http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกรกฎาคม 2566]

ชาวไร่อ้อยจับตาถก "กอน." 27 ก.ค.นี้ ลุ้นวาระเร่งเงินตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน

ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเกาะติด “กอน.” ถก 27 ก.ค.นี้จะมีวาระการเร่งรัดแนวทางการเสนอ ครม.รักษาการเพื่อช่วยเหลือเงินค่าตัดอ้อยสดลด PM 2.5 ตันละ 120 บาทหรือไม่ จี้เร่งพิจารณาหลังล่าช้ามานาน ประเมินผลผลิตอ้อยปีนี้ยังคงต่ำกว่าปีที่ผ่านมาจากภัยแล้ง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศกำลังติดตามการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ว่าจะมีวาระการพิจารณาโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูกาลผลิตปี 2565/66 หรือไม่ อย่างไร โดยชาวไร่อ้อยต้องการให้ กอน.เห็นชอบเพื่อดำเนินตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติในฤดูหีบที่ผ่านๆ มาที่รัฐมีนโยบายช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานในอัตรา 120 บาทต่อตัน

“รัฐบาลได้มีการส่งเสริมการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยสนับสนุนวงเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้แก่ชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดที่ปฏิบัติกันมา 2-3 ฤดูหีบที่ผ่านมา แต่ฤดูหีบ 65/66 ที่ปิดหีบไปนานแล้วแต่ยังคงไม่ได้รับเงินเนื่องจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมขณะนั้นลาออก ต่อมาก็ยุบสภาฯ ทำให้ กอน.เองยังไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาเพื่อเดินหน้า ขณะที่ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างทำหนังสือยื่นไปยังจังหวัดให้เร่งรัดดำเนินการแล้ว ส่วนกระบวนการก็คงจะต้องว่าไปตามขั้นตอนคือ กอน.เห็นชอบ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคงจะต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบ” นายนราธิปกล่าว

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่ยังคงยืนยันหลักการปฏิบัติเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาโดยให้จ่ายเงินเฉพาะอ้อยสดที่ส่งโรงงานแต่ไม่ได้หมายถึงการจ่ายให้เฉพาะชาวไร่ที่มีแค่อ้อยสด 100% ซึ่งต้องเข้าใจว่าชาวไร่บางส่วนที่เจออุบัติเหตุไฟไหม้เองไม่ได้จุดเผาโดยเจตนาก็มีไม่น้อย ขณะเดียวกันหากจะเป็นการดียิ่งขึ้นหาก กอน.ในการประชุมครั้งนี้จะมีมติพิจารณาว่าด้วยแนวทางการช่วยเหลือตัดอ้อยสดฤดูหีบปี 2566/67 ไว้ล่วงหน้า

นายนราธิปยังกล่าวถึงแนวโน้มผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 2566/67 ว่าภาพรวมที่กอน.ประเมินในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านตันซึ่งต่ำกว่าฤดูหีบปี 2565/66 ที่ผ่านมาที่อยู่ระดับ 93.88 ล้านตัน ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ระดับ 74-75 ล้านตันเนื่องจากปริมาณฝนที่ยังคงตกกระจุกในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนและอีสาน แต่ภาคกลางและตะวันตกฝนยังคงมีปริมาณต่ำ โดยคงต้องติดตามในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างไร

“แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 65/67 นั้นภาพรวมจะอยู่ที่ระดับกว่า 1,300 บาทต่อตันที่ความหวาน 10 ซีซีเอส หลังจากที่ปริมาณน้ำตาลทรายตลาดโลกลดลงทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับว่าผลผลิตเองก็มีแนวโน้มต่ำด้วย” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com/ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566

 

นวัตกรรมเพิ่ม “ค่าความหวาน” สร้างมูลค่ามหาศาลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

“อ้อย” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลก สามารถปลูกได้ในทั่วทุกภูมิภาคกว่า 90 ประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตร้อนชื้น เป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ และมีการนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมน้ำตาลที่นำมาใช้เพื่อบริโภคโดยตรงและเป็นสารปรุงแต่งรสในผลิตภัณฑ์ต่างๆในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

ในประเทศไทยนั้น “อ้อย” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญในการผลิตน้ำตาล จัดเป็นพืชที่มีศักยภาพสร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ จากข้อมูลรายงานปริมาณการส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา (เมื่อเทียบกับในช่วงปี 2563-2564) พบว่า  มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายได้ขยายตัวสูงถึง 120.1%  และจากข้อมูลยังได้มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยจะพุ่งสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2566 ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยจัดเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ลำดับที่ 4 ในเวทีโลก รองจากบราซิล อินเดีย และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถสร้างรายได้และอาชีพให้กับชาวเกษตรกรไร่อ้อยและชุมชนในพื้นที่เพาะปลูกได้เป็นอย่างดี 

อ้อยหวานมีปริมาณน้ำตาล (CCS) สูง ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  ดังนั้นเกษตรกรและโรงงานน้ำตาลจึงมักจะเลือกอ้อยที่แก่จัด ครบอายุเก็บเกี่ยว เพื่อให้มีความหวานสูง และให้ได้ปริมาณน้ำตาลมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะช่วยชดเชยผลผลิตอ้อยที่ลดลงจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

สำหรับการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพนั้น จะเริ่มตั้งแต่การเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก การปรับสภาพดิน การใส่ปุ๋ยให้น้ำ กำจัดศัตรูพืช จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวอ้อยในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้อ้อยที่ให้น้ำตาลสูงและมีคุณภาพ แต่ในปัจจุบันการปลูกอ้อยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ ทำให้อ้อยมีผลผลิตต่ำ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่อย่าง “นวัตกรรมการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Regulator) เพื่อช่วยเพิ่มน้ำตาลในอ้อย” (Smart Sugarcane Ripener) ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำตาล สามารถยกระดับมูลค่าอ้อยในอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมทั้งลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วย

นวัตกรรมดังกล่าวเป็นฮอร์โมนพืชชนิด Trinexapac-ethyl สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของอ้อย กระตุ้นให้อ้อยสร้างความหวานสะสมน้ำตาลมากขึ้นโดยที่อ้อยตอยังคงเติบโตได้อย่างปกติ ทั้งนี้ผลการทดลองจากนักวิชาการของบริษัทเทคโนโลยีเกษตรระดับโลก “ซินเจนทา” พบว่า พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศบราซิลที่ใช้นวัตกรรมนี้ในช่วง 30-60 วันก่อนเก็บเกี่ยว พบว่าค่าความหวานของอ้อย (Commercial Cane Sugar หรือค่า CCS เพิ่มขึ้นจาก 12 เป็น 13-15) หรือปริมาณน้ำตาลในต้นอ้อยมากขึ้นอีกร้อยละ 20% จากปกติ  โดยที่น้ำหนักสดอ้อยยังคงเท่าเดิม นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากค่า CCS ที่เพิ่มขึ้น แต่ยังช่วยเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นราว 30-60 วัน สามารถวางแผนการตัดอ้อยให้เหมาะกับช่วงเวลาในการเข้าโรงงาน ลดความแออัด และสะดวกต่อการจัดสรรเวลา โดยปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมนี้มาใช้ในหลายประเทศ อาทิ บราซิล แอฟริกาใต้ อเมริกา แคนาดา และนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม การใช้นวัตกรรมดังกล่าวควรพิจารณาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ รวมถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เป็นไปตามมาตรฐานอาหารและการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 7 กรกฎาคม 2566