http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนพฤษภาคม 2567)

57รง.น้ำตาลกระอักอ้อยขั้นสุดท้ายปี66/67“ส่อต่ำกว่าขั้นต้นติดลบกว่าหมื่นล้านบาท”

จับตาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2566/67 ส่อต่ำกว่าขั้นต้นที่กำหนดไว้สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อยหลังราคาตลาดโลกขาลงต่อเนื่อง น้ำตาลทรายดิบร่วงเหลือเพียง 19 เซนต์ต่อปอนด์จากเคยสูงเฉลี่ย 25 เซนต์ต่อปอนด์ โดยเบื้องต้นจะติดลบกว่าหมื่นล้านบาท 57 โรงงานกระอักเหตุกองทุนน้ำตาลไร้เงินจ่ายคืน ด้านอนท.เล็งขอเปลี่ยนการซื้อขายกลับไปเป็นแบบเดิม

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า หลังจาก 57 โรงงานได้ปิดหีบอ้อยในฤดูผลิตปี 2566/67 แล้วนั้นมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่ขณะนี้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2566/67 จะต่ำกว่าผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเฉลี่ยทั่วประเทศ ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี. ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยมีการประเมินเบื้องต้นล่าสุดอาจติดกว่าหมื่นล้านบาท

“ การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นปี 66/67 ราคาน้ำตาลทรายดิบที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.)ใช้คำนวณไว้ที่ 27.35 เซนต์ต่อปอนด์นั้นคาดว่าจะต่ำกว่าราว 3.5 เซนต์ต่อปอนด์เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเป็นขาลงต่อเนื่องทำให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 66/67 ติดลบและในทางปฏิบัติกองทุนอ้อยและน้ำตาลต้องจ่ายคืนเงินตามพ.ร.บ.อ้อยแต่ก็ต้องค้างโรงงานไปแล้วคอยเก็บเมื่อรายได้จากอ้อยที่สูงในอนาคต เพราะขณะนี้กองทุนฯเองก็ยังติดหนี้และแม้จะไปกู้ก็เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีแหล่งรายได้” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกค่อนข้างเป็นขาลงต่อเนื่องโดยเฉลี่ยจากที่เคยสูงระดับ 25 เซนต์ต่อปอนด์ขณะนี้เหลือเพียง 19 เซนต์ต่อปอนด์หลังจากแนวโน้มปริมาณอ้อยทั้งไทย บราซิล อินเดีย มีการประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่ความต้องการตลาดโลกยังไม่ได้เติบโตมากนัก

“ กองทุนเก็งกำไรเองก็มีการปั่นราคาพอสมควร การทำราคาซื้อขณะนี้เฉลี่ยอนท.ขายไปแล้ว 60% ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2566/67 ต่ำกว่าขั้นต้น 100% และปี 2566/67 เราเป็นปีแรกที่ทางโรงงานน้ำตาลเองได้ขอให้อนท.เปลี่ยนการซื้อขายจากเดิมที่คณะกรรมการอนท.ได้มีการกำหนดราคาขายเอง โดยปรับไม่ให้คณะกรรมการอนท.กำหนดเองเพราะมองว่าขายช้าและใช้ราคาเฉลี่ยต่อวันซื้อขาย ซึ่งขณะนี้ทางอนท.กำลังหารือว่าในปีต่อไปจะกลับไปทำแบบเดิมเพราะการที่ต้องซื้อขายเฉลี่ยต่อวันราคาต่ำก็ต้องขาย ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับตลาดขาขึ้น แต่การซื้อขายแบบเดิมจะทำให้ติดลบต่ำกว่าซึ่งผู้ที่เดือดร้อนก็คือโรงงาน”นายบุญถิ่นกล่าว

แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลเองได้รับประกันการซื้ออ้อยที่ 1,400 บาท/ตันและเมื่อรัฐประกาศราคาอ้อยขั้นต้นปี 2566/67 ที่ 1,420 บาทต่อตันแต่โรงงานหลายแห่งได้แย่งกันรับซื้ออ้อยที่สูงกว่าระดับดังกล่าวด้วยเพราะปริมารอ้อยไม่ได้สมดุลกับกำลังหีบของโรงงานที่อ้อยควรจะมีเกินระดับ 100 ล้านตันขึ้นไป และการกำหนดราคาก็ต้องยอมรับว่าทั้งโรงงานและชาวไร่ต่างก็ต้องการราคาสูง โดยเฉพาะโรงงานเองเพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยปลูก อย่างไรก็ตามหากทิศทางราคาอ้อยตกต่ำและปี 2567/68 ฝนแล้งก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยได้ต่อเนื่อง

“ ระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยรัฐเองไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงเพราะเมื่อบอกเป็นกลไกเสรีแต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เองก็มาควบคุมราคาหน้าโรงงานน้ำตาล ทั้งที่ราคาซื้อขายในท้องตลาดจริงราคาสูงมาก แล้วสว่นต่างนี้แทนที่จะชาวไร่จะได้นำมาคำนวณเพิ่มรายได้ เมื่อบอกเสรีก็ไม่ให้ขึ้นตามตลาดโลก “ แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 1 พฤษภาคม 2567

 

รองปลัดฯร่วมประชุม ติดตามสถานการณ์น้ำตาล

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมประชุมคณะกรรมการน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายรณรงค์พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ โดยที่ประชุมรับทราบรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำตาลทราย ได้แก่ รายงานสถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2566/2567 รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการน้ำตาลทราย ในประเด็นต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายฤดูการผลิตปี 2565/2566 และกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายให้โรงงานน้ำตาลทรายผลิตในฤดูการผลิตปี 2566/2567 (บัญชีจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้น) รายงานการให้สิทธิซื้อน้ำตาลทรายเพื่อผลิตสินค้าส่งออกปี 2567 ผลการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 (โดยเห็นชอบการแต่งตั้งให้ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ในคณะกรรมการน้ำตาลทราย)

นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดปริมาณน้ำตาลทรายให้โรงงานผลิตในฤดูการผลิตปี 2566/2567 (บัญชีจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายครั้งที่ 2) การเพิ่มประเภทกิจการที่ให้โรงงานสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบภายในราชอาณาจักร ร่างประกาศคณะกรรมการน้ำตาลทราย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอปรับปรุงบัญชีน้ำตาลทรายในกรณีน้ำตาลทรายขาดหรือเกินบัญชีหรือกรณีอื่นใดซึ่งทำให้ปริมาณน้ำตาลทรายไม่ตรงตามบัญชีที่บันทึกไว้ในบัญชี พ.ศ. และโครงการติดตามสถานการณ์อ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการส่งออกน้ำตาลทรายให้กับประเทศคู่ค้าประจำปี 2567 (ครั้งที่ 1)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤษภาคม 2567