http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2559)

อ้อยให้มากกว่าน้ำตาล

  ชีวอินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูอ้อย ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ยีสต์สายพันธุ์ MP15 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านอ้อยและน้ำตาลล้วนเป็นผลงานวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยมิตรผล อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่ต้องการส่งต่อความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนและโรงงาน เพื่อการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมแก้ปัญหา&ลดต้นทุน

"ศูนย์นวัตกรรมฯ มีหน้าที่ทำวิจัยสนับสนุนโรงงานแต่ละแห่ง โดยรับโจทย์ปัญหาและความต้องการของแต่ละแห่งมาวิเคราะห์วิจัย แล้วส่งคำตอบหรือแนวทางแก้ไขกลับไปยังโรงงานเจ้าของโจทย์ แต่ละปีจึงใช้งบวิจัยสูงมาก เพราะโรงงานในเครือมีอยู่มาก” อมรเทพ กงชัยภูมิ เจ้าหน้าที่บริหารข้อมูล บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด กล่าว

ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ก็ต้องขบคิดโจทย์ขึ้นมาเพื่อสร้างนวัตกรรมป้อนให้กับหน่วยธุรกิจในเครือมิตรผลด้วย เพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต ยกตัวอย่าง เชื้อราเขียวช่วยเรื่องรักษาสภาพแวดล้อม จากปกติการกำจัดศัตรูพืชส่วนใหญ่เกษตรกรนิยมใช้สารเคมี จึงต้องวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววิธีใช้ทดแทนสารเคมี

สำหรับเชื้อราเขียวมีอยู่ในธรรมชาติ มีความจำเพาะเจาะจงกับแมลงศัตรูอ้อย ปลอดภัยต่อการใช้งาน เมื่อวิจัยสำเร็จก็ได้ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตและวิธีใช้ให้แก่ชาวไร่ พบว่า ชีวอินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูอ้อยสามารถลดความเสียหายได้ 30% จากมูลค่าความเสียหายเดิม 113 ล้านบาทต่อปี

ถัดมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพที่ประกอบด้วย ธาตุอาหารพืชตามมาตรฐานการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ทั้งมีการเติมเชื้อจุลินทรีย์เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยและปรับปรุงดินในระยะยาว นักวิจัยได้ศึกษาเชื้อจุลินทรีย์แล้วนำไปผสมปั้นเป็นเม็ด เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี 25% และลดการนำเข้าหัวเชื้อปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 1.8 ล้านบาท

รวมถึงการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นแบบจำลองระบบสารสนเทศที่ช่วยวางแผนการจัดการและคาดการณ์ผลผลิตอ้อยรายเดือนที่มีความแม่นยำสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมได้ถึง 33% และสามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ทำให้โรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลลดค่าใช้จ่ายในการสำรวจแปลงได้ 1.2 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 30 ล้านบาทต่อปี ลดค่าความเสียหายอ้อย 120 ตันต่อปีและลดเวลาทำงาน 50%

“เราใช้เวลาพัฒนาระบบการตัดสินใจ 2 ปี เนื่องจากเป็นบิ๊กดาต้าที่มีระบบประมวลผลแทนคนตัดสินใจ ทั้งยังสามารถแจ้งข้อมูลให้ชาวไร่ได้ว่า ควรจะปลูกพันธุ์ไหน ให้น้ำเมื่อไร จะให้ผลผลิตเท่าไร สามารถคำนวณต้นทุนและผลผลิตได้ล่วงหน้า”

สร้างธุรกิจใหม่รองรับอนาคต

จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมิตรผล ที่ให้ความสำคัญในการทำวิจัยต่อยอดธุรกิจ ส่งผลให้แต่ละปีจะมีงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมออกมาจำนวนมากตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มจากไร่อ้อย โรงงานผลิตไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ไปถึงมือผู้บริโภค จุดตั้งต้นจากการปลูกอ้อยของชาวไร่ที่มีโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้เขาอยู่ได้ เมื่อมาถึงกระบวนการผลิตจะวิเคราะห์วิจัยว่า อ้อย 1 ตันควรจะได้น้ำตาลเท่าไรและจะมีกระบวนการที่สามารถเพิ่มผลผลิตและลดของเหลือจากกระบวนการผลิตได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น

 “เพราะอ้อยไม่ใช่แค่น้ำตาล อ้อยเป็นได้ทั้งเอทานอล พลังงานไฟฟ้า กรดแลคติกในอุตสาหกรรม การผลิตพลาสติกที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งเป็นโจทย์อนาคตของการทำวิจัยต่อยอดธุรกิจในกลุ่มมิตรผล"

นอกเหนือจากการรับโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละปี ทีมนักวิจัยก็ต้องมานั่งคิดต่อว่า ในอนาคตอ้อยจะเป็นอะไรได้อีกบ้าง และคุ้มค่ากับการลงทุนไหม เนื่องจากแนวทางการพัฒนาในอนาคตไม่จำกัดแค่น้ำตาล ยกตัวอย่าง ยีสต์สายพันธุ์ MP15 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นยีนต์สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาจากการคัดแยก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลให้สูงขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือโรงงานผลิตเอทานอล จากเดิมที่ต้องนำเข้ายีสต์จากประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งมีราคาแพงและประสิทธิภาพไม่ดีมากเพราะไม่ทนร้อน ผลจากการพัฒนายีสต์สายพันธุ์ MP15 ทำให้เพิ่มผลผลิตเอทานอลได้ 13 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

อมรเทพ กล่าวว่า ในอนาคตระยะยาวน้ำตาลอาจเปลี่ยนสถานะมาเป็นผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้(by product)จากธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากอ้อยโดยตรง เช่น พลังงานไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สุขภาพและยา จะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ สิ่งเหล่านี้ทางมิตรผลกำลังศึกษาข้อมูล

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

KBS จะกลับมาหอมหวานอีกครั้ง            

ปิดหีบประจำปี 58/59 ไปอย่างสตรอง!!!!! สำหรับ บมจ.น้ำตาลครบุรี หรือ KBS ขอบอก...ความแห้งแล้งของสภาพอากาศ ไม่ได้สะเทือนต่อปริมาณอ้อยเข้าหีบแต่อย่างใด แถมยังทำลายสถิติในปีก่อนอย่างราบคาบ ด้วยสถิติใหม่ 2.64 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 34% ...ย๊างง ยังไม่หมด ข่าวดีราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระเถิบขึ้นไปที่ 15 เซ็นต์/ปอนด์ ..หวาน 2 เท่า แถมดี 2 เด้งแบบนี้ เอาเป็นว่า ปีนี้..โปรดติดตาม อาจจะถึงเวลา KBS จะกลับมาหอมหวานอีกครั้งแล้วมังคะ..ท่านผู้โช้ม!!!!!

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

“พาณิชย์” เผยส่วนใหญ่หนุนไทยเข้าร่วม TPP เตรียมเสนอผลศึกษาให้นายกฯ พิจารณา พ.ค.นี้  

         “พาณิชย์” เผยผลรับฟังความคิดเห็น ส่วนใหญ่หนุนไทยเข้าร่วมข้อตกลง TPP หวั่นไม่ชัดเจนจะกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ หลังคู่แข่งในอาเซียน 4 ประเทศเข้าร่วมแล้ว และยังมีอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ประกาศเข้าร่วม ส่วนภาคเกษตรกังวลเรื่องใช้เมล็ดพันธุ์พืช GMOs แต่เอาเข้าจริงไม่กระทบ เตรียมแจงต่ออีกหลายจังหวัด พร้อมนำผลสรุปชงอนุกรรมการศึกษา TPP พิจารณา ก่อนชงนายกฯ ประกาศท่าทีไทยเดือน พ.ค.นี้

                นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับฟังความคิดเห็นในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรและภาครัฐในส่วนกรุงเทพฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าการเข้าร่วม TPP จะเกิดประโยชน์ต่อไทย แต่ในด้านผลกระทบนั้นจะต้องมีมาตรการดูแลให้รอบคอบและชัดเจน และเห็นอีกว่าการรับฟังความคิดเห็นในกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ ต้องรับฟังความคิดเห็นในส่วนของต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ซึ่งกระทรวงฯ ได้เริ่มลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นแล้ว

                ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกร ได้ทำแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่แม่สอด จ.ตาก จ.นครศรีธรรมราช และล่าสุดที่ จ.อุบลราชธานี โดยมีผู้แทนสภาเกษตรกรจาก 20 จังหวัดในภาคอีสานกว่า 150 คนเข้าร่วม ซึ่งได้มีการชี้แจงในประเด็นที่เกษตรกรยังมีความกังวล เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้สำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ ไม่ได้มีการห้าม แต่ห้ามนำไปเพาะปลูกแล้วนำเมล็ดพันธุ์ไปใช้ทางการค้า ส่วนเรื่องพืช GMOs ในความตกลง TPP กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น ไทยยังกำหนดเงื่อนไขในการดูแลได้ตามกฎหมาย คือ เมล็ดพันธุ์ใช้ในแปลงทดลองได้ แต่ห้ามนำไปใช้เพาะปลูกเชิงพาณิชย์

                นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อพันธุ์พืชท้องถิ่นที่อาจสูญหายจากการปรับปรุงพันธุ์ และยังขาดการพัฒนาพันธุ์ให้ทัดเทียมกับต่างชาติ รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ที่ขอรับการคุ้มครองของไทย ซึ่งกระทรวงฯ จะประสานไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป

                อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนภาคการเกษตร เช่น ขอให้มีศูนย์เพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์ชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เช่น ข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นโดยใช้ต้นทุนต่ำ การให้ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง การจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเพิ่มผลผลิต และการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งกระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการและถือเป็นนโยบายอยู่แล้ว

                สำหรับการลงพื้นที่ครั้งต่อไปมีกำหนดการจะเดินทางไปที่ จ.จันทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี สงขลา พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร และให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความตกลง TPP

                นายวินิจฉัยกล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นมาทั้งหมด ทำให้ทราบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยและสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมความตกลง TPP เพราะช้าไปแล้ว ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเข้าไม่เข้า แต่ไทยต้องประกาศให้ชัดว่าจะเข้า ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบประเทศในอาเซียนที่เข้าไปแล้ว อย่างเวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เพราะนักลงทุนเวลาจะมาลงทุนก็จะมองผลประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นที่ตั้ง ถ้าไทยไม่เข้าก็จะเสียเปรียบ

                “ถ้าเราไม่เข้า ค่อนข้างมีผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนและเงินทุนที่จะเข้ามา เพราะนักลงทุนจะมองโอกาสในการลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นที่ตั้ง ดูอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่ประกาศจะเข้าร่วม TPP นักลงทุนก็เกิดความมั่นใจ เป็นผลทางจิตวิทยา ถ้าไทยไม่ชัดเจน ก็จะมีปัญหาได้ เพราะกฎกติกาทางการค้า ถ้าเราไม่ปรับตอนนี้ ต่อไปก็ต้องปรับอยู่ดี เพราะยังมี RCEP ที่กำลังเจรจากันอยู่ รวมไปถึง FTAAP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

                ส่วนทางด้านผลกระทบ เท่าที่รับฟังความคิดเห็นมา มีความกังวลในประเด็นสิทธิบัตรยา เช่น การชดเชยความล่าช้าในการจดสิทธิบัตร การการขึ้นทะเบียนยาที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยปรับปรุงกระบวนการภายในประเทศ และยังกังวลในเรื่องการคุ้มครองยาที่นานเกินไป รวมทั้งยังมีความกังวลในภาคปศุสัตว์ซึ่งเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องในหมูและชิ้นส่วนไก่

                นายวินิจฉัยกล่าวว่า จะรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นทั้งหมด ทั้งผลดี ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขเสนอให้คณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 27 เม.ย. 2559 และจากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประกาศท่าทีของไทยในการเข้าร่วม TPP ต่อไป

 จาก http://manager.co.th วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

สมคิดแนะทุกฝ่ายร่วมแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ

รองนายกฯ สมคิด แนะทุกฝ่ายร่วมแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ ดัน จีดีพี ในอนาคต หากไม่เร่งทำ อีก 5 ปี อาจหลุด 3%

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลพิเศษ ได้เข้ามาบริหารประเทศ จะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งผลักดันผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ รวมทั้ง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหา โดยเฉพาะความสมดุลที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป หากปล่อยไว้และไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจ อาจสร้างปัญหาให้ประเทศในอนาคตและจีดีพีปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าร้อยละ 3 ได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศในอนาคตเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้จะต้องมี 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การสร้างสมดุลในประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งโดยเพิ่มกำลังซื้อ เพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย 2.การสร้างการส่งออกให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และ 4.การสร้างกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ เพื่อตอบโจทย์การแข่งขันกับประเทศอื่นได้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เอดีบีชี้เศรษฐกิจเอเชียยังไม่ฟื้น

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย คาดเศรษฐกิจจีนโตต่ำ-ชะลอตัวต่อปี 2017 กระทบทั่วเอเชีย

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะชะลอตัวอยู่ที่ 5.7% ในปี 2016-2017 โดยลดลงจาก 5.9% ในปี 2015 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้า ทำให้การลงทุนของจีนในประเทศเหล่านี้ลดลง รวมทั้งการส่งออกไปยังจีนก็ลดลงด้วย

รายงานการคาดการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจประจำปี 2016 ของเอดีบี ระบุว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนจะอยู่ที่ 6.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดจากเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 6.5-7% ในปี 2016 และคาดว่าจะชะลอตัวต่อไปในปี 2017 อยู่ที่ 6.3% ประกอบกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมหลักทั่วโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เคาะแผนส่งเสริม4กลุ่มอุตฯอนาคต   

          "อรรชกา"ดัน 4 กลุ่มเป้าหมาย"ไบโออีโคโนมิก -ดิจิทัลอีโคโนมี-โลจิสติกส์-หุ่นยนต์" เป็นฐาน หลักอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมปรับบทบาทสถาบันภายใต้กระทรวงอุตฯ รองรับ 10 อุตฯเป้าหมาย เล็งควบรวม "สถาบันเพิ่มฯสถาบันไอเอสโอ"

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม10 อุตสาหกรรม เป้าหมาย ว่า โดยเบื้องต้นจะผลักดัน 4 กลุ่ม เป้าหมายก่อน คือ 1.ไบโออีโคโนมิกส์ โดยจะเน้น ต่อยอดพืชที่มีความสำคัญ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ว่าสามารถพัฒนาทิศทางใดได้บ้าง

          2.ดิจิทัลอีโคโนมี เบื้องต้นจะเน้นส่งเสริมเรื่องอี-คอมเมิร์ซ และหาแนวทางผลักดัน เพิ่มเติมอีก3.โลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้กำลังทบทวนปัญหาและแนวทางส่งเสริม โดยให้ความสำคัญในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดก่อน และ4.หุ่นยนต์ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก่อให้ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยทั้งหมดจะต้องรวบรวมความต้องการของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีกครั้ง สำหรับการประชุมคณะกรรมการมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรมแห่งชาติ (สปริงบอร์ด) ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการปรับบทบาท โดยสถาบันที่มีความชัดเจน ได้แก่ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและสถาบัน ไอเอสโอที่จะต้องมีการดำเนินงานร่วมกัน สถาบันสิ่งทอที่จะเพิ่มบทบาทด้านการออกแบบมากขึ้น

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการปรับปรุงการทำงานของ 11 สถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยในระยะสั้นจะต้องปรับบทบาทไปสู่การสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และในระยะกลางจะพิจารณาปรับโครงสร้างการบริหารงานให้เหมาะสม มีรายได้ในการเลี้ยงตัวเอง และมีเพียงพอในการสานต่องานวิจัยพัฒนาต่างๆ

          โดยในระยะสั้น สถาบันไทย-เยอรมัน จะขยายขอบข่ายไปสู่การวิจัย พัฒนา ส่งเสริม เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมในประเทศ เพราะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเครื่องจักรกลต่างๆ ส่วนสถาบันสิ่งทอ จะปรับบทบาทไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่น และดีไซน์ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

          ส่วนสถาบันอาหารจะปรับบทบาทไปสู่การวิจัย พัฒนา อาหารฟังก์นัล ฟู๊ด เพื่อยกระดับการแปรรูปอาหารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเจาะจงในทุกกลุ่ม สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมุ่ง พัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ เครื่องไฟฟ้าอัจฉริยะ  สถาบันพลาสติก จะพัฒนา ไปสู่ไบโอพลาสติก และพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีมูลค่าสูง ด้านสถาบันก่อสร้าง จะพัฒนาไปสู่การสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อรับงานในต่างประเทศ

          ในขณะที่ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อาจจะใช้โมเดลของประเทศสิงคโปร์มาปรับภารกิจของ 2 สถาบันนี้ ด้านสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จะปรับภารกิจขยายไปสู่งานส่งเสริมอุตสาหกรรมโลหะทุกชนิด สำหรับสถาบันยานยนต์ ก็จะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาให้การส่งเสริมในการผลิต รถยนต์ไฮบริดจ์ปลั๊กอิน และรถไฟฟ้า ที่เป็นรถยนต์แห่งอนาคต โดยสถาบันฯจะต้องเตรียมผลิตบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต

          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล กล่าวว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมนี้ จะมีบทบาทในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงทานต่ำกว่าไทยได้ และมีคุณภาพการผลิตที่สูงเพื่อยกระดับราคาสินค้า ปรับโครงสร้างการบริหารงานให้มีรายได้ในการเลี้ยงตัวเอง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

สรท.คงเป้าส่งออกปีนี้ที่0-2% ชี้ไตรมาสแรกส่อติดลบ5.86% จี้รัฐรื้อระบบราชการสู้คู่แข่ง 

          นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่ง สินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สภาผู้ส่งออกฯ ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงเดิมยังคงอยู่และเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้น อาทิ ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อ ผู้บริโภค และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผลต่อทั้งกลุ่มประเทศโอเปก และรวมถึงตลาดสำคัญอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่คาดการณ์ว่าจะส่งออกสินค้าเกษตรลดลงประมาณ 10% คิดเป็น 125,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังอยู่ระหว่าง การปรับฐาน และการส่งออกที่หดตัว ต่อเนื่อง

          รวมทั้งการหดตัวของการส่งออก ไปยังตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) การสู้รบในตะวันออกกลาง และความตรึงเครียดในเอเชียตะวันออกและทะเลจีนใต้ เหตุการณ์ก่อการร้ายในหลายแห่งทั่วโลก ความผันผวนของตลาดการเงินและผลกระทบต่ออัตรา แลกเปลี่ยน ผลกระทบจากไวรัสซิกาและการออกมาตรการตรวจสอบสินค้า/ตู้สินค้าที่ขนส่ง ระหว่างประเทศ และสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ

          นายนพพรกล่าวว่า สิ่งที่เอกชน อยากเห็น คือ การปฏิรูประยะยาว โดยเฉพาะ ระบบราชการ หากรัฐบาลชุดนี้ไม่เร่งดำเนินการ คงยากที่จะเกิดขึ้นในรัฐบาลต่อๆ ไป ซึ่งหากยังคงใช้ระบบราชการ ในรูปแบบปัจจุบัน ประเทศไทยคงแข่งขัน กับตลาดโลกได้ยาก ดังนั้น มีความต้องการ ให้ปฏิรูประยะยาวอย่างจริงจัง อาทิ การรวม กระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การขออนุญาต และการติดต่อประสานงานได้เร็วขึ้น และหากรัฐบาลชุดนี้ไม่รีบแก้ไข เมื่อรัฐบาล ชุดใหม่ที่มีนักการเมืองเข้ามา ระบบราชการ คงจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขส่งออก ในเดือนมี.ค. 2559 มีทิศทางที่จะติดลบถึง 5% ส่งผลให้ภาพรวมตัวเลขส่งออก ในไตรมาสแรกของปีนี้จะติดลบสูงถึง 5.86% สูงกว่าเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบ 4.5-5% ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญ อย่างสหรัฐมีการฟื้นตัวแต่ยังไม่มาก ส่วนญี่ปุ่น ยุโรป และจีนมีการชะลอตัวอย่างเห็น ได้ชัด แม้ยุโรปมีทิศทางที่ดี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : ภัยแล้งผลกระทบภาคเกษตร

จากภาวะภัยแล้งในปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บกักใน 33 เขื่อนหลัก และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้หลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งทั้งในและนอกเขตชลประทาน มีน้ำไม่เพียงพอต่อทำการเกษตรสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรในวงกว้าง เนื่องจากต้องเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการบริโภคอุปโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลักก่อน

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สำรวจความเสียหายที่เกิดจากภาวะภัยแล้งในปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 2.87 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เสียหายจริงที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยสามารถแยกเป็นพื้นที่เสียหายสิ้นเชิง ได้แก่ ข้าว 2 ล้านไร่ พืชไร่ 862,628 ไร่ พืชสวน 5,348 ไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 272,743 ราย สำรวจพบความเสียหายแล้วคิดเป็นปริมาณผลผลิต 6.10 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่า 15,514 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6,955 ล้านบาท คิดเป็น 45% ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6,240 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าความเสียหายรวม ส่วนภาคตะวันออก และภาคตะวันตกมูลค่าความเสียหาย 1,279 ล้านบาท ภาคกลาง มีมูลค่าความเสียหาย 1,017 ล้านบาท ภาคใต้ มูลค่าความเสียหาย 21 ล้านบาท

ผลกระทบจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นรุนแรงในปีที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีพืชตาย หรือเสียหายโดยสิ้นเชิง จะได้รับการช่วยเหลือตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท

นอกจากการช่วยเหลือเป็นเงินเยียวยาแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถดำรงชีวิตผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการบูรณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการ 45 โครงการ เช่น การจ้างงานของกรมชลประทาน สนับสนุนปัจจัยการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชน้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว การยกเว้นค่าเช่าที่ดิน ส.ป.ก. เป็นต้น โดยมีการขับเคลื่อนงานผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมดำเนินการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 32,384.54 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 11,272.21 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรวมแล้ว 1.48 ล้านราย

สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 น่าจะดีกว่าปี 2558 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะตกอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีปริมาณฝนที่สูงขึ้นกว่าปี’58 อีกทั้งจากนักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศในแห่ง ได้วิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งจะค่อยๆ ลดระดับความรุนแรง และตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ที่จะทำให้ปริมาณน้ำฝนตกมากขึ้นกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการทำการเกษตร

“แม้สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะมีความรุนแรงไม่มากเท่ากับปี’58 แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ในหลายกิจกรรมก็ยังดำเนินการต่อเนื่องที่สำคัญขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ นำเสนอโครงการแผนงานที่จะสามารถลงไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง สามารถเห็นผลสัมฤทธิ์ระยะสั้นช่วง 3 เดือน และ6 เดือนนี้ พร้อมกันนั้น ยังมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทำอาชีพเกษตร ทั้งความเสี่ยงของผลผลิตที่เสียหายจากภัยพิบัติและผลกระทบด้านราคา ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย” นายสุรพงษ์ กล่าวย้ำ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ขยายผลพัฒนาการเกษตรครบวงจร กษ.ลุยเพิ่มประสิทธิภาพผลิต-ลดต้นทุนพื้นที่มีศักยภาพ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา มีพื้นที่โครงการทั้งหมด 310,313 ไร่ เป็นพื้นที่รับประโยชน์ 91,073 ไร่ และมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 43,150 ราย โดยเป็นเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 6,322 ราย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 399,974,365 บาท โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพพืช ประมง และปศุสัตว์ การปรับปรุงบำรุงดิน การปรับปรุงระบบชลประทาน การรวมกลุ่มอาชีพ

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ดำเนินการประเมินผลโครงการ พบว่า ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการไม่แตกต่างกัน คือ เฉลี่ย 19.38 ไร่ต่อครัวเรือน และมีกิจกรรมทางการเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยกเว้น การปลูกข้าว คือ ปลูกข้าวนาปรังลดลง เนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้ง การถ่ายทอดความรู้และการนำไปปฏิบัติ โดยได้รับความรู้จากการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ ร้อยละ 90.86 และส่วนใหญ่มีการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปปฏิบัติ

โดยเฉพาะด้านพืช ถึงร้อยละ 97.47 การได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการนำไปใช้ โดยได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต คิดเป็นร้อยละ 85.71 ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยการผลิตด้านพืช คิดเป็นร้อยละ 90.67 เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชผัก พันธุ์ไม้ผล เป็นต้น รองลงมา คือปัจจัยการผลิตด้านประมง ร้อยละ 60.67 ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่นำปัจจัยการผลิตไปใช้ โดยเกษตรกรที่ได้รับปัจจัยด้านประมงและการผลิตสินค้าปลอดภัย นำไปใช้ร้อยละ 100 และด้านพืช นำไปใช้ร้อยละ 99.18

นอกจากนี้ ผลผลิตทางการเกษตร พบว่า มีผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตกาแฟ ทุเรียน และปาล์ม ด้านต้นทุนการผลิต พบว่า หลังมีโครงการต้นทุนการต่อหน่วยลดลงทุกรายการ เช่น กาแฟ ต้นทุนต่อหน่วยลดลง 429.93 บาท ยางพารา ต้นทุนต่อหน่วยลดลง 2.99 บาท เป็นต้น

“สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 จะนำหลักการและแนวทางการลดต้นทุนการผลิต การทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ การทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเกษตรอินทรีย์ มาพิจารณาประกอบ รวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินงานกับศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ 882 ศูนย์ด้วย” นายธีรภัทร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559 

โรงงานน้ำตาลจัดประชุม Sugar Conference

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กำหนดจัดประชุม Bangkok Sugar Conference เชิญภาคธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมน้ำตาลทั่วโลกเข้าร่วม หวังส่งเสริมด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะทำงานประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ อันดับ 2 ของโลก จึงมีแนวคิดเชิญชวนประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรน้ำตาลอาเซียน หรือ ASEAN Sugar Alliance (ASA) ซึ่ง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้กำหนดจัดประชุม Bangkok Sugar Conference และงาน Sugar Dinner ระหว่างวันที่ 14 - 15 กรกฎาคม 2559 นี้ โดยคาดว่า จะมีผู้แทนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมน้ำตาลจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 250 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าน้ำตาลของไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ โดยในโอกาสนี้ไทยจะจัดประชุม เชิญผู้แทนภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลของสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมด้วย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และ สปป.ลาว เพื่อร่วมมือจัดตั้ง ASA และรวมพลังกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลของสมาชิกอาเซียน เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย มีการส่งออกน้ำตาลไปยังภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด โดยมีปริมาณการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 45 จากปริมาณการส่งออกทั้งหมดในแต่ละปี โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งหวังว่า ความร่วมมือกันภายใต้ ASA จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมน้ำตาลในอาเซียนมากขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

'บิ๊กฉัตร'สั่งปรับแผนการฝนหลวง ชี้สภาพอากาศอำนวยช่วงเม.ย.นี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมปรับแผนการปฎิบัติการฝนหลวง ช่วงเดือนเม.ย. โดยปรับเปลี่ยนจำนวนเครื่องบิน และตำแหน่งที่ทำฝนหลวง มุ่งเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งเติมน้ำในเขื่อนเป็นหลัก ทั้งนี้จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศมีแนวโน้มฝนตกครอบคลุมทั้งประเทศในช่วงดังกล่าว ที่ผ่านมาได้ขึ้นบิน 105 เที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 5-25 มี.ค. ทำให้มีฝนตก 21 จ. พื้นที่ฝนตก6.8 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำลงเขื่อน 15.8 ล้านลบ.ม. ในช่วงเดือนหน้า คาดว่าดำเนินการฝนหลวงจะทำได้10-20 เปอร์เซนต์เพราะสภาพอากาศอำนวย

ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าเมื่อวันที่ 29-30 มี.ค.มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปากอ่าวเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าคาดไว้ถึง 50 เซนติเมตร ทำให้ค่าความเค็มดันขึ้นมาเพิ่มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวัง ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบผลิตประปา กรุงเทพฯ มีค่าความเค็ม 0.5 กรัมต่อลิตร เกินจากค่าเฝ้าระวังที่ 0.25 กรัมต่อลิตร จึงได้เพิ่มปริมาณระบายน้ำจากเขื่อนพระราม 6  อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา 20-25 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้มีอัตราการไหลที่ อ.บางไทร 110 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อมาไล่น้ำเค็มทำให้เจือจางลงได้ โดยวัดเมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้เหลือ 0.25 กรัมต่อลิตร ซึ่งการประปาฯได้หยุดสูบช่วงค่าความเค็มเกิน รวมทั้งได้นำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง มาช่วยผลิตประปาด้วย  หลังจากนี้น้ำทะเลหนุนสูงอีกช่วงวันที่ 8-9 เม.ย.แต่น่าปลอดภัยกว่าเดือนมี.ค.เพราะที่ผ่านมาหนุนถึงวันละสองรอบ  ยืนยันคนกรุงเทพฯไม่กินน้ำกร่อยแน่"

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่าแผนการทำฝนหลวงจะเน้นภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 4 ล้านลบ.ม. ไม่ถึง1 % ได้เริ่มปฎิบัติการวันที่29 มี.ค.ถึง 25 เม.ย. สามารถขึ้นดำเนินการได้แนวโน้มสภาพอากาศอำนวย บริเวณลุ่มน้ำป่าสัก รวมทั้งภาคตะวันตก เติมน้ำเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

พลังงานไทย-เมียนมาแน่นแฟ้น มีโอกาสซื้อไฟ/ก๊าซธรรมชาติเพิ่ม

 “อนันตพร” ย้ำสัมพันธ์รัฐบาลเมียนมายังแนบแน่น ล่าสุดหารือสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามายตง 7 พันเมกะวัตต์ ยังเป็นไปตามแผน พร้อมดูโอกาสขยายรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งยาดานา-เยตากุน-ซอติก้าใกล้หมด ยังมีความหวังที่รัฐบาลเมียนมาจะส่งก๊าซจากแหล่งเปิดสัมปทานใหม่ให้ เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงผลิตไฟฟ้า

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมายังคงมีความแน่นแฟ้น แม้เมียนมาจะเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ล่าสุดทางกระทรวงพลังงานได้มีการหารือกับทางกระทรวงไฟฟ้า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อร่วมหารือและติดตามความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังคงเป็นไปตามข้อตกลงเดิม ที่รัฐบาลเมียนมาชุดเก่าจะส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลในสัญญาดังกล่าวโดยเบื้องต้นตามสัญญาจะมีการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง 7 พันเมกะวัตต์ และในอนาคตอาจมีการขยายสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งหารือกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซที่ส่งเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าในประเทศไทย รวมประมาณ 1.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และรัฐบาลเมียนมาจะมีการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ต่อเนื่อง หากสำรวจพบก๊าซในแหล่งใหม่ก็มีโอกาสที่จะนำก๊าซจากแหล่งดังกล่าวเข้ามาป้อนโรงไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนแหล่งก๊าซเดิมที่ลดลงได้

สำหรับโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบ Floating Storage Regasification Unit (FSRU) ขนาด 3 ล้านตัน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจาก 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เมือง KANBAUK เป็นจุดที่รับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุน และยาดานา เพื่อส่งกลับมายังไทย และพื้นที่เมืองทวาย โดยทั้งสองพื้นที่อยู่ห่างกันประมาณ 100 กม. ซึ่งโครงการคลังแอลเอ็นจีดังกล่าวจะส่งก๊าซผ่านท่อกลับมา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในฝั่งตะวันตกของไทย

“ที่ผ่านมาได้หารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเยาม่า ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ การซื้อ-ขาย ไฟฟ้าปริมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งทางรัฐมนตรีไฟฟ้า เมียนมา ได้เน้นย้ำว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมหารือในทุกโครงการร่วมกันมาโดยตลอด และจะยังหารือร่วมกันต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็จะมีการจัดทำรายงานและส่งมอบนโยบายสำคัญให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้าบริหารประเทศต่อไป”

พล.อ.อนันตพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีโครงการคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แล้วนั้น ในส่วนของผู้ลงทุนคงเป็น ปตท. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีศักยภาพลงทุน อย่างไรก็ตามทาง กฟผ. เสนอโครงการลงทุนคลังแอลเอ็นจี FSRU เพื่อป้อนก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ส่วนตัวเห็นว่าท่อส่งก๊าซควรเป็นระบบเดียวกัน เพราะหากเกิดปัญหาก๊าซจะสามารถนำก๊าซในระบบมาเสริมได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตสาหกรรม ผนึก ก.สิ่งแวดล้อม ญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม 

         เมื่อเร็วๆ นี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม-อาทิตย์ วุฒิคะโร พร้อม จุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับ Mr. Soichiro SEKI ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น

        โครงการความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองกระทรวง โดยฝ่ายไทยจะขอรับการสนับสนุนการจัดทำเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับการขนส่งและจัดตั้งสถานีขนถ่ายกากอุตสาหกรรม การจัดทำคู่มือการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรม และการส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาให้คำปรึกษาแนะนำในด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมให้แก่กระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

        โครงการนี้เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและต่างประเทศ ของแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558-2562 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 และรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ

        Mr. Soichiro SEKI ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีชาวญี่ปุ่นพักอาศัยในประไทยมากกว่า 70,000 คน และมีบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจในไทยมากกว่า 1,000 บริษัท กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น มีความยินดีที่จะสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และหวังว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

กกร.เผยภาคเอกชนกังวลเงินบาทแข็งค่าหวั่นกระทบการส่งออก

        นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาท ที่แข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เพราะสินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น

         ปัจจุบันค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นมาอยู่ระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือแข็งค่ามากขึ้นจากช่วงต้นปีที่ค่าเงินบาทอยู่ระดับ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างเร่งด่วน

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : ‘เขื่อน’หรือ‘ป่า’ช่วยแก้วิกฤติภัยแล้ง?

ภัยแล้งในครั้งนี้...ดูเหมือนว่า “เขื่อน” จะกลายเป็นจำเลยกลายเป็นผู้ร้ายอีกครั้ง

“...เขื่อน ไม่เห็นช่วยภัยแล้งได้เลย มีเขื่อนก็ไม่มีน้ำ นาปรังก็ไม่ได้ทำ นาปีก็ต้องเลื่อน แล้วอย่างนี้จะสร้างเขื่อนทำไม... นี่คือข้อความที่เขียนกันในโซเซียลต่างๆ แถมกลุ่มต่อต้านการสร้างเขื่อนยังออกมาสนับสนุนอีก ด้วยว่า “...เขื่อน คือ ตัวทำลายป่า เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีน้ำ...” นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกมากมายที่ทำให้ผู้ที่ได้อ่านเข้าใจว่า “เขื่อน” เป็นผู้ร้ายทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

ในขณะที่ “ป่า” ได้เป็นพระเอก เพราะเอ็นจีโอบอกว่าป่าคือแหล่งกักเก็บน้ำถาวร ในขณะที่เขื่อนคือแหล่งกักเก็บน้ำชั่วคราว ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำได้เลย และยังเป็นผู้ทำลายป่า

หากได้อ่านแล้วไม่คิดตริตรองก่อน ต้องต่อต้านการสร้างเขื่อนทุกรูปแบบ แน่นอน !!!

ป่า...เป็นพระเอกข้อนี้น่าจะเป็นจริง เพราะป่ามีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดูดซับและกักเก็บน้ำ เอาไว้ในพื้นดิน และซึมลงไปเป็นน้ำใต้ดิน จากนั้นค่อยๆ ระบายลงสู่ลำห้วย ลำธารอย่างช้าๆ ทำให้มีน้ำไหลในลำธารตลอดทั้งปี เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรม สามารถป้องกันและลดความรุนแรงจากภัยธรรมชาติต่างๆ ช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ช่วยป้องกันแม่น้ำลำธารไม่ให้ตื้นเขิน ป้องกันการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดิน ช่วยลดตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณอาหารให้แก่สัตว์น้ำในแหล่งน้ำตอนล่าง เป็นต้น

ในขณะที่ “ป่า” ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง แล้ว “เขื่อน”คือ ผู้ร้ายทำลายป่า จนเกิดปัญหาภัยแล้ง และเขื่อนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ถาวรจริงหรือ?

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี มีการเปลี่ยนสภาพป่าไม้เป็นพื้นที่น้ำ และอาคารชลประทานประเภทเขื่อน รวมกันไม่เกิน 2 ล้านไร่ หรือร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมทั้งหมดในปัจจุบัน หรือ ประมาณร้อยละ 3 ของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปทั้งหมดเท่านั้น

พื้นที่ป่าของประเทศไทยมีอยู่เท่าไร และอะไรคือสาเหตุสำคัญของการสูญเสียป่า?

ข้อมูลจากเวทีสัมมนาเรื่อง ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้านทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปี 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 171 ล้านไร่ หรือร้อยละ 53 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนปัจจุบันป่าเหลืออยู่เท่าไรนั้น มีข้อมูลจากกรมป่าไม้ระบุว่า ในปี 2555 ป่าไม้เหลืออยู่ 108 ล้านไร่ และการสำรวจล่าสุดเมื่อ 2558ที่ผ่านมามีพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือแค่ 102 ล้านไร่เท่านั้น นั่นหมายความว่าระยะเวลา 54 ปีที่ผ่านมา เราต้องสูญเสียป่าไปถึง 69 ล้านไร่ หรือปีละกว่า 1.2 ล้านไร่ ในจำนวน 69 ล้านไร่ที่สูญเสียไป เป็นการเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำ เพราะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำไม่ถึง 2 ล้านไร่ และถ้าหากคิดเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เป็นการสร้างเขื่อน ยิ่งสูญเสียป่าน้อยลงไปอีกหลายเท่า...แล้วอย่างนี้จะว่า

“เขื่อน” คือ ผู้ทำลายป่า คงไม่ถูกต้องนัก!!!

สาเหตุสำคัญของการสูญเสียป่า ก็คือ การบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง โดยมีขบวนการตัดโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ ทั้งไม้สัก ไม้พะยูง นอกจากนี้ ยังมีการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำกิน ทำเกษตรกรรม ปลูกยางพารา สวนปาล์ม หรือแม้แต่สร้างรีสอร์ท ส่งผลทำให้สภาพป่าในแทบทุกพื้นที่เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม ระบบนิเวศน์ป่าขาดสมดุล สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ก็จะรุนแรงขึ้น


จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า “เขื่อน” ไม่ใช่ตัวการทำลายป่าดังนั้นสาเหตุของความแห้งแล้ง จึงไม่น่าจะมาจากการสร้างเขื่อนเช่นกัน

สมเกียรติ ประจำวงษ์

แล้ว...วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ มาจากอะไร

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ในช่วงปี 2556-2558 ฝนตกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในฤดูฝนปี 2558 ที่ผ่านมาปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก สาเหตุสำคัญ น่าจะมาจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่เกิดขึ้น ส่วนสาเหตุที่ฝนตกน้อยเนื่องจากป่าไม้ถูกทำลายนั้น ก็อาจจะมีผลเช่นกันเพราะป่าให้ความชุ่มชื่น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาปริมาณน้ำที่ไหลลงเขื่อนจำนวนมากส่วนใหญ่จะมาจากมรสุมเป็นหลัก

“น้ำ” จะมาจากฝนที่ตก โดยเฉลี่ยต่อปีแล้วจะมีฝนตกลงมาในประเทศไทยประมาณ 736,800 ล้านลบ.ม. โดยส่วนใหญ่จะตกในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ในจำนวนนี้จะซึมลงสู่พื้นดินเป็นน้ำบาดาลประมาณ 102,800 ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งก็จะระเหยไปในอากาศ ถูกดักอยู่ตามต้นไม้ ชั้นดิน หลุม บ่อต่างๆ ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีปริมาณเท่าไร แต่ที่เหลือจะอยู่บนผิวดินซึ่งเรียกว่า “น้ำท่า” มีประมาณ 185,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ทั้งประเทศมีความต้องการใช้ประมาณ 151,750 ล้าน ลบ.ม.

หากพิจารณาระหว่างปริมาณน้ำท่าที่มีอยู่ กับความต้องการใช้น้ำของประเทศก็น่าจะเพียงพอ แม้ในปีที่ผ่านมาปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม แต่ที่ไม่เพียงพอเพราะเราไม่สามารถกักเก็บน้ำท่าไว้ได้ทั้งหมด และแหล่งกักเก็บน้ำที่มีอยู่ก็ไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเราสามารถกักเก็บน้ำท่าไว้ได้ประมาณ 79,900 ล้านลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ ที่สามารถควบคุมได้จะมีปริมาณน้ำที่จัดสรรใช้ในกิจกรรมต่างๆทั้งสิ้นประมาณ 102,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ยังขาดอีกประมาณ 49,800 ล้านลบ.ม.ต่อปี ถึงจะเพียงพอกับความต้องการ

แนวทางที่จะทำให้น้ำมีเพียงพอกับความต้องการ มีอยู่ 3 แนวทางหลักๆคือ 1.ลดปริมาณการใช้ลงให้สมดุลกับปริมาณที่สามารถกักเก็บได้ 2.ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บ

แต่...เมื่อดำเนินการทั้ง 2 แนวทางแล้ว ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องดำเนินแนวทางที่ 3 คือ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ทุกรูปแบบ ซึ่งหมายถึงจะต้องสร้าง “เขื่อน” สร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

ป่าไม้...แม้จะช่วยดูดซับและกักเก็บน้ำ แต่เราไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เช่น วันนี้ต้องการใช้น้ำ 10 ล้าน ลบ.ม. เราไม่สามารถที่จะจุดธูปขอเจ้าป่า เจ้าเขาปล่อยน้ำออกมาให้ 10 ล้านลบ.ม.ได้ จำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการควบคุมน้ำนั่นก็คือ การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำตามศักยภาพของแต่ละลุ่มน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลออกมาจากป่า และน้ำฝนที่ตกลงมา ไม่ให้ไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จากนั้นก็นำมาจัดสรรใช้ในกิจกรรมต่างๆ ให้เพียงพอกับความต้องการ

ยิ่งในปัจจุบันภัยทางธรรมชาติค่อนข้างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง ยิ่งจำเป็นจะต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำให้ครอบคลุมทุกๆ ลุ่มน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น อย่างเช่นในปีนี้ ประเทศประสบวิกฤติภัยแล้ง หากเราไม่มีเขื่อน โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ถ้าไม่มี 4 เขื่อนหลักแล้ว ปัญหาน้ำจะวิกฤติมากกว่านี้ร้อยพันเท่าแน่นอน เพราะเรามีเขื่อนแม้น้ำจะมีน้อย แต่ก็เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤติแล้งในครั้งนี้ไปได้

พื้นที่ป่าสูญเสียไปกว่า 69 ล้านไร่ ตามทวงคืนมาพัฒนาปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่า ได้สักครึ่งหนึ่งประมาณ 34.5 ล้านไร่ ก็ยังดี และขอกันพื้นที่ไม่ถึง 500,000 ไร่ มาพัฒนาเปลี่ยนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำช่วยประชาชนและประเทศชาติ ไม่ใช่เอาไปให้บุคคลใดบุคคลหนึงง คงไม่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าลดลง และคงไม่ทำให้สัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์หรอกครับ

ป่าก็ยังเป็นพระเอกเหมือนเดิม แต่เขื่อนก็ไม่ใช่ผู้ร้ายนะครับ ขอเป็นนางเอก หรือ พระรอง ช่วยพระเอกสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศชาติจะได้ไหม....?

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : พด.ส่งเสริมเกษตรกรสร้างดินดี หนุนนโยบายลดต้นทุนการผลิต

จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศรณรงค์ให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยให้การทำเกษตรมีต้นทุนการผลิตที่น้อยลง มีผลผลิตที่มีคุณภาพ ขจัดปัญหาการกีดกันทางการตลาด

กรมพัฒนาที่ดิน มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องดังกล่าวโดยเน้นงานส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงวิธีการปรับปรุงบำรุงดินที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ ร่วมกับการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพชนิดต่างๆ เริ่มจากการบริการตรวจวิเคราะห์ดินการปรับปรุงบำรุงดินการไถกลบตอซัง การแจกจ่ายสารเร่ง พด. การแจกจ่ายกล้าหญ้าแฝก การขุดบ่อน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน โดยปัจจุบันกรมฯได้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์และปัญหาดินเค็ม ส่วนภาคเหนือที่มีปัญหาสำคัญ คือ การชะล้างพังทลายของดินก็แก้ปัญหาด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝก พื้นที่ภาคใต้ มีปัญหาดินตื้น ดินพรุ ใช้วิธีการตามโครงการแกล้งดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อย่างไรก็ตาม การนำที่ดินไปใช้ทำการเกษตรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยขาดการจัดการและดูแลรักษาที่เหมาะสม ทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม ขาดอินทรียวัตถุ เนื้อดินแน่นทึบ ดินมีสภาพเป็นกรดจัด และความอุดมสมบูรณ์ต่ำทำให้ผลผลิตที่ลดน้อยลง จำเป็นต้องทำการปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่เหมาะสม ซึ่งกรมฯได้ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง การพัฒนากลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ลดใช้สารเคมีทางการเกษตร 10,000 กลุ่ม โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 17,058 ตัน/17,058ไร่ น้ำหมักชีวภาพ 88 ล้านลิตร/1.76 ล้านไร่ รวมไปถึงการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ 87 แห่ง มีเป้าหมายผลิตปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน 13,253 ตัน น้ำหมักชีวภาพ 714,200 ลิตร และเมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสดจำนวน 472 ตัน มุ่งให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ในครัวเรือน และจากโรงงานอุตสาหกรรม นำมาฝากไว้ที่ธนาคารเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้เกษตรกรมาเบิกถอนไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการผลิตและมีการนำไปใช้ประโยชน์ได้ถูกต้อง มีราคาถูก พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการเผา และปัญหาจากการกำจัดหรือทิ้งขยะในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปั้นสหกรณ์2.6พันแห่งสู่‘Q-Shop’ กรมวิชาการฯลุยสร้างมาตรฐาน-คุมเข้มปุ๋ยปลอม

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการร้านค้าปุ๋ย-สารเคมีคุณภาพ หรือ Q-Shop เป็นแนวทางหนึ่งที่กรมวิชาการเกษตร จัดทำขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาปัจจัยการผลิตไม่ได้มาตรฐานและช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต โดยร้านค้าหรือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ Q-Shop จะต้องผ่านกระบวนการและเงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ พ.ศ.2556 ดังนี้ 1.เป็นร้านค้าที่ประกอบธุรกิจปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2.ต้องมีการจัดเก็บสำเนาเอกสาร เช่น ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ย และแบบแจ้งรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ขออนุญาต (แบบพ.พ.) เพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร 3.จัดทำบัญชีทุกครั้งที่มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร หรือจัดเก็บเอกสาร แสดงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายซึ่งสามารถตรวจสอบได้ 4.ต้องมีผู้ควบคุมการขายที่มีคุณสมบัติ 5.กรณีผู้ที่ได้รับอนุมัติ เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้หรือภายหลังพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด กรมวิชาการเกษตรจะพิจารณายกเลิกหนังสือรับรองเข้าร่วมโครงการฯ ภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ ร้านค้าหรือสหกรณ์ฯ ที่เข้าร่วมโครงการ Q-Shop จะได้รับการสนับสนุนด้านความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่คุณสมบัติพื้นฐาน หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ปรับเปลี่ยนทัศนคติส่งเสริมให้สมาชิกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและสหกรณ์จัดหาปัจจัยที่มีคุณภาพและเหมาะสมมาจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้สมาชิกได้ลดต้นทุนการผลิตลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิต นำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

“ในเบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมให้ร้านสหกรณ์ทั้ง 2,691 แห่ง ให้ได้มาตรฐาน Q-Shop พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯดำเนินการ 3 ด้าน คือ 1.ตรวจสอบสินค้าที่ประเภทสินค้าที่นำมาจำหน่าย 2.ให้ความรู้ ในการจัดสินค้า จัดร้านค้าให้เหมาะสม และ 3.ให้ข้อมูลสินค้า โดยเฉพาะข้อมูลของจากแหล่งที่มาว่าจากบริษัทใด และในการจำหน่ายควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้มีการจัดอบรมให้ผู้ที่จะจำหน่ายสินค้าเป็นผู้ที่มีความรู้ สามารถให้คำแนะนำกับสมาชิกได้ ทั้งนี้ เมื่อสหกรณ์นำปัจจัยที่มีคุณภาพขายให้กับสมาชิก รวมถึงเกษตรกรมีความรู้ให้การใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องแล้ว ก็จะส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

เกษตรกรอ่วม! ต้องซื้อน้ำรดไร่อ้อยทำต้นทุนเพิ่ม

นายอุทัย ใจธรรม อายุ 30 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน จ.กาฬสินธุ์ ลงทุนซื้อถังบรรจุน้ำบรรทุกน้ำมาราดรดให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งซื้อพันธุ์อ้อยทำการปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายแล้ง ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้เพิ่มทุนการผลิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะภัยแล้งรุนแรงมาก

         กาฬสินธุ์ - สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ทำให้แหล่งน้ำบนดิน-ใต้ดินแห้งขอด พืชผลทางการเกษตรเริ่มขาดน้ำแห้งตาย พืชทนแล้งอย่างอ้อยทยอยเหี่ยวตายหลายร้อยไร่ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต้องบรรทุกน้ำไปราดรดเพื่อให้ความชุ่มชื้นและทำการเพาะปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

                จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าได้ส่งผลกระทบรอบด้านต่อประชาชน ทั้งภาวการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และพืชผลขาดน้ำแห้งตาย เนื่องจากแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินแห้งขอดหมด ทั้งนี้ ทางจังหวัดฯ โดยนายวินัย วิทยานุกูล ผวจ.กาฬสินธุ์ และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ ได้ปล่อยคาราวานแจกจ่ายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว

                อย่างไรก็ตาม พบว่าวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบถึงพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มขาดน้ำแห้งตายได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

                นายอุทัย ใจธรรม อายุ 30 ปี เกษตรกรชาวไร่อ้อย บ้านเลขที่ 94 หมู่ 9 ต.ห้วยเม็ก อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฤดูแล้งปีนี้นับเป็นวิกฤตแล้งรุนแรงมาก ทำให้ไร่อ้อยอายุ 3 เดือนที่ปลูกไว้ 5 ไร่ขาดน้ำและเริ่มทยอยตายลงเรื่อยๆ เพื่อลดความสูญเสียจึงได้ลงทุนซื้อทั้งถังบรรจุน้ำ แล้วบรรทุกน้ำมาราดรดให้ความชุ่มชื้น รวมทั้งซื้อพันธุ์อ้อยทำการปลูกซ่อมแซมต้นอ้อยที่ตายไป

                โดยน้ำที่ซื้อมารดอ้อยบรรจุถัง 2,000 ลิตร ราคา 200 บาท ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้เพิ่มทุนการผลิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดทุนเป็นอย่างมาก แต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นอาชีพ

                สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ขณะนี้มีปริมาณทั้งหมดที่ 474 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24 ระดับน้ำใช้การได้ที่ 374 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19 จากความจุอ่างที่ 1,890 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนลำปาวได้ระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ยโสธรลงนาม MOU ไม่ใช้แรงงานเด็กกิจการไร่อ้อย หลังถูกสหรัฐเชื่อมโยงไทยค้ามนุษย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มีนาคม ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลศรีแก้ว ตำบลศรีแก้ว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร นายวิบูลย์ รัตนภรณ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในการลงนามความร่วมมือที่จะไม่ใช้แรงงานเด็กในการปลูกอ้อยและโรงงานผลิตน้ำตาล หลังจากทางสหรัฐอเมริการะบุว่าสินค้าอ้อยของประเทศไทยเป็นกิจการที่ระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงในการค้ามนุษย์

 นายวิบูลย์ รัตนภรณ์วงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า การที่ลงนามความร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลและเครือข่ายเกษตรกรที่ทำไร่อ้อยในครั้งนี้ เนื่องจากทางสหรัฐอเมริการะบุว่าสินค้าอ้อยของประเทศไทยเป็นกิจการที่ถูกระบุในบัญชีหรือสินค้าที่เชื่อได้ว่าผลิตโดยใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับและการผลิตสินค้าดังกล่าวมีการเชื่อมโยงกับประเด็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสในการถูกกล่าวหา ตลอดจนการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ทางจังหวัดยโสธรโดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดยโสธร จึงได้เชิญโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลจากจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยเครือข่ายเกษตรกรปลูกอ้อยจังหวัดยโสธรร่วมลงนามความร่วมมือ เพื่อที่จะไม่จ้างหรือใช้แรงงานเด็ก ในการประกอบกิจการและทำไร่อ้อยอย่างเด็ดขาด

สำหรับพื้นที่การปลูกอ้อยของเกษตรในจังหวัดยโสธร มีทั้งหมด 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองยโสธรจำนวน 32.50 ไร่ อำเภอทรายมูล 101.50 ไร่ อำเภอกุดชุม 1,302 ไร่ อำเภอป่าติ้ว 426 ไร่ อำเภอไทยเจริญ 2,357.75 ไร่ และอำเภอเลิงนกทา อีกจำนวน 9,260.25 ไร่ ซึ่งเครือข่ายทั้ง 6 อำเภอ ก็มาร่วมลงนามความร่วมมือกันทั้งหมดเพื่อจะไม่มีการใช้แรงงานเด็กอย่างเด็ดขาด

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รัฐมนตรีเกษตรฯ เยือนจอร์แดนร่วมลงนามเอ็มโอยู หนุนเทคโนโลยีฝนหลวงสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว        

    พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยเยือนกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ระหว่างวันที่ 22 - 25 มีนาคม 2559 อย่างเป็นทางการเพื่อร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง กับนายอาร์เหม็ดมัฟเล อาเคฟ อัล ซูบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดน ว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย - จอร์แดน ด้วยเช่นกัน

          "นับเป็นความภาคภูมิใจของพสกนิกรชาวไทยที่เทคโนโลยีการทำฝนหลวงซึ่งเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระมหากษัตริย์ของไทย ที่ทรงใช้เวลาในการคิดค้นและปรับปรุงเทคนิคการทำฝนหลวงมาอย่างยาวนาน เป็นระยะเวลากว่า 44 ปี มีส่วนช่วยนำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และขาดแคลนน้ำในประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้สิทธิบัตรฝนหลวงถ่ายทอดวิทยาการทำฝนหลวงทั้งหมด 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลียแทนซาเนีย โอมาน และจอร์แดน" พลเอกฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th   วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แล้งกดจีดีพีเกษตรQ1หด2.1% สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินทั้งปีผลผลิต-ราคาวูบเสียหายมากกว่าปีก่อน

เปิดแฟ้มข้อมูล ก.เกษตร ย้อนหลัง 4 ปี ผงะแล้ง ปี 55 นาข้าวเสียหายยับ 5.74 ล้านไร่ เคาะเงินช่วยเหลือกว่า 6 พันล้านบาท ขณะปี 59 สศก.ประเมินแล้งทุบภาคเกษตร คาดทั้งปีจะเสียหายสิ้นเชิงมากกว่าปีก่อน 1-2% ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยาง อ้อย ปาล์ม ลำไย ผลผลิตวูบถ้วนหน้า แถมราคาลดลง

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ได้คาดการณ์จะมีมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ1-2% (จากปี 2558 มีมูลค่าความเสียหายราว 1.55 หมื่นล้านบาท) อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากการเก็บบันทึกข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับตั้งแต่ปี 2551 -2558 พบว่าในปี 2555 มีเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติแล้งสูงสุด จำนวน 7.66 แสนราย นาข้าวเสียหายกว่า 5.74 ล้านไร่ วงเงินช่วยเหลือ 6.7 พันล้านบาท ลำดับรองลงมาในปี 2558 มีเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 2.7 แสนราย นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 2 ล้านไร่ วงเงินช่วยเหลือ 3.2 พันล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

สอดรับนายสุรพล เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่กล่าวว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล ในปี 2558 ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 1.55 หมื่นล้านบาท กรณีแยกตามภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่าความเสียหาย 6.95 พันล้านบาท คิดเป็น 45% ของมูลค่าความเสียหายรวม รองลงมา คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่าความเสียหาย 6.24 พันล้านบาท คิดเป็น 40% ของมูลค่าความเสียหายรวม

“ที่ผ่านมากระทรวงได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง ในปี 2558/59 จำนวน 8 มาตรการรวม 45 โครงการ ขับเคลื่อนผ่านศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59 ระดับชาติ (ศก.กช.) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3.23 หมื่นล้านบาท มีผลการจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 1.48 ล้านราย อย่างไรก็ดีในแต่ละมาตรการยังคงมีกิจกรรมหรือโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปได้”

นายสุรพล กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่า หดตัว 2.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2558 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ สาขาพืช ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และลำไย สำหรับผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และยางพารา ด้านราคา พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2559 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี-นาปรัง รวมทั้งยังมีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ภาครัฐจึงขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนอ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลง เพราะสภาพอากาศแห้งแล้ง ทำให้อ้อยเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับในหลายพื้นที่ฝนตกในช่วงเก็บเกี่ยวทำให้ค่าความหวานลดลงด้วย

ส่วน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ลำไย และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลง สำหรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยางพารา ซึ่งเป็นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี 2553 ตามนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ และสับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก ขณะที่สาขาประมง ปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าเทียบเรือสำคัญหลายท่าลดลงจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายการประมงฉบับใหม่ ผลดังกล่าวยังกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ ส่วนสาขา ปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีภาคเกษตรของไทยในปี 2558 ทั้งปี มูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% ส่วนจีดีพีภาคเกษตรในปี 2559 ประเมินล่าสุด ณ เดือนมีนาคม 2559 จะมีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ 1.4% โดยมีปัจจัยลบจากภัยแล้ง ส่วนปัจจัยบวกเป็นผลจากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

การจัดการน้ำเชิงรุก

ปี 2559 ประเทศไทยต้องกลับมาเผชิญภาวะภัยแล้งที่จัดว่าหนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ปริมาณฝนทิ้งช่วงทำให้การสะสมน้ำในเขื่อนหลายเขื่อนทั่วประเทศมีไม่เพียงพอ หลายพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลน "น้ำ" เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรที่ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อมีสัญญาณปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำลดลง

จนนำมาสู่ความตื่นตระหนก เพราะเกรงว่าจะขาดแคลนน้ำ

ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาภัยแล้งยังทำให้หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่ออัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งผลกระทบโดยตรงมายังภาคการส่งออกของไทยที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

ทั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศต้องอาศัยการบริโภค หรือแรงซื้อของคนไทย แต่เมื่อเกิดภาวะภัยแล้งขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ และการใช้จ่ายของชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มีจำนวนมากกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งหากปัญหานี้ลุกลามจะส่งผลกระทบต่อภาวะแรงซื้อถดถอยมากขึ้น และที่สุดจะกระทบต่อไปยังภาคการผลิต จนลามไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวม

สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคงต้องลุ้นให้ฝนฟ้าเป็นใจตกตามฤดูกาล เพราะหากล่าช้าออกไปวิกฤตจะยิ่งหนักขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่วันนี้มีความตื่นตัวในการลดการใช้น้ำด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน

ตัวอย่างที่อยากจะยกมาในวันนี้คือการบริหารจัดการน้ำของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่น ที่มีความจริงจังในการบริหารจัดการน้ำในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ถึงแม้ผลจากงานแถลงข่าวรับมือภัยแล้งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ Eastern Seaboard จัดโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ โครงการชลประทานระยอง, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอีสท์ วอเตอร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ออกมายืนยันว่าเขตพื้นที่ภาคตะวันออกจะไม่ประสบกับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ แต่ PTTGC ไม่นิ่งนอนใจที่จะมีการดำเนินการการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งเก็บข้อมูลการใช้น้ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559 เพื่อช่วยลดการใช้น้ำลงตามมาตรการของรัฐโดยในปี 2559 บริษัทจึงวางเป้าหมายที่จะมีการนำน้ำกลับมาใช้ให้ได้ 40-47% ซึ่งปัจจุบันบริษัทนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากระบบน้ำทิ้งที่ได้จากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste Water Reverse Osmosis หรือ RO) ซึ่งดำเนินการมาเกือบ 10 ปี

เดิมบริษัททิ้งน้ำในส่วนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงมีแนวคิดนำน้ำกลับมาใช้ให้มากสุด โดยในปี 2558 ระบบ RO ทำให้บริษัทสามารถนำน้ำกลับมาได้ 904,842 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 36.8% ของน้ำทิ้งจากโรงงาน โดยส่วนใหญ่จะนำกลับไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงงาน จากเดิมที่ต้องทิ้งน้ำทั้งหมด

PTTGC มีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและนอกองค์กร โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก ได้แก่

1.Water Saving เป็นการดำเนินการลดปริมาณการใช้น้ำตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

2.Water Innovation เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ และลดการใช้น้ำ แหล่งเดียวกับชุมชน โดยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

3.Water Stewardship เพื่อประเมินการใช้น้ำทั้งทางตรง และทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจัดทำรอยเท้าน้ำ หรือ Water Footprint พร้อมทั้งยังตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 10% จากการดำเนินงานตามปกติ ภายในปี 2566 เทียบกับปี 2556 เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

"สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. (PTT Group Water Management Team: PTTWT) ที่จะมีคณะทำงานในการประเมินร่วมกันทุกไตรมาสเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำภาคตะวันออก รวมถึงวิเคราะห์และจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกลุ่ม ปตท.

"ซึ่งรวมถึงแผนการอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation) ในโครงการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เช่น โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด การมอบถังน้ำสะอาด InnoPlus ให้กับผู้ประสบภัยแล้ง เป็นต้น"

ตรงนี้จึงเป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำจากภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งมีการดำเนินงานเช่นเดียวกันเพื่อจะลดปริมาณการใช้น้ำลง ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสโลกที่มุ่งเน้นการต้อนรับสินค้าที่มีส่วนลดการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างไรก็ตาม การลดการใช้น้ำจากภาคเอกชนในกระบวนการผลิต และการลงทุนสำรองแหล่งน้ำนับเป็นเรื่องที่ควรจะดำเนินการอย่างจริงจัง แต่เหนือสิ่งอื่นใดการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนต้องทำในหลายส่วนไม่ใช่เพียงภาคเอกชนเท่านั้น เพราะการใช้น้ำมีการเติบโตทุกปีจากทุกภาคส่วนทั้งการอุปโภคบริโภค การลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการก็ยังมีส่วนสำคัญ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ค่าเงินทรงตัว ลุ้นตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐศุกร์นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานค่าเงินบาท ประจำวันที่ 29 มี.ค. ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ 35.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวานนี้ที่ปิดตลาด 35.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุด ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวใกล้กับราคาเปิดเช้านี้

โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัว เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่สนับสนุน โดยนักลงทุนรอตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐในคืนวันศุกร์นี้ คือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มี.ค. นี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากจะมีผลต่อการชี้ทิศทางนโยบายการเงิน และทิศทางค่าเงินบาทในระยะใกล้ ๆ นี้ได้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

บาทอ่อน จับตาถ้อยแถลงประธานเฟด

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2559 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (28/3) ที่ระดับ 35.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา (28/3) สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% สู่ระดับ 109.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังจากลดลง 3.0% ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีจะปรับตัวขึ้นเพียง 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ผนวกกับรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังได้เปิดเผยอีกว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือนและเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีจะเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 1.8% เมื่อเทียบรายปี และดัชนี PCE พื้นฐานยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2% จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

สำหรับภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท วันนี้ (29/3) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีอัตราการหดตัว 1.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัว 3.1% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.35-35.43 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1198/11.1200 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (28/3) ที่ระดับ 1.1168/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (22/3) ทางการอิตาลีมีการประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 115 มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 114.46 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.1169-1.1205 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนเปิดตลาดที่ระดับ 1.1199/1.1202 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 113.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (28/3) ที่ระดับ 113.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เช้าวันนี้ (29/3) กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.2% จากปีก่อน สู่ระดับ 269.774 เยน และเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีจะปรับลดลง 1.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 113.25-113.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 113.52/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของสหรัฐต่อสมาคมเศรษฐกิจนิวยอร์ค ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมของสหรัฐ (29/3), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นเดือนกุมภาพันธ์ของญี่ปุ่น (28/3), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมานาคมจาก ADP ของสหรัฐฯ (30/3), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยประจำเดือน (31/3), ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ของเยอรมนี (31/3), อัตราว่างงานเดือนมีนาคมของเยอรมนี (31/3), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมีนาคมของยูโรโซน (31/3), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (31/3), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการและภาคการผลิตเดือนมีนาคมาของจีน (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมีนาคมของเยอรมนี (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมีนาคมของยูโรโซน (1/4), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมของสหรัฐ (1/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมีนาคม โดยมาร์กิตของสหรัฐ (1/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +2.40/2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.00/+2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชงเพิ่มค่าอ้อยตันละ160บ.แจกของขวัญปีใหม่ชาวไร่   

          รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.ภายในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ ในฤดูการผลิตปี 58/59 อีกตันละ 160 บาท  จากราคาประกาศที่กำหนดไว้เป็นรายเขต 2 ราคา คือ ตันละ 773 บาท และ 808 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและยังเป็นของขวัญในเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยนี้อีกด้วย โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เงินประมาณ 16,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่ ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ หลังพบว่าเวลานี้ต้นทุนการปลูกอ้อยสูงขึ้นเป็นตันละ 1,100 บาท

          อย่างไรก็ตาม กท.จะนำรายได้จากการปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 5 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 13,000 ล้านบาท รวมกับการกำหนดหักรายได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกินตันละ 25 บาท มาชำระหนี้ด้วย เมื่อพิจารณาจากหนี้ กท.เดิมที่กู้ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 10,000  ล้านบาท บวกกับยอดเงินกู้ใหม่อีก 16,000 ล้านบาท รวมเป็น 26,000 ล้านบาท ทำให้กท.ต้องใช้เวลาชำระหนี้รวมดอกเบี้ยประมาณ 28 เดือน

          ส่วนประเด็นการเพิ่มเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในบราซิลเรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลเร่งฟ้องร้องไทย ต่อองค์การการค้าโลกว่า ไทยทำผิดเงื่อนไขด้วยการอุดหนุนเงินแก่อุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เดินทางไปบราซิล เพื่อพยายามชี้แจงถึงความจำเป็น และยืนยันว่า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ผิดเงื่อนไข เพราะมีการใช้หนี้ตามปกติ ไม่ใช่เป็นเงินให้เปล่า ดังนั้นต้องติดตามว่ารัฐบาลบราซิลจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป ส่วนแนวทางรับมือของกระทรวงอุตฯ เบื้องต้นจะปรับข้อความเสนอต่อครม.ว่า เป็นโครงการบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาวะวิกฤติแล้ง เพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นการเพิ่มราคาอ้อย

          นายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงอย่างมาก เพราะกระทบต่อปริมาณอ้อยฤดูการผลิต 58/59 ที่หีบเข้าโรงงานมากกว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ก.พ. 59 ที่คาดว่า ภัยแล้งจะกระทบผลผลิตและเสียหายประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท แต่ประเมินล่าสุดพบว่าความเสียหายรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 25,500  ล้านบาท เป็นการประเมินจากผลผลิตอ้อยที่ต่ำกว่าคาดการณ์ถึง 9 ล้านตันอ้อย อยู่ที่ 95 ล้านตันอ้อย ซึ่งสามารถปิดหีบได้ภายวันที่ 31 มี.ค.นี้ จากเริ่มต้นฤดู ที่ สอน.ประเมินปริมาณอ้อยไว้ที่ 109 ล้านตัน

          นอกจากนี้ยังคำนวณจากค่าความหวานที่ลดลงเหลือ 11.91 ซีซีเอสจากปีที่ผ่านมา 12 ซีซีเอส ผลผลิตน้ำตาลต่ออ้อย 1 ตันที่ลดลงเหลือ 103.12 กก.ต่อตันอ้อย จากปีที่ผ่านมา 106-107 กก.ต่อตันอ้อย จนทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายทั้งอุตสาหกรรมลดลงเหลือประมาณ 11.55 ล้านตัน หายไปประมาณ 1.7 ล้านตัน

          "จากการประมาณน้ำตาลทรายที่หายจากระบบประมาณ 1.7 ล้านตัน เมื่อคำนวณเป็นราคาหน้าโรงงานที่ 15 บาทต่อกก.จะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,500 ล้านบาท เกษตรกรชาวไร่ที่ได้รับผลกระทบ รายได้ลดลง มีประมาณ 3 แสนครัวเรือน จากปริมาณพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มมาจากปีที่ผ่านมาถึง 500,000 ไร่ เพราะเดิมมั่นใจว่าปีนี้ผลผลิตจะดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าระบบถึง 105 ล้านตัน โดยต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดต่อไปว่าในฤดูการผลิตใหม่ ปี 59/60 ที่เกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยในเดือนพ.ค.นี้เพราะต้องรอให้เข้าฤดูฝนว่า จะมีฝนตกมากน้อยอย่างไรต่อไป.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรอ.ยันก.ค.นี้รถขนกากอุตฯติดGPSทุกคัน 

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาด กระบัง ที่จะทำระบบติดตามรถขนส่งกากของเสียอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน GPSHZW DIW ซึ่งช่วยให้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบตำ แหน่งของรถขนส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมงในลักษณะ real time เพื่อ ป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาห กรรมซึ่งเป็นปัญหาที่ผ่านมา

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมโรงงานฯ อยู่ระหว่างร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมบังคับ ให้ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายต้องติดตั้งระบบ GPS ทุกคัน โดยจะเริ่มบังคับใช้จริงเดือน ก.ค.2559 พร้อมกับจะมีบทลงโทษกับผู้ประกอบการขนส่งกากฯ ที่ลักลอบทิ้งกากอันตราย

          ทั้งนี้ หากรถขนส่งกากอุตสาหกรรมไม่ดำเนินการติดตั้งระบบ GPS และไม่ส่งข้อมูลให้ กรอ. จะไม่พิจารณาออกใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อการขนส่ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน จะมีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านตัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตัน และภายใน 5 ปีจะมีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้ถึง 1.5 ล้านตัน

          "ปัจจุบันพบว่ามีโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน 80,000 โรงงาน และเข้าสู่ระบบแล้ว 48,000 โรงงาน หรือคิดเป็น 50% ส่วนที่เหลือยังไม่ได้เข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง" นายพสุกล่าว.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เก็บภาษีปล่อยน้ำเสีย

กรอ.หนุนคลังเก็บภาษีปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน จับมือเอกชนตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2559 ซึ่งในรายงานฉบับดังกล่าว กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่ามีแผนจะขยายฐานภาษีใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยมลพิษทางน้ำ

“หลักการคือ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งในเบื้องต้นจะเริ่มเก็บภาษีการปล่อยมลพิษทางน้ำจากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำทิ้งออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะในปริมาณที่เกินกว่า 500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วันขึ้นไป รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำภาษีสิ่งแวดล้อมมาใช้”

แหล่งข่าวระบุ นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ.เคยศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกับโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียออกสู่ภายนอก โดยจะมีการวัดค่าออกซิเจนในน้ำ (ซีโอดี) ในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่

“การจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ปล่อยน้ำเสีย กรอ.เห็นว่าควรทำ เพราะก่อนหน้านี้เคยศึกษาไว้แล้ว แต่รัฐบาลในสมัยนั้นให้ส่งเรื่องไปให้สศค.เป็นผู้ดูแล และถ้าจะเอากลับมาดำเนินการใหม่ ก็ควรจะหารือกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” นายจุลพงษ์ กล่าว

นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรอ. กล่าวว่า ในเดือน เม.ย.นี้ กรอ.จะลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับเอกชนเพื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีขีดความสามารถในการรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่า 50% ของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่อยู่ที่ 2.5-3 หมื่นตัน/ปี จากปัจจุบันที่โรงงานรีไซเคิลในไทยส่วนใหญ่มีความสามารถเพียงบดย่อยขยะ และดึงโลหะมีค่าออกจำหน่าย ไม่สามารถกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ 100%

“การจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับต่างชาติอีก 2 ราย ซึ่งมีเทคโนโลยีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกและทันสมัยที่สุดของไทย โดยโรงงานแห่งนี้สามารถดึงโลหะมีค่าออกมาทั้งหมดและหลอมไปขาย ส่วนเศษเหลือทิ้งก็จะกำจัดได้หมดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่โรงงานแห่งนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ในการตั้งโรงงานรีไซเคิลของไทยในอนาคต”

นายพสุ กล่าว นอกจากนี้ กรอ.จะเร่งรัดให้รถขนขยะอุตสาหกรรม 3,400 คันทั่วประเทศ ติดตั้งระบบจีพีเอส และเชื่อมต่อระบบติดตามการขนกากอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2559 เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมระหว่างนำส่งเข้าโรงงานกำจัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการนำกากอันตรายเข้าสู่ระบบให้ได้ 1.4 ล้านตันภายในปีนี้ และในช่วงปีที่ผ่านมา กรอ.เข้าตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม 140 โรง และสั่งปิดถาวรแล้ว 1 โรง รวมทั้งสั่งปิดโรงกำจัดกากชั่วคราวเพื่อปรับปรุง 5 แห่ง

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เอกชน เข้มแผนจัดการน้ำ รับมือภัยแล้งแบบยั่งยืน

ปี 2559 ประเทศไทยต้องกลับมาเผชิญภาวะภัยแล้งที่จัดว่าหนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2558 ที่ปริมาณฝนทิ้งช่วงทำให้การสะสมน้ำในเขื่อนหลายเขื่อนทั่วประเทศมีไม่เพียงพอ หลายพื้นที่ ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลน “น้ำ” เพื่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรที่ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เมื่อมีสัญญาณปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำลดลง จนนำมาสู่ความตื่นตระหนก เพราะเกรงว่าจะขาดแคลนน้ำ

ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาภัยแล้งยังทำให้หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมต่ออัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ขณะนี้ก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบโดยตรงมายังภาคการส่งออกของไทยที่ติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นต้องอาศัยการบริโภคหรือแรงซื้อของคนไทย แต่เมื่อเกิดภาวะภัยแล้งขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้ และการใช้จ่ายของชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มีจำนวนมากกว่า 3.7 ล้านครัวเรือนซึ่งหากปัญหานี้ลุกลามจะส่งผลกระทบต่อภาวะแรงซื้อถดถอยมากขึ้นและที่สุดจะกระทบชิ่งไปยังภาคการผลิตและลามไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวม

สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคงต้องลุ้นให้ฝนฟ้าเป็นใจตกตามฤดูกาลเพราะหากล่าช้าออกไปวิกฤติก็จะยิ่งหนักขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะภาคเอกชนที่วันนี้มีความตื่นตัวในการลดการใช้น้ำด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสาน ตัวอย่างที่อยากจะยกมาในวันนี้ คือ การบริหารจัดการน้ำของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัทในกลุ่ม ปตท.ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีความจริงจังในการบริหารจัดการน้ำในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ถึงแม้ผลจากงานแถลงข่าวรับมือภัยแล้งในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือโครงการ Eastern Seaboard จัดโดย 3 หน่วยงาน ได้แก่ โครงการชลประทานระยอง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอีสท์ วอเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ออกมายืนยันว่า เขตพื้นที่ภาคตะวันออกจะไม่ประสบกับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ แต่ PTTGC ไม่นิ่งนอนใจมีการดำเนินการการบริหารจัดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งเก็บข้อมูลการใช้น้ำและการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559 เพื่อช่วยลดการใช้น้ำลงตามมาตรการของรัฐโดยในปี 2559 บริษัทฯ วางเป้าหมายที่จะมีการนำน้ำกลับมาใช้ให้ได้ 40-47% ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจากระบบ น้ำทิ้งที่ได้จากกระบวนการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ (Waste Water Reverse Osmosis หรือ RO) ซึ่งดำเนินการมาเกือบ 10 ปี

เดิมบริษัทฯ ได้ทิ้งน้ำในส่วนนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์จึงมีแนวคิดนำน้ำกลับมาใช้ให้มากสุด โดยในปี 2558 ระบบ RO ทำให้บริษัทฯสามารถนำน้ำกลับมาได้ 904,842 ลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 36.8% ของน้ำทิ้งจากโรงงาน โดยส่วนใหญ่จะนำกลับไปใช้ในระบบหล่อเย็นของโรงงาน จากเดิมที่ต้องทิ้งน้ำทั้งหมด

“ PTTGC มีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและนอกองค์กร โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตาม 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) Water Saving เป็นการดำเนินการลดปริมาณการใช้น้ำตามหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 2) Water Innovation เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ และลดการใช้น้ำ แหล่งเดียวกับชุมชน โดยการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 3) Water Stewardship เพื่อประเมินการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยจัดทำรอยเท้าน้ำ หรือ Water Footprint พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 10% จากการดำเนินงานตามปกติ ภายในปี 2566 เทียบกับปี 2556 เพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แผนการบริหารจัดน้ำภายนอกองค์กร ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ได้ร่วมกับกลุ่ม ปตท. (PTT Group Water Management Team: PTTWT) ที่จะมีคณะทำงานในการประเมินร่วมกันทุกไตรมาสเพื่อติดตาม สถานการณ์น้ำภาคตะวันออก รวมถึงวิเคราะห์และจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ กลุ่ม ปตท. ซึ่งรวมถึงแผนการอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation) ในโครงการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เช่น โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด การมอบถังน้ำสะอาด InnoPlus ให้กับผู้ประสบภัยแล้ง เป็นต้น” นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำจากภาคเอกชน ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งได้มีการดำเนินงานเช่นเดียวกันนี้เพื่อที่จะลดปริมาณการใช้น้ำลง ซึ่งกำลังกลายเป็นกระแสโลกที่มุ่งเน้นการต้อนรับสินค้าที่มีส่วนลดการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แล้งจัดฉุดอุตฯอ้อยเสียหาย25,000ล้าน 

สอน.แจงปัญหาภัยแล้งกระทบผลผลิตอ้อย-น้ำตาล ลดฮวบ คาดเสียหายเฉียด 2.5 หมื่นล้าน หวั่นสถานการณ์แล้งยังลามต่อเนื่องถึงฤดูการผลิต 2559/60 ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมเล็งชงขอครมอนุมัติเพิ่มค่าอ้อยขั้นต้นปี 2558/59 อีก 160 บาทต่อตันอ้อย

          นายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า  สถานการณ์ภัยแล้งที่รุน แรงขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิต 2558/59 ที่ปีนี้ถือว่ารุนแรงอย่างมาก เพราะกระทบต่อปริมาณอ้อยฤดูการผลิต 2558-2559 เสียหายกว่า 2.55 หมื่นล้านบาทซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 1-1.5 หมื่นล้านบาท

          ทั้งนี้ ภาวะภัยแล้งได้ส่งผลให้ค่าความหวานลดลงเหลือ 11.91 ซีซีเอส จากปีที่ผ่านมา 12 ซีซีเอส และยังส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่ออ้อย 1 ตันที่ลดลงเหลือ 103.12 กก.ต่อตันอ้อย จากปีที่ผ่านมา 106-107 กก.ต่อตันอ้อย จนทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายทั้งอุตสาหกรรมลดลงเหลือประมาณ 11.55 ล้านตัน หายไปประมาณ 1.7 ล้านตัน  หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท และยังกระทบกับชาวไร่อ้อยอีก 3 แสนครัวเรือน มีรายได้ลดลง  สำหรับฤดูการผลิตปี 2559/60 ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยในเดือน พ.ค.59 นี้ หากสถานการณ์แล้งยังลามต่อเนื่องก็กังวลว่าจะกระทบต่อผลผลิตอ้อยเช่นกัน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ภายในต้นเดือน เม.ย.59 นี้ กระทรวง จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอให้พิจารณา เห็นชอบปรับราคาอ้อยขั้นต้นปี 2558/59 เพิ่ม ขึ้นอีก 160 บาทต่อตัน จากราคาเดิมที่กำหนด ไว้เป็นรายเขต 2 ราคา คือ 773 และ 808 บาทต่อตัน เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและบรรเทา ภัยแล้ง

          ทั้งนี้ ขั้นตอนของการเพิ่มราคาอ้อยนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่เห็นชอบในหลักการกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในการเพิ่มค่าอ้อยเพื่อช่วยเหลือชาวไร่หลังจากที่ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นมาก ระดับ 1,100 บาทต่อตัน.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ธกส.เล็งแจกเงินอุ้มเกษตรกร กำลังซื้อคนไทยยังไม่เพิ่ม/‘ภัยแล้ง’ปัจจัยถ่วง

เอกชนหนุนรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังขับเคลื่อนกำลังซื้อ เผยผลกระทบแล้งปีนี้ทำผลผลิตน้ำตาลอ่วม ขณะที่ชาวไร่อ้อย ลุ้น ครม.เคาะเงินเพิ่มค่าอ้อย 160 บาท/ตัน เป็นของขวัญก่อนสงกรานต์ ส่วน “ธ.ก.ส.-คลัง”เล็งจ่ายเงินตรงให้เกษตรกร หลังเดือดร้อนจากแล้ง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงซื้อของคนไทยโดยรวมยังคงไม่เพิ่มขึ้น และปัจจัยภัยแล้งที่จะกระทบเกษตรกรอาจส่งผลให้แรงซื้อลดลงได้ แต่ทั้งนี้คาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการกระตุ้นแรงซื้อประชาชนเช่น มาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท และหมู่บ้านละ 5 แสนบาท การลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวและทานอาหารช่วงเทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้น่าจะมีผลให้แรงซื้อของประชาชนค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นและจะเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลังของปีนี้ได้

“เอกชนก็หวังว่ามาตรการที่รัฐพยายามดำเนินการเหล่านี้น่าจะเริ่มเห็นผลได้บ้างในช่วงหลังสงกรานต์ไปแล้วและจะเห็นผลชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะยอมรับว่าภัยแล้งกระทบต่อแรงซื้อภาคเกษตรพอสมควรเมื่อรัฐอัดเงินเข้าไปช่วยก็น่าจะบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านระดับหนึ่ง”นายวัลลภ กล่าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำหรับการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบผู้ที่เดือดร้อนในกลุ่มเกษตรกรจากภัยแล้งนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาข้อมูลผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไร และมีกี่รายที่เดือดร้อน ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรง เพื่อนำมาสรุปเรื่องจำนวนคนเป้าหมายและเงินที่ต้องใช้ จะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

สำหรับการออกมาตรการช่วยเกษตรกรครั้งนี้ เนื่องจากจะมีเงินที่ส่วนราชการตั้งงบเบิกจ่ายไม่ทันถูกดึงมาทำโครงการนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้วิธีการส่งเงินเข้าไปถึงมือผู้ที่เดือดร้อนโดยตรง เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ เพราะจะดึงมาจากรายชื่อผู้ที่ลงทะเบียนเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. จะใช้ฐานข้อมูลของธนาคารในการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง

“ปลัดคลัง กำลังดูเรื่องมาตรการช่วยเกษตรกรอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เงินไปถึงมือผู้ที่เดือดร้อน โดยเร็วและถูกต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม คาดว่าจะช่วยทุกคนที่เป็นเกษตรกรจะได้หมดแบบส่งเงินเข้าไปช่วยค่าครองชีพโดยตรง” นายลักษณ์กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ในส่วนการช่วยชาวไร่อ้อยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมฯเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่เกินวันที่ 9 เม.ย. เพื่อให้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ฤดู

 การผลิตปี 2558/59 อีกตันละ 160 บาท จากราคาประกาศที่กำหนดไว้เป็นรายเขต 2 ราคาคือ 773 และ 808 บาทต่อตัน เพื่อให้ทันเป็นของขวัญแก่ชาวไร่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ หลังจากเดิมกำหนดจะเข้าครม.ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้

นายสมศักดิ์ จันทรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงอย่างมาก มากกว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือนก.พ. 2559 ที่คาดว่าภัยแล้งจะกระทบผลผลิตและเสียหายประมาณ 1-1.5 หมื่นล้าน แต่ประเมินล่าสุดพบว่าความเสียหายรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.55 หมื่นล้านบาท

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรถบรรทุกยังคงมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเนื่องจากพืช ผัก ผลไม้ และนาข้าว ล้วนได้รับผลกระทบทำให้การผลิตลดลงในภาพรวม

“เม.ย.ปีที่แล้วรถบรรทุกว่างงานราว 30% จากที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคัน ซึ่งก็ถือว่าว่างผิดปกติแต่ช่วงต้นปีก็ยังดีเฉลี่ยทั้งปีก็น่าจะว่างลง 20 กว่า% ปีนี้เราก็ยังมองว่าการว่างงานก็น่าจะสูงไปกว่าปีที่แล้ว”นายยูกล่าว

นายสุริยา คำสุวรรณ นายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งไทยกล่าวว่า สมาคมฯมีรถอยู่ประมาณ 1,500 คัน ยอมรับว่าอัตราการว่างงานมีสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 30% จากภาวะภัยแล้งและการส่งออกที่ลดลง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

พาณิชย์จ่อบีบผู้ค้าปุ๋ย-ยางรถ l ช่วยหั่นราคาลงอีกรอบ l มั่นใจได้ข้อสรุปเมย.นี้

กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปุ๋ย-ยางรถยนต์ ขยายเวลาลดราคาออกไปถึงสิ้นปี “อารีพงศ์” ตีปี๊บงาน “เพลินพลังงาน งานวิจัยขายได้” ได้ผลเกินคาด ประชาชนแห่ซื้อสินค้าพลังงานราคาถูก

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมฯ จะหารือกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชอีกครั้ง ในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2559 นี้ เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการลดราคาจำหน่ายปุ๋ยออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือน พ.ค. 2559 ให้ขยายไปเป็นสิ้นเดือนธ.ค. 2559 แทน รวมถึงจะขอความร่วมมือให้ปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี และยากำจัดศัตรูพืชลงจากเดิม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปรับลดราคาลงมาแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยได้ปรับลดราคาปุ๋ยลงไปแล้วก่อนหน้านี้แล้ว เฉลี่ยที่ 50 บาทต่อกระสอบ และยาฆ่าแมลงลดลงไปเฉลี่ยชนิดละ 10% และมองว่าการขยายเวลาลดราคาปุ๋ยไปถึงสิ้นปีไม่น่าจะมีปัญหา แต่ขณะนี้ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการได้ปรับลดราคาจำหน่ายลงจากเดิมอีก เพราะความต้องการใช้ปุ๋ยลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้ง เกษตรกรเพาะปลูกพืชต่างๆ ได้น้อยลง หรือไม่ได้เลย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับลดราคาในระยะนี้เพื่อให้ขายสินค้าได้ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ราคาจำหน่ายไม่เท่ากัน

ขณะเดียวกันกรมฯ ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ในการขอความร่วมมือให้ปรับลดราคาลงอีก เพราะราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคายางพารา รวมถึงยางสังเคราะห์ที่ราคายังปรับลดลงตามราคาน้ำมัน โดยกลุ่มผู้ประกอบการยางรถยนต์จะให้คำตอบกลับมายังกรมการค้าภายในภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ต้นทุนวัตถุดิบของการผลิตยางรถยนต์มีสัดส่วน 40% แต่ในส่วนนี้เป็นต้นทุนยางจริงๆ 30% ที่เป็นทั้งยางพารา และยางสังเคราะห์ และหากคิดเป็นต้นทุนการผลิตส่วนของวัตถุดิบที่ลดลงไปแล้วน่าจะลดลงไปประมาณ 15%

“ที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการได้ระบุว่าได้ปรับลดราคาจำหน่ายปลีกยางรถยนต์แล้ว แต่กรมฯ เห็นว่าการปรับลดดังกล่าวเป็นลักษณะของการลดโดยการจัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย หรือเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น ยังไม่ใช่การปรับลดลงที่ตรงจุดนัก เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นแอบแฝงอยู่และผู้บริโภคยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก”

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการจัดงาน ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม “เพลินพลังงาน งานวิจัยขายได้” ซึ่งเปิดให้ประชาชนมาเที่ยว ชม ชิม ช็อป ทั้งสินค้า และองค์ความรู้ต่างๆ ภายในงาน ตั้งแต่วันที่ 5-27 มี.ค.ที่ผ่านมานั้นประสบผลสำเร็จ และได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีมีประชาชนสนใจมาเที่ยวงานตั้งแต่เปิดตลาดจนปิดตลาด 54,901 คน สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าตลอดการจัดงาน 24,040,630 บาท สินค้าที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเลือกซื้อมากที่สุดอันดับต้น ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าพลังงานชุมชน สินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สินค้าชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าชุมชนจาก แหล่งผลิตปิโตรเลียม สินค้าจากกลุ่มพัฒนาพลังงานทดแทน เป็นต้น

สำหรับงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเจ้าภาพ ภาพรวมการจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ

“ประชาชนส่วนใหญ่ชื่นชอบรูปแบบการจัดงาน และมีความพึงพอใจในร้านจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าต่างรู้สึกดีใจที่มีโอกาสได้มาจำหน่ายสินค้าภายในงาน สร้างช่องทางอาชีพและรายได้อย่างดี” นายอารีพงศ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

ภัยแล้งฉุด‘จีดีพี’เกษตรหดตัว2.1 สศก.มั่นใจทั้งปีกระเตื้องเป็นบวก

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดลดลง และทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ของปี 2559 หดตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยสาขาการผลิตที่หดตัว ได้แก่ สาขาพืชร้อยละ 3.2 พืชที่มีผลผลิตลด คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และลำไย สาขาประมงร้อยละ 0.8 เนื่องจากปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) สาขาบริการทางการเกษตรร้อยละ 2.7 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 2.0 เพราะการผลิตปศุสัตว์ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนสาขาป่าไม้ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสและไม้ยางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสถานการณ์ที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ ไว้ว่าปีนี้ฝนจะตกอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ และมีปริมาณมากกว่าปี 2558 จึงคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมทั้งปี 2559 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8-2.8 โดยสาขาพืชขยายตัวร้อยละ 2.2-3.2 สาขาปศุสัตว์ร้อยละ 1.5-2.5 สาขาประมงร้อยละ 0.5-1.5 สาขาบริการทางการเกษตรร้อยละ 0.3-1.3 สาขาป่าไม้ร้อยละ 2.3-3.3 แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์น้ำ การผลิตสินค้าเกษตร และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : พด.หนุนเกษตรกร คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ดินแก้วิกฤติแล้ง

 “ดิน” ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตพืช หากดินมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ พืชที่ปลูกก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงได้มาก และที่สำคัญยังสามารถช่วยให้เกษตรกรสามารถพ้นวิกฤติภัยแล้งได้อีกด้วย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงบำรุงดิน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน โดยที่ผ่านมากรมได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะวิกฤติภัยแล้งตามนโยบายรัฐบาล โครงการการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเน้นกิจกรรมส่งเสริมการทำ/การใช้ปุ๋ยหมัก กิจกรรมส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพ และการปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งให้แก่เกษตรกรให้สามารถดำรงชีพได้ และสร้างโอกาสการปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับภูมิสังคมและตลาดสินค้าได้

สุรเดช เตียวตระกูล

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน กรมได้วางแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะวิกฤติภัยแล้งในอนาคตไว้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น โดยจะดำเนินการในฤดูแล้งหรือช่วงที่เกิดภัยแล้งขึ้น เป็นการเฝ้าระวัง ติดตามและเตือนภัยล่วงหน้าบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ผ่านทางเว็บไซต์กรมและเฝ้าระวังพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากเป็นพิเศษ รวมถึงได้สรุปพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งหรือเสียหาย เพื่อประเมินความเสียหายและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น

ในส่วนของระยะยาว เป็นการเสนอแนะแนวทางการป้องกันและการจัดการฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปกคลุมดินโดยการปลูกพืชคลุมดินหรือพืชปุ๋ยสด การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นา โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานเพื่อให้เกษตรกรใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเป็นการช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินด้วย และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพิ่มอินทรียวัตถุในดินเพื่อเป็นการเพิ่มช่องว่างในดินทำให้ดินสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้นานและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้สารเร่ง พด. ต่างๆ เป็นต้น

 “อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งนี้ไปได้ เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งควรให้ความ

 ร่วมมือ โดยงดการปลูกข้าวเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน และหันมาปลูกพืชคลุมดิน หรือพืชปุ๋ยสด ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วแทน ในพื้นที่นาเพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดิน โดยเฉพาะปอเทือง เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ขายเป็นการสร้างรายได้เสริมทดแทนการทำนา รวมทั้งยังมีประโยชน์ คือ ได้ปรับปรุงบำรุงดินของเกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เนื่องจากที่รากปอเทืองมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่ ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศสร้างเป็นสารประกอบที่พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต เมื่อไถกลบลงดินจะปลดปล่อยไนโตรเจนให้กับดินช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน เมื่อดินดีเกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ เป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชในฤดูต่อๆ ไปได้” นายสุรเดชกล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : พด.เร่งขับเคลื่อนการจัดโซนนิ่ง หวังเป็นกลไกช่วยลดต้นทุนการผลิต

การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ (Zoning) นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน กรมพัฒนาที่ดิน มีบทบาทด้านการส่งเสริมการและผลักดันการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ที่มีศักยภาพ (S1 และ S2) และปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3 และ N) ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2560 ให้มีผลสำเร็จเกิดขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาการเกษตร 882 ศูนย์ และบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 76 แปลง

โดยผลการดำเนินงาน 2 เดือนที่ผ่านมา มีการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านบุคคล ได้แก่ เกษตรตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร หมอดินอาสา ผู้รวบรวมสินค้าเกษตร นักเรียน เป็นต้น การสื่อสารผ่านองค์กร ได้แก่ หน่วยงาน

 ของรัฐ สหกรณ์การเกษตร สถานศึกษาแหล่งกระจายสินค้า ร้านค้าชุมชน เป็นต้น รวมถึงกำหนดพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งเตรียมข้อมูลแผนที่เป็นรายอำเภอและรายตำบลที่มีศูนย์เรียนรู้ตั้งอยู่ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ทั้ง 76 จังหวัด หรือ 76 แปลงต้นแบบ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินประจำสถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด ได้เตรียมข้อมูลเขตความเหมาะสมของที่ดินสำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดนั้นๆ สำหรับการประชุมชี้แจงให้คณะทำงานประจำจังหวัดหรือเกษตรกรไว้แล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ภายใต้นโยบายแบบเบ็ดเสร็จหรือ Single command ได้ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศแล้ว โดยการทำงานดังกล่าว เป็น

 การบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการวางแผนและคิดแผนร่วมกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดได้ทำงานร่วมกันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีตัวชี้วัดผลความสำเร็จผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ 882 ศูนย์ และ 76 แปลงใหญ่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

กพ.ดันครม.ให้ขรก.อยู่ถึง65ปียืดเกษียณอายุ รับมือเข้าสู่สังคมสูงวัยลุ้นเคาะลดหย่อนภาษีกิน-เที่ยวช่วงสงกรานต์ 

          ก.พ.เล็งเสนอให้ข้าราชการเกษียณอายุ 65 ปี รองรับสังคมผู้สูงอายุ คลังชี้อีก 10-15 ปีข้างหน้าต้องมีภาระงบประมาณกว่า 6.8 แสนล้านบาท สำหรับหลักประกันรายได้ชราภาพ ชง ครม.เคาะลดหย่อนภาษีกิน-เที่ยวช่วงสงกรานต์ พร้อมต่ออายุลดหย่อนภาษีแพคเกจทัวร์

          เล็งชงให้ขรก.เกษียณอายุ65ปี

          เมื่อวันที่ 27 มีนาคม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาเรื่องการเพิ่มอายุราชการเกษียณ 65 ปีเรียบร้อยแล้ว จากปัจจุบัน 60 ปี โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่ออนุมัติให้แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 โดยจะเสนอเพิ่มอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ของคนน้อย ทำให้คนในวัยทำงานไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ การขยายอายุการเกษียณราชการเป็น 65 ปี จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่อระบบงบประมาณในการดูแลบุคลากรทั้งอัตราค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงบำเหน็จบำนาญ โดยแต่ละปีจะมีข้าราชการที่เกษียณประมาณ 3 หมื่นคน จากข้าราชการทั้งหมดกว่า 1.7 ล้านคน ในจำนวนที่เกษียณนี้ ส่วนราชการต้องรับบุคลากรเข้ามาทดแทน ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่ารักษาพยาบาล ข้าราชการที่เกษียณ 3 หมื่นคนต่อปีนี้ รัฐยังต้องจ่ายบำเหน็จบำนาญ และค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะเสียชีวิต เมื่อรับบุคลากรใหม่มาทดแทน ภาครัฐก็จะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อชะลอการรับบุคลากรใหม่ และคงรายจ่ายสำหรับบุคลากร การต่ออายุราชการอีก 5 ปี จะช่วยแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้บ้าง

          10ปีมีภาระ6.8แสนล.

          ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในระยะ 10-15 ปีข้างหน้าอาจวิกฤตการคลัง ที่ต้องรองรับสังคม ผู้สูงอายุ โดยกระทรวงการคลังเตรียมแผนไว้รองรับแล้ว เช่น การพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อเป็นแหล่งทุนและแหล่งเงินออมรองรับกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการคลังในอนาคต ถ้าไม่แก้ปัญหาโครงสร้างต่างๆ

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินภาระงบประมาณเพื่อการสร้างหลักประกันรายได้กรณีชราภาพของไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยปี 2567 ภาระงบประมาณต่อกรณีดังกล่าวจะมีประมาณ 6.8 แสนล้านบาท หรือ 3% ต่อจีดีพี  แบ่งเป็น ภาระจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการเกษียณอายุ 4.7 แสนล้านบาท ภาระจ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชรา 9 หมื่นล้านบาท ภาระจ่ายเงินสมทบให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 5 หมื่นล้านบาท ภาระจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 2 หมื่นล้านบาท และภาระจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 1 หมื่นล้านบาท

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อมูลปี 2557 พบว่าภาระงบประมาณการสร้างหลักประกันรายได้กรณีชราภาพอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท หรือ 2.1% ของจีดีพี แบ่งเป็นภาระจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการเกษียณ 1.4 แสนล้านบาท ภาระจ่ายค่าเบี้ยยังชีพคนชรา 6 หมื่นล้านบาท ภาระจ่ายเงินสมทบให้สมาชิก กบข. 5 หมื่นล้านบาท และภาระจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 2 หมื่นล้านบาท

          เร่งหามาตรการรับสังคมผู้สูงอายุ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีภาระค้างจ่ายกองทุนประกันสังคมที่เกิดขึ้นนับจากปีงบประมาณ 2555 และถึงปีงบประมาณ 2559 จำนวน 9.84 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้จะทยอยชำระ 1.97 หมื่นล้านบาทต่อปี รวม 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2564 จะทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้น 0.6-0.7% ของวงเงินงบประมาณต่อปี

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2550 มีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปรวม 14% ของประชากร และคาดว่าจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยในปี 2563 จะมีผู้สูงอายุ 17.5% ปี 2568 จะมีผู้สูงอายุ 21.2% และปี 2573 จะมีผู้สูงอายุ 25.2% สำหรับมาตรการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การสร้างช่องทางการออมเพื่อการเกษียณที่ครอบคลุมประชาชนวัยแรงงานทุกกลุ่ม การให้เงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อการเกษียณ มาตรการภาษีสนับสนุนการออม การทบทวนกฎหมายเพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการเกษียณ

          แนะส่งเสริมการออมเพื่อเกษียณ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ช่องทางการออมเพื่อเกษียณในปัจจุบันครอบคลุมประชากรวัยแรงงานทุกกลุ่ม แบ่งเป็นแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ โดยแรงงานในระบบ ประกอบด้วย 1.ข้าราชการ 3.34 ล้านคน มีระบบการออมหลักผ่าน กบข.และบำเหน็จบำนาญ 2.ลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ 11.36 ล้านคน 3.พนักงานรัฐวิสาหกิจ 3 แสนคน และ 4.ครูใหญ่โรงเรียนเอกชน 1.5 แสนคน มีระบบการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ประกันชีวิต ประกันสังคม รวมถึง ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนแรงงานนอกระบบ ครอบคลุมประชากร 22 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ออม 3 ล้านคน ผ่านกองทุนประกันสังคม (มาตรา 40) และ กอช.รวมถึงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

          แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแนวทางการบริหารเพื่อรองรับภาระรายจ่ายกรณีชราภาพ สศค.เห็นว่า ควรขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณของวัยแรงงานให้มากขึ้น เพิ่มรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

          ชงลดหย่อนภาษีเที่ยวสงกรานต์

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 29 มีนาคม กระทรวงการคลังเสนอแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ประกอบด้วย มาตรการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหาร และท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ไม่เกิน 15,000 บาท และต่ออายุการลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวในประเทศ 15,000 บาทที่หมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ทั้ง 2 มาตรการนี้ จะช่วยทำให้คนไทยหันมาเที่ยวไทยมากขึ้น เนื่องจากจะได้รับสิทธิลดหย่อนถึง 3 หมื่นบาท

          แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้จะเสนอปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการถาวรใหม่ โดยเพิ่มค่าลดหย่อนส่วนบุคคลและค่าใช้จ่ายที่นำไปหักภาษีให้มากขึ้น รวมถึงปรับเงินได้แต่ละขั้นของการเสียภาษีให้กว้างขึ้น จะทำให้บุคคลธรรมดาจ่ายภาษีน้อยลง รวมทั้งมีเรื่องการเติมเงินลงไปในระดับหมู่บ้าน 7 หมื่นแห่ง เพื่อให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนำไปใช้ในโครงการจ้างงาน ช่วยภัยแล้ง และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

          แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการแจกเงินผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่น่าจะเสนอ ครม.ทันวันที่ 29 มีนาคมนี้ เนื่องจากต้องรอโมเดลการขึ้นทะเบียนในส่วนของประชาชนก่อนว่าจะทำอย่างไร และนอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว รัฐบาลอยากให้ดูไปถึงกลุ่มเกษตรกรด้วย ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังหารือเพื่อสรุปกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรควรเป็นกลุ่มใดบ้าง จะกำหนดรายได้ เท่าใด คาดว่าจะเสนอ ครม.ช่วงต้นเดือนเมษายน

          คลังเตรียมเติมเงินให้เกษตรกร

          นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะมีมาตรการเติมเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนรายละเอียดโครงการอยู่ระหว่างนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเติมเงินให้ผู้รายได้น้อย โดยมีเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเป็นกลุ่มเป้าหมาย ส่วนจะเติมเงินแบบไหนและมีเกษตรกรจำนวนเท่าใดนั้น ทาง ธ.ก.ส.จะนำเสนอข้อมูลที่มีให้เป็นข้อมูลประกอบไปด้วย โดย ธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหลายมาตรการ ทั้งขยายระยะเวลาคืนหนี้ การปลดเปลื้องหนี้สิน และการให้สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อใช้จ่ายยามจำเป็น ป้องกันการพึ่งพาหนี้นอกระบบ มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 5 แสนราย มาตรการช่วงแรกที่ออกมาเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผ่านพ้นช่วงวิกฤตให้ได้ และกำลังดูอยู่ว่าจะมีส่วนอื่นมาเสริมอีกหรือไม่

          นายลักษณ์กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้เงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท ผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงมากกว่า 50% จากรายได้ปกติ ธนาคารจะพิจารณาลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3% ต่อปี จะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว 415,176 ราย จำนวนสินเชื่อ 59,832 ล้านบาท ดอกเบี้ยที่ได้รับการลดรวม 1,792 ล้านบาท

          ภัยแล้งทำรถบรรทุกว่างงาน

          นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถบรรทุกยังคงมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เนื่องจากพืชผัก ผลไม้ และข้าว ล้วนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง และกระทบไปถึงการจำหน่ายรถบรรทุกที่นำรถสต๊อกเก่ามาขายลดราคา แม้ขาดทุนแต่ก็ดีกว่าปล่อยไว้ให้หมดสภาพ โดยเดือนเมษายนปี 2558 พบว่ารถบรรทุกว่างงานราว 30% จากที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคัน สูงจากปกติจะเฉลี่ยว่าง 20%

          นายสุริยา คำสุวรรณ นายกสมาคม โลจิสติกส์และขนส่งไทย กล่าวว่า สมาคมมีรถอยู่ประมาณ 1,500 คัน อัตราการว่างงานสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 30% จากภาวะภัยแล้งและการส่งออกที่ลดลง ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาหาขาดแคลนคนขับรถ

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แรงซื้อของคนไทยยังไม่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภัยแล้งที่กระทบต่อเกษตรกร ดังนั้น แนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ มาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานต่างๆ และการกระตุ้นแรงซื้อประชาชน อาทิ เงินตำบลละ 5 ล้านบาท และหมู่บ้านละ 5 แสนบาท การลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ มาตรการเหล่านี้น่าจะมีผลให้แรงซื้อทยอยเพิ่มขึ้นและจะเห็นผลชัดเจนครึ่งปีหลัง

          เล็งชงครม.เพิ่มค่าอ้อยอีก160บ.

          แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอ ครม.ไม่เกินวันที่ 9 เมษายนนี้ ให้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 อีกตันละ 160 บาท จากราคาประกาศที่กำหนดเป็นรายเขต 2 ราคา คือ ตันละ 773 บาท และตันละ 808 บาท เพื่อเป็นของขวัญให้ชาวไร่อ้อยช่วงสงกรานต์ และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้เกษตรกร โดยจะให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินผ่าน ธ.ก.ส.วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่เห็นชอบในหลักการเพิ่มค่าอ้อย หลังจากต้นทุนสูงถึง 1,100 บาทต่อตัน

          แหล่งข่าวกล่าวว่า รายได้หลักในการชำระหนี้ของ กท.จะมาจากการปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท รวมกับการหักรายได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาทต่อตัน มาชำระหนี้ด้วย เมื่อพิจารณาจากหนี้เดิมที่ กท.กู้ ธ.ก.ส.ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท บวกกับยอดเงินกู้ใหม่อีก 1.6 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท การชำระหนี้ด้วยรายได้ดังกล่าวรวมดอกเบี้ยคาดว่าจะใช้เวลาชำระหนี้รวม 28 เดือน

          แหล่งข่าวกล่าวว่า การเพิ่มเงินดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในประเทศบราซิลร้องให้รัฐบาลบราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่าไทยทำผิดเงื่อนไขด้วยการอุดหนุนเงิน ซึ่งผู้ประกอบการไทยเดินทางไปบราซิลเพื่อชี้แจงว่าเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ผิดเงื่อนไข เพราะมีการใช้หนี้ ไม่ใช่เงินให้เปล่า อย่างไรก็ตาม จะปรับข้อความว่าเป็นโครงการบรรเทาผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยในภาวะภัยแล้ง เพื่อหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ระบุว่าเป็นการเพิ่มราคาอ้อย

          ชาวไร่อ้อย3แสนครัวรายได้ลด

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรงมาก กระทบต่อปริมาณอ้อยฤดูการผลิต 2558/59 มากกว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่คาดว่าผลผลิตเสียหายประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดพบว่าความเสียหายจะอยู่ที่ประมาณ 2.55 หมื่นล้านบาท เป็นการประเมินจากผลผลิตอ้อยที่ต่ำกว่าคาดการณ์ถึง 9 ล้านตันอ้อย หรืออยู่ที่ 95 ล้านตันอ้อย ปิดหีบ วันที่ 31 มีนาคมนี้ จากเริ่มต้นฤดูช่วงปลายปีที่ผ่านมา สอน.ประเมินปริมาณอ้อยไว้ที่ 109 ล้านตัน นอกจากนี้ ยังคำนวณจากค่าความหวานที่ลดลงเหลือ 11.91 ซี.ซี.เอส. จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 12 ซี.ซี.เอส. ผลผลิตน้ำตาลต่ออ้อย 1 ตันลดลงเหลือ 103.12 กก.ต่อตันอ้อย จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 106-107 กก.ต่อตันอ้อย ทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายทั้งอุตสาหกรรมลดลงเหลือประมาณ 11.55 ล้านตัน หายไปประมาณ 1.7 ล้านตัน

          "ด้วยปริมาณน้ำตาลทรายที่หายจากระบบ 1.7 ล้านตัน เมื่อคำนวณเป็นราคาหน้าโรงงานที่ 15 บาทต่อกก. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,500 ล้านบาท ชาวไร่อ้อยกว่า 3 แสนครัวเรือนรายได้ลดลง จากพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ เพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึง 5 แสนไร่ เพราะเดิมมั่นใจว่าปีนี้ผลผลิตจะดีจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าระบบถึง 105 ล้านตัน" นายสมศักดิ์กล่าว และว่า สำหรับฤดูการผลิตใหม่ปี 2559/60 ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มปลูกอ้อยในเดือนพฤษภาคม ต้องดูว่าฝนจะตกหรือไม่ หากแล้งยังลามต่อเนื่องก็กังวลว่าจะกระทบต่อผลผลิตอ้อยด้วย

          สนข.ถกเพิ่มไฮสปีด'กทม.-โคราช'

          นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ สนข. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯนครราชสีมา ระยะทาง 250 กิโลเมตร ว่า หลังจากการประชุมที่จีน และสรุปว่าไทยจะลงทุนโครงการไฮสปีดเทรนเอง แต่ยังไม่มีการเสนอ ครม. วันที่ 29 มีนาคม คาดว่าจะมีการหารือรายละเอียดเพิ่มเติม เร็วๆ นี้

          นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นโครงการที่ ร.ฟ.ท. ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของ ร.ฟ.ท. อาสาเข้ามาบริหารจัดการเดินรถ ไฮสปีดเทรนนั้น รายละเอียดต่างๆ ต้องสอบถามทางแอร์พอร์ตลิงก์

          อุตฯผุดสปพ.ลุยเขตศก.พิเศษ

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงตั้งสำนักงานประสานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สปพ.) ตามมติคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) โดยมีนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงาน อีกหน้าที่หนึ่ง โดย สปพ. แบ่งเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการและบริหารทั่วไป ฝ่ายยุทธศาสตร์ ฝ่ายการตลาด และฝ่ายติดตามและประเมินผล อัตรากำลัง 15 คน

          "สปพ.จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ และแนวทางในการบริหารพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการ ติดตาม ประเมินผล ความก้าวหน้าของการดำเนินงานเสนอต่อรัฐบาล รวมทั้งทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ" นายอาทิตย์กล่าว

          ชงต่ออายุผู้ว่าการนิคมอีก2ปี

          นายอาทิตย์กล่าวว่าต่อไป หากร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในการขับเคลื่อนการลงทุนใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเดียว แต่จะมีลักษณะเป็นเมืองที่ครบวงจรมากขึ้น การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะมี 2 แบบ คือ 1.ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน รูปแบบคลัสเตอร์ เน้นสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิต และ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง 2.ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อใช้ประโยชน์และโอกาสของการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ แรงงานและวัตถุดิบ เพื่อเข้าสู่ตลาดอาเซียนและ ตลาดโลก

          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า วันที่ 29 มีนาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอ ครม. พิจารณาต่ออายุตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ.ไปอีก 2 ปี (หมดวาระปี 2561) ให้กับนายวีรพงศ์ หลังจากหมดวาระเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อผลักดันนโยบายการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

          หนุน'กสทช.'เพิ่มโทษทิ้งใบอนุญาต

          นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ช่วงเดือนมิถุนายนนั้น เห็นว่าเพื่อปิดช่องโหว่กรณีผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาต ควรเพิ่มโทษให้สูงขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าประมูลต้องคิดมากขึ้นในการเสนอราคาแต่ละครั้งว่าจะเสียอะไรไปบ้าง ไม่ใช่แค่หลักประกัน 644 ล้านบาทเท่าของเดิม ส่วนตัวเห็นด้วยที่ กสทช.เพิ่มหลักประกันอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง 10-30% หรือ 7,000-22,000 ล้านบาท

          "ด้วยจำนวนหลักประกันที่สูงขึ้น อยากเสนอให้ กสทช.เปลี่ยนการวางหลักประกันจากเช็คเงินสด เป็นหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี แทน เพื่อให้การวางหลักประกันง่ายขึ้น รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้" นายพรเทพกล่าว

          แนะประมูลถอยหลังคลื่น900

          นายพรเทพกล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ ที่ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นไว้ที่ 75,654 ล้านบาท ที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูลและทิ้งใบอนุญาตไปนั้น เห็นว่าสูงไป ยากมากที่จะมีผู้สนใจเข้าประมูล เป็นราคาที่รายเดิมที่ไม่ชนะการประมูลไม่เอาอยู่แล้ว อีกทั้งสถานการณ์ในเวลานั้นกับเวลานี้ต่างกัน เนื่องจากเวลานั้นผู้ประกอบการทุกรายต่างไม่ต้องการให้แจสเข้ามาในตลาด จึงดันราคาขึ้นไปสูง อีกทั้งในเวลานี้ผู้ประกอบการรู้แล้วว่าถ้าไม่มีใครเข้าประมูล กสทช.ต้องเก็บคลื่นไว้ 1 ปี ซึ่งจะใกล้เคียงกับช่วงที่มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 800 เมกะเฮิรตซ์ จึงทำให้ราคาคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ต้องลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          นายพรเทพกล่าวว่า หากไม่มีผู้เข้าประมูล กสทช.ควรจะไปศึกษามาใหม่ว่าคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในปัจจุบัน มีมูลค่าเท่าใดแน่ เพื่อกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลใหม่ หรือ กสทช.อาจเสนอให้มีการประมูลในรูปแบบประมูลถอยหลังจากราคาตั้งต้นการประมูลที่ตั้งไว้ แต่มีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่ กสทช.ยอมรับได้ อาทิ ราคาประมูลถอยหลังต้องไม่ลดลงไปต่ำกว่า 40,000 หรือ 50,000 ล้านบาท หากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบใหม่ไม่มีผู้สนใจ ประเทศจะเสียประโยชน์มาก ทั้งจากการที่คลื่นความถี่มีราคาลดลง และจากการที่ทิ้งคลื่นความถี่ไว้โดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์

          แนะเริ่มประมูลที่7หมื่นล.

          นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหา ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาต ในการประมูลครั้งใหม่ กสทช.ควรเรียกเก็บค่าประกันการประมูลที่สูงขึ้น อาทิ ให้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตอีก

          นายสมเกียรติกล่าวว่า ส่วนแนวคิด กสทช.ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่ไม่สมเหตุผล เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้  หาก กสทช.ยึดถือราคาดังกล่าวอาจมองได้ว่าไม่ต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว มีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4จี กสทช.ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ประกอบการรายแรกที่ออกจากการประมูลเสนอไว้เป็นครั้งสุดท้าย

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559 

การเงินโลกวิปริตชัดๆ

การเงินโลกเริ่มวิปริตต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวให้ดี เพราะ BOJ แม้จะคงมาตรการ QE เท่าเดิม ผลก็ไม่แตกต่างกันกับกลุ่มธนาคารยุโรปที่ออกมาตรการต่างๆ ทั้งดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น ทั้งให้ธนาคารพาณิชย์มากู้เงินธนาคารเอาไปปล่อยหนี้ต่อ ซึ่งนอกเหนือไปจากใส่เงินเข้าไปเพิ่มแล้วอีกเดือนละ 20,000 ล้านยูโรเป็น 80,000 ล้านยูโรเพื่อซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลและเอกชน แต่สิ่งที่คาดหวังคือให้ค่าเงินยุโรปลดลง ต้องการให้เงินเยนลดค่าลง แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เพราะค่าเงินไม่ว่าสกุลยูโร สกุลเยน รวมทั้งค่าเงินนิวซีแลนด์ที่ออกมาตรการออกมาเช่นกัน ค่าเงินก็กลับแข็งค่าขึ้น หาได้อ่อนค่าลงตามวิถีที่ควรจะเป็นไม่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะใจเย็น เพราะเป้าหมายเขาอยู่ที่ภาวะเงินเฟ้อที่คาดหวังจะปรับตัวดีขึ้น เพื่อหนีให้พ้นจากการเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดในยุโรป

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อจริงๆ อย่างประเทศไทยเราเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เมื่อลดแล้วแทนที่ค่าเงินบาทจะลดลง กลับทำให้ค่าเงินบาทกลับพลิกตัวแข็งค่าขึ้น ถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้จะทำอะไรก็ทำไม่ถูกเหมือนกัน เพราะขัดกับหลักพื้นฐาน หรือหากคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไป แต่ผลหลังจากนั้นค่าเงินบาทกลับอ่อนลงไปตามหลักการ อย่างนั้นก็น่าจะสะท้อนว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแตกต่างกับกลุ่มประเทศยุโรป เพราะเขามีพื้นฐานที่ไม่ดี หรือพอไปเปรียบกับแบงก์ชาติสหรัฐฯก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลยูโร ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นจริงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีกว่ากลุ่มยุโรป

ที่ผ่านมาผมเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพเงินบาท จากที่ทยอยดูค่าเงินบาทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งบางสถาบันการเงินในไทยและแวดวงวิชาการไทยเชื่อว่าอาจจะอ่อนเกิน 36-37 บาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2558 แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร? ค่าเงินบาทกลับวกกลับมาแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯไม่ใช่เรื่องดี เพราะเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจประเทศอยู่ที่การส่งออกสินค้า ถ้าค่าเงินบาทแข็งก็ยิ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย

นั่นก็หมายถึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องขายเงินบาทเพื่อไม่ให้แข็งค่ามากขึ้น และอาจนำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาทของไทยในอนาคตอันใกล้ได้ ลำพังการทยอยเข้ามาของเงินสกุลต่างๆ เพื่อลงทุนในตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีโอกาสทำกำไรได้ทั้งจากดอกเบี้ยและจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่ดอกเบี้ยในตลาดหลักๆ อย่างยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรปติดลบ คิดแล้วดอกเบี้ยไทยยังให้ราคาดีกว่ามาก แล้วทำไมจะไม่เข้ามา และหากต้องการจะสกัดการไหลเข้าของเงินต่างประเทศก็ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เราจะลดลงพรวดพราดเท่ากับ BOJ หรือ อีซีบียุโรปได้หรือ ผมว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าลดก็ลดได้เพียงเล็กน้อย แต่การลดเพียงเล็กน้อยจะมีประโยชน์อันใด เพราะอีกขาหนึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ยากที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ในไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่เงินฝากนั้นเป็นไปได้ที่จะสนองนโยบาย

ปกติแล้วค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เราแข็งขึ้นจะถือเป็นเรื่องดี เพราะสามารถนำเข้าสินค้าทุน เพียงแต่ว่าทุกวันนี้คงยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าอีกต่อไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาอีกพักใหญ่ เพราะถ้าเอามาผลิตสินค้า สินค้าก็ขายส่งออกยาก เพราะกำลังซื้อทั่วโลกหดตัว ใครก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคก็ดูจะได้เปรียบหน่อย แต่ก็ยังดีเมื่อเทียบกับสกุลเยนและสกุลยูโรของเราก็ยังได้เปรียบอยู่ เรายังไปเที่ยว ไปจับจ่ายสินค้าของเขาได้

ที่สำคัญผมก็ไม่แน่ใจว่า หากไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปตามหลักการปกติ คือ ลดดอกเบี้ยจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทลด แต่หากลดไปแล้วแต่ค่าเงินไม่ลดลงไปด้วยกลับแข็งค่าขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะสิ่งนี้ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปกำลังประสบกับความวิปริตของค่าเงินอยู่ และยังไม่เห็นทางออกเลย ครับ

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชงครม.ล้วงเงินกองทุนดันส่งออก

กระทรวงพาณิชย์ ชง ครม.ล้วงเงินกองทุนส่งออก 2,400 ล้าน จัดกิจกรรมอุ้มการค้าและการส่งออก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (กองทุนส่งออก) ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้แก้ไขกฎระเบียบการใช้เงินกองทุนใหม่ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 2 แนวทาง

สำหรับแนวทางที่ 1 คือให้สามารถใช้เงินต้นของกองทุนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและส่งออก จากเดิมที่เงื่อนไขกองทุนจะกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะดอกเบี้ยของเงินกองทุนเท่านั้น และแนวทางที่ 2 คือให้อนุมัติงบกลางเพิ่มเติม เพื่อมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องขออนุมัติใช้เงินต้นของกองทุน เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเสนอขอใช้เงินสูงกว่าเงินกองทุนที่ได้จากดอกเบี้ยกู้ยืมแต่ละปีมีการขอใช้งบเกิน 3,000 ล้านบาท แต่รายได้จากดอกเบี้ยของกองทุนมีเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันเหลือแต่เงินต้นประมาณ 2,400 ล้านบาท และเงินค้างจ่ายให้โครงการที่ได้รับความเห็นชอบแล้วแต่ยังไม่ได้เบิกอีก 1,500 ล้านบาท

“เรื่องดังกล่าวจะต้องขอความเห็นชอบ ครม.ว่าจะแก้ระเบียบกองทุน หรืออนุมัติงบกลางเพิ่มเติมมานำมาใช้ในกองทุน ให้สามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกไม่ติดขัด” แหล่งข่าวระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติจำนวนเงิน 130 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมเจาะตลาดต่างประเทศ ประกอบด้วย นำคณะตัวแทนภาครัฐและเอกชนไปเยือน 11 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ศรีลังกา เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เมียนมา ลาว รัสเซีย ตุรกี เยอรมนี และแอฟริกาใต้

ขณะเดียวกัน ยังมีกิจกรรมนำสินค้าไฮเอนด์ไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ 12 โครงการ เช่น อิตาลี และกิจกรรมเร่งด่วน อาทิ ขยายตลาดภาคบริการไปประเทศเป้าหมายจัดคณะไปกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อยกระดับความร่วมมือและเพิ่มการค้าการลงทุน

ด้านตัวเลขการส่งออกโดยรวมของไทยติดลบยาวนานต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว โดยปี 2556 ติดลบ 0.3% มูลค่า 2.28 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2557 ติดลบ 0.4% มูลค่า 2.27 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2558 ที่ผ่านมาติดลบ 5.78% มูลค่าการส่งออกลดเหลือ 2.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในปีนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3.6% ดังนั้น หากรักษามูลค่าการส่งออกให้ไม่ต่ำกว่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือนได้ จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ 5% ตามเป้า ส่วนตัวเลขส่งออกเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 10.27% ถือเป็นการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เดินหน้าขับเคลื่อนหมอดินอาสา

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและน้ำเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีทั้งการป้องกันและแก้ไขการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมและต้องทำอย่างต่อเนื่อง

หมอดินอาสา คือ เกษตรกรที่เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินในระดับพื้นที่ ซึ่งได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เรียกว่า หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน หมอดินอาสาประจำตำบล หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัด อาสาเข้ามาช่วยกรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรักษาทรัพยากรของท้องถิ่น

โดยปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่ดิน และเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในชุมชนเคียงคู่ไปกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักทางด้านวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในการสำรวจดินและการพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีสถานีพัฒนาที่ดินกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และมีหมอดินอาสาอยู่จำนวนกว่า 80,000 คน เป็นผู้ช่วยของกรมพัฒนาที่ดิน ในการทำหน้าที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเองและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไปได้

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและน้ำเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีทั้งการป้องกันและแก้ไขการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการปรับปรุงบำรุงดินที่เหมาะสมและต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืนตลอดไป

ดั่งเช่น นายทองดี อินต๊ะ หมอดินอาสาดีเด่นจังหวัดลำพูน ที่ผันชีวิตจากเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแล้วกำไรน้อย ขาดทุน มีปัญหาด้านสุขภาพตามมา เพราะผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จึงคิดเปลี่ยนชีวิตมาเริ่มต้นใหม่กับการทำการเกษตรแบบระบบอินทรีย์ โดยตนเองได้เข้าไปขอคำปรึกษากับกรมพัฒนาที่ดิน และได้รับความรู้เรื่องดินจากกรมพัฒนาดินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 จนปัจจุบันได้เป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน

โดยได้นำความรู้ที่ได้นำไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเกษตรกรในพื้นที่ลดต้นทุนการผลิตมากขึ้น ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตของตนเองราคาดีตามไปด้วยเพราะเป็นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์

ซึ่งขณะได้มีเกษตรกรหลายรายในพื้นที่หันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่มีการพัฒนาดินโดยการลดการใช้สารเคมีกันมากขึ้น

“การเป็นหมอดินอาสาไม่ใช่เรื่องยาก หากเกษตรกรมีใจรักและเสียสละ เพียงส่งต่อความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรที่ใกล้เคียงจากรุ่นสู่รุ่น ก็สามารถเป็นหมอดินอาสาอีก 1 คนที่นำพาให้เกษตรกรไทยทำเกษตรกรรมได้อย่างรุ่งเรือง” นายทองดี กล่าว.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

พาณิชย์ตั้งไทยแลนด์ทีมดันส่งออก

“พาณิชย์” ชงตั้ง “ไทยแลนด์ ทีม” ดึงรัฐ เอกชน นักธุรกิจ ร่วมแก้ปัญหาการค้า การลงทุน เล็งนำร่องตลาด CLMV เผยโครงการพี่จูงน้องคืบ BJC และ SCG หนุน SME เจาะตลาดอาเซียน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ประชารัฐ) ได้มีมติให้จัดตั้ง "ไทยแลนด์ ทีม" เพื่อช่วยกันผลักดันการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ นำร่องตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)

“ไทยแลนด์ ทีม ประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มนักธุรกิจไทยในต่างประเทศ จะช่วยกันทำงานรวบรวมข้อมูลและประเด็นที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคในการส่งออกและการลงทุนในตลาด CLMV แล้วให้นำข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อภาครัฐเพื่อนำไปเจรจาแก้ไขในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งมีกำหนดจะไปเจรจาปลดล็อกในเวียดนาม กัมพูชาและเมียนมา ในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วน สปป.ลาว จะดำเนินการระยะต่อไป” นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงยังได้เดินหน้าโครงการพี่จูงน้อง โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในการเจาะตลาด ล่าสุด บริษัท BJC จะช่วย SMEs ที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคนำไปเจาะตลาดเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มโครงการในเดือน มิ.ย.2559 และบริษัท SCG จะช่วย SMEs ที่ผลิตสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง จะนำไปเจาะตลาดกัมพูชา และจะเริ่มโครงการในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยมี บมจ.ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SMEs.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปลัดเกษตรฯลงพื้นที่ภาคกลาง พบปุ๋ยปลอมระบาดหนัก

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จ.ชัยนาท  ติดตามความก้าวหน้าการตรวจร้านค้าจำหน่ายปัจจัยการผลิตและตรวจยึดปุ๋ยปลอม ว่าได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเร่งรัดตรวจสอบบังคับใบ้กฎหมายอย่างเข้มงวด เข้าจับกุมพ่อค้า ร้านค้า รถเร่ ที่จำหน่ายปัจจัยการเกษตรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน ในเรื่องของปุ๋ยต่างๆ ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ยางฆ่าแมลง รวมทั้งเรื่องของเมล็ดพันธ์ต่างๆ ซึ่งพบว่า ในหลายจังหวัด เช่น จ.อ่างทอง และ ชัยนาท มีการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร จึงได้มีการอายัด และนำไปตรวจพิสูจน์ในห้องแลปของกรมวิชาการเกษตร ผลปรากฏว่า องค์ประกอบที่เป็นส่วนของออเกนิค หรืออินทรีย์เพียงร้อยละ 7 ทั้งที่ความจริงต้องมีถึงร้อยละ 20

"ซึ่งเกษตรกรซื้อไปใช้ ก็เหมือนกับการเอาดินไปใส่ในการเพาะปลูกปกติ ไม่เกิดผลอะไร เป็นการสร้างภาระต้นทุน สำหรับโกดังแห่งนี้ที่ผ่านมาเป็นการอายัด และจากนี้เมื่อได้ผลตรวจพิสูจน์มาแล้วจะแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อส่งฟ้องศาล เมื่อคดีสิ้นสุด ปุ๋ยทั้งหมดถูกทำลาย และผู้จำหน่าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"นายธีรภัทร กล่าวและว่าในรอบ 6 เดือนได้เร่งรัดในด้านการควบคุมราคา และคุณภาพของปัจจัยการผลิตในทุกพื้นที่ ตรวจจับปุ๋ยปลอมประมาณ 170,900 กิโลกรัม และขณะนี้ได้ส่งสารวัตรเกษตรออกตรวจปูพรมในทุกพื้นที่ ที่มีการทำการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการผลิต และจำหน่ายปุ๋ยปลอมโดยเด็ดขาด รมว.เกษตรฯ ยอมไม่ได้ที่ให้มาซ้ำเติมเกษตรกรในการเพาะปลูกรอบใหม่หลังจากโดนภัยแล้งมาแล้ว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

ธ.ก.ส.คืนดอกเบี้ยแก่เกษตรกรที่มีวินัยดี

ผู้จัดการธ.ก.ส.เผย ธนาคารจัดโครงการคืนดอกเบี้ยแก่เกษตรกรที่มีวินัยทางการเงินดี 3-5% คาดเป็นวงเงินรวม 2,803 ล้านบาท

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตาม โครงการ “ชำระดี มีคืน” โดยธนาคารจะคืนดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับพี่น้องเกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส. ที่มาชำระหนี้ธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58- 31 มี.ค. 59 ด้วยการคืนเงินดอกเบี้ย 3-5% ตามชั้นลูกค้า โดยลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ดี 3ปีติดต่อกันจะได้รับดอกเบี้ยคืน5% ลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ที่ดี2 ปีติดต่อกันขึ้นไปจะได้รับดอกเบี้ยคืน 4% และสำหรับลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ได้ตามกำหนดติดต่อกัน1 ปีหรือเป็นลูกค้าใหม่จะได้รับดอกเบี้ยคืน 3%

“ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยคืนให้กับเกษตรกรลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีโดยโอนเงินให้กับเกษตรกรลูกค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้กับเกษตรกรลูกค้า จำนวน 1.7 ล้านราย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 58เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 818 ล้านบาท ครั้งที่ 2 โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้กับเกษตรกรลูกค้าจำนวน 1.2 ล้านรายเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 59 จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 485 ล้านบาท และในครั้งที่ 3 เกษตรกรที่นำเงินมาชำระคืนตั้งแต่วันที่ 1ก.พ. 59 – 31 มี.ค.59 จะได้รับเงินโอนคืนเข้าบัญชีภายในวันที่ 11เม.ย. 59ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะได้ประโยชน์จากโครงการชำระดีมีคืนในครั้งที่3 นี้จำนวนประมาณ 1 ล้านรายคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท”

ทั้งนี้ในภาพรวมโครงการคาดว่า ธ.ก.ส.จ่ายดอกเบี้ยคืนให้กับเกษตรกรลูกค้าที่มีวินัยทางการเงินที่ดีในโครงการ “ชำระดี มีคืน” เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,803 ล้านบาทสำหรับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวธนาคารได้เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรโดยส่งพนักงานลงพื้นที่เยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจสอบถามปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขร่วมกัน พร้อมทั้งจะพิจารณาขยายระยะเวลาในการชำระหนี้เดิมให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งออกไปอีกไม่เกิน24 เดือนด้วย “

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

บิ๊กตู่สั่งสูบโขงตุนน้ำแก้แล้ง

นายกฯ สั่งเกษตร-มหาดไทยเร่งสูบน้ำในแม่น้ำโขง สำรองไว้ใช้ในช่วงภัยแล้ง หลังเขื่อนจีนปล่อยน้ำ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการทำการเกษตรหลังจากน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนสู่แม่น้ำโขง

 นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 2559

ด้านการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ นั้น นายศักดิ์ สมบุญโต ผวจ.กาญจนบุรี ลงพื้นที่หมู่ 4 บ้านไกรสร ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างฝายหินห่อชะลอน้ำลูกแรกของ จ.กาญจนบุรี เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชน โดยฝายดังกล่าวมีลักษณะพิเศษและสามารถต้านแรงดันน้ำได้สูง เนื่องจากนำหินมาห่อด้วยตาข่ายกระชังปลาเย็บเป็นกล่องสี่เหลี่ยม 1x1 เมตร และนำหินห่อมาเรียงเป็นชั้นๆ

นายนิวัฒน์ ปะระมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กล่าวว่า อบต.เวียงตาล ได้จัดรถบรรทุกน้ำออกแจกจ่ายให้ประชาชนในหมู่ 2 บ้านใหม่แม่ปาง หมู่ 3 บ้านยางอ้อย หมู่ 4 และหมู่ 11 บ้านยางอ้อยใต้ รวม 400 หลังคาเรือน ที่ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค หลังจากแหล่งน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำเด่นห้า ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาแห้งขอด ส่งผลให้ระบบประปาของหมู่บ้านหยุดชะงัก

นายนิวัฒน์ ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่ จ.บุรีรัมย์ ได้ขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ผวจ.บุรีรัมย์ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ รวมเป็น 4 อำเภอ และเตรียมประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มอีก 2 อำเภอ จากพื้นที่ทั้งหมด 23 อำเภอ

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิจัยพบยิปซัมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วยพืชทนแล้ง โตไว

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผนึก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค้นพบอีกหนึ่งความหวังเกษตรกรไทย! ยิปซัมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ บำรุงดิน พืชโตไว ทนภัยแล้ง!

นับเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย ในโครงการใช้ FGD ยิปซัม เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร โดยใช้ FGD ยิปซัมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ นำไปทดลองในการเพาะปลูก ข้าวโพด อ้อย และถั่วลิสง ซึ่งเป็นพืชเกษตรเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด สรุปผลการวิจัยชิ้นสำคัญนี้ได้แล้ว พบว่า FGD ยิปซัมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วยให้พืชทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว มีการเติบโตได้ดี และสามารถทนต่อสภาพแล้งได้เพิ่มขึ้น

โครงการภายใต้กรอบแนวคิด ใช้ FGD Gypsum เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตร นี้ กฟผ. แม่เมาะ ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยแก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมี ผศ.ดร.จีราภรณ์ อินทสาร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ณ กองศูนย์ฝึกอบรมแม่เมาะ กฟผ. ได้มีการจัดสัมมนาปิดโครงการวิจัยการใช้ FGD ยิปซัมในการเกษตร ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอและสรุปภาพรวมของโครงการวิจัยฯ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเกษตรกรผู้ร่วมทดลองใช้ FGD ยิปซัมกับโครงการ พร้อมทั้งลงพื้นที่แปลงทดลองของเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาการเติบโต ผลผลิต ลักษณะดิน และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการ

ผศ.ดร.จีราภรณ์ อินทสาร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้มีการทดลองใช้ FGD ยิปซัม จากกระบวนการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ในดินที่มีปัญหา กับพืช 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด อ้อย และถั่วลิสง ในเบื้องต้นนั้น ฝ่ายวิจัยและพัฒนา กฟผ. ขอให้ทีมวิจัยเลือกทดลองในพื้นที่ อำเภอแม่เมาะ แต่หลังจากสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่หลายครั้ง ทีมวิจัยพบว่า ดินในพื้นที่อำเภอแม่เมาะไม่มีปัญหา เนื่องจากสภาพพื้นที่อยู่ในหุบเขาที่ล้อมด้วยภูเขาหินปูน ทีมวิจัยจึงได้เปลี่ยนมาทดลองใช้งานกับอ้อย และข้าวโพด ในแปลงเกษตรพื้นที่ ตำบลบ้านเอื้อม อำเภอเมือง และถั่วลิสงในอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง โดยทั้งสองพื้นที่ทดลองประสบปัญหาดินเป็นกรดและธาตุอาหารบางชนิดมีระดับสูงเกินปกติ โดยปลูกในแปลงทดลอง 8 แปลง เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งผลสรุปของการวิจัยพบว่า FGD ยิปซัม ทำให้พืชที่ใช้ทดลองมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกันไปตามพื้นที่ทดลอง อีกทั้งยังพบว่า FGD ยิปซัม ยังช่วยให้รากข้าวโพดและอ้อยเติบโตในดินชั้นล่างได้ดีกว่า ซึ่งจะทำให้พืชทนแล้งได้ดี รวมไปถึงสามารถนำ FGD ยิปซัม มาแก้ปัญหาของดินและปรับปรุงดินทำให้ดินมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นอีกด้วย

พันธกิจของ กฟผ. มิได้มุ่งเน้นอยู่ที่การผลิตกระแสไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการทำงานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมๆ กันอีกด้วย การนำยิปซัมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต มาเพิ่มประสิทธิภาพในดินให้ดีขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมเกษตรกรอีกทางหนึ่ง แม้ว่า ณ วันนี้ โครงการดังกล่าว จะถือเป็นระยะเริ่มต้น แต่ กฟผ. ก็คาดหวังว่า หากมีการต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป ผลการวิจัยนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งความหวัง ที่จะจุดประกายให้แก่เกษตรกรไทย มีวิถีและทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ในการพัฒนาคุณภาพดินและปรับปรุงศักยภาพการเจริญเติบโตของพืช ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และทนต่อสภาพภัยแล้งอันเป็นปัญหาสำคัญ ที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ได้

จาก http://www.thairath.co.th    วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

สกู๊ปพิเศษ : ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีแนะ ลดต้นทุนเตรียมดินปลูกอ้อย ด้วยเทคนิค‘ลดการไถพรวน’

การผลิตอ้อยของเกษตรกรนับวันยิ่งมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 10,549.08 บาท/ไร่หรือ 1.10 บาท/กิโลกรัม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมดินปลูกอ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรของตนเอง ต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลการเกษตรของชาวไร่รายใหญ่หรือผู้จ้างเหมาเตรียมดินปลูกและดูแลรักษาอ้อย อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กมีข้อจำกัดเรื่องกำลังในการฉุดลาก ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ลากผาลไถขนาดใหญ่ในการเตรียมดินปลูก ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้มีทางออกให้กับเกษตรกรโดยแนะนำให้เตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน หรือสไตรพ์ทิวเลจ (Stripe tillage) ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้อีกทางหนึ่ง

นายอรรถสิทธิ์ บุญธรรม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปกติชาวไร่อ้อยทั่วไปจะเตรียมดินปลูกอ้อยโดยใช้ผาลจานในการไถดะและไถพรวน 2-5 ครั้ง โดยมีการเปิดหน้าดินทั้งแปลงและไถระเบิดดินดานด้วย ถ้าเป็นการปลูกอ้อยโดยใช้แรงงานคน หลังไถพรวนจะมีการยกร่องเพื่อวางท่อนพันธุ์ในร่องและใช้ดินกลบท่อนพันธุ์ ซึ่งมักประสบปัญหาตาอ้อยเน่าและไม่งอก โดยเฉพาะอ้อยที่ปลูกในนาหรือที่ลุ่ม ดินเป็นดินเหนียวระบายน้ำไม่ดี หากหลังปลูกอ้อยมีฝนตกจนเกิดน้ำท่วมขัง มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาดังกล่าวค่อนข้างสูง

นอกจากนั้น การปลูกอ้อยในนาและพื้นที่ลุ่มที่เป็นดินเหนียว หากใช้ผาลจานไถดะจะมีปัญหาดินเป็นก้อน ทำให้ไม่สามารถปลูกอ้อยโดยใช้เครื่องปลูกได้เพราะมีช่องว่างในดินทำให้ดินที่กลบท่อนพันธุ์สัมผัสท่อนพันธุ์อ้อยได้ไม่ดี อีกทั้งการเตรียมดินปลูกอ้อยแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลานานและใช้แทรกเตอร์ที่มีกำลังตั้งแต่ 70 แรงม้าขึ้นไป จึงจะทำงานได้ทันเวลา ขณะเดียวกันการเตรียมดินโดยการไถพรวนด้วยผาลจานยังทำให้สูญเสียความชื้นของดินชั้นล่าง และมีต้นทุนสูงถึง 1,200-1,900 บาท/ไร่ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ค้นคว้าวิจัยวิธีการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบใหม่ คือ การเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน (Stripe tillage) ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้และช่วยลดต้นทุนในการปลูกอ้อยด้วย

การเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนแบบสไตรพ์ทิวเลจมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร 2 ชุด ประกอบด้วย 1.ชุดเตรียมดินคือริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุน โดยวางริปเปอร์ไว้ด้านหน้าจอบหมุน และ2.ชุดเครื่องปลูกอ้อยที่มีถังหยอดน้ำและใส่ปุ๋ยพร้อมปลูก ซึ่งการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบนี้มีหลักการสำคัญ คือ เน้นการไถพรวนเฉพาะแนวที่ปลูกอ้อยโดยริปเปอร์จะทำหน้าที่ไถระเบิดดินดานช่วยให้น้ำซึมลงดินชั้นล่างได้ดีและเมื่อมีปัญหาฝนทิ้งช่วง ความชื้นของดินชั้นล่างจะสามารถขึ้นมาเป็นประโยชน์กับต้นอ้อยได้ ส่วนจอบหมุนจะทำหน้าที่พรวนดินในแนวไถริปเปอร์ ช่วยให้ดินร่วนซุยและปิดความชื้นของดินชั้นล่าง ทำให้ดินในระดับรากอ้อยมีความชื้น

สำหรับข้อดีของการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน มีดังนี้คือ 1.สามารถช่วยลดขั้นตอนในการเตรียมดินปลูกอ้อยและใช้ระยะเวลาในการเตรียมดินสั้นลง 2.ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เตรียมดินน้อย 3.ช่วยรักษาความชื้นของดินชั้นล่างเนื่องจากไม่มีการพลิกหน้าดิน 4.มีการไถระเบิดดินดานพร้อมทั้งพรวนปิดความชื้นในแนวที่ปลูกพืช ทำให้พืชที่ปลูกทนแล้ง 5.ช่วยลดการชะล้างหน้าดินโดยเฉพาะเขตปลูกอ้อยที่มีสภาพดินทรายและดินร่วน เนื่องจากไม่ได้ไถพลิกดินทั้งแปลงเหมือนกับการเตรียมดินปลูกอ้อยโดยทั่วไป และ 6.ช่วยลดต้นทุนในการเตรียมดินปลูกอ้อยลงได้ 2-3 เท่า โดยการเตรียมดินปลูกอ้อยด้วยวิธีนี้ต้นทุนจะอยู่ที่ 450-1,000 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพดินแต่ละพื้นที่หากเป็นดินทรายและดินร่วนต้นทุนการเตรียมดินจะต่ำกว่ามาก

นายอรรถสิทธิ์กล่าวอีกว่า เมื่อเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรสามารถปลูกอ้อยตามแนวที่ใช้ริปเปอร์และจอบหมุนได้เลย ควรใช้เครื่องปลูกพร้อมทั้งหยอดน้ำจะทำให้ดินสัมผัสกับท่อนพันธุ์อ้อยได้ดี ช่วยให้อ้อยมีการงอกที่ดีสม่ำเสมอ หลังจากปลูกอ้อยจะต้องพ่นสารกำจัดวัชพืชทันทีเพื่อควบคุมวัชพืช และเมื่ออ้อยอายุได้ 2-3 สัปดาห์ ให้ใช้ริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุนไถพรวนดินระหว่างแถวอ้อยจะช่วยให้อ้อยงอกและหน่อสมบูรณ์ดีขึ้น จากการทดสอบพบว่า อ้อยปลูกและอ้อยตอที่ได้จากการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนมีการเจริญเติบโตดี ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเตรียมดินปลูกมันสำปะหลังได้

เกษตรกรที่ใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 90 แรงม้า สามารถเตรียมดินปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแบบลดการไถพรวนได้ครั้งละ 2 แถว โดยใช้ริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุน 1 ชุด ต่อเครื่องปลูก 2 ชุด

ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรีได้พัฒนาการเตรียมดินปลูกพืชด้วยวิธีนี้ให้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ใช้รถแทรกเตอร์ขนาดกลาง ไม่เกิน 50 แรงม้า ซึ่งเตรียมดินปลูกได้ครั้งละ 1 แถว โดยใช้ริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุน 1 ชุด ต่อเครื่องปลูก 1 ชุด ช่วยให้เกษตรกรสามารถปลูกอ้อยและมันสำปะหลังได้รวดเร็วขึ้นและทันฤดูกาลเพาะปลูก

“ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในหลายพื้นที่นำเทคนิคการเตรียมดินปลูกพืชแบบสไตรพ์ทิวเลจไปใช้แล้ว อาทิ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก อนาคตหากมีการเตรียมดินปลูกพืชแบบลดการไถพรวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่ำลงแล้ว ยังช่วยรักษาความชื้นของดินชั้นล่าง ทั้งยังสามารถอนุรักษ์ดินไม่ให้ถูกชะล้างด้วย” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสนใจวิธีการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบ Stripe tillage สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร.0-3555-1543 และ 0-3555-1433 ในวันและเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

ภูมิรัฐศาสตร์อาเซียน การเปลี่ยนสัณฐานทางพื้นที่-เวลา

โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นภูมิภาคที่มีความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับแต่ช่วงปลายปี 2558 ซึ่งเต็มไปด้วยการพัวพันรุกกระทบของเหตุการณ์หลายกระแส อาทิ การเปิดศักราชใหม่ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การแข่งขันถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ระหว่างพื้นที่ศูนย์กลางกับพื้นที่ชายแดนในรัฐต่าง ๆ เพื่อรองรับกระบวนการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ในอนาคต

โดยอาจกล่าวอย่างย่นย่อได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายสัณฐานทางพื้นที่และเวลา (Spatiotemporal Metamorphosis) อย่างมีนัยสำคัญ

การแพร่กระจายของกระแสนิยมเออีซี ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดและแรงงาน พร้อมกระตุ้นให้รัฐและภาคธุรกิจหันมาสกัดวัตถุดิบหรือแปลงอรรถประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่คึกคักมากขึ้น

ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐลาว ซึ่งเน้นการเนรมิตเครือข่ายเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสร้างระบบความมั่นคง พลังงานอาเซียน หรือแนวคิดรื้อฟื้นการขุดคลองคอคอดกระในเมืองไทย เพื่อตอบสนองกิจกรรมพาณิชย์นาวีระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย จนอาจส่งผลต่อการปรับบทบาทด้านการขนส่งของท่าเรือสิงคโปร์ และท่าเรือทวายในเมียนมา

อนึ่ง การขยายแสนยานุภาพทางทะเลของจีนในกรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซลที่เผชิญ หน้าอย่างเข้มข้นกับยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียของสหรัฐ ซึ่งพยายามที่จะกลับเข้ามาโบกสะบัดอิทธิพลทางการเมืองและขยายฐานทัพตรงย่าน เอเชียอาคเนย์ กลับทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นเขตประลองกำลังเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างสองมหาอำนาจทางการเมืองโลก

ในอีกมุมหนึ่ง โครงข่ายถนนหนทางที่ไขทะลุอาณาเขตรัฐเอเชียอาคเนย์ผ่านด่านการค้าและเมือง สำคัญต่าง ๆ กลับมีผลต่อการเคลื่อนย้ายสัณฐานศูนย์กลางเศรษฐกิจประชากรจากกลุ่มเมืองใน เขตหัวใจ (Heartland) ทางตอนกลางประเทศ มาสู่กลุ่มเมืองชายขอบ (Periphery) ในระดับที่เข้มข้นขึ้น

สำหรับเมียนมา แม้แกนเชื่อมโยงระหว่างเมืองย่างกุ้ง เนย์ปิดอว์ และมัณฑะเลย์ จะช่วยเสริมบทบาทย่านใจกลางในฐานะจุดศูนย์ดุลของระบบเศรษฐกิจการเมือง หากแต่พลวัตการค้าแถบรัฐชายแดนภูเขา อาทิ การไหลเวียนเข้าออกของสินค้าจำนวนมากตามด่านต่าง ๆ ที่ตั้งประชิดชายแดนไทย-อินเดีย-จีน กลับช่วยผลักให้เมืองในเมียนมามีการขยับแนวสัณฐานจากเขตใจกลางกระจายไปยัง เขตชายขอบมากขึ้น

ขณะที่อินโดนีเซีย การเพิ่มเส้นทางเดินเรือกับรัฐเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ตลอดจนการพัฒนาเมืองเศรษฐกิจตามย่านหมู่เกาะชนบท เช่น บางส่วนของสุมาตราและกาลิมันตัน กลับค่อย ๆ มีผลต่อการปรับสมดุลทางอำนาจระหว่างเขตแกนกลางที่เกาะชวากับเขตหมู่เกาะพื้น สมุทรรอบนอก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้วันนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาหัว เลี้ยวหัวต่อของการแปลงสัณฐานทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งการไหลกระแทกชนกันระหว่างกลุ่มเหตุการณ์และตัวแปรหลากหลายกระแส (ซึ่งมีทั้งพลังที่เกิดจากภายในและภายนอกภูมิภาค) ล้วนส่งผลต่อกระบวนการควบแน่นโยงใยของพื้นที่และเวลา จนทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องปรับตัวขนานใหญ่ต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป

ในแง่พื้นที่ นักธุรกิจหรือพลเมืองอาเซียนอาจมีการเดินทางอพยพข้ามรัฐไปตามท้องที่ต่าง ๆ เพื่อสำรวจแหล่งลงทุน หรือเดินทางท่องเที่ยวตามเมืองสำคัญ หากแต่อัตราการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองชายแดน หรืออิทธิพลของรัฐมหาอำนาจอย่างจีน ตามเมืองยุทธศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำโขง กลับทำให้ชาวอาเซียนต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับทั้งทุนจีน และตลาดชายแดนในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น

ส่วนในแง่เวลา ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคม ต่างต้องแบ่งเวลาเพื่อหันมารับฟังข่าวสาร หรือเรียนรู้เรื่องราวความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนกันมากขึ้น โดยอาจมีบางกลุ่มที่คว้าโอกาสทองในการบุกตลาดอาเซียน หรือสร้างความสัมพันธ์ที่แนบชิดกับเพื่อนบ้าน และคงมีอีกไม่น้อยที่ถูกตีตลาดจากคู่แข่ง หรือได้รับผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม อันเกิดจากขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแปลงโฉมทางวัฒนธรรม

ท้ายที่สุด แม้ยุคเออีซีจะเต็มไปด้วยการบรรจบกันของพื้นที่และเวลาในทางภูมิรัฐศาสตร์ ทว่า ความท้าทายนี้อาจคลี่คลายลง

หากคนไทยหรือชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ มีการปรับสัณฐานความคิดว่าด้วยเรื่องอาเซียนอย่างคมคายมีชั้นเชิง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

ลดต้นทุนการผลิตด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR

กรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตทุกรูปแบบ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้

กรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตทุกรูปแบบ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้

ซึ่งก็คือปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ (PGPR- Plant Growth Promoting Rhizocacteria) เป็นปุ๋ยที่มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนสำหรับพืช ประกอบด้วยแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารพืชและสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และการที่แบคทีเรียมีบทบาทได้หลายอย่าง จึงทำให้แบคทีเรียสามารถช่วยให้ธาตุอาหารสำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืชได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น พันธุ์พืช และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการอยู่รอดของจุลินทรีย์

นายภัชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปุ๋ยชีวภาพ PGPR เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อพืชใน 3 ประการ 1.เป็นปุ๋ยชีวภาพ 2.เป็นผู้สร้างฮอร์โมนให้พืช และ3.เป็นผู้ควบคุมศัตรูพืช และจากการวิจัย PGPR มีความสามารถในการละลายฟอสเฟตที่ตกค้างอยู่ในดิน อีกทั้งสามารถตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 1-4 กิโลกรัมต่อไร่ โดย PGPR สามารถตรึงไนโตรเจนได้ดีกว่าพืชตระกูลถั่ว 1,000 เท่า และยังสามารถผลิตฮอร์โมนกลุ่มออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนินได้ ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นกลุ่มของฮอร์โมนพืชที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะรากพืชที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

โดยปัจจุบันมีผลงานวิจัย 42 ผลงานออกมายืนยันว่า PGPR นี้สามารถใช้ได้ผลในพืช 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง ทั้งนี้ได้มีการผลิต PGPR ออกมา 3 ชนิดคือ PGPR1/PGPR2/และ PGPR3 โดย PGPR1 ใช้สำหรับข้าวโพด/PGPR2 ใช้สำหรับข้าว/และ PGPR3 ใช้สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง

ปัจจุบันสามารถผลิต PGPR ทั้งหมดได้เพียง 5 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร นอกจากนี้ PGPR ได้มีการทดสอบในนาข้าว 5 จังหวัด คือ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี ชัยนาทและกาญจนบุรี และที่กำลังทดสอบอยู่ในพื้นที่นาปรังทั้งหมด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมมีความพึงพอใจ

เนื่องจากข้าวมีการเจริญเติบโตที่ดี มีรากที่แข็งแรง อีกทั้งข้าวทนต่อสภาพแล้งได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ PGPR เนื่องจากรากที่มากกว่า สามารถหาน้ำและแร่ธาตุได้ดีกว่า ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยชีวภาพ PGPR1จะช่วยเพิ่มปริมาณรากประมาณร้อยละ 15 ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณร้อยละ 10 และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชประมาณร้อยละ 5–10 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยเฉพาะกับการ เกษตรปัจจุบันเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ึ่ง PGPR ต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ 3 ชนิด แต่สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะในกลุ่มของเชื้อราที่มีภาวะดื้อยาสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศ EU หรือ สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ทางการค้าในรูปของ Bioinoculant หรือ จุลินทรีย์ชีวภาพแล้ว.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

สินค้าเกษตรอาเซียนรุ่ง

ส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปอาเซียนรุ่ง น้ำตาล ข้าว ผลไม้ ยอดพุ่ง รัฐบาลเร่งส่งเสริม

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมามีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรของไทยในอาเซียนเมื่อปี 2558 มีมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท จากการส่งออกรวมทั้งหมดที่มีมูลค่าสูงถึง 7.2 ล้านล้านบาท

นายวินิต อธิสุข ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือน ม.ค. มีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% โดยสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ น้ำตาลและขนมจากน้ำตาล เพิ่มขึ้น 125% มูลค่า 4,700 ล้านบาท รองลงมา คือ ข้าวและธัญพืช ขยายตัว 73% มูลค่า 4,400 ล้านบาท และผลไม้ ขยายตัว 49% มูลค่า 1,500 ล้านบาท

ขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้น้อยลง อาทิ โกโก้และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลงกว่า 48% ส่วนไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียนมากที่สุด ได้แก่ หนัง เขาและกระดูกสัตว์ ขยายตัว 246% และกากอาหารสัตว์ ขยายตัว 160%

“ตลาดสินค้าเกษตรในอาเซียนถือเป็นอนาคตของสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึง 24% ของตลาดรวมการ

ส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตร ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกร เช่น การลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมปลูกพืชแปลงใหญ่ เน้นการรวมกลุ่มผลิต รวมถึงนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรมีอนาคตที่สดใส” นายวินิต กล่าว

สำหรับปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 281,382 แสนล้านบาท ขยายตัวถึง 6.05% จากปี 2557 โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด คือ มาเลเซีย คิดเป็น 20% ของการส่งออกในอาเซียนทั้งหมด มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ เวียดนาม 16% มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงอินโดนีเซียและเมียนมา เท่ากันที่ 14% มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยเตรียมโครงการส่งเสริมเกษตรกรไว้ 8,000 โครงการ โดยมีงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ทำเกษตรรูปแบบใหม่ ผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ดันบริหารน้ำแบบครบวัฏจักร กรมชลจับมือ‘ฝนหลวง-อุตุฯ’นำร่องพื้นที่11เขื่อน

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ลงนามความร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำแบบครบวัฏจักรน้ำ เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งในชั้นบรรยากาศและผิวดินสำหรับวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน สนับสนุนการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในฤดูแล้ง ตลอดจนการเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน โดยเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา และจะทำต่อเนื่องไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2559

สำหรับพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการ คือ บริเวณลุ่มน้ำป่าสักเพื่อที่จะเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่รอบๆ ลุ่มน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ อีก 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนลำพระเพลิง

นอกจากนี้ ยังได้ลงนามความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อใช้ข้อมูลการตรวจวัดปริมาณฝนทั่วประเทศแบบอัตโนมัติ โดยข้อมูลปริมาณฝนทั้งหมดที่ได้จะเข้าสู่ฐานข้อมูลของศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของกรมชลประทาน เพื่อนำมาใช้ประกอบการบริหารจัดการน้ำทุกวันตลอดทั้งปี

“การลงนามความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว เป็นการบูรณาการการทำงานที่เข้มข้นตามนโยบายของรัฐบาล กล่าวคือ กรมอุตุฯ มีข้อมูลปริมาณน้ำฝน การคาดหมายลักษณะฝน การคาดการณ์สภาพอากาศ หลังจากนั้นกรมชลประทานก็นำข้อมูลดังกล่าวมาแปลงเป็นปริมาณน้ำท่า ว่าจะไหลเข้าเขื่อนและแม่น้ำสายสำคัญเท่าไร มีผลต่อปริมาณน้ำท่าอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะกักเก็บหรือระบาย ตลอดจนการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะได้ฝนและน้ำท่าในจำนวนที่คาดหมายไว้ นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองคาดการณ์ปริมาณฝน เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างการปฏิบัติการฝนหลวงกับกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรอีกด้วย” นายทองเปลว กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : กรมพัฒนาที่ดินขานรับนโยบายกษ. ช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะภัยแล้ง

ในปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และภัยแล้งซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2559 สถานการณ์น้ำมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และไม่สามารถเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่รับนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในโครงการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยจะดำเนินการส่งเสริมการทำ การใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ใช้เอง นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดินได้ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และมีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

ปัจจุบัน กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะวิกฤติภัยแล้งโครงการการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ การดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมการทำ/การใช้ปุ๋ยหมักเป้าหมาย 763 ตัน เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม 1,180 ราย กิจกรรมส่งเสริมการทำน้ำหมักชีวภาพ เป้าหมาย 503,232 ลิตร เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม 2,975 ราย กิจกรรมสนับสนุนการปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 7,827 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ 862 ราย

นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตและสถานีพัฒนาที่ดินให้เจ้าหน้าที่ออกพื้นที่ต่างๆ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกษตรกร โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/2559 เพื่อให้เกษตรกรได้ฝึกอบรมเรียนรู้ ฝึกวิธีคิดการพัฒนาตนเองและสามารถปรับตัวอยู่ได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งให้แก่เกษตรกรให้สามารถดำรงชีพได้ในช่วงวิกฤติภัยแล้ง และสร้างโอกาสการปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับภูมิสังคมและตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบัน

เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาด้านภัยแล้งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กรมพัฒนาที่ดินได้วางแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะวิกฤติภัยแล้งในอนาคตไว้ 2 ระยะ ด้วยกัน คือ ระยะสั้น จะดำเนินการเฝ้าระวังติดตาม และเตือนภัยล่วงหน้าบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง เพื่อประเมินความเสียหายและให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ในส่วนระยะยาว จะเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยการส่งเสริมการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพิ่มการปกคลุมดินด้วยการปลูกพืชคลุมดินและการใช้ปุ๋ยพืชสด และการปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยใช้สารเร่ง พด. ต่างๆ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

'บิ๊กฉัตร'เยือนจอร์แดนลงนามMOU ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยระหว่างเดินทางเยือน ประเทศจอร์แดน ว่า มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างสองรัฐบาลภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง กับนายอาร์เหม็ด มัฟเล่ อาเคฟ อัล ซูบี รมว.เกษตรฯจอร์แดน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯให้กับประเทศจอร์แดนได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเริ่มทดลองปฏิบัติการฝนหลวงช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้

" ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยจะให้คำปรึกษาแนะนำตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการเริ่มกระบวนการ เงื่อนไขในการตัดสินใจแต่ละขั้นตอน จนคณะผู้แทนการทำฝนหลวงฝ่ายจอร์แดนสามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงเองได้ ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือการถ่ายทอดความรู้ให้ต่างประเทศ จนสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำ ซี่งการลงนามเป็นระยะเวลา 3 ปี และสามารถดำเนินการต่อได้หากมีความจำเป็น "รมว.เกษตรฯกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ยันปริมาณน้ำ 10 เขื่อนพอใช้ถึง ก.ค.แน่นอน 

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้จะมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำใน 10 เขื่อนทั่วประเทศ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ แม่งัดสมบูรณ์ชล ห้วยหลวง คลองสียัด บางพระ กระเสียว ลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ แม่กวงอุดมธารา และลำพระเพลิง จะมีน้ำใช้ได้ถึงเดือน มิ.ย.นี้ แต่เมื่อได้มีการปรับแผนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค เช่น การนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ จึงมั่นใจว่าน้ำในเขื่อนทุกแห่งจะมีเพียงพอให้ใช้ถึงเดือน ก.ค.แน่นอน

          "ที่มีการประเมินว่าน้ำในเขื่อนไหนจะหมด เป็นการประเมินการใช้น้ำล่วงหน้า ซึ่งจะมีกรรมการในแต่ละจังหวัดมาร่วมประเมิน และเมื่อประเมินแล้วก็จะมีการปรับแผนการใช้น้ำ เช่น กรณีเขื่อนอุบลรัตน์ทางจังหวัดเห็นว่าจะดึงน้าก้นเขื่อนมาใช้ ส่วนกรณีพื้นที่ดอน พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทานประสานกับศูนย์บูรณาการภัยแล้ง เพื่อทำแผนกระจายน้าในพื้นที่ขาดแคลน และยืนยันว่าบริหารจัดการน้ำทุกเขื่อนให้เพียงพอถึง ก.ค.แน่" นายธีรภัทร กล่าว

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

หุ้นน้ำตาลพุ่งแรง

ราคาน้ำตาลโลกทุบสถิติสูงสุดรอบ 17 เดือน KTIS เชื่อปีนี้น่าจะดี ส่วน KBS มั่นใจกลับมามีกำไร

ราคาหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจน้ำตาลปรับตัวขึ้นภายหลังจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ 16.58 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้น 1.78% ทำสถิติสูงสุดรอบ 17 เดือน เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดน้อยลงภายหลังจากโลกต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้หุ้นบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ปิดที่ 4.38 บาท เพิ่มขึ้น 0.28 บาท หรือ 6.83% บริษัท น้ำตาลครบุรี (KBS) ปิด 7.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท หรือ 4.76% บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS)ปิดที่ 7.65 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือ 2%

บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่าราคาน้ำตาลโลกปรับขึ้นส่งผลดีต่อ KTIS, KBS, BRR และ KSL โดยเลือก KSL เป็นหุ้นเด่นเนื่องจากมีโครงสร้างรายได้กระจายตัว คือ น้ำตาล 70% ของรายได้รวมส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น เอทานอล และโรงไฟฟ้า

นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ KBS กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้จะพลิกกลับมาเป็นมีกำไร เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 50 ล้านบาท

น.ส.สายศิริ ศิริวิริยะกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายการสื่อสารองค์กร KTIS กล่าวว่า ปีนี้ราคาน้ำตาลน่าจะขยับขึ้นมาได้ หลังจากโลกได้เจอภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยและราคาน้ำตาลดีขึ้นหวังว่าปีนี้รายได้น่าจะทรงตัวจากปีก่อน โดยกลุ่มมีรายได้จากธุรกิจน้ำตาล 78% ของรายได้ทั้งหมด อีก 22% เป็นรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ตามแผน 5 ปี รายได้จากธุรกิจอื่นจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งจากพลังงานและการต่อยอดจากอ้อยที่จะลงไปสู่การผลิตในระดับปลายน้ำเช่น การทำจานหรือกระดาษจากชานอ้อย เป็นต้น และอนาคตจะเห็นสัดส่วนรายได้ 60% จากน้ำตาล และอีก 40% จากธุรกิจอื่นๆ

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ KTIS กล่าวว่าได้ทำการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยในนามของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% โดยในปี 2558 มีรายได้ประมาณ 1,305 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมนับเป็นอีกสายธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเยื่อกระดาษชานอ้อยจากโรงงานนี้ได้จำหน่ายให้กับผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ กระดาษรีมที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป รวมไปถึงกระดาษในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถทดแทนการตัดต้นไม้ได้ถึงปีละ 32 ล้านต้น และเพื่อเพิ่มกำลังผลิตบริษัทได้ใช้เงิน 70 ล้านบาท ลงทุนเครื่องจักรใหม่ จะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายและรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2559 นี้เป็นต้นไป

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

สศก.ระบุภัยแล้งทำภาคเกษตรเสียหาย 1.5 หมื่นลบ.

สศก. ระบุ สถานการณ์ภัยแล้งปี 58 สร้างความเสียหายภาคเกษตร 15,000 ล้านบาท ส่วนภาวะศก.การเกษตรไตรมาส 1/59 หดตัวลง 2.1%

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้พื้นที่ทางการเกษตรครอบคลุม 2.87 ล้านไร่ มีเกษตรกรได้รับผลกระทบมากกว่า 270,000 ราย เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรตามมาโดยปี 2558 มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15,000 ล้านบาท

ส่วนภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวลงร้อยละ 2.1 โดยวัดจากมูลค่าภาคเกษตร ที่ราคาคงที่ จาก 111,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2558 เหลือ 108,000 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยสาขาที่การผลิตหดตัวได้แก่ สาขาพืช สาขาประมงและสาขาบริการทางการเกษตร ขณะที่สาขาประปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11

ปัจจัยลบที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวคือ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้เเละ ปริมาณน้ำใช้ได้ในเขื่อนหลักต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อยมากซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมและ จัดสรรการใช้น้ำเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงการรักษาระบบนิเวศก่อน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.8 ถึง 2.8 จากเดิมที่เคยประมาณการในช่วงปลายปีว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5 – 3.5 เป็นการปรับลดลงสอดคล้องกับการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)จากเดิมที่เคยประมาณการในช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่าเศรษฐกิจไทยปี59 จะโตร้อยละ 3.8 ซึ่งต้นปี 59 ปรับลดลงประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 ถึง 4.2

โดยรายละเอียดคาดกาณ์ภาคการเกษตรปี 59 สาขาพืชคาดว่าจะ ขยายตัวอยู่ในช่วงละ 2.2 ถึง 3.2 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวอยู่ในช่วงละ 1.5 -2.5 สาขาประมงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-1.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.3- 1.3 และสาขาป่าไม้ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 ถึง 3.3 โดยขณะนี้มีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ฝนจะมาตกในช่วงเดือนพฤษภาคมและจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปี 2558 ในขณะที่ ปรากฏการณ์ เอลนีโญที่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ จะค่อยเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีมีฝนมากขึ้นและจะเข้าสู่ภาวะลานีญาได้ในช่วงปลายปี 59

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ส่งตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงหรือไม่ปรับขึ้นมากนัก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆของภาครัฐเช่น การลดต้นทุนการผลิต ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เขตเศรษฐกิจและเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

น้ำตาลทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพผู้บริโภค

เปิดใจ ดร.จุฑามาศ อรุณานนท์ชัย ส่งความสุขจากน้ำตาลราชบุรี สู่ผู้บริโภคด้วยน้ำตาลสุขภาพ Palatyne Biosugar ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

 เป็นสาวสวยทำงานเก่งอีกคนสำหรับ ดร.จุฑามาศ อรุณานนท์ชัย บุตรสาวของสุนทร อรุณานนท์ชัย ผู้บริหารซี.พี.แลนด์  ซึ่งผันตัวจากนักเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง ภายหลังเรียนจบทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในประเทศอังกฤษ ( University of Bristol และ University of Warwick) มาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว นั่นคือ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ“ ความเป็นมากว่า 30 ปีของน้ำตาลราชบุรี เราเติบโตมีการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการผลิตทั้งน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ส่งออก 75 เปอร์เซ็นต์ ขายในประเทศอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ไปยังผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ”

เรามีแบรนด์ชื่อว่า Bee Brand หรือน้ำตาลตราผึ้ง ขายเป็นแบบกระสอบด้วย สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่วันนี้เมื่อผู้บริโภคให้ความใส่ใจเรื่องการบริโภคน้ำตาลมากกว่าเดิม เราจึงคิดค้น เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค มีประโยชน์ต่อร่างกายและลดความเสี่ยงต่อโรค  เลยมีการคิดเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ จนนำมาสู่ Palatyne Biosugar ซึ่งพาลาทีน มีน้ำตาลไอโซมอลกลูโคส ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลัก ผลิตจากอ้อยธรรมชาติ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ออกสู่ตลาด

ที่ผ่านมามีการเปิดตัวระยะหนึ่งแล้ว และได้รับความสนใจมาก เพราะคุณสมบัติคือให้แคลอรี่เพียงครึ่งหนึ่งของน้ำตาลทราย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีคุณสมบัติดูดซึมช้าจึงให้พลังงานคงที่สม่ำเสมอ ช่วยประสิทธิภาพการทำงานของสมองและร่างกาย ช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ไม่ทำให้ท้องเสีย ไม่มีรสขม และไม่ทำให้ฟันผุ คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ ทำให้ตลาดตอบรับดีมาก แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่ในยุโรปหรือญี่ปุ่นมีการคิดค้นกันมากว่า 20 ปีแล้ว มีผลวิจัยที่ยืนยันว่าบริโภคแล้วร่างกายมีสุขภาพดี

ที่สำคัญคือดูดซึมง่าย สามารถใช้ในเครื่องดื่มร้อน-เย็น เบเกอรี่ หริออาหารคาว-หาน หรืออาหารบนเตาที่มีอุณหภูมิสูงได้ การเปิดตัวลงสู่ตลาด 4 ปี ณ วันนี้ยอดขายโตจากเมื่อก่อนถึง 10 เท่า จึงเป็นการยืนยันสรรพคุณที่ดี โดยมีการวางจำหน่ายแล้วในโกลเด้น เพลส,เลม่อนฟาร์ม,ร้านสบายใจ,เฮลตี้ แมกซ์ ฟาร์มาซี เป็นต้น โดยมีการขายในโรงพยาบาลด้วย  และกำลังจะมีการผนึกกับสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งปัจจุบันมีฐนิวรรณ กุลมงคล เป็นนายกสมาคมฯ เพื่อนำน้ำตาลนี้เข้าไปเปิดตลาด และทำให้เป็นที่รู้จักในวงการอาหาร ภัตตาคารมากขึ้น

เธอมั่นใจว่าเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภคอย่างแน่นอน ปิดท้ายกับการสัมภาษณ์สั้นๆ สาวสวยหน้าหวาน (ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะน้ำตาลของเธอหรือเปล่าทำให้หน้าหวานขนาดนี้)

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กนง.ตรึงดอกเบี้ยประคองศก. ตลาดเงินผันผวนส่งออกติดลบจีดีพีปี’59เหลือ3.1%

บอร์ดกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เพื่อรักษาระดับการแข่งขัน พร้อมหั่นจีดีพีปี’59 โตแค่ 3.1% เหตุส่งออกติดลบ 2% ด้านนิด้าแนะรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แถลงว่า ที่ประชุมกนง. มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี และปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทยลงเหลือ 3.1% จากเดิมมองว่าจะโต 3.5% ส่วนปี 2560 คาดขยายตัว 3.3%

คณะกรรมการเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณอ่อนแรงลง หลังจากผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตหมดลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ายังหดตัวสูง และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดลบ 2% จากเดิมที่คาดว่า ไม่ขยายตัวแต่จะดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2560 ที่มองว่าส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.1% นอกจากนี้การที่ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินประเทศอุตสาหกรรมหลักแตกต่างกัน ส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในบางช่วง ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควร

ส่วนการที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 3 ด้วยการแจกเงินให้ข้าราชการ และ ผู้มีรายได้น้อยใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์นั้น ธปท.ขอเวลาในการประเมินว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการบริโภค และการใช้จ่ายในประเทศ เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง พร้อมยืนยันดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน

นายจาตุรงค์ย้ำว่า แม้กนง.จะลดจีดีพีปีนี้เหลือแค่ 3.1% แต่หากเทียบกับปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการขยายตัว และ ยังไม่มีสัญญาณเกิดภาวะเงินฝืด หรือ ภาวะชะงักงัน และความเสี่ยงที่จีดีพีจะลงมากกว่านี้มีน้อยลง ขณะที่

 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้อยู่ที่ 0.6% และ ปี 2560 อยู่ที่2.2% โดยสมมุติฐานราคาน้ำมันในปีนี้อยู่ที่ 37.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2560

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งสัญญาณไม่ดีนัก สะท้อนได้จากระดับอัตราเงินเฟ้อที่ลดติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนกุมภาพันธ์ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน มาอยู่ที่ระดับ 63.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน

จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ภาคครัวเรือนยังกังวลภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนซบเซา เกิดการชะลอตัวในอุปสงค์ภายในประเทศ บ่งชี้ได้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้

ภาครัฐควรเร่งใช้นโยบายการคลังผ่านการลงทุนของภาครัฐ โดยการเพิ่มอัตราการเร่งการใช้จ่ายเงินให้เร็วขึ้นผ่านงบประมาณแผ่นดิน 2.72 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุนประมาณ 5.43 แสนล้านบาท และงบรัฐวิสาหกิจ 1.44 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการเบิกจ่ายไปเพียง 30.87% เท่านั้น จึงยังเหลืองบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกมากที่ภาครัฐต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย รวมถึงงบคงค้างของปี 2558 อีก 1.06 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปัจจุบันให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ต้องเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศด้วยงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะงบลงทุนโครงการตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วนจำนวน 20 โครงการในปี 2559 ที่มีงบประมาณกว่า 1.79 ล้านบาท ไปพร้อมกัน

“จากภาวะเศรษฐกิจไทยเช่นนี้ การใช้นโยบายการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ภาครัฐควรจะหันมาเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ งบลงทุน งบคงค้างของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกให้ดูดีขึ้น” นายมนตรีกล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรต่างประเทศ สศก.เปิดเวทีระดมสมองยกร่าง วางทิศทางพัฒนากลไกแข่งขัน

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุยร่างยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศกระทรวงเกษตรฯ ระยะ 2 ระหว่างปี 2560–2564 เตรียมเปิดเวทีระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน 29 มีนาคมนี้เพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ สู่การเป็นกลไกเพื่อพัฒนาขีดความสามารถงานด้านต่างประเทศในอนาคต

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้มีการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี มาเป็นเงื่อนไขทางการค้าเพิ่มขึ้นทั้งมาตรการด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สินค้าเกษตรส่งออกของไทยต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ดังนั้น การพัฒนาการดำเนินงานด้านการเกษตรกับต่างประเทศ ทั้งในด้านการเจรจา การจัดทำความร่วมมือ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการเกษตรกับ

 ต่างประเทศ จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกในการเชื่อมโยงการพัฒนาภาคการเกษตร และขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการส่งออกสินค้าเกษตรในต่างประเทศ

ดังนั้น สศก. จึงได้ยกร่างยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2560-2564 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ฯในระยะที่ 2เพื่อรองรับและเตรียมความพร้อมต่อประเด็นและปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านต่างประเทศของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับกรอบแนวคิดในการจัดทำยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว จะคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับด้านการต่างประเทศของแผนและยุทธศาสตร์อื่นๆ ของประเทศด้วย เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านต่างประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ด้าน นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ สศก. ได้เตรียมจัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง “การจัดทำยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2560-2564” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์กรุงเทพฯ โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ภาคเอกชนและภาคเกษตรกร เข้าร่วมระดมความเห็นและให้ข้อเสนอแนะร่วมกันซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญ เช่น ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรในระดับภูมิภาค การพัฒนาข้อมูลด้านการเกษตรต่างประเทศเสริมสร้างความร่วมมือแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์กับต่างประเทศ และสร้างกลไกการพัฒนาขีดความสามารถงานด้านต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหลังจากการประชุมระดมความเห็นเรียบร้อยแล้ว สศก. จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แจงสี่เบี้ย :กรมพัฒนาที่ดิน เผยเผาตอซัง สาเหตุปัญหาหมอกควันที่ต้องเร่งแก้ไข

จากปัญหาหมอกควันพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นส่งผลให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษ รวมทั้งส่งผลในด้านคุณภาพชีวิตอื่นๆ ในการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วไปอีกด้วยนั้น กรมพัฒนาที่ดินในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์ได้เร่งรณรงค์ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนะคติไม่เผาตอซัง โดยกรมฯได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินทั้ง 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน ร่วมกับหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรโดยโครงการดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงข้อดีและประโยชน์ของการใช้วิธีไถกลบตอซังพืชลงไปในดิน ได้แก่

1.ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน ทำให้ระบบรากพืชสามารถแพร่กระจายในดินได้มากขึ้น ช่วยในการระบายอากาศของดินเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มการซึมผ่านของน้ำ การอุ้มน้ำของดินให้ดีขึ้น

2.ปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดินเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยตรง ถึงแม้ปริมาณธาตุอาหารจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี แต่ธาตุอาหารก็ครบถ้วนตามที่พืชต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน) และจุลธาตุ (เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน) ซึ่งจะค่อยๆปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยดูดยึดธาตุอาหารจากการใส่ปุ๋ยเคมีไม่ให้สูญเสียไปจากดินพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ช่วยเพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดินทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่รวดเร็วจนเป็นอันตรายต่อพืช ช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน ช่วยลดความเป็นพิษจากดินเค็ม

3.ปรับปรุงสมบัติทางชีวภาพของดินอินทรียวัตถุที่เป็นแหล่งอาหารและแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ดินมีผลทำให้ปริมาณเพิ่มขึ้นในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ช่วยเพิ่มปริมาณหรือจำนวนของจุลินทรีย์ดินมีผลช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชบางชนิดในลดน้อยลงด้วย

เมื่อดินไม่ถูกทำลายโดยการเผา ก็จะทำให้ดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญการไม่เผาตอซังยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงช่วยยับยั้ง ลดปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ให้เพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานการรณรงค์งดเผาตอซัง กรมพัฒนาที่ดินมีแผนการดำเนินงาน 3 โครงการ คือ 1.โครงการไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน 2.โครงการลดการเผาในพื้นที่โล่งเตียนเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน 3.โครงการงดการเผาฟางและตอซังพร้อมกันนั้นก็ได้มีการแนะนำเกษตรกรให้นำวัสดุตอซังที่เหลือจากไร่นามาใช้เป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากจะทำให้ดินมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรไทยสามารถทำอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไปอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงเกษตรฯ เผยความก้าวหน้าการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร พร้อม Agri-Map เร่งทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หวังส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหรือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จากนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็น ๑ ใน ๖ นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) โดยให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง ปศุสัตว์ และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการ ในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก ( Agricultural Map for Dynamic Management : Agri-Map ) เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน จะแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชของแต่ละจังหวัด ว่ามีความเหมาะสมกับชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ชนิดพืชหรือไม่ หากไม่มีความเหมาะสมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตได้ สามารถช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ซึ่งได้นำเสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุง Agri-Map ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับปรุงด้านข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าสามารถแจกจ่าย Agri-Map ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ภายในเดือน เม.ย. นี้ด้วย นายธีรภัทร กล่าว

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อนประกอบด้วย ๕ มาตรการหลัก คือ ๑) การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ๒) กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร ๓) กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร๔) การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ๕) การติดตามประเมินผล ซึ่งระยะแรกได้ดำเนินการในมาตรการแรกเกี่ยวกับ การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในวงกว้าง สู่สาธารณะ/เกษตรกร ถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในภาพรวมของประเทศและท้องถิ่น ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและรับทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยผ่านกระบวนการประชุมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

          มาตรการที่สองและที่สาม เป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไปพร้อมกันโดยในมาตรการที่สอง เป็นการกำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมาตรการ ที่สามกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดิน สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และระดับจังหวัดรายพืช สำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เข้าใจเกี่ยวกับการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ทุกจังหวัด ทั้งนี้ได้จัดส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอ รายชนิดพืชให้กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั้ง 76 จังหวัด เป็นจำนวน 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ต่อไป นายสุรพล กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รมว.เกษตรฯ ไทย-จอร์แดน ถกแผนผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตร

รมว.เกษตรฯ ไทย-จอร์แดน ถกแผนผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างสองประเทศ หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มฮาลาลจากไทยไปยังกลุ่มตะวันออกกลาง

พลเอก ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายอาร์เหม็ด มัฟเล่ อาเคฟ อัล ซูบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดน ณ กระทรวงคมนาคม กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่า ที่ผ่านมาไทยและจอร์แดนเห็นพ้องร่วมกันในการทำ MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ในการหารือครั้งนี้จึงขอเสนอให้หน่วยงานรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนวิชาการด้านการเกษตรระหว่างกันให้มากขึ้น เพิ่มเติมจากความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีฝนหลวงที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้ว

สำหรับสิ่งที่ฝ่ายไทยขอให้กระทรวงเกษตรฯ จอร์แดนให้การสนับสนุน คือ ในเรื่องการอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทย ที่ได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยมีนโยบายในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย จนปัจจุบันสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ประมง ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ พืชผักผลไม้เมืองร้อน ฯลฯ ตลอดจนประเทศไทยยังมีจุดแข็งในด้านการรับรองมาตรฐานฮาลาล มีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาลหน่วยงานเดียวของไทย  ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีสถานประกอบการเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกต่างประเทศทั้งหมด 28 แห่ง และผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาลทั้งหมด รวมทั้งอยากขอการสนับสนุนให้จอร์แดนเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของไทยไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางต่อไปด้วย

“ปัจจุบันมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับจอร์แดนยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่การค้าสองฝ่ายมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น ในปี 2558 มีมูลค่าการค้ารวม 9,700.90  ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.18 จากปี 2557 ซึ่งในปี 2558 ไทยส่งออก 7,336.40 ล้านบาท ไทยนำเข้า 18.6 ล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 7,336.4 ล้านบาท  โดยสินค้าส่งออกของไทยไปจอร์แดนส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่ไทยนำเข้าปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสินแร่จากจอร์แดน นักธุรกิจไทยหลายรายให้ความสนใจจอร์แดนในฐานะเป็นประตูสู่อิรักและซีเรีย สำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยที่มีศักยภาพในจอร์แดน ได้แก่ ปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน บรรจุกระป๋องและ/หรือแช่แข็ง รวมทั้งน้ำผลไม้กระป๋อง เป็นต้น” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กษ.ปูพรมกวาดล้างปุ๋ยยาปลอม หวั่นซ้ำเติมเกษตรกรไทยเพิ่มอีก

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเคร่งครัดการบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าเกษตรปลอดภัย โดยให้ตนลงตรวจปูพรหมทั่วประเทศการใช้ปุ่ยยาปลอม สารเร่งเนื้อแดง จะลงโทษรุนแรงขั้นเด็ดขาดกลุ่มพ่อค่าสร้างความเดือดร้อนเกษตกรยิ่งช่วงนี้ประสบภัยแล้ง ก่อนหน้าฝนใหม่มาจะเข้าฤดูเพาะปลูก เรายอมไม่ได้เด็ดขาดให้มาซ้ำเติมเกษตรกร

"ไม่ปล่อยตรงนี้แน่นอน ได้ประสานสำนักงานปปง. คดีปุ่ยยาปลอม ใช้สารเร่งเนื้อแดงให้มีมูลฐานความผิดฟอกเงิน เข้ามาดำเนินการใครทำธุรกิจไม่ถูกต้องยึดทรัพย์ เหมือนคดียาเสพติด คดีการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้องเล่นงานให้หนัก ดังนั้นผู้ที่ทำอยู่ให้เลิก หรือประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ 1701  จะเร่งปราบปรามก่อนฤดูฝนมาเกษตรกรเพราะเตรียมการผลิตรอบใหม่"นายธีรภัทร กล่าว

ปลัดกระทรวงฯกล่าวว่าทั้งอธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมข้าว อธืบดีกรมปศุสัตว์ใครปล่อยปละละเลยให้มีกรณีเกิดขึ้นในพื้นที่ ต้องมีผู้รับผิดชอบและลงโทษด้วยหากไม่ดำเนินการ ซึ่งการปล่อยปละละเลย ไปตรวจเจอซ้ำอีก มีการส่งข้อมูลไปเตือนแล้วปล่อยให้มีการวางขาย ไม่ควบคุม แจ้งให้อธิบดีไปดำเนินย้ายด่วน ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

"ปูพรหมตรวจเข้มทั่วประเทศ ปุ่ยยาปลอม  สูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล เกษตรกรต้องระวังโดยเฉพาะปุ่ยคุณภาพต่ำ ไม่ตรงสูตร มีมากในพื้นที่เพาะปลูกหากพบแจ้งสารวัตรเกษตรในพื้นที่ทันที รมว.เกษตรฯได้ให้เกษตรจังหวัด ลงไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร และที่มากับรถเร่  ในภาคกลางระบาดมาก ที่ผ่านมาไปจับกุมหลายพื้นที่ เช่นจ.อุตรดิตษ์ กาญจนบุรี "นายธีรภัทร กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เกษตรเร่งลุยจัดทำแผนที่โซนนิ่ง พร้อมต่อยอดเพิ่มผลผลิต-การตลาด

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เร่งเดินหน้าการจัดทำแผนที่โซนนิ่ง หรือแผนที่เกษตร ที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ ภายในเดือนเม.ย. นำไปเริ่มให้กับจังหวัดต่างๆนำไปใช้บริหารจัดการพื้นที่เกษตรในพื้นที่ได้จริง ซึ่งข้อมูลมีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายต่อยอดพัฒนาเพิ่มผลผลิต และการตลาด หากพื้นที่ใดไม่เหมาะสม มีมาตรการให้แรงจูงใจช่วยให้ปรับเปลี่ยนพืช

"แผนที่เกษตรจะช่วยด้านการอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย โดยพื้นที่เกษตรที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ป่า จะเป็นการเกษตรแบบ"เขตกันชน"หรือบัฟเฟอร์โซน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ไม่ให้บุกเข้าไปถางป่า ล่าสัตว์ เพื่มความสมบูรณ์คืนพื้นป่า ซี่งรมว.เกษตรฯมอบหมาย ให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)จัดทำพื้นที่ดำเนินการรนำร่องพื้นที่แรกๆเช่น จ.อุทัยธานี รอบพื้นที่ป่าตะวันตก และรอบป่ารอยต่อ5 จังหวัด ดำเนินการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ และการพัฒนา อยู่ร่วมกันได้โดยไม่บุกรุกป่าเพิ่ม แก้ภัยแล้งน้ำท่วมได้ยั่งยืน"นายธีรภัทร กล่าว

ปลัดกระทรวงเกษตรฯกล่าวว่าในส่วนการปฎิรูปการเกษตรแผนใหม่ โดยพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ทำการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งรมว.เกษตรฯได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับภาคเอกชน ที่มาเพิ่มการตลาดและเทคนิกทางวิชาการ ใน รูปแบบ "ประชารัฐ"  ให้สหกรณ์จังหวัด คัดเลือกเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ เป็นแปลงต้นแบบ มาทำงานร่วมกัน คาดว่าทำให้การเกษตรสมัยใหม่เดินหน้าได้รวดเร็ว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทอ่อนค่ารับเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทประจำวัน พุธที่ 23 มี.ค. 2559 เช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 34.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.) ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญระหว่างวันคือ ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงมาเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนเริ่มชะลอการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เพราะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าบาทถือว่าแข็งค่ามาก ในขณะเดียวกัน ตลาดยังเห็นทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยคาดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน เม.ย. ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น

ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้อยู่ที่ 39.80 - 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลาดคาดว่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะเดียวกัน จะมีตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐในเดือน ก.พ. ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

การขยายตัวของหน่วยเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของกลุ่ม AEC

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ราชบัณฑิต

ประชาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ที่เริ่มต้นเมื่อเร็วๆ นี้และรู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า ASEAN Economic Community (AEC) ประกอบด้วย 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรคร่าวๆ ดังต่อไปนี้คือ อินโดนีเซีย 253 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 107 ล้านคน เวียดนาม 93 ล้านคน ประเทศไทย 67 ล้านคน พม่า 55 ล้านคน มาเลเซีย 30 ล้านคน กัมพูชา 15 ล้านคน ลาว 6 ล้านคน สิงคโปร์ 5 ล้านคน บรูไน 4 แสนคนเศษ รวมประมาณ 600 กว่าล้านคน ซึ่งถือเป็นหน่วยการเมือ

        เศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่ จำนวนประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศจีนทั้งประเทศ จากจำนวนประชากรและจากอาณาเขตอันกว้างขวางหลากหลายไปด้วยวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ระบบการปกครอง การบริหาร ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ รวมตลอดทั้งภูมิเศรษฐศาสตร์ ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย และเป็นองค์การความร่วมมือที่ถือเป็นประชาคมที่สำคัญองค์การหนึ่งของโลก โดยประเทศต่างๆ ไม่สามารถจะมองข้ามได้

       สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบความคิด วิธีคิด ทัศนคติ ในแง่มุมต่างๆ อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของหน่วยการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยซึ่งมีประชากร 67 ล้านคน เดิมอาจจะผลิตสินค้าเพื่อใช้ในประเทศจำนวนหนึ่ง และส่งออกอีกจำนวนหนึ่งไปยังประเทศต่างๆ แต่เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนแล้วคำถามที่ต้องถามคือ ควรจะขยายหน่วยการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้หรือไม่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าอาจต้องมีการตั้งสาขาหรือมีการร่วมทุนกับต่างชาติในประเทศดังกล่าวผลิตสินค้าที่ตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ และตนเป็นผู้ร่วมลงทุนกับนักธุรกิจในประเทศทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว นอกเหนือจากนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องหาประโยชน์จากความแตกต่างที่ประเทศอื่นไม่มี อันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การแบ่งความชำนา

        เฉพาะด้าน (division of specialization) หรือการแบ่งงานกันทำ (division of labour) เพื่อจะหาประโยชน์จากการเปรียบเทียบเนื่องจากผลิตสินค้าที่ชำนาญกว่า มีคุณภาพดีกว่า และถูกกว่า ที่เรียกว่า comparative advantage เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของโรงงานผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ต่างๆ นั้นอาจจะต้องมองหาโอกาสขยายกิจการของตนโดยมุ่งหวังตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งย่อมจะนำไปสู่สิ่งที่ตามมาคือความร่วมมือในการประกอบธุรกิจ การขยายตัวของการโฆษณา การตลาด ฯลฯ ในส่วนนี้ถือว่าเป็นความร่วมมือในลักษณะที่เป็นบวก โดยธุรกิจประเทศอื่นก็ได้ประโยชน์จากความเติบโตของธุรกิจซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าของผู้ผลิตแต่เบื้องต้น ขณะเดียวกันลักษณะที่กลับกันก็คือ ธุรกิจที่ฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียก็อาจจะขยายตัวไปยังประเทศทางเหนือ อันได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ไทย ลาว พม่า กัมพูชา ซึ่งคงมีอยู่แล้ว

       จากความร่วมมือที่จะต้องมีการปรับตัวในส่วนที่มีการแข่งขันกัน เช่น การผลิตข้าวระหว่างไทยกับพม่า อาจต้องมีการพูดคุยถึงความร่วมมือไม่ตัดราคาซึ่งกันและกัน หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการผลิตข้าว รวมทั้งการส่งข้าวออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายภายในอาเซียน นอกเหนือจากข้าวก็ได้แก่ ยางพาราและน้ำมันปาล์ม ซึ่งมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ คงได้มีการพูดคุยกันอยู่แล้วแต่จำเป็นต้องขยายความเข้มข้นให้มากยิ่งขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวก็เพื่อที่จะนำไปสู่ความไพบูลย์ร่วมกันด้วยการร่วมมือและตัดทอนการแข่งขันหาลูกค้านอกประเทศอาเซียนซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหาย เช่น การตัดราคาสินค้าส่งออกของแต่ละประเทศ

        ภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของ 10 ประเทศนี้มีความแตกต่างกัน ขณะดียวกันก็มีสิ่งที่คล้ายคลึงกันเป็นกลุ่มๆ เช่น ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ถือได้ว่าเป็นกลุ่มทางเหนือ ส่วนมาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มทางใต้ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีทั้งจุดเด่นและจุดปกติของแต่ละประเทศ ความร่วมมืออาจจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ อาจจะไม่สามารถคาบเกี่ยวกันทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งมีทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึง ประเด็นอยู่ที่ว่าจะใช้ประโยชน์จากความคล้ายคลึงได้อย่างไรด้วยความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ฯลฯ

       สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจุดเน้นอยู่ที่ผลประโยชน์ร่วมกัน (common interest) หรือพูดง่ายๆ การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเพื่อมุ่งหวังจะร่วมมือกันในด้านต่างๆ โดยขณะนี้มีอยู่ 3 ด้านคือ เศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม และในความร่วมมือดังกล่าวนี้ย่อมจะนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน ขณะเดียวกันก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ซึ่งถึงแม้จะมีความขัดแย้งอยู่ในทุกสังคม หรือระหว่างสังคม แต่อาจจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือมากกว่าการรื้อฟื้นความขัดแย้งซึ่งลังแต่จะนำไปสู่ปัญหาที่ยืดเยื้อ สันติภาพสันติสุขของภูมิภาคนี้ก็เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน จุดมุ่งเน้นสำคัญที่สุดก็คือ จะต้องเป็นลักษณะของทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win-win) และบนพื้นฐานนี้ต้องมียุทธศาสตร์ (strategies) และยุทธวิธี (tactics) จะต้องมุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ไม่จำเป็น หรือในกรณีที่มีความขัดแย้งก็ต้องพยายามออมชอมไกล่เกลี่ย เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งนั้นลามปามต่อไป

         แต่จุดที่ปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่เกิดในทางลบกับประเทศใดประเทศหนึ่งใน 10 ประเทศ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นอีก 9 ประเทศ ดังนั้น ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองก็จะส่งผลให้เกิดการไร้เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ รวมตลอดทั้งทางสังคมด้วยในระดับหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง กล่าวง่ายๆ คือ เสถียรภาพของแต่ละประเทศใน AEC จะกลายเป็นส่วนที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศอื่นๆ อีก 9 ประเทศ การพยายามพัฒนาระบอบการปกครองที่นำไปสู่เสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจที่เกิดความจำเริญและเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อกันและกัน ขณะเดียวกันการมีวัฒนธรรมและการพัฒนาสังคมที่นำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม จึงไม่ใช่สิ่งที่จำกัดอยู่ในแต่ละประเทศ หากแต่มีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย การขยายตัวของหน่วยเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของกลุ่ม AEC จึงต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญนี้ เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดประเด็นหนึ่ง

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ดึงเงินขายน้ำอ้อยช่วยชาวไร่สอน.ปลดล็อกแก้ปัญหากู้เงินลดต้นทุนการผลิต

          กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมชงครม.แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ค.นี้ เสนอปลดล็อกให้นำน้ำอ้อยไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องได้ หวังนำรายได้ที่ขายน้ำอ้อยมาแบ่งให้กับเกษตรกร แก้ปัญหาการเรียกร้องเงินช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตจากรัฐบาลปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายปีนี้กู้อีก 1.6 หมื่นล้านบาท ช่วยต้นทุนการปลูกอ้อย

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ทางสนอ.ได้จัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับไปพิจารณาแล้ว

          ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้รัฐบาลลดภาระในการกู้เงินมาอุดหนุนต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย จากการเรียกร้องของชาวไร่อ้อย ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราตันละ 160 บาท คิดเป็นวงเงิน 1.695 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ก็ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอัตราที่ใกล้เคียงกันอีก หากยังปล่อยในลักษณะนี้ต่อไป จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สะสมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการผลิตลง ไม่ต้องมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือต้นทุนการผลิตทุกปีสำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามแผนนั้น ในระยะแรกได้เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเอทานอลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี นอกเหนือจากการผลิตเป็นน้ำตาลเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการเปิดให้ตั้งโรงงานหีบอ้อยได้ แต่ไม่มีการผลิตเป็นน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำน้ำอ้อยไปผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ จากปัจจุบันที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ตั้งโรงงานได้อย่างเสรี

          ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการแบ่งปันผลประโยชน์กับทางโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำอ้อยที่จำหน่ายออกไป จะมีการนำไปเทียบเคียงเป็นปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ และกำหนดเป็นราคาอ้างอิงของน้ำตาลทรายที่ส่งออก ซึ่งปัจจุบันโรงงานน้ำตาลที่ใช้น้ำอ้อยนำไปผลิตเป็นเอทานอลไม่ได้ คิดรายได้ส่วนนี้นำเข้าระบบ หรือนำมาแบ่งให้กับชาวไร่อ้อย ดังนั้น เมื่อปลดล็อกในส่วนนี้ได้แล้ว จะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกส่วนหนึ่ง ส่วนในระยะยาวนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะนำรายได้จากส่วนต่างๆ ของโรงงานน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าจากชานอ้อย โรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และโรงงานปุ๋ย นำรายได้กลับเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงของหลายฝ่ายที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

          ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะช่วยรักษาเสถียรภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้ดีขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดการนำเงินของกองทุนปีละประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่เก็บจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท ไปจ่ายหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ที่กู้เงินมาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่

          ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีเงินอยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่มีหนี้ที่ค้างชำระอยู่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในปี 2560 อีกทั้งในปีนี้จะต้องกู้มาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้กับชาวไร่อีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นประกาศอยู่ที่ 808 บาทต่อตัน ในขณะที่ชาวไร่ได้ประเมินต้นทุนอยู่ที่ 1.126 พันบาทต่อตัน จึงขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในอัตรา 160 บาทต่อตัน ดังนั้น เมื่อรวมในส่วนที่ต้องกู้ใหม่จะทำให้กองทุนมีหนี้เพิ่มเป็นประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

          ดังนั้น หากแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใช้ได้ผล ก็จะทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องมาเรียกร้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอีก ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของกองทุนที่จะมีเงินไหลเข้ามา เพื่อนำไปใช้สำหรับรักษาเสถียรภาพราคาอ้อยและน้ำตาลทราย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ลดการไถพรวน ลดต้นทุนปลูกอ้อย

การใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กมีข้อจำกัดเรื่องกำลังในการฉุดลาก ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ลากผาลไถขนาดใหญ่ในการเตรียมดินปลูก ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

 การผลิตอ้อยของเกษตรกรนับวันยิ่งมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 10,549.08 บาท/ไร่ หรือ 1.10 บาท/กิโลกรัม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมดินปลูกอ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรของตนเอง ต้องพึ่งพาเครื่องจักรกลการเกษตรของชาวไร่รายใหญ่หรือผู้จ้างเหมาเตรียมดินปลูกและดูแลรักษาอ้อย การใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็กมีข้อจำกัดเรื่องกำลังในการฉุดลาก ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ลากผาลไถขนาดใหญ่ในการเตรียมดินปลูก ทำให้สิ้นเปลืองเวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร ได้มีทางออกให้กับเกษตรกรโดยแนะนำให้เตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน หรือสไตรพ์ทิวเลจ (Stripe tillage) ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้อีกทางหนึ่ง

นายอรรถสิทธิ์ บุญธรรม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าการเตรียมดินโดยการไถพรวนด้วยผาลจานยังทำให้สูญเสียความชื้นของดินชั้นล่าง และมีต้นทุนสูงถึง 1,200-1,900 บาท/ไร่

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ค้นคว้าวิจัยวิธีการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบใหม่ คือ การเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน (Stripe tillage) ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และช่วยลดต้นทุนในการปลูกอ้อยด้วย

การเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวนแบบสไตรพ์ทิวเลจ มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร 2 ชุด ประกอบด้วย 1. ชุดเตรียมดินคือริปเปอร์ร่วมกับจอบหมุน โดยวางริปเปอร์ไว้ด้านหน้าจอบหมุน และ 2. ชุดเครื่องปลูกอ้อยที่มีถังหยอดน้ำและใส่ปุ๋ยพร้อมปลูก ซึ่งการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบนี้มีหลักการสำคัญ คือ เน้นการไถพรวนเฉพาะแนวที่ปลูกอ้อย โดยริปเปอร์จะทำหน้าที่ไถระเบิดดินดานช่วยให้น้ำซึมลงดินชั้นล่างได้ดี และเมื่อมีปัญหาฝนทิ้งช่วง ความชื้นของดินชั้นล่างจะสามารถขึ้นมาเป็นประโยชน์กับต้นอ้อยได้ ส่วนจอบหมุนจะทำหน้าที่พรวนดินในแนวไถริปเปอร์ ช่วยให้ดินร่วนซุยและปิดความชื้นของดินชั้นล่าง ทำให้ดินในระดับรากอ้อยมีความชื้น

ข้อดีของการเตรียมดินปลูกอ้อยแบบลดการไถพรวน คือ 1.สามารถช่วยลดขั้นตอนในการเตรียมดินปลูกอ้อยและใช้ระยะเวลาในการเตรียมดินสั้นลง 2. ใช้เครื่องมืออุปกรณ์เตรียมดินน้อย 3. ช่วยรักษาความชื้นของดินชั้นล่างเนื่องจากไม่มีการพลิกหน้าดิน 4. มีการไถระเบิดดินดานพร้อมทั้งพรวนปิดความชื้นในแนวที่ปลูกพืช ทำให้พืชที่ปลูกทนแล้ง 5. ช่วยลดการชะล้างหน้าดินโดยเฉพาะเขตปลูกอ้อยที่มีสภาพดินทรายและดินร่วน เนื่องจากไม่ได้ไถพลิกดินทั้งแปลงเหมือนกับการเตรียมดินปลูกอ้อยโดยทั่วไป และ 6. ช่วยลดต้นทุนในการเตรียมดินปลูกอ้อยลงได้ 2-3 เท่า โดยการเตรียมดินปลูกอ้อยด้วยวิธีนี้ต้นทุนจะอยู่ที่ 450-1,000 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพดินแต่ละพื้นที่ หากเป็นดินทรายและดินร่วนต้นทุนการเตรียมดินจะต่ำกว่ามาก

“ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในหลายพื้นที่นำเทคนิคการเตรียมดินปลูกพืชแบบสไตรพ์ทิวเลจไปใช้แล้ว อาทิ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก อนาคตหากมีการเตรียมดินปลูกพืชแบบลดการไถพรวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตต่ำลงแล้ว ยังช่วยรักษาความชื้นของดินชั้นล่าง ทั้งยังสามารถอนุรักษ์ดินไม่ให้ถูกชะล้างด้วย” นายอรรถสิทธิ์ กล่าว.​ความคิดเห็นข่าวยอดนิยมในหมวดเกษตรกรรมเรื่องน่ารู้ : ละมุดเรื่องน่ารู้ : กล้วยหิน“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กระทรวงอุตสาหกรรมตอกย้ำคุณภาพอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับโลก

          เตรียมคัดโรงงานเด่นรับ "รางวัลแห่งเกียรติยศของอุตสาหกรรมไทย" ปี 59

          กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้เติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ล่าสุดประกาศเปิดรับสมัคร สถานประกอบการ เพื่อเข้ารับคัดเลือกให้รับรางวัลเกียรติยศของอุตสาหกรรมไทย ประจำปี 2559

ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2559 กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารโดย ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำมาซึ่งพื้นฐานที่มั่นคงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

          ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเฉพาะภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุสาหกรรม จึงดำริให้มีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม (The Prime Minister's Industry Award) เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องให้แก่สถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจประเมินของกระทรวงอุตสาหกรรม สมเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบการอื่นๆ ซึ่งรางวัลที่สำคัญนี้ จัดต่อเนื่องมาแล้ว 23 ปี นับตั้งแต่ปี 2536 โดยนายกรัฐมนตรีให้เกียรติเป็นผู้มอบรางวัล สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น แบ่งออกเป็น 7 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1) การเพิ่มผลผลิต 2) การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) การบริหารความปลอดภัย 4) การบริหารงานคุณภาพ 5) การจัดการพลังงาน 6) การบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และ 7) จัดการโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ยังมีรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม นับเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเนื่องจากในแต่ละปีจะมีเพียง 1 รายเท่านั้นที่ได้รับรางวัล และต้องเคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท

          ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า รางวัลอุตสาหกรรม นับเป็นรางวัลที่สามารถส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงการันตรีคุณภาพของสถานประกอบการสู่ระดับสากล โดยสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลสามารถนำรางวัลไปใช้ประโยชน์กับองค์กร ทั้งด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาธุรกิจ และการพัฒนาสังคม เพราะนอกจากจะได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้ว ยังสามารถใช้เป็นใบเบิกทางด้านการตลาด การสร้างภาพพจน์และความรู้สึกที่ดี รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย สำหรับปี 2559 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังเปิดรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกให้รับรางวัลเกียรติยศของอุตสาหกรรมไทย ประจำปี 2559 สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2559 สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0-2202-4493 โทรสาร 0-2354-3275 หรือ ดูรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.dip.go.th

          นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มบริษัทมิตรผลมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ โดยในปี 2558 บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง ในเครือกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้รับรางวัลสูงสุดคืออุตสาหกรรมยอดเยี่ยม รวมถึงในหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านต่างๆ มาแล้วถึง 3 รางวัล จึงนับเป็นความภาคภูมิใจ และถือเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เรารักษามาตรฐานขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการบริหารจัดการ การนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินธุรกิจ ทั้งชาวไร่อ้อย ลูกค้า คู่ค้า ภาครัฐ พนักงาน ผู้ถือหุ้น และชุมชน ภายใต้ปรัชญาขององค์กรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ ตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เราพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืนให้มีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติตลอดไป"

          ด้าน คุณสินีนุช โกกนุทาภรณ์ ประธานบริหารด้านการเงินและการตลาด บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพารา น้ำมันปาล์ม และสวนเกษตร กล่าวว่า "ในปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการบริหารงานคุณภาพ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่บริษัทฯ ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจของทั้งผู้บริหารและพนักงาน ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นเลิศ ทำให้บริษัทฯเจริญเติบโตอย่างยังยืน เรามักเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความสามารถโดยการนำของเสียในกระบวนการมาเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น มุ่งมั่นลดต้นทุนการผลิตและแสวงหาโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยจะไม่มีการนำของเสียจากกระบวนการผลิตทิ้งออกนอกโรงงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ZERO WESTE และ ZERO DISCHARGE ซึ่งเราอยากให้เพื่อนผู้ประกอบการมาร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจและความสำเร็จให้กับองค์กรตัวเองเช่นเดียวกับเรา และพร้อมจับมือร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน"

          ข้อมูลเพิ่มเติมที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4414 – 17

          และส่วนพัฒนาขีดความสามารถบริการอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4493

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชงครม.แก้กฎหมายโรงงานเม.ย.นี้พบปล่อยมลพิษโทษหนักถึงจำคุก 

          กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2535 ลดขั้นตอนออกใบ ร.ง.4 เหลือ 15 วัน เพิ่มโทษจำคุกโรงงานปล่อยมลพิษ เสนอเข้า ครม.ภายในเม.ย.นี้ มีผลบังคับใช้ภายในปี 60 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโรงงาน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัย เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต โดยเนื้อหา พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) เหลือเพียง 15 วัน เพิ่มข้อกำหนดในการรักษา สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เป็นต้น ซึ่งพ.ร.บ.ที่ปรับปรุงใหม่นี้จะช่วยลดช่องว่างทางกฎหมาย และสร้างความชัดเจน โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาและแก้ไขก่อนเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 นี้อย่างแน่นอน

          ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รายละเอียดของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่เตรียมนำเสนอนั้นประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.หมวดว่าด้วยคำนิยาม ได้มีการแก้ไขความหมายของคำว่า "โรงงาน" ใหม่ จากเดิม "โรงงาน" จะต้องมีกำลังเครื่องจักรการผลิตตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 7 คน แต่ร่างพ.ร.บ.ใหม่ "โรงงาน" จะมีกำลังเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเป็น 25 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 25 คนขึ้นไปเพื่อให้โรงงานขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะให้บริการในชุมชนสามารถดำเนินกิจการได้โดยง่ายอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งยังได้ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า "ตั้งโรงงาน" ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับติดตั้งในอาคารเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงานได้

          2.หมวดการประกอบกิจการโรงงานและอนุญาต โดยกำหนดว่าถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้วจึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้ และเพื่อส่งเสริมให้ประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่องและสามารถต่อยอดการผลิตออกไปโดยไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์เดิมเท่านั้น จึงให้เพิ่มประเภทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องจักรได้ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งให้สามารถเพิ่มพื้นที่ของโรงงานออกไปได้

          3.หมวดบทกำหนดโทษ ใน พ.ร.บ.โรงงานฯ ฉบับแก้ไขใหม่นี้ ได้เพิ่มโทษโรงงานที่ทำผิดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จากเดิมมีเพียงโทษปรับ โดยได้เพิ่มโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งยังได้เพิ่มบทลงโทษสำหรับโรงงานที่เดินเครื่องผลิตในส่วนต่อขยายโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ จากเดิมที่ไม่มีบทลงโทษในส่วนนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สนใจที่จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : กรมวิชาการเกษตรแนะ‘ปุ๋ยชีวภาพ PGPR’ ช่วยลดต้นทุนการผลิต

การลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรต่างได้รับการช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานของรัฐบาลหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ปัจจัยการผลิต การเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร หรือ การเพิ่มผลผลิตโดยกลวิธีต่างๆ

กรมวิชาการเกษตร หนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิตทุกรูปแบบ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยพี่น้องเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ (PGPR - Plant Growth Promoting Rhizocacteria)) มีคุณสมบัติในการตรึงไนโตรเจนสำหรับพืช ประกอบด้วยแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจน ละลายธาตุอาหารพืชและสร้างสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และการที่แบคทีเรียมีบทบาทได้หลายอย่าง จึงทำให้แบคทีเรียสามารถช่วยให้ธาตุอาหารสำหรับส่งเสริมการเจริญเติบโตให้กับพืชได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น พันธุ์พืช และการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการอยู่รอดของจุลินทรีย์

นายภัชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปุ๋ยชีวภาพ PGPR เป็นกลุ่มแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อพืชใน 3 ประการ 1.เป็นปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) 2.เป็นผู้สร้างฮอร์โมนให้พืช (Phytostimulator) และ 3.เป็นผู้ควบคุมศัตรูพืช (Biopesticilde) จากการวิจัย PGPR มีความสามารถในการละลายฟอสเฟตที่ตกค้างอยู่ในดิน อีกทั้งสามารถตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 1-4 กิโลกรัมต่อไร่ โดย PGPR สามารถตรึงไนโตรเจนได้ดีกว่าพืชตระกูลถั่ว 1,000 เท่า และยังสามารถผลิตฮอร์โมนกลุ่ม ออกซิน (Auxin) จิบเบอเรลลิน (Gibbere llin) และไซโตไคนิน(Cytokinin)ได้ ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นกลุ่มของฮอร์โมนพืชที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะรากพืชที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันมีผลงานวิจัย 42 ผลงานออกมายืนยันว่า PGPR นี้สามารถใช้ได้ผลในพืช 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด อ้อยและมันสำปะหลัง

อย่างไรก็ตาม การที่เกษตรกรจะทราบได้ว่าดินในพื้นที่มีความสมบูรณ์ หรือ มีธาตุอาหารชนิดใดอยู่บ้าง จะต้องมีการวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะทำให้ได้ผลคาดการณ์ที่แน่นอนในการเลือกปลูกพืช หรือ การใส่ธาตุอาหารให้พืชที่เกษตรกรต้องการปลูก โดยธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการมีทั้งสิ้น 13 ชนิด แต่พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ชนิด ส่วนแร่ธาตุอีก 3 ชนิดนั้น คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เป็นแร่ธาตุที่พืชสามารถดูดซึมได้ในน้ำในอากาศ เกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องดูในกลุ่มของ N P K เป็นหลักว่ามีความสมดุลกันมากเพียงใด ซึ่งการวิเคราะห์ดินจึงมีความสำคัญกับการปลูกพืช เนื่องจากหากพบว่า ขาดธาตุอาหารชนิดใดจะต้องมีการเติมธาตุชนิดนั้นเข้าไป การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินก็เพื่อที่จะเติมในส่วนที่ขาด

นายภัชญภณกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ผลิต PGPR ออกมา 3 ชนิดคือ PGPR1 / PGPR2 /และ PGPR3 โดย PGPR1 ใช้สำหรับข้าวโพด / PGPR2 ใช้สำหรับข้าว / และ PGPR3 ใช้สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรสามารถผลิต PGPR ทั้งหมดได้เพียง 5 ตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร นอกจากนี้ PGPR ได้มีการทดสอบในนาข้าว 5 จังหวัด คือ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี ชัยนาท และกาญจนบุรี ที่กำลังทดสอบอยู่ในพื้นที่นาปรังทั้งหมด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมมีความพึ่งพอใจ เนื่องจากข้าวมีการเจริญเติบโตที่ดี มีรากที่แข็งแรง อีกทั้งข้าวทนต่อสภาพแล้งได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ PGPR เนื่องจากรากที่มากกว่าสามารถหาน้ำและแร่ธาตุได้ดีกว่า ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยชีวภาพ PGPR1จะช่วยเพิ่มปริมาณรากประมาณร้อยละ 15 ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีประมาณร้อยละ 10 และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชประมาณร้อยละ 5–10 เป็นต้น

เห็นได้ว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR เป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยเฉพาะกับการเกษตรปัจจุบันที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง PGPR ต้องใช้ควบคู่กับปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ 3 ชนิด แต่สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะในกลุ่มของเชื้อราที่มีภาวะดื้อยาสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้การใช้ PGPR ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศ EU หรือ สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นการค้าในรูปของ Bioinoculant หรือ จุลินทรีย์ชีวภาพ แล้ว เช่น กลุ่ม Rhizobium, Pseudomonas, Bacillus, Streptomyces เป็นต้นแต่อย่างไรก็ตามการประยุกต์ใช้ในสภาพจริงยังมีความจําเป็นต้องมีการศึกษาศักยภาพและประสิทธิภาพในพื้นที่แต่ละพื้นที่กับพืชแต่ละชนิดด้วย ซึ่งจากการวิจัยหลายๆ แห่ง พบว่า ประสิทธิภาพของแบคทีเรียชนิดเดียวกันจะต่างกันไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมของดิน

สำหรับการใช้ ปุ๋ยชีวภาพ PGPR ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจกับการเกษตรของประเทศไทย ที่เริ่มมองถึงการลดต้นทุนการผลิต และการเกษตรแบบปลอดสาร เกษตรกรที่สนใจปุ๋ยชีวภาพ PGPR ติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรกรมวิชาการเกษตรโทรศัพท์ 0-2579-0056 หรือ 0-2579 -7522-3

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ไทยรับมือ‘เมียนมา’ซ่อมก๊าซ

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 19-28 มี.ค. 2559  เพื่อการบำรุงรักษาประจำปีนั้น ทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากสหภาพเมียนมาหายไปประมาณ 630 ล้านลูกบาศก์ต่อฟุต/วัน  จากสภาพปกติส่งให้วันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ต่อฟุต/วัน ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในฝั่งภาคตะวันตกบางส่วนไม่มีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติฝั่งภาคตะวันออก และโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และเดินเครื่องด้วยน้ำมันบางส่วนทดแทน

“ขอให้ความมั่นใจว่าการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าในช่วงดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า  แต่ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ตามมาตรการ 4 ป. คือ ปิดไฟฟ้าดวงที่ไม่ได้ใช้ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊ก ไฟที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนหลอด ไฟประหยัดพลังงาน ตลอดจนประหยัดการใช้น้ำในช่วงวิกฤติภัยแล้งด้วย ซึ่งจากภาวะภัยแล้งจัดจากเอลนิโญ ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สามารถติดตามดูสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าประจำวันตลอดเวลาแบบ Real Time  ได้ที่ www.so.egat.co.th/genmapchart/GenChartEN.aspx เพื่อช่วยกันรณรงค์ลดการใช้พลังงานร่วมกันทั้งประเทศ”รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ปัญหาเกษตร ที่นี่มีคำตอบ : ลดต้นทุนการผลิตด้วยพืชปุ๋ยสด

คำถาม ผมจะสามารถลดต้นทุนการผลิตพืชนาพืชไร่ตามที่รัฐบาลส่งเสริม ขอให้ช่วยแนะนำวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนด้วยครับ

สุรชัย ทองเจริญ   อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

คำตอบ ทางเลือกการลดต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างหนึ่งนั้นคือ การลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ย โดยให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น และให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง

ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่ได้จากการตัดสับหรือไถกลบพืชตระกูลถั่วขณะออกดอกลงไปในดิน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อปรับปรุงดินบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้น ต้องปล่อยให้เกิดการย่อยสลาย ประมาณ 2 สัปดาห์ จะให้ธาตุอาหารพืช และเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับพืชที่จะปลูก และเป็นการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยเคมี

การใช้ปุ๋ยพืชสดในนาข้าวนักวิชาการเกษตร ได้แนะนำไว้ 3 วิธี คือ

วิธีที่ 1 ปลูกพืชปุ๋ยสดพร้อมกับข้าว โดยปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วพุ่ม หรือ ถั่วพร้า อัตราเมล็ด 8 และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง พร้อมกับหว่านข้าวในนา หว่านข้าวแห้ง เพื่อให้ถั่วเจริญเติบโตพร้อมกับต้นข้าว ในช่วงที่น้ำยังไม่ขังในนา ถ้าน้ำไม่ขังหรือดินไม่ชื้นเกินไป ถั่วจะเจริญเติบโตได้ ประมาณ 45-50 วัน ให้ไขน้ำเข้าที่นาถั่วจะตายเน่าสลายให้ธาตุอาหารพืชอินทรียวัตถุแก่ดินและต้นข้าว

วิธีที่ 2 ปลูกพืชปุ๋ยสดก่อนการทำนา ได้แก่ โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม หรือ ถั่วพร้าให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้อัตราเมล็ด 5 5 8 และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับควรเริ่มปลูกในระยะ

ฝนแรก ระหว่างเดือนเมษายน - พฤษภาคม โดยไถพรวนดินอย่างดี แล้วหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสด เมื่อต้นพืชโตถึงระยะออกดอก หรือประมาณ 45-50 วัน ให้ไถกลบ แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย ประมาณ 2 สัปดาห์จึงปลูกข้าวตาม ในกรณีใช้เมล็ดโสนอัฟริกัน ก่อนปลูกเมล็ดควรแช่น้ำนาน 12 ชั่วโมง เพื่อทำให้เมล็ดงอกดีขึ้น เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดมีความหนา

วิธีที่ 3 ปลูกพืชปุ๋ยสดหลังทำนา ได้แก่ โสนอัฟริกัน ปอเทือง ถั่วพุ่ม หรือ ถั่วพร้า ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้อัตราเมล็ด 5 5 8 และ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ควรปลูกโดยไม่ไถพรวน ไม่ต้องเกี่ยวตอซังข้าวออก ใช้เมล็ดถั่วหยอดลงไปในนาโดยตรง และปลูกทันทีที่เกี่ยวข้าวเสร็จ ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ หรือจะปลูกโดยการไถพรวนดินอย่างดีก็ได้ และไถกลบ ระยะออกดอก ประมาณ 45-50 วัน ปล่อยให้ย่อยสลายประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วจึงปลูกข้าว

การใช้พืชปุ๋ยสดในการปลูกพืชไร่

1. ใช้พืชปุ๋ยสดในการปลูกพืชหมุนเวียน เช่น

-การปลูกพืชปุ๋ยสดในต้นฤดูฝน แล้วไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด หลังจากนั้น จึงปลูกพืชหลักตามพืชปุ๋ยสด ได้แก่ ปอเทือง โสนต่างๆ ถั่วเขียว และพืชหลัก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวไร่ และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอายุสั้น

-การปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อเป็นพืชคลุมดิน ซึ่งมีอายุยาวในหนึ่งปี แล้วจึงปลูกพืชหลักในปีที่สอง หมุนเวียนกันไป ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กับพื้นที่ความลาดเท เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย หรือพื้นที่เกษตรที่สูงที่มีการทำไร่เลื่อนลอย เช่น การปลูกถั่วแปบ เป็นปุ๋ยพืชสดสลับกับถั่วแดงหลวง เป็นต้น

2.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบปลูกพืชแซม คือการปลูกพืชปุ๋ยสดบางชนิดที่เหมาะสมแซมในแถวพืชหลัก ซึ่งอาจเป็นการปลูกพืชหลักแล้ว ก็ปลูกพืชปุ๋ยสดแซมในแถวไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน หรือปลูกพืชหลักแล้วระยะเวลาหนึ่ง จึงปลูกพืชปุ๋ยสดแซมเป็นการเหลื่อมเวลากันในหนึ่งปี

3.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบปลูกพืชแบบแถบพืช เป็นวิธีการปลูกพืชปุ๋ยสดเป็นแนวแถบคล้ายๆ เป็นกำแพง เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียหน้าดิน จากการชะล้างพังทลายของดิน โดยแนวแถบของพืชปุ๋ยสด จะทำหน้าที่เป็นแนวดักตะกอน อันเกิดจากการชะล้างพังทลายจากน้ำฝน และลดความรุนแรง จากการไหลบ่าของน้ำฝนได้ โดยแถบพืชปุ๋ยสด อาจจะกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวตามแนวระดับต่อจากแถบพืชปุ๋ยสด จึงเป็นแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจ อาจกว้างประมาณ 3 เมตร ขึ้นอยู่กับความลาดเท ต่อจากนั้นก็เป็นแถบพืชปุ๋ยสดอีก ทำเช่นนี้สลับกันไปจนเต็มพื้นที่ พืชที่นิยมใช้ปลูกเป็นแนวแถบพืชปุ๋ยสด ได้แก่ กระถิน ถั่วมะแฮะ เป็นต้น

4.ปลูกพืชปุ๋ยสดในระบบพืชคลุมดิน การปลูกพืชในระบบนี้ มักเป็นการปลูกพืชปุ๋ยสดตระกูลถั่วชนิดที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย เพื่อให้เจริญเติบโตปกคลุมผิวดิน ได้แก่ ถั่วคาโลโปโกเนียมไมยราบไร้หนาม ถั่วคุดซู ถั่วแปบ เป็นต้น

การใช้พืชปุ๋ยสดบำรุงดิน จะเป็นการเพิ่มขึ้นของอินทรียวัตถุในดิน หลังจากพืชปุ๋ยสดนั้นสลายตัวสมบูรณ์แล้ว และยังเป็นการชดเชยปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่สูญเสียไป เนื่องจากการเพาะปลูกหรืออื่นๆ หากทําการไถกลบพืชปุ๋ยสดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทําให้ดินมีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดิน อีกทั้งอินทรียวัตถุยังช่วยในการรักษาและปรับปรุงโครงสร้างของดินให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 

คลังเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รมว.คลัง เผย ไอเอ็มเอฟหนุนรัฐบาลเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ระดับต่ำ เชื่อดันจีดีพีโต 5%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟได้ประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยถือว่าดีมาก เพราะไทยยังสามารถใช้นโยบายการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ระดับต่ำ 44% ของจีดีพีเท่านั้น และยังช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยสามารถอยู่ที่ 4-5% จากปัจจุบันที่ 3% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าศักยภาพของไทยมาก

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ด้านการส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้น การส่งออกเดือน ก.พ.59 ขยายตัวได้ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทองและน้ำมัน แต่หากตัดทั้งสองสินค้าออก การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ 2% ดีกว่าเดือน ม.ค.59 ที่ขยายตัวติดลบ 8-9% แต่ภาพรวมของการส่งออกยังไม่ดีมาก เพราะยังขยายตัวติดลบ ทำให้เศรษฐกิจต้องพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน และการบริโภค ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

“เศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่กำลังซื้อในระดับฐานรากลดลงจากราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำ และการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับว่าประเทศไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แต่การโตให้ได้นั้นไม่ใช่การเอาเงินใส่ไปเฉย ๆ เพราะหากเราใส่เงินไปแล้วหมดก็จะเป็นเหยื่อซึ่งคล้ายกับประเทศอื่น ๆ โดยยังมีเรื่องที่ต้องปฏิรูปหลายเรื่อง เช่น การพึ่งพาการบริโภคในประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจฐานราก การเพิ่มรายได้ให้กับคนฐานราก ให้เป็นคนชั้นกลางซึ่งเป็นฐานที่สำคัญของการสร้างการบริโภคในประเทศ” นายอภิศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

KBS ทุ่ม 1 หมื่นล้านผุดโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ 

          “น้ำตาลครบุรี” เตรียมผุดโครงการซูการ์ เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ที่สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ใน 6 ปีข้างหน้า เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกจะตั้งโรงงานน้ำตาล 2 หมื่นตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ และเอทานอล 2 แสนลิตร/วัน พร้อมเปิดทางหาพันธมิตรร่วมทุน

                นายทัศน์ วนากรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) (KBS) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนลงทุนโครงการซูการ์ เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ใน 6 ปีข้างหน้า ใช้เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกจะทำโรงงานน้ำตาลขนาด 2 หมื่นตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปีข้างหน้า ใช้เงินลงทุน 5 พันล้านบาท

                หลังจากนั้นจะดำเนินการลงทุนในเฟส 2 กำลังการผลิตเท่าเฟสแรก ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาล 2 หมื่นตันอ้อย/วัน โรงไฟฟ้าชีวมวล 20 เมกะวัตต์ และโรงงานผลิตเอทานอล 2 แสนลิตร/วัน ใช้เงินลงทุน 5 พันล้านบาท

                สำหรับแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.2 เท่า ตั้งเป้า D/E ไม่เกิน 2 เท่า รวมทั้งจะหาพันธมิตรร่วมทุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนในโครงการดังกล่าว โดยบริษัทจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 50-70% ซึ่งการลงทุนดังกล่าวนี้จะพยายามไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน KBS

                นายทัศน์กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้ทิศทางราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อนขึ้นมาที่ระดับ 15-16 เซ็นต์/ปอนด์ จากที่เคยต่ำสุด 11 เซ็นต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาว (White Premium) ในปีนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 90 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน หลังจากค่าเงินบราซิลเริ่มผันผวนน้อยลง

                 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานบริษัทฯ ในปีนี้คาดว่ารายได้รวมโตขึ้น 7-8% จากปีก่อนมีรายได้รวม 6.72 พันล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้งหลังจากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 50.18 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยปีนี้รับรู้รายได้จากโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 35 เมกะวัตต์ที่เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 22 เมกะวัตต์ โครงการ Conditioning Silo ทำให้ได้พรีเมียมจากการขายน้ำตาล และโครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลไลน์ซี เพิ่มอีก 1.2 หมื่นตันอ้อย/วัน ส่งผลให้มีอ้อยเข้ามาหีบเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านตัน จากปีก่อน 2.4 ล้านตัน และมี Yield น้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็น 104 กิโลกรัม/ตันอ้อย

              นายทัศน์กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 2 แสนลิตร/วัน ที่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ว่ายังไม่ผ่านอีไอเอ บริษัทฯ จึงตัดสินใจชะลอการลงทุนดังกล่าวออกไปก่อน และมีโอกาสที่จะตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่ อ.สีคิ้วแทน

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

มิตรผลวางรากฐานพัฒนาชาวไร่อ้อย จากหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตสู่ชุมชนยั่งยืน  

"โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผล” บนแนวความคิดของการ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่ถูกนำไปถ่ายทอดสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

         กลุ่มมิตรผลร่วมผลักดันเศรษฐกิจฐานราก วางรากฐานยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาชาวไร่อ้อยจากหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตสู่ชุมชนยั่งยืน แปลงแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดขั้นตอนดำเนินการ 4 ระยะ บูรณาการครอบคลุม 5 เป้าหมายสำคัญ ประเมินความสำเร็จล่าสุด ในงาน “ฮักแพง โฮมคนฯ” โชว์บทเรียนสู่ความเข้มแข็งของชุมชนชาวไร่อ้อย

        การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากคือสิ่งที่รัฐบาลกำลังให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ด้วยแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยเฉพาะภาคการเกษตร การสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง การสร้างวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจฐานรากให้เกื้อกูลกัน แต่ทั้งนี้ กำลังจากภาครัฐเพียงลำพังในการมุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของไทยคงไม่อาจประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย การยื่นมือมาช่วยเหลือจากภาคเอกชนย่อมเป็นแรงส่งที่ผลักดันให้การพัฒนาในภาคการเกษตรและชุมชนเดินหน้าสู่ความมั่นคงแข็งแรงได้เร็วยิ่งขึ้น

        จึงก่อเกิด “โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน กลุ่มมิตรผล” บนแนวความคิดของการ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่ถูกนำไปถ่ายทอดสู่แนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาของกลุ่มมิตรผล ซึ่งมีจำนวนกว่า 100,000 รายในปัจจุบัน ด้วยปณิธานในการช่วยให้ชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถพัฒนาอาชีพการปลูกอ้อยให้เป็นสัมมาอาชีพที่ยั่งยืนในท้องถิ่น

                การเริ่มต้นพัฒนาจากโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีการดำเนินงานในโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิต ซึ่งประกอบด้วย 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 “การส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อย” เพื่อลดปัญหาการผลิตแก่เกษตรกรที่ขาดความรู้ การบริหารจัดการ และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตอ้อยเฉพาะด้าน ระยะที่ 2 “การบริหารจัดการระบบชลประทานและการใช้น้ำในไร่อ้อย” เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และขาดประสิทธิภาพในการใช้น้ำ ด้วยการสร้างการบริหารจัดการระบบชลประทานและการใช้น้ำในไร่อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ

        ระยะที่ 3 “การบริหารจัดการในไร่อ้อย” เพื่อสร้างประสิทธิภาพ และผลผลิตสูงสุดของไร่อ้อย ด้วยการบริการจัดการแบบองค์รวม ด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูกอ้อย การให้น้ำ การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว และ ระยะที่ 4 “การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาด้านสังคม ด้วยการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนเกษตรกรชาวไร่อ้อย

        การประเมินความสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลในงาน “ฮักแพง โฮมคน ตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่บ้านนาหว้านาคำ ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อเร็วๆ นี้ คืออีกหนึ่งพลังจากภาคเอกชนในการส่งเสริมให้ชุมชนชาวไร่อ้อยได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อให้สามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเอง เชื่อมประสานเครือข่ายผู้นำชุมชนและภาคีความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการอยู่ใน 9 ตำบลในจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และกาฬสินธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงโรงงานของมิตรผลทั้ง 6 แห่ง

                กำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานในงาน กล่าวว่า “การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรคือการสร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล”       

        วรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “เราริเริ่มโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตในปี 2545 และได้ยกระดับสู่โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในปี 2555 เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ เพื่อให้ชุมชนมีความสุข และยังเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน การดำเนินโครงการมีความคืบหน้ามาตามลำดับ ตั้งแต่การช่วยให้ชุมชนได้รู้จักตัวเอง การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จนถึงระดับที่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ในที่สุด”

        โครงการของมิตรผลใช้แนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการครอบคลุม 5 ด้านสำคัญ คือ

        หนึ่ง “ด้านเศรษฐกิจ” ให้คนในชุมชนมีความพอประมาณ รู้จักเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ละเลิกอบายมุข และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการออม พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อเศรษฐกิจชุมชน เช่น การเลี้ยงสุกร ไก่ เพาะเห็ด ผลิตสบู่ฟักข้าว น้ำยาอเนกประสงค์ กล้วยฉาบ เกษตรปลอดสารและตลาดผักสีเขียว       

        สอง “ด้านสังคม” พัฒนาผู้นำครัวเรือนต้นแบบและบุคคลตัวอย่าง สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมกลุ่ม สร้างศูนย์การเรียนรู้ อาทิ โครงการชุมชนเข้มแข็งด้วยแรงผู้พิการ สาม “ด้านสุขภาวะ” ให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยและค่ารักษาพยาบาล มีสวัสดิการเสริมสร้างสุขภาพของชุมชน อาทิ โครงการตรวจสุขภาพ สี่ “ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” คงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารพิษและลดการใช้สารเคมี เกิดการจัดการทรัพยากรชุมชน อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการธนาคารขยะ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในไร่ และห้า “ด้านจิตใจ” ครอบครัวอบอุ่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง มีการวางแผนชีวิต มีจิตสาธารณะ สำนึกรักท้องถิ่น และมีจริยธรรม อาทิ โครงการค่ายคุณธรรม

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

พณ.ยันยังไม่ปรับเป้าส่งออกทั้งปี จ่อร่วมมือเยอรมนียกระดับงานเกษตร

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2559 ไว้ที่ 5% โดยยังไม่มีการปรับลดเป้าในช่วงนี้ ซึ่งกระทรวงฯ จะเน้นในการเพิ่มความความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย เน้นการพัฒนาตัวสินค้า เน้นการส่งเสริมภาคบริการให้มากขึ้น เพราะธุรกิจกลุ่มนี้กำลังขยายตัวมาก รวมถึงปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมากจะมีการเน้นในด้านอีคอมเมิร์ซ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ขณะเดียวกันในการส่งออกจากนี้จะต้องมีการหารือเรื่องการตลาดเพิ่มเติม ว่าควรเจาะตลาดกลุ่มไหน สินค้าอะไร เช่น กลุ่มรถยนต์ อัญมณี ที่กำลังขยายตัวได้ดี ส่วนสินค้าเกษตรที่ยังแย่ก็ต้องมีการหาแนวทางรองรับ

 สำหรับตลาดในปี 2559 กระทรวงฯ จะมีการนำผู้ประกอบการไปเจาะตลาดในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะตลาด CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ซึ่งมีแน้วโน้มที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี และตลาดใหม่ๆ ทั้ง อิหร่าน แอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ จีน และอินเดีย ที่จะเจาะเป็นรายเมือง

 อีกทั้งในวันนี้ ได้หารือกับนายเพเทอร์ พรือเกิล เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ถึงการขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี และสอบถามถึงตลาดอาเซียน รวมถึงเยอรมนี และไทย เห็นตรงกันว่า จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเกษตร การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งทางเยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ ด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือไทยเพื่อยกระดับงานด้านเกษตรกรรมของไทย เพิ่มมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร

 นอกจากนี้ในวันที่ 21 มี.ค. 2559 ได้มีการจัดงานสถาปนากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 64 ปี ซึ่งภายในงานได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) จำนวน 5 ฉบับ ระหว่างกรมฯ และหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการส่งออกร่วมกันระหว่างรัฐและเอก ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สินค้าและธุรกิจบริการฮาลาล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2.ความร่วมมือ โครงการ “SMEs Genius Exporter” กับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), 3.ความร่วมมือการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในด้านการค้าระหว่างประเทศ กับ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), 4.ความร่วมมือเพื่อการผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการสู่การค้าระหว่างประเทศ กับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ5.ความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวรวมถึงสนับสนุนการจัดแสดงผลงานการออกแบบ และการประชาสัมพันธ์ผลงานของนักออกแบบไทย กับ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯยันน้ำทั้งปท.มีใช้ถึงกค. ชี้ความเค็มเจ้าพระยาควบคุมได้

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศ ว่าปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมกันมีน้ำอยู่ในระดับกักเก็บร้อยละ50 ซึ่งเป็นน้ำใช้การได้ 13,290 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 26

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 9,278 ล้านลบ. คิดเป็นร้อยละ37 เป็นน้ำใช้การได้ 2,580 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ14 ซึ่งการระบายอยู่ที่ไม่เกิน18 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยระบายจากเขื่อนภูมิพล 5 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 10.1 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 1 ล้านลบ.ม. และ เขื่อนป่าสัก 1.7 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้สภาพน้ำในอ่างขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ30 นายสุเทพ กล่าว ยืนยันว่ายังไม่ถึงขั้นวิฤกติเพราะสามารถนำน้ำมาใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคได้ เพียงพอจนถึงเดือนก.ค.ก็เข้าหน้าฝนแล้ว เช่นเขื่อนแม่งัด แม่กวง กิ่วลม กิ่วคอหมา ห้วยหลวง น้ำอูน อุบลรัตน์ ลำตะคอง มูลบน ลำปาว ลำแซะ ทับเสลา กระเสียว คลองสียัด บางพระ และปราณบุรี

สำหรับการควบคุมภาพน้ำเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานค่าเฝ้าระวังผลิตน้ำประปา ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร โดยแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเฝ้าระวังที่ปากคลอง สำแล จ.ปทุมธานี วัดค่าความเค็ม 0.18 กรัมต่อลิตร แม่น้ำท่าจีน บริเวณปากคลองจินดา 0.3 คลองดำเนินสะดวก 0.2

"แม้ว่าเดือนเม.ย.เข้าหน้าแล้งเต็มที่สถานการณ์น้ำกินน้ำใช้ไม่น่าห่วง กรมชลประทาน สามารถบริหารจัดได้ผ่านพ้นวิฤกติไปได้ ยืนยันว่าน้ำมีพอใช้ช่วง 4 เดือนต่อจากนี้แน่นอน"นายสุเทพ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรอ.ชง ครม.แก้ไขออกใบร.ง.4 โรงงาน 1.8 หมื่นรายขึ้นตรง อปท.

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัย สะดวก และรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการในอนาคต โดยเนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) เหลือเพียง 15 วัน เพิ่มข้อกำหนดรักษาสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล ลดช่องว่างทางกฎหมาย โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเดือนมีนาคมนี้ ก่อนเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนเมษายนนี้ และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดมีผลบังคับใช้ปี 2560

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1.หมวดว่าด้วยคำนิยาม ได้มีการแก้ไขความหมายของคำว่า ?โรงงาน? จากเดิมโรงงานต้องมีกำลังเครื่องจักรการผลิตตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 7 คน แต่ร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ?โรงงาน? จะมีกำลังเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเป็น 25 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กส่วนใหญ่ให้บริการในชุมชนสามารถดำเนินกิจการได้โดยง่าย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขอบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งปรับแก้ไขคำว่า ?ตั้งโรงงาน? ใหม่ โดยควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับติดตั้งในอาคารเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้ ซึ่งนิยามใหม่นี้จะทำให้โรงงานทั่วประเทศ 6.8 หมื่นโรง ปรับลดเหลือ 3-5 หมื่นโรง โดยส่วนที่ลดลงจะให้ อปท.กำกับดูแลต่อไป

นายพสุกล่าวว่า ขณะที่ 2.หมวดการประกอบกิจการโรงงานและอนุญาต กำหนดว่าถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวง จึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้ รวมทั้งให้สามารถเพิ่มพื้นที่ของโรงงานออกไปได้ และ 3.หมวดบทกำหนดโทษ ใน พ.ร.บ.โรงงานฯฉบับแก้ไขใหม่นี้ ได้เพิ่มโทษโรงงานที่ทำผิดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จากเดิมโทษปรับ โดยเพิ่มโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชงร่างก.ม.โรงงานใหม่เอาใจรายเล็กคน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ...ฉบับใหม่ให้ ครม. อนุมัติภายในเดือน เม.ย. โดยแก้สาระสำคัญความหมายของคำว่า "โรงงาน" จากเดิมกำหนดที่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือคนงาน 7 คนขึ้นไปเป็น 25 แรงม้าขึ้นไป หรือคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อสนับสนุนโรงงานขนาดเล็กที่ให้บริการชุมชนดำเนินการได้สะดวกตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) เท่านั้น

          นอกจากนี้ได้แก้ความหมายของคำว่า "ตั้งโรงงาน" ใหม่ ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาติดตั้งในอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่จะประกอบกิจการเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้

          ส่วนหมวดการประกอบกิจการโรงงานอนุญาต ถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ.เดิมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเหลือไม่เกิน 15 วัน

          อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดการขยายสัดส่วนของเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นใหม่ เป็นแบบขั้นบันได เช่น เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 100 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป, เครื่องจักรเดิมมีกำลังไม่เกิน 500 แรงม้า เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 20% ขึ้นไป และต้องเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 แรงม้าเพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการในการขออนุญาตขยายโรงงานเดิมโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มเครื่องจักร  50 แรงม้า ไม่ต้องมาขออนุญาตใหม่.

จาก เดลินิวส์ วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รื้อพรบ.โรงงาน/ลดขั้นตอนออกใบร.ง.4 อุตฯเพิ่มโทษกรณีปล่อยมลพิษ ชงครม.เม.ย.ก่อนมีผลในปี'60 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้มีความทันสมัย เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และรองรับการลงทุนของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต โดยเนื้อหา พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการ (ร.ง.4) เหลือเพียง 15 วัน เพิ่มข้อกำหนดในการรักษา สิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เป็นต้น ซึ่ง พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะช่วยลดช่องว่างทางกฎหมาย และสร้างความชัดเจน โดยได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ให้แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ภายในเดือนมี.ค.นี้ เพื่อที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาและแก้ไขก่อนเตรียมเสนอเข้า ครม. ในเดือนเม.ย.นี้ จากนั้นจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2560 นี้

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ การปรับคำนิยามโรงงานใหม่ การปรับปรุงหลักการการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายโรงงานใหม่ การปรับปรุงแก้ไขขนาดจำพวกของโรงงาน การเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานให้สอดคล้องกับเครื่องจักรเทคโนโลยีการผลิต นอกจากนี้ มีการเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รายละเอียดของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ที่เตรียมนำเสนอนั้นประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1.หมวดว่าด้วยคำนิยาม ได้มีการแก้ไขความหมายของคำว่า "โรงงาน" ใหม่ จากเดิม "โรงงาน" จะต้องมีกำลังเครื่องจักรการผลิตตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 7 คน แต่ร่างพ.ร.บ.ใหม่ "โรงงาน" จะมีกำลังเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเป็น 25 แรงม้าขึ้นไป หรือมีคนงาน 25 คนขึ้นไป เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่จะให้บริการ ในชุมชนสามารถดำเนินกิจการได้โดยง่าย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งยังได้ปรับแก้ไขความหมายของคำว่า "ตั้งโรงงาน" ใหม่ควบคุมเฉพาะการนำเครื่องจักรสำหรับ ติดตั้งในอาคารเท่านั้น แต่จะไม่ควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในระหว่างยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้

          2.หมวดการประกอบกิจการโรงงานและอนุญาต โดยกำหนดว่าถ้าทำเลที่ตั้งโรงงานไม่ขัดต่อกฎหมายให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ขอทันที เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารอื่นที่ประกอบคำขอทีหลัง เมื่อโรงงานหรือเครื่องจักรและระบบบำบัดมลพิษถูกต้องครบถ้วนตามกฎกระทรวงแล้วจึงจะอนุญาตให้เปิดประกอบกิจการได้

          3.หมวดบทกำหนดโทษ ในพ.ร.บ. โรงงานฯฉบับแก้ไขใหม่นี้ ได้เพิ่มโทษโรงงานที่ทำผิดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จากเดิมมีเพียงโทษปรับ โดยได้เพิ่มโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้โรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมมากขึ้นรื้อพรบ.โรงงาน/ลดขั้นตอนออกใบร.ง.4

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : กรมทรัพยากรน้ำเดินหน้า ยุทธศาสตร์จัดการน้ำแก้ภัยแล้งแบบยั่งยืน

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551เห็นชอบให้สัปดาห์ที่ตรงกับวันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลก มาโดยตลอดต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2559 องค์การสหประชาชาติ กำหนดหัวข้อของวันน้ำโลกว่า Water and Jobs:น้ำและการพัฒนาอาชีพ เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำและอาชีพ

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ซึ่งประชาชนที่มาร่วมงานสามารถชม นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและวันน้ำโลก นิทรรศการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย นิทรรศการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและยุทธศาสตร์ภัยแล้งปี 2558-2559มีการแสดงแนวคิดการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 15 จังหวัด และมีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ43 จังหวัด ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคตะวันออก4 จังหวัด และภาคใต้อีก 4 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ประสบปัญหาน้ำเค็ม คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ในส่วนความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำเค็มรุกถึงโรงพยาบาลศิริราช ด้านแม่น้ำบางปะกง น้ำเค็มรุกถึงแม่ข่ายการประปาสาขา อ.เมือง บางปะกง และบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

โดยมีการนำแนวคิดจากการคำนวณสถิติการใช้น้ำในปีที่ผ่านๆ มา แล้วนำมารวมกับแนวทางการแก้ปัญหารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องน้ำในเขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังมีปริมาณน้ำพอใช้ คือ ร้อยละ 35 46 38 และ 42 ตามลำดับ หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็จะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศน์ได้ตลอดหน้าแล้งนี้ นิทรรศการประวัติคลองผดุงกรุงเกษม และนิทรรศการจากหน่วยงานที่ร่วมจัด เข้าร่วมรับฟังการเสวนาหัวข้อ “ประชารัฐ ร่วมใจ คืนความใสให้ลำน้ำ” โอกาสนี้จะมีการเสวนาหัวข้อการแก้ปัญหาภัยแล้งจากหลากหลายแนวคิด

โดยในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำ มีหน้าที่หลักในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนไว้อย่างละเอียดแล้ว ทั้งเรื่องการบริหารน้ำในเขื่อนหลักให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ด้วยการเพิ่มน้ำต้นทุนไม่ต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม หากมีน้ำขาดในภาคหรือจังหวัดใด มีการจัดเตรียมรถน้ำแจกในพื้นที่ขาดแคลน และลงแขกนำเครื่องขุดบ่อบาดาล จากทุกภาคทั่วประเทศระดมขุดบ่อบาดาลในจุดที่วิกฤติ แต่ละพื้นที่เป็นครั้งๆ ไป ส่วนคลองต่างๆ ทั่วประเทศจะมีการบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น คลองผดุงกรุงเกษม ยาว 20 กม.กว้าง 20 เมตร ไม่มีการเดินเรือ น้ำเน่าเสีย มีแนวคิดพลิกฟื้นกลับมาเป็นคลองสวยน้ำใส และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดประโยชน์หลากหลาย เป็นต้น ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมงานได้ในวันที่ 22 มีนาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. ณ ห้องบีซีซีฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ก.พลังงานชวนคนไทยลดใช้ไฟ

กระทรวงพลังงาน ชวนคนไทยลดใช้ไฟ เผยพีควันที่ 20 มี.ค. แตะ 24,726 MW เวลา 20.56 น.

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรมรณรงค์ "รวมพลังคนไทย ลดพีคไฟฟ้า" ในช่วงเวลา 14.00 - 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559 เพื่อขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันลดใช้ไฟฟ้า ด้วยการปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น ปรับแอร์ที่ 25 องศา เพิ่มอีก 1 องศา ประหยัดไฟอีกร้อยละ 10 หรือ ปรับจาก Cool Mode เป็น Fan Mode ปลดปลั๊ก เมื่อเลิกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เช่น หลอดไฟ LED เครื่องปรับอากาศมาตรฐานใหม่ SEER ผ่านแคมเปญ "รวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์ โดยรายงานการใช้ไฟฟ้าประจำวันที่ 20 มีนาคม 2559 มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 24,726.2 เมกะวัตต์ ณ เวลา 20.56 น.

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ทุกข์ซ้ำเติม! ชาวนาบุรีรัมย์เปลี่ยนหันปลูกอ้อย เจอแล้งกระหน่ำแห้งตายกว่า 2 หมื่นไร่ 

ชาวนาบุรีรัมย์ปรับเปลี่ยนพื้นที่หันปลูกอ้อยหลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำและปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าทำนา กลับเผชิญภัยแล้งหนักซ้ำเติมทำต้นอ้อยแห้งตาย อีกทั้งแมลงระบาดเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่ วันนี้ ( 20 มี.ค.) 

         บุรีรัมย์ - เกษตรกรบุรีรัมย์ปรับเปลี่ยน จากพื้นที่นาหันปลูกอ้อยหลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำและปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าทำนา กลับเผชิญภัยแล้งหนักซ้ำเติมทำต้นอ้อยแคระแกร็นแห้งตาย อีกทั้งแมลงระบาดผลผลิตเสียหายกว่า 2 หมื่นไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่

                วันนี้ (20 มี.ค.) เกษตรกรหลายพื้นที่อำเภอ จ.บุรีรัมย์ ที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นาข้าวหันมาปลูกอ้อยเพื่อหวังหนีปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6-7 บาทเท่านั้น โดยปีนี้มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ไร่ จากปีที่ผ่านมามีพื้นที่ปลูกประมาณ 170,000 ไร่

                แต่จากสถานการณ์แล้งปีนี้ที่รุนแรงกว่าทุกปีทำให้เกษตรกรที่หันมาปลูกอ้อยต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งซ้ำเติม เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นอ้อย ทำให้มีสภาพแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ บางพื้นที่มีสภาพเหี่ยวเฉาแห้งตาย ทั้งมีแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตเสียหายกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่

                จากกรณีดังกล่าว เกษตรกรได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือโดยการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

                นายดร สีโสภา นายกสมาคมชาวไร่อ้อยบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้ได้มีเกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 30,000 ไร่ รวมพื้นที่ปลูกขณะนี้ทั้งจังหวัดกว่า 200,000 ไร่ เนื่องจากการปลูกอ้อยใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา แต่จากสภาพความแห้งแล้งที่รุนแรงในปีนี้ทำให้ต้นอ้อยแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต ทั้งมีสภาพเหี่ยวแห้งตายเสียหายกว่าร้อยละ 20 หรือกว่า 2 หมื่นไร่ของพื้นที่เพาะปลูก

                จึงอยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือโดยการขุดลอกแหล่งน้ำ หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

 จาก http://manager.co.th วันที่ 20 มีนาคม 2559

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนครึ่ง กสิกรฯคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 “เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนครึ่ง ก่อนลดช่วงแข็งค่าลงบางส่วนท้ายสัปดาห์ ขณะที่ หุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายทำกำไร”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง ก่อนลดช่วงแข็งค่าท้ายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนัก หลังผลการประชุมเฟดระบุถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังคงเป็นความเสี่ยงของสหรัฐฯ ประกอบกับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่มีต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็สะท้อนว่า จำนวนครั้งของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ลดน้อยลงมาอยู่ที่ 2 ครั้ง

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ (รวม 3.32 หมื่นล้านบาทระหว่างสัปดาห์) อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงแข็งค่าลงบางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรเงินบาท หลังเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนครึ่งที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. (23 มี.ค.) และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนก.พ. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของมาร์กิต (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. รวมถึงจีดีพีไตรมาส 4/2558 (รายงานรอบสุดท้าย) นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะรอติดตามข้อมูล PMI ของอีกหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับลดลงจากแรงขายทำกำไร โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.96 จุด ลดลง 0.75% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 14.48% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,995.24 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 506.43 จุด เพิ่มขึ้น 0.61% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากแรงซื้อต่างชาติ ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไร ก่อนการประชุมเฟด จากนั้น ตลาดปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้ง ปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันสนับสนุนการฟื้นตัวของหุ้นพลังงาน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,367 และ1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของไทย และการทบทวนอันดับเครดิตของประเทศในยูโรโซน โดย S&P และ Moody’s สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการรายงาน เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนี PMI ภาคการผลิต และจีดีพี ไตรมาส 4/2558 (รายงานรอบสุดท้าย) สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเยอรมนี

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2559

เกาะติดภัยแล้ง: 'ชลประทาน'เร่งสูบน้ำโขงตั้งเป้า40ล้านลบ.ม.-'เชียงแสน'คึกคักเดินเรือ

          ภาคปชช.ติงไม่เคยแจ้ง ล่วงหน้า-วอนนายกฯ ถกจีนแก้ปัญหาระยะยาว

          ท่าเรือเชียงแสนกลับมาคึกคักหลังจีนปล่อย น้ำเขื่อน"จิ่งหง" ทั้งเรือสินค้า-เรือนำเที่ยวกลับมาเดินเรือได้ตามปกติ คาดใน 5 วันวิถีชีวิตชาวบ้านกลับสู่ภาวะปกติ ด้านผู้เลี้ยงปลากระชัง "หนองคาย"เฝ้าระวัง หวั่นได้รับความเสียหาย "อธิบดีกรมชลฯ"สั่งเร่งสูบน้ำกักเก็บไว้ใช้ ขณะที่ภาคประชาชนรุมตำหนิสร้างผลกระทบลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสมดุลธรรมชาตินาน 20 ปี ที่ผ่านมาไม่เคยสนใจชาติอื่น วอน "ประยุทธ์" ถกรัฐบาลจีน ก่อนปัญหาเพิ่มความรุนแรง นายกฯปลื้มจีนห่วงไทย จากกรณีรัฐบาลจีนได้ระบายน้ำจาก เขื่อนจิ่งหง ในมณฑลยูนนาน ลงสู่แม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ในปริมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.2559 โดยระบุว่าเป็นการช่วยเหลือสถานการณ์ภัยแล้ง 5 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากระดับน้ำเริ่มสูงขึ้น บรรยากาศการค้าขายบริเวณท่าเรือเชียงแสน วานนี้ (18 มี.ค.) ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยมีการเตรียม ขนถ่ายสินค้าลงเรือขนาดใหญ่ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เพื่อเร่งลำเลียงสินค้าตกค้างไปยังประเทศจีน หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเรือสินค้าขนาดใหญ่ต้องจอด ไม่สามารถเดินเรือได้เนื่องจากน้ำแห้ง

          ท่าเรือเชียงแสนหลับมาคึกคัก

          น.ส.ผกายมาศ เวียรา ผู้ประกอบการเรือล่องแม่น้ำโขง กล่าวว่าหลังจากจีนได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนช่วยให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งเรือสินค้าและเรือโดยสารนำเที่ยว คาดว่าภายใน 5 วันผู้ที่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำโขงตลอดทั้งสายจนถึงเวียดนามจะกลับกลับมามีวิถีชีวิตตามปกติ

          ส่วนที่บ้านหินโงม  อ.เมือง จ.หนองคาย ที่มีประชาชนเลี้ยงปลากระชังจำนวนมาก หลังจากได้รับการประกาศเตือนว่าทางการจีนจะปล่อยน้ำเขื่อน ต่างเร่งเตรียมการก่อนที่น้ำจะเดินทางมาถึงเพื่อป้องกันความเสียหาย

          นายชาติชาย จิตมาน อายุ53ปี ราษฎรบ้านหินโงม ผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง กล่าวว่าระดับน้ำโขงที่สูงขึ้น อาจมีผลกระทบกับผู้เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 200 ราย จึงต้องเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยให้เกษตรกรเฝ้าระวังกระชังปลาของตนเองตลอดเวลา หากมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต้องช่วยกันปรับประดับกระชังขึ้นตามระดับน้ำ

          ชลประทานเร่งสูบน้ำโขงกักเก็บ

          ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าหลังจากที่จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหง พบว่าปริมาณน้ำในลำโขงปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ใช้น้ำที่สามารถสูบน้ำได้ง่ายขึ้น

          โดยจังหวัดที่อยู่ติดกับลำน้ำโขงส่วนใหญ่ ทั้ง เชียงราย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย ต่างมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อยู่แล้ว อย่างที่หนองคายมีมากถึง 40 สถานี กรมชลประทาน ได้เริ่มสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำห้วยหลวงตอนล่างลงประตูระบายน้ำโพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีเป้าหมายระบายวันละ18 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 60 วัน คาดว่าจะได้น้ำรวม 40 ล้าน ลบ.ม.

          "การระบายน้ำของจีนครั้งนี้มีการประกาศก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกในลำน้ำแม่โขง ซึ่งการแจ้งข่าวทั้งหมดจะผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนสาเหตุของการระบายน้ำครั้งนี้ของจีนคาดว่าอยากให้เกิดการขนส่งทางเรือสะดวกขึ้น และคาดว่าจะไม่เป็นผลให้เกิดน้ำท่วมแต่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรตามริมน้ำโขงมากกว่า"

          อย่างไรก็ตามการปล่อยน้ำของจีนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับพื้นที่ภาคกลางได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาคอีสานตอนเหนือมีความชุ่มชื้นมากขึ้น การสูบน้ำของเกษตรกรจะใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง จึงเป็นประโยชน์ทางอ้อม

          "หนองคาย"เตือนผลกระทบน้ำโขง

          ขณะเดียวกันนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ ลงนามในเอกสารด่วนที่สุด ลงวันที่ 18 มี.ค.2559 ถึงหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ระบุว่ามีรายงานสถานการณ์น้ำที่ อ.เชียงแสนระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน 2 วัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 1.04 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไหลมาถึงจ.หนองคาย ใน 5-6 วัน ทำให้ระดับน้ำที่หนองคาย จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เมตร ระหว่างวันที่ 18-19 มี.ค.นี้

          "เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการป้องกันผลกระทบทีเกิดจากระดับน้ำที่สูงผิดปกติจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนผู้ประกอบการ เกษตรการ ระมัดระวังอันตรายจากสัญจรทางน้ำ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรที่ปลูกพืชผักริมแม่น้ำโขง เกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชัง ผู้ประกอบการริมแม่น้ำโขงและสถานีสูบน้ำแม่น้ำโขงจากสถานการณ์ดังกล่าว

          น้ำเขื่อนจีนส่งผลกระทบนับสิบปี

          นายจีรศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ  จ.เชียงราย กล่าวว่าได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ว่าจะต้องมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปนั่งอยู่ในกรรมการด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยรับรู้เลยว่าจีน จะปล่อยน้ำจากเขื่อนเมื่อไร คณะกรรมการที่มีกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วยก็ไม่เคยบอกชาวบ้าน ที่ผ่านมาต้องรับรู้จากคนเรือของจีน หรือบางครั้งก็รู้เมื่อน้ำมาถึงแล้ว

          "เราเรียกร้องมาเป็น 10 ปีแล้ว ให้มีสภาประชาชนในลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมเป็นกรรมการ ประชาชนคือคนที่ได้รับผลกระทบ เพราะในคณะกรรมการมีแต่ตัวแทนหน่วยงานรัฐ ไม่มีภาคประชาชน และการที่จีนอ้างว่าเป็นบุญคุณที่ปล่อยน้ำมาช่วย  เราไม่ได้ต้องการน้ำในหน้าแล้งมากอย่างที่จีนอ้าง แต่ต้องการข้อมูลการแจ้งเตือนทุกระยะ"

          นายจีระศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำ ผักที่ปลูกไว้เสียหาย และสาหร่ายน้ำจืด ที่ขึ้นหลังจากน้ำโขงลดลงก็ตายหมดเมื่อจีนปล่อยน้ำมา ซึ่งความจริงเราต้องการให้น้ำโขงปล่อยน้ำตามธรรมชาติ

          ชี้ข้อมูลจีนไม่ตรงความเป็นจริง

          นางเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2539 ที่ประเทศจีนสร้างเขื่อนแรกในลุ่มน้ำโขงจนกระทั่งปัจจุบันมีเขื่อน 6 แห่ง และยังมีโครงการสร้างอีก 4 โครงการ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะของแม่น้ำโขงผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำเปลี่ยนไปจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ "ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกลไกระดับภูมิภาคลุ่มน้ำ ที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มานั่งพูดคุยกันว่า ในอนาคตแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไร  เขื่อนที่กำลังก่อก่อสร้างจะมีผลกระทบอย่างไรและควรยุติการสร้างเขื่อนเอาไว้ก่อน"

          นางเพียรพร กล่าวว่าที่ผ่านมากลุ่มรักษ์เชียงของ เคยอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาว่า การบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนของจีน ไม่ได้เหลียวแลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนชาติต่างๆ ที่อยู่ท้ายเขื่อน เมื่อเขื่อนจีนเข้ามามีบทบาท ฤดูฝนมีการกักเก็บน้ำไว้ การวางไข่ของปลาในธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบ รวมถึงวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชุ่มน้ำที่ระดับน้ำโขงไม่ไหลมาตามฤดูกาล ส่วนหน้าแล้งกลับปล่อยน้ำ ทำให้พืชผลทางการเกษตรที่กำลังรอเก็บเกี่ยวอยู่ตามริมฝั่งได้รับความเสียหาย

          วอนนายกฯพูดคุยจีนแก้ไขปัญหา

          ข้อมูลจากคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ยังชี้ว่าข้อเท็จจริงที่ทางการจีนระบุน้ำที่ไหลมากับแม่น้ำโขงมาถึงประเทศไทย เป็นน้ำจากประเทศจีนเพียง 15%  ฉะนั้นการปล่อยน้ำก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชาติต่างๆ ที่แม่น้ำโขงพาดผ่านนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตัวเลขนั้นเป็นค่าเฉลี่ยการไหลของน้ำทั้งปี อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนไม่เคยมีการบริหารจัดการน้ำให้มีความสัมพันธ์ประชาชนที่พึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งไม่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีกำหนดการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลจีนหรือไม่ หากปล่อยเรื่องนี้เอาไว้โดยไม่มีการแก้ไข คนไทยก็จะต้องก้มหน้ารับผลกระทบต่อไป

          ที่ผ่านมาจีนไม่เคยสนใจชาติอื่น

          นางนวลละออ วงศ์พินิจวโรดม ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ จีนมีหนังสือถึงประเทศต่างๆ ในกลุ่มลุ่มน้ำโขงว่าจะปล่อยน้ำเพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง จากเดิมที่เขาไม่เคยคำนึงถึงประเทศอื่น เราจะทราบก็เมื่อชาวบ้านแจ้งว่ามีน้ำขึ้นสูง และมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปวัดระดับน้ำ แล้วแจ้งเตือนไปยังประเทศสมาชิก

          "เพิ่งทราบเรื่องว่ารัฐบาลเวียดนามมีหนังสือไปขอให้จีนปล่อยน้ำ เนื่องจากผลกระทบความเค็ม ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงที่เวียดนาม เมื่อ 15มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้แจ้งว่าจะทำหนังสือไปที่จีน" อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความพยายามที่จะให้จีนเข้ามาร่วมกับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง แต่จีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ยกเว้นการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่จะเชิญประเทศจีนและพม่า เข้าร่วมด้วย

          จีนคุยช่วยเสริมการค้า-เดินเรือ

          Mr.Li Zhengfan ผู้จัดการทั่วไป โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขื่อนจิ่งหง บอกกับ นสพ. เดอะเนชั่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าการมีเขื่อน ช่วยให้การเดินเรือในแม่น้ำโขงได้รับประโยชน์ ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพราะเขื่อนสามารถปล่อยน้ำให้สามารถเดินเรือตลอดปีได้

          เช่นเดียวกับ นาย จง หย่ง อธิบดีกรมความร่วมมือนานาชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อ้างว่าเขื่อนจีนมีประโยชน์ในการควบคุมน้ำในลำน้ำโขง โดยสามารถเพิ่มน้ำในแม่โขงได้ถึง 70% เพื่อแก้ปัญหาแล้ง และลดน้ำในแม่โขงได้ 30% ในหน้าฝน

          ทั้งนี้ จากข้อมูลของบริษัทไฮโดรล้านช้างพบว่ามีโครงการเขื่อนถึง 15 แห่งในแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งอยู่ในเขตประเทศจีน โดย 4 แห่งอยู่ในระดับการวางแผน 5 แห่งกำลังก่อสร้าง 6 แห่งสร้างเสร็จแล้ว และเขื่อนจิ่งหง ซึ่งที่เมืองจิ่งหง หรือเชียงรุ้ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของจีนที่ใกล้กับประเทศไทยที่สุด ห่างประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า ขนาด 1,750 เมกกะวัตต์

          นายกฯปลื้มจีนช่วยกู้ภัยแล้ง

          วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เดินทางไป จ.อุดรธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้านโยบายการแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาที่ดินทำกิน การบริหารจัดการน้ำ

          พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน โดยปัญหาคือไม่มีต้นน้ำที่พอเพียง มีน้ำจากฝนและป่าเท่านั้น ส่วนน้ำใต้ดินใช้ได้ไม่เกิน 30% ส่วนการทำฝนหลวงได้สั่งให้ดำเนินการทั่วประเทศ แต่เมฆไม่พอ ฝนก็ไม่ตก นอกจากนี้ระหว่างประเทศก็ไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเขาก็ยินดีดูแลต่างตอบแทน แม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ก็แจ้งไทยประเทศเดียวว่าปล่อยน้ำมาให้ เพราะเราค่อนข้างมีสัมพันธ์ที่ดีกับเขา

          ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานประชุมร่วมคณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบโครงการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จำนวน 5 โครงการ

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559 

คลองหาดร้อนจัด มาทั้งแล้ง-หนอนกอระบาด อ้อยเฉาตายกว่า 7 พันไร่ สวนดาวเรืองแห้งยกแปลง

วันที่ 18 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดปราจีนบุรีได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตรอย่างหนัก โดยนายมนตรี คำพล นายกสมาคมชาวไร่อ้อยจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ในปัจจุบันชาวจังหวัดสระแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่หันมาปลูกอ้อยมากกว่าปลูกข้าว เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว ในขณะเดียวกันในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ เกษตรกรชาวสระแก้วจึงหันมาปลูกอ้อยแทนนั้น ทว่าในปีนี้ หลังจากถึงฤดูกาลหีบอ้อย ชาวไร่อ้อยได้ตัดอ้อยป้อนโรงงาน และเมื่อต้นเดือน มีนาคม 2559 เกษตรกรได้ปลูกอ้อย โดยบางรายใช้อ้อยตอสอง แต่ต้องประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำรด และฝนไม่ตก ทำให้อ้อยแห้งตายแล้วกว่า 7,000 ไร่ รวมทั้งยังต้องเจอหนอนกอระบาดอีก ทำให้อ้อยเฉาตาย ถ้าในอีก 15 วันไม่เกิดฝนตกลงมา ตออ้อยจะแห้งตายหมด เกษตรกรจะประสบกับการขาดทุนอีก เนื่องจากจะต้องหาเงินทุนไปซื้อพันธุ์อ้อยมาปลูกใหม่อีก

ด้านนายสุวิทย์ มณีสาย เกษตรกรชาวสระแก้ว กล่าวว่า ได้ปลูกอ้อยกำลังแทงยอด แต่เกิดฝนแล้งทำให้ตอแห้งตาย น้ำก็ไม่มีรด ถ้ารดน้ำก็เหมือนอบด้วยน้ำร้อน เพราะอากาศร้อนมาก ส่วนเพื่อนเกษตรกรได้ปลูกดอกดาวเรืองกว่า 50 ไร่ ที่บ้านซับพลูเหนือ หมู่ 8 ต.เบญจขร อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ก็ยังยืนต้นแห้งตายหมดทั้งแปลง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 18 มีนาคม 2559

‘เขื่อนอุบลรัตน์’งัดน้ำสำรองใช้ เกษตรฯเร่งช่วยกล้วยไม้แม่กลอง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองณ วันที่ 15 มีนาคม มีน้ำใช้การได้ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ได้ลงพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้ จำนวน 33 ล้าน ลบ.ม.และเตรียมมาตรการรองรับโดยจะนำน้ำจาก Dead Storageซึ่งเป็นน้ำสำรองเพื่อรักษาสภาพเขื่อนมาใช้บางส่วน ทั้งนี้หากยังคงใช้น้ำในอัตราปัจจุบัน จะยังมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอถึงเดือนกรกฎาคมอย่างแน่นอน

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกงและปราจีนบุรี ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับ จ.ปราจีนบุรี มีการรายงานสภาพความเค็มแม่น้ำปราจีนบุรี ณ อ.บ้านสร้าง มีค่าความเค็มยังไม่เกิน 1.0 กรัม/ลิตร ซึ่งใช้เป็นเกณฑ์เฝ้าระวัง ไม่ให้สูงกว่านี้ และมีการเฝ้าระวังตลอดเวลา หากมีค่าความเค็มเกิน 1.0 กรัม/ลิตร จะใช้ทำน้ำประปาไม่ได้ ซึ่งได้เตรียมการใช้น้ำดิบจากสระน้ำ/หนองน้ำสาธารณะแทน และเตรียมปฏิบัติการเติมน้ำเพื่อลดค่าความเค็มให้เข้าสู่ระดับปกติ

“ส่วนการดำเนินการช่วยเหลือสวนกล้วยไม้ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มีการระบายน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วย วันละ 3.90 ล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทานได้จัดรถน้ำส่งน้ำให้เกษตรกรสวนกล้วยไม้ 47 ราย 700 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม- 14 มีนาคมที่ผ่านมา รวม 7.89 ล้านลิตร และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้จัดรถน้ำส่งน้ำให้เกษตรกรสวนกล้วยไม้ 42 ราย405 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม - 14 มีนาคมรวม 4.85 ล้านลิตร รวมทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ส่งน้ำช่วยเกษตรกรไปแล้ว 12.74 ล้านลิตร ประมาณ 1,274 เที่ยว เที่ยวละ 10,000 ลิตรด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

บาทแข็งสุดรอบ 7 เดือน

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทของไทยเปิดตลาดระดับ 34.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นในรอบกว่า 7 เดือน จากปิดตลาดวันก่อนที่ระดับ 35.03-35.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทเป็นไปตามภูมิภาค หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดคงอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณลดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีนี้เหลือ 2 ครั้ง จากเดิม 4 ครั้ง

“ในช่วงต้นปีมุมมองของนักลงทุนทั่วโลก มองว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ทำให้ทุกคนหันไปซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ส่วนค่าเงินของประเทศอื่นๆอ่อนค่าลง แต่เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เศรษฐกิจของจีนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงมีแรงขายดอลลาร์สหรัฐฯออกมาต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า และเมื่อเฟดส่งสัญญาณลดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้มีแรงขายออกมามาก จนค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นเชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าทะลุ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารแนะนำให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน เนื่องจากในปีนี้ค่าเงินมีความผันผวนมาก”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด กำหนดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งจากที่คาดว่าจะปรับขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ ด้วยเหตุที่บ่งชี้ว่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวที่อ่อนแอในต่างประเทศ และตลาดการเงินที่ผันผวนหนัก ขณะเดียวกัน เฟดยังได้ปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสำหรับปี 2016-2018 โดยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปีนี้ลง 0.50% สู่ระดับ 0.88% ส่วนในปี 2017 ได้ปรับลดลง 0.50% สู่ระดับ 1.88% ขณะที่ปี 2018 ปรับลดลง 0.38% สู่ระดับ 3.00% ส่วนอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวมีการปรับลดลง 0.25% สู่ระดับ 3.25%.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

KTIS เปิดประสบการณ์อุตสาหกรรมน้ำตาล จับมือ มจธ. ร่วมพัฒนา “คนและงานวิจัย” 

          เป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยยังมีความอ่อนแอด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตแต่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องการแรงงานคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย ที่จะเข้าไปตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมได้อย่างเข้าใจและรู้จริง ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลิตบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพออกสู่สังคมและประเทศเพื่อช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศในตลาดโลกต่อไป

"การสร้างบัณฑิตให้เก่งและดี คิดได้ทำเป็น" ถือเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกลุ่ม KTIS โดยบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษาขึ้น เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารซีโนบริต โดยได้รับเกียรติจากนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินกลุ่มKTISรศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. และคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน

          รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักในการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่ทำได้เพื่อออกไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จึงมีอีกหน้าที่คือ การวิจัยและพัฒนา หาองค์ความรู้ใหม่ๆ และความรู้นั้นจะต้องไปก่อให้เกิดประโยชน์และทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อสร้างสมรรถนะให้กับประเทศ

          "ซึ่งกลไกสำคัญในการผลิตบัณฑิตของมจธ.จากประสบการณ์ที่ก่อตั้งมากว่า 56 ปี มหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้จากโจทย์และปัญหาจริง ฉะนั้นการที่ได้ร่วมมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นเครือข่ายความร่วมมือ เช่น บริษัท เคทิส ที่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยที่จะได้ใช้โอกาสในการพัฒนานักศึกษาให้รู้จักการแก้ปัญหาจากการใช้โจทย์จริง เกิดการเรียนรู้ ก็จะพัฒนาให้เขาได้คิดเป็นทำเป็น เพราะการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการนั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังเป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่จะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์หรือให้คำแนะนำแก่อาจารย์และนักศึกษาถือว่ามีน้อยมาก ในด้านงานวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยก็มองหาโจทย์ที่มีคุณค่าทางวิชาการโจทย์ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งต่อทางวิชาการและผู้ประกอบการ การที่ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องยอมลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนและพัฒนาความรู้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าในการร่วมมือกันครั้งนี้จะนำเอาประสบการณ์ความรู้จากผู้ประกอบการมารวมกับประสบการณ์ทางด้านวิชาการเพื่อจะช่วยกันพัฒนาสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างสมรรถนะความสามารถของประเทศได้ในที่สุด"

ด้าน นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า กลุ่มเคทิส เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยฟอกขาว ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และธุรกิจผลิตและจำหน่ายสารปรับปรุงดินและปุ๋ยชีวภาพ ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษากับ มจธ.ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยและมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศมากมายในครั้งนี้ เชื่อว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการพัฒนาทักษะบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และมีความเชื่อมั่นว่าจากศักยภาพความพร้อมด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีของทั้ง 2 องค์กรจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนและผลักดันงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้ในเวทีสากล เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกัน

          นายอภิชาต นุชประยูร ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ว่า จากความต้องการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มเคทิสอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้จัดตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัดขึ้น เพื่อสรรหาองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งหาแนวทางในการจัดการของเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของบริษัทในเครือให้มีความประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับ มจธ.ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการในอนาคต โดยความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการผลิตด้านต่างๆ ของกลุ่มบริษัทเคทิสให้มี ประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยการรับนักศึกษาของ มจธ.เข้าร่วมฝึกทักษะ รวมทั้งเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกันต่อไป

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 มีนาคม 2559

KTB ยันพอร์ตเกษตรไร้ปัญหา เดินหน้าหนุนลูกค้าโรงงานนํ้าตาล/คุยแล้ว 5 ราย

แบงก์กรุงไทย เผยสินเชื่อ 2 เดือนแรกยังอืด ชี้ความต้องการลงทุนใหม่ยังไม่เกิด-วงเงินหมุนเวียนธุรกิจนิ่งตามภาวะเศรษฐกิจ เน้นดูแลลูกค้าเก่าเป็นหลัก ยันพอร์ตเกษตรไม่มีปัญหา จากปัจจุบันมีอยู่ 13-14% พร้อมเดินหน้าหนุนโรงงานน้ำตาล หลังรัฐอนุมัติสร้างเพิ่ม 12 ราย ลั่นเข้ามาคุยแล้ว 5 ราย มั่นใจปล่อยกู้ได้ 2 ราย มูลค่าโครงการละ 4-5 พันล้านบาท ตอกย้ำผู้นำตลาด ส่วนกลุ่ม “KTIS” หวังรายได้ดีดกลับมาดีเหมือนเดิม เหตุเห็นสัญญาณราคาขยับขึ้น

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ทิศทางความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้ในการดำเนินการธุรกิจทั่วไป ปัจจุบันแนวโน้มยังค่อนข้างทรงตัว เพราะความต้องการสินเชื่อประเภทนี้จะขึ้นกับภาวะตลาด เช่น ลูกค้าผลิตสินค้าส่งออก แม้ว่าจะส่งออกในปริมาณเท่าเดิม แต่ราคาสินค้าตกต่ำ ทำให้รายได้ไม่เท่าเดิม ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนในธุรกิจก็ปรับลดลงด้วย ส่วนประเภทที่ 2 สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ หรือขยายการผลิต สร้างโรงงาน ซึ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว จะเห็นว่าภาพในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาความต้องการชะลอตัวลง ไม่มีการลงทุนใหม่ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังชะลอตัวอยู่

ทั้งนี้ หากเทียบวงเงินทั้ง 2 ประเภท จะเห็นว่าสินเชื่อหมุนเวียนมีขึ้นลงตามความต้องการของลูกค้าและภาวะตลาด ส่วนสินเชื่อระยะยาว หากนโยบายภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้น และเกิดความมั่นใจเชื่อว่าสินเชื่อเพื่อการลงทุนหรือวงเงินระยะยาวจะขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากขยายตัวขึ้นจะมาพร้อมๆ กันตามโครงการขนาดใหญ่ โดยภาพรวมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขสินเชื่อเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2-3% ถือว่าสินเชื่อยังค่อนข้างนิ่ง

ดังนั้น ความเสี่ยงของธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้ ธนาคารยังมองว่ามาจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้มีความผันผวนค่อนข้างมาก ขณะที่การส่งออกยังได้รับผลกระทบขยายตัวไม่ดีนัก ประกอบกับการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนค่อนข้างน้อยกลยุทธ์ของธนาคารจึงยังคงมุ่งเน้นการเติบโตหรือส่งเสริมธุรกิจกับลูกค้ารายเก่าที่มีศักยภาพมากกว่าลูกค้ารายใหม่ โดยกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ จะเป็นภาคบริการ โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนกลุ่มเกษตร เช่น โรงงานน้ำตาลและยาง ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดมากนัก เนื่องจากลูกค้าปรับตัวในการสต๊อกสินค้า ทำให้ยอดขายขึ้นลงสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น โรงงานน้ำตาล บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด และมีอัตราการขยายตัวของธุรกิจค่อนข้างดี โดยธนาคารยังให้การสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินค้าเกษตรประมาณ 13-14% ของพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่

 “ความเสี่ยงตอนนี้ที่กังวลยังเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ซึ่งมีผลต่อการลงทุนที่ชะลอตัวมา 1-2 ปีแล้ว ดังนั้น เรายังไม่เน้นรุกลูกค้าใหม่มาก เราจะคอยดูแลลูกค้าเก่าที่มีศักยภาพไว้ก่อน ช่วยเหลือลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนเป็นหลัก”

นายวิฑูร ประไพพิณ รองผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่ายทีมธุรกิจการเกษตร 1 กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 1 สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คุณภาพสินเชื่อลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาลและส่งออกข้าวค่อนข้างดีไม่มีปัญหา เพราะลูกค้าของธนาคารค่อนข้างมีศักยภาพ และขณะนี้ธนาคารกำลังพิจารณาการปล่อยวงเงินกู้ให้กับลูกค้าโรงงานน้ำตาลเพิ่มเติม ภายหลังจากรัฐบาลได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 12 โรงงาน ซึ่งตอนนี้ได้มีผู้ประกอบการจำนวน 5 รายจากที่ได้รับอนุมัติ 12 ราย ได้เข้ามาพูดคุยกับธนาคาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ผู้ประกอบการทำแผนธุรกิจ และการตรวจสอบผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะทำแผนแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้เพื่อให้ธนาคารพิจารณา ซึ่งน่าจะมี 2 รายคาดว่าจะสามารถอนุมัติการปล่อยสินเชื่อได้ ทั้งนี้ หลังจากธนาคารอนุมัติโครงการเชื่อว่าจะมีการเบิกใช้วงเงินในการลงทุนจริงประมาณต้นปี 2560 โดยขนาดโครงการมีมูลค่าประมาณ 4-5 พันล้านบาท กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน นอกจากนี้ ล่าสุดธนาคารเพิ่งอนุมัติวงเงินให้กับลูกค้ารายเก่าที่ขยายธุรกิจตั้งโรงสีข้าวและผลิตเพื่อส่งออกในประเทศกัมพูชาจำนวน 2 ราย มูลค่าโครงการละประมาณ 1.2 พันล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 2 พันตันต่อวัน

ปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาลของธนาคารมีอยู่ 11 ตระกูล จากทั่วประเทศมีอยู่ 23 ตระกูล หรือคิดเป็น 52 โรงงาน โดยธนาคารกรุงไทยมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ประมาณ 26% เป็นอันดับ 1 ของตลาด วงเงินมูลค่าสนับสนุนรวม 4 หมื่นล้านบาท โดยอันดับรองลงมามีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 24% ทั้งนี้ การแข่งขันในเซ็กเตอร์โรงงานน้ำตาลจะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ที่เล่นในตลาดนี้มีอยู่ 5 รายใหญ่ จากเดิมมีอยู่ 4 ราย แต่จากแนวโน้มธุรกิจที่ค่อนข้างดีและมีศักยภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารพาณิชย์สนใจเข้ามาร่วมปล่อยกู้ในเซ็กเตอร์นี้มากขึ้น สำหรับลูกค้ากลุ่ม KTIS นับเป็นลูกค้ารายสำคัญที่มีธุรกิจขยายตัวค่อนข้างดี โดยธนาคารได้สนับสนุน 3 โรงงาน กำลังการผลิต 8.8 หมื่นตันต่อวัน ซึ่งจากแนวโน้มธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ามีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารเพียง 4 พันล้านบาท จากวงเงินสนับสนุนในเรื่องของกระแสเงินสด และตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) รวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

“โรงงานน้ำตาลกับกลุ่มเทรดดิ้งข้าวขยายตัวดี ไม่มีปัญหาหนี้เสีย ศักยภาพการเติบโตค่อนข้างดี เพราะจะเห็นว่าแบงก์ที่ไม่เคยเข้ามาปล่อยกลุ่มนี้ก็เริ่มเข้ามาบุกใหม่ อย่างไรก็ดี เราโชคดีเราได้ลูกค้าที่ติดในอันดับต้นๆ มาอยู่กับเราไม่ว่าจะตระกูลที่ทำโรงงานน้ำตาล หรือกลุ่มเทรดดิ้งข้าว 5 กลุ่มหลักมาอยู่กับเรา ดังนั้นเราเชื่อว่าเซ็กเตอร์นี้ยังไปได้ดี”

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีก่อน ราคาน้ำตาลจะลดลงมาก แต่ปีนี้สัญญาณของราคาเริ่มดีขึ้น โดยขยับเพิ่มขึ้นจาก 10.5 เซ็นต์ต่อออนซ์ เป็น 12-14 เซ็นต์ต่อออนซ์ หรือขยับไปถึงจุด 15.3-15.4 เซ็นต์ต่อออนซ์ จะเป็นโอกาสที่จะทำให้รายได้ของบริษัทกลับไปเทียบเท่าในปีก่อนๆ ที่ราคาน้ำตาลค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพอ้อยด้วย โดยปีนี้คาดว่าผลผลิตอ้อยจะอยู่ที่ราว 112-115 ล้านตันอ้อย แต่ทั้งนี้เหลือเวลาไม่นานจะเข้าสู่การปิดหีบอ้อยผลผลิตเพิ่งได้ประมาณ 85.6 ล้านตันอ้อย จึงคาดว่าทั้งปีน่าจะมีผลผลิตเพียง 100 ล้านตันอ้อย รวมถึงแฟกเตอร์จากประเทศบราซิลที่ส่งผลต่อราคาน้ำตาลโลก เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้สามารถกำหนดทิศทางราคาของตลาดน้ำตาล โดยที่ประเทศเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกเป็นอันดับ 2 ดังนั้น หากปีนี้สภาพอากาศไม่แย่มากนัก ต้นทุนการผลิตต่ำ และวัตถุดิบดี จะมีผลต่อรายได้และกำไรของบริษัท ปัจจุบันรายได้ของบริษัทจะมาจากธุรกิจน้ำตาลประมาณ 75% และธุรกิจผลิตก๊าซชีวมวล (Bio Gas) ประมาณ 20-25% ซึ่งบริษัทต้องการให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 50:50 เนื่องจากพลังงานสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 17 มีนาคม 2559

อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ฯ ทุ่ม 70 ล.ผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 

          อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ติดตั้งและทดลองเดินเครื่องผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อชานอ้อย เสริมสายการผลิตเยื่อชานอ้อยให้ครบวงจร เผยใช้เงินลงทุน 70 ล้านบาท เริ่มรับรู้รายได้ Q2 ปีนี้ หวังความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

                นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ทำการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยในนามของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยในปี 2558 มีรายได้ประมาณ 1,305 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% ของรายได้รวมของกลุ่ม KTIS ซึ่งนับเป็นอีกสายธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเยื่อกระดาษชานอ้อยจากโรงงานนี้ได้จำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ กระดาษรีมที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป รวมไปถึงกระดาษในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถทดแทนการตัดต้นไม้ได้ถึงปีละ 32 ล้านต้น

                ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS ใช้กระบวนการฟอกขาวแบบปราศจากคลอรีน อีกทั้งเป็นผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษชานอ้อยรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค GMP & HACCP ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนำไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหาร เช่น ถ้วย จาน ชาม กล่อง ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทางกลุ่ม KTIS จึงได้เพิ่มสายการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อยขึ้นมา โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท จะสามารถผลิตเพื่อจำหน่าย และรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 นี้เป็นต้นไป

                “เราทราบกันดีว่าภาชนะ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมนั้นสร้างปัญหาให้แก่สภาวะแวดล้อม เพราะย่อยสลายยาก จึงมีการรณรงค์ลดใช้โฟมกันมาหลายปีแล้ว และบรรจุภัณฑ์ชานอ้อยนี่แหละที่จะสามารถนำมาใช้ทดแทนโฟมได้ มีผลดีอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทำมาจากชานอ้อย ย่อยสลายในเวลาอันรวดเร็ว” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

                อย่างไรก็ตาม กลุ่ม KTIS ยังไม่สามารถประเมินผลตอบแทนในเชิงของรายได้ และกำไรจากโครงการนี้ได้ชัดเจนนักในขณะนี้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อยอดจากกำลังการผลิตเยื่อชานอ้อยที่มีอยู่เดิม ดังนั้น จะต้องคำนึงถึงลูกค้าเดิมที่เคยสั่งซื้อเยื่อกระดาษชานอ้อยจากกลุ่ม KTIS ด้วย

                “เราไม่ห่วงเรื่องตลาด หรือลูกค้าของบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย เพราะมีความต้องการรองรับอยู่แล้ว และการรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งกลุ่ม KTIS เราให้ความสำคัญต่อลูกค้าที่เคยเป็นพันธมิตรกับเรามานาน การเริ่มธุรกิจใหม่ของเราจะต้องส่งผลกระทบต่อลูกค้าเดิมของเราน้อยที่สุด เพราะนี่คือการเติบโตอย่างมั่นคง”

จาก http://manager.co.th    วันที่ 17 มีนาคม 2559

งัดแผนสำรองเขื่อนใหญ่ รับแล้งหนักยืดใช้น้ำถึงก.ค.นี้

จากวิกฤติภัยแล้งในรอบ 20 ปีที่กำลังลุกลามส่งผลกระทบไปยังภาคส่วนต่างๆ ในเวลานี้ ทุกฝ่ายฟันธงว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรต่างตั้งรับ และปรับแผนบริหารจัดการน้ำกินน้ำใช้กันอย่างเต็มที่เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติแล้งนี้ไปให้ได้ ทั้งนี้หากนับตามคำนิยาม “ฤดูแล้ง”ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี ถือว่าฤดูแล้งได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว

  ที่มาแล้งรอบ 20 ปี

“สุเทพ น้อยไพโรจน์” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยชี้แจงทำความเข้าใจกับภัยแล้งในรอบ 20 ปีว่า มีที่มาจากปริมาณน้ำฝนที่เคยตกน้อยมากในปี 2537 เทียบกับฤดูฝนในปี 2558 ล่าสุดที่มีฝนตกมากกว่าปี 2557 เพียงเล็กน้อย ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่กักเก็บในเขื่อนมีปริมาณน้อยตามไปด้วย

“ปี 2537 เรามีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 2 เขื่อนคือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่ง ณ วันที่ 1 มกราคม 2538 เรามีน้ำใช้การได้ในทั้ง 2 เขื่อนรวม 2,048 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาไม่มีปีใดเลยที่น้ำจากทั้ง 2 เขื่อนจะน้อยกว่าปี 2538 แต่พอมาวันที่ 1 มกราคม 2559 มีน้ำน้อยเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2538 ก็เลยเป็นที่มาของน้ำแล้งในรอบ 22 ปี แต่ถ้าพูดกันทั่วไปก็จะบอกว่าเป็นแล้งหนักในรอบ 20 ปีตามรอบทางอุทกวิทยา”

น้ำเขื่อนทั่วปท.น่าห่วง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางในภาพรวม 481 แห่ง ทั่วประเทศ (ขนาดใหญ่ 33 แห่ง และขนาดกลาง 448 แห่ง)ล่าสุด ณ วันที่ 14 มีนาคม 2559 มีปริมาตรน้ำรวม 3.76 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 50% ของความจุ ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้ 1.38 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 27% ของความจุ โดยในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พึ่งพาน้ำจาก 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้รวมกัน 2.71 พันล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 15% ของความจุ

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยาทางกรมชลฯมีการระบายรวมกันวันละประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาเพื่อรักษาระบบนิเวศ หรือผลักดันน้ำเค็มเป็นหลัก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรดูแลให้เฉพาะไม้ผลที่มีคละกันไปในหลายพื้นที่ เช่น พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี ซึ่งจะมีรอบเวรในการปล่อยน้ำ ตรงไหนที่ขาดแคลนให้แจ้งมา ก็จะไปตรวจสอบว่าขาดจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็จะช่วยอย่างนี้เป็นต้น

  น้ำกิน-ใช้ยังพอถึงกรกฎาคม

“การระบายน้ำในลุ่มเจ้าพระยายังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เบื้องต้นยังมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งเราไม่มีการระบายมากกว่านี้เด็ดขาด มีแต่จะลด แต่ในกรณีที่มีฝนตกลงมาบ้าง มีน้ำท่าเข้ามาบ้าง เราอาจจะลดการระบายเพื่อประหยัดน้ำ ฉะนั้นจะมาเพิ่มมากกว่า 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นไปไม่ได้ ยืนยันได้เลยเราไม่ทำ”

อย่างไรก็ดีจากมีข้อจำกัดในเรื่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำ และกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรัง มีผลให้การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศที่เคยปลูกในปีที่ผ่านมารวมประมาณ 6 ล้านไร่ แต่ปีนี้ลดเหลือครึ่งเดียวคือประมาณ 3.05 ล้านไร่ ซึ่งล่าสุดได้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 9.4 แสนไร่ ยังเหลืออีกปริมาณ 2 ล้านไร่ที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือนเมษายนนี้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้ประเมินว่ามีพื้นที่ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงนาข้าวเสียหายประมาณ 4 แสนไร่ ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นไม่กังวลเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะปลูกตามปริมาณน้ำที่มีอยู่

น้ำอุตฯตะวันออกไม่น่าห่วง

ขณะที่น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่แหล่งใหญ่คือในภาคตะวันออก “สุเทพ” กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวลเพราะปีนี้น้ำภาคตะวันออกถือว่ามีความมั่นคงมาก โดยเฉพาะ 2 เขื่อนหลักขนาดใหญ่คือเขื่อนประแสร์ และหนองปลาไหลของจังหวัดระยอง ล่าสุดยังมีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ของความจุ

“ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีความมั่นคงด้านน้ำมาก เนื่องจากน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองได้รับอิทธิพลจากพายุในช่วงที่ผ่านมา ส่วนในนิคมอุตสาหกรรมลำพูนที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมาไม่ได้มีการขออนุญาตใช้น้ำจากกรมชลฯ แต่เราก็สนับสนุนในลักษณะส่งน้ำเป็นรอบเวรให้ ซึ่งก็ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาได้ตามความต้องการของจังหวัด และจากข้อมูลล่าสุดมี 12 จังหวัดที่เกิดวิกฤติภัยแล้ง และมี 42 จังหวัดใน 152 อำเภอที่เราเฝ้าระวังอยู่ ขณะเดียวกันจากที่ปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาคได้มาอาศัยใช้น้ำจากแหล่งน้ำของกรมชลประทานประมาณ 120 สาขา จาก 234 สาขาทั่วประเทศ ยืนยันว่าใน 120 สาขานี้จะไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำประปาอย่างแน่นอน”

 แผนสำรองรับเขื่อนใหญ่วิกฤติ

อย่างไรก็ตามอธิบดีกรมชลประทานยอมรับว่า ขณะนี้มีเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งในหลายภาคของประเทศมีความเสี่ยงน้ำจะไม่เพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมที่คาดว่าจะมีฝนตกลงมา ดังนั้นจึงต้องวางแผน หรือปรับแผนการระบายน้ำใหม่เพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ตัวอย่างในภาคเหนือ ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ จากคาดการณ์จะมีน้ำใช้ได้ถึงแค่วันที่ 30 เมษายน 2559 ได้ปรับแผนการระบายน้ำ โดยส่งน้ำเป็นรอบเวร ส่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง คิดเป็นน้ำ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร/สัปดาห์ เพียงพอจะมีน้ำใช้ถึง 31 กรกฎาคม 2559

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 2 เมษายน 2559 ได้วางแผนใช้น้ำก้นอ่าง (Dead Storage)จนถึง 31 กรกฎาคม 2559 ประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร,ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ได้วางแผนใช้น้ำจากน้ำก้นอ่างที่มีอยู่ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้น้ำประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร,ภาคตะวันออก เขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรี จากการคาดการณ์จะใช้น้ำได้ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ได้วางแผนใช้น้ำจากก้นอ่าง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากเขื่อนหนองปลาไหลเข้าระบบผลิตน้ำประปาได้ 4 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน (กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบ คาดจะแล้วเสร็จกลางเดือนเมษายน)

“เราห่วงทุกเขื่อนซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างเข้มข้น สำหรับปรากฏการณ์เอลนิโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งจากข่าวสารที่ได้มาจากกรมอุตุนิยมวิทยาก็เริ่มคลายตัวแล้ว มองว่าในครึ่งปีหลังสภาวะความแห้งแล้งจะเริ่มคลี่คลายไป และหลังจากนั้นมีข่าวว่าจะปรับเปลี่ยนเป็นปรากฏการณ์ลานินญา ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกชุกหลายฝ่ายเกรงจะเกิดน้ำท่วม ผมว่าเป็นการวิตกเกินไป เพราะมองอีกมุมหนึ่งอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเวลานี้มีน้ำน้อยมาก ฉะนั้นอาจเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะมีน้ำเติมในอ่างเก็บน้ำมากขึ้นด้วยซ้ำไป จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรหากฝนตกชุกจริง แต่ถ้าบอกว่าน้ำจะท่วมในวงกว้างเหมือนในอดีตหรือไม่ ผมมั่นใจว่าไม่ใช่”

 เตรียมแหล่งน้ำรับฝนใหม่

กรมชลฯยังได้เตรียมแผนสำหรับรองรับน้ำฝนที่จะมาถึง โดยเร่งโครงการแก้มลิงกักเก็บน้ำ 30 แห่งเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงการเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จังหวัดชลบุรี อ่างเก็บน้ำดอกกราย จังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปราจีนบุรีก็ได้เร่งรัดที่จะเก็บน้ำให้ได้ในฤดูฝนปี 2559 ขณะที่ยังได้จ้างงานชลประทานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่ง ณ วันที่ 14 มีนาคม มีการจ้างงานแล้วกว่า 1.32 แสนคนเบิกจ่ายแล้ว 2.50 พันล้านบาท

“ขณะนี้ถือว่าแล้งสุดในรอบ 20 ปี ในอนาคตมีโอกาสจะแล้งมากกว่านี้อีกหรือไม่ ถ้าพูดตามสภาพฝนแน่นอนมีโอกาส เพราะเป็นเรื่องของรอบธรรมชาติ แต่ถ้าเราสร้างแหล่งน้ำไว้มากเพียงพอ และมีจำนวนมากขึ้น ก็จะมีความมั่นคงเรื่องน้ำที่จะใช้มากขึ้น ขึ้นกับเราจะวางอนาคตอย่างไร”อธิบดีกรมชลฯ กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 17 มีนาคม 2559

บทความพิเศษ เรื่องเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ ( ตอนที่ 2 )

          ฉบับที่แล้วได้เกริ่นถึงภาพรวมและปัญหาภัยแล้งระดับชาติ มาฉบับนี้จะเข้าสู่เรื่องการรับมือภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขอน้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ ด้วยการทำสระน้ำประจำไร่นา สระน้ำแก้มลิง ให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ เรียกได้ว่าเป็นสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน แต่อย่างว่าไม่มีอะไรจะได้มาง่ายๆ เพราะบางพื้นที่พี่น้องเกษตรกรก็เจอปัญหาสระน้ำรั่วซึมกักเก็บน้ำไม่อยู่ เนื่องจากใต้ผิวดินลึกลงไปเป็นพื้นที่ดินทราย ดินร่วน มีรูรั่วซึม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้น้ำในบ่อหรือสระนั้นๆ ไม่สามารถที่จะกักเก็บน้ำให้อยู่ได้ยาวนานเพียงพอ

          วันนี้จึงขอแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเพื่อเป็นวิทยาทาน และการใช้เครื่องมือสำหรับต้านภัยแล้ง โดยการใช้สารอุดบ่อ (polyacrylamide) ร่วมกับหินแร่ภูเขาไฟ เบนโธไนท์ สเม็คไทต์ ในอัตรา 2 กิโลกรัมต่อ หินแร่ภูเขาไฟ 100 กิโลกรัม หว่านกระจายลงไปให้ทั่วบ่อ แล้วทำการหว่านทรายหยาบ ทรายละเอียด หรือ จะเป็นดินที่ขอบบ่อหลังจากขุดใหม่ๆ มาหว่านโปรยเกลี่ยทับให้ทั่ว แล้วทำการทับ บด อัด ให้แน่นด้วยขอนไม้หรือสามเกลอ หลังจากมีน้ำในสระแล้วสารอุดบ่อจะทำปฏิกิริยาในการพองขยายตัวและประสานกันเป็นตาข่ายหรือร่างแห เมื่อน้ำแทรกซึมเข้าไปในโมเลกุลของสารอุดบ่อแล้ว น้ำสามารถยึดเกาะกับโมเลกุลของสารอุดบ่อได้จากหมู่ของเอมีน (-NH2) ของสารโพลิอะคริลามีด ที่สร้าง "พันธะไฮโดรเจน" กับโมเลกุลน้ำ (H2O) แรงนี้เป็นแรงดึงดูดอย่างอ่อนที่เกิดเฉพาะอะตอมของไฮโดรเจนกับอะตอมของออกซิเจน (O) หรือไนโตรเจน (N) หรือฟลูออรีน (F) คุณสมบัตินี้ของสารอุดบ่อจะถูกทำให้คลายขยายตัวออกช่วยอุดประสานรูรั่ว หลังจากนั้นนำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหว่านกระจายให้ทั่วพื้นบ่อก่อนปล่อยน้ำลงไป เพื่อสร้างเมือกธรรมชาติให้อุดรอยรั่วของบ่อ หรือถ้ากลัวว่าน้ำจะเน่าเพราะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกมากเกินไป ก็แนะนำให้นำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกห่อใส่ผ้ามุ้งเขียวไว้ก็ได้แล้วนำไปปักไว้ตามจุดต่างๆ เมื่อน้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวก็ยกขึ้นไว้ขอบบ่อ เพราะนั่นแสดงว่าเกิดเมือกที่พื้นบ่อขึ้นมาแล้วด้วยเช่นกัน เพียงเท่านี้เราก็สามารถสร้างเมือกธรรมชาติเสริมประสิทธิภาพกับสารอุดบ่อให้แก่สระน้ำประจำฟาร์มได้ไม่ยาก หลังจากนี้ยังอาจจะนำไรแดง กุ้งฝอย มาปล่อยสร้างรายได้เสริมอีกทางรวมถึงมีน้ำไว้ใช้สำรองตลอดทั้งปี ด้วยต้นทุนเพียงไม่เกินไร่ละ 1,600 บาทเท่านั้น

          ส่วนปัญหาของพืชไร่ไม้ผลที่ปลูกไปแล้ว สามารถแก้ไขให้ผ่านพ้นหน้าแล้งไปได้ด้วยการนำสารอุ้มน้ำโพลิเมอร์ 1 กิโลกรัม แช่น้ำในถัง 200 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง หรือ 1 คืน โพลิเมอร์จะดูดน้ำเข้าไปเก็บไว้ในตัวเอง ซึ่งสามารถดูดและกักเก็บไว้ได้มากถึง 200 – 400 เท่า ทำให้พองขยายตัวเต็มหรือล้นออกมาจากปากถัง และนำไปหว่านกระจายให้ทั่วแปลงนา เม็ดวุ้น หรือเจลโพลิเมอร์ ที่พองตัวแล้วจะไปสัมผัสใกล้กับต้นและรากข้าว ทำให้สามารถดูดกินรับน้ำ ประทังปัญหาภัยแล้งแบบเฉพาะหน้าได้ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งสามารถนำไปใช้แก้ปัญหากับพืชอื่นๆได้ทุกชนิด เช่น ปาล์ม ยางพารา อ้อย ลองกอง ลำไย มังคุด ทุเรียน ฯลฯ สำหรับต้นไม้ที่ปลูกไปแล้ว และอาจจะอยู่ในช่วงที่กำลังขาดแคลนน้ำพอดี ก็สามารถใช้โดยการขุดหลุมขนาดความลึกเท่ากับขนาดของปี๊บไว้ด้านข้างทั้งสองด้าน (หลุมจะใหญ่หรือลึก ให้พิจารณาจากขนาดของลำต้นและทรงพุ่ม) หลังจากนั้นนำโพลิเมอร์ที่แช่น้ำจนพองตัวดีแล้วมาเทใส่ และกลบฝัง จะช่วยให้พืชมีน้ำไว้ใช้ได้ตลอด 3-6 เดือน โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการประยุกต์ด้านเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย เพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติที่สามารถนำไปใช้ได้ผลจริง

          สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2

          สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส

          กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

          สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 มีนาคม 2559

ใช้ระบบรางพลิกโฉมขนส่งไทยผงาดอาเซียน-ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 

          เมื่อเวลา  09.00 น. วันที่ 16 มี.ค. ที่สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 2 จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) และ Railway Technical Research Institute (RTRI) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีรถไฟ จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัยและนวัตกรรมระบบรางของประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

          พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า โครงการลงทุนระบบขนส่งทางราง ควรผนึกกำลังร่วมกันหลายกระทรวงรวมทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษาให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยพัฒนาระบบรางของประเทศไม่ควรจัดซื้อรถไฟฟ้ามาใช้โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศแต่ควรใช้เงินงบประมาณพัฒนาการศึกษา และวิจัยควบคู่ไปด้วย โดยใช้วัสดุในประเทศเป็นหลัก อาจต้องจัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูดซับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางจากต่างประเทศและถ่ายทอดการใช้ประโยชน์แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางในประเทศไทยควรพิจารณาหาวิธีการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เช่น อาศัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อให้ชัดเจนด้านสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์)โดยกระทรวงคมนาคมต้องถือเป็นนโยบายและเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น เงื่อนไขประกอบตัวรถ  กำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนที่ต้องผลิตในประเทศ ผ่านระเบียบของกระทรวงการคลัง

          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯมีภารกิจขับเคลื่อนโครงการลงทุนภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยปี 58-65 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 ปี 56-60 กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของประเทศให้มีบทบาทการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบภายในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอาเซียน และเชื่อมตลอดภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนเอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำรองจากการขนส่งทางน้ำ มีเป้าหมายเพิ่มการขนส่งทางรางจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 5 ภายในปี 65 เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์จากร้อยละ 14 เหลือ ร้อยละ 10-12 ภายใน 8 ปี ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

          นายอาคม กล่าวต่อว่า  มีแผนงานสร้างระบบรางเพิ่มจาก  4,070 กม. อีก 3,000 กม. รวม 7,070 กม. หรืออีก 1.7 เท่า แบ่งการลงทุนเป็น 4 ระบบคือ การขนส่งสินค้าการ เดินทางของประชาชนที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่าเดิม ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล, ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองกรุงเทพฯ, ระบบรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรทั่วประเทศ และรถไฟฟ้าขนาดรางมาตรฐานระหว่าง

          ประเทศ เชื่อมประเทศในอาเซี่ยนและกลุ่มนอกอาเซียน จึงมีความเป็นไปได้สูงในการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์พัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและอุตสาหกรรม ต่อเนื่อง จำเป็นต้องเร่งลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลรวมทั้งเตรียมบุคลากรให้เพียงพอ โดย กระทรวงฯ ได้ร่วมมือประเทศเจ้าของเทคโนโลยีพัฒนาบุคลากรไทยให้มีขีดความสามารถเดินรถที่ทันสมัย

          นางอรรชกา  สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบรางอยู่แล้ว  เพื่อจูงใจนักลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิต แต่ที่สำคัญคือการให้สัมปทานการเดินรถไฟหรือรถไฟฟ้าในอนาคตต้องบังคับให้ใช้ชิ้นส่วนการผลิตรถไฟในประเทศจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมไทย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีการจัดนิทรรศการนวัตกรรมอุตสาหกรรมระบบรางไทย 47 บูธ จาก 50 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่น่าสนใจ เช่น  ประตูกั้นชานชาลา ของบริษัทนิวเรลโร้ดเทคโนโลยีจำกัด ร่วมกับบริษัทไทยยานยนต์ไฟฟ้าจำกัด เป็นกระจกนิรภัยสูง 160 ซม. กว้าง 170 ซม.  ซิงค์ข้อมูลกับรถไฟที่จะเข้าชานชาลา ป้องกันอันตรายผู้โดยสารไม่ถูกรถไฟเฉี่ยวชนและไม่ถูกประตูหนีบ ส่วนบริษัทซีนิกส์อีเล็คเท็คจำกัด โชว์เครื่องกั้นจุดตัดรถไฟ ซึ่งผลิตโดยคนไทยแต่ได้มาตรฐานสากล มีความแม่นยำสูงยกกั้นอัตโนมัติเมื่อรถไฟเคลื่อนตัวเข้าสถานี และใช้วัสดุจากอะลูมิเนียมเปลี่ยนเป็นรูปทรงเหลี่ยมน้ำหนักเบาช่วยทุ่นแรงต่างจากเดิมเป็นไม้แบบกลม น้ำหนักมาก.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 17 มีนาคม 2559

"ก.พลังงาน" ซ้อมรับมือวิกฤติ แหล่งพม่าหยุดซ่อม มี.ค.นี้

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศค่อนข้างสูง ทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบและวัตถุดิบในการผลิต LPG จากแหล่งตะวันออกกลาง และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา เป็นต้น เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากประเทศมีแหล่งพลังงานที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายใน แม้ว่าที่ผ่านมาได้พยายามทำการสำรวจและจัดหาแหล่งพลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม อีกทั้งในช่วงระหว่างวันที่ 19-28 มีนาคม 2559 นี้ จะมีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติกาของประเทศเมียนมา ส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติหายไปบางส่วน

โดยตัวเลขในปี 2558 ไทยมีการนำเข้าก๊าซจากประเทศเมียนมาอยู่ที่ 923 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็น 18% ของปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศ สำหรับการหยุดซ่อมของแหล่งซอติกาดังกล่าวจะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไป 640 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน กระทรวงพลังงานได้สั่งการห้ามหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและแหล่งผลิตก๊าซในประเทศช่วงเวลาดังกล่าว และเตรียมสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งได้มีการตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนพลังงาน

"สำหรับสถานการณ์ที่ต้องมีการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ อาจทำให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสภาวะวิกฤตด้านพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา"

พลเอกอนันตพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้จำลองสถานการณ์ฉุกเฉินสมมุติเพื่อเป็นการระดมความคิด วางแผน และจัดการกับปัญหา หากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยมีหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 17 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมเพื่อซ้อมแผนและทำความเข้าใจถึงสภาวะวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมแผนดำเนินการด้านต่าง ๆ รองรับสภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 มีนาคม 2559

รุกแก้ภัยแล้งเต็มพิกัด ทุ่ม25ล.เสริมอาชีพ40โครงการ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงพื้นที่บ้านโนนเมือง ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงทุกปี เนื่องจากปริมาณฝนตกปีที่ผ่านมาน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 5 เขื่อนหลักของจ.นครราชสีมา ได้แก่ ลำแชะ ลำมูลบน ลำตะคอง ลำพระเพลิง และลำปลายมาศ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการขุดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้โดยใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) การนำน้ำจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเติม และ มอบงบประมาณโครงการแผนพัฒนาอาชีพความต้องการของชุมชน จำนวน 40 โครงการ วงเงิน 25.8 ล้านบาท และได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและทุกหน่วยงานเร่งแก้ไข คาดว่าปลายเดือนมิถุนายน ปัญหาภัยแล้งจะเบาบางลง

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่และจัดแผนการแก้ไขปัญหาระยะสั้น-ยาว มีการสร้างฝายกักเก็บน้ำ ระดมเครื่องสูบเพื่อดึงแหล่งที่มีน้ำมาเติมให้ชุมชนขุดเจาะน้ำ เป่าล้างบ่อบาดาล และขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้แล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มีนาคม 2559

WTOเลิกหนุนส่งออกสินค้าเกษตร สศก.ชี้ช่วยเพิ่มโอกาสแข่งขันไทย

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 10 (the Tenth WTO Ministerial Conference) หรือ MC10 ได้ออกแถลงการณ์ให้มีการยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องยกเลิกการอุดหนุนเกือบทั้งหมดในทันที ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะต้องยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกภายในปี 2561 โดยยังสามารถอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการตลาดและการขนส่งสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรได้จนถึงปี 2566

สำหรับประเทศที่ยากจนและยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าอาหาร จะยังคงมีระยะเวลาในการปรับตัวต่อไปอีก ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 164 ประเทศในปัจจุบัน และเป็นปีที่ครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้ง WTO

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอุดหนุนการส่งออก นับเป็นการบิดเบือนทางการค้า ซึ่ง WTO กำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถอุดหนุนการส่งออกได้ไม่เกินจำนวนที่แจ้งผูกพันไว้ โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้แจ้งผูกพันการอุดหนุนการส่งออก จึงไม่สามารถอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรได้อยู่แล้ว ดังนั้น การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในตลาดโลกได้ เนื่องจากผู้ส่งออกทุกประเทศจะแข่งขันอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่สะท้อนความเป็นจริง ทำให้การบิดเบือนทางการค้าลดลง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 17 มีนาคม 2559

อุตฯภาคตะวันออกยันปีนี้ไม่ขาดแคลนน้ำแน่นอน

นายโสกุล เชื้อภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรืออีสท์วอเตอร์ เปิดเผยว่า ปีนี้ภาคตะวันออกน้ำไม่ขาดแคลนแน่นอน โดยใน จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล มีปริมาณ 190 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หากไม่มีน้ำต้นทุนมาเติม ก็ยังสามารถใช้ได้ 6-7 เดือน และยังสามารถผันน้ำจากอ่างประแสร์ที่มีอยู่ 995 ล้าน ลบ.ม.มาช่วยได้ ส่วนที่ จ.ชลบุรี อ่างเก็บน้ำหนองค้อและบางพระ มีปริมาณน้ำรวม 35-37 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องจับตาเฝ้าระวัง แต่อีสท์วอเตอร์ได้สร้างท่อสูบน้ำเส้นที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำหนองไหล ไปอ่างหนองค้อ ส่วนฉะเชิงเทราได้จ่ายน้ำให้ กปภ.เพิ่มอีก 45 ล้าน ลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าภาคตะวันออกจะไม่ขาดน้ำในปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ด้านนายวิฑูรย์ อยู่ทิม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองสำรองน้ำในพื้นที่ โดยมีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตัวเอง หรือใช้น้ำบาดาล และนิคมมาบตาพุดก็กำลังสร้างอ่างเก็บน้ำ ความจุ 1.4 ล้าน ลบ.ม.คืบหน้าแล้ว 50%

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

4เขื่อนเหลือ15% มีใช้แค่เดือนกรกฎาฯ ผันน้ำโขงช่วย2จังหวัด

พิจิตรแล้งหนักรอบ20ปีชี้เมษาร้อนทะลุ44องศา

สมิทธคาดลากยาวถึงมิย.

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพอากาศในฤดูร้อนในขณะนี้ว่า อุณหภูมิในประเทศไทย จะสูงสุดถึง 44 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนเมษายน บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันตกซึ่งติดชายแดนพม่าและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้ง ปีนี้เป็นปีที่ประสบปัญหาน้ำน้อย จึงอยากให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือภัยแล้ง และบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ภายในอีก 3-4 เดือน

แนะประชาชนอย่าตื่นข่าวลือ

ส่วนกระแสข่าวในสื่อออนไลน์ว่าวันที่16 มีนาคม อากาศจะร้อน อุณหภูมิทะลุ เกิน44 องศาเซลเซียลว่า ไม่เป็นความจริงเพราะปกติอุณหภูมิจะปรับขึ้นและลดลงทุกวันจึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนงดเผยแพร่ข้อความที่สร้างความสับสนและตื่นตระหนก ขอให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ แหล่งที่มาของข้อมูล หรือสอบถามข้อเท็จจริงโดยตรงจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่สายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 และ หมายเลขโทรศัพท์02-399-4012 -3 ตลอด24 ชั่วโมงหรือทางเว็บไซต์ของ กรมอุตุนิยมวิทยา

“สมิท”ชี้ร้อนยาวถึงเดือนมิย.

ด้าน ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานกรรมการอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องว่าประเทศไทยจะร้อนสูงสุด ช่วงเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคมโดยอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง35-40 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน

คาดแล้งยาวถึงมิย.เตือนรับมือ

สถานการณ์ภัยแล้ง กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ควรชี้แจงปริมาณน้ำที่แท้จริงกับประชาชน ไม่ใช่บอกว่าน้ำ จะมีพอใช้ ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม เพราะขณะนี้หลายเขื่อน มีปริมาณน้ำที่เก็บกัก ไม่เพียงพอ บางพื้นที่ไม่สามารถนำน้ำมาใช้สำหรับอุปโภคและบริโภค และไม่สามารถทำฝนหลวงได้เพราะความชื้นในอากาศไม่สูง จึงควรเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ และจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานไปจนถึงเดือนมิถุนายน อีกทั้ง วิกฤติภัยแล้งปีนี้จะส่งผลจนถึงกลางเดือนมิถุนายน คาดประชาชนจะได้รับผลกระทบหนักช่วงสิ้นพฤษภาคมถึงกลางมิถุนายนช่วงฝนทิ้งช่วงและวิกฤติภัยแล้งจะคลี่คลายหลังในเดือนกรกฎาคม ป็นช่วงการเข้าสู่ฤดูฝน

4 เขื่อนใหญ่ วิกฤติ เหลือน้ำ15%

ขณะที่ นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุด สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักปริมาณน้ำ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 726 ลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 8(ลดลงจากเมื่อวาน 7 ลบ.ม.), เขื่อนสิริกิติ์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 1,341 ลบ.ม.หรือ คิดเป็นร้อยละ 20 (ลดลงจากเมื่อวาน 8 ลบ.ม.),เขื่อนแควน้อยฯ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 275 ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31ลดลงจากเมื่อวาน 1 ลบ.ม.) และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 352 ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ37(ลดลงจากเมื่อวาน 2 ลบ.ม.) ถ้ารวมทั้ง 4 เขื่อน เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้2,694 ลบ.ม.หรือคิดเป็น ร้อยละ15 (ลดลงจากเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 18 ลบ.ม.)

ชลยังมั่นใจยันมีใช้ถึงเดือนก.ค

ขณะที่ เขื่อนอื่นๆเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 33 ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 2 (ลดลงจากเมื่อวาน 3 ลบ.ม.) เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 14 ลบ.ม.หรือคิดเป็นร้อยละ 6 (ลดลงจากเมื่อวาน 1 ลบ.ม. )และยืนยันว่า ปริมาณน้ำดังกล่าวมีพอใช้ถึงเดือนกรกฎาคม แต่ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง และรู้คุณค่าของทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด ให้ผ่านพ้นวิฤกติครั้งนี้ไปได้ ส่วนค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ จุดตรวจวัดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำแล มีค่าความเค็มเฉลี่ยประมาณ 0.14 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อการผลิตประปาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง

บิ๊กตู่ขอชาวนาร่วมปลูกแทนข้าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ถึงข้อกังวลเรื่องราคาข้าวตกต่ำ หลังจากที่เกิดปัญหาภัยแล้งทำให้คุณภาพข้าวไม่ดี อยากให้เกษตรกรเข้าใจว่า เราจะต้องร่วมมือกันทำกิจกรรมอื่นๆบ้าง ถ้าขายข้าวอย่างเดียวให้ราคาสูงเป็นไปไม่ได้ เพราะการปลูกข้าวทั่วโลก ล้วนมีปัญหาหมด เพราะหลายประเทศ มีผลิตข้าวจำนวนมากทั้งจีน อินเดียก็มีปัญหาเช่นกัน อีกทั้งกังวล ไม่อยากสร้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มแต่อยากให้คนไทยมีบ้านมีทรัพย์สินที่มีมูลค่า

คสช.สั่งกำชับเร่งลงช่วยภัยแล้ง

สถานการณ์ภัยแล้ง ยังทวีความรุนแรง โดยหน่วยงานภาครัฐเร่งให้ความช่วยเหลือ

โดยพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก(ทบ.)กล่าวภายหลังประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ว่าที่ประชุมให้ความสำคัญการเตรียมรับภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยกำชับทุกส่วนให้เร่งช่วยเหลือในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องให้ทั่วถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบและ ให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนที่เดือดร้อนและร้องเรียนในเรื่องอื่นๆเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข จากส่วนราชการที่มีหน้าที่โดยตรง พร้อมช่วยหาตลาดขายผลผลิต และตรวจสอบราคาพืชผล ไม่ให้สูงเกินจริง

พิจิตรน้ำยมวิกฤติหนักรอบ20ปี

สถาการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.พิจิตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ได้ทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมลดระดับลงจนแห้งขอด มากสุดในรอบ 20 ปี ไม่สามารถสูบน้ำมาผลิตน้ำประปาให้กับชาวบ้านได้ ประชาชนต้องซื้อน้ำ กักตุนไว้ใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือน

ประเดิมผันน้ำโขงแก้แล้ง2จว.

วันเดียวกัน ที่สถานีสูบน้ำชั่วคราว แห่งที่ 1 บ้านดอนคง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย นายเสถียร แพงมา หัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง 1 สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้ทำการเดินเครื่องสูบน้ำ จำนวน4 เครื่อง เป็นวันแรกเพื่อทำการผันน้ำโขง เพื่อการอุปโภคบริโภคและยังชีพ เข้ามายังลำห้วยหลวง โดยเริ่ม 15 มีนาคม-15 พฤษภาคมนี้

โดยเปิดประตูห้วยหลวง รองรับน้ำ เส้นทางส่งน้ำช่วยเกษตรกรในพื้นที่ หนองคาย และ อุดรธานี ระยะทางรวม 80กิโลเมตร ทำให้เพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรให้ชาวนาทำนาปรังได้พื้นที่ 13,000ไร่ ระยะแรก จะสูบน้ำตั้งแต่06.00-18.00น.รวม12 ชั่วโมง ก่อนประเมินเพิ่มเป็น18 ชั่วโมงจาก 06.00-24.00น. ก่อนจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนรอบใหม่ คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความคืบหน้ารองรับสถานการณ์ภัยแล้งของกระทรวงเกษตรฯ

สถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีรอบแรกและรอบสองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว มีบางพื้นที่ที่ยังรอเก็บเกี่ยวอีกเพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 59 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 3.05 ล้านไร่

 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีรอบแรกและรอบสองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว มีบางพื้นที่ที่ยังรอเก็บเกี่ยวอีกเพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 59 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 3.05 ล้านไร่แบ่งเป็นในเขตชลประทาน จำนวน 1.98 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน จำนวน 1.07 ล้านไร่ รวมทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานเก็บเกี่ยวแล้ว 0.94 ล้านไร่ เหลืออีก 2.11 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.16 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.95 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอาจได้รับความเสียหายจำนวน 4 แสนไร่

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลและระมัดระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการบริหารจัดการน้ำในส่วนอื่น ๆด้านสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังคงรักษาค่าความเค็มได้ดี ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้จนถึงเดือน ก.ค. 59 แน่นอน

ส่วนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีกระแสข่าวการขาดแคลนน้ำจากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์น้ำน้อย กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วสำหรับพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลว่าจะกระทบการเล่นน้ำสงกรานต์นั้น ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 59 นี้ จะมีการประชุมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรณีการแย่งน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง มีผลกระทบกับชาวไร่อ้อย 16,000 ไร่

แต่เนื่องจากระบบการส่งน้ำที่ต้องส่งให้เต็มคลองก่อนจึงจะสามารถปล่อยน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ กรมชลประทานจึงให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการลดสันฝาย เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีด้านปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งขณะนี้ได้ออกปฏิบัติการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว โดยมุ่งเน้นในเขตภาคอีสาน บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำตะคอง ผลจากการปฏิบัติการเริ่มมีฝนตกบ้างแล้ว ประกอบกับได้รับอิทธิพลลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดความชุ่มชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ซึ่งเป็นข้อดีที่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวง รวมทั้งเน้นปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคกลาง เน้นบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้งให้เป็นไปตามแผนด้วย

นอกจากนี้ เรื่องการจัดการพื้นที่การเกษตรถือว่ามีความสำคัญ และสอดคล้องกับการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ปลูกพืชจำนวน 130 ล้านไร่ เป็นการเพาะปลูกที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ 67.3% ไม่เหมาะสม 32.6% โดยในพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมีจำนวน 42 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 27 ล้านไร่ ยาง 5.8 ล้านไร่ อ้อย 3.7 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2.2 ล้านไร่ ปาล์ม 1.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.4 ล้านไร่

อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่อาจจะต้องเปลี่ยนระบบการผลิตจากการเกษตรไปทำอุตสาหกรรม หรือการปรับเปลี่ยนการเกษตรด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ ในการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของเกษตรกร.“

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงเกษตรฯ จับจริง “ปุ๋ยปลอม” เร่งเดินหน้ามาตรการครอบคลุมต้นน้ำถึงปลายน้ำ หวังช่วยเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันอย่างยั่งยืน 

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร เพิ่มโอกาสการแข่งขัน โดยกรมวิชาการเกษตรมีภารกิจในการดูแลปัจจัยการผลิตโดยตรง ซึ่งมีรายงานเรื่องการนำเข้าปุ๋ยเคมี เฉลี่ยปีละ 5.31 ล้านตัน มูลค่า 69,518.28 ล้านบาท แต่พบการหลอกขายปุ๋ยเถื่อน และปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือ ปุ๋ยปลอม ให้กับเกษตรกร ทำให้ใช้ปุ๋ยไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงกำชับให้กรมวิชาการเกษตร ปราบปุ๋ยปลอม อย่างจริงจังให้เห็นผลใน 3 เดือน วางมาตรการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

          กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 6 มาตรการ ดังนี้

          1.การนำเข้า ผลิต และ จำหน่ายปุ๋ย ต้องมีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร (กรณีรถเร่ขายปุ๋ย ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน เพราะไม่มีใบอนุญาต)

          2.ตรวจสอบการนำเข้าปัจจัยที่นำไปผลิตปุ๋ย ทั้งการตรวจใบอนุญาต และ สุ่มเก็บตัวอย่าง

          3.ควบคุมการผลิต และ จำหน่าย ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ปุ๋ย โดยพิจารณาจากพื้นที่ ชนิดพืช และ ฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือมีการปลูกลำไย ข้าว หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ อ้อย ควรมีปุ๋ยเฉพาะที่ใช้กับพืชเหล่านี้ในพื้นที่ อาทิเช่น ในห้วงเดือน เม.ย. - ก.ค. มีเฉพาะปุ๋ยสูตร 8 - 24 - 24 เป็นต้น

          4.จัดโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ Q-Shop ซึ่งในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรรับรองแล้ว 2,691 ร้าน

          5.การควบคุมโฆษณาและฉลาก ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส เพื่อตรวจการโฆษณาเกินจริง

          6.จัดทำระบบค้นหา และ ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตั้งแต่ ม.ค. ที่ผ่านมา สารวัตรเกษตร ร่วมกับ จนท.ตร. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ออกตรวจพบผู้กระทำผิด 12 ราย ปุ๋ยปลอม 350 ตัน มูลค่า 19.78 ล้านบาท (พบที่ กทม. 2 ราย, ปทุมธานี 3 ราย, กาญจนบุรี 2 ราย, นครปฐม 1 ราย, พิจิตร 1 ราย, กำแพงเพชร 1 ราย, ชัยภูมิ 1 ราย และ นครพนม 1 ราย) ซึ่งจากการกระทำผิด มีทั้งโทษจำคุก และ ปรับ เช่น ผลิตหรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายปลอม มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ผลิตปุ๋ยเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ทั้งนี้ ผู้พบเห็นการกระทำผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สารวัตรเกษตร โทร. 02-9404534 และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) โทร. 1135 เมื่อคดีถึงที่สุด ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับ ร้อยละ 9 ของค่าปรับอีกด้วย" นายสุรพล กล่าว

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

ไทยรับมือ‘เมียนมา’ปิดซ่อมท่อก๊าซ แหล่งซอติกาช่วง19–28 มี.ค. ยันไม่ขาดแคลนพลังงานแน่

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการเป็นประธานซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศประจำปี 2559 ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง อาทิ การนำเข้าน้ำมันดิบและวัตถุดิบในการผลิต LPG จากแหล่งตะวันออกกลาง และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมา เป็นต้น เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งพลังงานที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาได้พยายามทำการสำรวจและจัดหาแหล่งพลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม อีกทั้งในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 28 มี.ค. 2559 นี้ จะมีการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติกา ของประเทศเมียนมา ซึ่งจะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยนำเข้าจากประเทศเมียนมาหายไปบางส่วน โดยตัวเลขในปี 2558 ประเทศไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาอยู่ที่ 923 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็น 18% ของปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

สำหรับการหยุดซ่อมของแหล่งซอติกาดังกล่าวจะทำให้ปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติของประเทศหายไปประมาณ 640 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน  อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้มีการสั่งการห้ามหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว และเตรียมสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มพิกัด รวมทั้งได้มีการตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนพลังงาน และไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์ฉุกเฉินสมมุติเพื่อเป็นการระดมแผนรับมือ 2 เหตุการณ์ 1.สงครามตะวันออกกลาง ซึ่งจะทำให้ขาดแคลนน้ำมัน แอลเอ็นจี นาน 4 เดือน และ 2.ก๊าซพม่าไม่สามารถส่งเข้าระบบได้ กระทรวงจะต้องรณรงค์การประหยัดพลังงานซึ่งอาจจะต้องบังคับ อาทิ  เวียนปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น โรงหนัง  เป็นต้น

รมว.พลังงานกล่าวถึงกรณีที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด แจ้งปรับขึ้นค่าโดยสาร 1 บาททุกประเภทมีผลตั้งแต่ 14 มี.ค. 2559 เนื่องจากราคาดีเซลปรับขึ้นกว่า 21 บาทต่อลิตร กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะเข้าไปช่วยเหลือเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมจะพิจารณา โดยกระทรวงจะติดตามราคาน้ำมันใกล้ชิดและยืนยันที่จะดูแลราคาขายปลีกดีเซลในภาพรวมหากสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจภาพรวมจึงจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดูแล

“การขึ้นค่าเรือด่วนก็เป็นเรื่องของคมนาคม ตอนที่ราคาน้ำมันลดลดด้วยหรือเปล่า ก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริง พลังงานจะดูแลเฉพาะภาพรวมโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่เพียงพอ แต่ขณะนี้ราคาก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมาก” พล.อ.อนันตพรกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ยื่นสอบสมาคมอ้อยเก็บเงินสมาชิก

เมื่อตอนบ่ายวันที่ 14 มี.ค. ที่รัฐสภา นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี และอดีตเลขานุการ รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมประมาณ 10 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอคัดค้านผลการตรวจสอบคุณสมบัติสถาบันชาวไร่อ้อยของสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก เนื่องจากมีข้อมูลว่าขาดคุณสมบัติแต่กลับมีการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรีแทน ข้อความในหนังสือร้องเรียนระบุว่า สมาคมฯได้ยื่นเรื่องคัดค้านขอตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่เดือน ต.ค.2558 และได้รับแจ้งจากสนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.)ว่า สมาคมฯมีคุณสมบัติครบถ้วนแต่กรรมการบริหารกลับมีมติให้ตรวจสอบใหม่อีกครั้ง แสดงว่าการตรวจสอบ

คุณสมบัติของสถาบันชาวไร่อ้อยเดิม 30 แห่ง มีคุณสมบัติถูกต้องเป็นการรายงานเท็จหรือไม่การที่คณะกรรมการบริหารมีมติให้ตรวจสอบคุณสมบัติของสมาคมฯใหม่อีกครั้งนั้นเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้ส่งหลักฐานเอกสารให้ สอน.ตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดร้องคัดค้าน ที่ถูกต้องควรตรวจสอบสมาคมเพื่อการเกษตรภาคตะวันออกเพียงแห่งเดียว การกำหนดให้โรงงานน้ำตาลหักเงินค่าบำรุงจากชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงานตันละ 2 บาท ทำให้ชาวไร่อ้อยเดือดร้อน นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบการทำงานของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากได้ยื่นหนังสือขอให้ระงับการทำหน้าที่ของผู้แทนสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออกและรอผลตรวจสอบ แต่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเพิกเฉย อย่างไรก็ตาม หากไม่คืบหน้าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป หลังจากรับหนังสือร้องเรียน พล.อ.สิงห์ศึกรับปากว่าจะเร่งดำเนินการตรวจสอบต่อไป

นายจิรวุฒิกล่าวว่า จ.ชลบุรี ถือเป็นพื้นที่ปลูก อ้อยเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ปัญหาเกิดจากเดิมมีสมาคมกลุ่มอาชีพฯเพียงแห่งเดียว แต่ต่อมามีการเมืองแทรกหวังฐานคะแนนเสียงจนมีการแยกตัวออกไปเป็นสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก และมีการเรียกเก็บเงินจากสมาชิก ทั้งที่ทางสมาคม กลุ่มอาชีพฯ ไม่มีการเรียกเก็บเงินสมาชิกแต่อย่างใด “นายดรงค์ สิงห์โตทอง บิดาตน อดีตนายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เป็นผู้ผลักดัน พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาล ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2527 จึงขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อความถูกต้อง เช่น ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในฤดูเปิดหีบอ้อยจะต้องมีปริมาณน้ำตาล 55% หรือ 5.5 หมื่นตันจากปริมาณน้ำตาลทั่วประเทศกว่า 100 ล้านตัน เป็นต้น ก่อนหน้านี้วันที่ 13 ต.ค.2558 เคยยื่นหนังสือให้ตรวจสอบคุณสมบัติสมาคมเพื่อการเกษตรภาคตะวันออกมาแล้วแต่เรื่องไม่คืบหน้า แต่กลับมาตรวจสอบสมาคมกลุ่มอาชีพฯแทน” นายจิรวุฒิกล่าวในที่สุด

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เงินบาทแข็งค่าในรอบ 7 เดือน

นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตนประเมินว่า ทิศทางแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาในเร็วๆนี้ คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีนี้ที่ระดับ 1.5% แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่อันดับ 1 ใน 2 ของการแข็งค่าเงินทุกสกุลในภูมิภาค จากปัจจุบันอยู่อับดับ 5 เทียบกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค เชื่อว่า กนง.จะใช้มาตรการลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินบาทแข็งค่าเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

“ค่าเงินบาทระยะ 3 เดือนข้างหน้านี้ มีแนวโน้มอ่อนค่าที่ 35.00-36.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ และสิ้นปีอยู่ที่ 36.50 บาทต่อเหรียญฯ ปัจจัยที่ต้องจับตาสัปดาห์นี้ ต้องรอผลที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบเดือน มี.ค. ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ แต่คาดว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะเป็นตัวเปลี่ยนตลาดทั้งหมด”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา ที่ระดับ 35.05 บาทต่อเหรียญฯ เช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นๆในทวีปเอเชีย.

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ซ้อมแผนรับมือพลังงานขาด

พลังงานซ้อมแผนรับมือสงคราม-แหล่งเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซจนพลังงานขาดแคลน ปตท.หนุนสำรองน้ำมัน

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับ 17 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมความเห็นและซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานของประเทศประจำปี 2559 ใน 2 เหตุการณ์ คือ 1.กรณีที่เกิดสงครามในตะวันออกกลาง และไม่สามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซแอลพีจีได้ 4 เดือน และ 2.กรณีแหล่งก๊าซในเมียนมาไม่สามารถส่งก๊าซเข้าระบบได้ประมาณ 10-15 วัน

ทั้งนี้ ในกรณีเกิดสงครามในตะวันออกกลางนั้นกระทรวงมีแผนที่จะเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนกรณีแหล่งก๊าซในเมียนมาหยุดจ่ายก๊าซฯ นั้น จะให้มีการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันเชื้อเพลิงเต็มพิกัดเช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่มีการซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซแหล่งซอติก้าในเมียนมา ขณะที่แผนการรับมือเฉพาะหน้าจะเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน และอาจมีการเวียนปิดไฟที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และยืนยันว่าหากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจกระทรวงจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลราคาทันที

 นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปตท.สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินโครงการตั้งคลังน้ำมันทางยุทธศาสตร์จากปัจจุบันที่ภาครัฐให้ผู้ค้าและโรงกลั่นเป็นผู้สำรองน้ำมัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันลดต่ำลงจึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจมาก "ถามว่ารัฐเอาเงินจากไหน ตั้งกองทุนระดมทุนก็ได้ เอาเงินจากกองทุนน้ำมันก็ได้" นายเทวินทร์ กล่าว

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ในปี 2559 จะอยู่ระดับ 2.85-2.9 หมื่นเมกะวัตต์ โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 38.5-39 องศาเซลเซียส และประเมินว่าพีกดังกล่าวน่าจะเกิดช่วงปลายเดือน เม.ย. ขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมอยู่ที่ 3.9 หมื่นเมกะวัตต์ จึงมั่นใจได้ว่าระบบไฟฟ้าจะมีเพียงพอ

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำลดลงเหลือเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของกำลังผลิตรวม เทียบกับปีก่อนๆ มีกำลังผลิตเฉลี่ย 5% กฟผ.จะบริหารต้นทุนผลิตไฟฟ้าในภาพรวมให้มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตา เปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาเป็นหลัก

จาก http://www.posttoday.com    วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 

          International Society of Sugar Cane Technologists (ISSCT) เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 2-11 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ โชว์เทคนิคการผลิตอ้อยและน้ำตาล รวมถึงนวัตกรรมสุดทันสมัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดทั้งกระบวนการ

          นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 เปิดเผยว่า สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (TSSCT) ได้รับคัดเลือกในนามของประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 หรือ XXIX International Society of Sugar Cane Technologists Congress เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันจัดแสดงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอ้อยและน้ำตาลจากนานาประเทศทั่วโลก ด้วยแนวคิด "Sufficient and Sustainable Agri-Sugar Cane from Small Farmers to Global Exporters" โดยจะมีตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการจากภาคเอกชน และมีนักวิชาการ เข้าร่วมงานประมาณ 2,000 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก

          การประชุมดังกล่าวการจัดงานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) Pre-Congress Tour วันที่ 2-4 ธันวาคม ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว, อุทยานวิจัยมิตรผล และบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (2) ISSCT Congress 2016 วันที่ 5-8 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ และ (3) Post-Congress Tour วันที่ 9-11 ธันวาคม จะศึกษาดูงานโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุโขทัย และนครสวรรค์ โดยการจัดงานในประเทศไทยครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่เราเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยเข้าชมงานเพื่อส่งเสริม การต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอย่างทั่วถึงอีกด้วย

          นายเชิดพงษ์กล่าวเสริมว่า งานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้สนับสนุนหลักระดับแพลตทินั่ม ได้แก่ มิตรผลกรุ๊ป, Isgec Heavy Engineering Limited, ระดับโกลด์ ได้แก่ Sutech Engineering Company Limited, Uttam Sucrotech International Private Limited, John Deere (Thailand) Limited , Cristalla Company Limited, Siam Kubota Corporation Co., Ltd. และระดับซิลเวอร์ ได้แก่ Triveni Turbine Limited, Netafim (Thailand) Company Limited

          หน่วยงานและองค์กรสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย, สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, กรมวิชาการเกษตร, เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการหรือทีเส็บ ที่ให้การสนับสนุนตั้งแต่การเข้าไปประมูลสิทธิ์การจัดงานถึง 2 ครั้งตั้งแต่ที่เม็กซิโก ปี 2010 และบราซิลปี 2013 จนประเทศไทยได้รับงานครั้งนี้ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ที่ให้ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่จัดงาน และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ที่ร่วมดำเนินการประมูลสิทธิ์การจัดงานทั้ง 2 ครั้งจนสมาคมอ้อยและน้ำตาลโลกมั่นใจในศักยภาพ และคัดเลือกให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุม ซึ่งในโอกาสนี้ สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลล้อปเม้นท์ จำกัด ให้เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดงานการประชุมครั้งนี้อีกด้วย

          นางสาววิชญา สุนทรศารทูล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า การประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 ที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ของเอเชีย ด้วยการส่งเสริมศักยภาพและความพร้อมของไมซ์ซิตี้หลักของประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ รวมถึงเมืองอันเป็นจุดหมายชั้นนำอื่น ๆ ในประเทศ ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เมืองไมซ์ซิตี้ โดยหวังเป็นศูนย์กลางบริการข้อมูลของอุตสาหกรรมไมซ์และศูนย์กลางธุรกิจไมซ์ของภาคเหนือ รองรับการเปิดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินงานภายใต้นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดอบรม และประชุมสัมมนาในประเทศมากขึ้น เน้นความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนกระตุ้นตลาดไมซ์ในประเทศ

          " การจัดงานประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมชาวต่างชาติ 1,500 คน และนำรายได้เข้าประเทศ 139 ล้านบาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมที่จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ จะเปิดโอกาสให้บุคลากรของไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รับองค์ความรู้ และเรียนรู้วิวัฒนาการใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย" นางสาววิชญากล่าว

          นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ครั้งที่ 29 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการประชุมหลัก จะเป็นการประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาลนานาชาติ ประกอบด้วยการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และการแสดงผลงานวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ โดยเป็นผลงานนำเสนอของนักวิชาการชาวไทยถึง 40 เรื่อง อีกทั้งยังมีการจัดแสดงเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตลอดกระบวนการผลิต และผลพลอยได้ของอ้อยและน้ำตาล

          "ปัจจุบันมีผู้สนใจตอบรับเข้าร่วมแสดงนิทรรศการในงานครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสนใจซื้อพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 70% ซึ่งเราคาดว่าจะมีการจองและซื้อพื้นที่ที่เหลือทั้งหมดภายใน 3 เดือน จึงไม่อยากให้ท่านที่กำลังตัดสินใจพลาดโอกาส เพราะงานนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน" นายกิตติกล่าว

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

'บิ๊กฉัตร'ชู4แนวปฎิรูปเกษตร สู้ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ

ที่อาคารอิมแพคฟอร์รั่ม เมืองทองธานี สภาเกษตรกรแห่งชาติ  โดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรฯ จัดงาน"สานพลังประชารัฐ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมสู่ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน" ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่าเศรษฐกิจมีปัญหาทั่วโลกหลายประเทศสั่งซื้อสินค้าจากเรามีปัญหา ราคาน้ำมันตกลงกระทบราคายางพาราธรรมชาติ มีผลกระทบต่อสินค้าเกษตรทั้งสิ้น รวมทั้งกติกาการแข่งขันมีสูงขึ้น เช่นไอยูยู นับวันทวีความรุนแรงมาก อีกเรื่องบ้านเราเผญิชภัยแล้ง และในประเทศในภูมิภาคเอเซียเจอภัยแล้งหนักมากเช่นกัน จึงต้องหันมาเน้นหนักในเรื่องนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำเกษตร หลายทศวรรษที่ผ่านมาประชากรในภาคเกษตรมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ภาคอื่นมีรายได้มากกว่า ปัญหาแรงงานส่วนเป็นผู้สูงอายุมากว่า50 ปีขึ้นไป และปัญหาทรัพยากรธรรมชาติลดลง หลายพื้นที่พบว่าพื้นที่เกษตรไม่เหมาะสม อาทิข้าว ยาง มัน อ้อย ทั้งประเทศมีพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชเหล่านี้ 63% ที่เหลือ33%ไม่เหมาะ ตนได้ให้กระทรวงเกษตรฯเร่งรัดจัดทำแผนที่ระดับจังหวัด คาดการณ์ปริมาณน้ำใน10 ปีข้างหน้า สภาพดินและพืชที่เหมาะสม โดยควบคู่ไปกับการส่งเสริมตามความต้องการตลาด ซึ่งทุกกรมไปผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม

"วันนี้ข้อจำกัดของการเกษตร คือเรื่องน้ำ ขณะนี้มีพื้นที่เกษตรอยู่ในเขตชลประทาน 29 ล้านไร่ จากพื้นที่เกษตร 130 ล้านไร่ทั่วประเทศ อีก110 กว่าล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทานรอฝนอย่างเดียว ผมเสนอแผนพัฒนาเขตชลประทานอีก10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีคำตอบว่าจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้เพียง10 ล้านไร่เท่านั้น ดังนั้นวิธีคิดมองการบริหารจัดการที่ดิน ต้องทำเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ถึงอยู่ได้ ซึ่งในแผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ต้องแก้ผลผลิตตกต่ำ ปัญหาความยากจนที่ยังอยู่กับพี่น้องการเกษตร โดยนายกฯวางนโยบายใน การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและสถาบันเกษตร ยกมาตรฐานเข้าสู่เกษตรปลอดภัย หรือเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด การจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่ ได้ตามมาตรฐานและเป็นที่ต้องการตลาด การแปรรูปเพิ่มสินค้าสร้างความมั่นคงอาหาร และพลังงานยั่งยืนไปสู่อนาคต

กระทรวงเกษตรฯกำหนดแผนปฎิบัติจับต้องได้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเกษตรได้ 6 เดือน เร่งแก้ราคายางตกต่ำ และมี15 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางในระยะยาว รวมทั้งในปีนี้เป็นปีแห่งการลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสการแข่งขัน  รวมมือกับทุกกระทรวงเช่นกระทรวงพาณิชย์ ลดค่าปุ๋ยยา เมล็ดพันธุ์ กระทรวงมหาดไทย ลดค่าเช่าที่ดิน และบูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ และภาคเอกชน ทำเกษตรแปลงใหญ่ ในรูปแบบประชารัฐ 

"ผมมีแนวคิดปฎิรูปเกษตร 1.เราต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง 2.ต้องใช้นวตกรรมใหม่ๆมาช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด 3.ต้องใช้ความคิด หากเรายังทำเกษตรดั้งเดิมสู้ประเทศอื่นลำบาก เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์สูง ค่าแรงงานสูง 4.ต้องมองถึงตลาด ซึ่งสิ่งสำคัญสุด วันนี้สินค้าเกษตรที่เราทำอยู่ ไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีความกินดีอยู่ดีได้ ต้องนำแนวทางพระราชดำริ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ ทำเกษตรผสมผสาน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและเลี้ยงสัตว์ไปด้วย ภาคเกษตรอยู่ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน"รมว.เกษตรฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เปิดร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า วางกรอบป้องกันวิกฤติแล้ง/อุทกภัย

เป็นกฎหมายที่รอและลุ้นกันมานานอีกฉบับ สำหรับร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีเอกภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ ล่าสุด ผลการปรับร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…ทั้งรับฟังความคิดเห็นนัดสุดท้ายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ คณะกรรมการกฤษฎีกา และภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พร้อมใส่พานส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 มีนาคมนี้แล้ว

 “ฐานเศรษฐกิจ”ขอนำสาระสำคัญที่น่าสนใจของร่างกฎหมายฉบับนี้มานำเสนอ โดยกำหนดให้มี”คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ กนช. 1 คณะ มาจากภาคส่วนต่างๆ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองคนที่ 1 ให้รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นรองคนที่ 2 มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง มีกรรมการจากผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ จำนวน 6 คน คัดเลือกมาจาก กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 2 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน โดยนายกฯแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และผังเมือง ให้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้แต่งตั้งข้าราชการมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการไม่เกิน 2 คน

กนช.มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยต้องคำนึงถึงแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงจัดทำแผนการบริหารจัดการภาวะวิกฤติน้ำแห่งชาติให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน กับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตลอดจนแผนแม่บทที่สนับสนุนแผนดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งและอุทกภัย และเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปปฏิบัติ

รวมถึงจัดทำแผนงบประมาณแบบบูรณาการประจำปี โดยกลั่นกรองจากแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เสนอ ครม.พิจารณาจัดทำกรอบงบประมาณประจำปี เป็นต้น กรณีที่มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติน้ำแห่งชาติในสาระสำคัญ กนช.จัดให้รับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในร่างกฎหมายฉบับนี้แบ่งการใช้น้ำ ออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก ได้แก่ ใช้เพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การใช้น้ำตามจารีตประเพณี การรักษาระบบนิเวศ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาสาธารณภัย และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

ประเภทที่ 2 ได้แก่ ใช้เพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น กำหนดให้ต้องได้รับใบอนุญาตจาก”อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ”โดยความเห็นชอบของ”คณะกรรมการลุ่มน้ำ”ที่ทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตั้งอยู่

ประเภทที่ 3 ได้แก่ ใช้เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ให้ได้รับใบอนุญาตจาก”อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ”โดยความเห็นชอบของ”กนช.” โดยการออกใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และ 3 นั้น ให้คำนึงถึงความสมดุลของน้ำในทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้งลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสมดุลของลุ่มน้ำ คิดอัตราค่าธรรมเนียม การขอใบอนุญาตการใช้น้ำกรณีใบคำขอ 100 บาทต่อฉบับ สำหรับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 1 หมื่นบาทต่อฉบับ ประเภทที่ 3 5 หมื่นบาทต่อฉบับ ส่วนใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 500 บาท

ขณะที่ผู้ขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำ ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นแผนจัดการน้ำที่กักเก็บไว้ทั้งกรณีเกิดภาวะน้ำแล้ง และภาวะน้ำท่วม มาพร้อมกับคำขอด้วย ดังเช่น การลดปริมาณการใช้น้ำ การหาแหล่งน้ำทดแทน และอัตราความเป็นไปได้ในการเฉลี่ยน้ำที่มีเพื่อประโยชน์สาธารณะเมื่อเกิดภาวะแล้ง และมีแผนการป้องกันมิให้น้ำที่กักเก็บไว้ล้นออกไปนอกสถานที่กักเก็บ จนอาจก่อให้เกิดน้ำท่วม หรือไปเพิ่มปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีกเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม เป็นต้น

ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เงินค่าใช้น้ำที่เรียกเก็บจากทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว รวมถึงเงินค่าปรับต่างๆ ตลอดจนเงินที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยให้กรมทรัพยากรน้ำเก็บไว้เต็มจำนวนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม และสนับสนุน พัฒนา บำรุงรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากร ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัย ดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ กนช. คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา องค์กรผู้ใช้น้ำ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

จากบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในร่างฉบับนี้ ได้กำหนดความรับผิดชอบทางแพ่งกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะเอาไว้ด้วย โดยกรณีการกระทำที่มีผลทำให้แหล่งน้ำเสื่อมสภาพ เสื่อมประโยชน์ต่อการใช้น้ำ หรือทำให้เกิดภาวะมลพิษแก่แหล่งน้ำ ระบบนิเวศ ทำให้น้ำมีสภาพเป็นพิษ หรือสุขภาพของบุคคล ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในวาระเริ่มแรกนี้ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้นำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558-2569 ) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือแผนพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำ หรือแผนป้องกันและแก้ไขภาวะวิกฤตน้ำขึ้นมาใช้บังคับ

และกำหนดให้ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้ง”สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” มีฐานะเป็นกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กนช.และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับการจัดตั้งสำนักงาน กนช.

…ขยับรุกคืบไปอีกขั้นในการสร้างเอกภาพเรื่องบริหารจัดการน้ำที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน มิใช่ต่างคนต่างทำดังที่แล้วมา

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

4เขื่อนหลักน้ำลดลงต่อเนื่อง-แล้ง15จว.

ปภ. ประกาศภัยพิบัติแล้ว 15 จังหวัด ขณะ 4 เขื่อนหลัก ลดลงต่อเนื่อง เหลือ น้ำใช้การได้ 2,712 ลูกบาศก์เมตร 15%

ทางกรมชลประทาน รายงานสภาพน้ำในเขื่อนหลัก ๆ วันที่ 14 มีนาคม 2559 ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 733 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 8% ด้านเขื่อนสิริกิติ์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 1,349 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 20% ส่วนเขื่อนแควน้อยฯ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 276 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 31% และเขื่อนป่าสักฯ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 354 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 37% และถ้ารวมทั้ง 4 เขื่อน เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 2,712 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 15% ในขณะที่เขื่อนอื่น ๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 36 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 2% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 15 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 6% 

ทางด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) วันที่ 14  มีนาคม 2559 ล่าสุด 15 จังหวัด 60 อําเภอ 278 ตําบล 2,369 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 6 จังหวัด 22 อำเภอ คือ อุตรดิตถ์ (2 อําเภอ) พะเยา (6 อําเภอ) เชียงใหม่ (3 อําเภอ) สุโขทัย (8 อําเภอ) นครสวรรค (2 อําเภอ) น่าน (1 อําเภอ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด 19 อำเภอ คือ นครราชสีมา (10 อําเภอ) นครพนม (2 อําเภอ) มหาสารคาม (4 อําเภอ) บุรีรัมย์ (3 อําเภอ) ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก รวมแล้ว 5 จังหวัด 19 อำเภอ คือ กาญจนบุรี (2 อําเภอ) สระแก้ว (4 อําเภอ) เพชรบุรี (3 อําเภอ) จันทบุรี (9 อําเภอ) ชลบุรี (1 อําเภอ)

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ฝนหลวงภาคกลางห่วง22จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา

ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางห่วง 22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา - 3 เขื่อนหลัก คาดฤดูฝนปี59 เกิดล่าช้ากว่าปกติ

นายรัฐกร วรุณสุขะศิริ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ซึ่งรับผิดชอบ จังหวัดนครสวรรค์, อุทัยธานี, ลพบุรี, ชัยนาท, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, ปทุมธานี, กาญจนบุรี, นครปฐม, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร และ สมุทรปราการ เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่าปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่วิกฤติกว่าหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำต้นทุนเหลือค่อนข้างน้อย ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงส่งผลให้ฤดูฝนในปี 2559 จะเกิดล่าช้าออกไปจากเดิมที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนกรกฏาคม โดย ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง มีความเป็นห่วงพื้นที่22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษ และมีเป้าหมายสำคัญในการเติมน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ์ และ ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เบื้องต้น พบว่าเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถออกปฏิบัติการทำฝนหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนักเพราะความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำมาก ประกอบกับปัจจัยยังไม่เอื้ออำนวย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการฯทั้งในจ.นครสวรรค์ และ กาญจนบุรี ก็ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องแบบวันต่อวันเพื่อประเมินความเหมาะสมของสภาพอากาศสำหรับหาโอกาสขึ้นบินช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอยู่ในขณะนี้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ก.อุตฯ จับมือ ก.วิทย์ฯ องค์กร UNIDO หนุน Start up เข้าถึงเทคโนโลยีสะอาด  

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผนึกกำลังกับ 3 หน่วยงานหลักด้านการวิจัยและเทคโนโลยีของไทย ดึงองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การ ยูนิโด) ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand เพื่อคัดเลือก SMEs กลุ่ม Start-up เข้าร่วมฝึกอบรมและนำเสนอผลงาน

         กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ จัดทำโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs ผลักดัน SMEs กลุ่ม Start up เข้าถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมสะอาด ปูทางผู้ประกอบการรุ่นใหม่รับผิดชอบสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับต่างประเทศ ตั้งเป้า 3 ปี ปีละ 25 กิจการ ชี้ผู้ผ่านการคัดเลือกมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนต่างประเทศ เจรจาธุรกิจกับกองทุนในสหรัฐอเมริกา

                ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของ SMEs บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมดังกล่าว โดยโครงการฯ เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การ UNIDO)

                สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการ มุ่งไปที่กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ หรือกลุ่ม Start up ตั้งเป้าหมายคัดเลือก Start up ไว้จำนวนปีละ 25 ราย ระยะเวลาในการดำเนินโครงการเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นกลุ่มที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทาง สวทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ สิ้นสุดโครงการปีแรกเดือนกันยายน 2559  โดยโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดงบประมาณโครงการนี้ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

                ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสะอาดของไทย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในประเทศ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้มอบหมายให้ สวทช.รับหน้าที่เป็นผู้ดูแล และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ให้ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ แบบบ่มเพาะ และเร่งรัดธุรกิจ และโครงการดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดให้เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการไทยไปพร้อมกับเวทีระดับโลกในอนาคต

                ด้าน นายเอ็ดวาร์ด คลาเร็นซ์ สมิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่วนภูมิภาคองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNIDO กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อเรื่องของสิ่งแวดล้อม และโครงการดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก ซึ่งทาง UNIDO เล็งเห็นถึงศักยภาพของ SMEs ไทยในการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปีแรกได้มอบเงินทุนสนับสนุนจำนวน 14 ล้านบาท หรือ 4 แสนเหรียญสหรัฐ

        ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด เพื่อขยายขีดความสามารถงานนวัตกรรมของประเทศ รองรับตลาดโลกใน 4 สาขา ได้แก่ การใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การแปลงของเสียเป็นพลังงาน และพลังงานหมุนเวียน  ซึ่งดำเนินการคัดเลือก SMEs ใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวน 75 กิจการ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ปีละ 25 กิจการ โดยมีพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดเป็นผู้ให้ความรู้ และในครั้งนี้ทางกรมฯ ยังต้องการที่จะส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน และกองทุนร่วมลงทุนในต่างประเทศด้วย

                ด้าน ดร.ณรงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการคัดเลือกผู้ประกอบการ จะทำการคัดเลือก และเสร็จสิ้นโครงการในเดือน กันยายน และทำการคัดเลือกพี่เลี้ยงให้เสร็จสิ้นในเดือนเมษายน ปีแรกจะคัดเลือกทั้งหมด 50 กิจการ ส่วนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจะทำการคัดเลือกให้เสร็จสิ้นในเดือน พฤษภาคมนี้ จำนวน 25 ราย และทำการคัดเลือกกิจการที่มีผลงานโดดเด่นเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในต่างประเทศ โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะมีโอกาสเจรจาธุรกิจด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาดในงาน Cleantech Open เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา มีเงินทุนเป็นรางวัล รางวัลละ 30,000 เหรียญสหรัฐ จำนวน 2 รางวัล ผู้สนใจต้องการเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อขอเข้าร่วมโครงการได้

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เทคโนโลยีน้ำสู้‘ภัยแล้ง

เรื่อง - สาลินีย์ ทับพิลา

เมื่อน้ำกลายเป็นของหายากในหน้าแล้ง น้ำทะเลก็สามารถเป็นน้ำกินน้ำใช้ได้ “ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์” เดินหน้าใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์น้ำขาดแคลน - คุณภาพไม่พร้อมใช้ พร้อมตั้งเป้าสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำในระยะยาว

สถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ เทคโนโลยีสามารถช่วยได้ “เชิดชาย ปิติวัชรากุล” รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติน้ำที่พบมี 2 เรื่องหลักคือ ปริมาณไม่เพียงพอ และคุณภาพไม่ดีพอสำหรับการอุปโภคบริโภค

น้ำทะเลใช้ได้

ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ ในเครือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ดำเนินธุรกิจหลักทางด้านกิจการน้ำประปาแบบครบวงจร ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำประปาด้วยระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO)

โครงการเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำประปา เริ่มที่เกาะสีชังในช่วงปี 2546 ด้วยพื้นที่เกาะมีปัญหาขาดแคลนน้ำจืด การขนส่งจากแผ่นดินใหญ่เข้ามามีต้นทุนสูง จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลเดนมาร์ก โดยยูนิเวอร์แซลฯ สนับสนุนด้านเทคโนโลยี

ระบบอาร์โอเป็นการใช้แรงดันสูงกว่าแรงดันตามธรรมชาติ นำน้ำทะเลซึ่งเป็นสารละลายที่มีความเข้มข้นสูงผ่านเยื่อกรองเมมเบรนที่มีความละเอียดถึง 0.0001 ไมครอน ทำให้สารละลาย สิ่งปนเปื้อน รวมทั้งเชื้อโรคต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูพรุนของเยื่อกรองเมมเบรนไม่สามารถแทรกตัวเล็ดลอดผ่าน มีเพียงโมเลกุลของน้ำจืดบริสุทธิ์เท่านั้นที่ไหลผ่านได้

น้ำทะเลที่สูบขึ้นมาจากทะเล 1,000 ลิตร เมื่อผ่านการกรองแล้วจะได้น้ำจืดประมาณ 400 ลิตร ส่วนอีก 600 ลิตร จะเป็นน้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือมากกว่าปกติเกือบ 2 เท่า ซึ่งจะทิ้งลงทะเลไป

เชิดชาย กล่าวว่า ปัจจุบันได้ขายกิจการประปาจากน้ำทะเลให้แก่เทศบาลตำบลเกาะสีชังแล้ว แต่บริษัทก็ยังมีกิจการในลักษณะเดียวกันนี้ที่เกาะสมุย กำลังการผลิตสูงสุดวันละ 3,000 ลูกบาศก์เมตร และเกาะล้าน กำลังการผลิตสูงสุด 300 ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่มีปัญหาคุณภาพของน้ำดิบผิวดินไม่เหมาะใช้ประโยชน์ ยูนิเวอร์แซลฯ ก็มีเทคโนโลยีโอโซน (O3) ซึ่งจะเปลี่ยนเหล็กและแมงกานีสที่เจือปนในน้ำดิบให้เป็นตะกอนที่ไม่ละลายน้ำ จากนั้นส่งไปกำจัดภายในถังตกตะกอนของระบบผลิตน้ำประปา ผลที่ได้คือน้ำดิบมีคุณภาพสูงขึ้น สามารถลดการใช้สารเคมีลงได้

ห่างไกลไม่ห่างน้ำ

เมื่อแหล่งน้ำขนาดใหญ่ค่อยๆ หมดลง เชิดชาย กล่าวว่า หลายพื้นที่ยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป แต่ไม่สามารถตั้งเป็นโรงผลิตขนาดใหญ่ด้วยงบลงทุนที่สูงมาก ต้องมีผู้ดูแลระบบและบำรุงรักษา ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่แหล่งน้ำขนาดเล็กจะหมดลง

“ระบบผลิตน้ำประปาขนาดเล็ก” ทั้งแบบติดตั้งถาวรและแบบเคลื่อนย้าย ด้วยเทคโนโลยีอัลตรา ฟิวเตรชั่น (Ultra-Filtration: UF) จึงเข้ามาตอบโจทย์ทั้งต้นทุนไม่สูง ติดตั้งง่าย ได้น้ำสะอาดโดยสามารถรับน้ำดิบจากท่อน้ำดิบ หรือดูดน้ำจากสระน้ำดิบ กำลังการผลิต 50 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

“ปัจจุบัน เรากำลังติดตั้งที่ อ.บ่อวิน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากนิคมอุตสาหกรรมเดียวเพิ่มเป็น 4 แห่ง ความต้องการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้น ระบบผลิตน้ำประปาเคลื่อนที่จึงเข้ามาตอบโจทย์ โดยมีกำลังการผลิต 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงและกำลังจะมีอีกแห่งที่สัตหีบ”

ภัยแล้งที่กำลังเป็นปัญหา เชิดชาย กล่าวว่า จำเป็นต้องมีแผนการรับมือหรือแผนสำรองที่ชัดเจน ต้องประมาณการการใช้น้ำกับแหล่งน้ำที่มี เพื่อเตรียมสำรองน้ำในปริมาณที่เพียงพอ และเตรียมน้ำสำรองจากแหล่งน้ำอื่น เตรียมพื้นที่เก็บน้ำสำรองและเทคโนโลยีการผลิตที่จะมาสนับสนุน

“เรามองในเรื่องการสร้างความมั่นคงของแหล่งน้ำเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับหลายๆ หน่วยงาน อาทิ การประปานครหลวง เมืองพัทยา บมจ.จีพีเอสซีในเครือ ปตท. เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ การลดปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ทะเล ตลอดจนใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก็เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ภัยแล้งในอนาคต และเพื่อขยายระบบประปาให้รองรับกับความต้องการใช้น้ำของประชาชน ลดจำนวนครัวเรือนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ให้มากที่สุด" เชิดชายกล่าว

จาก http://eureka.bangkokbiznews.com   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ม.มหาสารคาม พัฒนารถตัดอ้อยลำขนาดเล็ก แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ผศ.ดร.ทนงศักดิ์ มูลตรี คณะเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการวิจัย การพัฒนารถตัดอ้อยลำขนาดเล็ก เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการว่า  โครงการวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ฝ่ายอุตสาหกรรม และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ประจำปีงบประมาณ 2558  สำหรับผลงานรถตัดอ้อยลำขนาดเล็กมีความโดดเด่นคือ ลดการสูญเสียน้ำหนักอ้อยได้ 10-15 % อีกทั้งทำให้พื้นที่แปลงอ้อยไม่เสียหาย  ตัดได้ทุกสภาพพื้นที่แปลงอ้อย  สามารถตัดอ้อยได้ประมาณ 65.62 ตันต่อวัน อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ที่ 13.18 ลิตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็วในการตัดอ้อย 0.30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เป็นแบบตัดอ้อยทั้งลำ ระบบรถตัดอ้อยประกอบไปด้วยระบบใบมีดตัดยอดอ้อย ใบมีดตัดโคนอ้อย ระบบส่วนใหญ่ทำงานด้วยไฮดรอลิกส์ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความสะดวกรวดเร็วขณะนี้รถต้นแบบสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการทดลองการใช้งาน

จาก http://www.khaosod.co.th    วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เพิ่มกำลังซื้อชาวไร่อ้อย1.6หมื่นล้าน 

 อุตฯ ชง ครม.อนุมัติแนวทางเพิ่มเงินค่าอ้อยขั้นต้นอีก 160 บาท/ตัน ช่วยเหลือชาวไร่หลังต้นทุนเพิ่ม

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ นาง อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางการเพิ่มเงินช่วยเหลือราคาอ้อยขั้นต้นเพิ่มเติมให้กับชาวไร่อ้อย ฤดูการผลิตปี 2558/2559 อีก 160 บาท/ตัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตอ้อยเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นเป็น 2 ราคา คือ อัตรา 773 บาท/ตันอ้อย สำหรับพื้นที่เขต 5 จ.สุพรรณบุรี และอัตรา 808 บาท/ตันอ้อย สำหรับอีก 8 เขตที่เหลือ

          สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าอ้อยขั้นต้นเพิ่มเติม กระทรวงจะเสนอให้ ครม.อนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.6 หมื่นล้านบาท มาจ่ายค่าอ้อยดังกล่าว และก่อนหน้านี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้เห็นชอบหลักการที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจ่ายเพิ่มค่าอ้อยแล้ว

          "รายได้หลักที่กองทุนจะนำมาชำระหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส.ยังคงมาจากเงินเพิ่มราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาท/กิโลกรัม ที่คิดเป็นรายได้เฉลี่ย 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี และยังกำหนดให้หักรายได้จากราคา

          อ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาท/ตัน มาชำระหนี้ด้วย เพราะมีแนวโน้มว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2558/2559 จะสูงกว่าขั้นต้นค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้หากพิจารณาหนี้เดิมที่กองทุนกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. 1 หมื่นล้านบาท และหนี้เงินกู้ใหม่อีก 1.6 หมื่นล้านบาท คาดว่ากองทุนจะจ่ายหนี้ทั้ง 2.6 หมื่นล้านบาท คืนให้ ธ.ก.ส.ได้หมดภายใน 28 เดือน" แหล่งข่าวเปิดเผย

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 2558-10 มี.ค. 2559 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 85.6 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลได้ 8.5 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 92 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลทรายได้ 9.5 ล้านตัน จึงคาดว่าเมื่อปิดหีบอ้อยในช่วงปลายเดือน มี.ค.-ต้นเดือน เม.ย. จะมีอ้อยเข้าหีบไม่ถึง 100 ล้านตัน

          นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า จากปริมาณผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายที่ลดลงทั่วโลกเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายสูงขึ้นเล็กน้อย และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นสัญญาณราคาที่ปรับขึ้นต่อเนื่องจาก 12 เซนต์/ปอนด์ เป็น 14.26 เซนต์/ปอนด์ และอีก 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15.4 เซนต์/ปอนด์ สูงกว่าปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10-11 เซนต์/ปอนด์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

KTISห่วงภัยแล้งกระทบการปลูกอ้อย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี กรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า ในปี 2559 นี้ได้มีการปิดหีบผลิตน้ำตาลก่อนปีที่ผ่านๆ มา คือในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากเดิมที่ปิดประมาณปลายเดือนเมษายน เนื่องจากมีการผลิตน้ำตาลน้อยลง จากการปลูกอ้อยของเกษตรกรที่ลดน้อยลงจากปีก่อนๆ แต่ขณะนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 14.26 เซนต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สาเหตุเกิดจากราคาน้ำมันโลกเริ่มดีดตัวขึ้น ส่งผลทำให้มีความต้องการใช้น้ำตาลเพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น

ทั้งนี้ปัจจัยหลักของราคาน้ำตาลอยู่ที่นโยบายน้ำตาลของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก เช่น ราคาน้ำมันดิบสูง ก็ไปเอาน้ำตาลมาผลิตเป็นเอทานอล จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินธุรกิจในปี 2558 บริษัทมีกำไรสุทธิ 800 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ถึง 50% สาเหตุมาจากปลายไตรมาส 3 ราคาน้ำตาลลดลง จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนของรายได้ลดลง ส่วนในปี 2559 นี้ประเมินว่าราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวขึ้น จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลกลับสู่ภาวะปกติ ประกอบกับปริมาณและคุณภาพอ้อยที่เพียงพอ จะสามารถทำให้รายได้เติบโตกว่าปี 2558

“บริษัทมีความกังวลปัญหาภัยแล้งมาก เพราะส่งผลโดยตรงต่อการปลูกอ้อยของเกษตรกร จากที่คาดการณ์ผลิตอ้อยของเกษตรกรจะส่งให้กับบริษัทได้ประมาณ 112-115 ล้านตัน แต่ในเวลานี้อยู่ที่ประมาณ 85 ล้านตัน หลังปิดหีบแล้วก็คาดว่าจะไม่ถึง 100 ล้านตัน ซึ่งภาครัฐได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งบ้างแล้ว เช่น การขุดบ่อน้ำจากใต้ดิน และเชื่อว่าภาครัฐจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาช่วยเหลือมากขึ้น” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ส่วนโครงสร้างรายได้ของบริษัท เป็นรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 75-80% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 20-25% แต่เนื่องจากความแน่นอนของราคาน้ำมันยังไม่ชัดเจน ต้องอาศัยภาวะตลาดโลก ดังนั้นบริษัทจะเริ่มพัฒนาศักยภาพด้านชีวพลังงานมากขึ้น และในอนาคตสัดส่วนรายได้จะมาอยู่ที่ 50-50 นอกจากนี้ ในปี 2559 บริษัทจะมีการพิจารณาออกหุ้นกู้ แต่ยังอยู่ในช่วงศึกษา ทั้งนี้บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2559 จะเติบโตกว่าปี 2558 โดยจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ถ้วยชามจากเยื่อน้ำตาล ซึ่งจะออกมาในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมอุตุฯเตือนพายุฤดูร้อนถล่มภาคกลาง-ตะวันออกพิษแล้ง'ไร่อ้อย'สูญหมื่นล. 

          กรมอุตุฯเตือนภาคกลาง-ตะวันออกระวังพายุฤดูร้อนกระหน่ำ 14-15 มี.ค. ชี้ปีนี้ร้อนจัดถึง 44 องศา 'ภัยแล้ง'ลามไร่อ้อยปริมาณลดวูบ สูญรายได้หมื่นล้าน

          ปลัดมท.แนะจว.สู้ภัยแล้ง

          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และผู้ตรวจราชการทุกกรม ระบุแนวทางการวางมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.ให้เร่งจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอโดยเร็ว และแจ้งให้ส่วนราชการต่างๆ มาประชุมแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ควรจัดประชุมคณะกรรมการจังหวัด อำเภอเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์

          2.ข้อมูลสำคัญที่จังหวัด อำเภอ ต้องรวบรวมเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนคือ สำรวจปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จริงในพื้นที่ แยกเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ปริมาณน้ำเหล่านั้นสามารถใช้ในพื้นที่ได้นานเท่าใด หากไม่มีฝนตกลงมาจนถึงเดือนมิถุนายนมีแนวทางป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอย่างไร 3.จัดลำดับความสำคัญของการช่วย โดยคำนึงถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก น้ำเพื่อการเกษตรและน้ำเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับรองลงไป 4.กรณีจำเป็นต้องมีการนำน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน ควรมีการกำหนดจุดแจกจ่าย โดยให้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ช่วยดำเนินการให้ทั่วถึงโดยเร็ว อย่าให้ ซ้ำซ้อนกัน

          รายงานการแก้ไขทุกระยะ

          นายกฤษฎาระบุต่อว่า 5.ข้อแนะนำในการช่วยเหลือประชาชนที่ควรปรับใช้ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ อาทิ ประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กรมชลประทานและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อขอทราบข้อมูลปริมาณน้ำใต้ดินในพื้นที่ว่ามีพื้นที่บริเวณใดที่สามารถขุดเจาะบ่อบาดาลได้บ้าง ประสานงานกับหน่วยงานการประปาส่วนภูมิภาคในจังหวัด อำเภอหรือประปาหมู่บ้าน ชุมชน และการประปาของเอกชน เพื่อแจ้งให้เริ่มใช้มาตรการประหยัดน้ำอย่างจริงจังในการให้บริการประชาชน

          6.การประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกระทรวงการคลัง นั้น ให้แยกพื้นที่เป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอที่ประสบภัยแล้งให้ชัดเจน อย่าให้เกิดช่องทางการหาประโยชน์ในทางทุจริต 7.ขอให้จังหวัด อำเภอ รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและวิธีการบริหารจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหา มายังกระทรวงมหาดไทยทราบทุกระยะ

          ตรวจสินค้าเกษตรจ่อแพง

          ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะสำรวจตลาดพืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ ภายในโครงการจริงใจ มาร์เก็ต หรือตลาดสดเจเจ อ.เมืองเชียงใหม่ โดยให้สัมภาษณ์ว่านายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกกระทรวงทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยในวันที่ 14 มีนาคมนี้จะเข้าหารือผู้ว่าฯเชียงใหม่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางรับมือ รวมถึงปัญหาราคาพืชผลต่างๆ ที่มีแนวโน้มแพงขึ้นในช่วงหน้าแล้ง จึงมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดช่วยดูแลระดับราคา ทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัดและภาคส่วนอื่นๆ

          "ต้องดูว่าระดับราคาสินค้าบางอย่างแกว่งไกวมาก จะต้องประกาศเป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ราคาสินค้าอยู่ระหว่างสำรวจเพื่อประมวลดู ยังไม่ขยับมาก มีบางพื้นที่มีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ" นายสุวิทย์กล่าว

          ภัยแล้งไร่อ้อยสูญหมื่นล้าน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขอความเห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ฤดูการผลิตปี 2558/59 อีกตันละ 160 บาท จากราคาที่กำหนดไว้เป็นรายเขต 2 ราคาคือ 773 บาท และ 808 บาทต่อตัน โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ในการเพิ่มค่าอ้อยเพื่อช่วยเหลือให้ชาวไร่ เนื่องจากต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นมาก ประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2558-เมษายน 2559 น่าจะมีปริมาณลดลง

          "เบื้องต้นคาดว่าผลผลิตอ้อยรวมจะอยู่ที่ 100 ล้านตันอ้อย น้อยกว่าช่วงปลายปีที่ประเมินว่าอ้อยที่ได้ทั้งหมดจะอยู่ที่ 109 ล้านตัน ปริมาณอ้อยดังกล่าวจะผลิตน้ำตาลทรายปีนี้อยู่ที่ 10.1-10.2 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 11.1 ล้านตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ลดลงหมื่นล้านบาท" แหล่งข่าวกล่าว

          นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตอ้อยทั้งปีนี้จะไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย จากก่อนหน้าหลายฝ่ายคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตอ้อยน่าจะอยู่ที่ 112-115 ล้านตันอ้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้อ้อยโตไม่เต็มที่

          เตือน14-15มี.ค.พายุฤดูร้อน

          นายวันไชย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงกำลังแรงที่ยังคงแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทะเลจีนใต้ ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ จากนั้นพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นจะเคลื่อนเข้ามามีผลต่อเนื่องในภาคตะวันออกและเข้าสู่ภาคกลางในช่วง 1-2 วันต่อจากนี้ คือ 14-15 มีนาคม ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังลมกระโชกแรงในพื้นใกล้ต้นไม้ใหญ่ หรือแผ่นป้ายโฆษณา รวมถึงระมัดระวังฟ้าผ่าในพื้นที่ที่มีฝนฟ้าคะนอง

          เผยปีนี้จะร้อนถึง44องศา

          นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนสภาพอากาศที่กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัวของประเทศไทย ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศ ล่าสุด กรม อุตุฯประเมินว่าอุณหภูมิสูงสุดในปี 2559 จะอยู่ใกล้เคียงกับปี 2558 คือ 43-44 องศาเซลเซียส ซึ่งเวลาที่มีอุณหภูมิสูงสุดหรือวันที่ร้อนสุดของปี จะมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตั้งฉาก อาทิ ในพื้นที่ภาคใต้วันที่ 13 เมษายน ขณะที่กรุงเทพฯและภาคกลางวันที่ 27 เมษายน และภาคเหนือในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้น ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมปรับร่างกายจากช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนจัด อาทิ ระวังการออกพื้นที่โล่งแจ้ง และหมั่นดื่มน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ร่างกาย

          เมืองโคราชประปาเริ่มขาด

          ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้แหล่งกักเก็บน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขานครราชสีมา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เหลือปริมาณน้ำเพียง 300,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ประชาชนกว่า 27,000 ครัวเรือน ในพื้นที่ 18 ตำบลของ อ.เฉลิมพระเกียรติ และบางส่วนของ อ.เมืองนครราชสีมา กำลังประสบกับขาดแคลนน้ำดิบผลิตน้ำประปา และเหลือน้ำใช้อีกไม่ถึง 1 เดือน

          ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา พบว่าหลายหมู่บ้านน้ำประปาไหลเริ่มอ่อน และบางหมู่บ้านน้ำประปาไม่ไหลแล้ว ต้องนำรถบรรทุกถังน้ำออกไปขอน้ำจากที่อื่นมาใช้ในครัวเรือน และต้องซื้อน้ำมาใช้เอง

          นางพิน คงหมื่นไวย ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านโนนตาสุข ต.หมื่นไวย อ.เมือง กล่าวว่า ที่หมู่บ้านน้ำไม่ไหลมานานเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ต้องนำรถกระบะบรรทุกถังน้ำจำนวน 1,000 ลิตร ไปขอน้ำจากทางเทศบาลนครนครราชสีมาที่อยู่ในเมือง โดยต้องนำถังน้ำไปขอน้ำวันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น

          กปภ.เร่งสูบน้ำมูลเติมบ่อน้ำดิบ

          นายนพดล พุ่มกันภัย ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขานครราชสีมา กล่าวว่า ได้ประสานขอเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่องจากกรมชลประทาน เพื่อสูบน้ำจากลำน้ำมูลที่อยู่ห่างออกไปมาเติมในบ่อกักเก็บน้ำดิบ และเร็วๆ นี้จะนำรถแบ๊กโฮไปขุดลอกลำน้ำมูล เพื่อให้สูบน้ำได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังปรับลดอัตราการแจกจ่ายน้ำในช่วงกลางคืน คาดว่าจะสามารถช่วยยืดระยะเวลาให้ประชาชนมีน้ำใช้ได้จนถึงช่วงฤดูฝนนี้

          ชัยนาทแห่ซื้อถังเพิ่ม2เท่า

          ภาวะภัยแล้งที่กำลังสร้างความเดือดร้อนใน 8 อำเภอของจ.ชัยนาท ส่งผลให้ประชาชนในหลายชุมชนเริ่มออกมาซื้อถังน้ำพลาสติกเพื่อใช้กักเก็บน้ำ ทำให้ร้านขายถังน้ำพลาสติกมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า โดยนายโสภณ พรเจริญ เจ้าของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา มีประชาชนมาซื้อถังน้ำเฉลี่ยวันละ 5-6 ใบ โดยถังขนาด 1,000 ลิตรจะขายดีที่สุด โดยลูกค้าบอกว่าเริ่มกังวลจะเกิดวิกฤตน้ำประปา เพราะในหลายชุมชนน้ำเริ่มไหลน้อยหรือหยุดไหลในเวลาเร่งด่วน จำเป็นต่องหาภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ ขณะที่ราคาสินค้าถังน้ำมีแนวโน้มว่าจะปรับราคาขึ้นไปถึง 3,300-3,500 บาทต่อใบ จากปัจจุบันขนาด 1,000 ลิตรทางร้านจำหน่ายใบละ 3,000 บาท ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนคาดว่าความต้องการใช้ถังน้ำจะมีมากขึ้น

          แมลง-หนอนโจมตีสวนมะพร้าว

          นายมงคล จอมพันธ์ เกษตรจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เกิดการระบาดของแมลงหัวดำในสวนมะพร้าวประมาณ 60,000 ไร่จากพื้นที่ปลูก 150,000 ไร่ ซึ่งมากที่สุดในประเทศ นอกจากนั้นภัยแล้งยังมีผลกระทบกับการใช้เชื้อบีทีกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ประกอบกับต้นมะพร้าวในพื้นที่มีความสูงและอายุมากกว่า 80 ปี เกษตรกรไม่สามารถตัดทางใบมาเผาได้ แม้มะพร้าวจะมีราคาสูงผลละ 25 บาท แต่เกษตรกรในพื้นที่ไม่มีผลผลิตเพื่อจำหน่าย

          จัด'ธงฟ้า'บึงกาฬบรรเทาภัยแล้ง

          วันเดียวกัน น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกันจัดโครงการธงฟ้าเพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่บ้าน อู่คำ หมู่ 7 ต.ศรีวิไล อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ โดยนำเอาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 30-50 โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจะออกจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้ง 4 อำเภอคือ อ.เซกา บึงโขงหลง โซ่พิสัย และพรเจริญ ภายในวันที่ 18 มีนาคมนี้

          ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาจำหน่าย แบ่งเป็นสินค้าจำเป็น 4 รายการ คือ ข้าวสาร (หอมมะลิ) ขนาด 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 120 น้ำมันพืช (1 ลิตร) ขวดละ 30 บาท น้ำตาลทราย (ถุงละ 1 กิโลกรัม) ถุงละ 15 บาท และไข่ไก่ราคาแผงละ 70 ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค อีก 8 รายการ คือ ยาสระผม สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ปลา กระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำปลา จำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 30-50

          กรอ.อุดรฯเปลี่ยนงบถนนเป็นน้ำ

          นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) อุดรธานี พิจารณาโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเสนอที่ประชุม กรอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่ 1 โอกาสที่นายกฯจะมาเป็นประธานการประชุมวันที่ 18 มีนาคมนี้ ที่ มรภ.อุดรธานี โดยเห็นว่าอุดรธานีต้องพัฒนาถนนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วปานกลาง แต่ กรอ.กลางขอให้นำไปเสนอ กรอ.คมนาคม ประกอบด้วย 1.ขยายช่องจราจร จาก 4 ช่องทาง เป็น 6 ช่องทาง ทางหลวง 216 (วงแหวนรอบแรกแยกฮอนด้า-แยกหมอไพโรจน์) 400 ล้านบาท 2.ขยายช่องจราจร ทางหลวง 2410 (แยกสามพร้าว-ดอนกลอย) 400 ล้านบาท 3.ศึกษาและออกแบบวงแหวนรอบที่สอง 40 ล้านบาท 4.ศึกษาออกแบบระบบจราจรขนส่งสาธารณะอุดรธานี รองรับประชาคมอาเซียน 30 ล้านบาท

          นายสวาทกล่าวว่า ต่อมา กรอ.อุดรธานี จึงเปลี่ยนจากถนนเป็นน้ำ 3 โครงการ คือโครงการแก้มลิงลุ่มน้ำห้วยหลวง เพิ่มความจุหนองสำโรงจาก 4.2 ล้าน ลบ.ม.เป็น 9 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสำรองน้ำดิบผลิตน้ำประปา 50 ล้านบาท โครงการแก้มลิงอเนกประสงค์ลุ่มน้ำปาวหนองหมัด อ.กุมภวาปี ให้เก็บน้ำได้ 2.4 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเกษตรกรรม 2,000 ไร่ และน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 7 หมู่บ้าน 44.80 ล้านบาท และโครงการศึกษาออกแบบพัฒนาแหล่งน้ำ โดยสร้างสถานีสูบน้ำ 3 สถานี เพื่อสูบน้ำจากหนองหานกุมภวาปี มายังหนอง นาตาล ต.โนนสูง อ.เมือง และสูบต่อไปยังอ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อ ต.นาดี อ.เมือง อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ต.โคกสะอาด อ.เมือง ระหว่างทางสามารถเติมน้ำลงในหนองนาตาล หนองหมากเห็บ อ่างกุดลิงง้อ อ่างโสกน้ำขาว และอ่างลำป่าค้าว เก็บกักน้ำได้ 147.179 ล้าน ลบ.ม.ทุกปี กับเพิ่มความจุอ่างฯห้วยหลวง จาก 135 ล้าน ลบ.ม.เป็น 161 ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 30 ล้านบาท

          ทหารขนน้ำแจกชาวบ้านโคกโพธิ์

          จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่หมู่ 3 หมู่ 5 บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ชาวบ้านกว่า 150 หลังคาเรือน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนักในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนชาวบ้านต้องร้องขอ อบต.ควนโนรี ให้จัดรถบรรทุกน้ำที่มีอยู่เพียง 1 คัน นำน้ำมาแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านแต่ก็ไม่เพียงพอและทั่วถึงได้ทุกหมู่บ้าน ล่าสุดความเดือดร้อนจากภัยแล้ง พล.ต.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพลทหารราบที่ 15 (ศบภ.พล.ร.15) ได้ลงพื้นที่พร้อมนำรถบรรทุกน้ำสะอาดเต็มคันรถ จำนวน 3 คัน และสิ่งของช่วยเหลือเบื้องต้น ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ชาวบ้านต่างแสดงความดีใจได้นำน้ำสะอาดพร้อมถังกักเก็บน้ำขนาดใหญ่นำน้ำไปถ่ายกักเก็บไว้ตามมัสยิด เป็นการช่วยเหลือในขั้นต้นของชุมชน ให้มีน้ำสะอาดไว้ชำระทำความสะอาด ตามหลักศาสนาอิสลามก่อนเข้าทำพิธีละหมาด เพราะหากขาดน้ำมาชำระทำความสะอาดส่วนต่างๆ จะไม่สามารถประกอบศาสนากิจได้ จึงถือเป็นการปฏิบัติที่มีความสำคัญยิ่งตามหลักศาสนา นอกจากนี้ยังได้นำน้ำสะอาดแยกออกไปแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านตามจุดต่างๆ แต่ก็ยังไม่พอต่อจำนวนชาวบ้านแต่ละครัวเรือน โดยได้สำรวจความต้องการใช้น้ำ เพื่อเตรียมรายงานข้อมูลเข้าที่ประชุมทั้งในส่วนของฝ่ายทหาร อำเภอ และจังหวัด ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง โดยยังให้ใช้รถบรรทุกน้ำของ อบต.ควนโนรี ร่วมกับ ศบภ.พล.ร.15 ขนน้ำแจกจ่ายชาวบ้านให้ทั่วถึง จากข้อมูลรายงานความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว จากที่แจ้งขาดแคลนน้ำสะอาดใช้จำนวน 150 ครัวเรือนได้เพิ่มเป็น 1,200 ครัวเรือนแล้ว

          นายอาณา แปะอิง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านส้ม กล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณที่ทหารนำน้ำเข้ามาช่วยเหลือ เพราะจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านใน 2 หมู่ กว่า 1,200 ครัวเรือนเดือดร้อนหนัก ไม่มีน้ำดื่มกิน จากเมื่อก่อนจะใช้น้ำบ่อกินและใช้ทำทุกอย่าง แต่วันนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะต้องหาซื้อน้ำมาไว้กิน แต่เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่จะมีเงินมากพอจะซื้อน้ำมาใช้ได้มากนัก

          นางรอปีอ๊ะ สาแม ชาวบ้าน กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยแล้งขาดน้ำใช้ยิ่งสร้างความเดือดร้อนหนักมากขึ้น แต่สิ่งดีๆ อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในยามเกิดความเดือดร้อน เพราะในตำบลมีชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม 2 หมู่บ้าน เป็นคนนับถือไทยพุทธ 4 หมู่บ้าน แต่พอทางชุมชนไทยพุทธทราบข่าวว่าชุมชนชาวอิสลามขาดแคลนน้ำ เรากลับได้รับคำเชื้อเชิญให้ไปอาบน้ำ ให้เอาเสื้อผ้าไปซักที่บ้านของเขา และยังแบ่งบันน้ำจากในชุมชนไทยพุทธให้กลับเอามาใช้ที่บ้าน ตรงนี้ทำให้รู้สึกซึ้งใจ เพราะในยามลำบากเราต่างก็ยื่นมิตรไมตรีให้แก่กัน รู้สึกภูมิใจที่ชุมชนชาวไทยพุทธยังคงมองเห็นความสำคัญ เหมือนเมื่อในอดีตที่มีแต่ความสงบสุข ทุกศาสนาต่างก็ออกมาช่วยเหลือสานสัมพันธ์กันและกัน

          พล.ต.พรศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ทราบว่าภัยแล้งเริ่มกระจายสร้างความเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้เพียงพอขยายวงกว้างมากขึ้น โดยแนวทางของกองทัพบกเน้นย้ำให้ทหารจัดศูนย์เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที โดยได้วางแผนตามความเร่งด่วนของการใช้น้ำ โดยได้นำน้ำ

          สะอาดมากักเก็บไว้ตามมัสยิด เพื่อให้ชาวบ้านเองได้สามารถประกอบศาสนกิจได้ ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามถือว่าการชำระร่างกายให้สะอาดก่อนทำพิธีละหมาดถือเป็นสิ่งต้องปฏิบัติที่มีความสำคัญยิ่ง ส่วนชาวบ้านก็ให้นำรถบรรทุกน้ำทยอยนำน้ำเข้าแจกจ่ายช่วยเหลือไปก่อนที่หน่วยต่างๆ จะเข้ามาให้การช่วยเหลือเพิ่ม

          ช่วยชาวบ้าน - พล.ต.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพลทหารราบที่ 15 นำรถบรรทุกน้ำ 3 คัน และสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้านจากสถานการณ์ภัยแล้ง ในพื้นที่ หมู่ 3 หมู่ 5 บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559   

จ่อชง"ครม."กู้ธ.ก.ส.เพิ่มค่าอ้อย1.6หมื่นล้าน 

กระทรวงอุตสาหกรรมจ่อชง "ครม." ภายในมี.ค.นี้ช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยอีกตันละ 160บาทด้วยการกู้ ธ.ก.ส.วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางรายได้ชำระหนี้จากเงิน 5 บาทต่อกก.และค่าอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาทต่อตันที่แนวโน้มสูงในการหักจ่ายได้หลังราคาน้ำตาลโลกเริ่มขยับ

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนมี.ค.นี้เพื่อเห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ฤดูการผลิตปี 2558/59 อีกตันละ 160บาทจากราคาประกาศที่กำหนดไว้เป็นรายเขต 2 ราคาคือ 773และ 808 บาทต่อตัน โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

          "แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)ที่เห็นชอบในหลักการที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในการเพิ่มค่าอ้อยเพื่อช่วยเหลือให้ชาวไร่หลังจากที่ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นมาก ซึ่งขั้นตอนขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)จะได้ทำเรื่องเพื่อเสนอ ครม.เร็วๆนี้" แหล่งข่าวกล่าว

          สำหรับรายได้หลักในการชำระหนี้ของกท.จะมาจากการปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท และการกำหนดหักรายได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาทต่อตันมาชำระหนี้ด้วยซึ่งหากพิจารณาจากหนี้กท.เดิมที่กู้ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อกู้มาใหม่อีก 1.6 หมื่นล้านบาทรวมเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท การชำระหนี้ด้วยรายได้ ดังกล่าวรวมดอกเบี้ยคาดว่าจะต้องใช้เวลาชำระหนี้รวม 28 เดือน

          ปัจจุบันแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเริ่มขยับสูงขึ้นโดยราคาส่งมอบเดือน พ.ค.มีความเคลื่อนไหวในระดับสูงสุดที่ 14.94 เซนต์ต่อปอนด์ดังนั้นการจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกจะทำให้ได้ราคาเฉลียที่ดีขึ้น ดังนั้น แนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 58/59 จะสูงกว่าขั้นต้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เหลือเงินเพียงพอที่จะหักนำไปชำระหนี้คืน ธ.ก.ส.ตามแผนที่วางไว้และเหลือคืนให้กับชาวไร่ส่วนหนึ่ง.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รายงานพิเศษ : ปัดฝุ่น‘โขง เลย ชี มูล’แก้ปัญหาน้ำอีสานอีสาน

ภายหลังจากกรมชลประทาน ได้ศึกษาเพิ่มเติมความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนา โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ต่อจากโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ได้ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ประกอบกับภัยแล้งคุกคามประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลายพื้นที่ต้องงดการปลูกพืชฤดูแล้ง “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูลโดยแรงโน้มถ่วง” จึงถูกหยิบขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เหมาะสมในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่น้อยมาก ส่งผลให้ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำซ้ำซาก ทั้งๆที่ปริมาณฝนตกเฉลี่ยแต่ละปีไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ ทำให้พื้นที่การเกษตรในภาคอีสานซึ่งมีมากที่สุดถึง 62.15 ล้านไร่ แต่กลับเป็นภาคที่มีพื้นที่ชลประทานน้อยที่สุดเพียง 7.07 ล้านไร่ จึงไม่แปลกที่ภาคอีสาน จะมีความมั่นคงในเรื่องน้ำค่อนข้างต่ำ กระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ประชากรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าภูมิภาคอื่น

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ยังได้สรุปวิกฤติทรัพยากรน้ำของประเทศไทยว่า หากไม่มีการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะขาดแคลนน้ำ 15,833 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี

โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำในภาคอีสานได้หรือ?

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการเปิดเผยว่า จากการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า “โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง” มีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อย มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ต้องได้รับข้อตกลงและความร่วมมือจากประเทศภาคีลุ่มแม่น้ำโขงก่อน เพราะเป็นแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งตามข้อตกลงนั้นจะสามารถนำน้ำมาใช้ได้ต่อเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีความสูงไม่น้อยกว่า 190 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นการใช้หลักทางวิศวกรรมที่จะนำน้ำที่มากมายมหาศาลจากแม่น้ำโขงเฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านลบ.ม. บวกกับสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมในการส่งน้ำด้วยแรงโน้มถ่วงบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ผ่านอุโมงค์ผันน้ำ ซึ่งศึกษาไว้ 2 เส้นทางคือ เส้นทางแรกผันน้ำจากเลยไปหนองบัวลำภู โดยใช้อุโมงค์ผันน้ำยาว 54 กิโลเมตร ซึ่งสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานตอนบน และเส้นทางที่ 2 ผันจากเลยมายังพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล โดยใช้อุโมงค์ผันน้ำความยาว 85 กิโลเมตร ซึ่งสามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานได้มากกว่าเส้นทางแรก

โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จะสามารถส่งน้ำกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานโดยระบบแรงโน้มถ่วง 20.46 ล้านไร่ และด้วยระบบสูบน้ำอีก 10.18 ล้านไร่ รวมจะทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นกว่า 30.64 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ 1.04 เท่าของพื้นที่ชลประทานในปัจจุบัน

งบประมาณทั้งโครงการมหาศาล หากดำเนินการ ณ วันนี้ จะใช้งบประมาณถึง 2.77 ล้านล้านบาท !!

ดังนั้นการดำเนินการทั้งโครงการคงเป็นไปได้ยาก กรมชลประทานจึงแบ่งดำเนินงานเป็นระยะ เท่าที่งบประมาณจะสามารถจัดหาได้ในแต่ละปี ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็ดีกว่าไม่ดำเนินการใดๆ เลย

สำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการโดยตรงคือ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 30.64 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์ถึง 1.72 ล้านครัวเรือน หรือ 7.05 ล้านคน ในพื้นที่ 272 อำเภอ 19 จังหวัด ทำให้ภาคเกษตรเพิ่มรายได้เป็นประมาณ 199,000 บาท/ครัวเรือน/ปี จากปัจจุบันที่มีเพียง 67,982 บาท/ครัวเรือน/ปี และส่งผลให้ GRP ของภาคอีสานเพิ่มขึ้นจาก 1.12 ล้านบาทเป็น 1.32 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.83

นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการทำน้ำประปาอย่างพอเพียงตลอดทั้งปี แหล่งน้ำต่างๆ มีน้ำอุดมสมบูรณ์สามารถเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ที่ยากต่อการส่งน้ำไปถึง เป็นแหล่งน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมอาชีพการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในคลองส่งน้ำสายหลักบางสายได้ สามารถพัฒนาภาคอีสานให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำแหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมรองรับ AEC

นอกจากนี้ยังมีผลประโยชน์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ตามมาอีกมากมาย เช่น ช่วยลดการอพยพแรงงานจากภาคการเกษตรไปยังกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นไม่น้อยกว่า 300,000 คน ลดอัตราการว่างงานเหลือร้อยละ 0.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในฤดูแล้งร้อยละ 130 ช่วยรักษาคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ลำน้ำให้มีน้ำตลอดทั้งปี

“หากนำมาคิดเป็นมูลค่า เฉพาะแค่เกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 131,018 บาท/ครัวเรือน/ปี ก็คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนแล้ว เพราะเมื่อนำมาคิดในภาพรวม เกษตรกรจะรายได้เพิ่มขึ้นรวมกันถึงปีละมากกว่า 225,000 ล้านบาท ประมาณไม่เกิน 12 ปี ก็สามารถคืนทุนได้ แต่ถ้านำมูลค่าด้านอื่นๆ ที่จะตามมากมายอย่างที่กล่าวมา มาคิดคำนวณด้วยแล้ว อาจจะไม่ถึง 5 ปีก็จะสามารถคืนทุนได้อย่างแน่นอน”

สำหรับการศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการพัฒนา โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงเพิ่มเติมในครั้งนี้กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2559 โดยศึกษาในประเด็นพฤติกรรมและพลศาสตร์ การไหลของน้ำจากปากแม่น้ำเลยผ่านอุโมงค์ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง ผลกระทบในแม่น้ำโขงจากการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ พร้อมพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการระยะแรก ตลอดจนศึกษาในเรื่องความพร้อมรับการพัฒนา งบประมาณ ความคุ้มค่าในการลงทุน รูปแบบการลงทุนหรือร่วมลงทุน แผนการลงทุน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แนวทางที่มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในระยะแรกคือ เส้นทางที่ 2 ผันน้ำจากเลยมายังพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 1.36 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น และยังสามารถเติมน้ำให้กับเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว ฝายหนองหวาย ฝายสารคาม ฝายท่าตูม ฝายร้อยเอ็ด ฝายยโสธร โดยแรงโน้มถ่วง ตลอดจนส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ 6 จังหวัดคือ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร ได้อย่างพอเพียงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง จะต้องส่งน้ำผ่านอุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 10 เมตร และความยาวกว่า 85 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เงินลงทุนสูง เมื่อสร้างแล้วต้องใช้งานได้จริง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด กรมชลประทานจึงจะลงทุนสร้างอุโมงค์จำลองขึ้นมาให้เหมือนกับของจริง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงาน ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ เมื่อลงทุนจริงจะได้ไม่เกิดปัญหา และสามารถใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรมและเต็มศักยภาพ

ปัญหาน้ำเริ่มรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภัยแล้งปีนี้กระทบไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ถูกนำขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง แต่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม หรือ ถูกเก็บเข้าลิ้นชักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ขันนอตผู้ว่าฯ ย้ำมาตรการแก้ภัยแล้ง เน้นจัดหาน้ำกิน-ใช้ให้ปชช.

 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งข้อความผ่านโปรแกรมไลน์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และผู้ตรวจราชการทุกกรมว่า ตามที่ได้แจ้งแนวทางวางมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ไปแล้วกระทรวงมหาดไทย ขอให้จังหวัดและอำเภอได้ดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้

ปลัดมท.ขันน๊อตผวจ.สู้ภัยแล้ง

1.ให้รีบตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอ แล้วประชุมส่วนราชการในจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยให้มีการประชุมคณะกรรมการจังหวัด อำเภอเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

2.ให้จังหวัด อำเภอ รวบรวมข้อมูลสำคัญคือสำรวจปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จริงในพื้นที่แยกเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร ใช้ได้นานเท่าใด ก่อนแผนงานโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง และถ้าไม่มีฝนตกลงมาจนถึงเดือนมิถุนายน จะมีแนวทางป้องกัน ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาอย่างไร

3.จัดลำดับการช่วยเหลือประชาชนตามความสำคัญของปัญหา โดยเน้นช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก 4.ถ้าจำเป็นต้องนำน้ำไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน ควรกำหนดจุดแจกจ่ายและพื้นที่การให้ความช่วยเหลือ ซึ่งต้องดำเนินการให้ทั่วถึง

นายกฤษฎายังกำชับให้ประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอทราบข้อมูลปริมาณน้ำใต้ดินในพื้นที่ว่าจุดใดขุดเจาะบ่อบาดาลได้บ้าง และให้สำรวจแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อร่วมกันทำฝายสำรองน้ำไว้ใช้

นอกจากนี้ ให้ประสานกับประปาส่วนภูมิภาค และเอกชน แจ้งให้เริ่มใช้มาตรการประหยัดน้ำอย่างจริงจังในการให้บริการประชาชน เช่น เปิดจ่ายน้ำเป็นเวลา ชลอแรงดันการจ่ายน้ำ รวมถึงนำแนวทางบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริมาใช้แก้ปัญหาด้วย ประสานสถาบันการศึกษา กลุ่มประชาสังคมที่มีแนวทางบำบัดน้ำใช้แล้วกลับมาใช้ได้อีก ส่วนการประกาศเขตภัยพิบัติ ให้แยกพื้นที่เป็นรายหมู่บ้าน ตำบล อำเภอที่ประสบภัยแล้งชัดเจน อย่าให้เกิดช่องทางทุจริต

สุรินทร์ประกาศภัยพิบัติ1อำเภอ

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่เข้าขั้นวิกฤติ โดยนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เปิดเผยว่า ชาวบ้านบางพื้นที่ของจังหวัดเริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ขณะนี้ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง)แล้ว 1 อำเภอคือ 4 หมู่บ้านของต.บุแกรง อ.จอมพระ ชาวบ้านเดือดร้อน 578 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างตรวจสอบพื้นที่ประสบภัยแล้งอีก 2 อำเภอคือ อ.ท่าตูม และอ.สำโรงทาบ ส่วนการช่วยเหลือที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 339 เที่ยว ปริมาณน้ำกว่า 2 ล้านลิตร ปัจจุบันได้สูบน้ำไปเก็บกักในแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค โดยมีอำเภอที่มีแหล่งน้ำสำหรับผลิตน้ำประปามีปริมาณน้ำในเกณฑ์น้อย ต้องการให้สูบน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำ 11 อำเภอ โดยล่าสุดสูบน้ำในพื้นที่แล้ว 6 อำเภอ 13 ตำบล 27 แห่ง ปริมาณน้ำที่สูบกว่า 1,600,000 ลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 6,000 ครัวเรือน

พิษแล้งหนี้พุ่งเกษตรกรหนีเจ้าหนี้

นายวรภพ ฉิมพันธุ์ นายก อบต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรีกล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ว่า ขณะนี้มีประชาชนบางพื้นบางส่วนอพยพไปอยู่บ้านญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทที่มีแหล่งน้ำที่ดีกว่า เนื่องจากทนความแล้งไม่ไหว เช่นเดียวกับ หมู่บ้านใกล้เคียงคือเขต ต.สนามคลี อ.เมืองสุพรรณบุรี หลายครัวเรือนย้ายไปอยู่อื่นตั้งแต่ปลายปี 2557 ส่วนหนึ่งนอกจากทนความแห้งแล้งไม่ไหว แล้วอีกส่วนย้ายหนีหนี้ เนื่องจากกู้ยืมเงินมาลงทุนทำนาแล้วหมดตัว เพราะประสบภัยแล้งติดต่อกันมา ขณะที่บางส่วนไปกู้เงินกู้รายวันหรือที่เรียกว่าหมวกกันน็อค แต่ไม่มีเงินส่ง เมื่อถูกทวงถามและกดดันข่มขู่จากพวกหมวกกันน็อค จึงต้องนีไปอยู่ที่อื่น เงินเยียวยาที่ได้จากรัฐบาล 1,113 บาท ไม่พอใช้หนี้ค่าลงทุนทำนา เพราะลงทุนต่อ 1 ไร่ ประมาณ 2-3 พันบาท ทำให้เป็นหนี้ผูกพัน

พลิกวิกฤติหาปลางมหอยขาย

ส่วนที่จ.บุรีรัมย์ ชาวบ้าน และผู้สูงอายุ จากหลายหมู่บ้านในอ.นารองดิ้นรนพลิกวิกฤตหลังการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอนางรองสูบดึงน้ำจากคลองลำน้ำมาศ ไปกักเก็บไว้ในบ่อพักน้ำเพื่อสำรองไว้ผลิตประปาบริการประชาชนในเขตเทศบาลเมืองนางรอง ให้เพียงพอช่วงหน้าแล้ง ส่งผลให้ลำน้ำตื้นเขิน จึงพากันไปจับปลางมหอยนำไปบริโภค และขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวช่วงหน้าแล้ง โดยบางคนสามารถจับปลาและหอยได้วันละ 4-5 กก.นำไปขายมีรายได้วันละ 300-400 บาท 

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรุงไทยเตรียมเงินปล่อยกู้ธุรกิจอ้อย

 ตลาดอ้อยยังสดใส กรุงไทยลุยปล่อยกู้สวนกระแสสินค้าเกษตรฟุบ หลังรัฐบาลอนุมัติโรงงานผลิตน้ำตาลควบโรงไฟฟ้าขนาดกลางเพิ่มอีก 12 แห่ง วิ่งหาธนาคารแล้ว 5 แห่ง

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อกลุ่มสินค้าเกษตรไปที่ธุรกิจอ้อยเป็นหลัก เพราะถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีอนาคตสดใส และยังมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มอยู่

หลังจากภาครัฐได้อนุมัติให้เปิดโรงงานผลิตน้ำตาล ที่ต้องมีโรงผลิตไฟฟ้า ในปีนี้เพิ่มอีก 12 แห่ง ในจำนวนนี้มี 5 แห่ง เข้ามาติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคาร และมี 2 แห่งที่ธนาคารกำลังดำเนินการ โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางในภาคอีสาน กำลังผลิต 30,000 ตันต่อวัน ความต้องการสินเชื่อประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อราย ซึ่งเตรียมเสนอบอร์ดธนาคารพิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า

"ปัจจุบันทั้งระบบมีผู้ประกอบกาโรงงานผลิตน้ำตาล52โรงงาน คิดเป็น23ผู้ประกอบการ ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าของธนาคาร 11ผู้ประกอบการ โดยลูกค้ารายใหญ่ที่ทำสำเร็จ ได้แก่ บมจ. เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์เปอเรชั่น เป็นบริษัทที่มีโรงผลิตน้ำตาล กำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในไทย มี3โรงงานที่นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี"“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที 13 มีนาคม 2559  

ชาวไร่เตรียมลุ้น ก.อุตฯ จ่อชง “ครม.” กู้ ธ.ก.ส.เพิ่มค่าอ้อย 1.6 หมื่นล.  

         กระทรวงอุตสาหกรรม จ่อชง “ครม.” ภายใน มี.ค.นี้ ช่วยเหลือเพิ่มค่าอ้อยอีกตันละ 160 บาท ด้วยการกู้ ธ.ก.ส. วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท เผยแนวทางรายได้ชำระหนี้จากเงิน 5 บาทต่อกก. และค่าอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาทต่อตัน ที่แนวโน้มสูงในการหักจ่ายได้หลังราคาน้ำตาลโลกเริ่มขยับ

                แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยให้แก่ชาวไร่ฤดูกาลผลิตปี 2558/59 อีกตันละ 160 บาท จากราคาประกาศที่กำหนดไว้เป็นรายเขต 2 ราคา คือ 773 และ 808 บาทต่อตัน โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กู้เงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

                “แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่เห็นชอบในหลักการที่จะกู้เงินจา กธ.ก.ส.ในการเพิ่มค่าอ้อยเพื่อช่วยเหลือให้ชาวไร่ หลังจากที่ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้นมาก ซึ่งขั้นตอนขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะได้ทำเรื่องเพื่อเสนอ ครม.เร็วๆ นี้” แหล่งข่าว กล่าว

                สำหรับรายได้หลักในการชำระหนี้ของ กท.จะมาจากการปรับราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) คิดเป็นรายได้เฉลี่ยปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท และการกำหนดหักรายได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายไม่เกิน 25 บาทต่อตัน มาชำระหนี้ด้วย ซึ่งหากพิจารณาจากหนี้ กท.เดิมที่กู้ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ขณะนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เมื่อกู้มาใหม่อีก 1.6 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.6 หมื่นล้านบาท การชำระหนี้ด้วยรายได้ดังกล่าวรวมดอกเบี้ยคาดว่าจะต้องใช้เวลาชำระหนี้รวม 28 เดือน

                ปัจจุบัน แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเริ่มขยับสูงขึ้น โดยราคาส่งมอบเดือน พ.ค.มีความเคลื่อนไหวในระดับสูงสุดที่ 14.94 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้น การจำหน่ายน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกจะทำให้ได้ราคาเฉลียที่ดีขึ้น ดังนั้น แนวโน้มราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 58/59 จะสูงกว่าขั้นต้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เหลือเงินเพียงพอที่จะหักนำไปชำระหนี้คืน ธ.ก.ส.ตามแผนที่วางไว้ และเหลือคืนให้แก่ชาวไร่ส่วนหนึ่ง

จาก http://manager.co.th วันที 13 มีนาคม 2559  

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

“เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของ ECB”

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนใกล้ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า (ซึ่งนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตร 4.8 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิหุ้น 2.4 พันล้านบาท ในสัปดาห์นี้) นอกจากนี้ เงินบาทยังเพิ่มช่วงบวกได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจาก ECB ประกาศเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินออกมาหลายด้านในการประชุมวันที่ 11 มี.ค. 2559 โดยมีทั้งการปรับลดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปที่ 0% ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปที่ -0.40% ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงไปที่ 0.25%) เพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 8.0 หมื่นล้านยูโร และเปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรอบ 2

สำหรับในวันศุกร์ (11 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (15-16 มี.ค.) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (14-15 มี.ค.) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง เดือนก.พ. และข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนม.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของ ECB โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,393.41 จุด เพิ่มขึ้น 1.01% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 8.35% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 57,290.76 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 503.38 จุด เพิ่มขึ้น 1.51% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในสัปดาห์นี้ โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ จากแรงหนุนของการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ก่อนที่ดัชนีจะปรับลดลงในวันอังคารหลังตัวเลขการส่งออกจีนออกมาหดตัวรุนแรง จากนั้น ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในวันพุธ จากแรงซื้อเก็งกำไรก่อนการประชุม ECB แต่ก็มีแรงขายทำกำไรในวันพฤหัสบดี จากนั้น ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นต่อในวันศุกร์ จากความคาดหวังถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,385 และ1,365 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการรายงานปริมาณน้ำมันคงคลัง เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

จาก http://www.matichon.co.th   วันที 12 มีนาคม 2559  

กองทุนอ้อยดี๊ด๊าราคานํ้าตาลจ่อพุ่ง คาดเงินไหลเข้ากว่า2.5พันล้านบาท

กองทุนอ้อยและน้ำตาลรับข่าวดีน้ำตาลในตลาดโลกพุ่ง ปีนี้มีเงินไหลเข้ากว่า 2.5 พันล้านบาท ไม่ต้องชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดู 2558/2559 ในขณะที่ฤดูที่ผ่านมา เตรียมชงครม.ขออนุมัติ 7.6 พันล้านบาท จ่ายให้ชาวไร่และโรงงาน พร้อมกู้ธ.ก.ส.อีก 3 พันล้านบาท ช่วยชาวไร่รับมือภัยแล้ง หลังสร้างความเสียหายให้ผลิตอ้อยลดลง 8.23 ล้านตัน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการก้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ปลูกอ้อย ได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลของโลกในขณะนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อน แต่ผลดีที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นมากในรอบหลายปี มาอยู่ที่ระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีกจากปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในตลาดโลก

ทั้งนี้ สถานการณดังกล่าวจะส่งผลให้การประมาณการณ์ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดู 2558-2559 ที่อยู่ระหว่างหารหีบอ้อย และจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาประมาณ 25 บาทต่อตันอ้อย จากที่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นทั่วประเทศไปแล้วที่ 808 บาทต่อตัน ยกเว้นจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ที่ 773 บาทต่อตัน เนื่องจากเห็นแนวโน้มของราคาน้ำตาลที่ได้ซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วกว่า 60% อยู่ในราคาค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) สามารถเรียกเงินในส่วนเกินนี้ส่งเข้ากองทุนได้กว่า 2.5 พันล้านบาท จากที่หลายปีที่ผ่านมา กองทุนจะต้องไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

โดยจะเห็นได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดู 2557/2558 ที่ผ่านมา ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประมาณ 854 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ที่ 900 บาทต่อตัน ดังนั้น ทางกองทุนจึงต้องนำเงินไปจ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลอีกประมาณ 7.6 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัตินำไปจ่ายให้ชาวไร่และโรงงานประมาณเดือนมิถุนายนนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้น ทางสอน.อยู่ระหว่างการกู้เงินจากธ.ก.ส.ในวงเงิน 9 พันล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับชาวไร่อ้อยภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร ในระยะเวลา 3 ปี (2559-2561) โดยจัดสรรในวงเงินปีละ 3 พันล้านบาท เพื่อใช้สำหรับให้ชาวไร่อ้อยกู้ไปใช้สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยปีละ 500 ล้านบาท และใช้สำหรับสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรอีกปีละ 2.5 พันล้านบาท

โดยในปีที่ผ่านมาสอน.ได้ตั้งงบสำหรับการปล่อยกู้ซื้อรถตัดอ้อยไว้ที่ 1.5 พันล้านบาท แต่มีการปล่อยกู้ได้จริง 1.363 พันล้านบาท คิดเป็นรถตัดอ้อยที่จัดซื้อ 165 คัน ขณะที่ปล่อยกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย 467 ล้านบาท จากจำนวน 3.452 พันราย

ส่วนปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในฤดู 2558/2559 ลดลงมาประมาณ 8.23 ล้านตันอ้อย จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับ 109.85 ล้านตันอ้อย เนื่องจากภัยแล้งทำให้อ้อยที่ปลูกใหม่และอ้อยตอได้รับน้ำไม่เพียงพอ เกิดภาวะชะงักการเจริญเติบโต ใบแห้งและเหลือง และมีหนอนอ้อยระบาดในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเหลือจำนวน 101.62 ล้านตันอ้อยเท่านั้น หรือลดลงมา 7% หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 9 ล้านตัน จากทุกปีผลิตได้กว่า 10.1 ล้านตัน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงอุตฯ รุกหารือรัฐบาลศรีลังกา เตรียมดัน 3 อุตสาหกรรมรับเทรนอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ 

          กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือประเทศศรีลังกา โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Board) ยกระดับความร่วมมือการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมชา และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การส่งเสริมธุรกิจระหว่างกัน รวมถึงการส่งออกสินค้าของไทยไปศรีลังกา อาทิ ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน ปลาแห้ง เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้า เช่น อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากศรีลังกา

          ดร.สมชาย หาญหิรัญ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศศรีลังกามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ไทยกำลังมองหาประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)เพื่อขยายฐานตลาดในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ไทยและศรีลังกามีความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่ดีมาโดยตลอด มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 548.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ที่มา:กระทรวงการต่างประเทศ) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศรีลังกาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล (Maritime Hub) ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียกับตะวันออกกลางและยุโรป จึงเป็นโอกาสของไทยในการมาเปิดตลาดในภูมิภาคนี้ ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปศรีลังกา อาทิ ปูนซีเมนต์ ผ้าผืน ปลาแห้ง เม็ดพลาสติก น้ำตาลทราย เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้า อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากศรีลังกา

          ดร.สมชาย กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Development Board) ของศรีลังกา จึงได้หารือเพื่อยกระดับความร่วมมือการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจระหว่างกัน โดยจะเริ่มต้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมโดดเด่นของทั้งสองประเทศ ได้แก่

          1. อุตสาหกรรมอัญมณี ศรีลังกามีเหมืองพลอยที่สำคัญและมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณี ในขณะที่ไทยมีนักออกแบบเครื่องประดับและนักธุรกิจอัญมณี แฟชั่นที่สามารถเสริมกันได้ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการพบปะระหว่างนักลงทุนของทั้งสองประเทศ

          2. อุตสาหกรรมชา ศรีลังกาเป็นแหล่งผลิตชาที่สำคัญและมีชื่อเสียง สามารถผลิตชาได้เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินเดีย มีองค์ความรู้ในด้านการหมักชา ในขณะที่ไทยเริ่มมีการปลูกชาในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ชาเชียงราย อีกทั้งประเทศไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการแปรรูป ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมวางแผนในการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือในการพัฒนนาคุณภาพชา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชาต่อไป

          3. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ศรีลังกาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอนาคต สินค้าที่สำคัญคือผัก ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งยังมีโอกาสที่ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถเข้ามาทำการค้าการลงทุนได้ เนื่องจากศรีลังกามีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยไทยจะเสนอให้มีโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหาร การผลักดันการร่วมลงทุนในด้านเครื่องจักรแปรรูปอาหาร การสร้างความร่วมมือเพื่อขยายฐานการผลิตสินค้าประเภทอาหารไทยในศรีลังกาต่อไป ดร.สมชาย กล่าว

          ทั้งนี้ การร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว มี ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับนายมหินดา จินะเสนา ประธานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมของศรีลังกา เป็นผู้ลงนามความร่วมมือ โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นสักขีพยาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ประเทศศรีลังกา สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโครงการต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการ อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4426-7 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงทรัพย์ฯ-เอ็นจีโอ’จูบปาก ดันร่าง กฏหมายบริหารจัดการน้ำเข้าครม.

กฎหมายบริหารจัดการน้ำของประเทศ เป็นอีกเรื่องที่ยื้อยุดกันมานาน ระหว่างภาคประชาสังคมกับหน่วยงานราชการที่ต่างมุ่งหวังผลักดันร่างของตนเองให้ถึงฝั่งฝัน แต่วันนี้กลับเงียบหายเพราะขัดแข้งขัดขากันเอง ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ กรมทรัพยากรน้ำ ชงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ ฉบับของกรมทรัพยากรน้ำ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลักการเมื่อ 30 กันยายน 2558 ก่อนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเตรียมบรรจุระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วนแบบเงียบๆ แต่มีรายงานออกมาว่า ร่างฉบับดังกล่าวนั้น ค้างอยู่ในขั้นของ วิป สนช. ที่ให้สมาชิกไปพิจารณาเพิ่มเติมอย่างไม่มีกำหนด

ขณะที่ร่างของภาคประชาสังคม ซึ่งผนวกระหว่างร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำของภาคประชาชน กับร่าง พ.ร.บ.น้ำของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่ตกผลึกออกมาเป็น ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำฉบับของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด นั่งเป็นประธาน จะส่งถึง ครม.ไปเมื่อต้นเดือนกันยายน 2558

 ต่อมา ครม. มีมติเห็นชอบพร้อมมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.น้ำ ของ สปช. ภายใน 30 วัน แต่เงียบหาย

ตามด้วยกระแสวิพากวิจารณ์จากภาคประชาสังคม ตั้งข้อสังเกตถึงการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า กำลังจะซ้ำรอยเหมือนกรณีของร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ไม่ประกาศบังคับใช้เสียที ดังเช่น กฎหมายองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม

ต่อเรื่องนี้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุยืนยันว่า ภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐ เห็นตรงกันว่า ต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อร่วมกันบูรณาการกฎหมายบริหารจัดการน้ำของทั้ง สปช. และของกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้ได้ โดยสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาแล้ว

 “เราเห็นตรงว่า หากต่างยึดจะเอาร่างของตนเองเป็นหลักคงไม่มีวันที่จะได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา บรรยากาศการประชุมในแต่ละครั้งเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ กรมทรัพยากรน้ำ คณะกรรมการกฤษฎีกา ภาคประชาสังคม และตัวแทนจากกลุ่มน้ำ ประชุมร่วมกันแล้วหลายครั้ง ภายใต้หลักการร่วมกันที่ว่า ถอยคนละก้าว มองสถานการณ์ปัจจุบัน คาดการณ์ถึงอนาคต นายหาญณรงค์ ระบุ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอร่างบริหารจัดการน้ำฉบับนี้เข้าสู่การประชุมครม.เพื่อขอความเห็นชอบได้ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย 117 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล ซึ่งกำหนดให้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐบาลเสนอกฎหมายจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามพระราชบัญญัตินี้

ขณะที่องค์ประกอบของโครงสร้าง กนช.นั้น ยังคงกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มี รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง มีปลัดและอธิบดีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้แทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำจำนวน 6 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 2 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านผังเมือง กำหนดให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีแต่งตั้งข้าราชการของกรมทรัพยากรน้ำอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

วันนี้เกษตรกรรอลุ้นให้ร่างกฎหมายน้ำฉบับบูรณาการผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้เสียที

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

กอน.ผวาน้ำตาลตึงตัวเคาะเพิ่มโควต้า ก.อีก5แสนกระสอบ

        "กอน." เคาะเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ(โควต้าก.) อีก 5 แสนกระสอบรวมเป็น 25 ล้านกระสอบ หลังพบยอดขายของโรงงานพุ่งกระฉุดหวั่นตึงตัว ประกอบกับน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปีนี้จะต่ำกว่าที่คาดเหตุอ้อยเจอแล้งคาดปิดหีบจะได้เพียง 95-97 ล้านตัน จับตาแล้งจัด!อ้อยตอเริ่มตายฤดูหีบปี 59/60 อ้อยอาจตกต่ำหนักกว่าปีนี้

                นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.)เมื่อเร็วๆ นี้ได้เห็นชอบปรับเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ(โควตาก.) จากเดิม 24.5 ล้านกระสอบเป็น 25 ล้านกระสอบเพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่ขณะนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะอากาศร้อน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวทำให้การบริโภคน้ำตาลสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2558//59ค่อนข้างต่ำกว่าที่ประเมินไว้

                "เรากำหนดโควตาก.เพิ่มขึ้นก่อนปิดหีบจะง่ายกว่ามากเพราะถ้าเราไปกำหนดภายหลังเกิดมีปัญหาตึงตัวการแก้ไขจะยากเพราะโรงงานอาจจำหน่ายไปหมดแล้วการจะซื้อคืนจะลำบาก"นายบุญถิ่นกล่าว

                สำหรับการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2558/59 เริ่มทยอยปิดหีบบ้างแล้วคาดว่าจะปิดหีบได้หมดภายในสิ้นเดือนมี.ค.นี้โดยล่าสุดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 86 ล้านตัน คาดว่าผลผลิตอ้อยปีนี้จะลดลงกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ระดับ 109 ล้านตันเหลือที่ประมาณ 95-97 ล้านตันเท่านั้นเนื่องจากผลผลิตอ้อยต่อไร่ต่ำเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง จากฤดูผลิตที่ผ่านมามีอ้อยเข้าหีบสูงถึง 106 ล้านตัน

                นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า การเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตาก. ฤดูการผลิตปี 58/59 เป็น 25 ล้านกระสอบโดยเพิ่มอีก 5 แสนกระสอบนั้นเพราะป้องกันปัญหาการตึงตัวที่ขณะนี้การบริโภคน้ำตาลในประเทศปรับเพิ่มขึ้นมากโดยพบว่าปริมาณการขายของโรงงานโดยรวมสูงถึง 12%

                "โควตาก.ที่เพิ่มก็เท่ากับปีที่ผ่านมา แต่เดิมที่กำหนด 24.5 ล้านกระสอบเพราะมีน้ำตาลค้างมาจากปีก่อนเพราะขายไม่หมดแต่เมื่อมาดูสถานการณ์ล่าสุดยอดขายที่เพิ่มขึ้นจึงได้ปรับตัวเลขใหม่ เพราะขณะนี้แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราไม่ว่าพม่า ลาว จีน ก็ล้วนแต่ต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นอาจมีน้ำตาลไหลออกได้บ้าง ทุกฝ่ายจึงไม่อยากให้เกิดการตึงตัวเกินไป"นายนราธิปกล่าว

                นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมปริมาณอ้อยเข้าหีบค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดไว้โดยล่าสุดมีอ้อยเข้าหีบเพียง 86 กว่าล้านตันเพราะภาวะภัยแล้งก่อนหน้านี้ทำให้อ้อยหลายพื้นที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำมากจึงประเมินว่าอ้อยเข้าหีบฤดูผลิตปี 58/59 จะไม่ถึง 100 ล้านตันแน่นอนคาดว่าจะอยู่ระดับ 95-97 ล้านตันเท่านั้นและสิ่งที่น่ากังวลคือภัยแล้งที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้จะกระทบให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในฤดูการผลิตปี 59/60 ยิ่งตกต่ำไปอีกโดยมองว่าอาจจะได้อ้อยมากสุดแค่ 80 ล้านตันเท่านั้น

                "ขณะนี้อ้อยตออ้อยใหม่และอ้อยตอเริ่มตายบ้างแล้ว เพราะสภาพแล้งที่ไม่มีน้ำหากปริมาณฝนไม่ตกภายใน 2-3 สัปดาห์จากนี้อ้อยจะยิ่งประสบปัญหาหนักมากขึ้นและปริมาณอ้อยก็จะลดต่ำลงอย่างมากเพราะแล้งปีนี้ถือว่ารุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา"นายธีระชัยกล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

‘อ่างคลองหลวงรัชชโลทร’ช่วยสู้แล้ง กรมชลยันภาคเกษตร-อุตฯพ้นวิกฤติ-เดินหน้าศึกษาเพิ่มปริมาณ

กรมชลแจง “อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร” ช่วยเกษตรกรพ้นวิกฤติภัยแล้งสามารถทำนาปรังและปลูกพืชฤดูแล้งได้กว่า 47,000 ไร่ น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมมีเพียงพอ พร้อมมั่นใจฤดูฝนที่จะถึงนี้ มีน้ำสำหรับจัดสรรเพื่อทำการเกษตรได้เกือบ 60,000 ไร่ เตรียมศึกษาเพิ่มปริมาณการกักเก็บเต็มศักยภาพของลุ่มน้ำ

นายธัญญะสิน เหล่าเรืองธนาผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง กรมชลประทาน ซึ่งดูแลรับผิดชอบ อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ แม้พื้นที่หลายแห่งจะประสบปัญหาภัยแล้ง เพราะฝนตกน้อย ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆจะมีค่อนข้างน้อยก็ตาม แต่ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีฝนตกชุก ทำให้อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มปริมาณความจุ โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ได้ทำสถิติกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 103.80 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นในฤดูแล้ง ปีนี้จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรสำหรับการปลูกพืชในฤดูแล้งจำนวนประมาณ 47,755 ไร่ และการอุปโภคบริโภค

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างฯคลองหลวงรัชชโลทรฯ เมื่อสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คงเหลือน้ำอยู่ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 61 ของปริมาณความจุในระดับกักเก็บ ซึ่งจะเพียงพอสำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง เนื่องจากขณะนี้หลายพื้นที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว

“ปริมาณน้ำที่เหลือในอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ หลังจากปลูกพืชฤดูแล้งแล้ว มีเพียงพอที่จะสำรองไว้ สำหรับอุปโภคบริโภค และการปลูกพืชในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม 2559 นั้น ได้วางแผนที่จะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนข้าวนาปี พืชไร่ ไม้ผล บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมพื้นที่ทั้งหมด 58,455 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 14 ตำบลในเขต อ.เกาะจันทร์และพนัสนิคม ซึ่งใช้น้ำประมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะจัดสรรเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ การทำน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการอุตสาหกรรม บางส่วน” นายธัญญะสินกล่าว

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางปะกง กล่าวต่อว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะศึกษาเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรอีกประมาณ 30-40 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันมีความจุในระดับกักเก็บคือ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยอาจจะเสริมเป็นฝายพับได้ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มศักยภาพของลุ่มน้ำ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯประมาณ 112 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตามก่อนที่อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรฯ จะเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 นั้น กรมชลประทานได้มีการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2556 แม้ครั้งนั้นการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็สามารถกักเก็บน้ำไว้กว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ไม่ให้ไหลบ่าลงท่วมพื้นที่ในเขต อ.เกาะจันทร์ อ.พนัสนิคม และ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ช่วยบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดกับเส้นทางคมนาคม พื้นที่การเกษตร พื้นที่ชุมชน และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครได้ ต่อมาในปี 2557 สามารถกักเก็บน้ำไว้อีกกว่า 91 ล้านลูกบาศก์เมตรไม่ให้ท่วมพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

‘ไทย-เขมร’พัฒนาความร่วมมือ เพิ่มประสิทธิภาพผลิต-ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

 นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมกับคณะผู้แทนของไทยซึ่งนำโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเข้าร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศกัมพูชาเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) ระหว่างไทยและกัมพูชา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อสนับสนุนแนวทางในการสร้างเสริมและพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมกัน โดยในระยะแรกจะเน้นความร่วมมือในสาขาสำคัญ 3 สาขา ประกอบด้วย การเกษตร การศึกษา และสาธารณสุข

สำหรับแผนงานความร่วมมือด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายหลักเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภาพทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับผลการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ซึ่งในเบื้องต้น ฝ่ายกัมพูชาได้เสนอจะขอรับการสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตรจากไทยในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การเสริมสร้างความสามารถในการผลิตด้านการเกษตร 2) การพัฒนาระบบสหกรณ์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์การเกษตรในประเทศกัมพูชา 3) การปรับปรุงและเสริมสร้างการผลิตและการจัดการด้านประมงและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 4) ความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย และ 5) การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อพิจารณาปรับปรุงร่างแผนงานความร่วมมือด้านการเกษตรดังกล่าว รวมถึงกลั่นกรองและกำหนดโครงการ/กิจกรรมเป้าหมาย และกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ ให้สอดคล้องกับแผนงานและวัตถุประสงค์ที่เห็นว่าสามารถดำเนินการได้ในระยะเวลา 3 ปี และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นจึงจะหารือกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อออกแบบและจัดทำรายละเอียดโครงการ (Project Design) ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

เกษตรฯร่วมถกFAOเอเชีย-แปซิฟิก ผลักดันปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมัชชาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 33 ณ เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม เพื่อร่วมหารือเรื่องต่างๆ ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ขององค์การ รวมถึงประเด็นพิเศษเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งจะมีการจัดทำท่าที/จุดยืนของภูมิภาคในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ของโลก มีการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะเรื่อง และลำดับความสำคัญของขอบข่ายงานของภูมิภาค นำไปสู่แผนงานโครงการ/งบประมาณ รวมทั้งทบทวน/ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงาน/โครงการต่างๆ และอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาค

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้กล่าวถ้อยแถลงเป็นประเทศแรก ในฐานะที่เมื่อปีที่แล้วได้รับรางวัล “Recognizing

 achievements in the fight against hunger” ซึ่งเป็นรางวัลที่ เอฟ เอ โอ มอบให้กับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนประชากรและสัดส่วนของผู้ขาดสารอาหาร ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาของที่ประชุมอาหารโลก

 (World Food Summit) โดยในถ้อยแถลงจะนำแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวในการประชุม จี 77 เรื่องการพัฒนาด้านการเกษตรไปสู่ความยั่งยืน โดยใช้แนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการใช้นวัตกรรม และการนำความรู้ใหม่ๆ มาใช้พัฒนาการเกษตรให้มีความยั่งยืน รวมทั้งจะเข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยยางพาราของมาเลเซีย ซึ่งถือว่ามีงานวิจัยด้านยางพาราที่ดีที่สุดในโลก ที่จะสามารถนำไปพัฒนาและ ต่อยอดด้านยางพาราของไทยได้อีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

ลุยทำ'แผนน้ำ'10ปี 'เกษตร'วางมาตรการ'เพาะปลูก'เสร็จเดือน

          ธกส.ขยายประกันนาข้าว 3 ล้านไร่-ชงครม.ช่วยชาวนานอกเขตภัยแล้ง

          "ฉัตรชัย"สั่งทำแผนที่การเกษตรทั่วประเทศ วางแผนใช้"น้ำเพาะปลูก "ระยะ 10 ปี ขีดเส้นต้องเสร็จภายในเดือนเม.ย. ด้าน ปภ.เผยพื้นที่ขาดแคลนน้ำมากขึ้น เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย 276 ตำบลใน 14 จังหวัด พร้อมเร่งสำรวจปริมาณน้ำต้นทุน-เฝ้าระวังลักลอบสูบน้ำ "ชลประทาน"ย้ำมีน้ำพอใช้ถึงเดือนก.ค.ถ้าช่วยกันประหยัด ด้าน ธกส.ขยายประกัน นาข้าว3ล้านไร่ ครอบคลุมเกษตรกร 2 แสน พร้อมเสนอแผนช่วยชาวนานอกเขตแล้ง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวานนี้ (9 มี.ค.) ภายหลังการประชุม ผู้บริหารกระทรวง ว่าจากการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวของชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาพบว่าข้าวนาปีไม่มีปัญหา เพราะเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว ส่วนนาปรังมีพื้นที่ปลูกในเขตลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 3.05 ล้านไร่ เป็นนาปรังในเขตชลประทาน 1.98 ล้านไร่ และอีก 1.07 ล้านไร่ อยู่นอกเขตชลประทาน

          ทั้งนี้การทำนาปรังมีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว 9.4 แสนไร่ ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกกว่า2 ล้านไร่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าจะมีนาปรังประมาณ 4 แสนไร่ที่มีความเสี่ยงเรื่องน้ำ ในการเพาะปลูกนับจากนี้เป็นต้นไป

          พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่าได้มอบหมาย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวง จัดทำแผนที่จังหวัดทั่วประเทศ เน้นการใช้น้ำในระยะเวลา 10 ปี การใช้ดินเพื่อการเพาะปลูก และให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปช่วยซึ่งโครงการนี้จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. นี้

          เร่งช่วยเหลือพื้นที่ภัยพิบัติ14จังหวัด

          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าขณะนี้หลายพื้นที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำมากขึ้น โดยปัจจุบันมีจังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง  14 จังหวัด 58 อำเภอ 276 ตำบล

          แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย และนครสวรรค์ ภาคอีสาน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี

          สำรวจน้ำต้นทุน-จัดโซนนิ่งช่วยเหลือ

          ทั้งนี้รัฐบาลได้สั่งการให้ปภ.เร่งสำรวจปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับประเมินและจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อกำหนดโซนนิ่งการช่วยเหลือ รวมถึงวางแผนและมาตรการรองรับกรณีแหล่งน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภค

          นอกจากนี้ให้จังหวัดใช้กลไกประชารัฐในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ความจำเป็นในการควบคุมกิจกรรมการใช้น้ำของภาครัฐ พร้อมบูรณาการพลเรือนและหน่วยทหาร เฝ้าระวังบริเวณจุดเสี่ยงที่มักมีการลักลอบสูบน้ำและเกิดปัญหาแย่งน้ำ รวมถึงจัดทำประชาคมกำหนดกติกาการใช้น้ำไว้ล่วงหน้า

          มีน้ำใช้ถึงเดือนก.ค.ถ้าช่วยประหยัด

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน  และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2558 ถึงปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว  2,118 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คงเหลือน้ำใช้การได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงเดือนก.ค.2559 ประมาณ 2,820 ล้านลบ.ม. โดยระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักมาใช้รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลบ.ม.

          อย่างไรก็ตามหากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงเดือนก.ค.นี้

          จ้างแรงงานช่วยแล้งกว่า1.2แสนคน

          ส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างฯเหลืออยู่เพียง 629 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 48 ล้านลบ.ม.หรือประมาณ 2 %ของความจุอ่าง ปัจจุบันมีการวางแผนใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศประมาณวันละ 500,000 ลบ.ม.  ไม่มีการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร พร้อมขอให้การใช้น้ำด้านท้ายเขื่อนเป็นไปอย่างประหยัดและตามแผนการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด

          สำหรับผลการจ้างแรงงานตามมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุดของกรมชลประทาน เมื่อวันที่26 ก.พ. ได้ดำเนินการจ้างแรงงานไปแล้ว  128,467 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 2,384.32 ล้านบาท แยกเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา  28,650 คน ลุ่มน้ำแม่กลอง 9,290 คน และลุ่มน้ำอื่นๆ 90,527 คน

          เกษตรกรโคราชดื้อปลูกข้าวนาปรัง

          ด้านจ.นครราชสีมา นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่าได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจ้งสถานการณ์น้ำ และขอให้ช่วยกันแจ้งข่าวสารให้ทุกพื้นที่งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังออกไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนและปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนลำตะคองเพิ่มขึ้นแล้ว เนื่องจากปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามจาการจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนลำตะคอง จนถึงพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่สุดท้ายก่อนที่ปริมาณน้ำลำตะคอง จะไหลไปร่วมกับลำน้ำมูล ระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการงดการปลูกข้าวนาปรัง จากพื้นที่หลายหมื่นไร่ ลดเหลือเพียงหลักพันไร่ที่เกษตรกรยังไม่สนใจคำเตือนหรือการขอความร่วมมือ

          ขุดบ่อบาดาลช่วยอ.พระทองคำ

          ขณะที่ อ.พระทองคำ ที่แล้งหนักสุดของจ.นครราชสีมา ขณะนี้การประปามีการจ่ายน้ำให้เฉพาะช่วงเย็น ตั้งแต่ 17.00 น.-19.00 น. และจ่ายวันเว้นวัน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาแห้งหมด ทางเทศบาลจึงใช้วิธีการวิ่งรถบรรทุก 3 คัน ไปซื้อน้ำดิบจากบ้านโกรกมะขามป้อม ต.ทับรั้ง  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอ 18 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำดิบมาเติมถังเพื่อผลิตประปา โดยรถจะวิ่งไปซื้อน้ำวันละ 14 เที่ยว แต่แหล่งน้ำดิบที่ทางเทศบาลไปซื้อคาดว่าจะใช้ได้อีกเพียง 3 เดือน

          ขณะเดียวกันที่บ้านประคำ หมู่ 1 ต.สระพระ อ.พระทองคำ ชาวบ้านกว่า 900 หลังคาเรือนกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนัก เนื่องจากแหล่งเก็บน้ำดิบผลิตน้ำประปาของเทศบาลตำบลสระพระแห้งขอด ไม่สามารถผลิตน้ำประปาจ่ายให้ชาวบ้านได้ ทำให้ชาวบ้านต้องขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้

          นายทรงพล มั่นบรรจง อายุ 19 ปี ชาวบ้านที่นำรถไถพ่วงมาสูบน้ำใช้ กล่าวว่า เนื่องจากบริเวณนี้เป็นดินเค็ม ดังนั้นการจะเจาะพบแหล่งน้ำดิบที่มีรสจืดจึงมีอยู่เป็นบางจุดเท่านั้น

          อย่างไรก็ตามนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้อนุมัติโครงการขุดเจาะน้ำบาดาล ให้ 2 ตำบล คือต.สระพระ และต.พระทองคำ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนระยะยาวต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ช่วยสร้างหรือหาแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ของชาวบ้าน

          ขยายพื้นที่ประกันนาข้าว3ล้านไร่

          ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีการผลิต 2559/60 นี้ ธ.ก.ส.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะขยายพื้นที่การประกันภัยนาข้าวของเกษตรกร 3 ล้านไร่ หรือครอบคลุมเกษตรกรประมาณ 2 แสนคน ส่วนเบี้ยประกันและรายละเอียดอื่นๆ ยังเหมือนเดิม โดยเป็นการคุ้มครองภัย 7 ประเภท คือ น้ำท่วม หรือฝนตกหนัก ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชและโรคระบาด

          ในการจะขยายพื้นที่ประกันภัยนาข้าว ธนาคารจะร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับพนักงานธนาคาร เพื่อแจ้งเกษตรกร องค์กรภาคการเกษตร  ให้เห็นถึงประโยชน์ของการสร้างหลักประกัน โดยใช้ระบบประกันภัยช่วยลดความเสี่ยง

          ทั้งนี้ ในอนาคตคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีการเสนอออกกฎหมายเป็นการถาวรเหมือนในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดว่าจะออกมาในรูปแบบใด

          ส่วนกรณีของเกษตรกรนอกพื้นที่ประกาศภัยแล้ง คปภ.จะมีการเสนอแนวทางแก้ไข ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้

          เล็งใช้โมเดลเกาหลีประกันพืชผล

          นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลวันที่ 14 มี.ค. นี้ ทาง คปภ. เสนอให้การรับประกันภัยดังกล่าว ควรจะกำหนดกฎหมายเฉพาะออกมาบังคับ หลังจากก่อนหน้านี้ที่ประชุมได้มติเห็นชอบแนวทางการรับประกันภัยพืชผล เป็นวาระแห่งชาติแล้ว

          ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้การรับประกันภัยพืชผลในระยะยาวเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากภาครัฐอย่างเดียว  ทาง คปภ. มองว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งหน้ามีมติเห็นชอบ จะมีโอกาสผลักดันแนวทางดังกล่าวในแผนปฏิรูปการเงินการคลัง

          สำหรับแนวทางการกำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะ ในการรับประกันภัยพืชผล ล่าสุด คปภ. ได้ศึกษาโมเดลในต่างประเทศที่ใช้กัน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ พบว่า โมเดลของเกาหลีใต้ มีจุดสนใจมากที่สุด หากคณะกรรมการฯ มีข้อสรุปและเห็นชอบแล้ว ทางคปภ. จะนำมาศึกษาเพื่อปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย พร้อมกับนำแนวทางการตรวจสอบความเสี่ยงที่นำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายทางดาวเทียมและดัชนีวัดปริมาณ น้ำฝน

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 10 มีนาคม 2559 

เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน (ตอน 1)

โดย...ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช

จากรายงานของ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) ให้คำจำกัดความคำว่า “เขตเศรษฐกิจ” (Economic Zone) ประกอบด้วย 5 ส่วนสำคัญ คือ เขตอุตสาหกรรม (Industrial Parks : IP) เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Parks : EIP) เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือเขตอุตสาหกรรมไฮเทค (Technology Parks : TP) และเมืองนวัตกรรม (Innovation District : ID)

สำหรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) นั้น ถือได้ว่าอยู่ในระยะการพัฒนาที่สองของการพัฒนาอุตสาหกรรม คือ เป็นช่วงของการเน้นการลงทุนเป็นหลัก หันมาดูจำนวนของ SEZs ในทั่วโลกกันบ้าง โดยในปี 2558 จำนวน SEZs ของโลกมีทั้งหมด 4,500 SEZs ใน 140 ประเทศ มีการจ้างงานทั้งหมด 66 ล้านคน (the Economist 2558) ในจำนวนดังกล่าว 30 ล้านคน เป็นการจ้างงานใน SEZs ของประเทศจีน และ SEZs แห่งแรกของโลกอยู่ที่เมืองแชนน่อน (Shannon) ประเทศไอร์แลนด์ (Ireland) ที่ตั้งเมื่อปี 1959 ซึ่งมีทั้งการพัฒนาเขต Export Processing Zone (EPZs)  เขต Free Trade Zone (FTZs) และ Freeports (FPs)

ส่วน SEZs แห่งแรกของเอเชียตั้งในประเทศอินเดีย ที่เมืองกันดลา (Kandla) ที่เรียกว่า “KASEZ” ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญของรัฐคุชราต (Gujarat) ตั้งเมื่อปี 1965 KASEZ เน้น Export Processing Zone และเป็น SEZs ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ปัจจุบันอินเดียมีทั้งหมด 19 SEZs สามารถตั้งโดยรัฐบาล และบริษัทเอกชนที่เน้นการลงทุน

สำหรับประเทศอาเซียนที่มีการตั้ง SEZs เป็นแห่งแรก คือ สิงคโปร์ ในปี 1968 และมาเลเซียในปี 1972 สำหรับประเภทของ SEZs แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ประกอบด้วยเขตปลอดอากร (Free Trade Zones) เขตส่งเสริมการค้าหรือเขตอุตสาหกรรมส่งออก (Export Processing Zone) เขตประกอบการอุตสาหกรรม (Enterprise Zones) เขตโรงงานเดียว (Single Factory) เช่น กรณีอินโดนีเซียจับมือกับมาเลเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรตามโครงการที่เรียกว่าโครงการ “Sei Mangkei” ตั้งอยู่ที่เมือง Simulungun ในจังหวัดสุมาตราเหนือ ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอลส์ (Oleochemicals) ที่ได้รับการพัฒนาในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบครบวงจร โดยในช่วงปี 2013-2018 พื้นที่จะถูกขยายกว้างออกไปถึง 3,775 ไร่ จากเดิมแรกเริ่มที่มีเพียง 287.5 ไร่ (ปี 2008-2010 )

ปัจจุบัน Sei Mangkei สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ถึง 569 ตัน/ffb/ชั่วโมง ต่อมาเป็นเขตท่าเรือปลอดภาษี (FreePort) และเขตพิเศษ (Special Zones) สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของ

นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน SEZs ตามบทความของ Hong Hiep Hoang แห่ง “Institute of Social Science of Central Region (ISSCR), Vietnam Academy of Social Science (2015)” คือ ขนาดของตลาดที่วัดจากขนาดของ GDP และรายได้ต่อวัน จำนวนประชากร และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน แต่งานวิจัยของ Rahmaj Ismail จาก Faculty of Economic แห่ง Universiti Kebangsaan Malaysia (2003) ซึ่งทำการเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปฟินส์ พบว่าค่าจ้างที่มีราคาถูกจะเป็นตัวตัดสินใจของ FDI ในเขต SEZs

ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อ FDI ในจีน คือ อันดับหนึ่งเป็นเรื่องของความพร้อมของเงินทุน ตามด้วยศักยภาพการแข่งขันของประเทศ วัดจากโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะฝีมือแรงงาน กฎระเบียบภายในประเทศ ความมั่นคงทางการเมือง และการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานของ UNIDO (2002) พบว่ามี 20 ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของ FDI ซึ่งปรากฏว่าอันดับหนึ่งเป็นการเข้าถึงตลาดโดยง่าย (Market Access) ประเทศที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้าไปลงทุนสามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับตลาดโลกได้อย่างดี หากต้องไปตั้งเป็นฐานการผลิตในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก ตามด้วยปัจจัยด้านความมีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม และบรรยากาศการทำธุรกิจเป็นอันดับที่สาม และปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานตามมาติดๆ

ส่วนความสามารถในการจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจ แต่บทความของ White, J. (2011) พบว่าที่ตั้งของ SEZs เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หาก SEZs ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเมืองใหญ่ก็สามารถเข้าถึงแหล่งงานทุน บริษัทและผู้ผลิต และแรงงานทักษะฝีมือได้โดยง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิประโยชน์

ผมคิดว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติพิจารณาคือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน (แม้ว่าจะไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของการตัดสินใจนักลงทุนต่างชาติก็ตาม) ผมได้ทำการเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของไทยกับประเทศ CLMV สามารถพิจารณาได้ดังนี้ ในด้านการยกเว้นภาษีนิติบุคคล ต่อฉบับหน้าครับ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 10 มีนาคม 2559 

นายกฯ ชี้พัฒนาเศรษฐกิจอย่ายึดติดจีดีพี ผุดยุทธศาสตร์เออีซี "เพื่อนจูงเพื่อน"

"ประยุทธ์" เปิดประชุมเอซีดี ย้ำทุกคนต้องร่วมมือพร้อมวางความต้องการของตัวเองไว้ก่อน เร่งสร้างบทบาทบนเวทีโลกให้ได้ ชูขับเคลื่อนด้วยประชารัฐ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 มีนาคม ที่โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue (ACD) Ministerial Meeting) ครั้งที่ 14 ตอนหนึ่งว่า เรากำลังจะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน โดยยึดหลัก 3 ประการคือ เพื่อประเทศชาติและประชาชนของแต่ละประเทศ หน้าที่ต่อภูมิภาคใน ACD และหน้าที่ต่อประชาคมโลก และต่อมวลมนุษยชาติ เราต้องร่วมมือกันให้เกิดความเป็นเอกภาพ เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เราจึงต้องปรับปรุงประวัติศาสตร์ ของ ACD ซึ่งเมื่อ 14 ปีที่แล้วไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเราต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ทั้งประเทศไทย และประเทศกลุ่ม ACD รวมทั้งประเทศกลุ่มประชาคมโลก วางอนาคตโลกร่วมกัน ด้วยหลัก 3 ประการคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปีนี้ ACD มีการเจริญเติบโต ดังนั้นในเวทีการหารือครั้งนี้เราต้องมาร่วมมือกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศในกลุ่มภูมิภาคของเรามีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน โดยต้องกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า และแก้ปัญหาที่มีอยู่ ประเทศไทยเองก็กำลังปรับปรุงการทำงาน โดยนำนโยบายมาสู่การขับเคลื่อนและปฏิบัติให้ได้จริง เราต้องขับเคลื่อนให้ดีที่สุด เพราะอย่าลืมว่าโลกใบนี้เป็นของทุกคน เราต้องกำหนดอนาคตให้ได้ ซึ่งในฐานะที่ไทยเป็นประธานการประชุมและผู้ประสานงานในครั้งนี้เห็นว่า เราต้องศึกษาหรือทบทวนการดำเนินการในปีที่ผ่านมาว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร เอาปัญหามาเรียงลำดับความสำคัญ และเอาอนาคตมาเป็นตัวกำหนด ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาในอดีตได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเดินไปข้างหน้า เพราะขณะนี้โลกเรามีพลวัตรและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางอย่างชัดเจน เอาปัญหามาจัดกลุ่ม และแก้ไปด้วยกัน และต้องกำหนดทิศทางของอนาคตเพื่อเป็นมาตรการรองรับความเสี่ยงไว้

"ทำอย่างไร ACD จึงมีบทบาทสำคัญในเวทีโลกได้ เราต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้มีความเข้มแข็งทุกมิติ ต้องร่วมมือกันโดยทุกคนต้องลดความต้องการของตัวเองออกไปก่อน ประเทศไทยเองก็พยายามแก้ปัญหา เพราะถ้าทุกคนมุ่งหวังแต่ส่วนตัวมันก็จะเดินไปไม่ได้ วันนี้ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราต้องทบทวน ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่าง แต่เราต้องแสวงหาความเหมือนในความแตกต่างให้ได้ แล้วนำปัญหาที่เหมือนกันมาแก้เป็นอันดับแรก แม้บางประเทศไม่มีปัญหาดังกล่าวแต่ต้องช่วยกัน เพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง แล้วค่อยมาดูปัญหาที่ 2-3 ประเทศไทยจึงมีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ และมาคิดร่วมกันว่าเราจะเดินอย่างไรให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 20 ปีไม่สามารถให้ที่จะให้คนทำตามได้หมด แต่ทำอย่างไรคนส่วนใหญ่จะเข้าใจ และทำตามเราในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความก้าวหน้า โดยเราไม่สามารถจะตัดเสื้อตัวเดียวให้ประชาชนทุกคนใส่ได้ แต่เราสามารถตัดเสื้อให้ชิดพอดีสำหรับคนแต่ละกลุ่มได้ ดังนั้นเราต้องมองเป้าหมายในประเทศ และเออีซี ว่ามีความแยกแตกต่างกันอย่างไร เราเดินไปคนเดียวไม่ได้ต้องไปด้วยกัน ดังคำกล่าวที่ว่า stronger together โดยตนขอใช้คำว่า "เพื่อนจูงเพื่อน" เพราะเราเป็นเพื่อนกัน หากเป็นพี่เป็นพี่น้องจะเกิดข้อสงสัยว่าใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราจะต้องลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาที่มีความแตกต่างให้ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนกินดีอยู่ดี ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ตัวเลข การนำเข้า หรือรายได้จีดีพีตรงนั้นเป็นหลักการเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือประชาชนต้องมีความสุข ความพอเพียง ในกลุ่มประเทศสมาชิกยังมีความแตกต่างกันมาก และจะทำให้การขับเคลื่อนในภูมิภาคเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราจึงต้องเข้มแข็งจากภายใน โดยเริ่มจากประชาชนเป็นศูนย์กลาง และขับเคลื่อนในแบบที่ประเทศไทยทำอยู่ที่เรียกว่าประชารัฐ ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เอ็นจีโอ ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน ไม่อย่างนั้นจะขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัญหาที่หนักมากในการพัฒนาคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เรามีการพัฒนาด้านนี้น้อยเกินไป ต้องอาศัยการลงทุนจากภายนอก จึงทำให้สิ่งที่ได้รับไม่มากเท่าที่ควร เราจึงต้องส่งเสริม ทรัพยาการในแต่ละประเทศให้ได้มากเท่าที่ควร โดยการเดินหน้าในสองมิติคือ เพิ่มขีดความสามารถของพวกเราเอง เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และต้องร่วมมือสร้างตลาดร่วมกัน เพื่อสนับสนุนวัสดุต้นทุนการผลิต ไม่อย่างนั้น เวทีโลกจะมองไม่เห็นเรา ไปพูดที่ไหนจะเหมือนตัวเล็กไปหมด ฉะนั้นเราจะเข้มแข็งและตัวใหญ่ด้วยประเทศสมาชิกทั้ง 34 ประเทศ เราต้องหาจุดแข็งและพัฒนาจุดอ่อนร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนไม่ขอกล่าวว่าไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน แต่ถือว่าอยู่ตรงศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์มากกว่า โดยอยากให้ทุกประเทศเป็นศูนย์กลาง เพราะแต่ละประเทศมีความสำคัญที่แตกต่าง เพื่อจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าประเทศในกลุ่มเอซีดี มีการเชื่อมโยงทุกมิติโดยการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางบก น้ำ และอากาศ สอดคล้องกับประเทศสมาชิก ไม่ใช่ขัดแย้งกันด้วยการแข่งขันเพียงอย่างเดียว และขอฝากไว้ว่า ในอนาคตโลกเปลี่ยนแปลงไม่มีอาหารเราจะอยู่กันอย่าง เรื่องนี้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในต้นทุน ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เราจะทำอย่างไรจะทำให้การเชื่อมโยงทุกประเทศมีประสิทธิภาพ แบบไร้รอยต่อ หากเราเอาความขัดแย้งมาพูดก่อนก็จะไปกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องดินแดน เขตแดน เพราะยังไงก็ต้องอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนจะกินอยู่อย่างไร นอกจากนี้ ตนอยากให้มองเป้าหมายมูลค่าของกลุ่มประเทศเอซีดีขึ้นเป็น 12 ล้านล้านโดยเร็ว อีกทั้งอยากให้ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมาดูพวกเราด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทำสงครามกับความจน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกร เราได้ทำตามแนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อความยั่งยืนของประเทศ ซึ่งแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง และไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและจะทำอย่างไร ไม่ให้ประเทศล้ม และเมื่อล้มต้องไม่เจ็บ เพราะเราใช้เงินแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาอื่นจะตามมา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องมีเหตุผล ต้องรู้จักประมาณตัวเอง

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 10 มีนาคม 2559

ใจชื้นภาคอีสานเริ่มมีฝนพรำ กรมชลฯยันน้ำพอถึงเดือน ก.ค. เตรียมแผนรับมือเทศกาลสาดน้ำทิ้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 130 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมทำการเกษตร 67.3% หรือ 88 ล้านไร่และพื้นที่ไม่เหมาะสม 32.7% หรือ 42 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯต้องการปรับเปลี่ยนให้ปลูกพืชที่เหมาะสม จึงได้สั่งการให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวง เป็นประธานจัดทำแผนเกษตรระดับจังหวัด ให้เสร็จในเดือน เม.ย. ด้านสถานการณ์เก็บเกี่ยวข้าวนาปีรอบแรกและรอบสองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ได้เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว มีรอเก็บเกี่ยวบางพื้นที่เพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.59 จำนวน 3.05 ล้านไร่นั้น เก็บเกี่ยวแล้ว 0.94 ล้านไร่และมีพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจได้รับความเสียหาย 400,000 ไร่ ซึ่งได้ระมัดระวังเป็นอย่างดี ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำในเขื่อนหลักมีจำนวน 2,820 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการระบายน้ำต่อวัน 18 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาและค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์กำหนด ไม่กระทบต่อน้ำต้นทุนเดิมที่มีอยู่ โดยยืนยันว่าจะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้ตลอดเดือน ก.ค “ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น จ.ขอนแก่น ที่มีข่าวว่าจะหยุดการระบายน้ำนั้น ได้มีมาตรการรองรับในกรณีที่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำน้อยอยู่แล้ว และยังเตรียมประชุมบริหารจัดการน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน ไม่เกินกลางเดือน มี.ค.นี้ ส่วนเรื่องการแย่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองนั้น ทางกรมชลประทานได้ส่งน้ำให้เต็มพื้นที่แล้ว”

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จำนวน 1.58 ล้าน ลบ.ม. บรรเทาภัยแล้งในภาคอีสานได้บางส่วนและเริ่มมีฝนตกในภาคอีสานแล้วด้วย ส่วนภาคกลางจะเร่งเติมน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อช่วยให้การประปาฯมั่นใจในการผลักดันน้ำเค็มมากขึ้น โดยจะมีน้ำใช้ได้จนถึงเดือน ก.ค.แน่.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 10 มี.ค. 2559

ดันโซนนิ่งเกษตรลดพื้นที่42ล้านไร่   

   รมว.เกษตรฯ สั่งทำแผนที่รับนโยบายโซนนิ่ง เอาจริงลดพื้นที่ไม่เหมาะสมทำการเกษตร 42 ล้านไร่

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มเดินหน้าลดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร 42 ล้านไร่ หรือประมาณ 32% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 130 ล้านไร่ ตั้งแต่ปีการผลิต 2559 หรือตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยจะทยอยลดพื้นที่ทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมลงให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ไม่กำหนดระยะเวลาว่าต้องเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะมาตรการที่นำมาใช้จะไม่ใช่มาตรการบังคับ

ทั้งนี้ กระทรวงได้มอบหมายให้ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จัดทำแผนที่พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยแผนที่ดังกล่าวจะมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของดินและแหล่งน้ำในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอีก 10 ปีข้างหน้าตามแผนการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้กับเกษตรกรรับทราบจะดำเนินการผ่านศูนย์การเรียนรู้ 882 แห่งทั่วประเทศ

"พื้นที่ไม่เหมาะสมจะมีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอื่น โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ พร้อมๆ กับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ระยะนำร่อง 1 จังหวัด 1 เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการประชารัฐที่จะภาครัฐร่วมมือกับเอกชนในการเชื่อมโยงเกษตรกรกับแหล่งรับซื้อและแปรรูปผลผลิต" " รมว.เกษตรฯ กล่าว

สำหรับพื้นที่ 42 ล้านไร่ ที่ไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร เช่น พื้นที่ปลูกข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกยางภาคใต้ 5.8 ล้านไร่ และปลูกปาล์ม 1.8 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกอ้อยในภาคกลาง 3.7 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภาคเหนือ 2.2 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือ 1.4 ล้านไร่

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 มี.ค. 2559

"มิตรผล" ยื่นขอ "Bonsucro" รองรับมาตรฐานอ้อย-น้ำตาลทราย

ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นหนึ่งในประเด็นด้านความยั่งยืนที่ทวีความสำคัญ เมื่อกระแสโลกเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้นการตรวจสอบ หรือการรับรอง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการการันตีมาตรฐานของการดำเนินงาน

ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มี Bonsucro เป็นหน่วยงานที่รับรองมาตรฐานการผลิตของธุรกิจ องค์กรนี้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อการแข่งขันทางธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่า Bonsucro คือมาตรฐานการวัดในระบบเมตริกของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีหน่วยงานตรวจสอบอิสระเป็นผู้ตรวจสอบและให้การรับรองมาตรฐาน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 450 ราย จาก 27 ประเทศ โดยมีพื้นที่อ้อย 9.5 เฮกตาร์ของโลก ที่ผ่านการรับรองจาก Bonsucro

หนึ่งในบริษัทของไทยที่เป็นสมาชิกของ Bonsucro คือกลุ่มมิตรผล ซึ่งทำเรื่องการส่งเสริมเกษตรกร และใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อยมาโดยตลอด "กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า จากการเข้าเป็นสมาชิกแล้วได้ปรับรูปแบบการดำเนินงานเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ Bonsucro โดยเกณฑ์คือการปฏิบัติตามกฎหมายทุกระดับ เคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงาน มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการปรับปรุงต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตก็ต้องอยู่ในมาตรฐาน

ด้วยความที่ตลอดระยะเวลาของการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืนกอปรกับได้นำระบบโมเดิร์นฟาร์มจากประเทศออสเตรเลียมาใช้เป็นระยะเวลา2ปีทำให้มิตรผลได้รับรางวัลBonsucroSustainability Awards เมื่อปีที่ผ่านมา โดยโมเดิร์นฟาร์ม ประกอบด้วย การปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ควบคุมแนววิ่งของรถ และการไว้ใบคลุมดิน ซึ่งการจัดการอ้อยรูปแบบนี้ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดินและลดการบดอัดของชั้นดิน ช่วยลดต้นทุนการผลิตลงกว่า 25% ทั้งยังเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากเดิม 10 ตัน เป็น 20 ตัน รวมถึงยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม

"การดำเนินงานหลายอย่างเราทำมาก่อนหน้านี้แล้วโดยความเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนให้ชาวไร่และไม่กระทบสิ่งแวดล้อมแต่ประเด็นคือตอนที่เราเริ่มทำยังไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพเมื่อมาเจอกับโมเดิร์นฟาร์มก็นับว่าตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน นอกจากจะทำในไทยแล้ว เรายังนำระบบนี้ไปใช้ในประเทศจีนและลาวที่เราเข้าไปทำธุรกิจอีกด้วย"

"โมเดิร์นฟาร์ม หรือฟาร์มยั่งยืน เป็นเรื่องที่เราได้รับการยกย่องมาก นอกจากนั้นเรายังหาเทคโนโลยีการจัดการใหม่ ๆ อย่างระบบอัตโนมัติสมบูรณ์มาใช้กับโรงงาน สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วไป รวมถึงเรายังมีเทคโนโลยี Activated Carbon ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในกระบวนการผลิตน้ำตาล และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"

นอกจากนั้น เพราะชาวไร่และชุมชนเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินธุรกิจ มิตรผลมองว่าเศรษฐกิจดีไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้ชุมชน แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย จึงมีการเสริมโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งได้จับมือร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบบูรณาการใน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และจิตใจ

ตอนนี้มิตรผลกำลังอยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐานจาก Bonsucro ถึงแม้เกณฑ์ที่ทำค่อนข้างจะเข้มงวด แต่ "กฤษฎา" มองว่า ถ้าทำแล้วจะทำให้ผลผลิตของธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอีกทางหนึ่ง โดยการได้ใบมาตรฐานจากบอนซูโครจะต้องผ่านการรับรองใน 3 ประเด็น คือ การผลิตอ้อยในไร่ การผลิตน้ำตาลในโรงงาน และมีระบบที่ตรวจสอบย้อนกลับได้จากไร่ไปสู่น้ำตาลและส่งถึงลูกค้า ซึ่งพื้นที่ที่ขอรับรองเป็นไร่อ้อยของบริษัทประมาณ 5,000-10,000 ไร่ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 ต้องได้รับการรับรอง 4 แสนไร่

"เราเข้าไปให้ความรู้และเตรียมความพร้อมกับเกษตรกรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะเรามีโรดแมปที่จะขยายพื้นที่การรับรองไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมมองว่าการขอรับรองจาก Bonsucro เป็นเรื่องดี เนื่องจากบางเรื่องหากไม่มีกรอบ คนของเราก็ไม่รู้ว่าควรดำเนินการอย่างไร ตรงนี้จะทำให้พนักงานสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร โดยเรามีแผนว่าจะยื่นขอการรับรองในเดือน พ.ค.นี้"

ผลต่อเนื่องจากการมีมาตรฐานของ Bonsucro ย่อมส่งผลต่อธุรกิจ เพราะลูกค้ารายใหญ่ของมิตรผลล้วนมีแผนความยั่งยืน เมื่อลูกค้าต้องการให้สินค้ายั่งยืน ก็ต้องซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตน้ำตาลที่ได้รับมาตรฐานด้านนี้ อันหมายรวมถึงการได้มาซึ่งลูกค้ารายใหม่ ๆ และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าลูกค้ารายใหม่ของมิตรผลคือ ช็อกโกแลตเฟอร์เรโร่ รอชเชอร์ (Ferrero Rocher)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในงาน TCS Brasil 2016

นอกจากศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและด้านการเกษตร “บราซิล” เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ยังเป็นประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในเวทีพลังงานระหว่างประเทศ

พลังงานทดแทนในบราซิล

บราซิลใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 8 ของโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้การบริโภคน้ำมันและเชื้อเพลิงของบราซิลมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อนาคตมีแนวโน้มว่า บราซิลจะไม่สามารถผลิตเชื้อเพลิงและพลังงานให้เพียงพอต่อการบริโภคได้ รัฐบาลบราซิลได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงพยายามแก้ไขปัญหาโดยหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และปัจจุบัน บราซิลได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงเหลวแถวหน้าเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

ภาครัฐของบราซิลแสดงบทบาทในด้านพลังงานทดแทน และได้ริเริ่มการจัดงานประชุมและแสดงนิทรรศการระดับนานาชาติในสาขาพลังงานทดแทนหลากหลายเวที เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยรวมถึงผู้มีบทบาทสำคัญแวดวงต่างๆ ในสาขานี้ ที่จะพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สำคัญด้านพลังงานทดแทน

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย ว่า สองหน่วยงานของบราซิล ได้แก่ Institute of Applied Technology and Qualification (ITAO) ร่วมกับ Gasification on Technology Council (GTC) จะจัดงานประชุมและแสดงนิทรรศการ Thermal Conversion Solutions หรือ TCS Brazil 2016 ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและสินค้า Rafain Palace เมือง Foz Do Iguaou

งานประชุมและแสดงนิทรรศการ TCS Brazil จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของบราซิล ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีและธุรกิจด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้จัดมุ่งหวังอย่างยิ่งให้งานนี้เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่จะร่วมบรรลุความท้าทายของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030

งาน TCS Brazil 2016 จะประกอบไปด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ งานสัมมนาระหว่างประเทศ และงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการใช้พลังงานความร้อนจากใต้พิภพและการใช้ก๊าซชีวภาพ ผู้จัดงานประสงค์จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสาขาการจัดการขยะ ถ่านหินโค้ก เหมืองถ่านหิน พลังงาน ชีวมวล น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และก๊าซชีวภาพ เข้าร่วมงาน

สำหรับผู้ที่สนใจจะไปจัดแสดงในงาน คูหามาตรฐานแบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่ 1) พื้นที่ว่างราคา 380 เรียลบราซิลต่อตารางเมตร (3,394 บาทต่อตารางเมตร) 2) คูหามาตรฐานราคา 450 เรียลบราซิลต่อตารางเมตร (4,019 บาทต่อตารางเมตร) และ 3) คูหาตกแต่งพร้อมราคา 550 เรียลบราซิลต่อตารางเมตร (4,912 บาทต่อตารางเมตร) สามารถติดต่อผู้จัดงานโดยตรงที่โทรศัพท์ +55 41 3114 4760 และ +55 41 3555 2537 อี-เมล์ contato@itaq.com.br และ contato@tcs-brasil.com ดูรายละเอียดงานเพิ่มเติมในเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ http://www.tcs-brasil.com/-en–thermal-conversion-solutions—brazil-2016.html

พบกับการอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ bic.mfa@gmail.com

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

'บิ๊กฉัตร'กำชับตรวจปุ๋ยไร้คุณภาพ ชี้หากพบจ่อเอาผิดทางกฎหมาย

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหรณ์เปิด เผยว่า ก.เกษตรได้ให้ความสำคัญ มาตรการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลผลิตในอีก3 เดือน ล่าสุด ได้มีการกำชับให้ กวก.เร่งรัดให้มีการตรวจสอบ ในการผลิตปุ๋ย ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวด เพราะถือว่า หากมีปุ๋ยที่ไม่ได้คุณภาพขายในท้องตลาด ถือเป็นการซ้ำเติมเกษตร โดยหากพบว่ามีการนำปุ๋ยไม่ได้คุณภาพมาจำหน่าย จะให้กรมวิชาการดำเนินการเอาผิดด้านกฎหมายอย่างเข้มงวดทุกกรณี

ขณะที่ นายสมชาย กล่าวว่า เบื้องต้นทางกรมฯได้ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต และร้านค้า และปุ๋ยทุกสูตร อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าว และใช้ในพืชหลักอื่นๆ โดยกำชับให้สารวัตรเกษตรเข้าตรวจสอบโรงงานทั้งหมดในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศที่เป็นแหล่งผลิต หากพบว่ามีการผลิตไม่ได้คุณภาพก็จะดำเนินการทางกฎกมายอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น เกษตรกรว่าปุ๋ยที่ซื้อมามีคุณภาพหรือไม่ สามารถนำรหัสสินค้าข้างกระสอบ ไปตรวจในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรได้ตลอด24 ชม. และเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในแหล่งจำหน่ายปุ๋ยมากขึ้น ก็ได้ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกันนำปุ๋ยที่ได้รับรองคุณภาพตัวคิวไป จำหน่ายในสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการลงนาร่วมกันในสัปดาห์หน้า

จาก http://www.naewna.com    วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เกษตรฯแจงแผนการใช้น้ำ จ่อบูรณาทำฝนหลวง-วางโซนนิ่ง

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีรอบแรก/รอบสองในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้เก็บเกี่ยวแล้วเรียบร้อยแล้ว มีบางพื้นที่ที่ยังรอเก็บเกี่ยวอีกเพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ก.พ. - เม.ย. 59 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 3.05 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน จำนวน 1.98 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน จำนวน 1.07 ล้านไร่ รวมทั้งในเขต/นอนเขตชลประทานเก็บเกี่ยวแล้ว 0.94 ล้านไร่ เหลืออีก 2.11 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.16 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.95 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังอาจได้รับความเสียหายจำนวน 4 แสนไร่ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลและระมัดระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการบริหารจัดการน้ำในส่วนอื่นๆ

ด้านสถานการณ์น้ำ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพน้ำในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังคงรักษาค่าความเค็มได้ดี ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำใช้จนถึงเดอืน ก.ค. แน่นอน ส่วนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีกระแสข่าวการขาดแคลนน้ำจากกรณีเขื่อนอุบลรัตน์น้ำน้อย กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว สำหรับพื้นที่ภาคเหนือที่มีความกังวลว่าจะกระทบการเล่นน้ำสงกรานต์นั้น ในช่วงกลางเดือนมี.ค. นี้ จะมีการประชุมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำ โดยคกก.บริหารจัดการน้ำ ณ กรมการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และกรณีการแย่งน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา อ.สองพี่น้อง สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง มีผลกระทบกับชาวไร่อ้อย 16,000 ไร่ แต่เนื่องด้วยระบบการส่งน้ำที่ต้องส่งให้เต็มคลองก่อนจึงจะสามารถปล่อยน้ำไปยังพื้นที่เป้าหมายได้ กรมชลประทานจึงให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการลดสันฝาย เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

ขณะที่การปฏิบัติการฝนหลวง ขณะนี้ได้ออกปฏิบัติการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว โดยมุ่งเน้นในเขตภาคอีสาน บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำตะคอง ผลจากการปฏิบัติการเริ่มมีฝนตกบ้างแล้ว ประกอบกับได้รับรับอิทธิพลลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดความชุ่มชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ซึ่งเป็นข้อดีที่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวง รวมทั้งเน้นปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคกลาง เน้นบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้งให้เป็นไปตามแผนด้วย

นอกจากนี้ เรื่องการจัดการพื้นที่การเกษตรถือว่ามีความสำคัญ และสอดคล้องกับการใช้น้ำอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ยังได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ทางการเกษตรการเกษตรทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ปลูกพืชจำนวน 130 ล้านไร่ เป็นการเพาะปลูกที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ 67.3% ไม่เหมาะสม 32.6%โดยในพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมีจำนวน 42 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 27 ล้านไร่ ยาง 5.8 ล้านไร่ อ้อย 3.7 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2.2 ล้านไร่ ปาล์ม 1.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งได้มอบหมายให้นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ และได้สั่งการให้บูรณาการแผนที่การเพาะปลูก แผนที่ดิน และแผนที่น้ำเข้าด้วยกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. นี้ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำไปขับเคลื่อนในพื้นที่ต่อไป จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะเข้าไปส่งเสริมความรู้ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมงอย่างเหมาะสม รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จะทำหน้าที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรกร ทั้งนี้ในบางพื้นที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรม หรือการปรับเปลี่ยนการเกษตรด้านอื่นๆ ที่เหมาะสม จะแนะนำส่งเสริมโดยใช้ศูนย์การเรียนรู้ที่มีอยู่ 882 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการปรับเปลี่ยนดังกล่าว จะเป็นการสมัครใจของเกษตรกรเอง ไม่ใช่การบังคับ

 รมว.เกษตรกล่าวอีกว่าในส่วนการผลักดัยเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐขณะนี้ได้มีการเตรียมพร้อมในการทำเกษตรแปลงใหญ่แล้วทั้วหมดกว่า 268 แปลงทั่วประเทศซึ่งเป็นการส่งเสริมการปลูกข้าว142แปลงพืชไร่42แปลงส่วนที่เหลือเป็นไม้ผลและพืชผักโดยในส่วน268แปลงมีทีพื้นที่กว่า662,669ไร่มีเกษตรกรในพื้นที่ทั้งหมดกว่า29,169ครัวเรือนโดยในปี2559จะมีแปลงใหญ่นำร่องที่ผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ทันที76แปลงหรือแปลงละ1จังหวัดโดยจะมีการบริหารแปลงในรูปแบบผู้จัดการซึ่งจะมีการวางแผนการตลาดที่ชัดเจนโดยจะทีการฝึกอยรมผู้จัดการที่จะเข้าไปบริหาร4รุ่นทั้งหมด 500 คน เพื่อเตรียมกับการดำเนินการเรื่องแปลงใหญ่ในวันที่11-12 มีนาคมนี้ก่อนจะมีการเปิดแปลงใหญ่อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคมนี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯมั่นใจน้ำมีใช้ถึงเดือนกค. ชี้เริ่มทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อน

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อ.กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่มีข่าวว่าจะมีการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแน่นอน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาและผลักดันน้ำเค็ม ยืนยันว่า กรมชลประทาน มีการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพ จึงขอให้ประชาชนมี่นใจว่าจะมีน้ำอุป ถึง กค.แน่นอน

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ที่จ.ขอนแก่น อาจจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำน้ำประปาเนื่องจาก เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำน้อย ยืนยันว่า กรมชลฯได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยขณะนี้ยังไม่มีปัญหา ที่ผ่านมากรมชลได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ขณที่จ.เชียงใหม่ ที่กลัวจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วง เทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนั้น ช่วงกลางเดือนนี้ กรมชล จะมีการประชุมร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ เบื้องต้นไม่น่าจะมีปัญหา

ขณะที่ที่มีข่าวแย่งน้ำ ของชาวไร่อ้อย ได้ให้เจ้าหน้าที่ ไปแก้ปัญหาในพื้นที่แล้ว ยืนยันวางแผนเป็นระบบ และคิดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าจะมีน้ำใช้ถึง กค.แน่นอน

ด้านนายเลอศักดิ์ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมขึ้นปฏิบัติการเต็มที่ ซึ่งในวันที่ 7มีค.ที่ผ่านมาได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ที่จ.นครราชสีมา โดยสามารถเติมน้ำเข้าเขื่อนลำตะคองได้ 1.57 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้จะเร่งปฏิบัติการให้ครอบคลุมพื้นที่ โดยเน้นใน พื้นที่เติมน้ำภาคกลางในเขื่อนป่าสัก คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ ให้กรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคได้ถึง กค.แน่นอน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แห่นำเข้าเพิ่ม!คู่ค้าเร่งออร์เดอร์หวั่นนํ้าตาลขาด

เพื่อนบ้านนำเข้าน้ำตาลจากไทยพุ่งโดยเฉพาะ อินโดนีเซีย จีน และเมียนมา วงการน้ำตาลเผย มี 3 เหตุผลนำเข้าน้ำตาลเพิ่ม โดยเฉพาะเร่งทำสัญญาซื้อ-ขายล่วงหน้าหลังน้ำตาลโลกอยู่ในภาวะตรึงหรือขาดแคลน จับตาเมียนมานำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงกว่าปริมาณบริโภคภายในประเทศ พบตะเข็บชายแดนมีการลักลอบส่งออกไปจีน กินส่วนต่างราคาสูงกว่าเท่าตัว

สืบเนื่องจากที่ “ฐานเศรษฐกิจ” นำเสนอข่าว “โลกระส่ำ!พิษน้ำตาลขาด” หลังจากที่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ทั้งบราซิล อินเดีย และไทยต่างเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลต่ำลง และมีแนวโน้มว่าน้ำตาลโลกจะขาดแคลนแน่ราว 5-6 ล้านตันนั้น

ภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด

ต่อเรื่องนี้นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า น่าจับตามองที่ขณะนี้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลจากประเทศไทยไปยังประเทศปลายทางที่สำคัญมีสถิติสูงขึ้นโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2557 และ 2558 และประมาณการปี 2559 พบว่า บางประเทศนำเข้าน้ำตาลชนิดต่างๆ จากไทยรวมกันสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย ที่นำเข้า 1.74 ล้านตันน้ำตาล เพิ่มเป็น 1.89 ล้านตันน้ำตาล และคาดการว่าปี 2559 จะเพิ่มเป็น 3.20 ล้านตันน้ำตาล

ส่วนจีนเมื่อปี 2557 นำเข้าน้ำตาลจากไทย 7.06 แสนตันน้ำตาลในปี 2557 และเพิ่มเป็น 8.87 แสนตันน้ำตาลปี 2558 และคาดการณ์ว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 1.0 ล้านตันน้ำตาล ขณะที่เมียนมา เมื่อปี 2557 มีการนำเข้าน้ำตาลจากไทย 1.30 แสนตันน้ำตาล เพิ่มเป็น 6.77 แสนตันน้ำตาล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมียนมาบริโภคน้ำตาลยังไม่มาก และคาดว่าปีนี้จะมีการนำเข้าน้ำตาลจากไทยอยู่ที่ราว 4 แสนตันน้ำตาล

สอดคล้องกับที่นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวว่าการที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยมากขึ้น เกิดจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1.ค่าขนส่งน้ำตาลจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนถูกกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งน้ำตาลจากผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่น ที่มีระยะทางไกลกว่า 2.ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการใช้น้ำตาลราว 10 ล้านตันต่อปี แต่ผู้ผลิตไทยสามารถส่งออกน้ำตาลไปยังทั่วโลกได้เพียง 7-8 ล้านตันเมื่อปี 2558 3.ผู้นำเข้าน้ำตาลต่างเร่งทำสัญญาซื้อ-ขายน้ำตาลล่วงหน้าในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในภาวะตึงตัวถึงขั้นขาดแคลน

“ในประเด็นสุดท้ายก็ต้องดูในแง่ผู้ขายน้ำตาลด้วย แม้ว่าอยากขายมากขึ้น โดยเร่งทำสัญญาก็มีความเสี่ยงว่าจะไม่มีน้ำตาลส่งมอบได้ ถึงเวลานั้นก็จะถูกปรับได้”

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาล กล่าวเพิ่มเติมว่าเวลานี้ที่น่าจับตามองคือ การบริโภคน้ำตาลในจีนที่สูงขึ้นถึง 15 ล้านตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลในจีนมีเพียง 9-10 ล้านตันต่อปี ทำให้ส่วนต่างที่ขาดอยู่ จีนต้องนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อปี 2558 จีนมีการนำเข้าน้ำตาลจากทั่วโลก 4.8 ล้านตัน คาดว่าปี 2559 จีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 5.5 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้จีนจะนำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงขึ้นจาก 8.87 แสนตันในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 1.0 ล้านตันในปีนี้

นอกจากนี้การที่รัฐบาลจีนห้ามนำเข้าน้ำตาลเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำตาลภายในประเทศจีนไม่ให้ราคาตกต่ำลง เพราะเมื่อใดที่ราคาอ้อยและน้ำตาลร่วงลง เกษตรกรจะหันไปปลูกพืชอื่นทดแทนทันที ยิ่งกดให้น้ำตาลขาดแคลนหนักขึ้น

จากกรณีดังกล่าวทำให้ที่ตะเข็บชายแดนพม่ามีการลักลอบขนน้ำตาลทรายขาวไปขายยังจีน โดยจีนมีการลักลอบนำเข้าเพื่อเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามนำเข้าเป็นบางช่วง และมีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่เมียนมานำเข้าน้ำตาลจากไทยสูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศคาดว่าน่าจะมีน้ำตาลบางส่วนที่ซื้อจากไทยไป เพื่อลักลอบส่งออกไปขายให้ผู้ค้าจีนอีกทอดหนึ่งเพื่อกินส่วนต่างราคาที่น่าจูงใจ

“ราคาน้ำตาลทรายขาวที่ซื้อจากไทยอยู่ที่ราว 400-445 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และผู้ค้าเมียนมานำไปขายต่อให้ผู้ค้าจีนได้ในราคาราว 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยราคาน้ำตาลทรายขายปลีกในจีนอยู่ที่ราว 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำตาลขายปลีกในไทยถูกควบคุมอยู่ที่ 23.50 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น”

ข้อมูลจากบริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ระบุว่า สถิติปริมาณการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศปลายทางที่สำคัญ นอกจากอินโดนีเซีย จีน และเมียนมาตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่ไทยส่งออกน้ำตาล เช่น ญี่ปุ่น ปี 2557 นำเข้า 7.54 แสนตัน ปี 2558 จะนำเข้า 6.34 แสนตัน และคาดการณ์ปีนี้จะนำเข้า 6.30 แสนตัน, กัมพูชา นำเข้าปี 2557 จำนวน 5.45 แสนตัน ปี 2558 จำนวน 4.81 แสนตัน และปีนี้จำนวน 4.80 แสนตัน, เวียดนาม ปี 2557 นำเข้า 1.23 แสนตัน ปี 2558 เพิ่มเป็น 3.81 แสนตัน ปี 2559 จะนำเข้า 3.80 แสนตัน เป็นต้น

อนึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 2 โดยปีที่ผ่านมามีปริมาณส่งออก 7-8 ล้านตันต่อปี รองจากบราซิล ที่มีการส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ที่จำนวน 30-35 ล้านตันต่อปี ส่วนในแง่ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ประกอบด้วยประเทศบราซิล ไทย อินเดีย ออสเตรเลีย และจีน ซึ่งในจำนวนนี้จีนและอินเดียส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศตัวเองเป็นหลักก่อน

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชาวไร่อ้อยทุกข์ 2 เด้ง แล้งน้ำ-หนอนด้วงโผล่

ความแห้งแล้งทวีความรุนแรง ต้นไม้ใบหญ้าเหี่ยวเฉา ไม่ผลิดอกออกยอดแตกใบอ่อน แมลงศัตรูพืชอดอยาก ไม่มีอาหารกินต้องเผยตัวออกจากที่หลบซ่อน

“หนอนด้วงหนวดยาว” แม้จะกบดานใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินนาน 1-2 ปี ซอกซอนแทะหาอาหาร กัดกินน้ำหล่อเลี้ยงรากต้นไม้ มาวันนี้ความแห้งแล้งได้ทำให้รากอ้อย อาหารชั้นเลิศเริ่มไม่หวาน ฝูงหนอนด้วงหนวดยาวอพยพออกจากใต้ดิน

คืบคลานกัดกินอ้อยตั้งแต่ราก กอ กระทั่งต้นอ้อย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่อ้อยเขต 7 ในพื้นที่ อ.โพธาราม, อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และ อ.ท่าม่วง, อ.ด่านมะขามเตี้ย และอีกหลายอำเภอใน จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ 30,000 ไร่...การกำจัด เกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้วิธีเปิดไฟล่อให้ด้วงและแมลงศัตรูชนิดอื่นมาเล่นไฟ แล้วจับทำลาย

แต่เป็นวิธีที่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า ผิด...ทำไปไม่ได้ผล เพราะตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวที่มาเล่นไฟ ส่วนใหญ่ได้มุดเข้าไปวางไข่ในดินเรียบร้อยแล้ว แต่ละครั้งตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 400 ฟอง ภายในระยะ 17 วันจะฟักตัวจากไข่กลายเป็นตัวหนอน และมีชีวิตอยู่ใต้ดิน 1-2 ปี

 “สภาพดินลักษณะดินร่วนปนทรายด้วงหนวดยาวจะเข้าทำลายสูงกว่าแปลงที่เป็นดินเหนียว และแปลงปลูกอ้อยที่มีการให้น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ้อยตอ หลังจากตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว เกษตรกรมักจะเร่งให้น้ำใส่ปุ๋ยเพื่อให้อ้อยแตกกอโตไว แต่ถ้าในพื้นที่มีหนอนด้วงหนวดยาวอาศัยอยู่ใต้ดิน การให้น้ำอ้อยจะยิ่งเร่งให้ฝูงหนอนด้วงใต้ดินขึ้นมาหากินกัดแทะดูดน้ำหล่อเลี้ยงอ้อยได้เร็วขึ้น”

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรแนะวิธีที่ถูกต้อง ใช้วิธีกลไถพรวนก่อนปลูก แล้วเก็บหนอนตามรอยไถ โดยเฉพาะในช่วง มี.ค.-เม.ย. หนอนด้วงหนวดยาวจะมีขนาดใหญ่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

อีกวิธีป้องกันกำจัดด้วยศัตรูธรรมชาติ ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม โรยบนท่อนพันธุ์สำหรับแปลงอ้อยใหม่พร้อมปลูก...ส่วนแปลงตออ้อย ให้เปิดร่องอ้อยโรยเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมให้ชิดกออ้อยแล้วกลบดิน

เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมดังกล่าว จะมีผลทำให้หนอนค่อยๆเบื่ออาหารและแห้งตาย

แต่ถ้าหาเชื้อราเขียวไม่ได้ ให้ใช้ สารฟิโพรนิลชนิดน้ำ ผสมอัตรา 80 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หรือ 320 มิลลิลิตร/ไร่ ฉีดพ่นบนท่อนพันธุ์พร้อมปลูก สำหรับอ้อยเปิดหน้าดินใหม่ (อ้อยปีแรก)...แต่ถ้าเป็นอ้อยแปลงเก่า (อ้อยตอ) ใช้วิธีเปิดร่องอ้อยแล้วฉีดสารชิดกอแล้วกลบหน้าดิน

มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี 0-3455-2035 หรือสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร 0-2579-3930-1.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

อุตฯระดมสู้ภัยแล้ง-อุ้มเกษตรกรเตือน3,616โรงงานใช้น้ำมากใน24จังหวัดตั้งรับ 

          สถานการณ์ "ภัยแล้ง" ปีนี้ที่คาดการณ์กันว่าจะลากยาวถึงเดือนมิถุนายน และศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินว่าจะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจ 6.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองไว้สูงกว่าตัวเลขอยู่ที่ 70,000-100,000 ล้านบาท โดยมีความเสียหายทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเสียหายสูงสุดประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็มีความตื่นตัวเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งด้วยเช่นกัน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการรับมือปัญหาภัยแล้งว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้กำหนดแนวทางมาตรการป้องกันการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมระยะสั้นและระยะยาวไว้ ดังนี้ มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs 2.การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดี สามารถใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ 3.การขอความร่วมมือในการลดระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในช่วงฤดูแล้ง ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ 1.การเพิ่มบ่อกักเก็บน้ำสำรองในโรงงาน 2.การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น น้ำทะเล น้ำทิ้งโรงงานสำหรับจังหวัดในภูมิภาค

          ขณะที่ในแต่ละจังหวัดได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งปี 2558/2559 ประจำจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ของทุกภาคส่วนแล้ว อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกรายในการลดการใช้น้ำ และลดการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานตลอดจนการช่วยเหลือดูแลภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในภาคอุตสาหกรรม

          "ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจอย่างละเอียดถึงผลกระทบจากภัยแล้ง พบว่าไม่มีโรงงานปิดตัวลงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบลดลงหรือมีคุณภาพไม่คงที่ และมีราคาสูงขึ้น" นางอรรชกา กล่าวและว่า ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากอื่นๆ ได้มีการเตรียมการรองรับวิกฤตดังกล่าว เช่น การปรับแผนหรือปรัปปรุงกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากได้รับทราบแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน

          ด้านนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมโรงงานฯ ได้ติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด และเห็นว่าปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากพบว่า มีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในปี พ.ศ.2559 จำนวน 3,616 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม

          ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ ได้แจ้งเตือนโรงงานให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยมีมาตรการระยะสั้น เช่น ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs ขอความร่วมมือให้ใช้น้ำบาดาล หากพื้นที่นั้นๆ ยังมีน้ำใต้ดินมีคุณภาพดีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อนรวมทั้งขอความร่วมมือลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ส่วนมาตรการระยะยาว กรมโรงงานฯ ได้วางแผนให้โรงงานที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก พิจารณาขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝนเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ในช่วงฤดูแล้ง และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำน้ำทะเลหรือน้ำทิ้งมาผลิตเป็นน้ำใช้อุตสาหกรรม

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะประสบปัญหาจากภัยแล้ว แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของภาคเกษตรกรรม เนื่องจากภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมากที่สุด มากกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ทั้งหมด เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตกรให้มีน้ำใช้ในการทำการเกษตร กรมโรงงานฯ จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และพิจารณาอนุญาต โรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ.2559" โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ และสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559

          ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมตามข้อกำหนด ดังนี้ 1.โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมต้องเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 เฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับอาหาร เนื่องจากวัตถุดิบเป็นสินค้าการเกษตรและกระบวนการผลิตให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำล้างทำความสะอาดวัตถุดิบเป็นหลัก ประเภทโรงงานที่อนุญาต ได้แก่ โรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารจาก พืช ผัก ผลไม้ สัตว์น้ำ อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ เป็นต้น ซึ่งมีโรงงานที่เข้าข่ายตามประกาศฉบับนี้จำนวน 2,300 โรง โดยแต่ละโรงสามารถปล่อยน้ำทิ้งใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรกรรมอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ต่อวัน

          2.ประเภทโรงงานต้องมีการบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นไปตามกฏหมายและต้องมีเงื่อนไขการบำบัดทิ้งให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงฯ และห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่ต้องการ แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2559 นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการที่ประสงค์จะนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรม จะต้องขออนุญาตอุตสาหกรรมจังหวัด โดยจะมีขั้นตอนในการอนุญาตภายใน 5 วัน ทำการหลังจากได้รับเอกสารครบถ้วนจากโรงงาน

          ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายประกาศฉบับนี้ทั้งระบบมีการระบายน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้ว จำนวนเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน เฉพาะโรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ นม สัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช อาหารจากแป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ โกโก้ ขนมหวาน เครื่องปรุง เป็นต้น และเมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ผู้ประกอบการโรงงานห้ามระบายน้ำออกจากโรงงานตามเดิม

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กระทรวงเกษตรฯ หนุนบ่อน้ำบาดาลสู้ภัยแล้ง

ในบางพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำบาดาลมาช่วยบรรเทาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้ โดยเมื่อเพิ่มบ่อน้ำบาดาลทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งลดลงเหลือ 42 จังหวัด 152 อำเภอ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ว่า เป็นการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ทั้งนี้จากที่มอบให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลทำการสำรวจและจัดทำข้อมูลบ่อน้ำบาดาลที่ใช้การได้ พบว่า ในบางพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำบาดาลมาช่วยบรรเทาภัยแล้งเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้ โดยเมื่อเพิ่มบ่อน้ำบาดาลทำให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งลดลงเหลือ 42 จังหวัด 152 อำเภอ แบ่งเป็น พื้นที่ใกล้วิกฤติ 11 จังหวัด 20 อำเภอ และพื้นที่เฝ้าระวัง 40 จังหวัด 132 อำเภอ จากเดิมมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง 68 จังหวัด 391 อำเภอ

อย่างไรก็ตาม จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้ง 42 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยกระทรวงกลาโหม จะเข้าไปดูแลพื้นที่ใน 20 จังหวัด กระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแล 13 จังหวัด และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เข้าไปดูแล 9 จังหวัด ที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งดังกล่าว

ขณะที่การเตรียมความพร้อมในการผลิตน้ำประปา ทั้งการประปาส่วนภูมิภาคและการประปานครหลวง พบว่า บางพื้นที่มีความจำเป็นต้องจ่ายน้ำเป็นเวลา โดยแบ่งโซนจ่ายน้ำ จำนวน 4 แห่ง ลดกำลังการจ่ายน้ำลงอีก 5 แห่ง และการป้องกันน้ำเค็มอีก 3 แห่ง โดยเป็นการเฝ้าติดตามและสร้างความมั่นใจในการมีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคของประชาชนอย่างเพียงพอ ซึ่งยืนยันว่าน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจนถึงเดือน ก.ค. 59

สำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการนั้น ได้มีการเร่งดำเนินการในแต่ละมาตรการอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับแจ้งจากจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดมหาสารคาม เพื่อขอยกเลิกโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรฯ ปี 2558/59 กรณีโครงการพืชน้ำน้อย ระยะที่ 1 ภายใต้มาตรการที่ 4 เนื่องจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงขอยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 2 จังหวัด 3 ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร 3 โครงการ วงเงินรวม 4,238,000 บาท ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดมหาสารคาม

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ในการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า กระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะจัดงาน “รวมพลังคนไทย ร่วมใจประหยัดน้ำ สู้ภัยแล้ง” โดยเป็นการประกาศเจตนารมณ์รวมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและประชาชน ในการร่วมใจประหยัดน้ำ การรณรงค์หยุดการใช้น้ำพร้อมกันทั่วประเทศอาทิ ลดปริมาณการใช้น้ำเดือน เม.ย. 2559 ให้น้อยกว่าเดือน มี.ค. 2559 ร้อยละ 10 และรับรางวัลค่าน้ำตามการใช้จริงไม่เกิน 100 บาท เป็นต้น โดยจะเริ่มจัดกิจกรรมดังกล่าวประมาณกลางเดือน มี.ค. 2559 นี้.“

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 

"อรรชกา" สั่ง 2,300 โรงงานอุตสาหกรรม ปันน้ำช่วยชาวนา 5 หมื่นไร่

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559" โดยให้ให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 2,300 โรงงาน จาก 6,000 โรง งาน นำน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วไปช่วยเหลือประชาชน โดยการออกไปสู่ภาคการเกษตรรอบ ๆ พื้นที่โรงงานในช่วงที่ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ในขณะนี้ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งจะสามารถช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเกือบ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สำหรับเกษตรกรรายใดต้องการความช่วยเหลือดังกล่าวให้ติดต่อไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดของตนเอง

สำหรับพื้นที่ที่โรงงานจะปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้จะมีทั้งสิ้น 50,000 ไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่ภาคเหนือ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งช่วยเกษตรกรได้ 552 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 24% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ภาคกลาง มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 253 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5,600 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออก มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 322 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 6,800 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงงานปล่อยน้ำทิ้งได้ 851 โรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ 18,000 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันตกมีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 276 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5,800 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 12% และภาคใต้ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 46 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 965 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 2% ของพื้นที่การเกษตร

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้วนั้น พบว่ามีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมากและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ จำนวน 3,616 โรงงาน ส่วนโรงงานที่ใช้น้ำมากสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งมีโรงงาน จำนวน 1,131 โรงงาน ซึ่งจะต้องปรับตัวใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับมาตรการระยะสั้น เช่น ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้ใช้น้ำบาดาล หากพื้นที่นั้น ๆ ยังมีน้ำใต้ดินมีคุณภาพดีสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ แต่ต้องขออนุญาตก่อน รวมทั้งขอความร่วมมือลดการระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน

ส่วนมาตรการระยะยาว ได้วางแผนให้โรงงานที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก พิจารณาขุดบ่อเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำฝนในช่วงฤดูฝนเป็นแหล่งน้ำสำรองใช้ใน ช่วงฤดูแล้ง และพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำน้ำทะเลหรือน้ำทิ้งมาผลิตเป็นน้ำใช้อุตสาหกรรม

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศเบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เหมืองแร่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ในปัจจุบันมีพื้นที่เหมืองแร่จำนวน 9 แห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค และการเกษตรกรรมโดยรอบ มีปริมาตรน้ำรวม 32.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และอื่น ๆ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมโรงงานฯเดินหน้าจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรม

กรมโรงงานฯ เดินหน้าจัดโซนนิ่งโรงงานอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนในอนาคต

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการจัดโซนนิ่งอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างการเร่งจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน หรือการจัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม โดยโครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2557 - 2558 จัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมไปแล้ว 19 จังหวัด ซึ่งรวมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด และสงขลา ส่วนในปีนี้จะจัดทำเพิ่มอีก 17 จังหวัด โดยในจำนวนนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเฟส 2 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม, นราธิวาส, หนองคาย และเชียงราย นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ จ.เชียงใหม่, กำแพงเพชร, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ปทุมธานี, ราชบุรี, อุดรธานี, ร้อยเอ็ด, อุบลราชธานี, ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่

โดยหลังจากจัดทำโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมในแต่ละจังหวัดเสร็จแล้ว จะส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อใช้ประกอบการทำผังเมืองให้สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับแหล่งซัพพลายเชนพื้นที่เกษตรกรรม และวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม 20-50% และหากเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงก็จะมีมูลค่าเพิ่ม 2-3 เท่าตัว ซึ่งขณะนี้มีอยู่หลายจังหวัดที่กำหนดห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ผลผลิตการเกษตรมีราคาตกต่ำ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

'บิ๊กตู่'ห่วงแล้งวอนสร้างฝายเก็บน้ำ ชมก.อุตฯใช้มาตรการบำบัดน้ำเสีย

ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยนายกฯ ได้ฝากให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ในเรื่องการประหยัดน้ำ รวมถึงการปรับโครงสร้างการเกษตรให้เป็นรูปแบบใหม่และครบวงจร โดยเริ่มจากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ทั้งนี้สำหรับมาตรการในการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังคงระบายน้ำในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร และขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่สามารถสร้างฝายกักเก็บน้ำ ทางนายกฯ ขอให้ร่วมกันสร้างฝาย เพื่อเป็นการช่วยกันสร้างความสามัคคี โดยฝายดังกล่าวจะเตรียมไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตก นอกจากนี้นายกฯ ยังขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีมาตรการให้โรงงานอุตสาหกรรม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยไปสู่ระบบนิเวศ เพื่อสามารถใช้น้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ในการเกษตร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ผู้ว่า ธปท.รับภัยแล้งหนักกว่าคาด เตรียมหั่นจีดีพีปีนี้เหลือต่ำกว่า3.5%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มี.ค.59 นี้ ธปท.จะปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 3.5% หลังจากเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ส่วนกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย เพื่อใช้ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้านั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และสะท้อนว่า รัฐบาลเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และทำให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งเฉย และเห็นสถานการณ์ภายนอกน่ากังวล ประกอบกับการลงทุนขนาดใหญ่ช้ากว่าคาด ซึ่งมองว่าบทบาทนโยบายการคลังสำคัญ รวมทั้งดำเนินการให้สอดคล้องกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินนั้นจะต้องใช้เวลา

"สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำนั้นมันสะท้อนว่ารัฐบาลเห็นความเสี่ยงที่จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งในเรื่องของภัยแล้ง การลงทุนขนาดใหญ่ที่อาจมีความล่าช้า ราคาพลังงานตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะการนำนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ การส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจน" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวถึงเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากตลาดการเงินโลกมีความผันผวน ซึ่งยอมรับว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ เฮดจิ้งเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ในบางช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงผู้ประกอบการด้านการส่งออกก็มีการทำประกันความเสี่ยงน้อยลง เพราะมีความชะล่าใจ เพราะผู้ประกอบการอาจมองว่าค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงด้านเดียว

"บางครั้งผู้ส่งออกก็ชะล่าใจ พอเงินบาทอ่อนผู้ส่งออกก็ทำเฮดจิ้งน้อยลง ซึ่งอย่าคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเพียงด้านเดียว เพราะต้องยอมรับว่า ขณะนี้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมาก" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีที่การจะใช้นโยบายการเงิน มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากมองว่าเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น นายวิรไท กล่าวว่า เป็นข้อหนึ่งที่ได้สั่งการบ้านให้กับทีมงาน โดยระบุว่า การเพิ่มปริมาณสภาพคล่องที่จะเข้าไปนั้น จะทำอย่างไรให้สภาพคล่องที่มีเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้น ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารออมสิน หลายแสนล้านบาท เริ่มถูกหมุนเวียน และการผ่อนปรนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถนำเงินสำรองที่มีไปลงทุนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะได้ผลรวดเร็วกว่าการทำนโยบายการเงินที่ต้องอาศัยเวลา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจสกัดเงินทุนไหลเข้า

ตลาดกดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ- หนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ห่วงเงินไหลเข้าดันบาทแข็ง จากดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าตปท. นายกสมาคมนักวิเคราะห์เชื่อกนง.มีรูมลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1 %แต่คงเป็นไปได้ยาก ประสานเสียงตรงกัน 23 มี.ค. ยืนต่อที่ 1.50 % แต่อาจไปลดในครั้งถัดไป ด้านตลาดเงินเผย เฟดถอยขึ้นดอกเบี้ยช่วยกดค่าเงินดอลลาร์ เปิดโอกาสธนาคารกลางทั่วโลก เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ

การประชุมของธนาคารกลางภายในเดือนมีนาคม 2559

ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักในเดือนมีนาคมนี้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป ( อีซีซี ) ,ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ต่อการดำเนินนโยบายการเงินว่าจะส่งผลต่อตลาดเงิน -ทุนในภูมิภาคอย่างไร โดยเฉพาะการที่หลายประเทศใช้

นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ( QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ :ซึ่งส่งผลต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย รวมถึงการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 23 มีนาคมนี้

ต่อประเด็นนี้นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (บจก.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ปัจจุบันที่คงในระดับ 1.50%ต่อปี (มาตั้งแต่ 29 เม.ย.58 ) แม้จะอยู่ในข่ายที่สามารถปรับลงได้อีก แต่หากประเมินจากท่าทีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ระบุถึงผลจำกัดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านั้น จึงมีแนวโน้มที่กนง. จะเลือกการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นแนวทางสุดท้ายโดยให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแทน

ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศนั้น มองว่ามีโอกาสน้อยลงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม (วันที่ 15-16 มี.ค. ) และมิถุนายนปีนี้ ซึ่งจะช่วยลดแรงหนุนที่จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะเดียวกันจะเปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้ เช่น ธนาคารกลางเกาหลีที่ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบที่แล้ว แต่ส่งสัญญาณอาจจะปรับลดในเดือนเมษายน รวมทั้งธนาคารอินโดนีเซียอาจจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ ขณะที่ญี่ปุ่นกับธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี)และลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบเพิ่มอีก เพื่อประคองการแข็งค่าของเยนและตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปยังต่ำกว่าคาดการณ์ โดยที่ผ่านมาจีนได้นำร่องลดอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์ลง 0.5%เหลือที่ระดับ 17.5%(ประกาศ29ก.พ.และมีผล 1มี.ค.59)

” แนวโน้มนโยบายการเงินยังเดินหน้าผ่อนคลาย ยิ่งตลาดปรับคาดการณ์ว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. ) รอบนี้ ( 23 มี.ค.59 ) กนง.คงรอสังเกตการณ์และถ้าเลือกได้เชื่อว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยรอบนี้ เพราะผลที่ได้จำกัดและไทยยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศสูง คาดว่าเงินบาทคงไม่แข็งหรืออ่อนค่าไปจากปัจจุบันมาก ”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เดือนมีนาคมนี้จะเห็นความแตกต่างของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยอีซีบีกับบีโอเจนั้นมีโอกาสส่งสัญญาณทำคิวอีเพิ่มทำให้ค่าเงินอ่อนค่า และต้องจับสัญญาณเฟดระยะต่อไป โดยคาดว่าเดือนมีนาคม ก็ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับประเทศไทยยังสามารถใช้นโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม

ท่าทีของบอร์ดกนง.นั้น คาดว่ายังคงอัตราดอกเบี้ยต่อ เพื่อรอดูตัวเลขการส่งออกและความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่สูงขึ้นทั้งเศรษฐกิจคู่ค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ที่อาจส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณของผู้ว่าการธปท.มองโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ สะท้อนเข้าสู้ศึกสงครามค่าเงิน แต่บอร์ดกนง.น่าจะเลือกดำเนินนโยบายผ่อนคลายมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายแทนการลดอัตราดอกเบี้ย โดยหวังผลให้เงินบาทอ่อนค่า โดยธีมของเงินบาทมีความผันผวนแรงขึ้นกว่าปีก่อนและแนวโน้มมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก อีกทั้งปัจจุบันแม้ภาครัฐพยายามผลักดันหลายมาตรการรวมทั้งมาตรการทางภาษีในการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนแต่ตัวเลขการลงทุนยังชะลอ สะท้อนไทยติดกับดักความเชื่อมั่น

เช่นเดียวกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเชื่อว่า ภาพรวมยังมองกนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5%ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือ 1.ธปท.ยังคงจับตามาตรการทางการคลังโดยเฉพาะผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการดำเนินนโยบายทางการคลังในไตรมาส 1/2559 ขณะที่เวลานี้ธปท.มีนวัตกรรมในการสื่อสารกับตลาดมากขึ้น ซึ่งหากจะมีการปรับทิศทางอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมจะส่งสัญญาณให้ตลาดก่อนหน้า ที่สำคัญก่อนหน้านี้มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรพอควรถ้าส่งสัญญาณจะลดอัตราดอกเบี้ยจะมีเงินไหลเข้ามาอีก

“ถ้าลดดอกเบี้ยตามเสียงเชียร์อาจจะเป็นผลบวกต่อตลาดตราสารหนี้ และหุ้นที่ราคาปรับขึ้น แต่ในมุมกนง.มองภาพเศรษฐกิจหลักและภาคธุรกิจ คือ ถ้าลดดอกเบี้ยก็ไม่ส่งผลให้คนกู้เงินต่อเช่นที่ผ่านมาการปรับลดดอกเบี้ยไม่ส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อในระบบ ที่สำคัญแบงก์ชาติมีการให้ข่าวและสื่อสารกับตลาดมากขึ้น จึงไม่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ในการประชุมรอบนี้ แต่โอกาสที่จะเห็นคะแนนเสียงของคณะกรรมการเป็นลักษณะ 6 ต่อ 1 ซึ่งบางท่านต้องการส่งสัญญาณ หรือสเต็ปต่อไปดูทิศทางเศรษฐกิจหรือถ้ามีการปรับประมาณการจีดีพีกลางปีนี้อาจจะมีลุ้น”

ขณะที่ฟากตลาดทุนกดดันให้กนง.ลดดอกเบี้ย แต่คาดว่าการประชุมในรอบนี้ (ครั้งที่ 2 ) กนง.จะยังยืนในระดับ 1.50 % ต่อ แต่อาจไปปรับลดในรอบหน้า (ประชุมครั้งที่ 3 ,4 วันที่ 11 พ.ค. 59 ,22 มิ.ย. 59)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ จำกัด และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ธปท.ต้องยอมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อก็ไม่มี โดยปีที่ผ่านมาก็ติดลบ และปีนี้ทั้งปีก็คงไม่มี

นอกจากนี้เมื่อดูที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ถือว่าสูง โดยสูงกว่า 5 ปีที่แล้วมาก ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง นอกจากนี้ค่าเงินในปัจจุบันก็แข็งค่าขึ้น ฉะนั้นปัจจัยที่จะช่วยให้ลดดอกเบี้ยก็เริ่มกลับเข้ามา อีกทั้งการลดดอกเบี้ยจริงก็ช่วยกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาลได้ เพราะดอกเบี้ยที่ถูกลงหมายความว่าการลงทุนภาคเอกชนก็จะถูกลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินลดลง ดังนั้น จึงมองว่าหากนโยบายทางการเงินมาช่วยก็อาจจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าเดิม

“ช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังสามารถทำได้ถึง 1% แต่ก็เชื่อว่า ธปท. ไม่น่าจะมีการปรับลดลงในช่วงของการประชุมเดือนมีนาคมนี้ แต่หากเป็นครั้งถัดไปที่สถานการณ์แย่ลงก็อาจจะมีการปรับลดประมาณ 0.25%” นายกสมาคมนักวิเคราะห์กล่าวและว่า

ทั้งนี้บล.ทิสโก้ฯ มองว่าเศรษฐกิจปีนี้มีปัจจัยที่น่าเป็นห่วงได้แก่ 1.ไม่สามารถหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวได้เท่ากับปีที่ผ่านมา โดยปีที่ผ่านมาภาคดังกล่าวโตถึง 20% จากฐานที่ต่ำของปี 2557 โดยเมื่อมีการเติบโต 20% น้ำหนักที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจึงมีมาก หรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจที่โต 2.8% เมื่อปีที่ผ่านมาเกือบ 2% มาจากภาคท่องเที่ยว สำหรับปีนี้คาดว่าภาคท่องเที่ยวจะเติบโตประมาณ 10 % เท่านั้น 2. การลงทุนภาครัฐ ที่ปีนี้อาจไม่โตเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งโต 30% ดังนั้นเศรษฐกิจปีนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออกซึ่งก็คงยังไม่ฟื้น เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดี หากจะหวังเรื่องการบริโภคในประเทศ ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนยังมีจำนวนมากก็ไม่น่าจะดีขึ้น ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังตกต่ำ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปอีกว่า สุดท้ายแล้วก็ต้องมาหวังที่การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะกระตุ้น แต่เวลานี้สัญญาณการฟื้นตัวของภาคเอกชนก็ยังไม่เห็นชัดเท่าใดนัก โดยในปีที่ผ่านมาก็ยังคงติดลบ และการลงทุนในเครื่องจักรถาวรต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมาก ความไม่แน่นอนก็สูง อย่างไรก็ดีหากโชคดีส่งออกฟื้นกลับมาดีขึ้นก็อาจจะช่วยกลบปัญหาดังกล่าวนี้ได้ แต่หากไม่ฟื้นก็จะต้องกระตุ้นการลงทุนให้ฟื้นขึ้นมา

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล. ภัทรฯ กล่าวว่า ธปท. เริ่มเปิดรับมากขึ้นจากความกังวลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจจะเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจให้เติบโตไม่ได้อย่างที่คาด ก็เปิดโอกาสในเรื่องการลดดอกเบี้ย อีกทั้งเมื่อประเทศอื่นเริ่มใช้นโยบายการเงินที่แปลกไปมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าธปท.ยังมัวแต่ยึดตามในตำราความเสียเปรียบก็จะมีมากขึ้นจากอัตราผลตอบแทนที่ประเทศอื่นลดน้อยลง แต่ประเทศไทยยังสูงอยู่ ทำให้มีเงินไหลเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หากไม่ดำเนินการอะไรเลย เพราะฉะนั้น ธปท. จึงออกมาส่งสัญญาณเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดวันนี้ก็กดดันธปท.พอสมควร

อย่างไรก็ตามการประชุมกนง. เดือนมีนาคมรอบนี้ มองว่าน่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ย ยกเว้นจะเห็นสัญญาณอะไรที่ไม่สู้ดีนัก โดยต้องจับตาดูตัวเลขของการส่งออกและจีดีพี ซึ่งอีกหนึ่งสาเหตุที่ธปท. จะยังไม่ลดดอกเบี้ยก็เพื่อต้องการเก็บกระสุน ซึ่งมีอีกถึง 6 นัดเอาไว้ก่อน และหากดูตามสถิติจะพบว่าธปท.ไม่เคยลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่า 1.25% ซึ่งเป็นเรื่องในอดีต แต่ ณ ปัจจุบันที่ทุกประเทศใช้ดอกเบี้ยติดลบ ภาพรวมก็จะกลายเป็นติดลบ แต่เชื่อว่า ธปท.ไม่น่าจะลดลงไปมากกว่า 0% แน่นอน

ขณะที่ในฝั่งของนโยบายทางด้านการคลังต้องยอมรับว่าช่องว่างของการส่งออก และราคาสินค้าเกษตรนั้นใหญ่มาก ซึ่งรัฐบาลดำเนินเรื่องอะไรไปแทบจะไม่สามารถอุดช่องว่างของแนวโน้มดังกล่าวได้ และหากดูตัวเลขจะเห็นว่าแรงส่งจากการลงทุนของรัฐบาลเป็นเพียง 20% ของจีดีพีขณะที่การส่งออกอยู่ที่ประมาณ 70% ของจีดีพี หากนำมาหักกับการนำเข้าสุทธิก็จะอยู่ที่ประมาณ 30% ของจีดีพี ด้านราคาเกษตรก็ตกต่ำลงอย่างหนัก เพราะฉะนั้นช่องว่างดังกล่าวนี้จึงใหญ่มาก

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการวันนี้ คือ การเยียวยาในบางกลุ่ม โดยกลุ่มใดที่ถูกกระทบมากก็จะให้เงินสนับสนุนไปก่อน ซึ่งไม่ใช่การผลักดันให้จีดีพีขยับตัวสูงขึ้น เพียงแต่ลดผลกระทบให้กับผู้ที่ถูกกระทบ โดยสิ่งที่รัฐบาลมีโอกาสดำเนินการตอนนี้ในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ คือ การกู้เงินมาเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

คอลัมน์ จับประเด็น: อนุมัติเงินกู้ 9,000 ล.ช่วยชาวไร่อ้อย 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ว่า กระทรวงอุตสหากรรม ได้จัดทำโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร 3 ปี (2559-2561) โดยสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตราดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นให้การพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย วงเงินปีละ 500 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

แนะเตรียมแผนสำรวจโรงงานรับมือ'ภัยแล้ง

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด ทำการสำรวจโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ และเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดบ้าง ซึ่งจากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 139,797 โรง เงินทุนรวม 6.73 ล้านล้านบาท คนงาน 3.98 ล้านคน

          แบ่งเป็นโรงงานที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอก ย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งมีจำนวน 1,131 โรงงาน

          นางอรรชกากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีโรงงานที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผล ผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบลดลง หรือมีคุณภาพไม่คงที่ และมีราคาสูงขึ้น

          ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากอื่นๆ ได้มีการเตรียม การรองรับวิกฤติดังกล่าว เช่นการปรับแผนหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากได้รับทราบแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมื่นไร่ ไฟเขียวนำน้ำทิ้งโรงงานช่วยเกษตรกร 

          “อรรชกา” เปิดแผนรับมือภัยแล้ง ไฟเขียวให้โรงงานผลิตอาหาร 2,300 โรงนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดจนได้มาตรฐานส่งไปช่วยเกษตรกร ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อเกษตรกร 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ 5 หมื่นไร่ เร่งปรับปรุงพื้นที่เหมืองเก่านำมาเก็บสำรองน้ำ ช่วยเกษตรกรได้กว่า 166 ล้าน ลบ.ม.

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดไปวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม และหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี 2559 ในช่วงเวลาเฉพาะกิจที่จะอนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร 2,300 โรงงานที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงาน และคุณลักษณะเป็นไปตามาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานแล้วสามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานไปส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำเกษตรสู้ภัยแล้ง

          ทั้งนี้ น้ำดังกล่าวต้องเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของ กรอ. แล้วและมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ ซึ่งประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มี.ค.-30 มิ.ย.นี้ โดยแต่ละโรงงานสามารถปล่อยน้ำทิ้งใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อไร่ต่อวันคาดว่าจะช่วยแบ่งปันน้ำให้ภาคเกษตร 500,000 ลบ.ม.ต่อวัน

          สำหรับพื้นที่ที่โรงงานจะปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้ มีจำนวน 50,000 ไร่ เป็นพื้นที่ภาคเหนือ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งช่วยเกษตรกรได้ 552 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ คิดเป็น 24% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดภาคกลางมีโรงงานปล่อยน้ำได้ 253 โรง พื้นที่ 5,600 ไร่ คิดเป็น 11% ของพื้นที่ การเกษตร ภาคตะวันออกมีโรงงานปล่อยน้ำได้ 322 โรง พื้นที่ 6,800 ไร่ คิดเป็น 14% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโรงงานปล่อยน้ำทิ้งได้ 851 โรงงาน พื้นที่ 18,000 ไร่ คิดเป็น 37% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันตกมีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 276 โรง พื้นที่ 5,800 ไร่ คิดเป็น 12% ภาคใต้มีโรงงานปล่อยน้ำทิ้งได้ 46 โรงงาน พื้นที่ 965 ไร่ คิดเป็น 2% ของพื้นที่การเกษตร

          “นอกจากโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ยังมีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมาก ที่จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ 3,616 โรงงานเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ใน 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม ส่วนโรงงานที่ใช้น้ำมากสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม ฟอกย้อม แป้งมัน และฆ่าสัตว์ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมี 1,131 โรงงาน ที่ต้องปรับตัวใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

          นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองแร่เก่าทั่วประเทศพบว่ามีพื้นที่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ 36 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 166 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีพื้นที่เหมืองแร่ 9 แห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคและการเกษตรกรรมโดยรอบ มีปริมาณน้ำรวม 32.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.เฝ้าระวังภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรม สำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการทราบสถานการณ์น้ำเป็นระยะ ๆ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

วางมาตรการรับมือภัยแล้ง   

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจอย่างละเอียดถึงประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ พบว่าไม่มีโรงงานที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบลดลงหรือมีคุณภาพไม่คงที่ และมีราคาสูงขึ้น

          ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากอื่นๆ ได้มีการเตรียมการรองรับวิกฤติ ดังกล่าว เช่น การปรับแผนหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เนื่องจากได้รับทราบแนวโน้มการเกิดปัญหาภัยแล้งล่วงหน้าเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้กำหนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอุตสาหกรรมระยะสั้นและระยะยาวไว้ ดังนี้

          มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.ส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs 2.การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพดี สามารถใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมได้ 3.การขอความร่วมมือในการลดระบายน้ำทิ้งหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในช่วงฤดูแล้ง ส่วนมาตรการระยะยาว ได้แก่ 1.การเพิ่มบ่อกักเก็บน้ำสำรองในโรงงาน 2.การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น น้ำทะเล น้ำทิ้งโรงงานสำหรับจังหวัดในภูมิภาค

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

อุตฯไฟเขียวรง.ปล่อยน้ำบำบัดช่วยบรรเทาภัยแล้งเกษตรกร 

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรมเปิดเผยถึงผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรม ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมลงไปวางแผนรับมือ ภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรม และหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ปี พ.ศ. 2559" ในช่วงเวลาเฉพาะกิจ

          โดยอนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร 2,300 โรงงานที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงานและคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งโรงงานแล้วสามารถนำน้ำทิ้งโรงงานเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในการทำเกษตรสู้ภัยแล้งแต่ต้องเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกรมโรงงานแล้ว มีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 แต่ละโรงสามารถปล่อยน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมอัตราการใช้น้ำไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/วัน คาดว่าจะช่วยปันน้ำให้ภาคการเกษตรเกือบ 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน

          พื้นที่ที่โรงงานจะปล่อยน้ำช่วยเหลือเกษตรกรได้จะมีทั้งสิ้น 5 หมื่นไร่ แบ่งเป็นในพื้นที่ภาคเหนือ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งช่วยเกษตรกรได้ 552 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 หมื่นไร่ คิดเป็นสัดส่วน 24% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ภาคกลาง มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 253 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5.6 พันไร่ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออก มีโรงงานปล่อยน้ำได้ 322 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 6.8 พันไร่ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงงานปล่อยน้ำทิ้งได้ 851 โรงงาน ครอบคลุม พื้นที่ 1.8 หมื่นไร่ คิดเป็นสัดส่วน 37% ของ พื้นที่การเกษตร ภาคตะวันตกมีโรงงานที่ปล่อย น้ำทิ้งได้ 276 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 5.8 พันไร่ คิดเป็นสัดส่วน 12% และภาคใต้ มีโรงงานที่ปล่อยน้ำทิ้งได้ 46 โรง ครอบคลุมพื้นที่ 965 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 2% ของพื้นที่การเกษตร

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า สำหรับโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งนั้นพบว่า มีโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีการใช้น้ำมากและคาดว่าจะได้รับ ผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ 3,616 โรงงาน โดยเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม

          นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคม อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. เฝ้าระวังปัญหาภัยแล้งของภาคอุตสาหกรรมสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขต ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคตะวันออก กรุงเทพฯและ ปริมณฑล ภาคใต้ ภาคเหนือ และอื่นๆ มีเจ้าหน้าที่ ประจำศูนย์ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์ ประกอบด้วย การติดตามข่าวสารปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลปริมาณ น้ำฝนและการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมทั้งจัดทำรายงานสรุปผล การเฝ้าระวังเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ ผลพบว่าปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมฝนหลวงฯเร่งเพิ่มศักยภาพเขื่อนหลัก

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผย เร่งเพิ่มศักยภาพเขื่อนลำตะคอง อุบลรัตน์ และป่าสักชลสิทธิ์ หลังปัจจัยเอื้อต่อการปฏิบัติการ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนแล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการออกปฏิบัติการทำฝนเทียม เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้เร่งเพิ่มศักยภาพของเขื่อนลำตะคอง อุบลรัตน์ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้มีน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้ง ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

เบื้องต้น คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามนายเลอศักดิ์ ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ภาคเหนือของประเทศไทย ยังไม่มีความชื้นเพียงพอ จึงทำให้ปัจจัยการทำฝนเทียม ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2559

ก.อุตฯเร่งปรับปรุงเหมืองเก่าเก็บกักน้ำรับภัยแล้ง

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับปรุงเหมืองเก่าเก็บกักน้ำ ช่วยเกษตรกรช่วงหน้าแล้ง ได้กว่า 166 ล้าน ลบ.ม.

นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กพร.ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ขุมเหมืองเก่าทั่วประเทศ เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่เหมืองแร่ ที่สามารถใช้เป็นแหล่งน้ำได้ทั้งสิ้น 36 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นประมาณ 166 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันมีพื้นที่เหมืองแร่จำนวน 9 แห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการพัฒนาเป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค และการเกษตรกรรมโดยรอบ มีปริมาตรน้ำรวม 32.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม กพร. ได้เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ขุมเหมืองเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่ประสบปัญหาภัยแล้งโดยได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่ขุมเหมือง และประเมินปริมาณน้ำ เบื้องต้นพบว่ามีขุมเหมืองที่มีการนำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคและใช้ในพื้นที่เกษตรได้เพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง ปริมาณน้ำ 11.73 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่ง กพร. อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง โดยเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 14 แห่ง ปริมาณน้ำ 6.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคเหนือ มี 6 แห่ง ปริมาณน้ำ 5.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใช้น้ำได้ในเดือน มี.ค.นี้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

ปลัดพณ.ย้ำนายกฯยืนยันเข้าร่วมTPP

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ย้ำ นายกฯ ยืนยันเข้าร่วม TPP แน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งศึกษารายละเอียดรอบคอบ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันกับกลุ่มผู้บริหารอุตสาหกรรมยานยนต์ ว่า ไทยจะเข้าร่วมการเจรจา TPP อย่างแน่นอน แต่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมการรองรับในประเด็นต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะที่อุปสรรคด้านกฎระเบียบภายในประเทศของไทยต่ออุตสาหกรรมยารยนต์นั้น นายกฯ รับว่า จะเร่งหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการให้ หรือหาทางออกที่เหมาะสมให้กับทุกบริษัทเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2558 แม้ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลง แต่ประเทศไทยยังสามารถส่งออกรถได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.2 ล้านคัน มีมูลค่าการส่งออก 17,586 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 5.3

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

มิตรผล ร่วมพัฒนาชุมชนบ้านเม็ง จ.ขอนแก่น หนุน ศก.ฐานราก

กลุ่มมิตรผล ลงพื้นที่ ต.บ้านเม็ง จ.ขอนแก่น ติดตามผลพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน สานนโยบายประชารัฐ เผย มีการส่งเสริมอาชีพหลัก แนะนำอาชีพเสริม ช่วยชาวบ้านมีรายได้ ความเป็นอยู่ดีขึ้น หวังดัน ศก.ประเทศดีขึ้นตาม...

เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวภายในงาน "ฮักแพงโฮมคน ตำบลมิตรผลร่วมพัฒนาเพื่อเศรษฐกิจฐานราก" ที่จัดขึ้นที่บ้านนาหว้านาคำ ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ว่า การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน นับเป็นการร่วมสนับสนุนและสานพลังตามแนวนโยบายประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 sme เกษตรของรัฐบาล ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ผลผลิตมีความหลากหลายมากขึ้น รายได้ย่อมมากขึ้นตาม

โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของกลุ่มมิตรผลดำเนินการอยู่ใน 9 ตำบล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่ตั้งของโรงงานมิตรผลทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ต.หนองใหญ่ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด, ต.บ้านเม็ง และ ต.กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น, ต.บ้านแก้ง และ ต.โคกสะอาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ, ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย, ต.แจงงาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี, ต.ไม้ดัด อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี และ ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่มีความคืบหน้าตามลำดับ ตั้งแต่การช่วยให้ชุมชนได้รู้จักตัวเอง การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจนถึงการสร้างความยั่งยืน

ครัวเรือนต้นแบบในโครงการตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา

สำหรับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างบูรณาการ 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสุขภาวะ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และด้านจิตใจนั่นเอง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และหัวหน้าคณะทำงานด้านการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่

ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และหัวหน้าคณะทำงานด้านการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางประชารัฐนั้น มีงบดำเนินงานชุมชนละ 5 แสนบาท จากงบประมาณรวมทั้งหมด 35,000 ล้านบาท ส่วนที่เลือกชุมชน บ้านนาหว้านาคำ ตำบลบ้านเม็ง เป็น 1 ในชุมชนที่อยู่ในโครงการ เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งนอกจากจะดูแลช่วยเหลือส่งเสริมการปลูกอ้อยซึ่งเป็นอาชีพหลักแล้ว ยังมีการแนะนำอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นายอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้มีความคืบหน้าพอสมควร ชาวบ้านมีความเข้าใจ มีการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ดีขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นตาม โดยในพื้นที่ภาคอีสานกังวลปัญหาเพียงอย่างเดียวคือ ภัยแล้ง ถ้ามีการเตรียมรับมือ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

กรมชลประทานห่วง6จว.หลังแล้งรุกหนัก

กรมชลประทานห่วง 6 จังหวัดหลังภัยแล้งทวีความรุนแรง พร้อมยืนยันมีน้ำอุปโภค - บริโภคเพียงพอ

นายสุเทพ  น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรทำนาปรัง ช่วงฤดูแล้งอยู่ประมาณ 1.98 ล้านไร่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับบริหารจัดการตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปสำรวจพร้อมให้คำแนะนำ หลังสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้ชาวนาได้รับผลกระทบ เบื้องต้น นายสุเทพ ขอยืนยันว่าในด้านของน้ำสำหรับการอุปโภค - บริโภค จะมีเพียงพอไปจนถึงช่วงสิ้นสุดฤดูแล้ง ส่วนในด้านของการทำเกษตรกรรมนั้นจะต้องบริหารจัดการตามแผนของแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมชลประทานมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง  พะเยา รวมไปถึง กรุงเทพมหานคร ที่อาจจะต้องเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับภาคการเกษตร ซึ่งทางกรมชลประทานไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อช่วยเหลือได้ เนื่องจากเคยทำการตักเตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

กรมโรงงานฯรุกขึ้นทะเบียนบุคลากร CSR ประจำโรงงาน

กรมโรงงานฯ เร่งยกระดับสร้างมาตรฐานแก่โรงงานอุตสาหกรรม นำร่องจัดโครงการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน 2559  ให้แก่โรงงานจำพวกที่ 3 ในกลุ่มโรงงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กว่า 3,000 โรงงานจากโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีทั้งหมด 68,000 โรงงาน  โดยคาดว่า สิ้นปี 59 จะมีโรงงานยื่นขอขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะไม่ต่ำกว่า 30%

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามหลักมาตรฐานสากล ISO 26000 และ UN Global Compact  ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (ซีเอสอาร์) เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ นอกจากจะสามารถสร้างประโยชน์ในแง่ของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ รวมถึงยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีของบริษัทเมื่อถึงภาวะวิกฤติ และเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการโดยประมาทได้อีกด้วย ซึ่งการบริหารจัดการธุรกิจจะต้องทำควบคู่กับการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ปัจจุบันปัญหาของสถานประกอบการในไทยส่วนใหญ่ คือ ขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ที่แท้จริง ดังนั้นกรมโรงงานฯ จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม “การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน พ.ศ. 2559” เพื่อพัฒนาบุคลากรซีเอสอาร์ประจำโรงงานจำพวกที่ 3 โดยเฉพาะโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่ม EIA EHIA ESA และ RA และโรงงานทั่วไปที่สนใจจากโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีทั้งหมด 68,000 โรงงาน ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของกรมโรงงานฯ  7 ประการ ได้แก่ 1.การกำกับดูแลองค์กร 2.สิทธิมนุษยชน 3.การปฏิบัติด้านแรงงาน 4.สิ่งแวดล้อม 5.การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม 6.ประเด็นด้านผู้บริโภค และ 7.การมีส่วนร่วมพัฒนาต่อสังคมและชุมชนตามมาตรฐานของกรมโรงงานฯ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงาน รวมทั้งตัวโรงงานเอง ดร.พสุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรฐานตามหลักสากล ISO 26000 และ UN Global Compact ในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น และมีความพร้อมในการแข่งขันกับตลาดอาเซียน ตลอดจนเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ประเทศส่วนใหญ่นำมาใช้ในการกีดกันการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะไม่ต่ำกว่า  30% จากจำนวน 3,000 โรงงาน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

ดิ้นสุดฤทธิ์หาแนวทางสู้ภัยแล้ง ถึงคราวทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ

: ดลมนัส กาเจ

            ในที่สุดทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ออกมาเสนอแนะเพื่อหาทางออกแก้วิกฤติภัยแล้งที่กำลังคุกคามประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 1 มีนาคม 2559 ยังคงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน ประมาณ 2,945 ล้านลูกบาศก์เมตร

            สำหรับอ่างเก็บน้ำในอีก 10 เขื่อน ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองศรียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่กวง เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำพระเพลิง อยู้ขั้นวิกฤต กระทรวงเกษตรฯ มีการหารือมาตรการติดตามเฝ้าระวังและปรับแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้แผนการใช้น้ำสอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะที่พื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งได้เพิ่มเติมจากเดิมที่ครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน เพิ่มอีกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา อีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการช่วยเหลือตามตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการอย่างต่อเนื่อง

            ด้าน นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำอีกครั้งว่า กระทรวงเกษรฯ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมที่ใช้น้ำพร้อมขอให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะคนเมืองหลวงและปริมณฑล ต้องตระหนักถึงการประหยัดน้ำให้มากเนื่องจากภาคการเกษตรส่วนใหญ่เสียสละงดการใช้น้ำเพื่อการทำนาปรังแล้ว

            เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดพื้นที่สาธารณะจัดประชุมเสวนา TRF Public Forum : เกษตรน้ำน้อย...ทางออกของเกษตรกร ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย บอกว่า การจัดงานในครั้งนี้ยกงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและมีโอกาสทางการตลาดสูง เพื่อเป็นทางออกแก่เกษตรกร ภายใต้สภาวะวิกฤติน้ำแล้ง ร่วมเป็นวิทยากร และนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อเป็นทางออกให้เกษตรกร โดย ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำผลวิจัยเรื่องถั่ว

            ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินันท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำผลงานวิจัยเรื่องน้ำ, ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ ผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน จำกัด นำเสนอให้มีการปลูกข้าวโพดหวาน, ผศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี จากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำผลงานวิจัยเรื่องไก่โคราช, รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำผลงานวิจัยเรื่องไก่ประดู่หางดำ, อ.วีระ ภาคอุทัย จากสำนักงานประสานความร่วมมือพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำผลงานวิจัยเรื่องพริก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หาทางออกให้เกษตรกรในสภาวะวิกฤติน้ำแล้ง

             ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนเริ่มมีการตื่นตัวในการประหยัดน้ำกันบ้างแล้ว อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ก็เดินหน้ามาตรการอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกหน่วยงาน พร้อมปันน้ำให้เกษตรกรพืชสวนพืชไร่รอบโรงงานแปรรูปและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ช่วยลดผลกระทบภัยแล้ง ทั้ง นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการซีพีเอฟ บอกว่า จากการติดตามข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำของชุมชนรอบข้าง ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่แหล่งน้ำเดียวกัน และนำเครื่องมือที่เป็นสากลมาใช้ประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านน้ำได้อย่างเหมาะสม

                       ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการขาดน้ำสำหรับการผลิตและช่วยลดผลกระทบต่อชุมชน ขณะเดียวกันบริษัทมีมาตรการเตรียมความพร้อมตั้งแต่การหาแหล่งน้ำสำรองที่เชื่อถือได้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกขั้นตอนให้ดียิ่งขึ้นด้วย การวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับแผนการผลิต จัดทำแผนฉุกเฉินหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงักและไม่กระทบต่อชุมชนรอบข้าง และประสานติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

            นอกจากนี้ซีพีเอฟ ยังนำน้ำที่ผ่านระบบบำบัดซึ่งมีคุณภาพกลับมาใช้ในส่วนอื่นๆ นอกกระบวนการผลิตในโรงงาน เช่น รดต้นไม้และสนามหญ้า ใช้ทำความสะอาดพื้นบริเวณรอบโรงงาน ล่าสุดกำลังศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่ช่วยให้โรงงานสามารถนำน้ำหลังบำบัดกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีก

            เช่นเดียวกับบริษัทพรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ผู้ดำเนินธุรกิจคิดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บริการเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม นายมณฑล หรรษคุณารมณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีเมียร์โพรดักส์ แนะนำว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้คือการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมนำวิธีนี้มาใช้เท่าที่ควร คือเทคโนโลยีการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการที่นำน้ำใช้แล้วจากภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมใดๆ มาบำบัดด้วยเทคโนโลยีที่มีคุณภาพจนได้น้ำที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ในลักษณะต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

            อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาวะภัยแล้งได้อย่างแน่นอน คือทางดียวกับบริษัทบริษัทพรีเมียร์ นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำด้วยการปรับน้ำใช้ในโรงงานพรีเมียร์โพรดักส์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียเหลือศูนย์ ด้วยระบบ Biofil ซึ่งเป็นกระบวนการบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานเทคโนโลยีการกรองน้ำด้วยเมมเบรน และการบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ทำให้ได้ระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและไม่จำเป็นต้องใช้ถังตกตะกอนทำให้ช่วยลดขนาดของทั้งระบบให้เล็กลง ประหยัดพื้นที่และค่าใช้จ่าย โดยน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมีคุณภาพสูง สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุดเช่นกัน

            นับเป็นหลายมุมมองที่จะช่วยแก้วิฤกติภัยภัยแล้ง หากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือตามแผนต่างๆ ที่กำหนดไว้ ประเทศไทยอาจพ้นวิกฤติได้ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนที่จะถึงนี้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2559

เงินบาทแข็งค่าขึ้น กสิกรฯคาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 35.25-35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่ามาทดสอบระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งก็สอดคล้องการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคตามแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทยอยฟื้นตัว ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.นี้ นอกจากนี้ สัญญาณที่อ่อนแอของดัชนีการจ้างงาน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบของดัชนี ISM ภาคบริการ) ยังกระตุ้นให้มีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ออกมาก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (4 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.25-35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาการตอบรับของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ผลการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติของจีน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน อาทิ ทุนสำรองระหว่างประเทศ การส่งออก-นำเข้า สินเชื่อปล่อยใหม่สกุลเงินหยวน และอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้า-ส่งออกเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจจับตารายงานจีดีพีประจำไตรมาส 4/2558 (ครั้งที่ 2) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า อาจจะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมอีกระลอกหนึ่ง

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับพุ่งขึ้น จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,379.53 จุด เพิ่มขึ้น 2.71% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 20.12% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 52,874.45 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 495.88 จุด ลดลง 0.80% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์จากแรงขายทำกำไร ก่อนที่ปรับตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามตลาดหุ้นในภูมิภาค โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ของจีนซึ่งช่วยหนุนการพื้นตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรก่อนการประชุม ECB ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ECB อาจจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 สำหรับสัปดาห์ถัดไป (7-11 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,365 และ1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,395 และ 1,410 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ การประชุมธนาคารกลางยุโรป รวมทั้ง ถ้อยแถลงของรองประธานเฟด สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการรายงานปริมาณน้ำมันคงคลัง สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การรายงานข้อมูลการค้าและระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 6 มีนาคม 2559

โลกระสํ่า!พิษนํ้าตาลขาด อ่วมหลายเด้งราคาพุ่ง-วิกฤติข้ามปีลามผู้ค้า-ผู้บริโภค

วิกฤติเอลนิโญ-ลานิญาลามโลก! ทุบผลผลิตอ้อย-น้ำตาลต่ำลง ล่าสุดผู้ผลิต 3 ใหญ่ทั้งบราซิล อินเดีย ไทย เจอภัยธรรมชาติทำผลผลิตร่วง วงการนํ้าตาลหวั่นปีนี้พลเมืองโลกขาดความหวาน หลังองค์การนํ้าตาลระหว่างประเทศระบุนํ้าตาลโลกขาดแน่ 5-6 ล้านตัน ผู้ค้าเผยยิ่งขาดแคลนยิ่งเร่งราคานํ้าตาลทรายดิบไต่ระดับสูงขึ้น เบื้องต้นคาดจะไต่ถึง 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ชี้ภัยแล้งจะเป็นวิกฤติลามข้ามปี

สถิติผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลก

ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะเอลนิโญ-ลานิญา ต้องรับศึกหนักทั้งภาวะภัยแล้ง ขณะที่บางพื้นที่เผชิญกับฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชเกษตรสำคัญอย่างอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและพลังงานทดแทน ทำให้วงการอ้อยและน้ำตาลเริ่มมีข้อกังวลว่าปัญหานี้เป็นผลกระทบข้ามปีทั้งฤดูผลิตปี2558/2559 ต่อเนื่องฤดูผลิตหน้าปี2559/2560 ที่ทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะน้ำตาลขาดแคลน และจะเป็นช่วงจังหวะที่ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกกลับมาไต่ระดับสูงขึ้น หลังจากที่ในช่วง 12-13 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง มีเพียงช่วงระยะสั้นๆที่ราคาไต่ระดับสูงขึ้นเล็กน้อย

 รายใหญ่แห่ลดผลผลิตน้ำตาล

ต่อเรื่องนี้นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2558/2559 เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลทั่วโลกจะเผชิญกับปัญหาเอลนิโญ-ลานิญา หรือเจอกับภาวะภัยแล้ง และฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ได้รับผลกระทบ ทำให้มีผลผลิตต่ำลง โดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำตาล 3 รายใหญ่ในตลาดโลก ประกอบด้วย บราซิล ในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคกลางและภาคใต้ของบราซิล ซึ่งเป็นโซนที่ผลิตอ้อยได้มากที่สุดของโลก เกิดภาวะฝนตกหนัก มีอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวอ้อย และมีผลผลิตตกต่ำ บางส่วนต้องนำไปผลิตเอทานอล ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือ 30.7 ล้านตันน้ำตาล เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมามีผลผลิตอยู่ที่ 32 ล้านตันน้ำตาล

ขณะที่อินเดียและไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงเช่นกัน โดยอินเดียที่ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศ มีผลผลิตปีที่ผ่านมา 28.3 ล้านตันน้ำตาล ปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 25.5-26 ล้านตันน้ำตาล ส่วนไทยผลผลิตน้ำตาลจะลดลงจาก 11.3 ล้านตันน้ำตาล ลงมาอยู่ที่ 10-10.3 ล้านตันน้ำตาล

 ผงะโลกขาดน้ำตาล 5-6 ล.ตัน

จากผลกระทบดังกล่าววงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาน้ำตาลขาดแคลนได้ โดยเฉพาะในประเทศที่บริโภคน้ำตาลจำนวนมาก เช่น จีน อินโดนีเซีย อินเดีย สอดคล้องกับที่องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO)ที่มีสมาชิกมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกก็ออกมาระบุว่าผลผลิตน้ำตาลปี2558/2559 จะเกิดการขาดแคลนถึง 5 ล้านตัน ในขณะที่ ธนาคารซิตี้กรุ๊ป ,สินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรโลก(Citigroup,Global Agricultural Commodities)ระบุว่าสถิติผลผลิตน้ำตาลโลกระหว่างปี 2553/2554 จนถึงปีฤดูการผลิต 2557/2558 ผลผลิตน้ำตาลโลกอยู่ในภาวะล้นหรือเกินตลาดโลกต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี โดยมีกำลังผลิตน้ำตาลรวมในตลาดโลก สูงกว่าการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลก เปรียบเทียบกับในปีฤดูการผลิต 2558/2559 ที่น้ำตาลในตลาดโลกจะกลับมาขาดแคลนอีกครั้งในรอบ 5-6 ปี ถึง 6.2 ล้านตัน(ดูกราฟ)

 ราคาจ่อไต่ขึ้นต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาลฯ กล่าวอีกว่า ในขณะที่น้ำตาลในตลาดโลกขาดแคลน จะส่งสัญญาณบวกในแง่ราคาน้ำตาลทรายดิบ ที่จะกลับมาดีดตัวสูงขึ้น โดยจะเริ่มเห็นว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2558 ที่ราคาขยับจาก 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ขึ้นไปที่ 12 เซนต์เศษต่อปอนด์ และ15.85 เซ็นต์ต่อปอนด์ในระยะต่อมา ซึ่งในช่วงนั้นบรรดากองทุนหรือนักเก็งกำไรไล่ซื้อน้ำตาลในตลาดโลกเพื่อเก็งกำไร พอราคาไต่ขึ้นเกือบ16 เซ็นต์ต่อปอนด์ บวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าบรรดากองทุนจึงเทขาย จนเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปี2559 ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกลงไปอยู่ที่ 12.45 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่ราคาน้ำตาลทรายดิบเมื่อต้นเดือนมีนาคม ปี 2559 จะดีดตัวไต่ระดับขึ้นไปอยู่ที่ 14 เซ็นต์ต่อปอนด์ หลังจากที่ราคาน้ำตาลร่วงลงถึงจุดต่ำสุดมาแล้ว

“ในภาวะที่น้ำตาลขาดแคลน จะเป็นตัวเร่งทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกกลับมาไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าราคาปี 2559 จะวิ่งถึงระดับ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ จากที่ราคาน้ำตาลทรายดิบ ณ.วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ประมาณ 13 เซ็นต์ต่อปอนด์”

ในขณะที่ผู้บริโภครายใหญ่จากจีน ยังมีการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูง คาดว่าปี2558/2559 ผลผลิตน้ำตาลในประเทศจีนจะลดลงเหลือ 9-9.2 ล้านตัน เทียบกับปีที่แล้วจีนมีผลผลิตน้ำตาลอยู่ที่10.5 ล้านตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคน้ำตาลในประเทศจีนเอง ที่มีปริมาณสูงถึง 15 ล้านตันต่อปี ทำให้ส่วนต่างที่ขาดจีนต้องนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อปี 2558 จีนมีการนำเข้าน้ำตาล 4.8 ล้านตันจากทั่วโลก คาดว่าปี 2559 จีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 5.5 ล้านตัน ถือเป็นตลาดที่มีอิทธิพลด้านกำลังซื้อน้ำตาลมากในเวลานี้ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า

 คาดภัยแล้งลามข้ามปี

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปริมาณอ้อยปี2558/2559 จะเริ่มทยอยปิดหีบได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าปริมาณอ้อยโดยรวมทั่วประเทศจะมีไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย หรือได้ราว 95-97 ล้านตันอ้อยเท่านั้น จากที่ปีฤดูการผลิตที่ผ่านมามีการหีบอ้อยได้ถึง 106 ล้านตันอ้อย ที่น่ากังวลไปกว่านั้นปัญหาภัยแล้งจะเป็นวิกฤติที่ลามข้ามปี ทำให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลปี2559/2560 ชาวไร่ไม่สามารถปลูกอ้อยข้ามแล้งได้ เพราะขาดน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นโซนที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในประเทศไทย ที่จะเริ่มมีการปลูกอ้อยข้ามแล้งในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมของปีถัดไป เช่นเดียวกับการปลูกอ้อยตอ ที่ชาวไร่นิยมปลูกกันมากก็จะมีผลผลิตลดลง หากเป็นเช่นนี้ก็จะกระทบไปถึงโรงงานน้ำตาลได้ เพราะมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลงตามไปด้วย

สอดคล้องกับที่นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่าที่ผ่านมาชาวไร่รับมือกับปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่งโดยได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) จำนวน 1 พันล้านบาท สำหรับขุดบ่อบาดาล และหาแหล่งน้ำเอกชน รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำเก่าที่มีอยู่ ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่งและอยากจะให้พิจารณาเป็นงบต่อเนื่องยาวถึงปีฤดูการผลิตใหม่(2559/2560)นี้ด้วย ซึ่งขณะนี้ชาวไร่รอประเมินว่าฝนจะทิ้งช่วงนานแค่ไหน หากทิ้งช่วงนานมากก็ต้องของบสนับสนุนจากกท.ต่อเนื่องอีก

 โรงงานน้ำตาลรุดเจรจาคู่ค้า

ด้านนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) กล่าวในนามตัวแทนจาก 52โรงงานน้ำตาลในประเทศว่า เวลานี้โรงงานน้ำตาลต้องเจรจากับคู่ค้า จากการส่งออกเพราะคู่ค้าอยากได้น้ำตาลเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตไทยในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จะมีปริมาณน้ำตาลส่งออกลดลง ซึ่งจะลดลงเท่าไหร่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่เชื่อว่าจะลดลงจากเดิมที่ส่งออกราวได้ราว 7-8 ล้านตันต่อปี

อีกทั้งเวลานี้การตั้งขายน้ำตาลล่วงหน้ายังเป็นไปได้ยากกว่าทุกปี เพราะยังกังวลว่าจะมีปริมาณน้ำตาลส่งออกน้อยลงกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นจากนี้ไปแม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะไต่ระดับสูงขึ้นแต่ก็น่าเสียดายที่ผลผลิตน้ำตาลกลับลดลง ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่เป็นวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่มีบทบาทในการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาล

 รง.น้ำตาลช่วยชาวไร่หาแหล่งน้ำ

นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า เวลานี้ต้องมาลุ้นว่า ฝนจะตกในเดือนเมษายนนี้หรือไม่ ถ้าฝนตกก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าฝนตกหลังเดือนพฤษภาคมไปแล้ว อ้อยก็จะโตไม่ทัน จะไม่มีอ้อยหีบป้อนโรงงานน้ำตาลได้เพียงพอ และอ้อยไม่มีความหวานก็จะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตน้ำตาลจะหายไป จะกระทบต่อรายได้ของโรงงานน้ำตาลโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของน้ำตาลส่งออก ขณะที่น้ำตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศหรือโควตา ก. ที่มีจำนวน 2.5 ล้านตันต่อปีหรือราว 24.5-25 ล้านกระสอบ(กระสอบละ100กิโลกรัม) จะไม่ได้รับผลกระทบ จะมีรองรับอย่างเพียงพอก่อน ที่เหลือจึงจัดสรรเป็นโควตาส่งออก

 ล่าสุดจะเห็นว่าโรงงานน้ำตาลมีการปรับตัวโดยลงไปช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ของตัวเองมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ และการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในเชิงรุกมากขึ้น

อนึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีผลผลิตน้ำตาลต่อปีราว 10-11ล้านตันน้ำตาล ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นบริโภคภายในประเทศ(โควตา ก.) 2.5 ล้านตัน ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ในนามโควตา ข. จำนวน 8 แสนตันต่อปี และส่งออกโดยโรงงานน้ำตาล ภายหลังจากที่จัดสรรเป็นโควตา ก.และโควตา ข.ไปแล้ว อีกราว 6-7 ล้านตัน

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

ถกทางออก‘พาราควอต’แนะรัฐ-เอกชนให้ความรู้เกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้มีการเปิดเวทีเสวนา “บทบาทของพาราควอตต่อพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย” โดยระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อผลกระทบของพาราควอตในหลากมิติ เพื่อแสวงหาทางเลือกหากต้องระงับนำเข้า และเสนอรัฐบาลร่วมือภาคเอกชนให้ความรู้เกษตรกรใช้ถูกวิธีภายใต้มาตรฐานสากล

ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวว่าพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่คุ้นเคยกับเกษตรกรไทยมากว่า 50 ปี โดยได้เก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูก 6 พืชเศรษฐกิจ ประกอบด้วย มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ยางพารา ปาล์ม และไม้ผลจำนวน 1,633 ราย พบว่าเกษตรกรเลือกใช้พาราควอตในขั้นตอนเตรียมดิน และดูแลแปลงปลูกเป็นหลัก เพราะวัชพืชเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของเกษตรกรที่ต้องเจอทุกฤดูการผลิต ประเด็นต่อมาสารพาราควอตและไกลโฟเสท แม้เป็นสารเคมีที่มีทั้งข้อดีข้อเสียในตัวเอง แต่เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้และยังไม่สามารถหาสารออกฤทธิ์ที่ให้ผลชัดเจนทดแทนพาราควอตได้

ด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัสที่ใช้มากเป็นอันดับสอง

 รองจากสารกำจัดวัชพืชชนิดดูซึมไกลโฟเสท มีการใช้อย่างกว้างขวางในไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ปัจจุบันพาราควอตได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ใน 85 ประเทศทั่วโลก ในพืชมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งเกษตรกรจะคุ้นเคยและเข้าใจการใช้สารชนิดนี้มายาวนาน หากจะยกเลิกก็ต้องมีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

ด้านนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกร จ.สุพรรณบุรี ได้เสนอแนวทางการตัดสินว่า การจะยกเลิกสารพาราควอตหรือไม่นั้น ควรสอบถามจากตัวเกษตรกรผู้ใช้จริง และเห็นผลจากการใช้ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตจริง แม้พาราควอตเป็นสารเคมีที่มีความอันตราย แต่หากเกษตรกรรู้เข้าใจวิธีการที่ถูกต้องเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษอย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

อ้อย พันธุ์สุพรรณบุรี 50…ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย รายได้มั่นคง

อ้อย เป็นพืชทนแล้งที่ใช้น้ำน้อย บางพันธุ์นำผลผลิตส่งโรงงานแปรรูปเป็นน้ำตาล บางพันธุ์เหมาะจะนำมาบริโภคสดด้วยการหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดพร้อมดื่ม การปลูกอ้อยมีทั้งปลูกแบบสวนหลังบ้านและปลูกในเชิงการค้า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ช่วยยกระดับรายได้สู่ความมั่นคง

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน การปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย เป็นการเพิ่มรายได้เสริมนอกเหนือจากการปลูกเพื่อตัดต้นอ้อยขาย เป็นหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับท่านที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง อ้อย พันธุ์สุพรรณบุรี 50...ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ปลูกเพื่อหีบคั้นเป็นน้ำอ้อยสดขาย รายได้มั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณวีระวัฒน์ มีตาดพงษ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เล่าให้ฟังว่า ในอดีตได้เคยทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในตำเหน่งวิศวกรโรงงาน เมื่อเวลาผ่านไปได้เรียนรู้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรอบข้างมากขึ้น จึงนำประสบการณ์ที่ได้มาไตร่ตรองว่า หากเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่น่าจะได้รับสิ่งใหม่มากขึ้น จึงตัดสินใจกลับมาช่วยคุณพ่อทำไร่อ้อยถึงทุกวันนี้

เมื่อสะสมประสบการณ์การปลูกอ้อยผ่านไปได้ระยะหนึ่ง จุดเปลี่ยนได้เกิดขึ้นเมื่อไปเดินซื้อของใช้ที่ตลาดนัดในท้องถิ่น แล้วซื้อน้ำอ้อยสดมาดื่ม ปรากฏว่า ได้รสชาติหวานหอมอร่อยมาก ได้คุยกับพ่อค้าที่ขายน้ำอ้อย จึงได้รู้ว่าน้ำอ้อยที่ดื่มนั้นเป็นน้ำอ้อยที่ได้มาจากต้นอ้อยที่ไร่ของคุณพ่อตัวเอง เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้ไตร่ตรองถึงข้อดีข้อด้อยแล้วได้ตัดสินใจหีบคั้นน้ำอ้อยสดให้เป็นทางเลือกใหม่ในการเพิ่มรายได้ จากนั้นได้ไปจัดหาอุปกรณ์หีบคั้นน้ำอ้อย เช่น เครื่องหีบคั้นอ้อย หม้อนึ่ง หรือขวดบรรจุ ในระยะแรกเริ่มได้ทดลองหีบคั้นน้ำอ้อยบรรจุขวดขายในชุมชน พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมากพึงพอใจในรสชาติความอร่อย จึงได้ทำเป็นกิจกรรมผสมผสานกับการปลูกตัดต้นอ้อยขาย

เมื่อได้แนวคิดการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพื่อการดำรงชีพแบบพอเพียง พอกินพออยู่ที่มั่นคง จึงได้แบ่งพื้นที่ 1 ไร่ ของคุณพ่อมาปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ซึ่งเป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ให้น้ำอ้อยมาก ได้ผลตอบแทนคุ้มทุน

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2559

'อรรชกา'จ่อเพิ่มโทษทิ้งขยะกากอุตฯ

"จุลพงษ์"เผย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน วัตถุอันตราย เครื่องจักร จ่อเพิ่มบทลงโทษลักลอบทิ้งขยะกากอุตสาหกรรม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และโฆษกกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับการพิจารณาการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน วัตถุอันตราย และเครื่องจักร เกี่ยวกับกฎหมาย และบทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาแล้วเสร็จก่อนเดือนเมษายน นี้ อาทิ การเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ลักลอบทิ้งขยะ หรือกากอุตสาหกรรมทั้งที่อันตราย และไม่อันตราย จากปัจจุบันมีเพียงการปรับเป็นเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเพิ่มโทษจำคุกเป็น 2 ปี ปรับ 200,000 บาท การเพิ่มความชัดเจนสำหรับการพิจารณาประเภทโรงงานตามแนวทางการแก้กฎหมายผังเมือง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละทำเลที่ตั้งและผังเมือง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2559

สั่งฝนหลวงบินตรวจสภาพอากาศ เตรียมปฎิบัติการฝนหลวงทั่วปท.

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ตำบลโนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนดท จ.นครราชสีมา พร้อมกับมอบนโยบายและรับฟังความคิดเห็นของประชาขนในพื้นที่ ว่าได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจ.นครราชสีมา โดยได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาขนอย่างเต็มที่ เพราะจ.นครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ครอบคลุมพื้นที่กว่า10 อำเภอ ทั้งนี้วางแผนชัดเจนทั้งเรื่องแหล่งน้ำที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยมีการขุดบ่อบาดาลให้กับชาวบ้านทุกอำเภอ และให้หน่วยในพื้นที่เตรียมรถขนน้ำลำเลียงน้ำไปช่วยชาวบ้านทันทีที่มีปัญหาน้ำกินน้ำใช้ โดยประสานกับกองทัพบก กระทรวงมหาดไทย ในการช่วยเหลือชาวบ้านจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำแน่นอน

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า โครงการที่ชุมชนเสนอมาของบจากรัฐบาลช่วยในเรื่องรายได้  มีกว่า10โครงการ ซึ่งในข่วงวิฤกติได้กำชับเป็นพิเศษ ให้กรมฝนและการบินเกษตร ขึ้นปฎิบัติฝนหลวงทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งที่ผ่านมาทำฝนหลวงมาตั้งแต่14ก.พ.เป็นต้นมาในช่วงที่มีอากาศเหมาะสมกับการขึ้นทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อน เป็นการช่วยให้เกิดความขุ่มชื้นกับดินเพื่อลดปัญหาหมอกควันด้วย

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศต้องยอมรับไม่มีความชัดเจน แต่หลังจากที่ตนเข้ามาทำงานในฐานะคสช.ได้เข้ามาดูในระบบบริหารจัดการน้ำโดยใช้เวลา9เดือนที่วางแผนน้ำทั้งหมด จากนี้ไป แผนการปฎิบัติการน้ำวางไว้ล่วงหน้า10ปีจากเดิมที่ไม่มึความต่อเนื่อง ซึ่งแผนปฎิบัติการเบื้องต้นในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ต้องสามารถใช้น้ำได้ทั้งปี ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน ต้องมีการวางแผนทำแบบสำรวจ ความต้องการและความเหมาะสม หากจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนปลูกพืชเกษตร ไปส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์แทน

ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่าได้สั่งให้ทุกฐานปฎิบัติการทั้ง8 ฐานทั่วประเทศเพื่อแก้สถานการณ์ภัยแล้งเป็นอันดับแรก ให้ขึ้นบินทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสมซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ที่อ.ด่านขุนดท ได้รับรายงานว่าสภาพอากาศที่สามารถขึ้นบินปฎิบัติการฝนหลวงได้

นายชิดชนก สมประเสริฐ ผอ.สำนักชลประทานที่8 จ.นครราชสีมา กล่าวว่าในส่วนแผนช่วยเหลือเกษตรกร และประชาชนที่กระทบภัยแล้งว่ายืนยันมีการประสานกับทุกหน่วยในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะทางการประปาส่วนภูมิภาค ในสถานีสูบน้ำประปาต่างๆโดยชลประทาน พร้อมปล่อยน้ำให้ทำประปา ไม่ขาดแคลนแน่นอน แต่น้ำสำหรับการเกษตรไม่สามารถปล่อยให้ได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

‘ฝนหลวง’พร้อมบินปฏิบัติการ มุ่งเติมน้ำ4เขื่อนหลักสู้ภัยแล้ง

พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมกันของเขื่อนทั้งประเทศเพียง 13,447 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งการชลประทาน ปัจจัยการผลิตต่างๆ และโดยเฉพาะการทำฝนหลวง ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมามีการขึ้นทำฝนหลวง 245 วัน ประสบความสำเร็จในการทำฝนหลวงกว่า 97% มีพื้นที่ได้รับน้ำฝนกว่า 230 ล้านไร่ และในแผนการทำฝนหลวงปี’59 นี้ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเติมน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่ากรมฝนหลวงได้จัดทำแผนการปฏิบัติการทำฝนหลวงปี’59 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเติมน้ำในเขื่อนเป็นหลัก โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาค 5 ศูนย์ ใน 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา จันทบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วอีก 12 หน่วย มีเครื่องบินปฏิบัติการ 30 ลำ และจัดเตรียมสารฝนหลวงไว้กว่า 6,500 ตัน ซึ่งถ้าหากสภาพอากาศเอื้ออำนวย หน่วยปฏิบัติการทั้งหมดก็พร้อมขึ้นทำฝนหลวงภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้สำหรับปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน กรมฝนหลวงได้วางเป้าหมายหลักที่ 4 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนป่าสัก และเขื่อนแควน้อย โดยเฉพาะการเติมน้ำในพื้นที่เขื่อนป่าสักได้เน้นเป็นพิเศษ เนื่องจากน้ำจากเขื่อนป่าสักจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำของกรุงเทพฯได้เร็วกว่าเขื่อนอื่นๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

KTIS เผยโรงไฟฟ้าใหม่-น้ำตาลบริสุทธิ์พิเศษ เริ่มรับรู้รายได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ 

          ผู้บริหาร KTIS ลุยแก้ปัญหาเรื่องผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ จนสามารถเริ่มขายไฟฟ้าได้ 1 โรง ภายในไตรมาสที่2 นี้ ส่วนอีกโรงจะเร่งให้เสร็จก่อนการเปิดหีบอ้อยปลายปี ด้านโครงการผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ จะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 เช่นกัน คาดปี 59 แม้ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จะลดลง แต่จะไม่กระทบรายได้มากนัก เพราะราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสูงกว่าปีก่อน ส่วนสายธุรกิจชีวพลังงานคาดเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เผยผลงานปี 58 ทำกำไรสุทธิได้ 730 ล้านบาท

          นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ในสายธุรกิจน้ำตาล คือโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นคือ บริษัท นิสชิน ชูการ์ และบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น นั้น ขณะนี้ได้ก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พร้อมทดลองเดินเครื่องแล้ว โดยอยู่ระหว่างทำข้อตกลงซื้อขายกับลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการนี้ได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559

          "สายธุรกิจน้ำตาลในปีนี้ อ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยที่เข้าหีบลดลง ในขณะที่ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งจะไปชดเชยกัน ทำให้รายได้จากการขายน้ำตาลน่าจะไม่ลดลงจากปีก่อนมากนัก เพราะเรามีน้ำตาลที่ส่งออกในสัดส่วนประมาณ 75% ของทั้งหมด" นายประพันธ์กล่าว

          ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ กลุ่ม KTISกล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมเปิดเดินเครื่องขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 2 โรงในปีนี้ ที่ผ่านมาประสบปัญหาล่าช้าในการก่อสร้างสาเหตุจากผู้รับเหมาไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญารับเหมาฯ ซึ่งทาง KTIS ได้เข้าไปแก้ปัญหาร่วมกับผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะสามารถทำการผลิตและขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าได้ 1 โรง ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ คือโรงไฟฟ้าไทยเอกลักษณ์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนโรงไฟฟ้ารวมผล ที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้พยายามเร่งให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดหีบอ้อยในปลายปีนี้

          "โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 2 โครงการนี้ เราต้องการให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ดังนั้น ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อประหยัดการใช้เชื้อเพลิงชานอ้อย ที่เหลือจึงขายให้กับการไฟฟ้าฯ" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว

          ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของ KTIS ในปี 2558 ยังคงมาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาลประมาณ79.4% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 20.6% ซึ่งในปี 2559 ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่าสัดส่วนรายได้จากสายธุรกิจชีวพลังงานจะเพิ่มมากขึ้น และด้วย Profit Margin ที่ดีกว่าก็จะส่งผลดีต่ออัตราการทำกำไรของ KTIS ที่ดีขึ้นด้วย

          สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558กลุ่ม KTIS มีรายได้รวม 19,456.5 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2557 ที่ทำได้ 20,348.8 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในปี 2558 ที่ 729.95 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

เตือน10เขื่อนวิกฤต

          กรมชลฯ เตือน 10 เขื่อนวิกฤต เตรียมดึงน้ำตายจากเขื่อนสำรองใช้ พื้นที่เสี่ยงวิกฤตประปา 61 สาขา

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ส่งผลให้มี 10 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันปรับแผนบริหารจัดการเพื่อให้พ้นวิกฤตไปให้ได้ โดยบางเขื่อนอาจต้องมีการดึงน้ำตายหรือน้ำก้นเขื่อนในบางแห่งมาใช้ ซึ่งล้วนแต่เป็นเขื่อนที่เคยมีการนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ในอดีต

          อย่างไรก็ตาม สำหรับในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ขอยืนยันว่า จะมีน้ำใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงเดือน ก.ค.อย่างแน่นอน

          ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงวิกฤตขาดแคลนน้ำ 42 จังหวัด 152 อำเภอ ซึ่งได้มีการมอบให้ 4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปช่วยเหลือในการกระจายน้ำจากแหล่งต่างๆ ที่กรมชลฯ ได้มีการสำรวจไว้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ระบุว่า มีพื้นที่วิกฤตน้ำประมาณ 61 สาขา และเฝ้าระวัง 4 สาขา มีพื้นที่เสี่ยงสูง 12 สาขา คณะกรรมการจึงมอบหมายให้ กปภ.ไปประสานงานกับกรมชลฯ ในการหาแหล่งน้ำดิบ

          นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้เร่งขุดเจาะบ่อบาดาล ลดแรงดันน้ำ การช่วยเหลือด้านน้ำดิบของกรมชลฯ การดูแลคุณภาพน้ำ ซึ่ง กปภ.จะเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มที่บางปะกง บางคล้า ฉะเชิงเทรา ไม่ให้เกินมาตรฐานด้วย

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ใน 10 เขื่อน ที่มีปริมาณน้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่งัด เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนคลองศรียัด เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำปาว เขื่อนแม่กวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง จึงได้มีการปรับแผนบริหารการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

          ทั้งนี้ ที่เขื่อนแม่งัด จ.เชียงใหม่ จะมีการส่งน้ำเป็นรอบเวรปริมาณ  1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/สัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค เขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ ได้ตกลงกับ กปภ.ต่อท่อเพื่อสูบน้ำจากน้ำตายก้นเขื่อนมาใช้และได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในลำพูนงดทำนาปรัง เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ได้ประสานกับทางจังหวัดในการนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้กรณีขาดแคลน ไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนใหญ่ 2,945 ล้าน ลบ.ม. จะระบายวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.

          ขณะที่การเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน นั้น อธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ในลุ่มเจ้าพระยาจะมีการเปิดปิดประตูตามจังหวะน้ำทะเลขึ้นลง เพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบ ซึ่งขณะนี้เกณฑ์ความเค็มยังไม่เกินค่ามาตรฐาน

          สำหรับการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มเติมจากเดิมที่ครอบคลุม 47 อำเภอ 21 ตำบล 1,902 หมู่บ้านนั้น ได้ประกาศพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพิ่มอีก 10 อำเภอ 62 ตำบล 659 หมู่บ้าน

          นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้ว 1.9 ล้านไร่ มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 5.2 แสนไร่ รอการเก็บเกี่ยวอีก 1.4 ล้านไร่

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

รมว.พาณิชย์ร่วมประชุม รมต.ศก.อาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หนุนสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ในวันนี้ (3 มี.ค.) ว่า เป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากเปิดเออีซีเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้ได้ข้อสรุประหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน ก่อนจะประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ โดยในครั้งนี้มีการหารือในหลายประเด็น อาทิ การหารือถึงการสนับสนุนให้อาเซียนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบในการประกอบอาหารของโลก ซึ่งสอดคล้องกับศักยภาพของไทย ขณะเดียวกัน จะหารือถึงการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีในอาเซียนเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นจะหาแนวทางในการขอสินเชื่อระหว่างกันของเอสเอ็มอีในอาเซียน รวมถึงการหารือการลดอุปสรรคการจัดตั้งบริษัทข้ามประเทศในอาเซียน เพราะปัจจุบันมีปัญหาความล่าช้าในการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศอาเซียนด้วยกัน หากลดอุปสรรคลงได้จะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมครั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือถึงการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะต้องให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่สูงกว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP เพื่อจูงใจให้เกิดการค้าการลงทุนให้มากขึ้น โดยต้องให้เจรจาแล้วเสร็จภายในปีนี้

                อย่างไรก็ตาม จากการเปิดประชาคมอาเซียนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณการค้าการลงทุนในอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นหากประเทศในอาเซียนมีความร่วมมือในทุกภาคส่วนมากขึ้น จะทำให้เกิดการค้าการลงทุนในภูมิภาคนี้สูงขึ้นตามไปด้วย

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

เอาจริงตรวจเข้มเผาไร่อ้อย สร้างมลพิษจัดการเด็ดขาด

กรณีที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของสุพรรณบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากการเผาไร่อ้อยก่อนตัดนำไปเข้าโรงงานสร้างมลพิษทั้งควัน กลิ่น และฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ โดยเฉพาะในเขตอำเภออู่ทองประสบปัญหาหนักจนชาวบ้านต้องปิดหน้าต่างประตูและปัดกวาดกันทั้งวัน รวมทั้งเจ็บไข้ในระบบทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บรรดาร้านค้าในตลาดต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่สามารถค้าขายได้ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะนานกว่า 2 เดือน ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. พ.อ.กุญช์ภัสร์ หาญสมบูรณ์ เสนาธิการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย มณฑลทหารบกที่ 17 เผยว่า ได้สนธิกำลังกับฝ่ายปกครอง และตำรวจกว่า 30 นาย เข้าทำการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในทุกพื้นที่ของสุพรรณบุรี โดยได้เข้าตรวจสอบมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าที่อำเภออู่ทองได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีไร่อ้อยล้อมรอบตัวอำเภอเป็นจำนวนมาก จึงได้เข้าพบ นายก อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และบรรดาผู้นำเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้มีการเผาไร่อ้อย ทั้งก่อนและหลังจากการตัดอ้อยเพื่อส่งโรงงานน้ำตาล และให้ความรู้ชี้แจงถึงผลเสียต่อส่วนรวม ชุมชน และต่อคนว่าเป็นอย่างไร ในเบื้องต้น ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

นอกจากนี้จะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ หากพบมีการเผาไร่อ้อยจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือ ยังโรงงานน้ำตาลทุกแห่งใน จ.สุพรรณบุรี และใกล้เคียง ถ้าเป็นไปได้ไม่ให้รับซื้ออ้อยเผาไฟ หรือถ้าจำเป็นต้องรับซื้อก็จะต้องมีมาตรการลงโทษ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลทุกโรงเป็นอย่างดี โดยมี ข้อสรุปตรงกันว่า หากมีอ้อยไหม้ไฟเข้ามาขายจะทำการ ตัดราคาทันที 30% และนำเงินส่วนนี้ไปเฉลี่ยเพิ่มให้กับ เกษตรกรที่นำอ้อยสดไม่เผาไฟมาขาย รวมถึงมาตรการ เด็ดขาดด้านกฎหมายมลภาวะและสิ่งแวดล้อมเข้ามา จัดการด้วย เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

ไฮเทค!เครื่องมือสำรวจชลประทาน คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์อนาคต/เตรียมต่อยอดสู่สากล

นายสัญชัย เกตุวรชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน ของสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ได้รับรางวัลชนะเลิศ Special Prize กลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อการใช้งานในอนาคต และรางวัล The Best of Special Prize ในงานวันนักประดิษฐ์ 2559 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเครื่องมือ

 สำรวจดังกล่าว จะทำให้งานสำรวจชลประทานมีความแม่นยำสูงและรวดเร็ว รวมทั้งยังทำให้รับทราบสภาพพื้นที่ที่แท้จริงของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สอดคล้องกับความเป็นจริง ณ เวลาปัจจุบัน โดยเฉพาะปริมาณความจุของแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีความละเอียด ถูกต้อง และใช้เวลาไม่นานในการสำรวจ ซึ่งยังจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า เดิมการสำรวจหาปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำจะมี scale ค่อนข้างหยาบเนื่องจากมีข้อจำกัดของเครื่องมือและบุคลากรซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นเพื่อให้การสำรวจมีความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้มีการคิดค้นนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ จนประสบผลสำเร็จสามารถประดิษฐ์ “เครื่องมือสำรวจชลประทาน” เพื่อใช้เก็บข้อมูลภาคสนามและนำมาทำเป็นแผนที่ในรูปแบบดิจิตอล โดยอาศัยองค์ความรู้การทำแผนที่แบบเดิมผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

“เริ่มที่การหาความจุที่แท้จริงของอ่างเก็บน้ำ เครื่องมือสำรวจนี้จะใช้การสำรวจเหนือผิวน้ำกับใต้ผิวน้ำ เหนือผิวน้ำใช้

 อากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อหาค่าพิกัดและระดับความสูงด้วยเครื่อง GPS ซึ่งจะได้ภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูงใกล้เคียงกับของจริง มีโปรแกรมควบคุมการบินให้ได้แนวทางที่ต้องการ การพัฒนาอุปกรณ์ควบคุมโดรน ควบคุมเครื่องมือวัดพิกัดความสูง ควบคุมกล้องให้อยู่ภายในชิ้นเดียว พัฒนาหน่วยเก็บความจำของโดรนให้เก็บภาพได้ต่อเนื่องไม่จำกัดจำนวนครั้ง สำหรับใต้ผิวน้ำเราผลิตเรือเล็กขนาด 80X100 เซนติเมตรติดตั้งอุปกรณ์หยั่งความลึกด้วยคลื่นเสียงแบบความถี่เดียวที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

 ติดตั้ง GPS และใช้ตัวควบคุมการวิ่งของเรือ ซึ่งจะได้ค่าระดับดินใต้ผิวน้ำในแต่ละตำแหน่งอย่างละเอียด”

นอกจากนี้ ยังพัฒนาโปรแกรมบันทึกและคำนวณข้อมูลสำรวจภาคสนามแบบอัตโนมัติ และการประมวลผลข้อมูลหาความสัมพันธ์-สร้างกราฟโค้งความจุอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการสำรวจด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้จะลดระยะเวลาดำเนินการสำรวจจากวิธีการที่ต้องใช้ประมาณ 1 เดือน เหลือเพียง 7 วัน โดยต่อไปจะเร่งจัดทำเอกสารจดอนุสิทธิบัตรในนามกรมชลประทาน และวางแผนจะเสนอผลงานวิจัยนี้ในเวทีระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : เปิดแผนเดินหน้ารับมือภัยแล้งปี’59เต็มสูบ

ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการน้ำในภาพรวม 70,249 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในภาคเกษตรมีความต้องการใช้น้ำ 53,034 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(ปี 2558-2569)ในการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา และการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป็นต้น โดยในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,399 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 29 และสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่  เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้งหมด 2,724 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อย่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อน บรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร รวมทั้งเพื่อให้มีน้ำในการอุปโภค บริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวภายหลังจากพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ว่า ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำหน้าที่ทำฝนหลวงเพื่อสู้กับปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 จนถึงขณะนี้ได้บินทำฝนหลวงไปแล้วทั้งสิ้นเกือบ 7,000 เที่ยว เร่งเติมน้ำต้นทุนให้เข้าเขื่อนรับมือภัยแล้งปีนี้

สำหรับแผนการทำฝนหลวง  จากเดิมจะเริ่มทำฝนหลวงได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 นี้ ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2559 แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมเพื่อให้การทำฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีการบินทำฝนหลวงไปบ้างแล้วผลการทำฝนหลวงในครั้งนั้นเป็นที่น่าพึงพอใจของรัฐบาล เพราะทำให้ฝนตกน้ำไหลเข้าเขื่อนในระดับหนึ่ง

“ต้องยอมรับว่าปริมาณน้ำฝนในปี 2558 ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ร้อยละ 10 จึงทำให้น้ำต้นทุนในปีนี้เหลือน้อยมาก ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ พื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในการทำนาปีฤดูกาลใหม่นี้ อยากขอให้ชาวนาดูท่าทีจากฝนที่ตกมาในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนการทำนาปรัง ขอให้ชาวนาเชื่อฟัง

 รัฐบาล ห้ามลักลอบการทำนาปรัง และหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เพราะขณะนี้ปริมาณต้นทุนเหลือเพื่อการเกษตรมีไม่มากนัก หากชาวนาไม่ฟังคำแนะนำจากรัฐมีโอกาสจะเสียหายมากขึ้น สุดท้ายก็จะได้ไม่คุ้มเสีย”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวย้ำ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

แล้งลาม42จว. เร่งขุดบาดาลเพิ่มพันบ่อ เผยนักบินฝนหลวงลาออกไม่กระทบ-ให้‘ทอ.’ลุยแทน

ขอนแก่นอาจงดสงกรานต์

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการปรับโครงสร้างอัตรากำลังของกรมฝนหลวง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4-5เดือน หลังจาก ตั้งแต่ต้นปี 2559 มีนักบินฝนหลวง ลาออกเพิ่มเติมอีก4 คน จากปี 2558 ลาออกไปแล้ว16คน จนกังวลว่า จะกระทบต่อการดำเนิน โครงการฝนหลวง

“ ขอยืนยันว่าขณะนี้จำนวนนักบินที่มีอยู่54 คน สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ภายใต้อากาศยานที่มีอยู่ 41 ลำโดยไม่ส่งผลกระทบใดๆแต่ก็จะมีการพิจารณารับนักบินเพิ่มเพื่อแบ่งเบาภาระงาน เบื้องต้นได้ประสานกองทัพอากาศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการผลิตนักบินแล้ว พร้อมทั้งเตรียมของบประมาณจากกรมการบินพลเรือน ในการผลิตนักบินรุ่นต่อๆไป ขณะเดียวกันจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้แก่นักบิน เริ่มต้นงวดแรกเดือนมิถุนายนนี้”พล.อ.ฉัตรชัย ย้ำ

ส่วนการติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ล่าสุด มีแผนปรับการบริหารจัดการน้ำใน10 เขื่อนระดับภูมิภาค อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีการปรับแผนการส่งน้ำแบบเป็นรอบเวร ปริมาณ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร 1 วันต่อสัปดาห์ มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ

แล้งลาม42จว.เสี่ยงขาดน้ำ12จว.

บ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี2558/59 ครั้งที่ 3/2559 ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งว่าจากการประเมินและตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำพบว่า ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งหมด รวม42 จังหวัด 152 อำเภอ แบ่งเป็นพื้นที่วิกฤติ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 12 จังหวัด 20 อำเภอ และพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง40 จังหวัด 132 อำเภอ

เร่งขุดบาดาลเพิ่มอีก1พันบ่อ

จากการรายงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยืนยันว่าสามารถใช้น้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำสำรองได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ระดับหนึ่ง ล่าสุดจะขุดบ่อน้ำบาดาลเพิ่มอีก1,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ขณะที่ การประปานครหลวง มีแผนรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยการต่อท่อน้ำประปาจากพื้นที่หนึ่งมาช่วยเหลืออีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่มีพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประปา มีเพียงพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในเขตพื้นที่การประปาสาขา 61 สาขา

นอกจากนี้ มีพื้นที่ 5 แห่งที่จะต้องดำเนินการลดแรงดันน้ำได้แก่อ.ชนแดน จ.เพชบูรณ์ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรีและอ.ศรีประจัน จ.สุพรรณบุรี ขณะที่มีพื้นที่ที่ต้องดูแลผลักดันน้ำเค็ม 3 แห่งได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่ อ.บางคล้า อ.บางปะกง จ.สมุทรปราการและจะมีการนำน้ำบางส่วนจากโครงการ Eastern sea boardเข้ามาช่วยเพิ่มเติมด้วย

โคราชยังขึ้นทำฝนหลวงไม่ได้

จ.นครราชสีมา ช่วงสายวันเดียวกัน นายสินชัย พึ่งตำบล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา เผยว่าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯได้จัดเจ้าหน้าที่กว่า 30นาย นำเครื่องบินทำฝนหลวงแบบ CN235 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 1 ลำ ไปประจำการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงฯและพร้อมขึ้นทำฝนหลวงในพื้นที่รับผิดชอบทันที หากสภาพอากาศเหมาะสม แต่ตรวจสอบสภาพอากาศ ยังคงไม่สามารถขึ้นทำการบินทำฝนหลวงได้ ต้องรอดูสภาพอากาศในวันช่วง 1-2 วัน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดคือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และตอนล่างบางส่วนของจังหวัดขอนแก่นเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มเติมปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆในพื้นที่รับผิดชอบโดยจะขึ้นทำฝนหลวงบริเวณแนวเทือกเขาเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง

ขอนแก่นขาดน้ำดิบทำประปา

วันเดียวกันที่การประปาส่วนภูมิภาค สาขาขอนแก่น(ชั้นพิเศษ)สถานที่ผลิตน้ำประปาในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น บ้านโกธา ต.ศิลา นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล รักษาการประธานหอการค้าขอนแก่น และคณะกรรมการหอการค้าจ.ขอนแก่น ได้เข้าร่วมรับฟังรายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาสำหรับใช้ใน จ.ขอนแก่น เพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกันการเกิดผลกระทบในเขต อ.เมืองขอนแก่น

โดยมีนายเสริม หึกขุนทด ผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค เขต 6 กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งรวมถึงประชาชนมีความต้องการใช้น้ำประปา จำนวนมากทำให้น้ำที่เก็บสะสมในแหล่งน้ำดิบ สำหรับการผลิตน้ำประปา ลดลงเร็วมาก โดย เขต อ.เมืองขอนแก่น ใช้น้ำดิบจากลำน้ำพองและแม่น้ำชี มีผู้ใช้น้ำ 92,914ราย ปริมาณน้ำ110,000 ลบ.ม./วัน หรือ110 ล้านลิตรต่อวันทำให้ปริมาณน้ำดิบสะสม สามารถใช้ได้อีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น หากประชาชนยังมีความต้องการใช้น้ำเท่าเดิม ภายหลัง วันที่ 11 เมษายน 2559การประปาส่วนภูมิภาค จะต้องนำน้ำก้นเขื่อนมาผลิตเป็นน้ำประปาแทน ซึ่งไม่นิยมมากนัก เพราะมีตะกอนมาก เป็นภาระต่อการผลิตน้ำสะอาด

วิกฤติ30ปี-สงกรานต์อาจไร้น้ำ

นายธีระศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่าเราประสบภัยแล้ง ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น แต่ยังมีน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคเป็นปกติ ตนได้รับแจ้งจากสถานที่ผลิตน้ำประปาใน เขต อ.เมืองขอนแก่น ตั้งอยู่ ที่บ้านโกธา ต.ศิลา ว่ามีน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา ได้ประมาณ1 เดือนเท่านั้น และ อาจไม่มีน้ำเล่นสงกรานต์ภายในเดือนเมษายน2559 น่าเป็นห่วงอย่างมาก วิกฤตการณ์ภัยแล้ง ของขอนแก่นครั้งนี้อาจหนักสุดในรอบ 30ปี

วอนทุกบ้านลดใช้น้ำร้อยละ30

โดยจากตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.นี้เป็นต้นไป การประปาส่วนภูมิภาค อาจนำเอาน้ำก้นเขื่อน ถือเป็นน้ำสำรองล็อตสุดท้ายมาผลิตนำประปา ทางเทศบาลนครขอนแก่น ในฐานะผู้ดูแลประชาชนที่ใช้น้ำในเขตชุมชนเมืองจะร่วมมือกับการประปาส่วนภูมิภาคในการสะท้อนความจริงของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ให้ประชาชนรับทราบ เพื่อร่วมกันประหยัดน้ำ หากทุกคนใช้น้ำน้อยลงร้อยละ30 ต่อครัวเรือน จะทำให้สามารถยืดระยะเวลาการใช้น้ำออกไปอีก 1 เดือน และอาจไม่ต้องใช้น้ำก้นเขื่อนมาผลิตเป็นน้ำประปา

อ่างห้วยตลาดแห้งจนเนินโผล่

จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้ง ขยายวงอย่างต่อเนื่อง หลังฤดูฝน มีฝนตกน้อยส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ฝั่งด้านทิศตะวันออก ในเขตพื้นที่ของ ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตประปาหล่อเลี้ยงเขตตัวเมืองบุรีรัมย์และผลิตประปาหลายหมู่บ้าน มีสภาพตื้นเขินอย่างรวดเร็วกว่าทุกปี บางจุด แห้งขอดจนมองเห็นเนินดินโผล่ขึ้นกลางอ่างอย่างชัดเจน อีกทั้ง ยังมีสาหร่ายที่หมักหมมอยู่ภายในอ่างจำนวนมหาศาลจนเกิดเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปผลิตประปาได้

กรณีดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน2 หมู่บ้านคือบ้านเย้ยสะแก หมู่ และหมู่18 ต.เสม็ด กว่า 300 ครัวเรือน มีประชากรกว่า1,600 คน ประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้นานกว่า1 เดือนแล้ว จึงขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ โดยการนำน้ำสะอาดมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้ประสานทาง อบต.ให้นำน้ำสะอาดมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว พร้อมทั้งจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสำรวจเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

แตกใบอ่อน : เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ(1)

นาทีนี้คงชัดยิ่งกว่าชัดว่า วิกฤติภัยแล้งที่พวกเราคนไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มีความหนักหนาสาหัสมากขนาดไหน และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าอนาคตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะเพิ่มระดับความรุนแรงไปถึงขนาดไหน ดังนั้นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ คือ ต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งก็คือ การนำเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับลักษณะภูมิสังคมของไทย และที่สำคัญ คือ สามารถทำได้ทันทีโดยไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน แต่จะทำกันอย่างไรนั้น “มนตรี บุญจรัส” ประธานชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ได้เขียนเป็นบทความเรื่อง “เทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติ” เพื่อนำเสนอแนวคิดดังกล่าวเอาไว้ ซึ่งน่าสนใจทีเดียว ลองติดตามกันดูครับ

ปริมาณน้ำฝนที่ตกในประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,700 มิลลิเมตร คิดเป็นปริมาณมวลน้ำก็จะอยู่ประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าเยอะเพราะบางส่วนซึมลงสู่ชั้นใต้ดินบ้าง และระเหยคืนกลับสู่ชั้นบรรยากาศบ้าง เหลือเพียง 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณเกือบ 30% ที่กระจัดกระจายไปตามเขื่อนใหญ่และเขื่อนขนาดกลางต่างๆ กว่า 650 แห่ง รวมถึงเช็คแดม ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ เฉลี่ยแล้วเก็บน้ำได้เพียงปีละ70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาทั้งหมด ซึ่งน้ำส่วนที่เหลือก็ยังถูกปล่อยสู่ทะเลไปแบบไร้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

จากข้อมูลดังกล่าว ประเทศไทยเราจึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะเจอกับปัญหาภัยแล้งมาก โดยเฉพาะตัวเลขสถิติที่สามารถจับต้องได้จากกรมทรัพยากรน้ำก็ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชไร่ไม้ผล ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูก และนอกจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในทุก 4-5 ปี แต่บางทีก็อาจไม่ได้เกิดจากเอลนีโญไปเสียทั้งหมด เพราะจากภัยแล้งต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2557 ยังคาดการณ์กันว่าน่าจะแล้งยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2559 นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสถานการณ์โลกร้อน (Global Warming)และเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตามสภาพแวดล้อมและปัจจัยของโลก ที่ไม่น่าจะเหมือนเดิมอีกต่อไป หรืออาจจะเรียกว่าเลวร้ายกว่าเดิม โดยเราสามารถสังเกต

 ความแปรปรวนนี้ได้จากช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กับอุณหภูมิตั้งแต่ติดลบไปจนถึงสิบกว่าองศาเซลเซียส ที่เข้ามาปกคลุมบ้านเราแบบกะทันหันเกือบค่อนประเทศ และแว่วๆ มาว่าในอีกไม่ช้านี้ก็จะมีหย่อมความกด

 อากาศสูงจากจีนอีกระลอกหนึ่งเข้ามาอีก สภาพการณ์นี้ก็สามารถชี้ให้เห็นถึงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวน ซึ่งพวกเราชาวไทยจะได้สัมผัสกับอากาศหนาวกันแบบรายสัปดาห์กันเลยทีเดียว (หนาว 1 สัปดาห์ ร้อน 1 สัปดาห์) แต่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียต่อผลผลิตภาคการเกษตรอีกก็เป็นได้

จากปัจจัยลบหลายๆ ด้านที่กล่าวมานี้ ทำให้เรามิอาจนิ่งนอนใจหรือรอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือขอความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ระบบการชลประทานที่เราฝันกันว่าจะมีให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้าน หรือทุกพื้นที่การเพาะปลูกก็คงจะนานเกินรอ หรือจะมัวหวังให้มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้เพิ่มมากขึ้น

 อาจจะเรียกว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งๆเสียก็ว่าได้ เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการสร้างเขื่อนก็เหลือน้อยเต็มที รวมถึงการประท้วงต่อต้านการสร้างเขื่อนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนมาจากต่างประเทศ ที่ดูๆ ไปเหมือนประเทศเหล่านั้นจะรู้ว่าถ้าเราสามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงพอ เราก็จะร่ำรวยมั่งคั่งเกินหน้ากว่าเขาเป็นแน่แท้ และเมื่อไม่สามารถสร้างเขื่อนหรือฝายเก็บน้ำได้ ประเทศที่มีความโดดเด่นเชี่ยวชาญเรื่องเกษตรกรรม แผ่นดินที่เคยได้ชื่อว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ก็อาจกลายเป็นเพียงแค่ตำนาน

ปัจจุบันประเทศไทยเรามีขนาดพื้นที่ประมาณ512,000 ตารางกิโลเมตร หรือถ้าคิดเป็นจำนวนไร่ก็มี 320,696,888 ไร่ มีพื้นที่เพาะปลูกด้านการเกษตรอยู่ 149,236,233 ไร่ (สถิติปี 2556 ของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รวบรวมไว้เมื่อปี 2557) และถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 4–5 ปีที่แล้ว ก็จะพบว่าพื้นที่การเกษตรของเราลดลงอย่างมาก เพราะเมื่อปี 2553 เรายังมีพื้นที่ใช้สอยทางการเกษตรอยู่ที่ 149,416,681 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วหายไป 180,449 ไร่ และส่วนที่เหลือก็จะเป็นพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่นอกการเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม เรายังมีทางเลือกอยู่เสมอ เช่น การน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการสร้างสระน้ำประจำไร่นา สระน้ำแก้มลิง ให้มากเพียงพอต่อการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเอง เรียกได้ว่าสระน้ำประจำฟาร์มส่วนตัวของเกษตรกร เพื่อรองรับกับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะขอยกยอดเรื่องเทคโนโลยีและภูมิปัญญาไทย แก้ปัญหาภัยแล้งระดับชาติไปไว้ในฉบับหน้า หรือตอนที่ 2 ครับ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

ดัชนีชี้ชะตาปี59 ภาคเกษตรไทย

สุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สรุปภาวะเศรษฐกิจของภาคเกษตรไทยในปี 2558 และคาดการณ์แนวโน้มปี 2559 เอาไว้อย่างเห็นภาพ

เขาชี้ให้เห็นว่า มีทั้งข่าวดีและข่าวที่ทำให้ใจเสีย ระคนกัน กล่าวคือ จีดีพีภาคเกษตร หรืออัตราการเติบโตของภาคเกษตรไทยในปี 2558 มีการหดตัวลงประมาณ 4.2%

แยกพิจารณารายสาขา สาขาพืช หดตัวลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยผลผลิตสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน

ขณะที่ สาขาปศุสัตว์ ในปี 2558 มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ2.2 ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

แต่เป็นปีที่สดใส เฉพาะผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม เพราะเนื้อโคและน้ำนมดิบมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นผลผลิตโคเนื้อยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงผลักดันให้ราคาสูงขึ้น เช่นเดียวกับน้ำนมดิบมีราคาสูงขึ้น จากการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ และการปรับตัวตามคุณภาพน้ำนมดิบที่อยู่ในเกณฑ์ดี

ตรงข้ามกับชะตากรรมของผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่ เพราะเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีราคาเฉลี่ยลดลง อันเป็นผลมาจากการขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณผลผลิตล้นตลาด

สาขาประมง มีอัตราการหดตัวลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปี 2557 สาเหตุเพราะปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง อันเป็นผลมาจากการยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาประมงให้ถูกต้องและยั่งยืน ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง

ขณะที่ สาขาบริการทางการเกษตร ในปี 2558 มีอัตราหดตัวลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปี 2557 ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างเตรียมดิน ไถพรวนดิน และให้บริการเกี่ยวนวดข้าว ต่างลดลงทั้งสิ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีและนาปรังลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง

เทียบกับ สาขาป่าไม้ มีอัตราขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยผลผลิตป่าไม้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ถ่านไม้ รังนกนางแอ่น และครั่ง

ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่สูงขึ้น ประกอบกับการดำเนินการควบคุมปริมาณการผลิตยางของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์และส่งเสริมการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่า ที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า และปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดี หรือพืชเศรษฐกิจอื่น จึงทำให้มีพื้นที่ตัดโค่นไม้ยางพาราเกินกว่าพื้นที่เป้าหมาย

เลขาฯสุรพงษ์บอกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของปี 2559 คาดว่าน่าจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาคเกษตรมากขึ้น การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งสถานการณ์ดิน ฟ้า อากาศ ที่ไม่น่าจะรุนแรงไปกว่าปีนี้

นอกจากนั้นยังได้แรงเสริมจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออก รวมทั้งการกำหนดนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหา IUU เขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังจับตาตัวแปรความเสี่ยงในเรื่องภาวะฝนทิ้งช่วง หรือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกปี 2559 รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

“ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 3.1% โดยคาดว่าสหภาพยุโรปขยายตัวที่ประมาณ 1.9% จีนเมื่อปีที่แล้วมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 7.3% แต่หลังจากมีการปฏิรูปโครงสร้างหนี้ คาดว่าปีนี้ อัตราขยายตัวชะลอลงเหลือเพียง 6.8%”

“ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกประเทศคู่ค้าของไทย ก็ยังคงมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้ามาก ทั้งการบริโภคและส่งออก ยังไม่ดีเท่าที่ควร คาดว่าปีนี้จึงน่าจะมีอัตราขยายตัวเพียง 0.6% ขณะที่อาเซียน 5 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม คาดว่าปีนี้น่าจะขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 4.6%”

ในแง่ภาวะภัยแล้ง ซึ่งเป็นอีกตัวแปรสำคัญต่อการลืมตาอ้าปากของเกษตรกรไทยในปี 2559 ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ภาวะน้ำท่วมกับน้ำแล้ง ยังคงเป็น 2 ตัวแปรหลักของภาคการเกษตรไทย

“ปัญหาน้ำแล้งเหมือนโรคมะเร็ง น้ำท่วมเหมือนโรคหัวใจ แนวโน้มระยะยาวต่อไป ปัญหาภัยแล้งจะน่ากลัวกว่าน้ำท่วม เพราะที่ผ่านมาเราใช้ปริมาณน้ำจริง มากกว่าแผนการใช้น้ำมาตลอด แถมแต่ละปียังปล่อยให้น้ำ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลลงทะเลไปอย่างน่าเสียดาย”

เสรีบอกว่า เดือน พ.ค.2559 มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปี 58 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในเขื่อนภาคเหนือ น้อยกว่าปี 57 ถึง 30%

เขามองว่า ในอนาคตจึงเป็นไปได้สูงที่เมืองไทยอาจต้องมีระบบธนาคารน้ำ และนำเอานวัตกรรม การกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด มาใช้งานอย่างกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการนำมาใช้กันบ้างแล้ว ที่เกาะสีชัง และเกาะสมุย เพียงแต่ยังมีต้นทุนสูง อยู่ที่คิวละ 20 บาท เทียบกับน้ำที่ใช้กันทั่วไป มีต้นทุนอยู่ที่คิวละ 12 บาท

“บอกได้เลยว่า ปี 2559 ทั้งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และน้ำทำการเกษตร ต้องใช้กันอย่างมีวินัยเท่านั้น จึงจะอยู่รอด”

ด้าน ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยฯ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า อยู่เมืองไทยยังไงก็หนีไม่พ้นทั้งวิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วม

“ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรฯว่าจะปฏิรูปยุทธศาสตร์การลงทุนด้านการชลประทานให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ได้อย่างไร เช่น ทำอย่างไรกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาแล้วไหลไปยังที่ซึ่งไม่มีการกักเก็บ หรือปล่อยทิ้งลงทะเลไปอย่างน่าเสียดาย หลายประเทศที่แล้งกว่าเรา เช่น อิสราเอล ทำไมเขาจึงจัดการกันได้”

อนุสรณ์บอกว่า เลิกคิดถึงเรื่องการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่กันได้แล้ว เพราะทุกวันนี้นอกจากปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มเฉลี่ยลดลง ยังตกไม่เป็นที่ ปัญหาเหล่านี้สามารถเอาชนะได้ ถ้าเรามีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ดีพอ หนทางที่ทำให้ฝันเป็นจริง ต้องทำให้เกษตรกรไทยเข้าถึงแหล่งทุน และส่งเสริมงานวิจัย

สุกรรณ์ สังข์วรรณะ ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ ทำนา จาก จ.สุพรรณบุรี ช่วยให้ข้อคิดปิดท้าย เขาบอกว่า พื้นที่การเกษตรประเทศไทยมีอยู่ทั้งสิ้นราว 170 ล้านไร่

“30 ล้านไร่ เป็นพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน เปรียบเหมือนลูกรักของรัฐบาล แต่อีก 140 ล้านไร่ อยู่นอกเขตน้ำฝน ไม่ต่างกับลูกชัง แต่ละปีรัฐบาลทุ่มใช้งบประมาณมหาศาลอุ้มชูดูแล พื้นที่เพียง 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นนาข้าวประมาณ 22 ล้านไร่ ที่เหลือปลูกไม้ผล เป็นที่อยู่อาศัยและบ่อปลา อีกราวๆ 8 ล้านไร่”

สุกรรณ์ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมานอกจากลูกชัง ซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ มักถูกละเลย เกษตรกรไทยแต่ละครัวเรือนมีพื้นที่การเกษตรโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 15-20 ไร่ แต่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยหนี้สิน เพราะที่ดินเกือบทุกแปลง ล้วนนำไปจำนองไว้กับ ธ.ก.ส. แทบทั้งสิ้น

ทำไงเกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปากได้ในปีหน้า 2559 เป็นการบ้านที่เขาฝากให้ช่วยคิด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

ก.เกษตรฯรณรงค์ลดเผาตอซังแก้ปัญหาหมอกควัน

กระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาหมอกควัน รณรงค์ลดเผาตอซังอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับปฏิบัติการฝนหลวง ชี้ผลการดำเนินงานดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 81% ยืนยันนักบินลาออกไม่กระทบการปฏิบัติงาน

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือ ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ออกปฏิบัติการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเติมน้ำในเขื่อนหลัก แก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง และการบรรเทาปัญหาหมอกควันโดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือทั้ง 10 จังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกแล้วในเขตพื้นที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และกาญจนบุรี

สำหรับปัญหานักบินที่ลาออกไปในปีนี้จำนวน 4 คน ยืนยันว่าไม่กระทบต่อปฏิบัติการฝนหลวง เพราะขณะนี้มีนักบินทั้งหมด 54 คน อากาศยาน 41 ลำ ซึ่งถือว่าเพียงพอ และในปี 2560 จะมีการพิจารณารับนักบินเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้จะมีการหารือเพื่อปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนให้แก่นักบิน เริ่มต้นงวดแรกเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนกรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 4 มาตรการ คือ 1.การไถกลบตอซัง 2. การรณรงค์ลดการเผาตอซัง 3.ปลูกไม้โตเร็ว และ 4.ธนาคารปุ๋ยหมัก โดยดำเนินการใช้งบประมาณปี 2559 ในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาในพื้นที่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าสามารถลดปัญหาหมอกควันได้ถึง 81 %

จาก http://www.thansettakij.com    วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯ ปรับแผนสู้ภัยแล้งรายวัน การันตีถึงสิ้นเดือนก.ค.น้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน

กรมชลฯปรับแผนรับมือภัยแล้งรายวัน การันตีถึงสิ้นเดือน ก.ค. น้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน นาปรังลุ่มเจ้าพระยาเสียหายไม่เกิน 3 แสนไร่ ชี้ภาคเหนือตอนบน อีสานตอนล่างน่าห่วงสุด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมล่าสุดวันที่ 29 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศแม้ลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เป้าหมายโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง หากมีการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค กับรักษาระบบนิเวศ โดยไม่มีการดึงน้ำไปใช้ทำการเกษตรจะสามารถประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดปัญหา ขาดแคลนน้ำได้ถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะทำให้ไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

จากการสำรวจพื้นที่ทำนาปรังพบว่าขณะนี้เริ่มนิ่งไม่มีการปลูกข้าวเพิ่มมา 2 สัปดาห์แล้ว โดยมีการปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยารวม 1.9 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.2 แสนไร่ เหลือนาข้าวค้างทุ่งอีก 1.4 ล้านไร่ เลวร้ายสุดจะมีข้าวนาปรังเสียหายจากภัยแล้งไม่เกิน 3 แสนไร่ เป็นข้าวอายุน้อยต่ำกว่า 3 สัปดาห์ ที่น่าห่วงสุดคือ 12 จังหวัดแรกที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศให้เป็นพื้นที่วิกฤตภัย แล้งอย่างภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อาทิ ขอนแก่น นครราชสีมา ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งช่วยเหลือทั้งขุดเจาะน้ำบาดาล รถแจกจ่ายน้ำ

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเผยว่า 29 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมอนุกรรมการการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง 2558/59 มีนายณรงค์ ลีลานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธาน สรุปผลการระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนป่าสักฯ แควน้อยฯ สิริกิติ์ และภูมิพล ยังคงระบายน้ำออกเฉลี่ยวันละ 15.9-18.9 ล้าน ลบ.ม. ยืนยันว่าสามารถควบคุมน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือน ก.ค. ส่วนพื้นที่นาข้าวที่มีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจแล้ว

นอกจากนี้ได้หารือถึง แผนการใช้น้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังมากสุดคือ เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ประกาศงดใช้น้ำช่วงสงกรานต์หรืองดเล่นน้ำช่วงเทศกาล เพียงแต่ให้ปรับเปลี่ยนการเล่นน้ำเพื่อประหยัดน้ำ และยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติในจังหวัดใดเป็นพิเศษ ยังคงเฝ้าระวัง 28 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือตอนบน เเละนอกเขตชลประทาน อาทิ กำแพงเพชร กาญจนบุรี กรุงเทพฯ จันทบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครนายก ชัยนาท นครราชสีมา มุกดาหาร อุทัยธานี

รายงานข่าวแจ้งว่า ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม มอบหมายงานทหารทุกเหล่าทัพขุดบ่อบาดาลทำแก้มลิงแล้วกว่า 60% ขณะที่พลเอกปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่า พื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก เนื่องจาก 5 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีเหลือน้อย รวมกันไม่ถึง 25% ตลอดจนมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมทั่วประเทศเพียง 13,449 ล้าน ลบ.ม. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำ โดยใช้อากาศยานทั้งสิ้น 30 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 22 ลำ และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 8 ลำ 10-12 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ตั้งอนุกรรมการเร่งขับเคลื่อน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม

"สมคิด" ตั้งอนุกรรมการเร่งขับเคลื่อน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้าเชิงรุก หวังช่วยบีโอไอขับเคลื่อนการลงทุน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมติดตามผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ S-Curve ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงาน 1 ชุด มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม อาหาร เกษตรชั้นสูง และชีวภาพ กลุ่มเศรษฐกิจดิจิตอล กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 4 กลุ่มมีรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ และผู้เชี่ยวชาญกำกับดูแลและให้คำปรึกษา โดยจะจัดการประชุมเดือนละครั้ง โดยมีเป้าหมายว่าภายในปีนี้จะดำเนินได้ครบทั้ง 4 กลุ่ม และจะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดูแลเรื่องพื้นที่จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับแผนงานจะเป็นการดำเนินการเชิงรุก เพื่อช่วยบีโอไอขับเคลื่อนการลงทุน หลังมีสัญญาณว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เฟดดีไอ) ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ พบว่า เดือนมกราคม 2559 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 และผลจากการโรดโชว์ต่างประเทศพบว่าหลายอุตสาหกรรมไฮเทคต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ ยอมรับว่าแม้ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านจากค่าแรงที่สูงกว่า แต่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แข็งแกร่งเป็นพื้นฐานต่อยอดของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีในภาพรวมประเทศไทย จึงยังคงเป็นประเทศเป้าหมายที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานบีโอไอ กำหนดกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายเพิ่มขึ้น จากเดิม 600 บริษัท และนำกลับมาเสนอภายใน 1-2 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางเจาะตลาดที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ปรับแผนสู้ภัยแล้ง28 จว.”เหนือ-อีสาน”น้ำประปาขาด”นาปรับ-อุตฯน้ำตาล”ยับ2.2หมื่นล.

นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่าสถานการณ์น้ำในภาพรวมล่าสุดวันที่ 29 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักที่ประเทศแม้ลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย แต่ในพื้นที่เป้าหมายโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาแถบภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง หากใช้น้ำเฉพาะอุปโภคบริโภค กับรักษาระบบนิเวศ จะประคองสถานการณ์ไม่ให้ขาดแคลนน้ำได้ถึงสิ้นเดือนก.ค.นี้

จากการสำรวจพื้นที่ทำนาปรับพบว่า ขณะนี้เริ่มนิ่งไม่มีการเพาะปลูกข้าวเพิ่ม 2 สัปดาห์แล้ว มีปลูกข้าวนาปรังในลุ่มเจ้าพระยารวม 1.9 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 5.2 แสนไร่ เหลือนาข้าวค้างทุ่ง 1.4 ล้านไร่ เลวร้ายสุดจะมีข้าวนาปรังเสียหายจากภัยแล้งไม่เกิน 3 แสนไร่ เป็นข้าวอายุน้อยต่ำกวา 3 สัปดาห์ ที่น่าห่างสุดคือภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ขณะนี้กำลังเร่งช่วยเหลือทั้งขุดเจาะน้ำบาดาล รถแจกจ่ายน้ำ วันที่ 2 มี.ค.นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรฯ จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจแบ่งความรับผิดชอบดูแลเป็นรายภาค หรือรายจังหวัด

แหล่งข่าวจากกรมชลประทาน เผยว่า 29 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมอนุกรรมการการแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง 2558/59 สรุปผลการระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนป่าสักฯ แควน้อยฯ สิริกิติ์และภูมิพล ยังคงระบายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคได้จนถึงเดือนก.ค.

นอกจากนี้ได้หารือถึงแผนการใช้น้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังมากสุดคือ เชียงใหม่ แต่จะไม่ประกาศงดใช้น้ำช่วงสงกรานต์ เพียงแต่ให้ปรับเปลี่ยนการเล่นน้ำเพื่อประหยัดน้ำและยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติในจังหวัดใดเป็นพิเศษ ยังคงเฝ้าระวัง 28 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ภาคเหนือตอนบนและนอกเขตชลประทาน

ขณะที่พลเอกปัฐมพงศ์  ประถมภัฎ ผู้ช่วย รมต. ประจำกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2559 ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ว่าพื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยาเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างมาก เนื่องจาก 5 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล  สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำรวมกันไม่ถึง 25% น้ำใช้การได้รวมทั่วประเทศเพียง 13,449 ล้าน ลบ.ม. จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำ โดยใช้อากาศยานทั้งสิ้น 30 ลำ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด

นายอิสระ  ว่องกุศลกิจ  ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร. เริ่มรณรงค์ให้เอกชนร่วมประหยัดใช้น้ำลง 20-30% ในเดือนมิ.ย. เริ่มจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่ก่อน จากสถิติสัดส่วนการใช้น้ำประปาแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. น้ำที่ใช้ผลักดันน้ำเค็ม 800 ล้านลบ.ม. 2. น้ำที่ใช้ในครัวเรือน/อุตสาหกรรม 600 ล้านลบ.ม. 3. น้ำใต้ดินที่ต้องใช้ระบบขุดเจาะบาดาลภาคการเกษตรต้องใช้ 1,200 ล้านลบ.ม. รวม 2,600 ล้านลบ.ม. จากความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศเกือบ 4,000 ล้านลบ.ม. จึงขาดน้ำประปาใช้อีกกว่า 1,000 ล้านลบ.ม. กระทบข้าวนาปรังคิดเป็นมูลค่า 12,000 ล้านบาท และอุตฯอ้อยน้ำตาล 10,000 ล้านบาท

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ระดมสมองออกแบบอุโมงค์ผันน้ำ พัฒนาโครงการ‘โขง-เลย-ชี-มูล’แก้วิกฤติแล้งอีสาน

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง “การออกแบบอุโมงค์ส่งน้ำที่มีความยาวมาก” หรือ “Brainstorming-Designing of long water diversion tunnel” ระหว่างวันที่23-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ หอประชุมชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ปากเกร็ด เพื่อระดมความความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงในการศึกษาในด้านการก่อสร้าง การบริหารจัดการน้ำ ของโครงการผันน้ำผ่านอุโมงค์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน

ทั้งนี้ในการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ จะมีการนำเสนอเรื่องสำคัญๆ คือ แบบจําลองคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาชลศาสตร์อุโมงค์ที่มีความยาว เพื่อศึกษาลักษณะชลศาสตร์ที่เหมาะสม แบบจําลองชลศาสตร์ และกายภาพที่ใช้ในการศึกษาชลศาสตร์อุโมงค์ที่มีความยาว และ วิธีการขุดเจาะอุโมงค์และการบริหารงานก่อสร้างของอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวมากโดยเน้นให้ข้อมูลด้านเทคโนโลยี วิธีการวางแผนงานในการเจาะอุโมงค์ผันน้ำให้ถูกต้อง ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย และก่อสร้างได้รวดเร็ว รวมถึงเทคนิค ขั้นตอนการขนยายวัสดุขุดเจาะ ตลอดจนการพัฒนาใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ขุด

ดร.สมเกียรติประจำวงษ์ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำที่ใช้อุโมงค์ผันน้ำเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทานได้ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำมาบ้างแล้วแต่ระยะทางไม่ยาวมาก เช่น อุโมงค์ผันน้ำจากอ่างฯห้วยไผ่ จ.มุกดาหาร ไปยังได้อ่างฯลำพะยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความยาว 740 เมตร เป็นต้น และขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างฯแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังอ่างฯแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงราย มีระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564

นอกจากนี้การสัมมนาดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบการพัฒนา โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ตามแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งเป็นการศึกษาเพิ่มเติมจากโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA)โดยเฉพาะในประเด็นการศึกษาพฤติกรรมและพลศาสตร์การไหลของน้ำจากปากแม่น้ำเลยผ่านอุโมงค์ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งผลกระทบในแม่น้ำโขงจากการพัฒนาโครงการ ความพร้อมรับการพัฒนางบประมาณ ความคุ้มค่าในการลงทุนรูปแบบการลงทุน ตลอดจนการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นี้

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ตามแรงโน้มถ่วงโลกนั้น จะต้องใช้อุโมงค์ที่มีความยาวมากในการผันน้ำจากปากแม่น้ำเลย ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำโขง ที่ความสูง 210 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อกระจายน้ำผ่านคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแรงน้ำถ่วงโลกประมาณ 20 ล้านไร่ และโดยระบบสูงน้ำอีกประมาณ 10 ล้านไร่ ในขณะที่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อย มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคอีสานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

เอกชนมึนส่งออกไร้แววฟื้น ผวาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-กกร.เตรียมหั่นเป้าจีดีพีอีกรอบ

สภาผู้ส่งออกฯ เป็นห่วงเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น ลากส่งออกไทยดิ่งเหวอีกปี คาดไตรมาสแรกยังคงติดลบ ทั้งปีไม่มีโอกาสเห็นตัวเลขเป็นบวก ยอมรับคิดไม่ออกจะผลักดันสินค้าตัวไหน สินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนหนัก ซ้ำเจอประเด็นมาตรการห้ามนำเข้าของสหรัฐอีกด้าน 3 สถาบันร่วมภาคเอกชน เตรียมหั่นเป้าหมายจีดีพีอีกรอบ

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกฯ ยอมรับว่า เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2559 มียอดส่งออกเพียง 15,711.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 8.91% ติดลบต่อเนื่อง 13 เดือน เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 50 เดือนซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องสงครามการค้า สืบเนื่องจากการเมืองค่ายอเมริกาและจีน ที่สหรัฐไม่ต้องการให้จีนเป็นตัวกำหนดการค้าโลก สหรัฐได้ทำเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ทีพีพี) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและตามด้วยกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าแรงงานทาส แรงงานเด็ก นับเป็นการกีดกันทางการค้า ภาพรวมจะทำให้ตนเองได้เปรียบมากสุด และที่น่าแปลกราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น และยังมีปัญหาสงครามคู่ค้าหลายประเทศ

“เศรษฐกิจโลกส่อแวววิกฤติ มีการเตือนรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บอกยากว่าส่งออกไทยจะเป็นบวกหากเศรษฐกิจโลกถดถอยมากก็อาจจะติดลบมาก ยิ่งหากเศรษฐกิจโลก set zero ตูมเดียว ทุกอย่างลดลง 50% ซึ่งไม่รู้จะถึงเวลานั้นเมื่อใดก็ยิ่งน่าเป็นห่วง หากจีน สหรัฐ มุสลิม รัสเซีย ไม่หาทางจับมือกันก็จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างนี้ต่อไป และผู้ประกอบการด้วยว่าต้องระวังความผันผวนทุกด้าน เพราะเศรษฐีโลกเล่นเรื่องค่าเงิน เล่นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาน้ำมัน ทองคำ ค่าเงินและอื่นๆ ผันผวน เป็นที่คาดว่าตลาดจะผันผวนตลอดเวลา” นายนพพร กล่าว

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกฯ กล่าวว่า น่าเป็นห่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะหากดูปีที่แล้วการส่งออกใกล้เคียงกับเดือนมกราคม ประกอบกับจีนมีวันหยุดตรุษจีน การนำเข้าก็น้อยลง จึงน่าเป็นห่วงคาดว่า เดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม อาจจะลดลง 5% ยิ่งราคาน้ำมันปีนี้ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี ก็จะกระทบต่อยอดนำเข้าของผู้ผลิตน้ำมันและสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งตลาดส่งออกใหญ่ของไทยทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการขยายตัว ดังนั้น สภาผู้ส่งออกฯ จึงคาดว่าไตรมาส 1 การส่งออกจะติดลบ4.5-5% หากนับจากเดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม การส่งออกจะต้องมียอดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวระดับ 0-1%

“ตอนนี้มึนไปหมด ไม่รู้จะผลักดันอุตสาหกรรมตัวไหน เพราะหลายภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ” นายวัลลภ กล่าว

สำหรับปัจจัยน่าเป็นห่วง คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ไม่ขยายตัวตามคาด จีนก็ยังมีปัญหา มีการลดค่าเงินหยวน ไอเอ็มเอฟปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลง 0.2% เป็นขยายตัว 3.4% นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาสงคราม ปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ รวมถึงไวรัสซิกาขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเรื่องประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) หากไทยประเมินไม่ผ่านก็จะกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งออกยังเป็นห่วงกรณีที่สหรัฐประกาศแก้ไขกฎหมายศุลกากรห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานทาสหรือแรงงานเด็กอาจจะกระทบต่อสินค้าของไทยด้านประมง สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม กุ้ง น้ำตาล และสื่อลามก ซึ่งไทยต้องปฏิรูปแรงงาน พร้อมทั้งเสนอว่าทางรอดเดียวที่สนับสนุนให้ภาคส่งออกของไทยเติบโตอย่างสุดความสามารถ คือ ปฏิรูปภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันตาม 9 ข้อเสนอที่เคยเสนอต่อรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ โดยเรื่องที่ต้องผลักดันทันที การปฏิรูประบบราชการ คือ การอำนวยความสะดวกทางการค้าตามข้อตกลงตามกรอบองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยต้องเร่งจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้า จัดทำแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้าระดับชาติ การผลักดันการสร้างและปฏิบัติตามมาตรฐานข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล และต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกทางการค้ารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีบทบาทมากขึ้น

“อยากเห็นแผนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศที่ชัดเจนกรณีที่รัฐบาลไปพูดคุย เช่น กรณีรัสเซียก็ต้องไม่ใช่ว่าจะซื้ออาวุธเท่านั้น ต้องดูระยะยาวว่า 2 ประเทศจะได้อะไร” นายนพพร กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.จะทบทวนปรับลดตัวเลขจีดีพี ที่ประเมินไว้ 3-3.5% ลงอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3-3.5% แต่ยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้ในขณะนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม ขณะนี้ยังไม่สดใส สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนยังแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้าการใช้จ่ายภาครัฐแม้จะดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่พบว่า อัตราเบิกจ่ายโดยเฉพาะงบลงทุนแผ่วลง หลังเร่งเบิกจ่ายไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2559 ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้งหลังจากอานิสงส์ชั่วคราวที่เริ่มหมดลง เช่น ผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ และการกระตุ้นการจับจ่ายผ่านมาตรการภาษี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวระดับต่ำจากกำลังการผลิตที่ยังคงมีเพียงพอและการปรับขึ้นภาษีรถยนต์

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้น ดั้งนั้น กกร.จะร่วมรณรงค์ลดการใช้น้ำในผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยจะเริ่มดำเนินการเดือนมีนาคมนี้ โดยจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ประเมินว่า จะช่วยลดการใช้น้ำในภาคธุรกิจได้ 20-30% ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนผลกระทบอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน เบื้องต้นยังไม่มีปัญหาน้ำที่กักเก็บยังมีเพียงพอใช้ในภาคอุตสาหกรรมจนถึงปลายปีนี้ด้านการลงทุนโดยตรงภาคเอกชนไทยไปต่างประเทศ 9 เดือนแรกปี 2558 เพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ประเทศปลายทางที่ให้สิทธิประโยชน์การลงทุน และเอกชนที่ไปลงทุนสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการผลิตภายประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างประเทศยืนยันได้ว่าเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การย้ายฐานการผลิต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รบ.เร่งพัฒนาสหกรณ์ เพิ่มศักยภาพ-สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษ ที่ขบวนการสหกรณ์ไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจุดเริ่มต้นสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทย คือ “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” จ.พิษณุโลก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 โดยมีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นผู้ริเริ่มนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของเกษตรกร โดยการรวมตัวกันของสมาชิก 16 คน ด้วยเงินทุนเพียง 3,080 บาท นับเป็นการเริ่มต้นการสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งปัจจุบันนับเป็นเวลารวม 100 ปี ที่การสหกรณ์ได้เติบโตก้าวหน้าและมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีสหกรณ์ไทย เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ตลอดจนเพื่อให้บุคลากรในขบวนการสหกรณ์ได้รับรู้และรับฟังนโยบาย ทิศทางการพัฒนาสหกรณ์และแนวทางการขับเคลื่อน อีกทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและตระหนักในคุณค่าของสหกรณ์ และมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์ให้เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหกรณ์ในประเทศ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,230 สหกรณ์ สมาชิกกว่า 11 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวม 2.25 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์เกษตรกรอย่างมาก เพราะเห็นว่า สหกรณ์เป็นกลไกลสำคัญในการเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร จึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของสมาชิกและเกษตรกรให้มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ส่องเกษตร : ปลุกสำนึก‘รักษ์น้ำ’

สถานการณ์วิกฤติ“ภัยแล้ง”เข้าสู่ช่วงเวลาที่คาดกันว่าจะรุนแรงที่สุดของปีคือช่วงมี.ค.ถึงเม.ย.ที่เข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างถูกรัฐบาลเร่งรัดงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องเจ็บปวดกับ“ภัยแล้ง”อันส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สามแล้ว

วันจันทร์สิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมาหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำที่ประกอบด้วยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรมชลประทาน,กรมทรัพยากรน้ำ,กรมอุตุนิยมวิทยา,การประปา,การไฟฟ้า ฯลฯแล้ว รองอธิบดีกรมชลประทาน-ณรงค์ ลีลานนท์ได้ให้ข่าว“อัพเดท”ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนสิริกิติ์,เขื่อนแควน้อยฯ,เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสักฯเหลืออยู่เพียง 2,980 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะระบายให้ใช้วันละ 17.8 ล้านลบ.ม.เพื่อให้พอใช้ถึงเดือนพ.ค.ที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน โดยยืนยันจะมีน้ำป้อนผลิตประปาให้คนกรุงเทพฯไม่ขาดแคลน ทั้งยังเตรียมน้ำสำรองไว้ผลิตประปา ในกรณีฝนมาล่าช้าไปจนถึงเดือนก.ค.ด้วย

“กรมอุตุนิยมคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์น้อยเท่ากับปี 2558 จึงอยากให้เกษตรกรติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ก่อนลงมือปลูกข้าว(นาปี) เพราะคาดปีนี้ฝนอาจมาช้าถึง 2 เดือน ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว เหมือนปี 2558 และนับเป็นปีที่มีฝนน้อยต่อเนื่องติดต่อกัน 3ปี จึงขอวิงวอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง”

นอกจากนี้ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่อง“ศึกแย่งน้ำ”โดยประเมินว่า ช่วงมี.ค.-เม.ย.ที่แล้งจัดนี้ ชาวนาที่ทำนาไปแล้ว อาจกลัวข้าวที่ปลูกไว้จะตาย จนแย่งกันสูบน้ำ ซึ่งจะกระทบต่อการทำน้ำประปาในพื้นที่ได้ จึงให้ผู้ว่าฯและท้องถิ่นเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั้งขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 12 จังหวัด 47 อำเภอ 217 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ภัยพิบัติด้านเกษตร10 จังหวัดและภัยพิบัติขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์

ก็“อัพเดท”ข้อมูลสถานการณ์น้ำและภัยแล้งไว้ให้ทราบ และขอเน้นย้ำที่ท่านรองอธิบดีณรงค์วิงวอนไว้คือ “ให้ช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง”ทุกฝ่ายทุกคนด้วย...ต้องถือเป็น”วาระแห่งชาติ”จริงๆ

ไม่ใช่แค่เรื่อง“ประหยัดน้ำ”เท่านั้น แต่ต้องเอาจริงกันได้แล้ว ในเรื่องการใช้“น้ำ”ทั้งในส่วนของบุคคลทั่วไป และน้ำในระบบให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ

อย่างที่ผมได้เขียนไปในสัปดาห์ก่อน มีผลวิจัยที่ชี้ชัดว่า ไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้น้ำต่ำ ทำให้“น้ำ”ที่ใช้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่ำมาก ทั้งส่งผลฉุดดึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ต่ำด้วย โดยมีผลศึกษาวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ออกมาว่า ไทยสามารถสร้างรายได้จากหนึ่งหน่วยน้ำได้เพียง 3.6 ดอลลาร์ เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่สร้างรายได้ต่อหนึ่งหน่วยน้ำได้ 81 ดอลลาร์ หรือค่าเฉลี่ยของเอเชียอยู่ที่ 41 ดอลลาร์

คงเพราะตั้งแต่อดีตประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วย “น้ำ” เราจึงใช้กันฟุ่มเฟือยไม่รู้คุณค่า แต่ปัจจุบันสถานการณ์น้ำกำลังเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องเร่งปรับตัว สร้างสำนึกใหม่เสียที

ในทางวิชาการเคยมีข้อเสนอเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในด้านการเกษตร ขอยกเป็นตัวอย่างเล็กน้อย เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตด้วยปริมาณน้ำที่น้อยลง อย่างการพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง เลือกปลูกพันธุ์พืชอายุสั้นจะใช้น้ำน้อยกว่าพันธุ์พืชอายุยาว,การเน้นใช้น้ำสำหรับเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงแทนพืชที่มีมูลค่าต่ำ ซึ่งสามารถสร้างรายได้สูง อย่างนี้เป็นต้น ที่ต้องเน้นภาคการเกษตร เพราะเป็นภาคที่มีการใช้น้ำในปริมาณสูงถึง 80-90% ของน้ำทั้งหมด

อย่างไรก็ตามในส่วนภาคประชาชน ก็ควรจะเร่งให้ความรู้เพื่อสร้างความตื่นตัวด้วยโดยมีข้อเสนอ อาทิ ควรบรรจุหลักสูตรความรู้เรื่องน้ำทุกระดับการศึกษาให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ทั้งปลูกจิตสำนึกสาธารณชนให้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันภัยแล้งและบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

หน้าที่ให้ความรู้กับประชาชน ไม่ใช่แค่อยู่ที่รัฐ สื่ออย่างพวกผมก็ต้องช่วยกันทำ และประชาชนด้วยกันเอง ก็ต้องช่วยกันแชร์แพร่ความรู้ เพื่อปลุกสำนึกต่อๆ กันไปด้วย

สังคมก้มหน้าปัจจุบันเป็นโลกของการแชร์อยู่แล้ว แต่ควรแชร์เรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แชร์แต่เรื่องไร้สาระครับ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559 

“เอทานอล” ทางออกของพลังงานไทย กับสุดยอดแผนการที่วางไว้ แต่คนไทยไม่เคยรู้!

อย่าคิดว่าโลกร้อนขึ้นทุกวันแล้วประเทศไทยจะนิ่งเฉย!

 (สตาร์ตรถหนึ่งคันยังทำร้ายโลก แล้วถ้าสตาร์ตหลายคันจะขนาดไหน?)

อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้ เพียงแค่สตาร์ตรถออกมาทำงานในแต่ละวัน ก็มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น เพียงเพราะควันจากท่อไอเสียเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว และยังทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยแล้ง ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะวกกลับมาทำร้ายมนุษย์เรากันเองนั่นแหละ

ถ้าไม่ใช้พลังงาน ไม่ขับรถ แล้วในทุกๆ วันเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร?

 เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ คงจะผุดขึ้นในใจของใครหลายคนแน่นอน…

จากคำถามเหล่านี้ ประเทศไทยเองก็ไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด ไม่ว่าจะภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ได้ร่วมกันหาทางออกเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกอยู่ตลอดมา จนพัฒนามาเป็น “แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)” แผนแม่บทของรัฐบาลในเรื่องพลังงานทดแทนในอนาคต ซึ่งมี “อ้อย” พืชไร่ใกล้ตัวของคนไทย เป็นพลังงานสะอาดที่เราสามารถปลูกได้เองบนดิน ไม่มีวันหมด เป็นหัวใจหลัก และที่สำคัญยังเป็นการช่วยชาติประหยัดงบประมาณ เพราะลดการนำเข้าน้ำมันและไม่ทำร้ายโลก!

อ้อย ทดแทนพลังงานแบบเก่าได้อย่างไร ใครรู้บ้าง?

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยนั้นได้มีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมานานแล้ว ซึ่งชื่อย่อสั้นๆ นั่นก็คือ “AEDP 2015” โดยแผนนี้มีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงานที่มาจากการขุดเจาะฟอสซิล แล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก “อ้อย” โดยแผนจะดำเนินการระยะยาวร่วม 20 ปี ซึ่งถ้าบรรลุตามแผนได้จริง ก็จะช่วยชาติประหยัดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้กว่า 6 แสนล้านบาท! ต่อปี

เรียกได้ว่า “อ้อย” เป็นพืชที่ไม่ธรรมดาเลย ทุกส่วนของอ้อยนั้นมีประโยชน์มาก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า นอกจากจะผลิตน้ำตาลได้แล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลยังสามารถนำมาผลิตพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ได้อีก อาทิ “ชานอ้อย” นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถแปรรูปชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและขายให้การไฟฟ้าได้สูงถึง 2,700 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพลสองเขื่อนรวมกัน เป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงานในแบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ซึ่งไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ภาคเอกชนหลายๆ แห่งก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ อย่างผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ก็ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของการนำกากน้ำตาลมาหมักกับยีสต์ ออกมาเป็น “เอทานอล” หัวใจสำคัญที่เป็นส่วนประกอบหลักของแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเอทานอลมาผสมเพื่อลดสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน ที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าปีละมหาศาล จะเห็นได้ว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา การใช้ “เอทานอล” นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ทำให้คนไทยใช้ “เอทานอล” ถึงวันละ 3.5 ล้านลิตร เรียกได้ว่าถ้าหากคนไทยหันมาใช้พลังงานจาก “เอทานอล” กันมากขึ้น ความตั้งใจที่อยากจะช่วยชาติประหยัดการใช้พลังงานจากการขุดเจาะน้ำมันตามแผนที่ได้วางไว้นั้น ก็คงดูไม่ไกลเกินฝัน 


 งานนี้ “แผน AEDP 2015” หรือ “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก” นั้นเรียกได้ว่าถูกวางขึ้นมาอย่างเหมาะสม และสามารถช่วยหาทางออกเรื่องพลังงานของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่เรื่องราวดีๆ เหล่านี้แค่ซ่อนตัวอยู่ เหมือนการ “ปิดทองหลังพระ” นั่นเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำไมเราจะไม่ช่วยกันใช้พลังงานของเรา เพื่อประเทศของเราล่ะ?

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

รัฐมนตรีเกษตรฯจี้สร้างระบบแปลงใหญ่ 76 จว.เตรียมเสนอแผนของบ/หลักเกณฑ์จัดซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ในฟาร์มอัดฉีดหนุนเกษตรกรรวมแปลงแก้จุดอ่อนภาคเกษตรดึงสภาหอฯทุกจังหวัดแนะ ทิศทางตลาดขับเคลื่อนประชารัฐเต็มสูบ 

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมให้ได้ซึ่งขณะนี้ก็ได้สั่งการไปแล้วในการจัดทำแปลงใหญ่ใน76 จังหวัดให้มีความสมบูรณ์เพื่อเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรได้จริงตามแนวทางประชารัฐที่ถือว่าจะเกษตรกรที่มารวมกลุ่มทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ จะเป็นในรูปสหกรณ์หรือเป็นเพียงการรวมกลุ่มกันก็ได้มีภาคเอกชนคือสภาหอการค้าทีมีอยู่แล้วทุกจังหวัดทั่วประเทศไปแนะนำเรื่องการบริหารจัดการและการตลาดเกษตรกรควรปลูกอะไรคุณภาพแบบไหนตลาดต้องการอะไรเชื่อมโยงกันให้ได้เพราะภาคเอกชนจะมี

ความเชี่ยวชาญมากกว่า ขณะที่ภาครัฐคือกระทรวงเกษตรฯจะเข้าไปสนับสนุนในด้านเงินทุนและวิชาการด้านการเกษตรไม่ว่าจะด้านพืชประมงและปศุสัตว์ สภาพพื้นที่ควรจะทำการเกษตรแบบไหนทำอย่างไรถึงจะลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้

          " ถ้าทำให้เกษตรกรมีความเปลี่ยนแปลง และรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้มาทำแปลงใหญ่ได้ เกษตรกรจะมีความเข้มแข็ง และลืมตาอ้าปากได้ การรวมแปลงใหญ่ก็จะขยายผลในวงกว้างมากขึ้น แม้จะมีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลาให้เค้ามารวมกันทำแบบนี้ได้แต่ถ้ามันเกิดขึ้นได้จะเป็นการปฏิรูปภาคเกษตรได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนซึ่งแผนดำเนินการขณะนี้ได้สั่งการให้ ได้สั่งการให้คณะทำงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เขียนแผนงานโครงการ หลักเกณฑ์วิธีการที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนงบประมาณในการสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยและกำหนดเวลาการชำระคืนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเครื่งมือที่จำเป็นในแต่ละแปลงที่เสนอความต้องการ เข้ามา เช่น มอเตอร์พูล โรงอบรถตัดอ้อยในแปลงที่เค้ารวมตัวกันภาครัฐต้องทำโครงการนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป"ได้เสนอแนวคิดนี้ไปกับท่านนายกฯ แล้วว่าต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาล เมื่อพื้นที่ไหนรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ได้แล้ว กลุ่มเกษตรกรก็ต้องเสนอแผนมาว่าถ้าทำแปลงใหญ่ข้าว 2,000 ไร่ อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง แล้วต้องใช้เงินเท่าไหร่อาจออกมาว่าใน2,000ไร่ต้องกู้5ล้านบาทหรือ10ล้านบาทก็ได้แล้วแต่ประเภทแล้วแต่ขนาดภาครัฐก็เข้าไปดูว่าควรมีอะไรบ้างไม่ได้เป็นการให้เปล่าแต่อุกรณ์เหล่านั้นจะเป็นของเกษตรกรเมื่อได้ผลกำไรคืนต้องชำระคืนรัฐภายในระยะเวลากี่ปี " พลเอก ฉัตรชัยกล่าว

          อย่างไรก็ตามได้กำหนดเป้าหมายว่าในปี 59 จะต้องเกิดแปลงใหญ่ขึ้นให้ได้ และในช่วงระยะ 2 ปี น่าจะมีแปลงใหญ่เกิดขึ้นราว 300 แปลงซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทำแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่สูงขึ้นเช่น กรณี อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรปลูกมันปลูกอ้อย ที่สร้างรายได้ไม่มากนักไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่พื้นที่มีความเหมาะสมสามารถเลี้ยงแพะได้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ก็จะเข้าไปส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเลี้ยงมากขึ้น ก็สามารถรวมกันเป็นแปลงใหญ่ ที่ภาครัฐ เอกชน จะเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งได้ เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

ชาวไร่อ้อยกาฬสินธุ์โอดไฟไหม้ ชี้นายทุนตั้งใจปล่อยไฟกดราคา

เกษตรกรชาวไร่อ้อยใน ต.บัวขาว ต.สมสะอาด และต.กุดค้าว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กว่า 20 ราย ร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำลังช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อส่งขายให้กับโรงงาน หลังจากถูกไฟไหม้เสียหายกว่า 300 ไร่ โดยเกษตรกรระบุว่า สาเหตุเกิดจากมีนายทุนจุดไฟเผาอ้อยในไร่ของตนเอง เพื่อหวังให้ลุกลามไปยังไร่อ้อยชาวบ้าน ก่อนที่จะตะเวนรับซื้อกดราคาอ้อยที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนและเดือดร้อนอย่างมาก

นายคำวน แสงเพชร อายุ 70 ปี กล่าวว่า ทุกปีตนและเพื่อนเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะตัดอ้อยสดส่งให้กับโรงงาน แต่ปีนี้กลับประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากอ้อยที่ปลูกอยู่บริเวณใกล้เคียงกันรวมพื้นที่กว่า 300 ไร่ ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด โดยสาเหตุชาวบ้านเชื่อว่าเกิดจากฝีมือของกลุ่มนายทุนที่รับซื้ออ้อยในพื้นที่ โดยทำทีเข้ามารับซื้ออ้อยสดแบบเหมาไร่ของชาวบ้านครั้งละ 2-3 ไร่ จากนั้นได้จุดไฟเผา เพื่อให้เก็บเกี่ยวง่ายขึ้น และไม่ป้องกันไฟ เพื่อต้องการให้ลุกลามไปยังไร่อ้อยใกล้เคียง

จากนั้นพออ้อยชาวบ้านถูกไฟไหม้แล้ว จะมีนายทุนต่างแย่งกันตะเวนรับซื้ออ้อยของชาวบ้านที่ถูกไฟไหมแบบกดราคาตันละ 500-600 บาท ทำให้เกษตรกรบางรายจำเป็นต้องขายให้กับนายทุนที่มารับซื้อ แม้จะถูกกดราคาลงเกือบครึ่งก็ตาม เพราะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ซึ่งจะทำให้อ้อยแห้งเหี่ยวตายทิ้งไปและไม่ทันคิวที่จะต้องส่งให้กับโรงงาน

ทั้งนี้ ปกติหากอ้อยไม่ถูกไฟไหม้และขายสดส่งโรงงานจะได้ตันละ 808 บาท อีกทั้งจะได้ราคาการขายอ้อยสดและความหวานพิเศษอีกตันละ 30 บาท อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุเกษตรกรได้เข้าแจ้งความกับตำรวจสภ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ไว้แล้วหลายราย ซึ่งตำรวจก็ทำได้เพียงรับแจ้งความเท่านั้น และบอกให้เกษตรกรไปหาหลักฐานและจับคนร้ายที่วางเพลิงเผาอ้อยมาเอง ซึ่งทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่หมดความหวังและจำใจขาดทุนขายอ้อยราคาต่ำให้กับนายทุน

ด้านนายสมหวัง เขาทอง อายุ 64 ปี กล่าวว่า ปัจจุบันอ้อยที่ตนปลูกและจองคิวไว้ข้ามปีกว่า 30 ไร่ เพื่อเตรียมส่งให้กับโรงงานถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด ซึ่งอ้อยที่ถูกไฟไหม้จะทำให้น้ำหนักลด ความหวานลดลง อีกทั้งบางต้นก็แห้งเหี่ยวตาย ทำให้เหลืออ้อยที่จะสามารถขายได้ไม่ถึง 50 % หากตนไม่ยอมขายให้กับนายทุนที่มาตะเวนรับซื้ออ้อยแบบเหมาไร่ แต่ส่งให้กลับโรงงานตามคิวที่จองไว้ก็จะถูกหักค่าอ้อยถูกไฟไหม้อีกตันละ 20 บาท ทำให้การปลูกอ้อยปีนี้ขาดทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจึงวอนขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมายบ้านเมือง เพราะหากเกิดขึ้นอีกเกษตรกรยิ่งจะต้องเดือดร้อนหนักกว่าเดิม นอกจากนี้อ้อยที่ถูกไฟไหม้นอกจะเสียหายแล้วยังส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งควัน และฝุ่น ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากไฟป่าหรือภัยธรรมชาติ แต่เป็นฝีมือของนายทุนอย่างแน่นอน โดยช่วงนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้ามาตรวจ สอบและหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วย เนื่องจากชาวบ้านไม่อยากให้มีการเผาอ้อยแต่ถูกลักลอบเผาทำให้ชาวบ้านต้องขาดทุนย่อยยับ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

'ฉัตรชัย'เร่งทำแผนที่เสี่ยงขาดน้ำ เฝ้าระวัง68จ.315อ.ดูแลพิเศษ

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯเรียกประชุมคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขวิกฤติภัยแล้ง วันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) ที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอทราบผลการดำเนินการของทุกกระทรวงในการวางมาตรการรับมือและแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะแจ้งให้ชัดเจนถึงปริมาณน้ำบาดาลที่นำมาใช้ได้มีปริมาณน้ำใต้ดินเท่าไหร่ และมีบ่อบาดใช้งานได้เท่าไหร่ ต้องขุดเพิ่มกี่บ่อ เพราะแผนที่น้ำยังขาดตรงนี้อยู่ ซึ่งต้องเร่งรัดให้มีน้ำกิน น้ำใช้ในพื้นที่ทุกตำบล ไม่ให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะหลายอำเภอใกล้วิกฤติขาดแคลนน้ำที่ทุกหน่วยงานต้องดูแลเป็นพิเศษ

"ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ มีเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง แต่ไม่ให้พื้นที่การเกษตร ทำให้การระบายน้ำคงที่ 17-18 ล้านลบ.ม.ต่อวัน สามารถผลักดันน้ำทะเลไม่ลุกเข้าน้ำจืด หากน้ำทะเลหนุนสูงจะปล่อยน้ำมาเพิ่ม จากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราการไหล 75-80 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามช่วงขึ้นลงของน้ำทะเลที่ไม่ได้หนุนตลอดทั้งเดือน ช่วงหนุนจะปิดประตูริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนในช่วงเดือนมี.ค.- เม.ย. เป็นช่วงสถานการณ์แล้งจัด หลายฝ่ายกังวลเรื่องน้ำหายกลางทางที่ปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีมาตรการคุมเข้มมากเฝ้าระวังมาก ขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่ชลประทานไปปิดประตูเอง หากพบว่ามีการดักสูบน้ำไปใช้นอกแผนจะปิดเลย โดยจะปิดประตูจุดเชื่อมต่อแม่น้ำต่างๆไม่ให้น้ำเข้าไป " นายสุเทพ กล่าว

นายทองเปลว กองจันทร์ ผอ.สำนักอุทกวิทยา และโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่ากรมชลประทาน ได้ทำแผนที่น้ำในแต่ละอำเภอที่ใกล้วิกฤติขาดน้ำ และอำเภอเฝ้าระวัง โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ต้องนำผลสรุปการตรวจสอบน้ำบาดาลที่มีอยู่ พอหรือไม่ ถ้าไม่พอต้องใช้รถบรรทุกน้ำมาส่งให้ทั่วถึง โดยมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบระหว่าง กระทรวงกลาโหม กระทรงงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบพื้นที่ ใกล้วิกฤติขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ มี 76 อำเภอ ใน 28 จังหวัด

"ปริมาณน้ำบาดาลมีเท่าไหร่ กรมทรัพย์ต้องส่งข้อมูลมาโดย ระบุความชัดเจนปริมาณน้ำที่มีอยู่แหล่งบาดาล หากมีพื้นที่ไหนขาด จะใช้รถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงขนไปให้ประชาชน โดยให้ทุกพื้นที่ตรวจสอบ จะได้มาเขียนแผนที่น้ำให้ชัดเจน ตามนโนยายนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรฯที่กำชับช่วงแล้งประชาชนจะขาดน้ำไม่ได้" นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวว่า พื้นที่เฝ้าระวัง 315 อำเภอ 68 จังหวัด รวมทั้งหมด 391 อำเภอ ที่อาจเกิดปัญหาเรื่องแหล่งน้ำต้นทุน มาตรการทั้งหมดตอนนี้ดูแลเข้มข้นมากทุกหน่วยงาน ดูแลเป็นพิเศษ ไม่ให้น้ำขาดน้ำกินใช้แน่นอนที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายมาแล้ว สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่กรุงเทพฯมีการปลูกข้าวนาปรังมาก จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เช่นเขตลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม และคลองสามวา รวม 6.5 หมื่นไร่ แต่ยังไม่มีกระทบเรื่องน้ำกินน้ำใช้

ในส่วน จ.ปทุมธานี 1.2 แสนไร่ นนทบุรี 6.3 หมื่นไร่ พระนครศรีอยุธยา 2.6 แสนไร่ สุพรรณบุรี 3 แสนไร่ อ่างทอง  1.6 หมื่นไร่ สิงห์บุรี 5.7 พันไร่ ลพบุรี 1.8 หมื่นไร่ นครสวรรค์ 7.2 หมื่นไร่ กำแพงเพชร 2.5 หมื่นไร่ พิจิตร 1.4 หมื่นไร่ พิษณุโลก 4.7 หมื่นไร่ ฉะเชิงเฉรา 1.6 แสนไร่ นครปฐม 8.1 หมื่นไร่ ชัยนาท 9.3 หมื่นไร่ เป็นต้น

โดยปลูกสะสมมาตั้งแต่วันที่1 พ. ย.58ถึงปัจจุบัน รวม 1.97 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว5.2 แสนไร่ เหลืออยู่1.45 ล้านไร่ ที่ค้างทุ่งอยู่ ซึ่งพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใกล้เกี่ยวแล้ว แต่พื้นที่ตอนล่าง เช่นกรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ปลูกล่ากว่าพื้นที่อื่น อาจมีบางส่วนได้รับผลกระทบแต่ถ้าอยู่ในอธิพลน้ำขึ้นน้ำลงจะใช้น้ำนอนคลองสามารถรอดได้

"สถานการณ์น้ำโดยรวมยังคุมอยู่ ใช้มาตรการส่งน้ำเปิดปิดเป็นครั้งคราว ส่งเข้าแม่น้ำ ลำคลองต่างๆเป็นรอบเวร เปิดรับน้ำ10 -15 วันเพื่อเอาน้ำเข้าไป ให้สูบผลิตประปากินใช้ ทุกลำน้ำมีแผนจัดการชัดเจนหมดแล้ว ตามรอบเวรการใช้น้ำ มีแผนปิดเปิด ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา " นายทองเปลว กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

สภาผู้ส่งออกฯ หวั่นเศรษฐกิจโลกวิกฤติฉุดส่งออกไทย แนะผู้ประกอบการระวังความผันผวนทุกด้าน

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกฯ ยอมรับว่าเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกของไทยเดือนมกราคม 2559 มียอดส่งออกเพียง 15,711.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 8.91 ติดลบต่อเนื่อง 13 เดือน เป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 50 เดือน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องสงครามการค้า สืบเนื่องจากการเมืองค่ายอมริกาและจีนที่สหรัฐไม่ต้องการให้จีนเป็นตัวกำหนดการค้าโลก สหรัฐได้ทำเรื่องข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (ทีพีพี) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและตามด้วยกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าแรงงานทาส แรงงานเด็ก นับเป็นการกีดกันทางการค้า ภาพรวมจะทำให้ตนเองได้เปรียบมากสุด และที่น่าแปลกราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงก็ไม่ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น และยังมีปัญหาสงครามคู่ค้าหลายประเทศ

“เศรษฐกิจโลกส่อแวววิกฤติ มีการเตือนรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย บอกยากว่าส่งออกไทยจะเป็นบวก หากเศรษฐกิจโลกถดถอยมากก็อาจจะติดลบมาก ยิ่งหากเศรษฐกิจโลก set zero ตูมเดียว ทุกอย่างลดลงร้อยละ 50 ซึ่งไม่รู้จะถึงเวลานั้นเมื่อใดก็ยิ่งน่าเป็นห่วง หากจีน สหรัฐ มุสลิม รัสเซีย ไม่หาทางจับมือกันก็จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างนี้ต่อไป” นายนพพร กล่าว

นายนพพร เตือนผู้ประกอบการด้วยว่าต้องระวังความผันผวนทุกด้าน เพราะเศรษฐีโลกเล่นเรื่องค่าเงิน เล่นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาน้ำมัน ทองคำ ค่าเงินและอื่น ๆ ผันผวน เป็นที่คาดว่าตลาดจะผันผวนตลอดเวลา

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

โรงงาน 1.2 พันจ่อวิกฤติ อุตฯเตือนภัยแล้งกระทบกำลังผลิต 

          "อุตสาหกรรม" สแกนภัยแล้งกระทบ 1,200 โรงงานที่ใช้น้ำมาก พร้อมขอความร่วมมือโรงงานลดใช้น้ำและนำแนวทางการใช้น้ำที่เหมาะสมมาใช้ในช่วงนี้ แจ้งเตือนลดการระบายน้ำทิ้งระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. หวั่นทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเสียหาย

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้มีการติดตามข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนหลักและแหล่งกักเก็บน้ำสำรองจากกรมชลประทานและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รวมทั้งพบโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 24  จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร  สมุทรสาคร สมุทรปราการและนครปฐม โดยบางพื้นที่ก็มีโรงงานอยู่หนาแน่นส่วนโรงงานในภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปี 2557 ซึ่งมากเพียงพอ หากในเดือนพ.ค.ฝนตกลงมาในพื้นที่ก็คาดว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ

          นายอาทิตย์กล่าวว่วา กรอ.และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนตั้งแต่ปีทีแล้ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว จึงไม่น่าเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคประชาชนที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยว และประเมินว่าน้ำในภาคอุตสาหกรรม จะมีใช้เพียงพอในการผลิตไม่มีปัญหาส่วนพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำน้อย กนอ.ได้วางมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่ประเภทอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำและมีการระบายน้ำเสียมากจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ อาทิ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมันและอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ รวม 1,131 โรงงาน

          ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางในการลดการใช้น้ำที่เหมาะสม ซึ่งควรพิจารณาเทคนิคให้สอดคล้องกับระบเดิมและความยากง่ายในการปรับเปลี่ยนวิธีและการดำเนินงานของโรงงานด้วย เพื่อให้โรงงานใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพตามหลัก 3 R ที่ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้

          นายอาทิตย์กล่าวว่า ในฤดูแล้งปีนี้ กรอ.ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานทุกแห่งช่วยกันลดการใช้น้ำและระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานที่มีปริมาณน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน ควรหาแนวทางลดการใช้น้ำและให้ลดหรือไม่ระบายน้ำทิ้งออกจากโรงงาน ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากปริมาณน้ำท่ามีน้อยอยู่แล้ย ซึ่งหากโรงงานได้ระบายน้ำทิ้ง แม้เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด อาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำและคลองต่างๆ

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559 

จับตาฝนตกช้าซ้ำรอยปี’58 มีค.-เมย.ร้อนจัด/แล้งวิกฤติ เตือนทุกจว.สกัดศึกแย่งน้ำ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2559 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เพื่อเป็นปฐมฤกษ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ทำฝนหลวง25ลุ่มน้ำ77จว.

พล.อ.ปัฐมพงศ์ กล่าวว่า กรมฝนหลวงฯได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงโดยใช้อากาศยานเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 30 ลำ จากกรมฝนหลวง 22 ลำ และ กองทัพอากาศ 8 ลำ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ มีแผนการดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและภัยพิบัติครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ใน 77 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการจะเริ่มตามแผนปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป

กรมชลยันน้ำ4เขื่อนยังพอใช้

วันเดียวกัน ที่กรมชลประทาน มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โดย นายณรงค์ ลีลานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ยังมีน้ำใช้การได้ปริมาณ 2,980 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระบายวันละ 17.8 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพล 5 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 10 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ 1 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯ 1.7 ล้านลบ.ม. ซึ่งจะคงอัตรการระบายนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ดูแลเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยืนยันยังมีระดับน้ำสามารถผลิตไฟฟ้าได้

จับตาฝนตกล่าช้าซ้ำร้อยปี’58

นอกจากนี้ได้เตรียมปริมาณน้ำสำรองไว้อีก 1,500 ล้านลบ.ม. ในกรณีฝนมาล่าช้าช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยปี 2559 อยู่ในเกณฑ์น้อยเท่ากับปี 2558 หลังจากภาวะฝนน้อยต่อเนื่องตั้งแต่ปี2557 และในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเท่ากับปีที่แล้ว โดยมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 แห่งตอนต้นฤดู ประมาณ 150 ล้าน ลบ.ม. ก็ถือว่าเป็นผลดีกับภาคเกษตร สามารถเริ่มฤดูปลูกข้าวนาปีได้ และให้เกษตรกรติตตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนลงมือปลูกข้าว เพราะคาดว่าสภาพฝนจะเหมือนกับปี 2558 กว่า 2 เดือน เข้าฤดูฝนเต็มตัวนับว่าเป็นปีฝนน้อยอีกปี

ชี้มีค.-เมย.แล้งจัด-หวั่นแย่งน้ำ

นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า ขอวิงวอนทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนจะแล้งจัด ร้อนมาก การระเหยของน้ำมีมาก ชาวนาจะกลัวข้าวตายอาจแย่งสูบน้ำกันเข้านากันในช่วงนั้น จึงได้ให้ผู้ว่าฯและท้องถิ่นต้องเฝ้าระวัง เพราะจะส่งผลกระทบการทำประปาในพื้นที่ด้วย

พบกปภ.เสี่ยงขาดน้ำ11 สาขา

นายณรงค์ กล่าวอีกว่าโดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ลดแรงดันน้ำ ปล่อยน้ำสลับเวลา ซึ่งการประปาฯรายงานว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำประปา 11 สาขา เป็นพื้นที่ ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคอีสาน 4 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัดและภาคตะวันออก 3 จังหวัด รวมทั้งมีพื้นที่เฝ้าระวัง ขาดแคลนน้ำประปา 51 สาขา ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มี ผู้ว่าฯ เป็นประธานบูรณาร่วมกับทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่แก้ไขอย่างรวดเร็ว ทำให้ยังไม่วิฤกติ ใช้รถบรรทุกน้ำ ขุดบ่อบาดาล ขุดลอกคลอง เชื่อมแหล่งน้ำใกล้เคียง โดยกรมชลฯมีรถบรรทุกน้ำ271 คัน เครื่องสูบน้ำ1,500 เครื่อง นำลงไปช่วยประชาชนได้ทันที ส่วน กปภ.สาขาที่มีความเสี่ยงสูง 11 สาขา สำหรับ กปภ.สาขาที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 51 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ

ลำตะคองวิกฤติใช้ได้ร้อยละ25

นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองเหลือน้ำใช้การได้อยู่ที่ 81.46 ล้าน ลบ.ม. จึงได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้บริหารการประปาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้น้ำ จากเขื่อนลำตะครองทั้งหมด ดำเนินการแจกจ่ายน้ำด้วยความประหยัด พร้อมกับให้ซ่อมแซมระบบท่อจ่ายน้ำที่ชำรุด อย่าให้มีน้ำรั่วไหล เพื่อช่วยกันรักษาปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ให้มีเพียงพอใช้งานไปได้จนถึงฤดูฝน

ชี้ไร้ฝนเติมอาจแห้งหมดเขื่อน

นายสุทธิโรจน์ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้งไม่มีฝนตกลงมา จึงไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อน แต่ยังต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนทุกวันๆละประมาณ 350,000-450,000 ลบ.ม. เพื่อผลิตน้ำประปาและการอุปโภคบริโภคของประชาชน 5 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา เขตตัวเมืองนครราชสีมา หากปีนี้ต้องประสบกับปัญหาแล้งยาวนาน ก็อาจเกิดปัญหาวิกฤติน้ำหมดเขื่อนได้

อ่างประปานางรองแห้งขอด

สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.บุรีรัมย์ ยังคงน่าห่วง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำหนองทะลอก ต.นางรอง อ.นางรอง เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองผลิตประปา ของการประปาส่วนภูมิภาค สาขานางรอง เพื่อบริการประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองนางรองกว่า 6,800 ครัวเรือน ทั้งยังใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงอีกกว่า 3,000 ไร่ ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินบางจุดแห้งขอดจนกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปผลิตประปาและทำการเกษตรทุกชนิดได้ ขณะที่ปริมาณน้ำในลำน้ำมาศ ที่เป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้ในการผลิตประปาบริการประชาชนเขตเทศบาลเมืองนางรองลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน คาดจะสามารถสูบขึ้นมาผลิตประปาได้อีกเพียงไม่กี่เดือน

ชัยนาทแล้งขุดบาดาลเลี้ยงข้าว

เช่นเดียวกับ จ.ชัยนาท ที่วิกฤติภัยแล้งกำลังขยายวง โดยในพื้นที่ อ.สรรคบุรี น้ำบาดาลที่ชาวนาสูบขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าว เริ่มแห้งและลดระดับต่ำลง ชาวนาต้องทำการขุดบ่อตามลงไปสูบน้ำขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าวให้รอดถึงเก็บเกี่ยว โดยพื้นที่ ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ภัยแล้งได้เปลี่ยนพื้นที่เขียวขจีของต้นข้าวเป็นสีน้ำตาล ตอซังข้าว แห้งกรอบในพื้นที่หลายพันไร่ จำเป็นต้องขุดบ่อหรือขุดสวมท่อซีเมนต์เพื่อนำปั๊มน้ำลงไปติดตั้งที่ก้นบ่อ ลึกลงจากผิวดิน 7-8 เมตร เพิ่มแรงสูบน้ำ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายขุดบ่อละ7,000-10,000บาท เพื่อนำน้ำขึ้นมาเลี้ยงต้นข้าวให้อยู่รอด

เลยร่วมทำฝายชะลอน้ำรับแล้ง

ด้าน นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อม พล.ต.ชัยวิน ผูกพันธุ์ ผบ.มทบ.28 นายณรง จีนอ่ำ นายอำเภอเมืองเลย ร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งจังหวัดเลยปี2559 โดยสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเลย พร้อมทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านท่าบุ่ง กว่า200คนที่บริเวณ ริมแม่น้ำเลย(ใกล้สถานีสูบน้ำ)บ้านท่าบุ่ง ม.5 ต.ศรีสองรัก อ.เมือง จ.เลย ได้ร่วมกันทำฝายกระสอบทรายชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนให้เกษตรกรสูบน้ำไปไว้ใช้ในงานเกษตรที่จะต้องใช้น้ำกว่า 2000 ไร่

สคช.ภัยแล้งดันหนี้ภาคเกษตรพุ่ง

ด้าน นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)กล่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส4/58และภาพรวมทั้งปีว่าจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในปี2558 ส่งผลกระทบให้การจ้างงาน ในภาคเกษตร ลดลงมากกว่า460,000คน เหลือเพียง12.27ล้านคน ยังส่งผลกระทบรายได้ลดลงโดยเฉพาะช่วงต้นปีจนถึงกลางปี 2559 ช่วงนี้เกษตรกรจะต้องเจอปัญหาภัยแล้ง แม้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง บางส่วนจะเปลี่ยนไปทำอาชีพเสริมหรือเปลี่ยนไปทำสาขาอื่นแทนแต่เมื่อรายได้ลดลง อาจทำให้เกษตรก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยในปี 2558 พบเกษตรกรที่เป็นหนี้ ทั้งสิ้น 8.28 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 67.6ของเกษตรกรทั้งหมด เฉลี่ยมีหนี้สินคนละ193,872บาท ดังนั้นรัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลไม่ให้กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ไปกู้หนี้นอกระบบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559