http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมิถุนายน 2563)

“รัฐบาล” จ่ายเงินรอบแรกช่วย“ชาวไร่อ้อย”เฉียด1หมื่นล้าน

“รัฐบาล” จ่ายเงินรอบแรกช่วยเหลือเกษตรกร “ชาวไร่อ้อย”แล้วกว่า 9.61 พันล้านบาท คาดจ่ายครบหมดภายในกันยายน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี หรือ “ครม.” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกร "ชาวไร่อ้อย" เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวภายในเดือนมิถุนายน 2563

              นายเมธากุล สุวรรณบุตร รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 รอบแรก ไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาแต่ละรายโดยตรง เป็นไปตามกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้นโยบายไว้

ทั้งนี้ มีปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือในรอบแรก จำนวน 73,203,956 ตัน มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบแรก จำนวน 187,885 ราย เป็นจำนวนเงิน 9.61 พันล้านบาท สำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขอแก้ไขข้อมูลผ่านระบบไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ ธ.ก.ส. จำนวน 1,134 ราย โดยคาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือในรอบที่สองประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งการจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 63 นี้

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย หากบัญชีของท่านไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่า “โอนเงินสำเร็จแล้ว” กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่าน “ไม่สามารถรับโอนได้” ให้รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาของท่านและให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรับรองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ “สอน.” ตรวจสอบร่วมกับ ธกส. เพื่อเบิกจ่ายต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2563

ชาวไร่อ้อยเฮ! รัฐบาลจ่ายเงินช่วยรอบแรก 9,600 ล้าน เกือบ 2 แสนราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวภายในเดือนมิถุนายน 2563

ขณะนี้ได้เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 รอบแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาแต่ละรายโดยตรง เป็นไปตามกรอบระยะเวลาในการจ่ายเงินช่วยเหลือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้นโยบายไว้ ซึ่งมีปริมาณอ้อยที่ขอรับความช่วยเหลือในรอบแรก จำนวน 73,203,956 ตัน มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับเงินช่วยเหลือรอบแรก จำนวน 187,885 ราย เป็นจำนวนเงิน 9,618,510,211 บาท

สำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขอแก้ไขข้อมูลผ่านระบบไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลร่วมกับ ธ.ก.ส. จำนวน 1,134 ราย โดยคาดว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือในรอบที่สองประมาณเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านโครงการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินไปยังบัญชีของท่านผ่านไลน์ตรวจสิทธิ์อ้อย หากบัญชีของท่านไม่มีปัญหาระบบจะแจ้งว่า “โอนเงินสำเร็จแล้ว” กรณีระบบแจ้งว่าบัญชีของท่าน “ไม่สามารถรับโอนได้” ให้รีบแจ้งดำเนินการแก้ไขผ่านโรงงานคู่สัญญาของท่านและให้โรงงานทำหนังสือรับรองมายังสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อรับรองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตรวจสอบร่วมกับ ธกส. เพื่อเบิกจ่ายต่อไป

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 มิถุนายน 2563

ไทยโร่แจง WTO เหตุแบน 2 สาร ผวาคู่ค้าเอาคืน

ไทยแจง WTO เหตุผลแบน 2 สาร วงการหวั่นหลักฐานไม่แน่นถูกคู่ค้าตอบโต้แบนสินค้าเกษตรไทย สภาหอฯลุ้นรัฐผ่อนปรนค่าสารตกค้างตามมาตรฐานโคเด็กซ์ ปลดล็อกนำเข้าวัตถุดิบ

25 วันนับตั้งแต่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 เพื่อกำหนดให้สาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามมีไว้ในครอบครอง) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องมาตรการรองรับถึงผลกระทบที่จะตามมาที่ดีพอนั้น

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปีนี้ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (The Committee on Sanitary and Phytosanitary Measures) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 77 ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน ในระบบทางไกลแทนการเดินทางไปร่วมประชุมเช่นทุกปี ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในที่ประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และสถานการณ์ความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศสมาชิก รวมทั้งหารือข้อกังวลทางการค้าที่ประเทศสมาชิกมีต่อกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอื่น ซึ่งรวมถึงเรื่องการแบน 2 สารเคมีของไทย

ล่าสุดสหรัฐอเมริกาได้ส่งเอกสารมาถึงไทยแล้วอย่างเป็นทางการ (24 มิ.ย. 63) หลังร้องเรียนผ่าน WTO ว่าด้วยเรื่องค่าสารเคมีตกค้าง เพราะไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ และสินค้าเกษตรชนิดอื่น เมื่อไทยประกาศแบนแล้ว ปริมาณการตกค้างสูงสุด (MRL) จะสามารถคงค้างได้หรือไม่ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปพิจารณาแล้ว และให้ตอบกลับมายังมกอช. (ปัจจุบัน ก.สาธารณสุขอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงฯว่าด้วยเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในวันที่ 18 ก.ค.63 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป) 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องทำไมไทยแบนทั้งที่ยังไม่มีผลการศึกษา และงานวิจัยความเสี่ยงผลกระทบรองรับ เรื่องนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมวิชาการเกษตรไปทำข้อมูลมา ทั้งนี้ มกอช. จะเป็นหน่วยงานกลางที่จะนำข้อมูลและความเห็นของทุกหน่วยงานนำไปแก้ต่าง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของ WTO คือ การค้าเป็นธรรม โปร่งใสทุกประเทศ

“ในเวทีนี้หากประเทศใดถูกใช้มาตรการที่เป็นการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ก็จะมาร้องเรียน ซึ่งประเทศที่ถูกร้องเรียนเช่นไทยจะต้องไปแก้ต่าง ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเราไม่โปร่งใส จะกลายเป็นประเด็นที่ไม่ดีในเรื่องเงื่อนไขการค้าต่อไปในอนาคต การเรียกร้องครั้งนี้มีไม่กี่ประเทศ แต่ก็ต้องดูว่าประเทศสมาชิกอื่นที่เหลือจะร่วมด้วยหรือไม่”

อย่างไรก็ดียังโชคดีที่ปีนี้เป็นการประชุมทางไกลทำให้ไทยยังสามารถยื่นเอกสารประกอบการชี้แจงได้จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 หลังจากชี้แจงแล้วผลจะออกมาในรูปแบบใดยังไม่ทราบ เพราะในจำนวนสมาชิก WTO (ปัจจุบันมี 164 ประเทศ) เชื่อว่ามีหลายประเทศที่ใช้มาตรการแบบเดียวกับไทย อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ไทยเคยชนะคดีที่ประเทศคู่ค้านำมาตรการมากีดกันการค้า  เช่น สหรัฐฯ นำเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลมาเป็นข้ออ้างในการกีดกันการนำเข้ากุ้ง ไทยได้ยกเรื่องขึ้นฟ้องใน WTO ร่วมกับมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน และชนะคดีในที่สุด

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรนำรายได้เข้าประเทศในปีที่ผ่านมากว่า 1.2 ล้านล้านบาท การแจงเวทีโลกครั้งนี้ยังไม่มั่นใจว่าไทยจะสามารถหักล้างเหตุผลการแบน 2 สารได้หรือไม่ จากในประเทศยังมีความขัดแย้งและเห็นต่าง และยังไม่มีงานวิจัยรองรับ เกรงจะเป็นชนวนทำให้ถูกคู่ค้าที่ขายวัตถุดิบให้ไทย แบนสินค้าเกษตรไทยเพื่อเอาคืน

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นำเรื่องเสนอภาครัฐไปแล้วเรื่องสารตกค้างว่าควรให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารระหว่างประเทศ (Codex) หลังไทยประกาศให้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และบังคับใช้มาตรการ zero tolerance (สารตกค้าง 0%) กระทบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะประเทศต้นทางส่วนใหญ่ยังมีการใช้สารข้างต้นอยู่ในระดับมาตรฐานของ Codex

“เวลานี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งหาทางออกในเรื่องสารตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นอย.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะยอมรับได้แค่ไหน จะมีการผ่อนผันหรือไม่ เร็ว ๆ นี้คงมีคำตอบ”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2563

กองทัพตั๊กแตนทำลายพืชผล ในหลายภูมิภาคของโลก ทำไมกระทรวงเกษตรฯ ของไทยยังไม่กังวล

การระบาดของตั๊กแตนฝูงใหญ่แอฟริกาตั้งแต่ต้นปีนี้ จนลามมาถึงเอเชียตอนใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และล่าสุดในลาว อาจทำให้หลายคนกังวลใจว่าแล้วประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องนี้แค่ไหน

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า จริง ๆ แล้ว การระบาดทั้งสองพื้นที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และ "มีโอกาสน้อย" ที่ฝูงตั๊กแตนจะอพยพข้ามพรมแดนเข้าในประเทศไทยในลักษณะของของฝูงขนาดใหญ่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง

"คนละสีกันเลยที่ระบาดทางแอฟริกา ตัวสีเหลือง ส่วนใน สปป.ลาว ตัวสีเขียวและชอบอากาศหนาว" ศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวกับบีบีซีไทย

ฝูงตั๊กแตนบุกปากีสถาน

จากศัตรูพืชสู่แหล่งทำเงิน เกษตรกรไทยจับอาชีพเพาะเลี้ยงหอยทาก ส่งออกเมือกสร้างรายได้

ส่องวัฒนธรรมอาหารจากแมลงทั่วโลก

ฝูงตั๊กแตนที่ระบาดอยู่ที่อินเดียและเริ่มเข้าไปในเนปาลและตอนใต้ของจีนในขณะนี้ เป็น "ตั๊กแตนทะเลทราย" ที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกลและเป็นการระบาดต่อเนื่องมาจากทวีปแอฟริกา ก่อนระบาดเข้ามาทางประเทศแถบตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งกองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าการระบาดครั้งนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี

ส่วนฝูงตั๊กแตนที่ระบาดในพื้นที่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อโซเชียล ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช บอกว่าจากการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ลาวช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ แต่จากประวัติการระบาดในลาวที่ผ่านมา เป็นตั๊กแตนอีกชนิดหนึ่ง คือ ตั๊กแตนไผ่ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดในอินเดียและแอฟริกา พบการระบาดเช่นนี้มาเป็นระยะเวลา 3-4 ปีแล้ว ทางกรมวิชาการเกษตรได้ส่งเจ้าหน้าที่วิจัยเข้าไปติดตามใน สปป.ลาวเช่นกัน และพบว่าในช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดที่วนเวียนในพื้นที่เดิมของลาวตอนเหนือ ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขาและป่าไผ่ บางส่วนเข้าไปทางตอนเหนือของเวียดนาม

สถานการณ์ระบาดในแอฟริกาตะวันออกกลางและเอเชียใต้

ตั๊กแตนทะเลทราย เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่ระยะทางไกล เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว กินพืชได้หลายชนิด รวมทั้งพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาเล่ย์ อ้อย ไม้ผล พืชผัก ซึ่งกินได้ทุกส่วนของพืช หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง รวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง

ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงขณะนี้พบการระบาดของฝูงตั๊กแตนในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ 13 ประเทศ ได้แก่ เคนยา เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย ซูดานใต้ อูกันดา จิบูตี เยเมน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน

การระบาดในขณะนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์

เมืองชัยปุระ อินเดีย เดือน พ.ค.

"ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ฝนในทะเลทรายที่ไม่ค่อยจะมีดันมีต่อเนื่อง พอฝนตกหญ้าขึ้น มีอาหาร ก็จะมีการฟักไข่และโต เป็นรุ่น ๆ" ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช อธิบาย

เมื่อต้นสัปดาห์ เมืองกูรูกรัม (Gurugram) ในเขตกรุงนิวเดลี ได้เกิดปรากฏการณ์ตั๊กแตนจำนวนมากรุกรานพื้นที่ในเมือง ทางการต้องขอให้ประชาชนปิดหน้าต่างบ้านเรือนและตีเครื่องใช้ภาชนะเพื่อลดการขยายพันธุ์ของตั๊กแตนชนิดนี้

กองทัพตั๊กแตนที่บุกเมืองยังทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติเลีซึ่งติดกับเมืองกูรูกรัม ประกาศเตือนให้นักบินใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเครื่องบินขึ้นลง เนื่องจากการรบกวนของฝูงตั๊กแตนจำนวนมาก

การระบาดของฝูงตั๊กแตนทะเลทรายในอินเดียระลอกนี้ นับเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ทางการต้องระดมผู้เชี่ยวชาญ ยานพาหนะ และรถดับเพลิง ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในพื้นที่อย่างน้อย 7 รัฐทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตะวันตกของประเทศ

อพยพข้ามทวีปได้อย่างไร

ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวถึงลักษณะการระบาดในโซนแอฟริกาว่า มีบางปีที่ไม่เกิดการระบาด ธรรมชาติของช่วงนั้น ตั๊กแตนจะไม่มีรวมกลุ่มเป็นฝูง แต่หากปีไหนที่มีสภาพที่เหมาะสมก็จะเกิดการรวมกลุ่ม การรวมกลุ่มทำให้ตั๊กแตนมีความสามารถในการส่งสัญญาณต่อกันให้เปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนสีเพื่ออพยพ รวมทั้งกระตุ้นตัวเองให้ขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

"จากบินไม่เก่งก็บินได้ไกล ปรับพฤติกรรมให้พร้อม โดยการเปลี่ยนจากอยู่แบบเดี่ยว ๆ เป็นฝูง"

ตั๊กแตนทะเลทรายบินตามกระแสลมด้วยความเร็วประมาณ 16-19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บินได้สูงถึง 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลซึ่งเป็นชั้นเมฆฝน และบินได้นาน 10 ชั่วโมงต่อครั้ง (เฉลี่ย 2 ชั่วโมง) และสามารถเดินทางได้ประมาณ 5-130 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้นในหนึ่งวัน

ไทยมีโอกาสแค่ไหนที่จะระบาด

สำหรับตั๊กแตนทะเลทราย ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช บอกว่าจากการติดตามยืนยันว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดการระบาดขนาดใหญ่ในไทย เนื่องจากตั๊กแตนชนิดนี้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมแบบทะเลทราย แต่ไทยมีลักษณะความชื้นสูง ดังนั้น จึงไม่ใช่สภาพอากาศที่เหมาะสมสำหรับตั๊กแตนทะเลทรายในการขยายพันธุ์และตั้งรกราก เพราะตั๊กแตนชนิดนี้ชอบสภาพอากาศแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากทิศทางลมที่ได้มาทางไทยอีกด้วย

ส่วนตั๊กแตนไผ่ในลาว ก็ "มีโอกาสน้อย" เช่นกัน เพราะการอพยพของตั๊กแตนไผ่ ไม่ได้อพยพเป็นฝูงใหญ่เหมือนตั๊กแตนทะเลทรายที่อพยพทีละเป็นล้าน ๆ ตัว

นอกจากนี้จากการติดตามการระบาดในระยะที่ผ่านมา ยังพบว่าเป็นการระบาดเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของ สปป.ลาว มีทางเวียดนามตอนเหนือบ้าง แต่ยังไม่พบว่ามีการขยายพื้นที่ลงมา อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตร ได้ติดตามและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ลาวเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ดังกล่าว

"ใช้วิธีกำจัดได้ทั้งสารเคมีและธรรมชาติ ตาข่ายจับก็ได้ถ้าปริมาณน้อย ถ้ามาไม่เยอะก็จับกินได้ แต่คาดว่าถ้ามาถึงไม่น่าจะมีการขยายพันธุ์"

สำหรับการระบาดครั้งแรกของตั๊กแตนไผ่ ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุไว้ว่า พบครั้งแรกเมื่อปี 2472 ที่ประเทศจีน เกิดการระบาดรุนแรงในมณฑลเสฉวน หูเป่ย์ เกียงสู หูหนาน เกียงสี ฝูเจียน และกวางตุ้ง

ส่วนในไทยพบครั้งแรกเมื่อปี 2512 ที่เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี แต่ไม่มีรายงานการระบาด

ในลาวพบการระบาดเมื่อปี 2557 ที่แขวง (จังหวัด) หัวพัน เขตติดต่อกับเวียดนาม ปีถัดมา พบการระบาดเพิ่มในแขวงพงสาลี เขตติดต่อกับจีน โดย สปป.ลาว ได้ขอความช่วยเหลือจาก FAO ให้เข้ามาช่วยควบคุมการระบาดแต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าและภูเขาสูงชัน

สำหรับการระบาดของตั๊กแตนในไทยในอดีต ศรุต ให้ข้อมูลว่าเคยมีการระบาดของตั๊กแตนปาทังก้า แต่ปัจจุบันไม่มีการระบาดและยุติภารกิจของหน่วยงานติดตามตั๊กแตนโดยเฉพาะมาเป็นสิบปีแล้ว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 30 มิถุนายน 2563

กรมชลฯ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำ ช่วยพื้นที่น้ำแล้ง-น้ำท่วม

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องส่งน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด ในขณะที่จังหวดระยอง เจอฝนตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเมืองระยอง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน โครงการชลประทานระยอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่องแล้ว

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (30 มิ.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,077 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,432 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 43,990 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,635 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 939 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (30 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,547 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,581 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 1,669 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆทั้งสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 1,935 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ จำนวน 106 คัน ปัจจุบันได้ติดตั้งพร้อมเดินเครื่องสูบน้ำแล้ว 70 เครื่อง สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 27 คัน รวมปริมาณน้ำกว่า 826,000 ลิตร และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆอีก 318 หน่วย ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตน ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่ายังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างไม่ขาดแคลน รวมทั้ง กำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และนำวัชพืชที่เก็บมานั้นไปเพิ่มมูลค่าใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรด้วย

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 30 มิถุนายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท วันนี้เปิด “แข็งค่า”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบระยะสั้น เหตุตลาดทุนปิดรับความเสี่ยงกดดัน

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.87 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.80-31.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นแกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากแรงกดดันของตลาดทุนที่ปิดรับความเสี่ยงสวนทางกับราคาทองที่สามารถยืนระดับสูงสุดได้แข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีประเด็นใหม่เข้ามาในตลาดจึงไม่สามารถผ่านระดับ 30.90-31.10 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ไกล ส่วนในระยะถัดไป เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมากที่สุด เพราะสามารถชี้ให้เห็นถึงภาพนโยบายการเงิน และมุมมองของค่าเงินบาทในอนาคตได้

ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมาจากตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 1.5% พร้อมกันกับ Euro Stoxx 600 ที่ฟื้นตัว 0.4% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี กลับยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.62% บนความกังวลว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในสหรัฐยังไม่สามารถควบคุมได้

เมื่อมองกลับมาฝั่งตลาดเงิน นักลงทุนบางส่วนจึงเลือกที่จะพักเงินไว้ที่สกุลเงินปลอดภัยก่อน ส่งผลดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นราว 0.2% และกลายเป็นเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่ามากที่สุด 0.5% เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าต้องกังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมาก ถ้าการระบาดของไวรัสกลับมาเป็นประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมัน WTI ที่ฟื้นตัว 3.1% ในคืนที่ผ่านมา บวกกับทิศทางการแข็งค่าของทองคำแตะระดับสูงสุดตลอดกาล พร้อมกันกับทองแดงในไตรมาสนี้ที่ฟื้นตัวแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) และสกุลเงินที่เคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ต่อเนื่องระยะสั้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 มิถุนายน 2563

ทีเอ็มบี ผนึกกลุ่มมิตรผล ลดดอกเบี้ย-หนุนชาวไร่ใช้ดิจิทัลผ่านซัพพลายเชนโซลูชัน

ทีเอ็มบี จับมือ “กลุ่มมิตรผล” ช่วยเหลือชาวไร่ผ่านซัพพลายเชน โซลูชัน หนุนเงินทุนใช้เพาะปลูก-พร้อมปรับลดดอกเบี้ย-พัฒนาระบบการจ่ายเงินส่งเสริมการปลูกอ้อยผ่านระบบดิจิทัล

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์โควิด-19 ทีเอ็มบีจึงร่วมมือกับกลุ่มมิตรผล ผู้นำในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยช่วยเหลือชาวไร่ในกลุ่มมิตรผลภายใต้โปรแกรม Supply Chain Financing Solution ซึ่งเป็นความร่วมมือกันพัฒนาระบบการจ่ายเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือที่เรียกว่าเกี๊ยวเงิน โดยเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีชาวไร่โดยตรง เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการรับเงินแทนการออกเช็คล่วงหน้าแบบเดิม ๆ

“ทีเอ็มบี ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือ เกี๊ยวเงิน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ชาวไร่สามารถมีเงินทุนไปซื้อปัจจัยการผลิตสำหรับทำการเพาะปลูก ซึ่งปัจจุบันมีชาวไร่ภายใต้โครงการนี้หลายพันรายทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ธนาคารยังได้ร่วมทำโครงการอื่น ๆ กับทางกลุ่มมิตรผล อย่างเช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการจ่ายเงิน รองรับการทำ E-Commerce ภายใต้โครงการ “ปลูกมิตร” จัดทำ Payment Gateway ช่วยเสริมความมั่นใจให้ชาวไร่ในเรื่องความปลอดภัยและเป็นการเพิ่มช่องทางความสะดวกในการชำระเงิน” นายเสนธิปกล่าว

ทีเอ็มบีและธนชาต ผู้นำแนวคิด Make REAL Change เชื่อมั่นว่าการก้าวข้ามสถานการณ์นี้ได้ ทุกภาคส่วนต้องผนึกกำลังช่วยเหลือและร่วมมือกันทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก การช่วยเหลือแบบส่งต่อตลอดทั้งซัพพลายเชน จะเป็นการช่วยทั้งระบบที่ได้ผลในวงกว้างและรวดเร็ว ทำให้ทุกคนสามารถตั้งรับเชิงรุกเดินหน้าได้อีกครั้ง สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งอุตสาหกรรม ทำให้ทุกฝ่ายมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลมองหาแนวทางในการสนับสนุนชาวไร่มาตลอด โดยเรามีการเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับเงินส่งเสริมชาวไร่ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางทีเอ็มบีได้นำเสนอโปรแกรมซัพพลายเชน โซลูชัน เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือชาวไร่ทั้งด้านเงินทุนและการนำดิจิทัล โซลูชันมาช่วยในการบริหารจัดการ ลดขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้ชาวไร่ได้รับเงินส่งเสริมการปลูกอ้อยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทีเอ็มบียังปรับลดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเงินส่งเสริมการปลูกอ้อยให้ชาวไร่ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดให้ชาวไร่มีเงินทุนหมุนเวียนไปซื้อปัจจัยการผลิตได้ และทางกลุ่มมิตรผลได้พัฒนาเพิ่มช่องทางให้ชาวไร่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตได้สะดวกมากยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม “ปลูกมิตร” ที่คัดสรรและรวบรวมอุปกรณ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพในราคายุติธรรม โดยทีเอ็มบีได้มาเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยในการชำระเงิน ทำให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างครบวงจรให้ชาวไร่สามารถทำการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโซลูชันทางการเงินและการจัดการทั้งหมดนี้ทำให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มมิตรผลมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับซัพพลายเชนอย่างมาก ซึ่งเมื่อดูจากผลผลิตที่เรามีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะอ้อย น้ำตาล พลังงาน จะเห็นได้ว่าอยู่ในซัพพลายเชนเดียวกันทั้งหมด เราจึงต้องการบริหารทั้งซัพพลายเชนให้เกิดประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การตลาด ซึ่งแน่นอนว่าการเชื่อมโยงดังกล่าวทำให้ทั้งธุรกิจรายใหญ่และชาวไร่ทั่วประเทศสามารถเติบโตไปได้ด้วยกัน และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้” นายวีระเจตน์กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 29 มิถุนายน 2563

กรมฝนหลวงปรับแผนปฏิบัติการรับฝนทิ้งช่วง

กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนปฏิบัติการสอดรับฝนทิ้งช่วง เร่งเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศและทำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เกษตรที่ฝนตกน้อย เริ่ม 1 ก.ค.นี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้วางแผนปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยปรับที่ตั้งหน่วยฝนหลวง ดังนี้ ภาคเหนือย้ายจากจังหวัดแพร่ไปเชียงใหม่ แต่คงหน่วยจังหวัดตากไว้ เนื่องจากปริมาณฝนตอนบนของประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสำคัญโดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ภาคกลางย้ายจากราชบุรีไปกาญจนบุรี ส่วนที่ลพบุรียังคงไว้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงไว้ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และสุรินทร์ ภาคตะวันออกคงหน่วยปฏิบัติการไว้ที่จังหวัดระยอง ส่วนภาคใต้ปรับลดหน่วยจังหวัดชุมพร แต่ยังคงหน่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา โดยให้หน่วยปฏิบัติการเดิมเป็นหน่วยเติมสารฝนหลวง

นายสุรสีห์ กล่าวต่อว่า การจัดที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงใหม่ ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ คำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งแสดงผลในแผนที่บันทึกไว้พบว่าตอนบนของประเทศ ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย มีฝนน้อย ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ไม่มาก ขณะเดียวกันยังต้องทำฝนเติมน้ำลงสู่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตากมีปริมาตรน้ำน้อย ส่วนภาคกลางนั้น จะเร่งเติมน้ำสู่เขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ตามที่กรมชลประทานประสานมา เนื่องจากหากลุ่มเจ้าพระยาน้ำน้อยจะผันน้ำจาก 2 เขื่อนนี้มาเสริม สำหรับภาคตะวันออกจะให้ความสำคัญกับการเติมน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนทุกกิจกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นอกจากนี้ ยังพิจารณาจากชนิดของการเกษตรที่ทำในพื้นที่ต่าง ๆ ว่า เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือทำประมงประเภทใด ช่วงไหนต้องการน้ำมาก-น้ำน้อย อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีน้อย กรมชลประทานให้ภาคอุปโภค-บริโภคเป็นสำคัญ ส่วนการทำเกษตรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก จึงต้องวางแผนปฏิบัติทำให้ฝนตกอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องช่วยเหลือให้มีน้ำเพียงพอ

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 29 มิถุนายน 2563

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยค้านเข้าร่วม 'CPTPP'

สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เตรียมยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึง “บิ๊กตู่” 29 มิ.ย.นี้ คัดค้านเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ซีพีทีพีพี” ยันถ้าไทยเข้าร่วม เอสเอ็มอีโลจิสติกส์ไทยตายเรียบ เหตุแข่งขันกับต่างชาติไม่ได้

นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เปิดเผยว่า วันที่ 29 มิ.ย.63 สมาพันธ์จะยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพราะเห็นว่า ไทยยังไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมขณะนี้

อีกทั้งความตกลงนี้ มีกฎเกณฑ์การเปิดเสรีในระดับสูงเป็นการเปิดให้กลุ่มให้บริการต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้100 %ในลักษณะNegative Listsที่เปิดเสรีภาคบริการทุกสาขาก่อน แล้วค่อยแจ้งสมาชิกว่าไทยจะขอสงวนไม่เปิดเสรี หรือเปิดเสรีไม่เต็มรูปแบบในสาขาใดบ้างที่ยังไม่พร้อม แต่หากไทยไม่แจ้งสมาชิก ก็เท่ากับไทยจะต้องเปิดเต็มรูปแบบ

“ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจบริการอีกสาขาหนึ่งของไทย ที่ต่างชาติต้องการให้ไทยเปิดเสรี เพราะธุรกิจนี้กำลังเติบโตได้ดี ซึ่งการจะเข้ามาของต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราหมดอนาคตแน่ เพราะผู้ประกอบการไทย ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี มีเงินทุนน้อย แข่งขันไม่ได้กับยักษ์ใหญ่ เงินทุนหนาจากต่างประเทศแน่นอน ที่สำคัญ ไทยลงทุนสร้างถนนหนทางด้วยงบประมาณมหาศาล พอเสร็จแล้ว จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาหาเงินแล้วขนกลับประเทศหรือ มันไม่แฟร์กับคนไทย ถ้าเปิดให้เข้ามาจริง เราตายแน่ และจะเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาควบคุมระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ”

นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่เคยหารือกับสมาพันธ์เลยว่า ถ้าไทยจะเข้าเป็นสมาชิก สมาพันธ์จะมีความเห็นอย่างไร จะมีผลดี หรือผลเสียอย่างไร ถ้ามาหารือกันก่อน เราจะได้ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย และหาแนวทางเยียวยา หรือลดกระทบ เพื่อให้ภาคธุรกิจมั่นใจว่า รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยหารือเลย ทั้งๆ ที่ การเปิดเสรีบริการในซีพีทีพีพี มีระดับการเปิดเสรีสูงกว่าในอาเซียนมาก และในอาเซียนเป็นการเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่รวมถึงการเปิดเสรีสาขาโลจิสติกส์

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อใดที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพี ควรทำความเข้าใจกับภาคเอกชนให้ถ่องแท้ และโปร่งใส โดยมีมาตรการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดตั้งสภาโลจิสติกส์แห่งชาติ เพื่อเป็นผู้แทนของภาคเอกชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ, จัดให้มีกฎหมายรองรับ อย่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์พ.ศ….ที่ได้มีการยกร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 52 จนผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยนั้น แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อจนถึงปัจจุบัน

รวมถึงมีมาตรการด้านการเงิน เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ, รัฐบาลควรสนับสนุนภาคบริการโลจิสติกส์ของไทย โดยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างความสามารถ ในการแข่งขัน, พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ให้ความรู้ ความชำนาญ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ เป็นต้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2563

‘เงินบาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘อ่อนค่า’ ที่ 30.93 บาทต่อดอลลาร์

ในระยะสั้นตลาดจับตาการระบาดของโควิด-19 จะกลับมากดดันตลาดหุ้น หนุนดอลลาร์แข็งค่า แต่หากตลาดคลายกังวลได้ จะกลับมาติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ มีโอกาสเห็นภาพเงินบาทแข็งค่าต่อได้เช่นกัน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.93 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.90 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 30.85-31.05 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.70-31.20 บาทต่อดอลลาร์

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมด ถือว่ามีทิศทางเป็นบวกกับตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี ระยะสั้นนักลงทุนต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 ที่กลับมาเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้น และหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นพร้อมกันไปด้วย

ส่วนในฝั่งของเงินบาท ระยะสั้นยังคงเคลื่อนไหวตามตลาดทุน เนื่องจากการค้าและการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว และช่วงนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทองคำกับเงินบาทก็ลดลงมากเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับสูงสุดตลอดกาล แต่ในสัปดาห์นี้ ถ้าตลาดเริ่มคลายความกังวลกับโคโรนาไวรัส และกลับมาติดตามตัวเลขเศรษฐกิจก็มีโอกาสที่จะเห็นภาพเงินบาทแข็งค่าต่อได้เช่นกัน

ในสัปดาห์นี้ ต้องติดตามทั้งการระบาดของไวรัส ความคืบหน้าของ Brexit การออกกฏหมายความมั่นคงของฮ่องกงและตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ

โดยในวันจันทร์ ผู้แทนทั้งจากสหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษ (UK) จะเริ่มหารือเรื่องข้อกำหนดทางการค้า หลัง UK ออกจาก EU แล้ว ซึ่งในตลาดเชื่อว่าอาจต้องเลื่อนกำหนดการออกไปถ้าหาข้อสรุปไม่ได้

ต่อมาในวันอังคาร ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดขึ้นให้การต่อสภาเกี่ยวกับการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อรับมือวิกฤติโคโรนาไวรัส ขณะเดียวกันก็จะมีการรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย (BoP Current Account Balance) ซึ่งคาดว่าจะขาดดุลราว 700 ล้านดอลลาร์ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

และในวันพฤหัส จะมีการรายงานการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Change in Nonfarm Payrolls) ที่จะเลื่อนมารายงานเร็วขึ้น และตัวเลขทั้งผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) โดยตลาดคาดว่าจะเห็นการจ้างงานฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 ล้านตำแหน่ง และผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ทรงตัวที่ระดับ 1.3 ล้านคน ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐปรับลดลงมาที่ระดับ 12.4%

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 มิถุนายน 2563

สารพิษพาราควอตไปถึง WTO US จ่อซักไทยในที่ประชุม

“เอกอัครราชทูตไทยประจำ WTO” เผยความพร้อมตอบปมร้อนแบนสารเคมีเกษตร หลังสหรัฐ-โคลอมเบียร้องยื่นขอคำอธิบายต่อคณะกรรมการด้านสุขอนามัย “มั่นใจ” จะไม่มีการฟ้องไทยแน่เหตุมาตรการไม่ใช่มาตรการถาวร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดให้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่1 มิ.ย. 63 โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด ส่วนไกลโฟเซตนั้น มีมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้

ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562

ประเด็นดังกล่าวเป็นเหตุให้สหรัฐและบราซิลได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนขององค์การการค้าโลก (WTO) ขอให้ไทยชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีประเภทพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสซึ่งความพยายามจำกัดการนำเข้าดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใด ๆ ที่แสดงถึงพิษภัยของการใช้สารดังกล่าว และจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท นำมาสู่การขอให้ไทยชี้แจงแนวทางดำเนินการดังกล่าวซึ่งถือเป็นการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ภายใต้ WTO

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณนครเจนีวา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในการประชุมคณะกรรมการด้านสุขอนามัย (SPS Committee) WTO ระหว่างวันที่24-26 มิถุนายน 2563 นี้ สหรัฐและโคลอมเบียได้มีการสอบถามไทยถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นกระบวนการปกติที่จะมีประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการของประเทศสมาชิกอื่นก็จะขอยกเรื่องขึ้นมาหารือ เพื่อสอบถาม และติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ

“เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้มีเพียงสหรัฐและโคลอมเบียที่จะสอบถามไทย ส่วนบราซิลน่าจะแค่ติดตามเรื่อง เพราะในการประชุม SPS ครั้งก่อนทางบราซิลและสหรัฐมีข้อกังวลต่อมาตรการนี้ของไทย แต่คราวนั้นไทยไม่ได้ตอบอะไรเพราะในการประชุมครั้งนั้นไม่มีเรื่องนี้อยู่ในวาระการประชุม และหลังจากการประชุมครั้งดังกล่าวไทยได้ยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตไปแล้ว บราซิลจึงไม่ยกเรื่องสอบถาม”

ส่วนที่โคลอมเบียเป็นประเทศใหม่ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอบถาม คาดว่าจะสอบถามถึงหลักการเรื่องการแบนสารรายการอื่นของไทย เพราะโคลอมเบียเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดออกไปยังตลาดโลกแม้ไม่ได้ส่งออกมาไทย แต่คิดว่าอาจต้องการป้องกันการบังคับใช้มาตรการนี้ในประเทศอื่น ๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีนี้คงจะไม่นำไปสู่การฟ้องไทยต่อ WTO เพราะมาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการถาวร แต่คงจะหยิบยกขึ้นมาหารือ เพื่อให้ทุกคณะกรรมการผู้แทนรับทราบถึงความกังวล

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 28 มิถุนายน 2563

ก.อุตฯ เร่งเครื่องลงทุนในเขต ศก.พิเศษ ดึงเงินลงทุนหนุนไทยฮับอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าเต็มพิกัดดึงการลงทุนในเขต ศก.พิเศษหลัง ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ตามที่ สศช.เสนอหนุนกระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นหนุนไทยฮับอาเซียน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกรณี ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอว่า ร่างระเบียบดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ( LANNA) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC - Bioeconomy) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก ( WCEC) เป็นต้น

“ แนวทางดังกล่าวมุ่งหมายให้เกิดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างประเทศ/ในประเทศใช้ไทยเป็น Hub ของอาเซียน (Connectivity) ตลอดจนมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ต่อไป”นายสุริยะกล่าว

สำหรับก้าวต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมรองรับนักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ โดยคาดว่าเมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท

“ขณะนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เช่น มาตรการส่งเสริมการขาย จะได้รับส่วนลด 5% ของอัตราราคาขายที่ดิน ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรก เป็นต้น เพื่อจูงใจการลงทุนมากขึ้น” นายสุริยะกล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 28 มิถุนายน 2563

ชป. ย้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรวางแผนใช้น้ำช่วงฝนน้อย

ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้อย มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเพียงบางแห่งเท่านั้น กรมชลประทาน จึงต้องจัดสรรน้ำตามแผนฯอย่างเคร่งครัดและจริงจัง เพราะหากไม่ดำเนินการตามแผนฯอาจทำให้เสี่ยงปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการใช้น้ำที่จำเป็นได้ วอนทุกภาคส่วนปฏิบัติตามและใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(27 มิ.ย.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 30,621 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 7,345 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 40,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 7,652 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 956 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (27 มิ.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,357 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,514 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกประมาณ 1,736 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ วันนี้(27 มิ.ย. 63)รวมกันประมาณ 41 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค โดยภาคเหนือ จำนวน 8 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 18.99 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 12 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกัน 2.30 ล้าน ลบ.ม. , ภาคกลาง จำนวน 3 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 0.23 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันตก จำนวน 2 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 4.64 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออก จำนวน 6 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 1.15 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ จำนวน 4 แห่ง น้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยดังกล่าวข้างต้น กรมชลประทาน จำเป็นต้องตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเข้มงวด พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่แต่ละโครงการชลประทานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่ไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนให้มากที่สุด จึงขอทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดและอย่างประหยัดมากที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ในช่วงนี้จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกสม่ำเสมอประมาณกลางเดือนกรกฎาคม

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 27 มิถุนายน 2563

“มนัญญา” เตรียมเสนอแบน “ไกลโฟเซต”

“มนัญญา” ยืนยันแบนสารเคมีเกษตรอันตราย เดินหน้าปรับเปลี่ยนทำเกษตรอินทรีย์ เตรียมเสนอแบน “ไกลโฟเซต” ด้านกรมวิชาการเกษตรเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรนำ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ส่งคืนร้านค้าภายใน 90 หลังกฎหมายแบนมีผลบังคับใช้

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรร้องต่อศาลปกครอง โดยระบุว่าได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชและคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดแมลง โดยยืนยันว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร โดยจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนให้ทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรเลย รวมทั้งทำเพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคนด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอไกลโฟเซตสารป้องกันกำจัดวัชพืชอีกชนิด ที่ผ่านมาอยู่ในมาตรการจำกัดการใช้ซึ่งใช้ได้กับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผล แต่จากการตรวจสอบพบว่า เกษตรกรที่มาอบรมการใช้สารเคมีดังกล่าวนำไปใช้ในแปลงปลูกพืชอื่นโดยเฉพาะผัก จึงจะต้องแบนไกลโฟเซตให้ได้ด้วย

สำหรับการทำประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ....ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานอาหารและยา (อย.) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแสดงความเห็นด้วยเรื่องการเพิ่มรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตร 2 ชนิดคือ พาราคอวตและคลอร์ไพรอฟอสแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด รวมทั้งการยกเลิกปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRLs) ของ 2 สารนี้ นั่นคือ การให้ค่าตกค้างของสารพิษดังกล่าวในอาหารเป็นศูนย์ (Zero Terroance)  ทังนี้ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำเข้าผลิตผลทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหาร ผู้นำเข้า/ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ร่วมกันแสดงความเห็นต่อ โดยส่งแบบฟอร์มสำหรับรับฟังการแสดงความคิดเห็นได้ที่ อย. ภายในวันที่ 18 กรกฎาคม จากนั้นจึงจะออกประกาศเพื่อบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่า เป็นการออกประกาศที่มุ่งเน้นความปลอดภัยทางสุขอนามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่และสารวัตรเกษตรเร่งให้คำแนะนำเกษตรกรเพื่อนำพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งอยู่ในครอบครองคืนที่ร้านจำหน่าย ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ภายใน 90 หลังจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่แบนสาร 2 ชนิดนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีนโยบายจะจับกุมเกษตรกร แต่จำเป็นต้องแนะนำให้ปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด จากนั้นร้านจำหน่ายต้องส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 180 วัน หรือก่อนวันที่ 28 กันยายน 2563 สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อรวบรวมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายและแผนการทำลาย ภายใน 270 วัน หรือก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTISมั่นใจ ธุรกิจเอทานอล ขยายตัวต่อเนื่อง หลังรัฐคลายล็อค

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลคลายล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลัง นี้ สายธุรกิจเอทานอลของกลุ่มเคทิส ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล (KTBE) จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง

โรงงาน KTBE ได้ออกแบบหอกลั่นพิเศษ ซึ่งมีเพียงไม่กี่โรงงานในประเทศไทย ทำให้แอลกอฮอล์ที่ผ่านกระบวนการแยกสิ่งเจือปนด้วย 7 หอกลั่น มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทั้งในธุรกิจพลังงาน และการสาธารณสุข

“กลุ่ม KTIS เป็นผู้ผลิตแอลกอฮอล์กลุ่มแรกที่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนั้นประสบปัญหาขาดแคลนแอลกอฮอล์ รวมถึงแอลกอฮอล์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีราคาสูง เราจึงได้ประกาศขายแอลกอฮอล์ 95% ในราคาหน้าโรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือหรือเจลล้างมือด้วยต้นทุนที่ต่ำ จากนั้นก็ได้ผลิตแอลกอฮอล์ 70% ขายผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้แอลกอฮอล์ราคาถูกอย่างทั่วถึง” นายประพันธ์กล่าว

 ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ความต้องการใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดก็ยังคงมีอยู่สูง เพื่อรองรับกับการเปิดพื้นที่ต่างๆ และพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไป จนกลายเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า New Normal ไปแล้ว

อนึ่ง ในรอบ 6 เดือนแรกของรอบบัญชีปี 2563 (กันยายน 2562-มีนาคม 2563) สายธุรกิจเอทานอลมีรายได้ประมาณ 728 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 9.6% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่ม KTIS ในงวดดังกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

‘สมคิด’กระตุ้นศก. ชู‘พลังงานสร้างชาติ’อัดเงิน1.1ล้านล้าน

นายสมคิดจาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบนโยบาย“พลังงานสร้างชาติ” พร้อมหารือเพื่อเตรียมแผนงานด้านพลังงานในการลดค่าครองชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กับผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายสมคิดกล่าวว่า ภาวะที่ประชาชนทั้งประเทศลำบากอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดมาตรการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะระยะสั้นภายในปี 2563 ที่เตรียมแนวทางเพื่อการลงทุนไว้ราว 203,770 ล้านบาท และหากรวม 3 ปี (ปี2563-2565 ) รวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท

“กระทรวงพลังงาน ต้องเร่งรัดเพื่อให้คนไทยก้าวข้ามปีนี้ไปให้ได้ ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากจะต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจหมุนและเกิดการจ้างงานและให้เน้นเกษตรให้มากขึ้นเพื่อเป็นฐานต่อไปในปีหน้า”นายสมคิดกล่าว

ขณะที่ทางบมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จะไปตรวจเยี่ยมก็เห็นว่าทั้ง2 หน่วยงานงบลงทุนปีนี้ต้องไม่พลาดเป้าและงบปี’64 ขอให้มาเร่งรัดลงทุนในปีนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจเนื่องจากครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไม่ดีนักทำอย่างไรจะให้มีการจ้างนักศึกษาจบใหม่

ทั้งนี้ได้ให้ร่วมกันศึกษาทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กระทรวงพลังงาน ปตท.และกฟผ.ถึงความเป็นไปได้ที่จะลดราคาพลังงานลงมาอีกโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และแอลพีจีไม่ใช่แค่ตรึงราคารวมถึงร่วมกับกองทุนหมู่บ้านที่จะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อการเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ให้มีการยื่นเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศวงเงิน 4 แสนล้านบาท จึงเห็นว่าทั้งปตท.และกฟผ.เองก็สามารถยื่นขอได้หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงานเองก็ได้เสนอยื่นของบดังกล่าววงเงิน 1,000 ล้านบาท

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนพลังงานสร้างชาติจะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565 คือ 1. ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ อาทิ ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563 ฯลฯ

2. เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 2.03 แสนล้านบาท ในปี 2563 และอีก 4.57 แสนล้านบาท ในปี 2564 และ 4.50 แสนล้านบาท ในปี 2565 (รวม 3 ปี 1.11 ล้านล้านบาท) โดยคาดว่าปีนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน การลงทุน อาทิเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ฯลฯ

3. กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คนโดย กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้า และท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 30 มิถุนายนนี้จะมีวาระการเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP-ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ที่จะมีการบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานเอาไว้ในแผนดังกล่าวดังนั้นเมื่อผ่านครม.แล้วกระทรวงได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวทันทีในระยะเร่งด่วน (ควิกวิน) 100 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 คัดเลือกเอกชนได้กลางสิงหาคมนี้ และจะลงนามได้ภายในพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและสร้างรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในระยะแรก ปี 2563-2565 ลงทุนประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่งออกติดลบ22.50% ทำสถิติต่ำสุดในรอบ130เดือน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกไทย เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้อุปสรรคด้านการขนส่งที่ยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อแม้ยังมีความต้องการสูง

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2563 การส่งออกมีมูลค่า 16,278ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 22.50% เป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 130 เดือน นับตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม 2552 จากที่ตลาดคาดว่าจะติดลบ 5.8-6.0% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,584 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 34.41% จากที่ตลาดคาดติดลบ 18% ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 2,694.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ขณะที่มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคม ต่ำสุดรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ เมษายน 2559 ส่วนหนึ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับฐานสูงในเดือนพฤษภาคม 2562 ที่มีมูลค่าการส่งออกถึง 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”

สำหรับภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-พฤษภาคม) การส่งออกมีมูลค่า 97,899 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.71% นำเข้ามีมูลค่า 88,808

ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 11.64% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,090.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การส่งออกของไทยจะติดลบมากแต่ก็ทำได้ดีกว่าหลายประเทศ และน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าความต้องการสินค้าของประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นแต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 หรือไม่ อีกทั้งยังมีปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่ยังไม่คล่องตัว หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 1.7-1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐการส่งออกทั้งปีน่าจะติดลบ 5% แต่ถ้าทำได้มากกว่าการติดลบก็จะน้อยลง

พร้อมกันนี้ไทยต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาโควิด-19 ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร และต้องรีบเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของสินค้ากลุ่มนี้, ต้องหาทางประคับประคองผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกเอาไว้ให้ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันโดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่ต้องเข้าถึงและยืดหยุ่นกว่านี้, ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์ให้กับผู้ส่งออก เช่น จับคู่สายการบินพาณิชย์ที่อาจจะมาใช้แทนการขนส่งทางเรือและถนนไปก่อน, ต้องเร่งขยายความเข้มแข็งของการเป็นซัพพลายเชน เช่น กลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร, สนับสนุนกลุ่มสินค้าที่ขายได้ เช่น อาหาร สินค้าทำงานอยู่บ้าน และไลฟ์สไตล์ และต้องประกันความเสี่ยงจากค่าเงิน โดยรัฐต้องช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ขณะที่แผนการส่งเสริมการส่งออกปี 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มีมาตรการส่งเสริมทั้งตลาดออฟไลน์ ผ่านการส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง โดยขยายตลาดสินค้าผักและผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับจีนเพื่อคลี่คลายปัญหาและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยผ่านลาวและเวียดนามไปยังจีนตอนใต้

ด้านการส่งเสริมตลาดออนไลน์ กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ ทั้ง จีน อินเดีย อาเซียน เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และแอฟริกา และจัดกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างผู้ส่งออกไทย 80 บริษัท และผู้นำเข้าต่างประเทศ 50 บริษัท นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดกิจกรรม Thai Fruits Golden Months ส่งเสริมการขายผลไม้ไทยในเมืองต่างๆ ในจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ ชิงต่าว หนานหนิง เฉินตู ฉงชิ่ง ซีอาน เซี่ยเหมินและคุนหมิง โดยมีแผนจะจัดช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กษ.รับแผนEECปั้นสู่ต้นแบบเกษตรทันสมัย ดึงเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการตลาด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรใน EEC ซึ่งกระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานประสานหลักจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อเป็นกรอบพัฒนาภาคเกษตรให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในพื้นที่ EEC เป้าหมายแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC มุ่งพัฒนาภาคเกษตรให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นต้นแบบพัฒนาด้านเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามแนวคิดตลาดนำการผลิต (Demand pull) และขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยจะสนับสนุนพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าสำคัญ ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมงคลัสเตอร์พืชพลังงาน คลัสเตอร์สมุนไพร และคลัสเตอร์ High valued crops เช่น ปศุสัตว์ เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมS-curve และ New S-curve รวมถึงสร้างกระบวนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร พัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่โดยใช้ Agricultural Interlligence (AI) เพื่อตอบโจทย์ด้านการตลาดและยกระดับการผลิตภาคการเกษตร

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้จะแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นคณะทำงานและเลขานุการ ร่วมเพื่อจัดทำแผนงานโครงการด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทางให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา EEC และรองรับต่อสถานการณ์หลังโควิด ในรูปแบบ NewNormal รวมถึงจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ (Big Data) ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ NationalAgricultural Big data Center (NABC) ด้วย

ทั้งนี้ การใช้พื้นที่ EEC เป็นต้นแบบปรับการทำเกษตรในรูปแบบใหม่ทันสมัย จะเป็นโอกาสพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม โดยต้องบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับความต้องการสำหรับอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการและการท่องเที่ยวอย่างสมดุล ซึ่งจะเป็น platform ตัวอย่างด้านการเกษตรของประเทศที่ยกระดับเกษตรกรมีรายได้มั่นคง เกิดประโยชน์กับภาคประชาชนในพื้นที่ EEC และจังหวัดใกล้เคียงต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

''สำเร็จ''กรมชลฯจับมือกลุ่มผู้ใช้น้ำผันน้ำพ้นวิกฤตแล้ง

กรมชลประทาน เดินหน้าทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ปันน้ำ เติมอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ฝ่าวิกฤตแล้งไปได้

นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ เน้นย้ำถึงเป้าหมายที่จะทำให้พี่น้องมีความสุข มีความยั่งยืนในภาคการเกษตรหรือทุกภาคส่วน ต้องมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง และความสำเร็จหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของกรมชลประทาน คือ การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ

กรมชลประทาน เองเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปสนับสนุนให้ความรู้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มบริหารหารการใช้น้ำ เพราะสิ่งที่กรมชลประทานดำเนินการไม่ได้มองเพียงแค่การส่งน้ำ แต่ต้องมีการเตรียมการณ์เรื่องน้ำต้นทุนตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้เลย คือ 1. ติดตามข้อมูล ข่าวสารอย่างใกล้ชิด ว่าฝนจะตกตรงไหนและต้องเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด 2. ตรงไหนถ้ามีความชื้น ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนเทียมได้เลย

3. หาน้ำจากแหล่งอื่น เช่น น้ำใต้ดิน หากสามารถขุดเจาะบ่อบาดาลได้ต้องทำ 4. เตรียมน้ำต้นทุนอื่น เช่น น้ำทะเล นำมาผลิตน้ำจืด นอกเหนือจากหลัก 3R ของภาคอุตสาหกรรม และนอกจากนี้ต้องมีการวางแผนอย่างเข้มข้น คือ ต้องกำหนดพื้นที่ EEC กำหนดความต้องการใช้น้ำ อย่างในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาใช้น้ำ200-300 ล้าน ลบ.ม.ปีหน้าต้องมากกว่า เราต้องมีปริมาณน้ำอย่างน้อย 350 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำหรือสร้างแหล่งน้ำเพิ่ม รวมถึงมาตรการล่าสุด คือ กระบวนการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำโดยเฉพาะเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว มาเติม พื้นที่จังหวัด EEC โดยตรง ลุ่มน้ำคลองวังโตนด อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ขอปันน้ำเฉพาะกิจ โดยการสูบผันน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง เพื่อเติมน้ำให้พื้นที่ EEC และพื้นที่ภาคตะวันออก มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ

ซึ่งความสำเร็จหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำที่ได้ผลดีส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครชลประทาน คณะกรรมการบริหารการใช้น้ำ หรือ JMC ซึ่งทำหน้าที่ประสานภาคการเกษตร ประสานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำประสานกรมชลประทาน

เพราะว่าในการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหรือลุ่มน้ำสาขา กลุ่มผู้ใช้น้ำจะเข้ามาช่วยได้อย่างดีมาก และกลุ่มผู้ใช้น้ำเหล่านี้ ยังเป็นตัวอย่างการใช้น้ำที่ดีด้วย เช่น กลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี ที่มีอ่างเก็บน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำเล็กๆที่สร้างไว้ แล้วกรมชลประทานไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าให้ พี่น้องเกษตรกรรวมกลุ่มกัน เชื่อมโยงระบบน้ำด้วยท่อ มีกรรมการจัดสรรน้ำว่าจะส่งไปแปลงไหนบ้าง ทำให้ทุกสวนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการดำเนินการโดยใช้กลุ่มผู้ใช้น้ำ จะทำให้พี่น้องประชาชนเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง เกิดความเข้มแข็ง ถือเป็นความร่วมมือเล็กๆที่ไม่เล็กเลย

นางศิราพร ทองรอด เหรัญญิก กลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถผลิตผลไม้ได้ เมื่อก่อนปลูกมันสำปะหลัง ปลูกยางพารา แต่พอมีอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย และมีโครงการท่อส่งน้ำ ทำให้สามารถเปลี่ยนอาชีพที่สร้างรายได้มากขึ้น สามารถเลือกผลิตพืชได้ เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น เพราะเกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ตรงนี้ และสามารถแก้ปัญหา ภัยแล้งของพื้นที่ได้

นางธิดารัตน์ สัตถี รองประธานกลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ทางกลุ่มได้สร้างโรงสูบน้ำขึ้นมาแล้วสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย เพื่อส่งต่อไปให้สมาชิก เราจะแบ่งเป็น 2 โซน ระบบสปริงเกอร์ กับ ระบบลงบ่อ ซึ่งช่วงเช้าจะส่งน้ำโดยระบบสปริงเกอร์ ช่วงบ่าย ส่งด้วยระบบสูบลงบ่อ กำหนดเวลาเปิด 09.00-16.00น. แต่ถ้าสมาชิกคนใดน้ำไม่พอ ขาดน้ำ สามารถแจ้งความต้องการได้เพื่อปรับเพิ่มเวลาการส่งน้ำ และจะเริ่มเปิดส่งน้ำช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม

กลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง จังหวัดจันทบุรี นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการแบ่งปัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผลประโยชน์ ช่วยเหลือกัน และร่วมกันบริหารจัดการ ทำให้สวนเกษตรทุกแปลงแปลงมีน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และที่สำคัญจากการร่วมทำงานกันระหว่างกรมชลประทานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ในการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ ทำให้สามารถผ่านแล้งนี้ไปได้ หลายๆพื้นที่มีน้ำใช้ และคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.63 นี้

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เขื่อนอุบลรัตน์แล้งหนักสุดในรอบ53ปี

เขื่อนอุบลรัตน์ แล้งหนักสุดในรอบ53 ปี ผู้ว่าฯขอนแก่น เตือนฝนทิ้งช่วง เกษตรกร ควรวางแผนทำการเกษตรอย่างเข้มงวด

ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีฝนตกลงมาต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนในช่วงที่ผ่านมา

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งรุนแรงและยาวนาน ทำให้น้ำฝนส่วนใหญ่ซึมลงดิน จึงมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ในปริมาณที่น้อย ซึ่งจนถึงขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเก็บกักภายในเขื่อนอยู่ที่ 316 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุอ่าง โดยมีปริมาณน้ำใช้ได้จริง ติดลบร้อยละ 11 ของความจุอ่าง น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีน้ำเก็บกักอยู่ที่ร้อยละ 25 จึงถือว่าน้อยที่สุดในรอบ 53 ปีตั้งแต่ก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์

” เราได้มีการนำน้ำสำรองก้นอ่างใช้ไปแล้ว 265 ล้าน ลบ.ม. โดยต้องระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำพอง และเพื่อการอุปโภค บริโภค ของพื้นที่ท้ายเขื่อนเฉลี่ยวันละ 300,000 ลบ.ม. อย่างไรก็ดีตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนเกษตรกรจำนวนมากก็ได้เริ่มลงมือทำไร่ทำนา โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปี และล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนว่า อาจจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนนี้ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จึงขอเตือนเกษตรกรควรวางแผนในการใช้น้ำทำการเกษตรให้ดี เพื่อป้องกันพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดน้ำ เนื่องจากขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ ไม่สามารถระบายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้”

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เตือนปลายมิ.ย.-กลางก.ค.‘ฝน’น้อย น้ำต้นทุนเขื่อนเหลือ16% เตรียมรับมือ‘แล้ง’

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2563 ปริมาณฝนลดลง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ5-10 ช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ทุกภาคยังคงมีฝนน้อย ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้อย มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ30 จำนวน 34 แห่ง ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ส่วนด้านการเกษตรยังต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก จึงขอเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงดังกล่าวและวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยรวมปริมาตรน้ำทั้งประเทศ 34,213 ล้านลบ.ม.หรือ ร้อยละ42 ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ 30,871 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ43 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 7,389  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 16 น้อยกว่าปี 2562 จำนวน 5,320 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา คือเขื่อนภูมิพล เหลือน้ำใช้การได้จริง ร้อยละ2 เขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ8 เขื่อนแควน้อย ร้อยละ16 เขื่อนป่าสักฯ ร้อยละ11 รวมน้ำใช้การ965 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ5

ส่วนคุณภาพน้ำค่าความเค็ม แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี 0.23 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีปากคลองจินดา จ.นครปฐม 0.33 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ และแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบางกระเจ็ด จ.ฉะเชิงเทรา 3.42 กรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์วิกฤติ

ด้านสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ได้แจ้งเตือนเขื่อนที่มีน้ำใช้การได้ มีน้ำน้อยวิกฤติ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ -11% เขื่อนภูมิพล 2% เขื่อนคลองสียัด 3% เขื่อนประแสร์ 4%เขื่อนกระเสียว 4% เขื่อนบางพระ 4% เขื่อนจุฬาภรณ์ 5% เขื่อนสิริกิติ์ 5% เขื่อนสิรินธร8% เขื่อนทับเสลา 9% เขื่อนศรีนครินทร์ 10% เขื่อนวชิราลงกรณ 10% เขื่อนป่าสักฯ 11% เขื่อนลำแซะ 11% เขื่อนลำพระเพลิง 12% เขื่อนมูลบน 12% เขื่อนลำนางรอง12% เขื่อนแม่งัด 13% เขื่อนขุนด่านปราการชล 13% เขื่อนห้วยหลวง 14% เขื่อนแควน้อย16% เขื่อนน้ำพุง 17% เขื่อนนฤบดินทรจินดา 18% เขื่อนแก่งกระจาน 19% เขื่อนแม่กวง 19%

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ไส้ใน CPTPP 11 ประเทศ ขอผ่อนปรนอื้อ

ในข้อบทการบริการ การลงทุนและการเงิน ชิลี เม็กซิโก เปรู เวียดนาม ขอให้นักลงทุนไม่สามารถยื่นฟ้องผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ(ISDS) ได้ หากนักลงทุนนั้นได้ยื่นฟ้องต่อศาลภายในของแต่ละประเทศข้างต้นแล้วให้ถือเป็นที่สิ้นสุด(ไม่ต้องผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ) เป็นต้น

ส่วนข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในประเด็นที่บังคับให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่(UPOV 1991) เม็กซิโกและมาเลเซียขอเวลาปรับตัว 4 ปีก่อนเข้าเป็นภาคีฯ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ทัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ในข้อบทต่าง ๆ ไทยก็สามารถขอเวลาปรับตัวหรือขอความยืดหยุ่นในประเด็นที่มีความอ่อนไหวจากประเทศสมาชิกเดิมได้เช่นกัน แต่หากเขาไม่ยอมผ่อนปรน หรือผ่อนปรนน้อยไทยเสียมากกว่าได้ ไทยก็สามารถถอนตัวได้ แต่เบื้องต้นไทยต้องขอโอกาสเข้าไปเจรจาก่อน เพราะในบางข้อบทของความตกลงที่เป็นที่ถกเถียงกันของภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยในเวลานี้ ในบางเรื่องต้องเข้าไปเจรจาจึงจะทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของการเข้าร่วมเจรจา CPTPP หลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้ไปแล้วคือไทยมีโอกาสเห็นข้อมูลของความตกลง และสามารถเจรจาต่อรองได้ แต่ข้อเสียเปรียบคือ ไทยอาจได้รับความยืดหยุ่นหรือผ่อนปรนน้อยหากจะเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่า ไทยสมควรเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP หรือไม่ เพราะทุกอย่างมีได้และมีเสีย แต่ยุทธศาสตร์การเจรจาคือทำอย่างไรจะให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาน้ำส่อวิกฤต-กระทบเกษตร

ชลประทานจับตา 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เหตุฝนตกเหนือเขื่อนยังน้อย

นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ขณะนี้ต้องจับตาที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,000 กว่า ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ไม่ถึง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปี 2562 มาก ที่ในช่วงเวลาเดียวกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,700 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นแล้วในขณะนี้ น้ำในเขื่อนจึงยังเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก แต่จะส่ง

ผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้มีปริมาณฝนตกในบางส่วนของภาคเหนือ แต่เป็นการตกนอกเขื่อน ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในเดือน กรกฎาคม คาดว่าจะมีฝนตกลงมาเพิ่มน่าจะทำให้สถานการณ์แล้วคลี่คลายลงไปได้บ้าง

ทั้งนี้ ทางกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ 4 เขื่อนหลัก จะส่งให้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ส่วนภาคการเกษตร หากเกษตรกรที่เพาะปลูกนาปีไปแล้ว จะนำน้ำท่าจากแม่น้ำและลำคลองธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปี ได้ขอความร่วมมือให้เริ่มทำนาปีในช่วงหลังกลางเดือน กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีฝนตกชุกและมีปริมาณน้ำเพียงพอ

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่งออก พ.ค. ติดลบสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี “โควิด-น้ำมัน-บาทแข็ง” กดดัน

พาณิชย์เผยส่งออกเดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 22.50% ในรอบ 130 เดือน หรือกว่า 10 ปี ปัจจัยสำคัญหลักยังคงมาจากโควิด-19 ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาทที่กระทบส่งออกไทย แนะต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลิอ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนพฤษภาคม 2563 มีมูลค่า 16,278 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 22.50% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 130 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 34.41% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุล 2,694 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภาพรวมการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 97,898 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 3.71% การนำเข้ามีมูลค่า 88,808 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 11.64% โดยไทยได้ดุลการค้า 9,090 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกไทย มาจากปัญหาของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาก แต่ไทยยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ยังประคองการส่งออกได้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังขยายตัวที่ 22.7%

แต่อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกาลังซื้อและความต้องการสินค้าไทยให้ฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ส่วนการนำเข้าที่ยังติดลบแต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคไทยยังทำได้ดี เพราะได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วคือเมษายน-พฤษภาคม ทั้งนี้ประเมินว่าการส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่า 3%

กนง. คงดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี​ จีดีพีหดตัว -​8.1% หนักกว่าปี’40

พิษโควิดหั่นเงินเดือน-เลิกจ้างพุ่ง ตกงาน 8 ล้านคน ชี้ 5 อาชีพเห็นสัญญาณบวก

นโยบายที่กระตุ้นการส่งออกของไทย

1. ต้องรักษาผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ให้ผ่านพ้นช่วงนี้ที่อุปสงค์ยังไม่กลับมาเต็มที่ไว้ให้ได้ โดยมาตรการการเงินหลายอย่างควรจะยืดหยุ่นกว่านี้ ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากขึ้น

2. ต้องหา partner ในภูมิภาค ที่เป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็ว มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ประชาชนมีกำลังซื้อ และอยู่ไม่ไกลจากไทยนักเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ โดยต้องดำเนินการดึงดูดเขาร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน และให้เข้ามาลงทุนด้วย สำหรับอินเดียมาตรการในประเทศยังเข้มงวดอยู่ แต่ก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพ

3. ต้องเร่งขยายสร้างความเข้มแข็งของ supply chain ที่เริ่มเข้ามาในไทยเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น กลุ่ม smart devices และอุปกรณ์ รวมทั้งกลุ่มอาหารของไทยเองด้วย เพื่อให้ไทยเป็น Food Factory of the World และเป็นฐานการผลิตสินค้า new normal products นโยบายด้านการลงทุน เช่น EEC, BOI จะช่วยตรงนี้ได้ รวมทั้งมาตรการที่จะสร้างระบบนิเวศทางการค้าให้เข้มแข็งก็ต้องรีบดำเนินการ เช่น มาตรการด้านแรงงาน การฝึกทักษะแรงงาน การเคลื่อนย้ายคน และการลดขั้นตอนกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

4. การสนับสนุนกลุ่มสินค้า ต้องเน้นที่กลุ่มที่ขายได้ในช่วงนี้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าที่ใช้ในการทำงานอยู่บ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น ส่วนสินค้าคงทนหรือราคาแพงอาจจะใช้เวลากว่าจะกลับมาฟื้นได้ โดยสินค้ากลุ่มอาหารควรเน้นกลุ่มที่มีราคาแพงเป็นพรีเมียม เช่น ทุเรียน ข้าวหอมมะลิ สินค้าสุขภาพ สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

5. รัฐต้องเร่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ส่งออก เช่น จับคู่ให้กับสายการบินพาณิชย์ที่อาจมาใช้แทนการขนส่งทางเรือและทางถนนไปก่อน เป็นการเปลี่ยน mode of transport ส่วนผู้ส่งออก ก็ควรจับกลุ่มกันเพื่อเพิ่ม scale การส่งออก โดยใช้ประเทศที่ต้องการส่งออกไปเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นสินค้ากลุ่มเดียวกัน เพื่อเร่งลดต้นทุน และแก้ปัญหาอุปสรรคทางการส่งออกโดยเร็ว

6. ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกต้องตระหนักเรื่องการประกันความเสี่ยง ส่วนรัฐต้องช่วยให้เข้าถึงได้มากขึ้นง่ายขึ้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

“WTO” คาดไตรมาสสองปริมาณการค้าทั่วโลกหดตัว18.5% ต่อปี

วันนี้ 24 มิ.ย. สำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อวันวันอังคาร (24 มิ.ย.) องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยการคาดการณ์ปริมาณการค้าสินค้าทั่วโลกในไตรมาสสอง (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2020 จะหดตัวลงราวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบปีต่อปี

“ตอนนี้เรากำลังเผชิญการหดตัวทางการค้าขนานใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ อาจนับได้ว่าหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา แต่ที่กว่านั้นคือมันอาจเลวร้ายยิ่งขึ้นอีก” โรเบอร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การฯ แถลงข่าว

อนึ่ง รายงานฉบับก่อนหน้านี้ขององค์การฯ คาดการณ์ว่าการค้าโลกในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวลงระหว่างร้อยละ 13-32 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

“ณ สถานการณ์ปัจจุบัน การค้าโลกในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ต้องเติบโตร้อยละ 2.5 เท่านั้น ถึงจะสอดคล้องกับการคาดการณ์เชิงบวก” องค์การฯ ระบุในรายงานแนวโน้มและสถิติการค้าโลกฉบับแก้ไขล่าสุด

องค์การฯ เสริมว่ามาตรการรับมือที่รวดเร็วของรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ช่วยชะลอการหดตัวของการค้าโลกไว้

อย่างไรก็ดี องค์การฯ ประเมินว่าการค้าโลกในปี 2021 จะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเผชิญปัจจัยลบอย่างการระบาดระลอกสองของโรคโควิด-19 การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาดการณ์ และการออกข้อจำกัดทางการค้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สอท.ร้อง‘บาทแข็ง’ พร้อมชง‘บิ๊กตู่’ช่วยดันศูนย์เอทานอล

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มภาคการผลิตครึ่งปีหลังปีนี้ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะเศรษฐกิจทั้งไทย และโลกยังคงเปราะบางจากผลกระทบโควิด-19 ที่แม้หลายประเทศจะเริ่มฟื้นตัวและทยอยคลายล็อกดาวน์แต่บางประเทศเริ่มกลับมาระบาดรอบ 2 ขณะที่การส่งออกของไทยไม่เพียงจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยแล้วยังเผชิญกับภาวะค่าเงินบาทที่เริ่มมีทิศทางแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ซึ่งล่าสุดเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวระดับ 30.97-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากแข็งค่าต่อเนื่องก็จะซ้ำเติมการส่งออกไทยให้ชะลอตัวมากขึ้น

“คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะเห็นสัญญาณถึงเศรษฐกิจที่เปราะบางซึ่งจะกระทบต่อการที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ที่อาจอ่อนแรงและไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ซึ่งที่สุดจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้นจึงได้มีมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดซื้อหุ้นคืน เพื่อเป็นกระสุนป้องกันเอาไว้ก่อน ซึ่งภาคเอกชนเองก็กังวลประเด็นเหล่านี้เช่นกันเมื่อครั้นพบนายกฯจึงได้เสนอขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม( บสย. ) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ธปท. 5 แสนล้านบาท ต่อหลังจากหมดพ.ร.ก.เงินกู้ฯ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหาร สอท. นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สอท. ได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเพื่อเสนอแนวทางการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการสนับสนุนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอล (Ethanol Hub) เพื่ออุตสาหกรรมซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 มาตรการสำคัญในการฟื้นฟูประเทศไทยที่ได้เสนอโดยจะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบ BCG โมเดล ศก.ชีวภาพ (Bio Economy) ศก.หมุนเวียน(Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

“ขณะนี้คือวิกฤติที่จะเปลี่ยนเป็นโอกาสของไทยเพราะที่ผ่านมาช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ จะเห็นว่าไทยขาดแคลนแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อและเจลทำความสะอาดมือ รัฐและเอกชนได้หารือร่วมกันและได้มีการเสนอให้กรมสรรพสามิตปลดล็อกจนนำมาสู่การนำเอาเอทานอลที่ผลิตในส่วนของเชื้อเพลิงมาใช้ในการฆ่าเชื้อและทำเป็นเจลแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันไทยมีมากเหลือเฟือและราคาก็ถูกลง ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้คือสิ่งที่จะมาช่วยฟื้นฟูศก.หลังโควิด-19 ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกได้ทันที” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับพืชทางการเกษตรที่สำคัญคือ อ้อย และมันสำปะหลัง ในการเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ซึ่งพบว่าเป็นการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) 100% และยังต่อยอดไปสู่ BCG โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันไทยมีโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ทุกๆ เกรดรวมกันประมาณ 33 แห่งมีกำลังผลิตรวมกันกว่า 6 ล้านลิตรต่อวัน และในจำนวนดังกล่าวมี 4 โรงงานเท่านั้น ที่ผลิตเกรดสูงที่เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ 99.9% ถือว่าเป็นแอลกอฮอล์เกรดที่ดีฆ่าเชื้อโรคได้ มีความปลอดภัย และรับประทานได้ ดังนั้นหากรัฐแก้ไขระเบียบแต่ละเกรดให้ชัดเจนปัญหาที่กังวลว่าจะนำเอทานอลไปสู่การผลิตสุราแล้วควบคุมได้ยากก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “แข็งค่า”จับตาผลประชุมกนง.บ่ายวันนี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิด สิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.95 บาทต่อดอลลาร์ -จับตาผลประชุมกนง.-กรอบเงินบาทวันนี้ 30.80-31.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มองว่าวันนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงพักฐาน ขณะที่ช่วงบ่ายก็มีความเสี่ยงจากการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีโอกาส 50/50 ที่จะ "ลด" ดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.25% จึงไม่น่าที่จะมีนักลงทุนกลับเข้ามาในตลาดมากนัก

สำหรับตลาดการเงินอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้นราว 0.4% พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ที่ปรับตัวขึ้น 2bps มาที่ระดับ 0.73% และสินทรัพย์ที่นักเก็งกำไรทั่วโลกกำลังให้ความสนใจช่วงนี้คือทองคำที่พยายามทำจุดสูงสุดใหม่ระดับ 1770 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ห่างจากจุดสูงสุดตลอดกาลเพียง 100 ดอลลาร์หรือราว 5% เท่านั้น

ภาพดังกล่าวเกิดจากการที่นักลงทุนมองว่าหุ้นและบอดน์มีราคาแพง ขณะที่เงินดอลลาร์ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ เห็นได้ชัดเจนในตลาดเงิน ที่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเยนญี่ปุ่น (JPY) สามารถแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ได้แม้ในช่วงตลาดเปิดรับความเสี่ยง 0.4% พร้อมกับสกุลเงินที่เคลื่อนไหวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) ที่ขยับแข็งค่าขึ้น 0.3-0.4% ทั้งที่ราคาน้ำมันและราคาสินแร่เพื่ออุตสาหกรรมไม่ได้ปรับตัวขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนในไตรมาสที่สามยาวไปถึงช่วงท้ายปี มองว่าเงินบาทมีโอกาส "แข็งค่า" ตามแนวโน้มดอลลาร์ที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองทั้งในและต่างประเทศก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก่อนที่ทิศทางของเงินดอลลาร์จะตีกลับจากผลของการเลือกตั้ง คาดว่าถ้า "ทรัมป์" สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ต่อ ก็อาจเห็นการแข็งค่าของดอลลาร์จากความกังวลกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ถ้านาย "ไบเดน" และพรรคเดโมแครต สามารถครองตำแหน่งประธานาธิบดีและวุฒิสภาได้   ก็อาจเห็นความกังวลของนักลงทุนจากภาพนโยบายเศรษฐกิจที่จะไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจเท่ากับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา  เช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ครม.เห็นชอบไทยเข้าร่วมข้อตกลงสินค้าเกษตรอาเซียน

ครม.กำหนดกรอบการเจรจาความตกลงด้านมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้า

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของอาเซียน ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ตามที่กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดท่าทีของประเทศไทยที่จะไปตกลงในเรื่องดังกล่าว เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) อำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

สาระสำคัญคือ 1.กำหนดหรือพิจารณามาตรฐานของอาเซียนด้านระบบการผลิตพืชปศุสัตว์ และประมง ในระดับฟาร์ม และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ในการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียน 2.กำหนดขอบข่ายและเงื่อนไขในการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน

3.พัฒนากลไกการประสานงานของอาเซียนและการปฏิบัติตามความตกลงของประเทศสมาชิก โดยกำหนดกลไกในการดำเนินการให้การยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นไปตามเงื่อนไขในการตกลงในการนำเข้าและส่งออกในภูมิภาค 4.ประเด็นอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติความตกลงนี้ เช่น การระงับข้อพิพาท ความโปร่งใส การเพิ่มบทบาทของอาเซียนและของประเทศสมาชิกอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร การมีผลใช้บังคับ และการแก้ไขความตกลง รวมทั้งประเด็นอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อไทย

 ทั้งนี้ กรอบเจรจาดังกล่าว จะมีการเจรจาเพิ่มเติมในรายละเอียดระหว่างการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ (MRA Task Force on MAMRASCA) ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ที่จะจัดขึ้นภายในเดือนมิ.ย.นี้ และหากมีความก้าวหน้าถึงขั้นการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ก็จะต้องเสนอ ครม. พิจารณาก่อนและหากความตกลงนั้น มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะเข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และหากการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญานั้น ต้องมีการออกพระราชบัญญัติ หรืออาจะมีผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อียูประกาศจุดยืน เร่งเจรจาเอฟทีเอคู่ค้า

อียูประกาศจุดยืนเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้า เล็งผลักดันการเจรจากับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ให้จบปี 64 ปรับปรุงข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่กับเม็กซิโกและชิลี เดินหน้าเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน ขณะที่ตั้งเป้าลงนามเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยภายในปี 64 เผยล่าสุดได้ศึกษาโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นเอฟทีเอไทย-อียูแล้ว คาดสรุปผลส.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่เอกสารจุดยืนของสหภาพยุโรป (อียู) ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้า ฉบับล่าสุด หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 และคณะมนตรียุโรปได้เผยแพร่เอกสารวิสัยทัศน์ของประธานคณะมนตรียุโรป ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า โดยได้สรุปทิศทางนโยบายการค้า และความคาดหวังของอียูที่มีต่อประเทศคู่ค้า และคู่เจรจาเอฟทีเอ ที่ยังคงให้ความสำคัญกับระบบการค้าแบบเปิด เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ มีความเป็นธรรม ความคาดหวังสูง และมีความยั่งยืน โดยต้องการใช้เอฟทีเอเป็นกลไกในการขยายการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันอียูได้ทำเอฟทีเอระดับสองฝ่ายกับประเทศคู่ค้าแล้ว 32 ประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เป็นต้น และมีแผนการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ โดยจะผลักดันการเจรจาเอฟทีเอกับอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มต้นในปี 2559 และการเจรจาเอฟทีเอกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 ให้สามารถสรุปผลได้ในปี 2564 ปรับปรุงความตกลงทางการค้าที่มีอยู่แล้วกับเม็กซิโกและชิลีให้ทันสมัย และเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอกับอินเดีย และความตกลงด้านการลงทุนกับจีน

สำหรับการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 คณะมนตรีแห่งอียูด้านการต่างประเทศได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2562 ให้กระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าให้อียูลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Co-operation Agreement) ภายในปี 2564 ซึ่งเป็นความตกลงที่วางรากฐานความสัมพันธ์อียูกับไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ เมื่อทั้งสองฝ่ายมีความคาดหวังจากการเจรจาในระดับที่ใกล้เคียงกัน

โดยการเตรียมการของไทย กรมฯ ได้มอบสถาบันอนาคตไทยศึกษา ทำการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมถึงโอกาสและผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเผยแพร่ในเดือนส.ค.2563 และยังมีแผนจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเอฟทีเอที่อียูเจรจาและลงนามกับประเทศคู่ค้า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ครอบคลุมประเด็นใหม่ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การยกระดับมาตรฐานแรงงาน โดยให้เสรีภาพในการสมาคมและรวมตัว การเข้าเป็นภาคี UPOV 1991 และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นระดับความคาดหวังที่สูงและท้าทาย

ในปี 2562 อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-อียู มีมูลค่ากว่า 44,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการค้า 9.2% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 23,581 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และไก่แปรรูป เป็นต้น และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 20,918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องจักรไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

5ปัจจัยเสี่ยงหลอนส่งออก

บิ๊กสรท.ชี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบส่งออกไทย โควิดมาอันดับหนึ่ง บาทแข็งค่า-ขาดสภาพคล่องจี้ติด คงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีติดลบ 8% เผย 5 กลุ่มสินค้าอาการยังน่าห่วง

ผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากทำให้ผู้คนทั่วโลกติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากแล้ว ยังกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกหดตัว จากการเดินทางติดต่อธุรกิจยังสะดุด การขนส่งสินค้ายังมีอุปสรรค และกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกลดลง เวลานี้แม้สถานการณ์โควิดภาพรวมคลี่คลายลง แต่อีกหลายประเทศกลับมาระบาดรอบสอง คาดจะยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยต่อไป

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคการส่งออกไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

 1.สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของทุกประเทศถั่วโลกถดถอย ลดการนำเข้า ที่เห็นได้ชัดต่อการส่งออกของไทยที่ลดลงอย่างมาก เช่นในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ ที่เป็นกลุ่มสินค้ามีราคาสูง

2.ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯกระทบกับความสามารถในการแข่งขันส่งออก จากสินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นตามค่าเงิน 3.ปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 ลูกค้าต่างประเทศยกเลิกกำสั่งซื้อ หรือเลื่อนการชำระเงินค่าสินค้า ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินก็ยังถูกคุมเข้มตามเงื่อนไขปกติ ทำให้เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน

4.สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังอึมครึมในทิศทางที่จะทำสงครามกันต่อ ส่งผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อการส่งออกสินค้าไทย และ 5.สถานการณ์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ไม่นิ่ง กระทบความเชื่อมั่นการค้า การลงทุน

“เรื่องค่าเงินบาทอยากให้แบงก์ชาติดูแลให้อยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือไม่แข็งค่าไปมากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค เพราะไม่เช่นนั้นรายได้ส่งออกรูปเงินบาทจะหดหายไปมาก เรื่องสภาพคล่องขอให้สถาบันการเงินผ่อนปรนเงื่อนไขให้เข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น อย่างไรก็ดีสินค้าไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่องในเวลานี้อยู่ในกลุ่มอาหาร ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์จาก Work From Home และค้าออนไลน์มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ส่งออกได้ลดลงและยังน่าห่วงคือ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ทั้งปีนี้ สรท.ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยไว้ที่ติดลบ 8%”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ลงทุนอีอีซี 5 เดือนแรกหด 10%

เลขาธิการ “คณิต แสงสุพรรณ “ เผยผลกระทบโควิด ฉุดยอดลงทุนในพื้นที่อีอีซี 5 เดือนแรกปีนี้หด10% ล่าสุดเซ็นลงนามสัญญากับภาคเอกชนแล้ว3 โครงการ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นมีการรายงานความคืบหน้าการพัฒนา-การลงทุนในพื้นที่อีอีซี

ในส่วนของการลงทุน พบว่าผลกระทบจากการระบาดของโควิด19 ส่งผลให้ยอดการขอลงทุน 5 เดือนแรก ในพื้นที่อีอีซีลดลง 10% อยู่ที่ 3.2หมื่นล้านบาท จากเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ทั่วประเทศลดลง 27% แต่มองว่ายังลดไม่มาก โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เนเธอร์แลน และไต้หวัน ทั้งนี้ 5 โครงการพื้นฐานหลัก EEC มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 3 โครงการ ทั้ง 1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และ 3. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เดินหน้าต่อเนื่อง เหลือ อีก 2โครงการที่ยังไม่ได้เซ็น คือโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา หรือ MRO ซึ่งกรณี MRO ยอมรับว่าสถานการณ์การบินตอนนี้ยังไม่ดี เพราะได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด 19 ฉะนั้น อาจต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยจะเน้นการเจรากับเอกชนที่สนใจควบคู่ไปด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ไทยแจงคณะกรรมการสุขอนามัย WTO หลังสหรัฐ-บราซิลค้านแบนสารเคมีกระทบการค้า

ไทยเตรียมแจงปมร้อนแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 รายการ หลังสหรัฐฯ-บราซิล ร้องต่อคณะกรรมการด้านสุขอนามัย WTO กระทบการค้า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าสหรัฐและบราซิลต่างได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนขององค์การค้าการค้าโลก (WTO) ขอคัดค้านแนวทางของไทยที่ได้แจ้งกับ WTO ก่อนหน้านี้ว่าตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเตรียมห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีประเภทพาราควอต และควอไพริฟอส โดยอ้างว่า คำสั่งห้ามด้งกล่าวเกิดจากความพยายามที่จะจำกัดการนำเข้าไม่ได้เกิดจากความจำเป็น และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ใดๆ ที่แสดงถึงพิษภัยของการใช้สารดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมของการห้ามนำเข้าของไทยตามข้อตกลงองค์การการค้าโลกว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ซึ่งจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำกรุงเจนีวา ประเด็นนี้ไม่ใช่การยื่นฟ้องไทยในกระบวนการระงับข้อพิพาท WTO แต่เป็นการส่งคำถามล่วงหน้า เพื่อจะสอบถามไทยถึงการใช้มาตรการนี้ของไทย ในการประชุมคณะกรรมการด้านสุขอนามัย หรือ SPS Committee ที่จะจัดประชุมในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ หากประเทศสมาชิก WTO ใด ออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ SPS มาใหม่ จะต้องเวียนแจ้งใน WTO และเปิดให้สมาชิกใน WTO สามารถสอบถาม ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช เป็นหน่วยงานหลักของไทยซึ่งจะเตรียมข้อมูลตอบคำถามในเรื่องมาตรการ SPS ใน WTO”

สำหรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามประกาศเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 ภายใต้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้กำหนดให้ สาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่นายสุริยะเป็นประธาน ได้ลงมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 และกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

แนะแจ้งเพาะปลูกพืชปี 63 ผ่านแอปฯ Farmbook

กระทรวงเกษตรฯ เปิดให้แจ้งการเพาะปลูกพืชปี 2563 ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ย้ำเป็นการแจ้งขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรช่วงโควิด-19 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งแก่เกษตรกรทั่วประเทศให้ขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรประจำปี 2563 หลังเพาะปลูกแล้ว 15 วัน โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากเกษตรกรไม่ต้องการเดินทางมายังสำนักงานเกษตรอำเภอสามารถแจ้งการเพาะปลูกในสมุดทะเบียนเกษตรกรดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ซึ่งดาวน์โหลดได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และ iOS เข้าใช้งานด้วยเลขทะเบียนเกษตรกร 12 หลักที่อยู่หน้าแรกของสมุดทะเบียนเกษตรกร (เล่มเขียว) 

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Farmbook พัฒนาขึ้น เพื่อบริการเกษตรกรในการติดตามและตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ติดตามสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งการขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดพิบัติภัย ทำให้พืชผลเสียหาย สำหรับการแจ้งการเพาะปลูกประจำปีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการรับสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรจากผลกระทบจากของโควิด-19 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ โดยจ่ายเงินเยียวยาให้แล้ว 2 งวด ส่วนงวดที่ 3 ของเดือนกรกฎาคมคาดว่าจะจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยจะจ่ายครบภายในสิ้นเดือน

นายอาชว์ชัยชาญ  เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีเกษตรกรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Farmbook กว่า 2.5 ล้านเครื่อง จากเกษตรกรทั้งหมด 7.5 ล้านครัวเรือน ในช่วงเดือนพฤษภาคมปิดเมนูการแจ้งปลูกผ่านแอปพลิเคชันชั่วคราว เนื่องจากมีการปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์การช่วยเหลือจากการระบาดของโควิด-19 พร้อมกันจำนวนมากทั้งผ่านแอปพลิเคชันและที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ส่งผลให้การปรับปรุงข้อมูลของเจ้าหน้าที่และการใช้งานแอปพลิชันเกิดความล่าช้าและอาจเกิดความผิดพลาดของข้อมูลในการแจ้งปลูกได้ จึงได้ปิดเมนูการแจ้งปลูกผ่านแอปพลิเคชั่น Farmbook เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว

จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จึงขอให้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานและไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่เลื่อนการเพาะปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน และเริ่มปลูกข้าวกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งปริมาณฝนจะตกใกล้เคียงค่าปกติ อีกทั้งควรปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเป็นการปลูกข้าวแบบหว่านแห้ง (หว่านสำรวย) ซึ่งเป็นการหว่านในสภาพดินแห้งเหมาะสมกับพื้นที่นอกเขตชลประทาน เมื่อหว่านเมล็ดข้าวลงแปลงแล้วรอฝนตกลงมาเมล็ดข้าวจะงอก จากนั้นดูแลรักษาต่อไปจนเก็บเกี่ยว สำหรับพืชอื่น ๆ ให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืชและลดการคายน้ำของพืช เช่น การรดน้ำให้กับพืชในช่วงเช้าและเย็นเพื่อลดการระเหยของน้ำ ใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นคลุมแปลงหรือหน้าดิน ได้แก่ ฟางข้าว ใบไม้ หรือหญ้าแห้งเพื่อรักษาความชื้นในดิน

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรควรเลือกใช้ระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับชนิดพืช เช่น ไม้ผลให้ใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์  ซึ่งเป็นระบบให้น้ำแบบฉีดฝอยขนาดเล็กเป็นการให้น้ำแก่พืชเป็นวงบริเวณรากพืช โดยมีการควบคุมปริมาณน้ำตามความต้องการของพืช น้ำจะถูกพ่นออกจากหัวฉีดฝอย การให้น้ำแบบนี้จึงไม่มีการสูญเสียน้ำระหว่างการส่งน้ำ การสูญเสียน้ำที่ไหลเลยเขตรากพืช หรือไหลนองไปตามผิวดินก็มีน้อย นอกจากนั้นยังสามารถใส่ปุ๋ย หรือสารเคมีลงไปในน้ำระหว่างการให้น้ำพร้อมกันได้ สำหรับ พืชไร่และพืชผัก แนะนำให้ใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งเป็นการให้น้ำแก่พืชผ่านระบบท่อและปล่อยน้ำออกทางหัวน้ำหยดที่ติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นพืช น้ำจะหยดซึมลงมาบริเวณรากช้าๆ เพื่อรักษาความชื้นของดินบริเวณรากพืชให้อยู่ในระดับที่รากพืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่าย ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี

จาก https://www.mcot.net   วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กรมชลฯ สั่งลุยพัฒนาการดำเนินงานภายใต้เเนวคิด “RID No.1 Express 2020” สร้างความมั่นคงด้านน้ำ

กรมชลประทาน ยึดหลักการดำเนินงานตามแนวคิด RID NO.1 หลังประสบผลสำเร็จมาแล้ว 2 ปี เดินหน้าต่อยอดผลงานปี 63 ด้วย RID No.1 Express 2020 เร่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแนวทาง RID No.1 (ปี พ.ศ. 2561-2563) ประกอบด้วย 7 แนวทาง ดังนี้ 1.เร่งรัดการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งดำเนินการทั้งหมด 3,423 โครงการ ดำเนินการเเล้วเสร็จ 3,175 โครงการ และอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 55 โครงการ 2.ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานเเละงบประมาณทั้งระบบ โดยจัดทำแผนเเม่บทพัฒนาลุ่มน้ำระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด เเละภาค ปรับปรุงการจัดทำแผนงานระยะปานกลาง (MTEF) จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กรมชลประทาน เเละริเริ่มเเนวทาง PPP (Public Private Partnership) เป็นการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการทำงานชลประทาน 3.เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำเเละเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยเร่งดำเนินการโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ให้เป็นไปตามแผน รวมถึงการพัฒนาระบบการเเพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม เเละจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์เเละเตือนภัยได้อย่างเเม่นยำ ปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานปัจจุบัน สร้างทางเลือกในการดำเนินการส่งน้ำเเละบำรุงรักษาในงานชลประทาน ตรวจสอบวิเคราะห์ความมั่นคงของเขื่อน ให้มีความมั่นคงเเข็งเเรง วางแผนเตรียมการรับมืออุทกภัยเเละภัยเเล้ง เเละการบูรณาการความร่วมมือกับ SC ในดับพื้นที่ การพัฒนาสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ อีกทั้งตรวจสอบการใช้พื้นที่ราชพัสดุเเละแก้ปัญหาการบุกรุกของราษฎร รวมไปถึงการใช้พื้นที่เขตคลองเป็นพื้นที่แก้มลิงเเละขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน 5.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากน้ำ เร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทาน ตลอดจนการทบทวนการดำเนินงาน 1 โครงการ 1 ล้านบาท 6.นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน ทั้งการพัฒนาเเหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ เเละการพัฒนาระบบงานให้เข้าสู่ Digital Platform และ 7.ดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำเเหน่งของบุคลากรให้สูงขึ้น

ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวถึง การดำเนินงานตามแนวทาง RID No.1 ที่ได้เกิดการพัฒนา ต่อยอด ขยายผล มาเป็น “RID No.1 Express 2020” ภายใต้กรอบเวลาของปีงบประมาณ 2563 บนเเนวคิด “ทำงานสุดกำลัง ตั้งมั่น สุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง” อันประกอบด้วย 6 กิจกรรม ดังนี้ 1. เร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สนับสนุนงบประมาณในการศึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง จำนวน 216 โครงการ โดยเร่งรัดให้เเล้วเสร็จภายในปี 2563 2. การร่วมทุนภาครัฐเเละเอกชนในการทำงานชลประทาน โดยพัฒนา ต่อยอด โครงการประชารัฐร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships : PPPs) การปรับปรุง พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ศ.2485 ให้แล้วเสร็จ และต่อยอดระบบส่งน้ำและกระจายน้ำระดับแปลง การขุดลอกเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำทั้งประตูระบายน้ำ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ 3. พัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุม โดยมุ่งการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ในปี 2563 มีการกำหนดเป้าหมายเเละปรับปรุงพื้นที่จัดระบบชลประทานในไร่นา จำนวน 86,300 ไร่ 4.โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปรับปรุงเเหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง พัฒนาเเหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง สูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง การป้องกันน้ำท่วม 4 แห่ง 5.เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทาน โดยมีเป้าหมาย ให้คณะกรรมการจัดการชลประทาน 26 คณะ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 581,435 ไร่ อาสาสมัครชลประทาน 844 คน จัดตั้งเเล้วเสร็จ (รวม 4,212) ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,110,000 ไร่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ 1017 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 810,857 ไร่ เเละกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 121 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 1,492,330 ไร่ 6. เร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำเเหน่งบุคลากรให้สูงขึ้น

กรมชลประทาน ได้มุ่งมั่นดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจให้สอดคล้องและมุ่งผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ภายใต้แนวทาง RID No.1 และการพัฒนาต่อยอด กับเเนวทาง RID No.1 Express 2020 โดยมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงาน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาระบบงานให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชน และเกษตรกร ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องนี้มีคำถาม : ชาวบ้านเดือดร้อนเหม็นกลิ่นกากน้ำตาล จ.ขอนแก่น

ชาวบ้านเม็ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ร้องเรียนเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นของกากน้ำตาล เกรงจะกระทบต่อสุขภาพระยะยาว วอนเหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ปัญหา

ชาวบ้านเม็ง ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ร้องเรียนสำนักข่าวไทย อสมท ว่าทนทุกข์ทรมานจากกลิ่นเหม็นของน้ำโมลาส หรือกากน้ำตาล เกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า สาเหตุของกลิ่นมาจากไร่อ้อยห่างจากหมู่บ้านราว 1-2 กิโลเมตร ขุดบ่อเก็บกักกากน้ำตาลไว้รดอ้อย โดยไม่มีการปรึกษา ขอความเห็นชอบจากชาวบ้าน โดยเฉพาะช่วงแดดจัดและฝนตกจะเหม็นรุนแรง ชาวบ้านหลายครอบครัวที่เคยพาลูกหลานมาเล่นทุ่งนาทั้งวัน ไม่สามารถทำได้เหมือนเคย ผู้ใหญ่ทำงานในไร่นาเสร็จแล้วก็ต้องรีบกลับเข้าหมู่บ้าน หากปล่อยไว้ระยะเวลานานเชื่อว่าไม่ดีต่อสุขภาพ จึงกำลังอยู่ระหว่างปรึกษาผู้ที่มีความรู้ช่วยร่างหนังสือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าไปช่วยแก้ปัญหา หรือหาวิธีบำบัดกลิ่นให้เจือจางลง.

จาก https://www.mcot.net วันที่ 22 มิถุนายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกรอบวันนี้ 30.93-31.13บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาดเช้าวันนี้(22มิถุนายน 2563)ที่ระดับ 31.03 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 30.93-31.13 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.03 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 30.93-31.13 บาทต่อดอลลาร์ และ กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.80-31.30 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท สัปดาห์นี้จะพบกับแรงบีบให้แกว่งตัวในกรอบแคบ ทั้งจากทิศทางของเศรษฐกิจที่อาจส่งผลให้ตลาดการเงินพักฐาน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่คั่นอยู่ระหว่างสัปดาห์ แต่หลังจากนี้ เรามองว่าประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก

แม้ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวตามมุมมองการเปิดหรือปิดรับความเสี่ยงของตลาดทุน แต่ด้วยภาพการเมืองและแนวโน้มการระบาดของไวรัสที่ยังอยู่ในระดับสูงก็เชื่อว่าในระยะกลางนักลงทุนสหรัฐจะเลือกระจายการลงทุนมาในยุโรปหรือเอเชียมากขึ้น ภาวะดังกล่าวจะหนุนให้เงินบาทมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่ในสัปดาห์นี้ประเด็นที่น่าสนใจกลับมาอยู่ฝั่งไทย

โดยในวันพุธ จะมีการรายงานตัวเลขนำเข้าส่งออก ที่คาดว่าจะกลับลงไปหดตัว -5.0% และ -18% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเกินดุลการค้าต่อเนื่องอีก 2.4 พันล้านดอลลาร์ ด้านนโยบายเศรษฐกิจ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ "คง" อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ และเชื่อว่าจะไม่มีการลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้ เว้นเสียแต่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศจะไม่ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

ส่วนในฝั่งสหรัฐ สัปดาห์นี้จะมีการรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (durable goods orders) ประจำเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอากาศยานขณะที่ผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial jobless claims) ก็จะทยอยปรับตัวลดลงใกล้เคียงระดับ 1ล้านตำแหน่งในสัปดาห์นี้ ถือว่าเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องขณะเดียวกันในวันศุกร์ จะมีการรายงานตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกน (University of Michigan consumer sentiment) คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยจากระดับ 78.9จุด มาที่ระดับ 79.2จุด หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดทำการได้บ้าง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 มิถุนายน 2563

"น้ำเสีย"แหล่งน้ำต้นทุนใหม่อีอีซี

​ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นอีกกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการใช้ลงอย่างน้อย 15% ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะทำให้เมืองเติบโตทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งภาคเกษตรกรรม หนีไม่พ้นปัญหาน้ำเสียจากทุกภาคส่วนที่จะตามมา

รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” กล่าว่า EEC เป็นพื้นที่กำลังพัฒนา หนีไม่พ้นปัญหาน้ำที่มีปริมาณไม่เพียงพอ เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่า ความต้องการน้ำในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทุกวันนี้ความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวรวมทั้งการอุปโภคบริโภคของ 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC มีประมาณมากกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการน้ำในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นและมีมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงมีโอกาสเกิดความขาดแคลนแน่นอนหากไม่มีการหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

โจทย์อันหนึ่งของงานวิจัยนี้ คือ การหาแหล่งน้ำทดแทนน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากการศึกษาและสำรวจข้อมูล พบว่า อีอีซีมี "น้ำทิ้ง”หรือน้ำเสีย ที่มีศักยภาพสามารถนำมาบำบัดเอากลับมาใช้ใหม่ได้ จาก 2 แหล่งใหญ่ คือ น้ำเสียจากการอุปโภคบริโภคทั้งในภาคชุมชนและภาคบริการ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม ที่จะช่วยลดการใช้น้ำประปาลงได้ โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2580 จะมีน้ำเสียจากภาคชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 859,280 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (313.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) แบ่งเป็น ชลบุรี 456,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน , ฉะเชิงเทรา 164,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระยอง 238,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากสามารถรวบรวมมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ในพื้นที่ EEC ได้ในปริมาณที่มากพอสมควร และยังมีราคาถูกกว่าการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ​ตัวอย่างเช่น จังหวัดชลบุรีมีน้ำเสียจากชุมชนที่เข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสถานประกอบการโรงแรม ที่พักอาศัย อาคารสำนักงานค่อนข้างมาก ข้อดี คือ น้ำเสียของภาคอุปโภคบริโภค ชุมชน และภาคบริการ มีการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดในปริมาณมาก เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข ตัวเลขของน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางมีมากถึง 80% ซึ่งถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพิ่มเติมให้กลายเป็นน้ำรีไซเคิลตามมาตรฐานสากล ก็จะสามารถส่งเสริมให้นำน้ำกลับมาใช้ทดแทนน้ำประปาบางส่วนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การประหยัดน้ำที่ต้นทางของกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรมและสถานบริการที่พัก ห้างสรรพสินค้าโดยการติดตั้งชุดสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลดการใช้น้ำต้นทางได้อีกประมาณ 5-15% และจะได้มากกว่านี้ถ้ามีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำอย่างจริงจังในพื้นที่ EEC​เช่นเดียวกับจังหวัดระยอง ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสูงกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีฉะนั้นหากมีการบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ตัวเลขน้ำรีไซเคิลจะสูงมาก ปัจจุบันนี้มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งที่ใช้น้ำปริมาณมากเริ่มให้ความสนใจถึงแนวทางการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน จากการสำรวจและให้คำปรึกษาในภาคสนามพบว่ามีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีศักยภาพในการดำเนินการรีไซเคิลน้ำ สามารถรีไซเคิลน้ำเสียได้มากกว่า 15% ของน้ำใช้ และค่าน้ำรีไซเคิลก็มีราคาถูกกว่า โดยบางโรงงานที่ใช้น้ำปริมาณมากได้แก่โรงงานประเภทอาหารและเครื่องดื่มเมื่อลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่พบว่าสามารถประหยัดน้ำได้มากกว่า 15%  และน้ำรีไซเคิลช่วยให้ประหยัดค่าน้ำประปาได้ถึง 7 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ภาคชุมชน จากการสำรวจน้ำทิ้งจากเทศบาลนครระยอง เทศบาลมาบตาพุดพบว่ามีคุณภาพค่อนข้างดี สามารถปรับสภาพน้ำเพิ่มเติมก็จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่รอบๆ ได้ เป็นต้น​นั่นหมายความว่านอกจากจะลดปริมาณน้ำทิ้ง เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและสถานประกอบการอีกด้วย!

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2563

ฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน โปร่งใส แต่เข้าถึงและตรวจสอบยาก

ข้อมูลการขอใช้วงเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทจากเว็บไซต์สำนักงานสภาพัฒน์การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ล่าสุด ณ 12 มิถุนายน 2563 พบว่า มีโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามารวม 34,263 โครงการ วงเงินรวม 841,269 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แผนงานที่ 3.1 รวม 164 โครงการ มูลค่า 284,302 ล้านบาท แผนงานที่ 3.2 รวม 33,798 โครงการ มูลค่า 465,023 ล้านบาท และแผนงานที่ 3.4 รวม 301 โครงการ มูลค่า 91,942 ล้านบาท

สภาพัฒน์ปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้สนใจทั่วไปในแต่ละจังหวัดต่อโครงการตามแผนงาน 3.2 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน การเกษตร/การพัฒนาแหล่งนาเพื่อชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชนไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ก่อนจะข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นส่งให้คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ กลั่นกรองพิจารณา

ปรากฎว่า มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นน้อยมากหรือแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีเลยก็ว่าได้ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยระยะเวลาสั้นและช่วง 8-15 มิถุนายนเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งคือยากต่อการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลอย่างนายชารินทร์ พลภาณุมาศ สมาชิก Data Sceince BKK ยังได้เขียนใน BLOG ส่วนตัวว่า กว่าจะได้วิเคราะห์ “ข้อมูลเปิด”ของรัฐไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะแม้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลโครงการและงบประมาณที่ถูกนำเสนอ แต่คำว่า “เปิด” ก็คือดาวน์โหลดเป็น csvไม่ได้อยู่ แต่ให้นั่งเปิดเว็บไซต์ AJAX ล้ำๆดูทีละหน้าเป็นจำนวน 2,248 หน้า รวมทั้งสิ้น 33,716 โครงการเอาเอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ดังนั้นจึงถือว่า วิเคราะห์ข้อมูลง่ายนิดเดียว เพราะที่เหลือยากหมด“แม้ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี แต่ข้อมูลทั้งหมด 33,716 แถว (พูดให้ถูกคือ 33,719 แถว แต่สามแถวสุดท้ายดูไม่ใช่โครงการจริง) ถูกจัดเตรียมโดยใช้หลักการ machineunreadable อย่างแท้จริง กล่าวคือ วิเคราะห์อะไรด้วยคอมพิวเตอร์ไม่ได้เลย เพราะปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการไม่คำนึงถึงประเภทของข้อมูลที่ต้องการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อเก็บ ไม่ใช่เก็บเพื่อไปใช้ประโยชน์”อย่างไรก็ตาม จากการจัดการข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 มีโครงการถูกนำเสนอมา 33,716 โครงการจาก 38 กระทรวง นับเป็นงบประมาณทั้งหมดประมาณ 8.29 แสนล้านบาท โดยที่กว่า 30,000 โครงการมาจากกระทรวงมหาดไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า งบประมาณ 90% จะถูกแบ่งไปให้กระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่ามี 3 กระทรวงที่ได้งบมากกว่ากระทรวงอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญนั่นคือมหาดไทย สัดส่วน 28% สำนักนายกรัฐมนตรี 24% และเกษตรและสหกรณ์ 20%เหตุที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้งบประมาณถึง 1.96 แสนล้านบาทนั้นเนื่องจากมี 1 แสนล้านบาทสำหรับ “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้” อันเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดจากทุกโครงการนั่นเองโครงการส่วนใหญ่ มีงบประมาณอยู่ในช่วง 6-7 หลัก โดยมี “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs” เป็นเพียงโครงการเดียวที่แตะหลัก 1 แสนล้าน ส่วนโครงการ 4 หลักโครงการเดียวที่ถูกเสนอมาคือ “โครงการขุดสระเก็บน้ำบ้านหมอแปง หมู่ที่ 4 ขุดดินด้วยเครื่องจักร กว้าง 6.00 ม. ยาว 6.00 ม. ลึกเฉลี่ย 2.00 ม. หรือปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 136 ลบ.ม.” ด้วยงบประมาณ 8,700 บาทหากเจาะลึกลงไปถึงการ กระจายตัวของงบประมาณในระดับกระทรวงจะเห็นได้ว่างบประมาณต่อโครงการของกระทรวงการคลังและสำนักนายกฯสูงกว่ากระทรวงอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีสเกลใหญ่กว่า ต่างจากกระทรวงมหาดไทยที่เน้นโครงการขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น หากนำชื่อโครงการทั้งหมดกว่า 3 หมื่นโครงการมาวิเคราะห์ดูพบว่า ที่เกี่ยวกับ “การก่อสร้าง” และ “ถนน” เป็นโครงการมากที่สุดของกระทรวงมหาดไทยและเกือบครึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมด แต่งบประมาณที่จัดสรรไปเป็นเพียงเกือบ 10% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้นดังนั้นอาจสรุปได้ว่าโครงการ “การก่อสร้าง” และ “ถนน” น่าจะได้รับงบประมาณอย่างล้นหลาม

แต่สิ่งที่ต้องตามดูหลังจากนี้ หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบโครงการและ  สามารถเบิกใช้เงินกู้ได้แล้ว งบประมาณที่ลงไปจะเป็น เบี้ยหัวแตกที่ใช่เงินแล้ว หายไม่ได้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2563

"CPTPP” เข้าร่วมข้อดีเพียบ เกษตรไทยไม่เสียเปรียบ

สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ฯ จัดเสวนาถกปมร้อน  “CPTPP” เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ? ดึง “พาณิชย์-เกษตร” นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว-กล้วยไม้ แจงข้อดีเพียบ ยันเกษตรไม่กระทบ แฉ “ไรซ์เบอร์รี่ ” เพื่อนบ้านนำไปปลูกขายแข่งแล้ว

CPTPP คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่รัฐบาลไทย ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับ (CPTPP) โดยมีนายวีระกร  คำประกอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาการเข้าร่วม CPTPP และมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 3 คณะ ได้แก่ 1.ศึกษาด้านเมล็ดพันธุ์ และการเกษตร  2.ศึกษาด้านสาธารณสุข และยา และ 3.ศึกษาด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุน อย่างที่ทราบกันไปแล้วนั้นล่าสุดทางสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ได้จัดงานเสวนา CPTPP : เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ โดยเชิญในส่วนข้าราชการ เอกชน และนักปรับปรุงพันธุ์ ต่างๆ  ไทยจะเสียเปรียบ เกษตรกรจะติดคุก ทำให้ประเทศสู่ความหายนะ เกิดการผูกขาดแมล็ดพันธุ์ และตัดสิทธิเกษตรกรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ  หากเป็นอย่างนี้ทำไมรัฐบาลจึงคิดที่จะเข้าร่วม มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

 ++CPTPP ช่วยเพิ่มโอกาสการค้า-การลงทุนมหาศาลนายพรชัย ประภาวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนอเมริกาเหนือ สำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership  ความจริงย้อนไป จาก  “ TPP “ (Trans-Pacific Partnership) แต่กว่าจะมาเป็น TPP เริ่มต้นการเจรจานานมาก ในปี 2549 ย้อนหลังไป 10 ปี ในขณะนั้นยังมีสหรัฐอเมริกา อยู่ หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไป แต่ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ปัจจุบัน สมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม และมีผลใช้บังคับปี 2561 ในช่วงปลายปีผ่านมาไทยเป็นประเทศที่ทำมาค้าขายคนที่ได้ประโยชน์ข้อตกลงที่ได้ประโยชน์ก็มี ที่ได้ผลกระทบก็มี แต่ที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้ากว่า90% มีการพูดถิ่นกำเนิดสินค้า หมายถความว่า การเปิดตลาดอย่างเดียวไม่พอ จะดูสินค้าผลิตจากในกลุ่ม CPTPP ด้วย ไม่ใช่เอาสินค้านอกกกลุ่มเข้ามาแล้วเอาไปขาย อยากจะค้าขายกับกลุ่มนี้ซึ่งมีประมาณ 29% เอื้อหากสินค้าที่ผลิตในกลุ่ม CPTPP มากเท่าไรจะได้ประโยชน์จากการขายในกลุ่ม CPTPP แต่จะมีผลกระทบหากนำเข้าสินค้านอกกลุ่มมาใช้เพื่อจะส่งออกอาจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งอออก ขณะเดียวกันสินค้าที่เคลื่อนจากประเทศหนึ่ไปสู่ประเทศหนึ่งมีกฎระเบียบ เรียกหากซื้อขายในกลุ่มจะเป็นการยกระดับการอำนวยความสะดวก ยุคนี้เป็นยุคที่เอสเอ็มอีซื้อขายอยากจะหาตลาดไปทั่วโลก

ยิ่งพิธีการศุลกากรอำนวยความสะดวก ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่กลุ่มผู้ประกอบการใหญ่ๆรู้กฎระเบียบดีจะส่งออกไปได้ แต่พอกฎดีขึ้นจะช่วยทำให้เอ็สเอ็มมีช่องทางได้ส่งออกมากขึ้น รวมทั้งการค้าช่องทางออนไลน์สะดวกมากขึ้น แต่แน่นอนในการทำเอฟทีเอ ครั้งใด มักจะเจอความท้าทาย CPTPP เป็นการตกลงการค้าสมัยใหม่ ในระดับสูง ส่งเสริมให้ไทยยังอยู่ในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และห่วงโซ่การผลิตของโลก ซึ่งแน่นอนการทำจะมีสินค้าได้ประโยชน์และสินค้าที่มีผลกระทบ ++การเจรจา "ไทย" อยู่ ณ ตรงไหนตอนนี้ไทยอยู่ช่วงก่อนเจรจา ยังไม่ได้เจรจาเลย เพิ่งผ่านรับฟังความคิดเห็นช่วงปี2561-2562 ทั้งสนับสนุนและความกังวล ผลการศึกษา รวมรวม ระดับนโยบาย ยังไม่ได้เสนอ ครม.  เลยขั้นที่ 3 มานิดเดียว จาก 12 ขั้น ซึ่งใน "เดือนสิงหาคม" เป็นการประชุมปกติของสมาชิก ทุกปีปีละครั้งระดับรัฐมนตรี การปฏิบัติตามความตกลง วาระหนึ่ง อาจจะมีวาระการรับสมัครสมาชิกใหม่ มีประเทศใดมายื่นแสดงความจำนงจะขอเข้าร่วม เป็นวาระหนึ่งที่จะพิจารณา ซึ่งเป็นการเจรจาการขอที่จะไปเข้าร่วม สมมติมีประเทศหนึ่งยื่นไปก่อนเดือน ส.ค. จะยอมรับหรือปฏิเสธ ก็จะจัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อที่จะมาเจรจากับประเทศนั้น ซึ่งตอนนั้นก็จะเข้าสู่การเจรจา รายละเอียดว่า ในส่วนที่เป็นพันธกรณีที่ตกลงกันแล้วว่าก็คงต้องยอมรับว่าส่วนไหนที่สามารถเจรจาขอความยืดหยุ่น เวลาปรับตัวได้ก็จะต้องมาพูดคุยกันในส่วนรายละเอียดอีก จะใช้เวลาอีกนาน

ด้านนางสาวธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงทรัพย์สินค้าปัญญา จะนึกถึงสิทธิบัตร  ความลับทางการค้า ลิขสิทธิ์  สิ่งประดิษฐ์นักปรับปรุงพันธุ์ สร้างผลงานชิ้นหนึ่งออกมา โดยการลงทุนลงแรง ด้วยความรู้และความสามารถ และเวลา สิ่งที่สร้างมาก็คือ พันธุ์พืชใหม่  และจะแนะ UPOV 1991 อนุสัญญา เป็นชื่อย่อมาจากภาษาฝรั่งเศษ เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ มีหลักการว่า จะให้และส่งเสริม ระบบที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เพื่อผลักดันการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ๆ และกระตุ้นให้มีพืชพันธุ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดให้สังคมได้ใช้ประโยชน์ สุดท้ายก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม นี่คือ UPOV 1991 ไม่ใช่มีฉบับเดียว เริ่มมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2 9ตั้งแต่ปี 1961  แล้วก็มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งฉบับสุดท้ายก็คือ ฉบับ1991  ปัจจุบันที่ใช้อยู่ทั่วโลก มี 2 ฉบับ ก็คือ ฉบับ 1978 และ 1991 แต่ถ้าประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิก UPOV  จะต้องเข้าฉบับ 1991 เท่านั้น มี 74 ประเทศทั่วโลก“พันธุ์พืชอะไรบ้างที่จะจดพันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครอง ได้แก่ 1 ต้องพัฒนาขึ้นมาใหม่ จะต้องยังไม่ขายส่วนขยายพันธุ์ (เชิงการค้า) ในระยะเวลาที่เกินกว่า 1 ปี ในประเทศ เพราะว่าหากขายเกินกว่า 1 ปีในประเทศถือว่าไม่ใหม่แล้ว แต่ถ้าเป็นการค้าในต่างประเทศจะอยู่ 4 ปีหรือ 6 ปี และมีการตั้งชื่ออย่างเหมาะสม ตัวพันธุ์นั้นจะต้องมีความแตกต่างอยู่กับพันธุ์ทั่วไปมีความคงตัวและสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าพันธุ์พืชที่ออกสู่ตลาดเป็นพันธุ์พืชที่มีคุณภาพจริงๆ แต่พันธุ์การค้าในตลาด พันธุ์ของรัฐ พันธุ์นำเข้า พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ท้องถิ่น และพืชป่า ไม่เกี่ยว มีแต่พันธุ์ใหม่ที่จดทะเบียนคุ้มครอง ดังนั้นในสัญญาจะต้องเป็นพันธุ์ใหม่ถึงจะคุ้มครอง"

สิ่งที่นักปรับปรุงพันธุ์ได้รับจากการคุ้มครองพันธุ์ใหม่ ก็คือ การค้าในส่วนขยายพันธุ์ทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครอง จะต้องมีข้อยกเว้นสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ ก็คือ ภาคบังคับก็คือประเทศสมาชิกจะต้องให้มีข้อนี้ หากนำไปใช้โดยส่วนตัว และไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ให้การยกเว้น 2.เพื่อการศึกษาทดลองวิจัย และ 3.เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ หากใช้พันธุ์พืชที่จดทะเบียนการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ทุกพืช สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์ส่วนข้อกำหนดทางเลือกในอนุสัญญาระหว่างประเทศ แล้วแต่ละประเทศสมาชิกจะไปพิจารณากันเอาเองจะให้หรือไม่ให้ หรือจะให้แค่ไหน เช่น การให้สิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกร ในการเก็บส่วนขยายพันธุ์ไว้ปลูกต่อเองได้ หลังจากซื้อมา 1 กระป๋องมาปลูกแล้วขายผลผลิตแต่ อยากจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อเอง แล้วขายผลผลิตทำได้หรือไม่ ก็คือ ให้แต่ละประเทศมากำหนดกันเอง โดยจะต้องให้มีความสมดุลกับนักปรับปรุงพันธุ์จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะนี่เป็นการกระตุ้นให้นักปรับปรุงพันธุ์มีแรงจูงใจมีความคุ้มทนในการลงทุนไม่ใช่ไปลิดรอนสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ สิทธิที่เค้ามีสิทธิผู้เดียวในการขยายพันธุ์ของเค้าได้ รัฐไปใช้อำนาจของรัฐไปลิดรอนสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ลงว่าจะต้องอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้ จะต้องเป็นเรื่องที่มาคุยกัน ยกตัวอย่างประเทศ เวียดนามเป็นสมาชิกมากว่า 10 ปีแล้ว เกษตรกรจะทราบได้อย่างไร ว่าพันธุ์ไหนจดทะเบียนคุ้มครองลิขสิทธิ์จะมีการทำสัญลักษณ์ตรงฉลาก ห้ามขายพันธุ์แข่ง แต่ถ้าอยากจะขายพันธุ์ก็ให้ไปติดต่อก่อนส่วนในเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้หรือไม่ ต้องรอประกาศจากทางราชการ“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยมีกฎหมายที่คุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์พืชอยู่อยู่แล้ว นั่นคือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เพียงแต่ว่าการให้ความคุ้มครองต่ำกว่าอนุสัญญายูพอฟ 1991 จะพูดถึงพันธุ์อีดีวีและพันธุ์ลูกผสมด้วย แต่ส่วนของไทยพูดในเรื่องพันธุ์ขยาย นี่เป็นรายละเอียด”ด้านดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร กรรมการผู้จัดการบริษัท ที เอส เอ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ต้องเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธุ์ แล้วถือว่าเป็นหัวใจของธุรกิจ ในส่วนของกาในการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์กับการปรับปรุงพันุ์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร มีความจำเป็นและสำคัญอย่างไร โดยปกติแล้วการปรับปรุงพันธุ์ ความจริงเป็นแค่วิวัฒนาการตัวหนึ่ง ของสิ่งมีชีวิต ก็คือสิ่งมีชีวิตจะเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามระยะเวลาที่ผ่านไป การเปลี่ยนแปลงเกิดจากการปรับตัวเข้าสู่สภาวะแวดล้อม เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงถ้าเป็นไปตามธรรมชาติจะช้ามาก ใช้เวลา 500-1,000  หรือ 1 หมื่นปี“ธุรกิจเมล็ดพันธุ์จะเริ่มจากพันธุ์พื้นเมือง ปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการหรือตั้งเป้าหมายไว้ เช่น มีกุหลาบสีแดง วันพรุ่งนี้อยากมีกุหลาบสีขาว จะมีการพัฒนาพันธุ์กุหลาบสีขาวให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะคนเบื่อสีแดงแล้วอยากได้สีขาว นี่เป็นการสนองความต้องการของสังคม เมื่อได้พันธุ์นั้นมา ต่อมาการขยายจำนวน พันธุ์ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการค้า แล้วก็ไปสู่การตลาด จะถูกใจผู้บริโภคคนสุดท้ายหรือไม่ถ้าไม่ยอมกิน ทำอะไรก็ขายไม่ได้ นี่คือปัญหา แล้ว ขั้นตอนยาวมาก”++ความเสี่ยงนักปรับปรุงพันธุ์สำหรับการปรับปรุงพันธุ์จะเป็นแหล่งที่มาสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่จะทำให้เรามีโอกาสแข่งขันในตลาด  พันธุ์ใหม่เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ไม่เคยมีใครใช้มาก่อนต้องทำการตลาดสอนวิธีใช้ เพราะฉะนั้นในการขายเมล็ดพันธุ์จะต้องทำการตลาดการสร้างพันธุ์ใหม่ใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน  เป็นการสร้างพันธุ์ใหม่ ปล่อยให้ธรรมชาติ ปลูกและคัดเลือกตันที่ดีทีสุด จนพันธุ์ที่คัดไว้มีความสม่ำเสมอสูงก็คือ  เริ่มต้น ใช้ระยะเวลา 4-8 ปี พอได้พันธุ์มาแล้วคิดว่าสม่ำเสมอ ต้องทดสอบถึง 2-4 ปี จนกว่าขะไปเป็นสีเหลือง ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาตัวนี้ที่จะเอาไปขาย ก็นำไปออกตลาด แล้วจะขายได้หรือไม่ เราเลือกได้แม่นแค่ไหน เพราะถ้าเราเลือกผิด ทุกอย่างต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ปัจจุบันมีการขาดแคลนนักปรับปรุงพันธุ์ นักศึกษาส่วนมากหันไปให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่า เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเพียงศาสตร์ที่เข้ามาช่วยเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืช ตามโดยทั่วไปเท่านั้น ไม่สามาถใช้เป็นหลักในการสร้างพันธุ์ใหม่ๆในเชิงการค้าได้โดยปราศจากโครงการปรับปรุงพันธุ์พืชตามปกติ ในอดีตที่ผ่านมาความคิดนี้ ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ที่มีประสบการณ์ลดลงจนถึงขั้นวิกฤติและยากจะฟื้นฟูให้กับมาเหมือนเดิม ภาคเอกชนจึงต้องพัฒนาและสร้างนักปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใช้เองเท่าที่จะมีกำลังความสามารถทำได้ ในนามสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ฯ มีจุดยืนเห็นว่า ระบบคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นเรื่องที่ดีจะช่วยคุ้มครองสิทธิการลงทุนของนักปรับปรุงพันธุ์และคุ้มครองเกษตรกรให้ได้ใช้พันธุ์ดีที่คุ้มค่าด้านนายนิพนธ์ ชัยวงศ์รุ่งเรือง เกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้ “พันธุ์เฉลิมกรุง” เพื่อการส่งออก  ย้อนไป 10 กว่าปีที่แล้ว ใช้เวลานานในการปรับปรุงพันธุ์ ผสมกับเพาะเมล็ดใช้เวลา 3 ปี ไปปลูกทดลองโตเต็มวัยต้นสูง ต้นเตี้ย อีก 3 ปี ปีที่ 6 ถึงจะมีโอกาสทำส่งออก ถ้าตลาดไม่รับ คือ ทิ้ง เพราะขายไม่ได้ แต่มีปัญหาตอนที่สินค้าไปติดตลาดแล้ว กล้วยไม้ปลูกอยู่ในสวน 5-10 ไร่ เวลาขยายพันธุ์กล้วยไม้เอาไปปั่นตาเพียงกระถางเดียว ตอเดียวก็สามารถทำได้แล้ว หยิบไปตอนไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ไปจ้างแล็บก็ได้พันธุ์มาปลูกแล้วเหมือนกันด้วย ต้องคุ้มครอง ไม่อย่างนั้นจะดูแลลำบาก เกษตรกรไทยทำแบบเอื้ออาทรย์ไม่ท้าวความ ในสังคมก็ก็รู้ว่าของใคร แล้วไม่รู้ว่าเอาไปได้อย่างไร ดังนั้นมองว่าถ้ามีการคุ้มครองก็จะดี แต่ไม่ใช่แค่นั้นเพียงข้อเดียวมีปลีกย่อยข้ออื่นอีกเยอะ อยากให้ค่อยๆ พิจารณากัน เพราะของผม แค่ข้อท 3 เท่านั้นเองยังมีอีกหลายข้อสอดคล้องกับ ดร.วินธัย กมลสุขยืนยง นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ตัวแทนจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  กล่าวว่า พันธุ์ข้าวเป้าหมายในการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ 1. ข้าวเพื่อความมั่นคงทางอหาร ข้าวเหนียวกข6 2.ข้าวเพื่อการส่งออกหอมมะลิ (ขาวดอกมะลิ105) ปทุมธานี1 ชัยนาท1 สุรินทร์ ฯลฯ 3.ข้าวโภชนาการสูง เพื่อสุขภาพผู้บริโภค อาทิ ข้าวหอมนิล ลืมผัว ฯลฯ ลักษณะเป้าหมายในการปรับปรุง อาทิ ความหอม ทนน้ำท่วม ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้นสาเหตุที่ต้องจดคุ้มครองพันธุ์ข้าวปรับปรุงพันธุ์ 1.เพื่อเป็นตัวชี้วัดผลงานของหน่วยงาน 2.เพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว เป็นอาหารหลักของประชาชน เพื่อป้องกันต่างประเทศนำพันธุ์ข้าวไปปลูกขายแข่งกับเกษตรกรในประเทศ เพราะตอนนี้เจอปัญหาแล้วว่า "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" ได้ถูกนำไปปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 มิถุนายน 2563

พลิกธุรกิจเกษตรไทย ด้วยเทคโนโลยี IOT

โดย อภินันทร์ สู่ประเสริฐ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ธุรกิจเกษตรไทยต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพต่ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยคุกคามทางธรรมชาติ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จากเดิมที่ใช้เพียง “องค์ความรู้และประสบการณ์เดิม (know how)”

ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีเกษตร (agritech : agricultural technology) ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยี IOT ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคต และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

หลายท่านคงตั้งคำถามว่าแล้วเทคโนโลยี IOT จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตรได้อย่างไร ? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้อ่านคงต้องเข้าใจก่อนว่า IOT สำหรับธุรกิจเกษตรทำงานอย่างไร ?

IOT สำหรับธุรกิจเกษตรเริ่มต้นจากการใช้เทคโนโลยี “เซ็นเซอร์” ติดตามและตรวจสอบสถานะข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูกแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการใน “การตัดสินใจและการบริหารจัดการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เช่น ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ความชื้นในดิน สภาพอากาศ เป็นต้น

โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกเชื่อมโยงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผลในระบบคลาวด์ แล้วส่งกลับไปยังผู้ใช้งาน ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่จะนำมาใช้พัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) ที่จะทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจในกระบวนการเพาะปลูกแทนมนุษย์มากยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรใช้เทคโนโลยี IOT แล้ว เช่น บริษัทมิตรผลที่ประสบความสำเร็จในการนำ IOT มาใช้ในการสํารวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และใช้ข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ เพื่อช่วยประเมินข้อมูลความชื้นของดิน ภาวะการขาดน้ำและอาหาร ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตและดัชนีคุณภาพความหวานของอ้อย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีคาดการณ์สภาพอากาศมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงขึ้นเฉลี่ยจาก 7-8 ตันต่อไร่ เป็น 10-15 ตันต่อไร่

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ที่บางรายเรายังอาจไม่คุ้นชื่อมากนัก เช่น วราภรณ์ฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการฟาร์มโคนมรุ่นใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงวัว ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาในช่วงที่ต้องจับสัด (รอบในการผสมพันธุ์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถแจ้งเตือนโรคต่าง ๆ ที่เกิดในวัวก่อนจะแสดงอาการ ทำให้สามารถดูแลรักษาอาการต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราการสูญเสียต่ำลง และสามารถประหยัดค่ายารักษาสัตว์ได้มากถึง 50%

หรือไร่กำนันจุลที่พัฒนาโรงเรือนปลูกเมล่อน โดยปรับลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลงได้ 4-8 องศาเซลเซียส พร้อมเชื่อมต่อระบบเซ็นเซอร์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการเพาะปลูก รวมทั้งมีการปลูกผักในระบบแปลงเปิดที่สามารถวัดความชื้นในดินและระบบให้น้ำซึ่งควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน

กลับมาคำถามที่ว่า เทคโนโลยี IOT จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเกษตรได้อย่างไร ? ประการแรก เทคโนโลยี IOT จะเปลี่ยนรูปโฉมธุรกิจเกษตรไทยให้เป็นในลักษณะ decentralized ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ในการบริหารจัดการผลิตได้ด้วยตนเอง ด้วยฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ผลิตจริง ทำให้การบริหารจัดการผลิตไม่ยากดังเช่นแต่ก่อน ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิต (input) มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (young farmer) ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกษตรได้ง่ายขึ้น

ประการที่สอง ช่วยลดความเสียหายของผลผลิตจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยปรากฏการณ์เอลนิโญที่มีความถี่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกโดยรวมมีความแปรปรวน และส่งผลกระทบมากขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนจากดัชนีชี้วัดปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) และลานิญา (La Nina) หรือ Oceanic Nino Index (ONI) ซึ่งคำนวณจากค่าอุณหภูมิที่ผิวน้ำทะเล (SST) ที่เปลี่ยนไปจากค่าอุณหภูมิปกติ อีกทั้งยังพบว่าการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นในระหว่างปี 2010-2019 เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า

บริษัทที่มีการนำเทคโนโลยี IOT ในกลุ่ม soil sensors มาช่วยลดความเสี่ยงจาก climate change คือ รัฐบาลท้องถิ่นเมือง Oregon ที่สนับสนุนให้ชาวสวนฟาร์มบลูเบอรี่นำอุปกรณ์ HydraProbe มาใช้เพื่อวัดความชื้นในดินในแต่ละระดับความลึก เนื่องจากพืชสวนอย่างบลูเบอรี่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการขาดน้ำอย่างมาก

โดย HydraProbe จะประเมินการใช้น้ำและการใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำให้สอดคล้องกับช่วงการดูดซับอาหารของรากพืช และยังช่วยลดการใช้สารกำจัดเชื้อราที่มักทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงยังมีฟังก์ชั่นแจ้งเตือนในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัด ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น

ประการที่สาม เทคโนโลยี IOT จะเป็นผู้ช่วยสำหรับธุรกิจเกษตรในการรับมือความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคสินค้าออร์แกนิก (สินค้าที่ไม่ใช้สารพิษ ยาฆ่าแมลง และสารเคมี) แต่ยังคงคุณภาพของผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ดีเท่าเดิม โดยจากการสำรวจของ Organic Trade Association ของสหรัฐ พบว่า ยอดขายสินค้าออร์แกนิกในสหรัฐปี 2018 เพิ่มขึ้นถึง 6.3% ทำสถิติสูงสุดที่ยอดขายแตะระดับ 5.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่สินค้าออร์แกนิกที่เป็นอาหาร (organic food markets) เติบโตถึง 5.9% นอกจากนี้ ยอดขายผักและผลไม้ออร์แกนิกซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าออร์แกนิกที่เป็นอาหารหรือประมาณ 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ ยังเติบโตถึง 5.6% ในปี 2018 เมื่อเทียบกับยอดขายผักและผลไม้ทั่วไปที่เติบโตเพียง 1.7%

ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับถึงความโดดเด่นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตร ก็มีการนำเทคโนโลยี IOT มาใช้ในโรงงานผลิตพืชออร์แกนิก ได้แก่ บริษัท 808 Factory ผู้ผลิตผักสลัดสดพร้อมทานที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ภายใต้โรงงานระบบปิดที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IOT ทำให้สามารถตั้งราคาขายได้สูงกว่าท้องตลาด 2-3 เท่า โดยเป็นโรงงานผลิตพืชซึ่งใช้เซ็นเซอร์เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสงสว่าง ระบบน้ำ สภาพอากาศ และการให้ปุ๋ย เพื่อคงมาตรฐานทั้งในแง่ของคุณภาพ สี ขนาด และรสชาติ

ทั้งยังปราศจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง หรือผู้ประกอบการไทยอย่างบริษัท ริมปิง ออร์แกนิค ฟาร์ม (เชียงใหม่) ผู้นำด้านฟาร์มเกษตรอินทรีย์ 100% ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยี smart irrigation และเซ็นเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดคุณภาพพืชสามารถให้ผลผลิตพืชผักปลอดสารเคมีให้ผู้บริโภคได้ถึงปีละ 100 ตัน และช่วยลดต้นทุนได้ถึง 30-40%

ประการที่สี่ ความกังวลโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะเป็นแรงผลักดันให้ภาคเกษตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ IOT มาทดแทนการใช้แรงงานคน เพื่อลดโอกาสการสัมผัส และการติดต่อกันระหว่างมนุษย์ โดยบริษัทผู้ผลิตโดรน XAG ในเมืองกว่างโจวของจีน ได้ออกมาเปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 บริษัทสามารถขายโดรนทางการเกษตรได้มากถึง 4,000 เครื่อง เช่นเดียวกับบริษัท Yifei Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนและหุ่นยนต์เกษตรที่คาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโตเป็น 4 เท่าหรือมากกว่า 4.31 ล้านดอลลาร์ จากผลของโควิด-19

นอกจากนี้ ตลาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางการเกษตรในจีนที่เติบโตไปอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการจีนที่ให้เงินสนับสนุนจากส่วนกลางในการซื้อโดรนและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยจีนตั้งเป้าให้เกษตรกรสามารถใช้โดรนได้อย่างแพร่หลายถึง 30,000 เครื่องในปี 2020

ท้ายที่สุด IOT เป็นเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรสามารถประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก เพียงผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ข้อมูลอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้

นอกจากนี้ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทำ R&D จะเป็น quick win ที่ทำให้ผู้ประกอบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องเข้าใจด้วยว่าเทคโนโลยี IOT ไม่ใช่ solution แบบ one-size-fits-all แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีความเฉพาะเจาะจง (customization) ซึ่งต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน รวมทั้งรูปแบบของเทคโนโลยีให้เหมาะกับสินค้าเกษตรแต่ละประเภทด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 20 มิถุนายน 2563

“สนพ.” เร่งสร้างศูนย์ “Big Data” ด้านพลังงานเชื่อมข้อมูลหลักของ “ประเทศไทย” ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ “สนพ.” เปิดผลการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ พร้อมกรอบการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กร และกรณีศึกษา ต้นแบบการบริหารจัดการคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ  พร้อมเร่งสร้างศูนย์บิ๊กดาต้าด้านพลังงานของไทยให้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลพลังงานหลักของประเทศที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย ทันสมัย น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับระดับสากลนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า สนพ.ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” (National Energy Information Center : NEIC) ได้จัดสัมมนา “โครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทย” ขึ้น

เพื่อนำเสนอผลการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ กรอบการออกแบบสถาปัตยกรรมองค์กรของศูนย์ฯ รวมทั้งกรณีศึกษาที่เป็นต้นแบบบริหารจัดการข้อมูลด้านยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การขับเคลื่อนคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้  ผลการศึกษาดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศพลังงานสำหรับเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ได้ยากเหมือนกรณีวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิถีแบบใหม่ หรือ New Normal ด้านพลังงาน ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลเป็นสำคัญในการรวบรวม เชื่อมโยง และวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงานของประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการพลังงานและการตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที“ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ จะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง บูรณาการและเผยแพร่ข้อมูลพลังงานหลักของประเทศที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เข้าใจง่าย มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการยอมรับในทุกภาคส่วน มีความน่าเชื่อถือ ทันสมัย รวมถึงได้รับการยอมรับในระดับสากล สอดรับการประยุกต์ใช้ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน Energy for All เพื่อสร้างฐานนวัตกรรมในอนาคต”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มิถุนายน 2563

ติดอาวุธท้องถิ่นคืนชีพแหล่งน้ำขนาดเล็ก พลิกโฉมการจัดการน้ำประเทศไทย

ประเทศไทยแม้จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วย “ทรัพยากรน้ำ” เนื่องจากมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุม ทำให้มีฝนตกชุกทั่วพื้นที่ตลอดเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจนถึงทุกวันนี้เรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้หลายพื้นที่ยังคงตกอยู่ภายใต้

ปัญหา “น้ำท่วม” และ “ภัยแล้ง” ซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน

ทั้งนี้หากพลิกดูฐานข้อมูลแหล่งน้ำซึ่งจัดทำโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะพบว่าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยมีแหล่งน้ำทั้งในรูปอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นเองและแหล่งน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วประเทศมากถึง 142,931 แห่ง โดยแยกย่อยได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1.แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดเก็บกักมากกว่า 100ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมี 38 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ36 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่ง ความจุรวม 71,422 ล้าน ลบ.ม.อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ บึงบอระเพ็ด และบึงหนองหาร เป็นต้น 2.แหล่งน้ำขนาดกลาง ขนาดเก็บกัก 2 ล้าน-100 ล้าน ลบ.ม. เช่น เขื่อนทดน้ำ ฝาย โรงสูบน้ำ และระบบส่งน้ำ รวม 659 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 442 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 217 แห่ง ความจุรวม 6,675 ล้าน ลบ.ม. 3.แหล่งน้ำขนาดเล็ก มีขนาดเก็บกักไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม. เช่น อาคารชลประทาน ห้วย หนอง คลอง บึงและแหล่งน้ำในชุมชน โดยปัจจุบันมี 142,234 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำ 837 แห่ง แหล่งน้ำธรรมชาติ 141,397 แห่ง ความจุรวม 5,343 ล้าน ลบ.ม.

ตัวเลขทั้งหมดสะท้อนให้เราเห็นได้ว่า ในแง่ “ปริมาณ” ยังถือว่าเรามีแหล่งน้ำอยู่ในมือมากพอสมควร แต่แล้วมันเกิดปัญหาอะไรขึ้น? ถึงทำให้หลายพื้นที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอยู่อย่างซ้ำซากเหมือนที่เกริ่นไปแล้วตอนต้นและเราจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร?

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมามีช่องโหว่มาก เรื่อง “เจ้าภาพ” ดูแลการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็ก 142,234 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีในจำนวนดังกล่าวยังไม่มีเจ้าภาพหลักอยู่จำนวนถึง 141,330 แห่ง แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ 716 แห่ง และแหล่งน้ำธรรมชาติ 140,614 แห่งที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถหาเจ้าภาพหลักและวางเป้าหมายการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนได้

“แหล่งน้ำเหล่านี้จึงอยู่ในสภาพสูญเปล่า อ่างเก็บน้ำสร้างมาก็ไม่มีคนดูแล เช่นเดียวกับแหล่งน้ำธรรมชาติ คู คลอง หนอง บึงต่างๆ ที่ไม่มีใครเป็นหลักในการรักษาฟื้นฟู โดยทุกวันนี้มีเพียงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางเท่านั้นที่มีเจ้าภาพดูแลชัดเจน” ดร.สมเกียรติ กล่าวและย้ำว่า ดังนั้นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพได้ในอนาคตก็คือ การสร้างกลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในท้องที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานให้ต่อเนื่องถึงกันได้ตลอดทั้งลุ่มน้ำ

อนาคตจากนี้เป็นต้นไป กลไกการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำขนาดใหญ่แทบจะมีความ

เป็นไปได้น้อยมาก เพราะลุ่มน้ำที่มีความเหมาะสมได้รับการพัฒนาไปเกือบหมดทุกลุ่มน้ำแล้ว รวมทั้งอาจเกิดกระแสคัดค้านจากผู้ที่เห็นต่างทำให้ต้องใช้เวลาและงบประมาณค่อนข้างมากกว่าที่จะดำเนินการได้ ขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กนั้น ไม่เพียงแต่จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงชุมชนได้ทั่วถึงมากกว่า โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตเกษตรน้ำฝนเท่านั้น แต่การพัฒนาที่เกิดขึ้นยังตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดมากกว่าด้วย”

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า จากแนวคิดดังกล่าว คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงมีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่18 มีนาคม 2563 แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ โดยทำหน้าที่สำคัญๆ เช่น การจัดทำแผนโครงการ ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแล ติดตาม ประเมินผลการดำเนินโครงการ หรือแม้แต่การเชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานภาคเอกชน มาชี้แจงหรือให้ข้อมูล รวมทั้งมีการรายงานผลให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้โดยตรง

ส่วนกลไกการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ดร.สมเกียรติ บอกว่า จะมีการผลักดันบทบาทของหน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนเนื้องานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในท้องถิ่นของตัวเองโดยตรง

ดังนั้น ทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ จึงเป็นมุ่งพัฒนาศักยภาพของแหล่งน้ำขนาดเล็กที่มีอยู่นับแสนแห่งทั่วประเทศ โดยมี อปท. เป็นกลไกสำคัญในการลงมือปฏิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานด้านน้ำในพื้นที่

ขณะที่สิ่งที่ตามมา ย่อมไม่ใช่เพียงแค่การทำให้เกิดการบูรณาการด้านการจัดการน้ำได้ตลอดทั้งสายเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำของภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรม มั่นคง และยั่งยืน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รมว.เกษตรฯสั่งทำแผนรับมือภัยแล้งทั่วปท.

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งทั่วประเทศ รายงานสถานการณ์ต่อศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรทุกวัน พร้อมจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ การประกอบอาชีพ และเสริมรายได้ตามนโยบายศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำแห่งชาติ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งในปี 2563 มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้มีน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ และแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ทั้งนี้จากที่มอบนโยบายให้เร่งรัดการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อให้มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแก้มลิงสำหรับใช้อุปโภค บริโภคในชุมชน การปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง การทำปศุสัตว์ การทำประมง รวมถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรใช้บริโภคและจับขายได้ ตลอดจนวางแผนว่าจ้างแรงงานเพื่อให้เกษตรกรซึ่งประสบภัยแล้งทำการเกษตรไม่ได้ให้มีรายได้ ซึ่งจังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2562 จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ตาก บึงกาฬ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี รวมทั้งสิ้น 93 อำเภอ 504 ตำบล 4,648 หมู่บ้าน/ชุมชน 3 เทศบาล

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากกรมชลประทาน ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 รายงานว่า สภาพในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างรวม 32,388 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 8.737 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% ของความจุน้ำใช้งาน แผนการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2563 ทั้งประเทศ 11,975 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,678 ล้าน. ลบ.ม. แผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 3.31 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.73 ของแผน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “แข็งค่า”ตลาดจับตากนง.ประชุมสัปดาห์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(19มิ.ย.)ที่ระดับ 31.09 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.00-31.20 บาทต่อดอลลาร์-ตลาดเริ่มมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทช่วงนี้แกว่งตัวในกรอบแคบลง โดยระหว่างวันมักเคลื่อนไหวอิงไปกับทิศทางของสกุลเงินเอเชีย จุดที่น่าสนใจต่อไปน่าจะเป็นมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยในสัปดาห์หน้า(24มิ.ย.2563) ตลาดเริ่มมองความเป็นไปได้ที่กนง. จะปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

    โดยตลาดการเงินแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 บวกเพียง 0.1% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวลงมาที่ระดับ 0.71% (-3.3bps) แม้ราคาน้ำมัน WTI จะปรับตัวขึ้น 2.5% มาที่ระดับ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลด้วยความหวังว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะลดกำลังการผลิตตามที่สัญญาไว้

ส่วนในฝั่งเศรษฐกิจ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) ยังอยู่ในระดับสูงถึง 1.51 ล้านตำแหน่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะลดลงจากระดับ 1.57 ตำแหน่งในช่วงสัปดาห์ก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องในสหรัฐลดลงจากระดับ 20.5 ล้านคนได้ ถือว่าเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าที่ตลาดคาดหวัง

       ฟากนโยบายการเงิน ธนาคารกลางอังกฤษมีมติ "เพิ่ม" ปริมาณการซื้อบอนด์ 1 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาดไว้ แต่ยังไม่มีแนวคิดที่จะใช้นโยบายดอกเบี้ย "ติดลบ" ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรปรายงานว่าสามารถ ปล่อยกู้ผ่านโครงการ TLTRO  อายุสามปี ได้ถึงระดับ 1.3 ล้านล้านยูโร คาดว่าจะเป็นกลไกหลักที่จะเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต

    ส่วนเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าต่อ 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทันทีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวช้า โดยสกุลเงินที่ปรับตัวลงมากคือดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) จากแรงขายทำกำไรของตลาดจากมุมมองว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจพบกับแนวต้านถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว และการระบาดของไวรัสรอบสองกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

คกก.อุตฯ ชง"สุริยะ" หาแนวทางฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม นำโดยนายวรสิทธิ์  กัลป์ตินันท์  ประธานคณะกรรมาธิการ และรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่1-6 พร้อมคณะ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส  โคโรนา 2019 (COVID-19)  นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และจากการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ทั่วประเทศ  โดยได้จัดทำมาตรการต่างๆ ดังนี้

1) ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการฟื้นฟูผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19   การเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้แก่ SME และสร้างรายได้ด้วยแพลทฟอร์ม Cloud Kitchen Food Truck ร่วม Big Brother การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุสาหกรรมทั่วประเทศ  การยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริการด้านการมาตรฐาน การชดเชยค่าตรวจประเมินและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ มาตรการช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรม การยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกตามแนวทางการผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้

2) ด้านการเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ และเสริมสภาพคล่องจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ  6,250 ล้านบาท การพักชำระ/ขยายการผ่อนชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนฯ 18 ล้านบาท การพักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระคืนหนี้สินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และการพักชำระหนี้ ขยายเวลา ลดดอกเบี้ย ผ่อนปรนเงื่อนไขและเสริมสภาพคล่อง ของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 30,000 ล้านบาท และ 

3) ด้านการช่วยเหลือภาคประชาชน  ประกอบด้วย การผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายให้กับ ประชาชน จำนวน 10 ล้านชิ้น   สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน COVID -19 (แอลกฮอล์/Face Shield)  และการจัดทำตู้ปันสุขในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอขอรับจัดสรรตามโครงการตามมาตรการแผนฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยและสังคม ภายใต้ พรก. เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท  วงเงินรวม 15,250 ล้านบาท  โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วงเงิน 13,018 ล้านบาท เช่น  การฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อรองรับ New Normal การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหาร การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven  Enterprise: IDE) การยกระดับผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเป็นทุน  2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 1,653 ล้านบาท เช่น การพัฒนาตลาดและ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนววิถีใหม่ และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง  การส่งเสริมผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง  และการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 3. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต วงเงิน 579 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบโครงข่ายยกระดับทักษะบุคลากรแห่งชาติ การยกระดับอุตสาหกรรมด้วย smart tech ระบบดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม  การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมศักยภาพสู่วิถีใหม่ และการจัดทำคลังข้อมูลอัจฉริยะด้านอาหาร

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 18 มิถุนายน 2563

ให้ความรู้ "www.ช่วยเกษตร.com” ช่วยเกษตรกรอย่างไร

เตรียมติดอาวุธให้กับเกษตรกรยุคใหม่ ผ่านเว็บไซต์ www.ช่วยเกษตร.com เปิดลงทะเบียน 21 มิถุนายนนี้

นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเดินหน้าติดอาวุธให้กับเกษตรกร ด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ www.ช่วยเกษตร.com เพื่อรับกับยุค New Normal  ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มเติมองค์กรความรู้ใหม่ๆให้สามารถนำไปใช้และต่อยอด นอกจากนั้นแล้วในยุค 4.0 ที่โซเซียลหรือโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาท การปรับตัวของเกษตรกรเพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

-เป้าหมาย 3 ข้อช่วยเกษตรกร

ข้อที่ 1. ช่วยลดต้นทุน จะทำผ่านโครงการแรกคือ โครงการช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับไปรษณีย์ไทย มีวัตถุประสงค์ช่วยสนับสนุนลดค่าใช้จ่าย ด้านการขนส่งทางไปรษณีย์ไทย และบรรจุภัณฑ์ในราคาพิเศษ โดยเกษตรกรผุ้ที่สนใจสามารถคลิกเข้ามาลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.ช่วยเกษตร.com  ตั้งแต่ 21 มิถุนายน

ยกตัวอย่างการลดต้นทุนที่ว่าคือ เมื่อมีการขนส่งก็แสดงบัตรสมาชิกออนไลน์ทีได้ลงทะเบียนไว้ต่อเจ้าหน้าที่ หรือใช้กล่องที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับค่าขนส่งในอัตราพิเศษ 5 กิโลกรัม 30 บาท หากเกิน 5 กิโลกรัมคิดเหมาเป็นกิโลกรัมละ 8 บาท โดยเกษตรกร จะต้องบรรจุผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐาน และจัดส่งด้วยตนเองที่สาขาไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 -เพิ่มองค์ความรู้ให้เกษตรกร

เป้าหมายข้อที่ 2 .ช่วยเพิ่มความรู้ จะถูกนำเสนอผ่านโครงการเพิ่มความรู้ให้พี่น้องเกษตรกรเรียนออนไลน์ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC)  ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับและให้ความรู้ผู้ประกอบการเกษตรและเกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ในการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์จากวิทยากรชั้นนำ อาทิ ในทุกสาขาผ่านระบบออนไลน์ e Learning โดยสอนผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live เรียนซ้ำได้ผ่านระบบ e Learning เริ่มต้นวันที่ 1 กรกฎาคมจนถึง 31 ธันวาคม 2563

ส่วนหัวข้อที่น่าสนใจ 3 หมวดได้แก่ 1. การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ 2. การใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ 3. เทคนิคการขายและทำการตลาดออนไลน์

 -สอนมือใหม่ขายออนไลน์

เป้าหมายข้อที่ 3. ช่วยขายผลผลิต ผ่านโครงการช่วยขายผลผลิตการเกษตรสู่ตลาดออนไลน์ เพื่อช่วยขายผลผลิตของเกษตรกร เข้าสู่ช่องทางการตลาดออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ ซึ่งจะเปิดให้เกษตรกรที่ต้องการขายผลผลิตสู่ตลาดออนไลน์ ทั้งที่เป็นมือใหม่ หรือ ไม่ใหม่ ลงทะเบียนแจ้งจำนวนของผลผลิต และราคาที่ต้องการจัดจำหน่าย โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญดำเนินการด้านการตลาดให้ทั้งหมด เกษตรกรมีหน้าที่จัดเตรียมผลผลิตทางเกษตรให้พร้อมในการจัดส่ง และจัดจำหน่ายเมื่อขายได้

-วิธีการลงทะเบียน

เข้าไปที่ www.ช่วยเกษตร.com   โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจคลิกลงทะเบียนได้ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. หลังจากนั้นเกษตรกรที่ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับบัตรสมาชิกออนไลน์

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 18 มิถุนายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทผันผวน เหตุมีแรงเก็งกำไรนักค้าเงินผสมผู้นำเข้า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.05-31.25 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์   ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนขึ้น เพราะมีทั้งแรงเก็งกำไรจากนักค้าเงินต่างชาติที่มองว่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปผสมกับแรงซื้อประปรายของผู้นำเข้า อย่างไรก็ดีในระยะกลาง เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกกับการแข็งค่าของเงินบาท เชื่อว่าจะกลับไปซื้อขายในระดับก่อนวิกฤติโคโรนาไวรัสได้ จากความผันผวนของการเมืองสหรัฐในช่วงก่อนเลือกตั้ง พร้อมกับจังหวะที่ฝั่งเอเชียน่าจะสามารถรับมือการระบาดระลอกสองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลาดการเงินแกว่งตัวบวกสลับลบในคืนที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลดลง 0.4% หลังขึ้นต่อเนื่องติดกันมาสามวัน สวนทางกับ Euro Stoxx 600 ของยุโรปที่ฟื้นตัวกลับ 0.7%  หลังนายเจนส์ ไวล์ดแมน ประธานธนาคารกลางเยอรมัน ให้ความเห็นในเชิงบวกว่านโยบายการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่น่าที่จะผ่านประเด็นกฎหมายในประเทศได้

 ซึ่งความแตกต่างของการฟื้นตัวในทั้งสองทวีปนี้ หนุนให้บอนด์ยีลด์เยอรมันอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ -0.39% สวนทางกับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 0.72%

ส่วนในวันนี้มีประเด็นที่น่าสนใจติดตามในฝั่งของนโยบายการเงินหลายประเทศ เพราะมีทั้งธนาคารกลางไต้หวันและอินโดนีเซียที่คาดว่าจะปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ระดับ 1.0% และ 4.25% ตามลำดับ   เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษ ก็คาดว่าจะ "เพิ่ม" ปริมาณการซื้อสินทรัพย์อีกหนึ่งแสนล้านปอนด์ พร้อมกับ "คง" ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเพียง 0.1% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งนี้

  ส่วนในฝั่งของค่าเงินดอลลาร์ก็ปรับตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และฟรังก์สวิส (CHF) เป็นสองสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากในตลาดเงิน นักลงทุนยังคงมีความกังวลกับการระบาดของไวรัส แต่ก็มีมุมมองเชิงบวกกับการกลับมาเปิดทำการของภาคธุรกิจ ไปพร้อมกันด้วย

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 18 มิถุนายน 2563

สั่งเดินเครื่องตั้งคกก.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 2 กระทรวง ลุยนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด"

  “มัลลิกา” เผย “จุรินทร์-เฉลิมชัย” เร่งติดตามการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 กระทรวง ลุยต่อ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" สร้างโอกาสไทยทุกคน

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือสร้างประเทศเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพิ่มจีดีพีประเทศ และเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการ

"ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงมีพันธกิจร่วมกัน คือ สร้าง Single Big Data ใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ พัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด เน้นยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต" นางมัลลิกา กล่าว

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้นายจุรินทร์ให้เร่งติดตามการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 กระทรวง และคณะทำงานขับเคลื่อนกลยุทธ์ 4 คณะ คือคณะทำงานขับเคลื่อนการสร้าง Single Big Data ใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน คณะทำงานขับเคลื่อน การสร้างแพลตฟอร์มกลางเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด คณะทำงานขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ และคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้เพื่อรูปธรรมของภารกิจนี้ ซึ่งเกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความหวังจากปรากฎการณ์ทำงานเช่นนี้อย่างยิ่ง

จาก https://siamrath.co.th    วันที่ 18 มิถุนายน 2563

เสียเปรียบตลาด FTA เวียดนาม 3 เท่าตัว เอกชนจี้รัฐเร่งร่วมวง CPTPP

เอกชนชี้เวียดนาม ดึงดูดการลงทุน FDI ได้ดีกว่าไทย หลังทำเอฟทีเอแล้วกับ 53 ประเทศ มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว เร่งไทยร่วมวงเจรจา CPTPP ลดความเสียเปรียบด้านตลาดส่งออก จับตา “ทรัมป์”แพ้เลือกตั้ง มะกันคัมแบ็กร่วมวง CPTPP ยิ่งทิ้งห่างไทยหลายขุม

นายบัณฑูร  วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) นอกจากจะใช้เป็นฐานเพื่อผลิตสินค้าแล้วยังมองเรื่องตลาดเป็นเรื่องใหญ่ว่าเมื่อผลิตแล้วจะขายไปที่ใดได้บ้าง ซึ่งในแง่ตลาดเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามแล้ว เวียดนามได้เปรียบไทย เพราะเวลานี้เวียดนามมีความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศต่าง ๆ มากกว่าไทยเกือบ 3 เท่าตัว (ไทยมีเอฟทีเอแล้วกับ 18 ประเทศ เวียดนามมีเอฟทีเอแล้วกับ 53 ประเทศ) ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตจากเวียดนามได้เปรียบไทยในการส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาในอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่าผลิตในไทย

ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยควรพิจารณาร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP)(ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม) เพราะประโยชน์ที่ได้จะมากกว่าส่วนที่เสียประโยชน์

ทั้งนี้เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าความสามารถในการบริโภคของไทยจะลดลงไปมาก ตลาดภายในจึงมีความสำคัญน้อยลงกว่าตลาดส่งออก  แม้โควิด-19 จะมีผลทำให้มูลค่าการค้าโลกลดลงโดยรวม การลงทุนต่าง ๆ ล้วนต้องระงับไว้ก่อนชั่วคราว เพราะอนาคตไม่แน่นอนว่า โรคนี้จะควบคุมได้เมื่อไหร่ จะมีวัคซีนป้องกันหรือรักษาได้เมื่อใด การปิดตัวหรือลดการผลิตของโรงงานต่าง ๆ เป็นข้อเท็จจริงที่ตามมา ซึ่งหากมีภาคธุรกิจของไทย หรือต่างชาติย้ายจากไทยไปเวียดนาม ก็เป็นส่งที่เข้าใจได้ว่า ตลาดส่งออกกำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด หากต้องการส่งออก การลงทุนในเวียดนามย่อมดีกว่าลงทุนในไทย  และในปลายปีนี้หากโดนัลด์ ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นผู้นำ คาดสหรัฐฯ จะกลับเข้ามาร่วม CPTPP ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนเป็น TPP เหมือนเดิม การส่งออกไปสหรัฐฯ ย่อมทำได้ง่ายกว่าหากลงทุนในเวียดนาม

“ปัจจุบันความสามารถในการบริโภคสินค้าในประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ ในประเด็นนี้ไทยได้เปรียบเวียดนาม เพราะคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า แต่ปัจจัยนี้เวียดนามกำลังตามไทยมาอย่างรวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยนี้ก็มีผลให้นักลงทุนต่างชาติหลาย ๆ รายไม่อยากย้ายฐานออกจากจีน เพราะคนจีนมีศักยภาพในการบริโภคสูงมากในขณะนี้”

อย่างไรก็ดี จากสงครามการค้า และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน มีผลให้ส่วนหนึ่งของนักลงทุนของจีนที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มุ่งมาลงทุนในไทยและเวียดนาม โดยเปรียบเทียบแล้วในทางการเมืองเวียดนามน่าสนใจกว่าไทย เพราะเวียดนามทะเลาะกับจีนในหลาย ๆ เรื่องเช่นเรื่องสิทธิในหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่จีนประกาศความเป็นเจ้าของ ประเด็นนี้ทำให้สหรัฐฯไม่ทำอะไรกับเวียดนามเพราะมองเวียดนามเป็นกำลังสนับสนุนสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

ปัจจัยด้านแรงงานเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เปรียบเทียบแล้วคนเวียดนามในภาพรวมขยันกว่าคนไทย มีทักษะการทำงานสูง ขณะที่ค่าแรงไทยสูงกว่าเวียดนาม แต่ค่าแรงเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไทยมักพึ่งแรงงานต่างด้าว แต่กฎหมายแรงงานไม่ให้จ้างแรงงานต่างด้าวถูกกว่าแรงงานไทย แม้ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักฝ่าฝืนก็ตาม

ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไทยดีกว่าเวียดนาม การคมนาคมก็ดีกว่า พัฒนาการติดต่อสื่อสารได้ดีกว่า  แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเวียดนามด่องแล้ว นักลงทุนเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน หากมาลงทุนในไทยต้องใช้เงินมากกว่า และการส่งออกสินค้าก็ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในเวียดนาม

“นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย และของเวียดนามต่างแข่งขันกัน สำหรับอีอีซี ไทยมีข้อเสนอเรื่องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดีกว่าที่เวียดนามเสนอ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนได้ดี และไทยยังมีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและการขนส่งทางรางที่ทันสมัย ให้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน งดเว้นภาษีต่าง ๆ มากมาย แต่การที่บริษัทต่างชาติมาขอรับใบส่งเสริมการลงทุนไม่ได้หมายความว่าจะมาลงทุนจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่มักขอจากเวียดนามด้วย ส่วนจะไปลงทุนจริงที่ใดย่อมต้องดูกันอีกทีในภายหลัง ทั้งนี้ในปี 2562 ไทยได้รับการลงทุน FDI คิดเป็นเงิน 6,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี่เวียดนามได้รับ 38,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือมากกว่าไทย 6 เท่า”

ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองไทยค่อนข้าง "เหยียบเรือสองแคม" ไม่โอนไปทางจีนหรือสหรัฐฯอย่างชัดเจน ทำให้สหรัฐฯมักทำโทษไทยในเรื่องภาษีนำเข้า ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) และจะมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาอีก ดังนั้นไทยจึงพึ่งจีนในทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ ทั้งในด้านการลงทุน และด้านการส่งออก นำเข้า มูลค่าการค้าโดยรวมของไทยกับสหรัฐฯ จึงสูงกว่าที่ทำกับสหรัฐฯมาก เทียบกันแล้วจีนสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 17 มิถุนายน 2563

ไทยได้ดุลการค้าอาเซียนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

สศก. แจงสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอาเซียน เผย ไตรมาสแรก ยังเติบโตดี ได้ดุล 3.7 หมื่นล้าน  เทียบกับปีก่อนลดลง 31.13 % ปัจจัยการค้ายังชะลอต่อเนื่องจากปี2562 จากภัยแล้ง-โควิด พ่นพิษ เศรษฐกิจโลกเดี้ยง

นางสาวทัศนีย์  เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและยางพาราธรรมชาติ (พิกัด 4001) ของไทยกับภูมิภาคอาเซียน ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2563 พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรรวม 113,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.10 จากปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีมูลค่าส่งออกเป็น 75,415 ล้านบาท ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ของปรุงแต่งจากธัญพืช  แป้งและนม และสัตว์มีชีวิต อาทิ สุกรมีชีวิตอื่นๆ ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป สุกรมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ โคตัวผู้

สำหรับการนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 38,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 41.43 โดยกลุ่มสินค้าเกษตรนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชผักที่บริโภคได้โดยเฉพาะมันสำปะหลังและถั่วเขียว ปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ ข้าวและธัญพืช และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งและนม ทั้งนี้ สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น  อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาการอนุญาตให้มีการนำเข้าโดยไม่จำกัดปริมาณภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์   ประกอบกับผลผลิตในประเทศมีปริมาณน้อยลง ทั้งจากปัญหาภัยแล้งรวมถึงโรคระบาดในข้าวโพด ทำให้ผลผลิตที่ได้มีไม่เพียงพอ ต่อความต้องการใช้ จึงมีการนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และจำหน่ายต่อไป

ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าในตลาดอาเซียนช่วง3 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 37,264  ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 31.13) และเมื่อพิจารณาคู่ค้าที่สำคัญของไทย 3 ลำดับแรกพบว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังกัมพูชาเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าการส่งออก 14,336 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.01 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์และสุกรมีชีวิต ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลังและมันเส้น เนื่องจากไทยมีปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเสียหายและมีปริมาณน้อยจึงต้องมีการนำเข้าจำนวนมาก

รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก 12,218 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.20 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำยางข้น ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูป ขนมปังและ ขนมจำพวกเบเกอรี่อื่นๆ และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการส่งออก 11,994 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ15.90 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบและสตาร์ททำจากมันสำปะหลัง ขณะที่สินค้านำเข้า ได้แก่ ปลาอินเดียนแมคเคอเรลและปลาไอส์แลนด์แมคเคอเรล เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตปลาทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งไทยได้นำเข้ามาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออกต่อไป

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากในหลายภูมิภาคของไทยประสบปัญหาภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและมาเร็วกว่าปกติ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งภาครัฐได้ดำเนินการตามมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร ให้สามารถนำเงินใช้เพื่อการยังชีพลงทุนทำการเกษตรพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 17 มิถุนายน 2563

“กลุ่มน้ำตาลครบุรี” ตั้งอินฟราฟันด์ ‘KBSPIF’ 2.8 พันล้าน ลงทุนโรงไฟฟ้า

 “กลุ่มน้ำตาลครบุรี” ตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) มูลค่า 2,800 ล้านบาท เข้าลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าหวังสร้างผลตอบแทนระยะยาว เผยความคืบหน้า ก.ล.ต.อนุมัติแบบไฟลิ่งแล้ว

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บมจ.น้ำตาลครบุรี จำกัด (KBS) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่มน้ำตาลครบุรีได้วางนโยบายเสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และต่อยอดการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างความมั่นคงแก่องค์กร โดยการนำ ผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด ผ่านการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ KBS ถือหุ้นร้อยละ 99 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration System) กำลังการผลิตรวม 73 เมกะวัตต์ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถนำทรัพยากรหมุนเวียนที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าแก่ประเทศอีกด้วย

ในช่วงที่ผ่านมา KBS ได้สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานดังกล่าว โดยจัดหาและป้อนวัตถุดิบกากอ้อยเพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้แก่ บริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) ซึ่งเป็นคู่สัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวกับหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 16 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ และมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มน้ำตาลครบุรีอีกจำนวนไม่เกิน 25 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้า KPP มีอัตราเติบโตต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) โดยมีรายได้รวมจากการจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญารวม 689.89 ล้านบาท 901.59 ล้านบาท และ 972.71 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) วงเงินไม่เกิน 2,800 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจัดการกองทุน

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนฯ กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลครบุรี KBSPIF จะระดมทุนเพื่อเข้าลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทโรงไฟฟ้าของบริษัทผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด (KPP) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่กองทุนฯ และสามารถจ่ายปันผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยในระยะยาว โดยปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้อนุญาตแบบคำขอเสนอขายหน่วยลงทุน (แบบไฟลิ่ง) ของกองทุน KBSPIF เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 มิถุนายน 2563

กรอ.ร่อนหนังสือเตือนโรงงานทั่วประเทศ ไม่อยากเสี่ยงปิดกิจการต้องปรับตัวรับวิถีใหม่

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่อนหนังสือเตือนผู้ประกอบการโรงงานในเขต กทม. และประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศเร่งปรับตัวรับวิถีใหม่ หรือ New Normal เหตุโควิด-19 ทำพฤติกรรมประชาชนเปลี่ยนไป หากไม่อยากเสี่ยงปิดกิจการเน้น Factory 4.0

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรอ.เตรียมส่งหนังสือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5,860 แห่ง พร้อมประสานสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแจ้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศมีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบให้เร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม หรือ New Normal เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไป โดยเน้นความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ และการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวรองรับจะเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการ และไม่สามารถแข่งขันได้

ปัจจุบัน กรอ.ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่นโยบาย Factory 4.0 ซึ่งจะสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการขอใบอนุญาต รง.4, การจ่ายค่าธรรมเนียม, การยื่นคำขอและการออกใบสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตรายหรือกากอุตสาหกรรม, การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษ รวมถึงการพัฒนาการบริการอื่นๆ แบบออนไลน์ครบวงจรได้ในปี 2565 ซึ่งนอกจากจะสร้างความโปร่งใสแล้ว ยังช่วยลดภาระ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ หรือติดต่อกับลูกค้า เป็นต้น

ส่วนโครงการในปีงบประมาณ 2564 กรอ.ได้มีโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคนิวนอร์มัล เช่น ระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร, ระบบการรับรองตนเองของผู้ประกอบกิจการโรงงาน (Self-Declaration) และการขึ้นทะเบียน/กำกับดูแลผู้ตรวจสอบเอกชน (Third Party), ระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม, ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ที่ได้ลงทุนในปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบเชื่อมโยงเอกสารราชการกับฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ, ระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการวัตถุอันตราย, พัฒนาระบบทำเนียบสารเคมีและวัตถุอันตรายแห่งชาติ เป็นต้น

“กรอ.มีแผนที่จะพัฒนาโดยให้ความรู้แก่โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วน โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลงในภาวะปกติใหม่หรือนิวนอร์มัล ซึ่งที่ผ่านมา กรอ.ได้เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลโรงงาน รวมถึงการนำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับตามแนวทางนโยบายแฟกตอรี 4.0 ของรัฐบาล และเพื่อให้ระบบการทำงานมีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทาง กรอ.ก็พร้อมจะเดินหน้าสานต่อการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายประกอบกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดของ กรอ.ปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อสร้างความสะดวกแก่ประชาชน และในสถานการณ์ปัจจุบันยังช่วยสร้างความปลอดภัย เพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบัน กรอ.ได้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชน มากกว่า 10 ภารกิจ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม www.diw.go.th

จาก https://mgronline.com   วันที่ 17 มิถุนายน 2563

"ก.อุตสาหกรรม" ลุยอัพเกรดเกษตรไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

"ก.อุตสาหกรรม" ลุยอัพเกรดเกษตรไทยขับเคลื่อน "เศรษฐกิจฐานราก" เร่งมาตรฐาน "ฟื้นฟู" ให้ดีพร้อมทันที 90 วัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา และสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูสู่ เกษตรอุตสาหกรรม ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจุดแรกของการดำเนินการ คือ จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 17 มิถุนายน 2563

              “กระทรวงตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตร ซึ่งมีความสำคัญต่อโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีแนวทางเพื่อเร่งพื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ผ่านกระบวนการพัฒนาภาคการเกษตร มุ่งเน้นกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร จึงได้สั่งการให้ กสอ. ดำเนินการดังกล่าว”

              สำหรับการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ในครั้งนี้ มุ่งเน้นสื่อสารใน 3 ภารกิจหลัก คือ การรับทราบสภาพปัญหาจริงของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อการวางแผนฟื้นฟูให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ การมอบแนวทางเพื่อการพัฒนาเกษตรวิถีดั้งเดิมไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม และ การเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตรและองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการเพื่อเพิ่มผลิตภาพ เตรียมพร้อมเพื่อการรองรับดีมานด์ทั้งในและต่างประเทศ

              “มาตรการฟื้นฟูเกษตรอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน กสอ. มีแนวทางพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภาพ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สู่ระบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง เพื่อการ ปั้น ปรุง เปลี่ยน สู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่ดีพร้อม”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 16 มิถุนายน 2563

เงินบาทเปิด 30.96/31.02 แข็งค่าจากวานนี้ จับตาทิศทางกระแสเงินทุนไหลเข้า-กังวลสถานการณ์โควิด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 30.96/31.02 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 31.08 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินบาทมีทั้งสองด้าน คือ การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสองในจีนและสหรัฐฯ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ระหว่าง 30.85-31.15 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 16 มิถุนายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด “อ่อนค่า”

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.01 บาทต่อดอลลาร์-นักค้าเงินส่วนใหญ่กังวลธปท.ออกมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงนี้

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.01 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.98 บาทต่อดอลลาร์ นักค้าเงินส่วนใหญ่กังวลธปท.ออกมาตรการคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายช่วงนี้ ประเมินระยะกลางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อ จากการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าส่งออก- กรอบเงินบาทวันนี้ 30.90-31.10 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่าในสัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากมีประเด็นบวกและลบผสมกัน ทั้งในฝั่งการระบาดของไวรัส ตัวเลขเศรษฐกิจ  และนโยบายการเงินเข้ามามากขึ้น  เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (industrial Production) ที่จะกลับมาขยายตัวได้ 5.0%

ขณะที่วันพฤหัส จะมีการประชุมธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) และอังกฤษ (BOE)   ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองธนาคารกลางจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.75% และ 0.10% เท่าเดิม  แต่อาจใช้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับปริมาณการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง (QE) เข้ามาหนุนเศรษฐกิจแทนที่ส่วนในฝั่งของสหรัฐ ยังคงแนะนำให้จับตาตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในช่วงคืนวันพฤหัส คาดว่าจะมีคนขอรับสวัสดิการเกินหนึ่งล้านตำแหน่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ในระดับสูงกว่าปรกติ แต่เมื่อมีการทยอยกลับไปทำงานบ้างก็ต้องถือเป็นสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

 ส่วนในฝั่งของตลาดเงิน เริ่มมีกระแสการฟื้นตัวของดอลลาร์เข้ามาในตลาดมากขึ้น เมื่อความกังวลเรื่องไวรัสระบาดรอบสองกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นของมหาลัยมิชิแกน (UoM Sentiment Index) ก็รายงานออกมาฟื้นตัวต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวน่าจะเป็นแรงหนุนให้กับเงินดอลลาร์ได้ในระยะสั้นส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงเกาะระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์อยู่ เมื่อนักค้าเงินส่วนใหญ่มีความกังวลกับท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจมีนโยบายควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามากำกับในตลาดช่วงนี้ ซึ่งจุดที่น่าจับตามากที่สุดคือแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ เพราะความกังวลจะลดลงถ้าต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของไทย อย่างไรก็ดีในระยะกลาง เชื่อว่ายังคงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทต่อ จากการนำเข้าที่ลดลงมากกว่าส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาทองคำยังคงอยู่ในระดับสูง กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.75-31.25 บาทต่อดอลล่าร์ 

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 มิถุนายน 2563

“สุริยะ” โต้กลุ่มค้านแบน 3 สาร อย.ปลดล็อกพืชพาราควอต

“สุริยะ” พร้อมหอบเอกสารโต้กลับกลุ่มค้านแบนพาราควอต หลังสมาพันธ์เกษตรฯขอศาลเร่งรับคำร้องชี้รัฐ 2 มาตรฐาน จะปล่อยให้เอกชนนำเข้าวัตถุดิบ แต่ไม่ปลดล็อกให้เกษตรกร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รับทราบที่ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และบริษัทเอกชนฟ้องตนข้อหาที่เห็นชอบให้มีมติการแบนสารเคมีอันตราย จากการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งตนยอมรับว่าต่อให้มติที่ประชุมจะออกมาว่าแบนหรือไม่แบน ตนก็โดนฟ้องอยู่ดี ศาลเรียกให้ไปชี้แจง ตนยืนยันที่จะดำเนินตามคำสั่ง และแน่นอนว่าตน รวมถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีข้อมูลชี้แจงศาลครบถ้วนและชัดเจน มีกระบวนการและมติการแบนที่ถูกต้องตามข่าว

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ขอให้ศาลปกครองกลางรับคำร้องเร่งรัดพิจารณาและมีคำสั่งคำร้องคุ้มครองชั่วคราวในการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้แบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ตามที่ยื่นคำร้องไปตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. ว่า ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน ห้ามส่งออก และห้ามครอบครอง มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เกษตรกรไม่สามารถใช้พาราควอตได้ หากใช้ก็ผิดกฎหมายมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาทโทษสูงกว่าการค้าเฮโรอีน และนำสินค้าไปคืนร้านค้า แต่ก็ไม่ได้เงินคืน เพราะร้านค้าก็ไม่มีเงินมาคืนให้

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่จัดหาสารทดแทนและวิธีการจัดการที่เหมาะสม สร้างความเสียหายต่ออาชีพเกษตรกรทั่วประเทศที่ยังต้องใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับเตรียมสภาพพื้นดินเพาะปลูกช่วงเข้าสู่ฤดูฝน การยื่นคำร้องครั้งนี้หวังว่าศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีและเกษตรกรอีกนับล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างมีการเลิกจ้างงานจำนวนมากสร้างความเสียหายให้ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ผู้บริโภค 1.7 ล้านล้านบาทจำเป็นต้องให้ศาลเห็นความเดือดร้อนจากการประกาศนี้ ซึ่งตอนนี้ควรชะลอไปพลางก่อน เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องสารทดแทน”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ระหว่างนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจะมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีถึงปีหน้า แล้วหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการแก้ไขปัญหา 2 มาตรฐาน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ อย.เห็นตรงกันเรื่อง ความปลอดภัยในการผลิตอาหารของผู้บริโภค ดังนั้น แนวทางกำกับดูแลจะต้องสอดคล้องกับความปลอดภัย เบื้องต้นทาง อย.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่?) พ.ศ. … ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) จนถึงวันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งในระหว่างนี้ทางภาคเอกชนยังสามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ตามประกาศเดิมซึ่งมีความปลอดภัยในระดับที่เข้มงวดกว่าที่ Codex กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่หลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานศึกษาวิธีควบคุมกำหนดให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 มิถุนายน 2563

'ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ' ในพื้นที่ EEC

เมื่อ "น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในการตัดสินใจที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนหรือไม่ ในพื้นที่ EEC แล้วที่ผ่านมาในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญนี้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างไรบ้าง?

“น้ำเสีย” จากภาคอุตสาหกรรมมักถูกสังคมมองเป็นตัวการหรือต้นเหตุของการสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ แต่หากเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้เป็น “น้ำดี” และนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ก็น่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยบรรเทาปัญหาในช่วงวิกฤติน้ำแล้งให้กับพื้นที่ EEC ได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในแผนการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

"เพราะ น้ำ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในการตัดสินใจที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนหรือไม่ ในพื้นที่ EEC"

จากน้ำที่ส่งให้โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อถูกใช้เสร็จจากกระบวนการผลิตต่างๆ แล้ว ก็จะไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบน้ำเสียส่วนกลาง เราก็เอาน้ำเสียมาบำบัดหรือรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการน้ำตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R ซึ่งคุณภาพน้ำที่บำบัดเทียบเท่ากับน้ำในลำคลอง นำมาใช้สร้างพื้นที่สีเขียวและใช้ในกระบวนการระบายความร้อนของโรงงานไฟฟ้าของนิคมฯ ส่วนน้ำเสียที่ถูกรีไซเคิลด้วยระบบ Reverse Osmosis : RO มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำประปา จะถูกนำกลับไปให้โรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำ

จากเดิมที่เคยใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติทางเดียว ปรับมาเป็นการใช้น้ำแบบหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยประหยัดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดได้ถึง 50% เป็นการสร้างแหล่งน้ำทางเลือกสำหรับภาคอุตสาหกรรม นี่คือการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี

ทั้งนี้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของงานวิจัยการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการ "การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการหามาตรการหรือแนวทางการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และรองรับการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมในอนาคตเมื่อ EEC เกิดขึ้นเต็มตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดปริมาณการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมให้ได้อย่างน้อย 15%

การลดการใช้น้ำลง 15% ในภาคอุตสาหกรรม ยังหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำขึ้นอย่างน้อย 15% แม้ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R เข้ามาประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย แต่จะทำอย่างไรให้เป็น "ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ" จึงเป็นที่มาของโครงการ เพื่อหาแนวทางหรือโมเดลที่จะลดการใช้น้ำหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และสามารถขยายผลไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน EEC ต่อไป

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะที่เน้นเทคโนโลยี 3R (Reuse, Reduce and Recycle) กับการใช้ Internet of Thing (IoT) เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น

อีกแนวทางคือการใช้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ช่วยผลักดันให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์ในการรองรับหรือป้องกันปัญหาความขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีกรอบการทำงาน 3 เรื่องหลัก ในระยะเวลา 3 ปี

โดยในปีที่ 1 คัดเลือกอุตสาหกรรมต้นแบบ เพื่อดำเนินการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมต้นแบบรุ่นที่ 1 ที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ลดการใช้น้ำลงอย่างน้อย 15%) โดยใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart System) ด้วยการใช้ระบบ 3R ควบคู่กับการใช้ Internet of Things (IoT) แบ่งเป็นระดับโรงงานและระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมต้นแบบระดับโรงงานรุ่นที่ 1 มีด้วยกัน 15 โรงงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ซ้ำประเภท มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ (S-M-L) และเป็นโรงงานที่มีมาตรการหรือความสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ มีด้วยกัน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ขณะที่สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ศรีราชา อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีศูนย์รวมการบริหารจัดการน้ำภายในนิคม

ในส่วนปีที่ 2 จะเป็นการนำแนวทางหรือโมเดลไปทดลองขยายผลไปยังภาคอุตสาหกรรม หรือ sector อื่นๆ ในพื้นที่ EEC และในการดำเนินงานปีที่ 3 จะเป็นการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม

สำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น มีการจัดทำแบบสำรวจขึ้น 2 แบบ คือ แบบสอบถาม แบ่งเป็นแบบสำรวจข้อมูลการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 2,100 ชุด และแบบสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจในการจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรมสำหรับชุมชนโดยรอบนิคม จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 100 ชุด และแบบสอบถามทาง Web Application จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนำมาวิเคราะห์ผลในเชิงสถิติ ประกอบกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ นิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมในพื้นที่ และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดจัดขึ้น 2 ครั้ง รวมถึงรวบรวมความคิดเห็นจากการประชุม Focus Group เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมต่อไป

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจภายใต้โครงการ คือ การจัดทำเกมกระดานน้ำ ซึ่งโครงการนำมาเป็นเครื่องมือที่จะใช้จำลองสถานการณ์การใช้น้ำ บทบาทของผู้ใช้น้ำ และผู้จัดสรรน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะพัฒนาเกมแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. และนำออกมาใช้ได้ประมาณเดือน ส.ค.นี้

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 มิถุนายน 2563

“สนธิรัตน์” ขอยุติเรื่องการเมือง ลุยบล็อกเชนปาล์ม ยกระดับพลังงาน-เกษตรกร

รมว.พลังงาน เมินการเมือง ลุยคิกออฟ “บล็อกเชนปาล์ม” ยกระดับพลังงาน-เกษตรกร แก้ปัญหาราคาตกต่ำระยะยาว หวังฟื้นเศรษฐกิจไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รักษาการเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงการนำบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการในระบบปาล์มน้ำมัน ว่า กระทรวงพลังงาน พร้อมเข้าสู่เทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างเต็มรูปแบบ ความก้าวหน้าล่าสุด คือ ได้จัดการประชุมผู้ผลิต B100 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเริ่มนำร่องการซื้อ-ขาย ปาล์ม CPO และ B100 ผ่านระบบในแอปพลิเคชัน เพื่อตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคก่อนนำมาใช้ในการซื้อขายจริง ยืนยันว่า ระบบดังกล่าวจะเข้ามาช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในระยะยาวและยั่งยืน เพราะข้อมูลทั้งหมดจะโปร่งใสเห็นกลไกการตลาดทั้งในด้านราคา ตลอดจนปริมาณจากผู้ผลิต และการกำหนดราคาของผู้ซื้ออย่างเป็นธรรม และยังเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันการลักลอบนำเข้า เพราะโรงกลั่นต้องซื้อ CPO จากบล็อกเชนเท่านั้น และทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันและความสมดุลต่อภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทำให้ธุรกิจปาล์มมีการผลิตและเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต

เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ และคณะรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนขอยุติปมประเด็นการเมือง แล้วขอมุ่งหน้าทำงานให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากนายกฯและประชาชน ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น บล็อกเชน เข้ามาช่วยวางรากฐานการยกระดับศักยภาพด้านพลังงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อันเป็นความหวังในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาจากโควิด-19 แล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันและความสมดุลต่อภาคอุตสาหกรรม รวมถึงทำให้ธุรกิจปาล์มมีการผลิตและเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมัน ต้องขับเคลื่อนไปเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเกษตรกร เราใช้มิติพลังงานแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร และโอกาสที่จะขยายไปสู่พืชพลังงานตัวอื่นด้วย เช่น อ้อย และ มันสำปะหลัง

จาก https://mgronline.com  วันที่ 14 มิถุนายน 2563

“สุริยะ” ลั่นงบหมื่นล้านถึงมือ "ชาวไร่อ้อย" สิ้นเดือนมิถุนายน สั่ง “สอน.”เร่งประสาน “ธ.ก.ส.” เตรียมความพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ “สอน.” เร่งประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมความพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต อย่างโปร่งใส ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริงทั้งนี้  สืบเนื่องจากปีนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านตัน แต่ในความเป็นจริงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 74.89 ล้านตันเท่านั้น นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตในการทำไร่อ้อยก็สูงขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะอยู่ที่ 1,110 บาท/ตัน เป็น 1,419 บาท/ตัน“กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จึงได้ผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก ให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และสามารถนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป”อ่านข่าว : “สุริยะ”ดันเงินช่วยเหลือ”ชาวไร่อ้อย” 1 หมื่นล้าน เข้า "ครม." 9 มิ.ย.

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรู้สึกซาบซึ้งในการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยเองก็มีความยินดีพร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลขอความร่วมมืออย่างเต็มที่

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 11 มิถุนายน 2563

4 องค์กรชาวไร่อ้อยยิ้มร่า! แห่ขอบคุณ “บิ๊กตู่” หลังอัดงบหมื่นล้านช่วยเหลือ

4 องค์กรชาวไร่อ้อย ตบเท้าเข้าขอบคุณนายกฯ ภายหลัง ครม.อัดงบฯ หมื่นล้านช่วยเหลือฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 “สุริยะ” ตั้งเป้าเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากให้ผู้บริหาร 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อแสดงความขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

“สืบเนื่องจากฤดูกาลผลิตปี 62/63 ที่ปิดหีบไปนั้นราคาอ้อยตกต่ำมาก และเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านตัน แต่ในความเป็นจริงมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 74.89 ล้านตันเท่านั้น นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตในการทำไร่อ้อยก็สูงขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะอยู่ที่ 1,110 บาท/ตัน เป็น 1,419 บาท/ตัน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าว” นายสุริยะกล่าว

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นเงินสนับสนุนซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยรายเล็ก ให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็น และสามารถนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมความพร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมทั้งกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต อย่างโปร่งใส ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริง

นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรู้สึกซาบซึ้งในการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยเองก็มีความยินดีพร้อมปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลขอความร่วมมืออย่างเต็มที่

จาก https://mgronline.com  วันที่ 11 มิถุนายน 2563

บริษัทข้ามชาติฟ้อง”สุริยะ” รุมต้านแบน”พาราควอต”

แบน “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” วุ่นไม่จบ กระทรวงอุตสาหกรรม-บอร์ดวัตถุอันตราย-กรมวิชาการเกษตร ฯลฯ เจอ 2 คดีรวด”ซินเจนทา ครอปฯ” ผู้นำเข้าสารเคมีสัญชาติสวิส-เลขาสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยื่นฟ้องศาลปกครองกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอคุ้มครองชั่วคราว ประธานสภาหอการค้าฯชี้กระทบนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าในประเทศ ตั้งคณะทำงานถก อย.หาทางออก

กว่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงจนมีมติ “ให้ยกเลิก” การใช้ “พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส” และเตรียมกำหนดการใช้ “ไกลโฟเซต” เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง แต่เรื่องยืดเยื้อมานาน

เนื่องจากมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและคัดค้าน และหลังวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ขึ้นบัญชีวัตถุอันตราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 63 เป็นต้นไป ส่วนไกลโฟเซตนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่นายสุริยะเป็นประธาน ได้ลงมติยกเลิกการแบน และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการจำกัดการใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562 ล่าสุดมีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว

ปมสารพิษยื่นฟ้อง 2 คดีรวด

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจสารเคมีการเกษตรเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการในวงการธุรกิจสารเคมีการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรกำลังจับตามองและติดตามความคืบหน้ากรณี บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำเข้าสารเคมีรายใหญ่ ยี่ห้อทางการค้ากรัมม็อกโซน และแกนนำเกษตรกรผู้สนับสนุนการใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีหมายเลขดำที่ส.12/2563 (ยังไม่ออกคดีหมายเลขแดง) เรื่องตามกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางการปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการวัตถุอันตราย, กรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รวม 5 ราย คำฟ้องอ้างถึงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 และคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 750/2563 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิด 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว และคำสั่งดังกล่าว จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

ขอศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ส่วนอีกสำนวนเป็นคดีหมายเลขดำ ส.10/2563 ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ที่ 1 รวมกับพวก 11 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1 กับพวก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร โดยคำฟ้องระบุว่า ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงอุตสาหกรรม) กับมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการวัตถุอันตราย) ที่ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงชนิดวัตถุอันตราย ลำดับที่ 53 คลอร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์ (บิส เมทิลซัลเฟต) จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 11 คน ได้รับผลกระทบจากมติและประกาศดังกล่าว ขอให้ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา กระบวนการต่อจากนี้ไป ต้องรอศาลจะเรียกไต่สวนคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย

เลขาสมาพันธ์เกษตรฯร้องศาล

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันที่ 27 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา ตนและตัวแทนเกษตรกรได้เดินทางไปที่ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราวการใช้สารพาราควอตในการทำการเกษตรกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรต้องได้เริ่มทำการเกษตรแล้ว แต่ติดปัญหาไม่สามารถใช้สารเคมีพาราควอตกำจัดศัตรูพืชได้ ส่งผลให้การทำเกษตรล่าช้า สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้กรมวิชาการเกษตร หาแนวทางการเยียวยาและหาสารทดแทนซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป แต่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว หากใครฝ่าฝืนมีไว้ในครอบครองมีโทษหนัก จำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรวิตกกังวลใจ บางคนยังมีสารพาราควอตแต่ไม่กล้านำมาใช้

“ส่วนสารทดแทน หรือสารกลูโฟซิเนต ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บอกว่าสามารถนำมาทดแทนพาราควอตในการกำจัดศัตรูพืช แม้ทำได้จริงแต่ไม่เข้มข้น จึงต้องใช้ปริมาณมาก เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะเกษตรกรซื้อพาราควอตไว้แล้ว หากต้องเสียเงินซื้อสารดังกล่าวเพิ่มอีก อาจทำให้ขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเพาะปลูก”

ปลัดเกษตรฯมึนยังไม่เจอทางออก

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ทราบเรื่องการยื่นฟ้องของเอกชนแล้ว แต่อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ อยู่ที่บอร์ดวัตถุอันตราย ยอมรับว่าปัญหาที่พบมีมาก เช่น กรณีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐอเมริกา คงต้องหาทางออกร่วมกันทุกฝ่าย แต่กติกาสากลกำหนดอยู่แล้วว่า สารตกค้างเป็นกฎหมายสาธารณสุข ไม่แน่ใจว่าจะเคลียร์เรื่องนี้อย่างไร ตนได้หารือกรมวิชาการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในทางปฏิบัติที่เป็นปัญหาข้อร้องเรียน เพราะก่อนหน้านี้ ตามนโยบายภาคเกษตร ภาครัฐเดินหน้าขับเคลื่อนมาตลอด มีการแบนสารที่อันตรายกว่า 100 รายการ ทุกคนยอมรับได้ และทุกครั้งที่แบนต้องเห็นพ้องต้องกันในแนวทาง แต่กรณีนี้ยังเห็นต่างจึงเกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบกรณีเป็นสินค้านำเข้าที่ไม่สามารผลิตในประเทศได้ หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปศึกษาว่า จะมีแนวทางไหนสามารถกำหนดค่าสารตกค้างการนำเข้าให้ต่ำที่สุดได้ แม้ปัจจุบันค่ามาตรฐานที่ใช้กำหนดโดยโคเด็กซ์

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหาทางออก ภายหลังจากการบังคับใช้ประกาศตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกระทบการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าในประเทศ เพราะประกาศดังกล่าว

กำหนดให้ต้องไม่มีส่วนผสมของการใช้สารเคมีดังกล่าวเลย หรือให้เป็น 0% ซึ่งเป็นระดับมาตรฐานที่เข้มงวดสูงเกินกว่ามาตรฐาน Codex ทำให้ไทยอาจจะไม่มีวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ทางออกต้องสรุปว่ามีแนวทางใดหรือไม่ที่จะผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีสารดังกล่าวปนอยู่ในระดับเดียวกับมาตรฐานสากล Codex

“หอการค้าคงไม่ร่วมกับบริษัทดังกล่าวฟ้องศาลปกครอง หากฟ้องร้องก็อาจทำเฉพาะในส่วนของหอการค้าเอง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้มีการฟ้อง กำลังหาทางออกร่วมกับ อย. โดยจะหารือกันสัปดาห์นี้ เราห่วงเกษตรกรด้วย หากห้ามต้องมีแนวทางหรือมีสารใช้ทดแทน ต้องมีทางออกให้เกษตรกรด้วย”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 มิถุนายน 2563

บาทแข็งค่าไม่หยุด นักวิเคราะห์ชี้อาจหลุด 31 บาท กระตุ้นเทขายดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 11 มิถุนายน อยู่ที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.95-31.15 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและขายทำกำไรหุ้นทั่วโลกเมื่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงว่ามีการหารือเกี่ยวกับ “มาตรการควบคุมบอนด์ยีลด์ในสหรัฐ” แต่ไม่มีข้อสรุปว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดผิดหวัง

ดัชนี S&P500 ของสหรัฐติดลบทันที 0.5% ขณะที่ euro Stoxx 50 ของยุโรปก็ปรับตัวลง 0.8% สวนทางกับบอนด์ยีลด์ทั้งโลกที่ลดลงทั้งที่เฟดไม่มีนโยบายการเงินใหม่ เห็นได้จากยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่เหลือเพียง 0.73% ลดลง 9.2bps ขณะเดียวกันแรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าก็ดันให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น 1.2%

ส่วนข้อมูลด้านอื่นๆของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ที่น่าสนใจคือการที่เฟดประกาศลดทอน QE จากระดับไม่จำกัด (Unlimited) เป็นการตั้งเป้าซื้อสุทธิเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ และประมาณการเศรษฐกิจในปี 2020-2021 โดยมองอัตราการว่างงานที่ 9.3% และ 3.6% และเงินเฟ้อที่ 1.0% และ 1.5% ตามลำดับ สะท้อนมุมมองของ FOMC (Dot Plot) ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่เกิดขึ้นในสองปีนี้

ภาพดังกล่าวส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยในคืนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นเพียงระยะสั้นจากการปรับตัวลงของหุ้นแต่ท้ายที่สุดก็ปรับตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ส่วนในฝั่งของเงินบาท ก็ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ครั้งนี้เช่นกัน

“ในระยะสั้นเชื่อว่าจุดที่ต้องระวังคือระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับทางจิตวิทยาของผู้ส่งออก ถ้าเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดอาการตกใจและเทขายดอลลาร์เพิ่มขึ้นด้วย”ดร.จิติพล กล่าว

 จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 11 มิถุนายน 2563

กกร.หนุนรัฐเข้าร่วมเจรจา CPTPP หากเสียมากกว่าได้ยังมีเวลาถอนตัว โยงสหรัฐถอนตัวปี 60

นายปรีดี  ดาวฉาย  ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ “กกร” ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีข้อสรุปในเรื่องข้อตกลงที่ครอบคุลมและความก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ "CPTPP" โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาจะทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนค่อนข้างมาก  และใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก  เริ่มตั้งแต่การขอเข้าร่วมเจรจากับภาคึ  ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่มีผลบังคับใช้แล้วประมาณ 7 ประเทศ และรอการผ่านขั้นตอนตามกฎหมายอีก 4 ประเทศ

เพราะฉะนั้น ขั้นตอนต่าง ๆ หลังจากนั้นก็ต้องนำมาเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็มีการรับประชาพิจารณ์  และสุดท้ายกว่าจะมีผลผูกพันได้  ก็จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบ  ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้  คาดว่าหากดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี  เพราะฉะนั้น  หากไม่เริ่มวันนี้  ไทยก็จะไม่สามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศได้

อย่างไรก็ตาม  หากในวันข้างหน้าพบว่ามีประเด็นปัญหาที่ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่จะได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าสิ่งที่จะเสียไป  การถอนตัวในระยะข้างหน้าก็สามารถทำได้  เหมือนกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถอนตัวในปี 2560 โดยเวลานี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าประโยชน์  หรือโทษที่มีวันนี้คืออะไร  เพราะฉะนั้น  กกร.จึงเห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์กับไทย  เพื่อให้ไทยทราบถึงข้อตกลง  และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก  โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

“การเจรจาเรื่อง CPTPP เข้าใจว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 หัวข้อ ปัจจุบันเท่าที่ประเมินว่าข้อใดไทยได้ประโยชน์  ข้อใดไทยเสียประโยชน์นั้น  มองว่ายังไม่ใช่ข้อสรุป  เพราะกระบวนในการเข้าไปเจรจายังไม่ถึงจุดที่ว่าจะสรุปอย่างไร ส่วนใดได้ประโยชน์  ส่วนใดเสียประโยชน์  ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดปีไหน  เมื่อจบแล้วจึงจะนำมาสู่การพิจารณาของ ครม. และการทำประชาพิจารณ์  ถึงจะไปสู่ขั้นตอนของรัฐสภา  โดยสหรัฐฯเองเข้าร่วมอยู่ประมาณ 3-4 ปี แล้วมีการถอนตัว ด้วยความรู้สึกว่าเสียเปรียบก็ยังสามารถทำได้”

 อย่างไรก็ดี  หากถามว่าไทยจะไม่เข้าร่วม CPTPP ได้หรือไม่  ก็คงจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศคืออะไร  หากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งทางการค้าโดยธรรมชาติ  หากประเทสเหล่านั้นเข้าร่วมไปแล้ว  นั่นหมายความว่าไทยจะไม่สามารถเข้าไปค้าขายในกลุ่มดังกล่าวนั้นได้อย่างสะดวกสบาย  หรือได้รับสิทธิ์พิเศษเหมือนประเทศที่อยู่ในกลุ่ม  ซึ่งก็จะเป็นความเสียหายอีกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นตัวเลขมากน้อยเพียงใ

“ยกตัวอย่างทาง EU ซึ่งจะมีข้อตกลงเหล่านี้  โดยที่ในเบื้องต้นข้อตกลงบางส่วนจะมีความคล้ายคลึงกัน  หากเราบอกว่าเราไม่ไปทำเลย  เราก็จะไปตกลวกับใครไม่ได้  ซึ่งอาจจะต้องค้าของอยู่คนเดียว  โดยเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องไปบอกว่าไม่ร่วม  หรือร่วม  ซึ่งคงต้องให้เวลาเพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน  โดยเท่าที่ทราบข้อมูลที่มีการประเมินตัวเลขในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะเก่า  ซึ่งอาจจะทำให้การคาดการณ์ไปในระยะข้างหน้าอาจจะไม่แม่นยำ  เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเหตุในหลายๆข้อที่เหตุใด  กกร. ถึงประเมินว่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปร่วมเจรจาควรจะเกิดขึ้น  หากไม่ร่วมปีนี้รออีก 1 ปี ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกก็จะมีสมัครเข้าไป  เราก็ยิ่งช้า  และความยากลำบากในการทำงานก็จะมีมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม  ต้องเรียนว่านี่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคี  เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะต้องรอเวลาจนทุกอย่างชัดเจน  หลังจากนั้นจึงค่อนมาสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง  โดยการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาครัฐ  ซึ่งเป็นข้อดีที่ภาครัฐเองพยายามฟังความเห็นของทุกภาคส่วน  โดยกระบวนการในลำดับถัดไปคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนสิงหาคม  เพราะฉะนั้นภาครัฐก็น่าจะตัดสินให้ทันก่อนที่ภาคีจะมีการประชุม  และแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วมหรือไม่  หากไม่เข้าร่วมก็ถือว่าสิ้นสุด

 “รายละเอียดเรื่องสัญญาต่างๆคงจะต้องมาหารือกัน  และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด  เพราะเรื่องดังกล่าวนี้ค่อนข้างครอบคลุมหลายภาคส่วน  ซึ่งจะทำให้ได้รับปลกระทบทางบวกและลบที่ไม่เหมือนกัน  ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนให้ชัดเจน  แต่อย่างเพิ่งไปกังวลล่วงหน้า เพราะ กกร. เองก้ยังไม่ทราบว่าผลที่จะออกมานั้นเป็นอย่างไร แม้กระทั่งการเข้าไปเจรจาก็อาจจะยังไม่สามารถตอบได้  แต่หากไม่เข้าไปเลยก็จะไม่รู้อะไรเลย  โดยสิ่งที่น่าห่วงคือหากประเทศอื่นจับมือกันค้าขายแล้วไทยไม่เข้าร่วมกลุ่ม  ซัพพลายเชนหรือผู้ที่มาลงทุนในไทย  เห็นว่าประเทศอื่นมีผลประโยชน์ทางการลงทุนที่มากกว่าก้อาจจะย้ายฐานการลงทุนได้  ซึ่งจะเป็นความเสียหายอีกด้านหนึ่ง”

 ขณะเดียวกัน  ไม่ใช่ว่า กกร. จะรู้สึกว่าส่วนที่เสียอย่างที่เป็นห่วงเรื่องของพรรณพืช  ก็จะต้องประมวลรวมมาทั้งหมด  แต่วันนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนในมุมแบบนั้น           

นายสุพันธุ์  มงคลสุธี  ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า  แม้ไทยจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP แต่เมื่อถึงเวลาก็ยังจะต้องเข้าสู่กลไกอีกหลายภาคส่วน  ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์  การนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งกว่าจะผ่านขั้นตอนทั้งหมดต้องใช้ระยะเวลาหลายปี  อีกทั้งทุกขั้นตอนก็สามารถระงับได้  หากเห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์มากกว่าได้

สำหรับ กกร. เองได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีนายสนั่น  อังอุบลกุล  รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นประธาน  และมีการประชุมโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ  และผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้ามารวบรวมข้อมูลแล้ว 1 รอบ หลังจากนั้นก็จะมีการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนแบบตกผลึกว่าอะไรที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญในการเข้าไปเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ได้  ส่วนเรื่องของการลงทุนเวลานี้ไม่ใช่แค่เพียงแค่การซื้อขาย  แต่เป็นเรื่องของการลงทุน  เดิมทีในอดีตทุกคนจะพูดถึงเรื่องห่วงโซ่อุปทานของโลก (Global Supply Chain) ประเทศใดน่าสนใจก็ไปลงทุนที่นั่น

แต่หลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป  จะกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานท้องถิ่น (Local Supply Chain) เป็นหลัก  เพราะฉะนั้นโอกาสของการปรับย้ายการลงทุนจะมีเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในอนาคต  เพราะนักลงทุนจะพยายามรวมจุดในจุดที่ได้ประโยชน์มากที่สุด  จะไม่กระจายไปหลายจุด  ซึ่งจะเปลี่ยนวิถีของโลก

 นายกลินท์  สารสิน  ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทั้ง 3 องค์กรเห็นด้วยที่รัฐบาลควรจะเข้าไปร่วมเจรจา เพื่อให้รู้เขารู้เราว่าเป็นอย่างไร  โดยอีกไม่นานจะมีการจัดสัมมนา  เพื่อนำข้อมูลที่แท้จริงมาชี้แจงให้ได้ทราบว่า CPTPP คืออะไร  และประชาชนเองก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้วยว่ามีความเป็นห่วงด้านไหน  อย่างไรเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับรัฐบาล

“การสัมมนาจะช่วยในเรื่องของการรวบรวมข้อมูลในส่วนที่ไม่เห็นด้วย  เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลเวลาไปเจรจาต่อรอง ซึ่งจะเป็นข้อสังเกตไป  โดยหากเห็นว่าไทยจะเสียประโยชน์ ทั้ง 3 องค์กรจะออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 มิถุนายน 2563

เขื่อนทั่วไทยน้ำยังวิกฤติ 447 แห่งใหญ่-กลางรอฝนเติม

กรมชลเผยสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 447 แห่งทั่วประเทศเฉลี่ยน้ำใช้การได้แค่ 17% ของความจุ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 2.3 ล้านไร่

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2563 ว่า 1.ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 32,657 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็น43% ของความจุอ่างฯ  ปริมาณน้ำใช้การได้ 9,005 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 17% ของความจุน้ำใช้การ

ทั้งนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่าง จำนวน 31 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่กวงอุดมธารา กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน แม่มอก ห้วยหลวง  น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ลำนางรอง สิรินธร ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล ประแสร์ นฤบดินทรจินดา แก่งกระจาน และปราณบุรี

2.สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ)มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 7,826 ล้าน ลบ.ม. (32% ของความจุอ่างฯ) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,130 ล้าน ลบ.ม. (6% ของความจุน้ำใช้การ)

 3. ผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2562/63

ทั้งประเทศ แผนการจัดสรรน้ำ 11,975 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,291 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27

เจ้าพระยา แผนการจัดสรรน้ำ 3,250 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,180 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36

 4. แผน-ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 ในเขตชลประทาน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย.63)

ทั้งประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 2.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 13.59 ของแผน

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.1 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 1.18 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 14.53 ของแผน โดยพื้นที่ทุ่งบางระกำ แผนเพาะปลูก 265,000 ไร่ เพาะปลูกแล้ว 265,000 ไร่ คิดเป็นเป็นร้อยละ 100 ของแผน

5. คุณภาพน้ำ วันที่ 10 มิ.ย.63 เวลา 05.00 น. : แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี (สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวัง) สะพานพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี (ปกติ) ทั้งนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี (ปกติ) แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา (ปกติ) และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดำเนินสะดวก (ปกติ)

6. จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562 จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ตาก บึงกาฬ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และชลบุรี รวมทั้งสิ้น 110 อำเภอ 591 ตำบล 5,387 หมู่บ้าน/ชุมชน 4 เทศบาล (ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ วันที่ 9 มิ.ย. 63)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 มิถุนายน 2563

พาณิชย์-เกษตร ตั้งคณะทำงานร่วม  ผลักดันเกษตรวิถีใหม่

พาณิชย์ -เกษตร ประกาศจับมือร่วมกันทำงานอย่างจริงจังสู่การทำเกษตรวิถีใหม่ ตั้งคณะทำงานร่วม 2 กระทรวง เป้าหมายสร้างไทย เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตร และอาหารคุณภาพของโลก เพิ่มรายได้เกษตรกร ดันจีดีพีประเทศขยายตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงวิสัยทัศน์  “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิตซึ่งทั้ง 2 กระทรวง ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมีปลัดกระทรวง ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจนในรูปแบบของเกษตรวิถีใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เน้นแผนงานในการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อใช้ข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์ม ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในภาคการผลิต การแปรรูปและการตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าเกษตรไทยในด้านคุณภาพความปลอดภัย และพัฒนาคนรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด

และที่สำคัญคือการตลาดทั้งภายในประเทศเอง ที่จะจัดทีมเซลล์แมน ของพาณิชย์จังหวัดและผู้ประกอบการ ส่วนตลาดต่างประเทศ จะใช้ทูตพาณิชย์และผู้ส่งออก มาเป็นทีมเซลล์แมน  ร่วมกันทำตลาดทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ทันท่วงที  โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับเกษตรกรไทย ให้ก้าวพ้นจากความยากจน ที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัว

“ทั้ง 2 กระทรวงจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยมีปลัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลตัวเลขการค้าเพื่อกำหนดเป้าหมายอีกครั้ง ท้งนี้สินค้าเกษตร 5 ตัว คือพืช ปศุสัตว์ ประมง เกษตรแปรรูป และเกษตรบริการที่จะมีการผลักดัน โดยคณะทำงานชุดนี้จะต้องรายงานกับมาที่ตนโดยเร็ว”

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้า "เกษตรทันสมัย" "เกษตรปลอดภัย " ทำเกษตรในรูปแบบสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้เพื่อทำการผลิตอย่างแม่นยำ ผลิตสินค้ามูลค่าสูง มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และตรวจสอบย้อนกลับได้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยเน้นรูปแบบของเกษตรสมัยใหม่ ทั้งเกษตรรวมกลุ่ม เกษตรนวัตกรรม เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียง โดยมีกลุ่มสินค้า ประกอบด้วย พืช ปศุสัตว์ ประมง แปรรูป และเกษตรบริการ โดยเกษตรทันสมัย จะต้องมี คุณภาพสินค้าทั้ง 1.สินค้าทั่วไป 2.สินค้ามาตรฐาน  (GAP GMP ฮาลาล ฯลฯ) 3.สินค้าพรีเมียม ( GI ออร์แกนิค นวัตกรรม ฯลฯ)

"เราส่งเสริม Smart farmer and young smart farmer เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรจากรูปแบบเดิม ถ้าเราผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพต่ำ เราจะไม่สามารถก้าวผ่านความเป็นประเทศยากจนได้ หากเกษตรกรอยู่ดีกินดี เราจะสามารถพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การเกษตรเกี่ยวกับคนไทยทั้ง 70 ล้านคน และโควิด-19 ทำให้วิถีการเกษตรเปลี่ยนไป กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่นำเงินเข้าประเทศ ภาคเกษตรจะต้องเข้าสู่เกษตรปลอดภัย ซึ่งคือเกษตรกรต้องปลอดภัยด้วย ผู้ผลิต ผู้บริโภคต้องปลอดภัยด้วย เราได้เริ่มทำมาแล้วหนึ่งปี ซึ่งจะได้ย่างก้าวไปสู่เกษตรอินทรีย์ ทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างระบบ หากเกษตรกรได้ทราบข่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับ กาะทรวงเกษตร เขาจะรู้สึกว่าเขามีอนาคตแล้ว เขาจะไม่ถูกทิ้ง เพราะภาครัฐจะหาเงินเพิ่มในกระเป๋าเขา แต่เราต้องเริ่มเดินไปพร้อมๆกัน " นายเฉลิมชัย กล่าว

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรได้เริ่มการค้าออนไลน์ มีการทำ mou กับ Lazada ,grab ,shopee แต่ออฟไลน์ก็มีความสำคัญ ได้ทำ mou กับเทสโก้ โลตัส และแม็คโคร เพื่อนำสินตค้าเกษตรคุณภาพสู่มือผู้บริโภค ยอมรับว่ากระทรวงเกษตรฯไม่ได้เป็นมืออาชีพด้านการขาย แต่การได้กระทรวงพาณิชย์มาช่วยวันนี้จะช่วยได้อีกมาก วันนี้พาณิชย์จะจับมือกับเกษตรพาเกษตรกรก้าวผ่านความยากจนไปได้ ความร่วมมือในวันนี้เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ และภาคเกษตรเป็นความความหวัง ในยุคโควิด-19 ฉะนั้นวันนี้ เราต้องทำให้ดีที่สุดร่วมกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 มิถุนายน 2563

ส่อง"เคส ไอเอช"รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งเพื่อชาวไร่อ้อย

ถ้านึกถึงรถตัดอ้อยที่คุ้นชินชาวไร่ ต้องนึกถึงจอห์น เดียร์ รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งสัญชาติอเมริกันที่อยู่คู่กับเกษตรชาวไร่มาหลายทศวรรษแม้จะมีคู่แข่งอย่างคูโบต้า รถตัดอ้อยจากแดนอาทิตย์อุทัยมาร่วมแจมส่วนแบ่งการตลาด แต่ก็ไม่สามารถทำ จอห์นเดียร์ ได้มากนัก

วันดีคืนดีก็มีรถตัดอ้อยสัญชาติอเมริกันอีกราย เคส ไอเอช(Case IH) ของซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล หวังเข้ามาเจาะตลาดอ้อยเมืองไทย ที่ผ่านมาส่งเข้ามาทำตลาดหลายรุ่นและได้รับการตอบรับจากชาวไร่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น A8000 ซีรีส์  8800 ซีรีส์ หรือ A 4000 ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วส่ง  A8010 ซีรีส์และA8810 ซีรีส์  ขายหมดเกลี้ยงทั้ง 16 ตัว โดยสองตัวนี้ระบบทุกอย่างเหมือนกันจะต่างกัน ที่ล้อ  A 8010 ซีรีส์เป็นล้อยาง ขณะ A8810 ซีรีส์เป็นล้อตะขาบ(ล้อเหล็ก)          

เคส ไอเอช(Case IH)นั้นได้ถูกพัฒนามาจากรถตัดอ้อยของ AUSTOFT บริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1960 ก่อนที่ทางบราซิลได้เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ สร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่อยู่ใกล้เมืองซานเปาโล ประเทศบราซิล ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย)นอกจากนำเข้ารถใหม่แล้วยังนำเข้ารถตัดอ้อยมือสองจากบราซิลด้วย

 ปัจจุบันบราซิลผลิตและส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ1 ของโลก  ขณะที่ประเทศไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน บราซิลผลิตน้ำตาลได้สูงสุดเฉลี่ย 37 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณการผลิต 10-11 ล้านตันต่อปี ส่งออกถึง 85% หรือกว่า 8 ล้านตัน ปัจจุบันบราซิลใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคนมากกว่า 95% ขณะที่ประเทศไทยยังใช้แรงงานคน 70% มีรถตัดอ้อยใช้งานอยู่ประมาณ 3,000 คัน จากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศรวม 47 จังหวัด 

เมื่อ 2 ปีที่แล้วซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) นำเข้ารถตัดอ้อยสองรุ่นล่าสุด Austoft 8010 ซีรีส์และAustoft 8810 ซีรีส์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของรถตัดอ้อยบนโลกใบนี้ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างถล่มทลาย ฟังจาก วิศว์ จูผาวัง ผจก.ฝ่ายขายซีเอ็นเอชฯบอกว่าที่ผ่านมามียอดขายไปแล้วสิ้น16 คัน สนนในราคาคันละ 12.2 ล้านบาท  

 ที่จริงซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย) ไม่ใช่หน้าใหม่ในบ้านเรา แต่ได้เข้ามาทำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2495  ภายใต้แบรนด์ New Holland Agriculture หรือที่รู้จักรถไถในแบรนด์ฟอร์ด(Ford) ก่อนต่อยอดมาสู่รถตัดอ้อยที่ซีเอ็นเอช นำเข้าทั้งรถใหม่และรถมือสอง ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยหลากหลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือ เคซีเอ(KCA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง นครสวรรค์สตีล(NKS)กับโรงงานน้ำตาลประจวบฯหรือเคซีฟาร์ม ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคกลางและภาคตะวันตกเกือบทั้งหมด ภายใต้การคุมบังเหียนของบอสใหญ่ที่ชื่อ”สมนึก ประธานทิพย์” ที่รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS)

 นครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS) ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรรายใหญ่เพื่อชาวไร่อ้อย มีทุกอย่างยกเว้นรถตัดอ้อย การจับมือกับเคซีฟาร์มเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถตัดอ้อยจากซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย)ครั้งนี้ก็เท่ากับการสร้างอาณาจักรนครสวรรค์สตีลอย่างครบวงจร

 "สมนึก"เกิดในครอบครัวทำธุรกิจโรงเหล็กโรงกลึงอยู่ที่มหาชัยก่อนย้ายไปสร้างโรงงานใหม่ที่ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์เมื่อปี 2537 เพื่อผลิตเครื่องจักรกลการการเกษตรเกี่ยวกับการผลิตอ้อยแบบครบวงจรตั้งแต่เตรียมดินยันการเก็บเกี่ยว

 ฟังมุมมองของ"สมนึก"ระหว่างประชุมตัวแทนจำหน่ายรถตัดอ้อยยี่้ห้อ เคส ไอเอช(Case IH)ที่โรงงานของบริษัท นครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS)จำกัด ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้น  เขาบอกว่าไม่ใช่แค่การหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเท่านั้น  แต่ต้องสร้างองค์ความรู้กระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย จึงเป็นที่มาของ“โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่สำหรับการปลูกอ้อยจุดประกายให้กับชาวไร่ ไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ที่เขาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2558

 “โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” ที่มีเขารั้งผู้อำนวยการฯในวันนี้ ได้ทำการเปิดอบรมแก่ลูกหลานเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากทั่วประเทศ ปีละ 8-10 รุ่น ๆ ละ 40 คน ใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน แบ่งเป็นในห้องเรียน 1 วัน และออกภาคสนามอีก 1 วัน เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันเปิดอบรมไปแล้ว 36 รุ่น จำนวน 1,400 คน  กลุ่มชาวไร่อ้อยรายใดสนใจรถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดหรือต้องการเข้าร่วมฝึกอบรมในโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS สอบถามรายละเอียดเพื่มเติมได้ที่บริษัท นครสวรรค์สตีล จำกัด ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โทร.056-380006-7 ในวันทำการ"

จาก https://www.komchadluek.net   วันที่ 10 มิถุนายน 2563

ร้องศาลปกครองเร่งคุ้มครองชั่วคราวแบน 2 สารพรุ่งนี้

กลุ่มเกษตรกรผู้ร้องศาลปกครองจะยื่นคำร้องให้ศาลเร่งรัดการพิจารณาและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ให้เกษตรกรที่ผลกระทบจากการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสวันพรุ่งนี้  ชี้เกษตรกรเดือดร้อนเข้าสู่ฤดูฝนต้องใช้สารเคมีทางการเกษตรดังกล่าวสำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูก

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) จะให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเร่งรัดพิจารณาและมีคำสั่งคำร้องคุ้มครองชั่วคราวในการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์จากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้แบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยจะมีเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากไปร่วมแสดงออกถึงความทุกข์ร้อนบริเวณหน้าศาลปกครองกลางด้วย

ทั้งนี้ ได้ร่วมกับเกษตรกรอีก 10 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ลำไย ลองกอง มะม่วง ทุเรียนกล้วย และมะนาว ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมว่าได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นผลให้ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามนำผ่าน ห้ามส่งออก และห้ามครอบครอง มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากประกาศกระทรวงเป็นอย่างมาก ศาลได้รับคำฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.10/2563 โดยมีผู้ถูกฟ้อง 4 ราย คือ กระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย และกรมวิชาการเกษตร ศาลแจ้งว่าจะเร่งพิจารณาคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในการออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือประกาศและกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยไม่ชักช้า ซึ่งขณะนี้เวลาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องทั้ง 11 คน จึงจะยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินจัดหาสารทดแทนและวิธีการจัดการที่เหมาะสมเสียก่อน การกระทำดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่ออาชีพเกษตรกรทั่วประเทศที่ยังต้องใช้พาราควอต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชและคลอร์ไพริฟอสเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับเตรียมสภาพพื้นดินเพาะปลูกช่วงเข้าสู่ฤดูฝน โดยการยื่นคำร้องครั้งนี้หวังว่าศาลจะมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ฟ้องคดีและเกษตรกรอีกนับล้านคนทั่วประเทศ.-สำนักข่าวไทย

จาก https://www.mcot.net    วันที่ 10 มิถุนายน 2563

ครม.เคาะเงินช่วยไร่อ้อย พร้อมดันกม.เก็บภาษี ‘อี-บิสซิเนส’

คณะรัฐมนตรี(ครม.)ประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่ ครม.เคยอนุมัติในหลักการไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เห็นชอบครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วงเงิน 6,500 ล้านบาท สำหรับชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกรายในอัตราตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน และวงเงิน 3,500 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อยในอัตราตันละ 92 บาท (ตามมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาอ้อย)

นอกจากนี้ ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น โดยผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง อาทิ เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น ให้บริการรูปแบบต่างๆเช่น ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม ซึ่งทำให้สามารถซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ได้

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ครม.จึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

ขณะที่สาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศและมีการใช้บริการนั้นในประเทศ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ

สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้

ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ หากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ พระราชบัญญัตินี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่างวันที่ 14-29มกราคม 2563 แล้ว คาดว่าเมื่อร่างพระราชบัญญัติe-Business บังคับใช้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศต่างๆ ที่ให้บริการและมีรายได้ในไทยต้องจดทะเบียนเสียภาษีกับกรมสรรพากร ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐ คาดว่ากระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและเกาหลี ก็ใช้กฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งได้ผลมาแล้ว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 มิถุนายน 2563

บาทเปิดเช้านี้แข็งค่า31.35 นักวิเคราะห์ชี้ผันผวน เฟดกดดันตลาด

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 10 มิถุนายน อยู่ที่ระดับ 31.32 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐในวันนี้ โดยดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 ปรับตัวลงราว 0.8% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีถอยกลับมาที่ระดับ 0.82% หรือลดลง 5.3bps และราคาทองคำฟื้นตัวขึ้น 1.0% มาที่ระดับ 1715 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุน มองว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นเร็วกว่าเศรษฐกิจมากเกินไปจึงขายทำกำไรและกลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน

อย่างไรก็ดี ด้านตลาดเงินดูจะยังมีแนวโน้มดอลลาร์อ่อนต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของเงินเยน ที่แข็งค่าอย่างรวดเร็วขึ้นมาถึง 0.7% และเงินยูโรที่ยังอยู่เหนือระดับ 1.13 ดอลลาร์ต่อยูโร มีเพียงการย่อตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่กดดันให้ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และนิวซีแลนด์ (NZD) ปรับตัวลงราว 0.7- 0.8% ในคืนวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนของเงินบาท ระยะสั้นถือว่าแข็งค่าต่อเนื่องนานกว่าสกุลเงินภูมิภาคเล็กน้อย เชื่อว่ามาจากแรงซื้อของ ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศตามการการอ่อนค่าของดอลลาร์รับภาพวัฏจักรของเศรษฐกิจรอบใหม่

“เชื่อว่าวันนี้เงินบาทจะอ่อนค่าลงบ้างจากแรงขายทำกำไรก่อนหน้าการประชุมเฟด โดยมีผู้ค้าในตลาดบางกลุ่มเชื่อว่าเฟดจะใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะมีนโยบายตามที่หวังไว้หรือไม่ และตลาดการเงินจะตอบรับกับท่าทีของเฟดในครั้งนี้อย่างไร”ดร.จิติพล กล่าว

 จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มิถุนายน 2563

เฮ ! ครม.ทุ่มงบ 10,000 ล้าน ช่วยชาวไร่อ้อย

รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.ไฟเขียวอนุมัติงบ 10,000 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภัยแล้งกว่า 300,000 ราย

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (9 มิถุนายน 2563) ว่า ที่ประชุมครม.รับทราบอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามที่ครม.ได้เคยอนุมัติในหลักการไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก และเป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดนำส่งโรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเผาอ้อยอันเป็นสาเหตุการเกิดฝุ่น

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เห็นชอบในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ในวงเงิน 6,500 ล้านบาท สำหรับชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ในอัตราตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน และวงเงิน 3,500 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ในอัตราตันละ 92 บาท (ตามมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาอ้อย)

“รัฐบาลมีความห่วงใยต่อความเดือนร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งปัจจุบันนี้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยตกต่ำลงมาก มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 74.89 ล้านตัน (7.25 ตันต่อไร่) จากที่คาดการณ์ไว้ 100 ล้านตัน (9.16 ตันต่อไร่) และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,419 บาทต่อตัน จาก 1,110 บาทต่อตัน โครงการช่วยเหลือฯนี้ คาดว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 300,000 ราย” ดร.รัชดา รองโฆษกรัฐบาล กล่าวย้ำ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เร่งเครื่องเจรจา FTA ไทย-อียู ช่วยดันจีดีพีไทยโต 18 ล้านล้าน

พาณิชย์เร่งเครื่องเตรียมเปิดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ชี้ได้มากกว่าเสีย ช่วยสร้างแต้มต่อการค้า-ลดต้นทุนภาคธุกิจ ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากบริการที่ถูกลง ดันจีดีพีไทยโต 18 ล้านล้านบาท เพิ่มโอกาสเจาะตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐอียู 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ยังผันผวนจากผลกระทบสงครามการค้า จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่าเงินและอื่น ๆ การมีความตกลงการค้าเสรี(FTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้างแต้มต่อสินค้าไทยในตลาดเป้าหมาย และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ หนึ่งในนั้นคือเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู)ที่ไทยมีแผนเตรียมเจรจาหลังชะงักมาหลายปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากผลการศึกษาการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู พบว่า นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเปิดตลาดสินค้าแล้ว การเปิดตลาดการค้าบริการ และการลงทุนจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดอียูได้มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในสาขาธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาหาร และการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับไทย

นอกจากนี้หากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะทำให้มีการแข่งขันในตลาดภาคบริการในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาบริการทางธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน โทรคมนาคม ประกันภัย และการขนส่งสินค้า คาดการณ์ว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ และผู้บริโภคได้ประโยชน์จากบริการที่ถูกลงและทำให้เศรษฐกิจไทย(GDP)ขยายตัว 2.3% เป็นประมาณ 5.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(กว่า 18.2 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) จากปี 2562 จีดีพีไทยอยู่ที่ 5.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกันการส่งออกของไทยไปอียูจะเพิ่มขึ้น โดยสาขาการผลิตที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหาร อื่น ๆ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และพลาสติก เป็นต้น

ทั้งนี้จากการเปิดเวทีรับฟังความเห็น มีภาคส่วนที่สนับสนุน และเห็นประโยชน์ โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าการเปิดตลาดให้คู่ FTA ของไทย เช่น อียูเข้ามาร่วมแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่มีวงเงินสูง จะช่วยให้รัฐใช้งบประมาณได้อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้าและบริการของไทยไปยังตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในอียูซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีอีกด้วย

“กรมยังต้องรอผลการศึกษาจากสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งศึกษาเรื่องประโยชน์  และผลกระทบจากการทำเอฟทีเอไทย-อียู คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ ซึ่งไทยจึงจำเป็นต้องเร่งเครื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 และเพื่อสร้างแต้มต่อและโอกาสทางการค้า รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนเพิ่มการจ้างงานและรายได้ของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปอียูขยายตัวเพียง 4.35% ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนามที่มีข้อตกลงกับเอฟทีเอกับอียูแล้ว มีการส่งออกไปอียูขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”  นางอรมนกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เกษตรชงขอใช้งบ 1.4 แสนล้านกระตุ้นศก. กรมชลฯมากสุด

กระทรวงเกษตรฯชงของบ 1.4 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน-รากหญ้า กรมชลฯขอมากสุด 5.8 หมื่นล้าน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ กรมพัฒนาที่ดินตามติด 1.3 หมื่นล้าน

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ข้อมูลล่าสุดที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแผนงาน/โครงการเข้ามาเพื่อขอใช้งบภายใต้กรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอมางบทั้งสิ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยกรมชลประทานขอใช้งบมากสุดกว่า  5.8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ, กรมพัฒนาที่ดิน 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก(มากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร) นอกเขตชลประทาน

ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรใช้ในโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 2 หมื่นล้านบาท, กรมการข้าวใช้ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์ข้าวชุมชน 900 ล้านบาท และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ขอใช้งบ 400 ล้านบาท รวมถึงขอใช้งบในโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และเศรษฐกิจชุมชนโดยรวมอีก 2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

“ขั้นตอนต่อไปทาง สศก.จะนำแผนงาน/โครงการที่เสนอมาทั้งหมดรวบรวมนำเสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการฯพิจารณาเห็นชอบในหลักการ และเพื่อนำเสนอต่อสภาพัฒน์เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าควรจะปรับลดงบลงหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบหลักการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 ข้อ ซึ่งทางสภาพัฒน์จะแจ้งมายังกระทรวงอีกทีเพื่อที่กระทรวงและหน่วยงานในสังกัดจะได้ปรับลดงบประมาณอีกครั้งกลางเดือนนี้ ก่อนนำเสนอเรื่องต่อสภาพัฒน์อีกครั้งภายใน 15 มิถุนายน เพื่อนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อุตฯชงครม.เคาะหมื่นล้าน เยียวยาชาวไร่อ้อยกว่า2แสนราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 10,000 ล้านบาท จะเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 หลังจากที่กระทรวงการคลังเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 ราย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 อีกด้วย

โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตดังกล่าว แบ่งเป็นวงเงิน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตันและวงเงิน 3,500 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 92 บาท โดยมีปริมาณอ้อยสดที่เข้าหีบในฤดูกาลผลิต 2562/2563 ทั้งหมด 37.71 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน

นายสุริยะกล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูกาลผลิตปี 2562/2563 ไปแล้ว 182,598 ราย คิดเป็น 95% ของจำนวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือฯคาดว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามนโยบายในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย สอน. จึงจัดทำระบบการตรวจสอบสิทธิ์อ้อยผ่าน Line Official ในชื่อ “ตรวจสิทธิ์อ้อย” เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ตรวจสอบปริมาณอ้อยที่ตนได้รับสิทธิตามโครงการเงินช่วยเหลือฯ ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 32,000 ราย จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์ของตนได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 และสามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์กรณีข้อมูลไม่ถูกต้อง ภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สอน.

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รายงานพิเศษ : เปิดแผนชลประทานรับมือน้ำหลากปี2563

กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2563 อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดช่วงกลางเดือนตุลาคม โดยปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน แต่ปลายเดือนมิถุนายน-กลางเดือนกรกฎาคม ฝนจะทิ้งช่วงและมีปริมาณฝนตกน้อย โดยจะมีฝนตกชุกหนาแน่นอีกครั้งช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนประมาณ 1-2 ลูก ส่วนภาคใต้ จะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564

แม้ปริมาณฝนภาพรวมปี 2563 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 ก็ตาม แต่ปริมาณฝนจะมากกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา ดังนั้น การเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือช่วงฤดูฝนจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิด โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2563 ที่ฝนจะตกชุก และมีพายุเคลื่อนผ่าน อาจเกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนไว้ตั้งแต่ก่อนกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนและอาคารชลประทาน ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่กรมที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เข้าตรวจสอบสภาพความมั่นคงร่วมกับการใช้เครื่องมืออัตโนมัติตรวจวัดระดับการทรุดตัว ความแข็งแรงของเขื่อนและอาคารชลประทาน ปรากฏว่า เขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานทั่วประเทศ 437 แห่ง อาคารชลประทานกว่า 1,803 แห่ง มั่นคงแข็งแรง พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ กรมกำหนดให้กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้หมดภายในเดือนมิถุนายน เพื่อให้ระบายน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุดและเตรียมพร้อมป้องกันตรวจสอบ ซ่อมแซมคันกั้นน้ำให้เสร็จก่อนน้ำหลาก พร้อมเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้รวม 4,850 หน่วย อีกด้วย

“ก่อนเข้าฤดูฝน กรมจำลองสถานการณ์น้ำที่จะไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่ในรูปแบบต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสถานการณ์ ทั้งกรณีน้ำไหลเข้าน้อยหรือมาก เพื่อที่จะระบายหรือเก็บกักน้ำได้เหมาะกับเหตุการณ์ ประชาชนจะได้มีน้ำพอใช้ทุกกิจกรรม ทั้งฤดูฝนปีนี้และฤดูแล้งถัดไป ตลอดจนป้องกันบรรเทาเหตุอุทกภัยไปในขณะเดียวกัน นอกจากนี้ กรมได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากปี 2563 ไว้อีกด้วย เช่น พื้นที่ติดลำน้ำ แม่น้ำสายใหญ่ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นต้น”ดร.ทองเปลว กล่าว

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า กรมนำข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าปริมาณฝนสะสมปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% และเกิดภาวะฝนจะทิ้งช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม จากนั้นจะมีพายุ 1-2 ลูก ในเดือนสิงหาคมและกันยายนมาวางแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ทั้งหมด8 กิจกรรมคือ 1.ทำเกษตรในเขตชลประทานได้เต็มพื้นที่ แบ่งเป็นปลูกข้าว 16.79 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มเพาะปลูกแล้ว และพืชอื่น เช่น พืชผัก ไม้ผล รวมทั้งบ่อปลา บ่อกุ้ง เป็นต้น อีก 10 ล้านไร่ โดยจะส่งเสริมให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำชลประทานจะช่วยเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา 2.เลื่อนเวลาปลูกข้าวในทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้เร็วขึ้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนพายุเข้าและใช้เป็นพื้นที่รับน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก ส่วนอีก 12 ทุ่งบริเวณลุ่มเจ้าพระยาขณะนี้ให้ปลูกข้าวได้แล้ว จากนั้นจะใช้เป็นแก้มลิงรับน้ำหลากเช่นกัน

3.ติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศใกล้ชิดและสั่งได้ทันเหตุการณ์จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) และศูนย์เครือข่าย (SWOC 1-17) 4.บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกักที่กำหนด 5.ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อหน่วงน้ำ ตัดยอดน้ำหลาก 6.ใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานที่ได้เตรียมพร้อมไว้บริหารจัดการน้ำ 7.จัดจราจรน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี และ 8.ประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุดช่วงต้นฤดูฝน เริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ทั่วประเทศ รวมแล้วมากกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกรมจะกักเก็บน้ำไว้ทั้งหมด เพื่อนำมาใช้ในกรณีเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และใช้ในฤดูแล้งปี 2563/64 โดยปริมาณในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2563 มี 32,922ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณการกักเก็บน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปี 2562 จํานวน 6,380 ล้าน ลบ.ม. รับน้ําช่วงฤดูฝนได้อีก 43,145 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่รวม 31,411 ล้านลบ.ม. และสามารถรับน้ำได้อีก 39,515 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ยังมีเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 24 แห่งที่ยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณกักเก็บ โดยเป็นเขื่อนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำพุง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรองเขื่อนในภาคเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนแม่มอก เขื่อนในภาคกลาง 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนภาคตะวันออก 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล เขื่อนประแสร์ เขื่อนนฤบดินทรจินดา และเขื่อนในภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ เขื่อนปราณบุรี

ดังนั้น ฝนที่ตกช่วงนี้ต้องกักเก็บไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของประเทศ กรมสั่งการให้สูบน้ำฝนที่ตกท้ายอ่างฯไปกักเก็บไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด พร้อมใช้โครงข่ายน้ำมาแก้ปัญหา เช่น สูบจากลุ่มน้ำบางปะกงและคลองพระองค์ไชยานุชิตมาเสริมอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการ

“กรมชลประทานมั่นใจว่า การวางแผนบริหารจัดการน้ำที่ดีและปริมาณฝนที่ตกปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยรวมทั้งประเทศ หลังสิ้นสุดฤดูฝนแล้วจะมีปริมาณน้ำดีกว่าหลังสิ้นสุดฤดูปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5-10 แน่นอน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวยืนยัน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อนาคตเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายใต้วิกฤติโควิด-19

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลงมากถึง 30% ในเดือนเมษายนปีนี้ และน่าจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยองค์การพลังงานสากล (IEA) ประเมินว่าจะลดลงทั้งปีประมาณ 10% จากปีที่แล้ว

จากความต้องการที่ลดลงดังกล่าวประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มติดลบ 3% ทำให้ราคาน้ำมันลดลงจากปีที่แล้วมากถึง 50% ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป จนทำให้ราคาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล (เบนซิน/ดีเซล) มีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล/ไบโอดีเซล) มาก

ยกตัวอย่างน้ำมันเบนซินและดีเซลของไทย ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ประมาณ 8 บาท/ลิตร แต่ราคาเอทานอลอยู่ที่ 23.28 บาท/ลิตร และราคาไบโอดีเซลบี100 อยู่ที่ 25.01 บาท/ลิตร เป็นต้น

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับเชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลก ที่ถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงกว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพสูงเกือบ 25% ของความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพของโลก

ในปี พ.ศ 2560  ภูมิภาคลาตินอเมริกามีสัดส่วนความต้องการเชื้อเพลิงด้านการขนส่งของโลกต่ำกว่า 8% แต่กลับมีสัดส่วนความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพสูงถึง 23% ของความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพของโลก โดยมีอาร์เจนตินาและบราซิลเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

ปัจจุบันผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งในอาร์เจนตินาและบราซิลกำลังเผชิญหน้ากับความต้องการที่ลดลงและราคาที่ตกต่ำทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะผู้ผลิตเอทานอลในบราซิลกำลังถูกกระหน่ำจากราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงจนทำให้เอทานอล 100% (unblended ethanol) ที่ขายในปั้มเพื่อผสมกับน้ำมันเบนซินตามที่ผู้บริโภคต้องการ ไม่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเบนซินได้

ส่วนอาร์เจนตินาก็เผชิญกับปัญหาอุตสาหกรรมไบโอดีเซลของประเทศ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหกของโลกมีกำลังการผลิตที่ล้นตลาด เพราะตลาดในประเทศที่ใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลที่ 10% (B10) มีปริมาณการใช้ไม่เพียงพอที่จะรองรับกำลังการผลิตทั้งหมดได้ จึงต้องพึ่งพาตลาดส่งออก

แต่การส่งออกก็มีปัญหาข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศ นำมาซึ่งการจำกัดการส่งออกโดยระบบโควตา ยิ่งมาเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ก็คาดว่าความต้องการทั้งในประเทศและการส่งออกจะลดลงมากถึง 30% จนทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินในปีนี้พุ่งขึ้นสูงถึง 60% เลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเซีย (6.5% ในปีค.ศ. 2017) ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากความต้องการและราคาน้ำมันที่ลดลงเช่นเดียวกัน แต่ด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพของกระทรวงพลังงาน และการสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพในบ้านเราไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนในภูมิภาคอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างชาญฉลาด โดยการลดชนิดของเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่จำเป็น เช่น แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ E85 และไบโอดีเซล B20 ตลอดจนลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพลง เพื่อให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันกับเชื้อเพลิงชีวภาพในต่างประเทศได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

อย่าปล่อยให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพของเราเป็น “เฒ่าทารก” อย่างนี้ตลอดไป !!!

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ 31.39บาท/ดอลลาร์โดยเคลื่อนไหวตามสกุลเงินเอเชีย

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.28-31.48 บาทต่อดอลลาร์ โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามแนวโน้มของสกุลเงินเอเชียแม้จะมีกระแสความกังวลกับความเสี่ยงทั้งในเชิงนโยบายและภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า  ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หนุนให้หุ้นสหรัฐอย่างดัชนี S&P500 ปรับตัวบวกอีก 1.2% จนขึ้นทำจุดสูงที่สุดในรอบ 15 สัปดาห์ได้สำเร็จ และถ้านับจากช่วงต่ำสุดในเดือนมีนาคมจะถือเป็นการปรับตัวขึ้นถึง 45%    ไปเป็นที่เรียบร้อย

 อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี กลับปรับตัวลงมา ที่ระดับ 0.88%  พร้อมกันกับยีลด์ 10ปี เยอรมันที่ปรับตัวลง 4.2bps มาที่ -0.32%  ด้วยความไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากโคโรนาไวรัส เนื่องจากหลายประเทศเผชิญกับภาวะ หดตัวมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ด้านตลาดเงิน แนวโน้มหลักยังคงเป็นทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินเอเชียและสกุลเงินหลักอื่นๆอยู่ โดยในรอบนี้มีเงินเยนที่แข็งค่าจากความกังวลเรื่องการเมืองหลังสหรัฐประกาศแซงชั่น เจ้าหน้าที่รัฐจีนบนเรื่องการปฏิบัติต่อ ชาวอุยกูร์เข้ามาเพิ่มเติม โดยอาจต้องรอให้ตลาดหุ้นพักฐานจึงจะเห็นการแข็งค่าของดอลลาร์กลับขึ้นมาได้บ้าง

ด้านค่าเงินบาท ก็เคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มของสกุลเงินเอเชียแม้จะมีกระแสความกังวลกับความเสี่ยงทั้งในเชิงนโยบายและภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ ในระยะสั้นเชื่อว่าจะไม่เห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่รวดเร็ว แต่ก็ต้องจับตาไปที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพราะถ้าเฟดมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นก็น่าจะเห็นเงินทุนเข้ามาในฝั่งตลาดเกิดใหม่อย่างเต็มตัว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

‘สุริยะ’ชงครม.1หมื่นล้าน ช่วยชาวไร่อ้อยพรุ่งนี้ รับเงินภายในเดือนมิ.ย.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 10,000 ล้านบาท เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 ราย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า  โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัย การผลิตดังกล่าว แบ่งเป็น วงเงิน 6,500 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน และวงเงิน 3,500 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 92 บาท โดยมีปริมาณอ้อยสดที่เข้าหีบในฤดูการผลิต 2562/2563 ทั้งหมด 37.71 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563     ไปแล้ว จำนวน 182,598 ราย คิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือฯ ซึ่งคาดว่า จะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามนโยบายในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะกำกับดูแลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต อย่างโปร่งใส ถูกต้องครบถ้วนตามข้อเท็จจริง

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

“เงินช่วยเหลือ”ชาวไร่อ้อย” 1 หมื่นล้าน เข้า "ครม." 9 มิ.ย.

“สุริยะ”ดันเงินช่วยเหลือ”ชาวไร่อ้อย” 1 หมื่นล้าน เข้า ครม. 9 มิถุนายน คาด “เยียวยา” บรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 ราย

“กระทรวงอุตสาหกรรม” เดินหน้าช่วยเหลือช่วยเหลือเกษตรกร "ชาวไร่อ้อย" เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ภายใต้กรอบวงเงิน จำนวน 1 หมื่นล้านบาท  โดยจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ “ครม.” ในวันที่พรุ่งนี้ (9 มิ.ย.63) หลังจากที่กระทรวงการคลังเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 ราย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบ "โควิด-19" อีกด้วย

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัย การผลิตดังกล่าว แบ่งเป็น วงเงิน 6.5 พันล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน

และวงเงิน 3.5 พันล้านบาท เป็นการช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ในอัตราตันละไม่เกิน 92 บาท โดยมีปริมาณอ้อยสดที่เข้าหีบในฤดูการผลิต 2562/2563 ทั้งหมด 37.71 ล้านตัน จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 74.89 ล้านตัน

ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ “สอน.” ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563 ไปแล้ว จำนวน 182,598 ราย คิดเป็น 95% ของจำนวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือฯ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามนโยบายในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย สอน. จึงได้จัดทำระบบการตรวจสอบสิทธิ์อ้อยผ่าน Line Official ในชื่อ “ตรวจสิทธิ์อ้อย” เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ตรวจสอบปริมาณอ้อยที่ตนได้รับสิทธิตามโครงการเงินช่วยเหลือฯ ดังกล่าว

ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 32,000 ราย จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์ของตนได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 และสามารถยื่นเรื่องอุทธรณ์กรณีข้อมูลไม่ถูกต้อง ภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สอน. โทร 0 2202 3081

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ธ.ก.ส. ออกสินเชื่อ 3 โครงการ วงเงินรวม 2 หมื่นล้าน ช่วยเกษตรกรรับมือภัยแล้ง

ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง 3 โครงการ ทั้งสินเชื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนการผลิต ดอกเบี้ย MRR-2 และสินเชื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ดอกเบี้ย 0% ใน 2 ปีแรก รวมวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของเกษตรกร นำไปสู่ปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เงื่อนไขและดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือฉุกเฉินจำเป็นในครัวเรือนของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบภัยในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ค่าซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมือ/อุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับจากวันกู้

2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าลงทุนฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย หรือเป็นค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร/เครื่องมือ/เครื่องจักรการเกษตร ที่ได้รับ ความเสียหาย ในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้

3) สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนในการจัดหา สร้าง/พัฒนา และปรับปรุงแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤต และลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง วงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 0 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึง 31 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤตภัยแล้งแล้วจำนวนกว่า 30,000 ราย จำนวนเงินกว่า 4,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินฯ จำนวนเงิน 110 ล้านบาท เกษตรกร 2,315 ราย สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จำนวนเงิน 3,766 ล้านบาท เกษตรกร 21,658 ราย และสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรฯ จำนวนเงิน 809 ล้านบาท เกษตรกร 6,123 ราย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือที่ Call Center 02 555 0555

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

กรมชลประทาน…เน้นใช้น้ำฝนและเก็บกักน้ำต้นทุน

กรมชลประทานเตรียมมาตรการเพิ่มน้ำต้นทุนให้พอใช้ในฤดูฝนและกักเก็บไว้ในในฤดูแล้งหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่18 พฤษภาคม 2563                   

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน  เผยว่า ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2563 เพื่อให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอสำหรับการใช้ตลอดฤดูฝน แบ่งเป็น 5 มาตรการ คือ 1.การจัดสรรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี  2.ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง 3.บริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพ 4.กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด

วางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ซึ่งปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% แต่จะมากกว่าปีที่แล้ว และในช่วงเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคมฝนจะตกน้อยหรือทิ้งช่วง แต่จะกลับมาตกอีกประมาณปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม และในช่วงเดือนสิงหาคมกันยายนจะมีพายุ 1-2 ลูก แล้วก็จะไปสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม

ซึ่งปัจจัยในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ภายใต้เงื่อนไขในช่วงฤดูฝน การใช้น้ำจะเน้นให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักเลย ยิ่งถ้าฝนตกมากเพียงพอที่จะสามารถทำการเกษตรได้ ยิ่งเป็นผลดีกับเกษตรกร ที่จะสามารถเริ่มการเพาะปลูกได้เลย ส่วนกรมชลประทานจะดำเนินเก็บกักน้ำลงอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆที่มีทั้งหมดให้ได้ปริมาณน้ำต้นทุนให้มากที่สุด เพราะช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ฝนอาจจะทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อย

กรมชลประทานจะนำน้ำที่กับเก็บไว้ไปเสริมกับน้ำฝนในช่วงที่ฝนน้อยหรือฝนทิ้งช่วง และที่สำคัญก่อนหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ มีพายุฤดูร้อน 2-3 ครั้ง ส่งผลดีทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนและพื้นที่ต่างๆ เกิดความชุ่มชื้น น้ำในเขื่อนโดยเฉลี่ยก่อนที่ช่วงจะมีพายุ ฤดูร้อน 7 วัน ได้น้ำเข้าเขื่อนเฉลี่ย 150 ล้านลูกบาศก์เมตร จากทุกเขื่อนที่มีอยู่ทั้งหมด 35 เขื่อน รวมกันได้ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร

แม้จะยังไม่ใช่ปริมาณที่มาก เมื่อเทียบกับความจุกับความต้องการอย่างที่ประชาชนต้องการใช้อยู่ แต่หลังจากฝนเริ่มตก ก็ทำให้มีปริมาณน้ำที่ดีขึ้นในระดับ ซึ่งหลายเขื่อนก่อนหน้านั้น ไม่เคยมีน้ำไหลเข้าเขื่อนเลย อย่างเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หรือเขื่อนภูมิพล ที่ตอนนี้เริ่มทยอยมีน้ำเข้าวันละถึงล้านลูกบาศก์เมตรก็มี หรือ4.5 แสนลูกบาศก์เมตร อันนี้ก็ได้ผลดีในเชิงของการที่จะเก็บน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้มีเพียงพอต่อความต้องการ

ซึ่งแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชในฤดูฝนปี 2563  กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำต้นทุนและความต้องการน้ำในการเพาะปลูกทั่วประเทศไว้ปริมาณ 31,351.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเพาะปลูก 27.61 ล้านไร่ 

นอกจากนี้กรมชลประทานยังเตรียมเครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ประโยชน์การกักเก็บน้ำ ชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ เตรียมพร้อมสำหรับใช้การเพื่อให้เพียงพอตลอดฤดูฝนและเตรียมเก็บกักไว้ใช้ในหน้าแล้งปี 2563/2563

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2563

ดอลลาร์อ่อนค่าหนุนเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเอเชีย

“จิติพล” เผยเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 60  คาดเศรษฐ กิจสหรัฐฯ  ผ่านจุดต่ำสุดส่งผลให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในเอเชีย  จับตาประชุมเฟด 10-11 มิ.ย.นี้

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดการเงินและการลงทุน บล. ไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.35-31.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับสัปดาห์นี้มองว่าตลาดการเงินทั่วโลกจะได้รับแรงหนุนจากมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว พร้อมกับที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC)  ที่คาดว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป

 โดยการประชุมจะเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 10 มิ.ย.และมีกำหนดที่จะรายงานผลในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสที่ 11 มิ.ย. ซึ่งตลาดคาดว่า FOMC จะมีมติคง อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และครั้งนี้ เฟดน่าจะมีการให้มุมมองในอนาคตทั้งในฝั่งของดอกเบี้ยนโยบาย และภาพรวมเศรษฐกิจมากขึ้น

ซึ่งจะลดความผันผวนของตลาดการเงินลงเพิ่มเติม ขณะเดียวกันตลาดก็หวังว่าเฟดจะมีการประกาศใช้นโยบายควบคุมบอนด์ยีลด์ระยะยาวในสหรัฐ (Yield Curve Control) เพื่อช่วยให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโควิดได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

 ส่วนฝั่งของตลาดเงินก็น่าสนใจเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องติดกันเป็นวันที่  7  ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 60  โดยมีสกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) และดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่จะเคลื่อนไหวตามราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสองสกุลเงินที่ปรับตัวบวกขึ้นได้แรงที่สุดในช่วงนี้

 ด้านเงินบาทและการลงทุนในฝั่งเอเชีย ก็ดูจะได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ครั้งนี้ด้วย  เชื่อว่าภาพเงินทุนที่ไหลกลับเข้าในฝั่งเอเชียเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น และมุมมองของนักลงทุนสถาบันที่กล้ากลับมาลงทุน จะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดแรงขายในสินทรัพย์ปลอดภัย และมีแรงซื้อในสินทรัพย์เสี่ยงทั้งในไทยและตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ต่อเนื่อง

 อย่างไรก็ดี ระหว่างสัปดาห์ก็แนะนำจับตาไปที่การประชุม FOMC ซึ่งภาพตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เฟดเลือกที่จะไม่รีบใช้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และรอดูทิศทางของเศรษฐกิจไปก่อน

ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินฝั่งสหรัฐปรับฐานบ้าง โดยนักลงทุนในฝั่งตะวันตกน่าจะกลับมาถือดอลลาร์สหรัฐเพื่อดูสถานการณ์ด้วยเช่นกัน  ส่วนกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.25-31.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2563

สนั่น"ชงกกร.ประกาศจุดยืนหนุน-ไม่หนุนซีพีทีพีพี  

หอการค้าไทยเผยผลการศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพีเรียบร้อยแล้วเตรียมเสนอให้กกร.พิจารณาเพื่อแสดงจุดยื่นให้ไทยร่วมเจรจาหรือไม่ในเร็วๆนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานซีพีทีพีพี ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ได้รวบรวมผลการศึกษาผลกระทบต่อการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)เรียบร้อยแล้วและจะเสนอให้กกร.ประกาศจุดยืนว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ในสัปดาห์นี้

เบื้องต้นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมยังกังวลใน 4 ประเด็นใหญ่ที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องสร้างความชัดเจนและชี้แจงให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข้อเท็จจริง

 ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและรวดเร็วว่าจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่เข้าร่วม เพราะที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติทั้งที่มาลงทุนในไทยอยู่แล้วและสนใจที่จะเข้าลงทุนในไทยก็ได้สอบถามว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนต่อซีพีทีพีพีอย่างไร เพื่อที่จะใช้ประกอบในการพิจารณาเข้ามาลงทุนหรือขยายลงทุน ซึ่งตอนนี้ทางหอการค้าไทยคงไม่สามารถให้คำตอบนักลงทุนต่างชาติได้

 สำหรับที่หลายฝ่ายกังวลใจ เช่น การเปิดเสรีสินค้าภายใต้ข้อตกลงซีพีทีพีพีประเทศสมาชิกต้องยกเลิกภาษี 99% ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ผลิตทั้งที่พร้อมที่จะแข่งขันและยังไม่มีศักยภาพการแข่งขัน โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าประโยชน์จากการส่งออก เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ และเครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่อาจจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า กาแฟและชา และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีเงื่อนไขวัตถุดิบหรือสินค้าของประเทศสมาชิกซีพีทีพีพีสามารถนำวัตถุดิบจากนอกสมาชิกเพื่อได้รับสิทธิทางภาษีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกเท่านั้น

 นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเงื่อนไขภายใต้ซีพีทีพีพีห้ามมีการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยเหนือประเทศอื่น ประเด็นของแรงงานภายใต้ซีพีทีทีที่ให้สิทธิแรงงานต่างด้าวจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กฎหมายไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่รองรับประเด็นเหล่านี้ และประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ในเรื่องของสิทธิในสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และผลประโยชน์ของเกษตรกรจากยูพอฟ 1991 และการพัฒนาพันธุ์พืชของไทย

 “ที่ผ่านมาคณะทำงานได้มีการระดมของคิดเห็นจากทุกภาคส่วนย เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียและความพร้อมในการแข่งขันของภาคการผลิตไทยทั้งด้านการค้าสินค้า การลงทุน และประเด็นอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อตกลงซีพีทีพีพีรวมถึงประเด็นที่มีความกังวลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างผลกระทบและความเสียหายกับประเทศไทย

 ซึ่งก็ได้รับเกียรติจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วยทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ,กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมศุลกากร, กรมบัญชีกลาง, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น”

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 8 มิถุนายน 2563

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่ง ขณะที่แรงซื้อต่างชาติหนุนหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่งใกล้ๆ ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น แม้ว่าธปท. ได้ออกมาส่งสัญญาณดูแลเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่ฝั่งเงินดอลลาร์ฯ เองก็ไม่ได้รับแรงหนุนมากนักจากตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงน้อยกว่าที่คาดในเดือนพ.ค. เนื่องจากตลาดยังรอประเมินสัญญาณของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์

ในวันศุกร์ (5 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.46 เทียบกับระดับ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 พ.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.30-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง dot plots ชุดใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปิดปลายสัปดาห์ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,435.70 จุด เพิ่มขึ้น 6.91% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 94,758.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.38% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 294.49 จุด

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากความหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากการทยอยปลดล็อกเศรษฐกิจของทั้งไทยและประเทศต่างๆ ทั้งนี้ ในระหว่างสัปดาห์มีแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่หลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและพลังงาน นอกจากนี้ การทยอยกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นปัจจัยที่หนุนหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,420 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,445 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณามาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ การประชุมเฟด (9-10 มิ.ย.) รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 ของญี่ปุ่น และยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของยูโรโซน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 มิถุนายน 2563

เปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจี ฉวยจังหวะราคาเพื่อลดค่าไฟฟ้า

 ประเทศไทยนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี เพื่อมาผลิตไฟฟ้าสัดส่วนที่สูง ซึ่งทำให้นโยบายการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซ ที่กำลังดำเนินการผลักดันอยู่ จะมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปด้วย

การอนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับเอกชน 3 ราย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ บอร์ด กกพ. ในช่วงเดือน พ.ค. 2563 ส่งผลให้ประเทศ มีผู้คว้าไลเซ่น นำเข้า LNG ถึง 5 ราย คือ กัลฟ์ฯ ,ราช กรุ๊ป, บี.กริม จากเดิม ปตท.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพียงรายเดียว และต่อมา กฟผ. เป็นได้ใบอนุญาตฯ เป็นรายที่ 2 ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ กฟผ. เป็นผู้ทดสอบระบบบริหารจัดการระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังเก็บก๊าซธรรมชาติภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access (TPA Codes) ที่ กกพ.ออกประกาศฯ ตั้งแต่ปี 2557

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุว่า กกพ. พร้อมส่งเสริมเปิดการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเสรี ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่เอกชนต้องทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อม

 "ปัจจุบัน ราคาLNG ตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ เป็นโอกาสที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เตรียมความพร้อมและติดต่อประสานงานผู้ผลิตเพื่อนำเข้าLNG ในอนาคต”

ระหว่างนี้ ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ สามารถประสานงานติดต่อคลังเก็บก๊าซธรรมชาติ (LNG Receiving Terminal) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อศึกษาความสามารถของระบบก๊าซธรรมชาติ เพราะในทางปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการนำเข้าได้จริง เนื่องจากยังมีขั้นตอนของกระทรวงพลังงาน ที่จะพิจารณาอนุมัติผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การจะอนุมัติให้มีการนำเข้า LNG ของภาคเอกชน จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ จากนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) จะทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อเสนอ กพช.ต่อไป คาดว่า จะเป็นช่วงครึ่งหลังปี 2563

“ใบอนุญาต ก็เหมือนได้ ใบขับขี่ ถ้าถนนไม่มีรถก็วิ่งไม่ได้ ดังนั้น การจะนำเข้าก๊าซฯได้จริง ยังต้องผ่านกลไกกระทรวงพลังงานก่อน ”

เบื้องต้น กระทรวงพลังงาน เตรียมปรับโครงสร้างก๊าซฯ จะมี 2 ตลาด คือ 1 .ราคาตลาดรวม ( Pool Market Price ) ที่ราคาเฉลี่ยมาจากก๊าซฯอ่าวไทย เมียนมา และสัญญาLNG ระยะยาวของ ปตท. และ 2.ราคาตลาด (Market Price ) เป็นราคานำเข้า LNG Spot โดยนโยบายจะต้องชัดเจน ส่งเสริมการแข่งขัน และไม่กระทบความมั่นคงด้านพลังงาน

เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มองว่า บริษัท ยังต้องรอภาครัฐ ดำเนินการตามนโยบายการเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 3 คือเปิดให้เอกชน นำเข้าก๊าซฯได้จริง ซึ่งเข้าใจว่า ภาครัฐจะต้องมีการปรับแก้กฎระเบียบและกติกาต่างๆ เพื่อนำไปสู่ระยะที่3 ในไม่ช้า

ดังนั้น ระหว่างนี้ บริษัท ก็เตรียมความพร้อมจะได้ไม่เสียโอกาส เนื่องจาก LNG ตลาดโลกประมาณ 2 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เทียบกับก๊าซฯในอ่าวไทย ราคาอยู่ที่ประมาณ 7-9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

“ช่วงนี้ ตลาดLNG เป็นของผู้ซื้อ รัฐควรเร่งส่งเสริมให้จัดซื้อ LNG ราคาถูกเข้าใช้ เพราะก๊าซฯ คิดเป็น 70%ของต้นทุนค่าไฟ และไทยมีต้นทุนค่าไฟต่ำ แข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ก็จะช่วยดึงดูการลงทุนจากต่างชาติ”

ขณะที่เอกชนอีก 2 ราย ที่ได้ใบอนุญาต จาก กกพ. คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีแผนนำเข้า 3 แสนตันต่อปี เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กัลฟ์ฯ ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% มีแผนนำเข้า 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง กำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ มีกำหนดCOD ปี2567 และ2568

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนจะนำเข้า LNG ช่วงปี 2563-2565 โดยปี2563 ปริมาณ 0.6 ล้านตันต่อปี,ปี2564 ปริมาณ 1.9 ล้านตันต่อปี และปี2565 ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากภาครัฐ

ขณะที่ ปตท.ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เร่งจัดซื้อ LNG Spot เข้ามาถัวเฉลี่ยต้นทุนค่าก๊าซฯ เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกลง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 มิถุนายน 2563

ก.อุตฯชงของบฟื้นฟูฯ1.4 หมื่นล้านบาทหวังสร้างศก.แสนล้าน

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอของบฟื้นฟูฯ วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทต่อสศช. 5 มิ.ย.เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจรองรับวิถีใหม่ช่วยประชาชน 1.2 ล้านคนเกิดมูลค่าเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่า วันที่ 5 มิถุนายน กระทรวงฯจะเสนอโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่วันได้งบจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 คาดว่าจะช่วยประชาชนได้ประมาณ 1.2 ล้านคน เกิดมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท

วงเงินดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) มากที่สุดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เน้นชูโครงการอุตสาหกรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศรองรับวิถีความปกติใหม่ มีเป้าหมายผลผลิตครอบคลุม 14,150 กิจการ ครอบคลุม 500 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ถูกทางอย่างยั่งยืน คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 96,000 ล้านบาท เป็นต้น ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวง(สปอ.)ของบรองลงมาประมาณ 1,000 ล้านบาท เน้นโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ อาทิ การพัฒนาด้านการเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัวของประชาชน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เสนอพัฒนาโครงการสูบน้ำจากขุมเหมืองด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ วงเงิน 53 ล้านบาท ใช้แหล่งน้ำดิบจำนวน 20 แห่ง ปริมาณน้ำเพิ่มเติม 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 20,000 ไร่ ประชาชนและเกษตรกรรอบขุมเหมืองได้ประโยชน์ 4,000 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานของคนในพื้นที่ 500 คน ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรม/สินค้าวัสดุก่อสร้าง กรมโรงงานอุตสาหกรรมเสนอโรงงานเพื่อแปลงเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด วงเงิน 100-200 ล้านบาท สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ของบ 600 ล้านบาท เพื่อเตรียมการด้านการมาตรฐาน สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ของบ 100-200 ล้านบาท ผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านวัตกรรมใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ของบ 300 ล้านบาท เสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนไร่อ้อยให้เหมาะกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมุ่งสู่เกษตรแปลงใหญ่ สนับสนุนพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีแจกให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ในฤดูการผลิต 2563/64 จำนวน 20,000 ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมโครงการ 4,000 ราย พร้อมปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้งานเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อพัฒนาเป็นเกษตรแปลงใหญ่ 100,000 ไร่ และจัดทำฐานข้อมูลระบบชี้นำเตือนภัยและบริหารจัดการไร่อ้อย ครอบคลุมการจ้างเกษตรกรชาวไร่อ้อย หรือ อาสาสมัครกลุ่มเรียนรู้ 5,000 ราย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อุตฯดันเงินช่วยไร่อ้อยปี’62/63 กว่า1หมื่นล้าน/อุตฯลุ้นครม.อนุมัติ9มิย.

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูกาลผลิตปี 2562/63 กรอบวงเงินรวม 10,231 ล้านบาท ว่า คาดว่าเร็วสุดจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้หลังจากที่กระทรวงการคลังได้เห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแล้ว และรอเพียงความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการนำเสนอกับครม.เท่านั้นซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่ในระบบกว่า 200,000 ราย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบโควิด-19

“เม็ดเงินดังกล่าวจะเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเพราะราคาอ้อยปี 2562/63 ราคาขั้นต้นค่อนข้างต่ำอยู่ที่เฉลี่ยเพียงตันละ 750 บาทที่ความหวานเฉลี่ย 10 ซี.ซี.เอส.เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็พยายามที่จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด”นายกอบชัยกล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือในครม.ถึงกรอบวงเงินช่วยเหลือดังกล่าวแต่ทางสำนักงบประมาณได้มีความเห็นถึงวงเงินที่ต่างไปจากกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมอบหมายให้มาหารือร่วมกันและมอบให้คลังเคาะอัตราการจ่ายเงินดังกล่าว

ล่าสุด กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือตอบกลับมาโดยเห็นชอบอัตราการจ่ายเงินตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคือจ่ายให้ชาวไร่อ้อยวงเงินรวม 10,000 ล้านบาทแบ่งเป็น 6,500 ล้านบาท จ่ายให้กับชาวไร่อ้อยทุกรายที่ส่งให้กับโรงงานน้ำตาลทรายที่ตันละ 85 บาท โดยไม่เกินรายละ 5,000 ตัน เพื่อเป็นปัจจัยการผลิต และวงเงิน 3,500 ล้านบาท สำหรับให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานตันละ 92 บาทเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ส่วนวงเงิน 231 ล้านบาทเป็นค่าบริหารและอัตราดอกเบี้ยจ่าย

“หากสำนักงบประมาณมีหนังสือตอบกลับมาตามแนวทางดังกล่าวเราก็คาดหวังว่าจะสามารถนำเสนอครม.ได้ ภายในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ แต่ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับทางสำนักงบฯเป็นสำคัญ และหากเข้าครม.ได้ก็จะสามารถนำมตินี้เสนอไปยัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อเริ่มจ่ายเงินให้กับชาวไร่อ้อยได้ทันที”นายเอกภัทรกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศต่างรอคอยเม็ดเงินดังกล่าวที่หวังว่าจะได้ข้อยุติโดยเร็วเพราะที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างล่าช้าแต่ก็เข้าใจว่าด้วยผลกระทบโควิด-19 ทำให้โครงการต่างๆที่ต้องใช้เงินงบประมาณดำเนินการมีจำนวนมาก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ไทยเข้าสู่โหมดภาวะเงินฝืด หลังเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง3เดือน

เงินเฟ้อเดือนพ.ค.ดิ่งต่ำสุดเฉียด 11 ปี กดดันเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พิษจากโควิด-19 ฉุดการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง 27% คาดเดือนนี้เงินเฟ้อต่ำสุดของปีแล้ว

น.ส.พิมพ์ชนก  วอนขอพร    ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  เปิดเผยถึง สถาการณ์ด้านสินค้าและบริการเดือนพ.ค. ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค. เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 3.44% (YoY) ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ทำให้ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด  โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อยังลดง เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ นอกจากนั้นฐานราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด     ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี  โดยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อ  ทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างติดลบ 1 ถึง  0.2 %  (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6) 

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อปีนี้คงติดลบแน่นอน ตอนนี้ยังไม่ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ   เนื่องจากยังอยู่ในวิสัยที่ประเมินไว้  โดยประเมินว่าเดือนพ.ค.น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของเงินเฟ้อแล้ว จากปัญหาโควิด  เพราะขณะนี้หลายปัจจัยเริ่มผ่อนคลาย  ราคาน้ำมันเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าดีขึ้น

“ส่วนปัญหาเงินฝืดที่เกิดขึ้นเรียกว่าเงินฝือทางเทคนิค เนื่องจากราคาสินค้าหลายตัว อาหารอุปโภค ปรับลดลงไม่เยอะ เพียงแต่ไม่สามารถชดเชยกับราคาน้ำมันที่ต่ำลงไปถึง 27%  ซึ่งไม่ต้องกังวล และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น คือ 1. การปลดล็อคมาตรการค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาได้ 2. กระตุ้นท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดการเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะปีนี้ รายได้จากต่างชาติคงยังไม่มา  3.ภัยแล้งบางจังหวัดเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่บางสินค้ายังมีผลกระทบอยู่

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังคงจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี    ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว

ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศ ที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยทอนที่น่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี ดังนั้น เงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.มีแนวโน้มที่จะยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

“สนพ.” ชี้การใช้ “เอทานอล” ภาคเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นใกล้ก่อน “โควิด-19”

 “สนพ.” ชี้การใช้ “เอทานอล” ภาคเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นใกล้ก่อน “โควิด-19” จากมาตรการผ่อนคลายการปิดพื้นที่ของรัฐบาล

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ “สนพ.” มองว่าการใช้ "เอทานอล" ภาคเชื้อเพลิงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มมากขึ้นไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัส "โควิด-19" (Covid-19) โดยข้อมูลการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในช่วงวันที่ 1-17เดือนพฤษภาคม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.49 ล้านลิตรต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.57 ล้านลิตรต่อวัน  ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการปิดพื้นที่ (lockdown) ของรัฐบาล ทำให้มีการใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น

              นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือน เมษายน อยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 0.85 ล้านลิตร/วัน โดยโรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลิตจริงในเดือนเมษายน อยู่ที่ 3.46 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 1.03 ล้านลิตรต่อวัน และปริมาณเอทานอลที่บริจาคและจำหน่ายเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนก่อน 13.53 ล้านลิตร

              ทั้งนี้  ราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B100) อ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 1-7 มิถุนายน 63 อยู่ที่ 26.15 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.99 บาทต่อลิตร โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 25-29 พ.ค. 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 - 3.70 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 21.50 – 22.40 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทยไทย หรือ "กฟผ" ณ สิ้นเดือนเมษายน ประมาณ 282,511 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 103,566 ตัน ส่วนสต็อกน้ำมันไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ที่ 46,478 ตัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะอยู่ที่ระดับ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ตามลำดับ ลดลง 10.83% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคหลังจากได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19 ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) โดยกรมการค้าภายใน อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน สาเหตุจากความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลงจากมาตรการปิดพื้นที่ของรัฐบาล

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.55 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 5.7% และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล อยู่ที่ 4.74 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 11% จากมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานลดลง

อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐที่กําหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ทำให้ตลาดยังเป็นของผู้ขายราคาจึงยังไม่ปรับลงในช่วงนี้

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 3 มิถุนายน 2563

เกษตรฯ เคาะแผนเพิ่มแหล่งน้ำตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 4 แสนล้าน

 “เฉลิมชัย” สั่งกรมชลประทาน ลุยเพิ่มแหล่งเก็บน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูภาคเกษตรเมกะโปรเจกต์ พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน นำร่อง หนองช้างใหญ่”โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบในการดำเนินการทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จะนำแผนการเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟื้นฟูภาคเกษตร ภายใต้พ.ร.ก. เงินกู้ โดยให้กรมชลประทานใช้โครงการขุดลอกหนองช้างใหญ่ หรือ”หนองช้างใหญ่โมเดล” จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นแบบในการดำเนินการทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานฟื้นฟูภาคเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามพ.ร.ก. เงินกู้ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยจะเสนอแผนการเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณา โดยนำต้นแบบของกรมชลประทาน ที่เข้าไปดำเนินการที่อ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานีไปขยายผล

 สำหรับอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 7.675 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่พ.ศ. 2497 จากการตรวจพื้นที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ามีตะกอนตกจมอยู่มากและมีวัชพืชหนาแน่น ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เกษตรกรในพื้นที่จึงมีน้ำไม่เพียงพอ จึงได้กำหนดแผนงานขุดลอกตั้งแต่ปี 2562 แต่เพื่อให้เก็บกักน้ำได้ทันในฤดูฝนนี้ ได้สั่งการด่วนให้เร่งขุดลอกให้มากที่สุด โดยได้รับอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมปี 2563 และจัดเตรียมแผนงานสำหรับปีงบประมาณ 2564 สำหรับนำตะกอนดินออก พร้อมเสริมสันบานแบบฝายพับได้ และเสริมสันทำนบดิน หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15.50 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็นความจุทั้งสิ้น 23.175 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่า 3 เท่าของความจุเดิม

นายเฉลิมชัยฯ กล่าวต่อว่า ผลที่จะได้รับมีหลายประการคือ เกษตรกรมีน้ำเพียงพอทำการเกษตร ทั้งยังสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจะนำ “หนองช้างใหญ่โมเดล” เป็นต้นแบบขยายผลในการเพิ่มศักยภาพของแหล่งเก็บกักน้ำที่ใช้งานมานานทั่วประเทศ

“แหล่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตภาคการเกษตร ซึ่งได้ให้นโยบายเรื่องเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูภาคเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ จึงต้องเร่งรัดการเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำ ให้รองรับการผลิตภาคการเกษตรที่จะขยายตัวขึ้น” นายเฉลิมชัยฯ กล่าว

 ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ตามแผนงานปี 2562 และ 2563 จะนำตะกอนดินออกรวม 1 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งกำจัดผักตบชวาออกไปอีก 1,000 ตัน คิดเป็นพื้นที่ 20 ไร่ ส่วนงานเสริมสันทำนบดินอยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นจะเร่งติดตั้งฝายแบบพับได้ เพื่อให้รองรับน้ำได้มากขึ้นในฤดูฝนนี้

ส่วนในปี 2564 มีแผนงานขุดลอกเพิ่มอีก 9.50 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ได้ความจุเป็น 23.175 ล้านลบ.ม. นอกจากนี้ จะทำการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านแคน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านทุ่งใหญ่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านนาดี และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านยาง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 8,000 ไร่ รวมเป็น 12,300 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 16,200 ไร่ รวมเป็น 19,700 ไร่ โครงการฯนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แม้ในฤดูแล้ง รวมทั้งยังป้องกันและบรรเทาอุทกภัยได้อีกด้วย

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 3 มิถุนายน 2563

“สุริยะ”เผยได้แล้วสารทดแทน “พาราควอต”-“คลอร์ไพริฟอส”

 “สุริยะ”เผยได้แล้ว สารทดแทน “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” หลังหารือ “มนัญญา” รอกรมวิชาการเกษตรสรุป

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า จากการหารือกับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าขณะนี้ว่า "กรมวิชาการเกษตร" ได้เสนอสารทดแทนมาแล้วหลายชนิด เพื่อทดแทนการถูกแบนของ 2 สารได้แก่ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส"

ทั้งนี้  ขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างกาหาข้อสรุปว่าจะเป็นสารชนิดใดที่เข้ามาแทน  เพราะการที่ยังไม่มีสารอื่นมาทดแทน จะมีผลกระทบต่อผู้นำเข้าวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง จะมีผลต่ออุตสาหกรรม ดังนี้ เรื่องนี้จึงอยากให้สอบถามกรมวิชาการเกษตรอีกครั้ง

ส่วนภาคเอกชนที่ยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้คุ้มครองชั่วคราว คงเป็นเรื่องกระบวนการของศาลในการใช้ดุลพินิจซึ่งในฐานะคณะกรรมการวัตถุอันตรายก็พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งศาล  อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม และจะนำข้อคิดเห็นมาพิจารณารวมถึงสารทดแทนจากกรมวิชาการเกษตร

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 มิถุนายน 2563

อาเซียนถกแผน รับมือเศรษฐกิจทรุด

อาเซียนเตรียมจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) สมัยพิเศษ ว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบทางไกล หาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการทางการค้าและแนวปฏิบัติร่วมกัน รวมถึงแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว เตรียมพร้อมรองรับความท้าทายในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 (Special AEM and Special AEM Plus Three on COVID-19) ผ่านระบบทางไกล ในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยรองนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  มอบหมายให้นายสรรเสริญ สมะลาภาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมฯ

การประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ให้สมาชิกหารือแนวทางการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อให้การค้าเดินหน้าต่อไปได้ และการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นราบรื่น เนื่องจากที่ผ่านมาหลายประเทศนำมาตรการจำกัดการค้ามาใช้จากความจำเป็นด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าและเศรษฐกิจของภูมิภาค

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการทางการค้า และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับมือกับโควิด-19 เพื่อให้อาเซียนพร้อมรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) จะมีการหารือแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตินี้เช่นกัน

 ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ในขณะที่การค้าระหว่างไทยกับ จีน มูลค่า 79,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ญี่ปุ่นมีมูลค่า 57,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกาหลี มีมูลค่า 13,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 มิถุนายน 2563

กษ.เปิดศูนย์ AIC พลิกโฉมเกษตรกรไทยยุค4.0

“รมว.เฉลิมชัย”เดินเครื่อง Kick off เปิดศูนย์ AIC ครบ 77 จังหวัด พลิกโฉมภาค การเกษตร4.0 พัฒนาขีดความสามารถเกษตรกรไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวตกรรมแบบครบวงจร

วันนี้(1 มิ.ย.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิด “ศูนย์ เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center หรือ AIC)” ว่า การขับเคลื่อนนโยบายหลักที่สําคัญของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ ตลาดนําการผลิต การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน การลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการน้ําทั้งระบบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big data) และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการขับเคลื่อนการเกษตร สมัยใหม่ ตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการ แข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุน และส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร ถือเป็นศูนย์กลางในการบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการเกษตร สามารถนําองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต ลดต้นทุนการเกษตร และให้สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเป็นการทํางานแบบบูรณาการร่วมกัน ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และ ภาคเอกชน โดยมีรูปแบบโครงสร้าง 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก

“แนวทางการขับเคลื่อนของศูนย์ AIC นั้น จะเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมในรูปแบบ ต่าง ๆ โดยจะใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน โดยจะรวบรวมช่าง เกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการ จัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึงกลุ่ม Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้าน e-commerce การ สร้าง Story และ Packaging รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทย มีองค์ ความรู้ และมีเครือข่ายที่ดี ก้าวเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 อย่างครบวงจร โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ถือเป็นวันที่สําคัญยิ่ง เพราะเป็นวันประชุมเปิดศูนย์ AIC พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการจัดตั้งศูนย์ AIC กับสถาบันการศึกษา จํานวนทั้งสิ้น 69 สถาบัน 83 แห่ง 77 จังหวัด ซึ่งแบ่งประเภทได้คือ มหาวิทยาลัย 26 สถาบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 27 สถาบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 5 สถาบัน สถาบันการอาชีวศึกษา 8 สถาบัน และสถาบันวิทยาลัยชุมชน 3 สถาบัน และมีศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร (Excellent Center) 6 แห่ง โดยเน้นให้จังหวัดเป็น ผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถทํางานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และระดมพลังจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ภายใต้กรอบ อํานาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและความเจริญอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ศูนย์ AIC จะเชื่อมโยงการดําเนินงานกับคณะกรรมการ ขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech 2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ 3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce และ 4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมทั้งจะเชื่อมโยงกับการดําเนินงานของคณะกรรมการ เกษตรกรรมยั่งยืน และคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร โดยทั้งหมดถือเป็นแนวทางการ ดําเนินการงานตามนโยบายของรมว.เกษตรฯ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 1 มิถุนายน 2563

กรมวิชาการเกษตรยันมีสารทดแทนพาราควอต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผย กรมวิชาการเกษตร ยันมีสารทดแทนกรณีแบนพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส จ่อประกาศเร็วๆนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ว่าสำหรับการหาสารเคมีมาทดแทน สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกประกาศให้ 2 สารเคมีดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีการยกเลิกใช้มีผลวันนี้(1มิย.63) และไกลโฟเซตจะจำกัดการใช้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว นั้น ได้มีการหารือร่วมกับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแล กรมวิชาการเกษตร ให้พยายามเร่งรัดหาสารอื่นมาทดแทน ซึ่งได้รับการยืนยันว่า มีสาสเคมีมาทดแทนแล้ว เกือบทุกชนิดที่มีการยกเลิกใช้ คาดว่ากรมวิชาการเกษตรจะออกมาประกาศว่ามีสารใดบ้างเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ หากในระยะยาวเกษตรกร หรือเอกชนได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง สามารถยื่นเรื่องเข้ามายังกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงฯจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา เบื้องต้นขณะนี้ให้กระบวนการเป็นไปตามการยกเลิกห้ามใช้ลงตามประกาศราชกิจจาณุเบกษา และให้กรมวิชาการเกษตรเร่งหาสารอื่นมาทดแทน

ส่วนกรณี ที่ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวจากกรณีการแบนสารเคมี พราราควอตและคลอร์ไพริฟอส กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลปกครอง

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 1 มิถุนายน 2563

ค่าเงินบาทเปิด 31.81 บาท/ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดแข็งค่า

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.81 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.83 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.70-31.90 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุว่าช่วงสัปดาห์นี้มีประเด็นที่ต้องติดตามหลากหลายทั้งฝั่งเศรษฐกิจและการเมืองโดยความน่าสนใจของสัปดาห์นี้ เริ่มที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิตของสหรัฐ (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่จะมีการรายงานในวันพุธ คาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 44 จุด จากที่หดตัวลงถึง 41.8 จุด ในเดือนก่อน ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่าหลายรัฐในสหรัฐกลับมาเปิดทำการธุรกิจได้บ้างแล้ว

ส่วนในฝั่งยุโรปมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในวันพฤหัส แม้ในรอบนี้คาดว่าจะ "คง" อัตราดอกเบี้ยที่ -0.50% แต่อาจมีทั้งการปรับ "เพิ่ม" ปริมาณซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างน้อย 5 แสนล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Pandemic Emergency Purchase Program) ขณะเดียวกันก็อาจมีการแถลงเรื่องความร่วมมือทางการคลังที่คาดว่าจะเป็นกลไกหลักเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในอนาคตต่อเนื่องในวันศุกร์ ก็จะมีการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในสหรัฐ (US Non-farm Payrolls) ที่คาดว่าจะลดลง 8 ล้านตำแหน่งจะส่งผลให้การว่างงานขยับขึ้นแตะระดับ 20% ที่คาดว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดในวิกฤตครั้งนี้และอนาคตอาจเริ่มฟื้นตัวกลับได้

ส่วนในฝั่งการเมืองก็น่าติดตามเป็นพิเศษ เนื่องจากมีทั้งความวุ่นวายจากการประท้วงทั่วสหรัฐ และความพยายามที่จะยกระดับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศในฮ่องกง อย่างไรก็ดี เรา "ไม่เห็น" สัญญาณอันตรายกับตลาดการเงิน ทั้งในมุมของนโยบายต่างประเทศ หรือทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

แต่ประเด็นหลักอาจอยู่ที่ปัญหาความเชื่อมั่นของเงินดอลลาร์ ที่ลดลงต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากทิศทางของดัชนีดอลลลาร์ (DXY) ในเดือนล่าสุดที่ปรับตัวลงมาตลอดทั้งจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน รวมไปถึงภาพสกุลเงินยูโร (EUR) ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ในสัปดาห์นี้จึงต้องระวังว่าถ้าตลาดมองบวกกับเงินยูโรมากขึ้น ก็อาจเห็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ต่อไปอีก ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะหนุนให้เงินบาทดูแข็งค่าตามไปด้วย

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 มิถุนายน 2563