http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2555)

กรมชลประทานร่วมกับเกาหลีใต้ ทำข้อตกลงระหว่างกันในการจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพ

กรมชลประทาน ร่วมกับประเทศเกาหลีใต้ทำข้อตกลงระหว่างกันในการบริหารจัดการน้ำของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เพื่อพิจารณาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำและสาขาที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำของโครงการแม่น้ำหลักสี่สายของเกาหลีใต้ (The Four Rivers Restoration Project) และการศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดทำรายละเอียดข้อตกลงจากการหารือดังกล่าวนำเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาการจัดทำเป็นข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 นี้ โดยการลงนาม MOU ดังกล่าวจะทำให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 29 พฤษภาคม 2555

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยวอนรัฐทบทวนนโยบายราคาน้ำตาล

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา สมาชิกได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ที่ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำตาลทราย ซึ่งเห็นควรให้สมาคมฯ ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานกรรมการบริหารสมาคมฯและโฆษกสมาคมฯ ในฐานะประธานสายงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าตนได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงมาตรการขอความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตนเป็นผู้แทนสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยคณะกรรมการบริหารฯ มีความเห็นว่าการปรับราคาสินค้าเป็นเรื่องของสมาชิกแต่ละรายซึ่งสมาคมฯ ไม่สามารถไปชี้นำหรือก้าวก่ายได้ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารฯ มีข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาสมาชิกได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการตรึงราคาสินค้ามาโดยตลอด พร้อมทั้งได้เสนอมาตรการในการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยการขอลดอัตราการจัดเก็บเงินอุดหนุนเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล สำหรับโควตาที่ใช้บริโภคในประเทศ (โควตา ก) จากกิโลกรัมละ 5 บาท เหลือกิโลกรัมละ 4 บาท (ลดลง กิโลกรัมละ 1 บาท) อันจะส่งผลให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปได้รับประโยชน์จากราคาขายปลีกน้ำตาลทรายที่ลดลงด้วย แต่รัฐบาลกลับไม่เคยพิจารณาให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นควรให้มีการประสานงานกลับไปยังภาครัฐ เพื่อขอให้มีการนำแนวทางดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่

นายประจวบ กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า “นโยบายการจัดเก็บเงินอุดหนุนเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย สำหรับโควตาที่ใช้บริโภคในประเทศ (โควตา ก) ที่สูงถึงกิโลกรัมละ 5 บาท เริ่มนำมาใช้ในปี 2551 โดยคณะรัฐมนตรีตั้งใจให้เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือกองทุนฯและเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ขณะนี้มาตรการดังกล่าว ได้มีการต่ออายุมาแล้วถึงสองครั้ง การปรับลดเงินอุดหนุนนี้ลงเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท นอกจากจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการแล้ว ยังจะช่วยลดปัญหาค่าครองชีพของประชาชนได้ด้วย เพราะราคาขายปลีกน้ำตาลทรายสำหรับประชาชนทั่วไปควรจะลดลงทันทีกิโลกรัมละ 1 บาท เช่นกัน ซึ่งรัฐจะได้ประโยชน์ถึงสองต่อในเรื่องการลดค่าครองชีพ”

ส่วนข้อสังเกตที่เกรงว่าการปรับลดการจัดเก็บเงินอุดหนุนในกรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย นายประจวบอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ส่งผลกระทบ เพราะชาวไร่อ้อยยังคงได้รับเงินเพิ่มค่าอ้อยตามนโยบายของรัฐบาล ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอาจจะต้องขยายเวลาในการชำระหนี้ที่กองทุนฯ กู้มาช่วยเหลือเกษตรกรล่าช้าออกไปอีก 2-3 เดือนเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ในการบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ในทุกภาคส่วนได้รับการดูแลไปพร้อมกัน โดยผู้บริโภคน้ำตาลทรายในประเทศสามารถซื้อน้ำตาลทรายบริโภคถูกลงอีกกิโลกรัมละ 1 บาท เป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ / ผู้ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลไม่เสียประโยชน์จากมาตรการนี้ / ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ก็ได้รับการบรรเทาภาระต้นทุนวัตถุดิบลงระดับหนึ่ง จากที่ต้องรับภาระมาร่วม 4 ปีเศษ / กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายยังคงได้รับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปชำระหนี้ในจำนวนเท่าเดิม เพียงแต่ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งตนจะได้หารือกับคณะทำงานของสมาคมฯ และประสานงานกลับไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 28 พฤษภาคม 2555

กระทรวงเกษตรฯ เผย เตรียมนำเรื่องชดเชยกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกปลูกอ้อย ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก เสนอ ครม. พิจารณา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเรื่องชดเชยกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกปลูกอ้อยลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก เสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณา

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมให้ปลูกอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล พร้อมทั้งสนับสนุนเงินชดเชยเพิ่มเติมจากราคาอ้อยหน้าโรงงานในราคาตันละ 200 บาท แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรยังไม่ได้รับการชดเชย จึงมีการร้องเรียนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เหมาะสม ได้มีมติให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว

โดยระยะเร่งด่วน ให้จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตันละ 200 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกสำหรับเกษตรกรตามแผนบูรณาการอำเภอแม่สอด 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ส่วนที่สอง สำหรับเกษตรกรในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด

ส่วนแผนระยะยาว มอบให้กระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาแนวทางสนับสนุนเงินชดเชยในรูปชดเชย เป็นเงินต่อการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทานอล) ต่อลิตร ผ่านบริษัท ปตท. ให้แก่บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เพื่อให้บริษัทสามารถรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรได้ในราคาเท่ากับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเงินชดเชยดังกล่าวจะพิจารณาปีต่อปี ซึ่งราคาชดเชยจะไม่เท่ากันทุกปี ขึ้นอยู่กับราคาอ้อยที่เกษตรกรขายได้ในโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเรื่องดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

จาก http://thainews.prd.go.th  วันที่ 28 พฤษภาคม 2555

เร่งคลอดแผนแม่บทรักษ์น้ำ สนองสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มุ่งสร้างความต่อเนื่องให้สมบูรณ์

น.ส.สุพัตรา ธนเสนีวัฒน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและกำกับดูแลโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนแม่บทโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยจัดทำโครงการ “รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะที่ 1 พ.ศ.2551-2554 เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ โดยครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ 10 ลุ่มน้ำ ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ จำนวนพื้นที่ประมาณ 1.672 ล้านไร่ ซึ่งผลการดำเนินงานสามารถเข้าถึงหมู่บ้านเป้าหมายได้ประมาณร้อยละ 50 ของกลุ่มหมู่บ้านเป้าหมายทั้งหมด และเพื่อให้การดำเนินงานสนองพระราชดำริมีความต่อเนื่องและสมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทโครงการระยะที่ 2 พ.ศ.2555-2559 ขึ้น

สำหรับร่างแผนแม่บทโครงการ“รักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน” ระยะที่ 2 พ.ศ.2555-2559 มีพื้นที่ดำเนินงาน จำนวน 10 ลุ่มน้ำใน 6 จังหวัด 126 หมู่บ้าน 14,208 ครัวเรือน จำนวน 58,938 คน พื้นที่รวม 1.672 ล้านไร่ สำหรับยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย

1.การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่อนุรักษ์ การพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพดิน เพื่อลดการชะล้างพังทลายและสนับสนุนการผลิตการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 2.การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต โดยการเข้าถึงบริการพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาส่งเสริมอาชีพ 3.การพัฒนาคนและคุณภาพชีวิตของคน โดยการเข้าถึงบริการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัย 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 พฤษภาคม 2555

กรมชลสร้างชื่อคว้ารางวัลUN

‘โครงการบำรุงรักษาน้ำแม่ยม’ชนะนวัตกรรมดีเด่น/แก้แล้ง9หมื่นไร่-เพิ่มรายได้500ล.
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากที่กรมชลประทานได้ส่งนวัตกรรมการป้องกันและการบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่นํ้ายม จ.แพร่เข้าแข่งขันรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำปี พ.ศ.2555 ปรากฏว่า สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสาขา Fostering Participation in Policy Making Decisions through Innovative Mechanisms ประเภทนวัตกรรมการป้องกันและบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ สะท้อนประสิทธิภาพการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ ในความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งส่วนของภาครัฐและกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำภาคประชาชน

นายมนัส กำเนิดมณี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่นํ้ายม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุน ต้องใช้น้ำจากลำน้ำแม่ยมเป็นหลัก ซึ่งปริมาณน้ำในฤดูแล้งมีเพียงวันละประมาณ 252,000 ลบ.ม. เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้แค่ 17,500 ไร่ แต่เกษตรกรมีการเพาะปลูกมากกว่า 90,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ขีดจำกัดดังกล่าว โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่นํ้ายมได้ศึกษาค้นคว้า เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับการปฏิบัติ เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมการป้องกันและการบรรเทาภัยแล้งแบบบูรณาการ โดยมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ใช้การบริหารจัดการน้ำแบบ Zoning Area และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ จนสามารถบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำพื้นที่กว่า 90,000 ไร่ ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ รวมทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจาก 154 ล้านบาท เป็น 553 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่นํ้ายม นับว่าเป็นหน่วยงานที่ 2 ของกรมชล-ประทานที่ได้รับรางวัลจาก UN ต่อจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จ.สุพรรณบุรี ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการเสนอขอรับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชน ประจำปี พ.ศ.2554 ประเภทการสร้างนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจเชิงนโยบายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UN

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 25 พฤษภาคม 2555

ลอบทิ้งกากอุตฯเย้ยอำนาจรัฐ

เบตเตอร์-เจนโก้ ชี้สถานการณ์ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหนักข้อขึ้นทุกวัน ต้นเหตุค่ากำจัดสูง ชี้โทษปรับและเพิกถอนใบอนุญาต

ไม่แก้ปัญหา ประสานเสียงแก้กฎหมายเพิ่มโทษหนักเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ด้าน กรอ. ยันไม่เคยเพิกเฉยปัญหาลักลอบทิ้งตรวจเข้ม ล่าสุดแบล็กลิสต์บริษัทกำจัดกากของเสีย 14 ราย

นางทัศนีย์ ทองดี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและการตลาด บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เนื่องจากการบำบัดของเสียอย่างถูกต้องมีต้นทุนค่อนข้างสูง เช่น ของเสียประเภทกรด จะมีต้นทุนการบำบัดถึง 20,000-30,000 บาทต่อตัน แต่ถ้าหากเข้าสู่กระบวนการลักลอบทิ้งของเสียแล้ว อาจมีการเสนอราคาในการกำจัดเพียง 1,000-2,000 บาทต่อตันเท่านั้น ทำให้เกิดการลักลอบทิ้งค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นภาระของภาครัฐในการเก็บกู้ของเสียและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ซึ่งไม่มีงบประมาณรองรับในส่วนนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ขอความร่วมมือมายังเบตเตอร์ ให้เข้าไปช่วยเหลือในการเก็บกู้ของเสียอยู่เป็นระยะ โดยปี 2554 ที่ผ่านมาประเมินว่ามีกากของเสียที่เบตเตอร์ เข้าไปช่วยเก็บกู้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน และยังมีการลักลอบทิ้งกระจายในหลายพื้นที่ตามต่างจังหวัด แต่ละกรณีมีต้นทุนในการจัดการและฟื้นฟูเป็นเงินไม่ต่ำกว่าเลข 6-7 หลัก ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่

อย่างไรก็ตาม มองว่าการกำหนดโทษสำหรับผู้ลักลอบทิ้งกากของเสียยังอ่อนเกินไป โดยมีโทษเสียค่าปรับเพียง 200,000 บาทเท่านั้น ขณะที่การเพิกถอน ใบอนุญาตประกอบกิจการรับบำบัดของเสียประเภท 101, 105 และ 106 ซึ่งจะทำให้ผู้ทำธุรกิจบำบัดของเสียที่ลักลอบทิ้งกากไม่สามารถรับกากอุตสาหกรรมมาบำบัดได้ ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียลดลง จึงเสนอว่าควรมีการเพิ่มโทษปรับให้มากขึ้น และกำหนดให้การลักลอบทิ้งกากของเสียเป็นคดีอาญาเพื่อให้มีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น รวมถึงผู้ลักลอบทิ้งต้องมีส่วนรับผิดชอบในการฟื้นฟูความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ควรมีกองทุนสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณในการเก็บกู้และฟื้นฟูความเสียหายจากการลักลอบทิ้งกากของเสียด้วย

ดร.สมยศ แสงสุวรรณ กรรมการบริหาร บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) หรือ เจนโก้ กล่าวว่า การลักลอบทิ้งกากของเสียในปัจจุบันมีรูปแบบการดำเนินการทั้งผิดกฎหมายและทำให้ถูกกฎหมาย โดยใน กรณีที่มีความพยายามทำให้ถูกกฎหมาย นั้น ผู้กระทำความผิดจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบอนุญาตขนส่งครบ แต่ก็สามารถนำไปลักลอบทิ้งนอกเส้นทางได้ หรือบางรายรับน้ำเสียที่เป็นอันตราย (Hazardous Waste) แต่กลับแจ้งว่าไม่ใช่กากอันตราย หรือบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตคัดแยกของเสีย แต่ไม่มีกระบวน การบำบัดกากอันตรายที่เหลือจากการคัดแยก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ แก้ไขได้ยาก ต้องมีกฎหมายที่เข้มข้นเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา พร้อมทั้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบอย่างถอนรากถอนโคน

ในภาพรวมผู้ที่ต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหานี้คือ 1. ผู้ก่อกำเนิดกากของเสียที่ต้องร่วมรับโทษด้วยหากมีการกระทำความผิด 2. กรอ.ในฐานะผู้ออก ใบอนุญาตต้องติดตามตรวจสอบเข้มงวด และ 3. บริษัทผู้รับกำจัดกากของเสีย ต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้องและตรวจสอบการบำบัดได้

แหล่งข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ไม่ได้นิ่งนอนใจในการติดตามตรวจสอบและป้อง กันปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสีย โดยล่าสุดมีการขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทผู้รับบำบัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งถือใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 101, 105 และ 106 รวม 14 รายทั่วประเทศ แบ่งเป็น ห้ามรับกากอุตสาหกรรมเข้ามาบำบัด 100% จำนวน 8 ราย และห้ามรับกากอุตสาหกรรมเข้ามาบำบัดบางส่วน 5 ราย ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป

พร้อมกันนี้ยืนยันว่า กรอ. มีการวางระบบตรวจสอบไว้อย่างดีแล้ว โดยผู้ก่อกำเนิดกากคือ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีกากของเสียต้องรายงานต่อ กรอ. ว่ามีปริมาณกากเท่าไร จากนั้นต้องมีใบอนุญาตขนส่ง ขณะที่ผู้รับบำบัดกากของเสียก็จะต้องรายงานต่อกรมโรงงานฯด้วยว่ามีความสามารถในการจัดการของเสียได้ในปริมาณเท่าไร รวมถึงมียอดรับกากอุตสาหกรรมจากผู้ก่อกำเนิดกากของเสียเท่าไร หากตัวเลขไม่ตรงกันก็จะถูกตรวจสอบ และตอบคำถาม กรอ. ถึงกากของเสียที่หายไป

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามีการลักลอบทิ้งน้ำเสียจากบริษัทรับกำจัดน้ำเสียด้วยระบบอาร์โอ (RO: Reverse Osmosis)นั้น กรอ. ได้สั่งให้บริษัทดังกล่าวระงับการรับกากของเสียแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2555 จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าระบบอาร์โอดังกล่าวสามารถบำบัดน้ำเสีย ได้จริง และจากการตรวจสอบน้ำปนเปื้อน สารเคมีเบื้องต้นประเมินว่าบริษัทดังกล่าว อาจผิดจริง แต่ต้องตรวจสอบหลักฐานให้แน่ชัดก่อน และยืนยันว่า กรอ.ไม่มีการซื้อ ขายใบอนุญาตประกอบกิจการใดๆทั้งสิ้น

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2555

ชงครม. ชดเชย เกษตรกร ‘แม่ตาว’

จ่ายผู้ปลูกอ้อยหัวละ200จูงใจเดินหน้าเลิกปลูกอาหารตัดห่วงโซ่ปนเปื้อน‘แคดเมียม’

นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมที่เหมาะสมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจ่ายเงินชดเชยพิเศษเพิ่มเติมจากราคาหน้าโรงงานแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตามแผนบูรณาการงานพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว จ.ตาก ตามที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดแผนยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและมวลชนสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผล

กระทบจากสารแคดเมียม เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ปลูกพืชที่นำมาเป็นอาหาร โดยได้แนะนำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเป็นส่วนผสมของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เพื่อตัดห่วงโซ่อาหาร พร้อมทั้งได้จัดทำแผนงานการบริหารจัดการราคาอ้อยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยสนับสนุนเงินชดเชยเพิ่มเติมจากราคาอ้อยหน้าโรงงานในราคาตันละ 200 บาท จากที่โรงงานประกันรับซื้อในราคา 900-950 บาท ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรยังไม่ได้รับการชดเชยดังกล่าวจึงมีการร้องเรียนขึ้น

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในแผนงานระยะสั้นเร่งด่วน ให้จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตันละ 200 บาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกสำหรับเกษตรกรตามแผนบูรณาการอำเภอแม่สอด 3 ตำบล 23 หมู่บ้าน ส่วนที่สอง สำหรับเกษตรกรในเขตส่งเสริมของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ส่วนแผนระยะยาว ได้มอบให้กระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พิจารณาแนวทางสนับสนุนเงินชดเชยในรูปชดเชย เป็นเงินต่อการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทานอล) ต่อลิตร ผ่านบริษัท ปตท. ให้แก่บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เพื่อให้บริษัทสามารถรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรได้ในราคาทัดเทียมกับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยส่งโรงงานผลิตน้ำตาล โดยเงินชดเชยดังกล่าวจะพิจารณาปีต่อปี ซึ่งราคาการชดเชยจะไม่เท่ากันทุกปีขึ้นอยู่กับราคาอ้อยที่เกษตรกรขายได้ในโรงงานผลิตน้ำตาล โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งทางตัวแทนภาคเกษตรกรที่เข้าประชุมได้มีความพอใจและเห็นด้วยตามแนวทางดังกล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2555

กรมชลเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำ 5แห่ง ขยายพื้นที่เกษตร ” ป่าสัก” ตอนบน

กรมชลประทาน เร่งสร้างอ่างเก็บกักน้ำ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบนเสร็จแล้ว 5 แห่ง ขยายพื้นที่เกษตรกว่า 33,000 ไร่

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า กรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และลพบุรี เสร็จแล้ว 5 แห่ง คือ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา (ห้วยท่า)อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหิน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้อ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์และโครงการอ่างเก็บน้ำ อ.วังชมพู จ.เพชรบูรณ์ สามารถกักเก็บน้ำได้กว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่เกษตรกรรมได้กว่า 33,000 ไร่ พร้อมช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกรในฤดูฝนและหน้าแล้งได้ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัย ลดการตัดไม้ทำลายป่าและการทำไร่เลื่อนลอยได้อีกด้วย ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำกง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง

นายเลิศวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า กรมชลประทานได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้พิจารณากักเก็บน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสักให้มากและเหมาะสม เพราะมีปริมาณน้ำมากแต่กักเก็บได้เพียงร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำทั้งหมด โดยตามแผนระยะกลางจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 14 โครงการ สามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 86.15 ล้าน ลบ.ม. ขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้ 169,050 ไร่ และระยะยาวจะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2555

'เจริญ' รุกหนักเกษตรครบวงจร

เจริญ สิริวัฒนภักดี"เจ้าสัวเจริญ" สั่งลุยธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรเฟสใหม่ "ปณต สิริวัฒนภักดี" ลั่น 2 ปีข้างหน้าพร้อมควักทุนไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท ขยายทุกส่วนธุรกิจ เล็งตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

เผยพอใจผลการดำเนินงานเพราะบุกเบิกยังไม่ถึง 10 ปี ยอดขายทะยาน 20,000 ล้านบาท แล้ว ล่าสุด "ศิริพล ยอดเมืองเจริญ" อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์นั่งที่ปรึกษา
นายปณต สิริวัฒนภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริษัทพรรณธิอรฯ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจรเครือทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กลุ่มพรรณธิอร เป็นกลุ่มธุรกิจน้องใหม่ที่มีอายุยังไม่ถึง 10 ปี แต่ผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่พอใจ ปี 2554 ที่ผ่านมามียอดขายรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท จาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มน้ำตาล เอทานอล และไบโอเอนเนอยี่ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและกลุ่มธุรกิจปุ๋ย โดยสัดส่วนมาจากปุ๋ยมากที่สุดประมาณ 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ 2 ปีข้างหน้ากลุ่มพรรณธิอรมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท กระจายในทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยลักษณะการลงทุนจะเป็นการต่อยอดจากของเดิมที่ได้ลงทุนไว้ก่อนหน้านี้ ในด้านพืชจะมี 7 พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ อ้อย ยางพารา ข้าว สับปะรด มันสำปะหลัง กาแฟ ปาล์มน้ำมัน เริ่มตั้งแต่การจัดรูปที่ดิน การวิจัยพัฒนาสายพันธุ์พืชให้มีความเหมาะสมทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณผลผลิต การเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ และโรงงานแปรรูปเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร

ด้านแหล่งข่าวในกลุ่มพรรณธิอร ให้รายละเอียดว่า สำหรับธุรกิจน้ำตาล ปัจจุบันกลุ่มพรรณธิอรได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลในประเทศ 4 ใบ ใบละ 36,000 ตันอ้อย/วัน หรือรวม 144,000 ตันอ้อย/วัน ขณะนี้เปิดดำเนินการแล้ว 3 แห่งได้แก่ โรงงานน้ำตาลแม่วัง จังหวัดลำปาง แต่ได้ย้ายใบอนุญาตเป็นโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานคาดจะแล้วเสร็จปลายปี 2555 โรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่ปลูกอ้อยปัจจุบันปลูกในประเทศไทย 32,000 ไร่ ลาว 28,000 เฮกตาร์ กัมพูชา 74,000 เฮกตาร์ (ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตสัมปทาน)

นายมีชัย เยี่ยมวาณิชนันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เทอราโกร จำกัด ในเครือพรรณธิอร กล่าวว่าปัจจุบัน บริษัท เทอราโกรฯ มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 62,000 ไร่ กระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศ ได้แก่ เชียงราย พะเยา หนองคาย บึงกาฬ เลย ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และมีแผนขยายเพิ่มอย่างน้อยปีละ 2,000 ไร่ และขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตั้งโรงงานแปรรูป (ยางแท่ง)รองรับวัตถุดิบยางพาราที่จะเริ่มทยอยกรีดน้ำยางได้ โดยอยู่ระหว่างเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน คาดว่าจะก่อสร้างได้กลางปีหน้า เงินลงทุนประมาณ 275 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนอีก 360 ล้านบาท

"เบื้องต้นเราจะสร้างโรงงานผลิตยางแท่งก่อน แต่อนาคตหลังจากพื้นที่ปลูกยางขยายมากขึ้น ได้มองไกลไปถึงขั้นตั้งโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์ คาดภายใน 10 ปีข้างหน้าจะได้เห็นโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดีพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทยปัจจุบันค่อนข้างหายาก เพราะพื้นที่ดินแปลงใหญ่เป็นพันไร่ขึ้นไปแทบจะหาไม่ได้แล้ว แต่บริษัทได้มองประเทศลาว ซึ่งยังมีพื้นที่ว่างอยู่มาก ขณะเดียวกันบริษัทมีพื้นที่สัมปทานอยู่แล้วบ้างน่าจะขยายได้"

นายสุวินัย รันดาเว ผู้อำนวยการสำนักงานวิชาการเกษตร บริษัทเทอราโกรฯ กล่าวว่าสำหรับพืชปาล์มน้ำมันมีพื้นที่ปลูกที่ประเทศกัมพูชาประมาณ 100,000ไร่ อายุต้นปาล์มมีตั้งแต่เริ่มปลูกใหม่จนถึง 10 ปี ขณะนี้บริษัทมีโรงสกัดน้ำมันปาล์ม กำลังผลิต 20 ตัน/ชั่วโมง อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานสกัดแห่งใหม่อีก 1 โรงกำลังผลิต 60 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทเศษ น้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดจากประเทศกัมพูชา บริษัทได้ส่งออกให้กับลูกค้าสหภาพยุโรป และอินเดีย ในส่วนของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีเป้าหมายครบวงจรถึงขั้นตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคด้วย

นายโยทัย จาง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท ล้านช้างดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงธุรกิจกาแฟของกลุ่มว่าได้รับสัมปทานพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์กาแฟอาราบิก้า ที่ประเทศลาวจำนวน 15,000 ไร่ ซึ่งปีนี้ได้ปลูกเป็นปีที่ 4 แล้ว และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นปีแรกคาดว่าจะได้ผลผลิต ปริมาณ 100 ตัน และจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้อีก 5,000 ตัน/ปี ส่งไปจำหน่ายประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นประเทศที่มีการบริโภคกาแฟคุณภาพสูงสุดในเอเชีย กว่า 400,000 ตัน/ปี และการส่งออกจากลาวได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร

ส่วนโรงงานแปรรูป ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 5 ตัน/ชั่วโมง ยังไม่เต็มที่ คาดว่าหากปีนี้ได้ขยายพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มอีก 1 เท่าตัว จะทำให้มีการเก็บเกี่ยวในอีก 5 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น มั่นใจว่ากำลังการผลิตจะเดินเครื่องเต็มที่ 40 ตัน/ชั่วโมง สำหรับปีหน้าจะลงทุนซื้อเครื่องจักรเก็บเกี่ยว ใช้เงินลงทุน 6 ล้านบาทเศษ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวได้ดีขึ้น

นายวุฒิพงษ์ หวังสันติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ในส่วนของธุรกิจปุ๋ยคาดจะใช้เงินลงทุนราว 250 ล้านบาท เพื่อสร้างคลังสินค้า โรงงานบรรจุปุ๋ยและแนวป้องกันน้ำท่วม เพราะโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนกำลังผลิตยังไม่ขยายผลิตอยู่ประมาณ 150,000 ตัน จากกำลังผลิตเต็ม 300,000 ตัน/ปี ส่วนยอดขายปีที่ผ่านมาทำได้ 400,000 ตัน (ผลิตเอง 150,000 ตัน นำเข้า 250,000 ตัน) มูลค่า 5,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะทำได้ 7,000 ล้านบาท

นางสาวสุดจิตร อัศวธีระนันท์ ผู้จัดการส่วนขาย บริษัท อาหารสยาม จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สับปะรด ได้แก่ น้ำสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มพรรณธิอรมีโรงงานผลิตภัณฑ์สับปะรด 2 แห่งที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี กับที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 2,500 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะโรงงานที่อำเภอหัวหินเดินเครื่องตลอดทั้งปี จากปีที่ผ่านมาเดินเครื่องไม่ครบปี โดยกลุ่มมีไร่สับปะรดคอนแทร็กต์กับเกษตรกรประมาณ 12,000 ไร่

แหล่งข่าวจากกลุ่มพรรณธิอร เผยว่า เพื่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่มเติบโตอย่างยังยืน ล่าสุดเจ้าสัวเจริญได้เชิญนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ มานั่งเป็นที่ปรึกษาธุรกิจของกลุ่มนี้ด้วย

อนึ่ง กลุ่มพรรณธิอร เป็น 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจของเครือทีซีซี กรุ๊ป ได้แก่1.กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม 2.กลุ่มอุตสาหกรรมการค้าและสินค้าอุปโภคบริโภค 3.กลุ่มธุรกิจประกันภัย 4.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2555

เผยผลการศึกษาชี้ระบบจัดการน้ำระดับชุมชนคือคำตอบสำหรับเกษตรกรรายย่อย

กรุงเทพ _ องค์การอ็อกแฟมและมูลนิธินโยบายสุขภาวะเรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งลงทุนด้านชลประทานขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยเน้นที่ระบบจัดการน้ำในระดับชุมชน หลังจากผลการศึกษาเรื่องระบบความคุ้มครองทางสังคมชี้ว่าวิกฤติเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่บั่นทอนปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรมากที่สุด

ทีมนักวิจัยพบว่าในขณะที่ระบบความคุ้มครองทางสังคมด้านการศึกษาและสุขภาพได้มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่เป็นปํญหากับเกษตรกรไทยมากที่สุดคือด้านผลผลิต เศรษฐกิจและภัยธรรมชาติกลับไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง มีแต่การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐเป็นคราวๆ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๕ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

“จากผลการศึกษาเราพบว่าทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ยากจนหรือพอมีอันจะกินต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางธรรมชาติและทางเศรษฐกิจขึ้นเพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่นเมื่อก่อนเวลาพูดเรื่องน้ำคนมักจะคิดเรื่องน้ำท่วม แต่ตอนนี้ปัญหาภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงและอาจจะยาวนานมากขึ้นจนแทบจะกล่าวได้ว่าชาวนาจะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากภาวะเรื่องโลกร้อน และความผันผวนในตลาดการค้าสินค้าเกษตรไปพร้อมๆ กัน” เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหน้าทีมวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยสุขภาวะและอ็อกแฟมกล่าว

โดยผลการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาในพื้นที่ศึกษา ๔ อำเภอ ๓ จังหวัดอันได้แก่อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยาเและอ. เมืองกับอ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ซึ่งเป็นส่วนหนี่งของพื้นที่เกษตรกรรมหลักของประเทศพบว่า ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบในเรื่องต่างๆ อย่างมากไม่ว่าจะเป็น ศัตรูพืชระบาด ผลผลิตลดลง ราคาผลผลิตตกต่ำโดยเฉพาะข้าวซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรในพื้นที่สำรวจและที่สำคัญ เกษตรกรพบความเสี่ยงภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งโดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง เช่น ในเรื่องการประกันภัยพืชผล ซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนในการประกันภัยพิบัติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ระบบการจัดการน้ำก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองทางสังคมสำหรับเกษตรกร

“แต่ถ้าหากชุมชนมีระบบจัดการน้ำเช่นมีการฟื้นฟูระบบทางน้ำและผันน้ำในพื้นที่ต่ำจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ และถ้าหากรัฐบาลส่งเสริมกองทุนหมุนเวียนท้องถิ่นสำหรับการชลประทานบนพื้นที่ทำกินและสร้างความหลากหลายในการะเพาะปลูกตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแล้ว เกษตรกรรายย่อยจะเข้มแข้งขึ้นและจะสิ่งนี้จะกระจายไปทั่วชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและราคาผลผลิตตกต่ำในระดับที่น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา” อาจารย์เดชรัตกล่าว

กสิณา ลิ้มสมานพันธ์ ผู้ประสานงานโครงการจากอ็อกแฟมกล่าวว่ารัฐบาลควรลงทุนกับเกษตรกรรายย่อยให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่อยู่นอกเขตชลประทานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราความยากจนสูง ทางที่ดีที่สุดคือการลงทุนเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรและหน่วยงานท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจว่าความเสี่ยงในอนาคตโดยเฉพาะจากเรื่องสภาพภูมิอากาศนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และร่วมกันหาวิธีการปรับตัวและลดความเสี่ยงในการผลิต ซึ่งหน่วยงานในท้องถิ่นและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญ

“ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาเกษตรกรเจอปัญหาวนเวียนแต่เรื่องภัยแล้งในพื้นที่สูงและปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม ชุมชนทั้งหมดยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตตั้งแต่การเพาะปลูกและรายได้อย่างมากแต่ถ้าเรามีระบบการจัดการน้ำในระดับชุมชน ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลงได้อย่างมาก”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในจังหวัดยโสธรโดยเกษตรกร ๕๗ ครัวเรือนในโครงการที่มีการปรับปรุงระบบน้ำในไร่นาของตนทำให้ยังคงสามารถผลิตข้าวและผักพอเพียงกับการบริโภคในครัวเรือนเมื่อเผชิญภัยแล้ง ในขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีระบบน้ำและพึ่งพาฝนอย่างเดียวสูญเสียผลผลิตเกือบทั้งหมด

“ตอนนี้ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในจังหวัดสระแก้วได้มีการก่อตั้งเครือข่ายการคาดการณ์ภูมิอากาศชุมชน จ.สระแก้ว เพื่อกระจายและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภูมิอากาศ สภาพอากาศ และการเกษตร รวมถึงได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยอาศัยเทคนิคกสิกรรมธรรมชาติในการเพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ซึ่งช่วยทำให้พืชผลมีความทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลงได้อีกด้วย”

ทีมวิจัยได้กล่าวเตือนว่าเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในอนาคต เกษตรกรไทยต้องเตรียมตัวรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนครั้งใหญ่โดยฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจอีกมาก แต่ระบบการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ ที่ออกมาของไทยกลับไม่สอดคล้องกันเพราะเกิดจากการทำงานแบบแยกส่วน ที่มิได้เอาความมั่นคงของเกษตรกรรายย่อยเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริงจาก

 จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2555

เกษตรฯ เร่งบริหารจัดการน้ำ เดินแผนก่อสร้างสกัดน้ำท่วม ขยายพื้นที่ชลประทานรับมือภัยแล้ง

กระทรวงเกษตรเร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำ โครงการก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างบูรณาการ ทั้งการเร่งรัดขยายพื้นที่ชลประทานน้ำเพื่อการเกษตร ตามนโยบายเร่งด่วน มั่นใจเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่สำคัญคือการเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยได้ดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อการส่งน้ำและระบายน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 24.32 ล้านไร่ 444 รายการ

ทั้งนี้ ประกอบด้วยการดำเนินการโครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน จำแนกเป็นลักษณะงานเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย การป้องกันน้ำล้นจากแม่น้ำ, การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกแม่น้ำและลงทะเล, ระบบเสริมในพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม และชุมชน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว 123 รายการ ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง 70 รายการ และลงนามในสัญญาแล้ว 4 รายการ

นอกจากนี้ยังได้มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,196 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 124 เครื่อง เสริมแนวกระสอบทรายริมถนนเดิม 55 แห่ง ความยาว 22,318 เมตร เสริมคันดินกั้นน้ำ 72 แห่ง ซ่อมแซมคันกั้นน้ำ 99 แห่ง ขุดลอกคลองระบายน้ำ 18 สาย กำจัดสิ่งขีดขวางทางน้ำ และกำจัดวัชพืช 219 สาย ปริมาณรวม 1.782,598 ตัน ซึ่งมั่นว่าจะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ หากมีปริมาณน้ำมากอย่างปีที่ผ่านมา

ส่วนการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ 12 โครงการ ขนาดกลาง 64 โครงการโดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 31 โครงการ และโครงการใหม่ 33 โครงการ และขนาดเล็ก โดยก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ 106 แห่ง ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานจากโครงการทั้งสิ้น 1,657,420 ไร่ รวมทั้งดำเนินการขุดลอกคลอง 183 รายการ และอ่างเก็บน้ำ 6 รายการ และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 31 แห่ง

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 23 พฤษภาคม 2555

อุตฯ สระแก้วตรวจโรงงานเอทานอล หลังชาวบ้านร้องปล่อยกลิ่นเหม็น

สระแก้ว- อุตฯ สระแก้วเข้าโรงงานเอทานอล หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีน้ำเสีย และกลิ่นเหม้นรบกวน พร้อมสั่งแก้ไขปรับปรุง หากไม่ดีขึ้นเตรียมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

วันนี้ (22 พ.ค.) นายสิธา ประพานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนจังหวัดสระแก้ว เดินทางไปที่บริษัท อี เอส พาวเวอร์ บริษัทในเครือโรงงานน้ำตาลตะวันออก จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอล ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว

หลังได้รับการร้องร้องเรียนว่า ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจ่ายไปทั่วในจังหวัดสระแก้ว โดยมี นายสมพิษ สุวรรณรัตน์ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่บริษัท อี เอส พาวเวอร์ บริษัทในเครือโรงงานน้ำตาลตะวันออก จำกัด ให้การต้อนรับพร้อมชี้แจ้งให้แก่อุตสาหกรรมจังหวัดและสื่อมวลชน

นายสมพิษ สุวรรณรัตน์ รองกรรมการฯ กล่าวชี้แจงว่า โรงงานมีมาตรการป้องกันและกำจัดการน้ำเน่าเสียและกลิ่น โดยได้สั่งซื้อเครื่องบำบัดน้ำเสียนำเข้ามามูลค่า 20 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาผลกระทบทางอากาศให้แก่ประชาชนในจังหวัดสระแก้ว ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น โรงงานยอมรับว่ายังมีกลิ่นรบกวนอยู่บ้าง เพราะเป็นช่วงหน้าฝน แต่โรงงานไม่นิ่งนอนใจและหาวิธีแก้ไข โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามดูแลอย่างเร่งด่วน

จากนั้น สื่อมวลชนได้เดินตรวจสอบบริเวณรอบๆ โรงงานการผลิตเอทานอล และที่มาของกลิ่น ซึ่งยังพบว่ายังคงมีกลิ่นเหม็นอยู่บริเวณรอบๆ โรงงาน โดยหวังว่าโรงงานจะกำจัดกลิ่นเหม็นให้หมดไป 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่รับปากไว้

ด้านนายสิธา ประพานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ถ้าโรงงานยังไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงกลิ่นเหม็นในกระบวนการผลิตของโรงงานได้ ก็จะใช้กฎหมายการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 22 พฤษภาคม 2555

เตรียมโยกบิ๊กอุตฯครั้งใหญ่เดือนพ.ย.

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การโยกย้ายข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนก.ย. 2555 จะมีการปรับครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากมีข้าราชการหลายตำแหน่งจะเกษียณอายุราชการ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโยกย้ายข้าราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2555

ทั้งนี้ การโยกย้ายในครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2555 ได้แก่ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ย้ายมานั่งตำแหน่งรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ รองกระทรวงอุตสาหกรรมย้ายมานั่งเป็นอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากนายประพัฒน์ มีประสบการณ์การณ์เคยเป็นอธิบดีกรมโรงงานมาก่อน มีความสามารถในเชิงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และคุ้นเคยการประสานกับอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เข้ามาทำภารกิจเร่งด่วนในการดูแลโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา

นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ย้ายไปนั่งเลขาธิการสมอ.แทน และนายโสภณ ผลประสิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นการเห็นชอบตามที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอ เพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม

“การโยกย้ายเป็นการมองระยะสั้นประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้บุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำงานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นอีก จึงต้องการคนทำงานเชิงบู้ และคุ้นเคยกับภารกิจที่จะทำ ซึ่งเป็นการโยกย้ายที่มองนโยบายเป็นสำคัญ ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากเดือนก.ย.ไปแล้ว จะมีข้าราชการตำแหน่งอธิบดีเกษียณอายุจำนวน 5 คน ได้แก่ นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายประพัตน์ วนาพิทักษ์ นายชัยยง กฤตผลชัย และนายยงยุทธ ทองสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร กล่าวว่า ที่ผ่านมาระหว่างการทำงานในตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้พยายามที่จะปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากที่สุด และเป็นกฎหมายเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมทำความดีรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอธิบดีแต่เชื่อว่าเรื่อนี้จะต้องดำเนินการต่อไป

ขณะเดียวกันต้องการให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ให้เป็นรูปเป็นร่างต่อไป และต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีความเป็นมืออาชีพ ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ทำงานเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่มุ่งจับผิดโรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่าง เพื่อให้สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2555

เกษตรฯ ผลิตพันธุ์ ”อ้อยสะอาด” เพิ่มผลผลิต- สู้โรคใบขาวระบาด

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เนื่องจากแหล่งผลิตอ้อยของไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคใบขาวอ้อยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปี 2495 ถือเป็นโรคอุบัติซ้ำซากที่ทำให้คุณภาพผลผลิตอ้อยลดลง และต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ต้องรื้อแปลงอ้อยเพื่อปลูกใหม่ เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกษตรกรเพาะปลูกอ้อยน้อยลงแล้วหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ในระยะยาวอาจทำให้ผลผลิตอ้อยโดยรวมทั้งประเทศลดลงและขาดแคลนวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานน้ำตาลทราย โรงงานเอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง

ปัจจุบันคาดว่า จะมีโรคใบขาวอ้อยระบาดกระจายไม่ต่ำกว่า 20% ของพื้นที่ปลูกอ้อย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบการระบาดรุนแรง ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางระบาดปานกลาง จากปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตอ้อยสะอาดที่ผ่านการกำจัดเชื้อโรคใบขาว โดยเร่งผลิตต้นกล้าอ้อยปลอดโรคด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) และการแช่น้ำร้อนวิธี Dual Hot Water Treatment(DHWT) เพื่อกำจัดเชื้อไฟโตพลาสมา (phytoplasma) ที่ก่อโรคใบขาวอ้อย ซึ่งได้พันธุ์อ้อยสะอาดที่เหมาะสมกับแหล่งปลูกแต่ละพื้นที่ ทั้งเขตอาศัยน้ำฝนและเขตชลประทาน

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังร่วมมือกับโรงงานน้ำตาล 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลรวมผลอุตสาหกรรม อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ และโรงงานน้ำตาลสหเรือง อ.เมือง จ.มุกดาหาร รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรอำเภอเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เร่งสร้างแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดนำร่อง ประกอบด้วย แปลงพันธุ์หลักรวม 67.2 ไร่ แปลงพันธุ์ขยาย 1,315.3 ไร่ พร้อมฝึกอบรมการผลิตแปลงพันธุ์อ้อยสะอาดให้กับเกษตรกร 149 ราย โดยอนาคตคาดว่า จะมีการขยายผลการส่งเสริมให้ผลิตพันธุ์อ้อยสะอาดป้อนให้กับเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการพื้นที่แปลงผลิตพันธุ์อ้อยสะอาดไม่น้อยกว่า 100,000

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2555

ชาวไร่อ้อยกระเป๋าตุง!กลางเดือน พ.ค.ได้น้ำตาลทรายกว่า 1 หมื่นล้านกิโลกรัม

โค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2554/2555 มีอ้อยเข้าหีบ 97.95 ล้านตันอ้อย ได้น้ำตาลกว่า 1 หมื่นล้านกิโลกรัม ชี้คุณภาพผลผลิตน้ำตาลปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 104.59 กก. ต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12.04 ซี.ซี.เอส. หลังผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจับมือชาวไร่อ้อยพัฒนาคุณภาพผลผลิตอ้อยเต็มที่ ช่วยสร้างมั่นคงทางรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกร

วันที่ 16 พ.ค.2555 นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศส่วนใหญ่ได้ปิดการหีบอ้อยแล้ว เหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่ยังคงหีบอ้อยเหลืออยู่ โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค.2555 สามารถผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2554/2555 ได้แล้วกว่า 10,235 ล้านกิโลกรัม จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 97.95 ล้านตัน โดยในปีนี้อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 104.59 กก. แต่ในปีที่แล้ว อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้เพียง 101.61 กก. ส่วนค่าความหวานโดยเฉลี่ยของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 12.04 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.82 ซี.ซี.เอส.

ทั้งนี้ หากดูผลผลิตอ้อยในแต่ละภาคของไทย พบว่า ผลผลิตจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียิลด์สูงสุด 108.54 กก. ต่อตันอ้อย ภาคกลาง 103.47 กก. ต่อตันอ้อย ภาคเหนือ 100.56 กก. ต่อตันอ้อย และภาคตะวันออก 99.83 กก. ต่อตันอ้อย ซึ่งผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยทุกภาคปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มียิลด์ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มียิลด์ 109.07 กก. ต่อตันอ้อย

“แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้จะมีปริมาณไม่ถึง 100 ล้านตัน แต่ในแง่ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย และคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบ ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลทรายสูงกว่า 102 ล้านกระสอบ หรือกว่า 1.02 หมื่นล้านกิโลกรัม แสดงถึงมาตรฐานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ดีขึ้น อันเป็นผลของความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย ที่ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดการปนเปื้อนและสิ่งสกปรกในผลผลิตอ้อย รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตเป็นน้ำตาลทราย ซึ่งล้วนมีผลช่วยทำให้ยิลด์เพิ่มสูงขึ้น” นางวัลยารีย์ กล่าว

นางวัลยารีย์ กล่าวด้วยว่า จากผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ยังส่งผลดีต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยที่มีรายได้จาการเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากหากคำนวณจากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,000 บาทต่อตัน เมื่อรวมการเพิ่มราคาค่าอ้อยขั้นต้นอีก 154 บาทต่อตันอ้อย ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มเป็น 1,154 บาทต่อตันอ้อย ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. และบวกเพิ่มอีก 60 บาทต่อ ซี.ซี.เอส. ต่อตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่ดีจากเพาะปลูกอ้อย มีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวไร่อ้อยดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปีนี้ที่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูงคือกว่า 65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ทำให้สิ่งปนเปื้อนยังคงมีปริมาณมาก โรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งถึงกับคัดอ้อยที่มีปัญหามากๆ ทิ้งไป โดยยอมจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อย แต่ไม่นำอ้อยนั้นเข้าหีบ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมแล้วไม่ถึง 100 ล้านตัน ตามที่คาดไว้ก่อนหน้านั้น

“ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังคงเร่งส่งเสริมการตัดอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีที่ได้ผลอย่างหนึ่ง คือ การใช้รถตัดอ้อย แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ไร่บางแห่ง รถตัดอ้อยไม่สามารถเข้าได้ เพราะไม่ได้ปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งทางโรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะร่วมกันแก้ปัญหานี้ต่อไป และเชื่อว่าจะพัฒนาดีขึ้นในอนาคต” นางวัลยารีย์ กล่าว

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 17 พฤษภาคม 2555

KSLดึงพันธมิตรต่อยอดธุรกิจ

ชลัช ชินธรรมมิตร์ "น้ำตาลขอนแก่น"รุกต่อยอดธุรกิจเอทานอลทำเคมี-ยา สร้างมูลค่าเพิ่ม หลังนโยบายการใช้เอทานอลในประเทศไม่คืบ เดินหน้าเจรจาดึงเจ้าของเทคโนโลยีร่วมทุน หากภาวะเศรษฐกิจดีพร้อมเดินหน้าลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า แย้มแผนเตรียมขยายลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในกัมพูชาเพิ่มขึ้นด้วย

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่-สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSLเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าการต่อยอดธุรกิจเอทานอลว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อต่อยอดธุรกิจ ในการนำเอทานอลที่ผลิตได้มาทำเคมีและยา หลังจากโครงการดังกล่าวได้ชะลอไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ดีนัก ดังนั้นแผนใช้เงินจำนวนมากๆ ลงทุนจะต้องชะลอออกไปก่อนด้วย

โดยที่ผ่านมา บริษัทได้เจรจากับเจ้าของเทคโนโยลีบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นมองเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งหากเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นจะกลับมาพิจารณาโครงการดังกล่าวอีกครั้ง โดยวางเป้าโครงการนี้ไว้ในแผนลงทุน 2-3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุที่บริษัทสนใจลงทุนโครงการต่อยอดธุรกิจเอทานอล เนื่องจากจะสามารถเพิ่มมูลค่าเอทานอล ซึ่งบริษัทมีวัตถุดิบอยู่แล้ว โดยการก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ของบริษัทร่วมกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจเอทานอลมีมูลค่ามากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นทางออกหนึ่ง จากปัจจุบันที่ตลาดเอทานอลเป็นของผู้ซื้อหรือบริษัทน้ำมัน ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 20 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาอ้างอิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ที่ 20.29 บาทต่อลิตร

"ตอนนี้มีวัตถุดิบการผลิตเอทานอลอยู่แล้ว การก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ของเรา เพื่อจะได้ไม่ได้เสียค่าขนส่ง ซึ่งเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีในการปรับปรุงเอทานอลให้สามารถใช้ในอุตสาหกรรมเคมีและยาได้ นอกจากจะเพิ่มมูลค่าเอทานอลแล้ว ยังเป็นการช่วยให้บริษัทอยู่ได้ เพราะวันนี้ความต้องการใช้เอทานอลในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน"นายชลัช กล่าวและว่า

ปัจจุบันบริษัทผลิตเอทานอลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 แสนลิตรต่อวัน หรือประมาณ 75-100 ล้านลิตรต่อปี โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 50-60 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศฟิลิปปินส์ และขายในประเทศประมาณ 25 ล้านลิตรต่อปี สาเหตุที่สัดส่วนการส่งออกสูง เนื่องจากความต้องการในประเทศยังไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่กระทรวงพลังงานจะยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 อาจมีความเป็นไปได้น้อย แต่จะเป็นการมุ่งส่งเสริมส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้นระหว่างเบนซินกับแก๊สโซฮอล์แทน

ส่วนการเจรจาร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อผลิตเอทานอลเกรดพิเศษนายชลัช กล่าวว่า แม้ว่าจะยังไม่มีความคืบหน้า แต่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงานผลิตเอทานอลที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการเพิ่มหอกลั่น เพื่อเพิ่มกระบวนการผลิตเอทานอล ซึ่งสามารถขายให้กับกลุ่มรถยนต์ เคมี และยา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท

สำหรับแผนลงทุนโรงไฟฟ้าในกัมพูชานั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีสายส่งไฟฟ้าผ่าน แต่หากมีสายส่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินผ่าน รวมทั้งมีโรงงานที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม บริษัทก็พร้อมจะลงทุน ซึ่งคงเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยอยู่ในแผนลงทุน 2-3 ปี อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเน้นการขยายลงทุนในประเทศไทยมากกว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 250 เมกะวัตต์ และหากมีการลงทุนโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ก็จะสร้างโรงไฟฟ้าควบคู่ด้วย

นายชลัช กล่าวเสริมว่า แนวโน้มผลประกอบการปีนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 18,000 ล้านบาท เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนตันน้ำตาล จากปีก่อนอยู่ที่ 6.1 แสนตันน้ำตาล เนื่องจากโรงงานบ่อพลอยเฟส 2 เสร็จและทำการผลิตได้แล้ว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 17 พฤษภาคม 2555

สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายคาดปีนี้ผลิตได้กว่า 1.02 หมื่นล้านกิโลกรัม

นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศส่วนใหญ่ได้ปิดการหีบอ้อยแล้ว เหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่ยังคงหีบอ้อยเหลืออยู่ โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 พ.ค.2555 สามารถผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2554/2555 ได้แล้วกว่า 10,235 ล้านกิโลกรัม จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 97.95 ล้านตัน โดยในปีนี้อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 104.59 กก. แต่ในปีที่แล้ว อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้เพียง 101.61 กก. ส่วนค่าความหวานโดยเฉลี่ยของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 12.04 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.82 ซี.ซี.เอส.

ทั้งนี้ หากดูผลผลิตอ้อยในแต่ละภาคของไทย พบว่า ผลผลิตจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียิลด์สูงสุด 108.54 กก. ต่อตันอ้อย ภาคกลาง 103.47 กก. ต่อตันอ้อย ภาคเหนือ 100.56 กก. ต่อตันอ้อย และภาคตะวันออก 99.83 กก. ต่อตันอ้อย ซึ่งผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยทุกภาคปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มียิลด์ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มียิลด์ 109.07 กก. ต่อตันอ้อย

“แม้ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบปีนี้จะมีปริมาณไม่ถึง 100 ล้านตัน แต่ในแง่ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย และคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบ ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลทรายสูงกว่า 102 ล้านกระสอบ หรือกว่า 1.02 หมื่นล้านกิโลกรัม แสดงถึงมาตรฐานของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่ดีขึ้น อันเป็นผลของความร่วมมือระหว่างโรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่อ้อย ที่ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดการปนเปื้อนและสิ่งสกปรกในผลผลิตอ้อย รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตเป็นน้ำตาลทราย ซึ่งล้วนมีผลช่วยทำให้ยิลด์เพิ่มสูงขึ้น” นางวัลยารีย์ กล่าว

นางวัลยารีย์ กล่าวด้วยว่า จากผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น ยังส่งผลดีต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยที่มีรายได้จาการเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากหากคำนวณจากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,000 บาทต่อตัน เมื่อรวมการเพิ่มราคาค่าอ้อยขั้นต้นอีก 154 บาทต่อตันอ้อย ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูการผลิตปีนี้เพิ่มเป็น 1,154 บาทต่อตันอ้อย ที่ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. และบวกเพิ่มอีก 60 บาทต่อ ซี.ซี.เอส. ต่อตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่ดีจากเพาะปลูกอ้อย มีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวไร่อ้อยดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปีนี้ที่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูงคือกว่า 65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ทำให้สิ่งปนเปื้อนยังคงมีปริมาณมาก โรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งถึงกับคัดอ้อยที่มีปัญหามากๆ ทิ้งไป โดยยอมจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อย แต่ไม่นำอ้อยนั้นเข้าหีบ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมแล้วไม่ถึง 100 ล้านตัน ตามที่คาดไว้ก่อนหน้านั้น

“ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายยังคงเร่งส่งเสริมการตัดอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีที่ได้ผลอย่างหนึ่ง คือ การใช้รถตัดอ้อย แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ไร่บางแห่ง รถตัดอ้อยไม่สามารถเข้าได้ เพราะไม่ได้ปรับพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งทางโรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะร่วมกันแก้ปัญหานี้ต่อไป และเชื่อว่าจะพัฒนาดีขึ้นในอนาคต” นางวัลยารีย์ กล่าว

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2555

โรงงานยิ้มแม้อ้อยไม่ถึง 100 ล้านตันแต่ผลผลิตน้ำตาลดีขึ้น

โค้งสุดท้ายก่อนปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 มีอ้อยเข้าหีบ 97.95 ล้านตันอ้อย แม้จะไม่ถึง 100 ล้านตันตามที่ตั้งเป้าหมายแต่ได้น้ำตาลกว่า 1 หมื่นล้านกิโลกรัม ชี้คุณภาพผลผลิตน้ำตาลปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 104.59 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยเพิ่มเป็น 12.04 ซีซีเอส

นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศส่วนใหญ่ได้ปิดการหีบอ้อยแล้ว เหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่ยังคงหีบอ้อยเหลืออยู่ โดยข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2555 สามารถผลิตน้ำตาลในฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ได้แล้วกว่า 10,235 ล้านกิโลกรัม จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 97.95 ล้านตัน โดยในปีนี้อ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้ 104.59 กิโลกรัม แต่ในปีที่แล้วอ้อย 1 ตันผลิตน้ำตาลได้เพียง 101.61 กิโลกรัม ส่วนค่าความหวานโดยเฉลี่ยของผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 12.04 ซีซีเอส เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.82 ซีซีเอส

ทั้งนี้ หากดูผลผลิตอ้อยในแต่ละภาคของไทย พบว่าผลผลิตจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมียิลด์สูงสุด 108.54 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคกลาง 103.47 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคเหนือ 100.56 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และภาคตะวันออก 99.83 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยทุกภาคปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มียิลด์ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฤดูกาลผลิตปีที่ผ่านมาที่มียิลด์ 109.07 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

สำหรับผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นยังส่งผลดีต่อรายได้ของชาวไร่อ้อยที่มีรายได้จากการเพาะปลูกมากขึ้น เนื่องจากหากคำนวณจากราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,000 บาทต่อตัน เมื่อรวมการเพิ่มราคาค่าอ้อยขั้นต้นอีก 154 บาทต่อตันอ้อย ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปีนี้เพิ่มเป็น 1,154 บาทต่อตันอ้อยที่ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส และบวกเพิ่มอีก 60 บาทต่อซีซีเอสต่อตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่ดีจากการเพาะปลูกอ้อย มีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร ทำให้คุณภาพชีวิตของครอบครัวชาวไร่อ้อยดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปีนี้ที่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูงคือกว่า 65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ทำให้สิ่งปนเปื้อนยังคงมีปริมาณมาก โรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งถึงกับคัดอ้อยที่มีปัญหามากๆ ทิ้งไป โดยยอมจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่อ้อยแต่ไม่นำอ้อยนั้นเข้าหีบ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบรวมแล้วไม่ถึง 100 ล้านตันตามที่คาดไว้ก่อนหน้านั้น

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2555

KBS ปรับเครื่องจักรรับอ้อยเข้าหีบปี 56

น้ำตาลครบุรี เผยขณะนี้ปรับปรุงเครื่องจักรแล้วเสร็จ พร้อมรับปี 56 อ้อยเข้าโรงงานเต็มอัตราศึก และจะสามารถผลิตน้ำตาลได้อย่างเต็มกำลัง ประเมินแนวโน้มราคาน้ำตาลยังทรงตัวในระดับสูงไปถึงปีหน้า ส่วนไตรมาสแรกทำกำไร 309.15 ล้านบาท

นายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยถึงผลการดำเนินการในปีนี้ว่า ขณะนี้โรงงานฯ ได้ปิดหีบแล้ว และกำลังเข้าสู่ฤดูละลาย โดยนำน้ำตาลดิบมาละลายเป็นน้ำตาลทรายขาว รีไฟน์ต่อไป สำหรับปีการผลิต 54/55 บริษัทฯ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 2.5 ล้านตัน ลดลงประมาณ 300,000 ตัน เนื่องจากปัญหา คุณภาพอ้อยที่เป็นอ้อยตอ 2 ปริมาณตันต่อไร่ลดลง และปัญหาเครื่องจักรเดินไม่สม่ำเสมอในช่วงต้นฤดูหีบ อันเนื่องจากผู้ผลิตเครื่องจักรส่งให้โรงงานฯ ติดปัญหาน้ำท่วมทำให้ส่งเครื่องจักรล่าช้า ถึงแม้ปริมาณอ้อยในปีนี้ลดลง ก็มิได้ส่งผลต่อรายได้รวมของบริษัทฯแต่อย่างได เนื่องจากได้ทำราคาขายไว้ล่วงหน้าแล้ว 100% ตั้งแต่ปี 54

ขณะนี้ โรงงานฯสามารถปรับปรุงเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว และจะส่งผลอย่างเด่นชัดในปีการผลิต 55/56 โดยจะสามารถรองรับปริมาณอ้อยเข้าหีบอย่างเพียงพอ และ KBS ได้เตรียมตัวเรื่องวัตถุดิบอ้อยเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยวางกลยุทธ์เกี่ยวกับการสร้างอ้อยในเขตเพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง ส่งเสริมการปลูก การบำรุงอ้อย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป ขณะที่เครื่องจักรกลการเกษตร “รถตัดอ้อย” เบื้องต้นได้ทดลองสำเร็จแล้ว และบริษัทฯ กำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมาร่วมทำรถตัดอ้อยร่วมกันในเชิงพาณิชย์ ส่วนโครงการขยายพันธุ์อ้อย Breading ประสบความสำเร็จดี โดยสามารถผสมพันธุ์อ้อยที่ดี ให้ผลตอบแทนสูง ทนแล้ง และที่สำคัญ เหมาะสมกับพื้นที่ของภาคอีสานตอนล่าง

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลยังมีทิศทางที่ดีโดยประเมินว่าปี 56 ราคาน้ำตาลยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 22-25 เซ็นต์ต่อปอนด์ต่อไปได้อีก ในด้านการแข่งขันไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสำหรับ KBS เนื่องจากได้มีการขายล่วงหน้า และทำสัญญาแล้วกว่า 40% และราคาไม่ต่ำกว่า บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)

ทั้งนี้ ผลประกอบการในไตรมาส 1/55 ของ KBS สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 55 พบว่าว่ามีกำไรสุทธิ 309.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.25% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/54 ที่มีกำไรสุทธิ 235.53 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการของ KBS ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นผลมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และภาษีเงินได้นิติบุคคลลดอัตราลงจาก 30% เป็น 23%

จาก http://www.manager.co.th  วันที่ 16 พฤษภาคม 2555

มุ่งเป้าธุรกิจ'อ้อย-น้ำตาล'ครบวงจร

มุ่งเป้าธุรกิจ 'อ้อย-น้ำตาล' ครบวงจร อีกก้าวกลุ่มพรรณธิอรสู่ภาคเกษตร
"ผืนดิน น้ำ ฝน สายลม แสงแดด ล้วนเป็นของขวัญจากธรรมชาติ เมื่อเรานำการบริหารจัดการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้พัฒนาก็จะบังเกิดประโยชน์"

คำกล่าวของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการกลุ่มพรรณธิอร ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ธุรกิจหลักเครือที.ซี.ซี. ที่ปัจจุบันได้ส่งไม้ต่อให้ลูกชายคนสุดท้อง "ปณต สิริวัฒนภักดี" เป็นผู้รับผิดชอบอย่างเต็มตัว โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูปเบื้องต้น อุตสาหกรรมการเกษตร ไปจนถึงการตลาดและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการในพืชเศรษฐกิจหลัก 7 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สับปะรดและกาแฟ

"กลุ่มพรรณธิอร เรามีนโยบายการลงทุนที่ชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงของการส่งเสริมการปลูก แต่ปีนี้เรามีโรงงานน้ำตาลโรงแรกที่สุโขทัย มีโรงงานสับปะรดที่ชลบุรี มีการพัฒนาอย่างครบวงจรในพืชเศรษฐกจิที่เรามีอยู่ เฉพาะ 2 ปีที่ผ่านมาลงทุนไปประมาณ 6,000 กว่าล้านในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล"

ปณต ผู้บริหารกลุ่มพรรณธิอร เผยข้อมูลระหว่างการแถลงข่าวในงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร หรือ Horti Asia 2012 ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติไบเทค กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ในการเป็นผู้นำด้านการผลิตทางการเกษตรสู่ตลาดโลกของประเทศไทย

โดยเฉพาะอ้อยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่า 2 แสนไร่ ที่จ.สุโขทัย โดยใช้ระบบน้ำหยดทั้งบนดินและใต้ดิน ผลผลิตที่ได้จะส่งให้โรงงานน้ำตาลหลักของบริษัททั้ง 3 โรงอยู่ที่ จ.สุโขทัย กำแพงเพชร และสุพรรณบุรี ภายใน 2 ปีจะขยายการลงทุนอีก 4-5 พันล้าน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 144,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดภายใต้ชื่อ "คริสตอลลา" โดยใช้ระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการนำกากอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานและกระแสไฟฟ้าที่เหลือใช้ก็จะจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ส่วนปาล์มน้ำมันได้ร่วมกับกลุ่มทุนท้องถิ่นในกัมพูชาขยายพื้นที่ปลูกมากกว่า 125,000 ไร่ที่เกาะกง ได้ผลผลิตเป็นผลปาล์มสดกว่า 1 แสนตันต่อปีและน้ำมันปาล์มดิบกว่า 2 หมื่นตันต่อปี โดยผลผลิตทั้งหมดจะส่งออกเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยผ่านทางท่าเรือทางทะเลและท่าเรือแม่น้ำของบริษัท เช่นเดียวกับกาแฟ ซึ่งบริษัทได้ขยายการลงทุนใน สปป.ลาว และขณะนี้มีพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าประมาณ 1.5 หมื่นไร่บนที่ราบสุงโบโลเวน เมืองปากซอง ที่ใช้การเก็บเกี่ยวด้วยมือเท่านั้น

"สำหรับสับปะรดจะเป็นในลักษณะคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ที่ชลบุรีเรามีพื้นที่ปลูกกว่า 1.2 หมื่นไร่ และส่งเสริมร่วมกับชาวไร่อีกกว่า 1,000 รายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเน้นขยายพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า แต่จากนี้เป็นต้นไปจะเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปมากขึ้น เนื่องจากพืชเศรษฐกิจหลักที่เราได้ลงทุนไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว" ผู้บริหารกลุ่มพรรณธิอร กล่าวและว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มพรรณธิอรมีรายได้เฉลี่ยรวมจากพืชเศรษฐกิจทุกตัวประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท

นับเป็นอีกก้าวของกลุ่มพรรณธิอรในการดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญสู่เป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจรในภูมิภาคต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 16 พฤษภาคม 2555

ประเด็นเด่นวันนี้ สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายของไทย ระบุ

สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายของไทย ระบุ ไทยผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 สู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 10.2 ล้านตันในปีนี้ โดยแม้ปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2554/55 จะมีไม่ถึง 100 ล้านตัน แต่ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย และคุณภาพอ้อยที่เข้าหีบซึ่งดีขึ้นกว่าปีก่อน ทำให้อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 104.59 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อ้อย 1 ตัน ผลิตน้ำตาลได้ 101.61 กิโลกรัม และทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายของไทยในปีการผลิต 2554/55 ทำได้มากถึง 10.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 9.6 ล้านตันในปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้นนับเป็นผลดีต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกรองจากบราซิล โดยคาดว่า ในปี 2555 ไทยจะส่งออกน้ำตาลได้ถึงกว่า 7.5-8.0 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นของอินเดีย จนทำไห้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลส่วนเกินของโลกมีกว่า 5 ล้านตัน แต่ราคาน้ำตาลที่ไทยได้ทำการขายล่วงหน้าไปแล้ว ก็อยู่ในระดับเกือบ 25 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งสูงกว่าราคาปัจจุบันที่ลดลงมาอยู่ที่ 20-21 เซนต์/ปอนด์ ดังนั้น จึงไม่น่าจะกระทบต่อราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 1 พันบาทต่อตัน

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 16 พฤษภาคม 2555

7 บิ๊กธุรกิจประสานเสียง

จากบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจประเทศไทย หรือ "วิกฤติต้มยำกุ้ง"ในปี 2540 ต่อเนื่องถึงวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกา หรือ "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"ในปี 2552 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะลุกลามสู่ยุโรปกลายเป็นวิกฤติหนี้สาธารณะของนับสิบประเทศในยุโรปในปัจจุบันและถือเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งของเศรษฐกิจโลก จากทุกวิกฤติที่กล่าวมาเกิดจากปัญหาที่คล้ายกันคือ การใช้จ่ายที่เกินตัว รวมถึงการเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยขาดภูมิคุ้มกันทำให้ฟองสบู่แตกในที่สุด
ซึ่งเวลานี้โลกกำลังโหยหาแนวทางใหม่ หรือโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงการทำธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในแนวทางออกที่สำคัญคือ การเดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คนไทยเมื่อ 10 ปีก่อน และกำลังเป็นโมเดลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และนำไปประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
ในส่วนของภาคธุรกิจของเมืองไทยในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้มีการจัดสัมมนาในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการจัดตั้งองค์กร ในหัวข้อเรื่อง "ชี้นำเศรษฐกิจ ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ประสบการณ์จริงจากผู้นำภาคธุรกิจ" โดยได้เชิญผู้นำภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของเมืองไทยรวม 7 องค์กรที่มีมูลค่าธุรกิจรวมกันหลายแสนล้านบาทมาถ่ายทอดประสบการณ์ธุรกิจที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้(องค์ประกอบสำคัญของความพอเพียงประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน)ทำธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติมาได้และมีความเข้มแข็งในปัจจุบัน มีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารธุรกิจให้มีความเข้มแข็งต่อไป

อิสระ ว่องกุศลกิจ 7 บิ๊กแชร์ประสบการณ์
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ทางกลุ่มได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และได้ผลดีมาก โดยจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้เน้นควบคุมความเสี่ยงเรื่องหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกินตัวจากที่เคยมีหนี้สินต่อทุน 1.5 : 1 ปัจจุบันได้ควบคุมให้อยู่ในระดับ 1:1 ส่วนความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบอ้อยที่เป็นต้นทุนกว่า 70% ของต้นทุนการผลิตที่อาจขาดแคลนช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีกิจกรรมมากมายที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรที่ดูแลอยู่หลายแสนครัวเรือน เช่นให้เงินกู้เกษตรกรอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2-5% เพื่อขุดสระน้ำ การช่วยลงทุนซื้อปั๊มน้ำ ท่อน้ำให้เกษตรกรเพื่อทำระบบน้ำหยดเพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้

ส่วนรอบๆ คันดินที่ขุดสระส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะละกอ พืชสวนครัว เลี้ยงปลาเพื่อไว้บริโภค ลดค่าครองชีพ หากมีเหลือก็ขายทำให้มีรายได้เพิ่ม ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วหลายร้อยหมู่บ้าน และกำลังขยายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ได้จัดให้มีสถานีขนถ่ายสินค้าใกล้ๆพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าขนส่ง มีการวิจัยและพัฒนานำอ้อยไปผลิตเป็นไม้ปาร์ติเกิลสำหรับตลาดเฟอร์นิเจอร์ทดแทนการใช้ไม้ธรรมชาติ ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า การนำกากอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้เองในกลุ่ม ที่เหลือขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ได้เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน และกำลังนำหลักการนี้ไปลงทุนในออสเตรเลีย

จาก http://www.thanonline.com  วันที่ 11 พฤษภาคม 2555

“โคกตูม” โวยทหารห้ามทำไร่อ้อย – มันสำปะหลัง

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่หน้าศาลากลางจังหวัดลพบุรี ชาวบ้านหมู่ 7,8,9,12,15 และ 16 ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี รวมตัวชุมนุมร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กรณีเจ้าหน้าที่ทหารศูนย์การทหารปืนใหญ่ ห้ามชาวบ้าน 350 ครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพทำไร่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่ว งา และพืชต่างๆ เข้าปลูกพืชในพื้นที่ที่ทำการเกษตรมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายกว่า 50 ปีแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก

ต่อมานายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี มอบหมายให้นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลพบุรี เข้ารับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน โดยนายณัฐภัทร ขอให้ชาวบ้านเขียนรายละเอียดของความเดือนร้อน พร้อมรับปากจะนำเสนอผู้ว่าฯ รับทราบ เพื่อนำไปพูดคุยกับฝ่ายทหารเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน คาดว่าจะมีขอสรุปภายในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะแจ้งผลการหารือและแก้ปัญหากับชาวบ้านต่อไป

จาก  http://www.matichon.co.th วันที่ 11 พฤษภาคม 2555

พด.จับมือศธ.ปั้น“ครูหมอดิน”ยกระดับความสามารถ“หมอดินอาสา”เป็นวิทยากรภูมิปัญญาด้านพัฒนาที่ดิน

กรมพัฒนาที่ดินร่วมลงนาม MOU กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกระดับการศึกษาการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถให้กับหมอดินอาสา พัฒนาเป็น “ครูหมอดิน” ให้สามารถถ่ายทอดความรู้เรื่องดินให้กับเยาวชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต

นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับการศึกษา และพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของประชาชนทุกระดับทุกอาชีพ รวมถึงการพัฒนาและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งสามารถเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 โดยการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าทางการเกษตร และการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร ตลอดจนทฤษฎีความรู้ต่างๆ ด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ในการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรต่อผลผลิตมวลรวมของประเทศอย่างต่อเนื่องและมั่งคง ดังนั้น เพื่อให้การนำนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เป็นตามเป้าหมาย จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับการศึกษาการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของ “ครูหมอดิน ครูยาง และครูบัญชี” ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินได้มีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถให้กับหมอดินอาสา ซึ่งเป็นเสมือนปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความชำนาญ และมีประสบการณ์ในเรื่องการพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 82,000 คน ดังนั้น เมื่อได้มีการร่วมลงนามกับกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นเรื่องดีที่จะส่งเสริมหมอดินอาสาให้ได้รับการยกระดับเป็น “ครูหมอดิน” โดยการนำความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน หลักฐาน หรือสิ่งที่พิสูจน์ตนเองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่สั่งสมจากการประกอบอาชีพมาเทียบระดับการศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนั้นจะได้มีการนำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และการพัฒนาที่ดินให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าเยาวชนในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับพื้นฐานแล้วจะประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ความรู้เรื่องดินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไปได้ในอนาคต

จาก http://www.naewna.com วันที่ 11 พฤษภาคม 2555

“กรอ.” รื้อพ.ร.บ. โรงงานใหม่เก็บค่าธรรมเนียมรายใหญ่เพิ่ม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นควบคุมการดูแลสารเคมีในโรงงานเข้มงวดขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนการออกใบอนุญาตที่ให้มีคณะกรรมการพิจารณาให้ใบอนุญาตโรงงานแทนอธิบดีกรมโรงงาน และปรับเพิ่มการเก็บค่าธรรมเนียมรายปีของโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินมาจัดตั้งกองทุนดูและสิ่งแวดล้อมและการเข้าไปเยียวยาชุมชนให้รวดเร็วขึ้น

สำหรับการเก็บค่าธรรมเนียมโรงงาน จะพิจารณาตามขั้นบันได จากปัจจุบันที่โรงงานขนาดใหญ่ขนาดเกิน 6,000 แรงม้าขึ้นไป จะเสียค่าธรรมเนียม 18,000 บาทต่อปี เท่ากันหมด แต่ปัจจุบันมีโรงงานจำนวนมากมีขนาดใหญ่ระดับ 20,000 -30,000 แรงม้า ซึ่งการจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราเดิมถือว่าน้อยเกินไป ดังนั้นควรจะจ่ายให้มากกว่านี้ ในเบื้องต้นหลังปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมแล้ว คาดว่าจะมีรายได้ปีละ 800-1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้เพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนแนวทางการแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน ตามนโยบายของนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น กรมฯจะมีการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีรุนแรงจากมากไปหาน้อย เพื่อจะได้เข้าไปตรวจสอบและให้โรงงานทำแผนประเมินความเสี่ยงมากขึ้น ในเบื้องต้นมีโรงงานที่มีสารพิษอันตราย 3,000 แห่งทั่วประเทศ จากทั้งหมด 130,000-140,000 แห่ง โดยแบ่งเป็น 12 กลุ่ม อาทิ โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช, โรงงานความประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย ,โรงงานปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืช, โรงงานผลิตบางเรซินสังเคราะห์ เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 พฤษภาคม 2555

เกษตรฯ เตรียมรับ มือประชาคมศก. อาเซียน

นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี(AEC)ในปี 2558 โดยมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีต้นทุนต่ำ เพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งวางแผนการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ(Zoning) ซึ่งเน้นการผลิตพืชที่มีศักยภาพในการแข่งขันระหว่างอาเซียน โดยจะวิเคราะห์ผลกระทบเป็นรายสินค้าทั้งเชิงบวกและเชิงลบของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ขณะเดียวกันยังมีการวิจัยบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนการกำหนดมาตรฐานต่างๆ อาทิ การวิจัยเพื่อกำหนดค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุด(MRLs) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและข้อตกลงของอาเซียน วิจัยหาวิธีวิเคราะห์หรือตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและยอมรับตามมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ผลิตภัณฑ์พืชและปัจจัยการผลิต และปรับปรุงพันธุ์พืชโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง(Biotechnology) เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกโดยคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ

นอกจากนี้นั้นยังเร่งวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP) ความปลอดภัยทางด้านอาหาร(Food Safety) และพัฒนามาตรฐานสินค้าพืช พร้อมวิจัยและพัฒนาการผลิตพืชเพื่อรองรับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช และ พ.ร.บ.พันธุ์พืช อีกทั้งยังมีการวิจัยเชิงนโยบายเพื่อศึกษาแนวทางการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสนองต่อความต้องการของภูมิภาคอาเซียน และจะร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตพืช ทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลผลิตและความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 9 พฤษภาคม 2555

กองทุนอ้อยเตรียม งบ1.5-2หมื่นล้าน รับเปิดเสรีอาเซียน

กองทุนอ้อยฯ มองหาเงินเพิ่ม 2 หมื่นล้าน อุดหนุนราคาน้ำตาลหลังปรับโครงสร้างราคา-เปิดเออีซี

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่าจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้คงการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศอีกกิโลกรัมละ 5 บาท ตามมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2551 ทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนฯ เพิ่มขึ้นอีก 15,000-20,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนฯ มีงบสำหรับใช้ในการอุดหนุนราคาน้ำมันหลังจากที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558

“หลังการเปิดเออีซีจะทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน เพราะไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่างๆ ในการลดกำแพงภาษีน้ำตาลทราย โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มองว่าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอ่อนไหวจึงเก็บภาษีสูงมาก” นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับผลผลิตอ้อยฤดูกาล 54/55 คาดว่าอยู่ที่ 98 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 10.2 ล้านตัน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 8.94 ล้านตัน ดังนั้น สำนักงานอ้อยฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่ม จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 11 ตันอ้อยต่อ 1 ไร่ เป็น 15 ตันอ้อยต่อ 1 ไร่ ภายในปี 58 และส่งผลให้ปริมาณอ้อยในปี 58 จะอยู่ในระดับ 120 ล้านตันได้ ส่วนตลาดโลกนั้นมีผลผลิตน้ำตาลเกินความต้องการ 5.2 ล้านตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของผลผลิตน้ำตาลในหลายประเทศ เช่น ไทย อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และประเทศในแถบอเมริกากลาง รวมถึงรัสเซีย ที่ได้เพิ่มผลผลิตจนกลายเป็นผู้ส่งออกแล้ว.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

กอน.มั่นใจเออีซี ไทยจะได้เปรียบครองตลาดน้ำตาลทั้งภูมิภาค

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเมื่อประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในอีก 2 ปี 7 เดือนนั้น ภายใต้บริบทนี้เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะได้เปรียบซัพพลายน้ำตาลที่สามารถส่งออกขายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC ได้มากขึ้น เพราะจะไม่มีกำแพงภาษีและโควตานำเข้าอีกต่อไป ไทยจึงจะได้เปรียบจากการมีผลผลิตที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนตลาดจีนที่ปัจจุบันผลิตน้ำตาลได้น้อยกว่าความต้องการใช้ มีการใช้น้ำตาลเทียมถึงร้อยละ 50 ดังนั้นประเทศไทยอาจช่วงชิงโอกาสส่งออกน้ำตาลกลุ่มไฮเอ็นเป็นน้ำตาลพิเศษ น้ำตาลอินทรีย์ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดสำคัญของไทยคือ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คู่แข่งคือบราซิล และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยของไทยแต่ละปีมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนฤดูการผลิตปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยรวม 98 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 10.2 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าฤดูการผลิตปีหน้าจะเท่าๆ กันเพราะราคาดี ชาวไร่สนใจ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มจาก 11 ตันเศษต่อไร่ เป็นประมาณ 15 ตันต่อไร่ คิดเป็นภาพรวมประมาณ 100-120 ล้านตันอ้อย โดยจะมีแรงผลักดันจากเอทานอล และการผลิตพลาสติกจากน้ำตาล ปัจจุบันไทยแข่งขันกับออสเตรเลียและบราซิล แต่สองประเทศนี้เสียเปรียบด้านโลจิสติกส์ไทยที่อยู่ใกล้ AEC มากกว่า ส่วนตลาดญี่ปุ่นมีการปกป้องชาวไร่อ้อยจากซูเปอร์รีไฟล์จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ หากราคาน้ำตาลในประเทศไทยถูกว่าราคาในตลาดโลก เพราะราคาขายปลีกควบคุมและกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์ หากปีใดระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงมาก น้ำตาลในประเทศจะไหลผ่านออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านง่ายและเสรีมากขึ้นจากการเปิด AEC นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนงานอาจเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น จนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงตามมา เพราะในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณโรงงานน้ำตาลจะเพิ่มอีก 10 โรงงานอุตสาหกรรมนี้ จึงจำเป็นต้องการใช้แรงงานเพิ่มอีกมาก นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังโรคพืช เพราะอาจมีโรคพืชใหม่ๆ ที่จะเข้ามากับการมีพืชผลเกษตรขนส่งเข้ามาในประเทศไทย โรคอ้อยจากต่างประเทศ หรือเชื้อราจะตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องดำเนินการจัดทำโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เสร็จภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ได้แก่โครงสร้างราคา กฎหมายขายอ้อยและน้ำตาลที่จะรวมเอาเอทานอลและพลาสติกที่เป็นผลผลิตต่อเนื่องเข้าไว้ในกฎหมายด้วย นอกจากนี้ จะจัดให้มีกองทุนเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะมีบทบาทดูแลเสถียรภาพชาวไร่ โรงงาน ผู้บริโภคเพื่อเศรษฐกิจรวมของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าดำเนินการได้ทันแน่นอน โดยเฉพาะโครงสร้างราคา ดังนั้นปัญหากองทัพมดลักลอบขนส่งน้ำตาลออกนอกประเทศไม่น่าจะมีเหมือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกสูง จนทำให้มีการลักลอบขนส่งน้ำตาลออกนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

สำหรับกองทุนเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะมีขนาดเงินปีละ 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งจัดเก็บจากสินค้าน้ำตาล โดยค่ารักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันนี้เก็บได้ปีละ 14,000 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้เงินกู้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนสิงหาคมปีหน้า แต่เชื่อว่าจะชำระหมดก่อนกำหนด.- สำนักข่าวไทย

จาก http://www.mcot.net  วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

คาดปิดหีบอ้อย98ล.ตัน

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยของไทยฤดูการผลิตปี 2554/2555 ล่าสุดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 97.6 ล้านตัน โดยขณะนี้เหลือโรงงานที่เปิดหีบเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น คาดว่าภายในกลางพ.ค.นี้ จะปิดหีบอ้อยได้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูหีบอ้อยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 97.7-97.8 ล้านตันอ้อยหรือไม่เกิน 98 ล้านตันอ้อย ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะไม่แตะระดับ 100 ล้านตันอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ก็ยังถือเป็นปริมาณอ้อยที่ทำสถิติสูงสุดจากเดิมที่เคยทำไว้เมื่อฤดูการผลิตปี 2553/2554 อยู่ที่ระดับ 95.36 ล้านตันอ้อย

นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตอ้อยในฤดูการหีบปี 2555/2556 ที่จะเริ่มเปิดหีบกลางพ.ย. 2555 นั้นยอมรับว่ามีความเป็นห่วงภาวะภัยแล้งที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากขณะนี้ปริมาณฝนมีน้อยและหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณอ้อยปีหน้าคงยากที่จะคาดเดาได้ เพราะอยู่ที่ว่าฝนจะทิ้งช่วงยาวแค่ไหน ขณะนี้ยอมรับว่าฝนไม่ตกบางพื้นที่ตออ้อยเริ่มเสียหาย ถ้าฝนมาช่วงกลางพ.ค.และปลายพ.ค. คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าแล้งยาวยอมรับว่าจะได้รับผลกระทบพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2555/2556 คาดว่าจะใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปี 2554/2555 หรือยังคงเป็นระดับราคาที่สูงอีกปีหนึ่งเนื่องจากขณะนี้มีการทำราคาขายล่วงหน้าไปแล้ว 50% โดยราคาน้ำตาลทรายที่ขายเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 24.8 เซ็นต์ต่อปอนด์

จาก http://www.khaosod.co.th  วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

อุตฯชี้ภัยแล้ง กระทบหีบอ้อย ปี54/55ไม่ถึงเป้า

รายงานข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปิดหีบอ้อยของไทยฤดูการผลิตปี 2554/55 ล่าสุด มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วประมาณ 97.6 ล้านตัน โดยขณะนี้เหลือโรงงานที่เปิดหีบเพียง 3-4 แห่งเท่านั้น คาดว่าภายในกลาง พ.ค.2555 นี้ จะปิดหีบอ้อยได้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูหีบอ้อยคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 97.7-97.8 ล้านตันอ้อย หรือไม่เกิน 98 ล้านตันอ้อย
“แม้ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะไม่แตะระดับ 100 ล้านตัน อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง แต่ก็ยังถือเป็นปริมาณอ้อยที่ทำสถิติสูงสุดจากเดิมที่เคยทำไว้เมื่อฤดูการผลิตปี 2553/54 อยู่ที่ระดับ 95.36 ล้านตันอ้อย” แหล่งข่าวกล่าว
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบปีนี้คงไม่ถึง 100 ล้านตัน แต่ก็ยังคงเป็นปริมาณอ้อยสูงสุดของไทยที่เคยผลิตได้ และการผลิตอ้อยในฤดูการหีบปี 2555/56 ที่จะเริ่มเปิดหีบ
กลาง พ.ย.55 นั้น ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงภาวะภัยแล้งที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากขณะนี้ปริมาณฝนมีน้อยและหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นในปี 2555/2556 ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะมีปริมาณอ้อยเท่าไหร่ ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นปี 2555/56 คาดว่าจะใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปี 54/55.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

“มิตรผล” ปรับแผนลงทุนกัมพูชาตั้งโรงงานแป้งมันแทนน้ำตาล

“มิตรผล” เตรียมปรับแผนการลงทนในกัมพูชา ศึกษาแนวทางตั้งโรงงานแป้งมันแทนโรงงานน้ำตาล คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ชี้ลงทุนแปรรูปมันลงเสี่ยงน้อยกว่า ระบุปัญหาบุคลากรไม่พร้อมกระทบการลงทุนต่างประเทศ เผยโรงงานน้ำตาลที่ออสเตรเลียเริ่มเปิดหีบเดือนมิ.ย.นี้

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยว่า มิตรผลได้รับสัมปทานที่ดินเพื่อลงทุนปลูกอ้อยผลิตน้ำตาลที่เมืองอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา จากรัฐบาลกัมพูชา 112,000 ไร่ อายุสัมปทาน 90 ปี ซึ่งตามแผนเดิมจะลงทุนปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกอ้อย แต่เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ในช่วงที่ผ่านมาทำให้ต้องชะลอการลงทุนออกไปก่อน และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็พิจารณาไปลงทุนอีกครั้ง

นายอิสระ กล่าวว่า ขณะนี้มิตรผลกำลังศึกษาแผนการลงทุนปลูกและผลิตแป้งมันสำปะหลัง แทนการลงทุนปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล เนื่องจากการลงทุนแปรรูปมันสำปะหลังจะมีขนาดการลงทุนเล็กกว่า ซึ่งมิตรผลมีปัญหาเรื่องบุคลากรจากไทย ที่ต้องส่งไปประจำในต่างประเทศ

โดยถ้าลงทุนไปแล้วบุคลากรไม่พร้อมก็จะเสียหายและดูแลโรงงานลำบาก และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องส่งบุคลากรจากไทยไปเป็นส่วนใหญ่ และต่างจากการที่มิตรผลไปลงทุนซื้อหุ้นโรงงานน้ำตาลของบริษัทเอ็มเอสเอฟ ชูการ์ที่ออสเตรเลีย เพราะเป็นโรงงานที่มีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว

ทั้งนี้ มิตรผลคาดว่าจะศึกษาแนวทางการลงทุนแปรรูปมันสำปะหลังเสร็จภายในปี 2555 ซึ่งเมื่อศึกษาเสร็จจะได้ประเมินว่าควรมีแผนลงทุนในกัมพูชาต่อไปอย่างไร โดยการลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังจะต้องใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 400 - 600 ล้านบาท ขณะที่โรงงาน้ำตาลลงทุนอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าโรงงานน้ำตาล

ส่วนการลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลในพม่ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดของการไปลงทุนในพม่าอยู่ที่รัฐบาลพม่าต้องการให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลหรือไม่ โดยถ้าพม่าตอบรับก็สนใจเข้าไปลงทุน แต่ในขณะนี้พม่ายังให้คำตอบไม่ได้ว่า ต้องการให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลหรือไม่

นายอิสระ กล่าวว่า การลงทุนในออสเตรเลียมีแนวโน้มค่อนข้างดี ซึ่งเมื่อเข้าไปซื้อหุ้นข้างมากได้แล้ว ก็จะเริ่มเข้าไปดำเนินการได้เลย โดยจะเริ่มหีบอ้อยผลิตน้ำตาลในเดือนมิ.ย.2555 คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 4 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 50,000 ตัน ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของออสเตรเลียค่อนข้างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนแรงงานต่ำ เพราะมีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้มาก โดยการปลูกอ้อย 10,000 ต้น ของออสเตรเลียใช้แรงงาน 2 คน ส่วนของไทยใช้แรงงาน 60 คน

ส่วนการผลิตน้ำตาลในไทยของมิตรผล ในฤดูการผลิต 2554/2555 ที่กำลังจะปิดหีบอ้อย พบว่ามีอ้อยเข้าหีบ 18 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้ 190,000 ตัน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 พฤษภาคม 2555

จีนไทยลงนามร่วมมือศึกษาเรื่องน้ำ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในสาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทาน โดยหน่วยงานในการประสานงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนของประเทศไทย ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ สำหรับความคืบหน้าปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบสาระของข้อตกลงแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้ว จึงจะสามารถประสานงานในการลงนามได้ต่อไปสำหรับข้อตกลงฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในสาขาทรัพยากรน้ำด้านการใช้ประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีขอบเขตครอบคลุมเรื่องการป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการและก่อสร้างเขื่อน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและมาตรการรับมือ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การอนุรักษ์ดินและน้ำ การชลประทานและการระบายน้ำ การประสานงานและร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำในระดับนานาชาติ และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่สนใจร่วมกัน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 4 พฤษภาคม 2555

ผลิตคู่มือสารกำจัดศัตรูพืช ป้องกันเกษตรกรใช้ผิดวิธี

ดร.วีรวุฒิ กตัญญูกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เปิดเผยว่า สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร รู้สึกกังวลใจต่อสถานการณ์ความรู้เรื่องสารกำจัดศัตรูพืช และความปลอดภัยในการใช้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นทางของห่วงโซ่อาหารที่จะไปถึงมือผู้บริโภคปลายทาง ดังนั้นจึงวางแผนผลิตหนังสือคู่มือให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืช ไม่น้อยกว่า 100,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายเกษตรกร และนักเรียนในพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ

หนังสือดังกล่าว จะมีเรื่องราวตั้งแต่ความรู้เรื่องสารกำจัดศัตรูพืช ประเภทของสาร ความจำเป็นในการใช้ การเลือกใช้สารให้เหมาะกับสภาพปัญหา วิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย การตกค้างและการสูญสลาย และความรู้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ฯลฯ เป็นต้น

“เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยใช้สารกำจัดศัตรูพืชมา 60 ปี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่กลับไม่มีความรู้เรื่องนี้อย่างแจ่มแจ้ง จนนำไปสู่ปัญหาความปลอดภัยในการใช้ การบริโภค และต้นทุนการผลิตที่สูงโดยไม่จำเป็น หนังสือเล่มนี้จะใช้ภาษาที่เกษตรกรเข้าใจง่าย และใช้การ์ตูนประกอบเรื่อง”

ดร.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักของประเทศไทยคือนโยบายที่หลงทาง โดยมุ่งให้ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์เพียงโดดๆ จนละเลยเกษตรเคมีโดยสิ้นเชิง ทั้งที่โดยหลักความจริงแล้ว ประเทศไทยต้องพึ่งพาเกษตรเคมีในการเพิ่มผลผลิต รักษาคุณภาพการผลิต เช่นเดียวกับประเทศอื่นในโลก ไม่เว้นประเทศพัฒนาแล้ว เพียงแต่ต้องเน้นความปลอดภัยในการใช้ ซึ่งต้องให้ความรู้แก่เกษตรกร

“ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่มุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์อย่างเดียว แถมทำทีรังเกียจเกษตรเคมีด้วย ทั้งที่ประเทศอื่นให้เกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าใช้เกษตรอินทรีย์โดยลำพัง ประเทศไทยจะมีปัญญาผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอความต้องการ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรและภาคการส่งออกกันอย่างไร” นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 พฤษภาคม 2555

เปิด AEC ภาคการเกษตรไทยได้หรือเสีย

ปัจจุบันความตื่นตัวเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนทุกมากขึ้นในทุกภาคส่วนของผู้คนในขณะนี้ ว่าจะมีผลดีผลเสียต่อการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้างหลังจากเปิด AEC แล้ว โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยังประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม จะมีผลกระทบในเชิงลบ หรือทางบวก ได้รับผลประโยชน์จาก AEC มากน้อยเพียงได ต้องปรับตัวหรือเตรียมกันอย่างไร

สำหรับประชาคมอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก10 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ บรูไน มีประชากรรวมกัน ประมาณ 600 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าตลาดการค้าการลงทุนจะขยายเพิ่มจาก 62 ล้านคนภายในประเทศไทยเป็น 600 ล้านคน การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารจากเดิมที่มุ่งเน้นผู้บริโภคคนไทยด้วยกัน ต่อจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคที่ที่อยู่ในอีก 9 ประเทศเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในทางกลับกัน ก็จะมีเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหารในอีก 9 ประเทศที่คิดเช่นเดียวกันกับเรา และจะเข้าสู่ตลาดและดำเนินนโยบายทางการผลิตและการตลาดแข่งขันกับเรา เช่น นโยบายทางด้านราคา ด้านต้นทุนและด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น

ดังนั้น การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเชียน หรือการเปิดเสรีทางการค้าจะทำให้สินค้าเกษตรและอาหารจะเคลื่อนย้ายผ่านกลไกการขนส่งได้อย่างเสรี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มพูนปริมาณการค้าและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เพิ่มขึ้น จากการที่สินค้าเกษตรและอาหารจะถูกส่งไปจำหน่ายยังตลาดของประเทศในกลุ่มด้วยต้นทุนที่ถูกลง เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรที่แต่ละประเทศได้เคยกำหนดไว้ ระบบตลาดจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะที่ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายจะดำเนินการผลิตสินค้าที่ตนเองมีความได้เปรียบในการแข่งขัน กล่าวคือผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ยังรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า ผู้ผลิตที่มีประสบการณ์หรือทักษะในการผลิตสูง และสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตทีมีคุณภาพได้ในราคาที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ จะดำเนินการผลิตสินค้าและส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ผลิตรายอื่นก็จะปรับตัวหันไปผลิตสินค้าที่ตนเองมีความถนัดกว่า จึงเกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันนั้นผู้ซื้อจะมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นและมีราคาจำหน่ายหรือมีต้นทุนต่ำกว่า

นอกจากนั้นทรัพยากรภายประเทศของแต่ละประเทศ จะถูกใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีขึ้นกว่าการไม่เปิดเสรี เช่น สินค้าบางประเภทเราจะพบเห็นว่าเวลาเพื่อนเดินทางไปต่างประเทศจะมีการฝากซื้อสินค้า เนื่องจากว่ามีราคาถูกกว่าการซื้อภายในประเทศ ทั้งนี้ในการกลับกันก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารนั้น เป็นการดำเนินการตกลงกันที่จะลดอุปสรรคทางการค้าทางด้านภาษีศุลกากรโดยการลดและเลิกไปในที่สุด ส่วนอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แต่ละประเทศยังสามารถที่จะกำหนดได้ เช่น เงื่อนไขมาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ ที่แต่ละประเทศมีกฎ ระเบียบไว้เพื่อการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ได้รับอันตรายจากการบริโภคสินค้าและอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี สารชีวภาพ วัตถุอันตรายต่างๆ และเงื่อนไขพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่รักษาระดับความหลากหลายทางชีวิภาพของประเทศ ทั้งสินค้าที่จะนำเข้ามาหรือจะนำออกไป

ดังนั้นในการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารนั้น เกษตรกรในทุกระดับจะต้องปรับตัวโดยการติดตามข้อมูลทางการตลาด พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภค ข้อมูลการผลิตของเกษตรกรในต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาบริหารจัดการต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพกะบวนการผลิต การสร้างความแตกต่างในสินค้า ที่สำคัญการปรับตัวเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิตและมาตรฐานสินค้า และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งผลิตด้วยกระบวนการที่ปนเปื้อนสารเคมี วัตถุอันตรายและมีราคาถูก จะไม่สามารถเข้ามาจำหน่ายได้ภายในประเทศไทยและกลายเป็นคู่แข่งขันหรือทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทส นอกจากนั้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรให้สามารถเข้าสู่ตลาดอาเซียน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนบทบาทของเกษตรกรรายย่อยให้มีพื้นที่ทางการตลาดในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากการเปิดเสรีทางด้านการค้าและ ประชาคมอาเซียนยังเปิดให้มีการลงทุนอย่างเสรี จะส่งผลให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายการเงินทุนหรือการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตสินค้า กล่าวคือ นักลงทุนไทยสามารถไปลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น การไปลงทุนทำธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตรและแปรรูปแล้วส่งออกไปจำหน่าย (โรงสีข้าว โรงงานมันสำปะหลัง) หรือการลงทุนทำการเกษตรกรรมผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้น แล้วส่งออกผลผลิตมาแปรรูปขั้นกลาง ขั้นสูงในประเทศไทย เป็นต้น ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นกลางและขั้นสูง หรือ การลงทุนผลิตปัจจัยการผลิตทางด้านการเกษตร เช่น เครื่องมือเครื่องจักรทางการเกษตร เทคโนโลยีทางด้านการเกษตร เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดปัจจัยการผลิต เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการเลือกซื้อปัจจัยการผลิตที่มีมาตรฐานคุณภาพและราคาที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ ขนาดการผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นจะปรับตัวให้เหมาะสมกับศักยภาพของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน นั้นหมายถึงเกษตรกรไทยจะมุ่งผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นคุณภาพ มากกว่าเน้นปริมาณ ที่ซึ่งเกษตรกรไทยมีความแตกต่างจากการใช้ฝีมือการผลิตที่เป็นจุดแข่ง รายได้สุทธิจากการผลิตจะปรับตัวเปลี่ยนผ่านเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดเข้าสู่สมดุล ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรปรับตัวจากระบบการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นเน้นปริมาณ ไปสู่ระบบการผลิตที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มข้นและเน้นคุณภาพสินค้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนนั้น จะต้องมีกฎระเบียบในการกำกับดูแลและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่โปร่งใส่ เพื่อให้โอกาสแก่นักลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของประเทศหรือมาลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมของไทย และที่สำคัญจะต้องสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นักลงทุนนำเข้ามา มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสียโอกาสและไม่ได้ประโยชน์

การเปิดเสรีทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน เมื่อมีระบบเศรษฐกิจอาเซียนมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลรอบใหม่แล้ว และจากการที่ปริมาณการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของแต่ละประเทศขยายตัว จะส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานทางด้านเกษตรรวมทั้งแรงงานฝีมือด้านอื่นๆเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานที่มีทักษะฝีมือจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ ค่าจ้างแรงงานภายในกลุ่มอาเซียนจะปรับตัวเข้ามาใกล้เคียงกันตามสภาพแวดล้อมการทำงานหรือมีความแตกต่างกันน้อยลง โอกาสที่แรงงานภาคเกษตรที่เป็นชาวต่างประเทศที่เคยมีอยู่ภายในประเทศจะเคลื่อนย้ายกลับสู่ประเทศเดิมจึงมีสูง ทั้งนี้รวมถึงแรงงานฝีมือของไทยก็อาจถูกจ้างในราคาที่สูงกว่าเพื่อไปทำงานในระดับการควบคุมกระบวนงานการผลิตด้านการเกษตร ในประเด็นนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทย ซึ่งผลกระทบจะมาก่อนโอกาส นั้นหมายถึง จะกดดันเร่งเร้าให้เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องขยันเรียนรู้และก้าวทันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศึกษาเรียนรู้ในทุกๆด้านเพื่อวิเคราะห์หาทางเลือกที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอด โดยการปรับลดขนาดการผลิตให้เหมาะสม กล่าวคือ เหมาะสมกับแรงงานภายในครัวเรือน และหันไปใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาทดแทนแรงงาน และหรือปรับระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีความแตกต่าง และเมื่อก้าวข้ามผลกระทบไปได้โอกาสทางการตลาดที่ดีกว่าจะเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตามการเพิ่มขีดความสามารถ หรือการเพิ่มสมรถนะของแรงงานภาคการเกษตรมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันเกษตรบางส่วนเป็นเพียงผู้จัดการแปลงผู้จัดการนา จ้างแรงงานที่มีทักษะบ้างไม่มีทักษะบ้างเข้ามาทำงานในแต่ละขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้จัดการก็ขาดความรู้ความเข้าใจในการควบคุมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ

โดยสรุปการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในกรอบของ AEC สำหรับประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากภาษีที่ลดลง มีตลาดที่กว้างขึ้น สินค้าวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตนำเข้าราคาถูก ทำให้ลดต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออกเสริมสร้างโอกาสในการลงทุน ขยายกิจการ ย้ายฐานการผลิต เกิดการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ในสินค้าและบริการ มีการพัฒนาและเพิ่มคุณภาพบุคลากร แรงงาน ลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจการซื้อมากขึ้นในส่วนของผลกระทบ จะมีผลต่อเกษตรกรของไทยบางส่วนอาจทำให้ราคาสินค้าตกต่ำได้ เมื่อมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากอาเซียน 9 ประเทศ อุตสาหกรรมเกษตรที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำอาจแข่งขันไม่ได้ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาใช้มากขึ้น นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น แรงงานฝีมือของไทยอาจเคลื่อนย้ายออกไปตลาดต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ทางผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการหามาตรการมารองรับและหาทางออกไว้พร้อมแล้ว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 2 พฤษภาคม 2555