http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนพฤษภาคม 2564]

รัสเซีย-ยูเรเซียประกาศ ตัดสิทธิGSPไทย

รัสเซีย-มาชิกยูเรเซีย ประกาศตัดสิทธิGSPสินค้าไทย 12 ต.ค.นี้ หลังพบไทยไม่เข้าเกณฑ์รับสิทธิ ทำไทยต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ด้านกรมการค้าต่างประเทศ ชี้กระทบส่งออกไทยไม่มาก เหตุไทยส่งออกไปมูลค่าน้อย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย อาร์เมเนีย เบลารุส คาซัคสถาน และคีร์กีซสถาน ได้มีมติทบทวน และเพิกถอนประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป เพราะไทยไม่เข้าเกณฑ์การได้รับสิทธิ์ เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารโลก ได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน จากเกณฑ์ที่กำหนดคือ ประเทศที่จะได้รับจีเอสพี ต้องไม่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน หรือกลุ่มรายได้สูง ตามการจัดอันดับของธนาคารโลก

โดยมติดังกล่าว ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค.64 เป็นต้นไป ไทยจะไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีจาก ยูเรเซียอีกต่อไป และหากจะส่งออกสินค้าไปยังยูเรเซีย จะต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (เอ็มเอฟเอ็น) จากในช่วงที่ได้รับจีเอสพี สินค้าที่ส่งออกจากไทยเสียภาษีนำเข้าต่ำเพียง 75% ของอัตราภาษีปกติ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น และเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ที่ไม่ถูกตัดสิทธินั้น

แม้ว่ายูเรเซียจะตัดสิทธิจีเอสพีประเทศไทย แต่ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าไปยูเรเซียได้อยู่ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ จากการที่ได้รับสิทธิ เสียภาษีในอัตราต่ำ และม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยูเรเซียมากนัก เพราะแต่ละปี ไทยส่งออกไปยูเรเซียน้อย อย่างไรก็ตาม กรมจะหารือกับผู้ส่งออกไทย ในการเตรียมความพร้อมรองรับการถูกตัดสิทธิ หาแนวทางลดผลกระทบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยสำหรับการทบทวนดังกล่าว เป็นการปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งจะทำในทุกๆ 3 ปี และจากการปรับปรุงในครั้งนี้ ทำให้เหลือประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีจากยูเรเซีย อยู่เพียง 29 ประเทศ จากก่อนหน้านี้ที่มี 103 ประเทศ และเหลือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี 48 ประเทศ จาก 50 ประเทศ โดยประเทศที่ถูกตัดสิทธิเช่นเดียวกับไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยยังคงได้รับสิทธิจีเอสพี คือ สหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, และนอร์เวย์ โดยในแต่ละปี ไทยใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปรัสเซียประมาณ 100 กว่าล้านดอลลาร์ ซึ่งปี 63 ไทยใช้สิทธิเพียง มี 133.92 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.81% จากปี 62  และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 81.23% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิส่วนในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 64 มูลค่าการใช้สิทธิ 19.79 ล้านดอลลาร์ ลดลง 20.18% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.62% สินค้าที่ใช้สิทธิส่งออก เช่น สับปะรดกระป๋อง, ผลไม้และลูกนัต, เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง, มะนาว, ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

7 โรงงานน้ำตาลมิตรผล ชูใบรับรอง IPHA ย้ำมาตรฐานผลิตปลอดภัยโควิด

7 โรงงานน้ำตาลกลุ่มมิตรผล คว้าใบรับรอง IPHA ตอกย้ำมาตรฐานการผลิตปลอดภัย ห่างไกล COVID-19

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทย ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัย IPHA : Industrial and Production Hygiene Administration จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ครบทั้ง 7 โรงงานน้ำตาลในประเทศไทย ซึ่งช่วยย้ำถึงมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยในกระบวนการผลิตสินค้า

“กลุ่มมิตรผล เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของสินค้า รวมถึงความปลอดภัยของลูกค้า คู่ค้า ผู้บริโภค ชุมชน และพนักงานในองค์กรทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เรามีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อยกระดับความปลอดภัยสูงสุด เพื่อควบคุมและป้องกันการปนเปื้อน ทั้งในสถานประกอบการ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าที่มีมาตรฐานและปลอดภัยจากโควิด-19 ทำให้เราได้รับการรับรองมาตรฐาน IPHA ครบทั้ง 7 โรงงานน้ำตาล”

อีกทั้งเรายังได้จัดเตรียมแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ ขององค์กรสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อคู่ค้า ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

โดยกลุ่มมิตรผลมีมาตรการในการจัดการที่สอดคล้องกับมาตรฐาน IPHA 3 หมวด ดังนี้

1.การบริหารจัดการสุขอนามัยในสถานประกอบการ-มีมาตรการควบคุมและป้องกันในการจัดสถานประกอบการออกเป็นส่วน ๆ เพื่อลดความแออัด และทำความสะอาดอุปกรณ์การใช้งานให้สะอาดอยู่เสมอ

2.การบริหารจัดการสุขอนามัยในกระบวนการและอาคารผลิต-กระบวนการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อมของกลุ่มมิตรผลเป็นระบบปิดที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติตลอดทั้งกระบวนการ ภายใต้อุณหภูมิความร้อนสูง 65-100°C และในกระบวนการผลิตน้ำเชื่อมยังมีระบบฆ่าเชื้อแบบ UV Light System นอกจากนี้ กระบวนการผลิตและบรรจุสินค้ายังได้รับการรับรองมาตรฐานสากล GMP&HACCP และ FSSC 22000 จึงมั่นใจได้ว่ามีความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และมีการควบคุม ตรวจสอบการขนส่ง เคลื่อนย้าย การจัดเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ ด้วยการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามระยะความถี่ที่เหมาะสม

3.การบริหารจัดการสุขอนามัยของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด-มีการควบคุมมาตรฐานการทำงานของพนักงานอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การตรวจคัดกรองสุขภาพ การสวมชุดยูนิฟอร์มที่กำหนด พ่นมือด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ ในระหว่างปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงานในแต่ละจุด 1.5 เมตร รวมถึงมีการคัดกรองความเสี่ยงบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เข้าพื้นที่ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ที่จัดเตรียมไว้ให้ และอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด

นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ปัจจุบันยังคงมีความรุนแรง กลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับ บมจ.บ้านปู จัดตั้งกองทุน “มิตรผล-บ้านปู รวมใจ ช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่ผ่านมา เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชน สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์และพยาบาล รวมถึงบุคลากรทัพหน้าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเข้มแข็งและเสียสละเพื่อคนไทยทุกคน

ซึ่งปัจจุบันได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 270 ล้านบาท โดยกระจายกำลังกันไปช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงชุมชนและเกษตรกรชาวไร่ที่เราดูแลอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 215 หน่วยงาน ครอบคลุม 35 จังหวัด เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังใจที่จะช่วยให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างเร็วที่สุด

มาตรฐาน IPHA หรือ Industrial and Production Hygiene Administration เป็นมาตรฐานที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันอาหาร และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ได้ร่วมกันวางกรอบพิจารณา เพื่อมอบให้แก่สถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการสถานที่ กระบวนการผลิต และบุคลากร รวมถึงมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่ถูกต้องและครบถ้วนตามเกณฑ์ของ IPHA แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการเพื่อป้องกัน COVID-19 อย่างชัดเจน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

หรือเงินเฟ้อจะมา

จับสัญญาณ "เงินเฟ้อ" กำลังจะมาหรือไม่? เมื่อดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และผู้บริโภค (CPI) ปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐ ยุโรป จีน หรือแม้แต่ในไทยเอง ซึ่งสอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งโลหะอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และพลังงาน ต่างก็ปรับขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีเช่นกัน

ภาพเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเงินเฟ้อที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นนี้จะอยู่ยาว และทางการไม่สามารถที่จะควบคุม โดยในฝั่งตลาดการเงิน เริ่มเห็นตัวเลขความคาดหวังเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีข้างหน้าปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน ขณะที่การสำรวจความคาดหวังเงินเฟ้อของสหรัฐใน 1 ปีข้างหน้าปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 4.5% ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณของผู้ประกอบการในสหรัฐที่บอกว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้และพร้อมจะขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปในระยะต่อไป ไม่ว่าจะไปราคาขายปลีกน้ำมัน ซีเรียลอาหารเช้า ผ้าอ้อมเด็ก น้ำยาซักผ้า รวมถึงสินค้าใหญ่ๆ เช่น บ้านและรถยนต์

นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคาดไว้ระดับหนึ่ง โดยจากแบบจำลองของผู้เขียน เงินเฟ้อทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สองก่อนที่จะเริ่มปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าแม้ทิศทางจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่อัตราที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่าที่ได้คาดไว้

คำถามสำคัญคือ แล้วในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะมีสิทธิลงได้หรือไม่ หรือจะขึ้นแล้วขึ้นเลย ซึ่งจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขึ้นในช่วงนี้ อันได้แก่

ปัจจัยที่หนึ่ง ได้แก่ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมือง (Pent up demand) กับปัญหาฝั่งการผลิต (Supply shortage) ดังที่เราทราบกันดี ในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ทำให้การผลิตของวัตถุดิบต่างๆ ลดลง และเมื่อความต้องการกลับมา ทำให้การผลิตสินค้าต่างๆ มีมาไม่ทัน

ผู้ผลิตยาลดน้ำหนักชาวไทยถูกเนรเทศจากอเมริกาและถูกยึดเงินทั้งหมด!

นอกจากนั้น ภาคการผลิตสินค้าต่างๆ ยังมีปัญหาเฉพาะตัว เช่น ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐไม่เร่งเพิ่มการผลิตเพราะเชื่อว่าในระยะยาวความต้องการน้ำมันจะลดลง ในขณะที่การผลิตสินแร่อุตสาหกรรมเช่นสินแร่เหล็กนั้นมีปัญหาจากการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางการจีนควบคุมการผลิตในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณมีน้อยท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ที่มีปัญหาขาดแคลนในปัจจุบัน จากการที่ฝั่งเอเชียมีการส่งออกจำนวนมากแต่ฝั่งซีกโลกตะวันตกไม่มีการส่งออกสินค้ามากเท่า ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างเติ่งที่ซีกโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ความต้องการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ ในฝั่งของทองแดงก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์เบา เช่น ธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็มีปัญหาในแง่แรงงานในการเก็บเกี่ยวที่หายไป เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังมีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวที่จะนำพาเชื้อไวรัสกลับมาระบาดในประเทศของตน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานขึ้น

ในฝั่งของแรงงาน ในปัจจุบันค่าแรงในสหรัฐเริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้นในหลายจุด ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานใหม่ที่ลดลงมาก (เดือนล่าสุดอยู่ที่ 2.4 แสนตำแหน่ง ขณะที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตำแหน่ง) ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่ปรับขึ้นสู่ระดับ 8 ล้านตำแหน่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงแรงงานเข้ามาทำงานในธุรกิจของตน

ปัจจัยที่สองที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะโภคภัณฑ์ขึ้น เป็นผลจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เกิดการเก็งกำไร เป็นผลให้ราคาสินค้า-สินทรัพย์ต่างๆ ทั้งในโลกจริงและโลกการเงินปรับเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากราคาโภคภัณฑ์จะปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินต่างปรับตัวขึ้นในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งสิ้น

ปัจจัยที่สาม ได้แก่ ปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว อันเป็นผลจากวิกฤติโควิด ขณะที่ราคาในปีนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลให้การเปลี่ยนแปลงรายปี (year-on-year change) ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากราคาได้ปรับเข้าสู่ฐานใหม่แล้ว เงินเฟ้อก็จะทรงตัวได้ในระยะต่อไป

ดังนั้น ผู้เขียนจึงยังคงเชื่อว่าเงินเฟ้อครั้งนี้จะเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional โดยยอมรับว่าปัจจัยส่วนหนึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มอย่างถาวร เช่น ค่าจ้าง แต่ก็มองว่าไม่น่าจะปรับขึ้นไปอีกมากนัก เนื่องจากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่แรงงาน (โดยเฉพาะระดับล่าง) ไม่สมัครงานนั้นเนื่องจากเงินสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐ (ซึ่งกำลังจะหมดในเดือน ก.ย.) นั้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจที่จะไปทำงาน ขณะที่แรงงานที่ใช้ทักษะสูงนั้นต้องใช้เวลาในการหางาน หรือพัฒนาทักษะให้เพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง

ในขณะที่ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์กับความต้องการที่สูงขึ้นนั้น จะเริ่มลดทอนในระยะถัดไป ทั้งจาก (1) การผลิตที่เพิ่มขึ้น (2) ปัญหาคอขวดต่างๆ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มลดลง (3) แรงงานต่างด้าวสามารถกลับเข้ามาทำงานได้มากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลง และ (4) ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมากในระยะสั้นนั้น ลดลงหลังจากได้บริโภคสินค้าและบริการเหล่านั้นแล้ว

ในขณะที่ระยะยาว ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างจะยังกดดันเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นมาก ทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น และภาวะสังคมสูงวัย ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง เป็นต้น แต่ก็ยอมรับว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจทำให้ราคาสินค้า วัตถุดิบ รวมถึงบริการบางอย่างอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น ราคาทองแดง ราคาบ้านแนวราบในชานเมือง และค่าใช้จ่ายดูแลด้านสุขภาพ

แต่ถ้าผู้เขียนจะผิด และเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและนักลงทุน เนื่องจากภาคการเงินจะกลับมาเป็นปกติ ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นบ้าง และเศรษฐกิจก็จะกลับมาดำเนินได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนโอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งทะยานฉุดไม่อยู่อย่างในช่วงทศวรรษที่ 70-80 นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ยาก

เงินเฟ้อกลับมาแล้ว แต่จะรุนแรงและยาวนานจนฉุดไม่อยู่หรือไม่ อนาคตเท่านั้นที่จะตอบได้

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

จับตาส่งออก-ลงทุนไทยปี 2564 ตัวแปรพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

การส่งออกและการลงทุนในไทยปี 2564 เริ่มกลับมาส่งสัญญาณที่สดใสให้เห็นต่อเนื่อง โดยการส่งออกล่าสุดเดือน เม.ย. 64 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือนหรือ 3 ปี นับจากเดือนเมษายน 2561 และเมื่อพิจารณาภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 64) การส่งออกมีมูลค่า 85,577.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78% การนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.85% ดุลการค้า 4 เดือนแรก เกินดุล 698.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะรายงานทุกไตรมาส พบว่าไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 64) มีการขอรับส่งเสริมฯ จำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโต 14% และมูลค่าเติบโต 80% ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 143% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกเริ่มกลับมาสดใส นั่นเป็นเพราะผลพวงจากเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการที่สามารถรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยดี โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เร่งการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้เกินเป้าหมายและมีแนวโน้มจะครอบคลุม 70% ของประชากรได้ในไม่ช้านี้ รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลจนทำให้เกิดความเชื่อมั่นการบริโภคต่างๆ เริ่มกลับมาอีกครั้ง ไทยจึงได้อานิสงส์ดังกล่าวในการส่งออก เช่นเดียวกับการลงทุนของไทยที่พบว่าทั้งไทยและต่างชาติก็เริ่มขยับเพราะเห็นทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มฟื้นตัว จึงเป็นโอกาสที่จะมองการขยายการลงทุนและการลงทุนใหม่ๆ ไว้รองรับอนาคต

จากทิศทางการส่งออกที่ส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ล่าสุดได้ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2564 จากเดิม 3-5% เป็น 4-6% ขณะที่สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์ว่าส่งออกไทยมีโอกาสโตได้ถึง 6-7% ส่วนการขอรับส่งเสริมการลงทุน แม้ว่าบีโอไอไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนแต่ก็มีการประเมินว่าการลงทุนก็จะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าปี 2563 โดยคาดว่าจะอยู่ระดับ 4-5 แสนล้านบาท

ส่งออก-ลงทุนปี 2564 สัญญาณเริ่มมา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท. ) กล่าวแสดงความเห็นถึงทิศทางการส่งออกและการลงทุนไทยว่า การส่งออกค่อนข้างชัดเจนว่าตลาดส่งออกหลักของไทยคือสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นจากการเร่งควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการระดมฉีดวัคซีนต้านโควิดของสหรัฐฯ ที่สามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งหากสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากร 70% ได้เร็วเท่าใด ไทยก็จะได้อานิสงส์การส่งออกมากขึ้นเท่านั้น

“ความต้องการสินค้าของสหรัฐฯ และจีนเริ่มกลับมาอีกครั้งจากการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น หากไม่มีอะไรผิดไปจากนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะกลับมา เศรษฐกิจโลกจะหมุนมากขึ้น ไทยก็จะได้รับอานิสงส์สะท้อนจากคำสั่งซื้อในเดือน เม.ย.ที่พบว่าสินค้าส่งออกหลัก 10 อันดับแรกของไทยมีเพียงอัญมณีและเครื่องประดับที่ติดลบ ที่เหลือเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนโต 135% ผลิตภัณฑ์ยางโต 55.5% เคมีภัณฑ์โต 65.7% เป็นต้น” นายเกรียงไกรกล่าว

การส่งออกที่เติบโตจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการใช้อัตรากำลังการผลิตจากเดิมที่ลดลงเหลือเฉลี่ย 50-60% ขยับมาสู่ระดับ 70-80% และหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงการเติบโตจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3-4 และที่สุดจะนำมาซึ่งการตัดสินใจขยายการลงทุนภายในประเทศ ขณะที่การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) เชื่อว่าการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมอนาคตจะมีมาต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปิดประเทศที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19

 “แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยจะสดใสค่อนข้างชัดเจน แต่สิ่งที่เรากังวลคือนับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่เดือน เม.ย.จนถึงวันนี้ก็เดือนกว่าแล้วแต่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ของไทยรายวันยังมีอัตราสูงและมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในโรงงานเกิดขึ้น ทำให้อดห่วงไม่ได้ว่าหากกระทบต่อการผลิตเพียงจุดใดจุดหนึ่งก็จะกระทบทั้งห่วงโซ่การผลิตและจะทำให้การส่งออกของเราในครึ่งปีหลังสะดุดตามไปด้วย ซึ่งบางอุตสาหกรรมเองมีความอ่อนไหว เช่น อาหาร เวลาเขาตรวจเช็กก็เริ่มถามว่าแรงงานได้ฉีดวัคซีนครบหรือไม่ และหากเราฉีดวัคซีนช้าอาจเป็นแรงกดดันมากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุน หากไทยทำให้เห็นว่าแผนบริหารจัดการวัคซีนดีเขาก็ย่อมจะเชื่อมั่น” นายเกรียงไกรกล่าว

เขาย้ำว่า การเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการและเร่งรัดการฉีดให้แก่ประชาชนครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งหมดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะในครึ่งปีหลังของปีนี้

สอดรับกับ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ที่ได้เคยกล่าวแสดงความเห็นต่อทิศทางการส่งออกไทยว่า มั่นใจว่าการส่งออกปี 2564 มีโอกาสเติบโตได้ในระดับ 7% เพราะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ และจีน ขณะเดียวกันยังมีสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นความร้อนแรงจากการนำเข้าสินค้าที่ 4 เดือนแรกเติบโต 13.85% ซึ่งเป็นการนำเข้าวัตถุดิบที่ชี้ให้เห็นว่าภาคการผลิตกลับมาแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการส่งออกในเดือนพ.ค.และ มิ.ย.อาจเห็นการเติบโตระดับ 2 หลักได้ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กังวลคือการระบาดโควิด-19 ในไทยที่ยังมีแนวโน้มไม่คลี่คลายและที่มีคลัสเตอร์เกิดขึ้นในโรงงาน ซึ่งหากเกิดผลกระทบขึ้นจะส่งผลต่อภาคการผลิตตามมา จึงเห็นว่าการเร่งฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งหมด นอกจากนี้ ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคที่ต้องติดตามคือ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ทำให้ต้องมีการนำเข้าตู้เปล่ามาเพิ่มและอัตราค่าระวางที่ยังทรงตัวระดับสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ

 “กนอ.” เชื่อมั่นการลงทุนจะทยอยฟื้นตัว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงมุมมองภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกและไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ 6% ประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาพิจารณาแนวทางการลงทุน เพียงแต่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เป็นที่จะค่อยๆ ลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น เมื่อหันมามองไทยยังมีข้อจำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 การฉีดวัคซีน ซึ่งเรียกว่าช่วงฝุ่นตลบ แต่อีกไม่นานก็จะมีจุดที่ลงตัวและเราก็จะต้องมาร่วมมือกัน ทั้งการเร่งจัดหาและเร่งฉีดวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ และถึงเวลานั้น กนอ.จะต้องเร่งเกาะกลุ่มไปดึงดูดการลงทุนให้เข้ามายังไทยมากขึ้น

โดย กนอ.มีแนวทางที่จะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในนิคมฯ ให้น่าสนใจมากขึ้น โดยอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเป้าหมายอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ที่จะเอื้อการลงทุนโดยพิจารณาแนวทางการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

“การลงทุนในนิคมฯ รอบ 7 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 63-เม.ย. 64) ของ กนอ.อยู่ที่ 113,393.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการลงทุนในพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 102,176.52 ล้านบาท และนอกพื้นที่อีอีซี 11,217.52 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน รวม 8,783 คน ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่หากมองในแง่ของยอดขายและเช่าพื้นที่ในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 773.20 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขายได้ 1,620 ไร่ ซึ่งก็เพราะไม่สามารถเดินทางมาดูพื้นที่ได้นั่นเอง” นายวีริศกล่าว

ทั้งนี้ กนอ.ยังเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เห็นจากการที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมและจีดีพีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นพ้องต้องกันว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มฟื้นตัวแน่นอนจากการที่ธุรกิจหลายแห่งเพิ่มกำลังการผลิตและมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการลงทุนกำลังกลับมา

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 กลไกหลักในการขับเคลื่อนเหลือเสาหลัก คือ การส่งออกมีสัญญาณแน่ชัดถึงการเติบโตสูง ขณะที่การลงทุนน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายจะต้องไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความประมาท เพราะโลกนี้นับตั้งแต่โควิด-19 เกิดขึ้น และมีการกลายพันธุ์มากขึ้นก็เริ่มไม่มีอะไรแน่นอน แต่ที่จริงแท้และแน่นอนคือการที่รัฐจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุดเพื่อปกป้องชีวิตของคนในชาติ เพราะนี่คือหัวใจของการพัฒนาประเทศที่สำคัญสุด ยิ่งช้ายิ่งสูญเสียมากขึ้น

จาก https://mgronline.com   วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

ส.อ.ท.หนุนรัฐดัน4เขตศก.พิเศษดันความเจริญลดเหลื่อมล้ำ ยึดโมเดลอีอีซี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังมีมติผลักดันโครงการเขตเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่อีก 4 แห่ง ใน 4 ภาคทั่วประเทศ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยนำโมเดลจากเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)มาปรับใช้ มั่นใจจะดึงดูดการลงทุนได้ กระจายความเจริญ และขยายฐานอุตสาหกรรมไปยังจังหวัดที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ยกระดับรายได้ และลดความเหลือมล้ำของไทยได้มาก

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค คือ 1. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (เอ็นอีซี) ประกอบด้วยเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง) 2. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เอ็นเอ็นอีซี) ประกอบด้วยจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย 3. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก (ซีดับเบิลยูอีซี) ประกอบด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และ4. พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ประกอบด้วยจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กพศ.ยังตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินงานขึ้นมาขับเคลื่อน อาทิ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ มีหน้าที่กำหนดพื้นที่ที่เมาะสมที่จะพัฒนาเป็นเขจเศรษบกิจพิเศษ การกำหนดสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และจัดทำแผนพัฒนาระบบศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีหน้าที่กำหนดแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ ปรับปรุงด่านศุลกากร และจัดการบริเวณด่านพรมแดน คณะอนุกรรมการด้านการตลาด มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะทางการตลาดที่สนับสนุนการพัฒนา แผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เชิญชวนนักลงทุน จัดทำข้อมูลและคู่มือสำหรับนักลงทุน และคณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุที่กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการเช่าและขั้นตอนการคัดเลือก และเจรจาต่อรองต่อผ็เสนอการลงทุน ตรวจสอบและคัดเลือกผู้เสนอการลงทุน รวมทั้งการกำกัดติอตามการดำเนินงาน

“ใน 4 คณะอนุกรรมการนี้ รัฐบาลได้เปิดให้ภาคเอกชนในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมใน 3 คณะแรก เพื่อออกแบบพื้นที่ และกำหนดสิทธิประโยชน์ตรงกับความต้องการของนักลงทุนมากที่สุด”นายสุพันธุ์กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 31 พฤษภาคม 2564

BRR เล็งปิดดีลซื้อหุ้น BGE ไตรมาส 2/64 รุกผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งในลาว

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์’ หรือ BRR เผยความคืบหน้าการเข้าลงทุนซื้อหุ้น บุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี (BGE) คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2564 เพื่อรุกขยายธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งใน สปป.ลาว รับโอกาสทางธุรกิจมีศักยภาพเติบโตสูง หลัง Kyuden Mirai Energy ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในบริษัทร่วมทุน SIPHANDONE RATCH-LAO ผ่านการซื้อหุ้นจาก BGE ในสัดส่วน 20% เพื่อส่งไปจำหน่ายยังกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ BRR เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการเข้าลงทุนซื้อหุ้นบริษัท บุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด (BGE) คาดว่ าจะแล้วเสร็จได้ภายในไตรมาส 2/2564 หลังบอร์ดบริษัทฯ ได้อนุมัติการเข้าลงทุนจำนวน 22,400 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 44.8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ BGE ในราคาไม่เกิน 2,240,000 บาท หลังมองเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจจากการที่ BGE เข้าร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว และ Siphandone Bolaven Development Company Limited (SPD) ร่วมจัดตั้งบริษัท SIPHANDONE RATCH-LAO Company Limited ในสปป.ลาว ด้วยทุนจดทะเบียน 1.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet ใน สปป.ลาว โดย BGE ถือหุ้นในสัดส่วน 65% และพันธมิตรทั้ง 2 รายถือหุ้นในสัดส่วน 25% และ 10% ตามลำดับ

การเข้าลงทุนครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่กลุ่ม BRR ในการนำความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรและพลังงาน เพื่อต่อยอดสร้างความเข้มแข็งผ่านการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค โดยโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) มีศักยภาพการเติบโตสูงจากการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้พืชโตเร็ว หรือพืชอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่งมี SPD เป็นเจ้าของสัมมปทานพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ นำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพื่อส่งไปจำหน่ายยังโรงไฟฟ้าในเครือของ Kyuden Mirai Energy Company Limited (KME) และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จและจัดจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 2/2565

ด้วยศักยภาพทางธุรกิจดังกล่าว ทำให้ KME ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ผ่านการร่วมทุนในบริษัท SIPHANDONE RATCH-LAO Company Limited โดยเข้าซื้อหุ้น 20% จากสัดส่วนที่ BGE ถืออยู่ 65% เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบคุณภาพสูงที่นำใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลภายใต้สัญญาระยะยาวอีกด้วย

นายอนันต์ กล่าวว่า การเปิดรับพันธมิตร KME จากประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิง

ชีวมวลอัดแท่งให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ช่วยให้ BRR สร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 30 พฤษภาคม 2564

‘บิ๊กตู่’กำชับเกษตร จว. แจ้งข้อมูลน้ำให้เกษตรกร ย้ำยึดการตลาดนำ ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ

‘บิ๊กตู่’ กำชับเกษตร จว. ปรับพีอาร์ข้อมูลน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง-นำผลงานวิจัยปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ-ยึดหลักการการตลาดนำการเพาะปลูก ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ แนะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ถือว่าเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกข้าว และพืชพันธุ์ต่างๆ ของเกษตรกร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาด้านน้ำ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โดยเฉพาะข้าวนาปีต้องอาศัยน้ำฝน แต่ปีนี้เกษตรกรต้องเผชิญกับฝนขาดช่วงในต้นฤดูกาล ทำให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำในช่วงต้น โดยฝนเริ่มตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายเดือน พฤษภาคม แต่หลายพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำอยู่ จึงให้กรมชลประทานเร่งให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสียหายของนาข้าวที่ได้มีการเพาะปลูกไปแล้ว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้สำนักงานเกษตรแต่ละจังหวัด ติดตามการพยากรณ์อากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา และการรายงานสถานการณ์น้ำของสํานักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำ หากพื้นที่ใดยังไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก ให้มีการประชาสัมพันธ์แก่เกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมมีการแจ้งถึงแนวทางการดูแลการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม โดยช่วงเวลาของการเพาะปลูก ซึ่งต้องคำนึงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงด้วย

“พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการประชาสัมพันธ์สื่อสารกับเกษตรกร แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้บางครั้งแม้มีการแจ้งเตือนไปแล้ว แต่ก็ไม่มีการปฎิบัติตามข้อแนะนำ ส่งผลให้การเพาะปลูกได้รับความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ในการปรับปรุงระบบประชาสัมพันธ์ ให้เข้าถึงเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด โดยนอกจากช่องทางการสื่อสารหลักที่มีอยู่แล้ว ควรพิจารณานำรูปแบบการสื่อสารระบบออนไลน์มาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะถือเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่ ที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและทั่วถึง” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้แต่ละพื้นที่ปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ พร้อมการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปีด้วย ควบคู่ไปกับการวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมมีระบบการแจ้งเตือนประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตรให้ได้มากที่สุด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำนโยบายการพัฒนาข้าวรวมถึงพืชเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมให้ยึดหลักการการตลาดนำการเพาะปลูก ผลผลิตต้องไม่เกินความต้องการ โดยมีฐานข้อมูลวิเคราะห์ประเมินอุปสงค์อุปทานของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไป ซึ่งตัวเลขความต้องการสินค้าเกษตรจะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการปลูก

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานรัฐได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ พัฒนาต่อยอดอาชีพ เช่น การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเพาะปลูกและการจำหน่าย เปลี่ยนจากเกษตรกรแบบดั้งเดิมให้เป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้ามาใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นด้วย

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 30 พฤษภาคม 2564

ส่งออกไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี

ท่ามกลางข่าวลบท่วมประเทศ เพิ่งมีข่าวดีมาให้ใจชื้นบ้าง เมื่อ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน ขยายตัวสูงถึง 13.09% คิดเป็นมูลค่า 21,400 กว่าล้านดอลลาร์ 675,000 กว่าล้านบาท เป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้น 8.47% ทำให้ยอดการส่งออก 4 เดือนแรก ปี 2564 มีมูลค่ากว่า 85,577 ล้านดอลลาร์ ราว 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.78%

ตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออกไป คิดเฉพาะการส่งออกจากภาคการผลิตจริง ยอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.70% ส่งผลให้ภาคการผลิตจริงของไทยในวันนี้เกิดภาวะแรงงานขาดแคลน แม้จะเกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ตาม

ผมดูรายละเอียดการส่งออกในแต่ละตลาดแล้วก็เซอร์ไพรส์มาก ยอดการส่งออกขยายตัวทุกตลาด ตลาดหลัก สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.8% เฉพาะสหภาพยุโรป ตลาดเดียวเพิ่มขึ้น 52.5% ตลาดจีน เพิ่มขึ้น 21.9% ตลาดเอเชียใต้ เพิ่มขึ้น 149.9% ตลาด CLMV รอบบ้านเราเพิ่มขึ้น 44.3% ตลาดออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 39.1% ตลาดละตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 82.3% ตลาดทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้น 25.3% ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่มขึ้น 50.1% ตลาดตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 65.7% มีเพียงตลาดเดียวคือ ตลาดอาเซียน 5 ประเทศที่เจอโควิดอาการสาหัส ลดลง 4.4%

คุณจุรินทร์ คาดว่าแนวโน้มการส่งออกยังจะขยายตัวต่อเนื่อง เป้าหมายการส่งออกในปีนี้คือโต 4.0% แต่ผ่านมา 4 เดือนแรก การส่งออกของไทยขยายตัวเกิน 4% แล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ทบทวนเป้าการส่งออก หลักคือทำให้เกินเป้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่จำเป็นต้องปรับเป้าให้เกิดความสับสน ถ้าขยายตัวเป็น 5-10% ก็ยิ่งดี เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 เดือนนั้นการส่งออกของไทยติดลบถึง 23%

คุณจุรินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยดีขึ้นมี 2 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้น รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน หรือ work from home กับการที่ตนได้ตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เช่น สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือฯ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยจนประสบความสำเร็จ และมีการประสานให้เรือขนาดใหญ่ super carrier นำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาขนสินค้า เมื่อวันอังคารก็มีเรือใหญ่ขนาดใหญ่ยาว 400 เมตร ขนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าราว 10,000 ตู้ เข้ามาเทียบท่าเรือแหลมฉบัง

ภาคการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของจีดีพีไทย ถ้าไม่มีภาคการส่งออกมาช่วยอุ้ม ผมคาดว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 น่าจะติดลบมากกว่า 2.6% สะท้อนให้เห็นถึง สภาพเศรษฐกิจในประเทศวันนี้ตกต่ำขนาดไหน ซึ่งเป็นผลมาจาก ความล้มเหลวของรัฐบาลในการรับมือกับโรคระบาดไวรัสโควิด–19 และ ความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารจัดการวัคซีน ทั้งเรื่อง การจัดหาวัคซีนไม่เพียงพอ และ วัคซีนไม่มาตามนัด ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะงักเดินหน้าไม่ได้ ประชาชนด่ากันทั้งประเทศ แต่ดูเหมือนแต่ละท่านก็ยังไม่รู้สึกสำนึกอะไร

โลกวันนี้ ประเทศที่ฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวเร็ว เช่น สหรัฐฯ จีดีพีไตรมาสแรกโตร้อนแรงพุ่งขึ้นไป 6.4% ประเทศจีน จีดีพีไตรมาสแรกพุ่งขึ้นไปถึง 18.3% ทั้งที่เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก แต่ประเทศจีดีพีเล็กๆอย่างไทยกลับหดตัว ถึง 2.6% ฝีมือบริหารประเทศของ นายกฯตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์-โอชา ยังดีที่มีภาคการส่งออกมาช่วย อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้รัฐบาลถังแตกไปมากกว่านี้.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 28 พฤษภาคม 2564

เร่งเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติเน้นพลังงานสะอาด

กระทรวงพลังงาน เร่งเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติเน้นพลังงานสะอาด ชี้อยู่ระหว่าง สนพ. ยกร่างรายละเอียดก่อนส่งให้ กบง.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงความก้าวหน้าการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งยกร่างรายละเอียดแผนพลังงานแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับแนวทางมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญ ประกอบด้วย

    ด้านไฟฟ้า เน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เองดังกล่าว

    ด้านก๊าซธรรมชาติ  เป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นพลังงานสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบพลังงานประเทศ ซึ่ง กระทรวงพลังงาน จะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG

    ด้านน้ำมัน  ยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศในปัจจุบัน แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวขึ้น ดังนั้น จะต้องมีการปรับแผนพลังงานภาคขนส่งและพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่านให้กระทบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด

    ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการปรับเป้าหมายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

    "การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) และให้ กระทรวงพลังงานจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อ กบง."

    นายกุลิศ กล่าวต่อไปอีกว่า หาก สนพ. จัดทำรายละเอียดการดำเนินการแล้วเสร็จ กระทรวงพลังงานจะเร่งนำเสนอ กบง. และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบก่อนให้ สนพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติได้รับข้อเสนอแนะอย่างรอบด้านและเป็นทิศทางการพัฒนาร่วมกันของทุกฝ่ายในประเทศ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

ฝนหลวงฯ เกาะติดสภาพอากาศ เร่งทำฝนช่วยพื้นที่ต้องการน้ำต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยฯ โดยได้เริ่มมีการเปิดหน่วยปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจากมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำกักเก็บไม่เพียงพอ จึงได้มีการติดตามสภาพอากาศเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี บึงกาฬ สกลนคร อุดรธานี นครพนม หนองคาย มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง โดยมีหน่วยปฏิบัติการ จ.เชียงใหม่ ตาก สุราษฎร์ธานี สงขลา นครราชสีมา สระแก้ว และ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่ได้ขึ้นบินปฏิบัติการเนื่องจากสภาพอากาศไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการ

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ผลการตรวจสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินจำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้

1.หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.เชียงใหม่ และจ.แม่ฮ่องสอน

2.หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ตาก มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.ตาก และ จ.ลำปาง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก

3.หน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.เพชรบูรณ์

4.หน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่การเกษตร จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำอูนและเขื่อนอุบลรัตน์

อย่างไรก็ตาม อีก 9 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

ตั้งสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส ครั้งแรกในไทย ลุยสร้างระบบบิ๊กดาต้าออร์กานิค

อีกหนึ่งผลงาน "5 ยุทธศาสคร์เฉลิมชัย"!! "อลงกรณ์" เผยพร้อมตั้งสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมสร้างระบบบิ๊กดาต้าออร์กานิค (Organic Big Data ล่าสุดขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์เกือบ 4 แสนไร่ เดินหน้าเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Urban Farming) จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนทั่วประเทศแล้ว 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมีนายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานอนุกรรมการเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานอนุกรรมการเกษตรอินทรีย์ ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ คณะอนุกรรมการวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ ตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมหารือประเด็นสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อน โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง การดำเนินงานของคณะทำงานด้านเกษตรอินทรีย์ ด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ และด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน เพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรไทยตาม “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา

โดยผลสรุปการประชุมเฉพาะวาระสำคัญ ได้แก่

1.โครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(Sustainable Urban Agriculture Development Project)มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาเกษตรกรรมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองพร้อมกับการพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Farming) ภายใต้นโยบายการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการของสหประชาชาติเพื่อโลกอนาคต (UN Sustainable Development Goals : 17 aspects for future world) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 11 การพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน (Sustainable cities and communities: Make cities inclusive, safe, resilient and sustainable) ซึ่งในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกตามปรากฏการณ์การขยายตัวของเมือง (Urbanization) ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารยิ่งขึ้นโดยอาศัยหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนพร้อมกัน เพื่อการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งในระดับเขต ระดับจังหวัด เขตปกครองท้องถิ่น พื้นที่อยู่อาศัย สถานที่สำคัญต่างๆ ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารสร้างความมั่นคงทางอาหารในเมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น มีการจัดทำ QR code ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของพืช และสมุนไพร รวมทั้งการใช้ประโยชน์ โดยจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ดังนี้

1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต ตามการแบ่งเขตตรวจราชการของกระทรวงฯ

2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับจังหวัด

3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

4) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วัด (Green Temple)

5) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วิทยาลัย (Green College)

6) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน (Green School)

7) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus

8) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ

9) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community)

10) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo)

2.การจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักพัฒนาระบบบริหาร ก่อนการดำเนินการต่อไป

3.การจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเกษตรอินทรีย์ (Organic Big Data Center) โดยสามารถเข้าชมได้ที่ https://organicmoac.ldd.go.th ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในฐานข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 397,037.24 ไร่

4.ความก้าวหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย ขณะนี้พร้อมดำเนินการจัดตั้งโดยมีองค์ประกอบและอํานําจหน้าที่ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน กรรมการและ เลขานุการ 1 คน โดยการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหารสภําฯ และกรรมการ จํานวน 20 คน แบ่งเป็น ผู้แทนองค์กรจัดระบบ (3 แห่ง) เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ PGS 4 ภาค (8 คน),ผู้แทนสถาบันการศึกษา (4 แห่ง), ผู้ประกอบการด้านการผลิตเกษตรอินทรีย์ และจําหน่ายเกษตรอินทรีย์ PGS 4 แห่ง, เกษตรกรรุ่นใหม่ประเทศไทย (1 คน), สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย 1 แห่ง และผู้แทนภาครัฐ (1 แห่ง) โดยมีอํานําจหน้าที่หลัก ได้แก่ การกําหนดกรอบเกษตรอินทรีย์ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม จัดระบบการกํากับดูแล และติดตาม การเทียบเคียง การยอมรับกระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม รวมทั้งสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ จัดทําฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ระบบการรับรอง แบบมีส่วนร่วม

5.ความก้าวหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ขณะนี้มีผลดำเนินโครงการไปแล้ว โดยมีเป้าหมาย 4009 ตำบล 648 อำเภอ 75 จังหวัด จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 29,706 ราย และมีจ้างงานจำนวน 14,076 ราย

6.คู่มือสำหรับประชาชนในการปฏิบัติตามข้อตกลงบันทึกความเข้าใจการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยที่ประชุมมอบหมายให้จัดทำคู่มือสำหรับประชาชนในเรื่องการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่

7.นิยามใหม่ “วนเกษตร” ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแล้วจะทำให้การพัฒนาวนเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากติดกรอบนิยามเดิมมาเป็นเวลานานหลายปี

8.เรื่องการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชําติ (องค์กํารมหาชน) มีความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้สํานักพัฒนาระบบบริหาร สํานักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  31.27 บาท/ดอลลาร์จากระดับปิด31.37 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มจะอ่อนค่าลง แต่ไม่มาก เหตุมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ และผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  31.27 บาท/ดอลลาร์จากระดับปิด 31.37บาทเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา  คาดกรอบวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.35 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุถึงแนวโน้มค่าเงินบาทว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้นำเข้า นอกจากนี้ ต้องติดตาม ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในเอเชียที่จะยังคงกดดันสกุลเงินเอเชียให้ยังคงผันผวน โดยในฝั่งไทย ต้องติดตามแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ก็จะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะมีแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้น จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ (ขายกำไรบนสกุลเงินดอลลาร์ และแลกกลับมาเป็นเงินบาท) รวมถึง ฝั่งผู้ส่งออกต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.40-31.50 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งภาพดังกล่าวหนุนให้หุ้นในกลุ่มค้าปลีก (Retail) และ กลุ่มพลังงาน ปรับตัวขึ้นนำตลาด อาทิ หุ้น Bed Bath & Beyond ที่พุ่งขึ้น 11.6% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็กสหรัฐฯ Russell 2000 ปรับตัวขึ้นกว่า 1.89% ตามด้วย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ปิดบวกกว่า 0.59% ขณะที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 0.2% ขณะที่ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงเล็กน้อยราว 0.11% จากแรงขายทำกำไรตลาดหุ้นยุโรป หลังจากที่หุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นโลกเกือบ 10% นับตั้งแต่ต้นปี โดยหุ้นในกลุ่มธนาคารและการเงินปรับตัวลดลง (BNP Paribas -1.35%, Intesa Sanpaolo -0.64%, ) เช่นเดียวกับ หุ้นในกลุ่มเทคฯ (ASML -0.99%, Infineon Tech. -0.98%) ที่ย่อตัวลงเช่นกัน โดยภาพดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของนักลงทุนสถาบันที่มองว่า Upside ของหุ้นยุโรป ณ สิ้นปีนี้ อาจเหลือเพียง 2% เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะถัดไปอาจไม่ได้โดดเด่นไปจากที่ตลาดมองไว้มากนัก   

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงยืนกรานว่า แนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราวและเฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ แต่ภาพรวมตลาดการเงินที่อยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็ได้ทำให้ ผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไรบอนด์ 10ปี กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 2bps สู่ระดับ 1.58% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ยีลด์ 10ปี จะแกว่งตัวในกรอบ เพราะผู้เล่นในตลาดจะใช้กลยุทธ์ Buy on Dip และ Sell on Rally สำหรับบอนด์ระยะยาวในช่วงที่ยีลด์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแบบ Sideways Upนอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี และการปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ในช่วงใกล้สิ้นเดือน ได้หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 90.04 จุด กดดันให้สกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.219 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 109.2 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ได้กดดันให้ ราคาทองคำ ปรับตัวลดลง สู่ระดับ 1,897 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับวันนี้ ผู้ในเล่นตลาดส่วนใหญ่จะยังคงติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดย การจ้างงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะส่งผลให้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.3 แสนราย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ (PCE) มีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.5% ในเดือนเมษายน จากระดับ 2.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง และฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ดันเต็มสูบ “สศอ.”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยผลการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-มี.ค.2564) ว่า สศอ. มีการดำเนินงานตามกรอบนโยบายทั้งในระดับมหภาคและรายสาขา อาทิ ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) ยานยนต์สมัยใหม่ที่ได้ออกประกาศกำหนดกระบวนการผลิต ที่เป็นสาระสำคัญของเขตปลอดอากร หรือเขตประกอบเสรี ฉบับที่ 2 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นในการผลิตสินค้า เพื่อการส่งออกหรือขายในประเทศ

ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ทำแผนการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ใน 5 มาตรการ 6 ผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลของประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนอุตสาหกรรมอนาคตได้พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯหนุนโคนมไทยบุกตลาดด้วยFTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมเปิดตัวโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ปี 4 สำหรับปีนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 จึงปรับกิจกรรมบางอย่างให้เป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งโครงการยังคงมีเนื้อหาอบรมที่เข้มข้น นำไปสู่การสั่งซื้อสินค้าและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีตลาดจีนเป็นเป้าหมายในปีนี้

กรมจะเปิดให้สหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูปจากทั่วประเทศ สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในเดือนมิถุนายน 2564 โดยผู้ผ่านการคัดเลือก 20 ราย จะได้เข้าร่วม Boot Campจำนวน 4 วัน 3 คืน เพื่อติวเข้มกลยุทธ์การตลาดในจีน จากนั้นจะคัดเลือกให้เหลือ 5 ราย เพื่อร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจแบบออนไลน์ (OBM) กับผู้นำเข้าชาวจีน ตลอดจนร่วมกิจกรรม Live Sale หรือขายสดตรงออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มยอดนิยมของจีน

ที่ผ่านมากรมได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ในการนำผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากรและวางแผนโครงการ โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกนมโค

และผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปในภูมิภาคอาเซียนสามารถส่งออกไปตลาดอาเซียน ฮ่องกง และจีน โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเตรียมความพร้อมแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศในยุคการค้าเสรี

สำหรับความตกลง FTA ที่ไทยทำกับอาเซียน ฮ่องกง และจีน ได้ลดภาษีศุลกากรที่เก็บจากนม และผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปที่ส่งออกจากไทยเหลือ 0% แล้ว จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการโคนมไทยที่จะรุกตลาดประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ฮ่องกง และจีน

ปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลก มูลค่า 562.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.0% และในช่วง 3 เดือนของปี 2564 (มกราคม-มีนาคม) ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมสู่ตลาดโลก มูลค่า 141.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.6% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือนมเปรี้ยว โยเกิร์ต นม UHT นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม และนม ครีมที่ไม่เติมน้ำตาล

จาก https://www.naewna.com วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

‘พาณิชย์’ แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน หนุนส่งออก 3.5 หมื่นล้าน

เอกชนปลื้ม หลัง รมว.กระทรวงพาณิชย์ แก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สินค้า หนุนส่งออกมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้าน

    ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้เข้าร่วมตรวจการนำเรือ 300 เมตร ไม่เกิน 399 เมตร ร่วมกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ณ ท่าเรือแหลมฉบังจังหวัดชลบุรี โดยได้ตรวจเยี่ยมเรือสินค้า MSC Amsterdam ณ ท่าเรือ D1 ฮัทชิสันเป็นการนำเรือขนาดมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 399 เมตร เข้าเทียบท่าเรือ ซึ่งเป็นการผลักดันความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในปัจจุบัน ตามข้อเสนอของหอการค้าไทยตั้งแต่สิ้นปี 2563 ซึ่งจะเริ่มสร้างความสมดุลกับการส่งออกสินค้าและสามารถลดต้นทุนและขนตู้เปล่าและตู้ที่มีสินค้าเข้ามาได้มากขึ้นตามที่ รัฐบาล ได้เห็นชอบให้กรมเจ้าท่าแก้ไขประกาศใหม่ และอนุญาตให้เรือ 300-400 เมตร สามารถเข้าเทียบท่าได้เป็นระยะเวลา 2 ปี โดย

     ปัจจุบันมีเรือเข้ามาตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นเรือขนาด 399 เมตร มีความสามารถในการบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากกว่าเรือบรรทุก ที่ต่ำกว่า 300 เมตรเพื่อนำให้มีตู้ขาเข้าและมีตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเปล่าเข้ามามากขึ้น และด้วยการผลักตันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สินค้าของกระทรวงพาณิชย์ โดยท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีเรือเข้ามาแล้ว 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ และสามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตัน รวมมูลค่าการส่งออกประมาณ 35,000 ล้านบาท

     ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กล่าวว่า ภาคเอกชนโดยหอการค้ไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยขอขอบคุณ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สินค้าร่วมกับภาคเอกชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนผ่านเวที กรอ.พาณิชย์ จะผลักดันแก้ไขปัญหา เพิ่มศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในประเด็นต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ส่อง 13 ตลาดส่งออกไทย  ที่ไหนโตแรงสุด

ส่งออกไทยครึ่งปีหลังฟื้น13ตลาดส่งออกหลักของไทยโตต่อเนื่อง

การส่งออกของไทยช่วง 4 เดือนแรกปี 2564  มีมูลค่า 85,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.78%โดยการส่งออกเดือนเมษายนล่าสุดมีมูลค่า 21,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 13% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือ รอบ 3 ปี (นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561)

ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกไทยเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก ประกอบกับการส่งออกของไทยไปตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างไรก็ดี ในตลาดที่มีศักยภาพสูงของไทย 13 ตลาด ช่วง 4 เดือนแรกตลาดไหนโตแรง และสินค้าใดขยายตัวได้ดีในแต่ละตลาดบ้าง จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์มีดังนี้ส่อง 13 ตลาดส่งออกไทย  ที่ไหนโตแรงสุด

ตลาดจีนยังมาแรง โดยการส่งออกในเดือนเมษายน ขยายตัวสูงถึง 21.9% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อากาศยานและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ตลาดจีนขยายตัวถึง 21%ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 9% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 11.6%ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว 2.7 % โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา และทองแดง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 5.3%

ตลาดสหภาพยุโรป (15)  ขยายตัว 52.5%โดยขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 16.5%ตลาดอาเซียน (5) ในเดือนเมษายนยังติดลบ 4.4% โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยานและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ติดลบ 8.7%ตลาด CLMV ขยายตัวที่ 44.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งขึ้นจากเดือนก่อน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 8.6%ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวสูงถึง 149.9% โดยขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 28.5%ตลาดอินเดีย ขยายตัวสูงถึง 193% โดยขยายตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ทองแดง และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 30.2%ตลาดทวีปออสเตรเลีย  ขยายตัว 39.1% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 24.4%ตลาดตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว 65.7% โดยกลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องปรับอากาศ ข้าว และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 10.3%ส่อง 13 ตลาดส่งออกไทย  ที่ไหนโตแรงสุด

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัว 82.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องยนต์สันดาป และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 19.9%ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 50.1% โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 2  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ และตู้เย็นและส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 6.0%

และตลาดทวีปแอฟริกา ขยายตัว 25.3% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป ไขมันและน้ำมัน เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 14.1%ส่อง 13 ตลาดส่งออกไทย  ที่ไหนโตแรงสุด

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งอออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ชป.มุ่งบริหารจัดการน้ำจากเชิงปริมาณเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีส่วนร่วม

กรมชลประทาน กำหนดทิศทางของการบริหารจัดการน้ำชลประทานในอนาคต โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว แทนการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนจากการพัฒนาเชิงปริมาณไปเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐบาลโดยดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้มุ่งเน้นและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำโดยใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการน้ำชลประทานในอนาคตด้วยการเปลี่ยนจากการพัฒนาเชิงปริมาณไปเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพ โดยมีกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือ การส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำชลประทานอย่างจริงจัง อาทิ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผาจุก ทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกโดยการลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลผาจุก และเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ (ฝั่งซ้าย) เขื่อนทดน้ำผาจุก อำเภอเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน โดยสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจหลักการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ตลอดจนวิธีการบำรุงรักษาระบบชลประทานตามหลักวิชาการ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงกำชับให้ทุกโครงการชลประทานให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการให้มากที่สุด

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

'ธรรมนัส' สั่งสำรวจความเดือดร้อนเกษตรกร แก้วิกฤตน้ำแล้ง ผลผลิตเกษตรตกต่ำ

 ‘ธรรมนัส’ สั่งพด.สำรวจความเดือดร้อนของเกษตรกรหลายจังหวัด แก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้ว ผลผลิตเกษตรตกต่ำ และผลกระทบการส่งออกเนื่องจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในงานวันสถาปนากรมพัฒนาที่ดินครบรอบ 58 ปี เพื่อระลึกถึงวันก่อตั้งกรมพัฒนาที่ดิน(พด.)ว่า กรมพัฒนาที่ดินถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการที่ดินและการพัฒนาฟื้นฟูปรับปรุงดิน เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาเพิ่มคุณภาพของที่ดินเพื่อประกอบอาชีพเกษตร ให้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดระยะเวลาที่เข้ามาดูแล กรมพัฒนาที่ดิน ถือเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถณะสูง แก้ปัญหา สร้างความสุขให้เกษตรกร

ทั้งนี้ ช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับมีกลุ่มแรงงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา หันหน้าเข้าสู่อาชีพเกษตร ทำให้เจ้าหน้าที่ของพด.และหมอดินอาสาต้องทำงานอย่างหนัก จัดหาแหล่งน้ำ พัฒนาพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เกษตรกรทั้งรายเดิม รวมทั้งเกษตรกรรายใหม่ที่กลับสู่ภูมิลำเนา ดูแลเกษตรกร เสมือนเพื่อน ญาติ ที่เราหมั่นดูแลอยู่ตลอดเวลา

“เพื่อเร่งบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ โดยจะต้องสำรวจความเดือนร้อนเกษตรกรในหลายๆ จังหวัด เพื่อหาแนวทางเร่งวางแผนแก้ปัญหาวิกฤตน้ำแล้ง ผลผลิตภาคเกษตรตกต่ำ อาทิ จ.นครนายก ที่กำลังประสบปัญหาการปลูกไผ่ ทุเรียนราคาตกต่ำ จ.ปราจีนบุรี ทุเรียนแปลงใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จ.นครปฐม ปัญหากล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประสบปัญหาการส่งออก รวมทั้งพื้นที่จ.ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ที่สวนมะพร้าว ส้มโอกำลังประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงด้านการตลาด” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ด้าน น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินงานขับเคลื่อนทั้งการใช้ที่ดินอย่างมั่นคง การกำหนดวิสัยทัศน์เป็นองค์กรอัจฉริยะทางดิน ขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 เพิ่มทักษะดิจิทัล นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีของเกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว ด้วย Big Data Ai E-Service และ Application เชื่อมโยงการทำงานแบบกลุ่ม ทำงานเชิงรุกอย่างคล่องแคล่ว ปรับตัวเร็ว มีความยืดหยุ่น ส่งผลต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 24 พฤษภาคม 2564

เศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่องไตรมาสที่ 5

เศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่องไตรมาสที่ 5 สวนทางค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2564 หดตัวที่ -2.6% YoY น้อยกว่าตลาดคาดที่ -3.3% โดยถูกขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เข้ามาช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน เช่น โครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น

เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่ 1.8% โดยมองว่าความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางอัตราการฉีดวัคซีนของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมิน อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่ำกว่าคาด แม้ว่าจะมีการทยอยเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว โดยในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจอยู่ในกรอบ 0.25-1.20 ล้านคน อย่างไรก็ดี ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ได้รวมปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีจากอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังได้รวมปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่และคาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมภายใต้งบกลางของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 และวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน

ทั้งนี้ การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เงินเฟ้อไทยมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าครองชีพของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ครัวเรือนไทยไม่เติบโตสอดคล้องไปกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะ Stagflation ดังนั้น ภาครัฐอาจมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐได้มีการกู้เงินเต็มวงเงินที่เหลือของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มและขยายเพดานหนี้สาธารณะสูงกว่า 60% ขณะที่นโยบายการเงินอาจมีความสามารถจำกัดในช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 23 พฤษภาคม  2564

“พาณิชย์”ถกทางไกลกับจีน  เร่งลดอุปสรรคการค้า

“พาณิชย”ถกทางไกลกับ จีน ขอให้จีนเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกให้สินค้าไทย เพิ่มช่องทางส่งออกผลไม้ผ่านด่านท่าเรือ และเร่งขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปข้าว-ไก่-รังนกของไทย หวังเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันช่วงโควิด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ได้เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ ซิงเฉียน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน ในการประชุมคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคไทย-จีน (Working Group on Promoting Unimpeded Trade) ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือการแก้ปัญหาทางการค้าและร่วมมือขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน

โดย การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้จีนช่วยแก้ปัญหามาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับสินค้าของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง และความเข้มงวดที่ด่านพรมแดน อาทิ การขยายเวลาการให้บริการตรวจสินค้าเข้า-ออก ที่ด่านโหย่วอี้กวน

เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้า ในช่วงที่ผลไม้ไทยออกสู่ตลาดจำนวนมาก พร้อมทั้งเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยริมแม่น้ำโขงให้กลับมาขนส่งสินค้าได้โดยเร็ว และอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านดังกล่าวได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกผลไม้จากไทยเข้าทางมณฑลยูนนาน รวมทั้งให้เร่งขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปข้าว ไก่ และรังนกของไทย ที่ยื่นคำขอค้างไว้ เพื่อเพิ่มจำนวนโรงงานที่ผ่านเกณฑ์การส่งออกไปจีน และเร่งตรวจประเมินความปลอดภัยทางอาหารของเนื้อสุกร โคมีชีวิต และผลิตภัณฑ์รังนกแดง ที่ไทยยื่นขอเปิดตลาดส่งออกไปจีนไว้ ซึ่งจะให้มีการหารือในระดับเทคนิคต่อไปโดยเร็ว  “พาณิชย์”ถกทางไกลกับจีน  เร่งลดอุปสรรคการค้านอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้หารือเรื่องการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมบ่อเต็น (สปป.ลาว) กับบ่อหาน (จีน) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่เชียงของให้มีความพร้อมเป็นศูนย์กระจายสินค้าและโลจิสติกส์สำหรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (CBEC) ของจีนด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและสรรพสามิตร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติในสินค้า อาทิ ผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ และเครื่องสำอาง

ส่วนฝ่ายจีนขอให้ไทยปรับระบบการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (CO) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เป็นแบบลายมือชื่อและตราประทับแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนแบบกระดาษ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย จีนยังต้องการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้ากับไทยในสาขาสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนเชิญชวนให้ไทยนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO) ณ นครหนานหนิง ในเดือนกันยายน และงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) 2021 ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2563 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 79,607 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 22,803 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 8,015 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20.6% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และยางพารา เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากจีน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

BRR ปิดดีลซื้อหุ้น BGE ไตรมาส 2 นี้

"น้ำตาลบุรีรัมย์" ซื้อหุ้นบุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี (BGE) คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/2564 เพื่อรุกขยายธุรกิจผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งใน สปป.ลาว รับโอกาสทางธุรกิจมีศักยภาพเติบโตสูง หลัง Kyuden Mirai Energy ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในบริษัทร่วมทุน SIPHANDONE RATCH-LAO ผ่านการซื้อหุ้นจาก BGE ในสัดส่วน 20% เพื่อส่งไปจำหน่ายยังกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ BRR เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าลงทุนซื้อหุ้นบริษัท บุรีรัมย์กรีนเอ็นเนอร์จี จำกัด (BGE) คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในไตรมาส 2/2564 หลังบอร์ดบริษัทฯ ได้อนุมัติการเข้าลงทุนจำนวน 22,400 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 44.8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ BGE ในราคาไม่เกิน 2,240,000 บาท หลังมองเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจจากการที่ BGE เข้าร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ราช-ลาว เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ที่จดทะเบียนใน สปป.ลาว และ Siphandone Bolaven Development Company Limited (SPD) ร่วมจัดตั้งบริษัท SIPHANDONE RATCH-LAO Company Limited ใน สปป.ลาว ด้วยทุนจดทะเบียน 1.7 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet ใน สปป.ลาว โดย BGE ถือหุ้นในสัดส่วน 65% และพันธมิตรทั้ง 2 รายถือหุ้นในสัดส่วน 25% และ 10% ตามลำดับ

การเข้าลงทุนในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้แก่กลุ่ม BRR ในการนำความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจเกษตรและพลังงาน เพื่อต่อยอดสร้างความเข้มแข็งผ่านการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาค โดยโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) มีศักยภาพการเติบโตสูงจากการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้พืชโตเร็ว หรือพืชอื่นๆ ในพื้นที่ซึ่งมี SPD เป็นเจ้าของสัมมปทานพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ นำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งเพื่อส่งไปจำหน่ายยังโรงไฟฟ้าในเครือของ Kyuden Mirai Energy Company Limited (KME) และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะแล้วเสร็จและจัดจำหน่ายได้ภายในไตรมาส 2/2565

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพทางธุรกิจดังกล่าวทำให้ KME ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวผ่านการร่วมทุนในบริษัท SIPHANDONE RATCH-LAO Company Limited โดยเข้าซื้อหุ้น 20% จากสัดส่วนที่ BGE ถืออยู่ 65% เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบคุณภาพสูงที่นำใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าชีวมวลภายใต้สัญญาระยะยาวอีกด้วย

“การเปิดรับพันธมิตร KME จากประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจและบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งรายได้หลักจากธุรกิจน้ำตาลเพียงอย่างเดียว ช่วยให้ BRR สร้างการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เกษตรฯเคาะแล้วศพก.ต้นแบบนำร่องAIC6จุด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ สถาบันการศึกษา 77 จังหวัด จัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ให้เป็นแหล่งบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการนำร่องการเชื่อมโยง

องค์ความรู้ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โดยจะเริ่มนำร่องก่อนใน 6 จุด กระจายในทั่วทุกภาคของประเทศ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า โครงการนำร่องการเชื่อมโยงองค์ความรู้ AIC ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องการยกระดับ ศพก. ไปสู่ศูนย์พัฒนา Smart Farmer ครบวงจร พร้อมกับประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคที่อยู่บนพื้นฐานการทำเกษตรกรรมยั่งยืน

โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and

Innovation Center หรือ AIC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งบริการเกษตรกรที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปใช้พัฒนาต่อยอดการผลิต สามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและให้สินค้ามีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ได้ตอบรับนโยบายการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับ ศพก. สู่ศูนย์พัฒนา Smart Farer ครบวงจร สอดรับกับการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก AIC สู่ ศพก. จึงได้จัดทำ “โครงการนำร่องการเชื่อมโยงองค์ความรู้ AIC ผ่าน ศพก.” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา ศพก. และศูนย์เครือข่ายให้มีความพร้อมเป็นศูนย์เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการและการปฏิบัติเป็นช่องทางนำเสนอแหล่งทุนเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจพร้อมกับออกแบบกำหนดหลักสูตรการพัฒนาเป็นลำดับขั้น ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาศักยภาพ Smart Farmer, Young Smart Farmer, กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจาก AIC มาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ในเบื้องต้นได้มีการคัดเลือก ศพก.ในการเป็นต้นแบบนำร่องโครงการด้วยกัน 6 จุด ได้แก่ ศพก. เครือข่าย ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนแขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ศพก. เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การผลิตมะพร้าวครบวงจร อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ศพก. เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม (เกษตรผสมผสาน) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ซึ่งก็คาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ครม. เคาะ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เน้นตัดอ้อยสดลด PM 2.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเผยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดง กว่า 200,000 ราย คาดว่าจะพร้อมเงินช่วยเหลือภายในเดือนมิถุนายน 2564

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาดำเนินการ ซึ่งทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า ตันละ 1,100 บาท เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว โดยในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 พฤษภาคม 2564

“เฉลิมชัย” จับเข่าคุย “ดอน” ขอเวลายกเครื่องภาคเกษตรก่อนร่วม CPTPP

กระทรวงเกษตรฯ หารือ ดอน รมต.ต่างประเทศ พร้อมเสนอข้อคิดเห็นต่อการเข้าร่วม CPTPP เผยไม่ปฏิเสธในการเข้าร่วม แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศไทยเป็นหลัก ขอเวลาเตรียมความพร้อม ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร เทคโนโลยีภาคเกษตร

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ผ่านระบบ VDO Conference (Zoom) ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมีประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในวันนี้ คือ 1) การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ให้มีผลใกล้เคียงกับอนุสัญญา UPOV 1991 2) การแจ้งสหภาพ UPOV ให้นำชื่อประเทศไทยออกจากเว็บไซต์ของ UPOV และ 3) สินค้าเกษตรที่มีมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard : SSG)

ในเบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ไม่ปฏิเสธในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งการหารือในวันนี้ เป็นการนำเสนอปัญหาในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเจรจาแก้ไข จึงต้องมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร ความพร้อมของเกษตรกร เทคโนโลยี และการสื่อสารทำความเข้าใจต่อประชาชน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของกระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินการในด้านต่างประเทศในหลายมิติ โดยมีความพร้อมในการประสานในด้านต่าง ๆ ซึ่งฑูตเกษตรถือเป็นหน่วยงานในต่างประเทศที่เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การขับเคลื่อนงานดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การปรับตัวของเกษตรกร การยกระดับเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้

การดึงเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ และการสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ ล้วนเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และถึงแม้ว่าจะไม่มี CPTPP หรือโควิด-19 นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ก็มีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ของโลกอย่างชัดเจน และพร้อมปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 20 พฤษภาคม 2564

ฝนหลวงฯ เร่งช่วยพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝน เติมน้ำเก็บกักรับภาวะฝนทิ้งช่วง

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ในช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังต้องมีการปฏิบัติการฝนหลวง โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 13 หน่วยทั่วประเทศ เนื่องด้วยฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกกระจายตัวทั่วทุกภูมิภาคและไม่ได้ตกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพื้นที่การเกษตรของประเทศไทยทั้งหมด 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนมากกว่าพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน จำนวน 30 กว่าล้านไร่ และเป็นพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝน 110 กว่าล้านไร่ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง ที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในการบรรเทาปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งในปี 2564 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศคาดการณ์ว่าจะภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ การป้องกันและเตรียมรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนมีการเตรียมเก็บกักน้ำในช่วงที่มีปริมาณฝนตกมาก เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้การหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงขึ้นได้ รวมถึงทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กองทัพอากาศ และกองทัพบก จะยังคงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรตลอดฤดูกาลต่อไป

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.64) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำจำนวน 10 แห่ง พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 3 แห่ง และยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บบริเวณ อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันนี้ จากข้อมูลความชื้นในดินและแหล่งน้ำต่างๆ ยังคงมีปริมาณสะสมน้อย ทำให้มีผู้ขอรับบริการฝนหลวง (ข้อมูล ณ 19 พ.ค. 2564) จำนวน 221 แห่ง (48 จังหวัด 176 อำเภอ) ทั่วประเทศ ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลือ โดยมีการติดตามสภาพอากาศในวันนี้ พบว่า บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยฯ จ.อุบลราชธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.อำนาจเจริญ จ.ยโสธร หน่วยฯ จ.บุรีรัมย์ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด หน่วยฯ จ.นครราชสีมา ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.นครราชสีมาและบุรีรัมย์ และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนรัชชประภา

อย่างไรก็ตาม อีก 9 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงจะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 20 พฤษภาคม 2564

กกร. หนุนไทยร่วมวง "CPTPP" รับมีหลายประเด็นที่ยังกังวล

"กกร." หนุนไทยร่วมวง CPTPP รับมีหลายประเด็นที่ยังกังวล เตรียมส่งผลศึกษาให้กระทรวงต่างประเทศประกอบการพิจารณาตัดสินใจ

นายสุพันธ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. เห็นด้วยกับการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) แต่ก็มีหลากหลายประเด็นที่ยังมีความกังวลเหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปเกิดความสงสัย

ทั้งนี้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธะสัญญา เรื่องการเยียวยาว เป็นต้น โดย กกร. ได้ดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง  โดยจะส่งหนังสือสรุปเรื่องที่ได้ศึกษามาดังกล่าวให้กับกระทรวงต่างประเทศต่อไป เพื่อประกอบการพิจารณา

    ล่าสุดวันที่ 5 พฤษภาคม 2564  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธาน ได้ยื่นขอขยายเวลาเพิ่มอีก 50 วัน เพื่อศึกษาความตกลงให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของ ครม.ว่าจะเห็นชอบในการขอยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP ที่จะมีการประชุมในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคมนี้หรือไม่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2564

“กกร.”หั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 64 เหลือ 0.5-2%

“กกร.”หั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี 64 เหลือ 0.5-2% คงประมาณการส่งออก 0.5-7% เงินเฟ้อ 1-1.2%

นายสุพันธ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 หรือจีดีพี (GDP) เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% เนื่องจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม ด้านการส่งออก กกร. ปรับประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 5% ถึง 7% จากเดิมโตที่ 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1% ถึง 1.2%

ทั้งนี้  การระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ระลอกเดือนเมษายนมีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสองและไตรสามเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. (สภาพัฒน์ฯ) ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 2%สุพันธ์ มงคลสุธี 

อย่างไรก็ดี การเร่งแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการวัคซีนที่มีความชัดเจน ไปพร้อมกับการเร่งสร้างความเข้าใจเพื่อเสริมความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีน จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดเป็นภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน และจะทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ ดังตัวอย่างในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีน อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง              เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่มี Momentum ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% (ไม่รวมการส่งออกทองคำ) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงการเร่งตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ เป็นความเสี่ยงต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป              “เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2564

กนง. ชี้ เศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง โจทย์ใหญ่ “จัดหา-กระจายวัคซีน”

กนง. ชี้ระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง โจทย์ใหญ่อยู่ที่การจัดหา-กระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ของการประชุมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 โดยระบุถึงเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ที่รุนแรงกว่าระลอกที่ 2 ซึ่งกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากผลของมาตรการควบคุมการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาดเป็นวงกว้างง่ายขึ้น ส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ยากขึ้นและระยะเวลาที่ใช้ในการฉีดวัคซีนให้ถึงระดับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) นานขึ้น

ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีทุกหมวดและทุกตลาดส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า แต่การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นส่งผลดีต่อการจ้างงานจำกัด เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เลือกการเพิ่มชั่วโมงทำงานแทนการจ้างงานเพิ่ม อีกทั้งธุรกิจส่งออกมีสัดส่วนการจ้างงานไม่มากเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมด

นอกจากนี้ มาตรการเยียวยาและมาตรการการเงินเพิ่มเติมของภาครัฐจะมีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น แม้แรงกระตุ้นภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 อาจลดลงบ้าง จากการเร่งเบิกจ่าย พ.ร.ก. กู้เงินในปีงบประมาณปัจจุบันเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดระลอกที่ 3

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ (1) การจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่จะส่งผลต่อระยะเวลาที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (2) การฟื้นตัวที่แตกต่างกันและไม่ทั่วถึงมากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นจากแรงงานบางส่วนที่ว่างงานนานขึ้น ซึ่งจะกระทบศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects)

(3) ฐานะการเงินที่เปราะบางเพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงตามรายได้ที่ลดลง อีกทั้งบางธุรกิจที่ฐานะการเงินเปราะบางอยู่ก่อนแล้วและถูกซ้ำเติมจากการระบาดระลอกใหม่อาจมีสภาพคล่องไม่เพียงพอ และ (4) ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เสถียรภาพระบบการเงินที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้วได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ภาคครัวเรือนไทยเปราะบางมากขึ้นจากที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงอยู่ก่อนแล้วและสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนสูง

นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการ ทำให้สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง

มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่จะซ้ำเติมรายได้และฐานะทางการเงินของลูกหนี้ที่เปราะบางอยู่แล้ว ทำให้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระคืนหนี้ (debt at risk) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังมูลหนี้อื่น (cross default) ได้

อย่างไรก็ดี การประเมินพบว่าผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวต่อเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวมยังมีจำกัด แต่ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ครัวเรือนที่อาจด้อยลง รวมถึงความเสี่ยงที่สถาบันการเงินอาจชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทันการณ์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ  31.40 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้แข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ คาดว่าจะไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้นนี้ เพราะหลายประเทศในโซน EM Asia ยังคงเผชิญปัญหาของ COVID-19ทวีความรุนแรงมากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ คาดกรอบวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 31.35-31.50 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า บรรยากาศการลงทุนโดยรวม ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้ง ความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ โอกาสที่เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) รวมถึง ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฝั่งเอเชีย ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าลดสถานะถือครองหุ้นในกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโตสูง (Tech & Growth) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.58% ในขณะที่ ความกังวลว่า อิหร่านอาจกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯและอิหร่านอาจบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวลดลงกว่า 1.2% สู่ระดับ 68.5 และ 65.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันให้ ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง กดดันให้ ดัชนี Dowjones และ ดัชนี S&P500 ย่อตัวราว -0.78% และ -0.85% ตามลำดับ ส่วนในตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 1bps สู่ระดับ 1.64% แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยง ภาพดังกล่าวอาจสะท้อนว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ ยังไม่รีบปรับเปลี่ยนการถือครองบอนด์ระยะยาว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด รวมถึง รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Minitues) เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงโอกาสที่เฟดจะปรับลดการทำคิวอีในปีนี้ สำหรับตลาดค่าเงิน ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ได้หนุนให้ สกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 89.75 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้กับจุดต่ำสุดในปีนี้ ที่ 89.69 จุด ส่วนเงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.222 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.419 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 108.9 เยนต่อดอลลาร์ จากทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ โดยเริ่มจาก รายงานเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) ในเดือนเมษายน ที่ตลาดมองว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหนุนโดยฐานราคาสินค้าพลังงานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวจะสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อยูโรโซน ที่ตลาดมองว่าจะเร่งตัวขึ้นจากระดับ 1.3% ในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 1.6% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจไม่ได้กดดันให้ ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรปต้องรีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่งมาก นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงเพื่อจับสัญญาณและโอกาสที่เฟดจะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องว่าจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้หรือไม่ ในส่วนแนวโน้มเงินบาท เราคงมองว่า แม้เงินบาทจะเปิดเช้านี้แข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทว่า เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้นนี้ เพราะหลายประเทศในโซน EM Asia ยังคงเผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ต่อเนื่อง ทำให้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีทิศทางไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเจอแนวต้านใกล้ระดับ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าว เป็นช่วงที่ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31.30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าก็รอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่จำเป็นต้องแลกซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 พฤษภาคม 2564

ชาวไร่ขานรับปรับแผนไร้อ้อยไฟไหม้เป็นปี 66/67

สอน. มั่นใจปรับแผนอ้อยไฟไหม้เหลือศูนย์ออกไปเป็นปี 2566/67 จากแผนเดิมกำหนดไว้ปี 2564/65 จะเหลือ 0-5% เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จริงหลังโควิด-19 กระทบการขาดแคลนแรงงาน พร้อมเร่งจ่ายเงินตัดอ้อยสดปลายมิ.ย.นี้ ด้านชาวไร่อ้อยหนุนปรับแผนอ้อยสดเพื่อให้เวลาชาวไร่ปรับตัวหลัง

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ปรับแผนการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกระทบการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ไทยต้องอาศัยในการตัดอ้อยจึงปรับแผนเป็นฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 10% ของการผลิตรวม ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 พ.ค.ได้รับทราบแผนงานดังกล่าวแล้ว

“สาเหตุที่เราต้องปรับใหม่เพราะแผนเดิมกำหนดไว้ในฤดูหีบปี 2564/65 ที่จะเปิดหีบในปลายปีนี้จะต้องเหลืออ้อยไฟไหม้ 5-0% ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วที่เราดำเนินการมา 2 ฤดูหีบยอมรับว่ายังห่างจากเป้าหมายเล็กน้อยโดยล่าสุดปี 63/64 เป้าต้องมีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 20% พบว่า อยู่ที่ 26.42% ซึ่งชาวไร่และโรงงานก็ทำเต็มที่แล้วซึ่งปกติการตัดอ้อยไทยต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวยิ่งตัดอ้อยสดยิ่งต้องใช้แรงงานมากแต่ผลกระทบโควิด-19ทำให้แรงงานเข้ามาไม่ได้ ประกอบกับการอาศัยเครื่องจักรก็ต้องลงทุนสูงจึงต้องให้เวลาชาวไร่อ้อยปรับตัว” นายเอกภัทร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวจะดำเนินการควบคู่ไปกับการหักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท, กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด, จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด, ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก และ สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

สำหรับการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อสนับสนุนการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาทฤดูการผลิตปี 2563/64 ตามมติ ครม.11 พ.ค.ที่อนุมัติวงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ปลายเดือน มิ.ย.นี้

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยที่ผ่านมาได้พยายามร่วมมือกับรัฐในการลดอ้อยไฟไหม้แบบเต็มที่แล้วแต่อุปสรรคที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่าการตัดอ้อยสดมีต้นทุนที่สูงเพราะตัดยาก ขณะเดียวกัน กำลังแรงงานเดิมของไทยไม่เพียงพอต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลักแต่โควิด-19 ที่ระบาดช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กระทบให้การนำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างมาก แม้ว่าในระบบจะมีรถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นแต่หากเทียบกับอ้อยที่มีก็ยังไม่เพียงพอ

“ถือเป็นเรื่องที่ชาวไร่อ้อยเองก็เห็นสอดคล้องกับรัฐที่จำเป็นต้องให้ชาวไร่อ้อยปรับตัวโดยเฉพาะรายย่อยที่มีทุนต่ำและเห็นว่าเรื่องนี้ก็จะเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมการตัดอ้อยสดด้วย แต่ทั้งนี้ ภาพรวมราคาอ้อยก็เป็นสิ่งสำคัญในระยะต่อๆ ไป” นายนราธิปกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 18 พฤษภาคม 2564

สนพ.ชี้ราคา B100-เอทานอลมีนาคมแนวโน้มลดลง

สนพ.ชี้ราคา B100-เอทานอลมีนาคมแนวโน้มลดลง หลังผลปาล์มน้ำมันเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม ราคาไบโอดีเซล (B100) อยู่ที่ 39.85 บาทต่อลิตร ลดลงจากช่วงต้นเดือนประมาณ 1.17 บาทต่อลิตร ราคาผลปาล์มน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 5.00-6.00 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 36.00-36.25 บาทต่อกิโลกรัม  โดยปรับตัวลดลงเนื่องจากผลผลิตเริ่มเข้าสู่ฤดูกาล คาดการณ์ว่าผลผลิตจะเข้าสู่ตลาดเต็มที่ในเดือนมีนาคม ขณะที่ราคาเอทานอล ยังคงอยู่ที่ 24.83 บาทต่อลิตร ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์เอทานอล ราคาเอทานอลอ้างอิง ในเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 24.83 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนกุมภาพันธ์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 18 พฤษภาคม 2564

BRR เผยไตรมาส 1/64 กำไรพุ่ง 185.85 ล้าน ได้อานิสงส์ส่งออกน้ำตาลเพิ่ม

น้ำตาลบุรีรัมย์ โชว์ผลงานไตรมาส 1/64 ทำกำไรสุทธิ 185.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 511.50% หลังส่งออกน้ำตาลเพิ่มในจังหวะที่ราคาน้ำตาลโลกพุ่ง

อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 185.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 511.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 975.07 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยมาจากกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ น้ำตาลที่ขยายตัวได้อย่างโดดเด่นจากปริมาณส่งออกน้ำตาลไปแก่คู่ค้าได้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนในช่วงจังหวะราคาตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 17-18 เซนต์ต่อปอนด์

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ BRR ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยในรอบการผลิตปี 2563/64 อยู่ที่ 123.68 กิโลกรัมน้ำตาลต่อตันอ้อย สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมฯ ถึง 10.24 กิโลกรัมน้ำตาลต่อตันอ้อย โดยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 1.76 ล้านต้นอ้อย ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ประกอบกับการดูแลควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อต่อการผลักดันผลการดำเนินงานที่ดี ส่งผลให้ไตรมาสนี้ผลงานของ BRR เติบโตเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

อนันต์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดจะเติบโตตามแผน โดยในไตรมาส 2/2564 บริษัทฯ มีแผนส่งออกน้ำตาลทรายดิบมากกว่าในไตรมาสแรก รวมถึงการนำน้ำตาลทรายดิบไปทำน้ำตาลรีไฟน์ (น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์) ที่สร้างกำไรต่อหน่วยที่ดีกว่า ให้เต็มความสามารถด้านการผลิตที่ 20,000 ตัน เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ที่ดีในช่วงที่ราคาตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูงสุดในรอบ 4 ปี ส่งผลให้ครึ่งปีแรกกลุ่มธุรกิจน้ำตาลจะขยายตัวได้โดดเด่น

ส่วนกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยครึ่งปีหลัง 64 หรือ SEW ซึ่งถือเป็น New S curve ของ BRR จะเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผลการดำเนินงาน บริษัทฯ จึงอนุมัติงบลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 99.99 อีก 70 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเยื่อที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยรองรับแผนรุกธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม หลังจากลูกค้าในต่างประเทศให้ความสนใจให้ SEW เป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ซึ่งคาดว่าจะสรุปรายละเอียดได้ในเร็วๆ นี้

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 18 พฤษภาคม 2564

อ้อยและน้ำตาลทราย ยกระดับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมหนุน Zero wastes

โรงงานน้ำตาลประกาศร่วมมือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดเก็บผลผลิตในไร่จนถึงกระบวนการผลิต เพื่อลดกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสีย หวังยกระดับอุตสาหกรรมก้าวสู่ Zero wastes หลังประสบความสำเร็จในด้านความร่วมมือกับชาวไร่ลดอ้อยไฟไหม้ที่ทำให้ฝุ่นควันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยได้มีความเห็นร่วมกันบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในไร่จนถึงกระบวนการนำอ้อยเข้ามาหีบสกัดเป็นน้ำตาลทรายเพื่อลดผลกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ก่อผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของผู้ประกอบการโรงงานที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่การเป็น Zero wastes ได้อย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้งหมดทั่วประเทศได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนมาโดยตลอด โดยแต่ละโรงงานได้ลงทุนด้านเครื่องดักจับฝุ่นลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 หรือการบำบัดน้ำเสียให้สะอาด ปลอดภัยและไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำผลพลอยได้ที่ถือเป็นขยะอุตสาหกรรม เช่น ชานอ้อยมาใช้เผาไฟฟ้าเพื่อนำความร้อนที่ได้ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการนำกากน้ำตาลมาใช้ผลิตเป็นเอทานอลสำหรับเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ทำให้สามารถลดมลพิษในอากาศและลดใช้จ่ายนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ มีการนำน้ำเสียมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอแก๊ส และทำการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตได้อีก ซึ่งแต่ละโรงงานได้มีการลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตมิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยจะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ เช่นเดียวกับการลดผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ในฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตปีที่ผ่านมาที่สามารถลดการเผาอ้อยทำให้ปัญหาทุเลาความรุนแรงลง และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยชาวไร่มีรายได้ที่ดีขึ้นจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานในอ้อยสูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่โรงงานได้ผลผลิตน้ำตาลที่ดีที่สุดแม้มีวิกฤตภัยแล้งก็ตาม

“ความสำเร็จในการร่วมมือกันกับชาวไร่ในการลดการเผาอ้อยในรอบการผลิตที่ผ่านมามีส่วนทำให้สามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งลดผลกระทบจากมลพิษในทุกด้าน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวอ้อยสด ไม่เผาอ้อย และจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตที่ต้องผ่านการควบคุมและบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำของเสียจากการผลิตไปสร้างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็น Zero Waste ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG) ของประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้” นายสิริวุทธิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ไทยเร่งเครื่อง‘RCEP’ ช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาชิกความ ตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 15 ประเทศ ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP ไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ล่าสุด สิงคโปร์ และจีน ได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลง RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลือ รวมทั้งไทย กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง

ทั้งนี้ เมื่อสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบแล้ว ก็จะส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 60 วันทันที ซึ่งสมาชิกได้ตั้งเป้าว่า จะต้องดำเนินการให้ทันภายในสิ้นปีนี้

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการของไทย หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาความตกลง RCEP ไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ขณะนี้ 3 หน่วยงานของไทยกำลังอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร

อยู่ระหว่างออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสมาชิก RCEP กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างปรับระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งเมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จแล้ว ไทยก็จะยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทันที คาดว่าน่าจะภายในเดือนตุลาคม 2564

สำหรับประโยชน์ของความตกลง RCEP ที่มีต่อการส่งออกของไทย ที่เห็นได้ชัดเจน จะเป็นเรื่องที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเพิ่มเติมจากที่เก็บกับไทยในปัจจุบัน

และเพิ่มเติมจาก FTA ที่ไทยมีอยู่แล้วกับประเทศเหล่านี้ โดยเกาหลีใต้ จะลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด ทุเรียน ผลไม้และลูกนัทอื่นๆ แช่แข็งของไทย จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง ปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี

ส่วนญี่ปุ่นจะลดภาษีศุลกากรให้ผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง ผงกระเทียม ของไทย จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี กาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และจีน จะลดภาษีศุลกากรให้สับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ยางสังเคราะห์ ของไทย จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ ลวดและเคเบิ้ลสำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ของไทย จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ สมาชิก RCEP ยังได้เริ่มประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำกับดูแลและบังคับใช้ความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น กระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ โครงสร้างสำนักงานเลขาธิการ RCEP และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มที่

ในปี 2563 ไทยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิก RCEP ประมาณ 7.87 ล้านล้านบาท หรือ 57.5% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53.3% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก โดยมีอาเซียน จีน และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น

จาก https://www.naewna.com วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ไทย”เตรียมพร้อม  เจ้าภาพเอเปคปีหน้า

“จุรินทร์” หารือ “นิวซีแลนด์” ผ่านระบบ VDO Conference รุกจับมือร่วมฝ่าโควิด และเตรียมพร้อมไทยเจ้าภาพเอเปคปี2565

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวภายหลังการหารือกับนายเดเมียน โอ คอนเนอร์รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและการส่งออกของนิวซีแลนด์ ผ่านระบบ VDO Conference ว่าปีนี้นิวซีแลนด์ในฐานะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค และในปี2565ไทยจะรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์   สำหรับเอเปคนั้นเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันของกลุ่มประเทศในเอเชียและแปซิฟิคจำนวน 21 ประเทศ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2532 มูลค่าการค้าของไทยกับเอเปคปีละประมาณ 10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าการค้าของไทยต่อการค้ารวมกับทุกประเทศในโลก

โดยประเด็นที่หารือในครั้งนี้ นิวซีแลนด์ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุม ต้องการออกแถลงการณ์ร่วมผลจากการประชุมเอเปคปีนี้ 3 แถลงการณ์ และขอความเห็นในฐานะรัฐมนตรีการค้าของประเทศไทย  โดยไทยได้แจ้งว่ายินดีในการสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมทั้ง 3 ฉบับประกอบด้วยฉบับที่ 1 แถลงการณ์ร่วมฉบับใหญ่ของรัฐมนตรีการค้าเอเปคทั้งหมด สาระสำคัญ คือ กำหนดให้การค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด และให้เอเปคสนับสนุนการค้าในระบบพหุภาคีโดยเฉพาะในรูป WTO รวมถึงให้เอเปคสนับสนุนเศรษฐกิจแบบ BCG คือทั้งเศรษฐกิจ Bio Economy เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน“ไทย”เตรียมพร้อม  เจ้าภาพเอเปคปีหน้าแถลงการณ์ฉบับที่ 2 กำหนดให้สมาชิกในกลุ่มประเทศเอเปค จะไม่จำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด ยกเว้นมีข้อจำกัดตามที่ WTO กำหนดไว้เท่านั้น เช่น ไม่พอใช้ในประเทศเป็นต้นและแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ภาคบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเอเปคต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านโลจิสติกส์สนับสนุนกระบวนการนำเข้าส่งออกทางผ่านด่านต่างๆด้วยระบบดิจิตอลในสินค้าที่จำเป็นในสถานการณ์โลกปัจจุบัน ทั้งเครื่องมือแพทย์ วัคซีน อาหาร สินค้าเกษตร หรือสินค้าเครื่องใช้ในบ้านในยุค New Normal

อย่างไรก็ตามไทยได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุมในวันที่ 4 - 5 มิถุนายนนี้ โดยในวันที่4มิถุนายนนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพประชุมรัฐมนตรีการค้าร่วมกับสภาธุรกิจเอกชนเอเปคซึ่งการประชุมจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ 2.เรื่องการรับมือเศรษฐกิจต่อวิกฤติโควิด3.กลุ่มที่ว่าด้วยการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนหลังสถานการณ์โควิด โดยซไทยจะเข้าร่วมในกลุ่มที่ 2 และวันที่ 5 มิถุนายน จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีโดยเฉพาะของกลุ่มประเทศเอเปค“ไทย”เตรียมพร้อม  เจ้าภาพเอเปคปีหน้า“นิวซีแลนด์ได้ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมใหญ่ของนิวซีแลนด์คิดภาษีเป็นศูนย์ ตามข้อตกลง FTA ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ แต่ไทยยังดำเนินการได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนกรกฎาคม และจะขอให้ทางนิวซีแลนด์ช่วยนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อสถานการณ์โควิดเพิ่มเติมมากขึ้นจากการนำเข้าปกติที่ผ่านมา โดยขอให้นำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้ เช่นลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง มังคุด เพราะผ่านการตรวจสอบด้านสุขอนามัยจากนิวซีแลนด์เรียบร้อยแล้ว และทางนิวซีแลนด์ให้การรับรองแล้ว ขอให้นำเข้าเพิ่มเติมเป็นพิเศษนอกจากผลไม้ชนิดอื่นๆที่มีการนำเข้าโดยปกติ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“จุรินทร์”สั่งคุมราคาปุ๋ย

เข้ม! “จุรินทร์” สั่ง กรมการค้าภายใน ควบคุมราคาปุ๋ย  ไม่ให้กระทบเกษตรกรเด็ดขาด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น ว่าสาเหตุสำคัญเนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศอินเดียมีการประมูลการนำเข้าปุ๋ยจำนวนมาก ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแม่ปุ๋ยรายใหญ่ก็ได้เก็บสต๊อกปุ๋ยไว้ใช้ในฤดูที่จะทำการเกษตรฤดูใหม่  จึงทำให้มีส่วนดึงให้ราคาปุ๋ยในตลาดราคาสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าปุ๋ยในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในได้เร่งรัดเจรจากับผู้นำเข้าปุ๋ย 2-3 ครั้งแล้ว โดยขอให้ดำเนินการในการที่จะไม่ปรับขึ้นราคาไปจากราคาที่ได้แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ และขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการในการที่จะกำหนดมาตรการให้ สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ กลุ่มเกษตรกรต่างๆได้ดำเนินการที่จะซื้อปุ๋ยหรือแม่ปุ๋ยในราคาพิเศษจากผู้นำเข้าหรือผู้จำหน่ายรายใหญ่ โดย นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เริ่มดำเนินแล้ว" โดยการรวบรวมความต้องการของสมาชิกเหล่านี้ เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยที่จะใช้ในกลุ่มต่างๆให้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันก็ได้จำกัดราคา ควบคุมราคาในตลาดไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรกร ได้สั่งการให้ลงไปตรวจสอบติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิด หากพบการค้ากำไรเกินควรก็จะดำเนินการตามกฏหมายทันที ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ไทยประกาศจีดีพี ส่งออก และรอติดตามรายละเอียดบันทึกประชุม กนง.

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money…week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.15-31.50 ในสัปดาห์นี้ สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่มีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญออกมามาก ทั้ไทยและต่างประเทศ ตัวเลขสำคัญของไทย คือ จีดีพีไตรมาสที่ 1 ที่ตลาดคาดว่า จีดีพีไทยจะยังคงหดตัว แต่หดตัวน้อยกว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ จะมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยและรายงานการประชุมนโยบายการเงินของไทย ด้านต่างประเทศ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์จะรายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 เช่นกัน ด้านนโยบายการเงิน นอกเหนือจากการปาฐกถาของสมาชิกเฟดและอีซีบีแล้ว เฟดและธนาคารกลางของออสเตรเลียจะเปิดเผยรายงานการประชุม โดยตลาดรอความเห็นจองคณะกรรมการต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขณะที่ธนาคารกลางของจีนจะประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีซึ่งเป็นดอกเบี้ยสำคัญของจีนด้วย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และความเสี่ยงของพื้นที่ระบาดใหม่

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.05-31.40 โดยเปิดตลาดแข็งค่าสอดคล้องกับการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์เนื่องจากตลาดผิดหวังตัวเลขการจ้างงาน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือนเมษายนอยู่ที่ 2.66 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์หลังจากตลาดการเงินโลกเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลต่อเงินเฟ้อที่อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าคาด โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนเร่งขึ้น 0.8%MoM (4.2%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 2009 โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าจากปัจจัยฐานต่ำและสอดคล้องกับการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมราคาพลังงานละอาหารสด) เร่งขึ้น 0.9%MoM (3.0%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 1982 นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากวามกังวลของนักลงทุนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ครม. อนุมัติขยายมาตรการเราชนะและเรารักกัน โดยจะเพิ่มวงเงินใช้จ่าย 2,000 บาทต่อคน ใช้จ่ายได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ คิดเป็นวงเงิน 7.87 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติงบร่างประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2022 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท โดยต่ำกว่าปีก่อน 5.66% เมื่อเทียบกับประมาณการรายได้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท จะทำให้การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นมาที่ 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ร่างงบประมาณดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระที่ 1 ช่วง 31 พฤษภาคม- 2 มิถุนายน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าปิดตลาดที่ระดับ 31.37 (วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาซื้อขายอยู่ในกรอบ 1.60-1.70% โดยประเด็นหลักที่ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้นมาจากการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือนเมษายนที่เร่งขึ้น 0.8%MoM (4.2%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี 2009 โดยราคาปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้าจากปัจจัยฐานต่ำและสอดคล้องกับการเปิดเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้น 0.9%MoM (3.0%YoY) สูงสุดตั้งแต่ปี1982 โดยประเด็นนี้เองทำให้ตลาดเริ่มกลับมาพูดถึงช่วงเวลาที่เฟดจะส่งสัญญาณการลดขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายสัปดาห์อัตราผลตอบแทนก็มีการย่อตัวจากจุดสูงสุดแถวบริเวณใกล้เคียง 1.70% ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนได้ออกมาแสดงความเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นชั่วคราวและยังเร็วเกินไปที่จะถอนการผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน ขณะที่ความเคลื่อนไหวของทางฝั่งยูโรโซนก็น่าสนใจ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีอายุ 10ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดบริเวณ -0.10% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 2ปี โดยสาเหตุหลักมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ZEW เยอรมนีเดือนพฤษภาคมเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่ 84.4 จุด โดยความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้เกิดคาดหวังว่าเยอรมนีจะกลับมาเปิดเมืองได้ในเร็ววันนี้

ขณะที่อัตราผลตอบแทนในประเทศไทยเคลื่อนไหวปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับปัจจัยในต่างประเทศ โดยไฮไลท์อยู่ที่การประมูลพันธบัตรรัฐบาล LB31DA ตัว Benchmark รุ่นอายุ 10ปีตัวใหม่ วงเงินประมูล 15,000 ล้านบาท ที่ปรากฏว่าผลออกมาถือว่าค่อนข้างดี สะท้อนผ่านช่วงผลอัตราผลตอบแทนที่ค่อยข้างแคบที่ระดับ 1.82-1.83% และ Bid coverage ratio 2.64 เท่า ทำให้ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.46% 0.52% 0.66% 1.04% 1.41% และ 1.78% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 1,486 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 11,384 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,106 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,486 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พาณิชย์กางแผนรับมือ  คู่ค้าเปิดไต่สวน  กีดกันการค้าหนัก

การใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ และอาจเป็นเครื่องมือกีดกันการค้า ในช่วงจากนี้ที่เศรษฐกิจ การค้าโลกเริ่มฟื้นตัวจะเป็นอย่างไรนั้น

ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2564 มีสินค้าไทยอยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้ารวม 37 รายการ แบ่งเป็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) 14 รายการ จาก 5 ประเทศ(อินเดียใช้มาตรการกับไทยมากสุดรองลงมาคือเวียดนาม และสหรัฐฯ) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) 3 รายการ จาก 2 ประเทศ (อินเดีย เวียดนาม) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) 20 รายการ จาก 9 ประเทศ(ฟิลิปปินส์ มากสุด 10 รายการ) โดยสินค้าไทยที่ถูกไต่สวน เช่น วัสดุที่ใช้ในการเชื่อม, เหล็กกล้าผสม, เส้นใยโพลีเอสเตอร์ และนํ้าตาล เป็นต้น

ขณะที่ไทยมีการเปิดไต่ สวนเพื่อใช้มาตรการกับประเทศคู่ค้ารวม 7 รายการ แบ่งเป็นมาตรการเอดี 6 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 1 รายการ สินค้าที่ไทยเปิดไต่สวน เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน, สินค้าฟอยล์และอะลูมิเนียม, ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ (BOPP) เกรดทั่วไป เป็นต้น ทั้งนี้ผลกระทบหากไทยถูกใช้มาตรการต่าง ๆ ข้างต้น คือการชะลอตัวทางการค้าที่การส่งออกอาจลดลงจากการถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูง ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ หรือประเทศที่มีแต้มต่อทางการค้า ส่งผลต่อเนื่องถึงการผลิต และการจ้างงานที่ลดลง เป็นต้นแนวโน้มใช้มาตรการพุ่งนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้มาตรการ AD / CVD /SG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จากปัจจัยหลักคือ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ขยายตัวเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการข้างต้นเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะที่คาดการณ์ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะยังคงดำเนินต่อไป แต่สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหันมาใช้มาตรการการค้าแบบดั้งเดิม คือ AD / CVD ควบคู่กับการนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อใช้เป็นมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าซึ่งรวมทั้งไทยมากขึ้น

อินเดียเบอร์1ใช้ ADโลกทั้งนี้จากข้อมูลของ  wto.org (สถิติตั้งแต่ปี 2538 ถึง ณ เดือนพ.ค.2564) การใช้มาตรการ AD ทั่วโลกมีจำนวนทั้งสิ้น 4,012 กรณี โดยประเทศที่ใช้มาตรการ AD กับทั่วโลกมากสุดคือ อินเดีย  712 กรณี  รองลงมาคือ สหรัฐฯ 514 กรณี และสหภาพยุโรป(อียู) 335 กรณี (กราฟิกประกอบ) ส่วนมาตรการ CVD มีจำนวนทั้งสิ้น 337 กรณี ประเทศที่ใช้มาตรการมากสุดคือ สหรัฐฯ 168 กรณี อียู 45 กรณี และ แคนาดา 35 กรณี โดยประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากสุดคือ จีน 128 กรณี รองลงมา อินเดีย 55 กรณี และ เกาหลีใต้ 15 กรณี สินค้าที่ถูกใช้มาตรการ CVD มากสุดคือ เหล็กชนิดต่าง ๆ 165 กรณี รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์ 31 กรณี และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 28 กรณีส่วนมาตรการ SG มีจำนวนทั้งสิ้น 191 กรณี ประเทศที่ใช้มาตรการมากสุดคือ อินโดนีเซีย 23 กรณี รองลงมา อินเดีย 22 กรณี และตุรกี 17 กรณี สินค้าที่ถูกใช้มาตรการ SG มากสุดคือ เหล็กชนิดต่าง ๆ 51 กรณี รองลงมา เคมีภัณฑ์ 35 กรณี และอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และยาสูบ 15 กรณีมาตรการตอบโต้

นายกีรติ กล่าวว่า บทบาทของกรมการค้าต่างประเทศ กรณีไทยถูกไต่สวน AD / CVD / SG ที่สำคัญคือ ให้คำแนะนำผู้ส่งออกไทยในการตอบแบบสอบถาม, การเข้าร่วมตรวจสอบข้อมูลในฐานะผู้สังเกตการณ์, มีหนังสือถึงรัฐบาลประเทศผู้ไต่สวนเพื่อสนับสนุนข้อมูลหรือข้อโต้แย้งของผู้ส่งออกไทย, ในกรณีการไต่สวน CVD กรมการค้าต่างประเทศ  จะเป็น Focal Point หรือเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บีโอไอ  กรมศุลกากร กรมสรรพากร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ในการเข้าร่วมกระบวนการตอบแบบสอบถามสำหรับภาครัฐ รวมถึงแนะนำรายชื่อบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการ AD / CVD / SG ของประเทศต่าง ๆ (ในกรณีที่ต้องการใช้ที่ปรึกษากฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการไต่สวนของสหรัฐฯที่จะต้องกระทำผ่านบริษัทที่ปรึกษากฎหมายที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลสหรัฐฯเท่านั้น)“มาตรการเหล่านี้เป็นกฎกติกาของ WTO ที่สามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวเองจากการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในส่วนของมาตรการเอดีฝากถึงผู้ส่งออกไทยต้องเข้าใจหลักการ อย่าไปขายสินค้าราคาถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศตัวเอง เช่นขายในบ้าน 10 บาท แต่ส่งไปขายประเทศอื่นในราคา 4 บาท แสดงว่ามีเจตนาไปดัมพ์ราคาและทุ่มตลาด  เพราะหากถูกไต่สวนและถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในอัตราสูงก็จะทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน คู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น  เรื่องนี้เราพยายามบอกกับผู้ส่งออกไทยทุกราย รวมถึงผู้ประกอบการจากต่างประทศที่มาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกว่าอย่าไปทำ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"CPTPP" ไทยพร้อมแล้วหรือยัง

หอการค้าไทย กระทุ้งรัฐต้องกล้าลอง ยื่นหนังสือขอร่วมเจรจา CPTPP สภาอุตฯ ชง กกร.19 พ.ค. หยั่งเสียงเห็นด้วยหรือไม่  ด้านสภาเกษตรฯ ยังเสียงแข็ง เกษตรกรยังไม่พร้อม

ขยับทีไรก็เป็นเรื่องทุกทีสำหรับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ที่มีเห็นต่างที่หลากหลายของทุกภาคส่วน ล่าสุดวันที่ 5 พฤษภาคม 2564  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นประธาน ได้ยื่นขอขยายเวลาเพิ่มอีก 50 วัน

 เพื่อศึกษาความตกลงให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จากนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของครม.ว่าจะเห็นชอบในการขอยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมการเจรจา CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นประธานคณะกรรมาธิการ CPTPP ที่จะมีการประชุมในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคมนี้หรือไม่ ทั้งนี้ เรื่อง CPTPP  ณ ปัจจุบันยังมีความเห็นต่างเช่นเดิม

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางหอการค้าไทยฯ ตั้งแต่สมัยนายกลินท์ สารสิน เป็นประธาน ได้ย้ำมาตลอดว่าขอสนับสนุนรัฐบาลที่ต้องเร่งยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการขอเข้าร่วมการเจรจา เพราะกระบวนการของ CPTPP ตั้งแต่ขอเข้าร่วมการเจรจา ขั้นตอนการเจรจากับประเทศภาคีสมาชิก หลังจากเจรจาเสร็จต้องนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาว่าเห็นควรเข้าร่วมความตกลงหรือไม่ หากเห็นควรเข้าร่วมก็ต้องนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อนำสู่ขั้นตอนการให้สัตยาบันมีผลบังคับใช้ต่อไป “ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี หากระหว่างทางมีอะไรที่จะแก้ไขยังทำกันได้ หากเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์เสียมากกว่าได้สำหรับประเทศก็ยังขอถอนตัวได้ แต่ถ้าเราไม่ลองเข้าไปดูจะไปรู้ได้อย่างไร”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  31.30 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อ ตามบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สดใสในระยะนี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.40 บาท/ดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง หากเงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อ ตามบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สดใสในระยะนี้ แต่เราก็มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์อยู่ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทก็มีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เรามองว่ายังไม่สามารถจะผ่านได้เร็วในระยะสั้นนี้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 จากความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อหลังสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและสินค้าพลังงานก็พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.0% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งความกังวลการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 8bps สู่ระดับ 1.70% กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างพากันเทขาย หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งอ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2.7% ทั้งนี้ แรงเทขายหุ้นเทคฯ ยังได้ลุกลามไปยังหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ทำให้ตลาดเลือกที่จะลดความเสี่ยงลง กดดันให้ ดัชนี S&P500 และ ดัชนี Dowjones ปิดลบกว่า 2.2% และ 2% ตามลำดับ

ขณะที่ในฝั่งยุโรป แม้ว่านักลงทุนจะเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ดังจะเห็นได้จากการที่ หุ้นเทคฯ ต่างปรับฐานรุนแรง อาทิ Adyen -5.9%, Infineon -3.3%, ASML -2.1% เป็นต้น แต่ทว่า หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ และ กลุ่มการเงิน กลับฟื้นตัวขึ้น หนุนให้ โดยรวม ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวก 0.03%  แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่นักลงทุนก็ไม่ได้กลับเข้ามาถือบอนด์ระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวแข็งแกร่งไปพร้อมกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายบอนด์ระยะยาวกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 8bps แตะระดับ 1.70% และมีแนวโน้มที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะทรงตัวในกรอบใหม่ 1.65%-1.75% จนกว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ภายหลังการรับรู้รายงานเงินเฟ้อจะยืนกรานไม่รีบปรับนโยบายการเงิน เพราะเฟดยังเชื่อว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราว ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยชะลอการเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้ ทั้งนี้ เมื่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงจนทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนหนัก ผู้เล่นในตลาดจึงเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์มากขึ้น เพื่อเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) จากความผันผวนในตลาดชั่วคราว ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นราว 0.7% สู่ระดับ 90.7 จุด  โดยค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงกว่า 1% สู่ระดับ 109.7 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่า 0.6% สู่ระดับ 1.207 ดอลลาร์ต่อยูโร สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดไปมาก ซึ่งเรามองว่า ตลาดการเงินอาจเริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้บ้าง หาก เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่จะยืนยันว่า เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและเฟดจะยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 พฤษภาคม 2564

'สุพัฒนพงษ์' ชูคาร์บอนศูนย์ สั่งปรับ 'แผนพลังงานชาติ'

 “สุพัฒนพงษ์” สั่งปรับแผนพลังงานแห่งชาติ มอบโจทย์ กระทรวงพลังงาน พุ่งเป้าลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ตามเทรนด์โลก หวั่นเป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้า ขีดเส้นเสร็จสิ้นปี เริ่มใช้ปีหน้า

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี(ครม.) นั้น ขณะนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมปรับปรุงแนวทางการจัดทำแผนฯใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป้าหมายในการจัดทำแผนฯให้ตอบโจทย์ทิศทางพลังงานของโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์(Carbon Neutral) หรือ Net-Zero Carbon

“แม้ว่าปัจจุบัน เป้าหมายการลด Co2 ลงในสัดส่วน 20% ของพลังงานจะมีการกำหนดไว้ในแผนฯอยู่แล้ว แต่รองนายกฯ มองว่า อาจจะไม่เพียงพอ เพราะขณะนี้หลายประเทศได้กำหนดเป้าหมายลด Co2 ให้กลายเป็นศูนย์แล้ว และกำหนดปีเป้าหมายไว้ชัดเจน หากไทยไม่ปรับเป้าหมายให้สอดรับทิศทางพลังงานโลก เกรงว่าอาจเป็นเหตุหยิบยกขึ้นมากีดกันการค้าในอนาคตได้”

ดังนั้น การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ทางกระทรวงพลังงาน ได้จัดการประชุมระดมสมอง (เวิร์คช็อป) จากคนรุ่นใหม่ทั้งในส่วนของกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ไปเมื่อช่วงเดือนธ.ค.2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดต่างๆนั้น จะต้องนำกลับมาสู่การเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายหมายใหม่ โดยตั้งโจทย์เรื่องกำหนดการลดปล่อย CO2 ในแต่ละปี และมาตรการด้านพลังงาน ที่จะนำมาใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

จากนั้น เมื่อแผนพลังงานแห่งชาติ จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 แผน เพื่อนำมาใช้ในระยะ 5-10 ปี ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน ( EEP ) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan ) ให้สอดรับกับเป้าหมายในแผนพลังงานแห่งชาติต่อไป

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เดิมการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ จะให้ความสำคัญกับทิศทางการใช้พลังงานของประเทศเป็นหลัก แต่แผนใหม่จะมองจะทิศทางพลังงานของประเทศเบื้องต้น (White Paper) และเริ่มต้นมากำหนดเป้าหมายใหม่ตามการลด CO2 และการจัดทำแผนปฏิบัติการให้เสร็จภายในปลายปีนี้ เพื่อนำแผนพลังงานแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติ และเริ่มใช้ในปี 2565 เป็นต้นไป

สำหรับการกำหนดเป้าหมายในแผนพลังงานแห่งชาติใหม่ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ไทยบรรลุข้อตกลง หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) ที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 2-13 ธ.ค. 2562 และได้ประกาศคงเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซ CO2 สำหรับประเทศไทยไว้เท่าเดิมที่ 20-25% ภายในปี 2573

ขณะที่ทิศทางการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติใหม่ เบื้องต้น จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และอาจปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น จากเดิมแผน PDP กำหนดสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 21% ในปี 2580 แต่จะถึง 50% หรือไม่นั้น ยังต้องประเมินหลายปัจจัยประกอบกัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 13 พฤษภาคม 2564

ครม.ไฟเขียว 6 พันล้าน หนุนเกษตรกรตัดอ้อยสด ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

ครม.อนุมัติวงเงิน 6 พันล้าน ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด จูงใจให้ผลตอบแทนมากขึ้น ช่วยลดฝุ่น PM 2.5

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.)  อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 กรอบวงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

โดยการดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดให้มีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการคล้ายคลึงกับฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา แต่โครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 นี้ รัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น  ประมาณ 300,000 ราย  ในอัตรา 120 บาทต่อตัน

โดยตั้งเป้าหมายอ้อยสด 80 % ของปริมาณอ้อยคาดการณ์ทั้งหมด 70 ล้านตัน คิดเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ (ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564) ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง ทั้งที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานและเกษตรกรรายย่อยที่ส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย

ส่วนผลการดำเนินโครงการฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดแล้ว 1.33 แสนราย เป็นเงินจำนวน 3,457 ล้านบาท มีปริมาณอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน จำนวน 37.58 ล้านตัน และมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อยู่ที่ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

นอกจากนี้ ครม.รับทราบแผนดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ได้แก่ 1.ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ แบ่งเป็น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกิน 10% ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ 2.หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท 3.กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด 4.จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด

5.ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด 6.ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก 7.สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

“การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกร มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบอาชีพและดำรงชีพอีกด้วย”

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ครม.อนุมัติเติมเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย-ข้าวโพด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 วงเงินงบประมาณ 311.41 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายรวม 2.92 ล้านไร่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยก่อน และรัฐบาลจะชดเชยเงินตามจริง บวกด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส.+ 1 ในปีถัดไป สำหรับค่าเบี้ยประกันภัย ไม่รวมค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็น ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐานเทียร์ 1 (Tier 1) แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัย 160 บาท ต่อไร่

โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนอีก 64 บาทต่อไร่ และกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัยแยกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่ ส่วนค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ เทียร์ 2 (Tier 2) ซึ่งเกษตรกรซื้อเพิ่มเติม โดยพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 90 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 100 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่ ส่วนวงเงินความคุ้มครองครอบคลุมภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย เทียร์ 1 คุ้มครองภัยธรรมชาติ 1,500 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ เทียร์ 2 คุ้มครองภัยธรรมชาติ 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ ข้อมูล ณ 31 มี.ค.64 มีเกษตรกรยื่นคำขอรับค่าสินไหมทดแทน 3,396 ราย 34.29 ล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.ยังอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 วงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส.เช่นกันเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดให้มีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อย ที่ตัดอ้อยไฟไหม้ โดยจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีเท่านั้น ประมาณ 300,000 ราย ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตั้งเป้าหมายอ้อยสด 80% ของปริมาณอ้อยคาดการณ์ 70 ล้านตัน หรือคิดเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ (มิ.ย.-ก.ย. 64) ซึ่ง ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง

ส่วนผลการดำเนินโครงการฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดแล้ว 133,000 ราย เป็นเงิน 3,457 ล้านบาท มีปริมาณอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน 37.58 ล้านตัน และมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือ 49.65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด จากในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อยู่ที่ 61.11%

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดรับเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 1,100 บาทต่อตันฤดูผลิต 63/64

สุริยะ เผยชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า 1,100 บาทต่อตัน เพื่อลดปัญหา PM 2.5

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีนโยบายช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดง กว่า 200,000 ราย คาดว่าจะพร้อมเงินช่วยเหลือภายในเดือนมิถุนายน 2564

ทั้งนี้ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษPM 2.5 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาดำเนินการ ซึ่งทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้นพร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่า ตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพของตนเองและครอบครัวนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2564 นี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ไทยร่วมวงถก  อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หวังฟื้นการค้า-ลงทุน

ไทยรวมถก  อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 12 ผ่านระบบประชุมทางไกล เร่งยกระดับความตกลง AANZFTA ให้มีความทันสมัย หลังมีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 10 ปี หวังฟื้นการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้แข็งแกร่ง สู้โควิด-19 ตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายในปี 2565

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงความตกลง FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผ่านมาแล้ว 10 ปี โดยต้องการจะยกระดับความตกลงให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป และหวังฟื้นการค้าและการลงทุนในภูมิภาคให้กลับมาแข็งแกร่งภายหลังสถานการณ์โควิด-19

โดยที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นที่เห็นว่า ควรจะต้องปรับปรุง หรือรวมไว้ในความตกลงที่จะยกระดับเพื่อให้ทันสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง (Self-certification) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการและการลงทุน (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการโทรคมนาคม และบริการทางการเงิน) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการเจรจาให้เสร็จภายในปี 2565

นอกจากนี้ยังได้หารือเรี่องการต่ออายุการสนับสนุนทางการเงินของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ผ่านโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งจะสิ้นสุดในปีนี้ โดยในปี 2563 ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้สนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 45 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 1,058 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศสมาชิกในการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลง AANZFTA นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีชิลีแสดงความสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิก AANZFTA ซึ่งความตกลง AANZFTA ไม่มีข้อบทเรื่องการรับสมาชิกใหม่ โดยสมาชิกจะมีการหารือเรื่องนี้ต่อไป  ทั้งนี้ ความตกลง FTA อาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีบทบาทสำคัญต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากอาเซียนทุกรายการแล้ว ในส่วนของไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 98% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขยายตัวจาก 49.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 เป็น 73.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.- มี.ค.) มีมูลค่า 3,432.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.57% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ขนส่งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 1,500-2,500 ซีซี ปลาทูน่าแปรรูป เครื่องปรับอากาศ แผ่นอะลูมิเนียม และโพลีเอทิลีน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

สทนช.จี้ออกกฎการใช้น้ำลุ่มอ่าวไทยปี65

สทนช. เร่งวางกรอบแก้ไขปัญหา น้ำเค็ม ท่วม แล้ง ลุ่มน้ำอ่าวไทย หลังพบความต้องการใช้มากกว่าปริมาณน้ำต้นทุน ขณะการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ คาดพร้อมดำเนินการในปี 2565

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย ว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ที่กำหนดกรอบแนวทางและขอบเขตในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 90 วัน หรือภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไปนั้น

สทนช. ได้เร่งระดมแนวคิดจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำในคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำที่ติดอ่าวไทย รวมทั้งได้เชิญอีก 4 หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นสถานการณ์น้ำเสียและคุณภาพน้ำ และข้อห่วงกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ และระบบนิเวศจากแนวคิดก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดปากแม่น้ำ 4 สาย เพื่อให้การจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหามีความครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการรวบรวม วิเคราะห์ และกลั่นกรองข้อมูลสถานการณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 นำมาทบทวนปรับปรุงแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยระยะเร่งด่วนในมิติของภาพรวม 3 ด้าน ได้แก่

ด้านอุปสงค์ (Demand) ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำ มีปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุน (Supply) ในลำน้ำ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากจากอดีต เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค         จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำ  โดยการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะภาคการเกษตร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของทุกภาคส่วนและลดต้นทุนการใช้น้ำในอนาคต

ด้านอุปทาน (Supply) ปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะเอลนีโญ (El Nino) ส่งผลให้ฝนตกปริมาณน้อยลงและแปรปรวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำท่าและน้ำไหลลงเขื่อนลงลด เกิดการสูญเสียน้ำในระบบส่งทำให้ปริมาณน้ำที่ส่งได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สูงเพิ่มขึ้น

จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของแต่ละลุ่มน้ำ โดยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งน้ำทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคเชื่อมโยงแหล่งน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองทั้งผิวดินและใต้ดิน และพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ต้นน้ำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้เต็มศักยภาพ  และด้านบริหารจัดการ (Management) กลไกในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันยังขาดกฎหมายลำดับรอง ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน

นอกจากนี้ ระบบการตรวจวัด ติดตาม พยากรณ์สถานการณ์ความเค็มยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ระบบฐานข้อมูลยังไม่ได้บูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมถึงองค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการยังไม่เพียงพอที่จะวางแผนและกำหนดมาตรการในระยะยาว จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการกำหนดแนวทาง มาตรการ องค์กร กลไก ฐานข้อมูล ระบบคาดการณ์ และผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำที่เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการและปริมาณน้ำต้นทุน

“สทนช.จะนำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ไปวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยข้อสรุปกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและรายละเอียดดังกล่าว จะนำเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดที่อยู่บริเวณชายขอบของทั้ง 4 แม่น้ำสายหลัก เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เชื่อมโยงกับบริบทของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่”

รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่ลงรายละเอียดเชิงลึกในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาจุดสมดุลระหว่างลุ่มน้ำได้อย่างครอบคลุมในมิติของภาพรวมและรายลุ่มน้ำ ทั้งนี้ คาดว่าปี 2565 จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ไทยจ่อลุย FTA 5 ฉบับ รุกตลาดการค้า 4.5 แสนล้าน

ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ระบาดอยู่ทั่วโลก ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ “ความตกลงเขตการค้าเสรี” หรือ FTA เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการสามารถเพิ่มแต้มต่อเพื่อให้ออกแรงน้อยลง

ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า ไทยมีเอฟทีเออยู่กับ 18 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนการค้าประมาณ 63% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ยังเหลืออีก 37% ที่ยังไม่มีเอฟทีเอ นั่นเป็น “ช่องว่าง” ที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะทัพหน้าพยายามเร่งเครื่องเจรจา

ในปี 2564 แผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้ “นายสินิตย์ เลิศไกร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ดูแลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนความตกลงการค้าเสรี 5 ฉบับสำคัญ คือ ความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU), เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (UK), เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association : EFTA),

เอฟทีเอไทย-กลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย หรือ EAEU (5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย) และเอฟทีเอระหว่างอาเซียน-แคนาดา

ไม่นับรวม “CPTPP” หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการไป

โดยมีเป้าหมายว่า อย่างน้อยต้องเห็นหน้าเห็นหลัง 3 ใน 5 ฉบับ

3 ฉบับเป็น FTA กับยุโรป

หากสังเกตจะเห็นว่าความตกลง 3 ใน 5 ฉบับ เป็นความตกลงที่ไทยเตรียมพร้อมจะเจรจากับประเทศสมาชิก และอดีตสมาชิกในกลุ่มอียู ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลาดอียูเป็นตลาดหลักส่งออกสินค้าไทย ครองส่วนแบ่งตลาด 9% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ในช่วงไตรมาส 1/2564 การค้าไทย -อียู มูลค่า 329,815.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากแยกเฉพาะกลุ่มที่จะเจรจาจะพบว่า สัดส่วนตลาดอียูที่ไม่รวมยูเคนั้นคิดเป็น 7.6% ของการค้าทั้งหมด รองลงมาคือ EFTA จะสัดส่วน 2.4% ยูเคสัดส่วน 1.1% (ตามตาราง) ซึ่งขณะนี้การเตรียมความพร้อมความตกลงทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าไปอย่างมาก กล่าวคือ

การเตรียมพร้อมจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย-อียู หลังจากที่ได้เปิดเผยผลการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจาเมื่อเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้เตรียมหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

เพื่อหาข้อสรุปกรอบเจรจา น่าจะได้ภายในไตรมาส 2 จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากผ่านความเห็นชอบจะสามารถเริ่มเจรจาในไตรมาส 3 ปี 2564

ขณะที่ความตกลง EFTA อยู่ระหว่างตรวจรับผลการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจา คาดว่าจะสามารถเผยแพร่ผลการศึกษาได้ในไตรมาส 2 โดยต้องพิจารณาว่ามีส่วนใดที่ยังต้องแก้ไขหรือไม่ ความตกลงเอฟทีเอไทย-ยูเค อยู่ระหว่างการศึกษาเช่นกัน โดยคาดว่าผลสรุปจะออกมาในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

ต้องรอดู “ท่าที” ฝ่ายยูเคด้วย เพราะทางยูเคอยู่ระหว่างทบทวนนโยบายการค้าระหว่างประเทศภายหลังจากที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ยูเคจะมุ่งเจรจากับประเทศที่เคยมีเอฟทีเอเมื่อครั้งที่อยู่ในอียูก่อน ซึ่ง “เป้าหมายแรกของยูเค คือ การร่วม CPTPP”

ส่วนความตกลงเอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย หรือ EAEU จะเป็นกลุ่มประเทศ 5 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย และรัสเซีย ซึ่งได้เริ่มการกรุยทางเพื่อเตรียมเจรจาในสมัยนางสาวชุติมา บุณยประภัศร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2562

โดยหารือกับทางกรรมาธิการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียไว้ พร้อมทั้งกำหนดกลไกความร่วมมือเพื่อก้าวไปสู่การทำความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเริ่มเรียนรู้กฎระเบียบภายใน, สาขาของการค้าและการลงทุนที่สนใจจะเปิดตลาดระหว่างกัน เพื่อนำมาศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจา ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพชัดประมาณไตรมาส 3

ไฮไลต์ FTA อียู

หากพิจารณาตามไทม์ไลน์ของกระทรวงพาณิชย์จะเห็นว่า เอฟทีเอไทย-อียู น่าจะเป็นฉบับแรกในจำนวน 3 ฉบับที่จะเริ่มเปิดเจรจาได้ก่อน ซึ่งจากผลศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจรจานั้นได้ศึกษาครอบคลุมทุกด้าน

โดยระบุชัดว่าหากไทยและอียูยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน จะทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 2.09 แสนล้านบาทต่อปี

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่จะมีโอกาสขยายตลาดมากขึ้น คือ ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติก

หรือสินค้าเกษตรอย่าง ยาง ไก่ ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.1% ทั้งยังช่วยลดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน

ไม่เพียงเท่านั้น “ภาคบริการ” ยังเป็นสาขาที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะสาขา “บริการขนส่งทางเรือ”ซึ่งเป็นสาขาที่กำลังอยู่ในความสนใจของทุกฝ่าย เพราะเกิดปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ซึ่งประเด็นนี้ไทยจะสามารถหยิบยกเข้าไปหารือกับอียูได้ นอกจากนี้ ยังมีสาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจ

ต่อรอง 4 ประเด็นอ่อนไหว

ขณะที่ประเด็นความคาดหวังที่อียูมีต่อไทย จะมีทั้งเรื่องการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ซึ่งประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ได้มีการเจรจากับอียูไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรือเวียดนาม ที่เจรจาจบไปแล้ว เป็นต้นแบบในการต่อรองได้

ขณะที่อินโดนีเซียก็มีการเจรจากับอียูไปแล้วประมาณ 9-10 รอบ ส่วนฟิลิปปินส์เริ่มให้ความสนใจในการเข้าร่วมเจรจา เหลือเพียงมาเลเซียที่หยุดชะงักไปจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าหากเทียบความตกลงทั้ง 3 ฉบับ คือ อียู ยูเค EFTA ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่มีลักษณะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจคล้ายกันก็จะมีความคาดหวังต่อไทยใน 3-4 ประเด็นคล้ายกัน

ความท้าทายของการเจรจาต่อรองในประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ เป็นส่งที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมความพร้อม วางกลยุทธ์การต่อรองอย่างไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หากสามารถเจรจาเอฟทีเอทั้งหมดตามแผนไทม์ไลน์ได้สำเร็จจะช่วยสร้างโอกาสการค้าในตลาดที่มีสัดส่วนกว่า 12% มีมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 12 พฤษภาคม 2564

ครม.ทุ่มงบ 6.8 พันล้าน หนุนเกษตรกรตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5

รัฐบาลทุ่มงบกว่า 6.8 พันล้านบาท ส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 300,000 ราย ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงาน ตั้งเป้าตัดอ้อยสด 80% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด 70 ล้านตัน หวังลดฝุ่น PM 2.5 ช่วยเกษตรกรมีเงินหมุนเวียน 

11 พฤษภาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 กรอบวงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดให้มีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น

สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการคล้ายคลึงกับฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา แต่โครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 นี้ รัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น (ประมาณ 300,000 ราย) ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตั้งเป้าหมายอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยคาดการณ์ทั้งหมด 70 ล้านตัน คิดเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ (ระหว่างเดือนมิถุนายน - กันยายน 2564) ซึ่ง ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง ทั้งที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานและเกษตรกรรายย่อยที่ส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยส่วนผลการดำเนินโครงการฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดแล้ว 1.33 แสนราย เป็นเงินจำนวน 3,457 ล้านบาท มีปริมาณอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน จำนวน 37.58 ล้านตัน และมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อยู่ที่ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมดนอกจากนี้ ครม.รับทราบแผนดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ดังนี้1.ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ แบ่งเป็น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์2.หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท3.กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด4.จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด 5.ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด6.ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต  และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก7.สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรนางสาวรัชดา กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบอาชีพและดำรงชีพอีกด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤษภาคม 2564

บทความพิเศษ : ก.เกษตรฯประสบผลสำเร็จลดเผาในพื้นที่เกษตร

เกษตรฯ ประสบความสำเร็จลดเผาในพื้นที่เกษตร Hot Spotทั่วประเทศ ลดลง 53% ตั้งแต่ ม.ค. - เม.ย. 2564 ผลักดันเกษตรกรสร้างเครือข่ายจัดการเศษวัสดุ สร้างรายได้งามให้ชุมชน

จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งพื้นที่ป่า และพื้นที่ทางการเกษตร จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและทางเศรษฐกิจ และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพการเกษตร เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักของปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้มีนโยบายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และถ่ายทอดความรู้ด้านทำเกษตรปลอดการเผาให้กับเกษตรกร ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานรณรงค์ในท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤติหมอกควัน จัดทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา ส่งผลให้ทุกพื้นที่ของประเทศมีจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 - 22 เมษายน 2564 รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกับปีที่แล้ว จุดความร้อนสะสม (Hotspot) ลดลงร้อยละ 53 โดยโดยพื้นที่เกษตร มีจุดความร้อนสะสมลดลง ร้อยละ 47 ในขณะที่เกษตรกร มีการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา รวม 280 เครือข่าย มีการดำเนินการหลากหลายแนวทางในการจัดการเศษวัสดุตามความเหมาะสมสามารถสร้างรายได้เพิ่มแก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่การเกษตร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรมาทำการเกษตรแบบปลอดการเผา โดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา เพื่อเร่งรัด จัดการ และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม นำร่องสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร มาตั้งแต่ ปี 2547 โดยแนวทางในการส่งเสริมจะเน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลเสียจากการเผา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา และนำเสนอทางเลือกในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร และสร้างเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนในพื้นที่ต่อไป

โดยทางเลือกที่นำเสนอให้เกษตรกรไม่เผา และจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน คืนชีวิตให้ดิน เพราะถ้าดินดี เกษตรกรก็จะได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปุ๋ยในดิน ทำให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง การเผาตอซัง เป็นการทำลายอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน (N P K) คิดเป็นมูลค่า 217 บาทต่อไร่ รวมถึงส่งเสริมให้นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่นๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูก หรือการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค รวมไปถึงนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงาน เป็นพลังงานทดแทน หรือจะนำไปเพาะเห็ด ผลิตกระดาษ หรือของประดับก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังนำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า ที่แห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช หรือเรียกว่า การห่มดินเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำอุ้มปุ๋ย”เมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นปุ๋ยให้กับพืชเป็นอาหารให้สัตว์หน้าดิน เช่น ไส้เดือน กิ้งกือ ฯลฯ ช่วยพรวนดินและถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้กับพืชอีกด้วย

ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการ มีรายงานสรุปข้อมูลจุดความร้อนสะสม (Hotspot) ด้วยระบบดาวเทียม MODIS ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 - วันที่ 22 เมษายน 2564 รวมระยะเวลาประมาณ 4 เดือน พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมาทุกพื้นที่ของประเทศมีจุดความร้อนสะสมลดลง ร้อยละ 53 โดยพื้นที่เกษตร มีจุดความร้อนสะสมลดลง ร้อยละ 47 นอกจากนี้ ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา รวม 280 เครือข่ายมีการดำเนินการหลากหลายแนวทางในการจัดการเศษวัสดุตามความเหมาะสมและบริบทของชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิตและสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการจัดการเศษวัสดุยกตัวอย่าง ชุมชนต้นแบบปลอดการเผา ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ผลิตฟางอัดก้อนจำหน่าย ปริมาณ 80,000 ก้อน ขายราคา 30 บาทต่อก้อน เป็นเงิน 2,400,000 บาท หักต้นทุน 960,000 บาทแล้ว มีรายได้ 1,440,000 บาท และผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าวที่อัดไม่ได้ ต้นถั่วลิสง ซังข้าวโพด ปริมาณ 500 ตัน ขายราคา 4บาท/กิโลกรัม มีรายได้ เท่ากับ 200,000 บาท รวมทั้ง 2 กิจกรรม มีรายได้ เท่ากับ 1,640,000 บาท

“กรมส่งเสริมการเกษตร จะเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรให้รู้ถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอทางเลือกที่ใช้ทดแทนการเผา ให้ครอบคลุมและขยายพื้นที่ดำเนินงานโครงการให้เพิ่มมากขึ้นตามงบประมาณที่ได้รับ รวมถึงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย และในระยะยั่งยืน ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรกรให้ตระหนักถึงผลเสียและปัญหาที่จะตามมาจากการเผา ทั้งในเรื่องการทำลายโครงสร้างดิน ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบท้ายสุดกับสุขภาพของตนเอง ครอบครัว ลูกหลาน ซึ่งจะทำให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำการเกษตรแบบปลอดการเผาที่เกิดจากความตั้งใจของเกษตรกรเอง”อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ไทย-อียูลงนามจัดสรร  โควตาภาษีหลัง Brexit

ไทย-อียูลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) หลังจาก Brexit แล้ว ยันไทยยังคงได้สิทธิ์โควตาสินค้าเกษตร ประมง และสัตว์ปีก ครบถ้วน ไม่น้อยไปจากเดิม คาดมีผลบังคับใช้ มิ.ย.นี้ 

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เป็นผลการเจรจารองรับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมีนาย José Fernando Costa Pereira เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรโปรตุเกสประจำคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคง สำนักงานประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นผู้แทน และมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

​โดยผลจากการลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) กับอียู เป็นการสรุปการแบ่งโควตาภาษีสินค้าเกษตรและประมงของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษ โดยไทยจะได้โควตาเท่าเดิมในภาพรวม แต่ผู้ส่งออกจะต้องเช็กว่าโควตาไปอียูเป็นจำนวนเท่าไร ไปอังกฤษเป็นจำนวนเท่าไร เช่น โควตาไก่บางรายการอาจแบ่งไปให้อังกฤษมากกว่าอียู ส่วนโควตาข้าวบางรายการ อาจจะอยู่ที่อียูมากกว่าอังกฤษ เป็นต้น ส่วนอัตราภาษีจะยังเป็นอัตราเดิม ซึ่งเมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับแล้วจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยหลายรายการที่สำคัญไปทั้งสองประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“สินค้าในรายการที่ลงนาม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าข้าว สัตว์ปีก และสินค้าประมง โดยไทยยังคงรักษาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก่อนที่จะมี Brexit ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณโควตาเดิมที่สหภาพยุโรปจัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ (Country Specific Quota) เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (เป็ดและไก่) และปลา ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ปริมาณโควตานี้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ส่วนรายการอื่นๆ จะมีที่เป็นโควตารวมให้ทุกประเทศ (global quota) ซึ่งไทยต้องไปยื่นขอโควตาแข่งกับประเทศอื่นต่อไป”นางพิมพ์ชนกกล่าวอย่างไรก็ตาม ผลการเจรจากับอียูและอังกฤษในกรอบของ WTO นั้น เป็นการเจรจาเฉพาะการแบ่งปริมาณอย่างเดียว ไม่รวมการลดภาษี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป และไทย-อังกฤษ โดยเร็ว ซึ่งคงจะมีการเจรจาทั้งขอเพิ่มโควตาและลดภาษีสินค้าเกษตรและประมงต่อไป เพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ให้มากที่สุด

ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2564 ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษีภายใต้ WTO รวมถึงตารางปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (โดยไม่รวมอังกฤษ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและประมง กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจากับทั้งสองประเทศพร้อมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ให้สิทธิประโยชน์โดยรวมของผู้ส่งออกไทยไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับก่อนหน้าที่จะมีการถอนตัวของอังกฤษ กล่าวคือ ปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ รวมกับปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากอังกฤษ จะยังคงเท่ากับปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีเดิมที่ไทยเคยได้รับจากสหภาพยุโรป 28 ประเทศ        

โดยการเจรจาทั้งสองส่วนบรรลุความสำเร็จเมื่อเดือนก.ย.2563 และไทยกับอังกฤษได้ลงนามย่อในหนังสือแลกเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 เพื่อให้ทันมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ม.ค.2564 อันเป็นวันที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ ส่วนผลการเจรจากับสหภาพยุโรปเป็นเอกสารที่ลงนามในครั้งนี้ ซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องไปดำเนินกระบวนการภายในก่อนที่จะมีหนังสือแจ้งไทยเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิ.ย.2564

ในช่วงปี 2560–2563 การค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ย 1,400,178 ล้านบาทต่อปี โดยไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรปเฉลี่ย 656,084 ล้านบาทต่อปี และส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเฉลี่ย 744,094 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการส่งออกสินค้าโควตาภาษีมูลค่าเฉลี่ย 50,453 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหภาพยุโรป เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และปลาปรุงแต่ง เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 พฤษภาคม 2564

เปิดตัว 17 ชีวภัณฑ์  ความหวังใหม่  เกษตรกร ใช้แทนสารเคมี

กระทรวงเกษตรฯ เปิดชื่อ 17 สารชีวภัณฑ์ ใช้ทดแทนสารเคมี ชงปลดล็อก ก่อนชงบอร์ดฯ วัตถุอันตราย ไฟเขียว ด้านตลาดสารเคมีคึก ชี้ฝนมาเร็วเอื้อเพาะปลูก สมาคมพืชสวนฯ แฉรง.ปุ๋ยเคมีดอดขึ้นราคา 1,500-2,000 บาทต่อตัน

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้อง กันกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืช  และเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมอบนโยบายให้กรมวิชาการเร่งดำเนินการให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย  และเกษตรอินทรีย์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวง เกษตรฯนั้น

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเป็นแนวทางสำคัญที่ตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว เพราะสามารถนำมาใช้ทดแทนสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้  กรมวิชาการเกษตร  จึงได้เสนอกระทรวงฯ เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “การขึ้นทะเบียนการออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ กรมวิชาการเกษตร  รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2)” โดยประกาศฉบับดังกล่าวจะปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้นำสารชีวภัณฑ์มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีให้

“สารชีวภัณฑ์” ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน ที่มีข้อมูลทางวิชาการว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ตามรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งข้อมูลพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียนมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ชนิด  โดยเป็นชีวภัณฑ์ที่อยู่ในประกาศเดิม 5 ชนิดและเพิ่มในร่างประกาศใหม่อีก 12 ชนิด  ได้แก่ 1. บาซิลลัส ซับทิลิส (Bacillus subtilis) ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย โรคแคงเคอร์, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, โรคแอนแทรคโนส, โรคใบจุด, โรคไหม้ข้าว, โรครากเน่าโคนเน่า, โรครากปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม   และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 2. บาซิลลัส อะไมโลลิคเฟเชียน (Bacillus amyloliquefaciens)   ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium, Pythium, Rhizoctonia, Phytophthora, Verticillium, Botrytis cinerea, and Alternaria, โรคราแป้ง, โรคแอนแทรคโนส, โรคราน้ำค้าง, โรคไหม้ข้าว  และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 3. บาซิลลัส ไลเคนิฟอร์มิส (Bacillus licheniformis) ควบคุมโรคเน่าสีน้ำตาลในพีท  ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Botrytis cinerea (gray mold), ควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคทางใบของชาน้ำมัน  และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช  4. บิซิลลัส พูมิลัส (Bacillus pumilus) ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช อุตสาหกรรมการผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมการหมักอาหาร, การบำบัดน้ำเสีย 5. บิวเวอร์เรีย บัสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชโดยครอบคลุมเข้าทำลายแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแมลงจำพวกตระกูลเพลี้ย เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ รวมถึง บั่ว ที่ทำลายช่อและยอดกล้วยไม้ (ค่อนข้างดื้อยาฆ่าแมลง)หนอนทุกชนิด และแมลงที่เป็นศัตรูพืชเช่น มอดเจาะผลกาแฟ ไรแดง ไรขาว แมลงหวี่ขาว ด้วง แมลงวัน และยุง  6. เมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย (Metarhizium anisopliae) ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกปากกัดและปากดูด เช่น ไรแดงแอฟริกัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนด้วง และหนอนของผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด ตลอดจนแมลงปากกัดบางจำพวก เช่น ด้วงกออ้อย ด้วงหมัดผัก  ตั๊กแตน หนอนด้วงเจาะลำต้น ด้วงแรด แมลงดำหนาม หนอนหัวดำในมะพร้าว มอดเจาะผลกาแฟ ฯลฯ สามารถใช้ผสมน้ำฉีดพ่นพืชผัก ไม้ผลและไม้ดอก ไม้ประดับทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต 7.  ไตรโคเดอร์มา แอสเพอเรลลัม (Trichoderma asperellum) ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า 8.  ไตรโคเดอร์มา ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และโรคราน้ำค้าง  9. ไตรโคเดอร์มา แกมซิไอ (Trichoderma gamsii)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม พิเที่ยม ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า  และ สเคลอโรเที่ยม 10. ไตรโคเดอร์มา วิริดี้ (Trichoderma viride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  ไฟทอปทอร่า  สเคลอโรเที่ยม  มาโครโฟมิน่า  และ โบไทรทิส  และโรคทางใบเช่น ใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา โบไทรทิส  และ อัลเทอร์นาเรีย โรคราน้ำค้าง และราแป้ง 11. ไตรโคเดอร์มา ไวเรน (Trichoderma virens)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  พิเที่ยม  ไรซอคโทเนีย  และโรคทางใบที่เกิดจากเชื้อราอัลเทอร์นาเรีย 12. ไตรโคเดอร์มา อะโทรวิริดี้ (Trichoderma atroviride)ควบคุมโรคพืชที่ทำให้เกิดโรครากเน่า โคนเน่า เหี่ยว และเน่าแห้ง ที่เกิดจากเชื้อราฟิวซาเรี่ยม  และไรซอคโทเนีย 13. บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส หรือ เชื้อบีที  สายพันธุ์ ไอซาไว จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด 14. บาซิลลัส ทูริงจิเอนซิส จุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ได้แก่ กลุ่มหนอนผีเสื้อ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนหนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย หนอนคืบกระหล่ำ หนอนคืบละหุง หนอนร่านกินใบปาล์ม หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด 15. ไวรัส เอ็นพีวี  (NPV) จุลินทรีย์ชนิดไวรัสใช้สำหรับควบคุมแมลงได้ หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะเสมอฝ้าย 16. ไส้เดือนฝอยศัตรูแมลง  ไส้เดือนฝอยชนิดกำจัดแมลงได้แก่ ด้วงหมัดผัก ด้วงมันงวงมันเทศ หนอนกินเปลือกลองกอง หนอนผีเสื้อกินก้อนเห็ด หนอนกระทู้หอม 17. โปรโตซัว ชนิด Sarcocystis singaporensisโปรโตซัว  ใช้กำจัดหนู      ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ขั้นตอนในลำดับถัดไปกรมวิชาการเกษตรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะลงนามในประกาศเพื่อลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป  ซึ่งการปลดล็อกขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จะส่งผลให้การขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น และจะทำให้เกษตรกรได้ใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายก สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นต้นฤดูการเพาะปลูก ปริมาณฝนเริ่มมากขึ้น การใช้สารเคมีสารเคมีกำจัดวัชพืชเริ่มมากขึ้น อาทิ ข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพด เป็นต้น ประเมินสถานการณ์ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้ฝนมาเร็ว ขณะที่ปีที่แล้วภัยแล้งลากยาว  สมศักดิ์ สมานวงศ์

สอดคล้องกับ นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า เกษตรกรเริ่มเตรียมแปลงและเริ่มมีการเพาะปลูก ทำให้มีความต้องการและเริ่มซื้อหาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับปีนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะดี จะเป็นโอกาสที่เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ประเทศต้องมีความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นโอกาสของเกษตรกร  พงษ์เทพ อันตะริกานนท์

ขณะที่นายพงษ์เทพ อันตะริกานนท์ นายกสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพไทย กล่าวว่า หลังจากที่ภาครัฐสั่งแบน 2 สารเคมี (พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส) ธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพประสบปัญหาในการขายได้ลดลง บวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สินค้าเกษตรราคาตก เกษตรกรไม่มีเงินลงทุน แม้ฝนฟ้าจะอำนวยก็ตาม  อนันต์ ดาโลดม

ด้านนายอานันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีสายเกษตรอินทรีย์มาบอกให้เลิกใช้สารเคมี และปุ๋ยเคมี ก็จะบอกให้ทราบว่า ราคามูล วัว ควาย สุกร ไก่ ที่นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปรับขึ้นราคากว่า 20% เช่นเดียวกับโรงงานปุ๋ยเคมีประกาศขึ้นไปแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ ปรับราคาขึ้น 1,500-2,000 บาทต่อตัน อ้างโรงงานต้นทางปิด มีขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์นำเข้า สวนทางกับราคาผลผลิตตกต่ำเกือบทุกชนิด (ยกเว้นพืชที่รัฐบาลประกันราคา) ถ้ารัฐบาลไม่สนใจเท่ากับซ้ำเติมเกษตรกร

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤษภาคม 2564

สถานีเกษตร-สิ่งแวดล้อม : RID TEAM ขับเคลื่อนงานชลประทาน

RID TEAM เป็นแนวคิดที่ อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ “ประพิศ จันทร์มา” นำมาใช้ในการขับเคลื่อนงานชลประทาน

อธิบดีกรมชลประทาน ได้ขยายความแนวคิด RID TEAM หรือ “เราจะก้าวไปด้วยกัน” ว่า เป็นแนวคิดที่จะมีความมุ่งมั่นร่วมกันพัฒนากรมชลประทานให้เป็นองค์กรที่ดีไปด้วยกัน ซึ่งได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานไว้ 4 ด้าน ได้แก่

1.นโยบายด้านรัฐ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะมุ่งพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี และแผนแม่บทที่สำคัญของประเทศเพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและสังคม

2.นโยบายด้านผู้บริการ และผู้มีส่วนได้เสีย จะกำหนดมาตรฐานและพัฒนาการให้บริการบนพื้นฐานของกระบวนการ การมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

3.นโยบายด้านองค์การ จะยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มีเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านการวางกลยุทธ์อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล สร้างจิตสำนึกให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

และ4.นโยบายด้านผู้ปฏิบัติงาน จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคล พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เป็น Smart Worker โดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาให้ในการดำเนินงานพัฒนาระบบและวิธีการทำงาน ตลอดจนจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของบุคลากร

พร้อมทั้งได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานชลประทานไว้ 3 ประเด็นหลักๆคือ ประเด็นแรก การเป็นองค์กรอัจฉริยะ จะมีการจัดการและบูรณาการระบบฐานข้อมูล ปรับปรับปรุงและพัฒนากระบวนงาน วิจัยและพัฒนานวัตกรรมในการทำงาน สรรหาและพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงขึ้น

ประเด็นที่ 2 สร้างความมั่นคงเรื่องน้ำ จะพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพิ่มประสิทธิภาพของโครงการชลประทาน พัฒนารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ

และประเด็นที่ 3 เพิ่มคุณค่าการบริการ จะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน พัฒนาคุณภาพการให้บริการงานหน่วยงาน จัดวางตำแหน่งบุคลากรและจัดทำเส้นทางความก้าวหน้าอย่างเหมาะสม และเสริมสร้างความผาสุกของบุคลากรเพื่อให้มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนงานชลประทานตามแนวคิด RID TEAM อธิบดีประพิศได้ย้ำเป็นพิเศษ ในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม มีความโปร่งใส มีความพร้อมรับผิดชอบ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ พร้อมทั้งจะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติและดำรงตน

“กรมชลประทานจะทุ่มเททำงาน สืบสานพันธกิจ ด้วยความสุจริตโปร่งใส เพื่อให้ภารกิจงานชลประทานบรรลุตามเป้าหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและราษฎรอย่างยั่งยืน”

นี่คือการทำงานของกรมชลประทานภายใต้หัวเรือคนใหม่ที่ชื่อ “ประพิศ จันทร์มา”

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

รัฐบาลยังไม่อนุมัติไทยเจรจาเข้าร่วม CPTPP

ครม.ปัดมีมติไทยไปขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP เผย มีแค่การอนุมัติขยายเวลาเพิ่ม 50 วัน ให้ คกก.นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม รอบคอบทุกด้าน

6 พฤษภาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. วานนี้ (5 พฤษภาคม 2564) ไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP แต่อย่างใด มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด ในการดำเนินการตามมติครม. ที่มอบหมายให้ กนศ. จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของ กรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง CPTPP

สำหรับ CPTPP มีชื่อเต็มว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติความตกลงนี้ริเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2006 มีชื่อเดิมว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) และมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ แต่หลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในตอนนั้นถอนตัวออกไปเมื่อต้นปี 2017 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อโดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPPปัจจุบันสมาชิก CPTPP มีทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ  31.13 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวโน้มระยะสั้นยังมีโอกาสเผชิญความผันผวน แนะจับตาแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อาจทำให้ ฟันด์โฟลว์โดยรวมเป็นไหลออกสุทธิและกดดันเงินบาท

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.13 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.11 บาทต่อดอลลาร์      แนวโน้มระยะสั้นยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ดูมีแนวโน้มอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น แนะจับตาแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หากเริ่มขายหุ้นไทยหนักขึ้นมากกว่าวันละ 3พันล้านบาท อาจทำให้ ฟันด์โฟลว์โดยรวมเป็นไหลออกสุทธิและกดดันเงินบาท

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังคงเผชิญความผันผวนและผู้เล่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว สะท้อนผ่าน การปรับตัวขึ้นของดัชนี Dowjones ของสหรัฐฯ กว่า 0.29% ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ทรงตัว ส่วนหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงเทขาย ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดลบกว่า 0.37%  โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดยังคงเป็นประเด็นแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยในส่วนประเด็นแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างยืนกรานว่า การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวและยังคงไม่ได้กังวลต่อประเด็นดังกล่าวนัก ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป รายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) ที่มาออกดีกว่าคาด ที่ระดับ 50.5จุด ก็ได้ช่วยหนุนให้ ตลาดมีความหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้นและทำให้ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมากกว่า 2% อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ ยังคงเห็นภาพที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอคอยจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ก่อนจะเข้าซื้อ (Buy on Dip) โดยเฉพาะ เมื่อยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.62% ก่อนที่ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงมา สู่ระดับ 1.58% ทรงตัวจากระดับวันก่อนหน้า โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยีลด์ปรับตัวลดลง ก็มาจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งต่างไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อและมองว่าปัจจัยดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลให้เฟดต้องรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ทั้งนี้ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 91.26 จุด ซึ่งเรามองว่า ตลาดจะรอคอยการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนการถือครองเงินดอลลาร์ต่อไป

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นหลัก โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัว โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นกว่า 1.6% จากเดือนก่อน (คิดเป็น +9.4%y/y) ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.10% เพื่อหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ดูมีแนวโน้มอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มเห็นแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงเทขายหุ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้จะมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ แต่โดยรวมนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อบอนด์ไทย ทำให้ ฟันด์โฟลว์โดยรวมมีทิศทางไหลเข้าสุทธิ ทั้งนี้ ต้องติดตามแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นไทยหนักขึ้นมากกว่าวันละ 3พันล้านบาท ก็อาจทำให้ ฟันด์โฟลว์โดยรวมเป็นไหลออกสุทธิและกดดันเงินบาทได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ครม.ยื่นเจรจาระงับมาตรการตอบโต้ทุ่มตลาดน้ำตาลของเวียดนาม หวั่นเสียการตลาดคู่แข่ง

รองโฆษกรัฐ เผย ครม.ไฟเขียวยื่นขอเจรจาระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยของเวียดนาม หวั่นเสียความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการตลาดให้คู่แข่ง

วันนี้ (5 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการยื่นขอเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) และการอุดหนุน (Countervailing : CVD) สินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย ในรูปแบบการกำหนดราคาขั้นต่ำ หรือโควตาภาษี ตามร่างกรอบเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยกับเวียดนาม หลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้ประกาศเปิดไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563

ทั้งนี้ เวียดนามกล่าวอ้างว่าผู้ส่งออกและผู้ผลิตน้ำตาลของไทยมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดและได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญต่ออุตสาหกรรมภายในของเวียดนาม และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวียดนามได้ประกาศผลชั้นต้น กำหนดให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนชั่วคราวสำหรับสินค้าน้ำตาลที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยเป็นระยะเวลา 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยกำหนดอัตราอากรตอบโต้การอุดหนุนชั่วคราวในอัตราร้อยละ 4.65, อัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตราร้อยละ 44.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทราย และอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวในอัตราร้อยละ 29.23 สำหรับสินค้าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งการยื่นขอเจรจาครั้งนี้เพื่อจัดทำความตกลงเพื่อระงับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลที่เวียดนามจะประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2564 โดยจะต้องส่งข้อมูลภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยไม่ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบดังนี้ คือ ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเรื่องราคาจำหน่ายเนื่องจากสินค้าต้องเสียภาษีมากกว่าคู่แข่งในประเทศอาเซียน และจะสูญเสียโอกาสทางการตลาด เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน และในระยะยาวเวียดนามยังมีความต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายและผู้นำเข้าของเวียดนามน่าจะพิจารณาจากประเทศในอาเซียนก่อน เช่น มาเลเซีย หรือประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้าด้วย เช่น ออสเตรเลีย เนื่องจากน้ำตาลทรายที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศกลุ่มนี้ยังมีความได้เปรียบด้านภาษีเมื่อเทียบกับประเทศนอกกลุ่ม แต่เวียดนามน่าจะพยายามขึ้นภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่บังคับใช้กับประเทศไทย ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ประมาณ 40% ก่อนที่จะลดภาษีเหลือ 5% ภายใต้ข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนหรือ ATIGA เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของตัวเอง

จาก https://mgronline.com วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ชาวไร่อ้อยลุ้น ราคาตันละพัน

ชาวไร่อ้อยลุ้น ราคาตันละพัน – นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบส่งมอบเดือน มี.ค.-พ.ค.2565 เคลื่อนไหวระดับกว่า 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งถือเป็นข่าวดีกับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่จะประกาศในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มแตะระดับ 1,000 บาทต่อตัน (ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.)

เนื่องจากบราซิลผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกกำลังเปิดหีบการผลิตช่วง เม.ย.-พ.ค.2564 คาดว่าผลผลิตจะลดลงจากภัยแล้งเช่นเดียวกับไทยที่ล่าสุดได้ทำการปิดหีบในฤดูผลิตปี 2563/64 แล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผลผลิตอ้อย 66.66 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 8.23 ล้านตัน ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้น คาดว่าบราซิลจะนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทนส่งออกขณะที่ความต้องการน้ำตาลโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

‘สุริยะ’สกัดรง.‘ลักไก่’ทิ้งกากอันตราย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน กรอ. ได้มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) อยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ ดังนั้น จึงได้สั่งการให้ กรอ.เข้มงวดดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยให้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางของโรงงานว่าได้ส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย และกากอุตสาหกรรมทั่วไป ไปกำจัดปริมาณเท่าไร และถึงปลายทางเท่ากันหรือไม่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างขนส่ง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า โดยปกติโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ซึ่งจะทำให้ กรอ. ทราบต้นทาง-ปลายทางของการขนส่งกากอุตสาหกรรมว่ามีจุดหมายปลายทางที่ใด ซึ่งจะเป็นไปตามที่ได้มีการแจ้งการขนส่งไว้ คือทราบว่ามีผู้รับในระบบแต่จะไม่สามารถเช็คในระหว่างทางการขนส่งได้ กรอ.จึงได้นำระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-Fully Manifest) เข้ามาประยุกต์ใช้ ด้วยการเพิ่มระบบ GPS ที่รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายเพื่อติดตามระหว่างการขนส่ง ทำให้สามารถทราบว่ารถที่ขนส่งกากฯไปยังจุดหมายปลายทางที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ หรือมีการออกนอกเส้นทาง

ทั้งนี้เบื้องต้นรถที่ต้องติดตั้งระบบ GPS จะใช้บังคับกับรถที่มีใบอนุญาตมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (วอ.8) ก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คัน (ข้อมูลปี 2563) ซึ่งการทำงานของระบบจะมีการติดสัญญาณเป็น Code หลักของตัว GPS ที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยทางบริษัทต้นทางที่จะทำการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายจะต้องส่ง Code ให้กับทางฝ่ายสารสนเทศของ กรอ.เพื่อเชื่อมสัญญาณทำให้สามารถติดตามการขนส่งได้ ซึ่งขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งศูนย์

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ลุ้นข่าวดีราคาน้ำตาลโลกพุ่งดันค่าอ้อยขั้นต้นปี 64/65 ทะลุ 1,000 บาท

ข่าวดีชาวไร่อ้อย! ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกไต่ระดับสูงเฉลี่ยกว่า 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ส่งผลให้แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูใหม่ (ปี 64/65 )โอกาสแตะระดับ 1,000 บาทต่อตันสูงโดยที่โรงงานอาจไม่ต้องจ่ายสมทบเพิ่มให้ถึงระดับดังกล่าว “อนท.” เร่งทำราคาขายล่วงหน้าแล้ว ขณะที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 63/64 ส่อรับเพิ่มอีกอย่างต่ำ 50 บาทต่อตัน

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายดิบส่งมอบเดือน มี.ค.-พ.ค. 2565 เคลื่อนไหวระดับกว่า 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งหากเคลื่อนไหวในระดับดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2564/65 ที่จะประกาศในช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มจะแตะระดับ 1,000 บาทต่อตัน (ค่าความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) ซึ่งถือเป็นข่าวดีให้แก่ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากบราซิลที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกที่อยู่ระหว่างกำลังเปิดหีบการผลิตช่วงเม.ย.-พ.ค. 64 นี้มีการประเมินว่าผลผลิตจะลดลงจากปีก่อนหน้านี้จากภาวะภัยแล้งเช่นเดียวกับไทยที่ล่าสุดได้ทำการปิดหีบในฤดูผลิตปี 2563/64 แล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ซึ่งมีผลผลิตอ้อยทั้งสิ้น 66.66 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 8.23 ล้านตัน ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้นทำให้หลายฝ่ายคาดว่าบราซิลจะหันนำน้ำตาลไปผลิตเอทานอลแทนการส่งออกน้ำตาล ขณะที่ความต้องการน้ำตาลของโลกมีแนวโน้มจะสูงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

“ขณะนี้ อนท.ได้ประมูลทำราคาเสนอขายน้ำตาลทรายดิบส่งออกล่วงหน้าฤดูหีบปี 64/65 แล้วประมาณ 7-8 หมื่นตันโดยหากรวมพรีเมียมเฉลี่ยราคาจะอยู่ที่ระดับ 18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งประเมินว่าราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกปีนี้ราคาจะเคลื่อนไหวระดับ 16-17 เซ็นต์ต่อปอนด์ เรายังมีเวลาเหลืออีกมากในการทำระดับราคาที่ดีขึ้นจึงมั่นใจว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 64/65 ที่จะถึงระดับ 1,000 บาทต่อตันแน่นอน” นายบุญถิ่นกล่าว

สำหรับราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูหีบปี 2563/64 ที่เพิ่งปิดหีบไปนั้นจากการทำราคาเสนอขายไปแล้ว 100% ล่าสุดเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 17.25 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งจากการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 อ้างอิงราคาไว้ที่เฉลี่ย 16 เซ็นต์ต่อปอนด์จึงทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูหีบปี 63/65 จะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้ระดับ 920 บาทต่อตันอ้อยทำให้ชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินส่วนต่างราคาดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ที่ปรึกษาชาวไร่อ้อย กล่าวว่า คาดว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 63/64 น่าจะอยู่ในระดับ 970 บาทต่อตันแต่ยังต้องดูปัจจัยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมาเป็นองค์ประกอบด้วย ดังนั้นเบื้องต้นราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับน่าจะเกิน 50 บาทต่อตัน และหากดูแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกที่สูงมีโอกาสสูงที่ราคาอ้อยขั้นต้นปี 63/64 จะแตะระดับ 1,000 บาทต่อตัน

“3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งไปยังชาวไร่อ้อยที่เกี่ยวข้องแล้วเพื่อยืนยันแนวทางการส่งเสริมให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2564/65 จะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน (ความหวาน 10 ซี.ซี.เอส.) เพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นโดยยืนยันว่าหากราคาประกาศของทางการท้ายสุดไม่ถึงระดับดังกล่าวทางโรงงานก็จะจ่ายให้ครบ 1,000 บาทต่อตัน (10 ซี.ซี.เอส.) เช่น ทางการประกาศ 950 บาทต่อตันโรงงานจะเพิ่มให้อีก 50 บาทต่อตัน แต่หากประกาศเป็น 1,100 บาทต่อตันก็จะจ่ายในระดับดังกล่าว ซึ่งหากดูแล้วราคาตลาดโลกก็น่าจะเบาใจได้ว่าโอกาสแตะระดับ 1,000 บาทต่อตันมีสูงอยู่แล้ว” นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก https://mgronline.com  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กรมชลฯเดินหน้าบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง เตรียมรับ'ฤดูฝน'เต็มพิกัด!

"กรมชลประทาน"เดินหน้าบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง หลังฝนเริ่มตกในหลายพื้นที่เตรียมรับฤดูฝนเต็มพิกัด พร้อมเร่งปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อให้การเก็บกักน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,459 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,530 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 39,608 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,949 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,253 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน ได้รวมกันประมาณ 15,922 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เร่งดำเนินการกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน อาทิ บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลังจากที่มีวัชพืชไหลมาสะสมกว่า 40,000 ตัน ขณะนี้ได้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำไปแล้ว ประมาณ 31,500 ตัน หรือคิดเป็น 78.75 % หากไม่มีวัชพืชไหลเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ส่วนทีบริเวณคลองระบายน้ำ 2R สองพี่น้อง ต.ดอนมะเกลือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสองพี่น้อง สำนักงานชลประทานที่ 13 ได้กำจัดวัชพืชไปแล้วกว่า 13,800 ตัน แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และบริเวณคลองบางบัวทอง ที่พบวัชพืชไหลมาสะสมเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 11 ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองนนทบุรี ดำเนินการกำจัดวัชพืชคงเหลือระยะประมาณ 500 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นี้เช่นกัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

สุริยะ เล็งติดตั้งระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทุกช่องทางขนส่ง

สุริยะ สั่ง กรอ. เดินหน้าแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมกลางทาง เตรียมติดตั้งระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทุกช่องทางขนส่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เข้มงวดดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรม ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม  โดยให้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางของโรงงานว่าได้ส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย และกากอุตสาหกรรมทั่วไป  ไปกำจัดปริมาณเท่าไร และถึงปลายทางเท่ากันหรือไม่ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งระหว่างขนส่ง

ทั้งนี้ การจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ระบบตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน กรอ. ได้มีระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรม (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ (Real Time) อยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า โดยปกติโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) ซึ่งจะทำให้ กรอ. ทราบต้นทาง-ปลายทางของการขนส่งกากอุตสาหกรรมว่ามีจุดหมายปลายทางที่ใด ซึ่งจะเป็นไปตามที่ได้มีการแจ้งการขนส่งไว้ คือทราบว่ามีผู้รับในระบบแต่จะไม่สามารถเช็คในระหว่างทางการขนส่งได้ กรอ.จึงได้นำระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-Fully Manifest) เข้ามาประยุกต์ใช้ ด้วยการเพิ่มระบบ GPS ที่รถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายเพื่อติดตามระหว่างการขนส่ง ทำให้สามารถทราบว่ารถที่ขนส่งกากฯไปยังจุดหมายปลายทางที่ได้แจ้งไว้หรือไม่ หรือมีการออกนอกเส้นทาง โดยเบื้องต้นรถที่ต้องติดตั้งระบบ GPS จะใช้บังคับกับรถที่มีใบอนุญาตมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (วอ.8) ก่อน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 คัน (ข้อมูลปี 2563)การทำงานของระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

การทำงานของระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

สำหรับการทำงานของระบบจะมีการติดสัญญาณเป็น Code หลักของตัว GPS ที่ขึ้นทะเบียนไว้ โดยทางบริษัทต้นทางที่จะทำการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายจะต้องส่ง Code ให้กับทางฝ่ายสารสนเทศของ กรอ. เพื่อเชื่อมสัญญาณทำให้สามารถติดตามการขนส่งได้  ซึ่งขณะนี้ กรอ. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งศูนย์ติดตามระหว่างการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย“หลังจากใช้กับรถขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายแล้ว ในอนาคตจะนำมาใช้กับการขนส่งกากอุตสาหกรรมทุกชนิด ซึ่งเชื่อว่าภายหลังจากที่ศูนย์ติดตามระหว่างการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบในปีนี้ จะสามารถรายงานตำแหน่งของรถขนส่ง วันเวลาที่ส่งข้อมูล ข้อมูลของเสียที่จะขนถ่าย ละติจูด ลองติจูด ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ ทิศทางการเดินทาง และยังสามารถติดตามรถขนส่งได้แบบ Real Time ซึ่งจะทำให้ กรอ. สามารถกำกับดูแลการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายในภาพรวมได้ดียิ่งขึ้น”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2564

ธ.ก.ส. พร้อมอัดฉีดผู้ประกอบการภาคการเกษตรฝ่าโควิด

ธ.ก.ส. ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สินและสามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้เมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ภายใต้ พ.ร.ก. และประกาศ ธปท.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้กู้ในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี วงเงินรวมทั้ง 2 มาตรการ 10,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการวันนี้ – เมษายน 2566

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินการตามนโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เกษตร และสถาบันเกษตรกร ผ่าน 2 มาตรการ ดังนี้

1) มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเติมวงเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่ประกอบธุรกิจพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยลูกค้าเดิมสามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงิน Soft Loan เดิม   ที่เคยได้รับ  กรณีลูกค้าใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท  คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4.875 ต่อปี หรือร้อยละ 6.50 ต่อปี ตามประเภทลูกค้า โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทนในช่วง 6 เดือนแรก กำหนดระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ลูกค้าได้รับเงินกู้ หรือตามที่ ธปท. กำหนด โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อตามมาตรการนี้ธ.ก.ส. พร้อมอัดฉีดผู้ประกอบการภาคการเกษตรฝ่าโควิด

2) มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่และได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสไม่ให้ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์สิน (Fire Sale) และช่วยให้สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งในการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะให้สิทธิลูกค้าที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือบุคคลอื่นซึ่งผู้ประกอบธุรกิจและเจ้าของทรัพย์สินกำหนด สามารถเช่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและซื้อคืนได้ภายตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เกิน 5 ปี กรณีมีต้นเงินและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจากการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ จะดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดอายุสัญญาไม่เกิน 20 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และปีต่อไป กรณีเป็นผู้ประกอบการและสถาบัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR-1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) และกรณีเป็นเกษตรกรและบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ย MRR - 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.50 ต่อปี) นอกจากนี้ สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ได้

ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีสถานะไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และไม่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand : SET) เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 9 เมษายน 2566  ซึ่งลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ Call Center  02 555 0555

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2564

ไทยเร่งแผนรับเจ้าภาพประชุมเอเปค ฟื้นค้าโลกยุค “นิว นอร์มอล”

ไทยเตรียมแผนรับเจ้าภาพประชุมเอเปคปีหน้า กรมเจรจาการค้าฯรับหน้าเสื่อกำหนดประเด็นประชุม 3 ด้านสำคัญ ฟื้นค้า-ลงทุนโลกยุค "นิว นอร์มอล” ทั้งส่งเสริมการค้าดิจิทัล ยกระดับ SMEs

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในปี 2565 ซึ่งจะรับไม้ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงปลายปีนี้ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าภายใต้กรอบเอเปค จะเป็นเจ้าภาพหลัก 3 ด้านสำคัญ คือ 1) การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) 2) การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) และ 3) การประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 ไทยจะร่วมผลักดันและกำหนดทิศทางฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้สมาชิกเอเปครวมพลังสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) และวางนโยบายขับเคลื่อนประเด็นการค้าการลงทุนรองรับการค้ารูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุค New Normal

นางอรมน กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (CTI) เป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของเขตเศรษฐกิจสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ในอนาคตนอกจากนี้ การประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน อาทิ กลุ่มทำงานด้านการเข้าถึงตลาด (Market Access Group: MAG) กลุ่มทำงานด้านการค้าบริการ (Group on Services: GOS) จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าแข่งขันด้านการค้าบริการของภูมิภาคเอเปค เป็นต้น

ขณะเดียวกันไทยจะต้องนำเสนอประเด็นสำคัญที่จะให้สมาชิกเอเปคร่วมขับเคลื่อน ในปี 2565 ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการค้าดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงสินค้าชุมชุม (Local Product Tourism) และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ให้สามารถตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เป็นต้น ซึ่งจะต้องเสนอโครงการประเด็นสำคัญดังกล่าว ให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักของไทยในการจัดการประชุมเอเปคต่อไปสำหรับเอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยในปี 2563 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 315,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 71.9% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปค 164,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (71.2% ของการส่งออกรวมของไทย) และนำเข้าจากเอเปค 150,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (72.8% ของการนำเข้ารวมของไทย)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2564

สภาอุตฯจับตาโควิดรอบใหม่ ลากยาว3เดือนฉุดจีดีพีไทยโต 0%

ส.อ.ท.เผยปิดสถานที่เสี่ยงจากโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไม่มาก ระบุพฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ชี้หากสถานการณ์ลากยาว 3 เดือนจีดีพีไทยอาจโต 0%      

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังสงกรานต์เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยระดับ 1,000-2,000 คนต่อวัน นำมาซึ่งความกังวลใจของทุกฝ่ายถึงการระบาดโควิดระลอกใหม่จะทรงตัวหรือคลี่คลายลงได้เมื่อไร เพราะยิ่งลากยาวผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะยิ่งมากขึ้นตามลำดับ

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง 31 แห่ง 14 วันถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564  หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เสี่ยงบางจังหวัดนั้น ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมแน่นอนแต่ไม่มาก  แม้ว่าจะมีการปรับระยะเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ  และห้างสรรพสินค้าก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกซึ่งได้มีการดำเนินมาตรการที่คล้ายคลึงกัน และได้มีการผ่อนคลาย ประชาชนก็ไม่ได้ออกมาเลือกซื้อสินค้าจากห้างฯ เหมือนที่ผ่านมา โดยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปสู่ออนไลน์มากขึ้น  “ผู้บริโภคมีการเดินห้างฯลดลงมาโดยตลอดตั้งการการระบาดครั้งที่ 1 และ 2 แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแต่ก็เพิ่มขึ้นไม่มาก เช่น การไปรับประทานอาหาร ดูภาพยนตร์ แต่การไปซื้อสินค้ายังมีไม่มาก โดยการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะได้รับผลกระทบจากออนไลน์ โดยที่พฤติกรรมของผู้บริโภคถูกเร่งให้มีการปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง”  นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่จะถูกผลกระทบมากที่สุดได้แก่  ภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร ห้างฯ นวดแผนไทย โรงมหรสพ เป็นต้น และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งไม่สามารถให้บริการได้ สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้มีการดำเนินการนำแผนรับมือกับเหตุการณ์ภาวะวิกฤติ (Business Continuity Plan : BCP) กลับมาใช้ เพื่อให้ภาคการผลิตยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การคัดกรอง การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการตรวจวัดอุณหภูมิ ขณะที่กระบวนการผลิตในโรงงานก็ได้มีการเว้นระยะห่างมากกว่าปกติ  ซึ่งเห็นผลอย่างชัดเจนตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการระบาดระลอกสามส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะเป็นช่วงที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนได้มีการเตรียมการไว้อย่างดี  โดยเมื่อการระบาดเกิดขึ้นก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ไม่กี่วัน ทำให้ส่งผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศต้องชะงักงัน  รวมถึงทำให้ยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าจะมีอย่างมากจากการจัดโปรโมชั่นด้านต่างๆ ซึ่งมียอดการจองเป็นไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกเป็นจำนวนมากจากความหวาดกลัวของประชาชน

ทั้งนี้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้รับผลกระทบมาจากการปิดกิจการของโรงแรม เช่น เครื่องนอน, เฟอร์นิเจอร์, ผ้าขนหนู, ผ้าคลุมเตียง, สบู่ และแชมพู ที่ใช้ตามจำนวนนักท่องเที่ยว, อุตสาหกรรม เสื้อผ้าแฟชั่น อัญมณี หรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น ผู้บริโภคก็จะคิดมากขึ้น  และเลือกที่จะเก็บเงินไว้มากกว่า นายเกรียงไกร กล่าวถึง การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่มีการปรับเพิ่มคาดการณ์ขยายตัวของการส่งออกเป็น 4-6% จากเดิม 3-5% นั้น มาจากการที่เศรษฐกิจโลก  โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีนฟื้นตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการฉีดวัคซีนของสหรัฐที่ทำได้เกินเป้า  ซึ่งมีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ  การบริโภคก็จะมากขึ้น  ขณะที่กกร.มีการปรับลดจีดีพีลงเหลือ 1.5- 3.0% จากเดิมคาด 1.5-3.5% มาจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ถึง 3 ล้านคนจากที่เคยคาดการณ์ ด้านการท่องเที่ยวในประเทศ และการบริโภคก็ลดลงจากโควิด-19  “หากสถานการณ์โควิดลากยาวไป 1 เดือนจะทำให้จีดีพีลดลง 0.5% ต่อเดือน ถ้า 2 เดือนก็จะลดลง 1% และ 3 เดือนเท่ากับ 1.5%  หากสถานการณ์ยาวไปถึง 3 เดือนจากกรอบจีดีพีสูงสุดที่ 3.5% ก็จะเหลือแค่ 2% หรือหากเทียบจากกรอบต่ำที่ 1.5% จีดีพีก็จะกลายเป็นไม่โตเลย หรือโต 0% หรือหากคิดจากค่าเฉลี่ยกลางที่ 2.5% จีดีพีก็จะเหลือแค่ 0-1% เท่านั้น”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 3 พฤษภาคม 2564

สทนช.จัดทำผังน้ำเพิ่มอีก 5 ลุ่มน้ำ เร่งจัดระบบทางน้ำประเทศแก้ท่วม-แล้ง

สทนช. เร่งเดินหน้าผังน้ำฝ่าวิกฤติโควิด-19 เคาะเพิ่มอีก 5 ลุ่มน้ำ คาดแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี’67 เล็งปรับแผนการสำรวจเส้นทางน้ำ ข้อมูลลุ่มน้ำ พร้อมย้ำผังน้ำต้องจัดการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนตลอดสองฝั่งลำน้ำให้ทราบข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำผังน้ำล่าสุดว่า จากแผนดำเนินการจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี พ.ศ.2561 ขณะนี้

สทนช.ได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำผังน้ำแล้วจำนวน 8 ลุ่มน้ำ  ได้แก่  ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง  สะแกกรัง ป่าสัก  เจ้าพระยา ท่าจีน และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2563 กำหนดแล้วเสร็จ 20 กันยายน นี้

โดย สทนช.จะนำเสนอสรุปผลศึกษาจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำแรก เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พิจารณา ก่อนประกาศกำหนดผังน้ำในราชกิจจานุเบกษา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแผนปรับปรุง พื้นฟูทางน้ำ แหล่งน้ำทุกประเภท แม่น้ำแต่ละสายมีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็ก แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งเกิดประสิทธิภาพ

สำหรับในปีงบประมาณ 2564 สทนช.ได้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โขงตะวันออกเฉียงเหนือ  และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมษายนนี้ และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปี 2565  สำหรับอีก 8 ลุ่มน้ำที่เหลือ ได้แก่  ลุ่มน้ำสาละวิน โขงเหนือ  เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ทะเลสาบสงขลา ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ชายฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ มีแผนจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2567

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินการโครงการศึกษาผังน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการและมีแผนดำเนินการในอนาคต สทนช.ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการมาของข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำผังน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะมีข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ต้องมีการปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังคงต้องให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องให้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานแต่ละลุ่มน้ำต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผังเมือง แผนการพัฒนาเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างน้อยในระยะ 5 ปี ระบบโครงข่ายน้ำที่มีอยู่เดิมและที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลทางสถิติของระดับน้ำท่วมน้ำแล้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงการใช้ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม เพื่อนำมาวิเคราะห์การกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำที่เหมาะสม  โดยเฉพาะริมสองฝั่งลำน้ำที่การศึกษาจะนำไปสู่แผนการปรับปรุง แผนการบริหารจัดการน้ำ และการกำหนดหน่วยงานหลักรับผิดชอบแต่ละรับน้ำที่ชัดเจน โดยผ่านความเห็นชอบจาก กนช. เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำโดยเร็ว

“การวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบ จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ ที่จะมีความเชื่อมโยงกับผังเมืองตามฏหมายว่าด้วยผังเมือง มีกรอบที่ชัดเจนและข้อตกลงที่สังคมให้การยอมรับการใช้ประโยขน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ ที่ต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือกระแสน้ำ หรือสิ่งกีดขวางการไหลชองน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในฤดูน้ำหลากที่ต้องมีความชัดเจนถึงเส้นทางการไหลของมวลน้ำ ระดับความสูงที่ลำน้ำรองรับได้ รวมถึงแหล่งน้ำที่จะรองรับน้ำไปเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเป็นระบบ ตามเจตนารมย์ของกฏหมายน้ำได้อย่างแท้จริง”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 พฤษภาคม 2564

กสิกรคาดค่าเงินบาท-ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าวันที่ 3-7พฤษภาคม 2564

จับตา 6ปัจจัยสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 3-7พฤษภาคม คาดกรอบค่าเงินบาทไว้ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ส่วนดัชนีหุ้นกรอบ 1,570 และ 1,560 จุด

จับตา 6ปัจจัยสัปดาห์หน้า “ผลประชุมกนง.-สถานการณ์โควิดและต่างในประเทศ-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-ผลประชุมนโยบายการเงินBOE-ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย.-ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย คาดกรอบเงินบาทไว้ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯดัชนีหุ้น1570 และ 1560จุด

ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทระหว่างวันที่ 3-7พฤษภาคม 2564 ที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. และสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ(BOE)ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. ของอังกฤษและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย.ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อในวันศุกร์ (30 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.15 เทียบกับระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 เม.ย.)     กสิกรคาดค่าเงินบาท-ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าวันที่ 3-7พฤษภาคม 2564

บล.กสิกรไทยคาดดัชนีหุ้นสัปดาห์หน้ากรอบ 1,570 และ 1,560 จุด บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยระหว่างวันที่ 3-7พฤษภาคม 2564 มีแนวรับที่ 1,570 และ 1,560 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,610 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. สถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ไทย ส่วน ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนเม.ย. ของยูโรโซน ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค. ของยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนเม.ย. โดยดัชนี SET เมื่อวันที่ 30เมษายนที่ผ่านมา ปิดที่ระดับ 1,583.13 จุด เพิ่มขึ้น 1.90% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,177.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.18% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.07% มาปิดที่ 487.29 จุด

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 2 พฤษภาคม 2564

'จีดีพี' กับรัฐมนตรีพลังงาน

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไมหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ด้วยการที่ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้จ่าย ถึงอาจส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อ "จีดีพี" หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ มากกว่าเป็นผลดี?

สัปดาห์นี้มีการถกเถียงกันผ่านสื่อและสังคมออนไลน์เรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอให้ชาวไทยนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื้อหาของข้อเสนอ หรือเชิญชวนได้รับการสรุปออกมาว่า ถ้าชาวไทยนำเงินออมที่ฝากไว้ในธนาคาร 5-6 แสนล้านบาทออกมาใช้ มันจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 3-4% การขยายตัวนี้ใช้มาตรที่เรียกว่า “จีดีพี” เป็นตัวชี้วัด

“จีดีพี” เป็นอักษรย่อของ Gross Domestic Product ซึ่งแปลว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี คงจะมีผู้ใช้และผู้อ่าน หรือฟังไม่มากนักที่เข้าใจจริงๆ ว่าหมายถึงอะไร คำนวณออกมาอย่างไร ครอบคลุมและไม่ครอบคลุมอะไร ฯลฯ คอลัมน์นี้พยายามชี้แจงหลายครั้งในหลายบริบท ล่าสุดเป็นบทความประจำวันที่ 6 ก.ย.2562 เรื่อง “การสร้างจีดีพีด้วยวิธีสามานย์” (ภาค 2)

การมีความเข้าใจในความตื้นลึกหนาบางของ “จีดีพี” ไม่ทัดเทียมกัน ดูจะเป็นที่มาสำคัญของการถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐมนตรีพลังงาน ในการถกเถียกกันนั้นไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่า ตัวรัฐมนตรีเองเข้าใจลึกซึ้งเพียงไรและข้อเสนอนั้นหากประชาชนจำนวนมากทำตามจะทำให้เกิดอะไร เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่มีความกว้างลึกสูง จึงจะพูดถึงได้เพียงบางประเด็นเท่านั้น

ในเบื้องแรก จีดีพีที่เกิดจากข้อเสนอของรัฐมนตรีพลังงานอาจสร้างผลเสียหายร้ายแรงมากกว่าผลดี เนื่องจากการใช้จ่ายนั้นอาจเป็นจำพวกการเข้าไปชมการแข่งขันชกมวยในสนามที่มีความแออัดสูง และการเข้าไปใช้บริการในสถานบันเทิงต่างๆ รวมทั้งในซอยทองหล่อ ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของจีดีพีแน่นอน แต่เป็นจีดีพีที่แสนสามานย์ เพราะนำไปสู่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 1 และระลอกที่ 3

การระบาดนี้มีความเสียหายใหญ่หลวงตามมา รวมทั้งการเจ็บป่วยและล้มตายซึ่งคงไม่มีใครต้องการ ขณะที่จีดีพีนับค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเจ็บป่วยและล้มตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอีกทอดหนึ่งด้วย ฉะนั้น ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซาเพราะประเทศตกอยู่ในภาวะปัจจุบัน การมองด้านการชักชวนให้ใช้จ่ายเพียงด้านเดียวอาจเป็นการคิดสั้น เพราะอาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

ประเด็นที่สอง ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจนำไปสู่การตกงาน หากการชักชวนนั้นได้ผล คนไทยในสัดส่วนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มการใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตแต่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นด้วย หากพวกเขาต้องตกงานและขาดรายได้ในสภาพที่ไม่มีเงินออมเหลืออยู่ พวกเขาจะทำอย่างไร? ภาครัฐจะรับภาระเลี้ยงดูพวกเขาหรือ?

ประเด็นที่สาม ในเงินออม 5-6 แสนล้านบาทนั้น อาจคาดเดาได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นของชนชั้นเศรษฐี ซึ่งน่าจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อหาอะไรมาเพิ่ม หากพวกเขาทำหมายถึงการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรโลกโดยไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น การชักชวนให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี้จึงย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่บอกว่าจะยึดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เนื่องจากชนชั้นเศรษฐีมีศักยภาพทางการเงินที่จะใช้จ่ายได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่การตำเนินชีวิตของตัวเอง รัฐบาลอาจเชิญชวนให้เข้ามาร่วมโครงการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน หรือตกงาน และในด้านการรักษาพยาบาลก็ได้ ในการเชิญชวนนี้ รัฐบาลอาจแสดงความจริงใจด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในด้านเหล่านั้นพร้อมกับลดการใช้จ่ายในด้านที่ไม่มีความเร่งด่วน หรือยืดหยุ่นได้ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งต้องส่งเงินไปใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอยู่แล้ว

เนื่องจากจีดีพีมีความบกพร่องมากมายดังกล่าว ปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์จึงพยายามสรรหาทางเลือก หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นมานาน ณ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าจะทำอย่างไร การใช้จีดีพีเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจจึงต้องทำด้วยความเข้าใจในข้อบกพร่องของมัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 พฤษภาคม 2564