

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 26 กรกฎาคม 2565

วช. หนุน มก. สกัดเซลลูโลสจากชานอ้อยทำโครงเลี้ยงเซลล์สำหรับวัสดุทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าชานอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาล ตอบโจทย์เศรษฐกิจบีซีจี

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร เรื่อง อ้อยและน้ำตาล ประจำปี 2565 ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสกัดเซลลูโลสจากชานอ้อยทำโครงเลี้ยงเซลล์สำหรับวัสดุทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าชานอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาล ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจบีซีจี

วันนี้ (26 ก.ค.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบที่สำคัญก็คือ ชานอ้อยที่มีมากถึง 20-23 ล้านตันต่อปี โดยในชานอ้อยนั้นมีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหลักถึงร้อยละ 40-50 ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับชานอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาล สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร เรื่อง อ้อยและน้ำตาล ประจำปี 2563 ในโครงการวิจัย “การเตรียมโครงเลี้ยงเซลล์ด้วยรีเจเนอเรเท็ดเซลลูโลสจากชานอ้อยโดยใช้ของเหลวไอออนิก” ซึ่งมีรศ.ดร.ประกิต สุขใย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าชานอ้อย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง เป็นการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทย และยังสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจบีซีจีอีกด้วย

รศ.ดร.ประกิต สุขใย จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ  คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เกิดจากแนวคิดในการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากเซลลูโลสที่เป็นองค์ประกอบหลักในชานอ้อย ทีมวิจัยฯ จึงเริ่มศึกษาการใช้ประโยชน์เซลลูโลสสำหรับวัสดุชีวการแพทย์ (Biomedical material) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยศึกษาการผลิตโครงเลี้ยงเซลล์ฐานเซลลูโลส (Cellulose based scaffold) จากการละลายเซลลูโลสด้วยของเหลวไอออนิก“ ในการผลิตโครงเลี้ยงเซลล์นั้นจะเริ่มตั้งแต่การนำชานอ้อยที่ผ่านกระบวนการปรับสภาพด้วยการระเบิดด้วยไอน้ำและการฟอกขาว  ผลผลิตที่ได้จากขั้นตอนนี้คือ เซลลูโลส ซึ่งจะทำการละลายเซลลูโลสร้อยละ 3 โดยน้ำหนัก ด้วยของเหลวไอออนิก (Ionic liquid) ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 ชั่วโมง เติมไฮดรอกซีแอปาไทต์ ซึ่งเป็นวัสดุเชิงหน้าที่สำหรับช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์กระดูกที่มีความปลอดภัยสูง และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์กระดูก หลังจากการละลายนำไปเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส 12 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการฟอร์มตัวเป็นไฮโดรเจล (Hydrogel) ทำการล้างเพื่อกำจัดของเหลวไอออนิก และทำแห้งด้วยการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze drying)” งานวิจัยนี้เป็นต้นแบบเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับผลพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย โดยเป็นทางเลือกให้กับอุตสาหกรรมเพื่อออกจากแนวปฏิบัติในการใช้ประโยชน์แบบเดิมก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอื่น ๆ โดยจากงานวิจัยนี้นอกจากผลผลิตสุดท้ายคือ โครงเลี้ยงเซลล์แล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์ขั้นต้นคือ เซลลูโลสที่จัดเป็นไฟเบอร์ที่มีประโยชน์และสามารถดัดแปรงไปเป็นอนุพันธ์อื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงได้เช่นเดียวกัน

รศ.ดร.ประกิต กล่าวว่า องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ก็คือ เทคโนโลยีในการสกัดเซลลูโลสจากชานอ้อยเพื่อให้ได้เซลลูโลสที่บริสุทธิ์เหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ รวมถึงสภาวะที่เหมาะสมในการละลายเซลลูโลสด้วยของเหลวไอออนิกและปริมาณไฮดรอกซีแอปาไทต์ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเซลล์ออสติโอบลาสต์

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันงานวิจัยทางด้านเซลลูโลสและอนุพันธ์ของเซลลูโลสในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เมื่อเทียบกับคุณประโยชน์ที่สามารถสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้จำนวนมาก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม ทีมวิจัยฯ มุ่งหวังว่า งานวิจัยทางด้านเซลลูโลสจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์โครงเลี้ยงเซลล์จากโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะงานทางด้านวัสดุชีวภาพทางการแพทย์ที่อาจจะได้รับความสนใจมากขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย เศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy) และทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยมีมูลค่าสูงขึ้นในประเทศไทย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 26 กรกฎาคม 2565

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับสถาบันพลาสติก จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพ”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมชีวภาพของไทยยังมีการเติบโตไม่มากเท่าที่ควร หากมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและเศรษฐกิจชีวภาพจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร จะส่งผลให้อุตสาหกรรมชีวภาพมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างการแข่งขันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชีวภาพพร้อมให้ความรู้ในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพ” พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหัวข้อ “สถานการณ์ โน้มแนวและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่เกี่ยวข้องและถ่ายทอดความรู้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์” โดย คุณรัตนปทุม พิลาแดง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาวัสดุอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก หัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในกลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์” โดย ดร. เคตะ โอโน่ ผู้อำนวยการ INNOGINEER STUDIO มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในกลุ่มเคมีชีวภาพ” โดย ดร. พิพัฒน์ วีระถาวร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และกรรมการ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลไทย หัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในกลุ่มพลาสติกชีวภาพ” โดย รศ.ดร. รังสิมา หญีตสอน สาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์และการผลิต คณะบัณฑิตวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย เยอรมัน (TSSG) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

งานนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงเทียบเพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าไปพร้อมกันได้ที่ https://bit.ly/3PhWePu วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ชั้น 11 ห้อง Mayfair C สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์พัฒนาบุคลากรพลาสติก

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

ดีป้า เผยเกษตรกรไทยใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น คาดยกระดับสู่เกษตร2.0-3.0 ใน5 ปี

นายกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง  สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า การจัดทำการสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเกษตรกรรมไทย ปี 2564 เพื่อให้เห็นภาพรวม และประเมินความสามารถด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของเกษตรกรไทย และการเปลี่ยนผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ จำแนกตามห่วงโซ่มูลค่า ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการจัดหาทรัพยากรและวัตถุดิบ เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการจัดการกระบวนการผลิต เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการสนับสนุนความสัมพันธ์กับลูกค้าและการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผลการสำรวจจะต่อยอดเป็นดัชนีวัดความเข้มข้นในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเชิงลึก (Digital Density Index) จาก 2 กลุ่มเกษตรกรคือ กลุ่มเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และกลุ่ม Young Smart Farmer ใน 3 ขั้นตอนการทำการเกษตร ประกอบด้วย การเตรียมปัจจัยการผลิต การจัดการกิจกรรมการเกษตร และการค้าและการพาณิชย์

นางรัชนี เอี่ยมฐานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ ดีป้า กล่าวว่า ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมไทย ปี 2564 ชี้ให้เห็นว่า การกระจุกตัวของระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ที่เกษตร 1.0 ถึง 2.0 โดยในขั้นตอนการทำเกษตรทุกขั้นตอน ซึ่งเกษตรกรที่ไม่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก มีเงินลงทุนน้อยและไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ขณะที่เกษตรกรที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ธุรกิจขนาดใหญ่ และกลุ่ม Contract Farming

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมในระยะ 5 ปี คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะปรับตัวเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตมากขึ้น ด้วยต้นทุนเรื่องของอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่มีแนวโน้มถูกลง และการส่งเสริมของภาครัฐในการให้ความรู้ทางวิชาการที่จำเป็นเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ทางการเกษตร ส่งผลให้ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ภาคเกษตรกรรมไทยจะยกระดับไปสู่เกษตร 2.0 ถึง 3.0

ในงานเดียวกันนี้ยังจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมกรรมไทยสู่ยุคเกษตร 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดย นายรุ่งศิริ ประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มระบบสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายตลาดนำการเกษตร ซึ่งพร้อมกระจายความช่วยเหลือทั่วถึงทุกท้องที่ ด้าน นายนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันมีความพร้อม ขอเพียงเกษตรกรเรียนรู้และเลือกใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง นายมิตรดนัย สถาวรมณี Co-founder บริษัท โคโร บราเธอร์ จำกัด ในฐานะผู้แทนเกษตรกรไทย กล่าวว่า บริษัทต้องการให้เกษตรกรตั้งเป้าหมายทางการตลาดให้ชัดเจน ไม่ตามกระแส และเลือกลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลแบบพอดี

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

เศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก คาดไทยขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ พยุงเงินบาทอ่อนค่า

กอบศักดิ์ ประเมินเศรษฐกิจโลกผันผวนหนัก เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งพลังงาน-อาหาร เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น มองไทยเตรียมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 3 ครั้ง รวม 0.75% ไปอยู่ที่ 1.25% ในปลายปี 65 นี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีปัญหาในลักษณะวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลถึงวิกฤติด้านราคาพลังงานและวิกฤติอาหารโลก อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก

นอกจากนี้ยังเป็นแรงกดดันสำคัญให้ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ต้องเร่งพิจารณาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ที่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 3.80% เป็นอย่างน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาสภาพคล่องจำนวนมากที่เคยอัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้ด้วยการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ

ทั้งนี้ จึงส่งผลต่อความผันผวนของราคาสินทรัพย์และตลาดการเงินโลก ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจในตลาดที่เพิ่งเกิดใหม่ หรือ Emerging Market โดยเฉพาะประเทศที่มีภาระหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ดังที่เริ่มเห็นสถานการณ์ในศรีลังกา สปป.ลาว และเมียนมา จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจติดลบ หรือ Recession ได้ในระยะ 1-2 ปีนี้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ เรามองว่า แม้จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มเติบโตชะลอลงจากกำลังซื้อของประเทศปลายทาง

โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่กระทบต่อภาคการลงทุนและอัตราแลกเปลี่ยน จึงประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.น่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งละ 0.25% ในการประชุม กนง. ปีนี้ที่ยังเหลืออีก 3 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบันที่ 0.50% ไปเป็น 1.25% ในช่วงปลายปี 65 นี้

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก อยู่ที่ 0.50% มาเป็นระยะเวลานาน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเวลานั้นยังอยู่ที่ 1.25%

ดังนั้น ตอนนี้ปัจจัยเรื่องโควิด-19 เริ่มคลายลงแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นคืน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันปัจจัยใหม่ที่เข้ามามีน้ำหนักมากขึ้นแทน คือ อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก และเงินสำรองระหว่างประเทศที่เริ่มลดลงมาพอสมควร จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สำหรับสถานการณ์ความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจติดลบ จะยังคงดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง อาจเกิดผลกระทบเป็นระลอก ซึ่งประเทศไทยยังมีเวลาเตรียมตัวอีกประมาณ 1 ปี เพื่อตั้งรับสถานการณ์ดังกล่าว โจทย์สำคัญคือ ต้องมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามาทดแทนภาคการส่งออก การบริโภคในประเทศ และไทยเที่ยวไทย ที่ไม่น่าจะมีกำลังมากพอแล้ว

ทั้งนี้ เราแนะนำให้โฟกัสที่ภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กำลังเติบโตขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นที่อนุมัติมาก่อนหน้านี้แล้ว ควรขับเคลื่อนและดำเนินการลงทุนอย่างจริงจัง รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment ที่มองว่าอาเซียนน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจมากสำหรับนักลงทุนที่กำลังหาทางเลือกอื่น นอกเหนือจากจีนและยุโรปที่กำลังมีปัญหา.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ  36.62 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ต้องระวังความผันผวนในช่วงการประชุมเฟด 26-27 ก.คนี้

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.62 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) จากรายงานผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาดและตลาดเริ่มคลายกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

 ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC Meeting) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ (GDP Q2/2022) และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้

 โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดมองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาจสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 96.9 จุด กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 อาจขยายตัวเพียง +0.5%q/q จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงและผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทว่า Atlanta Fed ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีโอกาสหดตัว -1.6%q/q ในไตรมาสที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะ Technical Recession (เศรษฐกิจหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน)

ทั้งนี้ เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากขึ้น กอปรกับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางที่ลดลงต่อเนื่อง จะทำให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเรามองว่า หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจบอกได้ว่า นโยบายการเงินเฟดได้มาถึงจุด Peak Hawkishness เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงได้ และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Meta (Facebook), Amazon, Apple, Alphabet (Google) และ Microsoft เป็นต้น โดยเราคาดว่า ตลาดพร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนโดยรวมออกมาดีกว่าคาด

 ฝั่งยุโรป – ความกังวลวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียลดหรือยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับยุโรป รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูง อาจยิ่งกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกรกฎาคม ดิ่งลงต่อเนื่องสู่ระดับ 90 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจยิ่งดูแย่ลงได้ หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวเพียง +0.1%q/q หรือราว +3.4%y/y ชะลอตัวลงจาก +0.6%q/q หรือ +5.4%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อสูง

 อนึ่ง นักวิเคราะห์เริ่มคาดว่า แรงกดดันต่อเงินเฟ้อของยูโรโซนอาจเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจชะลอเหลือ 8.5% ทว่าระดับดังกล่าวก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ 2% ไปมาก ทำให้ ECB ยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน จะขยายตัว 0.2%m/m จากอานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ อาจกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกรกฎาคม จนลดลงสู่ระดับ 31 จุด และอาจกระทบต่อแนวโน้มยอดค้าปลีกในอนาคตได้ในที่สุด

 ฝั่งไทย – ตลาดมองว่า ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมิถุนายนอาจโตราว +10%y/y ทว่า ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้า (Imports) เพิ่มสูงขึ้น +19%y/y ทำให้ ดุลการค้ายังคงขาดดุลราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้

 สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่ต้องระวังความผันผวนในช่วงการประชุมเฟด ซึ่งตลาดการเงินไทยนั้นปิดทำการ ทำให้ปริมาณการซื้อขายอาจเบาบางลงกว่าปกติ

 ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่ารุนแรง หากจีนไม่ได้ใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทอาจได้แรงหนุนจาก แรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำรวมถึง มุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เริ่มกลับมาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท (Long THB) ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

 ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจจบรอบขาขึ้นแล้ว หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดและไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (Peak Hawkishness ของเฟดได้ผ่านไปแล้ว) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการและข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปแย่กว่าคาด (กดดันเงินยูโร EUR อ่อนค่าลง)

 ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-36.90 บาท/ดอลลาร์

 ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 36.63-36.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 36.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่ข้อมูล PMI ที่สะท้อนภาวะหดตัวของกิจกรรมภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยลบของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงระหว่างที่ตลาดรอติดตามสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากผลการประชุมเฟดวันที่ 26-27 ก.ค.นี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญในช่วงต้นสัปดาห์จะอยู่ที่ผลการประชุมเฟด (26-27 ก.ค.) การทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF (26 ก.ค.) รวมถึงสถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิ.ย. ของไทย (27 ก.ค)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 25 กรกฎาคม 2565

สแกน QR Code เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย รอรับกลางเดือน ส.ค.

“ธีระชัย” แจ้งข่าวดี “เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย” 120 บาท/ตัน คืบ คาด กลางเดือน ส.ค.นี้ ได้เงินแน่นอน เตรียม สแกน QR Code รอเงินช่วยเหลือ ได้เลย

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อสรุปตัวแทนพี่น้องชาวไร่อ้อย จากสถาบันชาวไร่อ้อย 37 แห่ง ได้เข้าพบ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อสอบถามและติดตามความคืบหน้า เงินช่วยเหลือค่าอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ปี 2564/65 ผลสรุปเบื้องต้น คือ

1.เงินช่วยเหลือที่ตั้งงบประมาณไว้ เมื่อคำนวณจำนวนอ้อยสดเข้าหีบ จะได้ในอัตรา 109 บาทต่อตัน โดยจะนำเรื่อง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

2.เงินส่วนที่เหลือ 11 บาทต่อตัน ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะหารือกับสำนักงบประมาณ และ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อจัดสรรเงินมาเพิ่มให้ครบ 120 บาทต่อตัน

ทั้งนี้จากกรอบดังกล่าวนี้คาดว่า จะเสนอ ครม. ในเร็วนี้ และกลางเดือนสิงหาคม นี้คาดว่าจะได้เงิน

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เดินทางลงพื้นที่ พบปะกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อสำรวจต้นทุนการผลิตอ้อย ปีการผลิต 2565/2566 ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการพิจารณาจัดทำเป็นต้นทุนการผลิตอ้อย ปีการผลิต 2565/2566 โดยข้อมูลมีความถูกต้อง และได้รับความเชื่อถือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

รวมทั้ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านได้รับทราบว่า กระบวนการในการจัดเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยมีที่มาตามหลักวิชาการที่ได้รับการยอมรับ มีระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและที่เกี่ยวข้องเป็นกรอบในการปฏิบัติงานความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และข้อมูลที่เป็นความจริง ถูกต้องตามหลักการ จากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการสุ่มเลือกมาตามหลักวิชาการ

ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้การยึดถือ เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อขอบคุณพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกท่านที่ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง และ ขอบคุณทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทุกคน ที่ออกพื้นที่ โดยไม่ย่นย่อ ต่อการเดินทาง และทุ่มเทอย่างเต็มที่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การกำหนดราคาน้ำตาลทรายในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2564/65 ยังคงราคาเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กิโลกรัม และ 18.25 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนการประกาศกำหนดราคาน้ำตาลเพื่อจำหน่ายในประเทศสำหรับฤดูการผลิตปี 2565/66

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยและต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย และจะมีการประชุมเพื่อดำเนินขั้นตอนการกำหนดราคาในประเทศอีกครั้งหนึ่งตามองค์ประกอบของการคำนวณราคาที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะติดตามสถานการณ์กลไกราคาน้ำตาลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และขอยืนยันว่าปีนี้มีปริมาณน้ำตาลมากเพียงพอที่จะไม่เกิดการขาดแคลนอย่างแน่นอน ในเรื่องนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เข้าไปดูแลและติดตามสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค

ทั้งนี้สำหรับการตรวจสอบสิทธิ ชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย หากบัญชีของท่านไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่า “บัญชีพร้อมโอน” และหากได้รับการโอนแล้วระบบจะแจ้งว่า “โอนเงินสำเร็จแล้ว”

กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่าน “ไม่สามารถรับโอนได้” ระบบจะแจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถโอนได้เนื่องจากกรณีใด ให้ผู้ตรวจสิทธิ์ รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาของท่าน และให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรับรองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พิจารณาตรวจสอบร่วมกับ ธ.ก.ส. เพื่อเร่งดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป สามารถลองสแกน QR Code ตรวจสอบรายชื่อก่อนว่ามีหรือไม่

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เปิดข้อเท็จจริง “ผู้ประกอบการ” ค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล

ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่) พ.ศ. … ที่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎวะระ 3 ซึ่งได้เพิ่ม “กากอ้อย” รวมในนิยามผลพลอยได้กำลังเป็นที่ถกเถียงในวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราบ โดยฝ่าย “ผู้ประกอบการ” ค้านหัวชนฝาจะไม่รับร่างดังกล่าว

ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลบราซิลได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2559 โดยกล่าวหาว่าไทยให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรมในทุกกระบวนการ อาทิ การอุดหนุนราคาขายในประเทศ รวมทั้งอุดหนุนเกษตรกรและโรงงานด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติการจ่ายเงินเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย รวมถึงการอุดหนุนด้านปัจจัยการผลิตที่มากกว่าที่ให้สัญญาไว้กับ WTO ทำให้ไทยสามารถส่งออกน้ำตาลไปทุ่มตลาดในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมและส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในบราซิลต้องปิดตัวเป็นจำนวนมาก

จึงเป็นที่มาของการทำร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งแก้ไขข้อประเด็นที่ขัดกับข้อตกลง WTO และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาลและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยในปี 2564 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อยในนามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง อีก 7 ฉบับ รวมฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็น 8 ฉบับ โดย 6 ฉบับที่ไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ต่างกำหนดให้ ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้

สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 59 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลอ้างว่าไม่มีผู้แทนฝ่ายโรงงานในคณะกรรมาธิการทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพียงแต่ตั้งเป็นที่ปรึกษาจำนวน 6 คน และร่วมในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างอีก 3 คน ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียง

โดยที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่เพิ่มคำ “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” แต่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามดังกล่าว และเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 ตัวแทนของโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ 57 โรงงาน ได้มีมติร่วมกันเพื่อออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฎิเสธไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีข้อชี้แจงดังนี้

โรงงานทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากชาวไร่อ้อย ตามความหวาน (น้ำตาลในอ้อย) และน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักอ้อยที่ซื้อรวมกากอ้อย (ชานอ้อย) เศษหิน ดิน ทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่ติดมากับอ้อยที่ส่งเข้าหีบด้วย ซึ่งถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน “กากอ้อย” จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี2525

ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “กากอ้อย” รวมทั้งกากตะกอนกรอง เป็นสิ่งปฏิกูลหรือของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บ ต้องขออนุญาตในการขนย้าย บำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงงานน้ำตาลทรายชี้ว่า ตนเป็นผู้ลงทุนในการจัดการของเสียดังกล่าวโดยการพัฒนาเครื่องจักรและใช้เทคโนโลยีนำกากอ้อยมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวซึ่งรวมอยู่ในการแบ่งปันผลประโยชน์ ให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30%

โดยผู้ประกอบการยืนยันว่า การกำหนดให้ “กากอ้อย” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เป็น “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน และจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สิ้นสุด ในการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม

สมาคมโรงงานน้ำตาล เตรียมยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและสามกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หากร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ประธานสมาคมฯ เผยว่าจะลาออกจากการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2527 ทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่าจะยังคงส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และให้ผู้บริโภคในประเทศมีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภค

ขณะเดียวกันสถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและมีราคาสูงกว่าน้ำตาลในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าราคาน้ำตาลในประเทศจะมีการปรับตัวตามต้นทุนพลังงานและปุ๋ยที่เพิ่งสูงขึ้นด้วย โดยสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะมีการพิจารณาต้นทุนภาพรวมของทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อนำไปสู่การปรับราคาน้ำตาล ซึ่งขณะนี้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 30% รวมทั้งราคาพลังงาน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สมาคมเอทานอลฯ อ้อนรัฐ ชู E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน หนุนการใช้เอทานอลเพิ่มความมั่นคงพลังงาน

สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังเสนอรัฐส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน พร้อมเปิดเสรีเอทานอลหนุนปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอให้รัฐกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน โดยยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 รวมทั้งเพิ่มส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ E20 กับแก๊สโซฮอล์ 95 มากขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 6-7 ล้านลิตรต่อวัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอลทั้งจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล (โมลาส) รวม 27 แห่ง กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน หากรัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานจะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ มีเงินช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศด้วย ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศและสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงราคาน้ำมันผันผวน

ขณะนี้ราคาเอทานอลอยู่ที่ 27.54 บาทต่อลิตร ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯ เนื่องจากในช่วงนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง เทียบกับในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร

นอกจากนี้ สมาคมฯ ต้องการผลักดันให้ภาครัฐเปิดเสรีเอทานอลเป็นเกรดอุตสาหกรรม จากปัจจุบันเป็นเกรดเชื้อเพลิง หากรัฐอนุญาตเชื่อว่าโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 27 โรงจะมีความพร้อมเพื่อผลิตเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมได้

ปัจจุบันกลุ่มเบนซินมีปริมาณการใช้รวม 30 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นแก๊สโซฮอล์ E20 ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ E85 ประมาณ 1 ล้านลิตรต่อวัน แก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 5-7 แสนลิตรต่อวัน และที่เหลือเป็นแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันเบนซิน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

‘สุริยะ’สั่งเกาะติดน้ำตาลทราย ยืนยันปริมาณเพียงพอราคายังไม่ขยับ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การกำหนดราคาน้ำตาลทรายในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างใดโดยราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อย ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ยังคงราคาเดิมอยู่ที่ 17.25 บาท/กิโลกรัม และ 18.25 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

ส่วนการประกาศกำหนดราคาน้ำตาลเพื่อจำหน่ายในประเทศสำหรับฤดูกาลผลิตปี 2565/66ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อยและต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย และจะมีการประชุมเพื่อดำเนินขั้นตอนการกำหนดราคาในประเทศอีกครั้งหนึ่งตามองค์ประกอบของการคำนวณราคาที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมจะติดตามสถานการณ์กลไกราคาน้ำตาลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และขอยืนยันว่าปีนี้มีปริมาณน้ำตาลมากเพียงพอที่จะไม่เกิดการขาดแคลนอย่างแน่นอน ซึ่งในเรื่องนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เข้าไปดูแลและติดตามสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค

อนึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แจ้งขอปรับราคาน้ำตาลทรายขาวขนาด 1 ก.ก. ขึ้น 1 บาท โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป หรือจากราคา 22 บาท เป็น 23 บาท และคาดว่าจากนี้ไปผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่นๆ ก็คงจะทยอยการแจ้งปรับราคาตามมาเช่นกัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สอน. พัฒนาตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเครื่องจักรกลเกษตรไร่อ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกและด้านการเก็บเกี่ยวโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการบริหารจัดการในไร่อ้อยให้มากขึ้น

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า  “สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้จัดทำตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินหน้าหนุนชาวไร่ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ 0%  โดยได้ต่อยอดโครงการระยะที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อยกระดับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาอำนวยความสะดวกในการเพิ่มผลผลิตของตน จึงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางเครื่องจักรที่ใช้ในไร่อ้อย บนเว็บไซต์ www.Raiaoi.com เพื่อเป็นตลาดกลางเชื่อมโยงชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทั้งที่ขายและให้เช่าได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยให้ชาวไร่อ้อยเข้าถึงข้อมูลและเครื่องจักรที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย รถไถ รถสาง รถพรวนดิน แล็บเตอร์ เป็นต้น ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย”

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเดิมมุ่งเน้นการให้บริการ ซื้อขาย เช่า เครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้ในไร่อ้อย เป็นการต่อยอดขยายสู่ความเป็นตลาดกลางออนไลน์อุปกรณ์การเกษตร พร้อมเปิดให้ชาวไร่อ้อยสามารถลงประกาศความต้องการของตนเองในแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอราคาสินค้าและบริการ ที่ตรงกับความต้องการของชาวไร่อ้อย มาได้ด้วย และยังมีการเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถดูตารางนัดหมายการให้บริการของตนเองได้จากในแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แฟลตฟอร์มดังกล่าว จึงได้จัดจัดการอบรมการใช้แพลตฟอร์มศูนย์ข้อมูลกลางเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อย โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ผู้สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการอบรมเมื่อเร็วๆนี้ โดยเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทดลองการใช้งานในฐานะชาวไร่อ้อย เช่น การค้นหาเครื่องจักร สินค้า และบริการ ที่มีประกาศอยู่ในแพลตฟอร์ม ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแปลงปลูกอ้อยของชาวไร่ และทดลองการลงประกาศความต้องการของชาวไร่ การตอบรับข้อเสนอ การให้ข้อคิดเห็นการใช้บริการ (review) เป็นต้น รวมถึงการทดลองใช้งานในฐานะผู้ประกอบการ  เช่น ทำการลงประกาศสินค้าและบริการของตนเอง การค้นหาความต้องการของชาวไร่อ้อย การยื่นขอเสนอสินค้าและบริการของเราต่อชาวไร่อ้อยที่ลงประกาศความต้องการ การจัดการตารางนัดหมายการให้บริการ เป็นต้น

สอน.ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเครื่องจักรทางการเกษตรทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งขายและให้เช่า เช่น คูโบต้า ฟอร์ด แคต ช้างแทรคเตอร์ สยามอิมพลีเม้น และอื่นๆ ฯลฯ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าสินเชื่อซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ก็สามารถเข้าร่วมโครงการขาย/ให้เช่าเครื่องจักรบนเว็บไซต์ไร่อ้อยได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการตัดอ้อยให้ได้อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเครื่องตัดต่อปี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เพิ่มรายได้ให้เจ้าของเครื่องจักรคืนทุน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในระยะยาวต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

โรงงานน้ำตาลค้านพ.ร.บ.อ้อยฯ อ้างไม่เป็นธรรมถูกเบียดบังผลประโยชน์

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย”ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรมไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้

เนื่องจาก “กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30% และ “กากอ้อย” ถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การเพิ่ม “กากอ้อย”ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

 “เราพยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการแต่ไม่เคยได้รับการตอบรับทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพ” นายปราโมทย์ กล่าว

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายเพียงพอ โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ฝายธนาคารน้ำใต้ดิน พืชผสมผสาน บูรณาการแก้จน-ท่วม-แล้ง-ซ้ำซาก

“เดิมการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง มักมาจากส่วนกลางที่กระจายต่อไปยังส่วนภูมิภาค ทำให้พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีมากกว่า 90% ได้รับการแก้ไขไม่ตรงจุด เพราะขาดการมีส่วนร่วมของเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และกระบวนการจัดเก็บข้อมูลแบบมีส่วนร่วมผ่านระบบแอปพลิเคชัน ดำเนินโครงการโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการแนวทางการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำระดับชุมชนในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม”

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ วช. อธิบายถึงที่มาของการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แล้งซ้ำซากอย่างบูรณาการ... ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมรู้ถึงคุณค่าของน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานส่วนใหญ่ยังขาดการรวมกลุ่มบริหารจัดการที่เป็นระบบ ไม่มีกระบวนการหรือรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม ขาดการจัดเก็บข้อมูล ขาดการมีส่วนร่วมในชุมชน โดยแผนงานวิจัยมุ่งยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องรวมตัวกันสร้างความเข้าใจ ดูปริมาณน้ำในพื้นที่มีเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ โดยใช้หลากหลายวิธีการตามความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝาย ธนาคารน้ำใต้ดิน รวมถึงอ่างเก็บน้ำและเขื่อน

โครงการวิจัยต้องการให้องค์กรผู้ใช้น้ำแข็งแรง มีหน่วยงานสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดูแลกันได้ในระยะยาว เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนกับ อบต. หน่วยงานจังหวัด อย่างบูรณาการ ส่วนบนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำหนดบทบาทชัดเจนว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไร ส่วนล่างก็ต้องร่วมมือในแต่ละจังหวัด วางแผนเก็บข้อมูล ทำเป็นสตูดิโอ ดาต้า ซึ่งเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะใช้การสำรวจข้อมูลที่ไม่ลงรายละเอียด ทำให้ดำเนินการไม่ตรงกับความ ต้องการของประชาชนผู้ใช้น้ำ มีแนวทางวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว ไปสู่ระบบที่ชัดเจน

ด้าน นางกุหลาบ มาตย์วังแสง เจ้าของไร่ธรรมนาธาร ครัวเรือนต้นแบบโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี ขยายความเพิ่มเติม...พื้นที่แถบนี้เป็นพื้นที่ราบสูงมีภูเขาส่วนหนึ่ง พื้นที่เป็นดินร่วนปนเหนียวมีความสมบูรณ์ค่อนข้างสูง แต่จากการที่ชาวบ้านประกอบอาชีพด้านการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ เป็นอาชีพหลัก ทำให้ต้นไม้ใหญ่เริ่มลดลง ดินเริ่มมีปัญหา ต้องรอแต่น้ำฝน เพราะไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน พอหน้าฝนน้ำมากก็ท่วม แต่พอฤดูแล้ง ก็แล้งจนแทบทำอะไรไม่ได้

จนเมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีโครงการเข้ามาให้คำแนะนำ จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เริ่มจากทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยสังเกตบริเวณที่น้ำไหลไปรวมกันหรือน้ำขังนานๆ จากนั้นขุดหลุมกว้าง 1.5 เมตร ลึก 2 เมตร ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น หิน กรวด ใส่ลงไป แล้วขุดสระน้ำ บริเวณใกล้เคียงเพื่อให้น้ำใต้ดินไหลสู่สระที่ขุด หรือหากมีบ่อหรือสระอยู่แล้ว น้ำที่สะสมในดินก็จะไหลลงไปเติมอยู่ตลอด

สำหรับที่นี่ปัจจุบันมีสระ 5 บ่อ มีการขุดคลองไส้ไก่รอบพื้นที่ กว้าง 3 เมตร ลึก 2-3 เมตร ทำให้ที่ผ่านมาจากที่เคยท่วมก็เหลือแค่น้ำขังไม่กี่ชั่วโมง พอหน้าแล้งก็มีน้ำในสระเป็นทั้งแหล่งน้ำและเลี้ยงปลา ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่รวมกว่า 20 ไร่ มาปลูกพืชผสมผสาน ทั้งนาข้าว ไม้ยืนต้น ไม้ผล พืชผัก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ขณะที่พื้นที่บริเวณไหนเป็นแอ่ง ก็จะทำธนาคารน้ำใต้ดินตรงนั้น

“พื้นที่นี้เราจะทำงานกันค่อนข้างเป็นระบบ ชาวบ้านร่วมกันคิดว่าต้องการอะไร นักวิชาการคอยชี้แนะ องค์กรท้องถิ่นช่วยในเรื่องงบประมาณ เช่น ที่ผ่านมาในพื้นที่แหล่งน้ำเดิมทั้งคลองธรรมชาติและคลองขุด เมื่อต้องการสร้างฝายชะลอน้ำ ทั้งท้องถิ่นและชาวบ้านก็จะมาร่วมลงแรงลงแขกทำ ส่วนธนาคารน้ำใต้ดิน เมื่อชาวบ้านทำ ท้องถิ่นก็เข้ามาสนับสนุนวัตถุดิบ เช่น ตาข่าย ส่วนในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปทั้งฝาย อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ท้องถิ่นก็ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบความต้องการของชาวบ้านต่อไป”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

สอน. พัฒนาตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเครื่องจักรกลเกษตรไร่อ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกและด้านการเก็บเกี่ยวโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการบริหารจัดการในไร่อ้อยให้มากขึ้น

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า  “สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ได้จัดทำตลาดกลางเครื่องจักรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เดินหน้าหนุนชาวไร่ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ 0%  โดยได้ต่อยอดโครงการระยะที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อยกระดับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาอำนวยความสะดวกในการเพิ่มผลผลิตของตน จึงเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางเครื่องจักรที่ใช้ในไร่อ้อย บนเว็บไซต์ www.Raiaoi.com เพื่อเป็นตลาดกลางเชื่อมโยงชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทั้งที่ขายและให้เช่าได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ช่วยให้ชาวไร่อ้อยเข้าถึงข้อมูลและเครื่องจักรที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เช่น รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย รถไถ รถสาง รถพรวนดิน แล็บเตอร์ เป็นต้น ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย”

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเดิมมุ่งเน้นการให้บริการ ซื้อขาย เช่า เครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้ในไร่อ้อย เป็นการต่อยอดขยายสู่ความเป็นตลาดกลางออนไลน์อุปกรณ์การเกษตร พร้อมเปิดให้ชาวไร่อ้อยสามารถลงประกาศความต้องการของตนเองในแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอราคาสินค้าและบริการ ที่ตรงกับความต้องการของชาวไร่อ้อย มาได้ด้วย และยังมีการเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถดูตารางนัดหมายการให้บริการของตนเองได้จากในแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แฟลตฟอร์มดังกล่าว จึงได้จัดจัดการอบรมการใช้แพลตฟอร์มศูนย์ข้อมูลกลางเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อย โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักงานฯ ผู้สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการอบรมเมื่อเร็วๆนี้ โดยเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทดลองการใช้งานในฐานะชาวไร่อ้อย เช่น การค้นหาเครื่องจักร สินค้า และบริการ ที่มีประกาศอยู่ในแพลตฟอร์ม ในพื้นที่ใกล้เคียงกับแปลงปลูกอ้อยของชาวไร่ และทดลองการลงประกาศความต้องการของชาวไร่ การตอบรับข้อเสนอ การให้ข้อคิดเห็นการใช้บริการ (review) เป็นต้น รวมถึงการทดลองใช้งานในฐานะผู้ประกอบการ  เช่น ทำการลงประกาศสินค้าและบริการของตนเอง การค้นหาความต้องการของชาวไร่อ้อย การยื่นขอเสนอสินค้าและบริการของเราต่อชาวไร่อ้อยที่ลงประกาศความต้องการ การจัดการตารางนัดหมายการให้บริการ เป็นต้น

สอน.ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเครื่องจักรทางการเกษตรทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทั้งขายและให้เช่า เช่น คูโบต้า ฟอร์ด แคต ช้างแทรคเตอร์ สยามอิมพลีเม้น และอื่นๆ ฯลฯ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่เป็นลูกค้าสินเชื่อซื้อเครื่องจักรทางการเกษตรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ก็สามารถเข้าร่วมโครงการขาย/ให้เช่าเครื่องจักรบนเว็บไซต์ไร่อ้อยได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการตัดอ้อยให้ได้อย่างน้อย 20,000 ตันต่อเครื่องตัดต่อปี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ เพิ่มรายได้ให้เจ้าของเครื่องจักรคืนทุน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในระยะยาวต่อไป

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

เปิดเหตุผล 3 สมาคมรง.น้ำตาล ค้านร่างกฎหมายจัด “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้”

เปิดเหตุผลที่โรงงานน้ำตาลไม่เห็นด้วยกับการนำ “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 อยู่ในขณะนี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล ต้องออกแถลงการณ์ ถึงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

โดยมองว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมายที่โรงงานไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมพิจารณา ขัดหลักนิติธรรม สร้างความขัดแย้งในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้”

เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้

“กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน

การคัดค้านดังกล่าว เนื่องจาก “กากอ้อย” ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 และโรงงานร้อย 30 และ “กากอ้อย” ถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังนั้น การเพิ่ม “กากอ้อย” ในร่าง พรบ. ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

ดังนั้น หากพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาฯ จะขอลาออกจากการบริหารงานน้ำตาล5 ชุด ได้แก่ การบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้พ.ร.บ.อ้อยฯปี 2527 ทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)

“เราพยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพและเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด หากพรบ.ฉบับนี้ผ่านจะขอลาออกจากการบริหารงานน้ำตาล5 ชุด ”

ย้ำดูเเลชาวไร่อ้อยส่งเสริมรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

ระหว่างนี้ สมาคมฯจะเสนอข้อเรียกร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงจุดยืน ข้อคิดเห็น ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2565 หรือให้เร็วที่สุดจนกว่าจะมีการพิจารณารับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายอย่างเพียงพอ

โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย

มองสถานการณ์ราคาน้ำตาลปัจจุบัน/การปรับขึ้นราคา?

นายปราโมทย์ ฉายภาพว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นและราคาสูงกว่าราคาน้ำตาลในประเทศ ซึ่งในกรณีของการปรับขึ้นราคา สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเป็นผู้พิจารณาต้นทุนภาพรวม ซึ่งน้ำตาลบริโภคอยู่ที่ 2.3-2.5 ล้านตัน ยังคงเพียงพอ

แต่ต้อมยอมรับว่า ต้นทุนการเพาะปลูก สภาพอากาศ ราคาปุ๋ยขณะนี้เพิ่มถึง 30% บวกกับราคาพลังงานที่สูง ในหลายๆสินค้าก็จำเป็นต้องปรับ เช่นเดียวกับน้ำตาล ก็ไม่แตกต่างจากสินค้าอื่น แต่หากราคาปรับตัวลงก็ต้องปรับลดลงด้วย ให้อยู่ที่การจูนนิ่งตามกลไกตลาด หากจำเป็นต้องปรับก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะทำงานของภาครัฐ

ชำแหละเหตุผลไม่เห็นด้วยให้นำ “กากอ้อย” เป็น “ผลพลอยได้”

ปัจจุบัน โรงงานทำสัญญาซื้อขายอ้อยจากชาวไร่อ้อย ตามความหวาน (น้ำตาลในอ้อย) และน้ำหนัก ซึ่งน้ำหนักอ้อยที่ซื้อ รวมกากอ้อย (ชานอ้อย) เศษหิน ดิน ทราย และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่ติดมากับอ้อยที่ส่งเข้าหีบด้วย ดังนั้น อะไรก็ตามที่รวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน

อีกทั้งการกำหนด “กากอ้อย” ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงาน เป็น “ผลพลอยได้” เพื่อนำมาแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน และจะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยก ไม่สิ้นสุด ในการบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม

รวมทั้ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “กากอ้อย” รวมทั้งกากตะกอนกรอง เป็นสิ่งปฏิกูลหรือของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานต้องจัดหาสถานที่จัดเก็บ ต้องขออนุญาตในการขนย้าย บำบัด และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงงานที่นำของเสียดังกล่าวไปสร้างมูลค่า โรงงานต้องลงทุนเองฝ่ายเดียวทั้งหมด ทั้งในด้านการจัดการ จัดหาเทคโนโลยี และการสร้างโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ในการสร้างมูลค่านี้ โรงงานได้ลงทุนไปมากทางด้านทรัพย์สิน เครื่องจักร และการพัฒนาเทคโนโลยี การที่ต้องนำผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนมาแบ่งปัน เป็นการทำลายบรรยากาศของการลงทุน และความตั้งใจในการพัฒนาเทคโนโลยี

 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่…) พ.ศ….

กฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งทุกประเทศที่ออกกฎหมายนี้ล้วนมีฐานมาจาก “ข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล” มีความเป็นธรรม ไม่ขัดหลักกฎหมายอื่นและผลประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดการส่งเสริมพัฒนา เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 บัญญัติขึ้นตามข้อตกลงระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ปี 2525 ซึ่งกำหนดการคำนวณราคาอ้อยในหลักการแบ่งรายได้สุทธิที่ได้จากการขายน้ำตาลทรายในประเทศและส่งออกในแต่ละฤดูการผลิต ในอัตราส่วนร้อยละ 70 เป็นของชาวไร่อ้อย ร้อยละ 30 เป็นของโรงงาน และกำหนดให้ผลพลอยได้ทุกชนิดจากการหีบอ้อย ตกเป็นของโรงงานน้ำตาล ไม่ต้องนำมาคำนวณราคาอ้อย

ปี 2535-2545 ชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ปรับเปลี่ยนการคำนวณรายได้ของระบบ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โดยนำกากน้ำตาล และ รายได้จากโควตา ค. โดยนำค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 ปี ของส่วนต่างของน้ำตาลทรายขาวกับน้ำตาลทรายดิบ (ตลาดโลก) หักค่าแปรสภาพ ตามที่ กอน.กำหนด เข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ยังคงสัดส่วนแบ่งปันรายได้เดิมที่ 70/30

ปี 2559 บราซิลยื่นฟ้องต่อ WTO กล่าวหาไทยอุดหนุนการส่งออก ซึ่งเป็นที่มาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อย ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมุ่งแก้ไขข้อประเด็นที่ขัดกับข้อตกลง WTO และได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั้งชาวไร่ โรงงานน้ำตาลและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

ปี 2564 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เสนอโดยชาวไร่อ้อยในนามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง อีก 7 ฉบับ รวมฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็น 8 ฉบับ โดย 6 ฉบับที่ไม่ใช่ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ต่างกำหนดให้ ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้

สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎรจำนวน 59 คนเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย กลับไม่มีผู้แทนโรงงานร่วมเป็นกรรมาธิการ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เพียงแต่ตั้งผู้แทนโรงงาน เป็นที่ปรึกษาจำนวน 6 คน และร่วมในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างอีก 3 คน ซึ่งไม่มีสิทธิออกเสียง

คณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ตามเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่เพิ่มคำ “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” แต่ในชั้นการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ให้เพิ่ม “กากอ้อย” ในคำนิยามดังกล่าว และเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา ปัจจุบัน ที่ประชุมวุฒิสภา อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

57 รง.น้ำตาลขู่ลาออกจากคณะกรรมการ 5 ชุดหากวุฒิสภาโหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ

57 โรงงานน้ำตาลประกาศจุดยืนค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาฯหากผ่านโหวตนำกากอ้อยเป็นผลพลอยได้พร้อมยื่นลาออกจากกรรมการบริหาร 5 ชุดทันที เล็งยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ รมว.ที่เกี่ยวข้องอีกระลอก

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า วันนี้ (21 ก.ค.) ตัวแทน 57 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้แสดงจุดยืนไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ……ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวุฒิสภาซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ส.ค.นี้ หากการพิจารณายังคงยืนยันเพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยามผลพลอยได้ฝ่ายโรงงานจะยื่นลาออกจากกรรมการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยฯ ปี พ.ศ. 2527 ทั้งหมดที่มีอยู่ 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.), คณะกรรมการอ้อย (กอ.), คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.), คณะกรรมการบริหาร (กบ.) และคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)

“กากอ้อยถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2552 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30% และกากอ้อยจัดเป็นขยะอุตสาหกรรมจากกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยโรงงานได้ลงทุนฝ่ายเดียวเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้นการเพิ่มกากอ้อยในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง” นายปราโมทย์กล่าว

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล

กล่าวว่า โรงงานได้มีการเรียกร้องมาตลอดว่ากฎหมายจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลปี 2527 นั้นหากไม่ดีจริงอุตสาหกรรมนี้คงไม่มีการเติบโตต่อเนื่องจากปริมาณอ้อยเริ่มต้นไม่กี่ล้านตันจนก้าวสู่ระดับ 90-100 ล้านตัน ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่ปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้ขัดหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการแก้ไขในส่วนที่ขัดหลักการ WTO เท่านั้นแต่ไม่คาดคิดว่าจะกลายมาสู่การนำกากอ้อยมาเป็นผลพลอยได้เพื่อนำมาสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30นายคมกริช นาคะลักษณ์ กรรมการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล

กล่าวว่า กากอ้อยนั้นปัจจุบันส่วนใหญ่นำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองในกระบวนการแปรสภาพน้ำตาลและบางส่วนได้ลงทุนต่อยอดในการผลิตไฟเพื่อขายเข้าระบบ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงงานลงทุน ดังนั้นจึงต่างจากกากน้ำตาล (โมลาส) ที่อยู่ในระบบแบ่งปันได้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คงขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรเพราะหากปล่อยให้ปัญหาบานปลายจนนำมาสู่การออกเป็นกฎหมายจะทำให้ระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้เกิดความล้มเหลว

“แต่ละโรงงานเองก็มีการลงทุนแตกต่างกันไป จึงมองว่าการแบ่งปันผลประโยชน์หากเช่นนั้นต้องแบ่งปันรายจ่ายด้วยจึงจะเป็นธรรม เรื่องนี้เราเคยทำหนังสือถึงนายกฯ ไปแล้ว คิดว่าอาจจะมีการยื่นอีกครั้งรวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง” นายคมกริชกล่าว

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานเองได้นำน้ำตาลทรายขาวมาคำนวณเป็นรายได้ในระบบ จากนั้นก็ก้าวมาสู่ กากน้ำตาล (โมลาส) แต่ขณะนี้กำลังมาสู่กากอ้อย จึงไม่มั่นใจว่าต่อไปโรงงานติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟท็อป) จะต้องนำมาสู่การแบ่งปันผลประโยชน์ด้วยหรือไม่

จาก https://mgronline.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

ถึงคิวน้ำตาลทราย ขึ้นราคากิโลกรัมละ 1 บาท เริ่ม 1 สิงหาเป็นต้นไป

ผู้ผลิตเริ่มทยอยร่อนจดหมายถึงคู่ค้า ปรับราคาน้ำตาลทรายขาว เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป ห้างบางแห่งจำกัดการซื้อ

วันที่ 21 กรกฏาคม 2565 แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้รับหนังสือจากบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ แจ้งขอปรับราคาน้ำตาลทรายขาวขนาด 1 ก.ก. ขึ้น 1 บาท โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป หรือจากราคา 22 บาท เป็น 23 บาท และคาดว่าจากนี้ไปผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่น ๆ ก็คงจะทยอยการแจ้งปรับราคาตามมาเช่นกัน

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุถึงเหตุผลในการขอปรับขึ้นราคาครั้งนี้ด้วยว่า หลัก ๆ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น

ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (21 ก.ค.) จากการสำรวจช่องทางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีปริมาณน้ำตาลทรายวางบนเชลฟ์ไม่มากนัก โดยเฉพาะน้ำตาลบรรจุถุงขนาด 1 ก.ก. นอกจากนี้บางแห่งได้เริ่มปิดประกาศจำกัดการซื้อต่อครอบครับต่อวันด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

โรงงานน้ำตาล ยันไม่ขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC ย้ำมีข่าวว่าผู้ผลิตแจ้งปรับราคาน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ ว่าไม่เป็นความจริง

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าผู้ผลิตแจ้งปรับราคาน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.นี้ ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม ผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาเองได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ควบคุมราคา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่าราคาในประเทศตอนนี้ต่ำกว่าราคาส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาส่งออกจะดีกว่า แต่ด้วยความที่ระบบน้ำตาลบ้านเรามีเสถียรภาพมาก จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำตาลในประเทศขาดแคลน เนื่องจากผู้ผลิตมุ่งส่งออก.

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

"โรงงานน้ำตาล" แสดงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯที่ไม่เป็นธรรม

"โรงงานน้ำตาล" แสดงจุดยืนไม่รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่ไม่เป็นธรรม ยืนกรานค้านเพิ่มกากอ้อยในคำนิยามผลพลอยได้

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีมติร่วมกันในการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปฏิเสธไม่รับร่างการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา หลังผ่านการเห็นชอบวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เพิ่มคำว่า “กากอ้อย” ในคำนิยาม “ผลพลอยได้”

ทั้งนี้ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในอุตสาหกรรม ไม่ได้รับสิทธิ์แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งขัดต่อหลักเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และจะนำมาซึ่งความแตกแยกในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมนี้

สำหรับกากอ้อยนั้น ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงงานตามข้อตกลงเดิมภายใต้สัญญาซื้อขายอ้อยปี 2525 ซึ่งถือเป็นต้นทุนด้านพลังงานที่โรงงานใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตน้ำตาลทรายเพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้แบ่งปันให้ชาวไร่อ้อย 70% และโรงงาน 30%

อีกทั้งกากอ้อยถูกจัดให้เป็นขยะอุตสาหกรรมจากการกระบวนการผลิตที่โรงงานต้องรับผิดชอบภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยฝ่ายโรงงานลงทุนฝ่ายเดียวทั้งหมด เพื่อจัดการของเสียดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำกากอ้อยไปเป็น

ดังนั้น การเพิ่มกากอ้อยในร่าง พรบ. ดังกล่าว จึงเป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิ์ปกป้องสิทธิของตน จึงทำให้ฝ่ายโรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า พยายามเรียกร้องมาตลอดว่าต้องการกฎหมายเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้รับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายผู้ประกอบการในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งที่การบริหารอุตสาหกรรมภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายต้องอาศัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายชาวไร่ และฝ่ายโรงงาน

เพื่อให้การบริหารอุตสาหกรรมเกิดเสถียรภาพและเกิดความร่วมมือบริหารอุตสาหกรรมให้เติบโตต่อไป แต่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับนี้ กลับดึงคนนอกเข้ามาร่างกติกาที่พยายามทำลายข้อตกลงและธรรมนูญของกฎหมายเดิม และจะทำให้อุตสาหกรรมเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยืนยันว่า พร้อมจะดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ครอบครัว ในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตเข้าหีบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ของชาวไร่ และดูแลผู้บริโภคในประเทศให้มีน้ำตาลทรายอย่างเพียงพอ

โดยพร้อมจะบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในเวทีโลก โดยไม่ขัดต่อหลักการของ WTO เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด "อ่อนค่า" ระดับ 36.72 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทแนวโน้มผันผวนหนัก ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย "ผลการประชุมของ ECB- แนวโน้มวิกฤติพลังงานของยุโรป" กรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.67 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ตลาดจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนัก ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ สองเรื่อง ในวันนี้ คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

รวมถึง แนวโน้มวิกฤติพลังงานของยุโรป โดยหาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หรือ ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่เรามองว่า ความเสี่ยงวิกฤติพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินยูโร (EUR) อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมากและกลับกัน หากรัสเซียลดหรือยุติการส่งออกแก๊สจริง ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ ECB จะส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

ดังนั้น เราจึงมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีความเสี่ยงที่หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวจะสามารถอ่อนค่าต่อไปทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่ยุโรปเผชิญวิกฤติพลังงานตามที่ตลาดกังวล ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ทำให้เรามองว่า หากสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ไม่ได้ถูกเทขายรุนแรง เงินบาทก็อาจจะยังไม่อ่อนค่าทะลุ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นได้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าทยอยซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Meta +4.2%, Amazon +3.9%) จากมุมมองที่คาดว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.58% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.59%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -0.21% ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมืองในอิตาลีที่กดดันให้ตลาดหุ้นอิตาลีปรับตัวลดลงแรงกว่า -1.60% ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะแม้ว่ารัสเซียอาจกลับมาดำเนินการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 หลังครบกำหนดการซ่อมบำรุง แต่ทางประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เตือนว่า ปริมาณการส่งแก๊สอาจลดลงและรัสเซียก็อาจหยุดส่งแก๊สได้

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.02% แต่โดยรวมการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ก่อน เพื่อจับตาท่าทีต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รวมถึงเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรปและฝั่งสหรัฐฯ ได้เช่นกัน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้กลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 107.1 จุด แม้จะถูกกดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนจากการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.018 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลวิกฤติพลังงาน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการประชุม ECB ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครอง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงแตะระดับ 1,692 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญของตลาดจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 0.25% สู่ระดับ -0.25% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาท่าทีของ ECB ต่อโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในอนาคต เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจขึ้นกับมุมมองของ ECB ต่อภาพเศรษฐกิจยุโรป และนอกเหนือจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดคาดว่า ECB อาจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool เพื่อควบคุมปัญหาภาระหนี้ของบรรดาประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในฝั่งตลาดบอนด์ที่อาจเกิดขึ้น หากสุดท้าย ECB ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเครื่องมือดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาจยิ่งทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางต่อปัญหาหนี้ อาทิ อิตาลี พุ่งสูงขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี อิตาลี กับเยอรมนี ที่จะปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาปัญหาวิกฤติพลังงานยุโรป หลังครบกำหนดซ่อมบำรุงท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 ว่ารัสเซียจะลดปริมาณการส่งแก๊สหรือยุติการส่งแก๊ส ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปและอาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่งยุโรป อาทิ หุ้นและเงินยูโร (EUR) ได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและความจำเป็นที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องช่วยคุมต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชน ทำให้ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสวนทางกับธนาคารกลางหลักอื่นๆ อาทิ การตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไม่ให้เกินระดับ 0.25% (ซื้อบอนด์แบบไม่จำกัด) และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวอาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในระยะนี้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 21 กรกฎาคม 2565

“ปุ๋ยโลกแพง” ไทยดับความร้อนแรงใช้ปุ๋ยผสมผสาน

 “เฉลิมชัย” เดินหน้าแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ปุ๋ยขาดแคลน ขับเคลื่อนมาตรการ 3 ระยะ ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมผสาน ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช่วยเกษตรกรจากราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน มอบกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ลุยแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 ด้านกรมปศุสัตว์ เร่งส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยเกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงในรายละเอียดว่า จากสถานการณ์ที่เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับราคาปุ๋ยที่แพง ปุ๋ยขาดแคลน และขาดเสถียรภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าว  เกิดจากสาเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งปุ๋ยในตลาดโลกที่มีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออก ปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ได้ชะลอการส่งออก รัสเซียได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ยเคมี ตลอดจนราคาน้ำมัน แก๊ส ค่าระวางเรือสูงขึ้น ส่งผลให้ปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น  โดยปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ถึงร้อยละ 98  รวมปีละกว่า 5.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 40,000 - 50,000 ล้านบาท

ในเรื่องดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกียวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง และปุ๋ยขาดแคลน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและวางแนวทางการแก้ไขปัญหา

โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพงและไม่มีเสถียรภาพ ปี 2565 – 2569 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดการนำเข้าปุ๋ย ากต่างประเทศ และให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยที่มีคุณภาพ เพียงพอ และทั่วถึง ทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว ดังนี้

มาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น  อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 มีศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 299 ศูนย์ พื้นที่ 58 จังหวัด เกษตรกร 52,170 ราย พื้นที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 250,398 ไร่ การชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประสานงานร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส.อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สถาบันเกษตรกร องค์กรเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก

โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2568  กลไกตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน โดยเน้นขับเคลื่อน  4 ด้าน คือ (1) การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพสูง “4 ถูก ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี”  (2) ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช/ การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานแก่เกษตรกร (ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี  ปุ๋ยชีวภาพ)/ปรับปรุงดินให้ pH เหมาะสม

(3) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงปุ๋ยและจัดหาปุ๋ยเคมีที่มีคุณภาพใช้ในชุมชนอย่างพอเพียงและทั่วถึง (4) พัฒนาและสนับสนุนงานวิจัยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ครอบคลุมทุกชนิด พืชเศรษฐกิจที่สําคัญ และ การเจรจาขอซื้อปุ๋ยไนโตรเจนราคาพิเศษจากมาเลเซีย (หุ้นส่วนอุตสาหกรรมตามข้อตกลง Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation) ซึ่งเป็นความตกลงพื้นฐานว่าด้วยการแบ่งผลิตอุตสาหกรรมอาเซียน

มาตรการการแก้ปัญหาระยะกลาง (ระยะเวลา 3 - 5 ปี) ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ทั้งในส่วนของโปแตช และแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งสินแร่โปแตช ที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแม่ปุ๋ยได้ เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น และ การเจรจาแลกเปลี่ยนแม่ปุ๋ยกับประเทศมาเลเซีย และอื่นๆ

โดยนำ Basic Agreement on ASEAN Industrial Complementation หรือข้อตกลงอาเซียนหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการเจรจา มาตรการการแก้ปัญหาระยะยาว ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาปุ๋ย เมื่อมีความพร้อมในการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียมแล้ว (หากจำเป็น)  เจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ร่วมกับ ประเทศมาเลเซีย และ จีน เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของแม่ปุ๋ย ทั้งปริมาณและราคา

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นำเอาปุ๋ยคอกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งในนาข้าว  พืชสวน พืชไร่ ในการบำรุงดิน การรองพื้นในหลุมปลูก ซึ่งปุ๋ยจากมูลสัตว์ สามารถนำมาใช้ในการผลิตพืชในครัวเรือน เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการผลิตได้  และจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของปริมาณมูลสัตว์แห้งจากฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณรวมปีละกว่า 27 ล้านตัน

โดยปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการนำเอามูลสัตว์ไปผลิตเป็นปุ๋ยคอก ทั้งในรูปแบบผง อัดเม็ด และแบบน้ำ เพื่อนำไปใช้เอง และจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป ในภาคการเกษตร และเชิงพาณิชย์ ช่วยให้สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ปุ๋ยคอก ควรต้องได้รับการแนะนำ วิธีการบริหารจัดการ วิธีการใช้ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท จากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านพืชและปุ๋ยโดยตรง

ขณะที่กรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนดแผนการขับเคลื่อนการจัดการปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พร้อมร่วมกับหมอดินอาสาถ่ายทอดความรู้ การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยแนวทาง ต่างๆ อาทิ การพัฒนาคุณภาพดินตามคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินรายแปลง โดยมีการเก็บตัวอย่างดิน นำมาตรวจวิเคราะห์สมบัติทางเคมี  ประเมินผลให้คำแนะนำเกษตรกรในการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

การส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร สนับสนุนแจกผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ พด. ให้เกษตรกรได้นำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และต่อยอดขยายผลการเพาะปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์โดยมีกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินทำการผลิตผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ พัฒนาและส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพ  ได้แก่ ปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปุ๋ยพืชสด

ส่งเสริมการไถกลบตอซัง ใช้น้ำหมักชีวภาพและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตอซังพืช  ป้องกันปัญหาหมอกควันและลดสภาวะโลกร้อน รวมทั้ง ผลักดันการตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักให้เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่ม  สร้างรายได้  ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง 

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

"เกษตรฯ”หารือหอการค้าขยายความร่วมมือ 5 ยุทธศาสตร์ ”เฉลิมชัย”

 “อลงกรณ์”จับมือ”สนั่น” ขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงยกระดับรายได้เกษตรกร ดัน 5 ยุทธศาสตร์ ”เฉลิมชัย”เพิ่มมูลค่าการค้าส่งออกสู่เป้าหมายท็อปเทนของโลก ปักธงมหาอำนาจอาหาร ภายในปี 2030

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ว่า ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งขยายความร่วมมือกับทุกภาคีภาคส่วน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกำหนดประชุมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อหารือแนวทางและโครงการขยายความร่วมมือในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่เกษตรมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มรายได้เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการค้าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่เป้าหมายประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกและมหาอำนาจอาหารภายในปี2030

"โดยตนจะนำคณะหารือกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและคณะในวันพรุ่งนี้ที่สำนักงานใหญ่หอการค้าไทย โดยจะมีประเด็นการหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือในโครงการที่ผ่านมาเช่นโครงการ 1 ไร่1แสนและแนวทางความร่วมมือใหม่ๆเช่นการส่งเสริมระบบการค้าสินค้าเกษตรที่เสรีและเป็นธรรม การพัฒนาธุรกิจเกษตรครอบคลุมถึงระบบตลาดสินค้าเกษตรแบบออนไลน์และออฟไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ การพัฒนาระบบประมูลสินค้าเกษตร ระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ"

การส่งเสริมเกษตรพันธสัญญา และระบบประกันภัยพืชผล รวมทั้งความร่วมมือด้านการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิรูประบบอำนวยความสะดวกทางการค้าการส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีเกษตร และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะระบบควบคุมความเย็น(Cold Chain) และการวิจัยตลาดนำการผลิต การส่งเสริมนโยบายอาหารแห่งอนาคตเพื่อพัฒนาผลผลิตพืชประมงปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

“อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก รับกติกาใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

ปมร้อน “Carbon Tax” “อธิบดีกรมวิชาการเกษตร” พลิกเกมค้าโลก จับมือ อบก.ลงนามบันทึก MOU มุ่งสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เล็งนำที่ดินเกษตร “ปาล์มน้ำมัน” “ยางพารา” "ไม้ผลและไม้ยืนต้น" ในมือมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศ นำร่องทะลายภาษี

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย(Thailand Carbon Neutral Network, TCNN) ร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการยกระดับการลดปริมาณก๊าชเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งเตรียมทำ MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต

โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ เตรียมความพร้อมให้กับกรมฯ เพื่อรับมือกับความเสี่ยง อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จากภาษี CBAM รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิตลาดคาร์บอน ตลาดสีเขียว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ต่าง ๆ รองรับนโยบาย BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต กรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง เป็นต้น

นอกจากนี้เพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร กรมวิชาการเกษตรได้มีการศึกษาการกักเก็บก๊าซ CO2ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้144,000 ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี เป็นการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรความร่วมมือดังกล่าว

ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดทำระเบียบวิธีการประเมินโครงการเพื่อเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนเครดิต และการพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกัน

เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรมีความสามารถเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) ในการดำเนินการให้การรับรองการตรวจโครงการคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต

อนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจ หมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG ให้เป็นกลไกสำคัญของการ ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ

รวมถึงส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) ได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีการค้าโลก หลังสหภาพยุโรป (EU) เป็นประเทศแรกที่จัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM)

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า การทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน ในอนาคต

กรมวิชาการเกษตรคาดหวังเป็นหน่วยงานตรวจประเมิน โดยมีแผนการร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติในการประเมินทางเลือกในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตพืชของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

น้ำตาล KTIS นครสวรรค์แตกไลน์บรรจุภัณฑ์ “เยื่อชานอ้อย”

กลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย หรือ KTIS ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ จังหวัดนครสวรรค์เร่งปรับตัวเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก “ทันตแพทย์สุพจน์  หวังปรีดาเลิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางธุรกิจที่กำลังก้าวไป

แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลยังเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม KTIS แต่ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนการทำอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี โดยนำผลพลอยได้จากทุกส่วนของน้ำตาล มาทำผลิตภัณฑ์ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ได้แก่ โรงงานเอทานอล โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ โรงไฟฟ้า โรงงานเยื่อกระดาษ โดยรายได้รวมต่อปีของกลุ่ม KTIS  อยู่ที่ประมาณ 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาล 60% และที่ไม่ใช่น้ำตาลหรือ by-product 40%

ล่าสุดเร่งต่อยอดการผลิต by-product เพิ่มขึ้นอีก ด้วยการลงทุนโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ และหลอดจากเยื่อชานอ้อยที่ใช้งบฯลงทุนกว่า 600 ล้านบาท

ผลิต”จาน-หลอดชานอ้อย”

โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์และหลอดจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS เริ่มปักหมุดก่อสร้างรายปี 2563-2564 ด้วยงบฯลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เหตุผลสำคัญที่แตกไลน์นี้ คือ มิติเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกปัจจุบันและอนาคตสอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ที่มุ่งให้ความสำคัญด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคมประกอบกับมีวัตถุดิบชานอ้อยที่มีคุณภาพมากเพียงพอ

ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยยังมีไม่มากนักในตลาดเมืองไทย KTIS จะเป็นอีกทางเลือกของผู้เล่นในตลาดบรรจุภัณฑที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไลน์ธุรกิจที่ตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาลที่กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ

บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ผลิตภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์แพ็คเกจจิ้ง จำกัด (EPAC) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เกรดพรีเมี่ยม ผลิตจากชานอ้อย 100% โดยการสกัดไฟเบอร์ของชานอ้อย ซึ่งมีความแข็งแรง ไม่มีส่วนผสมของวัตถุดิบอื่นเจือปน ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ไม่มีสารเคมีเปื้อน และย่อยสลายได้ภายใน 90 วัน หรือราว 3 เดือนด้วยวิธีฝังกลบตามธรรมชาติ

ล่าสุดอยู่ระหว่างการทดสอบอีกราว 2 เดือน (กรกฏาคม – สิงหาคม) หลังจากนั้นจะเดินเครื่องการผลิตเต็มรูปแบบวันละ 3 ล้านชิ้น คาดทำรายได้ต่อปีกว่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นมี 3 ไอเท็มหลักคือ จาน ชาม และกล่องใส่อาหาร ภายใต้แบรนด์ “Chaem” เป้าหมายวางสัดส่วนส่งออก 60% ไปจีนและยุโรปโดยเฉพาะตลาดจีนเป็นฐานลูกค้าดั้งเดิมที่ซื้อเยื่อกระดาษของกลุ่ม KTIS และมีความต้องการสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเพิ่มมากขึ้นด้วย

ส่วนตลาดในประเทศ 40% มุ่งเจาะตลาดภาคเหนือตอนล่างเป็นหลักก่อนในช่วงแรก เนื่องจากฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ สามารถกระจายสินค้าเข้าถึงและครอบคลุมพื้นที่แถบนี้เบื้องต้นเน้นเจาะร้านรายย่อยที่ขายสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะต่างๆ โดยใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบบป่าล้อมเมือง

ขณะที่โรงงานผลิตหลอดจากชานอ้อยซึ่งผลิตภายใต้บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) วางกำลังการผลิตไว้วันละ 1 แสนหลอด ภายใต้แบรนด์ “Cherr” จะเริ่มเดินเครื่องจการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 พร้อมๆ กับบรรจุภัณฑจากชานอ้อย โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก วางกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด คือ ร้านขายเครื่องดื่มที่ใช้หลอดโดยตรง ได้แก่ ร้านชานมไข่มุก และร้านกาแฟแบรนด์ดังในกรุงเทพฯ ที่มีการดีลทางธุรกิจและมีการเจรจาซื้อขายกันแล้ว รวมถึงการขายทางออนไลน์ผ่าน Shopee ควบคุ่มกันไปด้วย

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ต่อปีของผลิตภัณฑ์หลอดจากชานอ้อย จะอยู่ที่ราว 40-50 ล้านบาท

ชูแบรนด์ “น้ำตาลหวานละมุน”

ผลผลิตอ้อยของโรงงานน้ำตาล 3 แห่งของกลุ่ม KTIS คือ โรงงานน้ำตาลที่จังหวัดนครสวรรค์ 2 โรง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย อ.ตาคลี และ ต.บ้านมะเกลือ อ.เมือง  จ.นครสวรรค์ และโรงงานที่ 3 คือ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ ผลผลิตอ้อยต่อปีของ 3 โรงงานอยู่ที่ราวๆ 8 ล้านตันอ้อย แบ่งเป็นน้ำตาลทรายดิบ ส่งออกผ่านโบรกเกอร์ไปหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่น้ำตาลทรายขาวสัดส่วนราว 30% ทำตลาดในประเทศ เน้นขายเป็นกระสอบมีลูกค้าหลัก อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลม ของกลุ่มไทยน้ำทิพย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ น้ำตาลทรายขาวที่เดิมเน้นขายเป็นกระสอบ ในปีนี้กลุ่ม KTIS จะเพิ่มไลน์การผลิตน้ำตาลทรายขาวแบบถุงขนาดบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ภายใต้แบรนด์ “น้ำตาลหวานละมุน” เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากน้ำอ้อยธรรมชาติ 100 % ไม่ใส่สารฟอกขาวซึ่งการที่กลุ่ม KTIS หันมาทำน้ำตาลทรายขาวบรรจุถุง เนื่องจากต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในประเทศได้มีโอกาสรู้จักแบรนด์น้ำตาลหวานละมุนซึ่งเป็นผลผลิตของคนไทยที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบกับผลผลิต้ำตาลของกลุ่ม KTIS มีคุณภาพและมีมากเพียงพอที่สามารถเพิ่มไลน์การผลิตใหม่ๆ ได้

โดยแผนการตลาดจะเน้นตลาดค้าปลีกเป็นหลัก เช่น การวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นี้ ตั้งเป้าทดลองตลาดในช่วงระยะ 1-2 ปี

กลุ่ม KTIS มีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่อยู่ในโครงการ Contract Farming ซึ่งเป็นคู่สัญญากว่า 2 หมื่นราย ในพื้นที่แถบภาคเหนือตอนล่างและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร  พิจิตร เพชรบูรณ์ และสุพรรณบุรี มีพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 7 แสนไร่ ที่จำนำผลผลิตอ้อยมาขายให้กับกลุ่ม KTIS  โดยปัจจุบัน volume ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 โรง รับอ้อยเฉลี่ยต่อปีราว 8 ล้านตันอ้อย ทั้งนี้การผลิตเต็มกำลัง ของทั้ง 3 โรงงานสามารถรับอ้อยได้สูงสุดถึง 10 ล้านตันอ้อยต่อปี

ทั้งหมดเป็น by-product ที่ได้ waste หลังจากนำอ้อยมาทำน้ำตาลเป็นก้าวรุกที่มีทิศทางชัดเจนของกลุ่มKTIS ที่มุ่งสู่ธุรกิจ”BCG economy model”อย่างเต็มตัว ที่จะผลักดันรายได้จาก 10,400 ล้านบาทในปัจจุบันให้เติบโตเพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวในอนาคต

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

57 โรงงานน้ำตาลเตรียมแถลงจุดยืนพรุ่งนี้ ชี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ไม่เป็นธรรม รวมกากอ้อยเป็นผลพลอยได้

57 โรงงานน้ำตาลเตรียมเปิดแถลงข่าวแสดงจุดยืน 21 ก.ค.นี้ไม่ยอมรับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ...... หลังดึง "กากอ้อย" เป็นผลพลอยได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ขณะที่ชาวไร่ยังเหมือนเดิมพอใจร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ ชี้รายละเอียดสามารถตกลงกันได้ใน "กอน." เล็งตบเท้าหารือ ก.อุตฯ ทวงถามเงินตัดอ้อยสดวันนี้

 แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า วันที่ 21 กรกฎาคมนี้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจะเปิดแถลงข่าวเพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา เนื่องจากภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เป็นธรรมจากการกำหนดให้ “กากอ้อย” เป็นผลพลอยได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

“การแถลงจุดยืนดังกล่าวจะนำโดยปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย และประธานคณะกรรมการบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) คุณวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คุณชนิดา อัษฎาธร เลขาธิการสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย คุณชลัส ชินธรรมมิตร์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และคุณคมกริช นาคะลักษณ์ กรรมการบริษัท TSMC” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ 57 โรงงานไม่เห็นด้วยกับการนำผลพลอยได้อย่างกากอ้อยหรือชานอ้อยมาคำนวณเป็นรายได้ตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากที่ผ่านมาระบบได้คำนวณในส่วนของอ้อยเท่านั้น และโรงงานเองยังแบ่งปันในส่วนของกากน้ำตาล (โมลาส) ในเวลาต่อมา ขณะที่กากอ้อยที่จะมาแบ่งปันอีกมองว่าไม่เป็นธรรมเพราะโรงงานลงทุนทุกอย่างเองและราคาไม่ได้แน่นอน ประกอบกับการพิจารณาที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลไม่มีตัวแทนที่จะเข้าไปร่วมชี้แจงแก้ไขแต่อย่างใด โดยโรงงานได้มีการประท้วงไปแล้วก่อนหน้าโดยจะยื่นลาออกจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอ้อยทั้งหมดแต่ทางภาครัฐก็ขอไว้เพื่อจะสามารถเจรจากันได้ แต่ล่าสุดการพิจารณาก็ยังคงไม่มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยน โดยรายละเอียดและแนวทางต่างๆของฝ่ายโรงงานจะขอชี้แจงในวันแถลง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยที่ผ่านมาก็แสดงจุดยืนในแง่ผลผลอยได้จากน้ำตาลทรายทั้ง โมลาส กากอ้อย และอื่นๆ ควรนำมาพิจารณาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่วิธีการ และรายละเอียดนั้นทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ก็สามารถมาหาจุดร่วมในการกำหนดได้

“ยอมรับว่าแต่ก่อนนี้กากอ้อยหรือที่เรียกว่าชานอ้อยนั้นราคาไม่ได้สูงและเหลือเอามาแจกให้ชาวไร่ฟรีๆ ทำปุ๋ยด้วยซ้ำ แต่พอมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นราคาได้ขยับตัวสูง 800-1,000 บาทต่อตันเพราะเอาไปทำถ้วยชีวภาพ และที่สำคัญไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จุดนี้ทางฝั่งโรงงานเขาก็มองว่าเขาก็มีต้นทุนที่จะดำเนินการ แต่ชาวไร่เองก็มองว่าบางอย่างก็เอาไปใช้ในระบบการผลิตก็ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของโรงงานเอง” นายนราธิปกล่าว

สำหรับขั้นตอนของร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.....กระบวนการพิจารณาในสภาโดยคณะกรรมาธิการเสร็จสิ้นไปแล้ว ผ่านวาระ 1, 2 และ 3 ไปและวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณา 30 วันหากไม่แล้วเสร็จยังต่อได้อีก 30 วัน หากไม่มีการแก้ไข หรือวุฒิสภาเห็นด้วยก็ผ่าน แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาสู่คณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่างสองสภา

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (20 พ.ค.) ชาวไร่ส่วนหนึ่งจะเดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อหารือและสอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับวงเงินการจ่ายเงินช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน ตามโครงการ "ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น pm2.5 ปีการผลิต 2564/65" ที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้ ซึ่งในฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาเงินดังกล่าวได้รับตั้งแต่เดือน พ.ค. แต่ในฤดูหีบนี้ได้ล่าช้าจนมาถึง ก.ค.แล้วแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรอคอยอยู่

จาก https://mgronline.com วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

“เงินอ่อน” ดีกว่า “เงินแข็ง” แต่ “อ่อนมากไป” ต้องระวัง

ผมได้ยินข่าวมาหลายวันแล้วว่าเงินบาทไทยเราอ่อนค่าลงมาก ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้สนใจจริงจังนักว่าเงินบาทอ่อนไปเท่าไร และเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาแค่ไหน?

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อนไปเขียนข่าวกีฬาเกี่ยวกับรายได้ของนักกอล์ฟไทยในคอลัมน์ “จ่าแฉ่ง” ของหน้ากีฬาไทยรัฐ...จะต้องแปลงรายได้ของน้องๆนักกอล์ฟที่เป็นเงินเหรียญมาเป็นเงินบาท จึงต้องไปเปิดดูอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่แปลข่าว

เห็นแล้วก็สะดุ้ง เพราะผมยังนึกว่า “ดอลลาร์” ละ 33 บาทอยู่เลย ใช้อัตรา 33 บาท เสียจนเคยชิน...ที่ไหนได้กลายเป็น 36.50 บาทไปซะแล้ว แถมยังมีการคาดกันว่าอาจไหลไปถึงดอลลาร์ละ 40 บาทด้วยซํ้า

ทางหนึ่งแม้จะดีใจ เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าลงไปมากเช่นนี้ มีผลให้รายได้ของนักกอล์ฟไทย หรือของนักกีฬาอื่นๆที่เป็นดอลลาร์ แล้วแลกกลับมาเป็นเงินบาทจะได้เพิ่มขึ้นอีกแยะ

เงินบาทไม่ใช่เป้าหมายเก็งกำไร ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งฉุดบาทอ่อน

รวมถึงรายได้จากการขายสินค้าส่งออกอื่นๆด้วยครับ เช่น ทุเรียน เงาะ ข้าว อะไหล่รถยนต์ ไปจนถึงส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ฯลฯ ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

เป็นกำลังใจให้แก่ผู้ส่งสินค้าส่งออกบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง

แต่อีกทางหนึ่งผมก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะการที่ค่าเงินบาทของเราอ่อนค่อนข้างเร็วเช่นนี้...รวมทั้งอ่อนมากพอสมควรเช่นนี้ ย่อมจะมีผลเสียอย่างอื่นตามมาด้วย

โดยเฉพาะสินค้านำเข้าต่างๆที่เรายังต้องสั่งซื้อมาจากต่างแดนก็จะกลายเป็นว่าแพงขึ้น เพราะเราต้องเอาเงินบาทจำนวนมากขึ้นไปแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อจะจ่ายให้แก่เขา

อย่างเช่น “น้ำมันดิบ” ปกติก็แพงขึ้นอยู่แล้ว ครั้นเมื่อเราต้องเอาเงินบาทไปแลกดอลลาร์เพื่อชำระเขา ก็กลายเป็นแพงหนักข้อขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์ เพราะเราต้องใช้เงินบาทถึง 36 บาทเศษๆ แทนที่จะเป็น 33 บาท เพื่อไปแลกเงินดอล

นอกจากน้ำมันแล้ว เรายังต้องซื้อข้าวของจากต่างประเทศอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะนักลงทุนต้องซื้อวัตถุดิบเข้ามาด้วย หรือในช่วง แรกๆของการลงทุนต้องซื้อเครื่องจักรมาตั้งโรงงานด้วย

ดังนั้น ในตำราการค้าระหว่างประเทศ แม้จะบอกเคล็ดไว้ว่า การทำให้ค่าเงินอ่อนจะทำให้เราได้เปรียบ เพราะจะทำให้ของเราถูกลงในสายตาต่างประเทศ ทำให้คนอยากซื้อหรืออยากมาเที่ยวมากขึ้น

แต่ทุกตำราก็จะกำชับเสมอๆว่า ต้องดูด้าน “นำเข้า” ควบคู่ไปด้วย เพราะมันจะทำให้เราจ่ายแพงขึ้น...ดังนั้น การใช้นโยบายเงินอ่อนจะต้องไม่ปล่อยให้อ่อนมากไป จนเกิดผลกระทบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการที่สินค้านำเข้าที่จำเป็นบางอย่างจะต้องแพงขึ้น จนทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าส่งออกแพงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียในภาพรวม

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบัน ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า...สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งโป๊ก เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้นโยบายทั้งในด้านขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการลดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯนั่นเอง

เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อของประเทศเขาที่กระฉูดขึ้นไปถึง 9.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 40 ปี

เราคงไม่มีเนื้อที่พอจะอธิบายได้ละเอียดมากนัก เอาเป็นสรุปว่า การดำเนินการต่างๆของธนาคารกลางสหรัฐฯล้วนมีผลให้เงินดอลลาร์แข็งโป๊กเหมือนโด๊ปด้วย ไวอากร้า เข้าไปชุดใหญ่แทบทั้งสิ้น

ส่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งของระบบเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ก็คือ มักมีพวก “เหลือบ” หรือ “ไร” จำนวนไม่น้อยที่แอบแฝงเข้าไปในตลาดที่เป็นเครื่องมือและกลไกด้านเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้กลไกลเหล่านั้นมิได้เคลื่อนไหวอย่างเสรีตามหลักอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง

มีการสร้างอุปสงค์อุปทานเทียมขึ้นเนืองๆในรูปของการปั่น, การโจมตี, การสร้างข่าวหลอกลวง ฯลฯ สารพัด

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงค่อนข้างห่วงใยที่ค่าเงินบาทของเราอ่อนลงเรื่อยๆ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีฝูงเหลือบฝูงไรที่ไหนมารังควานหรืไม่

ผมอาจจะเป็นกระต่ายตื่นตูมเห็นเงินบาทอ่อนไปที่ 36 บาทกว่า ก็หวาดกลัวซะแล้ว...ก็ขออภัยท่านผู้รู้ด้วยเพราะบังเอิญเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มาทำหนังสือพิมพ์ ได้น้องๆฝ่ายข่าวอาชญากรรมสอนวิชาความรู้ให้ ทำให้รู้เล่ห์เหลี่ยมและอุปนิสัยมนุษย์เยอะกว่าสมัยเป็นนักวิชาการ

ฝากดูแล “ค่าเงินบาท” ด้วยนะครับ ธนาคารแห่งประเทศไทย... อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน จะจนใจเอง...โบราณท่านสอนเราไว้เช่นนี้ครับ.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 20 กรกฎาคม 2565

วันพรุ่งนี้ ชาวไร่อ้อย นัดทวงเงินเยียวยา 120 บาท/ตัน

“เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย” 120 บาท/ตัน เคว้ง “ธีระชัย” ผนึก 3 องค์กร แกนนำทัพ ชาวไร่อ้อย ทวงเงิน วันพรุ่งนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  จากมติ คณะรัฐมนตรีวันที่ 1! พฤษภาคม 2564 เห็นชอบแนวทางและ หลักเกณ ฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น P.M 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันละ 120 บาท เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและแบ่งเบาภาระเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด สถาบัน ชาวไร่อ้อยและสมาชิกชาวไร่ อ้อยทั่วประเทศได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลและพร้อมที่จะดำเนินการปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดไว้

ขณะนี้การหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 ได้เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 โคยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.07 ล้านตัน มีปริมาณอ้อยสด 66.95 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทรายรวมทั้งสิ้น 101.56 ล้านกระสอบคิดเป็นปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น 38. 12 * ของฤดูการผลิตที่ผ่านมา และ ในฤดูการผลิตปี 2565/66 จะเริ่มต้นการหีบอ้อยในเดือนพฤศจิกายน 2565

ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบำรุงรักษาอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยและน้ำตาลที่มีคุณภาพดี เป็นการสร้างรายได้ให้กับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้นบัดนี้ ได้ล่วงเลยเวลามานานแล้ว จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการด่วน

อนึ่ง 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ซึ่งประกอบด้วย

1. สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย 9 สถาบัน

2. ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน มีสมาชิกที่เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย 17 สถาบัน

3. สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย 7 สถาบัน

4. สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นสถาบันชาวไร่อ้อย 4 สถาบัน

รวมทั้งสิ้น 37 สถาบัน

ด้าน โรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย ชี้แจง ผ่านเฟซบุ๊กว่า เงินช่วยเหลือการตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน สถานะของงานอยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ( สอน.) โดยโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่ง ได้รวบรวมเอกสารข้อมูลของพี่น้องชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ประกอบการยื่นเรื่องแล้ว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

วช.หนุน นวัตกรรมจากกากน้ำตาลสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 วช.หนุนนวัตกรรมงานวิจัยจากสินค้าเกษตรแปรรูป การใช้ประโยชน์กากน้ำตาลจากภาคอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล นำมาผลิตบิวทิลแล็คเตตและกรดแล็คติคระดับโรงงานต้นแบบ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแล็คติกแอซิดที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับเป็นความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีของนักวิจัยไทย ที่สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพทัดเทียมกับนานาชาติ

วันนี้ (19 ก.ค.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช .) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นให้กับนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกผ่านการประกวดและนำเสนอผลงานในระดับเวทีนานาชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญคือมีการพัฒนาต่อยอดในมิติต่างๆโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์โดยฝีมือคนไทย การนำวัตถุดิบที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป มาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็เป็นอีกนวัตกรรมที่นักวิจัยได้พยายามประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา อย่างเช่นนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิตบิวทิลแล็คเตตและกรดแล็คติคระดับโรงงานต้นแบบ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งมี รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก วช. เป็นงานวิจัยที่ได้พัฒนากระบวนการหมักกรดแล็คติคจากกากน้ำตาลอ้อยในถังปฏิกรณ์ชีวภาพ 500 ลิตรและทำบริสุทธิ์ด้วยปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชันควบคู่กับการกลั่นหรือที่เรียกว่าการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาที่มีการใช้บิวทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์ชนิดแอมเบอร์ลิสต์-15 พบว่าสามารถเพิ่มค่าผลผลิตของบิวทิลแล็คเตตได้มากกว่าร้อยละ 99 ส่วนการสังเคราะห์บิวทิลแล็คเตตแบบต่อเนื่องด้วยระบบการกลั่นแบบมีปฏิกิริยาในระดับโรงงานต้นแบบนั้น สภาวะที่เหมาะสมคือสัดส่วนโดยโมลของกรดแล็คติคต่อบิวทานอลที่ 1:3 ทำให้ได้บิวทิลแล็คเตตตามเป้าหมาย

นอกจากนี้จากผลงานการวิจัยยังสามารถคัดแยกเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้างกรดแล็คติคขึ้นมาโดยให้ผลผลิตที่สูงจากการใช้วัตถุดิบกากน้ำตาล โดยจะมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งการแยกและทำบริสุทธ์ผลิตภัณฑ์ในระบบแต่เนื่องจากกรดแล็คติคที่ได้จากกระบวนการหมักจะมีสิ่งเจือปนหลายชนิดละลายอยู่ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเทคโนโลยีเมมเบรนและเทคนิคการกลั่นระยะทางสั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี จึงมีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำบริสุทธิ์กรดแล็คติค เพื่อให้สามารถสร้างผลผลิตที่เป็นกรดแล็คติคที่เป็นกรดอินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทำให้สามารถที่จะพัฒนาสู่การผลิตนำร่องหรือ pilot plantscale ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆอุปกรณ์และเครื่องมือภายในประเทศ ที่มีการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดให้เกิดการใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันยังสามารถนำกรดแล็คติคที่ผลิตได้นำไปทำปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชัน

( Esterification ) กับบิวทานอล ทำให้เกิดเป็นทิลแล็คเตต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก อีกทั้งยังมีการพัฒนาปฏิกิริยาเอสเทอริฟิเคชันในการกลั่นด้วยตัวเร่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำปฏิกิริยาที่ดีภายใต้สภาวะความดันบรรยากาศและอุณหภูมิไม่สูงมาก ได้ผลสูงเทียบเท่ากับตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันและสามารถขยายองค์ความรู้ไปสู่กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ในอนาคต

รศ.ดร.อภิชาติ บุญทาวัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้มีกากน้ำตาลเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่มีการศึกษาวิจัยให้เกิดให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบันและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องคืออุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ นั่นคือกรดแล็คติคและสารอนุพันธ์บิวทิลแล็คเตต ซึ่งเป็นตัวอย่างของสารเคมีที่สำคัญมีความต้องการสูงเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแล็คติคแอซิด ( Poly Lactic acid,PLA ) ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างธุรกิจใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพในประเทศไทยในอนาคต

จาก https://mgronline.com วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

นำร่องอีอีซี กรมโรงงานฯลุยแจงนโยบาย สร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาเอกชน

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดสัญจร ให้ความรู้และข้อปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยในการประกอบกิจการ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านกากอุตสาหกรรม รวมถึงการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ตรวจสอบเอกชน (Third Party) หวังผลสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาในพื้นที่ EEC (จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) และมุ่งเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรอ. ได้ออก พ.รบ.โรงงานฉบับใหม่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เพื่อดูแลการประกอบกิจการโรงงานให้มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดกิจกรรม กรอ.สัญจร ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรม Morino Siracha อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ เกี่ยวกับนโยบาย และแนวทางดำเนินการของกรมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับการให้บริการภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของกรม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการโรงงานเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ของ กรอ. ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เช่น การจดทะเบียนเครื่องจักรเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนเพื่อการลงทุน เป็นต้น รวมถึงรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ เพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทาง แก้ไข ช่วยเหลือ และสนับสนุนต่อไป

โดยภายในกิจกรรม กรอ. สัญจร ได้ตั้งโต๊ะให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบใหม่อีกด้วย เช่น ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บ หรือการใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน ในปริมาณตั้งแต่ 1 ตัน/ปี ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กรอ. การส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (สก.3) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงสำหรับโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง การถ่ายโอนงานให้ Third Party ดำเนินการแทน การขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นต้น รวมถึงการให้คำปรึกษาการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเพื่อนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

“การสัญจรของ กรอ. ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้องแล้วยังมุ่งสร้างเครือข่ายภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม พร้อมรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะเป็นก้าวต่อไปในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

กนอ.ยกทีมโรดโชว์ญี่ปุ่น ดึงลงทุน New S-Curve-อุตฯ ชีวภาพ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 14-17 กรกฎาคม 2565 กนอ.ได้จัดโรดโชว์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมคณะของนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ให้เป็นหัวหน้าคณะ เป้าหมายสำคัญคือการชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG ) ถือเป็นการโรดโชว์ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

การจัดกิจกรรมประชุม Round Tableกนอ.ได้นำเสนอภาพการลงทุนในประเทศไทยความพร้อมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศไทย ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบังเป็นต้น รวมถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สำหรับการลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ

“ช่วงที่ไม่สามารถเดินทาง มีโอกาสพบปะกับผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) รวมถึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกลุ่มต่างๆ ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยอยู่ตลอด การลงทุนทั้งของไทยและญี่ปุ่นนั้น เชื่อว่าทั้งสองประเทศมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน คือ life-long Partnership หรือพันธมิตรที่ยั่งยืน ทั้งนี้ มีกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดถึง 37% หลักๆ เป็นรถยนต์และชิ้นส่วน นอกนั้นเป็นเหล็กและโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเคมี ดิจิทัล อาหารและอื่นๆ” นายวีริศ กล่าว

นายวีริศย้ำว่าการโรดโชว์ครั้งนี้ได้แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบถึงข้อดีของการลงทุนกับ กนอ. โดยสามารถช่วยประสานงานขอเอกสารต่างๆ ได้ในที่เดียว ที่ผ่านมานักลงทุนหลายชาติต่างชื่นชมว่า การลงทุนกับ กนอ.จะมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ นอกจากสะดวกรวดเร็วแล้วกนอ.ยังร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี การขออนุมัติอนุญาตให้คนเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะเดียวกันปัจจุบันการลงทุนกับ กนอ.และขอรับการสนับสนุนจาก BOI อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีสูงถึง 10 ปี จากนั้นก็อาจจะขอลดลงได้อีก 50% โดย บริษัท Daikin ได้ระบุว่าสนใจที่จะหาพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อทำ R&D center รองรับตลาดเอเชีย ซึ่งกนอ.ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย

“ไทย-ญี่ปุ่น มีเป้าหมายเดียวกันคือการใช้พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งสามารถใช้ลดภาษีเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีพื้นที่ประมาณ 625 ไร่ กนอ.ตั้งเป้าให้เป็นนิคมฯที่ลดการใช้พลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ กนอ.ให้ความสนใจ คือ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร EV และอุตสาหกรรมยา รวมถึงโลจิสติกส์ ทั้งนี้คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า ปัจจุบันมีผู้จองพื้นที่บ้างแล้ว หากนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจเข้าดูพื้นที่สามารถแจ้งมายังกนอ.ได้ทันที นอกจากนี้ยังนำเสนอให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) โดยทั้ง 2 นิคมฯก่อสร้างเสร็จแล้ว พร้อมรับการลงทุน 100%” นายวีริศกล่าว

นอกจากจัดกิจกรรมประชุม Round Table ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพรายใหญ่ของญี่ปุ่น 30 ราย ยังมีโอกาสเข้าพบ นายทาเคฮิโกะ มัตสึโอะ อธิบดีกรมนโยบายการค้า กระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม หรือ METIเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงการหารือด้านการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การใช้พลังงานจาก Hydrogen สอดคล้องกับนโยบายกนอ. ที่ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)อีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “ อ่อนค่า”ที่ระดับ 36.68 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์-มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.75 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.68 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.60 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า  เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่จะมาจากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่แย่กว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังในระยะสั้น คือ ความเสี่ยงที่ทางการจีนอาจใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 และ

มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในไทย ที่อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติได้ในช่วงนี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation)

เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า บริษัท Apple อาจชะลอการจ้างงานและควบคุมการใช้จ่ายในปีหน้า เพื่อรับมือกับความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ซึ่งข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับการปรับตัวของบรรดาบริษัทเทคฯ อาทิ Meta (Facebook) และ Tesla ทำให้ ผู้เล่นในตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.84%

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า การมาเยือนซาอุฯ ของผู้นำสหรัฐฯ อาจไม่ได้ส่งผลให้บรรดาประเทศกลุ่ม OPEC ในตะวันออกกลางจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นในระยะสั้นนี้ (Exxon Mobil +1.9%, Chevron +1.4%)

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.00% หนุนโดยความหวังว่ารัฐบาลจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ต่างปรับตัวสูงขึ้น (Kering +2.8%, Dior +1.7%)

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ  (BP +2.5%, Total Energies +2.3%) ทว่า แรงกดดันต่อตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลวิกฤติพลังงาน หากสุดท้ายรัสเซียลดหรือยุติการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 แม้ว่าจะครบกำหนดการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นบางส่วนในตลาดยังคงมองว่าเฟดมีโอกาสราว 30% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 1.00% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ความต้องการถือพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 2.98%

ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด อาทิ ข้อมูลตลาดบ้าน รวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงผันผวนไปตามมุมมองของตลาดต่อโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงผันผวนหนัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้พลิกกลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 107.5 จุด ท่ามกลางความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

นอกจากนี้ ความผันผวนของเงินดอลลาร์ และมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่ยังเชื่อว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำผันผวน ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,705 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Netflix โดยหากผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดและมีการรายงานแผนการชะลอจ้างงานหรือชะลอการลงทุน ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจและกดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ (Housing Start) เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพราะหากข้อมูลยังสะท้อนภาพตลาดบ้านที่แข็งแกร่ง รวมถึงแนวโน้มราคาบ้านและค่าเช่าที่จะยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 30% บนตะกร้าเงินเฟ้อ CPI ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดอาจต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 กรกฎาคม 2565

อินเดียยุติเก็บ AD ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ไทย

กรมการค้าต่างประเทศแจ้งข่าวดี อินเดียไม่ต่ออายุมาตรการ AD สินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จากไทย หลังจากเก็บอากร AD ในอัตรา 16.91-63.32 เหรียญสหรัฐต่อตันมา 5 ปี ส่งผลปัจจัยบวกหนุนการส่งออก

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ประกาศยุติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) กับสินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จากไทย ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งออกไปยังอินเดียได้ตามปกติ โดยไม่ถูกเก็บอากร AD อีกต่อไป

ซึ่งกรณีนี้สืบเนื่องจากที่รัฐบาลอินเดียได้ใช้มาตรการ AD กับสินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จากไทย ตั้งแต่ปี 2560 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเรียกเก็บอากร AD ในอัตรา 16.91-63.32 เหรียญสหรัฐต่อตัน และต่อมาเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 อินเดียได้เปิดทบทวนเพื่อพิจารณาการต่ออายุมาตรการ AD ตามคำขอของอุตสาหกรรมภายในของอินเดีย

จากนั้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 หน่วยงานไต่สวนของอินเดียได้ออกผลการทบทวนโดยเสนอให้ต่ออายุมาตรการออกไปอีก 5 ปี พร้อมให้เรียกเก็บอากรสินค้าจากไทยในอัตรา 31.59-78 เหรียญสหรัฐต่อตัน และนำเสนอผลการทบทวนดังกล่าวต่อรัฐบาลกลางอินเดีย เพื่อพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการตามข้อเสนอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 กระทรวงการคลังอินเดียได้แจ้งผลการพิจารณาของรัฐบาลกลางว่า ตัดสินใจไม่ต่ออายุการใช้มาตรการ AD กับสินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จากไทย

ผลการพิจารณาไม่ต่ออายุมาตรการ AD ดังกล่าวนับเป็นข่าวดีกับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ของไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอินเดียโดยไม่ต้องมีภาระชำระค่าอากร AD ในอัตรา 16.91-63.32 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นและสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดประเทศอินเดียได้อีกครั้ง เนื่องจากไทยเคยถูกอินเดียใช้มาตรการ AD ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอื่นไม่ถูกใช้มาตรการ AD

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยควบคุมและติดตามราคาส่งออกของตนเองอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขายส่งออกในราคาทุ่มตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมภายในของอินเดียยื่นคำขอให้เปิดการไต่สวน AD อีกครั้งได้สำหรับสินค้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถูกใช้เป็นสารกันเสียในอาหาร สารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหาร น้ำยาล้างแผล น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดพื้นผิว รวมถึงการฆ่าเชื้ออุปกรณ์การแพทย์ โดยไทยถือเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ซึ่งในปี 2564 ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากเกาหลีใต้ และบราซิล

โดยมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก 61.13 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,953.96 ล้านบาท และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม) ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก 22.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 759.85 ล้านบาท และอินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 9 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 437,243 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 14.55 ล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกันอินเดียนำเข้าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จากไทยเป็นอันดับ 2 รองจากบังกลาเทศ

“ในการดำเนินการแก้ต่างกรณีที่ไทยถูกไต่สวนมาตรการ AD จากประเทศคู่ค้า กรมการค้าต่างประเทศมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ส่งออกของไทย ทั้งการติดตามและประสานงานให้ทราบความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในกระบวนการไต่สวน เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ส่งออกไทยอย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการคำแนะนำในเรื่องมาตรการ AD สามารถติดต่อกองปกป้องและตอบโต้ทางการค้า โทรศัพท์ 0-2547-5083 หรือสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.thaitr.go.th

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

ประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย สรท.ห่วงคำสั่งซื้อไตรมาส 4

สรท.ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจโลกถดถอย ชี้คำสั่งซื้อไตรมาส 3 มาแล้ว หวั่นเห็นออร์เดอร์ชะลอไตรมาส 4 ถึงต้นปีหน้า ระบุสินค้ากลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ น่าเป็นห่วงจากปัญหาชิป ด้าน“พาณิชย์” เร่งหารือเอกชนรับมือส่งออกครึ่งปีหลัง ห่วงเงินเฟ้อสูงกระทบกำลังซื้อประเทศคู่ค้า

การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2564 โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 122,631 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.91% ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) จีนและญี่ปุ่น ที่กำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลง และมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีการประเมินถึงภาวะการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศที่จะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผุ้บริโภค

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกในครึ่งปีหลังที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือมี 3 ปัจจัย คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนถึงแม้จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงแต่อยู่ในทิศทางผันผวน 2.ปัญหาการขาดสภาพคล่องเพราะวัตถุดิบราคาแพงมากขึ้น 3.ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต้องติดตามว่ามีความรุนแรงระดับใด

สำหรับตลาดสำคัญของไทยทั้งสหรัฐและยุโรปที่มองว่า ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะชะลอตัวนั้น ขณะยอดคำสั่งซื้อมีแล้วที่ส่งมอบไตรมาส 3 เจรจาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังเห็นภาพขยายตัว แต่จะเริ่มเห็นผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสำหรับส่งมอบไตรมาส 4 ปี 2565 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ส่งออกเตรียมรับมือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาก่อนหน้านี้แล้วหลังจากการที่จีนล็อคดาวน์ที่ส่งผลระทบต่อตลาดจีน

ประเมินเศรษฐกิจโลกถดถอย สรท.ห่วงคำสั่งซื้อไตรมาส 4

“การส่งออกในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ ขยายตัว 12.9% หากที่เหลืออีก 7 เดือนไม่โตจะทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 5.6% แต่ยังมั่นใจว่า ครึ่งปียังขยายตัวและทำให้ทั้งปีขยายตัว 8% แม้จะมีการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวและมีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ผู้ส่งออกมั่นใจว่าสินค้าไทยหลายกลุ่มที่ยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งในเรื่องผลกระทบปีนี้เป็นแค่สนามซ้อมแต่ปีหน้าเจอของจริง“

ห่วงสินค้ากลุ่มยานยนต์

สำหรับกลุ่มสินค้าที่น่ากังวลในช่วงครึ่งปีหลัง คือ สินค้ายานยนต์ โดยในช่วง 5 เดือน แรกของปี 2565 มูลค่าการส่งออกติดลบ 11.2% ซึ่งอาจทำให้มูลค่าการส่งออกรวมปีนี้ไม่ขยายตัว ซึ่งผลกระทบหลักมาจากปัญหาขาดแคลนชิปที่สถานการณ์ดีขึ้นในปลายปี 2564 แต่มาเจอปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบผลิตชิปมากขึ้น เพราะวัตถุกอบผลิตชิปบางรายการอยู่ในรัสเซีย จึงทำให้สถานการณ์สงครามมาซ้ำเติมปัญหาเดิมที่มีอยู่

“ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าอื่น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ พัดลมไฟฟ้า ซึ่งคาดหวังว่าในช่วงปลายปีสถานการณ์ชิปจะดีขึ้น”

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ที่การส่งออกในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ ติดลบไปแล้ว 4.3% ซึ่งที่ผ่านมาจีนใช้มาตรการซีโร่โควิดปิดบางเมือง แต่ปัจจุบันจีนเริ่มผ่อนคลายและมีมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ที่อาจทำให้ความต้องการยางล้อรถยนต์เพิ่มขึ้น

คาดสินค้าอาหารขยายตัวดี

สำหรับสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังยังเติบโต โดยมันสำปะหลังถือว่าดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมันสำปะหลังนำไปผลิตพืชพลังน้ำมันทดแทนพลังงานได้ เช่น เอทานอล ซึ่งราคาดีมากและมีความต้องการสูง

ขณะที่การส่งออกน้ำตาลขยายตัว 100% ซึ่งถือว่าปีนี้เป็นปีทองของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยที่มีความต้องการสูง ส่วนข้าวยังมีความต้องการสูง โดยปี 2565 น่าจะส่งออกได้ถึง 7.0-7.5 ล้านตัน เนื่องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางจีนและเอเชีย ซึ่งมีการบริโภคข้าวสูงจึงมีความต้องการในการนำเข้าข้าวจากไทย

”ภาพรวมสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารโตทุกตัว คาดว่าทั้งปีจะขยายตัว 12% เพราะแค่ 5 เดือนแรก โต 15.5% ที่สำคัญมีปัจจัยหนุนเสริมจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงถึง 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเอื้อต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร” นายชัยชาญ กล่าว

ในขณะที่การนำเข้าก็ขยายตัวต่อเนื่องราคาน้ำมันจะสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามีการนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง เมื่อไล่เลียงถึงสินค้าก็มี 2 มิติ โดยไทยมีจุดเด่นจากที่มีสินค้าหลากหลายและผู้ประกอบการอยู่กันแบบห่วงโซ่อุปทานและซัพพลายเชน

“พาณิชย์”หารือผู้ส่งออกรับมือ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกยังดีอยู่ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์การส่งออกกับภาคเอกชนต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 1 ก.ค.2565 ได้ประชุมกับภาคเอกชนสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อทราบถึงสถานการณ์สินค้าและหารือแนวทางในการส่งเสริมการส่งออก ทั้งนี้ ผลการหารือทราบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารส่วนใหญ่ ยังคงมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีในการส่งออก

รวมทั้งจะมีตัวเลขในการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายรายการ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม ผลไม้ ผัก ประมง โดยเฉพาะปลาทูน่า อาหารสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ อาหารสำเร็จรูป อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ข้าว และมันสำปะหลัง

“ภาคเอกชนให้ข้อมูลว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารข้างต้นที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ และการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ”นายภูสิตกล่าว

นายภูสิต กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีขึ้นในวันที่ 19-22 ก.ค.นี้ ที่จะถึงนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีการสรุปแนวทางการผลักดันการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง นั้นที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องของค่าพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งน่าจะกระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคการซื้อสินค้าก็จะได้ซื้อน้อยลง แต่ขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าต่างก็มีอยู่ ซึ่งยังไม่มีสัญญาณใดๆที่บ่งบอกว่าการส่งออกจะติดลบ เพราะยังมีคำสั่งซื้อมาตลอด ปัญหาอุปสรรคก็ยังเหมือนเดิม เช่น ค่าระวางเรือ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

บาทอ่อนทำพิษหนักกดดันดุลการค้าไทยเดือน มิ.ย. ติดลบกว่า 4 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.58 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.61 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.30-36.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายพูนกล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยตลาดมองว่าแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ยอดการส่งออกในเดือนมิถุนายนยังโตราว 10% แต่ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทกลับยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น 19% ทำให้ดุลการค้ายังคงขาดดุลราว 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 40,000 ล้าบาท) และเป็นอีกปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทอาจใกล้เจอจุดอ่อนค่าสุดและจะยังไม่อ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากจีนไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยแรงซื้อ Buy on Dip หรือกลยุทธ์การทำกำไรในช่วงตลาดขาลงของหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่เริ่มกลับมาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท (Long THB) ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากต่างชาติที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

ขณะเดียวกันเงินเหรียญสหรัฐช่วงต้นสัปดาห์ อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการและปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) นอกจากนี้ ความผันผวนอาจสูงขึ้น ในช่วงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และรายงานดัชนีภาคการผลิตและการบริการ (PMI) โดยเงินเหรียญสหรัฐอาจอ่อนค่าลงหาก อีซีบีพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยจะหนุนให้เงินยูโรแข็งค่า แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ วิกฤตพลังงาน หากรัสเซียไม่กลับมาส่งแก๊สธรรมาชาติ แม้จะเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 และดัชนีภาคการผลิตและการบริการ (PMI) สหรัฐลดลงแย่กว่าคาด

ทั้งนี้ ช่วงตลาดการเงินยังผันผวนสูงเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ 2 S.D. Standard Deviation หรือค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ระบุว่า ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 36.50 – 36.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามเงินเหรียญสหรัฐที่ร่วงลงในเย็นวันศุกร์ หลังจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลักพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปีเมื่อวันพฤหัสบดี

ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีประชุมวันที่ 21 กรกฎาคม คาดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2554 ขณะเดียวกันตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ เนื่องจากได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน และข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 18 กรกฎาคม 2565

เฉลิมชัย รุก 7,000 ตำบลทั่วประเทศ ปั้นโมเดลเศรษฐกิจเกษตรแพลตฟอร์มใหม่

เฉลิมชัย รุกลึกทุกตำบลทั่วประเทศ เร่งขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแพลตฟอร์มใหม่เป็นครั้งแรกของประเทศ “อลงกรณ์” เผยความคืบหน้าตั้งกลไกใหม่ครบ7พันตำบล เดือนหน้าเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ภาคเกษตรของไทย

วันที่ 17 กรกฎาคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเปิดเผย ว่า

กระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคีภาคส่วนกำลังเร่งขับเคลื่อนโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทุกจังหวัดเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ครอบคลุมลึกลงไปใน 70,000 หมู่บ้าน 7,000 ตำบล 878 อำเภอ รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย แนวทางการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน

โดยตนได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัดและคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ 878 อำเภอ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา ภาคการเกษตรของไทยโดยเฉพาะปัญหาความยากจน หนี้สินและความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ได้สั่งการให้เร่งจัดตั้งกลไกพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลหมู่บ้านให้เสร็จโดยเร็ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนกล่าวถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแต่งตั้งคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลคาดว่าจะครบ 7,435 ตำบล ภายในเดือนหน้าซึ่งเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับทุกภาคีภาคส่วนในแต่ละตำบลโดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีโครงสร้างและระบบการพัฒนาภาคเกษตรที่หยั่งลึกลงถึงตำบลหมู่บ้านชุมชนใน76จังหวัดและกรุงเทพมหานครเพื่อดึงพลังชุมชน Community Empowerment) ออกมารวมพลังการแก้ไขปัญหาในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งการพัฒนาสู่อนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งมีปลัดอำเภอ เกษตรตำบล อบต.และอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นแกนหลักร่วมกับตัวแทนภาคเอกชนภาควิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านตำบลเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอระดับจังหวัดและศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC แต่ละจังหวัดโดยมีหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแบบยั่งยืนภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ

เช่น โครงการพัฒนาระบบชลประทานชุมชน โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โครงการศูนย์บริการจัดการดิน-ปุ๋ยชุมชน โครงการร้านค้าสีเขียว (Green Shop) แบบออนไลน์และออฟไลน์ โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง โครงการศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) โครงการเศรษฐกิจพอเพียงพืช-ประมง-ปศุสัตว์ โครงการช่างเกษตร โครงการเกษตรพลังงาน โครงการเกษตรสุขภาพและโครงการเกษตรท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อปักหลักวางหมุดหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้านภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

ได้แก่ ตลาดนำการผลิต-เทคโนโลยีเกษตร4.0-เกษตรปลอดภัย-เกษตรยั่งยืน-เกษตรมั่นคง การบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วนและเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ (Area based) ให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 กรกฎาคม 2565

อีอีซีเดินหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักตามแผนลุยพัฒนาศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่อัจฉริยะ

บอร์ดอีอีซีรับทราบแผนการขับเคลื่อน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซียังเดินหน้าได้ตามแผนงาน พร้อมปักหมุดลุยแผนพัฒนาศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 10 ปีในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา พร้อมรับทราบโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่มาบตาพุดและเมืองพัทยารองรับความต้องการในอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ 11 ก.ค.ว่า กพอ.รับทราบความก้าวหน้า 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักอีอีซีซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่ได้เดินหน้าก่อสร้างแล้วทุกโครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมเห็นชอบเดินหน้าโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะในพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภาระยะ 10 ปี (ปี 2565-75)

"ได้มีการเสนอการพัฒนาเมืองใหม่ต่อที่ประชุมอีอีซีในพื้นที่ 30 กิโลเมตร รอบพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา จากพัทยาไปถึงเมืองระยอง แต่จำเป็นต้องมีการเตรียมเมืองใหม่เพื่อลดความแออัดในพื้นที่พัทยาและระยอง ซึ่งคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรมีพื้นที่เมืองใหม่ โดยจะมีการเตรียมธุรกิจไว้ 5 ด้าน คือ 1. ศูนย์สำนักงานและศูนย์ราชการ 2. ศูนย์กลางการเงินของอีอีซี 3. ศูนย์กลางการแพทย์แม่นยำ 4. การศึกษา วิจัย พัฒนาระดับนานาชาติ 5. ศูนย์ธุรกิจอนาคต เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่ม BCG กลุ่ม 5 จี กลุ่มโลจิสติกส์ และ 6. ที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม โดยมีกลุ่มของผู้มีรายได้เบื้องต้นและปานกลางประมาณ 70% และกลุ่มผู้มีรายได้สูงประมาณ 30% ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการการได้มาซึ่งที่ดิน โดยมีมูลค่าการลงทุนใน 10 ปี 1.3 ล้านล้านบาท

“ในช่วงเป็นโควิด-19 ประเทศไทยเสียรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท เราจำเป็นต้องสร้างโครงการใหม่เพื่อชดเชยส่วนที่หายไป ถ้ามีการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ด้วยก็จะชดเชยส่วนที่หายไป” นายคณิศกล่าว

สำหรับ 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้พื้นที่ครบ 100% เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง โดยส่วนเชื่อมสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาคาดว่าจะเปิดบริการปี 2569

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย ซึ่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม และเสนอ ครม.เดือนกันยายน 2565 โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568

โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้าง โดยท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 ท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2566 โดยงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ F1 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568

พร้อมกันนี้ กพอ.ยังได้รับทราบการศึกษา การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่อีอีซีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนโดยมีเป้าหมายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและเมืองพัทยา โดยอีอีซีจะร่วมมือกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และเมืองพัทยาหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“คาดว่าในอีก 5 ปี หรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุดไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน และในปี 2580 จำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลไม่น้อยกว่า 300,000 ลบ.ม และเมื่อรวมกับแหล่งน้ำสำรอง รวมถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะทำให้อีอีซีมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาพรวม” นายณิศกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี

ขณะเดียวกัน กพอ.รับทราบการยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene theapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้เทคโนโลยียีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้ สกพอ.มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย โดยสำหรับภาคเอกชนนั้น BGI Researchแสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ.จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 11 กรกฎาคม 2565

เอทานอลจากมันสำปะหลังพลังงานทางเลือก ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์สู่ BCG model

สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลังพร้อมเป็นผู้ผลิตพลังงานจากผลผลิตทางเกษตร หวังเป็นพลังงานทางเลือกช่วงราคาน้ำมันผันผวน เตรียมต่อยอดเอทานอลสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามแนวทาง BCG model  ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อีกทั้งอุปสงค์ในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการกลับมาเปิดเมืองของหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัว

และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการใช้เอทานอลจากผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์ทั้งในด้านพลังงาน และด้านเกษตรกรรม

ดังนั้นเอทานอลถือเป็นพลังงานทางเลือก ที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน อีกทั้งการส่งเสริมการใช้เอทานอลจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานทางเลือกเป็นของตนเองที่เพียงพอและยั่งยืน

นอกจากนี้ เอทานอลยังเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่นละออง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคเกษตรกรรม การสนับสนุนการใช้เอทานอล จะส่งผลให้มีการใช้ผลผลิตทางเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในฤดูกาล 2563/64 มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง คิดเป็น 14% ของพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการเพาะปลูกมันสำปะหลัง 35.09 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาท

และการเพาะปลูกอ้อยปีละ 66.84 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านบาท รวมแล้วสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศด้วยเม็ดเงินมากกว่า 147,000 ล้านบาท การส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางเกษตรภายในประเทศ จึงถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม

“เอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดการพึ่งพาและนำเข้าน้ำมันดิบในภาวะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง นวัตกรรมเทคโนโลยี และงานวิจัย ที่สามารถเข้าไปช่วยเกษตรกรตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการนำผลผลิตทางเกษตรที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง”

ทั้งนี้สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง มีความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง กำลังการผลิต และนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิต โดยตนมีนโยบายในการขับเคลื่อนการผลิตเอทานอลอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เอทานอล เป็นพลังงานทางเลือกในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนในปัจจุบัน และช่วยให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้น สอดรับกับเป้าหมายยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ที่มุ่งเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพตามเทรนด์โลก นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีแผนที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอดการใช้งานเอทานอล เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในกลุ่มอื่นๆ ในอนาคต อาทิ ไบโอพลาสติก ยา เชื้อเพลิงของเครื่องบิน สารสกัดต่างๆ เป็นต้น

และด้วยความร่วมมือผนึกกำลังของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยน บูรณาการ สนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินการให้ไปทิศทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ จะเป็นจุดแข็งที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอลให้เติบโตแบบองค์รวมได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และ ตามแนวทาง BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ ทั้งในด้าน เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 กรกฎาคม 2565

เงินบาทเปิดเช้านี้ 35.82 บาท จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ หนุนดอลลาร์แข็งกระทบบาทอ่อน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.82 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.01 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยมองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-35.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.20-36.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ หากเงินเหรียญสหรัฐพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยต้องระวังความผันผวนของเงินบาทช่วงรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐ ทั้งนี้ การอ่อนค่าเงินบาทอาจถูกชะลอด้วยแรงขายของผู้ส่งออกที่ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ และธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ราคาทองคำ

ขณะที่เงินเหรียญสหรัฐ หากเงินเฟ้อสหรัฐและเงินเฟ้อคาดการณ์พุ่งขึ้นสูงกว่าคาดไปมาก ทำให้ตลาดมองเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจหนุนการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ หากภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งจีนหรือยุโรปออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนุนเงินเหรียญสหรัฐได้

“ทั้งนี้ ช่วงตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐ ผ่านรายงานเงินเฟ้อ CPI และเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลาง เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด” นายพูนกล่าว

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ระบุว่า ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าตามทิศทางดัชนีเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสม โดยตลาดอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐในเดือนมิถุนายนว่าจะส่งผลอย่างไรต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกทั้งจับตาดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพุธนี้ ซึ่งคาดว่าอาจแตะสูงสุดในรอบ 40 ปี

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% หลังจากผันผวนในระหว่างวัน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยกดดันความต้องการใช้น้ำมัน และกังวลว่าจีนอาจอาจจะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 กรกฎาคม 2565

จับตา "ประเทศไทย" พลิกเกม แก้ปุ๋ยโลกแพง

แก้ปุ๋ยแพง “เฉลิมชัย” ดันใช้ปุ๋ยผสมผสาน ช่วยเกษตรกร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีเกษตรฯ ปูพรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด 882 อำเภอ เผยผลดำเนินงาน เดือนตุลาคม 2564 - มิถุนายน 2565 สามารถผลิตได้จำนวนกว่า 3.4 ล้านตัน ผลิตได้ 157.98 % ของเป้าหมาย

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลว่า ดินและปุ๋ย เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่พืชทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง หรือมีการใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีสูง

ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องมีการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านการนำเข้า อาจทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูง และหาซื้อยากมากขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ใช้ปุ๋ย ก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะถ้าพืชได้รับปุ๋ยหรือธาตุอาหารไม่เพียงพอ จะส่งผลการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง คุณภาพของผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยลดและบรรเทาปัญหา เราจำเป็นต้องหันมาใส่ใจเรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีการดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการดินและการใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก (ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี) ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันมี ศดปช. จำนวน 882 ศูนย์ ตั้งอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั่วประเทศ มีสมาชิก ศดปช. 17,640 ราย

โดยสมาชิก ศดปช. มีการยอมรับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำไปปฏิบัติเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ ศดปช. เป็นต้นแบบในการขยายผลถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและเหมาะสมไปสู่เกษตรกรทั่วไป และผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา สมาชิก ศดปช. มีพื้นที่การนำเทคโนโลยีฯ ไปใช้เพิ่มขึ้นเป็น 244,853 ไร่ ได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 25.2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 73 ล้านบาท รวมทั้งสามารถจัดตั้ง ศดปช.เครือข่ายเพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ จึงทำให้มี ศดปช.เครือข่าย เกิดขึ้นรวมแล้วจำนวน 1,095 ศูนย์ และมีสมาชิกของ ศดปช. เครือข่ายรวมทั้งสิ้น 32,547 ราย

สำหรับการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ระหว่างปี 2565 - 2569 ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระยะสั้นของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ได้มอบแนวทางปฏิบัติลงสู่พื้นที่เพื่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัด /อำเภอ ได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดนโยบายส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

การปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม และการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ผ่าน ศดปช. การผลักดัน ศดปช. เป็นต้นแบบ และสนับสนุน ศดปช. เป็นกลไก ในการขยายผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายแม่ปุ๋ยได้ และการจัดหาแหล่งทุนเสริมสภาพคล่อง ทั้งการขอสินเชื่อและการจัดหาแหล่งทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย จาก ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ โดยเน้นใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และการไถกลบตอซัง เพื่อทำให้เกิด 4 ลด 4 เพิ่ม คือ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน และลดต้นทุนด้านปุ๋ยเคมี

ในขณะที่ทำให้มี 4 เพิ่ม คือ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าวัสดุการเกษตรเหลือใช้ ในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นและขาดแคลนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์ให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและ

นอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่ 77 จังหวัด 882 อำเภอทั่วไป  ปี 2565 มีเป้าหมายการผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และการไถกลบตอซัง จำนวน 2,156,033.83 ตัน ผลการดำเนินงาน เดือนตุลาคม 2564 - มิถุนายน 2565 สามารถผลิตได้จำนวน 3,406,152.63 ตัน (ผลิตได้ร้อยละ 157.98 ของเป้าหมาย) ได้แก่ ปุ๋ยคอก 514,071.8 ตัน ปุ๋ยหมัก 279,579.18 ตัน ปุ๋ยพืชสด 218,916.28 ตัน

ไถกลบตอซัง 2,393,585.37 ตัน (พื้นที่ไถกลบตอซังข้าว 4,465,809.56 ไร่ ข้าวโพด 75,495.03 ไร่ อ้อย 48,209.44 ไร่) คิดเป็นธาตุอาหาร N P K  รวม 110,894.135 ตัน (N 34,128.67 ตัน P 24,464.63 ตัน K 52,300.84 ตัน) ทั้งนี้ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด ปุ๋ยเคมีที่เราใส่ลงไปในดิน จะให้ธาตุอาหารในปริมาณมาก พืชนำไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว

ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยกว่า และมีคุณสมบัติช่วยให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี เผื่อให้รากพืชได้ชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมี ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ด้วยเช่นกัน อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม

ขอประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้เกษตรกร เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ ศดปช. ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการดิน วิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และเกิดการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 กรกฎาคม 2565

เงินบาทอ่อนทะลุ 36.23 บาท หลังดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจถดถอย

เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.23 บาท หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย ทำราคาสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ทองคำ ร่วงระนาว

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทวันนี้จะพบว่ามีเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้

โดยเรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักถดถอย โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป อีกทั้ง ECB ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ก็อาจจะยังเป็นปัจจัยที่หนุนเงินดอลลาร์และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อได้ในระยะนี้ได้ แต่เราคงมุมมองเดิมว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

อย่างไรก็ดี แม้เราจะยังมองว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะเริ่มกลับตัวมาแข็งค่าได้ แต่ต้องระวังความเสี่ยงที่ทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าแตะแนวต้านถัดไปที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

ขณะเดียวกันความผันผวนสูงของเงินบาทในช่วงนี้ (เงินบาทอ่อนค่าเร็ว) อาจทำให้ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยลดความผันผวนลงได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ทัน

"เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาทต่อดอลลาร์"

นายพูน กล่าวอีกว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงิน หลังจากที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหรัฐฯ (ISM Services PMI) ในเดือน มิ.ย. 65 ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 55.3 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี

โดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้นได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 100.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 98.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับ สร้างแรงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรป

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าดัชนี S&P500 จะปรับตัวลดลงตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยในช่วงแรก แต่ดัชนี S&P500 ก็สามารถปิดตลาด +0.36% หนุนโดยความต้องการซื้อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Defensive อาทิ กลุ่ม Healthcare (Pfizer +2.2%, United Health +2.0%) รวมถึงกลุ่ม Utilities (DUKE Energy +1.2%, Nextera Energy +0.6%)

นอกจากนี้ นักลงทุนบางส่วนยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Microsoft +1.3%, Alphabet (Google) +1.2% หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอลงพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาน้ำมันก็ยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะยิ่งทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็สามารถพลิกกลับมา +1.66% หนุนโดยข่าวการยุติการประท้วงหยุดงานของคนงานบริษัทพลังงานใหญ่ของนอร์เวย์ (Equinor) ทำให้ตลาดคลายกังวลวิกฤติพลังงานของยุโรป

ขณะเดียวกันตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen +9.0%, ASML +3.1% รวมถึงการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ส่วนใหญ่มีรายได้จากต่างประเทศ หลังเงินยูโรอ่อนค่าลงหนัก Hermes +5.1%, Dior +4.9%

ทางด้านตลาดตราสารหนี้นั้นยังมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 2.80% ก่อนที่บอนด์ยีลด์จะปรับตัวขึ้น ตามการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สู่ระดับ 2.93% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ

เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมและอัตราการว่างงาน (รายงานวันศุกร์นี้) และรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 107.1 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่ารุนแรงของ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) โดยเฉพาะเงินปอนด์ (GBP) ที่อ่อนค่าลงแรงสู่ระดับ 1.191 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ท่ามกลางวิกฤติการเมืองอังกฤษ หลังรัฐมนตรีหลายกระทรวงยื่นใบลาออก เพื่อกดดันให้นายกฯ อังกฤษ Boris Johnson ลาออก

ทั้งนี้ การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,738 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งต้องจับตาแนวรับถัดไปใน โซน 1,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ว่าจะมีแรงซื้อทองคำหนุนราคาทองคำให้รีบาวด์กลับขึ้นมาได้หรือไม่ แต่โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

สำหรับวันนี้เรามองว่าตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เพื่อประเมินแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ โดยหากการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นได้ราว 2 แสนราย ก็อาจยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและช่วยลดความกังวลเศรษฐกิจถดถอยลงไปได้บ้าง

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอวิเคราะห์รายงานการประชุม ECB ล่าสุด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ ECB ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อสูง ขณะที่ภาพเศรษฐกิจเริ่มชะลอลงมากขึ้น โดยต้องระวังกรณีที่รายงานการประชุม ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า ECB อาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยคล้ายกับเฟด ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยังคงเป็นแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR) ได้.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 7 กรกฎาคม 2565

เงินเฟ้อ-น้ำมัน-เศรษฐกิจ กับการแก้ปัญหาของรัฐบาล

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี แม้ยังต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8% แต่ถือเป็นระดับสูงและอยู่ในระดับเสี่ยงสูงกับภาวะเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ 6เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.61% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก เฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%

เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 7.66% สาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้ากลุ่มพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น 39.97% โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงถึง 39.45% ค่าไฟฟ้าเพิ่ม 45.41% ก๊าซหุงต้มเพิ่ม 12.63% ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 6.42% โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิต โลจิสติกส์และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น สินค้าอื่นๆเพิ่มขึ้น เช่นกันอย่าง น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ

เงินเฟ้อในไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังประเมินไม่ได้ จากหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ราคาน้ำมัน ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวฟื้นตัว ที่มีผลต่อกำลังซื้อ ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก ส่วนเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ยังคาดการณ์เหมือนเดิมอยู่ที่ 4-5% มีค่ากลาง 4.5%

ปัจจัยสำคัญที่ไล่เรียงมาจะเห็นว่าตัวใหญ่สุดที่กดดันเงินเฟ้อมาจากน้ำมัน ซึ่งจะดันราคาทั้งตัวน้ำมันเอง การผลิตไฟฟ้า ก๊าซ ที่ผ่านมาจึงมีการถกเถียงกันมากเรื่องราคาน้ำมัน และการบรรเทาเยียวยาให้กับประชาชนผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นค่าการกลั่นน้ำมัน การอิงราคาน้ำมันกับตลาดสิงคโปร์ ที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรยกเลิกชั่วคราว โดยเฉพาะการบริหารจัดการค่าการกลั่นให้เหมาะสม แบ่งสรรปันส่วนกลับคืนมาให้ประชาชน ไม่ควรเป็นลาภลอยให้กับบริษัทน้ำมัน กรณีเปรียบเทียบแล้วว่าสูงเกินไป

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามเข้าไปบริหารจัดการ ด้วยการขอความร่วมมือโรงกลั่นให้ส่งกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีข้อสรุป หรือกระทั่งมีความพยายามเข้าไปบริหารจัดการ ทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ และพลังงาน ด้วยการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมา 2 ชุด ซึ่งยังเป็นการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิม โดยอาศัยวิธีการตั้งกรรมการ เมื่อมีเหตุที่เข้าไปเกี่ยวหลายส่วน ซึ่งการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการจะมีความล่าช้า ไม่ทันกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รับมือวิกฤติ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในการขยับสั่งการในทุกองคาพยพ จึงต้องควรทบทวนแนวทางการแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน โดยปรับกระบวนการทำงานให้เป็นการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 กรกฎาคม 2565

วิจัยเพิ่มค่ากากน้ำตาล สู่เคมีมูลค่าสูง

วช. ดันผลงานวิจัย “กากน้ำตาล” นำวัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตรมาผลิต 2,3-บิวเทนไดออล (2,3-BD) ยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพอย่างยั่งยืน

โครงการวิจัย “การใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล (2,3-BD)” เพื่อการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบกากน้ำตาลที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร ยกระดับผลิตภัณฑ์และต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพในการคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“2,3-บิวเทนไดออล” เป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อใช้เป็นตัวทำละลาย ตัวประสาน สีทาบ้าน สีทารถยนต์ เม็ดพลาสติก สารเติมแต่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร และยา รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนเพื่อการอุปโภค และบริโภค หรือแม้กระทั่งผสมในสารพอลิเมอร์พลาสติกให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

ของเหลือการเกษตรสู่เชื้อเพลิงชีวภาพ

รศ.เขมวิทย์ จันต๊ะมา อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากน้ำตาลโดยโฟกัสไปที่สาร 2,3-บิวเทนไดออล ซึ่งมีมูลค่าสูงและใช้งานแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ

อีกทั้งในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ 2,3-บิวเทนไดออล ยังถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน (bio-jet fuel) อีกด้วย ขณะที่ “กากน้ำตาล” (sugarcane molasses) เป็นผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย โดยการผลิตน้ำตาลทราย 1 ตัน จะใช้น้ำอ้อยดิบ 10 ตัน และเกิดผลพลอยได้ของกากน้ำตาล ประมาณ 50 กิโลกรัม

กากน้ำตาลมีองค์ประกอบของน้ำตาลรวมประมาณ 50% (น้ำหนักต่อปริมาตร) โดยที่จะเป็นซูโครสประมาณ 13% (w/v) (น้ำหนักต่อปริมาตร) และกลูโคสรวมกับฟรุคโตสประมาณ 15% (น้ำหนักต่อปริมาตร)

ดังนั้น​ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กากน้ำตาลที่เป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่เกือบไม่มีมูลค่าควรจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด​ เช่น​ นำมาผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จาก K. oxytoca KMS005 (Jantama et al., 2015) ที่พัฒนาขึ้นเองด้วยเทคนิควิศวกรรมเมทาบอลิกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

จึงเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากกากน้ำตาลไปเป็น 2,3-บิวเทนไดออล (มูลค่าในตลาดโลกที่ 9.12-250 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมขึ้นกับความบริสุทธิ์) ที่มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กว้างขวางกว่าเอทานอลที่ถูกผลิตขึ้นจากกากน้ำตาลด้วยยีสต์ในปัจจุบัน

การผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จากกระบวนการหมักโดยใช้เชื้อ K. oxytoca KMS005 ด้วยกากน้ำตาลอ้อย น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลให้เพิ่มเติม และยังนำไปสู่การพัฒนากลุ่มธุรกิจนิวเอาเคิร์ฟของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การลดของเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุคโต และเป็นการลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และยังสามารถส่งขายต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย

ทั้งนี้​ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โครงการวิจัยดังกล่าวจะช่วยยกระดับและตอบโจทย์การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ สร้างแนวทางต้นแบบการใช้พลังงานชีวภาพ พลังงานแบบหมุนเวียน รวมถึงตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

วช.เสริมสร้างขีดความสามารถประเทศ

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในการคิดค้น พัฒนา เพื่อสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ ในการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ โดยการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร กากน้ำตาล สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทย ลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศด้วยผลงานวิจัยการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล

โครงการวิจัยนี้จะจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการวิจัยและพัฒนากระบวนการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย สู่การต่อยอดทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางชีวภาพ ชุมชนเข้มแข็ง และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ทั้งยังตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ตามนโยบายของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพที่เชื่อมโยงส่วนของเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานของคนไทย สามารถทำได้หลากหลายและเพิ่มมูลค่าได้อย่างก้าวกระโดดมาก

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 กรกฏาคม 2565

ส่งออกไทยผวาผลกระทบ เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย-เงินเฟ้อพุ่ง

ส่งออกไทยผวาผลกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯจ่อถดถอยเงินเฟ้อพุ่ง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มคงทน อย่าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร  ส่วนสินค้าที่ได้อานิสงส์ คือกลุ่มอาหาร ready-to-eat เอกชนไทยชี้ไตรมาส3น่าจะเห็นผลกระทบชัดขึ้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”กรณีเศรษฐกิจสหรัฐจ่อเข้าสู่ภาวะถดถอยเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%

ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติ เอกฉันท์10-1ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.5%-1.75% ตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี เพื่อชะลอการปรับขึ้นของเงินเฟ้อที่คาดว่าจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% ในปี 2566

นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ส่งผลให้สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่รัสเซียและยูเครนผลิตและส่งออกมากเกิดการขาดตลาดและดันให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่ง ในสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนในประเทศ เงินเฟ้อสหรัฐและเศรษฐกิจถดถอย

ในส่วนของผลกระทบต่อการส่งออกไทยนั้น แน่นอนว่ากระทบต่อการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าหลายกลุ่มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ส่งผ่านราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้า หรือการขาดแคลนสินค้าบางชนิด แต่ที่เห็นได้ชัด  คือ  กลุ่มสินค้าคงทน อาจมียอดขายลดลงจากกำลังซื้อทั่วโลกที่ลดลง อย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเป็นต้น

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่มีเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญก็ได้รับผลกระทบ

เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร เนื่องจากราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือชะลอลง ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของเกษตรกร   เนื่องจากสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้กำลังซึ้อของผู้บริโภคลดลง การลงทุนลดลง จากต้นทุนสูงขึ้น ความสามารถในการทำกำไรลดลง ซึ่งประเทศที่นำเข้าสูงมีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้นรวมถึงรายได้ที่แท้จริงลดลง กระทบกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

กลุ่มสินค้าที่ได้ผลประโยชน์ยังคงเป็นกลุ่มอาหาร อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป   เพราะยังเป็นสินค้าที่สำคัญเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะค้าพร้อมรับประทานหรือ ready-to-eat จะกลับมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะคนต้องประหยัดพลังงาน หลายประเทศยังคงนำเข้าอาหารอย่างต่อเนื่อง ไทยเองก็มีความมั่นคงทางอาหารหรือกลุ่มทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์  เป็นต้น

“ในไตรมาส3 มีโอกาสได้เห็นผลกระทบที่ชัดขึ้นแง่ของการส่งออกไปตลาดสหรัฐ แม้ว่า 5 เดือนไทยส่งออกไปสหรัฐยังขยายตัวเป็นบวกเพราะกำลังซื้อในช่วงที่โควิดคลี่คลายและมีการเปิดประเทศแต่หลังจากนี้ผลกระทบจากสงครามรัสเซียจะชัดเจนขึ้น และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่สูงทำให้ความสามารถในการซื้อลดลง แต่ไตรมาสที่เหลือยังมั่นใจส่งออกไทยไปสหรัฐยังขยายตัวเป็นบวก เพียงแต่จะชะลอตัวลง ทั้งปีน่าจะยังขยายตัวที่ตัวเลข 2 หลัก”

อย่างไรก็ตามไทยเองควรปรับตัว โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น อาจจะต้องปรับขึ้นราคา เพื่อเฉลี่ยราคาขายในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการวางสินค้าช่องทางจำหน่ายสินค้า  การจัดหาปุ๋ยในราคาที่ไม่สูงเกินไป และพิจารณาดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ผลิตอาหาร สนับสนุนการใช้ solar rooftop เป็นพลังงานทดแทนและการใช้ Big Data เพื่อประเมินผลผลิต และวางแผนการนeเข้าส่งออกได้แม่นยำ ป้องกันขาดแคลนเป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 กรกฎาคม 2565

วช. ดัน ผลงานวิจัย “กากน้ำตาล” วัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตร ยกระดับ อุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างยั่งยืน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “การใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล (2,3-BD)” เพื่อการใช้ประโยชน์ยกระดับ อุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างยั่งยืน

วันนี้ (5 ก.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัย แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “การใช้ประโยชน์จากกากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลของประเทศไทยเพื่อการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล (2,3-BD)” เพื่อการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบกากน้ำตาลที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร ยกระดับผลิตภัณฑ์และต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพในการคิดค้นและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กล่าวว่า วช. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในการคิดค้น พัฒนา เพื่อสร้างพื้นฐานองค์ความรู้ ในการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ โดยการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากภาคการเกษตร กากน้ำตาล สู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทย ลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ด้วยผลงานวิจัยจากการศึกษาการผลิต 2,3-บิวเทนไดออล เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งการวิจัยและพัฒนากระบวนการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถ และความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย สู่การต่อยอดทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมทางชีวภาพ ชุมชนเข้มแข็ง และพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างฐานรากของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.เขมวิทย์ จันต๊ะมา หัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 2,3-บิวเทนไดออล เป็นสารเคมีสำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเคมีเพื่อใช้เป็นตัวทำละลาย ตัวประสาน สีทาบ้าน สีทารถยนต์ เม็ดพลาสติก สารเติมแต่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร และยา รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนเพื่อการอุปโภค และบริโภค หรือแม้กระทั่งผสมในสารพอลิเมอร์พลาสติกให้มีความแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ 2,3-บิวเทนไดออล ยังถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน (bio-jet fuel) อีกด้วย กากน้ำตาล (sugarcane molasses) เป็นผลพลอยได้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย โดยการผลิตน้ำตาลทราย 1 ตัน จะใช้น้ำอ้อยดิบ 10 ตัน และเกิดผลพลอยได้ของกากน้ำตาล ประมาณ 50 กิโลกรัม กากน้ำตาลมีองค์ประกอบของน้ำตาลรวมประมาณ 50% (น้ำหนักต่อปริมาตร) โดยที่จะเป็นซูโครสประมาณ 13% (w/v) (น้ำหนักต่อปริมาตร)  และกลูโคสรวมกับฟรุคโตสประมาณ 15% (น้ำหนักต่อปริมาตร) ดังนั้น​ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กากน้ำตาลที่เป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่เกือบไม่มีมูลค่าควรจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด​ เช่น​ นำมาผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จาก K. oxytoca KMS005 (Jantama et al., 2015) ที่พัฒนาขึ้นเองด้วยเทคนิควิศวกรรมเมทาบอลิกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากกากน้ำตาลไปเป็น 2,3-บิวเทนไดออล (มูลค่าในตลาดโลกที่ $US9.12-250/kg ขึ้นกับความบริสุทธิ์) ที่มีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กว้างขวางกว่า เอทานอลที่ถูกผลิตขึ้นจากกากน้ำตาลด้วยยีสต์ในปัจจุบัน ดังนั้น​ การผลิต 2,3-บิวเทนไดออล จากกระบวนการหมักโดยใช้เชื้อ K. oxytoca KMS005 ด้วยกากน้ำตาลอ้อย

น่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลให้เพิ่มเติม และยังนำไปสู่การพัฒนากลุ่มธุรกิจ New S-curve ของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ ตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 กระบวนการดังกล่าวนำไปสู่การลดของเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลซูโครส กลูโคส และฟรุคโต และเป็นการลดการนำเข้า 2,3-บิวเทนไดออลที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และยังสามารถส่งขายต่างประเทศ ทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของประเทศไทย

ทั้งนี้​ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโครงการวิจัยดังกล่าวจะช่วยยกระดับและตอบโจทย์การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับอุตสาหกรรมทางเคมีชีวภาพ สร้างแนวทางต้นแบบการใช้พลังงานชีวภาพ พลังงานแบบหมุนเวียน รวมถึงตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 กรกฎาคม 2565

ตลาดส่งออกของไทยมีที่ไหนบ้างยังโตต่อเนื่อง

ตลาดส่งออกของไทยมีที่ไหนบ้าง ยังโตต่อเนื่อง  แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ  “สหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป” กลับมาโตต่อเนื่อง ขณะที่ อาเซียน-CLMV ยังคงเป็นตลาดสำคัญของไทย

แม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีแต่ก็มีหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิดและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ผลกระทบจากสงครามรัสเซียเป็นต้น  แต่ก็ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อการส่งออกไทยมาก เห็นได้จากการส่งออกไทยไปยังตลาดสำคัญยังขยายตัวต่อเนื่องและมีทิศทางที่ดี

เช่น ตลาดสหรัฐฯกลับขยายตัวต่อเนื่อง 24เดือนถึง 29.2% ส่งให้ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 22.5%   โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

ตลาดจีน กลับมาขยายตัว 3.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องยนต์สันดาปภายในฯ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 1.6%

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัว6.2% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และทองแดงและของทำด้วยทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว1.9%

ตลาดอาเซียน (5) ขยายตัว 8.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 22.7%

ตลาด CLMV ขยายตัว13.1%ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน)สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม ทองแดงและของทำด้วยทองแดง และผ้าผืน เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว7.9%

ตลาดสหภาพยุโรป (27) กลับมาขยายตัว 12.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 5.8%

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 55.7% (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 33.2%

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัว 37.9% (ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 21%

ตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัว10.2% (ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว 3.8%

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 22.5% (ขยายตัวต่อเนื่อง 16 เดือน) สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัว7.8%

ในขณะที่2ตลาดอย่าง ตลาดทวีปออสเตรเลียและตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CISส่งออกไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง  เช่น  ตลาดทวีปออสเตรเลียติดลบ 11.9% ต่อเนื่อง 5 เดือน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก และเครื่องยนต์สันดาปภายในฯ ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ติดลบ4.8%

และตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ติดลบ 56.9 % (หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน) สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2565 ติดลบ 31.5%

โดยเห็นได้จากการที่ส่งออกไทยไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ปรับดีขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และการใช้มาตรการควบคุมไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดในจีน

ทั้งนี้ไทยแบ่งการส่งออกเป็น3ตลาดหลัก  ประกอบด้วย  ตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ อาเซียน(5) CLMV จีน ญี่ปุ่นและยุโรป(27) ภาพรวมขยายตัว 12.3% ตลาดรอง ประกอบด้วย  เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ทวีปแอฟริกา และลาตินอเมริกา ออสเตรีเลีย และ รัสเซียและกลุ่มประเทศCIS ซึ่งภาพรวมขยายตัว 8.9% และ ตลาดอื่น ๆ ติดลบ 59.1% เช่น สวิตเซอร์แลนด์

กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี และมั่นใจว่า ตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 2 จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทรงตัว ความต้องการอาหารจากทั่วโลกที่สูงขึ้น พร้อมปัจจัยหนุนด้านราคาสินค้าเกษตร ขณะเดียวกัน ภาคบริการท่องเที่ยวของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว และการมีปริมาณเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ ล้วนส่งผลดีต่อ

การส่งออกไทย

อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจได้รับแรงกดดันบ้างจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 กรกฎาคม 2565

กรมเจรจาฯ จี้ภาคผลิตเร่งปรับตัวรับ CBAM กติกาค้าใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จี้ภาคผลิตส่งออก รับกติกาการค้าโลกใหม่ ทุกเวทีหยิบยกลดการปล่อยก๊าซเรือนกจกเป็นเงื่อนไข รัฐสภายุโรปอนุมัติร่างกฎหมาย CBAM แล้ว เพิ่มเก็บภาษีคาร์บอนใน 9 รายการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change โดยจะนำเรื่องนี้มาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางการค้าใหม่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก (WTO) มีสมาชิก 6 ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์  ไอซ์แลนด์ เสนอให้มีการลดภาษีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม และขอให้ยกเลิกการอุดหนุนนํ้ามันจากฟอสซิล

อีกทั้ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก( APEC) ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ประเทศสมาชิกได้ให้ความสนใจ มีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ใน 54 รายการสินค้า และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม รวมถึงเวทีของความตกลงการค้าเสรี ( FTA) มีข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมเรื่องสิ่งแวดล้อมและ Climate Change เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาด้วย

กรมเจรจาฯ จี้ภาคผลิตเร่งปรับตัวรับ CBAM กติกาค้าใหม่อียู เก็บภาษีคาร์บอน

ที่สำคัญสหภาพยุโรปหรือ EU อยู่ระหว่างเตรียมใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่จะเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และอาจขยายให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต โดยในช่วง 3 ปีแรก (2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ EU ทราบ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย หรือภาคผลิตที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทางหรือปลายทาง เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ EU กำหนด โดยเฉพาะสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า ที่ปี 2564 มีมูลค่าส่งออกราว 4,109 ล้านบาท และอะลูมิเนียม  มีมูลค่าส่งออก 2,004  ล้านบาท ที่ถูกกำหนดอยู่ในรายการสินค้าที่ต้องปฏิบัติ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนฯ  เพราะตอนนี้ FTA ไม่ได้หารือเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ดังนั้น บริษัทเอกชนของไทยควรศึกษาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ก็ควรจะต้องติดตามและเรียนรู้เทรนด์เรื่อง Climate Change ตามทิศทางของโลกเพื่อนำไปปรับใช้กับการวางแผนธุรกิจด้วย”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปอนุมัติร่างกฎหมาย CBAM ตามที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ เสนอ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยจะขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมจากเดิม 5 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็น 9 รายการ ซึ่ง 4 รายการที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ Organic Chemical, Plastics, Hydrogen, Polymer

อีกทั้ง ขยายขอบเขตการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emissions) ด้วย เช่น การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ใน 9 รายการสินค้าข้างต้น จากเดิมครอบคลุมเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรง (Direct Emission)

พร้อมทั้ง จัดตั้งหน่วยงานดูแลระบบ CBAM หรือ CBAM Authority แทนที่การทำงานของ 27 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต้น transitional period สำหรับทดสอบการรายงานข้อมูลในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และจะเริ่มต้นบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าทั้ง  9 รายการข้างต้น จะได้รับใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (Free Allowance) ในสัดส่วนเดียวกับผู้ประกอบการภายในสหภาพยุโรปได้รับภายใต้ระบบ EU- Emissions Trading System (ETS) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรและการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าตามกฎการค้าของ WTO ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติ

สำหรับ Free Allowance ที่ให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะลดลงตามระดับ โดยระหว่างปี ค.ศ.2023-2026 จะได้รับการยกเว้นเก็บภาษี 100% ปี ค.ศ. 2027 ได้รับการยกเว้นภาษี 93% ปี ค.ศ. 2028 ได้รับการยกเว้นภาษี 84% ปี ค.ศ.2029 ได้รับการยกเว้นภาษี 69% ปี ค.ศ.2030 ได้รับการยกเว้นภาษี 50% ปี ค.ศ. 2031 ได้รับการยกเว้นภาษี 55% และปี ค.ศ.2032 จัดเก็บภาษีเต็ม 100%

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

เปิดคัมภีร์ส่งออก ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นตัวเลขทั้งปีโต10%

ราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดันเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของคนไทย และผู้บริโภคทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกำลังซื้อที่แผ่วลงในเวลานี้ มีปัจจัยหลักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และยังไร้จุดจบ

จากสงครามที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อพุ่ง กำลังซื้อลดลง ส่งผลเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งในเวลานี้ภาคการส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยังคงขยายตัวเป็นบวก

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี ตัวเลข 4 เดือนแรก รูปเงินบาทส่งออกได้ 3.18 ล้านล้านบาท ขยายตัว 24.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คาดการณ์การส่งออกไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวได้ที่ 3-5% (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) และทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวได้ที่ 5-8% ( ณ มิ.ย.65)

ฝ่าพายุพลังงาน-เงินเฟ้อพุ่ง

โดยการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ ที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าและต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวความต้องการใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น หากปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซไม่เพิ่มมาก ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยน้ำมันดิบมีโอกาสจะทะลุเหนือ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปลายปีนี้

ต่อมาคือ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกตามราคาพลังงาน และอาหาร กระทบค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ของถูกจะไม่มีอีกต่อไป สวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และเพื่อจำหน่ายในประเทศขาดแคลน และราคาผันผวน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด รวมถึงปุ๋ย ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญของโลก

“เวลานี้สินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศที่เรายังไม่ขาดแคลนและต้องกักตุนเหมือนในต่างประเทศ เช่น ในสินค้าอาหาร จากส่วนใหญ่เรามีวัตถุดิบที่ผลิตได้เองในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเราต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ข้าวสาลี แป้งสาลี ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ขาดแคลนมาก เพราะส่วนใหญ่ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่เกือบทุกคน แต่เวลานี้จากสงคราม ทำให้ครอปการเพาะปลูกของยูเครนหายไป  ดังนั้นห่วงโซ่อาหารของโลกอาจจะชะงักงัน และเห็นผลชัดเจนในปีหน้า และหากสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจผสมโรง โลกก็จะยิ่งขาดแคลนอาหาร”

สต๊อกเก่าหมดราคาสินค้าทะยาน

จะเห็นว่าในเวลานี้หลายประเทศจากเดิมไม่กักตุนอาหารก็เริ่มมีการกักตุน เมื่อมีการกักตุนก็จะเกิดดีมานด์หรือความต้องการแฝงขึ้นมา ขณะที่ผลผลิตพืชอาหารจะลดลงจากปุ๋ยราคาแพง ทำให้ในปีหน้าห่วงโซ่อาหารโลกจะชะงักงัน และขาดแคลนอย่างแท้จริง หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติ ซึ่งจากสองแรงบวกคือทิศทางราคาพลังงานและราคาอาหารที่หากยังปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อของโลกยิ่งสูงขึ้นไปอีก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยหากสต๊อกวัตถุดิบเก่าของผู้ประกอบการหมดลง และใช้สต๊อกวัตถุดิบใหม่ในราคาสูงขึ้น  ราคาสินค้าก็จะปรับขึ้นแน่นอน

“ขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปเริ่มชะลอตัว ส่วนสหรัฐฯคาดจะเห็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ผลจากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเรื่อย ๆ (เป้าหมายเป็น 3.4% ภายในสิ้นปีนี้) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะมีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงในปลายไตรมาส 3”

ลุย 4 ตลาดใหญ่ลุ้นตัวเลขโต 10%

ดังนั้นผู้ส่งออกไทยต้องมองหาโอกาสตลาดอื่นมากขึ้น เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ตะวัน ออกกลาง ที่เปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย และมีโอกาสที่จะมาชดเชยการชะลอตัวของตลาดอเมริกาและยุโรปได้ ส่วนราคาพลังงานที่ผันผวนในทิศทางขาขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน แนวทางรับมือ เช่นการหาวิธีลดการใช้ หรือประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานมากขึ้น รถติดตั้งใช้ก๊าซแอลพีจี หรือใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า จากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล ไก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ยางพารา รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก ดังนั้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าทาง สรท.จะพิจารณาคาดการณ์ตัวเลขส่งออกอีกครั้งว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 10% หรือไม่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

FTA ไทย-EFTA เจรจารอบแรก  ตั้งเป้าสรุปผลภายใน 2 ปี

พาณิชย์ เจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-EFTA รอบแรก เจรจากลุ่มย่อย 16 หัวข้อ ไทยเสนอตั้งเป้าสรุปผลภายใน 2 ปี ส่วน EFTA จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบต่อไปช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากไทยได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน

กรมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-EFTA รอบแรกไปเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายนที่ผ่าน โดยแบ่งการเจรจาเป็น 2 ระดับ คือ ระดับหัวหน้าคณะเจรจา และการเจรจากลุ่มย่อยโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม

สำหรับระดับหัวหน้าคณะเจรจา ได้หารือเกี่ยวกับภาพรวมของการเจรจารอบแรก ทั้งประเด็นโครงสร้าง แนวทาง รูปแบบการเจรจา และแผนการเจรจาต่อไปในอนาคต โดยฝ่ายไทยเสนอให้ตั้งเป้าหมายให้สามารถสรุปผลการเจรจาให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี

ส่วนการเจรจากลุ่มย่อย มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม โดยแบ่งเป็น 16 หัวข้อ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร 3.การอำนวยความสะดวกทางการค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6. มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า 7. การค้าบริการ 8. การลงทุน 9. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 10. ทรัพย์สินทางปัญญา 11. การแข่งขัน 12. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 14. ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ 15.ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย และข้อบทเชิงสถาบัน และ 16. การระงับข้อพิพาท

โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นและวางแผนงานสำหรับการเจรจารอบต่อไป รวมถึงจะมีการหารือระหว่างรอบในรายละเอียดที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าโดยเร็ว ทั้งนี้ สำหรับการเจรจารอบต่อไป EFTA จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4 พ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 65) การค้าระหว่างไทย และ EFTA มีมูลค่า 4,436.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 2,734.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 1,702.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สาหรับการบริโภค

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 กรกฎาคม 2565

กองทุนFTA  คืออะไร ใครได้ประโยชน์หลังครม.เห็นชอบ

กองทุนFTA  คืออะไร ใครได้ประโยชน์   หลังครม. เห็นชอบจัดตั้งกองทุนFTA ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ "พาณิชย์"เตรียมยกร่าง พ.ร.บ. พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศคาดใช้เวลา3-4เดือนก่อนเสนอกลับไปให้ ครม.-กฤษฎีกา-รัฐสภา

กองทุน FTA  คือกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ  ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม.พิจารณาตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบจัดตั้งกองทุน FTA เตรียมยกร่าง พ.ร.บ. พร้อมเปิดรับฟังความเห็นทั่วประเทศ   พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เชื่อมโยงกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในพื้นที่

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้ง กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA)

ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมยกร่าง พ.ร.บ. กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ... หรือ ร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA แล้ว และเตรียมจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างดังกล่าว หลังจากที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการรับฟังความเห็น จะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน ก่อนที่จะนำร่าง พรบ. เสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป

กองทุน FTA มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะให้ความช่วยเหลือ 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด อาทิ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ปรึกษา ฝึกอบรม และการตลาด และเงินหมุนเวียน อาทิ ค่าลงทุนต่างๆ ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียน โดยเม็ดเงินที่ใช้ในการหมุนเวียนกองทุนประมาณ5,000ล้านบาท

นอกจากนี้ กองทุน FTA จะทำงานร่วมกับหน่วยงานข้อกลางต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตร วิชาการ และธนาคาร อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด มหาวิทยาลัย ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.) และ SME Bank เพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ กับกองทุน FTA

สำหรับการพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือที่ขอผ่านหน่วยงานข้อกลางเข้ามานั้น กองทุนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะกำหนดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผล กระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

ซึ่งผลการศึกษา ระบุว่า ภาคการผลิตหรือภาคบริการที่ขอรับความช่วยเหลือนั้น อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งการจัดตั้งกองทุน FTA อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

              ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีการจัดทำ FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 63 ของมูลการค้าไทยกับโลก ซึ่ง FTA ฉบับล่าสุดของไทยคือ RCEP ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565  นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับตุรกี ปากีสถาน ศรีลังกา สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์  นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และ FTA อาเซียน-แคนาดา รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA ในอนาคต กับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 4 กรกฏาคม 2565

อุทยานมิตรผลด่านช้าง ต้นแบบโรงงาน Carbon Neutrality

กลุ่มมิตรผลจับมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดสุพรรณบุรีเปิดตัวโครงการ “สุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model” ชูอุทยานมิตรผลด่านช้างสู่โมเดลโรงงานต้นแบบแห่งแรกด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมกับประกาศเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2030

โดยตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 อันสอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ของประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากว่า 30 ปี ในฐานะภาคีสมาชิกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement)

กอปรกับการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศเป้าหมายที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065

“ถึงแม้ว่าเราจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 300-350 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากเราทุกคนร่วมมือกันขับเคลื่อนตามนโยบายต่าง ๆ ก็จะช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลงได้”

“ชูชีพ พงษ์ไชย” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า สุพรรณบุรีปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเมื่อปี 2561 โดยภาคเกษตรป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.25 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของจังหวัด

ตามด้วยภาคพลังงาน ร้อยละ 31.26 ภาคขนส่ง ร้อยละ 20.07 และภาคการจัดการของเสีย ร้อยละ 5.02 โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คือ การปลูกข้าว ซึ่งมากถึงร้อยละ 32.61 ทั้งนี้ จังหวัดมีเป้าหมายจะลดก๊าซทั้งจังหวัดให้ได้อย่างน้อย 373,401 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ผ่านการดำเนินการ 9 ด้าน ดังต่อไปนี้

1) ส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมโครงการไทย ไรซ์ นามา เปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิมไปสู่การทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การปรับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์เพื่อช่วยให้พื้นที่ราบเรียบสม่ำเสมอ ตรงนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดแมลงศัตรูพืช

รวมถึงทำนาแบบเปียกสลับแห้งเพื่อลดการใช้น้ำ, ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน สุดท้ายคือการแปรสภาพฟางข้าวและตอซังข้าวแบบปลอดการเผาในที่โล่ง โดยปรับเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ในการเกษตรไปใช้เป็นพลังงานทดแทน

2) ลดการเผาไร่อ้อย โดยใช้มาตรการด้านเศรษฐกิจ สังคม

3) ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีในด้านการเกษตร

4) เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บในรูปคาร์บอนในเนื้อไม้

5) สนับสนุนภาคเอกชน ร่วมดำเนินการกำจัดขยะโดยการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และบำบัดมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผา และก๊าซมีเทนจากขยะที่ย่อยสลายได้

6) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก และชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึก พร้อมกับให้ความรู้ความเข้าใจ สถานการณ์และมาตรการลดโลกร้อน อาทิ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การปลูกและฟื้นฟูป่า การจัดการป่าชุมชน การเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย การลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ฯลฯ

7) ส่งเสริมการใช้พลังงานชีวภาพแทนพลังงานฟอสซิล เช่น การใช้ไบโอดีเซลแทนน้ำมันดีเซล และใช้เอทานอลผสมแก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซิน

8) ลดใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

9) ขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมในสุพรรณบุรี เพิ่มศักยภาพในการลดก๊าซโดยหันมาใช้พลังงานทดแทน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการบริหารจัดการขยะ บำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลเป็นองค์กรในภาคเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ชาวไร่ ชุมชน ลูกค้า คู่ค้า และผู้บริโภค

เราจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการเติบโตร่วมกัน อีกทั้งยังตระหนักถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ

เพื่อมุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการต่อยอดแนวคิด “From Waste to Value Creation” โดยใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างมีคุณค่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ

“ขณะนี้เราวางแผนและดำเนินงานอย่างจริงจังเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้าง ก้าวสู่การเป็นโมเดลโรงงานต้นแบบด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน จึงเปิดตัวสุพรรณบุรี Carbon Neutrality Model พร้อมกับตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 270,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี ค.ศ. 2023

ด้วยการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่เมืองคาร์บอนต่ำของจังหวัดสุพรรณบุรี อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้แก่โรงงานในเครือ และองค์กรอื่น ๆ ในภาคอุตสาหกรรมที่มีจุดยืนในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเช่นเดียวกัน”

สำหรับแนวทางทั้ง 6 ด้านที่อุทยานมิตรผลด่านช้างได้นำมาดำเนินงาน ได้แก่

1) เลือกใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต จากการบริหารจัดการและหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำชานอ้อย และใบอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อวนใช้ภายในโรงงาน พร้อมยกระดับกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงาน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 180,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2) ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดการเผา มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่อย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชน และภาครัฐ ในการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ-ขายอ้อยสด เช่น การรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล,

การทำ MOU ร่วมกับ 7 โรงงานน้ำตาลในการรณรงค์ตัดอ้อยสด, การจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ไร่อ้อย หรือการจัดกิจกรรมเชิญชวนตัดอ้อยสดกับชาวไร่โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

3) การพัฒนาต่อยอดอ้อยและน้ำตาลสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (biobased product) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ

4) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามหลัก 4Rs (resource-reduce-reuse-recycle) และการคัดแยกขยะภายในโรงงานอย่างเหมาะสม

5) ขยายพื้นที่ปลูกป่าและดูแลต้นน้ำภายใต้โครงการพลิกฟื้นผืนป่าสู่ธรรมชาติที่ยั่งยืนของกลุ่มมิตรผล จากความร่วมมือกับชาวไร่ ชุมชนรอบโรงงาน กรมป่าไม้ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายการปลูกต้นไม้กว่า 700,000 ต้นในจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังริเริ่มโครงการ OASIS หรือการสร้างอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากมาไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้ง

6) ชดเชยคาร์บอนเครดิต (carbon credit offsetting) จากใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิตที่กลุ่มมิตรผลสั่งสมจากการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้อุทยานมิตรผลด่านช้างมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2023 นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มมิตรผลบนเส้นทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ในการเป็นองค์กรที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภายภาคหน้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 กรกฏาคม 2565

เงินบาทสัปดาห์หน้า 35.00-36.00 จับตาเงินเฟ้อ

กสิกรไทย เผย เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง คาด สัปดาห์หน้าอยู่ในกรอบ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะหุ้นไทย แนวรับ 1,535 จุด แนวต้าน1,600 จุด

ธนาคารกสิกรไทย มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากวันศุกร์ที่ 1 ก.ค. เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์เงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ยุโรป และอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค.ของยุโรปด้วยเช่นกัน

สำหรับค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพลิกกลับมาอ่อนค่าลง และทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่งครั้งใหม่ที่ 35.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี และมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติ และการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเอเชียตามทิศทางของค่าเงินหยวน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากรายงานข่าวที่ระบุว่า ทางการจีนเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจจะเป็นการปรับโพสิชันก่อนจบช่วงครึ่งแรกของปี

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงประเด็นรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 3 กรกฏาคม 2565

จับตาครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอ่วม เงินเฟ้อพุ่งทำสถิติทั่วโลก

จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังอ่วม เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยงเข้ามาถาโถม โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงทำสถิตินิวไฮทั่วโลก ลุ้นรัฐบาลหาทางแก้ หลังนายกฯ นัดถกหน่วยงานความมั่นคง-เศรษฐกิจ ประเมินสถานการณ์ หามาตรการดูแล รับมือวิกฤต

หลายประเทศทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้มรสุม "เงินเฟ้อ" ที่พุ่งขึ้นสูง สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส ซื้อขายเมื่อ 30 มิถุนายน 2565 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 105.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ไม่ต่างกับราคาน้ำมันเบรนต์ ซึ่งอยู่ที่ 114.81 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานทั่วทุกประเทศ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้น ไม่นานมานี้ “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุว่า ช่วงนี้เงินเฟ้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 กว่าปี โดยอังกฤษเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.1% สหรัฐ 8.6% และเยอรมัน 7.9%

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ต้องออกมาประกาศสงครามกับเงินเฟ้อ โดยระบุว่า ยังไงก็ต้องเอาเงินเฟ้อกลับลงระดับปกติให้ได้ แม้เรื่องนี้จะหมายถึง เศรษฐกิจที่อาจชะลอลง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า ประเทศที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงสุดขณะนี้ คือมีเงินเฟ้อตั้งแต่ประมาณ 30% ขึ้นไป เช่น เลบานอน 211% เวเนซูเอล่า 167% ตุรกี 73.5% อาร์เจนตินา 60.7% อิหร่าน 39.3% ศรีลังกา 39.1% และเอธิโอเปีย 37.7%

อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ข้อมูลจาก Trading Economic, Kobsak Pootrakool

โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูงขนาดนี้ คนลำบากก็คือ ประชาชนที่ต้องรับภาระราคาสินค้าที่เพิ่มสูงตลอดเวลา ต่อให้เศรษฐกิจยังโต แต่เงินได้ของทุกคนก็จะถูกกัดกร่อนจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น เงินเดือนที่มี พอถึงปลายปี จะซื้อของได้ลดลง กรณีเลบานอน จะซื้อของได้ไม่ถึงครึ่งของที่เคยซื้อได้ในช่วงต้นปี นี่คือ ฝันร้ายที่เหล่าธนาคารกลางไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันหลายประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2565 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี เช่นเดียวกับสิงคโปร์ อัตราเงินเฟ้อแตะ 5.6% เพิ่มจากเดือนก่อน 5.4% ขณะที่ญี่ปุ่นเองเงินเฟ้อยังอยู่ที่ในระดับเกิน 2% ล่าสุดเดือนพ.ค. อยู่ที่ 2.5%

 สำหรับประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ขยายตัว 7.10% สูงสุดในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งอยู่เคยขึ้นไปแตะ 9.20%

โดยเป็นผลมาจากราคาพลังงาน สูงขึ้นถึง 37.24% ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพภาครัฐ สิ้นสุดแล้วหลายโครงการ ทั้งช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 45.43% และก๊าซหุงต้มสูงขึ้น 8%

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุสาเหตุของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปัจจุบัน ปรับตัวเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาในหมวดอาหาร และผลของฐานค่าน้ำประปาที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ

ทางฝั่ง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องจับตา ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานส่งผลกระทบกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งภาครัฐต้องเข้าไปช่วยผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ โดยการประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2565 สศช.คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 4.2-5.2%

การประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2565 -v

ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แระเมินเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

เช่นเดียวกับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อแต่ละประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2565

ขณะที่ “ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินข้อมูลเศรษฐกิจออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยมองอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดของปี และมีโอกาสแตะระดับ 10% ได้ จากราคาน้ำมันที่ยังสูง ราคาอาหารสด และที่สำคัญ น่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ หลังกำลังซื้อฟื้นตัวจากไตรมาส 2 รับการเปิดเมืองและจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

ส่วนเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2565 ต้องรับมือกับความท้าทายหลักๆ ได้แก่

1. เงินเฟ้อพุ่งทะลุ 10% กดดันการบริโภค

2. เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง

3. การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอโครงการใหม่

4. ปัญหาความขัดแย้งในยุโรปรุนแรงขึ้น หนุนราคาน้ำมันพุ่งสูง

5. สหรัฐเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็ว แต่เงินเฟ้อยังสูง เฟดจำต้องขึ้นดอกเบี้ยแม้การว่างงานพุ่ง

6. จีนต้องล็อกดาวน์อีกรอบหลังมีการระบาดของโควิดในหลายเมือง ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอหนักกระทบการส่งออกของไทย

 อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ที่น่ากังวลจากปัจจัยเสี่ยงมากมายที่กำลังถาโถมเข้ามากระทบ ล่าสุดมีรายงานข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมนัดสารพัดหน่วยงานทั้งเศรษฐกิจ-ความมั่นคง มาหารือกันในสัปดาห์หน้า ผ่านเวทีของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

วาระสำคัญของการประชุมรอบนี้ คือ การประเมินสถานการณ์ พร้อมกำหนดแผนการเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขกันในระยะสั้น คือ เรื่องพลังงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของประชาชน ส่วนผลจะออกมาเป็นยังไง ต้องมาคอยติดตามกันอีกที

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 กรกฏาคม 2565