http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนมีนาคม 2564]

สศก.เตรียมเปิดตัวโครงการSAEZ ปั้นโมเดลเขตศก.การเกษตรพิเศษก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้วางแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ผลักดันและขับเคลื่อนบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง รวม 20 สินค้า (พืช 13 ชนิด และ ปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 2 ชนิด) แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด นั่นเป็นเพราะว่า ยังขาดการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตของเขตเกษตรเศรษฐกิจขาดมาตรการจูงใจของเกษตรกรผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ สศก. ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ โดย สศก. ได้เสนอโครงการศึกษาวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ” (Special Agricultural Economic Zone: SAEZ) ซึ่งจะเน้นการพัฒนา ในเชิงพื้นที่ทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียดได้รวดเร็วกว่าการดำเนินงานปกติหรือการพัฒนาในเชิงภาพรวม นำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ และเกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดย สศก. จะดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมไปถึงการขอรับสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน

สำหรับแนวทางในการศึกษา สศก. จะศึกษาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยใช้โมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EasternEconomic Corridor : EEC ในการศึกษาและจัดทำโมเดลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษในพื้นที่และสินค้าที่สำคัญ โดยจะมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service นอกจากนี้ สศก. จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มศึกษาสินค้าข้าว อย่างข้าวหอมมะลิ เป็นชนิดแรก ในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และมูลค่าการส่งออกสูง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

“หากพิจารณาสถานการณ์การค้าของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 - 2563) จะเห็นได้ว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 7-8 ล้านล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เฉลี่ยปีละ 6.5-7.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญในเขตเกษตรเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และ ผลไม้ ดังนั้น เชื่อมั่นว่า โครงการ SAEZ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ส่งเสริมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สวก. ในการสนับสนุนทุนวิจัย และคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ในเดือนเมษายน 2564” เลขาธิการ สศก. กล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

‘สุเอซ’ยังไม่จบสะเทือนค้าไทยต่อ

เอกชนชี้เรือขวางคลองสุเอซคลี่คลายแล้ว แต่เรื่องยังไม่จบ ผลกระทบตามมาอีกอื้อ ทั้งสะเทือนการค้าไทย-อียู 1.1 ล้านล้านบาท 10 สินค้าถูกชะลอออเดอร์ใหม่ จับตาผู้ซื้อไม่รับของ ต่อรองช่วยจ่ายภาษี ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนเพิ่มทำค้าโลกสะดุด

เหตุ เรือ Ever Given (เอเวอร์ กิฟเว่น) เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัทเรือ Ever Green ที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ความยาว 400 เมตร เกิดอุบัติเหตุเกยตื้นขวาง คลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก การขนส่งสินค้าเอเชีย-ยุโรป ทำให้คลองสุเอซเป็นอัมพาตมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 ส่งผลให้เรือบรรทุกสินค้า น้ำมัน และก๊าซ มากกว่า 450 ลำต้องติดอยู่ในเส้นทางดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินความเสียหายในเบื้องต้น ถึง 9,600 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อวัน

ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม สถานการณ์แม้เริ่มคลี่คลาย คลองสุเอซ เริ่มกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง หลังปฏิบัติการขยับเรือเอเวอร์ กิฟเว่น ประสบความสำเร็จและลากพ้นการกีดขวาง ผู้เชี่ยวชาญคาดภายใน 4 วันหลังจากนี้ทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ และคงต้องใช้เวลาทั้งวันและคืนเพื่อระบายเรือที่รอคิวสัญจรนายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้สถานการณ์คลองสุเอซจะเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีประเด็นที่จะตามมาหลังจากนี้อีกมากที่สำคัญได้แก่ ตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่โลกขาดแคลนอยู่แล้ว จะขาดแคลนมากขึ้น เพราะปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือเอเวอร์ กิฟเว่น ซึ่งมีมากกว่า 18,300 ตู้ รวมกับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในเรือต่าง ๆ ที่รอเข้า-ออกคลองสุเอซ ซึ่งความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าจะทำให้ตู้กลับคืนหมุนเวียนในระบบช้าลง

ต่อมาคือความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าในยุโรปที่ช้าลงจากเดิม ทำให้คู่ค้าเสียโอกาสในการขาย และจะกระทบกับโรงงานผลิตต้นทางเป็นลูกโซ่ ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยรับเงินตามแอล/ซีอาจจบกันไป แต่ถ้าเป็นการรับเงินโดยการโอนเงินอาจมีการต่อรองจากผู้ซื้อให้ผู้ส่งออกไทยช่วยชดเชยความเสียหายจากความล่าช้าในการส่งมอบ รวมถึงอาจขอให้จ่ายภาษีนำเข้าในกรณีหากยังรับมอบสินค้า“คู่ค้ามีสิทธิตีกลับไม่รับของหากเลยเวลาที่กำหนด แล้วให้ผู้ส่งออกไปจ่ายค่า Freight (ค่าระวางเรือ) เอง ตรงนี้จะเป็นภาระของผู้ส่งออก หลายเรื่องจะยุ่งยากมากขึ้น คงขึ้นกับการเจรจาต่อรอง”บทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงการทำประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล รวมถึงต้องหาซัพพลายเออร์เพิ่มกรณีที่ต้องนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากยุโรปเข้ามาผลิตสินค้าแล้วส่งออก อาจต้องหาผู้ขายวัตถุดิบในแหล่งอื่นของโลกเพิ่ม เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออาเซียน เพื่อลดความเสี่ยง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)กล่าวว่า จากเหตุการณ์คลองสุเอซช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปมีความล่าช้า ซึ่งในปี 2563 การค้าไทย-สหภาพยุโรป(รวมอังกฤษ)มีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท สินค้าหลักของไทยที่ขนส่งผ่านคลองสุเอซ อยู่ในกลุ่มสินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปยุโรป ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่อง ปรับอากาศและส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, รถจักร ยานยนต์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ไก่แปรรูป, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม“ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้า คู่ค้าชะลอออร์เดอร์ใหม่เพื่อรอดูสถานการณ์ และจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์มีแนวโน้มขาดแคลนมากขึ้น จากตู้หมุนเวียนช้าลง ในส่วนของค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ เท่าที่สอบถามสมาชิกยังไม่ปรับขึ้น สรท.ยังคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4% ตามที่ตั้งไว้เดิม”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 31.31บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่ทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศและผู้นำเข้าขายเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์   หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐยังไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ จึงปรับตัวลง 0.32% และนักลงทุนลดการถือครองหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี สวนทางกับดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ขยับขึ้น 0.71%  จากกระแสการฟื้นตัวของธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดทำการใหม่ของเศรษฐกิจ

ประเด็นดังกล่าวหนุนให้นักลงทุนขายสินทรัพย์ปลอดภัยพร้อมกัน สังเกตุได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1.77% ระหว่างวันก่อนที่จะย่อตัวลงปิดบวก 2bps มาที่ระดับ 1.72% หนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีก 0.4% ทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2020 โดยมีเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าขึ้นเหนือ 110 เยนต่อดอลลาร์ครั้งแรกนับตั้งแต่มีนาคม 2020 พร้อมกันกับราคาทองคำที่ร่วงลงปิดที่ระดับ 1684 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือกมีเพียงบิทคอยน์ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเหนือระดับ 58,000 ดอลลาร์ได้ เพราะความหวังว่าก.ล.ต.สหรัฐจะรับรองการจัดตั้ง ETF บิทคอยน์ของหลายบริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดกระแสความต้องการสกุลเงินดิจิตอลเพิ่มขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้ยังคงทยอยอ่อนค่าทุกวันตามแนวโน้มของเงินดอลลาร์ การซื้อดอลลาร์ (ขายเงินบาท) มีทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศและผู้นำเข้า ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออกชะลอตัวลงเนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและเรือขนส่งสินค้า เงินบาทจึงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในระยะถัดไป มองว่าทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐและตลาดหุ้นเอเชียเป็นสองประเด็นที่ต้องจับตา เพราะจะส่งผลลบสลับบวกกับเงินบาท คาดว่าเงินบาทจะหยุดอ่อนค่าก็ต่อเมื่อตลาดกลับมาเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งเอเชีย และมีเงินทุนไหลเข้าอย่างชัดเจน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

“เฉลิมชัย” นั่งหัวโต๊ะ CPTPP ด้านเกษตร พันธุ์พืช เปรยไทยยังไม่พร้อม

“เฉลิมชัย”รัฐมนตรีเกษตรฯ นั่งหัวโต๊ะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ CPTPP ด้านเกษตรและพันธุ์พืช เพื่อเตรียมเสนอพิจารณาข้อมูล ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อม ทั้งเงื่อนเวลาในการขอเจรจาเข้าร่วม หรือความไม่พร้อมของส่วนราชการ แก่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ยืนยันยึดผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ก็ตาม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านเกษตรและพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อม และเงื่อนเวลาในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือความไม่พร้อมของส่วนราชการ เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป

โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมหารือเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นที่ฝ่ายเลขานุการฯ ได้รวบรวมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญ โดยได้แจ้งเวียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 14 หน่วยงาน

โดยมีรายละเอียดในการประเมินความพร้อมและแผนงานการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมและเงื่อนเวลาในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือความไม่พร้อมของส่วนราชการ รวมทั้งประเด็นที่เห็นว่าประเทศไทยมีการดำเนินการหรือมีกฎหมายที่เหมาะสมอยู่แล้ว

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ก็ตาม” นายเฉลิมชัยกล่าว

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

แล้งหนัก! ทำฝนหลวงช่วย5จว.เหนือตอนล่าง

แล้งหนัก! ชาวบ้านจาก 5 จังหวัด พื้นที่ทำการเกษตร จาก พิษณุโลก-สุโขทัย-พิจิตร-กำแพงเพชร-เพชรบูรณ์ ร้องขอให้ทำฝนหลวง ช่วง 20 วัน ขึ้นบินทำฝนหลวงแล้ว 52 เที่ยวบิน มีฝนตกตามเป้าหมาย 19 วัน

นางสาวอรรจนี สมศรี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากปีนี้ปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้เร็วขึ้น ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเก็บกักน้ำ บรรเทายับยั้งความรุนแรงของลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน

โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่น ช่วยพื้นที่การเกษตร จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.กำแพงเพชร พื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.แพร่ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.พิษณุโลก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ภารกิจฝนหลวงเมฆเย็น พื้นที่การเกษตร จ.กำแพงเพชร" โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวง 20 วัน ที่ผ่านมา มีฝนตกทั้งหมด 19 วัน คิดเป็นร้อยละ 95 ขึ้นปฏิบัติงานรวม 52 เที่ยวบิน

นางสาวอรรจนี กล่าวว่า สำหรับการขึ้นบินในช่วงนี้จะเน้นการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ จ.แพร่ ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บเพื่อการอุปโภค-บริโภค หลังมีเกษตรกรใน อ.ชาติตระการ นครไทยและวัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก รวมถึง จ.สุโขทัย พิจิตร และ เพชรบูรณ์ ร้องขอให้ทำฝนหลวง และได้เตรียมเครื่องบินแบบ Super King Air เพื่อปฏิบัติการยังยั้งลูกเห็บ โดยจะใช้พลุซิลเวอร์ไอโอได ยิงเข้าไปในกลุ่มเมฆ เป็นการทำแบบฝนหลวงเมฆเย็นในระดับความสูงประมาณ 20,000 ฟุต เพื่อลดการจับตัวของน้ำก่อนที่จะเป็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ โดยปฏิบัติการจะเน้นพื้นที่ในเขตเมืองเพื่อลดความรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน ล่าสุดช่วงบ่ายวันนี้ได้รับการร้องขอ จากพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู สกลนคร ขอนแก่น และจ.นครพนม ให้ไปช่วยบินโจมตีทำลายลูกเห็บ เพื่อลดความรุนแรงจากพายุฤดูร้อน

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก รับผิดชอบในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร ใช้อากาศยานทั้งสิ้น 4 ลำ ได้แก่ Casa จำนวน 2 ลำ และ Super King Air จำนวน 2 ลำ ภารกิจเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาและยับยั้ง ความรุนแรงของพายุลูกเห็บ บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก และฐานเติมสารฝนหลวง จ.แพร่4

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

เปิดเวทีล้อมวงวิจัยส่องทางออกแก้น้ำแล้ง ลดเหลื่อมล้ำ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีเสวนาออนไลน์ TSRI Talk “การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน จะนำข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและที่ดิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ มีหลายประเด็นอยู่ภายใต้ร่มปัญหาดังกล่าว เรื่องน้ำและจัดการที่ดิน เป็นส่วนหนึ่งที่ทางคณะอนุกรรมาธิการฯให้ความสำคัญและสอดคล้องกับ การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับการที่ยูเนสโก เรียกร้องให้ทั่วโลกใช้น้ำอย่างคุ้มค่าบนฐานของประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือของคนในชุมชนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้การแบ่งสรรปันส่วน

 การบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับแนวคิดกับเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งพาตนเอง ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยจะเป็นต้องบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐระดับพื้นที่ ชุมชนต้องมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำขนาดเล็ก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และระดับนโยบาย ต้องมีการทำงานแบบเชื่อมร้อยกันในทุกระดับ โดยมีฐานข้อมูลอย่างข้อมูลจากงานวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงาน

ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยข้อมูลว่า งานวิจัยที่กำลังทำอยู่ ยังคงมีช่องว่าง ต้องมองภาพรวมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ เราพยายามจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องน้ำ ชุมชน ระบบราชการ และภาคนโยบาย ต้องทำงานที่สอดคล้องกัน ผ่านการออกแบบโจทย์วิจัย การวางแผนงานที่ชัดเจน มาตรการที่อยากเสนอแนะภาคนโยบายคือ ควรส่งเสริมความรู้และปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ควรชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ของเกษตรกร มีการจ้างงานสร้างรายได้ให้เกษตรกร ออกแบบโครงการตามความต้องการของชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพใช้น้ำที่ทุกส่วนราชการต้องเน้นให้ประหยัด เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ปรับการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาเป็นการแก้ไขเชิงรุก และพัฒนาสู่การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องจากภาวะแล้ง จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำมากขึ้น ปรับจากการแก้ไขปัญหาตามที่เคยทำมาเป็นการแก้ไข

ปัญหาบนฐานข้อมูลและการคาดการณ์อนาคตปรับจากการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการป้องกันและปรับตัวอย่างเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ อว. ต้องวางแผนงานวิจัย ให้แก้ปัญหาที่ยิงได้ตรงจุดภายในเวลาที่กระชับ ต้องมีทีมจังหวัดและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมความรู้เพื่อแก้ปัญหา รวมถึงปรับวิธีคิดของผู้ใช้น้ำให้เข้าใจตรงกัน

ในขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องความยากจน แต่มีมิติของระบบนิเวศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนจ่ายภาษีเท่ากันแต่ใช้น้ำไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้ามีการจัดลำดับและปริมาณของการใช้น้ำจะช่วยสร้างความเป็นธรรมได้ ในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักจะประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ควรมีแหล่งน้ำชุมชน อย่างโครงการแก้มลิง หรือค้นหาพืชทดแทนอื่นนอกจากข้าว มัน อ้อย การทำเกษตรผสมผสาน นอกจากนี้ในส่วนของการวางแผนของภาครัฐ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างการคำนึงถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องฐานทรัพยากรที่มีอยู่ การเข้ามาของคนต่างถิ่นอาจไปเบียดเบียนฐานน้ำของชุมชน ดังนั้นน้ำต้องถูกเอามาคิดเป็นต้นทุนของการดำเนินการด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ที่มาไม่ตรงตามฤดูกาล เพื่อให้คนทั้งในเมืองและชนบทตระหนักถึงปญหาภัยแล้งที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว

ด้าน นายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงครามกล่าวเสริมว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือจัดการน้ำให้เสมอภาคและเท่าเทียม คนรวยคนจนใช้น้ำกันอย่างเท่าเทียม ชุมชนต้องสำรวจตนเองว่าในแต่ละปีน้ำในพื้นที่ของตนมีมากน้อยเพียงพอต่อการใช้งานของตนหรือไม่อย่างไร ผ่านระบบฐานข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐออกแบบไว้จนชุมชนสามารถพยากรณ์และวิเคราะห์วางแผนการทำงานได้ กระบวนการวิจัยได้เข้าไปแล้วทำให้ชุมชนรู้สึกว่า สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ตนเองเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงชีวิตและความเป็นอยู่ของเขา กล่าวคือต้องมีการปรับกระบวนการคิดเข้าหากันและ

ท้ายที่สุด รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริมว่า ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) เป็นอีกกลไกที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาและการลงทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในอนาคต โดย สกสว.พร้อมสนับสนุนประเด็นสำคัญในแผนงานวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ ความท้าทายของประชาคมวิจัยในอนาคตคือ ต้องมองโอกาสในระยะยาวที่จะสร้างความสามารถในการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม และเชื่อมโยงการทำงานกับชุมชน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

‘สศอ.’ชูศก.หมุนเวียน ดันอุตฯไทยสู่BCG Economy

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าหลังรัฐบาลประกาศให้ BCG Economy Modelเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์และสอดคล้องนโยบายรัฐบาล

โดยกระทรวงมุ่งเน้น 4 เป้าหมายหลักคือ 1.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2.สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม 3.สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4.ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิดเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนให้ความสำคัญ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าสศอ.เล็งเห็นความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสอดคล้องทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับสากลและวาระแห่งชาติเรื่อง BCG Economy Model จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนโดยการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero Waste)

ทั้งนี้ สศอ. จะเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ปรับกระบวนการผลิตและการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ การเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยนำของเสีย/วัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียน และการสร้าง Circular Startup

นอกจากนี้ สศอ.ได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ครอบคลุมทั้งเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศต่างๆ โดย สศอ.ได้ผลักดันข้อเสนอมาตรการเหล่านี้ผ่านกลไกขับเคลื่อน BCG Model ในระดับประเทศ ควบคู่กับการผลักดันการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นำร่องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

สินค้า4หมื่นรายการ จ่อคิวรับประโยชน์จากRCEP 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัว “ศูนย์อาร์เซ็ป (RCEP Center)”RCEP Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศว่ากระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐเอกชน ภาคการเกษตร เร่งรัดในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ส่งออก เอสเอ็มอี ภาคการเกษตร รับทราบข้อมูลและเนื้อหาสำคัญในข้อตกลง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงได้อย่างเต็มที่ เพราะหากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP) บังคับใช้ จะเกิดประโยชน์กับไทยเป็นอย่างมากทั้งด้านการค้า การลงทุน

ทั้งนี้ ในด้านการค้า หัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ในภาพของสินค้าโดยมีสินค้า 40,000 รายการ โดยประมาณที่ต้องลดภาษีให้กับประเทศไทย และใน 40,000 รายการนั้นมี 29,000 รายการ ที่จะลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่1 มกราคม 2565 ที่เหลือประมาณ 9,000 รายการ จะลดภายใน 10-20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0% ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70-80% ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้กับนักลงทุนไทย

สำหรับความคืบหน้าการให้สัตยาบันความตกลง RCEP มีขั้นตอนการดำเนินการ2 เรื่อง คือ 1.ต้องผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งได้นำเสนอเข้าที่ประชุมร่วมและได้รับความเห็นชอบแล้ว และ 2.ดำเนินกระบวนการภายในของหน่วยงานราชการต่างๆ อย่างน้อย 3 หน่วยงาน คือ 1.กรมการค้าต่างประเทศ ออกแบบใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ให้จบ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน 2.กรมศุลกากรต้องประกาศอัตราภาษีให้สอดคล้องกับข้อตกลง และ 3.กระทรวงอุตสาหกรรมต้องออกประกาศเรื่องการนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตามข้อตกลง RCEP

“เมื่อผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขแล้ว กระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงต่างประเทศ จะประสานงานการยื่นเรื่องให้สัตยาบันไปยังเลขาธิการอาเซียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ RCEP ด้วย ก็ถือว่าจบการในขั้นตอนการให้สัตยาบันของไทย ส่วนการจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ต้องให้สัตยาบันอย่างน้อย6 ประเทศ และนอกประเทศอาเซียน 5 ประเทศต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ประเทศ เท่ากับ 6 บวก 3 เป็น 9 ประเทศ ถึงจะถือว่ามีการให้สัตยาบัน RCEP และบังคับใช้ได้ต่อไป โดยตามเป้าน่าจะเป็นสิ้นปี 2564 แต่ก็ต้องขึ้นกับอีก 8 ประเทศจะให้สัตยาบันครบหรือไม่”นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิด RCEP Center หรือศูนย์ให้บริการข้อมูล RCEP มีการให้บริการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1.รายละเอียดความตกลง 2.สถิติการค้าระหว่างประเทศ 3.อัตราภาษี 4.ถิ่นกำเนิดสินค้า 5.มาตรการการค้าของไทย และ 6.ระบบติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทย ได้เตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งจะให้บริการทั้งแบบออฟไลน์ที่จะเข้ามาขอรับบริการได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแบบออนไลน์ เข้าดูได้ที่เว็บไซต์ www.moc.go.th

สำหรับความตกลง RCEP ได้มีการเจรจามาตลอด 8 ปี และประสบความสำเร็จในปี 2562 เมื่อไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน และตนได้มีโอกาสเป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจในการเจรจาจนบรรลุข้อตกลงครบถ้วนจากที่ค้างคากว่า 13 ข้อบท จาก 20 ข้อบท นำมาสู่การลงนามร่วมกัน 15 ประเทศ เมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2563 ทำให้ RCEP เป็น FTAที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจีดีพีรวมกันถึง 1 ใน 3ของจีดีพีโลก มีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก หรือ 2.2 พันล้านคน โดยมูลค่าการค้าของไทยที่ค้าขายกับประเทศ RCEP อีก 14 ประเทศ คิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดที่ไทยค้าขายกับต่างประเทศ มีตัวเลขการค้า 8.5 ล้านล้านบาท

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ มีทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ โดยสินค้าที่จะได้ประโยชน์ สินค้าเกษตร เช่น ยางพารามันสำปะหลัง ประมง ผักผลไม้ อาหารทั้งแช่แข็งและแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ากระดาษ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย ส่วนประกอบจักรยานยนต์ และภาคบริการ เช่น การก่อสร้างซึ่งไทยมีศักยภาพ ด้านบริการสุขภาพ ภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชั่นที่เรียกว่าดิจิทัลคอนเทนต์ รวมทั้งภาคการค้าปลีก

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

กรมส่งเสริมการเกษตรตั้ง‘คลินิกพืช’ ปั้นนักส่งเสริมเป็น‘หมอพืช’แก้ปัญหาให้ตรงจุด

กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งขับเคลื่อนคลินิกพืชพร้อมปั้นหมอพืชให้มีองค์ความรู้และเกิดความชำนาญในการให้คำปรึกษาด้านโรคพืชอย่างถูกต้องแม่นยำคาดสิ้นเดือนเมษายนนี้เกษตรกรสามารถเข้ารับบริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาความสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรจากการเข้าทำลายของศัตรูพืชและโรคพืชที่ปัจจัยรอบด้านแตกต่างกัน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหาย เกิดผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขับเคลื่อนงานคลินิกพืชและฝึกอบรมนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่ดูแลงานอารักขาพืชให้ เป็นหมอพืชที่สามารถวินิจฉัยปัญหาโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเบื้องต้นโดยบทบาทของหมอพืช จะต้องผ่านการอบรมเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและการจัดการศัตรูพืช และมีประสบการณ์ด้านการวินิจฉัยอาการผิดปกติและการจัดการศัตรูพืชเบื้องต้นในระดับพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมถูกต้องแม่นยำกับสภาพปัญหาของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ได้

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคลินิกพืช จะเปิดให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัด โดยจะให้บริการอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมกับมีการติดตามประเมินผลเบื้องต้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้ารับบริการคลินิกพืชได้หลายแห่งได้แก่ 1. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จำนวน 9 ศูนย์ โดยจะเปิดให้บริการเป็นประจำทุกวัน 2. สำนักงานเกษตรจังหวัด จำนวน 77 ศูนย์ และสำนักงานเกษตรอำเภอ 882 ศูนย์โดยจะเปิดให้บริการ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน 3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 1,764 ศูนย์ โดยจะเปิดให้บริการ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน

“อย่างไรก็ตามคาดว่าคลินิกพืชที่มีหมอพืชที่ผ่านการอบรมความรู้อย่างเข้มข้นจะสามารถให้บริการเกษตรกรแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดถูกต้องแม่นยำโดยยึดหลักการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานที่มีความยืดหยุ่นตามบริบทของตัวเกษตรกรและพื้นที่ ลด ละ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินความจำเป็น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้มีอย่างคุณภาพ มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในอนาคต”

จาก https://www.naewna.com วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

เอกชนร่วมวิสาหกิจชุมชนพัฒนาน้ำตาลสดผสมกัญชา

พิษณุโลก-นักธุรกิจออนไลน์ขายเครื่องดื่มน้ำตาลสดใช้กัญชาเป็นส่วนผสม สร้างรายได้ร่วมกับชาวบ้านไม่ต้องพ่อค้าคนกลางกดราคา

กรณีภาครัฐปลดล็อกการใช้ส่วนต่างๆ ของต้นกัญชา หลายธุรกิจจึงเริ่มให้ความสนใจอย่างมากในการนำกัญชามาเป็นส่วนผสม

ผู้สื่อข่าวจึงพาไปชิมเมนูเด็ดคลายร้อน น้ำตาลสดกัญชา ที่หยิบเอาน้ำตาลสดของดี ประจำ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก มาผสมผสานกับส่วนผสมของกัญชาไทย ให้ความสดชื่น หอม อร่อย คลายร้อน ดื่มแล้วผ่อนคลาย หลับสบาย สินค้าขึ้นชื่อของ ร้านรักษ์กัญ ตั้งอยู่เลขที่ ซอย 7-11 ประตู 5 หลังมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ฝีมือนักธุรกิจขายออนไลน์ ผู้ที่ศึกษากัญชาไทยมานานกว่า 4 ปี

นายธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์ อายุ 42 ปี เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ ต่อมาเริ่มสนใจเรื่องของกัญชา จนเมื่อ 3-4 ปีก่อนได้หาข้อมูล และมีโอกาสได้ไปรู้จักกับ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา ตั้งอยู่ที่ ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ทำการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน และเป็นแปลงปลูกกัญชาอินทรีย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แปลงแรกของเกษตรกรไทย และมีโอกาสได้ทำ MOU ร่วมกัน เพื่อต้องการให้กัญชาไทย สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และที่สำคัญ เข้าถึงอย่างถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตขาย อย่างถูกต้อง จึงได้ร่วมกันคิด โปรดักส์กัญชาขึ้นมา ในราคาที่ผู้ประกอบการสามารถจับต้องได้ จึงออกมาเป็นแบรนด์ รักษ์กัญ พิษณุโลก เครื่องดื่มสมุนไพรไทย ที่ผสมผสานกัญชาเข้าไปตามสัดส่วนที่ปลอดภัย โดยดึงของดีขึ้นชื่อของ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก อย่างน้ำตาลสด มาเป็นตัวชูโรง เน้นสภาพอากาศที่ร้อนๆ เช่นนี้ ดื่มน้ำตาลสดกัญชาเข้าไปจะทำให้คลายร้อน สดชื่น ผ่อนคลาย และหลับสบาย

นอกจากนี้ยังมีเครื่องดื่มสมุนไพรอื่นๆ อาทิ ใบเตยกัญชา มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ดับกระหายคลายร้อน สดชื่น หลับสบาย อัญชัญกัญชา มีสรรพคุณ ช่วยต่อต้านอนุมุลอิสระ ชะลอวัยริ้วรอย บำรุงสมองเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ชามะนาวกัญชา จำหน่ายในราคาขวดละ 55 บาท และขนมอย่าง บราวน์นี่ขึ้นยาน คุกกี้ลั๊ลล๊า ใช่ส่วนผสมจากช๊อคโกแลตเข้มข้น ทำจากช็อคโกแลตแท้ และมีส่วนผสมของใบกัญชา ให้ความละมุน ทานเพลิน อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วย ในราคาชิ้นละ 69 บาท

สาเหตุที่ต้องเป็นน้ำตาลสดกัญชาเนื่องจากชาวบ้านบางส่วนที่อำเภอวัดโบสถ์มีชื่อเสียงเรื่องการทำน้ำตาลสด จนได้แชมป์น้ำตาลสด แต่ไม่มีตลาดที่จะขายจึงเป็นโอกาสของพ่อค้าคนกลาง ที่เข้ามากดราคา จนรายได้ของชาวบ้านหดหาย เหลือเพียงกำไร 2 บาทต่อขวดเท่านั้น ตนจึงขอนำความรู้เกี่ยวกับกัญชาเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิด “น้ำตาลสดกัญชา” เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน “ชุมชนน้ำตาลสด” โดยไม่ต้องถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาอีกต่อไป ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่มกับกัญชา

สินค้าของร้านรักษ์กัญ เป็นเมนูที่มีส่วนผสมของกัญชา อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี อย.รับประกัน มีใบอนุญาตจำหน่ายอย่างถูกต้อง จากการเริ่มต้นเปิดจำหน่ายมาได้ประมาณ 1 เดือนเศษ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดีเกินคาด มีคนให้ความสนใจ ทางร้านจึงเปิดให้ซื้อเฟรนไชส์ รักษ์กัญ ได้ในราคาที่จับต้องได้เพียง 5900 บาทเท่านั้น สำหรับใครที่สนใจอยากจะเติบโตไปด้วยกัน หรืออยากจะลิ้มลองเมนูเครื่องดื่มสมุนไพรกัญชาไทย คุ้กกี้ บราวน์นี่กัญชาของทางร้านก็สามารถมาอุดหนุนกันได้ ร้านตั้งอยู่ใกล้เคียงประตู 5 ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก สอบถามเส้นทางได้ทางเพจ : รักษ์กัญ พิษณุโลก หรือหมายเลขโทรศัพท์ 065 938 5956

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 30 มีนาคม 2564

มองต่างมุม “เก็บค่าน้ำเกษตรกร” 66 ไร่

ประเด็นร้อน “เก็บค่าน้ำเกษตรกร” 66 ไร่ เหมาะสม หรือไม่ “กมธ.เกษตรฯ” ชี้เหมาะสม ด้าน เกษตรกร ชาวนา-สวนยาง อาชีพเสี่ยงสูงไม่ควรเพิ่มต้นทุน “หาญณรงค์” แนะเพิ่มเงื่อนไข 2-3 ข้อ นิยาม "เกษตรเชิงพาณิชย์"

เก็บค่าน้ำ “ทรัพยากรน้ำสาธารณะ” ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในวงเกษตรกร ว่าภาครัฐจะมีนโยบายเก็บค่าน้ำ หลังการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564  ในการกำหนดเก็บค่าน้ำสาธารณะ จำกัดพื้นที่ 66 ไร่ ขึ้นไป ควรจะเก็บค่าน้ำหรือไม่

นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” การเก็บค่าน้ำสาธารณะ ปัจจุบันเก็บอยู่แล้ว ในส่วนของพื้นที่ชลประทาน ถ้าเป็นการทำนาครั้งเดียวในระบบชลประทานไม่เก็บ ถ้านาปี น้ำขาดแคลน 1 ปีจะช่วย 1 รอบ ไม่เก็บค่าน้ำ มองว่าน่าจะเป็นโมเดลใช้รูปแบบเดียวกัน ถ้าเกิน 1 รอบคิดเงิน หากอยู่ในกรณีนี้ผมคิดว่าการที่ทำนาเพิ่ม มากกว่า 1 รอบ หรือ 1 ครั้ง ก็สมควรจะเก็บค่าน้ำ แต่จะเก็บค่าน้ำมากน้อยอย่างไร ก็ต้องมาคำนวณ  หากใช้กรอบแนวทางอย่างนี้ผมเห็นด้วย เพราะผมคิดว่าเกษตรกรชาวนามีนาไม่ถึง 66 ไร่ ผมว่าไม่มี หรือถ้ามี ก็น้อยมาก แล้วถ้านาในชลประทานมีมากกว่า 55 ไร่ ถือว่าเป็นเกษตรชาวนาที่ร่ำรวย “กรมทรัพยากรน้ำ” กฎหมายจะไม่ครอบคลุม หนอง คลอง บึง ซึ่งเมื่อขุดแล้วจะส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วน อปท.จะเก็บเงินหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของ อปท.นั้นๆ  โจทย์หิน “เก็บค่าน้ำสาธารณะ” รัฐเอาด้วยหรือไม่?

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  ผมว่าประเทศไทยตามธรรมชาติ มีน้ำอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เก็บน้ำ ราคาพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ เกษตรกรก็เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว จะไปเพิ่มภาระเพิ่มต้นทุนอีก ทำให้เกษตรกรต้องโกหกไปแยกแตกครัวเรือนอีก ทำให้บ้านเมืองโกหก หลอกลวง เป็นโรงตลก “หากเป็นอาชีพ “เกษตรกร” ไม่ควรเก็บเลย ควรจะพัฒนาเกษตรกรที่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ นวัตกรรมใหม่ หาเทคโนโลยีใหม่ เสริมให้ทุกคนเข้าถึง ร่วมมือกัน ให้เกษตรกรรายย่อยร่วมมือกันได้ เพราะถ้าหากนายทุนเลิกเกษตรกรรายย่อยก็เอาตัวไม่รอด จะกระทบลามเป็นลูกโซ่ แล้วหากนายทุนกระทบ ก็จะโดนบวกราคาสินค้า ผลักภาระให้ประชาชนอีก ใครจะยอมขาดทุน” นายอุทัย กล่าวว่า แทนที่รัฐบาลจะช่วยสร้างระบบเก็บน้ำฝน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพ ดีกว่าหรือไม่ เรื่องอ่างเก็บน้ำฝน ปกป้องการระเหย ซึ่งผมได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวนี้ให้กับนายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อยแล้ว หาญณรงค์ เยาวเลิศ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีค กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2562  กล่าวคือ การกำหนดพื้นที่ครอบครอง เกษตรกร 66 ไร่ ขึ้นไป จัดเป็นเกษตกรเชิงพาณิชย์/อุตสาหกรรม ต้องพิจารณาว่าใช้น้ำในปริมาณเท่าไร ไม่ใช่ใช้กำหนดพื้นที่จำนวนไร่  เคยท้วงติงไปแล้วว่าไม่ควรกำหนดใช้มาตรฐานเกณฑ์เดียว เพราะถ้ากำหนดเงื่อนไขเดียวก็เป็นปัญหาตายเลย กล่าวคือ ในกรณีที่ใช้น้ำสาธารณะ ใช้ปริมาณน้ำเท่าไร ในเนื้อที่เท่าไร ซึ่งใน 66 ไร่  เกษตรกรอาจจะไม่ใช้น้ำสาธารณะทั้งหมด คุณให้ใช้การถือครองที่ดิน 66 ไร่ แล้วมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด บ้าหรือไม่ จะสร้างปัญหาตัวเองทำไม ต้องเอาคนที่ใช้จริง เดี๋ยวก็โดนตรวจสอบเหมือนการถือครองที่ดิน “ยกตัวอย่าง สวนปาล์ม ของนายทุน หรือ กงสี ของจังหวัดกระบี่ ใช้น้ำสาธารณะหรือไม่ ถ้าไม่ใช่น้ำสาธารณะ จะให้มาขึ้นทะเบียนทำไม นี่ก็มีคำถามว่าการขึ้นทะเบียนโดยเอาเกณฑ์อันหนึ่งอันใด ที่ไม่ใช่น้ำสาธารณะ หรือใช้น้ำสาธารณะจำนวนเท่าใด ควรจะมี 1 2 และ 3 ไม่ใช่การถือครอบครองที่ดินเพียง อย่างเดียว”

นายหาญณรงค์กล่าวว่า  ดังนั้นคนที่ชงขึ้นไป ไม่ใช่กำหนดในห้องแอร์ แล้วกระบวนการรับฟัง ก็รับฟังไปเป็นแค่พอพิธี  ผมยืนยันว่า สาระ พ.ร.บ.นี้ยืนยันว่าการใช้น้ำสาธารณะ ไม่ใช่น้ำในเขตชลประทาน หรือการใช้น้ำที่เป็นน้ำของตัวเองต้องมาจากแหล่งน้ำสาธารณะเท่านั้น เดชา นุตาลัย

สอดคล้องกับ นายเดชา  นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า คำว่า "เกษตรเชิงพาณิชย์" ไม่ว่าจะ 5 ไร่ หรือ 10 ไร่ ก็ เรียกว่า เกษตรพาณิชย์ ทั้งนั้น ผมถามว่า หากจะใช้บริโภคอย่างเดียวผมถามว่า ข้าว 5 ไร่ ได้ข้าว 2-3 ตัน รับประทานเท่าไรถึงจะหมด อย่าง 1 ครอบครัว มีลูก 5 คน ก็แจกคนละ 20 ไร่ สุดท้ายรัฐก็จะไม่ได้อะไร มีคำถามย้อนกลับไปว่า ถ้าวันหนึ่งน้ำแล้ง รับผิดชอบหรือไม่ เพราะคุณเก็บเงินจะต้องรับผิดชอบถูกหรือไม่ น้ำท่วมรับผิดชอบหรือไม่ คุณเก็บเงินจะต้องรับผิดชอบนะ จะมาอ้างโน้นอ้างนี้ไม่ได้ เพราะคุณเก็บเงินค่าบริหารจัดการน้ำไป " ผมถามว่าน้ำมาจากไหน "น้ำมาจากบนฟ้า" หรือ "พระเจ้าให้มา" มาเก็บไว้ในเขื่อน เขื่อนก็สร้างเงินโดยภาษีของประชาชน แล้วน้ำที่ใช้ในเขื่อนปล่อยออกมาก็ปล่อยกังหันไฟฟ้า ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าแรงน้ำกังหันไฟ ขดลวด ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นมาก็มาขายอีก คือ คุณใช้ประโยชน์ตรงนั้นไปแล้ว เรียกว่าผ่านกระบวนการขายไปแล้ว ยังมีบางส่วนหลุดออกมา ก็มาทำประปาอีก ก็มาขายอีก ผมถามว่าเกษตรกรที่อยู่ท้ายเขื่อน น้ำที่มาจากบนฟ้า มาจากห้วยหนอง คลองบึง ใช้ตรงนี้รัฐไม่ได้บริหารจัดการเลย จะมาเก็บได้อย่างไร เทวดาให้มาจะมาเก็บได้อย่างไร เอาเปรียบกันเกินไปหรือไม่" นายเดชา กล่าวว่า "เกษตรกร" คือรากฐานของประเทศ เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงอาหารของโลกใบนี้ ประเทศชาติจุนเจือได้ก็เพราะเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร แต่เกษตรกรกับเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับเกียรติ ไม่ได้รับศักดิ์ศรี อย่างอาชีพอื่นเลย เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ร่ำรวยไม่ได้ ตั้งตัวได้ยากมาก เพราะฉะนั้นอย่ามาเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ควรที่จะมาเก็บเงินกันแล้ว ต่อให้เกษตรกรปลูกกี่รอบก็ไม่ควรคิด เพราะคุณเก็บค่าใช้จ่ายไปแล้ว จะเอาอะไร 3-4 เด้ง รัฐต้องพอบ้าง ยืนยันว่าไม่ควรจะเก็บเลย ทุกวันนี้ "เกษตรกร "ยังลำบาก ยากจน ไม่พออีกหรือ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2564

“จุรินทร์” MOU ด้านการค้ากับยูเค  ชาติแรกในเอเชียแปซิฟิก

“จุรินทร์” MoU กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักรในรูปแบบสามมิติ ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า เป็นชาติแรกในเอเชียแปซิฟิก มั่นใจช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน การทำธุรกิจ และดันมูลค่าการค้าเพิ่มเป็น 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 67         

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย กับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร ในรูปแบบสามมิติ (Hologram) ร่วมกับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ว่า ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยในการขยายการค้า การลงทุน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้าที่สำคัญให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น และปูทางไปสู่การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันในอนาคตด้วย และไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ได้ลงนามกับสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากในอดีต เพราะสถานการณ์ของโควิด-19 แต่ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะช่วยในการขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน โอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในสาขาสำคัญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร การเงิน สุขภาพ และเทคโนโลยี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพและมีทรัพยากรที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และล้วนเป็นสาขาธุรกิจแห่งอนาคต ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะเดียวกัน ผลจากความร่วมมือ จะช่วยในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันได้อีก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในปี 2567

​“จุรินทร์” MOU ด้านการค้ากับยูเค  ชาติแรกในเอเชียแปซิฟิกในปี 2563 การค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร มีมูลค่าการค้ารวม 4,875.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.51 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออก 3,087.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.56 หมื่นล้านบาท และนำเข้า 1,788.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.55 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักร เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2564

“บิ๊กตู่”ห่วงปัญหาคลองสุเอซ กระทบส่งออกไทยระยะสั้น

นายกฯมั่นใจปัญหาเรือขนส่งขนาดใหญ่ขวางคลองสุเอซ ไม่ส่งผลต่อการส่งออกไทยมากนัก ยืนยันด้านพลังงานไทยไม่กระทบ ระบุรัฐบาลได้ติดตามใกล้ชิด ลุ้นคลี่คลายในเร็ววัน

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีเรือสินค้าขนาดใหญ่(เรือ Ever Given) ที่ประสบอุบัติเหตุเกยตื้นขวางคลองสุเอซที่กำลังเร่งแก้ปัญหาในเวลานี้ว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยในด้านการขนส่งสินค้าทั่วไป เช่น การส่งมอบล่าช้า หรือค่าขนส่งที่อาจสูงขึ้นเนื่องจากการขนส่งจะต้องอ้อมไปใช้อีกเส้นทางหนึ่ง รัฐบาลจะดำเนินการหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกสินค้า

ทั้งนี้หากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ในส่วนของพลังงานยังไม่ได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้ ปตท. มีคาร์โก้น้ำมันดิบจากลิเบีย 1 คาร์โก้ ซึ่งได้ขายให้ยุโรปเรียบร้อยแล้ว และทางด้านก๊าซ LNG ผู้ขายจะต้องจัดหามาให้ครบและหาเส้นทางนำส่งให้ได้ตามสัญญา ด้านการค้าขายและส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปอาจจะเสียเวลาเพราะใช้เส้นทางอ้อม

ส่วนกรณีที่มีสินค้าติดค้างอยู่ในคลองสุเอซอาจจะต้องรอประมาณ 10-12 วัน เนื่องจากจะต้องลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเรือ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2564

เอกชนเตรียมหารือ “ค้าภายใน”  ดักคอสายเดินเรือขึ้นค่าธรรมเนียม

สรท.ดักคอสายการเดินเรือปรับขึ้นราคาค่าธรรมเนียมฯ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หารือกรมการค้าภายในสกัดเอกชนที่ฉวยขึ้นค่าธรรมเนียม  ด้านนักวิชาการชี้ไม่มีผลต่อการส่งออกรวมของไทย

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึง ผลกระทบจากกรณีการที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given)  ติดขวางคลองสุเอซมาตั้งแต่ 23 มี.ค.ว่า สรท.ได้ติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดก็พบว่าเรือถูกลากออกมาลอยลำได้แล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจเพราะต้องติดตามว่าเรือที่ลอยลำรอผ่านเข้าคลองกว่า 300 ลำ จะลอยลำผ่านเข้าคลองไปได้หรือไม่ เพราะในบรรดาเรือที่ลอยลำรอนั้นยังมีเรือที่มีขนาดเท่าๆกับเรือเอเวอร์ กิฟเวนซึ่งยากที่จะผ่านเส้นทางนี้มาได้  แต่การที่เรือเอเวอร์ กิฟเวนเริ่มลอยลำได้ก็ถือว่าเป็นข่าวดี และไม่น่าจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปยังแหลมกู้ด โฮป  ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งหากต้องเปลี่ยนเส้นทางจะทำให้เสียเวลามากขึ้น 14 วันจากเส้นทางปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการหวังว่าจะสามารถใช้เส้นทางคลองสุเอซได้ภายใน 1-2 วันนี้

ทั้งนี้การที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given)  ติดขวางคลองสุเอซครั้งนี้ อาจทำให้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ของไทยหนักมากขึ้นเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการของไทยเพราะที่ผ่านมาปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็กระทบต่อผู้ส่งออกมาพอสมควรแล้ว และการหมุนเวียนของเรือล่าช้าเพราะติดปัญหาที่คลองสุเอซและอาจทำให้เป็นข้ออ้างในการขอเพิ่มค่าระวาง ค่าธรรมเนียมค่าบริการในประเทศ   (Local Charge) โดยไม่เป็นธรรมจากบริษัทสายเดินเรือ ดังนั้นตนจึงได้หารือกับนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.)  เพื่อขอใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และหากสายการเดินเรือจะประกาศค่าบริการเพิ่มเติม โดยก่อนการปรับขึ้นทุกครั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคา และสามารถเรียกให้ผู้ให้บริการแสดงข้อมูล ในกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามสรท.ได้หารือกับกรมการค้าภายในมาแล้วเกี่ยวกับปัญหาการปรับเพิ่มค่าระวางค่าธรรมเนียมค่าบริการในประเทศของสายการเดินเรือ ซึ่งนอกจากจะขอใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542แล้วยังขอให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าใช้อำนาจตาม มาตรา 52 และ 54 ของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือ มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ อันเป็น การผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเอกชนเตรียมหารือ “ค้าภายใน”  ดักคอสายเดินเรือขึ้นค่าธรรมเนียม

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้การเคลื่อนย้ายเรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given)  ติดขวางคลองสุเอซ ซึ่งเป็นระบบขนส่งในสัดส่วน 10-15%ของโลก ที่กำหนดว่าจะคลี่คลายปัญหาได้ภายในเสร็จภายใน 30-45 วัน ประกอบการขนส่งบางส่วนหันไปขนส่งสินค้าเส้นทางแหลมกู้ด โฮป แอฟริกาใต้ แทน ก็ไม่น่าจะมีผลต่อการส่งออกรวมของไทยปีนี้ ที่คาดการณ์ขยายตัว 4-5 % แต่ผู้ส่งออกคงต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและความวิตกเรื่องความล่าช้าอาจเกิดความเสียหายต่อสิ่งออกในกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปบางส่วน  “ ปกติการสต๊อกสินค้าในประเทศผู้นำเข้าก็จะมีประมาณ 1 เดือนเศษ หากภายใน 1 เดือนคลองสุเอซกลับมาขนส่งได้ปกติ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรต่อการส่งออก ทั้งสินค้าทั่วไปและน้ำมัน ซึ่งดูจากราคาน้ำมันโลกและตลาดหุ้นยังปกติไม่ได้ตื่นวิตกกับข่าวเรือขนสินค้าขวางคลอง เพราะเห็นว่าการส่งออกยังใช้เส้นทางอื่นได้ “ นายธนวรรธน์ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2564

เปิดศูนย์ “RCEP Center”ให้บริการครบเครื่องเรื่องค้าเสรี

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์เปิดศูนย์ “RCEP Center” ให้บริการครบเครื่องเรื่องการค้าเสรีแก่คนไทยเพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มศักยภาพการค้า มั่นใจเพิ่มยอดมูลค่าการค้าไทยในปีนี้กลับมาเป็นบวกร้อยละ 3.5-4

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดศูนย์บริการ RCEP Center อย่างเป็นทางการ ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี โดยศูนย์ดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจ สามารถเข้าถึงข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลง RCEP และสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ในการสร้างแต้มต่อทางการค้าได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพทันทีที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ศูนย์บริการ RCEP Center ให้บริการข้อมูลข่าวสารความตกลง RCEP ตลอดจนความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยเป็นภาคี และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ โดยมีข้อมูลสำคัญที่ให้บริการ ได้แก่ 1. ข้อมูลความตกลง RCEP และความตกลง FTA ฉบับอื่นๆ ของไทย 2.สถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย 3.อัตราภาษีศุลกากรของไทยและคู่ FTA 4.กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง FTA ฉบับต่างๆ 5.ข้อมูลมาตรการทางการค้าของไทยและคู่ FTA และ 6.ระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ

โดย 2 บริการสำคัญที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในการเปิดศูนย์บริการ RCEP Center คือ บริการสืบค้นอัตราภาษีศุลกากร เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ของไทย ซึ่งได้รวมอัตราภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง RCEP ไว้แล้ว ผู้ประกอบการสามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทั้งขาเข้าและขาออกในการทำการค้าภายใต้ FTA ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ระบบสืบค้นอัตราภาษียังถูกออกแบบให้มีความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน โดยสามารถใช้ได้ทั้งในมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และโน้ตบุ๊ค ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOS

สำหรับอีกหนึ่งบริการสำคัญที่เปิดให้บริการ คือ การแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวทางการค้าที่ผิดปกติผ่านการใช้ระบบติดตามการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Monitoring System (TMS) โดยระบบฯ จะทำการแจ้งเตือนเมื่อตัวเลขการค้าของไทยทั้งการส่งออกและการนำเข้า มีการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้กระทรวงพาณิชย์สามารถเตรียมแผนรับมือ หรือจัดทำมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการค้าต่อเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างทันท่วงที

ผู้สนใจสามารถเข้าใช้บริการของ RCEP Center ได้ทั้งแบบ Walk-in ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 0 2507 7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th

 “เชื่อมั่นว่าบริการของศูนย์ RCEP Center จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำธุรกิจรวมทั้งผู้ที่ยังมีความกังวลต่อผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และความตกลง FTA อื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคี และเป็นหนึ่งกลไกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ร้อยละ 3.5-4 ในปี 2564”นายจุรินทร์กล่าว

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 29 มีนาคม 2564

บาท“อ่อนค่า” ถึงไตรมาส2

กูรูตลาดเงินชี้ ทิศทางเงินบาทระยะสั้น“อ่อนค่า” ถึงไตรมาส2 ตามตลาดโลก หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย จับตาเงินไหลออก พร้อมเตือนผู้ส่งออกและนำเข้าป้องกันความผันผวนลดเสี่ยง

เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามทิศทางตลาดโลก หลังจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังจากนักลงทุนหันมาถือครองมากขึ้น เพราะมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหภาพยุโรปที่มีความรุนแรง ขณะที่การแก้ปัญหาโควิด-19ในสหรัฐมีความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนและรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากมากขึ้น ซึ่งช่วยชะลอให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลง ส่งผลให้ช่วง 3 เดือนแรกปี 2564 เงินบาทอ่อนค่ามาแล้ว 3.8% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 29.95 มาอยู่ที่ระดับ 31.13 บาท/ดอลลาร์ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2564

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)เมื่อ 23 มีนาคม ได้ปรับลดประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดลง จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 11.6 พันล้านดอลลาร์เหลือเดินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ และทยอยปรับเพิ่มขึ้นในปี 2565 แต่ยังลดลงจากคาดการณ์เดิมที่อยู่ 29.1 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้จากดุลบัญชีเกินดุลน้อยลง สะท้อนแรงกดดันที่มาจากดุลบัญเดินสะพัดต่อค่าเงินบาทจะน้อยลง แต่ธปท.ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้าง Fx Ecosystem ต่อเนื่องนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ธปท.ปรับลดประมาณการลงค่อนข้างมากนั้น ไม่ว่าจะด้วยราคานํ้ามันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น หรือเงินเฟ้อ ซึ่งหากประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยมากหรือขาดดุลบางไตรมาส อาจมีผลทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลงได้ จากเดิมที่ตลาดมองว่า จะแข็งค่าตลอดทั้งปี ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่กลับมา แต่เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะช่วยผู้ส่งออกและเศรษฐกิจการเคลื่อนไหวของค่าเงินสกุลต่างๆ

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอล มาร์เก็ตส์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)มองว่า ระยะสั้นเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งอาจจะผิดไปจากที่ประมาณการก่อนหน้าเคยมองว่าจะค่อยๆ แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เงินบาทกลับเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าตามตลาดโลก โดยเห็นได้จากสกุลเงินยูโรก็อ่อนค่ามาแล้ว 5% ซึ่งสะท้อนการอ่อนค่าในรอบ 5 เดือนส่วนเงินบาทในไตรมาสแรก น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ จากนั้นช่วงท้ายปีคือ ไตรมาสที่ 4 จะเห็นค่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวที่ 29.5 0 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามกรุงศรียังมองเงินบาทมีแนวโน้มที่อ่อนค่าส่วนทางสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า สำหรับปัจจัยหลักมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีแนวโน้มสดใสกว่าเมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาค โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการล็อกดาวน์รอบ 3 ทั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศส ขณะเดียวกันภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดี นายโจ ไบเดน ได้มีการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนจนสามารถกดยอดจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยสำคัญ รวมถึงมาตรการทางการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้าน สิ่งที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ถ้าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ไม่ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจประกอบกับเศรษฐกิจนอกประเทศสหรัฐเริ่มฟื้นตัว น่าจะเริ่มเห็นนักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อซื้อสกุลเงินอื่นแทน ส่วนทิศทางเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า เนื่องจากปัจจัยดอลลาร์เป็นหลักและเศรษฐกิจนอกประเทศสหรัฐเริ่มฟื้นตัว“มองไปข้างหน้า ยังมีปัจจัยหลากหลายและมีความซับซ้อนไม่ว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลด์) สหรัฐ หรือ ราคาทองคำ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ประกอบการ ดังนั้นช่วงที่เหลือ ในแง่ของผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและปัจจัยต่างๆ หรือจะพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นเพื่อเลี่ยงความผันผวนของดอลลาร์”นางสาวรุ่งกล่าว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในไตรมาส 2 มีโอกาสที่จะเห็นการเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวจาก 30.00 บาท/ดอลลาร์ เป็น 31.00 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาสแรก ซึ่งมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.การค้าระหว่างประเทศ(กระทรวงพาณิชย์)เห็นตัวเลขการนำเข้าเป็นบวกในระดับสูง 20% แต่การส่งออกติดลบ 2%  2.มุมมองในตลาดทุน เรื่องอัตราผลตอบแทนคาดหวังทั้งหุ้นและพันธบัตรไม่น่าสนใจ แนวโน้มอาจจะเห็นเงินทุนไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากในแง่ของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนยังไม่ฟื้น และ 3.ปัจจัย Risk Sentment จากเดิมที่นักลงทุนประเมินแนวโน้มตลาดหลักทรัพย์อยู่ในทิศทางขาขึ้นแต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถทำ New High ได้จึงมีการทยอยขายทำกำไร “เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวในบางอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ตามทวีปเอเชียที่ทยอยฟื้นตัวหลังจากเศรษฐกิจของสหรัฐยุโรปและญี่ปุ่นโดยปลายปีมองเงินบาทอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์” นายจิติพลกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 29 มีนาคม 2564

ประเมินผลกระทบเรือยักษ์ขวางคลองสุเอซ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ภัยทางน้ำกำลังหาทางช่วยกู้เรือบรรทุกสินค้า "Ever Given" ของบริษัท Evergreen Marine Corporation บริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่เจอพายุทรายทำให้เสียหลักเกยตื้นขวางการเดินเรือในคลองสุเอซ ที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับทะเลแดง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มี.ค.64 ปิดกั้นเส้นทางการเดินเรือเอเชีย ยุโรปทั้งสองฝั่ง

ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีอียิปต์ประเมินว่า น่าจะใช้เวลา 2-3 วันในการแก้ไขสถานการณ์แล้วเปิดการเดินเรือในคลองสุเอซได้อีกครั้ง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่าอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ในการขนถ่ายน้ำหนัก เอาตู้สินค้าออกไป เพื่อให้เรือลอยขึ้นมาได้อีกครั้ง 

ความล่าช้าทุกนาทีเป็นเงินเป็นทอง ข้อมูลจาก Lloyd's List ระบุว่า สินค้าที่ตกค้างคิดเป็นความสูญเสียค่าใช้จ่ายวันละ 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 12,000 ล้านบาท

เรือบรรทุกสินค้า Ever Given ที่ดำเนินงานโดยบริษัทเดินเรือ Evergreen Marine Corporation ของไต้หวัน ยังคงเกยตื้นขวางการเดินเรือในคลองสุเอซ ของอียิปต์ ส่งผลให้การค้าโลกต้องชะงักมาเป็นวันที่ 6 ท่ามกลางความพยายามในการกู้เรือด้วยวิธีต่างๆ และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยวิกฤติคลองสุเอซที่เกิดขึ้นครั้งนี้ และผลกระทบที่จะตามมา เป็นการตอกย้ำว่าโลกเรายังพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก

ผลกระทบต่อการค้าโลก

เมื่อต้อรอข้ามคลองสุเอซ การขนส่งที่ล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าสั่งออนไลน์หลายประเภทตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ตลอดจนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน อาจทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น และสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลมากสุด คือปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือจะปรับเพิ่มขึ้นไปอีกที่ผ่านมา

เรือบรรทุกสินค้าประมาณ 20,000 ลำ หรือประมาณ 12% ของการค้าขนส่งทั่วโลกใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ ที่มีระยะทาง 193 กิโลเมตร เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับทะเลแดง เป็นเส้นทางเดินเรือที่ช่วยร่นเวลาในการเดินทางไปมาระหว่างเอเชียกับยุโรป หากไม่ใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ เรือสินค้าจะต้องไปอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป ทางตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งใช้เวลานานกว่าถึงเกือบ 2 สัปดาห์

ข้อมูลจาก Lloyd's List ระบุว่า การปิดคลองครั้งนี้ ทำให้มีสินค้าต้องถูกส่งล่าช้าคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณเกือบ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท

จากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านธุรกิจ IHS Markit ระบุว่า เมื่อเส้นทางการเดินเรือผ่านคลองสุเอซถูกปิดกั้นแบบนี้ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาของระบบขนส่งสินค้าที่มีมาก่อนหน้านี้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางขนส่งต้องชะงักไป โดยจะเกิดปัญหาต่อการดำเนินงานกิจการท่าเรือหลายแห่งในยุโรป การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนในระบบ

บริษัทให้บริการเดินเรือ Leth Agencies ระบุว่า จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ มีเรือบรรทุกสินค้ากว่า 300 ลำ มาจอดบริเวณท่าเรือเข้าคลองสุเอซ ท่าเรือ Great Bitter Lake และท่าเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 

โจ เรย์โนลด์ หัวหน้าวิศวกรของบริษัท Maersk ในรัฐโอไฮโอ ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเรือบรรทุกสินค้ากว่า 300 ลำ กำลังจอดรออยู่ในทะเลแดง เพื่อที่จะผ่านเข้าไปบริเวณช่องทางตอนใต้ของคลองสุเอซ เปิดทางให้เรือขุด เรือลาก เร่งเข้าไปช่วยกู้เรือ Ever Given โดยบอกว่าซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้จะส่งผลกระทบแค่การเดินเรือจากเอเชียไปยุโรปเท่านั้น แต่จะขยายวงกระทบต่อการเดินเรือทั่วโลก

ล่าสุด บริษัท Ikea ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์แต่งบ้านรายใหญ่ของสวีเดน ประกาศเตือนว่า การขนส่งสินค้าจะล่าช้า เพราะสินค้าส่วนใหญ่ของ Ikea ผลิตจากเอเชีย ทั้งเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

นับตั้งแต่เรือ Ever Given ประสบเหตุเกยตื้นกลางคลองสุเอซ เมื่อวันอังคาร 23 มี.ค. นักลงทุนในตลาดน้ำมันทั่วโลกต่างมีปฏิกิริยารุนแรงต่อข่าวนี้ เนื่องจากประมาณ 10% ของการขนส่งน้ำมันทางทะเล จะใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ คิดเป็น 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือทั้งหมด 39.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เมื่อวันศุกร์ 26 มี.ค. ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปมากกว่า 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องมาจากความวิตกกังวลว่าสถานการณ์วิกฤติคลองสุเอซ อาจจะยืดเยื้อไปอีกหลายสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น และส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบ

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังถูกกดดันต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกให้หลายประเทศในยุโรปต้องกลับมาประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

ขณะที่มีความคาดหมายว่า ในที่ประชุมโอเปคพลัส ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการผลิตน้ำมันในเดือน พ.ค. เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นพ้องให้คงเพดานการผลิตน้ำมันดิบไว้ที่ระดับต่ำตามเดิม เนื่องจากการล็อกดาวน์ในยุโรปน่าจะยังทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอยู่ในระดับต่ำ 

ซาโตรุ โยชิดะ นักวิเคราะห์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์แห่งบริษัท ราคุเทน ซีเคียวริตี้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ตลาดน้ำมันอยู่ในภาวะฝันร้าย เนื่องจากอุปสงส์ไม่คล่องตัวจากวิกฤติคลองสุเอซ ในขณะที่อุปทานก็ชะลอตัวจากการประกาศล็อกดาวน์ยุโรป 

แบกรับความเสี่ยงในการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง

ตอนนี้เรือบรรทุกสินค้ากว่า 200 ลำที่จอดรออยู่ มีเพียง 2 ทางเลือก ว่าจะรอต่อไป หรือจะเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งก่อนหน้านี้  JPMorgan เตือนว่า หากสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อไปมากเท่าไหร่ บริษัทขนส่งก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าเช่าเรือขนส่ง และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยก่อนหน้านี้เรือ Ever Greet ของ Evergreen Marine ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับ Ever Given ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปทางแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์ และยังเคยเป็นเส้นทางเดินเรือที่อันตราย เนื่องจากมีโจรสลัดปล้นสดมภ์สินค้าออกอาละวาดเป็นประจำ บริเวณนอกชายฝั่งของโซมาเลีย และนอกชายฝั่งอ่าวกินี

ด้านข้อมูลดาวเทียมจาก MarineTraffic.com ระบุว่า ตอนนี้มีเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติ Pan Americas ที่จอดรออยู่ในกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางลงใต้ ไปทางแหลมกู๊ดโฮปแล้วเช่นกัน และตอนนี้มี 2 บริษัทได้แก่ Maersk และ Hapag-Lloyd ที่กำลังพิจารณาว่าจะเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ

กองเรือที่ 5 หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แถบทะเลแดง เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกสินค้าหลายลำได้ติดต่อเข้ามา บอกว่ามีความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยในการเดินเรือ เกรงว่าจะถูกโจมตี

ขณะเดียวกัน จ้าว ซิง เฟิง ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการเดินเรือจีน ในนครเซี่ยงไฮ้เปิดเผยกับ Financial Times เตือนว่า เรือบรรทุกสินค้าที่ตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเส้นทางไปผ่านแหลมกู๊ดโฮป ควรจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพิเศษบนเรือไปเพิ่มด้วย เพื่อให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัยจนถึงที่หมายปลายทาง

วิลลี่ ลิน ประธานสมาคมผู้ประกอบการเดินเรือฮ่องกง เรียกร้องให้เรือรบของนานาประเทศ ช่วยออกมาคุ้มกันเรือสินค้าที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ เนื่องจากมองว่าครั้งนี้เป็นสถานการณ์วิกฤติและอาจยืดเยื้อ หากว่าการกู้เรือยังไม่สำเร็จ และต้องปิดคลองสุเอซต่อไปในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 29 มีนาคม 2564

'สุพัฒนพงษ์' ชู 'โมเดล 4D' ความหวังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มมองหาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆในการขับเคลื่อเศรษฐกิจ นอกจากมุ่งในเรื่องการเติบโตยังต้องมองไปถึงการลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสเติบโตในอนาคต

เมื่อเร็วๆนี้ “สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจได้กล่าวถึงโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศหลังโควิด-19 ในชื่อว่า "โมเดลเศรษฐกิจแบบ 4 โดยเป็นส่วนผสมกันระหว่างบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปกับโอกาสของประเทศไทยที่มีฐานและศักยภาพทางเศรษฐกิจในเรื่องนั้นๆเป็นทุนเดิมและต่อยอดให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

1.Digitalization คือการส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การลดกฎระเบียบ การพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล (Data center) ให้มีความพร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

2.Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ เช่น การส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศแผนการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศได้ 100 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศในปี 2035 หรือปี 2578 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นของรัฐบาลที่จะไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

3.Decentralization คือโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัท และอุตสาหกรรมชั้นนำที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นของการย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจะมีการชักชวนให้บริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นใน 5 อุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานการผลิตและมีความเชี่ยวชาญได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพ และดิจิทัล โดยในระยะเร่งด่วนตั้งเป้าหมายดึงกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพเข้ามาก่อน เพราะสามารถทำได้เร็ว

และ 4.D-risk คือใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ โดยต้องทำอย่างไรให้จุดแข็งของไทยในเรื่องการควบคุมโควิด-19 ได้ดี ระบบสาธารณสุขที่ดีมีอาหารที่ดีราคาไม่แพงเป็นจุดแข็งที่จะดึงดูให้ผู้มีรายได้สูงมาอยู่ในไทยในระยะยาวและมาซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ในไทยเพื่อเป็นบ้านหลังที่ 2

ซึ่งโมเดลนี้คาดหวังกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังจะใช้จ่ายเงินได้มากให้เข้ามาใช้จ่ายในไทยมากขึ้นซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมายได้โดยอาศัยจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดเข้ามาคือกลุ่มของนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อ และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากกลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการรองรับซึ่งต้องการให้มีการใช้จ่ายในประเทศไทยในระดับ 1 แสนบาทต่อการเดินทาง 1 ทริปหรือมีระดับการใช้จ่ายที่สูงมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปซึ่งจะเหมาะสมกับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแบบเดิมที่ต้องอาศัยนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เข้ามายังในประเทศไทยเพื่อให้ได้เท่ากับ 2 ล้านล้านบาทเหมือนกับในอดีต

...ถือว่าเป็นอีกโมเดลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและหากสามารถนำโมเดลทางเศรษฐกิจนี้ไปใช้ได้ในทางปฏิบัติได้จะไม่ใช่เพียงแต่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ยังเป็นการตั้งความหวังถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 มีนาคม 2564

เงินบาทขยับอ่อนค่า เกาะติดปัญหาคลองสุเอซ กระทบการค้าโลก

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า 30.90-31.35 บาทต่อดอลลาร์ จับตาตัวการจ้างาน-ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาดดันดอลลาร์แข็งค่าต่อ เกาะติดปัญหาปัญหาคลองสุเอซถูกปิด หวั่นกระทบการค้าโลก

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (29 มีนาคม-2 เมษายน 64) ให้กรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.90-31.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าแห่งอื่นๆในระยะนี้ รวมถึงแรงซื้อดอลลาร์ช่วงสิ้นไตรมาสของภาคเอกชนไทย

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขจ้างงานนอกภาคเอกชนเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ หากตัวเลขออกมาสดใสกว่าคาด ค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าต่อ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตา คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับจีน และยอดผู้ติดเชื้อและการปิดเมืองรอบใหม่ในกลุ่มประเทศยูโรโซน

ส่วนปัจจัยภายในการกระจายวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า อาจกระทบต่อแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยว

“สิ่งที่ต้องตามดูต่อ คือ การแก้ไขปัญหาคลองสุเอซถูกปิด ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือที่ไกลออกไปและอาจกระทบการค้าโลกได้”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (29 มีนาคม-2 เมษายน 64) เคลื่อนไหวอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 30.80-31.25 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยติดตามจะเป็นตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งหากตัวเลขเศรษฐกิจ 2 ตัวนี้ออกมาดีเกินคาดจะดันค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก

ขณะเดียวกัน ต้องติดตามตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจในฝั่งยุโรปด้วย หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนรายต่อวัน เป็น 2 แสนรายต่อวัน และหากมีการประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์เพิ่มเติม อาจจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ขยับอ่อนค่าได้ และภายในกลางเดือนเมษายนจะเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผลอาจทำให้เห็นเงินไหลออกได้

โดยตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 22-26 มี.ค.64 พบว่า นักลงทุนเทขายตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,700 ล้านบาท และตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 350 ล้านบาท ส่งผลภาพรวมเป็นการขายสุทธิราว 2,350 ล้านบาท ซึ่งในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากมีนักลงทุนขายพันธบัตร และบริษัทญี่ปุ่นปิดปีงบประมาณ ทำให้ดอลลาร์-บาทขยับอ่อนค่า

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 28 มีนาคม 2564

‘บิ๊กป้อม’ ส่งทีมงานลงพื้นที่ ช่วย ปชช.มีน้ำกิน-ใช้ ทำเกษตร เพียงพอตลอดหน้าแล้ง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ ประธานคณะอนุกรรมการติดตามการบริหารน้ำภาคกลางและที่ปรึกษาคณะทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องด้วยในฤดูแล้งปีนี้ ได้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรองรับการแก้ปัญหาในฤดูแล้ง และสั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เร่งรัดแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร และการอุตสาหกรรมอย่างพอเพียงตลอดปี โดยรองนายกฯได้มอบหมายให้ตนเดินทางมาตรวจเยี่ยมและเป็นประธานการประชุมติดตามงานของบึงบอระเพ็ด ณ ห้องประชุมเสือพ่นน้ำ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ที่ปรึกษา สทนช., ผอ.สทนช.ภาค 2 รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังผลการดำเนินงานตามนโยบายและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามแผนหลัก 6 ด้าน ของการฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ไปดูการดำเนินงานการขุดลอกบึงและคลองดักตะกอนของกรมประมงและกรมชลประทาน พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและให้แนวทางการแก้ไขปัญหา

การลงพื้นที่ตรวจราชการ การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติบึงบอระเพ็ด โดยมีผลการติดตามแผนปฏิบัติการโครงการเร่งด่วน 9 โครงการ ปี’63-65 อาทิ แผนงานแก้ปัญหาบุกรุกและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตรวจสอบการใช้ที่ดินในพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” ดำเนินการแล้วเสร็จ การบริหารจัดการน้ำ ปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในบึง อยู่ระหว่างปรับเกณฑ์บริหารจัดการ การปรับปฏิทินปลูกพืช อยู่ระหว่างการวางแผนเป็นกรณีต่างๆ แผนงานแก้ปัญหาตะกอนตื้นเขินและเพิ่มปริมาณน้ำ มีการดำเนินการ ขุดลอกตะกอนดิน บึงบอระเพ็ด 6 ล้าน ลบ.ม. ขุดลอกคลองดักตะกอนขอบบึงฯ ขุดบึงบอระเพ็ดทำวังปลา (Deep Pool) 6 ล้าน ลบ.ม และอื่นๆ

นอกจากนี้ เมื่อวันนี้ 22 มีนาคมที่ผ่านมา พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ หัวหน้าคณะทำงานกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาคของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พร้อมด้วยนางสาวปภัสมน อัมราลิขิต ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตามโครงการพัฒนา​พื้นที่ต้นแบบการพัฒนา​คุณภาพ​ชีวิต​ตามหลักทฤษฎี​ใหม่​ ประยุกต์​สู่​ โคก​ หนอง​ นา​ โมเดล​ อำเภอนาหมื่น​ และโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในพื้นที่อำเภอนาน้อย​ ได้แก่​ โครงการขยายสระเก็บน้ำห้วยป่าไร่บ้านนา​ หมู่ 4 ตำบลสถาน​ อำเภอนาน้อย​ พร้อมพบประชาชนในพื้นที่ และได้ลงพื้นที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ โครงการก่อสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่งลำห้วยแม่ยางหลวง หมู่ 4 ตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง และพบปะประชาชนในพื้นที่ ตามสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีความห่วงใยในความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในช่วงฤดูแล้ง โดยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ดูแลเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนตลอดแล้งนี้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 28 มีนาคม 2564

พาณิชย์ ปรับแผนรองรับส่งสินค้าไปยุโรป-แอฟริกาเหนือ จากเหตุเรือขวางคลองสุเอซ

“จุรินทร์” สั่ง พาณิชย์ ติดตามประสานช่วยเหลือผู้ส่งออก เหตุเรือขวางคลองสุเอซ แนะปรับแผนรองรับส่งสินค้าไปยุโรป-แอฟริกาเหนือ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ติดตามการกู้เรือสินค้ากรณีเรือ Ever-Given ติดขวางคลองสุเอช เป็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ เสียหลักเกยตื้น ระหว่างนี้กำลังมีความพยายามเร่งกู้เรือเพื่อให้การเดินเรือสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดังนั้นระหว่างนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานงานกับผู้ส่งออก สายการเดินเรือ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศแล้วว่า หากการกู้เรือยืดเยื้อ จะแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ในการขนส่งสินค้า จากเดิมที่ผ่านคลองสุเอซไปยุโรป และภูมิภาคอื่น จะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางผ่านแหลมกูดโฮป ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ก่อนอ้อมไปยุโรป จะต้องใช้เวลามากขึ้นประมาณ 10 วันและค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน จะประสานงานกับผู้นำเข้าและส่งออก ขอขยายเวลาการส่งสินค้า เพราะติดปัญหาเรือขวางสุเอซ โดยให้สำนักงานส่งเสริมการค้าประจำประเทศอียิปต์เป็นตัวกลางในการประสานงาน เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องค่าขนส่งที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ มีการติดตามอย่างใกล้ชิดและประสานงาน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะหารือแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชนต่อไป

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุด้วยว่าเรื่อง กรณี เรือ Ever-Given ติดขวางคลองสุเอซ ปัญหาที่เห็นได้ชัดขณะนี้คือ ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้น เนื่องจากคลองสุเอซเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนราว 5-10% การขนส่งทั้งโลก รวมทั้งปริมาณการค้าราว 12% ของโลกที่ผ่านคลองสุเอซ

กระทรวงพาณิชย์ ประเมินผลในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกของไทยไปภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือโดยเฉพาะอียิปต์ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นของไทยและเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เบื้องต้นน่าจะส่งผลกระทบกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการส่งมอบในเดือนมี.ค. ที่จะเกิดการติดขัดและล่าช้าออกไป โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ปลาทูนากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวประมาณ 30% ของการส่งออกของไทยมาอียิปต์

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกในเดือนเม.ย. ของไทยที่จะส่งไปอียิปต์ น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก เนื่องจากผู้ซื้อชะลอคำสั่งซื้อออกไปเพื่อรอดูผลการเริ่มใช้งานระบบการแจ้งข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้า (Advance Cargo Information System: ACI) ที่รัฐบาลอียิปต์ประกาศเริ่มใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 64 ที่จะถึงนี้ เพราะหลายฝ่ายยังไม่แน่ใจเกี่ยวแนวทางการปฏิบัติและวิธีในการส่งเอกสารซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ส่งออก/ชิปปิ้งไทยที่จะต้องส่งเอกสารผ่านระบบ blockchain แทนการส่งผ่าน courier service ในรูปแบบเดิมๆ นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ขนส่งผ่านคลองสุเอซเพื่อส่งต่อไปภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้อเสนอแนะเพื่อรองรับการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจาก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้คอยติดตาม ประสานงานและแก้ไขปัญหาพร้อมรายงานความคืบหน้า

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 27 มีนาคม 2564

ส่งออกไทยร่วง ฉุดเงินบาทอ่อนค่า31.20บ./ดอล

ตัวเลขส่งออกอ่อนแอ ฉุดเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง 31.20 บาทต่อดอลลาร์อ่อนสุดรอบ 4 เดือนครึ่ง จากเงินดอลลาร์รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐ

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ ที่ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานเฟดและรมว.คลังสหรัฐ และจากข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.พ. ที่อ่อนแอ 

อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชียในภาพรวม โดยปิดตลาดเงินบาทวันที่ 26 มี.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 มี.ค.-2 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ก.พ.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถานการณ์โควิด-19 และประเด็นของเรื่องวัคซีนทั่วโลก รวมถึงทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐ

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 27 มีนาคม 2564

กระทรวงพลังงาน หนุนพลังงานชีวภาพ-เคมีชีวภาพ ดันภาคเกษตรโตคู่เศรษฐกิจไทยยั่งยืน

กระทรวงพลังงาน เดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทยโตยั่งยื่นผ่านอุตฯพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ ต้องโตยั่งยืนคู่ภาคการเกษตร รับความต้องการพลังงานชีวภาพโลกในอีก10ปีหน้าแตะ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว บรรยายหัวข้อ “BIOFUELS AND BIOCHEMICALS พลังงานขับเคลื่อน เศรษฐกิจใหม่ไทย” ในงานสัมมนาออนไลน์ 5NEW SCURVE Season2, 5 อุตสาหกรรมอนาคต EP.5 : อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี ชีวภาพ หัวข้อ "หลังงานแห่งอนาคต พลังแห่งเศรษฐกิจยั่งยืน ประเทศ ไทย" จัดโดย กลุ่มบางกอกโพสต์ หอการค้าไทย และ สำนักงานส่งเสริม (TCEB)

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ถือเป็นสอง อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยต่อยอดไปยังภาคการเกษตร และยังมีส่วนร่วมสนับสนุนทั้งด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงทาง พลังงานของประเทศ ไปพร้อมกัน

โดยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยเริ่มนำพลังงานเชื้อ เพลิงชีวภาพมาใช้ ส่งผลให้ลดการนำเข้าและการใช้พลังงานปิโตรเลียม ทำให้ต้นทุนในภาพรวมของห่วงโซ่อุปทานลดลงตามมา เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้กระทรวงพลังงาน มุ่งนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าว ยังสอดคล้องกับแนว โน้มโลก จากความต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ ละประเทศ และลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อไปยังเป้าหมายการปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์ (Waste Zero)

จากแนวโน้มดังกล่าว กระทรวงพลังงานเห็นความสำคัญ พร้อมหารือ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทาง การกำกับดูแลในภาพรวม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบรรเทา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เพื่อไปสู่เวทีระดับสากล โดย สหราชอาณาจักร และ ฮังการี เตรียมจัดขึ้นช่วงปลายปีนี้

โดยข้อสรุปเบื้องต้น ที่ต้องเร่งดำเนินการ ภายใต้ยุทธศาสตร์การปรับ สัดส่วนการใช้พลังงาน ทั้งด้านไฟฟ้า และ การขนส่ง โดยให้มีการวาง แผนใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยมีพลังงานชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงเพื่อ เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้อง กับการใช้วัสดุอุปกรณ์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"การใช้งานไฟฟ้า จะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีราคาต่ำลง ไปจน ถึงการการบริหารจัดการ จัดเก็บปริมาณพลังงานไฟฟ้า หรือ มีการนำ บิ๊กดาตา เข้ามาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจด้านต่างๆ เพื่อสร้างการ เปลี่ยนแปลงพลังงานทุกด้าน โดยมุ่งที่ความสะอาดมากขึ้น ซึ่งทั้งหมด จะต่อยอดมาจากภาคการเกษตรของประเทศ" นายสมภพ กล่าว

ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ประเมินถึงการใช้พลังงานนานาประเทศ พบว่ามีการใช้ พลังงานลดลง ส่วนหนึ่งจากการเข้ามาทดแทนของพลังงานเชื้อเพลอง ชีวภาพ และคาดการณ์ว่า ในอีก10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030 จะมีการ ใช้พลังงานชีวภาพเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนถึงใน อนาคตเป็นอย่างดีว่า โลกจะหันมาพัฒนาพลังงานสะอาดมากขึ้น

ทั้งนี้สอดคล้องกับแผงานเทคโนโลยีชีวภาพของกระทรวงพลังงาน ในอีก 10ปีข้างหน้าเช่นกัน โดยวางเป้าหมายให้ใการใช้พลังงานไบโอดีเซล อยู่ที่ 8 ล้านลิตรต่อวัน และ พลังงานเอทานอล 2.5ล้านลิตรต่อวัน ควบคู่ ไปกับการใช้พลังงานปิโตรเลียม เพื่อทำให้ต้นทุนลดลงตามมา และลด การนำเข้า ในที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังเข้ามากำกับดูแลนโยบายด้าน ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ ในระยะยาว เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งถือเป็น Backbone หลักที่ต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจุดเด่น คือการต่อยอดภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ ได้อย่างชัดเจน และยังเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมหลักเป้าหมาย ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ขณะนี้รัฐบาลได้รับเรื่องไปดูแลเพื่อพัฒนาต่อไปยังพื้นที่ดังกล่าว

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 27 มีนาคม 2564

กลุ่ม KTIS ช่วยชาวไร่สู้ภัยแล้งทำงานเชิงรุก-เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ

กลุ่ม KTIS ส่งทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งแต่เนิ่นๆ เน้นทำงานเชิงรุก ทั้งใช้เทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่สำรวจพื้นที่ของชาวไร่อ้อยคู่สัญญาอย่างละเอียด เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ชี้บางพื้นที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่บางพื้นที่ไม่มี การแก้ไขปัญหาย่อมต่างกัน ยืนยันชาวไร่อ้อยต้องมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS จึงจะมั่นคง

นายณัฎฐปัญญ์ศิริวิริยะกุลรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจรเปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และมีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกในปีนี้ ทางกลุ่ม KTIS จึงต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยคู่สัญญาให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคเรื่องนี้ไปให้ได้ และสามารถสร้างผลผลิตอ้อยที่เพียงพอสำหรับเลี้ยงชีพของชาวไร่อ้อยและครอบครัวได้อย่างมั่นคง

“กลุ่ม KTIS เราให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อยเป็นอย่างมาก ตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจของผู้ก่อตั้งที่ว่า‘ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง’ เพราะเราเชื่อว่ากลุ่ม KTISจะเจริญเติบโตอย่างมั่นคงได้ จะต้องมาจากการที่ชาวไร่คู่สัญญาของกลุ่มKTIS ทำอ้อยแล้วประสบความสำเร็จ ดังนั้น หากเราเห็นว่าจะเกิดปัญหาขึ้นกับชาวไร่เราก็จะต้องหาทางช่วยเหลือทุกรูปแบบเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อให้ชาวไร่ประสบความสำเร็จ”นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาภัยแล้งนั้น ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยีและคน โดยการสำรวจพื้นที่ไร่อ้อยผ่านดาวเทียมและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ประกอบกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ เพื่อดูว่าพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือมีการขุดบ่อไว้แล้ว และแหล่งน้ำเหล่านั้นมีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะใช้ได้นานแค่ไหน เพื่อจะได้วางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ที่ต้องทุ่มทรัพยากรในการช่วยเหลือมากกว่าก็คือ ไร่อ้อยที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ จะต้องวางแผนว่าจะทำการเดินท่อขนส่งน้ำหรือมีรถลำเลียงน้ำจากที่ไหนเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เหล่านั้น

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวด้วยว่า การต่อสู้กับปัญหาภัยแล้งที่กลุ่ม KTIS ทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือ การให้เงินเกี๊ยว หรือเงินค่าอ้อยล่วงหน้า การขุดลอกคูคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ไร่อ้อย การจัดสรรน้ำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างประหยัดและตรงจุด รวมถึงการขุดบ่อเพิ่มเติมเพื่อกักเก็บน้ำ ดังนั้น จึงมั่นใจว่ากลุ่ม KTIS จะยังคงรักษาส่วนแบ่งของปริมาณผลผลิตอ้อยอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้

จาก https://www.banmuang.co.th   วันที่ 26 มีนาคม 2564

BRR รุกขยายการลงทุนกลุ่มประเทศ CLMV

"น้ำตาลบุรีรัมย์" ขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV จับมือพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างราช-ลาว เซอร์วิส บริษัทย่อยของ บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) และ Siphandone Bolaven Development (SPD) ตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว กำลังการผลิต 80,000-100,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น คาดเริ่มขายตามสัญญาไตรมาส 1/2565

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ BRR เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้เข้าลงทุนในบริษัท บุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด (BGE) โดยบริษัทดังกล่าวจะขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet ใน สปป.ลาว เนื่องจากโอกาสการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวจากปัจจัยการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อลดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ทั้งนี้ บริษัท บุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด (BGE) ได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว และ Siphandone Bolaven Development Company Limited (SPD) ร่วมกันจัดตั้งบริษัท SIPHANDONE RATCH-LAO Company Limited ในสปป.ลาว ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านกีบ หรือประมาณ 1.7 ล้านบาท โดย BGE ถือหุ้น 65% ส่วนพันธมิตรทั้ง 2 รายถือหุ้นในสัดส่วน 25% และ 10% ตามลำดับ

สำหรับโครงการภายใต้บริษัทร่วมทุนในครั้งนี้ จะลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง โดยมีกำลังการผลิต 80,000-100,000 ตันต่อปี ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว โดยใช้พืชโตเร็วและพืชอื่นๆ ที่เหมาะสมในพื้นที่ เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งที่มีคุณสมบัติค่าความชื้นต่ำและค่าความร้อนสูง สะดวกต่อการขนส่งและจัดเก็บสต๊อกวัตถุดิบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2564 และจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2565

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวจะเป็นฐานการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพื่อส่งออกให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิต รวมถึงเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล สอดรับนโยบายรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผลักดันให้ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลลง อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายการขยายการลงทุนของกลุ่ม BRR และก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ให้แก่ประชาชนลาวในแขวงจำปาสัก ซึ่งจะส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทฯ อีกทางหนึ่ง

“การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน SIPHANDONE RATCH-LAO ในครั้งนี้ เป็นการผสมผสานประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 ฝ่าย ช่วยสร้างความเข้มแข็งในภาคการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการสูง ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเรามีเป้าหมายจะจำหน่ายไปยังลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบสัญญาซื้อขายระยะยาวเป็นหลัก” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 26 มีนาคม 2564

ไทย – ตุรกี เร่งเจรจา FTA  เล็งปิดดีลปีหน้า

ไทย – ตุรกี นัดประชุม FTA รอบที่ 7 ผ่านระบบทางไกล เร่งเปิดตลาดการค้าสินค้า การลดและยกเลิกการเก็บภาษี และการจัดทำข้อบทที่คงเหลือ ตั้งเป้าปิดดีลการเจรจาภายในปี 2565 หากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ คาดช่วยให้การค้าสองฝ่ายขยายตัว 2,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ 

  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตุรกีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย – ตุรกี รอบที่ 7 ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. – 2 เม.ย. 2564  ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยการประชุมครั้งนี้ จะเน้นการหารือเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากร และการเจรจาจัดทำข้อบทเอฟทีเอต่อเนื่องจากรอบที่ผ่านมา เพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายในปี 2565

ทั้งนี้ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอไทย – ตุรกี มาโดยตลอด แม้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 หัวหน้าคณะเจรจาทั้งสองฝ่ายยังได้หารือผ่านระบบทางไกลเป็นระยะ เพื่อปรับแผนการเจรจาให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ จะช่วยให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น

โดยตุรกีเป็นตลาดสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจการค้า และยังมีความตกลงสหภาพศุลกากรกับอียู ซึ่งถือเป็นความตกลงที่มีความเข้มข้นทางเศรษฐกิจการค้า อีกทั้งยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ ซึ่งเป็นประตูสู่ 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง แอฟริกาตอนเหนือ สหภาพยุโรป และยุโรปตะวันออกทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง สำหรับปี 2563 การค้าระหว่างไทย-ตุรกี มีมูลค่า 1,339 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้ามูลค่า 388 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องประดับอัญมณี

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 มีนาคม 2564

เอกชนหนุนรัฐขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ดันฮับภูมิภาค

ไทยพร้อมผู้นำเชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ เร่งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ตั้งรับเทรนด์ลดใช้น้ำมันในอนาคต

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ ผู้ประกอบการแสดงสินค้า...อุตสาหกรรม เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ในหัวข้อเสวนา เรื่อง “พลังงานแห่งอนาคต พลังแห่งเศรษฐกิจยั่งยืน ประเทศไทย” ว่าไทยมีความพร้อมในการผลักดันอุตสาหกรรมเชื้อ เพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพให้มีการเติบโต เนื่องจากมีศักยภาพตลอดซัพพลายเชน เริ่มตั้งแต่ วัตถุดิบ มีพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน อ้อยและมันสำปะหลัง มีโรงงาน ผลิตเอทานอล และบี100 ที่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ และมีตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 3 ของโลก ขณะเดียวกันยังมีความพร้อมด้าน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ แม้ไทยมีความพร้อมทุกๆด้าน แต่จะต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องปริมาณความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล (บี100)ให้มากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการใช้ต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากกำลังการผลิตยังเกินความต้องการอยู่มาก ขณะที่ไม่สามารถส่ง ออกในส่วนที่เกินออกไปได้ อย่างกรณีของเอทานอล

อย่างไรก็ตามขีดความสามารถของประเทศไทย ในด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพหากเทียบในประเทศเพื่อนบ้านแล้วมีความใกล้เคียงกันในเรื่องพื้นที่ เพาะปลูก แต่เสียเปรียบในเรื่องผลผลิตต่อไร่ เพราะไทยปลูกโดยเกษตรกรรายย่อยกระจัดกระจายแต่ละพื้นที่ และห่างไกลจากโรงกลั่นน้ำมันทำให้มีปัญหาในเรื่องการ ขนส่ง ขณะที่ประเทศอื่นมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่มากกว่า

ทั้งนี้หากมองทิศทางของเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่งจะเติบโตได้ในระยะสั้นจากการสนับสนุนของภาครัฐ แต่ในระยะยาวเมื่อแนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้า(EV )หรือ อีวี เข้ามามีบทบาทจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันและเชื้อเพลิงชีวภาพลดลงได้ มีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะถึงจุดสูงสุด ซึ่งจะทำให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลดลงตามไปด้วย หลังจากนั้นการใช้น้ำมันจะเริ่มลดลง หรือหายไปเกือบครึ่ง เว้นแต่ราคาน้ำมันจะมีราคาที่ต่ำมาก ดังนั้นจะต้องเตรี ยมความพร้อมกับเทรนด์ของอีวีที่จะเข้ามาด้วย

"ขณะนี้การผลิตบี100 และเอทานอลมากกว่าความต้องการอยู่แล้ว หากจะส่งออกก็ต้องคำนึงการแข่งขันในตลาดด้วย ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องมาบูรณาการร่วมกันว่าจะ บริหารจัดการกันอย่างไร โดยเฉพาะการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของเชื้อเพลิงชีวภาพและผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ มีโอกาสไปได้ไกล มากว่า 10 เท่า ซึ่งรัฐต้องเข้ามา ร่วมสนับสนุนต่อเนื่อง และเห็นด้วยกับการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน"

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันของโลกจะถึงจุดสูงสุดในปี 2029-2030 หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยลดลง ดังนั้นบริษัทด้านพลังงานทุกแห่งจะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี แต่ถ้ามองในประเทศไทยแล้ว การใช้บี100 และเอทานอลยังมีโอกาสเติบโตได้ เมื่อพิจารณาจากการใช้บี100 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ส่วนเอทานอลปีละ 8% สิ่งสำคัญต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าต้องการส่งเสริมการใช้อย่างไร เมื่อกำลังการผลิตยังสูงกว่าความต้องการใช้

ทั้งนี้การที่รัฐประกาศนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งบางจากได้ปรับตัวกับเรื่องนี้มานานแล้ว โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวกับฟอสซิล ในอัตรา 50 ต่อ 50 ในอนาคต ซึ่งธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มของนำสินค้ามาสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ

ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตเอทานอลและบี100 ในอันดับต้นๆ ของโลก โดยไทยส่งออกมันฯอันดับ1 และส่งออกอ้อยอันดับ2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเรามีวัตถุดิบที่เหลือเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าหรือต่อยอดสินค้า และผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านเชื้อเพลิงชีวภาพได้ เพียงแต่รัฐกับเอกชนต้องมีประสานงานเชื่อมโยงกัน ช่วยทำให้สินค้านี้มีศักยภาพมากขึ้น "ที่ผ่านมากลุ่มบางจากทำเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพมาโดยตลอด ขณะที่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุน ผมเชื่อว่าถ้าเอสอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็เป็นทางเลือกทีดี เราสามารถเป็นเบอร์1ด้านนี้ได้แน่นอน "

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มองเห็นโอกาสในการจัดงานแสดงสินค้าด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ เพราะ อุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ทำให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ประกอบการดังนั้นพยายามนำเสนอนโยบาย ภาครัฐด้านพลังงานทดแทนเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการทั่วโลกด้านชีวภาพเข้ามาจัดงานแสดงสินค้าที่ไทย เพื่อสร้างเน็ตเวิร์ตสร้างโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่ง ขัน

ทั้งนี้ที่ผ่านมารายได้ของบริษัทมาจากต่างประเทศ ในทุกอุตสาหกรรมที่มีการจัดงาน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวและนำดิจิตอลเทคโนโลยี แพลตฟอร์มเข้ามาใช้ในงานแสดงสินค้า ข้อดีคือทำให้เราได้เจอฐานข้อมูลใหม่ ผู้ซื้อใหม่ๆ โดยหลังจากนี้ไปการจัดงานแสดงสินค้าจะเป็นรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Conference) และแบบผสมผสาน (Hybrid Conference) ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาทักษะของการนำเทคโนโลยีมาใช้ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการตลาดกับลูกค้าให้ มากขึ้น อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าไทยสามารถเป็นฮับในการด้านเชื้อเพลิงชีวภาพไทย ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมในเรื่องนี้ต่อเนื่อง

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 26 มีนาคม 2564

คิกออฟ “องค์กรผู้ใช้น้ำ” สทนช.ชูบูรณาการ “จัดการน้ำ”

น้ำ

เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดให้ขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำทั่วประเทศครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 1 เมษายน 2563 ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เพื่อบูรณาการการทำงานขับเคลื่อนภารกิจด้านน้ำ

โดยผ่านกลไก “องค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ระดับชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ระดับลุ่มน้ำ มีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำที่ได้รับเลือกเป็นประธาน และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ

“องค์กรผู้ใช้น้ำ” จะเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ใช้น้ำในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน จดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำถือว่าสำคัญมากกับการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ

สทนช.ได้จัดเสวนา “องค์กรผู้ใช้น้ำ” สร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้จริงหรือกับการแจ้งเกิดของ “องค์กรผู้ใช้น้ำ” ครั้งแรกของประเทศ โดยมีภาคเกษตร อุตสาหกรรมพาณิชย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

ขอเวลา 2 เดือน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศที่ผ่านมา เป็นการบริหารทรัพยากรน้ำตามภารกิจและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ จึงเป็นอุปสรรคต่อการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ

“การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำจะเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมาก”

โดยกระบวนการขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำจะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 2 เดือน หรือประมาณเดือนมิถุนายน 2564

เกณฑ์องค์กรผู้ใช้น้ำ

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำต่อ สทนช.ในฐานะนายทะเบียน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และสามารถยื่นระบบออนไลน์และยื่นเอกสารด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จากนั้นจะมีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำที่มีคุณภาพเป็นกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเองได้

สำหรับลุ่มน้ำ 1 ลุ่มน้ำ ต้องมี 9 คน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านี้ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้แทน กนช.ด้วย

อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้ใช้น้ำถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยกฎหมายได้กำหนดวัตถุประสงค์ กรอบการดำเนินงาน หน้าที่ ซึ่งจะไม่ได้ทับซ้อนกับองค์กรผู้ใช้น้ำหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานอื่น เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานและได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำกับกรมชลประทานก็ยังเป็นกลุ่มผู้ใช้เดิมไม่มีความผิดแม้ไม่มาจดทะเบียนกับ สทนช. ส่วนการเลิกองค์กรผู้ใช้น้ำสามารถเลิกได้ตามกฎหมาย

เกษตรกร-เอกชนขอร่วม

นางบุษบงก์ ชาวกัณหา คณะกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้น้ำค่อนข้างไม่มีความสมดุล การใช้น้ำเป็นไปตามนโยบายพืชเกษตร ซึ่งยังขาดความชัดเจน และเกษตรกรขาดการมีส่วนร่วม และอำนาจการตัดสินใจ

“การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ หน่วยงานราชการ กับภาคประชาสังคม ภาคประชาชนยังมององค์กรผู้ใช้น้ำที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ในนิยามต่างกัน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่สุด น้ำควรถูกแบ่งสรรอย่างไร ทุกภาคส่วนต้องมองการใช้น้ำเป็นหุ้นส่วนกันภาคไหนขาดก็ส่งภาคนั้นไปเติม และที่สำคัญต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งการใช้น้ำก็ต่างกัน ภาครัฐต้องคำนึงถึงทุกมิติเพื่อการบริหารที่ดี”

ด้านนายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการบริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคพาณิชยกรรม กล่าวว่า ขอให้ สทนช.เปิดโอกาสภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการหารือ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอ เเละเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ป้องกันปัญหาด้านข้อมูลเช่นที่ผ่านมา ทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรไม่สามารถหาข้อมูลที่เป็นเอกภาพจากหน่วยงานใด มองว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดน้ำแต่เราขาดคนเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำมีน้อยกว่าปริมาณฝน

นายวิโรจน์ เลิศสลัก ผู้จัดการโรงงาน บริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ (BST) ตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ควรจะต้องสื่อสารกันให้ชัดเจน เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำ ภาครัฐควรมองระยะยาวในอนาคต หากต้องมีการขยายอุตสาหกรรมโรงงานมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำมากขึ้นจะรวบรวมอย่างไร ยังเป็นคำถามที่ได้รับจากสมาชิกภาคอุตสาหกรรม

“เราใช้น้ำอยู่ภายใต้การนิคมอุตสาหกรรมฯ ช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาโจทย์คือต้องมีวอร์รูม ได้แก่ กรมชลประทานอีสท์วอเตอร์ การนิคมฯ เอกชนลดการใช้น้ำให้ได้ 10% หลายโรงงานในนิคมลดกำลังการผลิต เมื่อได้รับข้อมูลนี้มาจึงมีการวางแผน”

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 26 มีนาคม 2564

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2 ส่งออกไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ทั้งปียังมองขยายตัว4% ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ยังติดลบ 2.59% แต่มูลค่าพลิกกลับมาแตะ2หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 1.16%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยจากนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 2 ของปีและจะเติบโตมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2564 พร้อมกันนี้  เป้าหมายการส่งออกยังคงมองที่ 4% ซึ่งหากจะส่งออกได้ตามเป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   สินค้าเด่นที่จะดันการส่งออกไทยโต  เช่น  ถุงมือยาง  สินค้าอิเล็กทรอนิกส์  มันสำปะหลัง  อาหารสัตว์  ผลไม้  เป็นต้น

โดย มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.59% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมามีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่  2.87% สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจดีขึ้น“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.99% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทำให้ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบที่ 1.16% การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ 6.77% ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก มาจากภาวะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น  ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2  ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

“พาณิชย์”มั่นใจไตรมาส2 ส่งออกไทยฟื้นตามศก.โลก

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก 1.การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น 2. แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 3.ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น แตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ 4. ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ 4 % 2.จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (6.64%) สินค้านิวนอร์มอล ( 6.81%) อุตสาหกรรมหนัก (3.76%) แฟชั่น (2.36%) เป็นต้น 3. จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลกสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 46.6% ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 42.9% ยางพารา เพิ่ม 22.9% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 20.7% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 3.4% แต่น้ำตาลทราย ลด 35.5% อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ลด 10.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลด 7.6% ข้าว ลด 4.9%  ทางด้านตลาดส่งออก มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยตลาดหลัก เพิ่ม 10.1% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 6.5% สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ เพิ่ม 0.2% ตลาดศักยภาพสูง ลด 5.2% เช่น อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลด 17.3% CLMV ลด 4.2% ฮ่องกง ลด 36.7% ไต้หวัน ลด 2.5% แต่จีน เพิ่ม 15.7% อินเดีย เพิ่ม 8.9% เกาหลีใต้ เพิ่ม 10.9% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 7.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 18.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 16.3% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14% แคนาดา เพิ่ม 0.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 9.9% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 2.2% และตลาดอื่นๆ ลด 87.5% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 93%

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 มีนาคม 2564

ไทย-ปากีสถาน นัดถกรอบพิเศษ  เร่งเดินหน้าเจรจา FTA

ไทย-ปากีสถาน จัดประชุมทางไกลรอบพิเศษ กำหนดแผนการเจรจา FTA ปี 2564 เร่งเดินหน้าสรุปประเด็นคงค้าง ทั้งการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตั้งเป้า  หาข้อสรุปการเจรจาโดยเร็วที่สุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ได้ร่วมประชุมกับนายเนามัน อัสลาม (Mr. Nauman Aslam) รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ของปากีสถาน ผ่านระบบทางไกล ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อติดตามสถานะการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ปากีสถาน ที่ค้างอยู่ ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดแผนการเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ในปี 2564 โดยให้จัดประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย ในช่วงเดือน พ.ค. - ธ.ค. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้าง โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ให้คืบหน้าและหาข้อสรุปได้โดยเร็วที่สุด แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ปากีสถานเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคนสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยประชากรกว่า 30 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย จึงถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับจีนภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) อาทิ ถนน ทางยกระดับ ท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยสู่เอเชียกลางได้ไทย-ปากีสถาน นัดถกรอบพิเศษ  เร่งเดินหน้าเจรจา FTA

ทั้งนี้ ในปี 2563 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 39 ของไทย และอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย การค้าระหว่างไทย-ปากีสถาน มีมูลค่า 1,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปปากีสถานมูลค่า 980.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยนำเข้าจากปากีสถานมูลค่า 127.56 ล้านดอลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่น้ำอัดลม และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 มีนาคม 2564

ส่งออก ก.พ. 64 หดตัว 2.59% มั่นใจไตรมาส 2 ฟื้น

ส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ หดตัว 2.59% มั่นจากไตรมาส 2 ดีขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น การแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทั้งปี ยังมองส่งออกที่ 4%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.59% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) กลับมามีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 2.87% สะท้อนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจดีขึ้น

การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.99% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวม 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ 1.16% การนำเข้า มีมูลค่า 40,120.73 ขยายตัวที่ 6.77% ขาดดุล 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก มาจากภาวะฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี

นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 5.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% มีปัจจัยสำคัญจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในสหรัฐฯ และส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การฟื้นตัวของภาคการผลิตส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มสูงขึ้น

สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบสามปี นอกจากนี้ องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 5.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% มีปัจจัยสำคัญจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในสหรัฐฯ และส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโลก

“การส่งออกไทยจากนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะขยายตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 2 ของปีและจะเติบโตมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2564 พร้อมกันนี้ เป้าหมายการส่งออกยังคงมองที่ 4% ซึ่งหากจะส่งออกได้ตามเป้าหมายการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,080 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเด่นที่จะดันการส่งออกไทยโต เช่น ถุงมือยาง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ ผลไม้ เป็นต้น”

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยระยะต่อไปคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในหลายภูมิภาค ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสูงขึ้น (2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น แตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงไตรมาสแรก

สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้วางเป้าหมายการส่งออก 3 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 4 (2) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ร้อยละ 6.64) สินค้านิวนอร์มอล (ร้อยละ 6.81) อุตสาหกรรมหนัก (ร้อยละ 3.76) แฟชั่น (ร้อยละ 2.36) เป็นต้น (3) จัดกิจกรรมร่วมกับแพลตฟอร์มพันธมิตรออนไลน์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน และจีน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 25 มีนาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดส่งตัวที่ระดับ 31.01บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%ขณะแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แนะนำจับตาทิศทางของตลาดทุนมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 31.01 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.90-31.10 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าความผันผวนในตลาดการเงินกลับปรับตัวสูงขึ้นในคืนที่ผ่านมา ฝั่งสหรัฐความเชื่อมั่นเรื่องเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวกลับมากดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 0.55% ขณะที่ฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX 600 ก็ย่อตัว 0.06% เนื่องจากตลาดขายหุ้นเยอรมันจากความกังวลเรื่องกลับไปล็อคดาวน์ แต่มีหุ้นในฝรั่งเศส สเปน และอิตาลีปรับตัวขึ้น ดัชนีโดยรวมจึงไม่ลดลงมาก

ตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) กดดันให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลงอีก 2bps มาที่ระดับ 1.62% ขณะที่ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว 0.3% โดยมีปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงมากที่สุด เมื่อเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ในสหราชอาณาจักรรายงานต่ำกว่าคาด ส่วนในฝั่งสินทรัพย์ทางเลือกภาพตลาดก็บวกสลับลบเช่นกัน ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 60.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้งเนื่องจากเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เข้าไปติดขวางคลองสุเอซ  แต่ราคาทองคำยังคงทรงตัวที่ระดับ 1,734 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่บิทคอยน์กลับร่วงลงมาถึงระดับ 52,000 ดอลลาร์ตามหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่พักฐานด้านเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 3.0% หมายความว่ากนง.ไม่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้า ขณะเดียวกันแรงซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตลาดจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในระยะถัดไป แนะนำจับตาทิศทางของตลาดทุนมากขึ้น มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐที่อยู่ในช่วงปรับฐาน และยีลด์ยังคงเป็นขาขึ้น ส่งผลลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมและเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (25 มี.ค.) ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปรับตัวอยู่ที่ 31.01-31.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้สิ้นเดือน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และรมว.คลังสหรัฐฯ ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากในปีนี้ สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.75-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 มีนาคม 2564

รายงานพิเศษ : ชวนเกษตรกรใช้บริการ‘คลินิกพืช’ วินิจฉัยโรค-แก้ปัญหาศัตรูพืชตรงจุด

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาเรื่องการเข้าทำลายของศัตรูพืช ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำโครงการคลินิกพืช ปั้นนักส่งเสริมเป็น “หมอพืช”เพื่อให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้นและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องประสบในการผลิตพืชคือ การเข้าทำลายของศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตการเกษตรเกิดความเสียหาย พืชอ่อนแอ ผลผลิตลดลง หรือผลผลิตมักไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจัดตั้ง “คลินิกพืช” เพื่อให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้นให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาการผิดปกติ ยึดการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรและบริบทของพื้นที่ โดยมีกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการด้านการอารักขาพืชแก่เกษตรกรในพื้นที่ ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเป็นอันดับแรก เพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำการปฏิบัติและสนับสนุนปัจจัยการควบคุมศัตรูพืชที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกรต่อไป

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยอธิบายเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรโดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานอารักขาพืชในระดับจังหวัดและอำเภอ ให้สามารถปฏิบัติงานให้บริการคลินิกพืชในระดับพื้นที่ได้ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรในการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรให้สามารถผลิตและจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด รวมถึงสามารถให้บริการทางการเกษตรตามสภาพปัญหาและความต้องการของเกษตรกรได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึงทุกพื้นที่ได้ต่อไป

ทั้งนี้ หมอพืช (Plant Doctor) คือเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมการเป็นหมอพืช และการดำเนินงานคลินิกพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและการจัดการศัตรูพืช ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันการศึกษา หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการวินิจฉัยและการจัดการศัตรูพืชมีความรู้ ความสามารถ ในการวินิจฉัยอาการผิดปกติเบื้องต้นในระดับพื้นที่ และให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่ให้กับเกษตรกรได้ โดยมีสถานที่สำหรับให้บริการคลินิกพืช ได้แก่ 1. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จำนวน 9 ศูนย์ โดยจะเปิดให้บริการเป็นประจำทุกวัน 2. สำนักงานเกษตรจังหวัด จำนวน 77 ศูนย์ และสำนักงานเกษตรอำเภอ 882 ศูนย์ โดยจะเปิดให้บริการ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน 3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 1,764 ศูนย์ โดยจะเปิดให้บริการ อย่างน้อยเดือนละ 1 วัน ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาอาการผิดปกติของพืชให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องตรงตามสาเหตุ ช่วยให้เกษตรกร ลด ละ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เกินความจำเป็น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้มีอย่างคุณภาพ

“คลินิกพืช จะมีหมอพืชที่ได้รับการอบรม มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ เพราะกรมส่งเสริมการเกษตรมีการอบรมหมอพืชเป็นประจำ พร้อมให้คำแนะนำ ให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติ ของพืชเบื้องต้นให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ดังนั้นเกษตรกรที่มาใช้บริการ สามารถมั่นใจได้ว่า คลินิกพืชจะช่วยแก้ไขปัญหา และตอบข้อสงสัยให้แก่เกษตรกรที่เข้ามาใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว”นายรพีทัศน์ กล่าว

ด้านนายสว่าง อู่พันธุ์ เจ้าของศูนย์เรียนรู้วงษ์ทอง ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่เข้ามาใช้บริการคลินิกพืชกล่าวว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดให้บริการคลินิกพืช เพราะจะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้และได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคพืชได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดการใช้สารเคมีในการรักษา ป้องกันโรคพืชได้ นั่นหมายถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกรก็จะลดลงด้วย นอกจากนี้ คลินิกพืช ยังเป็นการให้บริการของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้สะดวกสบายขึ้น เพราะมีบริการถึงแหล่งชุมชนตามวันเวลานัดหมาย ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกลไปถึงสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดเพียงอย่างเดียวและในอนาคต หากจะขยายผล โดยเปิดอบรมให้กับเกษตรกรที่มีความพร้อมให้รู้จักการวินิจฉัยโรคพืชเบื้องต้นได้ ก็น่าจะช่วยให้การแก้ปัญหาโรคพืชของเกษตรกรเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 25 มีนาคม 2564

สศก.ฟันธง ปีนี้คาด จีดีพีเกษตรฯขยายตัว 1.7 - 2.7%

เลขา สศก.เผย จีดีพีเกษตรฟื้นตัว ไตรมาสแรก เติบโต 1.4% คาดทั้งปี ทุกสาขาขยายตัว 1.7 - 2.7%

วันที่ 24 มีนาคม 2564 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2564 (มกราคม - มีนาคม 2564) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยปัจจัยสำคัญมาจากฝนที่ตกสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่ม ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้ รวมถึงมาตรการ เยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  เช่น การส่งเสริมอาชีพเกษตร และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และ อ้อยโรงงาน เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับเกษตรกรมีการจัดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ขณะที่ มันสำปะหลัง และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสับปะรดโรงงานในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจ ให้เกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นสับปะรดดีขึ้น ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะสม มีปริมาณน้ำเพียงพอ และ ทุเรียนผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษา และมีการทำทุเรียนนอกฤดูมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้มีการติดดอกออกผลได้มากขึ้น รวมถึงพื้นที่ปลูกใหม่ ในปี 2559 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปี 2564 เป็นปีแรก ด้านพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2562 ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของต้น ทำให้มีการติดผลปาล์มน้อย และทะลายปาล์มน้ำหนักน้อย ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จึงลดลง 

สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 0.5 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิต ตามความต้องการบริโภคของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สาขาประมง หดตัวร้อยละ 7.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง ส่วนปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีทิศทางลดลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับลด พื้นที่การเลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกทั่วถึงทุกพื้นที่ในช่วงปลายปี 2563 จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยง ประกอบกับเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดใหญ่ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงเพื่อเพิ่มอัตราการรอด และเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์จึงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ในส่วนของการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน แม้ว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่น แต่ผู้ประกอบการได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลในการตัดอ้อยมากขึ้น โดยการจัดหารถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา และรังนก เพิ่มขึ้น โดยผลผลิต ไม้ยูคาลิปตัสยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขณะที่ผลผลิตไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชชนิดอื่น และรังนกยังมีความต้องการจากประเทศจีนและกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตถ่านไม้ลดลง เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิต ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว และคาดว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ ลานีญา ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดีทั้งในด้านการผลิตและการตลาด มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว “แม้การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรตลอดทั้งปี 2564 จะมีทิศทางที่ดี โดยมีการขยายตัวทุกสาขา การผลิต แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ทั้งการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบเตือนภัยด้านการเกษตร การส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy นอกจากนี้ ยังเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและหลักประกันความมั่นคงทางด้านรายได้ เช่น การประกันภัยพืชผล การทำเกษตรพันธสัญญา รวมไปถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำสูง และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้วยเช่นกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 มีนาคม 2564

'เฉลิมชัย' เดินหน้า 5 ยุทธศาสตร์เกษตร มอบ'ปริญญ์ขับเคลื่อน 'เกษตรสร้างสรรค์'

“เฉลิมชัย” เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เกษตร” มอบ “ปริญญ์” ขับเคลื่อน “เกษตรสร้างสรรค์” เพิ่มมูลค่าสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร จับมือพาณิชย์และสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เปิดตัวงานคาแรคเตอร์อาร์ต 27-28 มีนาคมนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (24 มี.ค.) ว่า ดร.เฉลิมชัย       ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เร่งปฏิรูปภาคเกษตรของไทยภายใต้ ”5ยุทธศาสตร์” โดยล่าสุด ได้มอบหมายให้นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ด้วยแนวทางเกษตรสร้างสรรค์แปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างแบรนด์คาแรคเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตรเป็นกลไกทำงาน มีนายณภัทร พรหมพฤกษ์ เป็นประธานคณะทำงานชุดดังกล่าว      โดยจะมีการจัดงาน ”คาแรคเตอร์อาร์ต" ในช่วง

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) แถลงว่า คณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตรได้ผนึกความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติในการสร้างตัวตนของแบรนด์สินค้าให้มีชีวิตชีวาและมีมูลค่าสูงขึ้น ผ่านการจัดงาน "CHANGE 2021: Visual Character Art" สร้างรายได้ สร้างธุรกิจ จากการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ใหม่ให้โดนใจผู้บริโภค ในวันที่ 27-28 มีนาคม 2564 ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4  TCDC กรุงเทพฯ ซึ่งมีนักออกแบบไทยให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 300 คน

โดยภายในงานจะมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรมเปิดโครงการด้วยแรงบันดาลใจ โดยปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร และอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

พร้อมพบการสัมมนาจากกูรูมากความสามารถด้านลิขสิทธิ์และความคิดสร้างสรรค์ นำโดย ณภัทร พรหมพฤกษ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตร ปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล อดีตผู้อำนวยการ สสว.

ดวงใจ คูห์ศรีวินิจ นายกสมาคม TCAP และพัชรินทร์ พฤกษ์พรรณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็ม เจเนอเรทส์ จำกัด ตัวแทนผู้จัดจำหน่าย Rilakkuma ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่นำระบบทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบแบรนด์คาแรคเตอร์มาใช้กับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศนำมาใช้จนประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรป และอเมริกา

ทั้งนี้ "5 ยุทธศาสตร์เกษตร" ประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0           

3.ยุทธศาสตร์“3’s” (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน

4.ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย”

5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 มีนาคม 2564

สทนช. ย้ำเกณฑ์เก็บค่าน้ำไม่หวังกำไร เป็นธรรมแก่ทุกภาคส่วน

สทนช. แจงร่างฯ กำหนดประเภทการใช้น้ำ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์สำหรับเก็บค่าน้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น ก่อนส่งต่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพิจารณาตามขั้นตอน ย้ำขอผู้ใช้น้ำมั่นใจในความเป็นธรรม

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เปิดเผยว่า กรณีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นการเก็บค่าใช้น้ำ ที่สทนช.อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์นั้น ต้องชี้แจงว่าไม่ใช่ภาษีน้ำ และ ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงหาผลกำไร แต่เป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ เพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายการลงทุนการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยจะมีการเก็บในอัตราที่แตกต่างกันตามประเภทของการใช้น้ำ

โดยปัจจุบัน สทนช. ได้มีการศึกษาพิจารณายกร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ มาตรา 41 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ร่างที่กำหนดดังกล่าว ยังต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดก่อนที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เป็นการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือ การเพาะปลูกในรอบแรกไม่มีค่าใช้จ่ายไม่ว่าจะปลูกจำนวนกี่ไร่ แต่สำหรับช่วงฤดูแล้งที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเริ่มเก็บเงินสำหรับผู้ใช้น้ำที่ใช้น้ำในที่ดินเกิน 66 ไร่   สำหรับการทำนาเกลือสมุทรจะเริ่มมีการเก็บเงินหากผู้ใช้น้ำถือครองที่ดินเกิน 142 ไร่

2 .  การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ คือ การใช้น้ำบาดาลต่อบ่อต้องไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วัน  หรือ การใช้น้ำจากแหล่งน้ำผิวดินทุกประเภทต้องไม่เกิน 30,000 ลบ.ม./วัน

การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อ่างกว้างขวาง โดยกำหนดการใช้น้ำที่มากกว่าประเภทที่ 2 กล่าวคืออัตราการใช้น้ำบาดาลต่อบ่อต้องมากกว่า 3,200 ลบ.ม./วัน และอัตราการใช้น้ำผิวดินต้องมากกว่า 30,000 ลบ.ม.ต่อวัน รวมถึงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำทุกกรณีไม่ว่าจะผันน้ำในปริมาณเท่าไหร่

“นอกจากนี้ ปัจจุบัน สทนช. ยังได้มีการจัดทำแบบสอบถามการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสอบถามเกี่ยวกับลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนด

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 24 มีนาคม 2564

ครม.เคาะงบ 3.6 แสนล้าน ลุยแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ

โฆษกรัฐบาล เผยมติครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ปีงบ 65 วงเงิน 366,538.8423 ล้านบาท 48,687 แผนงาน/โครงการ

วันที่ 23 มีนาคม 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าครม. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 366,538.8423 ล้านบาท รวม 48,687 แผนงาน/โครงการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ  20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)  ประกอบด้วย

แผนปฏิบัติการ ฯ จำแนกตามกระทรวง/หน่วยงาน รวม 9 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม  สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงพลังงาน รวมแผนส่วนภูมิภาค องค์กรส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัด วงเงิน 366,538.8423

และครอบคลุมแผนแม่บท ฯ ทั้ง 6 ด้าน คือ - การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค - การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต  - การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย   - การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ   - การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม- ป้องกันการพังทลายของดินการบริหารจัดการ  โดยแผนปฏิบัติการนี้ จะกระจายอยู่ในทุกภาค ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคใต้  ภาคตะวันออกและส่วนกลาง ด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไทยเตรียมวางจุดยืนสู่วิถีไร้คาร์บอน-ดันพลังงานทดแทนเพิ่ม ลุ้น 24 มี.ค.เคาะเป้าอีวีใหม่

ก.พลังงานเร่งจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ พร้อมบูรณาการทุกส่วนรับมือกระแสโลกร้อน ผนึกก.ทรัพย์ฯ เตรียมวางจุดยืนไทยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบเข้มข้นก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนในเวที COP26 ปลาย พ.ย.นี้ จ่อปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ทั้งโซลาร์ ชีวมวล ลม ฯลฯเพิ่มขึ้นจากแผน จับตาบอร์ดอีวีแห่งชาติ 24 มี.ค.เล็งกำหนดเป้าปีใดเลิกขายรถยนต์สันดาปภายในประเทศก้าวสู่อีวี

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (รวม 5 แผนพลังงาน) เพื่อตอบโจทย์กระแสโลกที่มุ่งลดภาวะโลกร้อน โดยการกำหนดจุดยืนของไทยถึงแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เข้มข้นเพื่อก้าวสู่การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ซึ่งท้ายสุดจะนำไปสู่การปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในแผนให้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศ 100% เพื่อตอบโจทย์ทิศทางของโลก คาดว่าแผนพลังงานแห่งชาติจะวางกรอบหลักๆ เสร็จเพื่อให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเร็วๆ นี้ จากนั้นจะนำมาสู่การลงรายละเอียดและเป็นแผนสมบูรณ์ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2565-2569

“แผนพลังงานแห่งชาติจะรวม 5 แผนพลังงานที่มีอยู่ คือ PDP, AEDP EEP, Gas Plan และ Oil Plan โจทย์ใหญ่ของแผนไทยต้องวางจุดยืนเรื่องสังคมไร้คาร์บอนเพราะกติกาโลกกำลังรุมเร้า จีนประกาศคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ปี 2050 ไทยหนีไม่พ้น ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วที่จะร่วมกำหนดเป้าหมายปีที่ไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ (Net Zero Emission Year) ก่อนที่จะมีการประชุมเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 ระหว่าง 1-12 พ.ย. 64” นายกวินกล่าว

ทั้งนี้ หากไทยไม่ประกาศจุดยืนดังกล่าวอาจกระทบต่อการส่งออกและการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ (FDI) เพราะมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มกลายเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษี (NTB) เช่นล่าสุดสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน หรือ CBAM กับสินค้าบางประเภทที่ลดคาร์บอนต่ำกว่าอียูซึ่งจะใช้ปี 2566 เหล่านี้ทำให้ไทยต้องเร่งหาพลังงานหมุนเวียนให้พอกับความต้องการของนักลงทุนที่จะสูงขึ้น ซึ่งเวลานี้นักลงทุนเริ่มสอบถามเข้ามามากและต้องการพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องทบทวนศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยในการเพิ่มเข้าระบบให้สูงขึ้นจากแผนเดิม ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม และแม้กระทั่งไฮโดรเจน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะไม่ปิดกั้น รวมถึงการลงทุนระบบส่งอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) รองรับเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การมาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และเทคโนโลยี 5G ก็จะทำให้การใช้ไฟสูงขึ้นมากสำรองไฟจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม

สำหรับอีวีจะกระทบทุกส่วนทั้งอุตสาหกรรม พลังงาน ภาคขนส่ง การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานจะประชุม 24 มีนาคมนี้ จึงต้องเร่งสรุปภาพให้เห็นชัดเจนว่าปีใดไทยจะหยุดขายรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในประเทศเพื่อไปสู่อีวี 100% เนื่องจากขณะนี้ไทยเป็นศูนย์กลาง (HUB) การส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะรถปิกอัพ ดังนั้นจึงเป็นการส่งสัญญาณรักษาฐานผลิตเดิมและค่อยๆ ปรับเพิ่มไปสู่อีวีเพื่อไปสู่ฮับอีวีในอนาคต ซึ่งมาตรการส่งเสริมที่ผ่านมามีมากแล้วแต่อาจจะยังไม่ได้บูรณาการเท่าที่ควร

“เราส่งออกรถยนต์เกือบครึ่ง เราจึงจะไปประกาศยกเลิกทั้งหมดไม่ได้เลย มองตลาดในประเทศที่จะไปสู่อีวี และการมาของอีวียังกระทบต่อการใช้น้ำมันที่ลดลงซึ่งทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เป็นรายได้คลังจะลดไปด้วย ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิด B10 จะปรับไปสู่น้ำมันเจ็ตได้หรือไม่เพื่อหาดีมานด์ใหม่ โรงกลั่นและปิโตรเคมีเราจึงวางแผนไปสู่ปิโตรเคมีเฟส 4 นี่คือที่มา และถ้าถามโรงไฟฟ้าถ่านหินควรเกิดไหมส่วนตัวผมเห็นว่าควรยกเลิกนะ ส่วนนิวเคลียร์มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เป็นเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กตอบโจทย์เรื่องพลังงานสะอาด ผมเห็นว่ายังควรคงอยู่ไว้ในแผน แต่รายละเอียดก็ต้องรอคิดว่ากรอบหลักๆ จะเห็นได้ใน 1-2 เดือนนี้” นายกวินกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

“แรงงาน” กับ “ตู้คอนเทนเนอร์” อุปสรรคขวางภาคเกษตร

เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออกในสัดส่วนสูงถึงราว 70% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเกษตรก็เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยที่ทั่วโลกยอมรับ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินจีดีพีภาคเกษตรปี 2564 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 1.3-2.3% หรือราว 657,570-664,062 ล้านบาท แต่จีดีพีภาคเกษตรอาจไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขณะนี้กำลังมีอุปสรรคให้ภาคเกษตรต้องสะดุดจาก 2 ปัญหาสำคัญ นั่นคือ “ปัญหาแรงงาน”

และ “ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน” หรือที่เรียกกันว่า “ชอร์ต” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐอย่างเร่งด่วน

ช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานต่างชาติบางส่วนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย ภาครัฐคลายล็อกหลายๆ มาตรการ แต่กลับพบว่าไม่มีความชัดเจนในการจัดการปัญหาแรงงาน โดยแรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกแห่งต้องประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อุตสาหกรรมไก่เนื้อ อุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงแรงงานที่จะทำหน้าที่เก็บเกี่ยวผลไม้ตามสวนต่างๆ ของผู้ประกอบการภาคเกษตรรายเล็กรายน้อยด้วย ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานผลผลิตในสวนทั้งหมดย่อมเสียหาย

การผ่อนปรนมาตรการกักตัว 14 วันก่อนเข้าทำงานอาจต้องหยิบมาพิจารณา แต่หากไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลของการป้องกันโรค รัฐควรมีแนวทางเยียวยาให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการกักตัวดังกล่าว ขณะเดียวกันภาครัฐของไทยควรเร่งเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อหาแนวทางให้แรงงานต่างชาติเข้ามาตามกรอบความร่วมมือโดยเร่งด่วน เพราะขณะนี้บางโรงงานต้องดีเลย์สินค้าส่งออก อาจทำให้ลูกค้าในต่างประเทศหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน การที่ไทยจะได้ออเดอร์กลับคืนมานั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เป็นปัญหาที่กระทบธุรกิจส่งออกต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เพียงทำให้มีการล็อกดาวน์ของท่าเรือในบางประเทศ ยังทำให้การตรวจฆ่าเชื้อตู้สินค้าต่างๆ ในทุกประเทศปลายทางต้องเข้มงวดมากขึ้น สวนทางกับจำนวนแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในทุกๆ ท่าเรือซึ่งมีจำนวนน้อยลง ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ต้องใช้เวลาค้างอยู่ในประเทศปลายทางนานกว่าปกติ เช่น จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน เป็นเหตุให้อัตราการหมุนเวียนของตู้ในระบบต้องติดขัดยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อของไม่พอใช้ก็เป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทาน ค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปที่ปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการแบกรับ และถึงจะมีเงินไม่อั้นที่จะจ่ายก็ใช่ว่าจะสามารถเช่าตู้ได้ทันที เพราะยังต้องเสียเวลาในการต่อคิวค่อนข้างยาว กระทบถึงระยะเวลาส่งของ เป็นต้นทุนอีกตัวที่ซ้ำเติมผู้ส่งออกทุกคน ส่วนอุตสาหกรรมอาหารอย่างไก่เนื้อ ยังต้องรับมือการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งทางเรือหลังสหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งทำให้เส้นทางการขนส่งยาวขึ้นด้วย

แนวทางแก้ปัญหามีอยู่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มมาตรการจูงใจให้นำเข้าตู้เปล่า โดยลดภาระท่าเรือ หรือจะซ่อมแซมตู้เก่าให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการนำตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรออกมาใช้ประโยชน์ และตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศให้นำกลับมาหมุนเวียนใช้ ไม่ใช่ปล่อยคาไว้ในลานอย่างไร้ค่า อีกทั้งควรอำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่เข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร และประการสำคัญ รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือกรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้ จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ

ประเทศไทยกำลังต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแฟกเตอร์ที่มีความพร้อมเพื่อการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ขอเพียงรัฐบาลอย่าเพิกเฉย และต้องเป็นหัวหอกทะลวงปัญหา เร่งคลี่คลายทั้ง 2 ประเด็นให้รวดเร็ว อย่าลืมว่า โอกาสมีไว้ให้คว้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมประมง และอีกหลายๆ อุตสาหกรรมก็พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ... เพียงทุกกระทรวงทุกกรมกองที่เกี่ยวข้องจะลุกขึ้นขยับตัวให้เร็ว ... ประเทศไทยก็จะคว้าเงินเข้ามาได้นับแสนล้านแล้ว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

ภัยแล้งทำพิษอ้อยเข้าหีบแค่66.26ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) เปิดเผยว่าการดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2564 หลังเปิดหีบมาแล้ว 99 วัน พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ66.26 ล้านตัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีอ้อยหีบ 74.49 ล้านตัน เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงการเพาะปลูกประกอบกับชาวไร่มองว่าราคาอ้อยปีหน้าจะอยู่ในระดับสูงเนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงกันอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกส่งผลทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยภาพรวมปีนี้ลดลง

จากความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพหีบสกัดเป็นน้ำตาลทำให้มีสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเข้าหีบคิดเป็น 73.64% และอ้อยไฟไหม้ลดลงหรือลดลงเหลือ 26.36% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้เกือบ 49.80% นอกจากนี้โรงงานน้ำตาลทุกโรงมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) โดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นหรืออยู่ที่113.28 กิโลกรัมต่อตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลโดยรวมได้ทั้งสิ้น 75.07 ล้านกระสอบ

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า โรงงานน้ำตาลประเมินว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตนี้ได้ โดยระหว่างนี้จะเร่งสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยที่ยังหลงเหลือพร้อมให้คำแนะนำและเตรียมพร้อมแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตใหม่ เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์สภาพอากาศภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูกาลผลิตถัดไปได้

“คุณภาพอ้อยเข้าหีบดีขึ้นซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดส่งอ้อยสด เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ส่งผลทำให้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้นแม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีก่อนโดยขณะนี้หลายโรงงานได้ทยอยปิดหีบอ้อยแล้วคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ก็สามารถประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2563/64 อย่างเป็นทางการ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564

อ้อยไฟไหม้ลดลงกว่าครึ่งเหลือแค่ 26.36% คาดปิดหีบปี 63/64 มี.ค. 66.26 ล้านตัน

99 วัน มีอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 63/64 รวม 66.26 ล้านตันลดลงจากปีก่อน แต่ยิลด์สูงค่าความหวานเฉลี่ย 12.90 ซี.ซี.เอส. สูงที่สุดในรอบหลายปี ได้น้ำตาล 75.07 ล้านกระสอบ หลังชาวไร่ร่วมใจส่งอ้อยสดถึง 73.64% คาดปิดหีบไม่เกินมีนาคมนี้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า การดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2564 หลังเปิดหีบมาแล้ว 99 วัน

พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.26 ล้านตัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีอ้อยหีบ 74.49 ล้านตันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงการเพาะปลูก ประกอบกับชาวไร่มองว่าราคาอ้อยปีหน้าจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกันอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกส่งผลทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยภาพรวมปีนี้ลดลง

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพหีบสกัดเป็นน้ำตาล ทำให้มีสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเข้าหีบคิดเป็น 73.64% และอ้อยไฟไหม้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือลดลงเหลือ 26.36% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้เกือบ 49.80%

นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลทุกโรงมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) โดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นหรืออยู่ที่ 113.28 กิโลกรัมต่อตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลโดยรวมได้ทั้งสิ้น 75.07 ล้านกระสอบ

ทั้งนี้ โรงงงานน้ำตาล ประเมินว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะสามารถประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตนี้ได้ โดยในระหว่างนี้จะเร่งสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยที่ยังหลงเหลือ พร้อมให้คำแนะนำและเตรียมพร้อมแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตใหม่ เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์สภาพอากาศภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตถัดไปได้

“คุณภาพอ้อยเข้าหีบดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่ร่วมกันจัดส่งอ้อยสดอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ส่งผลทำให้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น แม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีก่อน โดยขณะนี้หลายโรงงานได้ทยอยปิดหีบอ้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก็สามารถประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 อย่างเป็นทางการ”

ขณะเดียวกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยอีกแน่นอน โดยเฉพาะชาวไร่ที่ตัดอ้อยสด โดยเบื้องต้นยังคงใช้วงเงินเท่าเดิมหรือประมาณ 6,800 ล้านบา

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 22 มีนาคม 2564

“พาณิชย์” รับลูก กนศ. ถกคณะอนุกรรมการฯ CPTPP ประเมินความพร้อมของไทย

 “วีรศักดิ์” หารือคณะอนุกรรมการฯ CPTPP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ร่วมพิจารณาผลการศึกษาของ กมธ. CPTPP พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานฯ ส่งให้ กระทรวงพาณิชย์ ภายในเดือนมีนาคมนี้ ก่อนรวบรวมเสนอ กนศ.

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ CPTPP ที่สภาผู้แทนราษฎรส่งให้ ครม. และให้หน่วยงานประเมินและจัดทำแผนงานการปรับตัว ตามข้อเสนอของรายงานดังกล่าว ส่งให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อรวบรวมเสนอ กนศ. ต่อไป

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เป็น 1 ใน 8 คณะ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการฯ ด้านเกษตรและพันธุ์พืช 2) คณะอนุกรรมการฯ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3) คณะอนุกรรมการฯ ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน 4) คณะอนุกรรมการฯ ด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ  5) คณะอนุกรรมการฯ ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

6) คณะอนุกรรมการฯ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ 7) คณะอนุกรรมการฯ ด้านแรงงาน และ 8) คณะอนุกรรมการฯ ด้านการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินความพร้อมของไทย และจัดทำแผนงานการปรับตัวตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP และให้เสนอแผนงานฯ ต่อที่ประชุม กนศ. เพื่อประมวลความพร้อมหรือไม่พร้อมของประเทศไทยในประเด็นต่างๆ และพิจารณานำเสนอ ครม. ให้ทันภายใน 90 วัน หรือภายในกลางเดือนเมษายนนี้ ตามมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ประกอบด้วยผู้แทนจาก 29 หน่วยงาน เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 22 มีนาคม 2564

โรงงานน้ำตาลโชว์ผลผลิตอ้อย 66.26 ล้านตัน คาดปิดหีบไม่เกินสิ้น มี.ค.นี้

โรงงานน้ำตาลโชว์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูการผลิตปี 2563/64 หลังผ่าน 99 วัน มีอ้อยเข้าหีบรวม 66.26 ล้านตันลดลงจากปีก่อน แต่ทำยิลด์สูงถึง 113.28 กก. ต่อตันอ้อย ที่ค่าความหวานเฉลี่ย 12.90 ซี.ซี.เอส. สูงที่สุดในรอบหลายปี หลังชาวไร่ร่วมแรงร่วมใจส่งอ้อยสด คาดประกาศปิดหีบทุกโรงไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า การดำเนินการเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานทั้ง 57 โรง จนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2564 หลังเปิดหีบมาแล้ว 99 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.26 ล้านตัน ลดลงจากช่วงระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีก่อนที่มีอ้อยหีบ 74.49 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงการเพาะปลูกประกอบกับชาวไร่มองว่า ราคาอ้อยปีหน้าจะอยู่ในระดับสูงเนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงกันอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกส่งผลทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบโดยภาพรวมปีนี้ลดลง

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในการจัดเก็บผลผลิตอ้อยสดที่มีคุณภาพหีบสกัดเป็นน้ำตาล ทำให้มีสัดส่วนปริมาณอ้อยสดเข้าหีบคิดเป็น 73.64% และอ้อยไฟไหม้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือลดลงเหลือ 26.36% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้เกือบ 49.80% นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลทุกโรงมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) โดยเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นหรืออยู่ที่ 113.28 กิโลกรัมต่อตันอ้อย คิดเป็นผลผลิตน้ำตาลโดยรวมได้ทั้งสิ้น 75.07 ล้านกระสอบ

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาล ประเมินว่า ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะสามารถประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตนี้ได้ โดยในระหว่างนี้จะเร่งสำรวจอ้อยค้างไร่เพื่อป้องกันอ้อยที่ยังหลงเหลือ พร้อมให้คำแนะนำและเตรียมพร้อมแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตใหม่ เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์สภาพอากาศภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตถัดไปได้

“คุณภาพอ้อยเข้าหีบดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดส่งอ้อยสดอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ส่งผลทำให้ยิลด์น้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น แม้ปีนี้ปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีก่อน โดยขณะนี้หลายโรงงานได้ทยอยปิดหีบอ้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก็สามารถประกาศปิดหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 อย่างเป็นทางการ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 22 มีนาคม 2564

ปลูกอ้อย ให้ระวังโรคใบขาว

สภาพอากาศเข้าสู่ภาวะร้อนชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไฟโตพลาสมา กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบขาว หรือที่เรียกกันว่า โรคเอดส์ในอ้อย

อาการเริ่มแรกจะพบใบมีสีขาวตามแนวยาวของเส้นกลางใบจากนั้นใบจะลายเป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลืองสลับสีเขียวขนานไปตามเส้นกลางใบ จนกระทั่งแสดงอาการใบขาวทั่วทั้งใบ ลำต้นแคระแกร็น ต้นไม่เจริญเติบโตเป็นลำที่สมบูรณ์ หากพบอาการรุนแรง จะทำให้ใบขาวทั้งกอ และต้นอ้อยแห้งตายในที่สุด

นอกจากนี้ การระบาดของโรคยังพบอาการใบขาวร่วมกับการแตกกอฝอย ใบจะเล็กคล้ายหญ้าแต่ใบเป็นสีขาว และต้นจะไม่พัฒนาเป็นลำ ต้นจะแห้งตายใน ที่สุด

ที่สำคัญเชื้อไฟโตพลาสมาก่อโรคใบขาวยังสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์ โดยแสดงอาการผิดปกติของท่อนพันธุ์ ต้องรอจนกว่าจะปลูกอ้อยไปแล้ว เมื่อมีการแตกใบใหม่ ถึงจะแสดงอาการของโรคให้เราได้เห็น จนเป็นเหตุให้โรคนี้ได้ชื่อฉายาอีกอย่างว่า โรคเอดส์ในอ้อย

สำหรับแนวทางในการป้องกันกำจัด ให้เกษตรกรหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกและรอบแปลงปลูก เพื่อเป็นการลดแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรคและแมลงพาหะ จากนั้นเกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เป็นโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที

เพราะยังไม่มีสารเคมีใด ที่ช่วยรักษาโรคนี้ได้

ส่วนการปลูกอ้อยในฤดูกาลต่อไป เกษตรกรควรใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรค เช่น ต้นอ้อยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือท่อนพันธุ์อ้อยจากแหล่งปลูกที่ไม่มีการเกิดโรคใบขาว

ก่อนการปลูก ควรแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง และควรปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีการให้น้ำอย่างเพียงพอ

กรณีในแปลงที่พบการระบาดของโรคใบขาวรุนแรง ให้เกษตรกรไถทำลายตออ้อยและคราดตออ้อยเก่านำออกจากแปลงให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรคต่อไป.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 22 มีนาคม 2564

“จุรินทร์” เตรียม ลงนาม MOU ยูเค ตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีการค้า

กรมเจรจาฯ เผย “จุรินทร์” เตรียมลงนาม MoU ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศยูเค ในวันที่ 29 มี.ค. 64 ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ยกระดับความร่วมมือสองฝ่าย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเค โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมลงนามกับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเค ในวันที่ 29 มีนาคม 2564

การจัดทำบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ จะเป็นกลไกและเวทีที่ทั้งสองประเทศจะได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพ เช่น เกษตร อาหาร การเงิน และสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯ ยังเตรียมจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “Brexit the Series : โอกาสไทยกับสหราชอาณาจักรนำเทรนด์สุขภาพเจาะตลาดโลก” ในวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหาร นวัตกรรม และสุขภาพของไทย อาทิ ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บริษัท มอร์ ฟูดส์ อินโนเทค จำกัด และแบรนด์ HydroZitla มาร่วมเสวนาถึงโอกาสและความท้าทายในความร่วมมือกันระหว่างไทย-ยูเค ของอุตสาหกรรมดังกล่าว

“การจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) และการจัดสัมมนาออนไลน์ข้างต้น ถือเป็นแผนการทำงานเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) ภายหลังจากยูเคออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้หารือกับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเคเป็นระยะ เพื่อร่วมกันทบทวนนโยบายการค้าของสองประเทศ ทำให้เห็นโอกาสและศักยภาพของการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจสองฝ่าย”

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับยูเคมีมูลค่า 4,875 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเคมูลค่า 3,087 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวรจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องจักรกล เป็นต้น และไทยนำเข้าจากยูเคมูลค่า 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.eventpassinsight.co/mobile/registration/create/dnt/เเละรับชมการสัมมนาฯ ผ่านทาง Facebook : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 21 มีนาคม 2564

อุตฯตั้งเป้าปี 64 คุมเข้มโรงงานทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นระบบ

“สุริยะ” เร่งเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม นำระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมใช้กับสถานประกอบการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 64 ดึง 184 โรงงานเข้าร่วม สร้างเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมบูรณาการ พร้อมเผยผลสำเร็จปี 51-ปัจจุบัน มีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมกว่า 2,724 โรงงาน มีเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมสะสม 12,676 ราย ย้ำยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ต้องควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างมีศักยภาพควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลสถานประกอบการและเฝ้าระวังสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการนำมาตรการเชิงรุกมาใช้ในการตรวจสอบควบคู่กับการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็ว และย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหามลพิษทางอากาศและทางน้ำที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนในชุมชนโดยรอบ

โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงกำหนดแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนำหลัก ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ที่ขับเคลื่อนและสานพลังจาก 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ สถานประกอบการ ประชาชน และภาคราชการ มาปรับใช้ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของสถานประกอบการ เพื่อเป็นเครือข่ายสำคัญในการเฝ้าระวังและร่วมป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า การบริหารจัดการลุ่มน้ำและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรการสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสื่อสารถ่ายทอดนโยบายและแนวทางการดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปีให้แก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อปลูกฝังให้บุคลากรในสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนเกิดความตระหนัก

ทั้งนี้ได้นำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 7 ข้อประกอบด้วย 1.หลักประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 2.หลักประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักความรับผิดชอบต่อสังคม 5.หลักนิติธรรม 6.หลักความยุติธรรม 7.หลักความยั่งยืนมาปรับใช้กับการดำเนินกิจการของสถานประกอบการ เพื่อเป็นการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบของสถานประกอบการ โดยจะเริ่มการดำเนินงานเชิงรุกด้วยการกำหนดและวางมาตรการการตรวจสอบสถานประกอบการที่ถูกร้องเรียนและสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายหลักที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ โดยในปี 2563 มีผู้ประกอบการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาใช้และผ่านเกณฑ์มาตรฐานรายใหม่เพิ่มขึ้น 188 ราย และมีการตรวจสอบคุณภาพในลุ่มน้ำสายหลัก ลำธาร คู คลอง หนอง และบึง ที่สำคัญในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,133 จุด ส่งผลให้มีสถานประกอบการเข้าร่วมนับตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบันจำนวน 2,724 โรง มีเครือข่ายสะสมรวม 12,676 ราย และในปี 2564 ตั้งเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมจากสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 184 ราย เชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามเป้าได้ เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 21 มีนาคม 2564

“พาราควอต” ราคาพุ่งเท่าตัว พ้นเดดไลน์ส่งคืน-ร้านค้าแห่ลักลอบขาย

หมดเวลาครอบครอง “พาราควอต” 25 ก.พ. 64 พบร้านค้าลักลอบขาย อัพราคาเท่าตัว ชาวไร่อ้อยโอดต้นทุนพุ่ง ต้องกู้หนี้ซื้อเครื่องจักร “ฝ่ายสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” วอนรัฐเห็นใจ ผ่อนปรนผู้ครอบครองสต๊อกจนกว่าจะมีสารทดแทน เดินหน้าฟ้องศาลปกครองรัฐไม่เยียวยา ด้าน กรอ.แบนสารเคมีอันตรายเต็มตัว ด้านกรมวิชาการเกษตรยื้อออกประกาศขั้นตอนส่งคืน

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 พ.ค. 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 บังคับใช้ และกำหนดให้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ผู้มีไว้ครอบครองต้องส่งคืนตามขั้นตอนที่กำหนดก่อนวันที่ 25 ก.พ. 2564 ชาวไร่อ้อยเดือดร้อนมาก เนื่องจากไม่สามารถใช้สารเคมีพาราควอตได้อีกต่อไป

ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการเลิกใช้พาราควอต แม้พยายามลดการใช้ลงมา ซื้อเท่าที่พอใช้ หรือซื้อในช่วงฤดูปลูกอ้อย ไม่ได้ซื้อเก็บสต๊อกเพราะกลัวความผิด แต่ตอนนี้ต้องแบกภาระใหม่ คือ หนี้ ที่เกิดจากการซื้อเครื่องจักรเพื่อกำจัดหญ้า ซึ่งได้หารือหน่วยงานรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ หากยังไม่มีสารทดแทนรัฐควรมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% ให้กู้สำหรับซื้อเครื่องจักรตัดหญ้า

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า ได้หารือและแจ้งกระทรวงเกษตรฯว่า เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้พาราควอต การจะทยอยส่งคืนสารเคมีดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากร้านค้าไม่รับคืน แม้ถึงเดดไลน์แล้วเกษตรกรและร้านค้าก็ยังมีอยู่ในครอบครอง แต่เพื่อไม่ให้มีความผิดตนได้ร้องขอไปทางภาครัฐเรื่องการชะลอส่งสารวัตรเกษตรลงตรวจเกษตรกรที่ยังมีสินค้าคงค้าง เพราะเกรงถูกสั่งปรับ

การซื้อพาราควอตเป็นการซื้อขายขาด ไม่มีร้านค้าใดรับคืนและคืนเงินให้ และร้านค้าก็ต้องส่งคืนผู้นำเข้า จึงแทบไม่มีใครส่งคืน ขณะที่ต้นทุนที่รัฐต้องกำจัดสูงถึงตันละ 1 แสนบาท ในโรงงานที่นักการเมืองดังถือหุ้น เทียบกับปกติค่ากำจัดแค่ 4.5 บาท/ตัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้พบมีการลักลอบขาย และราคาปรับขึ้นจากลิตรละ 70 บาท เป็น 130 บาท ในฐานะตัวแทนเกษตรจึงต้องการให้รัฐออกมารับผิดชอบ เพราะรัฐผิดพลาดในคำสั่ง ที่สำคัญต้องไม่จับกุมเกษตรกรที่ยังมีพาราควอตไว้ครอบครอง จนกว่าจะมีสารทดแทนและมีการเยียวยา ทางฝั่งเกษตรกรยังคงเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว และจะไม่ยอมใช้กลูโฟซิเนต เพราะคุณภาพการดูดซึมทำให้มีพิษตกค้างมากกว่าพาราควอต

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ได้บังคับใช้กฎหมายที่ให้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย และห้ามใช้หรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด

“สเต็ปต่อไป กรมวิชาการเกษตรต้องออกประกาศขั้นตอนการส่งคืน และแนวทางการกำจัดทำลายที่ชัดเจน ทั้งวิธีการนำส่ง ใครไปรับมาทำลาย คืนที่ไหน กำจัดที่ไหน อัตราค่าทำลาย เนื่องจากต้องดำเนินการตามกฎหมาย”

ขณะที่นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ขอให้รอสรุปความชัดเจนก่อน พร้อมยืนยันว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเร็ว ๆ นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับความผิดกรณีไม่นำส่งคืนหรือมีในครอบครองสารต้องห้ามดังกล่าว จะผิดตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 20 มีนาคม 2564

ก.อุตฯตั้งคณะ กก.ขับเคลื่อนBCG Model

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาล ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่สู่ภาคอุตสาหกรรม ล็อค 4 เป้าหมาย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  ภายใต้คอนเซ็ปต์ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในองค์กรและเกิดประโยชน์สูงสุด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหา สำคัญระดับโลกที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ จึงได้นำนโยบายการพัฒนา BCG  Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถ ในการแข่งขัน กับลดของเสียโดยจัดการทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเกิดประสิทธิผล

กระทรวงฯ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green  Economy : BCG Model) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

การขับเคลื่อนนโยบาย BCG โมเดล ของกระทรวงฯ มุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ 1. สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2. สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ ทรัพยากร และพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม 3. สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายตลาด     และนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4. ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs)

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนฯ ทั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การดำเนินการจัดการซากรถยนต์

การนำร่องโครงการพัฒนาสถานประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และเอสเอ็มอีที่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯในอนาคต รวมทั้งได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการในการพัฒนาทางด้าน Bio Economy Circular Economyและ Green Economy ของสถานประกอบการผ่านทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริง

ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการสำคัญๆ ที่ตอบสนองนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาล เช่น การประกาศรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ,การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแก่ผู้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม)

การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) ,การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม), การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ,การจัดทำมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ การออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 21 เรื่อง (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)

ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ,ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)/ โครงการนำร่องโซล่าเซลล์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม)/ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อสนับสนุนนโยบาย BCG ของรัฐบาล (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และการยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (กรมโรงงานอุตสาหกรรม)

“BCG Model” เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์คือ เกษตรและอาหาร /สุขภาพและการแพทย์ /พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ /การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยมีการคาดการณ์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 4 สาขา ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น24% ของ GDP ในอีก 6 ปี ข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : น้ำกับเนเธอร์แลนด์ได้อะไร?

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศทวีปยุโรปที่มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำในเขตเมืองมายาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศที่มีระบบการบริการจัดการน้ำที่ดีมากที่สุดอีกประเทศหนึ่งของโลก เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จะให้ความร่วมมือกับประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาอุทักภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล

ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะตัวแทนราชอาณาไทย และ นายเกสปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

การลงนาม MOU ครั้งนี้มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ร่วมเป็นสักขีพยาน

ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจาก MOU ฉบับนี้ ?

ดร.สมเกียรติ บอกว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือด้านน้ำระหว่าง 2 ประเทศเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านน้ำของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านน้ำที่เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ โดยมี สทนช. เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและอำนวยการความสะดวก

นอกจากนี้ยังจะเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมมือกันในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดการน้ำทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเนเธอร์แลนด์ที่ไทยมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ทั้งระดับผู้นำประเทศ และระดับหน่วยงานปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านน้ำระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำ การส่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเนเธอร์แลนด์ร่วมทำงานกับฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาช่วงน้ำท่วมปี 2554 การจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง) การพัฒนาระบบพยากรณ์เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง เป็นต้น

“เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นความร่วมมือในสาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน” ดร.สมเกียรติกล่าว

ประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น เป็นที่ลุ่มต่ำ สภาพภูมิประเทศคล้ายๆ กับเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นการลงนามMOU ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การแก้ปัญหาอุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำและในเขตเมืองของไทย จะได้รับอานิสงส์อย่างแน่นอน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564

BRR เปิดแผนสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ รับจังหวะราคาน้ำตาลโลกขาขึ้น มุ่งธุรกิจ New S-Curve บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย เสริมทัพ

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจมากว่า 5 ทศวรรษ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างความมั่นคงด้านผลผลิตและสร้างชีวิตที่ดีให้แก่ชาวไร่อ้อย” ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง รองรับจังหวะราคาตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16 เซนต์ต่อปอนด์สูงสุดในรอบ 4 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สวนทางผลผลิตทั่วโลกลดลงจากปัญหาเอลนีโญ และประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 อย่างประเทศบราซิล ได้เพิ่มสัดส่วนนำน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้น ทำให้ซัพพลายในตลาดลดลง

นายอนันต์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้เร่งสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจจากการนำน้ำตาลทรายดิบไปทำเป็นน้ำตาลรีไฟน์ (น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์) ที่สร้างกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่า และบริษัทยังนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำชานอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิง ชีวมวลผลิตไฟฟ้าและนำไปทำบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ขณะที่กากหม้อกรองนำไปผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อนำไปช่วยเหลือให้แก่ชาวไร่ เพื่อให้มีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำลงและปุ๋ยมีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพดินแต่ละพื้นที่

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด ถือเป็นธุรกิจ New S Curve มาต่อยอดสร้างความมั่นคงของรายได้จากการนำชานอ้อยไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายผ่านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรมทั้งในและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น โดยมีกำลังการผลิต 300 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลนั้นกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์อีก 1 โรงนั้น บริษัทฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายภาครัฐ หรือโครงการ Quick Win ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 16 เมกะวัตต์ ดำเนินการภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (โดยโรงไฟฟ้าโรงที่ 1สิ้นสุดสัญญา 10 สิงหาคม 2571 และโรงที่ 2 สัญญาสิ้นสุด 6 เมษายน 2578)

“ปีนี้จะเป็นปีที่ดีของกลุ่มธุรกิจ BRR ทั้งกลุ่มธุรกิจหลักอย่างน้ำตาลที่มีแผนสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ที่ดีจากช่วงราคาน้ำตาลขาขึ้น และนำสิ่งเหลือจากการปลูกอ้อยและการผลิตน้ำตาลไปสร้างธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ซึ่งถือเป็น New S-Curve เข้ามาช่วยการขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่บริษัทฯ อย่างยั่งยืน” นายอนันต์ กล่าว

นายสมยศ ชั่งยงสุวรรณ ผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน BRR กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตน้ำตาลของกลุ่มรอบปีการผลิต 2563/64 คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 1.75 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ที่ 122 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 111 กิโลกรัมต่อตัน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลของ BRR พร้อมแผนสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจน้ำตาลเพิ่มอัตราการทำกำไรต่อหน่วยที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ BRR เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโตที่ดีในระยะยาว หลังสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ทำกำไรสุทธิรวมได้ 6.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 511.77 ล้านบาท ถือเป็นการทำผลประกอบการเทิร์นอะราวนด์ อันเนื่องจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 625 ล้านบาท แม้รายได้จากการขายและการบริการทำได้ 3,892 ล้านบาทก็ตาม

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 มีนาคม 2564

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3662 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

นับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2562 เป็นต้นมา พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีทั้งหมด 9 หมวด มีผลบังคับใช้แล้ว แม้ว่าในหมวด 4 เรื่อง “การจัดสรรน้ำ และการใช้น้ำ” ให้บังคับใช้เมื่อพ้นไป 2 ปี  และครบกำหนด 2 ปี มาเมื่อตั้งแต่วันที่ 27  มกราคม 2564กฎหมายน้ำ เป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยยังไม่ได้ตระหนักและรับรู้กันในวงกว้างมากนัก ทั้งๆ ที่มีผู้คนที่อยู่อาศัยและใช้น้ำในลุ่มน้ำหลักครอบคลุมทั่วประเทศใน 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขารอง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้น้ำสาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ตามมาตรา 41 ดังนี้...การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณเล็กน้อยการใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

การใช้น้ำสาธารณะใน 22 ลุ่มน้ำหลัก 353 ลุ่มน้ำสาขา อันประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง  ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายางทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่ตะวันตก ฯลฯการใช้น้ำสาธารณะในลุ่มน้ำที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เริ่มรับฟังและสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว เพื่อออก “กฎกระทรวง” แนบท้ายในการคิดค่าใช้น้ำ โดยนำโมเดล เก็บค่าน้ำสาธารณะ ที่ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษา นำผลการศึกษาไปสำรวจความคิดเห็นไปรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะแบ่งกลุ่มให้ชัด ระหว่าง “เกษตรกรเพื่อยังชีพ” กับ “เกษตรกรพาณิชย์/อุตสาหกรรม” ซึ่งมีการจัดแบ่งโดยการถือครองที่ดินเหนือกว่านั้นคือ การกำหนดให้เกษตรกรที่ถือครองที่ดิน เกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำอันนี้ยุ่งละครับ เพราะประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมราว 149 ล้านไร่เศษ มีเกษตรกรรายย่อยครอบครองที่ดินของตัวเอง 41 ล้านไร่ ที่เหลือขายฝากไว้ 29.8 ล้านไร่ ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เฉพาะเกษตรกรที่เช่าที่ดินคนอื่นมาทำการเกษตรนั้น ตกประมาณ 29 ล้านไร่ กำหนดเงื่อนไขไม่ดีคนเหล่านี้คางเหลืองแน่‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

ส่วนการใช้น้ำเพื่อทำเกษตรเพื่อการพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรมก็ต้องจ่ายค่าใช้น้ำสาธารณะ ส่วนอัตราที่ต้องจ่ายจะเป็นเท่าใดนั้น จะต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ขึ้นมากำหนดในแต่ละพื้นที่คำถามคือเขาจะเก็บอบ่างไร กลุ่มไหนบ้าง...มาดูข้อพิจารณาที่เขากำลังถกเถียงและกำหนดกันเป็นกฎเกณฑ์กันนะครับ1. เกษตรเพื่อยังชีพไม่เสียค่าน้ำ2. การใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์ โรงแรม รีสอร์ท ท่องเที่ยว (ต้องจ่ายค่าน้ำ)3. สนามกอลฟ์ โรงงานไฟฟ้า และ นิคมอุตสาหกรรม (ต้องจ่ายค่าใช้น้ำ)แล้วอัตราการเก็บค่าน้ำจะตกเท่าไหร่ อันนี้และครับที่เขายังไม่ลงตัว 3 หน่วยงานที่คือ “สทนช.-กรมทรัพยากรน้ำบาดาล-กรมชลประทาน” ยังถกเถียงกันหนักจนสรุปไม่ลงตัวแต่อย่างน้อยมีข้อสรุปออกมาชัดว่าค่าน้ำในเขต/นอกเขตชลประทาน สำหรับเกษตรกรรม นั้นเขาให้ “ใช้ฟรี”แต่ถ้าเอกชนใช้น้ำ มาผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม ตัวเลขที่มีการคิดกันคือลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ น้อยกว่าการคิดน้ำบาลดาลที่ตอนนี้คิดกัน 0.80-0.85 บาท/ลูกบาศก์เมตรผมถึงบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ โรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรทั่วประเทศจำนวนมากอาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า “เก็บค่าน้ำ แล้วจะนำเงินไปไหน นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สิทธิในการใช้น้ำ เราต้องกำหนดสิทธิ คนมีสิทธิ์ใช้น้ำ แล้วต้องกำหนดสิทธิในการใช้น้ำให้ชัดเจน”‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

ยกตัวอย่าง การถือครองที่ดิน 63-66 ไร่  ไม่มีเกณฑ์ แล้วถ้ารายเล็กใช้น้ำเกิน จะทำอย่างไร เพราะการใช้น้ำไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ จะได้สิทธิเท่าไรขั้นต่ำ แล้วต้องจัดสรรสิทธิให้กับผู้ใช้น้ำทุกฝ่าย ไม่ใช่เกษตรกร เพียงฝ่ายเดียว จะต้องมีกลุ่มอื่นด้วยๆ อาทิ  ผู้บริโภคน้ำประปา ไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน “น้ำคือชีวิต” เมื่อแต่ละภาคส่วนได้รับจัดสรรน้ำไปแล้ว  เมื่อมีน้ำเพียงพอ ก็สามารถที่จะขายโควตาในส่วนนั้นๆ ได้ แต่ต้องแบ่งสิทธิก่อน แล้วไม่ใช่ทำทุกลุ่มน้ำ ทำเฉพาะลุ่มน้ำที่ขาดแคลน ที่มีปัญหา 2 ลุ่มน้ำ ขณะนี้ก็คือ “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” กับ “ลุ่มน้ำภาคตะวันออก” ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแย่งน้ำถ้าหากกฎเกณฑ์ไม่ดีเกษตรกรมีที่ดินถือครอง 100 ไร่  ก็กระจายการถือครอง 2 ราย ไม่ต่างจาก “โครงการประกันรายได้ข้าว” ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนมากกว่าความเป็นจริง เพราะได้นำชื่อลูกหลานมาใส่ ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรมาจดทะเบียน แล้วถูกต้องด้วย มีตัวตนด้วย  จะเกิดซ้ำรอยขึ้นที่สำคัญ ห้ามได้หรือไม่ หากมีเกษตรกรใช้น้ำเกิน ก็ห้ามไม่ได้ นี่คือ เรื่องใหญ่ ในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศท่านละคิดอย่างไรบ้างเพื่อให้ทุกท่าเข้าใจพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ได้ตราขึ้นเพื่อบูรณาการการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และสิทธิในน้ำ เพื่อบริหารทรัพยากรน้ำได้อย่างประสานสอดคล้องในทุกมิติ มีความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างสมดุล มี 9 หมวดสำคัญ และ บทเฉพาะกาล

หมวด 1 ทรัพยากรน้ำ : กฎหมายบัญญัติให้รัฐมีอำนาจใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้า ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดย นายกรัฐมนตรีอาจกำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นหมวด 2 สิทธิในน้ำ : ให้สิทธิบุคคลในการใช้หรือเก็บกักนํ้าได้เท่าที่จำเป็นแก่ประโยชน์ในกิจกรรมหรือในที่ดินของตน โดยไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่บุคคลอื่นซึ่งอาจใช้น้ำนั้นหมวด 3 องค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ : มีทั้งระดับชาติ ระดับลุ่มนํ้า และระดับองค์กรผู้ใช้นํ้า ที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในระดับชาติ มีคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ หรือ กนช. เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ “การบริหารทรัพยากรน้ำ” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ระดับลุ่มนํ้า มีคณะกรรมการลุ่มนํ้าเป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับเลือกใน เขตลุ่มนํ้านั้นเป็นประธาน และข้าราชการของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ : ให้ความสำคัญในการจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก รองลงมาคือ การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย คมนาคม เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามที่ กนช.กำหนด นอกจากนี้ ได้แบ่งการใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เป็น 3 ประเภท คือประเภทที่หนึ่ง การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อการดำรงชีพ ประเภทนี้ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและไม่ต้องชำระค่าใช้นํ้า แต่ต้องให้ข้อมูลการใช้นํ้า ซึ่งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ จะออกเป็นกฎหมายต่อไปประเภทที่สอง การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อการอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานไฟฟ้า ประปา ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจแล้วแต่กรณี โดยได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำประเภทที่สาม การใช้ทรัพยากรนํ้าสาธารณะ เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่มีอำนาจแล้วแต่กรณี โดยความเห็นชอบของ กนช.หมวด 5 ภาวะน้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม : ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำ โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง และน้ำท่วม ไว้ล่วงหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงการรักษาและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำด้วย รวมถึงบัญญัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปสู่การปฏิบัติหมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ : เน้นการสงวนพื้นที่แหล่งต้นนํ้าลำธาร พื้นที่ชุ่มนํ้า เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมถึงวางหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบกับทรัพยากรน้ำสาธารณะ‘เก็บค่าใช้น้ำ’ มาแล้ว ‘เกษตรพาณิชย์-อุตฯ-บริการ’ โดน

หมวด 7 พนักงานเจ้าหน้าที่ : กำหนดหน้าที่และอำนาจของ “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อปฏิบัติตามมกฎหมายฉบับนี้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหมวด 8 ความรับผิดทางแพ่งในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ : กรณีที่ผู้ใดกระทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำสาธารณะ ต้องรับผิดทางแพ่งหมวด 9 บทกำหนดโทษ : ได้กำหนดโทษอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก ปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณีความผิดที่กระทำเราไม่รู้กฎหมายไม่ได้นะครับพี่น้องไทย เพราะตอนนี้กฎหมายน้ำได้ขับเคลื่อนออกมาแล้ว และกำลังตรากฎหมายลำดับรอง ตามที่พระราชบัญญัติกำหนด เพื่อการวางหลักเกณฑ์ สิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด การคิดค่าใช้น้ำมาถึงเราเร็วกว่าที่หลายคนคิดครับ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 มีนาคม 2564

ก.พลังงาน หารือ ก.ทรัพยากรฯ เคาะ 6 เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กระทรวงพลังงาน หารือ กระทรวงทรัพยากรฯ-ภาคเอกชน เคาะ 6 เป้าหมาย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ เตรียมชงรัฐบาลช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ ก่อนเข้าร่วมการประชุม COP26 ปลายปี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564  นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ

ถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย เพื่อวางแนวทางในการจัดทำแผนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สำหรับเข้าร่วมการประชุม COP26 ในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งสหราชอาณาจักรและอิตาลี เป็นเจ้าภาพ

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon 2. การเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 3. การบริหารจัดการของเสีย ผ่านโมเดลบีซีจี 4. การใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ 5. การมุ่งสู่ Zero Burn และ Smart Farming ผ่านโมเดลบีซีจี และเทคโนโลยีดิจิทัล 6. การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีไฮโดรเจน พร้อมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดทำข้อมูล แผนการดำเนินการ

และกำหนดเป้าหมายของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 เป้าหมายสำคัญ คือ 1. เป้าหมายของปีที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศในระดับสูงสุด (peaking year) และ 2. เป้าหมายของปีที่ประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission year) ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำข้อมูลและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เสนอต่อรัฐบาลได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 นี้

“ในการจัดทำแผนงานดังกล่าว กระทรวงพลังงานจะเป็นเจ้าภาพหลักในด้านการปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงสู่ Low Carbon ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนจะมุ่งเน้นเป้าหมายการสร้างความสมดุลของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงสอดประสานกับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดการปล่อยการเรือนกระจกของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว

อนึ่ง หน่วยงานที่เข้าร่วมหารือ อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรมชาติ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กรมองค์การระหว่างประเทศ และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 มีนาคม 2564

บาทอ่อนค่า หลังกระทรวงพาณิชย์เผยดุลการค้าไทยหดตัว

เงินบาทอ่อนค่า หลังกระทรวงพาณิชย์เผยดุลการค้าไทยหดตัว ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 30.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/3) ที่ระดับ 30.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลหลักหลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25

ในขณะเดียวกัน เฟดระบุว่าจะยังคงนโยบายเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยแถลงการณ์หลังการประชุมของเฟดระบุว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน จนกว่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายของเฟดในการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และการมีเสถียรภาพด้านราคา

ทั้งนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 สู่ระดับร้อยละ 6.5 และปี 2565 สู่ระดับร้อยละ 3.3

อย่างไรก็ตาม เฟดปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปี 2566 สู่ระดับร้อยละ 2.2 และเฟดคงประมาณการอัตราการขยายตัวในระยะยาวที่ระดับร้อยละ 1.8 ด้านประมาณการอัตราดอกเบี้ยนั้น เฟดคงตัวเลขประมาณการอัตราดอกเบี้ยในปี 2564-66 อยู่ที่ระดับร้อยละ 0.13 ทั้ง 3 ปี และคงตัวเลขประมาณการอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่ระดับร้อยละ 2.5

ในขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2564, 2565 และ 2566 เพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 2.4, 2.0 และ 2.1 ตามลำดับ และคงตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.0

นอกจากนี้ ด้านตลาดแรงงาน เฟดได้ปรับตัวเลขประมาณการอัตราว่างงานในปี 2564, 2565 และ 2566 ลดลงสู่ระดับร้อยละ 4.5%, 3.9% และ 3.5% ตามลำดับ และปรับลดตัวเลขประมาณการอัตราว่างงานในระยะยาวสู่ระดับร้อยละ 4.0

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวลดลงร้อยละ 10.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.421 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.560 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐ และราคาไม้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม้เป็นวัสดุสำคัญในการสร้างบ้าน

ขณะที่ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวปรับตัวลดลงร้อยละ 8.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.040 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ด้านการอนุญาตก่อสร้างบ้านปรับตัวลดลงร้อยละ 10.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.682 ล้นยูนิต

ขณะที่การอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 1.143 ล้านยูนิต ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวปรับตัวลดลงร้อยละ 12.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ สู่ระดับ 539,000 ยูนิต

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.66-30.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 1.1980/84 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แช็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/3) ที่ระดับ 1.1913/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และดัชนีผู้บริโภคทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในเดือนกุมภาพันธ์

ซึ่งสอดคล้องกับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์และสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปหลังจากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศสมาชิก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1933-1.1988 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1942/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/3) ที่ระดับ 109.03/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/3) ที่ระดับ 109.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเปิดตลาดใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ (17/3)

อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนแกว่งตัวในแนวแข็งค่า โดยในช่วงกลางคืนนั้นแข็งค่าแตะระดับ 108.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลารสหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง  108.62-109.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปิดตลาดที่ระดับ 109.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีชี้วัดค่าแรงรายชั่วโมงของแรงงานในสหภาพยุโรปไตรมาส 4/2563 (18/3), ดุลการค้าสหภาพยุโรปเดือนมกราคม (18/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (18/3), ดัชนีภาคการผลิตโดยธนาคารกลางรัฐฟิลาเฟลเฟีย สหรัฐ เดือนมีนาคม (18/3),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (18/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/3), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหราชอาณาจักร โดยสถาบันจีเอฟเคเดือนมีนาคม (19/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตเยอรมนี เดือนกุมภาพันธ์ (18/3), อัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (19/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.3/+0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.50/+3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 มีนาคม 2564

'พาณิชย์' ถก อนุ 'ซีพีทีพีพี' นัดแรกหารือการค้า-ลงทุน”

“วีระศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนความตกลงซีพีทีพีพีด้านการค้าฯตามมติครม. วันนี้ (18 มี.ค.)นัดแรก หลังพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ2คณะด้านการค้าฯและเยียวยา

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มี.ค.2564) นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เรื่องหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยตาม มติครม.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยเป็นประธานอนุกรรมการฯแทน

สำหรับสาระสำคัญการประชุมกำหนดเรื่องเพื่อพิจารณาว่าด้วยประเด็นที่จะต้องจัดทำแผนงานการดำเนินการปรับตัวส่วนราชการหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประเด็นพิจารณาว่าด้วย การกำหนดขอบเขตที่จะต้องประเมินความพร้อมและจัดทำแผนงานการดำเนินการปรับตัว รวมถึงมอบหมายส่วนราชการหลักจัดทำข้อมูลแผนงานการดำเนินการปรับตัวตามแบบฟอร์มที่ฝ่ายเลขานุการคือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสนอ

ทั้งนี้ ได้มีการนำความเห็นของกรรมาธิการฯของรัฐสภาในประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้อสังเกตว่าด้วย ให้มีการปรับกฎระเบียบให้นักธุรกิจ/นักลงทุนต่างชาติขอรับการตรวจลงตราที่สามารถเข้ามาดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นการชั่วคราวได้โดยไม่ผิกฎหมายและสะดวกเช่นเดียวกับVISAนักท่องเที่ยวนั้น ส่วนราชการเห็นว่า สามารถปฎิบัติตามข้อสังเกตได้โดยไม่ต้องปรับแก้กฎหมายที่หน่วยงานดูแลอยู่ อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าวจะต้องประเมินความเห็นจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในประเด็นนี้ สำหรับผลการทำงานกำหนดส่งให้ฝ่ายเลขาฯรวบรวมภายในวันที่ 26 มี.ค.

ส่วนคณะอนุกรรมการอีกคณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากครม.คือด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกำหนดการประชุมในวันที่ 25 มี.ค.นี้  ก่อนเสนอให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)  เพื่อรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ต่อคณะรัฐมนตรี ภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดไว้

สำหรับอนุกรรมการด้านซีพีทีพีพีเกิดขึ้นจากครม.มีมติรับทราบผลการประชุมกนศ. ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งเป็นการดำเนินงานของ กนศ. ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ และรัดกุม จึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง CPTPP ราย ประเด็น จำนวน 8 คณะและกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 มีนาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ระดับ 30.69บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า” วันนี้จะมีแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ทำให้สกุลเงินทั่วทั้งเอเชียฟื้นตัว

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.69 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์  ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์     หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าตลาดการเงินอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ในคืนที่ผ่านมา หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ไม่เปลี่ยนนโยบายการเงินเพราะมองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวสูง ประเด็นสำคัญจากการประชุม FOMC ครั้งนี้คือเฟดเลือก “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% ตามเดิม “คง” ปริมาณการซื้อพันธบัตร 8หมื่นล้าน และ MBS และ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ส่วนในฝั่งของการประมาณตัวเลขเศรษฐกิจ เฟดส่งสัญญาณว่าจะเห็นจีดีพีสหรัฐขยายตัวถึง 6.5% ในปีนี้ ขณะที่การว่างานคาดว่าจะลดต่ำลงถึงระดับ 4.5% โดยมีเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 2.2% จากเดิม 1.8% ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plots) คณะกรรมการ 4 จาก 18ท่าน มองว่าสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปี 2022 และ 7 จาก 18ท่าน เชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปี 2023

ภาพนโยบายการเงินดังกล่าวหนุนให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.29% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้แล้ว แตกต่างจากในฝั่งยุโรป ที่ดัชนี STOXX 600 ย่อตัวลง 0.45% หลังนักลงทุนขายทำกำไรเมื่อดัชนีทำจุดสูงสุดใหม่ ภาพนโยบายการเงินและการตอบรับของตลาดหุ้น หนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.64% ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างยีลด์สหรัฐอายุสองปีและสิบปีขยับขึ้นมาถึง 1.46% สูงที่สุดนับตั้งแต่กันยายนปี 2015 สะท้อนภาพนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ขณะที่นักลงทุนกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.4% ทันที โดยสกุลเงินความเสี่ยงสูงอย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) ต่างปรับตัวขึ้น 0.6-0.7% ดัชนี VIX Index ปรับตัวลงต่ำกว่า 20จุด ครั้งแรกในรอบปี โดยที่บิทคอยน์กลับมาซื้อขายเหนือระดับ 58000 ดอลลาร์ และราคาทองคำขยับขึ้นมาที่ 1748 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เชื่อว่าวันนี้จะมีแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ทำให้สกุลเงินทั่วทั้งเอเชียฟื้นตัว อย่างไรก็ดีในระยะถัดไปยังต้องจับตาทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐและไทยอยู่ เนื่องจากเงินเฟ้อในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าไทย แต่ในปัจจุบันส่วนต่างระหว่างยีลด์ของสองประเทศมีไม่มาก จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินทุนต่างชาติอาจกลับเข้ามาในประเทศไทยช้า เพราะฝั่งสหรัฐมีทั้งตลาดทุนที่น่าสนใจและมีผลตอบแทนของการถือสินทรัพย์ปลอดภัยดีกว่าในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (18 มี.ค.) "แข็งค่า"มาอยู่ที่ระดับ 30.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 30.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% และยืนวงเงิน QE ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามที่เดิม แม้ว่าจะมีการปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ ดีขึ้นมาที่ 6.5% ก็ตาม ขณะที่ในส่วนของ dot plot สะท้อนว่า เฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยน่าจะยืนดอกเบี้ยต่ำไปจนถึงปี 2565  สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.35-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตเดือนมี.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 มีนาคม 2564

‘BRR’ครึ่งปีหลังพร้อมลุยธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ลั่นปีนี้พลิกมีกำไร

‘น้ำตาลบุรีรัมย์’ ทุ่มงบ600ล้านบาทใน3ปีปั้นธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย เป็นNew-S Curve คาดกลางปีนี้ลุยขยายตลาดต่างประเทศ หนุนปีนี้พลิกกลับมีกำไรจากปีก่อนขาดทุน82ล้านบาท และวางเป้าหมายในปี66มีรายได้โต้เท่าตัวแตะ700ล้านบาท ด้านธุรกิจผลิตน้ำตาล-โรงไฟฟ้าโตต่อเนื่อง ดันรายได้ปีนี้ฟื้นโต10% และกำไรเพิ่มชัดเจน

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทเปิดตัวธุรกิจกลุ่มบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยอย่างเป็นทางการ ภายใต้ บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด จะเป็นธุรกิจ New S-Curve มาต่อยอดสร้างความมั่นคงของรายได้ จากการสิ่งที่เหลือจากการปลูกอ้อนและการผลิตน้ำตาลหรือชานอ้อยมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย สำหรับบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ

โดยใช้งบลงทุนรวมทั้งสิ้นราว 600 ล้านบาท เป็นงบลงทุนเพิ่มเติมในปี 2564-2566 ราว 244 ล้านบาท จะผลักดันการสร้างโรงงานเยื่อใหญ่ ผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาล เครื่องจักร 14 เครื่องเพิ่มเติม จำนวน 44 ล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มเครื่องจักรอีก 14 เครื่อง ขยายกำลังผลิต จำนวน 200 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งงบลงทุนที่เหลือใช้ลงทุนสร้างโรงงานบ้างส่วนไปแล้วก่อนหน้านี้

สำหรับธุรกิจดังกล่าว คาดว่า ในช่วงกลางปีนี้จะเริ่มผลิตเพื่อส่งออกในตลาดต่างประเทศได้ เช่น สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ด้วยกำลังการผลิต 300 ล้านชิ้นต่อปี ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าโดยเฉพาะสหรัฐ และจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดลเทรดในประเทศ ขณะเดียวกันจะต่อยอดพัฒนาบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เช่น ภาชนะใส่อาหารแช่แข็ง และขายโนฮาว์ในการพัฒนาไปในตลาดต่างประเทศได้ด้วย ด้วยจุดแข็งเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าในตลาด ต้นทุนของเยื้อที่ 19,000 -20,000บาท ต่ำกว่าในตลาดอยู่ที่ 28,000 บาทและต้นทุนภาชนะบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาลอยู่ที่ 0.4 บาท ถือว่า ต่ำกว่าในตลาดอยู่ที่ 0.6 บาท รวมถึงยังสามารถกำหนดราคาขายที่สูงขึ้นได้ ซึ่งจะทำกำไรได้ดีขึ้น

บริษัทตั้งเป้าหมายธุรกิจผลิตภัณฑ์จากชานอ้อยคาดว่าในปีนี้จะพลิกกลับมาเป็นกำไรเติบโตได้ราว 20% จากปีก่อนขาดทุนอยู่ 82 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ชะลอการส่งออกและปรับโมเดลมาลงทุนโรงงานเยื่อใหญ่ ผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์สีน้ำตาลที่ทำกำไรได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีรายได้ที่ 350 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งจะรับรู้รายได้ราว 50% มาก่อนในปีนี้และในปี 2566จะผลักดันรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวหรืออยู่ที่ 700 ล้านบาท ทำให้เพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจภัณฑ์จากชานอ้อยใน 3 ปีข้างหน้าเป็น 18% จากปัจจุบันยังเป็นสัดส่วนที่น้อยของรายได้รวม

"ธุรกิจภัณฑ์จากชานอ้อย เยื้อสีน้ำตาล ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกว่า 50,000 ล้านบาท มากกว่าในไทยมีมูลค่าเพียง 500 ล้านบาท ดังนั้นจะเน้นทำตลาดส่งออกในต่างประเทศเป็นหลักสัดส่วน 90%ที่เหลือ 10%เป็นในประเทศ"

นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันในปีนี้บริษัท ยังมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง รองรับจังหวะราคาตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16 เซนต์ต่อปอนด์สูงสุดในรอบ 4 ปีหรือเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นราว30% สวนทางผลผลิตทั่วโลกลดลงจากปัญหาเอลนีโญ และประเทศผู้ส่งออกเบอร์ 1 อย่างประเทศบราซิล ได้เพิ่มสัดส่วนน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นทำให้ซัพพลายในตลาดลดลง

นอกจากนี้ บริษัทพร้อมเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายภาครัฐ หรือโครงการ Quick Win กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ อีก 1 โรง โดยบริษัทสนใจเข้าประมูลน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะใช้งบลงทุนในปีนี้อีกราว 18 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัท ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. รวม 16 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์

ดังนั้น บริษัทตั้งเป้าหมายในปีนี้ คาดว่ากำไรเติบโตชัดเจนมากขึ้นและรายได้รวมกลับมาเติบโต 18% จากในปี 2563 มีพลิกกลับมามีกำไรอยู่ที่ 6.17 ล้านบาทและรายได้อยู่ที่ 3,892 ล้านบาท ลดลง 21.21% โดยมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตน้ำตลาดถึง 70% อีก 30% มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจปุ๋ย และธุรกิจผลิตภัณฑ์จากชานอ้อย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 มีนาคม 2564

พาณิชย์ถกภาคอุตสาหกรรมหาโมเดลเจรจากฏถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถก  8 กลุ่ม เอกชนภาคอุตสาหกรรม  จัดทำ รูปแบบการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ พร้อมนำความเห็นไปเจรจาปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่และที่มีแผนจัดทำในอนาคตเพื่อกำหนดท่าทีของไทยในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญผู้ประกอบการ และภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรม ระดมความเห็นเรื่อง “การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” โดยมีบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี ในฐานะหน่วยศึกษาวิจัยเรื่องนี้ โดยแบ่งกลุ่มการหารือออกเป็น 8 กลุ่มย่อย ตามประเภทของสินค้าและสาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และพลาสติก 3. เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 4. ยานยนต์และชิ้นส่วน  5. ไม้ กระดาษ การก่อสร้าง ซีเมนต์ และเฟอร์นิเจอร์ 6. แร่เหล็กและอลูมิเนียม 7. เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ และ 8. ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์

นางอรมน  กล่าวว่า  จากการหารือ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความรู้ในเรื่องกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีความสำคัญอย่างมากกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากช่วยให้ทราบถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นว่าควรเลือกใช้วัตถุดิบหรือการผลิตอย่างไร ที่จะสามารถนำมูลค่าของสินค้ามาสะสม จึงจะผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า และสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยอย่างเต็มที่

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบประเภทสินแร่เหล็ก ฝ้ายธรรมชาติ และทองคำ เป็นต้น มาใช้ในกระบวนการผลิตในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

“ในอนาคตหากการผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าง่ายขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอได้มากขึ้น และใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอขยายตลาดไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้ามีหลายรูปแบบ อาทิ กำหนดเงื่อนไขตามมูลค่าการผลิต พิจารณาจากมูลค่าการผลิตจริง และนำวัตถุดิบนอกเอฟทีเอมาสะสมได้ เป็นต้น จึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของไทย”

ทั้งนี้ผลจากการหารือกรมฯจะนำไป ใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางการเจรจาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้เอฟทีเอต่าง ๆ ต่อไป รวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมเรื่องห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยและความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก ตลอดจนโครงสร้างการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดท่าทีของไทยในการเตรียมเจรจาจัดทำเอฟทีเอใหม่ หรือปรับปรุงเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 17 มีนาคม 2564

ตู้คอนเทนเนอร์หายไปไหน สะเทือนการส่งออกไทย

ผู้ส่งออกไทยกำลังเผชิญปัญหา ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือสูง

นายโอภาส ใจเครือคำ สายงานวิจัยธุรกิจรายสาขาและฐานข้อมูลทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า โควิด-19 เป็นสาเหตุหลัก…จากข้อมูลสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกมีตู้คอนเทนเนอร์รวมกันประมาณ 180 ล้านตู้ โดยในปี 2019 ท่าเรือเอเชียมีส่วนในการบริหารจัดการถึง 60 % รองลงมาคือ ท่าเรือยุโรป 15 % อเมริกาเหนือ 7% ลาตินอเมริกา 6% และแอฟริกา 4% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าทั้งหมดจะอยู่ที่เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นหลัก

ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดรอบแรก หลายประเทศ Lockdown ทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศลดลงมาก เกิดปัญหาตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากระจ่ายไปตามท่าเรือ บริษัท โรงงาน หรือ Inland Container (ICD) ตามประเทศต่าง ๆ จึงทำให้สายเดินเรือ 3 กลุ่มใหญ่ อย่าง THE Alliance, Ocean Alliance และ 2M Alliance ต้องหยุดเดินเรือหรือจำกัดการเดินเรือมากขึ้น

เดือนกรกฎาคม 2020 หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ในจีนคลี่คลาย เป็นช่วงที่จีนเร่งส่งออกสินค้า ทำให้ความต้องการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่สูง

ส่วนประเทศปลายทางส่งออกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป โควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ ส่งผลให้ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือสหรัฐฯและยุโรปจำนวนมาก ต้องใช้เวลานานในการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับคืนประเทศต้นทาง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดทิศทางดีขึ้น แต่สายเดินเรือยังใช้ปริมาณเรือขนส่งเท่าเดิม ส่งผลให้ไม่มีที่วางตู้คอนเทนเนอร์ จำนวนเรือไม่เพียงพอในการขนส่ง และค่าระวางปรับสูงขึ้น

นายโอภาส กล่าวว่า ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบ ย้อนไปปี 2562 ประเทศไทยใช้ตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 9.45 ล้านตู้ แบ่งเป็นขาเข้า 4.85 ล้านตู้ ขาออก 4.60 ล้านตู้ มาในปี 2563 การส่งออกและนำเข้าของไทย มีปริมาณลดลง 5.90% และ 11.75% ตามลำดับ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศเกิดความไม่สมดุล เพราะปริมาณการส่งออกมีมากกว่านำเข้า ประกอบกับทางจีนและเวียดนามนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่ากลับประเทศ ทำให้ผู้ส่งออกไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือสูงขึ้น

ค่าระวางเรือจากไทยไปยุโรป เดิมเก็บ 700 – 900 เหรียญต่อตู้ แต่ปรับขึ้นต่อเนื่องเป็น 1,000 ในเดือน พ.ย. 2563 เพิ่มเป็น 2,200 เดือน ธ.ค. 2563 และเพิ่มสูงถึง 3,650 เหรียญต่อตู้ในเดือน ม.ค. 2564 ส่วนค่าระวางเรือจากไทยไปสหรัฐฯ เดิมเก็บ 1,000-1,500 เหรียญต่อตู้ ปรับเพิ่มเป็น 3,200 เหรียญต่อตู้ช่วงเดือน พ.ย. 2563 – ม.ค. 2564

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยเริ่มมีความหวัง ครึ่งหลังปี 2564 จากในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยจะยังเผชิญปัญหาค่าระวางเรือที่สูง และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการบรรจุสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องนุ่งห่ม เพราะหลายประเทศเร่งการส่งออก ทำให้มีความต้องการตู้คอนเทนเนอร์สูงมากขึ้น

ในช่วงครึ่งปีหลัง ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลกจะหมุนเวียนเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับความต้องการ หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สหรัฐฯและยุโรปจะส่งออกมากขึ้น ผู้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่อย่างจีนจะผลิตตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น โดยสมาคมอุตสาหกรรมตู้คอนเทนเนอร์ของจีน ระบุว่า เพื่อแก้ปัญหา กันยายน 2563 จีนผลิตตู้คอนเทนเนอร์ถึง 300,000 ตู้ สูงสุดในรอบ 5 ปี ประกอบกับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น กระตุ้นให้สายเดินเรือต่างๆ เพิ่มจำนวนเรือบรรทุกสินค้ามากขึ้น

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 17 มีนาคม 2564

'เกษตร' เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทานแก้แล้งยั่งยืน

ชป.เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ชลประทานและพัฒนาแหล่งน้ำ หวังแก้ปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน

ดร.นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  ว่า

แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 34.76 ล้านไร่ เก็บกักน้ำได้ทั้งประเทศกว่า 82,700 ล้าน ลบ.ม. โดยได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 17.94 ล้านไร่ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 13,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปี 2564 มีแผนการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.2695 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่ม 96.88 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ 40,168 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 16,126 ล้าน ลบ.ม. ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,374 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ ส่วนในพื้นที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 9,816 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,120 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,622 ล้าน ลบ.ม.  หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ

ในส่วนของการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้ร่วมมือกับการประปานครหลวง ดำเนินงานปฏิบัติการ Water Hammer Operation เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำจืด เพื่อนำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวออกไปไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล

ประกอบกับการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และการสูบน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำจืดน้อย การที่จะนำมาดันน้ำเค็มตลอดเวลา อาจมีไม่เพียงพอจึงต้องใช้กระบวนการดังกล่าวร่วมด้วย การควบคุมค่าความเค็ม ระดับความเค็ม หรือปัจจัยต่างๆ ในการผลิตน้ำประปา ในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากันเนื่องจากบางพื้นที่อาจมีแหล่งน้ำจืดมาช่วยเจือจางที่แตกต่างกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องควบคุมค่าความเค็ม ของแต่ละพื้นที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในพื้นที่ชลประทานต่างๆ

ทั่วประเทศ รวม 5,939 หน่วย ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ที่พร้อมจะเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอทั่วถึงและเป็นธรรม

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 17 มีนาคม 2564

ดีเดย์ 1 เม.ย. ตั้ง “องค์กรผู้ใช้น้ำ”

“สทนช.” จัดเสวนาสร้างการรับรู้การแจ้งเกิด “องค์กรผู้ใช้น้ำ” มิติใหม่แห่งพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หวังยื่นดาบให้ประชาชนร่วมจัดการวิกฤตน้ำในพื้นที่ พร้อมระดมความคิดเห็นตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย รับมือการขึ้นจดทะเบียนตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเดย์ 1 เม.ย. 2564 นี้

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า “องค์กรผู้ใช้น้ำ” เกิดขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถือเป็นกลไกลใหม่ในประวัติศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ดังนั้น กิจกรรมครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย

ประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงบทบาทและความความสำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ ในการสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในมิติใหม่ในอนาคต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นองค์ผู้ใช้น้ำ ขั้นตอนกระบวนการและวิธีการต่าง ๆ ในการยื่นขอรับรองความเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศขึ้นทะเบียนได้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 นี้

สำหรับบทบาทที่สำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ นอกจากเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกร่วมกันแล้ว ยังสามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนได้ ซึ่งลุ่มน้ำหนึ่ง ๆ มีจำนวน 9 คน

แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน โดยกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านั้น ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้อีกด้วย รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 คน เพื่อเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขา

ดังนั้น “องค์กรผู้ใช้น้ำ” จะเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวังไปสู่การยกระดับในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงและร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม” นายสมเกียรติ กล่าว

“แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาบ้างแล้วโดยหลายหน่วยงาน แต่ถือว่ายังไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังนั้น องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจจะต้องมายื่นขอก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ

โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะนายทะเบียน ผ่าน 3 ช่องทางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งทางระบบออนไลน์ และยื่นเอกสารด้วยตนเอง

ได้แก่ 1.ทางเว็บไซต์ twuo.onwr.go.th 2.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และ 3.สำนักงานของ สทนช. ภาค 1- 4 ได้แก่ จ.ลำปาง จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีกระบวนการตรวจสอบเอกสารข้อมูลประมาณ 30 วัน หากถูกต้องครบถ้วน จะเข้าสู่กระบวนการออกเอกสารรับรองว่าเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำต่อไป”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไทย-เนเธอร์แลนด์ เอ็มโอยู บริหารจัดการน้ำ ป้องกันวิกฤตน้ำท่วม-แล้ง

ไทย-เนเธอร์แลนด์ ลงนามเอ็มโอยูแลกเปลี่ยนความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ ความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย เล็งผลแก้วิกฤตท่วม กทม.-ปริมณฑล พื้นที่ลุ่มต่ำในไทย พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือสาขาด้านน้ำที่สองประเทศสนใจ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และ นายเกส ปีเตอร์ ราเดอ (H.E. Mr. Kees Pieter Rade) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระหว่างกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเนเธอร์ประจำประเทศไทย โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กรมชลประทาน สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นความร่วมมือในสาขาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะขยายเวลาออกไปโดยอัตโนมัติหรือต่อเนื่องอีกคราวละ 5 ปี ในสาขาความร่วมมือที่สองประเทศเห็นพ้องร่วมกัน

อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการจัดการอุทกภัยและการระบายน้ำในเขตเมืองที่เนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำมาตั้งแต่ในอดีต และพัฒนามาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็นประเทศที่มีระบบการบริการจัดการน้ำที่ดีมากที่สุดประเทศหนึ่ง

“ปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดน้ำทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเนเธอร์แลนด์ที่ไทยมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ทั้งระดับผู้นำประเทศ และระดับหน่วยงานปฏิบัติ

อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านน้ำระหว่างกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญร่วมทำงานกับฝ่ายไทยในการแก้ไขปัญหาช่วงน้ำท่วมปี 2554 การจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง) การพัฒนาระบบพยากรณ์เพื่อคาดการณ์สภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง เป็นต้น”

ดังนั้น การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือด้านน้ำระหว่างสองประเทศเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหน่วยงานด้านน้ำของสองประเทศ โดยเฉพาะนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านน้ำที่เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ

โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานและอำนวยการความสะดวกต่อไป ที่สำคัญยังเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้นักวิชาการ สถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมมือกันในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ของสองประเทศในอนาคตอีกด้วย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

กษ.จับมือภาคีชวนเกษตรกรหยุดเผาลดมลพิษ

กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือภาคีส่งเสริมทางเลือกอื่นแทนการเผา ผ่านกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ จ.กาญจนบุรี

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร คือ ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินนโยบายการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร

โดยพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดในจังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวน 3,030,599 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 439,342 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 735,127 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ผ่านมายังคงมีการเผาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรกรในการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางในการเป็นทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อที่เกษตรกรจะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ซึ่งภายในงานได้จัดให้มีฐานเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรได้มองเห็นทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผาในด้านต่างๆ จำนวน 6 สถานี คือ ได้แก่ สถานีที่ 1 ความรู้พื้นฐานด้านการหยุดเผาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร 2 สาธิตการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ ตามความสนใจของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น การเพาะเห็ดฟาง การทำน้ำหมักสลายตอซัง และการแปรรูปฟางข้าว สถานีที่ 3 การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร สถานีที่ 4 เทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า (การผลิตถ่านหอม) สถานีที่ 5 นำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผาได้แก่ การอัดฟ่อนใบอ้อย และสถานีที่ 6 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมถึงมีการนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย การทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว และการทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมจัดนิทรรศการและสาธิตกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่การทำการเกษตรปลอดการเผาถาวรตลอดไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

ดัน 'ดิจิทัล' หลอมรวม 'พลังงานไฟฟ้า' ปลุกอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน 

'ชไนเดอร์' เปิดแนวคิด ดึง 'ดิจิทัล' หลอมรวม 'พลังงานไฟฟ้า' ชี้โควิดเป็นเสมือนเสียงเรียกที่ปลุกให้เราตระหนักมากขึ้น และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

การแพร่ระบาดเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราและโลกที่แวดล้อมเราตลอดกาล เราทุกคนต่างมีมุมมองต่อสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เพราะภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติกลายเป็นเรื่องที่สัมผัสได้ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน ความเป็นสังคมเมืองและโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งยังเกิดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น

“ปีเตอร์ เฮอร์เว็ค” รองประธานบริหาร ฝ่ายออโตเมชั่นสำหรับอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า แม้เราต้องการมุ่งเน้นที่ปัญหาท้าทายในปัจจุบัน แต่ต้องไม่ลืมความท้าทายในอนาคตด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดมาโดยตลอด ผู้คนจำนวนเกือบหนึ่งในสามของโลกกำลังมองว่าปัญหาดังกล่าว เป็นความเร่งด่วนระดับโลกในตอนนี้ ซึ่งไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป

“เราเป็นคนรุ่นที่แก้ไขสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด จริงๆแล้วเราอาจเป็นคนรุ่นสุดท้าย ที่เปลี่ยนอนาคตและทำสิ่งที่ถูกต้อง หน้าที่เรา คือ ใช้ความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่รอบตัว นำพาเราไปสู่การต่อสู้ เพื่อทำให้สภาพภูมิอากาศมีความเสถียรมากที่สุด เครื่องมือเหล่านี้ประกอบด้วย เทคโนโลยีใหม่ที่นำเราไปสู่ความยืดหยุ่นได้มั่นคงยิ่งขึ้น หัวใจหลักสองประการที่ช่วยแก้สถานการณ์ที่ยากลำบาก คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และพลังงานไฟฟ้า”

อนาคตที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง

นวัตกรรมที่โดดเด่นมากที่สุด ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ปฐมบทแรกของอินเทอร์เน็ต คือ เรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน ส่วนบทต่อไปจะเป็นเรื่องการปฏิวัติแนวทางใช้ชีวิต และการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมของเรา ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างแมชชีนด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับแมชชีน

"ความเป็นไปได้ในเรื่องเหล่านี้มาจากการผสมผสานที่ลงตัวของ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที ซึ่งเชื่อมทุกสิ่งรอบตัว และบิ๊กดาต้าเป็นการเก็บและรวบรวม อีกทั้งวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเปลี่ยนเป็นมุมมองเชิงลึกที่สำคัญ วันนี้ ความสามารถฝึกฝนแมชชีน และใช้อัลกอริธึมช่วยให้ข้อมูลทั้งหมดมีความหมาย กลายเป็นความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง"

การเปลี่ยนกระบวนการสู่ดิจิทัล สร้างอนาคตที่เป็นการดำรงชีวิตโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง พร้อมด้วยบ้านอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ ระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีส์ดิจิทัล มาช่วยให้เราแบ่งปันและอนุรักษ์ทรัพยากรที่เราใช้กันอยู่ได้ดียิ่งขึ้น

เทคโนโลยีอันดับสอง คือ พลังงานไฟฟ้าสีเขียว (green electricity) ให้คิดถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ไมโครกริด อาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero building) และยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้า เป็นหนทางเดียวช่วยให้ใช้พลังงานได้แบบปลอดคาร์บอน ดังนั้นจึงควรเตรียมพร้อมสำหรับโลกที่เป็นระบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่จะมุ่งไปไม่ใช่พลังงานไฟฟ้าเหมือนแต่ก่อน แต่จะเป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทน นั่นคือ อนาคตสีเขียว

ขั้นตอนสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน

การไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ตามต้องการ ชไนเดอร์ฯ เห็นตัวแปรที่เรียบง่าย 4 ประการ  คือ 1. ดิจิทัล การนำดิจิทัลมาใช้ ไม่ว่าจะใช้กับอาคารอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ หรือเมืองอัจฉริยะในทุกที่ ช่วยให้เราบรรลุการเปลี่ยนแปลงเรื่องประสิทธิภาพจากจุดที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันได้ 2. การหมุนเวียน สร้างความมั่นใจว่าทุกสิ่งที่เราทำเป็นการปลูกฝังเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

3.ไฟฟ้า อีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้ สัดส่วนของพลังงานไฟฟ้าในทุกเรื่องจะขยายเพิ่มเป็นสองเท่า โดยอีก 20 ปี คาดว่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าคือ 40% 4. สามารถทดแทนได้ ปัจจุบัน พลังงานไฟฟ้าทดแทนได้ 6% โดยในอีกไม่ช้า จะสามารถทดแทนได้ 40%

“โควิด-19 อาจจะเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นของเรา แต่ก็ช่วยย้ำให้เราเห็นถึงความจำเป็น ในการปรับเปลี่ยนและสร้างความคล่องตัว โควิดเป็นเสมือนเสียงเรียกที่ปลุกให้เราตระหนักมากขึ้น และสร้างความยั่งยืนในระยะยาว"

สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าใช้พลังงานจากที่ไหนและใช้อย่างไร พลังงานสูญหายหรือเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ที่ไหนและอย่างไรเช่นกัน ประเด็นนี้ จึงทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ระบบเซ็นเซอร์ช่วยมอนิเตอร์เรื่องประสิทธิภาพ ซอฟต์แวร์ที่เชื่อมงานส่วนปฏิบัติการเข้ากับระบบไอที ระบบออโตเมชั่นและการวิเคราะห์จะช่วยให้องค์กรและบุคคลทั่วไปสามารถบริหารจัดการและใช้สภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสมไม่ว่าจะที่ทำงานหรือที่บ้านก็ตาม

“ข่าวดีก็คือเรามีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะตอบรับและนำมาใช้งานเพื่อการันตีเรื่องความยั่งยืนในอนาคตหรือไม่” ผู้บริหารชไนเดอร์ กล่าว

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

รัฐเตรียมรับมือภัยแล้งปี 64 หลังพบน้ำใช้การทั้งประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

“ประวิตร” สั่งเตรียมการสู้ภัยแล้ง หลังพบปีนี้น้ำในเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ มีปริมาตรน้อยกว่าค่าเฉลี่ย หนำซ้ำชาวนายังปลูกข้าวมากถึงปีละ 2–3 ครั้ง ทำปีนี้ปลูกข้าวมากกว่าแผนถึง 2.97 ล้านไร่ และยังพบพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำอีก 2 จังหวัด จากเดิม 42 จังหวัด พร้อมเห็นชอบ 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 64

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานรับมือกับภัยแล้ง เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำให้ประชาชนมีเพียงพอต่อการอุปโภค และบริโภค ต่อการเกษตร และต้องมีน้ำไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อดูแลระบบนิเวศ คือ การจัดการน้ำเค็ม ซึ่งได้สั่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาจัดทำประตูกั้นน้ำ เพื่อดูแลในเรื่องของการรุกเข้ามาของน้ำเค็ม ที่จะกระทบกับการบริโภคน้ำของประชาชนด้วย

“ที่น่าเป็นห่วงคือ การปลูกข้าวเพิ่มเติม ซึ่งเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวมากขึ้นทุกปี บางพื้นที่ปลูกข้าว 2-3 ครั้งต่อปี ซึ่งต้องใช้น้ำมาก จึงต้องมาทบทวนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ปีนี้มีปัญหาน้ำน้อย โดยเฉพาะภาคอีสาน ตอนบน ส่วนตอนล่างยังมีน้ำพอเพียง ซึ่งเราไปขุดบ่อน้ำบาดาล เพื่อให้มีน้ำในการอุปโภคบริโภค และการทำการเกษตร”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 64 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด ประกอบด้วย 1.การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนทิ้งช่วง 2.บริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อใช้รองรับน้ำหลาก 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางและเขื่อนระบายน้ำ 4.ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5.ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6.ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา 7.เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ 8.สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 9.ติดตามประเมินผล โดยมอบหน่วยงานผู้รับผิดชอบ นำมาตรการไปจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุม ได้ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 63/64 ซึ่งที่ประชุมมีข้อห่วงใยการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่พบว่ามีการปลูกทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตมากกว่าแผนถึง 2.97 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 8.88 ล้านไร่ จึงเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการจัดสรรน้ำโดยต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำต้นทุนฤดูฝน รวมถึงมาตรการเสริมที่จะไม่ให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วย

ส่วนการจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบเพื่อป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งพบว่า ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ยังไม่มีการขาดแคลนน้ำ ขณะที่นอกเขต กปภ. มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ 42 จังหวัด 22 อำเภอ 41 ตำบล แต่พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวังเพิ่มขึ้นอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลำปาง ส่วนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันจัดสรรแล้ว 8,269 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 71% ตลอดทั้งฤดูแล้ง โดยการจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน 15 แห่ง และจัดสรรน้ำเกินแผน 16 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ณ วันที่ 15 มี.ค.64 พบว่า ปริมาตรน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ 37,045 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของความจุอ่างที่ 70,926 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาตรน้ำใช้การได้จริงเพียง 13,502.17 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19% เท่านั้น ขณะที่ปี 63 ที่มีปริมาตรน้ำ 37,900 ล้าน ลบ.ม.

จาก https://www.thairath.co.th   วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564

ค้านตั้ง 'โรงงานน้ำตาลไฟฟ้าชีวมวล' ผู้ชุมนุมชาว 'ชัยภูมิ' บุกศาลากลางยื่นทบทวนมติจังหวัด

ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน กว่า 30 คน เดินทางมาจาก อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เพื่อชุมนุมชูป้ายยื่นข้อเรียกร้องยื่นแถลงการณ์ไม่ยอมรับผลสรุปการดำเนินงาน กรณีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

ชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลไฟฟ้าชีวมวล วันเดียวยังไม่สามารถหาทางสรุปทางออกร่วมกันได้ ทางตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ยื่นแถลงการณ์ผ่านตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทบทวนผลการดำเนินการของโรงงานดังกล่าว ที่จะเข้ามาสร้างโรงงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้าน

วันที่ 15 มี.ค.64 ได้มีตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน กว่า 30 คน เดินทางมาจาก อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เพื่อชุมนุมชูป้ายยื่นข้อเรียกร้องยื่นแถลงการณ์ไม่ยอมรับผลสรุปการดำเนินงาน กรณีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่จะมีนายภูมิสิทธิ์ อังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นไปร่วมประชุมหารือบนศาลากลางเพื่อหาแนวทางออกร่วมกันกับทุกฝ่ายจนถึงเวลา 11.00 น.วันเดียวกันก็ยังไม่สามารถหาทางสรุปทางออกร่วมกันได้ ทางตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ยื่นแถลงการณ์ผ่านตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนผลการดำเนินการงานดังกล่าว ที่จะเข้ามาสร้างโรงงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านทุกพื้นที่เกี่ยวข้องที่ชัดเจนมากว่าที่เป็นอยู่นี้ด้วย

โดยตัวแทนระบุจากกรณีกลุ่มชาวบ้านออกมาคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เกษตรสมบูรณ์-หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อติดตามสถานการณ์และที่ผ่านมาได้ดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในเขตพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์และอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ยุติกระบวนการที่ยังไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ด้วย

ด้วยเหตุผลที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือบัญชาให้จังหวัดชัยภูมิ เป็นเจ้าภาพในการทบทวนและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิได้ แต่งตั้งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นและประมวลปัญหาข้อร้องเรียน กรณีการคัดค้านโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และมีการสรุปผลการดำเนินงาน กรณีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

วันนี้ทางกลุ่มชาวบ้านตัวแทนที่คัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวะมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ มีมติว่า

1. ไม่ยอมรับ และให้ดำเนินการยกเลิกผลสรุปผลการดำเนินงาน กรณีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

2. ให้ยกเลิกคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ ที่ 3212/2563 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เรื่อง แต่งตั้ง คณะทำงานรับฟังและประมวลปัญหาข้อร้องเรียน กรณีการคัดค้านโรงงานน้ำตาล ในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

3. ให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อทำการศึกษารายละเอียดของโครงการ โรงงานน้ำตาลและ โรงงาน ไฟฟ้าชีวะมวล ในอำเภอเกษตรสมบูรณ์ เพื่อให้ครอบคลุม ด้านวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการ ร่วมกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment: SEA) ด้วยความสำนึกปกป้องบ้านเกิดกลุ่มชาวบ้านคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวะมวล เกษตรฯ-หนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 15 มีนาคม 2564 ณ ศาลากลาง จังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่จะพากันแยกย้ายเดินทางกลับเพื่อรอฟังคำตอบจากทางจังหวัดชัยภูมิ หากยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกมาอีกหรือเวลานานเกินไปก็จะเคลื่อนขบวนมาที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อทวงคำตอบต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 มีนาคม 2564

“สุริยะ”สั่ง สมอ.ออกมาตรฐานเข้ม คุมความปลอดภัยโรงงานสกัดโควิด

“สุริยะ” จี้ สมอ.เร่งออกมาตรฐานความปลอดภัยโควิด-19 หนุนโรงงานทั่วประเทศใช้ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงงาน ตั้งเป้าหมายโรงงานกว่าหมื่นโรงงาน ปลอดภัยจากโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สมอ. เร่งรัดดำเนินการประกาศใช้มาตรฐานโควิด-19 หรือมาตรฐาน มตช.45005-2564 การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัย ระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังคณะกรรมการ สมอ.ให้ความเห็นชอบพร้อมกับมาตรฐานระบบการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ และมาตรฐานในกลุ่มบีซีจี (BCG-Bio Circular Green Economy) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในการจัดระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อควบคุม ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้โรงงานทั่วประเทศนำไปใช้เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19

“มาตรฐานโดวิด-19 จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทุกภาคส่วนมีความเชื่อมั่นในสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งในด้านการบริหารจัดการ และคุณภาพของสินค้าว่าจะมีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรงงานทั่วประเทศซึ่งมีมากกว่าหมื่นราย นำมาตรฐานนี้ไปใช้ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการให้เชื้อไวรัสโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย”

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรฐานโควิด-19 หรือมาตรฐาน มตช.45005-2564 เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถนำไปใช้จัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยภายในโรงงาน และสถานประกอบการทั่วไป เพื่อการทำงานอย่างปลอดภัยในระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีแนวทางการปฏิบัติหลักๆดังนี้ 1) สถานประกอบการที่จะนำมาตรฐานไปใช้ต้องมีการวางแผนการประเมินความเสี่ยง 2) มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับความเสี่ยง 3) ผู้บริหารองค์กรต้องมีมาตรการเตรียมการป้องกันกรณีมีผู้ติดเชื้อเข้ามาภายในองค์กร 4) มีมาตรการจำกัดจำนวนคนในพื้นที่ 5) มีการบริหารจัดการบุคลากร การกำหนดสถานที่การทำงาน และการสื่อสาร 6) มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เพียงพอ ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวเป็นข้อแนะนำให้สถานประกอบการนำไปปรับใช้ สามารถใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท

“การประชุมคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรองในครั้งนี้นอกจากจะเห็นชอบมาตรฐานโควิด-19 แล้วยังเห็นชอบมาตรฐานระบบการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ มตช.22313-2564 ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่ใช้ในองค์กรเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักเช่น อุบัติภัยทางธรรมชาติ การก่อวินาศกรรม การก่อจลาจล การเกิดโรคระบาด หรือการเกิดวิกฤตทางสถาบันการเงินให้สามารถฟื้นฟูองค์กรกลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศต่างๆทั่วโลก มีการนำมาตรฐานนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย อีกทั้งยังเห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี โมเดล (BCG-Bio Circular Green) ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วยรวม 10 มาตรฐานได้แก่ มาตรฐานก๊าซเรือนกระจก รีไซเคิล ขวดพลาสติกสี และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น”

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 15 มีนาคม 2564

ไทยเร่งแผนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบุกตลาด RCEP

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ เมื่อผู้นำชาติสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป / RCEP) 15 ประเทศ (ไม่รวมอินเดีย) ได้มีประชุมผ่านระบบทางไกลที่มีเวียดนามเป็นเจ้าภาพ สามารถสรุปผลการเจรจาและบรรลุความตกลงร่วมกันหลังรอคอยมา 8 ปี และได้มีการลงนามผ่านระบบออนไลน์ กลายเป็นเขตการค้าเสรี(FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนำสู่ขั้นตอนเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้อาร์เซ็ปจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ ให้สัตยาบันร่วมกับประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ โดยในส่วนของไทยเองนั้นคาดว่าจะเร่งดำเนินการให้สัตยาบันให้แล้วเสร็จประมาณกลางปีนี้ โดยเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเตรียมความพร้อมในการปรับกฎระเบียบภายในให้แล้วเสร็จก่อนยื่นหนังสือให้สัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียนหลังรัฐสภาได้ไฟเขียวในการให้สัตยาบันแล้ว

เร่งระบบรับรองถิ่นกำเนิดนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมฯซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต(Self-certification by approved exporter) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ประเทศสมาชิกกำลังดำเนินการภายในเพื่อให้สัตยาบันนั้น ขณะนี้ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนได้เร่งจัดทำแผนการเจรจาในส่วนของรายละเอียดในทางปฎิบัติเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องหารือรายละเอียดกับประเทศภาคีความตกลง 15 ประเทศ เช่น รูปแบบของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รายละเอียดระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ปและการบังคับใช้พิกัดศุลกากร การค้าไทย

การค้าไทย

พร้อมรับมือผลกระทบ  ทั้งนี้คาดไทยจะสามารถพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงได้กลางปีนี้ ทันกับความตกลงที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งในส่วนของกรมจะเร่งดำเนินการในการเตรียมความพร้อม ทั้งในเรื่องของการดำเนินการภายใน เช่น การเตรียมระบบออกหนังสือรับรองและการเตรียมบุคลากรภายในของกรมในส่วนของการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าหรือตรวจต้นทุน  เพื่อออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผู้ประกอบการ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้า ไม่ว่าจะเป็นมาตร การเยียวยาการค้า AD/CVD/SG นอกจากนี้กรมมีแผนจัดทำประชาสัมพันธ์เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าและและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ปกระกอบการตามภูมิภาคทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เช่น ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และอุดรธานี โดยจะเน้นในรูปแบบออนไลน์(Webinar) ก่อน แต่หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะลงพื้นที่จัดสัมมนาตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น กีรติ รัชโน

“การจัดทำแผนเจรจาในการเรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือ CO ยังคงต้องหารือกับภาคีอาร์เซ็ป 15 ประเทศในเรื่องรูปแบบ ข้อมูลและการเชื่อมโยงระบบต่างๆ ระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายเลขาธิการอาเซียนได้เริ่มเจรจากับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ช่วงนี้กรมได้เตรียมระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสำหรับความตกลงอาร์เซ็ป โดยจะเน้นการต่อยอดจากระบบเดิมที่มีอยู่ และจะดำเนินการควบคู่ไปกับการหารือกับประเทศภาค 15 ประเทศในรายละเอียดของรูปแบบฟอร์ม ทั้งนี้กรมได้ผลักดันระบบการพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ณ สถานประกอบการได้ด้วยตนเอง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออกไทยอีกทางหนึ่งด้วย”

3ทางเลือกกฎแหล่งกำเนิดนายกีรติกล่าวเพิ่มว่า กฎถิ่นกำเนิดสินค้าของอาร์เซ็ปจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น แบ่งออกเป็น 3S คือ 1.S-Self-Certification ซึ่งปัจจุบันใช้ได้เฉพาะอาเซียน 10 ประเทศสมาชิก แต่จะขยายให้มีผลบังคับใช้ได้กับสมาชิกอาร์เซ็ปที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก 5 ประเทศ 2.S-Same Rule กฎถิ่นกำเนิดสินค้าอาร์เซ็ปกฎเดียวซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปได้ทั้งหมด และ 3.S-Sourcing  คือมีแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น กว่าความตกลงอาเซียน+1 (เดิม)ขณะที่ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก อาร์เซ็ป เช่น เกาหลีใต้ มีสินค้าไทยที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 413 รายการ เช่น เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ ผักผลไม้แปรรูป เนยแข็ง แชมพู นํ้ามันที่ได้จากพืช กระเบื้อง เป็นต้น ตลาดจีน สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 33 รายการ เช่น พริกไทย สับประรดแปรรูป นํ้ามะพร้าว แผ่นฟิลม์ แผ่นไวแสง เป็นต้น และตลาดญี่ปุ่น มีสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 207 รายการ เช่น สินค้าประมง ผลไม้และลูกนัตปรุงแต่ง แป้งมันจากมันฝรั่ง แป้งสาคู เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 มีนาคม 2564

“วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ความท้าทาย “แผนพลังงานแห่งชาติ”

สัมภาษณ์พิเศษ

ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำ “แผนพลังงานแห่งชาติ” วางนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยท่ามกลางความท้าทายจากกระแสเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด และภาวะไฟฟ้าสำรองล้น ต้นทุนค่าไฟแพง ซึ่งถือเป็นความท้าทาย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ร่างแผนพลังงานแห่งชาติ

สนพ.เข้าไปเป็นผู้ช่วยดำเนินการเรื่องแผนพลังงานแห่งชาติ จะเป็นคล้ายยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางนโยบายแต่ละด้านว่า ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน อนุรักษ์พลังงานจะเดินหน้าอย่างไร เช่น โลกเน้นพลังงานสะอาด คาร์บอนนูทรอลไทยก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับโลก

“ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล หารือกับกระทรวง เพราะยังมีหลายส่วนที่ยังไม่ตกผลึก ถ้าไดเร็กชั่นออกมาว่าจะทำอะไรบ้าง และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อนจะทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) แผนพลังงานทดแทน (เออีดีพี) ซึ่งเป็นแอ็กชั่นแพลนต่อไป”

ปูทาง “แผน PDP 2022”

“สิ่งที่ทำวันนี้มาจากแผนปฏิรูปพลังงานที่กำหนดว่าควรจะมีการทำแผนพีดีพีปลายทาง คือ ปี 2022 สนพ.ก็เป็นหลักในเรื่องไฟฟ้า เราเริ่มทำ คือ ค่าพยากรณ์ หรือโหลดฟอร์แคสต์ตัวใหม่ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนโมเดลในการคำนวณ เพื่อรองรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะเข้ามาดิสรัปต์ภาคไฟฟ้า ดีมานด์ใหม่ เช่น รถอีวี นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ไมโครกริด IPS แบตเตอรี่ ต่อไปจะมีโรงไฟฟ้าเสมือน virtual power plant เข้ามา อาจไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพียงแต่มีแบตเตอรี่ไว้หลาย ๆ จุดในช่วงที่ต้องการไฟฟ้าพีก”

การจัดโรงไฟฟ้าจะมาดูหลังจากได้ค่าพยากรณ์ระยะยาวใหม่แล้ว เดิมมีโรงไฟฟ้าฟอสซิลทั้งถ่านหินและก๊าซ แต่เทรนด์โลกจะเป็นกรีนกับคลีน คือ เน้นเรื่องพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น จากที่กำหนดให้ใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 20% ต้องหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่าควรมีนโยบายอย่างไร ตั้งเป้าหมายมากกว่านี้ได้หรือไม่ ผมคิดว่าฟอสซิลที่เป็นคลีนต้องเป็นก๊าซเป็นหลัก ถ่านหินยังมีอยู่แต่อาจน้อยลง การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะเป็นคลีนเอเนอร์ยีอยู่ในพีดีพีใหม่

บริหารจัดการ “ไฟฟ้าสำรองล้น”

ขณะนี้ไทยประสบกับภาวะสำรองไฟฟ้าล้น ซึ่งตามแผนพีดีพีเดิมกำหนดว่าถึงประมาณปี 2568 ที่ยังล้น ผลจากเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตตามที่เราคาด และไทยเจอโควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว

“การสร้างโรงไฟฟ้าต้องทำล่วงหน้า 7-8 ปี ณ วันนั้นเรามองอนาคตว่าเศรษฐกิจจะโต กลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ แต่โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วทำให้รีเซิร์ฟสูงระดับหนึ่ง ตามแผนพีดีพีเราพยายามกดรีเซิร์ฟมาร์จิ้นไม่ให้สูงมาก เฉลี่ยทั้งแผนของดิวิชั่น 1 อยู่ที่ 18% จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15-20% ซึ่งถ้าเรามุ่งสู่พลังงานทดแทน เช่น ในต่างประเทศอย่างเยอรมนีหรือยุโรปมันดีแต่ไม่เสถียร ต้องมีแบ็กอัพ ก็คือ รีเซิร์ฟต้องพร้อมในวันที่แดดไม่มาหรือลมไม่มี”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีหน้าหลังจากมีวัคซีนเวิร์ก กิจกรรมภาคการผลิตหรือการท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจกลับมา ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้นกลับมาที่เดิมหรือสูงกว่าเดิม และอันที่ 2 คือ วันนี้เรามีเรื่อง EEC เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งรัฐบาลโปรโมตตรงนี้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาลงทุนจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น หรือเรื่องอีวีถ้ามาเร็วใน 3-4 ปีนี้ ก็จะทำให้ตัวรีเซิร์ฟลดลงเองโดยธรรมชาติ

ผ่องถ่ายขายไฟล้นให้เพื่อนบ้าน

มีไอเดียการผ่องถ่ายไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงก็ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปคุยกับทั้งเมียนมา กัมพูชา แต่คงไม่ได้เร็ว ๆ นี้ ตอนนี้เพื่อนบ้านก็โดนโควิด และโครงสร้างพื้นฐาน สายส่ง ต้องพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกว่าจะสร้างเสร็จประมาณปี 2566

“ตอนนี้ไม่มีนโยบายรับซื้อไฟ 10 ปีโรงไฟฟ้าเอกชนใหญ่ ๆ ไม่มีการก่อสร้าง มีรับซื้อแค่จากพวกรีนิวตัวเล็ก ๆ ส่วน 2 โปรเจ็กต์ คือ โซลาร์ลอยน้ำนั้นอยู่ในแผนพีดีพีอยู่แล้ว เป็นไปตามดีมานด์ซัพพลายไม่มีประเด็นอะไร ส่วนโซลาร์ ทบ.ยังไม่มีในแผนพีดีพี แต่จะดำเนินการอย่างไรต้องหารือกระทรวง”

ไฟล้นแต่แพงจากต้นทุนในอดีต

ตอนที่วางแผน PDP มองอนาคตค่าไฟจากปีนี้ไปถึง 20 ปีข้างหน้า อยู่ที่หน่วยละ 3.60-3.70 บาท “ไม่ขึ้นเลย” ถือว่าไม่แพง และหากเทียบกับอาเซียน ค่าไฟไทยยังอยู่ระดับกลาง ๆ

“ที่ถูกมองราคาปัจจุบันแพงมาจากต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูงด้วย เพราะมีนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2547 ปี 2550-2552 สมัยก่อนใช้ระบบ adder โซลาร์มีแอดเดอร์ 8 บาท บวกค่าไฟฐานอีก 3 บาทกว่า รวมแล้ว 11.00 บาทต่อหน่วย โครงสร้างค่าไฟวันนี้ที่อาจแพงเป็นผลมาจากโครงสร้างค่าไฟในอดีต ถ้าไปดูผลศึกษาของ กกพ.พบว่า พลังงานสะอาดมีคอร์สหลายแสนล้านเหมือนกัน พลัสทูไปในค่าไฟ”

สำรองไฟใน PDP ใหม่

วันนี้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนดีขึ้นเรื่อย ๆ และเปลี่ยนจาก adder เป็น FIT (feed in tariff) ซึ่งในอนาคตการรับซื้อไฟจากรีนิวจะถูกลง เรามีบิดดิ้งจากหน่วยละ 4 บาทกว่า เหลือ 2 บาทกว่า

เรื่องรีนิวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เพราะต้องมีระบบการสำรอง กฟผ.ต้องเตรียมสำรองไว้ ผลการศึกษาของ สนพ.ตามเรื่องปฏิรูป หากในอนาคตเรามีพลังงานทดแทนมากขึ้น อาจทำให้ตัวสำรองจะไม่ใช่แค่ 15-20% แต่ต้องมากกว่านี้ อย่างในยุโรปสำรองเขาโตถึงประมาณ 50% ก็มี บ้านเราต้องมาดูตัวเลขที่เหมาะสมอีกที

“แผนยาวนานแต่เราต้องวางเผื่อ เพราะถ้าไฟฟ้าไม่พอจะมีผลกระทบ ถ้าถามว่าพยากรณ์โอเวอร์ไหมนั่นก็ต้องยอมรับ เพราะตอนนั้นทุกคนก็คิดว่าเศรษฐกิจจะดี ถ้าในทางกลับกันพยากรณ์ผิด คิดไว้ต่ำกว่าอะไรจะเสียหายมากกว่ากัน เหลือดีกว่าไม่พอ แต่สิ่งที่เหลือมันก็ต้นทุนเท่ากัน ตอนนี้เราปรับรีไวนด์ค่าพยากรณ์ทุกปี แผนอาจต้องรีไวนด์ทุก 3 ปี”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 14 มีนาคม 2564

ระบบผันน้ำอัจฉริยะ สู้ภัยแล้ง

วช. หนุนจัดการภัยแล้ง ด้วยระบบผันน้ำอัจฉริยะ ผันน้ำตามความต้องการเกษตร แก้ปัญหาปล่อยเกินจำเป็น

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนงานวิจัยจัดการภัยแล้ง ผันน้ำตามความต้องการเกษตรไม่ปล่อยน้ำเกินจำเป็น คาดการณ์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ควบคู่กับข้อมูลจากวัดความชื้นในดินของพื้นที่เกษตรกร และระดับน้ำของแม่น้ำต่างๆ พร้อมระบบควบคุมการปล่อยน้ำแบบเรียลไทม์ได้ทันสถานการณ์ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับทุนวิจัยจาก วช. ทำวิจัยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นงานวิจัยที่จะช่วยการบริหารจัดการน้ำและการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมให้แก่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง โครงการชลประทานรับน้ำนองจากแม่น้ำปิงเข้าพื้นที่เพาะปลูกในเขต จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และ จ.กำแพงเพชร

ซึ่งจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดงประสบปัญหาการบริหารจัดน้ำและการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม

ซึ่งระบบนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมประตูน้ำได้ทันต่อสถานการณ์ทั้งภาวะแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งให้ข้อมูลพื้นฐานแก่เกษตรกรที่อยู่ต้นน้ำในการตัดสินใจผันน้ำเข้าพื้นที่ทำเกษตรตามจำเป็นโดยอ้างอิงจากความชื้นดิน ทำให้เกษตรกรไม่ผันน้ำเกินความจำเป็น และส่งน้ำไม่ตรงกับเวลาที่พืชต้องการได้รับ ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการผันน้ำแล้ว ยังทำให้มีน้ำเหลือเพียงพอไปถึงพื้นที่ปลายน้ำ ลดความขัดแย้งระหว่างคนต้นน้ำและคนปลายน้ำได้

งานวิจัยนี้พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยใช้ตัดสินใจระบายน้ำที่เหมาะสมโดยเชื่อมโยงกับแบบจำลองการประเมินความต้องการน้ำของพืชในระบบแปลงนาที่ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินแบบอัตโนมัติ ลดการสูญเสียจากการส่งน้ำเกินความจำเป็นและไม่ต้องการของพืช อีกทั้งพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่จำลองการไหลในลำน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลสู่แม่น้ำปิง คลองส่งน้ำสายหลักและสายซอยสู่พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน ให้สามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกหรือลดการสูญเสียน้ำในระบบชลประทานได้เฉลี่ย 15% ลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่เกษตรกรรม

ทีมวิจัยยังได้พัฒนาระบบติดตามรายงานสภาพการเปลี่ยนแปลงทางอุทกวิทยาของพื้นที่เกษตรกรรมต้นแบบโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ที่ใช้สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำแบบทันต่อเวลา สามารถสั่งการหรือควบคุมและประเมินสถานการณ์น้ำในระบบส่งน้ำโครงการชลประทานไปยังพื้นที่ต้นแบบที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือบริหารจัดการเกษตรกรรม ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานในรูปแอปพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดเพื่อใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนในชื่อ SWOM

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นไปใช้งานจริงในพื้นที่ต้นแบบ โดยประมวลผลเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีการตรวจความชื้นดิน วัดระดับน้ำ และอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดบานประตูที่มีการทำงานแบบอัตโนมัติและทันต่อเวลาพร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดความเข้าใจต่อเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยแก่บุคลากรกรมชลประทานเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อการประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือให้สำเร็จตามเป้าหมาย

จาก https://www.mcot.net วันที่ 14 มีนาคม 2564

"พิเชฐ" ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำ มั่นใจเกษตร อุตสาหกรรม มีน้ำใช้

"บิ๊กป้อม" มอบ "พิเชฐ" นำคณะทำงานลงติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (EEC) ยันพอใจผลคืบหน้า มั่นใจพร้อมรองรับ อุปโภคบริโภคให้เกษตร อุตสาหกรรม มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

เมื่อ 14 มี.ค.64 พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรองนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการ บริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) ติดตาม ตรวจสอบ โครงการที่สำคัญพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเมื่อ 12 มี.ค.64 พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับรองเลขาฯ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการต่างๆ สรุปผลการดำเนินงาน ที่สำคัญดังนี้

1. คณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ : ผลการดำเนินการเสร็จเรียบร้อย สามารถสูบผันน้ำได้ตั้งแต่ฤดูฝนปี 64 เป็นต้นไป

2. สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก : ปัจจุบันมีการกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ในแหล่งน้ำ เป็นน้ำใช้การได้ 1,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ตลอดห้วงฤดูแล้งปี 64 (ถึง มิ.ย.64)

3. คณะอนุกรรมการฯ ได้ติดตาม/เร่งรัดการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบกลางปี 63 จำนวน 1,451 โครงการวงเงิน 1,714 ล้านบาท : ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จทุกโครงการ

4. คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันหารือแนวทางการจัดทำแผนสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการน้ำ : โดยกรมทรัพยากรน้ำจะจัดทำแผนงานสำรองน้ำต้นทุนในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทาน เพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำ และนำมาใช้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรต่อไป

5. คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการบริหารจัดการ การใช้น้ำ 5 ปี ในพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) : โดยจะเสนอ กอนช. พิจารณาให้ สทนช. เพื่อให้ดำเนินการทบทวนข้อมูลความต้องการใช้น้ำของทุกภาคให้ทันสมัย และคาดการณ์ความต้องการไปล่วงหน้า 5 ปี เพื่อนำมาประมวลผลรวมเข้ากับแผนงานที่มีอยู่เดิม

6. คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองไผ่ : โดยได้เห็นชอบให้มีการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้มีแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้ง และสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ต่อไป

พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ได้กำชับ สทนช., กรมชลประทาน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งรัดโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนงานและกรอบเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./ผอ.กอนช. ได้ให้ไว้เมื่อคราวตรวจเยี่ยมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้ฝากความขอบคุณมายัง สทนช., จังหวัด และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ที่ได้ทุ่มเทการทำงานร่วมกันด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ ทำให้โครงการต่างๆ ที่ได้มาตรวจติดตามในครั้งนี้มีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจและเป็นรูปธรรม.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 14 มีนาคม 2564

เกษตรกรเมืองกาญจน์ หยุดเผา ขายใบอ้อยสร้างรายได้เพิ่ม

เกษตรกรไร่อ้อยเมืองกาญจนบุรี หยุดเผา หันมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุทางการเกษตร ขายใบอ้อยสร้างรายได้เพิ่ม 600 กว่าบาทต่อตัน

จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 3,030,599 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 439,342 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด และพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 735,127 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ยังคงมีการเผาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นจิตสำนึกของเกษตรกรให้หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร บูรณาการร่วมกันระหว่างกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ จนส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตทำการเกษตรแบบปลอดการเผา ใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนดีขึ้น และยังสร้างมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการลดการเผาอ้อยได้อีกด้วย

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร คือ ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินนโยบายการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน (hotspot) สะสมสูงสุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

นายมาโนช แย้มชื่น เจ้าของแปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เปิดเผยว่า มีอาชีพทำไร่อ้อยและมันสำปะหลังมานานกว่า 10 ปี มีพื้นที่ทำการเกษตร 150 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้วิธีจุดไฟเผาใบอ้อยเพื่อให้สะดวกในการตัดอ้อย และเมื่อตัดเสร็จก็จะเผาซากเศษวัสดุเพื่อเตรียมปลูกในรอบใหม่ จนกระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้ามาจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ และเสนอทางเลือกลดการเผา รณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเกษตรกรให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา นำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย และทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง เป็นต้น

โดยการปรับเปลี่ยนในช่วงปีแรก จะลดการเผาแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนลดการเผา 100% ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดอ้อย โดยการใช้เครื่องจักรกลเก็บใบอ้อย การสางใบอ้อย โดยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด รับซื้อใบอ้อย ในราคาตันละ 600 บาท ใบอ้อยสับ ราคาตันละ 750 บาท ชานอ้อย ราคาตันละ 750 บาท ในขณะที่โรงงานก็รับซื้ออ้อยในราคาที่สูงขึ้น รวมถึงมีการจัดการซากเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยการไถกลบทดแทนการเผา ซึ่งแม้จะมีต้นทุนด้านค่าแรงที่สูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพและโรงงานรับซื้อที่สูงขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า และในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชน ยังได้ชักชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ลดการเผาโดยสร้างแรงจูงใจให้เห็นถึงผลกระทบจากการเผาและนำเสนอทางเลือกการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาอีกด้วย

“จากการดำเนินการลดการเผาใบและไถกลบซากเศษวัสดุทดแทนการเผาเป็นเวลาต่อเนื่องมา 2 ปี ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพดินที่ดีขึ้น ดินร่วน ดินฟู และเมื่อนำมูลสัตว์มาช่วยบำรุงดิน มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ก็ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ต้นทุนการผลิตก็ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่คุณภาพและปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า เช่นอัดฟ่อน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรอื่นๆ ได้อีกด้วย”

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 13 มีนาคม 2564

ดีเดย์1 เม.ย.ขึ้นทะเบียน”องค์กรผู้ใช้น้ำ” ดึงคนพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา

สทนช.ดีเดย์ 1 เม.ย. ประกาศขึ้นทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ร่วมแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม สร้างมิติใหม่ดึงคนในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการ 22 ลุ่มน้ำของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงาน (12 มี.ค.2564)  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้จัดเสวนาสร้างการรับรู้การแจ้งเกิด“องค์กรผู้ใช้น้ำ” ซึ่งถือเป็นมิติใหม่แห่งพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยหวังให้ประชาชนร่วมจัดการวิกฤติน้ำในพื้นที่ พร้อมระดมความคิดเห็นตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย รับมือการขึ้นทะเบียนตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเดย์ 1 เมษายนนี้  

ดร.สมเกียรติ   ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า “องค์กรผู้ใช้น้ำ” เกิดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถือเป็นกลไกใหม่ในประวัติศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ กิจกรรมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงบทบาทและความความสำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ ในการสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในมิติใหม่ในอนาคต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ขั้นตอนกระบวนการและวิธีการต่าง ๆ ในการยื่นขอรับรองความเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ คาดว่าจะสามารถประกาศขึ้นทะเบียนได้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 นี้   ดีเดย์1 เม.ย.ขึ้นทะเบียน”องค์กรผู้ใช้น้ำ” ดึงคนพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา

สำหรับบทบาทที่สำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ นอกจากเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกร่วมกันแล้ว ยังสามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนได้ ซึ่งลุ่มน้ำหนึ่ง ๆ มีจำนวน 9 คน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน โดยกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านั้น ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้อีกด้วย รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 คน เพื่อเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขา    ดังนั้นองค์กรผู้ใช้น้ำ จะเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวังไปสู่การยกระดับในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงและร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรมดีเดย์1 เม.ย.ขึ้นทะเบียน”องค์กรผู้ใช้น้ำ” ดึงคนพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา

ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาบ้างแล้วโดยหลายหน่วยงาน แต่ถือว่ายังไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังนั้น องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจ จะต้องมายื่นขอก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบโดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะนายทะเบียน ผ่าน 3 ช่องทางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งทางระบบออนไลน์ และยื่นเอกสารด้วยตนเอง ได้แก่ 1.ทางเว็บไซต์ twuo.onwr.go.th 2.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และ 3.สำนักงานของ สทนช. ภาค 1- 4 ได้แก่ จ.ลำปาง จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีกระบวนการตรวจสอบเอกสารข้อมูลประมาณ 30 วัน หากถูกต้องครบถ้วน จะเข้าสู่กระบวนการออกเอกสารรับรองว่าเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มีนาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "ทรงตัว"ที่ระดับ 30.55 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทภาพรวมแข็งค่าช้ากว่าในช่วงขาขึ้น  เหตุมีแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศที่ทยอยออกไปลงทุนตลาดต่างประเทศ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.55 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.45-30.65 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า ช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น 1.04% ปิดที่ 3939จุดใกล้แตะระดับสูงสุดตลอดกาลจากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนในฝั่งยุโรปได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินยุโรป (ECB) ล่าสุด ที่มีมติเร่งปริมาณการซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) จาก 1.5 หมื่นล้านยูโรไปเป็นราว 2.0 หมื่นล้านยูโรต่อสัปดาห์จนถึงช่วงไตรมาสที่สอง หนุนให้ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ฟื้นตัวพร้อมกัน 0.49%

ความเคลื่อนไหวของ ECB กดให้บอนด์ยีลด์เยอรมันอายุสิบปีปรับตัวลง 3bps มาที่ระดับ -0.33% สวนทางกับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้น 2bps กลับมาที่ 1.54% เงินยูโรจึงอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ เงินดอลลาร์ถือว่ายังอ่อนค่า 0.5% ในคืนที่ผ่านมา หนุนราคาน้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัวขึ้นแตะระดับ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาทองคำทรงตัว 1723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และบิทคอยน์ทะยานขึ้นเทียบระดับสูงสุดตลอดกาลที่ราว 58,000 ดอลลาร์ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ในช่วงนี้พลิกกลับมาแข็งค่าตามความผันผวนของตลาดที่ลดลง และการลงทุนที่ฟื้นตัว แต่โดยรวมถือว่าแข็งค่าช้ากว่าในช่วงขาขึ้น เนื่องจากมีแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศที่ทยอยออกไปลงทุนตลาดต่างประเทศ และนักค้าเงินที่มองว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐจะปรับตัวขึ้นทำให้ไม่ขายเงินดอลลาร์คืนมามากในช่วงนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 มีนาคม 2564

“แคนาดา” พร้อมหนุนไทยร่วม CPTPP

“จุรินทร์” หารือเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย หนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP พร้อมตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปัจจุบัน 2,308 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมสนับสนุนการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะข้าวพรีเมี่ยม อาหารแปรรูป

วันนี้ 11 มีนาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ว่า ส่วนการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แคนาดาแจ้งว่าพร้อมสนับสนุนไทยให้เข้าร่วม ซึ่งได้แจ้งไปว่าขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อขับเคลื่อน CPTPP ในแต่ละเรื่องแล้ว โดยจะมีการประเมินความพร้อม และนำเสนอ ครม. เพื่อตัดสินใจต่อไป

จากการหารือครั้งนี้ทำให้ทั้ง 2 ประเทศไทยมีข้อตกลงร่วมที่จะผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น จากปี 2563 ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 2,308.49 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 69,255 ล้านบาท เป็นการส่งออกของไทยไปแคนาดา 1,540.97 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 46,229 ล้านบาท และนำเข้าจากแคนาดา 767.52 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 23,026 ล้านบาท

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตแคนาดา ยังพร้อมที่จะสนับสนุนความร่วมมือการค้า ลดปัญหาอุปสรรค พร้อมที่สนับสนุนการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ผลไม้สดและผลไม้แช่แข็ง เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ มะม่วง มะพร้าว ลองกอง และมะขาม ของใช้ภายในบ้านและสินค้าสำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาง และยาง เพื่อนำไปผลิตยางรถยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ที่มีระบบการตรวจรับรองเข้มงวด จึงให้ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะแคนาดา มั่นใจในสินค้าส่งออกของประเทศไทยได้

ขณะเดียวกัน ไทยยังได้ขอให้ช่วยสนับสนุนร้านอาหารไทยในแคนาดา ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,000 แห่ง และในจำนวนนี้เป็นร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select จำนวน 100 แห่ง โดยขอให้สนับสนุให้นสถาบันสอนทำอาหารบรรจุหลักสูตรการทำอาหารไทยลงไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรู้จักอาหารไทยเพิ่มขึ้น กระตุ้นการบริโภค และเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเริ่มต้นการเจรจา ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนให้มีการทำ FTA และได้แนะนำให้แคนาดาทำงานใกล้ชิดกับประเทศอาเซียนอื่น เพราะการทำ FTA อาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะต้องเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งในส่วนของไทย เห็นว่า จะเป็นประโยชน์ในการขยายการค้า การลงทุนระหว่างกัน และช่วยยกระดับการแข่งขันของอาเซียนเข้าสู่ตลาดแคนาดา ซึ่งแคนาดาแจ้งว่าหากมี FTA จะทำให้ภาษีลดลงอีกกว่า 20%

นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ที่เห็นตรงกันในการผลักดันให้ WTO เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าพหุภาคี เป็นองค์กรที่กำหนดกติกาการค้า เพื่อให้ตลาดมีความเสรีและเป็นธรรม

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 11 มีนาคม 2564

ค่าเงินบาทวันนี้​ (11 มี.ค.)​ ทรง​ตัวที่ 30.72 บาท บท​วิเคราะห์​ล่าสุด​

ค่าเงินบาทวันนี้​ (11 มี.ค.)​ ทรง​ตัวที่ระดับ 30.72 บาท คาดวันนี้เคลื่อนไหว​ใน​กรอบ​ 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิด​เผ​ยว่า​ เงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (11 มี.ค.) ที่ 30.72 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน โดย​ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวันเคลื่อนไหว​ใน​กรอบ​ 30.60-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ตลาดการเงินเริ่มพักฐานในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.60% ด้วยแรงหนุนของหุ้นขนาดเล็กรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีพักฐานหลังปรับตัวบวกแรงเมื่อวันก่อน

ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ขยับขึ้น 0.4% โดยมีตลาดหุ้นฝรั่งเศสทำจุดสูงสุดใหม่นับตั้งแต่ปลายปี 2019 บนความหวังเรื่องการกลับมาเปิดทำการภาคธุรกิจ และการท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ เงินเฟ้อในสหรัฐล่าสุด (U.S. Feb. CPI) รายงานสูงขึ้น + ขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ทำให้ตลาดคลายความกังวล โดยอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลง 1.2bps มาที่ระดับ 1.51% ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่า 0.2% และสินทรัพย์ทางเลือกต่าง ๆ แกว่งตัวในกรอบแคบรอสัญญาณเศรษฐกิจใหม่

ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ระดับ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2018 ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาเท่ากับช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ 1,726 ดอลล่าร์ต่อออนซ์ และบิทคอยน์ขยับขึ้นยืนที่ระดับ 56,100 ดอลลาร์ใกล้ระดับสูงสุดตลอดกาล

“ฝั่งเงินบาท แม้จะแกว่งตัวในกรอบแคบแต่ก็มีแรงซื้อทั้งหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติกลับ หลังยีลด์สหรัฐปรับตัวลงในช่วงนี้ ขณะที่ตลาดเริ่มมีความหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีระยะถัดไปยังต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนต่อเนื่อง เพราะแม้จะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็มักมีความผันผวนสูงจากภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤต ซึ่งทำให้เงินบาทขาดแรงหนุนที่ชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี” ดร.​จิ​ติ​พล​กล่าว​

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 11 มีนาคม 2564

‘จุรินทร์’ กำชับพาณิชย์จังหวัด เตรียมรับมือภัยแล้ง ห่วงลุกลามไปทั่ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการฝึกอบรมหลักสูตร Leadership for Leader พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยกาประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ว่า ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัด ปรับบทบาทการทำงานจากเป็นผู้คุมกฎ กติกา เป็นฝ่ายให้บริการประชาชน เอกชน เป็นเซลส์แมน ที่ต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาส่งเสริมการค้าในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาเชิงรุกโดยไม่ต้องรอให้ปัญหาเข้ามา โดยต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จในส่วนของภูมิภาคไม่ลุกลามมาถึงส่วนกลางที่ผ่านมาสามารถทำได้ดี

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภารกิจเร่งด่วนของพาณิชย์จังหวัด ในระยะนี้ คือ การเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น แต่เท่าที่ติดตามสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่ามีผลผลิตสินค้าเกษตรใด ที่ประสบปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลทั้งฝ่ายเกษตรกรคือผู้ขายและฝ่ายผู้ซื้อ คือ ภาคเอกชน ซึ่งต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศหากผลผลิตอาจลดน้อยลงราคาจะสูงขึ้น หากผลผลิตเพิ่มขึ้น จะทำราคาปรับลดลง เหมือนกับพริกที่เคยมีข่าวว่าราคาพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตในช่วงนั้นน้อย แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นเป็นปกติแล้ว

“หากพบว่าสินค้าเกษตรชนิดไหนราคาตก ก็ให้เร่งเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยใช้กลไกของภาครัฐที่มีอยู่ เช่น การชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร หัวใจหลัก คือ พาณิชย์จังหวัด ต้องเป็นฝ่ายให้บริการ ช่วยเหลือประชาชนเชิงรุก ไม่รอให้ปัญหาเข้ามาหาแต่ต้องไปหาปัญหาและแก้ให้จบในพื้นที่ก่อนที่ปัญหาจะลามมาถึงส่วนกลาง” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังให้แนวทางพาณิชย์จังหวัดนำ 14 แผนงานนโยบายปี 2564 มาบังคับใช้ให้บรรลุผลในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด และการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะช่วงโควิด เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร สินค้าชุมชน สหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือ กับไมโครเอสเอ็มอี เอสเอ็มอีต่างๆ ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ การจัดอบรมมีเป้าหมายให้ความรู้กับพาณิชย์จังหวัดทั่วทั้งประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นและเรื่องการให้ความรู้ภาวะผู้นำ สำหรับผู้นำที่เรียกว่า Leadership for Leader อบรมทั้งหมด 11 วัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 10 มีนาคม 2564

11 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

โลกของเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งขอบข่ายเทคโนโลยีที่ได้สร้างประโยชน์ต่อกระบวนการดิจิทัลและความเชื่อมโยงที่สามารถรวมหลายสิ่งเข้าไว้ด้วยกันและก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆด้านด้วยเช่นกัน

รายงาน Catching Technological Waves Innovation with equity จัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด ที่เผยแพร่เมื่อเร็วนี้ ระบุว่า เทคโนโลยี 11 แขนงไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ ,IoT ,บิ๊กดาต้า, บล็อกเชน ,5G ,พลังงานสะอาด เป็นต้นนั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ สามารถสร้างผลิตภาพและปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนทั่วไปได้

ยกตัวอย่างเช่น การรวมกันของหุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนผ่านกระบวนการด้านการผลิตและธุรกิจได้หรือแม้แต่เทคโนโลยีการพิมพ์ 3มิติ (3D printing) ที่ก่อให้เกิดการสร้างงานที่มีความรวดเร็วและต้นทุนต่ำกว่า

จากทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลกสอดคล้องกับแผนการพัฒนาภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่มีแผนนำเทคโนโลยีมามีส่วนผลักดันการลงทุน การผลิต และภาคอุตสาหกรรม

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 มีนาคม 2564

“สุริยะ” สั่งดัน 71,130 โรงงานสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในปี 68

สุริยะ สั่งดัน 71,130 โรงงานสู่อุตสาหกรรมสีเขียวในปี 68 มุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ผลักดันให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมในกำกับที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 71,130 โรง ทั่วประเทศ พัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรงต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (พ.ศ.2564-2580) เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ สร้างการรับรู้และเข้าใจในอุตสาหกรรมสีเขียว และมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมสีเขียวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและนานาชาติในที่สุด              กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG โมเดล ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเป้ายกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่สากล ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยเพื่อชุมชน ต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน           

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบกิจการโรงงานสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการอุตสาหกรรมได้รับใบรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วประมาณ 20,000 ราย โดยมีสถานประกอบการที่ขอใช้ตราสัญลักษณ์อุตสาหกรรมสีเขียวบนฉลากผลิตภัณฑ์แล้ว จำนวน 110 ราย เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ข้อมูล ณ 31 มกราคม 2564)              สำหรับปี 2564 กรมโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการ 3 โครงการหลักเพื่อการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ประกอบด้วย 1.โครงการส่งเสริมสถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ,2.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดระดับรายสาขา การลดปริมาณน้ำในโรงานอุตสาหกรรม และส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และโรงงานที่มีการใช้น้ำมากหรืออยู่ในพื้นที่ขาดแคลนน้ำและ 3.โครงการส่งเสริมการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ กรอ. ยังมีการพัฒนาระบบสารสนเทศอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสถานประกอบการ ด้วยการจัดทำระบบการเรียนรู้และอบรมออนไลน์ (E-learning) และคู่มืออุตสาหกรรมสีเขียว ที่รวบรวมหลักการดำเนินงาน หลักเกณฑ์และเงื่อนไข พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว โดยที่ผู้ประกอบกิจการสามารถสมัครและขอใบรับรองผ่านระบบออนไลน์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

จับตา 57 รง.น้ำตาลทยอยปิดหีบอ้อย คาดฤดูนี้ต่ำสุดในรอบ 14 ปี

จับตา 57 รง.น้ำตาลทยอยปิดหีบอ้อยภายใน 15 มีนาคมนี้ มีแนวโน้มปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ในฤดูหีบปี 2563/64 จะต่ำสุดในรอบ 14 ปี โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 65 ล้านตันบวกลบหลังประสบภัยแล้งหนัก แถมราคาอ้อยตกต่ำต่อเนื่อง พบโรงงาน 47 แห่งมีกำลังหีบอ้อยลดต่ำกว่าฤดูผลิตปีที่ผ่านมา

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายเริ่มทยอยปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่ได้เริ่มเปิดหีบตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาแล้วรวมประมาณ 19 แห่งคาดว่าจะปิดหีบอ้อยได้ทั้งสิ้น 57 โรงงานในช่วงวันที่ 15 มีนาคมนี้ โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยฤดูหีบดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านตันซึ่งนับเป็นสถิติการผลิตอ้อยที่ลดต่ำสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่ฤดูหีบปี 50/51 โดยเป็นผลมาจากไร่อ้อยประสบกับภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง และราคาอ้อยที่ตกต่ำตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกในระยะ 2-3ปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้ผลผลิตอ้อยที่เปิดหีบมาอยู่ระดับ 64 ล้านตันกว่า หากประเมินเบื้องต้นปิดหีบก็น่าจะอยู่ราว 65 ล้านตันบวกลบเล็กน้อยก็ยังมองแบบนี้ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ตกต่ำต่อเนื่องจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่มีกำลังผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตันซึ่งฤดูหีบปีนี้ถ้าไม่ได้ส่งเสริมการตัดอ้อยสดตัวเลขจะลดต่ำกว่านี้มากเพราะการตัดอ้อยสดจะมีใบอ้อยติดไปค่อนข้างมากทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น”นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ภัยแล้งและราคาอ้อยที่ตกต่ำทำให้ชาวไร่อ้อยไม่ได้ดูแลรักษาบำรุงตอ หรือปลูกอ้อยใหม่เพิ่มขึ้นมากนักจึงทำให้ผลผลิตต่อไร่อ้อยจากที่ควรอยู่ในระดับกว่า 10 ตันต่อไร่ก็ลดลงเหลือ 7-8ตันต่อไร่เท่านั้น ประกอบกับความหวานที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นนักแม้จะเป็นการตัดอ้อยสดก็ตามเนื่องจากแรงงานที่จะไปสางใบอ้อยหายากการพึ่งพารถตัดอ้อยที่ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดเศษต่างๆ เข้าไปปนเปื้อนมากขึ้น ดังนั้นในระยะต่อไปหากจะให้อ้อยของไทยกลับไปสู่ระดับ 100 ล้านตันจะต้องมีปัจจัยที่เอื้อทั้งราคาอ้อยที่จูงใจ ปริมาณน้ำที่จะต้องเพียงพอเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก

นายนราธิปกล่าวถึง ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ในส่วนของชาวไร่อ้อยมีตัวแทนอยู่ด้วยและได้นำเสนอร่างของชาวไร่อ้อยไปแล้ว ซึ่งกระบวนการต่างๆ คาดว่าจะสรุปชัดเจนได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งคาดหวังว่าร่างแก้ไขจะออกมาในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานปิดหีบอ้อยแล้วราว 19 แห่งและที่เหลือกำลังทยอยปิดหีบขณะนี้ภาพรวมมีกำลังหีบ 280,316 ตันต่อวัน ค่าความหวานเฉลี่ย 12.88 ซีซีเอส อ้อยสดเฉลี่ย 73.93 % ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 112.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย อย่างไรก็ตามจากผลผลิตอ้อยที่ลดต่ำทำให้โรงงาน 57 แห่งพบว่าจำนวน 47 แห่งมีกำลังการหีบอ้อยที่ลดลงจากฤดูหีบปี 2562/63 และที่เหลือประมาณ 10 แห่งมีอัตรากำลังการหีบอ้อยเพิ่มขึ้นอาทิ ไทยรุ่งเรือง, มิตรกาฬสินธุ์ ,ครบุรี ,อ่างเวียน,รีไฟน์ชัยมงคล ,วังขนาย(มหาวัง) เป็นต้น

“ด้วยปริมาณอ้อยที่ลดต่ำทำให้โรงงานส่วนใหญ่ใช้อัตรากำลังหีบอ้อยลดลงเมื่อเทียบกับฤดูที่ผ่านมาเฉลี่ย 20-30% โดยโรงงานที่หีบได้เยอะส่วนหนึ่งได้มีการจูงใจในการรับซื้ออ้อยที่ให้ราคาสูง “แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564

แข่งสร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติ ดันเกษตรแม่นยำ ต่อยอดเชิงพาณิชย์

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาความท้าทายหลากหลายด้านทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต ด้านราคา ประสบปัญหาสภาพความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติ แรงงานเข้าสู่ผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบอัตโนมัติถูกนําเข้ามาใช้ทดแทน แรงงานคนมากขึ้น ฯลฯ

จากความจำเป็นดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีการจัดการแข่งขัน “หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ” ซึ่งถือมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสามารถนําผลงานจากการแข่งขันนำมาใช้สร้างระบบการทำเกษตรอัจฉริยะหรือเกษตรแม่นยําเป็นระบบเกษตรชั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า การแข่งขันฯเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับนิสิต-นักศึกษา และสถาบันการศึกษา ได้มีพื้นที่ในการแสดงความสามารถ และเป็นการท้าทายฝีมือของคนไทยในการประดิษฐ์และนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เพื่อลดผลกระทบจากสภาวะการขาดแคลนแรงงาน ตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ ในการยกระดับมาตรฐานการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรของประเทศไทยและตลาดโลก อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา

สำหรับโครงการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะเคยจัดในปี 2561 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์เก็บมะม่วงจากต้นและคัดแยกผลสุก-ดิบได้ มีจำนวนผู้เข้าแข่งขัน 20 ทีม จำนวน 200 คน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.)

ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำโครงการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2563  ภายใต้แผนงานปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน มีทีมสมัครเข้าแข่งขันจำนวน 50 ทีม จำนวน 500 คน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม เป้าหมายเพื่อส่งต่อต้นแบบเทคโนโลยีนวัตกรรมจากทีมผู้เข้าแข่งขันไม่น้อยกว่า 10 โครงการวิจัยเข้าสู่การขอทุนจากแหล่งทุนวิจัยเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปโครงการพัฒนานวัตกร/วิศวกรด้านวิทยาการหุ่ยนต์เพื่อการเกษตรกรรม

“โครงการในเฟสที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 ได้เปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 คาดการแข่งขันจะสิ้นสุดประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 หรือถ้าต่อเวลาเพื่อผ่านสถานการณ์โควิดรอบใหม่ก็น่าจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป็นการแข่งหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ 11 ประเภท อาทิ หุ่นยนต์ตรวจวัดสารตกค้างหรือสาระสำคัญในพืชผักผลไม้, หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช, หุ่นยนต์อารักขาพืช, หุ่นยนต์ปลูกพืช, หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว, Phenotype robot, หุ่นยนต์ปรับระดับพื้นแปลงเกษตร,หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างดินและตรวจวิเคราะห์โครงสร้างดิน,หุ่นยนต์คัดแยกผลผลิตทางการเกษตร,หุ่นยนต์สีกะเทาะเปลือก และหุ่นยนต์กรีดยาง”

ขณะที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการริเริ่มสำคัญ(Flagship Project)ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะเข้าสู่เฟสที่ 2 จะมีการการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจริยะ 17 ประเภท โดยขยายจากของเดิม(ที่มี 11 ประเภท)เพิ่มเข้ามาใหม่อีก 6 ประเภทที่ได้แก่ 12.หุ่นยนต์เพื่อการจัดการฟาร์มด้านปศุสัตว์ 13.หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านการประมง 14. หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านป่าไม้ 15. หุ่นยนต์สำหรับโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และวนผลิตภัณฑ์ 16. หุ่นยนต์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และ 17. หุ่นยนต์จัดการด้าน Warehouse คลังสินค้า“คาดจะเปิดรับสมัครได้ประมาณ  1 ตุลาคม 2564 ได้จำนวนทีม 100 ทีมๆ ละ 10 คน รวม 1000 คน คาดว่าการแข่งขันจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยแต่ละทีมจะได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 1 แสนบาท ไม่นับรวมรางวัลหากชนะการแข่งขัน”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

จับตานับถอยหลังปิดหีบอ้อยปี 63/64 ส่อแววอ้อยต่ำสุดรอบ 14 ปี

โรงงานทยอยปิดหีบอ้อยแล้ว คาดปิดหีบได้ทั้ง 57 แห่งราว 15 มีนาคมนี้ มีแนวโน้มปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ในฤดูหีบปี 2563/64 จะต่ำสุดในรอบ 14 ปี โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 65 ล้านตันบวกลบหลังประสบภัยแล้งหนัก แถมราคาอ้อยตกต่ำต่อเนื่อง พบโรงงาน 47 แห่งมีกำลังหีบอ้อยลดต่ำกว่าฤดูผลิตปีที่ผ่านมา

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายเริ่มทยอยปิดหีบอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ที่ได้เริ่มเปิดหีบตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาแล้วรวมประมาณ 19 แห่งคาดว่าจะปิดหีบอ้อยได้ทั้งสิ้น 57 โรงงานในช่วงวันที่ 15 มีนาคมนี้ โดยคาดว่าผลผลิตอ้อยฤดูหีบดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านตันซึ่งนับเป็นสถิติการผลิตอ้อยที่ลดต่ำสุดในรอบ 14 ปีนับตั้งแต่ฤดูหีบปี 50/51 โดยเป็นผลมาจากไร่อ้อยประสบกับภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง และราคาอ้อยที่ตกต่ำตามทิศทางราคาน้ำตาลตลาดโลกในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

“ขณะนี้ผลผลิตอ้อยที่เปิดหีบมาอยู่ระดับ 64 ล้านตันกว่า หากประเมินเบื้องต้นปิดหีบก็น่าจะอยู่ราว 65 ล้านตันบวกลบเล็กน้อยก็ยังมองแบบนี้ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ตกต่ำต่อเนื่องจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่มีกำลังผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตันซึ่งฤดูหีบปีนี้ถ้าไม่ได้ส่งเสริมการตัดอ้อยสดตัวเลขจะลดต่ำกว่านี้มากเพราะการตัดอ้อยสดจะมีใบอ้อยติดไปค่อนข้างมากทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น” นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ ภัยแล้งและราคาอ้อยที่ตกต่ำทำให้ชาวไร่อ้อยไม่ได้ดูแลรักษาบำรุงตอ หรือปลูกอ้อยใหม่เพิ่มขึ้นมากนักจึงทำให้ผลผลิตต่อไร่อ้อยจากที่ควรอยู่ในระดับกว่า 10 ตันต่อไร่ก็ลดลงเหลือ 7-8 ตันต่อไร่เท่านั้น ประกอบกับความหวานที่ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นนักแม้จะเป็นการตัดอ้อยสดก็ตามเนื่องจากแรงงานที่จะไปสางใบอ้อยหายากการพึ่งพารถตัดอ้อยที่ไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดเศษต่างๆ เข้าไปปนเปื้อนมากขึ้น ดังนั้น ในระยะต่อไปหากจะให้อ้อยของไทยกลับไปสู่ระดับ 100 ล้านตันจะต้องมีปัจจัยที่เอื้อทั้งราคาอ้อยที่จูงใจ ปริมาณน้ำที่จะต้องเพียงพอเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก

นายนราธิปกล่าวถึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ในส่วนของชาวไร่อ้อยมีตัวแทนอยู่ด้วยและได้นำเสนอร่างของชาวไร่อ้อยไปแล้ว ซึ่งกระบวนการต่างๆ คาดว่าจะสรุปชัดเจนได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ คาดหวังว่าร่างแก้ไขจะออกมาในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า ขณะนี้โรงงานปิดหีบอ้อยแล้วราว 19 แห่งและที่เหลือกำลังทยอยปิดหีบขณะนี้ภาพรวมมีกำลังหีบ 280,316 ตันต่อวัน ค่าความหวานเฉลี่ย 12.88 ซีซีเอส อ้อยสดเฉลี่ย 73.93% ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 112.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย อย่างไรก็ตาม จากผลผลิตอ้อยที่ลดต่ำทำให้โรงงาน 57 แห่งพบว่าจำนวน 47 แห่งมีกำลังการหีบอ้อยที่ลดลงจากฤดูหีบปี 2562/63 และที่เหลือประมาณ 10 แห่งมีอัตรากำลังการหีบอ้อยเพิ่มขึ้น เช่น ไทยรุ่งเรือง, มิตรกาฬสินธุ์, ครบุรี, อ่างเวียน, รีไฟน์ชัยมงคล, วังขนาย (มหาวัง) เป็นต้น

“ด้วยปริมาณอ้อยที่ลดต่ำทำให้โรงงานส่วนใหญ่ใช้อัตรากำลังหีบอ้อยลดลงเมื่อเทียบกับฤดูที่ผ่านมาเฉลี่ย 20-30% โดยโรงงานที่หีบได้เยอะส่วนหนึ่งได้มีการจูงใจในการรับซื้ออ้อยที่ให้ราคาสูง” แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

ศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC

รศ.ดร.วิจิตต์ศรี สงวนวงศ์ คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย “โครงการศึกษา สำรวจ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” เมื่อเร็วๆนี้

โดยผลการศึกษาพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัด ปริมาณน้ำบาดาลที่คาดว่าจะพัฒนาได้ทั้งหมด 201 ล้าน ลบ.ม/ปี ประกอบด้วย 1) อำเภอเมืองระยอง และอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง จำนวน 120 ล้าน ลบ.ม/ปี 2) อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จำนวน 3.4 ล้าน ลบ.ม/ปี 3) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว และอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 78 ล้าน ลบ.ม/ปี ซึ่งผลการสำรวจนี้เป็นที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการพัฒนาที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และเหมาะสมอย่างยิ่งในการลงทุนต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

เงินบาทเปิด 30.50/54 แนวโน้มอ่อนค่าหลังดอลล์แข็งจากตัวเลข ศก.มะกันดีกว่าคาด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 30.50/54 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงจากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทวันนี้ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เพราะตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non Farm Payroll) เดือนก.พ.ของสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี

โดยช่วงนี้ต้องติดตามทิศทางตลาดพันธบัตรของสหรัฐ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความคืบหน้าเรื่องการกระจายวัคซีน เป็นต้น คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.45-30.65 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

ก.เกษตรฯ ผนึกความร่วมมือจีนพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ-อีคอมเมิร์ซ เพิ่มศักยภาพเกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังจากนายหวัง ลี่ผิง (Mr. Wang Liping) อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยและคณะเข้าเยี่ยมคารวะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเรว่า การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีนเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดียิ่งได้แก่ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Development)  การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming)ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟเชื่อมระหว่าง ไทย-ลาว-จีน และ ไทย-เวียดนาม-จีน การขยายความร่วมมือด้านตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ อาทิ JD Alibaba (TAPBAO Tmall)Lazada และ Shopee เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือในโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร ซึ่งขณะนี้มี 8 กลุ่มจังหวัดที่เริ่มและอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้ประกอบการจีน เช่น นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% โดยฝ่ายจีนยืนยันพร้อมสนับสนุนการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและยังเสนอที่จะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการ เช่น การศึกษาดูงานของผู้นำเกษตรกรไทยในจีน การศึกษาดูงานด้านเกษตรกรอัจฉริยะ การสัมมนาการจับคู่ผู้ประกอบการ โครงการฝึกอบรม ฯลฯ และฝ่ายไทยได้นำเสนอโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบ ความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง และส่งเสริมกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบสนับสนุนดำเนินโครงการแล้วทั้งหมด 7 โครงการ ในวงเงินราว 60 ล้านบาท และครั้งล่าสุด เมื่อปี 2563 ได้เสนอโครงการจำนวน 8 โครงการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือนี้ และพร้อมที่จะดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกทุกประเทศเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคนี้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้จะหารือต่อเนื่องในการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – จีน ครั้งที่ 12 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ผ่านระบบออนไลน์

นายอลงกรณ์กล่าวว่าจีนเป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ไทย โดยในปี 2563 ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งปัจจัยความสำเร็จที่ผ่านมาคือความร่วมมืออย่างดียิ่งระหว่างไทยกับจีนและการทำงานภายใต้โมเดล “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ตามนโยบายร่วมระหว่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ตลอดจนการพัฒนาระบบผลิตจนถึงผู้บริโภคด้วยนโยบาย “เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัย”สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคด้วยมาตรฐาน GAP ,GMP,Organic,Halal ,Q เป็นต้นรวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 เพื่อเป็นกรอบในการทำงานเน้นการเทคโนโลยีมากขึ้นในยุค 4.0 และในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและรสชาติอร่อย และได้มีการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพผลไม้ไทย อาทิ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จากฟาร์มถึงผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (O2O model) การพัฒนาการอำนวยความสะดวก (Facilitation) บริเวณด่านส่งออก 4 ด่าน ได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านโหยวอี้กวน ด่านตงชิงและด่านผิงเสียงขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการโลจิสติกส์เกษตร(Logistic)ที่มีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรเป็นประธานกำลังจัดทำแผนพัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟ โดยจะเชื่อมระหว่าง ไทย-ลาว-จีน และ ไทย-เวียดนาม-จีน

สำหรับสถิติการส่งออกผลไม้สดไปจีน ปี 2563 มีดังนี้ ปริมาณรวม 1,624,000 ตัน มูลค่า 102,800 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกไปจีน ๕ อันดับแรก คือ 1. ทุเรียน 620,000 ตัน มูลค่า 66,000 ล้านบาท 2. ลำไย 378,000 ตัน มูลค่า 14,400 ล้านบาท 3. มังคุด 287,000 ตัน มูลค่า 15,700 ล้านบาท 4. มะพร้าวอ่อน 270,000 ตัน มูลค่า 4,900 ล้านบาท และ 5. ขนุน 22,700 ตัน มูลค่า 400 ล้านบาท ในส่วนของทุเรียนเป็นผลไม้สดที่จีนนำเข้ามากที่สุดในปี 2563 คิดเป็น 23% ของปริมาณการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทั้งหมดของจีน โดยไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่จีนอนุญาตให้นำเข้าผลทุเรียนสด

“ประเทศไทยสามารถขยายการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรผ่านด่านตงซิงและด่านผิงเสียงที่เปิดใหม่ได้ช่วยลดปัญหาและอุปสรรคการขนส่งสินค้าไปจีนและช่วยขยายความร่วมมือการค้าของทั้งสองประเทศ และหากสามารถเปิดในรูปแบบ Green lane ตรวจปล่อยสินค้าบริเวณด่านการค้าพิเศษและเขตฟรีโซนหนานหนิงจะทำให้การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพ จึงได้ขอให้ฝ่ายจีนติดตามความก้าวหน้าการอนุญาตนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่ หากสามารถเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว จะลดความแออัดบริเวณด่านโหย่วอี้กวนในช่วงฤดูกาลการส่งออกทุเรียนของปีนี้

ท้ายที่สุด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอขอบคุณฝ่ายจีนที่มาหารือพูดคุยกันในครั้งนี้ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้หารือในความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายต่อไป.

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

“กรอ.” ยกระดับตรวจโรงงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เปิดมิติใหม่รับยุค New Normal นำร่อง 5 พันแห่ง

“สุริยะ”สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยกระดับการตรวจโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายแบบทางไกล (Remote Inspection) เน้นอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้วิถีปกติใหม่ (New Normal) โดยเริ่มให้บริการนำร่องโรงงานกว่า 5,000 โรงงาน พื้นที่ กทม. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการออกใบอนุญาต และได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตโรงงาน ล่าสุดได้สั่งการให้ กรอ.ยกระดับการให้บริการด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ตรวจโรงงานทางออนไลน์ เพื่อให้การกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ ได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้บริการนำร่องโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ กทม.กว่า 5,000 โรงงาน เริ่มดำเนินการตั้งเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของ รมว.อุตสาหกรรมด้วยการออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยการตรวจสอบโรงงานและสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายแบบทางไกล (Remote Inspection) โดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการตรวจโรงงานแทนการลงพื้นที่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภัยธรรมชาติ หรือจากสถานการณ์อื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่จะประสานงานการตรวจแบบทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่นต่างๆบนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น

“ประกาศของ กรอ.ในเรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน หรือผู้ที่ครอบครองวัตถุอันตราย ต้องจัดส่งรายงานการตรวจประเมินแบบทางไกล หรือแบบฟอร์มการตรวจติดตามสถานที่เก็บวัตถุอันตรายทาง E-mail,Line ซึ่งหาก กรอ. พิจารณาแล้วเห็นว่ารายงานดังกล่าวมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือการประกอบกิจการไม่สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด อาจให้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น Zoom,Skype,Microsoft Teams,Line VDO Call เพื่อให้สามารถเห็นภาพการประกอบกิจการได้ชัดเจน หรือหากมีข้อสงสัยก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว โดยเริ่มนำร่องในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ กทม. จำนวน 5,592 โรงงานก่อน และจะขยายผลไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศต่อไป”

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

8 ข้อเสนอ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ถึงรัฐบาล ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

“ศุภชัย พานิชภักดิ์” ปาฐกถาพิเศษวันนักข่าว แนะแนวทาง 8 ข้อบริหารเศรษฐกิจประเทศ ยอมรับเศรษฐกิจตอนนี้คือ Survival Economic ระบุการกู้เงินมาเยียวยาประคับประคองมาถูกทางแล้ว เพราะทุกประเทศก็ทำกัน

วันที่ 5 มีนาคม 64 ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ว่า

ที่ผ่านมาได้ถูกสอบถามถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก หลายเรื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยคำถามแรก คือกรณีที่รัฐบาลได้มีการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินให้กับประชาชนนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะทำให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบมากนักทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กำหนดเพดานไว้ไม่ต่ำ 11% แต่สถาบันการเงินไทยการกันสัดส่วนนี้ไว้มากถึง 19-20% เช่นเดียวกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีสะสมอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าปี 2540 ที่มีอยู่เพียง 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ถือว่าฐานะทางการเงินของประเทศยังคงแข็งแกร่งอยู่อย่างแน่นอนส่วนเรื่องการว่างงาน ปกติประเทศไทยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยต่อปีประมาณ 0.9% ยกเว้นเข้าสู่ช่วงเด็กจบใหม่เข้ามาตลาดงานก็อาจเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 3-4 แสนคน โดยที่ผ่านมามีการนำเสนอว่า ช่วงการเกิดโควิด-19 จะทำให้มีจำนวนคนว่างงานทะลุถึง 8-10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาก็ไม่เป็นตามนั้น เพราะล่าสุดในปลายปีที่แล้ว มีจำนวนคนว่างงาน 7-8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ประมาณ 1.9-2% เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้อาจทะลุไปถึง 1 ล้านคนก็เป็นไปได้ แต่จะไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่ออกมาประเมินเอาไว้ส่าจะสูงถึง 8-10 ล้านคนเป็นไปไม่ได้แน่นอน

“หากเราจะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนี้ แนวโน้มมันไม่น่าจะเลวลง แนวโน้มมันมีแต่จะเรียบ ๆ ทั่วโลกอาจมีการสะดุดบ้าง เพราะกระบวนการต่อสู้กับโรคระบาดมันจะเวียนกลับมา เพราะว่าเราสู้ชนะส่วนหนึ่งไปแล้ว เขาจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ แล้วกว่าเราจะเอา 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ติดไปกลับมาหายพร้อมเพียงกัน อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปี โดยทุกคนมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนที่ได้ก็ไม่รู้ว่าคุ้มกันได้ขนาดไหน ซึ่งสภาพที่เรามองจากในจุดที่มันค่อนข้าง จะแย่และจะแย่ไปมากกว่านั้นอีก มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในช่วงที่เป็น Extreme Conditions หรือภาวะที่เรียกว่าสุดกู่ อย่าได้ลากเส้นทางเศรษฐมิติขึ้นมาเพราะมันไม่ใช่ภาวะปกติ มันจะกระโดด เพราะมันจะไม่ดีเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อยากให้หนักใจ หรือตื่นตระหนกตกใจมาก”8 ข้อเสนอ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ถึงรัฐบาล ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

นายศุภชัย กล่าวว่า ภาวะที่เราเจอวันนี้ ก็เห็นสอดคล้องกันกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ซึ่งออกมาเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทยว่า เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจจากเดิมที่บอกว่าจะติดลบ 10% แต่ตัวเลขจริงออกมาทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ส่วนเรื่องของหนี้สินนั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยอย่างเดียวแต่รัฐบาลทั่วโลกเจอโจมตีเหมือนกันหมดว่าเป็นรัฐบาลนักกู้กันทั้งนั้น ซึ่งมาถามผมอยากจะถามว่ามีประเทศไหนที่รัฐบาลไม่กู้เงินเอามาช่วยประชาชนเพื่อทำ Survival Economic หรือการทำเศรษฐกิจให้อยู่รอด คือเอาแค่อยู่รอด แต่จะกู้มากกู้น้อย หรือพิมพ์แบงก์หรือไม่ ก็ทำทั้งนั้นล่าสุดทั้งธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็เปิดช่องให้หลายประเทศกู้เงินในเงื่อนไขพิเศษทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก ดังนั้นในขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งกำลังเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 50% นั้น หากเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งก็เพิ่มไปถึง 60% แต่พอผ่านไปก็เริ่มชะลอลงเหลือ 40% และเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึง50% ซึ่งส่วนตัวมองว่า สัดส่วนที่กำหนดเอาไว้ 60% เป็นตัวเลขที่ดีหากทำได้ ส่วนประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนสูงกว่านี้มาก“ผมเป็นคนออกไปพูดเมื่อปีที่แล้ว 2-3 ครั้งว่า หากกู้เงินเพิ่มจนทำให้สัดส่วนหนี้สูงทะลุกรอบ 70-80% ผมยังยอม เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องกู้มาประคองเศรษฐกิจแบบ Survival Economic คุณอย่าเอามาตรฐานตอนที่ดี ๆ มาพูดกัน คือถ้าคุณดี ๆ อยู่แล้วคุณไปกู้ อย่างนี้เรียกว่าข้างในคุณเน่าแล้ว แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังเน่าอยู่บนเปลือก เราต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้มันไปหาข้างใน แต่ถ้าคุณบอกแบบนี้ไม่เอา ผมว่าคุณคิดแบบนี้คุณฉลาดไม่พอ โดยตอนนี้ดอกเบี้ยกำลังอยู่ใกล้ศูนย์ด้วย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออกพ.ร.ก.มาแล้ว ตอนนี้ยังมีเงินพอแน่นอน แต่ก็ต้องใช้ให้เหมาะสม ถูกเรื่อง ถูกเวลา ใช้กระสุนให้พอถ้าจะตุนเอาไว้ ดีกว่าไปถล่มใช้ทีเดียวหมดแล้วกู้ใหม่ แต่ถ้าหมดก็ต้องลองมาดูกันอีกที อย่างเอามาช่วยเอสเอ็มอี อยากให้ใช้ให้หมดไปเลย เงินยังเหลืออยู่อีก อยากให้ปล่อยเงินให้ง่าย อย่าหวงให้เขาเอาเงินไปใช้ลงทุน ถ้าทำได้เร็วเขาจะดีขึ้นทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรายังชะลอ ๆ เขาจะอยู่ไม่รอดเมื่อสถานการณ์กลับมาดีแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาไม่ปกติขืนไปรบแบบปกติคุณก็แพ้สงคราม8 ข้อเสนอ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ถึงรัฐบาล ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

อดีตเลขาธิการอังก์ถัด กล่าวว่า การฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นั้น ได้ยกประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุเอาไว้ 8 ข้อ ซึ่งตรงกับที่คิดเอาไว้ คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ ที่ผ่านมาเราจัดการดีแต่ปล่อยคนเข้ามาน้อย แต่ก็ต้องดูให้เหมาะสมค่อย ๆ เปิด โดยเฉพาะหลังจากมีวัคซีนเต็มที่ ซึ่งทั่วโลกจะทำแบบบับเบลเทรนด์ทั้งนั้น2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ และการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนตัวคิดว่า ชั่วกัปชั่วกัลป์ เราขอกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยผมเริ่มต้นการเมืองมา จนเลิก การเมืองมีเสถียรภาพของบ้านเราเป็นอะไรที่ลำบาก แต่ว่าเฉพาะบ้านเรามีปัญหาก็ไม่ถูก เพราะจากที่ไปทำงานมากับหลายสิบประเทศทั่วโลกก็เห็นปัญหานี้ว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงฟูมฟัก อ่อนแอ ก็ยังปัญหา และหวังว่าสักวันหนึ่งจะมี Political Distancing หรือการเมืองแบบเว้นระยะห่างเกิดขึ้นมาบ้าง ให้สงบ ๆ อยู่ห่าง ๆ กันบ้าง อย่าประชิดตัวกันมากเกินไป หรือใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองอย่างเดียว โดยไม่ได้แก้เศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนั้นใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน8 ข้อเสนอ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ถึงรัฐบาล ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

3.ช่วยเหลือการท่องเที่ยวและเอสเอ็มอี เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทำลายสิ่งแวดล้อม 4.เร่งการใช้งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน 5.เร่งให้ภาคเอกชนได้ลงทุนจริง โดยจะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงให้ได้ เพราะปัจจุบันเรามีสัดส่วนการลงทุนจริงต่อจีดีพี 23% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่30% ดังนั้นจึงต้องทำให้ได้ 27-30% 6.การเตรียมความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว 7. การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภาคเกษตร และการรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และ8.การเตรียมตัวรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก8 ข้อเสนอ “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ถึงรัฐบาล ฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย

อย่างไรก็ตามมี 4 ข้อที่อยากให้เน้น 1.การอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อประคองเศรษฐกิจนั้นทำได้ แต่ก็ต้องทำพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปด้วยโดยอย่าละเลย โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) โดยเฉพาะ Bio Economic ที่มีความสำคัญอย่างมากกับประเทศไทย 2.ด้านการศึกษา จะถดถอยทุกปีไม่ได้ เพราะที่ผ่านการอันดับทางการศึกษาของไทย โดย WEF ประกาศออกมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัวเลขเด็กมัธยมศึกษาที่ไปต่ออาชีวะศึกษามีแค่ 45% ของการศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมแล้วจะมีสัดส่วนสูงถึง 90% เพื่อให้ผลิตคนให้ตรงตามความต้องการได้ และจากนี้ไป 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดมีประชากรกว่า 28% ที่มีอายุเกิน 60 ปี พร้อมกันนี้ยังต้องพัฒนาทักษะคน โดยเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้น3.การลงทุนปัจจุบันมีจำนวนการลงทุนน้อยมากและต่ำมาก โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปรับลดลงมาก โดยต่ำว่าประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีคำขอแต่ยังไม่มีการลงทุน และ 4. เรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนควบคู่ไปกับเอสเอ็มอี โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถือเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับฐานรากจริง ๆ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : แบ่งลุ่มน้ำใหม่ได้อะไร?

เดิมนั้นลุ่มน้ำหลักของประเทศไทยมีทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ แต่เพื่อให้ที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและวิถีชีวิตของประชาชน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) จึงได้ดำเนินการศึกษาจัดแบ่งลุ่มน้ำใหม่ โดยพิจารณาจากจุดออกของลุ่มน้ำ

สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่ วัฒนธรรมองค์กร การแบ่งเขตการปกครองการใช้น้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ และที่สำคัญพื้นที่ลุ่มน้ำไม่ควรอยู่ต่างภูมิภาคในที่สุดพระราชกฤษฎีกากำหนดลุ่มน้ำใหม่ จาก 25 ลุ่มน้ำ ลดลงเหลือ 22 ลุ่มน้ำก็มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

สำหรับลุ่มน้ำหลักใหม่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำนั้น ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำโขงเหนือ

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป ลุ่มน้ำ

แม่กลอง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแบ่งลุ่มน้ำใหม่แล้ว ก็ยังจะไม่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ.2561 ถ้ายังไม่มีกรรมการลุ่มน้ำ

เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ต้องการให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เป็นไปบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สามารถใช้ในการวิเคราะห์ด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำแบบองค์รวมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ยืนยันว่าสทนช.จะดำเนินการสรรหาและคัดเลือกกรรมการลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ และผู้ทรงคุณวุฒิ

หลังจากนั้นก็จะดำเนินการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อไปนั่งในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ( กนช.) จำนวน 6 คน ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 1 คน จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564

“ภายหลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักและกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช.แล้วจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการสถานการณ์ในปัจจุบันและปัญหาในพื้นที่รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สทนช.ยืนยัน

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป มิติใหม่ของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจะเริ่มนับ..หนึ่ง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไทยขออาเซียนเร่งดัน 'อาร์เซ็ป'ให้ใช้บังคับได้ทัน ม.ค.ปี 65

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เคาะแผนเศรษฐกิจของอาเซียนปี 64 พร้อมผนึกกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ด้านไทยขอสมาชิกช่วยผลักดัน RCEP ให้มีผลบังคับใช้ม.ค.ปีหน้า

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือเออีเอ็ม (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประชุมได้เห็นชอบแผนดำเนินการสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Priority Economic Deliverable: PED) ตามข้อเสนอของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ภายใต้แนวคิด“We share, We prepare, We prosper”

ซึ่งมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการฟื้นฟู อาทิ การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

2. ด้านการเป็นดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564 - 2568 และ 3. ด้านความยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และ MSMEs ของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของอาเซียนภายหลังโควิด-19 เน้นการลดอุปสรรคการค้า เชื่อมโยงสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะตกลงขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นในช่วงโควิด-19 การเร่งเตรียมความพร้อมด้านการค้าดิจิทัล และหาทางให้อาเซียนขยายความสำคัญของการอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยฝ่ายไทยได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศสมาชิก RCEP ควรจะต้องกำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า เพื่อที่ทุกประเทศจะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายในที่ชัดเจน และได้แจ้งว่ารัฐสภาไทยได้ให้การรับรองแล้ว ซึ่งถือเป็นประเทศแรกและอยู่ระหว่างการเตรียมการภายในเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในกำหนด รวมทั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งหารือจัดทำความเห็นต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"อ่อนค่า"ที่ระดับ 30.41บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาส"อ่อนค่า"ลงตามทิศทางราคาทองคำและเงินดอลลาร์ แม้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้นและบอนด์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.41 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.33-30.53 บาทต่อดอลลาร์ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวรับภาพยีลด์ที่สูงขึ้นในคืนที่ผ่านมา หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐเห็นการเทขายบอนด์ในช่วงนี้และกำลังกำลังจับตาอยู่ แต่ไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและเชื่อว่านโยบายการเงินในปัจจุบันของเฟดอยู่ในจุดที่ “เหมาะสม” ความเห็นดังกล่าวหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี ปรับตัวขึ้นต่อ 6.6bps มาที่ระดับ 1.55% กดดันตลาดหุ้นให้ปรับตัวลงโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐลดลง 1.34% นำโดยหุ้นขนาดเล็กและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนดัชนี STOXX 600 ของยุโรปแม้จะพบกับความผันผวนที่สูงขึ้นแต่ก็มีการฟื้นตัวของตลาดอิตาลีและสเปนจึงปรับตัวลงเพียง 0.32%

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. Initial Jobless Claims) ล่าสุดปรับตัวลงมาที่ระดับ 7.45 แสนตำแหน่ง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (U.S. Jan. Durable Goods Orders) ปรับตัวขึ้น 3.4% จากเดือนก่อนสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัว ผสมกับตลาดการเงินที่ผันผวน จึงทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นถึง 0.7% กดดันราคาทองคำร่วงลงแตะระดับ 1700 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้งฝั่งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มองว่ามีโอกาสอ่อนค่าลงตามทิศทางราคาทองคำและเงินดอลลาร์ แม้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้นและบอนด์ไทยติดต่อกันเป็นวันที่สอง มองว่าระหว่างวัน เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากมีทั้งแรงหนุนและแรงต้านผสมผสานกัน ขณะที่การซื้อขายในตลาดช่วงนี้ก็ไม่สูงมาก เนื่องจากนักค้าเงินส่วนใหญ่กำลังรอดูแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและภาพรวมตลาดแรงงานของสหรัฐในวันศุกร์นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (5 มี.ค.) “อ่อนค่า”ลงมาอยู่ที่ระดับ 30.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามค่าเงินสกุลหลัก และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ซึ่งได้อานิสงส์หลักๆ หลังประธานเฟดไม่ส่งสัญญาณว่าจะมีเครื่องมือเพิ่มเติมในการชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ พร้อมกับมองเงินเฟ้อสหรัฐฯ ว่าอาจจะปรับขึ้นชั่วคราว ซึ่งจะไม่กดดันให้เฟดต้องปรับเปลี่ยนท่าทีของนโยบายการเงิน นอกจากนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังมีแรงหนุนจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในวุฒิสภาสหรัฐฯ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค. โดยในช่วงเช้าวันนี้ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.57% สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.25-30.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.พ.

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

วิกฤติอ้อย-น้ำตาลไทย ราคาร่วง ส่งออกวูบ  ผลผลิตหายรุนแรง

หลายคนตั้งคำถามถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยนับจากนี้ไปจะต้องเผชิญกับโจทย์หินด้านใดบ้าง ถือเป็นคำถามที่น่าติดตามและเป็นข้อกังวลของผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย “นายบัญชา คันธชุมภู” ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 หลังจากผ่านประสบการณ์การทำงานที่สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาตั้งแต่ปี 2530

3 ปัญหาน่าห่วง นายบัญชา มองว่า ฤดูการผลิตอ้อยปี 2563/2564 มี 3 สิ่งหลักที่น่าห่วงคือ 1.ปัญหาเรื่องภาระหนี้เงินชดเชยฤดูการผลิตปี 2561/2562 จำนวน 3,948.91 ล้านบาท หากยังไม่มีข้อยุติจะส่งผลกระทบต่อการบริหารรายได้ของกองทุนที่จะเรียกเก็บจากระบบ  2.การลดลงของปริมาณอ้อย ประเทศไทยเคยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบสู่โรงงานน้ำตาลสูงสุดในปี 2560/2561 ถึง 134.93 ล้านตัน หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงตามลำดับ ดังนี้ ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ปริมาณอ้อยลดลง เหลือ130.97 ล้านตัน  ฤดูการผลิตปี 2562/2563 เหลือ 74.89 ล้านตัน และฤดูการผลิตปี 2563/2564 ประมาณการว่าจะลดลงมาเหลือเพียง 65.00 ล้านตัน “ปัญหาที่ปริมาณอ้อยลดลงอย่างต่อนื่อง มีปัจจัยสำคัญจากปัญหาภัยแล้งรุนแรงซ้ำเติมด้วยราคาอ้อยตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2560/2561 ราคา 790.62 บาทต่อตัน และปี 2561/2562 ลดลงเหลือ 680.44 บาทต่อตัน (ราคาที่ 10 C.C.S) มีส่วนทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่งไม่มั่นใจและหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า” 3.ปริมาณอ้อยที่ลดลงผลกระทบที่ตามมาคือเมื่อปริมาณอ้อยลดลงเราก็ผลิตน้ำตาลได้น้อยลง รายได้ของระบบก็ลดลงส่งผลให้รายได้ของกองทุนลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินด้วย ที่น่าจับตาไทยเคยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่การส่งออกน้ำตาลของไทยย้อนหลัง 5 ปี ลดลงต่อเนื่องปริมาณอ้อยลดลงรุนแรง จากปริมาณ 130.97 ล้านตัน ในปี 2561/2562 เหลือ 74.89 ล้านตัน ในปี 2562/2563 และในปี 2563/2564 น่าจะอยู่ราว ๆ 65 ล้านตัน ต้องถือว่าเป็นการลดลงในระดับที่รุนแรงมาก และจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้นำชาวไร่อ้อยหลายๆ คน เห็นว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป ในการเรียกความมั่นใจของชาวไร่อ้อยคืนมาเพื่อให้มีอ้อยเข้าหีบในระดับ 100 ล้านตันต่อปี 

อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าจำนวนโรงงานน้ำตาลในขณะนี้ 57 โรงงานเพียงพอแล้ว ปริมาณอ้อยที่ลดลงจะส่งผลให้มีปริมาณอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังหีบของโรงงานและจะเกิดการแย่งอ้อยกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือต้องสร้างความมั่นใจให้กับชาวไร่อ้อยโดยเฉพาะเรื่องของราคาอ้อยซึ่งต้องคุ้มกับต้นทุน ความมั่นคงของอาชีพการเกษตรชาวไร่อ้อย ความมั่นคงของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และความมีเสถียรภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อชาวไร่อ้อยมีความมั่นใจ ในอาชีพนี้ก็จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากเช่นหลายปีก่อน เร่งจ่ายชดเชยส่วนต่างนายบัญชา กล่าวถึง ภารกิจที่ต้องเร่งสานต่อนับจากนี้ คือ 1.การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตฯ ฤดูการผลิตปี 2560/2561-2561/2562 ให้แก่โรงงานน้ำตาล ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 56 กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานน้ำตาลเท่ากับส่วนต่างดังกล่าว แต่ชาวไร่อ้อยไม่ต้องส่งคืนค่าอ้อยที่ได้รับเกินในฤดูการผลิตปี 2560/2561-2561/2562 ที่กองทุนมีภาระตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างดังกล่าวให้แก่โรงงานน้ำตาล 57 บริษัททั่วประเทศ ในวงเงินรวมทั้ง 2 ปี สูงถึง 23,880.21 ล้านบาท “ขณะนี้ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 19,931.30 ล้านบาท คงเหลืออีก 3,948.91 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินชดเชยของฤดูการผลิตปี 2561/2562 อยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (บอร์ด กอน.) พิจารณาเพื่อเสนอต่อ ครม.อนุมัติให้กองทุนกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ มาจ่ายหรือให้เป็นเครดิตโรงงาน โดยใช้เงินรายได้ของกองทุนในอนาคตทยอยจ่ายเป็นปีๆ ไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น2.ภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อ บมจ. ธนาคารกรุงไทย เป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ได้อนุมัติให้กองทุนกู้เงินจาก บมจ. ธนาคารกรุงไทย จำนวน 15,047.53 ล้านบาท เพื่อนำมาช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยจากสภาวะภัยแล้งในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ในอัตรา 160 บาทต่อตัน โดยใช้รายได้ของกองทุนที่ได้รับจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ (โควตา ก.) 5 บาทต่อกิโลกรัม เป็นรายได้ในการชำระหนี้ ต่อมาเมื่อ 15 มกราคม 2561 รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำตาลทรายและยกเลิกระบบโควตาน้ำตาลทั้งหมด จึงไม่มีรายได้ส่วนนี้เข้ากองทุนอีก กองทุนจึงต้องใช้รายได้ส่วนอื่นชำระหนี้ไปก่อน และได้ขอรัฐบาลอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตายไทย

โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครม.มีมติสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนฯผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อการชำระหนี้ส่วนที่เหลือจำนวน 2,085.16 ล้านบาท โดยการจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 350 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้เสร็จสิ้นในปี 2569 ภาระหนี้ข้างต้นกองทุนจะต้องรับภาระในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี ตลอดทั้งสัญญา (ปี 2564-2569) เป็นเงินประมาณ 255 ล้านบาท

“นอกจากนี้เป็นเรื่องการบริหารรายได้รายจ่ายของกองทุน กองทุนอ้อยและน้ำตาลเพื่อศึกษา วิจัย พัฒนา และส่งเสริมการผลิตการใช้และการจำหน่าย การรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ซึ่งตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2542/2543 เป็นต้นมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับการขยายตัวของอุตสาห กรรมนี้ โดยปัจจุบันรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย แค่ภาระในการจ่ายเงินชดเชยแค่รายการเดียวที่สูงถึงสองหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่รายได้ต่อปีของกองทุนได้รับอยู่ประมาณ 2,500 ล้านบาท จากการเรียกเก็บเงินตามมาตรา 57 เงินค่าธรรมเนียมการวิจัย และเงินตามระเบียบ กอน. 20 บาทต่อตัน ทั้งนี้สาเหตุที่เรียกเก็บได้น้อยเพราะปริมาณอ้อยเข้าหีบน้อยลง“สรุปสถานะของกองทุนในปัจจุบันเป็นลูกหนี้เงินกู้ บมจ. ธนาคารกรุงไทย 2,085.16 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้เงินชดเชยโรงงานน้ำตาล 3,948.91 ล้านบาท โดยภาระหนี้ส่วนแรก รัฐสนับสนุนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ให้แล้วปีละ 350 ล้านบาท และภาระหนี้ส่วนที่สอง  อยู่ระหว่างเสนอ กอน. เพื่อพิจารณาแนวทางการชำระหนี้ว่าจะกู้จากธนาคารพาณิชย์หรือให้เป็นเครดิตโรงงาน อย่างไรก็ตามในปี 2564 กองทุนยังมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอต่อการใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.)”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 4 มีนาคม 2564

“รัฐมนตรีศก.อาเซียน”ผนึกกำลัง  เคาะแผนเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้

‘รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน’ ผนึกกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เคาะแผนเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้ พร้อมผสานความร่วมมือภาคเอกชน  เน้นปรับปรุงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ฟื้นฟูท่องเที่ยว ทำแผนอีคอมเมิร์ซ ส่งเสริม MSMEs เร่งทบทวนความตกลงการค้าสินค้ากับอินเดีย และเดินหน้าจัดทำกรอบFTAกับอียู พร้อมผสานความร่วมมือภาคเอกชน ด้านไทยขอสมาชิกช่วยผลักดัน RCEP ให้มีผลบังคับใช้มกราคมปีหน้า

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคมที่ผ่านมา

การประชุมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยที่ประชุมเห็นชอบแผนดำเนินการสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียน (Priority Economic Deliverable: PED) ตามข้อเสนอของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ภายใต้แนวคิด“We share, We prepare, We prosper” ซึ่งมียุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟู อาทิ การจัดทำเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ของประเทศสมาชิกอาเซียน การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการประกาศเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (2) ด้านการเป็นดิจิทัล อาทิ การจัดทำแผนงานเพื่อดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ปี 2564 - 2568 และ (3) ด้านความยั่งยืน อาทิ การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และ MSMEs ของอาเซียน ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ การจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน

 นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของอาเซียนภายหลังโควิด-19 เน้นการลดอุปสรรคการค้า เชื่อมโยงสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะตกลงขยายบัญชีสินค้าจำเป็นเพิ่มเติมจากยาและเวชภัณฑ์ เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสินค้าที่จำเป็นในช่วงโควิด-19 การเร่งเตรียมความพร้อมด้านการค้าดิจิทัล และหาทางให้อาเซียนขยายความสำคัญของการอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)     ที่ประชุมยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหาแนวทางสำหรับความตกลงต่างๆ ที่มีการลงนามร่วมกันแล้ว ให้เร่งการมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนของไทย ได้ย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากภาคเอกชนของอาเซียนและไทยจะต้องได้รับผลประโยชน์จากความตกลงฯ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศนอกภูมิภาคด้วย สำหรับความสัมพันธ์กับนอกภูมิภาค ที่ประชุมได้เร่งหารือเรื่องการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย และปัญหาของกฎศุลกากรด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ของอินเดีย หรือ CAROTAR 2020 ที่มีต่อการค้ากับอาเซียน ซึ่งได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมว่า ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะเป็นอุปสรรคต่อการค้าสองฝ่ายอย่างมากนอกจากนี้ ที่ประชุมยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งหารือจัดทำความเห็นต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป และเร่งรัดให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยฝ่ายไทยได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ประเทศสมาชิก RCEP ควรจะต้องกำหนดวันการมีผลบังคับใช้ให้ชัดเจน คือวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เพื่อที่ทุกประเทศจะได้มีเป้าหมายการดำเนินการภายในที่ชัดเจน และได้แจ้งว่ารัฐสภาไทยได้ให้การรับรองแล้ว ซึ่งถือเป็นประเทศแรกและอยู่ระหว่างการเตรียมการภายในเพื่อให้สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในกำหนด

ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับภาคธุรกิจของอาเซียน (ASEAN-BAC) และรับทราบประเด็นที่ต้องการให้ผลักดันในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ MSMEs และสตาร์ทอัพ แรงงาน มาตรฐานและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงเอกสารทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างกัน ซึ่งที่ประชุม ได้ย้ำความสำคัญของภาคเอกชน และความร่วมมือกับคณะกรรมการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกัน“รัฐมนตรีศก.อาเซียน”ผนึกกำลัง  เคาะแผนเศรษฐกิจอาเซียนในปีนี้

ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,838.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 55,469.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,368.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 4 มีนาคม 2564

'วิกฤติน้ำ' ปี 64 แล้งหนัก-น้ำเค็มรุก

ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญ "วิกฤติน้ำ" แล้ว โดยเฉพาะความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น และในปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤติภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมปี 2563 น้อยกว่าปกติ ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร

ประเทศไทยเผชิญกับ “วิกฤติน้ำ” ทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ในขณะที่ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากยังมีการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยและขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะต้องประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการดำรงชีวิต สุขอนามัย และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

ปี 2564 ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤติภัยแล้งหนัก เนื่องจากปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (2562-2563) ทำให้ฤดูแล้งนี้จะมีน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร

ขณะนี้พื้นที่ในกรุงเทพฯ เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว โดยความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น แต่ระบบชลประทานไม่มีน้ำปริมาณมากเพียงพอในการผลักดันน้ำเค็มได้เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้สัมผัสได้ถึงความเค็มที่สูงกว่าปกติของน้ำประปา จนต้องมีการเตือนถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องระวังการนำน้ำประปาไปใช้ในการอุปโภค-บริโภค

นอกจากนี้ พื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรก็ยังได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะสวนทุเรียน จ.นนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก

ขณะนี้เกิดวิกฤติน้ำแล้ว สะท้อนจากน้ำเค็มรุกที่คุ้งบางกระเจ้า ค่าความเค็มสูงถึง 7-20 กรัมเกลือต่อลิตร ใกล้จุดอันตราย หากพืชสวนตายลงการปลูกใหม่ต้องใช้เวลา 5 ปี ต่างจากการทำนาข้าวที่หยุดการปลูกไว้ก่อนได้ เพื่อรอฝนในเดือน พ.ค. ที่สำคัญรายได้ภาคกลางอิงกับสวนไม่ใช่อิงกับนา

ทั้งยังพบว่าสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรสูงขึ้นจากเดิม 30% เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้ประเทศช่วงวิกฤติ แต่โอกาสจะหายไปหากเราบริหารจัดการน้ำไม่สำเร็จ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำเปลี่ยนไป เป็นผลจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ผลจากการที่เราไปมองเรื่องกำไรสูงสุด ต้นทุนต่ำสุด แทนที่จะมองเรื่องบริหารความเสี่ยง จึงทำให้ความมั่นคงหายไป

ปัญหาการบริหารน้ำของประเทศไทยคือ มุ่งที่โครงสร้างขนาดใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ นั่นคือป่าต้นน้ำและโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อกันเพื่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ไทยมีข้อมูลมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ และไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยส่วนใหญ่มาจากกว่าภาคเกษตร ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร

สำหรับคนในเมืองใช้น้ำ 200 ลิตรต่อคนต่อวัน และคนชนบทใช้น้ำ 80 ลิตรต่อคนต่อวัน ทั้งยังไม่มีการวางแผนเตรียมรองรับกับการท่องเที่ยว ที่มีการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลิตรต่อคนต่อวัน และหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการน้ำทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและประชาชนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ

สถานการณ์ฝนในปี 2564 จะคล้ายคลึงกับปี 2539 ที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 4 ลูก พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ลูก และภาคใต้อีก 2 ลูก แต่ไม่ได้หนักเหมือนมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งปีนี้ปริมาณฝนของไทยแนวโน้มมีมากขึ้น แต่มีความแปรปรวนสูงขึ้น การเปลี่ยนจากฝนมากเป็นน้อยใช้เวลาสั้นลง รูปแบบเปลี่ยนไปจะตกหนักในช่วงสั้นๆ แล้วหายไปนานจึงกลับมาตกหนักอีก ทั้งยังเปลี่ยนพื้นที่ไปตกท้ายเขื่อนแทนเหนือเขื่อน

การบริหารน้ำระบบเดิมเรามองแค่น้ำต้นทุน ไม่ได้มองความต้องการใช้น้ำ เพิ่งทำข้อมูลใช้น้ำในปี 2558 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับปริมาณน้ำในเขื่อน รวมทั้งความแปรปรวนของฝนที่สูงขึ้น ทำให้ยากต่อการบริหารไม่ให้เกิดน้ำท่วมและน้ำแล้ง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 มีนาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาดทรงตัวที่ระดับ 30. 24 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเริ่ม"ทรงตัว"ตามราคาทองคำ แต่ยังมีแรงกดดันจากนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและบอนด์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดเช้าวันนี้ที่ 30.24 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า โดยในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินสหรัฐย่อตัวลงอีกครั้ง โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง 0.81% หลังหุ้นขนาดเล็กและหุ้นเทคโนโลยีถูกขายทำกำไรหลังบวกแรงในช่วงวันก่อน สวนทางกับฝั่งยุโรปที่ดัชนี STOXX 600 สามารถปิดบวกได้เล็กน้อย 0.19% โดยมีแรงหนุนจากตลาดหุ้นอังกฤษและฝรั่งเศส ในช่วงนี้ทั่วทั้งโลกกลับมากังวลกับความเสี่ยงฟองสบู่ของสินทรัพย์ต่าง ๆ หลังทางการจีนออกโรงเตือนว่าอาจเห็นฟองสบู่ในตลาดการเงินต่างประเทศแตกในที่สุด นักลงทุนทั่วโลกจึงพยายามปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงอย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่กลับเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยเดิมอย่างบอนด์เห็นได้จากยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ทรงตัว 1.41% ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 1738 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยนักลงทุนฝั่งสหรัฐเลือกที่จะถือสกุลเงินตราต่างประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับแรงกดดันจากนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของนายโจ ไบเดนที่กำลังเข้าสู่สภา กดดันให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.3% โดยมีโครนนอร์เวย์ (NOK) และ ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD)  เป็นสองสกุลเงินที่ปรับตัวสูงขึ้นด้านเงินบาทเริ่มทรงตัวได้ตามราคาทองคำ แต่ยังมีแรงขายหุ้นและบอนด์จากนักลงทุนต่างชาติทยอยกดดันอยู่ ในระยะถัดไปจึงต้องจับตาภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกโดยมองความผันผวนที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินอ่อนไหวและเงินบาทอ่อนค่าต่อได้ในระยะสั้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเช้านี้ (3 มี.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดกลับมารอติดตามปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะสัญญาณความเคลื่อนไหวจากทิศทางตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการเดินเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสภาคองเกรสสำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.15-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการ รวมถึงตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. จาก ADP ของสหรัฐฯ และดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.พ. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

จับตาสถานการณ์มันฯเมืองกาญจน์ แนะชาวไร่สำรวจแปลงสกัดโรคใบด่าง

นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังโรงงานจังหวัดกาญจนบุรี แหล่งผลิตสำคัญอันดับ 4 ของประเทศ พบว่าปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 10 กุมภาพันธ์ 2564) คาดการณ์ว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 508,565 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 497,377 ไร่ (เพิ่มขึ้น 11,188 ไร่ หรือร้อยละ 2.25)เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอ้อยมาปลูกมันสำปะหลังโรงงานแทน เพราะสถานการณ์ภัยแล้งและราคาของอ้อยที่ลดลงเมื่อช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตรวม 1,736,241 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 1,643,813 ตัน (เพิ่มขึ้น 92,428 ตัน หรือร้อยละ 5.62) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3,414 ตัน/ไร่ (เพิ่มขึ้น 109 ตัน/ไร่ หรือร้อยละ 3.30) ทั้งนี้ ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และเกษตรกรหมั่นดูแลรักษาแปลงมันสำปะหลังดี

สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นับเป็นช่วงที่ผลผลิตออกตลาดมากที่สุด เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม โดยราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 22 กุมภาพันธ์ 2564) เฉลี่ย 2.01 บาท/กิโลกรัม ราคาค่อนข้างใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2563) เนื่องจากความต้องการรับซื้อมันสำปะหลังของโรงงานเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อของประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม จากการะบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ซึ่งสร้างความเสียหายประมาณ 879 ไร่ ของเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด พบการระบาดมากที่สุดในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย และเลาขวัญ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเกษตรอำเภอบ่อพลอย สำนักงานเกษตรอำเภอเลาขวัญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ การป้องกัน และทำความเข้าใจให้เกษตรกรยินยอมทำลายแปลงมันหากพบการระบาด นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่มีการสำรวจแปลงมันของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และไม่มีการซื้อขายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังนอกพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าการระบาดของโรคในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

กรมชลประทานระบายน้ำเพิ่ม 5 เขื่อนหลักอีสานกลาง เติมน้ำลงม.ชี ช่วยอุปโภคบริโภค

กรมชลประทาน ปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำจาก 5 เขื่อนหลักอีสานกลาง เติมน้ำในแม่น้ำชีหนุนน้ำดิบผลิตน้ำประปาในพื้นที่แม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง หลังระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนภัยแล้ง กับนโยบาย เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจิสด้าพบว่าเกษตรกรที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำปาว ลำน้ำชีตอนล่าง และลำน้ำยัง มีการทำนาปรังโดยใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พื้นที่กว่า 260,000 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะสำนักงานชลประทานที่ 6 (SWOC6) ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลง ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อการสูบน้ำดิบสำหรับผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขายโสธร และประปาโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำชี ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากแผนเดิมไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม  เพื่อรักษาระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำชีให้เพียงพอต่อความต้องการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนน้ำเพื่อช่วยทุกภาคส่วนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยให้คำนึงถึงน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนเป็นหลัก

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ได้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา ให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จากวันละ 4 เป็นวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ก่อนจะใช้ฝายหนองหวาย ระบายน้ำลงด้านท้ายฝายและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.22 B ไม่น้อยกว่าวันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. จากนั้น จะใช้เขื่อนทดน้ำในแม่น้ำชี ควบคุมการระบายน้ำลงสู่ด้านท้าย ดังนี้ เขื่อนมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระบายน้ำลงด้านท้ายและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.91 ไม่น้อยกว่า วันละ 0.5 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จังหวัดมหาสารคาม ระบายน้ำลงท้ายน้ำและควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำท่า E.66A ไม่น้อยกว่าวันละ 0.3 ล้าน ลบ.ม.  และเขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ระบายน้ำลงด้านท้ายวันละไม่น้อยกว่า 1.0 ล้าน ลบ.ม.  ด้านเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ระบายน้ำเพิ่มอีกกว่าวันละ 1.0 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าจะต้องใช้ปริมาณน้ำต้นทุนจากเขื่อนลำปาวประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์อีกประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. จึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ลำน้ำชีตอนกลางไปจนถึงตอนล่างในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ตามลำดับ

กรมชลประทานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการใช้น้ำในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำชี ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประสานท้องถิ่นในการลดชั่วโมงการสูบน้ำและจัดรอบเวรการสูบของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า(แพสูบ)ในแม่น้ำชี รวมไปถึงได้แจ้งการประปาส่วนภูมิภาคและประปาท้องถิ่นในลุ่มน้ำชีทำการต่อท่อสูบ เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลง พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามการส่งน้ำในระบบชลประทานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่า แบ่งปันกันอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

บทความพิเศษ : ยกระดับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนสู่ธุรกิจบริการ แนะข้อมูลเครือข่ายเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต

กรมส่งเสริมการเกษตรต่อยอดการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต ยกระดับสู่ธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ผ่านกลไก ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีศักยภาพ 394 ศูนย์ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร เพื่อขยายผลการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเห็นความสำคัญของงานดินและปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่พืชทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง จึงจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ขึ้น จำนวน 882 ศูนย์ ในปี 2558 ต่อมาปี 2560 ศดปช. ถูกจัดให้เป็นเครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้านดินและปุ๋ยในพื้นที่ มีการบริหารจัดการโดยเกษตรกร เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว บริการวิชาการด้านดินและปุ๋ย โดยให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องด้วยเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดต้นทุนการผลิตรวมถึงเทคโนโลยีด้านดินปุ๋ยอื่นที่เหมาะสม จัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมด้านดินและปุ๋ย จัดทำแปลงเรียนรู้ จุดสาธิตเพื่อขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งบริการรวบรวมความต้องการและจัดหาแม่ปุ๋ยให้สมาชิกได้ใช้ตามคำแนะนำ ซึ่งผลการดำเนินงานของ ศดปช. 882 ศูนย์ ในปี 2563 สมาชิก ศดปช. สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ไม้ผล พืชผัก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้เฉลี่ย 25% และผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14% ในพื้นที่ 222,293 ไร่

และเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการระบายสินค้าเกษตรของเกษตรกรไทย กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับอนุมัติ “โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service)” จาก ครม. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ให้ใช้เงินกู้ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและเพื่อพัฒนา ต่อยอด ศดปช. ที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองให้แก่เกษตรกร โดยมีเกษตรกรเป้าหมายคือ เกษตรกรสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ ที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ไม้ผล พืชผัก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน) ใน 394 ศูนย์ 63 จังหวัด จำนวนประมาณ 107,000 ราย

ทั้งนี้ ศดปช. ทั้ง 394 ศูนย์ จะได้รับชุดตรวจวิเคราะห์ดิน (Soil test kit) แม่ปุ๋ย 3 สูตร ได้แก่ สูตร 46-0-0 สูตร 18-46-0 และ

สูตร 0-0-60 จำนวนหนึ่งเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการทำธุรกิจ และเครื่องผสมปุ๋ย จำนวน 1 เครื่อง โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนให้บริการความรู้เรื่องดินและปุ๋ย บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจวิเคราะห์ดินแบบรวดเร็ว (Soil test kit) รวบรวมจัดหา บริการปุ๋ยคุณภาพดีให้แก่สมาชิก และบริการผสมปุ๋ยด้วยเครื่องผสมปุ๋ย หากเกษตรกรไม่สามารถผสมปุ๋ยเองได้ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรวมกลุ่มการเรียนรู้ โดย ศดปช. ต้องจดทะเบียนขายปุ๋ยกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้สามารถขายปุ๋ยให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ และเพื่อต้องการสร้างความมีส่วนร่วม สมาชิก ศดปช. ทุกคนต้องลงหุ้นเพื่อเป็นทุนในการบริหารจัดการ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าจ้าง เป็นต้น ตามรูปแบบการทำธุรกิจของแต่ละศูนย์ที่มีการประชุมวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน

“หากศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนสามารถดำเนินธุรกิจบริการดินและปุ๋ยได้ ศูนย์จะมีรายได้จากการให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน จำหน่ายปุ๋ย และบริการผสมปุ๋ย มีเงินทุนหมุนเวียน สร้างรายได้ให้แก่ศูนย์จากผลกำไรของศูนย์ นอกจากสมาชิกจะได้รับผลประโยชน์แล้ว ยังสามารถแบ่งปันให้แก่ชุมชน ในรูปแบบสาธารณประโยชน์ต่างๆ และในอนาคตศูนย์ยังสามารถขยายธุรกิจบริการออกไปในด้านปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ศูนย์มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว

ด้าน นายสิทธิพร เชิดนาม เลขาศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยบ้านไทรนอง ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นตัวอย่างโมเดลธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน เปิดเผยว่า ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยบ้านไทรนอง เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวสวนในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้และดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกพืช นำไปสู่การเพิ่มธาตุอาหารที่ตรงกับความต้องการของพืช สามารถผสมปุ๋ยเคมีเพื่อใช้เอง ตามค่าวิเคราะห์ดินได้ ส่งผลให้ที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนในการทำการเกษตรให้สมาชิกได้เป็นอย่างดี และขณะนี้ได้มีการขยายผลเชื่อมโยงกับเครือข่าย ศพก. และแปลงใหญ่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การนำไปปฏิบัติได้เอง รวมถึงต่อยอดธุรกิจในการจัดหาปุ๋ยที่มีคุณภาพใช้ในชุมชน โดยให้สมาชิกถือหุ้นเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 8 ตันต่อวันเพื่อจำหน่ายให้กับเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องดิน การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตได้มาก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

กลุ่มรง.น้ำตาลขอมีเอี่ยว ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองให้รอบด้านต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เป็นประธานคณะกรรมการ เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อดูแลสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรม

 “มีหลายประเด็นที่เราพยายามเรียกร้องและนำเสนอมุมมองและแสดงความคิดเห็น สะท้อนถึงผู้แทนในชั้นกรรมาธิการให้รับฟังเสียงของผู้ประกอบการ เนื่องจากเราเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่กลับไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใดจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนะแก้ไขกฎหมาย เพื่อนำพาให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความเข้มแข็งและยั่งยืน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

สมาคมฯไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น อาทิ การเสนอกำหนดคำนิยาม “น้ำตาลทราย” โดยให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ (มิใช่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ที่ผลิตได้จากอ้อย น้ำอ้อย หรือน้ำตาลทราย นั้น ขัดกับหลักธุรกิจ เพราะโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ เอทานอล น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ไม่ได้อยู่ภายใต้พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

เอซีอีเผยปี63กำไร1.5พันล. เตรียมเปิดโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก11แห่ง

เอซีอี ประกาศผลงานปี 63 กำไรสุทธิพุ่ง 1,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% จากปี 62 เผยปี 64 ยังมีหลายปัจจัยบวกหนุนเติบโตระยะยาว เตรียมเปิดโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 11 แห่ง

นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด(มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานสะอาดของไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2563 ซึ่งมีการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์แม้จะเป็นปีที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาที่รุนแรงของโรคระบาด COVID-19 โดยมีกำไรสุทธิ 1,508 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 85% จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 815 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากการขายและบริการ 4,988 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 4,951 ล้านบาท

“ปี 2563 แม้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 จนทำให้ GDP ของประเทศลดลง 6.1% จากปี 2562 แต่ด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี การปรับปรุงพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจและทุ่มเทของผู้บริหารและพนักงาน ACE ทุกคน ทำให้ปี 2563 กลายเป็นอีกปีที่ ACE สามารถทำผลงานได้ดีและมีผลกำไรที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นที่น่าพอใจ โดย ACE ยังคงมีรายได้ที่เติบโตขึ้น จาก 4,951 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 4,988 ล้านบาท ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 0.7%

ในขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 มีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1,508 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2562 ที่ทำได้ 815 ล้านบาท และนับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกำไรสุทธิที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2560 2561 2562 และ 2563 ที่ ACE มีกำไรสุทธิที่เติบโตจากปีก่อนหน้าในอัตราปีละ 149% 64% 49% และ 85% ตามลำดับ

ดังนั้น กำไรสุทธิ 1,508 ล้านบาท ที่ทำได้ในปี 2563 จึงถือเป็น New High อีกครั้งของ ACE ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กลุ่มบริษัทฯ สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเต็มประสิทธิภาพ สามารถบริหารและควบคุมต้นทุนต่างๆ ได้ดีเยี่ยมจนทำให้โรงไฟฟ้าทุกประเภทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้กลุ่มบริษัทฯ ยังมีการบริหารต้นทุนทางการเงินที่ทำได้ดีอย่างต่อเนื่อง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ACE กล่าว

นายธนะชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่าบริษัทฯ ได้เดินมาถูกทางตามกลยุทธ์ธุรกิจที่วางไว้ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีตามคาด และเป็นแรงส่งที่ดีที่จะทำให้การก้าวเดินต่อไปในอนาคตของ ACE เป็นไปด้วยความมั่นคงและมั่นใจตามแผนการขยายธุรกิจที่ได้วางไว้ โดยปี 2564 นี้ ACE ยังมีอีกหลายปัจจัยบวกที่จะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสการเติบโต ทั้งในส่วนรายได้ กำลังการผลิต และผลกำไร ประกอบด้วย การรับรู้รายได้เต็มงวดของโครงการต่างๆ ที่เพิ่ง COD ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว การรับรู้รายได้บางส่วนของโครงการใหม่ๆ ที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและ COD ได้ทันภายในปีนี้ การทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่อยู่ในมือ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้า SPP Hybrid อีก 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 73 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP อีก 11 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 108.9 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนและมีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ รวมถึงโอกาสการได้มาซึ่งโครงการใหม่ๆ จากการที่ภาครัฐมีแผนที่จะเปิดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ซึ่ง ACE ก็มีความพร้อมเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลในส่วนนี้

นอกจากนี้ยังมีโอกาสจะได้เห็นดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในปีนี้ หลังมีผู้เสนอเข้ามาให้พิจารณาจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) และการเจรจา โดย ACE จะพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อเข้ามาแล้วจะช่วยให้ผลประกอบการของ ACE เติบโตได้ดียิ่งขึ้นและเป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท ACE มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกำลังการผลิตติดตั้งรวม 245.91 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2563) และมีกำลังการผลิตติดตั้งที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 203.66 เมกะวัตต์ รวมเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 449.57 เมกะวัตต์ ด้วยความพร้อมในด้านต่างๆ ที่มีซึ่งรวมกันเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันของ ACE ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมด้านเชื้อเพลิงชีวมวลที่มี Supply Chain ที่เข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการออกแบบโรงไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบของโลก ความพร้อมด้านการเดินเครื่องจักรและการซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความพร้อมด้านการเงินและแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ ACE จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความเติบโตให้กิจการและเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าด้วยการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ และการเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนให้ ACE บรรลุเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้ได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

เปิดตัว CPS AGRI ระบบฐานข้อมูลเกษตรอัจฉริยะ ลดต้นทุนให้เกษตรกร 10 ล้านคน

ดีป้า จับมือ ซีพีเอส เวเธอร์ เปิดตัว CPS AGRI ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะ ตั้งเป้าช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรทั่วประเทศ ได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของคนไทย ซึ่งคิดเป็น 28% ของประเทศ โดยการพัฒนาเกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

อ่านข่าว “ดีป้า” ดันต่อกว่า 2,600 โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลรอบด้าน คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทะลุ 1,700 ล้าน

ด้วยเหตุนี้ ดีป้า จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด จัดทำโครงการ “CPS AGRI: ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย” ที่จะช่วยเตือนภัยธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าในพื้นที่ของตนเองได้อย่างแม่นยำ ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการทรัพยากร วางแผนการเพาะปลูกและการจัดจำหน่ายได้ อีกทั้งยังเป็นการให้บริการในลักษณะของข้อมูลด้านบริการ (Data as a Service) ให้กับดิจิทัลสตาร์ทอัพสามารถเชื่อมโยงข้อมูล API จนนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการให้บริการแบบใหม่สำหรับเกษตรกร

ด้าน ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอส เวเธอร์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส อะกริ จำกัด กล่าวว่า โครงการ CPS AGRI: ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย จะเปิดให้บริการแก่ประชาชน เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มากถึง 10 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลฝนจากดาวเทียมประมาณ 9 ดวง ผลการพยากรณ์อากาศความละเอียดสูง การสังเกตและผลการพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อน พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน ผลการพยากรณ์ภูมิอากาศความละเอียดสูงล่วงหน้า 10 ปี ข้อมูลสภาพอากาศจากอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจ (ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา) ผลการพยากรณ์ผลผลิตอ้อย ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมจากดาวเทียม และสถานภาพความสมบูรณ์ของพืชจากดาวเทียม

และพัฒนาแพลตฟอร์มแอพพลิเคชัน ฟ้าฝน (FAHFON) เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยคาดว่าจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายนนี้ อันจะเกิดประโยชน์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการน้ำ และประกันภัยพืชผล ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และการพัฒนาศักยภาพด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศ โดยตั้งเป้าติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ 500 จุดทั่วประเทศ และมีเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการมากกว่า 10 ล้านคนภายในระยะเวลา 3 ปี หวังช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวมของประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกันนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า และ ผศ.ดร.ชินวัชร์ ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เกษตรอัจฉริยะ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายกันตพงษ์ แก้วกมล รองประธานเครือข่าย Young Smart Farmer อุปนายกสมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนโครงการ CPS AGRI รวมถึงการแก้ปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ และวิธีที่เกษตรกรจะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลของโครงการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564

3 ส.โรงงานน้ำตาลทรายวอนสภาขอมีส่วนร่วมแก้ พ.ร.บ. อ้อยฯ

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายวอนสภาผู้แทนราษฎรรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร่วมแก้ไจร่าง พ.ร.บ. อ้อยฯ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองให้รอบด้านต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีนายสรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ เป็นประธานคณะกรรมการ เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. ดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อดูแลสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาล เป็นหนึ่งในกลไกของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงจากกฎหมายฉบับดังกล่าว มีความกังวลหลายประเด็นในสาระสำคัญของกฎหมาย โดยเฉพาะการเพิ่มเติมคำนิยาม “ผลพลอยได้” โดยให้รวมกากอ้อย กากตะกอนกรอง และเอทานอล รวมอยู่ด้วยนั้น  มองว่า เป็นการขัดต่อหลักการ เนื่องจากโรงงานซื้ออ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลส่วนกากอ้อย และเศษ หิน ดิน ทราย และสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่ติดมากับอ้อย ไม่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ และถือเป็นของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตตามข้อปฏิบัติของ พ.ร.บ. โรงงาน ซึ่งเป็นภาระที่โรงงานต้องลงทุนเพื่อกำจัดของเสียดังกล่าว โดยนำไปกากอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือทำภาชนะบรรจุภัณฑ์ ส่วนกากตะกอนกรอง ที่เกิดจากสิ่งสกปรกติดมากับอ้อย เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย ก็นำไปผลิตทำเป็นปุ๋ย ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่นำของเสียมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ อาทิ โรงสีข้าวที่ได้แกลบ โรงงานหีบน้ำมันปาล์ม ที่ได้เศษกากทะลายปาล์ม ที่เป็นของเสียต้องกำจัด หรือนำไปสร้างมูลค่า เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสิริวุทธิ์ เสียมภักดี

นอกจากนี้ การเสนอกำหนดคำนิยาม “น้ำตาลทราย” โดยให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ (มิใช่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย) ที่ผลิตได้จากอ้อย น้ำอ้อย หรือน้ำตาลทราย นั้น ขัดกับหลักธุรกิจ เพราะโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เอทานอล  น้ำอัดลม และผลิตภัณฑ์ชีวเคมี เป็นต้น ไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย และไม่ได้เป็นนิติบุคคลเดียวกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล

“มีหลายประเด็นที่เราพยายามเรียกร้องและนำเสนอมุมมองและแสดงความคิดเห็น สะท้อนถึงผู้แทนในชั้นกรรมาธิการให้รับฟังเสียงของผู้ประกอบการ เนื่องจากเราเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่กลับไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด จึงขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอแนะแก้ไขกฎหมาย เพื่อนำพาให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีความเข้มแข็งและยั่งยืน”               ส่วนประเด็นการแก้ไขสาระกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น โดยให้นำส่วนต่างที่เกิดขึ้นไปหักจากราคาขั้นต้นปีถัดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดนั้น โรงงงานน้ำตาลต้องการให้คงข้อกำหนดตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม ที่ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายชดเชยส่วนต่างให้โรงงานเช่นเดิม เนื่องจากรายได้กองทุนเป็นเงินที่จัดเก็บจากชาวไร่อ้อยและโรงงานไม่เกี่ยวข้องกับเงินภาครัฐ อีกทั้ง มีการเสนอแก้ไขมาตรา 27 เพื่อให้กองทุนสามารถกู้เงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอีกต่อไป จึงไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) แต่อย่างใด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

‘ธรรมนัส’ลุยโคราชแก้ปัญหาโรงานน้ำตาลปล่อยน้ำเสียช่วยชาวบ้าน

“ธรรมนัส” บุก โคราชประชุมรับฟังแนวทางแก้ปัญหาโรงงานน้ำตาลปล่อยน้ำเสีย-ฝุ่น หลังชาวบ้านร้องได้รับผลกระทบมลพิษ ลั่นไม่ได้ปิดโรงงานแต่มารับฟังทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และคณะเดินทางมาประชุมเพื่อพิจารณาบรรเทาความเดือดร้อนกรณีประชาชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมโคราช จำกัด  ร่วมกับหน่วยงานจังหวัด  ที่สำนักชลประทานที่ 8 จ.นครราชสีมา  ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน  พร้อมติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน ของจังหวัด ที่ได้มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ไปแก้ปัญหา ซึ่งหน่วยงานจังหวัด ได้รายงานผลการแก้ไขปัญหาโดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยให้โรงงานไปปรับปรุงและรับผิดชอบการปล่อยน้ำเสีย และให้แก้ไขการปล่อยมลพิษที่มีค่าเกินมาตรฐานด้วย

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาชดเชยเยียวยาผลกระทบให้ประชนในพื้นที่ 10 ครัวเรือน ประมาณ 50 รายที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมสั่งให้โรงงานตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ปีละ 2ครั้ง และซื้อประกันสุขภาพรายปีให้ประชาชนทุกคนด้วย

ร.อ.ธรรมนัส ได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้รายละเอียดโดยย้ำวันนี้ตนไม่ได้มาในนามของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่มาในนามของคณะกรรมการติดตามกระบวนการความเดือดร้อนของประชาชนที่นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และพล.อ.ประวิตร ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์การลงพื้นที่ครั้งนี้มี 5 ประการ คือ 1.ไม่ได้ลงมาเพื่อปิดโรงงานหรือกลั่นแกล้งผู้ประกอบการ  2. ต้องการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณใกล้เคียงโรงงานน้ำตาลในเชิงกฎหมายและวิชาการโดยคำนึงถึงผล กระทบกับสุขภาพจิตใจประชาชนในพื้นที่  3. ต้องการตรวจสอบโรงงานน้ำตาลว่าประกอบกิจการด้วยความระมัดระวัง ใส่ใจประชาชนรอบข้างหรือไม่ 4. ความร่วมมือของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็นหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางป้องกันมลพิษหรือไม่ และ 5. สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของภาครัฐทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน

“วันนี้มีประชาชน 50 กว่าชีวิตได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 และการปล่อยน้ำเสียออกมาซึ่งได้รับรายงานแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแล้ว ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้กระทบต่อประชาชนที่ร้องเรียนมายังศูนย์ดำรงธรรมทำเนียบรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมามีประชาชนเดือดร้อนหลายจุดจากโรงงานน้ำตาลซึ่งเราก็พยายามแก้ไขปัญหา สำหรับโรงงานน้ำตาลพิมาย ผมอยากเจอผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตนคิดว่ากรอบเวลาที่จะให้โรงงานแก้ไขปัญหาต่างๆที่ยาวเกินไปคงต้องเร่งและฝากผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย พร้อมกันนี้กำชับให้หน่วยงานจังหวัดใส่ใจปัญหาดังกล่าวมากกว่านี้ เพราะทุกครั้งเวลาเกิดปัญหาของประชาชน มักมีการดึงพีมูฟเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั้นคือเอ็นจีโอและปัจจุบันเอ็นจีโอถือเป็นองค์กรที่มีบทบาททางสังคมมาก และอาจจะมีผลต่อข้าราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการถูกฟ้องร้องตามมาตรา 157  ยกตัวอย่างเช่น กรณีบางกรอย หรือโครงการอุตสาหกรรมจะนะ และเชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการปิดโรงงานดังนั้นก็ต้องเร่งแก้ไขด้วย ทั้งนี้ทุกปัญหาในพื้นที่ จ.โคราชต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี” รมช.เกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังรับฟังปัญหา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร.อ.ธรรมนัส ได้พบปะกับ พี่น้องประชาชน ที่มารอฟังผลการหารือโดยร.อ.ธรรมนัส ประกาศว่า จะไม่มีการปิดโรงงานน้ำตาลอย่างเด็ดขาดและในวันพรุ่งนี้ โรงงานน้ำตาลจะเปิดกิจการได้ตามปกติ โดยผู้ว่าราชการจะทำบันทึกผลการหารือและผลสรุปทั้งหมดมายังตนเอง ก่อนที่ตนจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมต่อไป ทั้งนี้สร้างความพอใจให้กับประชาชนอย่างมาก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

'กระทรวงพลังงาน' ชูโมเดลญี่ปุ่นปั้นแผนลดปล่อยคาร์บอน-เพิ่มพลังงานสะอาด

“ก.พลังงาน” ผนึก “เมติ” ใช้เวที “Policy Dialogue” ถอดโมเดลญี่ปุ่นวางเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ บรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติ ดันเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด คาดชง นายกฯ เคาะ ส.ค.-ก.ย.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมใช้เวทีการหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) กับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ด้วยระบบ Zoom ซึ่งปีนี้ ทางกระทรวงพลังงาน จะเป็นเจ้าภาพ โดยจะขอให้ทางญี่ปุ่น นำเสนอรายละเอียดของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ขึ้นอยู่ชั้นบรรยากาศ ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่ปัญหาโลกร้อน หลังจากเมื่อเร็วๆนี้ ทางญี่ปุ่น ได้ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หรือ Carbon Neutral by 2050 และยังมียุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังงานสะอาด “green growth strategy" กำกับการขับเคลื่อนชัดเจน

โดยประเทศไทย จะนำแนวทางดังกล่าวมาเป็นโมเดลในการจัดทำแผนลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐ ได้ประกาศเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 และจีน ประกาศเป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2603 ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ 2022 ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

“ที่เลือกโมเดลญี่ปุ่น เพราะเขาเพิ่งประกาศ Carbon Neutral by 2050 และเขามี Policy Dialogue กับเรา ซึ่งเขาทำจริงจังมาก มีทั้งการออกมาตรการการเงิน มาตรการพภาษี และการผลักดันต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราก็จะต้องมาดูว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลงเท่าไหร่ ปีไหน และจะเพิ่มพลังงานสะอาดอย่างไร”

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ในทุกๆแผน ก็จะต้องกำหนดแนวทางขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เช่น

แผนก๊าซฯ ก็ต้องมาดูว่า แหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย จะผลิตก๊าซฯสัดส่วนเท่าใด จะเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สัดส่วนเท่าใด ถ้านำเข้า LNG แล้ว จำเป็นต้องมีการลงทุนก่อสร้างโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU) หรือไม่ และคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) เพียงพอหรือไม่ หากนำเข้า LNG มาแล้ว จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าปริมาณเท่าใด และจะมีการส่งออกLNG อย่างไร

ส่วนแผนน้ำมันฯ ก็ต้องมาดูว่า หากการส่งเสริมใช้ยายนต์ไฟฟ้า(อีวี) เกิดขึ้น หรือเข้ามาเร็ว ยอดการใช้น้ำมันจะเป็นอย่างไร และแผนบริการจัดการเอทานอลกับไบโอดีเซล จะต้องปรับอย่างไร เพราะใน 5ปีข้างหน้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถนำเงินมาอดุหนุนราคาได้แล้วตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงโรงกลั่นน้ำมัน จะต้องปรับตัวอย่างไรหากอีวีเข้ามา

ขณะที่ไฟฟ้า ก็ต้องไปดูเรื่องของกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ให้เหมาะสม แต่คาดว่า พลังงานหมุนเวียนจะต้องปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน จากเดิมกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอด 20ปี อยู่ที่ 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงหากเปิดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซฯแล้ว โครงการสร้างไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร และก็ต้องพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด หรือ จัดทำ Grid modernization ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากขึ้น เป็นต้น

“ทั้งหมดนี้ กระทรวงพลังงาน ตั้งเป็นโจทย์ตุ๊กตาไว้แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมี.ค.นี้ และจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตฯ สภาหอการค้าไทยฯ และกลุ่มอุตฯยานตร์ จากนั้นก็เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบแผน และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนปรับปรุงแผนเสนอกพช. โดยคาดว่าจะเสนอครม.อนุมัติได้ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้”

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงตามแผน PDP ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่ได้ดำเนินการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ดังนั้นยังดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผน ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้ กฟผ.จัดทำแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนอื่นๆที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการมาเสนออีกครั้ง เพื่อปรับแผนให้สอดรับทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตด้วย

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทิศทางบาทแข็งค่า ตัวแปรทุนสำรองสูง กรอบสัปดาห์นี้ 30.20-30.70 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 1 มีนาคมอยู่ที่ 30.42 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์

ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.35-30.50 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้น่าติดตามตัวเลขการจ้างงานและการผ่านงบประมาณการคลังในสหรัฐ

ในระหว่างสัปดาห์ต้องจับตาไปที่การให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหลายท่านต่อการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ในช่วงนี้ ตามมาด้วยการประกาศตัวเลขตลาดแรงงาน ซึ่งเชื่อว่าการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) จะขยายตัว 1.68 แสนตำแหน่ง และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 1.65 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐทรงตัวที่ระดับ 6.3% ในเดือนกุมภาพันธ์

ด้านฝั่งรัฐสภาสหรัฐ คาดว่าจะมีการโหวตเห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9ล้านล้านของนายโจ ไบเดนในสัปดาห์นี้เพื่อนำไปสู่การโหวตในชั้นวุฒิสภาก่อนวันที่ 14 มีนาคมที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมจะหมดอายุลง

ส่วนในฝั่งเอเชีย จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน (China Manufacturing และ Non-manufacturing PMI) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 52.0จุด ตามลำดับ ซึ่ง PMI ที่ระดับดังกล่าว ถือว่าลดลงจากช่วงเดือนก่อนหน้าเนื่องจากมีประเด็นการล็อกดาวน์ เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ถือว่าเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวดีอยู่

ด้านตลาดเงิน ประเด็นหลักที่ต้องจับตาคือความเห็นของเฟดต่อบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้นเร็ว พร้อมกับนโยบายการคลังที่มีโอกาสผ่านสภาค่อนข้างสูง เชื่อว่าโดยรวมจะทำให้ตลาดผ่อนคลายขึ้นและดอลลาร์อ่อนค่ากลับ

ส่วนในฝั่งยุโรปต้องจับตาไปที่การผ่อนคลายมาตราการล๊อกดาวน์ในหลายประเทศที่เชื่อว่าน่าจะหนุนให้เงินยูโรแข็งค่าได้ต่อ เช่นเดียวกับเงินเยนที่คาดว่าจะทรงตัวถึงแข็งค่าหลังล่าสุดกลับมาเกินดุลการค้าต่อเนื่อง

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.30-91.30 จุด ระดับปัจจุบัน 90.92จุด

ฝั่งเงินบาทอ่อนค่าแรงในช่วงที่ผ่ามมาเพราะถูกกดดันจากเรื่องความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวขึ้นเร็ว และราคาทองคำที่ปรับตัวลงสวนกับบอนด์ยีลด์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เรามองการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดจากการเก็งกำไรเป็นหลัก

ขณะที่พื้นฐานไทยยังคงเกินดุลการค้าและตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าถ้าดอลลาร์หยุดแข็งค่า จะเห็นเงินบาทฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี เราปรับประมาณการณ์เงินบาทสิ้นไตรมาสที่หนึ่งมาที่ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเชื่อว่าเป็นระดับที่ผู้เล่นหลักในตลาดมองว่าเหมาะสม

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.20-30.70 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564