http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2557)

โรงงานน้ำตาลหวั่นปัญหาภัยแล้งคุกคามอุตสาหกรรม

โรงงานน้ำตาลหวั่นปัญหาภัยแล้งคุกคามอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เตือนชาวไร่เตรียมน้ำพร้อมรับฤดูกาลเพาะปลูก ฉุดผลผลิตอ้อยปีหน้าวูบ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากโรงงานน้ำตาลเปิดรับหีบอ้อยฤดูการผลิตอ้อย ปี 2556/2557 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ผ่านมาแล้ว 120 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 96.89 ล้านตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 10.48 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 108.25 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.47 C.C.S. และมีปริมาณกากน้ำตาล 3.82 ล้านตัน หรือคิดเป็นกากน้ำตาลต่อตันอ้อย 39.45 กิโลกรัม ซึ่งภาพรวมคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยของฤดูกาลหีบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาภัยแล้งขณะนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อยของปี 2556/2557 ทำให้อ้อยเข้าหีบมีความแข็งและแห้ง มีผลให้การหีบอ้อยได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง นอกจากนี้ ยังกังวลว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่เคยประมาณการณ์ไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 110 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาล ประมาณ 120 ล้านตัน อาจจะได้ไม่ถึงเป้า

นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า โรงงานน้ำตาลตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกอ้อย จึงได้เร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในการเตรียมการเพาะปลูกอ้อย โดยให้ชาวไร่เตรียมพร้อมแหล่งน้ำในการเพาะปลูกอ้อยให้เพียงพอ หลังในบางพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพาะปลูกอ้อยฤดูกาลใหม่ เกิดปัญหาอ้อยตายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและขาดน้ำที่เพียงพอ ทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าว จะรุนแรงมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูกาลหีบอ้อยถัดไป

“ปัญหาภัยแล้งกำลังคุกคามต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ออกไปพบชาวไร่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลบำรุงรักษาอ้อย และร่วมกันจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ เพราะเกรงว่า หากสภาพอากาศที่ร้อนจัดรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 ลดลงได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 31 มีนาคม 2557

“กระทรวงเกษตรฯ” เร่งยกระดับเกษตรกร-สถาบันเกษตรกรเข้มแข็ง

ครบรอบ122 ปี “กระทรวงเกษตรฯ” เร่งยกระดับเกษตรกร-สถาบันเกษตรกรเข้มแข็ง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการจัดการผลิตสินค้าเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน มุ่งพัฒนาทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 1 เมษายน 2557 นี้ เป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรฯครบรอบปีที่ 122 และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 123 กระทรวงเกษตรฯได้มีนโยบายขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชนมีความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” พร้อมปรับทิศทางการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์สำคัญในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่ประเทศคู่ค้าหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือปกป้องผู้บริโภคและผู้ประกอบการของประเทศนั้น ได้แก่ กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนใหม่ มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารด้วย

เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแผนพัฒนาการเกษตร 4 ด้านหลัก คือ 1.พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มุ่งยกระดับเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) โดยมีสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) เป็นเพื่อนคู่คิด มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งจากการประเมินพบว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็น Existing Smart Farmer ซึ่งผ่านคุณสมบัติที่ประเมิน จำนวน221,884 ราย เป็นเกษตรกรที่ยังไม่ผ่านคุณสมบัติที่ประเมินและต้องพัฒนา จำนวน3,728,271 ราย นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และเร่งยกระดับมาตรฐานสหกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเวทีการค้าอาเซียนและตลาดโลก

2.พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรให้แข่งขันได้และมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการทั้งอาหารและพลังงาน พร้อมพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นปรับลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของภาคเกษตร ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) และสนับสนุนการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขยายผลการพัฒนาภาคเกษตรด้วย

“กระทรวงเกษตรฯมีแผนเร่งขยายผลและสานต่อโครงการสำคัญ ทั้งโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) และการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (Food Safety) ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์รองรับประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรที่กำลังขาดแคลน และเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรวนอาเซียนด้วย” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

3.พัฒนาทรัพยากรการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นขับเคลื่อนและขยายผลการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ หรือโซนนิ่ง (Zoning) รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มพื้นที่ชลประทานต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 200,000 ไร่ โดยเฉพาะเขตโซนนิ่ง พร้อมเพิ่มบ่อน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทานปีละ 100,000 บ่อ และวางระบบเติมน้ำในแหล่งชุมชนให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงแล้งได้

4.ปรับปรุงกลไกการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยจะพัฒนาปรับปรุงระบบงานและทบทวนบทบาทภารกิจให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เป็นองค์กรขนาดเหมาะสมที่ศักยภาพ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มคุณภาพการให้บริการกับประชาชน ตอบสนองนโยบายของประเทศและสร้างประโยชน์โดยตรงให้กับเกษตรกร โดยบูรณาการการทำงานและพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่การจัดการรายสินค้าและบุคลากร ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายชวลิต กล่าวถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรในปี 2556 ด้วยว่า มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 1.43 ล้านลานบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 คาดว่า สาขาพืชจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3.2-4.2 % โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น ส่วนแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่เป็นดาวรุ่งเด่นๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย และสินค้าที่จะมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา สาขาปศุสัตว์ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกรวม 9.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการขยายตัว12.5 % เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่าการส่งออก 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปี 2557 คาดว่า ภาพรวมของสาขาปศุสัตว์จะขยายตัวเติบโตขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างใกล้ชิด ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ด้านสาขาประมงในปี 2556 มีปริมาณการส่งออก ประมาณ 8.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.02 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ7.2 เนื่องจากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสถานการณ์ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลงค่อนข้างมากและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงด้วย

“กว่า 122 ปีแล้วที่กระทรวงเกษตรฯได้อยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย การปรับแผนขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรทั้ง 4 ด้านดังกล่าว คาดว่า จะพัฒนาภาคเกษตรไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 31 มีนาคม 2557

ภัยแล้งเริ่มคุกคามการผลิตอ้อย พบ “ตออ้อย” ตายแล้ว เตือนเกษตรกรสำรองน้ำ

โรงงานน้ำตาลเร่งส่งเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนชาวไร่อ้อยสำรองน้ำหลังภัยแล้งเริ่มคุกคาม “ตออ้อย” ตายแล้ว หวั่นรุนแรงกว่าทุกปีอาจกระทบผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายฤดูการผลิตใหม่ได้ ขณะที่การผลิตฤดูนี้เริ่มกระทบการเปิดหีบอ้อยโค้งสุดท้าย ทำให้เป้าหมายอ้อย 110 ล้านตันอาจไปไม่ถึงฝั่ง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือ TSMC เปิดเผยว่า ขณะนี้พบบางพื้นที่อยู่ระหว่างการเตรียมการเพาะปลูกอ้อยฤดูใหม่เกิดปัญหาตออ้อยตายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและขาดน้ำที่เพียงพอ ทำให้มีความกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้นและจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ให้ปริมาณและคุณภาพลดลงได้ ดังนั้นโรงงานจึงได้เร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรชาวไร่ให้เตรียมพร้อมแหล่งน้ำให้เพียงพอ

“ปัญหาภัยแล้งกำลังคุกคามต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เราจึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ออกไปพบชาวไร่เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลบำรุงรักษาตออ้อย และร่วมกันจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ เพราะเกรงว่าหากสภาพอากาศที่ร้อนจัดรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกอ้อย” นายสิริวุทธิ์กล่าว

สำหรับการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/2557 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 โดยผ่านมาแล้ว 120 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 96.89 ล้านตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลได้ 10.48 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาล 108.25 กิโลกรัมต่อตันอ้อย มีค่าความหวานเฉลี่ย 12.47 C.C.S. และมีปริมาณกากน้ำตาล 3.82 ล้านตัน หรือคิดเป็นกากน้ำตาลต่อตันอ้อย 39.45 กิโลกรัม ซึ่งโดยภาพรวมแล้วคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาการหีบอ้อยของฤดูกาลหีบที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบในช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อยของปี 2556/2557 ที่ทำให้อ้อยเข้าหีบมีความแข็งและแห้ง มีผลให้การหีบอ้อยได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลง นอกจากนี้ยังกังวลว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดยังส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่เคยประมาณการไว้ว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 110 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 120 ล้านกระสอบอาจจะได้ไม่ถึงเป้า

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 31 มีนาคม 2557

สรุปราคาอ้อยที่ 992บาท/ตัน

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานครั้งล่าสุดมีการหารือข้อปัญหาต่างๆ ที่ติดค้างอยู่หลายเรื่องแต่สามารถได้สรุปเพียงเรื่องเดียวคือราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาล 2555/56 ซึ่ง กอน. ได้เห็นชอบราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 999.20 บาท/ตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส

ส่วนกรณีเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิต 2556/57 นั้นจะมีการนัดหารืออีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ว่าที่สุดแล้วจะต้องนำเรื่องนำเสนอข้อหารือไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือไม่ เพราะปกติแล้วเงินเพิ่มจะต้องนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ และอาจจะเข้าข่ายเป็นการสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า

“ปกติการกำหนดเงินเพิ่มจะต้องส่งให้ ครม.อนุมัติ แต่ตอนนี้เป็นครม.รักษาการ แต่อย่างไรก็ควรต้องเร่งหาทางออกของเรื่องนี้เพราะชาวไร่จำเป็นต้องมีสภาพคล่องสำหรับการเพาะปลูกฤดูการผลิตหน้าเพราะตอนนี้การหีบอ้อยฤดูกาลนี้ก็กำลังจะสิ้นสุดแล้ว”

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีเรื่องระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่ปัจจุบันกำหนดว่าต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 80 กม.นั้นยังไม่มีข้อสรุป เพราะตอนนี้ทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลยังมีความเห็นขัดแย้งกัน ซึ่งในส่วนความเห็นของ สอน.คือให้คงเกณฑ์ระยะห่างที่ 80 กม. ไว้แต่หากมีความจำเป็นก็ให้แสดงให้เห็นให้ได้ว่าโรงงานน้ำตาลสามารถบริหารจัดการไม่ให้มีการแย่งอ้อยกัน อย่างไรก็ตาม สอน. ก็มองว่าเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เร่งรีบเพราะยังไม่แน่ใจว่ากระทรวงเกษตร และสหกรณ์ หรือรัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการและปัญหาการเมืองก็ยังไม่แน่นอนว่าจะเป็นอย่างไร

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 31 มีนาคม 2557

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เผยความคืบหน้าแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ลดการใช้พลังงานได้ 36,093 ล้านบาท

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ระหว่างปี 2554 - 2573 ว่า ผลการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี 2554 - 2556 รวมระยะเวลา 3 ปี สนพ. ได้ผลักดันโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน ที่สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี รวม 190 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมวัสดุและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โครงการส่งเสริมฉลากประสิทธิภาพสูงเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โครงการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ซึ่งทั้งหมดสามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 1,443,000 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 36,093 ล้านบาท

สำหรับปี 2557 สนพ. มีแผนจะส่งเสริมโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 56 โครงการ โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุมัติงบประมาณในส่วนแผนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในการดำเนินงานแล้ว โดยโครงการสำคัญที่ได้รับการสนับสนุน อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ในภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ โครงการส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าหากดำเนินการภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ในปี 2573 สามารถลดการใช้พลังงานประมาณ 38,845,000 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี คิดเป็นมูลค่าเงินประหยัดราว 1.1 ล้านล้านบาท และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 140 ล้านตัน

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 30 มีนาคม 2557

กอน.ยังมึนแก้ปัญหาอ้อยไม่ตก

ปัญหาระยะห่างโรงงานน้ำตาล 80 กม. ยังไร้ข้อสรุป เหตุชาวไร่โรงงานน้ำตาลยังเห็นต่าง ด้าน สอน. ยังมึนไม่แน่ใจนโยบายรัฐบาล

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ได้หารือปัญหาต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้หลายเรื่อง แต่สามารถได้สรุปเพียง 1 เรื่อง คือราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาล 55/56 ซึ่ง กอน. เห็นชอบราคาเฉลี่ยทั่วประเทศที่999.20 บาทต่อตันอ้อย ที่ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส ส่วนกรณีระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล ที่ปัจจุบันกำหนดว่าต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า80 กม.นั้น ยังไม่มีข้อสรุป เพราะขณะนี้ ทั้งชาวไร่และโรงงานน้ำตาลยังมีความเห็นขัดแย้งกัน

ทั้งนี้ในส่วนความเห็นสอน. คือ ให้คงเกณฑ์ระยะห่างที่ 80 กม. ไว้ แต่หากจำเป็นให้แสดงหลักฐานให้เห็นว่า โรงงานน้ำตาลสามารถบริหารจัดการไม่ให้มีการแย่งอ้อย เช่น ต้องหาโควตาอ้อยให้ได้ไม่ต่ำกว่า 60% ของกำลังการหีบ มีการร่วมพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตกับเกษตรกร โดยสอน. ต้องการให้ยืดหยุ่นเกณฑ์นี้ได้เพื่อรองรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการเปลี่ยนนาข้าวเป็นไร่อ้อย10 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านตัน ซึ่งจำเป็นต้องมีโรงงานน้ำตาลรองรับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้น แต่ในฝั่งโรงงานน้ำตาล ยังต้องการให้คงเกณฑ์ไว้ ส่วนชาวไร่อยากให้ยกเลิกเกณฑ์นี้ไปเลย

ส่วนกรณีเงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิต 56/57 นั้นจะนัดหารืออีกครั้งภายในสัปดาห์นี้ ว่าที่สุดแล้ว จะต้องนำเรื่องนำเสนอข้อหารือไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ เพราะปกติแล้ว เงินเพิ่มจะต้องนำเข้าให้ที่ประชุมครม.อนุมัติ และอาจจะเข้าข่ายเป็นการสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลหน้า

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 มีนาคม 2557

กฟผ.รับมือปตท.หยุดส่งก๊าซ ยันเตรียมแผนไว้รองรับแล้ว การันตีการผลิตไฟไร้ปัญหา

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟา การไฟฟาฝายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปดเผยว่า ตามที่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้แจ้ง หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกชของอ่าวไทยเพื่อซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซประจำป ในวันที่ 10–27เมษายน 2557 นี้ซึ่งจะทำให้มีปริมาณก๊าซฯ หายไปประมาณ 630ลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิต ไฟฟา เนื่องจากก๊าซธรรมชาติฝงอ่าวไทย ประกอบด้วยแหล่งก๊าซหลายแหล่ง

“การหยุดจ่ายก๊าซของแหล่งก๊าซบงกช จึงไม่ ส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงผลิตไฟฟาโดยรวมเนื่องจาก ปตท. สามารถจัดหาก๊าซจากแหล่ง อื่นมาทดแทนได้” นายชนินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ เตรียมมาตรการรองรับ โดยสำรองน้ำมันเตา ประมาณ 43ล้านลิตร เพื่อเดินเครื่องที่โรง ไฟฟาพลังความร้อนบางปะกงและราชบุรีทดแทน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเป น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่อง ปริมาณใช้ไฟฟ้าลดลง การหยุด จ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชในครั้งนี้ จะ ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบ ไฟฟาของประเทศ

นายชนินทร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ปตท.ยังมีกำหนดหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ อีกครั้งระหว่างวันที่ 13มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557 รวม 28วัน ในพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซียแหล่ง JDA-A18 ด้วย ซึ่งจะทำให้ มีปริมาณก๊าซฯหายไปประมาณ 400 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟา จะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่องทำให้พื้นที่ภาค ใต้ขาดแคลนกำลังผลิตไฟฟาไปบางส่วนซึ่ง กฟผ. ได้เตรียมมาตรการรองรับทั้งด้ านระบบ ผลิต ระบบส่งและระบบปองกัน เพื่อเสริม ความมั่นคงระบบไฟฟาในภาคใต้ในช่วงเวลา ดังกล่าวแล้ว

“แม้ว่าการหยุดซ่อมท่อก๊ าซจาก แหล่งบงกชครั้งนี้จะไม่น่าเปนห่วงเนื่องจาก สามารถจัดหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนได้ แต่ สิ่งที่น่าเปนห่วงก็คือกำหนดหยุดจ่ายก๊าซ จากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะส่ง ผลกระทบโดยตรงต่อกำลังผลิตไฟฟาของ ภาคใต้ ซึ่งในส่วนของ กฟผ. ได้เตรียมแผน รองรับไว้แล้ว”นายชนินทร์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งจังหวัดตรวจโรงงานกำจัดขยะ 1,855 แห่ง หลุมขยะอุตสาหกรรม 30 หลุมทั่วประเทศ ประสานกระทรวงมหาดไทยตรวจบ่อขยะชุมชุนกว่า 4,000 แห่ง ทำฐานข้อมูลจุดเสี่ยงลักลอบทิ้งขยะอันตราย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหน่วยงานในกระทรวงฯ เพื่อแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและครบวงจร ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ ทั้งขยะชุมชนและอุตสาหกรรม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการจัดการปัญหามากขึ้น กระทรวงฯ จึงได้ประชุมหาแนวทาง ซึ่งได้ข้อสรุปที่จะดำเนินการให้เข้มงวดขึ้น โดยให้เวลากรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 2 สัปดาห์ ในการประสานกับอุตสาหกรรมจังหวัด ลงตรวจโรงงานกำจัดขยะทุกประเภทที่มีอยู่ทั้งหมด 1,855 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงบ่อฝังกลบกากอุตสาหกรรมทั้งหมด 30 บ่อ ในการจัดทำฐานข้อมูลขยะ ทุกประเภท โดยหากพบรายใดกระทำผิดให้ดำเนินตามกฎหมายทันทีโดยมีโทษปรับ 2 แสนบาท จำคุก 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลกากอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม จากปัจจุบันข้อมูลที่กระทรวงฯ มี จะเป็นข้อมูลประมาณการจากการศึกษาที่ปัจจุบันพบว่ามีกากอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 49.6 ล้านตันต่อปี แยกเป็นกากไม่อันตราย 45.7 ล้านตัน และกากอันตราย 3.9 ล้านตัน ซึ่งในนี้เป็นกากที่เกิดจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบการควบคุมได้ 100% ที่ 7.1 ล้านตัน เป็นกากไม่อันตราย 5.5 ล้านตัน อันตราย 1.6 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเงินกากที่เกิดจากโรงงานนอกนิคมฯ

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาให้เร็วที่สุด โดยมีเป้าหมาย คือ ดูแลขยะทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมได้อย่างควบวงจร ดังนั้นนอกจากแก้ไขปัญหาในส่วนที่กระทรวงฯ รับผิดชอบ จะส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปร่วมตรวจสอบบ่อขยะชุมชนทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและชี้เป้าได้ว่า บ่อขยะใดมีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบนำขยะอุตสาหกรรมไปทิ้งเพื่อให้ประสานกันดูแลปัญหาได้ครอบคลุม

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาที่ผู้ประกอบการมักง่าย นำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งบ่อขยะชุมชนและที่รกร้าง โดยตอนนี้พบว่ามีขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้เข่นกากเคมี ถังเก็บสารเคมีที่มีต้นทุนการกำจัดประมาณ 8,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นต้นทุนค่อนข้างสูง ประมาณ ร้อย 20 ที่มีการลักลอบทิ้งอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาพบมากในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ขณะนี้เริ่มขยายวงกว้างมาทางภาคตะวันออกที่จังหวัดปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

สศช.เตรียมเสนอรัฐสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทน

นายสมศักดิ์ ถนอมวรสิน สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องการใช้น้ำมันชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนพบว่า ผลผลิตของพืชการเกษตรในประเทศไทยมีความสมบูรณ์ สำหรับการผลิตเป็นพลังงานทดแทน เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนในด้านพลังงานทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เตรียมเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อรัฐบาล โดยให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อมีมาตรการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสร้างแรงจูงใจประชาชนให้เห็นความสำคัญ และความคุ้มค่าการของผลผลิตพืชเกษตร เพื่อเป็นพลังงานทดแทนให้เอกชนเข้ามาช่วยในการซื้อขาย พลังงานทดแทนไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ตลอดจนอาจใช้แนวทางการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนอย่างชัดเจนให้มีหน่วยงานรองรับดูแล

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

คน.เร่งแก้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ปรับเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด-รับเปิดเสรีอาเซียน

เปิดเวทีแข่งขันทางการค้าอาเซียนเล็งแก้กฎหมายแข่งขันการค้า 10 ประเทศอาเซียน สร้างความเป็นธรรม-ลดการสร้างได้เปรียบการลงทุน ด้านกรมการค้าภายในเตรียมชงรัฐบาลใหม่คุมกำเนิดบริษัทใหญ่ เลี่ยงกฎหมาย "นิติบุคคล" จดทะเบียนหลายบริษัท พร้อมวางโทษ "อาญา" บริษัทฮั้วราคา ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน แถมเร่งปรับหลักเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด 30 หรือ 50

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันของอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้าของอาเซียนได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะ เพื่อจัดทำแผนการทำงานหลังรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เช่น ความจำเป็นจะต้องมีการทบทวนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในกฎหมายแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในแต่ละประเทศ เพื่อที่จะให้นักธุรกิจแต่ละประเทศสามารถเข้าไปทำการค้าการลงทุนได้ โดยเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

ประเทศเวียดนามกำหนดเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดไว้ที่ 30% ไทยกำหนดส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% ขณะที่สิงคโปร์ มาเลเซียให้อำนาจคณะกรรมการใช้ดุลพินิจพิจารณาจาก "พฤติกรรม" เป็นหลัก ไม่กำหนดส่วนแบ่งตลาดว่าเท่าใด คำว่ารายใหญ่ คือมีพฤติกรรมที่สามารถครอบครองตลาด ไปกำหนดราคา หรือปริมาณได้ ถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพล มีอำนาจเหนือตลาด จึงอาจต้องมาพิจารณารายละเอียดกันในอนาคต การประชุมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขอความร่วมมือมากกว่า และได้มีการจัดทำคู่มือ และเว็บไซต์ www.aseancompetition.org เกี่ยวกับกฎหมายแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศ เพื่อแนะนำให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ก่อนเข้าไปทำธุรกิจ

ปัจจุบันกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ของไทย ซึ่งบังคับใช้มากว่า 15 ปี ยังมีประเด็นต้องแก้ไขหลายมาตรา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ แต่ระหว่างนี้เป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง หลังประกาศยุบสภา และมีรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ เพราะการตัดสินใจของคณะกรรมการจะมีผลผูกพันไปยังรัฐบาลชุดใหม่ แต่คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมความเห็นไว้เสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา โดยเฉพาะการแก้ไขนิยามอำนาจเหนือตลาด เกณฑ์การควบรวม ธุรกิจ และมาตรการอื่น ๆ

สำหรับแนวทางแก้ไขร่างเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด มีข้อสรุป 2 ทางเลือก มีข้อดีข้อเสียต่างกัน คือ 1) หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใดที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาประมาณ 1,000 ล้านบาท ข้อดีคือธุรกิจขยายตัวเติบโตเต็มที่ ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ข้อเสียอาจจะมองได้ว่าไม่เข้มงวดมาก 2) หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใดมีส่วนแบ่งตลาด 30% ข้อดีสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กชอบ ส่วนรายใหญ่อาจไม่ชอบ เหมือนว่าโดนเฝ้าจับตามอง แต่ไม่ว่าอำนาจเหนือตลาดจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจมีธรรมาภิบาล ไม่เคยเอาเปรียบใคร กฎหมายไม่สามารถก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ อย่างเวียดนามกำหนดส่วนแบ่งตลาดไว้ที่ 30% ถือว่าเข้มงวดกว่าไทย

นอกจากนี้ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณานิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเดิมในกฎหมายนี้ มอง "นิติบุคคล" ตามการจดทะเบียนนิติบุคคล แต่แท้จริงแล้ว บริษัทใหญ่บางรายเลี่ยงกฎหมาย ด้วยการไปจดทะเบียนแยกเป็นหลายนิติบุคคล ทั้งที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนคนเดียวกัน ต่อไปกฎหมายจะถือเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือเดียวกัน

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันการฮั้วกันของผู้ประกอบการ จึงกำหนด "มาตรการใหม่" เหมือนที่กฎหมายอาญาในยุโรปใช้ โดยเปิดโอกาสให้คนที่ทำความผิดร่วม

นำเรื่องมาแจ้งคณะกรรมการ จะได้รับการลดหย่อนโทษ เหมือนกันตัวไว้เป็นพยาน ยกตัวอย่าง กรณีสายการบินในยุโรปกลุ่มหนึ่งกำลังวางแผนจะฮั้วค่าราคาบริการกัน ต่อมาคณะกรรมการในสหภาพยุโรป (อียู) ทราบเรื่อง สายการบินที่เป็นแกนนำกลัวความผิด จึงนำเรื่องมาสารภาพให้กับคณะกรรมการอียู ส่งผลให้สายการบินอื่นที่ร่วมมือกันถูกตัดสินความผิดตามกฎหมายอาญา

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการกำหนดเกณฑ์ควบรวมธุรกิจยังคงไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการถือหุ้น อาทิ การเข้าไปซื้อหุ้นควรจะเป็นเท่าไหร่ จึงจะเรียกว่าสามารถเข้าไปมีส่วนในเรื่องการกำหนดนโยบายของบริษัท หรือทำให้เกิดการผูกขาดตลาด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจเกษตรไทย

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจเกษตรไทย ระบุว่า

Highlight

ภัยแล้งในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่ปีนี้มีระดับความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชที่ปลูกในช่วงหน้าแล้ง จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ในขณะที่พืชชนิดอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ สภาวะภัยแล้งนอกฤดูกาลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยปรับตัวลดลง ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรและอัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย อีไอซี มองว่า ผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง และปศุสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบการควรที่จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรองรับผลกระทบดังกล่าว ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน พร้อมกันนั้น ภาครัฐก็ควรมีมาตรการที่เอื้อต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลน เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศ

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยล่าสุดมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งแล้ว 30 จังหวัด โดยปกติภัยแล้งในไทยจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ 1) ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน หรือราว เดือน พ.ย. – กลางเดือน พ.ค. ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ภัยแล้งตามฤดูกาล” 2) ช่วงกลางฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. – ก.ค. ภัยแล้งในช่วงนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อสภาพภูมิอากาศโลกผิดปกติ โดยภัยแล้งในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมาก จากข้อมูลล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยแล้งตามฤดูกาลแล้ว 30 จังหวัด

พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งในระดับที่รุนแรงมากกว่าปกติ จากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงต้นฤดูแล้ง (1 พ.ย. 2013) ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนราว 16 พันล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 11% ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งลดลงราว 41% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลให้พื้นที่ที่กรมชลประทานจัดสรรให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง ลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 4.5 ล้านไร่

ข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชที่ปลูกในช่วงหน้าแล้ง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่พืชชนิดอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกในช่วงหน้าแล้ง โดยกว่า 80% ของการปลูกข้าวนาปรังจะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย. ในขณะที่พืชชนิดอื่น เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเพาะปลูกในช่วงหน้าฝนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง โดยจากข้อมูลการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 5 แสนตัน หรือปรับตัวลดลงราว 5% ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง เป็นหลัก โดย อีไอซี มองว่า ผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงไม่น่าจะช่วยพยุงราคาข้าวในตลาดที่กำลังปรับตัวลดลงได้มากนัก เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ สภาวะภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ผลผลิตพืชหลักๆ ของไทยปรับตัวลดลง ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ไทยประสบกับภาวะภัยแล้งในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญของไทยปรับตัวลดลง โดยจากข้อมูลในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี พบว่า ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปรับตัวลดลงราว 24%, 21% 6% และ 1% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในกรณีของยางพารา อีไอซี มองว่า หากเกิดภัยแล้งขึ้นในหน้าฝน ก็มีแนวโน้มที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005 เนื่องจาก ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าภาคใต้) ราว 4.3 แสนตัน หรือคิดเป็น 12% ของผลผลิตทั้งประเทศ แตกต่างจากปี 2005 ที่มีผลผลิตยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 0.9 แสนตัน หรือราว 3% ของผลผลิตทั้งประเทศ โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะช่วยผลักดันให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยให้รายได้โดยรวมของเกษตรกรปรับตัวลดลงไม่มากนัก

อีไอซี มองว่า ผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลังและปศุสัตว์ ในขณะเดียวกันยังจะผลักดันให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลในปี 2005 พบว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าว น้ำตาล มันสำปะหลังปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง 14%, 13% และ 1% ตามลำดับ ซึ่งหากเกิดภัยแล้งขึ้นในฤดูฝนปี 2014 ก็มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รายได้ของผู้ส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีของข้าว ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากสามารถประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อใช้ในการส่งออกได้ นอกจากนี้ อีไอซี มองว่า แม้ในปี 2005 มูลค่าการส่งออกยางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้ อาจจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005

ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจปศุสัตว์จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพด โดยผู้ประกอบการในธุรกิจไก่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดเป็นส่วนผสมการทำอาหารไก่ในสัดส่วนที่สูงราว 60% ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจหมูและเป็ด จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ในระดับต่ำราว 20-30% นอกจากนั้น ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2005 เงินเฟ้อในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5%

Implication

รายได้เกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ รายได้ของเกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรปรับตัวลดลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภค ในประเทศ อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการบริโภคของครัวเรือนในภาคเกษตร (ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ) คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการบริโภครวมทั้งประเทศ

ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ตันทุนการผลิต หากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นและผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะมีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อที่จะรักษาระดับกำไรไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก ผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียวัตถุดิบระหว่างการผลิต

ในกรณีที่ภาวะภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่เอื้อต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลน ตัวอย่างเช่น การปรับลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด จากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีสูงถึง 73% และเสียค่าธรรมเนียมพิเศษอีก 180 บาทต่อตัน ซึ่งการปรับลดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ยังเป็นการช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศให้ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ก.อุตฯลุยตรวจขู่ฟ้องอปท.ปล่อยกากพิษ

อุตสาหกรรมเร่งล้อมคอก สั่งทุกจังหวัดจับมือมหาดไทยเอกซเรย์บ่อขยะทั่วประเทศ ป้องกันซ้ำรอยกรณีแพรกษา คุ้ยเก็บตัวอย่างตรวจหากากอุตสาหกรรมอันตราย ขู่หากพบถูกลักลอบทิ้งปะปนขยะชุมชน เตรียมฟ้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฐานเจ้าของบ่อละเว้นปฏิบัติหน้าที่โทษทั้งจำและปรับ กำชับต้องแยกขยะอุตสาหกรรมและเศษยาง-พลาสติกก่อนทิ้ง นักวิชาการแนะเพิ่มโทษลักลอบทิ้งกากให้สูงกว่าค่ากำจัด

จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่ตำบลแพรกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จนส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นนั้น นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกับบ่อขยะในพื้นที่อื่นๆ ล่าสุดนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ไปดำเนินการสำรวจบ่อขยะชุมชน ขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.), เทศบาล และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่มีอยู่ทั้งหมด ร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทราบจำนวนบ่อขยะที่มีอยู่จริง พร้อมกับเก็บตัวอย่างขยะเพื่อตรวจหาว่า มีการนำกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายมาลักลอบทิ้งปะปนอยู่ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าบ่อขยะของอบต.หรือเทศบาลใด มีกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายถูกลักลอบนำมาทิ้งปะปนอยู่ด้วย จะสั่งฟ้องดำเนินการตามกฎหมายตามพ.ร.บ.โรงงาน ในฐานะเจ้าของบ่อขยะ ถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนจะอ้างว่าไม่ทราบมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งนั้น ก็ต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ว่ามีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้มีการกำชับไปยังอบต.และเทศบาลทั่วประเทศ ให้ดำเนินการคัดแยกขยะทั่วไป ไม่ให้มีการปะปนกับขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่ไม่เป็นและเป็นอันตราย โดยเฉพาะเศษยางและพลาสติก เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบ่อขยะที่ ต.แพรกษา นั้น ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเกิดการเผาไหม้จากเศษยางและพลาสติกเป็นตัวหลัก

นอกจากนี้ยังมีขยะอุตสาหกรรมอีกกว่า 100 ชนิด เช่น ของเสียอันตรายจากกลุ่มต่างๆ เช่น กรดกำมะถันและผงโปแตสเซียมไนเตรต น้ำเสียจากกระบวนการผลิต กรดกัดแม่พิมพ์เหล็ก กรดเกลือเสื่อมสภาพ น้ำยากัดชิ้นงาน น้ำยาชุบโลหะ สารทำความเย็น สารละลายประเภทโซเวนต์ ผงตะกั่ว ผงฝุ่นผ้าเบรก ผงคาร์บอนแบล็ก ตัวทำละลายใช้แล้ว(โทลูอีน/อะซีโตน) สารเคมีเสื่อมสภาพ สารเคมีเกษตรเสื่อมสภาพ มาลาไธออนผสมแคปแทน สารละลายปนเปื้อน กระป๋องสี กระป๋องสเปรย์ เศษผ้าปนเปื้อนน้ำมัน หรือปนเปื้อนสารเคมี กากตะกอนสีจากระบบย้อมผ้า น้ำมันหล่อลื่นใช้งานแล้ว และขยะติดเชื้อจากห้องพยาบาล เป็นต้น ทางอบต.หรือเทศบาลจะต้องไม่รับนำมาทิ้ง เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษตามที่ระบุไว้ดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนการตรวจวิเคราะห์ควันพิษจากไฟไหม้บ่อขยะ ต.แพรกษา นายณัฐพล กล่าวว่า ขณะนี้ผลการวิเคราะห์ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ ว่าเป็นวัสดุที่เป็นอันตรายจากกากอุตสาหกรรมหรือไม่ เพราะมีการปะปนอยู่ในขยะชุมชน แต่ที่พิสูจน์ได้คือ เพลิงที่ลุกไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากเศษยางและพลาสติก ซึ่งจะต้องรอผลการพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง และเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม หากตรวจพบว่าเป็นกากชนิดใด ก็จะสามารถสืบหาการนำมาลักลอบทิ้งได้

"ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า มีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมที่มีพิษมาทิ้งด้วยหรือไม่ เพราะยังไม่พบหลักฐาน ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากมีการเก็บขยะอุตสาหกรรมมา โดยไม่มีการคัดแยก และนำมาทิ้งปะปนกัน ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของใคร ก็ต้องรอผลทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง"

ด้านดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การจะเอาผิดเจ้าของบ่อขยะที่มีขยะอุตสาหกรรมทิ้งปะปนอยู่ด้วยนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยังมีบ่อขยะอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่แจ้งและไม่แจ้งการดำเนินงาน การจะดูแลให้ได้ผลจะต้องตรวจสอบตั้งแต่การนำขยะอันตราย ออกจากต้นทางไปจนถึงปลายทางคือเข้าโรงกำจัดนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มโทษผู้ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมให้รุนแรงมากขึ้น หรือสูงกว่าค่านำกากของเสียไปบำบัด เพราะหากโทษปรับยังต่ำอยู่ ก็ยังเอื้อให้เกิดการทำผิดไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่โรงงานที่รับกากไปกำจัดไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานรับกำจัดไม่เพียงพอต่อปริมาณกากของเสียที่ออกมา ทำให้กากของเสียส่วนหนึ่งรั่วไหลออกจากระบบได้ อีกทั้งการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะอนุมัติตั้งโรงงาน ควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่า กากของเสียที่ออกมานั้นจะไปส่งกำจัดที่ไหน ไม่ใช่อนุมัติตั้งโรงงานจนเกินศักยภาพการรองรับกำจัดกากของประเทศ

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า การจะดูแลขยะอุตสาหกรรมให้ได้ผลจริง ภาครัฐต้องวางเป้าหมายหรือนโยบาย ในการลดปริมาณขยะของชุมชนและอุตสาหกรรมลงมา โดยการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ที่นำไปสู่การรีไซเคิล หรือการนำไปสู่การกำจัดอย่างถูกต้องวิธี โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการฝังกลบหรือการนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงเพื่อไม่เกิดมลพิษ

ประการสำคัญปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไม่ใช่เกิดกับบ่อขยะชุมชนเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า บ่อที่มีการขุดหน้าดินไปขาย หากจะทำการตรวจสอบบ่อขยะ ก็ต้องไปตรวจพื้นที่เหล่านี้ด้วย หากไม่ทราบก็ต้องอาศัยประชาชนคอยเป็นหูเป็นตาให้ โดยให้รางวัลกับผู้แจ้งเบาะแส เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลไฟไหม้บ่อขยะในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์พบว่า เกิดขึ้นแล้วใน 6 จังหวัดได้แก่ พื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พื้นที่บ่อขยะเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี พื้นที่บ่อขยะเทศบาลเมือง อรัญประเทศ พื้นที่บ่อขยะเทศบาลสว่างแดนดิน จ.สกลนคร พื้นที่บ่อขยะอบต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก และพื้นที่เทศบาล ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

พัฒนาสารสนเทศการเกษตร สศก.เปิดเวทีเสวนาใหญ่ทั่วปท.สร้างเอกภาพข้อมูล

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเกษตร ได้จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจในเรื่องการจัดทำและการใช้ข้อมูลสารสนเทศเศรษฐกิจการเกษตร “เข้าใจ ใช้เป็น เห็นค่า สารสนเทศเกษตรไทย” ให้แก่คณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชระดับภาคเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีกำหนดการจัดทั้งหมด 8 ครั้ง และคาดว่ามีผู้เข้าร่วมสัมมนาเกือบ 2,000 คน

ทั้งนี้ สำหรับการสัมมนาครั้งแรก ได้จัดไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ชลพฤกษ์รีสอร์ท จ.นครนายก และจะทยอยจัดอีก 7 ครั้งภายในเดือนพฤษภาคม ใน จ.อยุธยา เพชรบุรี พิษณุโลก อุดรธานี อุบลราชธานี ตรัง และเชียงใหม่ ซึ่งรูปแบบการจัดสัมมนา นอกจากจะเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรแล้ว ยังเป็นการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาการดำเนินงานของคณะทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดทำข้อมูลของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเกษตร ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีเพาะปลูก 2554/2555 ถึงปัจจุบัน โดยในระยะแรก เริ่มจากพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ จำนวน 6 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน และจะเพิ่มข้อมูลสินค้าอื่น เช่น สับปะรด หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม เป็นต้น โดยการจัดทำข้อมูลที่เป็นเอกภาพ จะช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่มีหลายหน่วยงาน เกิดความเป็นเอกภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูล รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง แก้วิกฤติแล้ง-น้ำท่วมลุ่มน้ำปราจีนบุรี

นายอนุวัตร บัวจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์
นายอนุวัตร บัวจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 9 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้วว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 50 ของโครงการ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 จากแผนเดิมกำหนดแล้วเสร็จในปี 2560 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร และกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ในเขต จ.สระแก้วได้เพียงพอ รวมทั้งยังช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ตลอดจนใช้เป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกอีกด้วย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง อยู่ในลุ่มน้ำคลองพระสะทึงเป็นลุ่มน้ำย่อย 1 ใน 4 ของลุ่มน้ำปราจีนบุรีที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีพื้นที่รับน้ำฝนรวมทั้งสิ้น 2,605 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติรายปีเฉลี่ยที่ประมาณ 850.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่แห่งเดียวคืออ่างเก็บน้ำคลองสามสิบ มีความจุ 5.7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,200 ไร่

ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึงที่กำลังก่อสร้างแม้จะเป็นอ่างฯ ขนาดกลาง แต่มีความจุที่ระดับเก็บกักถึง 65 ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ เฉลี่ยปีละ 240.51 ล้านลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จสามารถขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มอีก 40,640 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ต.พระเพลิง ในเขต อ.เขาฉกรรจ์ ต.ทุ่งมหาเจริญ ในเขต อ.วังน้ำเย็น ต.ตาหลังใน และต.วังใหม่ ในเขต อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว

นอกจากนี้จากรายงานผลการศึกษาความเหมาะสม อ่างฯ คลองพระสะทึง ยังก่อให้เกิดประโยชน์ที่มิได้คิดเป็นตัวเงิน เช่น ความมั่นคงของชายแดน การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย

และในอนาคตความต้องการใช้น้ำเพื่อการชลประทานจะเพิ่มจากปีละ 4.24 ล้านลบ.ม. เป็น 56.67 ล้านลบ.ม. และความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคจาก 1.90 ล้านลบ.ม. เป็น 4.39 ล้านลบ.ม. ซึ่งเมื่ออ่าง ฯ แล้วเสร็จจะสามารถรองรับความต้องการในการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี.
จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

เมืองกาญจน์เร่งยกระดับสินค้าเกษตรปลอดภัยรับตลาดโต

นายบำรุง สังข์สว่าง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดงาน "GAP Learning Day" ระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคม 2557 เพื่อแนะนำความรู้ ส่งเสริมเกษตรกรหันมาใช้วิธีการปลูกข้าวทางเลือกใหม่ ปลอดการใช้สารเคมี ลดการตกค้าง ทุกขั้นตอนในกาญจนบุรีให้ไปตามคุณสมบัติของเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) กรมส่งเสริมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดไว้ เช่น มาตรฐานการเตรียมดิน การวัดค่าสิ่งเจือปนในน้ำ การดูแลรักษา การใช้ปุ๋ย ยาแมลง การเกี่ยวเกี่ยวที่ถูกวิธี กระบวนการขนส่งก่อนเข้าโรงสี ลดการสูญเสียจากขบวนการผลิตและการขนส่ง

ทั้งนี้การจัดงานดังกล่าวคาดว่าจะมีเกษตรกรและชาวนาเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน เพื่อเข้ามารับฟังการถ่ายทอดเทคนิค แนวคิดใหม่ ๆ การบรรยายการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ชมนิทรรศการการปลูกข้าวทางเลือกใหม่ การสาธิตการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ในการไถนา การแข่งขันดำนา คาดว่าเกษตรกรจะนำความรู้ไปปรับใช้ได้จริงในการทำนาและทำการเกษตรอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม นอกจากสินค้าประเภทข้าว ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เตรียมยกระดับมาตรฐานพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น มันสำปะหลัง อ้อย เพื่อให้สินค้าเกษตรกาญจนบุรี เป็นเมืองสินค้าเกษตรปลอดภัย มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเลือกบริโภคสินค้าเกษตรกรมีสูงขึ้น ดังนั้นหากมีการพัฒนาจะทำให้เป็นผู้ได้เปรียบทางด้านการตลาดในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มี.ค. 2557

แบงก์ชาติปรับสูตรคิดดัชนีค่าบาท เพิ่ม3สกุลเงิน"พม่า-ลาว-กัมพูชา"รับค้าชายแดนคึก

แบงก์ ชาติรื้อสูตรคำนวณดัชนีค่าเงินและค่าเงินบาทที่แท้จริงใหม่ ดึง 3 สกุลเพื่อนบ้าน "พม่า-ลาว-กัมพูชา" ร่วมคำนวณ รับเทรนด์การค้าชายแดนพุ่งปรี๊ด หวังวัดศักยภาพการค้าไทยมากขึ้น ด้านกสิกรฯชี้ มี.ค.เงินบาทแข็งค่าอันดับ 4 ของภูมิภาค หลังการเมืองลดอุณหภูมิร้อนแรง

รายงานนโยบายการเงิน มี.ค. 2557 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุถึงการปรับปรุงดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ว่า ล่าสุด ธปท.ได้มีการปรับน้ำหนักการค้าที่ใช้การคำนวณดัชนีค่าเงินบาทและดัชนีค่า เงินที่แท้จริง เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงในปัจจุบันให้ดียิ่ง ขึ้น โดยได้มีการเพิ่ม 3 สกุลเงินใหม่เข้ามา และปรับออก 1 สกุลเดิม ทำให้มีสกุลเงินที่ใช้ในการคำนวณดังกล่าวจาก 23 สกุลเงิน เป็นทั้งหมด 25 สกุลเงิน

โดยในเบื้องต้น ธปท.ได้เพิ่มจำนวนสกุลเงินคู่ค้าที่สำคัญอีก 3 สกุล ได้แก่ สกุลเงินจ๊าตของพม่า สกุลเงินกีบของลาว และสกุลเงินเรียลของกัมพูชา เนื่องจากทั้ง 3 สกุลนี้มีบทบาทสำคัญทางการค้ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ส่วนสกุลเงินที่ปรับออก คือ สกุลเงินดอลลาร์แคนาดาของแคนาดา

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท. กล่าวว่า สถิติที่พบทำให้เห็นว่าสัดส่วนการส่งออกสินค้าจากไทยไปลาว พม่า และกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 5.2% จากปี 2551 อยู่ที่ 2.9% อีกทั้งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกไทยไป 3 ประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากถึง 2 เท่าตัว สะท้อนถึงความสำคัญทางการค้ากับไทยที่มากขึ้น

พร้อมกันนี้ ธปท. ยังได้ปรับวิธีการคำนวณมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้าในภาคบริการเข้ามา ในการคำนวณน้ำหนัก เนื่องจากการส่งออกภาคบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวมีความสำคัญมากขึ้น กับเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันได้มีการหักการคำนวณมูลค่าการส่งออกและนำเข้าทองคำออกไป เพราะเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากกว่าเพื่อการค้าขายสินค้า และไม่ได้สะท้อนความสามารถในการแข่งขัน

อีกทั้ง ธปท.ยังได้ปรับน้ำหนักใหม่ โดยการใช้ข้อมูลการค้าในปี 2555 คำนวณแทนข้อมูลในปี 2550 โดยจะเริ่มปรับใช้ 3 สกุลใหม่ พร้อมทั้งปรับน้ำหนักการคำนวณดัชนีค่า NEER และ REER ตั้งแต่เดือน มี.ค.นี้ โดย ธปท.มีการทบทวนน้ำหนักและปรับวิธีการคำนวณใหม่ทุก 3 ปี เพื่อให้สะท้อนโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปให้มากที่สุด

ทั้ง นี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการค้าชายแดนไทย (กัมพูชา-ลาว-พม่า-เวียดนาม) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ยอดการค้าชายแดนอยู่ที่ 779,042 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 64,920 ล้านบาท และในปี 2556 ยอดรวมอยู่ที่ 850,553 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 70,897 ล้านบาท และล่าสุดเฉพาะเดือน ม.ค. 2557 ยอดการค้าชายแดนอยู่ที่ 75,883 ล้านบาท

นาง สาวนลิน ฉัตรโชติธรรม ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับการคำนวณค่า NEER และ REER ใหม่ของ ธปท.นั้น สะท้อนว่าสกุลเงินเพื่อนบ้านมีบทบาทมากขึ้นในการทำการค้ากับไทย และที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของสกุลเงินของเพื่อนบ้านถือว่ายังเคลื่อนไหวสอด คล้องกับค่าเงินบาท

"แปลว่าการค้าขายระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านอยู่ ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของค่า NEER สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถการแข่งขันด้านราคา หากเทียบกับการค้าไทยกับสกุลเงินอื่น ๆ"

พร้อมกับกล่าวว่า หากดูทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเดือน มี.ค.นี้ พบว่าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นกว่าหลายสกุลเงินในภูมิภาค โดยในช่วงวันที่ 28 ก.พ.-24 มี.ค. 2557 ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 0.31% ติดอันดับ 4 เมื่อเทียบกับ 15 สกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่สกุลเงินที่แข็งค่าสูงสุด ได้แก่ รูเปียห์ของอินโดนีเซีย ดอลลาร์ของออสเตรเลีย และรูปีของอินเดีย ตามลำดับ ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท เกิดจากนักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อเงินบาท เนื่องจากมองปัญหาการเมืองยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มี.ค. 2557

ชี้การค้าโลกปีนี้เพิ่ม4.5%แต่ขีดกันการค้าพุ่ง

สศก.เผยWTO ระบุการค้าของโลกในปี 57 ยังเพิ่มขึ้น4.5% แต่มาตรการจำกัดทางการค้าเกิดขึ้นใหม่ 407มาตรการ

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายงาน OVERVIEW OF DEVELOPMENTS IN THE INTERNATIONAL TRADING ENVIRONMENT ของ WTO ฉบับล่าสุด ซึ่งคาดการณ์ว่า การเติบโตทางการค้าของโลกในปี 2557 นี้ จะเพิ่มขึ้น 4 - 4.5% แต่ขณะเดียวกัน พบว่า มีมาตรการที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 407 มาตรการ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของโลก 1.3% มูลค่า 240 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

มาตรการที่เป็นข้อจำกัดทางการค้าใหม่ ดังกล่าว สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่มาตรการทางการค้าที่ถูกยกเลิกมีจำนวนน้อยกว่ามาก ทำให้ปริมาณการใช้ข้อจำกัดทางการค้าและการบิดเบือนทางการค้ายังคงเพิ่มจำนวนขึ้น โดยมาตรการที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด ได้แก่ มาตรการเยียวยาทางการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Anti-dumping) และมาตรการปกป้อง (Safeguard) รวมถึงการเพิ่มภาษีนำเข้า และพิธีการทางศุลกากร เป็นต้น

โดยจะเห็นว่าประเทศสมาชิกจะต้องร่วมกันรับความเสี่ยงจากผลกระทบที่สะสมต่อเนื่องจากมาตรการจำกัดทางการค้าที่มีอยู่แล้วและที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม หวังว่าผลจากความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าจากการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 9 หรือ Bali Package ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการปฏิบัติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศสมาชิกได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการจัดทำความตกลงทางการค้าในภูมิภาค (Regional Trade Agreements: RTAs) ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การเปิดเสรีและการสร้างกฏกติกาทางการค้ามีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมี RTAs รวมทั้งสิ้น 250 ฉบับ และยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำ RTAs ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับปี 2557 จะเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์การการค้าโลก เพราะเป็นปีที่การเจรจารอบโดฮาจะกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง ท่ามกลางความท้าทายสำคัญ คือ มาตรการจำกัดทางการค้า และความตกลงทางการค้าในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความโปร่งใสในมาตรการทางการค้าและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการปฏิรูประบบการค้าแบบพหุภาคีและการปฏิบัติตามภารกิจหลักขององค์การการค้าโลกในทุกด้านอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกความโปร่งใสจากการใช้มาตรการทางการค้า และมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสนับสนุนกฏระเบียบภายใต้ WTO ที่มีอยู่ ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 มี.ค. 2557

ปภ. ประกาศภัยแล้งเพิ่มอีก 30 จังหวัด 189 อำเภอ เตรียมวางแผนจัดการน้ำและลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 - ปัจจุบัน มีจังหวัดที่ประกาศเขตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) เพิ่มขึ้นแล้ว 30 จังหวัด รวม 189 อำเภอ 1,165 ตำบล แยกเป็น ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคตะวันออกฉัยงเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้อีก 5 จังหวัด และด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทาง นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย เตรียมสำรวจแหล่งน้ำ และวางแผนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ด้วยการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ วางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการกระจายน้ำให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่

นายฉัตรชัย ยังขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้งให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคให้เพียงพอกับหน้าแล้งนี้ ส่วนเกษตรกรขอความร่วมมือในการงดปลูกข่าวนาปรังก่อน เพราะต้องใช้น้ำมากในการเพาะปลูก ใยช่วงนี้ให้เลือกปลูกพื้ชที่ใช้น้ำน้อย ทั้งนี้ ถ้าประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ช.ม. เพื่อประสานใหการช่วยเหลือต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 25 มีนาคม 2557

อ้อยห้ามใช้แรงงานเด็ก

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมฯมีนโยบายไปยังโรงงานน้ำตาลทุกแห่งร่วมต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มงวด โดยให้ปฏิเสธรับผลผลิตอ้อย ที่มาจากการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับ และออกหนังสือเวียนไปยังโรงงานทั่วประเทศให้ขอความร่วมมือเกษตรกร ไม่ใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด ที่อาจถูกมองว่ามีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยฯ ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมชาวไร่อ้อย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย พร้อมกันนั้น ยังได้สนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่ง เข้าร่วมโครงการตรวจรับรองสถานประกอบกิจการที่ไม่มีแรงงานเด็กผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานด้วย

“นอกจากนี้ ยังเตรียมให้ข้อมูลแก่คณะทำงานไทย จากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน และสถานทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ในการเดินทางมาเก็บข้อมูลการใช้แรงงานผิดกฎหมายใน 5 อุตสาหกรรมคือ กุ้ง ปลา เครื่องนุ่มห่ม อ้อย และสื่อลามก โดยคณะทำงานฯจะนำข้อมูลไปจัดทำเป็นรายงานเสนอกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แรงงานของอุตสาหกรรมอ้อยฯ โดยหวังให้สหรัฐฯ ปลดอ้อยออกจากบัญชีสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก ในรายงานการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ ที่สหรัฐฯจะประกาศในเร็วๆนี้”.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 25 มีนาคม 2557

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กวดขันเข้มโรงงาน-ไร่อ้อย ห้ามใช้แรงงานเด็ก พร้อมร่วมให้ข้อมูลคณะทำงานนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสหรัฐฯ หวังปลดอ้อยจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กวดขันห้ามใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งในโรงงานและไร่อ้อย หวังลดความเสี่ยงจากการเข้าใจผิดที่มีต่ออุตสาหกรรม พร้อมจับมือหน่วยงานราชการและองค์กรส่วนท้องถิ่นร่วมต่อต้าน เตรียมรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อคณะทำงานที่ปรึกษา เพื่อชี้แจงต่อกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ หวังขอปลดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับที่ผิดกฎหมาย จึงมีนโยบายไปยังโรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่ง รณรงค์ร่วมต่อต้านการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้มีการออกมาตรการปฏิเสธรับผลผลิตอ้อย ที่มาจากการใช้แรงงานเด็กและแรงงานภาคบังคับ ขณะเดียวกันได้ออกหนังสือเวียนไปยังโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศให้มีการกวดขันขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจถูกมองว่ามีการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมได้

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยังได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมชาวไร่อ้อย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย รวมถึงดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่อต้านการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในโรงงานและในไร่อ้อยผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมและจัดฝึกอบรม ชี้แจงให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงานโรงงาน เกษตรกรชาวไร่อ้อยและชุมชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างจริงจัง

“เราตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับที่ผิดกฎหมาย จึงมีนโยบายชัดเจนที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลและในไร่อ้อยให้กวดขันห้ามใช้แรงงานเด็กโดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปราม โดยมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาและร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย” นายเชิดพงษ์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า นอกจากมาตรการขั้นต้นแล้ว 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยังได้สนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งเข้าร่วมโครงการตรวจรับรองสถานประกอบกิจการที่ไม่มีแรงงานเด็กผิดกฎหมายและการบังคับใช้แรงงาน ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีโรงงาน 12 แห่งได้ผ่านการรับรองแล้ว และที่เหลืออยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจรับรอง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ยังเตรียมเข้าร่วมให้ข้อมูลแก่คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เนื่องในโอกาสที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมสินค้า 5 รายการ ได้แก่ กุ้ง ปลา เครื่องนุ่มห่ม อ้อย และสื่อลามก โดยคณะทำงานดังกล่าว จะนำข้อมูลที่ได้จัดทำเป็นรายงานเสนอไปยังต่อกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้แรงงานของภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายหวังให้ทางการสหรัฐฯ ปลดสินค้าอ้อยออกจากบัญชีรายชื่อสินค้าที่ใช้แรงงานเด็กต่อไป

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เกษตรฯ แจงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ขยายตัว 0.5 เตือน ไตรมาส 2 ผลผลิตยังเสี่ยงจากภัยแล้งยาวถึงต้นฤดู

เกษตรฯ แจงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ขยายตัว 0.5 เตือน ไตรมาส 2 ผลผลิตยังเสี่ยงจากภัยแล้งยาวถึงต้นฤดู คาดแนวโน้มปี 57 ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 จากผลผลิตพืชและปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยถึงการประมาณการอัตราการเติบโตของ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และส่งผลต่อเนื่องมายังราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ได้ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง นอกจากนี้ ปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่มีความรุนแรงอย่างมากในปี 2556 ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในไตรมาสแรกของปี 2557

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในปี 2557 สาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 สาขาปศุสัตว์จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 สาขาประมงจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 สาขาบริการทางการเกษตรจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 - 3.2

ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 ในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (ลำไยและทุเรียน) ซึ่งผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทนพืชที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่า อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ประกอบกับเกษตรกรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงดูแลต้นอ้อย รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากโรงงานน้ำตาลทรายและเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (มังคุดและเงาะ) โดยข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปี 2556 ทำให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ส่งผลกระทบต่อต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงช่วงออกรวง ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต ส่วนมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลงจากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน อีกทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแซมในสวนยางพาราไม่สามารถปลูกได้อีก เพราะยางพารามีการเจริญเติบโตขึ้น ด้านสับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อนจัดตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ พื้นที่เก็บเกี่ยวก็ลดลงจากการรื้อถอนสับปะรดที่ปลูกแซมในสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาล ขณะที่ผลผลิตใหม่จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดประมาณเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี

ด้านสินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยมันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบของลานมันเส้นและโรงแป้งมัน ในการเร่งผลิตสินค้าเพื่อเก็บเข้าสต็อก รวมทั้งความต้องการจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่มีความต้องการมันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนผลไม้ที่มีราคาเพิ่มขึ้น คือ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการภายในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ ได้แก่ เวียดนาม มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา โดยข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวมีคุณภาพไม่ค่อยดี อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลทรายดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้น ขณะที่ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และน้ำนมดิบ เนื่องจากสถานการณ์การผลิตโดยรวมอยู่ในภาวะปกติ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การผลิตปศุสัตว์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมมีราคาเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2557 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยราคาเฉลี่ยของไข่ไก่และสุกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.26 และ 19.32 ส่วนราคาไก่เนื้อปรับขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาน้ำนมดิบปรับลดลงเล็กน้อยตามคุณภาพของน้ำนมดิบ

สาขาประมง ลดลงร้อยละ 1.3 โดยผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญของไทยประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ต่อเนื่องมาจากปี 2556 แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเพื่อแก้ไขแล้ว แต่เนื่องจากเกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์โรคดังกล่าว จึงทำการผลิตไม่เต็มที่ ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัมที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 267 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 148 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80.07 เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงความต้องการส่งออกที่มีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ คือเขื่อนภูมิพล และ เขื่อนสิริกิติ์ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การบริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย

สาขาป่าไม้ใน ลดลงประมาณร้อยละ 3.3 เนื่องจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สำคัญหลายชนิดของหมวดป่าไม้ลดลง ได้แก่ น้ำผึ้ง ครั่ง ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ซุง และรังนก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น เยอรมนี อินเดีย และจีน ที่มีการนำเข้าน้ำผึ้ง ครั่ง และไม้ยูคาลิปตัส ลดลง เพราะการเพิ่มมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกถ่านไม้กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น ประสบภัยหนาวที่รุนแรงกว่าทุกปี ทำให้มีความต้องการถ่านไม้ เพื่อให้ความอบอุ่นและใช้ประกอบอาหารเพิ่มขึ้น

จาก http://news.thaiquest.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

เตือนโรงงานรับมือแล้งปีนี้ระอุ ยอดผลิตอ้อยวูบ20%

ภัยแล้งคุกคามภาคการเกษตรอย่างหนัก ล่าสุดไร่อ้อยขาดน้ำ ฉุดทั้งยอดผลิต และส่งออก ขณะที่ “กนอ.”เตือนโรงงานอุตสาหกรรมให้รับมือ โดยใช้อย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล และประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้จะมากขึ้น และยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 จะลดลง 10-20% หรือมีโอกาสลดลงมาอยู่ที่ 80-90 ล้านตันอ้อย เทียบกับปี 2556-2557 อยู่ที่กว่า 100 ล้านตันอ้อย ซึ่งประเทศไทยเคยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักมาแล้ว โดยช่วงนั้นปริมาณผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 70 ล้านตันอ้อย ลดลง 30% เหลือ 50 ล้านตันอ้อย ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลก็ได้ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ทำให้ผลผลิตในปี 2557/2558 ลดลงทั่วโลก ดังนั้นจะมีผลต่อราคาน้ำตาลทรายดิบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปี 2556/2557 อยู่ที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์

ขณะที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า จากการคาดการณ์ปริมาณอ้อยที่จะเข้าสู่การหีบในฤดู 2556/2557 ว่าจะมีประมาณ 110 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 12 ล้านตัน ซึ่งได้เริ่มเปิดหีบมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2556 เป็นต้นมา และจะปิดหีบลงในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้นั้น มีความกังวลว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูนี้ไม่น่าจะได้ตามเป้าหรืออยู่ที่ 106 ล้านตันอ้อย จากปัจจุบันที่เข้าหีบแล้วประมาณ 80-90 ล้านตัน อ้อย เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การปลูกอ้อยไม่ได้ ผลผลิตเท่าที่ควร

“สิ่งที่ทาง 3 สมาคม เป็นห่วงมากที่สุด จะเป็นฤดูหีบอ้อย 2557/2558 ที่จะมาถึง เนื่องจากขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้คุกคามค่อนข้างมาก และมาเร็วกว่าทุกปี หากฝนมาล่าช้า จะส่งผลให้อ้อยตอเกิดความเสียหายหรือตายได้ จากการขาดน้ำ ซึ่งจะไปกระทบปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในช่วงปลายปีนี้ได้ ที่คาดว่าจะไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ไม่ถึง 10 ล้านตัน ผลที่ตามมาจะกระทบต่อยอดการส่งออกน้ำตาลทรายของประเทศลดลงตามไปด้วย จากการกำหนดปริมาณส่งออก 70% และบริโภคในประเทศ 30% ซึ่งหมายความว่าจะกระทบต่อรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายของประเทศและรายได้ ของเกษตรกรลดลงตามมาด้วย”

ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่งผลให้ราคาผัก ผลไม้หลายชนิดปรับราคาขึ้นจากพื้นที่เพาะปลูกแห้งแล้ง ผลผลิตเสียหาย โดยสินค้ากลุ่มเกษตรที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ผักคะน้า มะนาว ผักบุ้งจีน ฯลฯ

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงปลายปี 2556-2557 มีปริมาณน้ำฝนลดลง ส่งผลต่อปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนภาวะน้ำทะเลหนุน ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา จนค่าความเค็มที่วัดได้มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม จึงได้มีการเตรียมความพร้อม

“กนอ. ได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จากข้อมูลของ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปาส่วนภูมิภาค รวมทั้ง แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะๆ เพื่อให้เตรียมการลดปริมาณการใช้น้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมการสำรองน้ำ อีกทั้ง กนอ. ยังมีการวางแผนในระยะยาว คือ การพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมในแต่ละนิคมอุตสาหกรรม และการพิจารณาการนำน้ำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ (Recycle)” นายวีรพงศ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

KSL: คาดกำไรสุทธิ 1Q14 จะเติบโตดี

แม้จะเปิดหีบอ้อยช้าในปีนี้ และเป็นช่วง Low Season แต่เราคาดกำไรสุทธิ 1Q14 (พ.ย. 13 - ธ.ค. 14) จะเติบโตดี 300% Q-Q และ 8.8% Y-Y

เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจไฟฟ้าและเอธานอลที่สดใสมาก และคาดกำไรจะดีต่อเนื่องใน 2Q14 - 3Q14 เพราะเป็นช่วง High Season ของการขายน้ำตาล ในขณะที่ราคาน้ำตาลปัจจุบันขยับขึ้นต่อเนื่อง +11% YTD จากปัจจัยหนุนประเด็นปริมาณผลผลิตน้ำตาลส่วนเกินของโลกปีนี้อาจต่ำกว่าคาด จากภาวะอากาศที่แล้งหนักในบราซิล

โดยราคาน้ำตาลที่ปรับขึ้นจะเป็นบวกต่อธุรกิจน้ำตาลในปีนี้เพียง 20% - 30% เฉพาะในส่วนที่ยังไม่ได้ล็อกล่วงหน้าไว้ เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2014 จะเติบโตราว 23.7% Y-Y และคงราคาเป้าหมาย 15 บาท (อิง PE เดิม 12 เท่า) จากที่เราแนะนำซื้อในครั้งก่อน ราคาหุ้นปรับขึ้นมาแล้ว 15% ทำให้มี Upside เหลือเพียง 7.9% แต่แนวโน้มกำไรและราคาน้ำตาลยังสดใสต่อเนื่อง จึงแนะนำซื้อเก็งกำไร
คาดการณ์กำไรสุทธิ 1Q14 จะเติบโตดี

เราคาดกำไรสุทธิ 1Q14 (พ.ย.13 - ม.ค.14) อยู่ที่ 408 ล้านบาท (+300% Q-Q, +8.8% Y-Y) แม้ยังเป็นช่วง Low Season ของธุรกิจน้ำตาล เพราะเพิ่งเริ่มเปิดหีบอ้อย ทำให้ปริมาณขายน้ำตาลยังไม่สูงนัก เราคาดไว้ที่ 1.23 แสนตัน ทรงตัว Q-Q แต่ลดลง 21% Y-Y เพราะปีนี้เปิดหีบอ้อยในเดือน ธ.ค. ช้ากว่าปกติที่จะเปิดหีบในเดือน พ.ย. กอปรกับยังเป็นการขายน้ำตาลต้นทุนเก่าที่ Yield ไม่สดใสนัก แต่ธุรกิจน้ำตาลที่อ่อนแอถูกชดเชยจากธุรกิจไฟฟ้าที่ดีขึ้น และธุรกิจเอธานอลที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากราคาขายที่ขยับขึ้นราว 30% Y-Y มาอยู่ที่ 26 บาท/ลิตร ส่งผลให้เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้จะโดดเด่นอยู่ที่ 30.8% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 20.6% ใน 4Q13 และ 22.2% ใน 1Q13

ราคาน้ำตาลขยับขึ้นเป็นปัจจัยหนุนให้เก็งกำไร

ราคาน้ำตาลตลาดโลกล่าสุดอยู่ที่ราว 18 เซนต์ต่อปอนด์ ขยับขึ้นราว 11% นับตั้งแต่ต้นปี 2014 ที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากประเด็นอากาศที่ร้อนแล้งหนักสุดเป็นประวัติการณ์ของบราซิล (ผู้ปลูกอ้อยและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก) โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ และกระทบในช่วงเพาะปลูกพอดี

ดังนั้นตลาดจึงคาดปริมาณผลผลิตอ้อยของบราซิลในปีนี้ลดลงจากเดิม 7% หรือราว 40 ล้านตัน เป็น 570 ล้านตัน (หมายถึงปริมาณน้ำตาลจะหายไป 2 ล้านตัน กรณีอิง Yield น้ำตาล 100% และสัดส่วนใช้อ้อยผลิตน้ำตาล : เอธานอลของบราซิลที่ 50% : 50%) ข่าวดีคืออาจทำให้ปริมาณผลผลิตส่วนเกินต่ำกว่าที่เคยคาดไว้เดิมที่ 3 - 4 ล้านตัน อาจลดลงเหลือ 1 - 2 ล้านตัน หรือเข้าสู่ภาวะสมดุลก็เป็นได้ เรามองว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลที่ขยับขึ้นในช่วงนี้ หลังจากอ่อนแอตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนุนให้เก็งกำไรราคาหุ้นได้ ด้วยความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น KSL ที่สัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำตาล (Correlation 57%)

ราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นบวกต่อธุรกิจน้ำตาลปีนี้เพียง 20% - 30%

ปัจจุบันอนท.ล็อกราคาขายส่งออกน้ำตาลล่วงหน้าปีนี้ไปแล้วราว 70% - 80% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ที่ระดับราคาเฉลี่ย 18 - 19 เซนต์ต่อปอนด์ ต่ำกว่าราคาขายเฉลี่ยปีก่อนที่ 21.4 เซนต์ต่อปอนด์ โดยเราคาด KSL จะล็อกในสัดส่วนและราคาขายที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นแนวโน้มราคาน้ำตาลที่น่าจะขยับขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นบวกต่อธุรกิจน้ำตาลปีนี้ สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้ล็อกล่วงหน้าอีกราว 20% - 30% และหากราคาน้ำตาลดีต่อเนื่องไปยังกลางปี 2014 จะเป็นบวกต่อธุรกิจน้ำตาลในปี 2015

แนวโน้มกำไรสุทธิจะดีต่อเนื่องใน 2Q14 - 3Q14

แม้คาดราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยปีนี้จะอ่อนตัวลงจากปีก่อน แต่เชื่อว่าจะถูกชดเชยจากปริมาณขายที่มากขึ้น โดยคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2014 จะเพิ่มขึ้นราว 17% Y-Y เป็น 9 ล้านตัน จากกำลังการผลิตโรงงานที่จ.เลยเพิ่มขึ้น และ Yield น้ำตาลที่ดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าและเอธานอลที่จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของกำไรในปีนี้ โดยคาดเติบโตราว 23.7% Y-Y เป็น 2,054 ล้านบาท และคาดแนวโน้มกำไรจะดีต่อเนื่องใน 2Q14 - 3Q14 เพราะเป็นช่วง High Season ของธุรกิจ จากปริมาณขายน้ำตาลที่ค่อนข้างมากทั้งในและต่างประเทศ (ลาว,กัมพูชา) และคาดกำไรจะอ่อนตัวลงใน 4Q14 จากช่วง Low Season

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

รายงานพิเศษ : 35ปี“สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร” สู่องค์กรชี้นำการพัฒนาการเกษตร

ภาคเกษตร นับเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นแหล่งผลิตอาหาร พลังงานทดแทน และสร้างอาชีพให้กับประชากรในชนบทมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ซึ่งเป็นฐานการผลิตและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทภารกิจหลักในการเสนอแนะนโยบาย และจัดทำยุทธศาสตร์ แผนพัฒนา และมาตรการทางการเกษตร จัดทำท่าทีร่วมเจรจาการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรจัดทำรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนติดตามและประเมินผลโครงการที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เดินหน้าและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกมาโดยตลอดระยะเวลา 35 ปี นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาในวันที่ 24 มีนาคม 2522

และในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 นี้ นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยว่า สศก. ยังคงมุ่งมั่นและขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย ในฐานะเสนาธิการของกระทรวงฯ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ภาคการเกษตรของประเทศเจริญเติบโตควบคู่กับความผาสุกของเกษตรกร โดยเฉพาะโครงการสำคัญหลัก (Flagship Project) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ได้แก่ โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน จัดสมดุลระหว่างการผลิตและการตลาด รวมทั้งเพิ่มมูลค่า (Value added) และสร้างมูลค่า (Value creation) ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ ชนิดสินค้า และคน

โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) เพื่อพัฒนาการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำขยะจากการเกษตรแปรรูปไปใช้ให้เกิดคุณค่าและมูลค่า ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี พัทลุง และราชบุรี โดย สศก. ได้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจกรอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ในพื้นที่ทุกจังหวัดเป้าหมายระหว่างเดือนมกราคม ถึง ต้นมีนาคม ที่ผ่านมา และในระหว่างวันที่ 24 -28 มีนาคมนี้ สศก. ได้จัดนิทรรศการชุมชนเมืองเกษตรสีเขียว ณ บริเวณหน้าอาคารศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเกษตร การผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบจำลองแบบเสมือนจริงแก่ผู้สนใจทั่วไปได้เยี่ยมชม

โครงการพัฒนาเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตรปราดเปรื่อง (Smart Farmer and Smart Officer) ที่พร้อมมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้รู้จักคิดเป็น โดยต้องมีความรู้ทางวิชาการ วางแผนการผลิตเป็น รู้จักใช้เทคโนโลยีผลิตสินค้าให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเพื่อนคู่คิดให้ โดยจะพัฒนาเกษตรกรเฉพาะราย ให้มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย (180,000 บาท/ปี)

นอกจากนี้ สศก. ยังร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่างๆ อีกด้วย ทั้งการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (Food Safety) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาสู่ศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรองรับประชาคมอาเซียน (Seed Hub) และการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตร โดยวันคล้ายวันสถาปนาปี 2557 นี้ สศก. ได้เปิดตัว ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร ณ ห้องสมุดคติการชั้น 2 อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของประเทศอย่างเต็มตัวมีทั้งให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนข้อมูลด้านราคาสินค้าเกษตร การพยากรณ์ การเตือนภัย การผลิต การตลาด และการนำเข้า – ส่งออกอย่างครบถ้วน รอบด้านและทันสมัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ สศก. เน้น คือ การพัฒนาคน ทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart Farmer และ Smart Officer โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานของ สศก. ในระดับพื้นที่ ให้สามารถนำข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่มีอยู่มาใช้ประกอบในการตัดสินใจวางแผนการผลิตและการตลาดการเกษตรได้อย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านเกษตรที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลข่าวสารไปสู่เกษตรกร ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ และนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ก้าวต่อไปนับจากนี้ สศก. จะยังทำหน้าที่เสนาธิการของกระทรวงฯ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งด้านนโยบาย ด้านวิจัย และการติดตามประเมินผล ตลอดจนเฝ้าติดตามและรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเกษตร และวิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตรและระบบการผลิตสินค้าเกษตร ภัยทางการเกษตร (Early Warning) เพื่อพัฒนาการบริหารและจัดการฐานข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้สามารถผลักดันภาคการเกษตรของประเทศเจริญเติบโตและเกษตรกรมีความผาสุก สมกับวิสัยทัศน์ องค์ชี้นำการพัฒนาการเกษตรของประเทศ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

หวั่นภัยแล้งซัดส่งออกน้ำตาล

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ปริมาณอ้อยที่จะเข้าสู่การหีบในฤดู 2556/2557 ว่าจะมีประมาณ 110 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 12 ล้านตัน ซึ่งได้เริ่มเปิดหีบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา และจะปิดหีบลงในช่วงกลางเดือนเมษายนปีนี้นั้น มีความกังวลว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูนี้ไม่น่าจะได้ตามเป้า หรืออยู่ที่ประมาณ 106 ล้านตันอ้อย จากปัจจุบันที่เข้าหีบแล้วประมาณ 80-90 ล้านตันอ้อย เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การปลูกอ้อยไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้ห่วงว่าปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะเกิดการขาดแคลนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นบราซิล และออสเตรเลีย ทำให้กำลังผลิตน้ำตาลทรายของโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายโลกปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ และหากปัญหาภัยแล้งยังคุกคามในปีนี้อีก ราคาน้ำตาลทรายโลกอาจจะขยับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของประเทศที่ลดลงนี้ บวกกับราคาในตลาดโลกที่ขยับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไปกว่า 30 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก. ที่ใช้บริโภคในประเทศ

ด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล และประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้จะมากขึ้นและยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 จะลดลง 10-20% หรือมีโอกาสลดลงมาอยู่ที่ 80-90 ล้านตันอ้อย เทียบกับปี 2556-2557 อยู่ที่กว่า 100 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักมาแล้ว โดยช่วงนั้นปริมาณผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 70 ล้านตันอ้อย ลดลง 30% เหลือ 50 ล้านตันอ้อย ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลก็ได้ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ทำให้ผลผลิตในปี 2557/2558 ลดลงทั่วโลก ดังนั้นจะมีผลต่อราคาน้ำตาลทรายดิบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปี 2556/2557 อยู่ที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้ จากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ทางกลุ่มน้ำตาลจะหารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลอีกครั้ง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

วว.ผลิตปุ๋ยละลายช้า เพิ่มมูลค่าน้ำเสีย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าน้ำเสียโดยนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ “ปุ๋ยละลายช้า” ระบุคุณสมบัติเด่นมีอัตราการละลายต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป ชี้หากใช้แพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก และเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร วว. จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าน้ำเสีย โดยการผลิตเป็นปุ๋ยละลายช้า ให้อยู่ในรูปของเกลือ MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) โดยใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับการเพาะปลูก

“…ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป ได้หันมาสนใจปุ๋ยละลายช้าในรูปของเกลือ MAP มากขึ้น ด้วยคุณสมบัติเด่นคือเมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยจะมีอัตราการละลายที่ต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป การใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการใช้ปุ๋ยละลายช้าอย่างแพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นางพัทธนันท์ นาถพินิจ นักวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร กล่าวว่า การผลิตปุ๋ยละลายช้า หรือเกลือ MAP สามารถทำได้ง่าย เนื่องจากในน้ำเสียมีแร่ธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอยู่สูง โดยเฉพาะน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลจากโมลาส ฟาร์มสุกร และน้ำเสียชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้การตกตะกอนเกลือ MAP จากน้ำเสียชุมชนหรือน้ำเสียจากฟาร์มสุกรได้มีการศึกษากันมากขึ้น เพื่อลดปริมาณแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสีย และเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการบูมของสาหร่าย ในต่างประเทศ ได้แก่ ตรุกี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ กรีซ และสเปน นิยมใช้ปุ๋ย MAP ในการเพาะปลูก โดยมีอัตราการใช้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดพืชและลักษณะ โดยเฉลี่ยอัตราการใช้ปุ๋ย MAP ของแต่ละประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 116 กก./เฮกตาร์ ซึ่งมีร้อยละการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยในปี 2552 มีการนำปุ๋ยเคมีเข้าจากต่างประเทศ 3.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท (กรมวิชาการเกษตร, 2553) โดยมีราคาซื้อขายปุ๋ยเคมีในประเทศประมาณ 10,500-10,700 บาท/50 กก. ขึ้นกับเกรดและอัตราส่วนของปุ๋ย (สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย, 2553) สำหรับมูลค่าทางการตลาดของปุ๋ย MAP จากการตกตะกอนออกจากน้ำเสียในต่างประเทศ พบว่าอยู่ที่ 275.47-2,254.71 ดอลลาร์ต่อตัน โดยในต่างประเทศได้มีการตั้งโรงงานระดับเชิงอุตสาหกรรมในการตกตะกอนเกลือ MAP ออกจากน้ำเสีย

“การตกตะกอนเกลือ MAP นอกจากจะเป็นวิธีการกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำเสียที่มีแร่ธาตุได้อีกด้วย ให้สามารถผลิตปุ๋ยที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง หรือนำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์จาก filter cake ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ โดยเฉพาะนำมาผสมกันตามสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมแก่พืชแต่ละชนิด ซึ่งจะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อพืช และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน สำหรับน้ำเสียที่ผ่านการแยกเกลือ MAP แล้ว จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อีกทั้งคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมเกลือในดิน และวิธีการตกตะกอนเกลือ MAP สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับน้ำเสียที่มีไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น น้ำเสียชุมชน หรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ หรืออุตสาหกรรมห้องเย็น หรือน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ได้” นางพัทธนันท์ นาถพินิจ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการผลิตปุ๋ยละลายช้าหรือปุ๋ย MAP ติดต่อได้ที่ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร วว. โทร.0-2577-9000, 0-2577-9489 (พัทธนันท์ นาถพินิจ) ในวันและเวลาราชการ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 มีนาคม 2557

รายงานพิเศษ : พด.แนะวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช ช่วยลดต้นทุน-ความเสี่ยงผลผลิตน้อยด้อยคุณภาพ

ด้วยความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้สภาพพื้นที่ทำการเกษตรแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันออกไป ถ้าเกษตรกรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ก็จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้ามีการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมแล้วนอกจากจะได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการใส่ปุ๋ยและสารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต ฉะนั้นการสำรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูกจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจของเกษตรกร เพื่อวางแผนการผลิตทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในเรื่องของการสำรวจดินกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการสำรวจดินครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมจัดทำเป็นแผนที่ดินทั่วประเทศสามารถที่จะชี้พิกัดที่ดินของเกษตรกรได้เลยว่าอยู่ตำบล อำเภออะไร ดินเป็นดินชุดใด มีความเหมาะสมที่จะปลูกพืชชนิดไหน ซึ่งได้เปิดบริการให้เกษตรกรเข้ามาดูได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.thเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพาะปลูกพืช

ในส่วนของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 เองมีพื้นที่รับผิดชอบ 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาครแต่ละพื้นที่มีปัญหาเรื่องดินที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศเป็นสำคัญ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สภาพพื้นที่เป็นภูเขา พื้นราบ และทะเล ทำให้ดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่แถบจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาครเป็นพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ทำให้ดินบริเวณนี้เคยเป็นตะกอนน้ำท่วม ส่งผลให้มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ก็จะมีปัญหาช่วงฤดูแล้งน้ำเค็มจะทะลักขึ้นมาเป็นน้ำกร่อย การปลูกพืชจึงจำเป็นต้องยกร่องเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งพืชที่นิยมปลูกส่วนใหญ่ ได้แก่ ส้มโอ มะพร้าว ลิ้นจี่และกล้วย เป็นต้น ฉะนั้นนับได้ว่าพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ค่อนข้างมีความหลากหลายตั้งแต่พื้นที่สูง ไล่มาสู่ที่ลุ่มต่ำ ที่ดินชายทะเลมาถึงปากแม่น้ำ

นายประเสริฐ เทพนรประไพ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 มีความพร้อมในเรื่องของฐานข้อมูลดินอย่างครบถ้วน ขณะนี้ได้พยายามเร่งรณรงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้ได้เห็นถึงความสำคัญของดินในการทำเกษตรกรรมให้มากขึ้น เนื่องจากดินเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ดีกินดีจากอาชีพเกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะแนะนำให้เกษตรกรนำดินมาตรวจวิเคราะห์ก่อนที่จะทำการเพาะปลูกเพื่อจะได้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์หรือปัญหาของดิน จากปริมาณธาตุอาหาร ความเป็นกรด ด่าง การนำไฟฟ้า รวมทั้งจะได้มีการใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะกับสภาพของดินและพืชชนิดนั้นๆ

นอกจากการตรวจวิเคราะห์ดิน ยังมีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน ด้วยนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน การใช้วัสดุปูนเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยว การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในการผลิตปุ๋ยหมัก หรือการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งวิธีการต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ยังส่งผลให้เกษตรกรมีทรัพยากรดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วย

“ขอแนะนำเกษตรกรทุกท่านว่าก่อนที่ท่านจะปลูกพืชอะไรควรดูเรื่องดินและน้ำเป็นหลัก เพราะถ้าปลูกพืชแล้วขาดน้ำพืชก็ไม่เจริญเติบโต เช่นเดียวกับถ้าไม่ดูคุณสมบัติของดินว่าดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง เหมาะจะปลูกพืชชนิดไหน ก็จะทำให้อาจปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมถ้าปลูกไปแล้วผลผลิตไม่ดีอย่างที่ควรก็จะยิ่งทำให้ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มหรือมีค่าบริหารจัดการเพิ่มขึ้นตามไปอีก ดังนั้น เกษตรกรควรนำดินมาตรวจวิเคราะห์ เพราะถ้าท่านทราบว่าดินของท่านมีธาตุอาหารใด เช่น มีธาตุไนโตรเจนน้อย มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง ก็จะได้เติมแค่ปุ๋ยไนโตรเจนเข้าไป ไม่จำเป็นต้องไปเติมปุ๋ยตัวอื่นให้เพิ่มต้นทุนโดยเปล่าประโยชน์” ผอ.ประเสริฐ กล่าวย้ำ

เกษตรกรสามารถนำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ได้ฟรี ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตทั้ง 12 เขต หรือสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ของท่านได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

แจงสี่เบี้ย : การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปี 2557(5)

สำหรับการฝึกปฏิบัติค่ายความลับดิน ฐานที่ 3 คือ ค่ายดินปัญหา 3 ดินลาดชัน ชั้นดิน(หลุมดิน) เป็นชนิดของดินอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรต้องรู้จัก และเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจลักษณะดิน จนสามารถปลูกพืชได้อย่างเหมาะสม

ดินลาดชัน ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ภูเขา และพื้นที่ลาดชันต่างๆ ประกอบด้วยดินตื้น ดินปนกรวด ดินทราย หรืออาจพบดินเหนียวสีแดง และดินชนิดอื่นๆได้ ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะของดินหินในบริเวณนั้นให้องค์ประกอบใดที่จะได้เป้นดิน ดินในพื้นที่ลาดชันมีข้อจำกัดสำคัญคือ การชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ หรืออนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศ

ชั้นดินและการวางตัวของดิน ดินในธรรมชาติโดยทั่วไปจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ชั้นหลักๆ คือ 1.ชั้นดินบน ซึ่งจะมีสีคล้ำกว่าชั้นดินอื่นๆ เนื่องจากมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินมาก 2.ชั้นดินล่างเป็นชั้นดินที่มีกระบวนการทางดินหลากหลายลักษณะ บางดินจะเป็นชั้นที่มีอนุภาคดินเหนียวสะสมมากว่าชั้นดินบน ขณะที่บางดินเป็นเพียงชั้นที่แสดงถึงการแช่ขังของน้ำ หรือในบางดินไม่ปรากฏว่ามีชั้นดินล่างเลย 3.ชั้นวัตถุต้นกำเนิด เป็นชั้นที่มีความเกี่ยวพันกับลักษณะของหินหรือตะกอนต้นกำเนิด บางครั้งอาจไม่พบชั้นดินนี้ภายใน 2 เมตร ในดินบางประเภทอาจพบว่ามีชั้นสลับไปมาหลายชั้น ซึ่งแสดงถึงการมีตะกอนมาตกทับถมหลายรอบ ในดินบางประเภทมีการแบ่งชั้นดินที่แตกต่างกันชัดเจน บ่งบอกถึงความไม่ต่อเนื่องของหินหรือตะกอนต้นกำเนิดในบริเวณนั้น

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรและบุคคลทั่วไป หากรู้จักชนิดของดินและเข้าใจลักษณะดินในพื้นที่ของตนเอง ประกอบกับรู้จักความต้องการของพืชที่ปลูก จะช่วยให้การเพาะปลูกพืช ไม่ว่าพืชไร่ พืชสวนหรือนาข้าวประสบผลสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น หรือสามารถป้องกันความเสียหายหรือความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นได้จากการเลือกปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับชนิดดิน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทุกชาติมีวาระซ่อนเร้น คำเตือนก่อนเข้าอาเซียน

เมื่อวานนี้ผมเขียนแสดงความคิดความเห็นเรื่องสิงคโปร์จัดงานฉลอง สงกรานต์ในวันที่ 12-13 เมษายนนี้ แม้จะเป็นเพียงงานอีเวนต์ที่ คงไม่มีผลกระทบต่องานสงกรานต์อันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยเรามากนัก

และในการจัดเขาก็ให้เกียรติเราทุกอย่าง มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ชกมวยไทย จำหน่ายสินค้าไทย ฯลฯ

แต่ในระยะยาว อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด เพราะความเป็นคนสิงคโปร์ที่ทำงานเก่ง โปรโมตเก่ง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เก่ง และก๊อบปี้เก่ง...เขาอาจจะทำให้งานสงกรานต์ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์กลายเป็นงานที่โดดเด่นกว่างานในประเทศไทยของเราก็ได้ใครจะรู้?

ผมเสนอให้ ททท.ช่วยจับตาดูเขาด้วย และอย่าให้คลาดสายตาเป็นอันขาด ในช่วงท้ายของคอลัมน์วานนี้

ก็ปรากฏว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยท่านรองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว วิไลวรรณ ทวิชศรี ได้ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวอย่างทันท่วงทีว่า ได้เตรียมหารือร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว

เพื่อศึกษาถึงข้อกฎหมายการจดลิขสิทธิ์ทางปัญญา การจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเทศกาลสงกรานต์ งานลอยกระทง ฯลฯ ในอันที่จะหาทาง ป้องกันการนำแนวคิดการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งหลาย ไปจัดยังประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ททท.จะต้องศึกษารายละเอียดว่า การจดลิขสิทธิ์จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะงานเทศกาลสงกรานต์ก็เป็นที่รับรู้กันว่า มีการจัดในหลายๆชาติ เช่น ลาว พม่า เช่นเดียวกัน

ผมเห็นด้วยครับ ขอให้เดินหน้าต่อไป และหวังว่าคงจดลิขสิทธิ์ได้

ขณะเดียวกัน ก็จะต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางไปทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้นไปอีกว่า ประเพณีสงกรานต์ที่สนุกที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด อยู่ในประเทศไทย และสืบทอดมาหลายร้อยปีแล้ว

พร้อมๆกันนั้น ก็ต้องสนับสนุนให้มีการจัดงานสงกรานต์ในประเทศไทยเราให้สอดคล้องกับประเพณีโดย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557

ออกข่าวภัยแล้งรายวัน

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงเพราะมาเร็วและค่อนข้างจะนาน ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังในการใช้น้ำโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งน้ำในเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลมีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 30% ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้วางแผนการใช้น้ำอย่างจำกัดทั้งการปลูกข้าวนาปีและการทำนาปรังที่วางแผนไว้ไม่เกิน 5 ล้านไร่ต่อปี เพื่อให้เหมาะสมกับน้ำที่มีอยู่ แต่ข้อมูลการปลูกจริงพบว่าเกษตรกรมีการปลูกข้าวไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ต่อปี

ทั้งนี้ กรมชลฯ ต้องสำรองน้ำต้นทุนเพื่อให้น้ำที่มีอยู่สามารถใช้ได้ถึงเดือน พ.ค.นี้ หากฝนมาช้ากว่าปกติ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เหลือ มี.ค.-พ.ค. ปริมาณน้ำมีอยู่อย่างจำกัด ปริมาณน้ำที่เหลือไว้อุปโภคและบริโภค ใช้ไว้ไล่น้ำเค็ม ไม่ใช่เพื่อการสนับสนุนการทำนาปรังรอบที่ 2 แต่หากเกษตรกรเห็นน้ำผ่านหน้านาแล้วสูบน้ำไว้ รับรองว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือกับเกษตรกรงดทำนาปรังรอบที่ 2 ซึ่งต้องใช้น้ำมาก

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2556-14 มี.ค.2557 โดยพบความเสียหายด้านพืช ได้แก่ ข้าว 1,265 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 310,348 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 104,485 ตัน คิดเป็นผลกระทบต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริง (เรียลจีดีพี) 250.95 ล้านบาท หรือ 0.05% ของจีดีพีภาคเกษตร ส่วนสินค้าเกษตรอื่นยังคงอยู่ในช่วงสำรวจความเสียหาย.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ลดคิวอีสะเทือนตลาดเงินไทย

สศค.รับสหรัฐฯ ลดคิวอี สะเทือนตลาดเงินไทยบ้าง แต่ยังมั่นใจ เหตุทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูง เชื่อรับมือได้

นายสมชัย สัจจพงษ์ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกา จะดำเนินนโยบายลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) อย่างต่อเนื่องนั้น มองว่าอาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินของไทยได้รับผลกระทบเพราะตลาดการเงินของไทยที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกสะท้อนจากตลาดหลักทรัพย์ที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สศค.เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพภายนอกประเทศที่อยู่ในระดับมั่นคงซึ่งจะรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ และช่วยลดผลกระทบทางลบได้ในระดับหนึ่งสะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ม.ค. อยู่ในระดับสูง 166.7พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 2.8 เท่า

ก่อนหน้านี้ สศค.รายงานรายได้รัฐบาลช่วง5 เดือนของปีงบประมาณ 57 พบว่า จัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 802,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,670 ล้านบาท หรือ 0.6%เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการนำส่งรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3 จี 20,800 ล้านบาท และใช้สิทธิส่วนใหญ่ของโครงการรถยนต์คันแรก ส่วนการจัดเก็บรายได้ของ3 กรมภาษี ทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 38,900 ล้านบาทโดยการจัดเก็บภาษีจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้ารวมทั้ง ภาษีจากฐานการอุปโภคบริโภคที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุตสาหกรรม จ.ตาก ดูพื้นที่โรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเมย พร้อมแจ้งเอาผิด

วันที่ (20 มี.ค.57) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการที่มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเมย ชายแดนไทย-พม่า ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้น้ำเริ่มเน่าเสียและมีสีแดง ล่าสุด นายวิเชียร เจริญธีรบูลย์ หัวหน้าฝ่ายโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ได้ลงพื้นที่บ้านห้วยม่วง หมู่ 6 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด เนื่องจากทราบว่ามีโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัทเอกชน ที่อยู่ชายแดนริมแม่น้ำเมย ได้ต่อท่อเหล็กขนาดใหญ่ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำเมย ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวบ้านทั้งสองฝั่งไทย-พม่า และเจ้าหน้าที่ หวั่นวิตกว่า ทางการพม่าจังหวัดเมียวดี อาจจะประท้วงมายังฝ่ายไทยได้

โดยนายวิเชียร เจริญธีรบูลย์ ได้ให้เจ้าหน้าที่โรงงานผลิตเอทานอล ไปตรวจสอบบริเวณที่ปล่อยน้ำเสียพร้อมกัน ซึ่งล่าสุด ทางโรงงานได้นำฝาไปปิดแล้ว โดยอ้างว่ามีคนขโมยฝาปิดท่อน้ำไป แต่นายวิเชียร ได้สั่งให้ยกเลิกการวางท่อบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยทันที เพราะดูแล้วส่อเจตนารมณ์

จนท.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ต้องดำเนินคดี แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีเจ้าของของโรงงาน โดยปรับ 200,000 บาท และมีโทษพิจารณาอื่นด้วย ส่วนท่อที่วางไว้ริมฝั่งแม่น้ำเมย ให้ปิดตายทันที และจากนี้ไปต้องมีตารางในการปล่อยน้ำเสีย โดยรายงานให้อุตสาหกรรมจังหวัดตากทราบทุกขั้นตอนและจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเป็นระยะๆ

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

หุ้นเด่น : ธุรกิจไฟฟ้าหนุนกำไร KSL

บล.บัวหลวง วิเคราะห์หุ้น บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL) โดยระบุว่า KSL รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/57 (พ.ย.2556-ม.ค. 2557) ที่ 427 ล้านบาท เติบโต 312% QoQ และ 10% YoY ผลประกอบการที่ออกมาสูงกว่าประมาณการของเรา 38% และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 20% เนื่องจากราคาและปริมาณขายเอทานอลที่สูงกว่าคาดและภาษีจ่ายที่ต่ำกว่าคาด

กำไรที่เติบโตมีปัจจัยหนุนมาจาก1) ปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (สูงขึ้น 20% QoQแต่ลดลง 3% YoY มาอยู่ที่ 72,034 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง), 2) ปริมาณขายเอทานอลที่เพิ่มสูงขึ้น (เพิ่มขึ้น 5% QoQ แต่ลดลง 28% YoYมาอยู่ที่ 23 ล้านลิตร), 3) ราคาขายเอทานอลที่เพิ่มสูงขึ้น (สูงขึ้น 33% YoY เป็น 26.11 บาทต่อลิตร), 4) ราคาขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (เติบโต 2% YoY เป็น 3,476 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมง) และ 5) ภาระภาษีจ่ายที่ลดลง โดยอัตราภาษีจ่ายของ KSL ลดลงมาอยู่ที่ 2% ในไตรมาส 1/57 จาก 9% ในไตรมาส 1/56 แม้ว่าธุรกิจน้ำตาลจะรายงานผลขาดทุนจำนวน 44 ล้านบาท ในไตรมาส 1/57 แต่ธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลยังเป็นปัจจัยหนุนให้กำไรโดยรวมเติบโตได้ในไตรมาสนี้

แม้ว่าเราจะคาดการณ์ผลผลิตจากบราซิลลดลง แต่เรายังคงคาดว่าจะเห็นอุปทานส่วนเกินของตลาดน้ำตาลโลกในปีนี้ ดังนั้น เรามองว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่ผ่านมาอาจไม่ทรงตัวต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลเริ่มปรับตัวลงแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้KSL ยังรายงานผลขาดทุนจากธุรกิจน้ำตาลทั้งหน่วยธุรกิจในประเทศและธุรกิจน้ำตาลในลาวและกัมพูชาในไตรมาส 1/57 ทั้งนี้คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจน้ำตาลที่อ่อนแอลงในปีนี้น่าจะส่งผลกดดันต่อราคาหุ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม เรายังคงคาดการณ์การเติบโตของกำไรหลักที่ 41% YoY ในปี 2557 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นให้ทรงตัวอยู่ได้ หุ้น KSL มีระดับการซื้อขายอยู่ที่ PER ปี 2557 ที่ 12.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยผู้ผลิตน้ำตาลโลกที่ 13.9 เท่า อยู่ 8.6%

คำแนะนำพื้นฐาน : ถือ เป้าหมายพื้นฐาน : 14.70 บาท ที่มา : บล.บัวหลวง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

แจงสี่เบี้ย : การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปี 2557(4)

สำหรับการฝึกปฏิบัติค่ายความลับดิน ฐานที่ 2 คือ ค่ายดินปัญหา 2 ดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด ซึ่งการจะปลูกพืชต่างๆ ในดินทั้ง 2 ประเภทนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตดีจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาดินให้มีศักยภาพในการผลิตโดยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม และให้ผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนสำหรับเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความยั่งยืน

ในการฟื้นฟูดินเค็มต้องพิจารณาถึงสาเหตุและลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ แล้วจึงหาวิธีการจัดการที่เหมาะสม คือ 1.การป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดพื้นที่ดินเค็มเพิ่มขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น 2.การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อยและดินเค็มปานกลาง จะต้องมีเทคนิคการปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้พันธุ์พืชทนเค็ม และการเขตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ 3.การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็มจัด โดยการปลูกหญ้าชอบเกลือและต้นไม้ทนเค็มจัด พืชเหล่านี้มีความสามารถพิเศษ ปรับตัวเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ว่างเปล่ามีคราบเกลือได้ และยังใช้ประโยชน์เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์และเป็นฟืนได้ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น

ส่วนการจัดการดินเปรี้ยวจัดให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชนั้น สามารถทำได้ง่าย และลงทุนต่ำ คือ 1.ใส่วัสดุปูนแก้ความรุนแรงของกรดในดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนขาว หินปูนบด หินปูนฝุ่น ปูนโดโลไมท์ผสมคลุกเคล้ากับหน้าดินในอัตราที่เหมาะสมตามความต้องการปูนของดิน เพื่อช่วยลดความเป็นกรดในดินหรือใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน 2.เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน โดยใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และให้ผลผลิตสูงขึ้น 3. เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินโดยการใช้จุลินทรีย์ดิน เช่น การใช้ไมคอร์ไรซ่า จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต เพื่อเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุฟอสฟอรัส หรือการใช้ไรโซเบียม เพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจน ในพื้นที่ดินเปรี้ยว 4.จัดการพืช โดยเลือกปลูกพืชทนเปรี้ยว เช่น สับปะรด อ้อย ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ 5. การจัดการน้ำ โดยการปรับสภาพน้ำที่เป็นกรดด้วยวัสดุปูนทางการเกษตร เช่น ปูนมาร์ล หินปูนบด เป็นต้น โดยใส่ลงไปในน้ำประมาณ 1 กก.ต่อน้ำ 1 ลบ.ม. มีการถ่ายเทน้ำเป็นครั้งคราว ระบายน้ำที่เป็นกรดออกไปบำบัดและปล่อยน้ำใหม่เข้าไป พร้อมทั้งคอยตรวจสอบเป็นครั้งคราว 6.ใช้น้ำชะล้างกรดควบคู่กับการใช้ปูนปรับปรุงดิน และ 7.ไม่ปล่อยให้น้ำในสระ บ่อ หรือร่องน้ำแห้ง จนดินแตกระแหง เพื่อป้องกันไม่ให้สารประกอบไพไรท์ในดินทำปฏิกิริยากับอากาศจนปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมาอีก

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ก.อุตฯแจกใบ รง.4 เพิ่มอีก 11 ราย

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาการอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุญาตให้ใบประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) อีก 11 ราย ส่งเรื่องคืน 2 ราย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขอถอนเรื่องคืน 1 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมถึง 1.17 หมื่นล้านบาท มีการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้น 4,798 คน โดยโรงงานที่ได้ใบ รง.4 ครั้งนี้ ได้แก่

โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (โรงไฟฟ้าจะนะ) ตั้งอยู่ อ.จะนะ จ.สงขลา กำลังการผลิต 1,592 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,542 ล้านบาท โดยเป็นการขยายโรงงานครั้งที่ 2, บริษัทโรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ได้รับอนุญาต 2 แห่ง คือ โครงการ 3 และ 4 ตั้งอยู่ อ.อุทัย และ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 19 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,736 ล้านบาท, บริษัท สยาม โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ 1 จำกัด ได้รับอนุญาต 2 แห่ง คือ ที่ตั้งอยู่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 21 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,102 ล้านบาท

บริษัทสงวน ไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 815 ล้านบาท, บริษัทเสริมสร้างพลังงาน จำกัด ได้รับอนุญาต 2 แห่ง ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์กำลังการผลิตรวม 51.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวม 4,008 ล้านบาท

บริษัทแคนนอน ปราจีนบุรี (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เงินลงทุน 730 ล้านบาท, บริษัทอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เงินลงทุน 456 ล้านบาท และบริษัทไทยแอโรว์ จำกัด ตั้งอยู่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ขยายโรงงานครั้งที่ 3 เงินลงทุน 345 ล้านบาท

ด้านนายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึง สถานการณ์การเมืองหากยืดเยื้อต่อไปจนไม่สามารถตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ จะส่งผลให้ยอดการเปิดโรงงานใหม่ปีนี้ลดลงประมาณ 10% จาก 2 เดือนแรกของปีที่ลดลงแล้วเกือบ 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

มกอช.ดันภาคเอกชนตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตร

มกอช.เปิดช่องภาคเอกชนเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตร มุ่งให้ช่วยงานรัฐที่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร อนุญาตผู้ประกอบการที่มีศักยภาพนำร่อง 6 บริษัท มุ่งเพิ่มขีดความสามารถการค้า-ส่งออก

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ยังต้องส่งเสริมการประกอบกิจการสินค้าเกษตรให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วย โดยเฉพาะการที่ไทยต้องก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ในปี 2558 นี้ มกอช.จึงได้เร่งพัฒนากลไกในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น โดยผลักดันให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพและมีความสามารถเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้เป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อรองรับความต้องการทางการค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นหลังเปิดเขตการค้าเสรี

เบื้องต้น มกอช.ได้อนุญาตให้ภาคเอกชนเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท โกลบอล เซอร์ติฟิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด บริษัท เอเจเอ รีจีสตร้าส์ จำกัด บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือเซ็นทรัลแล็บ ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางและสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่ให้บริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งโรงคัดบรรจุ โรงงานแปรรูป และเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ

เลขาธิการ มกอช.กล่าวอีกว่า เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) จากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานทั้ง 5 ราย สามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานหรือเครื่องหมาย Q สำหรับแสดงกับสินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานได้ ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยต่อยอดระบบการผลิตสินค้าเกษตรไทยให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

"ปัจจุบันการให้บริการตรวจสอบและรับรองสินค้าเกษตรของหน่วยงานภาครัฐยังไม่ทันต่อความต้องการของผู้ประกอบการและผู้ส่งออก เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ การดึงภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นช่องทางส่งเสริมให้การค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรไทยเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างจุดแข็งและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยในเวทีการค้าโลกได้" นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เชิงพื้นที่ ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี และพื้นที่อุตสาหกรรม 9 พื้นที่ ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงการร่วมกันทำงานและเห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนางานภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เชิงพื้นที่ ทั้ง 9 พื้นที่ใน 7 จังหวัด ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเข้าไปบริหารจัดการโดยจะจัดโซนนิ่งพื้นที่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมนุมได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของชุมชน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สมดุลต่อไป

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

แจงสี่เบี้ย : การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปี 2557(3)

การจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ในปีงบประมาณ 2557 ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นั้น ได้มีการฝึกปฏิบัติค่ายความลับดิน ฐานเรียนรู้จุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์ พด. รวม 9 ฐาน โดยฐานที่ 1 คือ ค่ายดินปัญหา 1 ดินทราย ดินตื้น ดินอินทรีย์ ซึ่งปัญหาดินเหล่านี้ ล้วนทำให้พืชที่ปลูกมีการเจริญเติบโตไม่ดีและให้ผลผลิตต่ำ ดังนั้น การใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเพื่อการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตดีและผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุน จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาที่ดินให้มีศักยภาพในการผลิตและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรและเกิดความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำการเกษตรต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาของดินทั้ง 3 ชนิด จึงแตกต่างกันออกไป คือ การแก้ไขปัญหาดินทราย ต้องมีการปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารพืชและความสามารถในการอุ้มน้ำแก่ดิน ปลูกพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน การปลูกพืชทนแล้ง หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาดินตื้น ควนเลือกพื้นที่ทำการเกษตรที่มีหน้าดินไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร และไม่มีก้อนกรวดหรือลูกรังกระจัดกระจายอยู่ที่ผิวดินมากนัก เลือกชนิดพืชปลูกและมีการจัดการที่เหมาะสม หากเป็นพืชไร่ควรเลือกพืชที่มีระบบรากตื้น ทนแล้ง ส่วนการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ควรมีการจัดการเฉพาะหลุม มีการเขตกรรมที่เหมาะสม ไถพรวนดินให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และหากเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน ควรมีมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ไถพรวนและปลูกพืชตามแนวขวางความลาดเทของพื้นที่ เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาดินอินทรีย์ หรือดินพรุ การปรับปรุงแก้ไขต้องทำเช่นเดียวกับการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกพืชชนิดต่างๆ โดยใช้ปูนโดโลไมท์ หินปูนฝุ่น ใส่ในอัตราความต้องการปูนของดิน หมักทิ้งไว้ประมาร 7 วัน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการใส่ปุ๋ยเคมีที่เป็นอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรอง ตลอดจนจุลธาตุบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีการยกร่อง ทำเพื่อยกระดับดินให้สูงขึ้น ประมาณ 80 เซนติเมตรจากผิวดินเหนือชั้นไพไรท์เหมาะสมที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลิตปุ๋ยละลายช้า MAP ช่วยลดต้นทุนภาคเกษตร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ผลิตปุ๋ยละลายช้า MAP ช่วยลดต้นทุนภาคการเกษตร
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิต รงภาคอุตสาหกรรม ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร จึงดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าน้ำเสีย โดยการผลิตเป็นปุ๋ยละลายช้า ในรูปของเกลือ MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) โดยใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น อินเดีย รวมถึงประเทศในแถบยุโรป ได้หันมาสนใจปุ๋ยละลายช้า ในรูปของเกลือ MAP มากขึ้นด้วย สำหรับคุณสมบัติเด่น เมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ย จะมีอัตราการละลายต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป
ทั้งนี้ ปุ๋ยละลายช้า สามารถทำได้ เนื่องจากในน้ำเสียมีแร่ธาตุไนโตรเจน และฟอสฟอรัสสูง โดยเฉพาะน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลจากโมลาส ฟาร์มสุกร และน้ำเสียชุมชน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำเสียที่มีแร่ธาตุ มีประโยชน์ต่อพืช และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 18 มีนาคม 2557

แจงสี่เบี้ย : การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปี 2557(2)

สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” ในปีงบประมาณ 2557 นั้น ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้จัดอบรม จำนวน 5 รุ่น ที่ผ่านมาได้มีการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น ส่วนรุ่นที่ 3 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 เมษายน 2557 รุ่นที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2557 และรุ่นที่ 5 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2557

ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะต้องเป็นเกษตรกรที่มีอายุระหว่าง 20-65 ปี สุขภาพแข็งแรง และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดหลักสูตร (2 วัน 1 คืน) ซึ่งแต่ละรุ่นรับผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 45 คน เป็นชาย 30 คน และหญิง 15 คน โดยผู้เข้าร่วมอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน ค่าที่พัก และค่าอาหาร ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่ผู้เข้าอบรมต้องรับผิดชอบเอง

โดยเกษตรกรที่สนใจ สามารถสมัครด้วยตนเองที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (สวจ.) ชั้น 7 อาคาร 8 ชั้น กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ หรือ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หรือสามารถส่งใบสมัครผ่านทางแฟ็กซ์ เบอร์ 02-5791562 (กรุงเทพฯ) หรือ 044-249962 (นครราชสีมา) หรือส่งไปรษณีจ่าหน้าซองถึงกลุ่มวิจัยและพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (สวจ.) ชั้น 7 กรมพัฒนาที่ดิน เลขที่ 2003/61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โดยระบุว่า “สมัครอบรม” ทั้งนี้ให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัครได้จากเว็บไซต์ www.ldd.go.th โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการฝึกอบรมแต่ละรุ่น ก่อนการฝึกอบรม 2 สัปดาห์ ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน และขอให้ผู้มีรายชื่อแจ้งยืนยันความพร้อมก่อนเข้ารับการฝึกอบรม กลับมาที่ นายวินัย ชมบุตร หรือนางสาวณิชกานต์ เพชนะ สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (สจว.) โทร.1760 ต่อ 2251 ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อ หากพ้นกำหนดจะถือว่าสละสิทธิ์

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 มีนาคม 2557

รายงานพิเศษ : เชือดโรงงานเถื่อนผลิตปุ๋ย-วัตถุอันตรายปลอม

ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกของเกษตรกร มักมีปัญหาเรื่องปุ๋ยและวัตถุอันตรายปลอมระบาดอยู่เสมอ แม้กรมวิชาการเกษตรจะมีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลและปกป้องเกษตรกร แต่ยังมีพวกมิจฉาชีพที่เข้าถึงตัวเกษตรกรโดยตรง ใช้กลยุทธ์ขายถูก ลดราคา แจกของแถมทำให้มีเกษตรกรหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อในที่สุด ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ผนึกกำลังกับตำรวจบุกเข้าตรวจค้นโรงงานย่านคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอายัดของกลางไว้รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจค้นโรงงานไม่มีชื่อ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งสืบทราบมาว่าเป็นสถานที่ลักลอบผลิตวัตถุอันตรายและปุ๋ยเคมีโดยมิได้รับอนุญาต

จากการเข้าไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่า ภายในโรงงานดังกล่าวมีการผลิตปุ๋ยและวัตถุอันตรายโดยมิได้รับอนุญาต ผลิตปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายปลอม ผลิตปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย และห้ามมีไว้ในครอบครอง และผลิตสินค้าเพื่อขายแต่จัดทำฉลากไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อายัดวัตถุอันตรายปลอมและปุ๋ยปลอม พร้อมอุปกรณ์การผลิต ได้แก่ ฉลากวัตถุอันตราย ถังพลาสติกบรรจุวัตถุอันตราย และรถยก รวมมูลค่าทั้งหมดกว่า 20 ล้านบาท

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบปัญหาปุ๋ยและวัตถุอันตรายปลอมพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขายตรงให้เกษตรกรในราคาถูก โดยผ่านผู้นำหมู่บ้าน และมีรถเร่ขายเข้าไปในหมู่บ้าน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบหาข้อมูลการผลิตและจำหน่าย และเข้าดำเนินการจับกุมผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบและดำเนินการอย่างเข้มข้นกับผู้กระทำผิดดังกล่าว

พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ หรือที่เกษตรกรรู้จักกันในชื่อของร้าน Q shop เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ โดยกรมวิชาการเกษตรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อให้ร้านค้าที่ประกอบธุรกิจจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ถูกต้องตามกฎหมายได้สมัครเข้าร่วมโครงการ เป้าหมายอย่างน้อยอำเภอละ 1 ร้าน ก่อนจะขยายเป็นตำบลละ 1 ร้าน ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 711 ร้านค้า โดยกรมวิชาการเกษตรได้ตั้งเป้าหมายให้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,000 ร้านค้าภายในปี 2557 นี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 18 มีนาคม 2557

แล้งทุบไร่อ้อยกระทบส่งออก

ภัยแล้งคุกคามไร่อ้อย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หวั่นฤดู 57/58 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบไม่ถึง 100 ล้านตัน กระทบต่อยอดการส่งออกน้ำตาลและรายได้ที่ลดลง ขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะฉุดการผลิตน้ำตาลทรายลดลงดันราคาพุ่งที่ระดับ 20-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ เกรงจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทรายในประเทศไม่พอ จากการแอบลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก.ไปส่งออก

สิริวุทธิ์ เสียมภักดีสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" จากการคาดการณ์ปริมาณอ้อยที่จะเข้าสู่การหีบในฤดู 2556/2557 ว่าจะมีประมาณ 110 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ประมาณ 12 ล้านตัน ซึ่งได้เริ่มเปิดหีบมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมาและจะปิดหีบลงในช่วงกลางเดือนเมษายนปีนี้นั้น มีความกังวลว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูนี้ไม่น่าจะได้ตามเป้าหรืออยู่ที่ประมาณ 106 ล้านตันอ้อย จากปัจจุบันที่เข้าหีบแล้วประมาณ 80-90 ล้านตันอ้อย เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การปลูกอ้อยไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้ห่วงว่าปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะเกิดการขาดแคลนแต่อย่างใด

"สิ่งที่ทาง 3 สมาคมเป็นห่วงมากที่สุด จะเป็นฤดูหีบอ้อย 2557/2558 ที่จะมาถึง เนื่องจากขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้คุกคามค่อนข้างมาก และมาเร็วกว่าทุกปี หากฝนมาล่าช้า จะส่งผลให้อ้อยตอเกิดความเสียหายหรือตายได้ จากการขาดน้ำ ซึ่งจะไปกระทบปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในช่วงปลายปีนี้ได้ ที่คาดว่าจะไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ไม่ถึง 10 ล้านตัน ผลที่ตามมาจะกระทบต่อยอดการส่งออกน้ำตาลทรายของประเทศลดลงตามไปด้วย จากการกำหนดปริมาณส่งออก 70 % และบริโภคในประเทศ 30 % ซึ่งหมายความว่าจะกระทบต่อรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายของประเทศและรายได้ของเกษตรกรลดลงตามมาด้วย"

นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็นบราซิล และออสเตรเลีย ทำให้กำลังผลิตน้ำตาลทรายของโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายโลกปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 17-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ และหากปัญหาภัยแล้งยังคุกคามในปีนี้อีก ราคาน้ำตาลทรายโลกอาจจะขยับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของประเทศที่ลดลงนี้ บวกกับราคาในตลาดโลกที่ขยับตัวสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศเกิดการขาดแคลนเหมือนกับช่วงปี 2555 ที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวขึ้นไปกว่า 30 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้เกิดการลักลอบนำน้ำตาลทรายโควตา ก.ที่ใช้บริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นราคาควบคุม นำไปขายส่งออก เนื่องจากได้ราคาดีกว่า จนเกิดปัญหาทำให้น้ำตาลทรายบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ

"หากฤดูฝนมาเร็ว และประเทศผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลกไม่ประสบปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องไปประเมินดูในช่วงกลางปีนี้อีกครั้งว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร สิ่งที่คาดการณ์ไว้อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะหากผลผลิตอ้อยไม่ลดลง ราคาตลาดโลกก็จะไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก"

ด้าน นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล และประธานคณะทำงานด้านตลาดภายในประเทศ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากคาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้จะมากขึ้นและยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2557/2558 จะลดลง 10-20% หรือมีโอกาสลดลงมาอยู่ที่ 80-90 ล้านตันอ้อย เทียบกับปี 2556-2557 อยู่ที่กว่า 100 ล้านตันอ้อย อย่างไรก็ตามประเทศไทยเคยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักมาแล้ว โดยช่วงนั้นปริมาณผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 70 ล้านตันอ้อย ลดลง 30% เหลือ 50 ล้านตันอ้อย ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกอย่างบราซิลก็ได้ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ทำให้ผลผลิตในปี 2557/2558 ลดลงทั่วโลก ดังนั้นจะมีผลต่อราคาน้ำตาลทรายดิบ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากปี 2556/2557 อยู่ที่ 18-19 เซ็นต์ต่อปอนด์

อย่างไรก็ตามจากปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ทางกลุ่มน้ำตาลจะหารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการยังอยู่ในช่วงเดินเครื่องหีบอ้อย จึงต้องการผลิตอ้อยในฤดูกาลนี้ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นในช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงปิดฤดูหีบอ้อย จึงต้องร่วมกันประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ว่ามีโอกาสจะกระทบผลผลิตอ้อยมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนตัวมองว่าฤดูแล้งปีนี้จะค่อนข้างรุนแรง เพราะภาพรวมทั่วโลกประสบปัญหาดังกล่าวเหมือนกันหมด

"ผู้ประกอบการและชาวไร่อ้อยประสบปัญหาภัยแล้งมาหลายครั้ง ดังนั้นมาตรการรองรับของบริษัทคือจะทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ โดยโรงงานจะให้เงินลงทุนสำหรับติดตั้งระบบน้ำหยดสำหรับชาวไร่ บริษัททำมาแล้วกว่า 10 ปี โดยใช้เงินมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งได้มาก

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 มีนาคม 2557

จับตาราคาปุ๋ยร่วง เมื่อปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อ

ในสถานการณ์การค้าขายปุ๋ยที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาราคาปุ๋ยแพง ปุ๋ยคุณภาพต่ำ รวมถึงมีปุ๋ยปลอมระบาด ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ และตกอยู่ในสภาพถูกเอาเปรียบจากผู้ค้าที่ฉวยโอกาส ทำให้สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย

เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัชเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช ต้องเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งด้านปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์พืช ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า ให้ขายของที่มีคุณภาพเพื่อช่วยยกระดับเกษตรกรไทย รวมถึงตัวแทนจำหน่าย(ยี่ปั๊ว)และลูกค้ารับช่วง(ซาปั๊ว) จะต้องค้าขายเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร

ล่าสุด เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมัยที่ 4 (8 ปี)ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงภาพรวมตลาดค้าปุ๋ยเคมี และผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปุ๋ยตลอดปี 2557 นี้

++บทบาทสำคัญสมาคม

สมาคมเป็นผู้ให้การสนับสนุนยกระดับมาตรฐาน ให้ความรู้ ความเข้าใจ และใช้สินค้าแก่เกษตรกรอย่างถูกต้อง เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยมีความเจริญก้าวหน้า ลดปัญหาอุปสรรค หรือให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ โดยจะเป็นผู้ประสานงานกับภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งไปทางมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดต่อกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ปัญหาปุ๋ยปลอมและการขายปุ๋ยในราคาดัมพ์ตลาด เรื่องนี้ภาครัฐต้องให้สมาคมเข้าไปให้ความรู้ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับสมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย จัดทำโครงการร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรที่มีคุณภาพ (คิวช็อป) เพื่อให้ผู้จำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อแสดงว่าร้านนี้ขายปุ๋ยคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันผู้ค้าปุ๋ยทั่วประเทศมีจำนวน 1 หมื่นราย แบ่งเป็น 1.ผู้ผลิตและผู้นำเข้า 2.ผู้ค้า ที่ขายในนามดีลเลอร์

กรณีค้าปุ๋ยปลอมจะมีบทลงโทษ ทั้งการผลิตและขายปุ๋ยปลอม โดยผู้ผลิตปุ๋ยปลอมต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสน- 2 ล้านบาท กรณีผู้ขาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1.2 แสน-4 แสนบาท ขณะนี้คนค้าปุ๋ยที่บริสุทธิ์ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ค้าขายด้วยความหนักใจ เพราะยังมีผู้ค้าที่ฉวยโอกาสอยู่ด้วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาแข่งขันแบบไม่เป็นธรรม

+++ติดตามราคาปุ๋ยเคมี

สำหรับราคาปุ๋ยเคมี จะอิงกับราคาตลาดโลก ในขณะที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้ามาจากต่างประเทศ 96% ที่นำเข้ามาในรูปยูเรีย(UREA) , โปแตช(MOP) และไดแอมโมเนียมฟอสเฟต หรือDAP( Di-Ammonium Phosphate) เป็นต้น และราคาตลาดโลกก็อยู่ที่ดินฟ้าอากาศ ถ้าดินฟ้าอากาศดีก็ผลิตสินค้าเกษตรได้มาก และใช้ปุ๋ยได้มากขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตและรักษาคุณภาพ ซึ่งจะเห็นว่าถ้าประเทศไหนดินฟ้าอากาศดีก็จะมีการซื้อวัตถุดิบไปผลิตปุ๋ยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขัน ราคาก็ต้องสูงขึ้น บวกกับความผันผวนตามราคาน้ำมัน ถ้าน้ำมันขึ้น ก๊าซธรรมชาติก็สูงขึ้น เพราะการผลิตยูเรียมาจากก๊าซธรรมชาติ และเมื่อพลังงานแพงขึ้น ค่าขนส่งก็ต้องแพงขึ้นด้วย

ขณะที่ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยในปี 2554 มีปริมาณ 5.579 ล้านตัน จากปี 2555 มีปริมาณ 5.583 ล้านตัน ปี 2556 ปริมาณ 5.585 ล้านตัน และในปี 2557 คาดการณ์ว่าจะมีการนำเข้าประมาณ 5.530 ล้านตัน

+++ราคาร่วง 20-30%

สำหรับราคาปุ๋ยเปรียบเทียบช่วง 2 ปีที่ผ่านมา(2555-2556) ขณะนี้ราคาปุ๋ยลดลงมาแล้ว 20-30% ยกตัวอย่างราคาปุ๋ยยูเรียที่ขายให้กับเกษตรกรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2555 ราคาอยู่ที่ 1.3300 หมื่นบาทต่อตัน เทียบราคาเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 อยู่ที่ 1.3560 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนราคา DAP ปี 2555 อยู่ที่ 1.6100 หมื่นบาทต่อตัน ล่าสุดต้นปี 2557 อยู่ที่ 1.4900 หมื่นบาทต่อตัน(ดูตารางประกอบ)

ทั้งนี้ราคาปุ๋ยที่ตกต่ำลงในช่วงนี้ มาจากปัจจัยหลัก 3 ส่วน คือ 1.ดินฟ้าอากาศในประเทศต่างๆทั่วโลกผันผวน ทำให้ผลผลิตตกต่ำลง 2.ราคาน้ำมันไม่ได้สูงขึ้นแบบรุนแรง 3.อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ซึ่งส่วนนี้ยังโชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังรักษาเสถียรภาพได้เป็นอย่างดี

"ราคาปุ๋ยขาลงจะนานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่ดินฟ้า อากาศและต้นทุน และการแข่งขันที่จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ราคาปุ๋ยขยับตัวได้ยาก ยกเว้นปุ๋ยบางตัวที่มีการจำกัดทั้งแหล่งผลิตและปริมาณ เช่น โปแตช และDAP ที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า"

+++เกษตรกรขาดสภาพคล่อง
ตลาดพืชผลทางการเกษตรในไทย เช่นข้าว จะได้รับผลกระทบมากขึ้นเพราะเกษตรกรขาดสภาพคล่อง เมื่อขาดสภาพคล่องก็ส่งผลต่อเนื่องกับธุรกิจต่อเนื่องอย่าง ปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช ยาฆ่าแมลง ลามไปถึงสินค้าสำเร็จรูปที่มาจากภาคเกษตรกรรม ที่เวลานี้น่าเป็นห่วงเศรษฐกิจรวมของชาติที่ได้รับผลกระทบเพราะรากหญ้าเดือดร้อนเป็นห่วงโซ่ ทำธุรกิจต่อเนื่อง เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ที่ยอดขายในขณะนี้กระทบไปด้วย

+++ฝากภาครัฐ

สิ่งที่อยากถึงผู้บริหารนโยบายทางการเกษตรคือ สิ่งที่เราสามารถจะนำมาพัฒนาได้คือการที่เรามีแหล่งแร่ที่ดี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมปุ๋ย เช่น การส่งเสริมเหมืองแร่โปแตชที่วันนี้ก็ยังไม่คืบหน้า ขณะที่จีนเข้าไปลงทุนที่สปป.ลาว แล้วขายโปแตชให้ไทย ซึ่งเรื่องนี้ได้ต่อสู้ผลักดันให้มีการเปิดเหมืองโปแตชมานานถึง 24 ปี ก็ไม่สำเร็จ ต่อสู้มาตั้งแต่นั่งเป็นประธานโครงการโปแตชที่อุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตโปแตชที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกและใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้มองว่าเหมืองโปแตชถ้าผลักดันได้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อเศรษฐกิจรวม เพราะวันนี้ยังต้องนำเข้าโปแตชต่อปีประมาณ 4 แสนตัน คิดเป็นเงินรวมราว 5.6 พันล้านบาท ถ้าพัฒนาใช้ในไทยได้ก็จะลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ ช่วยลดภาระขนส่ง ขณะที่อบต.แต่ละพื้นที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ด้วยในเรื่องค่าบำรุงท้องถิ่น ด้านภาครัฐก็จะได้ค่าภาคหลวง และเก็บภาษีได้ และในโครงการลักษณะนี้รัฐบาลมีหุ้นส่วนอยู่ด้วย 10% ตามข้อตกลงการลงทุนทำเหมืองโปแตช

"นอกจากนี้ต้องการให้สื่อเป็นกระบอกเสียงฝากไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากวันนี้มีการโฆษณาขายปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรี ปุ๋ยชีวภาพเกินความเป็นจริงผ่านสื่อทีวีและวิทยุ เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนและเกษตรกร"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 มีนาคม 2557

แจงสี่เบี้ย : การพัฒนาที่ดินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในปี 2557

ทรัพยากรดิน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตรกรรมของประเทศไทย แต่ปัญหาการนำพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาใช้การในการทำการเกษตร รวมถึงการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและปัญหาที่เกิดจากสภาพธรรมชาติของดิน เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินอินทรีย์ ฯลฯ ล้วนทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร ส่งผลให้สารเคมีตกค้างในดิน น้ำ พืช สิ่งมีชีวิตและมนุษย์ นับว่าเป็นอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมเป้นอย่างมาก จึงควรปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคการเกษตรเคมีเป็นระบบเกษตรที่ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทาการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เกษตรลดการใช้สารเคมี เกษตรไร้สารพิษ เกษตรอินทรีย์)

ดังนั้น สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การพัฒนาที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในปีงบประมาณ 2557 จำนวน 5 รุ่น ณ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องทรัพยากรดิน เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน และการทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับประชาชนทั่วไปได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติต่อไป ตลอดจนร่วมมือกันสร้างเครือข่ายการพัฒนาที่ดินในการเผยแพร่องค์ความรู้และขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ดิน เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยุ่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มีนาคม 2557

สศก.เล็งจัดทำคู่มือ ประเมินผลเกษตร ภาคภาษาอังกฤษ รองรับเข้าสู่เออีซี

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. มีการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงรูปแบบการติดตามและประเมินผลโครงการต่างของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อยมา โดยมีการนำแนวคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการประเมินผลโครงการทางการเกษตร ตลอดจนการนำเทคนิคทางสถิติ และเศรษฐมิติต่างๆ มาใช้ในการประเมินผลโครงการ เพื่อให้ผลการประเมินมีความถูกต้องตามหลักวิชาการสากล เป็นที่ยอมรับของบุคคลภายนอก และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้บริหารในการยุติ/ดำเนินการโครงการต่อ หรือนำโครงการไปขยายผลในภูมิภาคอื่น/เรื่องอื่นๆ ต่อไป

ดังนั้น จึงได้จัดทำ “คู่มือการประเมินผล” และ “คู่มือวิทยากร หลักสูตรการประเมินผล” เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงให้แก่ ผู้ที่มีหน้าที่ประเมินผลโครงการหรือผู้ที่สนใจทั่วไปได้สามารถนำไปศึกษาเอง และพัฒนาทีมวิทยากรของศูนย์ประเมินผล สศก. ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สศก. ได้มีการแจก “คู่มือการประเมินผล” และ “คู่มือวิทยากรหลักสูตรการประเมินผล” ไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในอนาคตอันใกล้ สศก.มีแผนจะก้าวเข้าสู่เวทีสากลด้านการประเมินผลเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยการจัดทำคู่มือเป็นภาษาอังกฤษแก่ผู้สนใจทั่วไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มีนาคม 2557

สภาเกษตรกรแห่งชาติ หนุนขึ้นทะเบียนองค์กรการเกษตร

สภาเกษตรกรแห่งชาติ หนุนขึ้นทะเบียนองค์กรการเกษตร เพื่อโอกาสมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านการเกษตร...

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติแห่งชาติ ประกาศรับขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแห่งรัฐด้านการเกษตร สิทธิองค์กรเกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนจะได้จัดทำข้อเสนอต่อสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อให้สภาเกษตรกรจังหวัดประสาน ส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ และพิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยตัวแทนองค์กรเกษตรกรยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันเกษตร หรือคณะของเกษตร ที่มีสิทธิขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตร ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบอาชีพตามความหมายในพระราชบัญญัติสภาเกษตรกร แห่งชาติ พ.ศ.2553 เป็นสถาบันเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ประเภทสหกรณ์การเกษตร กลุ่มสหกรณ์นิคม กลุ่มสหกรณ์ประมง หรือกลุ่มเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ที่มีเกษตรกรรวมกลุ่มกันตั้งแต่ 100 คนทั่วไป มีที่ตั้งเป็นสำนักงาน หรือที่ทำการเป็นหลักแหล่งชัดเจน

สำหรับผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรเกษตร ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ของตนเอง โดยเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการขึ้นทะเบียน องค์กรเกษตร ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทน สถาบันเกษตรกร หรือคณะของเกษตรกร , สำเนาเอกสารแสดงที่ตั้งของสถาบันเกษตรกรหรือคณะของเกษตรกร , สำเนาเอกสารแสดงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของเกษตรที่ประกอบเกษตรกรรม ของสถาบันเกษตรกร หรือคณะของเกษตรกร , สำเนาการจดทะเบียนพร้อมสำเนารายชื่อคณะกรรมการ กรณีการยื่นคำขอของสถาบันเกษตร ตามแบบ ทอก.2 , บัญชีรายชื่อคณะกรรมการและบัญชีรายชื่อสมาชิก กรณีการยื่นคำขอของคณะของเกษตร ตามแบบ ทอก.3 , สำเนารายงานการประชุมที่แสดงมติให้สถาบันเกษตรกร หรือคณะของเกษตรกรขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตร ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสภาเกษตรกรแห่งชาติ หรือ www.nfc.or.th

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 17 มีนาคม 2557

ชาวไร่อ้อยปิดถนนประท้วงตำรวจบุรีรัมย์

ชาวไร่อ้อย สุดทนพฤติกรรมตำรวจ ป้อมแยกตะโก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่จับ-ปรับถี่ยิบ จนคนขับรถแทบไม่เหลือเงินค่าจ้าง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร ต้องนำเงินไปจ่ายค่าปรับเพิ่ม นำรถบรรทุกอ้อยปิดถนนสาย ๒๔ โชคชัย-เดชอุดม ประท้วงตำรวจนานนับชั่วโมง สุดท้ายตำรวจยอมผ่อนผันการจับกุมรถบรรทุกอ้อยไปก่อน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในเขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา, บุรีรัมย์และ จ. สุรินทร์กว่า ๑๐๐ ราย นำโดย นายวิจิตร กานา นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สุรินทร์ได้นำรถบรรทุกอ้อยที่มาจอดขวางถนนสาย ๒๔ โชคชัย-เดชอุดม ที่บริเวณสี่แยกตะโก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ทั้ง ๒ ช่องจราจร นานนับชั่วโมง หลังไม่พอใจที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เฉลิมพระเกียรติ จุดป้อมยามสี่แยกตะโก อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้มีการจับปรับรถบรรทุกอ้อยของเกษตรกร ในข้อหา ดัดแปลงและต่อเติมเป็นประจำ จนทำให้เกษตรกรที่นำอ้อยมาส่งหีบที่โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ เฉลี่ยประมาณวันละกว่า ๑๐๐ ราย ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเกษตรกรต้องเสียค่าใช้เป็นเงินค่าปรับเพิ่ม อีกทั้งเกษตรกรต้องเสียเวลา เพราะนำอ้อยไปเข้าหีบไม่ทัน หรือช้ากว่าที่โรงงานได้เปิดเวลาหีบอ้อย จนต้องจอดรถรอเวลาที่โรงงานเปิดหีบใหม่ คือในวันต่อไป

ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มาชุมนุม ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมเปิดถนนให้รถสัญจรผ่านไปมาโดยเด็ดขาด จนกว่าได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ เพราะเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเกษตรกรได้นำรถบรรทุกอ้อย มาปิดถนนสายดังกล่าวด้วย จนทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวเป็นอัมพาต จอดติดยาวหลายกิโลเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับ รถที่จะสัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องแนะนำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางดังกล่าว หันไปใช้เส้นทางเลี่ยงแทน

ต่อมา พ.ต.อ. สุวิจักขณ์ จันทร์เยี่ยม ผกก.สภ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้เดินทางมาเจรจากับกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่มาชุมนุมปิดถนนประท้วง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอำนวยความสะดวก แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ในด้านการจราจร เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน และผ่อนผันการจับกุมไปก่อน จึงสร้างความพอใจแก่เกษตรกรที่มาชุมนุม และยอมนำรถอ้อยออกจากถนน เพื่อเปิดการจราจรให้รถสัญจรตามปกติ ก่อนจะแยกย้ายกันกลับในเวลาต่อมา

นายวิจิตร กานา นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สุรินทร์ หนึ่งในแกนนำเกษตรกรที่นำรถมาปิดถนนประท้วง เปิดเผยว่า เข้าใจในการปฎิบัติหน้าที่ของ ตำรวจทุกโรงพัก ในการกวดขันวินัยจราจรเพื่อป้องกันเหตุร้าย แต่ช่วงนี้เป็นช่วงโรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อย เพื่อรับผลผลิตอ้อยของเกษตรกรเข้าสู่โรงงาน ซึ่งเกษตรกรหลายรายที่ไม่มีรถบรรทุกเป็นของตนเอง ก็ต้องว่าจ้างรถบรรทุก ที่มีการดัดแปลงต่อเติมโครงเหล็ก เพื่อให้สามารถบรรทุกอ้อยในแต่ละครั้ง ได้จำนวนหลายๆตันมารับจ้างบรรทุกอ้อย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการผ่อนผันการจับกุมไว้ก่อน

นายวิจิตร กล่าวต่อว่า ซึ่งหากถูกตำรวจจับกุมในแต่ละครั้ง เกษตรกรก็ต้องเสียเงินเป็นค่าปรับเพิ่ม เพราะกว่าจะมาถึงโรงงานเจอด่านตำรวจจับปรับหลายด่าน เงินค่าจ้างขับรถบรรทุกอ้อยได้เพียงวันละ ๕๐๐บาท ต่อเที่ยวก็เหลือไม่กี่บาท จนทำให้เกษตรกรและคนขับรถหมดกำลังใจ อีกทั้งต้องเสียเวลา เพราะไม่สามารถนำอ้อยเข้าส่งโรงงานเพื่อทำการหีบได้ทันตามเวลา หรือคิวที่ได้มีการจองกับทางโรงงาน จนต้องจอดรถรอคิวต่อไปในวันถัดไป เพราะโรงงานสามารถรับอ้อยเข้าหีบได้เพียงวันละ ๒๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ตันต่อวันเท่านั้น อีกทั้งช่วงนี้ได้มีเกษตรกรจำนวนมากได้นำอ้อยมาทำการหีบที่โรงงาน เพราะใกล้ถึงวันที่จะมีการปิดหีบแล้ว คือทางโรงงานได้ทำการเปิดหีบอ้อยมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๖ และจะสิ้นสุดระยะเวลาการปิดหีบในเดือนเมษายน ๒๕๕๗ นี้ ดังนั้นช่วงนี้เกษตรกรจึงต้องเร่งนำอ้อยเข้าสู่โรงงานดังกล่าว

“พวกเราเข้าใจการทำงานของตำรวจ แต่อยากจะจอร้องให้ผ่อนผันไว้ก่อนได้ไหมช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่โรงงานเปิดหีบ ชาวไร่อ้อยก็ต้องเร่งตัดอ้อยส่งโรงงาน แต่ดันมาถูกตำรวจจับเสียค่าปรับด่านละ ๒๐๐ สมมุติถ้า ๓ ด่านเป็นเงิน ๖๐๐ แล้วคนขับได้ค่าจ้างเพียง ๕๐๐ บาทต่อเที่ยว แล้วจะเหลือเงินสักกี่บาท ต้องเดือดร้อนถึงชาวไร่อ้อยที่เป็นเจ้าของอ้อย ต้องรีบหาเงินมาจ่ายค่าปรับแทน อ้อยก็ยังไม่ได้ขาย แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าปรับ ส่วนเงินที่มีติดตัวไป มันก็ไม่กี่บาท เพื่อเอาไว้เป็นค่าข้าวค่าน้ำระหว่างเดินทาง” นายกสมาคมชาวไร่อ้อย จ.สุรินทร์ กล่าว

นายวิจิตร กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรและคนขับรถบรรทุกอ้อย ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ.ปราสาท อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ,สภ.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ,สภ.ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ,สภ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ และ สภ.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านเข้าสู่โรงงานน้ำตาลสุรินทร์ ที่รถบรรทุกอ้อยต้องสัญจรผ่าน เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจโอนอ่อน หรือผ่อนผันการจับกุมไว้ก่อน เพราะหากถูกจับกุมก็จะทำให้เกษตรกรและคนขับรถเสียเงินเป็นค่าปรับเพิ่ม อีกทั้งต้องเสียเวลาในการนำอ้อยสู่โรงงานเพื่อทำการหีบด้วย ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีตำรวจต่างๆ เป็นอย่างดี แต่ที่ สภ.เฉลิมพระเกียรติ พ.ต.อ. สุวิจักขณ์ จันทร์เยี่ยม ผกก.ฯ ไม่ยอมเดินทางมาเจรจากับกลุ่มเกษตรกร จนทำให้เกษตรกรทนไม่ไหวจนต้องทำการปิดถนน จากนั้น พ.ต.อ. สุวิจักขณ์ จันทร์เยี่ยม ผกก.ฯจึงเดินทางมาเจราจาหาข้อยุติกับเกษตรกรผู้ชุมนุม จนได้ข้อยุติร่วมกันดังกล่าว.

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 15 มีนาคม 2557

อนุมัติใบอนุญาตรง.4 วงเงินกว่า1.2หมื่นล. รวม 11 โรงงาน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานกรมอุตสาหกรรม(กรอ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการกลั่นกรองโรงงานขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้ประชุมเพื่อออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน(รง.4) โดยพิจารณาออกใบอนุญาตรวม 11 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,256 ล้านบาท อาทิ บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด 1 ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 35.35 เมกะวัตต์ จ.ลพบุรี มูลค่าลงทุน 2,885 ล้านบาท โรงไฟฟ้าจะนะ การไฟฟัาฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จ.สงขลา มูลค่าลงทุน 2,567 ล้านบาท บริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด2 ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 16.63 เมกะวัตต์ จ.สุพรรณบุรี มูลค่าลงทุน 1,238 ล้านบาท บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์ยี จำกัด โครงการ3 ผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 9.55 เมกะวัตต์ จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่าลงทุน 906 ล้านบาท

นายณัฐพลกล่าวว่า นอกจากนี้มีโครงการที่ไม่ผ่านการอนุมัติจำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด(มหาชน) ผลิตลูกถ้วยไฟฟ้า จ.สิงห์บุรี มูลค่า 400 ล้านบาท เนื่องจากต้องชี้แจงข้อมูลอีกครั้ง 2.บริษัท น้ำตาลทิพย์ กำแพงเพชร จำกัด ผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 11,000 ตันอ้อยต่อวัน รวมเป็น 36,000 ตันอ้อยต่อวัน จ.กำแพงเพชร มูลค่าลงทุน 3,793 ล้านบาท คืนเรื่องให้กรอ.พิจารณาอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม และ3.บริษัท บางจาก โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี (บุรีรัมย์1) ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ จ.บุรีรัมย์ มูลค่าลงทุน 2,119 ล้านบาท คืนเรื่องให้กรอ.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 15 มีนาคม 2557

ไทยเอกลักษณ์พับแผนย้ายโรงงาน รอ 4 ปียังไม่ได้ใบ รง. 4 ดัน "เกษตรไทย" เข้า ตลท.แทน

กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์พักรบ แผนย้ายโรงงานจาก จ.อุตรดิตถ์ ไป จ.สุโขทัย หลังกระทรวงอุตสาหกรรมดองใบ รง.4 กว่า 4 ปี เบนเข็มเข็น "โรงงานเกษตรไทย" เพิ่มทุนขยายกำลังการผลิต ผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ปีนี้ เผยไตรมาส 4 เตรียมเดินเครื่องเปิด 2 โรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย รวม 50 เมกะวัตต์ ที่อุตรดิตถ์และนครสวรรค์ มูลค่า 1,920 ล้านบาท ต่อยอดใช้ในโรงงานน้ำตาลเอง และที่เหลือขายให้ กฟภ.

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท KTIS ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทราย 3 แห่ง โดยมีโรงงานเกษตรไทย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุด ประมาณ 55,000 ตันอ้อยต่อวัน รองลงมาคือ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานรวมผล อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 ตันอ้อยต่อวัน ทำให้โรงงานน้ำตาลของกลุ่มบริษัท KTIS มีกำลังการผลิตรวม 88,000 ตันอ้อยต่อวัน และปี 2556 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3.2 พันล้านบาท เป็น 3.8 พันล้านบาท เพื่อแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้แล้วเสร็จและสามารถกระจายหุ้นให้แก่ประชาชน (IPO) ได้ไม่เกินช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 นอกจากนี้ ยังมีการร่วมงานกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และบริษัทนิชชิน ชูการ์

ทั้งนี้ สัดส่วนผู้ถือหุ้นจะแบ่งเป็นกลุ่ม KTIS ประมาณ 70% กลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และบริษัทนิชชิน ชูการ์ ประมาณ 7.5% นักลงทุนทั่วไป ประมาณ 20% และส่วนที่เหลือเป็นพันธมิตรและนักลงทุนเดิมที่เคยร่วมงานกับบริษัทมาก่อนหน้า เช่น กลุ่มนักลงทุนชาวสิงคโปร์ เป็นต้น

"สำหรับการไปสร้างฐานการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน หรือในประเทศอื่น ๆ เรามองโอกาสไว้บ้าง เพราะเราเองมีพาร์ตเนอร์เป็นชาวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีประสบการณ์ในการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ แต่ยอมรับว่ามีความสนใจ และได้ศึกษาอยู่บ้าง อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้น ๆของโลก ไทยเรามีศักยภาพ บวกกับประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นมองเห็นโอกาสในอนาคตที่จะเกิดขึ้น" นายประพันธ์กล่าวและว่า

สำหรับรายได้ของบริษัทในปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2555 ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวน โดยในปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกลงมาอยู่ที่ 17 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้มีผลต่อการส่งออกน้ำตาล และรายได้ของบริษัท แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2557 บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการตั้งเป้าส่งเสริมรายได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องของบริษัทให้มีรายได้ทัดเทียมกับธุรกิจน้ำตาล โดยปัจจุบันรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีมากกว่า 79% และที่เหลือแบ่งเป็นธุรกิจเอทานอล 8% ธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย 8.6% และธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและอื่น ๆ 3.6% โดยในปี 2557 บริษัทตั้งเป้าส่งเสริมรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ให้มีส่วนแบ่งอย่างน้อย 40% ของรายได้รวมของกลุ่มบริษัท นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมเป็นแห่งที่ 2 และ 3 ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557 นี้ด้วย

ปัจจุบันกลุ่ม KTIS ได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ 1 โรงงาน และมีโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 4 อีก 2 โรงงาน เป็นโรงไฟฟ้าลำดับที่ 2 และ 3 ของบริษัท กำลังการผลิต โรงละ 50 เมกะวัตต์ ลงทุนรวมกว่า 1,920 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 จะตั้งอยู่ที่โรงงานไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 23 เมกะวัตต์ และแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ที่โรงงานรวมผล จ.นครสวรรค์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟภ. 28 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 3 แห่งของกลุ่ม KTIS ได้นำชานอ้อยมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนในโรงงานน้ำตาล และขายไฟฟ้าบางส่วนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเช่นกัน

นายประเสริฐ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจอ้อยและน้ำตาล กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้เคยทำเรื่องยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครองกรณีขอย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จาก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ไปที่ จ.สุโขทัย ทั้งที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ให้ใบ รง.4 โดยให้เหตุผลว่าสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัยไม่ถึง 80 กม.นั้น กรณีดังกล่าวทางบริษัทได้ติดตามสอบถามความก้าวหน้ากับทางกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดมา แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงใด ๆ ทำให้แผนงานต่าง ๆ ที่วางในเรื่องการย้ายโรงงานต้องหยุดไป ทั้งนี้ คิดว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้คงมีผลต่อการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทางบริษัทจึงหันไปเร่งดำเนินการเรื่องการนำโรงงานเกษตรไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแทน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 มีนาคม 2557

คลังวางยุทธศาสตร์รับมือเปิดเออีซีปี58 เพิ่มความสะดวกการค้า-การลงทุน

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียมมาตรการในด้านต่างๆไว้แล้วอย่างครบถ้วนแล้วเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือเออีซี

ในปี2558 อาทิ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุนและการเงินให้กับภาคเอกชน การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในแข่งขันของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ การสนับสนุนการเจริญเติบโตแบบสีเขียว (Green Growth Economy)การกำหนดทิศทางและปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนได้อย่างสูงสุด

การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและพัฒนาระบบภายในของกระทรวงการคลัง การส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน การสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนและ SMEs การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี และผนึกกำลังของอาเซียนต่อกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้ขอให้เร่งรัดการจัดตั้งระบบการให้บริการศุลกากรเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวในระดับประเทศหรือNational Single Windows(NSW) ซึ่งเป็นระบบงานกลางที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านการขนส่งสินค้าและพิธีการด้านศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าและการส่งออกสินค้าพร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติงานภูมิภาคในประเทศไทย (Regional Operating Headquater - ROH)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้านที่เชื่อมโยงกับประเทศไทย และจัดทำข้อมูลด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับและประกาศของกระทรวงการคลังเป็นภาษาอังกฤษ

“เราจะดำเนินการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่องโดยจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเงินการคลัง รวมทั้งจัดให้มีระบบการติดตามและประเมินความคืบหน้าเป็นระยะ อนึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ที่กล่าว เป็นผลมาจากการหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง จึงเป็นการดำเนินการในเชิงบูรณาการเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุดทางด้านการเงินการคลังในการเข้าสู่เออีซี”

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

กรมชลเตรียมศึกษาสร้างฝายน้ำปิง เพิ่มประสิทธิภาพจัดการน้ำจากนครสวรรค์ถึงเขื่อนภูมิพล

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินการสร้างฝายถาวรในแม่น้ำปิงตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นไปจนถึงเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในปัจจุบันมีเฉพาะฝายชั่วคราว มักจะได้รับความเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้มีการซ่อมแซมเกือบทุกปี อย่างไรก็ตามการสร้างฝายถาวรนั้น จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนถึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการศึกษาได้ในปี 2558 ใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษามาพิจารณาว่า เหมาะสมที่จะสร้างฝายถาวรขึ้นในลำน้ำปิงดังกล่าวหรือไม่ และถ้าสร้างควรสร้างจะมีกี่แห่ง

นายธนู เนื่องทศเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักชลประทานที่ 4 กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้สำนักชลประทานที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 4 จังหวัดคือ ตาก กำแพงเพชร แพร่ และสุโขทัย ได้ของบประมาณจากกรมชลประทานเพื่อซ่อมแซมฝายชั่วคราวในลำน้ำปิง จำนวน 3 แห่ง ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร คือ ฝายท่อทองแดง ฝายวังบัว และฝายวังยาง

นอกจากนี้สำนักชลประทานที่ 3 ก็เสนอของบประมาณในการซ่อมแซมฝายชั่วคราวในลำน้ำปิง จำนวน 1 แห่ง ในเขตจังหวัดนครสวรรค์คือ ฝายบรรพต เช่นกัน

ทั้งนี้เนื่องจากฝายชั่วคราวดังกล่าว มีสภาพชำรุดเสียหาย เนื่องมาจากกระแสน้ำที่แรงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้การยกระดับน้ำเพื่อส่งเข้าสู่พื้นที่การเกษตรทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งฝายชั่วคราวดังกล่าว ยกเว้นฝายท่อทองแดง จะใช้กล่องแกเบี้ยน (Gabion) หรือกล่องลวดบรรจุหิน ในการทำเป็นฝายกั้นแม่น้ำปิง ซึ่งกล่องแกเบี้ยน จะเป็นกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำจากลวดเหล็กตีเกลียวคู่ ทอเป็นตาข่ายถักเป็นรูปหกเหลี่ยม บรรจุหินอยู่ภายในกล่อง โดยแผ่นตาข่ายแต่ละชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผลิตจากลวดเหล็กชุบสังกะสีกันสนิม ตามมาตรฐานสากล

สำหรับการซ่อมแซมฝายทั้ง 4 แห่งดังกล่าว หากได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จะดำเนินการซ่อมแซม โดยเร่งด่วนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะซ่อมแซมโดยใช้หินขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์ไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร สร้างเป็นฝายในลักษณะเดียวกันกับฝายท่อทองแดง ซึ่งจะทำให้มีความคงทนและมีอายุการใช้งานนานกว่า และสามารถยกระดับน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยจะใช้งบประมาณในการซ่อมแซมในครั้งนี้ทั้งหมดประมาณ 20 ล้านบาท

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

แนะเพิ่มแหล่งน้ำภาคเกษตรขอนแก่น สศข.4เปิดผลศึกษา-ชี้ช่วยลดรายจ่าย

นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 4 ขอนแก่น (สศข.4) เปิดเผยว่า สศข.4 ได้ทำการศึกษาภาวะเศรษฐกิจ สังคมของครัวเรือนของเกษตรกรปีเพาะปลูก 2555/2556 โดยจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรตัวอย่างจากทุกอำเภอใน 26 อำเภอของจังหวัดขอนแก่น ภายใต้โครงการลดรายจ่ายตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลการศึกษาครัวเรือนเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการฯพบว่า

หัวหน้าครัวเรือนจะเป็นแรงงานหลักในการทำเกษตร และร้อยละ 75 มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 40-64 ปี ร้อยละ 50 จบประถมศึกษา อาชีพการเกษตรหลัก คือ การเพาะปลูกพืช มีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 4 คน โดยเป็นแรงงานในภาคเกษตรเฉลี่ย 2 คนต่อครัวเรือน การถือครองที่ดินการเกษตรเป็นของตนเองเฉลี่ยครัวเรือนละ 18 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลักร้อยละ 58 ทำไร่ร้อยละ 30 ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นร้อยละ 4 เป็นที่อยู่อาศัยที่ว่างเปล่า ประมาณร้อยละ 4 ทำการประมงร้อยละ 2 เลี้ยงปศุสัตว์ร้อยละ 1 และ ปลูกพืชผักร้อยละ 1

สำหรับรายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนอยู่ที่ 101,206 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งมาจากรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร 69,897 บาทต่อครัวเรือน และรายได้เงินสดนอกการเกษตร 31,319 บาทต่อครัวเรือน โดยมีหนี้สินจากการกู้ยืมมาใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรและใช้บริโภคภายในครัวเรือนประมาณ 103,768 บาท ต่อครัวเรือน ซึ่งแหล่งกู้ยืมในระบบมากที่สุดคือกองทุนหมู่บ้านร้อยละ 81 และสถาบันการเงินอื่นๆ ร้อยละ 19

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจถึงปัญหาด้านการเกษตรของเกษตรกร พบว่า เป็นปัญหาจากภัยธรรมชาติ (ภัยแล้ง) ร้อยละ 80 รองลงมาคือ ด้านโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องดินมีปัญหาร้อยละ 20 รวมทั้งปัญหาทางด้านสังคมของเกษตรกรคือปัญหาด้านหนี้สิน การซื้อของเงินผ่อนและค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตรหลาน ทั้งนี้ เกษตรกร ต้องการให้มีการส่งเสริมการดำเนินการโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ส่งเสริมต่อไปเรื่อยๆ รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐจัดหาแหล่งน้ำ เช่น ขุดเจาะบ่อบาดาลในไร่นา เพื่อใช้ในการเกษตร โดยคาดว่า ถ้าบรรเทาปัญหาด้านนี้ได้จะทำให้เกษตรกรลดรายจ่ายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

เขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำน้อย

กฟผ. หวั่น สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 3,956 ล้าน ลบ.ม. อาจส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำทุกด้าน ทั้งภาคเกษตร และการอุปโภค บริโภค

นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. ว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำกฟผ. หลายแห่งยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติและเพียงพอที่จะระบายได้ตามแผนการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้ง มีเพียงอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจากการระบายน้ำมากกว่าแผน อันเนื่องมาจากมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเพิ่มมากกว่าแผนที่กำหนดไว้มาก

โดยเขื่อนภูมิพล ปัจจุบัน ( 12 มี.ค. 57) มีปริมาตรน้ำ 5,949 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น44% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 2,149 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 56 ณ เวลาเดียวกัน 115 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบัน มีปริมาตรน้ำ 4,657 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,807 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 56 ณ เวลาเดียวกัน 428 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ทั้งสองเขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 3,956 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 56 ณ เวลาเดียวกัน 313 ล้าน ลบ.ม. แต่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยเก็บกักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถึง 2,600 ล้าน ลบ.ม. จึงนับได้ว่ามีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก

สำหรับแผนการระบายน้ำของ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เบื้องต้นเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 56 – 30 เม.ย. 57 จำนวน 3,000 ล้าน ลบ.ม. โดยตั้งแต่เริ่มการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งถึงวันที่ 12 มี.ค. 57 มีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไปแล้วรวม 3,598 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนเบื้องต้นตลอดช่วงฤดูแล้งประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม. และยังต้องระบายน้ำต่อไปอีกจนสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือน เม.ย. อีก 1,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบรรเทาปัญหาการเพาะปลูกเกินแผนและปัญหาความเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา

“ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำช่วงฤดูแล้งในเดือนเม.ย. จะเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,800 ล้าน ลบ.ม.ต่ำกว่าเป้าหมายที่จะต้องสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคและผลักดันน้ำเค็มในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. ที่มักจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 มีนาคม 2557

กลุ่มเคทีไอเอสทุ่มหมื่นล้านบาท

รับความต้องการใช้น้ำตาลโลกพุ่ง หวังขยายตลาดสู่เออีซี ดันสัดส่วนรายได้ธุรกิจต่อเนื่องขึ้นมาที่ 40% ภายใน 3-5 ปี พร้อมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 พันล้านบาทกลางปีนี้ใช้เป็นทุนต่อยอดธุรกิจ alt แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือ เคทีไอเอส ได้ยื่นเรื่องมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ขนาดกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 4-5 พันล้านบาท พร้อมทั้งได้ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ว่าจะอนุมัติได้เมื่อใด

"การลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทรายของกลุ่มบริษัทที่มีอยู่แล้ว 8.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เพิ่มเป็น 1.13 แสนตันอ้อยต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของกลุ่มบริษัทมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 ที่มีแผนจะส่งน้ำตาลทรายออกไปจำหน่าย จากปัจจุบันที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นหลัก"

ขณะเดียวกันเมื่อมีโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดธุรกิจที่ต่อเนื่องครบวงจร บริษัทยังได้ตัดสินใจที่จะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2.3 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งใช้กากน้ำตาลที่เป็นผลพลอยได้มาเป็นวัตถุดิบ คาดใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท โดยได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับทางบีโอไอไปแล้วเช่นกัน จากปัจจุบันที่กลุ่มบริษัทมีโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2.3 แสนลิตรต่อวันอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากนี้ยังจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 60 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงานน้ำตาลและเหลือส่วนหนึ่งจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท

ด้านนายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิระยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม เคทีไอเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มบริษัทมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่ม จากปัจจุบันผลิตได้ปีละ 1 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลทรายของโลกเพิ่มขึ้นทุกปีในระดับ 2-3% จากที่มีความต้องการอยู่ปีละ 140-150 ล้านตัน ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทถือว่ามีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ทำให้สามารถสู้กับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลและออสเตรเลียได้

"นอกจากนี้ ยังได้พันธมิตรอย่างบริษัท ซูมิโตโมฯ ซึ่งเป็นเทรดดิ้งชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมถือหุ้นและเป็นผู้ดูแลด้านการตลาดให้ รวมทั้งบริษัท นิสชิน ชูการ์ ของญี่ปุ่น จะเป็นผู้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีรายได้สูงขึ้นจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายปกติ"

ส่วนการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้อนุมัติ แต่หากพิจารณาจากเงื่อนไขในการขอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนกับบีโอไอ จะต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 3 ปี เพราะหากผ่านพ้นไปแล้วก็จะยกเลิกสิทธิประโยชน์ ซึ่งรวมถึง 2 โครงการ ได้แก่ โรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวลด้วย ที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนเกือบ 3 พันล้านบาท มาใช้สำหรับการขยายการลงทุนในธุรกิจน้ำตาลทรายของเคทีไอเอสที่ก่อนหน้านี้ได้กู้เงินมาลงทุนประมาณ 740 ล้านบาท เพื่อการขยายกำลังผลิตจาก 5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เป็น 5.5 หมื่นตันอ้อยต่อวันในปีนี้ โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้หนี้ และอีกส่วนหนึ่ง ใช้สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 50 เมกะวัตต์ ของโรงงานน้ำตาลเอกลักษณ์ที่อยู่ในเครือ ประมาณ 960 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าชีวมวลของโรงงานน้ำตาลรวมผล ขนาด 50 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนประมาณ 960 ล้านบาท และใช้สำหรับโครงการปุ๋ยชีวภาพ อีกประมาณ 50 ล้านบาท เป็นต้น

"การระดมทุนครั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการกลางปีนี้ แต่จะยังไม่มีแผนที่จะนำเงินดังกล่าว ไปใช้สำหรับการตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ แต่อย่างใด ซึ่งหากเป็นไปตามแผน การลงทุนของกลุ่มทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากประมาณ 20% มาอยู่ที่ 40% ภายในเวลา 3-5 ปี จากปัจจุบันที่รายได้หลักจะมาจากธุรกิจน้ำตาลถึง 80%"

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 12 มีนาคม 2557

ไทยเอกลักษณ์พับแผนย้ายโรงงาน รอ 4 ปียังไม่ได้รง.4 ดัน”เกษตรไทย”เข้าตลท.แทน

กลุ่มน้ำตาลไทยเอกลักษณ์พักรบ แผนย้ายโรงงานจาก จ.อุตรดิตถ์ ไป จ.สุโขทัย หลังกระทรวงอุตสาหกรรมดองใบรง.4 กว่า 4 ปี เบนเข็มเข็น “โรงงานเกษตรไทย” เพิ่มทุนขยายกำลังการผลิต ผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ปีนี้ เผยไตรมาส 4 เตรียมเดินเครื่องเปิด 2 โรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย รวม 50 เมกะวัตต์ ที่อุตรดิตถ์และนครสวรรค์ มูลค่า 1,920 ล้านบาท ต่อยอดใช้ในโรงงานน้ำตาลเอง และที่เหลือขายให้ กฟภ.

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท KTIS ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทราย 3 แห่ง โดยมีโรงงานเกษตรไทย อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุด ประมาณ 55,000 ตันอ้อยต่อวัน รองลงมาคือโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานรวมผล อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,000 ตันอ้อยต่อวัน ทำให้โรงงานน้ำตาลของกลุ่มบริษัท KTIS มีกำลังการผลิตรวม 88,000 ตันอ้อยต่อวัน และปี 2556 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3.2 พันล้านบาท เป็น 3.8 พันล้านบาท เพื่อแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ในปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้แล้วเสร็จและสามารถกระจายหุ้นให้แก่ประชาชน (IPO) ได้ไม่เกินช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 นอกจากนี้ยังมีการร่วมงานกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นรายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และบริษัทนิชชิน ชูการ์

ทั้งนี้สัดส่วนผู้ถือหุ้น จะแบ่งเป็นกลุ่ม KTIS ประมาณ 70% กลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น และบริษัทนิชชิน ชูการ์ ประมาณ 7.5% นักลงทุนทั่วไป ประมาณ 20% และส่วนที่เหลือเป็นพันธมิตรและนักลงทุนเดิมที่เคยร่วมงานกับบริษัทมาก่อนหน้า เช่น กลุ่มนักลงทุนชาวสิงคโปร์ เป็นต้น

“สำหรับการไปสร้างฐานการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน หรือในประเทศอื่น ๆ เรามองโอกาสไว้บ้าง เพราะเราเองมีพาร์ตเนอร์เป็นชาวต่างชาติ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีประสบการณ์ในการออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ยอมรับว่ามีความสนใจและได้ศึกษาอยู่บ้าง อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ไทยเรามีศักยภาพ บวกกับประสบการณ์ที่เคยร่วมกับชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นมองเห็นโอกาสในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ” นายประพันธ์กล่าวและว่า

สำหรับรายได้ของบริษัทในปี 2556 เมือเทียบกับปี 2555 ไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวน โดยในปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกลงมาอยู่ที่ 17 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้มีผลต่อการส่งออกน้ำตาล และรายได้ของบริษัทแต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2557 บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนทั้งนี้ เป็นผลมาจากการตั้งเป้าส่งเสริมรายได้จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องของบริษัท ให้มีรายได้ทัดเทียมกับธุรกิจน้ำตาล โดยปัจจุบันรายได้จากธุรกิจน้ำตาลมีมากกว่า 79% และที่เหลือแบ่งเป็นธุรกิจเอทานอล 8% ธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย 8.6% และธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลและอื่นๆ 3.6% โดยในปี 2557 บริษัทตั้งเป้าส่งเสริมรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ให้มีส่วนแบ่งอย่างน้อย 40% ของรายได้รวมของกลุ่มบริษัทนอกจากนั้น ยังตั้งเป้าเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมเป็นแห่งที่ 2 และ 3 ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2557 นี้ด้วย

ปัจจุบันกลุ่ม KTIS ได้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ 1 โรงงานและมีโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาส 4 อีก 2 โรงงาน เป็นโรงไฟฟ้าลำดับที่ 2 และ 3 ของบริษัท กำลังการผลิต โรงละ 50 เมกะวัตต์ ลงทุนรวมกว่า 1,920 ล้านบาท โดยโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 จะตั้งอยู่ที่โรงงานไทยเอกลักษณ์ จ.อุตรดิตถ์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) 23 เมกะวัตต์ และแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ที่โรงงานรวมผล จ.นครสวรรค์ จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟภ. 28 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลทั้ง 3 แห่งของกลุ่ม KTIS ได้นำชานอ้อยมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนในโรงงานน้ำตาลและขายไฟฟ้าบางส่วนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเช่นกัน

นายประเสริฐ ศิริวิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจอ้อยและน้ำตาลกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ได้เคยทำเรื่องยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครองกรณีขอย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์จาก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ไปที่ จ.สุโขทัย ทั้งที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ให้ใบ รง.4 โดยให้เหตุผลว่าสถานที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัยไม่ถึง 80 กม.นั้น กรณีดังกล่าวทางบริษัทได้ติดตามสอบถามความก้าวหน้ากับทางกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดมา แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ ทำให้แผนงานต่างๆ ที่วางในเรื่องการย้ายโรงงานต้องหยุดไป ทั้งนื้คิดว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้คงมีผลต่อการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทางบริษัทจึงหันไปเร่งดำเนินการเรื่องการนำโรงงานเกษตรไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม 2557

พาณิชย์ดัน 8 ยุทธศาสตร์รับเออีซี

พาณิชย์ดันพิมพ์เขียว 8 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เน้นเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนด 8 ยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมของไทยเพื่อเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ในปี 58 ประกอบด้วยยทธศาสตร์ที่ 1 คือขับเคลื่อนการเจรจาในเวทีเศรษฐกิจของอาเซียนและเวทีเศรษฐกิจการค้าอื่น ,ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการพัฒนาฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับเออีซี โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ณกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำเสนอข้อมูลอย่างครบวงจร

ยุทธศาสตร์ที่3คือ การยกระดับการให้บริการของกระทรวงพาณิชย์แก่ภาคเอกชน เพื่ออำนวย ความสะดวกทางการค้า โดยการพัฒนาระบบการให้บริการของกระทรวงอย่างครบวงจรและสร้างระบบ การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบช่องทางเดียวตลอดจนให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแก่ธุรกิจผ่านศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในเออีซี รวมทั้งสิ้น 87 ศูนย์ทั้งในกระทรวงพาณิชย์ส่วนกลางสำนักงานพาณิชย์ทุกจังหวัด และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ในอาเซียนและจีนตอนใต้)

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ เช่นยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าและบริการของไทย การพัฒนาธุรกิจอี คอมเมิร์ช

ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและการค้าชายแดนรองรับเออีซีโดยกระทรวงพาณิชย์มุ่งเตรียมความพร้อมให้แก่จังหวัดต่างๆในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อใช้โอกาสทางธุรกิจการค้าและการ, ยุทธศาสตร์ที่ 6 คือการพัฒนาและขยายเพิ่มสัดส่วนการตลาดของไทยในเออีซี โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนไทยปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์มาให้ความสำคัญอย่างจริงจังแก่ตลาดอาเซียนและตระหนักว่า อาเซียน 10 ประเทศเป็นตลาดที่เชื่อมโยงเป็นผืนเดียวกันเสมือนกับเป็นตลาดภายในของไทย

ยุทธศาสตร์ที่ 7 คือการพัฒนากฎหมายด้านเศรษฐกิจการค้าให้ทันสมัย และสอดคล้องกับข้อผูกพันภายใต้เออีซี โดยกระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายภายใต้การกำกับดูแล จำนวน 31 ฉบับและยุทธศาสตร์ที่ 8 คือการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในภาครัฐและภาคเอกชน โดยการยกระดับสถาบันกรมพระจันทบุรีนฤนาถของกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการดำเนินการพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนสู่ความเป็นสากล

“ในการดำเนินการตามภารกิจสำคัญดังกล่าวนี้กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์และจัดทำพิมพ์เขียวในการดำเนินการเพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซีโดยมีเป้าหมายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนร่วมกันระหว่างหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ทั้งในส่วนกลางภูมิภาค 76 จังหวัด และในต่างประเทศ 66 แห่งใน 44 ประเทศรวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่สร้างความเป็นพันธมิตรร่วมกัน”

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ชาวไร่อ้อยนครสวรรค์ร้องขอฝนหลวง

นครสวรรค์ 11 มี.ค.-ชาวไร่อ้อยใน อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน เริ่มปลูกอ้อยรุ่นใหม่ แต่ตอนนี้ประสบปัญหาขาดน้ำ ทำให้อ้อยต้นอ่อนเริ่มแห้งเฉาและมีหนอนกอกัดกิน จึงได้ร้องขอไปยังศูนย์ฝนหลวงนครสวรรค์มาทำฝนให้ ติดตามจากรายงาน.-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

กรมบาดาลเสริมทัพกู้วิกฤติแล้ง หนุนโครงการ“ราษฎร์รัฐร่วมใจ”เข้าพื้นที่ใน24ชม.

นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาลดาล ร่วมกับ กองทัพบก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2557 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง

โดยในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดเตรียมแหล่งน้ำบาดาลทั่วประเทศให้พร้อมใช้งานในฤดูแล้ง ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลกว่า 116,930 แห่ง ระบบประปาบาดาล 68,117 ระบบ จุดจ่ายน้ำถาวร 100 แห่ง มีปริมาณน้ำสำรองถึง 3.2 ล้านลิตรต่อวัน ระบบน้ำดื่มสะอาด ในโรงเรียนทั่วประเทศ 2,631 แห่ง และบ่อน้ำบาดาลในโครงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับหมู่บ้านหาน้ำยากทั่วประเทศ 3,652 แห่ง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลสามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้หากประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1310 หรือ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล 12 แห่ง ได้แก่

1.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 โทร.054-282-356-8 ครอบคลุม จ.ลำปาง เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน และแพร่

2.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 โทร.035-550-715-7 ครอบคลุม จ.สุพรรณบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และพระนครศรีอยุธยา

3.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 โทร.036-387-200 ครอบคลุม จ.สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และเพชรบูรณ์

4.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 4 โทร.043-236-663 ครอบคลุม จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และเลย

5.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 โทร.044-953-705 ครอบคลุม จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

6.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 โทร.075-224-991 ครอบคลุม จ.ตรัง ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ชุมพร และพังงา

7.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 โทร.055-851-127-8 ครอบคลุม จ.กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และพิษณุโลก

8.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 โทร.032-736-085-6 ครอบลุม จ.ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์

9.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต9 โทร.038-672-506 ครอบคลุม จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว และฉะเชิงเทรา

10.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 โทร.042-290-355 ครอบคลุม จ.อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร บึงกาฬ นครพนม และหนองคาย

11.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 11 โทร.045-311-025 ครอบคลุม จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด

12.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 12 โทร.074-447-106 ครอบคลุม จ.สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และพัทลุง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557


เตือนแนะดูต้นทุนน้ำ-ดินลดเสี่ยงแล้ง

นายประเสริฐ เทพนรประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มาค่อนข้างเร็ว อีกทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งมีปริมาณต่ำ ซึ่งในจังหวัดที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 รับผิดชอบ 6 จังหวัด มีอยู่ด้วยกัน 4 จังหวัดที่มีแนวโน้มประสบปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสบปัญหาเป็นประจำทุกปีเนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน รองลงมาคือกาญจนบุรี เฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน ส่วนจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีมีปัญหาบางพื้นที่ สำหรับจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ปากแม่น้ำมีคู คลองจำนวนมาก จึงไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินมีโครงการจัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นานอกเขตชลประทาน หรือเรียกว่าบ่อจิ๋ว สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่ดำเนินการมามีเกษตรกรมาขอรับบริการจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอเข้ามาได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตใกล้บ้าน โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปสำรวจพื้นที่ดินต้องสามารถกักเก็บน้ำได้ เพราะถ้าเป็นพื้นที่ดินทรายจัดก็ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขุดแล้วก็ไม่เก็บน้ำไม่อยู่ ที่สำคัญคือเกษตรกรต้องจ่ายเงินสมทบ 2,500 บาทต่อบ่อ

“ขอแนะนำเกษตรกรว่า ก่อนท่านจะทำการเกษตรอยากให้ดูต้นทุนน้ำเป็นอันดับแรก ว่าน้ำมีเพียงพอที่จะเพาะปลูกหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงนี้เข้าสู่ฤดูแล้งถ้าน้ำไม่พอปลูกพืชไปอาจจะเสียหาย ส่วนที่สองต้องดูเรื่องดิน เพราะดินเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญถ้าเรารู้ว่าดินมีธาตุอาหารอะไรบ้าง เหมาะกับพืชชนิดใดก็จะช่วยลดต้นทุนในการใส่ปุ๋ยเกินความจำเป็น ซึ่งเกษตรกรสามารถนำตัวอย่างดินมาตรวจวิเคราะห์หาธาตุอาหารได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินพัฒนาที่ดินทุกแห่ง” นายประเสริฐ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

‘KTIS’เดินหน้าขยายกำลังผลิต มุ่งรองรับกลุ่มลูกค้าในไทย-ต่างประเทศ

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่ม KTIS เปิดเผยว่าปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลทราย 3 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในโลกถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน นอกจากธุรกิจอ้อยและน้ำตาลแล้ว กลุ่ม KTIS ยังดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร ได้แก่ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย, ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล,ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ในปี 2556 กลุ่ม KTIS ได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตจาก 50,000 ตันอ้อยต่อวัน เป็น 55,000 ตันอ้อยต่อวัน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันโรงงานได้ดำเนินการขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จและสามารถผลิตน้ำตาลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้กลุ่ม KTIS ยังมีโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่มีกำลังการผลิต 18,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานรวมผลฯกำลังการผลิต 15,000 ตันอ้อยต่อวัน รวมกำลังผลิตน้ำตาลของกลุ่ม KTIS ทั้งหมดจะมีมากถึง 88,000 ตันอ้อยต่อวัน

โดยกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่ เช่น บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด,บริษัท คาราบาว ตะวันแดง จำกัด, บริษัท แลคตาซอย จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า จำกัด, บริษัท โอสถสภา จำกัด เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทรดดิ้งรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้กลุ่ม KTIS ยังได้ขยายไปยังธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ (by product) เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลจากกากน้ำตาลที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล มีกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน ลูกค้าหลักเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น และนำน้ำกากส่า ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตเอทานอลมาผลิตไบโอแก๊ส มีกำลังการผลิต 200,000 คิวบิกเมตรต่อวัน นับเป็นบ่อไบโอแก๊สที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยไบโอแก๊สนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเอทานอลทดแทนการใช้ถ่านหินได้มากถึง 80%

สำหรับชานอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล สามารถนำมาผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว โดยบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด มีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี ลูกค้าหลักส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษและอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร อาทิ บริษัท เอส ซี จี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท คิมเบอร์ลีย์ คล๊าค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เบอร์ลี่
ยุคเกอร์ เซลล็อกซ์ จำกัด ,บริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้เยื่อกระดาษของกลุ่ม KTIS ได้การรับรองมาตรฐาน GMP & HACCP นับเป็นรายแรกในไทยที่สามารถนำมารับประทานได้และสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลาย

ในส่วนของชานอ้อยนั้น ที่ผ่านมานอกจากจะใช้ผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวแล้ว ยังได้นำมาผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานน้ำตาล และขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย ต่อมากลุ่ม KTIS ได้ขยายสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยที่มีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท เกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ จำกัด โดยได้เริ่มขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อไตรมาส 4 ปี 2556 นอกจากนี้จะจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 2 แห่ง มีกำลังการผลิตแห่งละ 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ภายในปี 2557

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

น้ำตาลไทยส้มหล่นตลาดโลกพุ่ง

จับตาราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกพุ่งแรง ไม่ถึง2เดือนปรับขึ้นกว่า3 เซ็นต์ต่อปอนด์ วงการชี้ผลจากบราซิลแล้งต่อเนื่อง ทำกองทุนและนักเก็งกำไรแห่กว้านซื้อน้ำตาลดิบในตลาดโลกไว้เก็งกำไร จับตาผู้ส่งออกไทยที่อยู่ระหว่างทำราคาส่งออกได้อานิสงส์ด้วย

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายดิบว่า ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยราคาเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 มีราคาขายล่วงหน้าตามสัญญาเดือนพฤษภาคม2557 อยู่ที่ 15.20 เซ็นต์ต่อปอนด์ เปรียบเทียบกับราคาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปีเดียวกัน ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมาที่ 18.28 เซ็นต์ต่อปอนด์ หรือสูงขึ้นมา 3.08 เซ็นต์ต่อปอนด์

-กองทุนกว้านซื้อเก็งกำไร
ทั้งนี้ราคาที่ปรับขึ้นแรงในขณะนี้เกิดจากที่บราซิล ผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติภัยแล้งติดต่อกันหลายเดือนโดยเฉพาะในพื้นที่บราซิลตอนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้วงการน้ำตาลต่างคาดการณ์กันว่า ผลผลิตอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาล จะได้รับความเสียหายจำนวนมากและกระทบต่อเนื่องมาถึงการผลิตน้ำตาลทรายดิบด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บรรดากองทุนและนักเก็งกำไรแห่เข้าไปซื้อน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกไว้เก็งกำไร จนทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้นมาก และคาดว่าน่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของราคาไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเวลานี้ตลาดกาแฟโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นมาก ยิ่งไปหนุนให้ราคาน้ำตาลขยับตัวแรงตาม เนื่องจากเป็นพืชเกษตรกลุ่มเดียวกับอ้อย ที่กำลังได้รับผลกระทบในขณะที่สต๊อกน้ำตาลดิบในตลาดโลกก็ยังมีปริมาณน้ำตาลที่ล้นตลาดอยู่ที่ 5.5 ล้านตัน โดยเปรียบเทียบจากที่มีผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกปี2556/57อยู่ที่ 181.4 ล้านตัน และมีการบริโภคน้ำตาลที่ 175.9 ล้านตัน -ผู้ส่งออกได้อานิสงส์

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2556/57 ที่เริ่มหีบอ้อยจากโรงงานน้ำตาลรายแรก มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 และจะไปสิ้นสุดลงในราวกลางเดือนพฤษภาคม 2557 โดยคาดว่าทั้งประเทศจะมีปริมาณอ้อยที่หีบได้ราว 105-110 ล้านตันอ้อย ในจำนวนนี้จะได้น้ำตาลออกมา 11.5 ล้านตัน แบ่งเป็นสำหรับบริโภคภายในประเทศ(โควตา ก.) จำนวน 2.5 ล้านตัน หรือ 25 ล้านกระสอบ และอีกจำนวน 9 ล้านตันสำหรับส่งออก ที่แบ่งเป็นส่งออกโดยโควตา ข. ผ่านบริษัท อนท.ฯ จำนวน 8 แสนตัน และอีกจำนวน 8.2 ล้านตัน จะส่งออกเป็นโควตา ค. โดยโรงงานน้ำตาลในประเทศ คาดว่าในจำนวนนี้ยังเหลือสัดส่วนที่รอทำราคาส่งออกรวมกันอยู่อีกจำนวน 2.46 ล้านตัน หรือ30% ส่วน 5.74 ล้านตันหรือ70% ของการส่งออกโควตา ค. ได้ทำราคาขายไปก่อนแล้ว ทำให้การส่งออกที่ยังไม่ได้ทำราคาหรืออยู่ระหว่างทำราคาขายได้รับอานิสงส์จากที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ เช่น กลุ่มน้ำตาลมิตรผล กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น และกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองฯ เป็นต้น

"ตอนนี้เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ล่วงหน้าว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเป็นอย่างต่อไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และมองว่าราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกไม่น่าจะขยับตัวสูงไปมากกว่านี้อีกแล้ว เพราะราคาได้ขยับในช่วงสั้นๆสูงแล้ว และถือว่าโชคดีที่ราคาน้ำตาลทรายดิบดีดตัวขึ้นมา จากที่ปี 2556 วงการน้ำตาลต่างพยากรณ์ว่าปี 2557 ราคาน้ำตาลโลกจะตกต่ำลงอีก เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกสูงขึ้นมาก จะทำให้ราคาน้ำตาลจะตกต่ำลงไปอีก"

-อนท.รอทำราคาขายอีก30%
ต่อเรื่องนี้นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ในส่วนของอนท.จะมีน้ำตาลส่งออกโควตา ข. ต่อปีจำนวน 8 แสนตัน ในจำนวนนี้ทำราคาส่งออกไปแล้ว 70% ยังเหลือน้ำตาลทรายดิบอีก 30% หรือราว 240,000 ตัน ที่ยังไม่ได้ทำราคาขาย ซึ่งจะทำราคาขายในเดือนกรกฎาคม 2557นี้

เช่นเดียวกับที่นายอิสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือKBS กล่าวว่าในแง่ของบริษัทมีปริมาณน้ำตาลต่อปีประมาณ 290,000 ตัน ในจำนวนนี้ส่งออก 78% หรือ 226,200 ตัน และขายในประเทศ 22% หรือ 63,800 ตัน ในส่วนของการส่งออก 226,000 ตัน ขณะนี้ยังไม่ได้ทำราคาส่งออก 30% ที่คาดว่าน่าจะทำราคาได้ดีถ้าน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

-กลุ่มเกษตรไทยไม่รีบทำราคาช่วงนี้
ขณะที่นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีกำลังผลิตน้ำตาลราว 1 ล้านตัน ในส่วนนี้จะส่งออกน้ำตาลดิบประมาณ 6 แสนตัน และส่งออกน้ำตาลทรายขาวราว 1 แสนตัน ที่เหลือสำหรับบริโภคภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ในแง่ส่งออกได้ทำราคาไปแล้ว60% ยังเหลืออีก40% ไม่จำเป็นต้องรีบทำราคาขาย เพราะมองว่าโอกาสราคาส่งออกน่าจะขยับได้อีก และบริษัทก็ไม่ต้องการเก็งกำไร เนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำตาลของบริษัทต่ำอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

รายงานพิเศษ : เปิดตัวค่านิยมกรมพัฒนาที่ดิน‘THAI LDD’

ค่านิยมเป็นหลักธงในการทำงานของแต่องค์กร เพื่อให้คนในองค์กรนั้นๆ มีทิศทางการทำงานที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินมีความมุ่งหวังที่จะประกาศค่านิยมกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติของคนในองค์กร โดยค่านิยมที่กรมกำหนดขึ้นนี้ ประกอบด้วยคำ 7 คำ รวมกันเป็นคำว่า THAI LDDซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน คำว่า THAI เป็นค่านิยมของบุคคลที่ต้องการให้ข้าราชการ พนักงานราชการ เจ้าหน้าที่ยึดถือปฏิบัติ แต่ละตัวอักษรมีความหมายแตกต่างกันไป ได้แก่

T ย่อมาจาก Trust ความเชื่อใจ ไว้วางใจ ถ้าคนในองค์กรทำงานร่วมกันและมีความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความไว้วางใจต่อผู้นำองค์กร ผู้บังคับบัญชา ก็จะสามารถนำองค์กรสู่เป้าหมายได้ ขณะเดียวกันถ้าผู้บริหารองค์กรหรืออธิบดีไว้วางใจข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมอบหมายงานอย่างมั่นใจ เมื่อทุกคนเชื่อใจไว้วางใจกันและกันจะทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้ H มาจาก Happiness คือความสุข องค์กรอยากจะเห็นคนทำงานอย่างมีความสุข เพราะถ้าคนทำงานแล้วไม่ชอบงานที่ทำก็ไม่มีความสุข งานก็จะออกมาไม่ดี แต่คนที่ทำงานแล้วมีความสุขก็จะยิ่งทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น A มาจากคำว่า Accomplishment ความสำเร็จ กรมมุ่งหวังให้ทุกคนทำงานแล้วประสบผลสำเร็จ คือเมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไรแล้วทำสำเร็จก็จะมีความสุขและยังรู้สึกภาคภูมิใจ ส่วน I มาจาก Integration การทำงานแบบบูรณาการ ค่านิยมข้อนี้เป็นสิ่งที่กรมมุ่งหวังให้มีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอยู่บนหอคอยคนละแท่งไม่สามารถรวมกันได้ เนื่องจากถ้าทุกคนสามารถบูรณาการงานร่วมกันงานจะยิ่งมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประหยัดงบประมาณ เวลาและทรัพยากรบุคคล

ส่วน LDDเป็นค่านิยมขององค์กรว่าเราอยากเห็นองค์กรเป็นอย่างไร ซึ่งประกอบไปด้วยคำว่า L มาจาก Learning Organization เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากงานพัฒนาที่ดินยังต้องการองค์ความรู้มากมาย ไม่มีใครมีความรู้ที่เต็มเปี่ยม จึงต้องตื่นตัวรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าถ้ากรมพัฒนาที่ดินเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ จะก้าวทันยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา D ตัวแรกมากจาก Development Organization องค์กรแห่งการพัฒนา เพราะเราย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชื่อของกรมพัฒนาที่ดิน ก็บอกอยู่แล้วว่าต้องพัฒนาที่ดิน ฉะนั้นถ้าองค์กรไม่พัฒนาเราจะไปพัฒนาที่ดินได้อย่างไร สำหรับ D ตัวสุดท้ายมาจากคำว่า Delighting Organization เป็นองค์กรแห่งความปีติยินดี ซึ่งถือเป็นภาพรวมขององค์กรถ้าคนทำงานกันอย่างมีความสุข ทำงานเพื่อให้เกษตรกรมีฐานะดีขึ้นเราก็ยิ่งมีความสุข รวมถึงทำให้ผู้ที่มาเยือนกรมพัฒนาที่ดินมีความสุขได้ นั่นก็คือสิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินคาดหวังจะเห็นจากค่านิยมดังกล่าว
จากค่านิยม THAI LDD กรมพัฒนาที่ดินต้องการเห็นการพัฒนาในทุกส่วน ไม่ว่าการพัฒนาเรื่องการทำงาน พัฒนาในเชิงวิชาการ พัฒนาบุคลากร แม้แต่การพัฒนาอาคารสถานที่และเครื่องมือ ในการทำงาน ทุกอย่างต้องก้าวให้ทันโลก ดังนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหรือสร้างระบบการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมาโดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น Facebook หรือ Line เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อระหว่างกรมพัฒนาที่ดินกับเครือข่ายหมอดินอาสาและเกษตรกร ซึ่งน่าจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินกำลังเร่งสร้างแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ที่ดิน การพัฒนาที่ดินรูปแบบต่างๆ สำหรับเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรในการวางแผนการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวเพิ่มเติมว่าถ้าถามว่าค่านิยมกรมพัฒนาที่ดินจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับเกษตรกรนั้น ต้องบอกว่าค่านิยมที่ประกาศไปนั้นจะเกิดการปรับเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินทุกคน โดยเฉพาะมีการหาความรู้ใหม่ๆ มาปรับปรุงวิธี กระบวนการทำงานตลอดเวลา และเมื่อมีการบูรณาการร่วมกันทำให้งานสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลงานที่มีคุณภาพก็จะออกไปสู่เกษตรกร ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรเมื่อมีงานด้านวิชาการ ด้านการปรับปรุงดินที่ดีๆ ออกมาถ่ายทอดสู่เกษตรกร ส่งผลให้มีทรัพยากรดินที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญมีความอุดมสมบูรณ์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทางการเกษตรจะดีขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เกษตรกรก็มีความสุขจากรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุข และที่สำคัญคือกรมพัฒนาที่ดินจะเป็น Smart Officer ส่วนพี่น้องเกษตรกรก็จะเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกัน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กรมพัฒนาที่ดินมุ่งหวังจากการประกาศค่านิยมในครั้งนี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557

KTISผนึกซูมิโตโมบุกเออีซี ฟุ้งน้ำตาลสูงขึ้นดันรายได้

KTIS ลุยเข้า ตลท.ในครึ่งปีแรก ระดมทุนขยายกำลังผลิตน้ำตาล-โรงไฟฟ้ารับเออีซี ได้กลุ่มซูมิโตโมเป็นพันธมิตร มั่นใจ 2557 รายได้โตกว่าปีก่อน หลังราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น

นายพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ KTIS ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557 จะสามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้

โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 50 เมกะวัตต์ 2 แห่ง ใช้เงินลงทุนแห่งละ 960 ล้านบาท, การขยายการลงทุนในโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินหมุนเวียนในบริษัท
ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างครบวงจร โดยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3,274,573,000 บาท เป็น 3,888,000,000 บาท เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2556 เพื่อรองรับการเข้าจดทะเบียนใน ตลท. และปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 3,274,573,000 บาท

ทั้งนี้ การขยายการลงทุนดังกล่าวเพื่อเตรียมพร้อมในการขยายตลาดเข้าไปในอาเซียนหลังมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ที่คาดว่าจะมีความต้องการน้ำตาลจำนวนมาก เนื่องจากขณะนี้บริษัทมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่มซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัทเทรดดิ้งชั้นนำของโลก และบริษัท นิสชิน ซูการ์ ผู้ผลิตน้ำตาลรีไฟน์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น

สำหรับรายได้ของบริษัทปี 2557 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกปี 2557 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18 เซนต์ต่อปอนด์ จากเดิมปี 2556 ลดลงไปอยู่ที่ 14 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของราคาน้ำตาล อย่างไรก็ตาม หลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จในปลายปี 2557 จะส่งผลให้รายได้ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 มีนาคม 2557

ชาวไร่อ้อย นัดถกขอขึ้นราคาอีก250 บ./ตัน จันทร์นี้!

ชาวไร่อ้อย ขอเพิ่มราคาอ้อยอีก 250 บาทต่อตัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ครม.เห็นชอบให้ราคาอ้อยอยู่ที่ 900 บาท ระบุจันทร์นี้ นัดหารือ กอน. ถกความชัดเจนเรื่องราคา...

นายทองคำ เชิงกลัด นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 11 จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2556/57 ที่ ครม.เห็นชอบที่ระดับ 900 บาทต่อตัน แต่ชาวไร่อ้อยต้องการขอเพิ่ม 250 บาท โดยวันจันทร์ ที่ 10 มีนาคมนี้ จะนัดหารือกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อสรุปความชัดเจนอีกครั้ง

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างผันผวน โดยปี 2555 ราคา 35 เซ็นต์ต่อปอนด์ ปี 2556 ราคา 17 เซ็นต์ต่อปอนด์ และปี 2557 ราคาตกไปที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนจะดีดขึ้นมาอยู่ที่ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ดังนั้นแนวโน้มราคาน้ำตาลปีนี้จึงน่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่ ผลผลิตอ้อยปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 5 โดยคาดว่าปีนี้จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดประมาณ 6.5 ล้านตัน มากกว่าปีที่แล้วที่มีอ้อยเข้าหีบ 5.9 ล้านตัน

นายประพันธ์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงงานน้ำตาลทราย รวม 3 แห่ง มีกำลังผลิตทั้งหมด 88,000 ตันอ้อยต่อวัน โดย 1 ใน 3 เป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน ถือเป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยืนยันว่าโรงงานยังให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อย โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ 400 คน เพื่อดูแลลูกไร่ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่ม KTIS ยังย้ำว่า อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่โรงงานน้ำตาลยังคงมีความต้องการสูง เพราะธุรกิจโรงงานน้ำตาลทราย สามารถขยายไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจเอทานอล ธุรกิจเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล และธุรกิจปุ๋ยชีวภาพ โดยกลุ่ม KTIS มีสัดส่วนรายได้ ไตรมาส 3 ปี 56 มาจากธุรกิจน้ำตาล ร้อยละ 79.8 ธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย ร้อยละ 8.6 ธุรกิจเอทานอล ร้อยละ 8 และธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังชีวมวลและรายได้อื่นร้อยละ 3.6

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักของ กลุ่ม KTIS เช่น บริษัทแลคตาซอย จำกัด บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท คาราบาว ตะวันแดง จำกัด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ขณะที่กลุ่มลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทรดดิ้งชั้นนำรายใหญ่ของโลก.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 8 มีนาคม 2557

เตรียมเสนอขอถอดอ้อย-เครื่องนุ่งห่ม ออกจากบัญชีใช้แรงงานเด็ก-บังคับ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ประเทศไทยมีการทารุณกรรมแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง และอาจส่งผลกระทบต่อการประเมินการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากบัญชีการค้ามนุษย์ระดับ 2 เป็นระดับที่ร้ายแรงกว่าว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีความตั้งใจและพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแบบบันทึกความเข้าใจทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างงาน ระหว่างไทย-ลาว ไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ปี 2553-2556 เพื่อปิดช่องทางการหลอกลวงแรงงานต่างด้าวจากนายหน้าเถื่อน ซึ่งขณะนี้อนุญาตให้ทำงานแล้วจำนวน 312,737 คน

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐเป็นผู้จัดส่ง อาทิ การจัดส่งไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี(เกาหลีใต้)ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ(อีพีเอส) การจัดส่งไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น (ไอเอ็ม เจแปน) การจัดส่งไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลและการจ้างตรงของประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย กาตาร์ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

โดยในปี 2556 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 14,509 คน และการตั้งศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ(วันสต็อปเซอร์วิส) ในส่วนภูมิภาคจำนวน 10 ศูนย์ คนหางานสามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยตนเองจนจบกระบวนการไปทำงานต่างประเทศ โดยมีคนหางานมาใช้บริการจำนวน 45,865 คน และได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้ว 21,315 คน

ปลัดกระทรวงแรงงานยังสรุปผลการตรวจแรงงานประมงและการดำเนินคดีในปี 2556 ว่า กระทรวงแรงงานออกตรวจแรงงานใน 22 จังหวัดที่ติดขายทะเล รวม 113 แห่ง มีลูกจ้างผ่านการตรวจจำนวน 2,267 คน แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 317 คน สัญชาติพม่าจำนวน 1,407 คน ลาว 18 คน และกัมพูชา 525 คน และพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน 12 แห่ง อาทิ ไม่มีการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง ไม่กำหนดวันลา ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
 

“สินค้าประเภทอ้อยและเครื่องนุ่มห่มที่ถูกระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ก็มีสัญญาณที่ดีที่ไทยจะเสนอให้ถอดสินค้าทั้งสองชนิดออกจากบัญชี เนื่องจากผู้ประกอบส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)กับภาครัฐ เพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ตกลงกันไว้และได้ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลคุ้มครองตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน”

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 7 มีนาคม 2557

กระทรวงเกษตรฯพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงวางแผนรับมือไว้ เพราะคาดว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำภาคกลางจะมีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนถือเป็นปัญหาซ้ำซากประจำทุกปี ในบางปีอาจจะลากยาวมาตั้งแต่ปลายฤดูหนาวไปจนถึงกลางฤดูฝน และจะส่งผลให้เกษตรกรหลายรายต้องประสบปัญหาในการเพาะปลูก โดยเฉพาะเกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทานที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เลย หรือเกษตรกรบางรายต้องลงทุนเจาะน้ำบาดาล หรือซื้อน้ำมาเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ของตน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงวางแผนรับมือไว้ เพราะคาดว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำภาคกลางจะมีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยคือร้อยละ 53 และร้อยละ 60 ของความจุที่ระดับเก็บกัก และคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร และเพื่อรักษาระบบนิเวศทางน้ำ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้วางแผนการใช้น้ำไว้ประมาณ 3,500 ลบ.ม. แต่ใช้ไปแล้วกว่า 80% ซึ่งน้ำที่เหลืออยู่ต้องใช้ไปถึงเดือนพฤษภาคม ถือว่าค่อนข้างวิกฤติ แต่ต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้ดี เพราะขณะนี้เริ่มเกิดสถานการณ์หลายอย่างตามมา เช่น น้ำเค็มหนุน อย่างไรก็ตามได้มีการประชุมหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการเตรียมปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในแหล่งกักเก็บหรือให้บริการในพื้นที่ที่เกษตรกรร้องขอ

โดยมีการปล่อยหน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งหมด 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ภาคเหนือ อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง อยู่ที่ จ.นครสวรรค์ ภาคอีสาน อยู่ที่ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก อยู่ที่ จ.ระยอง และศูนย์ภาคใต้อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการเหล่านี้ เพื่อให้บริการประชาชนตามขอบเขตที่กำหนด ตามนโยบายการเติมน้ำในอ่างของกรมฝนหลวง ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ให้กรมฝนหลวงตั้งหน่วยปฏิบัติการในช่วงฤดูแล้ง

ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้ทำนาปรังรอบ 2 เพราะน้ำที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งแผนเดิมที่ขอให้เกษตรกรทำนาในรอบแรกประมาณ 5 ล้านไร่นั้น เกษตรกรทำนาไปประมาณ 8 ล้านไร่ ทะลุเป้าไปเกือบ 100% กรมชลประทานก็ใช้น้ำสำรองที่มีอยู่ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว ถ้าเกษตรกรยังทำนาปรังในรอบที่ 2 น้ำที่มีอยู่นอกจากไม่พอแล้ว ยังไม่สามารถรักษาระบบนิเวศในการปล่อยมาไล่น้ำเค็ม หรือช่วยในเรื่องของอุปโภคบริโภค หรือในเรื่องอุตสาหกรรมก็จะกระทบไปด้วย

“หากมีการใช้น้ำเกินแผนที่ตั้งไว้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องเร่งติดตามและขอความร่วมมือ เฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้ใช้เกินกว่าปริมาณที่มีการวางแผนไว้ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนเราได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือกับทางจังหวัดในการแจ้งเกษตรกรให้ระงับการทำนาปรังรอบ 2 หรือถ้ายังฝืนทำอยู่เมื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ขอให้ประกาศเป็นจุด ๆ ไม่ควรประกาศเป็นภาพรวม อีกทั้งจะมีการนำเสนอ ครม.เพื่อให้ประกาศเป็นนโยบายว่าในพื้นที่ที่ประกาศห้ามไม่ให้ทำนานั้น จะไม่ได้รับการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังหากมีการฝ่าฝืน” ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าว

ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรต้องวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถประสานงานกับทางเกษตรตำบล หรือเกษตรอำเภอ หรือเกษตรจังหวัดได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ส่วนในเรื่องการร้องขอเพื่อทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในกรณีที่ไม่มีน้ำ หรือพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไปแล้วจะเกิดความเสียหาย สามารถติดต่อโดยตรงไปที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง หรือเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรืออาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ได้ทันที.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 7 มีนาคม 2557

สินค้าเกษตรยังได้ดุลอาเซียน ศสก.เตือนเร่งพัฒนาศักยภาพแข่งขัน

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรของไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอ้างอิงข้อมูลการส่งออก–นำเข้าจากกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2556 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 172,640 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่าเท่ากับ 242,181 ล้านบาท และการนำเข้าสินค้าเกษตรมีมูลค่าเท่ากับ 69,541 ล้านบาท โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ยางพารา ข้าว และกาแฟสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะเดียวกันนำเข้าสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ปลาทะเลแช่แข็ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากนมสำหรับทารก ส่วนผสมพรีมิกซ์สำหรับใช้ในการผลิตอาหาร น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และใบยาสูบ เป็นต้น

จากข้อมูลการค้าสินค้าเกษตร จะเห็นได้ว่า การค้าในตลาดอาเซียนมีการขยายตัวจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตลาดมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและยังคงเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรไทยที่มีคุณภาพ แต่ต้องเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และในส่วนการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบและส่วนผสมในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จำเป็นต้องคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย เพื่อให้สามารถนำมาแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรและภาคเกษตรของไทยให้เกิดความพร้อมมากขึ้น เช่น การผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เช่น ส่งเสริมการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม เพื่อให้มีวัตถุดิบภายในประเทศที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย โครงการเกษตรกรปราดเปรื่อง ที่สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และโครงการพัฒนาด่านสินค้าเกษตรให้สามารถทำการตรวจสอบสินค้าเกษตรนำเข้าที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ ให้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย ทำให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของไทยได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 7 มีนาคม 2557

จับตาทิศทางเปิดตลาดอาเซียน สศก.ร่วมถก RCEP-TNCส่งเสริมรวมกลุ่มศก.

นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Trade Negotiating Committee: RCEP-TNC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20-24 มกราคม ที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งการประชุม RCEP เป็นการพัฒนาจากแนวความคิดเดิม คือ อาเซียน+3 และอาเซียน+6 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยเป็นการรวมกรอบการเปิดเสรีและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกไว้ในกรอบเดียวกัน

โดยการประชุม RCEP ครั้งนี้มี นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และมีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมในองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย สำหรับรูปแบบการประชุมได้แบ่งคณะกรรมการออกเป็น 3 คณะ ได้แก่ ด้านการค้าสินค้า ด้านการค้าบริการ และด้านการลงทุน และยังมีคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ เพื่อดูแลเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

สำหรับประเด็นสำคัญในเรื่องการค้าสินค้า ได้แก่ รูปแบบการลดภาษี และการจัดตั้งคณะทำงานย่อยเพิ่มเติม ซึ่งรูปแบบการลดภาษีในเบื้องต้นสามารถตกลงกันได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยกเลิกภาษีทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ (Immediate Tariff Elimination) และกลุ่มลดภาษีเป็นร้อยละ 0 ภายในระยะเวลาที่กำหนด (Tariff eliminate within the Phase-out Period) อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าไม่ลดภาษี (Exclusion) ไม่รวมอยู่ในกลุ่มสินค้าข้างต้น ส่วนในเรื่องจัดตั้งคณะทำงานย่อยเพิ่มเติมนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อย 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และขั้นตอนการประเมิน เพื่อการรับรอง และคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 4 มีกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2557 ที่เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตามในส่วนของความต่างของระดับการเปิดตลาดของประเทศสมาชิกว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปัญหาเกษตรที่นี่มีคำตอบ : ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ย

คำถาม ผมเป็นเกษตรกรมือใหม่ ได้ลงมือปลูกพืชหลายชนิด เลยต้องใช้ปุ๋ยหลายอย่าง แต่ยังไม่เข้าใจเลยว่าปุ๋ยแต่ละชนิดใช้แตกต่างกันอย่างไร จึงขอความรู้เรื่องปุ๋ยหน่อยครับ

นเรศ เกื้อกูล อ.เมือง จ.พิษณุโลก

คำตอบ ปุ๋ยเป็นสารที่ใส่ลงไปในดิน เพื่อปลดปล่อยธาตุอาหารพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่พืชยังขาดอยู่ให้ได้รับอย่างพอเพียง พืชจะสามารถเจริญเติบโตงอกงามดีขึ้นและให้ผลผลิตสูงขึ้น เรามาเริ่มทำความเข้าใจเรื่องปุ๋ยเบื้องต้น สำหรับมือใหม่หัดปลูกต้นไม้กันดีกว่านะครับ...

ปุ๋ย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายอินทรีย์สารชนิดต่างๆ จะมีปริมาณธาตุอาหารพืชน้อยแต่จะให้ธาตุอาหารพืชอย่างครบถ้วน ปุ๋ยอินทรีย์จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และน้ำหมักชีวภาพ

ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ต่างๆ ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่ได้จากการกองหมักเศษซากพืช เศษอาหาร และอินทรียวัตถุให้เน่าเปื่อย สลายตัวเป็นสารสีดำ ที่เรียกว่า “ฮิวมัส” ปัจจุบันได้ใช้กระบวนการจุลินทรีย์เข้าช่วยในการย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยที่ได้จากการปลูกพืชตระกูลถั่วเช่นถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ปอเทือง ลงบนพื้นที่ ปล่อยให้เจริญเติบโตประมาณ 45 วัน แล้วไถกลบลงไปในดิน เน่าสลายกลายไปเป็นปุ๋ย โดยต้องปลูกก่อนพืชหลักประมาณ 2 เดือน ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตเกษตรน้ำฝน ต้องปลูกก่อนพืชหลัก หลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว แต่ถ้าเป็นเขตเกษตรชลประทานสามารถปลูกได้ทุกโอกาส น้ำหมักชีวภาพ เป็นปุ๋ยในรูปของเหลวประกอบด้วยกรดอินทรีย์และฮอร์โมน ได้จากการหมักวัสดุเหลือใช้จากพืชหรือสัตว์ในลักษณะสด โดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ในการหมักย่อยสลาย

ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากการผลิตหรือสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรมจากแร่ธาตุต่างๆ ที่ได้จากธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือแม่ปุ๋ยหรือปุ๋ยเดี่ยว และปุ๋ยผสม แม่ปุ๋ย เป็นสารประกอบที่มีธาตุอาหารพืชหนึ่งธาตุหรือมากกว่า เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น ปุ๋ยผสม เป็นปุ๋ยที่ได้จากการเอาแม่ปุ๋ยตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมกัน เพื่อให้ได้ปุ๋ยผสมที่มีปริมาณและสัดส่วนของธาตุอาหารทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ตามที่ต้องการ

วิธีดูปริมาณธาตุอาหารพืชในปุ๋ยเคมี ดูได้จากฉลากของปุ๋ยเคมีจะมีตัวเลข 3 จำนวนเรียงกัน เลขแต่ละจำนวนแสดงปริมาณธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน –ฟอสฟอรัส – โพแทสเซียม (เอ็น – พี – เค) ตามลำดับ เรียกว่า “สูตรปุ๋ย” มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) โดยน้ำหนักทั้งหมดของปุ๋ย ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 13-0-46 แสดงว่า ปุ๋ยเคมีน้ำหนัก 100 กก. มีไนโตรเจน 13 กก. ไม่มีฟอสฟอรัส และมีโพแทสเซียม 46 กก. เป็นต้น

แต่ถ้าท่านต้องการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง เพราะปุ๋ยสูตรที่มีจำหน่ายในท้องตลาดไม่ตรงกับความต้องการ แนะนำให้ใช้แม่ปุ๋ยมาผสมใช้เองเลยนะครับ...

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

เอทานอลสหรัฐตีตลาดเอเชีย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอทานอลจากสหรัฐเข้ามาตีตลาดในเอเชีย โดยจำหน่ายให้ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ราคาต่ำประมาณ 19 บาทต่อลิตร ผู้ผลิตในไทยจึงไม่มีการส่งออกประกอบกับราคาในไทยสูงกว่า โดยไตรมาส 1/2557 ราคาอยู่ที่ 25-26 บาทต่อลิตร คาดไตรมาส 2 ประมาณ 25 บาทต่อลิตร ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองไม่ได้มีผลต่อราคาเอทานอลแต่อย่างใด

“แม้สหรัฐจะเข้ามาตีตลาดเอทานอลในเอเชีย ก็เป็นเรื่องปกติการค้าขายในโลก และไม่กระทบต่อตลาดเอทานอลของไทย เพราะยอดผลิตใกล้เคียงกับความต้องการ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานเอทานอล 2 โรงงาน กำลังผลิต 4 ล้านลิตรต่อวัน ผลิตจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง ขณะที่ความต้องการเมื่อเดือนธันวาคม อยู่ที่ 2.8 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าปีนี้ความต้องการจะเพิ่มสูงกว่า 3 ล้านลิตรต่อวัน และจะมีโรงงานแห่งใหม่ผลิตจากมันฯ เกิดขึ้น 3 แห่ง กำลังผลิตอีกเกือบ 1 ล้านลิตรต่อวัน โดยปัจจัยที่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อประเทศไทยยกเลิกเบนซิน 91 ปั๊มน้ำมันได้เปลี่ยนมาจำหน่ายอี 20 เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าปั๊มต่างชาติก็ขายอี 20 แล้ว

นอกจากนี้ยังมีปั๊มอี 85 กระจายไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากบรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น ประชาชนมีการท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็คาดว่าความต้องการจะสูงขึ้นกว่านี้ โดยปี 2556 เดิมคาดสิ้นปีเอทานอลจะมียอดใช้ 3 ล้านลิตรต่อวัน แต่สุดท้ายอยู่ที่ 2.8 ล้านลิตรต่อวัน .

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 5 มีนาคม 2557

บาทแข็งค่านำทุกสกุลในเอเชีย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินประจำวันพุธที่ 5 มีนาคม 2557 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 32.37/39 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 32.44/45 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าตามทิศทางทุกสกุลเงินในเอเชีย เนื่องจากมีแรงขายดอลลาร์ หลังจากที่สถานการณ์ในยูเครนผ่อนคลายลง ประกอบกับกรมการค้าต่างประเทศลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในปริมาณ 1 ล้านตัน กับทาง COFCO Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน โดยจะเริ่มส่งมอบข้าวล็อตแรกได้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลไทย และเพิ่มสัดส่วนของข้าวไทยในตลาดจีน นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อรัฐบาลไทย ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าเงินทุนจะมีการไหลเข้าประเทศไทย จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรและค่าเงินบาทขึ้นไปแข็งค่าที่ระดับ 32.28 บาท/ดอลลาร์ ทดสอบระดับเดียวกับการแข็งค่าเมื่อ 15 วันก่อน (10/2) โดยตลอดทั้งวันค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ที่ 32.28-32.39 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.30/31 บาท/ดอลลาร์

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.3739/41 ดอลลาร์/ยูโร อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 1.3755/56 ดอลลาร์/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงจากแรงขายทำกำไรในช่วงนั้นก่อนการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสบดี (6/3) หลังจากที่เงินยูโรทะยานขึ้นในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา ภายหลังตลาดคลายความวิตกกังวลข้อพิพาท หลังจากรัสเซียถอนกำลังทหารในเขตไครเมียกลับฐานทัพ ทั้งนี้ช่วงท้ายตลาดเอเชียค่าเงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หลังจากบริษัทสำรวจประเมินว่าธุรกิจภาคเอกชนในยูโรโซนทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการดัชนีแตะที่ระดับ 53.3 ในเดือน ก.พ.จากระดับ 52.9 ในเดือน ม.ค.และถือว่าขยายตัวมากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่งในเดือน ก.พ.ทำให้นักลงทุนจึงคาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะขยายตัว 0.4-0.5% ในไตรมาสแรกนี้ โดยตลอดทั้งวันค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างวันอยู่ที่ 1.3719-1.3744 ดอลลาร์/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.3725/28 ดอลลาร์/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 102.21/23 เยน/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/3) ที่ระดับ 101.77/81 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า หลังจากช่วงต้นสัปดาห์เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเนื่องจากเป็นสกุลเงินปลอดภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครน ทั้งนี้ระหว่างวันนายโตชิโร มูโตะ อดีต รมช.คลังญี่ปุ่นและรองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และบีโอเจอาจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นอีก โดยจะเพิ่มวงเงินของโครงการซื้อสินทรัพย์จำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษี VAT ในวันที่ 1 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบทั้งวันที่ 102.08-102.42 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 102.39/40 เยน/ดอลลาร์

อนึ่ง ประเทศจีนได้มีการประชุมประจำปีของสภาประชาชนจีน และนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง กล่าวเปิดงานว่า ประเทศจีนยังคงตั้งเป้าการขยายตัวเลขการจ้างงานทั่วประเทศของสหรัฐ (ADP) ดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ (5/3) ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมัน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ (6/3) ดัชนีราคาผู้ผลิตของอิตาลี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมัน ดัชนีการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ อัตราการว่างของสหรัฐ (7/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +5.4/5.6 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +6.0/7.5 สตางค์/ดอลลาร์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 5 มีนาคม 2557

รู้ทัน..รู้ปลูก..รู้เทคนิค ทางรอดเกษตรไทยรับAEC

แม้วันรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน หรือ AEC ยังมาไม่ถึงแต่ผลการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ทำกับหลายประเทศได้ออกลาย...สินค้าเกษตรไทย ถูกต่างชาติตีตลาดในประเทศไปไม่น้อย

“ปัจจุบันมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาวางขายตลาดไทมากขึ้น และมากที่สุดจากจีน มีส่วนแบ่งในตลาดพืชผักผลไม้ ประมาณ 25% และมีมาจากประเทศชิลี เปรู เข้ามาบ้างแต่เพียงเล็กน้อย ส่วนสินค้าในอาเซียนด้วยกัน ตอนนี้มีมะม่วงจากกัมพูชาเข้ามามากที่สุด เป็นมะม่วงแก้วขมิ้นที่เขมรเรียกว่า สวายเมียะ ส่วนประเทศอื่นยังไม่เห็น แต่หลังเปิด AEC จะมีสินค้าจากอาเซียนด้วยกันเข้ามามากกว่านี้ไหม ยังตอบไม่ได้”

กระนั้นก็ตาม นายธวัชชัย พิทักษ์ธนางกูร รองประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ ตลาดไท ตลาดค้าส่งที่ใหญ่อันดับหนึ่งในอาเซียน บอกว่า แม้สินค้าพืชผักผลไม้ของไทยหลายชนิดจะวางขายสู้สินค้าที่มาจากจีนไม่ได้ เพราะของเราแพงกว่า ต้นทุนสูงกว่า แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีทางสู้เอาซะเลย

เพราะสินค้าเกษตรจากจีน จะเข้ามาวางขายในบ้านเรา ไม่ได้มาทั้งปีมาเป็นฤดูกาลเท่านั้น ต.ค.-เม.ย.เท่านั้น โดยส้มจีนจะเข้ามามาก ต.ค.-ธ.ค. ส่วนกลุ่มพืชผัก ธ.ค.-เม.ย. ฉะนั้น เกษตรกรไทยต้องรู้ทันสินค้าจากจีนจะต้องวางแผนเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตออกมาจำหน่ายในช่วงหลังสงกรานต์ไปถึงตุลาคม

ถึงจะสู้เขาได้...รู้จักหลบหลีก ดีกว่าปลูกโดยไม่คิดแล้ว ไปขายแข่งกับจีน ที่ยังไงก็ต้องแพ้ผู้บริหารตลาดไท บอกถึงอีกปัญหาที่เราสู้จีนไม่ได้ นั่นคือ ระบบการผลิตสินค้า เกษตร จีนมีกฎหมายครอบคลุมภาคการเกษตรทุกอย่าง ตั้งแต่วางแผนการปลูก จัดโซนนิ่ง สนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ยยารัฐก็จัด หามาให้ รวมทั้งการจัดหา ด้านการตลาด แม้กระทั่งการบำรุงรักษาดินไม่ให้เสื่อม โทรมรัฐก็ยังควบคุมดูแล

แต่บ้านเรากลับปล่อย ทุกอย่างอิสรเสรี ยกตัวอย่างปลูกส้มบ้านเรา รุกพื้นที่ ป่ากันไปเรื่อยๆ ดินเสื่อมโทรม ก็ย้ายพื้นที่ปลูก ไม่คิดปรับปรุงดินกันเลย รวมทั้งไม่ดูแลวางแผนให้ออกมาอย่างไร โซนนิ่งก็ไม่มี

และในโอกาสที่เออีซี กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ธวัชชัย มองว่า ภาคการเกษตรบ้านเราจะต้องปรับตัวอีกมาก ตั้งแต่การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ การดูแลผลผลิต ดูแลดินให้ดี เพื่อให้มีผลผลิตสูงต้นทุนต่ำ เป็นสิ่งแรกที่เกษตรกรต้องช่วยตัวเอง ไม่ใช่ทำการเกษตรแบบเดิมๆ เผาป่า เผาฟางทำลายดิน และภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมแนะนำเทคนิคการทำเกษตรทุกอย่างตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ สามารถนำไปวางขายในซุปเปอร์มาร์เกตได้

ไม่ใช่ปลูกให้ได้มากแต่ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ต้องไปวางขายแบกะดินแบบสิ้นราคา... ถ้าไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียแต่วันนี้ อีกปีเศษๆ เจอเออีซีเข้าไป เกษตรกรไทยมีหวังหงายเงิบแน่.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

เกษตรฯเริ่มออกปฏิบัติการฝนหลวง บรรเทาภัยแล้ง-ลดหมอกควัน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเริ่มปฏิบัติการตามแผนประจำปีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไปจนสิ้นฤดูฝน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นการป้องกันภัยแล้งบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าและลดความรุนแรงของลูกเห็บ และระยะที่ 2 ในช่วงฤดูฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนต้นฤดู บรรเทาฝนทิ้งช่วง และเพิ่มน้ำในเขื่อน ขณะเดียวกันในปี 2557 ยังมีนโยบายจะทำฝนหลวงในสภาวะอากาศที่เหมาะสม เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ลดปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่มักจะเกิดปัญหาทุกปีทั้งทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งป้องกันการเกิดภัยแล้ง เพิ่มน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง

ทั้งนี้ ในขณะบินปฏิบัติการจะทำการเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารการใช้น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค รักษาระบบนิเวศน์จนถึงฤดูฝน โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำทั้ง 5 ภาค รวม 15 หน่วย มีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการ 33 เครื่อง โดยเป็นเครื่องของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 21 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 12 เครื่อง โดยแต่ละศูนย์ฯ จะตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2-3 หน่วย ภายใต้อัตรากำลังที่มีอยู่ โดยหมุนเวียนตั้งหน่วยปฏิบัติการและฐานเติมสารฝนหลวง ตามสนามบินในจังหวัดที่รับผิดชอบ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ภัยแล้ง

สำหรับในระยะแรกจะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ ดังนี้ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 และจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นไป ภาคกลาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 1 เมษายน 2557 และจังหวัดลพบุรี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557เป็นต้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี และบุรีรัมย์ ในวันที่ 1 เมษายน 2557 จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป

ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 และจังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป ภาคใต้ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 3 มีนาคม 2557 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 15 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

จากhttp://www.naewna.com วันที่ 5 มีนาคม 2557

เกษตรกรไร่อ้อยสุดทน! เปิดโปงปมโรงงานผูกขาด

เกษตรกรไร่อ้อยสระบุรี ออกแถลงการณ์เปิดโปงข้าราชการ นักการเมือง โรงงานภาคเอกชน จับมือชักใยอยู่เบื้องหลัง ปมโรงงานน้ำตาลผูกขาดรับซื้อผลผลิตรายเดียว-อุตสาหกรรมสีเขียว หากไม่คืบหน้า จัดกองกำลังเคลื่อนที่เร็วบุกปิดทุกครั้งที่มีการหารือ...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคน ออกแถลงการณ์เรื่อง เปิดโปงขบวนการหลอกลวง ฉ้อฉล ของข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับโรงงานภาคเอกชน โดยมีนักการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีจุดประสงค์ที่ต้องการหยุดผูกขาด ต้องแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ปฏิรูปพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียว

โดยแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายประเสริฐ บุญชัยสุข ได้มอบหมายให้นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล เป็นผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์ เทียนไชย และพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โดยรับปากว่า จะอนุมัติโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีทางเลือกจำหน่ายผลผลิต ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ภายใน 30 ตุลาคม 2556 อย่างแน่นอน

ต่อมา ทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่ารัฐบาลประกาศยุบสภา กระทรวงฯไม่มีอำนาจในการอนุมัติ ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งเป็นการบิดเบือนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

1. ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้มีการสนับสนุนงบประมาณหลายสิบล้านบาทขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าว สร้างทางเลือกให้กับชาวนา โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำนา ยังไม่นับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยตามการสนับสนุนของภาครัฐอีกจำนวนมาก คำถามคือ กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร จากภาวะอ้อยล้นตลาดอย่างไร

2. จังหวัดสระแก้วและใกล้เคียง มีโรงงานน้ำตาลผูกขาดการรับซื้อผลผลิตอ้อยเพียงรายเดียว ได้โฆษณาชวนเชื่อว่า สามารถรับซื้อผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรได้ไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน ราคาตันละ 1,200 บาท ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติอย่างถูกต้องจากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการลักลอบหีบอ้อยอย่างผิดกฎหมาย และประกาศท้าทายว่ามีเส้นใหญ่โตในรัฐบาล ไม่เกรงกลัวผู้ใดทั้งสิ้น คำถามคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับโรงงานภาคเอกชน ทำให้เกิดระบบผูกขาด หรือได้รับผลประโยชน์อันมิชอบ มีพฤติการณ์ฉ้อฉลและเตะถ่วงให้เกิดการผูกขาด โดยเอกชนรายเดียวหรือไม่

3. เกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยจังหวัดสระแก้ว ร่วมกับสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว และผู้นำชุมชนท้องถิ่น ประมาณ 700 คน ได้ร่วมกันฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น

ในนามของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายย่อยจังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียงทุกท่านขอประณามการกระทำของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายสุวัจน์เป็นไอ้โม่งชักใยอยู่เบื้องหลัง ร่วมกันเป็นมาเฟียเรียกรับผลประโยชน์ ออกหลักเกณฑ์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ เอาเปรียบผู้ประกอบการ และข้าราชการดีๆ ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ต้องอับอาย เสียชื่อเสียงของกระทรวงอุตสาหกรรมไปด้วย

ในกรณีนี้ พวกเราทุกคนจะเดินหน้าเปิดโปงพฤติการณ์อันฉ้อฉลของข้าราชการ โดยเฉพาะนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังอย่างถึงที่สุด และถือเป็นวาระในการปฏิรูปพลังงานและระบบอุตสาหกรรมสีเขียว ตามที่พี่น้องประชาชนได้เรียกร้องอยู่ในขณะนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีดังกล่าว มีสาเหตุมาจากชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้เรียกร้องขอให้แก้ไขระยะห่างของโรงงานน้ำตาลที่ปัจจุบันกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการประชุมหารือกันอยู่ และในที่ประชุมมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มอยากให้คงเกณฑ์เดิมไว้ เพื่อป้องกันการแย่งอ้อย ในขณะที่อีกกลุ่มอยากให้แก้ไขเพราะเห็นว่าปัจจุบันมีวิธีการบริหารจัดการไม่ให้แย่งวัตถุดิบได้

วานนี้ (3 มีนาคม 57) สอน.ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลถึงทางออกของหลายปัญหาที่ยังติดค้าง เนื่องจากปัญหาการเมืองทำให้ไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สามารถอนุมัติเรื่องต่างๆ ได้ ทั้งในเรื่องของเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 2555/2556 เงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิต 2556/57 ตลอดจนการแก้ไขระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล แต่การประชุมดำเนินไปได้ไม่ถึงชั่วโมง มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยจาก จ.สระแก้ว ประมาณ 20 คน มารวมตัวบริเวณหน้าห้องประชุม ขอพบเลขาธิการ สอน.จนการประชุมดำเนินต่อไม่ได้

ขณะที่ นายสมิทธ์ เย็นสบาย กรรมการศูนย์ประสานงานสุขภาพประชาชนจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยกับ ‘ไทยรัฐออนไลน์' ว่า จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ทั้ง 4 จังหวัดนี้ มีโรงงานน้ำตาลผูกขาดการรับซื้อผลผลิตอ้อยเพียงรายเดียว ซึ่งเจ้าของโรงงานเป็นน้องสะใภ้ของนักการเมือง ระดับรัฐมนตรี จึงมีเส้นสายและอำนาจในการดึงเรื่อง การแก้ไขระยะห่างของโรงงานน้ำตาล ไม่ต่ำกว่า 80 กม. ออกจากครม. ได้

โดยจุดประสงค์ของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ คือ ต้องการระบบอุตสาหกรรมสีเขียวครบวงจร โดยพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง เกิดโรงงานต้นแบบอย่างครบวงจร รวมถึงเอากากมูลพืชของชาวบ้านมาผลิตไฟฟ้า อีกทั้งต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดของโรงงาน และการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร เพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้มีทางเลือก และไม่ต้องถูกกดราคาจากโรงงานน้ำตาลตะวันออก ซึ่งมีการผูกขาดในจังหวัดสระแก้วแต่เพียงรายเดียว

ทั้งนี้ การออกมาแสดงออกครั้งนี้ หลายฝ่ายอาจมองว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเป็นเครื่องมือของกลุ่ม กปปส. ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่จริง เนื่องจากเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องส่วนใหญ่ก็เป็นเสื้อแดงจำนวนมาก แต่ครั้งนี้ได้รับความเดือดร้อนจริงๆ จึงต้องออกมาทวงถามถึงความเป็นธรรม โดยปราศจากสีเสื้อแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่มีท่าทีในการช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว ทางกลุ่มเกษตรที่ได้รับความเดือดร้อน จะส่งกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว ไปปิดและกดดันในทุกๆ ที่มีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

ภัยแล้งสัญญาณร้ายเงินเฟ้อ

สินค้าแพงพาณิชย์ฟันธงสิ้นปีไม่เกิน 2.00-2.80%

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ก.พ. สูงขึ้น 1.96% สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุเพราะราคากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผลกระทบจากภัยแล้ง สั่งกรมการค้าภายในติดตามผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด คาดเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 2.00-2.80%

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI) เดือน ก.พ.57 อยู่ที่ 106.71 เพิ่มขึ้น 1.96% จากเดือน ก.พ.56 และเพิ่มขึ้น 0.23% จาก ม.ค.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ปี 57 เพิ่มขึ้น 1.95%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 104.14 เพิ่มขึ้น 1.22% จากเดือน ก.พ.56 และเพิ่มขึ้น 0.27% จาก ม.ค.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกปี 57 เพิ่มขึ้น 1.13%

สำหรับสาเหตุที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลุ่มราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4.26% โดยดัชนีหมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 1.57% หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้น 7.57% หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้น 4.42% หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้น 6.36% หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 3.26% หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.83% และหมวดอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 3.41% (อาหารบริโภค-ในบ้าน สูงขึ้น 3.26% อาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้น 3.66 %)

สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.77% จากการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 0.95% หมวดเคหสถานสูงขึ้น 0.94% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.66% หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารสูงขึ้น 0.51% หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนาสูงขึ้น 0.53% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 4.31% ซึ่งในเดือน ก.พ. มีสินค้าราคาสูงขึ้น 199 รายการ สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 176 รายการ และสินค้าราคาลดลง 75 รายการ

นางศรีรัตน์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นต่อเดือนเกิน 2% เพราะมีแรงกดดันจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่ากระทบต่อวัตถุดิบนำเข้าเพื่อการผลิตสินค้า มาตรการอุดหนุนน้ำมันดีเซลหมดลงในเดือน เม.ย. ซึ่งส่วนนี้จะมีผลต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5-1% ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินเดือน ก.ค.นี้ จะกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.002% อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 3-5% ราคาน้ำมันตลาดโลก (ดูไบ) ไม่เกิน 95-115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลคงมาตรการลดค่าครองชีพ เงินเฟ้อทั้งปี 2557 จะไม่เกิน 2.00-2.80%

แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน มี.ค.57 มีโอกาสแตะที่ระดับ 2.0% เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลง ขณะเดียวกันการปรับตัวอ่อนค่าของเงินบาทก็มีผลต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า และรายละเอียดสินค้าบางหมวดที่อาจต้องมีการปรับขึ้นราคา

“สำหรับปัญหาภัยแล้ง กระทรวงพาณิชย์ดูผลกระทบปลายทางในเรื่องสินค้าขาด ราคาย่อมแพงขึ้น ก็ต้องดูแลในเรื่องปริมาณสินค้าและราคาปรับสูงไม่เกินจริง ซึ่งได้ให้กรมการค้าภายในเฝ้าติดตามสถานการณ์และหารือผู้ประกอบการต่อเนื่อง ส่วนการแก้ปัญหาภัยแล้งภาพรวม รัฐบาลจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อรับมือต่อไป ที่ต้องเตรียมพร้อมคือ มาตรการอุดหนุนน้ำมันดีเซลหมดลง ย่อมกระทบต่อต้นทุนขนส่งและราคาสินค้า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลกระทบ และต้องหารือผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้า”

ส่วนเรื่องการอุดหนุนภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะครบกำหนดในเดือน เม.ย.57 หากไม่มีการต่ออายุมาตรการออกไปก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5-1.0% ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในเดือน ก.ค.57 ตามสัญญาที่กำหนดไว้จะส่งผลต่อเงินเฟ้อขึ้นเพียง 0.002% เท่านั้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

เติมน้ำสู่ชั้นบาดาลแก้ภัยแล้ง

โครงการศึกษาการเติมน้ำสู่ชั้นใต้ดินของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลประสบผลสำเร็จ เตรียมเสนอของบประมาณจัดทำทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เสนอผลการทดสอบเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนบน โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสูบน้ำบาดาลมาใช้มาก จนน้ำซึมกลับไม่ทัน ชาวบ้านต้องขุดบ่อบาดาลลึกขึ้น เพื่อนำน้ำมาใช้ การเติมน้ำลงสู่ชั้นบาดาลทำในฤดูฝน โดยการขุดสระขนาดใหญ่ให้ถึงระดับชั้นน้ำบาดาล เมื่อฝนตกลงมาไหลลงสระจะซึมสู่ใต้ดิน เป็นการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมด้วย ขณะเดียวกันก็มีน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

อีกวิธีหนึ่งคือ การขุดบ่อบาดาลให้ลึกแล้วสูบน้ำจากแม่น้ำลงมาเติมในบ่อ เพื่อให้น้ำซึมแผ่ออกไปโดยรอบบ่อบาดาล ขณะนี้พื้นที่ศึกษาในทั้ง 2 จังหวัด ชั้นน้ำบาดาลมีระดับสูงขึ้น ชาวบ้านไม่ต้องขุดบ่อลึกมากก็สามารถนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคและใช้ทำการเกษตรได้ ขณะนี้ได้ทำโครงการเติมน้ำลงสู่ชั้นบาดาลทั่วประเทศ งบประมาณ 3,500 ล้านบาท เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเสนอให้พิจารณา เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี.

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 4 มีนาคม 2557

แห่ร้องโรงงานสร้างความเดือดร้อน

แค่ 2 เดือนชาวบ้านแห่ร้องโรงงานส่งกลิ่น – เสียง- ฝุ่น สร้างความเดือดร้อนหนัก 66 เรื่อง อุตฯ ผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องแต่งกาย อาหาร นำโด่ง คนร้องสูงสุด กรอ.ส่งคนแก้ปัญหาด่วน

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 28 ก.พ. 57มีประชาชนร้องเรียนปัญหามลพิษจากโรงงานส่งมายังกรมโรงงาน ฯ จำนวน 66เรื่องส่วนใหญ่มาจากปัญหามลพิษทางกลิ่น 36 เรื่อง รองลงมาเป็นมลพิษทางเสียง 27เรื่องปัญหามลพิษทางฝุ่น 21 เรื่อง ปัญหาโรงงานเถื่อน 19เรื่องมลพิษไอสารเคมี 18 เรื่อง ควัน 17 เรื่อง น้ำเสีย13เรื่องโดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ อุตฯผลิตภัณฑ์จากพืช อุตฯเครื่องแต่งกาย อุตฯผลิตภัณฑ์เคมี อุตฯอาหาร อุตฯผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะ

ทั้งนี้กรมฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยส่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และเขตเข้าไปดำเนินการสั่งแก้ไขและปรับปรุงตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 37จำนวน3เรื่องดำเนินคดี 1เรื่องยุติเรื่อง 19เรื่องไม่เข้าข่าย 1เรื่องและอื่นๆ 20เรื่อง

อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. กรมฯ ได้รับเรียกร้องเรียนจากประชาชนในหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ในตำบลจำปาหล่ออำเภอเมือง จังหวัดอ่างทองว่า บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) อำเภอเมืองจังหวัดอ่างทอง ได้ปล่อยควันมีลักษณะเปน หมอกสีขาว มีกลิ่นฉุนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยรอบ ซึ่งการตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุพบว่ากระบวนการผลิตกรดกำมะถันสายการผลิต ที่ 1 มีการปล่อยควันมีลักษณะคล้ายหมอกสี ขาวแพร่กระจายออกนอกโรงงานก่อให้ เกิดอาการแสบตา ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจแก่ผู้อาศัยใกล้เคียง เนื่องจากการทำงานของระบบวาล์วท่อหล่อน้ำเย็นไม่ทำงานตามสภาพปกติ ลักษณะดังกล่าวมีสภาพอาจก่อให้เกิดอันตรายและความเสียหายหรือความ เดือดร้อนแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน

ทั้งนี้กรม ฯ ได้อาศัยอำนาจพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535มีคำสั่งให้โรงงานหยุดประกอบกิจการโรงงานในส่วนของกระบวนการผลิตกรดกำมะถันสาย การผลิตที่ 1เพื่อแก้ไขโรงงานเช่น ปรับปรุงระบบวาล์วควบคุมน้ำหล่อเย็นให้ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งจัดให้มีมาตรการปองกันและแก้ไข ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เปนต้นโดยการปรับปรุงแก้ไขทั้งหมดต้องมีเอกสารรองรับ จากวิศวกรที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบ วิชาชีพวิศวกรรมเคมีระดับสามัญวิศวกร ขึ้นไปให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มี.ค. นี้

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

“รักษ์สวล.” จี้ย้ายจุดสร้างรง.น้ำตาลพ้น “วัฒนานคร”

รายงานข่าวจากลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมวัฒนานคร - อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กล่าวว่า ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลบริเวณ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว 1 แห่ง ตั้งห่างจากจุดก่อสร้างโรงงงานน้ำตาลแห่งใหม่ไม่ถึง 20 กิโลเมตร ขณะที่กฎหมายกำหนดว่าต้องตั้งโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษห่างกันอย่างน้อย 80 กิโลเมตร และควรอยู่ห่างชุมชน

“ 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเคยได้รับผลกระทบจากมลพิษทางกลิ่นจากโรงงานน้ำตาลแม้โรงงานจะประชาสัมพันธ์ว่า เป็น
โรงงานสีเขียว ไม่มีมลพิษ แต่เป็นเพียงคำโฆษณาในประเทศไทย จะพบว่าหลังการตั้งโรงงานแล้วโรงงานมักไม่สนมใจไยดีกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากนัก ทำให้ชาวบ้านต้องขายที่ดิน อพยพหนีไปอยู่ที่อื่น มีแค่คนยากคนจนที่ไม่มีที่ไป ต้องทนมลพิษทางอากาศทุกวัน โดยไม่มีปากเสียง เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชาคมชาวบ้านตำบลผักขะรอบที่ 2 โดยบริษัทประชาสัมพันธ์ ก่อนจัดประชาคมเพียงวันเดียว ทำให้กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงงานตั้งตัวไม่ติด อย่างไรก็ตาม กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมวัฒนานคร-อรัญประเทศ ขอวอนให้บริษัทหาพื้นที่แห่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลชุมชนมากกว่านี้”

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

ก.อุตฯ เล็งสร้างโมเดลประเมินความเสียหายโรงงานจากเหตุฉุกเฉิน

“ปลัดวิฑูรย์” เล็งสร้างโมเดลกลางสำหรับประเมินมูลค่าความเสียหายโรงงานจากเหตุฉุกเฉิน จัดประชุมระดมความคิดเห็นใหญ่ มีนาคม 57 กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันดูแลโรงงาน ทำสถิติอุบัติเหตุในรอบ 2 เดือน (ธ.ค.56 – ม.ค.57) ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวคิดใหม่ในการประเมินมูลค่าความเสียหายโรงงานจากเหตุฉุกเฉินต่างๆ ว่า ปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากการประกอบกิจการโรงงาน (เช่น ระเบิด ไฟไหม้ เป็นต้น) มักจะนำเสนอมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นอย่างเร่งด่วนหลังจากเกิดเหตุ ทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนสูงกว่าข้อเท็จจริงเสมอ เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงสถิติและเรียกร้องค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดสร้างโมเดลต้นแบบในการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นตามหลักวิชาการ โดยมอบหมายสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ และมีการประชุมในวันที่ 3 มีนาคม 2557 เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและหาข้อสรุปก่อนนำไปงานจริง

“การสร้างโมเดลต้นแบบของการประเมินมูลค่าความเสียหายจากการประกอบกิจการโรงงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ถือเป็นครั้งแรกที่จะได้ข้อมูลใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุดตามหลักวิชาการ โดยเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดที่มีโรงงานขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะก่อนให้ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาตินำไปไปปรับปรุง และหารือกับภาคเอกชนด้วย และคาดหวังว่าข้อมูลการประเมินมูลค่าความเสียหายตามโมเดลดังกล่าว จะได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลาย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รวมถึงการทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อมูลที่ต้องการ เช่น การเกิดเหตุระเบิด เพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล อุบัติเหตุ การชุมนุมคัดค้านโรงงาน”

นอกจากนี้ ผลจากการสั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ให้กำชับประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการระมัดระวัง และเพิ่มการกำกับดูแลโรงงานที่เข้าข่ายเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ ที่มีอยู่ 48 ประเภทชนิดโรงงาน สามารถลดอุบัติเหตุอุบัติภัยในโรงงาน เดือนธันวาคม 2556 -มกราคม 2557 ลงได้ร้อยละ 14 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการเกิดเหตุฉุกเฉินโรงงาน (ตั้งแต่ ธ.ค. 56 – ม.ค.57) พบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 19 ครั้ง ใน 14 จังหวัด อีก 62 จังหวัดไร้ปัญหา ด้านสาเหตุมาจาก เพลิงไหม้มากที่สุด 12 ครั้ง รองลงมาได้แก่ เหตุระเบิด 4 ครั้ง อุบัติเหตุ 2 ครั้ง และสารเคมีรั่วไหล 1 ครั้ง โดยจังหวัดชลบุรี มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นมากที่สุด จำนวน 4 ครั้ง รองลงมาคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และราชบุรี จำนวน 2 ครั้งเท่ากัน อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุจากการประกอบกิจการ แม้ความถี่จะลดลง แต่ด้านความเสียหายสูงขึ้น โดย 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตรวม 5 คน บาดเจ็บ 9 คน มูลค่าความเสียหายประมาณการรวม 168,050,000 บาท (หนึ่งร้อยหกสิบแปดล้านห้าหมื่นบาทถ้วน) ขณะที่ปีก่อน มีเหตุฉุกเฉินทั้งสิ้น 22 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 1 คน ค่าเสียหายเฉพาะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับแจ้งจากโรงงานประมาณการ 2 ล้านบาท

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 4 มีนาคม 2557

กรมชลฯ รายงานสถานการณ์น้ำต้นทุนล่าสุด

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ล่าสุด (3 มี.ค. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 11,697 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่าง รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 5,001 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำทั้งหมด

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (3 มี.ค. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,943 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผน คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผน อีกประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของแผน

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (ณ 20 ก.พ. 57) พบว่า มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 9.02 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 177 ของแผนทั้งหมด (แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 8.73 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 184 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่ - พืชผัก 0.29 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)

สำหรับค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ (3 มี.ค. 57) วัดได้ตามสถานีต่าง ๆ ได้แก่ สถานีวัดน้ำกรมชลประทาน สามเสน 6.29 กรัมต่อลิตร สถานีวัดน้ำท่าน้ำนนท์ 3.88 กรัมต่อลิตร และสถานีวัดน้ำสำแล (โรงสูบน้ำดิบของการประปานครหลวง) 0.20 กรัมต่อลิตร

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 4 มีนาคม 2557

ระดมกึ๋นชาวไร่แก้ปัญหาอ้อย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 มี.ค.นี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะประธานบอร์ด กอน.ได้เรียกโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยไปหารือถึงภาพรวมการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ยังคงมีหลายประเด็นต้องเร่งแก้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการปิดล้อมกระทรวงจากกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงทำให้ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือประเด็นเรื่องระยะห่างของโรงงานน้ำตาลทรายที่ขณะนี้ 2 โรงงานคือ มิตรภูหลวง กลุ่มมิตรผล จ.เลย และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขาวังสะพุง จ.เลย ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 เพราะระยะห่างกันเพียง 50 กิโลเมตร ซึ่งขัดกับมติ ครม.ที่กำหนดต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กม. เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยทำให้โรงงานดังกล่าวเมื่อเปิดหีบอ้อยต้องอาศัยระเบียบยึดเกณฑ์โรงงานแม่พิจารณาไปพลางๆ ก่อนเพื่อให้ขนย้ายน้ำตาลได้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมากระทรวงอุตฯ พยายามแก้ระเบียบใหม่ให้ระยะห่างต่ำกว่า 80 กม.ได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และยังเป็นการเปิดให้มีการยื่นตั้งโรงงานเป็นการทั่วไปอีกครั้ง แต่ก็ต้องชะลอออกไป เพราะ ครม.เป็นเพียงรักษาการเรื่องนี้จึงต้องกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง

แหล่งข่าว กล่าวว่า คาดว่าทั้งชาวไร่และโรงงานจะเรียกร้องให้ กอน.เร่งประชุมเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต ปี55/56 และราคาอ้อยส่วนเพิ่มของราคาขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประชุม กอน. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะค่าอ้อยขั้นสุดท้ายปี 55/56 ที่โรงงานได้ทดลองจ่ายชาวไร่แล้ว แต่ตัวเลขที่แท้จริงยังไม่ประกาศ เพราะมีปัญหาความเห็นขัดแย้งเรื่องราคากากน้ำตาล (โมลาส) ที่นำมาคำนวณ ซึ่งโรงงานไม่เห็นด้วยที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาคิดต้องหักออก ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 ที่ประกาศไว้ 900 บาทต่อตัน แต่ชาวไร่ต้องการส่วนเพิ่มให้คุ้มทุนในระดับ 1,200 บาทต่อตัน โดยการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. เช่นที่ผ่านมา

“กรณีการเพิ่มค่าอ้อยนั้น ก่อนหน้านี้ชาวไร่อ้อยต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อที่จะหาช่องให้เสนอ ครม.อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ แต่ในแง่กฎหมายก็ยังไม่ได้ดูรายละเอียด เรื่องนี้ต้องหารือกันใน กอน.ก่อน ซึ่งราคาอ้อยน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชาวไร่และโรงงานต้องการให้สรุป แต่หากมีเวลาคาดว่าจะมีการเสนอให้กระทรวงฯ พิจารณาถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ใกล้เข้ามา โดยเฉพาะโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง” แหล่งข่าว กล่าว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประชุมแก้ปัญหาอ้อยล่ม เหตุขัดแย้งกันเองเรื่องระยะห่างของโรงงานน้ำตาล

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 สอน.ได้หารือร่วมกับตัวแทนชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลถึงทางออกของหลายปัญหาที่ยังติดค้าง เนื่องจากปัญหาการเมืองทำให้ไม่มีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จะมาอนุมัติหลายเรื่องทั้งเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 2555/2556 เงินเพิ่มค่าอ้อยฤดูการผลิต 2556/57 ตลอดจนการแก้ไขระยะห่างของที่ตั้งโรงงานน้ำตาล แต่พบว่าการประชุมดำเนินไปได้ไม่ถึงชั่วโมงมีเกษตรกรชาวไรอ้อยจากจ.สระแก้วประมาณ 20 คน มารวมตัวบริเวณหน้าห้องประชุมขอพบเลขาธิการ สอน.จนการประชุมดำเนินต่อไม่ได้

โดยสาเหตุมาจากชาวไร่อ้อยกลุ่มนี้เรียกร้องขอให้แก้ไขระยะห่างของโรงงานน้ำตาลที่ปัจจุบันกำหนดว่าต้องไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร(กม.) ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ที่ประชุมกำลังหารือกันและในที่ประชุมมีความขัดแย้งกันเองด้วย โดยเฉพาะในผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลบางกลุ่มอยากให้คงเกณฑ์เดิมไว้เพื่อป้องกันการแย่งอ้อย ในขณะที่อีกกลุ่มอยากให้แก้ไขเพราะเห็นว่าปัจจุบันมีวิธีการบริหารจัดการไม่ให้แย่งวัตถุดิบได้

"ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลยเพราะไม่มี ครม.อนุมัติเรื่องทั้งเงินอ้อยขั้นสุดท้าย เงินเพิ่มค่าอ้อย ระยะห่างโรงงาน ทั้งหมดนี้ต้องเข้า ครม.ชุดใหม่"นายสมศักดิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

แจงสี่เบี้ย : กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (5)

จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า AFTA โดยมีกรมวิชาการเกษตรจัดอบรมเจ้าหน้าที่และผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรติดตามและประเมินผลโครงการ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวให้ได้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เมื่อประเทศไทยเปิดตลาดนำเข้ามะพร้าวผล เนื้อมะพร้าวฝอย และน้ำมันมะพร้าว ภายใต้กรอบการค้าเสรี AFTA เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงกับการเปิดตลาดเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า กองทุนฯ จึงได้ให้การสนับสนุนโครงการฯ ดังกล่าว ในงบประมาณ 9.26 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าว โดยการส่งเสริมปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าเพื่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต จะส่งเสริมการปลูกมะพร้าวพันธุ์ชุมพร 1 หรือสวี 2 ซึ่งเป็นพันธุ์ต้นเตี้ย สามารถดูแลรักษาได้ง่าย และให้ผลผลิตสูง ทั้งนี้ จะทดลองนำร่องจัดทำเป็นแปลงสาธิตปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่า ที่ต้นมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ให้เกษตรกรได้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อขยายผลให้พื้นที่ของตนเองต่อไปโดยมีเป้าหมายจัดทำแปลงสาธิตให้เกษตรกร 250 รายๆ 2 ไร่ ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

รายงานพิเศษ : เกษตรฯพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

สถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนถือเป็นปัญหาซ้ำซากประจำทุกปี ในบางปีอาจจะลากยาวมาตั้งแต่ปลายฤดูหนาวไปจนถึงกลางฤดูฝน และจะส่งผลให้เกษตรกรหลายรายต้องประสบปัญหาในการเพาะปลูก โดยเฉพาะเกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทานที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เลย หรือเกษตรกรบางรายต้องลงทุนเจาะน้ำบาดาล หรือซื้อน้ำมาเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ของตน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงวางแผนรับมือไว้ เพราะคาดว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำภาคกลางจะมีความรุนแรงที่สุด เนื่องจากน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ มีน้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยคือร้อยละ 53 และร้อยละ 60 ของความจุที่ระดับเก็บกัก และคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึงและเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคเพื่อการเกษตร และเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้วางแผนการใช้น้ำไว้ประมาณ 3,500 ลบ.ม. แต่ใช้ไปแล้วกว่า 80% ซึ่งน้ำที่เหลืออยู่ต้องใช้ไปถึงเดือนพฤษภาคม ถือว่าค่อนข้างวิกฤติ แต่ต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้ดี เพราะขณะนี้เริ่มเกิดสถานการณ์หลายอย่างตามมา เช่น น้ำเค็มหนุน อย่างไรก็ตามได้มีการประชุมหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการเตรียมปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในแหล่งกักเก็บหรือให้บริการในพื้นที่ที่เกษตรกรร้องขอ

โดยมีการปล่อยหน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งหมด 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ภาคเหนือ อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง อยู่ที่ จ.นครสวรรค์ ภาคอีสาน อยู่ที่ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก อยู่ที่ จ.ระยอง และศูนย์ภาคใต้อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการเหล่านี้ เพื่อให้บริการประชาชนตามขอบเขตที่กำหนด ตามนโยบายการเติมน้ำในอ่างของกรมฝนหลวง ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ให้กรมฝนหลวงตั้งหน่วยปฏิบัติการในช่วงฤดูแล้ง

ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้ทำนาปรังรอบ 2 เพราะน้ำที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งแผนเดิมที่ขอให้เกษตรกรทำนาในรอบแรกประมาณ 5 ล้านไร่นั้น เกษตรกรทำนาไปประมาณ 8 ล้านไร่ ทะลุเป้าไปเกือบ 100% กรมชลประทานก็ใช้น้ำสำรองที่มีอยู่ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว ถ้าเกษตรกรยังทำนาปรังในรอบที่ 2 น้ำที่มีอยู่นอกจากไม่พอแล้ว ยังไม่สามารถรักษาระบบนิเวศในการปล่อยมาไล่น้ำเค็ม หรือช่วยในเรื่องของอุปโภคบริโภค หรือในเรื่องอุตสาหกรรมก็จะกระทบไปด้วย

“หากมีการใช้น้ำเกินแผนที่ตั้งไว้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องเร่งติดตามและขอความร่วมมือ เฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้ใช้เกินกว่าปริมาณที่มีการวางแผนไว้ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนเราได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขอความร่วมมือกับทางจังหวัดในการแจ้งเกษตรกรให้ระงับการทำนาปรังรอบ หรือถ้ายังฝืนทำอยู่เมื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ขอให้ประกาศเป็นจุดๆ ไม่ควรประกาศเป็นภาพรวม อีกทั้งจะมีการนำเสนอ ครม.เพื่อให้ประกาศเป็นนโยบายว่าในพื้นที่ที่ประกาศห้ามไม่ให้ทำนานั้น จะไม่ได้รับการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังหากมีการฝ่าฝืน” ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าว

ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรต้องวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรสามารถประสานงานกับทางเกษตรตำบล หรือเกษตรอำเภอ หรือเกษตรจังหวัดได้ทุกแห่งทั่วประเทศ ส่วนในเรื่องการร้องขอเพื่อทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในกรณีที่ไม่มีน้ำ หรือพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไปแล้วจะเกิดความเสียหาย สามารถติดต่อโดยตรงไปที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง หรือเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรืออาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ได้ทันที

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

รัฐตั้งเป้าปี 58 ปลดล็อก “อ้อย-เครื่องนุ่งห่ม” 2 ใน 5 สินค้าห้ามนำเข้าในอเมริกา

รง.ร่วม พณ.-กต.วางมาตรการปลดล็อกสินค้า 5 รายการโยงใช้แรงงานเด็ก-บังคับ ตั้งทีมเฉพาะแต่ละกลุ่มสินค้าวางแผนแก้ปัญหา ดึงหน่วยงานรัฐ เอกชน-ไอแอลโอร่วมแก้ เล็งปลดล็อกสินค้าอ้อย-เครื่องนุ่งห่มตั้งเป้าภายในปี 2558

นายพานิช จิตร์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการเพื่อถอดสินค้าไทยที่ถูกสหรัฐอเมริการะบุว่า มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับใน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง อ้อย สื่อลามก และปลา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้นมาแต่ละกลุ่มสินค้าประกอบ ด้วยตัวแทนหน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาชนเพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติงาน ดำเนินงานและสรุปผลเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาให้ถอด รายการสินค้าแต่ละรายการออกจากการถูกระบุว่าการใช้แรงงานเด็กและแรงงาน บังคับให้ได้ในอนาคต

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะแต่ละกลุ่มรายการ สินค้าโดยให้ไปสำรวจว่าแต่ละกลุ่มสินค้ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ในพื้นที่ใดบ้างและจ้างบริษัทต่างชาติมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อหาข้อมูลว่าสหรัฐอเมริกากล่าวหาในประเด็นใดบ้างและช่วยชี้แจงทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ แก่สหรัฐอเมริกา และภาคธุรกิจในอเมริกา ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมแรกที่ไทยตั้งเป้าหมายจะเสนอปลดล็อกสินค้าใน 2 รายการก่อนคือ อ้อย และเครื่องนุ่งห่มโดยจะเสนอปลอดล็อกให้ได้ภายในปี พ.ศ.2558 เนื่องจากขณะนี้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าไปมาก

“หลังจากนี้คณะทำงานเฉพาะแต่ละกลุ่มสินค้า จะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปโดยในส่วนของสินค้าอ้อยและเครื่องนุ่งห่ม จะเชิญมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กในไร่อ้อย และมหาวิทยาลัยมหิดล(มม.) ทำวิจัยการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มาเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯเพื่อ วางแผนการดำเนินงานและลงพื้นที่สำรวจว่าพื้นที่ใดที่มีปัญหาการใช้แรงงาน เด็กและแรงงานบังคับ ส่วนกรณีอเมริกาต้องการให้ไทยเร่งดำเนินคดีใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ นั้น เวลาที่พนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ไปตรวจสถานประกอบการ หากพบว่ามีการกระทำผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายจะต้องออกหนังสือเตือนก่อน หากไม่แก้ไขจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้อเมริกาเข้า ใจในเรื่องนี้” นายพานิช กล่าว

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปภ. สรุปประกาศเขตภัยพิบัติแล้งแล้ว 16 จว. 62 อำเภอ เหนือ อีสาน ภาคละ 4 จว.

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งแล้ว 16 จังหวัด รวม 62 อำเภอ 356 ตำบล 2,867 หมู่บ้าน แยกเป็นภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ และ ชัยภูมิ   ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ตรัง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

สบอช.รายงานน้ำในเขื่อนหลัก16จว.เกิดภัยแล้ง

สบอช. รายงาน สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก ล่าสุด ยังเสี่ยงแล้งจัด และมี 16 จว. เกิดภัยพิบัติแล้งแล้ว
สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) รายงาน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณเก็บกักรวม 44,437 ล้าน ลบ.ม. (63%) มากกว่าปีที่แล้ว 3% และ มากกว่าปี 2548 (ปีแล้งมาก) 1% - อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ขนาดกลางมีปริมาณน้าเก็บกักรวม 2,970.69 ล้าน ลบ.ม. (68%) และมากกว่าปีที่แล้ว 12%

ส่วนพื้นที่ประกาศภัยพิบัติฝนทิ้งช่วง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ ตุลาคม 2556 - ปัจจุบัน กรม ปภ. มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวมทั้งสิ้น 16 จังหวัด 62 อำเภอ 356 ตำบล 2,867 หมู่บ้าน ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ ตาก บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชัยภูมิ สิงห์บุรี สระบุรี ชัยนาท ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ปราจีนบุรี และ ตรัง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557