http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนมีนาคม 2562)

สู้ภัยแล้ง!! ระดม 10 หน่วยฝนหลวง เร่งทำฝนทั่วประเทศ

 ระดม 10 หน่วยฝนหลวง สู้ภัยแล้งเร่งทำฝนทั่วประเทศ แก้ไฟป่าหมอกควัน ฝุ่นพิษ ชี้สภาพอากาศเอื้อ หน่วยฯจันทบุรี หน่วยขอนแก่น หน่วยหัวหิน ขึ้นทำบินแล้ว

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 10 หน่วยปฏิบัติการ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ การเติมน้ำให้แหล่งน้ำและพื้นที่ลุ่มรับน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม

ทั้งนี้ การขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 30 มี.ค.62 จำนวน 7 หน่วย เช่นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครสวรรค์ อุดรธานี บุรีรัมย์ จันทบุรี หัวหิน สุราษฎร์ธานี และสงขลา เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั่วประเทศ บรรเทาฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลพบุรี สระบุรี ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวมถึงยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณ จ.นครพนม

ในส่วนผลการตรวจวัดสภาพอากาศวันนี้ ภาคตะวันออก มีความเหมาะสมหน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงพร้อมขึ้นบินขั้นตอนที่ 1 และ2 เร่งช่วยพื้นที่การเกษตรต้องการน้ำใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนภาคกลาง เฝ้าติดตามสภาพอากาศระหว่างวันยังไม่เงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในทุกจังหวัด พบว่ามีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ฝุ่นละอองในอากาศมีปริมาณหนาแน่นมากขึ้น ซึ่งผลการตรวจสภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่และพิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่นและเลย ยังมีค่าคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยผลการตรวจอากาศเข้าเงื่อนไข หน่วยปฏิบัติการฯ จ.บุรีรัมย์ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่การเกษตร จ.ศรีสะเกษ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งและพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

และพื้นที่ภาคใต้ หน่วยฯ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีแผนขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ทิศตะวันออก อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี โดยมีเป้าหมายในพื้นที่การเกษตร อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ด้านหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 31 มีนาคม 2562

สทนช.รับมือ “แล้งหนัก” เตรียมรีเซตข้อมูลน้ำ

สัญญาณภัยแล้งปีนี้มีโอกาสที่จะรุนแรงและยาวนาน ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเวทีเสวนา “ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค” เพื่อระดมสมองรองรับแผนขาดแคลน จากปัญหาการปลูกพืชนอกฤดูเกินเป้าหมาย ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคหลายพื้นที่ขาดแคลนชูโมเดล 3 ลด 3 เพิ่ม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ฤดูร้อนในปีนี้ต้องจับตามองปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีน้ำใช้การได้ 21,849 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,700 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าน่าห่วง และมีพื้นที่ 5 แห่งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมากที่สุด โดยเฉพาะน้ำประเภทที่ 1

“น้ำกินน้ำใช้” ทางเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้ประเมินว่าจะขาดแคลนน้ำใน 20 สาขา 18 จังหวัด 25 อําเภอ อาทิ เชียงใหม่ โคราช ทั้งยังเสี่ยงการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรใน 7 จังหวัด จากการเพาะปลูกข้าวเกินแผน 1.17 ล้านไร่

ทาง สทนช.เตรียมใช้โมเดล “3 ลด 3 เพิ่ม” ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ง ประกอบด้วย ลดความสูญเสียของน้ำ-ลดอัตราการใช้น้ำต่อหน่วย-ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งน้ำ-เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทุกรูปแบบ-เพิ่มคุณภาพน้ำ

อย่างไรก็ตาม ไทยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำค่อนข้างมาก การเก็บข้อมูลดีมานด์-ซัพพลาย จึงเป็นโจทย์ยาก แต่สทนช.จะรวบรวมจากหน่วยงานน้ำทั้งหมดเข้าบรรจุภายใต้ พ.ร.บ.น้ำฉบับล่าสุดใหม่หมด เพราะการจัดสรรน้ำที่ผ่านมาไม่ทั่วถึงและสูญเสียน้ำเข้าระบบมาก เพราะไม่มีฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อไปเชื่อมโยงข้อมูลกัน พร้อมกับจัดทำ “บัญชีผู้ใช้น้ำ” เบื้องต้นได้ให้การประปาไปทำแผนเพิ่มแหล่งน้ำสำรองก่อน

สำรองน้ำใช้รับนักท่องเที่ยว

นายธำรง บูรณตระกูล ผู้เชี่ยวชาญการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า ความท้าทายของปัญหาแล้งปีนี้ คือ ฝนจะมาช้าไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น ต้องเตรียมแผนเพิ่มน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบัน กปน.มีโมเดล water city plan เปลี่ยนท่อยาว 1,000 กม. ทุกปีซึ่งต้องขอความร่วมมือประชาชนในการสัญจร รวมถึงน้ำเพื่อรองรับการท่องเที่ยวซึ่งมี 40 ล้านคน

“ปีนี้เราเตรียมลงทุน 42,000 ล้านบาท เพื่อรองรับลูกค้า ด้วยการขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 8 แสน ลบ.ม. รวมถึงโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 3 กม. ที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝั่งที่มีการใช้น้ำในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพียงพอและดีขึ้น”

กปภ.อัดงบฯหมื่นล้านรับอีอีซี

ด้าน นายพิสิฐ หงส์วณิชยกุล รองผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ปีนี้โจทย์ใหญ่ของ กปภ.คือการเพิ่มแหล่งต้นทุนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลทุ่มงบฯการเพิ่มแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องมีแอ็กชั่นแพลนให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่อีอีซีสูงมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของการประปาส่วนภูมิภาค รวมถึงงบฯการบริหารจัดการน้ำชายแดน 8,000 ล้านบาท ดังนั้น ในปีนี้เราจะต้องเพิ่มผู้ใช้น้ำให้ได้มากขึ้น ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในการเพิ่มกำลังการผลิตให้บริการน้ำต่างจังหวัด โดยรับผิดชอบ 74 จังหวัด

ด้าน นางจงจิตร์ นีรนาถเมธีกุล อธิบดีกรมน้ำบาดาล กล่าวว่า บทบาทกรมน้ำบาดาลต้องดูแลเรื่องน้ำดิบหรือน้ำต้นทุน แต่ความยากลำบากคือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นความท้าทาย ดังนั้นกรมน้ำบาดาลได้เพิ่มแผนแม่บทระบบประปา โดยการเจาะบ่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้ประปาหมู่บ้าน มีเป้าหมายประมาณ 6,000 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 29 มีนาคม 2562

ก.อุตฯ ร่วม ก.ทรัพย์ฯ ดันกาญจนบุรีนำร่องห้ามเผาอ้อยลด PM 2.5 เริ่มฤดูผลิตปี 63

กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดันจังหวัดกาญจนบุรีนำร่องห้ามเผาอ้อยเด็ดขาด สั่งอุตสาหกรรมจังหวัดประสานการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายหนุนใช้รถตัดอ้อยแทน เริ่มฤดูผลิตปี 63/64 พร้อมดันเหมืองแร่ที่มีมูลค่าสูงต้องทำ SEA

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับ นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้หารือถึงการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งจากการหารือเตรียมกำหนดพื้นที่ห้ามเผาอ้อยเด็ดขาด โดยจะนำร่องที่ จ.กาญจนบุรีเป็นจังหวัดแรกเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในฤดูผลิตปี 63/64 ก่อนที่จะขยายไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

“เราจะดูพื้นที่ที่เหมาะสมกับการผลักดันที่จะนำรถตัดอ้อยไปดำเนินการ ซึ่งต้องร่วมมือกับโรงงานและชาวไร่ในพื้นที่เป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งได้มีการเผาอ้อยเพื่อตัดเพราะขาดแคลนแรงงานและแปลงเพาะปลูกยังไม่เอื้อ โดยจังหวัดกาญจนบุรีมีโรงงานผลิตน้ำตาล 10 แห่ง และมีพื้นที่ปลูกอ้อย 4 แสนไร่ มีความเหมาะสมนำร่องเพราะขณะนี้มีการใช้รถตัดอ้อยอยู่พอสมควร ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัดจะทำงานร่วมกับทรัพยากรจังหวัด โดยจะมีแรงจูงใจมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ หากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว” นายพสุกล่าว

นอกจากนี้ยังได้หารือเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่และการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่อย่างยั่งยืนตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ที่จะกำหนดโซนนิ่งการพัฒนาแร่แต่ละชนิดให้เหมาะสม โดยหลักการสำคัญจะต้องมีการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ควบคู่ไปกับการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยจะมีการตั้งคณะทำงานมาพิจารณาร่วมกันว่าควรดำเนินการเหมืองแร่ชนิดใดก่อน ซึ่งจะเน้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนที่สุด และดูแลพื้นที่ได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ ทั้งการฟื้นฟูและการปรับปรุงส่งพื้นที่คืนร่วมกัน

พร้อมกันนี้ยังหารือการผลักดัน “ศูนย์เฝ้าระวังแบบทันสมัย” 6 ศูนย์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ราชบุรี ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งจะมีการผลักดันให้เกิดการตั้งโรงงานตัดหรือแปรรูปไม้ไผ่ ซึ่งจะเป็นการกระจายป่าไผ่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจได้ไปในตัว การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมให้เหลือ 20-25% ภายในปี 2010 การกำหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ขนาดเล็ก/ใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 6 ภายในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมหนึ่งปี เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 29 มีนาคม 2562

เงินบาทขยับแข็งค่า 31.77 บ.ต่อดอลลาร์ฯ ตามสกุลหลักในเอเชีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.77-31.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดของวันทำการก่อนหน้า

 เงินบาทขยับแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงเช้าวันนี้ มาที่ 31.77-31.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับระดับเปิดตลาดวันนี้ที่ประมาณ 31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยการแข็งค่าของเงินบาท สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและตลาดหุ้นในภูมิภาค ขณะที่ จุดสนใจในประเทศวันนี้ น่าจะอยู่ที่ประเด็นทางการเมือง และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.พ. ของธปท. 

 สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 31.60-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยประเด็นที่ยังน่าจะอยู่ในความสนใจของตลาด ได้แก่ ทางออกของประเด็น Brexit ตลอดจนความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน (28-29 มี.ค.) ซึ่งล่าสุดมีรายงานข่าวระบุว่า ทางการจีนมีการปรับและยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจของฝั่งสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนี Core PCE Price Index ยอดขายบ้านใหม่ และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

จาก www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2562

ฝนหลวงฯ เร่งพัฒนานวัตกรรม ปฏิบัติการสลายฝุ่น-ยับยั้งลูกเห็บ

ปัจจุบัน วิกฤติฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ยังคงส่งผลกระทบต่อสุขภาพพี่น้องประชาชนเขตพื้นที่ภาคเหนือในหลายจังหวัด ซึ่งมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 ระหว่าง 31-174 มคก./ลบ.ม. ปริมาณฝุ่น PM 10 ระหว่าง 45-201 มคก./ลบ.ม. และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 37-284 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค.62)

รวมทั้งภัยพิบัติพายุลูกเห็บถล่ม สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทำการเกษตร เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ร่วมบูรณาการด้านการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสลายฝุ่นละออง พร้อมช่วยบรรเทาความรุนแรงและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสลายฝุ่นละออง PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศน้อยมาก โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม 2562 มีโอกาสที่จะทำฝนน้อยวัน แต่ก็มีการติดตามสถานการณ์ทุกวัน พยายามช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อน หากมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ก็พร้อมขึ้นปฏิบัติการได้ทันที ซึ่งขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับดีขึ้น จากระดับสีแดง กลายเป็นสีส้ม

“สำหรับปัญหาฝุ่นละออง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่แก้ปัญหาปลายเหตุ ซึ่งได้ช่วยเหลือในการทำฝน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า ดังนั้น หน่วยงานรับผิดชอบหลัก เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องเร่งหามาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก โดยการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เพื่อลดการเผาป่าในพื้นที่การทำเกษตร”

ขณะที่การยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน เพราะลูกเห็บจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีพายุฤดูร้อนเท่านั้น แต่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมปฏิบัติการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมา ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บที่จังหวัดพิษณุโลก และดำเนินการไปแล้ว 3-4 ครั้ง ก็ประสบความสำเร็จ ลูกเห็บกลายเป็นฝนตกลงมา รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน จากกองทัพอากาศ เพื่อช่วยยับยั้งความรุนแรงลูกเห็บ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการปฏิบัติการได้ครอบคลุมมากขึ้น

“ลูกเห็บ” เกิดจากเมฆที่โดนดันให้ลอยสูงขึ้นในแนวดิ่ง ประมาณ 20,000 ฟุตขึ้นไป หรือที่เรียกว่า เมฆเย็น ทำให้อุณหภูมก้อนเมฆติดลบ กลายเป็นเม็ดน้ำ หรือน้ำแข็ง และตกลงมามากลายเป็นลูกเห็บ ดังนั้น จะต้องช่วงชิงโจมตีเมฆที่จะยกตัวขึ้น โดยการใช้สารซิลเวอร์ไอโอไดด์ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ ยิงใส่เข้าไปภายในก้อนเมฆที่อุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะ เป็นเม็ดน้ำ โดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายอันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้

อย่างไรก็ตาม ยังได้มีการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ความเสี่ยงการเกิดพายุลูกเห็บ ควบคู่กับข้อมูลจากเรดาร์ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามตรวจสภาพก้อนเมฆที่มีแนวโน้มเกิดลูกเห็บอย่างใกล้ชิด แต่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถยับยั้งความรุนแรงได้ทั้งหมด เพราะมีการเกิดลูกเห็บพร้อมกันหลายกลุ่ม ไม่สามารถจัดการได้ทุกกลุ่มในเวลาเดียวกัน รวมทั้งไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ในเวลากลางคืน เนื่องจากมองไม่เห็นเมฆ และลูกเห็บส่วนใหญ่จะเกิดช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้พัฒนางานวิจัยจรวดฝนหลวง และอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ เรดาร์ เพราะสามารถจับภาพได้ในเวลากลางคืน ทำให้รู้พิกัดและระยะความสูง ก่อนจะยิงจรวดฝนหลวง หรือส่ง UAV ขึ้นไป เพื่อยิงสารซิลเวอร์ไอโอไดด์ สลายลูกเห็บให้กลายเป็นน้ำฝน

ที่ผ่านมา อาสาสมัครฝนหลวง ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จในการปฏิบัติฝนหลวง เป็นผู้ให้ข้อมูลสภาพพื้นที่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ เพื่อขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้มีการพัฒนาวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ การวิจัยเรื่อง Ground Best Generator โดยการติดตั้งเครื่องเผาสารฝนหลวงจากภาคพื้น เพื่อให้เกิดควันลอยขึ้นไปบนเมฆบนยอดดอย ซึ่งจะนำร่องทดลองการวิจัยในพื้นที่ดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่อับฝน รวมทั้งการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุต์ใช้ จัดทำเป็นแอพลิเคชั่น (Application) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยนักวิทยาศาสตร์ขึ้นปฏิบัติงาน โดยการนำแอพลิเคชั่น ส่องตรวจสภาพก้อนเมฆว่ามีความพร้อมที่จะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 29 มีนาคม 2562

มกอช.ร่วมถกWTO-หารือประเทศคู่ค้า ชงแก้มาตรการสุขอนามัยปิดช่องใช้กีดกันการค้า

มกอช.ร่วมประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ครั้งที่ 74 พร้อมเสนอปรับแก้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หวั่นใช้กีดกันทางการค้านางสาวจูอะดี พงษ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยคณะผู้แทนจาก มกอช.และผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Committeeon Sanitary and Phytosanitary Measures) ครั้งที่ 74 ในระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2562 ณ องค์การการค้าโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสโดยที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งหารือข้อกังวลทางการค้าที่ประเทศสมาชิกมีต่อกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอื่น

นางสาวจูอะดีกล่าวว่า ทั้งนี้ ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมกับประเทศสมาชิก WTO กว่า 20 ประเทศเรียกร้องให้สหภาพยุโรปจัดทำกฎระเบียบในการจำแนกสารกำจัดศัตรูพืชที่เข้าข่ายสารขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ ให้สอดคล้องกับหลักการประเมินความเสี่ยงภายใต้ความตกลงว่าด้วยการบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานสากลเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการนำมาตรการไปใช้ในการกีดกันทางการค้าโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรวมทั้งไทยในอนาคต

เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศไทย ยังได้หารือทวิภาคีกับประเทศคู่ค้า เพื่อผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและแก้ไขปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย เช่น ได้หารือกับไต้หวันเพื่อเร่งรัดการเปิดตลาดมังคุดให้แก่ไทย ขอให้รัสเซียเร่งรัดการขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำส่งออกของไทยเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำจากไทยไปยังรัสเซียเพิ่มขึ้นถึงประมาณปีละ 600 ล้านบาท และขอให้เกาหลีใต้เร่งรัดกระบวนการพิจารณาเปิดตลาดมะม่วงมหาชนกให้แก่ไทยด้วย

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 29 มีนาคม 2562

ก.เกษตรฯเปิดเงื่อนไข ผู้มีสิทธิรับเงินช่วยไร่ละ600ปลูกพืชหลังนา

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่19 มีนาคม 2562 ให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา โดยให้เป็นปัจจัยการผลิตกับเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่ง และพื้นที่งดทำนาปรัง มาปลูกพืชผัก พืชไร่ ใช้น้ำน้อยช่วง ฤดูแล้งนี้ โดยเกษตรกรต้องไม่เคยเข้าร่วมโครงการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกโครงการในฤดูกาลที่ผ่านมา จะจ่ายให้เกษตรกร ครัวเรือนละ 1 สิทธิ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ตามพื้นที่ปลูกจริงอัตราไร่ละ 600 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงินประมาณ 9,000 บาท ในพื้นที่เป้าหมาย 4.87 ล้านไร่ เกษตรกร 330,000 ครัวเรือน กรอบวงเงิน 2,932 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอดำรงชีพ ลดภาระค่าครองชีพพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรักษาศักยภาพการผลิต ส่งผลให้คุณภาพชีวิตมั่นคงเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ

จากการคาดการณ์ของกรมอุตนิยมวิทยาว่าฤดูฝนมาช้า และอาจยาวนานถึงปลายเดือนพ.ค. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรช่วงฤดูแล้ง ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดความเสี่ยงเพาะปลูกที่ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ ซึ่งการปลูกพืชหลังนา เกษตรกรจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ค่าสูบน้ำ ค่าจัดการศัตรูพืชที่สูงกว่าฤดูกาลปกติ ทำให้รายได้ไม่พอดำรงชีพ

สำหรับโครงการ เกษตรกรต้องสมัครเข้าร่วมมีเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้ 1. เป็นเกษตรกรเพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/2562 ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-31 มีนาคม 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562

2. เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ยกเว้นภาคใต้ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562 3. เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 – 15 มิถุนายน 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562

นอกจากนี้ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) ปีใดปีหนึ่ง และเป็นพื้นที่เฉพาะที่นา ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่น ในนา เช่น พืชไร่ พืชผัก พืชใช้น้ำน้อย พืชอาหารสัตว์ พืชปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ยกเว้น อ้อยและสับปะรด กรณีเกษตรกรปลูกพืชหลังนามากกว่า 1 ชนิด สามารถเลือกชนิดพืชในการขอรับการช่วยเหลือ แต่พื้นที่รวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 15 ไร่ ต่อครัวเรือน และหากเกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นที่เพาะปลูกหลายรอบการผลิตในพื้นที่เดียวกัน เช่น พืชผัก เข้าร่วมโครงการขอรับการช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเกษตรกรต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง เพราะจะมีคณะทํางานตรวจสอบสิทธิ์ระดับตําบล และเกษตรกรสามารถแจ้งขอรับสิทธิ์ได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูกตามเวลาที่กำหนด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเงินช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 อีกประมาณ 90,000 ครัวเรือน ที่รออยู่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ประมาณสัปดาห์หน้าหรือ (ก่อนสงกรานต์) แน่นอน

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 29 มีนาคม 2562

รวมพลังเกษตรยั่งยืนต้านสารเคมี

รมช.เกษตรฯนำร่องจัดทัพสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน จ.ยโสธรพร้อมเปิดเวทีให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างมติสมัชชาฯหนุน บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมเชื่อมโยงผลิตอาหารปลอดภัย

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดงานการจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร และมอบใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยโสธรขั้นพื้นฐาน Yasothon Basic Organic Standard (Yaso BOS) ให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการรับรอง จำนวน 18 ราย และใบรับรองมาตรฐานการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม Particiaptory Guarantee System (PGS) จำนวน 27 ราย และมอบธงในพื้นที่ปลอดสารพาราควอต ณ วัดสิริมงคล (วัดป่าบ้านคำครตา) บ้านคำครตา ตำบลดงมะไฟ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

“เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการทำการเกษตรในเชิงผสมผสานและเกื้อกูลกัน คำนึงถึงระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยหลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ทำให้ระบบเกษตรกรรมมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยจังหวัดยโสธร เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องที่มุ่งขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นจังหวัดที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ที่ชัดเจน ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร มีการจัดเวทีเสวนาร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นให้เกษตรกรมีการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับ “การจัดสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกระบวนการสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน ในการเสนอร่างมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาต่อไป โดยในวันนี้ได้รับฟังการเสนอความคิดเห็นในร่างมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืน จากตัวแทนภาคีเครือข่ายและชาวบ้าน ประกอบด้วย 10 ข้อ ดังนี้ (1) สนับสนุนการบูรณาการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืนทุกระดับ เช่น การบรรจุหลักสูตรเกษตรกรรมยั่งยืนในโรงเรียนและสถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รวมทั้งให้มีการจัดงานสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง (2)ให้องค์กรปกครองส่วนทองถิ่นมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน โดนเน้นการมีส่วนร่วมและการบูรณาการทุกภาคส่วน และทุกหน่วยงานในพื้นที่ (3) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับแนวคิด ทัศนคติต่อระบบเกษตรกรรม พัฒนาความรู้ เทคนิค ทักษะในการทำเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างครบวงจรให้เกษตรกรรุ่นเก่า เกษตรกรรุ่นใหม่ และสร้างต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน (4) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ในด้านปัจจัยการผลิตที่เอื้อต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น ที่ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น

(5)ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนโอกาส ช่องทาง ข้อมูลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ทางการตลาดสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และตลาดออนไลน์ (6) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลการผลิต และการจำหน่ายเกษตรกรรมยั่งยืนแบบบูรณาการ เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนการสนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืน

(7) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างครบวงจร เพื่อสื่อสารให้เกิดการรับรู้เกิดแรงจูงใจ และความตระหนักต่อการขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืน (8) ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและอาหารปลอดภัย จากนั้นสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการผลิตอาหารที่ปลอดภัย

(9)ให้มีนโยบายหรือแนวทางการป้องกันปัจจัยเสี่ยง และภัยคุกคามที่มีต่อระบบเกษตรกรรมยั่งยืนระดับท้องถิ่น และระดับจังหวัด เช่น การใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงในการเกษตร การปลูกพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว เป็นต้น และ (10) ให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะว่าด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธร อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

ทั้งนี้ ข้อเสนอในมติสมัชชาฯดังกล่าว จะนำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป “นโยบายที่ดีที่สุดคือนโยบายแบบมีส่วนร่วม"ที่มาจากเสียงของประชาชนในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย ดังเช่น ที่ชาวบ้านมาร่วมแสดงความคิดเห็นในมติสมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดยโสธรในวันนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาร่วมรับฟัง นับเป็นจังหวัดนำร่องให้แก่จังหวัดอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่างในเรื่องความสามัคคี ที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อทำเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสภาพภูมิศาตร์และสังคมโดยจะมีการส่งเสริมให้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 28 มีนาคม 2562

“อ้อย”ฉุดจีดีพีเกษตรปีนี้ไตรมาสแรกโตเพียง0.5%

ไม่ห่วงเปลี่ยนรัฐบาลชี้นโยบายคล้ายกัน

จีดีพี เกษตรไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวต่ำแค่ 0.5 % เหตุแล้งทำผลผลิตอ้อยลดลง รั้งสาขาพืชโตน้อยแค่ 0.1% แต่ตั้งเป้าทั้งปีโต 3% มั่นใจนโยบายรัฐบาลใหม่เปลี่ยนไม่มาก แต่ยังห่วงราคายาง ปาล์มน้ำมัน

นางสาวจริยา  สุทธิไชยา  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร(จีดีพีเกษตร)ในไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำหรือทรงตัวส่วนดัชนีรายได้เกษตรกรไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 186.60 ลดลง 0.15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผล ลดลง 3.8% และหมวดประมง ลดลง 10.21%  อย่างไรก็ตามหมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 17.11%

เมื่อแยกแต่ละสาชา พบว่าสาขาพืชไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยข้าวนาปีข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากต้นยางพาราที่ปลูกตั้งแต่ปี 2562 เริ่มกรีดได้ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงขณะที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอ

ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงานมีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและการเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้นทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค.2560 ถึงก.ค. 2561 ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่นมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  เป็นต้น

นางสาวจริยา  กล่าวอีกว่า ด้านราคาในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2562 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่องและมันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง

สินค้าพืชที่ราคาเฉลี่ยลดลงและน่าเป็นห่วงในครึ่งปีหลังได้แก่ ข้าวเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ อ้อยโรงงาน ราคาลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด

ยางแผ่นดิบ  มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชะลอการสั่งซื้อยาง รวมถึงผลกระทบจากอุปปาทานส่วนเกินของผลผลิตยางพาราโลก ปาล์มน้ำมันมีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมากรวมทั้งสต๊อกน้ำมันปาล์มมีปริมาณสูง

ทั้งนี้จีดีพีทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% น้อยกว่าเมื่อเทียบกับจีดีพี ในปี 2561 ที่ขยายตัว 4.6% เนื่องจากสภาพน้ำไม่เอื้ออำนวย แต่ยังคาดว่าทุกสาขาการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนคือ การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ แม้มีรัฐบาใหม่เข้ามาบริหารงานแต่ทุกพรรคมีนโยบายด้านการเกษตรที่คล้ายกัน จึงคาดว่าจะไม่มีผลต่อนโยบายโดยรวมมากนัก ในขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ที่ระดับ 148.39 เพิ่มขึ้น 1.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.24% และดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.86% โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 มีนาคม 2562

“พาณิชย์” ดันลดราคาปุ๋ยเล็งขยายมาตรการถึงส.ค.นี้

“พาณิชย์” ผลักดันราคาปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ลดลงกระสอบละ 30-50 บาท ช่วยชาวนาตามนโยบาย “สมคิด” มีผลจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เล็งขยายมาตรการต่อจนถึงมิ.ย.- ส.ค.นี้

นางสาวชุติมา  บุณยประภัศร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ลดราคาจำหน่ายปุ๋ยสำเร็จรูปให้กับเกษตรกรตามนโยบายที่ได้รับจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรีเป็นผลสำเร็จแล้ว โดยผู้ประกอบการได้ลดราคาลงประมาณกระสอบละ 30-50 บาท เริ่มมีผลแล้วจนถึงเดือน พ.ค.2562 และหากสถานการณ์วัตถุดิบไม่เปลี่ยนแปลง กรมการค้าภายในจะขอความร่วามมือผู้ประกอบการให้ขยายระยะเวลาลดราคาออกไปอีกซึ่งอาจจะขยายไปถึงเดือน มิ.ย.- ส.ค. 2562 เพราะเป็นช่วงที่เกษตรกรกำลังจะเริ่มทำนา

สำหรับปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป  ราคา (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ที่มีการปรับลดในครั้งนี้ ได้แก่ ปุ๋ยที่ใช้ในนาข้าว คือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปรับลดราคากระสอบละ 30 บาท สูตร 16-20-0 และสูตร 16-8-8 ปรับลดราคากระสอบละ 40 บาท และสูตร 16-16-8ปรับลดราคากระสอบละ 50 บาท และปุ๋ยเคมีที่ใช้ในพืชชนิดอื่นๆ  เช่น สูตร 15-15-15 ปรับลดราคากระสอบละ 30 บาท

นอกจากนี้ สมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย ได้ปรับลดราคาปุ๋ยอินทรีย์ให้กระสอบละ 50 บาท โดยราคาจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์(ราคารวมค่าขนส่งทั่วประเทศ) อยู่ที่กระสอบละ 250 บาท มีปริมาณที่ลดราคารวม 150,000 ตัน

ขณะที่การจัดหาแม่ปุ๋ยเคมีราคาถูก มีผู้ประกอบการจำนวน 6 ราย ยินดีให้ความร่วมมือจำหน่ายแม่ปุ๋ยเคมีราคาถูก เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดทำปุ๋ยสั่งตัดให้กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศซึ่งในเบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดให้สหกรณ์การเกษตรจำนวน 47 แห่ง พบกับผู้ประกอบการโดยตรง และสหกรณ์การเกษตรมีความสนใจในการซื้อขายตามราคาที่กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือไว้กับผู้ประกอบการ

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 28 มีนาคม 2562

อ้อยฉุดจีดีพีเกษตรไตรมาสแรกโตแค่ 0.5% – ห่วงราคายาง-ปาล์ม-สับปะรดวูบ

จีดีพี เกษตรไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัวต่ำแค่ 0.5% เหตุแล้ง ทำผลผลิตอ้อยลดลง รั้งสาขาพืชโตน้อยแค่ 0.1% แต่ตั้งเป้าทั้งปีโต 3%  แต่ยังห่วง ราคายาง ปาล์มน้ำมัน และสับปะรดวูบ

อ้อยฉุดจีดีพีเกษตรวูบ – น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.5% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าอยู่ในระดับต่ำหรือทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาที่สัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตรชะลอตัว

ทั้งนี้ การผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืช ในไตรมาสแรกมีผลผลิตลดลง

ด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น

เมื่อแยกแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดย ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากต้นยางพาราที่ปลูกตั้งแต่ปี 2556 เริ่มกรีดได้ ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ขณะที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอ

ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและการเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2560 ถึงก.ค. 2561 ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ด้านราคา ในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. 2562 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง และมันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่องสินค้าพืชที่ราคาเฉลี่ยลดลงและน่าเป็นห่วงในครึ่งปีหลัง ได้แก่ ข้าว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ อ้อยโรงงาน ราคาลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด สับปะรดโรงงาน ที่ผลผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาดทำให้แนวโน้มราคาลดลง ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชะลอการสั่งซื้อยาง รวมถึงผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของผลผลิตยางพาราโลก ปาล์มน้ำมัน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมาก รวมทั้งสต๊อกน้ำมันปาล์มมีปริมาณสูง 

สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 1% โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ เพิ่มขึ้นรองรับการส่งออก แต่ราคาในประเทศลดลง สุกร เพิ่มขึ้นจากราคาที่อยู่ในระดับที่ดี เกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิตแต่ยังต้องเฝ้าระวัง การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา ที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นตามคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่วนราคาไก่เนื้อลดลง เนื่องจากมีผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดในปริมาณมาก

สาขาประมง ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 1.5% จากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีทิศทางเพิ่มขึ้น ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี โดยราคา ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2562 กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 2.6% สาขาป่าไม้ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัว 2.2%

ทั้งนี้ จีดีพีทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2.5-3.5% น้อยกว่าเมื่อเทียบกับจีดีพี ในปี 2561 ที่ขยายตัว 4.6% เนื่องจากสภาพน้ำไม่เอื้ออำนวย แต่ยังคาดว่าทุกสาขาการผลิต ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน คือ การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ แม้มีรัฐบาลใหม่เข้าแต่ทุกพรรคมีนโยบายด้านการเกษตรที่คล้ายกัน จึงคาดว่าจะไม่มีผลต่อนโยบายโดยรวมมากนัก ในขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ยังไม่ได้ส่งผลกระทบ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะติดตาม อย่างใกล้ชิด

สำหรับ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 146.09 เพิ่มขึ้น 0.63% จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีผลผลิตในหมวดพืชผล เพิ่มขึ้น 0.35% ปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 1.54% และหมวดประมง เพิ่มขึ้น 1.16% ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 127.73 ลดลง 0.77% จาก ไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดพืชผล ลดลง 4.20% และหมวดประมง ลดลง 11.24% ในขณะที่หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 15.34%

ดัชนีรายได้เกษตรกร ไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ระดับ 186.60 ลดลง 0.15% จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยดัชนีรายได้เกษตรกรในหมวดพืชผล ลดลง 3.87% และหมวดประมง ลดลง 10.21% อย่างไรก็ตาม หมวดปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น 17.11%

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 2 ปี 2562 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 148.39 เพิ่มขึ้น 1.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.24% และดัชนีราคาสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 0.86% โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯยันเขื่อนทุกแห่งคือคำตอบเรื่องน้ำ เกิดประโยชน์ถาวรแก้แล้งท่วมในพื้นที่ได้ผล

กรมชลฯ ยันเขื่อนทุกแห่ง คือคำตอบเรื่องน้ำ เกิดประโยชน์ถาวร แก้แล้งท่วมในพื้นที่ได้ผล แต่สภาพอากาศแปรปรวนทั้งชุมชนขยายตัว ส่งผลเกิดวิกฤติน้ำรุนแรงขึ้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าว เขื่อนไม่ใช่คำตอบ ในการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง ปล่อยให้ชาวบ้านภาคอีสานต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากนั้น ว่ากรมชลฯได้มีการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งทุกโครงการที่ได้ดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดทิศทางการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นๆ เสมอ ทั้งโครงการเขื่อนยางนาดี เขื่อนลำสะพุง จ.ชัยภูมิ ประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย ประตูระบายน้ำน้ำก่ำ จ.สกลนคร โดยทุกโครงการมีการจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ที่ได้ถูกกล่าวอ้างว่า ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศลุ่มน้ำ ขอชี้แจงว่า ในส่วนของเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนานั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ ในส่วนของเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย-พนมไพร ยังอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นเพียงโครงการประเภทประตูระบายน้ำ กั้นขวางแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยการควบคุมการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งไม่สามารถกักเก็บน้ำในปริมาณมากได้ เป็นเพียงการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งเพียงบางส่วนเท่านั้น

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีการวางแผนจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในแต่ละพื้นที่ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งยืนยันได้ว่าในพื้นที่ชลประทาน จะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค หรือที่เรียกกันว่าน้ำกินน้ำใช้อย่างแน่นอน ส่วนภาคการเกษตรให้ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน(JMC)ของแต่ละโครงการฯ ซึ่งมีผู้แทนจากภาคเกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่งร่วมเป็นกรรมการ เพื่อตัดสินใจร่วมกันว่าจะจัดสรรน้ำให้กับภาคการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำในประเทศ แก้ไขบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ภายใต้การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกพื้นที่ในประเทศ ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร สนับสนุนการเพิ่มผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านชีวิต โดยการเพิ่มพื้นที่ชลประทานและประสิทธิภาพการกระจายน้ำของระบบชลประทานอย่างทั่วถึง เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิต

“การก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านน้ำ โดยมีขั้นตอนก่อนการก่อสร้างแต่ละโครงการฯ หลายขั้นตอน ประกอบไปด้วย การศึกษาสำรวจออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ เพื่อให้การใช้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำที่มากขึ้นจากการขยายตัวของชุมชนเมือง จึงก่อให้เกิดวิกฤติทางน้ำ ทั้งปัญหาน้ำท่วมและในหลายพื้นที่ยังเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ เขื่อน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างถาวรและเป็นรูปธรรม” รองอธิบดีกรมชลฯ กล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

"บิ๊กฉัตร" ระดมหน่วยงานด้านน้ำ ติวแผนช่วยเหลือช่วงแล้ง

"บิ๊กฉัตร" ระดมหน่วยงานด้านน้ำ ติวแผนช่วยเหลือช่วงแล้งทิ้งทวนก่อนเข้าฝน

          พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ วิเคราะห์ ติดตามลักษณะอากาศในระยะ 3 เดือนนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นพ้องตรงกันว่าประเทศไทยยังคงมีสภาพเป็นเอลนีโญ่อ่อนๆ และจะกลับลงมาสู่สภาพเป็นกลางในกลางปีนี้ ขณะที่ปริมาณฝนสะสมจากต้นปีถึงปัจจุบัน คาดว่าปริมาณฝนรวมในเดือนเมษายนจะมีฝนมากกว่าเดือนมีนาคม

             แต่ยังมีพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และซีกตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมคาดว่าประเทศไทยปริมาณฝนจะใกล้เคียงค่าปกติ แต่อาจยังมีฝนน้อยในภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน

 ​​          "วันนี้ที่ประชุมได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและการจัดสรรน้ำ ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30%"

          สำหรับอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ได้แก่ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง คือ เขื่อนแม่มอก 23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ 52 ล้าน ลบ.ม. 3% สิรินธร 81 ล้าน ลบ.ม. 7% ลำนางรอง 34 ล้าน ลบ.ม. 29% ห้วยหลวง 33 ล้าน ลบ.ม. 25% และลำปาว 539 ล้าน ลบ.ม. 29% ภาคกลาง 3 แห่ง  ทับเสลา 22 ล้าน ลบ.ม. 15% กระเสียว 15 ล้าน ลบ.ม. 6% และป่าสักชลสิทธิ์ 276 ล้าน ลบ.ม.29% ขนาดกลาง 112 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 10 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 87 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง  ซึ่งคาดว่าปริมาณน้ำใช้การได้ของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ยังเพียงพอจนถึงสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ยกเว้นเขื่อนอุบลรัตน์ที่จะมีการดึงน้ำ Dead Storage มาใช้ตามแผนที่กำหนดไว้เดิมประมาณ 88 ล้าน ลบ.ม. (ปริมาณน้ำเท่ากับปี 59) เพื่อช่วยเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก ซึ่งจะไม่กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในต้นฤดูฝน

                    ขณะที่การวางแผนบริหารจัดการน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูฝน สทนช.ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพหลัก อาทิ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง

​​                   ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ที่ประชุมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานรับผิดชอบหลักดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัด แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยการประปานครหลวง      มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดปี 2562 ส่วนการประปาส่วนภูมิภาคเดิมมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่สาขา จำนวน 10 หน่วยบริการ 9 จังหวัด ปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงฯ จำนวน 20 สาขา 18 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด นครราชสีมา หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี   ภาคใต้ 3 จังหวัด สุราษฏร์ธานี พังงา ภูเก็ต

                  โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักเตรียมการแก้ไขปัญหาแล้ว อาทิ มาตรการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา ลดแรงดัน และสูบทอยน้ำเพื่อเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำใกล้เคียง ทำฝายชั่วคราว และมีแผนซื้อน้ำจากเอกชน ส่วนนอกเขตพื้นที่ให้บริการของการประปาภูมิภาค ทั้งประปาชุมชน/เทศบาล ได้เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ รวม 7 จังหวัด   15 อำเภอ ประกอบด้วยภาคเหนือ 2 จังหวัด 6 อำเภอ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด 5 อำเภอ (เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา) และภาคกลาง 2 จังหวัด 4 อำเภอ ราชบุรี กาญจนบุรี ขณะนี้ สทนช. ได้ดำเนินการแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กษ. ทส. และ กห.) เฝ้าระวังเตรียมความพร้อมเชิงป้องกัน และจัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 50 กม.

                ​ด้านเกษตรกรรม ในพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงพื้นที่สำรวจ สรุปมีจำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งปริมาณน้ำมีเพียงพอ สำหรับปลูกพืชตามมาตรการ ไม่มีการเพาะปลูกเพิ่มเติม สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนารอบที่ 2 พบว่า ในเขตชลประทาน จำนวน 32 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,186,336 ไร่ และนอกเขตชลประทาน มี 7 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 133,702 ไร่ รวมทั้งประเทศ 36 จังหวัด ปลูกเกินแผน จำนวน 1,320,038 ไร่

​            ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยแล้งล่าสุดมีทั้งสิ้น 3 จังหวัด 8 อำเภอ 30 ตำบล โดย จ.ร้อยเอ็ด  2 อำเภอ 2 ตำบล จ.ศรีสะเกษ 3 อำเภอ 5 ตำบล เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และ จ.ตราด 3 อำเภอ 23 ตำบล ซึ่งขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งดำเนินการหาแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 50 กม. ตามที่ สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำ รวมถึงจัดเตรียมรถบรรทุกน้ำจากหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่เพิ่มเติมกรณีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำไม่เพียงพอแล้วด้วย

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2562

รมช.เกษตรฯเยือนก.ต่างประเทศ ชูศก.พอเพียงหนทางพัฒนายั่งยืน

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวระหว่างการเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษหัวข้อ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : หนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนายั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางพัฒนาบริหารประเทศ และแบ่งปันแนวทางพัฒนาไปยังนานาประเทศ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ส่งผลให้ไทยและทั่วโลกต้องปรับตัวให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาในภาวะไม่ปกติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตรัสว่า เราต้องบริหารแบบคนจน แบบไม่ยึดติดกับตำรามากเกินไป ทำด้วยความสามัคคีมเมตตาต่อกัน ซึ่งเป็นหนทางทำให้อยู่ร่วมกันและแก้ปัญหาต่างๆ ผ่านพ้นไปได้

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงชี้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ ในการปฏิบัติงานหรือบริหารพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปด้วยความไม่ประมาท พระองค์ทรงทำตัวอย่างให้คนไทยเห็นผ่านโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จกว่า 4,741 โครงการ มากกว่า 47,000 บทเรียน ทำให้ทั่วโลกยอมรับและมอบรางวัลให้พระองค์ อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (IUSS Humanitarian Soil Scientist Award) และรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) เป็นต้น โดยหลักการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นการพัฒนาที่ประชาชนเป็นแกนหลัก และภาคีอื่นๆร่วมบูรณาการ เพื่อส่งเสริมกลไกเดิมของภาครัฐที่มีอยู่ ทั้งนี้ ขอเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าเยี่ยมชมพื้นที่ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาเป็นรูปธรรมและเป็นผลสำเร็จ เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านให้คงอยู่สืบไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

รายงานพิเศษ : กรมชลประทานยันความพร้อม สั่งคุมเข้มบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้ง

ต้องยอมรับว่าฤดูแล้งปี 2562 มาเร็วกว่าทุกปี และเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ส่งผลกระทบให้ฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติและยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมทั้งประเทศไทยมีโอกาสเสี่ยงต่อความแปรปรวนทางสภาพอากาศอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดในพื้นที่ที่เสี่ยงกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเรื่องน้ำของประเทศได้เตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของประเทศในภาพรวม ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่างๆยังเพียงพอกับความต้องการใช้ โดยขณะนี้ มีน้ำต้นทุนสำหรับใช้การได้จากทุกแหล่งน้ำรวม 29,102 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ความต้องการใช้น้ำจนกว่าจะเข้าฤดูฝนมี 8,719 ล้านลบ.ม. ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่จะจัดสรรมีเพียงพอถึงเดือนพฤษภาคม 2562 และเพียงพอสำหรับสำรองต้นฤดูฝนอีก 20,115 ล้านลบ.ม. พื้นที่ในเขตชลประทานไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ส่งผลกระทบให้ฤดูแล้งยาวนานกว่าปกติ ทำให้บางพื้นที่ในเขตชลประทานไม่มีการสนับสนุนน้ำ เพื่อทำนาปรังและเพื่อเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เนื่องจากมีปริมาณอ่างเก็บน้ำมีน้ำต้นทุนน้อยเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน 2561 จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุดซึ่งมี 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.สุโขทัย จะไม่จัดสรรน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา จะจัดสรรน้ำสนับสนุนเฉพาะการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก พืชใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตามทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากการวิเคราะห์ของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครราชสีมา นครสวรรค์ ราชบุรี และเลย และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรรวม 18 จังหวัด เช่น อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจได้รับผลกระทบต่างกัน

“เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ณ เวลานี้มีน้ำกักเก็บ 27,400 ล้านลบ.ม. เวลาเดียวกัน ขณะนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯขนาดใหญ่ 23,600 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,800 ล้านลบ.ม. จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยว” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด (20 มี.ค.2562) น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณรวมกัน 47,910 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 23,984 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 เฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างฯ 45,391 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 21,849 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเล็กน้อย

ส่วนการจัดสรรน้ำใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ขณะนั้นมีปริมาณน้ำต้นทุนใช้การได้ 39,570 ล้านลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม.และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม.

“การจัดสรรน้ำช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามแผน ปัจจุบัน ใช้น้ำไปแล้ว 7,076 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ในเขตโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ จัดสรรให้ปลูกพืชฤดูแล้ง 10.46 ล้านไร่ ปลูกไปแล้ว 9.04 ล้านไร่ แต่หากพิจารณาเฉพาะข้าวนาปรัง วางแผนให้ปลูก 8.03 ล้านไร่ ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 8.46 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาวางแผนให้ปลูก 5.30 ล้านไร่ ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 5.85 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 110.38 ของแผนที่กำหนดไว้ กรมชลประทานขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดทำนารอบที่ 3 หรือนาปรังรอบที่ 2 และขอให้ประชาชนใช้น้ำประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้ง สำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562

ไทยปลื้มอันดับพลังงานโลกพุ่ง

อันดับระบบพลังงานของประเทศไต่ขึ้น 3 อันดับไปสู่อันดับที่ 51 ของโลก จากประสิทธิภาพการจัดหาพลังงานที่มั่นคง สนับสนุนเศรษฐกิจและดูแลสิ่งแวดล้อม แต่อันดับยังต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ ด้าน ปตท.ศึกษาความร่วมมือแลกเปลี่ยนแอลเอ็นจีอาเซียน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF (World Economic Forum) เปิดเผยรายงานประจำปี "Global Energy Transitions Index 2019" ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ WEF ได้จัดอันดับระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตประจำปี 2562 โดยไทยได้อันดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 115 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลำดับดีขึ้นจากปี 2561 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 54 เนื่องจากพลังงานของไทยตอบโจทย์ระบบสามเหลี่ยมพลังงานที่สร้างความมั่นคงและประชาชนเข้าถึง  การดูแลสิ่งแวดล้อม และตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเติบโตในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากนับในอาเซียนนั้น ไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ที่ได้อันดับที่ 13 ของโลก และมาเลเซียอยู่ที่อันดับที่ 31 โดยไทยได้รับคำชื่นชมว่ามีความก้าวหน้าเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี2018) ปี 2561-2580 จะมีสัดส่วนร้อยละ 35 ในอีก 20 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 14 และยังมีการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วม โดยการเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูปท็อป) ภาคประชาชนตลอดแผนพีดีพี 10,000 เมกะวัตต์  แต่ไทยยังขาดเรื่องความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งขณะนี้ไทยส่งเสริมให้การพัฒนา โดยเฉพาะในการติดตั้ง ออกแบบ โซลาร์ภาคประชาชนจึงต้องเร่งพัฒนามารองรับ เป็นต้น

นายโรแบร์โต้ บาคคา ประธานด้านพลังงานและผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตและกรรมการบริหารสภาเศรษฐกิจโลก กล่าวว่า  ไทยจะเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ซึ่ง WEF พร้อมจะให้การสนับสนุนแผนพัฒนาความพร้อมสู่ระบบพลังงานในอนาคตอาเซียน โดยจะใช้ดัชนีวัดความพร้อมของระบบพลังงานของประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคต ควบคู่ไปกับความร่วมมือด้านพลังงานผ่านเวทีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชาติในอาเซียน

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.ร่วมเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  เช่น ในส่วนของก๊าซธรรมชาติมีการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติรับก๊าซจากทั้งแหล่งในประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ หรือแอลเอ็นจี โดยมีการสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซฯ ในจังหวัดระยองทั้งคลังมาบตาพุด, หนองแฟบ ส่วนในอนาคตจะสร้างคลังใหม่นำเข้าในพื้นที่ใด ไม่ว่าจะเป็นโครงการความร่วมมือในเมียนมา  การสร้างคลังลอยน้ำในภาคใต้ และการลงทุนโครงการมาบตาพุดระยะที่ 3 นั้น ในเรื่องนี้ต้องรอนโยบายรัฐบาลและต้องรอดูการปรับปรุงแผนก๊าซระยะยาว (GAS PLAN ) ของกระทรวงพลังงาน ว่าจะปรับปรุงอย่างไร ตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ ซึ่งมีการใช้ก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ37 เป็นร้อยละ 53 และมีการใช้ก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณเสร็จสิ้น และส่งผลให้การนำเข้าแอลเอ็นจีลดลงจากแผนเดิมลดลงจากประมาณ 34 ล้านตันต่อปีในปี 2579 เหลือประมาณ 24 ล้านตัน

นอกจากนี้ การสร้างความมั่นคงด้านก๊าซฯนั้น กลุ่มอาเซียนได้ศึกษาแผนว่าจะร่วมมือกันอย่างไรให้มากขึ้น จากที่มีความเชื่อมโยงด้วยระบบท่อก๊าซฯ ก็ควรจะมีการเชื่อมโยงในลักษณะสัญญาความร่วมมือแบ่งกันในสถานีรับจ่าย(เมอร์มินอล) ระหว่างกัน โดยในขณะนี้ ในอาเซียนมีเทอร์มินอลแอลเอ็นจีแล้ว 4 ประเทศได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

จาก https://www.tnamcot.com วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทั้งทีม บริหารจัดการ คทช. 14 จังหวัด ขับเคลื่อนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่

เลขาธิการ ส.ป.ก. เดินหน้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชุนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) แต่งตั้งทีมชุดใหญ่ทั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน และผู้จัดการพื้นที่ ในพื้นที่ คทช. 14 จังหวัด พร้อมขับเคลื่อนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน และผู้จัดการพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล (คทช.) ในพื้นที่ 14 จังหวัด  เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่หวังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามมาตรา 44

ซึ่งคำสั่งดังกล่าวประกอบด้วยคณะที่ปรึกษา ได้แก่ นายประยวน พันธ์สวัสดิ์ ว่าที่ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์ และนายสุวรรณ บูราพรนุสรณ์  คณะทำงานฝ่ายอำนวยการมีเลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นประธาน และคณะทำงานฝ่ายรวบรวมข้อมูลส่วนกลางมีผู้อำนวยการสำนักจัดการปฏิรูปที่ดินเป็นหัวหน้าคณะทำงานและผู้อำนวยการโครงการ ส่วนระดับจังหวัดมีผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และการปฏิรูปที่ดินแต่ละ ส.ป.ก.จังหวัดเป็นผู้จัดการพื้นที่ (Area Manager) 

 ทั้งนี้พื้นที่ ส.ป.ก. 14 จังหวัดที่ได้ลงนามแต่งตั้งผู้จัดการพื้นที่ (Area Manager) ได้แก่ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา อุดรธานี สระแก้ว ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร อุทัยธานี ราชบุรี กาญจนบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา

ว่าที่ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์  หนึ่งในคณะที่ปรึกษาด้านแหล่งน้ำกล่าวว่า  คำสั่งของเลขาธิการ ส.ป.ก. เป็นไปเพื่อขับเคลื่อนงานในโครงการจัดที่ทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับ MOU 8 หน่วยงาน เพื่อบูรณาการการพัฒนาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งได้ลงนามไปเมื่อเดือนธันวาคม 2561

“เป้าหมายสำคัญในขณะนี้คือการดำเนินโครงการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise: MFE) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัด โดยจะดำเนินการในพื้นที่ ส.ป.ก. นำร่อง

6 จังหวัดก่อนในเดือนพฤษภาคมนี้”

 สำหรับวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (MFE) จะมีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ไร่ขึ้นไป โดย ส.ป.ก. ได้คัดเลือกพื้นที่ คทช. ในเขต ส.ป.ก. เพื่อนำร่อง 6 แห่ง ได้แก่ คทช.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์ คทช.ระบำ

จ.อุทัยธานี คทช.วังน้ำเขียว/ปากช่อง จ.นครราชสีมา คทช.โคกสูง จ.สระแก้ว คทช.บ่อทอง/หนองใหญ่

จ.ชลบุรี และ คทช.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

 อย่างไรก็ตามที่ดินทำกินในพื้นที่ ส.ป.ก. เหล่านี้เกษตรกรจะได้รับแค่สิทธิทำกิน แต่ไม่ได้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 โดยจัดตั้งสหกรณ์ให้เป็นผู้เช่าและบริหารจัดการที่ดินเพื่อทำเกษตรกรรมแทน

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

ผวาเศรษฐกิจโลกถดถอย กดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วง

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามตลาดหุ้นภูมิภาค เหตุนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังบอร์นยิวด์ 10 ปีใกล้เคียง 3 เดือน  โบรกชี้เป็นจังหวะทยอยสะสมคาดจัดตั้งรัฐบาลเสร็จดัชนีฟื้นตัว                   

นายอภิชาติ  ผู้บรรเจิดกุล  ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์  บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า  ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอร์นยิวด์) อายุ 10 เดือนอยู่ที่ 2.43% ใกล้เคียงกับพันธบัตรอายุ 3 เดือนอยู่ที่ 2.4% นับตั้งแต่ปี 50 แต่บ้านเรามีข่าวดีเรื่องการเลือกตั้งที่ชัดเจน และกำลังรอกกต.รับรองผลการเลือกตั้งทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไม่ถึง 1% น้อยกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่ติดลบเช่น ญี่ปุ่นลบ 3% ฟิลิปปินส์ 2.5% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มองเศรษฐกิจโลกยังเป็นบวกไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากธนาคารกลางต่างประเทศหลายแห่งได้ออกมาตรการต่าง ๆ ประคับประคองเศรษฐกิจ และถ้าการเมืองภายในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จอาจทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นมองแนวรับที่ 1,630-1,632 จุด หากไม่ผ่านหลุดไปที่ 1,625 จุด และแนวต้านที่ 1,625 จุด สำหรับในช่วงนี้แม้หุ้นขาลงแต่เป็นจังหวะที่เข้าทยอยสะสมหุ้นที่ MSCI ปรับเกณฑ์ใช้ NVDR เข้าคำนวณดัชนี  ส่วนประเด็นต่างประเทศที่ติดตามยังเป็นเรื่องเบร็กซิทและการเจรจาลดข้อพิพาทสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

คุมเข้มสถานการณ์เฝ้าระวัง7อ่างฯ ยันเขตชลประทานไร้ปัญหาขาดน้ำ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การรวม 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 28 ของปริมาณเก็บกัก มีความต้องการใช้น้ำช่วงหน้าแล้ง 2.46 ล้านลบ.ม. จนถึงปัจจุบันจัดสรรน้ำไปทั้งสิ้น 1.9 ล้านลบ.ม.เป็นไปตามแผนจัดการน้ำที่ได้วางไว้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาวอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เป็นต้น อย่างไรก็ดี กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ แม้ฤดูแล้งปี 2561/62 จะไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขตชลประทาน แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะทางภาคอีสานมีพื้นที่เฝ้าระวัง 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นและมหาสารคาม อ่างฯหนองตาไก้จ.บุรีรัมย์ อ่างฯห้วยตะคร้อ จ.นครราชสีมา ฝายห้วยวังฮาง จ.ร้อยเอ็ด อ่างฯลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา อ่างฯห้วยจระเข้มาก และ อ่างฯลำนางรอง จ.บุรีรัมย์

“กรมชลประทานเตรียมความพร้อมและแผนการจัดการน้ำให้เหมาะสมในแต่ละจุดเสี่ยง เช่น ที่อ่างฯ อุบลรัตน์ จัดสรรน้ำให้ประชาชนได้ใช้ตลอดทั้งหน้าแล้งรวมถึงน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝน 2562 แต่งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่อ่างฯห้วยตะคร้อ ดำเนินการสูบน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านโต้นมาที่ อ่างฯดอนตะหนิน และมาที่อ่างฯห้วยตะคร้อปริมาณน้ำ 0.5 ล้านลบ.ม.ใช้น้ำได้ไปจนถึงเดือนเมษายน 62 ที่อ่างฯหนองตาไก้ แบ่งรอบเวรสูบน้ำ 2 ช่วง จำนวนปริมาตรน้ำรวม 0.25 ล้านลบ.ม. เพียงพอต่อการใช้น้ำไปจนถึงเดือนเมษายน 62 หรือที่ฝายห้วยวังฮาง หากขาดแคลนน้ำระยะเร่งด่วน กรมชลประทานเตรียมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยวังฮางข้ามฝายห้วยวังฮางไปยังสถานีสูบน้ำประปา จ.ร้อยเอ็ด พร้อมการประปาปรับลดการผลิตจาก 7.2 หมื่นลบ.ม.ต่อเดือนเหลือ 3.2 หมื่นลบ.ม.ต่อเดือน เป็นต้น” ดร.ทองเปลว กล่าว

ส่วนอ่างเก็บน้ำอื่นๆปริมาณน้ำค่อนข้างดี โดยเฉพาะในจ.สกลนคร เขื่อนน้ำพุงซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำหลักของจังหวัดขณะนี้มีปริมาณน้ำ 110 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68.85 จากปริมาณความจุ เมื่อรวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก ทั้งหมดมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,000 ล้านลบ.ม. เพียงพอต่อทุกกิจกรรมการใช้น้ำรวมถึงการทำการเกษตรในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม

ใน 2 เดือนข้างหน้า ภาคอีสานน้ำจะระเหยมากขึ้น ประมาณเดือนละกว่า 50 ล้านลบล.ม. เพราะพื้นที่ผิวน้ำร้อนขึ้นจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นน้ำระเหยด้านบนและซึมลึกลงไปในดินอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การใช้น้ำต้องระมัดระวัง ในเขตชลประทานกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไม่ให้ทำนาปรังมากกว่าแผนที่หนดไว้ เพราะต้องสงวนน้ำไว้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าด้วย

“กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ตามข้อสั่งการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บวกกับแผนปฏิบัติการของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งน้ำสำรองที่กรมชลประทานได้สำรองให้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมด้วย” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯ มั่นใจลดปัญหาแล้งสำเร็จ

กรมส่งเสริมการเกษตร มั่นใจลดผลกระทบต่อเกษตรกรจากการขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งสำเร็จ เผยปรับพื้นที่ปลูกพืชหลากหลายแทนนาปรังแล้ว แม้ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวรอบสอง เกินแผนควบคุมใน 36 จังหวัด

 นางดาเรศร์  กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมี 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย อุทัยธานี อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และมหาสารคาม หากวางแผนปลูกข้าวรอบสอง (นาปรัง) รวมพื้นที่จำนวน 151,552 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายหรือทำกิจกรรมอื่นทดแทนการปลูกข้าว ซึ่งล่าสุดจากการลงสำรวจพื้นที่ดังกล่าว (13 มี.ค.62) พบว่า เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นแทนการปลูกข้าวแล้ว ประมาณ 62,177 ไร่ คิดเป็น 41% ของพื้นที่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 45,174 ไร่ ถั่วเขียว 12,740 ไร่ พืชผัก 2,925 ไร่ แตงโม 445 ไร่ ข้าวโพดฝักสด 420 ไร่ หญ้าเลี้ยงสัตว์ 203 ไร่ และงา 35 ไร่ และ

อีก 59% ของพื้นที่ เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ จึงปรับเปลี่ยนไปทำปศุสัตว์ ค้าขายหรือทำอาชีพอื่น และปล่อยพื้นที่ว่างบางส่วนเพื่อเตรียมเข้าฤดูกาลผลิตใหม่

    นอกจากนั้น ผลการติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งล่าสุด พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรปลูกข้าวรอบสองแล้ว 11.02 ล้านไร่ (98% ของแผนควบคุม) มีพื้นที่ปลูกข้าวเกินแผนควบคุม รวม 1.32 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 29 จังหวัด เป็นพื้นที่อยู่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 4 จังหวัด และพื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 3 จังหวัด โดยในภาพรวมพื้นที่ปลูกข้าวรอบสองทั้งประเทศยังไม่เกินแผนควบคุม 11.21 ล้านไร่ ที่กำหนดไว้ แม้ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวรอบสอง เกินแผนควบคุมใน 36 จังหวัดดังกล่าว แต่ในจังหวัดอื่นของประเทศปลูกข้าวไม่เกินแผนที่กำหนด ประกอบกับในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

11 จังหวัด เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยและทำอาชีพอื่นแล้ว

 นางดาเรศร์ กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยังคงเดินหน้าสร้างการรับรู้และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ได้ผลตอบแทนสูงทดแทนนาปรังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรเกิดความเข้าใจและก้าวผ่านความเสี่ยงในการปลูกข้าวรอบสองได้สำเร็จ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่น ๆ ทดแทนการปลูกข้าวรอบสอง สามารถขอคำแนะนำและความรู้เพิ่มเกี่ยวกับพืชนั้น ๆ ได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

จาก www.komchadluek.net วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

อุตฯ อ้อยน้ำตาลเคว้งคำสั่ง ม.44 สิ้นสุดปรับโครงสร้าง ก.ย.จะเดินหน้าอย่างไรต่อ

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเคว้ง หลังคำสั่ง ม.44 ปรับโครงสร้างสู่การลอยตัวสิ้นสุด ก.ย.นี้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ก็ยังไม่ได้พิจารณา โรงงานน้ำตาลมึนจะไปอย่างไรต่อ หวังรัฐบาลใหม่เร่งแก้ไขด่วน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือความชัดเจนของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายว่าจะเดินไปในทิศทางใดแน่ เนื่องจากคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 15 ม.ค. 61 ที่ยกเว้นการใช้บังคับ (18) มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายในการปรับโครงสร้างไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้

“คำสั่ง คสช.ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งนั้นกำหนดไว้ให้ดำเนินการเพียง 2 ฤดูกาลผลิต โดยสิ้นสุดเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งเข้าใจว่าขณะนั้นรัฐอาจคิดว่าร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับใหม่จะแล้วเสร็จทัน แต่ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงตอบไม่ได้ว่าที่สุดแล้วเมื่อมีการเปิดหีบอ้อยฤดูปี 62/63 ช่วงสิ้นปีนี้จะดำเนินการอย่างไรในการจัดสรรปริมาณน้ำตาล” นายสิริวุทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดรับกับกฎหมายหรือ พ.ร.บ.อ้อยฯ ที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของบราซิลที่ไทยได้ตกลงไว้แล้วเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากปัญหาความไม่ชัดเจนของทิศทางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงรอยต่อทางการเมืองทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายกำลังหารือถึงแนวทางการแก้ไขเพื่อสรุปนำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการพิจารณาและผลักดันต่อไป

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า หลังเลือกตั้งแล้วสิ่งที่รัฐบาลใหม่มาก็คงจะต้องมาดูเร่งด่วนถึงคำสั่ง ม.44 ว่าที่สุดจะย้อนกลับไปใช้ พ.ร.บ.อ้อยเดิมหรือไม่หรือจะมีอย่างอื่นเข้ามา เพราะ พ.ร.บ.อ้อยใหม่นั้นมันน่าจะจบไปแล้วหรือไม่ สิ่งนี้รัฐคงตอบได้เท่านั้น ส่วนการหีบอ้อยฤดูผลิตปี 61/62 ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 61 นั้น ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 118 ล้านตัน มีแนวโน้มว่าปริมาณอ้อยเมื่อปิดหีบที่คาดว่าจะเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์จะเฉลี่ยที่ระดับ 130 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้

จาก https://mgronline.com วันที่ 24 มีนาคม 2562

"พาณิชย์" เตรียมเป็นประธานประชุมอาเซียน

"อรมน" เผยพาณิชย์เตรียมเข้าร่วมประชุมเอทีเอฟ-เจซีซี ที่สปป.ลาว  พร้อมถกแนวทางเร่งอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาค              

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 2-3 เม.ย.62  กระทรวงจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (เอทีเอฟ-เจซีซี) ครั้งที่ 14 แ  ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว  เพื่อเร่งติดตามผลการดำเนินการอำนวยความสะดวกการค้าของสมาชิกอาเซียน พร้อมหารือภาคเอกชนอาเซียนหาช่องทางช่วยเสริมความคล่องตัวการทำการค้าในอาเซียน

สำหรับการประชุมจะครอบคลุมประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. การดำเนินการตามแนวปฏิบัติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษี ของอาเซียน ซึ่งกำหนดให้มีความโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบและให้ความเห็นก่อนใช้มาตรการ เพื่อลดมาตรการที่เลือกปฏิบัติและเป็นอุปสรรคต่อการค้า , 2 ติดตามและประเมินผลการดำเนินการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นไปตามพันธกรณีองค์การการค้าโลก  เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเผยแพร่ข้อมูลกฎระเบียบทั้งในรูปแบบสื่อออนไลน์และการจัดตั้งศูนย์ตอบข้อซักถาม และการออกคำวินิจฉัยล่วงหน้า เป็นต้น

และ 3 ให้ประเทศสมาชิกนำผลการศึกษาเรื่องระยะเวลาที่แต่ละประเทศใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า มาเป็นเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศสมาชิก  

นอกจากนี้ จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของสมาชิกอาเซียนในการเชื่อมโยงระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างๆ เช่นการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว  ให้ครบ 10 ประเทศอาเซียน ภายในปี 62 เป็นต้น

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 มีนาคม 2562

บี.กริม Big Jump พลังงานทดแทนอาเซียน

 ซุ่มปักธงผลิตไฟฟ้า หลายประเทศในอาเซียน จนสัมพันธ์ “ทุน-รัฐ” แน่นปึ้ก ได้เวลา “บี.กริม เพาเวอร์” ทะยานสู่ผู้นำผลิตไฟฟ้า พลังงานทดแทน“อาเซียน” หลังคว้าบิ๊กดีล“เวียดนาม”

บี.กริม (B.Grimm) หนึ่งในผู้บุกเบิกด้านโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและดำเนินธุรกิจในไทยมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2421 หรือกว่า 141 ปี ยิ่งเมื่อรัฐบาลไทยเปิดทางให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2538 เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น บี.กริม จึงไม่พลาดที่จะโดดสู่สังเวียนนี้

โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทลูก บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เมื่อ 24 ปีก่อน โครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2541

ขณะที่ก้าวสำคัญของธุรกิจยังเกิดขึ้น เมื่อบี.กริม เพาเวอร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560 ในนามบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ทำให้ธุรกิจโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะการเพิ่มน้ำหนักออกไปลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ

โดยปัจจุบัน บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ มีโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น 42 แห่ง แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 17 แห่ง ,โรงไฟฟ้าพลังงงานแสงอาทิตย์ 22 แห่ง ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 2 แห่ง ตั้งอยู่ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดในปี 2561 มีรายได้ 36,585 ล้านบาท เติบโต 16.2%

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เล่าว่า เข้ามาทำงานที่บี.กริม มาตั้งแต่ปี 2535 ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ (ปี2540) คู่กับเจ้าของ ฮาราล ลิงค์ ประธานกลุ่มธุรกิจบี.กริม และประธานกลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จนกระทั่งขยับมาบุกเบิกธุรกิจพลังงานหลากหลายในอาเซียน

โดยแผน 5ปีแรกหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าจะพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (ภายในปี 2565)  โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมแล้ว 3,126 เมกะวัตต์

“5,000 เมกะวัตต์เป็นเป้าหมาย5ปีแรกภายหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ อาจจะต้องทบทวนตัวเลขใหม่ เพราะแค่ปีกว่าๆ เราก็มีกำลังการผลิตติดตั้งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวม 3,126 เมกะวัตต์” ปรียนาถ เปิดฉากเล่าถึงความเนื้อหอมของบี.กริม เพาเวอร์ในอาเซียน ที่สวนทางกับสถานการณ์การผลิตพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ที่ยังอยู่ในภาวะอึมครึม หลัง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ส่งสัญญาณชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง5ปีจากนี้ นำไปสู่การปรับแผนธุรกิจของบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนกันจ้าละหวั่น

รวมถึง บี.กริม เพาเวอร์ ที่ไม่รอช้า รุดปรับแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ขยายไปสู่ต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในประเทศในพลังงานหลัก (ก๊าซธรรมชาติ) !!!

นายหญิงแห่งบี.กริม เพาเวอร์ ขยายความว่า แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าภายในประเทศจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) โดยมีลูกค้าหลักคือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีแผนย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส่วนแผนการรุกตลาดต่างประเทศ ในระหว่างพลังงานทดแทนในประเทศชะลอตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ต่างประเทศกำลังมุ่งพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อสอดคล้องกันกับเทรนด์โลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยบี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปปักธงลงทุนพัฒนาไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมแล้วในบางประเทศ จึงไม่ยากที่จะแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจพลังงานหลากหลายด้าน ประกอบด้วย โครงการพลังงานน้ำในสปป. ลาว ที่มีแผนการผลิต 133 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 15 เมกะวัตต์

รวมไปถึง มีแผนพัฒนาโครงการสายส่ง พลังงานความร้อนร่วม, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์), และพลังงานลม ที่มีแผนเข้าไปพัฒนาในเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์ และกำลังศึกษาลู่ทางในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา เป็นขั้นต่อไป

ส่วนประเทศ นอกกลุ่มอาเซียน อย่างเกาหลี และใต้หวัน “ปรียนาถ”บอกว่า กำลังเข้าไปพัฒนาพลังงานทดแทนมากขึ้น !

“ตัวเลขการพัฒนาไฟฟ้าที่เซ็นสัญญาไปแล้ว 3,126 เมกะวัตต์นั้น ยังไม่รวมกับสัญญาใหม่จากต่างประเทศ เช่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซียและอินโดนีเซียในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และโครงการพลังงานลม และพลังงานความร้อนร่วม” เธอย้ำและว่า

ปีที่ผ่านมา ยังถือว่าปีของการเติบโตก้าวกระโดด (Big Jump) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลางปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลเวียดนามเริ่มเปิดกว้างเพิ่มแหล่งพลังงานทดแทนเนื่องจากรัฐบาลเวียนามได้เซ็นสนธิสัญญาปารีส ลดโลกร้อน ทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จึงเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทน

ที่ผ่านมา บี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปยึดหัวหาดพัฒนาโครงการไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมเบียนหัว ในเวียดนามมากว่า 20 ปี มีลูกค้า160ราย  ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปบุกเบิกพลังงานทดแทนในเวียดนาม ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

ซีอีโอ บี.กริม เพาเวอร์ ยังระบุถึงแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าในเวียดนามว่า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซ่ว เตี้ยง 1 และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซ่วเตี้ยง 2 (Dau Tieng 1 and Dau Tieng 2 Sola Plants) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 420 เมกะวัตต์ ถือเป็น“โซลาร์ฟาร์ม”ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเวียดนาม โดยบี.กริม เพาเวอร์ ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ซวน ก่าว(XUAN CAU Company Limited)ประเทศเวียดนาม สัญญาระยะยาว 20 ปี

อีกโครงการคือ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จังหวัด ฟูเยี่ยน เวียดนาม กำลังการผลิต 257 เมกะวัตต์ โดยความร่วมมือลงทุนระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ และ TTVN Group จากเวียดนาม โดยมีพันธมิตรอีกราย คือ ไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ บรรษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังานยักษ์ใหญ่จากจีน เข้ามาสนับสนุนการก่อสร้าง และเงินทุน

โดยทั้ง 2 โครงการมีกำลังการผลิตรวม 677 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างเพื่อให้พร้อมเปิดให้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายใน30 มิ.ย.ปีนี้ เพราะโครงการพลังงานทดแทนที่เปิดภายหลังจากนี้ จะเปลี่ยนอัตราการรับซื้อไฟในรอบถัดไป (Tariff) จาก9.35 เซนดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ เป็น 8 เซ็นต์ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์

“ตอนนี้บี.กริม เพาเวอร์ กลายเป็นนักลงทุนผู้บุกเบิกด้านพลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและในอาเซียน 2 โรงไฟฟ้ารวมกันตามแผน และไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้กำลังศึกษาด้านพลังงานลม อีก 200 เมกะวัตต์”

นี่คืออีกจุดเปลี่ยนสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างแดนจากปี2561 ในต่างประเทศมีกำลังการผลิต 364.2 เมกะวัตต์ จะเพิ่มเป็น 737 เมกะวัตต์หลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าที่เวียดนาม ส่งผลให้สัดส่วนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 24.2% ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในประเทศลดลง จาก98.4%ลดลงเหลือ75.8%

ผลดีอีกด้านคือ เกิดการกระจายความเสี่ยง  จากการผลิตไฟฟ้าหลากหลายประเภท กระจายในหลายพื้นที่ ไม่พึ่งพาพลังงานใดพลังงานหนึ่งมากเกินไป จากเดิมน้ำหนักการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม หรือ ก๊าซธรรมชาติ มีสัดส่วน91.9%ขณะที่โรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีสัดส่วน6.6% ,โรงไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วน 0.9% และ โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 0.6% โดยการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในเวียดนาม จะทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงเหลือ70% พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นเป็น30%ในปี 2562

ตามเป้าหมายของการปักธงพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะส่งผลทำให้สัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสัดส่วนลดลงเหลือ65%ภายในปี 2565

เธอยังบอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของการขึ้นเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าในเอเชีย ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เดินมาถูกทาง เพราะแนวโน้มการบริโภคไฟฟ้าในเอเชียเพิ่มขึ้นทุกปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกต่างก็หันไปใช้พลังงานสะอาด ตามเทรนด์ของโลก เพื่อลดโลกร้อน โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ถือว่าถูกที่ ถูกเวลา

“เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีทิศทางการพัฒนาไฟฟ้าด้านพลังงานทดแทนชัดเจน และเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย5-7%ต่อปีในช่วง3ปีที่ผ่านมา ประชากรยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และวัยทำงานจึงมีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความต้องการไฟฟ้าก็มีมากขึ้น เพราะทางใต้ยังเกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เสถียร”

ส่วนประเทศนอกกกลุ่มอาเซียน เกาหลี และไต้หวัน บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างเข้าไปศึกษาโอกาสการพัฒนาพลังงานทดแทนมีการเซ็นสัญญาทำความตกลง (MOU)กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเกาหลี (Korea Electric Power Corporation – KEPCO)สร้างกรอบความร่วมมือกักเก็บและจำหน่ายพลังานไฟฟ้า รวมถึงศึกษาและพัฒนาระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจริยะแบบครอบวงจร (Smart Grid)ซึ่งบี.กริม เพาเวอร์ ได้เข้าไปจัดตั้งบริษัทย่อยในเกาหลี ชื่อบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (เกาหลี ) จำกัด (B.Grimm Power (Korea) Limited)ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้น 100%รอโอกาสการ่วมทุนในอนาคต

***สัมพันธ์แน่น-ธุรกิจแกร่ง

กลยุทธ์ในการปักธงในต่างแดนสำหรับบี.กริม เพาเวอร์ เริ่มจากการสร้างเพื่อนเปิดประตูธุรกิจ นั่นคือ การมีพันธมิตรธุรกิจ และผู้ร่วมทุน ที่ต่างมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้นำรัฐบาล กระจายอยู่ในทุกประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจให้บี.กริมฯ สร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างแดน

อีกทั้งทุกโครงการที่เข้าไปพัฒนา จะต้องทำสัญญาระยะยาวไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพื่อความมั่นคงในการพัฒนาธุรกิจหารายได้ในระยะยาว

“การไปต่างประเทศ ต้องมีพันธมิตรแข็งแกร่ง โดยเฉพาะเวียดนามเราเข้าไปทำธุรกิจในเวียดนามกว่า20ปี มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง เมื่อรัฐบาลเปิดก็พร้อมรุกไปลงทุน ส่วนตัวบี.กริมฯ ก็มีโนว์ฮาวในด้านพลังงาน เป็นตัวจริงในธุรกิจผลิตไฟฟ้า”

เมื่อบี.กริม เพาเวอร์ ประกบกับเจ้าของธุรกิจชั้นนำในเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลาย ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และพลังงาน โดยมีกลุ่มผู้นำด้านพลังงานจากจีน 2 ราย ได้แก่ ไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ ผู้พัฒนาโครงการขนาดยักษ์ในจีน เข้ามาเป็นผู้รับเหมา และสนับสนุนด้านเงินทุนในต่างประเทศ เป็นแรงขับเคลื่อนให้เดินไปลงทุนนอกประเทศได้อย่างมั่นใจ ไม่ใช่โนเนม

“การเข้าลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีไชน่า เอ็นเนอร์ยี่คอยสนับสนุน เช่น โครงการที่เวียดนาม บี.กริมฯ จะเข้าลงทุนโดยการเป็นเจ้าของโครงการ โดยมีไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ รับหน้าที่ก่อสร้าง โดยใช้ศักยภาพด้านเงินทุนและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งของไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ช่วยลดข้อจำกัด และความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้งการพัฒนาโครงการยังรับประกันคุณภาพงาน รับรองประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้า และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน”

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-river)ในสปป.ลาว หลังจากเกิดผลกระทบน้ำท่วมจากปัญหาเขื่อนแตก ทำให้รัฐบาลในลาวเริ่มกลับมาทบทวนโครงการที่มุ่งเน้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการที่บี.กริมฯ เข้าไปพัฒนาจึงเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่ต้องตัดป่าไม้ และอพยพผู้คน แต่บี.กริมฯ ยังไม่มีแผนขยายการลงทุน เพราะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายของภาครัฐเป็นหลัก

ส่วนในเมียนมา กำลังรอโอกาสและจังหวะ เมื่อการเมืองในเมียนมานิ่ง เพราะความต้องการโรงไฟฟ้าในเมียนมามีสูง แต่การเมืองยังไม่เปิดกว้างให้ภาคธุรกิจต่างชาติเข้าไปมากนัก ในระหว่างรอความชัดเจนทางการพัฒนาพลังงาน จึงเข้าไปศึกษาวิธีการนำเทคโนโลยีลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหลวให้กลายเป็นไอ ซึ่งเกิดประโยชน์สำหรับโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้ทะเล สามารถต่อท่อหรือเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าก็นำไปใช้ได้ทันที

“เทคโนโลยีใหม่ในการลำเลียงก๊าซธรรมชาติเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีท่อก๊าซ และสายส่งไม่เยอะ ช่วยให้สร้างโรงไฟฟ้าตามเกาะแก่ง สถานที่ท่องเที่ยวได้ง่าย”

------------------------------

เปิดโผ 3 โอกาสใหม่ในประเทศ

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโครงการในประเทศไทยว่า  ปลายเดือนก.พ.ผ่านมา ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซื้อหุ้นใน บริษัท โกลว์ เอสพีพี1(Glow SPP1)จำกัด โดยบริษัทลูก บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) จำกัด ซื้อขาย หุ้น กับบริษัท โกลว์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จ ากัด (มหาชน) โดยการถือหุ้น100% มูลค่า 3,300 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โกลว์เอสพีพี1 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (โคเจนเนอเรชั่น) กำลังการผลิต 124 เมกะวัตต์

รวมไปถึงโครงการที่พัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ล่าสุดได้เข้าไปจัดทำข้อเสนอดำเนินโครงการระบบไฟฟ้าและน้ำเย็นพื้นที่อากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ที่จะมีแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้ารูปแบบผสมผสาน (Hybrid) )ซึ่งจะมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานสูงสุด แบ่งเป็น2ระยะ

โครงการระยะที่1 ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม80เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน15เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 50เมกะวัตต์ชั่วโมง

โครงการระยะที่2 ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม80เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือบนหลังคา หรือแบบลอยน้ำ55เมกะวัตต์ โดยมีระยะเวลาในการพัฒนาและดำเนินการก่อสร้างระยะที่1ระหว่างปี2561 – 2564และระยะที่2ระหว่างปี2564 –2566

จาก www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 มีนาคม 2562

กรมน้ำลงพื้นที่ เดิมบางนางบวช ติดเครื่องสูบน้ำ เลี้ยงไร่อ้อย กว่า 1,200 ไร่

นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ลงพื้นที่หมู่ 4 ต.วังศรีราช และหมู่ 6 ต.ป่าสะแก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เพื่อติดตามผลการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง พร้อมกล่าวว่า ในปีนี้ประสบภัยแล้งเร็วกว่าปกติ เนื่องจากฝนที่เว้นช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นเวลานานถึง 6 เดือน ประชาชนจำนวน 40 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรกว่า 1,200 ไร่ได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวบ้านได้ดำเนินการไปแล้วได้รับความเสียหายได้

“ปริมาณน้ำในคลองกระเสียวลดลง สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 จึงลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยสูบน้ำจากคลองกระเสียวเพื่อนำน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรบรรเทาความเดือดร้อน อีกทั้งหลังจากนี้จะเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อกระจายน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อไป” นายเวสารัชกล่าว

เจ้าของไร่อ้อยรายหนึ่งกล่าวว่า ต้องขอบคุณกรมทรัพยากรน้ำที่เร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ทำให้อ้อยที่ชาวบ้านได้ปลูกไว้ในจุดสูบน้ำจุดที่ 1 กว่า 400 ไร่ และจุดที่ 2 กว่า 800 ไร่ได้รับน้ำ ไม่เช่นนั้นอ้อยที่ลงปลูกไว้ต้องตายหมดแน่ๆ เนื่องจากปีนี้แล้งมาเร็วมาก

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

ฝนหลวงเฝ้าติดตามสภาพอากาศ เพื่อปฏิบัติการฝนเทียมช่วยเกษตรกร

“ฝนหลวงเฝ้าติดตามสภาพอากาศใกล้ชิด เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการฝนเทียมช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรหลายแห่งประสบภัยแล้ง พร้อมเต็มน้ำในเขื่อน ควบคู่ดับไฟป่าในหลายพื้นที่”

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ 22 มีนาคม 2562 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ บุรีรัมย์และจันทบุรี โดยขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่อำเภอโชคชัย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาและอำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี

ขณะที่ในวันนี้ 23 มีนาคม 2562 หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดนครสวรรค์และกาญจนบุรี ยังคงติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน เพื่อขึ้นบินช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายบริเวณพื้นที่การเกษตรของจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท รวมถึงบริเวณพื้นที่การเกษตรอำเภอไทรโยค ห้วยกระเจา เลาขวัญ และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี

หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดเชียงใหม่และพิษณุโลก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ที่รับผลกระทบ และบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำพูน รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่เม่า จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาและห้วยป่าแดง จังหวัดเพชรบูรณ์

สำหรับหน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดบุรีรัมย์และอุดรธานี ได้วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กบริเวณตอนล่างของจังหวัดนครราชสีมา

ด้านหน่วยปฏิบัติการจังหวัดสงขลา วางแผนช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส พื้นที่การเกษตรจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง

ส่วนหน่วยฯ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการบริเวณพื้นที่การเกษตรบริเวณอำเภอหัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

กษ.หนุนเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย วอนงดทำนาปรังเสี่ยงเสียหายปริมาณน้ำขาดแคลน

“กษ.หนุนเกษตรกร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย จูงใจปล่อยสินเชื่อ ดอกต่ำ 2พันบาทต่อไร่ วอนงดทำนาปรังเสี่ยงเสียหายปริมาณน้ำขาดแคลน ระบุเหลือพื้นที่จัดสรรน้ำหน้าแล้งเพียง3.04ล้านไร่”

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนการปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อกำหนดทิศทางและดำเนินงานให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชของเกษตรกรที่อาจเกิดความเสียหายจากภาวะภัยแล้ง โดยแผนการดำเนินงาน 6 เดือนในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มจาก 1 พฤศจิกายน-30 เมษายน 2562 ครอบคลุมพื้นที่แห้งแล้ง 16.08 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรทำการปลูกพืชไปแล้ว 13.4 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ที่สามารถรองรับตามแผนงานได้อีกเพียง 3.04 ล้านไร่ โดยปริมาณน้ำในพื้นที่เขตแห้งแล้งจะสามารถรองรับการปลูกข้าวรอบที่ 2 ตามแผนได้ 11.21 ล้านไร่ ล่าสุดเกษตรกรมีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ไปแล้ว 11.02 ล้านไร่ จึงมีปริมาณน้ำที่จะสามารถรองรับการปลูกข้าวได้อีกเพียง 0.19 ล้านไร่เท่านั้น

“ขอให้เกษตรกรที่จะปลูกข้าวในช่วงนี้อาจมีความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำที่อาจไม่เพียงพอ หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีอายุสั้น เช่น พืชผัก หรือข้าวโพดแทน โดยพืชที่ทางกรมได้แนะนำให้มีการปลูกทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ก็คือ 1. กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวานรวมทั้งพืชตระกูลถั่ว 2.กลุ่มพืชผักอายุสั้น ที่มีปริมาณการใช้น้ำน้อยกว่าข้าวถึง 3 เท่า “รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้ได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 เพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน อันจะเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกร 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการข้าวโพดหลังนา โดยมีแผนการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาในปีนี้ครอบคลุมพื้นที่ 7.4 แสนไร่ เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นไร่ละ 2,000 บาท กำหนดพื้นที่ต่อเกษตรกรหนึ่งรายไม่เกิน 15 ไร่ อัตราดอกเบี้ย 0.01% กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการประกันภัยพืชผลให้อีกไร่ละ 65 บาท/ไร่ อีกด้วย นอกจากการนี้ยังมีการให้ความรู้กับเกษตรกรโดยจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ตลอดจนเชื่อมโยงตลาดโดยประสานความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากตามเป้าหมายที่วางไว้

2.โครงการพืชหลากหลาย เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ได้ทดลองนำร่องแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงสานต่อโครงการในปีนี้และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โครงการนี้เน้นการปลูกพืชอายุสั้นและมีความหลากหลายเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการตลาด เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยรัฐสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไร่ละ 1,000 บาท กำหนดพื้นที่ตามความเหมาะสม ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลการปลูกพืชช่วงแล้งได้ที่ สำนักงานเกษตรในพื้นที่ได้ตั้งแต่วันนี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 31.50-31.90 บาทต่อดอลล์

กสิกร คาดค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ จับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ                  

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเมินค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยต้องจับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.พ. 2562 ของธปท. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน การพิจารณาข้อตกลงเบร็กซิทของรัฐสภาอังกฤษ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแกว่งตัวระหว่างสัปดาห์ตามผลการประชุมกนง. และเฟด โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนจะอ่อนค่าไปที่ 31.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ถือว่าอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ ช่วงกลางสัปดาห์หลังผลการประชุมกนง.ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% และมีการปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลง และเฟดส่งสัญญาณว่า อาจจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในปีนี้       

จาก https://www.dailynews.co.th  วันที่ 23 มีนาคม 2562

“บิ๊กฉัตร” ส่งไม้ต่อสทนช. เดินตามยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี

“บิ๊กฉัตร” ส่งไม้ต่อสทนช.เดินตามยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปี ชี้รัฐบาลนี้แจ้งเกิดพ.ร.บ.น้ำ พร้อม 4 เสาหลักบริหารน้ำ ปีนี้ตั้งเป้าเน้นน้ำกินน้ำใช้ครบ7,490 หมู่บ้าน เร่งปรับปรุงแหล่งน้ำประปา-พื้นที่เศรษฐกิจ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” ณ ห้องเวสต์เกตฮอลล์ ชั้น 4 ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต จ.นนทบุรี โดยรองนายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังจากเป็นประธานในพิธิเปิดงานว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและน้ำดื่มเป็นปัญหาสำคัญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี 2535 องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” ซึ่งแต่ละปีทุกประเทศทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องน้ำแก่ประชาชน สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศด้วยเป้าหมายหลักที่มุ่งพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยอย่างรอบด้าน สร้างความแข็งแกร่งให้ยืนอยู่ได้ในเวทีโลกทั้งในระดับเศรษฐกิจและสังคม โดยน้อมนำหลักการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ควบคู่กับการน้อมนำแนวทางของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10“สืบสาน รักษา ต่อยอด”มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่เดิม

ทั้งนี้ ผลงานการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของรัฐบาล ทำให้เกิด 4 เสาหลักที่สำคัญครั้งแรกที่สำคัญของประเทศและต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ได้แก่ 1.การจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) 2.การตราพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 3.การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ และเพื่อให้การบริหารจัดการมีความยั่งยืน มุ่งพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 และ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้จัดตั้งเสาหลักที่ 4 ที่ว่าด้วยการนำองค์ความรู้ โดยใช้ศาสตร์พระราชา งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย

ในส่วนของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (2558-2569) ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบด้วยแผนแม่บท 6 ด้าน โดยมีเป้าประสงค์ ดังต่อไปนี้

1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนทั้งในเมืองและชนบท มีน้ำอุปโภคและน้ำดื่มเพียงพอได้มาตรฐานสากล พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองอย่างเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม

2.การสร้างความมั่นคงด้านน้ำสำหรับภาคการผลิต สามารถจัดหาน้ำเพื่อการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้อย่างสมดุลระหว่างน้ำต้นทุนและความต้องการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำทุกประเภท และการจัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรน้ำฝน และพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีระบบป้องกันน้ำท่วมและอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ ทั้งโครงสร้างและการบริหารจัดการ มีผังการระบายน้ำทุกระดับ การบริหารพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ชะลอน้ำ ตลอดจนมีการบูรณาการเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำหลาก และน้ำท่วม ร่วมกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศล่วงหน้า ที่รวดเร็ว ชัดเจน และใกล้เคียงมากที่สุด

4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีการจัดการให้ชุมชนขนาดใหญ่ มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการจัดการโดยการป้องกันและลดน้ำเสียที่ต้นทาง

5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน ป่าต้นน้ำได้รับการฟื้นฟู สามารถชะลอการไหลบ่าของน้ำ มีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดชัน

และ 6.การบริหารจัดการ มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีธรรมาภิบาล ทันสมัย มีกฎหมาย ระเบียบ เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ มีโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำทุกระดับ เน้นการบริหารจัดการน้ำในเชิงเตรียมการป้องกันภัยจากน้ำ การมีส่วนร่วมจากการสร้างการรับรู้ การร่วมคิด ร่วมทำแผนหลัก และแผนปฏิบัติการระดับลุ่มน้ำ และระดับจังหวัดสะท้อนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับพื้นที่ผู้ใช้น้ำ ลุ่มน้ำ และเชื่อมโยงไปถึงระดับนโยบาย ประกอบกับการมีระบบฐานข้อมูล ทรัพยากรมนุษย์ และงานวิจัยเพียงพอในการตัดสินใจและบริหารจัดการ

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านที่ 1 คือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นด้านที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด มีกรอบการดำเนินการ 4 ประการ คือ 1.ต้องการให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2562 หมู่บ้านในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 7,490 หมู่บ้าน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ให้ครบทุกหมู่บ้าน รวมทั้งปรับปรุงระบบประปาเดิมที่ชำรุดเพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

2.มุ่งพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน โดยมุ่งยกระดับให้ถึงเกณฑ์การตรวจวัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 (SDGs)

3.พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 404 เมือง 4.2 ล้านครัวเรือน รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน

และ 4.การประหยัดน้ำทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เช่น การแก้ปัญหาความสูญเสียน้ำของระบบท่อ ซึ่งปัจจุบัน ข้อจำกัดของการส่งน้ำด้วยระบบท่อ ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำระหว่างทางไปไม่น้อยกว่า 30% โดยรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่า จะลดความสูญเสียของน้ำจากระบบท่อให้เหลือเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้สามารถลดการหาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อทดแทนปริมาณน้ำที่สูญเสีย

“การประชุมกนช.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช.ยังได้กำชับให้การประปาทุกแห่งต้องมีแหล่งน้ำสำรองของตัวเอง สำหรับผลิตน้ำประปาให้ได้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอทั้งปีทุกพื้นที่ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศด้วย ซึ่งท่านลงมาดูเรื่องนี้ด้วยตัวเอง หลังจากนี้ใากให้สทนช.สานต่องานนโยบายดังกล่าว พรบ.น้ำเกิดขึ้นแล้วในรัฐบาลนี้ ไม่ได้พูดอย่างเดียว”

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานว่า กิจกรรม “วันน้ำโลกและสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” ว่า ในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์ในระดับโลก คือ “Leaving no one behind” ขณะที่ประเทศไทยได้กำหนดแนวคิดเพิ่มเติมในการรณรงค์ระดับประเทศคือ “ทั่วถึง..เท่าเทียม.. เพียงพอ” โดย สทนช. ได้เชิญหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติดูแลเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การผลิตและการกระจายน้ำ และหน่วยงานต่างประเทศ รวม 18 หน่วยงาน มาร่วมจัดนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเฉพาะแผนแม่บทด้านที่ 1 ที่เป็นเรื่องการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผลงานที่ผ่านมา แผนการดำเนินงานในอนาคต ตลอดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในบริหารจัดการน้ำ

รวมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ความท้าทายของการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค” มีผู้เข้าร่วมเสวนา 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมอนามัย ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการความท้าทายของการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาคุณภาพน้ำประปาให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมโดยเฉพาะประปาหมู่บ้าน การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จภายใต้แผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติในการร่วมกันประหยัดและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562

เปิดแผนบริหารจัดการน้ำ20ปี รองรับยุทธศาสตร์ชาติเน้น6ด้าน

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ บริหารจัดการน้ำ20ปี

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงข้อมูลแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า มีเป้าหมายใหญ่ 6 ด้าน คือ 1.จัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประปาหมู่บ้านต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 ขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนรองรับเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจสำคัญ อัตราใช้น้ำต่อประชากรต้องลดลงภายในปี 2570, 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จะพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำให้เต็มศักยภาพ พัฒนาแหล่งน้ทางเลือกสนับสนุนพื้นที่สำคัญ จัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรลดความเสี่ยงและความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50 และปรับโครงสร้างการใช้น้ำ

3.ด้านจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ปรับปรุงการระบายน้ำและสิ่งกีดขวาง ทำผังลุ่มน้ำและบังคับใช้ในผังเมืองรวมและจังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤติร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม

 4.จัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ป้องกันลดน้ำเสียที่ต้นทาง พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน นำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ

5.อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ มุ่งเน้นฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม ป้องกันเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชัน และ 6.ด้านบริหารจัดการ สร้างระบบฐานข้อมูล ระบบติดตามประเมินผล สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงพัฒนานักวิจัย นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคบริการและการผลิต โดยปัจจุบันคณะทำงานจัดทำเป้าหมายเร่งด่วนระยะ 5 ปี เสร็จแล้ว เพื่อทำตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำดังกล่าวที่วางไว้ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 10,194 หมู่บ้าน ทำโครงการพัฒนาระบบน้ำชุมชนเพื่อเกษตรกรยังชีพนอกเขตชลประทานสู้ภัยแล้ง 1,837 ตำบล เพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งให้ลดลงร้อยละ 50 ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพปรับโครงสร้างการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานเดิม พื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก และพื้นที่พัฒนาระบบส่งน้ำใหม่

ขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ผ่านมีอีกหลายปัญหา ปัจจุบันจึงวางเป้าหมาย แผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาและสร้างพื้นฐานรองรับความเสี่ยงในอนาคต ภายใต้การดำเนินการทั้งส่วนการซ่อม สร้าง การพัฒนาที่ต้องก้าวกระโดด ดำเนินการไปพร้อมกับเตรียมคน ข้อมูลวิชาการ ข้อมูลข่าวสารและการปรับตัว ตลอดจนสร้างแพลตฟอร์มทดลองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน ซึ่งอนาคตอันใกล้ไทยก้าวสู่ยุค 5G เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องน้ำด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562

คนบ้านผือร้อง โรงงานน้ำตาล แอบปล่อยน้ำเสีย ทำน้ำเน่า ปลาตาย

ชาวบ้านที่บ้านผือ จ.อุดรฯ กำลังเดือดร้อน โรงงานน้ำตาลในพื้นที่ดื้อด้านทำผิดซ้ำซาก แอบปล่อยน้ำเสียลงลำห้วยพังพวนไหลมาร่วมที่เก็บน้ำ ทำน้ำเน่า ปลาตาย อ้างเป็น"อุบัติเหตุ"

วันที่ 21 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้ไปที่บ้านสระคุ หมู่ 8 ต.หนองหัวคู อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่า “ลำห้วยพังพวน” แหล่งน้ำสำคัญมีสภาพเน่า ปลาตาย ติดต่อกันมากว่า 10 วัน ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อพบกับกลุ่มชาวบ้านได้สอบถาม ต่างให้ความสนใจเรื่องนี้ เพราะต่างได้รับความเดือดร้อน แต่บางคนไปตักปลาใกล้ตาย ลอยอยู่ผิวน้ำขึ้นมากิน โดยน้ำเน่าได้ไหลลงไปใน “อ่างเก็บน้ำพังพวน” แล้ว

นายมะไร สานคำ อายุ 53 ปี ราษฎรบ้านสระคุ ระบุว่า ชาวบ้านมีวิถีชีวิตหากินหาอยู่กับห้วยพังพวนตลอดทั้งปี เมื่อไหลลงไปอ่างพังพวน พื้นที่หลายพันไร่ ชาวบ้านฝั่ง จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ก็ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่เมื่อราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีน้ำเสียไหลมาจากโรงงานน้ำตาล บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ 7 ต.คำบง อ.บ้านผือ ลงมาในลำห้วยพังพวน และไหลมาถึงบ้านสระคุ ส่งกลิ่นเหม็นเข้ามาในหมู่บ้าน มีปลาตะเพียน ปลาขาว ปลานิล และปลาตัวเล็ก ลอยขึ้นมาตาย

"วันนี้ปลาน่าจะตายหมดห้วยแล้ว น้ำในห้วยแม้ไม่เหม็นเข้าหมู่บ้าน แต่ก็เป็นน้ำเน่าจนเอามาใช้ไม่ได้ ชาวบ้านเคยลงหาปลาก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำมันเหม็นและคัน แต่ยังโชคดีที่บ้านสระคุ ประปาหมู่บ้านใช้น้ำใต้ดิน จึงยังมีน้ำสะอาดใช้กันอยู่ ไม่มีรู้ว่าชาวบ้านฝัง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จะเอาน้ำจากอ่างพังพวน ขึ้นไปผลิตน้ำประปาหรือไม่ อยากให้แก้ไขเรื่องนี้ทันที เพราะที่ผ่านก็มีปัญหาแต่ไม่มาก ครั้งนี้รุนแรงมากที่สุด และเกรงจะเกิดขึ้นอีก ”

ขณะที่นายสงวน สิงห์คำ อายุ 54 ปี ราษฎรบ้านสระคุ อาสาพาไปพิสูจน์ลำห้วยพังพวง บริเวณไหลผ่านที่นาตนเอง ก่อนจะไหลผ่านหมู่บ้านทางทิศเหนือ ซึ่งจะมีการสร้างฝายน้ำล้นไว้ 2 แห่ง มีน้ำเต็มฝายจนล้นเล็กน้อย สภาพน้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น มีกลิ่นเหม็นอ่อนๆ มีฟองเกิดขึ้นในจุดที่น้ำไหล และไหลไปตามกระแสน้ำ ผิวน้ำไม่พบว่ามีปลาขึ้นมาฮุบ หรือหาอาหารเลย ริมตลิ่งมีคราบสีน้ำตาล เมื่อใช้มือกวักน้ำขึ้นมาดม จะมีกลิ่นเหม็นรุนแรง ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้

นายสงวน สิงห์คำ เล่าว่า น้ำในห้วยพังพวนจะใสสะอาด ตักขึ้นมาล้างถ้วยชามได้ หรือเมื่อลงไปในลำห้วย น้ำลึกระดับต้นขา ก็ยังมองเห็นเท้าตัวเอง

แต่ตอนนี้เป็นน้ำเน่าสีน้ำตาล กุ้ง หอย ปู ปลา ตายกันไปเกือบหมด ผ่านมามากกว่าสิบวันยังเหม็นอยู่ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ หรือหาหนทางแก้ไข เชื่อว่าเกิดจากโรงงานน้ำตาลต้นน้ำ ปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน ไหลลงมาในลำห้วย และไหลมาราว 3 กม. ถึงบ้านสระคุ และอ่างพังพวน

ทางด้านนายชัชวาลย์ ปทานนท์ นายอำเภอบ้านผือ เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ต.คำบง อ.บ้านผือ มีกรณีชาวบ้านร้องเรียนเดือดร้อน จากน้ำเสียไหลออกนอกโรงงาน นาข้าวและไร่อ้อยเสียหาย  กลิ่นเหม็นจากบ่อบำบัดน้ำเสีย และฝุ่นละอองจากชานอ้อย อยู่ระหว่างมีคำสั่งให้ปรับปรุง  ก่อนหน้านี้ระหว่างประชุมเรื่องนี้ กับ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 อุตสาหกรรมจังหวัด นายกเทศบาลตำบลคำบง และผู้เกี่ยวข้อง ชาวบ้านแจ้งเพิ่มเติมว่า โรงงานปล่อยน้ำเสียออกมาอีก ซึ่งเป็นคนละจุดที่มีคำสั่ง และน้ำเสียมีจำนวนมาก ได้ไหลลงไปในลำห้วยพังพวน

 "คณะกรรมการฯ ได้พร้อมกันไปตรวจสอบ พบว่าน้ำเสียได้ไหลออกจากบ่อพัก ที่โรงงานฯอ้างว่าเกิดจากอุบัติเหตุ และไหลออกมาหลายวันแล้ว โดยไหลไปตามร่องน้ำที่โรงงานขุดไว้ ผ่านที่ดินชาวบ้านไปจนถึงลำห้วยพังพวน ไหลลงลำห้วยจนน้ำมีสีเข้ม ลักษณะเป็นน้ำเน่ามีกลิ่นเหม็น เดินตรวจสอบไปตามลำห้วย พบปลากำลังลอยขึ้นมาจะตาย เบื้องต้นมีคำสั่งให้โรงงานฯ ห้ามระบายน้ำออกเด็ดขาด"

นายอำเภอบ้านผือ ตอบคำถามด้วยว่า เป็นอำนาจโดยตรงที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี จะมีคำสั่งห้ามระบายน้ำออก พร้อมสอบสวนหาสาเหตุ และสั่งให้ทำการแก้ไข ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 9 จะตรวจสอบผลกระทบ หาหนทางแก้ไขน้ำเสียในลำห้วย โดยอำเภอสั่งให้ทำเขื่อนดิน กักน้ำเป็นช่วงๆไว้ก่อน

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

รถตัดอ้อย..เกษตรกรพร้อมมั้ย

เผาอ้อย สร้างปัญหาฝุ่นควันพิษ ภาครัฐคิดแก้ปัญหาด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปซื้อรถตัดอ้อย...วิธีการนี้จะช่วยได้แค่ไหน หรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่า

เวทีเสวนาหัวข้อ เผาอ้อย...ทางเลือก...ทางรอด...? จากผลงานวิจัยที่ลงไปสำรวจในพื้นที่ปลูกและเผาอ้อย จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำตอบจากการออกสำรวจข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่ปลูกและตัดอ้อย นำมาเปรียบเทียบความจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มก. ให้ข้อมูล...วันนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ควรจะเพิ่มรถตัดอ้อย

ข้อดีของการใช้รถตัดอ้อย หมดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ค่า น้ำตาลในอ้อยสูงขึ้น มลพิษไม่เกิดขึ้น ลดค่าใช้จ่ายใส่ปุ๋ยบำรุงดิน และสะดวกรวดเร็ว

แต่ข้อเสียเกษตรกรที่จะซื้อรถตัดอ้อย มีความพร้อมแค่ไหน...การใช้รถตัดอ้อยให้ประสบความสำเร็จ แปลงปลูกต้องเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีโขดหิน แต่ละแปลงควรมีความยาว 200 เมตรขึ้นไป เนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ และระยะห่างระหว่างร่องอ้อยไม่น้อยกว่า 1.5-1.6 เมตร

คนขับรถตัดอ้อยกับคนขับรถกล่องรับอ้อยต้องฝึกให้เกิดความชำนาญ รวมทั้งต้องรู้วิธีการซ่อมแซม และแก้ปัญหารถตัดอ้อย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ท้ายสุดเงินทุนซื้อรถตัดอ้อย รถใหม่ผลิตในประเทศขนาด 200-250 แรงม้า ราคา 6 ล้านขึ้นไป ขนาด 300-350 แรงม้า ราคา 8 ล้านขึ้นไป ส่วนรถตัดอ้อยที่นำเข้าจากต่างประเทศมีเฉพาะ 300-350 แรงม้า ราคา 11 ล้านขึ้นไป ส่วนมือสอง 6.9 ล้านบาทขึ้นไป

เกษตรกรที่ลงเงินทุนซื้อรถตัดอ้อยผลิตในประเทศมาใช้ 6 ปี พบว่า ได้ผลตอบแทนยังไม่คุ้มต้นทุน ยิ่งเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศจะต้องเป็นหนี้ไปอีกอย่างน้อย 11 ปี

ตัวเลขนี้เป็นการซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ตัดอ้อยของตัวเอง และรับจ้างตัดให้คนอื่นด้วย ยังไม่คุ้มทุน ถ้าซื้อมาแล้วจอดเฉยๆ พังแล้วซ่อมไม่ได้ อะไหล่ไม่มี หนี้สินจะไม่เพิ่มพูนหรืออย่างไร.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ปลัดพสุ” ปลื้มผลสำรวจนิด้าโพลชี้ ก.อุตฯ ออกใบอนุญาต ร.ง.4 สุดโปร่งใส สัดส่วน 85%ผู้ประกอบการพอใจ

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกอบการต่อการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) และการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสำรวจโดย ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มประชากรเป้าหมาย เป็น    ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่ได้รับใบอนุญาตฯ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 จำนวน 1,986 ราย ทั่วประเทศพบว่า ภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85 ใน 5 ด้าน คือ 1.การให้บริการของเจ้าหน้าที่ (ร้อยละ 88 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุภาพ เป็นมิตร กระตือรือร้นเต็มใจให้บริการ) 2.อัตราค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 87 กำหนดชัดเจนมีความเหมาะสม) 3.ขั้นตอนและกระบวนการให้บริการ (ร้อยละ 84 สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน มีความโปร่งใส) 4.เอกสารและหลักฐานประกอบ (ร้อยละ 83 มีการกำหนดรายชื่อแบบฟอร์มเอกสารหลักฐานไว้อย่างชัดเจน) และ 5. ช่องทางและสิ่งอำนวยความสะดวก (ร้อยละ 81 หน่วยงานมีการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และศูนย์สารพันทันใจในกรมโรงงานฯ) ตามลำดับ

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “วัตถุประสงค์ของการสำรวจฯ ก็เพื่อนำผลที่ได้ไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ โดยเฉพาะภารกิจด้านการอนุมัติอนุญาตฯ และการให้บริการผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนิด้าโพลได้จัดส่งรายงานสรุปผลการศึกษามายังกระทรวงฯ พร้อมกับเพื่อพัฒนาการบริการขององค์กรที่น่าสนใจ เช่น การให้บริการยื่นคำขอรับบริการต่าง ๆ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการโดยเฉพาะทักษะดิจิทัลในการปฏิบัติงาน การประชาสัมพันธ์ควรปรับรูปแบบช่องทางให้หลากหลาย และสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้ประกอบการ เรื่องขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานในแต่ละประเภท รวมถึงความปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประเด็นอื่นๆ เช่น ข้อกังวลเรื่องการทำประชาพิจารณ์ก่อนเปิดโรงงาน การจดทะเบียนเครื่องจักรที่หน่วยงานภูมิภาคไม่สามารถดำเนินการแทนส่วนกลางได้ การสามารถส่งเอกสาร/หลักฐานประกอบในการต่ออายุในปีต่อๆ ไปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง  การสร้างฐานข้อมูลศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เนื่องจากการขอใบอนุญาตฯ ในบางขั้นตอนต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เป็นต้น”

นอกจากนี้ทาง นิด้าโพล ยังจัดลำดับการอำนวยความสะดวกด้านการกำกับ ดูแลการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของหน่วยงานในสังกัดทั้ง 76 จังหวัด สรุปได้ว่ามีระดับความพึงพอใจต่อการให้บริการ ส่วนใหญ่อยู่ในเกรด B (ช่วงร้อยละ 80-89) จำนวน 47 จังหวัด รองลงมาคือเกรด A (อยู่ในช่วงร้อยละ 90 ขึ้นไป) จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ ตราด พะเยา ชัยภูมิ นครพนม อุตรดิตถ์ สุรินทร์ เชียงราย นครนายก มหาสารคาม พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม สระบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ ตาก พังงา ถัดมาได้รับเกรด C (ช่วงร้อยละ 70-79) จำนวน 9 จังหวัด และ เกรด D (ช่วงร้อยละ 60-69) จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู และ ศรีสะเกษ

     “การสำรวจในครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าและเคยใช้บริการของกระทรวงฯ ทั้งสิ้น โดยทั้งหมดมาจาก 21 กลุ่มอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจการทำงานของกระทรวงฯ สูงถึงร้อยละ 85 ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นการทำงานที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เหล่านี้เป็นผลมาจากการที่กระทรวงฯ เป็นส่วนราชการตัวอย่างของการลดระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆ การจัดทำคู่มือการให้บริการประชาชนในทุกกระบวนงานอนุญาตตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ การทำงานแบบสานพลังใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการให้บริการอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในหลายกระบวนงานเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อเพิ่มความโปร่งใสตรวจสอบได้”

     ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในภูมิภาค นำข้อมูลผลการวิจัยดังกล่าวถึงไปใช้ประโยชน์เพื่อการปรับกระบวนการให้บริการ และนำข้อสังเกต/ข้อเสนอแนะ ไปใช้ปรับปรุงงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

ส่งออกกุมภาฯพลิกบวก 5.9% แต่พาณิชย์คาด Q1 ยังติดลบ

พาณิชย์เผยส่งออกเดือนก.พ.กลับมาขยายตัว 5.9% ระบุอานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มมีทางออก ไทยกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผล 2 เดือนแรกตัวเลขบวก 0.16% ชี้แนวโน้มไตรมาสแรกน่าจะยังติดลบ ลุ้นไตรมาส 2 ปรับดีขึ้น

 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์  เผยถึง การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าขยายตัวเป็นบวก 5.90% (จากเดือนมกราคม ติดลบ 5.6%) โดยมีมูลค่าส่งออก 21,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   ซึ่งหากหักอาวุธและทองคำออกจะติดลบ 4.9%  ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงกดดันให้การค้าโลกชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าอ่อนแอ อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศเกิดใหม่รวมถึงไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย

อย่างไรก็ดีการส่งออกของไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศเมื่อเทียบอัตราการขยายตัวในระยะเดียวกัน โดยไทยสามารถรับมือกับผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนได้ค่อนข้างดีด้วยการกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ๆ  รวมถึงเจาะตลาดเดิมอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเชิงบวกที่สนับสนุนต่อการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยบวกจากที่ไทยหลุดจากใบเหลือง IUU และรายงานสถานะการค้ามนุษย์( TIP Report) ของสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้การส่งออกสินค้าไทยไปประเทศพัฒนาแล้ว

“การส่งออกของไทยรวม 2 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 40,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.16% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10% ส่งผลให้การค้าไทยยังเกินดุล 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในช่วง 2 เดือนแรกหดตัวหรือลดลงที่ 2%   โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้แก่ ข้าว หดตัวที่ 21.5% โดยตลาดที่หดตัว ประกอบด้วย เบนิน แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ แคเมอรูน และฮ่องกง  ส่วนยางพารา หดตัวต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัวที่ 15.8%  โดยหดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ ตุรกี และแคนาดา, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ 1.1%  โดยหดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดอินโดนีเซีย และไต้หวัน, กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 15.6%  หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และแคนาดา แต่ยังขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น และจีน

อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 18.7% ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม ฮ่องกง รัสเซีย และแคนาดา

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมช่วง 2 เดือนแรกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.95% มาจากอาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ส่งมอบคืนหลังนำเข้ามาซ้อมรบ(คอบร้าโกลด์) ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ส่งออกขยายตัวได้ดีในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 107%   โดยขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง,   ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว  9%  ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน มาเลเซียเวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น

ด้านตลาดส่งออก ตลาดสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษีและผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง และบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนกุมภาพันธ์ภาพรวมขยายตัว 23% โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 97%  ญี่ปุ่น11.4% ส่วนสหภาพยุโรปหดตัว 12.2 %  ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวเพียง 2.6% โดยการส่งออกไปอาเซียน(5ประเทศสมาชิกเดิม) ยังขยายตัว 2.8% ส่วนตลาดศักยภาพรองหดตัวที่ 8% โดยการส่งออกไปลาตินอเมริกา กลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางหดตัว 4.2, 12.2, 12.7 และ 14.2% ตามลำดับ

ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ในส่วนของตลาดสหรัฐฯขยายตัว 51.8%, ตลาดจีน หดตัว 9.2%, ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัว 8.5%, ตลาดเอเชียใต้ หดตัว 6.8%, ตลาด CLMV ขยายตัว 0.1%, ตลาดญี่ปุ่น หดตัว 5.8%, ตลาดอาเซียน(5)หดตัว 2.5%, ตลาดตะวันออกกลาง หดตัว 11.5%, ตลาดทวีปออสเตรเลียหดตัว 9.7% และตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัว 7.8%  เป็นต้น

“กระทรวงพาริชย์ยังเชื่อว่าแผนกิจกรรมส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปีจะช่วยให้การส่งออกขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยอมรับว่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปีนี้ตัวเลขอาจจะไม่ค่อยสวยเท่าไร แต่มั่นใจว่าในไตรมาส 2 การส่งออกจะดีขึ้น ส่วนการปรับเป้าส่งออกของกระทรวงนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.พ.เด้งรับเลือกตั้งแตะ 95.6 สูงสุดในรอบ 6 ปี

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ 95.6 สูงสุดในรอบ 6 ปีจากแรงซื้อในประเทศกระเตื้องรับกระแสเลือกตั้ง แต่ยังกังวลค่าเงินบาทผันผวน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมพาพันธ์ 2562 ว่าดัชนีฯ อยู่ระดับ 95.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.8 ในเดือน ม.ค. โดยเป็นค่าดัชนีฯ ที่สูงสุดในรอบ 72 เดือน หรือ 6 ปีนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2556 ซึ่งมาจากปัจจัยหลักจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง ยานยนต์ โดยได้แรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายในประเทศโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ ยานยนต์ อาหาร ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อความผันผวนของค่าเงินบาททำให้กระทบต่อการวางแผนและการกำหนดราคา รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลหุก สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจาก 104.1 ในเดือน ม.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังว่าภายหลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจนและส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐหามาตรการในเชิงรูปธรรมเพื่อสนบสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุค Disruptive Technology ให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศสามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ และเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้า เช่น กลุ่มประเทศยูโรโซน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยูเรเซีย

จาก https://mgronline.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

เปิดหน่วยฝนหลวง 13 หน่วย เร่งเติมน้ำเขื่อน!!

“กฤษฏา สั่งเร่งเปิดหน่วยฝนหลวง 13 หน่วย กระจายทั่วถึงทุกภูมิภาค ช่วยเติมน้ำเขื่อน สร้างความชุ่มชื้นพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ ชี้เดือนเม.ย.เผชิญสภาพอากาศร้อน-แล้งหนักสุด ล่าสุดพื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว15 จว.

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มีนาคม 2562 นี้ จะเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่สุราษฎร์ธานีเพื่อทำฝนช่วยพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ซึ่งเกษตรกรร้องขอฝนมา โดยได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพอากาศมาประจำการ หน่วยที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เป็นหน่วยที่ 10 จากที่กำหนดไว้ จากแผนจัดตั้ง 13 หน่วย โดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้เปิดหน่วยฝนหลวงกระจายตัวไปทุกภูมิภาคให้มากที่สุด เกาะติดพื้นที่ติดตามการปฏิบัติการอย่างใกล้ชิดและกำชับให้วางแผนบริหารจัดการทั้งเจ้าหน้าที่ อากาศยาน เครื่องมือ และสารฝนหลวงให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุดได้เร่งปฏิบัติการทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำตามที่กรมชลประทานประสานมาได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง ห้วยป่าเลา ห้วยป่าแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ กระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี ทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี ห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มูลบน-ลำแซะ ลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา

สำหรับพื้นที่เกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้วหลายพื้นที่หลายภูมิภาค ในภาคเหนือ เช่น อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก ภาคตะวันออก เช่น ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีณบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร มหาสารคาม เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำฝนเพื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในภาคเหนือได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก

"ช่วงปลายสัปดาห์หน้าบริเวณความกดอากาศสูงจากจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาอีกครั้ง ทำให้โอกาสที่เมฆจะก่อตัวมีมากขึ้นส่งผลดีต่อการทำฝนหลวง อย่างไรก็ตามในเดือนเมษายน จะมีสภาพอากาศที่อุณหภูมิสูงที่สุด คาดว่า หลายจังหวัดจะประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้น กรมฝนหลวงฯ จะตั้งหน่วยปฏิบัติการเพิ่มโดยประเมินตามสถานการณ์ความรุนแรงของภัยแล้ง โดยที่กำหนดไว้แล้วคือ นครราชสีมา"อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

เล็งตั้งศูนย์น้ำจังหวัด บริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่!!

สทนช.ห่วงเขื่อนขนาดกลาง-เล็ก กว่า400แห่ง ชี้ไร้เจ้าภาพหลักบริหารจัดการแล้ง-ท่วม ผุดจัดตั้งศูนย์น้ำจังหวัด ขึ้นตรงผู้ว่าราชการจังหวัดมีข้อมูลน้ำรวดเร็วครบถ้วนในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ อุดช่องโหว่ช่วงวิกฤติน้ำ

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.62 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณา วางแผน ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำ เช่น ช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง เพื่อให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากทุกวันนี้ข้อมูลน้ำในแหล่งน้ำบางแห่งอยู่ในสภาพไม่มีผู้รับผิดชอบที่แท้จริง โดยเฉพาะเขื่อนขนาดกลางกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 แห่งไม่มีปัญหา ทุกแห่งมีเจ้าภาพดูแลหมด แต่เขื่อนขนาดกลางความจุตั้งแต่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปจนเกือบแตะระดับ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีกว่า 400 แห่งยังมีปัญหาตรงที่ไม่มีเจ้าภาพดูแลทั่วถึง บางจังหวัดดูแลถึง 5-6 เขื่อน พอเกิดมีวิกฤติน้ำขึ้นมาจะวิ่งเทียวไปเทียวมาก็ไม่ทันการณ์แล้ว จึงต้องหาหน่วยงานรับผิดชอบใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มเติม ส่วนเขื่อนขนาดเล็ก มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่การติดตามปริมาณน้ำยังคงใช้วิธีการประเมินปริมาณน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมของ Gisda เพื่อ ติดตามสถานการณฺน้ำ ซึ่ง สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติในการสำรวจ ติดตามปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะให้แต่ละหน่วยงานใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์สมัยใหม่ติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทดลอง

ทั้งนี้แนวทางของ สทนช. ในเบื้องต้น คือ ให้หน่วยงานมอบหมายให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นผู้รับผิดชอบแจ้งข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับปริมาณน้ำไปยังศูนย์น้ำจังหวัด ต่อไปยังศูนย์น้ำภาค และ สทนช. ตามลำดับ ซึ่งวิธีนี้จะคล่องตัวกว่า ข้อมูลเร็วกว่า และสามารถติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ตลอดเวลา โดยที่กลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะส่งข้อมูลผ่านไปให้หน่วยงานผิดชอบเขื่อนเช่นกัน ไม่ว่ากรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้จะส่งไปที่ สทนช. เหมือนกัน

“ในส่วนของศูนย์น้ำจังหวัดเป็นแผนการจัดตั้งหน่วยงานในระดับจังหวัดดูแลเรื่องน้ำโดยเฉพาะ โดยอาศัยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 หรือกฎหมายอื่นๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้จังหวัดในฐานะเจ้าของพื้นที่มีข้อมูลน้ำที่ครบถ้วน รวดเร็ว และมีส่วนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”เลขาธิการ สทนช. กล่าว

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

พณ.เล็งออก Form D ลดภาษีขาเข้าอาเซียน

กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าเตรียมออก Form D ลดภาษีขาเข้าประเทศอาเซียน ควบคู่ Third Party Invoicing ลดภาษีขาเข้าประเทศอาเซียน

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน กรณีการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) สำหรับการส่งสินค้าจากประเทศสมาชิกคนกลางไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ (Back-to-Back Certificate of Origin) ควบคู่กับการใช้ใบกำกับราคาที่ออกโดยประเทศที่สาม (Third Party Invoicing) จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำไปกระจายขายต่อไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยยังใช้สิทธิในการยกเว้นภาษีนำเข้าจากศุลกากรอาเซียนปลายทางได้ แม้ว่าใบกำกับราคาของสินค้าที่ไทยส่งออกไปจะเป็นใบกำกับราคาที่ออกโดยบุคคลหรือนิติบุคคลประเทศที่สามก็ตามซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อไทยในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าในกลุ่มอนุภูมิภาคอาเซียนที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

ทั้งนี้ เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว กรมฯ จะดำเนินการการแจ้งต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (SC-AROO) ครั้งที่ 30 ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2562 และผลักดันให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการใช้สิทธิประโยชน์ฯ Form D กรณี Third Party Invoicing ควบคู่กับ Back-to-Back C/O อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ภายในกลางปี 2562

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

ส่งออกเดือนก.พ.ผิดคาด พุ่งขึ้น 5.9% จับตาค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ส่งออกเดือนก.พ.บวก จับตาค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยง แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อม สุญญากาศช่วงเลือกตั้ง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.พ. 2562 มีมูลค่า 21,553.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.91% ซึ่งเป็นการกลับมาบวก จากเดือน ม.ค. ที่ติดลบ 5.6% โดยสาเหตุที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย ทำให้ทิศทางการส่งออกทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น

รวมทั้งผู้นำเข้ามีความมั่นใจนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร หลังจากรัฐบาล ยกระดับการคุ้มครองแรงงาน จนสามารถปลดใบเหลืองทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมของไทย (ไอยูยู) อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธ การส่งออกหดตัวที่ 4.9% และหากรวม 2 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกขยายตัว 0.16%

“แม้ว่าความไม่แน่นอนทางการค้า ยังคงกดดันให้การค้าโลกชะลอตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าอ่อนแอ อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวในระยะเดียวกัน สะท้อนว่าพื้นฐานการส่งออกไทยมั่นคง แต่ก็ยืดหยุ่นและสามารถรับมือความผันผวน จากปัจจัยเสี่ยงภายนอกได้”น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ดังจะเห็นจากการสามารถรับมือกับผลกระทบของสงครามการค้าได้ค่อนข้างดี ด้วยการกระจายสินค้าไปตลาดใหม่ หรือสามารถเจาะตลาดเดิมได้ทดแทนคู่แข่งขัน ส่วนปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ยังคงเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน และการมีผลใช้บังคับของเขตการค้าเสรี( FTA) ในประเทศต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า แม้ว่าความไม่แน่นอนทางการค้ายังคงกดดันให้การค้าโลกชะลอตัวแต่ การส่งออกไปตลาดหลักขยายตัวถึง 23% เช่น การส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัว 97.3% มาจากการส่งออกเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องปรับอากาศฯมากขึ้น เป็นต้น

เช่นเดียวกับการส่งออกไปตลาดจีนที่ติดลบลดลงเหลือเพียง 1.5% เท่านั้น จากเดือนม.ค.ที่ติดลบถึง 16% เนื่องจากไทยสามารถกระจายกลุ่มสินค้าส่งออกไปได้มากขึ้น ทำให้มีสินค้าใหม่ส่งออกมากขึ้น เช่น ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง ส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 128% และไก่สด เพิ่มส่งออกไปได้ครั้งแรก 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงกว่าการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์ที่ส่งออกได้ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ 2 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออกรวม 40,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังขยายตัว 0.16%

ขณะที่การนำเข้าเดือนก.พ.มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 10% ตามการนำเข้าทองคำลดลง ทำให้เกินดุลการค้า 4,034 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทิศทางการส่งออกปีนี้ แม้ภาพรวมจะยังทรงตัว แต่เชื่อว่าปัจจัยการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งไทยยังปรับตัวได้ดี ทั้งการกระจายกลุ่มสินค้าและกระจายไปยังตลาดใหม่ แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเข้าไปดูแลลดความเสี่ยงของผู้ส่งออกและช่วงหลังการเลือกตั้ง จะยังคงไม่มีรัฐบาลอีกระยะหนึ่งผู้ส่งออกจะต้องหามาตรการป้องกันความเสี่ยง เพื่อพยุงการส่งออกก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนนโยบาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาควรเร่งเจรจาการค้าในกรอบต่าง ๆ ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเจรจาการค้ามีความสำคัญในการแข่งขันของผู้ส่งออกจากแต้มต่อด้านภาษีหลังการเจรจา FTA ขณะที่คู่ค้าพร้อมที่จะเจรจากับประเทศไทยเพียงแต่รอความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะนโยบายการยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญ 15 อุตสาหกรรม เนื่องจากสินค้าได้รับการยกระดับเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้นดีต่อการส่งออกในภาพรวมอีกด้วย

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

ก.เกษตรฯแจงเกณฑ์รับเงินปลูกพืชหลังนา

กรมส่งเสริมการเกษตร แจงเงื่อนไขรับเงิน 600 บาทต่อไร่ ช่วยปลูกพืชหลังนา มั่นใจจ่ายเงินชาวสวนปาล์ม 1,500 บาทต่อไร่ก่อนสงกรานต์

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่ประชุมได้มีมติให้มีการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา โดยจะช่วยเหลือให้เป็นปัจจัยการผลิตกับเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่ง และพื้นที่งดทำนาปรัง มาปลูกพืชผัก พืชไร่ ใช้น้ำน้อยช่วง ฤดูแล้งนี้ โดยเกษตรกรต้องไม่เคยเข้าร่วมโครงการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกโครงการในฤดูกาลที่ผ่านมา โดยจะจ่ายให้กับเกษตรกร ครัวเรือนละ 1 สิทธิ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ตามพื้นที่ปลูกจริงในอัตราไร่ละ 600 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงินประมาณ 9,000 บาท ในพื้นที่เป้าหมาย 4.87 ล้านไร่ เกษตรกร 330,000 ครัวเรือน ภายใต้กรอบวงเงิน 2,932 ล้านบาท

สำหรับโครงการฯ เกษตรกรต้องสมัครเข้าร่วมโดยมีเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้

1.เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 31 มีนาคม 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562

2.เป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ยกเว้นภาคใต้ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562  และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562

3.เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 – 15 มิถุนายน 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562

นอกจากนี้ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) ปีใดปีหนึ่ง และเป็นพื้นที่เฉพาะที่นา ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ไร่

พร้อมกันนี้เงินช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 อีกประมาณ 90,000 ครัวเรือน ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่ประมาณสัปดาห์หน้า หรือ ก่อนสงกรานต์แน่นอน

จาก https://www.innnews.co.th    วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

“เกษตรสมัยใหม่” เพิ่มอ้อยสดพลิกโฉมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยให้ยั่งยืน

ปัจจุบันโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้สร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตร เช่นด้านการเพิ่มผลผลิต ที่สำคัญก็คือยังรองรับสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่ปัญหาการเผาอ้อยอีกด้วย

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ภายในเวลาเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็กลับหันกลังให้กับอาชีพเกษตรกรด้วยความคิดว่ามีความยากลำบาก หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแรงงานตัดอ้อยจึงมีจำนวนลดน้อยถอยลงในทุกๆปี

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย ชาวไร่ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเผาอ้อยแทนการตัดอ้อยสด เพื่อให้ทันส่งอ้อยเข้าโรงงาน แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าการเผ้าอ้อยนอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลภาวะกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังทำให้น้ำหนักอ้อยและค่าความหวานลดลง ทั้งยังส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินซึ่งเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตที่จำเป็นของอ้อยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยก็มิได้นิ่งนอนใจ ต่างเร่งคิดหาแนวทางในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ รวมถึงกลุ่มมิตรผลซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมายาวนานก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและได้รณรงค์การตัดอ้อยสดมาโดยตลอดเช่นกัน

นายบันเทิง  ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่กลุ่มมิตรผลส่งเสริมและแนะนำแนวทางการทำการเกษตรสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ให้กับชาวไร่ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ประยุกต์นำองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีมาปรับใช้ ตั้งแต่ขั้นตอนการปรับรูปแบบแปลงเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรในการจัดการไร่อ้อย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวด้วยวิธีการตัดอ้อยสดและไว้ใบคลุมดิน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรก้าวสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่(Smart Farmer) มีวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เราพยายามชี้ให้ชาวไร่เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับจากการตัดอ้อยสดไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนที่ลดลง ผลผลิตดีขึ้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการตัดอ้อยสดและการขายใบอ้อย สุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นอีกทั้งยังได้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม”

นายคนิด แคว้นคอนฉิม ชาวไร่อ้อย อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ที่ปัจจุบันหันมาตัดอ้อยสด กล่าวว่า “แต่ก่อนเคยเผาอ้อยก่อนตัด ก็เป็นปัญหามาก เผาทีไร กำนันผู้ใหญ่บ้านมาเตือนถึงบ้าน เพื่อนบ้านก็ร้องเรียน ไฟลามไปโดนที่คนอื่น และต้องใช้คนงาน 60-70 คนเข้าไปตัดอ้อย ตอนนี้พอเราเปลี่ยนรูปแบบแปลงให้เครื่องจักรเข้าไปวิ่งทำงานในไร่ได้แล้ว ก็ตัดอ้อยสดด้วยรถตัด สับขึ้นรถบรรทุกได้ง่าย ใช้คนงานแค่ 6-7 คน และไว้ใบอ้อยคลุมดิน ก็ควบคุมวัชพืชได้ดีขึ้นมาก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและที่สำคัญคือ ดินดีขึ้น เพราะใบที่คลุมดินไว้เรากลบเป็นซากคืนอินทรียวัตถุให้ดิน ดินก็อุดมสมบูรณ์ มีอาหารให้อ้อย ดินไม่แข็งไม่ด้าน ทำไร่ที่เผาบ่อยๆ ดินจะแน่นมาก และระยะยาวทำให้ดินเสื่อมสภาพ อีกทั้งยังสร้างมลพิษ สร้างความเดือดร้อนให้คนในชุมชน”

นายธนะโชค  ไกยฤทธิ์  ชาวไร่อ้อย อำเภอหนองพอก  จังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 24 ปี ตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าทำ นำเทคโนโลยีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาปรับใช้อย่าสมดุลกล่าวว่า “ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากให้ทุกคนเผาอ้อยเพราะคนที่ไม่เผา มักจะโดนไฟจากไร่อื่นลามเข้ามาสุดท้ายก็ไหม้ตามๆ กัน ตอนนี้เรามีวิธีจัดการไร่ที่ไม่ต้องเผาใบ คือเตรียมแปลงตั้งแต่เริ่มต้นให้รถตัดเข้าไปทำงานได้ และทุกวันนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ทำไร่อ้อยได้สะดวกสบายขึ้นเราควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้คุ้มค่า ถ้าให้เลือกเริ่มวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ผมเลือกเริ่มวันนี้ดีกว่า”

ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรรวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว ปรับความคิด และลงมือปฏิบัติ นำเอาเทคโนโลยีและการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

WEHขึ้นเบอร์1อาเซียน ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม717MW

นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เปิดเผยว่า ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เคอาร์ วัน กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ (MW)ตั้งอยู่ในจ.นครราชสีมา ของบริษัท ได้เริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)ให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

 ไม่พลาดข่าวสำคัญ ติดตาม LINE@แนวหน้า ที่นี่

ปัจจุบันพื้นที่ 8 โรงไฟฟ้าพลังลมของวินด์ฯ กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ต่อเนื่องถึงชัยภูมิ ขนาดพื้นที่ประมาณ 850 ตารางกิโลเมตร หรือ 3 เท่า ของประเทศสิงคโปร์ นับเป็นฟาร์มกังหันลมต่อกันเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมกังหันลมทั้งหมด 270 ต้น  และมีกังหันลมบนพื้นดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใบพัดเทียบเท่ากับขนาดเครื่องบิน A380 สูง 225 เมตร 

“จากความสำเร็จ COD ครบถ้วนตามแผนทั้ง 8 โครงการ ทำให้วินด์ฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้พัฒนาและดำเนินธุรกิจด้านไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 717 เมกะวัตต์ สะท้อนภาพธุรกิจแข็งแกร่ง จนคว้ารางวัล Fastest Growing Renewable Energy Company จากนิตยสารการเงินโลกชั้นนำ International Finance Magazine (IFM) มาแล้ว”นางเอมม่า กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

สั่งเร่งจ่ายเงินค่าครองชีพเกษตรกรไร่ละ 600 บาท

“กฤษฏา” สั่งเร่งจ่ายเงินค่าครองชีพไร่ละ 600 บาท ถึงมือเกษตรกรโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยช่วงแล้ง งดทำนาปรัง พร้อมดูแลใกล้ชิดเกษตรกรภาคประมง -ปศุสัตว์ ชี้ปัญหาภัยแล้งกินเวลาอีก 2 เดือน ส่อรุนแรงและยาวนาน ช่วยบรรเทาผลกระทบ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร จ่ายค่าครองชีพให้ถึงมือเกษตรกร ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)ที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังฤดูกาลทำนา ไร่ละ 600 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ หรือ 7,000 บาทในพื้นที่4.87 ล้านไร่ หลังจากครม.มีมติช่วยเหลือกรอบวงเงิน 2,932ล้านบาท ให้เป็นปัจจัยการผลิตกับเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่งและพื้นที่งดทำนาปรัง มาปลูกพืชผัก พืชไร่ ใช้น้ำน้อยช่วงฤดูแล้งนี้ซึ่งฤดูฝนมาช้า อาจไปถึงปลายเดือนพ.ค.

ด้าน นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แล้งแห้งและบางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งนายกฤษฎา กำชับทุกหน่วยงานดูแลและให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เพราะฤดูแล้งยังไปอีก2เดือน

ขณะนี้ลักษณะอากาศในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงซึ่งอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง การช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และการช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

“เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน หากจำเป็นต้องทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าแล้ง ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม ส่วนการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังซึ่งมีระดับลึกเพียงพอ จัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่หนาแน่นจนเกินไป โดยกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรเพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวกตลอดเวลา ควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ ควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ” นายถาวรกล่าว

ขณะที่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานถึงผลกระทบจากสถานการณ์แล้งต่อภาคปศุสัตว์เพราะภาคปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรอื่นๆ ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม มีแหล่งน้ำเป็นของตนเองจึงไม่น่าห่วง แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง คือเกษตรทั่วไป ซึ่งได้สั่งการไปยังปศุสัตว์อำเภอ ให้เข้าไปดูแลว่า มีกลุ่มไหนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้ง คาดว่า หลังจากเดือนเมษายนป็นต้นไปอาจเกิดปัญหากับสัตว์ใหญ่ เช่นโค กระบือ เป็นต้น ซึ่งเตรียมใช้รถขนน้ำเข้าไปช่วย

กรมปศุสัตว์ ได้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ประสบภัยแล้งประจำปี 2562 โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยมีการเตรียมเสบียงสำรอง ไว้ที่คลังเสบียงของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ (ศอส.) 32 แห่ง จำนวน 6,078.98 ตัน แบ่งเป็นหญ้าแห้ง 4,876.7 ตัน หญ้าหมัก 830.98 ตัน หญ้าสด 371.3 ตัน คลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล 55 แห่ง เป็นหญ้าแห้ง 273 ตัน เสบียงเกษตรกร 482 ราย รวม 324,230.7 ตัน แบ่งเป็นหญ้าแห้ง 6,067.7 ตัน หญ้าหมัก 229,116 ตัน และหญ้าสด 89,046 ตัน นอกจากนี้ยังเตรียมยานพาหนะไว้ 201 คัน ถุงยังชีพ 3,000 ชุด หน่วยงานสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 18 หน่วย โดยมีหน่วยอพยพสัตว์ และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 9 หน่วย 278 คน เตรียมเวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์ ประจำปศุสัตว์เขต 9 เขต ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแล้ง ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากปศุสตว์ผ่าน ไลน์ ID : DLD Disaster center

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

สทนช.เล็งจัดระบบแหล่งน้ำเชื่อมศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด

สทนช.ห่วงเขื่อนขนาดกลาง-เล็ก หลายแห่งยังขาดเจ้าภาพหลักบริหารจัดการ ติดตามสถานการณ์น้ำ เล็งดึงกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นตัวช่วยแจ้งข้อมูลกรณีที่ไม่มีเจ้าภาพดูแล พร้อมร่วมหนุนจัดตั้งศูนย์น้ำจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีข้อมูลน้ำรวดเร็วครบถ้วนในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ หวังอุดช่องโหว่ช่วงวิกฤติน้ำ

                นายสมเกียรติ ประจำวงษ์  เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณา วางแผน ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์น้ำ เช่น ช่วงเวลาที่เกิดน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง เพื่อให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้บริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากทุกวันนี้ข้อมูลน้ำในแหล่งน้ำบางแห่งอยู่ในสภาพไม่มีผู้รับผิดชอบที่แท้จริง โดยเฉพาะเขื่อนขนาดกลางกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ

          "เขื่อนขนาดใหญ่กว่า 30 แห่งไม่มีปัญหา ทุกแห่งมีเจ้าภาพดูแลหมด แต่เขื่อนขนาดกลางความจุตั้งแต่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปจนเกือบแตะระดับ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีกว่า 400 แห่งยังมีปัญหาตรงที่ไม่มีเจ้าภาพดูแลทั่วถึง บางจังหวัดคนเดียวดูแลถึง 5-6 เขิ่อน พอเกิดมีวิกฤติน้ำขึ้นมาจะวิ่งเทียวไปเทียวมาก็ไม่ทันการณ์แล้ว  จึงต้องหาหน่วยงานรับผิดชอบใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มเติม ส่วนเขื่อนขนาดเล็ก มีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว แต่การติดตามปริมาณน้ำยังคงใช้วิธีการประเมินปริมาณน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมของGisda เพื่อ ติดตามสถานการณฺน้ำ ซึ่ง สทนช.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติในการสำรวจ ติดตามปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยอาจจะให้แต่ละหน่วยงานใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์สมัยใหม่ติดตั้งเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทดลอง"นายสมเกียรติ กล่าว

          สำหรับแนวทางของ สทนช. ในเบื้องต้น คือ ให้หน่วยงานมอบหมายให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นผู้รับผิดชอบแจ้งข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับปริมาณน้ำไปยังศูนย์น้ำจังหวัด ต่อไปยังศูนย์น้ำภาค และ สทนช. ตามลำดับ ซึ่งวิธีนี้จะคล่องตัวกว่า ข้อมูลเร็วกว่า และสามารถติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ตลอดเวลา โดยที่กลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะส่งข้อมูลผ่านไปให้หน่วยงานผิดชอบเขื่อนเช่นกัน ไม่ว่ากรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้จะส่งไปที่ สทนช. เหมือนกัน

        เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า  ในส่วนของศูนย์น้ำจังหวัดเป็นแผนการจัดตั้งหน่วยงานในระดับจังหวัดดูแลเรื่องน้ำโดยเฉพาะ โดยอาศัยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 หรือกฎหมายอื่นๆ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้จังหวัดในฐานะเจ้าของพื้นที่มีข้อมูลน้ำที่ครบถ้วน รวดเร็ว และมีส่วนในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2562

คลี่แผนแม่บทจัดการน้ำ 20 ปี ตั้งเป้าลดวิฤตภัยแล้งใน 5 ปี

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ

สกว. – จุฬาฯ ร่วมเปิดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ เผยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ วางแผนสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งเป้าลดวิฤตภัยแล้งใน 5 ปี

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานในการเปิดงาน “เวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 10” : การบริหารจัดการน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562

เวทีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพือให้เกิดความยั่งยืนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รักษาการที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงข้อมูลแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่า มีเป้าหมายใหญ่ 6 ด้านด้วยกัน คือ

1.ด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประปาหมู่บ้านต้องมีคุณภาพได้มาตรฐานภายในปี 2573 มีการขยายเขตประปา สำรองน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจที่สำคัญ อัตราการใช้น้ำต่อประชากรต้องลดลงภายในปี 2570

2.ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จะพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำให้เต็มศักยภาพ พัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกสนับสนุนพื้นที่สำคัญ จัดหาน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนลดความเสี่ยงและความเสียหายในพื้นที่วิกฤต ร้อยละ 50 ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพและปรับโครงสร้างการใช้น้ำ

3.ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีการปรับปรุงการระบายน้ำและสิ่งกีดขวาง จัดทำผังลุ่มน้ำและบังคับใช้ในผังเมืองรวมและจังหวัดทุกลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง บรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤตร้อยละ 60 เพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวและเผชิญเหตุในพื้นที่น้ำท่วม

4.ด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และฟื้นฟูแม่น้ำ ลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ

5.ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ มุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม ป้องกันการเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชัด

6.ด้านการบริหารจัดการ สร้างระบบฐานข้อมูล ระบบติดตามประเมินผล สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนานักวิจัย นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคบริการและการผลิต

“ปัจจุบันคณะทำงานได้จัดทำเป้าหมายเร่งด่วนระยะ 5 ปี เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย เพื่อทำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวที่วางไว้ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 10,194 หมู่บ้าน จัดทำโครงการพัฒนาระบบน้ำชุมชน เพื่อเกษตรกรยังชีพนอกเขตชลประทานสู้ภัยแล้ง 1,837 ตำบล เพื่อแก้วิกฤตภัยแล้งให้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพปรับโครงสร้างการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานเดิม พื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก และพื้นที่พัฒนาระบบส่งน้ำใหม่”

ขณะที่ รศ.ดร.สุจริต คุณธนกุลวงศ์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า สถานภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ผ่านมามีความมุ่งมั่นในการแก้แต่ยังคงมีอีกหลายปัญหาที่รออยู่ ปัจจุบันจึงมีการวางเป้าหมาย แผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาและสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ภายใต้การดำเนินการหลายระดับทั้งในส่วนของการซ่อม สร้าง การพัฒนาที่ต้องก้าวกระโดด

“กระบวนการดังกล่าวต้องดำเนินการไปพร้อมๆกับ การเตรียมคน เตรียมข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและการปรับตัว ตลอดจนควรมีการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน โดนอนาคตอันใกล้ที่ไทยกำลังก้าวสู่ยุค 5 G เทคโนโลยีนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องน้ำด้วย”

จาก https://mgronline.com   วันที่ 20 มีนาคม 2562

“กรมชลประทาน”ไม่ประมาทสำรองน้ำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2562 จากกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งประเทศมีปริมาณฝนสะสม รวม 58.60 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย (ฝน 30 ปี) 20% แยกเป็นรายภาคได้ ดังนี้ โดยแบ่งเป็น "ภาคเหนือ" มีฝนสะสม รวม 39.80  มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย 84 % "ตะวันออกเฉียงเหนือ" ฝนสะสม รวม 26.30 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 15% "ภาคกลาง" มีฝนสะสม รวม 8.80  มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 67 %  "ตะวันออก" ฝนสะสม รวม  24.60  มม.น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 61% "ใต้ฝั่งตะวันออก" มีฝนสะสม รวม 187.90 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย  63%และ"ใต้ฝั่งตะวันตก"ฝนสะสม รวม 89.40 มม. มากกว่าค่าเฉลี่ย 24 %

สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง   ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 14,379 ล้าน ลบ.ม. (56% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้  7,535 ล้าน ลบ.ม. (40% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 11,447 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 3,981 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้  2,182 ล้าน ลบ.ม. (25% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 6,386 ล้าน ลบ.ม.

ภาคกลาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 535 ล้าน ลบ.ม. (30% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้  451 ล้าน ลบ.ม. (27% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 1,253 ล้าน ลบ.ม.   ภาคตะวันตก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 21,225 ล้าน ลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 7,940 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 5,522 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 1,269 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 1,117 ล้าน ลบ.ม. (48% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 1,209 ล้าน ลบ.ม.ภาคใต้ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 6,522 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้  4,759 ล้าน ลบ.ม. (67% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 2,341 ล้าน ลบ.ม.รวมทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,910 ล้าน ลบ.ม. (63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 23,984 ล้าน ลบ.ม. (46% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 28,158 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,605 ล้าน ลบ.ม. (55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 6,909 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 11,266 ล้าน ลบ. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 412 แห่ง ปัจจุบัน (20 มี.ค. 62) แบ่งได้ ดังนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30%  มีจำนวน   109  แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 30 – 60%  มีจำนวน   174  แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 60 – 100%  มีจำนวน 129  แห่ง มีการวางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ จำนวน 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจำนวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953  ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน

ทั้งนี้ผลจาการวางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 – 30 เมษายน 2562) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ จำนวน 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจำนวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953  ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 400 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค – บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,410 ล้าน ลบ.ม.

 ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง  ปัจจุบัน (20 มี.ค. 62) ใช้น้ำไปแล้ว 18,216 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนจัดสรรน้ำ ส่วนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล  สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) วันนี้ใช้น้ำไป 44.52 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง ปัจจุบัน (20 มี.ค. 62)  ใช้น้ำไปแล้ว 7,123 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนจัดสรรน้ำผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2561/62 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มี.ค. 62)ทั้งประเทศ วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งสิ้น 8.03 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 8.46 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 105.40 ของแผนฯ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวม 5.30 ล้านไร่ ปัจจุบัน เพาะปลูกไปแล้ว 5.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 110.38 ของแผนฯ

อย่างไรก็ตามทางกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยระดมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,851 กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ 1) ตามสำนักงานชลประทานต่างๆ จำนวน  1,151 เครื่อง และ 2) สำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 700 เครื่อง ทั้งนี้ ได้มีการระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 200 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งตามภูมิภาค จำนวน 150 คัน และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง จำนวน 50 คัน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ภัย ณ วันที่ 20 มีนาคม 2562  ปัจจุบันยังคงมีจังหวัดที่ประกาศเขตภัยแล้ง จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ มี 5 อำเภอ 7 ตำบล และ 53 หมู่บ้าน และจากอิทธิพลพายุฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมถึงปัจจุบันเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกรรโชกแรงในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร เลย ลำปาง แพร่ พะเยา ลำพูน อุดรธานี และน่าน จำนวน 16 อำเภอ 31 ตำบล และ 71 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่า 1 รายและบาดเจ็บ 1 ราย

จาก www.thansettakij.com    วันที่ 20 มีนาคม 2562

รมช.อุตฯ ลงพื้นที่ขอนแก่น ทำความเข้าใจชาวไร่อ้อย ลดเผาอ้อย ไม่สร้างฝุ่น PM 2.5

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) นายสมพล โนดไธสง รองฯ สอน. และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และเป็นประธานเปิดงาน “วันรณรงค์ ไม่เผาอ้อย ไม่สร้างฝุ่นละออง ลด PM 2.5 และการสาธิตเครื่องจักรกลในไร่อ้อย” เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสะอาดเข้าโรงงาน พร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ลดภาวะการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้แก่เกษตรกรทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลยื่นมือเข้ามาช่วยเกษตรกรรายเล็ก และให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกู้ร่วมได้

“สำหรับในอีสานกลาง ทางชาวไร่อ้อยได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่า จะพยายามลดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งอาจเป็นอุบัติเหตุบ้าง ความไม่เข้าใจบ้าง หรือบางทีก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของชาวไร่ และผู้ประกอบการบางรายที่ยังมองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่เชื่อว่าในวันนี้ ทุกคนตระหนักถึงอันตราย และจังหวัดเองก็มีมาตรการกำกับดูแล ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในส่วนของท้องถิ่นที่เข้ามาดูแลได้ใกล้ชิดมากขึ้น เชื่อว่าในระยะยาวการจัดการจะเห็นผล โดยได้ตั้งเป้าชัดเจนว่าภายใน 3 ปี จะไม่ให้มีอ้อยไฟไหม้” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2562

เผาอ้อย-ทางเลือก-ทางรอด?

 “ขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรต้องหันมาใช้วิธีเผา เพื่อตัดอ้อยได้เร็ว ทันฤดูเปิดหีบของโรงงานน้ำตาล”

ดร.นภสม สินเพิ่มสุขสกุล ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดประเด็นในเวทีเสวนาหัวข้อ เผาอ้อย...ทางเลือก...ทางรอด...? จากผลงานวิจัยที่ลงไปสำรวจในพื้นที่ปลูกและเผาอ้อย

แม้จะมีการแก้ปัญหาด้วยการหักค่าอ้อยไฟไหม้ ในอัตราตันละ 30 บาท ไม่เกิน 120 บาท...แต่ไม่คุ้มค่า ยังไม่จูงใจให้เกษตรกรเลิกเผาได้

จากการลงพื้นที่ออกแบบสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี 800 คน พบว่า การเผาอ้อยก่อนตัดสร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ให้กับสุพรรณบุรีฤดูกาลละ 296 ล้านบาท กาญจนบุรี เสียหาย 192 ล้านบาท...นี่ยังไม่รวมถึงความเสียหาย จากการหยุดเรียน ทำความสะอาดโรงเรียน บ้าน และวัด

สาเหตุหลักของการเผาอ้อยมาจากแรงงานไม่ยอมตัดอ้อยสด เพราะ แรงงานไม่ได้ทำงานตัดอ้อยอย่างเดียว ต้องหมุนเวียนไปทำงานอย่างอื่น เช่น ทำนา ก่อสร้าง ฯลฯ เลยทำให้แรงงานเหล่านี้ มีเวลามารับจ้างตัดอ้อยได้ไม่นาน และการตัดอ้อยให้ได้เร็ว ทันเวลาก่อนแรงงานจะหันไปทำงานอย่างอื่น และทันฤดูปิดหีบอ้อย...จึงต้องใช้วิธีการเผาอย่างเดียว

การตัดอ้อยสดให้ค่าแรงตันละ 140-210 บาท แต่ละวันแรงงานแต่ละคนจะได้ไม่เกิน 1-1.5 ตัน...ส่วนตัดอ้อยไฟไหม้ จะได้ค่าแรงตันละ 200-300 บาท ตัดได้คนละ 2-3 ตัน

จะเห็นได้ว่าตัดอ้อยไฟไหม้ แรงงานได้ผลตอบแทนสูงกว่าตัดอ้อยสด และเจ้าของไร่อ้อยได้ผลผลิตไปขายได้มากและเร็วกว่า แม้จะจ่ายแพงกว่า แต่ก็คุ้มค่า ดีกว่าไม่มีแรงงานมาตัดอ้อยเลย นี่คือปัญหาหลักของการเผาไร่อ้อยที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษคลุมเมือง หนทางแก้ไข รัฐมีนโยบายให้เงินกู้ซื้อรถตัดอ้อย จะแก้ปัญหานี้ได้ดีแค่ไหน...พรุ่งนี้มาว่าต่อ.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2562

ผลิตคนป้อนอุตสาหกรรมอ้อย

นายสุเทพ  ชิตยวงษ์   เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา  (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.) ร่วมกับบริษัท น้ำตาลวังขนาย จำกัด ลงนามความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งรับมอบทุนสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 45 คน จาก 9 สาขาวิชา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 24 คน จาก 5 สาขาวิชา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 20 มีนาคม 2562

มท.1 ระบุ “ภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าปีก่อน” สั่งเตรียมรับมือ-ช่วยเหลือประชาชน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมครม.ในวันนี้ ถึงสถานการณ์ภัยแล้งเเละมาตรการช่วยเหลือ ว่า จากการประเมินของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งเเต่กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทานวานนี้ มีรายละเอียดว่า ในช่วงมีนาคม-เมษายน ฝนจะน้อยกว่าปีก่อน

กรณีต่อมาคือ ในอ่างเก็บน้ำจะมีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ฝนจะมาปลายเดือนพฤษภาคม โดยภาพรวมคาดว่าจะเเล้งกว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยต้องเอาข้อมูลไปบูรณาการในพื้นที่ ตั้งเเต่น้ำอุปโภค บริโภค ทั้งนอกเขต เเละในเขตว่ามีน้ำเพียงพอ หรือขาดเเคลนหรือไม่ ตั้งเป้าให้ถึงต้นเดือนพฤษภาคมจะต้องอยู่ให้ได้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตร ว่า จะเพียงพอหรือไม่อย่างไรนั้น พื้นที่เขตชลประทานในเเต่ละพื้นที่ ได้เเจ้งเตือนเเละขอความร่วมมือจากประชาชน เช่น กระทรวงเกษตรลงไปดูการปลูกพืช ที่ใช้น้ำมาก-น้อย ส่วนนี้เป็นรายละเอียดของเเต่ละพื้นที่

“นี่เป็นเรื่องของการเตรียมการรับสถานการณ์ ส่วนการเตรียมความพร้อมในขณะนี้ ทุกพื้นที่ต้องคอยเเจ้งเตือนประชาชน เตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือให้พร้อม ในขั้นปฏิบัติ ต้องช่วยในเรื่องบูรณาการดำเนินการ ทั้งเรื่องน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค เเละน้ำเพื่อการเกษตร” มท.1 กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากภัยเเล้งมากกว่าปีก่อนหน้า จะมีการทำฝนเทียมหรือไม่ รมว.มหาดไทย ระบุว่า ถ้าทางฝ่ายฝนเทียม กล่าวว่าทุกพื้นที่ดำเนินการได้ สถานการณ์เอื้อต่อการทำ ก็จะทำฝนหลวงงในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงพฤษภาคม บางพื้นที่ต้องเตรียมการหากน้ำมันหมดในช่วงนั้น เเต่โดยภาพรวมคิดว่าไม่น่าจะรุนเเรงมากนัก

เมื่อถามว่ามีจังหวัดไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง หลังประกาศก่อนหน้านี้ในจังหวัดร้อยเอ็ด เเละศรีสะเกษ หน่วยพยากรณ์เขาได้ให้ข้อมูลในพื้นที่เเล้ว ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงบ้าง ตอนนี้พื้นที่เขารู้เเล้ว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

ไทย-ต่างชาติเชื่อมั่นอีอีซี ยอดลงทุน4ปีทะลัก2.28 ล้านล.

บีโอไอ เผย 4 ปี นักลงทุนแห่ยื่นขอส่เสริมการลงทุน 5.5 พันโครงการ เงินลงทุน 2.28 ล้านล้านบาท รับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ชี้นักลงทุนไทยและต่างชาติเชื่อมั่นอีอีซี แห่ขอส่งเสริมลงทุนกว่าครึ่ง ชลบุรี พื้นที่ที่นักลงทุนสนใจสูงสุด

 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในการประชุมติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ในรอบ 4 ปี(2558-2561) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า  มีจำนวนผู้ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ จำนวน 5,518 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 2.289 ล้านล้านบาท เป็นยอดขอรับการส่งเสริมใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่า 1.49 ล้านล้านบาท  หรือคิดเป็น 65 % ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด แยกเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 1.28 แสนล้านบาท โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ลงทุนสูงสุดที่ 5.46 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นการแพทย์ 3.1 หมื่นล้านบาท  และอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม 1.365 ล้านล้านบาท มีกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ลงทุนสูงสุดที่ 6.46 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นยานยนต์และชิ้นส่วน 3.19 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ยื่นขอรับส่เสริมการลงทุนอีก 7.96 แสนล้านบาท เป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ลงทุนสูงสุดที่ 1.59 แสนล้านบาท รองลงมา เป็นขนส่งทางอากาศ ลงทุนที่ 8.6 หมื่นล้านบาท  

 ขณะที่การยื่นขอรับส่งเสริมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษหรืออีอีซี คิดเป็นมูลค่ารวมที่ 1.24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 54 % ของมูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น โดยอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 1.17 แสนล้านบาท ระยอง 3.83 แสนล้านบาท และชลุบรี 7.38 แสนล้านบาท   

ส่วนการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาตรการปรับปรุงประวิทธิภาพการผลิตช่วงปี 2558-2561 มีจำนวน 435 โครงการ เงินลงทุน 4.98 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 343 โครงการ เงินลงทุน 2.61 หมื่นล้านบาท และเป็นในส่วนของการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 89 โคงการ เงินลงทุน 2.34 หมื่นล้านบาท

 อีกทั้ง ยังมีการส่งเสริมการลงทุนที่เข้าข่ายเอสเอ็มอี จำนวน 4,266 โครงการ เงินลงทุนรวม 2.32 แสนล้านบาท โดยเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลมีจำนวนมากที่สุดโดยเฉพาะการพัฒนาซอฟต์แวร์

นางสาวดวงใจ กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเชิงพื้นที่พิเศษอื่นๆ ในปี 2558-2561 อาทิ 20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ มีจำนวน 206 โครงการ เงินงทุน 5.05 หมื่นล้านบาท เช่น ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยจังหวัดสระแก้วมีการลงทุนมากสุด และจังหวัดน่านไม่มีการลงทุน

 ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศาชายแดน มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน 54 โครงการ เงินลงทุน 9,417 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอาหารสัตว์ จังหวัดตาก สงขลา และสระแก้ว มีการลงทุนมากที่สุด ขณะที่นครพนมและนราธิวาส ไม่มีการลงทุน

ขณะที่การยื่นขอรับส่งเสริมการงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวน 25 โครงการ เงินลงทุน 1.27 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล แปรรูปยางขั้นต้น จังหวัดสงขลา และยะลา มีการลงทุนมากสุด ขณะที่จังหวัดสตูล ไม่มีการลงทุน

 ทั้งนี้ หากแยกการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทดแทน มีการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 1,274 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมกว่า 8,970 เมกะวัตต์ ขณะที่การผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตร รวม 69 โครงการ มีกำลังผลิตเอทานอล 10.21 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 10.51 ล้านลิตรต่อวัน

 จากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศช่วงปี 2558-2561 คิดเป็นมูลค่าราว 1.44 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเชื่อมโยงสูงจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และก่อให้เกิดผลประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

สินค้าเกษตรเฮ! พาณิชย์เผย FTA ดันมูลค่าส่งออกปี61 โตขึ้นกว่า 245%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรไทยในช่วงที่ผ่านมา ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีความตกลงค้าเสรี หรือเอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการไทย ปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอแล้ว 13 ฉบับ กับ 17 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน  ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู และชิลี  ซึ่งไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรที่ส่งออกจากประเทศไทย ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปขายในประเทศคู่เอฟทีเอได้เปรียบคู่แข่งขัน และมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย กลุ่มกสิกรรม ปศุสัตว์และประมง (ไม่รวมสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

โดยในปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียน หรือ อาฟต้า มีผลบังคับใช้ ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่ตลาดโลกราว 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ในขณะที่ปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกกว่า 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวขึ้นถึง 245%  นับจากความตกลงเอฟทีเอของอาเซียนมีผลใช้บังคับ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปยังประเทศคู่เจรจา 17 ประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 64 % ของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยทั้งหมด โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนเป็นอันดับที่ 1 มูลค่ากว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่า 738%  เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตรให้ไทย

 สำหรับอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 2 ไทยส่งออกไปมูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่า667%  เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่อาเซียนจะเริ่มลดภาษีสินค้าเกษตร และญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยอันดับที่ 3 ซึ่งไทยส่งออกมูลค่ากว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่า 31% เมื่อเทียบกับปี 2549 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลดภาษีสินค้าเกษตร  โดยสินค้าเกษตรที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกอันดับต้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้สดและแปรรูป  ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ความตกลงเอฟทีเอที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจา ในปี 2561 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรกับสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) 16 ประเทศ เป็นมูลค่า 14,705 ล้านดอลาร์สหรัฐ  การค้ากับสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บีมสเทค) 7 ประเทศ เป็นมูลค่า 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   การค้ากับตุรกี มูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  การค้ากับปากีสถาน มูลค่า 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการค้ากับศรีลังกา มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนเจรจาเอฟทีเอในอนาคตกับกลุ่มประเทศที่ไทยมีมูลค่าการค้าสูง เช่น สหภาพยุโรป (EU) ที่ในปี 2561 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรด้วยเป็นมูลค่า 2,236 ล้านดอลาร์สหรัฐ  สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) มูลค่า 43 ล้านดอลาร์สหรัฐ และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) มูลค่า 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ไทยจะสามารถขยายตลาดใหม่ สร้างความได้เปรียบและโอกาสในการค้าให้สินค้าเกษตรของไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยิ่งขึ้น

“ ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศอยากชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยได้รับจากประเทศคู่เอฟทีเอลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าเกษตรส่งออกจากไทยให้เต็มที่ โดยกรมพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี”

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยร่วมใจขอบคุณหนุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาล

กลุ่มาตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยและชาวบ้านจากเมืองเพีย ต.บ้านไผ่ อ.โนนศิลา และ อ.ชนบท รวมกว่า 300 คน ได้เข้ายื่นหนังสือขอบคุรและขอสนับสนุนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและส่วนผลิตไอน้ำและไฟฟ้า ที่บ้านเมืองเพีย ต.เมืองเพีย  อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดการใช้งานอาคารสถานีรถไฟขอนแก่น โดยมี สมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

ปัจจุบัน พื้นที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ถือเป็นศูนย์กลางของแหล่งปลูกอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอ้อยจำนวนกว่า 1 ล้านตัน จากหลายพื้นที่โดยรอบได้แก่ อ.บ้านแฮด อ.มัญจาคีรี อ.โนนศิลา  อ.ชนบท อ.หนองสองห้อง ใน จ.ขอนแก่น และ อ.บรบือ อ.โกสุมพิสัย  จ.มหาสารคาม โดยการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลใน อ.บ้านไผ่ จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ลดต้นทุนการขนส่งได้อย่างน้อยตันละ 100 บาท เพราะไม่ต้องเดินทางไปส่งยังโรงงานไกลๆ อีกทั้งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ก็ยังสามารถเปลี่ยนมาปลูกอ้อยได้ ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการทำเกษตรกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวแทนชาวบ้านยังมองว่าาหากมีโครงการโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นในพื้นที่ ชาวบ้านและชุมชนรอบๆ ก็จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจรายได้ในครัวเรือนและชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นตามมา ที่สำคัญลูกหลานที่เคยต้องออกไปทำงานำไกลบ้านก็จะได้กลับมาทำงานในชุมชนอีกครั้ง ยังความอบอุ่นในครอบครัว จึงอยากให้มีโครงการโรงงานน้ำตาลฯ เกิดขึ้นในพื้นที่เร็วๆ

จาก www.komchadluek.net วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

ไทย-อาเซียนถก5ชาติคู่ค้า ขยายความร่วมมือการค้า-ลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 4-7 เมษายนนี้จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน(SEOM) ครั้งที่ 2 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยจะหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมในสาขายานยนต์ของอาเซียน เพื่อยอมรับระบบการตรวจสอบระหว่างสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้ายานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้อาเซียนจะร่วมประชุมกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ 1.จีน หารือเรื่องการรับรองกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและทบทวนกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules) เพื่อให้กฎถิ่นกำเนิดสินค้ามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น 2.เกาหลี ติดตามความคืบหน้าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA)

3.ญี่ปุ่นหารือความพร้อมการลงนามพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) รวมถึงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เดิมที่ครอบคลุมเฉพาะด้านการค้าสินค้า 4.สหรัฐฯ หารือความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ที่สหรัฐฯ เสนอ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและกฎระเบียบต่างๆ ด้านมาตรฐานยานยนต์ และด้านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และ5. แคนาดา หารือความเป็นไปได้เรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา

การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 13% การส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการส่งออกทั้งหมด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

จับตาความเคลื่อนไหว....โอกาสไทยในสถานการณ์หลัง Brexit

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) และ Standard Charteredจับตาความเคลื่อนไหว และโอกาสของผู้ประกอบการไทยภายหลังสถานการณ์Brexitผ่านงานสัมมนา "Brexit and its Implications on Thailand" เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ให้สอดคล้องกับการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Strategic Partnershipของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของBrexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในส่วนที่จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากจะมีผลต่อการค้ากับไทยได้ต่างกันในแต่ละกรณีโดยสหราชอาณาจักรอาจตัดสินใจออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ (No deal) หรือมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การยื่นขอเจรจาแก้ไขความตกลงเบร็กซิทกับอียู หรือการขอขยายเวลาการออกจากอียู อย่างไรก็ดี การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 และการพบปะหารือระหว่างรัฐบาลไทยและนางเทเรซา เมย์ ในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ณ กรุงลอนดอน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนระหว่างกัน การเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และยุโรปในอนาคตหลังBrexit ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับไทยที่จะสร้างพันธมิตรทางการค้ากับหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานฝ่ายไทยสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) กล่าวว่า สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai - UK Business Leadership Council (TUBLC)) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและสหราชอาณาจักรมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit การออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในรูปแบบ No deal อาจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักร ทำให้ความต้องการสินค้าภายในสหราชอาณาจักรชะลอตัวผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับค่าเงินปอนด์ที่คาดว่าจะอ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าไทยขยับตัวสูงขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจไทยยังคงเชื่อมั่นว่า การติดตามพัฒนาการในเรื่องBrexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคต จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมต่อผู้ประกอบการไทย

นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ธนาคารมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมบูรณาการกับ กระทรวงพาณิชย์ และสภาผู้นำ TUBLC ในการจัดสัมมนาร่วมกัน ทั้งการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย โดยคัดสรรวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ/นักวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารความเสี่ยง และภาคธนาคารต่อสถานการณ์ Brexit มาให้ความรู้กับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยที่สนใจ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและอยากจะทราบว่าจะมีผลกระทบอย่างไรกับการดำเนินธุรกิจ

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังกล่าวเสริมว่า การสัมมนาในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือภาครัฐโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และภาคเอกชนได้แก่สภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC)  และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เล็งเห็นว่าสถานการณ์ Brexit เป็นที่สนใจของนักธุรกิจไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับยุโรปและสหราชอาณาจักร ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน และอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง "Brexit and its Implications on Thailand"  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ให้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับสถานการณ์และผลกระทบของBrexit ที่สหราชอาณาจักรจะต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(EU) ซึ่งในขณะนี้ คาดว่าเป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2562  และยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ/ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหราชอาณาจักรรับมือกับสถานการณ์ Brexit (ทั้งในกรณี Hard Brexit/No Deal และ Soft Brexit)ตลอดจนสามารถประเมินถึงผลกระทบ โอกาสทางการค้าและการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายต่อไป

 อนึ่ง สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป ในปี 2561 การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย มีมูลค่ารวม 7,044.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 4,062.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หดตัวลงร้อยละ 0.45)และเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,981.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (การขยายตัวร้อยละ 1.81) สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้า 1,080.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า

จาก www.komchadluek.net วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

จี้รัฐจับมือออสซี่-บราซิลฟ้องWTO บีบอินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาล

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จี้ภาครัฐร่วมมือกับออสเตรเลียและบราซิล ยื่นฟ้อง WTO บีบอินเดียให้ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทราย หลังราคาน้ำตาลปีที่ผ่านมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี และยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเสนอภาครัฐร่วมมือกับออสเตรเลียและบราซิล ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท กรณีรัฐบาลอินเดียยังเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อยและการส่งออกน้ำตาลทราย โดยมีหลักฐานการสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยสูงกว่าข้อกำหนดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรตามกฎเกณฑ์ของ WTO ที่อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาอุดหนุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าผลผลิตอ้อย นอกจากนี้ยังให้การอุดหนุนค่าขนส่งน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี

การยื่นฟ้องต่อ WTO ครั้งนี้ เนื่องจากออสเตรเลียและบราซิล ในฐานะสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) ได้ยื่นฟ้องอินเดียต่อ WTO โดยนำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ (Consultation) ภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท เพื่อขอให้รัฐบาลอินเดียเร่งยกเลิกมาตรการแทรกแซงสนับสนุน ที่ส่งผลให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 20.3 ล้านตันในปี 2559/2560 เป็น 32.2 ล้านตันในปี 2560/2561 และคาดว่าผลผลิตน้ำตาลทรายของอินเดียในปีการผลิต 2561/2562 นี้ จะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 31.5 ล้านตัน ส่งผลให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลทรายส่วนเกินความต้องการบริโภค และได้รับการอุดหนุนส่งออกสู่ตลาดโลกประมาณ 4 ล้านตัน ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด และมีปริมาณอุปทานน้ำตาลทรายในตลาดโลกเกินดุล กดดันให้ราคาตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายอื่น ๆ ทั่วโลก ได้รับความเดือดร้อน

“การอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดียนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อตกลงทางการค้า ก่อให้เกิดเสียหายต่ออุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลทรายทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บราซิล ไทย และออสเตรเลีย โดยข้อมูลจาก Sidley Austin LLP ระบุว่า การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิลสูญเสียรายได้กว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเกิดความเสียหายต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก รวมประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ส่วนไทยสูญเสียรายได้กว่า 14,500 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวไร่อ้อยต้องสูญเสียรายได้รวมประมาณ 10,200 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ของโรงงานลดลงประมาณ 4,300 ล้านบาท”

สำหรับการยื่นฟ้องอินเดียต่อ WTO ของออสเตรเลียและบราซิล เพื่อให้ยกเลิกการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อยและส่งออกน้ำตาลทราย ที่มีผลกระทบเชิงโครงสร้างการด้านเพาะปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลทรายของโลกหลังจากที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก มีความพยายามยื่นหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลอินเดียและ WTO แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

จาก www.thansettakij.com วันที่ 18 มีนาคม 2562

อุตสาหกรรมดันโรงงาน ใช้ไอโอที สู่ Factory 4.0

กรอ.เดินหน้าอุตสาหกรรม 4.0 เร่งขับเคลื่อนให้โรงงานทั่วประเทศหันมาใช้ IoT ควบคุมกระบวนการผลิต หวังยกระดับเป็น Factory 4.0 ปีนี้ได้งบอีก 65 ล้านบาท เล็งเป้ากระตุ้นในพื้นที่อีอีซี รับการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 1.44 แสนโรงงาน เข้าสู่การเป็น Factory 4.0 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังผลักดันให้มีการนำอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์หรือ IoT มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจวัดติดตาม (มอนิเตอริง) การทำงานของเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ตลอดกระบวนการผลิต ทำให้ทราบข้อมูลนำมาวิเคราะห์ถึงจุดบกพร่อง ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพลังงาน วัตถุดิบ ควบคุมปริมาณของเสียที่ปล่อยออกมา ช่วยให้ประสิทธิภาพในการผลิตเกิดประโยชน์สูงสุดได้

โดยระยะแรกกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) มีเป้าหมายที่จะเข้าไปส่งเสริมการนำ IoT มาใช้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หม้อต้มนํ้าในกระบวนการผลิต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม โรงไฟฟ้า โรงสกัดนํ้ามันปาล์ม ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มที่กลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล 170 แห่ง และโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม 80 แห่ง ใน 2-3 ปี ซึ่งปีที่ผ่านมาได้เข้าไปดำเนินการแล้วกว่า 10 แห่ง โดยกรอ.จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการที่เห็นความสำคัญในจุดนี้ และนำผลความสำเร็จขยายสู่โรงงานอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าวจะครอบคลุมโรงงานทั่วประเทศ แต่ในปี 2562 นี้ กรอ.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในกรอ.และภายนอก เพื่อจะเข้าไปส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี หลังจากได้งบสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 65.18 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินงานใน 5 โครงการ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม เป็น Factory 4.0 นั้น มีหลายมิติ กรอ.ซึ่งกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จะเข้าไปส่งเสริมด้านการยกระดับโรงงานให้เป็นอัจฉริยะหรือ Factory 4.0 ที่นำระบบ IoT เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต มีการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ไว้ใช้วิเคราะห์ในการดำเนินงาน เพื่อให้การบริการจัดการโรงงานพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยในปีนี้กรอ.ได้รับสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 65.18 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินงาน Factory4.0 ใน 5 โครงการ ประกอบด้วย การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบทำความเย็น การเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อนํ้าที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM 2.5 การจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊ก ดาต้า เพื่อรองรับการบูรณาการระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและ กรอ. การพัฒนาระบบ FactoryEnergy Monitoring ในโรงงานอุตสาหกรรม และการจัดทำแนวทางการผลักดันการใช้มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ การดำเนินงานส่งเสริมดังกล่าว อีอีซี จะเป็นพื้นที่หนึ่งที่กรอ.จะเข้าไปดำเนินงาน เนื่องจากมีกลุ่มโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิต

จาก www.thansettakij.com วันที่ 18 มีนาคม 2562

ไทยดึงอาเซียนร่วมกู้วิกฤติ WTO

ไทยดึงอาเซียนร่วมกู้วิกฤติ WTO หลังถดถอยมานาน เตรียมชง 3 แนวทางในกรอบประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนต้นเดือนเมษายนนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมเชิงวิชาการ “ปฏิรูป WTO มุมมองของอาเซียน” ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากสมาชิกอาเซียนยังมีประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประชุมด้วย หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดความตึงเครียดทางการค้า โดยหลายประเทศเริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายอำนาจและบทบาทขององค์การการค้าโลก ( WTO) ที่กำกับดูแลประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามกติกาและกฎระเบียบการค้าโลกให้เป็นหลักการค้าเสรีและเป็นธรรมพร้อมโปร่งใส ดังนั้น สมาชิก WTO ต้องหารือ เพื่อรักษาระบบการค้าพหุภาคีและคลี่คลายสภาวะความตึงเครียดทางการค้า โดยเห็นว่าต้องปฏิรูป  WTO ให้เท่าทันการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปรับปรุงกลไกของ WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปประเด็นหลัก 3  ข้อ คือ 1.ต้องปรับปรุงกลไกการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความโปร่งใส การแจ้งข้อมูลการออกกฎระเบียบ หรือมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ให้สมาชิกทราบ พร้อมสร้างแรงจูงใจ และมีบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม  2.ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO โดยเฉพาะการทำหน้าที่ขององค์กรอุทธรณ์ที่ต้องมาพิจารณาใหม่ และ 3.เร่งผลักดันเจรจา เพื่อจัดทำกฎระเบียบการค้าโลกให้คืบหน้า ขณะนี้ WTO ประสบปัญหาเจรจารอบโดฮา ตั้งแต่ปี 2544 ไม่คืบหน้า ดังนั้น ต้องผลักดันเจรจาที่ค้างให้คืบหน้าโดยเร็ว ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นตรงกันในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะอาเซียนทั้ง 10 ประเทศและเป็นสมาชิก WTO  จึงเห็นพ้องต้องกันให้หยิบยกเรื่องนี้หารือต่อในกรอบประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนต้นเดือนเมษายน 2562 เพื่อร่วมแสดงบทบาทของอาเซียนในการกู้วิกฤติขององค์กรและธำรงไว้ด้วยความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี หลักการค้าเสรีที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 ประเทศ ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสูงเป็นลำดับที่ 15 ของโลก ซึ่งตัวเลขการส่งออกมีมูลค่า 237,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามีมูลค่า 223,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 18 มีนาคม 2562

ดันไทยจับมือออสเตรเลีย-บราซิลฟ้องอินเดียเลิกอุดหนุนส่งออกน้ำตาลทราย

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยผลักดันให้ภาครัฐร่วมมือกับออสเตรเลียและบราซิลยื่นฟ้องอินเดียให้ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ไปก่อนหน้า หวังอินเดียลดเลิกการอุดหนุนและปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้า หลังราคาน้ำตาลปีที่ผ่านมาต่ำสุดในรอบ 10 ปี และยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทยเสนอภาครัฐร่วมมือกับออสเตรเลียและบราซิลฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO กรณีรัฐบาลอินเดียยังเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อยและการส่งออกน้ำตาลทราย โดยมีหลักฐานการสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยสูงกว่าข้อกำหนดการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรตามกฎเกณฑ์ของ WTO ที่อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาอุดหนุนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าผลผลิตอ้อย นอกจากนี้ ยังให้การอุดหนุนค่าขนส่งน้ำตาลทรายเพื่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำสุดในรอบ 10 ปี

การยื่นฟ้องต่อ WTO ครั้งนี้เนื่องจากออสเตรเลียและบราซิล ในฐานะสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก (GSA) ได้ยื่นฟ้องอินเดียต่อ WTO โดยนำเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือ (Consultation) ภายใต้กลไกระงับข้อพิพาท เพื่อขอให้รัฐบาลอินเดียเร่งยกเลิกมาตรการแทรกแซงสนับสนุน ให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 20.3 ล้านตันในปี 2559/60 เป็น 32.2 ล้านตันในปี 2560/61 และคาดว่าผลผลิตน้ำตาลทรายของอินเดียในปีการผลิต 2561/62 นี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ 31.5 ล้านตัน ส่งผลให้อินเดียมีผลผลิตน้ำตาลทรายส่วนเกินความต้องการบริโภค และได้รับการอุดหนุนส่งออกสู่ตลาดโลกประมาณ 4 ล้านตัน ก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาด และมีปริมาณอุปทานน้ำตาลทรายในตลาดโลกเกินดุล กดดันให้ราคาตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายอื่นๆ ทั่วโลกได้รับความเดือดร้อน

การอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของรัฐบาลอินเดียนับเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อตกลงทางการค้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาลทรายทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ บราซิล ไทย และออสเตรเลีย โดยข้อมูลจาก Sidley Austin LLP ระบุว่า การอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายของอินเดียในครั้งนี้ได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายบราซิลสูญเสียรายได้กว่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเกิดความเสียหายต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) ส่วนไทยสูญเสียรายได้กว่า 14,500 ล้านบาท แบ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ชาวไร่อ้อยต้องสูญเสียรายได้รวมประมาณ 10,200 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้อยลดลงกว่าตันละ 80 บาท และรายได้ของโรงงานลดลงประมาณ 4,300 ล้านบาท

“การยื่นฟ้องอินเดียต่อ WTO ของออสเตรเลียและบราซิลเพื่อให้ยกเลิกการอุดหนุนการเพาะปลูกอ้อยและส่งออกน้ำตาลทรายที่มีผลกระทบเชิงโครงสร้างด้านการเพาะปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลทรายของโลก หลังจากที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลกมีความพยายามยื่นหนังสือประท้วงไปยังรัฐบาลอินเดียและ WTO แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 มีนาคม 2562

เกษตรไทย อินเตอร์ฯทุ่ม7.5พันล.ลุยไบโอคอมเพล็กซ์

กลุ่ม" เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น" ลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟสแรกไม่เกิน 7,500 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการลงทุนKTIS และกลุ่ม GGC ฝ่ายละครึ่ง โดยใช้เงินทุนของผู้ถือหุ้นฝ่ายละไม่เกิน 1,300 ล้านบาทที่เหลือกู้ยืมสถาบันการ เพื่อสร้างโรงหีบอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการหีบอ้อย 24,000 ตันต่อวัน ได้เอทานอล 6 แสนลิตรต่อวัน

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTISถือหุ้น 100% เข้าร่วมถือหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด (GKBI) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่ม KTIS กับกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 เพื่อดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC Project) ที่จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการในเฟสแรก จะใช้เงินลงทุนรวมไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงาน 3 โรง ได้แก่ โรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง โดยแหล่งเงินทุนของโครงการนี้จะมาจากเงินทุนของผู้ถือหุ้นฝ่ายละไม่เกิน 1,300 ล้านบาท รวมเป็น 2,600 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศ

“การหีบอ้อยด้วยกำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน เพื่อนำน้ำอ้อยที่ได้มาผลิตเป็นเอทานอลโดยตรงในช่วงฤดูหีบอ้อย และน้ำอ้อยส่วนที่เหลือจะทำให้เข้มข้นและนำมาผลิตเป็นเอทานอลในช่วงปิดหีบอ้อย ดังนั้น โครงการนี้จึงสามารถผลิตเอทานอลได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเอทานอลที่ผลิตได้นี้จะนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่วนชานอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยจะนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับใช้ในโครงการ หรือหากมีส่วนเกินก็จะขายในบริเวณใกล้เคียง” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ถือเป็นการผนึกจุดแข็งของผู้ถือหุ้น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม KTIS ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างอ้อย และกลุ่ม GGC ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงมั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ชีวภาพใหม่ๆ ในอนาคต สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 มีนาคม 2562

'กสิกรไทย' ประเมินกรอบ "เงินบาท" สัปดาห์หน้า (18-22 มี.ค.) ที่ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากอัตราเงินเฟ้อ (ที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดในเดือน ก.พ. ซึ่งตอกย้ำแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติและปัจจัยในประเทศ ก่อนจะมีแรงหนุนให้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ ตามการแข็งค่าของสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะที่ ตลาดรอติดตามผลการประชุมเฟดวันที่ 19-20 มี.ค. นี้

ในวันศุกร์ (15 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 มี.ค.)          

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของ กนง. (20 มี.ค.) ตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ. ของไทย กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติและปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ท่าทีนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากผลการประชุม FOMC รวมถึงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจและ Dot Plot ชุดใหม่ของเฟด (19-20 มี.ค.) การพิจารณาข้อตกลง BREXIT ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเสนอต่อรัฐสภา ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจ โดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย เดือน มี.ค., ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน เดือน ม.ค.

จาก www.thansettakij.com   วันที่ 17 มีนาคม 2562

ก.อุตฯ เปิดตัวแอพฯ “I-Dee” รับเรื่องร้องเรียน

ก.อุตฯ เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “I-Dee” รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกประชาชน  สอดคล้องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล  

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมาย ให้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบและบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานระดับกรม รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร การจัดการเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างเป็นระบบ ภายใต้ชื่อแอพพลิเคชั่น “I-Dee (Industry-Dee)”  สามารถแสดงผลและใช้งานผ่านเครือข่ายระบบโทรศัพท์มือถือทั้งระบบแอนดรอยซ์และระบบไอโอเอส   รวมทั้งสามารถใช้งานผ่านทางระบบเว็บไซต์ โดยเรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะเชื่อมโยงและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (MOC) กระทรวงอุตสาหกรรมกับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) 

ส่วนขั้นตอนการแจ้งเรื่องร้องเรียน สามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทาง คือ 1.การโหลดแอพพลิเคชั่น“I-Dee (Industry-Dee)”   2.การรับเรื่องร้องเรียนผ่านทาง https://i-dee.industry.go.th และ 3.การเข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอุตสาหกรรม ทั้ง 76 จังหวัด หรือการเดินไปติดต่อด้วยตนเอง หรือการส่งจดหมาย โทรศัพท์ และแจ้งผ่านทางอีเมล์ และโซเชียลมีเดีย ของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะทำการบันทึกข้อมูล และตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ จากนั้นจะส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะส่งเรื่อง ไปสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินการ ทั้งนี้ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินการประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าการดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด และหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ.

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 17 มีนาคม 2562

พาณิชย์จับตาเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ WTO หลัง BREXIT

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลง WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง Brexit อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ คาดไม่ส่งผลต่อไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ภายในเส้นตายที่กำหนดไว้วันที่ 29 มีนาคม 2562 อย่างใกล้ชิด โดยประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองคือ สหราชอาณาจักรจะสามารถออกจากอียูได้อย่างราบรื่นตามความตกลง Withdrawal Agreement หรือไม่ รวมทั้งยังมีประเด็นการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลงต่าง ๆ ของ WTO ที่สหราชอาณาจักรทำไว้แต่เดิมในฐานะสมาชิกอียู รวมถึงความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) ที่เป็นความตกลงหลายฝ่าย

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า GPA เป็นความตกลงฉบับหนึ่งภายใต้ WTO เพื่อเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างประเทศภาคีด้วยกันบนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศที่โปร่งใส ประเทศภาคีสามารถเลือกกำหนดรายการสินค้า บริการ และบริการก่อสร้าง รวมถึงรายชื่อหน่วยงานรัฐ และมูลค่าขั้นต่ำของการจัดซื้อจัดจ้างที่ตนพร้อมเปิดตลาด ปัจจุบัน GPA มีภาคี 19 ราย รวม 47 ประเทศ (สมาชิกอียู 28 ประเทศ) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จในการเจรจาเข้าเป็นภาคีความตกลง GPA ด้วยตนเอง (โดยไม่ใช่ในฐานะสมาชิกของอียู) และมีเวลาถึงเดือนสิงหาคม 2562 ในการยื่นหนังสือถึง WTO ตอบรับการเป็นภาคีความตกลงฯ ทำให้เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง GPA ของสหราชอาณาจักร ในบริบทของ Brexit แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสหราชอาณาจักรจะเป็นภาคี GPA โดยคงสถานะเป็นสมาชิกอียูไปก่อนจนถึงเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม จากนั้นหากสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถมีความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะเข้าเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศตัวเองโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกันหากสหราชอาณาจักรทำความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะต้องเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศสมาชิกอียูต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตามที่ Withdrawal Agreement กำหนด ซึ่งกรมฯ เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะระดับการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหราชอาณาจักรไม่ได้ต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของ WTO มีมูลค่าการเปิดตลาดรวมกันประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สหราชอาณาจักรเป็นภาคีที่มีความสำคัญมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของอียู และมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างหากคิดเฉพาะส่วนที่เป็นของหน่วยงานรัฐบาลกลางของอียู ปัจจุบันไทยเข้าร่วม GPA ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นอีก 31 ประเทศ และในจำนวนนี้มีประเทศที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นภาคีของความตกลงฯ 10 ประเทศ คือ อัลบาเนีย ออสเตรเลีย จีน จอร์เจีย จอร์แดน คีร์กิซ มาเซโดเนียเหนือ โอมาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน สหราชอาณาจักรนั้น นับเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 20 ของไทย ปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 17 มีนาคม 2562

ผ่าแผนรับมือวิกฤตแล้งสาหัส ประสานสิบทิศ-ลุ้นฝนพ.ค. : รายงานพิเศษเศรษฐกิจ

ผ่าแผนรับมือวิกฤตแล้งสาหัส : รายงานพิเศษเศรษฐกิจ – ช่วงฤดูแล้งจะกินเวลายาวนาน 6 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.-เม.ย. ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 เดือนเศษ เริ่มเห็นสัญญาณความรุนแรงเกิดขึ้นในภาคอีสาน และภาคเหนือ เขื่อนหรืออ่างหลายแห่ง น้ำเริ่มแห้งขอดไม่มีน้ำใช้ อ่างกว่า 100 แห่งทั่วประเทศมีปริมาณน้ำเหลือใช้น้อยมากไม่ถึง 30% ของความจุ

ในจำนวนนี้มีอ่างขนาดใหญ่ อ่างขนาดกลาง 12 แห่งที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้วโดยเฉพาะในภาคอีสาน

อ่างขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 35 อ่าง มีปริมาณน้ำ 46,606 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,063 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 49% ของความจุอ่างฯ ส่วนอ่างขนาดกลาง 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,856 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 51% ปริมาณน้ำใช้การหรือ 2,431 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ

สำหรับอ่างขนาดกลาง 12 อ่าง ที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้ว ในภาคอีสาน ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยทรายสว่าง สกลนคร 2.ห้วยหินแตก สกลนคร 3.ห้วยนาบ่อ สกลนคร 4.น้ำซับคำโรงสี สกลนคร 5.หนองสำโรง อุดรธานี 6.ห้วยจานใต้ ร้อยเอ็ด 7.หนองผือ ร้อยเอ็ด 8.ห้วยสวาย บุรีรัมย์ 9.ห้วยจระเข้มาก บุรีรัมย์ 10.ห้วยใหญ่ บุรีรัมย์ 11.ห้วยตะคร้อ นครราชสีมา และเขื่อนในภาคตะวันออก 1 เขื่อน อ่างเก็บน้ำคลองบอน จันทบุรี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์แล้ง 2562 มากกว่าปี 2561 แต่น้อยกว่าช่วงแล้งจัดเมื่อปี 2557 มีฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปี

เมื่อเทียบสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2561 และ 2562 พบว่าปริมาณน้ำลดลงจากปีก่อน คือจาก 71% ลดลงเหลือ 66% เช่นเดียวกับปริมาณน้ำใช้ จาก 38% เหลือ 33%

ที่ผ่านมามีมาตรการจัดสรรน้ำจากอ่างขนาด ใหญ่ทั้ง 35 แห่ง และทำการจัดสรรแล้วถึง 72% เป้าหมายหลักคือการรักษาปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้ทอดยาวไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน

ยืนยันว่าทุกภาคจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หน่วยงานจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ

สําหรับอ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง แม่มอก 26 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง อุบลรัตน์ 84 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 5% สิรินธร 113 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ลำนางรอง 34 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29% ห้วยหลวง 35 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 27%

ภาคกลาง 2 แห่ง ทับเสลา 23 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 16% และกระเสียว 26 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ขนาดกลาง 95 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง

ช่วงเวลาเดือนเศษ ก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง สทนช.และหน่วยงานน้ำทั้งหมด หารือร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ยอมรับว่ากังวลสถานการณ์เอลนิโญอ่อนๆ ส่งผลให้อากาศมีความร้อนรุนแรง ทำให้น้ำระเหยเร็วกว่าปกติ ในแต่ละวันสูญเสียน้ำจากความร้อนและระเหยกว่า 50 ล้านลบ.ม.

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ สาขาที่มีความเสี่ยงช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 รวม 9 สาขา ได้แก่ 1.สุวรรณภูมิ (เกษตรวิสัย) ร้อยเอ็ด 2.พยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม 3.แม่ขะจาน (วังเหนือ) เชียงราย 4.ฝาง (แม่อาย) เชียงใหม่ 5.หนองบัวลำภู (นากลาง, ศรีบุญเรือง) 6.พิมาย (เมืองคง) นครราชสีมา 7.บุรีรัมย์ 8.เกาะพะงัน อาจต้องใช้น้ำสำรองและทำน้ำจืด 9.ลาดยาว นครสวรรค์

ปัจจุบันยังสามารถส่งน้ำได้ตามปกติ ยกเว้น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เริ่มมีการขาดแคลนน้ำแล้ว มาตรการแก้ไข โดยการสูบทยอยน้ำ จากลำห้วยเตา ที่อยู่ใกล้เคียง มายังจุดสูบน้ำดิบลำน้ำเสียวใหญ่ ระดับน้ำ 0.8 เมตร และจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาล จะกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ตามศักยภาพของน้ำต้นทุนแล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามี 31 จังหวัด ที่ปลูกพืชมากกว่าแผนที่กำหนด ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือ จ.นครสวรรค์ ที่เกิดปัญหาการสูบน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก เมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อน

กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ปัญหาด้วยการกวดขันการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานมากขึ้น พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ประกาศไม่สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง ให้ปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่รับน้ำจาก 4 เขื่อน ได้แก่ ทับเสลา กระเสียว ลำนางรอง และลำพระเพลิง

“มีการเพาะปลูกเกินแผนไปแล้วมากกว่า 1.1 ล้านไร่ อาจแบ่งสรรน้ำจากที่สำรองไว้ ก่อนถึงเดือนพ.ค. มาช่วยเหลือ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรช่วยประหยัดน้ำ และต้องอาศัยบุคลากรจากกรม ส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน ใช้ระบบควบคุมและจัดระเบียบการใช้น้ำให้มากขึ้น ไม่ปลูกเพิ่มอีก”

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สั่งการให้ประเมินผลกระทบฤดูแล้ง ที่อาจมีต่อผลผลิตด้านการเกษตร หากประเมินจากข้อมูลน้ำต้นทุน ปีนี้แล้งจะกระทบผลผลิตด้านการเกษตรน้อย หรืออาจไม่กระทบกับเป้าจีดีพีภาคเกษตร

“รัฐบาลมีแผนรับมือน้ำท่วม น้ำแล้งค่อนข้างดี จากประสบการณ์น้ำท่วมหนักปี 2554 และน้ำแล้งหนักในปี 2557-59 ดังนั้นผลผลิตข้าวปีนี้ได้รับ ผลกระทบน้อย กระทรวงเกษตรมีแผนข้าวครบวงจร มีแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ มหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตร มีระบบเตือนภัย รับมือภัยแล้ง หากเกษตรกรเชื่อฟัง จะได้รับความ เสียหายน้อย ถ้าไม่เชื่อจะไม่มีน้ำสนับสนุน ก็จะเสียหาย”

กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจการทำนาปรังรอบ 2 ที่เกินกว่าแผน 1.21 ล้านไร่ แยกเป็น ในเขตชลประทานประมาณ 1 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.1 แสนไร่นั้น ทางกรมชลประทานแจ้งว่า การทำนาปรังในเขตชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอ จนถึงการเก็บเกี่ยวช่วง เม.ย.

ดังนั้น เหลือเพียงพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ต้องเฝ้าระวัง 4-5 หมื่นไร่เท่านั้น ซึ่งอยู่ในอัตราที่ไม่มาก โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง กรณีที่เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิงก็จะใช้การช่วยเหลือตามระเบียบราชการ ต่อไป

สำหรับการปลูกข้าวโพดหลังนา 9 แสนไร่ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกษตรกรได้ทยอยเก็บเกี่ยวไปแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. ส่วนที่ยังค้างอยู่ในแปลงเป็นช่วงรอเก็บเกี่ยว จึงไม่ต้องการน้ำอีก

เช่นเดียวกับกลุ่มพืชตระกูลถั่ว ที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวเช่นกัน โดยกลุ่มพืชอายุสั้น ไม่น่าห่วงเรื่องการขาดแคลนน้ำ เพราะเกษตรกรวางแผนเก็บเกี่ยวได้ทัน ก่อนจะเกิดภัยแล้ง มีเพียงนาปรังที่เกินแผนเท่านั้นที่ยังเสี่ยงอยู่ แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไม้ยืนต้น ผลไม้ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะจะขาดน้ำไม่ได้ ได้ประสานกับกรมชลประทาน ส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปในพื้นที่ ในปี 2558 ที่แล้งจัด เกิดปัญหามากในพื้นที่ภาคตะวันออก การใช้รถบรรทุกน้ำถือว่าได้ผล จากนั้นเป็นต้นมา เกษตรกรได้พัฒนาแหล่งน้ำเป็นของตนเอง โดยเชื่อมอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทำให้รับน้ำได้มากขึ้น ต้องดูเป็นรายพื้นที่ไป

ด้าน นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานถึงผลกระทบ เนื่องจากภาคปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรอื่นๆ ในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม กำหนดให้ต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองจึงไม่น่าห่วง

แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือเกษตรทั่วไป ซึ่งสั่งการไปยังปศุสัตว์อำเภอให้เข้าไปดูแล คาดว่าหลังจากเดือน เม.ย.เป็นต้นไป หากฝนยังไม่ตกจะเกิดปัญหากับสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือ เป็นต้น อาจต้องใช้รถขนน้ำเข้าไปช่วย

หนึ่งเดือนเศษก่อนที่คาดว่าฝนจะมา รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ระดมแผนรับมือภัยแล้งเพื่อไม่ให้สถานการณ์ซ้ำรอย น้ำประปาไม่ไหล ข้าวยืนต้นตายแต่ทั้งหมดจะได้ผลดีต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชน

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 17 มีนาคม 2562

เกษตรกรแฮปปี้!! กองทุนฟื้นฟูฯ เฉพาะกิจ ช่วยปลดล็อกหนี้ 121 ล้าน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรกว่า 121 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 ได้พิจารณาของเรียกร้องของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ต้องการให้ช่วยเรื่องการชำระหนี้แทนเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคล และขอความร่วมมือกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั่วประทศ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล ชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายดลเดช พัฒนรัฐ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการหารือร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สหกรณ์เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล จนได้ข้อยุติว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สามารถเข้าไปชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์และธนาคารต่างๆ แทนเกษตรลูกหนี้ หลังจากนั้นให้เกษตรกรลูกหนี้มาทำสัญญาชำระหนี้ให้แก่กองทุนฟื้นฟูแทน พร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่างร้อยละ 0.50 -1.50 บาทต่อปีและโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันมาเป็นของกองทุนและคืนหลักทรัพย์เมื่อชำระหนี้ครบตามสัญญา ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาไว้

ทั้งนี้ ทำให้สามารถทุเลาความเดือดร้อนในเรื่องหนี้สินเกษตรกร ได้จำนวน 131 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 121,451,941.93 บาท และยังเห็นชอบให้จัดการหนี้ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล อีกจำนวน 10 ราย มูลหนี้รวม 3,237,124.54 บาท รวมทั้งชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ในการชำระหนี้แทนเกษตรกรครั้งนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน หรือไม่เกิน 31 มี.ค.62นี้ เพื่อให้สถาบันเจ้าหนี้สามารถปิดบัญชีลูกหนี้ได้ทันในปีงบประมาณ 2561 ของสหกรณ์การเกษตร

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนส.ค.61 มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจาสำเร็จ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.61 ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 จำนวน 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธกส. จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้สินตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 มานั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ได้อย่างเป็นระบบโดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศ

สำหรับข้อมูลขึ้นทะเบียนของเกษตรกรสมาชิก จำนวน 518,992 ราย ยอดหนี้รวม 88,495 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ดำเนินการชำระหนี้แทนให้เกษตรกรสมาชิกไปแล้วทั้งสิ้น 29,219 ราย 29,270 บัญชี เป็นเงินกว่า 6,091,709,114.26 บาท เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 21,362 ราย 21,392 บัญชี จำนวนเงิน 3,275,141,572.32 บาท รักษาที่ดินทำกิน 4,244 แปลง 33,156 ไร่ 2 งาน 12.7 ตารางวา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกร ส่งต่อให้ รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 16 มีนาคม 2562

อาเซียนเปิดให้เอกชนร้องเรียนปัญหาอุปสรรคการทำการค้าบริการที่เกิดขึ้นจากภาครัฐผ่านเว็บไซต์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยอาเซียนเตรียมเปิดให้บริการเว็บไซต์แอสซิสโฉมใหม่ ให้ผู้ประกอบการร้องเรียนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากภาครัฐในด้านการค้าบริการ มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในอาเซียน เล็งขยายขอบเขตครอบคลุมถึงด้านการลงทุนด้วย หลังด้านการค้า การค้าบริการทำแล้ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนเตรียมขยายบริการเว็บไซต์แอสซิส (ASSIST) ที่ได้เปิดให้บริการแก่ภาคเอกชนมาตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเดิมเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ปัญหา อุปสรรค ที่เกิดจากกฎระเบียบของภาครัฐ เฉพาะในด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จากนี้ไปจะให้ครอบคลุมการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาอุปสรรคด้านการค้าบริการด้วย ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการแอสซิส เป็นโครงการที่อาเซียนได้รับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน และตอบสนองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และความโปร่งใสของกฎระเบียบต่างๆ โดยเป็นการให้บริการรับข้อร้องเรียน ปัญหา อุปสรรคทางการค้าสินค้า จากภาคเอกชนซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านทางเว็บไซต์แอสซิส https://assist.asean.org/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเว็บไซต์แอสซิสมีการวางระบบที่มีขั้นตอนชัดเจน และกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการประมาณ 40-60 วัน เพื่อให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าข้อร้องเรียนต่างๆ จะได้รับการตอบสนองในระยะเวลาอันเหมาะสม

นอกจากนี้ เว็บไซต์แอสซิสโฉมใหม่ยังมีการปรับปรุงให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ปรับปรุงให้การยื่นข้อร้องเรียนไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนของผู้ร้องเรียน จัดทำคู่มือขั้นตอนและวิธีการใช้เว็บไซต์เป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น โดยขอบเขตการให้บริการของเว็บไซต์แอสซิสจะครอบคลุมบริการ 11 สาขา เช่น การขนส่ง ท่องเที่ยว การศึกษา โทรคมนาคม สุขภาพ การจัดจำหน่าย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อาเซียนยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายขอบเขตการให้บริการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนในด้านปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบด้านการลงทุนด้วยเพื่อให้บริการรับเรื่องร้องเรียนแบบครบวงจร ทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ รวมทั้งไทยจะจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับระบบ และเตรียมความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนสำหรับการเปิดบริการใหม่ในครั้งนี้ด้วย

“เป็นความตั้งใจของอาเซียนที่ดูแลและตอบสนองข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาอุปสรรคจากกฎระเบียบทางการค้าของอาเซียนเข้ามาใช้บริการเว็บไซต์แอสซิสในการแก้ไขปัญหา ซึ่งน่าจะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น” นางอรมนกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 15 มีนาคม 2562

ก.เกษตรฯ ปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง 

กรมฝนหลวงฯ วางแผนปฏบัติการเชิงรุก ทำแผนที่ความต้องการน้ำทั่วประเทศ คาดอีก 2 วันสภาพอากาศจะเอื้ออำนวยมากขึ้น เร่งช่วยเหลือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ขณะที่กรมชลประทานแจ้งเตือน 22 จังหวัดทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ไม่ให้ทำนาปรังครั้งที่ 2 จะไม่จัดส่งน้ำให้ ยืนยันตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ น้ำในเขตชลประทานเพียงพอทุกภาคส่วน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้วางแผนปฏิบัติการเชิงรุกป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง โดยปีนี้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำ “แผนที่ความต้องการน้ำ” ซึ่งจะทราบว่าปริมาณน้ำผิวดินทุกพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรเพาะปลูกพืชชนิดใดบ้าง ต้องการน้ำมากน้อยเพียงใดแต่ละห้วงเวลา จึงไม่จำเป็นต้องรอการร้องขอจากประชาชน เกษตรกร หรือหน่วยงานอื่น จึงขึ้นบินปฏิบัติการ แต่สามารถบินปฏิบัติการได้ทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย

ขณะนี้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภาครวม 9 แห่ง ภาคเหนือเชียงใหม่และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุดรธานีและบุรีรัมย์ ภาคกลางนครสวรรค์และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกจันทบุรี ภาคใต้อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์และอำเภอหาดใหญ่ สงขลา นอกจากนี้ ยังมีฐานเติมฝนหลวง 4 แห่งที่ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ระยอง และสระแก้ว ซึ่งการตั้งฐานเติมฝนหลวงนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถปฏิบัติการครอบคลุมพื้นที่ในแต่ละภาคได้มากขึ้น อีกทั้งยังทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเร็วในระยะนี้เช่น หากบินขึ้นปฏิบัติการเพื่อก่อกวน เลี้ยงให้อ้วนแล้ว เมฆก่อตัวดี สามารถบินลงเติมสารฝนหลวงที่ฐานเติมสารที่ใกล้ที่สุด ขึ้นปฏบัติการโจมตีให้เกิดเป็นฝนได้ทันท่วงที

พื้นที่ที่ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ อำเภอสอยดาว จันทบุรี และบุรีรัมย์ ซึ่งนอกเขตชลประทานเริ่มขาดน้ำอุปโภค-บริโภค ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมาได้ช่วงชิงจังหวะเวลาขึ้นบินปฏิบัติการให้ทันสภาพอากาศ แต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่ขณะนี้บริเวณความกดอากาศสูงจากจีนเริ่มแผ่ลงมาแล้วจะปะทะกับอากาศในไทย ทำให้โอกาสเมฆจะก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติมีมากขึ้น ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงขึ้น ตลอดจนดัชนีค่ายกตัวของอากาศเหมาะสม เอื้ออำนวยให้การปฏิบัติการฝนหลวงสัมฤทธิ์ผล ป้องกันและบรรเทาภัยแล้งได้

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ในเขตชลประทานยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูก สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังนั้น ภาคเหนือปลูกเกินแผน 210,000 ไร่ ภาคตะวันออกเกินแผน 40,000 ไร่ และลุ่มเจ้าพระยาเกินแผน  550,000 ไร่ รวม 3 พื้นที่ 800,000 ไร่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางฝั่งตะวันตก และภาคใต้ปลูกต่ำกว่าแผนรวม 570,000 ไร่ ดังนั้น จึงเกินแผนทั้งประเทศ 230,000 ไร่

นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเกินแผน แต่ในเขตชลประทานไม่มีพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดน้ำสามารถบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้จนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด แต่พื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด หากทำจะไม่จัดสรรน้ำให้ เนื่องจากต้องสงวนน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค

“กรมชลประทานยืนยันว่าได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งพอเพียงต่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เกษตรกรรรม และอุตสาหกรรม แต่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบว่าจะยังไม่จัดสรรน้ำให้ทำการเกษตร จนกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าฤดูฝนจะมาล่าเล็กน้อย จากปกติประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม แต่ปี 2562 คาดว่าจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนช่วงปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อกรมอุตุฯ ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วจะส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มเพาะปลูกก่อนตามแผนบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งที่ทุ่งบางระกำและ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ส่วนในที่ดอนขอให้ชะลอการเพาะปลูกจนกว่า ฝนจะตกสม่ำเสมอ” นายทองเปลว กล่าว

นอกจากนี้ ยังจะนำเครื่องจักร-เครื่องมือทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถบรรทุก และรถบรรทุกน้ำไปประจำที่ศูนย์รวบรวมที่กำหนดไว้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมปฏิบัติงานป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ทั้งนี้ กรมชลประทานสำรองน้ำไว้เผื่อจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม กรณีฝนมาล่าหรือฝนทิ้งช่วงยังคงมีน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคแน่นอน แต่ขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานขอความร่วมร่วมมือ

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 15 มีนาคม 2562

กระทรวงเกษตร รุกแก้หนี้เกษตรกร ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูฯ มูลค่ากว่า 121 ล้านบาท

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ (กฟก.) เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เรียกร้องขอให้ช่วย ในเรื่องการชำระหนี้แทนเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคล และขอความร่วมมือกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั่วประทศ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล ชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการหารือร่วมกับกองทุนฟื้นฟูฯ สหกรณ์เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล จนได้ข้อยุติว่า กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถเข้าไปชำระหนี้ให้แก่ สหกรณ์และธนาคารต่าง ๆ แทนเกษตรลูกหนี้ หลังจากนั้นให้เกษตรกรลูกหนี้มาทำสัญญาชำระหนี้ให้แก่กองทุนฟื้นฟูแทน พร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 0.50 -1.50% ต่อปี และโอนหลักทรัพย์ค้ำประกัน มาเป็นของกองทุนและคืนหลักทรัพย์เมื่อชำระหนี้ครบตามสัญญา ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี ซึ่งทำให้สามารถทุเลาความเดือดร้อนในเรื่องหนี้สินเกษตรกร ได้จำนวน 131 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 121,451,941 บาท

พร้อมเห็นชอบให้จัดการหนี้ ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล อีกจำนวน 10 ราย มูลหนี้รวม 3,237,124 บาท และชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ในการชำระหนี้แทนเกษตรกรครั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน หรือไม่เกิน 31 มีนาคม 2562 เพื่อให้สถาบันเจ้าหนี้สามารถปิดบัญชีลูกหนี้ได้ทันในปีงบประมาณ 2561 ของสหกรณ์การเกษตร

นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ส.ค.2561 มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เจรจาสำเร็จ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 จำนวน 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท

โดยเงินต้นครึ่งหนึ่ง ให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธกส.จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่ง ก็ให้เกษตรกรมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้สินตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 มานั้น รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือได้ว่า เป็นรัฐบาลแรกที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ได้อย่างเป็นระบบโดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศ

สำหรับข้อมูลขึ้นทะเบียนของเกษตรกรสมาชิก จำนวน 518,992 ราย ยอดหนี้รวม 88,495 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ดำเนินการชำระหนี้แทนให้เกษตรกรสมาชิกไปแล้วทั้งสิ้น 29,219 ราย 29,270 บัญชี เป็นเงินกว่า 6,091,709,114.26 บาท เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 21,362 ราย 21,392 บัญชี จำนวนเงิน 3,275,141,572 บาท รักษาที่ดินทำกิน 4,244 แปลง 33,156 ไร่ 2 งาน 12.7 ตารางวา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 15 มีนาคม 2562

เฮ! กท.เกษตรร่วมคกก.กองทุนฟื้นฟู แก้หนี้เกษตรกรกว่า 121 ล้าน

กระทรวงเกษตรร่วมกับคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรกว่า 121 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า เนื่องจากมีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เรียกร้องขอให้ช่วยในเรื่องการชำระหนี้แทนเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้สหกรณ์การเกษตร ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ นิติบุคคล และขอความร่วมมือกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั่วประทศ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล ชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มอบหมายให้นายณรงค์ อ่อนสอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายดลเดช พัฒนรัฐ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการหารือร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สหกรณ์เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล จนได้ข้อยุติว่ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถเข้าไปชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์และธนาคารต่างๆแทนเกษตรลูกหนี้หลังจากนั้นให้เกษตรกรลูกหนี้มาทำสัญญาชำระหนี้ให้แก่กองทุนฟื้นฟู แทนพร้อมอัตราดอกเบี้ยระหว่างร้อยละ 0.50 -1.50 บาทต่อปีและโอนหลักทรัพย์ค้ำประกันมาเป็นของกองทุนและคืนหลักทรัพย์เมื่อชำระหนี้ครบตามสัญญา ภายในระยะเวลาไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายดลเดช คณะทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาไว้

“ทำให้สามารถทุเลาความเดือดร้อนในเรื่องหนี้สินเกษตรกร ได้จำนวน 131 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 121,451,941.93 บาท และยังเห็นชอบให้จัดการหนี้ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคล อีกจำนวน 10 ราย มูลหนี้รวม 3,237,124.54 บาท และชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ในการชำระหนี้แทนเกษตรกรครั้งนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน หรือไม่เกิน 31 มีนาคม 2562 เพื่อให้สถาบันเจ้าหนี้สามารถปิดบัญชีลูกหนี้ได้ทันในปีงบประมาณ 2561 ของสหกรณ์การเกษตร”นายกฤษฎากล่าว

นอกจากนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2561 มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจาสำเร็จ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธกส.จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรมาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรซึ่งเป็นหนี้สินตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 มานั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงถือได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ได้อย่างเป็นระบบโดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศ

สำหรับข้อมูลขึ้นทะเบียนของเกษตรกรสมาชิก จำนวน 518,992 ราย ยอดหนี้รวม 88,495 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ดำเนินการชำระหนี้แทนให้เกษตรกรสมาชิกไปแล้วทั้งสิ้น 29,219 ราย 29,270 บัญชี เป็นเงินกว่า 6,091,709,114.26 บาท เป็นลูกหนี้สหกรณ์ 21,362 ราย 21,392 บัญชี จำนวนเงิน 3,275,141,572.32 บาท รักษาที่ดินทำกิน 4,244 แปลง 33,156 ไร่ 2 งาน 12.7 ตารางวา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกร ส่งต่อให้ รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 15 มีนาคม 2562

กษ.สั่ง'ฝนหลวง'เกาะติดช่วยเหลือพื้นที่เกษตร ชี้นาปรังเจอภัยแล้งเสี่ยงเสียหาย2ล้านไร่

"กฤษฎา"สั่งฝนหลวง11หน่วย เกาะติดทำฝนช่วยเหลือพื้นที่เกษตร ชี้นาปรังเจอภัยแล้งเสี่ยงเสียหายกว่า2ล้านไร่ อีก1แสนไร่เริ่มเสียหายแล้ว ขณะที่ฝนหลวงภาคตะวันออก บินทำฝนช่วยพื้นที่เพาะปลูก-เติมน้ำกินใช้จันทบุรี-ตราด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใย ได้สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง โดยขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนจัดสรรน้ำ กว่า 1 แสนไร่ กำลังเกิดความเสียหาย และอีก 2 ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด ที่จะเสี่ยงเกิดความเสียหาย เนื่องจากต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยง อีก 2 เดือน กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ โดยตนได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปรับแผนปฏิบัติการใหม่ ให้ตั้งหน่วยฝนหลวงทุกภูมิภาค ขณะนี้ได้ตั้ง 11 หน่วย และมีความพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนหลวงทันทีและทั่วถึงเมื่อสภาพอากาศเข้าเงื่อนไข เพื่อเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่เกษตรให้เกษตรกรได้ผลผลิต

สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคมีเพียงพอใช้ถึงวันที่ 31 พ.ค.แม้ช่วงนี้ฝนไม่ตกแม้แต่หยดเดียว แต่หากเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. - ก.ค.จะมีมาตรการจำกัดการใช้น้ำภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด ต้องงดปลูกข้าวนาปรังรอบสอง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่ร่วมกันชี้แจงเกษตรกรงดปลูกพืชใช้น้ำมาก แนะนำให้ทำพืชอื่นใช้น้ำน้อย ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

"พื้นที่ทางเกษตรเสียหายแล้วกว่า 1 แสนไร่ และมีความเสี่ยงเสียหายอีก 2 ล้านไร่ ขณะนี้ให้หน่วยฝนหลวงกระจายทุกภูมิภาค 11 หน่วย เกาะติดพื้นที่ หากพบสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยสามารถขึ้นบินได้ทันที ทำฝนช่วยพื้นที่เกษตร ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้ได้ถึงเดือน พ.ค.หากเกิดฝนทิ้งช่วงจำเป็นจะต้องนำน้ำสำรองที่ไว้ในปีหน้ามาใช้ก่อน" นายกฤษฎา กล่าว

ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ และลดปัญหาฝุ่นละออง ในส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 62% และค่ายกตัวดี จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการ 2 ภารกิจ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังนา และพืชไร่บางส่วนที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง และภารกิจที่ 2 มีเป้าหมายในพื้นที่ อ.สอยดาว , อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ซึ่งได้รับการร้องขอฝน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบด้านการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ด้านพื้นที่ภาคกลาง พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆเพียง 38% ค่าดัชนีการยกตัวไม่ดี ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัด เช่น จ.เชียงราย , จ.ลำปาง , จ.ลำพูน , จ.เชียงใหม่ และ จ.แพร่ อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่า PM2.5 สูงถึง 199 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นผลมากจากปัญหาไฟไหม้ป่า ทำให้ค่าฝุ่นละอองในอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสูงหลายพื้นที่ และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆไม่เข้าเงื่อนไข หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่ที่รับผลกระทบ และบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร

ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.เลย มีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน อยู่ในภาวะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไข จึงขอติดตามสภาพอากาศ และพื้นที่ภาคใต้ ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม 2562

กษ.ถกเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง สั่งกรมชลเร่งทำฐานข้อมูลน้ำจัดสรรให้พอใช้ทั้งประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมเตรียมรับมือภัยแล้ง และพิธีปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรอุปกรณ์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งที่กรมชลประทาน จ.นนทบุรีว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักจัดทำฐานข้อมูลปริมาณน้ำทั้งประเทศ ความต้องการใช้น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชน โดยการประชุมวันนี้ได้รายงานผลบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย. 2561-7 มี.ค. 2562) มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ แบ่งเป็น 1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 47,141 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 23,599 ล้าน ลบ.ม. 2) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 2,696 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 2,310 ล้าน ลบ.ม. และ 3) ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่นนำมาใช้ได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 27,047 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้

“รมว.เกษตรฯเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริหารจัดการน้ำให้ตลอดรอดฝั่งช่วงแล้งนี้ ซึ่งดำเนินงานมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 และจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจึงได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ลงไปในพื้นที่ รวมทั้งมีแผนติดตามสถานการณ์และรายงานผลให้รมว.เกษตรฯรับทราบทุกวันจันทร์” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิ รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ จากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำ 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำ 527 เครื่อง รถขุด 499 คัน เรือขุด 69 ลำ รถบรรทุก 511 คัน รถบรรทุกน้ำ 106 คัน รถแทรกเตอร์ 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นอีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร 7 อัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม 2562

เกษตรกรเฮ! ราคาปุ๋ยลง 20-50 บาทต่อกระสอบ หลังพาณิชย์จับมือรายใหญ่ปรับลด

“พาณิชย์จังหวัดลำพูน” ลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมีในพื้นที่ หลังพาณิชย์จับมือผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ปรับลดราคาจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พบราคาลดลง 20-50 บาทต่อกระสอบ เผยเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรใช้ปุ๋ยราคาถูกลง

นายเมธี บัวพึ่ง พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ได้นำทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายปุ๋ยเคมี และตรวจสอบการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมี ในพื้นที่อำเภออำเภอเมือง และบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ร่วมมือผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ประกาศปรับลดราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2562 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถลดปัจจัยต้นทุนการผลิต

โดยผลการตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายปุ๋ยเคมีในพื้นที่จำนวน 2 ราย ได้แก่ ร้านเม้งฮวดเกษตร และร้านชัยมงคลเคมีภัณฑ์ ทั้งสองร้านเป็นร้านจำหน่ายปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของจังหวัดลำพูน โดยพบว่าสถานการณ์ราคาการจำหน่ายปุ๋ยเคมีได้ปรับลดลง 20-50 บาท/รายการ สอดรับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ร่วมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ปรับลดราคาปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่จะได้ใช้ปุ๋ยในราคาที่ถูกลง

สำหรับราคาจำหน่ายปุ๋ย ราคาปลีก ณ ปัจจุบัน ปุ๋ยตรากระต่าย หัววัวคันไถ สูตร 16-20-0 ราคา 650 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 20 บาท ปุ๋ยตรารุ่งอรุณ สูตร 16-16-8 ราคา 680 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 20 บาท ปุ๋ยกระต่าย สูตร 15-15-15 ราคา 780 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 30 บาท/กระสอบ ปุ๋ยตราหัววัวคันไถ สูตร 15-15-15 ราคา 750 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 20 บาท ปุ๋ยตรามงกุฎ สูตร 15-15-15 ราคา 750 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 20 บาท ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0 ราคา 600 บาท/กระสอบ ลดลงจากเดือนที่ผ่านมา 50 บาท

“จากการสอบถามผู้ประกอบการ ได้รับแจ้งว่า สถานการณ์การจำหน่ายปุ๋ยเคมีได้ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกลดลง และหันไปปลูกพืช และใช้ปุ๋ยตัวอื่นทดแทน จึงทำให้ยอดจำหน่ายลดลงมาบ้าง” นายเมธีกล่าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ ได้ประชาสัมพันธ์และกำชับให้ผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมีทุกแห่งต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกรและผู้ใช้ปุ๋ย หากไม่ปฏิบัติตาม ทางสำนักงานฯ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายต่อไป

จาก https://mgronline.com วันที่ 14 มีนาคม 2562

ผลประชุมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน

การประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ครั้งที่ 35  เห็นชอบร่วมกันหลายประเด็นพร้อมเห็นผลปีนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียนได้ข้อสรุปในประเด็นสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1.เห็นชอบประเด็นเศรษฐกิจ 3 ด้าน 13 ประเด็น ที่ไทยเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จปี 2562 เนื่องจากมีความสำคัญและสอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการรับมือกับอนาคต ความเชื่อมโยง และความยั่งยืน และเห็นชอบให้เสนอประเด็นที่ไทยผลักดัน 3 ด้าน 13 ประเด็น ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเดือนเมษายนนี้จังหวัดภูเก็ต 2.เตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เนื่องจาก 4IR จะสร้างโอกาสและความท้าทายสมาชิกอาเซียน จึงจำเป็นที่อาเซียนต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรองรับ 4IR โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อเตรียมแนวทางการรับมือของอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป

3.พัฒนาการบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียนโดยเฉพาะกฎระเบียบที่มิใช่ภาษี เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างอาเซียน เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความโปร่งใสของข้อมูลการใช้กฎระเบียบ 4.ปรับปรุงกลไกการทำงานภายในอาเซียนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถรับมือกับประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรรายสาขาให้ครอบคลุมถึงการดำเนินงานในประเด็นคาบเกี่ยว และ 5.คณะทำงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนหารือกันและศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศคู่ค้าของอาเซียนเสนอประเด็นใหม่เข้ามาเจรจาในเอฟทีเอ เพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับประเทศนอกภูมิภาคในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล แรงงาน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้เห็นพ้องกันว่าบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศขณะนี้และการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ผ่านมาจำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนจะต้องร่วมแสดงบทบาท เพื่อให้ WTO ยังคงเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ รักษาความเป็นธรรม และการค้าเสรี ซึ่งที่ประชุมขอบคุณไทยในฐานะประธานอาเซียนที่ร่วมมือกับ WTO จัดการสัมมนาเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก : มุมมองของอาเซียน วันที่ 14-15 มีนาคม 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง WTO และประเทศต่าง ๆ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน และแคนาดาเข้าร่วม เพื่อเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำท่าทีร่วมของอาเซียนภายใต้เรื่อง WTO Reform ต่อไป

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย. -

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 14 มีนาคม 2562

เผยมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งช่วยเกษตรกร

                 กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียม 3 มาตรการรองรับป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤติ ปี 2562 เผยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 มากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส

                นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนปีนี้จะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 มากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อนที่ลดน้อยลง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง ในปี 2562 โดยกำหนดมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่การเกษตร ไว้ 3 ด้าน ดังนี้

                1. การเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบ รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรด้านพืชให้เป็นปัจจุบัน พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำด้านวิชาการแก่เกษตรกรในการดูแลรักษาต้นพืช ตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์คลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง ฟางข้าว การจัดทำระบบน้ำในสวนไม้ผล และเตรียมการป้องกันด้านศัตรูพืช ออกสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันและกำจัดอย่างถูกวิธี

                2. การจัดการในภาวะฉุกเฉิน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และรณรงค์และขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด และจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ออกเยี่ยมให้คำแนะนำด้านวิชาการ การดูแลรักษาต้นพืช การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งประเมินผลกระทบเบื้องต้น

     3. การฟื้นฟู สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจและประเมินความเสียหายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายของเกษตรกรที่ประสบภัยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงินแก่เกษตรกร โดยใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 หรือขอใช้เงินงบกลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ให้เกษตรกรมีเงินทุนเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพาะปลูกพืชในรอบการผลิตถัดไป โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพืชที่เสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ อัตราการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท

                หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือกองแผนงาน กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.0 2579 9523

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 14 มีนาคม 2562

ไทยเสนอบรรจุเกษตรปลอดภัย ในร่างยุทธศาสตร์ Codex ปี 2020-2025

มกอช. ร่วมการประชุม CCGP ครั้งที่ 31 เสนอหลักการทั่วไปในการปรับปรุงการทำงานของโคเด็กซ์ และข้อคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ของโคเด็กซ์ ปี 2020-2025 เน้นความปลอดภัยอาหาร ครอบคลุมเกษตรปลอดภัย สอดรับยุทธศาสตร์ชาติของไทย

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม Codex Committee on General Principles (CCGP) ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2562 ณ เมืองบอร์โด สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทางการทำงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมการและคณะทำงานโคเด็กซ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการดำเนินงานเรื่องอาหารปลอมปน โดยยึดหลักการทำงานอย่างโปร่งใส มีส่วนร่วม และเป็นฉันทามติ

นางสาวจูอะดี กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จะร่วมผลักดันมาตรฐานของโคเด็กซ์และสนับสนุนแหล่งทุนสำหรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อการกำหนดมาตรฐานของโคเด็กซ์

“ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีความเห็นให้โคเด็กซ์ยังคงมีทางเลือกให้กับคณะกรรมการที่จะดำเนินงานในรูปแบบการติดต่อทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยให้สามารถตั้งคณะทำงานย่อยได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมและลดภาระงานของประธานคณะกรรมการ รวมถึงสนับสนุนการทำคู่มือการทำงานและหลักเกณฑ์สำหรับการตัดสินใจในเรื่องนี้ รวมทั้งได้มีความเห็นให้การทำงานเรื่องอาหารที่มีการปลอมปน อยู่บนพื้นฐานที่สามารถปฏิบัติได้และไม่เกิดข้อกีดกันทางการค้า”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

นางสาวจูอะดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับร่างยุทธศาสตร์ของโคเด็กซ์ ปี 2020-2025 ประเทศไทยได้แสดงความเห็นในการประชุมหารือคณะกรรมการประสานงานภูมิภาคเอเชีย เพื่อกำหนดท่าทีในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าโคเด็กซ์ควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศที่ตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิกและเป้าประสงค์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ที่เน้นความปลอดภัยอาหาร รวมถึงการผลิตเกษตรปลอดภัย สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ จะถูกนำเสนอคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission: CAC) ในเดือนกรกฎาคม 2562 ต่อไป

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 14 มีนาคม 2562

ค้านรง.น้ำตาลวอนจนท.ฟังเหตุผล

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายสมัย  คดเกี้ยว กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพ็งป่าติ้ว จ.ยโสธร พร้อมด้วยชาวบ้านกว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอำเภอป่าติ้ว เรื่องการคัดค้านมติการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับการพลังงาน(กกพ.) และขอให้นายธีระพงษ์  คุ้มเคี่ยม นายอำเภอป่าติ้วตลอดจนเจ้าหน้าที่ วางตัวเป็นกลางต่อกรณีโรงงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ และโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อยต่อวัน

นายสมัยกล่าวว่า หลังจากกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านอยากตั้งคำถามว่า ทำไม กกพ.ถึงเร่งรีบพิจารณา เพราะทางชาวบ้านมองว่าประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาอาจจะไม่ครอบคลุม ดังนั้น วันนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจึงมายื่นหนังสือใน 2 ประเด็นคือ 1. คัดค้านมติการพิจารณาอนุมัติกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 2. ให้นายอำเภอป่าติ้วและเจ้าหน้าที่วางตัวเป็นกลางต่อกรณีนี้ เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปี การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์จากความต้องการปกป้องทรัพยากรชุมชน จึงมาเพื่อชี้แจงข้อมูลการคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงงานน้ำตาลโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ที่จะส่งผลกระทบให้กับชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้กับนายอำเภอป่าติ้ว นอกจากนั้นทางกลุ่มหวังว่านายอำเภอและเจ้าหน้าที่จะยอมรับความคิดเห็นต่างที่ทางกลุ่มมีสำนึกในการปกป้องชุมชนเพื่ออยากใช้น้ำที่สะอาด อยากอยู่กับธรรมขาติที่อุดมสมบูรณ์ เราจะกำหนดอนาคตในการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง

ด้านนายธีระพงษ์ได้ลงมารับหนังสือด้วยตัวเอง และได้เปิดห้องประชุมชั้นสองให้ชาวบ้านกว่าร้อยคนได้ชี้แจง ซึ่งนายอำเภอป่าติ้วได้กล่าวว่าในประเด็นการคัดค้านมติการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานนั้น ทางอำเภอจะส่งหนังสือต่อให้ทางจังหวัด ส่วนประเด็นการให้เจ้าหน้าที่อำเภอเป็นกลางนั้น ทางอำเภอเป็นกลางเสมอ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 14 มีนาคม 2562

กษ.ถกเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง n สั่งกรมชลเร่งทำฐานข้อมูลน้ำ n จัดสรรให้พอใช้ทั้งประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมเตรียมรับมือภัยแล้ง และพิธีปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรอุปกรณ์ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งที่กรมชลประทาน จ.นนทบุรีว่า นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักจัดทำฐานข้อมูลปริมาณน้ำทั้งประเทศ ความต้องการใช้น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชน โดยการประชุมวันนี้ได้รายงานผลบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย. 2561-7 มี.ค. 2562) มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ แบ่งเป็น 1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 47,141 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 23,599 ล้าน ลบ.ม. 2) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 2,696 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 2,310 ล้าน ลบ.ม. และ 3) ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่นนำมาใช้ได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 27,047 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้

“รมว.เกษตรฯเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บริหารจัดการน้ำให้ตลอดรอดฝั่งช่วงแล้งนี้ ซึ่งดำเนินงานมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 และจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจึงได้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ลงไปในพื้นที่ รวมทั้งมีแผนติดตามสถานการณ์และรายงานผลให้รมว.เกษตรฯรับทราบทุกวันจันทร์” ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิ รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ จากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำ 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำ 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำ 527 เครื่อง รถขุด 499 คัน เรือขุด 69 ลำ รถบรรทุก 511 คัน รถบรรทุกน้ำ 106 คัน รถแทรกเตอร์ 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นอีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร 7 อัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือรวดเร็วมีประสิทธิภาพ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 มีนาคม 2562

เดินเครื่องยุทธศาสตร์พระพิรุณ!! ดันเกษตรกรเข้าสู่ระบบ DGT Platform

มกอช. เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระพิรุณ เชื่อมโยงสถานีบริการ NGV ปตท. ค่ายทหาร และโรงเรียน ดันสินค้าเกษตรปลอดภัยผ่านระบบ DGT Platform พร้อมพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ด้วย Q อาสา

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.62 นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้ดำเนินการพัฒนา www.DGT Farm.com หรือ DGT Platform และในฐานะผู้กำกับดูแลเรื่องมาตรฐาน จะต้องผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ DGT Platform มากขึ้น ซึ่งเมือ่เร็วๆ นี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ NGV Marketplace ภายใต้โครงการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิทัล 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ก็คือ Official Platform โดยใช้สถานีบริการ NGV ปตท. เป็นจุดรองรับการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร ที่มีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง และจะมีการพัฒนาเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงกับเทศบาลเมืองบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีโรงเรียนในการกำกับดูแล ที่จะนำอาหารที่มีคุณภาพเข้าสู่โรงอาหาร ซึ่งสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรจาก DGT Platform หรือ Official Platform ของ NGV รวมทั้งยังเชื่อมโยงกับกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ฯ ซึ่งเป็นค่ายทหาร ในแต่ละวันมีการบริโภคอาหารของทหาร 1,000 กว่านาย จะมีการนำอาหารที่ได้มาตรฐานเข้าสู่โรงอาหารค่ายทหาร โดย มกอช. เป็นผู้เชื่อมโยงให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานเข้าสู่ทั้ง 2 Platform นี้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี อาทิ พาณิชจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และสนับสนุนเกษตรกรนำสินค้าเกษตรเข้ามาสู่ทั้ง 2 Platform ทั้งนี้ มกอช. ในฐานะศูนย์กลางด้านมาตรฐาน พยายามเป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้มีการขับเคลื่อนให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยการจัดทำโมเดลแพ็กเกจขึ้น คือ DGT Platform และ Official Platform

“โครงการ NGV Marketplace ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดทำโมเดล ถ้าประสบความสำเร็จ กระทรวงเกษตรฯ และ ปตท. ก็อาจจะมีการขยายเพิ่มพื้นที่ขึ้นในอนาคต โดยเน้นคัดเลือกสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูปให้เข้าสู่ระบบ DGT Platform เพื่อยกระดับเกษตรกรมากขึ้น”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices : GAP) จำนวนกว่า 1,000 ราย ถือว่ายังเป็นจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศ แต่การเข้าสู่มาตรฐานถือว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะผู้บริโภค ผู้ค้า เช่น ห้างโมเดิร์ทเทรด และเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งมาตรฐาน GAP เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนัก และหันมาทำเกษตรที่มีความปลอดภัย และเข้ามาสู่มาตรฐานมากขึ้น อย่างไรก็ดี กระบวนการรับรองมาตรฐาน มีขั้นตอนจำนวนมาก รวมทั้งระบบการรับรองต้องใช้ระบบบุคคลที่ 3 (Third Party) เข้ามารับรองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่ง มกอช. เป็นหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation body : AB) ที่ให้การรับรองแก่หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) คือหน่วยตรวจรับรอง ซึ่งมีทั้งภาครัฐ เช่น กรมวิชาการ กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมหม่อนไหม และส่วนหนึ่งได้มีการถ่ายโอนให้กับภาคเอกชนด้วย

“มกอช. ยังได้จัดทำโครงการ Q อาสา โดยส่งเสริมเกษตรกรที่มีศักยภาพในการเป็นพี่เลี้ยงสอนเพื่อนเกษตรกร ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน GAP ซึ่งเมื่อเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการตรวจรับรอง GAP ก็จะง่ายขึ้นและรวดเร็วกว่าเดิม เป็นการลดภาระของเจ้าหน้าที่ที่มีไม่เพียงพอในการลงไปดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันเกษตรกรทั่วประเทศเข้าสู่มาตรฐาน GAP ภายใน 2 ปีด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 14 มีนาคม 2562

อุตฯไล่บี้ 1.4 แสนโรงงาน สร้างศก.แบบหมุนเวียน ลดต้นทุนดูแลสิ่งแวดล้อม

กรอ.ไล่บี้โรงงาน 1.44 แสนราย เข้าสู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น นำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน จากต้นทุนที่ลดลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ คาดมีผลบังคับปลายปีนี้ ยันยกเลิก รง.4 สร้างความโปร่งใสในการต่อใบอนุญาต

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา”ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ในอนาคต” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้มีการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่ Factory 4.0 ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน  เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย ตลอดจนการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่

โดยกรอ.จะให้ความสำคัญในการดำเนินงานครอบคลุม 4  ด้าน ได้แก่ การผลิต จะเป็นการส่งเสริมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสู่นวัตกรรมการรออกแบบตลอดห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์  การบริโภค เป็นการส่งเสริมให้นำกลับมาใช้ซ้ำ และการลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็นตลอดจนมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย เป็นการปรับปรุงขั้นตอนการจัดการของเสีย และการลงทุนการจัดการของเสียระยะยาว และการใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ หากโรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 1.44  โรงงาน สามารถดำเนินการเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ ภายใต้การขับเคลื่อนของกรอ.ได้ จะเป็นการช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมติบโตได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดปริมาณของเสียจากโรงงาน ที่มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรคุ้มค่า และเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันได้ด้วย เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำลง

นายสมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไปแล้วนั้น คาดว่าในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.ฉบับใหม่น่าจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้แก้ไขนิยามโรงงานที่อยู่ในการกำกับดูแลใหม่ จากเดิมกำหนดให้โรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า มีแรงงาน 7 คนขึ้นไปต้องมาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือ รง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะปรับเปลี่ยนใหม่เป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้า และแรงงาน 50 คนขึ้นไป ถึงจะมาขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน

โดยจะส่งผลให้โรงงานในการกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจาก 1.44 แสนโรงงาน ลดลงราว 50 % หรืออยู่ในความดูแลประมาณ 8 หมื่นโรงงาน และโรงงานเหล่านี้ตาม พ.ร.บ.โรงงงานแก้ไขใหม่ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาต รง.4 ทุก 5 ปี เพราะเปลี่ยนระบบใหม่มาเป็นการรับรองตนเองแทน โดยมีบุคคลที่ 3 ตรวจรับรอง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า การกำกับดูแลโรงงานตามแนวทางการรับรองตนเองของโรงงาน มาตรการนี้จะส่งผลดีและชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ 1.เพิ่มความสะดวกผู้ประกอบการ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ และ 1.ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม 2.ลดปัญหาข้อร้องเรียนสร้างความความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต  ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มากขึ้น ขณะที่การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ก็ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดูและควบคุมอยู่

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

พ.ร.บ.โรงงานแก้ไขใหม่บังคับใช้ปลายปีนี้

ก.อุตฯ คาด พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่มีผลบังคับปลายปีนี้ ยืนยันยกเลิก รง.4 เปลี่ยนเป็นรับรองตนเองแทน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ “Factory 4.0 และ Circular Economy” ในบริบทอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม โดยระบุว่ากระทรวงอุตสาหกรรมถอดแบบนโยบายประเทศไทย 4.0 มาเป็น อุตสาหกรรม 4.0 และ Factory 4.0 และ Circular Economy โดยต่อยอด 10 อุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมใหม่และการใช้ ITC และ IoT ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและช่วยให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังเพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรมใหม่ คือ Circular Econom และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศรวมเป็น 12 อุตสาหกรรม

นายสมชาย กล่าวว่า เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 แก้ไขใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งได้แก้ไขนิยามโรงงานที่อยู่ในการกำกับดูแลใหม่ จากเดิมกำหนดให้โรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า มีแรงงาน 7 คนขึ้นไปต้องมาขึ้นทะเบียนขอ รง.4 กับกรมโรงงานฯ เปลี่ยนใหม่เป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้า และแรงงาน 50 คนขึ้นไป ส่งผลให้โรงงานในการกำกับดูแลของกรมโรงงานฯ ลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 50 จากที่มีโรงงานในความดูแลประมาณ 144,000 โรงงาน ลดลงเหลือประมาณ 60,000-70,000 โรงงาน และโรงงานเหล่านี้ตาม พ.ร.บ.โรงงงานแก้ไขใหม่ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาต รง.4 ทุก 5 ปีอีก เพราะเปลี่ยนระบบใหม่มาเป็นการรับรองตนเองแทน โดยมีบุคคลที่ 3 ตรวจรับรอง

นายสมชาย ยังย้ำด้วยว่าการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ข้อมูลที่โรงงานส่งมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันว่าจะไม่ส่งให้กรมสรรพากร แม้กรมสรรพากรจะเคยร้องขอมาก็ตามและยังยืนยันนโยบายนี้ต่อไป เพราะการจัดเก็บข้อมูลเป็นการทำงานคนละส่วนกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร จึงขอให้โรงงานต่าง ๆ สบายใจและจัดส่งข้อมูลถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และเป็นประโยชน์ในการวางนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหรรมยังเดินหน้าจัดทำบิ๊กดาต้า โดยทางสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมบรูณาการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสากรรม เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต 

สำหรับ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน จะเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต โดยให้ความสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน คือ การผลิต ส่งเสริมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสู่นวัตกรรมการรออกแบบตลอดห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์ การบริโภค นำกลับมาใช้ซ้ำ และการลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็นตลอดจนมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์, การจัดการของเสีย ปรับปรุงขั้นตอนการจัดการของเสีย และการลงทุนการจัดการของเสียระยะยาว และสุดท้าย คือ การใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรอบ 2 หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  เปิดเผยการกำกับดูแลโรงงานตามแนวทางการรับรองตนเองของโรงงาน ว่า มาตรการนี้จะส่งผลดีและชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ 1.เพิ่มความสะดวกผู้ประกอบการ 2.เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของภาครัฐ และ 1.ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม 2.ลดปัญหาข้อร้องเรียนสร้างความความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต  ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ อีกทั้งยังช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มากขึ้น

จาก https://www.tnamcot.com   วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

เปิด App “ฟาร์ม ช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดตัว App “ฟาร์ม ตัวช่วยออกแบบฟาร์มด้วยตนเอง ตอบโจทย์เกษตรกรยุคดิจิตอล

เมื่อวันที่ 13 มี.ค.62 นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้พัฒนา Application “ฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรใช้สำหรับวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่ไม่เหมาะสม ไปสู่สินค้าเกษตรตัวใหม่ที่เหมาะสมด้วยตัวเกษตรกรเอง และเป็นการพัฒนาให้เกษตรกรหันมาใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล

สำหรับแอพพลิเคชั่น “ฟาร์ม มีความหมาย กล่าวคือ “ฟาร์ม” หมายถึง ที่ดินของเกษตรกรที่ปัจจุบันเกษตรกรมีอยู่แล้วใช้ประโยชน์ทำการผลิตสินค้าเกษตร ส่วน “ คือ design หรือ ออกแบบ เมื่อรวมความหมายแล้วแอพพลิเคชั่น “ฟาร์ม คือ ออกแบบฟาร์ม ซึ่งต่อไปเกษตรกรจะสามารถออกแบบฟาร์มด้วยตัวเกษตรกรเองผ่านโทรศัพท์มือถือ วิเคราะห์แผนผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมหรือปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรที่ผลิตอยู่แล้วซึ่งมีผลตอบแทนต่ำไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง โดยสามารถวิเคราะห์ได้ครั้งละ 3 แผนการผลิตเพื่อเปรียบเทียบแผนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีที่สุดให้กับตนเอง

การพัฒนาแอพพลิเคชั่นฟาร์ม D สศก. ได้ใช้แนวคิดการจัดการฟาร์ม (Farm management) โดยนำข้อมูลราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร และผลตอบแทนสุทธิสินค้าเกษตรของพืช ปศุสัตว์ และประมง ในแต่ละจังหวัด มาวิเคราะห์แผนการผลิต โดยในระยะแรก แอพพลิเคชั่นจะกำหนดให้เกษตรกรสามารถเลือกผลิตสินค้าเกษตรในรอบปีได้ไม่เกินที่ดินที่เกษตรกรมีอยู่ และแสดงผลออกมาเป็นปฏิทินการผลิต (Calendar) ที่มีรายละเอียดประกอบด้วย สินค้าที่เกษตรกรเลือก ต้นทุนการผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตรวม และผลตอบแทนสุทธิรวม และในระยะต่อไปจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้สามารถนำข้อจำกัดของเกษตรกร ได้แก่ แรงงาน เงินทุน และน้ำ มาวิเคราะห์ได้เพิ่มเติมต่อไป โดยการใช้แอพพลิเคชั่นนั้นง่ายมาก เริ่มจากเกษตรกรเลือกจังหวัด จากนั้นกำหนดจำนวนที่ดินที่จะวางแผนการผลิต และเลือกสินค้าที่จะผลิต ประกอบด้วย พืชไร่ พืชสวน พืชผัก ปศุสัตว์ ประมง และไม้ดอกไม้ประดับ เมื่อเลือกสินค้าแล้ว จึงกำหนดจำนวนพื้นที่ที่จะใช้ผลิตอีกครั้ง โดยหากสินค้าแล้วที่เลือกมาในช่วงเวลาเดียวกันเต็มพื้นที่ดินที่มีอยู่ ก็จะไม่สามารถเลือกสินค้าที่เลือกมาหลังสุดได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจแอพพลิเคชั่น “ฟาร์ม สามารถศึกษารายละเอียดและเข้าใช้ผ่านหน้าเว็บไซต์ของ สศก. โดยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นผ่านระบบแอนดรอยด์ หรือสามารถใช้งาน On Website ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ทาง http://aginfo.oae.go.th/oaemodel/ หรือ QR Code ด้านล่างนี้ ซึ่งขณะนี้ สศก. อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบ iOS ให้สามารถใช้งานได้ต่อไป ท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทรศัพท์ 0 2561 2870 Email : prcai@oae.go.th

จาก  https://siamrath.co.th    วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

"สทนช."ยันแล้งนี้น้ำไม่หมดเขื่อน-มีใช้ถึงกลางพ.ค.

"สทนช."ยันแล้งนี้น้ำไม่หมดเขื่อน มีน้ำใช้ถึงกลางพ.ค.แต่พื้นที่เกษตรปลูกเกินแผนเพียบ ทั้งนอกเขตชลประทาน พื้นที่ต้นน้ำดักสูบน้ำปล่อยระบายจากเขื่อนใช้กว่าล้านไร่

                      13 มีนาคม 2562 นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยในปีนี้สถานการณ์แล้งมากกว่าเมื่อปี 2561 แต่น้อยกว่าช่วงแล้งจัดเมื่อปี 2557 

                       ที่มีฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปี โดยเมื่อเปรียบเทียบสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในปี 2561 และปี 2562 แล้วนั้น พบว่า ในปีนี้มีปริมาณน้ำลดลงจากปีก่อน คือจาก 71% ลดลงเหลือ 66% เช่นเดียวกับปริมาณน้ำใช้การจาก 38 % เหลือ 33% แต่ทั้งนี้ก็ได้มีมาตรการจัดสรรน้ำจากอ่างขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง และได้ทำการจัดสรรแล้วถึง 72% เป้าหมายหลักคือการรักษาปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ ให้ทอดยาวไปจนถึงกลางเดือนพ.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน โดยยืนยันว่าทุกภาคจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หน่วยงานจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ

                      ด้านภาคการเกษตร สำหรับพื้นที่ในเขตชลประทาน แม้จะมีการกำหนดพื้นที่เพาะปลูกตามศักยภาพของน้ำต้นทุนไว้แล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มี 31 จังหวัด ที่มีการปลูกพืชมากกว่าแผนที่กำหนด รวมมากกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือจังหวัดนครสวรรค์ ที่เกิดปัญหาการสูบน้ำไปใช้ในการเพาะปลูกเมื่อมีการปล่อยระบายน้ำจากเขื่อน

                     ทั้งนี้ในส่วนนอกเขตชลประทานมีการคาดการณ์ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาลว่า 11 จังหวัด อาจเกิดปัญหาการปลูกพืชมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ โดยในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกพืชมากกว่าแผนราว 1 แสนไร่ โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งแก้ปัญหาด้วยการกวดขันการจัดการน้ำในพื้นที่ของชลประทานมากขึ้น พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ซึ่งได้มีการประกาศไม่สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง และให้มีการปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่รับน้ำจาก 4 เขื่อน ได้แก่ ทับเสลา กระเสียว  ลำนางรอง และลำพระเพลิง

                      “ในพื้นที่ที่ได้มีการเพาะปลูกเกินแผนไปแล้วนั้น อาจมีการแบ่งสรรน้ำจากส่วนที่สำรองไว้ในช่วงก่อนถึงเดือนพฤษภาคมมาใช้เพื่อช่วยเหลือ ทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการช่วยกันประหยัดน้ำ และต้องอาศัยบุคลากรจากกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานในการใช้ระบบที่มีอยู่ในการควบคุมและจัดระเบียบการใช้น้ำให้มากขึ้น และต้องร่วมมือไม่ปลูกเพิ่มอีก พร้อมวางแผนปรับปรุงให้มีการกำหนดจำนวนพื้นที่เพาะปลูกและประกาศอย่างชัดเจนให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาระยะยาวในอนาคต”นายสมเกียรติ กล่าว

                      สำหรับสถานการณ์น้ำของแม่น้ำในทุกภาคของประเทศ พบว่า มีปริมาณน้ำน้อยถึงปกติ โดยแม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง  จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 293  ลบ.ม./วินาที อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อัตราการไหลผ่าน 70 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ไม่มีอัตราน้ำไหลผ่าน อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร อัตราการไหลผ่าน 3.40 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำมูล อ.โชคชัย   จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 0.84 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 96 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย จ.นครพนม ถึง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 9.03 ม. ลดลง 0.02, 9.18 ม. ลดลง 0.11 และ 11.19 ม. ลดลง 0.12 ตามลำดับ

                      ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35แห่ง มีปริมาณน้ำ 46,606 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,063 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49%ส่วนอ่างฯ ขนาดกลาง 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,856 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 51% ปริมาณน้ำใช้การ 2,431 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47%

                      ทั้งนี้ มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14แห่ง ที่มีปริมาณน้ำ 30-50% ของปริมาณน้ำใช้การ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนน้ำอูน เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนบางพระ

                      สำหรับอ่างขนาดใหญ่7 แห่ง มีน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ แบ่งเป็น เขื่อนขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง เขื่อนแม่มอก 26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง  เขื่อนอุบลรัตน์ 84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 5% เขื่อนสิรินธร 113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% เขื่อนลำนางรอง 34 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29%   เขื่อนห้วยหลวง 35 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27% ภาคกลาง 2 แห่ง เขื่อนทับเสลา 23 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 16% และเขื่อนกระเสียว 26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10%

                      ส่วนอ่างขนาดกลาง 95 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง

จาก www.komchadluek.net วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

กลับมาแล้ว PM2.5พุ่งขึ้นที่เลยล่าสุดสูง86เหตุเผาไร่อ้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดเลย ตอนนี้ ทั่วไปกลับมา อึมครึมอีกครั้ง เต็มไปหมอกควันเต็มท้องฟ้า ล่าสุด ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พุ่งสูงเป็น 86 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะทยานสูง ไปเรื่อย เหตุกลับมา เผาอ้อย จนเกิดหิมะดำ

ล่าสุด ขณะนี้ ค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐาน ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไป: สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ โดยกลุ่มเสี่ยง ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หมายถึง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด

ทั้งนี้ สาเหตุหลัก มาจากกลุ่มควันเต็มท้องฟ้าส่วนใหญ่ ของจังหวัดเลย มากจากการ ลักลอบเผาป่า และเผาอ้อย ที่ทางราชการมีมาตรการ แต่ชาวบ้านดูเหมือนไม่เห็นความสำคัญ แต่กลับมาเผาอ้อย กันทุกวัน เพียงแต่ลักลอบเผา เย้ยหน่วยงานราชการที่ไม่มีการจับ แต่หลังจากมีข่าวบ้างก็สั่งการ

ด้านนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้สั่งเด็ดขาด ให้นายอำเภอทุกอำเภอ ลงพื้นที่กำชับ ชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปช่วยกันดับไฟป่า และประชาสัมพันธ์ ต่อเนื่อง และคาดโทษ นายอำเภอและผู้บริหารองค์กร ปกครองท้องถิ่น หมั่นดูแล ลูกบ้าน ประชาชน ห้ามเผาป่า เผา อ้อยเชิงรุก หากไม่ปฏิบัติตาม ก็มีโทษ และให้ทุกคนหมั่นตรวจสอบ ดูแล หมอกควัน ทุกคนต้องช่วยกัน

จาก www.banmuang.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

แล้งยาวกว่าทุกปี มท.1 รับมือบริหารจัดการน้ำ มีพอใช้ มั่นใจคุมได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ ถึงสถานการณ์ภัยแล้วว่า จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งมาว่าจากระดับปริมาณน้ำเดิม และสภาพของอากาศจะส่งผลให้ปีนี้แล้งกว่าปีที่ผ่านมา เราให้แจ้งเตือนไปในทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดก็เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ ทั้งนอกและในเขตชลประทาน โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยน้ำอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมการในพื้นที่ที่มีประวัติขาดแคลนน้ำ โดยการเตรียมรถสูบน้ำไว้ในการสนับสนุน  ขณะที่น้ำด้านการเกษตรได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาที่ประชาชนปลูกพืชเกินกว่าหน่วยงานราชการตั้งเป้าไว้ โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามรณรงค์ให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนพื้นที่ที่ปลูกไว้แล้วเราก็ต้องเตรียมการช่วยเหลือ แต่หากสุดวิสัยก็จะต้องเตรียมการเพื่อเยียวยา

“มั่นใจว่าปัญหาภัยแล้งน่าจะสามารถควบคุมได้ยอมรับว่าปีนี้จะแล้งยาวนาน และตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่าฝนจะตกต้นเดือนพ.ค. จึงได้กำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดให้มีใช้ถึงเดือนพ.ค.

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

โรงงาน ตจว. กว่า 9 หมื่นราย เตรียมเฮ! ก.อุตฯ เร่งให้บริการชำระค่าธรรมเนียมโรงงานผ่าน QR Code

โรงงาน ตจว. กว่า 9 หมื่นราย เตรียมเฮ! ก.อุตฯ เร่งให้บริการชำระค่าธรรมเนียมโรงงานผ่าน QR Code พร้อมพลิกโฉมสำนักงานอุตสาหกรรมฯ เป็นราชการ 4.0 ดีเดย์ภายใน 3 เดือน

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีนโยบายให้เร่งปรับปรุงการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ นำร่องด้วยการพัฒนาบริการชำระเงินผ่านระบบ QR Code ให้ผู้ประกอบการสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ ยกระดับเป็นราชการ 4.0 หรือ Smart Office 4.0 เริ่มต้นจากการนำระบบ Bar Code มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลโรงงานทั้งหมด ประเมินผู้ประกอบการในภูมิภาคกว่า 90,000 ราย จะได้รับประโยชน์ฯ

"ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ QR Code ในการรับชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด จากเดิมผู้ประกอบการต้องเดินทางมาชำระค่าธรรมเนียม ณ ช่องทางส่วนราชการตามที่กระทรวงฯ กำหนด เช่น สอจ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยโรงงานขนาดเล็กในอำเภอที่อยู่ห่างไกลอาจมีภาระในการเดินทางไปชำระเงินเพียงไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันบาท กระทรวงฯ จึงได้พัฒนาช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลาย สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น"

ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง เพิ่มความโปร่งใส ลดการติดต่อ และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การส่งหนังสือพร้อมแนบใบแจ้งชำระค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ โดยมี QR Code ด้านท้าย เพื่อสามารถสแกนชำระเงินได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและธนาคาร คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน สำหรับการเตรียมความพร้อมของระบบงานภายใน (Back Office) เช่น การประสานกับสถาบันทางการเงิน และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโรงงานที่ถูกต้องครบถ้วน ปัจจุบัน กระทรวงฯ ได้ออกบันทึกสั่งการให้ สอจ. ตรวจสอบและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลโรงงาน เพื่อการเชื่อมโยงและสามารถที่จะแจ้งเตือนโรงงานที่ค้างชำระค่าธรรมเนียมได้ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว

ในส่วนของการพัฒนา สอจ. ให้ราชการ 4.0 หรือเป็น Smart Office 4.0 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีได้เริ่มนำระบบ Bar Code มาใช้ในการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลโรงงาน ซึ่งจะขยายผลไปยัง สอจ. ทุกแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และระยะเวลาในการติดต่อราชการได้อย่างน้อย 10-30 นาที ทำให้บริการผู้ประกอบการได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาอาจประสบปัญหาในการสืบค้นข้อมูล เนื่องจากเก็บเป็นเอกสารในแฟ้มข้อมูลโรงงานจำนวนมาก ในจังหวัดใหญ่บางแห่งมีถึง 4,000–5,000 แฟ้ม ซึ่งกระทรวงฯ มีแผนงานขยายผลที่จะไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่น การออกใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) การเงินและพัสดุ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายให้กระทรวงฯ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น โดยยึดประชาชนและผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และมีความทันสมัย ซึ่งแผนการพลิกโฉม สอจ. ทั้ง 76 จังหวัดดังกล่าว เป็นหนึ่งในการพัฒนาหน่วยงานในภูมิภาคให้เข้าสู่ส่วนราชการ 4.0 ของกระทรวงฯ โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ 3 ประการ ได้แก่ 1) การสานพลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 2) การสร้างนวัตกรรม และ 3) การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล

จาก www.thansettakij.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

ตัด GSP "อินเดีย-ตุรกี" 5 พันล้านดอลล์ เพิ่มโอกาสและความเสี่ยงส่งออกไทย

พาณิชย์เล็งใช้โอกาสสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพีอินเดีย-ตุรกี มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ดันส่งออกสินค้าไทยทดแทนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่ม อีกด้านไทยติดโผ 7 ประเทศ มะกันทบทวนให้สิทธิจีเอสพีทราบผลสิ้น มี.ค. นี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเตรียมตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับอินเดียและตุรกี โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับประเทศต่าง ๆ ภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งระดับการพัฒนาของประเทศ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การกำหนดนโยบายด้านการลงทุนที่ชัดเจน ตลอดจนการสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอินเดีย ตุรกี รวมทั้งไทย อยู่ในกลุ่มที่ได้รับสิทธิ GSP ดังกล่าว และสหรัฐฯ มีการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิ GSP เป็นประจำทุกปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2562 ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ยื่นจดหมายต่อสภาคองเกรสแห่งสหรัฐฯ และแจ้งต่ออินเดียและตุรกี ว่า จะระงับการให้สิทธิ GSP แก่อินเดียและตุรกี โดยให้เหตุผลว่า อินเดียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาด โดยไม่สามารถรับรองได้ว่า สหรัฐฯ จะสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการในอินเดียได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงมีการออกมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลเชิงลบต่อการค้าของสหรัฐฯ ส่วนตุรกีนั้นมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงขึ้นแล้ว คือ มีรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per Capita) ที่สูงขึ้น อัตราความยากจนลดลงและสามารถขยายตลาดส่งออกที่หลากหลาย ทั้งนี้ กระบวนการตัดสิทธิ GSP ของอินเดียและตุรกี จะใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 60 วัน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2562 โดยการออกประกาศประธานาธิบดี (Presidential Proclamation)

สนค. ได้มีการประเมินเรื่องดังกล่าว ว่า ตุรกีน่าจะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP มากกว่าอินเดีย เนื่องจากพึ่งพา GSP ในการส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่า โดยตุรกีส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP คิดเป็น 17.42% ของการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ในขณะที่ อินเดียส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP คิดเป็น 11.59% ของการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิ GSP อินเดียและตุรกี จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของทั้ง 2 ประเทศ ในระดับจำกัด เนื่องจากการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1-2% ของการส่งออกรวมของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ค่าเงินที่อ่อนค่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP โดยสินค้าจากอินเดียและตุรกีจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.45% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 2560) ในขณะที่ ค่าเงินรูปีมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 8.6% และเงินลีราของตุรกีมีแนวโน้มอ่อนค่าจากช่วงเดียวกันปีก่อน 40.6% ดังนั้น อินเดียและตุรกีจึงน่าจะรักษาความสามารถทางการแข่งขันและระดับการส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ไว้ได้

"การที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP อินเดียและตุรกี จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและความต้องการสินค้าไทย นอกจากนี้ การส่งออกไปอินเดียและตุรกีคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก เพียง 3.01% และ 0.43% ของการส่งออกรวมของไทยในปี 2561"

ทั้งนี้ สนค. คาดว่า อินเดียและตุรกีอาจเร่งส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2562 ก่อนที่การตัดสิทธิ GSP จะมีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว ไทยอาจมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าที่อินเดียและตุรกีถูกตัดสิทธิ GSP รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ (HS8708) อัญมณี (HS7113) หินเพื่อการก่อสร้าง (HS6802) อุปกรณ์/ของใช้ในครัวทำด้วยโลหะ (HS7323) ก๊อก/วาล์วสำหรับใช้กับหลอดหรือท่อ (HS8481) อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ เช่น ข้อต่อ ข้องอ ปลอกเลื่อน ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า (HS7307) ตะกั่วที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป (อันรอต) (HS7801)

อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะขยายการใช้มาตรการทางการค้าฝ่ายเดียว (Unilateralism) ไปยังประเทศอื่น ๆ อีก ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางศุลภากรภายใต้โครงการ GSP รายประเทศ (Country Practice Review) กับประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ จอร์เจีย อินโดนีเซีย ไทย อิรัก และอุซเบกิสถาน และคาดว่าจะประกาศผลการพิจารณาภายในเดือน มี.ค. 2562

ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP สหรัฐฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย ไทย บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจและเฝ้าติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งคณะทำงานฝ่ายไทย-สหรัฐฯ ได้มีการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

จาก www.thansettakij.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

หอการค้าไทย เล็งลดเป้าจีดีพี หั่นเหลือ 3.8% เหตุเศรษฐกิจทรุดจากสงครามการค้า

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล็งลดเป้าจีดีพี หั่นเหลือ 3.8% เหตุเศรษฐกิจทรุดผลกระทบจากสงครามการค้า และรัฐบาลไม่มีมาตรการใหม่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2562 ใหม่ จากเดิมที่ตั้งเป้าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4-4.5% เบื้องต้นอาจจะเหลือ 3.7-4.2% โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุด 3.8%

เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ได้ฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลออย่างเป็นรูปธรรมแล้วหลังจากทั้งสองประเทศได้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะนำมาตรการใหม่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก จนกว่าจะรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

แม้ว่าท่าทีสหรัฐ-จีนจะมีท่าทีอ่อนลง แต่ผลการปรับขึ้นภาษีในปีที่แล้ว ซึ่งทั้งสองประเทศไม่ได้มีการปรับลดลงตาม ได้กระทบต่อการส่งออกจีน สหรัฐ และประเทศอื่นๆทั่วโลก กรณีรวมถึงมาตรการกีดกันการค้าของประเทศต่างๆ และเบร็คซิทด้วย ดังนั้น เดิมทีคาดว่าไทยจะส่งออกได้ในระดับ 5% แต่ตอนนี้น่าจะเหลือเติบโต 3-4%

“ส่วนเรื่องของการนำงบประมาณรัฐ มากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้นยากมาก เพราะตอนนี้รัฐบาลแม้จะมีอำนาจเต็ม แต่สภาพก็เหมือนกับรัฐบาลรักษาการ จึงทำได้เพียงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยจะติดตามข้อมูลอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีการประกาศตัวเลขใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง”

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง ที่บรรดาผู้สมัครสส.นำมาใช้หาเสียง การจัดกิจกรรม การจ้างงาน การจัดเวที การซื้อรถปิ๊กอัพใหม่ และรถมือสอง และการซื้อสินค้าต่างๆ ที่คาดว่าจะมีประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท เป็นเพียงกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ และคงจะจบหลังเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันที่ 13 มี.ค. นี้ ทางหอการค้าไทยได้มีการจัดดีเบตตัวแทนพรรคการเมืองเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า ด้วยการเชิญ 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, เพื่อไทย,ชาติพัฒนา, ภูมิใจไทย และอนาคตใหม่ เน้น 3 หัวข้อ ที่สมาชิกจะสอบถาม คือ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก, การลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร และ แนวทางการต่อต้านการคอรัปชัน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นการบั่นทอนของเศรษฐกิจไทย

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.2562 พบว่า ดัชนีอยู่ในระดับ 96.0 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 อย่างเป็นทางการ และทำให้บรรดาพรรคการเมือง ต่างใช้เงินในการหาเสียง และทำกิจกรรมต่างๆ จนเงินลงสู่ระบบและหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วงเดือน ก.พ. 10,000-15,000 ล้านบาท และจะมีเพิ่มมากขึ้นในเดือน มี.ค. ประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่านักท่องเที่ยวจีน เริ่มกลับเข้ามาเที่ยวในไทย ใกล้เคียงในระดับปกติแล้ว โดยได้รับการยืนยันจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ที่พบว่าห้องพัก และปริมาณของนักท่องเที่ยวจีนตามสถานที่ต่างๆ บางแห่งมีปริมาณมากในระดับปกติ และบางพื้นที่ใกล้ปกติ จนทำให้มีเม็ดเงินสะพัด ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายประเภท ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เนื้อหมู ไก่ เป็ด ไข่ไก่ เป็นต้น

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

หนุนเกษตรกรผสมปุ๋ยใช้เอง ย้ำลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตได้จริง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรม ส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า การผสมปุ๋ยเคมีใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกต้องตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช เป็นการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่างๆมาผสมกันจากแม่ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้ 3 ชนิด ได้แก่ แม่ปุ๋ยไนโตรเจน สูตร 46-0-0 แม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส สูตร 18-46-0 และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม สูตร 0-0-60 โดยไม่ต้องใส่สารตัวเติม เช่น ดินขาว ยิบซัม ที่ใช้ผสมเพื่อให้น้ำหนักปุ๋ยครบ 100 กก. เกิดผลดีคือ เกษตรกรได้ปุ๋ยเคมีตามสูตรที่ต้องการเหมาะกับดินและพืชลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ได้ธาตุอาหารจากแม่ปุ๋ยเคมีล้วนๆ ทำให้ได้ใช้ปุ๋ยเคมีในราคาถูกตัดปัญหาปุ๋ยปลอมปุ๋ยไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากการผสมปุ๋ยเคมีใช้เอง ใช้แม่ปุ๋ยทำปลอมยาก

วิธีการผสมปุ๋ยทำไม่ยาก หลังทราบสัดส่วนแม่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เตรียมอุปกรณ์ผสมปุ๋ย จากนั้นชั่งน้ำหนักแม่ปุ๋ยแต่ละชนิดตามที่ต้องใช้ ต้องเลือกแม่ปุ๋ยที่ขนาดเม็ดใกล้เคียงกัน ป้องกันปัญหาแยกตัวของเม็ดปุ๋ย นำแม่ปุ๋ยเทลงบนพื้นที่ปูพลาสติกหรืออ่างผสม โดยเทแม่ปุ๋ยน้ำหนักมากที่สุดก่อน แล้วตามด้วยแม่ปุ๋ยที่มีน้ำหนักรองลงมา ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันดี กรณีเกษตรกรรวมกลุ่มกันและต้องการใช้ปุ๋ยผสมเองในปริมาณมากเพื่อบริการสมาชิกของกลุ่ม อาจใช้เครื่องผสมปุ๋ยหรืออุปกรณ์ที่ดัดแปลงมาใช้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการผสมปุ๋ยใช้เอง โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนในพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านเพื่อให้มีความรู้เรื่องดินและปุ๋ยเพิ่มขึ้นเมื่อผสมปุ๋ยแล้วควรใช้ให้หมดในคราวเดียว แต่หากจำเป็นต้องเก็บไว้ ต้องใช้ภายใน 15 วัน เพราะปุ๋ยที่ผสมแล้วจะชื้นง่าย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาชิกเกษตรกรศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนที่กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งขึ้น 882 ศูนย์ สมาชิกที่ปลูกข้าวใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและผสมปุ๋ยใช้เองลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีในนาข้าวได้ ตั้งแต่ร้อยละ 17-51 ขึ้นอยู่กับดิน พันธุ์ข้าว สภาพภูมิอากาศ และราคาแม่ปุ๋ย และผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 -15 ใน ขณะที่พืชอื่นๆ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้เช่นกันในอัตราที่แตกต่างกันไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

"เสรี"เตือน 62 -63 แล้งหนัก

"เสรี"เตือนแล้งหนักปี62-63 จี้รัฐบาล เร่งจัดแผนน้ำบริหารความเสี่ยงล่วงหน้า 6 เดือน ชี้แนวโน้มฤดูฝนนี้มาน้อย กระทบเศรษฐกิจ -การเพาะปลูก-ปริมาณน้ำต้นทุนประเทศ

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าขณะนี้เข้าสู่ภาวะแล้งมากและอากาศร้อนจัด พื้นที่เพาะปลูกขาดแคลนน้ำ 

 ซึ่งช่วง 6 เดือนก่อนหน้านี้เคยเตือนแล้วว่าประเทศไทยจะเผชิญปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ที่มาส่งผลสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น 40 % เป็นปัจจัยหลักทำให้การระเหยของน้ำมีมากถึง 40 % ขึ้นไป อีกทั้งนาปรังปลูกเกินแผนกว่า 1 ล้านไร่ ที่ยังใช้น้ำไปอีก 2 เดือนจนกว่าเก็บเกี่ยว ซึ่งปัญหาน้ำกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ-การเพาะปลูกและปริมาณน้ำต้นทุนในปีหน้า อาจส่งผลเกิดภาวะแล้งในปี 63 ด้วย เนื่องจากมีแนวโน้มปริมาณฝนปีนี้จะน้อย จากการคาดการณ์ฤดูฝนมาล่าช้าไปกว่าสองสัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลน้ำเข้าเขื่อนกักเก็บลดลงไปด้วย                                                 

“ถ้าฤดูฝนปีนี้ มาน้อย ปีหน้าจะลำบากกว่านี้ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงมีความสำคัญสูงสุด ไม่ว่ารัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลนี้ ต้องบริหารความเสี่ยงให้ได้ เพราะภัยแล้งกระทบกับทุกภาคส่วน มักเกิดในช่วงระยะ 2-3 ปีจะเกิดครั้ง ซึ่งครั้งนี้มาจังหวะพอดีภาวะโลกร้อนขึ้น จึงต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน”นายเสรี กล่าว                             

นายเสรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องคาดการณ์แผนน้ำ ล่วงหน้า 6 เดือน และบริหารความเสี่ยงให้ได้ ประเด็นสำคัญที่สุด เร่งทำแบบจำลอง 4 สถานการณ์น้ำ ประเมินปริมาณน้ำฝนปีนี้จะเติมเข้าอ่างเท่าไหร่ เพื่อจัดการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปีหน้า และออกคำแนะนำในเชิงมาตรการ ให้ประชาชน เกษตรกร เข้าใจได้ว่ามีทางเลือกกี่ทางเพื่อวางแผนใช้น้ำอย่างพอดีไม่ใช้มากเกินไปและกักเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งฤดูนาปี อาจต้องเลื่อนฤดูนาปีออกไปจากปกติลงมือปลูกเดือนพ.ค.โดยแนะนำว่าปลูกเมื่อไหร่ เพื่อเตรียมปัจจัยการผลิต เริ่มปลูกเดือนไหนจนถึงเก็บเกี่ยวได้ มีน้ำให้เท่าไหร่ในแต่ละเขื่อน พื้นที่ปลูกครอบคลุมบริเวณไหน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้และช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรด้วย

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

"รมช.วิวัฒน์" เปิดเวทีเสวนา"ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ"

            "รมช.วิวัฒน์" เปิดเวทีเสวนา"ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ" ผสานทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับมือภัยแล้ง-น้ำท่วม เพิ่มศักยภาพเก็บกักน้ำ มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

           นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ "ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ" ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องมีความเข้าใจในที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิดขึ้น บริบทสังคม วิถีชีวิตของประชาชน และความเข้าใจในหลักวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ จึงได้จัดการเสวนาดังกล่าวขึ้น โดยมีผู้แทนจากจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา และตัวแทนเกษตรกร รวมประมาณ 150 คน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ในการร่วมกันคิด ร่วมทำ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาด้านน้ำอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่ และในระดับลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

           ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.โครงการระบบเก็บกักน้ำในถ้ำตามแนวพระราชดำริ(ถ้ำห้วยลึก) บ้านห้วยลึก หมู่ที่ 7 ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับกรมชลประทาน พิจารณาแนวทางเก็บกักน้ำในถ้ำ เพื่อใช้สนับสนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึกจัดสรรให้ราษฎรทำกิน โดยเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่อย่างคุ้มค่า มีการศึกษาสภาพน้ำใต้ดินในเขตพื้นที่โครงการก่อนที่จะดำเนินโครงการ และภายหลังจากที่ดำเนินโครงการแล้ว ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตด้วยการปิดด้านหน้าถ้ำเพื่อเก็บกักน้ำในถ้ำ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทางด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่า ประหยัด และการใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าว เป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อที่ดินของราษฎรในเขตโครงการที่อาจจะถูกน้ำท่วมเหนืออ่างเก็บน้ำได้

             2.การบริหารจัดการน้ำด้วย "ธนาคารน้ำใต้ดิน" เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำขัง โดยการขุดหลุมที่มีลักษณะก้นครก เพื่อจัดกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาช่วงฤดูฝนลงสู่ใต้ดิน โดยเป็นการกักเก็บน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้ผิวดินที่แห้งแล้ง ทำให้ต้นไม้บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีฝนตกหนักก็มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน เหมือนเป็นการฝากน้ำไว้แล้วค่อยถอน(สูบ) เอามาใช้ในช่วงหน้าแล้ง จึงเป็นการแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และ 3. การออกแบบการจัดการน้ำตามภูมิสังคม โดยมีการยกตัวอย่าง "โคก หนอง นา โมเดล" ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้บริหารจัดการน้ำและพื้นที่เกษตรให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม อาทิ การเก็บกักน้ำไว้ในหนอง เก็บน้ำไว้บนโคก และเก็บน้ำไว้ในนา โดยแนวทางดังกล่าวเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และรับน้ำในช่วงน้ำหลาก ทั้งนี้ คันนา คือ เขื่อนของชาวนา เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแนะนำให้คนไทยอย่าทิ้งภูมิปัญญาไทย

          " นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่เชิญมานำเสนอในวันนี้ เป็นตัวอย่างที่ดำเนินการแล้วมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ทั้งโครงการพระราชดำริที่ทรงทำไว้ให้ดูในหลายพื้นที่ โครงการที่ภาคศาสนาดำเนินการ และโครงการที่ภาคประชาชนรวมกลุ่มกันทำร่วมกับภาควิชาการและเอกชน เป็นต้น อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุด คือ กระบวนการมีส่วนร่วม นั่นคือการเดินหน้าจับมือไปด้วยกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และชาวบ้าน เพราะเรื่องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญของทุกคนในการร่วมสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อบูรณาการจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

ผนึกกำลังพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดินครบวงจร รอพิสูจน์ฝีมือ ส.ป.ก. กับ 8 หน่วยงาน

               พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ยังขาดสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าน้ำ ถนน ไฟฟ้า เป็นต้น  ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เกษตรกรบางส่วนในพื้นที่โครงการ ส.ป.ก. ขายสิทธิถือครอง แล้วกลับเข้าสู่วงจรการบุกรุกพื้นที่ป่าต่อไป เป็นปัญหาไม่รู้จบ

                  ว่าที่ ร.ต.ไพเจน มากสุวรรณ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว่า แนวทางใหม่ของ ส.ป.ก. นอกจากการขยายพื้นที่ ส.ป.ก. รองรับเกษตรกรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินตามภารกิจแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพิ่อให้ชุมชน ส.ป.ก. เข้มแข็งยั่งยืน และเป็นแหล่งผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ

                 “ลำพัง ส.ป.ก. หน่วยงานเดียวไม่อาจขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ ต้องอาศัยภาคีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาพัฒนาร่วมกัน”

    นี่เอง จึงเป็นที่มาที่ ส.ป.ก. ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับอีก 8  หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561

               ทั้ง ส.ป.ก. กับอีก 8 หน่วยงานจะบูรณาการวางแผน และสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ที่ยึดคืนตามคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 พื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลในความดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน

               ตามข้อตกลงที่ว่านี้ พอจะเห็นภาพพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์หลากหลายด้าน ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภค การอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน การใช้พลังงานต้นทุนต่ำในการเกษตรและที่อยู่อาศัย การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนส.ป.ก.

                “เป็นการต่อยอดจากพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ราษฎรทำกิน แต่มีพื้นที่อย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีปัจจัยพื้นฐานอย่างอื่นเข้ามาเสริมเติมเต็มด้วย ซึ่ง ส.ป.ก. หน่วยเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยหน่วยงานเหล่านี้เข้ามาร่วมพัฒนาอย่างจริงจังอีกด้วย” ว่าที่ ร.ต.ไพเจน กล่าว

             สำหรับพื้นที่ขาดแคลนน้ำที่จะต้องร่วมกันพัฒนานั้น ว่าที่ ร.ต.ไพเจน กล่าวว่า มีการบูรณาการแผนงานงบประมาณร่วมกัน ทั้งในส่วนที่เป็นพื้นที่ที่ยึดโดยคำสั่ง คสช. พื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล และพื้นที่ ส.ป.ก. เริ่มต้นด้วยการจัดอบรมความรู้ให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. โดยผู้บริหารฝ่ายต่างๆ จากหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ร่วมจัดทำข้อตกลง เช่น แนวทางการดำเนินการบูรณาการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน แนวทางจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาแหล่งน้ำ และการสำรวจออกแบบระบบน้ำและระบบกระจายน้ำ การวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำแบบบูรณาการ  การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตปฏิรูปที่ดินโดยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ ฯลฯ เป็นต้น

                   “ที่ผ่านมา ความร่วมมือของสองหน่วยงานก้าวไกลมาก ถึงขั้นวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหรือระบบส่งน้ำที่สามารถเกื้อกูลต่อกันได้ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. มีโอกาสได้รับน้ำ กลายเป็นพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ ส.ป.ก. เริ่มต้นด้วยการมีน้ำ ต่อไปก็เป็นเรื่องของการพัฒนาปรับปรุงทรัพยากรดิน การพัฒนาพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน การจัดทำแผนชุมชนและการพัฒนาความเข้มแข็งให้ชุมชนตามที่มีการบันทึกข้อตกลง”

เป็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ส.ป.ก. เองก็สามารถพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ตามเจตนารมณ์  โดยมี 8 หน่วยงานสนับสนุนบูรณาการอย่างเป็นเอกภาพ

                     ภาพเหล่านี้จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นทั้งใน 3 พื้นที่ดังกล่าว และเป็นผลงานร่วมแรงร่วมใจของ 9 หน่วยงานอย่างแท้จริง

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

สุนันทา กังวาลกุลกิจ WTO Reform ฝ่าสงครามการค้า

ครั้งแรกของประเทศไทย “สุนันทา กังวาลกุลกิจ” เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ขึ้นรับตำแหน่ง “ประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO” ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น ถือเป็นคนไทยคนแรกที่รับตำแหน่งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO มา 24 ปี (2538)

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ทูตสุนันทา” ท่ามกลาง สงครามการค้าที่กำลังร้อนระอุทั่วโลก ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการใช้มาตรการทางการค้าเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก เมื่อมีข้อพิพาทต่าง ๆ เกิดขึ้น “องค์การการค้าโลก” WTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศเดียวที่มีบทบาทด้านการเจรจา และถือเป็นที่พึ่งเดียวของประเทศกำลังพัฒนา

Q : บทบาทปธ.คณะมนตรีใหญ่ WTO

มีหน้าที่ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการของ WTO ทั้งการดำเนินงานทั่วไป การกำกับดูแลและการดำเนินการตามความตกลงต่าง การผลักดันการเจรจา โดยองค์กรภายใต้ WTO เช่น องค์กรทบทวนนโยบายทางการค้า คณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้า และคณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการ ต้องยกประเด็นให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนข้อสรุปจะมีผลใช้บังคับ และมีอำนาจในการตัดสินใจประเด็น

นโยบายแทนรัฐมนตรี ช่วงที่ไม่มีการประชุมระดับรัฐมนตรี ที่จัดขึ้นสองปีครั้ง ภารกิจจึงมีทั้งการผลักดันกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับงานทั่วไปของ WTO และเสริมสร้างให้สมาชิกได้ข้อสรุปการเจรจาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สมาชิกและประชาคมโลกมั่นใจว่า WTO เป็นองค์กรสำคัญที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ

Q : วาระเร่งด่วน 1 ปี

ปี 2562 เป็นปีที่ท้าทายยิ่งสำหรับ WTO 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง มีการคุกคามโดยนโยบายปกป้องการค้าจากประเทศมหาอำนาจ เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า ตลอดจนการตอบโต้ทางการค้าของสมาชิกอื่น ๆ และความไม่คืบหน้าในการเจรจาต่าง ๆ ใน WTO กำลังลดทอนความน่าเชื่อถือของ WTOการเสริมสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือจึงเป็นภารกิจสำคัญ

มีประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งหารือและหาข้อสรุป เช่น การปฏิรูปองค์การการค้าโลก หรือ WTO Reform ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าได้ดีขึ้น สมาชิกหลายประเทศนำโดยอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงการทำงานด้านความโปร่งใส การทำงานขององค์กรอุทธรณ์ และการเจรจาประเด็นใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

การเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ที่จะจัดขึ้นมิ.ย. 2563 สมาชิกต้องร่วมกันหาข้อสรุปในปี 2562 ใน 3 ประเด็น 1. ข้อสรุปการเจรจาการอุดหนุนประมง 2.มติรัฐมนตรีเพื่อขยายเวลาการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสิ่งที่ส่งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว และ 3.มติรัฐมนตรีเพื่อขยายเวลาการยกเว้นการฟ้องร้องกรณีได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้มิได้มีการละเมิดความตกลง (Nonviolation and Situation Complaints : NVS) มาใช้สำหรับ TRIPS Agreement ทั้งเร่งเจรจาที่คั่งค้าง เช่น เรื่องเกษตร เพื่อให้มีข้อสรุปในการประชุม MC12

Q : แนวทางการแก้ไขการระงับข้อพิพาทที่ล่าช้า

องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นองค์กรที่โดดเด่นและสร้างความเป็นธรรมให้สมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าโดยสันติ ปัจจุบันสมาชิกองค์กรอุทธรณ์มี 3 คน และจะเหลือ 1 คน ในธ.ค.ส่งผลให้กระบวนการระงับข้อพิพาทต้องหยุดชะงัก และไม่สามารถทำงานได้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด

Q : WTO มาปรับใช้ในอาเซียน

WTO และอาเซียน มีจุดกำเนิดคล้ายคลึงกันจากปัญหาทางการเมือง นับจากการตั้งเป็นแกตต์ในปี 2491 ก่อนปรับมาเป็น WTO ปี 2538 อายุกว่า 70 ปี ขณะที่ ASEAN ตั้งปี 2510 มีอายุกว่า 50 ปี ต่างเป็นองค์กรที่สะสมประสบการณ์ยาวนาน ทั้งมีประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาที่แตกต่าง การจัดทำความตกลงและการบริหารองค์กรมีจุดเด่นของตนเอง ซึ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้

WTO เป็นแม่แบบของการจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศ ความตกลงการค้าระหว่างประเทศแทบทุกฉบับจึงอ้างอิงหรือใช้หลักการและข้อบทในความตกลงต่าง ๆ เป็นบรรทัดฐาน

ความตกลงด้านการค้าของอาเซียนก็เช่นกัน ความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงหลักการและข้อบทต่าง ๆ ภายใต้ความตกลงของ WTO ช่วยเสริมสร้างและอำนวยความสะดวกให้อาเซียนจัดทำความตกลงต่าง ๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลายเรื่องอาเซียนก้าวหน้ากว่า เช่นการจัดทำความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement ) และความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน WTO อาจนำมาทบทวนเพื่อรับมือความท้าทายที่กำลังเผชิญ ส่วนสิ่งที่อาเซียนจะนำประสบการณ์จาก WTO มาปรับใช้

คือ การบังคับใช้ความตกลงให้มีประสิทธิภาพ การสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

สิ่งที่ต้องการผลักดัน คือ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการค้าพหุภาคี และ WTO ให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของระบบการค้าโลกที่โปร่งใส เป็นธรรม และคาดการณ์ได้ ที่ผ่านมาไทยและสมาชิก WTO ได้ประโยชน์จากระบบนี้ รวมทั้งได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ และการใช้มาตรการการค้าที่ไม่เป็นธรรม ระบบการค้าพหุภาคีจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการขยายการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

บิ๊กตู่’ คุยคณะกรรมการน้ำ ชี้ปัญหาเร่งด่วนต้องบริหารน้ำในชุมชน-มีน้ำให้เกษตรกร

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 11 มีนาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า ในช่วงที่ยังบริหารราชการแผ่นดินอยู่ เราต้องเร่งรัดบูรณาการการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้ได้ ทั้งในส่วนของโครงสร้าง และความต้องการของพื้นที่ ปัญหาสำคัญเร่งด่วน คือ การบริหารจัดการน้ำในชุมชน จะต้องมีน้ำให้เกษตรกร แต่การส่งน้ำยังมีปัญหาซับซ้อนหลายอย่าง แต่ก็ต้องแก้ให้ได้ ซึ่งได้รับการชี้แจงเบื้องต้นแล้วจากรองนายกฯ และเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในการพบปะกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของโอมาน ทางโอมานให้ความสนใจเรื่องการใช้ยางพาราสร้างถนน จึงควรจะประสานความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเรา นอกจากโอมานแล้ว ยังมีนานาประเทศให้เกียรติไทย และเชื่อมั่นในการทำงานที่ผ่านมา ด้วยศักยภาพ และความร่วมมือ จะทำให้ไทยมีโอกาสหาช่องทางต่อยอดได้อีกมาก เช่น การส่งออกสินค้าเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การค้าขายระหว่างกัน การสาธารณสุข รวมถึง การทำประมง ซึ่งโอมานกำลังทำแผนปี 2040 เช่นเดียวกับไทยที่มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และโอมานก็ยังมีแผนพัฒนาทุก 5 ปีเช่นเดียวกันด้วย นี่คือสิ่งที่โลกกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน

“บ่ายวันนี้ จะไปฟังการบรรยายของผู้แทนพิเศษระหว่างประเทศ เรื่องการเปลี่ยนแปลงโลก ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีคนหลายกลุ่มหลายฝ่ายมาทำความเข้าใจกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันด้วย ถือเป็นการเปิดกว้างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯเข้มรับมือภัยแล้ง เบรกนาปรังรอบ3-เกินเป้าแล้ว5แสนไร่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้รับมอบหมายจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดแนวทางวางแผนและแก้ปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ร่วมกับหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานจังหวัดทุกจังหวัดจัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน ตลอดจนประเมินด้วยว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ และพื้นที่ใดเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและเกษตรจังหวัด ในการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เพียงพอให้พิจารณาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำอะไรบ้าง ขุดชักน้ำมาใช้ได้หรือไม่ หรือสำรวจดูว่ามีบ่อน้ำบาดาลในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากไม่มีให้คำนึงถึงความจำเป็นที่ต้องขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย พร้อมทั้งให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ จัดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดให้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ กรมชลประทานยังเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือรวม 4,850 หน่วย กระจายในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมเข้าสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ทันทีที่ได้รับการร้องขอ

ส่วนแผนใช้น้ำช่วงฤดูแล้ง ขณะนี้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้านลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น ใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผน คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯประมาณ 1,817 ล้านลบ.ม.

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 61/62 ทั้งประเทศ เพาะปลูกไปแล้ว 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 0.87 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 550,000 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 0.52 ล้านไร่ ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่อง (นารอบที่ 3) เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตเพียงพอ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นหลายพื้นที่และระยะเวลายาวนานมากขึ้น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำด้วย

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ศูนย์วิจัยกสิกร” ชี้ภัยแล้งปีนี้กระทบข้าว-อ้อย คาดสูญกว่า 1.5 หมื่นลบ. หรือ 0.1% ของจีดีพี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนปีนี้จะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อน โดยหากพิจารณาปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนของไทยแยกตามรายภาค ณ วันที่ 4 มีนาคม 2562 จะเห็นได้ว่า ปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลง 13.5% (YoY) โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนจากการที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วง และอาจจะเข้าสู่วิกฤติมากขึ้นในเดือนเมษายนนี้ที่จะเป็นช่วงฤดูแล้งอย่างเต็มรูปแบบ หากยังไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มเติม ซึ่งจากสัญญาณฤดูร้อนดังกล่าวที่มาเร็วและนานกว่าทุกปี จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อออกสู่ตลาดในช่วงนี้ให้ลดลง จนอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น

ภัยแล้งปี 2562 ข้าว อ้อย ได้รับผลกระทบหนักสุด รายได้เกษตรกรทั้งปี 2562 ยังอยู่ในแดนลบ

จากการที่ภัยแล้งในปีนี้ได้ส่งสัญญาณที่มาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งส่อเค้าถึงระดับน้ำในเขื่อนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกระทบต่อพืชเกษตรสำคัญที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคดังกล่าวคือ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคกลางเป็นหลักถึง 47.8% และอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักถึง 43.5% โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ข้าวนาปรัง คิดเป็นผลผลิตราว 23.5% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเพื่อออกสู่ตลาดกว่า 75% ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังทั้งประเทศ อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาข้าวในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาข้าวอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 แต่โดยภาพรวมราคาข้าวทั้งประเทศในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ เพราะปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังมีเพียงราว 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ จึงอาจยังไม่มีน้ำหนักมากพอในการผลักดันให้ภาพรวมราคาข้าวขยายตัวได้ในแดนบวก จึงคาดว่าราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือหดตัว 8-1.7% (YoY)

อ้อย โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเพื่อออกสู่ตลาด อาจทำให้ผลผลิตอ้อยได้รับความเสียหาย และอาจช่วยดันราคาอ้อยในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 แต่โดยภาพรวมราคาอ้อยในปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ ตามแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะบราซิล จึงคาดว่าราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 อาจอยู่ที่ 750-760 บาทต่อตัน หรือหดตัว 1.3-2.6% (YoY)

จากผลของภัยแล้งในปี 2562 ที่มาเร็วและยาวนานขึ้น อาจไม่ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะมีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งในปี 2562 น่าจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีพืชเกษตรเพียงไม่กี่รายการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นพืชที่รวมแล้วมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาสินค้าเกษตรไม่มากนัก โดยในแง่ของราคาอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม2562 ทำให้โดยภาพรวมทั้งปี 2562 ราคาสินค้าเกษตรอาจขยับดีขึ้นเป็นหดตัวอยู่ที่ 0.1-0.5% (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ราคาสินค้าเกษตรจะหดตัว 0.2-0.6% (YoY) ขณะที่ในแง่ของผลกระทบต่อผลผลิตในช่วงภัยแล้งจะมีปริมาณลดลง ซึ่งถ้ามองต่อไปในมุมของรายได้เกษตรกร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2562 อาจทำให้รายได้เกษตรกรในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม2562 ให้ภาพที่ไม่ดีนัก จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2562 ให้หดตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.2-1.6% (YoY) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัว 0.4-0.8% (YoY)

มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งปี 2562 ประเมินราว 15,300 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.2% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มีนาคม 2562

เตือนผู้ส่งออก-นำเข้ารับมือบาทผันผวน

"รุ่ง" มองเงินบาทสัปดาห์หน้าผันผวน เคลื่อนไหวในกรอบ 31.60-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาเศรษฐกิจโลก-การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ                  

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารกลุ่มวิจัยและวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า  แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 31.60-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ถือว่าผันผวน เนื่องจากที่ผ่านมาเงินทุนยังไหลออกจากตลาดหุ้นไทย  ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าต้องระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการอ่อนค่าและแข็งค่าเร็วมาก  ขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ตลาดติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้น พร้อมทั้งข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 14,000 กว่าล้านบาท  พันธบัตรกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มในภูมิภาคและไทยยังไม่ได้เสียเปรียบทางด้านการแข่งขันทางการค้า  โดยตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่าสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่า เช่น หยวน-จีน 0.4% ดอลลาร์-สิงคโปร์  0.5 % ริงกิต-มาเลเซีย 0.6% บาท-ไทย 0.8%  วอน-เกาหลีใต้ 1% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 1.2% ยกเว้น รูปี-อินเดียแข็งค่า 1.2% เยน-ญี่ปุ่น 0.3%

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 10 มีนาคม 2562

สนธิกำลังสู้ภัยแล้ง!! เปิด 9 หน่วยฝนหลวง เติมน้ำเขื่อน

กรมฝนหลวงฯ สนธิกำลัง กองทัพอากาศ สู้ภัยแล้ง เปิด 9 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพิ่มน้ำพื้นที่เกษตร เติมน้ำเขื่อน

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ได้ตั้งหน่วยฝนหลวงทั่วประเทศ 9 หน่วย ซึ่งมีสองหน่วยได้รับการสนับสนุนอากาศยานจากกองทัพอากาศ ในภารกิจทำฝนหลวงแก้ภัยแล้งปีนี้ โดยปฏิบัติการหน่วยฝนหลวง จ.อุดรธานี และจ.สงขลา สำหรับผลปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 9 มี.ค.62 ที่ผ่านมา ได้ขึ้นปฏิบัติการเพียงหน่วยเดียว คือ หน่วยฝนหลวง จ.จันทบุรี พบว่ามีเมฆแนวเขา ที่มีโอกาสพัฒนาตัวได้ จึงตัดสินใจขึ้นบิน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่สวนผลไม้ อ.สอยดาว แต่เมฆสลายตัวเร็ว จึงเปลี่ยนแนวปฏิบัติการมาที่ อ.มะขาม แต่เมฆไม่พัฒนาตัวพอ ไม่ตกเป็นฝน

สำหรับวันนี้ (10 มี.ค.62)ได้ตรวจวัดสภาพอากาศ ภาคตะวันออก พบว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข โดยติดตามช่วงบ่ายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่สวนผลไม้ต้องการน้ำ กำลังออกผลผลิต และโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ส่วนภาคกลาง สภาพอากาศทรงตัว ไม่เข้าเงื่อนไข ทั้งนี้มีเป้าหมายเติมน้ำเขื่อนทับเสลา ลุ่มน้ำเขื่อนกระเสียวได้เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดกรณีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงบ่ายพร้อมขึ้นปฏิบัติการ ขณะที่ภาคเหนือ สภาพอากาศมีความชื้นน้อย โอกาสเมฆพัฒนาตัวเป็นไปได้ยาก ติดตามช่วงบ่ายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร และลดปัญหาหมอกควัน ด้านภาคอีสาน ติดตามสภาพอากาศ ความชื้นน้อยมาก ไม่เข้าเงื่อนไข จะติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากพบสภาพอำนวยจะขึ้นปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร บุรีรัมย์ นครราชสีมา และเติมน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง ส่วนภาคใต้ สภาพอากาศไม่เอื้อ โดยจะติดตามดูช่วงบ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมน้ำให้ให้กับลุ่มน้ำป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งช่วงนี้มีปริมาณน้ำใต้ป่าพรุ ลดไปอย่างมาก อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ รวมทั้งขณะนี้เกิดไฟไหม้ป่า จ.ราชบุรี ซึ่งช่วงบ่ายหากมีสภาพอากาศเหมาะสม ก็พร้อมขึ้นทำฝนช่วยแก้ไขไฟป่า ทั้งนี้ทุกหน่วยปฏิบัติการเตรียมพร้อมขึ้นบินทันทีเมื่อสภาพอากาศเข้าเงื่อนไข

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 10 มีนาคม 2562

วิกฤตส่งออกไทย-เดือนแรกกระอัก‘บาทแข็ง-สงครามการค้า-น้ำมัน’พ่นพิษ

วิกฤตส่งออกไทย-เดือนแรกกระอัก‘บาทแข็ง-สงครามการค้า-น้ำมัน’พ่นพิษ – ช็อกตาตั้งไปตามๆ กัน กับตัวเลขส่งออกเดือนแรกของประเทศไทย เพราะติดลบถึง 5.7%

แม้แต่เดิมประเมินไว้แล้วว่าส่งออกปีนี้น่าจะวิกฤตเพราะปัญหาระดับโลกรุมเร้าเหลือเกิน แต่กระนั้นเมื่อเห็นตัวเลขเดือนแรกก็อดจะใจหวิวไม่ได้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานภาวะการส่งออกในเดือน ม.ค.2562 มีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบถึง 5.7% ส่วนการนำเข้าในเดือนมกราคม มีมูลค่า 23,026 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14%

ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 7 ปี

แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันคงเป้าหมายการส่งออก ปีนี้ไว้ที่ 8% ตามเดิม

สาเหตุหลักมาจากภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้การค้าชะงักทั่วโลก ประกอบกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ทำให้สินค้าไทยราคาสูงขึ้น หลายชาติชะลอการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงประเทศคู่ค้าหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่าแทน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสนค.กล่าวว่า หากต้องการผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมายปีนี้ 8% ไทยจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และต้องเผชิญความเสี่ยงจาก 4 ปัจจัยหลัก

1.การชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ

2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

3.แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท กดดันรายได้ของ ผู้ส่งออก

และ 4.ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังคงกดดันบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยประกาศทางการของทั้งสองฝ่าย ระบุว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี หลายฝ่ายคาดว่าทั้งสองประเทศจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างกันภายหลังการเจรจา และมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐ อาจยืดเวลาการขึ้นภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปจากกำหนดเดิมในวันที่ 1 มี.ค.

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญภาคเอกชนเข้าร่วมหารือสถานการณ์การส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เป็นต้น

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า หลายฝ่ายประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้เผชิญปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งปัญหาสงครามการค้า การถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ ราคาน้ำมัน กดดันให้การค้าโลกชะลอตัวลง ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกต่างได้รับผลกระทบในเชิงลบ โดยเฉพาะไทยที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตามมองว่าท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส เช่น ตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ นิชมาร์เก็ต ในหลายประเทศ ก็ให้การยอมรับคุณภาพสินค้าไทย เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน เป็นต้น

“จะนำข้อเสนอของภาคเอกชนทุกกลุ่ม ไปปรับให้เข้ากับแผนส่งเสริมการส่งออกของกรมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เจาะลึกลงไปในรายอุตสาหกรรม ทำให้ทราบ จุดแข็ง-จุดอ่อนเป็นรายสินค้า ก็สามารถจะกำหนดแผน กระตุ้นโดยเฉพาะเป็นรายสินค้าในการบุกแต่ละตลาดได้ เชื่อว่าจะได้ผลมากกว่าแผนเดิมที่ทำเป็นภาพรวม”

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การส่งออกไทยปีนี้ มีโอกาสขยายตัวได้ 3-5% แม้เดือนแรกของปีจะติดลบ แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้จะดีขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2561 เอกชนมองว่าส่งออกจะโตได้ 5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8% ท้ายที่สุดก็จบลงที่บวก 6.7% เชื่อว่าปี 2562 นี้ถ้ารัฐกับเอกชนทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น การส่งออกก็น่าจะไปได้ดีเช่นกัน

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.ที่ติดลบหนัก แม้ผู้ส่งออกจะรู้สึกช็อก แต่ก็เข้าใจว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นนั้นยากต่อการควบคุม ส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งผล กระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งขันด้านราคา

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากภายในประเทศ โดยจากการคำนวณพบว่าทุกๆ 1 บาท ที่แข็งค่าขึ้น จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง 3% ขณะที่อัตราเติบโตของการส่งออกจะลดลง 1%

ภาพรวมการส่งออกในปี 2562 แม้ว่ามูลค่าอาจจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่หากดูตัวเลขย้อนหลังก็เชื่อว่าจะไม่แย่มากนัก โดยสรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี 2562 ว่าจะโตที่ 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย ความผันผวนของสงครามการค้า และความผันผวนของค่าเงิน ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาวะการส่งออกของไทยปีนี้ไม่ดีมากนักเหมือนในช่วงที่ผ่านๆ มา ซึ่งตั้งแต่ไตรมาส 4/2561 เริ่มเห็นภาพการชะลอตัวลงได้อย่างชัดเจน และต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

ทำให้หลายสำนักออกมาทบทวนประมาณการการ ส่งออกปีนี้ลดลงเหลือ 4-5% จากความพยายามเดิม ที่อยากให้ตัวเลขส่งออกปีนี้โตได้ถึง 8% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)คาดส่งออก ปีนี้อยู่ที่ 5-7%

ปีนี้เป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่แม้จะอยู่ในช่วงเจรจาช่วยต่ออายุ การบังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐ เพื่อกีดกันรายการสินค้าที่นำเข้าจากจีน คิดเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านบาท สร้างความกดดันการค้าโลก เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญคือทิศทางค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนและการกำหนดราคา ดังนั้น นอกจากจะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแลอยู่แล้ว ขณะเดียวกันอยากให้ผู้ประกอบการซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น แม้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่คุ้มค่า

ตบท้ายที่แบงก์ชาติ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า เดือนม.ค. มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวถึง -5.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค.2561 ที่หดตัว -1.6% เป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า มาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลงจากภาวะ เศรษฐกิจของประเทศ คู่ค้า และผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง สหรัฐ-จีน

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีทิศทางชะลอตัวลงจากปี 2561 ส่วนจะมากหรือน้อยต้องติดตามสถานการณ์กันอีกครั้ง เป็นผลมาจากทิศทางการค้าโลกที่ไม่ค่อยดี ทั้งจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน

“ประเมินว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2562 จะหดตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากเทรนด์การค้าโลกที่ยังไม่ค่อยดี ส่วนจะกระทบมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะมีทิศทางการปรับประมาณการส่งออกที่คาดไว้ทั้งปี ที่ 3.8% หรือไม่ จะต้องรอข้อมูลในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป” นายดอนกล่าว

เมื่อฟังความเห็นจากหน่วยงานทั้งหมดแล้ว ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายเล็กคงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วยความไม่ประมาท โดยเฉพาะความเสี่ยงจากค่า เงินบาท และผลกระทบจากสงครามการค้า จะฉุดให้ ส่งออกติดลบตลอดทั้งปีหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป

จาก  https://www.khaosod.co.th   วันที่ 10 มีนาคม 2562

ขอแรงไร่อ้อยอีสานแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้

 รมช.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่อีสาน พร้อมขอร่วมมือชาวไร่อ้อยภาคอีสานกลาง รณรงค์ไม่เผาหวังลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ ลดปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม 2.5                    

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ขอนแก่น และเปิดงานวันรณรงค์ ไม่เผาอ้อย ไม่สร้างฝุ่นละออง ลด PM2.5 และการสาธิตเครื่องจักรกลในไร่อ้อย จัดโดยสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง ร่วมกับ โรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสะอาดเข้าโรงงานพร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ลดภาวะการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดทำระบบการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุอ้อยไฟไหม้ สร้างอากาศที่ดีต่อไป

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สำนักงานฯได้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้แก่เกษตรกร ดังนี้ มาตรการระยะสั้น คือ การขอความร่วมมือจากเกษตรชาวไร่ ให้เคร่งครัดเรื่องกฎหมาย และหากฝ่าฝืนต้องรับโทษ การขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาล ในการรับซื้ออ้อยไฟไหม้จะถูกลดราคาลงตันละ 30 บาท และการให้คิวพิเศษกับเกษตรกรชาวไร่ที่ตัดอ้อยสด สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว คือ การสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย การให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลยื่นมือเข้ามาช่วยเกษตรกรรายเล็ก และให้เกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกู้ร่วมได้

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 9 มีนาคม 2562

รมช.อุตสาหกรรมตรวจการตัดอ้อยขอนแก่น

รมช.อุตสาหกรรม ตรวจการตัดอ้อยที่ขอนแก่น ตั้งเป้า 3 ปีจะต้องไม่มีอ้อยถูกไฟเผาก่อนส่งเข้าโรงงาน ป้องมลพิษทางอากาศ

 ที่ บ.หนองกี่ ต.กุดกว้าง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เปิดงานวันรณรงค์งดเผาอ้อย ลดฝุ่น PM 2.5 และสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตรยุค 4.0 โดยมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง  นายสมชาย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้นขอนแก่น เกิดผลกระทบเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 โดยที่ทางจังหวัดได้มีการประสานงานการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รวมทั้งมีการประกาศ ห้ามเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้นเผาอ้อย นอกจากนี้ยังมีการทำงานกับหลายหน่วยงาน จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม “ปัจจุบันเกษตรกรเจ้าของไร่อ้อยไม่เผาอ้อยของตัวเอง หันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานแทน ดังนั้นการรณรงค์งดเผาอ้อย เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในครั้งนี้ ได้กำหนดให้พื้นที่ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาและงดเผาอ้อยไปยังพื้นที่ต่างๆและเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายนับจากนี้ การเผาอ้อยจะหมดไปภายในเวลา 3 ปีนี้”

รมช.อุตสาหกรรม กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลมีความตั้งใจ ที่จะไม่ให้มีการเผาอ้อย ส่งเข้าโรงงาน โดยตั้งเป้าไว้ 3 ปี จะต้องทำให้สำเร็จ ทั้งนี้ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถลดจำนวนที่อ้อยที่ถูกไฟเผาลงได้จาก 60%  เหลือเพียง 40% เท่านั้น อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางที่รัฐบาลจะนำมาดำเนินการ เพื่อลดการเผาไร่อ้อยของเกษตรกรนั้น จะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตร คือ หากชาวไร่อ้อยส่งอ้อยที่ถูกไฟไหม้เข้าโรงงาน ก็จะถูกหักเงิน 30 บาท ต่อตัน แล้วเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มเป็นสวัสดิการให้กับชาวไร่อ้อยที่ไม่ทำการเผาไร่อ้อย

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 9 มีนาคม 2562

‘พาณิชย์’เจ้าภาพประชุมปลัดกระทรวงศก.อาเซียน เร่งมาตรเสริมแกร่งอาเซียน

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินมาตรการสำคัญ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียน โดยจะหารือเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินมาตรการสำคัญภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในประเด็นที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น

(1) ประเด็นเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 (Priority Economic Deliverables) ซึ่งสมาชิกอาเซียนเห็นชอบเบื้องต้นแล้ว จึงได้เสนอให้ที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงพิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนที่ภูเก็ตต่อไป

(2) การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือกับการเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

(3) การพัฒนาระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียน เพื่อให้การออกกฎหมาย/กฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การปรับปรุงกลไกการทำงานของอาเซียน ให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและสามารถรับมือกับประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่า ในปี 2562 ไทยได้กำหนด Theme ของการเป็นประธานอาเซียน คือ “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยได้เสนอ Priority Economic Deliverables 13 ประเด็นภายใต้ 3 ด้าน คือ

(1) สู่อนาคต (Future Orientation) มีประเด็นสำคัญ เช่น การจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนเพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน เป็นต้น

(2) ความเชื่อมโยง (Enhanced Connectivity) มีประเด็นสำคัญ เช่น การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิก การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน เป็นต้น

(3) ความยั่งยืน (Sustainable in all dimensions) มีประเด็นสำคัญ เช่น การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน การจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน เป็นต้น

ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

จาก  https://www.khaosod.co.th   วันที่ 9 มีนาคม 2562

เกษตรกรพอใจปุ๋ยสั่งตัด ยันเห็นผลลดต้นทุนจริง-ได้ผลผลิตมีคุณภาพ

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลักการและมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำมาตรการประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึง 30 เมษายน 2563 เป้าหมายสถาบันเกษตรกร 500 แห่งทั่วประเทศ วงเงิน 3,600 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ย ตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินแต่ละพื้นที่ ให้การสนับสนุนสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้สถาบันเกษตรกรผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้สมาชิกสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต (ค่าปุ๋ยเคมี) ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดอบรมการวิเคราะห์ดินและปุ๋ยจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร

สศก.ติดตามประเมินผลโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร พบว่า มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 202 แห่ง (ร้อยละ 40.4 ของเป้าหมาย) จำนวนสถาบันเกษตรกรได้ขอรับสนับสนุนเงินกู้ 5 แห่ง วงเงิน 18.32 ล้านบาท (ร้อยละ 0.51 ของวงเงิน) ทั้งนี้ พบว่า สถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินทุนดำเนินงานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยลดต้นทุน เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยผสมเอง

จากการติดตามข้อมูล กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านทุ่งสงคราม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พบว่า ได้รับสนับสนุนสินเชื่อ 336,540 บาท มีจำนวนสมาชิก 33 ราย ทดลองใช้ปุ๋ยสั่งตัดในไม้ผล/ไม้ยืนต้น เฉลี่ยรายละ 4 ไร่ ได้นำผลตรวจดิน และผสมแม่ปุ๋ยตามตารางผสมปุ๋ยที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 รวมทั้งพืชมีลำต้นที่แข็งแรง และลดการระบาดของโรค สำหรับสหกรณ์การเกษตรสามชุก จำกัด อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ได้รับสินเชื่อวงเงิน 10 ล้านบาท ใช้จัดหาแม่ปุ๋ย ผลิตปุ๋ยผสมตามสูตรที่สมาชิกสั่งซื้อ และจำหน่ายให้สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเฉลี่ยกระสอบละ 40 - 90 บาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 29 เช่นกัน

รองเลขาธิการ สศก.กล่าวอีกว่า ในภาพรวม พบเกษตรกรพึงพอใจระดับมากที่สุดในนโยบายของรัฐและชนิดปุ๋ยที่ผลิต เนื่องจากตรงความต้องการ ทั้งด้านคุณภาพและราคาปุ๋ย ซึ่งเกษตรกรจะนำความรู้และเทคนิคไปขยายผลในพื้นที่อื่น รวมทั้งถ่ายทอดให้เกษตรกรทั่วไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเพื่อเพิ่มผลผลิต และต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ จัดทำแปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจ และชุมชนยอมรับ ทั้งนี้เกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรที่สนใจสอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

กรมฝนหลวงพร้อมปฏิบัติการ เติมน้ำต้นทุนเข้าเขื่อนสู้แล้ง

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มขึ้นแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ไม่มาก อาจกระทบการเพาะปลูกในฤดูแล้ง สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ตลอดจนผลิตน้ำประปา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายสนับสนุนปลูกพืชใช้น้ำน้อย เน้นใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคอย่างประหยัด รวมทั้งประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองมาต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกรมชลประทานยืนยันว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอให้ประชาชนใช้จนถึงเดือนพฤษภาคมแน่นอน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรประชาชนในพื้นที่เขตชลประทานให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเป็นเจ้าภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อเป็นข้อมูลบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อมอบนโยบายและแนวทางดำเนินงาน

ด้ายนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2562 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1มีนาคม-31 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค 5 ศูนย์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีแผนปฏิบัติการ ดังนี้ 1) แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง 2) แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ 3) แผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า 4) แผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ นอกจากนี้ ที่ผ่านมากรมฝนหลวงฯได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วที่จ.ระยอง นครสวรรค์ พิษณุโลกและขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมพื้นที่ 16 จังหวัด ปฏิบัติการไปแล้ว 17 วัน 92 เที่ยวบิน

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีเกษตรฯลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ณ แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หมู่ 5 ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

เงินไหลออกดันบาท อ่อนสูงสุดในภูมิภาค

เศรษฐกิจสหรัฐแกร่งหนุนดอลลาร์แข็งค่า กดบาทอ่อนนำโด่งทุบสถิติ 31.92 บาท/ดอลลาร์

รายงานข่าวจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า วันที่ 7 มี.ค. ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับที่ 31.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนสุดในรอบ 7 สัปดาห์ นับจากวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณที่แกร่งทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย

ขณะที่ปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน เริ่มมีทิศทาง ชัดเจนขึ้นและต้องรอดูผลการหารือของผู้นำทั้งสองประเทศวันที่ 27 มี.ค.นี้

แม้ว่าค่าเงินบาทช่วงนี้อ่อนค่าแต่ผู้ส่งออกไม่ควรมองข้ามต้องป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้เพราะการเคลื่อนไหวค่าเงินค่อนข้างผันผวน และมีแนวโน้มที่จะแตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-7 มี.ค.ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าสุด 1% รองลงมาคือเปโซ-ฟิลิปปินส์ 0.89% ริงกิต-มาเลเซีย 0.63% รูเปียห์-อินโดนีเซีย 0.53% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.40% วอน-เกาหลีใต้ 0.29% หยวน-จีน 0.26% และดอลลาร์ไต้หวัน 0.25% ส่วนรูปี-อินเดีย แข็งค่า 0.65%

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

“เขื่อนลำตะคองโคราช” เหลือน้ำ 66% ปล่อยน้ำวันละ4แสนลบ.ม.ให้ประปาชุมชน ประกาศเกษตรกรงดทำนาปรัง

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ระบุว่า นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา พบว่าวันนี้ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 207.69 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 66.04 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยถือว่ายังมีปริมาณน้ำที่มากพอที่จะบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ทางเขื่อนลำตะคอง ได้ปล่อยน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และหล่อเลี้ยงระบบนิเวศเฉลี่ยวันละ 432,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้เร่งสูบน้ำดิบเก็บไว้ในแหล่งน้ำสำหรับทำประปาหมู่บ้าน พร้อมกันนี้ก็ได้ประกาศแจ้งขอความร่วมมือกับประชาชนให้งดปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากทางชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอที่จะจ่ายให้ทำการเกษตร เพื่อป้องกันการเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังได้

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

'กรมชล-กรมประมง'ระดมช่วยบรรเทาภัยแล้ง ส่งหน่วยเคลื่อนที่กระจายน้ำทั่วประเทศ

กรมชล-กรมประมง เร่งระดมช่วยเหลือบรรเทาภัยแล้ง ส่งหน่วยเคลื่อนที่กระจายน้ำทั่วประเทศ ลำเลียงเครื่องสูบน้ำ รถขนน้ำ เครื่องจักรกล พร้อมอุปกรณ์เกือบ 5 พันชุด

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง โดยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดี กรมชลประทาน กล่าวว่าเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น

ซึ่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งจัดการน้ำในพื้นที่เพียงพอต่อความต้องการ ยังเตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร ในการช่วยเหลือหากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ เช่น รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่นๆ โดยจัดส่งเพิ่มเติมจากส่วนกลาง เครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร จำนวน 7 อัน พร้อมปฏิบัติการได้รวดเร็วทันที

ด้านนายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีสภาพอากาศที่แล้งแห้ง และบางพื้นที่มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ โดยลักษณะเช่นนี้จะทำให้ในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1.การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2.การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3.การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่

ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกร ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562

สอน.ลงพื้นที่บุรีรัมย์

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ลงพื้นที่โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามสถานการณ์อ้อยน้ำตาลทราย และรับฟังปัญหาการรับอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน กระบวนการผลิตและการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดต้นทุนการผลิตและรับทราบปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมหาแนวทางให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือและเครื่องจักรโดยเฉพาะรถตัดอ้อยได้มากขึ้น

“ที่นี้โรงงานและเกษตรกรมีความเข้าใจกันดีและมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แต่ก็มีประเด็นปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประสบปัญหาเรื่องของการตัดอ้อย ปัญหาเรื่องสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่จะซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยในการตัดอ้อย รวมทั้งเรื่องหมอกควันที่เกิดจากการเผาไร่อ้อย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ก็จะไปหารือร่วมกันว่าจะมีหนทางอย่างไรที่จะสนับสนุนให้เกษตรกร/โรงงาน ได้ดำเนินกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

กฟผ. รณรงค์ไม่เผาไร่อ้อย ใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

กฟผ. ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่เผาไร่อ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ตลอดจนซังข้าวและวัชพืช โดยเฉพาะในเขตพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพราะนอกจากจะส่งผลอันตรายถึงชีวิตทรัพย์สินแล้ว ยังอาจทำให้กระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศได้ด้วย

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูกาลเปิดหีบอ้อย กฟผ. ขอความร่วมมือไม่จุดไฟเผาไร่อ้อยและเผาวัชพืช ในพื้นที่ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เฉพาะครัวเรือนของพี่น้องประชาชนเท่านั้น แต่อาจทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ นอกจากนี้ ควันและเขม่าจากการเผาไร่อ้อยและเผาวัชพืชดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ตลอดจนเป็นอันตรายต่อทัศนวิสัยในการเดินทางและการคมนาคม อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาไฟตกหรือไฟดับ ย่อมส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวม ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ต้องหยุดชะงัก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง

นายเริงชัยฯ กล่าวต่อไปว่า เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ดูแลและรับผิดชอบโดย กฟผ. เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของระบบไฟฟ้า เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงาน ทำหน้าที่เชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งจะปรับแรงดันไฟฟ้าอย่างเหมาะสมก่อนส่งถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน และทุกครัวเรือนต่อไป

“ด้วยเหตุนี้ เสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จึงต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ดังนั้น การเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานผลิตน้ำตาล การเผาหญ้า เผาวัชพืช เผาซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ในบริเวณใกล้พื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จะทำให้เกิดเขม่าควันและเปลวไฟ ส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสู่พื้นดิน เป็นอันตรายแก่พี่น้องประชาชน เกษตรกรที่อยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งผู้ก่อกองไฟหรือผู้อยู่ใกล้เคียง อาจได้รับอันตรายถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงขนาดแรงดันหลายแสนโวลต์ดูดได้ รวมถึงอาจเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลเสียหายต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอฝากประชาชนทั่วประเทศช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเหตุผิดปกติและไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. โปรดแจ้ง ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร.1416”

จาก https://www.tnamcot.com  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

แล้งจัด! แจ้งชาวนา 22 จังหวัด งดปลูกพืชทุกชนิด

สทนช. เฝ้าระวัง "กลาง-อีสาน" หลังประเมินสภาพอากาศใกล้เคียงปี 50 พร้อมป้อนข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในรัศมีไม่เกิน 50 กม. ส่งไม้ต่อจังหวัดเสี่ยงรับมือ แจ้งชาวนา 22 จังหวัด งดปลูกพืชทุกชนิด โล่งอก! ฝนคาดมาปกติ กลางเดือน พ.ค. นี้ เทียบกับปีก่อนมาเร็ว 1 สัปดาห์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศ โดยการประเมินและคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ (สสนก.) พบว่า สถานภาพอากาศและปริมาณฝนปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2550 คือ มีปริมาณฝนน้อยในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. ซึ่งปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อนจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย. 2562 และเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนต่ำค่ากว่าค่าปกติ จากการคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของประเทศไทย เดือน มี.ค. 2562 มีค่าต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5 ภาคเหนือจะมีปริมาณฝนประมาณ 10-35 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติ 20% สำหรับภาคอื่น ๆ ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 10% ส่วนในเดือน เม.ย. 2562 ปริมาณฝนทุกภาคส่วนใหญ่จะต่ำกว่าค่าปกติ 10% สำหรับเดือน พ.ค. ปริมาณฝนตกทั้งประเทศจะมีค่าใกล้เคียงปกติ และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. คาดการณ์ว่า ฝนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายเดือน พ.ค. หรือประมาณสัปดาห์ที่ 3 ช่วงวันที่ 20–25 พ.ค. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฝนจะมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1 สัปดาห์

 ภาคการเกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทาน จำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ซึ่งจากติดตามสถานการณ์ พบว่า เกษตรกรได้เข้าร่วมมาตรการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น จำนวน 61,942 ไร่ ซึ่งสถานการณ์น้ำมีเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตามมาตรการ

 นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทาง สทนช. ได้บูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2561/62 อาทิ แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ในเขตชลประทานและลำน้ำสายหลัก ตลอดจนพื้นที่เสี่ยงภัยต่าง ๆ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน เตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ตามคำร้องขอและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562 รวมถึงมาตรการเผชิญเหตุให้หน่วยงานพิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอันดับแรก และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อบรรเทาความรุนแรง" นายสมเกียรติ กล่าว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

ก.อุตสาหกรรมติวเข้มเจ้าหน้าที่ทั่วปท. เรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม

กระทรวงอุตสาหกรรมติวเข้มอุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศ เร่งสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วน หวังสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ลดปัญหาข้อขัดแย้ง - การเผชิญหน้า มีความรับผิดชอบต่อสังคม โปร่งใส  มีคุณธรรมและปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศประสบความสำเร็จนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0

นายเอกภัทร วังสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในระหว่างการเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ในการพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน  ภายใต้โครงการการสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม และโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมที เค พาเลซ& คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ  โดยระบุว่า ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร สภาพสิ่งแวดล้อม ความคาดหวังของสังคมและชุมชน ระบบเศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ทำให้เกิดการแข่งขันในลักษณะไร้พรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการบริการให้เกิดความสมดุล โดยเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นฐานรากของการเติบโตยุคใหม่ที่ครอบคลุมทั่วถึงและยั่งยืน (Inclusive Growth)

 “การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวเดินได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์โลก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในการร่วมกันดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลฯ จึงได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม และโครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นความสาคัญไปที่กลุ่มเครือข่ายภาคชุมชน สถานประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ สอจ.ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการต้องศึกษาและหากลวิธีในการรักษา การสร้างแรงจูงใจกลุ่มเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม และภายใต้โครงการการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างเข้มแข็งส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศประสบความสำเร็จซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย 4.0  ” นายเอกภัทร กล่าว

ด้านนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ โดยปัจจุบันโครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มีจำนวนสมาชิก 10,537 ราย    ส่วนโครงการการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้สถานประกอบการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งน้ำบริเวณโดยรอบสถานประกอบการและชุมชน ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะสามารถชักชวน สถานประกอบการให้เข้าร่วมโครงการได้ จำนวน 150 แห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการจัดเก็บฐานข้อมูลสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเข้าระบบฐานข้อมูลและเผยแพร่ออกสู่สาธารณะผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

จาก www.thansettakij.com วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

เอกชนปวดหัวค่าเงินบาทผันผวนวางแผนไม่ถูก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่ายอมรับช่วงนี้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่า 2.4% จากสัปดาห์ก่อนหน้าแข็งค่า 2-3% สะท้อนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผัวผวนสูงมาก ผู้ประกอบการจึงมีความกังวลว่าอาจปรับตัวไม่ทัน จึงอยากให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไก ไม่ผันผวนมากเกินไป

“ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเก็งกำไร ทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทแกว่งตัวแข็งค่าและอ่อนค่าเร็วเกินไป จากที่เคยแข็งก็กลับอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว 2.4% ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการส่งออกตั้งราคาขายสินค้าได้ยากลำบาก ซึ่งอัตราการผันผวนที่ภาคเอกชนอยากเห็นไม่ควรเปลี่ยนแปลงเกิน 0.5% และค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับประมาณ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ”นายสุพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ กกร.ยังมองภาพรวมการส่งออกของไทยขยายตัวอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ 5-7% ดีกว่าปีที่ผ่านมาขยายตัว 6.7% จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น หลังสงคราการค้าระหว่างจีน-สหรัฐเริ่มมีสัญญาณเชิงบวก แต่ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนจากการประชุมข้อตกลงระหวางสหรัฐกับจีนอีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค.นี้ เพราะยอมรับว่าส่วนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เห็นได้จากเดือนก.พ.ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปจีนหดตัว 16.7% แม้จะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงแต่มีความผันผวนสูง

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ทาง กกร.จึงยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ 4-4.3% จากปีก่อนโต 4.1% อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ที่ 0.8-1.2% จาก 1.1% และมองแนวโน้มการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดีคาดการณ์โต 5% จากปีก่อนโต 7% เนื่องจากเดือนม.ค.ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากจีนกลับมาเที่ยวไทย 1 ล้านคน นอกจากนี้ ประเมินประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งจึงมองภาพรวมเศรษฐกิจมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ต้องติดตามว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรงหรือไม่เข้ามากระทบ หลังวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่งหากทุกอย่างราบรื่นก็เชื่อว่าโครงการลงทุนต่างๆ ที่รอความชัดเจนหลังเลือกตั้งก็พร้อมเดินหน้าต่อไปได้ ยืนยันไม่มีความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมืองในประเทศแต่อย่างใด แม้ศาลจะมีการพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ ก็เชื่อว่าจะไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กกร.จะเสนอสิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนอย่างไรต่อไปเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจประเทศทันที หลังจากการเลือกตั้งที่คาดจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.2562

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

กรมชลฯคุมเข้มใช้น้ำหน้าแล้ง วอนงดทำนาปรังรอบ2-ยันมีพอใช้ทั่วปท.

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ หลังสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่า มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 50,825 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุเก็บกักรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 26,896 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำใช้การได้ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กรมชลประทานบริหารจัดการให้เพียงพอกับความต้องการทุกภาคส่วนในเขตชลประทานจนสิ้นสุดฤดูแล้งแน่นอน

โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งมี 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนนั้น ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,650 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,954 ล้าน ลบ.ม. จะมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรมเช่นกัน เฉพาะการผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งขณะนี้ปริมาณค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสำแล วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร และแม่น้ำแม่กลองที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 62 ปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ วางแผนจัดสรรน้ำไว้ 23,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ โดยในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น วางแผนจัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 2562 รวม 8,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำ ณ วันที่ 28 ก.พ. 2562 ใช้น้ำไปแล้วทั้งประเทศ 14,234 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของแผนฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้ว 6,042 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น

ร้อยละ 76 ของแผนฯ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ที่ต้องควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด โดยจะเน้นสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำระหว่างร้อยละ 30-60 ของความจุอ่างฯมี 17 แห่ง อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนแม่มอก เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนสิรินธร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนบางพระ จะสามารถส่งน้ำสนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้งเฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรังรอบที่ 2 เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตและสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถบรรทุกน้ำ รถแทรกเตอร์มากกว่า 4,850 เครื่อง เพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

ลดผลกระทบปัญหาภัยแล้ง-ช่วยเหลือประชาชน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เปิดเผยภายหลังจาก เป็นประธานในที่ประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2562  กล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จากนี้ไปตั้งแต่เดือนมีนาคมและเมษายน จนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกประปรายบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในสัปดาห์หน้า ประมาณ 12-14 มีนาคม หลังจากนั้นไปก็จะไม่มีฝนตกแล้ว ที่สำคัญจากนี้ไปเป็นการบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่เดิม คาดว่าฝนจะตกอีกครั้งประมาณกลางเดือนพฤษภาคม แล้วคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนปลายเดือนพฤษภาคม จะเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่ากระแสแล้งยาวไม่เป็นความจริง

ส่วนแผนรับมือมีทั้งหมด 7 มาตรการ ได้แก่ 1.แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง 2.ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ในเขตชลประทานและลำน้ำสายหลักตลอดจนพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ 3.ลดการเลี้ยงปลากระชัง และบ่อปลา ช่วงฤดูแล้ง 4.เฝ้าระวังการระบายน้ำเสีย หรือสารปนเปื้อน ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ 5.สำรวจความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง 6.เตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ และ 7.มาตรการเผชิญเหตุ อาทิ ให้หน่วยงานพิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอันดับแรก สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบรรเทาความรุนแรง

ปัจจุบันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงต้นฤดูแล้ง มีทั้งหมด 11 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีษะเกษ หนองบัวลำภู และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี ซึ่งในขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีมาตรการให้ปลูกพืชอื่นทดแทนนาปรัง ซึ่งมีชาวนาเข้าร่วม จำนวน 6.19 หมื่นไร่ ทำให้มีน้ำปริมาณพอเพียงต่อการเพาะปลูกในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 11 จังหวัด ส่วนที่น่าเป็นห่วงก็คือ 34 จังหวัดพื้นที่เพาะปลูกเกินแผน โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทาน 31 จังหวัด และนอกเขตชลประทาน พื้นที่เพาะปลูกเกินแผน 5 จังหวัดสำหรับในส่วนภาคอุตสาหกรรมไม่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า การคาดการณ์ปริมาณยังเร็วเกินไป ต้องขอเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าจะให้แม่นยำจริงๆ จะต้องหลังวันสงกรานต์ไปแล้ว ภาพจะชัดเจนมากขึ้นว่าปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อย อย่างไรก็ดีอยากรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำเป็นการดีที่สุด

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

รมว.เกษตรฯส่งเสริมนาแปลงใหญ่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดส.ป.ก.ส่งเสริมระบบการเกษตรแปลงใหญ่-ลดใช้เคมี ให้เกษตรกรตั้งตัวได้ใน 3-5ปี

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ว่า ส.ป.ก. เป็นองค์กรหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดหา ดูแลที่ดินเกษตรกรรมสำหรับผู้ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอ พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพให้ผู้ที่ได้รับที่ดินมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอ และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มีขนาด 800 – 1000 ไร่ขึ้นไป ได้เร่งรัดให้ ส.ป.ก. เข้าไปส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่และส่งเสริมให้ทำการผลิตแบบลดการใช้สารเคมี เช่น การทำเกษตรปลอดภัยหรือการทำเกษตรอินทรีย์

พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์สามารถบริหารจัดการผลิตและการตลาดได้เองตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับ คทช. ไปแล้วต้องอยู่และตั้งตัวได้ภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้ไป

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

'ฉัตรชัย'เผยภัยแล้ง17จังหวัดน่าห่วง ชี้หน้าร้อนมาเร็ว-ย้ำดูแลเต็มที่

“ฉัตรชัย” ระบุ ภัยแล้ง 17 จังหวัดน่าห่วง กังวลสถานการณ์นอกระบบชลประทาน อาจต้องดึงน้ำจากพื้นที่อื่นมาเสริม ย้ำ ดูแลเต็มที่ คาดฝนมาเดือน พ.ค.  

6 มี.ค.62 เมื่อเวลา 08.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ที่ระดับน้ำในแต่ละเขื่อนเหลือน้อยมาก ว่า เรื่องนี้ตนได้เตือนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป 2 สัปดาห์แล้ว เพราะอากาศร้อนเร็ว โดยสิ่งที่น่าห่วงคือนอกเขตชลประทาน แต่ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปรับเรื่องการเพาะปลูกเพื่อลดความเสียหายอยู่แล้ว และจากนี้ไป ต้องไปดูว่าน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะเป็นอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับท้องถิ่นด้วย โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะพยายามควบคุมดูแลอยู่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดู บางพื้นที่อาจต้องดึงน้ำจากพื้นที่อื่นมาช่วยเสริม ส่วนในเขตชลประทานยังพอดูแลได้ แต่ทั้งหมดนี้ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานท้องถิ่น จะต้องไปวางแผนรับมือ

เมื่อถามว่าในเขตชลประทาน จะเหลือน้ำให้ใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับในเขตชลประทาน จากที่ดูสถานการณ์ น้ำสำหรับการอุปโภคคงไม่เป็นปัญหา เราหาทางช่วยเหลือได้ แต่ที่จะเป็นปัญหาคือภาคการเกษตร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปปรับระบบการเพาะปลูก เราต้องพยายามให้ผ่านไปให้ได้

เมื่อถามว่า ขณะนี้พื้นที่ใดน่าเป็นห่วงที่สุด พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า มี 17 จังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน โดยหลังจากนี้จะให้ สทนช.ชี้แจงสถานการณ์ในภาพรวมอีกครั้ง ส่วนที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ตนก็เข้าใจ เพราะตอนนี้เข้าสู่สภาวะหน้าแล้งแล้ว แต่ได้พยายามดูแลอยู่ และคาดว่าในเดือนพฤษภาคม ฝนก็น่าจะมาแล้ว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

หวั่นแล้งหนัก! กษ.สั่งขุดสระน้ำ-บ่อบาดาล ชี้ชาวนาดื้อปลูกข้าวรับความเสี่ยงเอง

“กฤษฏา ห่วงภัยแล้งหนักสุดในรอบ32ปี สั่งปลัดเกษตรฯเรียกประชุมวอร์รูมน้ำ ด่วน เร่งขุดสระน้ำขนาดเล็ก บ่อบาดาล ชี้ชาวนาหลายจังหวัด ยังดื้อไม่หยุดปลูกข้าวนาปรัง รับความเสี่ยงเอง “

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีนักวิชาการระบุสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะหนักกว่าปี58-59 ที่ใช้น้ำจนหมดเขื่อนภูมิพล และแล้งนานที่สุดในรอบ32ปี ว่าได้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯในฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง(วอร์รูม) เรียกประชุมด่วนวันพรุ่งนี้(7 มี.ค.)โดยมีอธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อบูรณาการแก้ปัญหา เร่งหาแนวทางป้องกันบรรเทาภัยแล้ง เช่น ดูพื้นที่มีความพร้อมให้เร่งขุดสระน้ำขนาดเล็ก  หากพื้นที่ไหนขุดแล้วไม่มีน้ำใส่บ่อ ก็ประสานกระทรวงทรัพย์ฯขุดเจาะบ่อบาดาล

ซึ่งอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ มีน้ำให้ประชาชนใช้อุปโภค บริโภค ได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงต้องติดตามสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ รายงานถึงตนทุกวันจันทร์ เร่งเตรียมคน เครื่องมือ ทำบัญชีแหล่งน้ำทุกรูปแบบโดยเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ความร่วมมือทางราชการขอให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย และหยุดปลูกข้าว  ต้องรับความเสี่ยงเองกรณีเกิดเสียหาย รัฐไม่จ่ายชดเชยในเกณฑ์ผู้ประสบภัย สำหรับปีนี้แผนจัดสรรน้ำ ปลูกข้าวนาปรัง 8.03 ล้านไร่  พืชไร่ พืชผัก 2.43 ล้านไร่ รวมทั้งประเทศ  10.46 ล้านไร่ แม้ว่าภาพรวมปลูกเกินไปเพียง 5 หมื่นไร่ แต่หากดูลงรายพื้นที่หลายจังหวัด ได้ปลูกเกินแผนไปมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ ดังนั้นเกษตรกรต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย รับมือเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

ผู้ว่าการ ธปท. 'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย ฝ่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ย้ำ! ไม่มีทางลัด แนะเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยคุณภาพ ผลิตภาพ-ยกระดับแรงงานภาคเกษตร และคนของรัฐบูรณาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพเศรษฐกิจประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" ในงานดินเนอร์ทอล์ค "Thai Journalists Association 64th Anniversary" โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค. 2562 โดยความตอนหนึ่งระบุว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ไป เราจะเลือกตั้งกันอีกครั้ง ซึ่งเรื่องที่สำคัญกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ที่ท้าทายยิ่ง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่โลกยุคใหม่ และโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ และร่วมกันแก้ไข เพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกใหม่ได้อย่างเท่าทัน

สำหรับการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1) ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs โดยไม่เน้นปริมาณเช่นที่ผ่านมา แต่คงดีกว่า ถ้าเน้นคุณภาพและผลิตภาพ ทำงานในระดับจุลภาคอย่างใกล้ชิด เช่น เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มคุณภาพจนสร้างความแตกต่างของผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง มีกำไรและเงินออมที่เกิดจากการทำงานด้วยตนเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเข้าพยุงราคาสินค้าเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูก หรือ ถ้าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีอำนาจซื้อสูงเข้ามาในประเทศได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ คุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว ที่จะสร้างผลเสียให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว

การเสียสละผลประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ และต้องการการแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบนมาเสริมการขับเคลื่อนนโยบายที่เน้นจากบนลงล่าง เราต้องตระหนักว่า ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพและผลิตภาพอย่างเพียงพอแล้ว เราจะใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากไปสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องแก้ไขจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ในขณะที่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว

2) ต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคน ที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คนไทยกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันจากประเทศอื่นที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมากกว่าเรามาก ทักษะงานของโลกเก่าที่แรงงานไทยคุ้นเคยจะทยอยหมดความสำคัญลงเรื่อย ๆ บริษัท McKinsey ได้ประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานทั่วโลกราว 14% ที่จะถูกเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Automation และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ สัดส่วนนี้จะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่แรงงานมีคุณภาพต่ำ และมีลักษณะงานซ้ำ ๆ โจทย์ที่อาจจะสำคัญกว่า คือ จะยกระดับคุณภาพของแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน 38 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรไทยได้อย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น หลายประเทศได้วางแผนพัฒนาทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ให้กับแรงงานของตนอย่างจริงจังแล้ว

"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และตัวแรงงานเอง เนื่องจากโลกข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ทักษะของการเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่จำเป็นยิ่งสำหรับคนไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง"

3) การเตรียมพร้อมเรื่องจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร จะทำอย่างไรที่จะให้ทรัพยากรย้ายออกจากภาคเศรษฐกิจมีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า นอกจากจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ไม่ว่าทุน คน หรือ ที่ดิน สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย จากภาค เศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง จากธุรกิจที่ทรง ๆ หรือ ไม่ประสบความสำเร็จ ไปสู่ธุรกิจที่กำลังเติบโต จากเศรษฐกิจในโลกยุคเก่าไปสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ซึ่งเราจะได้ยินคำพูดของธุรกิจ Start Up อยู่เสมอว่า "fail fast, fail cheap and fail forward" หรือ เป็นการล้มที่จะลุกไปข้างหน้าได้เร็วด้วยต้นทุนต่ำ การเคลื่อนย้ายทรัพยากรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ากฎระเบียบจำนวนมากของภาครัฐยังล้าสมัย และเป็นพันธนาการไม่สนับสนุนให้ธุรกิจไทยและคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐอย่างจริงจังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือจากภาคเกษตรแล้ว แรงงานในภาครัฐก็เป็นโจทย์ใหญ่เช่นกัน โดยวันนี้ บุคลากรภาครัฐมีมากกว่า 2 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากจะทำให้งบประมาณด้านบุคลากรของรัฐบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีสัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรสูงแล้ว ซึ่งการจัดอันดับ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของ World Bank พบว่า ภาครัฐไทยมีประสิทธิภาพที่ลดลงเรื่อย ๆ ถ้าหากรัฐบาลสามารถตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐได้สำเร็จ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและล้าสมัย และปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดเล็กลง นอกจากประเทศจะได้ประโยชน์จากแรงงานที่ทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้นแล้ว ภาครัฐยังจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างภูมิต้านทานด้านการคลังเพื่อรองรับความผันผวนที่เราจะต้องเผชิญอีกมากในอนาคต

นอกจากปัญหาต่าง ๆ ที่พูดถึง ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการแก้ไขอยู่หลายเรื่อง ในขณะที่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามีโจทย์ที่ท้าทายหลายด้านที่เชื่อมโยงกัน

ไม่มีทางลัดที่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่เกิดผลข้างเคียงไปสู่เรื่องอื่น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างหลายอย่างที่มีมาแต่เดิม การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ย่อมก่อให้เกิดผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสานประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปข้างหน้า เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปนี้ คำถามแรกที่คนส่วนใหญ่จะถาม คือ ใครควรเป็นเจ้าภาพ หน่วยงานไหนของภาครัฐควรรับเป็นเจ้าภาพ แล้วเราก็มักจะจบลงด้วยคำตอบที่ว่า หาใครรับเป็นเจ้าภาพไม่ได้ จึงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

นายวิรไท ยังกล่าวย้ำว่า เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม ทุกคนควรจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง ถ้ามัวแต่คิดว่า คนอื่นต้องรับเป็นเจ้าภาพแล้ว ไม่มีทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

การเปลี่ยนแปลง Mindset อันดับแรกที่ต้องเริ่มจากตนเองก่อนจึงสำคัญมาก ทุกคนต้องตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองในวันนี้ เริ่มจากถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำได้ทำให้ผลิตภาพของเรา หน่วยงานของเรา และประเทศของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพของงานที่เราทำอย่างไรบ้าง ธุรกิจของเรา หรือ งานของเรา มีส่วนช่วยให้คนอื่นในสังคมได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่า เราจะลดการเบียดเบียนคนอื่นในสังคมได้อย่างไร ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ และเราจะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างไร ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับการถามตัวเองเป็นประจำ นอกจากจะทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้าแล้ว จะช่วยสร้างพลังบวกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปข้างหน้าด้วย จะเป็นพลังบวกที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความไว้วางใจนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งน่าเสียดายว่า ในช่วงที่ผ่านมาความไว้วางใจกันได้ลดน้อยลงในสังคมไทย จนส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก

"สังคมใดก็ตามที่มีความแคลงใจต่อกันเป็นพฤติกรรมในสังคม สังคมจะเดินหน้าได้ยากมาก ยากที่คนจะยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ยากที่จะยอมแลกผลประโยชน์ของตนในระยะสั้นกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของประเทศจะต้องเผชิญกับแรงต้านตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ยากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หรือ การปฏิรูปใด ๆ ให้สำเร็จได้ การสร้างความไว้วางใจกันจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ผมคิดว่า การสร้างความไว้วางใจกันและการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน"

จาก www.thansettakij.com วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

กกร.มึนบาทผันผวนเกิ๊นน! เร่งเกาะติดก่อนทบทวนตัวเลข ศก.ใหม่ เม.ย.

"กกร." เกาะติดค่าเงินบาทและ ศก.โลก โดยเฉพาะสงครามการค้าก่อนปรับเป้าตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือน เม.ย. โดยขณะนี้ยังคงเป้าจีดีพีโต 4-4.3% ส่งออกโต 5-7% โอดค่าเงินบาทไทยกลับมาอ่อนค่าสุดในภูมิภาคจากที่แข็งค่าที่สุดทำให้เกิดความผันผวนเกินไป เตรียมรวบรวมข้อเสนอแนะด้าน ศก.ภาพรวมเสร็จ พ.ค.เพื่อเสนอรัฐบาลใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ยังคงประมาณการการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2562 ที่จีดีพีขยายตัว 4-4.3% ส่งออกขยายตัว 5-7% เงินเฟ้อ 0.8-1.2% โดยจะติดตามปัจจัยต่างๆ ใกล้ชิดทั้งทิศทางค่าเงินบาท และเศรษฐกิจโลกเพื่อประกอบการทบทวนตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งหมดอีกครั้งในเดือนเมษายน

สำหรับปัจจัยค่าเงินบาทภาคเอกชนและผู้ส่งออกมีความกังวลมากขึ้น เนื่องจากล่าสุดค่าเงินบาทกลับมาผันผวนอ่อนค่าลงมากสุดในภูมิภาค โดย 2 สัปดาห์มีการอ่อนค่าถึง 2.4% จากก่อนหน้าแข็งค่าสุดเพราะเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาค ล่าสุดแม้ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาสู่ระดับ 31.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐแต่ก็ยังคงแข็งค่าพอสมควร ซึ่งเอกชนเห็นว่าอัตราค่าเงินไม่ควรจะอ่อนหรือแข็งค่าเกิน 0.5%

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกนั้นยังคาดหวังว่าจะมีทิศทางที่ดีจากที่สหรัฐฯ และจีนจะมีการเจรจาทางการค้าที่ล่าสุดมีแนวโน้มจะสามารถตกลงกันได้มากขึ้น เป็นต้น โดยปัจจัยภายนอกประเทศยอมรับว่ายังไม่ดีนักที่อาจเป็นผลลบต่อการส่งออกไทย แต่สัญญาณในประเทศดีกว่าส่งออกทั้งการบริโภค ท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มที่เติบโตได้ ดังนั้นขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับตัวเลขเศรษฐกิจไปในทิศทางที่บวกหรือลดลง

นอกจากนี้ กกร.ได้มอบให้ฝ่ายเลขาธิการของ 3 สถาบัน ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยรวบรวมข้อมูลของแต่ละส่วนเพื่อนำมาสู่การระดมความคิดเห็น (เวิร์กชอป) และรวบรวมข้อเสนอภายในนาม กกร.เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะมีทั้งด้านการค้า การลงทุน การบริโภค ฯลฯ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ โดยคาดว่าจะสรุปได้เสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน กกร.ยังได้หารือถึงกรณีที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ยกเว้นเบี้ยปรับเงินเพิ่มภาษีอากรและความผิดอาญาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เข้าสู่ระบบบัญชีเดียว โดยผ่านวาระ 1 ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะพิจารณาวาระ 2-3 ในสัปดาห์นี้นั้น กกร.มีความเป็นห่วงเนื่องจากเอสเอ็มที่จดทะเบียนนิติบุคคลขึ้นทะเบียน 4 แสนกว่าราย พบว่า 50% หรือราว 2 แสนรายยังไม่เสียภาษีถูกต้อง โดยจะหมดเวลา 30 มิ.ย.นี้แล้ว ดังนั้นหากเลยไปจะต้องจ่ายเบี้ยปรับและจะมีปัญหาในเรื่องของการกู้เงินในอนาคต

จาก https://mgronline.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

สวทช.-มิตรผล-ไอบีเอ็ม ร่วมลงนามโครงการจัดการเกษตรด้วย เอไอ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กลุ่มมิตรผล และ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ลงนามความร่วมมือ โครงการการพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่สำหรับอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อนำร่องพัฒนาระบบควบคุมอัจฉริยะและแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงดัชนีความหวานของอ้อย ด้วยเทคโนโลยีเอไอ โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ / รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล / และ นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ลงนามพิธี

โครงการการพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่สำหรับอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มุ่งให้เป็นโครงการวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence หรือ AI (เอไอ), เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things, การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้นที่ มีความแม่นยำสูง โดยใช้โมเดลจาก The Weather Company โดยการลงนามในครั้งนี้ เป็นการรวมจุดแข็งของ สวทช. และไอบีเอ็มในด้านการวิจัย และเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ Big Data Analytic, AI และ IoT เข้ากับความรู้เชิงลึกด้านการเกษตรของกลุ่มมิตรผล ซึ่งนำไปสู่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าของเกษตรกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย

ทั้งนี้ปัจจุบันไอบีเอ็มกำลังพัฒนาระบบ Agronomic Insights Assistant (อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์) ซึ่งใช้แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (IBM Watson Decision Platform for Agriculture) ร่วมกับระบบรวมข้อมูลสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ (IBM PAIRS Geoscope) ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และนำภาพที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตรด้วยระบบเอไอ จากนั้นจึงนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจเฉพาะพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำ และอาหารที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อยความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ตลอดจนปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและดัชนีคุณภาพของอ้อย

โดยคาดว่าในช่วงกลางปีนี้จะได้นำร่องใช้ระบบดังกล่าวบนไร่อ้อยขนาดไม่เกินหนึ่งล้านตารางเมตรจำนวน 3 ไร่ ซึ่งเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถให้เกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยประเมิน วางแผน และจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้โดยเร็ว รวมถึงเพิ่มผลผลิตได้

จาก https://www.tnamcot.com    วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

เงินบาทกลับมาแข็งค่าเปิดตลาดเช้าที่ระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกรุงไทยระบุค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากช่วงสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.79 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต (ISM Non-Manufacturing PMI) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 59.7จุด มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ระดับ 57.3จุด และยอดขายบ้านใหม่ เพิ่มขึ้น 3.7% จากเดือนก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐ แกว่งตัวในกรอบแคบ ดัชนี S&P500 ปรับตัวลง 0.11%  เนื่องจากนักลงทุนยังรอความชัดเจนของรายละเอียดข้อตกลงทางการค้าอยู่

สำหรับวันนี้ คาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งอาจกดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลง ล่าสุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง 1.7% สู่ระดับ 1.13 ดอลลาร์ต่อยูโร

ในส่วนของค่าเงินบาท พบว่านักลงทุนต่างชาติปิดสถานะขายเงินบาทลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เงินบาทปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐด้วยเหตุผลหลักจากการเมืองที่น่ากลัวในช่วงเข้าใกล้เลือกตั้ง

ขณะที่ในวันนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวสูงจะหนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แต่เมื่อผสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน เชื่อว่าทั้งสองเรื่องนี้ จะส่งผลให้ตลาดมีมุมมองที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) และจะมีแรงซื้อกลับทั้งในบอนด์และหุ้นของภูมิภาคเอเชีย

กรอบค่าเงินบาทวันนี้ 31.70-31.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2562

เนคเทค-ไอบีเอ็มส่ง 'เอไอ' ทำงานในไร่อ้อยของมิตรผล

สวทช. และสถาบันวิจัยไอบีเอ็ม ส่งปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ไอโอที การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และข้อมูลพยากรณ์อากาศแบบเจาะจงพื้น พลิกโฉมช่วยเพิ่มผลผลิตไร่อ้อยในประเทศไทยร่วมกับกลุ่มมิตรผล

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประกาศความร่วมมือในงานวิจัยระยะเวลา 2 ปีเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยในประเทศไทย ร่วมกับไอบีเอ็ม และกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและรายใหญ่ที่สุดในเอเชียที่ให้การสนับสนุนความรู้เฉพาะทางในการวิจัยครั้งนี้ จะนำร่องพัฒนา "แดชบอร์ดอัจฉริยะ" และแอพพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย ความชื้นของดิน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย (ซีซีเอส)

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลและพลังงานชีวภาพในประเทศไทยและทั่วโลก ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับสองของโลก และมีบทบาทสำคัญในการป้อนน้ำตาลสู่ตลาดโลกโดยมีส่วนแบ่งตลาด 9.4% ในปี 2560 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 14.1 ล้านเมตริกตันในช่วงปี 2561-2562 โดยเพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนักวิจัยไอบีเอ็มกำลังพัฒนา "อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์" (Agronomic Insights Assistant) ซึ่งใช้แพลตฟอร์มไอบีเอ็มวัตสันดีซิชันสำหรับการเกษตร (IBM Watson Decision Platform for Agriculture) ร่วมกับระบบไอบีเอ็มแพร์สจีโอสโคป (IBM PAIRS Geoscope) ซึ่งเป็นการผสานรวมข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ (เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมหลายตัว ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล)

ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร (เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน พยากรณ์ความเสี่ยงโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย) โดยใช้โมเดลการพยากรณ์ที่แม่นยำจากเดอะเวเธอร์คอมแพนี จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับการปรับและพัฒนาให้เหมาะกับการทำไร่อ้อยในประเทศไทยโดยสวทช. และความรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล เพื่อกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำและอาหารที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ตลอดจนปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและดัชนีคุณภาพของอ้อย

 ทั้งนี้ จะมีการนำร่องใช้อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์ในช่วงกลางปีนี้ โดยเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยประเมินและจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่พยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุดสองสัปดาห์ ร่วมด้วยการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโรคและศัตรูพืชอย่างหนอนเจาะลำต้นข้าวและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใบขาว และการพยากรณ์อากาศระยะสั้นตามฤดูกาลแบบเจาะจงพื้นที่ คาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการทดน้ำและระบายน้ำ การใส่ปุ๋ย และการกำจัดศัตรูพืช เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจนำไปสู่การสูญเสียผลผลิต

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ สวทช.   มีความมุ่งมั่นที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการวิจัยและการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาหารและการเกษตร ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายพันล้านบาทต่อปี และยังคงเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทย

รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า การร่วมมือกับสวทช. รวมถึงการนำเทคโนโลยีเอไอ การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และระบบพยากรณ์อากาศขั้นสูงของไอบีเอ็มมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย จึงนับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Farming ได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยอย่างยั่งยืน

"เราจัดสรรพื้นที่ไร่อ้อย 2 พันไร่ ในชัยภูมิ 1 จุด และสุพรรณบุรี 2 จุดเป็นพื้นที่เก็บข้อมูล พร้อมทั้งเตรียมเพิ่มกำลังคนทำหน้าที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลในโครงการนี้มากกว่า 100 คน ด้วยหวังที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ไม่เพียงแค่อ้อยเท่านั้น" ผู้บริหารมิตรผล กล่าว

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มภูมิใจที่ได้ร่วมทำวิจัยภายใต้เป้าหมายในการนำข้อมูลเชิงลึกเข้าเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพการทำไร่อ้อยของไทย และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศ อันเป็นการสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย

การผนึกจุดแข็งของสวทช. และไอบีเอ็มในด้านการวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ เอไอ และอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ เข้ากับความรู้เชิงลึกด้านการเกษตรของกลุ่มมิตรผล เป็นการพลิกโฉมแนวปฏิบัติของหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุด และแสดงให้เห็นถึงก้าวย่างใหม่ของเกษตรกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย

"ปัจจัยต่างๆ อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประชากรที่เพิ่มขึ้น และความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ล้วนเป็นตัวผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐต้องแสวงหาโมเดลการทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่บนพื้นฐานของข้อมูลและนวัตกรรมใหม่ๆ" แคทรีน กวารินี รองประธานฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยไอบีเอ็ม กล่าว "สถาบันวิจัยไอบีเอ็มหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มเติมในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก"

จาก www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

"เฝ้าระวัง"สถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ

"อธิบดีกรมชลฯ"เร่งรับมือบรรเทาภัยแล้ง สั่งชป.76 จว.เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งลามทั่วประเทศ ร่วมมือทุกหน่วยงานหาแนวทางป้องกันและช่วยเหลือประชาชน -เกษตรกร"

                    5 มีนาคม 2562 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่านายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดวางมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง  

                   ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และระยะเวลายาวนานมากขึ้น จึงขอให้ทุกพื้นที่ช่วยกันรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำด้วย โดยสั่งการให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นให้ทุกโครงการชลประทานจังหวัด จัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน

                   ทั้งนี้ขอให้ประเมินด้วยว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ และพื้นที่ใดที่มีความอ่อนไหวหรือเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรจังหวัด ในการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เพียงพอให้พิจารณาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำอะไรบ้าง สามารถขุดชักน้ำมาใช้ได้หรือไม่ หรือสำรวจดูว่ามีบ่อน้ำบาดาลในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากไม่มีจริง ๆ ให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ขอให้พิจารณาดำเนินการชักน้ำ หรือสูบน้ำ รวมทั้งให้จัดทำแผนการใช้เครื่องสูบน้ำ ก่อนที่จะทำการขนส่งน้ำไปให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำ

                    นอกจากนี้ให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ จัดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน จัดเตรียมและกระจายเครื่องจักร-เครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้ทั่วถึง พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

                    ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การรายงานสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการสื่อสารผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เพื่อให้ข่าวสารเรื่องน้ำเผยแพร่ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้ทำการสำรวจพื้นที่ หรือสำรวจหาตาน้ำที่ยังมีน้ำไหลออกมาพอสมควร เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้อีกทางหนึ่งด้วย

                     “สั่งการให้ทุกโครงการดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันในขณะนั้น ประมาณ 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)(เป็นปริมาณน้ำจากในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่น ๆ ทั้งประเทศ) ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 61/62 รวมกันประมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(4 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน ประมาณ30ล้านไร่”นายทองเปลว กล่าว

                     สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ(แผนฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 61/62 วางไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 – เม.ย. 62) คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม.

                    ทั้งนี้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 61/62 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.87 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 (แผนวางไว้ 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.52 ล้านไร่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง(นารอบที่ 3)ต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอ

                     สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ของกรมชลประทาน นั้น ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักรกล และเครื่องมือต่างๆ รวม 4,850 หน่วย กระจายอยู่ในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว ซึ่งพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถขอความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460

จาก www.komchadluek.net   วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

ย้ำปุ๋ยสั่งตัด ช่วยเกษตรลดต้นทุนได้จริง!!

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ย้ำปุ๋ยสั่งตัดเห็นผลจริง เกษตรกรลดต้นทุน ผลผลิตได้คุณภาพ หากใช้ปุ๋ยตามค่าดินที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการและมีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำมาตรการประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และเพิ่มศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึง 30 เมษายน 2563 โดยมีเป้าหมายสถาบันเกษตรกร 500 แห่งทั่วประเทศ วงเงิน 3,600 ล้านบาท ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินของแต่ละพื้นที่ ให้การสนับสนุนสินเชื่อจากแหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่สถาบันเกษตรกรในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้กับสมาชิกสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไป ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต (ค่าปุ๋ยเคมี) ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ดินและปุ๋ยจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร

สศก. ได้ติดตามและประเมินผลโครงการสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกร พบว่า มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 202 แห่ง (ร้อยละ 40.4 ของเป้าหมาย) จำนวนสถาบันเกษตรกรได้ขอรับสนับสนุนเงินกู้ 5 แห่ง วงเงิน 18.32 ล้านบาท (ร้อยละ 0.51 ของวงเงิน) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ พบว่า สถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีเงินทุนการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เห็นว่าช่วยลดต้นทุน เกษตรกรได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมีความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยผสมเอง

จากการติดตามข้อมูล กลุ่มปรับปรุงคุณภาพไม้ผลบ้านทุ่งสงคราม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พบว่า ได้รับสนับสนุนสินเชื่อ 336,540 บาท มีจำนวนสมาชิก 33 ราย ทดลองใช้ปุ๋ยสั่งตัดในไม้ผล/ไม้ยืนต้น เฉลี่ยรายละ 4 ไร่ ได้นำผลการตรวจดิน และผสมแม่ปุ๋ยตามตารางผสมปุ๋ยที่ได้รับจากกรมวิชาการเกษตร ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงถึงร้อยละ 30 รวมทั้งพืชมีลำต้นที่แข็งแรง และลดการระบาดของโรค สำหรับสหกรณ์การเกษตรสามชุก จำกัด อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับสินเชื่อวงเงิน 10 ล้านบาท ใช้ในการจัดหาแม่ปุ๋ย ดำเนินการผลิตปุ๋ยผสมตามสูตรที่สมาชิกสั่งซื้อ และจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเฉลี่ยกระสอบละ 40-90 บาท ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 29 เช่นกัน

“ในภาพรวม พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดในนโยบายของรัฐและชนิดปุ๋ยที่ผลิต เนื่องจากตรงต่อความต้องการทั้งด้านคุณภาพและราคาปุ๋ย ซึ่งเกษตรกรจะนำความรู้และเทคนิคไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั่วไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังต้องการองค์ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัดเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยต้องการให้หน่วยงานภาครัฐ จัดทำแปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจ และเกิดการยอมรับภายในชุมชนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ”รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

เอกชนมึนค่าบาทป่วน วอนธปท.ดูแลหวั่นส่งออกวืดเป้า

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)พร้อมคณะเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อหารือถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

น.ส.กัณญภัคกล่าวว่า สรท.ได้ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค แต่หากอ่อนค่าลงได้มากกว่าภูมิภาค จะทำให้ผู้ส่งออกคลายความกังวลและช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้เงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 50-60 สตางค์ ก็ช่วยให้สบายใจขึ้น ปกติสรท.จะหารือกับ ธปท.ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน ทุกๆ 6 เดือน จากการหารือในครั้งนี้ทราบสาเหตุเงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับค่าเงินบาทปีนี้ผันผวนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าและอ่อนค่าจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยัง

ไม่ชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ติดลบต่อเนื่อง จึงกังวลว่าการส่งออกปีนี้จะโตต่ำกว่า 5% ต่ำกว่าที่สรท.คาดการณ์ไว้ โดยจะต้องดูตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2562 ก่อนว่าเป็นอย่างไร และจากนั้นจะทำการทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่อีกครั้ง

“ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ยังยอมรับได้ เพราะต้องมองทิศทางในระยะยาวมากกว่า ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลจาก ธปท.แล้ว

ก็เข้าใจ เพราะ ธปท.ดูแลหลายภาคส่วน” น.ส.กัณญภัค กล่าว

ทั้งนี้จะเน้นย้ำให้สมาชิกประกันความเสี่ยงและให้ค้าขายเป็นเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ผันผวน ซึ่งปัจจุบัน ธปท.เปิดให้ค้าขายต่างประเทศด้วยเงินสกุลท้องถิ่น 4 สกุล ประกอบด้วย เงินหยวนของจีน เยนของญี่ปุ่น รูเปียห์ ของอินโดนีเซีย และริงกิตของมาเลเซีย พร้อมกันนี้ สรท.อยากเห็นการค้าขายเป็นเงินสกุลภูมิภาคอาเซียนอื่นๆ มากขึ้น เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนมีสูงเกือบ 25%

ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์รายงานภาพรวมการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่า 18,993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 5.65% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร สร้างความกดดันให้การค้าการส่งออกทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่อง และอาจจะลดลงไปทั้งไตรมาสแรกนี้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกลดลงตาม รวมถึงความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรมมีราคาสูง โดยเห็นได้ชัดในสินค้าข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ไก่ อาหารทะเล ของไทย มีราคาสูงกว่าคู่แข่ง จึงหันไปซื้อของประเทศอื่นที่มีราคาต่ำกว่า

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

มท.1 สั่งรับมือภัยแล้งขอเกษตรกรงดทำนา ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

รมว.มหาดไทยสั่งทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ทำความเข้าใจเกษตรกรงดทำนา ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นห่วงภัยแล้งในปีนี้ว่าจะแล้งยาวนาน ว่า ทางกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ทุกจังหวัดได้เตรียมการรับมือภัยแล้ง โดยเฉพาะให้รวบรวมข้อมูลในพื้นที่ต่างๆที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันรวมถึงการแจ้งเตือนประชาชนด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่ให้เตรียมพร้อมในด้านเครื่องมือ และจะต้องกลับไปดูแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งว่าจะต้องทำอย่างไร โดนตนได้กำชับว่าให้เตรียมการทั้งน้ำอุปโภคและบริโภครวมถึงการเกษตร ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงหน้าแล้ง เชื่อว่าประชาชนมีความตระหนักดีว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำอื่นๆมีปริมาณที่ลดลงมาก และกระทรวงเกษตรฯแจ้งมาว่ามีหลายพื้นที่ประสบปัญหาแล้งอย่างหนัก จึงขอให้ประชาชนงดการทำนา ขอให้ไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อถึงเรื่องการดูแลปัญหาไฟป่าในช่วงหน้าแล้งว่า ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องไปกำชับประชาชนไม่ให้เผาป่า ส่วนในเรื่องการดับไฟป่านั้นทางเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องไปพิจารณาว่ามีสิ่งไหนที่จะสนับสนุนได้ แต่ในพื้นที่ที่มีความสูงชัน เราเองยังไม่มีเครื่องมือ ต้องไปขอความร่วมมือกระทรวงทรัพยากรฯและกองทัพบก ซึ่งมียุทโธปกรณ์ที่สามารถยกน้ำไปในพื้นที่สูงได้

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

บีบีจีไอพร้อมสนับสนุนภาครัฐรณรงค์ใช้ไบโอดีเซล – เอทานอล ลดฝุ่นละอองในอากาศ

นายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีจีไอ ซึ่งประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น ที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล ไบโอดีเซล และผลิตภัณฑ์พลอยได้ รวมทั้งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองในอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรรณรงค์ให้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมัน

การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซพิษและฝุ่นละอองในอากาศ โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล จากร้อยละ 7 (B7) เป็นร้อยละ 10 (B10) หรือร้อยละ 20 (B20) จะมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเขม่าของไบโอดีเซลมีขนาดเล็กกว่าเขม่าของน้ำมันดีเซลทั่วไป ในขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ E20 หรือ E85 จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 หรือ 95 เนื่องจากการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินจะช่วยเพิ่มค่าออกเทนและเป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยให้การเผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเบนซินปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พบว่ารถยนต์ยังมีอัตราการใช้ E20 น้อยกว่าที่ควรจะเป็นค่อนข้างมาก

ดังนั้น บีบีจีไอ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม (“กลุ่มบริษัทฯ”) พร้อมสนับสนุนให้ภาครัฐเร่งผลักดันการใช้น้ำมันดีเซล B10 หรือ B20 และรณรงค์ให้ผู้ใช้รถยนต์หันมาใช้แก๊สโซฮอล์ E20 หรือ E85 เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีศักยภาพและความพร้อมในการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซล โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตเอทานอล 900,000 ลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 930,000 ลิตรต่อวัน ล่าสุด กลุ่มบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนโครงการขยายกำลังการผลิตเอทานอลและเงินทุนหมุนเวียน รวม 1,125 ล้านบาท กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 300,000 ลิตรต่อวัน ทำให้กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมดคิดเป็น 1,200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีการเผาไหม้สมบูรณ์กว่า ซึ่งสามารถลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2562

‘แม่สอด’ โชว์พื้นที่ปลูกอ้อยต้นแบบ ผลิตพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยด้วยวิธีการตัดสดโดยใช้รถตัด และใช้แรงงานคน

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทางชายแดนตะวันตกของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 10 ปี นับเป็นภาพสะท้อนถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน

สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า “จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มี

การส่งเสริมการปลูกอ้อยให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งยังส่งเสริมให้เป็นอาชีพกสิกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม และเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะในอำเภอแม่สอดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีการปลูกอ้อยเป็นพืชพลังงาน ทางจังหวัดจึงมีนโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด งดการเผา โดยทำงานร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่น โรงงาน ชุมชน และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ทางอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กวดขันดูแลพื้นที่การเกษตรอย่างเข้มข้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกร ส่งผลให้ขณะนี้ พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการตัดอ้อยสดสะอาดเข้าหีบแล้วกว่า 98%”

ด้าน ชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “การสร้างทัศนคติ ความเข้าใจ และกำหนดเป้าหมายร่วมกันของคนในพื้นที่แม่สอดที่ต้องการชุมชนที่สะอาด ปลอดภัย แม้จะมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ ทำให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังที่จะทำให้อำเภอแม่สอดเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอาชีพด้วย เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังทัศนคติที่ดีเช่นนี้จะคงอยู่กับชุมชนไปตลอด”

ขณะเดียวกัน นพพร อุปรี ผู้นำชุมชนและชาวไร่อ้อยในตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในชาวไร่อ้อยต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการตัดอ้อยสดงดเผา โดยได้ร่วมรณรงค์สนับสนุนนโยบายภาครัฐเพื่อให้มีการตัดอ้อยสดสะอาดในหมู่บ้าน และยังนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาปรับใช้ในไร่อ้อย

กว่า 300 ไร่ของตนและถ่ายทอดแนวทางให้กับคนในหมู่บ้าน

“ตั้งแต่ทำไร่อ้อยมากว่า 10 ปี ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยคิดที่จะเผา ก่อนหน้านี้เคยใช้แรงงานคนตัด แต่หลายปีมานี้ได้เปลี่ยนมาใช้รถตัดแทน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากโรงงานในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้สามารถตัดอ้อยได้สะดวกรวดเร็ว ได้อ้อยที่น้ำหนักดี หน้าดินไม่เสียหาย สามารถรักษาความชื้นของดินไว้ได้ และที่สำคัญ พี่น้องในชุมชนของเราก็จะมีสุขภาวะที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำเกษตรกรกรรมกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน หลายคนอาจมองว่าการเผาอ้อยอาจจะทำให้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่อันที่จริงแล้ว การเผาอ้อยมีผลเสียมากกว่า แทบไม่ได้ช่วยลดต้นทุนเลย เพราะเมื่อเผาเสร็จแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาดินตามมาอีกมาก ในฐานะผู้นำชุมชนผมก็พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องชาวไร่มาโดยตลอด”  

เช่นเดียวกับ สมทรง เฮิงโม ชาวไร่อ้อยที่ปลูกและตัดอ้อยโดยใช้แรงงานตัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550

และปัจจุบันยังใช้แรงงานในการตัดอ้อย 30 กว่าไร่มาโดยตลอด กล่าวว่า “ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยเผาเลยซึ่งการตัดอ้อยสดก็ดีต่อสุขภาพของตัวเองและคนอื่นๆ ในชุมชน ราคาก็ดีกว่า แถมใบอ้อยที่เหลือในแปลงหลังจากตัดแล้ว ก็ยังช่วยรักษาหน้าดิน และเมื่อย่อยสลายแล้วก็จะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินด้วย ช่วยลดต้นทุน ค่าบำรุงดินและกำจัดวัชพืชลงได้มาก หลายคนบอกว่าอ้อยสดตัดยาก แต่ผมมองว่าไม่ต่างกัน อ้อยไฟไหม้จะเหนียว มีฝุ่นฟุ้ง ไม่ได้ตัดง่าย และที่สำคัญตัดอ้อยสดหรือเผา แรงงานก็คิดราคาค่าตัดเท่ากัน แต่อ้อยที่ตัดสดจะได้ราคาดีกว่า ผมจึงอยากให้พี่น้องชาวไร่อ้อยทุกคนหันมาตัดอ้อยสดกัน เพราะดีต่อสุขภาพของทุกคนในชุมชน ทั้งยังประหยัดและได้ราคาดีกว่าด้วย”

ณัฐพงศ์ พูลเพิ่ม ชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ซึ่งได้ปรับรูปแบบแปลงอ้อยกว่า 80 ไร่ของตนเพื่อให้เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัด เปิดเผยว่ารู้สึกภูมิใจที่ตัวเองตัดอ้อยสดมาตลอด “ผมทำไร่อ้อยมา 8 ปีแล้ว ไม่เคยเผา และได้ผลผลิตที่สดน้ำหนักดีมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานที่รับซื้ออ้อยได้เข้ามาช่วยเหลือหลายๆ อย่าง ทั้งปัจจัยการผลิต การกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ทางโรงงานได้เข้ามาให้คำแนะนำอยู่เสมอและยังช่วยปรับแปลงอ้อยทั้งหมดของผมให้สามารถใช้รถตัดได้ ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และไม่มีความจำเป็นต้องเผาไร่เพื่อเก็บเกี่ยว ปัญหาเรื่องมลพิษจากการเผาอ้อยจึงไม่มี ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ช่วยชุมชนลดมลพิษฝุ่นควัน”

ด้าน สมคิด แจ่มจำรัส ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไร่ โรงงานแม่สอดพลังงานสะอาด กล่าวว่า “สำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อนำวัตถุดิบอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตพลังงานทดแทนเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5

นอกจากนั้น ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ซึ่งเป็นการนำผลพลอยได้จากการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในรูปแบบของเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายในการผลิตเอทานอล ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ปัจจุบัน มีอัตราการผลิตเอทานอล 240,000 ลิตรต่อวัน สามารถรองรับผลผลิตอ้อยในพื้นที่ได้ปริมาณ 700,000 ตันต่อปี และโรงงานฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกอ้อยและการตัดอ้อยสด มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ด้วยการนำเทคโนโลยีและการจัดการในไร่อ้อยมาใช้อย่างเป็นระบบให้เหมาะสมกับศักยภาพของท้องถิ่น โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้และอบรมเรื่องประโยชน์และวิธีการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่ การสนับสนุนการใช้เครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่เช่น รถตัดอ้อย รวมถึงการปรับรูปแบบแปลงให้เหมาะสมกับรถตัด การตรวจวัดและติดตามคุณภาพการตัดอ้อยสดในแปลง การรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ชาวไร่เรื่องการตัดอ้อยสดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น”

ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังเร่งผลักดันมาตรการแก้ปัญหาการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า “เราได้มีโอกาสลงมาดูต้นแบบความสำเร็จในการลดอ้อยไฟไหม้ที่แม่สอด จะเห็นได้ว่าจากเดิมที่พื้นที่อำเภอแม่สอดเองก็มีปัญหาเรื่องการเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว แต่วันนี้ทุกภาคส่วนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้ลดลงได้แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความร่วมมือทั้งจากฝั่งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หากทุกคนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แม้พื้นที่แม่สอดจะยังมีจำนวนอ้อยไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ แต่เราเชื่อว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นความสำคัญร่วมกันในเรื่องการงดเผาอ้อย ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นจากทางฝ่ายโรงงาน ที่ได้ส่งเสริมความรู้ ชี้แจงถึงผลกระทบ และอีกฝ่ายหนึ่งที่สำคัญคือหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้เข้ามากำหนดมาตรการควบคุมที่ชัดเจนและเคร่งครัด ทั้งนี้ ทางสอน. จะนำเอาแนวทางของแม่สอดโมเดลไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เพื่อช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ และสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป”

จากการสร้างทัศนคติที่ดีร่วมกันของคนในพื้นที่ สู่ความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและชุมชน ส่งผลให้พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการตัดอ้อยสดสะอาดเข้าหีบกว่า 98% สูงสุดในประเทศไทย ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชน และพัฒนาให้จังหวัดตากเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ปีนี้แล้งนาน! 'สมเด็จพระเทพฯ'ทรงห่วงราษฎร์ 'กฤษฎา'สั่งด่วนทำแผนบริหารจัดการน้ำ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการด่วนทุกจังหวัดรับมือสถานการณ์แล้งที่เริ่มขึ้นแล้ว ในระหว่างประชุมทางไกลกับ 76 จังหวัด ว่า ทุกพื้นที่ให้ความสำคัญสูงสุดในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแล้ง โดยกรมชลประทาน เป็นเจ้าภาพหลักในการทำแผนใช้น้ำตลอดฤดูแล้งนี้อย่างเข้มข้น แม้ว่ากรมชลฯ จะยืนยันหลายครั้งว่าปริมาณน้ำในเขื่อนมีใช้เพียงพอถึงเดือน ก.ค.แต่จากที่ตนประสานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า และสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ทั้งสองแห่งให้ข้อมูลกับตน ทำให้ต้องเร่งรับมือภัยแล้งตั้งแต่เดือน มี.ค.โดยระบุว่าแม้ปริมาณน้ำชลประทานเพียงพอ แต่ภาวะแล้งแห้งครั้งนี้มีมีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ ภัยแล้งจะนานขึ้น และอากาศร้อนมากขึ้นกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยจัดตั้งคณะกรรมการบริหารน้ำส่วนกลาง หรือวอร์รูม รายงานสถานการณ์น้ำทุกวันจันทร์ โดยจะเริ่มสัปดาห์หน้า พื้นที่ใดพอ ไม่พอ จัดทำแยกเขต แบ่งพื้นที่วิกฤตสุด ปานกลาง ประสานงาน กับจิสด้า , สนนก. , ปภ. , หน่วยความมั่นคง และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนนช.) ด้วย

"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งกับตนว่า ปีนี้จะแล้งนานและแล้งมาก ตนจึงขอให้พื้นที่ดูข้อมูล ทั้ง จ.ศรีสะเกษ , จ.สกลนคร และ จ.สุรินทร์ ซึ่งพระองค์ท่านจะทรงเสด็จฯ ไปทรงงาน เจ้าหน้าที่เกษตรเตรียมข้อมูลรับเสด็จฯ เป็นความโชคดีของคนไทย ที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดูแลอาณาประชาราษฎร์ ดังนั้น หน่วยราชการก็ต้องทำแผนประหยัดน้ำที่เป็นรูปธรรมด้วย ปรับรูปแบบการประสัมพันธ์แจ้งต่อประชาชนทั่วประเทศใหม่ทั้งหมด เตือนประชาชนเล่นน้ำสงกานต์อย่างพอดี

ส่วนกรมฝนหลวงฯ ต้องปฏิบัติการให้เห็นเป็นมรรคเป็นผล ขึ้นทำฝนเมื่อไหร่ พื้นที่ไหนสำเร็จบ้าง เพราะแล้งปีนี้จะเจอกับอากาศร้อนมากขึ้น ทำให้น้ำระเหยขึ้นไปมาก รวมทั้งดึงความชื้นดินไปด้วย ส่งผลความร้อนและความแล้งยาวนานกว่าทุกปี เรื่องเหล่านี้ขอเตือนข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ต้องรู้ให้ละเอียด ถ้าคนรู้งาน จะรู้ต้นเหตุของปัญหา ไปสู่การทำงาน มีแผนแก้ไขอย่างไร มีมาตรการทำได้แค่ไหน ขอให้จำไว้ เวลาฟังจากใคร ต้องมาอธิบายกับตนได้ด้วย

สำหรับประเด็นที่อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันน้ำมีใช้ไปถึงเดือน ก.ค.ต้องยืนยันว่า ต้องแยกเป็น 4 ประเภท คือ น้ำกิน-น้ำใช้ , น้ำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม , น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นทุกจังหวัดร่วมกันทำแผนใช้น้ำอย่างจริงจังกับชลประทาน ทุกพื้นที่ในเขตและนอกเขตชลประทาน ชลประทานจังหวัด เกษตรจังหวัด พัฒนาที่ดิน โดย3 หน่วยงานต้องรู้สถานการณ์น้ำอย่างดี น้ำในแหล่งธรรมชาติ น้ำกักเก็บ มีเท่าไหร่ บริหารจัดการได้ถึงเมื่อไหร่ หากไม่รู้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องรับผิดชอบ" นายกฤษฎา กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กลไกหลักเชื่อมโยงจากส่วนกลางไปจังหวัด ผ่านคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัด (อกพ.) ที่มีผู้ว่าราชการ หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประเมินปริมาณน้ำ น้ำมีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน จำนวนประชาชน พื้นที่เกษตร ที่ใช้น้ำมีเท่าไหร่ คาดการณ์อย่างไร หากฝนไม่มาภายในเดือน ก.ค.ต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้รองรับวิกฤต

"ทุกจังหวัดต้องสรุปสถานการณ์น้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รู้ว่ามีน้ำเท่าไหร่ มีใช้ถึงเมื่อไหร่ เพื่อสั่งการทันท่วงที โดยให้ทั้งจังหวัดมีความตื่นตัว สร้างการรับรู้ชาวบ้านร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และหากสถานการณ์น้ำถึงขั้นวิฤกต จะแก้ไขบรรเทาภัยแล้งความเดือดร้อนประชาชนอย่างไร เช่น ทำสำรวจเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถแจกจ่ายน้ำ ทำบัญชีไว้ทั้งหมดทุกจุด หน่วยไหนมีเท่าไหร่ แต่ละเทศบาลเท่าไหร่ ดูภารกิจเฉพาะหน้า เช่น ไปเติมการประปา หอถังสูง เตรียมเครื่องสูบน้ำไปวางจุดเสี่ยง ในบัญชีต้องบอกรายละเอียดลงรายพื้นที่ จัดแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบประจำเครื่องมือ กระจายตามพื้นที่ทำให้เรียบร้อยก่อนเกิดภัย" นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำแล้ง โดยมีปลัดกระทรวงฯ เป็นประธาน เร่งทุกหน่วยงานชี้แจงเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย มอบหมายเกษตรอำเภอทุกอำเภอ เป็นหลัก ขอความร่วมมือนายอำเภอ กระจายข่าวใช้เสียงตามสาย 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน

"กระทรวงเกษตรฯ ต้องแสดงศักยภาพให้เด่นชัด และกรมชลฯ ขอพูดตรงๆ ได้เงินรัฐบาลไปเป็นหมื่นๆ ล้านบาทต่อปี มาบอกว่าเป็นงบของปีนั้นปีนี้ สังคมฟังไม่ขึ้น เพราะใช้งบจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด ต้องกระตื้อรื้อรน กระวีกระวาดลงไปดูแลชาวบ้านเรื่องน้ำอย่างทั่วถึง ผมเป็นรัฐมนตรีมา 14 เดือน สามารถพูดงานของกระทรวงเกษตรฯ จนถึงระดับตำบล - อำเภอ แต่ปลัดกระทรวงฯ ทำงานเกษตรมามากกว่าผม ต้องรู้ดี รู้จริงมากกว่าผม ต้องรู้ให้รอบคอบ สั่งผู้ตรวจราชการ 14 ท่าน ลงพื้นที่ไป ดูพฤติกรรมข้าราชการ คนไหนไม่ขยัน ละเลย ไม่อดทน ย้ายออกมา สลับคนทำงานเข้าไป รัฐบาลนี้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายจนกว่ามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ ขอกระตุ้นเตือนข้าราชการ พรรคการเมืองทุกพรรคเอาเรื่องเกษตรไปหาเสียง เหมือน รมต.เกษตรฯ ปลัดเกษตรฯ นั่งหัวทนโท่ไม่ทำงานทำการกัน ผมเจ็บปวด และอย่ามาอธิบายให้ผมฟังว่าอยู่เกษตรจะโดนแบบนี้ เราต้องพิสูจน์ทำให้สังคมเห็นคนกระทรวงเกษตรฯ ไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งกรมชลประทาน เวลาทำงานให้หลับตา ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเรื่องน้ำแล้ง ทรงพระราชทานทฤษฎี ทำเหมือง ทำฝายมีชีวิต ขอให้กรมชลฯ กรมพัฒนาที่ดิน ไปคุยกับผู้ว่าฯ หางบเหลือจ่าย งบพัฒนาจังหวัด มาทำฝายมีชีวิตในพื้นที่ที่ยังมีตาน้ำไหลริน กักน้ำ ทำคลองไส้ไก่ ให้ชาวบ้านไว้ได้ใช้ช่วงแล้ง

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฤดูฝนที่ผ่านมาไม่ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนมากไป ยืนยันบริหารน้ำมีเจ้าภาพหลัก คือ สนนช.การกักเก็บน้ำได้ประเมินล่วงหน้า 1 ปี เช่น เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนที่รับน้ำพายุปาบึก ใช้ระดับกักเก็บของอ่างเครื่องที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง ภาพรวมเขื่อนใหญ่ 35 แห่ง เขื่อนกลาง 200 แห่ง บริหารน้ำ 2.7 หมื่นล้าน ลบ.ม.ใช้ช่วงฤดูแล้ง 7 พันล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ก่อนเข้าฤดูฝน มีน้ำ 2 หมื่นล้าน ลบ.ม.พอใช้ไว้อีก 3 เดือน ซึ่งปริมาณน้ำดีกว่าปี 58 - 59 แต่ต้องขอเกษตรกรอย่าปลูกข้าวต่อเนื่อง ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกเกินแผนกว่า 5 แสนไร่ ขณะนี้ระบายผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้หยุดทำนาปรังรอบ 2 และ 6 เขื่อนน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ , เขื่อนลำนางรอง , เขื่อนลำพระเพลิง , เขื่อนทับเสลา , เขื่อนกระเสียว และเขื่อนแม่มอก ห้ามทำนาปรังบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล กว่า 1.8 แสนไร่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ชป.เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ ร่วมมือทุกหน่วยป้องกันช่วยเหลือ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมทางไกลออนไลน์ (Web Conference) จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การมอบนโยบายด้านการเกษตร ให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานจังหวัด จัดทำข้อมูลสำรวจและวางแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานรับผิดชอบดูแล รวมไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติในเขตชลประทาน ทั้งนี้ขอให้ประเมินด้วยว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ และพื้นที่ใดที่มีความอ่อนไหวหรือเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้บูรณาการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรจังหวัด ในการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง เพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วไม่เพียงพอให้พิจารณาว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำอะไรบ้าง สามารถขุดชักน้ำมาใช้ได้หรือไม่ หรือสำรวจดูว่ามีบ่อน้ำบาดาลในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่ หากไม่มีจริงๆให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย แต่ทั้งนี้ขอให้พิจารณาดำเนินการชักน้ำ หรือสูบน้ำ รวมทั้งให้จัดทำแผนการใช้เครื่องสูบน้ำ ก่อนที่จะทำการขนส่งน้ำไปให้พื้นที่ขาดแคลนน้ำ

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้รวบรวมข้อมูลสถานการณ์น้ำ จัดทำเป็นรายงานสรุปนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดให้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน จัดเตรียมและกระจายเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าไปประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งให้ทั่วถึง พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้ง ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดน้ำ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การรายงานสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยการสื่อสารผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เพื่อให้ข่าวสารเรื่องน้ำเผยแพร่ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้ง ยังได้สั่งการให้ทำการสำรวจพื้นที่ หรือสำรวจหาตาน้ำที่ยังมีน้ำไหลออกมาพอสมควร เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการสร้างฝายเก็บกักน้ำไว้ใช้อีกทางหนึ่งด้วย

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำฤดูแล้งตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 โดยทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันในขณะนั้น ประมาณ 39,570 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)(เป็นปริมาณน้ำจากในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และแหล่งน้ำอื่นๆ ทั้งประเทศ) ได้วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 61/62 รวมกันประมาณ 23,100 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(4 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือประมาณ 27,492 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งไปแล้วประมาณ 15,639 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯทั้งประเทศ เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร(พืชใช้น้ำน้อย) และอุตสาหกรรม ในเขตชลประทาน

สำหรับในพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,183 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ(แผนฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาปี 61/62 วางไว้ 8,000 ล้าน ลบ.ม. เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 61 – เม.ย. 62) คงเหลือปริมาณน้ำที่ใช้การได้ตามแผนฯประมาณ 1,817 ล้าน ลบ.ม.

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 61/62 ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 8.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.87 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วประมาณ 5.85 ล้านไร่ เกินแผนไปแล้วร้อยละ 10 (แผนวางไว้ 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 0.52 ล้านไร่ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง(นารอบที่ 3)ต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างเพียงพอ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และระยะเวลายาวนานมากขึ้น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำด้วย

สำหรับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆของกรมชลประทาน นั้น ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักรกล และเครื่องมือต่างๆ รวม 4,850 หน่วย กระจายอยู่ในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศแล้ว ซึ่งพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถขอความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ใกล้บ้านท่าน หรือโทร.สายด่วน กรมชลประทาน 1460 รวมทั้ง สามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th www.wmsc.rid.go.th หรือติดตามข่าวสารได้ทาง FB : เรารักชลประทาน และ FB : ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ธปท. ชี้! การค้าโลกปีนี้ท้าทายมากขึ้น

ธปท. เห็นพ้องการค้าโลกปีนี้จะท้าทาย และต้องร่วมมือช่วยผู้ประกอบรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจและค่าเงิน

 นางสาวชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และ ธปท. ได้หารือร่วมกันถึงทิศทางการค้าโลก การส่งออกของไทย และค่าเงิน โดยเห็นร่วมกันว่า บรรยากาศการค้าโลกในปีนี้ โดยรวมเศรษฐกิจโลกจะท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และโจทย์สำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้อย่างไร

สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะบรรยากาศการค้าโลก (Global Trade) การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งการปรับลด Inventory ของผู้ประกอบการ จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกของประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มชะลอลง เช่น การส่งออกของสิงคโปร์ ที่ติดลบมากกว่า 10% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ การส่งออกในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง เป็นผลจาก Trade War ที่ผลกระทบเริ่มชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศของการค้าระหว่างประเทศและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่ ผลกระทบของค่าเงินต่อการส่งออกมีไม่มาก และความสัมพันธ์ของ 2 เรื่องนี้ ไม่ชัดเจน ดังที่เห็นได้จากการส่งออกของประเทศเพื่อนบ้านที่ชะลอลง แม้ค่าเงินของเขาจะไม่ได้แข็งค่าเท่าเงินบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 2.3% เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ ในขณะที่ เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังที่เห็นจากตัวเลขส่วนนี้ ว่า เป็นการไหลออกสุทธิ

ภาพรวมเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสกุลเงินของประเทศ Emerging Markets และประเทศเพื่อนบ้าน โดยการแข็งค่าและความผันผวนของเงินบาทอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในบางช่วงที่เงินบาทแข็งค่าเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เวลากับเอกชนในการปรับตัว ในระยะข้างหน้า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเคลื่อนไหวได้ 2 ทาง ตามความผันผวนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก ดังนั้น ภาคเอกชนควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ด้าน อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทำได้หลายวิธี เริ่มจากการเลือกกำหนดราคาสินค้า (Invoicing) ในรูปเงินบาท หรือ เงินสกุลคู่ค้า แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาผันผวนมาก ส่วนหนึ่งจากนโยบายในเรื่องสำคัญ เช่น Trade War ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยยังเลือกกำหนดราคาในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบ 80% แม้จะค้าขายกับผู้ประกอบการสหรัฐฯ เพียง 10% กว่าเท่านั้นเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่ในอนาคตมีภาระต้องชำระเงินในสกุลต่างประเทศ ก็อาจฝากเงินไว้ในรูปเงินตราต่างประเทศ (FCD) เพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงิน ซึ่งปัจจุบัน ธปท. ได้เผยแพร่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม FCD ระหว่างธนาคารได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลจากการที่ สรท. ได้เข้าหารือกับ ธปท. ในการหารือครั้งที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินป้องกันความเสี่ยง เช่น การซื้อ Options ปัจจุบัน ภาครัฐมีโครงการ FX Options ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อ Options หรือ Lock Rate เพื่อประกันความเสี่ยง โดยโครงการในระยะที่ 2 ได้ขยายวงเงินค่าธรรมเนียมที่ภาครัฐสนับสนุน จาก 30,000 บาท เป็น 50,000 บาทต่อราย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถล็อกเรท มูลค่า 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.75 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงอยากจะประชาสัมพันธ์โครงการนี้

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือได้หลากหลาย ธปท. ได้ผลักดันให้มีการเปิดเผยราคา Forward บนเว็บไซต์ ธปท. เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นราคาอ้างอิงในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และสนับสนุนการต่อรองราคาได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรม FX ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เช่น ลดขั้นตอนและเอกสารประกอบการทำธุรกรรม FX รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนไทยที่มีสินทรัพย์ทางการเงิน ตั้งแต่ 50 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในไทย ในวงเงิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และภาคเอกชนที่ต้องการความสะดวกในเรื่องการทำธุรกรรม FX สามารถสมัครเป็น Qualified Companies (QC) ได้ ซึ่งจะทำให้คล่องตัวขึ้นในเรื่องการแสดงเอกสารหลักฐาน

สุดท้ายนี้ ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และจะช่วยให้มีอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing Power) ได้ดีขึ้นในระยะยาว

สรท. และ ธปท. เห็นร่วมกันว่า ท้ายที่สุด ในระยะยาวไม่มีใครสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ เพราะเรื่องนี้เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้เป็นสำคัญ แต่โจทย์ที่อาจจะสำคัญมากกว่าและต้องร่วมมือกัน คือ การช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะอยู่กับเราอีกนาน

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรดี

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม ทั้ง ข้าวเปลือกหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ส่วน ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนนาไม  มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2562 ที่จัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม     ธ.ก.ส. คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.18-0.59 อยู่ที่ราคา 15,574-15,638 บาท/ตัน

เนื่องจากความต้องการข้าวหอมมะลิยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเสนอราคารับซื้อในราคาที่สูง  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาเฉลี่ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.20-1.00 อยู่ที่ราคา 13.39-13.50 เซนต์/ปอนด์ (9.23-9.31 บาท/กก.) เพราะการปรับขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนราคาน้ำตาลสัญญาล่วงหน้า ทำให้บราซิลนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ประกอบกับราคาขายน้ำตาลขั้นต่ำภายในประเทศของอินเดียที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลเพื่อขายภายในประเทศมากขึ้น ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายลดลง ยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.52-4.56 อยู่ที่ราคา 42.64-43.12 บาท/กก.

เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรชาวสวนยางหยุดกรีดยางในช่วงนี้เพื่อเป็นการพักต้นยางพาราให้สามารถสร้างการเติบโตในระยะถัดไป มันสำปะหลัง ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.46-3.70 อยู่ที่ราคา 2.17-2.25 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดีจากเปอร์เซ็นแป้งสูง ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.39–2.71 อยู่ที่ราคา 2.59-2.65 บาท/กก.

เนื่องจากแผนนโยบายภาครัฐในการช่วยพยุงราคาปาล์มน้ำมัน โดยให้โรงสกัดรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในราคาสูงเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และแนวโน้มผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดลดลงจากฤดูกาลมรสุม และ สุกร คาดว่า ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ  0.46–9.63 อยู่ที่ราคา 67.50 – 70.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรยังคงมีผลต่อการผลิตและราคาสุกร

ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.58-1.24 อยู่ที่ราคา 7,551-7,602 บาท/ตัน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผลผลิตข้าว   นาปรังของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชากำลังออกสู่ตลาด ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว   ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.64-2.35 อยู่ที่ราคา 9,887-10,060 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 อยู่ที่ราคา 8.08-8.16 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดหลังนาทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ทรงตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.75 – 4.68 อยู่ที่ราคา 163  – 168 บาท/กก. เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง ปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ ณ ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

จาก www.banmuang.co.th วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ฟัน11รง.ระบายน้ำลงคลอง ‘อุต-กอ.รมน.’เฝ้าระวังห้ามมักง่าย

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทุกจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินการแจ้งเตือนและตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ที่มีน้ำทิ้งจำนวน 2,657 โรง ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยห้ามระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายออกนอกโรงงานโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

“ประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งจากระบบฐานข้อมูลคุณภาพน้ำทั่วประเทศในหลายพื้นที่อยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก เช่น บางพื้นที่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง ปกติในฤดูร้อน ปริมาณและอัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำลำคลองจะลดลง หน่วยงานในสังกัดของกระทรวง” นายสุรพลกล่าว

ทั้งนี้ ได้ลงมีการพื้นที่ตรวจสอบในเชิงป้องกัน และเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามแผนการตรวจกำกับโรงงานที่มีน้ำทิ้ง รวมทั้งสิ้น 2,657 โรง ได้ตรวจสอบแล้ว 369 โรง พบว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 11 โรง และได้สั่งการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วนแล้ว โดยจะใช้มาตรการ “4ป” กับผู้ประกอบการที่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือ ปลุก ปราบ ปรับ และปิด ซึ่งมีความหมายคือ ปลุก=ปลุกจิตสำนึก ปราบ=ปราบปรามตรวจสอบ ปรับ=ปรับจับและดำเนินคดี และปิด=ปิดโรงงาน โดยที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ด้วย พร้อมทบทวนแผนการตรวจกำกับโรงงานด้านมลพิษทางน้ำด้วย

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการตรวจกำกับ แนะนำ โรงงานและเหมืองแร่ในพื้นที่ให้ระมัดระวังไฟไหม้ในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะโรงงานแป้งมัน โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานสี ทินเนอร์ โรงงานพลาสติก โรงงานห้องเย็น และโรงงานผลิตน้ำแข็งที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

ส่งออกถกผู้ว่าธปท.รับมือบาทแข็ง

ประธาน สรท. เข้าพบผู้ว่า ธปท. หารือแนวทาง รับมือผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า

ในวันนี้นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. และคณะทำงาน สรท. จะพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เพื่อหารือถึงแนวทางการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงปีนี้ ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศและธุรกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางเรือ

รวมถึงแนวทางการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทาง สรท. ต้องการความชัดเจนในการดูแลสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการยังสามารถรับมือและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562

คนไทยคนแรก ขึ้นรับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO นับตั้งแต่ก่อตั้งปี 38

 “พาณิชย์”เผย “สุนันทา” เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) รับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ ตั้งแต่ก่อตั้ง WTO ในปี 38 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อไทย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา ได้เข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ WTO ทำหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมการดำเนินงานขององค์กร เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2562 โดยมีวาระ 1 ปี ต่อจากผู้แทนญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ดังกล่าวตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO เมื่อปี 2538 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือและความไว้วางใจของนานาชาติที่มีต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ WTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวด้านการค้าระหว่างประเทศมีหน้าที่เจรจาจัดทำและกำกับดูแลกฎกติกาทางการค้าที่ใช้บังคับกับสมาชิกทุกประเทศอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น และยังเป็นองค์กรเดียวที่มีกลไกการระงับข้อพิพาทด้านการค้าเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสมาชิกและทำให้การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันสามารถดำเนินได้อย่างโปร่งใสและสามารถคาดการณ์ได้ ส่งผลให้ WTO เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการค้าและเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน และถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในเวทีการค้ากรอบอื่นๆ ทั่วโลก

“การเข้ารับตำแหน่งในครั้งนี้ ถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงสภาวะเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือของ WTO จึงถือเป็นภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคี และยังมีประเด็นในการเตรียมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิ.ย.2563 ซึ่งจะกำหนดทิศทางการค้าและการดำเนินการของ WTO ในอนาคต โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การการค้าโลกหรือ WTO Reform เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น ภารกิจของประธานคณะมนตรีใหญ่ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ WTO จึงมีทั้งการเสริมสร้างและผลักดันให้สมาชิกได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายสามารถเห็นชอบร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานของ WTO เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพและเพื่อให้สมาชิกและประชาคมโลกมั่นใจว่า WTO ยังเป็นองค์กรสำคัญที่กำกับดูแล และสร้างความเป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ”นายบุณยฤทธิ์กล่าว

สำหรับ WTO ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2538 มีสมาชิกแรกตั้ง 128 ประเทศ ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 59 ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 164 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ทำหน้าที่บริหารความตกลงทางการค้ากว่า 30 ฉบับ เช่น ความตกลงเกษตร ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง เป็นต้น โดยความตกลงฉบับล่าสุด คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2560 และยังมีองค์กรทบทวนนโยบายทางการค้า (TRP) ของประเทศสมาชิก รวมทั้งองค์กรในการระงับข้อพิพาท (DSB) ทั้งนี้ WTO ยังมีกลไกในการเจรจาเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศให้ทันสมัยและเป็นธรรม รวมทั้งเจรจาจัดทำกฎเกณฑ์ในเรื่องใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562

ตั้งวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่!! เดินหน้าปฏิรูปโควตาเกษตรกรรมประเทศ

“กฤษฏา” เตรียมงัดแผนผลิตใหม่ จัดโควตาเกษตรกรรมประเทศ เร่งสำรวจชาวนาปลูกข้าวได้ไม่ถึง 800 กก.ต่อไร่ จูงใจให้เลิกทำนาปรัง ขยายผลโมเดลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ชี้ทำกำไรสูงสุดของการทำพืชไร่

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 4 มี.ค.62 จะประชุมชี้แจงคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ (อกพ.) ทั่วประเทศ ที่มีผู้ว่าราชการและรองผู้ว่าฯเป็นประธาน ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์ ถึงแผนการผลิตทางการเกษตรใหม่ของประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อป้องกันผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยเป้าหมายสำคัญคือ กำหนดโควตาทำเกษตรกรรม ทุกชนิด ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง โดยใช้แนวทางการปฏิรูปภาคการเกษตรในรูปแบบวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่(Mega Farm Enterprise)เพิ่มพูนรายได้เกษตรกร ในปีนี้ จะเร่งสำรวจเกษตรกร หากทำนาได้ผลผลิตข้าว ไม่ถึง800กก.ต่อไร่ จะมีมาตรการจูงใจให้เปลี่ยนปลูกพืชอื่นที่มีอนาคตดีกว่าตลาดต่างประเทศต้องการ และในประเทศยังขาดแคลนต้องนำเข้า เช่น พืชตระกูลถั่ว โดยขยายผลจากโมเดลเลิกทำนาปรังรอบ2 มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีกำไรไร่ละกว่า4พันบาท นับว่าสูงสุดของการทำพืชไร่

“จะมีการปรับปรุงการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Maga Farm Enterprise) ที่มีเกษตรกรและภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยมีการบริหารภายใต้องค์กรบริหารโครงการที่ครอบคลุมทั้งประเทศ: จัดตั้งองค์กรการบริหารจัดการรูปแบบวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) ทั้งนี้ให้ดำเนินการจัดทำโครงสร้างองค์กรบริหารโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนและจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการและแนวทางการบริหารจัดการในรูปวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมในระยะเวลา 12 เดือน ซี่งองค์กรบริหารแปลงใหญ่ฯจะดำเนินการหาพื้นที่มีศักยภาพเหมาะสม ภูมิภาคละ1 พันไร่ 6 ภูมิภาค เป็นแปลงต้นแบบ ในรูปแบบของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) อาจใช้พื้นที่ส.ป.ก. และกลไกหลักคือหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน สำรวจคุณภาพดิน เหมาะสมปลูกพืชชนิดใด กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำอบรมวิธีทำเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ แปรรูปและจัดหาตลาด กรมชลประทาน จัดหาแห่งน้ำ เป็นต้น โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.) ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภาคเอกชน ร่วมเป็นพันธมิตร ช่วยด้านเทคโนโลยี การทำเกษตรแม่นยำ เครื่องจักรกล และหาตลาดรองรับ มีเอกชน รับซื้อ ตั้งล้ง ประสานให้ภาคเอกชนมาตั้งโรงงานแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเปิดเป็นโรงรวบรวมผลผลิตเพื่อติดต่อหาตลาดส่งขายเองหรือวางขายในระบบออนไลน์"นายกฤษฏา กล่าว

นอกจากนี้ ประสานกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันจัดวิทยากรมาให้ความรู้กับผู้จัดการเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการและราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดก่อนเริ่มฤดูการผลิต เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสมาชิกวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตได้ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกด้วย ทั้งนี้ให้มีแบ่งปันผลประโยชน์ออกเป็น 3 ส่วนระหว่างเกษตรกรเจ้าของที่ดิน สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนที่มาร่วมลงทุนดำเนินการในกิจการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ให้เป็นไปตามหลักความเป็นธรรมภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562

เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งปี 62

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป กรมฝนหลวงฯ จะเริ่มเข้าสู่ภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และจากข้อมูลผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษในเช้าวันนี้ (2 มีนาคม 2562) บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ลพบุรีอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือบางแห่งและจังหวัดขอนแก่นคุณภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้านพื้นที่ภาคตะวันออก ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่จังหวัดจันทบุรี โดยจากข้อมูลผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบว่าเช้านี้มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 48% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 18% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.7 และพบว่ามีแนวเมฆก่อตัวบริเวณแนวชายฝั่งเขตติดต่อระหว่างจังหวัดระยองและจันทุบรี หน่วยปฏิบัติการฯ จังหวัดจันทบุรี จึงวางแผนบิน ในขั้นตอนที่ 2 เพื่อเสริมการพัฒนาตัวของเมฆ เมื่อเวลา 10.45 น. บริเวณแนวเขาชะเมา รอยต่อจังหวัดระยองและจันทบุรี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

ด้านพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกาญจนบุรี โดยจากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 68% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 29% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.3 ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีแนวโน้มการพัฒนาตัวของเมฆได้ดี จะวางแผนปฏิบัติการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี และเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี ตลอดจนช่วยเหลือพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังบริเวณฝั่งตะวันตกของจังหวัดนครสวรรค์

ด้านพื้นที่ภาคเหนือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพิษณุโลก โดยจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จังหวัดแพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 83% (ร้องกวาง) 11% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 29% (ร้องกวาง) 33% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.4 (ร้องกวาง) -7.3 (อมก๋อย) ซึ่งไม่เหมาะกับการปฏิบัติการฝนหลวง จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากในช่วงบ่ายมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละออง ตลอดจนช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้รับการร้องขอฝนเข้ามา

 ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี โดยจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 92% (บ้านผือ) 86% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 37% (บ้านผือ) 35% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.8 (บ้านผือ) 0.1 (พิมาย) ซึ่งความชื้นที่ระดับบนยังไม่เหมาะสำหรับการขึ้นปฏิบัติการ จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการสลายฝุ่นละอองในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น รวมถึงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ปลูกไร่อ้อยบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์ทันที

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฯ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยจากผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 40% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 39% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.9 ซึ่งยังไม่เข้าเงื่อนไขที่เหมาะสม จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการในภารกิจช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟไหม้ป่าที่อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี และพื้นที่ปลูกสับปะรดที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงพื้นที่ปลูกข้าวบริเวณอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนภารกิจเติมน้ำช่วยเหลือพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ป่าพรุ

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ตามที่ได้รับการร้องขอจากทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

แล้งยาวทุบเกษตร-ส่งออก รากหญ้าอ่วมเขื่อนยักษ์วิกฤต!

เขื่อนอุบลรัตน์-สิรินธร-จุฬาภรณ์วิกฤตหนัก เหลือน้ำใช้แค่ 5-8% กรมอุตุฯเตือนปีนี้ฤดูร้อน-แล้งมาเร็วและนานกว่าทุกปี อุณหภูมิจะพุ่งอีก 1-2 องศา ขอนแก่นหนักสุด น้ำเหลือน้อยมาก สภาอุตสาหกรรมหารือด่วนกระทรวงพาณิชย์ “ข้าว-มัน-น้ำตาล” ผลผลิตลดหวั่นกระทบเป้าส่งออก 1.6 หมื่นล้านเหรียญ เกษตรฯสั่งงดทำนาปรังรอบ 3

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทยปี 2562 จะเริ่มในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ไปจนกระทั่งถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 โดยฤดูร้อนปีนี้จะร้อนมากกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าปกติอีก 1-2 องศาเซลเซียส โดยฤดูร้อนจะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เขื่อนอีสานวิกฤต

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเมื่อเร็ว ๆ นี้และได้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อน) ทั่วประเทศขณะนี้ อยู่ที่ 48,280 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 24,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52) เทียบกับปี 2561 (52,142 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74) หรือน้อยกว่าปี 2561 จํานวน 3,862 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจํานวน 14.96 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจํานวน 118.64 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 22,646 ล้าน ลบ.มสภาพน้ำในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครปรากฏมีปริมาตรน้ำในเขื่อนรวมกัน 14,751 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุ ปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 8,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุ เขื่อนที่มีปริมาณน้ำ “ต่ำกว่า” เกณฑ์ปกติ (LRC) 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนสิรินธร และเขื่อนจุฬาภรณ์ที่มีสถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงมากและจะเข้าสู่วิกฤตในเดือนเมษายน หากยังไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนอีก

โดยเขื่อนจุฬาภรณ์มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 53 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุน้ำใช้การ เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5 และเขื่อนสิรินธรเหลือน้ำใช้การได้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8 เท่านั้น ที่สำคัญก็คือน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้ง 3 แห่งคิดเป็นร้อยละ 0 หรือไม่มีน้ำไหลเข้าเลย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งเต็มที่ในเดือนเมษายนนี้

แล้งลากยาวถึงพฤษภาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประเมินน้ำต้นทุนของเขื่อนสิรินธร (ปริมาตรน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 997 ล้าน ลบ.ม.) โดยทางกรมชลประทานได้ขอสนับสนุนน้ำจากเขื่อนไป 200 ล้าน ลบ.ม. เพื่อจัดส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร อ.พิบูลมังสาหาร 90,000 ไร่ ประกอบกับ กฟผ.มีปัญหาเรื่องระบบสายส่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังลงและให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

ส่วนแผนการรับมือภัยแล้งเบื้องต้นกรณีที่ฤดูแล้งอาจจะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2562 มีความจำเป็นต้องเก็บน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ระดับประมาณ 107.50 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง-รทก.) ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำก้อนสุดท้ายที่ต้องเก็บไว้เพื่อให้พ้นฤดูแล้ง หากเทียบกับทุกปีที่ผ่านมาระดับน้ำที่เก็บไว้จะอยู่ที่ระดับ 106.5-106.7 เมตร (รทก.) เท่านั้น โดยการเก็บน้ำที่ระดับ 107.50 เมตรดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับแหล่งท่องเที่ยวบริเวณแก่งสะพือ-หาดคูเดือย และจะไม่มีการระบายน้ำเพื่อเล่นสงกรานต์ด้วย

หน่วยนาคราชมาแล้ว

นางสาวจงจิตร์ นีรนาทเมธีกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นว่า ได้มีการจัด “หน่วยนาคราช (หน่วยซ่อมบำรุงรักษา)” ทั้งหมด 37 ชุด และได้เตรียมจุดจ่ายน้ำถาวรอีก 83 แห่งทั่วประเทศ รถปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด รถเจาะบ่อบาดาล 85 ชุด และสร้างระบบขอความช่วยเหลือภัยแล้งออนไลน์ ในขณะที่การใช้น้ำบาดาลในประเทศอยู่ที่ 14,741 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยพบว่าภาคกลางมีการใช้น้ำมากที่สุด

ขณะที่นายธงชัย ระยะกุญชร ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กล่าวว่า ผู้ว่าการ กปภ.ได้มอบหมายให้ผู้จัดการสาขา กปภ.ในพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้งเร่งสำรองน้ำ โดยประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดในทุกสัปดาห์ หากคาดว่า “น้ำดิบ” ไม่พอให้หาแหล่งน้ำสำรอง “ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนในภาคอีสานซึ่งยังไม่วิกฤต” แต่ในจังหวัดขอนแก่นเห็นได้ชัดว่าจะต้องสำรองน้ำและเฝ้าระวังมากที่สุดเพราะ เป็นเมืองเศรษฐกิจมีการใช้น้ำในปริมาณมาก ส่วนภาคตะวันออกและภาคเหนือตอนล่างยังอยู่ในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำ “ตอนนี้เรายังไม่มีการลดแรงดันน้ำ ถ้าฝนยังไม่ตกอย่างแรกคือหาแหล่งน้ำสำรอง หากไม่ได้ก็ต้องลดแรงดันน้ำ-ลดกำลังผลิตเพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ถ้ายังไม่พออีกก็ต้องใช้วิธีผันน้ำจ่ายเป็นโซน แต่จากการประชุมกับกรมชลประทานมั่นใจว่าสามารถผันน้ำให้เพียงพอได้”

ขอนแก่นหนักสุด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด กล่าวว่า จังหวัดได้รณรงค์รับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ด้วยการให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยและข้าวโพดหลังฤดูกาลทำนา ทำฝายเก็บกักน้ำ ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก (น้ำใช้การได้ 112 ล้าน ลบ.ม.หรือ 5% ของความจุอ่าง) ทางจังหวัดได้ยื่นเรื่องขอทำฝนเทียมจากกองบินฝนหลวงในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนทางจังหวัดมหาสารคามก็ได้ขอให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ไปตามลำน้ำชีเพื่อบรรเทาภัยแล้งในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ผลการสรุปในที่ประชุมยังไม่สามารถทำได้เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตได้

“ตอนนี้ต้องกันน้ำไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด”

นายสุเทพ รื่นถวิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ว่าโคราชได้มอบนโยบายไว้ว่า “โคราชต้องไม่ขาดแคลนน้ำ”

ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ พบว่ามี 13 อำเภอ 37 ตำบล 101 หมู่บ้าน มีหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำบริโภค 400 กว่าตำบล 3,000 กว่าหมู่บ้าน “ถือว่ายังน้อย” หรือประมาณ 10% ของพื้นที่ทั้งหมด ขณะนี้ได้ทำการแก้ไขไปแล้ว 7 อำเภอ 24 ตำบล 50 หมู่บ้าน นอกนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและมอบหมายให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ แต่ละพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ห้ามไม่ให้มีการปลูกข้าวนาปรังและหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

“สถานการณ์ในโคราชไม่น่าเป็นห่วง คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มาก แต่ต้องดูสถานการณ์เดือนต่อเดือน”

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงคือโซนใต้ ได้แก่ อำเภอแม่วาง, จอมทอง, ฮอด, ดอยหล่อ, สะเมิง, แม่แจ่ม และดอยเต่า ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บนภูเขาที่ต้องอาศัยน้ำฝนและพื้นที่เชิงเขาที่ระบบชลประทานเข้าไปไม่ถึง ด้านนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอนครไทย, บางระกำ, วัดโบสถ์ และพรหมพิราม มีการจัดสรรรอบเวรแบ่งจ่ายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเพื่อใช้ทำการเกษตร ตอนนี้พบอำเภอที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว 3 อำเภอ ได้แก่ นครไทย, ชาติตระการ และพื้นที่ ต.ทับยายเชียง ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม

“ขณะนี้มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายไปแล้ว 3,500-4,000 ไร่”

ข้าว-มัน-น้ำตาล-ผักผลไม้กระทบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกในกลุ่มประชารัฐ D4 ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือถึงผลกระทบภัยแล้งจากภาวะเอลนิโญ ว่าอาจส่งผลกระทบให้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในช่วงครึ่งปีหลังของการส่งออกปีนี้โดยเฉพาะข้าว, มันสำปะหลัง, น้ำตาล, ผักและผลไม้ “อาจจะมีปริมาณลดลง” และหากผลกระทบจากภัยแล้งรุนแรงก็จะทำให้ภาพรวมการส่งออกในปี 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ (ขยายตัว 5%) โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรและอาหารซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5% ก็อาจจะต้องมีการทบทวนอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้

“ในที่ประชุมมีการพูดถึงกลุ่มข้าวน่าห่วงมากที่สุดเพราะไม่เพียงแต่แล้งจนต้องเลิกปลูกข้าวนาปรังแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากข้าวพันธุ์ใหม่ และเงินบาทที่แข็งค่าทำให้เสียเปรียบ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลก็ให้ความเห็นว่า การส่งออกน้ำตาลปีนี้อาจจะเติบโตลดลงถึง 7% เพราะต้องแข่งขันรุนแรง โดยสินค้ากลุ่มหลัก ๆ เหล่านี้คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 16,592 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากรวมอุตสาหกรรมอาหารก็จะมีมูลค่าการส่งออกรวม 21,339 ล้านเหรียญ เราคงต้องมาดูผลผลิตและทบทวนกันอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้”

โดยขอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องหาแผนสำรองโดยการอาศัยจังหวะที่ประเทศไทยเป็นประธานประชุมอาเซียนในปีนี้สร้างความร่วมมือจับคู่พันธมิตรในอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงวัตถุดิบและพยายามสร้างมาตรฐานสินค้าขึ้นมาใช้ร่วมกันให้ได้

ห้ามปลูกข้าวนาปรังรอบ 3

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบ 3 แล้ว ซึ่งโดยปกติจะเริ่มปลูกในเดือนเมษายน-มิถุนายน โดยแจ้งว่า กรมชลประทานจะไม่ปล่อยน้ำ ตอนนี้ชาวนาส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน “ยังไม่ได้เริ่มปลูกรอบที่ 3” สำหรับปริมาณผลผลิตนาปรังรอบ 3 มีสัดส่วนไม่มากนัก หากเทียบกับนาปีที่มีปริมาณข้าวเปลือก 24 ล้านตัน ขณะที่นาปรังรอบ 2 จะมีปริมาณ 8 ล้านตัน ดังนั้นการลดปริมาณการปลูกนาปรังรอบ 3 จึงไม่น่าจะมีผลต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศมากนัก

รายงานข่าวจากกลุ่มโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่า การสั่งให้ชาวนาหยุดทำนาปรังจะมีผลทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังในอีสานภาพรวมลดลงประมาณ 40-50% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด แต่ด้วยเหตุที่ภาคอีสานส่วนใหญ่จะเน้นการทำข้าวนาปีเป็นหลัก จึงมองว่ากระทบไม่มากนัก และจะมีบางจังหวัดที่ยังสามารถปลูกข้าวได้ แต่เฉพาะจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับเขื่อนอุบลรัตน์จะได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะ ภาพรวมน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคเหลือเพียง 5% เท่านั้น ถือว่า “แล้งมาเร็วมากจนน่าจะต้องมีการดึงน้ำส่วนที่สำรองไว้เพื่อความมั่นคงของเขื่อนมาใช้ทำประปาด้วย”

ดังนั้นการปลูกข้าวนาปรังในจังหวัดขอนแก่นอาจเสียหายประมาณ 60-70% จากที่เคยปลูกได้หลัก 100,000 ตัน ส่วนจังหวัดใกล้เคียงอย่างกาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม ยังสามารถใช้น้ำจากเขื่อนลำปาวได้ ด้านพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดนครราชสีมาก็เริ่มจะได้รับผลกระทบแล้วจากการไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง

“ข้าวนาปรังที่ปลูกในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวและข้าวขาว โดยราคาข้าวเปลือกข้าวสารเหนียวนาปรังสูงขึ้นเป็น กก.ละ 11-12 บาท หรือสูงกว่าข้าวเจ้า กก.ละ 7 บาท ส่วนราคาข้าวสารเหนียวเฉลี่ย กก.ละ 23-24บาท โดยข้าวเหนียวส่วนใหญ่บริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่วนที่ส่งออกก็มีส่งออกไปจีนเป็นตลาดหลัก ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นจาก 720-750 เหรียญสหรัฐเป็น 820-850 เหรียญต่อตัน เมื่อราคาดีขึ้นอาจจะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวเหนียวมากขึ้นในฤดูต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2562

"อินโนสเปซ" ดึง 'ฮ่องกง' ร่วมพัฒนา Start up ไทยสู่สากล

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าหนุน InnoSpace (Thailand) ดึงฮ่องกงร่วมส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ระดับสากล มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งเป้าปีแรกดึง Startup ไทยและต่างชาติ เข้าใช้บริการไม่น้อยกว่า 50 ราย พร้อมทั้งผนึกกำลังพันธมิตรฮ่องกง หวังยกระดับสตาร์อัพไทยสู่สากล

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินนโยบายเพื่อผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายหลักของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งนอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว ในกลุ่มของผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ Startup กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถือเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนรายใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศ จัดตั้ง บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Innospace (Thailand) Co., Ltd. ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทยอย่างครบวงจร โดยการสร้าง National Platform เพื่อทำให้ระบบนิเวศน์ในการสร้างเสริม Startup ถูกเติมเต็มอย่างแข็งแรง และทำให้ Startup ประสบความสำเร็จในระดับสากล ซึ่งจะมีกระบวนการบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในทุกระดับ ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาการเกษตร ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์

ทั้งนี้ เพื่อให้ Startup ไทยพัฒนาก้าวทันกับต่างประเทศ บริษัท InnoSpace (Thailand) จึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ 3 หน่วยงานจากฮ่องกง ประกอบด้วย HKTDC, HPA และ HK Cybersport ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการค้า การลงทุน และการพัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง HK Cyberport นั้น เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับแนวหน้าของเอเชีย มีสมาชิกกว่า 1,000 บริษัท จึงเชื่อว่า การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญอย่างฮ่องกง จะช่วยผลักดันให้ Startup ไทย มีขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และก้าวสู่ระดับสากลต่อไป

ขณะที่ Innospace ของไทย มีเอกชนรายใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น อาทิ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย, เอสเอ็มอีแบงค์, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำกัด, บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ เพื่อให้องค์กรเชื่อมโยงและรองรับนโยบายของภาครัฐได้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมถือหุ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างระดมทุนตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะสนับสนุนการดำเนินงานของ InnoSpace (Thailand) ในเชิงนโยบาย เพื่อประสาน ขับเคลื่อน และเติมเต็มการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยมีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับ Innospace เช่น การจัดกิจกรรมบ่มเพาะเพื่อให้เกิดแนวคิดในการเริ่มต้นและจัดตั้งธุรกิจ, กิจกรรมการเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้คำแนะนำ ให้ความรู้ รวมถึงกิจกรรม Angle Fund for Startup ที่จะมีทีมงานคอยให้คำปรึกษา จัดทำโมเดลธุรกิจ จนนำไปสู่การเริ่มทำธุรกิจที่เป็นจริงได้

"ไม่เพียงแต่ Startup ไทยเท่านั้น ที่จะมาใช้บริการของ Innospace แต่จะรวมถึงการ Scount Startup ชาวต่างชาติที่สนใจมาลงทุน มองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้มาที่ Innospace ด้วย คาดว่า ในปีแรกจะมี Startup ทั้งชาวไทยและต่างชาติ สนใจเข้าร่วมใช้บริการจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ราย"

จาก www.thansettakij.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

กรมส่งเสริมฯการันตี ผสมปุ๋ยใช้เองลดต้นทุนได้43ล้าน/ปี

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยให้เกษตรกร ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด ผสมแม่ปุ๋ยเคมีใช้เองตามคำแนะนำจากผลวิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยเคมีตามความจำเป็นเพื่อลดต้นทุนการผลิต ร่วมกับไถกลบตอซัง ไม่เผาเศษซากพืช ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง รวมทั้งใช้ปุ๋ยชีวภาพในพืชที่ใช้ได้ร่วมด้วย เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง โดยตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่บริหารจัดการโดยเกษตรกร 882 ศูนย์ อำเภอละ 1 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2558 มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอเป็นพี่เลี้ยง และพัฒนา ศดปช. เป็นกลไกขับเคลื่อนขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อเนื่อง ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น ถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการจัดกระบวนการเรียนรู้ แปลงเรียนรู้ จุดสาธิต รวบรวมความต้องการและบริการจัดหาแม่ปุ๋ยให้สมาชิกใช้ตามคำแนะนำ

ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก ศดปช. 17,640 ราย จาก 882 ศูนย์ มีความรู้เรื่องดินและปุ๋ย ใช้ปุ๋ยถูกต้อง ลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 21-28 คิดเป็นมูลค่าปุ๋ยเคมีที่ลดลง 39-43 ล้านบาทต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10-12 เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยตามวิธีเดิมของเกษตรกร มีพื้นที่การนำเทคโนโลยีไปใช้ 156,262 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่ปลูกของสมาชิก ศดปช. และวางแผนขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม จาก ศดปช.ไปสู่ชุมชน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้เกษตรกรลดต้นทุนใช้ปุ๋ยเคมี มีรายได้เพิ่ม บำรุงทรัพยากรดินให้ผลิตพืชผลได้ยั่งยืน ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพเกษตรกร และผู้บริโภค

การใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมตามความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช เป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างถูกวิธี เพราะต้นทุนการผลิตพืชของเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าปุ๋ยเคมี ซึ่งกว่า 90% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาสูง ประกอบกับเกษตรกรมักใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำทั่วไป ไม่คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่แล้วในดิน บางครั้งใส่ปุ๋ยเคมีเกินความต้องการของพืช ทำให้สิ้นเปลือง และต้นพืชอ่อนแอ ต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงเพิ่มขึ้น เสี่ยงเป็นอันตรายต่อเกษตรกร และอาจปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันถ้าใส่ปุ๋ยเคมีน้อยเกินไป ก็จะทำให้ได้ผลผลิตต่ำ และดินเสื่อมโทรม

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

เกษตรฯ ผุดไอเดีย Thai Soil Partnership

           กระทรวงเกษตรฯ ผุดไอเดีย Thai Soil Partnership สนับสนุนการดำเนินงาน ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย (CESRA)เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

                 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม สมัชชาดินโลก แห่งภูมิภาคเอเซีย ( ASIA Soil Partnership Assembly Meeting ) ครั้งที่ 5  ระหว่างวันที่ 26 ก.พ. - 1 มี.ค. 2562 ณ National Agriculture Science Center Complex กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย  พร้อมด้วย นายพิทยากร ลิ่มทอง ที่ปรึกษากรมพัฒนาที่ดิน และคณะผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน โดยที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมและกล่าวขอบคุณประเทศไทย และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  ที่ได้จัดตั้งและมอบรางวัล King Bhumibol  World Soil Day Award ทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ณ ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นรางวัลที่สำคัญของโลก ในการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินเพื่อความมั่นคงอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบโครงสร้าง วัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และพันธกิจของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย (CESRA) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยให้ CESRA เป็นศูนย์กลางข้อมูลดิน การวิจัยที่เป็นเลิศ และแหล่งเรียนรู้ด้านดินของเอเชีย  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิกและสนับสนุนภารกิจของ ASP (ASIA SOIL PARTNERSHIP)

          ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอแนวคิดการจัดตั้ง Thai Soil Partnership เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ CESRA พร้อมทั้งเชิญชวนประเทศสมาชิกจัดตั้งNational Soil Partnership ในประเทศของตน โดยมีประเทศที่แสดงความสนใจ เช่น อินเดีย ลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น  ซึ่งประธาน ASP ได้เสนอให้นำแนวทางการจัดตั้ง National Soil Partnership บรรจุไว้ในโครงสร้างและแผนดำเนินงานของ CESRA เพื่อการขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

       ตลอดทั้ง ฝ่ายไทยยังได้นำเสนอตัวอย่างแนวคิดของประเทศไทยในการจัดกิจกรรม เพื่อแสวงหาเงินทุนสนับสนุนการดำเนินงานของ CESRA ได้แก่ การจัดแข่งขันวิ่งการกุศล CESRA Country Road Run : Run for Healthy and Healthy Life และการจัดตั้งสมาคมวันดินโลก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ที่หลายหลาย นับเป็นแนวทางกิจกรรมใหม่ๆ  ที่สามารถเชื่อมโยงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การผลิตสินค้าเกษตรและการบริโภคอาหารปลอดภัย นำไปสู่สุขภาพที่แข็งแรง และการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยเห็นควรส่งเสริมแนวทางดังกล่าวเป็นต้นแบบขยายผลไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ต่อไป

จาก www.komchadluek.net  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562