http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤษภาคม 2563)

ชาวไร่ข้าวโพด-อ้อยครวญ หนอนกระทู้ ระบาดหนัก ยาฆ่าแมลงก็เอาไม่อยู่

วันที่ 31 พ.ค.63  ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ปราจีนบุรี ได้รับร้องทุกข์จาก  เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด-ไร่อ้อย หมู่ 9 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  พบในพื้นที่เกิดหนอนกระทู้ลายขาวระบาด กัดกินยอดต้นข้าวโพด  และอ้อยควั่น  เสียหายหนัก แม้จะซื้อยาปราบศัตรูพืช   ชนิดร้ายแรงฉีดพ่น 2 ครั้ง   หมดเงินไปราว 4 พัน บาท ยังไม่ได้ผล เพียงข้ามคืน หนอนกัดกินอย่างหนัก ส่งผลให้ได้ท้อแท้กับการลงทุนปลูกข้าวในปีนี้   บางรายทำใจขาดทุน4-5 หมื่นบาท  ต่อแปลง จึงลงพื้นที่

 พบนายสมศักดิ์ จิตงาม อายุ 43ปี อยู่บ้านเลขที่ 65 ม.9 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนและญาติๆปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คนละ 20 ,50 ไร่ อยู่มา เกิดหนอนกระทู้ลายข้าวแพร่ระบาด ไม่มากนัก ได้ซื้อยาฆ่าแมลงมาฉีด แต่ก็เอาไม่อยู่ เพียงข้ามคืนหนอนกระทู้กัดกินยอดข้าวโพด และได้ฝังตัวอยู่ในส่วนยอดต้นข้าวโพด ฟักตัวเจริญวัย น้ำยาฆ่าแมลงไม่สามารถซึมไปถึงตัวหนอนได้ หนอนกระทู้จึงกัดทำลายยอดอ่อนและต้นข้าวโพดได้ง่าย เกษตรกรบางรายได้ปลูกข้าวโพดกิน ถูกหนอนกระทู้กัดกินต้นข้าวโพดยืนต้นตายยกแปลง  ไถปลูกใหม่ก็เสียหายอีก  หมดเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ 1-2 พันบา

นอกจากนี้หนอนกระทู้ยังลุกคืบ กัดกินอ้อยควั่น ที่ปลูกไว้เพื่อทำน้ำอ้อยสดขาย หนอนกระทู้หากกัดกินต้นอ้อยจะฝังตัวอยู่ในลำต้นอ่อนยากต่อการกำจัดให้ตายได้ อ้อยจะยืนต้นตายหรือเสียหายขายไม่ได้ อยากให้เกษตรตำบลและเกษตรอำเภอให้คำแนะนำ- ลงมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเร่งด่วนด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สแกน QR Code เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยหมื่นล้านรับได้เลย

สอน. เตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย วงเงิน 10,000 ล้านบาท ภายในเดือนมิถุนายน 2563

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ภายในเดือนมิถุนายน 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ภายใต้กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเป็น 2 กรณี ดังนี้

- วงเงิน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทุกราย รายละไม่เกิน 5,000 ตัน

- วงเงิน 3,500 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานน้ำตาลทุกตันอ้อย

เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จะได้รับการช่วยเหลือต้องจดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อยตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย โดยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองได้ง่าย ๆ เพียงสแกน QR Code ไลน์ "ตรวจสิทธิ์อ้อย"

ทั้งนี้ โครงการเงินช่วยเหลือฯ จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ประมาณ 200,000 ราย ซึ่งขณะนี้ สอน. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนและอนุมัติจ่ายเงินต่อไป

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 30 พฤษภาคม  2563

“เกษตรกร” รีบส่งคืน “พาราควอต- คลอร์ไพริฟอส”

รองโฆษกรัฐบาล ย้ำ แบน พาราควอต- คลอร์ไพริฟอส 1 มิ.ย.นี้ เตือน เกษตรกร มีไว้ครอบครองรีบส่งคืน

หลังจากที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายฯซึ่งจะมีผลบังคับใช้ โดยห้ามให้มีการผลิต นำเข้า และส่งออก รวมถึงห้ามมีไว้ครอบครองสารเคมีเกษตรเพื่อจำกัดศัตรูพืชรวม 5 รายการ ซึ่งกรมวิชาการเกษตกรได้ประชาสัมพันธ์กับทุกภาคส่วนไปแล้วนั้น

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำเตือนกลุ่มเกษตรกรในวันนี้ (30 พฤษภาคม) อีกครั้งว่า ก่อนหน้านี้กรมวิชาการเกษตร ได้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ต่อกับทุกภาคส่วนแล้ว และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้ลงนามในคำสั่งเพื่อดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืชในการประกอบการเกษตรกรรม ต้องส่งมอบคืนวัตถุอันตรายดังกล่าวแก่ผู้ขายที่ซื้อมา ภายใน 90 หรือไม่เกินวันที่ 29 ส.ค.2563

ส่วนผู้ขายต้องรับคืนจากผู้ซื้อ แล้วรวบรวมข้อมูลการครอบครอง ส่งให้เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรภายใน 120 หรือไม่เกิน 28 ก.ย.2563

ทั้งยังกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของประชาชน ซึ่งการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว เนื่องด้วยเป็นสารเคมีความเสี่ยงสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค จึงได้ห้ามไม่ให้มีการใช้ โดยผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงภาคีเครือข่ายเกษตรกรต่างๆ

"ส่วนสารทดแทน กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมสารทดแทนรวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติไว้แล้ว เพื่อรองรับผลกระทบที่จะมีต่อเกษตรกร ขอให้มั่นใจว่า การห้ามใช้สารเคมีดังกล่าว เป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน" นางสาวไตรสุลี กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2563 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้โดยห้ามให้มีการผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ครอบครอง สารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช 5 รายการ ประกอบด้วย 1.คอลร์ไพริฟอส 2.คลอร์ไพริส ฟอส-เมทิล 3.พาราควอต 4.พาราควอตไดคลอไรด์ และ 5.พาราควอตไดคลอไรด์ (เมทิล ซัลเฟต)

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 30 พฤษภาคม  2563

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาด สินค้าเกษตร แนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น

 ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนมิถุนายน 2563

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศที่เริ่มคลี่คลาย ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมิถุนายน 2563 โดยสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย ได้แก่  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 16,084-16,159 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.68- 1.15 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อจากประเทศจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 10.59-10.90 เซนต์/ปอนด์ (7.46-7.68 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.00-5.00 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อราคาเอทานอล และลดแรงกระตุ้นสำหรับโรงงานของบราซิลในการนำอ้อยไปผลิตน้ำตาล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 35.25–35.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.54 – 1.50 จากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติเพิ่มขึ้น

ปาล์มน้ำมัน  ราคาอยู่ที่ 2.69-2.74 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.37 – 2.24  เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและในภาคอุตสาหกรรม  สุกร ราคาอยู่ที่ 67.69 – 68.58 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.17–2.50  เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ระยะที่ 2 อนุญาตให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง และเปิดจุดผ่านแดนถาวรตามชายแดน ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้เพิ่มขึ้น และ กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 136.00 – 138.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.00 – 1.47 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ทั้งภายในและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจบางกลุ่มสามารถกลับมาเปิดทำการได้ อาทิ ร้านอาหาร และความต้องการกุ้งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตกุ้งของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ลดลง เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคากุ้งมีแนวโน้มสูงขึ้น

 ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่  ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15%  ราคาอยู่ที่ 9,325-9,389 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.67-1.34  และข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,634-14,660 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.15-1.33 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19   เริ่มคลี่คลาย ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ได้แก่ เวียดนาม และอินเดีย เริ่มมีการส่งออกข้าวมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรอดูสถานการณ์ราคาและมีแนวโน้มเสนอราคารับซื้อลดลง  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น  ไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.52-7.56 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.00 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน (เก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป) ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้คุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง  และมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.62-1.67 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.60 – 3.57 เนื่องจากคุณภาพมันสำปะหลังที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้มี   เชื้อแป้งต่ำ เป็นผลจากปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลทำให้ราคาให้ปรับตัวลดลง

จาก  https://www.banmuang.co.th วันที่ 30 พฤษภาคม  2563

กษตรแถวหน้า : คืบหน้าศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC)

ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech andInnovation Center : AIC) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ณ โรงแรมปรินซ์พาเลส มหานาค กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจาก ภาครัฐ ภาคเกษตรกร ภาควิชาการและภาคเอกชน จำนวน 69 สถาบัน 83 แห่ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด และผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์

จนถึงวันนี้ได้ดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้วนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้ได้เร่งจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ AIC ให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 นี้ จะมีการประชุมเพื่อ Kick off ศูนย์ AIC โดยจะหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาหารือ ดังนี้ 1.การอบรมบ่มเพาะ เรื่อง ตลาดเกษตร โลจิสติกส์เกษตร เกษตรอนาคตทางเลือกใหม่ 2.การถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เช่น ระบบสูบน้ำส่งน้ำด้วยพลังงานทางเลือก 3.จัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมาย 4.จัดทำ Action plan 5.จัดตั้งโครงสร้างขับเคลื่อน ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตร คณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและเครื่องจักรกลเกษตร คณะกรรมการพัฒนาตลาดเกษตร (ออนไลน์และออฟไลน์) คณะกรรมการโลจิสติกส์เกษตร คณะกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นต้น

 นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ ทั้ง 4 คณะ ที่เชื่อมโยงกับศูนย์ AIC ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นอาทิ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ GovTech (โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน) มีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยให้บูรณาการข้อมูลให้ครอบคลุมในทุกมิติและเป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center : NABC) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 และวางแผนขับเคลื่อนการจัดทำ Big Data ในช่วง 6 เดือน (เมษายน – กันยายน 2563) อย่างเป็นระบบ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ (โดยมี ดร.วราภรณ์พรหมพจน์ เป็นประธาน) มีการปรับแผนการดำเนินงานด้านเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 9 โครงการ/กิจกรรม มีการดำเนินงานแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะมันสำปะหลัง แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะผักสลัดในโรงเรือน แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะกุ้งขาวแวนนาไม และการสร้างการรับรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับ AIC

 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce (โดยมี นายศตพล จันทร์ณรงค์ เป็นประธาน) มีการจัดทำโครงการคอร์ส Cloud Kitchen ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Grab และได้มีการแถลงข่าวเปิดโครงการ Cloud Kitchen ซึ่งขณะนี้โครงการ Cloud Kitchen ได้ขึ้นระบบการเรียนรู้ผ่าน Facebook ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-Commerce เรียบร้อยแล้ว และการทำความร่วมมือร่วมกับผู้แทน Alibaba เพื่อเปิดคอร์สสอนขายสินค้าเกษตร มุ่งเน้นเรื่องการฝึกอบรมเกี่ยวกับการนำสินค้าเกษตรขึ้นบน Platform ของ Alibaba โดยแนวทางการทำงานร่วมกับ Alibaba จะเป็นการอบรมออนไลน์ โดยใช้โปรแกรม Zoom เป็นการสอนในเรื่องของการนำสินค้าเกษตรขึ้นบน Platform ของ Alibaba โดยมีกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ที่มีความรู้พื้นฐานด้านอินเตอร์เนต และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร AgriBusiness (โดยมี นายปริญญ์พานิชภักดิ์ เป็นประธาน) ได้จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เป็น 2 มาตรการ ประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 1.รวบรวมข้อมูลสินค้าเกษตรที่มีปัญหา 2.ใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์ หรือ Platform หน่วยงานราชการ 3.รับ Pre-Order สินค้าเกษตร 4.การกระจายสินค้าเกษตรผ่านสหกรณ์การเกษตร 5) การเชื่อมโยงเกษตรกรสู่ Platform ของ StartUP ด้านการตลาด

สำหรับมาตรการระยะกลางและระยะยาว ได้แก่ 1.การแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น สินค้าประเภทอาหาร สินค้าประเภทของใช้ 2.ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเสนอโครงการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร โดยได้ลงพื้นที่สำรวจสินค้าเกษตร จ.จันทบุรี หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และบริษัทเอกชนในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และราคาตกตํ่า ตลอดกระจายผลไม้ช่วยเกษตรกร โดยการจัดทำ “โครงการเราทำได้ We can do it”เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด จ.จันทบุรี ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มช่องทางลงทุนภาคเกษตรด้วยคราวด์ฟันดิ้งก์ (crowd funding) เพื่อให้ ผู้ประกอบการระดมทุนจากผู้ลงทุนในจำนวนเงินคนละเล็กคนละน้อย ผ่านตัวกลาง “Funding Portal” เพื่อนำเงินมาใช้ตามวัตถุประสงค์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย Young Smart armer, Start up และ SMEs

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 29 พฤษภาคม 2593

บาทอ่อนค่าต่อ นักวิเคราะห์ชี้เหตุตลาดทุนพักฐาน ไม่มีปัจจัยบวกหนุน

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า

 ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 29 พฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 31.86 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.75-31.95 บาทต่อดอลลาร์

โดยตลาดการเงินสหรัฐเริ่มตึงตัวจากตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน

เห็นได้จากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในระดับ 2.1 ล้านคนสัปดาห์ก่อน หมายความว่าในช่วงวิกฤตที่ผ่านมามีผู้ขอยื่นสวัสดิการการว่างงานกว่าแล้ว 40 ล้านคนในสหรัฐ แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องลดลงเหลือ 21.1 ล้านคนจาก 24.9 ล้านคนในสัปดาห์ก่อน แต่ก็ถือว่าเป็นระดับการว่างานที่สูงผิดปกติ

เช่นเดียวกันตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่หดตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 5.0% ในการรายงานครั้งที่สอง (เทียบกับไตรมาสก่อนปรับเป็นรายปี) พร้อมกับปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ที่หดตัวลง 17.2% ในเดือนเมษายน

 ภาพดังกล่าวส่งผลให้ S&P500 ปรับตัวลดลง 0.2% สวนทางกับดัชนีหุ้นยุโรป Stoxx 600 ที่ปรับตัวขึ้นต่อได้ถึง 1.6% นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องด้วย โดยล่าสุดเบรนท์ขยับขึ้นแตะระดับ 35.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลบวก 1.8% ขณะเดียวกันราคาทองคำก็กลับมายืนได้ที่ 1719 ดอลลาร์ต่อออนซ์หลังจากปรับตัวลงไปต่ำกว่า 1700 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพียงหนึ่งวัน

ฟากของตลาดเงิน ก็เห็นได้ชัดว่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร (EUR) ทันทีที่ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวแข็งแรงกว่าฝั่งสหรัฐ กดดันให้ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง 0.5% โดยมีเพียงเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ทรงตัวในระดับ 107.7 เยนต่อดอลลาร์ และดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่ปรับตัวลงในคืนก่อน

ส่วนของเงินบาทก็น่าสนใจเมื่อแข็งค่าลงมาสู่ระดับที่เชื่อว่าเป็น “แนวรับ” ของผู้นำเข้าส่วนใหญ่ พร้อมกันกับที่ฝั่งของตลาดหุ้น ก็เริ่มติดแนวต้านที่ระดับ 1350 จุด ชี้ว่าเงินบาทควรชะลอการแข็งค่าลงได้บ้าง

 แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจับตาทิศทางของการค้าระหว่างประเทศที่จะกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนหน้ามิถุนายนเป็นต้นไปด้วย เพราะถ้าการส่งออกกลับมาได้เร็ว เงินบาทก็จะถูกกดดันอีกครั้งทันที และในระยะสั้นมีเพียงภาพการแข็งค่าของดอลลาร์จากภาวะตลาดทุนที่พักฐานเท่านั้นที่สามารถดึงให้เงินบาทอ่อนค่ากลับขึ้นไปได้

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 29 พฤษภาคม 2593

รมว.ทส.สั่งกรมน้ำวางแผนรับฝนปี63 คาดเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน413ล้านลบ.ม.

รมว.ทส.สั่งกรมน้ำวางแผนรับฝนปี63 เตรียมใช้งบกลาง-งบเงินกู้ คาดเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน413ล้านลบ.ม.

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ร่วมมือกันช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกำหนดมาตรการแก้ไข และลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยกรมทรัพยากรน้ำได้กำหนดแผนปฏิบัติการในภาวะภัยแล้ง ได้แก่ ศูนย์ผลิตน้ำสะอาด จุดแจกจ่ายน้ำสะอาด และจุดสูบน้ำ อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือและบุคลากร เช่น เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ผู้ประสานงานช่วยเหลือและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กว่า 500 คน

 ในส่วนภาคเกษตรกร มติ ครม. (13 ม.ค.63) ทส.ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่เกษตรไม้ผลยืนต้น ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จำนวน 370,000 ไร่ ซึ่งจากแผนปฏิบัติการรับมือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรไม้ผลยืนต้นนอกเขตชลประทานนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน โดยมอบหมายหน่วยงานส่วนภูมิภาคเข้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำเกษตรนอกเขตชลประทาน และดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือได้ตามเป้าหมายจำนวนกว่า 97 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสูบน้ำแจกจ่ายน้ำสะอาดได้กว่า 16 ล้านลิตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 425,000 ครัวเรือน จำนวน 1,368,000 ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 204,000 ไร่ (ข้อมูลโดย ศูนย์ป้องกันวิกฤตน้ำ, 25 พ.ค. 63)

สำหรับการเตรียมการรับน้ำฝนในปี 2563 รัฐบาล โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.เน้นย้ำให้ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริหารจัดการน้ำ โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ และตามศักยภาพของแหล่งเก็บกักน้ำ โดยพื้นที่ใดที่มีแหล่งน้ำต้นทุนที่มีศักยภาพ จะต้องมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และมีปริมาณน้ำที่มั่นคงในภาคการผลิต ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ได้นำแนวนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยการบริหารงบประมาณของกรมเพื่อให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนา และจัดทำระบบกระจายน้ำ ในทุกๆ แหล่งน้ำที่มีศักยภาพ ให้สมดุลกับปริมาณความต้องการใช้น้ำของแต่ละพื้นที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนอย่างสูงสุด อีกทั้งได้มีการวางแผนสนับสนุนน้ำในโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนน้ำต้นทุนในการผลิตทางการเกษตร อันเกิดจากการย้ายถิ่นฐานของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19)

ในปีงบประมาณ 2563 กรมทรัพยากรน้ำวางแผนเพิ่มน้ำต้นทุนผ่านโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นอีก 145 แห่ง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จประเทศไทยจะมีปริมาณกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้าน ลบ.ม.ประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 70,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรจะได้น้ำกว่า 186,000 ไร่ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ขอสนับสนุนโครงการฯ งบกลาง เพิ่มเติมอีก จำนวน 35 โครงการ ในวงเงิน 496 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 33,111 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 7,050 ครัวเรือน และกรมทรัพยากรน้ำได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากงบเงินกู้ จำนวน 727 โครงการ ในวงเงิน 248 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 602,779 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 163,750 ครัวเรือน คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มน้ำต้นทุนรวม 413 ล้าน ลบ.ม.และจากงานวิจัยของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าในหลายพื้นที่ชนบทของประเทศไทย สามารถอุปโภคและบริโภคน้ำฝนได้ โดยผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค โดยการต้ม และการใช้ภาชนะรองรับและกักเก็บที่สะอาด อยากฝากถึงพี่น้องประชาชน ให้ช่วยกันเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ยอดใช้เอทานอลหายไปกว่าครึ่ง เดือนเมษายนเหลือแค่2.80ล้านลิตรต่อวัน

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.)เปิดเผยว่า​ ปริมาณเอทานอลภาคเชื้อเพลิงในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคมประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน โดยมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์เพื่อเดินทางลดลง ส่งผลทำให้การใช้เอทานอลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง

ขณะที่ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 25-31 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 25.16 บาท

ต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.15  บาทต่อลิตร โดยราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 18-22 พฤษภาคม2563 อยู่ที่ 3.10 - 3.30 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.5 – 21.25 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือนเมษายนประมาณ 251,369 ตัน สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมประมาณ 48.70%

นายวัฒนพงษ์​ กล่าวว่า​สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนจะอยู่ที่ประมาณ 1.67  ล้านตันและ 1.56 ล้านตัน ลดลง 10.83% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กรมการค้าภายใน คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคไตรมาสที่ 2 ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน ความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลง จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” (lockdown)

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.32 ล้านลิตร/วัน โดยอยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กูรู ยัน พลังงานทดแทนยังรุ่ง แนะผู้ประกอบการรับมือ

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและพลังงานสะอาด แนะธุรกิจพลังงานทางเลือก ควรพยุงธุรกิจ เพื่อรอรับโอกาสการเติบโตเดินหน้าอีกครั้งในปีหน้า เผยช่วงนี้ควรบริหารจัดการด้านการเงิน และพัฒนาบุคลากร เตรียมความพร้อม ยืนยันรัฐบาลยังมุ่งเป้าสู่พลังงานทดแทน ส่งเสริมให้มีการใช้ 30% ภายในปี 2561-2580

อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “ผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ต่อกลุ่มพลังงานในอาเซียน” (Impact of Covid-19 Pandemic on ASEAN Energy Sector) ระดมแนวคิดจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมพลังงานเพื่อก้าวสู่อนาคตธุรกิจพลังงาน และพลังงานทางเลือกหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วิกฤตโควิดก่อผลกระทบด้านลบในวงกว้าง ทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกดิ่งลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบตรงต่อพลังงานทางเลือก แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเดินหน้าสู่การใช้พลังงานยั่งยืน ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ลดลง จึงส่งกระทบต่อพลังงานทางเลือกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดการณ์ว่าหลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายพลังงานทางเลือกจะกลับมายืนหนึ่งอีกครั้ง ดังนั้น ในช่วงที่ธุรกิจพลังงานทางเลือกชะลอตัว จึงเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นชีวิตวิถีใหม่ โดยต้องเร่งพัฒนาสู่การใช้ดิจิทัล และนวัตกรรมเทคโนโลยีให้มากขึ้น

การทำงานแบบ WFH- Work from Home ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานน้ำมันลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็ลดลงอย่างมาก ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 25% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การลดลงของราคาพลังงาน อาจส่งผลแผนงานขับเคลื่อนพลังงานทางเลือกล่าช้าลง เพราะคนเลือกใช้พลังงานเดิมในราคาที่ถูกลง ความต้องการพลังงานทางเลือกก็อาจชะลอตัวลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการพัฒนาพลังงานทางเลือก ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยและประเทศในอาเซียน ต้องเดินหน้าสู่ความยั่งยืน ซึ่งในช่วงนี้เป็นโอกาสดีในการพัฒนาทรัพยากรต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ถึงการพัฒนาพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

แม้วิกฤตในครั้งนี้อาจกระทบต่อความต้องการพลังงานทดแทน ดร.ทวารัฐ ยังยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2018) ในช่วงปี 2561-2580 ซึ่งกำหนดที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2580 แต่อาจต้องมีการปรับแผนบางอย่าง ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นายปีเตอร์ ดู พอนด์ Managing Partner บริษัท Asia Clean Energy Partners จำกัด และ Asia Regional Coordinator Private Financing Advisory Network กล่าวเสริมว่า ธุรกิจพลังงานเป็นธุรกิจที่จำเป็น แม้ในช่วงวิกฤตโรคระบาดทั่วโลกจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ และสถานะทางการเงินของหลากหลายธุรกิจ ทำให้มีการปลดแรงงานในธุรกิจพลังงานในสหรัฐไปแล้วกว่า 6 แสนราย และคาดการณ์ว่าจะมีการปลดแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานมากถึง 8 .5 แสนราย ในเดือนกรกฎาคม แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไม่เชื่อว่าธุรกิจนี้จะอยู่ในขาลงอย่างถาวร เพราะเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อทุกอุตสาหกรรม และต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน ฉะนั้นธุรกิจพลังงานต่างๆ ควรพยายามรักษาทรัพยากรบุคคล และเร่งพัฒนาแรงงานเพื่อรอเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ธุรกิจจะได้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.92 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นก่อน เหตุกังวลประเด็นการเมืองระหว่างประทศ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.92 บาทต่อดอลลาร์  อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปรับตัวตามความกังวลประเด็นการเมืองระหว่างประทศ กรอบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า  อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท ระยะสั้นก็ทยอยอ่อนค่าขึ้นมาพร้อมกับเงินหยวน (CNY) ซึ่งปรับตัวตามความกังวลในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีแรงซื้อดอลลาร์ในช่วงสิ้นเดือนเข้ามาหนุน โดยมองว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ แต่ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ก็น่าจะเป็นจุดที่มีแรงขายจากผู้ส่งออกรออยู่อย่างหนาแน่นเช่นกัน

 ตลาดการเงินเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ต่อเนื่องในช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นมายืนที่ระดับ 3036 จุดคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 1.48% ขณะที่ Euro Stoxx 50 ก็ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 3051จุด บวก 1.7% ด้วย โดยประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญคือการกลับมาเปิดทำการของภาคธุรกิจในสหรัฐ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งคาดว่าจะมีทั้งนโยบายการคลังและการเงินเข้ามาพลิกเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับได้เร็ว

 อย่างไรก็ดีข่าวเชิงบวกเหล่านี้ดูจะไม่ได้ทำให้สินทรัพย์ในตลาดการเงินอื่น ๆ เคลื่อนไหวมากนัก บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ทรงตัวอยู่ในระดับ 0.69% ขณะที่ราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลงเล็กน้อย 0.1% และ 5.9% ตามลำดับ มีเพียงฝั่งตลาดเงิน ที่ภาพความร่วมมือกันในยุโรปครั้งนี้หนุนให้อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินยูโรขยับขึ้นเหนือระดับ 1.10 ดอลลาร์ต่อยูโรได้อีกครั้ง ขณะที่มุมมองตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นก็หนุนให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยนอ่อนค่ามาที่ระดับใกล้ 108 เยนต่อดอลลาร์ด้วยเช่นกัน

การพยุงธุรกิจให้อยู่ได้ท่ามกลางภาวะที่ยากลำบากในปัจจุบัน ต้องพยายามบริหารการเงินให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นแผนในการดำเนินธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่ได้และรักษาหน่วยที่จำเป็นไว้ ซึ่งอาจต้องมีการเจรจากับผู้ลงทุนในปัจจุบัน สื่อสารให้ชัดทั้งภายในและภายนอกองค์กร และมุ่งใช้ช่วงเวลานี้ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และเรียนรู้เทคโนโลยีด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน มองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อรอการฟื้นตัวของธุรกิจ และเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโรคระบาดคลี่คลาย

“พลังงานคือสิ่งจำเป็น แม้ราคาน้ำมันจะลดลง แต่เมื่อวิกฤตบรรเทา เศรษฐกิจโลกจะฟื้นและจะกลับมาดีอีกครั้งในปีหน้า อุปสรรคต่างๆ จะผ่านพ้นไป ภาคธุรกิจต้องไม่หยุดที่จะเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล และยอมรับการมุ่งสู่การใช้นวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะมีโอกาสอีกมากมายที่เปิดกว้างให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานได้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า จากภาพรวมของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น บริษัทฯ จึงยืนยันที่จะจัดงาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2020 (ASE 2020) งานแสดงนิทรรศการนานาชาติด้านพลังงานทดแทน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ครบวงจรที่สุดในอาเซียน ในวันพุธที่ 16 - 18 กันยายน 2563 mujศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา อย่างแน่นอน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กษ.ทำชลประทานนอกเขตแก้ภัยแล้ง

กระทรวงเกษตรฯ คิดนอกกรอบ ทำชลประทานนอกเขต แก้ไขปัญหาภัยแล้งบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับแจ้งความเดือดร้อนจากเกษตรกรและชาวบ้าน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ถึงปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เมื่อฝนมาก็ไม่มีพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ใช้ จนชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ต้องลงมือก่อสร้างขุดลอกแหล่งน้ำเอง แต่ก็เกิดปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้าง รวมถึงความจำกัดด้านงบประมาณ และวัสดุ อุปกรณ์ก่อสร้าง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้รีบมารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานที่เป็นหน่วยงานราชการภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้กำชับนายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 เป็นที่ปรึกษาการออกแบบแหล่งน้ำชุมชน หรือ ฝายแม้วและการก่อสร้างสถานีสูบน้ำให้กับชาวบ้าน เพื่อให้แหล่งเก็บน้ำใช้ได้อย่างจริงจัง คงทน แข็งแรง ซึ่งจากการสำรวจรอบแหล่งเก็บน้ำ พบว่าฝายที่ชาวบ้านขุดเพื่อเก็บน้ำยังมีโครงสร้างไม่มั่นคง หากฝนตกหนักอาจเกิดดินถล่มได้ง่าย พร้อมทั้งระบบท่อส่งน้ำยังไม่เพียงพอ

เนื่องจากพื้นที่แหล่งน้ำนี้ตั้งอยู่ในเขตป่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจึงจะประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อขออนุญาตการใช้พื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยโครงการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ 300,000 ถึง 400,000 ลบ.ม. เพื่อใช้สำหรับการเกษตรและการอุปโภค บริโภคของประชาชนในอนาคต

จาก  https://www.innnews.co.th  วัน ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

 ชู2ปุ๋ยชีวภาพตัวท็อปสลายฟอสฟอรัสในดิน ลดต้นทุนเสริมการเติบโตพืชต้านโรคทนแล้ง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยทางเลือกนำมาใช้ทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ได้ค้นพบไมโคไรซา เชื้อราในดินกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่รากพืชและเจริญเข้าไปในรากแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยพืชจะให้อาหารประเภทน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสงแก่ไมโคไรซา ซึ่งเซลล์ของรากพืชและเชื้อราไมโคไรซ่าจะถ่ายทอดอาหารกันและกันได้ โดยเส้นใยของราไมโคไรซาที่เจริญห่อหุ้มรากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากพืชให้ดูดน้ำและธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตในดินส่งต่อให้พืช โดยเฉพาะธาตุอาหารที่สลายตัวยาก หรืออยู่ในรูปที่ถูกตรึงไว้ในดินส่งต่อให้พืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสที่มักถูกตรึงไว้ในดิน

จากคุณสมบัติของเชื้อราไมโคไรซาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรจึงนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชช่วยเพิ่มคุณภาพและผลผลิต พืชเจริญเติบโตและทนแล้งได้ดี รวมทั้งยังทนโรครากเน่าหรือโคนเน่าที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เนื่องจากราไมโคไรซาที่เข้าไปอาศัยอยู่ในรากพืชจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่าเข้าสู่รากพืชได้ และยังช่วยลดใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่งของอัตราการใช้ปุ๋ยปกติ

 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า แม้ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าจะมีคุณสมบัติช่วยดูดธาตุอาหารที่สลายตัวได้ยากหรือถูกตรึงอยู่ในดิน ส่งต่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์แล้วก็ตาม แต่ถ้าใช้ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยละลายธาตุฟอสฟอรัสที่ถูกตรึงอยู่ในดินร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พืชมากขึ้น เนื่องจากจุลินทรีย์กลุ่มนี้มีประโยชน์ในการละลายฟอสเฟตออกมาใช้งานเช่นกัน โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตให้บางชุดดินที่วิเคราะห์แล้ว พบว่ามีปริมาณฟอสฟอรัสในดินสูง ซึ่งจุลินทรีย์ที่ใส่เติมลงไปจะไปละลายฟอสฟอรัสที่ถูกยึดตรึงอยู่ในดินออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชอีกครั้ง และยังมีคุณสมบัติพิเศษสังเคราะห์สารช่วยเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นส่งเสริมต่อการเจริญเติบโตของพืช

ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารหลักของพืชในดินที่ใช้ทำเกษตร ส่วนใหญ่จะมีฟอสฟอรัสสำรองอยู่ในดินปริมาณมากอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีให้พืชระหว่างเพาะปลูกแต่พืชดูดไปใช้ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเหลือตกค้างอยู่ในดินโดยถูกดินยึดตรึงเอาไว้ จึงเกิดการสะสมของฟอสฟอรัสในดินส่วนใหญ่ประมาณ 95-99% อยู่ในรูปที่ไม่ละลาย พืชจึงนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ การขาดฟอสฟอรัสในดิน จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

“ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซาเป็นเชื้อราในดินที่จะเข้าไปอยู่ในรากของต้นไม้ เป็นกลุ่มที่ให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสสำคัญต่อการแตกราก ช่วยเพิ่มปริมาณรากให้ต้นไม้ได้ดี ถ้าขาดฟอสฟอรัสต้นไม้จะแคระแกร็น ส่งผลต่อการติดดอกออกผล ส่วนปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตมีจุลินทรีย์ที่ละลายฟอสเฟตที่อยู่ในดินบางรูปที่พืชใช้ไม่ได้ให้ละลายออกมาเป็นประโยชน์แก่พืช ช่วยให้พืชได้ธาตุอาหารฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น โดยปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตจะทำงานอยู่นอกรากพืช ขณะที่ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่าจะทำงานอยู่ในรากพืช ดังนั้นหากใช้ร่วมกันจะช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารฟอสฟอรัส ธาตุอาหารสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญช่วยลดต้นทุน เพราะสามารถลดใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรได้ครึ่งหนึ่ง และการใส่ปุ๋ยชีวภาพครั้งเดียวสามารถทำงานอยู่ได้จนตลอดชีวิตของพืช เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร 0-2579-7522-3” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com วัน ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

“เกษตรกร” ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวชะลอแบนสารเคมี

วันพรุ่งนี้ เกษตรกรฟ้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ระงับการแบน“พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” หลังกรมวิชาการเกษตร ประกาศขีดเส้นให้คืนสินค้าภายในวันที่ 29 ส.ค. ด้านสมาคมวิทยาวัชพืชฯ ชี้โทษครอบครองสารแรงกว่ายาเสพติด

 เป็นเรื่อง หลังจากที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่4 ที่กรมวิชาการเกษตร  เป็นผู้รับผิดชอบ  ซึ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคา 2563 กำหนดให้วัตถุอันตรายคลอร์ไพริฟอส,คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต,พาราควอตไดคลอไรด์ และ พาราควอต หรือพาราควอดเมโทซัลเฟต ที่กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบอันตรายชนิดที่4 นั้น

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เมื่ออธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามแล้ว ในข้อ 5 ที่เกษตรกรต้องปฏิบัติ ต้องส่งมอบคืนวัตถุอันตรายแก่ผู้ขายที่ตนซื้อมาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 (ไม่เกินวันที่ 29 ส.ค.2563)  ปัจจุบันเกษตรกรได้ซื้อเตรียมไว้แล้วเพื่อใช้ในฤดูนี้ หากคืนกลับไปเกษตรกรจะใช้อะไร เครื่องไม้เครื่องมือ ก็ไม่มีให้เลย มองว่ายังไม่ชัดเจน แม้กระทั่งเรื่องสารทดแทน

“ผมเชื่อว่าเกษตรกรยังใช้ไม่หมดที่ซื้อมาแล้ว จะทำอย่างไรหากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็กลัวสารวัตรเกษตรจะเข้ามาค้น และตรวจสอบ จะบังคับให้คืนบริษัท โดยไม่คำนึงเลยว่าเกษตรกรเป็นคนซื้อมาเป็นคนเสียเงิน ส่วนในของบริษัท ก็ให้เป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำลายเอง แต่อย่าลืมกรมวิชาการเกษตร อนุญาตให้เข้ามาขาย แต่พอจะแบนก็ปฎิเสธความรับผิดชอบ ตั้งคำถามว่าทำถูกต้องหรือไม่ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด จะแบนอย่างน้อยขอให้เกษตรกรใช้ให้หมด แล้ว จะจบสวยกว่า ซึ่งก็จะขอความเมตตาจากศาลปกครองกลางให้ไต่สวนฉุกเฉินกรณีพิเศษ สั่งคุ้มครองชั่วคราวการแบน 2 สารเคมี  ในวันพรุ่งนี้ เวลา 9.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ”

ด้านสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ การเปรียบเทียบโทษปรับและจำคุกระหว่างยาเสพติดประเภท 1 เช่น เฮโรอีน ยาบ้าไว้ในครอบครอง โทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าใครมีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในครอบครอง หลังวันที่ 1 มิ.ย. 63  จำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท สรุปโทษที่มี 2 สารเคมีหลังแบนโทษหนักสุดกว่ายาเสพติด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ตั้งโต๊ะรับคืน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ภายใน 29 ส.ค.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สั่งร้านค้าให้เปิดโต๊ะรับ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จากเกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 29 ส.ค.นี้  โยนผู้นำเข้า 2 สาร ต้องเสียค่าใช้จ่ายทำลายเอง กำหนดเส้นตายไม่เกิน 25 ก.พ.64

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามประกาศ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่4 ที่กรมวิชาการเกษตร  เป็นผู้รับผิดชอบ  ซึ่งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคา 2563 กำหนดให้วัตถุอันตรายคลอร์ไพริฟอส,คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต,พาราควอตไดคลอไรด์ และ พาราควอต หรือพาราควอดเมโทซัลเฟต ที่กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้รับผิดชอบอันตรายชนิดที่4 นั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา41 มาตรา 43 วรรคสอง มาตรา52 วรรคสองและมาตรา 52 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงออกคำสั้งไว้ดังต่อไปนี้

1.ข้อคำสั่งนี้เรียกว่า “คำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ

2.คำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

3.ให้ยกเลิกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่1511/2562 เรื่องการดำเนินกับวัตุอันตรายชนิดที่4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบลงวันที่ 29 ตุลาคม 2562

4.วัตถุชนิดที่4 ตามคำสั่งนี้ หมายความว่าเป็นวัตถุอันตรายคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล,พาราควอต,พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอต หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ

5.ผู้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่4 เพื่อใช้กำจัดศัตรูพืชในการประกอบการเกษตรกรรมของตนเอง ต้องส่งมอบคืนวัตถุอันตรายแก่ผู้ขายที่ตนซื้อมาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 (ไม่เกินวันที่ 29 ส.ค.2563)

6.ผู้มีใบอนุญาตมีไว้ในครองครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อขาย ต้องรับมอบคืนวัตถุอันตรายชนิดที่4 จากบุคคลตามข้อ5 และรวบรวมวัตถุอันตรายที่รับมอบพร้อมวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตนเพื่อส่งมอบคืนวัตถุอันตรายให้แก่บุคคลตามข้อ7 พร้อมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายตามแบบ วอ/วก.4 แนบท้ายคำสั่งนี้ โดยต้องส่งข้อมูลตามแบบ วอ./วก.4 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 (ไม่เกินวันที่ 28 กันยายน 2563)

7.ผู้มีใบอนุญาตผลิตหรือใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายก็ต้องรับมอบคืนวัตถุอันตรายชนิดที่4 จากบุคคลตามข้อ6 และรวบรวมวัตถุอันตรายที่รับมอบคืนวัตถุอันตรายชนิดที่4 จากบุคคลตามข้อ6 และรวบรวมวัตถุอันตรายที่รับมอบพร้อมวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตนเพื่อแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายดังกล่าวตามแนบ วอ./วก.5 แนบท้ายคำสั่งนี้ โดยต้องส่งข้อมูลตามแบบ วอ./วก.5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใน 270 วัน นับตั้งแต่วันที่ มิ.ย.63 (ไม่เกินวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ) พร้อมแจ้งแผนการเก็บรักษา กำหนดเวลา วิธีการและสถานที่ทำลายที่ปลอดภัย  เมื่อดำเนินการทำลายแล้วให้ส่งผลต่อการทำลายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบ

 ข้อ8 เจ้าของหรือผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องมีหน้าที่เก็บรักษา และจ่ายค่าเงินทำลายหรือจัดการตามควร โดยกรมวิชาการเกษตรจะไม่รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เตรียมเช็คสถานะ “เยียวยาเกษตรกร” อ้อยน้ำตาล-สวนยาง 1.57 ล้านคน

เกษตรกรที่ปลูกพืชอ้อย ยางพารา ยาสูบ และประเภทอื่นๆ รวมกว่า 1.57 ล้านคน เตรียมรับเงินเยียวยาเกษตรกร ภายในวันที่ 30-31 พฤษภาคม นี้

ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ สำนักงานอ้อยและน้ำตาล กรมหม่อนไหม กรมสรรพสามิตที่ปลูกยาสูบ หรือ การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 1.57 ล้านรายนั้น คาดว่ากระทรวงเกษตรฯ จะสามารถรวบรวมข้อมูลส่งให้ ธ.ก.ส. ภายในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.)

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ธ.ก.ส. จะรีบโอนเงินให้กับเกษตรกรในกลุ่มนี้ทันทีที่ธนาคารได้รับข้อมูลจากกระทรวงฯ และคาดว่าจะโอนเงินได้ภายในวันที่ 30-31 พ.ค.

ก่อนหน้านี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการเยียวเยียวยาเกษตรกรนั้น มีผู้ผ่านการคัดกรองทั้งหมดหมด 2 กลุ่มด้วยกัน โดยกลุ่มแรกจำนวน 6.7 ล้านราย ได้ถูกส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. โอนเงินตั้งแต่วันที่ 15 – 25 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวตรงกันว่าสำหรับเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่ง 1.57 ล้านคน นั้นมีกำหนดจ่ายเงินเยียวยาในวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2563

ธ.ก.ส. ระบุด้วยว่าหลังจากโอนเงินให้ครบทุกรายแล้ว ก็จะทยอยโอนเงินให้กับทุกบัญชีทุกเดือนจนครบกำหนด 3 เดือนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ขอให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลบัญชีธนาคาร ซึ่งพบว่ามีกว่า 4 แสนราย เร่งติดต่อ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ สำหรับการอุทธรณ์สิทธิ์เยียวยาเกษตรกรคาดว่าจะเริ่มให้อุทธรณ์ได้ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 5 มิ.ย. นี้

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

พลังงานทดแทนจะกลายเป็น New Normal ในสังคมมนุษย์หลังวิกฤติโควิด-19

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และที่ปรึกษาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า สังคมมนุษย์มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานหลังวิกฤติโควิด-19 โดยจะหันไปใช้พลังงานทดแทนมากกว่าเดิม ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ความรู้เพิ่มเติมกับสื่อมวลชนไทยทั่วประเทศเพื่อขยายความรู้ด้านพลังงานและเทคโนโลยีให้สาธารณชน

 New Normal ด้านพลังงานจะเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป พบว่าความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมลดลง ผู้คนเปลี่ยนวิถีการเดินทาง จากเดิมที่ใช้เครื่องบินมาก มีการเดินทางคมนาคมมาก และใช้รถยนต์ส่วนตัวมาก แต่ปัจจุบันลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งเท่ากับลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ แล้วจะหันไปใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนมีความก้าวหน้าและมีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ราคาต้นทุนพลังงานเหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงจากขยะ ในอดีตจะพบว่าการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องลงทุนสูง และใช้พื้นที่มาก แต่ปัจจุบันเกือบทุกบ้านสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ และยังมี energy storage หรือแบตเตอรี่ที่สามารถเก็บไฟฟ้าที่เราผลิตได้เองในช่วงกลางวัน และใช้พลังงานนี้เป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป ส่วนพลังงานจากขยะก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เราผลิตขยะมากขึ้น แต่สามารถกำจัดได้หมดดังนั้นจึงสามารถนำขยะไปแปรเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งด้านกำจัดขยะ และผลิตไฟฟ้าไว้ใช้

นายมนูญกล่าวด้วยว่า ทิศทางของพลังงานและเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมีความสำคัญ และเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก จึงต้องเน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ซึ่งการส่งต่อข้อมูลนั้นจะต้องอาศัยสื่อมวลชนเป็นสำคัญโดยสื่อฯ ต้องทำหน้าที่ทั้งผู้ส่งสารให้กับสาธารณชน และยังต้องทำหน้าที่ช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนด้วย โดยสื่อฯ จะช่วยเผยแพร่ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีไปถึงประชาชนได้ถูกต้อง ที่ผ่านมานั้น โครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยให้ความรู้ด้านพลังงานกับสื่อมวลชนทั่วประเทศ ทำให้สื่อฯ มีความรู้ความเข้าใจในพลังงานทางเลือกได้ดีขึ้นเกิดการรวมตัวของสื่อฯ ที่สนใจประเด็นนี้จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสื่อฯ ที่เข้มแข็งในอนาคต

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชันส์จำกัด ผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97 (5) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อฯ และสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาศักยภาพของสื่อฯ ให้พร้อมเข้าไปมีส่วนร่วม และรณรงค์ขยายผลให้สาธารณชนรู้และเข้าใจในพลังงานบริสุทธิ์ เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และจากขยะ คาดว่าหลังจบโครงการจะมีสื่อฯ ต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมเครือข่ายประมาณ 30 แห่ง รวมทั้งจะมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคมเข้ามาร่วมด้วย เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงการรณรงค์และสร้างความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องให้สาธารณชน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTIS ผนึก ม.เจ้าพระยา จัดโครงการมอบน้ำใจแด่พี่น้องชาวนครสวรรค์ ดูแลกันก้าวผ่านโควิด-19

 คุณแม่หทัย ศิริวิริยะกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)หรือกลุ่ม KTIS มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ มอบหมายให้ ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และประธานคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ พร้อมคณะผู้บริหาร จัดทำ “ถุงน้ำใจ” ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่บรรจุของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วยความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เป็นพันธมิตรธุรกิจ โดยแจกจ่ายให้กับพี่น้องชาวนครสวรรค์ ในบริเวณชุมชนรอบโรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยจำนวนทั้งสิ้น 2,000 ชุด พร้อมมอบเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

3ปัจจัยลบทุบปริมาณส่งออกน้ำตาลร่วงต่ำสุดในรอบ5ปี

อ้อยและน้ำตาลยังน่าห่วงปัจจัยลบรุมเร้า กดทั้งราคาและปริมาณร่วงหนัก  หวั่นชาวไร่อ้อยหนีปลูกพืชอื่นหลังราคาไม่จูงใจ

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์การส่งออกน้ำตาลตลอดปี2563 ว่า น่าจะเป็นปีที่มีปริมาณการส่งออกน้ำตาลรวมลดลงโดยเหลือส่งออกไม่ถึง 6 ล้านตันต่อปี จากที่แต่ละปีไทยส่งส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกได้ตั้งแต่ 7-11 ล้านตันต่อปี แต่เนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2562/63กำลังจะปิดหีบช่วงเดือนต.ค.นี้ มีผลผลิตอ้อยเพียง75 ล้านตันอ้อยลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2561-62 ที่มีปริมาณอ้อยทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นถึง  131 ล้านตันอ้อย

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด  กล่าวอีกว่าทั้งปีฤดูการผลิต2562/63 จะสามารถผลิตน้ำตาลโดยรวมได้ราว 8.2 ล้านตัน  แบ่งเป็นบริโภคภายในประเทศราว 2.4-2.5ล้านตันน้ำตาล ที่เหลือที่เหลือเป็นปริมาณน้ำตาลส่งออกซึ่งมีไม่ถึง 6 ล้านตัน นับว่าเป็นการส่งออกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากที่ปกติไทยจะส่งออกน้ำตาลได้ตั้งแต่ 8-11ล้านตัน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลร่วงลง  มาจาก3 ตัวแปรหลักคือ1.วิกฤติภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยในบางประเทศลดลงรวมถึงประเทศไทยด้วยที่มีผลผลิตลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 2-3ปีก่อนหน้านี้มีผลผลิตอ้อยไม่ต่ำกว่า100 ล้านตันอ้อย  2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกลดลงหลังจากที่แต่ละประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ร้านอาหาร 3.เป็นเรื่องของราคาอ้อยและน้ำตาลที่ไม่จูงใจ  โดยเฉพาะราคาอ้อยในช่วงที่ผ่านมามีราคาไต่ไปไม่ถึง 1,000 บาทต่อตันอ้อย  ทำให้เกษตรกรชาวไร่หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่า

อย่างไรก็ตามสำหรับปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี2563 เทียบกับปี 2562 พบว่าหลายประเทศ ยังมีสถิติการนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 พบว่าภาพรวมการส่งออกดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยเพิ่มขึ้น 15.93% หรือภาพรวมการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 2.568 ล้านตัน ปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็นส่งออก 2.978 ล้านตันในช่วง4เดือนแรกปีนี้

โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย ที่เพิ่มขึ้นถึง19.36% หรือเพิ่มขึ้นจากปี2562 ที่ในช่วง4เดือนแรกมีการส่งออก1.201  ล้านตัน เพิ่มเป็น 1.433ล้านตันในปี2563 ช่วงเดียวกัน  เช่นเดียวกับเวียดนามนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยสูงขึ้นมากโดยเพิ่มขึ้นถึง 417.72%   หรือเพิ่มขึ้นจาก 60,091ตัน เมื่อ 4 เดือนแรกปีที่แล้ว และเพิ่มเป็น 311,102 ตัน ในช่วงเดียวกันปีนี้(ดูตาราง) โดยสาเหตุที่บางประเทศมีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยสูงขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มีราคาขายน้ำตาลภายในประเทศสูงขึ้น จึงต้องรีบนำเข้า ขณะที่บางประเทศนำเข้าเพิ่มขึ้นเพราะมีการบริโภคในประเทศสูงขึ้นรวมถึงเกรงว่าปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้จะลดลงเพราะหลายประเทศเผชิญวิกฤติภัยแล้งรวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  อาจจะเป็นอุปสรรคในการซื้อ-ขายน้ำตาลได้

 “ดังนั้นจากสถิติการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ยังเป็นช่วงที่ได้รับอานิสงค์จากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า แต่หลังจากนี้ไปปริมาณน้ำตาลส่งออกจะน้อยลง  ทำให้ทั้งปีการส่งออกไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านๆมา ”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

RCEP พร้อมลงนามปลายปีนี้

พาณิชย์ เผยการประชุม RCEP ผ่านระบบทางไกล 15-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังสามารถขัดเกลาทุกประเด็นเกือบครบแล้ว พร้อมเตรียมประชุมรัฐมนตรี RCEP พิจารณาเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้าร่วมความตกลงฯ เดือนมิถุนายนนี้ คาดลงนามได้ตามเป้าในปลายปี 2563

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจา RCEP เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 15-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมสามารถขัดเกลาทุกประเด็นในความตกลง RCEP เกือบครบแล้ว ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจา เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สมาชิกได้ประชุมผ่านระบบทางไกลในประเด็นคงค้างเกือบทุกสัปดาห์ ทำให้การเจรจามีความคล่องตัวและคืบหน้ามาก

สำหรับเอกสารที่สมาชิก 15 ประเทศ ได้ยื่นถึงอินเดีย เพื่อตอบประเด็นที่อินเดียเรียกร้อง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้ยังรออินเดียพิจารณาเอกสารดังกล่าว โดยสมาชิกยังคงเดินหน้าเตรียมลงนามความตกลง RCEP ในปลายปีนี้ ตามแผนที่ผู้นำประกาศไว้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะจัดการประชุมสมัยพิเศษในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับเตรียมประเด็นการประชุมรัฐมนตรี RCEP เพื่อพิจารณากลไกที่จะเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้าร่วมความตกลงฯ ในเดือนมิถุนายนเช่นกัน

ขณะนี้สมาชิกได้ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 11 บท จาก 20 บทของความตกลงฯ โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นประเทศสมาชิกจะดำเนินกระบวนการภายในสำหรับลงนามความตกลงร่วมกันในการประชุมผู้นำ RCEP ครั้งที่ 4 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่เวียดนาม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเผยแพร่ผลการเจรจา RCEP ให้ทุกภาคส่วนได้ทราบถึงประโยชน์และข้อผูกพันของไทยในทันทีที่ความตกลงฯ เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้หารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบความคืบหน้าของการประชุมมาโดยตลอด

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ 31.91 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.91 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน  ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้(25พ.ค.2563)ที่ 31 ระดับ 31.91 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 31.80-32.00 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส  บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า สัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดจะซื้อขายอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน การประท้วงที่ฮ่องกง และการเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมในหลายประเทศ

อย่างไรก็ดีตลาดจะเริ่มสัปดาห์ด้วยความผันผวนต่ำ เพราะวันจันทร์เป็นวันหยุดทำการ Memorial Day เมื่อกลับมาเปิดทำการ ตลาดน่าจะมองทิศทางของบอนด์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมายีลด์ 10ปี เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ 0.65-0.74%  เท่านั้น ซึ่งถ้ายีลด์เคลื่อนไหวไม่ว่าฝั่งขึ้นหรือลง ถึงจะส่งผลให้ราคาทองคำ และเงินดอลลาร์ขยับตัวตาม

ส่วนในวันพุธ ความน่าสนใจก็จะย้ายไปอยู่ในฝั่งของยุโรปโดยประธาน ECB นางคริสตีน ลาการ์ด จะมีการตอบคำถามในทวิตเตอร์ #AskECB ซึ่งตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ECB จะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายในเดือนหน้า

ขณะที่ฝั่งของตลาดเงินเอเชีย ความสนใจจะไปรวมอยู่ที่ทิศทางค่าเงินหยวนในภาวะที่มีความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศมากมาย ซึ่งหนุนให้เงินหยวนอ่อนค่าแตะระดับ 7.14 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อน

เรามองว่าจุดอ่อนหลักของสกุลเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียในรอบนี้ อยู่ที่ภาคการค้าระหว่างประเทศที่จะไม่กลับมาเหมือนเดิม ขณะเดียวกันปัญหา การประท้วงในฮ่องกง ก็สามารถสร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้น จนอาจลดความน่าสนใจของสกุลเงินเอเชียที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ดีในฝั่งของเงินบาท ต้องจับตาการประกาศดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของไทยในวันศุกร์ เพราะตัวเลขการค้า มีการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ลดลงและการส่งออกทองคำเข้ามาหนุน ระยะนี้จึงมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่น ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวกสูง

ขณะเดียวกันแนวโน้มการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนก็อยู่ในดับต่ำกว่าทุกปีจึงทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าตามฤดูกาล เหลือเพียงทิศทางการซื้อเงินดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการในประเทศจากต่างชาติของนักลงทุนไทยเท่านั้นที่อาจผลักให้เงินบาทกลับไปอ่อนค่าในระยะสั้นได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 25 พฤษภาคม 2563

ใครครอบครอง 2 สารพิษ มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์หลังแบน 2 สารพิษ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ใครมีครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ผิดกฎหมาย มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบทั่วประเทศแล้ว  ทั้งป้ายโฆษณารถเคลื่อนที่ และการแจ้งผ่านผู้นำชุมชนให้แจ้งเกษตรกรว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ห้ามครองครองวัตถุอันตราย 2 ชนิด ได้แก่ พาราคาวอต และ คลอร์ไพริฟอส หากพบเบาะแสให้แจ้ง ได้ที่ 1. กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

ส่วนภูมิภาคแจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา แต่ถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระ ทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม โดยมีเนื้อหาเกี่ยว ข้องกับสารเคมีอันตรายที่ใช้ในภาคการเกษตรและเกิดเป็นประเด็น รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงหนึ่ง

 โดยมีเนื้อหาระบุดังนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.วัตถุอันตรายพ.ศ.2535 รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม โดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิกรายการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ในบัญชีรายชื่อวัตถุอัน ตรายแนบท้ายประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ลงวันที่ 28 ส.ค.2556 ดังต่อไปนี้ โดยให้ใช้รายการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศฉบับนี้แทน

 บัญชี 1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ

บัญชี 1.1 รายชื่อสารควบคุม

ลำดับที่ 53 คลอร์ไพริฟอส 

ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริฟอส-เมทิล 

ลำดับที่ 352 พาราควอต 

ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์

ลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์  

ข้อ 2 ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 24 พฤษภาคม 2563

ระวังโรงงานน้ำตาลป่วน ซ้ำรอยปี2562/63

เป็นที่ “ทอล์กออฟเดอะทาวน์ ”กันในวงการอ้อยและน้ำตาลตลอดฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในราวเดือนตุลาคม 2563 นี้  จากที่ประเมินกันว่าจะมีปริมาณอ้อยเกิน 100 ล้านตันอ้อย เหมือนเช่นปีก่อนๆ แต่กลับผิดคาด เพราะฤดูการผลิตปี 2562/63 มีปริมาณอ้อยลดลงเหลือเพียง 75 ล้านตันอ้อย   เมื่อเทียบกับปี 2561-62 ที่มีปริมาณอ้อยทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นถึง  131 ล้านตันอ้อย

เมื่อผลผลิตอ้อยปี 2562/63 ร่วงลงมาที่ 75 ล้านตันอ้อย  ทำให้โรงงานน้ำตาลหลายรายต่างประสบปัญหา มีน้ำตาลไม่เพียงพอส่งมอบให้ลูกค้า  ยกตัวอย่างเช่น เคยคาดการณ์ว่าจะมีการหีบอ้อยของตัวเองได้สูงถึง 21-22 ล้านตันอ้อย  แต่พอถึงเวลาหีบอ้อย มีอ้อยเข้าโรงงานเพียง 14 ล้านตันอ้อย ขณะที่การซื้อขายน้ำตาลตามสัญญาล่วงหน้ามีจำนวนมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในมือ  จนต้องออกแรงกว้านซื้อน้ำตาลจากโรงงานอื่น เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าที่ทำสัญญากันไว้ล่วงหน้าให้ครบ

สาเหตุที่ปริมาณอ้อยร่วงลงแรง หรือมีผลผลิตลดลงอย่างฮวบฮาบนั้น มาจากปัจจัยหลัก 4 ด้าน ไล่ตั้งแต่  1.ชาวไร่อ้อยเผชิญปัญหาภัยแล้งหนักหน่วงตลอดปี2563   2.พื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศลดลงมากกว่า 10%  หลังจากที่ราคาอ้อยไม่จูงใจ โดยราคาอ้อยในช่วง 2 ปีมานี้ไต่ระดับไม่ถึง 1,000 บาทต่อตัน  เมื่อราคาไม่จูงใจ เกษตรกรก็ต้องหันไปปลูกพืชอื่นแทน โดยเฉพาะพืชที่ขายได้ราคาดีกว่า 

 3. “อ้อยตอ” คืออ้อยที่ตัดแล้วยังเหลือตอไว้ให้เจริญเติบโตต่อ แต่ด้วยสภาพอากาศไม่เป็นใจ เกิดภาวะแล้งจัด อ้อยตอจึงตายและเติบโตได้ไม่ดี ทำให้อ้อยที่เกิดจากตอมีปริมาณน้อยลง  4.ชาวไร่อ้อยไม่มีเงินหลังจากที่หมดแรงจูงใจที่จะบำรุงพันธุ์อ้อยต่อ  อีกทั้งโรงงานน้ำตาลปล่อยเงินเกียวให้ชาวไร่ยืมไปดูแลการปลูกอ้อยลดลง  เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายังมีชาวไร่อ้อยบางรายใช้หนี้คืนโรงงานน้ำตาลไม่หมด

จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น  หากปล่อยให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไป  ก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ก่อนหน้านั้นบางรายลงทุนตั้งโรงงานใหม่    ขณะที่ปริมาณหีบอ้อยในโรงงานมีจำนวนน้อย  ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของโรงงานน้ำตาลสูงขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว  ทำให้ล่าสุด โรงงานน้ำตาลต่างเร่งให้ชาวไร่อ้อยรีบลงมือปลูกอ้อยในช่วงฤดูฝนนี้ เพราะต่างรู้ดีว่าหากปล่อยให้ปริมาณอ้อยน้อยลงไปเรื่อยๆ จะยิ่งส่งผลให้โรงงานน้ำตาลบริหารจัดการยากขึ้นทั้งในแง่ การขายน้ำตาลให้ลูกค้าจะทำได้ไม่เต็มที่เพราะอาจผิดสัญญาต่อลูกค้าได้เนื่องจากปริมาณอ้อยลดลงมาก  ขณะที่การทำราคาน้ำตาลจะยากขึ้น เนื่องจากโรงงานจะประมาณการณ์ผลผลิตน้ำตาลได้ไม่ชัดเจน จากที่ปกติ บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด(อนท.)จะขายน้ำตาลในตลาดล่วงหน้า  และโรงงานน้ำตาลจะยึดตามราคาอนท.เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัญหาต่อไปจะยากขึ้น เพราะโรงงานจะไม่รู้ว่าปริมาณอ้อยและน้ำตาลที่แน่นอนว่าจะมีเท่าไหร่  และการจะยึดตามราคาอนท.จะต้องรู้ปริมาณน้ำตาลของตัวเองให้ชัดเจนก่อน 

รวมถึงหนี้สินที่โรงงานน้ำตาลปล่อยเงินเกียวให้กับชาวไร่อ้อย มีการทวงเงินคืนจากชาวไร่อ้อยยากขึ้นทำให้โรงงานน้ำตาลระวังในการปล่อยเงินเกียวให้ชาวไร่มากขึ้น  นอกจากนี้ยังมองอีกว่า บางโรงงานที่กู้แบงก์จำนวนมาก  ถ้าปี 2562-63 ขาดทุน และปี 2563/64 มาขาดทุนอีก ยิ่งมีหนี้สะสมมากขึ้นในขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังไม่ขยับไปสู่แดนบวก  จากที่ปี 2563/64  พยากรณ์กันว่าราคาไม่น่าจะไต่ระดับไปถึง 14 หรือ15 เซ็นต์ต่อปอนด์ ทำให้ราคาน้ำตาลยังอยู่ในภาวะขาลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกล่าสุด( 19 พ.ค.63) ยืนอยู่ที่ 10.8 เซ็นต์ต่อปอนด์

อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากสถานะการณ์ล่าสุดชาวไร่อ้อยต่างคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อย ในฤดูผลิตปี 2563/64 ที่จะเริ่มหีบอ้อยราวเดือนพ.ย.2563 นี้จะร่วงลงมาอยู่ที่ 60-65 ล้านตันอ้อย ยิ่งต่ำกว่าฤดูการผลิตที่กำลังจะผ่านพ้นไป  ขณะที่ชาวไร่อ้อยบางรายเริ่มมีความหวังว่าฤดูการผลิตใหม่นี้ปริมาณฝนน่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นปริมาณอ้อยก็ไม่น่าจะร่วงลงไปต่ำกว่า 70  ล้านตันอ้อย

ประเมินดูอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่นี้ยังต้องลุ้นหลายเรื่อง โดยเฉพาะโจทย์ใหญ่สภาพดินฟ้าอากาศจะซ้ำเติมให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปอีกหรือไม่ อีกทั้งปัจจัยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้พ่นพิษประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์1 ของโลกอย่างบราซิล  ตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางปริมาณและราคาในตลาดโลก ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนเขย่าขาโรงงานน้ำตาลว่าจะป่วน ซ้ำรอยปี2562/63 หรือไม่ ยังต้องติดตามต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

สมอ. เล็งออกใบรับรองระบบงาน ISO ผ่าน อิเล็กทรอนิกส์ รับ New Normal

สมอ.เล็งออกใบรับรองระบบงาน ISO ผ่าน อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้มาตรการ New Normal เน้นอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชน ภายใต้สถานการณ์ โควิด 19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” (COVID-19) ทำให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อรับกับแนววิถีปกติใหม่ หรือ “New Normal” หนึ่งในนั้นก็คือ สํานักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ “สมอ.” ซึ่งล่าสุดเตรียมออกใบรับรองงาน ISO ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนในช่วงภาวะวิกฤติที่เกิดจากไวรัสโควิด-19

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. เปิดเผยว่า สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการออกใบรับรองระบบงาน ISO  หรือระบบ e-Accreditation เช่น การรับรองห้องแล็ป เพื่อให้ห้องแล็ปได้รับการยอมรับและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นการยกระดับด้านการมาตรฐานของประเทศ

อีกทั้งเมื่อสินค้าหรือบริการผ่านการทดสอบจากห้องแล็ปนี้ จะมีความน่าเชื่อถือ เมื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ ประเทศคู่ค้าก็ยอมรับสินค้าของไทย เนื่องจากผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งการรับรองระบบงานด้านห้องแล็ปนี้ จะช่วยลดการตรวจสอบซ้ำจากประเทศคู่ค้า เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก และเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ

สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการรับรองระบบงานดังกล่าว ตั้งแต่การยื่นคำขอ การประสานงาน การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) และการรับรองตนเอง (Self declaration) แทนการออกไปตรวจประเมินสถานที่จริง โดยผู้ตรวจประเมินจะประสานงานการตรวจประเมินทางออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่นต่างๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น

“สมอ. ได้เปิดให้บริการรับรองระบบงานในรูปแบบการตรวจประเมินทางไกลแล้ว และคาดว่าระบบ e-Accreditation จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้เต็มรูปแบบภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้”

นายวันชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การรับรองระบบงาน ISO ในรูปแบบของการตรวจประเมินทางไกล และการรับรองตนเอง เป็นอีกหนึ่งมาตรการ New Normal) ที่ สมอ. ได้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สมอ. ได้ออกมาตรการออกมาบ้างแล้ว เช่น มาตรการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่บ้านพัก (Work from home) มาตรการการขอใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกมาตรฐาน จํานวนทั้งสิ้น 2,284 มาตรฐาน

 และมาตรการยกเว้นการตรวจโรงงาน ทั้งการออกใบอนุญาต และการตรวจติดตามโดยไม่ต้องตรวจโรงงาน โดยให้ผู้รับใบอนุญาตรับรองตนเอง ด้วยการส่งข้อมูลผลการตรวจคุณภาพ ผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลการสอบเทียบเครื่องมือ ผ่านระบบ e-Surveillance ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชน ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ได้เป็นอย่างดี

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

พาณิชย์ชี้ส่งออกQ2 ยังติดลบ

 “พาณิชย์”คาดแนวโน้มส่งออกไตรมาส 2 ยังอยู่ในแดนลบ ลุ้นทั้งปีติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้    ชี้ปัจจัยกระทบหลักมาจากโควิด-19 ทำหลายประเทศล็อกดาวน์ และน้ำมันตลาดโลกลดลง

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนเม.ย.2563 มีมูลค่า 18,948.2 ล้านเดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.12% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยหนุน คือ การส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่ขยายตัวสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และยังมีการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าลดลง รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว เพิ่มครั้งแรกในรอบ 18 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 34.33% ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ยังคงขยายตัวได้ดี แต่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยังชะลอตัว รถยนต์และส่วนประกอบ ก็ชะลอตัว รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่งออกได้ลดลง

 อย่างไรก็ตาม หากหักมูลค่าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย ซึ่งเป็นการส่งคืน การส่งออกในเดือนเม.ย.2563 จะพลิกเป็นติดลบ 7.53% ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2563 มีมูลค่า 81,620.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.19% แต่ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยออก จะขยายตัวติดลบ 0.96%   ส่วนการนำเข้าเดือนเม.ย.2563 มีมูลค่า 16,485.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 17.13% และยอดรวม 4 เดือน นำเข้ารวม 75,224.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.72% โดยเดือนเม.ย.2563 เกินดุลการค้า 2,462.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 4 เดือน เกินดุลการค้า 6,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะอยู่ในแดนติดลบ เพราะการส่งออกยังไปได้ไม่สะดวก จากการที่หลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์ แม้บางประเทศจะเริ่มปลดล็อก ซึ่งผลกระทบยังมีอยู่ โดยเฉพาะเดือนพ.ค.2563 แต่มิ.ย.2563 ต้องดูอีกที ส่วนแนวโน้มทั้งปี ยังประเมินว่าไม่น่าจะติดลบมากเหมือนที่หลายฝ่ายมีการประเมินไว้ โดยหากส่งออกจากนี้ไป ทำได้เฉลี่ยเดือนละ 20,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 0.5% แต่ถ้าเกิน 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 0%

 ทั้งนี้ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ มาจากการที่หลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา แต่ต้องไม่เกิดการระบาดรอบที่ 2 และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ถ้าทะลุเกิน 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังดีต่อเนื่อง รวมถึงเงินบาทอ่อน ที่จะมีส่วนช่วย และกระทรวงพาณิชย์ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการส่งออก มีมาตรการเสริมผลักดันส่งออก รวมถึงการผลักดันการค้าออนไลน์

    สำหรับตลาดส่งออกสำคัญในเดือนเม.ย.2563 ตลาดหลักเพิ่ม 7.7% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 9.8% สหรัฐฯ เพิ่ม 34.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่สหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 28.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 4% จากการลดลงของอาเซียน 9 ประเทศ 7.4% CLMV ลด 31% จีน กลับมาเพิ่ม 9% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน อินเดีย ลด 61.1% เกาหลีใต้ ลด 20.2% แต่ฮ่องกง เพิ่ม 38.2% และไต้หวัน เพิ่ม 4.1% ตลาดศักยภาพรอง ลด 28.5% จากการลดของทวีปออสเตรเลีย 29.5% ตะวันออกกลาง ลด 25.3% แอฟริกา ลด 31.8% ลาตินอเมริกา ลด 33.7% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 18.2% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 33.5% แคนาดา ลด 7.6% ส่วนตลาดอื่นๆ เพิ่ม 733.9% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 1,447%

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ปลัดเกษตรฯ จี้กรมวิชาการเกษตร ออกประกาศเรียกคืน"พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" ก่อนแบนสารมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้

ปลัดเกษตรฯ จี้กรมวิชาการเกษตร ออกประกาศให้เอกชนเรียกคืนสารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส จากท้องตลาด-เกษตรกร ก่อนแบนสารมีผลบังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้ ด้านเอกชน ระบุสารพาราควอต ราคาสูงขึ้นเพราะยังไม่มีสารอื่นทดแทนได้

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าหลังจากมีประกาศ ห้ามครอบครอง นำเข้า ผลิต จำหน่าย นำผ่าน ส่งออก สารกำจัดวัชพืช พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ยกเป็นวัถตุอัตรายประเภทที่ 4 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.63 นี้ โดยขั้นตอนระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตร จะต้องออกประกาศมาตรการ กรอบระยะเวลาที่ให้เอกชน เก็บคืนสารเคมี 2 ชนิด จากร้านค้าต่างๆ และเกษตรกร ให้หมดก่อนวันบังคับใช้กฏหมาย อย่างไรก็ตามคาดว่าอยู่ในท้องตลาดและเกษตรกร ไม่มากแล้วเพราะได้เลื่อนการแบนสารจากเดิมมีผลวันที่ 1 ธ.ค.62 มาเป็นวันที่ 1 มิ.ย.63 ทำให้ทุกฝ่ายมีห้วงเวลาเตรียมตัวและดำเนินการ ทั้งนี้ตนจะสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร ได้ทำมาตรการรองรับเสนอแนะวิธีทำเกษตรทางเลือกให้กับเกษตรกร และบัญชีสารทดแทน แล้วหรือยังเพราะมาตรการเหล่านี้ต้องออกประกาศเป็นคำแนะนำให้เกษตรกรได้รับทราบทั่วประเทศ

นายวีรวุฒิ กตัญญกุล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรมวิชาการเกษตรส่งหนังสือให้ผู้ประกอบการแจ้งปริมาณการครอบครองและส่งสินค้าทั้ง 2 สารคืนกรมวิชาการเกษตรซึ่งจะกำหนดระยะเวลาส่งคืน โดยขณะนี้เชื่อว่าปริมาณสารดังกล่าวเหลือไม่มากแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการนำเข้า เชื่อว่าจะไม่กระทบผู้ประกอบการมากและที่ผ่านรัฐได้ยืดเวลาให้แล้ว 6 เดือนเพื่อระบายสินค้า ซึ่งการแบนสารเคมี 2 ชนิด จะส่งผลให้สารไกลโฟเซตที่มีการจำกัดการใช้และสามารถทดแทนสารพาราควอตได้บางส่วนมีราคาสูงขึ้น เพราะปริมาณที่เหลือน้อยและยังไม่มีการอนุญาตนำเข้าเพิ่ม ซึ่งจะกระทบเกษตรกร โดยเฉพาะพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด ที่จะเริ่มปลูกในช่วง 1 -2 เดือนนี้ ส่วนสารทดแทนจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติทดแทนพาราควอตได้

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการแบน 2 สาร อาจจะทำให้เกษตกรที่ปลูกพืชบางชนิดได้รับผลกระทบ แต่เกษตรกรต้องปรับตัว เพราะขณะนี้ มีถึง 58 ประเทศยกเลิกการใช้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ จีน เวียดนาม กัมพูชา ลาวและมาเลเซีย ได้ประกาศแบนสารดังกล่าวแล้วเช่นกัน โดยเกษตรกร มีทางเลือก ใช้เครื่องจักรกล เช่น เครื่องตัดหญ้ามาใช้แทนสารสึ หรือการปลูกพืชคลุมดิน ส่วนพืชที่มีข้อจำกัด เรื่องพื้นที่ หรือทุน เช่น หากเป็นเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถซื้อเครื่องจักร หรือเครื่องตัดหญ้าได้ รัฐจะต้องมีการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้บริการด้านการจัดการพื้นที่เพาะปลูก ที่สามารถให้บริการเกษตรกรรายย่อยได้ หรือการชดเชย เยียวยาพืชบางชนิดที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมมาตรการรองรับหลังการแบนสารซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน สำหรับเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะไม่สามารถมีสารดังกล่าวไว้ในครอบครองได้หากมีไว้ในครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย

จาก https://siamrath.co.th   วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ค่าเงินบาทเปิด 31.83บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.83 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว” ระยะสั้นยังคงเงียบเหงาและไม่เห็นต่างชาติกลับมาลงทุน

อัตราแลกเปลี่ยน  ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.83 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว”  ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.75-31.95 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำยวยการอาวุโส  บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ระบุว่าเงินบาทระยะสั้นยังคงเงียบเหงาและไม่เห็นต่างชาติกลับมาลงทุน ส่งผลให้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบตามทิศทางของหุ้น วันนี้จึงคาดว่าจะอ่อนค่าเล็กน้อยตามตลาดทุนที่พักฐาน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

กรมชลฯ เน้นเก็บกักน้ำให้มากที่สุด

เรียบร้อยไปแล้วสำหรับส่งน้ำฤดูแล้ง พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 63” ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดผ่านพ้นวิกฤตแล้งมาได้ด้วยดี ระบุเน้นเก็บกักน้ำให้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 นับเป็นวันสิ้นสุดของการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งของกรมชลประทาน (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมทั้งแหล่งน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ(ณ 30 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 35,590    ล้าน ลบ.ม.(46 % ของความจุฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 13,016 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม.(35% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 1,953 ล้าน ลบ.ม.

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053  ล้าน ลบ.ม.(96 % ของแผนฯ)(แผนวางไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 3,500  ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,595 ล้าน ลบ.ม. ถือได้ว่าการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่(แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.90 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิด  ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เหตุจากในช่วงฤดูฝนปี 62 มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ    แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำสายต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลักพร้อมกันนี้ ยังได้เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 66 จังหวัด 275 อำเภอ 413 ตำบล 696 หมู่บ้าน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 126 คัน คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 832 เครื่อง แบ่งเป็นการสูบน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตร คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 349 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำและผันน้ำไปช่วยการประปา และอื่นๆ คิดเป็นปริมาณน้ำมากกว่า 1,180 ล้าน ลบ.ม. และยังมีเครื่องจักรกลอื่นๆอีก 332 หน่วย ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งการซ่อม/สร้างทำนบ/ฝาย รวม 32 แห่ง และการขุดลอกแหล่งน้ำอีก 39 แห่งด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 48,080 รายแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460

สำหรับการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 63 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2563

สนพ. ชี้ โควิด ฉุดการใช้ เอทานอล ภาคเชื้อเพลิง เม.ย.ลด 1.17 ล้านลิตร/วัน

สนพ. ชี้ โควิด ฉุดการใช้ เอทานอล ภาคเชื้อเพลิงเดือนเมษายนลดลง 1.17 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้ไบโอดีเซลเดือนมีนาคมการใช้อยู่ที่ 5.32 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงเล็กน้อย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด” (COVID-19) ส่งผลให้ปริมาณการใช้ "เอทานอล" ภาคเชื้อเพลิงในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากประชาชนต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วน ณ สิ้นเดือนมีนาคมมีปริมาณการผลิต "ไบโอดีเซล" อยู่ที่ 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.32 ล้านลิตร/วัน โดยปริมาณการใช้อยู่ในช่วงการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศ สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือนเมษายน ประมาณ 251,369 ตัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ "สนพ." เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาไบโอดีเซล (B100) วันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 63 อยู่ที่ 25.01 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.14  บาทต่อลิตร  โดย จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมัน ณ วันที่ 11 - 15 พฤษภาคม 2563 ราคาผลปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ 2.90 – 3.10 บาทต่อ กก. ซึ่งราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20 – 21 บาทต่อ กก.

ทั้งนี้ คณะทำงานตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือทั้งระบบ แจ้งปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือนเมษายนประมาณ 251,369 ตัน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันตามฤดูกาลมาก แต่ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประมาณการผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน

ลดลง 10.83% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Covid-19) ไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.63) จากการประมาณการของกรมการค้าภายใน อยู่ที่ประมาณ 70,000-85,000 ตัน/เดือน สาเหตุจากความต้องการน้ำมันบรรจุขวดในธุรกิจร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะลดลง จากมาตรการปิดพื้นที่ (lockdown)

ราคาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 15.45 บาทต่อกก. โดยในเดือนแรกที่มาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มลดลง 47% FGV Holdings ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ใหญ่ที่สุดของโลกคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตของปี 2563 จะลดลงอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 กระทบการทำงานของแรงงานและโรงงานผลิต

สำหรับราคาเอทานอลยังคงอยู่ในระดับ 23.28 บาทต่อลิตร โดยไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นราคาซื้อขายแบบระยะยาวของผู้ค้า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการ  “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยังคงทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง และทำให้การใช้เอทานอลลดลงตามไปด้วย

ปริมาณการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน แต่ปริมาณการใช้เอทานอลเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนเมษายนอยู่ที่ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.15 ล้านลิตรต่อวัน

โรงงานเอทานอลที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 26 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการผลิตจริงในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 4.49 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 0.65 ล้านลิตรต่อวัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 พฤษภาคม 2563

หอการค้าไทยดิ้นยื้อ "สารพิษ" ผู้ประกอบการ-เกษตรกร ยังไม่พร้อมยกเลิกใช้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบจากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ประกาศให้สารเคมีทางการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพื่อนำความเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งของผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้บริโภค มาเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ที่แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติแล้ว แต่ต้องการให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไข เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อม

“ปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกมีมาตรฐานตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) อยู่แล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับเกี่ยวกับการยอมให้มีสารเคมีทางการเกษตรตกค้างในสินค้าได้ไม่เกินปริมาณที่โคเด็กซ์กำหนด หากผลการศึกษาจากทุกฝ่ายออกมาอย่างไร หรือต้องการเสนอแนะทางออกเรื่องนี้อย่างไร หอการค้าไทยก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทางออกอีกครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาปรับตัว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้หอการค้าไทยได้ทำหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อขอขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของประกาศดังกล่าว ที่กำหนดให้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปเป็นวันที่ 31 ธ.ค.นี้ จากเดิมมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ เพราะปัจจุบันรายละเอียดต่างๆไม่ชัดเจนมากนัก ประกอบกับผู้ประกอบการและเกษตรกร ยังไม่มีความพร้อมที่จะยกเลิกการใช้ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากต้องกำหนดปริมาณสารตกค้างของสารเคมีดังกล่าวในสินค้าเกษตรเป็นศูนย์ จะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตินี้ด้วย

ทั้งนี้ เพราะสารเคมีดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหาร ทั้งของคนและอาหารสัตว์จำนวนมาก เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบัน อาหารสำเร็จรูปของไทย ผ่านมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยทางอาหารอยู่แล้ว แม้จะยังมีการใช้สารเคมีดังกล่าวอยู่.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 พฤษภาคม 2563

“มนูญ” ชี้ พลังงานทดแทน จะเป็น New Normal

มนูญ ชี้ พลังงานทดแทน จะเป็น New Normal หลังพฤติกรรมผู้บริโภคพลังงานเปลี่ยนจากผลกระทบโควิด-19

นายมนูญ  ศิริวรรณ  ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และที่ปรึกษาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า ธุรกิจพลังงานจากนี้ไปจะเป็น "New Normal" เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากผ่านสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) จากความต้องการ หรือดีมานด์ที่ลดลงทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการบริโภคพลังงานที่ลดลง

อาทิ การลดการเดินทางผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน การขนส่งสาธารณะ รวมถึงรถยนต์ส่วนตัว ทำให้การใช้พลังงานลดลงไป และในอนาคตพลังงานที่ได้มาจากฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นจากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ จะลดน้อยลง ซึ่งสิ่งที่จะมาแทนที่ก็คือ "พลังงานทดแทน" และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแต่เดิมก็มีความสำคัญอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการใช้พลังงานเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนจะมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนของพลังงานเหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงขยะ

“จากนี้ไปอุตสาหกรรมพลังงานจะเป็น New Normal การใช้พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อก่อนต้องลงทุนสูง ใช้พื้นที่มาก แต่ปัจจุบันมาอยู่ในบ้านเราได้แล้ว ทุกบ้านสามารถติดโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟฟ้าใช้เอง และต่อไปก็จะมีเรื่องของ Energy Storage หรือแบตเตอร์รี่ ที่เราสามารถที่จะเก็บไฟที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันเก็บไว้ใช้ เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้มีประโยชน์มากขึ้นและทำได้ดีขึ้น ซึ่งพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะก็เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้เราใช้ขยะกันมากขึ้น ไม่สามารถกำจัดได้หมด ซึ่งถ้าสามารถเอาขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทั้งการกำจัดขยะ และสามารถผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ได้ด้วย ซึ่งแค่ 2 อย่างนี้ก็เห็นประโยชน์อย่างมหาศาลแล้ว”

นายมนูญ กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องของทิศทางพลังงานและเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้จะมีความสำคัญ และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างมาก การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ดังนั้นทำอย่างไรจะให้สื่อมวลชนซึ่งไม่ใช่มีความสำคัญเฉพาะการสื่อสารสาธารณะเท่านั้น แต่จะต้องมีบทบาทนำในการเป็น Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำเอาความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้ไปถึงประชาชนได้ถูกต้อง

โดยที่ผ่านมาโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ให้ความรู้ด้านพลังงานแก่สื่อมวลชนใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ รวมกรุงเทพมหานคร ทำให้สื่อมวลชนมีความรู้ ความเข้าใจ ได้ดียิ่งขึ้น เกิดการรวมตัวของสื่อมวลชนที่สนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนที่เข้มแข็งในอนาคต

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจและค้นหาองค์กรสื่อและสื่อมวลชนที่ใส่ใจเรื่องพลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อมวลชนไทย

พร้อมสร้างการมีส่วนร่วม รณรงค์และขยายผลให้ประชาชนและสังคมให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และขยะ ซึ่งคาดว่าหลังจบโครงการจะมีสื่อมวลชนที่สนใจเข้าร่วมเครือข่ายกว่า 30 ท่าน จากทุกภาคส่วนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ Macro Influencers เพื่อเป็นต้นแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการรณรงค์และสื่อสารความเข้าใจด้านพลังงานที่ถูกต้องสู่สาธารณะ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 พฤษภาคม 2563

กกพ.ประกาศรับซื้อไฟ โรงไฟฟ้าชุมชน มิ.ย.นี้ ยื่นข้อเสนอไม่เกิน 31 ก.ค.63

กกพ.ประกาศรับซื้อไฟ “โรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win” 100 เมกะวัตต์ ภายในมิ.ย.นี้ และให้ยื่นข้อเสนอายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 31 ก.ค. 63 และประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลได้ 2 ก.ย.63

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ระยะแรก หรือโคงการโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win รับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน   100 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ได้รายงานให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รับทราบถึงขั้นตอนที่จะนำไปสู่การประกาศรับซื้อไฟฟ้าและการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชและวิสาหกิจชุมชนในการขายไฟฟ้าให้รับทราบแล้ว

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ดกกพ.เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้พิจารณาและมีความเห็นว่า การประกาศเชิญชวน การรับซื้อไฟฟ้าโครงการ Quick Win จะดำเนินการภายหลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2563-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ พีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ที่คาดว่จะมีการพิจารณาในเดือนมิถุนายน 2563

อีกทั้ง เพื่อให้กรอบการจัดหาไฟฟ้าจากโครงการ เป็นไปตามขั้นตอนและจัดหาไฟฟ้าภายใต้แผนพีดีพี ที่มีการบรรจุการรับซื้อไฟฟาจากโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ประมาณ 1,933 เมกะวัตต์ กกพ.จึงได้พิจารณากรอบระยะเวลา การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ Quick Win ไว้ว่า หลังจากครม.เห็นชอบแผนพีดีพี ในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว ต่อจากนั้น กกพ.จะออกประกาศ เปิดรับโครงการได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน หลังจากนั้น จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า ณ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

ต่อจากนั้นคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่เศรษฐกิจฐานราก ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะพิจารณาผลการรับซื้อไฟฟ้า ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และจะ ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือก ภายในวันที่ 2 กันยายน 2563 เพื่อนำไปสู่การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 พฤษภาคม 2563

กรมชลฯ การันตีเขื่อน 110 แห่ง “มั่นคง ปลอดภัย” พร้อมรับฤดูฝน

เริ่มแล้วฤดูฝนปี63 หลังกรมอุตุประกาศเข้าสู่ฤดูฝน 18 พ.ค. กรมชลฯ สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำอย่างเต็มศักยภาพ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานกลาง ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ , ขอนแก่น , มหาสารคาม , กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 6 ปัจจุบัน (20 พ.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,028 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯรวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 112 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯรวมกัน และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 1,037 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 72 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 4,100 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 63 นั้น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทั้ง 110 แห่ง พร้อมตรวจสอบความพร้อมอาคารชลประทานทั้ง 130 แห่ง รวมไปถึงสถานีสูบระบายน้ำขนาดใหญ่ อีก 7 สถานี ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังได้เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองสายหลัก คลองชลประทานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายและเก็บกักน้ำ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักรเครื่องมือรวม 257 รายการ ซึ่งบางส่วนได้เข้าไปประจำจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว

ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ในส่วนของการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อาทิ ลำน้ำยัง ลำปาว ลำน้ำพอง ลำคันฉู และลำน้ำเสียวใหญ่ นั้น ได้ดำเนินการติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำกว่า 90 จุด ครอบคลุมลำน้ำสำคัญ ทั้ง 5 จังหวัด พร้อมกำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือหากเกิดน้ำท่วม รวมไปถึงการเร่งงานก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งกั้นลำน้ำยังให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาลุ่มน้ำยัง เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยปี 2563-2564 อีกกว่า 14 โครงการ ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำ

โดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัดมาใช้ในการติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้ จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว แต่จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5 ประกอบกับปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในอ่างเก็บน้ำต่างๆยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างเต็มศักยภาพ ขอให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำต้นทุนที่มีอยู่หากมีปริมาณเพียงพอเหมาะสม กรมชลประทาน จะสนับสนุนก็ต่อเมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเท่านั้น โดยจะเน้นกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ให้มากที่สุดในระยะต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 พฤษภาคม 2563

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ ก.อุตฯ "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" ขึ้นบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผล 1 มิ.ย.นี้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ลงนามโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม” เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ1. ให้ยกเลิกรายการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2556 ดังต่อไปนี้ โดยให้รายการตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศฉบับนี้แทนบัญชีที่1 ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ

บัญชี 1.1 รายชื่อสารควบคุม ลำดับที่ 53 คอลร์ไพริฟอส ลำดับที่ 54 คลอร์ไพริสฟอส-เมทิล ลำดับที่ 352 พาราควอต ลำดับที่ 353 พาราควอตไดคลอไรด์ และลำดับที่ 354 พาราควอตไดคลอไรด์

ข้อ 2. ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ตามประกาศฉบับนี้ ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ปฎิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

จาก https://mgronline.com  วันที่ 20 พฤษภาคม 2563

เงินบาทเปิดหลุด 32 มาที่ 31.95/98 แข็งค่าจากวานนี้ตามทิศทางภูมิภาค จับตาประชุม กนง.พรุ่งนี้

 นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.95/98 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.02/04 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค เมื่อวาน GDP ของไทยออกมาติดลบน้อยกว่าที่ดีกว่าตลาดคาดการณ์ พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปี 63 ลงเหลือ -6 ถึง -5% จากเดิมที่คาดโต 1.5-2.5% ขณะที่ตลาดมองไปถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันพรุ่งนี้ โดยคาดวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.80-32.05 บาท/ดอลลาร์

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม 2563

“พรศิลป์”หนุนไทยเดินหน้าCPTPP

"พรศิลป์" ชี้ควรเดินหน้าCPTPP เพื่อพัฒนา อย่ามองแต่ได้เสีย มองการเมืองต้องตัดสินใจ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ถึงการตัดสินเข้าร่วมการเป็นสมาชิกCPTPP ว่า ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินจะต้องมองในภาพรวมโดยเอาการพัฒนาประเทศเป็นตัวตั้ง และไม่มองแค่ใครได้ใครเสียหลังเข้าเป็นสมาชิก เพราะจะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้ประเทศไทยที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เท่าทันกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ไม่สามารถพัฒนาได้ทัน

ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงกรอบการเจรจาต่างๆ ได้ แต่จะต้องเจรจาต่อรองให้ได้อย่างสมเหตุสมผล ในขณะที่มองว่าการตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกนั้นฝ่ายการเมืองจะต้องตอบคำถามทุกฝ่ายให้ได้ รวมถึงการ ชะลอเวลาในการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องที่ดี

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 19 พฤษภาคม 2563

มกอช. ปรับโฉม "Early Warning" ระบบฐานข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหารเชิงรุก หนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการ รู้ลึก-รู้จริง-ทันเหตุการณ์ เรื่องการค้าสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลก ในภาวะ COVID-19 ผ่านระบบออนไลน์

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแจ้งเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหารเชิงรุก (Early Warning) เป็นฐานข้อมูลข่าวสารด้านกฎระเบียบ-ความปลอดภัยอาหาร-มาตรการสุขอนามัย และสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลก ซึ่งติดตามศึกษารวบรวมและสรุปเป็นข่าวสาร - บทความโดยเจ้าหน้าที่วิเคราะห์กฎระเบียบระหว่างประเทศของ มกอช. ในรูปแบบของข่าวสั้นและบทความ ทั้งในลักษณะข่าวสารรายวัน วารสาร ที่จะปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปีงบประมาณ 2564 และหนังสือรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในการปรับตัวเนื่องจากจะมีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้และมีข้อบังคับ/มาตรการปฏิบัติที่เข้มงวด

 ซึ่งจะรวบรวมเผยแพร่ทั้งรูปแบบหนังสือรายปี หรือเมื่อมีระเบียบของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ การติดฉลากของประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันสูง เช่น สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อาเซียน และตะวันออกกลาง โดยมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์ความปลอดภัยอาหาร มาตรการการค้าสินค้าเกษตร กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าที่สำคัญ (Technical Barrier to Trade: TBT) สถานการณ์การค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศ ไปจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค แมลง ศัตรูพืช และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องวงการเกษตรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มกอช. ได้ปรับเปลี่ยนช่องทางให้บริการข่าวสาร จากเดิมที่ให้บริการข่าวสารรายวันผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และวารสารเตือนภัยสินค้าเกษตรรายไตรมาสในรูปแบบเล่มวารสารตีพิมพ์ เป็นการให้บริการข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงงานบริการภาครัฐและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม

ปัจจุบันโครงการ Early Warning มีช่องทางให้บริการข้อมูลดิจิทัล 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://warning.acfs.go.th หรือhttps://bit.ly/EarlyWarningSite Facebook Page: @acfsearlywarning หรือ https://bit.ly/EarlyWarningPage

ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้สนใจ นอกจากนี้ยังมี Site Page : https://bit.ly/EarlyWarningCOVID19รวบรวมข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 และผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่ปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้โครงการฯ กำลังดำเนินการวิเคราะห์ติดตามแนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งมาตรการ แนวทางปฏิบัติ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเผยแพร่ในวารสารเตือนภัยสินค้าเกษตรรายไตรมาสที่ 3/2563 (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ต่อไป

"โครงการ Early Warning ถือเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ของ มกอช. บนแนวคิดการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่ ปัจจุบัน Early Warning เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงการเผยแพร่มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กฎระเบียบระหว่างประเทศ ตลอดจนถึงสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอาหารที่ได้รับความเชื่อถือจากทั้งวงการวิชาการ ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และสื่อมวลชนของไทยในวงกว้าง"เลขาธิการ มกอช. กล่าว

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 18 พฤษภาคม 2563

เงินบาทเปิด 32.06บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่ 32.06บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันนี้ที่  32.06บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 31.95-32.15 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า เงินบาท เริ่มเห็นการกลับมาซื้อขายของผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่มากขึ้น แม้ส่วนมากจะมองว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ากลับขึ้นไปได้ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหากับระดับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน ขณะที่ในสัปดาห์นี้ มองเงินบาทจะซื้อขายในกรอบแคบโดยมีความเสี่ยงหลักคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ซึ่งถ้าไม่ลดดอกเบี้ยตามที่ตลาดหวังก็อาจเห็นการแข็งค่าของเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 31.85-32.35 บาทต่อดอลลาร์

 ในสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่น่าติดตามหลายอย่าง

เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ จะมีการประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ซึ่งตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวราว 4.0% จากปีก่อนหน้าด้วยนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม

ตามมาด้วยในวันพุธก็จะมีธนาคารกลางจีน (PBoC) ที่จะประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด (Loan Prime Rate) ซึ่งคาดว่าจะ "คงที่" ที่ระดับ 3.85% โดยมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี

ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่ายก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตลาดคาดว่าจะมีมติ "ลด" อัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบของเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

นอกจากนี้ในวันพฤหัส ก็ต้องติดตามรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดครั้งล่าสุด พร้อมกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินหลายท่าน ซึ่งประเด็นที่ต้องติดตามมากที่สุดคือทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคต โดยในปัจจุบันตลาดคาดว่าเฟดจะต้องมีการใช้นโยบาย "ดอกเบี้ยติดลบ" ในที่สุด

ส่วนในฝั่งของตลาดการเงิน สัปดาห์นี้จะต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ สำหรับสหรัฐและจีนเพิ่มเติม เชื่อว่าทั้งคู่จะไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้เร็ว และอาจใช้นโยบายที่ไม่เป็นมิตรต่อกันมากขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงปลายปี จึงมีความเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์จะยังแข็งค่าต่อได้ถ้าข่าวร้ายนี้ กดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 พฤษภาคม 2563

สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 1 ติดลบ 1.8% ทั้งปีติดลบ 5-6%

สศช.เผยตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/63 ติดลบ 1.8% โดยเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 57 ขณะที่ทั้งปีคาดจะติดลบ 5-6%

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีไตรมาส 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบ 1.8% โดยเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 1/2557 และคาดว่าไตรมาส 2 จะติดลบมากกว่าไตรมาส 1 ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 คาดจะติดลบ 5- 6% จากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจและการค้าโลก การลดลงของจำนวนและรายได้จากภาคท่องเที่ยวต่างชาติ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าส่งออกทั้งปีจะติดลบ 8%

สำหรับตัวเลขประมาณการณ์จีดีพีทั้งปีที่คาดว่าจะติดลบ 5-6% อยู่ภายใต้สมมติฐานการแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 2 และไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อนได้ในไตรมาส 2 และเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาส 3 และนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาส 3 และ 4

ขณะที่ความคืบหน้าการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบเยีวยา 555,000 ล้านบาท ล่าสุดคงเหลือ 190,000 ล้านบาท โดยเยียวเกษตรกร 10 ล้านคน เยียวยา 5,000บาท จำนวน 16 ล้านคน  ประกันสังคม 11 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 14 ล้านคน ขณะที่ 45,000 ล้านบาท จะเป็นงบด้านสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการทำแผนใช้งบ และงบอีก 400,000 ล้านบาท จะเป็นงบสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเงินที่ลงสู่ท้องถิ่นรวมถึงการจ้างงาน ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานอยู่ระหว่างจัดทำโครงการ คาดจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และสามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เลขา สศช. ระบุว่า สำหรับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไม่ได้คาดหวังการกระตุ้นตัวเลขจีดีพี แต่หวังช่วยประคองเศรษฐกิจ และเชื่อว่าสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งมีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขและคนไทย โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 จึงมีน้อย ดังนั้น เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจึงเพียงพอ โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบตัวยู ทั้งนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังแล้ว และเป็นตัวเลขเดียวกัน.

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 18 พฤษภาคม 2563

ธ.ก.ส.หนุนสินเชื่อเครื่องจักรการเกษตร1.5หมื่นล้าน

ธ.ก.ส จับมือ จอห์น เดียร์ สร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรสำหรับการทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย 1.5 หมื่นล้าน

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับ นายณรรถกร จิตสุทธนาผล กรรมการบริษัท จอห์น เดียร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ Mr. Tay Boon Phin กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์น เดียร์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการ ภาคเกษตร มีโอกาสในการเลือกใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ทดแทนแรงงาน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยการหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตร

นายกษาปณ์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. มีนโยบายส่งเสริมการปฏิรูปภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยยกระดับการทำเกษตรกรรมในทุกรูปแบบที่สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ โดยร่วมกับเครือบริษัทจอห์น เดียร์ ในการสนับสนุนเกษตรกรให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Agri-Tech) แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และการทำการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (Value Added) ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน โดยเกษตรกรลูกค้าหรือผู้ที่มีความสนใจ สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว เพื่อนำไปเป็นเงินทุนจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ทางการเกษตร ตลอดจนเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงซ่อมแซม และการจัดหาอุปกรณ์พ่วงหรือเสริมให้เครื่องจักรนั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถนำเงินไปชำระค่าเช่าซื้อที่มีกับบริษัท จอห์น เดียร์ ลีสซิ่ง เพื่อลดภาระในการผ่อนชำระ รวมวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-1 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ ร้อยละ 6.625 ต่อปี) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

นายณรรถกร กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำการเกษตรให้ยั่งยืนต่อไป โดยบริษัทฯ พร้อมนำเสนอเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย สมรรถนะสูง แข็งแกร่ง และทนทาน อาทิ รถแทรคเตอร์ รถตัดอ้อย และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ พร้อมเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำสูงที่สามารถเพิ่มกำไรและสร้างการเกษตรที่ยั่งยืน อีกทั้งมอบส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้ออะไหล่ยนต์ให้แก่เกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.

Mr. Tay Boon Phin กล่าวว่า ด้วยเจตนารมณ์ ในการร่วมมือกันระหว่างกัน จะเป็นการขยายขีดความสามารถในการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่ง บริษัทฯ ยินดีให้เกษตรกรลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อกับบริษัทฯ และประสงค์จะเปลี่ยนไปใช้สินเชื่อกับ ธ.ก.ส. สามารถดำเนินการได้ โดยบริษัทฯ จะให้ส่วนลดดอกเบี้ยที่คำนวณไว้ล่วงหน้าตามสัญญาเต็มจำนวน การยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยประกันภัย และค่าภาษีประจำปีที่ค้างชำระภายใต้เงื่อนไขของบริษัท พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางการตลาด สำหรับเครื่องจักรใช้แล้ว กรณีเกษตรกรต้องการขาย และเสนอส่วนลดพิเศษของราคาอะไหล่ยนต์ให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส. อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรชาวไทยมีทางเลือกด้านสินเชื่อ สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะมาเป็นเครื่องทุ่นแรงและเสริมศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ผมเชื่อว่าโครงการความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการใช้งานเครื่องจักรและมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรชาวไทยต่อไป

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม 2563

BRRคาดQ 2 ฟื้นตัวหลังโควิดทั่วโลกคลี่คลาย

BRR คาดผลงานQ 2/63 ฟื้นตัวดีขึ้นหลังโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย  หนุนอัตราการบริโภคฟื้นตัว ดันราคาตลาดโลกทยอยปรับเพิ่มขึ้น สบช่องเร่งส่งออกน้ำตาลเพิ่มเป็น 80,000-100,000 ตัน

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR  เผยถึง แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 เชื่อว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2563) ที่มีรายได้รวม 976.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30.39 ล้านบาท  เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย  หลังราคาในช่วงเดือนเมษายนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 9 – 10 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 และปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายและมีทิศทางที่ดีขึ้น และหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนทยอยกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น

"เดิมราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงต้นปียังอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ดีคือประมาณ 14 - 15 เซนต์ต่อปอนด์ แต่พอเจอ การแพร่ระบาด โควิด-19 และปัญหาราคาน้ำมันกดดัน ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิลเพิ่มการผลิตน้ำตาลเข้ามาในตลาดโลกและลดการผลิตเอทานอลหลังรายได้จากการผลิตน้ำตาลดีกว่า ควบคู่กับค่าเงินเรียลของบราซิลที่อ่อนตัวลง ขณะที่การบริโภคปรับตัวลดลง ส่งผลถึงราคาที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 9-10 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ การส่งออกน้ำตาลไปยังคู่ค้าในในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ตัน เป็นผลให้การดำเนินงานในไตรมาสแรกปีนี้ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์" 

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 2/2563 บริษัทฯ จะทยอยส่งมอบน้ำตาลให้แก่คู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็น 80,000-100,000 ตัน ซึ่งเป็นจังหวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานทั้งราคาน้ำมันและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ BRR สามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากธุรกิจน้ำตาลทรายในไตรมาสนี้ให้ได้สูงสุด

ประกอบกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยประเภทถ้วย จาน ชาม รวมถึงภาชนะที่ใช้ในการแพทย์นั้น ได้เริ่มแนะนำสินค้ากับคู่ค้าทั้งภายในและตลาดต่างประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาแล้ว พบว่าได้รับความสนใจจากคู่ค้าเป็นอย่างดี และคาดว่าจะเริ่มเกิดคำสั่งซื้อสินค้าได้ในเร็วๆ นี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 พฤษภาคม 2563

ฝนหลวงฯ ยึด "ตำราฝนหลวงพระราชทาน" ปรับแผนปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ รับมือภาวะวิกฤติแล้ง

 องคมนตรี ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และร่วมพิจารณา การปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ประจำปี 2563

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 2/2563 ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งเป็นการประชุมติดตามความก้าวหน้าดำเนินงานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ความก้าวหน้าโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน รวมทั้งพิจารณาการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ประจำปี 2563

โดยตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการฝนหลวง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยฯ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ราชบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ในความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ จ.พิษณุโลก ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และจ.บุรีรัมย์ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อวางแผนและขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือปัญหาภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุน บรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ และยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ

ทั้งนี้ ผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ -12 พฤษภาคม 2563 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 88 วัน 1,928 เที่ยวบิน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.73 และจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 65 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 150.94 ล้านไร่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 91 แห่ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 61 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถเติมได้ รวม 204.829 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ ยังมีการปฏิบัติภารกิจเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ป่าพรุครวนเคร็ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาความเค็มทะเลสาบสงขลา บรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บให้แก่ จ.เชียงใหม่ แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ พิจิตร ตาก เลย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน กำแพงเพชร ตาก ตลอดจนการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.สะเมิง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และภารกิจส่งถุงน้ำ (Big Bag) ให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อนำน้ำไปปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าด้วย

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงาน ด้านการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะนี้ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) มีมติเห็นชอบในการขอรับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่ให้กรมฝนหลวงฯ จำนวน 44 อัตรา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 โดยอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งในวันเดียวกันนั้น คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) มีมติอนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพิ่มใหม่ให้กรมฝนหลวงฯ รวม 38 อัตรา โดยจัดสรรเป็นกลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ จำนวน 6 อัตรา กลุ่มงานเทคนิคพิเศษ จำนวน 16 อัตรา กลุ่มงานเทคนิคทั่วไป จำนวน 16 อัตรา ด้านความก้าวหน้าการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบัน กองทัพอากาศอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเบื้องต้นจะดำเนินการปรับปรุงเฉพาะในส่วนที่เป็นทางวิ่ง (Runway) ก่อน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 โดยกองทัพอากาศจะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพเรือ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทราบถึงแผนการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในลำดับต่อไป ด้านโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคนิคกรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรสภาพอากาศ การควบคุมคุณภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ตลอดจนการกำกับดูแลมาตรฐานการปฏิบัติการฝนหลวง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุ 50 ไร่ บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม โดยกำหนดให้แล้วเสร็จทันขอตั้งงบประมาณปี 2565

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ มีการเตรียมปรับแผนปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2563 เพื่อเตรียมรับมือภาวะวิกฤติภัยแล้ง โดยตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป กรมฝนหลวงฯ จะดำเนินการการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมเป็น จำนวน 12 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง ชุมพร สุราษฏร์ธานี และสงขลา ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 21 ลำ ได้แก่ ชนิด CN 1 ลำ CASA 9 ลำ CARAVAN 9 ลำ Super King Air 2 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 5 ลำ ได้แก่ BT 3 ลำ และ AU 2 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 4 ฐาน ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทาน เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด และสามารถคลี่คลายปัญหาภัยแล้งแก่พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาทั่วทุกพื้นที่ของประเทศต่อไป

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 14 พฤษภาคม 2563

เงินบาท นิ่งเปิดเช้านี้ที่ระดับ32.09บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท เช้าวันนี้(14พ.ค.2563) เปิดตลาด 32.09บาท/ดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงสิ้นวันก่อน

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาท เช้าวันนี้(14พ.ค.2563) เปิดตลาด 32.09บาท/ดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงสิ้นวันก่อน   เหตุทั้งจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทย และผู้ส่งออกที่เทขายบนความกังวลว่าเงินบาทจะกลับไปแข็งค่าเร็ว กรอบเงินบาทวันนี้ 31.95-32.15 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ระบุ เงินบาท ประเด็นหลักที่หนุนการแข็งค่าในรอบนี้ มีทั้งจากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทย และผู้ส่งออกที่เทขายบนความกังวลว่าเงินบาทจะกลับไปแข็งค่าเร็ว

อย่างไรก็ดี เรามองว่าความเสี่ยงการกลับไปใช้นโยบาย lockdown เศรษฐกิจของทั่วโลกมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงมาก จึงปรับมุมมองค่าเงินบาทให้แข็งค่ากลับขึ้นด้วย โดยมองว่าเงินบาทจะแข็งค่าลงไปที่ระดับ 31.9 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาสที่สอง และ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สิ้นปี 2020 โดยความเสี่ยงที่สามารถทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ในช่วงที่เหลือของปีจะมาจากความกังวลกับสงครามการค้าครั้งใหม่ที่จะร้อนแรงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐ

 สำหรับในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินปรับตัวลงเนื่อง ดัชนี S&P 500 ย่อตัวลง 1.75% ขณะที่ดัชนี Euro Stoxx 50 ของยุโรปติดลบ 2.55% บนความกังวลกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่จะชะลอตัวยาวนานและอาจไม่มีนโยบายการเงินใหม่เข้ามาสนับสนุน

ล่าสุด นายเจอโรม พาเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ  ก็ออกมาให้ความเห็นว่าไม่มีความคิดที่จะใช้นโยบายการเงินสุดโต่งอย่าง "ดอกเบี้ยติดลบ" ตามที่ประธานาธิบดีสหรัฐกดดัน แต่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบดอลลาร์มากนัก เพราะแม้จะหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าและราคาทองคำปรับตัวขึ้น แต่ก็มีเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่อ่อนค่าสวนจากความคาดหวังว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะมีการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ส่วนอนาคตของราคาน้ำมันก็ยังไม่กลับมา

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 14 พฤษภาคม 2563

ตั้งศูนย์ AIC ปฏิรูปเกษตรไทย

กระทรวงเกษตรฯจัดตั้งศูนย์ AIC ครบ 77 จังหวัด หวังพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้ตลาดเกษตรออนไลน์

จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้ภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก และได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่อันดับท็อปเทนของโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร หรือ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2 - 3%

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากเป้าหมายดังกล่าว ทำให้เกิดการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ซึ่งศูนย์ AIC มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตร

อีกทั้งยังเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกร สนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer ในแต่ละจังหวัด และผลักดันงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านการวิจัย การพัฒนา การลงทุน การแปรรูป และการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่มุ่งการปฏิรูปภาคการเกษตรไทยให้ได้ผลสำเร็จ จึงกำหนดนโยบายการตลาดนำการผลิต เน้นขับเคลื่อนเกษตรสมัยใหม่ ลดต้นทุนการผลิต ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับสินค้า เพิ่มมูลค่าผลผลิต และมีความปลอดภัย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค

 ปัจจุบันมีศูนย์ AIC จำนวน 83 แห่ง ครบ 77 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ ศูนย์ AIC 17 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 2 แห่ง รวม 19 แห่ง ภาคกลาง ศูนย์ AIC 26 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 3 แห่ง รวม 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ AIC 20 แห่ง ศูนย์ความเป็นเลิศ 1 แห่ง รวม 21 แห่ง ภาคใต้ ศูนย์ AIC 14 แห่ง

โดยแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์ AIC จะมีการเชื่อมโยง ดังต่อไปนี้  1. เชื่อมโยงกับคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech,  คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce, และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness)

 2. เชื่อมโยงกับคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืน ได้แก่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม

3.เชื่อมโยงกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน

4. เชื่อมโยงกับการดำเนินโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  สำหรับ AIC ในส่วนของสถาบันการศึกษาจะเป็น 1. การให้บริการ เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรแบบแม่นยำ เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นต้น และ 2. การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดอบรมบ่มเพาะเกษตรกร แหล่งเรียนรู้ และสนับสนุน Smart Farmer รวมถึง Young Smart Farmer 

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce ที่มีนายศตพล จันทร์ณรงค์ เป็นประธาน ได้จัดทำโครงการหลักสูตรฝึกอบรมการใช้ E-commerce เพื่อสร้างรายได้ โดยผ่านหลักสูตรออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. การเตรียมความพร้อม พื้นฐานสำหรับการเข้าสู่ E-commerce รวมถึงการทำเกษตรแบบ 4.0

 2. การใช้งานระบบ และ platform ต่างๆ ด้าน E-commerce และ 3. การตลาด และการขายบน E-commerce เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการขายของจาก platform ต่างประเทศ ซึ่งได้ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรที่มีสินค้าพร้อมขาย สามารถขายผ่านอีคอมเมอร์ซ บนแพลตฟอร์ม อีเบย์ (eBay) และเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยมุ่งเน้นให้ผู้เข้าอบรม ได้เรียนรู้และลงมือขายสินค้าเกษตร ผ่านอีคอมเมอร์ซได้จริง

นายศตพล จันทร์ณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce กล่าวว่า E-commerce learning center หรือ ศูนย์การเรียนรู้อีคอมเมิร์ซเกษตรออนไลน์ นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ในการเรียนรู้ E-commerce จากที่บ้าน โดยผ่านระบบออนไลน์ ในการใช้ Facebook group ซึ่งอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มาเป็นผู้ให้ความรู้

แบ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ E-commerce การใช้ระบบ และ platform ต่างๆ การตลาดและการขายบน E-commerce  การพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็น  การปรับ mindset ในการดำเนินธุรกิจการขายอาหารผ่านออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจ สามารถขอเข้าร่วมการเรียนได้ที่ Facebook group  MOAC  E-commerce learning center

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด 32.14บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.14 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 32.03-32.23 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล  พฤกษาเมธานันท์   ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินกลับสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) บนความกังวลกับการระบาดของไวรัสรอบสองทั่วโลก พร้อมกับความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ที่แนะนำให้ธนาคารพาณิชย์สหรัฐหยุดการจ่ายปันผลเพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงถึง 2.1% และกดดันให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงมาที่ระดับ 0.66% (-5.4bps) อีกครั้ง

ฟากตลาดการเงิน เงินดอลลาร์ก็ผันผวนตามไปด้วย โดยในช่วงค่ำปรับตัวลงถึง 0.3%  เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ด้วยแรงกดดันจากโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้เฟดใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในช่วงดึกก็แข็งค่ากลับขึ้นมาบวก 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามภาพตลาดที่ผิดรับความเสี่ยงและคณะกรรมการเฟดหลายท่านก็ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยไปสู่แดนลบ

ฝั่งเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงนี้จากเงินทุนไหลเข้าในฝั่งบอนด์บนความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นของนักลงทุนตามการคลายมาตรการ Lockdown ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่กลับเข้าสู่ตลาด จึงทำให้เป็นไปได้มากที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อไป

สำหรับระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า เราก็มีการปรับมุมมองเช่นกัน โดยเชื่อว่าจะไม่มีการกลับมา Lockdown อีกครั้งในช่วงสั้นแล้ว โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่า จึงเหลือเพียงภาพความผันผวนในตลาดทุน ซึ่งเราเชื่อว่าจะไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ถึง 33.00 บาทต่อดอลลาร์เหมือนครั้งก่อน

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สมาคมเกษตรฯ ผิดหวังแบนสารเคมีเกษตรไร้ทางออก โอดทิ้งภาระให้เกษตรกร

จากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้ 2 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามใช้และห้ามครอบครอง จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปหาสารทดแทนใหม่ และนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาใหม่อีกครั้ง

นายสุกรรณ์ สังขวรรณะ นายกสมาคมเกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า ประเด็นสารเคมีเกษตรได้เคยนำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตราย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหมดแล้ว ในที่ประชุมร่วมกับเกษตรกร 

 รมช. เกษตรฯ บอกเสมอว่ากรมวิชาการเกษตรยังหาสารทดแทนไม่ได้ ซึ่งเกษตรกรก็พูดไปหลายครั้งแล้วว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนหรือเครื่องมือใดที่จะมาทดแทนสารพาราควอตได้ ทั้งในแง่ประสิทธิภาพและราคา สารเคมีเกษตรอื่นๆ เช่น ไกลโฟเซต กลูโฟซิเนต ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนพาราควอตได้ เพราะคุณสมบัติต่างจากสารพาราควอตอย่างสิ้นเชิง ส่วนสารชีวภัณฑ์สำหรับกำจัดวัชพืช กรมวิชาการเกษตรก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่ามีปลอมปนพาราควอตเข้าไปด้วย และยังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชใดได้ขึ้นทะเบียน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยาโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยการประกันราคาและการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมนั้น เป็นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะการนำงบประมาณแผ่นดินมาให้เกษตรกร เพื่อใช้ซื้อสารเคมีเกษตรในการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ บริษัทผู้ค้าและร้านค้าสารเคมีเกษตร ส่วนเกษตรกรยังต้องใช้สารเคมีเช่นเดิม แถมฉีดพ่นบ่อยขึ้น จ้างแรงงานเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนี้เกษตรกรจะไหวได้อย่างไร

และที่บอกว่าอาจให้กระทรวงสาธารณสุขปรับกฎระเบียบสารตกค้าง เพื่อให้สามารถนำเข้าถั่วเหลืองได้ หากดำเนินการจริง ก็เป็นการเอื้อกลุ่มนายทุนนำเข้ากลุ่มเดียว และแก้ปัญหาเพียงด้านเดียวให้เฉพาะกลุ่มผู้นำเข้าถั่วเหลืองเท่านั้น ทั้งนี้ การปรับค่าสารตกค้างดังกล่าวให้สูงขึ้นเป็นกรณีพิเศษจริง ย่อมแสดงว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และ NGO กำลังพูดไม่จริงเรื่องที่ห่วงใยผู้บริโภคคนไทย ดั้งนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ ควรแบนไกลโฟเซตไปด้วยเลย

การปรับค่าสารตกค้างไกลโฟเซตให้สูงขึ้น  เพื่อให้อเมริกาและบราซิลส่งถั่วเหลือง ผู้นำเข้าก็จะได้ไม่มีปัญหา เป็นเพียงการหาเหตุผลเพื่อใช้ยกเลิกสารเคมีเกษตรบางรายการ  โดยกระทรวงสาธารณสุข และ NGO ไม่ได้ห่วงใยผู้บริโภคอย่างแท้จริงอยู่แล้ว  และที่สำคัญไม่ได้มองผลกระทบต่อเกษตรกรไทย อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย เมื่อมีการปรับค่าสารตกค้าง เกษตรกรไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเท่ากับว่ามีการปฏิบัติสองมาตรฐาน

นายสุกรรณ์  กล่าวต่อไปว่า  สำหรับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเกษตรกรไม่ให้ความร่วมมือ และยังมีปัญหาในทางปฏิบัตินั้น ในความเป็นจริงเกษตรกรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เห็นได้จากการเข้าร่วมอบรมความรู้การใช้สารกำจัดวัชพืชตามหลักสูตรของกรมวิชาการเกษตร  และมาตรการจำกัดการใช้ไปแล้วกว่า 500,000 ครัวเรือนเกษตร

แต่โครงการดังกล่าว เพิ่งเริ่มต้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 เปิดให้เกษตรกรทั่วประเทศเข้าอบรมในระยะเพียงไม่กี่เดือน และยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เหลือเกษตรกรอีกกว่า 1 ล้านครัวเรือนที่รอการอบรม แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับก็บอกว่าไม่ประสบความสำเร็จ ท่านควรไปหาข้อมูลมาว่าที่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะหน่วยงานราชการที่สร้างเงื่อนไข แล้วปฏิบัติไม่ได้ หรือเป็นเพราะเกษตรกร

“ท้ายที่สุด สมาคมเกษตรปลอดภัยและเครือข่าย อยากให้เรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีหามาตรการลดผลกระทบให้เกษตรกรโดยด่วน หากยังยืนยันจะออกประกาศกระทรวงฯ ให้สารพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ท่านคิดว่า ณ เวลานี้ เกษตรกรยังทุกข์ยากไม่พอหรือ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องออกมาบอกว่าจะให้เกษตรกรทำอย่างไรกับฤดูกาลปลูกที่จะถึง จะให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทำอย่างไรมากกว่าที่จะตั้งงบเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เพราะพวกเราไม่ต้องการให้ท่านเอาภาษีของประชาชนมาอุ้มเกษตรกรในเรื่องนี้ เพราะมันต้องใช้งบประมาณมหาศาล

หน้าที่ของท่านคือต้องช่วยให้เกษตรกรประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง ดีกว่าให้เกษตรกรไปหาวิธีการเองไปตายเอาดาบหน้า และผมขอบอกไปถึงเกษตรกรทุกคน อย่าไปหลงเชื่อพวกบริษัทขายสารเคมีว่ามีสารทดแทนพาราควอตได้ และขอเตือนทุกบริษัทอย่าหากินกับความยากลำบากของเกษตรกร ส่วนบรรดาผู้นำเข้าถั่วเหลืองหรืออาหารทั้งหลาย ก็ให้คิดถึงเกษตรกรด้วย อย่ามองแต่ตนเองฝ่ายเดียว” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

DSI แกะรอย “PICO” ชีวภัณฑ์ผสมสารเคมี

คดี “พิโก้” ชีวภัณฑ์ผสมพาราควอต-ไกลโฟเซต คืบ ดีเอสไอ ขอผลการตรวจ จากนายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นอย่างข้อกล่าวหาหรือไม่

สืบเนื่องจากสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ได้ซื้อตัวอย่างจุลินทรีย์สกัดเข้มข้น สูตรกำจัดวัชพืชของบริษัท สินเกษตรกรุ๊ป จำกัด ยี่ห้อ PICO (พิโก้)  แล้วส่งไปตรวจที่กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และบริษัท ศูนย์ห้องปฎิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย จำกัด ผลการตรวจสอบมีสารพาราควอตและไกลโฟเซต เมื่อผลการตรวจสอบว่ามีสารปนเปื้อนในสารชีวภัณฑ์ ทางกรมวิชาการเกษตรจึงได้ส่งมอบให้กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสืบสวนต่อไป เป็นจริงอย่างข้อกล่าวหาหรือไม่

แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สถานะคดีดังกล่าวอยู่ในการดูแลของกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีนายจินกร แก้วศรี พนักงานสอบสวนคดีพิศษชำนาญการพิเศษ ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนคดีคุ้มครองผู้บริโภค2 หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวน เรื่องสืบสวน กรณีบริษัท สินเกษตร กรุ๊ป จำกัด ผลิตและจำหน่ายจุลินทรีย์ขีวภาพปราบวัชพืชที่มีส่วนผสมของวัตถุอัตรายอันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการสืบสวนตามมาตรา 27/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ 2547

“ล่าสุดได้ข่าวว่าทางดีเอสไอประสานขอข้อมูลไปยังนายกสมาคมวิทยาการวัชพืชฯ ขอผลตรวจ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และบริษัท ศูนย์ห้องปฎิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย จำกัด พร้อมเอกสาร ให้ไม่ทราบว่าปัจจุบันคืบหน้าอย่างไร”

ผู้สื่อข่าว ได้สอบถาม นายธนกฤต พงษ์สวัสดิ์ปวีณ์ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการ ในฐานะผู้ประสานงานที่จะขอข้อมูลกับสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวสั้นๆ ว่ายังไม่ได้ข้อมูลมา และกำลังจะโทรไปที่สมาคมว่าทางสมาคมได้หนังสือหรือยัง

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ธ.ก.ส. จับมือกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หนุนพัฒนาการเกษตร

ธ.ก.ส. จับมือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล หนุนเจาะบ่อน้ำบาดาลหาแหล่งน้ำบาดาลให้กับ ชุมชนที่มีศักยภาพมาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ ที่ห้องประชุมจำเนียรสาร ชั้น 24 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บางเขน ว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำบาดาลเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนระหว่าง นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อร่วมจัดหาน้ำต้นทุนและยกระดับกลุ่มเกษตรกรจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นกลุ่มผู้ผลิต และนำไปสู่การ พัฒนาภาคเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเกษตรไทยทั้งในด้านเงินทุนและให้ความรู้ในการบริหารจัดการ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการทำเกษตรกรรม คือ “น้ำ” โดย ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันในการคัดเลือกชุมชน องค์กรชุมชน ที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยการสนับสนุนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล สนับสนุนน้ำต้นทุน ในการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและสามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนใหม่ จำนวน 10 ชุมชน และพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำเดิม จำนวน 793 ชุมชน

นอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพกลุ่มผู้ผลิตเพื่อก้าวสู่ธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ภายใต้สโลแกน “ตั้ง เติม ต่อ อนุรักษ์”  โดยสนับสนุนการตั้งกลุ่มใหม่ สำหรับชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนา แต่ยังไม่มีกลุ่มเป็นรูปธรรม เติมสินเชื่อให้กับกลุ่มที่มีศักยภาพทางธุรกิจผ่านกระบวนการ ค้นหาโอกาสและศักยภาพของกลุ่มหรือชุมชน พร้อมจัดทำแผนธุรกิจ และผสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเพื่อเติมองค์ความรู้ เสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม เติมสินเชื่อเพื่อพัฒนาสู่ธุรกิจชุมชน ต่อยอดธุรกิจ สำหรับกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจชุมชนและมีความเข้มแข็ง ให้ก้าวสู่ธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้และสนับสนุนการเติมน้ำลงสู่ดินภายใต้โครงการสร้างฝายชะลอน้ำเฉลิมพระเกียรติ (ฝายมีชีวิต) เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการไม่น้อยกว่า 8,000 ครัวเรือน

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทย เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปี ทั้งทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เล็งเห็นความสำคัญในภาคเกษตรกรรมมาโดยตลอด จึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  โดยในปีพ.ศ. 2563 นี้ ได้ร่วมแก้ไขปัญหาให้กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศมากกว่า 793 แห่ง โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำบาดาลให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งคำนึงถึงการใช้พลังงานทางเลือก คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือ กับ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ เป็นการ  บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ที่เคยเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้กลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพ สร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ต่อไป

จาก https://www.mcot.net  วันที่ 12 พ.ค. 2563

ชาวไร่อ้อย2แสนรายลุ้น รับเงินช่วยเหลือ1หมื่นล้านมิ.ย.นี้

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อสรุปแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินช่วยเหลือฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยหลังจากได้รับหนังสือตอบกลับสำนักงบประมาณอย่างเป็นทางการ กระทรวงอุตสาหกรรมจะนำความเห็นจากทุกส่วนเสนอ ครม.รับทราบอีกครั้ง คาดว่า วงเงินดังกล่าวจะดำเนินการเบิกจ่ายให้เกษตรกรได้เร็วสุดเดือนมิถุนายน 256

 “สอน.ได้ยืนยันตัวเลขอัตราการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 6,500 ล้านบาท เพื่อเป็นปัจจัยการผลิตสำหรับชาวไร่อ้อยทุกรายที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย และทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบ ซึ่งมีจำนวนรวมเกือบ 200,000 ราย ที่อัตรา 85 บาทต่อตันและที่เหลืออีก 3,500 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลทุกตันอ้อย โดยช่วยเหลือเพิ่ม 92 บาทต่อตัน แต่คงต้องรอการตอบกลับจากกระทรวงการคลังว่าจะเป็นอัตราใดที่เหมาะสม”นายเอกภัทร กล่าว

 นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยต่างรอคอยวงเงินช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง ที่ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาราคาอ้อยตกต่ำต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 หรือเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนจะเป็นอัตราเท่าใดนั้น คงจะอยู่ที่กระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันพิจารณา

“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนหน้านั้น ทาง กอน.ได้ประเมินผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2562/63 จะอยู่ที่ประมาณ 120 ล้านตันอ้อย จึงคำนวณวงเงินช่วยเหลือเป็น 10,000 ล้านบาท แต่พอปิดหีบผลผลิตอ้อยเหลือเพียง 74.89 ล้านตันอ้อยเท่านั้น เพราะเจอภัยแล้ง สำนักงบประมาณจึงเห็นว่าอัตราต่อตันอ้อยควรจะลดลง แต่ชาวไร่อ้อยเห็นว่าวงเงินน่าจะยึดตามเดิม”นายนราธิป กล่าว

ทั้งนี้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูหีบปี 2562/63 ยอมรับว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นที่ 75 บาทต่อตัน ได้ใช้ตัวเลขราคาน้ำตาลทรายเฉลี่ย 13.2 เซนต์ต่อปอนด์ แต่ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ย 10 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้น บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) จึงพยายามบริหารที่จะไม่ให้ตัวเลขขั้นสุดท้ายออกมาติดลบ ไม่เช่นนั้นระบบก็จะมีความยากลำบากในการบริหาร

“ผลผลิตอ้อยในฤดูหีบปี 2563/64 ที่เริ่มแล้วขณะนี้ ยังคงต้องติดตามภาวะภัยแล้งต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุดเริ่มมีฝนมา แต่ยังคงกระจุกตัวบางพื้นที่ หลายพื้นที่ยังเผชิญกับภาวะแล้งจัด ประกอบกับราคาอ้อยยังคงมีแนวโน้มที่จะตกต่ำอยู่ ทำให้ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจในการเพาะปลูกใหม่หรือบำรุงอ้อยเก่า หากประเมินผลผลิตอ้อยในระยะต่อไปที่จะมีการเปิดหีบช่วงสิ้นปีนี้ก็ยังคงเฉลี่ยที่ 75-80 ล้านตัน” นายนราธิป กล่าว

จากhttps://www.naewna.com วันที่ 11 พฤษภาคม 2563

หวั่นภัยแล้งกระทบอ้อยเข้าหีบปี 63/64

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เร่งบริหารประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือปัจจัยลบ ฉุดราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลง และเจอปัญหาภัยแล้งรุนแรงสุดรอบ 40 ปี เดินหน้าเร่งส่งเสริมการเพาะปลูกชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเต็มที่

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาด ณ ปัจจุบัน ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบโควิด-19 (COVID-19) ที่ฉุดอัตราการบริโภคน้ำตาลของโลกลดลง ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงจากการแข่งขันของผู้ค้าและส่งออกน้ำมัน ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างประเทศบราซิล ชะลอการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพื่อนำใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศ แล้วหันมาผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้มีอุปทานน้ำตาลในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ9-10 เซนต์ต่อปอนด์

 ​นอกจากนี้ จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 40 ปี ยังได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในด้านพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตอ้อยประจำปี 2563/64 ที่คาดว่า จะลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือ 74.89 ล้านตันอ้อยและผลิตน้ำตาลได้ 8.27 ล้านตัน โดยโรงงานได้วางแผนบริหารจัดการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว จากการเร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและสนับสนุนจัดหาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอ เพื่อลดความเสียหายจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยในรอบการผลิตใหม่ให้ได้สูงสุดเพื่อให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

 ​“โรงงานน้ำตาลกังวลต่อสถานการณ์เพาะปลูกอ้อยปีนี้ ที่ต้องเจอภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อต่อสู้กับปัจจัยลบในครั้งนี้ โดยให้ความช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาในทุกด้าน เช่น การจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่ โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ได้มากที่สุด ”

​อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มลดลงไป แต่โรงงานน้ำตาลก็มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยสำหรับให้บริการชาวไร่อ้อยคู่สัญญา รวมทั้งวางมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสดและสะอาดส่งเข้าหีบ ซึ่งจะช่วยให้การหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้ได้มากที่สุดและเกิดประโยชน์แก่ชาวไร่ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยสูงขึ้น

​“แม้ว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิต2562/63 ต่ำกว่าปีที่แล้ว และผลผลิตในฤดูการผลิต 2563/64 จะมีปริมาณลดลง แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนภายในประเทศอย่างแน่นอนเนื่องจากทั้งโรงงาน ชาวไร่อ้อยและภาครัฐ ได้ร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำตาลภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงมีส่วนเหลือที่สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาสถานะประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 11 พฤษภาคม 2563

โรงงานช่วยชาวไร่คู่สัญญา พร้อมปลูกอ้อยเตรียมหาน้ำ-เครื่องจักรให้ การันตีปี64 น้ำตาลมีพอ


นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาด ณ ปัจจุบัน ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบ COVID-19 ที่ฉุดอัตราการบริโภคน้ำตาลของโลกลดลง ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงจากการแข่งขันของผู้ค้าและส่งออกน้ำมัน

ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างประเทศบราซิล ชะลอการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศ แล้วหันมาผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้มีอุปทานน้ำตาลในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 9-10 เซนต์ต่อปอนด์

และจากสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 40 ปี ยังได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในด้านพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตอ้อยประจำปี 2563/64 ที่คาดว่า จะลดลงจากปีการผลิตที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเหลือ 74.89 ล้านตันอ้อย ซึ่งผลิตน้ำตาลได้ 8.27 ล้านตัน

โดยโรงงานได้วางแผนบริหารจัดการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว จากการเร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่ เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และสนับสนุนจัดหาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอ เพื่อลดความเสียหายจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อย ในรอบการผลิตใหม่ให้ได้สูงสุด เพื่อให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

“โรงงานน้ำตาลกังวลต่อสถานการณ์เพาะปลูกอ้อยปีนี้ ที่ต้องเจอภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อต่อสู้กับปัจจัยลบในครั้งนี้ โดยให้ความช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาในทุกด้าน เช่น การจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่ โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ได้มากที่สุด ”

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มลดลงไป แต่โรงงานน้ำตาลก็มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง และได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยสำหรับให้บริการชาวไร่อ้อยคู่สัญญา รวมทั้งวางมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสดและสะอาดส่งเข้าหีบ ซึ่งจะช่วยให้การหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้ได้มากที่สุด และเกิดประโยชน์แก่ชาวไร่ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยสูงขึ้น

“แม้ว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิต 2562/63 ต่ำกว่าปีที่แล้ว และผลผลิตในฤดูการผลิต 2563/64 จะมีปริมาณลดลง แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนภายในประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งโรงงาน ชาวไร่อ้อยและภาครัฐ ได้ร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำตาลภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงมีส่วนเหลือที่สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาสถานะประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 พฤษภาคม 2563

“ภัยแล้งหนัก”เร่งขุดลอก "น้ำปิง-เจ้าพระยา" ช่วยชาวบ้าน

"ภัยแล้งหนัก " อธิบดีกรมเจ้าท่า ตรวจติดตามความคืบหน้าของโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ บริเวณ แม่น้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา  จ.นครสวรรค์

สถานการณ์ปีนี้"แล้งหนัก " กระทรวงคมนาคมเร่งรัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภคแจกจ่าย ตามบ้านเรือนราษฎร์ ตลอดจนการขุดลอก คูคลอง แม่น้ำ เพิ่มรองรับปริมาณน้ำเพิ้มขึ้น ล่าสุด

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมคณะฯ ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ โดยมีนายณัฐชัย พลกล้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป ความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน ดังนี้

1. โครงการจ้างก่อสร้างขุดลอก และบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศบริเวณแม่น้ำปิง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ( จ้างเหมาเอกชนดำเนินการ) ปริมาณวัสดุขุดลอก 1,532,700 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน ผลการดำเนินการคิดเป็นร้อยละ 0.5 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค.63)

พร้อมกันนี้ ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน หมู่ 8 ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ได้เข้าพบอธิบดีกรมเจ้าท่า เพื่อหารือนำวัสดุที่ได้จากการขุดลอก นำมาใช้ประโยชน์สาธารณะทั้งนี้ ได้กล่าวขอบคุณหน่วยงานกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่ได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการขุดลอก เพื่อช่วยเหลือประชาชน จำนวน 1,000 กว่าครัวเรือน ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาอุกทกภัย

โครงการดังกล่าวถือว่าเป็นโครงการที่ดีเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากอีกด้วย

2.โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านบางมะฝ่อ หมู่ที่ 2 ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ (กรมเจ้าท่าดำเนินการเอง) โดยใช้เรือเจ้าท่า ข.35 และ เรือเจ้าท่า 235 ในการขุดลอก ระยะทาง 650 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 42,038.54 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกตามแผนปฏิบัติงาน 42,000 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 35 วัน ผลการดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 10 (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค.63)

3.โครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา บ้านยางตาล หมู่ที่ 6 ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ (กรมเจ้าท่าดำเนินการเอง)โดยใช้เรือเจ้าท่า ข 33 ในการขุดลอก ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ปริมาณวัสดุที่ได้จากการขุดลอก 225,137 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกตามแผนปฏิบัติงาน 225,137 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 160 วัน ผลการดำเนินงานขุดลอกเสร็จเรียบร้อย ( ข้อมูล ณ 9 พ.ค.63)   

อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผย ว่า เนื่องจาก ปีนี้"แล้งหนัก"จึงเร่งรัดโครงการขุดลอกฯ ทั้ง 3 โครงการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก,แก้ปัญหาอุทกภัย และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อนุรักษ์รักษาสภาพลำน้ำให้คงสภาพตามธรรมชาติ ป้องกันการกัดเซาะของตลิ่ง และสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม สำหรับในบางโครงการยังพบปัญหาและอุปสรรค เช่น พื้นที่ขุดลอกบางจุด มีสภาพเป็นดินดานค่อนข้างแข็ง ทำให้ยากแก่การปฏิบัติงานขุดลอก  และด้วยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเริ่มมีสูงขึ้นและไหลเชี่ยว ทำให้ต้องปรับการทำงานโดยการเพิ่มเครื่องจักรที่ใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้รวดเร็วและเป็นไปตามแผนงานในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมปรับแต่งพื้นที่ริมแม่น้ำเพื่อให้เกิดความสวยงาม และจัดกิจกรรม CSR ร่วมกับชุมชน อาทิ ปลูกต้นไม้มีค่า ปล่อยพันธ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นการรักษาสมดุลธรรมชาติ เป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานประจำหน่วยขุดลอกฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และการดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 10 พฤษภาคม 2563

เตรียมพร้อม 2 FTAใหญ่ ดัน CPTPPรอจังหวะเหมาะ

 “กรมเจรจาฯ” ย้ำเบรก CPTPP สนิท หลังถอนวาระเข้าสู่ ครม. ระบุรอเวลาที่เหมาะสมอาจจัดหารือทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เห็นแย้งอีกรอบ ช่วงนี้ขอเปิดรับฟังความเห็นเตรียมพร้อมเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-อังกฤษ

จากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีบัญชาจะไม่เสนอเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในการเจรจาตราบใดที่ภาคส่วนในสังคมยังมีข้อขัดแย้ง

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยย้ำว่า ไทยได้หยุดเรื่องCPTPP เอาไว้ก่อนทั้งหมดในเวลานี้ หากถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็อาจจะจัดหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ดียังมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อีกหลายกรอบที่ทางกรมฯต้องเปิดรับฟังความเห็นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจา เช่น เอฟทีเอ-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ แต่ต้องประเมินว่าจัดอย่างไร เพราะสถานการณ์โควิด-19 อาจต้องจัดเป็น virtual meeting (ผ่านระบบออนไลน์) ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ผลเป็นอย่างไร

รายงานจากรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่า สำหรับกระบวนการรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP ประเทศที่สนใจเข้าร่วมจะต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเจรจาพูดคุยกับสมาชิก CPTPP อย่างเป็นทางการ โดยยื่นหนังสือผ่านประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งจะต้องนำเข้าที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสมาชิก CPTPP ตัดสินใจ ซึ่งปกติ CPTPP จะจัดประชุมระดับรัฐมนตรีปีละครั้ง ครั้งต่อไปกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤษภาคม 2563

ผู้ค้าหนาว “มนัญญา”ลั่น ไล่แบนสารเคมีต่อ

ผู้ค้าสารเคมีหนาว “มนัญญา” ลั่นเตรียมไล่แบนอีกหลายรายการ เผยผิดหวังจำกัดการใช้ไม่ได้ผล เร่งประกาศกระทรวงเกษตรฯคุมโรงงานผลิตต้องได้ IS0 เป็นทางออก ป้องเกษตรและผู้บริโภครับกรรม ด้านนายกฯกากถั่วเหลืองผวาแบน 2 สาร หวั่นคู่ค้าเอาคืนกีดกันสินค้าไทย รง.แห่ปักฐานเพื่อนบ้านแทน

ไทยมีการนำเข้าสารเคมี 3 ประเภท ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ซึ่งในปี 2562 นำเข้า 1.31 แสนตัน มูลค่า 2.1  หมื่นล้านบาท ถือเป็นการนำเข้าต่ำสุดในรอบ 10 ปี(กราฟิกประกอบ) ผลจากช่วง 2-3 ที่ผ่านมามีมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี และผลกระทบจากภัยแล้ง ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (30 เม.ย.63) มีมติคงการประกาศแบน 2 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซต ให้คงมาตรการจำกัดการใช้นั้น

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับมติให้คงแบน 2 สารตามกำหนดการเดิม ส่วนเรื่องสารไกลโฟเซต ต้องนำมาคุยใหม่ ว่าการจำกัดการใช้ จำกัดแบบไหน เพราะที่ผ่านมาการจำกัดการใช้ไม่ประสบความสำเร็จ จากเกษตรกรบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือ และยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ

ดังนั้นหนึ่งในมาตรการที่จำเป็นเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเคมีคือ การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง  (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทางเว็บไซต์ของกรมฯ ระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 12 กุมภาพันธ์ 2563 รวม 15 วัน มีผู้ให้ความเห็น 10,258 คน โดยสัดส่วน 93.49% เห็นด้วย และ 6.51 % ไม่เห็นด้วย

สาระสำคัญของร่างประกาศ คือ กำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย (โรงงาน 143 โรงงาน) ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตราย จากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากพืช (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน) สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้ว ให้ระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

 “สาเหตุที่จำเป็นต้องให้โรงงานมีมาตรฐาน ISO เพราะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมดทุกขั้นตอน ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะมีการนำสารเคมีอีกหลายตัวมาแบนต่อไปอีก ไม่ใช่จบแค่นี้ กล่าวคือหากสารเคมีชนิดใดมีพิษและเป็นอันตรายก็จะมาแบนต่อ หากไม่ได้ก็จะใช้วิธีจำกัดการใช้แทน เพราะประเทศไทยมีสารเคมีจำนวนมาก มีการนำเข้าตัวใหม่ๆ ขณะที่ตัวเก่าก็ยังใช้อยู่ ทำไมไม่เอาออกไปบ้าง อย่างไรก็ดีต้องขอขอบคุณทุกกำลังใจที่สนับสนุนทางกระทรวงฯในการแสดงจุดยืนแบนสารพิษเพื่อปกป้องเกษตรกรปกป้องผู้บริโภค ซึ่งเราทำด้วยใจบริสุทธิ์”

ขณะที่นายสืบวงศ์ สุขะมงคล นายกสมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า การยกเลิกแบน 2 สารเคมีเกษตรข้างต้น ต้องติดตามว่า หลังแบนแล้วเกษตรกรและคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งลดลงจริงหรือไม่ เพราะสารเคมีถูกนำมากล่าวอ้างว่าทำให้คนไทยเป็นมะเร็งมากที่สุด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการใช้สารเคมีทั้ง 3 สาร แต่ติดอันดับประเทศที่คนอายุยืนที่สุดในโลก ย้อนแย้งกันหรือไม่

“อนาคตการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ หากต้นทุนในประเทศสูง จากการแบนใช้สารเคมีในพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารต้องมีสารตกค้างเป็นศูนย์ ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะเบนเข็มไปเลี้ยงที่ประเทศเพื่อนบ้านกันหมด ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในไทย เพื่อนบ้านก็จะได้ประโยชน์แทน และอย่าลืมว่าการแบนสารเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง หากประเทศที่ไทยนำเข้าสารเคมีใช้มาตรการกีดกันสินค้าไทยเพื่อเอาคืน ไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารท็อปเทนของโลกก็อาจกระทบเช่นกัน เรื่องนี้เป็นการบ้านรัฐบาลต้องนำไปคิดและหาทางออก”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤษภาคม 2563

กกร.ชี้จีดีพีปี63 ติดลบ 5.0% ถึง 3.0% ส่งออกหด 10% ดึงประธานสภาเกษตรฯ ศึกษา CPTPP

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ฉุดเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทุกด้าน และในช่วงไตรมาสที่ 2 การแพร่ระบาดยิ่งรุนแรงสะท้อนภาพการหดตัวที่ลึกขึ้น ผลกระทบขยายเป็นวงกว้างทั้งในภาคบริการ ภาคการผลิต รวมทั้งการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชน

แต่ด้วยมาตรการรัฐที่ออกมาเยียวยา และทยอยผ่อนปรนให้กิจการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการ แต่หลายประเทศสถานการณ์ยังไม่ยุติ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะถดถอยในปี 2563 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องต่อการส่งออกและภาคการผลิตในไทย จึงประเมินว่าทั้งปี 2563 GDP ไทยจะอยู่ที่ -5.0% ถึง -3.0% จากเดือน มี.ค. ที่ยังคงคาดการณ์ว่าจะโตได้ 1.5-2%

ขณะที่การส่งออกอาจจะหดตัว -10.0% ถึง -5.0% จากเดิมคาด -2 ถึง 0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0% จากเดิม 0.8-1.5%

นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงประเด็นของ CPTPP ที่ กกร. มีความเห็นว่า ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยให้มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเนื้อหา และจุดยืนในการเจรจาครั้งนี้ ว่าประเทศจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้เสนอข้อมูลให้ภาครัฐได้ทราบจุดยืนที่ชัดเจนมากขึ้น

โดย กกร. มีคณะทำงานที่มาจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ CPTPP ภายใน 1 เดือน

โดยจะเชิญนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมคณะหารือด้วยเช่นกัน และเพื่อช่วยเกษตรของไทย กกร. สนับสนุนให้ภาคเอกชนจะรับซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ผัก ผลไม้ต่างๆ ที่ไม่สามารถส่งออกได้ เช่นกัน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 พฤษภาคม 2563

เช็ก “น้ำ” ก่อนเข้าฤดูฝน “ลานิญา” มาช่วงสั้น เขื่อนใหญ่น้ำยังน้อย

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม หรือเหลือเวลาอีกประมาณ 20 วัน ก็จะสิ้นสุดฤดูแล้ง ทว่าฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งปี 2564 เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ถูกใช้ไปต่ำกว่าครึ่งของความจุอ่างเป็นจำนวนมาก

เฉพาะสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง ปรากฏมีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 ถึง 26 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 31-51 จำนวน 8 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 51-80 มีแค่ 1 แห่ง และไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แห่งใดเลยในตอนนี้ที่มีปริมาณน้ำเกินมากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป สอดคล้องกับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศ ปรากฏมีปริมาณต่ำกว่าร้อยละ 30 อยู่ถึง 221 แห่ง อยู่ระหว่างร้อยละ 31-50 จำนวน 128 แห่ง ตั้งแต่ร้อยละ 50-80 จำนวน 57 แห่ง และมากกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป มีแค่ 6 แห่งเท่านั้น

ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5%

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมาถือเป็นวันสุดท้ายของการจัดการน้ำภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563 ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม “แต่ปีนี้คาดการณ์ว่าฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีที่ 5%” โดยจะเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานิญา” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมีฝนตกชุกในระดับปานกลาง “จะมีน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ กรมชลประทานเชื่อว่า หลังวันที่ 1 พฤศจิกายน (เริ่มต้นปีน้ำของปี 2564) น้ำในเขื่อนจะมีปริมาณมากกว่าปี 2562”

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรมชลประทานได้สิ้นสุดการจัดสรรน้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของปี 2562/2563 แล้ว และเริ่มจัดสรรน้ำตามแผนสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 ที่จะใช้ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 จำนวน 11,340 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น การจัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภค จำนวน 4,909 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 43) และหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงขึ้นจริงก็จะมีน้ำสำรองไว้อีก 6,431 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 57

4 เขื่อนหลักเหลือน้ำแค่ 10%

ด้านปริมาณน้ำใช้การได้ คงเหลือ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ปรากฏสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง ที่จะมีผลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำใช้การได้เหลือแค่ 667 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7, เขื่อนสิริกิติ์ 821 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 12 แต่ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างอยู่ระหว่าง 2-4 ล้าน ลบ.ม./วัน, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 234 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 26 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 122 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13 รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำอยู่แค่ 1,845 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10 เท่านั้น

ปริมาณน้ำที่เหลือน้อยมากใน 4 เขื่อนหลัก มีผลต่อการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นมาถึงแหล่งน้ำดิบของการประปา ที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี จากปัจจุบันที่มีน้ำไหลผ่านสถานี C.29A ที่ อ.บางไทร เฉลี่ยแค่ 60 ล้าน ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น

“จุฬาภรณ์-อุบลรัตน์” ขอดน้ำก้นอ่าง

ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้คงเหลือของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 20 ณ วันที่ 5 พ.ค.ได้แก่ แม่งัดสมบูรณ์ 36 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14, แม่กวงอุดมธารา 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, แม่มอก 10 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 10, ห้วยหลวง 25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 19, จุฬาภรณ์ 1 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 1, อุบลรัตน์ -236 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ -13, ลำพระเพลิง 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8, มูลบน 20 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 15, ลำแซะ 34 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ลำนางรอง 16 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 13, ทับเสลา 15 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, กระเสียว 14 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5, ขุนด่านปราการชล 31 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 14

ในขณะที่ปริมาตรน้ำใช้การได้ในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ในช่วงนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ จ.ระยอง และชลบุรีบางส่วน (พนัสนิคม) ปรากฏคลองสียัดเหลือน้ำอยู่แค่ 23 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 6, บางพระ 12 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11, หนองปลาไหล 11 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 7 และประแสร์ 5 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 2 เท่านั้น

แล้งหน้ายังคงยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 247 แห่ง ที่จะมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์น้ำในปี 2563/2564 ที่จะเริ่มต้นปีน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2563 แน่นอน ประกอบกับการคาดการณ์ฤดูฝนปีนี้

จะมีฝนตก “น้อยกว่า” ค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 และปรากฏการณ์ลานิญา หรือฝนตกมากก็จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเท่านั้น โดยการใช้น้ำทั้งประเทศที่ผ่านมาในปี 2563 นั้น มีปริมาณ “น้อยกว่า” ปี 2562 ถึง 6,328 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อยกว่าถึง 3,103 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในปี 2564 ยังคงตกอยู่ในสถานะลำบากและคงต้องเผชิญกับภัยแล้งที่จะรุนแรงมากกว่า

ระยองเสี่ยงขาดน้ำ

โครงการชลประทานจังหวัดระยองได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ณ วันที่ 22 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตโดยอ่างเก็บน้ำดอกกราย-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ รวมทั้ง 3 อ่าง เหลือน้ำแค่ 17.71 ล้าน ลบ.ม. การส่งน้ำของบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกได้ปรับลดการใช้น้ำลง 580,000 ลบ.ม. และไม่มีการส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา ในขณะที่การประปาพัทยาต้องปรับลดการใช้น้ำลงเหลือ 80,000 ลบ.ม./สัปดาห์

คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างจากฝนตก (12 ล้าน ลบ.ม.)-การสูบน้ำจากประแสร์-การใช้น้ำก้นอ่าง คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุน 71.95 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีแผนการใช้น้ำอยู่ที่ 62.14 ล้าน ลบ.ม. ณ สิ้นเดือนมิถุนายนจะเหลือน้ำอยู่ 9.81 ล้าน ลบ.ม. แต่ถ้าไม่มีฝนตกในพื้นที่ ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง

ที่ 12 ล้าน ลบ.ม.ก็จะหมดไป ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ปริมาณน้ำคงเหลือใน จ.ระยอง จะขาดน้ำไปถึง -2.19 ล้าน ลบ.ม.ทันที ส่วนความหวังที่จะนำน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จันทบุรี มาช่วยก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปริมาณเหลือน้อยกว่า 10 ล้าน ลบ.ม.ไปแล้ว

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 7 พฤษภาคม 2563

60,000 โรงงานเตรียมตัว! กรอ.คาดเข้าข่ายต้องส่งรายงานผลปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ต.ค.นี้

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดรับฟังความเห็นจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างกฎหมาย Self-Declaration คาดว่าจะออกประกาศได้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีโรงงานกว่า 60,000 แห่งต้องจัดทำรายงานการปฏิบัติงานขององค์กร ทั้งการระบายน้ำ-นำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

 นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรายงาน กำหนดระยะเวลาการเสนอรายงาน และการให้คำรับรองรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย พ.ศ. .... หรือ Self-Declaration ซึ่งเป็นกฎหมายมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ เนื่องจากจะต้องมีโรงงานประมาณ 60,000 รายทั่วประเทศที่เข้าข่ายต้องทำรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย เช่น ให้รายงานต่อ กรอ. ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่าโรงงานได้ปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน, การส่งรายงานวิเคราะห์ปริมาณสารพิษประจำปี, การขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานอย่างถูกต้อง, การขึ้นทะเบียนผู้ควบคุมหม้อน้ำอย่างถูกต้องหรือไม่, การตรวจสอบหม้อน้ำโดยวิศวกรเครื่องกลเป็นประจำทุกปี หรือมีการซ้อมแผนฉุกเฉิน แผนอัคคีภัยเป็นประจำทุกปี เป็นต้น

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-15 พฤษภาคม 2563 ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ www.diw.go.th ส่วนระยะเวลาในการจัดทำกฎหมายดังกล่าวนั้น เริ่มจากข้อเสนอของโรงงานเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ทาง กรอ.จะมีการจัดทำสรุป และประกาศผลการรับฟังความเห็น พร้อมนำผลประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา 1 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2563 แล้วให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างกฎหมายวันที่ 16 สิงหาคม-15 ตุลาคม 2563 หากไม่มีอะไรติดขัดจะประกาศใช้กฎหมายในราชกิจจานุเบกษาได้ในช่วง 16-27 ตุลาคม 2563 และให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเริ่มทำรายงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

“ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมายเป็นประจำทุกปี และเมื่อทำครบ 2 ปีจะต้องมีการตรวจสอบ และรับรองโดยผู้ตรวจสอบเอกชนก่อนส่งให้ กรอ.ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ กรอ.ได้เตรียมไว้ โดยให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานส่งรายงานภายในวันที่ 30 เมษายนของปีที่สาม ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานทำรายงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องทำรายงานนี้ในปี 2564 และในปี 2565 และให้ผู้ตรวจสอบเอกชนตรวจสอบ และรับรองรายงานก่อนส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมภายในวันที่ 30 เมษายน 2566” นายประกอบกล่าว

 ส่วนผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ต้องทำรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 ที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น โรงงานอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, โรงงานอุตสาหกรรมแยกหรือแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ, โรงงานอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์, โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ และโรงงานอุตสาหกรรมประกอบกิจการเกี่ยวกับน้ำตาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการตรวจสอบและรับรองนั้น ทาง กรอ.อยู่ระหว่างการประมาณค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและรับรองรายงานโดยผู้ตรวจสอบเอกชน และจะได้ออกเป็นกฎหมายกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ตรวจสอบเอกชนในการตรวจสอบ และรับรองรายงานนี้ โดยคาดว่าจะยกร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ได้เสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2563

 สำหรับผู้ตรวจสอบเอกชนจะเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสอบโรงงาน และรับรองรายงานผลการปฏิบัติการตามกฎหมายดังกล่าว โดยผู้ตรวจสอบเอกชนต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผ่านการสอบและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบเอกชนจาก กรอ. ซึ่ง ณ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบเอกชน

จาก https://mgronline.com วันที่ 6 พฤษภาตม 2563

กรมเจรจา เตือนศึกษากฎใช้สารเคมี สร้างมาตรฐานสินค้าเจาะอียู

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงานจัดการเคมีภัณฑ์ของอียู (European Chemicals Agency: ECHA) ได้เปิดตัวฟังก์ชันใหม่ EUCLEF (EU Chemicals Legislation Finder) บนเว็บไซต์ echa.europa.eu เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมกฎระเบียบด้านสารเคมีและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของ  อียูไว้ในที่เดียว เช่น การควบคุมสารเคมี คุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยทางอาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า อียูให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอย่างมาก จึงมีกฎระเบียบหลายฉบับที่ควบคุมการใช้สารเคมีต่างๆ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบด้านสารเคมีของอียูไว้ใน EUCLEF จะช่วยให้ประหยัดเวลาและต้นทุนในการศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสินค้า โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อกฎระเบียบที่จะแสดงข้อมูลของสารเคมีประเภทต่างๆที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงการควบคุมการใช้สารเคมี รวมถึงการอนุญาตให้มีระดับสารตกค้างสูงสุด และยังช่วยให้ทราบถึงกฎระเบียบที่กำกับดูแลสารเคมีที่ผลิตหรือที่ใช้ในการผลิตสินค้า

นอกจากนี้ EUCLEF ยังมีระบบ Helpdesk สำหรับเป็นช่องทางติดต่อ โดยสามารถสอบถามข้อสงสัยทางเทคนิคเกี่ยวกับสารเคมีและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจสามารถศึกษากฎระเบียบด้านสารเคมี และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของอียูได้ที่เว็บไซต์ echa.europa.eu เข้าไปที่ฟังก์ชัน EUCLEF ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบัน EUCLEF จะให้บริการข้อมูลเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น

“ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบด้านสารเคมีและข้อกำหนดเกี่ยวกับสารเคมี อาทิ การผลิตและการนำเข้าสารเคมีแต่ละชนิดของอียู สารเคมีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ และระดับสารเคมีตกค้างสูงสุดในสินค้าผ่านฟังก์ชันดังกล่าว และนำมาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสู่ตลาดอียู เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังสามารถตรวจสอบและติดตามกฎระเบียบด้านสารเคมีของอียู เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานในด้านที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย” นางอรมน กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 6 พฤษภาตม 2563

เงินเฟ้อติดลบ 2.99% ต่ำสุดในรอบ10ปี9เดือน

สนค.เผยจับตาภัยแล้งกระทบผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้     ขณะที่เงินเฟ้อลดลงถึง 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน ต่ำสุดสุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน สาเหตุหลักระบาดของโควิด-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 2563ว่า อัตราเงินเฟ้อลดลงถึง 2.99% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันกับปีก่อน เป็นการหดตัวแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน

สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลง 5.28%

โดยเฉพาะหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 9.77%  ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกประเภท และเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ หมวดเคหสถาน ลดลง 4.56% จากการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และสินค้าจำเป็นหลายรายการ (ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยารีดผ้า) ปรับลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

หมวดสินค้ายกเว้นสินค้าในกลุ่มผักและผลไม้ ลดลง 4.10% และดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 2563 ลดลง 2.03%  และเฉลี่ย 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลง 0.44 %

นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ยังมีโอกาสติดลบไปถึง 2.28%และน่าจะดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หลังจากแนวโน้นการดูแลควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่สามารถจัดการดูแลได้เป็นอย่างดีน่าจะทำให้โอกาสการเปิดดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ทำได้เพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับแนวทางกระตุ้นภาคธุรกิจของรัฐบาลที่จะออกมาน่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยในระบบเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4 จะกลับมาดีขึ้นเช่นกัน

โดยปีนี้จะคาดหวังจากการท่องเที่ยวคงลำบากและสิ่งที่จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการกินของไทยใช้ของไทยและใช้มาตรการผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อมด้วยมาตรการด้านภาษีเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตรในปีนี้      ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์หลังโควิด-19

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 และแนวโน้มราคาพลังงานโลก ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ในเดือนพ.ค. 2563 โดยสถานการณ์ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ ภัยแล้งอาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ลดลงและฐานราคา

 สินค้าเกษตรบางชนิดที่สูงมากในปีก่อน โดยรวมแล้วราคาในเดือนพ.ค. 2563 น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง ติดลบ 1.0 ถึง ติดลบ 0.2%” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 5 พฤษภาคม 2563

งินบาทเปิด 32.36 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 32.25-32.45 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์(บ.)ไทยพาณิชย์ระบุว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นสหรัฐจะถูกสั่นคลอนด้วยข่าวสงครามการค้าแต่หุ้นในกลุ่มพลังงาน สาธารณูปโภค และเทคโนโลยีกลับฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวบวกขึ้น 0.4% สวนทางกับหุ้นยุโรปอย่าง Euro Stoxx 600 ที่ปรับตัวลงต่อ 2.7%

ด้านตลาดการเงินอื่น ๆ ส่วนใหญ่ดูจะไม่ได้กังวลกับสงครามการค้าครั้งใหม่นี้มาก เช่นราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่บวกต่อเนื่องติดกันเป็นวันที่สี่อีก 5.9% หลังจากสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีที่ทรงตัวในระดับ 0.63%

ส่วนตลาดเงิน ก็มีความเคลื่อนไหวไม่มากเช่นกัน เห็นได้จากเงินดอลลาร์ที่ฟื้นตัวขึ้นเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้ในช่วงห้าวันทำการที่ผ่านมามีแรงขายสกุลเงินที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันลงราว 1.0% ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ดอกเบี้ยสูงในเอเชียอย่างรูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) และริงกิตมาเลเซีย (MYR) พื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว

ส่วนของเงินบาท ยังคงไม่มีทิศทางที่ชัดเจนโดยล่าสุดเคลื่อนไหวแข็งค่าอิงไปทิศทางการฟื้นตัวของตลาดหุ้นและค่าเงินของเอเชียแม้จะยังเห็นเงินทุนต่างชาติกลับมาในตลาดไทย

ระยะสั้น เชื่อว่าควรจับตาแรงกดดันจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งอาจสร้างความผันผวนได้บ้างแม้คาดว่าจะไม่มีผลกระทบเพิ่มเติมกับทิศทางทางการค้าปัจจุบันมากนัก ขณะที่ในระยะถัดไป แนะนำจับตาไปที่การรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันศุกร์ ว่าตลาดทุนจะตอบรับอย่างไรกับภาพตลาดแรงงานที่อ่อนแอลงอย่างชัดเจนครั้งนี้

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 32.15-32.65 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 5 พฤษภาคม 2563

กรมเจรจาฯ รอลุยต่อ ดันไทยร่วม CPTPP ชี้ได้มากกว่าเสีย

ยังเป็นข้อสงสัยและถกเถียงกันว่าประเทศไทยสมควรที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือไม่ หลังจากวันที่ 27 เมษายน 2563โค้งสุดท้ายก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 28 เมษายน นายจุรินทร์  ลักษวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ขอถอนเรื่องนี้ออกจากวาระการประชุมครม. ระบุสถานการณ์ไม่เอื้อ หลังถูกคัดค้านจากหลายภาคส่วนและไทยยังมีปัญหาโควิด-19 โดยนายจุรินทร์ระบุจะไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกตราบใดที่ภาคส่วนต่าง ๆ ยังมีความเห็นไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

 -เบรกจนกว่าครม.จะเห็นชอบ

นางอรมน  ทรัพย์ ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผู้ทำงานหนักเรื่อง CPTPP ก่อนนำเสนอครม.เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การถอนวาระเรื่อง CPTPP ไม่นำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง CPTPP ของนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เวลานี้การดำเนินการในเรื่อง CPTPP ของไทยต้องหยุดเอาไว้ก่อนทั้งหมด อย่างไรก็ดีหากในอนาคตได้มีหารือและทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และสามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ และหากครม.ให้การอนุมัติก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยต้องดำเนินการตามขั้นตอน เช่น ไทยต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯเพื่อแสดงความจำนงขอเจรจาพูดคุยกับสมาชิก CPTPP อย่างเป็นทางการ

 จากนั้นจะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต

 -ที่มาการผลักดัน

สำหรับ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม  รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีประเด็นการค้า 30 ข้อบท ที่ต้องเจรจา 

 “ไทยสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวเพราะเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและสามารถขยายการลงทุนได้โดยประเทศสมาชิก 11 ประเทศ(ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม)มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน หรือ 6.7%ของประชากรโลก และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 13% ของ GDP โลก  โดยปี 2562 ไทยมีการค้ากับประเทศสมาชิก CPTPP มีมูลค่า 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 31.5% ของการค้ารวมของไทย”

 -ผลได้เสียหากร่วม-ไม่ร่วม

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งคณะทำงานเตรียมพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งจากผลการศึกษา ชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัว 0.12%  คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท และการลงทุนจะขยายตัว 5.14%  คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท  รวมไปถึงจะช่วยให้การส่งออกของไทยจะขยายตัวจากการเปิดตลาดเพิ่มเติมกับสมาชิก CPTPP ที่ไทยมี FTA ด้วย และกับประเทศที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วยในกลุ่มนี้ คือ แคนาดา และเม็กซิโก  รวมถึงเป็นการเปิดตลาดสินค้าไทยในกลุ่มอาทิ เนื้อไก่สด/แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และผลไม้สด/แห้ง

ส่วนผลเสียหากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP ผลการศึกษาชี้ว่า GDP ไทยจะลดลง 0.25% หรือเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนจะลดลง 0.49% หรือเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท และการส่งออกไทยจะลดลง 0.19% หรือ 14,560 ล้านบาท  กระทบไปถึงการจ้างงานและผลตอบแทนที่แรงงานจะได้รับลดลง 8,440 ล้านบาท

 “การเข้าร่วมความตกลงย่อมมีได้-เสีย แต่หากมองในแง่ดีจะเห็นว่าเป็นการยกระดับกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งจากต่างชาติและไทยเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการรักษาสถานะของไทยในห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว แต่หากไม่เข้าร่วมจะเสียโอกาสในการขยายการค้าและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภูมิภาคในระยะยาวให้กับประเทศคู่ค้าได้”

 -เคลียร์ข้อกังวลชัด

สำหรับข้อกังวลต่าง ๆ ที่หลายภาคส่วนทั้ง เอ็นจีโอ ภาคเอกชนที่ออกมาแสดงความกังวลหากไทยเข้าร่วมความตกลงไม่ว่าจะเป็นการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ  การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน เกษตรกรจะซื้อเม็ดพันธุ์แพงขึ้นนั้น ยืนยันว่า เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมถึงสมุนไพรและพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม  แต่สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองมีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้ และยังสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ ตามข้อตกลงของ UPOV 1991 Article 15

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤษภาคม 2563

เกือบ6หมื่นโรงงานเฮ ครม.ไฟเขียวเว้นค่าธรรมเนียม1ปี

โรงงานเกือบ 6หมื่น แห่งทั่วประเทศ เฮ! หลัง ครม.ไฟเขียวเว้นค่าธรรมเนียม 1 ปีตามมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ลดผลกระทบความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ คาดรัฐสูญรายได้ 231 ล้านบาท

 นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  หรือคาดว่ากฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดประมาณต้นเดือน มิ.ย. 63 เบื้องต้นมีโรงงานที่ได้รับอานิสงส์ 56,598 ราย และคาดว่าภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 231 ล้านบาท

ทั้งนี้การยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงานถือเป็น1 ในมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการโรงงานจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง และจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมมากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป

“การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกได้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ หลายประการ เช่น ด้านการท่องเที่ยว, ด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงด้านการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยผลกระทบดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบกิจการโรงงานด้วย โดยเฉพาะผลกระทบต่อรายได้ที่ตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้นการลดค่าธรรมเนียมถือเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการลดภาระ และบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงงาน อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้หลัง ครม.อนุมัติแล้ว ก็จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วนต่อไป” นายประกอบ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤษภาคม 2563

หอการค้าฯผิดหวังแบน2สาร

สภาหอการค้าฯผิดหวัง คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนแบน 2 สารเคมี ตามมติ วันที่ 27 พ.ย. หวั่นลามชิ่งกระทบวัตถุดิบอาหารสัตว์-ยันบะหมี่นำเข้าไม่ได้ เชื่อกระทบผู้บริโภคค่าครองชีพถีบตัวสูงแน่

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน(30 เม.ย.2563)มีมติคงการประกาศแบนวัตถุอันตราย 2 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) ที่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ขณะที่การหาสารทดแทนนั้น ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปจัดหาสารทดแทนมาใหม่ เนื่องจากสารทดแทนเสนอมา 3-4 ชนิด มีราคาสูงมาก และนำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุมนัดถัดไปในเดือนพฤษภาคมนี้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รู้สึกผิดหวังกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ยกเลิกการใช้สารดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ มาม่า ไวไว ผลิตไม่ได้เลย รวมทั้งอาหารสัตว์ก็หยุดหมด วัตถุดิบหรือสินค้าจะนำเข้ามาได้อย่างไร เพราะกำหนดค่าสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance)

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

จี้รับมือRCEPก่อน5ชาติยึดไทยศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน

จับตา RCEP ไทยต้องพร้อมรับมือ ก่อนที่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ยึดไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าไปทั่วโลก

 นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าราวต้นปีหรือกลางปี2564 อาจจะมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งก็คือ asean + 5 ซึ่งเป็นความตกลงการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับ BRI ( Belt and Road Initiative)

“ความจริงต้องเป็น asean + 6 แต่อินเดียกลัวเสียเปรียบดุลการค้าจีนบวกกับเรื่องการเมือง อินเดียจึงยังไม่พร้อม  ส่วนอีก 5 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่มากของโลก ถ้ารัฐบาลไทยไม่เตรียมตัวรับมือ สิ่งที่จะตามมาคือ5ชาติจะบุกไทยเข้มข้นขึ้นและยึดไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าไปทั่วโลก”

ทั้งนี้การค้าระหว่างไทยกับ RCEP จะมากขึ้น การค้าและบริการใหม่ๆที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญจะมีบทบาททางการค้าและการลงทุนใน asean มากขึ้น เช่น สินค้าจากอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจาก 14 ประเทศเมื่อเข้าไทยจะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้ามากขึ้น สินค้าไทยก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าใน 14 ประเทศเช่นกัน จะมี 5 ชาติคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เข้ามาลงทุนธุรกิจ Logistics ในไทยมากขึ้น เพื่อครอบคลุมระบบ Logistics ใน GMS ( Greater Maekhong Subregion มี 6 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และไทย )

รวมทั้ง ASEAN และ อินเดีย เพราะปัจจุบันไทยสามารถไปอินเดียทางบกผ่านแม่สอดไปเมียวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองทางเหนือของเมียนมา เข้าสู่หมู่บ้าน Moreh ของแคว้นมณีปุระในอินเดียโดยใช้เวลา เพียง15-20 วัน และหากถนนจาก Moreh ถึงมัณฑะเลย์ระยะทาง 400 กม ปรับปรุงเรียบร้อย รถบรรทุกสินค้าจากแม่สอดจะถึงแคว้นมณีปุระของอินเดียไม่เกิน 12 วัน ในขณะที่หากสินค้าไปทางเรือจากแหลมฉบังไปแคว้นมณีปุระจะใช้เวลา 25 วัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

ยัน“บุรีรัมย์”ไม่ขาดน้ำกินน้ำใช้ ชป.เดินหน้าผันน้ำเติมอ่างฯ

กรมชลประทานเดินหน้าผันน้ำเติมอ่างฯห้วยจระเข้มาก สนับสนุนน้ำเพื่อผลิตประปาช่วยชาวบุรีรัมย์ มั่นใจไม่ขาดน้ำกินน้ำใช้

 นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน(ชป.) เปิดเผยว่า โครงการชลประทานบุรีรัมย์ได้ทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย มาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ร่วมระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร  โดยเริ่มทำการผันน้ำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 น้ำเดินทางมาถึงยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากแล้ว รวมปริมาณน้ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)

ด้านนายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า นอกจากปริมาณน้ำดังกล่าวแล้ว โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการผันน้ำตามจุดที่เป็นอาคารขวางทางน้ำต่างๆ  เพื่อเร่งการผันน้ำไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศให้เร็วและให้ได้ปริมาณมากที่สุด อีกทั้งยังพิจารณานำน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงไปเติมยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ ได้แก่ น้ำในลำปลายมาศ ประมาณ 60,000 ลบ.ม. น้ำจากด้านท้ายฝายลำปลายมาศ ประมาณ 80,000 ลบ.ม. และน้ำจากบริเวณด้านหน้าฝายบ้านโคกขาม ประมาณ 200,000 ลบ.ม. และมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

ไทยเผชิญภัยแล้งหนัก พืชเศรษฐกิจปี 63 คาดเสียหาย 2.6 หมื่นลบ.

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ระบุสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 รุนแรงกว่าปี 2558 ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 2.93 ล้านราย  พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 27.7 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายราว 2.6 หมื่นล้านบาท 

 ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้เผยแพร่รายงานหัวข้อเรื่อง "จับตาผลกระทบภัยแล้งต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563" ระบุว่า ......สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากในปี 2562 ได้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino)1/ ทำให้ฤดูร้อนยาวนานกว่าปกติ และมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 28.1 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 69 ปี (พ.ศ. 2494-2562) รวมทั้งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เป็นปีที่เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 20 ปี

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศของปี 2562 อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2562 ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้ง ประเทศอยู่ที่ 20,739 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ (<=30%) ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำต้นทุนในเขื่อนที่เก็บสะสมไว้ใช้ในปี 2563 ประกอบกับปริมาณฝนสะสม 3 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 74 มิลลิเมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 และปี 2562 ที่ร้อยละ -20.5 และ -41.0 ตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศในปี 2563 มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศ ณ วันที่ 3 เมษายน 2563 อยู่ที่ 12,591.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 และปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ -18.0 และ -37.5 ตามลำดับ ซึ่งภาคที่มีปริมาตรน้ำลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปี 2558 ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก อยู่ที่ร้อยละ -59.4, -44.1 และ -41.8 ตามล้าดับ ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2563 จะรุนแรงมากขึ้น หากเกิดฝนทิ้งช่วงที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

 โดยภาพรวม ณ วันที่ 3 เม.ย.2563 ปริมาตรน้ำในเขื่อนทั้งประเทศมีจำนวน 36,134 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุเขื่อนทั้งหมด และปริมาตรน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้ทั้งประเทศมีจำนวน 12,592 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ (<=30%) โดยภาคที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อนในระดับเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อย วิกฤติ (<=50%) ได้แก่ ภาคกลาง, ภาคะวันออก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งมีปริมาตรน้ำในเขื่อนคิดเป็นร้อยละ 17, 23, 35 และ 38 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ตามลำดับ โดยปริมาตรน้ำที่น้อยจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร, การอุปโภคบริโภค และนิคมอุตสาหกรรมให้ได้รับความเสียหาย

พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งประเทศมีทั้งหมด 102.3 ล้านไร่ และมีพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในเขตที่มีปริมาตรน้ำในเขื่อนอยู่ระดับเกณฑ์น้ำน้อยถึงน้ำน้อยวิกฤติ (<=50%) สูงถึง 92.1 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งประเทศ ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งหากฝนทิ้งช่วงนาน ก็จะกระทบกับผลผลิตของข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งมีช่วงฤดูเก็บเกี่ยวในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2563 รวมทั้งผลกระทบต่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น คาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 2,930,673 ราย และคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง จะปรับลดลงอยู่ที่ 27.7 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -12.9 ส่วนผลผลิตทั้งหมดคาดว่าจะปรับลดลงอยู่ที่ 115.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -31.6 โดยแบ่งออกเป็นข้าวนาปรัง 4.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -32.9, อ้อย 85.0 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -35.1 และมันสำปะหลัง 26.0 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -16.3

จากสถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลงจนกระทบต่อก้าลังซื้อเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งความสามารถในการช้าระหนี้ลดลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการที่ท้าธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น ธุรกิจขายอุปกรณ์ทางการเกษตร เมล็ดพันธ์ ปุ๋ย ยาก้าจัดศัตรูพืช เป็นต้น ให้มีรายได้ลดลง การบริโภคลดลง และกระทบต่อการขยายทางเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินคาดว่า มูลค่าความเสียหายผลผลิตของพืชเศรษฐกิจสำคัญอยู่ที่ 26,012 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.0 ต่อ GDP ภาคเกษตร  โดยแบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายจากผลผลิตข้าวนาปรังจำนวน 17,629 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคกลาง, มูลค่าความเสียหายจากผลผลิตอ้อยจ้านวน 5,939 ล้านบาทส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมูลค่าความเสียหายจากผลผลิตมันส้าปะหลังจ้านวน 2,444ล้านบาท ส่วนใหญ่เพาะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากคาดว่ามีแนวโน้มที่รุนแรงกว่า ปี 2558 ซึ่งเป็นปีเกิดภัยแล้งรุนแรงสุด และมูลค่าความเสียหายอาจจะเพิ่มขึ้นได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของช่วงฤดูแล้งซึ่งคาดว่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ยังคงต้องติดตามปรากฏการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือน พ.ค. - มิ.ย. 2563 ที่อาจจะเกิดขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2563

อาเซียนเตรียมถกนัดพิเศษ รั้งเศรษฐกิจภูมิภาคดิ่งเหว

ชงจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัยพิเศษ พ.ค.นี้ รับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 แง้มข่าวดี เวียดนามพร้อมลงนาม MRA ยานยนต์ ขณะระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนใช้งานได้ 1 ก.ย.ปีนี้แน่นอน

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/51 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา โดยไฮไลต์สำคัญของการประชุมคือการเร่งหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้การค้าการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ประชุมตกลงเสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (Special AEM) ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาร่างแผนงานที่เจ้าหน้าที่อาวุโสจะจัดทำขึ้น ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563

นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้มีข่าวดีสำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ โดยเวียดนามพร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ยานยนต์ได้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 52 เดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่การหารือจัดทำ MRA สินค้าวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน ทั้งนี้ เมื่อ MRA มีผลบังคับใช้จะทำให้การส่งออกสินค้ายานยนต์และวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศสมาชิกมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องตรวจสอบรับรองมาตรฐานซ้ำอีก หากผ่านการตรวจรับรองจากต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองที่เป็นระบบเดียวกันทั้งอาเซียนนั้น ทุกประเทศยืนยันว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2563 แน่นอน

นอกจากนี้อาเซียนยังได้หารือกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญอีก 5 การประชุม ประกอบด้วย (1) จีน ได้ตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีในเรื่องการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน และการรับมือกับโควิด-19 (2) ญี่ปุ่น หารือแผนปฏิบัติการภายใต้ถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นเรื่องความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และการเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ในความตกลง AJCEP ซึ่งญี่ปุ่นกำลังจะให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับประมาณกลางปีนี้

 (3) เกาหลีใต้ หารือแนวทางการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) และหารือแนวทางและมาตรการในการรับมือโควิด-19 โดยตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีในเรื่องนี้ (4) การหารืออาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ได้ตกลงที่จะให้มีถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในเรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหารือการจัดทำการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศอาเซียนบวกสาม (5) แคนาดา เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา โดยแคนาดาพร้อมจะสนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้ในสาขาที่อาเซียนยังขาดประสบการณ์ให้อาเซียนผ่านระบบทางไกลอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีน(ส่งออก+นำเข้า) มีมูลค่า 79,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น 57,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และเกาหลีใต้ 13,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2563

อีอีซีรอดแน่ภัยแล้งปี63กรมชลฯการันตี

กรมชลประทาน-ภาคการผลิตโล่ง พ้นแน่แล้งนี้มีน้ำเพียงพอถึงหน้าฝน  กรมชลประทานไม่วางใจเดินหน้าผันน้ำเติมในอ่างใหญ่ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคมนี้

 นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่9 เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภัยแล้งจะสิ้นสุดวันที่  30 มิถุนายนนี้ ยืนยันว่าพื้นที่อีอีซี  หรือการใช้น้ำใน 3 จังหวัด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา รอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้งในปีนี้แน่นอน

“นับตั้งแต่วันนี้(1พ.ค.63) ยืนยันได้เต็มปากว่าเราผ่านวิกฤติภัยแล้งปี63แล้ว และในเดือนกรกฎาคมก็ยังสามารถดึงแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำหลักได้อีก  เช่น สูบน้ำมาจากคลองสะพาน เพื่อมาเติมในอ่างเก็บน้ำประแสร์  วันละ 2 แสนลบ.ม. และสูบน้ำมาจากแม้น้ำระยองมาเติมในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลวันละ1.5 แสนลบ.ม. โดยทั้ง 2 แหล่งนี้จะมีการเติมน้ำตั้งแต่เดือนพ.ค.- ต.ค.2563  ส่วนที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตจะมาเติมที่อ่างเก็บน้ำบางพระวันละ5แสนลบ.ม.  และที่แม่น้ำบางปะกงจะผันน้ำมาเติมที่อ่างเก็บน้ำบางพระวันละ2 แสนลบ.ม.  ทั้ง2แห่งนี้จะเริ่มผันน้ำมาเติมตั้งแต่เดือนก.ค.-ต.ค.2563”

ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่9 กล่าวอีกว่า ปกติการใช้น้ำดิบในจังหวัดระยองจะใช้เพื่ออุตสาหกรรมเป็นหลัก ส่วนที่จังหวัดชลบุรีการใช้น้ำดิบส่วนใหญ่จะป้อนไปยังการประปาส่วนภูมิภาค   โดยที่ระยองจะใช้น้ำต่อวันราว 977,000 ลบ.ม.ต่อวัน ที่ชลบุรีจะใช้น้ำดิบต่อวันราว 405,000ลบ.ม.ต่อวัน

ด้านนายสงวน แสงวงศ์กิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กล่าวว่าในแง่ภาคการผลิตที่ต้องใช้น้ำดิบเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นว่าปริมาณน้ำรองรับในปีนี้จะเพียงพอจนสามารถผ่านภัยแล้งนี้ไปได้ บวกกับกว่า 1 สัปดาห์มานี้มีฝนตกในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานที่มีการวางแผนมาอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมรับมือปัญหาน้ำร่วมกันทุกสัปดาห์ และทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวลดการใช้น้ำลง  จากปกติระยองและชลบุรี ฉะเชิงเทราต้องใช้น้ำมาจากแหล่งน้ำระยองมากถึง 1.2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ก็ลดลงมาเหลือ 1.1 ล้านลบ.ม.ต่อ วัน  และล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 800,000-900,000 ลบ.ม.  และมีฝนตก มีการทำฝนเทียมฝนหลวงมาช่วยอีก  นอกจากนี้การที่ฝนตกในพื้นที่ยิ่งทำให้เกษตรกรใช้น้ำลดลง

“แล้งนี้เรารอด แต่ก็ยังต้องดูปริมาณฝนด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน และในปีนี้ทุกภาคส่วนก็ควรรับมือเตรียมความพร้อมสู้ภัยแล้งในปี 2564 บางพื้นที่ยังต้องใช้งบในการติดตั้งเครื่องดูดน้ำเพื่อลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีกที เช่นดูดน้ำไปลงในอ่างเก็บน้ำประแสร์  หรือการดูดน้ำจากคลองต่างๆที่อยู่ใต้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นำน้ำมาเก็บในอ่างขนาดใหญ่เพื่อจะได้มีน้ำต้นทุนไว้สำหรับปีต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ถ้ารัฐปล่อยงบต่อเนื่องจนทันในฤดูฝนนี้ก็จะยิ่งดูดน้ำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำหลักได้เพียงพอที่จะรับมือกับภัยแล้งปีต่อไปได้อีก

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นเมื่อต้นปี2563 ภาคการผลิตต่างมีความกังวลถึงวิกฤติภัยแล้งโดยเฉพาะการใช้น้ำจากภาคเอกชน   โดยภาคเอกชนสมาชิกส.อ.ท.  ยืนยันชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ  และเมื่อไปสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก 2 แห่งคืออ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลและอ่างเก็บน้ำดอกกรายพบว่าปริมาณน้ำลดลงไปมาก และคาดการณ์ว่าจะสามารถใช้น้ำได้ถึงเดือนเมษายน 2563 และมองว่าถ้าไม่มีฝนลงมาถือว่ามีความเสี่ยงสูง  หากฝนไม่ตก หรือตกช้า และการผันน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผันไม่ทัน เชื่อว่าจะกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม  จนล่าสุดมาถึงวันนี้ความกังวลเริ่มคลี่คลายลงแล้ว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 1 พฤษภาคม 2563

‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ภูมิปัญญาปราชญ์พิษณุโลก แก้ปัญหาภัยแล้งระยะยาว-ยั่งยืน

นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในจ.พิษณุโลก มีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 23,817 ไร่ ส่วนใหญ่พบในอำเภอวัดโบสถ์ ชาติตระการ และเนินมะปราง (ข้อมูล ณ 23 เมษายน 2563 จากรายงานผลกระทบต่อภาคการเกษตรของเชื้อไวรัส COVID-19 และปัญหาภัยแล้งของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก) สินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ ได้แก่ มันสำปะหลัง และไม้ผล (ทุเรียน มะม่วง) ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เกษตรกรจึงควรมีการบริหารจัดการน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งที่มุ่งเน้นรักษาแปลงไม้ผลให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ภัยแล้งปีนี้ให้ได้ โดยเร่งสร้างแหล่งน้ำเพื่อใช้สำหรับดูแลรักษาต้นพืชให้เพียงพอตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นแนวทางการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งได้ในระยะยาวและยั่งยืน

จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร พบว่า ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรที่นำหลักการสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หรือเรียกว่า “แก้มลิงที่มองไม่เห็น” มาประยุกต์สร้างแหล่งน้ำในไร่นาของตนเอง โดยจากการสัมภาษณ์นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก บอกเล่าว่า ตนได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากข้อมูลข่าวสารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วิธีการสังเกตบ่อบาดาล ที่ขุดเจาะไว้ ในช่วงฤดูแล้ง พบว่า เมื่อสูบน้ำไปได้ระยะหนึ่งน้ำก็จะแห้ง ไม่สามารถสูบได้อีก และช่วงฤดูฝนน้ำที่ท่วมขังบริเวณบ่อ จะแห้งเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ ซึ่งจากการสังเกตดังกล่าวจึงได้ทดลองขุดบ่อเพิ่มอีกหนึ่งบ่อเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน ผลพบว่า สามารถเติมน้ำในบ่อได้จำนวนมากโดยไม่เต็ม และในขณะที่ฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังบริเวณบ่อ น้ำจะไหลลงไปใต้ดินได้เร็วขึ้นทำให้พืชที่เพาะปลูกในบริเวณดังกล่าวไม่ได้รับความเสียหาย อีกทั้งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการสศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ของนายทองปาน ทำได้ง่ายและใช้เงินทุนไม่มาก โดยหาจุดที่มีน้ำท่วมขัง ทำการขุดบ่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ระดับน้ำที่ท่วมขัง สภาพชั้นดิน และชั้นหิน ขุดบ่อให้ลึกประมาณ 1-3 เมตร ให้ทะลุชั้นดินเหนียว จากนั้นให้ใส่ท่อพีวีซี ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ไว้ตรงกลางบ่อให้พ้นจากพื้นดินเพื่อเป็นท่อระบายอากาศ นำเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชนใส่ลงไปในบ่อ เช่น กรวด หิน ขวดน้ำ ยางรถยนต์ เป็นต้น โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างแหล่งน้ำใต้ดินประมาณ 4,000-5,000 บาท/บ่อ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 2 บ่อ สำหรับใช้ ในฟาร์มบนเนื้อที่ปลูก 16.75 ไร่ ทำการผลิตแบบอินทรีย์ แบ่งตามสัดส่วนเป็นข้าวพันธุ์หอมปทุมและพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ 4 ไร่ ไม้ผล 5 ไร่ พืชผัก/สมุนไพร 6 ไร่ ไม้สัก 0.5 ไร่ และสระน้ำเพื่อการเกษตร 1.25 ไร่ สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรหลายรายที่ให้ความสนใจ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนองค์ความรู้ หรือเงินทุนให้แก่เกษตรกรที่มีความพร้อมเพื่อใช้สำหรับสร้างแหล่งน้ำกักเก็บน้ำฝนให้มีปริมาณเพียงพอต่อพื้นที่การเกษตรของตนเอง หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายทองปาน เผ่าโสภา ปราชญ์ชาวบ้าน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หมู่ที่ 14 ตำบลหนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โทร. 08-6206-3680

จาก  https://www.naewna.com   วันที่ 1 พฤษภาคม  2563