http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2554)

ผู้ประกอบการจี้กอน. สางปัญหาส่งออกน้ำตาล

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการน้ำตาลทรายได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เพื่อแก้ปัญหาการส่งงออกน้ำตาลให้เกิดความคล่องตัว โดยเฉพาะการพิจารณาคำขอส่งออกน้ำตาลโควตา ค. พบว่าในขั้นตอนการยื่นหนังสือขออนุญาตมีความเข้มงวด รวมทั้งการขอผ่อนผันส่งออกน้ำตาลทรายล่วงหน้าต่อ ประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย มีความล่าช้าที่เกิดขึ้น ส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการ และรายได้ที่จะเข้าประเทศ

สำหรับปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 96.36 ล้านกระสอบ เมื่อนำมาจัดสรรน้ำตาลโควตา ก. เพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ 25 ล้านกระสอบ แล้วผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจะนำน้ำตาลทรายที่เหลือส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ

ด้านนายผรินทร์ อมาตยกุล ผู้อำนวยการด้านตลาดต่างประเทศ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด ผู้ผลิต และส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือน กกรกฏาคม2554 อยู่ที่ปอนด์ละ 27.4 เซ็นต์ โดยมาจากปัจจัยจาบวกระยะสั้นคือ ความตึงตัวน้ำตาลของบราซิลที่ออกสู่ตลาดล่าช้า จากการที่บราซิลมีปัญหาหีบอ้อยล่าช้า ขณะที่รัฐบาลมีความต้องการ ให้นำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับสต็อกเอทานอลในประเทศที่ลดลง และจะส่งผลต่อเนื่องให้บราซิลผลิตน้ำตาลลดลง รวมทั้งปัญหาการผลิตน้ำตาลล่าช้าในบราซิล ส่งผลให้มีน้ำตาลส่งออกสู่ตลาดโลกล่าช้าด้วย

ส่วนราคาน้ำตาลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขึ้นกับปริมาณน้ำตาลที่โลกจะผลิตได้ในปี 2555 ซึ่งบางหน่วยงานประเมินว่า ปีหน้าผลผลิตน้ำตาลจะเกินความต้องการ 4-5 ล้านตัน แต่บางหน่วยงานประเมินว่า อาจเกินความต้องการถึง 10 ล้านตัน ซึ่งต้องรอดูว่าผลผลิตน้ำตาลหลักของโลกในปีหน้าต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 มิถุนายน 2554

กรมชลฯจับตาปริมาณน้ำทะลัก ชี้ปีนี้ฝนตกเร็ว-กระจายทั่วปท. เร่งขุดคลอง-ระบายอ่างรองรับ

นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนว่า ปีนี้ฝนตกเร็วกว่าปกติ กระจายทั่วทุกภูมิภาค กรมชลประทานจึงได้สั่งการหน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยให้เร่งดำเนินการขุดลอกและกำจัดวัชพืชในคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำและระบายน้ำ ตลอดจนทำการซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทานต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังได้ทำการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาให้ได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้การระบายน้ำนั้นจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมเหมาะสม ไม่ให้น้ำล้นตลิ่ง และจะต้องมีน้ำเหลือในอ่างฯเพียงพอสำหรับภาคการเกษตรหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 มีปริมาณทั้งสิ้น 38,838 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณความจุรวมทั้งหมด สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 30,752 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในปีนี้จะมีมากกว่าโดยในปี 2553 จะมีปริมาณน้ำ 32,828 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 47 ของปริมาณความจุรวมทั้งหมด

"สถานการณ์น้ำในฤดูฝนปี 2554 จะคล้ายๆกับปี 2551 และ ปี 2549 โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเหนือทั้งจากแม่น้ำปิง วัง ยม และแม่น้ำน่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก จนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยถึง 1,469 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่เขื่อนเจ้าพระยามีน้ำไหลผ่าน 1,256 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง" รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า คาดว่า ในปี 2554 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่มีฝนค่อนข้างมาก และอาจจะมากกว่าเกณฑ์ปกติ จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องพายุในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะพัดเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาคอีสานและภาคเหนือเป็นหลัก ส่วนปรากฏการณ์ เลนินญา (ฝนตกมาก) จะหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2554 แล้วจะเข้าฤดูฝนในภาวะปกติ ซึ่งปีนี้ฝนกระจายตัว จึงไม่ต้องกังวลเรื่องภัยแล้ง หรือ ภาวะขาดแคลนน้ำเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 มิถุนายน 2554

รง.น้ำตาลร้อง "เจ๊วา-มาร์ค" มาตรการ "กน." ขวางส่งออก

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหรรมน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จากกรณีที่นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.) ได้กำหนดแนวทางการขอผ่อนผันการส่งออกน้ำตาลทราย โควต้า ค. ว่าจะต้องยื่นล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสอย่างมาก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทราย ให้โรงงานที่ผลิตน้ำตาลทรายดิบและยังละลายเป็นน้ำตาลทรายขาวตามโควต้า ก. เพื่อจำหน่ายในประเทศยังไม่ครบตามที่ได้รับจัดสรร สามารถขอผ่อนผันส่งออกโควต้า ค. ต่อประธาน กน.ได้ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 20 ปีการขอผ่อนผันการส่งออกน้ำตาลทรายก็ไม่เคยมีปัญหา และไม่เคยทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ยิ่งปีนี้มีผลผลิตน้ำตาลทรายมากถึง 96.60 ล้านกระสอบ โดยจัดสรรเป็นโควต้า ก. เพียง 25 ล้านกระสอบ ดังนั้นต้องส่งออกน้ำตาลทรายถึง 71 ล้านกระสอบ เมื่อมีแนวทางดังกล่าวออกมาทำให้การส่งออกหยุดชะงัก

"การให้แจ้งล่วงหน้า 2 สัปดาห์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะโรงงานไม่รู้ว่าเรือจะมาเมื่อไร เพราะปกติ เรือจะแจ้งว่าพร้อมจะให้สินค้าลงเรือล่วงหน้า 3-5 วัน ทางโรงงานจึงไปยื่นขอผ่อนผันส่งออก หากให้ยื่นล่วงหน้า 2 สัปดาห์ จึงไม่สามารถขนสินค้าลงเรือได้ทัน ทำให้ต้องเสียค่าโมเดเรทหรือค่าปรับที่สินค้าลงเรือล่าช้า " แหล่งข่าวกล่าวและว่า อยากเรียกร้องไปยังนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ช่วยดูแลด้วย ในฐานะกระทรวงพาณิชย์ที่ควรจะส่งเสริมสนับสนุนการส่งออก แต่แนวทางดังกล่าวกลับเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างมาก และอยากให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นอภ.แม่สอด ตรวจซ้ำเขตปนเปื้อนแคดเมียม-พบปมใหญ่ปลูกอ้อยไม่คุ้ม

ตาก- นายอำเภอแม่สอด ลงพื้นที่ สารปนเปื้อนแคดเมียมลุ่มน้ำแม่ตาว เขตปัญหาเรื้อรัง ขณะที่แผนส่งเสริมเกษตรกรหันปลูกอ้อยแทนข้าว หนีปัญหาปนเปื้อนกลายเป็นปัญหาซ้ำ ทั้งไม่คุ้มทุน-พื้นที่ไม่เหมาะสม

วันนี้ (21 มิ.ย.) นายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาสารแคดเมี่ยมปนเปื้อนนาข้าว พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ในเขตตำบลแม่กุ-แม่ตาว และ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จำนวน 12 หมู่บ้าน ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งได้เดือนเศษ และได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ให้เร่งเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาแคดเมี่ยมปนเปื้อน อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังและยังไม่สามารถสรุปได้

นายอำเภอแม่สอด กล่าวว่า หลังจากเข้ามาทำงาน และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนตนเองก็ได้ติดตามปัญหาสารปนเปื้อนแคดเมียมในลุ่มน้ำแม่ตาว ทั้ง 3 ตำบล ซึ่งชัดเจนว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และได้รับความเดือดร้อนจริงๆ และก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ลงไปพื้นที่พบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ มีข้อสรุป 2 ประเด็น คือ เรื่องพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงทรัพย์ ได้ตรวจสอบวิเคราะห์วิจัยออกมาพอทราบมาว่า ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หรือพื้นที่สีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนสูง ส่วนพื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือ ปนเปื้อนสารแคดเมียมต่ำ แต่ยังพอทำการเกษตรได้ และพื้นที่สีเขียว ที่ไม่มีสารปนเปื้อนแดดเมียมเลย

นอภ.แม่สอด บอกอีกว่า เราต้องวิเคราะห์พื้นที่ปนเปื้อนทั้งหมด ว่า สามารถทำอะไรได้ โดยเฉพาะการคัดพื้นที่สีแดง และสีเหลือง และเราจะต้องมาคุยกันว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไรดี เพื่อที่จะให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหันมาปลูกพลังงานทดแทน (อ้อย)

แต่โดยข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่แล้ว เราจะเห็นว่า สภาพพื้นที่การปลูกอ้อยที่เหมาะสมนั้นต้องเป็นพื้นที่สูง แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยส่วนมากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ การเอาพื้นที่ทำนาไปปลูกอ้อยจึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

นอกจากนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกอ้อยน้อยกว่า 20 ไร่ ก็ทำไร่อ้อยไม่คุ้ม และการปลูกอ้อยนั้นต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชาวบ้านที่มีปัญหาดังกล่าว

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 21 มิ.ย. 2554

ปีหน้าจะเป็นอีกปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวถึง การเตรียมการสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 54/55 ว่า สืบเนื่องจากประสบการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในฤดูการผลิตปีนี้ หรือปี 2553/2554 ที่ทั้งอุตสาหกรรมนี้ได้ผลผลิตอ้อยรวมกันทั้งสิ้นมากถึง 95.35 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้รวมทั้งสิน 9.64 ล้านตัน

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) มีความเห็นว่า หากมีผลผลิตอ้อยปริมาณมากออกมาอีกในฤดูการผลิตปี 2554/2555 เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น มีความจำเป็นต้องเตรียมการรับมือให้กับอุตสาหกรรมนี้ให้ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะฤดูการผลิตอ้อยปี 2553/2554 ปรากฏว่า มีอ้อยค้างไร่มากถึงประมาณ 200,000 ตัน เนื่องจากการเปิดหีบอ้อยเริ่มต้นปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม 2553 ทำให้การตัดอ้อยไม่ทันกับช่วงเวลาเปิดหีบ จึงเหลือค้างในไร่จากสาเหตุภาวะ ฝนตกชุก ประกอบกับมีสภาพน้ำท่วมไร่อ้อยบางพื้นที่ด้วย แม้ชาวไร่ได้เร่งตัดและนำอ้อยออกมาแล้ว แต่ยังมีปัญหาอ้อยที่ตัดได้ กลับพบว่า มีความสกปรกสูงมาก เมื่อเข้าโรงงานหีบส่งผลกระทบสร้างความ สึกหรอและเสียหาย ทำลายเครื่องจักร และยังไม่สามารถที่จะหีบน้ำตาลได้ในปริมาณน้ำตาลอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปกติการหีบอ้อย 1 ตัน จะได้ปริมาณน้ำตาลอยู่ในช่วง 101-102 กิโลกรัม แต่อ้อยที่ตัดช่วงปลายฤดูเมื่อเข้าหีบกลับได้ปริมาณน้ำตาลต่ำเหลือเพียง 40 กิโลกรัมต่อ 1 ตันอ้อยเท่านั้น โรงงานบางรายถึงกับยินดีชำระค่าอ้อยให้ชาวไร่อ้อย โดยไม่ขอรับอ้อยเข้าหีบ เพราะคำนวณแล้ว ค่าซ่อมเครื่องจักรแพงขึ้นเท่าตัวจากปกติ ที่จะมีค่าซ่อมบำรุงที่ 60 ล้านบาทถึง 120 ล้านบาท หรือ 60 บาทต่อตันอ้อย ได้เพิ่มขึ้นมาเท่าตัวมาอยู่ที่ 120 บาทต่อ 1 ตันอ้อย

ดังนั้น ฤดูการผลิตอ้อยปี 54/55 ต้องมีช่วงเวลาเปิดหีบเพียงพอสำหรับการทยอยตัดอ้อยทั้งหมดโดยไม่มีอ้อยค้างไร่ คาดว่า การเปิดหีบอย่างเร็วที่สุดจะเริ่มต้นได้ในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน 2554 และอย่างช้าสุดเริ่มต้นได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนปีนี้ เนื่องจากคาดว่า ผลผลิตอ้อยที่ได้ในฤดูการผลิต 2554/2555 จะไม่น้อยกว่าปีนี้อย่างแน่นอน ประมาณการว่า ผลผลิตจะอยู่ในเกณฑ์ 95 ล้านตันอ้อยขึ้นไป และผลจากราคาอ้อยที่ดีมาก และการที่นายกมันสำปะหลัง ระบุว่า ชาวไร่ที่ปลูกมันสำปะหลังประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดหนัก ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนจะหันมาปลูกอ้อยมากขึ้นผลผลิตอ้อยจึงเพิ่มขึ้นจากการปลูกในส่วนนี้ด้วย อีกประการ คือ การจัดคิวอ้อยเข้าโรงหีบ จำเป็นต้องมีการจัดการอย่างทันท่วงทีและเร็วกว่าปัจจุบันนี้ ซึ่งหมายความถึงต้องมีการเรียงลำดับส่งอ้อยเข้าหีบตามคุณภาพอ้อยที่พร้อมตัดก่อน หลังจากที่กระบวนการในปีนี้เป็นไปในลักษณะใครมาก่อนได้ก่อนแย่งคิวกันจึงเกิดการเตรียมตัวไม่ทัน

นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จากการที่ สอน. สำรวจราคาน้ำตาลตลาดโลกพบว่า ระดับราคาดีดตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 26 เซนต์ต่อปอนด์น้ำตาลทรายดิบในเดือนกรกฎาคมนี้ และราคาในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกันที่ระดับ 21-22 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นระดับราคาที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 54/55 จะยังคงเป็นอีกปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฉะนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรีบทำการขายล่วงหน้าให้ได้ราคาที่ดีที่สุดสำหรับชาวไร่และโรงงาน และนับเป็นสิ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว

ขณะนี้ประเทศไทยขายน้ำตาลล่วงหน้าออกไปแล้วมากถึง ร้อยละ 50 ในราคา 24-25 เซ็นต่อปอนด์ เพราะฉะนั้น เชื่อมั่นว่า ระดับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 54/55 จึงสูงกว่าปีนี้แน่นอน โดยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 53/54 อยู่ที่ประมาณ 1,031 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 CCS ซึ่งหากบวกเข้ากับเงินช่วยค่าอ้อยที่รัฐบาลอนุมัติโดยเป็นเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) มาจ่ายสบทบให้ด้วยแล้วตันละ 105 บาท เมื่อบวกกับเงินส่วนเพิ่มสำหรับค่าความหวานที่ระดับ 11.5 CCS แล้ว ทำให้ผลบวกรวมกันชาวไร่อ้อยปีนี้จะได้เงินจากการขายอ้อยถึง 1,200 บาทต่อตันอ้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 54/ 55 น่าจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 53/54 เพราะจากการคำนวณเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 1,100 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 CCS จากที่ฤดูกาลผลิตปี 53/54 นี้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 945 บาทต่อตันอ้อย

ฉะนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ด้านการขนส่งน้ำตาล จากที่ปีนี้การขนส่งเป็นไปอย่างเร่งรีบจนเรือขนล่ม เพื่อรับมือ ต้องมีการจัดตาราง และเตรียมการดีกว่าปัจจุบันนี้ ทั้งเรือขนส่งน้ำตาล ตลอดจนเส้นทางและการจราจรของเรือบรรทุกน้ำตาล ซึ่งต้องนำมาผนวกไว้ในแผนการจัดการจราจรการขนส่งน้ำตาลทางน้ำ ซึ่งหน่วยงานที่น่าจะเป็นเจ้าภาพคือ กรมเจ้าท่า โดย สอน.และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มต้นหารือกันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้ทุกอย่างพร้อมและเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้านานนับปีจะเป็นการดีที่สุด

ด้านชาวไร่อ้อยควรพิจารณาบริหารจัดการเรื่องภาระหนี้สินให้มีการชำระให้เสร็จสิ้น เพราะในช่วง 3 ปีนี้ ระดับราคาอ้อยดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ สอน.เห็นว่า หากชาวไร่อ้อยเข้มแข็งก็ไม่จำเป็นต้องกดดันให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลต้องกู้เงินมาช่วยเป็นระยะ ๆ อย่างที่ผ่านมา นอกจากนี้ สอน.ยังจะให้ความช่วยเหลือแหล่งเงินในลักษณะสินเชื่อผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากในอนาคตข้างหน้าไม่อาจทราบสภาพดินฟ้าอากาศล่วงหน้าว่า ในช่วงหลังฤดูฝนจะประสบภาวะแล้งยาวนานเพียงใด เช่น หลัง ก.ย.ถึงเดือน ม.ค.และเดือน ก.พ.ปีหน้า หากฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันนาน 5 เดือน จะทำให้อ้อยในไร่ตายได้ และสุดท้ายคือ การเก็บเกี่ยว รถตัดอ้อยก็จะเข้ามาช่วยชาวไร่ได้ โดยจะมีสินเชื่อทั้งสองส่วนนี้รวมกัน 7,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี โดยสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำผ่อนชำระหนี้ภายใน 5 ปี ส่วนสินเชื่อรถตัดอ้อย ผ่อนชำระภายใน 6 ปี

อย่างไรก็ตาม สอน.มีความมั่นใจว่าราคาน้ำตาลทรายเพื่อการบริโภคในประเทศจะไม่ปรับขึ้น เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณที่จะปรับขึ้นระยะยาว เพราะมีการคาดการณ์ว่า 3 ปีข้างหน้าน้ำตาลจะล้นตลาดโลก และราคาขณะนี้ก็เป็นช่วงที่ลดลงแล้ว จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคาตลาดโลกตรึงในระดับสูง อีกทั้งหากพิจารณาแล้วจะพบว่าน้ำตาลเป็นสินค้าการเมือง รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการดูแลสินค้านี้เพราะเป็นสินค้าพื้นฐานจำเป็นในการบริโภคในประเทศ ดังนั้น ราคาจะปรับขึ้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก.-สำนักข่าวไทย.

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 21 มิ.ย. 2554

"ปุ๋ยลดต้นทุน"เพิ่ม 3 สูตร 18-46-0,0-0-60, 13-13-21

โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร หรือ “ปุ๋ยลดต้นทุน” นั้น จัดทำขึ้นเพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ในปีการเพาะปลูก 2554/2555 ราคามีแนวโน้นเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีลง ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามศักยภาพของชุดดินและผลการวิเคราะห์ดินที่เป็นปัจจุบัน โดยผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นเกษตรกรในโครงการประกันรายได้เกษตรกร ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ปีเพาะปลูก 2553/2554 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร

นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการนี้ว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนด ซึ่งเห็นชอบให้มีการชดเชยส่วนต่างราคาปุ๋ยเคมีให้ผู้เข้าร่วมโครงการในอัตรากิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือ ตันละ 1,500 บาท พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาปุ๋ย 6 สูตร คือ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 16-8-8 สูตร 18-12-6 สูตร 15-15-15

ในเรื่องการวิเคราะห์การใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรในคราวแรกได้มุ่งเน้นเฉพาะข้าวนาปี แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เพิ่มเติมให้มีการชดเชยพืชอีก 2 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ดังนั้นตามหลักวิชาการจำเป็นต้องเพิ่มปุ๋ยสูตรอื่นสำหรับพืช 2 ชนิดดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินโครงการจึงได้มีมติเห็นชอบ กำหนดสูตรปุ๋ย อีก 3 สูตร ได้แก่สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 สูตร 13-13-21 เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการที่กำหนดการชดเชยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังเพิ่มเติม

นอกจากนั้นแล้ว ขณะนี้โครงการได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด ต่อจากนั้นจะ เริ่มดำเนินโครงการในภาคกลางทุกจังหวัดประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2554 แล้วดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป เนื่องจากมีช่วงฤดูกาลที่แตกต่างตามแต่ละภาค

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน 2554

จี้รัฐบาลวางนโยบายความมั่นคงอาหาร-พลังงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน SIGA ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความท้าทายอนาคตของโลก” ในการสัมมนา กรุงเทพธุรกิจ Economic Forum: "วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก" โดย กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ (CEDI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า โลกที่เลื่อนไหลและไม่คงรูป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ทำให้คนทั่วประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และวัฒนธรรม “Nano Second Culture” หรือ วัฒนธรรม “ความเป็นเดี๋ยวนี้” ส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานของโลกเปลี่ยนไปทั้งหมด

ศตวรรษที่ 19 เป็นเรื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ศตวรรษของเรา โลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยผู้คนมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายทุน สินค้าบริการ ความคิด รวมทั้งการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้โลกที่เคยคงรูป เปลี่ยนเป็นโลกที่เลื่อนไหล โลกที่ต่างคนต่างอยู่ ประเทศใครประเทศมัน เปลี่ยนเป็นว่าการกระทำของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่อประเทศอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากนี้ไปสุขจะสุขด้วยกัน และเมื่อทุกข์ก็จะทุกข์ด้วยกัน

ขณะเดียวกัน โลกในศตวรรษนี้เราไม่สามารถแยกได้เลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เพราะทุกวันนี้เหล่านี้นี้แยกหรือแกะกันไม่ออก เพราะเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สังคมเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีมาบตาพุดเป็นกรณีที่ชี้ว่าการที่มองอะไรแบบแยกส่วน ทำให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายมากกายมหาศาลเพียงใด

สำหรับไทยก็เช่นกัน เราไม่สามารถแยกว่าเกษตรของไทยก็คือของไทย ไม่เกี่ยวกับภูมิภาค ไม่เกี่ยวกับโลก เราแกะไม่ออกระหว่างไทย ภูมิภาคอาเซียนและโลก

"จากสถานการณ์โลกที่เลื่อนไหล ทำให้ทุกอย่างไม่มีความแน่นอน ทุกคนก็มองในเรื่องตีหัวเข้าบ้าน อะไรที่ได้มาก่อนก็รีบทำ เพราะกลัวว่าพรุ่งนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ทำให้พฤติกรรมของคนบนโลกเปลี่ยนไป เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่าที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 10 ยกลบ 9 วินาที จากเมื่อก่อนเราอยู่ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี และวัฒนธรรมเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างต้องเดี๋ยวนี้ ทำให้ เรารู้สึกร้อนลนไปกับทุกอย่าง เช่น หากต้องรออีเมล์แต่ต้องใช้รอเพียง 10 วินาทีก็รู้สึกร้อนลน"

ในด้านอุปสงค์ทำให้เกิดค่านิยม Hyper Consumption คือ บริโภคไว้ก่อน กักตุนไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะพรุ่งนี้เกิดอะไรขึ้น ทุกคนเอาแต่ได้ไว้ก่อน ทำนองเดียวกันในด้านซัพพลาย เกิด Hyper Competition คือ คนพยายามเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปตอบโจทย์ด้านดีมานไซด์ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สนใจว่าทรัพยากรเหล่านี้ที่สุดจะหมดไป เป็น Hyper Capitalism ส่วนคนรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร ไม่สนใจ เราสนใจแต่วันนี้ ผลที่เกิดขึ้น คือ มีการพัฒนา แต่เราไม่มีความสุข เพราะเป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุล

นอกจากนี้ การสร้างความมั่งคั่งในเชิงเศรษฐกิจยิ่งมากเท่าไหร่ กลับมีผลกระทบมากมายต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาที่มีอยู่ เราทำลายทุกอย่างเพื่อตอบโจทย์ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อทุกคนต่างคิดอย่างนี้ โลกจึงเกิดความไม่สมดุล และเป็นความความไร้สมดุลระหว่างสมดุลระหว่างโลกธรรมชาติกับโลกมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความโหดร้ายจากธรรมชาติในรูปของภัยพิบัติต่างๆ กรณีล่าสุดที่ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ไข้หวัดนก ไข้หวัด 2009 และการลี้ภัยที่เกิดจากความหิวโหยของมนุษย์

"หากเราถอยหลังไป 10 กว่าปี ประเทศไทยมีวิกฤติต้มยำกุ้ง จากนั้นก็จะมีวิกฤติที่ซ้ำซ้อนตามมาเรื่อยๆในหลากมิติ บางมิติเป็นเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ แต่บางมิติเป็นมิติสังคม บางมิติเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกที่ไม่เหมือนเดิม โลกที่เลื่อนไหล ทำให้เราต้องอยู่กับวิกฤติอีกมากมายตลอดไป วิกฤติจะมีมากขึ้น หลากมิติมากขึ้น ความรุนแรงมากขึ้น โอกาสที่จะหวนกลับมาอีกมีมากขึ้น มีขอบเขตกว้างขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงที่เฉียบพลันมากขึ้น พวกไม่มีทางเลือกมากนัก"

โลกมีทางเลือก 2 ทาง คือ ทางเลือกที่มีแต่ความขัดแย้ง มีวิกฤติ ที่นำไปสู่การล่มสลายของอารยธรรมของมนุษยชาติ หรือ 3C หรือ ทางเลือกที่เราจะเดินในเรื่องความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และความยั่งยืน หรือ 3S อย่างไรก็ตาม การสร้าง 3S เพื่อหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ของ 3C ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานจะเป็นทั้งหมดของความยั่งยืน ขณะที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การหลุดพ้นจากความอดอยากทั้งมวล เป็นลำดับความสำคัญสูงสุดของโลกที่เราต้องสร้างในศตวรรษนี้

ทั้งนี้ นิยามใหม่ของความมั่นคงไม่ใช่เรื่อง Nation Security แต่เป็นความมั่นคงระดับปัจเจกของพวกเราทุกคน และความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องการเพาะปลูก การทำการเกษตรเท่านั้น แต่เราต้องให้ความสนใจกับวิทยาการสมัยใหม่ และต้องมีการจัดการในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ความไม่แน่นอน และความไม่มั่นคง ขณะที่ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานจะเป็นตัวการันตีความเป็นอิสระของมนุษย์ ประเทศไทยและพวกเรา แต่เราต้องเปลี่ยน Mindset คือ ความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน

โดยต้องทำงานที่เน้นวัตถุประสงค์มากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และนอกจากการเปลี่ยน Mindset แล้ว เราต้องเข้าใจบริบทของโลก โลกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว โลกเปลี่ยนอย่างไร มีผลกระทบอย่างไร และเราต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง

ในเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานไม่ใช่วาระของประเทศแล้ว แต่เป็นวาระของโลก เพราะขณะนี้บริบทของโลกกำลังถูกคุมคามจากปัจจัยที่น่ากลัว 4 เรื่อง คือ การขาดแคลนอาหาร พลังงาน น้ำ และขาดแคลนคนที่มีทักษะมีวิทยาการ ในขณะที่ประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีคนชั้นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย ที่คนไม่เคยมีความมั่งคั่งมาก่อน แต่ขณะนี้มีความมั่นคั่งมหาศาลและชนชั้นกลางจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น

หากโลกร้อนเป็นประเด็นท้าทายในศตวรรษที่แล้ว ความท้าทายในศตวรรษนี้ คือ ความไม่สมดุลของประชากรโลก จะมีคนเต็มไปหมด แต่บางประเทศคนไม่มีอาหาร ไม่มีงานทำ ไม่มีอนาคต ขณะที่บางประเทศมีคนร่ำรวยมหาศาล แต่มีแค่คนแก่ ส่วนผลพวกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีการปรากฏการณ์แผ่นดินไหว น้ำท่วม และอื่นๆอีกมากมายทั้งใต้ดินบนดินเหนือดิน ขณะที่คนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

เช่น ในเวลาแค่ 10 ปี คนชั้นกลางของจีนและอินเดียคิดเป็น 50% ของโลกแล้ว ส่วนในอาเซียนเองมีการคาดการว่าในปี 2030 อินโดนีเซียจะมีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคน ไทยมีคนชั้นกลาง 25 ล้านคน มาเลเซียมีคนชั้นกลาง 20 ล้านคน และเมื่อคนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ราคาอาหารจะต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะคนพวกนี้ต้องการโปรตีนสูงและบริโภคในสิ่งที่ดีขึ้น ขณะที่ความต้องการธัญพืชจะเพิ่มขึ้นในปริมาณมหาศาลเพื่อผลิตอาหารสัตว์ และผลิตโปรตีนป้อนความต้องการของชนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้น

หากนับถอยหลังจากปี 1980 จนถึงปี 2008 จีนมีการบริโภคหมู ไก่ เนื้อ เพิ่มขึ้นมาก เขาต้องใช้ข้าวโพดและถั่วเหลืองในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ถั่วเหลืองเพิ่มจาก 1.1 เพิ่มเป็น 31 ล้านตัน จีนได้สลับตัวเองจากประเทศผู้ผลิตอาหารมาเป็นประเทศที่นำเข้า แต่ประชาการจะเพิ่มเป็น 9.2 พันล้านคนจะทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 70% จากปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบัน ปริมาณอาหารเพิ่มแบบอนุกรมเลขคณิต แต่ประชากรเพิ่มขึ้นตามอนุกรมเลขาคณิต มันไม่มีทางตามกันทัน

การแย่งชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของโลก เพราะประชากรในโลกที่ 3 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวน 9 ใน 10 คนของประชากรโลกจะอยู่ในประเทศโลกที่ 3 ที่ไม่มีอนาคตและไม่มีอาหารเพียงพอ แต่ประเทศร่ำรวยจะมีอาหารมากเกินพอ และไม่ใช่แต่เฉพาะความต้องการอาหารที่จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่หากมองมิติพลังงาน จะพบว่าความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นไม่หยุดไปจนถึงปี 2035

ส่วนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร หากไม่มีมาตรการรับมือกับภาวะโลกร้อนจะทำให้จีดีพีจะหายไป 5% เทียบกับโลก ส่วนโลกจีดีพีจะหายไป 2% ขณะที่ผลการวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การผลิตข้าวไทยจะหายไป 50% ไทยจึงอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากจากภาวะโลกร้อน และมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะถูกบังคับให้ผลิตอาหารมากขึ้น ซึ่งทำให้ภาคเกษตรของไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือ

เราต้องมองไปถึงคนรุ่นต่อไปว่า หากโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกหายไป โลกมีแผ่นดินไหว โลกจะเอียงมากขึ้น จะมีพื้นที่ที่ไม่น่าสนใจ คือ ขั้นโลกเหนือ เช่น ตอนเหนือสหรัฐ กรีนแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และรัสเซีย จะเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ เพราะทรัพยากรยังสดมาก ประเทศเหล่านี้คือความหวัง แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะอยู่ตรงไหน ขณะที่ภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนทำให้สิ่งที่ฝันต้องสะดุด เงินที่จะนำมาใช้ด้านสวัสดิการสังคมถูกใช้เยียวยาภัยธรรมชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงนโยบายความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของไทย คงต้องถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนบ้างที่นั่งคำนวณว่าโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติกับภัยคุกคามจากน้ำมือมนุษย์มีสัดส่วนเท่าไหร่ และหากไทยเกิดภัยธรรมชาติจะสร้างความเสียหายเท่าใด แม้ว่าขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์จะให้ความสนใจมากขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิด แต่บางครั้งเราทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือไม่จริงๆก็ได้ อย่างนักการเมืองเขาไม่รู้จริงๆก็ช่วยไม่ได้

คนยากจนต้องใช้เงิน 70% ของรายได้จ่ายเป็นค่าอาหาร หากอาหารเพิ่มเป็น 2 เท่าเขาจะอยู่อย่างไร ถามว่าเรามีนโยบายที่ชัดเจนอะไรหรือยัง หรือเป็นเพราะเรามีปัจจัยภายในที่เกิดจากความห่วยในเรื่องการบริหารจัดการของเราเอง หรือตลาดที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ หลายประเทศมีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานที่ชัดเจน เช่น หากราคาพลังงานสูงขึ้น เพราะการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง การนำพืชอาหารมาผลิตพลังงานจะแบ่งกันอย่างไร ซึ่งในบราซิลเขามีนโยบายชัดเจนที่ว่าเขาจะไปในด้านพลังงาน แต่ของไทยยังไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งและมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน หรือแนวนโยบายที่จะตอบโจทย์เหล่านี้เลย ดังนั้น ไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับประเด็นเหล่านี้ ซึ่งดีกว่าดีกว่าไปทำประชานิยมอย่างที่เห็นๆกันอยู่ และตอบโจทย์ได้มากกว่า

"ญี่ปุ่นใน 10 ปีจากนี้เขามุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่จะตอบโจทย์อาหารและพลังงานในอนาคต เกาหลีใต้มีการลงทุนเทคโนโลยีสีเขียวและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม หลายประเทศตอบโจทย์ไปสู่เป็น Low Carbon Society จีน อินเดียไปลงทุนด้านอาหารและซื้อแหล่งพลังงานในอัฟฟริกา และลาติน-อเมริกา จะเห็นได้ว่าทุกประเทศมีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าเขาจะเป็นอะไรแล้วเขาก็จะเป็นให้ได้ ผิดกับบางประเทศ ทุกประเทศมองทุกอย่างเป็นเชิงรุก พยายามพ้นจากข้อจำกัดที่ตัวเอง ” ดร.สุวิทย์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com/  วันที่ 21 มิถุนายน 2554

เปิดตัวชุดตรวจ"กรด-ด่าง"ดิน ฝีมือคิดค้นสำนักวิทย์หมอดิน ราคาประหยัดประสิทธิภาพสูง

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า การให้บริการด้านวิเคราะห์ ตรวจสอบดิน เพื่อประเมินระดับความอุดมสมบูรณ์ และใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินให้แก่เกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละเป็นจำนวนมาก ในการซื้อชุดตรวจสอบดินอย่างง่าย เพื่อแจกจ่ายให้กับหมอดินอาสา เกษตรกร ในการนำไปใช้วิเคราะห์ดิน ซึ่งชุดตรวจสอบดินอย่างง่าย มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณของตัวอย่าง และน้ำยาบางตัวเมื่อเปิดใช้แล้วมีอายุการใช้งานจำกัด ต้องรีบใช้ให้หมด ทำให้ไม่สะดวก สิ้นเปลือง และต้องมีภาระกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นจำนวนมาก

เหตุนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน จึงได้คิดค้นและพัฒนาชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของดินอย่างง่ายได้สำเร็จ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถตรวจสอบค่าพีเอชของดินและประเมินผลในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก สามารถทราบผลได้ทันทีภายใน 2 นาที ไม่ต้องเสียเวลาส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างนี้ บรรจุอยู่ในกระเป๋าที่มีขนาดกระทัดรัดเหมาะแก่การนำไปปฏิบัติงานในภาคสนาม

ทั้งนี้ชุดน้ำยาตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของดินหรือ (LDD pH Test Kit)จะประกอบไปด้วย ขวดพลาสติกบรรจุน้ำยาประมาณ 30 มิลลิลิตร ตามด้วยแผ่นเทียบสี เป็นแผ่นเทียบสีมาตรฐาน เคลือบด้วยพลาสติกใส นอกจากนั้นก็ยังมีช้อนตักดิน ที่เป็นช้อนตักดินสแตนเลสมี 2 ด้าน ใช้สำหรับคนดินและถาดหลุมที่ใช้สำหรับใส่ตัวอย่างดิน เพื่อดูสีเปรียบเทียบกับแผ่นเทียบสี

สำหรับประโยชน์ของ"ชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของดิน" จะช่วยให้นักวิชาการ เกษตรกร หมอดินอาสา สามารถนำชุดตรวจสอบความเป็นกรด-ด่าง ของกรมพัฒนาที่ดิน ไปใช้ตรวจสอบดินในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจสอบดินได้ภายใน 2 นาที ทำให้ทราบระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินในเบื้องต้น ไม่ต้องเสียเวลาหรืองบประมาณในการส่งดินมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2554

คาดกู้หมื่นล.อุ้มราคาอ้อย

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลในไทยทั้งหมด 46 แห่ง ได้ปิดหีบอ้อยเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการปิดหีบอ้อยช้าที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น จากปกติจะอยู่ปลายเดือนเม.ย. เนื่องจากผลผลิตอ้อยปีนี้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีปริมาณถึง 95.4 ล้านตัน จากประมาณการไว้ 66 ล้านตัน ได้ผลผลิตน้ำตาล 9.63 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ต้องกู้เงินมาเพิ่มค่าอ้อย 105 บาท/ตัน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไว้ สูงกว่าที่เคยประมาณการไว้ว่าจะกู้ 6.9 พันล้านบาท ต้องเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท และคงต้องหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของมูลหนี้ที่จะเพิ่มอีก คิดว่าไม่น่ามีปัญหาและคาดว่าเงินตรงนี้จะใช้หนี้หมดในช่วงปลายปีนี้

สำหรับสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกยังปรับตัวขึ้นตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ตามแรงซื้อของกลุ่มกองทุนและนักเก็งกำไรต่างๆ โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากปัญหาความล่าช้าในการส่งออกน้ำตาลของบราซิลและไทย ในขณะที่ความต้องการน้ำตาลมีมากจากประเทศต่างๆ ในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในช่วงก่อนเทศกาลรอมฎอนในเดือนส.ค.และยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ


จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 18 มิถุนายน 2554

ปิดหีบอ้อยฤดูการผลิต53/54 ได้ปริมาณน้ำตาลทราย9.6ล้านตัน

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อยสำหรับฤดูการผลิตปี 2553/2554 แล้ว เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา โดยโรงงานที่ปิดหีบเป็นแห่งสุดท้ายอยู่ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ รวมแล้วมีอ้อยเข้าสู่การหีบทั้งสิ้น 95.35 ล้านตัน น้ำตาล 9.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าตามราคาขายประมาณ 180,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2553 ที่อยู่ในระดับ 130,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท

สำหรับอ้อยที่เข้าหีบในปี 2554 นี้เป็นอ้อยที่ไฟไหม้ 63 ล้านตัน สาเหตุเพราะเป็นความตั้งใจของชาวไร่ในการเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝนตกชุก หากใช้แรงงานคน อ้อยจะตัดไม่ทัน จึงจำเป็นต้องเผา ในลักษณะแบบลวก ที่เน้นเผาเฉพาะใบอ้อยเท่านั้น หากส่งอ้อยเข้าหีบได้ทันภายใน 24 ชั่วโมง คุณภาพอ้อยก็ยังไม่ลดลงมากนัก และยังช่วยให้ตัดอ้อยได้เร็วขึ้นกว่าปกติ 3-4 เท่า ประหยัดค่าแรงงานลงได้มาก แต่ถ้าไม่เผา เมื่อฝนตกฉุก การตัดอ้อยในขณะที่ไร่อ้อยอยู่ในภาวะน้ำท่วม ค่าแรงตัดอ้อยจะแพง ขึ้น 2-3 เท่า

สำหรับสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลก ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย โดยน้ำตาลทรายขาวส่งมอบเดือนสิงหาคม 2554 ราคาอยู่ที่ 706.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากบราซิลผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก มีปัญหาท่าเรือที่มีการจราจรติดขัดมาก ทำให้ขนส่งไม่สะดวก ขณะที่ประเทศที่ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็มีปัญหาเรือขนน้ำตาลล่ม จึงทำให้ราคาน้ำตาลปรับขึ้น ประกอบกับเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเป็นช่วงออกจากเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมทั่วโลกจะฉลองหลังผ่านพ้นช่วยถือศีลอด ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลเพิ่มขึ้น

ส่วนการแก้ปัญหาอ้อยไหม้ไฟจากการเผาของชาวไร่อ้อยนั้น ขณะนี้มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อรถตัดอ้อย โดยมีการปล่อยสินเชื่อ และทำให้มีรถตัดอ้อยถูกน้ำไปใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 200-300 คันทั่วประเทศ ยอดปล่อยกู้เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2554 จะเพิ่มวงเงินสินเชื่อรถตัดอ้อยเป็น 2,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการได้ล่าช้าจากการพิจารณาดอกเบี้ยผ่อนปรนของกระทรวงการคลัง และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายยังจัดเงินเพื่อทำโครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยเสริม อีก 1,000 ล้านบาท ทำให้จะมีวงเงินสำหรับสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยสูงถึง 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ผ่อนนาน 6 ปี


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 มิถุนายน 2554

U-Innovation รถเก็บเกี่ยวอ้อย ฝีมือนักศึกษาราชมงคลธัญบุรี

ปัจจุบันจะเห็นว่าแรงงานในภาคเกษตรได้ย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้แรงงานทางด้านการเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ถึงอย่างนั้นก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นวิธีการแก้ไข จึงจำเป็นต้อง ใช้เครื่องจักรเข้าช่วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรบางเครื่องจักรก็ยังนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่มีทุนไม่มาก ไม่สามารถนำเข้ามาใช้กับกิจการของ ตัวเองอยู่ดี อย่างเช่นในปัจจุบันอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากราคาที่สูงซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยกันมากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตอ้อยเพื่อป้อนสู่โรงงานน้ำตาลในปัจจุบันยังใช้แรงงานคนค่อนข้างมากในการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว

ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประกอบด้วย นายกฤตบุญ ชุ่มปก นางสาวจิระนันท์ นิมมานวโรดม และนางสาว วรรณิษา โลมาธร มีแนวคิดในการพัฒนารถเก็บเกี่ยวอ้อยให้มีต้นทุนในการผลิต ต่ำขึ้น และสามารถทำได้จนประสบผลสำเร็จ โดยโครงการนี้มี รศ.ดร.รุ่งเรือง กาลศิริศิลป์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตลอดโครงการ

เจ้าของผลงานเล่า วิธีการเก็บเกี่ยวอ้อยในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีคือ ใช้แรงงานคน และใช้เครื่องจักร ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่า การเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยแรงงาน (แบบ เผาอ้อย) จะมีข้อดีคือง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนข้อเสีย คือ เปอร์เซ็นต์ค่าความหวานลดลง ถูกตัดเปอร์เซ็นต์ค่าความหวาน จากโรงงาน และเสี่ยง ต่อการลุกลามไปไร่ข้างเคียงหากทำทางกั้นไฟไม่ดี

ส่วนการเก็บเกี่ยวอ้อยแบบไม่เผาอ้อยข้อดีคือ ไม่ถูกตัดค่าความหวานจากโรงงาน และลดการระเหยของความชื้นในดิน ข้อเสียคือ ยากต่อการเก็บเกี่ยว และ อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อศึกษาอย่างละเอียดแล้วยังพบว่า การเก็บเกี่ยวโดย แรงงานคน นั้นมีข้อเสียคือใช้เวลามากในการเก็บเกี่ยว ค่าจ้างแรงงานสูง (มัดละ 1 บาท อ้อย 13 ลำ/มัด) ขาดแคลน แรงงาน และต้องจ่ายเงินล่วงหน้า

แต่แม้การเก็บเกี่ยวโดย การใช้แรงงาน จะมีข้อจำกัดอยู่มาก เมื่อเทียบกับเครื่อง จักรที่มีราคานำเข้าแพงก็ทำ ให้ไม่คุ้มกับการลงทุนของเกษตรกรอยู่ดี ดังนั้นรถเก็บเกี่ยวอ้อยต้นแบบ จึงถูกประดิษฐ์ขึ้น ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าว

จ้าของผลงานเล่าว่า รถเก็บเกี่ยวอ้อยต้นแบบประกอบด้วยชุดตัดยอดอ้อยที่ทำงานด้วยระบบไฮดรอลิก, ชุดสับท่อนอ้อย, ชุดตัดโคนอ้อย, ระบบลำเลียงต้นอ้อยชุดหน้าโดยโซ่ลำเลียงแบบยึดกับแผ่นยางหนีบอ้อย และระบบลำเลียงท่อนอ้อยชุดหลัง

จากการทดสอบและประเมินผล พบว่ารถตัดอ้อยต้นแบบ มีความเร็วในการทำงานเท่ากับ 3.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 20.87 ลิตรต่อเฮกเตอร์

อย่างไรก็ตาม เจ้าของผลงานยังได้บอกว่า รถเก็บเกี่ยวอ้อยนี้เป็นเพียงรถต้นแบบ ดังนั้นในอนาคตพวกตนได้ตั้งใจเอาไว้ว่า จะพัฒนาประสิทธิภาพให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อรองรับต่อความต้องการของเกษตรกรต่อไป


จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 18 มิถุนายน 2554

บริษัทเรือน้ำตาลล่มยอมจ่าย!

บริษัทเจ้าของเรื่อล่มในเจ้าพระยายอมจ่ายค่าเสียหายแล้วพ่อเมืองพระนครศรีอยุธยาเผยการเจรจาได้ข้อยุติแล้ว โดยแยกจ่ายเป็น 2 กรณีทั้งบ้านพังและภาคประมง เตรียมนัดทั้งสองฝ่ายทำสัญญาข้อตกลงร่วมกันที่ศาลากลางจังหวัด วันที่ 17 มิ.ย.นี้ ด้านอธิบดีกรมเจ้าท่าระบุ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เกิน 7 ล้าน เชื่อเจ้าของเรือยอมจ่ายแต่โดยดี แต่หากยึกยักเจอฟ้องแน่

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ผลการเจรจาการชดเชยความเสียหาย กรณีปัญหาเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณหมู่ 2 ต.ภูเขาทอง โดยทางจังหวัดและอัยการจังหวัด ได้เรียกตัวแทน 4 บริษัทคือ 1. กลุ่มบริษัท เจเอ็นพี (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ว่าจ้างให้มีการขนส่งน้ำตาลทางเรือ 2. บริษัท อัลฟ่า มารีน ซัพพลาย จำกัด ที่เป็นเจ้าของเรือและรับการว่าจ้างขนส่งน้ำตาลทางเรือ 3. บริษัท ไทยรวมทุนคลังสินค้า จำกัด เจ้าของโกดังน้ำตาลก่อนที่จะขนส่งลงเรือลำที่เกิดเหตุ และ 4. บริษัท น้ำตาล สระบุรี จำกัด ที่เป็นเจ้าของน้ำตาล มาประชุมร่วมกับชาวบ้านที่เสียหายอย่างเป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 และ วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ล่าสุดในวันเดียวกันนี้มีข้อยุติในเบื้องต้น และเป็นข้อยุติที่มีทิศทางที่ดีมาก เพราะมีข้อสรุปตัวเลขและแนวทางการจ่ายเงินชดเชย รวมถึงเงื่อนไขเวลาการชดเชยแล้ว โดยแนวทางการช่วยเหลือแยกเป็น 2 ประเด็นคือ แนวทางแรกช่วยเหลือชดเชยกรณีบ้านพังเสียหาย และกรณีที่สองความเสียหายในภาคประมง สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในการชดเชยบ้านเรือนที่เสียหาย บริษัท เจเอ็นพี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 2 ใน 3 ส่วน และบริษัท อัลฟ่า มารีน จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ส่วน โดยในวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. เวลา 13.00 น. บริษัทและผู้ประสบภัยจะมาทำสัญญาข้อตกลงร่วมกันที่ศาลากลางจังหวัด

ด้านนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงการเรียกค่าเสียหายบริษัท เจเอ็นพี ผู้รับจ้างขนส่งน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่ล่มว่า ความเสียหายและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเหตุการณ์ครั้งนี้ คาดว่าไม่เกิน 7 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้เรือ 1.5 ล้านบาท ค่าสร้างเขื่อนถาวรไม่เกิน 5 ล้านบาท และส่วนอื่นอีกเล็กน้อย ซึ่งกรมฯ ได้หารือกับบริษัทเจ้าของเรือขนส่งน้ำตาลทรายแล้ว โดยบริษัทฯ ยืนยันว่ายินดีออกค่าใช้จ่ายให้กรมฯ จึงเชื่อว่าจะไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แต่หากค่าใช้จ่ายใดที่ไม่สามารถตกลงกับบริษัทฯ ได้ และมีหลักฐานที่เกิดขึ้นจริงก็คงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป.


จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 15 มิถุนายน 2554

พด.เร่งเครื่องลดใช้สารเคมี เปิดติวเข้มประธานกลุ่มเกษตรกรทั่วปท./ปลุกใช้สารอินทรีย์ทดแทน

นายจรูญ ยกถาวร รองอธิบดีด้านวิชาการ กรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่าตามที่กรมฯ ได้มีการดำเนินงานส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์เพื่อลดใช้สารเคมีทางการเกษตร ทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ นั้น เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง โดยสามารถผลิตและใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นการลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยในปี 2554 นั้น กรมฯ ได้ดำเนินงานจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรฯ ไปแล้ว จำนวน 9,000 กลุ่ม รวม 450,000 ราย เนื้อที่ 9 ล้านไร่ ทั้งนี้กรมฯ ได้จัดฝึกอบรมเตรียมความพร้อมวิทยากรระดับพื้นที่ไปแล้ว และได้มอบหมายให้วิทยากรระดับพื้นที่ของกรมฯ เป็นวิทยากรดำเนินการให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เข้าอบรม

ทั้งนี้ในปี 2554 กรมฯได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมกรมพัฒนาที่ดิน และการขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ สำหรับประธานกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตรไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดยมีประธานกลุ่มเกษตรกรจากทั่วประเทศร่วมเข้ารับการอบรม 700 ราย ซึ่งการอบรมจะเน้นให้ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่งพด.ด้านการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและธาตุอาหารพืช ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์พด. ด้านการควบคุมป้องกันแมลงศัตรูพืช ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยหลังจากการอบรมแล้ว กรมฯจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ต่างๆตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ต่อไป

สำหรับประโยชน์จากการอบรมในครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนองค์ความรู้ของประธานกลุ่มเกษตรกรในการใช้สารอินทรีย์ ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่จัดตั้งไว้แล้วในปี 2554 ให้ได้มีความรู้เรื่องการใช้สารอินทรีย์ และหลักการผลิตสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand มากยิ่งขึ้น เพื่อการขยายเครือข่ายถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในการใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร และประธานกลุ่มฯจะเป็นแบบอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรฯ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรของตนเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2554

เลื่อนสั่งคดีอดีต สจ.ชลบุรี โกงน้ำตาล 14 ก.ค.


อัยการพิจารณาสำนวนไม่เสร็จ จำเป็นต้องสั่งเลื่อนสั่งคดีอดีต สจ.ชลบุรี โกงน้ำตาล 198 ล้านออกไปเป็น 14 ก.ค. 54

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้( 14 มิ.ย. ) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก อัยการฝ่ายคดีศาลแขวงพระนครเหนือ 1 นัดสั่งคดีที่ นาย สมศักดิ์ เนตรเนรมิต อายุ 69 ปี อดีตสมาชิกสภา จ.ชลบุรี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฉ้อโกงซื้อน้ำตาลทรายขาว

ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีนาย กิตติพล กิ่งพนม อายุ 46 ปี กรรมการ บริษัทเอสเอสเวิร์ด อิมพอร์ต จำกัด ผู้เสียหาย ติดต่อขอซื้อน้ำตาลทรายขาวจาก นายสมศักดิ์ ที่อ้างว่า สามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายในราคาต่ำกว่าท้องตลาดได้ และออกอุบายพาผู้เสียหายไปชมโรงงานน้ำตาล ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ทำสัญญาซื้อขาย 2 ฉบับ มูลค่ากว่า 198 ล้านบาท เมื่อปี 2552 และได้วางเงินมัดจำล่วงหน้า 19.8 ล้าน บาท มีกำหนดส่งมอบสินค้าภายใน 30 วัน แต่เมื่อถึงเวลา นายสมศักดิ์กลับไม่ส่งสินค้าให้ เมื่อขอยกเลิกสัญญา นายสมศักดิ์ ก็ยินยอมจ่ายเช็คคืนเงิน 15.8 ล้านบาท ให้ แต่ภายหลังธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อย่างไรก็ตามอัยการยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ จึงมีคำสั่งเลื่อนสั่งคดีไปเป็นวันที่ 14 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น.


จาก http://dailynews.co.th  วันที่ 14 มิถุนายน 2554

KSL กำไรแข็งแกร่ง (หุ้นเด่น)

บล.เคจีไอ วิเคราะห์ หุ้นบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL) โดยระบุว่า เราคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2/54 จะโตถึง 325.6% YoY และ 198.8% QoQ เป็น 431.5 ล้านบาท จากปริมาณยอดขายที่สูงขึ้นตามปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จากการคุยกับฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท ปริมาณยอดขายน้ำตาลของ KSL ในไตรมาสที่ 2/54 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 ตัน เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 84,300 ตันในไตรมาสก่อน นอกจากนี้บริษัทยังไม่ต้องบันทึกผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ซึ่งสูงถึง 645.4 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เราคาดว่าปริมาณยอดขายในไตรมาสที่ 2/54 จะลดลงประมาณ 28.7% YoY เนื่องจากคำสั่งซื้อถูกเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสที่ 3/54 แทน ดังนั้นเราจึงคิดว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/54 น่าจะดีกว่าในไตรมาสที่ 2/54 และเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสำหรับปีนี้

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่าผลผลิตอ้อยของประ เทศไทยในปี 2554 (พฤศจิกายน-ตุลาคม) เพิ่มขึ้น 39.2 % YoY เป็น 95.3 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ ลา นิญญ่า ที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนในปีนี้เพิ่มขึ้น โดยผลผลิตอ้อยรวมในปีนี้นั้นสูงกว่าที่เรา

คาดไว้เดิมที่ 80 ล้านตัน สำหรับปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาล 4 แห่งของ KSL มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้น 40.0% YoY เป็น 6.17 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าสมมติฐานเดิมของเราที่ 5.2 ล้านตัน และปริมาณอ้อยที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลบวกต่อปริมาณยอดขาย และ อัตรากำไรขั้นต้นของ KSL ดังนั้นเราจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์กำไรสุทธิของบริษัทขึ้นเป็น 1.27 พันล้านบาท จาก 1.0 พันล้านบาท (ดูภาพที่ 2)

คงคำแนะนำ "ซื้อ" เป้าหมาย 15.40 บาท

ด้วยแนวโน้มผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2/54 และจะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาสที่ 3/54 เราจึงยังคงคำแนะนำซื้อ ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ที่ 15.40 บาทจากเดิมที่ 15.20 บาท โดยอิงที่ระดับ 20 เท่าของ PE ปี 2554 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย PE ระยะยาว (2550-ปัจจุบัน ไม่รวมปี 2553) ซึ่งเราได้ปรับ PE เป้าหมายจาก 25.0 เท่าเหลือ 20.0 เท่า เนื่องจากเราเห็นว่าสถานการณ์น้ำตาลในตลาดโลกไม่เอื้อต่อการที่ราคาหุ้นจะซื้อขายเหนือกว่าระดับ PE เฉลี่ย โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดว่าจะปรับตัวลดลงในฤดูกาลหน้าตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตน้ำตาลโลก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2554

สอน.กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ 3 ขั้นตอน

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ 3 ขั้นตอน รองรับปัญหาเรือบรรทุกสินค้าล่ม

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำ "แผนการป้องกันและบรรเทาภัยจากการขนส่งน้ำตาลทรายทางน้ำ" ว่า ที่ประชุมกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนการป้องกันและบรรเทาภัยฯ ไว้ 3 ขั้นตอน คือ มาตรการขณะที่ยังไม่เกิดเหตุ คือการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยหรือประกาศแจ้งเตือนเส้นทางการขนส่งทางน้ำที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยสำนักงานเจ้าท่าในพื้นที่ หรือศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานหลักในการรับแจ้งเหตุ และเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและติดต่อด้านต่างๆ ได้ ด้านผู้ประกอบการทางสินค้า และเซอร์เวเยอร์ ต้องตรวจสอบและประเมินความพร้อมในการปล่อยเรือบรรทุกสินค้าน้ำตาลให้ได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดทั้งตัวเรือบรรทุกสินค้า ผู้ควบคุมเรือและน้ำหนักที่บรรทุก รวมถึงใบอนุญาตเรือจะต้องไม่หมดอายุ ส่วนขณะเกิดภัย กำหนดให้ผู้ประกอบการคล้งสินค้า ท่าเรือขนส่งน้ำตาลทราย ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือ เข้าระงับเหตุตามแผนฉุกเฉิน และแจ้งสายด่วน กรมเจ้าท่า 1199 และสุดท้ายคือหลังเกิดภัย ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เข้าไปยังบริเวณที่เสียหาย และตรวจสอบว่า มีผลกระทบหรือไม่ เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป

ส่วนมาตรการเพิ่มเติม เห็นว่า เห็นควรให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล จัดตั้งงบฉุกเฉิน เพื่อเตรียมพร้อมเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้น้ำตาลทรายและเรือโป๊ะล่ม ในสถานการณ์เฉพาะหน้าและเร่งด่วน เพื่อป้องกันให้ผลกระทบและความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด และควรให้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมในการขนถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว หากเกิดกรณีเรือโป๊ะล่มอีก ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปขนาดของกองทุนได้ จะต้องมีการหารือกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนงบประมาณและหากได้รับความเห็นชอบ คาดว่าจะจัดตั้งงบดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้


จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 13 มิถุนายน 2554

'ประชัย'เทกระเป๋าขาย 'ปุ๋ย'

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์"ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ลั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน ทุ่มเม็ดเงินลงทุนอุตสาหกรรมปุ๋ยอินทรีย์ หวังให้เกษตรกรไทยทั่วประเทศมีฐานะร่ำรวยขึ้น เผยอนาคตรายได้ธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์มีโอกาสแซงหน้าปูนทีพีไอ เพราะไม่มีคู่แข่งขัน ลั่นทวงคืนธุรกิจน้ำมันอยู่ในขั้นตอนยื่นฟ้องศาลปกครอง หันหลังให้ภาคการเมืองไม่ขอยุ่งเกี่ยวอีกต่อไปแล้ว หากใครยังมารุกรานอีกขอโบกมืออำลาประเทศไทย

ห่างหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ไปนานพอสมควร สำหรับชื่อ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ผู้บุกเบิกกลุ่มทีพีไอ นักธุรกิจที่ลงทุนธุรกิจอะไรแล้วเล็ก ๆ ไม่ ต้องใหญ่ ๆ เท่านั้น จากเส้นทางธุรกิจปลุกปั้นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ ในนามกลุ่มทีพีไอ ก่อนเผชิญมรสุมยืดเยื้อ ขอก้าวสู่การเมืองแต่ต้องรีบถอนตัว เป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาราช ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคมัชฌิมาธิปไตย ล่าสุดวันนี้ชีวิตพลิกมุม หันไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับเกษตรกรทุกพื้นที่ของประเทศไทย จากธุรกิจที่กำลังปลุกปั้นขึ้นมาใหม่

-ปั้นธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์:
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เปิดห้องประชุมชั้น 29 อาคารทีพีไอ ทาวเวอร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ให้เวลากับธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ ธุรกิจน้องใหม่ของทีพีไอ โดยดำเนินการในนามบริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด โรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

"ความจริงแล้วผมใช้เวลาศึกษามาประมาณ 5 ปีแล้ว ไปดูงานต่างประเทศมาหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สุดท้ายไปพบการทำธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ที่ประเทศจีน เป็นการนำวัสดุธรรมชาติเหลือใช้ มาหมักด้วยอุณหภูมิ 60-80 องศาเซลเซียส ดูมาหลายประเทศไม่เข้าท่า แต่ที่จีนดีที่สุด จึงศึกษาของจีนมาเป็นต้นแบบ เพราะจีนเขาเป็นประเทศที่ใช้เคมีน้อย จึงมีความเชี่ยวชาญเรื่องอินทรีย์"

สำหรับวัสดุธรรมชาติเหลือใช้ ขณะนี้ได้รวบรวมจากจังหวัดพื้นที่ภาคกลางทั้งหมด เพราะโรงงานตั้งอยู่ที่สระบุรี สะดวกในการขนส่ง สำหรับวัสดุเหลือใช้ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนมาก โรงงานสามารถรองรับได้ทั้งหมด และได้ไปเจรจากับผู้บริหารกทม.แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าหากกทม.มีปัญหาในการกำจัด สามารถส่งมาป้อนโรงงานปุ๋ยอินทรีย์ของบริษัทได้

อย่างไรก็ดี นายประชัย ไม่ยอมเปิดเผยเม็ดเงินลงทุนธุรกิจใหม่ เพียงแต่บอกว่า ณ เวลานี้ได้ลงไปหลายพันล้านบาทแล้ว และยังต้องลงอีกมาก

-เปิดตัวปุ๋ย2ชนิด:
สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ ที่ทางบริษัทได้นำไปทดสอบแปลงทดสอบพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่และจำหน่ายให้กับเกษตรกรขณะนี้ มี 2 ชนิดด้วยกันได้แก่ปุ๋ยอินทรีย์โกร ออแกนิค ทีพีไอ เป็นปุ๋ยน้ำฉีดพ่นใบ สำหรับพืชทุกชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ดอก และไม้ผล พืชสามารถดูดเข้าทางใบ และเป็นประโยชน์ต่อพืชอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันมีปุ๋ยอินทรีย์โกร ออแกนิค ชนิดเร่งดอก ผล และความหวาน สำหรับผลไม้

ส่วนอีกชนิดเป็นปุ๋ยอินทรีย์สูตรปรับปรุงดิน หรือปุ๋ยอินทรีย์ฮูมิคส์ ปรับปรุงคุณภาพดิน ใช้ระหว่างการไถเตรียมดินก่อนปลูกพืชทุกชนิด ปุ๋ยอินทรีย์ฮูมิคส์ จะทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี จึงเหมาะกับพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้ปุ๋ยเคมีสะสมมานาน และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพดิน ปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างของดิน

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำส้มควันไม้ทีพีไอ ซึ่งเป็นสารสกัดจากวัสดุธรรมชาติเหลือใช้เช่นเดียวกัน ช่วยกำจัดเพลี้ย แมลง ศัตรูพืช มีความปลอดภัยทั้งผู้ใช้ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นสารอินทรีย์จากธรรมชาติ

-ผลผลิตเป็น "อินทรีย์":
นายประชัย กล่าวว่า พืชไร่ พืชผล ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ฮูมิคส์และโกร ออแกนิค ทีพีไอ ที่หมักจากวัสดุธรรมชาติ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดจะจัดเป็นผลิตผลอินทรีย์ทันที เพราะว่าทั้งปุ๋ยบำรุงดิน ปุ๋ยทางใบ ล้วนแต่เป็นปุ๋ยที่หมักจากวัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น และที่สำคัญให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไปและปุ๋ยเคมี เพราะมีธาตุอาหารพืชครบถ้วน

เนื่องจากหากเป็นปุ๋ยอินทรีย์ทั่วไป จะเป็นการหมักจากวัสดุเฉพาะอย่าง เช่น หมักจากกากน้ำตาล จะได้เฉพาะสารจากน้ำตาลเท่านั้น หรือปุ๋ยอินทรีย์แห้ง จะหมักด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยเพียง 45 องศาเซลเซียส ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ปุ๋ยทีพีไอหมักจากวัสดุธรรมชาติหลากหลาย ทั้งเศษพืช ผัก ผลไม้ ใบไม้ กระดูกสัตว์ เนื้อสัตว์ จึงมีธาตุอาหารพืชครบถ้วน ส่วนปุ๋ยเคมีให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ราคาปุ๋ยเคมีก็สูง หักลบกันแล้วเกษตรกรจะเหลือกำไรน้อยกว่า

-ตั้งเป้าเป็นรายได้หลัก:
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มทีพีไอมีรายได้หลักมาจากธุรกิจปูนซีเมนต์และเม็ดพลาสติก แต่ประชัยระบุว่า อนาคตมีความเป็นไปได้ที่ปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มทีพีไอ จะทำรายได้ให้มากว่าธุรกิจปูนซีเมนต์และเม็ดพลาสติก เพราะปุ๋ยอินทรีย์ไม่มีคู่แข่งขัน ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอยู่ทำลักษณะที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี เขายังไม่ยอมเปิดเผยถึงเป้าหมายยอดขาย โดยเขายืนยันว่าต้องการทำธุรกิจนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะราคาสินค้าที่ขายบริษัทไม่มีกำไรมาก แต่ต้องการให้เกษตรกรรวยก่อน โดยยกตัวอย่างปลูกข้าว 1 ไร่ ได้ผลผลิต 600 กิโลกรัม หากคำนวณที่ราคาประกันรายได้ของรัฐบาล ตันละ 11,000 บาท เกษตรกรมีรายได้ไร่ละ 6,000 บาท หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทีพีไอ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มเท่าตัว เฉลี่ยคือ 1,000 กิโลกรัม มีรายได้ 11,000 บาท ต้นทุนปุ๋ยอยู่ที่ 600-700 บาท หากใช้เหลือรายได้ประมาณ 10,000 บาท ปุ๋ยเคมีต้นทุนปุ๋ยอยู่ที่ไร่ละ 3,000 บาท เหลือรายได้ 6,000-7,000 บาท

-ไม่คิดหวนคืนการเมือง:
เนื่องจากอดีต ประชัย เคยมีตำแหน่งถึง หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่การเลือกตั้งระดับประเทศในปีนี้ไม่มีชื่อ "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" อยู่ในทำเนียบผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด เขาบอกว่าพอแล้วสำหรับการเมืองประเทศไทย ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตและธุรกิจดีขึ้น ชีวิตหลังจากนี้ขอตอบแทนคุณแผ่นดิน และหากทำธุรกิจอะไรแล้วยังมีคนมารุกรานอีก ก็คงไม่อยู่ในประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว "เบื่อจริง ๆ ทำเกือบตาย อยู่ ๆ มายึดกันเฉยเลย" ประชัยกล่าวตอนหนึ่ง

เขากล่าวตอนท้ายว่า สำหรับธุรกิจน้ำมันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขอคืน โดยยื่นฟ้องศาลปกครอง และมีความมั่นใจว่าจะได้คืน เพราะประเทศไทยเป็นทุนนิยม ถ้าไม่คืนก็เป็นประเทศคอมมิวนิสต์


จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2554

น้ำตาลโลกล้น2เดือนราคาร่วงฮวบ

วงการน้ำตาลจับตา 2 เดือน ราคาน้ำตาลดิบโลกร่วงกราวรูดจาก 36.08 เซ็นต์/ปอนด์ลงมาอยู่ที่ 20.47 เซ็นต์/ปอนด์ หวั่นราคาในประเทศสูงกว่าตลาดโลก เปิดช่องให้พ่อค้าหัวใสแอบส่งออกเป็นโควตา ค. แล้วตีกลับมาขายเป็นโควตา ก.ในประเทศ

ด้านอนท.ชี้ 4 เหตุหลักทำน้ำตาลโลกกลับหัวกลับหาง เลขาฯสอน.ชี้น้ำตาลส่งออกปีนี้ขายเกือบหมดแล้วส่วนใหญ่ไม่กระทบ ยังมั่นใจราคาตลาดโลกขาขึ้น ล่าสุดขายตลาดล่วงหน้าฤดูผลิตใหม่ไปแล้ว23%ได้ราคา 25.48 เซ็นต์/ปอนด์

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้ราคาน้ำตาลดิบ และน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลก กลับมาผันผวนหนักขึ้นโดยทิ้งห่าง 2 เดือน ราคาร่วงลงมาฮวบฮาบ จากที่ราคาน้ำตาลดิบเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 36.08 เซ็นต์/ปอนด์ ล่าสุดราคาปิดตลาดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ลงมาอยู่ที่ 20.47 เซ็นต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวในช่วงที่ราคาสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 857 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน แต่ขณะนี้ราคาปิดตลาดลงมาอยู่ที่ 582 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน(ไม่รวมพรีเมียม) ซึ่งการผันผวนของราคาในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุที่ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลโลกเปรียบเทียบกับการบริโภคอยู่ในระดับใกล้เคียงกันจึงทำให้ราคาน้ำตาลดิบและน้ำตาลทรายขาวอ่อนตัวลงมา

"หากราคาน้ำตาลในประเทศยืนอยู่ในระดับสูงกว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลก ก็จะทำให้ผู้ค้าน้ำตาลบางรายส่งออกน้ำตาลโควตา ค. แล้วตีกลับมาขายเป็นน้ำตาลโควตา ก.ได้เพื่อจะได้ราคาที่สูงกว่าราคาส่งออกแบบที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมาในระดับต่ำกว่าราคาในประเทศ"

ต่อเรื่องนี้นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทยฯ (อนท.) กล่าวว่าจากการผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกทำให้มีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำตาลทรายขาวต่อกิโลกรัมในตลาดโลกจะลงมาอยู่ในฐานราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำตาลทรายขาวในประเทศไทยในอนาคต แต่ทั้งนี้ต้องดูองค์ประกอบจาก 4 เหตุผลหลักด้วยที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอ่อนตัวลงมามากน้อยแค่ไหน โดยเหตุผลประการแรกเกิดจากที่ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2553/2554 ของไทย มีปริมาณอ้อยเข้าสู่ระบบ 92 ล้านตันอ้อยจากที่คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยประมาณ 70 ล้านตันอ้อยเท่านั้น จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลในประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านตันน้ำตาลหรือ 90 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้จะจัดสรรเป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคในประเทศ(โควตา ก.) จำนวน 25 ล้านกระสอบ และมีน้ำตาลสำรองไว้กรณีน้ำตาลขาดตลาดอีก 3 ล้านกระสอบ ที่เหลือจะเป็นปริมาณน้ำตาลสำหรับส่งออก(โควตา ค.)ทำให้ตลาดโลกมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงเกินความต้องการใช้แล้วในขณะนี้

ประการที่สอง ประเทศบราซิลเริ่มฤดูการผลิตใหม่ปี2554/2555 โดยเริ่มต้นฤดูผลิตตั้งแต่เดือนเมษายนของทุกปี ก็จะทำให้มีน้ำตาลจากบราซิลเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเกิน 600 ล้านตันอ้อย และจะมีน้ำตาลประมาณ 40 ล้านตันน้ำตาลออกมา ประการที่สาม ประเทศอินเดียขณะนี้ยังไม่ได้ปิดหีบอ้อยโดย 7 เดือนแรกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2553 ถึงเดือนเมษายนปี 2554 สามารถผลิตน้ำตาลได้แล้ว 22.6 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในช่วงเดียวกันที่ผลิตน้ำตาลได้ 18.2 ล้านตัน หรือประมาณ 24% และทั้งปีผลิตได้ 18.8 ล้านตัน ปีนี้ทั้งปีคาดการณ์ว่าอินเดียจะผลิตน้ำตาลได้มากถึง 24-25 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการบริโภคในอินเดียจะมีประมาณ 22-23 ล้านตัน ทำให้มีน้ำตาลส่งออกประมาณ 2 ล้านตัน โดยล่าสุดอินเดียอนุญาตให้มีการส่งออกมายังตลาดโลกแล้วประมาณ 500,000 ตัน แสดงว่านับจากนี้ไปซัพพลายในตลาดจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอีก

ประการที่สี่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ล่าสุดเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นมา ขณะที่มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยในยุโรป ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนลง จากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้นักเก็งกำไรหนีจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ทองคำ ออกไปสู่ตลาดพันธบัตร ทำให้ราคาน้ำตาลและสินค้าตัวอื่นร่วงลงมา จากตรงนี้ทำให้บรรดาเทรดเดอร์น้ำตาลลังเลไม่ซื้อน้ำตาลในช่วงนี้ เพราะราคาน้ำตาลกำลังอยู่ในช่วงขาลง

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวว่าจากที่ประเทศไทยมีปริมาณอ้อยทะลุ 90 ล้านตันอ้อย ทำให้มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มเข้ามาใหม่ 2.5 ล้านตันอ้อย จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกที่เดิมขาดตลาดอยู่ประมาณ 1 ล้านตัน ตอนนี้กลายเป็นว่ามีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ในตลาดโลกประมาณ 1.5 ล้านตัน

อย่างไรก็ตามคาดการณ์กันว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะกดต่ำลงมาอีกและเป็นที่คาดการณ์ว่าปี 2554/2555 ผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ กดให้ราคาน้ำตาลอ่อนตัวลงต่อเนื่องอีก

ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าขณะนี้น้ำตาลทรายที่ไทยส่งออกปี2553/2554 ได้ขายไปล่วงหน้าเกือบหมดแล้ว ดังนั้นราคาที่ผันผวนในช่วงนี้ไม่ทำให้เกิดผลกระทบมาก ยกเว้นว่ามีโรงงานน้ำตาลบางรายไม่ยอมขายน้ำตาลโควตาส่งออกบางส่วนออกมาในช่วงที่ราคาดี แต่พอราคาอ่อนตัวลงทำให้เสียโอกาสด้านราคาไป

"ขณะนี้ได้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบโควตา ข. ซึ่งเป็นโควตาที่ส่งออกโดยอนท.ไปแล้ว100% ในราคาเฉลี่ยทั้งปี 22.51 เซ็นต์/ปอนด์ รวมพรีเมียมแล้ว ดังนั้นถ้าโรงงานน้ำตาลไม่นำน้ำตาลโควตา ค. ออกมาขายตาม อนท. เมื่อราคาร่วงลงมาโรงงานน้ำตาลก็เจ็บตัวได้ ส่วนปี 2554/2555 ได้มีการขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้าไปแล้ว 23% ที่ราคา 25.48 เซ็นต์/ปอนด์ รวมพรีเมียมแล้ว" 

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2554

น้ำตาลขอนแก่น

คาดว่า บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) จะรายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2/54 (ก.พ.-เม.ย.54) ที่ 419 ล้านบาท เติบโต 190% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ 313% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน

จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ณ วันที่ 5 มิ.ย.54 พบว่า KSL รายงานปริมาณอ้อยเข้าหีบทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.17 ล้านตันในปีนี้ ขณะที่คาดว่ายอดขายในครึ่งปีหลังจะสูงถึง 4 แสนตัน โดยคาดว่าจะรับรู้ในไตรมาส 3 (พ.ค.-ก.ค.54) เป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ บริษัทจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันบริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลโควตา ค ไปแล้วมากกว่า 90% ของประมาณการยอดขายในปีนี้ที่ระดับราคาเฉลี่ย $0.27 ต่อปอนด์ ดังนั้นคาดว่ากำไรจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3/54

จากมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ดีมากในปีนี้ และมีแนวโน้มจะดีต่อเนื่องไปในปีหน้า แม้ราคาหุ้นปัจจุบันจะซื้อขายบน P/E ปี"54 ที่สูงถึง 16 เท่า และ P/BV ที่สูงกว่า 2.3 เท่า แต่คาดจะเห็นแรงเก็งกำไรบนผลประกอบการปี"53/54 ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง และจะทำสถิติสูงสุดในไตรมาส 3/54

จากการประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้วิธี DCF อัตราคิดลดที่ 8.30% จะได้มูลค่าเหมาะสมที่ 16.50 บาท ราคาหุ้นปัจจุบันยังมีส่วนต่างจากราคาเหมาะสมอยู่ 20%

บล.กิมเอ็ง คงคำแนะนำ ซื้อเก็งกำไร


จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน 2554

สัญญาณปุ๋ยเคมีโลกวิกฤติ

อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีโลกวิกฤติ ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากราคาน้ำมัน พืชบริโภคพืชพลังงานสูง แต่ก๊าซธรรมชาติวัตถุดิบผลิตปุ๋ยยูเรียธาตุอาหารหลักถูกนำไปใช้ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลปริมาณปุ๋ยยูเรียลดลง แถมปุ๋ยฟอสฟอรัสเริ่มขาดแคลนแล้ว พ่อค้าหวั่นแข่งซื้อประเทศอื่นไม่ไหวเหตุราคาจำหน่ายภายในต่ำ วิตกปุ๋ยในประเทศขาดตลาด วอนรัฐปรับราคาอีกรอบ

นายชุมพล ดิเรกวัฒนชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการค้า บริษัท ยาร่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมีโลก ซึ่งจะส่งผลมาถึงประเทศไทย เพราะไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยถึง 96% ของปริมาณการใช้ปุ๋ยทั้งประเทศที่มีความต้องการใช้ปีละ 5 ล้านตันเศษ ว่าขณะนี้มีสัญญาณปุ๋ยเคมีโลกจะมีราคาสูงและขาดแคลน ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยคือประชากรโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น แต่ละประเทศจึงเร่งผลิตพืชและต้องใช้ปุ๋ยช่วยเพิ่มผลผลิต การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้การผลิตพืชผลได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ราคาพืชผลที่สูงจึงมีการปลูกกันมากขึ้น ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ธัญพืชถูกนำไปใช้ผลิตพลังงาน ทดแทน ก๊าซธรรมชาติวัตถุดิบผลิตปุ๋ยยูเรียถูกนำไปใช้ภาคอุตสาหกรรม

"สัญญาณที่ชี้ว่าปุ๋ยเคมีจะขาดแคลนและมีราคาสูงเห็นได้ชัดเจนแล้วคือจีนแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรีย (ให้ธาตุอาหารหลักไนโตรเจน)รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ได้นำก๊าซธรรมชาติไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจีนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากเกิดภัยแล้งในประเทศน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอผลิตพลังงาน จึงใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ นำก๊าซธรรมชาติไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้จีนส่งออกปุ๋ยยูเรียลดลง ปุ๋ยยูเรียตลาดโลกจึงสูงขึ้น และตั้งแต่มกราคมถึงพฤษภาคมการผลิตยูเรียได้ลดลงเรื่อยๆแล้ว"

นายกลยุทธ กุลเดชชัยชาญ ผู้จัดการฝ่ายการค้าและจัดซื้อ บริษัท ไอซีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวเสริมว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาปุ๋ยยูเรียปรับสูงขึ้น 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ราคาปุ๋ยยูเรีย ไม่รวมค่าขนส่ง ค่าบรรจุกระสอบ ตลาดเอเชียอยู่ที่ตันละ 14,478 บาท ราคาภายในประเทศรวมค่าใช้จ่ายต่างๆแล้วอยู่ที่ตันละ 14,200 บาท อินเดียซึ่งเป็นผู้ใช้ปุ๋ยยูเรียรายใหญ่มีความต้องการนำเข้า 7.7 ล้านตันต่อปี ณ เวลานี้ยังนำเข้าไม่ถึง 1 ล้านตัน การนำเข้าปุ๋ยยูเรียจึงต้องแข่งขันกับผู้ใช้รายใหญ่อย่างอินเดียด้วย

ขณะที่สถานการณ์ปุ๋ยDAP (ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัส)มีสัญญาณขาดตลาดเช่นเดียวกัน ทั้งโลกใช้ปุ๋ยDAP 50 ล้านตันต่อปี ผู้ใช้รายใหญ่คืออินเดีย ต้องการใช้ปีละ 8 ล้านตัน แต่การจัดซื้อของอินเดียซึ่งเป็นการซื้อขายล่วงหน้า เช่นสั่งซื้อสินค้าเดือนเมษายนปีนี้ กำหนดส่งมอบถึงเมษายนปีหน้าในราคาคงที่ ปีนี้สามารถจัดซื้อได้เพียง 3.3 ล้านตัน และส่งมอบถึงเดือนกันยายนเท่านั้น เพราะผู้ขายรายใหญ่คือสหรัฐอเมริกายังไม่มั่นใจว่าราคาDAP จะขึ้นไปอีกเท่าใด ขณะที่การส่งออกของจีนรัฐบาลประกาศเก็บภาษีส่งออกปุ๋ยDAP 19.5% ทำให้หลังหักภาษีผู้ขายจะได้รับราคาเพียงตันละ 483 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จำหน่ายในประเทศได้ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ จีนจึงเลือกจำหน่ายในประเทศแทน ส่วนเม็กซิโกและโมร็อกโกผู้ผลิตปุ๋ยDAP ได้ประกาศเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมไม่มีสินค้าจำหน่าย

ทั้งนี้ ข้อมูลสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ระบุว่าจากการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปริมาณปุ๋ยยูเรียในคลังสินค้าของผู้นำเข้ารายใหญ่มีปริมาณรวมกันไม่ถึง 200,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ 700,000 ตัน

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่าราคาพืชผลเกษตรไทยปี 2554 หากเทียบกับปีก่อนๆ ทุกชนิดอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ขณะที่ราคาจำหน่ายปุ๋ยปี 2554 หากเทียบกับปีก่อนๆ โดยเฉพาะปี 2551 ที่ราคาพืชผลสูงขึ้น ราคาปุ๋ยปีนี้ยังต่ำกว่าปี 2551 อยู่มาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ค้าปุ๋ยแข่งขันราคาซื้อกับผู้ซื้อปุ๋ยประเทศอื่นทั่วโลกได้ จึงอยากให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเพดานราคาปุ๋ย เพราะหากเป็นเช่นนี้ผู้นำเข้าแข่งขันซื้อกับประเทศอื่นไม่ได้จะมีผลให้ปริมาณปุ๋ยในประเทศเกิดการขาดแคลนได้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 มิถุนายน 2554

พาณิชย์ยอมปุ๋ยเคมีขึ้นราคา

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า หากผู้ผลิตปุ๋ยเคมีมีต้นทุนสูงขึ้นจริง สามารถส่งหนังสือแจ้งต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยรอบใหม่เข้ามาได้ เพื่อให้กรมฯกำหนดวันประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมี หารือถึงการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีรอบใหม่ให้ หลังจากที่เพิ่งอนุมัติขึ้นราคาปุ๋ยเคมีไปก่อนหน้านี้เมื่อปลายพ.ค.54 แต่ผู้ผลิตต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าต้นทุนสูงขึ้นจริง เพราะ ครม. ได้เปิดช่องไว้ว่าหากต้นทุนปุ๋ยเคมีที่นำเข้ารอบใหม่สูงขึ้นเกินกว่าราคาที่อนุมัติเดิม ก็ให้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการฯพิจารณาราคาได้ทันที

“การพิจารณาขึ้นราคาอยู่ภายใต้เงื่อนไขผู้ผลิตปุ๋ยจะต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตปุ๋ยเคมีให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ ส่วนการปรับขึ้นราคารอบใหม่นั้น เชื่อว่าไม่กระทบกับเกษตรกร”

สำหรับการกำหนดราคาเพดานแนะนำปุ๋ยเคมีเป็นรายบริษัทจากการอนุมัติปรับขึ้นราคาเมื่อปลายเดือนพ.ค. ซึ่งมีกระแสข่าวว่าผู้ผลิตบางรายไม่พอใจที่ได้รับการอนุมัติราคาไม่เท่ากัน เนื่องจากแต่ละบริษัทนำเข้าวัตถุดิบมาในราคาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริการจัดการ จึงต้องกำหนดราคาแนะนำเป็นรายบริษัท ซึ่งหากรายไหนบริหารจัดการได้ดี ก็สามารถกำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ยได้ในราคาถูกกว่า

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตปุ๋ยได้รับความเดือดร้อนจากการอนุมัติปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีของกรมการค้าภายในไม่สอดคล้องกับต้นทุน โดยราคาเพดานสูงสุดที่ได้รับอนุมัติอยู่ที่ตันละ 14,200 บาท ต่ำกว่าต้นทุนนำเข้าอยู่ที่ 14,700 บาท เมื่อรวมกับค่าขนส่ง ค่าบริการจัดการ ทำให้การนำเข้าแม่ปุ๋ยมาผลิตมีต้นทุนสูงถึงตันละ 15,700-15,800 บาท ทำให้ผู้ผลิตบางรายลดการนำเข้าแม่ปุ๋ยมาผลิต เพราะประสบภาวะขาดทุน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า สต๊อกปุ๋ยตามการรายงานของกรมการค้าภายใน พบว่ามีเหลือไม่ถึง 2 แสนตัน คาดว่าไม่เพียงพอต่อการใช้เพาะปลูกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปี ฤดูกาลใหม่ ในช่วงเดือนส.ค. โดยขณะนี้ผู้ประกอบการในสมาคมการค้าปุ๋ยฯบางรายไม่ยอมให้ความร่วมมือในการจัดทำปุ๋ยธงฟ้า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือ เนื่องจากไม่พอใจกับการอนุมัติปรับขึ้นราคาปุ๋ยที่กำหนดราคาแนะนำไม่เท่ากันทุกราย.


จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน 2554

ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 53/54 แตะ 1,136 บาท ทำลายสถิติ

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยถึงราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2553/2554 ว่า ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2553/2554 จะมีทั้งสิ้น 95.2 ล้านตันอ้อย ด้วยค่าความหวานเฉลี่ยที่ 10 CCS แต่ส่วนใหญ่อ้อยมีค่าความหวานที่ 11.8 CCS ดังนั้นคาดว่าในช่วงสิ้นฤดูการผลิตในวันที่ 30 กันยายน 2554 จากที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ตันละ 945 บาท จะเพิ่มขึ้น โดยจะได้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่คำนวณ ณ วันนี้ ( 9 มิ.ย.) ที่ 1,031 บาทต่อตันอ้อย และเมื่อบวกกับเงินที่ชาวไร่อ้อยได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยอีก 105 บาทต่อตันอ้อยตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพิ่มค่าอ้อยให้อีก ตันอ้อยละ 105 บาท ก็จะทำให้ชาวไร่อ้อยขายอ้อยได้ในราคาขั้นสุดท้ายถึงตันละ 1,136 บาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย และยังมีข่าวดีเพิ่มเติมว่า ในฤดูการผลิตหน้า คือ ฤดูการผลิตอ้อยปี 54/55 ราคาอ้อยขั้นต้นได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 1,090 บาทต่อตันอ้อย ด้วยปริมาณผลผลิตอ้อยรวมที่เพิ่มเป็น 96 ตันอ้อย

นายประเสริฐ กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาอ้อยปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,090 บาทต่อตันอ้อย เพราะตลาดไม่เชื่อข่าวจากสำนักวิจัยอ้อยและน้ำตาลซานิกาว ที่ระบุว่าน้ำตาลจะล้นตลาดถึง 10 ล้านตัน ประกอบกับขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้วร้อยละ 50 และราคาน้ำตาลตลาดโลกช่วง 3-7 เดือนข้างหน้าก็จะอยู่ระดับสูง อีกทั้งปีนี้ผลผลิตของบราซิลจะลดลงร้อยละ 4 ออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเสียหาย อย่างมาก น้ำตาลผลิตได้ลดลง ขณะที่จีนยังต้องการน้ำตาลอีกจำนวนมาก โดยทางการจีนกำหนดให้สตอกน้ำตาลไว้เพียงพอกับการบริโภคถึง 4 เดือน การที่จีนนำออกมาขายบ้างเนื่องจากมีสตอกเก่า สำหรับสตอกน้ำตาลประเทศไทยนั้น ปัจจุบันยังคงกำหนดให้ที่ประมาณ 15 วันสำหรับการบริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยากให้เพิ่มประมาณน้ำตาลสำรองให้เพียงพอต่อการบริโภคสำหรับ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันน้ำตาลที่ยังไม่ได้ส่งมอบ หรือน้ำตาลขึ้นงวดยังค้างกระดาน 2 ล้านกระสอบ เท่ากับการบริโภค 1 เดือน จึงค่อยข้างสบายใจ.-สำนักข่าวไทย


จาก http://www.mcot.net  วันที่ 9 มิถุนายน 2554

สมาคมค้าปุ๋ยจี้พาณิชย์ ยกเลิกกำหนดเพดานราคา

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ย และธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าปุ๋ยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการนำเข้าปุ๋ยต่างประเทศที่มีราคาสูง ขณะที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาเพดานราคาขายปุ๋ยภายในประเทศเอาไว้

"ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถนำเข้าปุ๋ยได้ หลังจากราคาตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่หากนำเข้าแล้วต้องขายในเพดานราคาที่พาณิชย์กำหนด ผู้ประกอบการจะขาดทุนได้"

อย่างไรก็ตามหาก กระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องการยกเลิกเพดานราคา ทางสมาคมฯต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลทั้งระบบ ตั้งแต่การนำเข้า การบรรจุ การขนส่ง เพื่อให้กำหนดราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง

ทั้งนี้หากรัฐบาลยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการลงได้ ประกอบกับก่อนหน้านี้ในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ได้ดำเนินการตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐไปแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปุ๋ยบ้าง โดยขอให้ยกเลิกการกำหนดเพดานราคา รวมทั้งให้เปิดเสรีนำเข้าปุ๋ยด้วย

สำหรับแนวโน้มความต้องการปุ๋ยทั่วโลกคาดการณ์ว่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น เห็นได้จากความต้องการสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จะมีการประมูลซื้อปุ๋ยในเร็วๆนี้ปริมาณ 1.2 ล้านตัน เพื่อใช้ในประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาได้


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มิถุนายน 2554


ต่อยอดวิจัยเกษตรเชิงพาณิชย์

วช.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สวก. มุ่งพัฒนาและต่อยอดและเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยและเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อมุ่งให้เกิดบูรณาการและส่งต่องานวิจัย โดยขยายผลประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยด้านการเกษตรเชิงพาณิชย์ ในการวางนโยบายทิศทางงานวิจัย โดยหากงานวิจัยใดของวช.ที่มีพื้นฐานที่เข็มแข็งพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยเฉพาะด้านการเกษตร วช.ก็จะมอบให้สวก.ไปดำเนินการสนับสนุนต่อ

ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ สวก. กล่าวว่า ในปีนี้ สวก.ได้ตั้งงบประมาณไว้กว่า 200 ล้านบาทที่จะให้ทุนกับนักวิจัย แต่ขณะนี้มีการให้ทุนเพียง 100 ล้านบาท เพราะยังไม่มีนักวิจัยเสนอโครงการที่เหมะสมเข้ามา โดยความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยทั้ง 2 หน่วยงานที่เข้มแข็งนี้จะส่งผลการยกระดับการพัฒนาระบบงานวิจัยการเกษตรของไทย รวมทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มิถุนายน 2554

บางจากฯ เดินหน้าลงทุนผลิตเอทานอลต่อเนื่อง

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 ได้มีมติให้เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จากบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยอะโกรฯ และจากผู้ถือหุ้นรายย่อย มูลค่ารวม 438 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการโอนหุ้นให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2554

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า บริษัท ไทย อะโกรฯ ได้เริ่มดำเนินการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอลจากกากน้ำตาล กำลังการผลิต 165,000 ลิตรต่อวันมาตั้งแต่ปี 2548 และขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างขยายกำลังการผลิตเอทานอลที่ใช้มันเส้นเป็นวัตถุดิบ อีก 200,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ โดยเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสูงจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจากความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิตเอทานอลที่สามารถใช้กากน้ำตาลและมันเส้นเป็นวัตถุดิบในการผลิต ประกอบกับโรงงานมีที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของประเทศ จะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาเอทานอลรองรับแผนการขยายการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ของตลาดบางจากฯได้ รวมทั้งมีแผนจะใช้กำลังการผลิตส่วนหนึ่งของบริษัท ไทย อะโกรฯ เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออก ขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียซึ่งมีความต้องการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงและใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย

“การเข้าลงทุนถือหุ้นใน ไทย อะโกรฯ ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในแผนการขยายเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดี เพื่อเพิ่มมูลค่าของกิจการและกระจายความเสี่ยงของรายได้ และยังเป็นธุรกิจที่สนับสนุนธุรกิจหลักน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัท บางจากฯ ด้วย อีกทั้งสามารถใช้เป็นฐานในการขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆที่น่าสนใจในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมไบโอเคมีคอล หรือไบโอพลาสติก เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นการสนองนโยบายรัฐในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเชื้อเพลิง เอทานอลของภูมิภาคนี้” นายอนุสรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าลงทุนของบริษัท บางจากฯ (มหาชน) จะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัท ไทย อะโกรฯ ประกอบด้วย บริษัท ลานนาฯ (มหาชน) ร้อยละ 45 บริษัท บางจากฯ (มหาชน) ร้อยละ 40 และผู้ถือหุ้นรายย่อย ร้อยละ 15 โดยก่อนหน้านี้ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด คิดเป็นร้อยละ 21.28 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 9 มิถุนายน 2554

หนุนไทยฮับ “เอทานอล” ในเอเชีย “พลังงาน” ห่วงกลไกราคาตลาดโลกถ่วง

“พลังงาน” เดินหน้าปั้นไทยเป็นฮับ “เอทานอล” ในเอเชีย เล็งแก้ปัญหาใหญ่ส่วนต่างราคา ตลาดไทย-ชิคาโก ยังห่างกัน 3-4 บาท ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ขวางการเติบโต พร้อมตั้งเป้ายอดใช้ภายในประเทศวันละ 2 ล้านลิตร ภายในสิ้นปีนี

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันพลังงานทดแทนเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบราคาน้ำมันแพง โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกเอทานอลในเอเชีย (ฮับ) ในเรื่องของวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อย ในขณะที่กำลังผลิตเอทานอลของไทยมีเป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวน 19 โรง กำลังผลิต 2.9-3.0 ล้านลิตรต่อวัน

ทั้งนี้ คาดว่า ภายในอีก 1-2 ปี จะมีโรงใหม่เกิดอีก 5 โรง กำลังผลิตจะเพิ่มขึ้นอีก 1.8 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผู้ผลิตเอกชนส่งออกเอทานอลอยู่เฉลี่ยปีละ 50 ล้านลิตรเท่านั้น เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญคือด้านราคาการจำหน่ายไปยังต่างประเทศไม่จูงใจให้ส่งออก ดังนั้น หากสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเอทานอลในภูมิภาคเอเชีย เหมือนกับที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในเรื่องการกำหนดราคาน้ำมันในภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในธุรกิจเอทานอลของไทย

ล่าสุด ปริมาณสตอกเอทานอลของไทยอยู่ที่ 75 ล้านลิตร แบ่งเป็นสตอกในส่วนของผู้ผลิต 45 ล้านลิตร และผู้ค้าน้ำมัน 30 ล้านลิตร ขณะที่มีการใช้อยู่ไม่เกิน 1.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยราคาจำหน่ายของไทยอยู่ที่ 25.22 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาอ้างอิงตลาดโลก (ชิคาโก สหรัฐฯ) อยู่ที่ 21.15 บาทต่อลิตร

นายไกรฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้เอทานอลของประเทศไทย มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2553 ที่ผ่านมา จาก 1.2 ล้านลิตรต่อวัน เป็น 1.37 ล้านลิตรต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 46% จากการใช้ในปัจจุบันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการเพิ่มปริมาณการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้น เกิดจากปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีการใช้อยู่ที่ 1.75 หมื่นลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากในปี 2553 ที่มีการใช้อยู่ 1.1 หมื่นลิตรต่อวัน และการใช้ อี20 ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การใช้เอทานอลยังต่ำกว่าแผนที่ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการใช้เอทานอลเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน

สำหรับแผนงานเร่งส่งเสริม อี85 จะดำเนินการมากขึ้นทั้งในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยในส่วนรถจักรยานยนต์ทั่วประเทศมี 17 ล้านคัน ทางกระทรวงจึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ทำการศึกษา ส่งเสริมในรถจักรยานยนต์โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ปี มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนรถจักรยานยนต์จำนวน 1.65 หมื่นคันให้สามารถใช้เชื้อเพลิง อี85 ได้ ซึ่งจะเพิ่มการใช้เอทานอลได้ถึง 1 แสนลิตรต่อเดือน ส่วนรถยนต์ เอฟเอฟวี อี85 ขณะมีปริมาณ 4,373 คัน ซึ่งมี วอลโว และมิตซูบิชิ เป็นผู้ผลิตและจำหน่าย และในปีนี้ คาดจะมีบริษัทรถยนต์อีก 2 ค่ายมาเปิดไลน์ผลิต ได้แก่ ฮอนด้า และจีเอ็ม คาดจะมีการผลิตรถยนต์เอฟเอฟวีเพิ่มขึ้นอีก 2,000 คันต่อเดือน

นอกจากนี้ ในปีนี้ซึ่งถือเป็นปีมหามงคลของคนไทยทั้งประเทศ ทาง พพ.จึงได้จัดกิจกรรม “คาราวาน อี85 เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” คาราวานรถยนต์ อี85 ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย และแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 โดยกิจกรรมครั้งนี้จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 18 และอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2554 ฟรีตลอดการเดินทาง โดยมีเหล่าดารานักแสดงร่วมเดินทางไปกับคาราวานรถยนต์ อี85 มากมาย

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 8 มิถุนายน 2554

น้ำตาลทรายล้น10ล้านตัน

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่าในฤดูกาลผลิตปี 54/55 ทั่วโลกประเมินว่าปริมาณน้ำตาลทรายจะอยู่ในระบบที่ 182.2 ล้านตัน สูงกว่าความต้องการบริโภคของคนทั่วโลกถึง 10.3 ล้านตัน ต่างจากปีนี้ที่ขาดตลาด 500,000 แสนตัน เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีผลผลิตเพิ่ม โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่หันมาปลูกอ้อยกันมากจากเดิมที่ปลูกกันน้อย รวมถึงประเทศไทยที่เพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูก

ทั้งนี้ต้องการให้โรงงานน้ำตาลเร่งเจรจาในการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับผู้ค้าในต่างประเทศให้มากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, จีน เพื่อจะได้ขายน้ำตาลในราคาระดับสูง ไม่ต้องไปทำตลาดแข่งกับน้ำตาลประเทศอื่น รวมถึงสามารถช่วยเหลือชาวไร่อ้อยให้ขายอ้อยขั้นต้นในราคาที่ดี เพราะหากทำตลาดล่าช้าอาจทำให้ขายน้ำตาลได้ลำบากหรือขายได้ในราคาไม่ดี

“น้ำตาลทรายตลาดโลก 182.2 ล้านตันแบ่งเป็นน้ำตาลที่ได้จากผลผลิตอ้อย 145.4 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาลจากหัวบี้ทซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับมันสำปะหลัง 36.8 ล้านตัน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาคือต้องเร่งเจรจาขายน้ำตาลกับต่างประเทศก่อน ล่าสุดมีการเจรจาขายล่วงหน้าในปีหน้าแล้ว 50% เฉลี่ยราคาที่ 22-23 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่ายังได้ราคาสูงเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในช่วงที่ล้นตลาดจีนอาจจะเก็บซื้อในการเพิ่มสต๊อกล่วงหน้า 3-4 เดือน เพื่อเลี้ยงประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และที่สำคัญหากน้ำตาลมีมากจีนสามารถซื้อได้ในราคาถูกลง”

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในปี 55 ยูเครนจะสามารถผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ 2.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 40% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก บี้ทเพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกบี้ทของรัสเซียมีทั้งสิ้น 1.23 ล้านเฮกตาร์ คาดว่าในปี 55 รัสเซียจะมีปริมาณบี้ทอยู่ที่ 35 ล้านตัน และผลผลิตน้ำตาล 4.0-4.2 ล้านตัน
สำหรับไทยขณะนี้มีเกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง, ข้าวนาดอน และข้าวโพดจำนวน 1 ล้านไร่ มาปลูกอ้อยแทน หลังจากน้ำตาลทรายตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมามีราคาดี ส่งผลให้ในฤดูกาลผลิตอ้อยปี 54/55 ไทยจะมีพื้นที่ปลูกอ้อยรวม 7-8 ล้านไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยเกือบ 100 ล้านตันอ้อยแน่นอน ส่วนผลผลิตอ้อยของไทยในปีนี้อยู่ที่ 95 ล้านตัน

ส่วนสถานการณ์น้ำตาลทรายของไทยล่าสุดมีค้างกระดานเกือบ 2 ล้านกระสอบ หรือค้างกระดาน 1 เดือน ยังไม่ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง และที่สำคัญราคาขายปลีกตามตลาดทั่วไปเฉลี่ยที่ 24-25 บาทต่อกก. ลดลงจากช่วงที่ปริมาณน้ำตาลทรายตรึงในช่วงปลายปี 53 มากถึง 5 บาทต่อกก. เนื่องจากน้ำตาลราคาตลาดโลกปรับลดลงทำให้ส่วนต่างราคาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านลดลงจนไม่จูงใจแก่ผู้ลักลอบ และไม่จูงใจต่อผู้ที่กักตุนสินค้าด้วย

“คาดว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยทั้งระบบจะมีรายได้ 175,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวสูง แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ 57,500 ล้านบาท รายได้จากการส่งออก 117,500 ล้านบาท ต่างจากปีก่อนที่มีรายได้เพียง 135,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 55,200 ล้านบาท รายได้จากการส่งออก 79,800 ล้านบาท ขณะที่ชาวไร่อ้อยก็ได้รับอานิสงส์จากมูลค่าของอุตสาหกรรม ที่ราคาน้ำตาลในปีนี้เฉลี่ยสูงถึง 24 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้ราคาอ้อยขั้นปลายคงไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน”

นายประเสริฐ กล่าวว่า สอน. ได้หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดแผนป้องกันและรองรับกรณีเรือขนส่งน้ำตาลล่มในระยะยาวมี 2 แนวทาง ประกอบด้วยให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลหารือกันเพื่อตั้งกองทุนกลางสำหรับเตรียมความพร้อมเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้น้ำตาลและเรือที่ล่ม โดยเฉพาะสถานการณ์เร่งด่วนเพื่อป้องกันให้มีผลกระทบและความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งโรงงานน้ำตาลต้องไปหารือกันว่ารูปแบบการจัดตั้งกองทุนควรเป็นอย่างไร คาดว่าเอกชนจะใช้เวลาทำแผนประมาณ 2 สัปดาห์ โดยการตั้งกองทุนดังกล่าวจะแก้ปัญหากรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถเบิกเงินฉุกเฉินมาใช้ได้ทันที

นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลควรเตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัยสำหรับการกู้น้ำตาลทรายหรือสินค้าอื่นโดยร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน และต้องตรวจสอบระวางเรืออย่างละเอียดพร้อมลงนามร่วมกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมทั้งการกำหนดปริมาณบรรทุกน้ำตาลทรายของเรือแต่ละลำจะต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและระดับของแม่น้ำ เพื่อให้การขนย้ายน้ำตาลมีความปลอดภัยระดับสูงสุด.


จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 8 มิถุนายน 2554

ชาวไร่แห่ปลูกอ้อยเพิ่ม1ล้านไร่ รับแนวโน้มน้ำตาลโลกกระฉูด

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรได้เปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าวนาดอน แล้วหันมาปลูกอ้อยแทนจำนวน 1 ล้านไร่ ส่งผลให้ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2554/2555 จะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยรวม 7-8 ล้านไร่ เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศในกลุ่มแอฟริกาที่หันมาปลูกอ้อยกันมากจากเดิมที่ปลูกกันน้อย โดยคาดว่าฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ทั่วโลกจะมีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดไม่ต่ำกว่า 10.3 ล้านตัน จากปีนี้ขาดตลาด 0.5 ล้านตัน โดยคาดว่าจะมีน้ำตาลที่ได้จากผลผลิตอ้อย 145.4 ล้านตัน

ขณะที่โรงงานน้ำตาลควรเร่งการเจรจาในการทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้ากับผู้ค้าในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเชีย, ญี่ปุ่น, จีน เพราะหากล่าช้าอาจทำให้ขายน้ำตาลได้ลำบากหรือขายได้ในราคาไม่ดี

"ไทยต้องเร่งเจรจาขายน้ำตาลกับต่างประเทศก่อนเพื่อให้ได้ราคาดี ซึ่งล่าสุดมีการเจรจาขายล่วงหน้าในปี 2555 แล้ว 50% ราคาเฉลี่ย 22-23 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งยังได้ราคาสูงเป็นที่น่าพอใจขณะที่ช่วงน้ำตาลล้นตลาดประเทศจีนอาจจะเก็บซื้อในการเพิ่มสต็อกล่วงหน้า 3-4 เดือนเพื่อเลี้ยงประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และที่สำคัญหากน้ำตาลมีมากจีนสามารถซื้อได้ในราคาถูกลง"

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายของไทย ล่าสุดมีน้ำตาลค้างกระดานเกือบ 2 ล้านกระสอบ หรือค้างกระดาน 1 เดือน ซึ่งถือว่าไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง และที่สำคัญราคาขายปลีกตามตลาดทั่วไปเฉลี่ยที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.) ลดลงจากช่วงที่ปริมาณน้ำตาลทรายตึงตัวในช่วงปลายปี 2553 มากถึง 5 บาทต่อก.ก. ซึ่งเป็นผลจากน้ำตาลราคาตลาดโลกปรับลดลงทำให้ส่วนต่างราคาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านลดลงจนไม่จูงใจแก่ผู้ลักลอบ และไม่จูงใจให้ผู้ที่กักตุนสินค้าด้วย


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มิถุนายน 2554

ครม.สั่งคมนาคมฟ้องเรียกค่าเสียหายเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ให้กรมทรัพยากรฯเร่งฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มิถุนายน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ คือให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บูรณาการเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบจากอุบัติเหตุหรือเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม รวมถึงพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ภายใต้บทบัญญัติตามกฎหมายที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ และให้กระทรวงคมนาคมรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทุกหน่วย งาน และดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขออนุญาตขนส่งน้ำตาล อย่างไรก็ตาม ให้กระทรวงทรัพยากรฯ ทำการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากเรือน้ำตาลล่ม โดยติดตามและฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จุดที่เกิดเหตุ จนถึงปากแม่น้ำบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ และให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาปล่อยสัตว์น้ำทดแทนสัตว์น้ำที่ตายจากอุบัติเหตุดังกล่าว


จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

ไขปริศนาโครงการปุ๋ยลดต้นทุน การเมืองแทรก-รง.ต่อรองขอขึ้นราคาShare5

เวลาได้ล่วงเลยผ่านไปเดือนกว่าเข้าไปแล้ว ปรากฏโครงการปุ๋ยสั่งตัด หรือโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งเป็น 1 ในโครงการประชานิยมภาคเกษตรกรของรัฐบาลยังไปไม่ถึงไหน

โดยโครงการนี้มีหลักการอยู่ที่การนำเงินงบประมาณมาจ่าย "ชดเชย" ราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกรในราคา ก.ก.ละ 1.50 บาทหรือตันละ 1,500 บาท ด้วยการกำหนดสูตรปุ๋ยที่จะจ่ายชดเชยไว้ 9 ปุ๋ย ได้แก่ สูตร 46-0-0 สูตร 16-20-0 สูตร 16-16-8 สูตร 16-8-8 สูตร 18-12-6 สูตร 15-15-15 สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 และสูตร 13-13-21 ใช้ในพืชเกษตร 3 ตัวคือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังในฤดูการผลิต 2554/2555

ทางคณะกรรมการโครงการปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนคาดการณ์ว่า โครงการนี้จะใช้ปุ๋ยทั้งหมด 2.29 ล้านตัน ครอบคลุมเกษตรกร 4.8 ล้านราย ใช้เงินงบประมาณในการชดเชยผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 3,435 ล้านบาท โครงการน่าจะเริ่มได้ทันทีในต้นเดือนพฤษภาคม แต่ก็ล่ามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากน้อยแค่ไหน

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงที่ว่า ความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับ "ราคาปุ๋ย" ของบริษัทผู้ผลิตปุ๋ย 10 รายใหญ่ของประเทศที่ถูกกรมการค้าภายในเชื้อเชิญแกมบังคับให้เข้าร่วมโครงการจากข้อกำหนดที่ว่า กรมการค้าภายใน จะเป็นคนควบคุมราคาขายปุ๋ยแต่ละสูตรของผู้ประกอบการแต่ละรายให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงของต้นทุนและสต๊อกปุ๋ยที่มีอยู่

ปัญหาจึงมีอยู่ที่ว่า "ต้นทุน" หรือ "แม่ปุ๋ย" ของผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เท่ากัน และแน่นอนว่า ผู้ประกอบการล้วนแล้วแต่ต้องการปรับขึ้นราคาจำหน่ายปุ๋ยสูงสุด หลังจากที่ถูกกรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือ ไม่ยอมให้ปุ๋ยเคมีปรับขึ้นราคามาเกือบ 2 ปี

ดังนั้นทางออกของการขอปรับขึ้นราคาปุ๋ยก็คือ ผู้ประกอบการต้องยอมเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนกับรัฐบาล ตรงนี้ในทางปฏิบัติจึงเปิดช่องให้นักการเมืองเป็นต่อโรงงานผู้ผลิตปุ๋ย โดยอาศัยกลไกกฎหมายกำหนดราคาสินค้าเข้ามา "จัดการ" ผลประโยชน์ให้ลงตัวทั้งฝ่ายการเมือง-โรงงานปุ๋ย โดยมีเกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระปุ๋ยที่แพงขึ้น

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย ได้ให้รายละเอียดของโครงการในแง่มุมของผู้ประกอบการว่า โรงงานผู้ผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม อาจจะผลิตปุ๋ยเข้าร่วมโครงการได้ไม่ถึง 2.9 ล้านตันตามที่รัฐบาลกำหนด สาเหตุหลักมาจากราคาปุ๋ยสูตรทั้ง 9 สูตรที่กรมการค้าภายใน "อนุมัติ" ให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคานั้น เป็นราคาที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

แต่ปัจจุบันราคาแม่ปุ๋ยได้ปรับขึ้นเกินไปกว่าราคาที่รัฐบาลอนุมัติให้ปุ๋ยขึ้นราคาไปแล้ว ยกตัวอย่าง ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จากราคา 11,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มเป็น 13,410-14,210 บาท/ตัน, สูตร 16-20-0 จาก 11,500 บาท/ตัน ปรับเพิ่มเป็น 12,345-13,836 บาท/ตัน, สูตร 16-16-8 เดิมไม่ควบคุม แต่กำหนดใหม่ไว้ที่ 11,685 บาท/ตัน, สูตร 16-16-8 กำหนดใหม่ไว้ที่ 14,335 บาท/ตัน, สูตร 18-12-6 กำหนดราคาใหม่ไว้ที่ 13,171 บาท/ตัน และสูตร 15-15-15 กำหนดราคาใหม่ที่ 15,671-16,342 บาท/ตัน

"กรมการค้าภายใน ประกาศอนุมัติราคาปุ๋ยสูตรข้างต้นออกมาล่าช้ามาก ตกลงกันไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนตอนเริ่มต้นโครงการ แต่มาประกาศราคาเอาตอนนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะสั่งซื้อวัตถุดิบเข้ามาผลิต ขณะที่ราคาวัตถุดิบตลาดโลกปรับขึ้นเกินกว่าราคาตกลงไว้ข้างต้นแล้ว ตัวอย่างเช่น สูตร 46-0-0 ราคาที่ตกลงกับกระทรวงพาณิชย์ไว้อยู่บนพื้นฐานของราคาวัตถุดิบยูเรียที่ 395 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ปัจจุบันราคายูเรียปรับเพิ่มเป็น 470-480 เหรียญสหรัฐ/ตันแล้ว

ทำให้ปริมาณปุ๋ยที่จะเข้าโครงการรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะผู้ประกอบการไม่มีความมั่นใจ จึงไม่กล้านำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิต แต่บางสูตรหากวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก ก็ยังพอสามารถผลิตได้ หรือบางสูตรที่วัตถุดิบยังไม่สต๊อกเหลืออยู่ก็คงจะผลิตให้ได้ แต่ก็คิดว่าไม่น่าจะถึง 500,000 ตัน ซึ่งน้อยกว่าปริมาณเป้าหมาย 2.9 ล้านตันอยู่มาก ผู้ประกอบการไม่ได้เอาเปรียบ เพราะที่ผ่านมาเราก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาโดยตลอด 2 ปี ต้องผลิตและจำหน่ายปุ๋ยในราคาที่กำหนดทั้ง ๆ ที่ขาดทุน แต่จะให้ขาดทุนตลอดไปคงเป็นไปไม่ได้" นายเปล่งศักดิ์กล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบการปุ๋ยอีกรายตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกรมการค้าภายในต้องทอดระยะเวลาการประกาศให้ปุ๋ยสูตรขึ้นราคา "ห่างกัน" ถึง 1 เดือน ? ตรงนี้มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ? ที่สำคัญก็คือ ราคาปุ๋ยที่ประกาศออกมาแทนที่จะเป็น "ราคาเพดานสูงสุด" เหมือนที่ใช้กับสินค้าทั่ว ๆ ไป แต่กรมการค้าภายในกลับเลือกประกาศราคาปุ๋ยแบบ "ช่วงเวลา (range)" หรือราคาบริษัทใครบริษัทมัน ทั้ง ๆ ที่เป็นปุ๋ยสูตรเดียวกัน

ท่ามกลางความจริงที่ว่า ต้นทุนแม่ปุ๋ยที่เสนอขอปรับขึ้นราคานั้น จะรู้กันเฉพาะบริษัทที่ขอปรับขึ้นราคากับกรมการค้าภายในเท่านั้น

สอดคล้องกับความเห็นของนายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ผู้ดูแลโครงการปุ๋ยลดต้นทุน ที่ว่า "กรณีของการกำหนดราคาปุ๋ย ผมอยากให้กรมการค้าภายในกำหนดออกมาเป็นราคาเดียวเลย (ราคาเพดาน) ไม่ควรกำหนดเป็นช่วงราคา เพราะจะเป็นช่องทางผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนนำมาแสวงหาผลประโยชน์ได้"

จึงกลับกลายเป็นความสับสนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปุ๋ยลดต้นทุน ที่จะต้องมาขอ "เงินชดเชย" ก.ก.ละ 1.50 บาทจาก ธ.ก.ส. เมื่อปุ๋ยสูตรเดียวกัน แต่มีราคาแตกต่างกันไปแต่ละบริษัท นั่นหมายถึง เกษตรกรอาจจะต้องจ่ายค่าปุ๋ยแพงขึ้น เพราะราคาชดเชยปุ๋ยถูก fix ไว้ที่ ก.ก.ละ 1.50 บาทหรือตันละ 1,500 บาท ไม่ว่าปุ๋ยสูตรนั้นจะปรับขึ้นราคาไปเท่าใดก็ตาม


จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

รง.น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์เปิดโครงการสูบน้ำ หนุนเกษตรกรปลูกอ้อย

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ นายอิสระ ว่องกุศลกุล ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล พร้อมด้วยผู้บริหารโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกรร่วมกันเปิดป้ายโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกศรี ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อไร่อ้อย ของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกร

กาฬสินธุ์-โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ทุ่มงบ 13 ล้านบาท ตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า หวังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพิ่มผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกร

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้(7 มิ.ย.) นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายอิสระ ว่องกุศลกุล ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยกว่า 500 คนร่วมกันเปิดป้ายโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกศรี ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์

โดยได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 13.2 ล้านบาท พร้อมกับก่อสร้างสถานีสูบน้ำขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกร

นายอิสระ ว่องกุศลกุล ประธานกรรมการกลุ่มน้ำตาลมิตรผล กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ได้รับการร้องขอจากชาวบ้านและเทศบาลตำบลคำบงให้ช่วยทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่บ้านโคกสี ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบกับทางโรงงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตอ้อย เนื่องจากที่ผ่านมาการปลูกอ้อยจะใช้น้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำจากน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่เพียงพอ

ดังนั้นโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์จึงได้ร่วมกันเทศบาลตำบลคำบง พร้อมกับสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าผ่านท่อรับแรงดันระยะทาง 12,979 เมตร จากสถานีสูบน้ำบึงน้อยกระจ่ายไปยังสระเก็บน้ำแต่ละแปลงของชาวไร่อ้อยครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 2,700 ไร่ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและเพิ่มผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกรได้ 225 ครอบครัว

ทั้งนี้ โครงการสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้กับเกษตรกรเท่าตัวโดยผลผลิตเฉลี่ย 20 ตันต่อไร่ จากเดิมเพาะปลูกได้เพียง 10 ตันต่อไร่เท่านั้น และที่สำคัญเกษตรกรจะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ 54 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 27 ล้านบาทต่อปี


จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

สอน.ขอให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลปฏิบัติตามมาตรการของสอน.แก้ไขปัญหาเหตุเรือโป๊ะล่ม

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ขอให้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลปฏิบัติตามมาตรการของสอน.แก้ไขปัญหาเหตุเรือโป๊ะล่ม พร้อมคาดจะกู้เรือขึ้นมาได้ภายใน 7 วัน

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)ได้ เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือมาหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันที่เหมาะสมในการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ โดยที่ประชุมมีมติให้ในส่วนของโรงงานน้ำตาล บริษัทส่งออก และคลังสินค้า ต้องดำเนินมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุเรือโป๊ะล่มโดยให้มีการว่าจ้าง บริษัทขนส่ง(เรือโป๊ะ) ที่มีศักยภาพและทันสมัย เช่น มีเรือโป๊ะไม่เก่าเกินอายุการใช้งาน มีระบบรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งมีการประกันภัยทุกรณี นอกจากนี้ ในช่วงก่อนขนถ่ายน้ำตาลทรายลงเรือโป๊ะ ต้องตรวจสอบระวางเรืออย่างละเอียดและเคร่งครัด พร้อมลงนามการตรวจสอบร่วมกันของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย มีการกำหนดปริมาณบรรทุกน้ำตาลทรายของเรือโป๊ะแต่ละลำให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับระดับน้ำของแม่น้ำ เพื่อให้การขนย้ายน้ำตาลทรายอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยสูงสุดกรณีระหว่างการขนถ่ายน้ำตาลทรายลงเรือโป๊ะ ณ คลังสินค้า หากพบว่า มีเรือรั่วภายหลังไม่ว่าจะสาเหตุใด ให้คลังสินค้าหยุดการขนถ่ายน้ำตาลทรายลงเรือโป๊ะทันที เพื่อตรวจสอบแก้ไข และหากไม่สามารถแก้ไขได้ให้ดำเนินการเปลี่ยนเรือโป๊ะลำใหม่แทนทันที ส่วนกรณีระหว่างการเดินทางของเรือโป๊ะ ได้เกิดอุบัติเหตุไม่ว่ากรณีใดๆ จนทำให้เรือโป๊ะแตกหรือรั่วชำรุด โรงงานน้ำตาล บริษัทส่งออก และคลังสินค้านั้น ต้องประสานงานกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมตรวจสอบและแก้ไขโดยเร่งด่วน และหากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ดำเนินการเปลี่ยนถ่ายน้ำตาลทรายไปเรือโป๊ะลำใหม่ทันที และกรณีเมื่อเกิดเหตุหรืออุบัติเหตุใดๆ และทำให้เรือโป๊ะล่มในแม่น้ำระหว่างการขนย้าย ให้โรงงานน้ำตาล บริษัทส่งออก และคลังสินค้าต้นทาง เป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับความคืบหน้าเรือโป๊ะที่ล่มที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่า จะกู้ขึ้นมาได้ภายใน 7 วันนับจากนี้ ซึ่งการกู้เรือโป๊ะที่ล่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวและเป็นช่วงที่แม่น้ำโค้งกว่าปกติ ส่วนค่าใช้จ่ายในการกู้เรือและความเสียหายที่ตามมาบริษัทเรือที่ขนส่งจะเป็นผู้รับผิดชอบ


จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

เรือน้ำตาลล่ม กรมเจ้าท่าผิด ฐานปล่อยปละ

ส.ว.และกรรมาธิการเศรษฐกิจการพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ เผยเหตุเรือน้ำตาลล่ม ตลิ่งพัง-พื้นที่เกษตรกรเสียหาย "กรมเจ้าท่า" มีส่วนผิด ฐานปล่อยปละละเลย...

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.และกรรมาธิการเศรษฐกิจการพาณิชย์ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ให้ความเห็นกรณีเรือน้ำตาลล่มว่า ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางแพ่ง และต่อสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปจากเหตุเรือน้ำตาลล่มทำให้ตลิ่งพัง และพื้นที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ตายเกลี้ยง

นอกจากคนขับเรือ เจ้าของเรือ ผู้ว่าจ้างเรือแล้ว กรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นส่วนราชการมีหน้าที่ควบคุมเรือ ไม่ให้มีการบรรทุกเกิน หรือขับเรือเร็ว และมีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมคนขับเรือได้ปล่อยปละละเลยมามาก
ปล่อยให้เรือที่วิ่งตามแม่น้ำบรรทุกน้ำหนักเกินกันมานานจนแต่ละลำจะปริ่มน้ำ เมื่อเกิดเหตุอันอันตรายก็มาล้อมคอก

อดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาสิทธิของประชาชน ดังนั้นขอให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ที่สภาทนายความได้ ในส่วนอาญาจะได้มีทนายความเป็นที่ปรึกษากฎหมายและเป็นทนายความโจทก์ร่วม ส่วนในทางแพ่ง ก็จะเป็นทนายว่าความให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะสภาทนายความได้รับงบประมาณในส่วนช่วยเหลือประชาชน ทางกฎหมายอยู่แล้ว คดีนี้เป็นคดีสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาศาลจะงดเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้ ชาวบ้านจึงไม่ต้องวิตกว่าจะไม่มีเงินจำนวนมากมาวางศาลเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียม.


จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ช่วยหาทางเร่งกู้เรือน้ำตาลล่ม ที่ จ.อยุธยาฯ ยันแก้ถูกทาง

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เชื่อว่าการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังมีโอกาส ขณะที่การทำแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งที่ทรุดตัว คนงานของกรมเจ้าท่า ยังไม่ลดความพยายาม

วันนี้(7/6/54) เวลา 07.30 น. คนงานของกรมเจ้าท่า ยังคงเดินหน้าทำแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ม.2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากความพยายามในการรักษาแนวตลิ่งของชาวบ้านตลอด 6 วันที่ผ่านมา ประสพความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากกระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลแรงมาก จึงทำให้แนวเสาเข็มที่ปักไว้ชุดแรกถูกน้ำกัดเซาะไหลเอียงลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะที่นายนัฐ จับใจ ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 2 สาขาอยุธยา ยังคงหารือกับตัวแทนเจ้าของเรือบรรทุกน้ำตาลลำที่ล่ม เพื่อหาทางในการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลขึ้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเร็วที่สุด เนื่องจากว่าปัญหาในครั้งนี้กำลังจะบานปลายและทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเรือนของชาวบ้านในจุดดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นห่วงว่าการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ยังจะทำให้การกู้เรือลำบากมากขึ้น เพราะอันตรายมาก อย่างไรก็ตามยังระบุไม่ได้ว่าการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลครั้งนี้จะใช้ระยะเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลักว่าจะลดระดับลงเมื่อใด

นายธเนศ วีระศิริ ตัวแทนจากสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า การทำแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งของนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในลักษณะดังกล่าว ด้วยการทำแนว 2 ชั้น ใช้กระสอบทรายทิ้งลงไปในแม่น้ำริมตลิ่ง แล้วใช้ไม้และเชือกยึดค้ำกับเสาที่ฝังลงไปในดิน ทำถูกหลักตามวิชาการ และคงต้องแก้ปัญหาตลิ่งทรุดในลักษณะนี้ต่อไป เพราะเป็นหนทางเดียวในการรักษาตลิ่งไว้ เนื่องจากพื้นที่การทำงานค่อนข้างแคบ

ส่วนการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลทรายลำที่ล่มนั้น สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่จะต้องรอให้ระดับน้ำลดลงก่อน เพราะจะได้ไม่เกิดอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน


จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

เปิดชมฟรีพิพิธภัณฑ์ดิน พด.รวมฐานข้อมูลทั่วปท./ฟุ้งทันสมัย-สมบูรณ์แบบที่สุดในเอเชีย

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินเปิดเผยว่า ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากต่อการเกษตรกรรม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากมายหลายร้อยชนิด และแต่ละชนิดก็มีความแตกต่างกันตามคุณสมบัติทางกายภาพ ตามระบบการจำแนกดินแบบอนุกรมวิธานดิน (Soil taxonomy) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอยู่มากกว่า 300 ชุดดิน (Soil series) ด้วยกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการจำแนกแยกแยะดินแต่ละประเภทออกจากกันอย่างมีระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดทำ "พิพิธภัณฑ์ดิน" หรือ "Soil Museum" ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องทรัพยากรดิน การสำรวจ การจำแนกดิน สภาพปัญหาและการจัดการดินทั่วประเทศไทย โดยการรวบรวมตัวอย่างดินที่สำคัญๆ จากทั่วประเทศไทยมารวมไว้ในที่เดียวกัน

"พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความทันสมัยและสมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย ได้รับการออกแบบให้มีสีและกราฟฟิกที่สวยงาม ภายในพิพิธภัณฑ์ดินแห่งนี้จะจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งกรมพัฒนาที่ดิน รวมทั้งมีการแสดงเครื่องไม้เครื่องมือในการสำรวจดินยุคแรกไม่ว่าจะเป็นพลั่ว จอบ เสียม กล้องสำรวจและเครื่องมือทันสมัยมาแสดง, มีการแสดงแหล่งวัตถุกำเนิดดิน การเกิดดิน ตลอดจนงานในโครงการพระราชดำริด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีการจัดแสดงสมบัติของดินและแสดงแท่งตัวอย่างดินขนาดใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นที่ไม่มีในประเทศอื่น พร้อมทั้งการใช้เทคนิคของแสงมาช่วยทำให้ตัวอย่างดินดูเด่นขึ้น นอกจากนี้การวางองค์ประกอบที่ได้สัดส่วน จึงทำให้พิพิธภัณฑ์ดินของกรมพัฒนาที่ดินสวยงามสมบูรณ์แบบที่สุดในอาเซียนนอกจากนั้นแล้ว ในพิพิธภัณฑ์ดิน ยังมีระบบฐานข้อมูลดิน ที่ผู้เข้าชมสามารถค้นหาลักษณะดินบริเวณพื้นที่ของตนเองได้ทั่วประเทศ โดยการค้นหาผ่านระบบโปรแกรมสำเร็จรูปและยังมีคำแนะนำในการจัดการดินที่เหมาะสมอีกด้วย" นายธวัชชัย กล่าว

พิพิธภัณฑ์ดินเปิดให้ชมฟรีในวันเวลาราชการ จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา เกษตรกร ท่านที่สนใจทั่วไป เข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ติดต่อที่ได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรมพัฒนาที่ดิน โทร.0-2579-5128 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.ldd.go.th


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2554

คพ.เตรียมรวบรวมข้อมูล-ความเสียหายให้กรุงเก่ายื่นฟ้อง บ.เรือน้ำตาล

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า มวลน้ำเสียจากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดงล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เคลื่อนออกสู่อ่าวไทยทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ 20.00 น.เมื่อคืนที่ผ่านมา และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำภาพรวมเริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ยังมีเพียงบางพื้นที่ที่ค่าออกซิเจนในน้ำยังต่ำอยู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีฝน

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ เตรียมข้อมูลและความเสียหายให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ทั้งศาลแพ่งคดีสิ่งแวดล้อม และศาลอาญา กับบริษัทเรือน้ำตาล คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะส่งข้อมูลให้ได้ ซึ่งประเด็นในการฟ้องร้องนั้นเป็นไปตามมาตรา 96 และ 97 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ทรัพย์สินของรัฐและเอกชนเสียหาย รวมทั้งทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายในวงกว้างด้วย


จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2554

ผู้ว่าฯอยุธยา เผยยังไม่สามารถกู้เรือน้ำตาลที่ล่มได้เนื่องจากกระแสน้ำยังแรง แต่คุณภาพน้ำกลับเข้าสู่ปกติแล้ว

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยยังไม่สามารถกู้เรือน้ำตาลที่ล่มได้เนื่องจากกระแสน้ำยังแรง แต่คุณภาพน้ำกลับเข้าสู่ปกติแล้ว

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงเรือน้ำตาลทรายที่ล่มในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถกู้เรือขึ้นมาได้เนื่องจากปริมาณน้ำยังมากและกระแสน้ำแรง แม้จะประสานกรมชลประทานไปก่อนหน้านี้ให้ลดปริมาณการปล่อยน้ำลงมาแต่ก็ยังไม่ถึงจุดปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่จะลงไปดำเนินการกู้เรือขึ้นมาได้ วันนี้จึงจะประสานกับเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานอีกครั้งเพื่อให้ปริมาณน้ำลดลง เพราะหากน้ำไม่ลดไม่สามารถกู้เรือขึ้นมาได้ เขื่อนที่กั้นตลิ่งซึ่งกู้มาจนเสร็จเมื่อคืนที่ผ่านมาก็จะกันกระแสน้ำไม่ให้เซาะตลิ่งได้ไม่เกินวันนี้ ส่วนเรื่องคุณภาพน้ำนั้น นายวิทยา ยืนยันเข้าสู่ภาวะปกติแล้วล่าสุดตรวจวัดค่าน้ำตาลที่ออกจากเรือมีค่าเป็น 0 แล้ว ส่วนมวลน้ำตาลที่ลงมาถึงนนทบุรี และกทม. ก็คาดว่าจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง 2 วันนั้น

สำหรับการช่วยเหลือประชาชนรอบบริเวณพื้นที่ 1 งาน และพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำเซาะตลิ่งทางกาชาดจังหวัดได้เข้าให้การช่วยเหลือด้วยเงินบำรุงขวัญในเบื้องต้น ส่วนการชดเชยความเสียหายเป็นของบริษัทเจ้าของเรือน้ำตาลทรายที่ล่มจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 6 มิถุนายน 2554

ปชช.แห่ช้อปงานธงฟ้าคึกคัก ต่างเข้าคิวซื้อน้ำตาลราคาถูก

ประชาชนยังทยอยจับจ่ายใช้สอยภายในงานมหกรรมลดค่าครองชีพประชาชน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งในวันนี้ (5 มิ.ย.) เป็นวันสุดท้ายอย่างคึกคัก โดยสินค้าราคาพิเศษสุดประจำวันนี้คือ น้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 18 บาท จากราคาท้องตลาดที่กิโลกรัมละ 23.50 บาท และราคาจำหน่ายภายในงานทุกวัน กิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งมีประชาชนเข้าแถวรอซื้อสินค้า ตั้งแต่เวลาเปิดงานเวลา 10.00 น.

อย่างไรก็ตาม การจัดงานมหกรรมลดค่าครองชีพประชาชนในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรก จากกำหนดการจัดงานทั่วประเทศ 623 ครั้ง ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการทยอยจัดงานในต่างจังหวัด เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วย


จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 5 มิถุนายน 2554

ปภ.อยุธยาจ่ายชดเชยให้ชาวบ้านหลังละ 2 พันบ.จากเรือน้ำตาลล่ม ที่เหลือต้องฟ้องเอา

นางวิมล ไชยวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ. ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลทรายล่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ โดยกัดเซาะแนวตลิ่งของชาวบ้านพังลงลึกเข้าไปเกือบ 10 เมตร จนต้องรื้อบ้าน เนื่องจากแนวตลิ่งพังไปจนถึงเสาบ้าน ขณะนี้ ทางปภ.จังหวัดอยุธยาได้ประสานกับกรมเจ้าท่าเพื่อสร้างแนวกั้นน้ำ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยกรมเจ้าท่าได้เข้าดำเนินการสร้างแนวกั้นน้ำตั้งแต่เมื่อวาน (3 มิ.ย.54) คาดจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ ส่วนการให้ความช่วยเหลือสำหรับบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายนั้น ทางจังหวัดจะชดเชยค่าเสียหายให้หลังละ 2,000 บาท ส่วนการสร้างบ้านใหม่นั้นทางบริษัทรับขนส่งน้ำตาลทรายจะเข้ามาดำเนินการสร้างให้

นางวิมล กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือกระชังปลาของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายนั้น ทางจังหวัดจะเข้าไปตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านจะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาจากบริษัทรับขนส่งน้ำตาลทราย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 มิถุนายน 2554

อุตฯ ยันปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลน

ปลัดอุตฯ ยืนยันปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ไม่ส่งผลน้ำตาลขาดแคลน เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายจำนวนที่ได้รับความเสียหายยังถือว่ามีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณที่ผลิตทั้งหมดของไทยในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายจำนวนมาก พร้อมแจง 4 แนวทางแก้ปัญหา

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลทราย 2.4 พันตัน ล่มที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยยืนยันว่า จะไม่ส่งผลทำให้น้ำตาลทรายโควตา ก เพื่อการบริโภคในประเทศขาดแคลน เนื่องจากปริมาณน้ำตาลทรายจำนวนที่ได้รับความเสียหายยังถือว่ามีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณที่ผลิตทั้งหมดของไทยในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่าน้ำตาลทรายยังมีเพียงพอแน่นอน

สำหรับการดูแลปัญหาดังกล่าวนั้น นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่นดูแล แต่หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1. เร่งรัดให้มีการสูบถ่ายน้ำตาลทรายขึ้นจากเรือลำที่ล่มโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการละลายลงสู่แม่น้ำมากขึ้น 2.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ ช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และการป้องกันความเสียหาย รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนบริเวณริมน้ำ

3. ตรวจสอบและกำชับโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุและที่น้ำไหลผ่านให้ควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เลวร้ายลงอีก และ 4. เร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)ไปพิจารณากำหนดมาตรการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ เพื่อป้องกันปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยปีนี้ดีกว่าที่คาดไว้มาก เดิมคาดว่าจะผลิตได้ 66 ล้านตันอ้อย แต่ล่าสุดคาดว่าจะเพิ่มเป็น 94 -94.5 ล้านตันอ้อย ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ถึง 9.57 ล้านตัน


จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2554

เร่งกู้เรือน้ำตาล ทนายฯแนะฟ้อง คดีสิ่งแวดล้อม

กรมเจ้าท่าฯ คาดกู้เรือน้ำตาลล่มได้ในวันที่ 4 มิ.ย.พร้อมเร่งนำกระสอบทรายตลอดแนวกันตลิ่งพังเพิ่ม ยอมรับรุนแรง ผลกระทบวงกว้างล่าสุดถึงปากเกร็ดแล้ว สภาทนายฯ แนะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม "อภิสิทธิ์" ดึงเข้า ครม.อนุมัติงบช่วยชาวบ้าน กรมอนามัยชี้ห้ากินห้ามใช้น้ำแต่ปลาตายกินได้

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ จท.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง โดยจะพยายามกู้เรือขึ้นมาให้ได้ภายในช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน หรืออย่างช้าก็จะเป็นช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งยอมรับว่าการดำเนินการที่ล่าช้าเพราะเรือไม่ได้บรรทุกน้ำตาลใส่ไว้ในกระสอบเหมือนกับเรือบรรทุกข้าวสารที่เกิดจมลงก่อนหน้านี้ จึงส่งผลให้การขนย้ายมีความยากลำบากมากกว่า ในขณะที่น้ำตลาดเมื่อถูกน้ำก็เกิดการละลาย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รุนแรงมากกว่าเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่จังหวัดอ่างทองเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน เพราะในครั้งนั้นมีน้ำตาลอยู่ในเรือเพียงเล็กน้อย จึงไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ในครั้งนี้มีน้ำตาลอยู่ในเรือถึง 2,400 ตัน ผลกระทบจึงขยายวงกว้างมากกว่า โดยเห็นว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติของน้ำในปีนี้ที่มีมากกกว่าทุกปี กระแสน้ำจึงเชี่ยวจนส่งผลให้เรือวิ่งไปชนตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำ และเกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำกัดเซาะตลิ่ง จนทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำตาลลงไปในแม่น้ำ

จนทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากซึ่งในส่วนของกรมเจ้าท่า ได้เข้าไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบน้ำกัดเซาะบริเวณตลิ่งโดยได้นำกระสอบทรายทิ้งลงไปในแม่น้ำบริเวณริมตลิ่งเพื่อลดการกัดเซาะของน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะนำเรือขึ้นมาจากจุดที่จมลงไปได้

สำหรับ ขั้นตอนแรกการกู้เรือนั้น ขั้นแรกคือ การนำน้ำตาลที่มีอยู่ในเรือออกมาให้หมด ด้วยการนำเรือเปล่าเข้าไปขนน้ำตาล แต่การดำเนินการในช่วงแรกก็เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากน้ำตาลได้ละลายกลายเป็นของเหลว การนำเรือเปล่าเข้าไปขนน้ำตาลออกมาจึงมีปัญหาพลิกคว่ำ หลังจากนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ด้วยการนำทรายถ่วงเรือเปล่าเข้าไปก่อนหลังจากนั้นจึงนำน้ำตาลใส่เข้าไปในเรือและขนออกมาได้

ในส่วนของความผิดนั้น ที่ผ่านมาจังหวัดปทุมธานี ในฐานะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเรือแล้ว ดังนั้นทาง จท.จึงไม่ต้องแจ้งความเพราะจะซ้ำซ้อนกัน แต่จะมีการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความประมาทของคนขับเรือก็อาจถึงขั้นยึดใบอนุญาตขับเรือ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ส่วนแนวทางการฟื้นฟูหลังจากนำเรือขึ้นมาได้แล้ว ได้ขอความร่วมมือกับกรมประมงให้เข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับตรวจสอบสภาพแวดล้อมในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้เป็นปกติต่อไป

“หน้าที่ของ จท.ในตอนนี้ คือ ต้องพยายามป้องกันไม่ให้ตลิ่งพังเพิ่ม โดยจะมีการซ่อมแซมในบางจุดเพื่อลดผลกระทบก่อน ส่วนการรั่วไหลของน้ำตาลที่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำนั้น ล่าสุดพบว่าไปถึงปากเกร็ดแล้ว”

***สภาทนายแนะฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าเป็นคดีสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลเป็นผู้ก่อมลพิษลงในน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัด ที่แม่น้ำไหลผ่าน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ โดยความเสียหายเรื่องนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนคดีอาญา ความผิดฐานกระทำโดยประมาท กับ ส่วนคดีแพ่ง แบ่งเป็นคดีละเมิด กับคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยได้

โฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า ในส่วนความผิดฐานประมาทต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของเรือได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ คือ มีการตรวจสอบความพร้อมของเรือ ซึ่งมีการควบคุมไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ได้

“ส่วนคดีทางแพ่ง ต้องฟ้องร้องต่อศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม หรือศาลจังหวัดอยุธยา โดยหากฟ้องเป็นคดีละเมิดธรรมดา ภาระการพิสูจน์จะตกแก่ชาวบ้าน โดยจะต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าเหตุที่น้ำเสีย ปลาตาย เกิดจากเรือน้ำตาลล่ม แต่หากฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อม ภาระการพิสูจน์จะตกแก่ฝ่ายเจ้าของเรือทันที โดยในคดีจะมีพยานผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เบิกความประกอบ และคดีสิ่งแวดล้อมสามารถเรียกค่าเสียหายในอนาคตได้ โดยสภาทนายพร้อมจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการฟ้องร้องดำเนินคดี” โฆษกสภาทนายความกล่าว

**"มาร์ค" นำเข้า ครม.อนุมัติงบช่วยชาวบ้าน

เมื่อเวลา 15.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาที่ ซอยภูเขาทอง 10 อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาเพื่อตรวจเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำก็ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากกระแสน้ำได้กัดเซาะตลิ่ง โดยมีนาย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์ล่าสุด โดยนายสุวิทย์ระบุว่า ทางกรมเจ้าท่าจะสร้างเขื่อนกั้นให้ชาวบ้านและสร้างที่ดินคืนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ว่า ตนได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการกู้ซากเรือคงจะต้องเลื่อนไป 2 วันเนื่องจากกระแสน้ำยังพัดแรง และก็ยังเป็นห่วงความปลอดภัยของชาวบ้านด้วย โดยหลังจากนี้จะนำข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อดูมาตรการเยียวยาและชดเชย แต่ยังพบข้อติดขัดเรื่องกฎหมายอยู่ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงต้องพิจารณาดูว่าจะนำเงินส่วนไหนมาเยียวยาได้หรือไม่

***กรมอนามัยชี้น้ำเสียแต่ปลาตายกินได้

จากกรณีที่ เรือบรรทุกน้ำตาลจมในแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา จนส่งผลให้ปลาตายจำนวนมากนั้น ล่าสุดวานนี้ (3 มิ.ย.) นายพิษณุ แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ผลกระทบหลักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนประเด็นผลกระทบทางด้านสุขภาพนั้น หากพิจารณาข้อมูลตามข่าวที่ผ่านมาจะพบว่า ปลาตายเพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากน้ำตาลไปเกาะกลุ่มกันจนทำให้มวลออกซิเจนในน้ำน้อยลง ซึ่งหากมาจากสาเหตุนี้ปลาที่ตายทั้งหมดก็ถือว่าขาดออกซิเจนอย่างเดียว ดังนั้น โดยหลักการหากนำปลามาทำให้สุกก็สามารถบริโภคได้ แต่ในกรณีนี้ตนไม่แน่ใจว่า สาเหตุที่ปลาตายเพราะขาดออกซิเจนอย่างเดียวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ขาดออกซิเจนนั้น จะถือว่าเป็นน้ำเสีย ยิ่งหากบริเวณนั้นสภาพน้ำไม่สะอาดเพียงพอก็จะถือว่าเป็นน้ำที่ไม่สมบูรณ์ มีความสกปรก จึงไม่ควรบริโภค แม้แต่อาบก็อาจส่งผลให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนังได้เช่นกัน ทางที่ดีต้องรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเติมออกซิเจนให้น้ำบริเวณดังกล่าวกลับคืน

ล่าสุดผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางไทร พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีดีโอ ค่าต่ำสุด 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร และเริ่มสูงขึ้นเป็น 1.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ล่าสุดวันที่ 3 มิ.ย. ค่าดีโอเพิ่มเป็น 1.9 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนที่สถานีสำแล จ.ปทุมธานี วันที่ 2 มิ.ย. 1.6 มิลลิกรัมต่อลิตร และลดลงเหลือ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร

ส่วนที่สถานีกรุงเทพ วันที่ 3 มิ.ย. ค่าดีโอ 1.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี ช่วยกันระดมเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งท่องเที่ยวที่มีปลา พร้อมเตือนชาวบ้านริมน้ำ ขณะที่กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำช่วยปัญหาน้ำเสียอย่างเร่งด่วนแล้ว

ล่าสุด ได้ประกาศให้ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร เป็นเขตภัยพิบัติทางน้ำ และมวลน้ำก้อนนี้ยังส่งผลไปถึง จ.ปทุมธานี และนนทบุรีแล้ว ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเร่งแก้ไขโดย เร็ว เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เจ้าของเรือได้นำเรือเปล่าขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เมตรเทียบเรือน้ำตาลที่จมและใช้เครื่องสูบน้ำเร่งสูบน้ำตาลออกจากเรือไปใส่ ลำที่จอดเทียบอย่างเร่งด่วน จนใกล้จะเต็มเรือ ทำให้น้ำตาลทรายที่เหลืออยู่ในเรือที่จมประมาณ 1 ใน 4
นายละออ พาลีขำ อายุ 65 ปี ชาวบ้าน บอกว่า ให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งแก้ไขโดยเร็ว อย่ามัวแต่พูด นี่ก็ 3 วันแล้ว กระแสน้ำเริ่มพัดเข้ามา ส่วนการช่วยเหลืออย่างอื่น มีแต่ อบต.นำอาหารมาให้ และท่านผู้ว่าได้จ่ายค่าไฟฟ้าให้เพียงเท่านั้น และในเบื้องต้นตนได้ไปแจ้งความไว้แล้ว เพื่อเรียกค่าเสียหายต่อไป แต่คืนนี้ต้องนอนผวาอีกคืน

ขณะที่ พ.ต.อ.สมบัติ ชูชัยยะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา สั่งการให้ พ.ต.ต.จักรพันธ์ ธูปเตมีย์ พนักงานสอบสวน ลงพื้นที่ ต.ภูเขาทอง ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุเรือน้ำตาลล่ม เพื่อรับแจ้งความจากชาวบ้าน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตัวแทนอำเภอพระนครศรีอยุธยา ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกรมเจ้าท่า ตัวแทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตัวแทนประมงจังหวัดฯ ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดกับคนที่ทำให้เกิดความเสียหายกับชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมในลำน้ำเจ้าพระยา พนักงานสอบสวน กล่าวว่า มีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาแจ้งความประมาณ 7 รายแล้ว และทั้งหมดได้ลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 4 มิถุนายน 2554

จ.นครสวรรค์ จับขายน้ำตาลเกินราคา

การค้าภายในส่งชุดลงตรวจตลาดปากน้ำโพ เจอขายน้ำตาลเกินราคาควบคุม จับส่ง พงส.ดำเนินคดี จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 มิถุนายนนี้ ชุดสายตรวจของกรมการค้าภายใน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมาตรการ ทั้งหมด 5 ชุด รวมทั้งสิ้น 13คน ได้ซุ่มเข้าตลาดปากน้ำโพเพื่อตรวจสอบการจำหน่ายสินค้า ผลจากการเข้าตรวจสอบพบว่ามีร้านค้า 3 แห่งที่จำหน่ายสินค้าน้ำตาลทราย ขายส่งเกินราคาควบคุม ชุดสายตรวจของกรมการค้าภายใน จึงทำการตรวจยึดสินค้าน้ำตาลทรายขาว 24 กระสอบและนำตัวผู้ต้องหา 3 คนส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์ ดำเนินคดีต่อไปในข้อหาจำหน่ายสินค้าขายส่งเกินราคาที่กฎหมายกำหนด สำหรับน้ำตาลทรายขาว ขายส่งตามกฎหมายราคากระสอบละ 1051.25 บาทที่น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ซึ่งทั้งสามร้านขายส่งกระสอบละ 1130 บาท

สำหรับกรณีความผิด นายโสรัจ สุวรรณพฤกษ์ หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งหน้าที่ประสานงานภายหลังการจับกุม ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนี้เป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 3 รายมีความผิดตามมาตรา 37 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การรับสารภาพ จึงต้องนำส่งพนักงานสอบสวนให้ทำสำนวนส่งฟ้องต่อศาลให้ศาลพิจารณาความผิดต่อไปตามกฎหมาย โดยทางเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อร้านและผู้กระทำผิดได้เนื่องจากมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ควบคุมอยู่ จะเปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งลงโทษเป็นผู้มีความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ


จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 3 มิถุนายน 2554

เข็นยุทธศาสตร์จัดการศัตรูพืช ก.เกษตรฯวาง4แนวทางหลัก ผลักดันเกษตรกรพึ่งพาตัวเอง

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า คณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้ให้เห็นชอบในหลักการของยุทธศาสตร์การจัดการศัตรูพืช ตามที่คณะทำงานป้องกันและการแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาดเสนอ

โดยประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.ยุทธศาสตร์พัฒนาขีดความสามารถการจัดการศัตรูพืช ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการ 2.ยุทธศาสตร์สร้างระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช โดยมีการสำรวจ การรายงาน การจัดเก็บข้อมูล และมีเครือข่ายข้อมูลด้านการจัดการศัตรูพืช มีการพัฒนาและใช้ระบบ ภูมิสารสนเทศ (RS, GPS, GIS) เพื่อการเฝ้าระวัง พยากรณ์ แจ้งเตือนภัย และรายงานการระบาด 3.ยุทธศาสตร์การป้องกัน ควบคุมศัตรูพืชอย่างถูกวิธี เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาด หรือขยายพื้นที่ระบาด และ4.ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรมของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตนเอง เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนเกิดความรู้ สามารถนำความรู้ที่มีไปปฏิบัติการจัดการศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปัจจุบันมีพื้นที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ 37 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้ง 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ และประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ประมาณ 521,700 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 67,000 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 454,000 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 24,000 ไร่ พืชไร่ 97,000 ไร่ และพืชสวนอื่นๆ 399,000ไร่ มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 50,000 ราย ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว ดังนี้การจัดสรรน้ำ 19,980 ล้าน ลบ.ม. เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 485 เครื่อง รถยนต์บรรทุกน้ำ 4 คัน และการปฏิบัติการฝนหลวง รวม 97 วัน จำนวน 1,829 เที่ยวบิน มีฝนตก 90 วันในพื้นที่ 52 จังหวัด

สถานการณ์ด้านอุทกภัย มีพื้นที่ประสบภัย 8 จังหวัด ปัจจุบันระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และกำแพงเพชร ยังมีสถานการณ์อุทกภัย 3 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร และพิษณุโลก มีผลกระทบด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านพืชพื้นที่การเกษตรประสบภัย 54,000 ไร่ เกษตรกร 11,000 ราย ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประสบภัย 1,200 ไร่ เกษตรกร 1,360 ราย และด้านปศุสัตว์ อยู่ในระหว่างการสำรวจผลกระทบ


จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 มิถุนายน 2554

ปุ๋ยเคมีแพง ปุ๋ยอินทรีย์รอขยับ‘ดาวปูแดง’ สบช่องปูพรมแฟรนไชส์

“ดาวปูแดง” กัดฟันสู้วิกฤติราคาปุ๋ย ปรับศูนย์รุกสู่แฟรนไชส์เต็มตัว หวังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ชี้โอกาสในวิกฤติปุ๋ยเคมีแพงดันส่วนแบ่งปุ๋ยอินทรีย์ขยับเพิ่ม ยอมรับไตรมาสแรกปัญหาน้ำท่วมกระทบยอดขายจบที่ 42 ล้านบาท ภาวนาไตรมาส 2 และ 3 ช่วยอัพรายรับ เตรียมแผนอัดฉีดแคมเปญถี่ยิบเดินสายตอกย้ำแบรนด์ คาดสิ้นปีฟัน 300 ล้านบาท

นายเชน ใจซื่อ ประธานกรรมการ บริหาร บริษัท นิวตรีริช จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จของดาวปูแดงที่ดำเนินธุรกิจมาจนครบ 2 ปีว่า ดาวปูแดง ดำเนินธุรกิจ ขายตรงผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรคุณภาพมาจนวันนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจเติบ โตแบบก้าวกระโดด สร้างความเชื่อมั่น ให้ลูกค้าและเหล่าสมาชิกเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะช่วงนี้พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและปุ๋ยเคมี แพง รัฐบาลพยายามส่งเสริมในเรื่องเกษตร อินทรีย์ ทำให้ความต้องการปุ๋ยอินทรีย์ในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่ายอดขายปุ๋ยอินทรีย์ในตลาดจะขยับเพิ่มพันล้านบาท แชร์ ส่วนแบ่งการตลาดปุ๋ยเคมีที่มีมูลค่าสูงถึง แสนล้านบาท ตรงนี้ถือเป็นโอกาสในวิกฤติ

ดาวปูแดงจึงได้เริ่มปรับแผนธุรกิจสู่ระบบแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบ เริ่ม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ซึ่งในทางพฤตินัยศูนย์ดาวปูแดงมีลักษณะที่เป็นแฟรนไชส์อยู่แล้ว เพียงแต่ทำนิติกรรม สัญญาให้เป็นแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง จาก สัญญาศูนย์จึงต้องเปลี่ยนเป็นสัญญาแฟรน

ไชส์อย่างถูกต้อง โดยที่ยังคงรูปแบบการจ่ายรายได้เหมือนเดิม คือเป็นการจ่ายจาก ข้างล่างขึ้นบน มีค่าแนะนำบอกต่อ มีรายได้ จากการจับคู่ และได้ท่องเที่ยวต่างประเทศ หากทำยอดขายทะลุเป้า ดังนั้นจึงเรียกว่า เป็น “แฟรนไชส์ MLM” ที่ไม่มีค่าลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เหมือนกับแฟรนไชส์ทั่วไป

แฟรนไชส์ดาวปูแดงมีให้เลือก 4 ขนาด คือโมบายเงินลงทุน 60,000 บาท โมบายสเปเชียล เงินลงทุน 117,000 บาท เซ็นเตอร์ เงินลงทุน 150,000 บาท และคลังจังหวัดเงินลงทุน 500,000 บาท แฟรนไชส์ดาวปูแดงจะว่าไปแล้วเหมือนได้ฟรี คุณจะได้สินค้าครบมูลค่าตามเงินที่ลงทุนไป แฟรนไชส์ที่มีการซื้อสินค้าครบตามกำหนดจะมีเงินคืนให้และจะได้รับเงินคืนตลอดจนกว่าจะครบมูลค่าที่ลงทุนไป จากนั้นจ่ายเพียงแค่ครึ่งเดียว และสินค้าที่รับไปวันแรกไม่ต้อง คืนบริษัทด้วย เท่ากับเป็นแฟรนไชส์ได้ฟรีหากร้านคุณมียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างสม่ำ เสมอ มีการซื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง

จากปัญหาอุทกภัยประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตยอดขายไตรมาสแรกของดาวปูแดงจึงแตะอยู่ที่ 42 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิตคาดว่าจะทำให้ยอดขายดาวปูแดงคึกคักมากขึ้น คาดการณ์ไว้ว่าสิ้นปีนี้ยอดน่าจะอยู่ที่ 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ดาวปูแดงวางกลยุทธ์โดยจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายทุก 3 เดือน สำหรับครึ่งปีหลังนี้คุณเสรี รุ่งสว่าง พรีเซ็นเตอร์ของดาวปูแดงจะจัดคอนเสิร์ตกระจาย ไปทุกที่ในลักษณะเปิด เพื่อให้เข้าถึงพี่น้อง ประชาชน เน้นตอกย้ำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวาง

จากปัจจุบันที่มีผู้จำหน่ายสินค้าเกษตร อินทรีย์รายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดจำนวนมากขึ้น “เชน ใจซื่อ” กลับให้แง่คิดที่ดีว่า “ผมกลับไม่มองว่าเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าผู้ ค้ารายใหม่นี้มาช่วยสร้างกระแสให้เกษตร อินทรีย์โตขึ้น คู่แข่งของเราคือปุ๋ยเคมีต่าง หากที่นำเข้ามาในประเทศมากถึง 5 ล้านตัน ณ วันนี้ปุ๋ยเคมีราคาแพงเราจึงมีโอกาส ได้แชร์ตลาดตรงนี้ ซึ่งเรากำลังแบ่งเค้กปุ๋ย เคมีเพียงแค่ 1% หรือพันล้านบาทเท่านั้น”

“เศรษฐกิจปัจจุบันส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ สำหรับดาวปูแดงไม่หวั่น เพราะ เราเป็นธุรกิจต้นน้ำ มนุษย์เราต้องทานอา หาร ซึ่งก็คือพืชต่างๆ และปุ๋ยเป็นอาหารของพืช จะว่าไปแล้วปุ๋ยมีการซื้อกันอย่างมหาศาล ทั้งยังมีการซื้อซ้ำที่สูงมาก ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยวิตกมากนัก และที่สำคัญดาวปูแดงยังคงเดินหน้ามีแผนเข้าตลาด หลักทรัพย์ต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจ นี่คือแนวทางของดาวปูแดงที่จะตั้งเป้ามุ่งไปข้างหน้า ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านปุ๋ยอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ทางการ เกษตรที่ช่วยแก้ปัญหาและฟื้นฟูนาไร่ของพี่น้องเกษตรกรอย่างยาวนานแท้จริง” นายเชน ย้ำ
 

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 3 มิถุนายน 2554

แจ้งเตือนคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จุดเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดงประสบอุบัติเหตุล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บริเวณตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำภายหลังเกิดเหตุ ในวันนี้(2 มิ.ย. 54) พบว่าคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบและเสื่อมโทรมลง โดยคุณภาพน้ำบริเวณอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำได้ 0.6 มิลลิกรัมต่อลิตร บริเวณจุดสูบน้ำดิบเพื่อการประปาสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ตรวจวัดได้ 3.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ จึงขอแจ้งเตือนประชาชนระมัดระวังอย่างใกล้ชิด


จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2554

กสิกรไทยจับมือมิตรผลใช้ K-Buyer Financing ส่งเสริมคู่ค้า

กลุ่มน้ำตาลมิตรผลวางใจธนาคารกสิกรไทย ใช้บริการ K-Buyer Financing สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจเพื่อผู้ซื้อกสิกรไทย ซึ่งให้บริการทั้งสินเชื่อและระบบชำระเงินสมบูรณ์แบบแก่เครือข่ายผู้ค้าน้ำตาลของบริษัทฯ มูลค่า 8,500 ล้านบาท หนุนให้ดำเนินธุรกิจอย่างคล่องตัว ลดต้นทุน พร้อมเติบโตมั่นคงร่วมกันทั้งวงจรธุรกิจ ย้ำความเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อเครือข่ายธนกิจของธนาคารกสิกรไทย

นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้รับเลือกจากบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการ K-Buyer Financing แก่เครือข่ายธุรกิจของกลุ่มมิตรผล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนศักยภาพทางธุรกิจให้กับคู่ค้าในธุรกิจน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ได้แก่ กลุ่มคู่ค้าขายส่งประมาณ 100 ราย กลุ่มคู่ค้าอุตสาหกรรมประมาณ 80 ราย และกลุ่มคู่ค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่าย ที่เน้นโมเดิร์น เทรด โดยมียอดขายรวมประมาณ 8,500 ล้านบาทต่อปี

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคารฯ จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจเพื่อผู้ซื้อกสิกรไทย (K-Buyer Financing) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในช่วงแรกแก่คู่ค้าในเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มมิตรผลเพื่อใช้เป็นวงเงินหมุนเวียนประมาณ 300 ล้านบาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำกว่าลูกค้าทั่วไป

นอกจากนั้นยังให้บริการด้านระบบการชำระเงินสำหรับลูกค้าของกลุ่มมิตรผล ผ่านระบบ e-Supply Chain Financing (eSCF) ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบสั่งซื้อสินค้าระบบออนไลน์ของกลุ่มมิตรผล โดยบริษัทฯ คาดหวังว่าลูกค้าทุกรายจะเข้าสู่ระบบนี้ โดยประมาณการยอดขายผ่าน eSCF ไม่ต่ำกว่า 60% ของยอดขายรวม 8,500 ล้านบาท

นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการ K-Buyer Financing ของธนาคารกสิกรไทย จะช่วยสนับสนุนให้กลุ่มมิตรผลสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิตได้ดีขึ้น และสามารถบริหารจัดการด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ช่วยสนับสนุนการขายสินค้าของคู่ค้าเนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งช่วยลดงานด้านการจัดการเอกสาร เพิ่มความสะดวกในการตรวจสอบรายการชำระเงินหรือบันทึกรายการชำระเงินด้วยระบบออนไลน์ที่เชื่อมต่ออย่างครบวงจรระหว่างกลุ่มมิตรผลและธนาคารกสิกรไทย

ในขณะที่คู่ค้าของกลุ่มมิตรผลจะได้รับประโยชน์จากการมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ด้วยต้นทุนการเงินและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลง พร้อมทั้งได้รับความสะดวกในการชำระเงินและลดขั้นตอนเอกสารด้วยการทำรายการผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด

ความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทยและกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้ จะช่วยให้ทั้งกลุ่มมิตรผลและคู่ค้าได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจไปด้วยกันทั้งระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยร่วมเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสู่การให้บริการแก่วงจรธุรกิจของกลุ่มมิตรผลอย่างเต็มรูปแบบด้วย K-Value Chain Solutions ในอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยที่มุ่งให้บริการแก่ลูกค้าตลอดทั้งวงจรธุรกิจ (Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งจะประกอบด้วย ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Sponsor) ลูกค้าผู้ประกอบการ (Dealer / Supplier) และลูกค้ารายย่อย (End User) โดยการศึกษาความต้องการของทั้งวงจรธุรกิจ เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในวงจรธุรกิจนั้น ๆ อย่างครบวงจร ในทุกมิติ


จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2554

 

อุตฯล้อมคอกเรือน้ำตาลล่มสั่งคุมเข้ม

กระทรวงอุตฯ เข้ม สั่งสอน.กำหนดมาตรการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ หลังเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา กระทบผู้เลี้ยงปลา และชาวบ้านริมน้ำ

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากกรณีที่เรือของบริษัท ไทยมารีน ซัพพลาย ซึ่งบรรทุกน้ำตาลทรายแดงของกลุ่มไทยรุ่งเรือง ปริมาณ 2,400 ตัน ชนตอม่อล่ม ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งได้กำหมดมาตรการแก้ไขและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ไปพิจารณากำหนดมาตรการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ เพื่อป้องกันปัญหาอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กำหนดให้มีการตรวจสอบสภาพเรือ สภาพน้ำ น้ำหนักบรรทุก อุปกรณ์บังคับเรือและกอบกู้เหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งต้องมีการประกันความรับผิดชอบค่าเสียหายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

สำหรับผลจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำและตรวจสภาพพื้นที่จริง พบว่า ในบริเวณที่เรือล่มน้ำในบริเวณดังกล่าวมีค่าการนำไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามระยะทางและเวลา ซึ่งแสดงว่ามีน้ำตาลละลายจากเรือลงสู่น้ำมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ ช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และการป้องกันความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนบริเวณริมน้ำ เช่น ระดมเครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมอ๊อกซิเจนในน้ำ เพื่อให้คุณภาพกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

รวมทั้ง มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัดประสานประมงจังหวัด อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี เร่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการวิธีดูแลเบื้องต้นให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้มีการใช้ปั๊มเติมออกซิเจนให้กับปลาที่เลี้ยงเพื่อป้องกันไว้ล่วงหน้า

นอกจากนี้ จะเร่งตรวจสอบและกำชับโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุ และที่น้ำไหลผ่าน ให้ควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เลวร้ายลงอีก


จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2554

 

โคราชผงะปุ๋ยสหกรณ์ไร้มาตรฐาน ส่งกลับโรงงาน-ติวเข้มเกษตรกรเพิ่มความรู้

นครราชสีมา - นายบุญโชว์ สมทรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบการบริหารจัดการสหกรณ์ เผยว่าในปีที่ผ่านมา ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบปุ๋ยที่มีการวางจำหน่ายอยู่ภายในสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ ผลของการตรวจสอบนั้น ปรากฏว่ามีปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี มีจำนวนที่ค่อนข้างสูง จึงเชิญสมาคมผู้ค้าปุ๋ยมาทำความเข้าใจว่าจากนี้ไปผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยที่จะวางจำหน่ายในสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มตัวแทนเกษตรกรจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ ผลในเบื้องต้นที่มีกลุ่มผู้ประกอบการเข้าร่วมตรวจสอบกับทางกรมพบว่า ปุ๋ยเคมีของผู้ประกอบการมากกว่า 50% เป็นปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐาน และเกินกว่า 80% ของปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐานส่งผลการตรวจกลับไปยังบริษัทผู้ผลิตให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว

นายบุญโชว์ กล่าวว่า การอบรมถือเป็นแนวทางปฏิบัติวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้กับเกษตรกร ความเข้าใจสังเกตปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อการเกษตรให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และให้กลุ่มผู้ค้าได้รับรู้ว่าระบบการตรวจสอบต่างๆ ยังมีอยู่อย่างเข้มข้น ที่จะต้องมีการสรรหาปุ๋ยจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐานเพื่อนำมาวางจำหน่ายยังสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มตัวแทนเกษตรกร ปุ๋ยมีราคาสูงถึงตันละกว่า 10,000 บาท หากรับปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพไปก็เท่ากับการซื้อดินไปใส่ในไร่นาไม่เกิดประโยชน์ในการผลิต


จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 2 มิถุนายน 2554

อุตสาหกรรมกำจัดกากในยุคที่กฎหมายเอื้อ

สุวัฒน์ เหลืองวิริยะเมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมกำจัดกากของเสีย บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ถือเป็นหนึ่งใน "ท็อปทรี" ของประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจศูนย์บริหารและจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร และมีประสบการณ์ในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ การเผชิญหน้ากับภาคประชาชน รวมถึงการเชือดเฉือนกันในแวดวงธุรกิจจนกระทั่งรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของระบบจัดการกากของเสียในประเทศเป็นอย่างดี ซึ่งโอกาสนี้ "สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ" ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ BWG ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมุมมองเบื้องลึก เบื้องหลังของปัญหาที่กัดกร่อนอุตสาหกรรมนี้มายาวนาน

+3-5 ปีนี้ "ไร้คู่แข่ง"
สุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ BWG กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศว่า จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี และกากอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นอันตรายราว 18-20 ล้านตันต่อปี และมีแนวโน้มว่าปริมาณกากอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี แต่ในปัจจุบัน ผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้คือ โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 101 คือ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม ประเภท 105 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และประเภท 106 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งใบอนุญาตที่ทำได้ยากที่สุด คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 101

ทั้งนี้ สุวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันบริษัทที่ทำธุรกิจหลุมฝังกลบขนาดใหญ่และได้ใบอนุญาตประกอบกิจการครบถ้วนมีเพียง 3 บริษัท คือ 1.บริษัท บริหารและการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ 2.บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) และ 3.เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน

"ผมคาดการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีข้างหน้านี้ ผู้ที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้จะยากมากหรือแทบไม่มีเลย สาเหตุมาจากใบอนุญาตประกอบกิจการที่ทำได้ยาก และการต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ที่กำหนดให้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ควบคู่ไปด้วย เพราะฉะนั้นในธุรกิจนี้ผู้แข่งขันก็จะเหลือน้อยรายมาก ขณะที่ความต้องการในตลาดมีมาก ปริมาณกากเฉพาะกากอันตราย ปี 2553 มีประมาณ 2.5 ล้านตัน"

+กากหายไปไหน?
แม้ว่าความต้องการของตลาดจะมีสูงมาก แต่ปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมกลับมีตัวเลขที่ไม่สะท้อนกับความเป็นจริง โดย สุวัฒน์ เปิดเผยว่า จากจำนวนกากอันตรายที่มีสูงถึง 2.5 ล้านตันต่อปี แต่เมื่อติดตามปลายทางของการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่เจนโก้และเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่แล้วกลับพบว่า ทั้ง 2 บริษัทรับกากอันตรายในปริมาณเพียง 200,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณกากอันตรายทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามตามมาว่า "กากหายไปไหน?"

"คำถามที่ว่ากากอันตรายที่เหลือหายไปไหนเป็นเรื่องหนึ่ง หากถามต่อว่า แล้วจะเอาเข้าระบบอย่างไร มองว่าเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเป็นผู้กวดขัน และตรวจสอบว่าจะมีวิธีนำกากเข้าสู่ระบบ เรื่องการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน หลักเกณฑ์มีทั้งการนำกากอุตสาหกรรมไปเผา ฝังกลบ รีไซเคิล นำเอาไปใช้ใหม่ หรือถมที่ เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องออกกฎและเป็นผู้อนุญาต โดยสิ่งที่อยากให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้นคือ วิธีการพลิกแพลงประเภทของกากอุตสาหกรรม เช่น กากอันตรายที่ควรนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ แต่กลับแจ้งว่าจะนำไปบำบัดด้วยการรีไซเคิล หรือไปฝังกลบแบบกากไม่อันตราย ถ้ายังเป็นในลักษณะนี้ ผลเสียหายก็จะตกกับประเทศและสิ่งแวดล้อม"

ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ BWG มีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมจัดการกากของเสียที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มหนึ่งที่อาจเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ มองเรื่องขยะเป็นต้นทุน และต้องการลดต้นทุนดังกล่าวให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ได้มองว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะใช้วิธีกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ต้นทุนถูกที่สุด อาจนำไปลักลอบทิ้ง ฝังกลบตามบ่อขยะเทศบาล เป็นต้น ในจุดนี้ กรอ. มีมาตรการว่าหากโรงงานจัดการกากของเสียไม่ถูกต้องจะไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่ต้องทำทุก 5 ปี ให้ แต่ปัญหาคือ ช่วงเวลา 4 ปีก่อนที่จะต่อใบอนุญาต หากโรงงานไม่ทำตามที่กำหนด กรอ. จะมีทำอย่างไร

อีกกรณีหนึ่งคือ แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงไปตรวจสอบโรงงานอย่างใกล้ชิด เมื่อตรวจแล้วพบว่าโรงงานมีการจัดการกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้อง แต่ทางโรงงานใช้อิทธิพลในพื้นที่ให้ผู้มีอำนาจโทร.หาผู้ใหญ่ในกระทรวง จะมีแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

"ลำพังแค่ออกตรวจโรงงาน เมื่อรู้ว่าเขาทำไม่ถูกต้อง คุณจะเอาเขาเข้าระบบ เขาให้ผู้ใหญ่โทร.มากริ๊งเดียว แล้วจะทำอย่างไร นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวงจรที่เจอบ่อยๆ ในส่วนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม"

+แนะคุมเข้ม "กองทัพมด"
ในส่วนของผู้ให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม สุวัฒน์ ชี้ว่า มีผู้ให้บริการกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "กองทัพมด" คือ บรรดาบริษัทตัวแทนที่ติดต่อโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตประเภท 101, 105 และ 106 เพื่อขอเป็นโบรกเกอร์ติดต่อลูกค้านำกากอุตสาหกรรมมาส่งให้ โดยบริษัทกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการอะไรเลย ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นผู้ขนส่งทั่วไป และเลือกป้อนกากอุตสาหกรรมให้กับผู้ให้บริการที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ซึ่งอันที่จริงแล้วโบรกเกอร์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ให้บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วย แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เพราะกองทัพมดเหล่านี้รับเป็นโบรกเกอร์ให้กับผู้ให้บริการทั่วไปหมด ทั้งนี้หากมีการกำหนดให้บริษัทโบรกเกอร์ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กรอ. เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับส่ง บริหารจัดการกากของเสียอาจจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นได้ทางหนึ่ง เพราะถ้าในระบบอุตสาหกรรมจัดการกากของเสียทำทุกอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาในการทำงานที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะไม่เกิด การร้องเรียนจากชาวบ้านที่เป็นข่าวว่าไปทิ้งกันผิดที่ผิดทางก็จะไม่มี

"ผมเชื่อว่าถ้าผู้ประกอบการต้องการทำธุรกิจนี้อย่างจริงจังและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ต้องมีความตั้งใจทำจริงๆ ครอบคลุมเรื่องความรับผิดชอบ ความใส่ใจ ทั้งในด้านการบริหารงาน การสร้างระบบการป้องกัน และให้ความสำคัญกับคนรอบข้างรอบโรงงาน ถ้าตั้งหลักอย่างนี้แล้ว ปัญหาที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนที่ไม่ถูกต้อง การที่คนกลุ่มใด ผู้บริหารหน่วยงานไหน การเมือง ที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์จากเรา ผมเชื่อว่าเราต่อสู้ได้หมด ด้วยการเอาความตั้งใจในการทำงานของเราเป็นตัวพิสูจน์ ถ้าใครกล่าวหาว่าเราไปสร้างความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ก็สามารถมอนิเตอร์ เก็บตัวอย่างไปทดสอบมาเทียบกับค่ามาตรฐานได้ นี่คือสิ่งที่ BWG ตั้งมั่น และเอามาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และชนะมาทุกครั้ง"


จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 2 มิถุนายน 2554

กปน. มั่นใจ ปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม ไม่กระทบการผลิตน้ำประปา

กปน. ยืนยัน เหตุเรือบรรทุกน้ำตาล 2,400 ตันล่มบริเวณหมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา ส่งนักวิทย์ฯ ลงพื้นที่ พร้อมตั้งทีมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คาดน้ำก้อนนี้จะมาถึงพรุ่งนี้เช้า พร้อมเตรียมระบบเพิ่มออกซิเจนในน้ำและสารเคมีไว้แล้ว นายวิสิทธิ์ วงศ์วิวัฒน์ รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) เผยว่า จากเหตุเรือ 1 ใน 3 ลำ ของบริษัทไทยรวมทุนคลังสินค้า ซึ่งบรรทุกน้ำตาล 2,400 ตัน เกิดล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหมู่ 2 ตำบลภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั้น กปน. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่า มวลน้ำดังกล่าวได้เคลื่อนตัวมาถึงบริเวณวัดเชิงเลน ใกล้กับจุดที่เคยประสบเหตุเรือบรรทุกข้าวสารล่มเมื่อปลายปีก่อน ส่งผลให้ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ลดต่ำลงอยู่ที่ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร จากปกติที่ 4 มิลลิกรัมต่อลิตร และพบปลาลอยขึ้นเหนือน้ำ เนื่องจากปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า มวลน้ำที่มีน้ำตาลจากจุดเกิดเหตุดังกล่าว จะมาถึงจุดรับน้ำดิบของ กปน. บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี ในเช้าวันพรุ่งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กปน. ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ออกติดตามคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว และจะทำการยกระดับน้ำในคลองประปา ให้สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อมิให้น้ำจากแม่น้ำไหลเข้าคลองประปา ตั้งแต่ คืนวันนี้ นอกจากนี้ยังได้เตรียมเครื่องเติมอากาศไว้ และจะเดินเครื่องทันที หากวัดค่า DO ได้ต่ำกว่า 2.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ กปน. จะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำประปาอย่างแน่นอน


จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 1 มิถุนายน 2554

'กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย'แชมป์สิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์ฯ

ด้วยแนวคิดที่จะบรรเทาปัญหาให้กับชาวไร่อ้อยทั้งด้านการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการบำรุงรักษาเครื่องจักรและน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ ’กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย“ ผลงานการประดิษฐ์ของนายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ คว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2553

ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เครื่องจักรกล พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตร” เพื่อสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักประดิษฐ์และประชาชนทั่วไป ได้พัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือสามารถนำไปใช้ได้จริง และมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์

นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ กรรมการผู้จัดการ หจก.สามารถเกษตรยนต์ เจ้าของผลงานชนะเลิศ บอกว่า ใช้เวลาวิจัยและพัฒนาผลงานนี้มากว่า 5 ปี โดยมีแนวคิดมาจากรถตัดอ้อยทั่วไปที่จะต้องใช้มอเตอร์ไฮโดรลิคจำนวนมาก ตั้งแต่ 4-10 ตัว ทำให้กินน้ำมัน ดูแลรักษายาก และทำให้ต้นอ้อยเสียหาย ไม่สามารถนำไปทำพันธุ์ต่อได้ จึงได้คิดค้นที่จะประดิษฐ์กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อยแบบใหม่ขึ้น โดยมีจุดเด่นที่การใช้มอเตอร์ไฮโดรลิคเพียงตัวเดียว มีการใช้ระบบโซ่และเฟืองเข้ามาแทนที่การใช้มอเตอร์หลายตัวด้วย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายและประหยัดน้ำมัน

ขณะเดียวกันมีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน ใช้ชิ้นส่วนในการประกอบน้อย ทำให้ดูแลรักษาง่าย ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวใช้แบบกลืนอ้อยทำให้รากอ้อยไม่ถูกดึง และมีส่วนประกอบที่ทำหน้าที่ประคองอ้อยเพื่อลดการสูญเสียและการช้ำของตาอ้อย ปัจจุบันบริษัทได้ผลิต “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” ออกจำหน่ายแล้วทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับรางวัลที่ 2 คือ “เครื่องคว้านเมล็ดลำไยแบบ 2 หัวคว้าน” ของนายเกรียงไกร ธารพรศรีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ซึ่งประดิษฐ์เครื่องนี้ขึ้นมาเพื่อทดแทนแรงงานคน สามารถคว้านเมล็ดลำไยได้พร้อมกันครั้งละ 2 ผล คว้านได้เร็วถึง 30 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เร็วกว่าแรงงานคนถึง 8 เท่า เนื้อลำไยที่ได้มีลักษณะกลมไม่ฉีกขาด

ส่วนรางวัลที่ 3 คือ “เครื่องปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพลังงานน้ำในการหมุนชุดแผ่นหมุนชีวภาพ” ของนายธนวัฒน์ ปกาสิต ที่เกิดแนวคิดในการทำสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ประหยัดพลังงาน เพราะใช้การตกของน้ำเป็นพลังงานในการหมุนชุดแผ่นหมุนชีวภาพแทนการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า

นอกจากนั้น ยังมีรางวัลเชิดชูเกียรติ อีก 4 รางวัลที่น่าสนใจ คือ “ชุดใบมีดตัดหญ้ามหัศจรรย์” ของนายจรัญ เกิดแก้ว ที่ออกแบบใบมีดใหม่ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ใบมีดมีความอิสระ สามารถหมุนได้รอบตัวเอง เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน “เครื่องตัดขนมขบเคี้ยวและขนมกวนรูปทรงสี่เหลี่ยม” ของนายวีระยุทธ พรหมจันทร์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พัฒนาเครื่องตัดขนมฯ ทดแทนแรงงานคน สามารถปรับขนาดการตัดชิ้นขนมได้ ทำงานได้ต่อเนื่อง อัตราการผลิต 2,000-3,000 ชิ้นต่อชั่วโมง “เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์” ของนายสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ที่ใช้หลักการใหม่คือเมล็ดตกจากท่อตกกระทบ

แผ่นกระจายเมล็ดทำให้มีการกระจายเมล็ดสม่ำเสมอ และ “รถตัดหญ้านั่งขับแบบสองเครื่องยนต์” ของนายนเรศ เปาะทองคำ ที่เป็นรถตัดหญ้าที่มีความคล่องตัวสูง น้ำหนักเบาและประหยัดน้ำมัน

นี่คือการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาและเพิ่มผลผลิตแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดโลกร้อนด้วยการประหยัดพลังงานอีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน 2554

"พลังงาน" สั่งทำแผนรับมือปัญหาวิกฤตก๊าซ อ่าวไทยเหลือใช้แค่ 15 ปี

"พลังงาน" ห่วงอนาคตก๊าซธรรมชาติแนวโน้มขาดแคลน หลังปริมาณใช้เพิ่มสูงต่อเนื่อง การใช้ไฟฟ้าพึ่งพิงก๊าซสูงถึง 70% เผยปริมาณก๊าซอ่าวไทยเหลือใช้แค่ 15 ปี สั่งทุกฝ่ายศึกษาโครงสร้างทั้งระบบ และเตรียมแผนรองรับ

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตนเองได้สั่งให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาโครงสร้างพลังงานของไทยทั้งระบบ เพื่อหาแผนรองรับ เพราะปัจจุบันปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูงถึง 70% ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาขาดแคลนได้ โดยปัจจุบันมีปริมาณการใช้วันละ 4.5-4.6 พันล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นจากปี2553 ที่มีปริมาณใช้เฉลี่ยวันละ 4.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต

"สาเหตุที่การใช้เพิ่มเป็นผลจากภาคขนส่ง โดยประชาชนหันมาใช้เอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะปัญหาน้ำมันแพงในช่วงที่ผ่านมา และความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเพิ่มต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจของไทยเติบโตต่อเนื่อง จะทำให้ปริมาณการใช้ในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลให้ปริมาณสำรองในอ่าวไทยเหลือเพียงพอต่อการใช้ในอนาคตแค่ 15 ปี จากที่คาดว่าจะใช้ได้อีก 18 ปี"

นายนที ทับมณี รองผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ กระทรวงฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพี โดยจะประเมินค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สะท้อนความต้องการที่แท้จริง หลังจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกเลื่อนออกไป 3 ปี และจะพิจารณาเรื่องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นด้วย

นายนที คาดว่า การศึกษาค่าพยากรณ์ใหม่จะเสร็จเดือนมิถุนายน 2554 นี้ โดยจะนำมาจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งจะระบุชัดเจนว่าแต่ละปีกำลังผลิตไฟฟ้าจะมาจากเชื้อเพลิงชนิดใด กำลังผลิตตลอดทั้งแผนจะเป็นอย่างไร รวมถึงการวางแผนบริหารเชื้อเพลิงแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และจะเปิดรับฟังความเห็นก่อนเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาต่อไป


จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 1 มิถุนายน 2554