http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2560)

ธพ.ยันสำรองน้ำมันเพียงพอรับมือสงกรานต์ จับตาเอทานอลตึงตัวหลังโรงงานน้ำตาลปิดหีบอ้อย

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเตรียมความพร้อมสำรองปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยประเมินว่าปริมาณการใช้น้ำมันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีปริมาณสูงในช่วงวันแรกและวันสุดท้ายของเทศกาล ซึ่งจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อน โดยคาดปริมาณการใช้เบนซินช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่ 27-28 ล้านลิตร/วัน ดีเซล 62-63 ล้านลิตรวัน พร้อมกำชับเฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาใช้บริการ

นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์เอทานอลในประเทศ ที่คาดจะเริ่มเข้าสู่ภาวะตึงตัวอีกครั้งในเดือนพ.ค.นี้ เนื่องจากโรงงานน้ำตาลทรายจะทยอยปิดหีบอ้อยที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโมลาสเพื่อทำเอทานอลในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ขณะเดียวกันยังพบปัญหาการส่งออกโมลาสไปยังต่างประเทศ เพราะขายได้ราคาสูง ประกอบกับภาครัฐไม่ได้มีมาตรการควบคุมการส่งออกโมลาส

ในส่วนของความต้องการใช้เอทานอลขณะนี้อยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การผลิตเอทานอลจากโมลาสเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านลิตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้นจึงต้องใช้วัตถุดิบอื่นเข้ามาเสริม เช่น มันสำปะหลัง ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศประมาณ 5.5 ล้านลิตร ขณะเดียวกันคาดว่าสถานการณ์ในปีนี้น่าจะดีขึ้นเล็กน้อย เพราะมีการเปิดและขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลังอีก 3 โรงงาน กำลังการผลิต 6.3 แสนลิตรต่อวัน

สำหรับความคืบหน้าการประกาศยกเลิกใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ขณะนี้กรมยังไม่ได้ดำเนินการประกาศยกเลิก เนื่องจากความต้องการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงทุกเดือนอยู่แล้วที่ประมาณ 10% เพราะราคาขายปลีกของแก๊สโซฮอล์ 91 ไม่ต่างจากราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ 95 มากนัก โดยต่างกันเพียง 27 สตางค์เท่านั้นทำให้ผู้ใช้หันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95 แทน ดังนั้นระยะนี้กรมจะให้ตลาดเป็นผู้ตัดสินเอง

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 พบว่า การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% เฉลี่ยอยู่ที่ 29.1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นของน้ำมันกลุ่มของเบนซินเกือบทุกชนิดยกเว้นน้ำมันเบนซินที่มีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยต่อวัน 1.2 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 6.8% โดยภาพรวมการใช้แก๊สโซฮอล์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น 3.6% เฉลี่ยอยู่ที่ 27.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็นการเพิ่มขึ้นของแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ 91 ที่มีการใช้น้อยลง 4.2% เนื่องจากราคาที่ปรับตัวใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 95 ทำให้ประชาชนเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มมากขึ้น ส่วนแก๊สโซฮอล์อี 85 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 20.7% เนื่องจากมีรถยนต์ใหม่รองรับแก็สโซฮอล์อี 85 เพิ่มมากขึ้น

ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 65.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% ด้านการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ลดลงจากปีก่อน 2.1% เฉลี่ยอยู่ที่ 16.1 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เป็นการลดลงในภาคครัวเรือน ขนส่งและปิโตรเคมี จากการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.1% จากการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอี ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนเชื้อเพลิงในยานยนต์ (เอ็นจีวี) ลดลง 14.3% อยู่ที่ 7 ล้านกิโลกรัม เป็นการลดลงต่อเนื่องหลังประชาชนและรถบรรทุกหันไปใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกลงตั้งแต่ต้นปี 2559 ประกอบกับมีสถานีบริการเอ็นจีวีปิดตัวลงต่อเนื่อง

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ล้มแผนเลิกโซฮอล์91 หลังผู้ค้าหันส่งออกโมลาส

"กรมธุรกิจพลังงาน" ยกเลิกแนวคิดหยุดจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 เหตุปริมาณเอทานอลไม่แน่นอน หลังผู้ค้าเลือกส่งออกโมลาสไปตปท.

 นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า กรมฯยกเลิกแนวคิดการออกประกาศเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในประเทศ ซึ่งเดิมจะให้มีผลบังคับใช้ต้นปี 61 หลังพบว่าปริมาณการผลิตเอทานอลที่จะนำมาผสมในน้ำมันเบนซินนั้นยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากผู้ค้าเอทานอลหันไปส่งออกวัตถุดิบกากน้ำตาล (โมลาส) ไปต่างประเทศ เพราะได้ราคาดีกว่า โดยไม่สนใจนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้เอทานอลในประเทศมากขึ้น ดังนั้น หากกรมฯยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ก็คาดว่าจะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำมันของประชาชน เพราะผู้บริโภคจะหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ E20 มากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้เอทานอลมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ. )เตรียมจะนัดหารือกับผู้ประกอบการเอทานอลในสัปดาห์หน้า เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาปริมาณเอทานอลในอนาคต และกรมฯ เตรียมหามาตรการรองรับปัญหาในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. 60 นี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นช่วงหมดฤดูหีบอ้อย ปริมาณโมลาสจะน้อยลงอีก

ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลของไทยทั้งปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลรวมอยู่ที่ 5.5 ล้านลิตร/วัน แต่การผลิตจริงจะประสบปัญหาหากขาดวัตถุดิบโมลาส เพราะปัจจุบันการผลิตเอทานอลจากโมลาสมีเพียง 3.1 ล้านลิตร/วันเท่านั้น แต่เป็นจังหวะดีที่โรงงานเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังเปิดใหม่ 2 โรงและโรงงานเอทานอลของบริษัทมิตรผลได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ทำให้มีปริมาณเอทานอลจากมันสำปะหลังมาเสริมระบบได้อีก 6.3 แสนลิตร/วัน

อย่างไรก็ตาม กรมฯจะยังคงใช้มาตรการด้านราคาเป็นกลไกให้เกิดการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ในประเทศต่อไป แทนการออกกฎหมาย โดยขณะนี้ได้ขยับราคาแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 ให้มีราคาใกล้เคียงกันมากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95 จนนำไปสู่การยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ในที่สุด

ปัจจุบันราคาแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 26.28 บาท/ลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 26.55 บาท/ลิตร และมาตรการต่อไปจะเพิ่มการใช้แก๊สโซฮอล์ E20 แทนการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างราคาของแก๊สโซฮอล์E20 และแก๊สโซฮอล์ 91 ให้ต่างกันมากกว่า 5%

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า มาตรการด้านราคาดังกล่าวเริ่มเห็นผลแล้ว โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่ายอดใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 10.7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ยอดใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 9.1% มาอยู่ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน และแนวโน้มการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 จะลดลง 10% ต่อเดือน ทำให้เชื่อว่าการใช้กลไกราคาจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : กรมหมอดินเดินหน้าขับเคลื่อนภาคเกษตรตามนโยบาย 4.0 ส่งเสริมเกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนอย่างยั่งยืน

จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการขับเคลื่อน “Thailand 4.0” รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model) ในทุกมิติ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษา ไปสู่โมเดลใหม่ Thailand 4.0ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต เพื่อให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้นมุ่งแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินการ มีการพิจารณาทบทวนกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่มีการต่อยอด ต้องทบทวนกฎหมายตลอดจนระเบียบปฏิบัติต่างๆ ให้มีความทันสมัย ปรับปรุงการทำงานให้มีความรวดเร็ว เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย จะช่วยเกษตรกรให้ผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร มาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า Smart Farmerมีการบริหารจัดการที่ดีมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพื่อขายสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศไทย

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่าจากนโยบายการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเน้นการพัฒนาสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชม ทำการขับเคลื่อนตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ตามแผน “ยุทธศาสตร์ A4”ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในการที่จะลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง และมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเกษตร โดยเกษตรกรต้องปรับตัวจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ทำน้อยแต่ได้มาก เนื่องจากกรมมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ ในพื้นที่ทุกจังหวัด สามารถนำองค์ความรู้ที่เป็นผลงานวิจัยวิชาการด้านการพัฒนาที่ดิน ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการทดลอง ทดสอบ วิจัยจนประสบผลสำเร็จ สามารถขยายผลปฏิบัตินำไปใช้ได้จริงในพื้นที่ของเกษตรกร

โดยสิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการขับเคลื่อนภาคเกษตร 4.0 คือ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ที่เป็นโครงการการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีการใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. ชนิดต่างๆ มาใช้ช่วยเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพดีและช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีหมอดินอาสากรมพัฒนาที่ดินที่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในชุมชน ให้ความรู้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.ชนิดต่างๆ ในการฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ การใช้พืชปุ๋ยสดเพิ่มสะสมปริมาณอินทรียวัตถุในพื้นที่การเกษตร การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งด้วยการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การดูแลรักษาแหล่งน้ำในไร่นาการปลูกหญ้าแฝกพืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และจะทำให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรสู่การเป็น Smart Officer การพัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer รวมทั้งสร้างต้นแบบเกษตรกร ซึ่งเป็นหมอดินอาสาในชุมชนที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรมมีความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำเกษตร และสามารถนำความรู้มาเผยแพร่ต่อเกษตรกรในพื้นที่

“ได้สั่งการให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด เน้นการทำงานเชิงรุก โดยยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยเข้าไปให้ความรู้สร้างความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรให้เห็นประโยชน์ของการทำการเกษตรกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ให้คำแนะนำและแจกจ่ายนวัตกรรมชนิดต่างๆ ของกรมที่ช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถทำเองใช้เองได้จริง เลือกปรับใช้ให้เหมาะสมในการพัฒนาที่ดินในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรทำการรวมกลุ่มเพื่อให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำการผลิตแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ใช้หลักการตลาดนำหน้าการผลิต ต้องผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการและมีปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่เกษตรกรควรยึดไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต คือ การน้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความขยัน อดทน ในการทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยวิชาการจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั่วประเทศ (ศพก. 882 ศูนย์) ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่การเกษตรของตนเองและชุมชน นำมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0 นั่นเอง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ยื้อตั้งบรรษัทนํ้ามัน1ปี สนช.ตัดม.10/1ใส่เป็นข้อสังเกตในพรบ.ปิโตรเลียม

สภาฝักถั่วลงมติเห็นชอบกฎหมายปิโตรเลียมท่วมท้น 227 ต่อ 1 หลังลากยาวกว่า 6 ชั่วโมง แต่ไม่กล้าดัน "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ" ซื้อเวลาสยบม็อบ ตัดมาตรา 10/1 เป็นข้อสังเกตให้ศึกษาภายใน 1 ปี ขำไม่ออกโยนกลองไปมา รัฐบาลชี้ สนช.เป็นผู้ชง ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติบอก ครม.อยากได้เอง ส่วน กม.เงินได้ปิโตรเลียมใช้เวลารวดเร็ว ลงมติเห็นชอบ 216 เสียง “บิ๊กตู่” ฮึ่มม็อบ คปพ.อย่าใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย กลุ่มต้านย้ายจากรัฐสภามาทำเนียบรัฐบาล ศาลนัดไต่สวน 3 เม.ย.ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

เมื่อวันพฤหัสบดี หลายฝ่ายต่างจับตาไปที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 22/2560 ซึ่งจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ..... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ..... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระที่ 2 และ 3

โดยในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวในการเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวงในนโยบายการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตว่า วันนี้ต้องไปสู้รบ ไม่ใช่ไปสู้รบจริง แต่เป็นการอธิบายเรื่องพลังงาน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งวันนี้ต้องหยุดได้แล้ว เอาชีวิตยืนยันจะไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ให้ใครมาได้ประโยชน์ และยืนยันอีกครั้งว่าทหารไม่ได้มุ่งหวังเข้ามามีบทบาทในพลังงานใดๆ เลย ถ้าใครมีความคิดมา ก็ไม่อนุญาตอยู่แล้ว ขอให้เชื่อมั่นตรงนี้ และขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการ

“วันนี้เราต้องรับฟังเสียงประชาชนที่เข้ามา อะไรที่ทำได้ก็ไปลองดูว่าทำได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ อะไรที่ผิดครรลองคลองธรรม อะไรที่ดูแล้วที่ทำให้เกิดเสียผลประโยชน์ ผมก็ไม่ทำ” นายกฯ กล่าว

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว แต่ได้นำเอกสารรวมทั้งหมด 6 แผ่น แจกแก่สื่อมวลชนแทน ซึ่งเนื้อหาได้ชี้แจงกรณี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ว่า 1.รัฐบาลจำเป็นต้องเสนอ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้รองรับสัมปทานที่จะหมดอายุลงในเวลาอันใกล้ โดยหลักการและเหตุผลที่รัฐบาลเสนอครั้งแรกเพื่อให้มีการดำเนินการบริหารจัดการได้ทั้งระบบสัมปทาน และ PSC เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ 2.ต่อมารัฐบาลได้นำร่างดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ซึ่งในขั้น กมธ.ของ สนช.ได้รวบรวมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) และ สนช.ได้เสนอเรื่องกลับมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ 3.ครม.ให้ความเห็นชอบ ให้เพิ่มหลักการได้ในขั้น กมธ. ซึ่งเดิมไม่มีในวาระแรกด้วย เพราะรัฐบาลและ ครม.ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ กมธ.ศึกษาเพิ่มเติมแล้ว

4.กมธ.ได้ทำงานต่อไป โดยมีเนื้อหา NOC ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งต้องพิจารณาต่อในวาระ 3 ตามหลักการและเหตุผล 5.รัฐบาลต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน โดยปราศจากข้อขัดแย้ง ซึ่งกรณีจัดตั้ง NOC ระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องศึกษาในรายละเอียดก่อน และให้ดำเนินการได้เมื่อพร้อมเท่านั้น จะเป็นเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่การพิจารณาของ สนช. 6.กรณีกล่าวหาว่า รัฐบาล, คสช., นายกฯ, รองนายกฯ, รัฐมนตรี, คณะ กมธ.และทหารมีผลประโยชน์ในเรื่องการให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ รัฐบาล, คสช.และนายกฯ ไม่ได้ทราบเรื่อง และหากมีก็ไม่อนุมัติอยู่แล้ว 7.การที่มีผู้ยกเรื่องนี้ออกมาเป็นประเด็น รัฐบาลและ ครม.จะให้ฝ่ายกฎหมายสอบสวนว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับรัฐบาล, คสช. และทหารอย่างร้ายแรง มีการโพสต์ข้อความสร้างการดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล 8.ขอให้สังคม ประชาชนพิจารณาความน่าเชื่อถือจากข้อความดังกล่าว นายกฯ ยืนยันว่าจะไม่ให้มีใครได้รับผลประโยชน์ นอกจากประเทศชาติและประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ดำเนินการ โดยการพิจารณาของ สนช. และรัฐบาล คสช.จะไม่ให้หน่วยงานทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยเด็ดขาด

9.กรณีมีข่าวว่าเตรียมเสนอรายละเอียดการจัดตั้ง NOC เรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วยรัฐบาล ทหาร ฯลฯ รัฐบาลไม่เคยรับทราบเรื่องนี้ ทราบแต่ว่าหากกฎหมายผ่านก็จะมีการจัดตั้ง NOC เมื่อพร้อม ซึ่งหมายความว่า หากมีการผ่านเรื่อง NOC ก็ต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง และปัจจุบันการทำหน้าที่จัดการพลังงานเป็นของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงควบคุมกำหนดการจัดหาพลังงานโดยระบบสัมปทาน (เดิม) หรือ PSC (ใหม่) อยู่แล้วว่าจะทำในระบบใดไม่ใช่ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 50% ที่จะดำเนินการในเรื่องของธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นการเสริมรายได้ผลตอบแทนของรัฐบาล และผู้ถือหุ้นเท่านั้น

ฉุนเอากฎหมู่เหนือกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่รัฐสภา และอาจเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้ามาแล้วทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดี ให้รู้บ้างว่าการที่จะแก้ปัญหาแบบเป็นระบบทำกันอย่างไร ไม่ใช่เอากฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายตลอด

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการจัดตั้งบรรษัทฯ ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมว่า มีการนำเข้าที่ประชุม ครม.ถึง 2 ครั้ง เราเห็นว่าไม่อยู่ในหลักการ จึงไม่อยากให้มี แต่ที่สุดต้องแล้วแต่ สนช.ว่าจะเติมหรือไม่ โดยให้ข้อสังเกตไปว่า ถ้าจะเติมอย่าเขียนเชิงบังคับ ให้เขียนแบบอ่อนตัว ศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ความสำเร็จและความล้มเหลวจากต่างประเทศ เพราะเรายังตั้งตัวไม่ติด ถ้าให้สวยงามก็น่าจะออกเป็นกฎหมายภายหลังอีกฉบับหนึ่ง แต่เพื่อให้มีเชื้อ จึงให้เขียนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ก่อน ส่วนที่พูดถึงกรมการพลังงานทหารนั้นไม่เคยได้ยิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก สนช.ไม่ผ่านกฎหมายดังกล่าว และตีกลับให้รัฐบาลพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าใครรู้กระบวนการจะรู้ว่าไม่มีวันเกิดกรณีเช่นนั้น เมื่อสภารับหลักการในวาระที่ 1 ถือเป็นเรื่องของสภาแล้ว รัฐบาลอยากจะแก้สักตัวก็ไม่ได้ แล้วจะตีกลับมาอย่างไร อย่างมากคือตีให้มันตกไปในวาระที่ 3 ก็จะไม่มีใครได้อะไรเลยสักอย่างเดียว ขอย้ำที่พูดออกไปคือการตอบคำถามสื่อ ไม่ได้บอกให้ตีตก ทุกอย่างคือถ้า

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล กองรักษาการตำรวจทำเนียบรัฐบาลได้ฝึกอบรมทักษะการควบคุมฝูงชนตำรวจสันติบาล 3 โดยมีตำรวจสันติบาลเข้าร่วม 120 นาย เพื่อซักซ้อมและทบทวนยุทธวิธีการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม และพัฒนาการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ทำเนียบฯ และบุคคลสำคัญ โดยมีกำหนดการฝึก 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ถึง 1 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. โดย พ.ต.อ.สุรชาติ มณีจักร รองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ระบุว่า เป็นการฝึกตามวงรอบ ไม่ใช่เพื่อรับมือกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้

ขณะเดียวกัน บริเวณ ถ.อู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา มวลชนกลุ่ม คปพ.และกลุ่มสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ทยอยมารวมตัวเพื่อยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขณะที่การรักษาความปลอดภัยทั้งในและโดยรอบรัฐสภาเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยใช้กำลังตำรวจ 3 กองร้อย จาก บก.น.1 บก.น 6 และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ พร้อมกันนี้ตำรวจยังได้นำแผงเหล็กปิดกั้นฝั่งถนนหน้าสวนสัตว์เขาดิน เพื่อให้กลุ่มมวลชนอยู่ในพื้นที่ที่จัดให้เท่านั้น

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. แกนนำ คปพ.ได้ทำหนังสือถึง สน.ดุสิต เพื่อขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมแล้ว และเมื่อเวลา 12.00 น. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ได้ออกมารับหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ..... และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ..... พร้อมยืนยันว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับด้วยความรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก จะพิจารณาโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีใบสั่ง และจะใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุม เพราะได้แจ้งให้เขาเลิกภายในเที่ยงครึ่ง ถ้าเขายังไม่เลิกก็จะไปยื่นศาลให้ศาลสั่งตามกฎหมาย ให้ศาลไต่สวนมีคำสั่งให้ออก ถ้ายังไม่ยอมออกจากพื้นที่อีก ก็จะจับกุมดำเนินคดี ซึ่งเรามีแผนมีขั้นตอนอยู่แล้ว โดยมี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์

และเมื่อเวลา 18.30 น. พนักงานเดินหมายศาลแพ่ง ได้เดินทางมาเพื่อปิดคำสั่งศาลแพ่ง ให้เรียกตัว 10 ผู้จัดการชุมนุมไปไต่สวนที่ศาลแพ่ง ในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามที่เจ้าหน้าที่ สน.ดุสิต ได้มายื่นคำร้องต่อให้ยกเลิกการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 มี.ค. โดยแกนนำทั้ง 10 คน มี 2 คนที่ได้เซ็นรับทราบหมายไปไต่สวนแล้ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารได้ปิดการจราจรบริเวณ ถ.พิษณุโลก บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่แยกพาณิชยการถึงแยกสวนมิสักวัน และมีเจ้าหน้าที่ยืนแถวเป็นแนวรั้วปิดถนนตั้งแต่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ไปจนถึงแยกมิสกวัน ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุม คปพ.ได้เคลื่อนตัวย้ายที่ชุมนุมจากหน้ารัฐสภามายังหน้าทำเนียบรัฐบาล แม้ พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางออกจากทำเนียบฯ ไปตั้งแต่เวลา 17.15 น.

ย้ายม็อบไปทำเนียบฯ

จากนั้นเวลา 17.52 น. กลุ่ม คปพ.ได้เดินทางมาถึงแยกพาณิชยการ และรวมตัวปักหลักอยู่บริเวณหัว ถ.พระราม 5 ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า การเดินทางมาชุมนุมตรงจุดนี้เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ขอให้ยุติการชุมนุม จากนั้นเมื่อเวลา 18.20 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำ คปพ. ได้เดินทางมาสมทบและกล่าวว่า การชุมนุมขณะนี้ไม่มีแกนนำ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกรูปแบบได้ แต่ยืนยันว่ากลุ่ม คปพ.ต้องการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ใช้มติ ครม. หรือออกกฎกระทรวงถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และบรรจุข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายฯ ดังกล่าวเข้าไปพิจารณาด้วยเท่านั้น

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมหลังจากใช้เวลาพิจารณามาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในมาตรา 10/1 ว่าด้วยการตั้งบรรษัทฯ ที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เสียง

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานคณะ กมธ.วิสามัญฯ กล่าวว่า ภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว เชื่อว่าเขาออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และที่กล้าออกมาคัดค้านรัฐบาลทหาร เพราะคนเหล่านี้เชียร์ทหารให้ปฏิวัติ เป็นเพื่อนกับเรา แต่ กมธ.วิสามัญฯ พยายามปรับแก้ให้เท่าที่เป็นไปได้ เพราะปัญหานี้หมักหมมมานาน มีหลายมิติ เรามีแค่ระบบสัมปทานเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ทั่วโลกเปลี่ยนไปหลายวิธีแล้ว

พล.อ.สกนธ์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาพบว่าระบบสัมปทานยังเหมาะสมอยู่ แต่ควรมีวิธีอื่นเข้ามาด้วย เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิตที่ทั่วโลกใช้กัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐร่วมทำงานกับเอกชน เพื่อที่จะได้รู้ว่าพลังงานออกมาเท่าไหร่ จะได้แบ่งปันตามสัญญาและเป็นไปตามเงื่อนไข ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ สัญญาจ้างบริการ แต่ร่างที่รัฐบาลเสนอมากำหนดให้เป็นสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ซึ่งคิดว่าไม่สมบูรณ์จึงรับไม่ได้ เพราะถ้าจะเลือกใช้ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิตและการจ้างบริการ จะต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการ ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าพยายามดึงกรมพลังงานทหารเข้ามาดูแลปิโตรเลียมนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เขลาพอที่จะทำร้ายประเทศชาติ หรือดึงประเทศกลับไปเป็นเช่นในอดีต รวมทั้งกรณีเตรียม 6 ทหารเป็นคณะกรรมการในบรรษัทน้ำมันฯ ก็ไม่เป็นความจริง

“กมธ.ได้ใช้เวลายาวนานในการพิจารณา ได้ปรับแก้ร่างกฎหมาย ด้วยการเปลี่ยนชื่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ถูกต้องจากคำว่า สัญญาจ้างสำรวจและผลิตมาเป็นสัญญาจ้างบริการ ขณะเดียวกันยังได้นำมติ ครม.มาเพิ่มเป็นมาตรา 10/1 ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งไม่ได้ขอขึ้นไป เมื่อ ครม.มีความต้องการแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปชี้แจงว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจำเป็นอย่างไร โดยรูปแบบก็กำหนดว่าถ้ามีความพร้อมก็ค่อยตั้ง แต่ก็มีความพยายามชี้ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และกดดันให้ถอนร่างออก กล่าวหาอย่างโน้นอย่างนี้ จะดึงทหารเข้ามาเกี่ยว จึงได้ปรึกษากับเพื่อน กมธ.ทุกคนแล้วว่าจะไม่สนใจกับคำพูดเหล่านี้” ประธาน กมธ.วิสามัญฯ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตราอย่างกว้างขวาง กระทั่งถึงมาตรา 10/1 ที่ กมธ.วิสามัญฯ บัญญัติขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC (Nation Oil Company) เมื่อมีความพร้อม และศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯ

โยน "ครม." อยากได้

โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กล่าวว่า มาตราดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นใหม่ตามมติ ครม. ซึ่งวิป สนช.ได้ประสานเพื่อสอบถามไปถึง 2 ครั้ง ซึ่ง ครม.ยืนยันว่าให้บัญญัติ บรรษัทน้ำมันฯ ไว้ในร่างกฎหมาย รวมทั้งได้กำหนดให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาต่อเรื่องดังกล่าวด้วย แต่ในร่างกฎหมายเขียนแค่เฉพาะให้ตั้งบรรษัทน้ำมันฯ เมื่อมีความพร้อมเพียงอย่างเดียว ซึ่งเชื่อว่าถ้าเขียนแบบนี้บรรษัทน้ำมันฯ ไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้นเราควรจัดทำร่าง พ.ร.บ.อีก 1 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งบรรษัทเป็นการเฉพาะ

เช่นเดียวกับนายวรพล โสคติยานุรักษ์ กล่าวว่า เห็นใจและเข้าใจ กมธ.วิสามัญฯ ที่พยายามเขียนแล้ว แต่ได้แค่ 2-3 บรรทัด ซึ่งการบัญญัติเช่นนี้จะทำให้บรรษัทน้ำมันฯ เกิดขึ้นยาก

ด้านนายธานี อ่อนละเอียด กล่าวว่า มาตราดังกล่าวน่าจะมีปัญหา เนื่องจากผิดหลักการ ดังนั้นเห็นว่าควรนำไปไว้ในข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน

ขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีรูปแบบบรรษัทน้ำมันฯ อยู่ 4 รูปแบบ สำหรับไทยอยู่ในรูปแบบที่รัฐไม่ได้ถือครอง 100% และระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทเฉพาะการลงทุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งหาก สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คิดว่ากระทรวงพลังงานจะสามารถทำงานได้ แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไปคือเราจำเป็นต้องมีบรรษัทน้ำมันฯ หรือไม่ รวมถึงต้องสรรหาเงินและบุคลากรให้เพียงพอ ทั้งนี้ ปตท.สผ.เป็นเพียงผู้ประกอบ ส่วนผู้ที่รักษาผลประโยชน์ของชาติคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต่างหาก

จากนั้นเวลา 18.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อให้ กมธ.วิสามัญฯ ได้หล่อหลอมความคิดภายหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิก

ต่อมา 18.40 น. การประชุม สนช.ได้เปิดประชุมอีกครั้ง พล.อ.สกนธ์ชี้แจงว่า เนื่องจาก กมธ.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว จึงกำหนดเป็นมาตรา 10/1 ดังนั้น จึงขอยืนตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนายสมชาย แสวงการ ได้เสนอตัดมาตรา 10/1 แล้วให้นำไปใส่ไว้ในข้อสังเกตของร่าง พ.ร.บ.แทน ว่าจะมีการดำเนินการโดยกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลังเมื่อ พ.ร.บ.ผ่านไป 1 ปี จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ และไม่กลับมาชุมนุมอีกมีผลศึกษา 1 ปี หรืออย่างน้อยก่อนที่จะมีเปิดประมูลการปิโตรเลียมรอบใหม่

ยื้อตั้งบรรษัทฯ ไปอีก 1 ปี

จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วย รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า หากมีการเสนอเป็นข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ.นั้น กระทรวงพลังงานจะให้ความความสำคัญกับข้อสังเกตนั้น ซึ่ง รมว.พลังงานได้ฝากมาบอกว่าพร้อมนำข้อสังเกตนี้ไปศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และฟังความเห็นเพื่อพิจารณาข้อดี-ข้อเสียในการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด

พล.อ.สกลธ์กล่าวว่า เมื่อ พล.อ.สุรศักดิ์พูดเช่นนี้ ก็ถือเป็นสัญญาประชาคม ก็ยินดีให้มีการศึกษาจัดตั้งบรรษัทฯ เพื่อดูแลต่อไป ด้วยคำของลูกผู้ชาย และทุกคนก็ยอมรับแนวคิดนี้เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปให้ได้ กฎหมายไม่สะดุด และจะติดตามความคืบหน้าร่วมกับประชาชนทั้งประเทศว่ารูปแบบควรเป็นอย่างไร ในที่สุดที่ประชุมไม่ขัดข้อง ให้ถอดมาตรา 10/1 และไปใส่ไว้เป็นข้อสังเกตแทน

สำหรับที่ประชุมได้บัญญัติเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ไว้ในข้อสังเกตว่า “การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม.จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป”

ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ได้ใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ..... ทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง

ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ..... ในวาระ 2 และ 3 เรียงตามมาตรา ซึ่งก็ไม่มีสมาชิกใดอภิปรายเนื้อหาแต่ประการใด ก่อนที่ประชุมจะลงมติด้วยคะแนนเสียง 216 เสียง งดออกเสียง 4 และใช้เวลาพิจารณาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก่อนปิดการประชุม.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ห่วงบาทแข็งกระทบส่งออกพลาดเป้า

                    สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คาดส่งออกปีนี้โตแค่ 2-3% รับค่าเงินบาทผันผวน แถมแข็งค่ามากสุดในอาเซียน กระทบเป้าหมายการส่งออก    

                    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 4.7% และแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ทำให้เกรงว่า จะกลายเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และยังมีแรงกดดันให้เงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นผลของกระทบชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทำให้สรท.ประเมินว่า การส่งออกของไทยปีนี้ น่าจะขยายตัวได้ 2-3% จากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานไม่มีสถานการณ์รุนแรงผิดปกติมากระทบ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ นโยบายทางการค้าของสหรัฐฯที่ไม่ชัดเจน และยังไม่เป็นรูปธรรม ทำให้การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย ไม่ส่งผลทำให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับอย่างที่คาดไว้ แต่กลับทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จนกลายเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิด และยังมีแรงกดดันให้เงินบาทแข็งขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นผลของกระทบชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า และประเมินว่าทั้งปีนี้ เงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาน้ำมัน 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนอกจากนั้น ความไม่แน่นอนในกรณี ที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย และคาดว่า การที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ 5%นั้น คิดว่าอาจะเป็นไปได้ยาก

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสรท. กล่าวว่า การส่งออกในเดือนมี.ค.นี้ มีแนวโน้มขยายตัวได้ 0% ถึง -2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่แนวโน้มภาพรวมยังไปได้ดี และอยากให้พิจารณาการนำเข้าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุน ทำให้น่าจะส่งผลดีต่อการลงทุน การส่งออก เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้ง ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  ขณะเดียวกันอยากให้ทุกภาคส่วนสนับสนุน และผลักดัน ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ไทย สามารถเป็นชาติการค้า เพิ่มมูลค่าและการส่ออกให้ขยายตัวได้มากขึ้นด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

บทความพิเศษ/เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) ทางเลือก ทางรอดของเกษตรกรไทย

 ประเทศไทย เป็นประเทศที่ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญมาก เนื่องจากภูมิประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการทำการเกษตรกรรม และประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นยุคของการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ทิ้งวิถีชีวิตการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หันมาทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต สารเคมีเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการทำลายหน้าดินทำให้ดินเสื่อมสภาพ คุณภาพดินลดลงเรื่อยๆ หากต้องการปริมาณผลผลิตเท่าเดิม ต้องใช่สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ดินเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น

โดยประเทศไทยมีมูลค่าการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่สูงนับหมื่นล้านบาท และสารเคมีที่ใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแม้จะสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก แต่รายได้สุทธิของเกษตรกรกลับลดลง เนื่องจากปัจจัยการผลิตเหล่านี้เป็นต้นทุนหลักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเกษตรกร ประกอบกับราคาสินค้าภาคเกษตรในตลาดโลกตกต่ำเนื่องภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในสภาพที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนยากจะหลุดพ้นวังวนของความยากจน

ในยุคปัจจุบันที่กระแสความตื่นตัว ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์จึงได้รับความสนใจ และการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการทำเกษตรอินทรีย์นั้น เกษตรกรผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่หน่วยงานรับรองใช้เป็นเกณฑ์ในการตรวจรับรองผลผลิต โดยในการกำหนดมาตรฐานผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะมาจาก เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค นักสิ่งแวดล้อมและนักวิชาการในด้านต่างๆ

รวมทั้ง การทำเกษตรอินทรีย์จะต้องเอื้อต่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อย่างจริงจัง การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์นั้น ในแต่ละมาตรฐานอาจกำหนดระยะเวลาแตกต่างกันออกไป ช่วงระยะปรับเปลี่ยนนี้อาจใช้เวลาตั้งแต่ 12 - 36 เดือน ขึ้นอยู่กับแต่ละมาตรฐาน ในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ นอกจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างสมดุลของทรัพยากรในระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายของชนิดทรัพยากรไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และพืช ในด้านสุขภาพก็ทำให้สุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงของสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับพืชและสัตว์ และที่สำคัญเกษตรอินทรีย์ ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก แม้จะมีราคาที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วไปก็ตามและในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังได้ร่วมกันผลักดันด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เช่น การจัดตั้งสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ทั้งระบบ โดยมีการส่งเสริมทั้งในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากนักวิชาการในด้านต่างๆและจากปราชญ์ชาวบ้าน ในพื้นที่ ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร หรือการใช้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท.(Organic Agriculture Certification Thailand - ACT ) ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ และสามารถแยกแยะความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ของเกษตรอินทรีย์ กับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีนโยบาย การตลาดเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ เช่น ร้านเลมอนฟาร์ม และผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เล็งเห็นแนวโน้มและทิศทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ จึงเริ่มวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น อาทิ Top Supermarket , Food Land ทิศทางของตลาดสินค้าจากเกษตรอินทรีย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของไทย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท โดยตลาดในภูมิภาคยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับแรก รองลงมาคืออเมริกาเหนือ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกตามลำดับ

 สุเพียงเพ็ญ ศิริสุวรรณ

จาก http://www.siamrath.co.th    วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

ธกส.ชี้ราคาสินค้าเกษตรขยับขึ้น ทั้งยาง-มัน-ข้าวโพด-น้ำตาล ยกเว้นกุ้ง-ข้าวลดลงเล็กน้อย

นายสมศักดิ์  กังธีระวัฒน์  รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ผลคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร ในช่วงเดือนเมษายน 2560 พบว่าสินค้าเกษตรที่จะมีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่า

ราคาเฉลี่ยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.50-3.00 อยู่ที่ราคา 6.58-6.67 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดรุ่น 2 เริ่มหมดจากตลาด และเข้าสู่ฤดูกาลปลูกข้าวโพดรุ่น 1 (ปลูกเดือนเมษายน-มิถุนายน) ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ขณะที่ น้ำตาลทรายดิบ คาดว่า ราคาเฉลี่ยน้ำตาลทรายดิบนิวยอร์กในตลาดโลก จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 19.46-20.07 เซนต์/ปอนด์ (15.11-15.48 บาท/กก.) เนื่องจากการเข้ามาซื้อน้ำตาลทรายดิบคืนจากตลาด (Short-covering) ของนักลงทุน ประกอบกับผลผลิตอ้อยในอินเดียและจีนมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกของเดือนเมษายนลดลงตามไปด้วย มันสำปะหลัง คาดว่า ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.97 -5.26 อยู่ที่ราคา 1.55-1.60 บาท/กก. เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดลดลง และราคาส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี

ส่วนยางพารา  คาดว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 5.26-9.00 อยู่ที่ราคา 76.88-79.61 บาท เนื่องจากเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตบางส่วนหายไปจากตลาด ปาล์มน้ำมัน คาดว่า ราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.21 – 5.26 อยู่ที่ราคา 5.00 – 5.20 บาท/กก. เนื่องจากการดำเนินการตามประกาศแนะนำราคารับซื้อของกระทรวงพาณิชย์ ส่งผลต่อราคาปาล์มน้ำมัน สุกร คาดว่า ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 อยู่ที่ราคา 59.66-61.41 บาท/กก. เนื่องจากคาดว่า ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลเช็งเม้ง

ธ.ก.ส. รายงานว่า ในส่วนราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าว คาดว่า ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเจ้า 5% ที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 1.0-3.7 อยู่ที่ราคา 7,200-7,400 บาท/ตัน ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.9-3.0 อยู่ที่ราคา 9,000-9,200 บาท/ตัน และราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.4-2.2 อยู่ที่ราคา 11,000-11,200 บาท/ตัน เนื่องจากการประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมของภาครัฐในปริมาณมาก และอุปทานข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากผลผลิตข้าวนาปีของเวียดนามและอินเดียที่จะออกสู่ตลาดก่อนหน้านี้ กุ้ง คาดว่า ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้จะลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.29-4.71 อยู่ที่ราคา 215-225 บาท/กก.

เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมแหล่งเพาะเลี้ยงและสถานการณ์โรค EMS ได้คลี่คลายลง เกษตรกรสามารถผลิตกุ้งออกสู่ตลาดได้ปริมาณเพิ่มขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

ก.อุตฯ-ส.อ.ท.ระดมสมอง ยก 6 กลุ่มอุตฯสู่ Industry 4.0

นับตั้งแต่รัฐบาลเปิดร่าง "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" ประกาศเป้าหมายและขั้นตอนการเดินหน้าของประเทศไทยว่าด้วย 2 เรื่องสำคัญใหญ่ ๆ คือ การขับเคลื่อน "Thailand 4.0" และ "Industry 4.0" เป็นธงที่ต้องไปคู่กัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพากันระดมให้ความรู้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการอย่างหนัก โดยเน้นถึงความจำเป็นที่วันนี้ต้องเริ่มก้าวพาประเทศค่อย ๆ พัฒนา เพราะศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระดับ 2.0

ลงทุนเพิ่มเปลี่ยนเทคโนโลยี

ตลอด 1 ปีเอกชนตื่นตัวสำหรับการพัฒนา "นายขัติยา ไกรกาญจน์" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีของสมาชิกใน ส.อ.ท.ทุกอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ระดับ 2.0 จึงจำเป็นต้องจับมือกับหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยและนำร่อง 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เครื่องจักรกล ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมสนับสนุน เป็นตัวเริ่มพัฒนาปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

โดยแผน 5 ปี (2559-2563) จะต้องยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรม 2.0 ไปสู่ 3.0 จะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปสู่ระบบอัตโนมัติให้ได้มากกว่า 75% ของเครื่องจักรการผลิตทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมเงินลงทุนไว้อย่างน้อย 50% ของทุนจดทะเบียน เริ่มเปลี่ยนจากเครื่องจักรเก่ามาเป็นเครื่องจักรสมัยใหม่ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สั่งการ หรือมีระบบเซ็นเซอร์ส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลส่วนกลางได้

เตรียม 10 แนวทางมุ่งสู่ 4.0

ขณะเดียวกันต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาองค์กร 10 ประการ ได้แก่ 1.ให้ประเมินขีดความสามารถในการแข่งขัน ต้นทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาด 2.ทำแบบประเมินตนเอง Industry 4.0 โปรแกรมที่ ส.อ.ท.มีให้

3.ประเมินโครงสร้างต้นทุนการผลิต บริหารจัดการ และการตลาด 4.เข้าโครงการทำ Feasibility Industry 4.0 ซึ่งควรหาโครงการที่คุ้มค่าการลงทุน 5.เข้าโครงการนำร่อง Industry 4.0 Pilot Implementation จากหน่วยงานต่าง ๆ 6.เข้าโครงการคูปองนวัตกรรม และ ส.อ.ท.

7.ต้องเริ่มพัฒนายกระดับพนักงานในสถานประกอบการ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ 8.ขยายผลการทำระบบอัตโนมัติให้ครอบคลุม 9.พัฒนาการบริหารเชิงนวัตกรรม 10.พัฒนาการนำระบบ การวางแผนบริหารธุรกิจขององค์กร (ERP), ระบบการคำนวณที่ใช้ในการผลิต (MES), ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยการออกแบบ (CAD), ระบบการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (BPM) มาใช้ เป็นต้น

ดึงไต้หวัน-เยอรมนีวางระบบ

ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือระหว่างกลุ่มบริษัท แอดวานซ์เทค จากประเทศไต้หวัน เข้ามาชี้แนะถึงการวางระบบบริหารจัดการในองค์กร โดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดย "นายเชนนี่ โฮ" ประธานกลุ่มบริษัท แอดวานซ์เทคกล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ในบริษัทก่อนเป็นอันดับแรกไม่ใช่ลงทุนเครื่องจักร จะเห็นผลภายใน 3 เดือน จากนั้นใช้เวลาอีก 3-5 ปีจึงเห็นผลว่าโรงงานสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 80% และลดต้นทุนได้ 25% ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเริ่มจากตรงนี้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนทีละขั้นตอน

ขณะเดียวกันมีสถาบันไทย-เยอรมัน ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ผู้ประกอบการในการจัดหาผู้ออกแบบระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (SI) เข้ามาช่วยวางระบบให้กับรายที่พร้อมปรับเปลี่ยนแล้ว คาดจะมีถึง 300 ราย จากปัจจุบันมี 50 ราย

ฟื้น 4 คณะทำงานอุตฯ-ส.อ.ท.

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปแนวทางเดียวกับภาครัฐ ส.อ.ท.จะกลับมาหารือกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมผ่าน 4 คณะทำงานร่วม คือ คณะขับเคลื่อน 4.0 คณะขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คณะด้านสิ่งแวดล้อม และคณะปฏิบัติการเชิงข้อมูล โดยปีนี้ ส.อ.ท.จะเน้นเรื่องแผนการขับเคลื่อน 4.0 และแนวทางส่งเสริมช่วยเหลือ SMEs เป็นหลัก

"องค์กรที่พร้อมพัฒนาไปสู่ 4.0 มีประมาณ 1 ใน 3 หรือ 30% ของสมาชิกทั้งหมดใน ส.อ.ท.ที่เหลือ 70% ส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับ 2.0-2.50 ปัญหาที่มักพูดถึงคือแหล่งเงินทุน แต่วันนี้มีกองทุน 20,000 ล้านบาท ช่วย SMEs แล้ว"

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า การผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยเกิดการพัฒนา เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ จึงขอความร่วมมือกับทางภาคเอกชนให้ปี 2560 เกิดการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ในเดือน เม.ย.นี้จะเริ่มหารือกับคณะทำงานของ ส.อ.ท.

แม้วันนี้การไปสู่ 4.0 เหมือนจะไกลเกินไป แต่ทุกอย่างจะต้องเริ่มสตาร์ตตั้งแต่ตอนนี้ และย้ำว่าหัวใจสำคัญของการพัฒนา คือ "คน วิสาหกิจ/SMEs เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน" ซึ่งมีแนวทางของ "ประชารัฐ" มาเป็นเครื่องมือช่วยในการขับเคลื่อน

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

ค่าบาท 'ทรงตัว' นักลงรอดูเศรษฐกิจสหรัฐ

.บาทเปิดตลาดทรงตัวที่ "34.42บาทต่อดอลลาร์" นักลงทุนเริ่มหยุดรอดูสถานการณ์ก่อน ขณะที่เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ นโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนคลายเพียงพอแล้ว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.42 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ้นวันทำการก่อน โดยในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก เงินดอลลาร์อ่อนค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเยนแต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร

ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ปรับตัวลงแม้ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญ/บาร์เรลเพราะนักลงทุนเริ่มหยุดรอดูสถานการณ์ตลาดก่อน

ในฝั่งธปท.คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% ตามที่คาดไว้ แต่ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจขึ้นจากระดับ 3.2% เป็น 3.4% ขณะที่ลดคาดเงินเฟ้อลงจากระดับ 1.5% มาเป็น 1.2% ชี้ให้เห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาด ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดีขึ้นตามลำดับ และนโยบายการเงินปัจจุบันถือว่าผ่อนคลายเพียงพอแล้ว

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.39-34.49 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

อุตฯแนะโรงงานรับมือหน้าร้อน

  "สมชาย" ห่วงโรงงานหน้าร้อน ร่อนหนังสือเตือนผู้ประกอบการระวังไฟไหม้ เผย  5 เดือน ไหม้แล้ว 32 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจรครองแชมป์!

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิสูงเป็นผลให้อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องจักรของโรงงานอุตสาหกรรมต้องทำงานหนัก ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอัคคีภัย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน และในช่วงวันหยุดยาวส่วนใหญ่โรงงานจะใช้โอกาสนี้ในการซ่อมบำรุง หรือติดตั้งเครื่องจักรใหม่ หลายครั้งก็เกิดอุบัติเหตุอัคคีภัยขึ้น ดังนั้น การซ่อมแซมหรือการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ จึงฝากเตือนกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ของโรงงานกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิด

"ระยะนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อยครั้ง ผมได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งเตือนโรงงานให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้งมัน โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานสี ทินเนอร์ โรงงานพลาสติก ตลอดจนโรงงานห้องเย็น และโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นที่อาจมีการรั่วไหลจากที่เครื่องจักรทำงานหนักในช่วงหน้าร้อนนี้ เป็นต้น"

สาเหตุของการเกิดไฟไหม้ อันดับ 1 ไฟฟ้าลัดวงจร อันดับ 2เครื่องจักร/อุปกรณ์ชำรุด และความประมาท อันดับ 3สาเหตุอื่นๆ เช่น เสาไฟฟ้าชำรุด ปฏิกิริยาเคมี และการไหม้จากภายนอกโรงงาน

สำหรับสถิติการเกิดไฟไหม้โรงงานตั้งแต่ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า เกิดขึ้นจำนวน 32 ครั้ง แบ่งเป็น 8กลุ่ม คือ 1) กลุ่มโรงงานสิ่งทอ เส้นใยพืช จำนวน 7 แห่ง 2) กลุ่มโรงงานพลาสติก กระดาษ จำนวน 5 แห่ง 3) กลุ่มโรงงานโลหะ โรงงานไม้ โรงงานยาง จำนวน 7 แห่ง 4) กลุ่มโรงงานกากขยะ ขยะรีไซเคิล จำนวน 4 แห่ง 5) กลุ่มโรงงานอาหาร จำนวน 5 แห่ง 6) กลุ่มโรงงานประกอบ ดัดแปลงเครื่องจักร จำนวน 1 แห่ง 7) กลุ่มโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และพลังน้ำ จำนวน 2 แห่ง 8) กลุ่มโรงงานเครื่องสำอางค์ จำนวน 1 แห่ง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

พพ.เด้งรับนโยบายรัฐทบทวนแผนAEDP

พพ.เร่งทบทวนแผน AEDP ตอบสนองนโยบายรัฐ เพิ่มสัดส่วนไฟจากพลังงานทดแทน คาด มิ.ย.นี้แล้วเสร็จ จ่อลดเป้าหมายผลิตไบโอดีเซล-เอทานอล หากไม่สามารถหาวิธีทำให้ราคาสมเหตุสมผลได้

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ที่กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมาก

ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานนั้นมี 2 ทางเลือกคือ ปรับปรุงแผน โดยเพิ่มเป้าหมายพลังงานทดแทนเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 ที่เดิมกำหนดไว้ 30% หรือคงเป้าหมายเดิมแต่อาจปรับลดพลังงานทดแทนในส่วนที่เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย แล้วเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากพลังงานทดแทนชนิดอื่นๆ เข้าไป โดยคาดว่า 2-3 เดือนหรือช่วงเดือน มิ.ย.2560 นี้ จะได้ข้อสรุป

"ขณะนี้กำลังดูรายละเอียดภาพรวมอยู่ ซึ่งมีทางเลือกคือเพิ่มสัดส่วนจาก 30% ของแผนโดยรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนบวกเข้าไปเลย หรือคงสัดส่วนไว้ที่ 30% แต่ไปเพิ่มหรือลดเป้าหมายในบางเชื้อเพลิง โดยดูจากศักยภาพในการผลิตไฟ แต่ก็อยู่ที่ผลศึกษาว่าที่สุดจะออกมาแบบไหนตอนนี้ยังไม่ได้สรุป" นายประพนธ์กล่าว

นายประพนธ์กล่าวยอมรับว่า พลังงานทดแทนบางตัวนั้น กำหนดเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง อาทิ ไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าหมายปี 2579 จะผลิตได้ 14 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่ได้แพงเช่นปัจจุบัน เพราะปกติราคาของไทยจะจะแพงกว่ามาเลเซียเพียง 2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่ปัจจุบันบางช่วงกว่าถึง 9 บาทต่อ กก. ซึ่งถือว่ามากเกินไปดังนั้นตรงนี้ก็คงจะต้องทบทวนว่าควรจะส่งเสริมให้เหมาะสมหรือไม่

ขณะที่เอทานอลเองก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องพิจารณารายละเอียดเพราะก่อนหน้าที่ดำเนินงานต้นทุนไม่ได้แพงเช่นนี้ หากส่งเสริมแล้วเป็นภารประชาชน ดังนั้นหากราคาเอทานอลแพงแบบไม่สมเหตุสมผลการส่งเสริมให้ใช้มากก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นก็ต้องหารือร่วมภายในเช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการ ว่ามีแนวทางที่จะลดต้นทุนเอทานอลหรือไบโอดีเซลได้หรือไม่.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

เตือนเกษตรกรอย่าเสี่ยงทำนารอบที่3 ย้ำน้ำน้อยระวังเสียหายหนัก-ล็อกเป้าส่ง5จังหวัดหนุนปลูกพืชน้ำน้อย

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรอย่าเสี่ยงทำนารอบที่ 3 ย้ำน้ำเหลือน้อยมาก เสี่ยงได้รับความเสียหายหนักสั่งล็อกเป้าพื้นที่ 5 จังหวัด “เชียงใหม่-พระนครศรีอยุธยา-สระบุรี-ร้อยเอ็ด-ชัยนาท” ส่งเสริมปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย โดยเฉพาะพืชไรตระกูลถั่วทดแทน พร้อมสนับสนุนกิจกรรมอาชีพเสริมอื่นช่วงฤดูแล้งลดความเสี่ยงปลูกพืชจนเสียหาย

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนตกสะสมในปี 2559 ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนที่สะสมทั้งปีสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 8 และสูงกว่าปี2558 ร้อยละ 21 ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศของปี 2559/60 เมื่อเปรียบเทียบกับแผนการปลูกข้าวนาปรังพบว่าสูงกว่าแผนที่กำหนดไว้ ประกอบกับในบางพื้นที่ได้มีการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะมีการปลูกข้าวรอบที่ 3 จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ สระน้ำ หรือน้ำใต้ดิน

ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเตรียมมาตรการลดความเสี่ยงในการปลูกข้าวรอบที่ 3 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2559/2560 เป้าหมายคือพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทานที่มีแนวโน้มที่จะปลูกข้าวในรอบที่ 3 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดชัยนาท เกษตรกร 10,500 ราย พื้นที่รวม 215,242 ไร่ โดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ศักยภาพของพื้นที่ และช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรและเกิดความเสียหาย ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และการใช้น้ำ น่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งได้ดีกว่าที่จะมีการปลูกข้าวแล้วเกิดความเสียหายตามมาในภายหลัง

นอกจากมาตรการส่งเสริมการปลูกพืชดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กรม ยังใช้แนวทางการสนับสนุนกิจกรรมอาชีพเสริมเพื่อพัฒนาเกษตรกรไปพร้อมๆกัน เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ทำกิจกรรมด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง อาทิ การแปรรูปผลผลิต 15 กลุ่ม หัตถกรรม/จักสาน 5 กลุ่ม ซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร หรือช่างเกษตรประจำหมู่บ้านจำนวน 100 คน โดยมาตรการดังกล่าวจะมีขั้นตอนการดำเนินงานคือ ประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ จากนั้นก็จะวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายและเลือกกิจกรรมทางเลือกให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ประชาสัมพันธ์การรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ดำเนินการสนับสนุนปัจจัยการผลิตและฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร และมีการติดตาม ประเมินผล พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

แนะวิธีบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง ‘ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์’หนุนใช้เทคโนโลยีระบบน้ำหยด

นายกันตพงษ์ แก้วกมล ประธานเครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าการทำการเกษตรในยุคปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงมากมาย ถือว่ามีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถทำการเกษตรได้ดี มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรที่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมโยงเครือข่ายรวดเร็วและเข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัยกันได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การทำการเกษตรของเกษตรกรในยุคดิจิทัลสามารถพึ่งพาตนเองได้แม้จะมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่มากก็ตาม

โดยหนึ่งในเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างลดต้นทุน และได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพก็คือ เทคโนโลยีการประหยัดน้ำด้วยการใช้ระบบน้ำหยด และมินิสปริงเกอร์ ซึ่งเป็นระบบการจัดการน้ำให้กับพืชได้ดี นอกจากจะช่วยทุ่นแรงในด้านการใช้แรงงานแล้ว ในการตอบสนองต่อสภาพอากาศของประเทศไทยก็ถือว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง และในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย การใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการน้ำ หรือการใช้น้ำในภาคเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งทุกปี ฉะนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดน้ำในช่วงที่มีน้ำในการทำการเกษตรไม่เพียงพอ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถสร้างรายได้จากการปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี

นายกันตพงษ์ กล่าวอีกว่า ในฟาร์มของตนนั้นถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ไม่มากนัก และเลือกทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสานหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ที่แบ่งพื้นที่ปลูกพืชผัก ไม้ผล และขุดแหล่งน้ำไว้ใช้ในฟาร์มของตนเอง อีกทั้งยังเลือกใช้ระบบน้ำหยดและมินิสปริงเกอร์เพื่อประหยัดน้ำในการทำเกษตรตลอดทั้งปี พร้อมกับคิดค้นอุปกรณ์และตัวช่วยในการเช็คข้อมูลสภาพอากาศภายในฟาร์มว่า ในแต่ละวันดินมีอุณหภูมิเท่าไรอากาศมีอุณหภูมิเท่าไร ความชื้นสัมพัทธ์เท่าไร เพื่อที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นตัวกำหนดในการจ่ายน้ำให้กับพืชในแปลงทั้งหมด ซึ่งเครื่องมือนี้ถือว่ามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการน้ำในแปลงปลูกได้เป็นอย่างมาก ทั้งยังทำให้การผลิตของฟาร์มนั้นมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่สามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ดีมีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรและยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ที่ไม่สามารถจะลงทุนด้านเครื่องมือหรือเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ได้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็แนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งแทน ซึ่งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไร แค่เพียงเลือกชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละฤดู ก็สามารถช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรและมีรายได้ตลอดทั้งปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

แจงสี่เบี้ย : พด.แนะวิธีการจัดการน้ำในพื้นที่แห้งแล้ง

จากนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ทุกหน่วยเร่งให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง กรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้กับเกษตรกร เกี่ยวกับวิธีการรักษาความชื้นของดินและการจัดการน้ำอย่างประหยัดในพื้นที่แห้งแล้งที่ถูกต้องไม่ยุ่งยากและมีหลายวิธี เบื้องต้นสามารถปฏิบัติ ดังนี้

1.การให้น้ำแบบประหยัดเหนือผิวดิน เป็นการให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งด้วยอัตราที่ต่ำ เช่น วิธีการให้น้ำแบบหยด การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มาก การระเหยน้ำจากผิวดินน้อยกว่าการให้น้ำวิธีอื่นๆ โดยต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำ เครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันราคาถูกลงมากและมีจำหน่ายแพร่หลาย อายุการใช้งานนานหลายปี เกษตรกรที่ปลูกผักและไม้ผลโดยใช้ระบบน้ำหยดแบบประหยัด เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ใช้ได้กับดินทุกประเภท ประหยัดแรงงาน เวลา และพลังงาน

2.การให้น้ำใต้ผิวดิน เหมาะกับไม้ผล ไม้ยืนต้น ที่ค่อนข้างทนแล้งและเพิ่งปลูกใหม่ เพื่อให้ตั้งตัวได้ในระยะแรกปลูก 2-3 ปีแรก จากนั้นก็ปล่อยตามธรรมชาติ เช่น การให้น้ำด้วยการใช้แกลลอนน้ำมันเครื่องที่เจาะรูด้านข้าง แล้วใช้ด้ายดิบเส้นใหญ่ตัดให้ยาว 1 นิ้ว มาอุดรู้ที่เจาะไว้ให้แน่นเมื่อใส่ในแกลลอนน้ำจะค่อยๆ หยดออกมาตามเส้นด้าย นำแกลลอนไปฝังดินห่างจากโคนต้น 1 คืบ โดยหันด้านที่น้ำหยดเข้าหาโคนต้น การฝังแกลลอนควรให้ปากแกลลอนโผล่พ้นผิวดินเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเติมน้ำ

3.การให้น้ำแบบประหยัดใต้ผิวดิน ได้แก่ การให้น้ำด้วยตุ่มดินเผา นำตุ่มดินเผาที่มีรูพรุนความจุ 5-7 ลิตรมาฝังดินใกล้โคนต้นพืชโดยให้ฝาตุ่มอยู่ในระดับผิวดินใส่น้ำให้เต็มแล้วปิดฝาป้องกันการระเหย น้ำจากตุ่มจะค่อยๆ ซึมออกมาทางรูพรุนรอบตุ่ม เมื่อน้ำหมดก็ค่อยเติมน้ำให้เต็ม นอกจากการให้น้ำด้วยวิธีประหยัดแล้ว ทุกวิธีการเกษตรกรควรจะมีการใช้วัสดุคลุมดินด้วย เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง ใบหญ้าแฝกให้คลุมบริเวณทรงพุ่มรักษาความชื้น เว้นช่วงระยะเวลาการให้น้ำได้ยาวนานยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

บาท 'อ่อนค่า' รับราคาน้ำมัน-บอนด์ยิลด์ขยับขึ้น

บาทเปิดตลาดอ่อนค่าที่ 34.47 บาทต่อดอลลาร์ หลังตลาดสหรัฐได้อานิงสงก์ราคาน้ำมันปรับใกล้ระดับ50 ดอลลาร์/บาร์เรลอีกครั้งและบอนด์ยีลด์10ปีเหนือ2% คาดที่ประชุมกนง. วันนี้คงดอกเบี้ย1.5%

 นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.47 บาท ต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นวันทำการก่อน ในคืนที่ผ่านมาตลาดสหรัฐได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมาใกล้ระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรลอีกครั้งส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งขึ้น พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 2.4% ได้อีกครั้ง

ฝั่งตัวเลขเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐปรับตัวขึ้นทำระดับสูงที่สุดในรอบ 16 ปี ยังเป็นตัวย้ำว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวจริงและความคาดหวังเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ยังอยู่ในระดับสูง

ในฝั่งไทย การประชุมกนง.ในวันนี้คาดจะ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% แม้ว่าเริ่มมีโอกาสที่ธปท.จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินได้มากขึ้นจากเงินเฟ้อที่เริ่มสงบลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันขณะที่ค่าเงินบาทก็กำลังแข็งค่า แต่เชื่อว่ากนง.จะมองว่าเงินบาทแข็งค่าใกล้เคียงภูมิภาคและยังไม่ถึง “ระดับที่เป็นปัญหา” ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย   มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.42-34.52 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชีพจรโลกธุรกิจ ปั้นบุคลากรอุตฯอ้อย-น้ำตาลทราย

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า จากภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่ขยายตัว ทำให้มีความต้องการบุคลากรในสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ดังนั้น TSMC จึงลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ปีการศึกษา 2560-2562 เพื่อผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพในรูปแบบทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล จับมือ สอศ. เร่งปั้นบุคลากรสายวิชาชีพเพิ่มทักษะความรู้ รับการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ

          กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เร่งปั้นบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวะ หวังรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมร่วมลงนามMOU กับ สอศ. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและบุคลากรในสายวิชาชีพช่างฝีมือ และช่างเทคนิค เป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมเปิดรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ และโอกาสเข้าร่วมเป็นบุคลากรสายอาชีพในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

          นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMCเปิดเผยว่า จากภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่ขยายตัว หลังผู้ประกอบการได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่และขยายกำลังการผลิต รวมถึงขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการบุคลากรในสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ เป็นต้น

          ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านสายวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมฯ ทั้งระบบ ในระยะยาว และถือเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกโรงต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ช่วยพัฒนาบุคลากรด้านสายวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน

          ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงาน สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล จึงร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ปีการศึกษา 2560-2562 เพื่อผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพในรูปแบบทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ประกอบด้วย การเรียนการสอนในภาคทฤษฎี การฝึกอาชีพในสถานประกอบกิจการจริง เพื่อพัฒนานักศึกษาระดับอาชีวะให้มีทักษะการทำงานในโรงงานน้ำตาล หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

          สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จะร่วมกับคณะทำงานด้านวิชาการของ สอศ. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาคุณสมบัติของนักศึกษาในการเข้าอบรมหลักสูตรและเข้าฝึกปฏิบัติงานตามสถานประกอบกิจการ ตามที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล รวมถึงให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างกัน จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สอศ. มีทักษะทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นต้น

          ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้เข้ารับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบกิจการเพื่อสร้างความเชี่ยวชาญในสายอาชีพจากการเรียนรู้ปฏิบัติงานในสถานที่จริง โดยนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรจะได้รับโอกาสก้าวสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อไป

          "อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะทำงานร่วมกับ สอศ. พัฒนาหลักสูตรเนื้อหาการเรียนการสอนด้านวิชาการและทักษะแรงงานเพื่อสร้างบุคลากรในสายวิชาชีพที่มีคุณภาพ จากการฝึกปฎิบัติในสถานประกอบกิจการจริง โดยนักศึกษาที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้จะมีองค์ความรู้ที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีความต้องการแรงงานในสายวิชาชีพอีกมาก เพื่อรองรับการลงทุนและอุตสาหกรรมฯ โดยรวมที่ขยายตัว" นายเชิดพงษ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

3ส.รง.น้ำตาลจับมือสอศ.ปั้นบุคลากรสายวิชาชีพ 

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย จับมือ สอศ. เร่งปั้นบุคลากรสายวิชาชีพเพิ่มทักษะความรู้ รับการเติบโตอุตสาหกรรม

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่ขยายตัวจากการลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่ และขยายกำลังการผลิต รวมถึงขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการบุคลากรในสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ เป็นต้น ดังนั้น 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560-2562 เพื่อผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพในรูปแบบทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ประกอบด้วย การเรียนการสอนในภาคทฤษฎี การฝึกอาชีพในสถานประกอบกิจการจริง เพื่อพัฒนานักศึกษาระดับอาชีวะให้มีทักษะการทำงานในโรงงานน้ำตาล หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และพิจารณาคุณสมบัติของนักศึกษาในการเข้าอบรมหลักสูตรและเข้าฝึกปฏิบัติงานตามสถานประกอบกิจการ ตามที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล รวมถึงให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างกัน จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สศอ. มีทักษะทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นต้น 

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มน้ำตาล เร่งปั้นบุคลากรป้อนอุตฯ

กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย เร่งปั้นบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวะ หวังรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมร่วมระบุลงนาม MOU กับ สอศ. พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและบุคลากรในสายวิชาชีพช่างฝีมือ และช่างเทคนิค เป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมเปิดรับนักศึกษาฝึกปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ และโอกาสเข้าร่วมเป็นบุคลากรสายอาชีพในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า จากภาพรวมของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยที่ขยายตัว หลังผู้ประกอบการได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใหม่ และขยายกำลังการผลิต รวมถึงขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการบุคลากรในสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ สาขาพืชศาสตร์ เป็นต้น

ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาล จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านสายวิชาชีพที่มีความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมฯ ทั้งระบบ ในระยะยาว และถือเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกโรงต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ช่วยพัฒนาบุคลากรด้านสายวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ประกอบด้วย สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงาน สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล จึงร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นระยะเวลา 3 ปี หรือตั้งแต่ปีการศึกษา 2560-2562 เพื่อผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพในรูปแบบทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ประกอบด้วย การเรียนการสอนในภาคทฤษฎี การฝึกอาชีพในสถานประกอบกิจการจริง เพื่อพัฒนานักศึกษาระดับอาชีวะให้มีทักษะการทำงานในโรงงานน้ำตาล หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

จาก http://www.banmuang.co.th    วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

พพ.เร่งทบทวน AEDP เปิด 2 ทางเลือกตอบโจทย์เพิ่มผลิตไฟจากพลังงานทดแทน  

         “พพ.” เตรียมศึกษาทบทวนแผน AEDP ตอบโจทย์นโยบายรัฐเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟจากพลังงานทดแทน คาดภายในเดือน มิ.ย.แล้วเสร็จ รับมี 2 แนวทาง 1. เพิ่มสัดส่วนมากกว่า 30% จากแผน 2. ลดเป้าหมายบางตัวลงแล้วคงสัดส่วนเดิมเมื่อสิ้นสุดแผน ยกตัวอย่างไบโอดีเซล-เอทานอลหากราคายังแพงอาจปรับลดเป้าหมาย

                 นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการทบทวนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) เพื่อตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมี 2 แนวทางในการปรับปรุงแผน ได้แก่ 1. เพิ่มเป้าหมายพลังงานทดแทนเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 ที่เดิมกำหนดไว้ 30% ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย หรือ 2. คงเป้าหมายเดิมแต่อาจปรับลดพลังงานทดแทนในส่วนที่เห็นว่าอาจไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายแล้วเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟจากพลังงานทดแทนเข้าไป โดยคาดว่า 2-3 เดือนหรือ มิ.ย.จะได้ข้อสรุป

               “เราก็กำลังดูรายละเอียดภาพรวมอยู่ ถือเป็นการปรับเล็กซึ่งก็มีทางเลือกคือเพิ่มสัดส่วนจาก 30% ของแผน โดยรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนบวกเข้าไปเลยหรือคงไว้ที่สัดส่วนพลังงานทดแทน 30% แต่ไปลดเป้าหมายพลังงานทดแทนบางชนิดแล้วเพิ่มพลังงานทดแทนผลิตไฟเพิ่ม แต่ก็อยู่ที่ผลศึกษาว่าที่สุดจะออกมาแบบไหนตอนนี้ยังไม่ได้สรุป” นายประพนธ์กล่าว

               ทั้งนี้ ยอมรับว่าพลังงานบางตัวนั้นกำหนดเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูงในอดีต ยกตัวอย่างเช่น ไบโอดีเซลที่ตั้งเป้าหมายปี 2579 จะผลิตได้ 14 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากอดีตที่กำหนดไว้อยู่บนพื้นฐานที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่ได้แพงเช่นปัจจุบันเพราะปกติราคาของไทยจะแพงกว่ามาเลเซียเพียง 2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่ปัจจุบันบางช่วงกว่าถึง 9 บาทต่อ กก. ซึ่งถือว่ามากเกินไป ดังนั้นตรงนี้ก็คงจะต้องทบทวนว่าควรจะส่งเสริมให้เหมาะสมหรือไม่

               ส่วนเอทานอลเองก็เช่นเดียวกันที่ต้องพิจารณารายละเอียด เพราะก่อนหน้าที่ดำเนินงานต้นทุนไม่ได้แพงเช่นนี้หากส่งเสริมแล้วเป็นภาระประชาชน ดังนั้นหากราคาเอทานอลแพงแบบไม่สมเหตุสมผลการส่งเสริมให้ใช้มากก็เป็นไปไม่ได้ แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นก็ต้องหารือภายในว่ามีแนวทางที่จะลดต้นทุนเอทานอล และไบโอดีเซลได้หรือไม่เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการ

               “ถ้าส่งเสริมฯ ได้นะเวลาเราส่งเสริมจะขยับจาก B7 เป็น B10 แต่ราคาหน้าโรงงานก็จะสูงขึ้น กระทรวงฯ ไม่เดือดร้อนแต่ประชาชนผู้ใช้ก็จะได้รับราคาแพง เชื่อในหลักการว่าของแพงจะทำมากไปไม่ดี ไปบังคับให้ใช้ในราคาแพง ราคาจึงต้องสมเหตุสมผล เอทานอลก็เช่นกัน ปีที่แล้วราคาแพงมากไปถ้าเคลียร์ได้ก็โอเค ถ้าทำไปแล้วไม่มีเหตุมีผลเป็นภาระประชาชนกระทรวงพลังงานจะทำก็กระไรอยู่ สิ่งเดียวคือเราก็ต้องลดเขาลงมาเพื่อไม่ให้เป็นภาระประชาชน” นายประพนธ์กล่าว

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560

อุบลโมเดล สร้างเครือข่ายเกษตรกร 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เดินหน้าโครงการอุบลโมเดลต่อเนื่อง จัดงาน “ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล” ครั้งที่ 3 มีเกษตรกรร่วมงานคับคั่งกว่า 500 ราย สร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบอุบลโมเดลรู้จักดิน รู้จักปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม สู่เกษตรกร 4.0 “ทำน้อย แต่ได้มาก”

เมื่อเร็วๆนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี สานพลัง  ประชารัฐร่วมกันจัดงาน ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดลครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง (อุบลโมเดล) ปี 2560 / 2561 ภายใต้แนวคิด   “ชาวไร่มัน 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน” โดยมีนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมคณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร

 นายสรชาย ครองยุทธ รักษาการนายอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมต้อนรับ พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการและนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล โดยมีเกษตรกรกว่า 500 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาเยีย ตำบลนาดี ตำบลนาเรือง และตำบลนาจาน ของอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมกิจกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอนาเยีย

 จังหวัดอุบลราชธานี

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด

 ของการจัดงาน “ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล” นอกจากความรู้เรื่องดิน รู้ปุ๋ยแล้ว เกษตรกรยังต้องรู้พืช และรู้จักตัวเอง จึงจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง ซึ่งการรู้จักพืชนั้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดโซนนิ่งพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเกษตร โดยเกษตรกรต้องปรับตัวไปพร้อมกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเกษตรกร 4.0 คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ จะต้องทำน้อยแต่ได้มาก

“โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรืออุบลโมเดล เป็นโครงการ

 ประชารัฐที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้มากขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรให้น้อยลง และการทำการเกษตรในยุค 4.0 เกษตรกรจะต้องรู้เรื่องดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การรู้ดินคือการรู้ธาตุอาหารในดิน โดยใช้การเก็บดินและวิเคราะห์ดินตามหลักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมกันนี้การปลูกพืชทุกชนิดโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจต้องใส่ปุ๋ยบำรุงเพื่อเพิ่มผลผลิต การใส่ปุ๋ยเกินความต้องการของดินจึงเป็นการเพิ่มต้นทุนและไม่เกิดประโยชน์ต่อพืช การจะไปให้ถึงประเทศไทย 4.0 นั้นก็คือว่า เกษตรกรต้องเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น สบายขึ้นและมีรายได้มากขึ้น สุดท้ายเกษตรกรจะต้องรู้สึกภาคภูมิใจว่าตัวเองคือเกษตรกรของประเทศไทย สามารถผลิตอาหารผลิตพืชพลังงานให้กับประชาชนชาวไทย และประชากรโลก” รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดินกล่าว

ทางด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รวมพลังรวมแรง  ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ภายใต้แนวคิดชาวไร่มัน 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทั้งยังภาคภูมิใจที่ได้สร้างเกษตรกรต้นแบบสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้สูงถึง 8 ตันต่อไร่

“เกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตมากกว่า 8 ตันต่อไร่ขึ้นไปทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีและหลักการที่เป็นองค์ความรู้จากทางราชการที่สอนให้ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เอง ใช้สาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้จริงและเกิดผลประโยชน์จริง เกษตรกรมีความสุข เกิดเป็นรายได้หลักที่ไม่ใช่เป็นพียงรายได้เสริมอีกต่อไป เป็นความภาคภูมิใจที่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลได้มีส่วนร่วมในโครงการอุบลโมเดลมาตลอด แต่ก็ยังมีเป้าหมายที่สำคัญกว่านี้ ไม่ใช่แค่สร้างเกษตรกรต้นแบบขึ้นมา ต้องมีการขยายผลจากเกษตรกรต้นแบบไปเป็นสมาชิกและเป็นลูกข่ายต่อไป เพื่อทำให้เกษตรกรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายเดชพนต์กล่าว

งานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยปีนี้เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 4 ตำบลหลักของอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกรทั้งหมดจะได้รับการอบรมสาธิตเชิงปฏิบัติการ ผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 7 ฐานการเรียนรู้ คือ ฐานที่ 1 นิทรรศการบูรณาการ ประกอบด้วย 3 ฐานย่อย 1.1 เรื่องทรัพยากรดิน และการจัดการดิน โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 1.2 เรื่องเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 1.3 เรื่องการแปรรูปมันสำปะหลัง โดย กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ฐานที่ 2 ฐานการเก็บตัวอย่างดิน โดย อาจารย์อัธยะ พินจงสกุลดิษฐ    รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตของดิน ฐานที่ 3 ฐานวิเคราะห์ดิน โดย อาจารย์สุรเชษฐ์ นาราภัทร์

 นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ จากกรมพัฒนาที่ดิน ฐานที่ 4 ฐานผสมปุ๋ย โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ฐานที่ 5 ฐานอารักขาพืช โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ฐานที่ 6 ฐานเครื่องจักรกลทางการเกษตร และฐานที่ 7 ตลาดนัดสินค้าชุมชน โดย สหกรณ์การเกษตรนาเยีย จำกัด

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล  มีกำลังการผลิตเอทานอลวันละ 400,000 ลิตรต่อวัน และมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลัง 700 ตันแป้งต่อวัน โดยมีความต้องการมันสด 4,000 ตันต่อวัน และมันเส้น 1,200 ตันต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และยังมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการจัดเตรียมเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งได้ลงทุนเทคโนโลยีด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นฐานการสร้างเศรษฐกิจด้านพลังงานทดแทนที่มั่นคง และนำความสุขมาสู่สังคมอย่างยั่งยืน

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 28 มีนาคม 2560

เงินไหลเข้าอื้อดันบาททำลายสถิติแข็งสุด! รอบ8เดือน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 28 มีนาคม เปิดตลาดที่ 34.41 บาทอ่อนค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดที่ระดับ 34.39 บาท ในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากมีเงินทุนไหลจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล สุทธิกว่า 5,347 ล้านบาท ขณะที่ซื้อสุทธิในหุ้นไทย 1,672 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีเงินไหลเข้าพันธบัตรสุทธิกว่า 77,000 ล้านบาท และมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 6,000 ล้านบาท

“หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถผ่านกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ได้ ส่งผลให้ตลาดเริ่มขาดความเชื่อมั่นในเรื่องการผลักดันนโยบายต่าง ๆ และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเยนและยูโร ฝั่งค่าเงินบาทปรับตัวลงแรงวานนี้ หลังจากที่หลุดระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ลงมาเร็ว ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมาลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์แต่กลับขึ้นมาได้หลังค่าเงินเยนไม่แข็งค่าหลุด 110 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ” นายจิติพล กล่าว

นายจิติพล กล่าวว่า ภาพรวมเชื่อว่าเงินบาทที่แข็งค่าแรงและปัจจุบันถือว่าแข็งค่าที่สุดในรอบปีครึ่งนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นฐานหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ความผิดหวังบนนโยบายของโดนัลด์ทรัมป์ ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ที่อาจเริ่มหยุดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด รวมทั้ง ราคาน้ำมันที่ไม่ฟื้นขณะที่แนวโน้มส่งออกโลกกลับมาเติบโตเป็นประเด็นที่ส่งผลให้ไทยกลับมาเกินดุลการค้าในระดับสูง จึงมองว่าระยะกลางยังมีความเป็นไปสูงที่ดอลลาร์สหรัฐจะค่อย ๆ ซึมต่อส่งผลให้เงินบาทดูแข็งค่า

 สำหรับวันนี้ มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ปรับประมาณการณ์ค่าเงินบาทอยู่ 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าช่วงกลางปีค่าเงินบาทจะแข็งค่ามากที่สุด

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 28 มีนาคม 2560

อียูพอใจไทยตั้งใจปลดล็อก'ไอยูยู

          "ฉัตรชัย"เผยอียูพอใจไทยแก้ไขปัญหาไอยูยูจริงจังและมีแผนชัดเจน โดยเฉพาะศูนย์เอฟเอ็มซีเห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ขณะกรมประมงวางแผนเตรียมผนึกอาเซียนกำหนดแผนประมงร่วมกัน หวังใช้เป็นแนวทางปฎิบัติสร้างมาตรฐานประมงภูมิภาค

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังการเข้าพบของ นาย Stefaan DEPYPERE ผู้อำนวยการด้านธรรมาภิบาลมหาสมุทรและการประมงอย่างยั่งยืน กระทรวงกิจการทางทะเลและประมง ในฐานะหัวหน้าคณะการเจรจาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) สหภาพยุโรป(อียู) ว่า จากการตรวจเยี่ยมการทำงานแก้ปัญหาไอยูยูของไทยพบว่ารัฐบาลจริงจัง และตั้งใจทำงานในเรื่องของนโยบายมีความชัดเจน จากนี้ไปเหลือเพียงการปฏิบัติให้ไปสู่เป้าหมายเท่านั้น

          อย่างไรก็ตามการปลดใบหลืองขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้แทนจากอียู เนื่องจากคณะทำงานนี้ถือเป็นคณะใหม่อาจต้องขอข้อมูลเพิ่มโดยเฉพาะเรื่องการประมงนอกน่านน้ำ แต่ตามที่ไทยมีการ เรียกเรือประมงนอกน่านน้ำกลับเข้าฝั่งนั้น น่าชื่นชมมาก

          "ในรอบนี้อียูพอใจการทำงานของศูนย์ควบคุมการติดตามการทำงาน เรือประมงทั้งระบบ (เอฟเอ็มซี) อย่างมาก เพราะมีความคืบหน้าปฏิบัติได้จริง สามารถแก้ปัญหาไอยูยูได้ แม้ขณะนี้ศูนย์เอฟเอ็มซี จะมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการประมาณ 40-50 คน แต่อียูก็ระบุว่าทำงานดีมาก ซึ่งก่อนที่อียูจะเดินทางมา ไทยได้เชิญเกาหลีเข้ามาให้ คำแนะนำในการก้ปัญหาไอยูยู เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์ใบเหลือง โดยเจ้าหน้าที่ของเกาหลีก็แสดงความชื่นชมการแก้ปัญหาไอยูยูของไทยไม่ต่างจากอียู" พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

          ด้านนายธีรภัทธ์ ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ภายหลังจากการเปิดงานการประชุมระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำร่าง นโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN Common Fisheries Policy) ว่า การจัดงานดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (อามาฟ) ครั้งที่ 38 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกันเนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนถือเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักสินค้าประมง ของโลก จึงต้องมีแผนรองรับเพื่อไม่ให้เกิดการทำประมงไอยูยูขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 มีนาคม 2560

หวั่นวิตกน้ำขาดแคลน! กรมชลประทานผันน้ำป้อนอีอีซี 1,000 ล้านลบ.ม.

เปิดแผนน้ำ-ไฟฟ้าป้อน EEC หวั่นวิตกน้ำขาดแคลน กรมชลฯยัน 5 ปีมีน้ำพอใช้แน่ เพิ่มความจุ-สร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ เผยอีก 10 ปีต้องผันน้ำจากเขื่อนสตรึงนัม เขมรมาใช้ ส่วนภาคตะวันออก กฟผ.เตรียมโรงไฟฟ้าใหม่อีก 6,500 MW แต่ปัญหาปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะไม่เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้า

น้ำ และไฟฟ้า ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันโครงการหลักเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือแหลมฉบัง, สนามบินอู่ตะเภา, อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน/อิเล็กทรอนิกส์/หุ่นยนต์ และการขยายเมือง/สร้างเมืองใหม่ ซึ่งถูกเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.)เป็นผู้อนุมัติ แต่ความต้องการใช้น้ำและไฟฟ้าในพื้นที่EEC กลับไม่มีอยู่ในแผนฉบับปัจจุบัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) กล่าวกับ"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ ครศ.ได้ประสานไปยังกรมชลประทาน เพื่อหารือถึงปริมาณน้ำที่ใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ ความกังวลที่เกิดขึ้นในอนาคตสำหรับพื้นที่ เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) หากมีภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก เบื้องต้นได้มอบหมายกรมชลประทาน ให้กรอบเวลา 3 เดือนในการจัดทำ แผนบริหารจัดการน้ำ หรือ แผนสำรองน้ำ ระยะสั้น 1 ปีเอาไว้ก่อน

"แผนระยะ 1 ปีจะประกอบไปด้วย ระบบการวางท่อ การซ่อมแซมเส้นทางท่อเก่าที่สูบน้ำมาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางท่อหลักที่จะสูบน้ำจากปากแม่น้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง ต่อจากนั้นจึงจะจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำในภาคตะวันออกขณะนี้ประเมินแล้วว่า ยังคงเพียงพอกับการใช้ในพื้นที่ EEC ถึง 5 ปีแน่นอน" นายคณิศกล่าว

EEC ใช้น้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความวิตกกังวลในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง จะขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรงแม้จะไม่มี EEC ใน 5 ปีข้างหน้าว่า ปัจจุบัน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแหล่งน้ำดิบพอเพียง โดยอ่างมีความจุกักเก็บ 464 ล้านลบ.ม. และมีความต้องการใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศพอดี

ขณะที่ จังหวัดชลบุรี อ่างมีความจุกักเก็บ 215 ล้านลบ.ม. แต่มีน้ำไหลเข้าอ่างปีละ 130-133 ล้านลบ.ม. โดยปีที่ผ่านมากรมชลประทานต้องสูบน้ำผ่านระบบท่อจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไปอ่างบางพระ ชลบุรี ปริมาณ 60 ล้านลบ.ม. ส่วนบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) หรือ East Water สูบจากเขื่อนบางปะกงไปอ่างบางพระอีก 45 ล้านลบ.ม.และยังมีการดึงน้ำจากเขื่อนประแสร์และอ่างคลองใหญ่ จังหวัดระยอง อีก 70 ล้านลบ.ม.มาเสริม ส่วนจังหวัดระยองอ่างมีความจุ 580 ล้านลบ.ม. น้ำไหลเข้าอ่าง 652 ล้านลบ.ม. แต่ความต้องการน้ำเริ่มมากขึ้น คาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าปริมาณน้ำของระยองจะตึงตัวมาก

"ความต้องการน้ำใน 3 จังหวัดดังกล่าวที่ไม่รวมภาคเกษตรปี 2560 มีความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและการป้อนผู้อยู่อาศัยปริมาณ 362 ล้านลบ.ม. คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2579 กรณีไม่มี EEC เกิดขึ้นจะมีการใช้น้ำ 570 ล้านลบ.ม. แต่ถ้ามีโครงการ EEC เกิดขึ้นก็จะต้องใช้น้ำถึง 1,000 ล้านลบ.ม" ดร.สมเกียรติกล่าว

เพิ่มความจุ-สร้างอ่างใหม่

เมื่อสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเป็นอย่างนี้ กรมชลประทาน จึงจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนา EEC โดยกรมชลประทานจะเป็นจัดหาน้ำต้นทุน ขณะที่ East Water/การประปาส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่นเป็นผู้ใช้น้ำ ด้วยการ 1)ปรับปรุงแหล่งน้ำดิบ/พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 2)เชื่อมโยงแหล่งน้ำระบบผันน้ำ 3)ทำแก้มลิง/อ่างนา 4)ป้องกันน้ำท่วม และ 5)บริหารจัดการแหล่งน้ำต่าง ๆ แบ่งการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ออกเป็น 2 ช่วง

ในระยะแรก 5 ปีแรก จะต้องสร้างโครงการกักเก็บน้ำขนาดเล็กขนาดกลางรับมือก่อน โดยเพิ่มความจุกักเก็บน้ำอ่างหนองปลาไหลอีก 23 ล้านลบ.ม., การสูบน้ำย้อนกลับจากคลองสะพานขึ้นไปเก็บไว้ที่เขื่อนประแสร์ที่เพิ่มความจุไปล่าสุดอีก 47 ล้านลบ.ม.เป็น 295 ล้านลบ.ม.อีก 10 ล้านลบ.ม., การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่อีก 10 ล้านลบ.ม. กับ อ่างเก็บน้ำดอกกรายอีก 10 ล้านลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำท้ายอ่างคลองสียัดและอ่างคลองระบม ฉะเชิงเทรา ที่มีพื้นที่น้ำท่ามากเข้าสู่ระบบคลองอีกปีละ 21 ล้านลบ.ม.

นอกจากนี้ กรมชลประทาน กำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 4 แห่งที่ จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด ความจุ 60.2 ล้านลบ.ม. สร้างไปแล้ว 90%, อ่างพะวาใหญ่ความจุ 68.1 ล้านลบ.ม., อ่างคลองแก่งหางแมวความจุ 80.7 ล้านลบ.ม. และอ่างคลองวังโตนดความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. รวมเป็น 308.5 ล้านลบ.ม. หรือมากกว่าเขื่อนประแสร์ จากนั้นน้ำจะไหลมารวมกันที่สถานีสูบน้ำฝายวังใหม่เพื่อส่งน้ำบางส่วนไปเก็บที่เขื่อนประแสร์ต่อไป "ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้หากดำเนินการตามแผนข้างต้นสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ค่อนข้างปลอดภัย"

ระยะยาวต้องผันน้ำจากเขมร

แต่หลังจาก 10 ปีต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำมาเพิ่มให้กับภาคตะวันออก โดยความเป็นไปได้ในขณะนี้ก็คือ การเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาดความจุ 1,200 ล้าน ลบ.ม. โดยนำน้ำต่อท่อเข้ามาในฝั่งไทยบริเวณจังหวัดตราดตอนล่างและผันน้ำต่อมาทางท่อเข้าสู่ อ.แกลง จ.ระยองต่อไป

หวั่นก๊าซไม่พอป้อนโรงไฟฟ้า

สำหรับสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC นั้น นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันสามารถรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน แต่สิ่งที่กระทรวงพลังงานค่อนข้างกังวลก็คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่จะมารองรับโรงไฟฟ้าในอนาคตจะเพียงพอหรือไม่ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยเป็นหลักโดยเฉพาะจาก แหล่งบงกช-เอราวัณ จากเดิมที่มีกำลังผลิตอยู่ที่ระดับ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่าการผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งจะลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศ์ฟุต/วันเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ สนพ.รอการยืนยันจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณจะยืนระดับการผลิตอยู่ที่ระดับใด ในกรณีที่ลดลงต่อเนื่องก็จะต้องวางแผนในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มารองรับการใช้ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC ได้

ด้าน นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง-ภาคตะวันออกในปัจจุบันจะรองรับการใช้ได้ในช่วง 4-5 ปีต่อจากนี้ ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวไปถึง 10 ปี ข้างหน้าแล้วและมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่เตรียมผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในสัดส่วนของ กฟผ.มีรวมทั้งสิ้น 6,500 MW เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน เครื่องที่ 1-2 รวม 1,300 MW โรงไฟฟ้าบางปะกงส่วนทดแทนเครื่องที่ 1-2 รวม 1,300 MW ในส่วนของกำลังผลิตใหม่ที่จะมาจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ของบริษัทในเครือกัลฟ์ เจพี รวมทั้งสิ้น 5,000 MW ก็จะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 2567

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

ถกแผนปฏิบัติลอยตัวราคาน้ำตาล4เม.ย.พ.ย.นี้ลุยแน่ลุ้นขายปลีกคงเดิมหรือลดลง

          รัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยเตรียมถกแผนปฏิบัติลอยตัวราคาน้ำตาลทราย 4 เม.ย.นี้ อีกระลอกเพื่อลงรายละเอียดหวังลอยตัวราคาได้ พ.ย.นี้ ไม่ให้สะดุดหลังเจรจาบราซิลมีทิศทางที่ดี ลุ้นราคาน้ำตาลทรายตลาดลอนดอน 500-550 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ ขายปลีกลดราคาหรือคงที่

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้นัดหารือวันที่ 4 เม.ย.เพื่อพิจารณารายละเอียดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่หลักการเบื้องต้นเห็นพ้องกันแล้วว่าจะลอยตัวราคาให้สะท้อนตลาดโลกโดยไม่มีเพดานต่ำสุดสูงสุดโดยแผนดังกล่าวจะนำไปปฏิบัติในช่วงเปิดหีบอ้อยฤดูใหม่ปี 2560/61 หรือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560

          "เมื่อเร็วๆ นี้ตัวแทนจากรัฐ โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยได้ เดินทางเพื่อเจรจากับบราซิลให้เห็นถึงแนวทางปรับโครงสร้างรวมถึงการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายแล้วเพื่อลดผลกระทบจากกรณีที่บราซิล เตรียมยื่นฟ้อง(WTO) กล่าวหารัฐบาลไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลและส่งเสริมการปลูกอ้อยซึ่งทิศทางเป็นไปด้วยดีและหลังจากนี้บราซิลคงจะติดตามแผนปฏิบัติของไทย"แหล่งข่าวกล่าว

          เบื้องต้นการลอยตัวราคาน้ำตาลได้เสนอการกำหนดสูตรราคาโรงงานที่สะท้อนราคาตลาดโลก(CP)ที่อิงกับน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอน (หมายเลข 5) บวกด้วยไทยพรีเมียมเพื่อเป็นราคาแนะนำการขาย ซึ่งไทย พรีเมียมจะพิจารณาปรับได้ตามผลกระทบหลายๆ ด้านเพื่อดูแลผู้บริโภคกรณีที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกมีราคาสูงผิดปกติจนกระทบต่อราคาขายปลีกมากเกินไปซึ่งโอกาสเกิดจะไม่มากนัก แต่ก็ได้คิดเผื่อไว้ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดให้ราคาน้ำตาลทรายไม่จัดอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมเพื่อไม่ให้ขัดกับ WTO แต่จะกำหนดราคาแนะนำตามตลาดโลกว่าราคาควรอยู่ระหว่างใดที่เหมาะสมหากเกินก็ต้องชี้แจงให้ได้

          ทั้งนี้ หากประเมินราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนเฉลี่ยขณะนี้อยู่ระดับ 500 เหรียญสหรัฐต่อปอนด์ หากคิดกลับเป็นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะอยู่เพียงระดับ17.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลหน้าโรงงานอยู่ที่ 19 บาทต่อกก.หรือคิดเป็น 550 เหรียญต่อปอนด์ เมื่อรวมขายปลีกอยู่ที่ 22-23 บาทต่อกก.ดังนั้นเมื่อถึงเวลาลอยตัวเดือน พ.ย.นี้คาดว่าราคาน้ำตาลทรายจะเคลื่อนไหวระดับ 500-550 เหรียญต่อปอนด์ จึงมั่นใจว่าราคาขายปลีกจะทรงตัวระดับปัจจุบันหรือมีโอกาสลุ้นลงยกเว้นแต่ตลาดโลกมีเหตุไม่คาดคิดเท่านั้น

          "การปฏิบัติหลายอย่างยังเห็นไม่สอดคล้องก็ต้องหารือโดยการกำหนดราคาแนะนำอาจจะเป็นรายเดือน  ส่วนกรณีหนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ที่รายได้เก็บจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 5บาทต่อกก.ภายในประเทศหากลอยตัวจะทำอย่างไรเพราะหนี้จะไปหมด พ.ค.61 ก็มีผู้เสนอว่าอาจให้เก็บส่วนนี้ไปก่อนจนกว่าหนี้จะหมด ซึ่งคงต้องขอความเห็นจากรัฐบาลรวมถึงบราซิลด้วย ส่วนการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นก็ไม่มีปัญหาสามารถดูทิศทางราคาตลาดโลกได้ รวมถึงปริมาณอ้อยที่ประเมิน" แหล่งข่าวกล่าว

          สำหรับการหีบอ้อยฤดู 59/60 ขณะนี้โรงงานทยอยปิดหีบแล้ว 50% เฉลี่ยอ้อยเข้าหีบรวมทั้งสิ้นประมาณ 88.7 ล้านตันอ้อยโดยคาดว่าจะทยอยปิดหีบในต้นเม.ย.นี้จนหมดและคาดว่าปริมาณอ้อยจะอยู่ที่ราว 91 ล้านตันตามที่ได้มีการประเมินในการจัดสรรไว้ซึ่งถือว่าลดต่ำจากปีที่ผ่านมาที่อ้อยเข้าหีบ 94.06 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยดีขึ้น เพิ่มขึ้นเป็น 106.90 กก.ซึ่งดีกว่าปีก่อนที่ยิลด์เฉลี่ย 98.41 กก.

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

ยื่นศาลสั่งรง.น้ำตาลหยุดผลิต 

          เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ว่าที่ ร.อ.โอภาส สุทธิเกิด แกนนำคัดค้านโรงงานน้ำตาลที่ ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่คณะทำงาน นำโดยอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็นการจัดฉากมากกว่า เนื่องจากในการตรวจสอบครั้งนี้ นอกจากไม่มีผู้แทนจากภาคประชาชนที่เป็นกลางจริงๆ ยังเป็นการตรวจสอบหลังจากโรงงานน้ำตาลยุติการผลิตไปเรียบร้อยแล้ว การตรวจสอบก็ยังพบปัญหาทางโรงงานละเลยไม่ได้ใส่ใจจะปฏิบัติกฎหมายและตามรายงานสิ่งแวดล้อมอีไอเอด้วย

          ว่าที่ ร.อ.โอภาสกล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ยื่นฟ้องร้องอธิบดีกรมโรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัด โรงงานน้ำตาลและ อบต.หนองแจงต่อศาลปกครอง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างต่างฝ่ายต่างรวบรวมพยานหลักฐานชี้แจงต่อศาล ล่าสุดทางกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นขอการคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ขอให้ทางโรงงานยุติการผลิตในฤดูกาลหน้า ส่วนประเด็นเรื่องการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ 2,000 ไร่ เริ่มคืบหน้า อบต.หนองแจง ได้ประกาศแจ้งเรื่องการชี้แนวเขตที่ดินสาธารณะแปลงดังกล่าว และได้ยื่นขอรังวัดต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาหนองไผ่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ บริเวณพื้นที่หมู่ที่ 2,3,4,7, ต.หนองแจง อ.บึงสามพัน แจ้งให้ชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ ทางกลุ่มคัดค้านก็พร้อมจะส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์เช่นกัน

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

บราซิลพอใจไทยเลิกอุ้มน้ำตาล ยื่นโครงสร้างใหม่ต่อWTOพ.ค.นี้

สอน.มั่นใจสามารถลดข้อกังขากรณีไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลได้แล้ว เตรียม ยื่นโครงสร้างอุตฯ อ้อยและน้ำตาลฉบับใหม่ต่อ WTOใหม่ พ.ค. นี้ เผยเกษตรกรเข้าใจดี รายงานข่าวระบุบราซิลพอใจ ไม่ยื่นตั้งผู้พิพากษาในช่วงนี้

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายหลังรัฐบาลประเทศบราซิลร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ว่ารัฐบาลอุดหนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวจนส่งผลต่อระบบการค้าของโลก ว่า ปัจจุบันภาครัฐได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างน้ำตาลให้สามารถลดข้อกังขาของเหตุการณ์ดังกล่าวได้แล้ว และคาดว่าหลังจากนี้จะมีการทบทวนการปรับโครงสร้างให้ชัดเจนอีกครั้ง และจะนำไปเสนอต่อดับบลิวทีโอใหม่ในช่วงเดือน พ.ค.นี้

"ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังปรับแก้หลักการ อาทิ การกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยเฉพาะปริมาณที่ใช้ในประเทศ หรือโควตา ก. ที่ตามกฎหมายจะมีการยกเลิก แต่ขณะเดียวกันจะต้องมีปริมาณสำรองที่เหมาะสมเข้ามาทดแทน โดยจะมีการนำเสนอรายละเอียดต่างๆ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.วันที่ 28 มี.ค. นี้ให้เห็นชอบก่อนเสนอต่อดับบลิวทีโอ" นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ขณะนี้ทางกระทรวงได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งต้องรอพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติ (สนช.) คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันฤดูการผลิตใหม่ คือ 2560/61

นอกจากนี้ตามร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ จะไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่ ซึ่งมีการเริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิต 2559/60 ซึ่งมีการหารือกับทางเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ไม่มีใครคัดค้านเพราะเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวดี ขณะที่ราคาตลาดโลกกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

แหล่งข่าวรายงานว่า ผลการหารือฝ่ายบราซิลรับทราบและแสดงความพอใจต่อความคืบหน้าในการดำเนินการของไทย โดยบราซิลได้แจ้งผ่านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่าจะยังไม่มีการยื่นตั้งคณะผู้พิพากษาในช่วงเวลานี้.

จาก http://www.thaipost.net วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ควบคุมศัตรูอ้อยระบาดราชบุรี

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ โดย จ.ราชบุรี มีพื้นที่ปลูกประมาณ 185,252 ไร่ มีปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบประมาณ 1,486,802 ตัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูอ้อย โดยเฉพาะในเขต อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งในปี 2559 เกิดการระบาดของตั๊กแตนไฮโรไกลฟัส (ตั๊กแตนข้าว) กัดกินใบอ้อยคิดเป็นพื้นที่ระบาดรวม 2,300 ไร่ และยังพบการระบาดของหนอนกอและด้วงหนวดยาวพื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 200 ราย

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยี การเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี จึงกำหนดจัดงาน “วันรณรงค์ควบคุมศัตรูอ้อย” ในวันที่ 28 มีนาคม ณ แปลงอ้อยของเกษตรกร หมู่ที่ 7 ต.ปากท่อ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรได้รู้จักการป้องกันและกำจัดศัตรูอ้อยอย่างถูกวิธี และส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกร หันมาใช้สารชีวภัณฑ์ เชื้อราเมตตาไรเซี่ยมควบคุมด้วงหนวดยาวอ้อย เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี และเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพและผลผลิตให้กับเกษตรกร

นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า กิจกรรมในงานมีการเสวนาเรื่องสถานการณ์การผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2560/2561 และมีจุดเรียนรู้ อาทิ โรคและแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญ การควบคุมศัตรูอ้อยแบบผสมผสาน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

อธิบดีกรมชลยัน น้ำมีพอใช้หน้าแล้ง เทศกาลสงกรานต์

อธิบดีกรมชลยันน้ำมีพอใช้หน้าแล้งเทศกาลสงกรานต์เขื่อนไม่ปล่อยเพิ่ม

อธิบดีกรมชลยันเขื่อนต้องไม่ปล่อยน้ำเพิ่มช่วงสงกรานต์ น้ำต้นทุนในพื้นที่มีพอวอนเล่นอย่างประหยัด ยันแล้งปีนี้ไม่รุนแรง จ่อลดระบายน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา เตรียมสำรองน้ำไว้ในเขื่อนกรณีฝนทิ้งช่วง

เมื่อวันที่ 26มีนาคม นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงสงกรานต์ปีนี้ว่า กรมจะปล่อยน้ำตามระบบปกติในทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชอบไปเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ต้องปล่อยน้ำเพิ่มจากเขื่อน โดยเฉพาะตัวเมืองเชียงใหม่ มีน้ำเพียงพอ ประชาชนสามารถใช้น้ำในแหล่งน้ำต้นทุนแต่ละพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว แต่ขอให้เล่นอย่างประหยัด

เขตชลประทานปีนี้พ้นภัยแล้ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักทั่วประเทศขณะนี้ นายสัญชัยเปิดเผยว่า มีปริมาณน้ำ 4.4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)หรือ 60% มีน้ำใช้การ 2.6 หมื่นล้านลบ.ม. คิดเป็น 40% ซึ่งมีมากกว่าปี 2559 ประมาณ 7.6 พันล้านลบ.ม. ส่วนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้น้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำ 1.2 หมื่นล้านลบ.ม. คิดเป็น 50% มีน้ำใช้การ 5.6 พันล้านลบ.ม. 31% มากกว่าปีที่แล้ว 3.1 พันล้านลบ.ม. ทำให้สถานการณ์แล้งปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว ไม่รุนแรง จะเห็นว่าขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้งเพิ่ม ฉะนั้นสถานการณ์น้ำในเขตชลประทานไม่มีภัยแล้ง

เตือน34จว.ระวังขาดแคลนน้ำ

ส่วนนอกเขตชลประทาน 105 อำเภอ 34 จังหวัด ต้องเฝ้าระวังในเรื่องขาดน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งเกษตรกรรู้แล้วถ้าจะทำเกษตรต้องอาศัยแหล่งน้ำตนเอง ขณะนี้ทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ในส่วนกรมชลฯเตรียมรถขนน้ำทุกจังหวัดไว้บริการประชาชนที่ขอมา สามารถติดต่อสำนักชลประทานจังหวัดทุกแห่ง เรื่องน้ำอุปโภคบริโภค

ย้ำห้ามปลูกข้าวรอบ3ไม่มีน้ำให้

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลตั้งแต่ปี 2557 ไปทำแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2,168 แห่ง มีน้ำเพิ่มขึ้นมา 1 พันล้านลบ.ม. มีโครงการต่างๆอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง จึงบรรเทาความรุนแรงภัยแล้งได้ลดน้อยลงในปีนี้ ในส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวรอบสอง ลุ่มเจ้าพระยา ปลูกข้าวเกินแผน 2.8 ล้านไร่ ปัจจุบันกำลังทยอยเก็บเกี่ยวหมดภายในเดือนนี้ ก็จะลดส่งน้ำลงเพราะเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 1.6 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือไม่ใช้น้ำมากแล้ว เพราะรอเก็บเกี่ยวและขอร้องไม่ให้ปลูกข้าวรอบสาม ถ้าปลูกก็จะไม่มีน้ำให้ ก่อนหน้านี้ได้ประสานผู้ว่าราชการทั้ง 22 จังหวัด ให้ทำความเข้าใจกับประชาชน

นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวนา ให้ปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งยอมรับว่ายาก จากสองปีที่ผ่านมารัฐบาลขอความร่วมมือมาตลอด โดยหลักควรทำนาปี 1 รอบ นาปรัง 1 รอบ แต่ยังปลูกนาปรังเกินแผน เพราะเห็นว่ามีน้ำผ่านหน้าบ้าน จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปให้รับรู้ถึงสภาพอากาศแปรปรวน ถ้าชาวนาไม่ปรับตัวการปลูกข้าวต่อเนื่องจะเสี่ยงเสียหายมากขึ้น โดยปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ เริ่มปลูกช่วงฤดูฝน จะใช้น้ำฝนเป็นหลัก น้ำจากชลประทาน เป็นตัวเสริม ส่งน้ำให้ในช่วงฝนทิ้งช่วง และเตรียมแปลง

ดีเดย์เม.ย.ลดปล่อยน้ำ4เขื่อนใหญ่

นายสัญชัย อธิบดีกรมชลประทานกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมยังเตรียมลดการปล่อยน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยา จากเดิมปล่อยวันละ 40 กว่าล้านลบ.ม. ต้นเดือนเมษายนนี้จะลดเหลือประมาณ 30 ล้านลบ.ม.เพื่อสำรองไว้ในเขื่อน เนื่องจากเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การไม่มากเหลือ 24% เขื่อนสิริกิติ์ 38% ต้องประหยัดน้ำไว้กรณีฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และหากปีนี้ฝนปกติจะตกเดือนพฤษภาคมก็จะเข้าฤดูฝน แต่จะตกเข้าเขื่อนหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะระยะหลังแนวฝนเลื่อนมาตกท้ายเขื่อน รวมถึงปริมาณน้ำต้องใช้ผลักดันน้ำเค็ม แม้ช่วงนี้ยังไม่มีปัญหา ยังคุมได้ แต่ต้องเฝ้าระวังติดตาม อาจเกิดกรณีลมพัดปากอ่าว เหมือนช่วงต้นเดือนมีนาคมส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงถึงปากน้ำสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งผลิตน้ำประปา จึงเตรียมน้ำไว้ด้วย

26จว.เดือดร้อนเจอวาตภัยถล่ม

อีกส่วนหนึ่งประชาชนหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุฤดูร้อนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 14–26 มีนาคม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยรวม 26 จังหวัด 98 อำเภอ 177 ตำบล 546 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 5,550 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 2 ราย แยกเป็น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ เลย สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา หนองคาย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ บึงกาฬ อำนาจเจริญ อุดรธานี บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พะเยา ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ชัยนาท และกำแพงเพชร และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และตราด ทั้งนี้ กรมจึงได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น โดยแจกเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย ก่อนสำรวจ ประเมินและจัดทำบัญชีข้อมูลความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯทั้งกรณีบ้านพังเสียหายและเสียชีวิต

สั่งรับมือพายุฤดูร้อน27-29มี.ค.

จากการติดตาม
สภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 26–29 มีนาคม 2560 ประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก ปภ.จึงได้ประสานทุกจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรง โดยติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

อากาศแปรปรวนถึง29มี.ค.

วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 15 เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทย ระบุ ประเทศไทยมีสภาวะอากาศแปรปรวน บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ และอากาศจะคลายความร้อนลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยวันที่ 27-29 มีนาคม จะเกิดพายุฤดูร้อนเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคใต้ จะมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ตและพังงา ขอให้ประชาชนระหวังอันตรายจากลมกรรโชกแรง ฟ้าผ่า ลูกเห็บตก

ขอนแก่นฝนถล่มน้ำท่วมขัง

ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันเกิดพายุฤดูร้อนหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขต อ.เมืองขอนแก่น มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ลมกระโชกแรงพัดสิ่งของที่ตั้งอยู่ข้างทางล้มระเนระนาด มีน้ำท่วมขังบนถนนหลายสาย เนื่องจากน้ำระบายลงท่อไม่ทัน ท่วมผิวถนนบ้านศรีฐานมุ่งหน้าไปบึงหนองโคตร

อุดรธานีเจอพายุถล่ม2วันติด

เช่นเดียวกับ จ.อุดรธานี เกิดพายุฤดูร้อนถล่มหลายอำเภอสองวันติดต่อกันโดยเฉพาะที่อ.ไชยวาน อ.กู่แก้ว อ.โนนสะอาด อ.กุมภวาปี และอ.หนองวัวซอ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก บ้านเรือนเสียหายประมาณ 300 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่หลังคาบ้านเปิด ต้นไม้ใหญ่หักโค่น เสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่นประมาณ 20 ต้น ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มา 2 วันแล้ว หรือแม้กระทั่งศาลาวัดที่วัดบ้านโพนสูงก็พังถล่มลงมาทับรถสีข้าวของชาวบ้านที่จอดอยู่ และยังมีกำแพงวัดพังถล่มด้วย

จากการลงพื้นที่สำรวจของผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยเร็ว เพราะไม่มีบ้านพักอาศัย และไม่มีไฟฟ้าใช้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

ไทยบุกตลาดเออีซีมุ่งใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกในการทำตลาด

โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

         นางมาลี  โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการให้บริการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอาเซียนทั้ง 8 แห่งและส่วนกลางว่า เกือบ 4 ปี มีผู้ประกอบการเข้ารับบริการแล้วเกือบ 30,000 ราย คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มเป็น 35,000 ราย โดยปี 59 ภาคเอกชนทั้งเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาใช้บริการรวม 6,611 ราย ซึ่งกรมฯ ให้บริการ 4 ประเภท ได้แก่ บริการข้อมูล ให้คำปรึกษาเชิงลึก อำนวยความสะดวก และประสานงาน/จัดทำนัดหมายที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเชิงลึกมีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับบริการทั้งในสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศและส่วนกลางรวมถึง 1,479 บริษัท

          สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเชิงลึกในการทำตลาด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศได้ส่งข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ โดยแบ่งเป็นรายประเทศ อาทิ มาเลเซีย กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารและเครื่องดื่ม เมียนมา กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ไอที เครื่องสำอาง และเครื่องจักรกลการเกษตร  เวียดนาม กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เครื่องประดับ อาหาร ร้านอาหารไทย วัสดุก่อสร้าง กัมพูชา กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องจักรกล สปป.ลาว กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง สิงคโปร์ กลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มดี ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์สปา เป็นต้น

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

เศรษฐกิจอาเซียนมีศักยภาพสูงสุด

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพได้บรรยายให้แก่ผู้นำในหลักสูตร Global Business Leaders ภายใต้หัวข้อ “Current Trends : Reshaping Global Business and Banking” โดยกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารอย่างกว้างขวางว่า ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีศักยภาพมากที่สุดในโลกขณะนี้ แม้ว่าโลกจะกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจ และประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาและและยุโรปกำลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่เอเชียยังเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุน ด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากร และมีความแข็งแกร่งจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ

นายชาติศิริได้คาดการณ์แนวโน้มการทำธุรกิจในเอเชียว่า ธุรกิจควรลงทุนโดยคำนึงถึงการเติบโต 3 ด้าน คือด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างพลังงานและโทรคมนาคม ซึ่งจะช่วยชูศักยภาพของตลาด ด้านที่สองคือห่วงโซ่อุปทาน จากข้อได้เปรียบที่ประเทศสมาชิกมีความเชื่อมโยงกัน ทำให้หมุนเวียนทรัพยากรและแรงงานระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือการเติบโตของประชากรและเมืองใหญ่ ส่งผลให้ผู้มีรายได้ระดับกลางเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้กำลังซื้อสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น นักธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้สามารถขยายธุรกิจเข้าไปในภูมิภาคได้ โดยใช้ข้อได้เปรียบจากจุดแข็งของแต่ละประเทศ และต้องปรับมุมมองใหม่ว่าแต่ละประเทศสามารถเป็นได้ทั้งผู้ผลิตสินค้าและบริการ และยังเป็นตลาดที่รองรับสินค้าและบริการเหล่านี้ด้วย พร้อมกันนี้ ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพการผลิต สำหรับธุรกิจธนาคารก็ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะการเข้ามาของนวัตกรรมด้านการเงิน (ฟินเทค) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแบบเดิม ธนาคารต้องรู้จักผนวกภูมิความรู้ในธุรกิจที่ธนาคารมีอยู่เดิม เข้ากับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้ถึงขีดสุด.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 

ลุ้น ครม.พิจารณา พ.ร.บ.อ้อยฉบับใหม่ ก่อนเสนอ สนช.คลอดใช้ฤดูผลิต 60/61

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย… ว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนี้ต้องรอว่า ครม.จะพิจารณาและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อใด คาดว่าจะเป็นเร็วๆ นี้ และคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ทันฤดูการผลิตใหม่ คือ 2560/61

ทั้งนี้ ตามร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ จะไม่มีการจ่ายเงินเพิ่มค่าอ้อยให้กับชาวไร่ ซึ่งมีการเริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูการผลิต 2559/60 จากราคาอ้อยขั้นต้นประกาศอยู่ที่ 1,020 บาทต่อตันอ้อย ยกเว้นเขต 5 อยู่ที่ 950 บาทต่อตันอ้อย โดยแนวทางนี้จากการหารือกับชาวไร่ล่าสุดพบว่าไม่มีการคัดค้าน เพราะต่างเข้าใจสถานการณ์ รวมทั้งราคาตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 

ข้อพิพาทน้ำตาลไทย-บราซิลไม่จบแต่ชื่นมื่น สอน.บินชี้แจงดับบลิวทีโอพ.ค.นี้

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายหลังรัฐบาลประเทศบราซิล ร้องต่อองค์การการค้าโลก(ดับบลิวทีโอ)ว่ารัฐบาลอุดหนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวจนส่งผลต่อระบบการค้าของโลก ว่า ขณะนี้ไทยได้ปรับปรุงโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายให้ตรงกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และสามารถใช้ในการหักล้างข้อมูลที่ถูกกล่าวหาแล้ว โดยไทยได้ดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง และไทยได้เดินทางไปชี้แจงความคืบหน้าแนวทางดำเนินการต่อดับบลิวทีโอ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้จะดำเนินงานทบทวนแนวทางปรับโครงสร้างให้สมบูรณ์มากขึ้น และเตรียมนำกลับชี้แจงอีกครั้งภายในเดือนพฤษภาคมที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลการหารือพบว่า ฝ่ายบราซิลรับทราบและแสดงความพอใจต่อความคืบหน้าในการดำเนินการของไทย โดยบราซิลได้แจ้งผ่านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ว่า จะยังไม่มีการยื่นตั้งคณะผู้พิพากษาในช่วงเวลานี้ โดยในการหารือทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งบราซิลยินดีให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 

มิตรผลดึงเอกชนลง2หมื่นล.สานพลังงานประชารัฐรับไบโอคอมเพล็กซ์ขอนแก่น

          อุตตม เร่งขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี จี้สานพลังงานประชารัฐ ดึงเอกชน 13 ราย เข้าลงทุนในไบโอคอมเพล็กซ์ของมิตรผล จ.ขอนแก่น มีที่ดิน 1,000 ไร่ พร้อมผุดโรง งานน้ำตาลทราย วัตถุดิบนำร่องแล้ว คาด 3 ปีเกิดแน่ใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท

          กำลังเป็นรูปเป็นร่างแล้ว กับการขับเคลื่อนด้านการลงทุนเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี ของคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้ สานพลังประชารัฐ มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ

          ล่าสุดคณะทำงานฯได้มีการเสนอพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นไบโอคอมเพล็กซ์ ไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาห กรรม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร เป็นพื้นที่นำร่อง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแล้ว

          แต่นายอุตตม อยากเห็นรูปร่างหรือโมเดลการลงทุนในคอมเพล็กซ์ดังกล่าว จึงสั่งให้คณะทำงานฯไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะสามารถดึงนักลงทุนรายใดเข้ามาลงทุนได้บ้าง ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ประมาณกลางปีนี้ ขณะที่การจัดตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนา เพื่อนำผลการวิจัยไปต่อยอดผลิตภัณฑ์นั้น ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อนุมัติงบประมาณ 450 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับไปดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า

          นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินงานระยะแรกในการขับเคลื่อนไบโออีโคโนมี ในส่วนของคอมเพล็กซ์นั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เพราะจะให้พื้นที่ของกลุ่มมิตรผล ในจังหวัดขอนแก่น ที่กำลังจะก่อสร้างโรง งานน้ำตาลทราย ลงทุนประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท มาเป็นวัตถุดิบในการต่อยอดไบโอชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไบโอพลาสติก เคมีชีวภาพ อาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อยากเห็นโมเดลด้านการลงทุน ให้มีความชัดเจนในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานฯอยู่ระหว่างการเจรจาว่ามีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้บ้าง หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับเอกชน 13 รายไปแล้ว เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

          โดยประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมีคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเคทีไอเอส บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศ ไทย) จำกัด บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัท คริสตอลลา จำกัด บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทยโอซูกา จำกัด

          สำหรับเอกชนที่มีความสนใจแล้ว เช่น บริษัท อูเนโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด บริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น แต่ก็มีเอกชนรายอื่นๆ ให้ความสนใจนอกเหนือจาก 13 ราย โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น 2-3 ราย ทั้งนี้ ประเมินว่า พื้นทีคอม เพล็กซ์ ดังกล่าวจะสามารถรองรับได้คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท ในช่วง 3 ปี

          ส่วนการจะประกาศพื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้เมื่อใดนั้น คาดว่าหลังจากที่อีอีซี ประสบความสำเร็จในการชักชวนนักลงทุน เข้ามาลงทุนได้แล้ว คาดว่าทางรัฐบาลจะให้ความสำคัญและขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นการช่วยปลดล็อกปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนอยู่ในขณะนี้ได้ด้วย หากมีความชัดเจนในปีนี้ ในปีหน้าก็จะสามารถเริ่มศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอได้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 

กรมชลจับมือกระทรวงทรัพย์ หนุนน้ำเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ

กรมชลฯบูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 1,512 แปลงทั่วประเทศ

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่จะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในปี 2559 มีพื้นที่การเพาะปลูกในโครงการจำนวน 600 แปลง แบ่งออกเป็นแปลงที่อยู่ในเขตชลประทานมีระบบส่งน้ำสมบูรณ์แล้วจำนวน 95 แปลง อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติโครงการที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วจำนวน 267 แปลง และพื้นที่ที่ต้องดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำจำนวน 238 แปลง ซึ่งใช้งบประมาณ 4,538.15 ล้านบาท

โดยกรมชลประทานดำเนินการเอง 220 แปลง ใช้งบประมาณ 4,198.6582 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำดำเนินการ 10 แปลง ใช้งบประมาณ 138.7653 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการ 8 แปลง ใช้งบประมาณ 200.7280 ล้านบาท สามารถรองรับสินค้าเกษตรได้ 9 ชนิด คือ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และประมงในส่วนของการดำเนินงานสนับสนุนการส่งน้ำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมชลประทานจำนวน 220 แปลงนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 685,610 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการจำนวน 39,886 ราย ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานสามารถดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำแล้วเสร็จจำนวน 56 แปลง คิดเป็นร้อยละ 25.45 สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 117,600 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการจำนวน 9,164 ราย และพื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงานจำนวน 64 แปลง คิดเป็นร้อยละ 74.55

สำหรับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ในปี 2560 กรมชลประทานจะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่องจำนวน 912 แปลง ปัจจุบันสามารถรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเกษตรแล้วเสร็จจำนวน 509 แปลง และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 403 แปลง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 

‘ประธานหอการค้าไทยคนใหม่’ ชูนโยบาย Trade4.0

“กลินท์” ประธานหอการค้าไทยคนใหม่ ชูไฮไลต์ดันสมาชิกกว่า 1 แสนรายสู่ Trade& Service 4.0 ยกระดับแข่งด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์5-6 พ.ค.เตรียมเวิร์กช็อปวางแผนงานช่วง 2 ปี เน้นตามความต้องการสมาชิก-สานงานเดิม 2 บิ๊ก เชียร์เหมาะตำแหน่ง

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ (คนที่ 24)เปิดเผยถึงนโยบายในวาระ 2 ปี (2560-2561)ว่า จะสานต่องานเดิมของคณะกรรมการชุดที่แล้วรวมถึงงานที่ร่วมกับรัฐบาล(ประชารัฐ)เพื่อให้มีความต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามแนวคิด Trade & Service 4.0 ด้วยการใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศซึ่งสัดส่วน 80-90% รายเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มุ่งหวังขับเคลื่อนให้เกิดผลที่มีรูปธรรม ใน 3 กลุ่มหลักได้แก่ เกษตรและอาหาร การค้า ท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่จะมีสัดส่วนกรรมการจากผู้แทนส่วนกลาง(กทม.) และผู้แทนหอการค้าจังหวัดในสัดส่วน 50:50 หรือรวม 76 คน ถัดจากนี้ในวันที่ 26 เมษายนจะมีการเลือกตั้งกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งประธานหอการค้าฯ จะเป็นประธานสภาหอฯอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยมีรองประธาน 1 คนที่จะมาจากหอการค้าต่างประเทศร่วมขับเคลื่อนการทำงาน

"หลังได้กรรมการครบทั้ง 2 องค์กรแล้วในวันที่ 5-6 พฤษภาคมจะจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการชุดใหม่เพื่อให้เข้าใจวิสัยทัศน์พันธกิจ รวมถึงนโยบายให้ตรงกัน รวมถึงจะมีการแบ่งงานให้กรรมการแต่ละคนรับผิดชอบ นอกจากนี้จะมีการทำเวิร์คช็อปเพื่อวางแผนงานและกิจกรรมในช่วง 2 ปีจากนี้ เราจะไม่ทำทุกอย่างแต่จะเลือกเรื่องที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง โดยจะพิจารณาจากความต้องการของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก ทั้งนี้ไม่มีความกังวลที่เป็นประธานคนใหม่ เอสซีจีต้นสังกัดก็สนับสนุนเต็มที่"

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับหอการค้าไทยตั้งแต่เป็นเลขาธิการ และเป็นรองประธาน มั่นใจว่าจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานประชารัฐร่วมกับรัฐบาล รวมถึงไทยแลนด์ 4.0 ให้มีความก้าวหน้า

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่าเรื่องท้าทายสำหรับประธานฯคนใหม่คือ Trade & Service 4.0 ซึ่งหัวใจหลักในการขับเคลื่อนคือคน ที่ไทยยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนอยู่มาก อยากให้เน้นเรื่องการพัฒนาคนเป็นพิเศษ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 

ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน คาดสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-34.80 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 34.53 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทย (4.28 และ11.94 พันล้านบาท ตามลำดับ) นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ก็เผชิญแรงเทขายท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ ตลาดรอดูผลการลงมติร่างกฎหมายระบบดูแลสุขภาพของปธน. ทรัมป์อย่างใกล้ชิด

สำหรับในวันศุกร์ (24 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27-31 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของไทย ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนีราคา PCE และ Core PCE ในเดือนก.พ. ราคาบ้านเดือนม.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/59 (รายงานครั้งสุดท้าย) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ผลการลงมติร่างกฎหมายระบบดูแลสุขภาพของปธน. ทรัมป์ (ซึ่งถูกมองเป็นตัวสะท้อนถึงความสามารถของปธน. ทรัมป์ในการทำงานร่วมกับสภาคองเกรส) ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และการที่อังกฤษเตรียมประกาศมาตรา 50 ในสนธิสัญญาลิสบอน (29 มี.ค.) ซึ่งเป็นกลไกเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560 

วิจัย "หญ้าเนเปียร์" ใช้เป็นพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม

"หญ้าเนเปียร์" หรือหญ้าอาหารสัตว์ พืชที่ปลูกและโตง่ายในประเทศ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนต่อสภาพอากาศได้ดี ใบมีสารอาหารและโปรตีนสูงเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ นักวิจัย มจธ. ชี้ลำต้นสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือกและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ได้

ดร.ปริปก พิศสุวรรณ อาจารย์สายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับผลงานวิจัยเรื่อง "การปรับสภาพพืชชีวมวลด้วยวิธีการใช้ด่างอย่างง่าย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือกและประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีแนวคิดว่าพืชที่เลือกใช้ต้องมีปริมาณมาก หาง่าย และเพียงพอต่อความต้องการในระยะยาว ใช้เทคโนโลยีที่ง่าย สารเคมีที่ใช้โรงงานต้องคุ้นเคยและมีราคาถูก ใช้พลังงานต่ำ และควรมีของเสียเกิดขึ้นน้อย จึงทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่อุตสาหกรรม ส่วนการนำไปใช้จริงนั้น ทางภาคอุตสาหกรรมและผู้วิจัยต้องคุยกันให้ชัดเจน เพื่อทราบความต้องการของแต่ละฝ่าย เพราะสามารถสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์กับความต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อ know-how หรือเทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตรจากต่างประเทศ

หญ้าเนเปียร์สามารถปลูกได้บนดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำ อีกทั้งเกษตรกรมีความรู้ในการปลูกและเป็นหญ้าที่ปลูกสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว โดยนำใบไปเลี้ยงสัตว์ ลำต้นที่แข็งเป็นเศษเหลือทิ้งนำมาใช้ผลิตพลังงานทางเลือก ที่สําคัญคือมีปริมาณเซลลูโลสต่อน้ำหนักแห้งสูง ซึ่งเป็นข้อดีเนื่องจากเซลลูโลสเป็นแหล่งของน้ำตาลกลูโคสที่จุลินทรีย์สามารถนำไปใช้ได้ง่าย

จากงานวิจัยพบว่า การปรับสภาพหญ้าด้วยการใช้ด่างก่อนจะทำให้ใช้ปริมาณเอนไซม์และเวลาในการย่อยที่ลดลงซึ่งส่งผลดีในแง่เศรษฐศาสตร์ต่อกระบวนการผลิตไบโอเอทานอลในระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากเอนไซม์มีราคาสูง อีกทั้งใช้เวลาในกระบวนการผลิตที่ลดลง สารเคมีด่างที่ใช้ในงานวิจัย ได้แก่ โซเดียมไฮดรอกไซด์ แคลเซียมไฮดรอกไซด์ สารละลายแอมโมเนีย และสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในด่าง ซึ่งเป็นสารเคมีที่นิยมใช้ทั่วไปในอุตสาหกรรม หาง่าย ราคาถูก และที่สำคัญใช้สารเคมีด่างความเข้มข้นต่ำ ทำปฏิกิริยาที่อุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน และลดต้นทุนการผลิตได้

หลังการปรับสภาพเนเปียร์ด้วยด่าง จะสามารถแยกคาร์โบไฮเดรต(เซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส) และลิกนินในผนังเซลล์พืชออกจากกันได้ โดยคาร์โบไฮเดรตจะอยู่ในรูปของแข็ง ส่วนลิกนินจะอยู่ในรูปสารละลาย (ละลายอยู่ในสารละลายด่าง)  จึงสามารถแยกคาร์โบไฮเดรตที่เป็นของของแข็งออกจากสารละลายลิกนินได้ง่าย คาร์โบไฮเดรตที่แยกออกมาจะถูกส่งเข้าสู่การย่อยด้วยเอนไซม์กลายเป็นน้ำตาล และถูกหมักต่อด้วยจุลินทรีย์ได้เป็นเอทานอล ขณะที่สารละลายลิกนินจะถูกการปรับสภาวะให้มีสภาพเป็นกรด ทำให้ลิกนินตกตะกอนและอยู่ในรูปผง ซึ่งง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะทาง โดยกระบวนการที่กล่าวมาอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและการนำไปประยุกต์ใช้"

ก่อนหน้านี้หากต้องการนำพืชชีวมวลมาใช้ผลิตเอทานอลขั้นตอนการแยกเอาเฉพาะเซลลูโลสจะต้องใช้สารเคมีและพลังงานสูงมากเพิ่มค่าใช้จ่ายและมีของเสียเกิดขึ้นมาก จึงเป็นการผลิตที่ไม่ยั่งยืน

ดร.ปริปก แนะนำว่า แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนสร้างรายได้เพิ่มเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเป็นการสร้างกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน คือ การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์พลอยได้  (by-product) หรือการใช้ของเสีย/ของเหลือทิ้งจากแต่ละขั้นตอนมาผลิตหรือสร้างสารมูลค่าเพิ่ม ด้วย กระบวนการที่ใช้พลังงานต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิด Biorefinery

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560 

บีโอไอไฟเขียว4กิจการพลังงาน เม็ดเงินทะลุ 1.6 แสนล้าน

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านพลังงานรวม  4 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น161,300 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี  ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 59,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดชลบุรี 2.บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติ กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 58,800 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง

3. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนส่งก๊าชธรรมชาติทางท่อ ระยะทางรวม 59 กิโลเมตร ผ่านจังหวัด สระบุรี ชลบุรี และระยอง ปริมาณการขนส่งก๊าชธรรมชาติรวม 109,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี โดยเป็นการลงทุนเพื่อขยายอายุการใช้งานระบบขนส่งทางท่อเดิม (ท่อก๊าชธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1) เพื่อให้สามารถขนส่งก๊าชให้ลูกค้าโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ได้ต่อเนื่องและได้มาตรฐาน เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท และ4.บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนขยายกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า โดยโครงการจะให้บริการขนถ่ายก๊าชธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ปีละประมาณ 9,000,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 38,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่ จังหวัดระยอง

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

เมืองน้ำดำถ่ายทอดเทคโนฯ การผลิตอ้อยแทนพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสม  

         กาฬสินธุ์ - เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ตามแผนปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง หวังส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนพื้นที่นาไม่เหมาะสมเป็นการปลูกอ้อยพืชเศรษฐกิจ

               ที่แปลงเกษตรนายสง่า ศรีหานาม เกษตรกรบ้านกกตาล ม.4 ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายเธียรชัย อัจฉริยพันธุ์ รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นายประพาส บุญสุข เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ร่วมกันจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอ้อย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ตามแผนปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคตระวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประจำปีงบประมาณ 2560

                นายประพาส บุญสุข เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ได้อนุมัติให้สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ดำเนินงาน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ตามแผนปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคตระวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในพื้นที่นาข้าวที่มีความเหมาะสมน้อย รวมถึงพื้นที่ไม่เหมาะสม และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตลอดจนเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยมีเป้าหมายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรอย่างน้อยอำเภอละ 100 คน และคลอบคลุม 18 อำเภอ

               สำหรับพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาข้าว ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 154,580 ไร่ เกษตรกร 15,000 ครัวเรือน มีผลผลิตประมาณ 6,956 ตัน ซึ่งที่ผ่านมาราคาข้าวโดยเฉลี่ยแล้วไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้เกษตรกรประสบภาวการณ์ขาดทุน และยังมีเกษตรกรอีกประมาณ 5,000 ครัวเรือนที่ปลูกข้าวในพื้นที่นาไม่เหมาะสมประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งนโยบายรัฐบาลที่พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชอื่น

        โดยเฉพาะอ้อยซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีโรงงานรองรับ อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้จะเป็นมาตรการหนึ่งที่กระตุ้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนที่นาไม่เหมาะสมที่มีเนื้อที่ 40,000 ไร่ หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบผลผลิตต่อไร่ ข้าวเมื่อคิดต้นทุนแล้วจะได้กำไรละประมาณ 700 บาท ส่วนอ้อยเมื่อหักต้นทุนแล้วจะได้กำไรไร่ละประมาณ 8,000 บาทขึ้นไป

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ปูพรมคุมโรงงานประหยัดพลังงาน 7,000 แห่ง ภายในปี′62

นายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวในงานสัมมนาเปิดตัวโครงการส่งเสริมการดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้วยกลไกการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามกฎหมาย ว่าปีนี้ พพ.ตั้งเป้ามีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมขนาดเล็กที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 2,000 กิโลวัตต์ หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 2,350 กิโลโวลต์แอมแปร์ (KVA) หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 40 ล้านเมกะจูลต่อปี รวมกับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในปี 2559 เข้าร่วมขอรับการสนับสนุนเงินให้เปล่ารายละไม่เกิน 40,000 บาท เพื่อใช้ในการประหยัดพลังงานรวมทั้งสิ้น 3,600 แห่ง จากปัจจุบันมีทั้งสิ้นทั่วประเทศ 6,000-7,000 แห่ง เป็นวงเงิน 144 ล้านบาท จากวงเงินจัดสรรของกองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานปีละ 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากปี 2559 ที่ผ่านมามีโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมขนาดเล็กที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3,000 กิโลวัตต์ หรือติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้ารวมตั้งแต่ 3,530 KVA ขึ้นไป หรือใช้พลังงานรวมตั้งแต่ 60 ล้านเมกะจูลต่อปี เข้าร่วมขอรับการสนับสนุนและผ่านเกณฑ์ 746 แห่ง วงเงินสนับสนุน 29.84 ล้านบาท

"พพ.จะพยายามจูงใจให้โรงงานและอาคารควบคุมที่เหลือประมาณ 2,000-2,500 แห่ง เข้าร่วมโครงการให้ได้ภายในปี 2562 โดยพพ.ตั้งเป้าหมายขยายโครงการไปยังโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมขนาดเล็กที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์ หรือหม้อแปลงไฟฟ้า 1,175 KVA โดยต้องมีผลการอนุรักษ์พลังงานไม่น้อยกว่า 1.5% ของปริมาณการใช้พลังงาน หรือมีผลประหยัดจากการดำเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงานไม่น้อยกว่า 300,000 เมกะจูล" นายดนัยกล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

"สศก." เผย Q1 ปีนี้จีดีพีภาคเกษตรขยายตัว 4.2%-คาดทั้งปีขยายตัวได้ 3.5% เหตุอากาศเอื้อ

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคการเกษตร) ไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงาน ไก่เนื้อ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม อีกทั้งยังมีสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น คือ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งหมดคาดว่าจะส่งผลให้จีดีพี ภาคเกษตรทั้ง ปี 2560 จะขยายตัวในช่วง 2.5-3.5% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้มีการใช้ยางพารามากขึ้นราคายางและผลิตภัณฑ์จะปรับขึ้นตามไปด้วย พร้อมทั้ง 13 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯกำหนดให้ปีนี้ เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน คือ การเกษตรแบบแปลงใหญ่ 1,512 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.5-3 ล้านไร่ สร้างเกษตรกรผู้ผลิตสินค้า 44 ชนิด ให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 200,000 ราย ทำให้มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท

"มูลค่าการผลิตที่เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 0.1% ส่วน ทั้งนี้จีดีพีภาคเกษตรต่อหัว ปี 2559 อยู่ที่ 49,785 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 0.38% เมื่อเทียบกับปี 2558 ในปี 2560 คาดว่าจะ มีทิศทางเพิ่มเช่นกันอยู่ที่ 51,188 บาทต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 2.82% เมื่อเทียบกับปี 2559 รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้เกษตรกรมีความสุขเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 80 จากระดับ 78.80 ในปี 2558" น.ส.จริยา กล่าว

น.ส.จริยา กล่าวว่า สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ปี 2560 คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ส่วนโครงสร้างรายได้เงินสดครัวเรือนเกษตร ปี 2560 พบว่า 52.36% เป็นรายได้ทางบการเกษตร ที่เหลือ 47.64% เป็นรายได้นอกภาคการเกษตร แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรยังมีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตร โดยในปีที่ผ่านมารายได้รวมของเกษตรกรเพิ่มขึ้น 6.11%

น.ส.จริยา กล่าวว่า นอกจากนี้รายได้เงินสดทางการเกษตรสูงสุดแต่ละภาค ยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.05% โดยภาคเหนือ มีรายได้เฉลี่ย 151,816 บาท โดย จ.เพชรบูรณ์ มีรายได้มากที่สุด 254,098 บาทต่อครัวเรือน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปศุสัตว์ที่สำคัญของภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้เฉลี่ย 107,070 บาท นครราชสีมา มีรายได้มากที่สุด 197,967บาทต่อครัวเรือน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของภาคกลาง มีรายได้เฉลี่ยภาค 257,006 บาท โดยฉะเชิงเทรามีรายได้มากที่สุด 410,712 บาทต่อครัวเรือน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตกุ้งขาวแวนนาไมที่สำคัญของภาค ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 180 บาทต่อกก. ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่มีผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นจากการแก้ปัญหากุ้งตายด่วนหรืออีเอ็มเอสและภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ย 230,252 บาท โดยกระบี่ รายได้มากที่สุด 247,913 บาทต่อครัวเรือน เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกปาล์มที่สำคัญ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5.50 บาทต่อกก. สูงกว่าปีที่ผ่านมา 33%

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

"ทองเปลว" รองอธิบดีกรมชลฯ งัดกฎเหล็กหยุดปล่อยน้ำทำนารอบ 3

ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ ณ วันที่ 14 มี.ค. 2560 มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 6,624 ล้าน ลบ.ม. กรมชลฯได้วางแผนการใช้น้ำช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2559-30 เม.ย. 2560 รวม 5,950 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,694 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำมากกว่าแผนเกือบ 500 ล้าน ลบ.ม. เพราะมีการปลูกข้าวรอบ 2 (นาปรัง) เกินกว่าแผนที่วางไว้มากและมีโอกาสสูงที่ชาวนาจะปลูกข้าวรอบ 3 อีก "ประชาชาติธุรกิจ" ถือโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการจัดสรรการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝนถัดไป

- กรมชลฯจะบริหารจัดการน้ำรับปลูกข้าวมากกว่าแผนอย่างไร

ข้าวนาปรังปีนี้ปลูกไปค่อนข้างเยอะ ปลูกไปประมาณ 7.46 ล้านไร่ ตามแผนควรไม่เกิน 4 ล้านไร่ แต่ตอนนี้เกินไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ ในจำนวนที่เกิน 3.4 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2.7 ล้านไร่ อีกประมาณ 7 แสนไร่ อยู่นอกเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยาและทั่วประเทศ ดังนั้นจากวันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน ที่เราจะต้องจัดสรรการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค เพื่อระบบนิเวศ ไม้ผล รวมทั้งน้ำที่ต้องสำรองใช้ช่วงต้นฤดูฝนจากเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้ เราคาดการณ์ไว้วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ต้องมีอย่างน้อย 3,754 ล้าน ลบ.ม. ถามว่า ทำไมต้องตัวเลขนี้ ในจำนวนนี้ผมเตรียมไว้ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตรโดยเฉพาะต้นช่วงฤดูฝนในการเตรียมแปลง หากวันที่ 1พฤษภาคมนี้ ที่ตั้งเป้าไว้ในเขตชลประทาน ฝนยังไม่ตกหรือทิ้งช่วงก็ให้เอาน้ำ 2,000 ล้าน ลบ.ม.นี้มาช่วยในการเตรียมแปลงเกษตรต่าง ๆ และอีก 1,754 ล้าน ลบ.ม. ผมเตรียมไว้ให้กิน ให้ใช้และเพื่อรักษาระบบนิเวศดันน้ำเค็ม

ดังนั้นให้ยึดวันที่ 1 พ.ค.นี้ การกักเก็บน้ำต้องอย่าต่ำกว่า 3,700 ล้าน ลบ.ม. การใช้น้ำในปัจจุบันต้องมาไล่ดูแต่ละกิจกรรมว่า การกินการใช้ไม่เกินแผนเลย ระบบนิเวศควบคุมตามแผนได้หมด แต่เรื่องที่เกินแผนมาคือเรื่องเกษตร พื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 หากพื้นที่ใดปลูกแล้ว เก็บเกี่ยวแล้ว ขอให้หยุดปลูกรอบที่ 3 เพื่อนำน้ำมาใช้ในพื้นที่ที่ปลูกเกินแผนส่วนหนึ่งและเอาไปใช้อีกส่วนหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญคืออย่าทำอีกนะเพราะฉะนั้นเวลาไปฟังว่ากรมชลประทานให้งดทำนาปรังเหมือนกับว่าปีนี้ไม่ให้ทำอีกแล้วมันไม่ใช่นะ เขาทำมาแล้ว เกี่ยวแล้ว แต่ขอให้หยุดทำรอบใหม่ ทีนี้พอไปพูดสั้น ๆ ก็เหมือนกับว่าวิงวอนให้งดทำนาปรัง ปีที่แล้วก็ไม่ให้ทำ ปีนี้ก็ไม่ให้ทำ ทำยังไงในเมื่อทำมาแล้ว เราแค่ขอเท่านั้นเอง ว่ารอบ 3 ของด เพราะฉะนั้นทำแบบที่ผมว่า ทุกวันนี้รถประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทานก็วิ่งทั่วทุ่ง ติดป้ายทั้งจังหวัด ความมั่นคง ทางมหาดไทยก็ช่วย น่าจะได้ผลมากพอสมควร

- กรมจะไม่ให้น้ำทางการเกษตรเด็ดขาด

ไม่ให้แน่นอน รอบ 3 ไม่ให้แน่นอน ไม่ว่าพื้นที่ไหน ยืนยันแล้วว่าไม่ได้ เพราะที่ท่านรัฐมนตรีว่าการท่านไปตรวจที่ชัยนาท ท่านบอกว่า รอบ 3 ต้องเป็นซีโร่ เรื่องนี้เราต้องเข้มข้น เราบอกทุกวันนะ เพราะเป็นนโยบายที่ชัดเจน เพราะนอกจากขอให้งด ขอให้กลับมามองว่าทางรัฐบาลเตรียมการไว้ดีขนาดไหน ฤดูแล้งก็มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเต็มไปหมด โดยเฉพาะ 6 มาตรการ 29 + 1 โครงการที่ ครม.อนุมัติ เห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา เราต้องมองย้อนไปด้วย ไม่ใช่ว่าขออย่างเดียว ทั้งการจ้างแรงงาน การปรับเปลี่ยนเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งหลายพื้นที่ก็เห็นผล เช่น ปลูกถั่ว ปลูกหญ้า

- การบริหารจัดน้ำช่วงต้นฤดูฝน

ในช่วงนี้ให้เตรียมการพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น อ.บางระกำ จ.พิษณุโลกประมาณ 2.4 แสนไร่ ต้องเลื่อนทำนาปีขึ้นมาเร็วขึ้น 1 เดือน คือต้นเมษายนเป็นต้นไป ทั้ง ๆ ที่เมษายนเป็นฤดูแล้งแต่เป็นการปลูกข้าวรอบที่ 1 ก็ใช้น้ำที่เราสำรองไว้ส่วนหนึ่ง แล้วพอพฤษภาคมก็ใช้น้ำ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ส่งให้พื้นที่ลุ่มต่ำก่อน เราจะสตาร์ตได้เลยในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองพื้นที่ตรงไหนพร้อมก็ใส่ได้เลย พร้อมในที่นี้หมายถึงว่า การเก็บเกี่ยวก็อาจจะเหลื่อมเวลา ไม่ใช่วันที่ 1 พฤษภาคมเป๊ะขนาดนั้น เพราะฉะนั้นก็จะขยับในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองในพื้นที่ลุ่มต่ำ สาเหตุที่ต้องบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำก่อน คือเพื่อป้องกันน้ำท่วมช่วงเก็บเกี่ยว

ฤดูฝนปีนี้ ท่านเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ดูแลเรื่องน้ำก็ได้มีการกำชับในที่ประชุมซึ่งได้ข้อสรุปว่า ช่วงฤดูฝนปีนี้จะมาไวขึ้นและจะมากกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ ฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม พอถึงเดือนกันยายน ตุลาคม ฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากมีเอลนิโญอ่อน ๆ ช่วงปลายปี แต่ปีที่แล้วปลายฤดูฝนตกหนัก ทำให้ปีที่แล้วภาคใต้น้ำท่วม แต่ช่วงนี้ระหว่างมีนาคมก็จะมีฝนฟ้าคะนอง เก็บน้ำได้

ฝนปีนี้ยังตกอยู่ในค่าเฉลี่ย แต่ปลายปีฝนน้อยลง แต่รวมกันอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย แต่จะแม่นยำเพียงใด ต้องดูจากกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นฤดูฝนอีกครั้ง ส่วน 4 เขื่อนหลัก ปลายฤดูฝนปีนี้คาดว่าจะมีน้ำรวมกันอยู่ที่ 9,700-11,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีที่แล้ววันที่ 1 พฤศจิกายนได้น้ำใช้การจริง 9,704 ล้าน ลบ.ม.ใกล้เคียงกัน แต่ก็ระบายออกพอสมควรช่วงปลายปีที่ฝนตกมาก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ส่วนการใช้น้ำเราใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลให้น้อยที่สุดเพราะเขื่อนภูมิพลน้ำต้นทุนมีน้อยจะใช้จากเขื่อนสิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นความหมายตรงนี้คือเขื่อนภูมิพลที่จะต้องใช้ให้น้อยที่สุดแต่เขื่อนภูมิพลใกล้เขื่อนเจ้าพระยามากเพราะฉะนั้นเมื่อเกิดวิกฤต เช่น น้ำที่นครสวรรค์ต่ำ น้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ทางที่ใกล้ที่สุดคือเอามาจากเขื่อนภูมิพลและแควน้อยฯ แต่เราต้องดูไกล ๆ หากเอาจากเขื่อนสิริกิติ์ได้ก็เอามาเพราะไม่อยากให้ใช้เขื่อนภูมิพลเพราะมีน้อย แต่ผมก็รักษาระดับการระบายวันละ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน จะขยับจากเขื่อนสิริกิติ์และแควน้อยฯเป็นสำคัญ และเมื่อน้ำเค็มมาป่าสักฯก็หมุนได้ไว ซึ่งตอนนี้ความเค็มปกติ เมื่อความเค็มเริ่มลดเราก็ลดการระบายน้ำก็จะเป็นไปตามห้วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ช่วงที่ขึ้นสูงสุดได้ผ่านไปแล้วที่สำแล ปทุมธานี ที่น้ำทะเลยกตัวสูง 30-40 ซม. ดันขึ้นมา 2 รอบในเดือนกุมภาพันธ์ ต้องสั่งปิดประตูระบายน้ำรอบแม่น้ำเจ้าพระยาและประตูลัดโพธิ์ เพื่อให้น้ำเหนือดันลงมาได้เต็มที่ มิเช่นนั้นจะส่งผลเสียกับคลอง 2 ฝั่งเจ้าพระยามีน้ำเค็มเข้าไป

ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัดมีเป็นแพ็กเกจ ลักษณะของภาคใต้จะต้องมีการผันน้ำไม่ให้ผ่านตัวเมือง ให้มีลักษณะเหมือนหาดใหญ่ เพราะอะไร เพราะถ้าเราหันหน้าลงภาคใต้จะเป็นแนวทิวเขายาวขนานลงไป เวลาฝนมาน้ำจะไหลจากขวามือลงอ่าวไทย แล้วมีบ้าน ถนน ทางรถไฟ กั้นอยู่ก็ท่วมทุกปี เราต้องทำทางผัน ที่สำคัญคือนครศรีธรรมราชยังไม่ได้เริ่ม คาดว่าจะเริ่มในปีนี้ ส่วน จ.ตรังทำแล้ว และบางสะพานก็จะทำลักษณะเดียวกัน สุราษฎร์ธานีก็จะเป็นลักษณะของแก้มลิง ดักน้ำจากต้นน้ำไม่ให้ผ่านเข้าเมือง ทุกพื้นที่จะเป็นแบบนี้ ซึ่งเราได้ร่วมกับกรมโยธาฯ และสิ่งกีดขวางทางน้ำเรียกว่าเป็นคอขวด มี 111 แห่ง ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขแล้ว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

‘ฉัตรชัย’จี้ทำฝนหลวง ช่วย‘เหนือ-ตะวันออก’

โดย -โต๊ะข่าวเกษตร

             เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฎิบัติการทำฝนในช่วงนี้เพื่อช่วยบรรเทาสภาพอากาศที่ร้อนมาก และสร้างความชุ่มชื้นพื้นที่เกษตร ซึ่งได้เน้นปฎิบัติการในภาคเหนือ เติมน้ำเขื่อน และลดปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่เกิดไฟไหม้บนภูเขาดับยากต้องทำฝนหลวงดับไฟไม่ให้ลุกลาม พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เกษตรด้วย

           นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือมายังกรมฝนหลวงฯเมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ เพื่อขอให้กรมทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรม เพราะในพื้นที่มีการนิคมจำนวนมาก ประกอบกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและอ่างพวง ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณน้อยต้องรองรับการอุปโภค บริโภค การเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยขณะนี้ได้ให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีขึ้นปฏิบัติการเมื่อวันที่ 22 มี.ค.

            ทั้งนี้สภาอุตฯได้ขอให้ทำฝนหลวงในระหว่างวันที่ 21-31 มี.ค. โดยได้สั่งการหน่วยฝนหลวง จ.จันทรบุรี ขึ้นปฎิบัติการ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้หน่วยฝนหลวงต่างๆทั่วประเทศในช่วงนี้ทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยคาดว่า 2-3 วันนี้จะมีพายุฤดูร้อนในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย สามารถขึ้นปฎิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นเพื่อสำรองน้ำในเขื่อนต่างๆได้

              ขณะเดียวกันกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้และอ่าวไทย ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 มี.ค. ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง พร้อมเตือนให้ประชาชนระวังในช่วงวันที่ 25-28 มี.ค. ให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนไว้ด้วย ส่วนภาคใต้จะมีฝนหนักบางแห่ง

              ในช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทยและภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 25-28 มี.ค.บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2560

น้ำตาลขม! แกนนำบึงสามพันออกแถลงการณ์ประณาม รง.น้ำตาล-อุตฯ จว.  

         เพชรบูรณ์ - กลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลพร้อมสื่อร่วมแถลงการณ์ประณามปิดหูปิดตาประชาชน เอื้อนายทุน จัดทำ EIA แบบนั่งเทียน พร้อมวางพวงหรีดอาลัยอุตสาหกรรมจังหวัด ด้านพนักงานลูกจ้างต้นเหตุกระชากเป้นักข่าวยกมือไหว้ยอมรับผิด อ้างไม่ตั้งใจ      

        วันนี้ (23 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ที่บริเวณหน้าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลบึงสามพันราว 15 คน นำโดย ว่าที่ ร.อ.โอภาส สุทธิเกิด แกนนำกลุ่มฯ เดินทางไปยื่นพร้อมอ่านแถลงการณ์ประณามการกระทำปิดหูปิดตาประชาชนและยังคุกคามสื่อ โดยมีนายเนตร กัญยะมาสา หัวหน้าฝ่ายเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ออกมารับมอบแถลงการณ์

               ว่าที่ ร.อ.โอกาสได้แถลงโดยแสดงความหดหู่ใจในพฤติกรรมที่คนของรัฐร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล โดยแสดงพฤติกรรมไม่ยอมให้ผู้แทนจากภาคประชาชนได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมคณะทำงานติดตามตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลที่ ต.หนองแจง เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา แต่มีตัวแทนจากโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมชี้แจง

               นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงคณะทำงาน 15 หน่วยของรัฐไร้ผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าร่วม ถือเป็นการปิดกั้นและเป็นกระบวนการทางราชการที่ร่วมมือกับนายทุนเพื่อปิดหูปิดตาประชาชน ขัดต่อนโยบายปรองดอง สร้างบรรยากาศอันเลวร้ายและแสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน

               ว่าที่ ร.อ.โอภาสกล่าวอีกว่า ในวันที่มีการประชุมมีการปิดล็อกประตูห้องประชุม ตรวจบัตรประจำตัวคณะกรรมการ ปิดกั้นสื่อมวลชนไม่ให้เข้าไปทำข่าวการกระทำเหล่านี้ประชาชนได้เห็นกับตา ถือว่าเป็นกระบวนการปกป้องนายทุนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

               นอกจากนี้ ชาวบ้านยังถูกข่มขู่ไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน ชุมชนดั้งเดิมเริ่มเกิดการเสื่อมสลายขัดต่อสิทธิชุมชนผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และยังบุกรุกที่สาธารณะ 2,000 ไร่ ถมคลองลักลอบใช้น้ำของเกษตรกร สร้างมลพิษต่างๆ มากมาย มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แบบนั่งเทียนเขียน

       หลอกลวงชาวบ้านให้อดทนอยู่กับโรงงานให้ได้ โดยไม่ปฏิบัติตาม EIA ทั้งที่มีคณะกรรมการหลายชุดมีการตักเตือนหลังตรวจสอบพบการทำผิดเงื่อนไข โดยมีข้อแก้ตัวว่ากำลังปรับปรุงและจะแก้ไข การบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไม่เคยลงมือกระทำอย่างจริงจัง จึงขอประกาศตามแถลงการณ์นี้ไม่ให้โอกาสโรงงานแห่งนี้อีกต่อไปและขอให้เร่งโยกย้ายไปยังที่อื่น

               หลังจาก ว่าที่ ร.อ.โอภาสอ่านแถลงการณ์จบ ได้ส่งมอบแถลงการณ์ทั้งหมดให้นายเนตร โดยจะนำเสนอต่อทางอุตสาหกรรมจังหวัดต่อไป      

        นอกจากนี้ ในโอกาสเดียวกันนายเสวก ศรลัมพ์ นายกสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนส่วนภูมิภาค (สคสภ.) นำสื่อมวลชนหลายแขนง อ่านแถลงการณ์ประณามการคุกคามสื่อมวลชนของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้กระทำต่อนายสุนทร คงวราคม นักข่าวและช่างภาพสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการกีดกันและมีการฉุดกระชากลากนักข่าวออกจากห้องประชุม ยังถือเป็นการใช้ความรุนแรงและยังถือเป็นการแสดงออกถึงการคุกคามสื่ออย่างชัดเจน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เพราะการปิดหูปิดตาสื่อก็เหมือนปิดหูปิดตาประชาชน การคุกคามเสรีภาพสื่อก็เหมือนการคุกคามเสรีภาพการรับรู้ของประชาชน

               โดยนายเนตร หัวหน้าฝ่ายเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้นายชัยภัทร พัฒน์ พนักงานลูกจ้างเหมาบริการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ แสดงการขอโทษต่อนายสุนทรซึ่งอยู่ระหว่างไปร่วมทำข่าวดังกล่าว โดยนายชัยภัทรยอมรับว่าได้ก่อเหตุดังกล่าวขึ้นจริงจากนั้นยกมือไหว้ขอโทษ

               ต่อมา ว่าที่ ร.อ.โอภาส สุทธิเกิด พร้อมกลุ่มคัดค้านโรงงานน้ำตาลบึงสามพัน ได้นำพวงหรีดซึ่งมีข้อความว่า “แด่...อุตสาหกรรมจังหวัด และพวกเอื้อประโยชน์นายทุน โรงงานน้ำตาลนรกหนองแจง” ไปวางเพื่อแสดงความไว้อาลัยให้แก่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่บริเวณป้ายหน้าสำนักงานฯ พร้อมยังชูป้ายซึ่งมีข้อความต่างๆ อีกด้วย หลังเสร็จสิ้นจึงพากันแยกย้ายเดินทางกลับ 

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

อุตตมชี้EECศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อมCLMV

รัฐมนตรีฯอุตสาหกรรม ชี้ EEC ศูนย์กลางเศรษฐกิจเชื่อม CLMV นักลงทุนให้ความสนใจสอบถามสิทธิประโยชน์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถา เรื่อง ฐานอุตสาหกรรมใหม่ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมเขตเศรษฐกิจ และกลุ่มประเทศ CLMVT โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ  โดย EEC จะมีรากฐานการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ รวมถึงสร่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยและเชื่อมโยงการเดินทางไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ให้มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นรูปธรรม  โดยขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจสอบถามสิทธิประโยชน์การลงทุนในโครงการ EEC อาทิ โรลส์รอยซ์ แอร์บัส กลุ่มอีคอมเมิร์ช กลุ่มหุ่นยนต์ รถไฟ รถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งถือเป็นโรดแมปให้ประเทศไทยเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องบนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ทำไมจึงสำเร็จ! ตามไปดู "เนเธอร์แลนด์" ประเทศเล็กสู่ยักษ์เกษตรเบอร์ 2 ของโลก

"เนเธอร์แลนด์" ประเทศแสนสงบในยุโรป แม้จะมีขนาดเล็กด้วยประชากรเพียง 17 ล้านคน แต่ศักยภาพกลับไม่เล็กตามไปด้วย เพราะเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลกที่ส่งออกผลผลิตด้านเกษตรกรรม เป็นรองแค่สหรัฐเท่านั้น นอกจากนั้น ยังสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้เป็นอันดับ 1 ของโลก

เกษตรกรรมและการส่งออกด้านอาหารของเนเธอร์แลนด์คิดเป็นมูลค่าถึง 91,000 ล้านยูโร เท่ากับ 22% ของการส่งออกทั้งหมด และเป็น 8.8% ของการจ้างงานทั่วประเทศ เบื้องหลังความสำเร็จมาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับการเกษตร

ในการบรรยายพิเศษเรื่อง "The Netherland"s Top Sectors : Policy and Implementation" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย "ศาสตราจารย์อัลด์ ไดเฮาเซนส์" ประธาน บริษัท "Dutch Topsec-tor Agri & Food" ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาและวิจัยภายใต้ความร่วมมือของรัฐ กล่าวถึงอนาคตในอีก 40 ปีข้างหน้าว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนถึง 2-3 พันล้านคน ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะโปรตีนคุณภาพสูง

"แม้ว่าจะเป็นความท้าทายของโลกครั้งยิ่งใหญ่ แต่ถือเป็นโอกาสสำคัญในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม และการพัฒนาด้านการศึกษาสำหรับคนรุ่นใหม่เช่นกัน" ไดเฮาเซนส์กล่าว

ความท้าทายที่ว่า ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตการเกษตรและผลผลิตจากสัตว์ การพัฒนาคุณภาพอาหารและความปลอดภัยด้านอาหาร การลดผลกระทบจากการผลิตต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศ และการนำผลผลิตที่เหลือมาผลิตซ้ำใหม่

ดูเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะการนำผลผลิตที่เหลือทิ้งมาผลิตซ้ำใหม่ แต่ไดเฮาเซนส์ชี้ว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้หากใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ

อนาคตคือโลกแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบันเนเธอร์แลนด์มีการปรับใช้กับการเกษตรอย่างกว้างขวาง "สมาร์ทเทคโนโลยี" ทั้งระบบเซ็นเซอร์ โดรน และหุ่นยนต์ สามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพด้านผลผลิตได้ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ช่วยให้อาหารสัตว์หรือใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ รวมถึงช่วยเหลือในระบบจัดการน้ำ โดรนใช้ในการสำรวจผลผลิต หรือหุ่นยนต์ช่วยทุ่นแรง หรือช่วยด้านการขนส่งและจัดเก็บได้

"จีโนมิกส์" การศึกษาด้านจีโนมของสิ่งมีชีวิต ก็สามารถช่วยเหลือในการผสมพันธุ์สัตว์เพื่อขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น ได้สัตว์ในเจเนอเรชั่นถัดไปที่มีกำลังผลิตเพิ่ม เช่น วัวที่รีดน้ำนมได้ไวขึ้น หรือการผลิตผลิตผลที่เหมาะกับบุคคลประเภทต่าง ๆ

เทคโนโลยี "ไบโอรีไฟเนอรี่" หรือการใช้วัตถุดิบธรรมชาติหรือของเสียจากอุตสาหกรรม มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบเหลือเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้ไม่เหลือของเสียทิ้งอีกเลย (Zero Waste) และเป็นการทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนที่เป็นวงกลมอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงเทคโนโลยี "การควบคุมสภาพภูมิอากาศ" เช่น การเลี้ยงมะเขือเทศในเรือนกระจก ใช้ความร้อน คาร์บอนไดออกไซด์ และแสงประดิษฐ์ ซึ่งผลผลิตจะงอกงามโดยไม่กระทบสภาพแวดล้อมโลก เพิ่มผลผลิตจาก 5 กก./ตร.ม.เป็น 75 กก./ตร.ม.

อย่างไรก็ตาม ไดเฮาเซนส์มองว่าโลกยังต้องการเทคโนโลยีด้านอาหารมากกว่านี้เพื่อรองรับอนาคต จึงเสนอแนะว่าการร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ รัฐบาล และเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่วันนี้คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จทั้งมวล

ที่เนเธอร์แลนด์มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้านเกษตรและอาหาร "WageningenUniversity" ได้รับการก่อตั้งมาร่วมร้อยปี ท่ามกลางหลายประเทศในยุโรปทยอยปิดประเทศในช่วงเวลานั้น ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องดิ้นรนด้านอาหารด้วยตัวเอง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยถือเป็นความสำเร็จระดับนานาชาติ มีนักศึกษาจากทั่วโลกนับหมื่นคน

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ด้านอาหารของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับความร่วมมือของภาคธุรกิจและรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบาย "ท็อปเซ็กเตอร์" นโยบายด้านอุตสาหกรรมที่มีมานับตั้งแต่ปี 2010 ให้ความสำคัญกับการให้เงินกองทุนสนับสนุนด้านงานวิจัยด้านเกษตรและอาหาร ซึ่งเงินทุนจะมาจากภาครัฐและเอกชน 50/50 ปัจจุบัน Wageningen University มีโปรเจ็กต์ด้านอาหารกว่า 450 โปรเจ็กต์ ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก นับเป็นความสำเร็จระดับสากลอย่างยิ่งยวด

ไดเฮาเซนส์ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการรับมือกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลกอนาคตว่า ความร่วมมือ "ระหว่างประเทศ" คือหัวใจสำคัญ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต่างคนต่างมีให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ปัจจุบันสามารถคิดค้น และพัฒนาได้จากคนทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย Wageningen University กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถร่วมมือกันในด้านการจัดอบรบบุคลากร แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านเทรนนิ่งนักวิจัยรองรับโลกในอนาคตได้เช่นเดียวกัน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

สมคิดชี้CLMVTกำลังหลักขับเคลื่อนศก.โลก

"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ชี้ CLMVT กำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ย้ำรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูป สร้างเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง มั่นคง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง CLMVT พลังขับเคลื่อนใหม่ของเอเชีย ว่า ปัจจุบันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 - 8 ต่อปี

และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่มีมากถึง 230 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในอนาคต แต่ทั้งนี้หากต้องการให้มีการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอาเซียน +6 หรือ อาเซปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ และจะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อกับนโยบายด้านการค้า One Belt One Road ของจีนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ นายสมคิด กล่าวย้ำว่า แม้นโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเน้นสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ  การส่งเสริมผู้ประกอบ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร แต่นโยบายที่ดีก็ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเน้นวางแผนบริหารประเทศเพียงระยะสั้น เพื่อทำตามความต้องการของประชาชนที่ให้การสนับสนุน ทั้งที่การวางแผนระยะยาวจะช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งการมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งเติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เศรษฐกิไทยช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มปรับตัวดีขึ้น สถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่หดตัวติดลบร้อยละ 2.8 หลังจากเป็นบวกมา 3 เดือน มองว่าหากตัดตัวเลขบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจออกไป เช่น ทองคำ จะถือว่าการส่งออกของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงภาคอุตสาหกรรมมีการส่งออกดีขึ้น

ขณะที่การนำเข้าเติบโตกว่าร้อยละ 20 ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันยังมองว่า เศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น ทำให้กลายเป็นจุดพักเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ และส่งผลให้ค่าเงินของไทยเเข็งค่าขึ้น แต่อาจกระทบการส่งออกได้ จึงต้องบริหารจัดการให้สมดุลกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป  ทำให้ไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งจากภายในได้ ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าส่งออก ปรับแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ เพราะขณะนี้ภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังขาดดุลยภาพจากความเปลี่ยนแปลงของหลายประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ที่ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างเอเชียกับสหรัฐฯ เกิดการขาดตอน จนกระทบต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจหลังอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ฉัตรชัยห่วงภัยแล้งเร่งฏิบัติการทำฝนหลวง

"พล.อ.ฉัตรชัย" ห่วงเกษตรกรประสบภัยแล้ง เร่งปฏิบัติการทำฝนหลวง แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง และการบินเกษตร เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ต้องประสบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับได้รับแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และจากสภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากมีปริมาณน้ำ ในอ่างเก็บน้ำเหลือเพียง 29-30% กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้เร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงในทุกพื้นที่ ในทุกโอกาสเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำและพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการขอรับบริการฝนหลวง และเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งให้กับเกษตรกร ซึ่งได้มีการประสานกับ กรมชลประทาน เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รวมถึงอ่างเก็บน้ำต่างๆ  ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกมีฝนตกตรงตามพื้นที่เป้าหมาย  นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้อย่างเต็มที่ โดยคาดว่าช่วง 2-3 วันนี้ จะมีพายุฤดูร้อนในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย สามารถปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น เพื่อสำรองน้ำในเขื่อนต่าง ๆ และอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศได้

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อเกษตรกรในพื้นที่ที่จะใช้น้ำเพื่อการทำการเกษตรและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ตลอดจนการน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และขอให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

เปิดตัวระบบแผนที่‘Agri-Map Online’ บริการเชิงรุกผ่านอินเตอร์เนต เผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานเกษตร

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบรับนโยบาย THAILAND 4.0 โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) หรือ NECTEC ใช้เทคโนโลยี What 2 Grow เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) โดยให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เนตซึ่งนักบริหาร, เจ้าหน้าที่, เกษตรกร และผู้สนใจ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยง พบว่า พื้นที่ในเขตชลประทาน ไม่มีความเสี่ยงแต่พื้นที่นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยง34 จังหวัด 105 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกษตรกรสามารถนำ Agri-Map Online มาเป็นตัวช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online)เป็นการบูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิตทั้งดิน น้ำ พืช ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะมีการปรับปรุงแก้ไข และเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา (Adaptive Data) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถนำไปใช้แนะนำแก่เกษตรกรในการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในแต่ละจังหวัด ทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและความต้องการของตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี

นอกจากนี้ แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ ยังสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) เช่นการสร้างความเข้าใจในเรื่องของการพัฒนา เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนนำนาในรอบต่อไป พร้อมการปลูกพืช ตระกูลถั่วเพื่อสะสมอินทรียวัตถุไว้ในดิน ทำให้โครงสร้างของดินดีโปร่งร่วนซุย หลังจากนั้นจึงสามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบของแผนที่ที่ทันสมัย มีข้อมูลที่ถูกต้องใช้งานได้สะดวก รวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เนตโดย Agri-Map Online จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเป็น SMART OFFICER และ SMART FARMERได้อย่างแน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ส.ป.ก.ลุยส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น “เกษตรกรปราดเปรื่อง” หรือ Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านองค์ความรู้และข้อแนะนำต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก ส.ป.ก. จังหวัด และ ส.ป.ก. ส่วนกลาง จำนวน 70 รายศึกษาต้นแบบการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรายย่อยในเขตปฏิรูปที่ดินได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยศึกษาดูงานจากแปลงเกษตรผสมผสานของ นางรำพึง อินทร์สำราญ ที่นิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

โดยจากบทเรียนของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ของ ส.ป.ก. พบว่า การจะแก้ปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกรได้ควรจะเริ่มต้นในพื้นที่ขนาดเล็ก ในรูปแบบของการจัดทำโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน เพราะมีรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน

โดย ส.ป.ก. ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งงบประมาณ การคัดเลือกเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย เพื่อให้การสนับสนุนพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

น้ำตาลไทยรุ่งเรือง ต่อยอดซีเอสอาร์ หนุนชุมชน เกษตรกรชาวไร่อ้อยยั่งยืน

        เส้นทางสู่ความสำเร็จของกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง คือการเสริมสร้างองค์กรให้เก่ง+ดี

       ความใส่ใจผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ

       เปิดโมเดลการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรพืชไร่อ้อยแห่งแรก ผ่านแนวคิด CSV ในพื้นที่ตำบลซับสมบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์

ความใส่ใจต่อชุมชน สังคมและสภาพแวดล้อมในแหล่งที่ตั้งโรงงาน 

         ไม่ใช่เพราะว่ากลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ วางแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ “เก่ง” แต่ทางธุรกิจ หากอีกด้านสำคัญที่ใส่ใจในการพัฒนาให้เติบโตควบคู่กันด้วย คือการตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรที่ “ดี” ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ของธุรกิจ

       ซึ่งสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของกลุ่มบริษัทฯ ที่ว่า “จะผลิตน้ำตาลคุณภาพตลอดไป สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค และพร้อมจะอยู่เคียงข้างครอบครัวไทยและครอบครัวโลกอย่างแท้จริง”

ดร.ณัฐพล อัษฎาธร 

         ใส่ใจผู้มีส่วนได้เสียต่อเนื่อง

               ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า บริษัทฯเติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง มีมาตรฐานการดำเนินงานในระดับมาตรฐานสากลจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากความใส่ใจต่อชุมชน สังคมและสภาพแวดล้อมในแหล่งที่ตั้งโรงงาน ในฐานะโรงงานน้ำตาล เราต้องซื้อวัตถุดิบ คืออ้อยจากเกษตรกร หรือพนักงานของเราเองที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชน เรามองไปถึงความสุขของทุกภาคส่วน

       เมื่อมองย้อนกลับสมัยก่อตั้งโรงงานซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่ง แม้กระทั่งอาหารการกินยังหาลำบาก พอผ่านไประยะหนึ่งเติบโตกลายเป็นเมือง เราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนเกิดความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนของชาวไร่ ของสังคมมีส่วนสำคัญโดยตรงกับความยั่งยืนของบริษัท เมื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกแล้วได้ผลผลิตดี สร้างกำไร ได้รับความสุข ก็หมายความว่าโรงงานน้ำตาลก็ได้วัตถุดิบป้อนการผลิตได้ดีและยั่งยืนเช่นกัน

       สมัยก่อนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาจจะรับซื้ออย่างเดียว ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็นำมาขายให้โรงงานก็จบ หากเรามองไกลถึงความสุขของเขา เราจึงพยายามเข้าไปส่งเสริมระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งหมายถึง ระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ หรือผู้ซื้อกับอีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้ผลิต ซึ่งก็คือเกษตรกรที่มีปัจจัยการผลิตบางประเภทอยู่ในครอบครอง เช่น ที่ดิน ทุน แรงงาน ฯลฯ โดยทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาตกลงทำสัญญาระหว่างกันไว้ล่วงหน้าถึงปริมาณ คุณภาพผลผลิต ราคาและช่วงเวลาที่จะรับซื้อ ส่วนผู้ประกอบการหรือบริษัทจะให้การสนับสนุนเรื่องของทุน พันธุ์พืช นักวิชาการที่ปรึกษาและเทคโนโลยีในการผลิต

       ดังกล่าวนี้ เป็นวิธีการทำให้เกษตรกรได้รับความสุข คือเราอยากจะให้ชาวไร่อ้อยปลูกอ้อยได้ดี ในการปลูกอ้อย จริงๆ แล้วคล้ายกับการปลูกหญ้า พอโตก็ตัด แล้วมันจะงอกขึ้นมาใหม่ สามารถตัดได้หลายครั้งถ้าดูแลดีๆ แต่การลงทุนจะค่อนข้างสูง เนื่องจากพืชมีกรอบอายุค่อนข้างนาน เรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องที่ชาวบ้านมักจะติดปัญหา บางคนอยากทำอ้อยแต่ไม่มีเงิน รอครบปี มีรายได้ค่อยมาทำซึ่งมันนานเกินไป

               “เราเข้าไปส่งเสริมด้านการเงินให้กับชาวไร่ แต่บางทีการให้เงินอย่างเดียวอาจจะไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดี เราจึงใส่ความรู้เข้าไปด้วย สอนในเรื่องการปลูกอ้อย แนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ การใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัย ใช้ข้อมูลจากการทำวิจัย การวิเคราะห์ดิน ดังกล่าวนี้เรามีทีมงานพันธุ์อ้อย รวมถึงกิจกรรมของชุมชน งานแต่งงาน งานบวช เราก็เข้าไปร่วม เพราะเราเห็นเขาเป็นพันธมิตรที่มีส่วนได้เสีย หากเกษตรกรชาวไร่อ้อยประสบปัญหาใดๆ คนแรกที่เขานึกถึงจึงมักเป็นโรงงาน”

จัด ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’ ร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม

         ผนึก “โคคา-โคลา” หนุนสตรีชาวไร่อ้อย

       เพิ่มศักยภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต

       ปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา รับภารกิจสานต่อพันธกิจหลักของบริษัทแม่ ลงทุนจำนวน 4 ล้านบาท จัด ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’ ร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยโครงการนำร่องจะเพิ่มศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยจะได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเงิน ทำบัญชีและทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใน 1 ปี (สิงหาคม พ.ศ. 2559 - กรกฎาคม พ.ศ.2560) โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการฯ นำร่องไปสู่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยและกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลรายอื่นในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ

       ทั้งนี้ หลักสูตรการยกระดับเน้น 2 ส่วน คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคลและการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน พบว่า กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัวและมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะในสองเรื่องนี้ ขณะที่การส่งเสริมเกษตรยั่งยืน มุ่งเน้นการเตรียมและบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์และปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ไปจนกระทั่งการส่งเสริมการลดการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว ตลอดจนมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปลูกอ้อยและการทำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

       นอกจากนี้ยังเตรียมแผนระยะที่ 2 เพื่อจะขยายผลจากการดำเนินโครงการนำร่องฯนี้ ไปยังเครือข่ายเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยของกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองที่อยู่ในจังหวัดอื่นๆ

       ดร.ณัฐพลบอกว่า ตอนเริ่มโครงการนี้ ทางโค้กและเรามองเห็นสอดคล้องกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงตั้งทีมงานเข้าไปสำรวจปัญหาของเกษตรกรคืออะไร ปัญหาสำคัญที่พบ คือได้เงินมาแล้วมีการจัดการทางการเงินไม่ค่อยดีนัก เช่น ใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมีแนวคิดที่ควรจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกษตรกรมีการจัดการทางการเงินที่ดี ก็คือควรเก็บเงินก่อนแล้วค่อยเอาไปใช้ ไม่ใช่ใช้เงินเหลือแล้วค่อยไปเก็บ

       ความร่วมมือของพันธมิตรทางธุรกิจทั้งสองฝ่ายกับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ถือว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินและการลงทุนในอาชีพ ช่วยให้พันธมิตรคือ บริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง สามารถผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ ขณะที่โคคา-โคลาก็ได้แผนในการจัดหาวัตถุดิบน้ำตาลอย่างยั่งยืน ภาพรวมจึงเกิดการยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย

 “โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรพืชไร่อ้อย ในพื้นที่ตำบลซับสมบูรณ์” ล่าสุดดำเนินโครงการมาเป็นระยะกว่า 10 เดือน มีความก้าวหน้าของโครงการแล้วกว่า 60%

         โมเดลบริหารจัดการน้ำ ที่ซับสมบูรณ์

       กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดโมเดลการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ในพื้นที่ตำบลซับสมบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือสสนก. ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาภายใต้ “โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรพืชไร่อ้อย ในพื้นที่ตำบลซับสมบูรณ์” ล่าสุดดำเนินโครงการมาเป็นระยะกว่า 10 เดือน มีความก้าวหน้าของโครงการแล้วกว่า 60%

        เป้าหมายความยั่งยืน คือ การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เริ่มต้นด้วยการพัฒนาคน มีการจัดผู้นำชุมชนแห่งนี้ไปศึกษาดูงานในพื้นที่ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้ผู้นำชุมชนมองเห็นภาพการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน และสร้างความมั่นใจว่า “ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้”

       เมื่อผู้นำกลับมาจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตำบลซับสมบูรณ์ ซึ่งได้รับรองจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับสมบูรณ์ จากนั้นทางบริษัทฯ และคณะกรรมการได้ร่วมกันสำรวจพื้นที่แหล่งน้ำต้นทุนเดิมของตำบล รวมถึงทำผังน้ำตำบลขึ้นมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลให้สสนก.ช่วยวิเคราะห์ความเหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำ และได้มีการลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจ วัดระดับและวางแผนทำโครงสร้างเพื่อรองรับน้ำต่างๆ ได้แก่

       1) ขุดสระขนาด 5 ไร่ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

       2) ขุดลอกคลอง ขยายพื้นที่รับน้ำในพื้นที่คลองเดิมซึ่งมีสภาพตื้นเขินและแคบ ให้มีความกว้างเป็น 10 เมตร

       3) ปรับปรุงโครงสร้างท่อระบายน้ำ ทำบานกั้นบริเวณท่อลอดเดิม เก็บน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน

       4) พัฒนาแปลงสาธิตเกษตรพืชไร่อ้อยแบบระบบเติมน้ำใต้ดิน เพิ่มความชุ่มชื้นในดิน รักษาตออ้อยให้งอกซ้ำ

       ดร.ณัฐพล กล่าวว่า “คณะกรรมการจัดการน้ำเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ได้ช่วยกันคิดวางแผนกับสสนก.ว่าเขาทำอะไร มีปัญหาอะไร ควรจะแก้ตรงไหน ทางสสนก.ก็ไปสำรวจเส้นทางน้ำก็แนะนำว่าให้ขุดสระ บริเวณใดเป็นที่ดินของชาวบ้านก็ยังเป็นของเขา แต่สระน้ำเป็นของชุมชน มีการตั้งกฎระเบียบการใช้น้ำ เช่น ช่วงนี้อย่าเพิ่งใช้ ให้ใช้หน้าแล้ง ใช้เป็นระบบหยุดไม่ใช่เอาไปราด แต่กรณีเกิดไฟไหม้ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้ ตอนนี้ยังไม่เสร็จ แต่ขุดสระเสร็จแล้ว มีกติกาแล้ว ตอนนี้เริ่มดำเนินการขุดลอกคลอง เพื่อให้เก็บน้ำได้ดีขึ้น เพราะชาวบ้านก็เหมือนปลูกอ้อยล้ำเข้าไปในเส้นทางน้ำเดิม ก็จะไปขยายเส้นทางน้ำเพื่อให้รองรับได้มากขึ้น มีการทำฝายเพื่อกักเก็บเป็นระยะ นอกจากนั้นยังมีการทำแปลงทดลองเป็นที่แรกของไทยที่เป็นพืชอ้อย เป็นแปลงเก็บน้ำใต้ดิน เหมือนทดลองว่าถ้าทำแบบนี้จะสามารถทำให้ได้ยีลด์ของอ้อยเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นการทดลอง เป็นการขุดบ่อลงไป เหมือนบ่อบาดาล เอาน้ำเทลงไปแล้วมันก็จะซึมอยู่ข้างใต้ เก็บน้ำอยู่ใต้ดิน เป็นท่อซีเมนต์ประมาณ 4 ท่อต่อกัน แล้วเจาะรูเพื่อให้น้ำซึมออกมาได้”

       โมเดลนี้เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อเการเกษตรพืชไร่อ้อยแห่งแรกของไทย ตามแนวทางส่งเสริมการเกษตรยั่งยืนเพื่อสร้างคุณค่าร่วมในสังคม หรือ Creating Shared Value : CSV

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

EEC เป็นความหวังพลิกโฉมภาคการผลิตไทย เพื่อเป็นแรงส่งดัน GDP เติบโตได้ถึง 5% ในปี 64  

         ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง EEC เป็นความหวังพลิกโฉมภาคการผลิตไทย เพื่อเป็นแรงส่งดัน GDP เติบโตได้ถึง 5% ในปี 64

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจของไทยในระยะหลัง กลายเป็นโจทย์หลักทางเศรษฐกิจที่ต้องหาทางแก้ไข การพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง และนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้เข้ามาเปลี่ยนโฉมภาคการผลิตของประเทศให้ทันสมัย โดยโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ได้กลายมาเป็นความหวังของรัฐบาลในการเติมเต็มภาพรวมการส่งเสริมการลงทุน อันจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

               “เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในช่วงปี 2552-2559 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2544-2551 ที่มีค่าเฉลี่ยลดลงเป็น 3.1% จาก 4.9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัว อีกทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่อ GDP ก็มีสัดส่วนที่ลดลงเรื่อยๆ”

               โดยรากฐานของปัญหา ส่วนหนึ่งอาจมาจากโครงสร้างของภาคการผลิตของประเทศที่ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับปานกลาง หรือใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มที่ไม่สูงนัก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และปัจจัยแวดล้อมทำให้อุปสงค์ในตลาดเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สินค้าที่ไทยผลิตเริ่มล้าสมัย และอาจไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของความต้องการในตลาดโลก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศโดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อรักษาอัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายเปลี่ยนโฉมภาคการผลิตของประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย      

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุน และเทคโนโลยีในระดับสูง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ซึ่งมีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน ทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในระดับที่สูง รัฐบาลจึงต้องเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเป็นการดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต้นทุนด้านภาษีที่ลดลง และเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (Feasibility) ให้มากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงได้มีการปรับปรุงบริบทของการส่งเสริมการลงทุนให้อยู่ในรูปแบบ (Platform) ใหม่ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง นวัตกรรม และการวิจัย และพัฒนา (R&D) อย่างชัดเจน ผ่านกลไกหลัก คือ กฎหมายสองฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 ซึ่ง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

             โดยโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป้าหมาย (Core technologies) มีโอกาสที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปีภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ และโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีในไทยเลยมีโอกาสเพิ่มเป็น 15 ปีได้ภายใต้ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ รวมถึงได้รับเงินทุนสนับสนุนในการทำวิจัยและพัฒนาอีกด้วย ทั้งนี้ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในกระบวนการส่งเสริมการลงทุนของไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่การให้สิทธิประโยชน์ของ BOI มีความยืดหยุ่น และเฉพาะเจาะจง (Tailor-made) กล่าวคือ นักลงทุนสามารถเสนอโครงการลงทุนเพื่อให้คณะกรรมการที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.แต่ละฉบับในการพิจารณาเห็นชอบ และกำหนดขอบเขตของสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเป็นรายโครงการไป ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่มีความยืดหยุ่นขึ้นนี้น่าจะเป็นผลดีต่อนักลงทุนในการได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนมากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องมือของทางการในการดึงดูดการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว

               นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมแล้ว โครงสร้างพื้นฐานก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการปรับปรุง และพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อม และเชื่อมโยงกันทั้งระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และลอจิสติกส์ที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างการขนส่งในโหมดต่างๆ จึงได้เกิดการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อให้เป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากพื้นที่ EEC มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ด้วยทำเลที่ตั้งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รวมไปถึงระบบโครงข่ายลอจิสติกส์ และการขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งทางเรือ ทางบก ทางราง และทางอากาศได้ และที่สำคัญ คือ การที่ EEC มีฐานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูงในพื้นที่อยู่แล้ว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต ทำให้สามารถต่อยอดการลงทุน และรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ได้ง่าย ดังนั้น การลงทุนเพื่อเปลี่ยนโฉมโครงสร้างการผลิตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้มข้นใน EEC จึงน่าจะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านน้อยกว่าการลงทุนในพื้นที่อื่น

               “รัฐบาลคาดหวังว่า ภายในปี 2564 จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยพัฒนาขึ้น และยกระดับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศให้ขึ้นไปถึงระดับร้อยละ 5.0 ได้ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2574 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของรัฐบาล”

               โดยเมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในช่วงแรก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะมี 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเกิดการลงทุนใน EEC ในระยะ 5 ปีแรก (2560-2564) ตามที่รัฐบาลคาดหวัง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตอยู่แล้วในประเทศ หรือมีศักยภาพในการพัฒนาสูง เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตได้ง่ายกว่า เพราะแรงงานมีความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานในการผลิต และมีอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting industries) ในพื้นที่อยู่แล้ว หรือโครงการลงทุนอาจใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการลงทุนใหม่ที่ไม่เคยมีฐานการผลิตในพื้นที่มาก่อน โดย 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะเกิดการลงทุนใน EEC ในระยะแรก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการบิน และลอจิสติกส์ 2.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และสุขภาพ 3.อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และ 4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ

               ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายประการ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยว ค่าครองชีพที่ค่อนข้างต่ำ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่คุ้มค่า สภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ในจุดศูนย์กลางของอาเซียน และการมีพื้นที่ศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยที่ปรับปรุงใหม่ก็จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบของไทยด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยก็น่าจะเพิ่มความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศ

               อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เหลือใน EEC ในระยะถัดไป ได้แก่ ต้องมีแรงงานมีทักษะภายในประเทศที่เพียงพอ, นโยบายเศรษฐกิจ และการลงทุนต้องมีความชัดเจน และต่อเนื่อง, สถานการณ์เศรษฐกิจ และการเมืองของโลก ซึ่งต้องเอื้อต่อการลงทุน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

บูรณาการหน่วยงานสนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 1,512 แปลง

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่เรียกว่านโยบาย “เพื่อยกกระดาษ A4” ซึ่งเปรียบเทียบพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยที่มีจำกัด 149 ล้านไร่ เหมือนกระดาษ A4 1 แผ่น โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยนโยบายสำคัญในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้ Agri-Map เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ขบวนการทางเกษตรกรรมแบบครบวงจร ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% ไม่มีหนี้สิน

และต้นทุนการผลิตลดลง 20%

           โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยจะเลือกพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสม เป็นพื้นที่ที่ไม่ผิดกฎหมาย รวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ มีความเหมาะสมทาง

ด้านดิน น้ำ และภูมิอากาศ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่จะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร

     ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2559 มีพื้นที่การเพาะปลูกในโครงการ จำนวน 600 แปลง แบ่งออกเป็นแปลงที่อยู่ในเขตชลประทานมีระบบส่งน้ำสมบูรณ์แล้ว จำนวน 95 แปลง อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ/โครงการที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 267 แปลง และพื้นที่ที่ต้องดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำ จำนวน 238 แปลง ซึ่งใช้งบประมาณ 4,538.1515 ล้านบาท โดยกรมชลประทาน  ดำเนินการเอง 220 แปลง ใช้งบประมาณ 4,198.6582 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ 10 แปลง ใช้งบประมาณ 138.7653 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการ 8 แปลง ใช้งบประมาณ 200.7280 ล้านบาท สามารถรองรับสินค้าเกษตรได้ 9 ชนิด คือ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และ ประมง

       ในส่วนของการดำเนินงานสนับสนุนการส่งน้ำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมชลประทาน จำนวน 220 แปลงนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 685,610 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 39,886 ราย ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานสามารถดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จำนวน 56 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 25.45) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 117,600 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 9,164 ราย และพื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน จำนวน 64 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 74.55)

          สำหรับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2560 กรมชลประทานจะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 912 แปลง ปัจจุบันสามารถรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเกษตรแล้วเสร็จ จำนวน 509 แปลง และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 403 แปลง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

ฝนหลวงผนึกกรมชลเร่งเติมน้ำเขื่อนหลักช่วยเหลือพื้นทีเกษตร

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

             วันที่ 22 มีนาคม 2560 เวลา 12.00 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง     และการบินเกษตร เปิดเผยว่า พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์           มีความห่วงใยเกษตรกรต่อปัญหาภัยแล้ง ที่กำลังประสบอยู่ในพื้นที่การเกษตร และความต้องการน้ำเพื่อ     การอุปโภคบริโภค จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประสานกับกรมชลประทาน             ในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทุกโอกาส

                   กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมชลประทาน           ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนในทุกพื้นที่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนปรานบุรี และเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเขื่อนหลักสำคัญที่เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรของประเทศ พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ยังคงมีความต้องการให้        กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเน้นปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนดังกล่าวทั้งหมดเพื่อรองรับ            การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และยางพารา

                    อย่างไรก็ตาม การประสานงานร่วมกันระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกับ           กรมชลประทานในทุกภารกิจ จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้มีปริมาณเพียงพอ          ต่อเกษตรกรในพื้นที่ที่จะใช้น้ำเพื่อการทำการเกษตร ตลอดจนน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และขอให้ประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

เกษตรฯ เตรียมส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำวิเคราะห์ หนุนเกษตรกรเข้าระบบ GAP

 กรมวิชาการเกษตร ทำความเข้าใจเกษตรกรสมัครเข้าระบบ GAP ชี้แปลงอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษ เตรียมส่งเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำมาวิเคราะห์ หากพบไม่มีสารปนเปื้อน พร้อมให้เกษตรกรยื่นขอรับรองเข้าระบบ GAP ทันที

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจง กรณีกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งยกเลิกการทำใบรับรองพืชผลทางการเกษตร มาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP) ของเกษตรกรที่ปลูกพืชผักและผลไม้บริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดินจากโรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม บ.แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ เนื่องจากมีรายงานการตรวจสอบตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณบริษัทดังกล่าว พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย ในบริเวณที่ติดกับโรงงานและบริเวณที่อยู่ใต้โรงงานในระยะประมาณ 500 เมตร นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบผลการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นของแปลงที่พร้อมตรวจรับรอง GAP จากกรมส่งเสริมการเกษตรโดยเป็นแปลงที่อยู่ระหว่างการรับรอง 10 แปลง เป็นแปลงที่เกษตรกรรับทราบว่าไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของระบบ 25 แปลง และอีก 4 แปลงเป็นส่วนที่มีความเสี่ยงเนื่องจากเกษตรกรใช้น้ำจากแหล่งที่ระบุตามข่าว ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษมีหนังสือที่ ทส.0307/79 วันที่ 5 มกราคม 2560 รายงานผลการตรวจสอบตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณรอบนอกโรงงานของบริษัทบ.แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในบริเวณที่ติดกับโรงงานและบริเวณที่อยู่ใต้โรงงานในระยะประมาณ 500 เมตร โดยขอให้จังหวัดราชบุรีแจ้งเตือนประชาชนให้ระงับการนำน้ำที่มีการปนเปื้อนมาใช้ในการบริโภค เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีได้มีหนังสือที่ รบ 0017 .1/63380 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 แจ้งไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและมีการสั่งการเป็นลำดับ

 “กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรทั้ง 4 รายแล้ว และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการสุ่มตัวอย่างน้ำในพื้นที่ทั้ง 2 จุด ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเพื่อส่งห้องปฏิบัติการตามที่มาตรฐานกำหนดอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่าคุณภาพน้ำมีการปนเปื้อนหรือมีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลิตผล GAP จริงหรือไม่ หากผลการตรวจสอบพบว่าแหล่งน้ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและมีความปอลดภัยกับผลิตผลจะดำเนินการแจ้งให้เกษตรกรทราบเพื่อยื่นขอรับรอง GAP ได้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

เปิดตัว “กลินท์ สารสิน” ประธานหอฯ คนใหม่ เผยนโยบายเน้นการค้าและบริการ 4.0

ที่โรงแรมดุสิตธานี หอการค้าไทยจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมของหอการค้าไทยประจำปี 2559 ให้สมาชิกได้รับทราบ และได้เปิดตัว นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 24 แทนนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนปัจจุบันที่หมดวาระลงในวันที่ 22 มีนาคม 2560 โดยก่อนหน้านี้นายกลินท์ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการหอการค้าไทย

นายกลินท์ เปิดเผยว่า ยืนยันจะสานต่อนโยบายจากคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง เพราะขณะนี้หอการค้าไทยทำงานร่วมกับรัฐบาลหลายเรื่อง พร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อได้ทันทีทั้งเรื่องการค้าขายและเศรษฐกิจ สำหรับวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ ตั้งใจเป็นสถาบันหลักทางการค้าและบริการของประเทศที่ใช้ข้อมูล ความรู้ เครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

“ขณะเดียวกันจะเน้นการทำงานในเรื่องการค้าและการบริการ 4.0 (Trade& Service 4.0) ที่เน้นนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ ทั้งอำนวยความสะดวกการค้า สร้างแบรนด์ ส่วนบริการก็จะเน้นนำความคิดสร้างสรรค์และไอทีมาใช้เช่นกัน ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 อีกทั้งตั้งใจขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้แก่สมาชิก 100,000 รายทั่วประเทศ เฉพาะใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตรอาหาร,การค้า,ท่องเที่ยวและบริการ”นายกลินท์กล่าว และว่า งานที่จะร่วมกับภาครัฐเร็วนี้ คือ วันที่ 23 มี.ค.นี้ หอการค้าไทยจะร่วมประชุมหารือกับประธานาธิบดีฟิลลิปปินส์ ที่มาเยือนไทย

นายกลินท์ กล่าวอีกว่า พันธกิจสำหรับขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์นั้น ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและปรึกษาทางการค้าให้กับผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมข้อมูลและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ 2.สร้างความเชื่อมโยงและร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามแนวประชารัฐ สร้างธรรมาภิบาลการดำเนินธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 4.ต่อยอดความรู้และประสบการณ์ สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ และ 5.การพัฒนาบริหารจัดการองค์กรเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพและมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีการเลือกตั้งให้กรรมการหอการค้าไทยขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่ ดังนี้ นายกฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเหรัญญิกหอการค้าไทย นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และนายวิชัย อัศรัสกร โฆษกหอการค้าไทย

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตฯสระแก้ว นายกฯกำชับเชื่อมโยง‘EEC’

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว มูลค่าโครงการ 1,660 ล้านบาท ซึ่งเป็นพื้นที่แรกในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จาก 10 พื้นที่ โดยอยู่ห่างจากริมถนนทางหลวง และห่างจากด่านชายแดนอรัญประเทศ 9 กิโลเมตร

การลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จะเป็นการเช่าบนที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ บนพื้นที่ 660 ไร่ เป็นเวลา 50 ปี มูลค่าโครงการ 1,660 ล้านบาทแบ่งเป็นงบของการนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.) จำนวน 960 ล้านบาท และงบประมาณ 700 ล้านบาท

คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆประมาณ 15 เดือน และคาดว่าจะให้เช่าพื้นที่หมดภายใน 5 ปี

การดำเนินการจะต้องเป็นไปตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องใช้พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะหรือเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น การลงทุนจัดตั้งโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเร่งด่วนตามชายแดน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรองรับการค้าชายแดน รวมทั้งเป็นแนวกั้นปัญหาต่างๆ เช่น การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

นายณัฐพรกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ เพราะจ.สระแก้ว เป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ใกล้กับระเบียงเศรษฐกิจภาคจะวันออก หรือ EEC โดยการดำเนินการจะต้องเชื่อมโยงระหว่างนิคมฯ จ.สระแก้ว และ EEC ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

หวั่น ‘เบร็กซิท’ กระทบส่งออกไทย

ประเด็นเรื่อง “เบร็กซิท” หรือการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (ยูเค) เริ่มกลับมาเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินจับตามองอีกครั้ง หลังจาก นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ เตรียมประกาศใช้ “มาตรา 50” ของสนธิสัญญาลิบอนในวันที่ 29 มี.ค.2560 เพิ่มเริ่มต้นทบทวนการเจรจาการแยกตัวออกจากอียู

ทั้งนี้ การสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปีหลังจากการประกาศใช้มาตรา 50 ซึ่งหมายความว่า “ยูเค”  จะออกจาก “อียู” อย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค.2562 แต่อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากได้รับความยินยอมจากสมาชิกใน อียู

เอกสารเผยแพร่ของรัฐบาล ซึ่งชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก อียู ของ ยูเค มีใจความสำคัญว่า ยูเค จำเป็นต้องออกจากตลาดเดียว (Single market) ของ อียู เนื่องจาก ยูเค ต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการของ อียู ที่มีเป้าหมายสำคัญในการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี

โดย ยูเค มีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับ อียู เพื่อให้การค้าของทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ การออกจาก Single market เป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็น Hard Brexit

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ค่าเงินปอนด์มีความอ่อนไหวต่อข่าวที่เกี่ยวกับ Brexit ค่อนข้างมาก โดยล่าสุดแตะจุดต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ในวันที่มีการประกาศว่าเป็น Hard Brexit ตลาดการเงินมีมุมมองว่าการถอนตัวออกจาก อียู ในรูปแบบดังกล่าวอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของ ยูเค ได้ในอนาคต เนื่องจาก ยูเค พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศกับ อียู คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด

อีกทั้งการออกจาก Single market ของ อียู หมายความว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง ยูเค และ อียู จะไม่สามารถทำให้ ยูเค ได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับสมาชิกของ อียู อย่างแน่นอน และจะกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าที่ ยูเค เคยทำกับประเทศอื่น ในฐานะประเทศสมาชิกของ อียู อีกด้วย

นอกจากนี้ หาก ยูเค ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับ อียู ได้ภายใน 2 ปี และไม่มีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมจะส่งผลให้ ยูเค ต้องทำการค้าขายกับ อียู ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ใดเลย

อีไอซี มองว่า การเร่งกระบวนการ Brexit ให้เกิดขึ้นเร็ว อาจทำให้ได้ข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจจริง สภาขุนนาง (House of Lords) มีมติแก้ไขร่างกฎหมาย Brexit ก่อนหน้านี้ โดยต้องการให้รัฐบาลรับประกันสิทธิ์ให้กับพลเมืองของ อียู จำนวน 3 ล้านคนในการพำนักอยู่ที่ ยูเค และต้องการที่จะได้รับสิทธิ์ในการยับยั้งข้อตกลง (veto) ในขั้นสุดท้ายของการเจรจาแยกตัวออกจาก อียู สะท้อนว่ายังมีความขัดแย้งภายใน และอาจยังไม่มีความพร้อมที่เพียงพอในการเริ่มกระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ถึงแม้ผลกระทบจากผลโหวต Brexit นับตั้งแต่ผลประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.2559 จะยังไม่สะท้อนผ่านภาคเศรษฐกิจจริงของ ยูเค มากนัก โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ ยูเค ยังสูงกว่าระดับก่อนผลประชามติ

เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของ ยูเค ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนก่อนหน้าแล้ว ซึ่งตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่าง Brexit ค่อนข้างช้า โดยภาวะการจ้างงานที่ยังไม่ซบเซาส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ชะลอการบริโภค เพราะเชื่อมั่นว่าจะยังมีรายได้เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต แต่การเริ่มต้นกระบวนการ Brexit ที่เร็วเกินไปจะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับข้อตกลงฉบับใหม่ และอาจมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่ารุนแรงอาจส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และจะกระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจของ อียู อาจชะลอตัวตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ยูเค เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับ อียู ค่อนข้างมาก

อีไอซี ประเมินว่า การส่งออกไทยเสี่ยงซบเซา หาก Brexit ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงระหว่างไทยกับ ยูเค จะมีไม่มาก แต่ความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit อาจกระทบต่อไทยผ่านความผันผวนในตลาดการเงินระยะสั้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน อียู และ ยูเค อาจกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง เนื่องจากไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของส่งออกทั้งหมด ซึ่งนำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ระดับผลกระทบจาก Brexit ในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่ประนีประนอมกันได้ในระดับใด โดยผลกระทบจะน้อยที่สุดหากข้อตกลงฉบับใหม่สามารถทำให้การค้าและการลงทุนยังคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น ขณะที่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และจบลงด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2560

ค่าเงินบาทนิ่ง 34.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทประจำวันที่ 21 มี.ค.2560 อยู่ที่ระดับ 34.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันมีการซื้อขายอยู่ที่ 34.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เป็นผลมาจากทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยใหม่ หรือตัวเลขทางเศรษฐกิจสำคัญ ทำให้นักลงทุนในตลาดยังไม่มีการกลับเข้าซื้อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมากนัก อย่างไรก็ตามในด้านของธนาคารกลางต่างๆ ในประเทศยุโรปมีทิศทางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ก่อน

ธนาคารกสิกรไทยให้กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 34.55-34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญคือ การเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศส หลังจากการดีเบตเมื่อวานนี้ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลในกรณีที่ฝรั่งเศสจะออกจากการเป็นสหภาพยุโรปมากขึ้น เนื่องจากนักการเมืองที่สนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรปได้คะแนนน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

ก.อุตฯเร่งแผนงานสมอ.รับไทยแลนด์4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งแผนดำเนินงาน สมอ. สอดรับไทยแลนด์ 4.0 กำหนดมาตรฐาน 10กลุ่มอุตฯ เป้าหมายอำนวยความสะดวกธุรกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง มาตรฐานในยุค Thailand 4.0 ในโอกาสครบรอบ 48 ปี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการการทำงานของ สมอ.ในทิศทางที่สอดรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 โดยจะวางรากฐานให้เป็นรูปธรรมในช่วง 2 ปีนี้ ประกอบด้วย การเร่งกำหนดมาตรฐานสินค้าและบริการ โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs การตรวจสอบและรับรอง ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้การจัดอันดับความยาก - ง่ายในการทำธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของไทยปรับตัวดีขึ้น การส่งเสริมมาตรฐานสินค้าและบริการของกลุ่มประเทศ CLMV ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน โดยจะนำร่องกับประเทศกัมพูชา เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมจะมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะการมาตรฐานแห่งชาติ โดยจะดำเนินการจัดตั้งภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ชี้แนวโน้มส่งออกเป็นบวก เหตุเศรษฐกิจโลกดีขึ้น

โดย - โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

                 รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 22 มี.ค. 2560 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จะแถลงข่าวตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยประจำเดือนก.พ. 60 ซึ่งมีแนวโน้มที่การส่งออกเริ่มกลับมาฟื้นตัว จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ พลาสติก มีราคาปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ที่ราคาเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบด้วย แต่ทั้งนี้ ยังต้องจับตาการส่งออกทองคำในเดือนนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มติดลบ เมื่อเทียบกับการส่งออกทองคำก.พ. 59 ที่ส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์

                 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือนก.พ. ที่ผ่านมานั้น ประเมินว่าจะขยายตัวเป็นบวก จากปัจจัยหนุนเรื่องเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูง ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องขยับตามไปด้วย แม้ว่าการส่งออกในปีที่ผ่านมา จะขยายตัวเป็นบวกในอัตราต่ำ 0.45% แต่ประเทศไทยติดอันดับที่ 8 ประเทศของโลก ที่มีการส่งออกเป็นบวก ขณะที่หลายประเทศส่งออกติดลบ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกของไทยทั้งปี 60 นี้ จะขยายตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวเป็นบวก โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวถึง 5%

                นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะติดลบ 3-4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมา  เนื่องจากการส่งออกทองคำในเดือนก.พ. 59 นั้น ขยายตัวสูงถึง 1,051% เมื่อเทียบกับปี 58 โดยมีมูลค่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีผลจากมูลค่าการส่งออกยุทโธปกรณ์เกี่ยวกับการซ้อมรบมูลค่า 683 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การส่งออกเดือนก.พ. 60นี้ ขยายตัวต่ำกว่าเมื่อเทียบกับก.พ. 59 ที่ผ่านมา

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

“กรมฝนหลวง”ขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงได้น้ำเกือบ40ล้านลูกกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากลักษณะอากาศทั่วไปและการพยากรณ์อากาศ ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2560 ประเทศไทยได้รับหย่อมความกดอากาศสูงปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาได้เคลื่อนเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการขึ้นบินปฏิบัติการฝน กรมฝนหลวงฯจึงได้เร่งการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามพื้นที่ที่ร้องขอทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่บริเวณ จ.กำแพงเพชร น่าน เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ บุรีรัมย์ และประจวบคีรีขันธ์ ขณะเดียวกันได้เลี่ยงการปฏิบัติการฝนหลวงในเขตพื้นที่การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีการขึ้นบิน จำนวน 255 เที่ยวบิน ปริมาณใช้สารฝนหลวง 209.70 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ 296 นัด ปรากฏว่ามีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายในเขตพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนบางลาง คิดเป็น 96.3% ของการปฏิบัติการ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 39.48 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

รายงานพิเศษ : ‘พัฒนาที่ดินเขต12’พลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรม ด้วยแนวทางพระราชดำริ ให้เกษตรกรทำกินได้อย่างยั่งยืน

สภาพดินในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมักจะมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุในพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดแนวทางตามพระราชดำริ จนเกษตรกรสามารถพลิกฟื้นผืนดินกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกครั้งอย่างยั่นยืน

นายปรีชา โพธิ์ปาน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12เปิดเผยว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ของภาคใต้ขนาบด้วยทะเลทั้ง 2 ฝั่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา พื้นที่สูง ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตร ส่วนใหญ่มีปัญหาดินเปรี้ยว ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อยซึ่งเป็นบริเวณที่เคยได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน อีกทั้งยังมีดินอินทรีย์หรือดินพรุในพื้นที่ทำการเกษตรรวมถึงปัญหาการชะล้างของดิน ทำให้เกิดดินตื้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพการเกษตรเป็นอย่างมาก สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของดินในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงเน้นเรื่องของการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเป็นส่วนใหญ่ เพราะปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีพื้นที่รวมกว่า 5 แสนกว่าไร่ เกือบ 6 แสนไร่ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่หลายครัวเรือน ดังนั้น การที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มีการฟื้นฟูสภาพดินเพื่อให้กลับมาทำกินได้จึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ศูนย์ศึกษาพัฒนาการพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งในขณะนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดนราธิวาส ทำให้พระองค์ทรงรับทราบว่าเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาทำการเกษตรในที่ดินของตัวเองไม่ได้ เนื่องจากสภาพดินมีปัญหา ปลูกพืชอะไรก็ไม่เจริญเติบโต ได้ผลผลิตต่ำไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน จึงทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษา โดยเลือกพื้นที่ ที่มีดินพรุ ดินเปรี้ยว ในศูนย์ฯ พิกุลทอง โดยพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวที่เรียกว่า โครงการแกล้งดิน ซึ่งดำเนินการที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองจนประสบความสำเร็จ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 จึงได้น้อมนำแนวทางของพระองค์มาดำเนินการแก้ไขและขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 7 จังหวัดจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่างหลายจังหวัดมีปัญหาดินเปรี้ยวจัด พบว่าเกิดจากในชั้นใต้ดินมีสารประกอบไพไรท์อยู่จำนวนมาก เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการแกล้งดินให้เปรี้ยว คือ ทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้นแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ได้น้อมนำแนวทางของพระองค์มาดำเนินการแก้ไขและขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 7 จังหวัดจนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่นาร้างโดยเน้นส่งเสริมปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงไม้ผล โดยได้สนับสนุนด้านการปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าไปสนับสนุนการขุดยกร่องเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม จึงต้องขุดยกร่องเพื่อให้พ้นน้ำนอกจากนี้ ยังสนับสนุนวัสดุปรับปรุงดินและพันธุ์พืช เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแนวทางพระราชดำริที่นำมาปรับใช้ ยังมีอีกหลายๆ โครงการ หลายๆ แนวทางที่กรมพัฒนาที่ดินได้น้อมนำมาผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาขยายผลสู่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด เช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ที่ได้ดำเนินการฟื้นฟูดินเปรี้ยวจัดจนสามารถผลิตข้าวให้มีผลผลิตสูงขึ้นหรือกระทั่งตัวอย่างด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินที่มีศักยภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ที่มั่นคง

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริในการพลิกฟื้นผืนดินที่เสื่อมโทรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้กลับมาทำการเกษตร มีอาชีพ มีรายได้อีกครั้ง และไม่ได้มีเพียงด้านพืชเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงอาชีพเกษตรด้านปศุสัตว์และประมงอีกด้วย โดยเฉพาะแนวทางตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ช่วยให้เกษตรกรซึ่งมีพื้นที่ไม่มาก สามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรเลี้ยงครอบครัวได้ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเรียนรู้สามารถประสานกับสถานีพัฒนาที่ดินได้ทุกจังหวัด รวมถึงหมอดินอาสาที่อยู่ใกล้บ้านท่าน”นายปรีชา กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2560

ก.เกษตรฯเรียกถกรับนโยบาย4.0 ลุยแผนเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทย

 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0” และมอบนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ โดยได้รับฟังสถานการณ์ด้านการเกษตรในต่างประเทศที่สำคัญและแนวทางดำเนินงานจากผู้แทนถาวรไทย (ฝ่ายการเกษตร) ประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) และกงสุลฝ่ายการเกษตร จากสำนักงานในต่างประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 11  แห่ง ใน 8 ประเทศ ประกอบด้วย สำนักที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร 7 แห่ง  ได้แก่  กรุงโรม  สหภาพยุโรป  กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  กรุง โตเกียว กรุงปักกิ่ง กรุงจาการ์ตา และกรุงแคนเบอร์รา  กงสุลฝ่ายการเกษตร ประจำสำนักกงสุลใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ นครกว่างโจว  นครเซี่ยงไฮ้  และนครลอสแอนเจลิส และ ฝ่ายการเกษตรประจำสำนักเอกอัครราชทูต 1 แห่ง ณ กรุงมอสโก ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย  ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ในระยะ  5 ปี

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เน้นยำกับทูตเกษตรครั้งนี้  3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นยำถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2. การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรในแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนในการเจาจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น 3. การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะได้ร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงาน และพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย  เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย  รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่างๆ ซึ่งทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับ และบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก นโยบายและมาตรการต่างๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจา และติดตามการแก้ไขปัญหา  และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยในรอบปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลายๆ ประเทศ เช่น  การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป ด้วย

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

บาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน นายแบงก์คาดทางการอาจเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะ  

         ธ.กรุงศรีอยุธยา คาดเงินบาทแข็งค่า 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน ท่ามกลางแรงขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดว่า ทางการอาจเข้าดูแลตลาดเป็นระยะเพื่อลดความผันผวนจากการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินบาท

               ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มแข็งค่า และเคลื่อนไหวในกรอบ 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดที่ 34.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเริ่มต้นสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน ท่ามกลางแรงเทขายทำกำไรดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และกระแสเงินทุนไร้ทิศทางชัดเจน โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 4,000 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 3,700 ล้านบาท

               สำหรับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.25 สู่ระดับ 0.75-1 และคงประมาณการว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนผลการประชุมผู้นำด้านการเงินของกลุ่ม G-20 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะชี้นำตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในระยะนี้

               ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสุนทรพจน์ของนางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2560 หลังจากถ้อยแถลงของนางเยลเลน ในสัปดาห์ก่อน สะท้อนความระมัดระวังอย่างมากในการสื่อสารกับตลาด ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ของเฟด ที่ไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนก อีกทั้งเพื่อลดแรงกดดันด้านขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการเงินตึงตัว ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

               นอกจากนี้ ยังคาดว่าทางการอาจเข้าดูแลตลาดเป็นระยะเพื่อลดความผันผวนจากการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินบาท กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐน่าจะเป็นการปรับฐานชั่วคราว และบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังต้องเผชิญปัจจัยต่างๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตลาดน่าจะผันผวนมากขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของยุโรป และเสถียรภาพของเงินยูโร

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

ป.ย.ป.ตั้ง "คณะอนุ กก.ขับเคลื่อนสินค้าเกษตร 5 ชนิด" แก้ปัญหาเสถียรภาพราคา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 4/2560 ชุดคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้ง "คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสินค้าเกษตร 5 ชนิด" ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพด้านราคาพืชเศรษฐกิจและเพื่อความยั่งยืนทั้งระบบ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้อยู่ภายใต้คณะ ป.ย.ป. ชุดย่อย ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯจะมีหน้ารับผิดชอบในสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และยางพารา ส่วนกระทรวงพาณิชย์ฯ รับผิดชอบในสินค้าเกษตร 2 ชนิด คือ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้จะได้มีการหารือถึงการจัดตั้งประธานและคณะทำงานในการประชุมครั้งต่อไป 

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

ฉัตรชัยถกทูตเกษตรทั่วโลก รุกแผนเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรรับมือวิกฤต ศก.-กฎระเบียบการค้าโลก

 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0" และมอบนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ โดยได้รับฟังสถานการณ์ด้านการเกษตรในต่างประเทศที่สำคัญและแนวทางดำเนินงานจากผู้แทนถาวรไทย (ฝ่ายการเกษตร) ประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) และกงสุลฝ่ายการเกษตร จากสำนักงานในต่างประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 11  แห่ง ใน 8 ประเทศ ประกอบด้วย สำนักที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร 7 แห่ง  ได้แก่ กรุงโรม สหภาพยุโรป กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กรุงโตเกียว กรุงปักกิ่ง กรุงจาการ์ตา และกรุงแคนเบอร์รา กงสุลฝ่ายการเกษตร ประจำสำนักกงสุลใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้  และนครลอสแอนเจลิส และฝ่ายการเกษตรประจำสำนักเอกอัครราชทูต 1 แห่ง ณ กรุงมอสโก ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ในระยะ  5 ปี

ดังนั้น สิ่งที่เน้นยำกับทูตเกษตรครั้งนี้  3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นยำถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2.การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรในแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนในการเจาจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น 3.การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น

"เป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะได้ร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงาน และพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย  เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย  รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่างๆ ซึ่งทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับ และบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจา และติดตามการแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยในรอบปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลายๆ ประเทศ เช่น การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป"

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

TDRI ชู "ยุทธศาสตร์ชาติการค้า" กู้อันดับ Ease of Doing Business ไทยกระเตื้อง

หลังรัฐบาลไทยมีความพยายามในการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติการค้า 20 ปี (2560-2579) ให้เกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุด ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ขีดความารถสู่การเป็นชาติการค้า" ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้  โดยทีดีอาร์ไอได้จัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ชาติการค้า ซึ่งเน้นในส่วนของการปรับโครงสร้างภายในประเทศเพื่อนำไปสู่ชาติการค้า พร้อมทั้งการันตีว่าหากทำสำเร็จในอีก 3-5 ปี จะช่วยให้ลำดับการเป็นประเทศที่มีง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของไทยขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 23 จากปัจจุบันอยู่ที่ 46 จากทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หลักสำคัญที่ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) จำเป็นต้องปรับ 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.ปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายทุน แรงงาน และสินค้า 2.ปฏิรูปข้อมูลข่าวสารให้เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อให้ได้สินค้าตรงตามความต้องการของตลาด และลูกค้า 3.หาช่องทางการจำหน่ายสินค้าและบริการต้องหลากหลาย และมีประสิทธิภาพ และ 4.ปฏิรูปกฎระเบียบในประเทศให้มีประสิทธิภาพ

ปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับเป็นอันดับแรก คือ กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาการปรับปรุงกฎหมายน้อยมาก หรือแทบจะไม่เคยมีการสะสางกฎหมายในอดีตเลย มีแต่จะเพิ่มกฎหมายมากขึ้นจนถึงขณะมีกว่า 100,000 ฉบับ ดังนั้น หากจะมีการทบทวนเฉพาะกฎหมายหรือกฎระเบียบในประเทศ ควรโฟกัสเฉพาะที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุนก่อน ซึ่งมีประมาณ 300-400 ฉบับ อย่างเช่น การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ควรยกเลิกบัญชี 3(21) ที่กำหนดให้บริการอื่นๆ เป็นธุรกิจห้ามคนต่างด้าวดำเนินการ เพราะไทยเป็นประเทศที่เปิดเสรีในการประกอบธุรกิจน้อยกว่าชาติการค้าอื่น เช่น  สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย และไต้หวัน

อีกทั้งยังควร "ทบทวนบทนิยาม" ที่กำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ในสัดส่วน 49% และคนไทย 51%  เนื่องจากเป็นข้อจำกัดในการแข่งขัน และไทยเป็นประเทศเดียวที่ห้ามให้ต่างชาติลงทุนธุรกิจบริการ พร้อมทั้งควรปรับปรุงบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. เพื่อกำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ และกฎระเบียบสภาวิชาชีพ เพื่อปลดล็อกให้วิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ นักบัญชี สถาปนิก สามารถเข้ามาได้ และทบทวนประเภทอาชีพเดิมที่หวงห้ามว่าสอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบันหรือไม่ เช่น ช่างตัดผม ขับสามล้อ เป็นต้น และควรพิจารณาข้อกำหนดอัตราการจ้างงานไทยต่อต่างด้าวในอัตรา 4 ต่อ 1 ตลอดจนปรับปรุงให้มีวีซ่าธุรกิจที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตการทำงานด้วย

นอกจากนี้ ไทยควรจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกรมศุลกากรและภาคเอกชน เพื่อลดจำนวนพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการบิดเบือนการนำเข้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องจักรหรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต รวมถึงการลดอัตราภาษีนำเข้าให้ต่ำลง และจะต้องเพิ่มความโปร่งใส่ในพิธีการศุลกากร  ตลอดจนการปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลให้มีประสิทธิภาพและลึก โดยจะต้องแยกแยะประเภทของข้อมูลเป็นข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเชิงลึกเฉพาะ และมีการเชื่อมข้อมูลกับต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ มีการเก็บค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐศึกษาหาข้อมูล

นางเดือนเด่นกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่ปัจจุบันไทยมีช่องทางการค้าออนไลน์ ผ่าน www.thaitrade.com ที่ยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นควรแก้ไขโดยการแยกช่องทางระหว่างเอกชนและเอกชน (BtoB), เอกชนและผู้บริโภค (BtoC) แยกประเภทสินค้าที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มลูกค้าเช่นเดียวกับเกาหลีที่มี 5 เว็บไซต์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละคนที่มีความต้องการเลือกซื้อต่างกัน และที่สำคัญจะต้องส่งเสริมผู้ประกอบการไทยศึกษาข้อมูลทั้งค่าธรรมเนียม การชำระเงินค่าสินค้า เป็นต้น ส่วนช่องทางการค้าเดิม เช่น การส่งออก และการตั้งโรงงานในต่างประเทศ เพื่อส่งออกก็ควรการปรับปรุง โดยการส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า เพื่อให้เป็นตามมาตรฐานสากล 

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

พิษน้ำมันกดค่าภาคหลวง

กรมเชื้อเพลิงฯ รายได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมทรงตัวระดับ 4.2 หมื่นล้าน เหตุราคาน้ำมันยังนิ่ง

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ค่าภาคหลวงจากสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในปี 2560 จะอยู่ที่ระดับ 4.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2559 เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันตลอดทั้งปียังปรับขึ้นจากปัจจุบันไม่มากนัก โดยสัญญาณราคาน้ำมันตลาดโลกขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 50-60  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่ขยายตัว

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักมีแผนลดกำลังการผลิตลง ทำให้มีกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (เชล ออยล์) เพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาป้อนตลาดทดแทน ทำให้ราคาดังกล่าวน่าจะคงที่ไปอีกประมาณ 3 ปี

ปัจจุบันรายได้ค่าภาคหลวงลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2556  ที่เคยอยู่ในระดับ 6-6.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแหล่งขุดเจาะในประเทศไทยเริ่มไม่จูงใจผู้ประกอบการ โดยการผลิตน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.5-1.6 แสนบาร์เรล /วัน การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอยู่ที่ระดับ 3,550 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้อนาคตอาจต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นแทนการผลิตจากอ่าวไทย ประกอบกับขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ขณะที่การผลิตในแหล่งเดิมกำลังหมดอายุในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช แต่การเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เจาะอยู่ประมาณ 50-100 หลุม ในปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่ 16 หลุม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรมเชื้อเพลิงฯ จะเข้ามากำกับดูแลกิจการก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เนื่องจากจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่ขยายตัว โดยปัจจุบันไทยมีการนำเข้าแอลเอ็นจีประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ขณะที่สถานีบรรจุก๊าซรองรับได้ 5 ล้านตัน/ปี และคาดการณ์ว่าช่วงปลายแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2558-2579 (แผนพีดีพี 2015) จะมีความต้องการใช้แอลเอ็นจีเติบโตถึง20 ล้านตัน/ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เสนอแนวทางการทำงานร่วมกับคณะทำงานสานพลังประชารัฐเกี่ยวกับพลังงานชีวภาพ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาดีโซฮอล์ที่จะเป็นการส่งเสริมให้มีการนำเอาไบโอดีเซลบี 7 มาผสมกับเอทานอล การพัฒนาก๊าซอัดแท่ง (ซีบีจี) จากมันสำปะหลังใช้แทนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ในภาคขนส่ง ซึ่งแนวทางจะเป็นการกำหนดแผนพัฒนาในระยะยาว 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ รัฐได้หารือกับภาคเอกชนและคณะทำงานสานพลังประชารัฐเพื่อนำเสนอรูปแบบในการดำเนินการต่อไป นำไปสู่งานวิจัยและพัฒนาพลังงานในประเทศในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะไปช่วยการพึ่งพานำเข้าน้ำมันดิบ และใช้วัตถุดิบโดยเฉพาะจากพืชเกษตรในประเทศให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการบริษัท น้ำมันพืชปทุม ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า การศึกษาวางแผนพัฒนาดีโซฮอล์ของภาครัฐน่าจะเป็นแผนการศึกษาในระยะยาว โดยยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะกำหนดแนวทางอย่างไรแน่ โดยยอมรับว่าหากสัดส่วนในการผสมเมื่อท้ายที่สุดแล้วทำให้การใช้ไบโอดีเซล (บี100) ลดต่ำลง ก็จะกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มแน่นอน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงอุตฯขึ้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักรในรอบ 28 ปี

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ.2560 แทนกฎกระทรวงเดิมซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2532 โดยค่าธรรมเนียมใหม่เก็บเพิ่มขึ้น 20% หลังไม่ได้ปรับมาเป็นเวลา 28 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการให้บริการที่จะอนุญาตให้เอกชน เข้ามาช่วยตรวจสอบเครื่องจักร และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มแล้ว

ทั้งนี้ รายละเอียดค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร สำหรับเครื่องจักร มูลค่าเกินห้าแสนบาท คิดเครื่องละ 750 บาท ถ้าจดทะเบียนหลายเครื่อง เก็บสูงสุดไม่เกินเพดาน 12,000 บาท จากเดิมเครื่องละ 500 บาท หลายเครื่องเก็บสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนค่าจดทะเบียนการจำนอง หรือขายฝากเครื่องจักร สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท จากเดิม 100,000 บาท ค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เครื่องละ 100 บาท หากมีหลายเครื่องในคราวเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท จากเดิมคิดต่อเล่ม เล่มละ 100 บาท

"ผู้ประกอบการสามารถแปลงเครื่องจักรที่ผ่านการจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์เพื่อนำไปขอกู้เงินจากธนาคารได้ โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทุกจังหวัด หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ถ้าเอกสารครบถ้วน กระบวนการจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วันทำการเท่านั้น จะสามารถนำเอาหลักฐานไปติดต่อกับธนาคารได้ ปัจจุบันโรงงานในไทยมีเครื่องจักรถึง 10 ล้านเครื่อง แต่เพิ่งมีการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักรไปได้เพียง 9 แสนเครื่อง วงเงิน 5.8 ล้านล้านบาท ในวงเงินจำนวนนี้เป็นเครื่องจักรของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดจำนอง คิดเป็นมูลค่า 80% และของเอสเอ็มอีมูลค่าเพียง 20% ดังนั้น อยากเชิญชวนให้เอสเอ็มอีนำเครื่องจักรในโรงงานมาจดทะเบียน เพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ" นายสมชายกล่าว

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชลประทานแจงโมเดลแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 18 มี.ค.60 นายจำรัส สวนจันทร์ ชลประ ทานจังหวัดศรีสะเกษ เปิดแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม - น้ำแล้ง ของจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งระบบ โดยจัดทำเป็นแผนภูมิของลุ่มน้ำ อ่างเก็บน้ำ ห้วย - หนอง คลอง บึง ลำคลองเล็ก ลำคลองน้อย เป็นภาพถ่ายจริงทางอากาศ พร้อมกับการเดินเท้าสำรวจข้อมูล ในภาคพื้นดิน มาจัดทำเป็นแผนที่ลุ่มน้ำ ทั้งระบบของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ทราบจ้อมูลโดยระเอียด ก่อนที่จะลงมือวางแผนในการที่จะเสนอข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ของภาคส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งภาคการเกษตร ที่จะมีการวางแผนการใช้น้ำในฤดูแล้ง การป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างบมากต่อการบริหารน้ำของจังหวัดศรีสะเกษ

“ อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ของจังหวัดศรีสะเกษ จะอยู่ตามแนวชายแดน ติดกับเทือกเขาพนมดงรัก ที่กั้นเขตแดนไทย – กัมพูชา พอฝนตกน้ำก็จะไหลจากเทือกเขา จากป่าชายแดนลงสู่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 16 แห่ง จากนั้นจึงจะเกิดการบริหารจัดการน้ำ ให้ไหลมาตามลำน้ำ ลำห้วย ซึ่งหลายแห่งยังมีการตื้นเขิน ไม่มีฝายชะลอน้ำ หากน้ำมากก็จะไหลมาเร็ว อาจจะสร้างความเสียหาย นาข้าว น้ำท่วมบ้านเรือน แต่พอหมดฤดูน้ำหลาก ก็จะไม่มีน้ำไหลมา อ่างเก็บน้ำได้น้อย ผันน้ำลงมาน้อย สภาพพื้นที่ก็แห้งแล้ง จากนี้หากเราสามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่าง และสร้างอ่างเพิ่มได้ ก็จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี โมเดลที่ชลประทานร่วมกันทำขึ้นนี้ จะให้เราทราบข้อมูลทั้งระบบ ของการไหลของน้ำ เพื่อบงชี้ไปสู่การแก้ไขภัยแล้ง - น้ำท่วม”นายจำรัส กล่าว

 ขณะนี้ระบบยังไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ในปีนี้ สภาพความแห้งแล้ง ก็จะยังคงมีอยู่มากซึ่งตอนนี้จะพบว่า อ่างเก็บน้ำตามแนวชายแดน อย่างน้อย 3 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บไว้ละ 50 ของอ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้า , ห้วยชัน และหนองสิ จึงได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทา ไปเติมแต่ก็จะยังไม่ได้มาก เพราะระยะทางไกลกว่า 70 กิโลเมตร แต่ก็ต้องทำเพราะไม่เช่นนั้นประชาชนจะขาดน้ำอุปโภค – บริโภค และอยากฝากเตือนเกษตรกร ควรงดปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก ในช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมงดทำนาปรังเพิ่ม เพราะน้ำจะไม่พอในช่วงข้าวจะออกรวง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

ต้องปรับตัวหรือไม่ ให้ทันเกษตร 4.0

โดย - มนตรี บุญจรัส

โลกเราหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ ตาย เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี สลับสับเปลี่ยนกันไปตามห้วงเวลาของแต่ละสถานการณ์ แล้วมนุษย์ตัวเล็กๆ ทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร จำเป็นไหมที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วยหรือไม่

ประเทศไทยในยามนี้ถือว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ จะต้องปรับตัวจากเดิม โดยเฉพาะด้านอาชีพทางการเกษตรที่เริ่มมาตั้งแต่เกษตรกรรมหรือยุค 1.0 ที่ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ไม้สัก ยางพารา ข้าว ฯลฯ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นยุคอุตสาหกรรมเบาหรือยุค 2.0 ที่ใช้เครื่องจักรเข้ามาใช้ในการทุ่มแรงงานคน ช่วยในการผลิตสิ่งทอ  เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ และค่อยๆก้าวมาอีกขั้นที่เรียกว่าอุตสาหกรรมหนักหรือยุค 3.0 ที่ผลิตเครื่องยนต์กลไกต่างๆ เช่น รถยนต์ เหล็กกล้า อิเล็คทรอนิคส์ โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ ทำให้ประเทศไทยเราอยู่กับยุคนี้มามากกว่า 20 ปี จนเห็นได้ว่าตัวเลข GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเริ่มมีความถดถอยเพราะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีความสามารถในการผลิตและแข่งขันกับเราได้ ด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่า!!!

 ซึ่งนโยบายนี้พยายามที่จะให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมได้ก้าวไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าด้านการค้าขาย ด้านอุตสาหกรรม ด้านการเกษตร การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนับแต่นี้ไป ซึ่งจะนำไปสู่วิสัยทัศน์แห่งอนาคตก็คือ เปลี่ยนจาก 1. การเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)  2. เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3. เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4. เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง

ดังนั้นประชาชนคนไทย จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวพัฒนาสาขาอาชีพให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Added) และเรียนรู้การตลาดแบบดิจิตอล (Digital Marketing) เพื่อสร้างความแตกต่าง เช่น การผลิตพืชผักปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ทดแทนข้าว หรือพืชผักที่ปลูกด้วยสารเคมี การแปรรูปน้ำผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพ แทนที่การขายวัตถุดิบแบบเดิมๆ ที่มีราคาต่ำ ซึ่งหากไม่มีเปลี่ยนแปลงพัฒนาในอนาคตก็จะสู้กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และที่สำคัญจะต้องศึกษาหาตลาดตามโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางกระจายสินค้าจากผู้ผลิตส่งตรงถึงผู้ซื้อ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น จีพีเอส ระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัด อุณหภูมิ ความชื้น คุณภาพดิน และโดรน เพื่อการฉีดพ่นปุ๋ย ยาต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อความแม่นยำและรวดเร็ว ในการผลิตและช่วยบูรณาการให้แก่สาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2560

เศรษฐกิจตะวันออกทะยานรับEEC

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษในการสัมมนา EEC Strategy : Thailand’s Competitive Transformation ว่าการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศและเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับแนวทางไทยแลนด์ 4.0

ในปี 2560 สิ่งที่จะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือ 1.การประกาศนโยบายเมืองการบินภาคตะวันออก ที่สนามบินอู่ตะเภา รวมทั้งการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และระบบสาธารณูปโภค 2.การลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกโดยได้วางแผนให้รถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออกเชื่อมต่อได้ทั้ง 3 สนามบิน คือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ 3.เป็นประตูตะวันออกสู่เอเชีย โดยทั้ง 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง มาบตาพุด สัตหีบ) เป็นส่วนหนึ่งของ Eastern Sea Gateway 4.เป็นผู้นำอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีบริษัทชั้นนำลงทุนในพื้นที่ และ5.การพัฒนา 3 เมืองใหม่ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยองให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและเป็นมหานครแห่งอนาคต

“ภาคตะวันออกถือเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 15% ของจีดีพีดังนั้นผมเชื่อมั่นว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะเป็นการลงทุนจากภาครัฐประมาณ 20%และอีก 80% จะเป็นของภาคเอกชน ซึ่งจะมีทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ”

นายอุตตม กล่าวว่า หากพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณากฎหมายแล้วเสร็จ และคาดมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 2ของปีนี้ ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอีอีซี เพื่อดูแลประชาชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษาเป็นต้น ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนคาดจะจัดเก็บจากผู้ประกอบการ ส่วนขนาดกองทุนต้องดูรายละเอียดต่อไป

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กนอ. เตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าว 5 หมื่นไร่ ภายใน 5 ปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

รัฐอัดงบฯปี 61 หมื่นล้าน.เดินหน้า ‘อีอีซี’

            แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ สศช.ได้ประชุมหารือกับสำนักงบประมาณในการทบทวนแผนงานโครงการงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณปี 2561 เรื่อง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 พื้นที่ และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วน

          โดย สศช.ได้ นำผลการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาพิจารณาแบ่งเป็นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน วงเงิน17,299.2483 ล้านบาท ส่วนโครงการอีอีซีมีคำเสนอของบประมาณวงเงิน 11,732.7971 ล้านบาท

          ทั้งนี้คำของบประมาณทั้งสองส่วนมีการปรับเพิ่มจากวงเงินที่ได้รับการอนุมัติในปีงบประมาณ 2560 ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่วงเงินรวมประมาณ 3.3 พันล้านบาท ขณะที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกรัฐบาลจัดสรรงบประมาณในปี 2560 วงเงินรวม 6,992.67 ล้านบาท โดยคำขอฯที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วจะส่งให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาพร้อมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2651 ในการประชุม ครม.ในเดือน เม.ย.

         นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าสำนักงบฯได้รับคำของบประมาณเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการอีอีซี ในปี 2561 แล้วซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาความเหมาะสมเร่งด่วนของการใช้งบประมาณในโครงการต่างๆอีกครั้ง รวมทั้งพิจารณาทบทวนเป้าหมาย และตัวชี้วัดของโครงการให้มีความสอดคล้องกับงบประมาณ รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับการลงทุน โครงการอีอีซี เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการผลักดันซึ่งจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นลำดับแรกๆ

          “สำนักงบฯอยู่ระหว่างการพิจารณาคำของบประมาณในปี 2651 จากหน่วยงานต่างๆ ขณะนี้มีคำของบประมาณส่งเข้ามารวมเป็นวงเงินพรีซิลลิ่งกว่า 4.2 ล้านล้านบาท ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนโดยสัดส่วนของงบประมาณในการลงทุนของปี 2561 จะอยู่ที่สัดส่วน 23-23.5% สูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ที่งบฯลงทุนอยู่ที่ 22.9%”

        ส่วนภาพรวมของการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2560 ตัวเลข ณ วันที่ 10 มี.ค.การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 46.99% สูงกว่าประมาณการ 4.76% โดยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการทำสัญญาแล้วเสร็จ 62.5%

          ส่วนโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ หน่วยงานต้องส่งคืนงบประมาณให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยจะสามารถสรุปตัวเลขและวงเงินโครงการทั้งหมดที่จะต้องส่งคืนงบประมาณให้ ครม.รับทราบในวันที่ 11 เม.ย.นี้

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงเกษตรฯพร้อมรับภัยแล้ง60

     นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามมาตรการและโครงการ ภายใต้แผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60

     ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2559/60 แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/60 และแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเมื่อ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมานั้น

    กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อม รวม 6 มาตรการ 29 โครงการประกอบด้วย (1) มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งมีโครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตรกรรายย่อย ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว 8,870 ราย ใน 12 จังหวัด

    (2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด งบประมาณ 383.49 ล้านบาท เป้าหมาย 200,000 ไร่ 19 จังหวัด ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 12,513 ราย พื้นที่ 195,289 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการไถเตรียมดิน 171,690 ไร่ โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560 งบประมาณ 636.25 ล้านบาท เป้าหมาย 300,000 ไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ดำเนินการปลูกแล้ว 194,474 ไร่ เกษตรกร 40,115 ราย คิดเป็น 64.82%

   (3) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โครงการก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน งบประมาณ 125.92 ล้านบาท เป้าหมาย 113 แห่ง 33 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 57 แห่ง 20 จังหวัด คิดเป็น 59.29 % โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน งบประมาณ 752.40 ล้านบาท เป้าหมาย 44,000 บ่อ ใน 60 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 34,867 บ่อ คิดเป็น 79.25% อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9,133 บ่อ

    (4) มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย โครงการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร กิจกรรมหน่วยบริการชาวนาแบบเคลื่อนที่ งบประมาณ 8.30 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯแล้ว 51 ศูนย์ อบรมเกษตรกรไปแล้ว 2,091 ราย โครงการสำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่เพื่อเตรียมสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง งบประมาณ 2.55 ลบ. เป้าหมาย 51 ตัน ขณะนี้ดำเนินการสำรองเมล็ดพันธุ์แล้ว 40 ตัน คิดเป็น 78.43%

    (5) มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ (6) มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

              นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัว ป้องกัน และลดผลกระทบ

      จากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ในส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนสถานการณ์ภัยแล้งจะมาถึงอีกด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

จีนสนอีอีซีเพิ่มโอกาสการค้ายุค 4.0

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเปราะบางเช่นนี้ จะหวังพึ่งการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอย่างเดียวคงไม่ได้ ทำให้หลายๆ ประเทศในโลกตอนนี้เริ่มหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศและภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

ที่สำคัญ ในอนาคตภูมิภาคอาเซียนจะทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นมาก และไทยก็เป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิดและมีศักยภาพพร้อมเป็นศูนย์กลางได้

หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา "มองหาอนาคตยุค 4.0" ว่า รัฐบาลไทยตั้งใจที่จะมุ่งมั่นส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโต โดยผ่านระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มาช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยก้าวสู่ยุค 4.0 ได้ ทำให้จีนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอนาคตที่สดใส สอดคล้องกับนโยบาย 1 Belt 1 Road และ เมด อิน ไชน่าของจีนที่ต้องการขยายลงมาเชื่อมกับภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น

ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ประเทศกำลังพัฒนากำลังเจอการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างจีนและไทยที่จะเจอแรงกดดันมาก เพราะนโยบายที่มีอยู่ในภาวะคอขวด ซึ่งต้องระวังไม่ให้ตกกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศก็ส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

"จีนได้ส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งการลงทุนรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การลงทุนเคเบิลใยแก้วและเคเบิลนำแสง เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จีนจะมีกานำเข้าสินค้าจากทั่วโลกรวม 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดึงการลงทุนให้เกิดขึ้น 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออก 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 700 ล้านคน" หนิง ฟู่ขุย กล่าว

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของจีนในปีที่ผ่านมา ยังสามารถเติบโตเฉลี่ยที่ 6-7% หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลกนั้น ส่งผลให้จีนเป็น หัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเชื่อมั่นว่า หากไทยและจีนร่วมมือกัน จะนำพาโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่เข้ามายังภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงปรับโครงสร้าง และจะเป็นแบบนี้ไปอีก 3-4 ปี จึงมั่นใจว่า อาเซียนจะเป็นทางเลือกใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า และอาเซียนก็จะเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย อาเซียนในวันนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนทางกายภาพที่สำคัญ โดยเฉพาะถนนหนทางที่จะเชื่อมจากจีนลงมา เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ เพราะจะเป็นประตูการค้าจากจีนตอนใต้มายังไทย ก่อตัวกลายเป็นแลนด์บริดจ์ที่สำคัญของภูมิภาค

"พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนคือ ซีแอลเอ็มวี ที่ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้กลับมาคึกคักได้อีกครั้ง เพราะสินค้าที่ตลาดกลุ่มนี้ต้องการส่วนใหญ่ 70-80% มาจากไทย ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยถนัด นี่จึงเป็นโอกาสธุรกิจครั้งสำคัญ แค่เพียงเปิดตา เปิดใจ ก็จะเห็น" กอบศักดิ์ กล่าว

การที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงเศรษฐกิจนี้ จึงต้องต่อให้ติดและ ไม่ควรพลาดโอกาสครั้งสำคัญนี้ไป

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

เงินบาทกลับมาแข็งค่า หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

 “เงินบาทกลับมาแข็งค่า ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลหลังการประชุมเฟด โดยแม้เฟดจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 0.75-1.00% เนื่องจาก dot plot ชุดใหม่ยังคงบ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับขึ้นรวม 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นภาพที่ทำให้ตลาด/นักลงทุนบางส่วนที่รอสัญญาณคุมเข้มมากขึ้นกว่าเดิม ผิดหวัง

สำหรับในวันศุกร์ (17 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.80-35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณเกี่ยวกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. นอกจากนี้ จุดสนใจของตลาดอาจรวมไปถึงตัวเลขเงินเฟ้อของอังกฤษ และดัชนี PMI เดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้น หลังเฟดส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความกังวลปัจจัยการเมืองในยุโรปที่คลายตัวลง โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,560.98 จุด เพิ่มขึ้น 1.37% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.67% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 47,156.40 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 591.47 จุด เพิ่มขึ้น 0.77% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงในวันจันทร์ ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มการเงิน ก่อนที่จะฟื้นตัวในวันอังคารจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร (รับข่าวโครงการวางเครื่อง EDC) ประกอบกับมีการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเช่าซื้อ แต่ดัชนีปรับลดลงอีกครั้งในวันพุธ จากแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มเช่าซื้ออีกครั้ง จากนั้น ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ รับมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟด รวมทั้งแรงหนุนจากผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ที่พรรครัฐบาลเดิมสามารถเอาชนะพรรคฝ่ายขวาที่ต่อต้านยุโรปไปได้อย่างท่วมท้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมทั้งถ้อยแถลงของประธานเฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ดัชนี PMI ในยูโรโซน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

รมว.อุตฯชี้ปรับตัวสู่อีอีซี “ช้ากว่านี้เราสู้ไม่ได้แล้ว”

รมว.อุตสาหกรรมย้ำทิศทางพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เน้นเทคโนโลยียุคดิจิทัล นำพาไทยสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เพราะถ้าไม่รีบปรับตัววันนี้ ประเทศไทยก็จะสู้ไม่ได้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อีอีซี เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียบง่าย แต่มีความละเอียดสูง เพื่อผลในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งมีหลายประเทศที่ขับเคลื่อนในรูปแบบนี้

 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวข้างต้นในการเปิดเวทีสัมมนา EEC Strategy :Thailand’s Competitive Transformation จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า ประเทศไทยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ กำลังคน คนไทยจะต้องสร้างความพร้อมให้ก้าวทันโลกให้มีขีดความสามารถก้าวทันในทุกด้าน เพราะคนเป็นเรื่องใหญ่ต้องเชื่อมโยงระบบการศึกษา ด้านวิสาหกิจ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดแนวปฏิบัติไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะต้องไปยุค 4.0 แต่ขอให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เน้นนวัตกรรมเป็นหลักสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ส่วนเรื่องเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่นำมาพัฒนาต่อยอด ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรคใหม่ๆ และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องเร่งพัฒนาขึ้นมา ทั้งหลายเหล่านี้จะต้องบ่มเพาะผู้ประกอบการให้ก้าวกระโดดสู่เทคโนโลยีดิจิทัล

“เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็จะมีรายอื่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้นจนสู้ไม่ได้” นายอุตตมกล่าว และย้ำว่า  จะต้องพัฒนาผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งแล้วเพื่อไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ใช้สมาร์ทเทคโนโลยีแข่งขันในตลาดโลก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างทางกายภาพในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถนนใหม่ ท่าอากาศยานที่ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอากาศยาน ท่าเรือ เป็นต้น โดยโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า รัฐบาลหวังให้อีอีซีเป็นสปริงบอร์ดขับเคลื่อนการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ประเทศไทยขาดเรื่องนี้พอสมควร ขณะที่ประเทศอื่นๆได้ลงทุนนำหน้าไปแล้ว และก้าวหน้าไปเร็วมาก

“โครงการอีอีซี ไม่ได้เกิดขึ้นจากศูนย์ เพราะมีอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ได้เริ่มมา 30 ปีแล้ว แต่หลังจากนั้นเราไม่ได้ปรับเปลี่ยนประเทศมานาน ดังนั้น อีอีซี จึงอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี และมีโครงข่ายคมนาคมที่ดี ทำให้อีอีซีมีศักยภาพในการพัฒนาสูง รวมทั้งศักยภาพที่ตั้งเชื่อมโยงไปยังระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก และนอกประเทศ ไปสู่ตลาดต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ต่างชาติมากมายมีความเชื่อมั่น ทำให้อีอีซีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว”

สำหรับยุทธศาสตร์ในการสร้างอีอีซี จะพัฒนาใน 4 กลุ่มใหญ่ที่เป็นปริงบอร์ดก้าวกระโดดทางการลงทุนครั้งใหญ่ของไทย ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐาน 2.อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.การท่องเที่ยว และ 4.เมืองใหม่และชุมชนใหม่ ซึ่งอีอีซีไม่ใช่แค่สร้างอุตสาหกรรม แต่จะสร้างเมืองใหม่คู่กันไปให้สมบูรณ์ในมิติเชิงพื้นที่ เมื่อเกิดโครงการอีอีซีแล้วพื้นที่ต้องได้ประโยชน์ คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม มีองค์ประกอบของเมืองและสิ่งแวดล้อมที่

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

เสริมแนวรุก การใช้อำนาจนายทะเบียนฯกำกับ-ส่งเสริม-ดูแลสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าสร้างแนวรุก ด้วยการกำหนดกรอบการใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แนะการรับจดทะเบียนสหกรณ์ต้องพิจารณาด้วยความเหมาะสม เพราะเป็นกลไกสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงการใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรว่า อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมาย มีอำนาจในการดูแลสหกรณ์และเกษตรกรให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ข้อบังคับและคำสั่งต่างๆ ที่ว่าด้วยการสหกรณ์ โดยเรื่องของการใช้อำนาจ การปฏิบัติตามข้อบังคับ การปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งที่กรมออกมากำกับดูแลสหกรณ์และเกษตรกร จะช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องและส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินงานของสหกรณ์ที่ผ่านมานั้นมีความแตกต่างจากการดำเนินงานของสหกรณ์สมัยนี้  ทั้งเรื่องของความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศและสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่หมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาในกลไกของสหกรณ์ ทุกวันนี้สหกรณ์ถูกมองว่า เป็นสถานที่ในการหาประโยชน์  เป็นสถานที่ของการสร้างกำไร เป็นสถานที่ของการหนีภาษี เป็นสถานที่ของการฟอกเงิน จึงมีแต่จะเข้ามาดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อเข้ามาช่วยดูแล แก้ปัญหาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ การใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ของผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ ๑, พื้นที่ ๒ และสหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนสหกรณ์ ในการรับจดทะเบียนสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ ควบสหกรณ์ แยกสหกรณ์และเปลี่ยนฐานะกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์ เรื่องของการให้ความเห็นชอบ ระเบียบรับฝากเงิน ระเบียบการให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่น วงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกันและการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งต้องพิจารณาการใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความเหมาะสมและเกิดความสมดุล เช่นเดียวกับ การแต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์และพิจารณารายงานการตรวจสอบ อีกทั้งมีอำนาจในการสั่งเลิก การชำระบัญชี การกำกับผู้ชำระบัญชีและการถอนชื่อสหกรณ์ ซึ่งกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์มีความสำคัญมาก ในการทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎเกณฑ์

ขณะที่ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ ในการ สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคล เช่นเดียวกับที่แต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวและการแต่งตั้งสมาชิกสหกรณ์ เป็นกรรมการดำเนินการแทนตำแหน่งที่ว่างลง รวมถึงการเข้าไปดูแลช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้การใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ ก้าวพ้นอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในเรื่องของสมาชิกสมทบว่าอายุของสมาชิกสมทบเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือไม่และการถือหุ้นเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายกำหนดหรือไม่

ในส่วนของปัญหาการใช้อำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวไว้ ๔ ประเด็นสำคัญๆว่า ๑.จากการรับจดทะเบียนสหกรณ์ เช่น การวิเคราะห์แผนดำเนินธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ การตรวจสอบคุณสมบัติ อาชีพและอายุของสมาชิก การถือหุ้นของสมาชิกเกินกว่าหนึ่งในห้าของมูลค่าหุ้นทั้งหมดหรือไม่ ๒.การรับจดทะเบียนข้อบังคับ ได้แก่ การรายงานต่อนายทะเบียนสหกรณ์เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การตรวจสอบเนื้อหาข้อบังคับ การกำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการ การกำหนดคุณสมบัติสมาชิกและสมาชิกสมทบและการใช้ดุลพินิจในการไม่รับจดทะเบียน เช่นเดียวกับ ๓.การตรวจการสหกรณ์ ทั้งในส่วนของความสำคัญกับภารกิจการตรวจสหกรณ์ การทำงานร่วมกันเป็นทีมสร้างการรับรู้ร่วมกัน การวางแผนในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการรวบรวมเอกสารหลักฐาน เพื่อใช้ในการตรวจสอบและออกคำสั่ง ซึ่งทางสหกรณ์จังหวัดต้องเป็นกลไกสำคัญในการดูแลความเรียบร้อยของพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบอยู่ ทั้งนี้จึงต้องมีความรู้รอบด้าน ทั้งด้านงานสหกรณ์และงานด้านนโยบายและ ๔.การออกคำสั่ง รูปแบบ ความชัดเจนของการออกคำสั่งให้ใช้ตามที่กำหนด ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่นำมาอ้าง บางครั้งขาดความชัดเจนหรือมีการออกคำสั่งบ่อยครั้งและใช้มาตราเดิม และปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การออกคำสั่งนั้นมีความเป็นได้น้อย ในการปฏิบัติตามคำสั่งได้ทันหรือออกคำสั่งไม่ทันต่อเหตุการณ์นั่นเอง

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายการปฏิบัติงานอย่างมีหลักการด้วยว่า ขอเน้นย้ำว่ารองนายทะเบียนสหกรณ์ต้องรอบรู้ ต้องทันต่อเหตุการณ์ ต้องรอบคอบ ต้องถูกต้อง แม่นยำในการออกคำสั่ง ตรงประเด็นในการตอบปัญหา สำคัญที่สุดคือยุติธรรมกับทุกฝ่าย ใครผิดก็ว่าตามผิด ดูแลคนให้ทั่วถึงและต้องยุติธรรม ในการนำมาซึ่งการยอมรับนับถือให้ได้ ทำให้ประชาชนเชื่อและศรัทธา อย่าไปอยู่กับข้างใดข้างหนึ่ง จนลืมความเป็นตัวตนของการเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ อย่าลืมตัวตนของการเป็นข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว ทั้ง ๒ รัชกาลคือ ร.๙ และ ร.๑๐ เพราะท่านให้ความห่วงใยทุกคน จึงอยากขอฝากไว้กับทุกท่านด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะคุ้มครองให้กับท่านในทุกๆ เรื่องและเป็นลมใต้ปีกที่หนุนท่านให้เจริญเติบโตอย่างสวยงาม

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

รมว.อุตฯชี้ปรับตัวสู่อีอีซี “ช้ากว่านี้เราสู้ไม่ได้แล้ว”

โดย -โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ

รมว.อุตสาหกรรมย้ำทิศทางพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เน้นเทคโนโลยียุคดิจิทัล นำพาไทยสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เพราะถ้าไม่รีบปรับตัววันนี้ ประเทศไทยก็จะสู้ไม่ได้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อีอีซี เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียบง่าย แต่มีความละเอียดสูง เพื่อผลในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งมีหลายประเทศที่ขับเคลื่อนในรูปแบบนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวข้างต้นในการเปิดเวทีสัมมนา EEC Strategy :Thailand’s Competitive Transformation จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า ประเทศไทยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ กำลังคน คนไทยจะต้องสร้างความพร้อมให้ก้าวทันโลกให้มีขีดความสามารถก้าวทันในทุกด้าน เพราะคนเป็นเรื่องใหญ่ต้องเชื่อมโยงระบบการศึกษา ด้านวิสาหกิจ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดแนวปฏิบัติไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะต้องไปยุค 4.0 แต่ขอให้ก้าวไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ เน้นนวัตกรรมเป็นหลักสำคัญในการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ส่วนเรื่องเทคโนโลยี อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และนำมาใช้อย่างกว้างขวาง โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่นำมาพัฒนาต่อยอด ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรคใหม่ๆ และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องเร่งพัฒนาขึ้นมา ทั้งหลายเหล่านี้จะต้องบ่มเพาะผู้ประกอบการให้ก้าวกระโดดสู่เทคโนโลยีดิจิทัล

“เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็จะมีรายอื่นเข้ามาแข่งขันมากขึ้นจนสู้ไม่ได้” นายอุตตมกล่าว และย้ำว่า  จะต้องพัฒนาผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งแล้วเพื่อไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ใช้สมาร์ทเทคโนโลยีแข่งขันในตลาดโลก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโครงสร้างทางกายภาพในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถนนใหม่ ท่าอากาศยานที่ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอากาศยาน ท่าเรือ เป็นต้น โดยโครงสร้างต่างๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกว่า รัฐบาลหวังให้อีอีซีเป็นสปริงบอร์ดขับเคลื่อนการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ประเทศไทยขาดเรื่องนี้พอสมควร ขณะที่ประเทศอื่นๆได้ลงทุนนำหน้าไปแล้ว และก้าวหน้าไปเร็วมาก

“โครงการอีอีซี ไม่ได้เกิดขึ้นจากศูนย์ เพราะมีอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ได้เริ่มมา 30 ปีแล้ว แต่หลังจากนั้นเราไม่ได้ปรับเปลี่ยนประเทศมานาน ดังนั้น อีอีซี จึงอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี และมีโครงข่ายคมนาคมที่ดี ทำให้อีอีซีมีศักยภาพในการพัฒนาสูง รวมทั้งศักยภาพที่ตั้งเชื่อมโยงไปยังระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก และนอกประเทศ ไปสู่ตลาดต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ต่างชาติมากมายมีความเชื่อมั่น ทำให้อีอีซีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว”

สำหรับยุทธศาสตร์ในการสร้างอีอีซี จะพัฒนาใน 4 กลุ่มใหญ่ที่เป็นปริงบอร์ดก้าวกระโดดทางการลงทุนครั้งใหญ่ของไทย ได้แก่ 1.โครงสร้างพื้นฐาน 2.อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3.การท่องเที่ยว และ 4.เมืองใหม่และชุมชนใหม่ ซึ่งอีอีซีไม่ใช่แค่สร้างอุตสาหกรรม แต่จะสร้างเมืองใหม่คู่กันไปให้สมบูรณ์ในมิติเชิงพื้นที่ เมื่อเกิดโครงการอีอีซีแล้วพื้นที่ต้องได้ประโยชน์ คนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วม มีองค์ประกอบของเมืองและสิ่งแวดล้อมที่ดี

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ เดินหน้าสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ 34 แห่งเสร็จในปี60

กรมชลประทานขานรับนโยบายลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างอ่างเก็บน้ำและแก้มลิง 34 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรให้ทั่วถึงและเพียงพอ เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 ถึงแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานจึงขานรับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรให้ทั่วถึงและเพียงพอ โดยทำการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน

 ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณ 2,736.94 ล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและโครงการแก้มลิงรวม 34 แห่ง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำจำนวน 10 แห่ง และโครงการแก้มลิง 24 แห่ง หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ 419.88 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้กับประชาชนมากกว่า 19,600 ครัวเรือน

“จากอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 10 แห่ง ขณะนี้กรมชลประทานได้สร้างแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโพง (ตอนบน) จ.ยโสธร มีความจุ 12.40 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,200 ครัวเรือน และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่นึงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำปาง มีความจุ 9.20 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,048 ครัวเรือน ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งกำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำ เพื่อให้ทันต่อการรับมือกับฤดูแล้งนี้” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

พด.เคลื่อน‘5ประสานทฤษฎีใหม่ l เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาที่ดินให้เกษตรกร

นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่พระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยส่งเสริมให้เกษตรกรจาก 882 อำเภอ 70,000 ราย น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่การเกษตร มุ่งหวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อันเกิดจากการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน สร้างอาชีพอย่างเหมาะสมกับทรัพยากรและปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเดือนมีนาคม 2560 จะเริ่มต้นจากเกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก จำนวน 21,000 ราย ก่อนนั้น

ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยการให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษา ติดตามต่อเนื่อง ดำเนินการสาธิตการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมในการเพาะปลูกพืช พร้อมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้กับเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนในการผลิต สนับสนุนปัจจัยการผลิต การทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานจากสารเร่ง พด.1 ให้เกษตรกรสามารถผลิตเองและใช้เองในพื้นที่การเกษตร การทำน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 การทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืชจากพด.7 พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการผลิต ได้แก่ ถังหมัก กากน้ำตาล รวมถึงการฝึกอบรมวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพโดยใช้เศษวัสดุต่างๆ ในพื้นที่ การส่งเสริมการปรับปรุงพื้นที่ดินกรด ดินเปรี้ยว โดยวัสดุปูนเพื่อการเกษตร (โดโลไมท์) ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อช่วยปรับสภาพความเป็นกรดของดิน และให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน ร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินกิจกรรมการผลิตที่ง่ายและหลากหลาย เน้นกิจกรรมที่เกิดการเกื้อกูลกันตามศักยภาพฐานะ ตลอดทั้งวางแผนการตลาด ติดตามเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ ประเมินผลความสำเร็จ เพื่อนำไปปรับแผนปฏิบัติงานให้เหมาะสมในเกษตรกรแต่ละราย ตลอดทั้งประเมินความยั่งยืน เพื่อปรับแนวปฏิบัติให้เกษตรกรสามารถขับเคลื่อนไปด้วยตนเองได้ในระยะยาวต่อไป โดยมุ่งมั่นที่จะบูรณาการดำเนินงานร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

บาทเปิด 34.94/97 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่าต่อ

เงินบาทเปิดตลาด 34.94/97 บาทต่อดอลล่าร์ แนวโน้มแข็งค่าต่อจากแรงขายดอลล์ มองกรอบวันนี้ 34.90-35.00

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.94/97 บาท/ดอลลาร์  แข็งค่าจากช่วงเย็นวานที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.04 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเช้านี้ปรับตัวแข็งค่าจากในช่วงเย็นวาน เนื่องจากมีแรงขายดอลลาร์ต่อเนื่อง และคาดว่าวันนี้เงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ ส่วนปัจจัยที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้คงมีไม่มาก เพราะปัจจัยสำคัญของสัปดาห์นี้คือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐได้ทราบผลไปแล้ว "วันนี้บาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ แต่การเคลื่อนไหวคงจะไม่มาก ตลาดอาจจะเงียบๆ เพราะปัจจัยสำคัญของสัปดาห์นี้ก็ผ่านไปหมดแล้ว ที่เหลือเป็นเพียงการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจปกติ" นักบริหารเงิน ระบุนัก

บริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.90-35.00 บาท/ดอลลาร์

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

เลือกตั้งหอการค้าไทย "กลินท์" จ่อขึ้นประธานแทน "อิสระ"

ในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าไทย ครั้งที่ 51 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2560 นอกจากเป็นการประชุมประจำปีแล้ว ที่ประชุมยังพิจารณาวาระสำคัญในการคัดเลือกประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคนใหม่ คนที่ 24 เพื่อก้าวขึ้นมารับตำแหน่งแทน "อิสระ ว่องกุศลกิจ" ประธานคนที่ 23 ที่ครบวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (2 วาระ) นับตั้งแต่ปี 2556-2557

สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่มีกระแสหวือหวามากนัก เพราะมี "ตัวเก็งหนึ่งเดียว" ที่จะเข้ามารับตำแหน่งรออยู่แล้ว คือ "กลินท์ สารสิน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเคยเป็นกรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยปี 2556-2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการจะขึ้นมารับไม้ต่อ

4 ปีการทำงานของ "อิสระ"

ในช่วง 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง "อิสระ ว่องกุศลกิจ" ได้ขับเคลื่อนการบริหารงานหอการค้าใน 5 พันธกิจ ได้แก่ 1.การสร้างสมององค์ความรู้ และแบ่งปันสู่ทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ 2.การพัฒนา เพิ่มพูนทักษะในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) 3.การพัฒนาเครือข่ายและความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ในทุกระดับเพื่อการพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน 4.การเสริมสร้างธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และ 5.การพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม

ซึ่งในเวลานั้น "อิสระ" ได้กล่าวภายหลังการรับตำแหน่งว่า จะสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต ดังนั้น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ คือ เป็นสถาบันหลักทางธุรกิจที่มีองค์ความรู้ มีเครือข่าย และความร่วมมือที่เข้มแข็งที่สุดให้ประเทศไทย มีศักยภาพและแสวงหาโอกาส ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถผลักดันองค์กรทำหน้าที่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี

ส่งผลให้การประชุมใหญ่สามัญสมาชิกหอการค้าไทยครั้งที่ 49 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "อิสระ" ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอีก 1 วาระ ระหว่างปี 2558-2559 และแต่งตั้งให้ "กลินท์" ขึ้นเป็นรองประธาน

พันธกิจหนุนพัฒนา SMEs

ในการทำงานช่วงวาระที่ 2 "อิสระ" มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีศักยภาพและแสวงหาโอกาสให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ SMEs Onsite Visit, โครงการ SMEs Mentor, โครงการ SMEs Cooperate with Others & Business Matching, โครงการ SMEs Pro-active, โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อรองรับ AEC (Big Brother 50), โครงการ Innovative Packaging for SMEs เปิดศูนย์ Thailand SMEs Center, จัดอบรมกลุ่ม Startup และ Rising Star

การสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce), โครงการอบรมหลักสูตร นักธุรกิจรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง รุ่นที่ 1 & 2 (SEED 1 & SEED 2), จัดอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YECBK Season 1 "The Opportunity" เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันโครงการ IDE (Innovation Driven Entrepreneur) นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดวาง Road Map และขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและอาหาร และพลังงานทดแทน "ยุทธศาสตร์ข้าวและชาวนาไทย" ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย และปาล์ม เป็นต้น

สานต่อประชารัฐ D6

ไม่เพียงเท่านั้น "อิสระ" ยังมีบทบาทในฐานะประธานคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ (D6) ภายใต้ "โครงการสานพลังประชารัฐ" ที่เป็นการทำงานรวมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากลุ่มพืชเศรษฐกิจ สัตว์บกขนาดใหญ่ สัตว์บกขนาดเล็ก สัตว์น้ำ และสินค้าเกษตรสร้างรายได้เร็ว ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่า รายได้ให้กับสินค้าเกษตรของเกษตรกร โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาและส่งเสริม

นอกจากนี้ ยังเป็นหัวหน้าคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E 6) โดยที่หอการค้าไทยร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้คณะทำงานประชารัฐเพื่อแก้ไขและพัฒนาสังคม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตใน 5 ด้าน คือ 1.จ้างงานคนพิการ 2.จ้างงานผู้สูงอายุ 3.การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.พัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศเพื่อรองรับผู้สูงอายุและคนพิการ 5.ความปลอดภัยบนท้องถนนด้วย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่า "กลินท์" ตัวเก็งหนึ่งเดียวที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ จะรับไม้ต่อหรือทำหน้าที่ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยไปในทิศทางใด ท่ามกลางกระแสความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง และการเปลี่ยนแปลงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการสานต่อ "โครงการสานพลังประชารัฐ" ด้านต่าง ๆ ที่ "อิสระ" จุดประกายไว้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 16 มีนาคม 2560

ฝนหลวงระดมช่วยภัยแล้งอีสานล่างหลังน้ำในเขื่อนน้อยกว่า30%

กรมฝนหลวงปฏิบัติการช่วยภัยแล้งในภาคอีสานตอนล่าง หลังน้ำในเขื่อนน้อยกว่า 30%

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมฝนหลวงฯเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เนื่องจากพบว่าในอ่งเก็บน้ำสำคัญหลายเขื่อนมีปริมาณน้ำน้อยกว่า30%

ดังนั้นกรมจึงได้ปรับแผนให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.ลพบุรี ประสานงานกับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จ.บุรีรัมย์ เน้นการปฏิบัติการ ฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บของเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าว

ซึ่งผลการปฏิบัติงานพบว่า มีฝนตกในเขตพื้นที่จ.นครสวรรค์ ลพบุรี เพชรบูรณ์ สระบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และนครราชสีมา ส่งผลให้มีปริมาณน้าไหลเข้าอ่างสะสมรวม 4 เขื่อน จำนวน 13.99 ล้านลบ.ม

โดยข้อมูลจากกรมชลประทานรายงานปริมาณน้ำว่า เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำ 23% เขื่อนลำพระเพลิง 42% เขื่อนมูลบน 40% และเขื่อนลำแซะ 34%เบื้องต้นยังคงมีปริมาณน้ำน้อยต่อความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่มีความเสี่ยงในช่วงฤดูแล้ง

"รมว.เกษตรฯให้นโยบายว่า การปฏิบัติการจะต้องไม่กระทบต่อผลผลิตของเกษตรขอให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯโดยกรมฝนหลวงฯจะยังคงปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และเติมน้ำ ในเขื่อนที่สำคัญของประเทศ" อธิบดีกรมฝนหลวงฯกล่าว

ทั้งนี้ ขณะนี้ได้ขึ้นปฎิบัติการฝนหลวงครบทุก 5 ศูนย์ 9 หน่วยโดยหน่วยฝนหลวง จ.อุดรธานี เปิดหน่วยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. นี้ ทางกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบีที 1 ลำ และ เอยู23 จำนวน2 ลำมาสนับสนุนเพื่อช่วยทำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้เกษตรกร 29 อำเภอ 15 จ.ร้องขอฝนหลวงช่วยพื้นที่เกษตร เช่น จ.นครราชสีมา เกษตรกรไร่ข้าวโพด จ.สระแก้ว ที่ประกาศเป็นเขตภัยแล้ง ได้เร่งทำฝนหลวงมีปริมาณฝนตกเล็กน้อยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 16 มีนาคม 2560

ดันโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีใน3เดือน  

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาข้อมูลและเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการอีอีซี โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสำคัญที่ต้องใช้รูปแบบการลงทุนลักษณะ ร่วมภาครัฐและเอกชน หรือพีพีพี ซุปเปอร์ฟาสแทร็คให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยมีนาย กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งโครงการแรกที่จะผลักดันออกมาคือ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุนรวม 200,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี

          "เดิมโครงการที่เป็นพีพีพีฟาสแทร็ค จะมีระยะเวลาทำงาน 9 เดือน แต่ในโครงการสร้างพื้นฐานทั้งหมดของอีอีซี จะทำให้เร็วกว่านั้น คือต้องทำให้เสร็จใน 3 เดือน ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดที่ตั้งมานี้จะทำหน้าที่ดูแล และคัดโครงการสำคัญของอีอีซีมาทำให้สำเร็จก่อน เพื่อจะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ มีความพร้อมและดำเนินการให้เสร็จอย่างรวดเร็วมารองรับการลงทุนของเอกชน โดยเฉพาะใน 5 โครงการหลักที่จะเริ่มก่อนในระยะแรก ทั้งสนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง อุตสาหกรรมใหม่ และการพัฒนาเมืองใหม่"

          ทั้งนี้เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ คนพ.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 5 เม.ย.นี้

          อย่างไรก็ตามที่ประชุมจะหารือถึงแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาก่อนเป็นลำดับแรก โดยจะพิจารณาการใช้งบประมาณในปี 62 ของโครงการ วงเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท มาปรับใช้ในโครงการก่อน ซึ่งตามแผนจะมีการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิมที่รับได้ปีละ 3 ล้านคน เป็นปีละ 15 ล้านคน

          สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้น ในภาพรวมจะมีวงเงินประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก มีระยะเวลาการพัฒนารวม 5 ปี ตั้งแต่ปี 60-64 โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นตัวเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานอื่นเข้ามาประกอบ ทั้งรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง รถไฟทางคู่ การก่อสร้างถนน และการก่อสร้างท่าเรือ ซึ่งหากผลักดันโครงการดังกล่าวให้สำเร็จ โดยจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ได้มากขึ้น

          ขณะเดียวกันนอกจากการพัฒนารันเวย์ใหม่แล้ว ยังมีแผนการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ แต่ล่าสุดยังไม่ได้ประเมินว่า จะใช้วงเงินในการพัฒนาเท่าใด.

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 16 มีนาคม 2560

นโยบายพลังงานต้องโปร่งใส

ตามแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้ากำหนดหลักการกระจายเชื้อเพลิง โดยการลด การพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ จากร้อยละ 64 ในปี 2557 เหลือเพียงร้อยละ 30-40 ในปี 2579 เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 15-20 ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในอนาคต ที่ที่พลังงานธรรมชาติมีปริมาณลดลงทุกปี

และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย กำหนดเป้าหมายในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้ามีกำลังผลิตรวม 19,634.4

เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 680 เมกะวัตต์ พลังน้ำขนาดเล็ก 376 เมกะวัตต์

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความสำคัญกับ การผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล มากที่สุดเพราะการผลิตไฟฟ้าด้วย แสงอาทิตย์ มีปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บและไม่สอดคล้องกับความต้องการ ประกอบกับเวลานี้มีการผลิตมากกว่าครึ่งของปริมาณที่กำหนดไว้แล้ว การพัฒนาพลังงานทดแทนจากชีวมวล โดยการไฟฟ้าได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กตามหลักการต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของ กฟผ.ซึ่งโรงไฟฟ้าเอกชนต้องไม่แพงกว่าโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.สร้างเอง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการลงทุนให้กับภาครัฐ

หลังจากที่ กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดมาตรฐานการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยปรับเปลี่ยนอัตราค่าไฟฟ้าจากรูปแบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้ามาเป็นรูปแบบ ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าหมุนเวียน

การประชุม กพช.เมื่อปี 2557 มีมติอนุมัติให้การผลิตพลังไฟฟ้าจากชีวมวล รายที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผู้ซื้อขายไฟฟ้าผูกพันกับภาครัฐไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบ สามารถที่จะเลือกรูปแบบค่าไฟฟ้าแบบใดแบบหนึ่งได้ แต่ไม่ให้สิทธิรายที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ต่อมาเมื่อปี 2559 กพช.ได้อนุมัติให้สามารถเลือกรูปแบบค่าไฟ ได้ทั้งที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้วและยังไม่ได้จ่ายไฟเข้าระบบในอัตราเดียวกัน แต่มีการหักอายุสัญญาตามระยะเวลาที่ได้ส่งไฟเข้าระบบไปแล้ว ปรากฏว่าเกิดผลกระทบขึ้นทันที เช่น การผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่ยังไม่จ่ายไฟเข้าระบบที่ได้รับการแก้ไขสิทธิเป็นรูปแบบพิเศษเริ่มส่งไฟเข้าระบบอัตราค่าไฟในอัตรา 4.54 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ เมื่อมีการแก้ไขระเบียบใหม่แล้วทำให้วัตถุดิบ เช่นกากอ้อย แกลบ ทะลายปาล์มมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากมีการแข่งขันสูง ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบมากขึ้นในขณะที่ราคาไฟฟ้าจากชีวมวลของผู้ผลิตรายเล็กอยู่ที่ 3.00-3.50 บาท ต่อหน่วยเท่านั้น

จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าซึ่งทาง กพช.ต้องชี้แจงเรื่องของความไม่เท่าเทียมดังกล่าวและควรจะได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกันเพราะต้องซื้อเชื้อเพลิงในราคาเดียวกันและการอ้างเหตุผลที่ไม่ให้อัตราค่าไฟเดียวกันเนื่องจากมีขนาดที่ต่างกันจึงไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง กพช.จะต้องโปร่งใส และเป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง.

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 16 มีนาคม 2560

อาเซียนนำระบบทรัพย์สินทางปัญญาดันธุรกิจสู่ตลาดโลก

รร.ดิเอทัส 15 มี.ค. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์เผยวิสัยทัศน์ก้าวต่อไป  หลังครบรอบ 50 ปีอาเซียน  มุ่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา  เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนประเทศสู่นวัตกรรมด้วยวิสัยทัศน์ 20 ปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา “50 ปีอาเซียนกับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ”  โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาอาเซียน และได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อปรับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจการค้าในเชิงรุก พร้อมบุกตลาดต่างประเทศ โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเข้าใจถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้บริบทการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0

อย่างไรก็ตาม อาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและขยายตัวต่อเนื่อง ความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภครวมทั้งการลงทุนจากประเทศต่าง ๆ นั้นยังมีอยู่อีกมากการดำเนินธุรกิจในตลาดอาเซียน โดยตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดหลักของไทย  ปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม และยังมีแนวโน้นที่จะเติบโตในตลาดเหล่านี้อีกมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวแม้ว่าจะส่งออกในตลาดอาเซียนได้มากขึ้นและอย่าไปหวังตลาดสหรัฐและยุโรปมากเกินไป และเห็นว่าอย่าเน้นการส่งออกอย่างเดียว โดยจะต้องเน้นทั้งการเข้าไปลงทุนและการเสริมสร้างเป็นพันธมิตรด้านการค้าในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

ทั้งนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเฉพาะการยื่นจดเครื่องหมายการค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะละเลยไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าในภายกรอบอาเซียนจะใช้เวลา 9-16 เดือน เนื่องจากมีขั้นตอนในการตรวจเช็คข้อมูลว่าเครื่องหมายการค้าซ้ำซ้อนกันหรือไม่  จึงต้องใช้เวลานาน  แต่เพื่อให้มาตรฐานการยื่นจดเครื่องหมายการค้าในกลุ่มอาเซียนที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ไทยอยู่ระหว่างปรับลดขั้นตอนจาก 9-12 เดือนให้เหลือเพียง 9 เดือนได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศในอาเซียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้าโดยใช้เวลาเพียง 9 เดือน คือ ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน 2016-2025 (ASEAN IPR Action Plan 2016-2025) ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการ เพิ่มประสิทธิภาพของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของแต่ละประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับภูมิภาค  2.พัฒนาระบบและเครือข่ายทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียนให้สนับสนุน AEC 3.พัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนให้ครอบคลุมในวงกว้างและ 4.สร้างสินทรัพย์โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทั้งนี้  ที่ผ่านมาอาเซียนมีการจัดตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน หรือ ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation หรือ AWGIPC เป็นเวทีการประชุมหารือระหว่างระดับอธิบดี  สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน พบกันปีละ 2-3 ครั้ง โดยความสำเร็จของการดำเนินงานของ AWGIPC ที่ผ่านมา เช่น จัดทำโครงการ ASPEC หรือโครงการแลกเปลี่ยนผลการตรวจสอบสิทธิบัตรของอาเซียน โครงการจัดทำฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าของอาเซียนเพื่อประโยชน์ ในการสืบค้นเครื่องหมายการค้า ที่มีการจดทะเบียนไว้ในประเทศสมาชิกอาเซียน และการผลักดันให้สมาชิกอาเซียนเข้าเป็นภาคี     ความตกลงระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เช่น พิธีสารมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

​นอกจากนี้ การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีประสิทธิภาพถือเป็นวาระที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา หรือ คทป. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาด้านต่าง ๆ ซึ่ง คปท.เห็นชอบแผนที่นำทาง (Roadmap) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย ระยะ 20 ปี    เพื่อปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1.การสร้างสรรค์ (Creation) 2. การคุ้มครอง (Protection) 3.การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) 4.การบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) 5.การสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI 6.เรื่องทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 6 ด้านของไทยก็สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของ ASEAN  ด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับปี 2016-2025 .-สำนักข่าวไทย

จาก http://www.tnamcot.com   วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ไทยเจ๋งผลิตยีสต์ใช้เองพพ.ถกโรงงานเอทานอลต่อยอดลดต้นทุน  

         พพ.เผยผลวิจัยร่วมกับวว.ผลิตยีสต์เพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเพื่อลดต้นทุนนำเข้ายีสต์จากปัจจุบันเฉลี่ยนำเข้าถึง 400 ล้านบาทต่อปีเล็งต่อยอดใช้จริงกับโรงงานเอทานอลหวังลดราคาแก๊สโซฮอล์ให้ลดลงได้ 80สต./ลิตร

               นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน(พพ. ) เปิดเผยว่า พพ.เตรียมหารือผู้ผลิตเอทานอลที่จะนำผลงานวิจัยที่พพ.ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง โดยใช้วิธีเปลี่ยนความเข้มข้นของมันสำปะหลัง หรือ High Gravity Fermentation ที่จะทำให้เชื้อยีสต์สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อการลดต้นทุน

               "จะเชิญผู้ค้าเอทานอลรายใหญ่เข้ามาหารือต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์จากการวิจัยฯลดต้นทุนยีสต์สดที่ผลิตได้เองในไทยโดยใช้งบประมาณกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 7.9 ล้านบาททำการวิจัยออกมาและ หากคุยกับโรงงานได้ก็อาจจะเสนอบอร์ดกองทุนอนุรักษ์ฯเพื่อขอเงินประมาณสนับสนุนด้านนักวิชาการให้คำแนะนำช่วงต.ค.นี้เพราะโรงงานเองก็คงจะต้องลงทุนเพิ่ม"นายประพนธ์กล่าว

               ปัจจุบันโรงงานเอทานอล 20 แห่งในไทย ต้องนำเข้ายีสต์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลถึง 400 ล้านบาทต่อปี การวิจัยยีสต์สดใช้เองในครั้งนี้และสามารถลดต้นทุนยีสต์ได้ 6 สตางค์ต่อลิตร และเมื่อนำมาปรับมาใช้กระบวนการผลิตเอทานอลจะทำให้ต้นทุนลดลงทั้งหมดถึง 80 สตางค์ต่อลิตรจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตเอทานอลของไทยเฉพาะค่าบริหารจัดการอยู่ที่ 6 บาทต่อลิตรสำหรับการใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และ 7 บาทต่อลิตรสำหรับการใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ แต่ต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น70-80 %ของต้นทุนการผลิตเอทานอลรวมซึ่งเป็นต้นทุนหลักส่งผลให้ราคาเอทานอลปัจจุบันราคา 25 บาทต่อลิตร

               "ราคาเอทานอลขณะนี้เฉลี่ยที่25บาทต่อลิตรยอมรับว่าต้นทุนหลักมาจากวัตถุดิบที่สูง ขณะที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่เพียง10กว่าบาทต่อลิตรการส่งเสริมฯต้องไม่เป็นภาระกับประชาชนการลดต้นทุนก็ต้องทำด้วย"นายประพนธ์กล่าว

               ทั้งนี้ ในปี 2559 ไทยมีปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.6-3.7 ล้านลิตรต่อวัน แต่ช่วงปลายปีเกิดภาวะเอทานอลตึงตัว เนื่องจากกากน้ำตาลที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมีปริมาณลดลง ขณะที่ปีนี้คาดการณ์ความต้องการใช้ไว้ที่ 3.8 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นกรมธุรกิจพลังงานจะประสานผู้ประกอบการเรื่องกำลังการผลิตและช่วงเวลาในการหยุดซ่อมบำรุงอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้มีโรงงานเอทานอลเปิดใหม่ 2 แห่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและนครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างทดสอบสายการผลิตรวม 3-5แสนลิตรต่อวัน จากกำลังผลิตรวมขณะนี้มี4.67 ล้านลิตรต่อวัน

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ครม.กดปุ่มราคาอ้อยฯจ่าย881บาท  

          ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 881.47 บาท พร้อมเห็นช่องแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

          พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2558/2559 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยราคาที่กำหนดเป็นรายเขต 9 เขต ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 881.47 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.89 บาท/1 หน่วย ซี.ซี.เอส/เมตริกตัน ขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 377.77 บาท/ตันอ้อย โดยในในปี 2557/2558 ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายอยู่ที่ 854. 25 บาท/ตันอ้อย

          นอกจากนี้ ให้หักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในอัตราตันอ้อยละ 11 บาท ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, และ 9 (ในส่วนของชาวไร่อ้อย 7.70 บาท/ตันอ้อย และในส่วนของโรงงานน้ำตาล 3.30 บาท/ตันอ้อย) ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เสนอ คาดว่าจะมีเงินที่หักเข้ากองทุนประมาณ 1,034 ล้านบาท

          ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าในปี 2558/2559 จะมีอ้อยประมาณ 94,047 ล้านตัน โดยที่ประชุมอนุมัติให้ กอน.กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือธนาคารพาณิชย์ วงเงินดำเนินการประมาณ 15,047 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการหรือตามที่จ่ายจริง

          "ราคาอ้อยที่คำนวณออกมากระทรวงอุตสาหกรรมคาดจากปริมาณผลผลิตว่าจะมีประมาณ 94,047 ล้านตัน คุณภาพอ้อยเฉลี่ยที่ 11.95 ซี.ซี.เอส ผลผลิตน้ำตาลทรายรวม 96,308,353.96 กระสอบ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

          นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ใน 5 เรื่อง คือ 1.การปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฯ 2.การ เพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย 3.การกำหนดต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทราย 4.การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยฯ และ 5.การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและ น้ำตาลทราย

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

‘ฝนหลวง’ขับเคลื่อน2โครงการ สยบหมอกควัน-พายุลูกเห็บ ตามแนวพระราชทาน‘ร.

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นมลพิษส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้คิดค้นศึกษาวิจัยเทคนิคและรูปแบบการบินเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันขึ้น ภายใต้โครงการศึกษาการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้แนวคิดจากการใช้สารฝนหลวงตามตำรา

 ฝนหลวงพระราชทานในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง โปรยในบริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิต่ำลง ส่งผลให้ฝุ่นละอองสามารถลอยขึ้นบรรยากาศระดับบนได้

สำหรับการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน จะใช้อากาศยานชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ในการโปรยสารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบิน Super King Air สำหรับตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางอุตุนิยมวิทยาและความเข้มข้นของฝุ่นละออง จำนวน 1 ลำ ปฏิบัติการร่วมกันด้วย โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ตาก พะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งพร้อมเริ่มปฏิบัติการในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2560 นี้

นายสุรสีห์กล่าวอีกว่า สำหรับอีก 1 โครงการ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ คือ พายุฤดูร้อนและลูกเห็บ โดยกรมฝนหลวงฯ ได้เตรียมความพร้อมในการบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าว ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ โดยใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้ในตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งจะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air 350) และสารฝนหลวงซิลเวอร์ ไอโอไดด์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ เพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่า การปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมากที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปีนี้แล้งจัด แล้งหนักอีกหรือไม่!! กรมชลประทานคาดถ้าทำได้ตามแผน มีน้ำใช้เพียงพอถึงกรกฎาคม

ข้อมูลจากกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ ปัจจุบันมีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งนอกเขตชลประทานแล้ว ในปีนี้ 105 อำเภอ 34 จังหวัด

แบ่งเป็น เฝ้าระวัง 86 อำเภอ ใกล้วิกฤติ 12 อำเภอ และอยู่ในพื้นที่วิกฤต 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อ.กงไกรลาศ และ อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย อ.ชุมแสง อ.บรรพตพิสัย และอ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ และอ.โพนทะเล จ.พิจิตร

ส่วนในเขตพื้นที่ชลประทาน กรมชลประทานระบุว่า การบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปตามแผนและยังไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบ คาดว่าปริมาณน้ำจะมีเพียงพอไปใช้จนถึงเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุ ยังไม่มีการออกประกาศพื้นที่ใดเป็นเขตภัยพิบัติเพิ่มเติม จากจังหวัด สระเเก้ว ที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติตั้งเเต่เดือนธันวาคม 2559 และยังไม่มีรายงานประกาศเพิ่ม ซึ่งหากเทียบข้อมูลช่วงวันเดียวกันของปีที่เเล้ว มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 12 จังหวัด ปีนี้จึงมั่นใจได้ว่าน้ำจะเพียงพอต่อการใช้แน่นอนปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ  45,816 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61%

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560

‘ทีดีอาร์ไอ’มั่นใจศก.ไทยโตได้ถึง3.5% เหตุมีส่งออกสินค้าเกษตรช่วยหนุน

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ทางทีดีอาร์ไอประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 น่าจะขยายตัวได้ถึง 3.5% โดยมีปัจจัยบวกจากภาคส่งออกที่น่าจะกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับ 3% รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่อาจไม่สูงมากนัก เฉลี่ยทั้งปีที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะยางพาราและอ้อย ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในกระเป๋าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการอุปโภคบริโภคตามมา นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล โดยเฉพาะระบบราง ที่มีเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้

น.ส.กิริฎากล่าวว่า สำหรับปัจจัยต่างประเทศ ก็ยังถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 2.3% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 1.6% อย่างไรก็ตามต้องจับตาจะนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่พยายามดึงการลงทุนกลับประเทศ อาจทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ากับประเทศจีน ประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ ซึ่งหากจีนถูกกีดกันจะกระทบการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องไปยังประเทศจีนจำนวนมาก กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตามมา

น.ส.กิริฎากล่าวว่า ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) ในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 1.5% ซึ่งการถอนตัวของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากอียู ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอียูและไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของยูเคเล็กมากเมื่อเทียบกับอียู รวมทั้งไทยส่งออกไปอียูเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ไทยค้าขายกับประเทศในอียูมากกว่า และยังต้องใช้เวลาอีก 2 ปี การถอนตัว อย่างไรก็ตามการเมืองในอียูยังถือเป็นที่น่าจับตา เนื่องจากในปีนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปถึง 3 ประเทศ อาทิ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวโน้มที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจะได้รับความนิยมมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ถูกตัดลด จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคต

น.ส.กิริฎากล่าวว่า ส่วนประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ รัสเซียที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1.5% จากปีก่อนที่ติดลบ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศละตินและเเคริบเบียน ที่ขยายตัวเป็นบวก 1.2% ภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ส่วนประเทศอินเดียถือเป็นประเทศที่มาแรงมาก โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.6% จากนโยบายการเปิดการค้าเสรีและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ส่วนจีนแม้ว่าจะขยายตัวจะชะลอลง แต่ก็ยังขยายตัวในระดับสูงที่ 6.5% ซึ่งรัฐบาลจีนพยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยลดความร้อนแรงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาว อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ กระทบต่อการส่งออกได้

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560

มติคณะรัฐมนตรี14มีนาคม2560

14 มี.ค.60 เวลา 09.00 น.ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม.ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

กฎหมาย 1.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... 2.เรื่องร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560) 3.เรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ....

4.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. ....5.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล พ.ศ. .... 6.เรื่องร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. .... 7.เรื่องร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 8.เรื่อง (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560 - 2569

เศรษฐกิจ - สังคม 9.เรื่อง (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2579 10.เรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560 - 2564 11.เรื่อง โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) 12.เรื่อง การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับ ประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2560 13.เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2558/2559 14.เรื่อง ขออนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ต่างประเทศ 15.เรื่อง การยกเลิกข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน 16.เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทาง ตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement  : SIOFA) 17.เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ว่าด้วยการขนส่งในชนบทอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ.2030 18.เรื่อง ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

19.เรื่อง การเข้าเป็นภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติ  ว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดที่ข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล20.เรื่อง ขออนุมัติร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนของการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

แต่งตั้ง 21.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) 22.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ) 23.เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหาร สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ 24.เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร 25.เรื่องแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

กฎหมาย

1.เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ....

ครม.มีมติเห็นชอบดังนี้

1.เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... มีผลใช้บังคับต่อไป

2.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการดังนี้ 2.1 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายทั้งสองฉบับอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ตามมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... และให้ส่งผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

2.2 จัดเตรียมแผนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการเพื่อให้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ หรือการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  2.3 จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่19 เมษายน 2559 [เรื่อง การดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองและแผนการเสนอกฎหมายลำดับรอง และการเร่งรัดดำเนินการเสนอกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายสำคัญ] และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 [เรื่อง การเสนอแผน กรอบสาระสำคัญ และระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลำดับรอง]

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

1.ร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ สภาพบังคับของแผนการปฏิรูปประเทศ การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผล รวมทั้งกำหนดกลไก การมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย สาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ และกลไกการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งกำหนดการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต้องตราตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... ที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ซึ่งกำหนดให้ต้องดำเนินการประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนแล้วดำเนินการต่อไปได้

คมนาคม เสนอว่า

1.เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2560 มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ

2.การกำหนดช่วงระยะเวลาให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตามกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ตั้งแต่เวลา 16.00 นาฬิกา ของวันที่ 10 เมษายน ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 16 เมษายน) ยังไม่เหมาะสมกับช่วงระยะเวลาการเดินทางของประชาชน สมควรกำหนดระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2560 เสียใหม่ โดยสมควรให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ของปี พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2560 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ตอนกรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบังและทางแยกเข้าพัทยา และบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน-บางพลี ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

3.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการบำรุงรักษารถไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ เป็นการกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ต้องจัดให้มีการบำรุงรักษารถที่ใช้ในการขนส่งเมื่อครบกำหนดระยะทางหรือระยะเวลาการบำรุงรักษารถตามที่กำหนด เนื่องจากสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของรถส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถ ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้รถโดยการรับจดทะเบียนหรือต่ออายุทะเบียนรถนั้น เนื่องจากโดยสภาพการใช้งานของรถเป็นการใช้งานที่ก่อให้เกิดความสึกหรอ หากไม่มีการตรวจสอบความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษารถเป็นประจำสม่ำเสมอ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถได้

4.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถและการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1.ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอและการออกใบอนุญาตขับรถ และการขอต่ออายุและการขออนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. 2548

2.กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวและใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ ส่วนบุคคลชั่วคราวต้องใช้หลักฐานผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดจากโรงเรียนการขนส่งหรือโรงเรียนสอนขับรถเป็นหลักฐานประกอบคำขอตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

3.กำหนดนิยามคำว่า “โรงเรียนการขนส่ง” และ “โรงเรียนสอนขับรถ”

4.กำหนดให้ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือเอกสารหลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักร หรือใบอนุญาตทำงาน พร้อมด้วยภาพถ่าย ใบรับรองแพทย์ และหลักฐานการรับรอง ซึ่งแสดงว่าได้ผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดจากโรงเรียนการขนส่งหรือโรงเรียนสอนขับรถ

5.กำหนดให้ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานส่วนบุคคล ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน และใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาต ขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาต ขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ พร้อมด้วยภาพถ่าย แล้วแต่กรณี

ในกรณีผู้ขอเป็นคนต่างด้าวต้องมิใช่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การเดินทางผ่านราชอาณาจักร หรือแรงงานต่างด้าวซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ

6.กำหนดให้ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนดพร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน และใบอนุญาตขับรถรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ที่ได้รับมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล พร้อมด้วยภาพถ่าย แล้วแต่กรณี ใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตราย และไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ ได้แก่ วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่น่ารังเกียจแก่สังคม รวมทั้งหลักฐานแสดงว่าไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความคิดที่กำหนด

7.กำหนดให้ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ให้ยื่นคำขอตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยเอกสารหลักฐานและใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถซึ่งยังไม่สิ้นสุดอายุ พร้อมด้วยภาพถ่าย แล้วแต่กรณี รูปถ่าย และในกรณีผู้ขอเป็นคนต่างด้าวต้องมิใช่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การเดินทางผ่านราชอาณาจักร หรือแรงงานต่างด้าวซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ

8.กำหนดให้ผู้ที่จะต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ใบอนุญาตขับรถบดถนน  ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์ หรือใบอนุญาตขับรถชนิดอื่นตามที่กำหนด ให้ยื่นคำขอล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตขับรถเดิมสิ้นอายุไม่เกิน 30 วัน ตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยใบอนุญาตขับรถเดิม บัตรประจำตัวประชาชน ใบรับรองแพทย์ ในกรณีที่ผู้ขอเป็นคนต่างด้าวต้องมิใช่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว การเล่นกีฬา การเดินทางผ่านราชอาณาจักร หรือแรงงานต่างด้าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ และให้ยื่นใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือเอกสารหลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักร หรือใบอนุญาตทำงาน พร้อมด้วยภาพถ่าย

9.กำหนดให้ผู้ที่จะต่ออายุใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้ยื่นคำขอล่วงหน้าก่อนใบอนุญาตขับรถเดิมสิ้นอายุไม่เกิน 30 วัน ตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยใบอนุญาตขับรถเดิม บัตรประจำตัวประชาชนใบรับรองแพทย์ และเอกสารหลักฐานแสดงว่าไม่เคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกตามที่กำหนด

10.กำหนดให้อธิบดีโดยความเห็นชอบของแพทยสภาอาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกใบรับรองแพทย์สำหรับใช้เป็นหลักฐานในการขอรับหรือต่ออายุใบอนุญาตขับรถ

11.กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถต้องผ่านการอบรมและทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งอย่างน้อยต้องทำการทดสอบความสามารถของปฏิกิริยาและสายตา การอบรมและทดสอบความรู้ภาคทฤษฎี ซึ่งอย่างน้อยประกอบด้วยความรู้ด้านกฎหมายและข้อบังคับการเดินรถ จิตสำนึกและมารยาทในการขับรถ ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน การเตรียมความพร้อมก่อนขับรถ และการทดสอบ ขับรถ

5.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งมีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดให้จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดชลบุรี จังหวัดระนอง จังหวัดตราด จังหวัดพังงา จังหวัดสตูล จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 9 จังหวัด มีเขตทะเลชายฝั่งนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเล ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง

6.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

มหาดไทยเสนอว่า

โดยที่พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ประกอบกับมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติกำหนดให้การดำเนินการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่น รวมทั้ง การปรับลดและยกเว้นค่าธรรมเนียม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่น ต้องไม่เกินอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้              (1) การรับทำการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย   อัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงฯฉบับละ 5,000 บาท อัตราท้ายพระราชบัญญัติฯ ฉบับละ 10,000 บาท  (2) การกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย อัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงฯฉบับละ 37,500 บาท อัตราท้ายพระราชบัญญัติฯ ฉบับละ 50,000 บาท (3) การหาประโยชน์จากการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย  อัตราค่าธรรมเนียมตามร่างกฎกระทรวงฯฉบับละ 25,000 บาท  อัตราท้ายพระราชบัญญัติฯ ฉบับละ 50,000 บาท

2. ค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ออกข้อกำหนดของท้องถิ่นต้องเป็นไปตามอัตรา ดังนี้ (1) การจัดเก็บและขนมูลฝอย ในลักษณะรายเดือน

- กรณีมีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตรให้เก็บเดือนละ ไม่น้อยกว่า 60 บาท แต่ไม่เกิน 102 บาท หากมีปริมาณมากกว่าให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นหน่วยตามอัตราที่กำหนดอัตราท้ายพระราชบัญญัติฯ เดือนละ 150 บาท

(2) การกำจัดมูลฝอย ในลักษณะรายเดือน

- กรณีมีปริมาณมูลฝอยต่อเดือนไม่เกิน 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตรให้เก็บเดือนละ ไม่น้อยกว่า 40 บาท แต่ไม่เกิน 70 บาท หากมีปริมาณมากกว่าให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็นหน่วยตามอัตราที่กำหนด อัตราท้ายพระราชบัญญัติฯ เดือนละ 200 บาท

(3) การเก็บและขนมูลฝอย หรือการกำจัดมูลฝอยในลักษณะครั้งคราว

- การเก็บและขน หรือการกำจัดมูลฝอยเป็นรายครั้ง ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร หรือ 0.6 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละ 200 บาท หากปริมาณเกิน 240 กิโลกรัม หรือ 1,200 ลิตร หรือ 1.2 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ในอัตราที่กำหนด

(4) การเก็บและขนสิ่งปฏิกูล หรือการกำจัดสิ่งปฏิกูลในลักษณะครั้งคราว

- การเก็บและขนสิ่งปฏิกูลเป็นรายครั้ง ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 100 กิโลกรัม หรือ 500 ลิตร หรือ 0.5 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละ 250 บาท หากปริมาณสิ่งปฏิกูลเกิน 200 กิโลกรัม หรือ 1,000 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ในอัตราที่กำหนด

- การกำจัดสิ่งปฏิกูลเป็นรายครั้ง ให้คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 100 กิโลกรัม หรือ 500 ลิตร หรือ 0.5 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมหน่วยละไม่เกิน 300 บาท หากปริมาณสิ่งปฏิกูลเกิน 200 กิโลกรัม หรือ 1,000 ลิตร หรือ 1 ลูกบาศก์เมตร ให้เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ในอัตราที่กำหนด

(5) เศษเกินกึ่งหนึ่งของหน่วยตามที่กำหนด ให้คิดเป็นหนึ่งหน่วย

3.กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนดของท้องถิ่นปรับอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บและขนมูลฝอยและกำจัดมูลฝอย เพิ่มขึ้นอีกร้อยละห้าของอัตราค่าธรรมเนียมขั้นสูงของการเก็บและขน และการกำจัดมูลฝอยรายเดือนทุก ๆ 2 ปี แต่ไม่เกินขั้นสูงของอัตราค่าธรรมเนียมนั้น

4.กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาลดค่าธรรมเนียมการเก็บและขน และการกำจัดมูลฝอยให้แก่ผู้ก่อให้เกิดมูลฝอยที่สามารถคัดแยกมูลฝอยเป็นไปตามข้อกำหนดของท้องถิ่น

5.กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยดังกล่าว สำหรับบุคคล หรือชุมชน หรือหมู่บ้าน ที่มีการจัดการปริมาณสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยจนปราศจากสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย หรือพื้นที่ในห้วงเวลาซึ่งได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอันเกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว

7.เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้ผู้รับอนุญาตสามารถขายยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ที่เป็นยาควบคุมพิเศษ ตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งได้ และเปลี่ยนผู้ดำเนินกิจการ หรือเปลี่ยนผู้รับอนุญาตให้เสมือนเป็นผู้รับอนุญาตรายเดิมได้ โดยให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

8.เรื่อง (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560 - 2569

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560 - 2569 ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของร่างนโยบายฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมนานาชาติสำหรับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทย เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในภาวะปกติและให้มีมาตรการเผชิญภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยมีองค์ความรู้และเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ โดยมี 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้ 1) ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์ 2) การกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ 3) การผลิตและพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ และ 4) การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ - สังคม

9. เรื่อง  (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้  ให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนฯ และมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะ ๆ  เพื่อให้สามารถปรับปรุงแนวทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี  รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง ชัดเจน และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งเรื่อง (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ให้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการเตรียมการยุทธศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

(ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2579 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี  มีคุณลักษณะ ทักษะและสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจน เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

โดยมี 6 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่งคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3  การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา

10.เรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560-2564

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560-2564 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีแรก และดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560 - 2564 ต่อไป ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดยให้ ทส.รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และปีต่อๆ ไป ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ให้ ทส.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่ทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงโทษและอันตรายที่เกิดขึ้นจากมลพิษต่างๆ หากไม่ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบันให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม  และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งเรื่อง ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560 - 2564 ให้คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการเตรียมการยุทธศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง ทส. รายงานว่า

1.รัฐบาลได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว และมีความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านต่างๆ ในระยะยาวให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ทส.โดยกรมควบคุมมลพิษฐานะหน่วยงานหลักในการเสนอนโยบายการจัดการมลพิษของประเทศได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560 - 2564 เพื่อกำหนดทิศทางการจัดการมลพิษของประเทศไทยในระยะยาว และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในแต่ละช่วงทุก 5 ปี โดยในระยะ 5 ปีแรก จัดทำเป็นแผนจัดการมลพิษ พ.ศ.2560-2564 โดยให้ความสำคัญกับความสอดคล้องและการถ่ายทอดประเด็นยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายรัฐบาล และแผนแม่บทอื่นๆ มาเป็นกรอบแนวทาง รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน  สมาคมต่างๆ และเครือข่ายภาคประชาชน

2.ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลด และควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิผล สร้างระบบและกลไกการบริหารจัดการมลพิษที่มีประสิทธิภาพ  พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และบุคลากรให้มีศักยภาพในการจัดการมลพิษ  และสร้างหุ้นส่วนการมีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษ

แนวทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา

(1) ช่วงที่ 1 คือ ระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560 – 2564) จะเรียกว่า “แผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560 - 2564” โดยจะวางแนวทางการดำเนินงานในเรื่องที่มีความเร่งด่วน   การเร่งแก้ไขปัญหาที่มีความวิกฤติ  จัดระบบการบริหารจัดการมลพิษมีการดำเนินงานชัดเจน สะดวกต่อการนำไปปฏิบัติ

(2) ช่วงที่ 2 คือ ระยะหลัง 5 ปีแรก จนถึง 20 ปี (พ.ศ.2565-2579) จะเป็นการวางทิศทางการดำเนินงานจากช่วง 5 ปีแรก ปรับเปลี่ยนไปสู่ระยะ 20 ปี ซึ่งสอดรับกับภาพในอนาคตที่ต้องการจะเห็นการเกิดผลการดำเนินงาน และผลลัพธ์ในระยะยาว โดยยังไม่ได้ระบุรายละเอียดแนวทางการดำเนินงานในแต่ละช่วง ทุก 5 ปี เช่นเดียวกับช่วงที่ 1 เนื่องจากจะต้องมีการปรับและพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลก และของประเทศ ตลอดจนการแก้ไขปัญหา จุดอ่อน  อุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรก

สำหรับแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560-2564 (ช่วงที่ 1 ระยะ 5 ปีแรก ของยุทธศาสตร์ การจัดการมลพิษ 20ปี) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดกำจัดของเสียและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ยุทธศาสตร์ ที่ 3 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษ

11.เรื่อง โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง วท. รายงานว่า

1.ในปี 2547 วท. (สทอภ.) ได้พัฒนาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของประเทศไทย หรือ ธีออส (Thailand Earth Observation System: THEOS) (ประกอบด้วยดาวเทียมไทยโชตและสถานีควบคุมภาคพื้นดิน) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเชิงปฏิบัติการดวงแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมไทยโชตในหลายด้าน เช่น การเกษตร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ภารกิจด้านความมั่นคง การติดตามสถานการณ์ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ดาวเทียมไทยโชตได้ขึ้นสู่วงโคจรครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และมีอายุการใช้งานตามการออกแบบ 5 ปี (ครบกำหนดไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2556) อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์สถานภาพของระบบต่างๆ ของดาวเทียมคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ถึงปี 2560 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สทอภ.ได้ใช้งานดาวเทียมไทยโชตร่วมกับการรับสัญญาณหรือจัดหาภาพจากกลุ่มดาวเทียมนานาชาติกว่า 30 ดวง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายข้างต้น

2.จากเหตุผลข้างต้น สทอภ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดาวเทียมไทยโชตที่ครบกำหนดอายุการใช้งานไปเมื่อปี 2556 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการบริการข้อมูลและภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมในภารกิจสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความต่อเนื่องของการได้มาซึ่งข้อมูลดาวเทียมของประเทศไทยที่ผู้แทนจำหน่ายจากต่างประเทศไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าจะจัดหาให้ได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะในสถานการณ์เร่งด่วน ฉุกเฉิน และในพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของชาติได้ เช่น การติดตามและประเมินภัยพิบัติ และการถ่ายภาพพื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ประมงทะเล รวมทั้งการพัฒนาระบบดาวเทียมต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 3 - 4 ปี ดังนั้น สทอภ.จึงได้เริ่มดำเนินกระบวนการขอแบบแนวคิด (Request for Conceptual Model: RCM) เพื่อรวบรวมข้อมูลทางเทคโนโลยีการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาแนวคิดของระบบดาวเทียมสำรวจโลก ระยะที่ 2 ในการนี้ สทอภ. จึงได้ส่งเอกสาร RCM ให้แก่ประเทศที่มีศักยภาพ ด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีประเทศที่ตอบรับและส่งเอกสารกรอบแนวคิดกลับมาทั้งสิ้น 10 ประเทศ

3.จากการศึกษาและวิเคราะห์เอกสารของทั้ง 10 ประเทศ พบว่ามีประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคนิคสูงตามเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจำนวน 8 ประเทศ [มติคณะรัฐมนตรี (19 พฤษภาคม 2558)] ซึ่ง สทอภ. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลรายละเอียดทางเทคนิคของประเทศที่มีศักยภาพต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบสำหรับการจัดทำรายละเอียดกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) และรายละเอียดต่าง ๆ ผ่านคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสนสารเทศแต่งตั้งขึ้นโดยโครงการ (THEOS-2) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อจัดหาดาวเทียมสำรวจดวงใหม่ของประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติทั้งในประเทศ นอกประเทศ และในสถานการณ์วิกฤต 2) เพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดงานวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข้งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียม รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) 3) เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการอบรมเพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการออกแบบและสร้างดาวเทียม การนำภาพดาวเทียมไปใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและโซลูชั่น ด้านภูมิสารสนเทศ และ 4) เพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบองค์รวมใน 6 ด้าน ตามความต้องการของผู้ใช้หลัก (วท. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ) ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 2. ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม 3. ด้านการจัดการภัยพิบัติ 4. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ 5. ด้านความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงของชาติ และ 6.ด้านการจัดการเมือง

12.เรื่อง การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2560

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี พ.ศ.2560 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) โดยมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง รง.รายงานว่า

1.การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งออกตามมติคณะรัฐมนตรี โดยด้านหลังบัตรประจำตัวฯ (บัตรสีชมพู) ระบุวันหมดอายุวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 หรือวันที่ 31 มีนาคม 2561 รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบัตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี เดินทางกลับประเทศ ต้นทางเพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 5 - 30 เมษายน 2560 โดยการเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2560 ไม่ถือว่าเป็นการออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดที่จัดทำทะเบียนประวัติ หรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน

2.แรงงานต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งได้รับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (แรงงานที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมายภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) และแรงงานที่ผ่านการตรวจสัญชาติ) รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งได้รับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทผู้ติดตาม และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ อนุญาตให้เดินทางกลับประเทศต้นทาง เพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2560 และกลับเข้ามาในราชอาณาจักรในช่วงเวลาดังกล่าว

3.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งประจำ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งซึ่งแรงงานต่างด้าวเดินทางออก ประทับตรา วัน เดือน ปี ที่แรงงานต่างด้าวเดินทางออกจากราชอาณาจักร และประทับตรา วัน เดือน ปี ที่เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรในเอกสารดังต่อไปนี้ 3.1 หนังสือรับรองที่กรมการจัดหางานหรือหน่วยงานในสังกัดออกให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันฯ 3.2 หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งใด ให้กลับเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งนั้น

4.แรงงานจะต้องเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามกำหนด หากพ้นกำหนด ให้ดำเนินการตามกฎหมายปกติ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศต้นทาง เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและส่งเสริมภาพลักษณ์การใช้แรงงานต่างด้าวของประเทศไทยต่อนานาประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทย สร้างความรับรู้และเข้าใจถึงความปรารถนาดีของประเทศไทยที่มีต่อแรงงานต่างด้าว

13.เรื่อง การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2558/2559

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2558/2559 เป็นรายเขต 9 เขต โดยราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราตันอ้อยละ 881.47 บาทณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.89 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 377.77 บาทต่อตันอ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยให้หักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในอัตราตันอ้อยละ 11 บาท ในเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1, 2, 3, 4, 6, 7, และ 9 (ในส่วนของชาวไร่อ้อย 7.70 บาท/ตันอ้อย และในส่วนของโรงงานน้ำตาล 3.30 บาท/ตันอ้อย) ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เสนอ

14.เรื่อง ขออนุมัติการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการฯ ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ก่อสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และจากการขาดรายได้ของผู้ประกอบการ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการคิดเงินค่าทดแทน การรื้อถอน ขนย้ายโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและค่าทดแทนความเสียหายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาเป็นแนวทางในการกำหนดเงินช่วยเหลือสำหรับงบประมาณในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินค่าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวไม่ควรสูงกว่าหรือได้รับประโยชน์มากกว่าการให้เงินค่าทดแทนกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อไม่ให้มีผู้บุกรุก พื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานครกำกับดูแลการจ่ายเงินฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขไม่ให้มีการใช้สิทธิเรียกร้องอื่นเพิ่มเติมในภายหลัง ตลอดจนให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง มท. (กทม.) รายงานว่า

1. การออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ในระยะที่ 1 มีการจัดทำทางเดินน้ำ การปรับภูมิทัศน์เขื่อน การพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาศาลาท่าน้ำ การพัฒนาพื้นที่บริเวณสาธารณะให้เป็นศูนย์บริการต่าง ๆ การพัฒนาเส้นทางเข้าพื้นที่และมีการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคม เช่น ระบบรถไฟฟ้า

2. รูปแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นการสร้างทางจักรยานทางเดินริมแม่น้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ซึ่งในการออกแบบได้นำปัญหาและข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้านมาพิจารณาประกอบเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่ การบดบังทัศนียภาพของแม่น้ำ แม่น้ำจะแคบลง การเดินเรือต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบ การก่อสร้างเมื่อวางตอม่อลงไปในแม่น้ำจะทำให้น้ำไหลช้า กระทบกับระบบนิเวศ และประชาชนเข้าถึงโครงการได้น้อย

3. การประชาสัมพันธ์ มีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อคัดค้าน การตอบข้อสงสัยและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลมีเดีย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้จัดรายการเดินหน้าปฏิรูป ตอนเลียบฝั่งเจ้าพระยา เพื่อหาทางออกที่จะทำให้ดำเนินงานร่วมกันได้

4. การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  คณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านกฎหมาย มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ โดยจัดแบ่งผู้ได้รับผลกระทบฯ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ผู้ปลูกสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต (ผู้บุกรุก) และทรัพย์สินของหน่วยงานราชการที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่าน ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ ได้รูปแบบที่ชัดเจนแล้ว ให้ กทม. ส่งรายละเอียดรูปแบบให้หน่าวยงานที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป

ต่างประเทศ

15. เรื่องการยกเลิกข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ในการให้สิทธประโยชน์แก่นักลงทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมนัยสำคัญในประเทศสมาชิกอาเซียน

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ  ดังนี้1. เห็นชอบร่างพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 3 (Third Protocol to Amend the ASEAN  Comprehensive Investment  Agreement)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามร่างพิธีสารฯ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และเมื่อลงนามแล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แล้วเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบพิธีสารฯ ก่อนแสดงเจตนาให้พิธีสารมีผลผูกพันต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Power) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในพิธีสารดังกล่าว

4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยื่นสัตยาบันสารหรือสารให้ความยอมรับแก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวแล้ว

5. มอบหมายให้ สกท. จัดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอันเนื่องมาจากการยกเลิกข้อสงวนนี้ ทั้งนี้  การยกเลิกข้อสงวนดังกล่าวควรครอบคลุมเฉพาะนักลงทุนนอกภาคีอาเซียนที่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทย รวมทั้งต้องไม่ขัดกับกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย

6. มอบหมายให้ สกท.รับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

ร่างพิธีสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกรายการข้อสงวนในความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียนที่ประเทศไทยขอสงวนสิทธิ์การเปิดเสรีให้เฉพาะนักลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น โดยไม่ให้สิทธิ์กับนักลงทุนนอกภาคีอาเซียนที่ลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นแล้วขยายการลงทุนมาไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่สงวนสิทธิ์ดังกล่าว โดยการขอยกเลิกรายการดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าไม่ได้ขัดกับพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  พ.ศ. 2542 และไม่ต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขบทบัญญัติใดๆ ของกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับ สกท. รายงานว่า การยกเลิกข้อสงวนดังกล่าวข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุน และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน  รวมทั้งยังไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากข้อผูกพันภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน  ไม่ได้เกินขอบข่ายที่กำหนดภายใต้กฎหมายภายในประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

16.เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในเอกสารตอบรับเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO)

สาระสำคัญของเรื่อง กษ.รายงานว่า

1. ความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (SIOFA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อจัดตั้งองค์การจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fishery Management Organization : RFMOS) ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงจำพวกอื่น ๆ (นอกเหนือจากปลาทูน่าและปลาที่คล้ายปลาทูน่า) สำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยความตกลงดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมผู้มีอำนาจเต็ม (Conferrence of Plenipotentiaries) ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา SIOFA เป็นความตกลงที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กระบวนการตัดสินใจของ FAO แต่ FAO เป็นองค์กรรับฝากตราสารการเข้าร่วมเป็นสมาชิก (Depositary) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย หมู่เกาะคุก สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศล ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมอริเซียส และสาธารณรัฐเซเชลล์ นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่ร่วมลงนามแต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน หรือให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลงจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ สหภาพคอโมโรส สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐมาดากัสการ์ สาธารณรัฐโมซัมบิก และประเทศนิวซีแลนด์

2. วัถตุประสงค์ของความตกลง SIOFA คือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อร่วมพิจารณากำหนดระเบียบปฏิบัติ ระเบียบการเงิน มาตรการบริหารการจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรประมงจำพวกอื่น ๆ (นอกเหนือจากปลาทูน่าและปลาที่คล้ายปลาทูน่า) อย่างสมเหตุสมผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดโควตาการจับ และกำหนดเครื่องมือประมงสำหรับทำการประมง บริเวณพื้นท้องน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการทำประมงพื้นท้องน้ำทั่วทั้งพื้นที่ภายใต้ข้อตกลง SIOFA (SIOFA - WideBottom Fishing Impact Assessment : SIOFA BFIA) เพื่อให้มั่นใจว่าการทำประมงสำหรับพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือจากหลายสัญชาติได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น

17.เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ว่าด้วยการขนส่งในชนบทอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ.2030

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ว่าด้วยการขนส่งในชนบทอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะผู้แทนไทยโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายพิชิต อัคราทิตย์) ให้การรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว

ร่างปริญญาเวียงจันทร์ฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้คำมั่นว่าประเทศสมาชิกจะดำเนินการ ดังนี้

1. ส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการขนส่งในชนบทที่ครอบคลุม เข้าถึงง่าย และมีความยั่งยืน  2. ตระหนักว่าการสร้างการเข้าถึงระบบขนส่งในชนบทนั้นมิได้มีเพียงการก่อสร้างถนนสายใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบำรุงรักษาถนนหรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นอย่างเพียงพอ 3. ร่วมกันหาแนวทางลงทุนด้านถนนและโครงสร้างพื้นฐานในชนบทที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ได้ดี อีกทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนว่าสามารถใช้สัญจรได้ตลอดฤดูกาล

4. ส่งเสริมการขนส่งในชนบทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ระบบการขนส่งคาร์บอนต่ำ และหลีกเลี่ยงการพัฒนาถนนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 5. ส่งเสริมการเข้าถึงระบบการขนส่งในชนบทที่มีประสิทธิภาพ 6. ให้ความสำคัญต่อโครงการพัฒนาระบบขนส่งในชนบทและริเริ่มการพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติรวมถึงกรอบนโยบายเพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างพื้นที่ชนบทกับโครงข่ายการขนส่งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค

7. สร้างความปลอดภัย ความยั่งยืน และประสิทธิภาพในการขนส่งในพื้นที่ชนบท รวมถึงกำหนดให้มีการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถยนต์ พร้อมทั้งจัดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ขับขี่และช่างเครื่อง มีการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การวางแผนที่ครอบคลุมและเทคนิคการบริหารจัดการ 8. ใช้ประโยชน์จากผลวิจัยสำหรับระเบียบวิธีวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างการเชื่อมโยงในชนบท ที่ยั่งยืน

9. เรียกร้องให้มีการสร้างความร่วมมือทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงาน การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าถึงระบบขนส่งในชนบทที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งการขนส่งที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการก่อมลภาวะต่ออากาศและน้ำ รวมถึงการมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

18.เรื่อง ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนาม

3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ พน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

พน. รายงานว่า การพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติกับสาธารณรัฐประชาชนจีนจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานในด้านองค์ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์การใช้พลังงานนิวเคลียร์สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าและเป็นโอกาสอันดีที่ทรัพยากรบุคคลจากประเทศไทยจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีและมีประสบการณ์จริงในการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากประเทศไทยมีความจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเภทและเทคโนโลยีภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติสากล รวมทั้งแนวปฏิบัติของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเป็นสมาชิก ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมกันจัดทำร่างความ ตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (Agreement Between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’ s Republic of China for Cooperation in the Peaceful Uses of Nuclear Energy) ขึ้น เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือข้างต้นมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

19.เรื่อง การเข้าเป็นภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติ  ว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดที่ข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเลฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2525 เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดที่ข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งความตกลงดังกล่าวให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แล้วเสนอสภานิติบัญญํติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ก่อนแสดงเจตนาให้ความตกลงมีผลผูกพันต่อไป  โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยื่นภาคยานุวัติสารหรือสารให้ความยอมรับแก่เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของความตกลงดังกล่าวเป็นการวางกรอบหลักการทั่วไปสำหรับการอนุรักษ์และจัดการประชากรสัตว์น้ำที่ข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล  โดยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของแนวทางการป้องกันล่วงหน้า (precautionary  approach)  หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ (The best  scientific evidence  available)  และแนวทางระบบนิเวศ (ecosystem approach)  ซึ่งรัฐภาคีจะต้องนำบทบัญญัติตามความตกลงฯ ไปใช้ปฏิบัติในทะเลหลวงและนำบทบัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ไปใช้ปฏิบัติภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนด้วย  รวมทั้งได้กำหนดให้รัฐชายฝั่งและรัฐที่ทำการประมงในทะเลหลวงจะต้องทำให้มั่นใจว่ามาตรการอนุรักษ์และจัดการที่ใช้บังคับในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและในทะเลหลวงมีความสอดคล้องกัน

20.เรื่อง ขออนุมัติร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนของการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชน (Joint Press Statement) ของการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนนอกเหนือจากที่ปรากฏในร่างแถลงการณ์ดังกล่าว โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กต. ดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง  พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

ร่างแถลงการณ์ฯ มีสาระสำคัญครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น 1) ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงและทหาร 2) ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 3) ด้านความมั่นคงทางอาหาร 4) ความร่วมมือด้านการเกษตร

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติด เคมีภัณฑ์ และสารตั้งต้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านยาเสพติดของฟิลิปปินส์ และ (2) ความตกลงระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และรัฐบาลราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (3) ข้อปฏิบัติว่าด้วยความร่วมมือในสาขาเฉพาะระหว่างศูนย์กระบือนม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และกรมปศุสัตว์เกี่ยวกับการเลี้ยงกระบือปลักและกระบือนม

แต่งตั้ง  21. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

22.เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้

1. นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป อีกตำแหน่งหนึ่ง

2. นางสาวภาสพร สังฆสุบรรณ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย  3. นางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ

4. นายณัฐวัฒน์  กฤษณามระ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพิธีการทูต

5. นายสุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอาเซียน

ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1. และ 2. ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ

23.เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ จำนวน 6 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 ดังนี้ 1. นายราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานกรรมการ  2. นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  . นายบุญกิต จิตรงามปลั่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ . นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. นางสาวพิกุล ทักษิณวราจาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป

24.เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ดังนี้

1. นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย (ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ) แทนนายศิวะพร ทรรทรานนท์ 2. นายธาดา เตียประเสริฐ  (ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ) แทนนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป

25.เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามลำดับ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วยดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ)

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560

เด็กไทยสุดเจ๋งคิดปลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย พิชิตรางวัล Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016

ขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) และพัฒนาอยู่ตลอดเวลาหลายปี ในประเทศไทยเอง กลุ่มมิตรผล เป็นอีกองค์กรที่สนใจและให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนแทนทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปได้

จึงได้ส่งเสริมให้มีการประกวด “Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016” นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต นี้นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มมิตรผลจัดการประกวดประชันไอเดียที่นำแนวคิดหลักด้าน เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) อีกทั้งยังได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีเยี่ยม ด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพในการเรียนรู้ที่มีอย่างไม่สิ้นสุดของเยาวชนไทย

ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กไทยปล่อยไอเดียเจ๋งๆ กับแนวคิดการต่อยอดจากพืชเศรษฐกิจแถมยังใช้งานได้จริง เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ในการขับเคลื่อนแนวนโยบายThailand 4.0

ล่าสุดเพิ่งมีการประกาศรางวัล Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 สิ้นสุดไปโดยครั้งนี้แชมป์ตกเป็นของทีมนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ที่ได้นำเสนอผลงาน นวัตกรรมทางความคิดสุดสร้างสรรค์ “Gen-treat แผ่นปลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย” ได้รับรางวัลชนะเลิศ 200,000 บาท ไปครอง โดยได้แสดงศักยภาพแนวความคิดผ่านผลงานที่โดดเด่นจากกว่า 100 ผลงานเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศ ทั้งยังตอบโจทย์ด้านไอเดียการต่อยอดคุณค่าพืชทางเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

สำหรับผลงาน “Gen-treat แผ่นปลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย” มาจากแนวคิดที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการนำเข้าแผ่นปิดแผลจากต่างประเทศ โดยทีมนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มศึกษาข้อมูลและพบว่าแผ่นปิดแผลในตลาดปัจจุบันมีการเติมสารฆ่าเชื้อ เช่น Povidone iodine หรือ Silver nano ซึ่งมีพิษและย่อยสลายได้ยากตามธรรมชาติทำให้ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ และยังต้องนำเข้าแผ่นปิดแผลจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

จึงเกิดไอเดียการพัฒนาแผ่นปิดแผลเพื่อทดแทนแผ่นปิดแผลชนิดเดิมไปสู่แผ่นปิดแผลจากธรรมชาติที่ได้พัฒนาต่อยอดจากอ้อย โดยการดึงเอาเอนไซม์จากน้ำตาลสดจากต้นอ้อย มาผสานกับแผ่นแบคทีเรียเซลลูโลสเพื่อผลิตเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพื่อทำให้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรค ที่มีชื่อว่า แผ่นปิดแผล Gen-Treat ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100%  โดยมีคุณสมบัติหลัก คือ สามารถป้องกันการติดเชื้อ ฆ่าเชื้อโรค ช่วยส่งเสริมการสมานแผล และลดรอยแผลเป็นได้ดีกว่า อีกทั้งยังสามารถดูดซึมของเหลวได้ดี และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

ทางด้านทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้นำเสนอผลงาน “ถ่านอ้อยควั่นบำบัดน้ำเสีย” ไอเดียนวัตกรรมที่มาจากปัญหาที่ปัจจุบันนี้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมจะมีข้อกำหนดในการจัดการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยในโรงงานอุตสาหกรรมมักจะนิยมใช้ Activated Carbon ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนสูง ไม่สามารถคัดแยกออกจากของเสียในโรงงานได้โดยง่าย และการบำบัดจะต้องใช้เวลานาน

จึงเกิดการคิดค้นนวัตกรรมคาร์บอนจากชีวมวล คือ การผลิตถ่านอ้อยควั่น เป็นถ่านแม่เหล็กจากชานอ้อยและใบอ้อยเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยถ่านอ้อยควั่นใช้วิธีการดูดซับแบบ Hydrothermal Carbonization (HTC) โดยใช้หลักการทำงานของสนามแม่เหล็กเพื่อแยกวัสดุจำพวกสารโลหะหนัก, เตตระไซคลิน ตะกั่ว หรือเมทิลลีนบลู ซึ่งคุณสมบัติของถ่านอ้อยควั่นนั้นจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืน กระบวนการผลิตไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แถมมีต้นทุนการผลิตต่ำ มีขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน ใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำตาล และล้างเครื่องจักร สามารถกำจัดของเสียได้รวดเร็ว และสามารถแยกออกจากระบบได้ง่ายและรวดเร็วด้วยสนามแม่เหล็กภายนอก

อีกทั้งรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้นำเสนอผลงาน “AloePatch แผ่นปิดแผลชนิดล้างออ

กได้จากว่านหางจระเข้และใบบัวบก” จากการศึกษาข้อมูลพบว่าแนวโน้มในการใช้แผ่นปิดแผลที่มีจำนวนมากถึง 10 ล้านแผ่นในแต่ละปี โดยแผ่นแผ่นปลาสเตอร์ปิดแผลที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีปัญหาทางด้านการทำความสะอาดได้ยากหลังจากการใช้งาน เสี่ยงต่อการทำให้บาดแผลเปิดออก สมานแผลได้ช้าลงจากการดึงปลาสเตอร์ปิดแผลออก หรือการไม่ดูดซับของเหลวทำให้แผลเปียก เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้และทำให้แผลหายช้ามากกว่าเดิม

ทีมนี้เกิดไอเดียแผ่นปิดแผลอเนกประสงค์ชนิดล้างออกได้ ที่ประกอบไปด้วยผงวุ้นของว่านหางจระเข้และสารสกัดจากใบบัวบก ซึ่งมีคุณสมบัติหลากหลายประการ เช่น ทำความสะอาดง่ายสามารถเช็ด-ล้างออกได้ด้วยน้ำหรือน้ำเกลือ โดยไม่ต้องลอกออกทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น สามารถช่วยส่งเสริมการสร้างเนื้อเยื่อ อีกทั้งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย และยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในแผล และลดการเกิดแผลเป็นหลังจากนี้กลุ่มมิตรผลยังคงเดินหน้าจัดการประกวดนี้ เพื่อส่งเสริมและปั้นนวัตกรคนรุ่นใหม่ให้มาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยีที่ทำได้จริง และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้ อีกทั้งกลุ่มมิตรผลได้บูรณาการองค์ความรู้ในหลายสาขาวิชาเพื่อผลักดันความสามารถของเยาวชนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ด้านนวัตกรรม (Innovation) และด้านการทำธุรกิจ (Business) ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปปั้นไอเดียระหว่างการประกวดอีกด้วย สามารถติดตามการประกวดไอเดียนวัตกรรมของกลุ่มมิตรผลในครั้งถัดไปได้ทาง https://bioinnovator.mitrphol.com/

 จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

ส.อ.ท.แนะหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอุตฯก้าวสู่4.0

ประธาน ส.อ.ท. แนะไทยหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอุตสากรรมแต่ละด้านจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบนำไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคของประเทศไทยในการเข้าสู่ยุค Big Bata โดยระบุว่า สำหรับปัญหาของไทยที่ต้องเผชิญในการเข้าสู่ยุคBig Data คือเรื่องของการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้าน ขณะที่แรงงานที่ไม่มีทักษะไทยใช้การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่จะเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ขณะเดียวกันมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าแรงงานเหล่านี้จะกลับไปยังประเทศของตนเองเพื่อพัฒนา ซึ่งมองว่าประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีการขยายการเติบโตเพิ่มมากขึ้นในระดับที่น่าประทับใจหากคิดแล้วประมาณ 7% ส่วนไทยหากสามารถขยายการเติบโตได้ถึง4%ถือว่าดีมากดังนั้นจึงมองว่าในอนาคตจะมีการดึงแรงงานกลับประเทศเนื่องจากมีโอกาสด้านการทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริงจะต้องมีแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต เครื่องจักรกลแม้กระทั้งระบบบริหารจัดการด้วยนวัตกรรทเทคโนโลยี เข้ามาจัดทำระบบข้อมูลตามขี้นตอนลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ขณะที่ไทยยังขาดแรงงานที่จะมาดึงข้อมูลและเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างประเทศไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย โดยไต้หวันอยู่ในวงจรการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ครบวงจร มีการดึงข้อมูลพื้นฐานการผลิตขึ้นมาจัดเก็บและวิเคราะห์ผลส่งข้อมูลไปยังเครื่องจักรอีกเครื่องเป็นการเชื่อมโยงที่ครบวงจร ดังนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยว่าจะทำอย่างไรให้มีระบบพื้นฐานข้อมูลที่ครบวงจรสามารถเชื่อมโยงกันได้นำไปสู่การยกระดับเป็นไทยแลนด์ 4.0

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560

ดันอู่ตะเภามหานครการบิน เชื่อมโยงการค้าดึงนักลงทุนเข้าอีอีซี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 ว่า ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายเร่งรัดการดำเนินงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งกำหนดผู้ที่รับผิดชอบและกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(คนพ. หรือบอร์ดอีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 5 เมษายนนี้

โดยได้เร่งรัดให้จัดทำรายละเอียดแผนพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานให้ลักษณะเขตการค้าเสรี เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าเชื่อมโยงกับสนามบิน กลุ่มธุรกิจขนส่งทางอากาศทั้งลักษณะคาร์โก้ สินค้าทางไปรษณีย์ และคลังสินค้าเทคโนโลยีสูง กลุ่มธุรกิจซ่อมเครื่องบินเพิ่มเติมจากศูนย์ซ่อมของการบินไทยในปัจจุบัน และกลุ่มศูนย์ฝีกอบรมบุคคลากรอากาศยานและธุรกิจการบิน

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบแผนพัฒนาเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่มธุรกิจคือ กลุ่มธุรกิจท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ศูนย์การแพทย์เฉพาะด้านและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะผลักดันให้เมืองการบินภาคตะวันออกกลายเป็น “มหานครการบิน”โดยเร็วที่สุด

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กรศ.จะนำเสนอกรรมการนโยบายฯให้นำ 5 โครงการหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภารถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (นิว เอสเคิร์ฟ)และการพัฒนาเมืองใหม่ มาเป็นโครงการนำร่อง เพราะเป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ซึ่งวันนี้ที่ประชุมได้มีการเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่

สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภามีแผนให้สนับสนุนสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิด 3 สนามบิน ร่วมกันเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอคณะกรรมการนโยบายฯในการจัดตั้ง “เมืองการบินภาคตะวันออก” บนพื้นที่ 6.5 พันไร่ ของสนามบินอู่ตะเภา โดยให้เป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกแห่งแรก เพื่อให้สามารถใช้กลไกของอีอีซีประสานงานและผลักดัน เมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งตั้งเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน ภายใน 5 ปีรองรับ 30 ล้านคน ภายใน 10 ปี และรองรับ60 ล้านคน ภายใน 15 ปี

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเชื่อม 3 สนามบิน จะทำให้เมืองการบินภาคตะวันออกจะเป็นประโยชน์กับประเทศเต็มที่ เพราะผู้โดยสารสามารถใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชม. จาก กทม.-สนามบินอู่ตะเภา จึงขอให้กระทรวงคมนาคมทำการศึกษาเพิ่มเติมและนำเข้าสรุปเข้าสู่การพิจารณา กรศ.ในครั้งต่อไปก่อนเสนอให้ คนพ. พิจารณา

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ จะกำหนดให้มีการจัดทำเอกสารเสนอราคา (ทีโออาร์) แล้วเสร็จในช่วงกลางปี และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าลงทุนประมูลภายในปลายปีนี้ ซึ่ง กรศ.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม หารือกับกองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำรายละเอียด”นายอุตตมกล่าว

ขณะที่คืบหน้าในการจัดตั้งดิจิทัล พาร์คไทยแลนด์ ในพื้นที่อีอีซี ว่าขณะนี้ได้กำหนดใช้พื้นที่ 621 ไร่ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ชัดเจนแล้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม วงเงินลงทุน 6.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนเงินลงทุนของภาครัฐ 20% และเอกชน 80% โดยจะเชิญชวนผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ชั้นนำ เช่น เฟซบุ๊คเข้ามาตั้งบริษัท และยกระดับเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย

“ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทต่างๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ ก่อนนำเสนอบอร์ดอีอีซีครั้งถัดไป อีกทั้งในพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค จะมีผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตด้วย เชื่อว่าภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมดิจิทัลจะผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน” นายอุตตมกล่าว

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2560

กรมชลร่วม8หน่วยงานเกษตร พัฒนาระบบศูนย์กลาง‘วิจัย’

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ลงนามร่วมกับ 8 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยของประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาซอฟต์แวร์เชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหลักจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่มีงานวิจัยหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัยการเกษตรและงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การนำเข้า เชื่อมโยง สืบค้น สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันและให้บริการข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรแก่ทุกภาคส่วน และมาตรการบูรณาการข้อมูลความรู้ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

การพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ครั้งนี้ มีผลดีอย่างยิ่งกับกรมชลประทาน เพราะสามารถนำมาเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ในการทำงาน

 ด้านการวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการน้ำ โดยความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยสารสนเทศด้านการเกษตร ของหน่วยงานผู้ปฏิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

ยักษ์มิตซุยเชื่อมั่นลงทุนไทย เล็งปักหลักอีอีซี-ลงทุนเพิ่มโรงงานน้ำตาล

ฮิโรยูชิ ซาดานากะ รองผู้จัดการทั่วไปแผนกวางแผนยุทธศาสตร์ บริษัท มิตซุย คัมปานี( เอเชีย แปซิฟิก)

มิตซุย ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เล็งลงทุนในอีอีซี ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชี้โอกาสในไทยตลาดยังเปิดกว้างทำธุรกิจ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค พร้อมส่งบริษัทลูกเข้าประมูลแข่งแหล่งสัมปทานหมดอายุ และลงทุนในโรงงานนํ้าตาลทรายเพิ่ม

นายฮิโรยูชิ ซาดานากะ รองผู้จัดการทั่วไปแผนกวางแผนยุทธศาสตร์ บริษัท มิตซุย คัมปานี( เอเชีย แปซิฟิก) ในเครือมิตซุย แอนด์คัมปานี จำกัด ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีนั้น ทางบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมใด รวมถึงการจับมือร่วมลงทุนกับพันธมิตรในไทยได้อย่างไร

ทั้งนี้ เนื่องจากมิตซุยฯ ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยหลายๆด้าน ไม่ต่ำกว่า 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ด้านพลังงาน ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค และระบบการให้บริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมองว่าปัจจุบันไทยยังมีตลาดเปิดกว้างอีกมากที่จะเข้ามาทำธุรกิจ และการลงทุน รวมทั้งการขยายการลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มิตซุยฯได้ร่วมทุนกับพันธมิตรของไทยในช่วงที่ผ่านมา

อย่างกรณีของบริษัท ลาบิกซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตสาร LAB ด้วยนวัตกรรมล่าสุดของ UOP ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยที่สุดในโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการรวมทุนระหว่างบริษัท ไทยพาราไซลีน ในเครือบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 75% และมิตซุย ถือหุ้น 25% ก็มองว่ามีโอกาสที่จะขยายการลงทุนเพิ่มได้อีกหรือไม่ เนื่องจากตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของอีอีซี เป็นต้น

รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างรถไฟรางคู่หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่จะมีการเชื่อมโครงข่ายไปจากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออก ซึ่งในส่วนนี้ หากรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูล ทางบริษัท ก็มีความพร้อมที่จะเข้ามารับงานต่อในการป้อนอุปกรณ์หรือระบบต่างๆ เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในประเทศไตหวันได้

อีกทั้ง อยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนในโรงงานน้ำตาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ซึ่งในกลุ่มถือหุ้นอยู่ราว 87 % โรงงานน้ำตาลเกษตรผล บริษัทถือหุ้นราว 31 % และโรงงานน้ำตาละครบุรี บริษัทถือหุ้นประมาณ 11 % ส่วนจะเป็นการลงทุนในรูปแบบไหนอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะเป็นการขยายกำลงการผลิตหรือเป็นการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายใหม่ขึ้นมา

ขณะที่นายฮิโรชิ อูชิดะ รองผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ บริษัท มิตซุย คัมปานี( ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัท ยังมีความสนใจที่จะเข้าประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งทางบริษัทแม่ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลแข่ง เพราะมีบริษัท มิตซุย ออยล์เอ็กซโปลเรชั่นคัมปะนี สิมิเต็ด ซึ่งดำเนินธุรกิจสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว

อีกทั้ง มีความสนใจที่จะเป็นผู้จัดหาก๊าซแอลเอ็นจี ให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเห็นว่าในอนาคตความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมากขึ้น สวนทางกับการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยจะปรับตัวลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันบริษัท มีการจัดหาก๊าซแอลเอนจีให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้ว หากปตท.มีความสนใจก็จะสามารถจัดหาก๊าซแอลเอ็นจีจากแหล่งเชลล์แก๊ส จากสหรัฐอเมริกาให้ได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้จำหน่ายเครื่องกังหันแก๊ส ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าติดตั้งกับโรงไฟฟ้าเอกชนผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพี จำนวน 12 แห่ง และได้มีสัญญากับโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ ในเครือของบริษัท กัลฟ์ เจพีฯ อีกด้วย โดยสรุปแล้วบริษัทมีโซลูชั่นที่จะเข้าไปลงทุนกับพันธมิตรของไทยที่ครบวงจร

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

สินค้าเกษตรขยับขึ้น ทำเกษตรกรไทยมีความสุขสุดๆ อ้อยราคาดี ได้เงินเพิ่ม

ธ.ก.ส. เผยผลโพลเกษตรกรไทย พบสุขมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 83.11 จากเต็ม 10 เหตุราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม โดยเฉพาะผู้ปลูกอ้อย สุสุขที่สุด รองลงมาเป็นผู้ปลูกผลไม้ และเลี้ยงปลาน้ำจืด

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผย ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.ในหัวข้อ ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จากเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศ จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,064 ราย พบว่า ความสุขของเกษตรกรไทยในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) คะแนนเฉลี่ย 83.11 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน จากการสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.59 ที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 82.26 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ อาทิ อ้อย ปลาน้ำจืด และผลไม้ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชและทำประมงน้ำจืดมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ อาทิ ข้าวและยางพารา ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเป็นผลกระทบในระยะสั้น

จากการสำรวจความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติของศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. พบว่า มิติครอบครัวดี มิติสุขภาพดี มิติสังคมดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพเงินดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยมิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุดในทุกมิติ คะแนนเฉลี่ย 87.94 และมิติสุขภาพเงินดีเป็นมิติที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด คะแนนเฉลี่ย 76.77 แต่คะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy )

ส่วนความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภทมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด คะแนนเฉลี่ย 86.75 เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตอ้อยปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทั่วโลก เมื่อผลผลิตอ้อยราคาดีทำให้เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น ระดับความสุขของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพการเกษตรอื่น รองลงมา คือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้และเลี้ยงปลาน้ำจืด คะแนนเฉลี่ย 84.75 และคะแนนเฉลี่ย 84.50 ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลไม้มีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันจากความต้องการของตลาดต่างประเทศและผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อการประมงน้ำเค็มได้รับความเสียหาย ราคาปลาน้ำจืดในตลาดจึงปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ จากการที่ ธ.ก.ส.จัดทำโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) มาอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นนโยบายในการสนับสนุนสินเชื่อที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกรด้วยนั้น ในปีบัญชี 2559 นี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส ทำการสำรวจโดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตัวอย่าง จำนวน 1,155 ราย ได้แก่ เกษตรกร ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร และผู้ประกอบการ SME เกษตร พบว่า พฤติกรรมทางการเงินของกลุ่มตัวอย่างปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 2558 ในทุกด้าน ได้แก่ ด้านการจัดทำบัญชีครัวเรือนรายรับ-รายจ่าย การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน การออมเงิน การออมก่อนใช้ ก่อนกู้มีการพิจารณาถึงความจำเป็น การใช้เงินตามวัตถุประสงค์ และการจัดสรรเงินสำหรับชำระหนี้

นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มที่เป็นเกษตรกร ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส.และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเยาวชนในโครงการโรงเรียนธนาคาร เห็นว่า การเรียนรู้ทางการเงินทำให้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่อง “3 รู้ (รู้การออม รู้ชีวิต รู้ก่อนกู้) สู่ 12 แนวทางสว่างทางการเงิน" และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้สมาชิกในครอบครัว โดยพบว่าได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการใช้เงินตามวัตถุประสงค์มากที่สุดร้อยละ 98.0 รองลงมา คือ การออมเงินร้อยละ 95.4 และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 94.1 ตามลำดับ

สำหรับผู้ประกอบการ SME เกษตร เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีประโยชน์ สร้างความรู้และความเข้าใจ เรื่อง “3 ก้าว 9 รู้ สู่ธุรกิจ SME เกษตร" ซึ่งเป็นความรู้ ตั้งแต่การสร้างความพร้อม สร้างความรู้ทางธุรกิจและสร้างความเติบโต โดย ธ.ก.ส.จะมุ่งพัฒนาการให้ความรู้ทางการเงินกับเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME เกษตรและเยาวชนต่อไป จากผลการสำรวจบ่งชี้ว่าการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียน สามารถปรับพฤติกรรมทางการเงิน อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือนรู้รายรับรายจ่าย รู้ออมรู้ใช้ รู้ก่อนกู้ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและภาคชนบทอย่างยั่งยืน.

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ส.ป.ก.นำร่องแจก1แสนไร่ ดีเดย์ส่งมอบมิ.ย.ให้ทำกินรูปแบบสหกรณ์

เกษตรกรไร้ที่ดินเฮ เลขาฯ ส.ป.ก. เผยโรดแมปปี60 หลังยึดคืนที่ดินครอบครองผิดกฎหมายได้กว่า 3.1แสนไร่ เตรียมพัฒนาส่งมอบ คทช.แจกกว่า 7,000 รายรวม 1 แสนไร่ นำร่องเฟสแรก มิ.ย.นี้ ระบุ ให้ทำกินในรูปแบบสหกรณ์ สั่งเอกซเรย์รายชื่อหวั่นสวมสิทธิ์

นับแต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 ( 5 ก.ค.59) เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเป้าหมายยึดคืนจำนวน 438 แปลง เนื้อที่ 4.43 แสนไร่ ใน 28 จังหวัดนั้น

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการดำเนินงานตามคำสั่ง ของ คสช. เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายข้างต้นนั้น ส.ป.ก. ได้แบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 431 แปลง เนื้อที่ 4.37 แสนไร่ ใน 27 จังหวัด

2. ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิ เข้าทำประโยชน์แล้ว และครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่รับการจัดที่ดินที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 2 แปลง เนื้อที่ 448 ไร่ ใน 2 จังหวัด และ 3. ที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 5 แปลง เนื้อที่ 5,908 ไร่ ใน 3 จังหวัด ซึ่งผลการดำเนินการตรวจสอบ พบว่ามีพื้นที่ยึดคืนมาได้จำนวนทั้งสิ้น 3.16 แสนไร่ ขณะที่มี 1.26 แสนไร่ ที่ต้องคืนให้ผู้ครอบครองเดิมเนื่องจากมีหลักฐานการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น นส.3, นส.3

นายสมปอง กล่าวว่า เนื้อที่กว่า 3.16 แสนไร่ดังกล่าว จะนำมาพัฒนาโดยแบ่งเป็นปี 2560 จำนวน 1 แสนไร่ แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก เนื้อที่ 3 หมื่นไร่ จะแบ่งเป็น 5 โซนหลัก ประกอบด้วย 1.โซนที่อยู่อาศัยโซนที่อยู่อาศัยให้พื้นที่ 1 ไร่ ส่วนที่ 2 แปลงเกษตร จะให้ครอบครัวละ 5 ไร่ 3.แปลงเกษตรรวม ที่จะต้องใช้ทำประโยชน์ร่วมกัน จะตกลงกันว่าจะทำอะไร ส่วนโซนที่ 4 แหล่งน้ำทั้งเกษตรและน้ำอุปโภคและบริโภค และ 5.โซนอเนกประสงค์ อาทิ ที่ทำการสหกรณ์ อาจจะเป็นลานตากสินค้าเกษตร หรืออาจจะทำเป็นตลาด เป็นต้น คาดจะมีเกษตรกรยากไร้ไม่ต่ำกว่า 2,500 รายได้รับประโยชน์ ส่วนในเฟสที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 7 หมื่นไร่ คาดจะพัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ มีเกษตรกรที่จะได้รับแจกที่ดินไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย รวม 2 เฟส 7,000 กว่าราย ส่วนในปี 2561 จะพัฒนาที่ดินในส่วนที่เหลือประมาณ 2.16 แสนไร่ต่อไป

“เมื่อพัฒนาที่ดินเสร็จแล้ว จะส่งมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นำไปจัดที่ดินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรต่อไป และจะมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกรแบบสัญญาเช่า ภายในเดือนมิถุนายนสำหรับเฟสแรก นอกจากนี้จะช่วย คทช.เอ็กซเรย์เพื่อให้เกษตรกรยากไร้ตัวจริงได้เข้าถึงโครงการ หรือ ไม่ใช้สิทธิซ้ำซ้อนเพราะบางรายอาจเคยได้รับการจัดสรรที่จาก ส.ป.ก.มาแล้ว”

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เผยหลัก 9 ข้อปฏิบัติของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้รับมอบที่ดิน อาทิ ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองห้าม ขาย หรือให้เช่าต่อ, ยินยอมทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ,ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน จนเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมสภาพ,ไม่ขุดบ่อเพื่อเกษตรกรเกิน 5% ของเนื้อที่ยกเว้นได้รับอนุญาต และไม่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ เพิ่มเติม ยกเว้น ยุ้งฉาง หรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเท่านั้น เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ธนาคารโลก แนะ3เส้นทาง นำไทยสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

นายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านความยากจนและการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เปิดเผยรายงาน “การกลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน การวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ว่าจากนี้หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปี จึงก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งช่วงปี 2548-2558 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและเติบโตเหลือเฉลี่ยปีละ 3.3% และเติบโตช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน ต่างจากช่วงปี 2529-2539 ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 10%  ซึ่งมาจากการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การเติบโตที่ต่างกันอย่างมากนี้ เพราะความได้เปรียบทางด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เช่น นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การศึกษา ได้ถดถอยลงนับตั้งแต่ปี 2549-50 จนปี 2558-59 ประเทศต่างๆ ที่เคยตามหลังไทยได้พัฒนาขึ้นมาทันไทย เช่น เวียดนาม มาเลเซีย โดยที่ไทยไม่ได้ใช้ความล้ำหน้าในอดีตให้เป็นประโยชน์

นอกจากนี้ ปี 2557 ไทยยังคงมีคนยากจนอยู่ 7 ล้านคน ซึ่งใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่า 6.2 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อวัน และอีก 6.7 ล้านคนมีความเสี่ยงจะกลับไปเป็นคนยากจนอีก หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตกงาน และสูงอายุเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระดับสูงช่วยลดอัตราความยากจนจาก 67% ในปี 2529 เหลือ 10.5% ในปี 2557 ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะลดความยากจนจากนี้ คือ ราคาสินค้าเกษตรว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคนจนเกี่ยวโยงกับภาคเกษตรจำนวนมาก หากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างในอดีตจะช่วยลดความยากจนได้ สังคมสูงวัยจะเป็นความท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจ คาดปี 2588 ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นกับคนในวัยทำงานจะลดลงเป็นจำนวนเท่าๆ กัน ที่ 11 ล้านคน การเมืองที่ขาดเสถียรภาพและความตึงเครียดทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ชอบและเป็นกังวล ส่งผลให้ชะลอลงทุนออกไป และช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทถ่างตัวมากขึ้น บางภูมิภาคที่ล้าหลังจะยิ่งล้าหลังมากขึ้น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

” เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนของไทย  ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐ ผ่าน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ 1.สร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น  ด้วยการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี ลดระเบียบข้อบังคับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.ให้การอุดหนุนให้ตรงเป้ากลุ่มประชากรที่จนที่สุด 40% ของประชากรไทยทั้งหมด ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เพิ่มทักษะของกำลังแรงงาน ดำเนินนโยบายที่เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาด และมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน และ 3.ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย จัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและสะอาด ทั้งนี้ ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ และแผนงานจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การลงทะเบียนคนจน  สำคัญคือจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร” นายลารส์กล่าว

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่เข้าสู่ตามแนวทาง 3 เส้นทางหลักดังกล่าว ซึ่งรายงานที่นำเสนอจะเป็นไอเดีย เพื่อลดความยากจนและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขึ้นกับภาครัฐไทยจะนำไปปรับใช้อย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลอยู่ในรูปแบบใด ก็ทำสิ่งดีๆ ให้กับประชาชนได้ เคยมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปโตยก็ทำสิ่งไม่ดีกับประชาชนได้ และประเทศเผด็จการก็ทำสิ่งดีกับประชาชนได้ ไม่มีความสัมพันธ์กันกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งไม่ขึ้นกับรูปแบบของรัฐบาล เชื่อว่าไทยมีโอกาสและศักยภาพที่จะกลับมาเติบโตเร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าในอดีต

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560 

โพลล์ความสุขเกษตรกรพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี

"ธ.ก.ส." เผยผลสำรวจความสุขเกษตรกรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 83.11 คะแนน พุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี หลังราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

 นายลักษณ์ วจนานวัช  ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ผลการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.ในหัวข้อความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย ประจำเดือนก.พ.60 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,064 รายทั่วประเทศพบว่า ความสุขของเกษตรกรไทยในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 83.11 จาก 100 คะแนนเต็ม สูงสุดในรอบ 2 ปีนับจากปี 58 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ อาทิ อ้อย ปลาน้ำจืด และผลไม้ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชและทำประมงน้ำจืดมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ อาทิ ข้าว และยางพารา ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเป็นผลกระทบในระยะสั้น

 ทั้งนี้ เมื่อจำแนกความสุขของเกษตรกรไทยเป็นรายภาคพบว่า เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูง เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอ้อยสำคัญของประเทศ รองลงมาคือเกษตรกรภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องจากราคาผลผลิตภาคเกษตร เช่นอ้อย ผลไม้ และปลาน้ำจืด ได้ราคาสูงขึ้น ส่วนเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขต่ำที่สุด เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่สามารถกรีดยางได้ และเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวมทั้งผลผลิตที่เก็บได้มีอัตราการให้น้ำมันลดลง

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

มท.สั่งงัด5มาตรการเตรียมพร้อมรับภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) มีคำสั่งแจ้งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า ช่วงเดือน มี.ค. เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานพยากรณ์สภาพอากาศได้คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้อาจมีระยะเวลาสั้นกว่าปีก่อนๆ โดยฝนจะเริ่มตกในเดือน พ.ค. 2560 จากนั้นอาจเกิดฝนทิ้งช่วงสลับกันไปจนถึงเดือน มิ.ย. 2560 ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงปลายเดือน ก.ค.2560 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงขอแนะนำจังหวัดให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้จังหวัดจัดตั้งคณะทำงานสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำและปริมาณการใช้น้ำในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอโดยแยกเป็นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร

2.ให้พิจารณามอบหมายรองผู้ว่าฯ หรือปลัดจังหวัดตามความเหมาะสม เป็นหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วยนายอำเภอหรือผู้แทน ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับน้ำ ชลประทานพื้นที่ กปภ.จังหวัด ปภ.จังหวัด ผู้แทน อปท. ตัวแทนประชาชนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำ ฯลฯ นำข้อมูลน้ำตามข้อ 1 มาวิเคราะห์ เพื่อประเมินหรือคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำแต่ละประเภท ว่าจะเพียงพอถึงช่วงเวลาใด

3.ขอให้จังหวัดได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โดยให้พิจารณาดัดแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่ เช่น ลำเหมืองเดิม ทางน้ำไหลในฤดูฝน ที่ราบลุ่มเชิงเขา แล้วนำมาทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เช่น เหมือง ฝายชะลอน้ำ หลุมขนมครกหรือแก้มลิง ฯลฯ

“เชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมทำโครงการ โดยอาจใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่เข้าร่วมก่อสร้างโครงการ จะเป็นการสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งอาจส่งผลในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดหรือการบำรุงรักษาโครงการให้ยั่งยืนด้วย สำหรับพื้นที่ดำเนินการซึ่งอยู่ในเขตป่าประเภทต่างๆ หรือที่สาธารณะให้ประสานงาน มอบหมายหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรฯ ในพื้นที่” ปลัด มท. กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า 4.ขอให้นำสถานการณ์การขาดแคลนน้ำหรือประสบการณ์ปัญหาการใช้น้ำในปีก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไขจัดทำเป็นแผนบริหารการใช้น้ำในฤดูแล้ง 5.สำหรับงบประมาณดำเนินการตามข้อแนะนำข้างต้นนั้น จังหวัดสามารถพิจารณาขอใช้งบประมาณด้านป้องกันภัย ตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณให้รอบคอบ หรือประสานโดยตรงกับ ปภ. อีกทางหนึ่งด้วย

หรือใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัด จังหวัดละ 2 ล้านบาทตามแผนพัฒนาจังหวัด งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแผนพัฒนาจังหวัด-กลุ่มจังหวัดปี 2560 งบประมาณของ อปท. พื้นที่ รวมทั้งงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่หรืองบประมาณดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม (ซีเอสอาร์) ของภาคเอกชนหรือประชารัฐด้วยก็ได้ หากมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อเสนอแนะที่อาจเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ขอให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบด้วย

วันเดียวกัน ที่ ต.อู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท สภาพอากาศที่แห้งแล้งส่งผลให้บึงน้ำสาธารณะหลายแห่ง ตลอดจนลำคลองส่งน้ำต่างๆ แห้งขอด เกษตรกรต้องยอมทิ้งนาข้าวและพื้นที่เกษตรจำนวนหลายพันไร่ เพราะไม่มั่นใจว่าถ้าลงมือเพาะปลูกจะมีน้ำเพียงพอหรือไม่ โดยชาวนารายหนึ่งเปิดเผยว่า ปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าปี 2559 ซึ่งแม้แต่ชาวนาที่ต้องการปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนเพื่อสร้างรายได้ช่วงงดทำนา ก็ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงตัดสินใจงดทำการเพาะปลูกอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.อู่ตะเภา พบเกษตรกรพยายามสูบน้ำก้อนสุดท้ายที่เหลือติดบึงน้ำในพื้นที่ของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้รดพืชผักที่ลงมือเพาะปลูกไว้ก่อนหน้านี้ จนน้ำแห้งเหือดเหลือแต่ดินโคลน ซึ่งชาวนาบอกว่าถือว่าเป็นน้ำก้อนสุดท้าย ที่ยังพอมีความหวังให้พืชผักที่ปลูกไว้จะต่อชีวิตไปได้อีกระยะหนึ่งเท่านั้น ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ระดับน้ำเหนือเขื่อนวัดได้ 14.71 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับมาตรฐานกักเก็บ 15 เมตร อยู่ 29 ซม.

ด้านท้ายเขื่อนวัดได้ 5.65 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าตลิ่ง10.69 เมตร ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตั้งแต่ อ.สรรยาลงไปน้ำอยู่ในระดับต่ำ หลายจุดสามารถเดินข้ามได้และมีสันดอนทรายโผล่กลางแม่น้ำ โดย นายสุชาติ เจริญศรี ผอ.สำนักงานโครงการชลประทานที่ 12 ชัยนาท เปิดเผยว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและควบคุมการทำการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 3 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อป้องกันการขากแคลนน้ำนั้ สำนักชลประทานที่12 ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ซึ่งตามแผนจะสามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกรอบที่ 2 ได้ประมาณ 2.6 ล้านไร่เศษ แต่ปัจจุบันพบการทำนาเกินจากแผนไปแล้วถึง 1.1 ล้านไร่เศษ โดยจะทำการเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือน มี.ค.-กลางเดือน เม.ย. จึงขอความร่วมมือไม่ให้ทำนารอบที่ 3 โดยเด็ดขาด เพราะจะไม่มีการจัดสรรน้ำให้ เพื่อสงวนไว้สำหรับการเริ่มต้นการเพาะปลูกตามฤดูกาลในเดือน พ.ค. 2560 ซึ่งคาดว่าจะควบคุมการทำนาไม่ให้มีรอบที่ 3 ตามนโยบายของกระทรวงได้

ส่วนที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านในพื้นที่ ต.บ้านบัว อ.เมือง โดยเฉพาะโค-กระบือที่เลี้ยงไว้ไม่มีหญ้ากินเป็นอาหาร และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่างก็แห้งลงอย่างรวดเร็ว ทำให้แหล่งอาหารของโค-กระบือที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ขาดแคลน โดยเฉพาะพื้นดินแห้งแล้งแตกระแหงจนต้นหญ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียงก็แห้งขอด ชาวบ้านต้องนำโค-กระบือ ออกหากินหญ้าแห้งตามทุ่งนาแทน ซึ่งอยู่ไกลจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร

นางบัวไข ปะโลมรัมย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ กล่าวว่า จากที่ได้เกิดปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ต.บ้านบัว ทำให้กระบือที่ตนเลี้ยงไว้ประมาณ 20 ตัว ไม่มีหญ้าสดให้กิน ต้องหาหญ้าแห้งฟางข้าวที่เหลือตามท้องนา และใบไม้ใบหญ้าตามริมคันคลองและข้างถนนเป็นอาหารไปพลางๆ ก่อน แต่ก็หายากบางแห่งก็ถูกไฟไหม้ตอซังหมดไม่มีเหลือเลย อีกทั้งสภาพอากาศร้อนจัดอย่างนี้ยังทำให้กระบือที่เลี้ยงไว้หงุดหงิดง่าย เพราะว่าน้ำในสระไม่มีน้ำให้กินและให้ลงไปเล่นน้ำคลายความร้อน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

ขับเคลื่อน‘5ประสาน’ทฤษฎีใหม่ n เกษตรฯเปิดแผนลุยพื้นที่นำร่องส่งเสริม2.1หมื่นราย

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดทั้งเป็นการเผยแพร่แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่สาธารณชน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวม 70,000 ราย น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร

โดยแนวทางการดำเนินโครงการจะเริ่มต้นจากเกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก และยังไม่เคยทำเกษตรกรทฤษฎีใหม่มาก่อน 21,000 ราย ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมปานกลาง 42,000 ราย ในเดือนพฤษภาคม-กันยายน และส่งเสริมในกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม 7,000 ราย หรือมากกว่า ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยแบ่งแผนปฏิบัติงานออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การนำผู้ร่วมบูรณาการ 5 ประสาน คือ เกษตรกร ปราชญ์เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา มาพบปะสร้างการรับรู้แนวทางของโครงการฯ ระยะที่ 2 เกษตรกรปรับ/เปลี่ยนพัฒนาตนเอง โดยปราชญ์เกษตรช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ การวิเคราะห์ตนเอง และวางแผนการผลิตตามศักยภาพ ระยะที่ 3 ขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมการผลิตที่หลากหลายให้เกษตรกรตามศักยภาพ และ ระยะที่ 4 ติดตามเยี่ยมเยียนเกษตรกร อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

สำหรับแผนปฏิบัติงานที่จะเริ่มต้นจากเกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก 21,000 รายนั้น ขณะนี้ทั้ง 5 ประสาน ได้เริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้แล้ว โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.จัดการพบปะ 5 ประสานในพื้นที่ ทั้งในระดับตำบล/อำเภอ และระดับอำเภอ/จังหวัด 2.ปรับแนวคิด เปลี่ยนวิธีทำ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกร 3.จัดทำแผนการผลิตและสนับสนุนปัจจัยการผลิต 4.เกษตรกรลงมือทำตามแผนการผลิตในแปลงตนเอง และ 5.รายงานผล โดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐรายงานผลความก้าวหน้าประจำเดือนมีนาคม ต่อกระทรวงเกษตรฯ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

กรมชลอัดงบฯ3.4พันล้านจ้างงาน ช่วยเกษตรกรงดทำนาปรังรอบ2

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/60 โดยกรมชลประทานมีแผนการจ้างแรงงานจากวงเงินงบประมาณในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 3,497.19 ล้านบาทปัจจุบันเบิกจ่ายค่าจ้างแรงงานแล้วจำนวน 559.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.99 ของงบประมาณการจ้างแรงงาน โดยมีการจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 41,184 คน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,035 คน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2,686 คน และจังหวัดสกลนคร จำนวน 2,283 คน ตามลำดับ

สำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญในการว่าจ้างเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือลูกหลานของเกษตรกรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามหากบางพื้นที่มีจำนวนเกษตรกรมาสมัครไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งคาดว่า จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรทั่วประเทศได้ก่อนจะถึงฤดูฝนและการเพาะปลูกข้าวนาปี ในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำงานในช่วงฤดูแล้งกับกรมชลประทานสามารถขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานชลประทานที่ 1-17 และโครงการชลประทานจังหวัดทั่วประเทศ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ ดันหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ไทย-สหรัฐอเมริกา ด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-based Economy) ว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดย สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ได้มีการประสานข้อมูลและพบหารือกับองค์กร Biotechnology Innovation Organization (BIO) ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านชีวภาพ ตลอดจนแนวทางในการขยายการค้าและการลงทุนสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ Bio-based ซึ่งไทยน่าจะมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ โดยเห็นว่าการสร้างความร่วมมือและโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมระหว่างอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทยและอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของสหรัฐฯ จะเป็นหนึ่งในแนวทางการสร้าง หุ้นส่วนเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะสามารถสนับสนุนการพัฒนา Bio-based Economy และส่งเสริมการดำเนินนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้บรรลุตามเป้าหมาย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงฯ จะใช้จุดแข็งของไทยในการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้ในการผลิตสินค้า Bio-based ในการพัฒนาสร้างมูลเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

พพ.จ่อผุดแผนปลูกพืชพลังงาน สหกรณ์ล่าล้านชื่อขอค่าFiTเพิ่ม

พพ.เตรียมเจรจา ก.เกษตร กำหนดปลูกพืชพลังงาน ใช้ในโครงการเอสพีพี ไฮบริดเฟิร์ม ด้านกลุ่มสหกรณ์ล่ารายชื่อ 1 ล้านคน ยื่นนายก 22 มี.ค.นี้ ขอใช้อัตรา FiT เดิมที่ 5.66 บาท/หน่วย

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. เตรียมหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาแนวทางสนับสนุนให้มีการปลูกพืชพลังงาน เพื่อนำมาใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้า ของเอกชนรายเล็ก แบบผสมผสาน (เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม) กำลังผลิตรวมทั้งหมด 300 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบอัตราคงที่ (FiT) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า (ฟีดสต็อก) โดยเอกชนผู้ลงทุนต้องมีแผนการปลูกพืชพลังงาน อาทิ กระถิน หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ที่การปลูกพืชพลังงาน 1,000 ไร่ ต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ โดยเอกชนหลายรายเห็นด้วยกับการปฏิบัติดังกล่าว

ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานยังมีการเดินหน้าจัดทำการทบทวนแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (อาร์อี) โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติมด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้ โดยยืนยันว่าพลังงานทดแทนไม่สามารถแทนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ้ได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่แพง และยังไม่เสถียร

นายปฏิพล เกตุรัตนัง ประธานสหกรณ์การเกษตรนาบอน จำกัด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่าขณะนี้สมาชิกฯ ทั่วประเทศกำลังล่ารายชื่อ 1 ล้านคนเพื่อนำกลับไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 มี.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ยืนยันให้รัฐปรับอัตรา FiT โครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯ เฟส 2 จำนวน 191 เมกะวัตต์ ขึ้นมาที่ 5.66 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งลดลงเหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย ทำให้รายได้เกษตรกรต่ำลง.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560

รบ.มั่นใจหน้าร้อนนี้น้ำมากกว่าปีก่อน พร้อมบริหารควบคู่ฝนหลวง

รบ.มั่นใจ หน้าร้อนนี้ น้ำมากกว่าปีที่แล้ว พร้อมบริหารจัดการรอบคอบควบคู่ทำฝนหลวงป้องกันแล้ง เร่งเดินหน้า 6 มาตรการ 29 โครงการ

12 มี.ค.60 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว รัฐบาลจึงขอให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ตั้งแต่ฤดูแล้งจนถึงฤดูฝนปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 7,984 ล้าน ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. แบ่งการทำงานเป็น 2 ช่วง คือ เดือน มี.ค. - พ.ค.60 เน้นบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน เช่น เขื่อนลำตระคอง เขื่อนลำพระเพลิง และบรรเทาปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่การเกษตรบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อน ส่วนเดือน มิ.ย. - ต.ค. 60 เน้นเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีน้ำน้อย และพื้นที่การเกษตรที่ฝนทิ้งช่วง โดยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ 5 ภูมิภาค ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ,พิษณุโลก ,นครสวรรค์ ,ลพบุรี ,บุรีรัมย์ ,อุดรธานี ,จันทบุรี ,ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มพบว่าเกษตรกรเริ่มปลูกข้าวนาปรังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมากกว่าแผนที่วางไว้ จึงขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรใช้น้ำอย่างเหมาะสมหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตดีและสร้างรายได้มากกว่า ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองก็จำเป็นต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าเช่นกัน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่สร้างความเข้าใจกับเกษตรกร โดยคาดว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่จนถึงช่วงเดือน พ.ค. มากกว่าแผนที่วางไว้ราว 700 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 อย่างรอบคอบ ทั้ง 6 มาตรการ 29 โครงการ เช่น พัฒนาอาชีพเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ปลูกพืชปุ๋ยสด ขุดลอกปรับปรุงแหล่งน้ำ สำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ฯลฯ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ" วอนเกษตรกรเลื่อนทำนารอบ 3 ออกไปก่อน ห่วงหน้าแล้งน้ำนอกเขตชลประทานไม่พอใช้

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในช่วงนี้ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน มีปัจจัยหลักจากสภาพภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน คาดว่าจะมีการใช้น้ำในปริมาณที่มากขึ้นตามไปด้วย โดยในพื้นที่เขตชลประทานมองว่าไม่มีความเสี่ยง สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผน แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานรวม 34 จังหวัด 105 อำเภอ มีความเสี่ยงสูงว่าอาจจะมีน้ำไม่พอใช้ทำการเกษตร จึงได้ประสานงานลงไปยังท้องถิ่นว่าอยากให้ช่วยกันชะลอการทำนารอบที่ 3 ออกไปก่อน เนื่องจากน้ำไม่พอใช้ และอีกประมาณ 2 เดือนหลังจากนั้นจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่า

นายทองเปลวกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 43,269 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งหมด และได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศรวม 17,661 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,008 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,312 ล้านลบ.ม. วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งรวม 5,950 ล้านลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,091 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 74% ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,805 ล้านลบ.ม. หรือ 81% ของแผนการจัดสรรน้ำฯ และในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.46 ล้านไร่ จากแผน 4 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ เกินจากแผนที่วางไว้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ระดม 45 คัน! ดับเพลิงไหม้ใหญ่โรงงานไฟฟ้าชีวมวล คาดผลผลิตการเกษตรสะสมความร้อนเกิดเปลวไฟ

วันนี้ (12 มี.ค.60) เวลา 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โชคชัย ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟไหม้ภายในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ชื่อบริษัทแอ๊ดวานซ์อะโกรเพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 19 หมู่ 14 ต.โชคชัย อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ซึ่งไฟกำลังลุกลามและยังไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ จึงได้ประสานรถดับเพลิงจากเทศบาลตำบลโชคชัย ให้นำรถดับเพลิง 2 คัน ไปช่วยดับไฟ โดยจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่เก็บซากผลิตผลทางการเกษตร อาทิ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ต้นสับปะรด ไม้ยูคาลิปตัส ฟางข้าว และใบอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่มีปริมาณรวมกันน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 500 ตัน กองสูงกว่า 10 เมตร กินพื้นที่กว้างประมาณ 3 ไร่ และมีสภาพแห้ง จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี โดยไฟได้ลุกไหม้ไปแล้วกว่า 30% จากด้านข้างเข้าไปเกือบถึงบริเวณพื้นที่ตั้งอาคารโรงงาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของเทศบาลตำบลโชคชัย ได้พยายามดับเพลิงอยู่นานนับชั่วโมง แต่ไม่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เนื่องจากไฟได้คุกรุ่นอยู่ภายในกองเชื้อเพลิงลึกลงไปหลายเมตร จึงได้ประสานขอกำลังรถดับเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ ต.ด่านเกวียน, ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย, ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย และรถดับเพลิงหน่วยทหาร จากมณฑลทหารบกที่ 21 กองทัพภาคที่ 2 และรถดับเพลิงจากกองบิน 1 นครราชสีมา รวมรถดับเพลิงประมาณ 45 คัน มาระดมฉีดน้ำดับเพลิงกันทั่วบริเวณ พร้อมกันนี้ยังใช้รถแบ็กโฮ และรถตัก ช่วยตักวัตถุดิบทางการเกษตร ให้ออกเป็นทางเพื่อทำแนวให้ไฟอยู่ในพื้นที่จำกัด

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าสาเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ อาจจะเกิดจากสภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาที่ร้อนระอุอาจจะเป็นผลทำให้กองวัตถุดิบทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น กากอ้อย กากปาล์ม ซังข้าวโพด เกิดการสะสมความร้อนไว้จนกลายเป็นเปลวไฟ ประกอบกับวัตถุดิบทางการเกษตรที่กองอยู่จำนวนมากมีความแห้ง ซึ่งกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทำให้ไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของการควบคุมเพลิงอาจจะไม่สามารถดับไฟได้ในวันนี้ เนื่องจากไฟได้ลุกไหม้อยู่ลึกลงไปหลายเมตร และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง แต่ถึงอย่างไรก็ตามได้มีการทำแนวกันไฟไว้เพื่อควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดแล้ว และระดมรถดับเพลิงจำนวนมาก มาช่วยดับไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดับไฟได้ในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค. 60) ส่วนมูลค่าความเสียหายนั้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

สำหรับบริษัทแอ๊ดวานซ์อะโกรเพาเวอร์ แพลนท์ จำกัดนี้ เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งรับซื้อซากผลิตผลทางการเกษตร อาทิ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง ต้นสับปะรด ไม้ยูคาลิปตัส ฟางข้าว และใบอ้อย จากเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอโชคชัย และอำเภอใกล้เคียง เพื่อนำมาทำวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล อันเป็นพลังงานสะอาด จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมีกำลังในการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลาเดียวกันได้เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานอีกแห่ง คือโรงงานฟอร์จูน โฟม โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่บ้านหนองตาด ถนนโชคชัย-เดชอุดม ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโฟมและเฟอร์นิเจอร์ โดยไฟได้ไหม้ในโกดังเก็บสารเคมีสำหรับผลิตโฟม มีควันดำพวยพุ่งสูงเหนือโกดัง ต้องประสานรถดับเพลิงของ อบต.หนองตะไก้ และพื้นที่ใกล้เคียง นำรถดับเพลิง 5 คัน มาฉีดดับเพลิงอยู่เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโกดังได้รับความเสียหายเกือบหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปฏิบัติการฝนหลวงสู้แล้งสัปดาห์แรกได้ผล

สรุปปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งสัปดาห์แรกขึ้นบิน 6 วัน 79 เที่ยวทำให้มีฝนตก 20 จังหวัด ผลสำเร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์                     

 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้ ว่า จากสภาพความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น ประกอบกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคอีสานและภาคตะวันออกมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณดังกล่าวเหมาะแก่การเกิดฝน โดยที่ผ่านมาศูนย์ฝนหลวงจ.เชียงใหม่ ได้ขึ้นปฏิบัติการทำฝนแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า เพิ่มความชื้นพื้นที่ป่าต้นน้ำในภาคเหนือ  และในวันนี้(12 มี.ค.) ได้ทำฝนสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่เกษตร เพิ่มปริมาณน้ำเขื่อนภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาค ตะวันออก โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ ได้ปฏิบัติการฝนหลวงดัดแปรสภาพอากาศให้พื้นที่ภาคการเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งพบว่ามีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ อ.ไพศาลี อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ และอ.วิเชียรบุรี อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ ส่วนจ.ลพบุรี มีการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำลงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งพบว่ามีฝนตกเล็กน้อยในอ.ปากช่องและเขื่อนเป้าหมาย

นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ด้านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคอีสาน จ.บุรีรัมย์ ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ และเขื่อนลำปลายมาศ พบว่ามีฝนตกเล็กน้อย   บริเวณพื้นที่อ.ปักธงชัย ครบุรี และวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ส่วนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในพื้นที่อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีฝนตกเล็กน้อย และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่การเกษตรอ.บ้านคา จ.ราชบุรี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแก่งกระจาน  สำหรับผลสรุปการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฎิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง เมื่อวันที่ 3-11 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93.75 ขึ้นปฏิบัติงานจำนวน 79 เที่ยวบิน (125:00 ชั่วโมงบิน) ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 65.8 ตัน พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 29 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 20 จังหวัด และทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมรวม 13.74 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อีกทั้งได้เตรียมความพร้อมการปฏิบัติการฝนหลวงไว้เสมอทุกวัน และสามารถปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

กรมชลฯ ร่วมพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร

กรมชลประทาน, นวัตกรรมเกษตร, กรมชล, ร่วม, พัฒนา, งานวิจัย, และ, นวัตกรรม, ด้าน, การเกษตร, กรมชลฯ

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         กรมชลประทาน ร่วมกับ 8 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันของข้อมูลในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานงานด้านการเกษตรในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานวิจัยหรือการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง “การพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ” ภายในงาน         

        สำหรับการขับเคลื่อนงานวิจัยการเกษตร สู่ ไทยแลนด์4.0” เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมลงนามทั้งหมด 11 หน่วยงาน   ประกอบด้วย      กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ที่เป็นแกนหลักของฐานข้อมูล    ด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยของประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นแกนหลักในการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการเชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลหลักจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ที่มีงานวิจัยหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัยการเกษตรและงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่การนำเข้า เชื่อมโยง สืบค้น สำหรับการใช้ประโยชน์ร่วมกันและให้บริการข้อมูลงานวิจัยด้านการเกษตรแก่ทุกภาคส่วน และมาตรการบูรณาการข้อมูลความรู้ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

          รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวอีกว่า การพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ครั้งนี้มีผลดีอย่างยิ่ง           กับกรมชลประทานเพราะสามารถนำมาเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านการวางแผน พัฒนาและบริหารจัดการน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมมาใช้ในงานวิจัยเรื่องการกำจัดวัชพืชทางน้ำ โดยเฉพาะวัชพืชอย่างผักตบชวาที่รัฐบาลได้กำหนดให้การกำจัดผักตบชวาเป็นวาระแห่งชาติ หรือการวิจัยในเรื่องการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนาแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงอีกด้วย รวมทั้งงานวิจัยการใช้น้ำด้านชลประทาน เรามีการประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องมือด้านการสำรวจซึ่งเป็นการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศหรือโดรน ในการบินสำรวจสภาพลุ่มน้ำทิศทางการไหลของน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่กรมชลประทานได้รับรางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมาอีกด้วย ทำให้การบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาการเกษตรชลประทานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อปรับระดับพื้นที่ทำการเกษตรให้เหมาะสมและเพียงพอที่จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ชลประทาน การวางแผนให้เหมาะสมกับพื้นที่ Agri-Map ที่นำมาช่วยออกแบบระบบการชลประทาน อาทิ การออกแบบคลองส่งน้ำให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับพื้นที่การเกษตร และการวางแผนสำหรับการส่งน้ำ

   “การบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยสารสนเทศด้านการเกษตรของหน่วยงานผู้ปฏิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับงานด้านการเกษตรได้อย่างแท้จริง” รองอธิบดีกล่าว

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 6 สัปดาห์

“เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงต่อ จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 35.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค. นี้ หลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ (จำนวน 1.59 หมื่นล้านบาท และ 7.08 พันล้านบาทตามลำดับ) รวมถึงทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (10 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (3 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.25-35.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาผลการประชุมเฟด (14-15 มี.ค.) dot plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจสะท้อนถึงสัญญาณเกี่ยวกับจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ช่วงต้น) เดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเริ่มสร้างบ้านและการขออนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนม.ค. นอกจากนี้ จุดสนใจของตลาดอาจรวมไปถึงผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางญี่ปุ่น

ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงต่อ จากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,539.91 จุด ลดลง 1.68% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้น 10.17% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,000.26 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 586.97 จุด ลดลง 4.68% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับภาวะปรับฐานในช่วงต้นสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนที่ดัชนีจะฟื้นตัวในวันพุธจากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ จากนั้น ดัชนีปรับลดลงต่อในช่วงปลายสัปดาห์ โดยได้รับแรงฉุดจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรง หลังปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่นักลงทุนยังคงลดการถือครองหุ้นก่อนการประชุมเฟดวันที่ 14-15 มี.ค. นี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (13-17 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,550 และ 1,560 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้อมูลภาคการผลิตในยูโรโซน และจีน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

แล้งแล้ว! มท.ร่อนหนังสือถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บริหารอปท. บริหารน้ำให้พอใช้ รับมือขาดแคลน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ทุกจังหวัด เรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนว่า เดือนมีนาคมประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง พยากรณ์สภาพอากาศได้คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้อาจสั้นกว่าปีก่อนๆโดยฝนจะเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม และอาจเกิดฝนทิ้งช่วงสลับกันไปจนถึงเดือนมิถุนายน ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน นั้น เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงขอแนะนำจังหวัดให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขจัดตั้งคณะทำงานสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำและปริมาณการใช้น้ำในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอโดยแยกเป็นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 2.ให้พิจารณามอบหมายรอง ผวจ.หรือ ปลัดจังหวัดตามความเหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วยนายอำเภอหรือผู้แทน/ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯในจังหวัดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับน้ำ/ชลประทานพื้นที่/กปภ.จังหวัด/ปภ.จังหวัด/ผู้แทน อปท./ตัวแทนประชาชนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำฯลฯ โดยให้นำข้อมูลน้ำตามข้อ 1มาวิเคราะห์เพื่อประเมินหรือคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำแต่ละประเภทว่า จะเพียงพอถึงช่วงเวลาใดเพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการต่างๆต่อไป

3.ขอให้จังหวัดได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำโดยให้พิจารณาดัดแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่เช่น ลำเหมืองเดิม ทางน้ำไหลในฤดูฝน ที่ราบลุ่มเชิงเขา แล้วนำมาทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ โดยให้ประสานงานสำนักงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค/สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทการพัฒนาแหล่งน้ำหรือการเกษตรหรือการรักษาป่าในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯ/สำนักงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ/มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งให้เชิญชวนผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาร่วมกันจัดทำโครงการแหล่งเก็บกักน้ำประจำหมู่บ้าน/ชุมชนดังกล่าวข้างต้นโดยให้จังหวัดหรืออำเภอหรือ อปท.เชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมทำโครงการโดยอาจใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่หรือซื้อวัสดุก่อสร้างบางส่วนแล้วเชิญชวนประชาชนสละแรงงานเข้าร่วมก่อสร้างโครงการหรือจัดทำโครงการด้วยก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของโครงการซึ่งอาจส่งผลในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดหรือการบำรุงรักษาโครงการให้ยั่งยืนด้วย สำหรับพื้นที่ดำเนินการซึ่งอยู่ในเขตป่าประเภทต่างๆหรือที่สาธารณะให้ประสานงาน/มอบหมายหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯในพื้นที่หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เป็นหน่วยดำเนินงานเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ป่าหรือที่สาธารณะ

4.ขอให้นำสถานการณ์การขาดแคลนน้ำหรือประสบการณ์ปัญหาการใช้น้ำในปีก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไขจัดทำเป็นเเผนบริหารการใช้น้ำในฤดูแล้งดังนี้ จัดตั้งผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เคยมี/หรืออาจมีความขัดแย้งในการใช้น้ำ,หาวิธีแบ่งปันน้ำที่ทุกฝ่ายยอมรับหรือวิธีกักเก็บน้ำในช่วงที่จะมีฝนตกในพื้นที่ ,สร้าง/ปรับปรุง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำประจำหมู่บ้านตำบลให้ใช้การได้ตามปกติหรือการชักน้ำหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาใช้ในพื้นที่/จัดหาภาชนะเก็บน้ำหรือไซโลน้ำเพิ่มเติม ,รณรงค์ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดหรือรณรงค์โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยโดยให้พิจารณากลุ่มเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการขยายผลหรือเครือข่ายออกไปให้มากขึ้น ,วางแผนแจกจ่ายน้ำของ กปภ.หรือหน่วยงาน อปท.ให้ครอบคลุมพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ,ให้ใช้ศักยภาพของโครงการน้ำดื่มที่ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ/ประชารัฐประเภทต่างๆ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนฯลฯ

5.สำหรับงบประมาณดำเนินการตามข้อแนะนำข้างต้นนั้น จังหวัดสามารถพิจารณาขอใช้งบประมาณด้านป้องกันภัยตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณให้รอบคอบหรือประสานโดยตรงกับกรม ปภ.อีกทางหนึ่งด้วย หรือ ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดๆละ 2 ล้านบาทตามแผนพัฒนาจังหวัด/งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดปี 60 งบประมาณ ของ อปท. พื้นที่รวมทั้งงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่หรืองบประมาณดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนหรือประชารัฐด้วยก็ได้ และหากมีปัญหาอุปสรรคหรือข้อเสนอแนะที่อาจเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ขอให้รายงาน มท.ทราบด้วย

ต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้อมูลภาคการผลิตในยูโรโซน และจีน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

แห่นำเข้า‘ก๊าซแอลพีจี’ล้น กบง.ไฟเขียวส่งออกรอบ10ปี

สยามแก๊สแห่นำเข้าก๊าซแอลพีจี 4.4 หมื่นตันต่อเดือนกระทบการผลิตของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซล้น กบง.ต้องแก้ระเบยี บใหม่ ยอมให้ส่งออกแอลพีจีได้ในรอบ 10 ปี หลังควบคุมมานาน พร้อมออกระเบียบปรับผู้แจ้งนำเข้า แต่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องจ่ายส่วนต่างจากต้นทุนที่พุ่ง

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้เปิดเสรีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นไปนั้น โดยให้ผู้ค้าแอลพีจีกว่า 20 ราย จะต้องแจ้งการจัดหาแอลพีจีให้กรมธุรกิจพลังงานรับทราบทุกวันที่ 20 ของเดือน เพื่อบริหารการจัดกาแอลพีจีไม่ให้เกิดการขาดแคลน โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้ค้าได้แจ้งนำเข้าแอลพีจีมาจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) นำเข้าในปริมาณ 3.3 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาเพื่อส่งออก ในปริมาณ 2.2 หมื่นตันต่อเดือน และบริษัท ยูนิคแก๊สฯ นำเข้าเพื่อส่งออกในปริมาณ 3,000 ตันต่อเดือน

โดยปริมาณดังกล่าว ได้มีการนำเข้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งนำเข้าอีก เป็นของสยามแก๊ส 4.4 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายในประเทศ ขณะที่ ปตท. นำเข้ามาปริมาณ 1.1 หมื่นตันต่อเดือน เพื่อส่งออก และยูนิคแก๊สนำเข้ามา 3 พันตันต่อเดือน เพื่อส่งออก ซึ่งในส่วนของปตท.นั้น จากเดิมที่มีการนำเข้ามาเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ได้รับรายงานว่าจากนี้ไปจะเป็นการนำเข้ามาเพื่อส่งออก จะไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากปริมาณการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ได้ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป จะมีปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจีเหลือมากขึ้น เบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งจะทำให้โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงแยกก๊าซธรรมชาติ สามารถที่จะส่งออกก๊าซแอลพีจีออกไปต่างประเทศได้ หลังจากที่มีการควบคุมการส่งออกมาร่วม 10 ปี

โดยเมื่อวันเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจี ทั้งกรณีการนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน และรักษาระดับสมดุลของการผลิตและจัดหาก๊าซแอลดีจี ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ควบคุมดูแล และพิจารณาการขออนุญาตส่งออกเป็นรายเที่ยว โดยการขออนุญาตส่งออกก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ภายในประเทศ จะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซแอลพีจีให้สามารถส่งออกได้ในกรณีที่มีก๊าซแอลพีจีเกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่กำหนดในอัตราส่วนต่างของราคาตลาดโลกบวก X (ค่าขนส่ง ค่าประกน ค่าดำเนินงาน)

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีผู้ค้าก๊าซแอลพีจีแจ้งนำเข้าแล้ว แต่ไม่สามารถนำแอลพีจีเข้ามาได้ และอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนภายในประเทศ ทำให้ภาครัฐจะต้องนำเข้าแอลพีจีในภาวะฉุกเฉิน ทางกบง.ได้เห็นชอบมาตรการรองรับความเสียหายอันเกิดจากการชดเชยราคาส่วนต่างจากการนำเข้าก๊าซแอลพีจีแบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo) โดยผู้นำเข้าแอลพีจีไม่ได้ จะต้องจ่ายเงินในอัตราส่วนต่างของต้นทุนที่นำเข้ามา เพราะการนำเข้าแบบฉุกเฉินจะมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้ามารแบบปกติ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

โต้ขึ้น'แวต'บิ๊กตู่ลั่นแค่เปรียบเทียบสมคิดก็ช่วยแจงรัฐเปิดให้ลงอีก'ทะเบียนคนจน'พท.ยุตั้ง'ศุภชัย'คุมทีมเศรษฐกิจ  

          'บิ๊กตู่' ว้ากสื่อ โต้ลั่นขึ้น 'แวต' แค่เปรียบเทียบ ชี้เศรษฐกิจดีขึ้น ฉุนเขียน 'โม้-โว-ปัด' สมคิดยันไม่ได้ถังแตกรัฐบาลเปิดลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ 3 เม.ย.-15 พ.ค. เพื่อไทยสวนคำขอเสียสละ แนะให้เสียสละชะลอซื้ออาวุธ งดรับเงินเดือนสองทาง ยุส่งตั้ง'ศุภชัย'คุมเศรษฐกิจ

          บิ๊กตู่เปิดงาน'เอสเอ็มอี'

          เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน SMEs Revolution : เส้นทางสายโอกาสเอสเอ็มอี 4.0 ที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็น เจ้าภาพ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ ต้องเข้าใจตรงกันว่าประเทศไทยเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2557 ทั้ง 6 ด้าน ทุกคนต้องคำนึงถึงส่วนรวม ไม่ใช่คิดแต่เรื่องส่วนตัว ซึ่งรัฐบาลเข้ามาทำทุกอย่างโดยใช้หลักการเหตุผล และยุทธศาสตร์มาดำเนินการ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบบริหารราชการทั้งภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ การเดินไปข้างหน้าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และความเข้าใจ จึงขออย่าบิดเบือน ทั้งนี้รัฐบาลไม่เคยนิ่งนอนใจพยายามขับเคลื่อน ในทุกมิติ แต่มีหลายคนที่ยังดูถูกประเทศ ไม่เข้าใจว่าจะพูดทำไม ทำลายศักยภาพตัวเองทั้งสิ้น ขอร้องว่าอย่าเอาโอกาสมาเป็นวิกฤต และทำวิกฤตให้วิกฤตมากกว่าเดิม แต่ต้องใช้วิกฤตเป็นโอกาส

          โต้วุ่นขึ้นภาษี

          "เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ผมได้อธิบายเรื่องภาษีเพราะประชาชนเรียกร้อง ขอโน่น ขอนี่ ผมก็อยากให้ ก็อธิบายไป แต่สื่อกลับบอกว่าผมต้องการขึ้นภาษี ไม่เข้าใจกันหรืออย่างไร อะไรที่มีปัญหาความขัดแย้ง พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งแต่ข้างในก็เขียนอย่างที่ผมพูด เนื้อข่าวไม่มีอะไร แต่ข้างหน้าขอให้ได้เขียน เพื่อให้คนซื้อหนังสือพิมพ์ ทำแบบนี้มันน่ารังเกียจ แต่คงไม่ใช่ทุกคน พวกที่ดีๆ กับผม ก็มี" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า สื่อต้องช่วยด้วย ไม่ใช่รัฐบาลพูดอะไรก็เขียนแต่ว่าโม้ โว ปัด เขียนวนกันอยู่แค่นี้ นอกจากนี้ยังมีบางสื่อไม่เข้าใจ ยังดูถูกประเทศตัวเองว่าจะเป็น 4.0 ได้อย่างไร เอาเรื่องมีปัญหากับเรื่องดีๆ มาปนกันหมด ทั้งเรื่องพระและเรื่องอื่นๆ อย่าเอาอะไรมาพันกันไปหมด เดี๋ยวก็ทุจริต คิดแต่จะทุจริต รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ขอให้ไปฟ้องและ ดำเนินการกันมา รัฐบาลคิดไปข้างหน้า ข้างหลัง มีหน่วยงานอื่นดูอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นจะตั้งหน่วยงานมาทำไม จะให้นายกฯสั่งคนเดียวหรือ ทุกเรื่องก็นายกฯ นายกฯ ตนก็ตายพอดี ตนได้ มอบให้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่ วันนี้ช่อง 11 ปรับปรุงขึ้นมากแล้ว ขอให้ไปดูกันบ้าง ช่องนี้ มีทุกอย่างทั้งวิธีการ การประกอบการในเรื่องปฏิรูป ไปดูช่องละครแล้วจะรู้เรื่องการปฏิรูปกันหรือไม่

          โวยบิดเบือนเศรษฐกิจไม่ดี

          วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า จากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเผยแพร่ผลการจัดอันดับ ตามดัชนีความทุกข์ยาก ประจำปี 2560 ว่าไทยมีระดับความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลกหรือมีความสุขที่สุดในโลก ต้องถือเป็นข่าวดี และขอชื่นชมหน่วยงานทุกฝ่ายของรัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งเครือข่ายประชารัฐที่ร่วมกันสร้างความสุข รักษาอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน แสดงว่าต่างประเทศเห็นว่าไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายด้าน ซึ่งทุกมาตรการ ของรัฐบาล และคสช. ที่ทำอยู่ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และส่งผลให้เห็นผ่านตัวชี้วัดต่างๆ

          "แต่ก็มีหลายคนบิดเบือนว่าไม่จริง เศรษฐกิจ ไม่เห็นจะดีขึ้น ประชาชนไม่มีความสุข ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคิดได้ ต้องช่วยกันพิจารณาคนที่ออกมาพูดด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

          สมคิดยันไม่ถังแตก-ไม่ขึ้นภาษี

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวถึงข่าวการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 8 เปอร์ เซ็นต์ว่า ไม่ทราบว่าข่าวออกมาได้อย่างไร เพราะได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันว่าไม่ได้พูดสักคำว่าจะขึ้นแวต แค่เปรียบเทียบให้คนไทยว่ามีความพร้อมที่จะรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ อยู่ๆ มาเป็นข่าวใหญ่โต ที่ผ่านมารัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดี แต่พอมีข่าวว่าจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มก็สะดุดแย่ไปกันหมด การขึ้นภาษีจะกระชากให้เศรษฐกิจชะลอไปอีก เหมือนกรณีนโยบายธนู 3 ดอก ของนายชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่นที่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 8 เปอร์เซ็นต์ จนถึงขนาดนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังหัวทิ่มมา 3 ปีแล้ว

          นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ยืนยันว่ารัฐบาล ไม่ได้ถังแตก หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 44 เปอร์เซ็นต์ ต่ำมากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นหรือสหรัฐที่มีระดับหนี้สาธารณะ 100 เปอร์เซ็นต์ และการปฏิรูปภาษีก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ การจะปรับก็ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม ว่าใครควรรับผิดชอบตอนไหน เช่น ภาษีมรดกที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องแวต แต่เป็นเรื่องภาษีทั้งระบบ ใครที่ควรเสียภาษีก็ต้องเสีย รวมทั้งการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ลดการซ้ำซ้อน และยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่มีแนวคิดขึ้นแวต เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว จึงยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะปรับขึ้น

          'ป้อม-คสช.'แจงวุ่นปมภาษี

          วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เพียงเปรียบเทียบว่าถ้าขึ้นภาษีอีก 1 เปอร์เซ็นต์ รายได้ประเทศจะเข้ามาแสนกว่าล้านบาท โดยเงินดังกล่าวจะสามารถดำเนินการตามที่ประชาชนเรียกร้องได้ เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขอย้ำว่านายกฯ ไม่ได้คิดจะขึ้นภาษี เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ถังแตก หรือตูดขาด

          ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวว่า นายกฯ ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเพียงการยกตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นว่ายังมีประชาชนเสนอขอความช่วยเหลือต่างๆ มายังรัฐบาลมาก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ทุกประเทศได้รับผลกระทบ คสช.และรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยความทุ่มเท ล่าสุดเริ่มเห็นถึงสัญญาณหลายอย่างมีแนวโน้มค่อยๆ ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมามีบางบุคคลพยายามทำลายความน่าเชื่อถือ บิดเบือนสร้างวาทกรรมว่ารัฐบาลถังแตก ขอให้สังคมใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวสารด้วยรู้เท่าทันในเจตนาที่มักแอบแฝงมาของบางบุคคลเพื่อทำสังคมสับสน

          รัฐเปิดลงทะเบียนคนจนรอบใหม่

          ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลดำเนินมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยช่วยเหลือผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รับเงินโอน 3,000 บาท ผู้มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รับเงินโอน 1,500 บาท โอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิ์ผ่านธนาคารรัฐ 3 แห่งนั้น ผลการโอนเงินเมื่อวันสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ม.ค. รัฐบาลโอนเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 7,525,363 คน คิดเป็นร้อยละ 97.5 แบ่งเป็นเกษตรกร 2,475,303 คน และไม่ใช่เกษตรกร 5,050,060 คน และไม่สามารถโอนเงินได้ 189,996 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5

          นายจิรชัยกล่าวต่อว่า ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ได้ติดตามปัญหาอุปสรรคในการดำเนิน มาตรการ ปัญหาที่พบคือประชาชนได้รับทราบข่าวสารการดำเนินมาตรการไม่ทั่วถึง ไม่ชัดเจนว่าลงทะเบียนเพื่ออะไร รวมถึงผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถไปลงทะเบียนตามมาตรการได้ การบันทึกข้อมูลคลาดเคลื่อน ซึ่งจะรายงาน ให้คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เป็นประธานรับทราบปัญหาและปรับปรุงแก้ไขต่อไป สำหรับการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 รอบใหม่เริ่ม วันที่ 3 เม.ย.-15 พ.ค.นี้ โดยผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่ไม่เคยลงทะเบียนและผู้ที่เคยลงทะเบียนในปีที่ผ่านมา จะต้องมาลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด โดยลงทะเบียนได้ที่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย คลังจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานเขตทุกเขตใน กทม.

          พท.สวนเสียสละชะลอซื้ออาวุธ

          ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราช ธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ระบุอยากให้ประชาชนเสียสละหากรัฐบาล จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 1 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลจะได้เงินอีก 1 แสนล้านบาทมาพัฒนาประเทศ ว่า แม้คนของรัฐบาลจะปฏิเสธว่ายังไม่มีแนวคิดนี้ แต่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีเงินจริงๆ สวนทางกับโพลทุกสำนักที่เชียร์ว่าดี เศรษฐกิจก็ดี การท่องเที่ยวก็ดี แต่กำลังโยนหินถามทางว่าจะขึ้นภาษี และยิ่งสวนทางหนักเมื่อรัฐบาลเก็บภาษี 5 เดือนที่ผ่านมาได้ต่ำกว่าเป้า 6,000 ล้านบาท เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร รัฐบาลอธิบายด้วย และตั้งแต่รัฐบาลนี้บริหารประเทศ ได้จัดงบประมาณขาดดุลมาตั้งแต่ปี 2558-59-60 และกำลังจะทำงบฯปี 2561 รวมแล้วต้องกู้เงินมาใช้จ่าย 1.8 ล้านล้านบาท และยังไม่เห็นวี่แววว่าจะกู้มาเป็นภาระประเทศอีกเท่าไร หากรัฐบาลนี้ยังอยู่ต่อไป

          "นายกฯ เรียกร้องให้ประชาชนเสียสละให้กับประเทศ ผมขอร้องให้ท่านเสียสละเหมือนกัน ให้ออกคำสั่งให้ข้าราชการที่ตั้งขึ้นมารับตำแหน่งต่างๆ อย่ารับเงินเดือนสองทาง ออกคำสั่งให้องค์กรอิสระงดไปดูงานเมืองนอก สั่งให้เหล่าทัพหยุดซื้ออาวุธก่อนจนกว่าฐานะการเงินของรัฐบาลจะดีขึ้น ที่สำคัญควรรีบพาประเทศเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว วันนี้ชาวบ้านเดือดร้อน การค้าขายเงียบเหงา คนตกงานมากขึ้น อย่าซ้ำเติมประชาชนเพราะไม่มีรัฐบาลไหนในโลกที่ขึ้นภาษีในภาวะประชาชนเดือดร้อน" นายสมคิดกล่าว

          ชงให้'ศุภชัย'คุมเศรษฐกิจแทน

          น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส. เชียง ราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดี การเพิ่มภาษีจะเพิ่มภาระให้ประชาชนมากขึ้น สินค้าจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งนายกฯ อาจคิดว่าคนไทยมีความทุกข์น้อยสุดจากรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก จึงคิดว่าจะทนความลำบากจากการขึ้นภาษีได้ แต่ความจริงคือประชาชนลำบากกันมาก การสำรวจของบลูมเบิร์กวัดจากการว่างงานของไทยที่มีระดับต่ำ เพราะวิธีคิดการว่างงานของไทยกำหนดไว้ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก อีกทั้งการว่างงานก็เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะขึ้นภาษี

          น.ส.วิสาระดีกล่าวว่า แม้นายสมคิดบอกว่าจ่ายเงินช่วยคนจนกว่า 9 แสนล้านบาท แต่ประชาชนที่มีรายได้น้อยกลับไม่รู้สึกว่าความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งมีข้อกล่าวหาว่ามีทุจริตมากแต่ตรวจสอบไม่ได้เพราะไม่มีฝ่ายค้าน และยังใช้เงินซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ก็ควรเชิญนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เข้ามาบริหารเศรษฐกิจแทนทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะนายศุภชัยตั้งใจเชียร์ยุทธศาสตร์ 20 ปีที่เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ และไม่มีประเทศไหนที่เจริญเขาทำกัน อยากเห็นว่านายศุภชัย จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่ในภาวะการเมืองปัจจุบัน

          อนุฯปรองดองนัด'กปปส.'ถก

          ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชา สัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงข่าวภายหลัง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่พรรคเพื่ออนาคต พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคถิ่นกาขาว เข้าหารือพูดคุย เสนอความเห็นกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่าบรรยากาศเป็นกันเอง ทุกพรรคมุ่งมั่นจะเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ และเปิดกว้าง โดยมองเรื่องความปรองดองต้องใช้เวลาและหวังจะเห็นคนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสันติสุข

          พล.ต.คงชีพกล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มพรรคการเมือง เดินหน้ามาถึงสัปดาห์ที่ 4 แล้ว ขณะนี้มี 39 พรรคที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น หากรวมในสัปดาห์หน้าที่จะมีอีก 7 พรรค และ 2 กลุ่มการเมืองแล้ว จะมีทั้งหมด 46 พรรคกับ 2 กลุ่มการเมือง จากนั้นคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ จะเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นในส่วนของภาคประชาสังคม และพรรคอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้ามาเสนอความคิดเห็นเนื่องจากยังไม่พร้อมทั้งข้อมูลและตัวบุคคล ทางเราจะเปิดกว้างเพื่อให้พรรคที่เหลือเข้ามาแสดงความคิดเห็น ประมาณเดือนเม.ย.นี้

          ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ได้เผยแพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊กของ ตัวเอง โดยระบุตอนหนึ่งว่า กปปส. ได้ตอบรับที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปที่กระทรวงกลาโหม ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.เป็นต้นไป จะนำเรียนว่าจะไปแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรบ้าง

          โหวต'อุดม-วีรวิทย์'นั่งศาลปค.

          ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประชุม และลงมติเลือกนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วยคะแนน 195 คะแนน นายวีรวิทย์ วีวัฒนวานิช ผอ. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตวิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต ด้วยคะแนน 159 คะแนน เป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อประกอบด้วย นายอุดม นายวีรวิทย์ พล.ท.ดิเรกพล วัฒนะโชติ อดีตกรรมการตุลาการศาลปกครอง และนายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ อดีตนักวิชาการ

          จากนั้นที่ประชุม พิจารณาอนุสัญญาระหว่าง ประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ เพื่อให้สนช.เห็นชอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 23 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 โดยมีมติเห็นชอบเอกฉันท์ 205 คะแนน

          วันเดียวกัน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ ถึงขั้นตอนดำเนินการเมื่อพบว่ามีพยาน หลักฐานในการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ต้องตรวจสอบขั้นตอนการจัดซื้อตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นป.ป.ช.จึงแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องตาม ขั้นตอนและกระบวนการ มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ ใช้อำนาจหน้าที่ในการทุจริต เป็นขั้นตอนกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง หากไต่สวนพบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องเส้นทางทางการเงินก็อาจจะมีความผิดฐานเรียกรับสินบนอีกด้วย นั่นก็จะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง คนกลาง ผู้สนับสนุน ก็จะได้พิจารณากันอีกส่วนหนึ่ง โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ยืนยันว่าข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากทาง การบินไทยนั้นมีความครบถ้วน จากนี้ต้องลงรายละเอียด สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องทุกคน

          เลื่อนอ่านฎีกา'กี้ร์'หมิ่น'มาร์ค'

          วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4177/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ผู้อื่นโดยการโฆษณา จากกรณีปราศรัยวันที่ 11 ต.ค. 2552 และวันที่ 17 ต.ค. 2552 ถึงการบริหารงานรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์

          โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำคุก 2 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน และไม่มีเหตุรอการลงโทษ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.57 ยืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยยื่นฎีกาสู้คดี และได้รับการประกันตัววงเงิน 5 แสนบาทระหว่างฎีกา

          โดยวันนี้นายอริสมันต์ ไม่ได้มาศาล แต่มีผู้แทนทนายความมายื่นคำร้องขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อนเนื่องจากป่วยปวดท้องรักษาอาการที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า ความเจ็บป่วยถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วง จึงเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 11 มีนาคม 2560

‘สมคิด’ย้ำชัดไม่ขึ้นVAT กลัวเศรษฐกิจหัวทิ่มแบบญี่ปุ่น

 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่ทราบว่าข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลจะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAY) จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เป็น 8% เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้เป็นเพียงอธิบายเรื่องระบบภาษี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะขึ้นภาษี

“นายกฯไม่ได้พูดสักคำว่าจะขึ้น VAT แค่เปรียบเปรยให้ฟังว่าคนไทยพร้อมที่จะรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ แต่อยู่ๆ มาเป็นข่าวใหญ่โต จึงไม่รู้ว่ามีการทำไปเพื่ออะไร ที่ผ่านมารัฐบาลก็แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และกำลังไปได้ดีแล้ว พอมีข่าวว่าจะขึ้น VAT ก็สะดุดแย่ไปกันหมด”

นายสมคิดกล่าวว่า ทั้งตนเอง และรมว.คลัง ต่างก็ยืนยันเช่นกันว่า ยังไม่มีแนวคิดว่าจะขึ้น VAT แน่นอน เพราะเศรษฐกิจเวลานี้อยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ดังนั้นจึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จะต้องรอให้เศรษฐกิจแข็งแรงกว่านี้ และยังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นในช่วงนี้

“สถานการณ์กำลังดี อยู่ๆ ก็มีข่าวนี้โผล่มา ผมว่าเราต้องเป็นคนหูหนัก อย่าไปเชื่อข่าว โดยเฉพาะที่บอกต่อๆ กันในโซเชียลมีเดีย อย่าไปฟังเสียงคนอื่น คอยดูปาก รมว.คลังคนเดียว ตอนนี้เรากำลังช่วยกันทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จึงขอความร่วมมืออย่าเล่นแต่ข่าวร้ายๆ”

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ถังแตก หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 44% ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐที่มีระดับหนี้สาธารณะ 100% ส่วนการปฏิรูปภาษีก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีทั้งพิจารณาภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม แต่การปรับเปลี่ยนภาษีต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ยังไม่ใช่ในจังหวะเวลานี้ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว การขึ้นภาษีจะกระชากให้เศรษฐกิจชะลอไปอีก เหมือนกรณีนโยบาย “ธนู 3 ดอก” ของนายชินโละ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 8% จนถึงขนาดนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังหัวทิ่มมา 3 ปีแล้ว

“เศรษฐกิจตอนนี้ เพิ่งฟื้นตัว การทำอะไรกระทรวงการคลังรอบคอบอยู่แล้วให้ฟังเสียงของ รมว.คลัง อย่าฟังคนอื่น โดยเฉพาะจากโซเชียล”นายสมคิด กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากจัดเก็บเหมือนกับญี่ปุ่น ที่กำหนดไว้จากเดิมร้อยละ 5 ขึ้นทันทีเป็นร้อยละ 8 จะทำให้เศรษฐกิจช็อก และเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ไทยที่มีสัญญาณว่า จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ต่อไปจนถึงปี 2561 แสดงว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่หากมีการปรับอัตราให้สูงขึ้น จะต้องมองถึงเศรษฐกิจไทย จะต้องมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4 ขึ้นไปแล้วถึงจะปรับขึ้นหรือในช่วงที่สินค้าเกษตรของไทยราคาดีขึ้น เพราะจะทำให้ประชาชนมั่นใจ และสามารถรับภาระภาษีที่สูงขึ้นได้ แต่ขณะนี้หากจะมีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปด้านอื่นๆ เห็นว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 มีนาคม 2560

รมว.เกษตรสั่งทำฝนหลวงเติมน้ำเข้าเขื่อน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สั่งทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง เติมน้ำเข้าเขื่อน6ล้านลบ.ม./ปี

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้มอบหมายให้ กรมฝนหลวงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งเติมน้ำต้นทุนในเขื่อน เพิ่มความชุ่มชื้นพื้นที่เกษตรกรรม และ บรรเทาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยในรอบ 1 ปีมีการขึ้นบินปฎิบัติการฝนหลวง 4,000 - 5,000 เที่ยวบิน ได้น้ำเข้าเขื่อน 5,000 - 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงคิดค้นสูตรฝนหลวง และ พระราชทานให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำไปดำเนิน

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 11 มีนาคม 2560

หอการค้าชี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.พ.60 ปรับตัวดีที่สุดในรอบ 14 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ. 60 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมันและอ้อยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยในหลายจังหวัดที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นเริ่มขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับเกี่ยวกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Brexit

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 64.3 70.3 และ 92.8 ตามลำดับ และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13  13 และ 23 เดือนตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมกราคม 2560 ที่อยู่ในระดับ 63.1 69.1 และ 91.2 ตามลำดับ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น  แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ระดับ 75.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในอนาคต

สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยอยู่ที่ระดับ 53.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกันโดยปรับตัวสู่ระดับ 84.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 23 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล สุดแฮปปี้ หีบอ้อยฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่าน 90 วัน ทำยิดล์ผลิตน้ำตาลทรายอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังไม่ลดความรุนแรงลง

          อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โชว์ข้อมูลผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่าน 90 วันแรก ระบุยิลด์ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยดีกว่าปีกอนหน้า หลังมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 75.24 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายแล้ว78.95 ล้านกระสอบ รับจังหวะช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้น หวั่นอ้อยไฟไหม้ในช่วงที่เหลือของฤดูการเก็บเกี่ยวไม่ลด หลังสัดส่วนอ้อยไฟไหม้พุ่งแตะ 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

          นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

          ขณะที่ผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้น โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มี 11.51 ซี.ซี.เอส. อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

          "ด้วยสภาพอากาศเย็นในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยในปีนี้ และรถอ้อยไม่ติดคิวนานเหมือนปีก่อนๆ เรามองว่าน่าจะได้ค่าความหวานในอ้อยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ชาวไร่เร่งเก็บเกี่ยวโดยเลือกใช้วิธีเผาอ้อย จึงทำให้ค่าความหวานไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยิลด์ผลิตน้ำตาลทรายปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถผลผลิตน้ำตาลทรายได้ดีกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้ดีขึ้นและจากราคาน้ำตาลทรายที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" นายรังสิต กล่าว

          อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูการหีบในปีนี้ ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้ง ยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

เตรียมพร้อม6มาตรการรับมือภัยแล้ง เกษตรฯแจงยิบผลขับเคลื่อนลดความเสี่ยงเผชิญเหตุ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบสถานการณ์น้ำแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2559/60 และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/60 และแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว

กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อม รวม 6 มาตรการ 29 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้ 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งมีโครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตรกรรายย่อย ขณะนี้ได้อบรมความรู้แก่เกษตรกรแล้ว 12 จังหวัด 8,870 ราย 2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด งบประมาณ 383.49 ล้านบาท เป้าหมาย 200,000 ไร่19 จังหวัด ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 12,513 ราย พื้นที่ 195,289 ไร่ขณะนี้อยู่ระหว่างการไถเตรียมดิน 171,690 ไร่ โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง งบประมาณ 636.25 ล้านบาท เป้าหมาย 300,000 ไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ดำเนินการปลูกแล้ว 194,474 ไร่ เกษตรกร 40,115 รายคิดเป็น 64.82 %

3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โครงการก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน งบประมาณ 125.92 ล้านบาท เป้าหมาย 113 แห่ง 33 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 57 แห่ง 20 จังหวัด โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน งบประมาณ 752.40 ล้านบาท เป้าหมาย 44,000 บ่อใน 60 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 34,867 บ่อ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9,133 บ่อ 4.มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยโครงการเพิ่มขีดความสามารถแก่เกษตรกร กิจกรรมหน่วยบริการชาวนาแบบเคลื่อนที่ งบประมาณ 8.30 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯแล้ว 51 ศูนย์ อบรมเกษตรกรไปแล้ว 2,091 ราย โครงการสำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่เพื่อเตรียมสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง งบประมาณ 2.55 ล้านบาท เป้าหมาย 51 ตัน ขณะนี้ดำเนินการสำรองเมล็ดพันธุ์แล้ว 40 ตัน 5.มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 6.มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

กพร.เล็งชงแผนผลิตปุ๋ยช่วยลดต้นทุนเพิ่มรายได้เกษตรกร  

          นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดี กรมอุตสาหกรรม พื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กพร.ได้หารือกับสำนักงาน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อย่างไม่ เป็นทางการ เรื่องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศของอุตสาหกรรมแร่ที่สนับสนุนการผลิตปุ๋ย เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ของเกษตรกรทั่วประเทศรวมถึงผลิตเพื่อส่งออกด้วย เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตแร่โพแตซ ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย แต่ยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นคือ ไนโตรเจน และฟอสเฟต โดยหลังจากนี้คาดว่าระดับกระทรวง โดยรมว.อุตสาหกรรม และเลขาธิการบีโอไอ น่าจะหารือถึงความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางสนับสนุนต่อไป

          รายงานข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) แจ้งว่ากพร.อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ให้พิจารณาและเสนอ ต่อรัฐบาล ในการกำหนดให้ประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตร จากแร่หลัก 3 ชนิด คือ ไนโตรเจนที่สร้างใบ ฟอสฟอรัสสร้างดอก และโพแทสเซียมสร้างผล แผนการผลิตดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(2559-2579) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยหากได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกที่ผลิตในประเทศ จะทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นและช่วยให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นผลภายในช่วง 5 ปีจากนี้ เร็วกว่าการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี)ของประเทศให้ขยายตัวมากกว่า 5% ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายจะใช้เวลาถึง 10 ปี

          ปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียม คาดว่ามีสำรองแร่โพแตซสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส เยอรมนี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ทำให้ภาคเกษตรกรรมต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศสูงถึง 1 ล้านตันต่อปี และปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คาดว่าจะมีผลิตแร่โพแตซออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่ปี 2561-2562 นี้ ประกอบด้วย โครงการเหมืองแร่โพแตซ จังหวัดนครราชสีมา ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด พื้นที่ 9,005 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแตซ 1 แสนตันต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท และโครงการเหมืองแร่โพแตซ จังหวัดชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียน โปแตซ ชัยภูมิ จำกัด(มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ พื้นที่ 9,700 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแตซ 1.1 ล้านตันต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างขอประทานบัตร ขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจ คาดว่าภายในปี 2560 จะมีนักลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน

          อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะมีแร่โพแตซจำนวนมาก แต่อีก 2 แร่ที่เหลือซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของปุ๋ย คือ ไนโตรเจนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 20% หรือประมาณ 5 แสนตันต่อปี ทำให้ต้องมี การนำเข้าจากต่างประเทศ 80% หรือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่แร่ฟอสฟอรัสไทยไม่สามารถผลิตใช้เองได้ทำให้ต้องนำเข้า 100% หรือประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ดังนั้นตามแผนที่กพร.จะเสนอ รัฐบาล คือ จะขอให้รัฐบาลโดยบีโอไอ ออกสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้น ให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อผลิตวัตถุดิบปุ๋ย คือ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส และให้นำกลับมาผสมกับแร่โพแตซ เพื่อผลิตปุ๋ยสำเร็จรูปในไทยต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

จี้BOIส่งเสริมผลิตวัตถุดิบปุ๋ย

กพร.จ่อเจรจาบีโอไอหนุนเอกชนไปลงทุนผลิตวัตถุดิบทำปุ๋ยในต่างประเทศ หลังไทยมีโพแทชหนึ่งในสารตั้งต้นแล้วกว่า 4 แสนล้านตัน หวังให้ภาคเกษตรใช้ปุ๋ยถูก

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า ทางกรมจะมีการเตรียมเจรจากับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในเรื่องการขอให้สนับสนุนภาคเอกชนไปลงทุนหาวัตถุดิบปุ๋ยในต่างประเทศและส่งเข้ามาผลิตในประเทศไทย ซึ่งตามสูตรการผลิตปุ๋ยจะต้องมีสารผสมอยู่ 3 ตัว ได้แก่ โพแทสเซียมหรือโพแทช ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส หรือฟอสเฟต ทั้งนี้ในไทยมีสารตั้งต้นแล้วนั่นคือโพแทช เนื่องจากมีเหมืองแร่โพแทชปริมาณกว่า 400,000 ล้านตัน ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

โดยประเทศไทยมีความต้องการใช้โพแทชประมาณ 1 ล้านตันต่อปี และไนโตรเจนมีความต้องการใช้ประมาณ 250,000 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศได้เพียง 5 แสนตันต่อปี หรือประมาณ 20% และฟอสเฟตมีความต้องการใช้ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งไทยไม่สามารถผลิตได้เลย และต้องนำเข้าทั้งหมด 100% จากประเทศจีน และโมร็อกโก

อย่างไรก็ตาม ในระยะ 2 ปีต่อจากนี้ จะมีการขุดแร่โพแทชขึ้นมาใช้ในระยะแรก ซึ่ง กพร.ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อที่จะนำแร่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงเชื่อว่าการให้เอกชนไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อนำวัตถุดิบอื่นๆ เข้ามาเพื่อผลิตปุ๋ยในประเทศไทย จะส่งผลให้ราคาปุ๋ยถูกลง และช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งเรายังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตปุ๋ยได้ ดีกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดันเหมืองโปแตชหนุนแผนปุ๋ยแห่งชาติ  

          กพร.เตรียมเสนอแผนผลิตปุ๋ย แห่งชาติ เร่งเปิดสำรวจเหมืองโปแตชเสนอบีโอไอออกมาตรการส่งเสริมเอกชนไทยลงทุนผลิตวัตถุดิบปุ๋ย ลดต้นทุนเกษตรกร

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เสนอต่อรัฐบาลในการกำหนดให้ประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยจากทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ในประเทศ เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

          โดยปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตแร่โปแตชสูงมาก คาดว่ามีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็นปริมาณ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเริ่มดำเนินการผลิตทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าแร่โปแตชมาใช้ในภาคการเกษตรสูงถึง1ล้านตันต่อปี

          ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คาดว่าจะมีผลิตแร่โปแตชออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่ปี 2561-2562 นี้ ประกอบ โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.นครราชสีมา ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด พื้นที่ 9,005 ไร่ ผลิตปุ๋ยโปแตช 1 แสนตันต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 3 พันล้านบาท

          และโครงการเหมืองแร่โปแตช ชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียน โปแตช ชัยภูมิ จำกัด(มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ พื้นที่ 9,700 ไร่ ผลิตปุ๋ยโปแตช 1.1 ล้านตันต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างขอประทานบัตร ขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจ คาดว่าภายในปี 2560 จะมีนักลงทุนในไทย เพิ่มขึ้นแน่นอน

          "แม้ว่าไทยจะมีแร่โปแตชจำนวนมาก แต่แร่หลักอีก 2 ชนิด ที่เป็นองค์ประกอบ สำคัญของปุ๋ย คือ ไนโตรเจนจากอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี มีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 20% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศ หรือผลิตได้ประมาณ  5 แสนตันต่อปี ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศถึง 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่แร่ฟอสฟอรัสไทยไม่สามารถผลิตใช้เองได้ทำให้ต้องนำเข้า 100% หรือประมาณ 1 ล้านตันต่อปี"

          ดังนั้นตามแผนที่กพร.จะเสนอ รัฐบาล คือจะขอให้บีโอไอออกสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้เอกชนออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อผลิตวัตถุดิบปุ๋ย คือ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส และให้นำกลับมาผสมกับแร่โปแตชเพื่อผลิตปุ๋ยสำเร็จรูปในไทย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

แบไต๋จ่อเก็บVATเพิ่ม1% นายกฯวอนปชช.เสียสละ

คลังโชว์ถังไม่แตกเตรียมชง ครม.เคาะยืดเวลาภาษี VAT ที่ 7% ต่ออีกปี ยันรัฐบาลไม่มีปัญหาด้านรายได้ จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราในขณะนี้ แต่ "บิ๊กตู่" อยากให้เสียสละ แบไต๋เก็บเพิ่ม 1% รัฐโกยรายได้กว่าแสนล้าน ลั่นเปล่าตูดขาด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอรัฐบาลให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2560 ออกไปอีก 1 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าหากมีการขึ้นภาษี VAT ในช่วงนี้ ก็จะกระทบกับการบริโภค ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชะงักได้

"รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นในการขึ้น VAT ตอนนี้ รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำที่ 42% ของจีดีพี จากกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี ทำให้มีช่องทางกู้เงินอีกมากเพื่อมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่รัฐบาลพยายามเร่งลงทุน เพื่อกระตุ้นและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ โดยยังมีการเร่งโครงการล่าช้าในปีที่แล้วให้มาลงทุนในปีนี้" นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 1.7 ล้านล้านบาท จะใช้เงินจากแหล่งเงินกู้ 60% ซึ่งจะเป็นเงินกู้ภายในประเทศ นอกจากนี้ เงินลงทุนที่เหลือจะมาจากการร่วมลงทุนของรัฐกับเอกชน (PPP) จากเงินงบประมาณ 10% การระดมทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) ที่เหลืออีก 8% จะมาจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

สำหรับการระดมทุนของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ผ่านการออกหน่วยลงทุน ขายให้กับนักลงทุนครั้งแรกจะดำเนินการได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันอยู่มาก

นายอภิศักดิ์กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องรอให้พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพิธีราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ผ่านไปเสียก่อน คาดว่าในปีหน้าถึงจะเริ่มกระบวนการเลือกตั้งต่างๆ ได้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องงบประมาณของประเทศ ขณะเดินทางไปตรวจการราชที่จังหวัดปราจีนบุรีว่า ประเทศไทยอยู่ด้วยระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นรายได้ของประเทศ และมีภาษีจากข้าราชการ ที่มีการเสียภาษีเต็มจำนวนทั้งหมด ขณะที่ประชาชนจะต้องเสีย VAT ซึ่งยังอยู่ที่ร้อยละ 7 มาหลายปี แต่หากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท โดยอยากขอร้องว่า จะมีการเสียสละได้หรือไม่ เพราะจะทำให้งบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อเอางบประมาณดังกล่าวไปทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ขณะเดียวกันราคาสินค้าไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นมากนัก

นายกฯ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ตูดขาด เพราะเดินด้วยความระมัดระวัง และมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอด สามารถบริหารจัดการได้ เงินกู้ต่างๆ อยู่ในกรอบทั้งหมด และหนี้สาธารณะลดลง นอกจากนี้สิ่งที่กำลังลงทุนจะเกิดมูลค่าและรายได้ในปีหน้าและปีต่อไป ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ หลายอย่างรัฐบาลไม่สามารถทำเร็วมากได้ เพราะยังติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย จึงขออย่าทำอะไรตามใจกันมากนัก

"ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ขาดเงินและไม่ได้รีดภาษีอย่างที่มีการกล่าวอ้าง แต่ต้องควบคุมการเสียภาษีให้ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาละเลยและไม่สุจริต จึงต้องไล่เรื่องนี้ให้หมด เพื่อมาชดเชยสิ่งที่ขาด เพราะขณะนี้รายจ่ายสูงกว่ารายรับ หากไม่ทำเช่นนี้ก็จะล้มละลายทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีความจริงใจไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็เชื่อว่าสามารถทำอะไรได้หมด" นายกฯ กล่าว

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

ขับเคลื่อน 5 ประสานพัฒนาชีวิต ปรับ-เปลี่ยนวิธีทำเกษตรกร

เร่งสืบสานทฤษฎีใหม่ถวาย ร.9

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตร

ทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ไปสู่สาธารณชน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวม 70,000 ราย ได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของเกษตรกร โดยหวังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงาน “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก และยังไม่เคยทำเกษตรกรทฤษฎีใหม่ 21,000 ราย 2.กลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมปานกลาง 42,000 ราย และ 3.กลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม 7,000 ราย “แผนปฏิบัติงานฯ เดือน มี.ค.60 จะเริ่มจากเกษตรกรกลุ่มแรกที่มีความพร้อมมาก 21,000 ราย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 5 กิจกรรม คือ 1.จัดการพบปะ 5 ประสานในพื้นที่ ได้แก่ เกษตรกร ปราชญ์เกษตรกร เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา 2.ปรับแนวคิดเปลี่ยนวิธีทำ สร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกร 3.จัดทำแผนการผลิตและสนับสนุนปัจจัยการผลิต 4.เกษตรกรลงมือทำตามแผนการผลิตในแปลงตนเอง และ 5.รายงานผลต่อกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเตรียมดำเนินการระยะต่อไป

” สำหรับแผนปฏิบัติงานแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือน ม.ค.-ก.พ.60 กำหนดผู้ร่วมบูรณาการ 5 ประสาน มาพบปะสร้างการ

รับรู้แนวทางของโครงการฯ ระยะที่ 2 เดือน มี.ค.- เม.ย.60 ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเอง โดยใช้ปราชญ์เกษตรกรช่วยเพิ่มพูนความรู้เชิงปฏิบัติการตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ระยะที่ 3 เดือน พ.ค.- ส.ค.60 ดำเนินงานในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยดำเนินกิจกรรมตามแผนการผลิต มีภาคเอกชนสนับสนุนการจัดหาปัจจัยการผลิตตามแผนที่เกษตรกรวางไว้ตามความเหมาะสม ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย วางแผนการตลาด และระยะที่ 4 เดือน ก.ย.-ธ.ค.60 ติดตามและประเมินผล โดยลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน และประเมินความสำเร็จ เพื่อปรับแผนปฏิบัติงานให้เหมาะสมสำหรับเกษตรกรแต่ละราย เพื่อให้เกษตรกรสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเองในระยะยาว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2560

กลุ่มมิตรผล รับมอบรางวัล EIA Monitoring Awards

นายศิริศักดิ์  เตียเจริญกิจ    ผู้อำนวยการด้านโรงไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายดำรง  อินทรเสนา  ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูหลวง, นายอาทิตย์  ประสบสม    ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรผล ภูเวียง และนายมานะ พิจุลย์    ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ภูหลวง  เข้ารับมอบรางวัล EIA Monitoring Awards ประจำปี 2559 ในฐานะที่เป็นสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการสภาพแวดล้อมดีเด่น   ในโอกาสนี้ กลุ่มมิตรผลได้รับ 4 รางวัล ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูเวียง) จำกัด, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูเขียว) จำกัด, โครงการผลิตน้ำตาลทราย โรงงานน้ำตาลมิตรผลภูหลวง ได้รางวัลประเภทดีเด่น และ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูหลวง) จำกัด ได้รางวัลประเภทชมเชย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับความใส่ใจในสังคมที่กลุ่มมิตรผลยึดมั่นมาอย่างยาวนาน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

กพร.จ่อชงแผนผลิตปุ๋ยสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ20ปี

กพร.จ่อชงแผนผลิตปุ๋ยสอดรับยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี หนุนเอกชนลงทุนผลิตวัตถุดิบปุ๋ยในต่างประเทศ หวังช่วยประเทศพ้นรายได้ปานกลาง

9 มี.ค.60 นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กพร.ได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อย่างไม่เป็นทางการ เรื่องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศของอุตสาหกรรมแร่ที่สนับสนุนการผลิตปุ๋ย เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ของเกษตรกรทั่วประเทศรวมถึงผลิตเพื่อส่งออกด้วย เนื่องจากไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตแร่โพแตซ ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ย แต่ยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นคือ ไนโตรเจน และฟอสเฟต โดยหลังจากนี้คาดว่าระดับกระทรวง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการบีโอไอ น่าจะมีการหารือถึงความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางสนับสนุนต่อไป

รายงานข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) แจ้งว่า ขณะนี้กพร.อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้พิจารณาและเสนอต่อรัฐบาล ในการกำหนดให้ประเทศไทยมีการผลิตปุ๋ยเพื่อการเกษตรจากแร่หลัก 3 ชนิด คือ ไนโตรเจนที่สร้างใบ ฟอสฟอรัสสร้างดอก และโพแทสเซียมสร้างผล โดยแผนการผลิตดังกล่าวจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(2559-2579)ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยหากได้ใช้ปุ๋ยราคาถูกที่ผลิตในประเทศ จะทำให้มีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นและช่วยให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นผลภายในช่วง 5 ปีจากนี้ เร็วกว่าการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี)ของประเทศให้ขยายตัวมากกว่า 5% ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายจะใช้เวลาถึง 10 ปี

โดยปัจจุบันไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียม คาดว่ามีสำรองแร่โพแทชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส เยอรมนี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ทำให้ภาคเกษตรกรรมต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศสูงถึง 1 ล้านตันต่อปี และปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คาดว่าจะมีผลิตแร่โพแทชออกสู่ตลาดได้ตั้งแต่ปี 2561-2562 นี้ ประกอบ โครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดนครราชสีมา ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด อ.ด่านขุนทด พื้นที่ 9,005 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแทช 1 แสนตันต่อปี ประานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท และโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียน โปแตช ชัยภูมิ จำกัด(มหาชน) อ.บำเหน็จณรงค์ พื้นที่ 9,700 ไร่ ผลิตปุ๋ยโพแทช 1.1 ล้านตันต่อปี ประทานบัตรอายุ 25 ปี มูลค่าลงทุน 45,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างขอประทานบัตร ขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจ คาดว่าภายในปี 2560 จะมีนักลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมีแร่โพแทชจำนวนมาก แต่อีก 2 แร่ที่เหลือซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของปุ๋ย คือ ไนโตรเจนจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีศักยภาพในการผลิตภายในประเทศต่ำมาก อยู่ที่ประมาณ 20% หรือประมาณ 5 แสนตันต่อปี ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ 80% หรือประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่แร่ฟอสฟอรัสไทยไม่สามารถผลิตใช้เองได้ทำให้ต้องนำเข้า 100% หรือประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ดังนั้นตามแผนที่กพร.จะเสนอรัฐบาล คือ จะขอให้รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ออกสิทธิประโยชน์เพื่อกระตุ้นให้เอกชนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อผลิตวัตถุดิบปุ๋ย คือ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส และให้นำกลับมาผสมกับแร่โพแทช เพื่อผลิตปุ๋ยสำเร็จรูปในไทยต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์ใช้เวที World Economic Forum ดึงนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุม World Economic Forum – Grow Asia เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สนค. ได้มีโอกาสหารือเพิ่มเติมกับภาคเอกชน อาทิ คณะทำงานประชารัฐด้านการเกษตรสมัยใหม่ และคณะทำงานประชารัฐด้านการส่งออกและการลงทุน รวมถึง ธุรกิจส่งเสริมนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร โดยล่าสุด ได้หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และธุรกิจบ่มเพาะวิสาหกิจนวัตกรรม (Accelerator / Startup Bootcamp) ในสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ID Capital (Singapore) และ Cinnamon Bridge (UK) เพื่อหาแนวทางผลักดันนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นกลไกเชื่อมโยงการค้าสู่เศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่น

โดยพบว่าแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเอเชีย กำลังเข้าสู่วัฒนธรรมสังคมเมืองและสังคมผู้สูงอายุ ผู้บริโภคยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าที่ให้ประโยชน์ ตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวเป็นโอกาสที่ธุรกิจการค้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทย  จะได้เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนองตอบความต้องการของตลาดในระดับภูมิภาคและต่างประเทศ ซึ่งเป็นความท้าทายของภาครัฐด้วยเช่นกัน ที่จะต้องดูแลปกป้องและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการไทยและเกษตรกรในท้องถิ่นมากที่สุด

ผลการหารือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนด้านการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-driven Enterprises: IDEs) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร การสร้างสื่อกลางพบปะหารือ (Platform) ระหว่าง IDEs กับธุรกิจให้คำปรึกษาและพัฒนา Startup รวมทั้งธุรกิจร่วมลงทุน ซึ่งภาคธุรกิจพร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการ Startup ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  IP-IDE Center ภายใต้กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ สถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม ภายใต้กรมการค้าต่างประเทศ รวมถึง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดเลือกธุรกิจสินค้านวัตกรรมเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพไปพัฒนาต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงเกษตรฯ โดย สวก. โชว์ “นวัตกรรม” ขับเคลื่อนงานวิจัยเกษตร หนุน “ไทยแลนด์ 4.0” ดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ผู้ใช้จริง ดึงภาคเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยีจากงานนวัตกรรมของนักวิจัยไทยสู่เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น

         นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงาน "การขับเคลื่อนงานวิจัยการเกษตร สู่ไทยแลนด์ 4.0" ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว ว่า ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 นั้น สิ่งหนึ่งที่จะช่วยในการขับเคลื่อน คือ นวัตกรรมที่มีเป้าหมายในการเติมเต็มการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ด้วยความคิดสร้างสรรค์ โดยมีฐานคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น

          นางสาวชุติมา กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ A4 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคง โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการใช้นวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาประเทศ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตร ให้ภาคเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยีจากงานนวัตกรรมของนักวิจัยไทยให้มากยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน "โครงการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ" ของ 11 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 2.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3.กรมวิชาการเกษตร 4.กรมการข้าว 5.กรมประมง 6.กรมหม่อนไหม 7.กรมปศุสัตว์ 8.กรมชลประทาน 9.กรมพัฒนาที่ดิน 10.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และ 11.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพ เป็นไปตามต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณนักวิจัยทุน สวก. ที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จำนวน 20 รางวัล ให้กับคณะนักวิจัยที่สร้างสรรค์ผลงานที่ดี มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในและต่างประเทศ ประกอบด้วย ผลงานวิจัยกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว 8 โครงการ เครื่องจักรกลเกษตร 5 โครงการ ชุดตรวจสอบ 5 โครงการ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มละ 1 โครงการ

          ?นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า ในแต่ละปี สวก. สร้างผลงานวิจัยได้ตามเป้าหมายและมีผลสำเร็จของเทคโนโลยีที่มีความหลากหลาย เพื่อนำไปส่งเสริมและผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ เช่น โครงการวิจัย กลุ่มเรื่อง Food Valley ซึ่งได้มีการจัดทำ MOU ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยผ่านเครือข่าย Food Valley ไม่น้อยกว่า 50 ราย ภายใน 5 ปี และยังได้ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร เพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างแท้จริง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือส่วนประกอบของเครื่องสำอางและสปา ผลิตภัณฑ์เสริมโภชนาการ (nutraceutical) ตลอดจนสร้างมาตรฐานสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การประมวลตำรับยาที่สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร

          ?นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการและผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล รวมทั้งงานวิจัยที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว เช่น เครื่องฆ่ามอดข้าว และเครื่องล้างผัก ตลอดจนนิทรรศการงานวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรฯโดยมี ไฮไลท์ที่น่าสนใจ เช่น บะหมี่ไร้กลูเต้น , กาแฟสูตรผสมน้ำตาลโตนด , ขนมหม้อแกงสูตรลดพลังงานพร้อมรับประทานบรรจุกระป๋องอลูมิเนียม , แครกเกอร์ทุเรียน , น้ำเต้าหู้ TOFUSUNG ฯลฯ

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โทร 0-2579-7435 หรือwww.arda.or.th

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

"สมคิด"ประชุมครบรอบ 20 ปี "สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย" ชูไอเดีย "ยั่งยืน-เชื่อมโยง-สันติภาพ"

 กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม ผู้นำเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association – IORA) ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีนายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุม และมีผู้นำหรือผู้แทนระดับสูง จากประเทศสมาชิก IORA ทั้ง 21 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 7 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม

การประชุมผู้นำครั้งนี้เป็นการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของกรอบ IORA เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 20 ปีการก่อตั้ง IORA โดยมีหัวข้อหลักของการประชุม คือ “การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของมหาสมุทรอินเดีย” โดยผู้นำประเทศสมาชิกได้ (1) ร่วมลงนามปฏิญญาจาการ์ตา (Jakarta Concord) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยทางทะเล และ (2) รับทราบผลการรับรองแผนปฏิบัติการ IORA ค.ศ. 2017 –2021 (IORA Action Plan) เพื่อวางแนวทางและทิศทางการดำเนินความร่วมมือของ IORA ในกรอบระยะเวลา 5 ปี และปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิรุนแรงสุดโต่ง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก ในการต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบซึ่งส่งผลกระทบ ต่อการพัฒนา เศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสภารัฐมนตรี IORA

รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง นำเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ IORA ควรจะให้ความสำคัญและผลักดัน คือ (1) ความยั่งยืน โดยชี้ให้ประเทศสมาชิกเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของภูมิภาค IORA อย่างยั่งยืนจากการบริหารจัดการทรัพยากรและความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ และใช้องค์ความรู้จากประเทศสมาชิกทั้ง 21 ประเทศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคทะเลอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ ซึ่งไทยมีบทบาทในการเพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหา IUU มาโดยตลอด (2) ความเชื่อมโยง โดยแสดงบทบาท และศักยภาพของไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเป็นศูนย์กลางการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก และไทยในฐานะที่ตั่งอยู่ใจกลาง CLMV ซึ่งเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน จะสามารถเป็นประตูสู่ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของโลกและเป็นโอกาสเข้าถึงตลาด การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวการบริการ และความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ ของเอเชีย ในการนี้ ไทยเสนอให้มีการจัดทำร่างแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยง (IORA Connectivity Master Plan) เพื่อเชื่อมโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดแผนความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกัน และ (3) สันติภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคงและความปลอดภัยในภูมิภาค นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ไทยได้เสนอให้ IORA พิจารณาเพื่มประเด็นเรื่องการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระดับเยาวชน (Youth Partnership) เป็นประเด็นคาบเกี่ยวด้วย

IORA เป็นเวทีความร่วมมือที่เน้นส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศ โดยมี 6 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล (2) การประมง (3) การอำนวยความสะดวก การค้าการลงทุน (4) การจัดการภัยพิบัติ (5) ความร่วมมือด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และ (6) การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และมีประเด็นการส่งเสริมพลังสตรีและเศรษฐกิจภาคทะเลเป็นประเด็นคาบเกี่ยว (cross-cutting issues)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

ลุยเต็มสูบไทยแลนด์ 4.0 ดึง 2 อุตสาหกรรมฟื้นศักยภาพ

กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน เพิ่มศักยภาพการพัฒนาประเทศ ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่บีโอไอคุยลั่นทุ่ง 13 เดือนที่ผ่านมา อนุมัติลงทุนอาร์แอนด์ดี 17 กิจการ

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค.นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะเร่งด่วน และแผนดำเนินการระยะ 20 ปี (ปี 2559-2579) ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำนวน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ ยานยนต์แห่งอนาคต และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการลงทุน ตามแผนงานไทยแลนด์ 4.0

“รายละเอียดของแผนส่งเสริมยานยนต์แห่งอนาคต ได้มีการพิจารณาข้อมูล การผลิตรถยนต์ที่หลักสำคัญๆคือ รถยนต์สะอาด ปล่อยมลพิษน้อย ดังนั้น การผลิตจะครอบคลุมรถยนต์เชื้อเพลิงหลายชนิด อาทิ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รถยนต์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และความต้องการใช้ในอนาคต ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือคือการมีตลาดรองรับ ซึ่งตามแผนจึงคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีความต้องการใช้รถอีวีมากขึ้น

ขณะที่ตลาดนำร่องจะมาจากการใช้ของภาครัฐ และในแผนที่จะนำเสนอ ได้มีข้อเสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อรองรับการใช้งานอนาคต ส่วนประเด็นเรื่องการกำหนดสิทธิประโยชน์ เพื่อจูงใจภาคเอกชนให้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังจัดทำรายละเอียด รูปแบบจะคล้ายกับการลงทุนของรถยนต์ประหยัดพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดวงเงินลงทุน และกำหนดค่ามาตรฐานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้เสียภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ถูกลง และกรมสรรพากร จะมีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่เหมาะสม

นายศิริรุจกล่าวว่า แผนส่งเสริมหุ่นยนต์อัจฉริยะ จะเน้นส่งเสริมผู้ผลิตแผงวงจรสมองกลแบบฝังในตัวผลิตภัณฑ์ ที่จำเป็นต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยปัจจุบันผู้ผลิตกลุ่มนี้เป็นเอสเอ็มอี 100 ราย ด้วยกำลังผลิตที่น้อย จึงไม่เข้าเกณฑ์ ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จึงขาดโอกาสในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ แผนส่งเสริม จึงได้เสนอให้มีการกำหนดหน่วยงานอิสระขึ้นมา เพื่อรับรองผลงานผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริโภค นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ โดยหุ่นยนต์เป็นอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่หากอุตสาหกรรมของประเทศไทยและประชาชนมีความต้องการใช้มากขึ้น ก็จะเกิดมูลค่าต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศ

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในกิจการวิจัยและพัฒนา (อาร์ร์แอนด์ดี) หนึ่งในกิจการเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเดือน ม.ค. 2559-ม.ค. 2560 ได้อนุมติส่งเสริมการลงทุน รวม 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 2,506 ล้านบาท อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โดยเป็นการลงทุนของบริษัทชั้นนำในหลายๆ โครงการ อาทิ กิจการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กราฟิน (Graphene) ของบริษัทเฮเดล เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นผู้นำด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมรายใหญ่ของโลก จากอังกฤษ ซึ่งกราฟินอยู่ในกลุ่มนาโนเทคโนโลยี มีคุณสมบัติพิเศษ ที่เมื่อมีการจัดเรียงโครงสร้างแล้ว จะเป็นวัสดุที่แข็งกว่าเหล็ก 5 เท่า มีคุณสมบัตินำความร้อน นำไฟฟ้า จึงช่วยรองรับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ อาทิ อุปกรณ์สำหรับจอภาพที่บางและโค้งงอ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน หลอดแอลอีดี.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

แนวโน้มเงินเฟ้อปรับขึ้นทั่วโลก

แนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกปรับตัวขึ้นในช่วงต้นปี 2560 จากอานิสงส์ราคาน้ำมัน ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศ

ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น รายงานอัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นปี 2560 เพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย โดยปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปีเมื่อเดือนมกราคม 2559

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าผลของราคาน้ำมันจะค่อยๆ มีลดน้อยลงไปในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหลังจากนั้นอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะถูกขับเคลื่อนด้วยตลาดแรงงานที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้นช้ากว่า เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นรายงานอัตราเงินเฟ้อในแดนบวกเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก ซึ่งรวมน้ำมันแต่ไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมกราคม 2560 เทียบกับเดือนมกราคม 2559 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักลดลง 0.2% ในเดือนธันวาคมปีก่อน

นักวิเคราะห์คาดว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะแตะระดับ 1% ในปีนี้ แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) “เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มรวดเร็วขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของราคาพลังงาน และการอ่อนค่าของเงินเยน แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะเพิ่มขึ้นได้ถึงเป้าหมาย 2% ซึ่งหมายความว่าบีโอเจจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากต่อไป”

นายโยชิกิ ชินเกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไดอิจิ ไลฟ์ รีเสิร์ชอินสทิทิวต์ ให้ความเห็น

ด้านยูโรโซนรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 2% ต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้น 1.8% ทำให้เงินเฟ้อของยูโรโซนแตะระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กำหนดไว้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อหลักซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมซึ่งอยู่ที่ 0.9%

เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับเป้าหมายจะเพิ่มแรงกดดันต่อการตัดสินใจกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของอีซีบี โดยเฉพาะแรงกดดันจากเยอรมนีที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ทั้งการลดดอกเบี้ยสู่ระดับติดลบและการซื้อพันธบัตร โดยฝ่ายเยอรมนีมองว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่บอกว่าอีซีบีควรเตรียมการเพื่อเริ่มยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทางการของอีซีบีส่วนใหญ่มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะพิจารณาการถอนตัวจากนโยบายการเงินในปัจจุบัน โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อได้รับอานิสงส์เพียงชั่วคราวจากราคาน้ำมัน ขณะที่เงินเฟ้อหลักยังคงอ่อนแอ

ขณะที่ในสหรัฐฯ ดัชนีราคาการบริโภคส่วนบุคคล (personal-consumption expenditures price index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นำมาพิจารณา เพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ในระดับใกล้เคียงเป้าหมาย 2% ของเฟด ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นประกอบกับตลาดแรงงานที่เข้มแข็งต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งอย่างเร็วในการประชุมวันที่ 14-15 มีนาคมนี้

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 9 มีนาคม 2560

ลุ่มเจ้าพระยาขาดน้ำ กรมชลวอนเกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่อง

 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,573 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,753 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ รวม 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 13,218 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,522 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง รวม 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 77 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 รวม 435 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.33 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 4 ล้านไร่) พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่

ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ถึง 2.65 ล้านไร่

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วเกือบ 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง หรือนาปรังรอบที่ 2 พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 มีนาคม 2560

ค่าเงินบาท 'อ่อนตัว' ต่อเนื่อง

ค่าบาทเปิดตลาดที่ "35.32 บาทต่อดอลลาร์" อ่อนค่าต่อเนื่องรับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยเดือนนี้

 บาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ 35.32บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากปิดตลาดวานนี้ หลังเลขเศรษฐกิจสหรัฐหนุนโอกาสเฟดขึ้นเดือน มีค. ถึง90%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.32 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 35.24 บาทต่อดอลลาร์ ในสิ้นวันทำการก่อน

โดยในคืนที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจน ตัวเลขการว่างจ้างงานภาคเอกชน (ADP) เพิ่มขึ้น 2.98 แสนตำแหน่งสนับสนุนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า

ฝั่งค่าเงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างแรงใน 1 วันขึ้นมาใกล้เคียงกับสกุลเงินเพื่อนบ้าน (อ่อนค่าเฉลี่ยราว 1% หลังโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นสูงเกิน 90%) โดยวันนี้จะขึ้นช้าลงบ้างเนื่องจากตลาดรอตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันพรุ่งนี้ก่อนที่จะเพิ่มการลงทุนในดอลลาร์

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 35.27-35.37 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 9 มีนาคม 2560

ก.เกษตรฯ แจงความพร้อมมาตรการรับภัยแล้งภาคเกษตร

 ก.เกษตรฯ แจงความคืบหน้ามาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60

             นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามมาตรการและโครงการ ภายใต้แผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง  ปี 2559/60  และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/60 และแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเมื่อ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมานั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อม รวม 6 มาตรการ 29 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้า ดังนี้

               (1) มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งมีโครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในเกษตรกรรายย่อย ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว 8,870 ราย ใน 12 จังหวัด (2) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย โครงการปลูกพืชปุ๋ยสด งบประมาณ 383.49 ล้านบาท เป้าหมาย 200,000 ไร่ 19 จังหวัด ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 12,513 ราย พื้นที่ 195,289 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการไถเตรียมดิน 171,690 ไร่ โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560 งบประมาณ 636.25 ล้านบาท เป้าหมาย 300,000 ไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ดำเนินการปลูกแล้ว 194,474 ไร่ เกษตรกร 40,115 ราย คิดเป็น 64.82 % (3) มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โครงการก่อสร้าง ขุดลอก/ปรับปรุงแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน งบประมาณ 125.92 ล้านบาท เป้าหมาย 113 แห่ง 33 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 57 แห่ง 20 จังหวัด คิดเป็น 59.29 % โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน งบประมาณ 752.40 ล้านบาท เป้าหมาย 44,000 บ่อ ใน 60 จังหวัด ดำเนินการแล้วเสร็จ 34,867 บ่อ คิดเป็น 79.25 % อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 9,133 บ่อ (4) มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย โครงการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่เกษตรกร กิจกรรมหน่วยบริการชาวนาแบบเคลื่อนที่ งบประมาณ 8.30 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ฯแล้ว 51 ศูนย์ อบรมเกษตรกรไปแล้ว 2,091 ราย โครงการสำรองเมล็ดพันธุ์พืชไร่เพื่อเตรียมสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้ง งบประมาณ 2.55 ลบ. เป้าหมาย 51 ตัน ขณะนี้ดำเนินการสำรองเมล็ดพันธุ์แล้ว 40 ตัน คิดเป็น 78.43 % (5) มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ (6) มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง

                นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมตัว ป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ในส่วนมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จก่อนสถานการณ์ภัยแล้งจะมาถึงอีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 9 มีนาคม 2560

เกษตรฯ ยกเครื่องด่านตรวจพืชรองรับการค้า-ส่งออก

กรมวิชาการเกษตรยกเครื่องด่านตรวจพืช-จุดผ่อนปรนกว่า 48 แห่ง  รองรับการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ

             นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การเปิดเสรีทางการค้าหรือฟรีเทรด (Free Trade) ที่ไทยได้ทำความตกลงกับประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศ รวมทั้งข้อตกลงภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) ส่งผลให้การค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สินค้าที่นำเข้า-ส่งออกผ่านด่านตรวจพืชแต่ละด่านก็มีความหลากหลายและมีปริมาณมากขึ้นด้วย ปี 2560 นี้ กรมวิชาการเกษตรจึงได้กำหนดมาตรการเข้มข้นในการตรวจสอบสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้านำเข้า พร้อมพัฒนาศักยภาพด่านตรวจพืชและจุดผ่อนปรนกว่า 48 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินงานรองรับสถานการณ์ทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง

            เบื้องต้นได้มีแผนเร่งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชผักและผลไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการส่งออกและนำเข้า ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลของด่านตรวจพืชทุกแห่ง โดยบริหารจัดการบุคลากรและเครื่องมืออุปกรณ์ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับปริมาณงาน อาทิ การตรวจพบศัตรูพืช ชนิดศัตรูพืช และความถี่การตรวจพบ รวมถึงการเฝ้าระวังศัตรูพืชของต่างประเทศ และการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้า ทั้งยังมุ่งพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับพืชส่งออก และเน้นให้ติดตามการออกกฎระเบียบ/ประกาศเงื่อนไขการนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้า และนำข้อมูลการแจ้งเตือนของประเทศปลายทางมาปรับปรุงการปฏิบัติงานด้วย

             นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า กรมวิชาการเกษตรยังมีมาตรการควบคุม กำกับ ดูแลการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชโดยพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ National Single Windows (NSW) เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการด่านตรวจพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าในบางพื้นที่ อาทิ การตรวจสอบแมลงศัตรูพืชจากตัวอย่างสินค้าเกษตรที่สุ่มเก็บตามหลักวิชาการ การพัฒนาการตรวจสอบและวินิจฉัยจำแนกชนิดศัตรูพืชในสินค้าเกษตรนำเข้าผ่านระบบรีโมทไมโครสโคป (Remote Microscope Diagnosis) การตรวจวินิจฉัยจำแนกชนิดแมลงศัตรูพืชแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และการตรวจวินิจฉัยศัตรูพืชทางไกล เป็นต้น

            “นอกจากนั้น ยังเร่งพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร/เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช โดยมุ่งจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้า-ส่งออก การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ การกำจัดศัตรูพืชเพื่อการส่งออก  การตรวจศัตรูพืช/สิ่งต้องห้ามที่นำเข้าจากต่างประเทศ ศัตรูกักกันชนิดใหม่ เทคนิคการตรวจสอบ ตลอดจนการสร้างความรับรู้กับผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องไม่ให้มีศัตรูพืชกักกันติดมากับสินค้าพืชที่นำเข้า  ทั้งยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชติดตามเฝ้าระวังสินค้าเกษตรที่นำเข้าโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย โดยเฉพาะด่านตรวจพืชตามแนวตะเข็บชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีมาตรการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าเข้มงวดมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 9 มีนาคม 2560

ก.เกษตรฯร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ไทยแลนด์4.0

กระทรวงเกษตรฯ ลงนาม 11 หน่วยงาน พัฒนาศูนย์กลางข้อมูล ขับเคลื่อนงานวิจัยการเกษตรสู่ไทยแลนด์ 4.0

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ ว่า นวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม จากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิด สร้างสรรค์ พร้อมเน้นภาคบริการมากขึ้น โดยกระทรวงฯมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการลงนามในครั้งนี้เพื่อพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ ของ 1 ไป 1 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาการการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันบูรณาการข้อมูลเชิงดิจิทัล ช่วยส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรทั้งห่วงโซ่ เพื่อขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณนักวิจัยทุน สวก. ที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ จำนวน 20 รางวัล แบ่งเป็นผลงานวิจันกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว 8 โครงการ เครื่องจักรกลการเกษตร 5 โครงการ ชุดตรวจสอบ 5 โครงการ กลุ่มอุปกรณ์การแพทย์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มละ 1 โครงการ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่  8 มีนาคม 2560

กลุ่มมิตรผลมอบรางวัลนวัตกรรมทางความคิดต่อ

ยอดพืชเศรษฐกิจ ผ่านเวที “Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016” นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต ปั้นเยาวชนไทยสู่การเป็นนวัตกรสอดรับ Thailand 4.0

กลุ่มมิตรผล จัดงานประกาศผลรางวัลการประกวด Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมมอบรางวัลให้แก่สุดยอดไอเดียสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดพืชเศรษฐกิจไทย โดยได้มอบรางวัลชนะเลิศ ให้แก่ ทีมคุณหมออ้อย จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นเงินรางวัล 200,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทีมสาวน้อยอ้อยควั่น จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงินรางวัล 150,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ทีม Aloe Patch จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเงินรางวัล 100,00 บาท เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยสู่การเป็นบุคลากรที่ช่วยผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ขานรับกับนโยบาย Thailand 4.0

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจพลังงาน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิดเวทีประชันไอเดียที่นำแนวคิดหลักด้าน เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ให้แก่เยาวชนเป็นเวทีแรกในประเทศ จากผลสำเร็จที่ผ่านมาตลอดการจัดการประกวดในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพไอเดียด้านนวัตกรรมไม่แพ้ชาติใดในโลก หากได้รับการผลักดันและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งภารกิจของกลุ่มมิตรผลที่จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการพัฒนาเยาวชนให้ได้มีโอกาสเรียนรู้และแสดงความสามารถ กลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนเพื่อรับแนวนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับประเทศ และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศไทย”

ทีมคุณหมออ้อย จากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ทีมผู้ชนะเลิศจากโครงการ Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต ด้วยผลงาน ‘Gen-treat’ แผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย เผยว่า ‘‘พวกเราเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านนวัตกรรม จึงอยากจะต่อยอดพืชเศรษฐกิจของไทยอย่างอ้อยให้เป็นมากกว่าแค่ผลผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทางทีมจึงได้ปรึกษากันและมองเห็นโอกาสในการนำอ้อยมาใช้ในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ จนออกมาเป็นผลงาน Gen-treat แผ่นพลาสเตอร์ปิดแผลจากเซลลูโลสอ้อย ที่จะช่วยรักษาแผลและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ ทำให้พวกเราได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม และได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบประสบการณ์ใหม่ๆและแสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่’’

ในขณะที่ทีมสาวน้อยอ้อยควั่น จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้วยผลงานถ่านอ้อยควั่นบำบัดน้ำเสีย จากการใช้ชานอ้อยและใบอ้อยเพื่อผลิตเป็นถ่านแม่เหล็กในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม และทีม Aloe Patch จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานแผ่นปิดแผลชนิดล้างออกได้จากว่านหางจระเข้และใบบัวบก ซึ่งสามารถช่วยลดการอักเสบและสมานแผลได้เร็วขึ้น

การประกวด Mitr Phol Bio Innovator Awards 2016 นวัตกรรมความคิด พลิกชีวิตสู่อนาคต จัดขึ้นเพื่อผลักดันแนวคิด “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ” ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถช่วยต่อยอดคุณค่าพืชเศรษฐกิจนั้นให้มีความยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาโททั่วประเทศได้ส่งไอเดียนวัตกรรมต่อยอดพืชเศรษฐกิจมาเข้าร่วมประกวดกันอย่างไม่จำกัดรูปแบบของไอเดีย และตลอดระยะเวลาการรับสมัคร กลุ่มมิตรผลได้เดินสายประชาสัมพันธ์โครงการพร้อมให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

โดยในปีนี้ มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดจากเยาวชนในหลายสาขาวิชากว่า 100 ผลงาน จากนักศึกษากว่า 300 คนทั่วประเทศ ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 60 ผลงานที่มีไอเดียโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปปั้นไอเดีย ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ในการทำธุรกิจ ซึ่งในการเวิร์คช็อปที่ผ่านมานี้ กลุ่มมิตรผลได้บูรณาการองค์ความรู้ในหลายสาขาวิชาเพื่อผลักดันความสามารถของเยาวชนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ด้านนวัตกรรม (Innovation)  และด้านการทำธุรกิจ (Business) ให้แก่เยาวชนทั้ง 60 ทีมอย่างใกล้ชิด ก่อนที่ทั้ง 60 ทีมจะนำเอาความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดสู่แผนการทำธุรกิจ เพื่อคัดเหลือ 12 ทีมสุดท้ายที่ได้นำเสนอไอเดียหรือพิชชิ่งต่อหน้าคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ทั้ง 6 ท่านในรอบตัดสิน

โดยหลังจากนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 12 ทีมในรอบสุดท้าย จะมีโอกาสเข้ารับการคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาต่อ พร้อมโอกาสร่วมงานกับทางกลุ่มมิตรผล ในโครงการ Mitr Phol Career Camp ที่ทางกลุ่มมิตรผลจัดขึ้นเพื่อต่อยอดการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในโครงการเป็นรายบุคคลสู่การเป็นบุคลากรด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยต่อไป

จาก  https://www.khaosod.co.th   วันที่  8 มีนาคม 2560

ก.พลังงานรับคำสั่ง”บิ๊กตู่”เดินหน้าปรับแผนพีดีพีเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงพลังงานเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี2015) ระยะ20ปี เป็น40% ว่า กระทรวงฯกำลังพิจารณาดำเนินการปรับแผนและติดตามเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนพลังงานทดแทนลดต่ำลง ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟจากพลังงานทดแทนตามแผนพีดีพีช่วง 2ปีกว่ามีสัญญาผูกพันแล้วกว่า 9,000 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่วางไว้สิ้นสุดแผนปี 2579 ที่19,600 เมกะวัตต์

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเร่งจัดเวทีกลางเพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจง และรับฟังความคิดเห็นถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และพล.อ.ประวิตรได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการภายใน 1 เดือน ทางกระทรวงฯพร้อมดำเนินการเร็วๆนี้ และจะร่วมทำความเข้าใจให้เห็นภาพรวมถึงพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิตต่ำกว่าความต้องการ นอกจากนี้จะชี้ให้เห็นแผนสนับสนุนพลังงานทดแทนที่กระทรวงฯได้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคใต้จากพลังงานทดแทนต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ซึ่งแนวทางนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้เตรียมจัดหาแบบคลังลอยน้ำ(เอฟเอสอาร์ยู) ซึ่งจะต้องลงทุนต่อท่อในทะเล 17-18 กิโลเมตรอาจกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน การลงทุนดังกล่าวจึงไม่ต่างกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ค่าไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีจะสูงกว่าถ่านหินมาก

นายอารีพงศ์ ยังกล่าวถึงกรณีศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เกี่ยวกับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีของผู้ใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนที่ให้ผู้ใช้ไฟประเภทอื่นรับภาระ ว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้มีการหารือกันแล้ว โดยเตรียมจะยื่นอุทธรณ์เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟกำหนดอัตราก้าวหน้า ผู้ใช้ต่ำจ่ายต่ำ ผู้ใช้มากจ่ายมาก นอกจากนี้จะทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเพื่อหารือถึงนโยบายค่าไฟฟ้าฟรี เพราะปัจจุบันกระทรวงการคลังเองมีนโยบายช่วยคนจนเช่นกัน

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่  8 มีนาคม 2560

20 มีนาชี้ชะตาอนาคตพลังงานของประเทศ

จับตา 20 มีนาคมนี้ สนช.ทะลายสุญญากาศ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม  ได้เวลาเดินหน้าสร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศ

      20 มีนาคมนี้ อาจเป็นวันสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เมื่อพล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตร เลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากกรรมาธิการฯได้ขยายเวลาพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาแล้วถึง 6 ครั้ง คาดว่าจะสามารถนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.ในวันดังกล่าว

      วิบากกรรมของกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ในกำมือของ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สนช. ถูกโรคเลื่อนเล่นงานครั้งแล้วครั้งเล่ายาวนานถึง 210 วัน เรียกได้ว่ามาราธอนยาวนานกว่าครึ่งปี สาเหตุสำคัญนั่นคือ การประท้วงของกลุ่มการเมืองนอกสภาในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ.และกลุ่ม NGO เรียกร้องและกดดันในหลากหลายประเด็นอย่างไม่จบสิ้น ล่าสุด เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ บัญญัติมาตราให้มีการตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ NOC” เพื่อเข้ามาควบคุมดูแลกิจการด้านปิโตรเลียมทั้งหมดแทนหน่วยงานราชการ

      พร้อมกับเปิดเกมล็อบบี้กรรมาธิการฯและ สนช.บางรายให้เลื่อนการพิจารณากฎหมายถึง 6 ครั้ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.จะเคยกำชับ สนช.ให้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อให้การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565 และแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 ดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้ต่อเนื่อง

       วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่าในปี 2560 การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม ทั้ง 2 แหล่ง ควรต้องเสร็จสิ้น เพื่อให้เริ่มกระบวนการลงทุนเพื่อรักษาอัตราการผลิตปิโตรเลียมในปี 2561 เพราะกระบวนการผลิตต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปี เพื่อผลิตก๊าซฯออกมาได้ทันและต่อเนื่องกับสัญญาเดิมที่จะหมดอายุในปี 2565

      ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของกฎหมาย ไจะส่งผลต่อทิศทางการลงทุน แหล่งข่าวจากหนึ่งในบริษัทผู้รับสัมปทานระบุว่าอาจจะหยุดการลงทุนในแหล่งสัมปทาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายและไม่มั่นใจในสัญญาณที่รัฐบาลส่งออก นั่นจะส่งผลให้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 บริษัทจะลดการผลิตก๊าซธรรมชาติลงเพื่อรอวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน

      ประเด็นนี้ได้รับการวิเคราะห์จากกระทรวงพลังงานว่า หากผู้รับสัมปทานรายเดิมลดกำลังการผลิต ช่องว่างระหว่างที่เกิดขึ้น จากปัจจุบันจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน จะส่งก๊าซจะหายไปจากระบบ ประมาณ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ที่สำคัญก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่งนี้ เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จึงต้องนำเข้าก๊าซLNG มาทดแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 14 สตางค์ต่อหน่วย

             ...สุดท้ายภาระนี้ย่อมตกอยู่กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่  8 มีนาคม 2560

ชาวไร่-โรงงานยิ้ม ผลผลิตอ้อยเติบโต

ยอดผลผลิตอ้อยเข้าหีบ-น้ำตาลทรายช่วง 90 วันแรกดีขึ้น รับจังหวะช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้น

นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 หลังเปิดหีบอ้อยแล้ว 90 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านตันอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้นทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านตันอ้อย

สำหรับผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม (กก.) เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กก. คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 6.51 กก./ตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้ 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยใกล้เคียงกับปีก่อนโดยภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนแต่ยังมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

ทั้งนี้ ต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูกาลว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

จาก http://www.posttoday.com   วันที่  8 มีนาคม 2560

กรมวิชาการเร่งขับเคลื่อนงานวิจัย l ขยายผลเชิงพาณิชย์-ผลักดันประเทศสู่‘Thailand4.0’

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 ให้สามารถนำเงินรายได้จากการขายพันธุ์พืชและพืชผลที่ได้จากการวิจัยและพัฒนา เก็บไว้ใช้จ่ายในการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตร โดยไม่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ของแผ่นดิน เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการผลิตพืช และพัฒนาต่อยอดนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ขยายผลสู่เกษตรกร พร้อมมุ่งแก้ปัญหาด้านการเกษตรของไทยแบบครบวงจร อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับนักวิจัย ซึ่งในปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้นำเงินรายได้ที่เกิดจากผลผลิตงานวิจัยและพัฒนามาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ โดยการเปลี่ยนเป็นเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยต่างๆ ของนักวิจัยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี และมีโครงการวิจัยด้านการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 447 ล้านบาท 118 โครงการ จำแนกเป็นโครงการวิจัยที่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้ว 107 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 11 โครงการ สำหรับโครงการที่สิ้นสุดและผ่านการประเมินแล้วร้อยละ 58 จัดอยู่ในระดับดีมากและระดับดี

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตรสู่ความมั่นคง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มุ่งมั่นส่งเสริมให้นักวิจัยผลิตผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ และนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร และนำไปขยายผลปรับใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้จัดการสัมมนาโครงการวิจัยด้านการเกษตรของหน่วยงานในสังกัด ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “นวัตกรรมจากเงินรายได้ แก้ไขปัญหาภาคเกษตร” ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลพันธุ์พืชใหม่และปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตร และยกระดับการผลิตพืชเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาค อุตสาหกรรมส่งออก อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สนองนโยบาย Thailand 4.0 ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

จาก http://www.naewna.com  วันที่  8 มีนาคม 2560

“KTIS” รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลโลกพุ่ง คาดรายได้ปี 60 โตตามเป้า  

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS

           KTIS เผยตัวเลขหลังเปิดหีบอ้อยแล้ว 88 วัน ได้อ้อยเข้าหีบ 6.07 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 624 ล้านกิโลกรัม สูงกว่าปีก่อน 6.3% เหตุอ้อยปีนี้คุณภาพดี ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปีนี้ที่อยู่ในระดับโดยเฉลี่ยสูงกว่า 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ เชื่อมั่นผลการดำเนินงานปี 2560 จะเติบโตตามเป้า

               นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ KTIS เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่ม KTIS หีบอ้อยในปีการผลิต 2559/60 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2560 หรือ 88 วัน พบว่า โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถหีบอ้อยได้รวม 6.07 ล้านตัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ 6.24 ล้านกระสอบ หรือ 624 ล้านกิโลกรัม สูงกว่าปีก่อน 6.3% เมื่อเทียบจำนวนวันหีบอ้อยที่เท่ากัน

               “จะเห็นว่าคุณภาพอ้อยปีนี้ดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับอ้อยปีก่อน โดยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยล่าสุด ทำได้เฉลี่ย 102.8 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ในขณะที่ปีก่อนทำได้แค่ 91.1 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เท่านั้น โดยกลุ่ม KTIS คาดว่า จะมีอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ประมาณ 8.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน ด้วยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงกว่า 102 กก.ต่อตันอ้อย จึงคาดว่ามีน้ำตาลที่ผลิตได้ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 180 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท”

               นอกจากนี้ อ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าของกลุ่ม KTIS ที่ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ จะส่งผลดีไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้ปริมาณมากขึ้นด้วย ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงต้นปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ มาที่ 20-21 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้มั่นใจว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

               สำหรับเหตุปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตอ้อยปีนี้สูงกว่าปีก่อน นอกจากเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีก่อนแล้ว ยังเป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดีของพนักงานทุกฝ่ายในกลุ่ม KTIS เพื่อแก้ไขปัญหาในปีที่ผ่านมา โดยฝ่ายไร่ซึ่งเกาะติดอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย จะลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์อ้อย มาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ก็พยายามจะให้ได้อ้อยที่สะอาด และมีคุณภาพดีที่สุด ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจึงสูงขึ้นมาก ขณะที่ฝ่ายโรงจักรก็ดูแลเครื่องจักรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มศักยภาพ

               “โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน และเราตั้งเป้าว่า จะต้องหีบอย่างราบรื่นให้ได้เต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ จะส่งผลให้รายได้ของกลุ่ม KTIS จะเติบโตตามเป้าที่ได้วางไว้” 

 จาก http://manager.co.th  วันที่  7 มีนาคม 2560

ชาวไร่อ้อย-โรงงานแฮปปี้ หีบอ้อย 90 วันผลผลิตต่อตันเพิ่มกว่าปีก่อน  

         อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโชว์ข้อมูลผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่าน 90 วันแรกผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยดีกว่าปีก่อนหน้า หลังมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 75.24 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายแล้ว 78.95 ล้านกระสอบ รับจังหวะช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้น   

        นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน      

        ขณะที่ผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้น โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซีซีเอส จากปีก่อนที่มี 11.51 ซีซีเอส อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

               “ด้วยสภาพอากาศเย็นในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยในปีนี้ และรถอ้อยไม่ติดคิวนานเหมือนปีก่อนๆ เรามองว่าน่าจะได้ค่าความหวานในอ้อยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ชาวไร่เร่งเก็บเกี่ยวโดยเลือกใช้วิธีเผาอ้อย จึงทำให้ค่าความหวานไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยิลด์ผลิตน้ำตาลทรายปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถผลผลิตน้ำตาลทรายได้ดีกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้ดีขึ้น และจากราคาน้ำตาลทรายที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” นายรังสิตกล่าว

               อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูการหีบในปีนี้ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 จาก http://manager.co.th  วันที่  7 มีนาคม 2560

3 สมาคมฯ เผยผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยฤดูการผลิต 59/60 อยู่ในเกณฑ์ดี

        วันนี้ (07 มี.ค.) นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 5559/2560 ของโรงงานน้ำตาลว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธันวาคม 2559 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านตันอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

        ขณะเดียวกันผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้น โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับช่วงเดียวกันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ สูงกว่าปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มี 11.51 ซี.ซี.เอส.

         อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.04 ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

        นายรังสิต กล่าวอีกว่า ด้วยสภาพอากาศเย็นในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยในปีนี้ และรถอ้อยไม่ติดคิวนานเหมือนปีก่อนๆ มองว่าน่าจะได้ค่าความหวานในอ้อยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ชาวไร่เร่งเก็บเกี่ยวโดยเลือกใช้วิธีเผาอ้อยจึงทำให้ค่าความหวานไม่ดีเท่าที่ควร แต่ยิลด์ผลิตน้ำตาลทรายปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถผลผลิตน้ำตาลทรายได้ดีกว่าปีก่อน ทำให้ชาวไร่มีรายได้ดีขึ้นและจากราคาน้ำตาลทรายที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

        อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูการหีบในปีนี้ ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้นโรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 จาก http://manager.co.th  วันที่  7 มีนาคม 2560

ผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี59/60

สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่าน 90 วันแรก หวั่นอ้อยไฟไหม้ในช่วงที่เหลือของฤดูการเก็บเกี่ยว

นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาล ว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยดีขึ้น เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มี 11.51 ซี.ซี.เอส.

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.04 ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้ง ยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่  7 มีนาคม 2560

ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชน มิติใหม่กรมชลประทาน

ยุทธศาสตร์ใหม่ของกรมชลประทานนับแต่ปี 2560 แหวกไปจากมิติเดิมๆ ที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์พัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และการป้องกันภัยจากน้ำ โดยเพิ่มมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนรวมเข้าไปด้วย

                ด้านหนึ่ง กรมชลประทานลงทุนจ้างสถาบันการศึกษา ทำการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนกรมฯ อีกด้านหนึ่ง กรมฯ ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า โดยตั้งกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นการภายในมาหลายปีแล้วด้วยซ้ำ

 

                การพัฒนาการชลประทานในอดีตที่ผ่านมา  มีลักษณะรัฐกำหนดโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือจากบนลงสู่ล่าง (Top-Down) นั้น ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ยังให้สิทธิให้เสียงประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชัดเจนขึ้น

                การพัฒนาแหล่งน้ำในทศวรรษท้ายๆ ที่ผ่านมา  กรมชลประทานจึงเผชิญปัญหาต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มาโดยตลอด อาทิ โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงก์  เขื่อนท่าแซะ ฯลฯ ส่งผลให้การพัฒนาแหล่งน้ำประสบปัญหา กระเทือนไปถึงความมั่นคงด้านน้ำในการขยายพื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม การบรรเทาปัญหาน้ำท่วม การอุปโภคบริโภค  การอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ

                ตลอดระยะเวลา 115 ปี ของการสถาปนาหน่วยงาน กรมชลประทานสามารถพัฒนาแหล่งน้ำความจุรวม 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่การขยายตัวของความต้องการจากประชากร ชุมชน กิจกรรมต่างๆ ล้วนใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งสิ้น เฉลี่ยปีละ 120,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

                เป็นภาวะสุ่มเสี่ยงการขาดแคลนน้ำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำในสัดส่วนมากกว่าใคร คือเกินกว่า  50% ของความต้องการทั้งหมด

                เป็นภาระรับผิดชอบที่กรมชลประทานต้องแสวงหาน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน  ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติเพื่อช่วยลดข้อขัดแย้งในการพัฒนาโครงการ

                นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า  นับจากได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ ก็ได้วางแผนสร้างบุคลากรระดับครู (Coach) โดยมีข้าราชการกรมชลประทาน ทั้งวิศวกร นายช่าง และหน่วยงานสนับสนุน เข้ามารับการฝึกอบรม เพื่อเรียนรู้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับเข้มข้นก่อนออกไปปฏิบัติหน้าที่

                “การฝึกอบรมจะต้องผ่านหลักสูตรเบื้องต้น ก่อนไปหลักสูตรเข้มข้น บางคนก็อบรมเพียงหลักสูตรเบื้องต้นแล้วไม่อบรมต่อ  อาจเพราะติดขัดหน้าที่การงาน หรือไม่ชอบ ก็ไม่อาจปล่อยออกไปทำหน้าที่ Coach ได้ เพราะคนที่จะเป็น Coach ได้ต้องผ่านหลักสูตรระดับเข้มข้นแล้วเท่านั้น จนถึงวันนี้เรามี Coach ประมาณ 120 คน”

                Coach เหล่านี้ จะเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะความรู้และลงไปกำกับทิศทางในภาคสนาม ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานในพื้นที่ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

                ทั้งนี้ Coach ดังกล่าว จะสร้างกลไกขับเคลื่อน 2 ส่วน ดังนี้

          1.เครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) รับผิดชอบแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่ใน 30 ล้านไร่เดิม

                2.คณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาคอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และระบบนิเวศ ร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำในพื้นที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 20 ล้านไร่

                ในส่วนของ คสป. จะสร้างเครือข่ายทั้งในระดับเจ้าหน้าที่กรมและเกษตรกรในพื้นที่ โดยผ่านหลักสูตรการอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากนั้นจึงลงไปขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ

                “ลำพังอาศัยเจ้าหน้าที่ชลประทานเพียงฝ่ายเดียวไม่อาจดูแลพื้นที่ชลประทานได้ทั่วถึง ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ เช่น ใครอยู่ต้นน้ำก็ได้น้ำมาก ใครอยู่ปลายน้ำไม่ได้น้ำเลย หรือการมีท่อสูบน้ำเถื่อนแย่งสูบน้ำ  ซึ่งจะแก้ปัญหาให้ได้ผลจริงๆ ก็ต้องอาศัยเกษตรกรในพื้นที่ร่วมด้วยเท่านั้น” นายสุจินต์กล่าว

                ส่วนคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่นนั้น จะมี Coach ในส่วนกลางหรือในพื้นที่คอยเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อน ซึ่งจะมีกระบวนการการมีส่วนร่วมมากถึง 11 ขั้นตอน

                “แต่ละขั้นตอนเป็นเรื่องที่คณะกรรมการชลประทานท้องถิ่นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น ผ่านการตั้งคำถามจาก Coach และแสวงหาคำตอบเอง โดยมี Coach เป็นพี่เลี้ยงคอยชี้แนะ โดยเฉพาะในประเด็นเทคนิควิศวกรรมชลประทาน เช่น การคำนวณปริมาณน้ำ อัตราการไหลของน้ำ ความต้องการน้ำ เขาทำเอง จัดเวทีประชุมชาวบ้านเอง สรุปเอง และให้ชาวบ้านตรวจสอบกันเอง เป็นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นขณะที่ยังไม่มีอะไรเลย จนทำเป็นแผนพัฒนาแหล่งน้ำในระดับลุ่มน้ำ เสนอให้กรมชลประทานพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ถ้าศึกษาแล้วมีความเหมาะสม กรมฯ ก็จะสำรวจ ออกแบบ และของบประมาณก่อสร้าง” นายสุจินต์กล่าว

                เช่นเดียวกับการทำงานของเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ก็จะสร้าง คสป. ขึ้นทั้งในส่วนของกรมชลประทาน ของชุมชน และชาวบ้าน  เพื่อร่วมคลี่คลายปัญหาน้ำ เช่น การขาดแคลนน้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องร่วมแก้ไขตรงไหน ต้องเดินสำรวจพื้นที่ ให้เห็นทั้งภาพย่อยเฉพาะแปลงของตัวเองและภาพรวมทุกแปลงในพื้นที่ โดยการสร้างแผนที่ทำมือประกอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทั้งระบบ เพื่อให้เกษตรกรทุกคนตระหนักและเห็นได้ว่า แท้จริงปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างไร และต้องแก้ไขกันด้วยวิธีไหน อย่างไร

                “เช่นต้องไม่มีท่อส่งน้ำเถื่อนที่แอบแย่งน้ำ ต้องจัดรอบเวรรับน้ำ ต้องปล่อยให้ท้ายน้ำได้ก่อนต้นน้ำ การดูแลอาคารชลประทานให้แข็งแรงพร้อมใช้การได้ ไม่ให้มีใครขโมยบานประตูน้ำ ฯลฯ เป็นต้น เวทีเหล่านี้จะทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ร่วมเห็นปัญหา ร่วมคิด ร่วมทำ เห็นอกเห็นใจเกื้อกูลกัน จากที่เคยขาดแคลนน้ำก็ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง”

ห้วยน้ำบอง คลองปะเหลียน

                นายสุจินต์กล่าวว่า  กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับเกษตรกร หรือระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หรือระหว่างอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมแต่ต้องอดทนและใช้เวลาในการดำเนินการ เพราะต้องพูดคุยทำความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ปรับความเห็นให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

                “ต้องเชื่อมั่นว่า ภาคประชาชนมีความสามารถ หรือยกระดับความรู้ความเข้าใจได้ โดยเฉพาะความเข้าใจต่อสภาพแท้จริงในพื้นที่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ชลประทานมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคหากผสมผสานกันได้ก็จะขับเคลื่อนโครงการให้เดินไปได้อย่างราบรื่น” นายสุจินต์กล่าว

                หากเปรียบเทียบอดีตจนถึงปัจจุบัน นับว่ากรมชลประทานได้ปรับตัวเองให้เข้ากับภาวะแวดล้อมทางสังคมมากขึ้น มีความยืดหยุ่นการดำเนินงานดีขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการป้องกันบรรเทาภัยจากน้ำ

                ที่สำคัญ สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ซึ่งดูแลพื้นที่ชลประทาน 8 จังหวัด

 ภาคตะวันออก ได้ตัดสินใจใช้กระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำร่องจัดทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐในพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด ผ่านคณะกรรมการชลประทานท้องถิ่น โดย นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทานเห็นชอบในหลักการให้เริ่มดำเนินการนำร่องได้เลย

                “เป็นมิติใหม่ของกรมชลประทาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับรู้การพัฒนาการชลประทานในพื้นที่ตัวเอง  ได้มีส่วนพิจารณาปัญหา ความต้องการ และแนวทางการแก้ไขด้วยตัวเอง” นายสุจินต์กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่  7 มีนาคม 2560

ชาวไร่อ้อย"เฮผลผลิตพุ่ง

        อ้อยมีค่าความหวานเพิ่ม โรงงานหีบน้ำตาลได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ห่วงปัญหาไฟไหม้รุนแรง แนะเกษตรกรอย่าเผาไร่อ้อย                     

      นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธ.ค. 60 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

     ทั้งนี้ผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้น โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซีซีเอส จากปีก่อนที่มี 11.51 ซีซีเอส อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

     “ด้วยสภาพอากาศเย็นในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยในปีนี้ และรถอ้อยไม่ติดคิวนานเหมือนปีก่อน ๆ เรามองว่าน่าจะได้ค่าความหวานในอ้อยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ชาวไร่เร่งเก็บเกี่ยวโดยเลือกใช้วิธีเผาอ้อย จึงทำให้ค่าความหวานไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยิลด์ผลิตน้ำตาลทรายปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถผลผลิตน้ำตาลทรายได้ดีกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้ดีขึ้น และจากราคาน้ำตาลทรายที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่  7 มีนาคม 2560

ชาวไร่-รง.เฮ หีบอ้อยแล้วกว่า 75 ล้านตัน

ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล สุดปลื้ม หีบอ้อยฤดูการผลิตปี 59/60 ผ่าน 90 วัน หลังมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 75.24 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลทรายแล้ว 78.95 ล้านกระสอบรับจังหวะช่วงราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้นขณะที่ทำยิดล์ผลิตน้ำตาลทรายอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ยังไม่ลดความรุนแรงลง

นายรังสิต  เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาลว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้นทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

โดยขณะที่ผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้นโดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัมเทียบกับระยะเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อยส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบเทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มี 11.51 ซี.ซี.เอส. อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาโดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04%ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้รวมถึงอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูการหีบในปีนี้ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้นโรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่  7 มีนาคม 2560

เสี่ยงขาดแคลนน้ำ! กรมชลฯ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง

กรมชลประทาน วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยางดทำนาปรังต่อเนื่อง หลังพบพื้นที่ปลูกเกินแผนไปแล้วกว่า 2.65 ล้านไร่ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,573 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 62 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,753 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ รวม 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 13,218 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 53 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,522 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง รวม 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 77 ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 รวม 435 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.33 ล้านไร่(แผนวางไว้ 4 ล้านไร่) พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ถึง 2.65 ล้านไร่

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วเกือบ 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง หรือนาปรังรอบที่ 2 พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย

จาก http://www.prachachat.net  วันที่  7 มีนาคม 2560

“อุตตม สาวนายน” ปีแห่งการ ACTION กระทรวงอุตสาหกรรม  

         ปี 2560 นับเป็นปีที่น่าจับตามองถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่โรดแมปประเทศไทย 4.0 และหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระเบียงเขต ศก.ภาคตะวันออก (EEC) และการขับเคลื่อนยกระดับเอสเอ็มอี "ผู้จัดการรายวัน" จึงได้สัมภาษณ์ "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับภารกิจและนโยบายภายใต้ข้อจำกัดจากเงื่อนเวลา แต่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสูง

               กระทรวงอุตสาหกรรมวางเป้าหมายการดำเนินงานปี 2560 ไว้อย่างไร

               - เราวางเป้าหมายวาระการทำงานหรือ Agenda บูรณาการที่เสริมจากงานประจำ เช่น การดูแลสภาพแวดล้อมโรงงาน การผลิต การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกตัวอย่างเหล่านี้คืองานประจำ แต่ปีนี้ (2560) เราจะเน้นงานบูรณาการที่มีเป้าหมายชัดเจนอีกด้วย ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติคือไทยแลนด์ 4.0 ระยะ 20 ปี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจให้ได้ โดยรัฐบาลนี้มีโรดแมป และมีเวลาที่จะดำเนินงานชัดเจน ซึ่งงานเหล่านี้คือเป้าหมายที่วางรากฐานไว้ในเวลาที่เหลือ

               งานที่กำหนดเป้าหมายไว้ดังกล่าวประกอบด้วยอะไรบ้าง

               - งานที่กำหนดไว้ประกอบด้วย 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรม แบ่งเป็น การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) ได้แก่ อุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

               5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและลอจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เราต้องทำเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและยกระดับความสามารถของเศรษฐกิจไทย

               จากเดิมเศรษฐกิจไทยเราพึ่งการส่งออกถึง 70% ของจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีไทยก็จะถูกกระทบด้วย ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่เรียกว่า Local Economy ก็คือการยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมเดิมที่ส่งออกให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นของเราเองเน้นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะผันผวนแต่สินค้าและบริการเหล่านี้ก็มีมูลค่าสูงผลกระทบจะน้อยกว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจึงจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

               เป้าหมายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมวางไว้อย่างไร

       - Agenda แรกคือการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แล้ว เรื่องที่ 2 คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจมาโดยตลอดในแง่โครงสร้าง การจ้างงานแม้มูลค่าจะยังไม่สูง นี่คือเหตุผลที่ต้องกลับมาว่าเราจำเป็นต้องส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อ 1. ให้เป็นพลังขับเคลื่อนใหม่เป็นเอสเอ็มอีที่ใช้นวัตกรรมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ใช่รับจ้างผลิต 2. การทำให้เอสเอ็มอีไทยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นลักษณะกลุ่มหรือ Cluster มีบริษัทใหญ่ มีเอสเอ็มอีเป็นคู่ค้าหรือซัปพลายเออร์ให้กัน ซึ่งเทรนด์ในโลกไม่ใช่บริษัทใหญ่สั่งผลิตนั่นโมเดลเดิมแต่วันนี้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่พึ่งนวัตกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งโมเดลโลกปัจจุบันว่าด้วยการใช้นวัตกรรมเอสเอ็มอีเอื้อบริษัทใหญ่ต่างจากอดีตที่บริษัทใหญ่คิดค้นนวัตกรรมแล้วไปจ้างเอสเอ็มอี เราจึงต้องการเอสเอ็มอีแบบลักษณะนี้

               เป้าหมายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือEEC

        - เรื่องที่ 3 ต่อจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและพัฒนาเอสเอ็มอีแล้วเราก็ต้องมองการพัฒนาในเชิงพื้นที่ซึ่งถือเป็นแกนสำคัญของไทยแลนด์ 4.0 โดยเราจะทำในระดับท้องถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ ของไทยขึ้นมา โดยให้แต่ละพื้นที่มีความสามารถที่จะนำพาการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ แต่ละที่จุดเด่นไม่เหมือนกัน นี่จึงนำมาสู่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งเราต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นชัดเจน      

        นอกจากนี้ EEC ยังจะเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่รอบใหม่ของประเทศซึ่งจำเป็นที่จะเดินยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เพราะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการลงทุนรอบใหม่ เพราะ 30 ปีที่ผ่านมาเราทำมาแล้วและสร้างอุตสาหกรรมหลักทั้งรถยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ฯลฯ ก็พัฒนาไทยมาด้วยดี แต่ขณะนี้คงไม่พอเพราะเป็นสินค้าเดิมๆ ที่ส่งออกมูลค่าสูงไม่พอ รถยนต์ก็ต้องต่อยอดไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อาหารต้องไปสู่อาหารแห่งอนาคต ก็ต้องมีพื้นที่เริ่มชัดเจนทำไมต้องเป็น EEC ก็เพราะมีฐานเดิมคืออีสเทิร์นซีบอร์ดที่เริ่มไว้เดิมการต่อยอดจึงสมควรทำ

               EEC จะกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีสาน เหนือ กลาง ใต้ โดยมีอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่ง EEC นำร่องที่มีอุตสาหกรรมเดิมต่อยอด มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งมอเตอร์เวย์ มีท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา จึงกำหนดใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงทรา และชลบุรี ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ๆ เป้าหมายสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2560

                นอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้แล้วยังมีแนวทางที่จะดำเนินการอะไรอีกหรือไม่

       - ยังมีเรื่องอีก เช่น การยกระดับผลิตภาพและผลผลิตในเศรษฐกิจไทย หรือ Productivity เพราะหัวใจสุดท้ายคือขีดความสามารถทางการแข่งขัน เราต้องสร้างนวัตกรรมมูลค่าสูง ที่จะต้องเริ่มกันตั้งแต่วัตถุดิบคือตั้งแต่การเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ทั้งหมดจำเป็นต้องดูเรื่องนี้ ขณะเดียวกันจะโยงไปสู่การเตรียมพร้อมกำลังคนในอุตสาหกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและเอสเอ็มอีทำอย่างไรรองรับพอและเป็นคนที่มีคุณภาพสามารถนำไปสู่ผลิตภาพที่สูง ซึ่งต้องเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และการดูแลสภาพแวดล้อม การผลิต โรงงานทั้งหมดโยงไปถึง EEC อุตสาหกรรมเป้าหมายคำนึงถึงประโยชน์ สิ่งแวดล้อมที่ต้องดูแล นี่คือ Agenda

                อุตสาหกรรมเป้าหมายเราได้วางโรดแมปไว้อย่างไร

               - แต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายเรามีโรดแมปที่ชัดเจนไม่ได้มองแค่สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่จะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพื่อก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ โดยมาตรการของบีโอไอถือเป็นมาตรการจูงใจในส่วนของอุปทาน ซึ่งจะต้องมีอุปสงค์ด้วยเพื่อให้เกิดขึ้นได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รัฐบาลก็ต้องหารือกับเอกชนมาร่วมกันว่าที่จะเกิดขึ้นนั้นบีโอไอสิทธิประโยชน์แบบนี้ แล้วกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการเป็นพิเศษ แต่ทำอย่างไรตลาดเกิดขึ้น คนไทยสนใจที่จะซื้อ เหมือนไก่กับไข่หากจะให้เขาลงทุนก็ต้องเห็นศักยภาพตลาดด้วย เราเองก็ต้องดูอุปสงค์ไปด้วย เช่น รัฐจะเน้นใช้รถ EV ด้านขนส่ง เราก็จะทำลักษณะนี้ทุกอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นเจ้าภาพ แต่เราคงทำคนเดียวลำพังไม่ได้ต้องมีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมแล้วเราก็ประสานงานกัน เราจึงได้บอกตั้งแต่แรกว่าเป็น Agenda แบบบูรณาการ พอแต่ละอันได้โรดแมปก็เดินได้ รัฐบาลก็รู้ เอกชนก็เห็นทางนี่คือแนวทาง

               การวางโรดแมปไว้จะทำให้เกิดการสานต่อเนื่องหรือไม่

               - เราได้กำหนดโรดแมปให้ชัดเจน และวางรากฐานให้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะ EEC ที่เราวางไว้ว่าจะดำเนินการใน 15 โครงการ 4 กลุ่ม แต่จะเลือกดำเนินการที่จะให้เกิดขึ้นจริงก่อน 5 โครงการหลัก ได้แก่ 1. สนามบินอู่ตะเภา โดยระยะแรกจะเปิดอาคารผู้โดยสารที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปีในกลางปีนี้ และจะเริ่มลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานกับบริษัทการบินไทย และพันธมิตร 2. แนวทางการลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ให้เชื่อมต่อ 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ปลายปีนี้ 3. ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โดยจะเร่งรัดกระบวนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพื่อรองรับการส่งออกรถยนต์เพิ่มอีก 1 ล้านคันต่อปี และบูรณาการให้เกิดการเชื่อมการขนส่งด้วยโครงการรถไฟไทย-จีน มากที่สุด 4. แผนลงทุน Bio Economy และเร่งรัดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า EV และ 5. ให้ กนอ.จัดตั้งศูนย์ดูแลนักลงทุน One Stop Service ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ข้อมูลคำปรึกษารองรับการลงทุน

               ทำไมต้องอู่ตะเภา ทำไมต้องรถไฟความเร็วสูง นี่คือวางพื้นฐานตอนนี้เอาไว้ถ้าตรงนี้เกิดเมืองใหม่จะตามมาแน่นอน โรดแมปแต่ละเรื่องเกิดจริงเป็นพื้นฐานให้ทำต่อเนื่องได้ไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ถ้าเราทำดีเขาก็จะไม่รื้อเพราะถ้าเราวางโรดแมปเฉยๆ ไม่มีการลงมือกระทำหรือปฏิบัติมันจะลอยๆ เขาก็ยกเลิกได้ ผมเลยบอกข้าราชการเลยว่าปีนี้ต้องเป็นปีแห่งการ ACTION ที่เป็นรูปธรรม จะเห็นว่าใช้เวลามากหน่อยแต่เมื่อเสร็จจะเห็นว่าใครทำอะไร เมื่อไหร่ มีแม่งานชัดเจน

               โรดแมปอุตสาหกรรมเป้าหมายจะเห็นได้เมื่อใด

       - รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV กำลังหาแพกเกจสนับสนุน 2 ส่วน คือ บีโอไอ และจากกระทรวงการคลัง ซึ่งคลังจะดีไซน์มาประกอบหลักการใหญ่ ต้องได้รับส่งเสริมฯ จากบีโอไอก่อนจึงจะได้รับสนับสนุนจากคลังเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและได้คำนึงถึงตลาดไทย คือได้คิดโรดแมปครบถ้วน รถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นเป็นตอนๆ คงจะไม่ใช่ EV เลยต้องเริ่มจากไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด ผู้ประกอบการก็ต้องตกลงการลงทุนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะเดียวกันก็ต้องดูสถานีชาร์จ ต้องคุยกระทรวงพลังงาน ใครลงทุน จะจูงใจเอกชนอย่างไร กระทรวงอุตฯ ต้องดูมาตรฐานหัวชาร์จที่จะยึดความปลอดภัยเป็นหลัก หน้าตารูปแบบต่างได้แต่ความปลอภัยต้องเป็นไปตามที่กำหนด ก็จะบอกชัดเจน จะเห็นแพกเกจภายใน 1 เดือนจะนำเสนอรัฐบาลต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นภาพทั้งหมด

               นอกจากนี้อาจจะยื่นโรดแมปต่อคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองที่อาจมีประเด็นให้ช่วยพิจารณาบางส่วน แต่ทั้งหมดจะเริ่มจากรถยนต์ EV และอาจจะควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เข้าไปเป็นคู่แรกก่อน ต่อไปเรื่องของอาหารแห่งอนาคตและเมดดิคัลฮับ หลังจากที่เรานำร่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพไปแล้ว นั่นเป็นแค่เปิดตัวที่จะลงใน EEC ต้องดูพื้นที่อื่นว่าจะเกิดได้อีกไหมโดยเฉพาะที่อีสาน ที่จะกำหนดโรดแมปที่อีสานด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำงานแบบประชารัฐจริงๆ 

จาก http://manager.co.th  วันที่  7 มีนาคม 2560

ชาวไร่อ้อย-รง.น้ำตาลยิ้มผลผลิตดี ค่าความหวานเกณฑ์มาตรฐานเยี่ยม

7 มี.ค.60 นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ของโรงงานน้ำตาล ว่า หลังเปิดหีบอ้อยเป็นระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันเปิดหีบ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวน 75.24 ล้านตันอ้อย เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 71.89 ล้านอ้อย ซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานน้ำตาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยที่สามารถรองรับผลผลิตได้สูงขึ้น ทำให้เฉลี่ยต่อวันมีปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 54 แห่งมากกว่า 1 ล้านตัน

ขณะที่ผลผลิตต่อตันอ้อยก็ดีขึ้น โดยผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เพิ่มขึ้นเป็น 104.92 กิโลกรัม เทียบกับระยะเวลาเท่ากันในฤดูหีบอ้อยก่อนหน้าที่มียิลด์อยู่ที่ 98.41 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 6.51 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายได้แล้ว 78.95 ล้านกระสอบ เทียบกับปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 70.74 ล้านกระสอบ ส่วนค่าความหวานเฉลี่ยในอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.10 ซี.ซี.เอส. จากปีก่อนที่มี 11.51 ซี.ซี.เอส. อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้ดีขึ้น แต่โรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลต่อปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยังคงรุนแรงเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงถึง 46.68 ล้านตันอ้อย คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด

"ด้วยสภาพอากาศเย็นในช่วงเก็บเกี่ยวอ้อยในปีนี้ และรถอ้อยไม่ติดคิวนานเหมือนปีก่อนๆ เรามองว่าน่าจะได้ค่าความหวานในอ้อยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ชาวไร่เร่งเก็บเกี่ยวโดยเลือกใช้วิธีเผาอ้อย จึงทำให้ค่าความหวานไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี ยิลด์ผลิตน้ำตาลทรายปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สามารถผลผลิตน้ำตาลทรายได้ดีกว่าปีก่อน ซึ่งจะทำให้ชาวไร่มีรายได้ดีขึ้นและจากราคาน้ำตาลทรายที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงทำให้ปีนี้ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" นายรังสิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาปัญหาอ้อยไฟไหม้ รวมถึงอ้อยปนเปื้อนในช่วงที่เหลือของฤดูการหีบในปีนี้ ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ดังนั้น โรงงานน้ำตาลจึงอยากขอความร่วมมือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด  ซึ่งจะส่งผลต่อยิลด์น้ำตาลสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ อีกทั้ง ยังช่วยลดมลภาวะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่  7 มีนาคม 2560

ถ่ายทอดเทคโนโลยี‘เมล็ดพันธุ์’ เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทย‘Seed Hub’นานาชาติ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ทั้งการพัฒนาคุณภาพสินค้าตั้งแต่ฟาร์มเกษตรกร ความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายและการตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ซึ่งในปี 2558 ประเทศไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 15 ของโลก มีปริมาณการส่งออก 31,109 ตัน มูลค่า 5,050 ล้านบาท ร้อยละ 63 เป็นกลุ่มเมล็ดพันธุ์ผัก และร้อยละ 37 เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งออกไปยัง 100 ประเทศทั่วโลก ตลาดส่งออกร้อยละ 22-35 อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ประเทศไทยจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ระดับภูมิภาค เพื่อวิจัย พัฒนา ผลิต จำหน่าย และบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออก และสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล (Seed Hub) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศไทย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมวิชาการเกษตร ยังได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนเมล็ดพันธุ์พืชไทยสู่สากล” (Thailand Seed Hub) ระหว่างวันที่ 3-7 มีนาคม ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงพันธุ์พืชทั้งพืชผัก พืชไร่ และไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงเผยแพร่ผลงานของกรมวิชาการเกษตรด้านพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชต่างๆ

สำหรับกิจกรรมภายในงาน อาทิ การจัดแสดงผลงานด้านพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และภาคเอกชน การจัดแสดงพันธุ์พืชในแปลงและโรงเรือน นิทรรศการเกี่ยวกับภารกิจการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์รองรับประชาคมอาเซียน เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่วนขยายพันธุ์ การปลูกพืชในโรงเรือน สารกำจัดศัตรูพืช รวมถึงเทคโนโลยีทางด้านเครื่องจักรกล

จาก http://www.naewna.com  วันที่  7 มีนาคม 2560

ค่าบาท 'อ่อนค่า' ตามประเทศเพื่อนบ้าน

เงินบาทเปิดตลาดที่ "35.06 บาทต่อดอลลาร์" อ่อนค่าตามประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาทะเลจีนใต้กลับมาสร้างความกังวล

 บาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปิดตลาดวันก่อน อ่อนตามสกุลเงินเพื่อนบ้านโดนเทขายทำกำไร หลังระวังปัญหาในทะเลจีนใต้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.06 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นวันทำการก่อน

ซึ่งเป็นการอ่อนค่าตามสกุลเงินเพื่อนบ้านที่เริ่มโดนขายทำกำไรหลังปัญหาในทะเลจีนตะวันออกเริ่มกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องระวัง

ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ฝั่งสหรัฐเริ่มขายทำกำไรในหุ้น (S&P -0.33%) และค่าเงินดอลลาร์ กลับไปพักในสกุลเงินเยน (ปัจจุบันที่ระดับ 113.9 เยน/ดอลลาร์) รอปัญหาการเมืองคลี่คลายและรอให้การประชุมธนาคารกลางสหรัฐผ่านพ้นไปก่อน (รู้ผลวันที่ 16 มี.ค.)

มองกรอบค่าเงินระหว่างวันนี้ที่ระดับ 35.01-35.11 บาทต่อดอลลาร์

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่  7 มีนาคม 2560

ส่งออกไทยไปเวียนนามจ่อขึ้นอันดับหนึ่งอาเซียน

.ศูนย์วิจัยกสิกร ประเมินส่งออกไทยไปเวียดนามปีนี้ โต 5.8% มูลค่าเฉียด 1 หมื่นล้านดอลล์ แซงหน้ามาเลเซีย กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งในอาเซียน

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การส่งออกไทยไปเวียดนามในปี 2559 เติบโตถึง 5.9% เมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่หดตัว 0.1% และการส่งออกไปอาเซียนที่หดตัว 0.9% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องปีที่ 4 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 12.1% ต่อปี(2557-2559) ส่งผลให้เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามองของไทย

ส่วนการส่งออกไปเวียดนามปีนี้ประเมินว่า จะขยายตัวที่ 5.8% หรือมีมูลค่าประมาณ 9,979 ล้านดอลลาร์ แซงหน้ามาเลเซียและกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียนนับจากปีนี้เป็นต้นไป

 “การพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จากความสามารถในการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมีพื้นฐานจากจุดเด่นด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำ อีกทั้งภาครัฐยังสนับสนุนนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศ การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ ส่งผลให้มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามายังเวียดนามอย่างก้าวกระโดด”

ขณะที่เวียดนามยังไม่มีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำภายในประเทศที่สามารถรองรับได้ ส่งผลไปยังความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนของสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยการนำเข้าสินค้าขั้นกลางคิดเป็นสัดส่วน 37.8% ของการนำเข้าทั้งหมด

ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า เวียดนามกับไทยมีความใกล้ชิดกันในฐานะประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังมีเส้นทางคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงระหว่างกัน ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยและเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ทั้งหมดนี้จึงเกิดคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะพิจารณาปับปรุงโครงสร้างสินค้าส่งออกไปยังเวียดนามเพื่อตอบสนองโอกาสจากตลาดเวียดนามอย่างแท้จริง”ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องรักษาความสามารถการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามผ่านกลยุทธ์สำคัญ คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม โดยการส่งสินค้าขั้นกลางที่เวียดนามมีแนวโน้มความต้องการเพิ่ม และเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตโดยสินค้าที่ควรสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือเป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่  7 มีนาคม 2560

ระดมผลงานวิจัยเกษตร-ชีวภาพ สวก.โชว์ศักยภาพนวัตกรรมสู่‘ไทยแลนด์4.0’

  นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาประเทศสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเน้นการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ นวัตกรรม ที่มีเป้าหมายเติมเต็มการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการวิจัยพัฒนาต่อยอดใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กลุ่มเทคโนโลยีเกษตรและชีวภาพ ซึ่งสำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตรแก่นักวิจัย ทำให้ได้นวัตกรรมที่สามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติอย่างกว้างขวาง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สวก. จึงได้กำหนดจัดงาน “การขับเคลื่อนงานวิจัยการเกษตร สู่ไทยแลนด์ 4.0” ขึ้น ในวันที่ 8 มีนาคม ณ ห้องบอลรูมซี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศด้านการวิจัยการเกษตรให้ภาคเอกชนหันมาใช้เทคโนโลยีจากงานนวัตกรรมของนักวิจัยไทยให้มากยิ่งขึ้น

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ A4 เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีรายได้มั่นคงขึ้น ฉะนั้นผลงานวิจัยต่างๆที่ สวก. ให้การสนับสนุน จึงมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรได้เป็นอย่างมาก และยังเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการพัฒนาประเทศที่นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วย” นายธีรภัทร กล่าว

ด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการ สวก. เปิดเผยว่า กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ ระหว่างสวก. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 11 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลความรู้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ 2.การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผลงานวิจัยดีเด่น ของ สวก. 20 รางวัล 22 โครงการ และ 3.การจัดแสดงนิทรรศการผลงานและผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัย อาทิ นิทรรศการไทยแลนด์ 4.0 นิทรรศการผลงานวิจัยจาก 20 นักวิจัย และงานวิจัยที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว

“การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะมุ่งเสริมสร้างระบบการวิจัยการเกษตรของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยแล้ว สวก. ยังต้องการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการแบบเชิงรุก ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคเกษตรเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นางพรรณพิมล กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่  7 มีนาคม 2560

คอลัมน์: หนึ่งวันกับหนึ่งคน: น้ำตาลสร้างในไร่

ดาวเต็มฟ้า

เมืองไทย เมืองเกษตร ปลูกอะไรก็ขึ้น ทำเงินได้ทั้งนั้น เพียงหากวางแผน วางผังดีๆ ไปโลดแน่ๆ เพราะบางประเทศไม่มีที่ดินเหลือ เป็นทะเลทราย เป็นทะเล เป็นภูเขา แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ เห็นไหมว่าเมืองไทยมีดี จนต้องแย็บกันเบาๆ ว่า มีเสียเพียงอย่างเดียว มีนักการเมือง (บางคน) มีข้าราชการ (บางคน) ที่ไม่กินข้าวกลางวัน (เช้าชาม-เย็นชาม)..ฮา..ที่มีเพียงไม่กี่คนที่กินบ้าน กินเมือง เข้ามาแสวงหาอำนาจ สร้างอาณาจักร หมายจะกุม รวมทุกอย่างอยู่ในมือ จนเกิดเหตุอย่างที่เรารู้ๆ กัน

โชคดีที่เมืองไทยมีภาคเอกชนที่เข้มแข็งมาก แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ กับการเมือง แต่พวกเขาก็สามารถประคับประคอง ปรับตัว เดินบ้าง วิ่งบ้าง ไปสู่การยกระดับให้องค์กรเติบโตได้อย่างน่าชื่นชม

ความรู้ การบริหารจัดการองค์กรใหม่ๆ กระแส แนวโน้มของโลก นักธุรกิจไทยมีพัฒนาการได้รวดเร็ว ยืดหยุ่นตัวได้ดี ไม่ว่ากระแสใดจะก้าวไปทิศใดไม่เคยตกเทรนด์

กระแสของชาวโลก ที่เห็นๆ กัน คือ การสร้างความยั่งยืนให้องค์กร พูดง่าย ฟังง่าย คือการอยู่กันยืนยาว ตรงกับการกินดี มีสุขภาพดี ไกลโรคภัย อายุยืน ว่าไปแล้ว น่าจะเป็นกระแสเดียวกัน ระหว่างมนุษย์และองค์กร

มนุษย์ยุคนี้คำนึงถึงสุขภาพ อาหารแนวอินทรีย์ ไร้สาร จึงขายดี เป็นที่นิยม เมื่อเทียบเคียงกับองค์กร การมีสุขภาพดี คือ การมีความร่วมมือของคนที่เกี่ยวข้อง ให้สมดุลกับธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพ

การทำธุรกิจของเจ้าของ จากรุ่นสู่รุ่น ตำนานฉากคล้ายๆ กัน ของ "เสื่อผืน หมอนใบ" มาสู่รุ่นสอง รุ่นสาม จึงมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ตามแต่ที่พวกเขาจะเลือก รวยอยู่แล้ว จะรวยอีก รวยเร็ว รวยลัด หรือแบ่งกันรวย แล้วทุกคนมีความสุข คุณเลือกได้

คุณอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ หรือ "เสี่ยติ่ง" ของชาวบุรีรัมย์ เขาเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่มีลูกหกคนของตระกูล จากพ่อค้าในยุคอากง มาถึงยุคของการเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เป็นบริษัทมหาชน

มีการวางแผนงานไว้ล่วงหน้าหลายขั้นตอน กลายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ "ต้นอ้อย" พืชที่ให้ความหวานและเป็นพืชพลังงานได้ด้วยเช่นกัน อาทิ เมื่อตั้งต้นที่โรงงานผลิตน้ำตาล ลำดับต่อมา จะเป็นปุ๋ย กระดาษ ไฟฟ้า เป็นต้น

การเดินเข้าตลาดหุ้น จึงเป็นเส้นทางที่ช่วยให้งานเดินก้าวหน้าได้รวดเร็ว เป็นที่รู้จัก ลดต้นทุนทางการเงินได้ และเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนดิ้งได้ดี

เมื่อคนในครอบครัวปรึกษาหารือกันลงตัว พี่น้องในตระกูลจับมือกันเดิน แบ่งงานกันไปดูแล โดยมีพี่ใหญ่เป็นผู้นำ และทำหน้าที่เป็นโฆษก เป็นแบรนดิ้ง เป็นยี่ห้อที่เห็น "เสี่ยติ่ง" คือเห็นน้ำตาลบุรีรัมย์ ไม่ต่างจากแนวคิด CEO Marketing

เมื่อราว 6-7 ปีก่อน ขณะที่เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น ทีมงานคุยกันหนักๆ การเป็นเจ้าของโรงงานที่ทำการผลิตสินค้าทุกประเภท หัวใจคือวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงาน หากไม่มีหรือขาดแคลนเป็นอันจบกัน

โจทย์นี้จึงถูกหยิบขึ้นมาบนโต๊ะ คุยกันหนักๆ จริงจัง.จนกลายเป็นที่มาของการเอาจริงเอาจังกับการวางสายงานเพื่ออนาคต วัตถุดิบของโรงงานน้ำตาล คือ ต้นอ้อยที่มาจากไร่ ไม่มีต้นอ้อย โรงงานจะเดินเครื่องอย่างไรกัน ฤดูหีบอ้อย ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปีคงเหงาหงอย

หรือการมีสินค้าคุณภาพ ย่อมเกิดจากวัตถุดิบคุณภาพด้วยเช่นกัน กลยุทธ์การลงไปดูต้นทาง-ต้นน้ำของสายการผลิตของโรงงานน้ำตาลจึงเกิดขึ้น เป็นนโยบายที่เข้มๆ การสื่อสารที่ชัดเจน โดยมีไฟเขียวผ่านตลอดจากซีอีโอ และมีทีมงานของน้องสาวคนเล็กของตระกูลเป็นกำลังสำคัญ เธอช่างคุย ช่างขยันที่จะลุยไปกับชาวไร่อ้อยทุกครอบครัว กับทุกแปลงอ้อย

เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ บวกกับพลังคน พลังใจ ผนึกกำลัง ในรัศมี 40 กิโลเมตร โดยรอบโรงงานจัดระเบียบแปลงอ้อยทุกแปลง กำหนดจุดพิกัด ขนาดพื้นที่แปลง มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้นำ เข้ามาพูดคุย ละลายใจ หลอมความเข้าใจให้เกิดทิศทางเดียวกัน ว่าเป็นเรื่องของการทำงานอาชีพ เลี้ยงปากทองที่มีเกียรติ สร้างรายได้แน่นอน ใส่ใจการพัฒนา ด้วยการมีกิจกรรม พาไปดูงานนอกสถานที่ อบรม สัมมนาจากวิทยากร เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับชาวไร่อ้อย พวกเขาตื่นตา ตื่นใจ ที่ไปกินอาหารในโรงแรมหกดาว ไปฟังสัมมนา นอนห้องหรูหรา ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แต่ก็ได้ทำ

เมื่อคนพร้อม คราวนี้ก็หันกลับมาพัฒนาการปลูก พัฒนาพันธุ์ ปรับปรุงดิน ช่วยกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยมีหัวหน้ากลุ่มคอยดูแลกัน พวกเขาจึงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำที่แน่นอนเมืองไทยมีระบบ "เงินเกี๊ยว" หมายถึงเงินล่วงหน้าที่ทางโรงงานจัดให้ชาวไร่ก่อน เมื่อส่งอ้อยเข้าโรงงานได้เมื่อไหร่ ค่อยมาเคลียร์กัน หรืออาจจะมีระบบโควตา 70:30 หมายถึงโรงงานได้ 70 ส่วนชาวไร่ได้รับ 30 ส่วน

ระบบสนับสนุนชาวไร่เช่นนี้ เป็นที่ตั้งคำถามของประเทศคู่แข่ง ด้วยคำอ้างว่าเป็นการอุดหนุนทางการค้า ที่ไม่เปิดทางการค้าเสรี แบบนี้ใครจะไปแข่งขันคุณได้ล่ะ .แต่กับวัฒนธรรมไทยๆ เราต้องเอื้ออาทรต่อกัน คะแนนศีลธรรมเต็มร้อย

วันนี้จึงมีพัฒนาการที่พยากรณ์ปริมาณอ้อย ที่จะเดินทางเข้าหีบในโรงงานได้ (เกือบ) แม่นยำ

คำบางวลีอาจย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอีกหลายคน "น้ำตาลสร้างในไร่" กลายเป็นเป้าหมายเดียวกัน ทุกอย่างจึงคุยกันง่ายๆ จบสบายๆ โลกของข้อมูลข่าวสาร ช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

วันนี้ของชาวไร่อ้อยจึงเป็นความมั่นคงของอาชีพ มีเกียรติใดๆ ก็ไม่สำคัญ เท่าชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงาน ที่เข้าใจกั เยี่ยงกัลยาณมิตร ความยั่งยืน ก็ยืนยาว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่  6 มีนาคม 2560

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และแนวโน้ม “บ. น้ำตาลมิตรผล” ที่ “A+/Stable”

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำตลาดของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนการกระจายตัวในระดับปานกลางทางด้านการดำเนินงานในเชิงภูมิศาสตร์ แบรนด์สินค้าที่เป็นที่ยอมรับ กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรของราคาน้ำตาล ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของธุรกิจน้ำตาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจากฐานการผลิตขนาดใหญ่ ประสิทธิภาพในการผลิตที่ดี ตลอดจนฐานลูกค้าและตราสินค้าที่แข็งแกร่งคาดว่าจะช่วยให้บริษัทยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้แม้จะมีการเปิดเสรีอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยก็ตาม

อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตมีโอกาสปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทและสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดหมายไว้จนส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง การลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงก็เป็นปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะสั้นนั้นมีอยู่ไม่มากจากสถานะการเงินในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแรงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง

บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจซึ่งถือหุ้นในบริษัท 100% ผ่านทาง บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในฤดูการผลิต 2558/2559 บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลจาก 4 ประเทศรวมทั้งสิ้น 3.43 ล้านตัน

บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2558/2559 โรงงานในประเทศไทยของบริษัททั้ง 6 แห่งผลิตน้ำตาลได้ 1.86 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20.1% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ บริษัทยังเป็น 1 ใน 2 ของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีนด้วย โดยเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 6 แห่งที่ให้ผลผลิตน้ำตาลรวม 0.9 ล้านตันในปีการผลิต 2558/2559 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวและในประเทศออสเตรเลียผลิตน้ำตาลรวมกันได้ 0.6 ล้านตันในฤดูการผลิต 2558/2559 นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตวัสดุทดแทนไม้ ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจโลจิสติกส์

ในปี 2558 บริษัทมีรายได้รวม 88,316 ล้านบาท ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ในสัดส่วนสูงที่สุดคิดเป็น 80% ของรายได้รวม โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในไทยมีสัดส่วน 43% ในขณะที่รายได้จากประเทศจีนมีสัดส่วน 29% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียมีสัดส่วนเพียง 7% ในขณะที่รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและเอทานอลคิดเป็น 14% ของรายได้รวม

ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำตาลของบริษัทลดลง 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหลือเพียง 3.43 ล้านตันในปีการผลิต 2558/2559 ปัญหาความแห้งแล้งในภูมิภาครวมทั้งผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อื่น ๆ ของโลกส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีปริมาณลดลง ทำให้ปีการผลิต 2558/2559 เป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่น้ำตาลโลกเกิดภาวะขาดดุล

ราคาน้ำตาลตกสู่ระดับต่ำสุดในปี 2558 และฟื้นตัวอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จากภาวะขาดดุลน้ำตาลและปริมาณสต็อคน้ำตาลที่ลดลงทั่วโลก ราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 22.9 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนตุลาคม 2559 หลังจากลงไปถึงระดับต่ำสุดที่ 10.67 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนสิงหาคม 2558 ราคาน้ำตาลทรายดิบยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 20.9 เซนต์ต่อปอนด์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และ 20.5 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนมกราคม 2560 ธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยของบริษัทยังไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของราคาน้ำตาลมากนักเนื่องจากบริษัทได้ทำสัญญาขายล่วงหน้าทั้งหมดก่อนราคาน้ำตาลจะปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยรายอื่น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย สำหรับผลประกอบการธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนนั้นได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและปริมาณอ้อยที่ลดลง เนื่องจากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกแม้ว่าราคาขายจะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ รายได้และกำไรของบริษัทยังได้รับผลกระทบจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่ลดลงและราคาขายไฟฟ้าและเอทานอลที่ปรับตัวลดลงอีกด้วย ดังนั้น รายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 จึงปรับตัวลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 66,847 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทต่อรายได้รวมซึ่งรวมกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าปรับตัวลดลงเป็น 15.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 จาก 18.6% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้และความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทลดลง 23.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 11,408 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เงินทุนจากการดำเนินงานก็ลดลง 23.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 8,771 ล้านบาท อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 5.4 เท่า เทียบกับ 6-6.6 เท่าในปี 2556-2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมยังอยู่ในระดับเพียงพอที่ 14.9% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับ 51%-53% ในช่วงสิ้นปี 2557 จนถึงเดือนกันยายน 2559

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2560 ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทยส่วนใหญ่รวมถึงบริษัทได้ทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในสัดส่วน 70%-80% ของปริมาณขายในปี 2560 ราคาขายล่วงหน้าที่ทำสัญญาไว้มีระดับสูงกว่าราคาขายเฉลี่ยในปีก่อนหน้าราว 30% แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลในประเทศไทยและจีนจะลดลงบางส่วนในปีการผลิต 2559/2560 แต่บริษัทจะได้รับผลประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลมากกว่า ดังนั้นคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 18,000-21,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2560-2562 ภายใต้สมมติฐานกรณีฐานเมื่อเทียบกับ EBITDA ที่ระดับประมาณ 15,000-16,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2556-2559 บริษัทวางงบลงทุนไว้ประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัทยังได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายให้เพิ่มกำลังการหีบอ้อยรวม 80,000 ตันอ้อยต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะทยอยลงทุนในเวลาหลายปีข้างหน้า จึงคาดว่าบริษัทยังคงบริหารจัดการโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับปานกลางได้ ดังนั้นคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะดีขึ้นจากปี 2559 มาอยู่ในระดับ 20%-25% ในปี 2560-2562 ในขณะที่คาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ในระดับ 6-8 เท่า

ในเดือนตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีและข้อตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก และในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลของไทยได้อนุมัติในหลักการยกเลิกระบบโควตาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีแนวคิดที่จะยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลภายในประเทศ โดยปล่อยให้ราคาน้ำตาลภายในประเทศลอยตัวตามราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานอยู่ในระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพร้อมทั้งศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเสนอ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. ที่จะเกิดต่อผู้ผลิตน้ำตาลยังไม่ชัดเจนในขณะนี้เนื่องจากการแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จ

บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)

อันดับเครดิตองค์กร: A+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MPSC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC179A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+

MPSC185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+

MPSC199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC199B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A+

MPSC209A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+

MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+

MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+

MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+

MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+

MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+

MPSC26DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+

MPSC28DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+

MPSC186A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 126 ล้านหยวน ไถ่ถอนปี 2561 A+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

จาก ข่าวหุ้น-การเงิน  วันที่  6 มีนาคม 2560

ใช้สิทธิ FTA ยังต่ำ จี้รัฐสอบเบื้องลึก

เอกชนยังไม่พอใจยอดใช้สิทธิส่งออกไทยภายใต้สิทธิเอฟทีเอทุกกรอบของไทยปี 59 ภาพรวมยังแค่ 54% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ ชี้เหตุจากหลายปัจจัย เล็งเป้าผลสำเร็จต้อง 80-90% จี้ คต.ศึกษาเบื้องลึกไทย-ต่างชาติใครได้ประโยชน์

จากที่กรมการค้าต่างประเทศได้เผยถึงยอดการไทยส่งออกภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ทุกกรอบความตกลงในปี 2559 มีมูลค่ารวม 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่มีการใช้สิทธิคิดมีมูลค่า 5.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยอัตราการใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วน 56.4% จากยอดการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่มีการส่งออกรวม 9.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”โดยระบุว่าการใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอสัดส่วน 56.4% ของยอดส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในปีที่ผ่านมาถือว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ซึ่งสัดส่วนการใช้สิทธิที่น่าพอใจควรจะอยู่ที่ระดับ 80-90% ในทุกกรอบเอฟทีเอรวมกัน ขณะที่อัตราการขยายตัวของยอดการสิทธิที่เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยมาก

“การใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอที่ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก อาจเป็นเพราะภาษีนำเข้าประเทศปลายทางต่ำอยู่แล้วอาจไม่จูงใจให้ใช้สิทธิ บางรายอาจไม่ใส่ใจหรือไม่รู้เรื่อง และบางรายอาจเห็นว่าขั้นตอนการขอใช้สิทธิมีความยุ่งยากจึงไม่ยื่นเรื่องเพื่อใช้สิทธิ เรื่องนี้อยากให้ทางกระทรวงพาณิชย์ศึกษาเชิงลึกว่าสาเหตุยังใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกไม่มากเป็นเพราะเหตุใด และที่ใช้สิทธิในปัจจุบันเป็นสินค้าใดที่ใช้สิทธิมากสุด เป็นบริษัทไทย หรือบริษัทต่างชาติที่ใช้สิทธิมากกว่ากัน เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกช่วยลดต้นทุนได้มาก”

อนึ่ง การส่งออกของไทยภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของเอฟทีเอที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) เอฟทีเออาเซียน-จีน และเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ตามลำดับ

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่  6 มีนาคม 2560

ก.อุตฯเปิดโครงการตลาดต่อยอด หนุนธุรกิจไทยตั้งตัวในเออีซี

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงอุสาหกรรม เปิดเผยว่า โลกธุรกิจปัจจุบันถือว่าเป็นยุคการค้าแบบไร้พรมแดน กระทรวงฯจึงผลักดันผู้ประกอบการที่มีศักยภาพกว่า 2 ล้านธุรกิจ สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรงมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ผ่านการจัดตั้งโครงการตลาดต่อยอด หรือเออีซี เทรดดิ้ง เซ็นเตอร์

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโมเดลใหม่ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจให้เอสเอ็มอีไทย โดยกรมร่วมกับบริษัท ตลาดต่อยอด เออีซี จำกัด พัฒนาเนื้อที่กว่า 150 ไร่ พื้นที่อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วยการบริการต่างๆ เช่น การรวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมทุกประเภทสินค้าในอุตสาหกรรมเบาจากผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศกว่า 1 หมื่นราย มาจัดแสดงและจำหน่ายบนพื้นที่กว่า 3 แสนตารางเมตร เช่น กลุ่มอาหาร ประดับยนต์

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการดังกล่าว กรมจะทำหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ และมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่ง ขยายฐานผู้บริโภคจาก 70 ล้านคนภายในประเทศ สู่ตลาดเออีซีที่มีกว่า 600 ล้านคน

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่  6 มีนาคม 2560

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สกัดปัญหาแล้ง-ท่วม

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การบริหารจัดการน้ำ ทั้งแล้งและท่วมของไทย ควรทำเป็นเรื่องระยะยาวและมีกฎหมายทรัพยากรน้ำแห่งชาติดูแล เพื่อให้งานเดินต่อเนื่อง ผ่านรูปแบบคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แม้ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำที่เสนอโดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่ถือเป็นกฎหมายระดับชาติ ซึ่งการมีกฎหมายระดับชาติจะให้สามารถทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะกรมทรัพยากรน้ำ ยังมีข้อจำกัดในด้านขีดความสามารถและบทบาทการจัดการน้ำ

ทั้งนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ควรประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ คณะกรรมการนโนบาย ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม ต้องใช้หลักวิชาการ วิเคราะห์ วางแผน และเตรียมแผน ติดตามสถานการณ์ และเตือนภัย คณะกรรมการอีกชุด คือ คณะกรรมการลงมือปฏิบัติ ที่ไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นคณะกรรมการกลาง ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

ก.เกษตรฯกางแผนทำฝนหลวง ช่วงแรกมี.ค.มุ่งลดหมอกควัน-บรรเทาแล้ง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การวิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการในการทำฝนหลวงปี 2560 แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. พื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ซึ่งได้หารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว พิจารณาจากทั้งน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ พื้นที่การเกษตร โดยพื้นที่ในเขตชลประทานจะเน้นให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทาน มี 105 อำเภอ ที่น้ำต้นทุนอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งกระทรวงฯ มี 6 มาตรการ 29 โครงการ พร้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมแก้ปัญหาในทันที

2.พื้นที่ที่เกิดปัญหาหมอกควัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพหลัก ก็จะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในทันทีที่อากาศเอื้ออำนวย และ ไม่กระทบพื้นที่เกษตรกรรมที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่ โดยมีปริมาณหมอกควันที่เฝ้าระวังในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และ ตาก

สำหรับแผนการปฏิบัติปี 2560 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงมีนาคม – พฤษภาคม เน้นช่วยเหลือบรรเทาหมอกควัน และ ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ การเพิ่มความชุ่มชื้นที่ประสบภัยแล้ง และเติมน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะที่มีน้ำต้นทุนน้อย อาทิ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และช่วงเดือนมิถุนายน -ตุลาคม เน้นเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีน้ำน้อย และ พื้นที่ฝนทิ้งช่วง

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

“ฉัตรชัย”เผยปริมาณน้ำในอ่างเก็บอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯรวมกัน มากกว่าปี 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 17,661 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่

นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวม 5,950 ล้านลบ.ม. โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม. การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำจ้าพระยาทั้งสิ้น 5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน 185 ล้าน ลบ.ม. จึงคาดการณ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลักใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม.

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่ได้มีเพียงมิติเดียว

ช่วงนี้ผมมักจะได้รับคำถามเสมอๆ ว่า สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดีไม่ดี หรือภาครัฐกับพวกต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใครถูกหรือผิด ซึ่งผมจะตอบไปว่าถูกทั้งคู่ ไม่มีใครถูกหรือผิด แล้วแต่ว่าจะมองมุมไหน แต่คำตอบสั้นๆ แบบนี้ ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่ดี เพราะไม่ช่วยให้สังคมเข้าใจอะไรดีขึ้น และยังไม่ช่วยสังคมไทยตาสว่างว่าจะหาทางออกเรื่องแบบนี้อย่างไร จึงทำให้ผมต้องลงมือเขียนบทความชิ้นนี้

ปัญหาเรื่องนโยบายพลังงานว่าจะสร้างและใช้พลังงานประเภทไหนดี เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะต้องมองในหลายมิติ ไม่มีแหล่งพลังงานชนิดใดที่ดีพร้อมไร้ที่ติ และไม่มีพลังงานชนิดใดที่เลวสมบูรณ์แบบไปทุกมิติ แต่เรื่องนโยบายพลังงานก็ไม่ได้ยากจนต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นตัดสินใจ

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ในมิติด้านพลังงานสมัยใหม่ มีประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาดังนี้

ก) ความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน เป็นความจริงที่ว่าการจัดหาแหล่งพลังงานต้องกระจายชนิดของพลังงานไปหลายๆ อย่าง ไม่กระจุกตัวไปที่แหล่งพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ที่สำคัญว่า ต้องพิจารณาด้วยว่า พลังงานที่ใช้นั้น เป็นพลังงานเบื้องต้นของภายในประเทศหรือต้องนำเข้า เช่น กรณีถ่านหิน ถ้าใช้ถ่านหินภายในประเทศย่อมมีความมั่นคงมากว่าถ่านหินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เรื่องนี้จะซับซ้อนและตอบยากว่า อะไรจะมั่นคงกว่ากัน ระหว่างถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับพลังงานชีวมวลที่เป็นของภายในประเทศ

ข) ราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้ อยู่ในระดับที่ผู้ใช้สามารถจ่ายได้ (Affordability) ผมไม่ใช้คำว่าถูก เพราะว่าบ่อยครั้งที่ราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นดูเหมือนว่าถูก แต่ไม่ถูกจริง เพราะยังไม่ได้รวมค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่จริง ที่ไม่ได้รวมเข้าไปในค่าไฟฟ้า (externality) เพราะไม่สามารถตีความเสียหายเป็นเม็ดเงินได้ (no market value) แม้วันนี้ไม่ได้จ่ายโดยตรง แต่วันหน้าก็ต้องชดใช้รับกรรมจากความเสียหายนั้นอยู่ดี ตัวอย่างเช่น มลพิษจากก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนเป็นต้น แต่ในทางกลับกัน หากเลือกใช้เทคโนโลยีที่ใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดมากๆ ต้นทุนไฟฟ้าก็จะแพงระยับ จนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันแบกรับไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่นในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงมากๆ ส่งผลให้พลังงานทุกประเภทที่ใช้ผลิตไฟฟ้าแพงไปด้วย สร้างความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจไปทั่ว ดังนั้น การวางแผนนโยบาย จึงต้องแสวงหาจุดพอดี ว่าราคาที่เหมาะสมนั้นอยู่ตรงไหน

ค) ด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสังคมไทยให้ความสนใจและตื่นตัวมากเมื่อเทียบกับอดีต ผมจะไม่ลงรายละเอียดมาก แต่จะชี้ประเด็นของราคาต้นทุนพลังงานกับสิ่งแวดล้อม โดยปกติแล้วพลังงานที่สกปรกและมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมสูง จะมีราคาถูก เช่น พลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน ส่วนพลังงานที่สะอาดกว่า มีแนวโน้มที่แพงกว่า เช่น พลังงานแสงแดดและลม

ง) ความเป็นธรรมด้านสังคม ปัญหาด้านสังคมเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่เสื่อมทรามลง และสร้างปัญหาการเมือง-สังคมในระยะยาว จึงมีหลักอยู่ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการเยียวยา จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิม (หรือแม้แต่ดีขึ้นกว่าเดิม) เพื่อลดแรงต่อต้านจากพื้นที่ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องเผชิญการสูญเสียจากพัฒนาโครงการ ค่าชดเชยต่างๆ จะถูกใส่กลับเข้าไปในราคาค่าไฟฟ้า ขณะที่รายได้ส่วนหนึ่งจะกลับมาชดเชยให้กับผู้สูญเสีย

ในประเทศที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจสูง เช่น ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน จะให้ความสำคัญในประเด็นนี้มาก เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ และเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว ซึ่งตรงข้ามกับรัฐไทย ที่มักจะละเลยในประเด็นนี้มาก เพราะรัฐไทยมักจะมีค่านิยมว่า เมื่อรัฐตัดสินใจดำเนินการแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องเสียสละอย่างไม่มีเงื่อนไข การชดเชยจึงมักไม่คุ้มค่ากับความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น

ขณะที่ผู้ใช้ไฟอื่นๆ ได้รับประโยชน์จากค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แนวคิดการจัดการแบบผู้ได้เปรียบจะได้ประโยชน์สูงสุดแต่ฝ่ายเดียว(winners take all) แท้ที่จริงแล้วเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบโบราณในยุคอาณานิคมที่ใช้กันมายาวนาน จนถึงเมื่อทศวรรษที่ 1970 จริงอยู่การชดเชยอย่างคุ้มค่า จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่การที่รัฐละเลยต่อประเด็นนี้จะทำให้การพัฒนาใดๆ ในระยะยาวของประเทศจะพบกับแรงต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนการพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ ชะงักงันไม่อาจกระทำได้ต่อไป และก่อให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองในที่สุด ซึ่งประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นก็เคยประสบปัญหาแบบนี้มาก่อน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินนโยบายพลังงานเสียใหม่ ดังที่ผมจะเขียนให้อ่านในตอนท้ายของบทความนี้ (ลองคิดดูซีครับ ประเทศเหล่านี้ มีประชาธิปไตยสูง มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง ให้ความสำคัญกับหลักความเป็นธรรม แล้วจะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ได้อย่างไร ถ้ายังมีแนวคิดแบบเดิมๆ)

เนื่องจากการเลือกพลังงานประเภทใดก็ตามล้วนได้อย่างเสียอย่าง การเลือกรูปแบบผสมผสานระหว่างการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกประเทศทำกัน แต่ปัญหาที่ยากที่สุดในการวางแผนนโยบายด้านพลังงานคือ การให้น้ำหนักว่ามิติใดมีความสำคัญมากกว่ากัน (ซึ่งจะส่งผลว่าท้ายสุดแล้ว จะมีโรงไฟฟ้าประเภทใดเกิดขึ้นมากหรือน้อย) เพราะกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกต่างในสังคมย่อมมีมุมมองที่ต่างกัน เช่น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการจัดหาพลังงานราคาถูกมากว่า ขณะที่ประชาชนในท้องถิ่นที่ได้ผลกระทบโดยตรง มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมที่ตนได้รับมากกว่า

ทางออกเรื่องนี้สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐจะไม่ใช่ผู้ตัดสินชี้ขาดว่าจะเลือกพัฒนาโรงไฟฟ้ารูปแบบใด แต่จะเสนอทางเลือกแบบต่างๆ ต่อสาธารณะชนเพื่อฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอทางเลือกรูปแบบอื่นๆ ไปพร้อมกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบว่าแบบใดมีข้อดีและเสียอย่างไร ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์ เพื่อขอรับฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ว่ามีรสนิยมเช่นใด แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าของประเทศก็จะเป็นเช่นนั้น เช่น ประชาชนชาวเยอรมันส่วนใหญ่เลือกเอาพลังงานหมุนเวียนเป็นเป้าหมายหลักในระยะยาว ขณะที่ชาวฝรั่งเศสกลับเลือกเอาพลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานหลัก ทั้งที่ 2 ประเทศอยู่ติดกัน

ที่ผ่านมารัฐไทยใช้วิธีบริหารด้านพลังงานในแบบที่เรียกว่า คุณพ่อรู้ดี(DAD) คือตัดสินใจด้วยเทคโนแครตของภาครัฐ (Decide) ตามด้วยประกาศบังคับทางกฎหมาย (Announce) และปกป้องนโยบายของรัฐ เมื่อเกิดแรงต่อต้าน (Defense) ระบบแบบนี้อาจใช้ได้ดีในอดีต เมื่อความรู้ความเข้าใจของประชาชนยังน้อย แต่เมื่อประเทศได้มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาถึงระดับหนึ่งแล้ว ประชาชนมีความตื่นรู้มากขึ้น สมควรที่รัฐจะได้มีการปฏิรูปเสียใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบอย่างที่อารยประเทศเขาทำกัน ในแบบที่เห็นประชาชนเป็นเพื่อน (PAL) คือเริ่มจากเสนอรูปแบบต่างๆ รวมถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ ต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม (Participate) ให้คำแนะนำต่างๆ สำหรับทางเลือกที่เป็นไปได้ (Advice) และกระจายความรับผิดชอบให้แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ(Liberate) (ทำนองเดียวกับที่เราเป็นเจ้าของบ้านที่เชิญให้สถาปนิกมาช่วยออกแบบบ้าน รัฐเป็นเหมือนสถาปนิก ขณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านที่มีหน้าที่บอกสถาปนิกว่าอยากได้บ้านแบบไหน ส่วนสถาปนิกก็ให้คำแนะนำและออกแบบบ้านที่เป็นไปได้และอยู่ในงบ) ในเมื่อเรากำลังอยู่ในโหมดการปฏิรูปแล้ว เราก็น่าที่จะปฏิรูปเรื่องพลังงานใหม่ได้เสียที

ท้ายสุดผมอยากบอกกับทุกท่านว่า นโยบายพลังงานไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขึ้นกับว่าเราจะเลือกเอาทางออกแบบไหน แต่อย่าลืมว่าเราเลือกแบบไหนเราก็ได้แบบนั้น ที่สำคัญขอให้ช่วยกันคิดแบบยาวๆ ทางออกหลายอย่างดูเหมือนให้ผลดีในระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืน ขณะที่ทางออกในบางแบบดูเหมือนว่ามีอุปสรรคมาก แต่จะยั่งยืนกว่าในระยะยาว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

คุมเข้มโรงงานปล่อยมลภาวะพร้อมสั่งเช็กบิล  

          กรอ.คุมเข้มโรงงานอุตสาหกรรมผิดกฎหมาย เผย 2 เดือนแรก รับร้องเรียน 112 เรื่อง สั่งปิดกิจการแล้ว 1 ราย

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)   เปิดเผยว่า ในปี 2560 กรอ.มีนโยบายเข้มงวดในการปราบปรามโรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย ที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยช่วงเดือน 2 เดือนแรกของปี 2560 มีจำนวนเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วทั้งสิ้น 112 เรื่อง จาก 27 จังหวัด โดยเร่งดำเนินคดีไป 2 ราย สั่งหยุดหรือปิดกิจการ 1 ราย ที่เหลือได้สั่งการให้ปรับปรุง

          ทั้งนี้ เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด คือ ปัญหาเรื่องกลิ่น 62 เรื่อง เสียง 61 เรื่อง ฝุ่น 40 เรื่อง ทำงานกลางคืน 27 เรื่อง ควัน 26 เรื่อง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ 57 เรื่อง ระยอง 8 เรื่อง สมุทรปราการ 6 เรื่อง

          สำหรับปี 2559 กรอ.ได้รวบรวมจำนวนเรื่องร้องเรียนจากประชาชนต่อโรงงานอุตสาหกรรม พบว่ามีทั้งสิ้น 626 เรื่อง จาก 51 จังหวัด ดำเนินคดีไป 30 ราย สั่งหยุดหรือปิดกิจการ 5 ราย โดยประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ ปัญหากลิ่น  373 เรื่อง เสียง 297 เรื่อง ฝุ่น 191 เรื่อง ทำงานกลางคืน 125 เรื่อง ควัน 121 เรื่อง จังหวัดที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนโรงงานสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 261 เรื่อง สมุทรปราการ 74 เรื่อง ปทุมธานี 26 เรื่อง นครปฐม 26 เรื่อง สมุทรสาคร 26 เรื่อง ชลบุรี 24 เรื่อง นนทบุรี 23 เรื่อง

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีกรณีชาวบ้านร้องเรียนเหตุโรงงานส่งกลิ่นเหม็น จากกระบวนการผลิตยางแท่งของบริษัท ศรีตรังแอโกร อินดัสทรี และบริษัท วงษ์บัณฑิต อุดรธานี  ทาง กรอ.ได้มีคำสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีสั่งการโรงงานตามมาตรา 37 ทั้งสองราย ให้ปรับปรุงแก้ไขดังต่อไปนี้ คือ ปรับปรุงแก้ไขระบบขจัดกลิ่น ที่เกิดจากเตาอบยางแท่ง และให้โรงงานบริษัท ศรีตรังแอโกรฯ และโรงงานบริษัท วงษ์บัณฑิตฯ ออกนอกโรงงานภายในวันที่ 3 มี.ค. 2560 และ วันที่ 6 มี.ค. 2560 ตามลำดับ รวมทั้งห้ามนำยางก้อนถ้วยเข้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการจัดการที่ดีขึ้น โดยจะติดตามผลให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2560

เปิดดุลการค้าสินค้าเกษตรไทย-อาเซียน ปี 59 ไทยได้เปรียบมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สินค้าเกษตรไทย - อาเซียน ปี 2559 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 215,169 ล้านบาท โดยมีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มูลค่าการค้ารวม 415,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.86

          นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า- ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2559 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยคิดเป็นมูลค่า 215,169 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน 194,746 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10)

          โดยการค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01 - 24 และยางพาราธรรมชาติ พิกัด 4001) ปี 2559 ประเทศไทย มีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 415,343 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.86) มูลค่าการส่งออกคิดเป็น 315,256 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.04) และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน คิดเป็น 100,087 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 15.53)

          สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียน ปี 2559 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่าส่งออก 63,329 ล้านบาท 2) กลุ่มเครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 46,192 ล้านบาท 3) กลุ่มข้าวและธัญพืช มูลค่าส่งออก 28,983 ล้านบาท 4) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่าส่งออก 25,899 ล้านบาท และ 5) กลุ่มยางพาราขั้นปฐม มูลค่าส่งออก 23,717 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครีมเทียม และน้ำยางข้น

          ด้านกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียน ปี 2559 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ มูลค่านำเข้า 16,443 ล้านบาท 2) กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 13,751 ล้านบาท 3) กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 11,682 ล้านบาท 4) กลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง นม มูลค่านำเข้า 10,722 ล้านบาท และ 5) กลุ่มไขมัน น้ำมันจากพืช/สัตว์ มูลค่านำเข้า 7,243 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูง ได้แก่ เนื้อปลาซูริมิ เนื้อปลาแคชฟิชแบบฟิลเลสดหรือแช่เย็น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ถั่วเขียวผิวดำ กะหล่ำปลีชนิดกลม พรีมิกซ์ กาแฟสำเร็จรูป กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก โอเลอินหรือสเตียรินของเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และน้ำมันปาล์มและเศษของน้ำมันปาล์ม

          สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ ประจำปี 2559

หน่วย : ล้านบาท  ม.ค.-ธ.ค. 2558  ม.ค.-ธ.ค. 2559  % เปลี่ยนแปลงระหว่าง 

มูลค่าการค้ารวม   368,017         415,343         12.86             

มูลค่าส่งออก      281,382         315,256         12.04             

มูลค่านำเข้า      86,635          100,087         15.53             

ดุลการค้า        194,746         215,169         10.49

          กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนในปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก

กลุ่มสินค้า                        มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)  สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง            

1.กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล    63,329              น้ำตาลทรายขาว                 

2.กลุ่มเครื่องดื่ม                   46,192              เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์          

3.กลุ่มข้าวและธัญพืช                28,983              ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

4.กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้  25,899              ครีมเทียม                      

5.กลุ่มยางพาราขั้นปฐม              23,717              น้ำยางข้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ไทยได้เปรียบดุลการค้า‘อาเซียน’ ส่งออกสินค้าเกษตรทะลุ4แสนล้าน-น้ำตาลแชมป์

สศก.เผยไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรไทย-อาเซียน ปี 2559 ถึงกว่า 215,169 ล้านบาท โดยมีสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมมูลค่ารวม 415,343 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2559 พบว่า ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า โดยคิดเป็นมูลค่า 215,169 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน 194,746 หรือคิดเป็นร้อยละ 10 โดยปี 2559 ประเทศไทย มีสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมส่งไปยังอาเซียน 9 ประเทศ มูลค่าการค้ารวม 415,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.86 มูลค่าการส่งออกคิดเป็น 315,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.04 และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน คิดเป็น 100,087 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 15.53

สำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียน ปี 2559 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่าส่งออก 63,329 ล้านบาท 2.กลุ่มเครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 46,192 ล้านบาท 3.กลุ่มข้าวและธัญพืช มูลค่าส่งออก 28,983 ล้านบาท 4.กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่าส่งออก 25,899 ล้านบาท และ 5.กลุ่มยางพาราขั้นปฐม มูลค่าส่งออก 23,717 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูง ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ข้าวเจ้าขาวอื่น 5% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครีมเทียม และน้ำยางข้น

ด้านกลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียนปี 2559 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ มูลค่านำเข้า 16,443 ล้านบาท 2.กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 13,751 ล้านบาท 3.กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่านำเข้า 11,682 ล้านบาท 4.กลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง นม มูลค่านำเข้า 10,722 ล้านบาท และ 5.กลุ่มไขมัน น้ำมันจากพืช/สัตว์ มูลค่านำเข้า 7,243 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูง ได้แก่ เนื้อปลาซูริมิ เนื้อปลาแคชฟิชแบบฟิลเลสด หรือแช่เย็น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ถั่วเขียวผิวดำ กะหล่ำปลีชนิดกลม พรีมิกซ์ กาแฟสำเร็จรูป กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก โอเลอิน หรือสเตียรินของเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และน้ำมันปาล์มและเศษของน้ำมันปาล์ม

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปราบด้วงหนวดยาวอ้อย กรมวิชาการฯเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีกำจัดแบบผสมผสาน

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้จัดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย ที่แปลงเกษตรกร นายแหลม เอี่ยมสำอางค์ หมู่ที่ 15 ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม มีการสำรวจพบด้วงหนวดยาวอ้อยระบาดกระจายในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วทั้ง ต.เขาขลุง กว่าหลายพันไร่ ซึ่งไร่อ้อยของ นายแหลม ประสบอย่างหนัก มีการเข้าทำลายในอ้อยปลูกเสียหายประมาณ 40% และพบการเข้าทำลายในอ้อยตอเสียหายไม่ต่ำกว่า 50%

กรมวิชาการเกษตร จึงมีแผนรณรงค์แก้ปัญหาด้วงหนวดยาวอ้อยที่ระบาดในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้ร่วมกันจัดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสานอย่างถูกวิธี ถูกต้อง และเหมาะสม คือการใช้วิธีกลการใช้ศัตรูธรรมชาติกำจัดศัตรูพืช และการใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด ให้เกษตรกรนำไปพัฒนาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดย กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกับกลุ่มโรงน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง ในการจัดอบรมการขยาย เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม เพื่อใช้กำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย ซึ่งในงานนี้กรมวิชาการเกษตรได้มอบหัวเชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ให้กับ ดร.บรรพต ด้วงชนะผู้ประสานงานกลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง จำนวน 30 ชุด เพื่อนำไปขยายต่อและแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาต่อไป

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรพร้อมแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อยแบบผสมผสาน การขยายและการใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม การให้คำแนะนำการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวอ้อย และวิธีการเก็บตัวอย่างหนอนในช่วงเตรียมแปลงปลูกแก่เกษตรกรที่สนใจ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรราชบุรี กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-3222-8377 ทุกวันในเวลาราชการ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

นาปรังลุ่มเจ้าพระยาทะลุ5ล้านไร่ เกษตรฯยันน้ำ4เขื่อนหลังมีมากกว่าแผนการจัดสรร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 34 แห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เมื่อรวมกับเขื่อนขนาดกลางอื่นๆ ทั้งประเทศ จะมีปริมาณน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุ และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 มากกว่าปี 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ 17,661 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 222 กุมภาพันธ์ มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่

นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ รวมกัน 5,950 ล้าน ลบ.ม. โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่22 กุมภาพันธ์ มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งสิ้น 5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71ของแผนที่วางไว้ ทำให้คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลัก ใช้การได้ประมาณ 4,463ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม.

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่27-28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เกิดคลื่นลมแรงจากตะวันออกเฉียงเหนือ หรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) พัดสู่อ่าวไทย ทำให้ปริมาณน้ำเค็มและน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นผลักดันเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำสำเหล่ กรมชลประทาน จึงเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตรา 70-75 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก อัตรา 30-50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ควบคุมการขึ้นลงน้ำทะเล ทำให้ ค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำเหล่ลดลงเหลือ 0.16 กรัมต่อลิตร เข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาพอากาศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้ส่งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจากนครสวรรค์ บินปฏิบัติการบริเวณเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เป็นเวลา 2 วัน ทำให้ได้ปริมาณน้ำพอสมควร ขณะที่การติดตามตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่ามีค่า 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ก่อนจะลดลงมาเหลือ 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.นอกจากนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจ.เชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วยการเผาไหม้ โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันหมอกไฟในภาคเหนือ ต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปภ.แนะปชช.รู้ทัน-ป้องกัน-รับมือปัญหาภัยแล้ง ลดวิกฤตขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน 

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติเพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง โดยประชาชนควรจัดหาและซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ด้วยการใช้ภาชนะรองน้ำแทนการปล่อยน้ำจากก๊อกน้ำหรือสายยาง นำน้ำที่เหลือจากการใช้งานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่ก๊อกน้ำ ฝักบัว หรือชักโครก รวมถึงหมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ เกษตรกรควรติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ งดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย อีกทั้งสร้างระบบกักเก็บน้ำ ในพื้นที่การเกษตร ภาคอุตสาหกรรมควรจัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ ซึ่งสามารถนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและภาคการเกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการปฏิบัติตนเพื่อรับมือและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ดังนี้

ภาคประชาชน จัดหาและซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำ เพื่อสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า โดยปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน และไม่เปิดน้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ใช้ภาชนะรองน้ำแทนการปล่อยน้ำจากก๊อกน้ำหรือสายยาง จะช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำในปริมาณมาก นำน้ำที่เหลือจากการใช้งาน ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดพื้น ติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่ก๊อกน้ำ ฝักบัว หรือชักโครก เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ หมั่นตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำ โดยปิดก๊อกน้ำทุกตัว หรือสวิตช์ปั้มน้ำ และจดเลขมาตรวัดน้ำไว้ หากเลขมาตรวัดน้ำเปลี่ยนแปลง แสดงว่ามีน้ำรั่วซึม ให้รีบซ่อมแซมโดยด่วน เลือกใช้ชักโครกแบบประหยัดน้ำหากไม่มีให้ใช้ขวดหรือแกลลอนบรรจุน้ำเปล่าวางไว้ในแท็งก์น้ำของชักโครก ไม่ทิ้งเศษอาหาร หรือกระดาษทิชชูลงชักโครก เพราะทำให้สูญเสียน้ำในปริมาณมาก

ภาคการเกษตร ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำ จะได้วางแผนการเพาะปลูกได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ งดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เพื่อป้องกันนาข้าวได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ เพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย อาทิ พืชตระกูลถั่ว เมลอน แตงโม เลี้ยงสัตว์แทนการเพาะปลูก อาทิ ไก่ กบ เพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้งทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย โดยนำเศษฟาง เศษหญ้า ใบไม้ หรือพืชตระกูลถั่วคลุมรอบโคนต้นไม้ นำพลาสติกคลุมดินหรือวางระบบน้ำหยดในพื้นที่เพาะปลูก เปลี่ยนเวลาในการรดน้ำเป็นช่วงเช้าหรือเย็น สร้างระบบกักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร อาทิ ขุดบ่อน้ำ ร่องน้ำ หรือใช้ระบบน้ำบาดาลในการทำการเกษตร ป้องกันมิให้น้ำรั่วไหล โดยนำกระสอบทรายมาจัดทำคันกั้นน้ำหรืออุดบริเวณรอยรั่ว รวมถึงนำพลาสติกรองพื้นบ่อน้ำ

ภาคอุตสาหกรรม จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง จะได้วางแผนการผลิตได้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ตรวจสอบระบบการจัดสรรน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งท่อส่งน้ำ ระบบการกระจายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย เลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีประหยัดน้ำ ซึ่งสามารถนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ การใช้น้ำอย่างประหยัดและนำน้ำที่เหลือจากการใช้งานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยให้มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

พาณิชย์สร้างผู้ผลิตเกษตรกรรับนโยบาย4.0

กระทรวงพาณิชย์ สร้างผู้ผลิตเกษตรกร ให้เป็นพ่อค้าโดยตรง รับนโยบายประเทศไทย 4.0 ผ่าน ตลาดสินค้าเกษตร Online

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้พัฒนาระบบตลาดเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับประเทศไทยยุคดิจิตอลในปัจจุบัน โดยได้จัดทำเว็บไซต์ “ตลาดสินค้าเกษตร Online” หรือ http://mwsc.dit.go.th เพื่อเป็นการให้บริการกับประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเน้นไปที่สินค้าต่าง ๆ ของเกษตรกร ชาวบ้านฐานราก วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผ่านเมนู “ตลาดออนไลน์” ของเว็บไซต์

โดยเว็บไซต์ดังกล่าว นับเป็นเครื่องมือทางการตลาดสมัยใหม่ที่มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่เป็นผู้ผลิต คือ เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การตลาด สหกรณ์การเกษตร โรงงานแปรรูป และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการเสนอซื้อ - เสนอขายสินค้าและบริการ ใน “ตลาดออนไลน์” ผ่านเว็บไซต์ http://mwsc.dit.go.th  ของกรมการค้าภายในนั้น ได้เปิดให้กลุ่มเป้าหมายใช้งานโดยเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ได้โพสต์สินค้าของตนเอง ถึงปัจจุบัน ได้มีการโพสต์ ซื้อ - ขายสินค้าและบริการ รวม 217 รายการ เป็นการเสนอขาย 202 รายการ เสนอซื้อ 15 รายการ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2560

Trade Remedies "เยียวยา" หรือ "กีดกัน" ทางการค้า

ลัทธิปกป้องทางการค้า หรือ Protectionisms ในปัจจุบันได้ถูกพูดถึงอย่างมาก เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเขตการค้าเสรีที่เพิ่มมากขึ้น จากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีไปลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ อัตราภาษีเป็น 0 จนโครงสร้างการผลิตสินค้าต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ยกตัวอย่าง รถยนต์ 1 คันเคยผลิตประกอบสำเร็จรูปในประเทศเดียว ปัจจุบันมีการกระจายการผลิตชิ้นส่วนไปในหลาย ประเทศ แล้วนำมาประกอบรวมกันเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในอีกประเทศหนึ่งและส่งออกไปจำหน่ายอีกประเทศหนึ่ง โดยเรียกกิจกรรมการผลิตที่กระจายกันออกไปในลักษณะนี้ว่า "Global Value Chain" หรือ GVCs ซึ่งเชื่อมโยงถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจนคาบเกี่ยวกับการใช้ "มาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade Reme-dies)" เพื่อปกป้องตลาดและอุตสาหกรรมในประเทศ

 ล่าสุด กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ "Bangkok International Symposium on Trade Remedies 2017" ครั้งที่ 1 โดยมีการเชิญเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้าน Trade Remedise จากประเทศคู่ค้า14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย-บราซิล-บรูไน-จีน-สหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น-เกาหลี-สปป.ลาว-มาเลเซีย-เมียนมา-นิวซีแลนด์-ฟิลิปปินส์-สิงคโปร์และเวียดนามเข้าร่วม พร้อมกับอภิปราย Trade Remedies กันอย่างกว้างขวาง

โดย นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวถึงมาตรการ Trade Remedies หมายความรวมถึงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping Measure : AD), มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Measure : CVD) และมาตรการปกป้อง (Safeguard Measure : SG) ถูกประเทศคู่ค้านำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะบราซิล, อินเดีย, สหรัฐ, ยุโรป รวมถึงกลุ่มอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

"เนื่องจากการค้าเสรีมีการลดภาษีเป็น 0% ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จึงมีการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าเพื่อสร้างความเป็นธรรม แต่อีกด้านหนึ่งการใช้มาตรการแต่ละเคสจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำมาตรการมาใช้อย่างบิดเบือนจนกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า"

ส่วน ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า ในการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ส่งผลให้เกิดการค้าเสรี 16 ประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-อินเดีย ซึ่งเชื่อมโยงกับการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าที่มากขึ้น

ไทยครองแชมป์มาตรการ NTMs

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การผลิตที่แยกกันกระจายกันออกไป หรือ Global Value Chain (GVCs) ที่เพิ่มขึ้นมักจะถูกมองว่าช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะ "นโยบายไทยแลนด์ 4.0" จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมนำไปสู่การให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุนมากขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งการให้สิทธิประโยชน์ที่มากเกินไปอาจกลายเป็นการอุดหนุนและมีผลต่อการ "ไหลออก" ของกำไรจากการลงทุนกลับไปสู่บริษัทแม่ในต่างประเทศ จนทำให้ประเทศที่รับการลงทุนอย่างไทยไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควรและยังมีความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

 ดังนั้นในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มมีสัดส่วน GVCs สูงสุดถึง 32% ของโลก ได้เริ่มหารือถึงการสร้าง "ธรรมาภิบาล" ในห่วงโซ่อุปทานของโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนและก่อให้เกิด "สนามการค้า" ที่เป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2558 ปรากฏว่าไทยครองแชมป์การใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) สูงสุดถึง 1,630 มาตรการ รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ 854 มาตรการ, มาเลเซีย 713 มาตรการ, อินโดนีเซีย 638 มาตรการ, สิงคโปร์ 529 มาตรการ, บรูไน 518 มาตรการ และเวียดนาม 379 มาตรการ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าไทยประกาศอยากเป็นประเทศการค้า (Trading Nation) แต่กลับต้องใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการค้าให้ดีขึ้น

ด้าน Dr.Edwin Vermulst ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและมาตรการเยียวยาทางการค้า บริษัทกฎหมาย VVGB ตั้งข้อสังเกตว่า GVCs ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศเดียว ฉะนั้นในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศ (Domestic Producer) ที่มอบให้ผู้ผลิตไปผลิตสินค้าแทนตน (Outsource) จะมีหลักการคำนวณอย่างไรว่า สินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดสินค้าจากประเทศไหน และหากมีการทุ่มตลาดเกิดขึ้น ผู้ผลิตสินค้า A ที่มีโรงงานอยู่ในประเทศที่ตนส่งออก จะสามารถร้องเรียนให้ใช้มาตรการทุ่มตลาด (AD) ในฐานะผู้ผลิตในประเทศที่ส่งออกได้หรือไม่

นอกจากนี้เมื่อมีการใช้มาตรการทุ่มตลาด แล้วผู้ส่งออกอาจจะใช้วิธีการหลบเลี่ยงการเก็บภาษี AD มากขึ้น ด้วยการปรับสินค้าจากพิกัดหนึ่งมาเป็นอีกพิกัดหนึ่ง หรือ Circumvention แต่ในเอเชียไม่มีประเทศใดที่จะมีการใช้กฎหมายตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด (Anti Circumvention) ขณะที่ สหรัฐ-สหภาพยุโรปต่างก็มีการใช้กฎหมายนี้

EU ลดใช้มาตรการเยียวยา

Mr.Gerhansd Hannes WELGE เจ้าหน้าที่ด้านการรับฟังความเห็นด้านการดำเนินมาตรการทางการค้า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า แต่นโยบายของ EU ควรใช้เครื่องมือทางการค้าให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะหากใช้มาตรการมากเกินไปจะทำให้สินค้านำเข้าต้นทุนสูงและราคาแพง แข่งขันน้อยลงกระทบต่อผู้บริโภค

ส่งผลให้ปัจจุบันจำนวนคดีที่ใช้มาตรการเยียวยาใน EU ลดลงเฉลี่ยจากปีละ 26 คดี เหลือเพียง 15 คดี ซึ่งในจำนวนนี้ 80% เป็นคดีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมโลหะ และคำนึงถึงเรื่องความโปร่งใสในการใช้มากขึ้น

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2560

อุตฯ ฟุ้งอีอีซีดันศักยภาพแข่งขันไทยดีขึ้น

                    อุตฯชี้อีอีซีดันไทยศักยภาพแข่งขันดีขึ้น ได้เปรียบเพื่อนบ้านดึงนักลงทุนเข้าประเทศดีขึ้น เอกชนมั่นใจสัญญาณลงทุนดีขึ้น ทั้งปัจจัยภายใน-ต่างประเทศ

                    นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิ จอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้ศึกษาศักยภาพความน่าสนใจในการลงทุนของไทย พบว่า มีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและมาเลเซีย  หลังจากไทยได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอสเคิร์ฟ) เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมกลุ่มชีวภาพ (ไบโออีโคโนมี) ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

“ส่วนใหญ่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในพื้นที่ที่มีความพร้ อมทั้งในด้านการดำเนินธุรกิ จและตอบโจทย์การใช้ชีวิต ซึ่งเชื่อว่า นักลงทุนจะเริ่มลงทุนตามโครงการภาครัฐ โดยเฉพาะนักลงทุนกลุ่มใหญ่ เช่น กลุ่ม ปตท.ที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี กลุ่มเอสซีจีที่คาดว่าจะลงทุ นตามการขยายตัวโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในพื้นที่ และกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการลงทุนน่าจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เมื่อโครงการของรัฐแล้วเสร็จภายใน 2 ปี จะเริ่มทยอยลงทุนในโครงการท่าเรือ สำนักงาน ไฟฟ้า ประปา ”

สำหรับเวียดนามมีความได้เปรียบด้านแรงงานที่อยู่ในวัยหนุ่ มสาว และยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ศุลกากร (จีเอสพี) แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการตกลงหุ้ นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย- แปซิฟิก (ทีพีพี) ก็ส่งผลให้นักลงทุนที่เคยมี ความสนใจตลาดดังกล่าวเริ่ มทบทวนการลงทุนเช่นกัน ขณะที่มาเลเซียยังมีข้อจำกัดด้ านกฎระเบียบศาสนา เพราะเวลาในการทำงานเป็นรู ปแบบของชาวมุสลิมที่ กำหนดเวลาปฏิบัติงานและเวลาพั กตามเวลาละหมาด ซึ่งทำให้นักลงทุนบางรายไม่เข้าใน

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2560

“เอทานอล” ทางออกของพลังงานไทย กับสุดยอดแผนการที่วางไว้ แต่คนไทยไม่เคยรู้!

อย่าคิดว่าโลกร้อนขึ้นทุกวันแล้วประเทศไทยจะนิ่งเฉย! (สตาร์ตรถหนึ่งคันยังทำร้ายโลก แล้วถ้าสตาร์ตหลายคันจะขนาดไหน?)

อย่างที่รู้กันว่าทุกวันนี้ เพียงแค่สตาร์ตรถออกมาทำงานในแต่ละวัน ก็มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น เพียงเพราะควันจากท่อไอเสียเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว และยังทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยซึ่งในท้ายที่สุดก็จะวกกลับมาทำร้ายมนุษย์เรากันเองนั่นแหละ

ถ้าไม่ใช้พลังงาน ไม่ขับรถ แล้วในทุกๆ วันเราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร? เชื่อว่าคำถามเหล่านี้ คงจะผุดขึ้นในใจของใครหลายคนแน่นอน…จากคำถามเหล่านี้ ประเทศไทยเองก็ไม่ได้เพิกเฉยแต่อย่างใด ไม่ว่าจะภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ได้ร่วมกันหาทางออกเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกอยู่ตลอดมา จนพัฒนามาเป็น “แผนพลังงานทดแทนและพลังงานพลังงานทางเลือก (AEDP 2015)” แผนแม่บทของรัฐบาลในเรื่องพลังงานทดแทนในอนาคต ซึ่งมี “อ้อย” พืชไร่ใกล้ตัวของคนไทย เป็นพลังงานสะอาดที่เราสามารถปลูกได้เองบนดิน ไม่มีวันหมด เป็นหัวใจหลัก และที่สำคัญยังเป็นการช่วยชาติประหยัดงบประมาณ เพราะลดการนำเข้าน้ำมันและไม่ทำร้ายโลก!

อ้อย ทดแทนพลังงานแบบเก่าได้อย่างพลังงานแบบเก่าได้อย่างไร ใครรู้บ้าง? (“อ้อย” ตัวช่วยหลักพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก http://goo.gl/BmTVYT) (ผลคาดว่าจะได้รับจากแผน AEDP 2015 หน้า 20 http://goo.gl/51tuwQ)

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าประเทศไทยนั้นได้มีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมานานแล้ว ซึ่งชื่อย่อสั้นๆ นั่นก็คือ “AEDP 2015” โดยแผนนี้มีความต้องการที่จะลดการใช้พลังงานที่มาจากการขุดเจาะฟอสซิล แล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก “อ้อย” โดยแผนจะดำเนินการระยะยาวร่วม 20 ปี ซึ่งถ้าบรรลุตามแผนได้จริง ก็จะช่วยชาติประหยัดการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้กว่า 6 แสนล้านบาท! ต่อปี


เรียกได้ว่า “อ้อย” เป็นพืชที่ไม่ธรรมดาเลย ทุกส่วนของอ้อยนั้นมีประโยชน์มาก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า นอกจากจะผลิตน้ำตาลได้แล้ว ส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลยังสามารถนำมาผลิตพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ได้อีก อาทิ “ชานอ้อย” นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถแปรรูปชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและขายให้การไฟฟ้าได้สูงถึง 2,700 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพลสองเขื่อนรวมกัน เป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงานในแบบที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน

ซึ่งไม่ใช่แค่ภาครัฐ แต่ภาคเอกชนหลายๆ แห่งก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ อย่างผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย ก็ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของการนำกากน้ำตาลมาหมักกับยีสต์ ออกมาเป็น “เอทานอล” หัวใจสำคัญที่เป็นส่วนประกอบหลักของหลักของแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเอทานอลมาผสมเพื่อลดสัดส่วนการใช้น้ำมันเบนซิน ที่ประเทศไทยยังต้องนำเข้าปีละมหาศาล จะเห็นได้ว่าใน 3 ปีที่ผ่านมา การใช้ “เอทานอล” นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ทำให้คนไทยใช้ “เอทานอล” ถึงวันละ 3.5 ล้านลิตร เรียกได้ว่าถ้าหากคนไทยหันมาใช้พลังงานจาก “เอทานอล” กันมากขึ้น ความตั้งใจที่อยากจะช่วยชาติประหยัดการใช้พลังงานจากการขุดเจาะน้ำมันตามแผนที่ได้วางไว้นั้น ก็คงดูไม่ไกลเกินฝัน

งานนี้ “แผน AEDP 2015” หรือ “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก” นั้นเรียกได้ว่าถูกวางขึ้นมาอย่างเหมาะสม และสามารถช่วยหาทางออกเรื่องพลังงานของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่เรื่องราวดีๆ เหล่านี้แค่ซ่อนตัวอยู่ เหมือนการ “ปิดทองหลังพระ” นั่นเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำไมเราจะไม่ช่วยกันใช้พลังพลังงานของเรา เพื่อประเทศของเราล่ะ?

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

รมว.เกษตรฯมั่นใจปี60แล้งไม่รุนแรง

รมว.เกษตรและสหกรณ์มั่นใจปี60 สถานการณ์แล้งไม่รุนแรง หลังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่งมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 13,059 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 ก.พ. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯรวมกัน มากกว่าปี 2559 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 14,902 ล้าน ลบ.ม.)

สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 17,661 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ. 60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 4 ล้านไร่) นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวมกันทั้งสิ้น 5,950 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม

ขณะที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ. 60 มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำจ้าพระยาทั้งสิ้น 5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 2.67 ล้านไร่) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71 % ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน 185 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ ทำให้คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 60 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลักใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. (แผนงานเดิมกำหนดไว้ 3,755 ล้าน ลบ.ม.)

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 27 – 28 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา น้ำเค็มขึ้นสูงเกิดจากคลื่นลมแรงจากตะวันออกเฉียงเหนือหรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) พัดสู่อ่าวไทย ทำให้ปริมาณน้ำเค็มและน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นผลักดันเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำสำเหล่ ของการประปานครหลวง กรมชลประทาน จึงเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 70 – 75 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก ในอัตรา 30 – 50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการควบคุมการขึ้นลงน้ำทะเล ขณะนี้ (1 มี.ค. 60) ที่สถานีสูบน้ำสำเหล่ ค่าความเค็มลดลงเหลือ 0.16 กรัมต่อลิตร เข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง และค่าความเค็มสูงเกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ประมาณ 4 ชั่วโมง การประปานครหลวงจะหยุดสูบน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว และจะสูบน้ำอีกครั้งเมื่อค่าความเค็มต่ำกว่า 0.50 กรัมต่อลิตร

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า การวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ฝนหลวง 20 ปี ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ทั้งนี้ได้ดำเนินการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วใน 4 หน่วย ตั้งแต่ พ.ย. 2559 เป็นต้นมา คือ วันที่ 23 – 27 พ.ย. 59 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนปราณบุรี และแก่งกระจาน วันที่ 4 – 22 ม.ค. 60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลาเติมน้ำในเขื่อนบางลางในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง วันที่ 6 – 10 ก.พ. 60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา วันที่ 23 – 26 ก.พ. 60 สภาพอากาศเอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง แต่เนื่องด้วยท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่สามารถใช้การได้ จึงใช้หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจากนครสวรรค์ บินปฏิบัติการบริเวณเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ ระยะเวลา 2 วัน ทำให้ได้ปริมาณน้ำพอสมควร ขณะที่การติดตามตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศ (PM10) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า มีค่า PM10 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน คือ 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ทำให้สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ค่า PM10 ได้คลี่คลายลงต่ำกว่า 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แล้ว นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วยการเผาไหม้ โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันหมอกไฟในภาคเหนือ ต่อไป

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

กษ. เผยผลการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่น่าพอใจ

กระทรวงเกษตรฯ เผยผลการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ เดินหน้าหนุนเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง พร้อมเตรียมแผนสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรรองรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงนี้

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีแนวทางการจัดการภาคการเกษตรโดยใช้แนวนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ และใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์ของเกษตรกรต้นแบบที่สามารถให้ความรู้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีการบริหารจัดการที่ดี ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

โดยมีการสนับสนุนทั้งด้านความรู้โดยใช้งานวิจัย เทคโนโลยี และการบริหารจัดการเข้าไปช่วยพัฒนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่าง ๆ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย ทั้งนี้ จากการตรวจเยี่ยมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางตรวจติดตามผลการดำเนินงานพื้นที่แปลงใหญ่ข้าวเกษตรสมัยใหม่ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.60 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีความพอใจในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่

ทั้งนี้ พื้นที่แปลงใหญ่ข้าวเกษตรสมัยใหม่ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่มี ลุงบุญมี สุระโคตร เป็นประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว มีเกษตรกรสมาชิกประมาณ 1,200 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ประมาณกว่า 20,000 ไร่ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล โดยจากการรวมกันผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านรายได้ที่ทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าเพิ่มจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพ เฉลี่ยประมาณ 37,000 บาท /ครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้และลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยเคมี อาทิ การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินโดยการปลูกพืชตระกูลถั่ว และการปลูกพืชหมุนเวียนในไร่นา เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จจากการรวมกลุ่มเกษตรกรและขยายผลอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงความก้าวหน้าของการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ในภาพรวม ว่า จากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเห็นผลสำเร็จแล้ว 600 แปลง ซึ่งในปี 2560 ได้วางเป้าหมายให้สำเร็จ 1,512 แปลง ปัจจุบันได้ผ่านการรับรองแล้ว 1,021 แปลง ในพื้นที่ 2,000,000 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย จาก 33 สินค้าที่ได้ดำเนินการในปีที่ผ่านมา ขณะนี้ขยายเป็น 67 สินค้า เพิ่มจาก 9 กลุ่มประเภทสินค้า เป็น 10 กลุ่มประเภทสินค้า โดยประเภทสินค้าที่เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มของแมลงเศรษฐกิจ อาทิ ผึ้งชันโรง และจิ้งหรีด โดยในการดำเนินงานที่ผ่านมา มีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการบริหารจัดการแปลงใหญ่ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ต้องการเพิ่มการดำเนินการแปลงใหญ่ให้มากขึ้นในหลายกลุ่มชนิดสินค้า ดังนั้น จึงคาดว่าภายในปลายปีนี้จะสำเร็จได้เกินเป้าหมาย ขณะที่ความก้าวหน้าในการเตรียมการเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.นี้ มีหลายจังหวัดได้บูรณาการงานและงบประมาณของทุกหน่วยงานเข้าไปรองรับเพื่อเตรียมการให้แก่เกษตรกร ทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิต การเตรียมการเมล็ดพันธุ์ การเตรียมแปลงเพาะปลูก ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ได้มีแผนการดำเนินงานและเข้าไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

เริ่มเข้าหน้าแล้ง เกษตรฯสั่งเข้มกรมชลฯ พร้อมปฏิบัติการฝนหลวง

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้ 21,019 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2559 รวม 7,984 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 13,059 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน (28 ก.พ. 60) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวม 47,483 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,663 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน มากกว่าปี 2559 รวม 8,762 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2559 รวม 14,902 ล้าน ลบ.ม.)  สำหรับในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 17,661 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 11,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ. 60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.28 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.28 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 4 ล้านไร่)  นอกจากนี้ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการวางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) รวมกันทั้งสิ้น 5,950 ล้าน ลบ.ม.  โดยสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม.  ขณะที่การเพาะปลูกข้าวนาปรัง พบว่า ณ วันที่ 22 ก.พ. 60 มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำจ้าพระยาทั้งสิ้น  5.30 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.63 ล้านไร่ (แผนที่วางไว้ 2.67 ล้านไร่) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,230 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 71 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกัน 185 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในการวางแผนจัดสรรน้ำ ทำให้คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 60 จะมีปริมาณน้ำคงเหลือใน 4 เขื่อนหลักใช้การได้ประมาณ 4,463 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. (แผนงานเดิมกำหนดไว้ 3,755 ล้าน ลบ.ม.)

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 27 – 28 ก.พ. 60 ที่ผ่านมา น้ำเค็มขึ้นสูง เกิดจากคลื่นลมแรงจากตะวันออกเฉียงเหนือหรือสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge) พัดสู่อ่าวไทย ทำให้ปริมาณน้ำเค็มและน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นผลักดันเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานีสูบน้ำสำเหล่ ของการประปานครหลวง กรมชลประทาน จึงเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 70 – 75 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนพระรามหก  ในอัตรา 30 – 50 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการควบคุมการขึ้นลงน้ำทะเล ขณะนี้ (1 มี.ค. 60) ที่สถานีสูบน้ำสำเหล่ ค่าความเค็มลดลงเหลือ 0.16 กรัมต่อลิตร เข้าสู่เกณฑ์ปกติแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง และค่าความเค็มสูงเกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ประมาณ 4 ชั่วโมง การประปานครหลวงจะหยุดสูบน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว และจะสูบน้ำอีกครั้งเมื่อค่าความเค็มต่ำกว่า 0.50 กรัมต่อลิตร

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า การวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 เป็นไปตามยุทธศาสตร์ฝนหลวง 20 ปี ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 ทั้งนี้ได้ดำเนินการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงไปแล้วใน 4 หน่วย ตั้งแต่ พ.ย. 2559 เป็นต้นมา คือ วันที่ 23 – 27 พ.ย. 59 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนปราณบุรี และแก่งกระจาน วันที่ 4 – 22 ม.ค. 60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลาเติมน้ำในเขื่อนบางลางในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง วันที่ 6 – 10 ก.พ. 60 เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา  วันที่ 23 – 26 ก.พ. 60 สภาพอากาศเอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติการฝนหลวง แต่เนื่องด้วยท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่สามารถใช้การได้ จึงใช้หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วจากนครสวรรค์ บินปฏิบัติการบริเวณเขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ ระยะเวลา 2 วัน ทำให้ได้ปริมาณน้ำพอสมควร ขณะที่การติดตามตรวจสอบค่าฝุ่นละอองในอากาศ (PM10) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า มีค่า PM10 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เกินค่ามาตรฐาน คือ 150 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ทำให้สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์ค่า PM10 ได้คลี่คลายลงต่ำกว่า 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แล้ว นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้เตรียมพร้อมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันด้วยการเผาไหม้ โดยจะปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันหมอกไฟในภาคเหนือต่อไป

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ธปท.ชี้ไตรมาส1เอกชนชะลอลงทุน กดดันเศรษฐกิจทั้งปี-จับตาต่างชาติเก็งกำไรค่าบาท

ธปท.ชี้เศรษฐกิจเดือน ม.ค.ดีต่อเนื่อง เผยมี 3 แรงหนุนสำคัญ ทั้งจากรัฐใช้จ่ายงบฯประจำ ส่งออกโตต่อเดือนที่ 3 และท่องเที่ยวคืนชีพสดใส ต่างชาติขนเงินลงทุนโดยตรงในไทยกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ดันเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 5 พันล้านดอลลาร์ ฟันธงไตรมาสแรก "เอกชน" โดยรวมชะลอลงทุน จับตาต่างชาติเก็งกำไรค่าเงินบาทแข็งค่า หลังไหลทะลักเข้าตราสารหนี้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคมยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขยายตัวดี, การส่งออกที่ขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 8.5% ซึ่งโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ด้านการนำเข้าสินค้า ขยายตัวสูง 11.3% โดยมีการนำเข้าทองคำสูงมาก หากไม่นับรวมทองคำ จะทำให้มูลค่าการนำเข้าโตลดลงเหลือ 5.4%

นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้านการลงทุนของภาครัฐมีการชะลอตัวลง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ชะลอตัวลงเช่นกัน หลังจากรัฐหมดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสิ้นสุดเมื่อสิ้นปี 2559 สะท้อนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยรวมมีทิศทางฟื้นตัวแต่ไม่เข้มแข็งนัก เพราะรายได้เกษตรกรยังกระจุกตัวอยู่ในบางสินค้าและบางพื้นที่ เช่น ยางพาราที่ราคาดีขึ้น ขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรกรยังไม่ฟื้นตัว

ทั้งนี้ ธปท.ระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า การใช้จ่ายภาครัฐจะมาจากรายจ่ายประจำที่ขยายตัว ขณะที่รายจ่ายการลงทุนในเดือน ม.ค. ชะลอลงเพราะมีการเร่งลงทุนไปมากในเดือนก่อนหน้าแล้ว โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนด้านคมนาคม รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 เพิ่มเติมด้านการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตด้านการท่องเที่ยวขยายตัว 6.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาสู่ภาวะปกติทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงตรงกับเทศกาลตรุษจีน

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวทั้งภาคก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักร โดยยังคงกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจพลังงานทดแทนและภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจบริการและขนส่งที่สอดคล้องกับสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในธุรกิจดังกล่าว

ธปท.ระบุถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมาที่ 1.55% ตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมาจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่กลับเข้ามาประมาณ 845 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินต่างชาติที่ไหลเข้าซื้อหุ้นและตราสารหนี้ในไทย รวมถึงการชำระคืนเงินกู้ในเครือของภาคธุรกิจไทย

นายดอนประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1 นี้จะยังขยายตัวได้ โดยมีแรงหนุนจากภาคส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2 นี้ ส่วนไตรมาส 3 ยังไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อภาคการค้าโลก

"ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน หลัก ๆ มองว่ายังกล้า ๆ กลัว ๆ เดายาก ธปท.คิดว่าการลงทุนน่าจะยังไม่ตามมา โดยเฉพาะการลงทุนเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออก ถือว่ายังไม่ปรับตัวดีขึ้น และยังกดดันทั้งปีให้โตต่ำกว่าเป้าหมาย แต่หากภาคธุรกิจมั่นใจมากขึ้น ก็หวังว่าจะหนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าเดิมได้ ส่วนด้านสินเชื่อรวมในไตรมาสแรกคาดว่ายังเติบโตในระดับต่ำ เนื่องจากภาคเอกชนยังไม่กลับมาลงทุน" นายดอนกล่าว

สำหรับปัจจัยที่ ธปท.ติดตามในเวลานี้ คือ เริ่มเห็นสัญญาณนักลงทุนต่างชาติบางกลุ่มเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทหลังจากมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตร ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 ว่า จะต้องรอดู 2 ตัวเลขสำคัญ คือ แนวโน้มการเบิกจ่ายของภาครัฐจะทำได้มากน้อยเพียงใด และตัวเลขส่งออกจะยังคงบวกต่อเนื่องได้หรือไม่ แต่หากดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.ที่ออกมา พบว่า หลายตัวออกมาใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้

"โมเมนตัมเศรษฐกิจไทยผ่านมา 1 เดือน ก็ออกมาใกล้เคียงกับที่เราคาด บางตัวดีกว่าคาด แต่บางตัวอาจจะยังช้า อย่างเช่นการเบิกจ่ายก็พยายามเร่งอยู่ และการลงทุนรัฐ เช่น งบฯกลางปีกว่า 1.6 แสนล้านบาท ที่ยังช้า" นายกฤษฎากล่าว

ทั้งนี้ สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 จะขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 3.1-4.1% ต่อปี)

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ผู้ว่าฯลพบุรีรณรงค์ตัดอ้อยสดแทนการเผา

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี รณรงค์ให้เกษตรกรหันตัดอ้อยสด แทนการเผาเพื่อลดมลพิษ พร้อมเพิ่มราคาให้สูงขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจ

 นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี จัดโครงการรณรงค์ลดการเผาอ้อย เน้นให้ชาวร่อ้อยในพื้นที่ หันมาตัดอ้อยสด แทนการเผา พร้อมเพิ่มราคาอ้อยสดให้สูงขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจ เป็นการลดมลพิษ โดยให้ทางนักวิชาการการเกษตรมาให้ความรู้แก่เกษตรกรว่า การเผาอ้อยกับไม่เผาต้นทุนแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งข้อดีปีนี้ทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ได้ส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด โดยการเพิ่มเงินต่อตันให้กับเกษตรกรที่ขายอ้อยสด จากเดิมที่กำหนดไว้ตันละ 70 บาท เป็น 120 บาท ซึ่งเกษตรกร ระบุว่าราคานี้คุ้ม และจะทำให้เกษตรกรที่ทำอ้อยสดมีกำลังใจที่ได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น ตอนนี้ จ.ลพบุรี ได้ให้นายอำเภอทุกอำเภอเชิญชวนเกษตรกรเพื่อเป็นตำบลนำร่องเรื่องการตัดอ้อยสดโดยการสร้างความรู้และให้แรงจูงใจ จะไม่บังคับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพราะการใช้กฎหมายบังคับจะเป็นการทำร้ายเกษตรกรชาวไร่อ้อย แต่จะใช้การส่งเสริมและแรงจูงใจเป็นหลัก

สำหรับ จ.ลพบุรี มีนโยบาย เรื่องการตัดอ้อยสด เพื่อลดมลพิษการเผาอ้อย โดยขอความร่วมมือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย ให้เป็นแกนนำประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกษตรกรหันมาดำเนินการตัดอ้อยสด และตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านมลภาวะสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบด้านอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน เช่น ผลดีของการตัดอ้อยสด ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดีต่อสุขภาพ ไม่เป็นภูมิแพ้ ลดเสี่ยง ไฟลุกลามเสียหายต่อทรัพย์สินของตนเอง ผู้อื่นและส่วนรวม ดินไม่เสียหายไฟเผาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน ลดโลกร้อน ลดความเสี่ยงของประเทศไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สร้างภาวะโลกร้อน ที่อาจถูก Sanction ต่อการค้าน้ำตาลของไทยในตลาดโลกได้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

เนปาลให้สัตยาบัน-จ่อบังคับใช้ ข้อตกลงอำนวยสะดวกการค้า

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันยอมรับการแก้ไขพิธีสารมาราเกซเพื่อผนวกความตกลง เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลกไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกให้สัตยาบันจำนวน 3 ใน 4 ของประเทศสมาชิก หรือ 110 ประเทศ และล่าสุดประเทศเนปาลได้ยื่นให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 108 เรียบร้อยแล้ว และยังขาดเพียง 2 ประเทศ ที่จะทำให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้

สำหรับเนื้อหาความตกลง ประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติด้านการนำเข้า ส่งออก และผ่านแดนของสินค้า เช่น อัตราภาษีศุลกากร ค่าธรรมเนียม กฎหมายกฎระเบียบ การออกคําวินิจฉัยล่วงหน้าเกี่ยวกับพิกัดของสินค้า การชําระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย และหลักเกณฑ์เงื่อนไข ด้านความร่วมมือกันของหน่วยงานศุลกากร เป็นต้น

ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าดังกล่าว จะมีส่วนสนับสนุนให้กระบวนการปฏิบัติ ด้านการนำเข้าส่งออก และผ่านแดนของสินค้า ให้มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีความโปร่งใส ช่วยลดภาระต้นทุน ระยะเวลา โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่มีความเสียหายง่าย นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของไทยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการค้าและการลงทุน โดยการลดต้นทุนรวมของการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และลดความไม่แน่นอนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และผ่านแดนสินค้าซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย ทั้งนี้ ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า มีการดำเนินสืบเนื่องจากปี 2556 ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 9 หรือ MC9 องค์การการค้าโลก (WTO) ได้มีมติให้ผนวกความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation: TFA) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบบทบัญญัติที่ไทยพร้อมปฏิบัติได้ทันที ที่ความตกลง TFA มีผลบังคับใช้จำนวน 131 บทบัญญัติ เนื่องจากไทยมีความพร้อมและมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบภายในประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ธปท.ชี้ทุนนอกเข้าบอนด์ ฉุดเงินบาทแข็งค่า

“แบงก์ชาติ” เผยทุนนอกยังไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่อง กดเงินบาทแข็งค่าหลุด 35 บาท/ดอลลาร์ ขณะเศรษฐกิจ ม.ค.โตดี “ส่งออก-ท่องเที่ยว” หนุน

 ความไม่ชัดเจนในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายบางส่วนไหลมายังประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ (28 ก.พ.) เงินบาท ปิดตลาดที่ 34.89-34.90 บาทต่อดอลลาร์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายในเดือน ก.พ.แม้บางส่วนจะไหลออกจากตลาดหุ้น แต่ยังคงเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ไทยต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทในเดือนก.พ.แข็งค่าขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินที่มีความปลอดภัยสูง (เซฟเฮฟเว่น) เนื่องจากมีฐานะด้านต่างประเทศที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม แม้เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาต่อเนื่อง แต่ถ้าดูค่าความผันผวนของเงินบาทไทยถือว่าต่ำเกือบสุดในภูมิภาค

“อย่างที่ท่านผู้ว่าการ ธปท.เคยบอกไว้ คือ ต่างชาติเขามองเรามีเสถียรภาพ มีเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง หนี้ต่างประเทศน้อย สถาบันการเงินมั่นคง มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ที่สำคัญค่าความผันผวนของเงินบาทไทยต่ำเกือบสุดในภูมิภาค แต่การมองแบบนี้ก็เป็นดาบสองคม เพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามา ทำให้ค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้นด้วย”

นายดอน กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดบอนด์ไทย ถือเป็นการไหลเข้าที่ต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.ที่มียอดเข้าในตลาดบอนด์สุทธิประมาณ 516 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันยังเข้าในตลาดหุ้นอีก 178 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติในส่วนของพอร์ตการลงทุนไหลเข้าประเทศไทยสุทธิ 694 ล้านดอลลาร์

ม.ค.เกินดุลบัญชีฯ5พันล้านดอลล์

นอกจากนี้ ถ้าดูดุลชำระเงินในเดือน ม.ค.2560 มียอดเกินดุลสูงถึง 6.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสำคัญ โดยเกินดุลประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเกิดจากดุลบริการเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยว ประกอบกับเดือนม.ค.ปีนี้ ตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน

“ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค.ที่เกินดุล 5 พันล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ เนื่องจากตัวเลขการท่องเที่ยวและการส่งออกในเดือนนี้ดีกว่าที่คาด จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่าที่เราคาดด้วย”

‘ส่งออก-ท่องเที่ยว’โตเกินคาด

นายดอน กล่าวว่า การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด บวกกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.2560 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงบ้าง แต่เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันไว้แล้ว เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมาภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย จึงดึงความต้องการซื้อล่วงหน้าไปบ้าง

“การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวดี และยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวดีตามค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ส่วนหนึ่งเลื่อนการเบิกจ่ายมาจากเดือนก่อน ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวชะลอลงบ้างหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน ยังทรงตัวจากเดือนก่อน ทั้งการลงทุนในภาคก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน และภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจบริการและขนส่ง สอดคล้องกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในธุรกิจดังกล่าว

นายดอน กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้ายังคาดเดาได้ยาก ซึ่งตามทฤษฎีการลงทุนเอกชนน่าจะดีขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐและการส่งออก ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะเริ่มเห็นการลงทุนที่ผูกกับการส่งออกเริ่มดีขึ้น แต่โดยรวมยังไม่ถือว่าดีมากนัก จึงหวังว่าถ้าภาครัฐเริ่มใส่เม็ดเงินลงไปยังโครงการต่างๆ ที่วางเอาไว้ จะดึงดูดให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นบ้าง

สำหรับการบริโภคนั้น ในเดือน ม.ค.ชะลอตัวบ้าง หลังจากเร่งขึ้นค่อนข้างมากในเดือนก่อนหน้าที่ได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคที่เร่งขึ้นในช่วงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลื่อนการบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

เล็งปรับเพิ่มจีดีพีปีนี้

“เศรษฐกิจเดือน ม.ค. ถือว่าเปิดต้นปีมาทำได้ค่อนข้างดี ตัวเลขหลายตัวดีกว่าที่คาดเอาไว้ จึงมีโอกาสที่เราจะปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้เพิ่ม แต่ตัวเลขบางตัว เช่น การลงทุนและการบริโภค ไม่ได้ดีอย่างที่คิดเท่าไรนัก เรายังมีเวลาประเมินข้อมูลอีก 1 เดือนก่อนประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจใหม่ และในเดือนม.ค.ก็มีเรื่องตรุษจีนเข้ามาด้วย”

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปในวันที่ 29 มี.ค.เป็นรอบที่ กนง. จะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ กนง. ประเมินไว้ล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 3.2%

สรท.คงส่งออกปีนี้ โต 2-3%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า จากการประเมินภาวการณ์ส่งออกคาดว่าในเดือนก.พ. 2560 การส่งออกน่าจะลดลง 4%เนื่องจากฐานการส่งออกในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาสูงมาก เป็นผลจากการส่งออกทองคำไม่ขึ้นรูปสูง ส่วนเดือน มี.ค.คาดว่าจะเติบโต 0% ทำให้ยอดรวมไตรมาส 1 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1-2% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัว 2-3% ไตรมาส 3 ขยายตัว 3-4% และไตรมาส 4 ขยายตัว 2-3% ทำให้ยอดการส่งออกทั้งปียังอยู่ในกรอบที่ สรท. ประมาณการไว้ที่ 2-3%

อย่างไรก็ตาม หากจะให้การส่งออกขยายตัวได้ 5%ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลจะต้องเร่งรัดดำเนินยุทธศาสตร์เชิงรุกที่นำเสนอไว้โดยเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับประเทศคู่ค้าหลัก ที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่าการเจรจาการค้าเสรี การตั้งผู้แทนการค้าในตลาดสำคัญ การยกระดับภาพลักษณ์ประเทศและตรายี่ห้อของสินค้าไทย การผลักดันช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซ และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในประเทศเป้าหมายแทนการส่งออกโดยตรงเพียงทางเดียว

นอกจากนี้ สรท. พบว่าคู่ค้าในตลาดสำคัญโดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของคำสั่งซื้อจากการสั่งซื้อล่วงหน้าระยะยาว เป็นการสั่งซื้อระยะสั้นมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปสงค์ในตลาดเป้าหมาย เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และตลาดสำคัญอื่นๆ เพื่อให้ทราบความต้องการของคู่ค้าผู้บริโภคและนำมาเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์ในการทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560