http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2555)

น้ำตาลไทย หลัง ASEAN ปรับลดภาษี

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังจากที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนกำหนดให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มต้องปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553

จะมียกเว้นบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าใหม่อันได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนามที่ขอเวลาปรับตัว โดยจะทยอยปรับลดภาษีน้ำตาลลงเป็นลำดับ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยต่อการเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทยไปยังตลาดอาเซียนเป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นไทย ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำเป็นต้องพึ่งพา การนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ส่วนไทยนั้นนอกจากจะสามารถ ผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอต่อความต้องการ แล้วยังมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณ ผลิตทั้งหมด ในจำนวนนั้นกว่าร้อยละ 37 เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน

แม้ว่าสินค้าน้ำตาลของไทยจะได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยก็ยังคงต้องพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มค่าความหวานของอ้อย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของน้ำตาลไทยให้สูงขึ้น

เพราะผลจากการปรับลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ทำให้เกิดตลาดผู้บริโภคน้ำตาลกว่า 500 ล้านคน จูงใจ และสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า ทั้งที่เป็น การลงทุนเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลโดยตรงของนักลงทุนท้องถิ่น หรือการลงทุนโดยนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยอาศัยศักยภาพด้านการมีพื้นที่และแรงงานราคาถูกที่ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในอนาคต รวมทั้งมีส่วนเหลือเพื่อการส่งออกจนแข่งขันกับน้ำตาลของไทยในตลาดอาเซียน และตลาดอื่นๆ ได้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก โดยผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคในประเทศประมาณร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 70 จะส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ อินเดีย และจีน แม้ว่าจะมีปริมาณการผลิตน้ำตาลมากกว่าไทย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก โดยมีการส่งออกประมาณ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ส่งออกประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในเอเชียคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 90 ที่สำคัญได้แก่ ตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย อิรัก จีน ศรีลังกา และเกาหลีใต้ โดยคู่แข่งที่สำคัญทางด้านการส่งออกน้ำตาลของไทย ได้แก่ ออสเตรเลียซึ่งมีตลาด เป้าหมายที่ประเทศในเอเชียเช่นเดียวกันกับไทย

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพบว่าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2552 ไทยมีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอาเซียนประมาณ 1.59 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 565.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 36.5 จากปริมาณการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด 4.36 ล้านตัน มูลค่า 1,545.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียในสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 50.9 ของปริมาณการส่งออกไปยัง ตลาดอาเซียน รองลงมาได้แก่ กัมพูชา (สัดส่วนร้อยละ 24.5) เวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 6.9) สิงคโปร์ (สัดส่วนร้อยละ 6.5) ฟิลิปปินส์ (สัดส่วนร้อยละ 4.3) ลาว (สัดส่วนร้อยละ 3.5) มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 2.9) พม่า (สัดส่วนร้อยละ 0.3) และบรูไน (สัดส่วนร้อยละ 0.2) การปรับลดภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน แม้ว่าจะส่งผลดีต่อไทย เพราะทำให้ต้นทุนทางด้านภาษีนำเข้าน้ำตาลของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศอาเซียน ปรับลดลง แต่ยังคงมีปัจจัยพึงระวังบางประการที่อาจส่งผลกระทบ เชิงลบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเพื่อเข้ามาแย่งตลาดและการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามาแปรรูป

ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยค่อนข้างต่ำประมาณ 10.2 ตันต่อไร่ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 13-14 ตันต่อไร่ และบราซิลทำได้ 12.5 ตันต่อไร่ ทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยของไทยอยู่ในระดับซึ่งหากสามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยให้เทียบเท่าคู่แข่งคือ 13-14 ตันต่อไร่ในพื้นที่เพาะปลูกเดิมแล้วก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังสามารถ ส่งออกน้ำตาลไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพของอ้อย เพราะที่ผ่านมาอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานจะมีค่าความหวานต่ำเพียงประมาณ 11-12 ซี.ซี.เอส ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและบราซิลนั้นค่าความหวานของน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 13-15 ซี.ซี.เอส. ซึ่งค่าความหวานที่สูงจะหมายถึงปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยต่ำลงเช่นกัน สำหรับแนวทางในการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นนั้น ภาครัฐควรมีการส่งเสริม ให้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตและมีคุณภาพสูง

นอกจากนี้ควรพิจารณาจัดหาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชในราคาต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ประการสำคัญควรมีการจัด หาแหล่งน้ำรวมถึงระบบชลประทานให้เข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกอย่างทั่วถึง ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้ต้นทุนการผลิตอ้อยลดลงจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้อย่างมั่นคง

เมื่อถึงจุดนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยในแต่ละระดับ ตั้งแต่ชาวไร่ไปถึงผู้ส่งออกคงมีอนาคตที่หวานกว่าที่เป็นอยู่นี้อีก

จาก http://www.gotomanager.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2555

ก.อุตสาหกรรมเร่งฟื้นฟูแม่น้ำสายหลักทั่วปท. สร้างจิตสำนึกรง.-ชุมชนร่วมปกป้องพื้นน้ำ

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในโครงการ “ รักแม่.... รักษ์น้ำ ” เป็นกิจกรรมที่ดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 6 ภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม “ มุ่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สมดุลและยั่งยืน ” พ.ศ.2555 - 2557 โดยในปีนี้ได้ขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่ 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ แม่น้ำพอง ชี มูล และโขง เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำสายหลักให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

ด้าน ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โดยในปีนี้ได้มีการกำหนดเป้าหมายติดตามและเฝ้าระวังการปล่อยสารมลพิษ จำนวน 836 โรงงานในลุ่มแม่น้ำสายหลัก และตรวจกำกับดูแลให้โรงงานปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมามีโรงงานที่มีคุณภาพน้ำทิ้งเป็นปามเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 95 และมีเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมครอบคลุมพื้นที่ 7 ลุ่มแม่น้ำทั่วประเทศจำนวน 192 ชุมชน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดีแล้ว ในวันที่ 6 สิงหาคม ศกนี้ จะขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมถวายปฏิญญาในการร่วมมือในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูแม่น้ำ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาส 80 พรรษา มหาราชินี ณ โรงแรมสิมาธานี จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรมประกวดวาดภาพ และเรียงความของนักเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในหัวข้อ “ ชุมชน โรงงานประสานใจ คืนน้ำใสสู่ธรรมชาติ ” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 20 กรกฎาคม 2555 ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 – 202 – 4007

จาก พิมพ์ไทย  วันที่ 29 มิถุนายน 2555

จี้รบ.เร่งแก้ปัญหาเกษตรกรพันธะสัญญา,

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา ที่ประกอบด้วยเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงหมู ไก่ ปลูกอ้อย ข้าวโพด ปลาเลี้ยงในกระชัง นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันผลักดันสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและร่วมกันผลักดันให้มีการสนับสนุนระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร มีการคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร โดยขอให้คณะอนุกรรมการด้านเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เร่งสำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยให้มีการเยียวยาภายใน 3 เดือน

นายสมพร อัศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวในการสัมมนาเวทีวิชาการเกษตรพันธะสัญญา: ใครอิ่ม ใคร...อด ?”ว่า เกษตรพันธะสัญญา เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถในการจัดการที่ต้องมีต้นทุนต่ำ แม้เป้าหมายดี แต่การปล่อยให้เกษตรกรเป็นผู้ที่ต้องรับภาวะเสี่ยงในทุกขั้นตอน เรื่องนี้จึงเป็นความผิดพลาดของรัฐที่ไม่ได้มีกลไกดูแลคุ้มครองที่ทำให้ระบบนี้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกระจายไปทั่ว ดังนั้น จึงควรมีหน่วยงานกลางที่จะช่วยดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดช่องว่างที่ก่อให้เกิดเอาเปรียบ ซึ่งที่ผ่านมารัฐดูแลเกษตรกรในระบบสัญญาน้อยมาก

นายเพิ่มศักดิ์ มกนราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล กล่าวว่า นโยบายด้านเกษตรของภาครัฐ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของเกษตรพันธะสัญญา ที่มีคำถามในเรื่องการผูกขาดทางด้านการเกษตร ซึ่งระบบนี้มีกว่า 30 ปี เกษตรที่อยู่ระบบนี้มักจะได้ผลดีในช่วงแรกๆ เท่านั้น โดยระยะต่อมาจะมีปัญหาที่ส่งผลให้เกษตรกรเป็นหนี้สิน ครอบครัวล่มสลาย บ้างต้องรุกพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพด พืชไร่ มีการใช้สารเคมี จึงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นต้นทุนแฝงทางสังคมที่ไม่ได้มีการคำนวณ

นายไพสิฐ พานิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า การวิจัยพบว่าเกษตรพันธะสัญญา ที่เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้ แต่สัญญาดังกล่าวกลับกลายมาเป็นเครื่องมือในการขูดรีดเกษตรกร ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่ของบริษัทด้านเกษตร ยิ่งทำเป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทางรอดของเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มและมีฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ก่อนการทำสัญญา เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2555

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายชงรัฐปล่อยกู้แก้ปัญหาภัยแล้งปีละ500ล้านบาท

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เตรียมเสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ชาวไร่อ้อยรอบใหม่ ระยะเวลา 3 ปี วงเงินสินเชื่อปีละ 500 ล้านบาท แนะรัฐนำบทเรียนที่ล้มเหลวมากำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ ขยายวงเงินกู้สูงสุดต่อรายจาก 260,000 บาท เป็น 500,000 บาท พร้อมจัดตั้ง Call Center ทำหน้าที่ประสานงานและสร้างความเข้าใจแก่ชาวไร่ให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น หวังเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ดึงผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น หนุนความแข็งแกร่งมั่นคงให้แก่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาว

นาย วิโรจน์ ภู่สว่าง ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Chairman of water resource and irrigation working Group, The 3 Thai Sugar Millers associations) เปิดเผยว่า จากโครงการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (กันยายน 2552 - กันยายน 2554) ที่ภาครัฐอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 6,000 ล้านบาท ถือว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากตลอดระยะเวลา 3 ปีของโครงการ มีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการขอสินเชื่อเพียง 348.78 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.81% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้น คณะทำงานฯ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จึงเตรียมเสนอแนวทางใหม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) พิจารณา โดยจะมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2555-2558) ภายใต้วงเงินสินเชื่อปีละ 500 ล้านบาท

“ตามโครงการที่เคยทำมา ปัญหาที่เราพบก็คือ หลักเกณฑ์เดิมมีข้อจำกัด เช่น วงเงินกู้ต่อรายน้อยเกินไป ไม่สามารถกู้เป็นกลุ่มได้ และความไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของโครงการ ทั้งในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล คณะทำงานฯ จึงเสนอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์พิจารณาการขอสินเชื่อของชาวไร่อ้อยที่เป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ โดยขอให้มีการผ่อนปรนมากขึ้น โดยเปิดกว้างให้ชาวไร่สามารถขุดสระจัดหาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกของตนเองได้ และขยายวงเงินกู้สูงสุดต่อรายจาก 260,000 บาท เป็น 500,000 บาท” นายวิโรจน์ กล่าว

ประธานคณะทำงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานสำหรับไร่อ้อย กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวไร่อ้อย ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการและประโยชน์ที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ “โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นโครงการที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย โดยต้องร่วมกันสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวไร่อ้อยได้เห็นถึงความจำเป็นของโครงการดังกล่าว ที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อยและสร้างความมั่นคงทางผลผลิตต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวมของไทยได้” นายวิโรจน์ กล่าว

ด้านนางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (Mrs.Wanyaree Paisuksantiwatana , secretary to the public relations committee, The 3 Thai Sugar Millers associations) เพิ่มเติมข้อมูลว่า ในส่วนของ 3 สมาคมฯ นั้น จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง (Call Center) เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงาน ประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธ.ก.ส. เพื่อขจัดอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อสร้างประโยชน์และสร้างความยั่งยืนในการผลิตอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อย อีกทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยก็จะมีความมั่นคงทางด้านผลผลิตด้วย

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2555

คุมโรงงานกำจัดขยะอุตฯ

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ ‌รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้‌มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาห ‌กรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรม‌จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามโรงงาน‌อุตสาหกรรมและโรงงานรับกำจัด‌กากอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เข้า‌สู่ระบบเข้มข้นขึ้น แก้ปัญหาลักลอบ‌ทิ้งน้ำเสียและกากขยะอุตสาหกรรม‌จากโรงงาน

ด้านนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว‌ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ‌และติดตามโรงงานกำจัดกาก‌อุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยมี นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดี‌กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็น‌ประธาน เพื่อติดตามและนำผลมารายงานทุก 15 วัน นำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นฐานข้อมูลในการวาง‌มาตรการกำกับดูแลต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้อุตสาห ‌กรรมจังหวัดทั่วประเทศสำรวจ‌ปริมาณกากอุตสาหกรรม ว่าปัจจุบัน‌มีการเข้าระบบแล้วมากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้พบว่ามีปริมาณกาก‌อุตสาหกรรมที่เข้าระบบแล้วเพียง ‌50% ต้องติดตามส่วนที่เหลือต่อว่า‌ไปอยู่ที่ไหน

นายประพัฒน์ กล่าวว่า กรม‌โรงงานเริ่มลงทะเบียนรถขนส่งกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้มาติดตั้งระบบติดตามผ่านดาว‌เทียม (จีพีเอส) ให้เร็วที่สุดภายใน 60 วัน

ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบจีพีเอสอยู่แค่ไม่กี่คันเท่านั้น และ‌หากมีการตรวจพบว่ารถขนส่งกาก‌อุตสาหกรรมคันใดลักลอบนำกาก‌อุตสาหกรรมไปทิ้งผิดกฎหมาย ก็จะ‌ดำเนินการไปถึงตัวโรงงานเจ้าของ‌กากอุตสาหกรรมให้รับผิดชอบร่วมกันด้วย เพราะเดิมเมื่อกาก‌อุตสาหกรรมหลุดออกจากโรงงาน‌แล้ว ก็จะพ้นความรับผิดชอบของ‌โรงงานนั้น ทำให้ไม่สามารถหาผู้‌กระทำผิดมารับผิดชอบได้

สำหรับปริมาณกากอุตสาหกรรม (ทั้งที่อันตรายและไม่‌อันตราย) ที่ได้รับอนุญาตให้จัดการ‌ในระบบช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2555) มีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย ‌12.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ‌ที่อยู่ในระบบรวม 25.3 ล้านตัน ส่วนปริมาณกากอุตสาหกรรม‌อันตรายเข้าระบบแล้ว 1.36 ล้าน‌ตัน จากปีก่อนที่เข้าระบบแล้ว 2.65 ‌ล้านตัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาห ‌กรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงงานผู้‌รับกำจัดและบำบัดกากอุตสาห ‌กรรมที่ถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ‌ทำให้ไม่สามารถรับกำจัดและบำบัด‌กากอุตสาหกรรมได้ 9 โรงงาน จาก‌โรงงานทั้งหมด 2,231 โรงงาน โดยได้แจ้งเตือนให้เร่งปรับปรุงการ‌ดำเนินงานแล้ว หากไม่ดำเนินการ‌แก้ไขภายในกำหนด ก็จะดำเนิน‌ถอนใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.กรม‌โรงงานต่อไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2555

บริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในปี 2554 ว่ามีพื้นที่ดำเนินการ 75 จังหวัด รวม 90 จุด คิดเป็นพื้นที่ 137,267 ไร่ เกษตรกร 10,627 ราย ล่าสุดได้มีการสำรวจผลการดำเนินโครงการรอบ 6 เดือน ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด นครพนม บุรีรัมย์ สระบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี นครศรีธรรมราช และ สงขลา รวมเกษตรกรตัวอย่าง 266 ราย พบว่า เกษตรกรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตร้อยละ 72 ของเป้าหมาย และเกษตรกรที่ผ่านการอบรมได้นำความรู้ ไปปรับใช้ประโยชน์ร้อยละ 68 โดยมีประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในฤดูแล้งที่ร้อยละ 67

ส่วนประสิทธิภาพการผลิตข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชหลักในฤดูแล้งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิม 700 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 747 กิโลกรัมต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 47 กิโลกรัมต่อไร่คิดเป็นร้อยละ 7 เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำใหม่เพิ่มเติม ซึ่งสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ร้อยละ 67 ส่งผลให้เกษตรกรได้รับน้ำเพื่อการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนงบประมาณอีกด้วย ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากมีการดำเนินกิจกรรมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งโครงการ คาดว่าจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิต และรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นมากกว่านี้.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 มิถุนายน 2555

กรมชลคว้ารางวัลจาก UN

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมชล ประทานได้ส่งนวัตกรรมการป้องกันและการบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ เข้าแข่งขันรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน จากองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำปี พ.ศ. 2555 นั้น ปรากฏว่า สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสาขา Fostering Parti-cipation In Policy Making DecisionsThrough Innovative Mechanisms ประเภทนวัตกรรมการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ ในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งส่วนของภาครัฐและกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำภาคประชาชนสำหรับนวัตกรรมการป้องกันและการบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยมดังกล่าว ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลนวัตกรรมการให้บริการประจำปี พ.ศ. 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

ทั้งนี้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จึงนับว่าเป็นหน่วยงานที่ 2 ของกรมชลประทานที่ได้รับรางวัลจาก UN ต่อเนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สาขา Fostering Participation in Policy Making Decisions throughInnovative Mechanisms ในการเสนอขอรับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2554 ประเภทการสร้างนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UN.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มิถุนายน 2555

ชี้ “เออีซี” ดันราคาน้ำตาลพุ่ง ผนึก “มิตรผล” เร่งลดต้นทุน

ไวตามิ้ลค์รับมือเออีซีกระทบโครงสร้างราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้น ผนึกมิตรผลเร่งลดต้นทุนการผลิต ลุยนำน้ำเชื่อมผลิตแทนน้ำตาลเกล็ด กัดฟันไม่ขึ้นราคา หวังสิ้นปียอดขายโตมากกว่า 10%

นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมถั่วเหลืองไวตามิ้ลค์ เปิดเผยว่า ผลจากการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งอาจมีผลทำให้โครงสร้างราคาน้ำตาลปรับราคาขึ้นลงตามตลาดมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันราคาน้ำตาลในประเทศยังทรงตัวอยู่ โดยเป็นสินค้าควบคุมราคาอยู่ที่ 23.50 บาทต่อกก.ก็ตาม ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำตาลก่อนหน้านี้ช่วง 2-3 ปีได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 16-18 บาทต่อ กก. มาเป็นถึงกว่า 20 บาทต่อ กก.

จากต้นทุนราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบอย่างถั่วเหลืองนำเข้าที่ปรับขึ้นจาก 500 เหรียญต่อตันเป็น 800 เหรียญต่อตัน ทำให้บริษัทต้องมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านการผลิตเพื่อลดต้นทุนต่างๆ เพราะบริษัทไม่มีแผนปรับราคาสินค้า จากปกติบรรจุภัณฑ์กล่องยูเอชที 10 บาท ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12 บาท แต่บริษัทยังคงขายราคาเดิมคือ 10 บาท คือชนิดกล่องเริ่มตั้งแต่ 7-10 บาท และขนาดขวด 12 บาท หลังเคยปรับราคาเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

บริษัทจับมือร่วมกับมิตรผลปรับกระบวนการผลิตนมถั่วเหลือง จากน้ำตาลชนิดเกล็ดมาเป็นน้ำเชื่อม ทั้งนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนการประหยัดพลังงาน ลดปริมาณการสต๊อกสินค้าจาก 5-6 วันเป็น 4 ชั่วโมง โดยได้นำร่องปรับการผลิตแล้วที่โรงงานรังสิต 1 แห่ง ส่วนโรงงานที่สุราษฎร์ฯ วางแผนจะปรับในอนาคต อย่างไรก็ตาม ระยะยาวการนำน้ำเชื่อมมาผลิตแทนน้ำตาลเกล็ดจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และวางแผนนำน้ำเชื่อมไปผลิตกลุ่มน้ำส้มกรีนสปอตในอนาคต

นายธรรมศักดิ์ กล่าวว่า การเกิดเออีซีจะทำให้บริษัทขยายตลาดอาเซียนอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุน และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัท และคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ประกอบการเข้ามาเปิดตัวนมถั่วเหลืองในประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท จากการที่คนไทยบริโภคนมถั่วเหลืองอันดับ 3 ของโลก หรือ 12 ล้านลิตรต่อคนต่อปี รองจากสิงคโปร์ 14 ล้านลิตรต่อคนต่อปี และอันดับ 1 ฮ่องกง 15 ล้านลิตรต่อคนต่อปี โดยปีนี้คาดว่าตลาดนมถั่วเหลืองเติบโตมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับตลาดนมโดยรวมโต 7%

แม้เออีซีจะทำให้มีรายใหม่เข้ามาทำตลาด แต่ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากนัก โดยปัจจุบันไวตามิ้ลค์เป็นผู้นำตลาดนมถั่วเหลือง มีส่วนแบ่ง 45% โดยสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตมากกว่า 10% ส่วนเป้าหมายการขยายตลาดส่งออกตั้งเป้าโต 5-10% ทุกปี คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ส่งออกมากกว่า 20%

ด้านนางอัมพร กาญจนกำเนิด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดธุรกิจน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า บริษัทได้ทุ่มงบ 500 ล้านบาทลงทุนโรงงานและระบบขนส่งน้ำเชื่อม โดยมิตรผลทำหน้าที่ Solution Provider เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรม นำร่องการจับมือร่วมกับไวตามิ้ลค์รายแรก โดยการนำโลโก้มิตรผลมาพิมพ์ไว้ด้านหลังกล่องบรรจุภัณฑ์ไวตามิ้ลค์ ซึ่งคาดว่า 2-3 ปีรายได้จากกลุ่มน้ำเชื่อมจะเพิ่มจาก 20% เป็น 40-50% จากปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม 75-80% และกลุ่มผู้ใช้ครัวเรือน 20-25%

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 มิถุนายน 2555

มูลนิธิสถาบันปิโตรเลียมฯ ร้องรัฐหนุนการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง

คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัตน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้เอทานอลอย่างจริงจัง หลังจากที่การผลิตมีปัญหาล้นประเทศ จากนโยบายที่ไม่ชัดเจน พร้อมระบุโรงกลั่นน้ำมันอาจจะกระทบบ้าง แต่สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่เหลือมาผลิตปิโตรเคมี โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีในภาคใต้หรือแลนด์บริดจ์ ในทุ่งนเรนทร์ จังหวัดปัตตานี

คุณหญิงทองทิพ กล่าวว่า จากนโยบายความไม่ชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ส่งผลกระทบ ทำให้เอทานอลในประเทศเหลือจำนวนมากต้องมีการส่งออก โดยปัจจุบันมีการใช้เอทานอลประมาณ 1.3 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น ซึ่งนโยบายการส่งเสริมควรออกมาชัดเจน โดยเฉพาะการส่งเสริมอี 85 อี 20 โดยพบว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ที่ออกมาใหม่ 1.3 ล้านคัน สามารถใช้อี 20 ได้แล้ว แต่รถยนต์ยังมีการใช้น้อย ซึ่งเกิดจากสถานีบริการอี 20 มีการขายเพียง 2 รายเท่านั้น คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) และ บมจ.ปตท. ขณะที่การส่งเสริมอี 85 ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานควรจะเร่งเข้ามาสนับสนุน

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่ารถยนต์ที่ใช้อี 85 นอกจากจะเป็นรถยนต์อี 85 เฉพาะแล้วยังเป็นรถเก่าที่ล่าสุดผลวิจัยพบว่าไม่ต้องติดตั้งคอนเวอร์ชั่นคิทในอัตรา 6,000-7,000 บาทต่อคันก็สามารถใช้ได้ โดยมีการเปลี่ยนแอดดิทีฟหรือสารเพิ่มคุณภาพและน้ำมันหล่อลื่นเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ผลวิจัยอยู่ระหว่างการทดลอง พบว่าสามารถใช้ได้และจะมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการต่อไป ขณะเดียวกันรถจักรยานยนต์ก็สามารถใช้อี 85 ได้เช่นกัน โดยต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในอัตราคันละ 2,000 -3,000 บาท ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนส่วนนี้ โดยหากอี 85 ได้รับความนิยมก็จะทำให้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบของประเทศไทยขายได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันจะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศและช่วยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ซึ่งก่อให้เกิดโลกร้อนอีกด้วย

คุณหญิงทองทิพ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อมีการใช้เอทานอล รวมทั้งไบโอดีเซล เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันทำให้มีวัตถุดิบเหลือจำหน่าย แต่แนวทางไม่จำเป็นต้องส่งออก เพราะสามารถนำแนฟทาไปผลิตปิโตรเคมีต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง โดยเฉพาะนำไปส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมี หรือแครกเกอร์ ซึ่งใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบใหม่ในพื้นที่แลนด์บริดจ์ในภาคใต้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ทุ่งนเรนทร์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ของทหารประมาณ 10,000 ไร่ เป็นที่ถ่ายเทอากาศได้ดีไม่มีภูเขาขวางกั้น ไม่ไกลจากท่าเรือปากบารา และใกล้สนามบิน

ทั้งนี้ หากสามารถก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ได้จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากแนฟทาผลิตปิโตรเคมีผสมกับวัตถุดิบการเกษตรในภาคใต้ ซึ่งอาจจะผลิตออกมาเป็นวัตถุดิบโอลิโอเคมิคอลก็จะได้ประโยชน์ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และเป็นฐานผลิตที่จะสร้างความสามารถการแข่งขันของประเทศ แห่งใหม่และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ โดยพื้นที่แลนด์บริดจ์ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งตะวันออกและตะวันตกเชื่อมถึงอินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ขณะที่ขนส่งสินค้าไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ได้สะดวก นับได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถสร้างความแข่งขันแห่งใหม่ที่ดีของประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 26 มิถุนายน 2555

คิดค้นปุ๋ยสูตร ”รวมมิตร” “หมอดินกบินทร์บุรี “แนะเกษตรกรใช้เลี้ยงสัตว์ – ปรับปรุงดินสร้างรายได้มั่นคง

หมอดินกบินทร์บุรี ทำเกษตรทฤษฏีใหม่ คิดค้นปุ๋ยสูตรรวมมิตร ใกล้ชิดธรรมชาติ ปรับปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ มีรายได้เหลือกิน เหลือเก็บ ปลดหนี้ธนาคารได้จนหมด

นายถวัลย์ จันทร์เพ็ญ หมอดินอาสา ต.ยะรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อายุ 53 ปี กล่าวว่าตนเองเริ่มคิดหาวิธีทำการเกษตรทฤษฏีใหม่มาตั้งแต่ปี 2526 โดยพื้นที่ทำเกษตร 7 ไร่ ในตอนนั้นส่วนใหญ่ลักษณะดินเป็นดินลูกรัง ดินเหนียว มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ ทำการปลูกข้าวและผลไม้ในแบบเชิงเดี่ยวไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เดิมเคยทำนามาโดยตลอด แต่รายได้ไม่พอใช้ต้องไปกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน ทำให้มีหนี้สินจำนวนมาก จึงนำเอาวิธีการทำการเกษตรแบบทฤษฏีใหม่เข้ามาใช้ โดยเปลี่ยนจากทำนาปลูกข้าวทำการเกษตรเชิงเดี่ยวมาทำสวน ซึ่งดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ดินก้นบ่อ ก็แก้ปัญหาโดยการหว่านถั่วพร้า ใช้ปูนโดโรไมค์ผสมกับปุ๋ยสูตร พ.ด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินในการปรับปรุงดิน 2 ปีผ่านไป ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น จากนั้นได้ขุดบ่อน้ำพื้นที่จำนวน 2 ไร่ นำดินที่ได้จากการขุดบ่อมาถมพื้นที่จำนวน 3 ไร่ แล้วปลูกหญ้าแฝก ถั่วพร้า ส้มโอ มะม่วง และพืชสมุนไพรทั่วไป โดยทำการปลูกพืชสลับแบบฟันปลา พันธุ์หญ้าแฝกที่ปลูกเป็นพันธุ์สงขลา 3 และพันธุ์สุราษฏร์ธานี 3 ปลูกเป็นแนวตามขอบสระน้ำ และแนวพื้นที่ร่องสวนผลไม้เพื่อรักษาหน้าดิน

นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรีจัดฝึกอบรม ให้กับเกษตรกร จนสามารถคิดค้นทำปุ๋ยขึ้นมาใช้เองและแจกจ่ายให้กับเพื่อนเกษตรกรทั่วไป สูตรปุ๋ยที่ว่านี้ชื่อ “สูตรรวมมิตร ใกล้ชิดธรรมชาติ” วิธีการทำคือ นำเอาดินจากพื้นที่ในบริเวณป่าที่ปลอดจากสารเคมีที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “จุลินทรีย์บริสุทธิ์” ใช้ดินประมาณครึ่งถังสี กากน้ำตาล 5 – 10 กก. รำละเอียด 5 กก. น้ำ 100 ลิตร ผสมรวมกันในถังปริมาตร 200 ลิตร คนทุกๆ 1 สัปดาห์ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จึงนำมาใช้ได้ ปุ๋ยสูตรนี้สามารถนำมาใช้ต่อเชื้อกับสูตร พ.ด.2 ได้ด้วย เมื่อนำไปใช้ทำให้ดินจากที่เคยเป็นดินเหนียวกลายเป็นดินที่ร่วนซุยเป็นพิเศษ สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ โดยใช้ปุ๋ยสูตรนี้ผสมกับอาหารสัตว์ทิ้งไว้ประมาณ 8 ชั่วโมง ใช้เลี้ยงเป็ดและไก่ทำให้ออกไข่ดกมากใช้เลี้ยงหมูหลุม ทำสารจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ผลผลิตที่ได้จากในพื้นที่ ลุงถวัลย์ บอกว่า “ส่วนที่เหลือจากบริโภคก็เอาออกไปขาย ช่วยกันทำ 2 สองคนกับภรรยา” รายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 20,000 - 30,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือ 15,000-20,000 บาทเลยที่เดียว ทำให้สามารถใช้หนี้ที่ยืมธนาคารมาจนหมดในระยะเวลา 5 ปี

ปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าไปศึกษาเรียนรู้หาข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรีก็ให้การสนับสนุนติดตามผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาหญ้าแฝกและปุ๋ยชีวภาพเรื่อยมา จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

หากสนใจขอทราบพูดคุยเพิ่มเติมสามารถติดต่อ ถวัลย์ จันทร์เพ็ญ ได้ที่ ต.ยะรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หรือที่ สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี โทร.0-3745-4106

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2555

แนวโน้มการใช้สารเคมีเกษตรลด เอกชนชี้ความต้องการถึงจุดสูงสุด คาดอนาคตปริมาณนำเข้าหายวูบ

นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรระบุปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชของไทยมีโอกาสลดลง เผยยอดขายสารกำจัดวัชพืชในมาเลเซียลดวูบแล้ว หลังยางพารา-ปาล์มน้ำมันปลูกเต็มพื้นที่ และโตจนบดบังวัชพืช ชี้แม้กระทั่งสารกำจัดแมลงยังมีโอกาสใช้น้อยลง หากเกษตรกรเข้าถึงความรู้มากกว่านี้

ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยว่า สัดส่วนการใช้สารกำจัดวัชพืชในประเทศไทยน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุด ก่อนขยับลงมาเหมือนประเทศมาเลเซียที่เคยใช้ในสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจากพืชหลักของมาเลเซียได้แก่ปาล์มน้ำมันและยางพาราปลูกจนเต็มพื้นที่ และเติบโตจนคลุมแปลงปลูก ทำให้หญ้าที่อยู่ข้างล่างไม่อาจเจริญเติบโตได้

“มาเลเซียเคยใช้มากกว่าไทย แต่ตอนนี้น้อยกว่ามากแล้วและขายไม่ค่อยได้ ไม่ว่าสารไกลโฟเสทหรือสารพาราคว็อตที่ใช้กำจัดวัชพืช”

สำหรับประเทศไทย สารกำจัดวัชพืชมีการใช้สูงถึง 70% ในสารกำจัดศัตรูพืชหลัก 3 ชนิด โดยสารกำจัดแมลงประมาณ 12-15% และสารกำจัดโรคพืช 7-11% ทั้งนี้การใช้สารกำจัดวัชพืชมาก เนื่องจากมีการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลังกันมาก ขณะเดียวกันขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งค่าแรงที่แพง ทำให้เกษตรกรต้องหันมาใช้สารกำจัดวัชพืชที่สะดวกกว่า และถูกกว่าแทน

ดร.วีรวุฒิ กล่าวว่า สัดส่วนการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในอนาคตจะปรับเปลี่ยน นอกจากสารกำจัดวัชพืชลดลง เพราะยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ปลูกเติบโตบดบังการเติบโตของวัชพืชด้านล่างแล้ว ในส่วนของสารกำจัดแมลงศัตรูพืชก็จะทรงๆ เหมือนเดิม ในขณะสารกำจัดโรคพืชมีโอกาสขยายตัวเพิ่มได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรเองยังขาดข้อมูลเรื่องโรคพืช รวมทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส หรือไส้เดือนฝอย ตัวการก่อโรคไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

“อย่างสารกำจัดแมลงศัตรูพืช หากเกษตรกรมีความรู้เพียงพอยังสามารถลดการใช้โดยรวมลงได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้ว ตัวเลขการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชในอนาคตมีโอกาสลดลงได้เช่นกัน”

ในระยะ 5 ปี (2550-2554) ที่ผ่านมา มีปริมาณนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชประมาณปีละ 68,000 ตัน ยกเว้นปี 2554 ที่นำเข้ามากถึง 87,775 ตัน เนื่องจากพ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้สารกำจัดศัตรูพืชต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด มีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2554

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 26 มิถุนายน 2555

พณ. เร่งปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ รับ AEC

"พาณิชย์" เร่งปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจให้ทันสมัย รับ AEC เพื่อลดอุปสรรคการค้า-การลงทุน

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ที่จะเปิดเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ยังคงมีปัญหารในเรื่องความแตกต่างในข้อกฎหมาย ฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและให้ผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ จะต้องปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งที่ผูกพันกับ AEC และกฎหมายภายในประเทศให้ทันสมัยขึ้น รวมถึง ข้อพิพาทระหว่างประเทศ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนของนักลงทุนไทยในอาเซียน ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องในบางส่วนแล้ว

นอกจากนี้ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังเปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20 - 21
กรกฎาคมนี้ ทางกรมฯ จะร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และธนาคารไทยพาณิชย์ จัดการสัมมนาเตรียมความพร้อมนักกฎหมายไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันให้ความรู้ เพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันในอาเซียนได้ อาทิ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน 2555

จับตาสถานการณ์พืชอีสาน

สศข.4พบเกษตรกรแห่ปลูกอ้อยโรงงานเพิ่ม/‘ข้าวนาปี’ที่ปลูกลดแต่ผลผลิตต่อไร่ส่อสูงขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ติดตามสถานการณ์พืชช่วงต้นฤดูฝนในเขตภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด พบปีนี้ผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีและถั่วลิสงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปีนี้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากฝนมาเร็ว แต่หันมาทำนาหว่านมากกว่านาดำ เพราะต้นทุนและค่าแรงงานการทำนาดำนั้นเพิ่มสูงขึ้น

นายบัณฑิต มงคลวีราพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์พืชช่วงต้นฤดูฝนในเขตภาคอีสานตอนกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด พบว่า ปีนี้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 60-70 ของพื้นที่นาข้าวทั้ง 4 จังหวัด เนื่องจากปีนี้ฝนมาเร็วขึ้น

สำหรับสถานการณ์ ข้าวนาปี ในปีนี้พบว่าพื้นที่ปลูกลดลงเล็กน้อย (ยกเว้นจังหวัดมหาสารคาม) เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกอ้อยโรงงานแทน โดยต่างคาดว่าอ้อยโรงงานจะได้ผลตอบแทนต่อไร่มากกว่าข้าว และหากเกิดอุทกภัย อ้อยโรงงานจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าข้าว ส่วนวิธีการทำนา เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัดหันมาทำนาหว่านเพิ่มมากขึ้นกว่านาดำเนื่องจากต้นทุนและค่าแรงงานในการทำนาดำเพิ่มสูงขึ้น และในปีนี้คาดว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับมีพันธุ์ข้าวดี เกษตรกรมีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์สูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์ ถั่วลิสงรุ่น 1ของจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด พื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาด้านการตลาด พ่อค้ารับซื้อน้อยรายและไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกยางพาราและมันสำปะหลังแทน ยกเว้นจังหวัดขอนแก่น ที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากราคาดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่นา แต่เกษตรกรจะเก็บผลผลิตถั่วลิสงส่วนหนึ่งไว้ทำพันธุ์ หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี โดยคาดว่าปีนี้ผลผลิตต่อไร่ทั้ง 4 จังหวัด จะเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3-5 เนื่องจากฝนตกสม่ำเสมอในช่วงออกดอก/ติดผล และไม่มีโรคระบาด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน 2555

กมธ.งบฯเสนอปรับลดงบประมาณกระทรวงพาณิชย์กว่า 10 ล้านบาท

นายวัชระ เพชรทอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอปรับลดงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 10 ล้านบาท แบ่งเป็นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล 5 ล้านบาท กรมส่งเสริมการส่งออก 5 ล้านบาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา 450,000 บาท และกรมการค้าต่างประเทศ 310,000 บาท โดยกรมการค้าต่างประเทศ ให้ปรับลดในส่วนของการเดินทางไปต่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ ขอให้เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมราคาสินค้า และการบริหารจัดการองค์การคลังสินค้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนการทุจริตจำนวนมาก หากไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ จะเสนอปรับลดงบประมาณอีกกว่า 2 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการจะพิจารณางบประมาณให้เสร็จสิ้น ภายในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ โดยขอให้สมาชิกที่มีความประสงค์จะยื่นแปรญัตติ ขอให้แจ้งความจำนงค์ภายในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ จากนั้น จะพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 15-16 สิงหาคมนี้

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2555

กระทรวงอุตสาหกรรมลงนาม 4 บริษัทก้าวสู่อุตฯ สีเขียว

กระทรวงอุตสาหกรรมลงนามร่วม 4 บริษัทใน 5 พื้นที่นำร่อง ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศหวังผลขยายสู่เขตอุตสาหกรรมอื่นๆ หวังให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับชุมชน
นายสุภาพ คลี่ขจาย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เชิงพื้นที่ ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับ 4 ภาคเอกชนใน 5 พื้นที่นำร่อง จากบริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด บริษัท ไอ.พี.พี. (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาใน 5 มิติ คือ มิติทางด้านกายภาพ มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติทางสังคม และมิติการบริหารจัดการ โดยต่อจากนี้การพัฒนาของอุตสาหกรรมในพื้นที่จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนเป็นสำคัญ
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า พื้นที่ทั้ง 5 แห่งจะเป็นตัวอย่างนำร่องในการพัฒนาเชิงนิเวศที่สามารถพัฒนาให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการอยู่ร่วมกับชุมชนเพื่อที่จะให้นำไปขยายความร่วมมือในการพัฒนานิคมฯ อื่นๆ ต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 21 มิถุนายน 2555

พาณิชย์ยันไม่ปรับแผนดูแลสินค้าหลังเปิดเออีซี

กรมการค้าภายในยันไม่ปรับมาตรการดูแลสินค้าหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หวังเออีซี ทำให้สินค้าราคาถูกลงมากกว่าปรับเพิ่ม ย้ำกรมมีมาตรการดูแลผู้ประกอบการหลังการเปิดแน่นอน...

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2555 นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงกรณีที่เอกชนร้องขอให้กรมทบทวนมาตรการควบคุมราคาสินค้า เพราะเกรงจะแข่งขันหลังการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ไม่ได้ ว่า กรมยืนยันว่ายังจำเป็นต้องใช้มาตรการดูแลราคาสินค้าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

โดยจะดูแลเฉพาะสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน รวมทั้งสินค้าที่มีโครงสร้างการตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้ผลิตน้อยราย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน“แม้ว่ากรมจะยังคงมีมาตรการดูแลราคาสินค้า ไม่น่าจะกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ และยิ่งเมื่อเปิดเออีซี จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าถูกลง เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี   และการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่เสียภาษีมาผลิตสินค้า ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าถูกลงมากกว่าจะปรับราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรมก็มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพื่อรองรับเออีซี เช่น โครงการเสริมสร้างความสามารถของผู้ประกอบการ โครงการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้า เป็นต้น” นางวัชรี กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 21 มิถุนายน 2555

น้ำตาลครบุรีเพิ่มทุน 300ล้านใน KPP สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มั่นใจขายให้ “กฟผ.” ได้ปี57

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจำนวน 300 ล้านบาท ในบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด หรือ KPP ซึ่งจากเดิมที่มีทุนอยู่แล้ว 200 ล้านบาท โดย KPP ถือเป็นบริษัทย่อยที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99% เพื่อรองรับการขยายโครงการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานชีวมวล จากขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ เป็น 35 เมกะวัตต์ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,638 ล้านบาท

โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะมาจาก KBS จำนวนประมาณ 300 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้จากสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จ พร้อมขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณเดือนมกราคม 2557

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลดังกล่าว เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากกากอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ KBS มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นประมาณ 7-10% และจะผลักดันให้กำไรสุทธิของ KBS เพิ่มมากขึ้นที่ประมาณ 25-30% โดยจะเริ่มเห็นภาพของรายได้และกำไรสุทธิขยายตัวตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป

“รายได้ที่เกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล แม้จะคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับฐานรายได้ของ KBS ในปัจจุบัน ซึ่งมาจากการขายน้ำตาลเป็นหลัก แต่ที่จะเห็นภาพชัด คือ ในส่วนของกำไรที่จะเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยคาดว่าจะผลักดันให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 25-30% อย่างไรก็ตาม KBSไม่ได้คาดหวังที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจด้านไฟฟ้าให้มากไปกว่านี้ เพราะวัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าว คือ ต้องการใช้ประโยชน์จากกากอ้อยที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยธุรกิจหลักของ KBS ก็ยังคงมาจากการขายน้ำตาล” นายอิสสระ กล่าว

สำหรับแนวโน้มรายได้ของ KBS ในปี 2555 นี้ คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงปี 2554 ที่ประมาณ 6,150 ล้านบาท จากปริมาณการหีบอ้อยที่ 2.5 ล้านตัน ส่วนปี 2556 ตั้งเป้าอ้อยเข้าหีบประมาณ 2.8 ล้านตัน หลังจากปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้วกว่า 53% ทำให้คาดว่า รายได้และกำไรจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ประมาณ 10% นอกจากนี้ KBS ยังได้ปรับแผนหันมาผลิตน้ำตาลทรายขาวซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าน้ำตาลทรายดิบมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนรายได้และกำไรในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มิถุนายน 2555

เปิดโรดแมป "เออีซี" จี้นักธุรกิจไทย เร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมหลัก

นายประกอบ จันทร์มา รักษาการวิศวกรเชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยีการผลิต กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยในการสัมมนาฏิบัติการ “SMEs Roadmap เปิดแนวรุกบุก AEC”ว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการด้วยการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน ผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ “เออีซี” โดยสร้างความเข้าใจในโอกาสและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้แผนงานเชิงบูรณาการ หรือ “AEC Blueprint” เพื่อจัดทำแผนความพร้อมของธุรกิจหรือโรดแมปทั้งเชิงรุกและรับ

“เหลือเวลาอีกไม่กี่ปี ที่ไทยมีเวลาเตรียมความพร้อมกับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ใน ปี พ.ศ. 2558 จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทย ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมหลักที่นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนเนื่องจากมีรากฐานเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลัก ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์” นายประกอบกล่าว

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเออีซีพร็อมท์( AEC Prompt) สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า จุดประสงค์ของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ การรวมตัวของตลาดเงิน ตลาดทุน เศรษฐกิจอาเซียนบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกและมีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน

นายบัณฑูร กล่าวว่า การเปิดตลาดเสรีอาเซียนจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจ SME ทั้งการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ผู้ประกอบการที่รอบคอบจะทราบว่าแหล่งวัตถุดิบที่ไหนในกลุ่มอาเซียนจะเหมาะกับธุรกิจที่ดำเนินอยู่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สินค้าที่ผลิตในอาเซียนสามารถเข้ามาขายในประเทศได้โดยไม่เสียภาษีอากร ส่วนในภาคบริการจะแข่งขันสูงขึ้น รวมทั้งการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนจะมีการส่งเสริมระหว่างกันในประเทศอาเซียน

“การเตรียมความพร้อม ความสำคัญเราต้องมีแบรนด์ในการแข่งขันในตลาดที่ใหญ่เกือบ 600 ล้านคน สินค้าเราจะขายได้มากถ้าเรามีตราสินค้าที่ดี มีการรักษาคุณภาพสินค้า เรื่องอื่น ๆ ที่เราต้องเรียนรู้คือคู่แข่งมีศักยภาพอย่างไรและเรามีศักยภาพอย่างไร เราต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าตลอดเวลา ให้ถูกรสนิยม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเชิงรุกและเชิงรับ” นายบัณฑูรกล่าว

ด้าน นายพิษณุ เหรียญมหาสาร ที่ปรึกษาสถาบันปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจทั้งเรื่องสินค้าและบริการ ไทยถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน แต่มีสองกลุ่มที่สู้มาเลเซียกับสิงคโปร์ไม่ได้คือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และบริการทางด้านการเงิน แต่ไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือกับจีนได้ ทั้งนี้ ด้านโลจิสติกส์ กระทรวงคมนาคมต้องรับผิดชอบหากต้องเป็นศูนย์กลางการบริหารหรือโซ่อุปทาน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน 2555

ชาวไร่อ้อยเฮ! ขยายสินเชื่อซื้อรถเพิ่ม

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยวงเงิน 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดวงเงินสนับสนุนไว้เพียง 1,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวไร่และโรงงานได้เสนอคำขอกู้เข้ามาใหม่สูงถึง 310 คันวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานอนุมัติเร็วๆ นี้

ทั้งนี้เดิมโครงการมีวงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% กำหนดระยะเวลาคืนภายใน 6 ปี โดยจะจัดสรรให้โรงงานหรือชาวไร่ตามโควตาการผลิตน้ำตาลโดยต้องนำไปซื้อในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งการเพิ่มวงเงินดังกล่าวนำมาจาก 3 ส่วนคือ ส่วนที่เหลือจากเงินเดิม 1,000 ล้านบาทที่ปล่อยกู้ไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท รถจำนวน 60 คัน ส่วนที่ 2 ดึงมาจากโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 1,000 ล้านบาทจากวงเงิน 2,000 ล้านบาท และส่วนที่ 3 คือเงินจากสภาพคล่องของกองทุนอ้อยฯ 1,000 ล้านบาท

“ค่าแรงชาวไร่อ้อยได้รับเกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว ดังนั้นการขึ้นค่าแรงจะไม่มีผลกระทบมากแต่ปัญหาคือ การขาดแคลนแรงงานมากกว่า รถตัดอ้อยจึงเป็นคำตอบในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเราจะเร่งให้ทันในฤดูการผลิตปี 2555/56 ที่คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบถึง 100 ล้านตันได้” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่กองทุนฯ ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากทุกฝ่ายยังเห็นด้วยกับรูปแบบเดิม โดยเฉพาะระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานหรือระบบ 70:30

“รายงานของ TDRI จะเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ผมมองว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพราะทุกฝ่ายยังพึงพอใจอยู่โดยเฉพาะระบบหุ้นส่วน” นายประเสริฐ กล่าว

นายเจษฎา ศรศึก ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค.55 บีโอไอจะจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีน โดยกำหนดเป้าหมายเชื่อมโยงการลงทุนที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ทางการเกษตร ไฮไลท์สำคัญจะมีการจัดสัมมนาให้ผู้ประกอบการจีน ทราบถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย และจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตร การใช้พลังงานทดแทนที่ใช้เทคโนโลยีจากการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต

“ลักษณะภูมิประเทศของอู่ฮั่นที่เป็นภูเขา และเนินเขา ประชาชนส่วนใหญ่จึงทำอาชีพเกษตรกรรมคล้ายคลึงกับไทย บีโอไอจึงเห็นโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ โดยเฉพาะ การแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ที่ทำให้จีนผลิตสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรพันล้านคน”

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน 2555

กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงาน Bangkok Sugar Dinner ครั้งแรกในไทย

ฉลองปีประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยิ่งใหญ่

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสามสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สถาบันชาวไร่อ้อยและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดงานยิ่งใหญ่ฉลองปีประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 10 ล้านตัน พร้อมกับการฉลอง 70 ปีแห่งการสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการจัดงาน Bangkok Sugar Dinner ที่มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายชาวไทยและต่างประเทศกว่า 600 คนเข้าร่วมงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ม.ร.ว. พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวระหว่างแสดงปาฐกถาพิเศษว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถสร้างงานสร้างรายได้แก่เกษตรกรนับแสนครัวเรือน รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่หล่อเลี้ยงประชากรของโลกมายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ความสำเร็จในครั้งนี้ จึงเป็นพลังขับเคลื่อนและแรงบันดาลใจอันยิ่งให้แก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพ และขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ของตลาดโลก และรองรับการเปิดเสรีทางการค้าเต็มรูปแบบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558

“ ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของเราสูงขึ้นโดยตลอด และราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็สูงขึ้นโดยตลอด ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้ดีขึ้นกว่าเดิม และเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และอุตสาหกรรมน้ำตาลของเราก็มีความมั่นคงและขยายตัวขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการเปิดเสรีภายในกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมนี้ของไทย เพราะเรามีต้นทุนค่าขนส่งน้ำตาลต่ำกว่าจากคู่แข่งสำคัญทั้งออสเตรเลียและบราซิล ”

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มิถุนายน 2555

ตั้งศูนย์ข้อมูลธุรกิจรับมือเออีซี

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ , ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และ ผศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมแถลงโครงการจัดตั้งศูนย์ AEC Strategy Center ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย และม.หอการค้า เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจ การค้า และการลงทุนของอาเซียน โดยเฉพาะกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนในแต่ละประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการไทย

“เนื่องจากนักธุรกิจไทยมีศักยภาพสูง แต่ยังขาดความพร้อมที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ข้อตกลงต่างๆ ที่จะนำไปสู่ AEC และขาดแหล่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลทางด้านกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการขยายโอกาสทางการค้า และการลงทุนในประเทศต่างๆลดลง” รศ.ดร.เสาวณีย์ กล่าว

ผศ.ดร. อัทธ์ กล่าวว่า เนื่องจากที่รัฐบาลพม่ามีนโยบายในการเปิดประเทศมากขึ้น ก็ควรให้ความสำคัญในเรื่อง การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศไทย ต่อ ประเทศพม่า เพราะหลังจาก AEC คาดว่าการส่งออกของไทยไปพม่าจะขยายตัวขึ้นมีค่าเฉลี่ยเป็นร้อยละ 27.1 ต่อปี ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศสูงเพิ่มเป็น 2 เท่า และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะขยายตัวขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมจะลดลง

ทั้งนี้AEC Strategy Center เป็นฐานข้อมูลสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายของแต่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ AEC Strategy Center ในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ AEC และการทำธุรกิจ การลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งรวบรวมจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกในด้าน กฏหมาย, เศรษฐกิจ และธุรกิจ อย่างเป็นระบบ และช่วยสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับนักธุรกิจภายในประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ AEC ยังสร้างหลักสูตรเพื่อการศึกษาในด้านการลงทุนในอาเซียน และการใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC

สำหรับผลที่ ม.หอการค้า คาดว่าจะได้รับ คือ การมีฐานข้อมูลของประเทศสมาชิกอาเซียนที่สมบูรณ์ ใช้ประโยชน์ทั้งด้านการวิจัย การอ้างอิงเป็นต้น เป็นศูนย์ที่สามารถให้บริการวิชาการและการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากเผยแพร่องค์ความรู้จากการวิจัย สามารถฝึกอบรมผู้ประกอบการให้สามารถเตรียมรับกับผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

อนุมัติขยายวงเงินสินเชื่อรถตัดอ้อยเพิ่ม

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยวงเงิน 3,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดวงเงินสนับสนุนไว้เพียง 1,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 6 ปี ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ให้กับชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาลทราย โดยมีเงื่อนไขให้นำไปจัดซื้อรถตัดอ้อยตามราคาจริง แต่ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานให้การอนุมัติในการประชุมครั้งต่อไป

“3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและองค์กรชาวไร่อ้อยได้เสนอเรื่องมาและที่ประชุมเห็นว่าเป็นเร่งด่วน เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งต้องการลดต้นทุนในการตัดอ้อย และตัดอ้อยให้มีคุณภาพความสะอาด คาดว่าจะอนุมัติได้ทันในปีฤดูกาลตัดอ้อยปี 2555/2556” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับการเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยวงเงิน 3,000 ล้านบาท จะนำเงินมาจาก 3 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นเงินสนับสนุนเดิมที่มีอยู่จำนวน 1,000 ล้านบาท ส่วนที่สองมาจากวงเงินกู้การจัดการระบบภัยแล้งที่มีวงเงิน 2,000 ล้านบาท แต่มีคนมาใช้น้อยและมีเงินเหลืออยู่ 1,000 ล้านบาท และส่วนสุดท้ายจะเอามาจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่สะสมไว้เพื่อให้ในการเร่งด่วน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติคำขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยไปแล้วจำนวน 60 คัน วงเงิน 400 ล้านบาท และมีคำขอใหม่ที่ยื่นมาแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจำนวน 310 คัน วงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยราคารถตัดอ้อยถ้าเป็นรถมือ 2 ราคาอยู่ที่ 6-8 ล้านบาท และถ้าเป็นรถใหม่ราคา 12-15 ล้านบาท

สำหรับการขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาล แต่จะเป็นปัญหาในเรื่องของการขาดแรงงาน รวมทั้งต้องการให้ชาวไร่ตัดอ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ คุณภาพสดและสะอาด โดยการใช้รถตัดอ้อยจะสามารถแทนแรงงานได้ถึง 150 คนต่อวัน อีกทั้ง เชื่อว่าฤดูกาลการผลิตอ้อยในปี 2555/2556 จะมีปริมาณการผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านตันอ้อย เนื่องจากฝนตกตามฤดูการจะทำให้ปริมาณผลิตอ้อยจะเพิ่มขึ้น คาดว่ามีปริมาณถึง 100 ล้านตันอ้อย

นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ สอน. ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า และการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย. แต่เชื่อว่าทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากทุกฝ่ายยังเห็นด้วยกับรูปแบบการแบ่งปันผลประโยชน์เดิมที่จัดสรรให้ชาวไร่อ้อยได้ 70% และโรงงานได้ 30%

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

อุตฯ ตั้งทีมสรรหา ผู้อำนวยการสสว.แทน ”ยุทธศักดิ์” มั่นใจได้ตัวกค.นี้

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะ ประธานบริหาร สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(สสว.)เปิดเผยความคืบหน้าการสรรหา ผู้อำนวยการ สสว.คนใหม่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ที่ไม่ผ่านการประเมิน และลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเพื่อสรรหา โดยจะแต่งตั้งกรรมการสรรหาขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจาก คณะกรรมการบริหาร สสว. คาดว่าจะเปิดรับสมัครผู้สนใจได้ตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นอีก 15 วันจะมีการสรรหาทันที เชื่อว่าภายในเดือนกรกฎาคม2555 จะสรรหาได้

ส่วนการปรับปรุงการบริหารงานของงสสว.มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น เมื่อเร็วๆนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และได้เสนอปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของ สสว.2543 รวม13ฉบับ

ทั้งนี้จะการยกร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศของ สสว.ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และสอดคล้องกับนโยบายของ คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) สสว.และหากเกิดปัญหาที่บุคคลต้องแก้ที่บุคคล หากเกิดปัญหาที่กฎระเบียบต้องแก้กฎระเบียบ นอกจากนี้พบว่า ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ที่ผ่านมาการแต่งตัวบุคลากรภายใน โดยใช้วิจารณญาณของผู้บริหารระดับ ผู้อำนวยการ เท่านั้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

พด.หนุนใช้ปุ๋ยหมักฟื้นฟูดินทราย ลดคาร์บอนในดินบรรเทาโลกร้อน

นายจรูญ ยกถาวร รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ เปิดเผยว่า จากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากภาคเกษตรกรรม เช่นนาข้าว ปศุสัตว์ การใช้ปุ๋ยในดิน ฯลฯ มีจำนวน 22.6% เป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงานที่ปลดปล่อย 69.6% ซึ่งจากการศึกษาปริมาณคาร์บอนของโลกพบว่าถูกเก็บอยู่ในดินมากกว่าถูกเก็บอยู่ในพืชพรรณและในบรรยากาศถึง 3 และ 3.8 เท่า ตามลำดับ เนื่องจากดินเป็นแหล่งสะสมอินทรีย์คาร์บอนจากซากพืช ซากสัตว์ และเก็บกักอยู่ในรูปของอินทรียวัตถุอันเป็นแหล่งธาตุอาหารของพืชเกษตร

จากผลงานการวิจัยของกรมพัฒนาที่ดิน ได้ศึกษาถึงการกักเก็บคาร์บอนในดิน จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในดินทรายของประเทศไทย โดยทำการศึกษาในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากป่าเป็นไร่ข้าวโพดทำให้อินทรีย์คาร์บอนในดินลดลง 70% ในช่วง 12 ปี และการจัดการดินภายใต้การปลูกข้าวโพดแบบเกษตรกร พบว่ามีการเพิ่มอินทรีย์คาร์บอนเพียง 3% แต่การใช้ปุ๋ยหมักอัตรา 2 ตันต่อไร่มากกว่า 10 ปี พบว่า มีปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บไม่แตกต่างจากดินในป่าดั้งเดิม ในขณะดินที่มีการใส่ปุ๋ยหมัก 4 ตันต่อไร่ มีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนมากเป็น 2 เท่า

ดังนั้นการใส่ปุ๋ยหมัก 2 ตันต่อไร่ ในดินทรายจัดจึงเหมาะสมต่อการจัดการดินเพื่อการผลิตโดยทั่วไป แต่ยังไม่สามารถกักเก็บคาร์บอนในดินเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งการใช้ปุ๋ยหมักที่เหมาะสมทั้งชนิดและอัตราการใช้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรแล้ว ยังช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้เกษตรกรที่ต้องการรับคำปรึกษาด้านการจัดการดิน สามารถติดต่อได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน โทร.0-2561-4516 หรือสายด่วน กรมพัฒนาที่ดิน โทร.1760

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

ขยายเวลารับสมัครรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2555

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2555 และได้เชิญชวนผู้ประกอบการส่งใบสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อรับรางวัลฯ แต่ปรากฎว่ามีผู้ประกอบการที่สนใจประสงค์จะสมัคร ไม่สามารถจัดเตรียมเอกสารการสมัครได้ทันตามกำหนด กระทรวงอุตสาหกรรม จึงประกาศขยายเวลารับสมัครคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ.2555 จากส่งใบสมัครได้ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 เป็นส่งใบสมัครได้ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2555

ผู้ประกอบการที่สนใจ ส่งใบสมัครได้ที่...กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4014, 4007, 4093, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด, ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 และ ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดูรายละเอียดได้ทาง www.diw.go.th/PMaward
ติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4007, 4014 e-mail : pr.diw.pa@gmail.com

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

ห่วงตลาดเงินผันผวนรับพิษยุโรป ธปท.เตือนดอลล์ขาด-บาทแกว่ง มั่นใจแบงก์ไทยปึ้กไร้ผลกระทบ

กนง.ผนึก กนส. นั่งโต๊ะหารือรับมือผลกระทบวิกฤตยุโรป ยันแบงก์ไทยยังปึ้ก ขณะที่สภาพคล่องยังมีเพียงพอหนุนเศรษฐกิจ แต่ห่วงระยะสั้นตลาดเงินอาจผันผวน เงินดอลล์ขาดตลาดเป็นระยะๆ ส่วนระยะยาวหนีไม่พ้นเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแน่ เตือนค่าบาทเริ่มแกว่ง ธปท.ยันไม่แทรกแซง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันของกรรมการทั้ง 2 คณะเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ว่า การประชุมร่วมกันทั้ง 2 คณะเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสถานการณ์ให้ครอบคลุมรอบด้าน เนื่องจากที่ผ่านมาการทำงานของ 2 คณะต่างคนต่างทำ ทาง กนง.จะพิจารณาเรื่องเครื่องมือทางการเงินเช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่วน กนส.ก็จะดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งเห็นว่าควรจะหารือร่วมกันเพราะเป็นประโยชน์ค่อนข้างมาก

สำหรับการประชุมในวันนี้ได้นำเสนอกรอบการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งที่ประชุมประเมินเสถียรภาพการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานเข้มแข็ง ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง และสภาพคล่องในระบบมีเพียงพอสำหรับสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปที่ยืดเยื้อและอาจกระทบต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งในระยะสั้นอาจจะสร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนของไทย สภาพคล่องเงินตราต่างประเทศอาจตึงตัวเป็นระยะ ส่วนระยะยาวเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากปัญหายุโรป ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"คณะกรรมการทั้ง 2 คณะได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้เครื่องมือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงินไทยและสนับสนุนให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการหรือเครื่องมือในการรับมือกับปัญหาหนี้ยุโรปเป็นพิเศษ ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปจะมีในเดือนธันวาคม แต่หากมีสถานการณ์เกิดขึ้นระหว่างนี้ก็พร้อมที่จะหารือเป็นกรณีพิเศษ"นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวว่า ทั้งนี้ หลังผลการเลือกตั้งของกรีซ ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกคลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง คาดว่าในช่วง 1-2 วัน ตลาดการเงินจะมีทิศทางการตอบรับค่อนไปในทางที่ดี ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความวิตกลงบ้างในเรื่องที่กรีซอาจต้องออกจากยูโรโซน แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของกรีซและการเจรจาต่อรองเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการรัดเข็มขัดที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังกังวลว่า วิกฤตหนี้จะลุกลามไปยังประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยูโรโซนอย่างเช่น สเปน และ อิตาลี ด้วย

"สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้เข้าไปดูแล เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้รุนแรงมากเกินไป อีกทั้ง ธปท.จะเข้าดูแลเมื่อเกิดจากปัจจัยที่อธิบายไม่ได้" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งเปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เปิดตลาดที่ระดับ 31.43-31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากปลายสัปดาห์ก่อนที่ปิดตลาดที่ 31.52-31.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของทิศทางค่าเงินบาทมาจากสถานการณ์ในกลุ่มประเทศยุโรปแต่แนวโน้มยังมีความผันผวน โดยต้องติดตามการเคลื่อนไหวของสถานการณ์ในกลุ่มยุโรปเป็นหลัก

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

คลังเตรียมขยายสิทธิบัตรสินเชื่อเกษตรกร

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเจรจากับร้านค้าและบริษัทน้ำมันเพื่อให้เกษตรกรที่ถือบัตรสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามโครงการของรัฐบาล มีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ โดยไม่มีภาระดอกเบี้ย เป็นเวลานานถึง 4-5 เดือน โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของรัฐบาล
จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ของรัฐบาล เพราะจะได้กลุ่มลูกค้าเกษตรกร ที่คาดว่าจะถือบัตรเครดิตเกษตรกรนี้ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้รับการประกันว่า เกษตรกรที่ใช้บัตรสินเชื่อของ ธ.ก.ส.จะสามารถชำระหนี้คืนได้ เพราะบัตรดังกล่าวออกให้ภายใต้วงเงินสินเชื่อที่ ธ.ก.ส.อนุมัติ ดังนั้น การเจรจาเพื่อให้ร้านค้าและบริษัทน้ำมันเข้าร่วมโครงการนี้
โดยให้เครดิตกับเกษตรกรนานถึง 4-5 เดือน โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยนั้น น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่มีภาระในการชดเชยดอกเบี้ยในโครงการนี้ โดยระยะเวลา 4-5 เดือน สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาการผลิตจนได้ผลผลิตออกมาขายและสามารถนำเงินมาชำระหนี้ได้

สำหรับเงื่อนไขเดิมนั้น ธ.ก.ส.จะไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้ามารับภาระดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรอีก 3 เดือน โดยรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยนี้ไว้แล้ว 1,650 ล้านบาท ในปีงบประมาณ
2556

โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย มีเป้าหมายเพื่อต้องการลดภาระทางการเงิน ในกระบวนการผลิต ซึ่งตามปกติเกษตรกร จะต้องซื้อปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, และเมล็ดพันธุ์พืช
โดยซื้อจากร้านค้าในท้องถิ่น ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากมักจะซื้อโดยใช้เงินเชื่อ โดยที่พ่อค้าก็จะคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งกลายเป็นภาระแก่เกษตรกร

ดังนั้น บัตรเครดิตเกษตรกรนี้ ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลในการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร โดยเกษตรกรที่ซื้อสินค้าผ่านบัตรนี้ จะมีระยะเวลาปลอดการชำระหนี้โดยไม่มีภาระดอกเบี้ยนานถึง 4-5 เดือน และล่าสุดกระทรวงการคลังกำลังเจรจากับ ปตท.และบางจาก เพื่อให้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เนื่องจากในกระบวนการผลิตของเกษตรกรนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำมันส่วนหนึ่งด้วย

โดยรัฐบาลจะให้สิทธิ์เกษตรกรว่าจะสามารถซื้อน้ำมันผ่านบัตรนี้ได้กี่ลิตร/คน ขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่ปลูก ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะให้วงเงินในบัตรแก่เกษตรกร รายละไม่เกิน 70% ของมูลค่าผลผลิตส่วนเหลือเพื่อขาย ทั้งนี้ คาดว่าในปีแรกจะมีปริมาณการใช้สินเชื่อผ่านบัตรเครดิตประมาณ 20,000 ล้านบาท ปีที่ 2 ประมาณ 44,600 ล้านบาท และปีที่ 3 ประมาณ 70,000 ล้านบาท.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 19 มิถุนายน 2555

ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ด ทดแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้ 100% - เกษตรทั่วไทย

ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ปุ๋ยเคมี เนื่องจากราคาของปุ๋ยเคมีมีการปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรที่ยังคงต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือสารอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่ยังเป็นผลดีต่อพืช สภาพของดิน สิ่งแวดล้อมและตัวของเกษตรกรตลอดจนผู้บริโภคด้วย

สุปราณี มั่นหมาย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยจุลินทรีย์ดิน สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ธาตุอาหารไนโตรเจนมีความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรต้องอาศัยปุ๋ยไนโตรเจน แต่ด้วยแนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ดังนั้น กลุ่มวิจัยจุลินทรีย์ดินจึงได้ศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยชีวภาพที่มีประสิทธิภาพสำหรับพืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรต่อไป

จากการวิจัยพบว่า ไรโซเบียมเป็นปุ๋ยชีวภาพชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ชนิดแบคทีเรียที่สามารถเข้าไปอยู่ในรากของพืชตระกูลถั่วและสามารถตรึงไนโตรเจนที่อยู่ในอากาศมาเป็นธาตุอาหารไนโตรเจนให้พืชนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถใช้ไรโซเบียมทดแทนปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตได้ 100% ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ชนิดผงและชนิดเหลว ซึ่งการนำไปใช้งานสำหรับชนิดผงจะต้องคลุกเมล็ดถั่วกับผงไรโซเบียมโดยใช้น้ำมันหรือน้ำเชื่อมเป็นตัวประสานให้ผงปุ๋ยติดกับเมล็ดก่อนจึงจะนำไปปลูกได้ ส่วนชนิดเหลวก็ต้องนำเมล็ดถั่วไปคลุกกับไรโซเบียมแล้วจึงนำไปปลูก และยังมีข้อจำกัดตรงที่เมื่อผสมแล้วต้องใช้ให้หมดในคราวเดียว

ดังนั้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับเกษตรกรในการใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม สำหรับพืชตระกูลถั่ว ทางคณะวิจัยจึงได้พัฒนาไรโซเบียมรูปแบบเม็ดขึ้นมา โดยเกษตรกรสามารถนำเม็ดปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมไปหยอดพร้อมกับเมล็ดถั่วได้ทันที ซึ่งการทำไรโซเบียมรูปแบบเม็ดจะต้องหาวัสดุมาปั้นเป็นเม็ดสำหรับให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปอาศัยอยู่รวมทั้งสามารถพาเชื้อดังกล่าวให้รอดชีวิตได้นานและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการตรึงธาตุอาหารไนโตรเจนได้ จากการทดลองหาวัสดุปั้นเม็ด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ซีเมนต์ขาว ปูนยิปซัม ดินเหนียว ปุ๋ยหมักมูลโค และหินฟอสเฟต พบว่าปูนยิปซัมและดินเหนียวมีความเหมาะสมในการนำมาทำวัสดุปั้นมากที่สุด เนื่องจากเมื่อนำไรโซเบียมไปไว้ในวัสดุปั้นทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ 1 ปี แต่ต้องเก็บรักษาไว้ในที่เย็น ถ้าเป็นอุณหภูมิห้องปกติควรใช้ปูนยิปซัมเป็นวัสดุปั้นจึงจะเหมาะแต่จะมีอายุเก็บได้ประมาณ 6-8 เดือนเท่านั้น

ผลจากการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงปลูกเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี สามารถสรุปว่าประสิทธิภาพของปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดในด้านการเพิ่มผลผลิตพืชตระกูลถั่วไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยชีวภาพชนิดผงและชนิดเหลว นอกจากนี้ ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพทุกชนิดอยู่ในราคาเดียวกันคือ 20 บาท/ถุง แต่จุดเด่นของปุ๋ยชีวภาพชนิดเม็ดคือความสะดวกในการใช้งานและอายุการเก็บรักษายาวนานกว่าชนิดอื่นการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดของกรมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าปุ๋ยไนโตรเจน เพราะปุ๋ยชีวภาพตัวนี้สามารถทดแทนปุ๋ยไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ผลิตปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเม็ดเพื่อจำหน่าย เนื่องจากยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตในระดับโรงงานอยู่

สำหรับเกษตรหรือผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับตัวอย่างปุ๋ยชีวภาพเพื่อนำไปทดสอบในแปลงปลูกของตนเองได้ โดยติดต่อไปยังกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน สำนักพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-7522-3 ในวันและเวลาราชการ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 18 มิถุนายน 2555

หลายฝ่ายแนะเตรียมพร้อมรับมือเปิดเสรีธุรกิจประกันจากผลพวงเออีซี

สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย จัดสัมมนา เรื่อง “AEC โอกาสหรือวิกฤต....ประกันชีวิตไทย โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยอย่าเพียงแต่ตั้งรับประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เท่านั้นต้องรุกตลาดไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะแข่งขันลำบาก โดยรัฐและเอกชนจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกันไม่ว่าจะเป็นการเตรียมบุคลากร ภาษา ระบบขนส่ง โลจิสติกส์ ฯลฯ โดยไทยได้เปรียบเพราะตั้งอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า อาเซียนจะไม่ใช้เงินสกุลเดียว โดยอัตราแลกเปลี่ยนของไทยนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นผู้ดูแลซึ่งจะแข็งหรืออ่อนขึ้นอยู่กับดุลการค้าเป็นสำคัญ

นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ในกลุ่มอาเซียน ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมีความก้าวหน้ามากที่สุดในเรื่องประกันชีวิต โดยสิงคโปร์มีขนาดของธุรกิจมากกว่าไทย 3 เท่า ขณะที่มาเลเซียมากกว่าไทย 1 เท่า และการลงทุนด้านประกันชีวิตใน 2 ประเทศดังกล่าวอิ่มตัวแล้ว คาดว่าทั้ง 2 ประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแน่นอน เพราะโอกาสของการเติบโตในประเทศไทยมีสูง เนื่องจากปัจจุบันคนไทยที่ซื้อประกันชีวิต มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการกำหนดที่ชัดเจนว่าในกิจการประเภทใดบ้างในประกันชีวิตที่สามารถเปิดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเข้าไปลงทุนได้ ซึ่งถ้ามีแนวทางที่ชัดเจนภาคเอกชนจะสามารถประเมินได้ว่าควรจะปรับทิศทางอย่างไร และควรจะให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร

น.ส.เกตสุดา สุประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการจัดทำข้อตกลงการเปิดเสรีภาคบริการใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ภาคเอกชนมีการเตรียมตัวล่วงหน้ากันมานานแล้ว

นายฉัตรชัย มงคลวิเศษไกวัล ประธานกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมองเลยกรอบของอาเซียนไปแล้ว เพราะความร่วมมือได้ขยายไปสู่ Non Asean แล้ว ในข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับอีก 6 ประเทศและยังมีกรอบความร่วมมือการเปิดเสรีภายใต้กรอบขององค์การค้าโลกนอกจากนี้ การค้าได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะในปัจจุบันมีการค้า ที่ผ่านทาง e-commerce จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อไปภาษีระหว่างประเทศจะเหลือร้อยละ 0 ดังนั้น จะต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยประเทศไทยจะต้องปรับตัวพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าของสินค้ามากขึ้น แต่ขณะนี้น่ากังวลมากเพราะไม่มีใครที่จะบอกว่าทิศทางของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงการเข้าสู่เออีซี ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ราคาประกันถูกลง ขณะเดียวกัน มาตรฐานก็ดีขึ้นเพราะมีการแข่งขันกันเพื่อให้บริการที่ดีขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องรู้ว่ามีจุดแข็งอะไร มีศักยภาพอย่างไร แล้วให้มุ่งไปสู่จุดนั้นรวมทั้งต้องพิจารณาว่าจะแข่งขันอย่างไร การออกไปต่างประเทศ ต้องหาคู่ค้า หรือร่วมทุน ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ใช่ตามกระแส เพราะการตามกระแสจะทำให้ได้รับของที่แพง

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.กำลังเร่งจัดทำ Road Map ของ AEC ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ธุรกิจประกันสามารถเปิดเสรีทันปี 2015 หรือ 2558 เหมือนกับภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ เพราะการปรับตัวต้องเริ่มตอนนี้ ไม่สมควรที่จะรอให้ถึงปี ค.ศ. 2020 เพราะอันตรายเกินไป ระยะแรกการเปิดเสรีจะเริ่มเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการเปิดต่างตอบแทนเป็นลักษณะคู่ค้ากันไปก่อน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ ยังต้องคุยกันอีก เพราะมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องทั้งการกำกับดูแลใบอนุญาต การขึ้นทะเบียน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเสนอขาย ซึ่งจากนี้ไปต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ AEC โดยต้องมีมุมมองในเชิงรุกไม่ใช่รองรับ.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 15 มิถุนายน 2555

ตีโจทย์ใหญ่ธุรกิจ วัดความพร้อมก่อนก้าวสู่เออีซี

Management&HR

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของธุรกิจในวันนี้ กระแสการขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคเออีซีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) เป็นกระแสหลักที่องค์กรธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องการใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับภูมิภาคหรือระดับโลก

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งสำคัญขององค์กรธุรกิจคือการมองเข้ามาที่ตัวเอง กฤษณ์ รุยาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเซีย แปซิฟิก อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านภาวะผู้นำและองค์กร กล่าวว่า ในกระแสของการเคลื่อนเข้าสู่เออีซี นอกจากการเปิดรับข้อมูลต่างๆ จากภายนอกแล้ว สิ่งที่พบคือทุกองค์กรที่ได้สัมผัสมีมุมมองคล้ายกันและมีคำถามว่าองค์กรของเขามีความพร้อมหรือไม่กับการจะก้าวไปสู่ระดับที่สูงกว่าประเทศไทยหรือออกไปสู่ตลาดต่างประเทศนั่นเอง

การตรวจวัดความพร้อมขององค์กรจึงมีความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในธุรกิจ เพราะหากไม่รู้ตัวเองว่าพร้อมหรือไม่ แล้วเข้าไปสู่อีกสนามหรืออีกมิติการแข่งขัน อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อองค์กรได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าองค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องก้าวออกไป หรือคิดจะไปเพราะอยากไปเท่านั้น หรือควรจะไปเพราะมีโอกาสรออยู่

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ กฤษณ์ให้มุมมองว่าเรื่องความพร้อมขององค์กรมองได้ 3 มิติคือ 1. ความพร้อมของวิสัยทัศน์ 2. ความพร้อมของแบบพิมพ์เขียวขององค์กรเพื่อให้ได้รู้ว่าองค์กรต้องการคนประเภทไหนและมากน้อยเท่าไรเพื่อจะทำให้สามารถก้าวไปได้ตามวิสัยทัศน์ และ3. ความพร้อมของบุคลากร เพื่อให้ได้รู้ว่าจะสามารถสร้างบุคลากรจากภายในได้ทันกับความต้องการหรือไม่หรือจำเป็นต้องซื้อตัวบุคลากรจากภายนอก ซึ่งองค์กรที่ต้องการจะขยายธุรกิจไปต่างประเทศต้องประเมินตนเองให้ได้ก่อน

สำหรับความพร้อมด้านวิสัยทัศน์ หลายครั้งมักจะพูดถึงความกล้าที่จะฝันขนาดไหน เช่น บางองค์กรฝันไกลที่สุดคืออยากเป็นที่หนึ่งในจังหวัด แต่บางองค์กรอยากติดอันดับหนึ่งในร้อยของนิตยสาร Fortune หรือหนึ่งในร้อยของโลก ที่สำคัญคือความกล้าฝันเป็นตัวสร้างวิสัยทัศน์

เขายกตัวอย่างว่า บริษัททิปโก้ฟูดส์ในวันนี้อยากเป็นที่หนึ่งในอาเซียน จึงวางวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมด้านโภชนาการ (nutrition innovation) ของภูมิภาคนี้ แต่ถอยหลังไปก่อนที่จะก้าวสู่ระดับอาเซียนทิปโก้ฝันจะเป็นที่หนึ่งในเมืองไทย ดังนั้น ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จึงวางวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจในน่านน้ำสีคราม (blue ocean) ทำให้สามารถพลิกฟื้นธุรกิจจากที่มีผลประกอบการติดลบหลายร้อยล้านให้กลายเป็นบวกขึ้นมาได้ และสามารถสร้างยอดขายเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในประเทศไทย

ส่วนแบบพิมพ์เขียวขององค์กรมี 3 ขั้นตอนที่จะทำให้องค์กรต้องตั้งคำถามเพื่อให้รู้ตัวเองให้ได้ ขั้นแรก ต้องรู้ตัวเองก่อนว่าองค์กรมีความเก่งในเรื่องอะไร ขั้นที่สอง เริ่มมองภาพว่าจะบุกไปที่ไหนในความเก่งที่มีอยู่ ซึ่งความเก่งที่จะไปมีทั้งผลิตภัณฑ์ และการบริหารคนที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปในดินแดนใหม่ ซึ่งแต่ละพื้นที่และสภาพการณ์ก็ต้องการผู้นำที่มีบุคลิกภาพต่างกัน และขั้นที่สาม มีคำถามว่าองค์กรมีคนที่มีบุคลิกภาพตรงกับที่ต้องการและคนๆ นั้นพร้อมจะไปหรือไม่

สำหรับการวัดความพร้อมในการสร้างบุคลากรเพื่อจะได้รู้ว่าองค์กรจะสามารถสร้างคนขึ้นเองเพื่อจะบุกไปได้หรือไม่ หากไม่ได้จะต้องหาบุคลากรจากภายนอกองค์กรมาได้อย่างไรหรือไม่ เช่น ต้องการคนที่ขายเก่ง แต่ที่มีอยู่คือคนที่ผลิตเก่ง ดังนั้น การที่จะไปได้อาจจะต้องซื้อคนจากที่อื่นมาในช่วงแรกแล้วพัฒนาคนขึ้นมารองรับธุรกิจต่อไป

๐ ปรับสมดุล4 เสาหลักขององค์กร

นอกจากนี้ รูปแบบการสร้างกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาคหรือการปรับสมดุลใหม่ในการสร้าง 4 เสาหลักขององค์กร (Strategic Alignment Architecture) ซึ่งประกอบด้วย คน เทคโนโลยี กระบวนการ กลยุทธ์ เพื่อก้าวไปสู่อาเซียน (ดูแผนภาพที่ 1) เป็นเหมือนเครื่องมือซึ่งจะบอกถึงแนวทางการสร้างความสำเร็จในแต่ละช่วงการเติบโตขององค์กร ทำให้องค์กรต่างๆ มีรูปแบบธุรกิจหรือแผนที่นำทางที่ถูกต้อง และสามารถใช้ประเมินทุกองค์กรว่าพร้อมหรือไม่ โดยแต่ละองค์กรต้องถามตัวเองว่ากำลังอยู่ที่จุดไหน จะไปที่จุดไหน และจะทำได้อย่างไร

“องค์กรที่เริ่มเกิดเรียกว่าอยู่ในช่วง Invention มีผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตหลากหลาย มีบุคลิกภาพแบบเถ้าแก่นำเอง คนอื่นเป็นลูกมือ เมื่อองค์กรเติบโตไปในจุด Mass Production เถ้าแก่จะเริ่มเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ใดไปได้ดีทำแล้วมีกำไรมากที่สุด จะเริ่มลดจำนวนสินค้าลงและเน้นสินค้าที่เป็นหลักขึ้นมา ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตนิ่งมากขึ้น การเจริญเติบโตจึงขยายผลได้เร็ว จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Continuous Improvement เน้นเรื่องทำอย่างไรให้ได้ราคาถูกและยังต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งความสามารถของคนต้องเปลี่ยนตามไปด้วยคือต้องเป็นทั้งนักปฏิบัติและนักวิเคราะห์”

“จากนั้น เมื่อจะก้าวไประดับภูมิภาค ต้องรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หลากหลาย สิ่งซึ่งหลายองค์กรพยายามคือทำอย่างไรจึงจะสร้างคอนเซ็ปต์ Mass Customization ให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในท้องถิ่นนั้น ขณะเดียวกันก็สร้างคอนเซ็ปต์การสร้างความสัมพันธ์ที่เรียกว่า Collaboration ซึ่งอาจจะมีฐานการผลิตที่ไหนสักแห่ง แล้วสามารถผลิตป้อนตลาดให้ได้ทั้งภูมิภาค”

นี่คือ 4 รูปแบบของการสร้างเสาหลักตั้งแต่รูปแบบแรกที่มีความพร้อมน้อยที่สุดหากจะบุกไปจนถึงรูปแบบที่มีความพร้อมมากที่สุดกับการไปเออีซี

เขาย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำคือแต่ละองค์กรต้องประเมินตนเองก่อน บอกให้ได้ว่าใน 4 รูปแบบนั้นปัจจุบันอยู่รูปแบบไหน เช่น Mass Production คือทำอย่างไรให้ผลิตได้มากที่สุดและถูกที่สุด ความสามารถ (Competency) หรือบุคลิกภาพ (Character) ของผู้นำจะเป็นนักทำ (Doer) ที่ดี ไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้าเกิดการเพิ่มความหลากหลายของตลาด คนกลุ่มนี้จะลำบากที่ต้องเจาะลึก (Customize) ด้วยการวิเคราะห์สินค้าให้เข้ากับตลาดเพราะเขาเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักคิด ต้องเข้าใจว่าทั้ง 4 รูปแบบนั้นต่างกัน และจะมีกลยุทธ์ (Strategy) กับความสามารถ (Competency) ของผู้นำที่ต่างกัน คำถามคือองค์กรเราพร้อมจะสร้างกระบวนการเดินทางเช่นนี้ได้มากน้อยเท่าไร และพร้อมจะเป็นผู้นำในรูปแบบใหม่หรือไม่

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญที่จะประเมินความพร้อมหรือความสำเร็จขององค์กรคือภาวะผู้นำ ซึ่งการพัฒนาความถนัดเชิงอัจฉริยภาพของผู้นำหรือความแข็งแกร่งของภาวะผู้นำอยู่ที่การมี 3 องค์ประกอบสำคัญอยู่ในตัวคนๆ นั้นคือ ความชอบส่วนตัว (Innate Drive) ทักษะ (Skill) และสิ่งที่งานต้องการ (Job Required) เพราะถ้ามีความชอบแต่ไม่มีทักษะ ถึงแม้จะทำแล้วสนุก แต่จะทำให้สิ่งที่ทำไม่ค่อยมีคุณค่าต่อองค์กร

ขณะที่ถ้าทำในสิ่งที่งานต้องการและมีทักษะในสิ่งที่ทำแต่ไม่ชอบทำ แบบนี้ทำแล้วเกิดความเก่ง แต่ถ้ามีทั้งสามองค์ประกอบสัมพันธ์กันคือทำในสิ่งที่งานต้องการ มีทักษะในสิ่งที่ทำ และชอบทำ จะเป็นแบบที่ทำแล้วรวย ซึ่งเป็นแบบที่องค์กรอยากได้มากที่สุด เพราะจะทำให้คนๆ นั้นมีแรงผลักดันในตัวเองและศักยภาพที่จะทำงานหรือภารกิจนั้นให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

๐ 4 ทักษะหลักของผู้นำ

สำหรับผลวิจัยความถนัดเชิงอัจฉริยภาพซึ่งบ่งบอก 4 ทักษะหลักของผู้นำองค์กรที่จะเข้าไปบริหารจัดการธุรกิจใน 4 ประเทศในอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจจากจำนวนประชากรที่สูงและการพัฒนาของประเทศที่ไปไกลกว่าประเทศอื่นๆ มีความน่าสนใจ เพราะจะช่วยให้รู้ว่าจะต้องเลือกสรรผู้นำองค์กรที่มีทักษะหรือบุคลิกภาพแบบไหนเพื่อให้ไปบริหารธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้น หากเลือกสรรผู้นำที่ไม่เหมาะสมไปบริหารย่อมมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการบุกตั้งแต่เริ่มต้น

4 ทักษะหลักของผู้นำองค์กร ประกอบด้วย 1.การวิเคราะห์ (Analyse) หมายถึงการมีความสามารถในการวิเคราะห์ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีความเข้าใจและความสามารถเชิงตัวเลขและสถิติ เทคนิค การเงินและตัวเลข 2.การจัดการองค์กร (Organize) หมายถึงความสามารถในการบังคับบัญชา อยู่ในกรอบระเบียบบริหารจัดการ วางแผน ลงลึกในรายละเอียด

3.เรื่องของคน (Personalize) หมายถึงความสามารถในด้านมนุษย์สัมพันธ์ เข้าใจความอ่อนไหวทางอารมณ์ สามารถบริหารจิตใจและความรู้สึกจากภายใน มีสุนทรียทางดนตรี ชอบการแสดงออก และ4.การวางกลยุทธ์ (Strategize) หมายถึงความสามารถในการมองภาพรวมและภาพกว้าง คิดด้วยภาพ รวบรวมและประสาน ประกอบสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน สร้างสรรค์ สร้างวิสัยทัศน์

(ดูแผนภาพที่ 3) จากผลวิจัยความถนัดของผู้นำที่ต้องการในงานชี้ว่า ผู้นำหรือผู้บริหารที่จะเข้าไปในประเทศฟิลิปปินส์ต้องมีความถนัดในเรื่องของคน ใส่ใจความรู้สึกและจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด และต้องมีความสามารถในการจัดการค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องวิเคราะห์และการมองภาพรวมไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคนฟิลิปปินส์เป็นคนเฮฮาชอบการสังสรรค์ ใกล้เคียงกันคืออินโดนีเซีย ต้องเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของบุคคลมาก่อนเรื่องอื่น แต่มีความถนัดในเรื่องของการมองภาพรวมน้อยที่สุด

ขณะที่สิงคโปร์ ผู้นำต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์สูง และต้องมองภาพกว้างได้ดี แต่ไม่จำเป็นต้องถนัดในเรื่องของการสร้างมนุษย์สัมพันธ์เท่าไรนัก ส่วนการจะเข้าไปในมาเลเซีย ต้องมีความสามารถด้านการจัดการมากที่สุด ถนัดด้านวิเคราะห์และมองภาพกว้างในระดับกลางๆ ส่วนการเข้าใจความรู้สึกของคนในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญน้อยที่สุด

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 15 มิถุนายน 2555

เปิดศูนย์AECระดับจังหวัดให้ข้อมูล-ข่าวสารเปิดเสรีอาเซียน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เห็นชอบข้อเสนอของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เป็น “ศูนย์ประสานงานและบริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือศูนย์เออีซีของกระทรวงพาณิชย์ระดับจังหวัด มีสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อให้ศูนย์อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเออีซีในแต่ละจังหวัด และท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง กระตุ้นให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ และเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการข้อมูล ข่าวสารทุกอย่างเกี่ยวกับเออีซี ผ่านเอกสารและทางเว็บไซต์ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแต่ละจังหวัด ผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ทางเว็บไซต์สำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยสามารถเข้าสืบค้นภายใต้หัวข้อ AEC Information Center ซึ่งจะเชื่อมโยงต่อไปยัง www.thailandaec.com ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ศูนย์ระดับจังหวัดจะทำให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตและการค้า รวมทั้งประชาชนทั่วไปในแต่ละจังหวัด ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและต่อเนื่องเกี่ยวกับเออีซี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเออีซี ขยายไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้อย่างเป็นระบบและทั่วถึงยิ่งขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2555

KR Daily Update:ประเด็นเด่นวันนี้

อินโดนีเซียยังคงต้องนำเข้าน้ำตาล 2.5 ล้านตัน/ปีในอีก 5 ข้างหน้า เนื่องจากแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อที่จะพึ่งพาตนเองในการผลิตน้ำตาลภายในปี 2557 นั้น เผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับในปีนี้ คาดว่า อินโดนีเซียจะลดการนำเข้าน้ำตาลดิบลงสู่ระดับ 2.01 ล้านตัน จาก 2.4 ล้านตันในปีที่แล้ว เนื่องจากคาคการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 ล้านตัน จากระดับปกติในช่วง 2.2-2.5 ล้านตัน ขณะที่ คาดว่าการบริโภคจะอยู่ที่ 5.0 ล้านตัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อินโดนีเซียพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลจากไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50-60 ของการนำเข้าน้ำตาลทั้งหมดของอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาในส่วนของไทย พบว่า อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยมีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลจากไทยในปี 2554 ประมาณ 1.3 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 19.7 ของการส่งออกน้ำตาลทั้งหมด

ทั้งนี้ แม้ว่า อินโดนีเซียมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ แต่ก็คาดว่า อินโดนีเซีย ก็จะยังคงเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของไทยในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจุบันอินโดนีเซียผลิตน้ำตาลได้เพียงประมาณร้อยละ 50 ของความต้องการบริโภค ดังนั้น การจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอต่อความต้องการจำเป็นต้องใช้เวลา ประกอบกับตามข้อตกลงของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อินโดนีเซียจะมีการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 5-10 ในปี 2558 จากเดิมที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 30-40 ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย เพราะทำให้ต้นทุนทางด้านภาษีนำเข้าน้ำตาลของไทยปรับลดลง ซึ่งอาจจะทำให้น้ำตาลที่ผลิตเองในอินโดนีเซียไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลของไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีได้ และอาจต้องปรับลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลง โดยหันไปปลูกพืชประเภทอื่นๆ ที่ตนเองเห็นว่า มีศักยภาพแข่งขันที่ดีกว่า อาทิ ปาล์มน้ำมัน หรือยางพารา

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2555

เร่งเข็นแผนเกษตรอินทรีย์ มุ่งขยายโอกาสการค้ารองรับเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เลขานุการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วในลักษณะคู่ขนาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติขึ้น 1 ชุด ทำหน้าที่ยกร่างยุทธศาสตร์ระดับชาติในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ พร้อมทั้งศึกษา วิเคราะห์ และประมวลข้อมูล ตลอดจนจัดทำแนวทาง มาตรการแผนงานและงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ฉบับใหม่ ต่อคณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติที่จะมีขึ้นในโอกาสต่อไป

นายนิวัติ กล่าวว่า การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในระยะต่อไป ควรเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดการขยายผลด้านการผลิตผ่านการส่งเสริมกระบวนการผลิต ให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค รวมทั้งต้องพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มีความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตและการตลาด โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่นๆ ทั้งจากส่วนกลาง ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และภาคเอกชน เพื่อให้การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ การผลิต การแปรรูปและการตลาด อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การขยายโอกาสทางการลงทุนและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 14 มิถุนายน 2555

SCBชี้จับตาดูนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ 'Feed-in Tariff'

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ออกบทวิเคราะห์ จับตาดูนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ 'Feed-in Tariff' เขียนโดย ทับขวัญ หอมจำปา และ อลิษา แต้มประเสริฐ

ผลการศึกษา feed-in tariff (FIT) โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีแผนแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ จะช่วยกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากระบบ adder ในปัจจุบัน ซึ่งหากนโยบาย FIT สามารถสร้างความสมดุลในเชิงการลดต้นทุนภาครัฐ ในขณะที่ยังคงให้การสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนด้วยแล้ว ก็จะทำให้การลงทุนใน segment นี้ กลับมามีความน่าสนใจอีกครั้ง

ในเชิงทฤษฎีแล้ว ระบบ adder และระบบ FIT ต่างเป็นวิธีสร้างแรงดึงดูดให้นักธุรกิจหันมาสนใจการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy หรือ RE) ภายใต้ระบบ adder ซึ่งเป็นอัตราคงที่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากค่ารับซื้อไฟฟ้าปกติ (ค่าไฟฐานรวมกับค่า Ft) ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นการลงทุนใน RE ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวนและมีปริมาณจำกัด ในขณะเดียวกัน ระบบ FIT ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (EPPO) ได้มอบหมายให้ทางสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นระบบรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน โดยจะเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามค่าไฟฐานและค่า Ft แต่ยังคงจุดประสงค์ที่ต้องการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนใน segment นี้อย่างต่อเนื่อง

ระบบadder กระตุ้นการลงทุนใน RE อย่างชัดเจน เนื่องจากนักธุรกิจได้รับประโยชน์จากค่าซื้อไฟฟ้าปกติที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐสูงขึ้น ภายใต้ระบบ adder ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2006 นั้น รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าในอัตราเท่ากับ ค่า adder ตามชนิดของ RE รวมกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าปกติซึ่งแปรผันตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นค่าตอบแทนภายใต้ระบบ adder จึงอยู่ในช่วงขาขึ้น ในทางกลับกัน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมีการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งที่ช่วยลดราคาค่าอุปกรณ์แปลงพลังงาน (เช่น แผงโซลาร์เซลล์) และที่ช่วยให้ประสิทธิภาพการแปลงพลังงาน (conversion efficiency) สูงขึ้น ทำให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นต่อเชื้อเพลิงเท่าเดิม ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ระบบ adder สามารถดึงดูดนักธุรกิจเข้ามาลงทุนใน RE ได้จำนวนมากในช่วง 3 ปีแรกของการประกาศใช้ระบบ adder (ปี 2007-2009) (รูปที่ 1) อย่างไรก็ตาม ระบบ adder ทำให้ต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐสูงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายเพิ่มจากฐานค่าไฟฟ้าปกติอยู่ตลอด ส่งผลให้มีการผลักภาระให้ประชาชนบางส่วน และจุดประกายการเปลี่ยนแปลงระบบการรับซื้อมาเป็น FIT ในช่วงกลางปี 2010

เมื่อภาครัฐมีแนวโน้มจะเปลื่ยนเป็นระบบ FIT ทำให้การลงทุนโดยรวมใน RE ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากตัวเลข FIT เบื้องต้นสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตเคยได้รับค่อนข้างมาก FIT สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ที่รัฐบาลตั้งไว้เบื้องต้นที่ 5.94 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่ารับซื้อไฟฟ้าภายใต้ระบบ adder อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเฉพาะค่า adder ขั้นต่ำอยู่ที่ 6.50 บาทต่อหน่วยสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยยังไม่รวมอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าปกติ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแนวโน้มการยืดระยะเวลาการทำสัญญาจากเดิม 10 ปี ไปเป็น 20 ปีด้วย ทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มนักธุรกิจถึงความคุ้มค่าของการลงทุนใน RE ที่อาจได้ผลตอบแทนต่ำลงและมีอายุสัญญาการจ่ายไฟฟ้ายาวขึ้น ในขณะเดียวกัน ค่า FIT ของพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ยังไม่มีนโยบายกำหนดค่าตอบแทนที่ชัดเจน จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนโดยรวม และก่อให้เกิดภาวะ wait-and-see ขึ้นในกลุ่มนักลงทุน

ผลการศึกษา FIT ของจุฬาฯ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของ segment พลังงานหมุนเวียนในไทย ว่าจะมีการลงทุนเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด และในเทคโนโลยีประเภทใด การตั้งค่า FIT ทำได้ 3 วิธีหลัก คือ 1) การตั้งค่า FIT ตามต้นทุนของเทคโนโลยี (generation cost-based approach) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนที่คุ้มทุน วิธีนี้ได้รับความนิยมในกลุ่มประเทศยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี และฝรั่งเศส โดยการตั้งค่า FIT ในลักษณะนี้จะส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของการลงทุนใน RE ทุกชนิด และกระตุ้นการวิจัยและพัฒนา RE ทุกประเภทอย่างต่อเนื่อง แทนการลงทุนแต่ในเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำที่สุดก่อน แต่วิธีนี้ก็มีแนวโน้มทำให้รายจ่ายภาครัฐสูงขึ้นได้ เนื่องจากเป็นการสนับสนุน RE ที่มีกำลังการผลิตและประสิทธิภาพต่ำด้วยเช่นกัน 2) การตั้งตามมูลค่าของ RE (value-based approach) ตัวอย่างเช่น โปรตุเกสใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 และมูลค่าต้นทุนที่ลดลงในระบบส่งและระบบจ่ายจากการตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นๆ มาเป็นตัวแปรในการกำหนด FIT เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังอาจวัดมูลค่าเทคโนโลยีจากศักยภาพและความรวดเร็วในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟสูงสุด (peak) ได้อีกด้วย วิธีนี้จะช่วยลดต้นทุนภาครัฐอย่างชัดเจน และยังแสดงให้เห็นถึงทิศทางการสนับสนุน RE บางประเภทของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ก็อาจก่อให้เกิดการกระจุกตัวในเทคโนโลยีที่จัดว่ามีมูลค่าสูงตามเงื่อนไขที่กำหนด และขาดการพัฒนาใน RE ชนิดอื่น และ3) การเปิดประมูลเสรีเพื่อหาระดับค่า FIT (competitive benchmarking) ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่น้อยที่สุดในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนชนิดนั้นๆ (cost-effective) วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการตั้งค่า FIT สูงหรือต่ำเกินไป โดยการประมูลใหม่ทุกครั้งควรกำหนดให้มีการอ้างอิงราคาเริ่มประมูลจากราคาประมูลครั้งก่อนหน้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคำนวณความคุ้มทุนล่วงหน้าก่อนการเริ่มประมูล และไม่ควรจัดการประมูลบ่อยครั้งนักเพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาในระดับหนึ่ง ปัจจุบันมลรัฐแคลิฟอร์เนียใช้การประมูลราคาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพในเชิงต้นทุนมากที่สุด โดยเฉพาะในสาขาพลังงานแสงอาทิตย์ โดยวิธีการประมูลจะเริ่มจากระดับราคา FIT ต่ำที่สุดที่รัฐกำหนด และเพิ่มระดับราคาประมูลขึ้นเรื่อยๆ จนกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าได้รับการประมูลครบตามต้องการ ซึ่งการประมูลในลักษณะเช่นนี้จะจัดขึ้นปีละสองครั้ง อนึ่ง ผลการศึกษา FIT ของจุฬาฯ น่าจะช่วยฉายภาพถึงวิธีการตั้งค่ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับไทย เพื่อประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลและนักลงทุนในพลังงานหมุนเวียนนี้

•รัฐบาลสามารถเลือกกำหนด feed-in tariff ให้มีความสมดุลในด้านการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และคงความน่าลงทุนในพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่ส่งผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคนัก การเปลี่ยนจาก adder เป็น feed-in tariff ไม่น่าจะทำให้ต้นทุนภาครัฐลดลงไปได้มากนักปัจจุบันการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 10% และถึงแม้จะมีการกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 18% ภายในปี 2030 ตามแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำอยู่ เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่มีสัดส่วนการใช้เกือบ 70% ของพลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด ดังนั้นต้นทุนการรับซื้อและการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลยังคงขึ้นอยู่กับต้นทุนของพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก

•การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในช่วงจังหวะที่นโยบายภาครัฐยังไม่แน่นอน ควรคำนึงถึงศักยภาพการผลิตเป็นสำคัญ พลังงานหมุนเวียนบางประเภทยังมีศักยภาพไม่สูงมากเนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เช่น พลังลม และพลังน้ำขนาดเล็ก ในขณะที่ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ มีเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับ และหาได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเกษตรจำพวก อ้อย มะพร้าว ข้าว ปาล์ม หรือการเลี้ยงสัตว์ เป็นทุนอยู่แล้วและสามารถบริหารจัดการอุปทานเชื้อเพลิงให้มีตลอดทั้งปีได้ จึงมีความน่าสนใจมากที่สุด

•จับตาดูผลการศึกษา feed-in tariff ของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ที่มีแผนจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ โดยผลการศึกษาจะเป็นตัวชี้ทิศทางภาครัฐในการให้การสนับสนุนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในไทยเพื่อจะช่วยให้ segment นี้เติบโตมากขึ้นและทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยในอนาคต

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 13 มิถุนายน 2555

ทุบราคาล่วงหน้าร่วงกราวรูด

น้ำตาลโลกล้นตลาด-วิกฤติยูโรทุบเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า 2 ตัวแปรกดราคาน้ำตาลในตลาดโลกดิ่งลงแรง จาก 25 เซ็นต์/ปอนด์ หล่นฮวบลงมาต่ำกว่า 20 เซ็นต์/ปอนด์ อนท.หนาวเพิ่งทำราคาขายล่วงหน้าปีหน้าได้เพียง 44% ห่วงราคาร่วงแรง หวั่นกดรายได้ในระบบอ้อยและน้ำตาลหด

นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ของราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในขณะนี้ว่า ราคาผันผวนแรงโดยราคาช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2555 อยู่ที่ 24-25 เซ็นต์/ปอนด์ ร่วงลงมาอยู่ที่ 18-20 เซ็นต์/ปอนด์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 630-650 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันลงมาอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน โดยสาเหตุที่ราคาน้ำตาลในตลาดมีราคาอ่อนตัวลงในช่วงนี้ เกิดจากที่มีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกล้นตลาดมากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ประเทศต่างๆ มีการเพิ่มการผลิตอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศมากขึ้น โดยล่าสุดองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ(ไอเอสโอ) ระบุถึงปริมาณการผลิตและปริมาณการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเปรียบเทียบกันว่า ฤดูการผลิตน้ำตาลปี2554/2555 อยู่ที่ 173.828 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553/2554 ที่มีปริมาณน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 164.219 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 9.609 ล้านตัน คิดเป็น 5.85% เปรียบเทียบกับการบริโภคน้ำตาลของโลกอยู่ที่ 167.352 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกล้นตลาด หรือเป็นน้ำตาลส่วนเกินอยู่ที่ 6.476 ล้านตันในปีนี้ เทียบกับปีที่แล้วที่มีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดอยู่เพียง 570,000 ตันเท่านั้น

นอกจากนี้การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นจากวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป จึงเป็นตัวฉุดที่ทำให้ค่าเงินสกุลต่างๆผันผวนแรง โดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นมาจากวิกฤติยุโรป กดให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาอ่อนตัวลง โดยจะเห็นว่า ขณะที่ค่าเงินเรียลในบราซิล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอ่อนตัวลงไปมาก จากเดิมที่ต้นเดือนมีนาคมค่าเงินเรียลอยู่ที่ 1.7 เรียล/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันค่าเงินเรียลขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 2 เรียล/ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าค่าเงินเรียลได้อ่อนค่าลงไปแล้ว 17-20% ส่วนอินเดียก็มีค่าเงินต่ำกว่า 50 รูปี ก็อ่อนค่าลงมาเป็น 55 รูปี ขณะที่ออสเตรเลียมีค่าเงินที่อ่อนค่าลงมาถึง10% พอค่าเงินอ่อนค่าลง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตรายสำคัญของโลกอย่างบราซิลได้ประโยชน์ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตน้ำตาลต่ำลงจาก 22-23 เซ็นต์/ปอนด์ ลดลงเหลือ 18-19 เซ็นต์/ปอนด์ เป็นผลให้ประเทศเหล่านี้มีการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกได้มากขึ้น

ในขณะที่ผู้ผลิตจากไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นลำดับ 2 รองจากบราซิล มีค่าเงินที่อ่อนค่าลงประมาณ 5% หรืออ่อนค่าลงจาก 30.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็น 31.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งรายอื่นๆ เพราะค่าเงินบาทของไทยมีเปอร์เซ็นต์การอ่อนค่าของเงินน้อยกว่าคู่แข่ง

จากผลกระทบเหล่านี้จะทำให้อนท.ในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลโควตาข. (โควตาส่งออก) มีความเสี่ยงในเรื่องของการทำราคาขายน้ำตาลดิบล่วงหน้าปี 2555/2556 เพราะขณะนี้เพิ่งทำราคาขายน้ำตาลล่วงหน้าได้เพียง 44% เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลโควตาข. ที่จะต้องมีการส่งออก 800,000 ตัน/ปี โดยขายในราคา 25 เซ็นต์/ปอนด์ (รวมพรีเมียมแล้ว) แต่ยังเหลือน้ำตาลส่งออกอีก 56% ที่ยังไม่ได้ขาย และมีแนวโน้มว่าจะขายได้ในราคาต่ำกว่าเดิม ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยราคาน้ำตาลส่งออกปี 2555/2556 ลดลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลส่งออกที่สำคัญในประเทศต่างๆ เป็นองค์ประกอบด้วย

ทั้งนี้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลส่งออก หรือราคาน้ำตาลโควตาข.จะนำไปใช้เป็นราคามาตรฐานในการคำนวณรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทั้งหมดในแต่ละฤดูการผลิต หากราคาน้ำตาลส่งออกถูกลงก็จะทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำตาลโควตาข.ปี 2555/2556 มีราคาส่งออกต่ำลงจาก 25 เซ็นต์/ปอนด์ ลงมาเหลือ 23 เซ็นต์/ปอนด์ก็จะไปกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวม เนื่องจากสัดส่วนของรายได้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลจะมาจากการส่งออกเป็นหลัก

โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีปริมาณอ้อยรวมกันอยู่ที่ 97.98 ล้านตันอ้อย มีปริมาณน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 20.24 ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นน้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ(โควตาก.) 2.4 ล้านตัน หรือ23.44% ที่เหลือ 76.56% คือน้ำตาลที่ส่งออกทั้งหมด โดยเฉพาะโควตาข.จะเป็นตัวแปรสำคัญในการคำนวณรายได้ทั้งระบบ รวมถึงราคาอ้อย ในขณะที่ราคาน้ำตาลในประเทศจะคงที่เนื่องจากราคาขายปลีกถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ราคาหน้าโรงงานถูกกำหนดโดยคณะกรรมการน้ำตาลทราย(กน.)

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤติยูโรโซนทำให้มีนักเก็งกำไรหรือกองทุนเทขายสินค้าโภคภัณฑ์ออกมา ทำให้ราคาน้ำตาลเกิดการผันผวนแรง แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดบราซิลกำลังเริ่มฤดูการหีบอ้อยใหม่ แต่ต้องเผชิญกับปริมาณฝนที่ตกหนัก ทำให้การหีบอ้อยล่าช้าไป จนเกิดความระแวงจากผู้ค้าน้ำตาลที่ไม่แน่ใจว่าจะมีอ้อยลงมาถึงมือได้ในปริมาณที่ต้องการหรือไม่ จึงซื้อน้ำตาลคืนจากตลาดล่วงหน้า ทำให้ราคาน้ำตาลในระยะสั้นนี้กลับมาอ่อนตัวลงเล็กน้อย และคาดว่าจะเป็นการอ่อนตัวลงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่โดยภาพรวมแล้วราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี2555/2556 จะอ่อนตัวลงอย่างแน่นอน

แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำตาลเปิดเผยว่า ราคาน้ำตาลส่งออกเป็นไปตามราคาตลาดโลก ถ้าปริมาณน้ำตาลโลกล้นตลาด ราคาก็จะลดลง ส่วนจะลากยาวนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าราคาน้ำตาลในปีหน้าจะอ่อนตัวลง เนื่องจากที่ผ่านมาราคาอ้อยจูงใจทำให้เกษตรกรแห่ปลูกอ้อยมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิล ออสเตรเลีย อินเดีย ไทย ทำให้มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าความต้องการใช้

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าปี 2556 จะมีโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จะทำการผลิตได้อีก 5 แห่งตามที่มติครม.เห็นชอบก่อนหน้านี้ โดยลงทุนแห่งละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท โรงงานแต่ละแห่งจะมีขนาดกำลังผลิตโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 15,000 -18,000 ตัน/วัน/โรงงาน ประกอบด้วยกลุ่มน้ำตาลไทยอุดร ตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี,โรงงานน้ำตาลมิตรเลย อยู่จังหวัดเลย ,โรงงานน้ำตาลกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ที่จังหวัดเลย, โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตรอุทัยธานี อยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี
"เมื่อมีการขยายตัวของโรงงานน้ำตาลปีหน้าก็จะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับ และมั่นใจว่าจะมีปริมาณอ้อยในประเทศปี 2555/2556 จะทะลุ 100 ล้านตันอ้อย จากที่ปี 2554/2555 มีปริมาณอ้อยรวมทั้งสิ้น 97.98 ล้านตันอ้อย ส่วนราคาอ้อยจะดีหรือไม่ก็ต้องไปดูราคาน้ำตาลในตลาดโลก แต่ราคาไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 บาท/ตันอ้อย"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มิถุนายน 2555

ราคาสินค้ายันไม่กระทบหลังเข้าเออีซี

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการที่ภาคเอกชน ได้แสดงความห่วงใย เรื่องการควบคุมราคาสินค้าในอนาคตเมื่อประเทศไทยเข้าสู่เออีซีนั้น กรมการค้าภายในได้มีความตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยขอเรียนว่าในฐานะหน่วยงานของรัฐ จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลราคาสินค้า ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า และบริการทั้งด้านราคาและบริการ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบ เสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบนโยบายในการดูแล ราคาสินค้า โดยราคาสินค้าต้องเป็นธรรม ปรับเปลี่ยนขึ้น-ลงสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง มีปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการ ไม่ขาดแคลน มีปริมาณครบถ้วนถูกต้อง ไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า หรือกักตุนสินค้า โดยไม่มีเหตุผลสมควร

สำหรับการกำหนดเป็นรายการสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรมการค้าภายในพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ คือ ต้องเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เป็นสินค้า ที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง โครงสร้าง ตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยราย และสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร เป็นสินค้าที่มีเทคนิคการผลิต/ต้นทุนสูง หรือระบบครบวงจร ส่งผลต่อผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ค่อนข้างยาก เป็นสินค้า ที่มีการเคลื่อนไหวด้านตลาดบ่อยครั้งและ ราคาผิดปกติหรือมีปริมาณขาดแคลนบางครั้ง และเป็นสินค้าที่มีการเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดโลกมาก ปัจจุบันมีสินค้าและบริการควบคุม 42 รายการ โดยพิจารณาทบทวนตามสถานการณ์ข้อเท็จจริงในแต่ละช่วงเวลา และมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยกำหนดราคาจำหน่ายสูงสุดเพียง 1 รายการเท่านั้น ได้แก่ น้ำตาลทราย ซึ่งสินค้าควบคุมบางรายการได้ใช้มาตรการบริหารในการกำกับดูแล

รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว เพิ่มเติมว่า เมื่อประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มาตรการกำกับดูแลสินค้าของกรมการค้าภายในจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการค้า แต่อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในได้มีการเตรียมรองรับการเข้าสู่เออีซี โดยอยู่ระหว่างการวางมาตรการรองรับ เช่น โครงการเสริมสร้างความสามารถผู้ประกอบการสู่เออีซี โครงการพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น

จาก http://www.siamturakij.com  วันที่ 12 มิถุนายน 2555

เน้น 4 เป้าหมายเสริมไทยรับประชาคมอาเซียน

นายกฯยิ่งลักษณ์ เน้น 4 เป้าหมายเสริมความแข็งแกร่งของไทยรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ฝากให้ผวจ.ทั่วประเทศทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมความพร้อม
วันนี้ ( 11 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการสัมมนา "วาระแห่งชาติ : เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เศรษฐกิจประชาคมอาเซียนของอุตสหกรรมไทย ธุรกิจบริการไทย ธุรกิจเกษตร และอาหารไทย ที่จะเป็นตลาดในฐานการผลิตร่วมกันของภูมิภาคอาเซียนรวมถึงสร้างมาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องจับมือกันในระยะเวลาอีก 3 ปีข้างหน้า ในการเตรียมความพร้อมให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากประชาคมอาเซียน โดยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนในอาเซียนให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความร่วมมือของทั้ง 10 ประเทศ ในการเป็นประชาคมอาเซียน จะต้องเน้น 3 เสาหลัก คือ 1.การเมืองและความมั่นคง เพื่อสรางความมั่นใจให้กับนักลงทุน 2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี 3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตย และวัฒนธรรม การเชื่อมต่อของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน

การสัมมนาในครั้งนี้ จะเน้นการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีการตั้งเป้าหมาย 4 ด้าน คือ 1.จะการเป็นตลาดอาเซียนบนฐานการผลิตเดียวกันของประเทศสมาชิก 2.การให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสมอภาค เช่น เรื่องภาษีเหลือร้อยละ 0 ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวและศึกษา เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการดำเนินธุรกิจ 3.ความร่วมมือเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเพิ่มผลผลิตของอาเซียน 4.การใช้ฐานของอาเซียน ทำงานร่วมกับเวทีเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป หรืออเมริกา โดยใช้ความแข็งแรงของทั้ง 10 ประเทศ ในการเสริมขีดความสามารถในการต่อรองและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ประเทศไทย มีโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลาง หรือประตูสู่ 10 ประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อมจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือในการทำงานอย่างเข้มข้นของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ และเอกชน ที่จะต้องมีการแลกเปลี่ยน และร่วมกันนำเสนอแผนการพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์ และปรับให้นโยบายของภาครัฐ และเอกชนสอดคล้องสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนภาคการส่งออก พร้อมกับเสริมความแข็งแรงของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค การสาธารณสุข และโครงข่ายคมนาคมขนส่ง โดยมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ได้ฝากให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทำความเข้าใจหารือเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมของไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน 2555

หวั่น!น้ำตาลขาดแคลนดึงนวัตกรรมหนุนไร่อ้อย

หลังการรวมตัวของกลุ่มประเทศอาเซียน สินค้าของไทย ที่จะได้รับอานิสงส์อย่างชัดเจนคือ.. น้ำตาล
เพราะทุกประเทศในอาเซียนล้วนนำเข้าน้ำตาลจากไทย และไทยถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท

ยิ่งภาษีอาเซียนเป็น 0% น้ำตาลไทย จะถูกส่งไปขายต่างประเทศมากขึ้น จนอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนในประเทศได้
สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การเพิ่มผลผลิต ให้มากกว่าเดิม

เป็นเหตุให้คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต้องเข้ามาหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการอัดฉีดทุนวิจัยปีละกว่า 100 ล้านบาท เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเสนอหัวข้อที่อยากให้ทำวิจัย เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตั้งแต่การกระบวนการพัฒนาสายพันธุ์อ้อย การเพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มค่าความหวาน ก่อนจะนำผลวิจัยเหล่านี้ถ่ายทอดสู่ชาวไร่อ้อยเป็นรายตัว

ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้งที่อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากขนาดนี้ หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยหลักวิชาการหรืองานวิจัยที่ดี ก็จะยิ่งทำให้เติบโตและแข่งขันได้ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติมากนัก การร่วมมือกันระหว่าง วช. และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระตุ้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัย ให้เกิดการนำความรู้ที่ได้จากการงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่ ตลอดจนการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยให้มีค่าความหวานเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านผลผลิตให้มีความเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมากขึ้นด้วย” ศาสตราจารย์ น.พ.สุทธิพร กล่าว

ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ทราย ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อจัดตั้งสถาบันวิจัยอ้อย น้ำตาลทราย และ อุตสาหกรรมต่อเนื่องกล่าวว่า การยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้มีความแข็งแกร่ง จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิจัยมาสนับสนุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม

ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก การขนส่งอ้อย ไปสู่โรงงาน การจัดเก็บผลผลิตที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพ ซึ่งทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ได้ตั้ง “คณะทำงานเพื่อจัดตั้งสถาบันวิจัยอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง” เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ผลักดันให้เกิดการนำองค์ ความรู้ทางด้านงานวิจัยไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง

“การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดตั้งสถาบันฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ต่อการใช้องค์ความรู้ทาง ด้านงานวิจัยมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรม อ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้มีความแข็งแกร่ง โดยจะเร่งทำงานใกล้ชิดกับ วช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความรู้ จากงานวิจัยต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้ดีขึ้น” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์กับประเทศโดยเฉพาะการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับที่ 2 ของโลก หรือคิดเป็นผลผลิตอ้อยโดยรวมที่ประมาณ 100 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลได้มากกว่า 100 ล้านกระสอบ

โดยกว่า 70% ของน้ำตาลทรายที่ผลิตได้จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศ สร้างรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายสูงถึงปีละนับแสนล้านบาท

จาก http://www.siamturakij.com   วันที่ 8 มิถุนายน 2555

พพ.เดินหน้าผลักดันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนใน 10 ปี

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งผลักดันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2555 ใน 10 ปี (2555-2564) ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดี กล่าวว่า ทาง พพ.ได้สนับสุนนข้อมูลด้านการจัดการธุรกิจด้วยพลังงานทดแทน โดยจัดทำสารคดีชุด SUCCESS CASE ในรูปซีดีกว่า 50,000 แผ่น แจกจ่ายเพื่อประชาสัมพันธ์แนวคิดวิธีการ การดำเนินธุรกิจพลังานทดแทนให้ประสบความสำเร็จ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น

ในวันนี้พพ.ยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเสวนา เชิญผู้ประกอบการต้นแบบด้านพลังงานทดแทน 4 ราย มาพูดคุยเผยแพร่ความรู้ โดยนายวิณณ์ ผาณิตวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทวิทัย ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย และหญ้าวิทัย กล่าวว่า ทางโรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ และมีการวิจัย นำสิ่งเหลือใช้จากภาคเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า แล้วพัฒนาต่อยอดสู่การปลูกพืชพลังงานที่เรียกว่า หญ้าวิทัย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า นับเป็นบริษัที่ริเริ่มนำวัตถุดิบประเภทหญ้ามาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าเป็นครั้งแรกของไทย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ปัญหาที่พบคือ การติดต่อหน่วยงานราชการที่ต้องติดต่อหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ซึ่งหากภาครัฐจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมพลังงานทดแทนแบบวันสต๊อป เซอร์วิส ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SPCG จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตโซลาร์ฟารม์ ที่ใหญ่สุดในไทย มีโรงไฟฟ้า 34 แห่ง กำลังการผลิต 240 เมกะวัตต์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทเร่งแผนการผลิตให้ครบทุกแห่งภายในปีหน้า ด้วยวงเงินลงทุน 24,000 ล้านบาท จากที่ขณะนี้ผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 9 โรง สาเหตุที่ผลิตได้เนื่องจากภาครัฐสนับสนุนและกำหนดการให้ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (ADDER) 8 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังรอดูว่า ภาครัฐจะเปลี่ยนค่าไฟฟ้าสนับสนุน จาก ADDER มาเป็น FEED IN TARRIF ในอัตราใด หากต่ำเกินไป อาจจะไม่คุ้มต่อการลงทุน โดยขณะนี้บริษัทสนใจจะขยายงานไปสู่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน และเห็นว่า การที่รัฐบาลกำหนดแผนพลังงานทดแทนขึ้นเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างน้อย 2,000 เมกะวัตต์ในประเทศไทย. –สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 8 มิถุนายน 2555

นัดถกโครงสร้างน้ำตาล ยืนเบี้ยประกันข้าว210บ.

ผลศึกษาโครงสร้างน้ำตาลไม่ชัด ชาวไร่เตรียมนัด "วิฑูรย์-ทีดีอาร์ไอ" คุย คลังยันเบี้ยประกันนาข้าว 225.77 บาท เหมาะสมแล้ว เตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อชี้แจง “โต้ง”

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมน้ำตาล เปิดเผยว่า แผนการปรับโครงสร้างน้ำตาลที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) นั้น ทางทีดีอาร์ไอได้ส่งผลการศึกษาให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่ชาวไร่อ้อยที่เห็นรายละเอียดของผลการศึกษา ยังเห็นว่าผลการศึกษาเน้นวิชาการเกินไป รวมถึงรายละเอียดที่ชาวไร่รับไม่ได้ ดังนั้นจึงนัดหารือกับนายวิฑูรย์ พร้อมเชิญตัวแทนจากทีดีอาร์ไอร่วมฟังความเห็นของชาวไร่ด้วย

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ระบุโครงสร้างการผลิตและขายน้ำตาลเป็นไปตามกลไกตลาด ในลักษณะเปิดเสรีทั้งระบบ เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรชนิดอื่น โดยยกเลิกระบบจัดสรรผลประโยชน์ 70% ของชาวไร่ และ 30% ของโรงงานน้ำตาลที่คำนวณจากรายได้ของอุตสาหกรรม แต่การจัดสรรจะให้ชาวไร่และโรงงานแบ่งผลประโยชน์กันเอง

"ยังไม่แน่ชัดว่า จะเริ่มใช้โครงน้ำตาลใหม่ได้เมื่อไร แต่ผลการศึกษาจะต้องปรับแก้ให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2555 ตามมติของคณะรัฐมนตรี" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมข้อมูลในเรื่องการเปิดรับประกันภัยนาข้าว เพื่อชี้แจงต่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง อีกครั้งหลังจากที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ยังไม่มีการอนุมัติเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าเบี้ยประกันที่คิด 210 บาท/ไร่นั้น เป็นระดับที่เหมาะสม ซึ่งการกำหนดเบี้ยในอัตราดังกล่าวเป็นการกำหนดร่วมกันระหว่าง สศค. และทางบริษัทประกัน ซึ่งได้หารือกันมาหลายครั้ง.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 มิถุนายน 2555

ประเทศไทยฉลองปีประวัติศาสตร์ผลิตน้ำตาลทรายได้กว่า 10 ล้านตัน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย สถาบันชาวไร่อ้อยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดงาน “An Evening of Sweet Success” ฉลองปีประวัติศาสตร์ในโอกาสที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 10.2 ล้านตัน พร้อมฉลอง 70 ปีแห่งการสถาปนากระทรวงฯ ในวันจันทร์ที่ 11 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากทั่วโลกที่เข้าร่วมงานกว่า 700 คน เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพและความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายสูงสุดอันดับ 2

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 70 ปี ทั้งในด้านการสนองต่อความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออกได้ถึงปีละ 6-7 ล้านตัน สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายในประเทศและส่งออก รวมประมาณปีละ180,000-200,000 ล้านบาท ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมนี้ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมากกว่า 200,000 ครอบครัว และแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 1 ล้านคน

“ปี 2555 นับได้ว่าเป็นปีประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เนื่องจากเป็นปีแรกที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผลผลิตอ้อย 97.98 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลทราย 10.2 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้กว่า 7 ล้านตัน อีกทั้งประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 104.59 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และมีค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12.04 ซี.ซี.เอส. เป็นผลจากความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ประโยชน์จากการพบปะกลุ่มธุรกิจการค้าน้ำตาลในตลาดโลกกระชับความร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้นและพบตัวแทนประเทศผู้ใช้น้ำตาลจริง ปกติพบแต่ตัวแทนการค้าน้ำตาลเท่านั้น ทำให้ผู้ค้าของไทยเกิดความเชื่อมั่นผลผลิตน้ำตาลของไทยที่มีปริมาณส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างแข็งแกร่งเสริมสร้างความมั่นใจในการเป็นคู่ค้าของไทยต่อไป พร้อมแสดงถึงศักยภาพอ้อยของไทยที่มีปริมาณการผลิตจาก 10 ล้านกระสอบเป็น 100 ล้านกระสอบ และการพัฒนาคุณภาพความหวานในอ้อยที่สูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ไทยไม่มีคู่แข่งในตลาดโลก เพราะบราซิล ส่งออกอันดับ 1 ของโลกก็ขายในภูมิภาคของเขา ส่วนไทยก็ขายในภูมิภาคที่ใกล้เคียงไทยไม่ได้แย่งตลาดซึ่งกันและกัน. –สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 7 มิถุนายน 2555

ชาวไร่แห่กู้ซื้อรถตัดอ้อยหนีแรงงานขาด-ค่าแรงพุ่ง

ชาวไร่แห่ยื่นกู้เงินซื้อรถตัดอ้อยพุ่ง 3,000 ล้านบาทหลังแรงงานหายากแถมค่าจ้างขยับสูง ผสมกับปริมาณอ้อยที่ทุบสถิติสูงสุดที่ 97.97 ล้านตันแนวโน้มยังเพิ่มได้อีก ขณะที่กองทุนอ้อยฯ มีวงเงินสนับสนุนเหลือเพียง 593 ล้านบาท เตรียมนัดถก 7 มิถุนายนนี้ อาจดึงเงินสินเชื่อภัยแล้งปรับมาใช้แทน

นายบัญชา คันธชมภู รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาล (กท.) เปิดเผยว่า วันที่ 7 มิถุนายน 2555 กองทุนฯ จะนัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการขยายวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยจากเดิมที่กำหนดวงเงินสนับสนุนไว้ 1,000 ล้านบาท เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายและ 3 องค์กรชาวไร่อ้อยได้ทำหนังสือมายังกองทุนฯ เพื่อให้พิจารณาจัดสรรวงเงินเพิ่มขึ้นให้เพียงพอความต้องการ

“จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตปี 54/55 ที่ล่าสุดปิดหีบแล้วมีอ้อยสูงถึง 97.97 ล้านตันและการปลูกอ้อยที่คาดว่าจะเพิ่มอีก ประกอบกับค่าแรงงานที่ขาดแคลนและมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่จะมีผลทั่วประเทศปี 2556 ทำให้ชาวไร่อ้อยหันมายื่นขอรับสนับสนุนจำนวนมาก โดยวงเงินสูงถึง 3,000 ล้านบาท” นายบัญชากล่าว

ทั้งนี้ เบื้องต้นกองทุนฯ ได้จัดสรรวงเงินสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยไว้ 1,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ผ่อนชำระเป็นเวลา 6 ปี โดยขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อจะให้โรงงานน้ำตาลที่ชาวไร่อ้อยส่งอ้อยป้อนโรงงานเป็นผู้ออกเช็คเงินแล้วให้ชาวไร่นำมาขายลดผ่านกองทุนอ้อยฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้ดำเนินการตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2553/54 แต่เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เองก็มีโครงการลักษณะเช่นเดียวกัน วงเงินที่ปล่อยออกไปจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 55 ส่วนนี้จึงมีเพียง 406 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงิน 593 ล้านบาท

ขณะเดียวกันกองทุนฯ ยังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งวงเงิน 2,000 ล้านบาทควบคู่ในขณะนั้น แต่วงเงินดังกล่าวจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 55 ปล่อยไปได้เพียง 129 ล้านบาทเท่านั้นจึงเหลือวงเงินสำหรับการสนับสนุนอีกราว 1,800 ล้านบาท ดังนั้นเบื้องต้นอาจจะนำเงินส่วนนี้มาเป็นการปล่อยสนับสนุนการซื้อรถตัดอ้อยแทน โดยจะได้หารือถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง

“ยอมรับว่าวันนี้ชาวไร่อ้อยแห่มาขอสินเชื่อรถตัดอ้อยจากกองทุนฯ มาก เพราะส่วนหนึ่งโครงการของ ธ.ก.ส.ได้สิ้นสุดไป และสำคัญคือแรงงานหายากมากและแพงขึ้นทำให้รถตัดอ้อยจะเป็นแนวทางการลดต้นทุนได้ในระยะยาว” นายบัญชากล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 3 มิถุนายน 2555

3 สมาคมโรงน้ำตาลทรายทุ่ม100ล. ตั้งสถาบันวิจัยอ้อยน้ำตาล

นายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการบริหาร 3 สมาคมโรงน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในฐานประธานคณะทำงานเพื่อจัดตั้งสถาบันวิจัยอ้อย น้ำตาลทราย และ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ร่วมมือกับ

คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยใช้ทุนวิจัย 100 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเสนอหัวข้อเพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์จริงตั้งแต่กระบวนการพัฒนาสายพันธุ์อ้อย การเพาะปลูก การเพิ่มคุณภาพผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มค่าความหวาน รวมถึงเทคนิคการขนย้ายอ้อยเข้าสู่โรงงาน ขณะนี้เริ่มเดินหน้าตั้งคณะทำงานดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว กำหนดบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยกลางการประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง และผลักดันให้เกิดการนำองค์ความรู้ทางวิจัยไปใช้ในภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง

เนื่องจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยเป็นอุตสาหกรรมที่กระจายสู่ชุมชนทั่วประเทศโดยตรงและเข้าถึงท้องถิ่นได้เร็ว รวมถึงเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลก ปีนี้ตั้งเป้าไว้ผลผลิตรวมราว 100 ล้านตัน ทำเป็นน้ำตาลทรายมากกว่า 100 ล้านกระสอบ ส่งออกตลาดต่างประเทศถึง 70 % สร้างรายได้ปีละหลักแสนล้านบาท

นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช.กล่าวว่าได้จัดสรรทุนสนับสนุนงานวิจัยอ้อยและน้ำตาลทรายปีละเกิน 100 ล้านบาท ตามอัตราการเติบโตและการพัฒนาผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมนี้ขึ้นเป็นผู้นำตลาดโลก จะต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่ง โดยการผนึกความร่วมมือกันทั้งฝ่ายวิชาการ ผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาล รวมถึงชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูก

"ต่อจากนี้เป็นต้นไปเมื่อทุกฝ่ายนำงานวิจัยที่ได้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มที่จะกระตุ้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการงานวิจัยเป็นเครื่องมือ เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความมั่นคงของผลผลิตระยะยาว" นายแพทย์สุทธิพรกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 มิถุนายน 2555