http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนพฤศจิกายน 2562)

ถก FTA ไทย-ตุรกีรอบ 6 ดันเป้าค้า 2,000 ล้านดอลล์

พาณิชย์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอฟทีเอ ไทย – ตุรกีรอบที่ 6 เร่งถกลด-เลิกภาษี ตั้งเป้าดันการค้า 2 ฝ่ายสู่ 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย - ตุรกี รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 2 - 4 ธันวาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ โดยการเจรจารอบนี้จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาด ลดและยกเลิกภาษีศุลกากรในการค้าสินค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดทำข้อบทเอฟทีเอต่อเนื่องจากการประชุมรอบที่แล้ว โดยเบื้องต้น คาดว่า ความตกลงฉบับนี้จะประกอบด้วย 11 ข้อบท เช่น การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวทางการค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัย และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2563

ทั้งนี้ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี เนื่องจากตุรกีถือเป็นตลาดศักยภาพที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 40 ล้านคนต่อปี รวมทั้งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญสามารถเป็นประตูสู่ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งคาดว่าการจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย – ตุรกี จะช่วยดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 1,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2561 เป็น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 ตามที่รัฐมนตรีด้านการค้าของทั้งสองประเทศตั้งเป้าไว้

สินค้าสำคัญที่คาดว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากเอฟทีเอไทย-ตุรกี เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น

สำหรับตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปี 2561 สองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกี 1,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าจากตุรกี 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากตุรกี เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ อัญมณี และรถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

คกก.วัตถุอันตรายยันมติถูกต้อง

“ภักดี  โพธิศิริ”หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันมติที่ประชุมแบน-ไม่แบน 3 สาร ถูกต้องตามกฎหมาย เผยบรรยากาศการประชุมยอมรับความเห็นต่าง ผลสรุปเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องเลื่อนแบน เพื่อเร่งหามาตรการรองรับผลกระทบผู้มีส่วนได้-เสียอย่างรอบคอบ

นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) อดีตเลขาธิการสำนักงานอาหารและยา(อย.) ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่เปิดเผยถึง การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ว่า ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเห็นด้วยกับมติที่ประชุม(ให้เลื่อนการแบนสารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสจากวันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 ส่วนสารไกลโฟเซตให้จำกัดการใช้) ทั้งนี้การประชุมถือว่าดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งอยากให้ประชาชน และมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลทุกฝ่ายให้รอบคอบ

เขากล่าวอีกว่าเดิมปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเสนอความคืบหน้าการออกประกาศกำหนดให้สารทั้ง 3 ตัวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมว่า ได้ไปจัดเตรียมการสำหรับการแบนตามกำหนดแล้ว แต่พบปัญหาอุปสรรคไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลา เนื่องจากการยกเลิกสารทั้ง 3 ตัวมีผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก ทำให้รัฐต้องใช้เงินจํานวนมากในการแก้ปัญหาทั้งระบบ จึงเสนอในที่ประชุมขอใช้มาตรการจํากัดการใช้ทั้ง 3 สารเช่นเดิม แต่ขอลดระยะเวลาการจำกัดการใช้จากเดิมที่กําหนดไว้ 2 ปี เป็น 1 ปี

บรรยากาศในที่ประชุม ประธานฯได้เปิดโอกาสให้กรรมการทุกคนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และกรรมการส่วนใหญ่เสนอให้ออกประกาศโดยปรับพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แต่ให้มีขยายเวลาในการยกเลิกไปอีก 6 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรไปเร่งรัดการเตรียมความพร้อมในเรื่องของสารทดแทนหรือวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ส่วนไกลโฟเซต ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สมควรประกาศเป็นชนิดที่ 4 และขอให้ใช้มาตรการจํากัดการใช้ไปก่อน เนื่องจากสารดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมากโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรต้องมีการติดตามเฝ้าระวังถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และนำมารายงานคณะกรรมการฯ ทุก 3 เดือน

ทั้งนี้จากข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของไกลโฟเซตในสหรัฐอเมริกา โดย EPA มีค่า LD50 oral มากกว่า 5,๐๐๐ mg/kg และจัดเป็นสารก่อมะเร็ง ประเภท 2A คือยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และสหรัฐอเมริกายังคงอนุญาตให้ใช้ได้ เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการควบคุม และให้ความรู้ให้เกษตรกรได้ใช้อย่างถูกต้อง เนื่องจากไกลโฟเซตเป็นของแข็ง ไม่มีการระเหย จึงไม่มีการแพร่กระจายในอากาศ จัดว่ามีความเป็นพิษต่ำหากไม่มีการสัมผัสโดยตรง อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรต้องไปศึกษาเรื่องสารทดแทนและนํามาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

นายภักดีเผยอีกว่า ช่วงท้ายการประชุมฝ่ายเลขานุการได้พิมพ์ร่างมติเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาปรับแก้ร่างมติจนเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง และประธานได้สอบถามกรรมการว่าเห็นด้วยหรือไม่ กรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีกรรมการบางท่านแจ้งว่าไม่เห็นด้วยสำหรับมติที่จะกำหนดให้แบน สาร 2 ตัว ภายใน 6 เดือน เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาที่จะกำหนดควรต้องให้กรมวิชาการเกษตรไปศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อน จึงค่อยนำมาพิจารณากำหนด และมีกรรมการบางท่านขอตั้งเป็นข้อสังเกต ซึ่งฝ่ายเลขาขอให้ที่ประชุมรับรองมติด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ชาวไร่ลุ้นราคาอ้อยขั้นต้น ได้750บ.ต่อตัน/ประชาพิจารณ์6ธค.

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)จะเปิดรับฟังความคิดเห็น(ประชาพิจารณ์) ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2562/63 ความหวาน 10 ซีซีเอสที่ประมาณ 720 บาทต่อตันและหลังจากนั้นช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เห็นชอบเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

“ราคา 720 บาทต่อตันนั้นเป็นไปตามโครงสร้างการคำนวณราคาใหม่ที่เป็นการคำนึงถึงกลไกกองทุนน้ำตาลทรายที่นำมาบวกไปเลยซึ่งหากแบบเดิมคงไม่ถึง แต่ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ก็ยังคาดหวังว่าเมื่อเข้าไปสู่ที่ประชุมกอน.แล้วน่าจะได้เป็น 750 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งยังไม่รวมกับการช่วยเหลือจากรัฐที่ก่อนหน้านี้ชาวไร่ได้เรียกร้องให้รัฐจัดหางบประมาณกลางปีในการเพิ่มปัจจัยการผลิตอ้อยเพื่อทำให้ราคาอ้อยได้ในระดับ 1,000 บาทต่อตันตามที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ยัง

ไม่ชัดเจนว่าจะช่วยในระดับใดแน่”นายนราธิป กล่าว

สำหรับราคาอ้อยที่ตกต่ำนั้นเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกที่ใช้ในการคำนวณในฤดูผลิตปี 2562/63 อยู่ที่เฉลี่ยเพียง 13.2 เซนต์ต่อปอนด์เมื่อเทียบกับการคำนวณปีก่อนอ้างอิงที่ 13.6 เซนต์ต่อปอนด์ซึ่งจะเห็นว่าเป็นทิศทางที่ลดลงประกอบกับค่าเงินบาทที่ใช้คำนวณฤดูนี้แข็งค่าเฉลี่ย 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐจากเดิมที่ใช้คำนวณที่ 32.6 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่า 1 บาทต่อเหรียญฯกระทบให้ราคาอ้อยหายไปเฉลี่ยตันละ 20 บาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ก.อุตฯเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกมิติ

รมว.อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อยอดขยายผลหวังเกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุม  พร้อมเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ 

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการกล่าวปาฐกถาในงานดินเนอร์ทอล์ค “แนวหน้าฟอรั่ม” ครั้งที่ 2 “สานพลังประชารัฐ สร้างเศรษฐกิจไทย” ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ ว่า สำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะต่อไป จะเดินหน้าต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม รอบด้านมากขึ้น และเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่  โดยเชื่อมั่นว่าจะได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแง่ของการลงทุน  โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยลงนามร่วมทุน ทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ

ภาคอุตสาหกรรมที่ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะก้าวต่อไปได้ ต้องเกิดขึ้นภายใต้ การสานพลังประชารัฐ โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต้องมีการทำงานร่วมกันในรูปแบบ เครือข่ายประชารัฐ  ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

“เชื่อมั่นว่า โมเดลการพัฒนาที่ดี และการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย  เมื่อผนวกกับศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการเมืองที่มีความชัดเจน ประกอบกับความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป โดยแต่ละกระทรวงพร้อมใจกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของตนเอง ภายใต้การบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยมีนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ย่อมส่งผลให้เกิดพลังประชารัฐที่เข้มแข็ง ที่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทย ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสมดุล และทั่วถึง เพื่อประเทศไทยที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน สืบไป”

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า  สถานการณ์การแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ที่สงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของจีนในปีที่แล้ว เติบโต 6.6% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 28 ปี ในขณะที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงต้นปีขยายตัวเพียง 0.1%  ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี 

นอกจากสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว ยังถูกซ้ำเติมด้วยการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้หลายบริษัทในหลายๆ อุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิด Disruption ล้มละลายไป  ในภาวการณ์เช่นนี้ ทุกคนรวมถึงนักธุรกิจของไทยคงมีความกังวลว่า ทางรัฐบาลจะบริหารให้เศรษฐกิจไทยอยู่รอดและเติบโตได้อย่างไร  และทิศทางของอุตสาหกรรมไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร

                ทั้งนี้  ตนมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าทางภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สานพลังกันจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว  และทะยานขึ้นได้ในที่สุด โดยสิ่งสำคัญ คือ เราต้องพึ่งตัวเราเองให้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต จะต้องไม่ใช่เพียงการขายผลิตผลการเกษตรที่เป็น Commodities ,การรับจ้างการผลิตแบบ OEM ,การพึ่งการท่องเที่ยวแบบ Low-End รวมถึงการให้ความสำคัญกับการส่งออกเป็นหลักที่มีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP แต่ละเลยการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือ Local Economy ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประเทศไทยเดินมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา  โดยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างเส้นทางใหม่ขึ้น เส้นทางที่มีปลายทางอยู่ที่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งในด้านเศรษฐกิจ หมายถึง เป้าหมายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

                1.ประเทศไทยจะต้องเติบโตก้าวข้ามกับดักรายได้ขั้นกลางให้ได้   ประเทศไทยที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟืออย่างในอดีต และสินค้าเดิมๆ ที่เราผลิตส่งออกอยู่ ก็เริ่มเป็นที่ต้องการน้อยลงเรื่อยๆ ในตลาดโลก ทำให้เราจำเป็นต้องก้าวไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่โลกอนาคตต้องการ ที่รู้จักกันในชื่อ “อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve Industries” และการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านการสร้างนวัตกรรม การยกระดับมาตรฐาน และการยกระดับผลิตภาพ ด้วยการใช้เครื่องจักรกลและระบบ Digital อย่างทันโลก

                2.จะต้องเติบโตอย่างสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม  จะต้องเลือกทำการเกษตร การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม และการใช้ชีวิต ในรูปแบบที่ไม่บุกรุกหรือสร้างความเสื่อมโทรมให้ทรัพยากรธรรมชาติ เลือกผลิต เลือกใช้สินค้าที่ไม่สร้างปัญหาขยะ ตามแนวคิดที่เรียกว่า BCG โมเดล หรือ Bio-Circular and Green Economy และจะต้องมีการปฏิรูปวิธีการกำกับดูแลการทำการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

และ3.จะต้องเติบโตอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่มุ่งเน้นการพัฒนาเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจหลัก หรือ พื้นที่เมืองเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ รวมไปถึงการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ผู้ประกอบการฐานราก และ Startup ได้อย่างทั่วถึง

นายสุริยะกล่าวอีกว่า จากเป้าหมาย 3 ประการดังกล่าว  กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ถอดรหัสออกมาเป็นเส้นทางอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมจากเดิมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและเทคโนโลยีอย่างง่าย ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความต้องการในอนาคต นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงพอที่จะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี  ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทุกสาขา ทุกระดับ และทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน รวมทั้งภาคประชาชน โดยมีผลงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการไปแล้วตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมา หรือ “99 วัน อุตสาหกรรมทำได้” ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 5 เรื่องหลัก ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สอดรับกับข้อเสนอของภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้ง ภาคประชาชน โดยเริ่มจาก

                1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยการส่งเสริม Made in Thailand ภายใต้การบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยได้ดำเนินการใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย  โดยที่ผ่านมาได้นำคณะผู้แทนเยือนประเทศเวียดนาม เพื่อหารือนโยบายส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม จากนั้นได้นำคณะเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมระหว่างกัน ซึ่งญี่ปุ่นยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนไปสู่ภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

                นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อหารือความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ดิจิทัล นวัตกรรม และการสนับสนุน Startup กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนจีนและฮ่องกงมาลงทุนหรือขยายการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และพื้นที่การลงทุนเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหาสงครามการค้า

                2.จัดทำกรอบและแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนเพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ภายใต้โครงการ “Thailand Plus Package” เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจแก่นักลงทุน และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดเตรียมและจัดหาที่ดินสำหรับนักลงทุน ซึ่งได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้ว ประมาณ 6,466 ไร่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘ทรงตัว’ที่ 30.23 บาทต่อดอลลาร์

จับตาทิศทางการเจรจาการค้าสหรัฐกับจีนหากไร้ข้อตกลงในสิ้นปีนี้เงินบาทอาจเจอแรงกดดันจากเทขายหุ้นทำกำไรช่วงปลายปี

นิสสัน เอ็กซ์เทรล ใหม่ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว ด้วยภายในห้องโดยสารที่กว้างขวาง ปรับเปลี่ยนเบาะเพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บสัมภาระได้อย่างเต็มที่

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ30.23 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในช่วงคืนที่ผ่านมาเป็นช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้าจึงไม่มีความเคลื่อนไหวของตลาดทุนสหรัฐแต่ในฝั่งยุโรปดัชนีEuro Stoxx 50 ปรับตัวลง0.23% ดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อในวันนี้คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเกาหลีใต้(BOK) ซึ่งคาดว่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่1.25% เป็นสัญญาณว่าธนาคารในฝั่งเอเชียอาจต้องหยุดใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลงก่อนเพื่อรอความชัดเจนของทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐแม้ในภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศจะยังไม่ฟื้นตัวดี

สัปดาห์หน้าเรื่องที่ต้องติดตามต่อคือการถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเริ่มมีขึ้นในวันพุธที่4 ธันวาคมรวมไปถึงการประชุมโอเปคในวันที่5 ขณะที่ท้ายสัปดาห์หน้าก็จะมีการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานที่ตลาดเชื่อว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะกลับมาขยายตัวดีที่ระดับ1.9 แสนตำแหน่งโดยรวมทั้งค่างเงินและการลงทุนจึงจน่าสนใจขึ้นกว่าสัปดาห์นี้

ทางด้านฝั่งเงินบาทยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักและทั้งสัปดาห์ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบเพียง30.20-30.25 บาทต่อดอลลาร์

ระยะสั้นเชื่อว่าประเด็นที่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเงินบาทได้มีอย่างเดียวคือการเจรจาการค้าถ้าสหรัฐและจีนสามารถหาข้อตกลงกันได้เร็วก็จะหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อแต่ถ้าไม่มีข้อตกลงกันได้ภายในปีนี้เงินบาทและสกุลเงินเอเชียก็อาจถูกแรงกดดันต่อจากแรงการขายทำกำไรหุ้นในช่วงท้ายปีได้เช่นกัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้30.18- 30.28 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เกษตรกรหมื่นราย ชง“สนธิรัตน์”ของบหนุนระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์

กลุ่มเกษตรกร 17 จังหวัดยื่นหนังสือถึง “สนธิรัตน์”ของบหนุนระบบสูบน้ำโซลาร์เซลล์ –โรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อฟื้นฟูอาชีพสู้ภัยแล้ง

กลุ่มเกษตรกรจากสภาประชาชนเพื่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สปศ.) นำโดย นายอนุรักษ์ แสนเวียง, นายปิยะ ผูกจิต, นายสุพล หมื่นศรีพรหม พร้อมด้วยแกนนำเกษตรกรประมาณ 200 คน ซึ่งมาจาก 988 กลุ่ม สมาชิก 10,363 ราย จาก 17 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความช่วยเหลืองบประมาณใช้ในโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร

 นายอนุรักษ์ แสนเวียง ประธานกลุ่มเกษตรกรอนุรักษ์ กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพ จึงรวมตัวมาขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยขอสนับสนุน 1.เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรอยู่ในภาคอีสาน ขาดแคลนแหล่งน้ำในการทำการเกษตรตลอดปี  2.โรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชน เป็นนิติบุคคลจัดตั้งตามกฎหมายต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายกระทรวงพลังงาน โดยขอให้ทางกระทรวงฯพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อให้เกษตรกรได้ฟื้นฟูอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป

ทั้งนี้ โดยมีนายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน นายอนุรุทธิ์ นาคาศัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมรับฟังและรับหนังสือจากกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว โดยจะนำหนังสือเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาถึงความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรต่อไป โดยกระทรวงพลังงานมีความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนตามความเหมาะสม เพราะเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ประกาศผลักดันให้เรื่องพลังงานเป็นของทุกคน Energy For All ให้ภาคพลังงานมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนให้กับภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

 สำหรับกลุ่มเกษตรกรจาก 17 จังหวัดที่มายื่นหนังสือประกอบด้วย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มุกดาหาร ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี และอ่างทอง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แผนป้องกันวัตถุอันตรายในอีอีซี

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจทั้งที่ไม่ตั้งใจให้เกิดหรือไม่ตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้เกิดก็ตาม  แต่หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้วต้องมีแผนรองรับเพื่อจำกัดความเสียหายให้น้อยที่สุด

ตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาซึ่งได้กำหนดการพัฒนาระบบป้องกันและบริหารจัดการอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดเก็บ การผลิต และการขนส่ง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ทั้งนี้ ขึ้นชื่อว่า เขตโรงงาน เขตอุตสาหกรรมย่อมต้องมีสารเคมีอันตรายอย่างแน่นอน ซึ่งการไม่ใช้ ไม่เกีี่ยวข้องกับสิ่งของอันตรายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย แต่การใช้อย่างถูกวิธี ต่างหากคือสิ่งที่ต้องดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในระหว่างการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาดจากตัวมนุษย์ซึ่งเป็นคนทำงาน คนควบคุมงานนั้นๆเอง หรือปัจจัยจากเครื่องจักรทำงานผิดพลาด รวมไปถึงปัจจัยอื่นนอกเหนือการควบคุมเช่น สภาพอากาศเปลี่ยน   เพราะการบริหารจัดการที่ดี คือทางออกของการทำงานที่ดี

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘มนัญญา’เรียกสหกรณ์จว.รับนโยบาย เยียวยาเกษตรกรลดผลกระทบแบน3สาร

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดประชุมชี้แจงมาตรการเยียวยาสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีจำกัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร หลังยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหาร สหกรณ์จังหวัด และข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน ณ ห้องประชุมชั้น 3อาคารฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ รมช.เกษตรฯมอบหมายให้สหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ขอความร่วมมือ ไปยังร้านค้าสหกรณ์ให้เตรียมนำสารเคมีออกจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของสหกรณ์ตามระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด และสำรวจความต้องการของสหกรณ์การเกษตรที่พร้อมเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน ในการลดละเลิกการใช้สารเคมี โดยให้สหกรณ์จัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเครื่องมือต่างๆ ที่จะใช้สำหรับกำจัดวัชพืชและเตรียมดินเพาะปลูก เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้ารถแทรคเตอร์ นำไปบริการแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป โดยจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นเงินอุดหนุน 90% และให้สหกรณ์สมทบอีก 10% เพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ดังกล่าว เบื้องต้นได้สำรวจสหกรณ์ที่สนใจและพร้อมเข้าร่วมโครงการ 169 สหกรณ์ สมาชิก 101,400 ราย เป็นสหกรณ์ที่ผลิตข้าวโพด 44 แห่ง อ้อย 5 แห่ง มันสำปะหลัง 11 แห่งไม้ผล 6 แห่ง ยางพารา 78 แห่ง และปาล์มน้ำมัน 19 แห่ง และคาดว่าจะมีสหกรณ์สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจะสำรวจเพื่อให้ได้จำนวนที่ชัดเจนอีกครั้งภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งสหกรณ์ที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อนำไปจัดซื้อเครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตร ต้องกำหนดระเบียบใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และวางแผนให้บริการ รวมถึงจัดทำทะเบียนควบคุมการใช้งาน โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการกำจัดวัชพืช ด้วยเครื่องจักรกล การใช้อุปกรณ์และการดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือ ให้สหกรณ์ พร้อมทั้งติดตามประเมินผล อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวให้สหกรณ์ที่สมัคร เข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 3 ธันวาคม เพื่อเดินหน้านโยบายดังกล่าวอย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรลดใช้สารเคมี โดยหันมาใช้เครื่องจักรกลอุปกรณ์กำจัดวัชพืชแทน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 30.20/25

เงินบาทเปิดเช้านี้อ่อนค่าลงมาที่ระดับ 30.24 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.23 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าเงินบาท ยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบเพียง 30.20-30.25บาทต่อดอลลาร์ ในอนาคตเรามองความไม่สงบทางการเมืองจะส่งผลกระทบกับหลายประเทศใน Emerging Markets จึงต้องระวังว่า ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีและการประท้วงในฮ่องกง อาจส่งผลให้การลงทุน ในฝั่งเอเชียชะลอตัวได้

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.18- 30.28 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินยังคงสดใส ดัชนี S&P500 ของสหรัฐบวก 0.42% ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 3153 จุดต่อ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์เซ็นลงนามกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนบ้าง แต่ตลาดมีแรงหนุนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวที่ดีกว่าคาด

โดยล่าสุด จีดีพีไตรมาสสามเติบโตถึง 2.1% จากไตรมาสที่สอง  (ปรับเป็นรายปี) เพราะปริมาณความต้องการสินค้าทุนปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวขึ้น 2.9% และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ลดลงเหลือเพียง 2.13 แสนตำแหน่ง

ด้านความเคลื่อนไหวในตลาดเงิน ดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ จากแรงหนุนของเศรษฐกิจดังกล่าว ขณะเดียวกันกับที่เงินยูโรและปอนด์เริ่มนิ่ง เมื่อความผันผวนจากการเลือกตั้งในอังกฤษลดลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

โรงงานน้ำตาลทราย ดีเดย์ 1 ธ.ค.เปิดหีบอ้อยดันชาวไร่ฯ ตัดอ้อยสด

โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมดีเดย์เปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ คาดมีปริมาณอ้อยเข้าหีบต่ำกว่า 110 ล้านตันอ้อย จากปัญหาภัยแล้งรุนแรง กดผลผลิตวูบกว่า 20 ล้านตันอ้อย หนุนชาวไร่จัดเก็บอ้อยสดส่งมอบโรงงานเพื่อประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลที่ดี เพื่อเพิ่มรายได้ในการแบ่งปัน พร้อมร่วมมือหน่วยงานภาครัฐสกัดปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรง พร้อมเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป โดยจากการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้คาดว่าจะลดลงจาก 130 ล้านตันในปีก่อน เหลือต่ำกว่า 110 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลลดลงเหลือประมาณ 12 ล้านตันหรือต่ำกว่า จากฤดูการผลิตก่อนหน้าที่ผลิตน้ำตาลได้ 14.58 ล้านตันน้ำตาล โดยปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลงนั้น มาจากปัญหาภัยแล้ง ปริมาณฝนตกน้อยในทุกพื้นที่ปลูกอ้อย

สำหรับนโยบายการเปิดหีบอ้อยในปีนี้ ทุกโรงงานจะให้ความสำคัญกับคุณภาพอ้อยเข้าหีบจากชาวไร่ที่จัดเก็บผลผลิตนำส่งอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน เพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำตาลให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อยให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ชาวไร่ได้สูงสุดด้วย และยังช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ แม้ยากในทางปฏิบัติที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้โรงงานห้ามปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ และหากปฏิเสธต้องเสียค่าปรับ 500,000 บาท หรือรับอ้อยไฟไหม้เกินกว่าที่กำหนดก็ต้องเสียค่าปรับ ทั้งที่โรงงานเป็นผู้รับซื้ออ้อยจากชาวไร่ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้แบบยั่งยืน เช่น การรับซื้อใบอ้อยเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อรถตัดอ้อยให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีรถตัดอ้อยเพียง 2,000 คัน ที่มีความสามารถจัดเก็บผลผลิตได้ 40-45 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอ ทำให้ชาวไร่เลือกวิธีการเผาอ้อยเช่นเดิม

จาก https://mgronline.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ก.เกษตรฯจัดงาน'วันดินโลก'5-8ธ.ค.นี้ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน “วันดินโลก ปี 2562” ณ ศูนย์ศึกษาวิชาการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคมนี้ ภายใต้หัวข้อ “Stop Soil Erosion, Save our Future ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน” น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award) พระองค์แรก และพระองค์เดียวของโลก

ที่กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดจัดงาน “วันดินโลก” ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2562 ภายใต้แนวคิด “ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างดิน : Stop Soil Erosion, Save our Future” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award) พระองค์แรกและพระองค์เดียวในโลก ภายในงานจะมีการจัดแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินเพื่อการเกษตรอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์หน้าดินให้คงความสมบูรณ์ พร้อมร่วมฟังเสวนาระดับนานาชาติ และนิทรรศการวิชาการ รวมถึงกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดิน เสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 

สำหรับในส่วนภูมิภาค สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดร่วมกับส่วนราชการต่างๆและหน่วยงานในท้องถิ่นร่วมกันจัดกิจกรรมวันดินโลก ตลอดช่วงเดือนธันวาคม 2562 เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบสถานการณ์ทรัพยากรดิน เกิดความตระหนักในการร่วมกันปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการผลิตปัจจัยสี่ในการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์

น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภายในงานวันดินโลก ระหว่างวันที่  5 - 8 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น นิทรรศการพระราชกรณียกิจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการพระราชกรณียกิจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจัดแสดงในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต  แสดงภาพ 3 มิติ การจัดการดินและที่ดิน ตั้งแต่ภูเขาจนถึงทะเล เพื่อให้เห็นภาพการป้องกันชะล้างพังทลาย ของดิน การจัดประชุมวิชาการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ เสนอผลงานเด่น ความสำเร็จของ การปกป้องดูแลดิน และการแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างหมอดินอาสา เกษตรกรและนักวิชาการ เพื่อสนับสนุนการปกปักรักษาดิน มิให้เสื่อมโทรมจากการใช้ที่ดินของมนุษย์

ทั้งนี้ ในพิธีเปิด ได้จัดให้มีการมอบรางวัล King Bhumibol  World Soil Day Award  ซึ่งเป็นรางวัลที่ประเทศไทย และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAQ) ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อมอบแก่บุคคล องค์กร หรือประเทศ ที่รังสรรค์ผลงานการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินให้เป็นที่ประจักษ์ ในปี 2562 จะได้มีพิธีประกาศรางวัลและเข้ารับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award  ได้แก่ หน่วยงาน Costa Rican Soil Science Association (ACCS) ของสาธารณรัฐคอสตาริกา ซึ่งเป็นองค์กร ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินงานด้านการจัดการดิน โดยกิจกรรมที่ส่งเข้าประกวด ได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมักในพื้นที่สวนสาธารณะของเมืองซานโฮเซ ทุกวันที่ 5 ธันวาคม โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนเป็นประเพณี ซึ่งกิจกรรมได้เชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 2 ประการคือ มลพิษทางดิน และ Climate change และยังส่งผลให้เกิดแผนระดับชาติในการลดปริมาณคาร์บอนในอากาศ

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ สำหรับเยาวชน และผู้เข้าชมงานทั่วไปอีกมากมาย อาทิ การประกวดวาดภาพกระดานดำ การประกวดถ่ายภาพ การจำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์ สินค้าเฉพาะของโครงการพระราชดำริและกิจกรรมเดิน Trail วันดินโลก @ เขาชะงุ้ม ตามรอยพระบาทบนแผ่นดินของพ่อ ในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 06.30-09.30 น. ระยะทาง 2 กิโลเมตร เพื่อขึ้นเขาไปชมพลับพลาที่ประทับทรงงานและชมทัศนียภาพที่ปัจจุบันมีความสวยงามในรูปแบบเบิร์ดอายวิวสามารถมองเห็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ที่เกิดมาจากพระราชดำริ “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้เป็นป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ

กิจกรรมที่สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในวันดินโลกปี 2562 คือ การแสดงพระธรรมเทศนา “ภูมิกถา” ซึ่งเป็นกัณฑ์เทศน์ เกี่ยวกับดินและวันดินโลก ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระมหากรุณาธิคุณ ให้มหาเถรสมาคมดำเนินการ โดยได้มีมติให้จัดทำกัณฑ์เทศน์ดังกล่าว เพื่อให้วัดทั่วประเทศไทยได้ใช้แสดงพระธรรมเทศนาให้พุทธศาสนิกชนได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและร่วมกันปกป้องดูแลรักษาทรัพยากรดินให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนและเป็นสมบัติที่มีคุณค่าที่จะรักษาส่งมอบให้แก่ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์สืบไป  ด้วยเห็นว่าวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและกว้างขวาง ดังนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2562 จะจัดให้มีการเทศนา ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี โดยพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ผู้ประพันธ์กัณฑ์เทศน์ เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนา รวมทั้งจัดให้วัดทั่วประเทศได้แสดงพระธรรมเทศนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้ร่วมกับเครือข่ายดังที่กล่าวแล้ว จะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรดินตามศาสตร์พระราชาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน “วันดินโลก” (World Soil Day) ระหว่างวันที่ 5-8 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และร่วมเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-579-8515 หรือ http://www.worldsoil.in.th/

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

KTIS ได้ธุรกิจชีวภาพหนุนกำไรปี 62 ทะลุ 740 ล้านบาท

โรงไฟฟ้ารายได้พุ่ง 28.8% เอทานอล-เยื่อกระดาษชานอ้อยโตเด่น ส่วนธุรกิจน้ำตาลทราย รายได้ลด 14.9%

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ( KTIS)เปิดเผยว่า งบการเงินสำหรับรอบบัญชีปี 2562 (ต.ค.61–ก.ย.62) บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1.69 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 740.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.6% โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้จ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท

ปี 2562 นี้สายธุรกิจชีวภาพมีการเติบโตที่ดี โดยโรงไฟฟ้า 3 โรง ซึ่งผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเติบโตโดดเด่นที่สุด มีรายได้ขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 28.8%ถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่เราคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 20% นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 23.3% และรายได้จากธุรกิจเยื่อกระดาษจากชานอ้อย เพิ่มขึ้น 7.6%

สำหรับในสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายมีรายได้ลดลง 14.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากทั้งปริมาณและราคาขายน้ำตาลและกากน้ำตาลได้ลดลงเป็นไปตามราคาตลาดโลก แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนขายและการให้บริการก็ลดลงด้วยตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม สายธุรกิจน้ำตาลของบริษัทฯ จะได้รับเงินชดเชยส่วนของค่าอ้อยและเงินชดเชยค่าผลตอบแทน การผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นเป็นเงินรายได้ประมาณ 350 ล้านบาท

รวมไปถึงการได้รับเงินช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลอีกจำนวน 162.1 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้รับเงินส่วนต่างราคาขายน้ำตาลจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ามาแล้ว 225 ล้านบาท แต่ยังบันทึกบัญชีในรูปเจ้าหนี้อยู่ก่อน และจะรับรู้เป็นรายได้เมื่อมีการประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ด่วน!!! กรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกแบนสาร'ไกลโฟเซต'-อีก2ชนิดเลื่อนไป6เดือน

3สารพิษ กรรมการวัตถุอันตราย ไกลโฟเซต

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุตสาหกรรม เป็นฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน คือ มติแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562 หลังจากมติคณะกรรมการอันตรายออกไป ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเกษตรกร ผู้นำเข้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ต้องการให้เลื่อนการแบน 3 สารเคมีออกไปก่อน

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว จึงมีมติดังนี้

1. ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1 มิถุนายน 2563 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

2. มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการมาร่วมประชุม 24 คน จาก 29 คน ได้พิจารณาข้อมูลและมีการแสดงความคิดเห็นแล้ว มีมติเอกฉันท์ให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เลื่อน จาก 1 ธันวาคม 2562 เป็น 1 มิถุนายน 2563 ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

 คณะกรรมการฯ มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการจัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมสำหรับวัตถุอันตรายพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส รวมถึงมาตรการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายในระยะเวลา 4 เดือน นับจากวันที่มีมติ

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข  ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กว่า "ด่วน!!!กรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซต"

จาก https://www.naewna.com วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

4 ชาติน้ำโขงรุกยุทธศาสตร์แก้แล้ง 5 ปี

เวทีรัฐมนตรีลุ่มน้ำโขงไฟเขียวยุทธศาสตร์ 5 ปี จัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาค ไทยประกาศความพร้อมนั่งแทนประธานคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศปีหน้า ชิงบทบาทนำการเชื่อมโยง-แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำโขงบรรเทาผลกระทบแล้งในภูมิภาค

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสได้รับมอบหมายจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 ซึ่งเป็นการประชุมสามัญประจำปีระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่า ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)  4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม

รวมถึงประเทศที่ให้การสนับสนุนแผนงานโครงการในลุ่มน้ำโขง อาทิ เยอรมัน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ได้เห็นพ้องร่วมกันในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญและทุกฝ่ายให้ความสำคัญเพื่อเร่งผลักดัน คือ แผนการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาคระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2568) ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปในโครงการศึกษา โดยเฉพาะสาเหตุของวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคนี้

สาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์การจัดการภัยแล้งจะครอบคลุมใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.ดัชนีภัยแล้ง 2.การพยากรณ์ภัยแล้งและการเตือนภัยล่วงหน้า 3.การสร้างขีดความสามารถของบุคลากร 4.มาตรการบรรเทาผลกระทบ และ 5.การแบ่งปันและการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทย โดย สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะถือโอกาสนี้เร่งผลักดันและขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ และการวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาร่วมกันภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศโดยเร็ว

“ประเด็นวิกฤติการณ์ภัยแล้งในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกมีความกังวลและเร่งแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบร่วมกัน โดยล่าสุดข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้วิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งในลุ่มน้ำโขงช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า เนื่องจากจะมีปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยเฉพาะภาคอีสานของไทย ซึ่งประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขงต่างก็ออกมาตรการคุมเข้มการใช้น้ำเพื่อให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ รวมถึงไทยที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนริมแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน”

สำหรับในเวทีนี้ไทยได้แสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำโขง และเน้นย้ำถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นแม้จะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำ แต่ก็ยังมีโอกาสและความท้าทายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดภัยแล้งรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ดังนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคร่วมกันกับประเทศสมาชิกของแม่น้ำโขง” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ประเทศที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ต่างเรียกร้องให้สมาชิกลุ่มน้ำโขงให้ความเห็นชอบหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อประเมินและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ตามหลักสากล รวมถึงแนวปฏิบัติในการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของ MRC ที่ใช้เป็นคู่มือตรวจสอบในกระบวนการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในลำน้ำโขง ซี่งมีประเด็นในเชิงเทคนิคที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมด้านอุทกวิทยา-ชลศาสตร์ การพัดพาตะกอน คุณภาพน้ำ นิเวศวิทยาทางน้ำ การเดินเรือ ความปลอดภัยเขื่อน รวมถึงผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนริมน้ำโขง และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงปี 2563 – 2573

พร้อมทั้งเห็นควรผลักดันให้เกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ใน 2 โครงการที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เรียบร้อยแล้ว คือ เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย ของ สปป.ลาว ซึ่งแผนปฏิบัติการร่วมประเทศสมาชิกจะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประเด็นข้อกังวลต่างๆ ที่อาจะส่งผลกระทบกับลุ่มน้ำโขงมาพิจารณาร่วมกัน โดยจะมีผลกับแผนการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบางให้เกิดความครอบคลุมชัดเจนในทางปฏิบัติด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผิดหวังยืดแบน ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส 6 เดือน

เปิดแถลงการณ์เครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กรผิดหวังกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่อนุญาตให้มีการใช้ไกลโฟเซตต่อไป และยืดเวลาการบังคับใช้การแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไปอีก 6 เดือน

เครือข่ายสนับสนุนการแบน 686 องค์กร เผยการตัดสินใจพลิกมติในครั้งนี้มาจากการผลักดันและสนับสนุนโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืช โดยผลักภาระความเสี่ยงแก่ประชาชนทั้งประเทศทั้งเกษตรและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุญาตให้ใช้สารไกลโฟเซตซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติระบุว่าเป็นสารน่าจะก่อมะเร็ง และศาลสหรัฐตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องเยียวยาและชดใช้แก่เกษตรกรเป็นจำนวนเงินมหาศาล

การยืดเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไป เป็นการเอื้อเฟื้อบริษัทสารพิษให้ไม่ต้องรับผิดชอบสต็อคสินค้าทั้งๆที่พวกเขานำเข้ามาเพื่อเก็งกำไรจำนวนมหาศาลก่อนหน้านี้ โดยปล่อยช่วงเวลาอีก 6 เดือนเพื่อจำหน่ายต่อเกษตรกรทั้งๆที่รู้ว่าเป็นสารที่มีผลต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กๆของเรา

รัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจนี้ต้องเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลการตัดสินใจนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่สนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของพวกเขา เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงจะเดินหน้า ขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต และสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป และจะแถลงมาตรการและแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเร็ว

ขณะที่นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  การลงมติจำกัดการใช้ ไม่แบน “ไกลโฟเซต” เป็นเรื่องที่ดีการค้าไม่สะดุด ราบรื่น ยกปัญหาไปเลย เพราะตัวนี้ก็ไม่มีพิษภัย ส่วน 2 สาร ก็คือ พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอส ก็ต้องมีวิธีการจัดการที่ดี จะต้องมีเครื่องมือที่สามารถใช้ทดแทนได้จริงๆ หรือไม่ ต้นทุนจะต้องเท่ากับของเดิมหรือถูกกว่าเดิม ต้องปฎิบัติได้จริง

เท่าที่ทราบวันนี้ยังไม่ได้มีการทดลองและปฎิบัติได้จริง ต้องใช้เวลาพิสูจน์พอสมควรดังนั้นเวลา 6 เดือนก็ต้องทำให้เสร็จ แต่ถ้าไม่ได้ก็มาว่ากันอีกทีอาจจะต้องขยายเวลาต่อหรือไม่ ในช่วงเวลานี้จะต้องให้ความรู้เกษตรกรในการใช้สารเคมี เป็นโครงการเดิมที่จะต้องทำต่อเนื่องอีก 6 เดือนจะช่วยได้เยอะ แล้วให้หาเครื่องมือให้ในภายหลัง

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่าในสัดส่วนกรรมการ 4 คนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเรื่องดุลยพินิจของกรรมการแต่ละคนไม่ได้ชี้นำ ส่วนผลการศึกษาข้อมูลและหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบของคณะทำงานฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่ได้รายงานผลให้ทราบ

ด้าน รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์   ประธานผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งได้ร่วมประชุมพิจารณากรณี ทบทวนการแบนสารเคมีเพื่อการเกษตรทั้งสามชนิด  โพสต์ข้อความลงในเพจส่วนตน  จิราพร  ลิ้มปานานนท์  ประกาศลาออกจาก กก.วัตถุอันตราย พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงว่า นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กก.วัตถุอันตราย แถลงข่าวคลาดเคลื่อน "ไม่มีมติเอกฉ้นท์"    โพสต์ข้อความว่า   "ขอลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขอแย้งการแถลงข่าวของท่านประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย

1.ขอแย้งว่าไม่ได้มีการลงมติอย่างชัดเจน ว่าผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละประเด็น แต่เป็นภาวะจำยอมในการรับมติจึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น มติเอกฉันท์เพราะหากพิจารณาในการอภิปรายจะพบว่า ดิฉันยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดในการแบนสารทั้งสาม และยืนยันให้คงมติวันที่ 22 ต.ค.

2.ขอแย้งการแถลงข่าวที่ว่า ไกลโฟเสตไม่เป็นอันตราย เพราะกรรมการรวมทั้งดิฉันได้อภิปรายถึงผลเสียต่อสุขภาพและไม่สามารถจะจัดการความเสี่ยงต่อผู้บริโภค จนพบปนเปื้อนทั้งในสิ่งแวดล้อม ผัก ผลไม้ และน้ำนมแม่

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ชงFTA ไทย-อียู - CPTPP  เข้ากนศ.ธ.ค.นี้

‘พาณิชย์’ เตรียมชงกรอบเจรจา FTA ไทย-อียูหลังรับฟังความเห็นจากภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม และ CPTPP ต่อ กนศ. พิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นเรื่องการจัดทำกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และกรอบเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ว่า การประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคม เข้าร่วม โดยกรมฯ ได้นำเสนอหัวข้อการเจรจาที่คาดว่าจะปรากฏในการทำเอฟทีเอกับอียู และที่ปรากฏอยู่แล้วในความตกลง CPTPP เช่น เรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการปกป้อง มาตรการสุขอนามัย อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การระงับข้อพิพาท ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รัฐวิสาหกิจ ความโปร่งใส การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือ เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯ จะนำความเห็นที่ได้ไปประมวลรวมกับผลการศึกษาเรื่องประโยชน์และผลกระทบของการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และผลการวิจัยเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ตลอดจนผลการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อจัดทำข้อมูล และยกร่างกรอบเจรจา เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจการฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทยต่อไป ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จ พร้อมเสนอต่อ กนศ. ภายในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ อียูเป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มี GDP กว่า 18.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประชากรรวมกันกว่า 513 ล้านคน มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในหลากหลายด้าน ทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 9.4% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออก 25,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.–ต.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 19,918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 17,461 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯพลิกโฉมสู่กระทรวงล้ำสมัยชูเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตร

เกษตรฯ พลิกโฉมสู่กระทรวงล้ำสมัย ชูเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตร เตรียมเปิดตัว Quick Win ให้บริการออนไลน์ครั้งแรก พร้อมกันทุกหน่วยงานในสังกัด 27 ธ.ค.นี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งมั่นในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของประเทศ และขับเคลื่อนให้เป็นกระทรวง ที่ก้าวล้ำทันสมัย ยกระดับการบริการสู่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech เพื่อยกระดับการบริการเกษตรกร การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และสาธารณะอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อเป้าหมายยกระดับ GDP ประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการเกษตรซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการ และมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ

สำหรับแนวทางในระยะแรก คือ การปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็นกระทรวงเทคโนโลยีที่ทันสมัย สู่มิติใหม่แห่งยุค Digital Transformation โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป ด้วยการ Quick Win ของ 22 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตร ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นให้บริการทางออนไลน์ จัดเป็น Cluster 6 กลุ่ม ให้บริการแก่เกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ และสาธารณะ ประกอบด้วย 1. กลุ่มการให้บริการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจด้านนโยบายการผลิต ได้แก่ (1) ฐานข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Big data) โดยกรมชลประทาน (2) ศูนย์ข้อมูลสถานการณ์ทางการเงินภาคสหกรณ์ไทย โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ (3) การจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านข้าวและพัฒนาข้อมูลเชิงแผนที่เพื่อสนับสนุนการใช้งานแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Rice GIS) โดยกรมการข้าว 2. กลุ่มการให้บริการข้อมูลเพื่อการตัดสินใจด้านการผลิตสำหรับเกษตรกร ได้แก่ (1) ระบบช่วยตัดสินใจในการลงทุนปลูกพืช โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจปล่อยสินค้าภายใต้หลักการบริหารจัดการความเสี่ยง โดย กรมประมง (3) ระบบปศุสัตว์ไทย 4.0 (DLD 4.0) โดย กรมปศุสัตว์ (4) การพัฒนาระบบรับคำขอและออกใบผ่านด่านยางพารา ผ่านระบบ NSW โดย กรมวิชาการเกษตร (5) พัฒนาแหล่งบริการข้อมูลแหล่งรับซื้อ-ขายสินค้าเกษตรและข้อมูลอุปกรณ์การตลาดของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรผ่านระบบ GPS โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์ (6) ระบบบริการประชาชนออนไลน์ ส.ป.ก. “ปันสุข”    โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (7) ศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ โดย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร (8) การพัฒนา Platform เพื่อรองรับการดำเนินงานเกษตรอัจฉริยะ โดย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (9) โครงการบริการข้อมูลเพื่อการเกษตรอัจฉริยะบนพื้นที่สูง โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (10) ระบบคำนวณราคาและบันทึกประวัติคุณภาพน้ำดิบ (COWCULATOR) โดย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (11) ระบบสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง โดย การยางแห่งประเทศไทย

ส่วนกลุ่มที่3.กลุ่มการให้บริการข้อมูล ได้แก่ (1) ระบบสืบค้นและให้บริการข้อมูลดิน โดย กรมพัฒนาที่ดิน (2) การให้บริการข้อมูลมาตรฐานสินค้าเกษตรผ่านแอพพลิเคชั่น TAS2GO โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งช่าติ (3) ระบบการจองเข้าชมพิพิธภัณฑ์แบบหมู่คณะแบบออนไลน์ โดย สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (4) Application จัดเก็บและรายงานราคาสัตว์น้ำ โดย องค์การสะพานปลา (5) การพัฒนาฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ของเกษตรกร กลุ่มสถาบันเกษตรกร และ OTOP ในเครือข่าย อ.ต.ก. ภายใต้เว็บไซต์ Ortorkor.com โดย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 4. กลุ่มการให้บริการข้อมูล Big Data & Innovation ได้แก่ การเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล (DOAE Open Data) โดย กรมส่งเสริมการเกษตร

5. กลุ่มการให้บริการช่องทางการตลาด  ได้แก่ ระบบให้บริการข้อมูลร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมที่ได้มาตรฐานของกรมหม่อนไหม โดย กรมหม่อนไหม 6. กลุ่มการให้บริการองค์ความรู้ ได้แก่ การพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลการวิจัยการเกษตรของประเทศ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ พร้อมกำหนดเปิดตัวใช้งาน Quick Win ทันทีโดยคิกออฟพร้อมกันทุกหน่วยงานในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่เกษตรกรและประชาชน โดยจะรวมบริการออนไลน์ทั้ง 6 กลุ่มให้สามารถสืบค้นข้อมูลได้ตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้ ทุกหน่วยงานมีความพร้อมคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% เบื้องต้น สามารถดูรายละเอียดข้อมูลการให้บริการในแต่ละกลุ่มของทุกหน่วยงานได้ทาง https://www.moac.go.th/article-preview-412791791792

และหลังจากดำเนินการ Quick Win ระยะแรกแล้ว ในระยะถัดไปจะยังคงเดินหน้าปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ โดยพัฒนา Big Data กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถให้บริการเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ  ในกระทรวงทั้ง 77 จังหวัด สำนักงานเกษตรในต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ นับเป็นกระทรวงต้นน้ำด้านแหล่งผลิต จะเชื่อมโยงกับกระทรวงต่างๆ ที่เป็นกลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำปลายน้ำ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง และภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศเกษตร 4.0 ไปพร้อมกัน

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ฝันสลาย...ชาวไร่อ้อยไอ้โม่งป่วนหลักการแบ่งปันผลประโยชน์

แม้อ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีกฎหมายพิเศษให้การคุ้มครองดูแลเกษตรกรเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ 70:30 นอกจากการขายอ้อยแล้วยังจะได้ส่วนแบ่งรายได้ขั้นสุดท้ายจากการขายน้ำตาลทรายและขายกากน้ำตาล... เกษตรกรได้ส่วนแบ่ง 70% โรงงานได้ 30%

แต่หลังจากบราซิลได้ยื่นข้อหารือต่อองค์การการค้าโลก(WTO) กล่าวหารประเทศไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลทราย เพราะราคาจำหน่ายในประเทศแพงกว่าที่จำหน่ายในต่างประเทศ... ผลการเจรจาไทยประนีประนอมยอมยกเลิกโควตาการจำหน่ายน้ำตาลภายในประเทศและปล่อยให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาล

นับแต่นั้นมาราคาอ้อยร่วงดิ่งเหวมาโดยตลอดฤดูการผลิตปี 2559/60 ราค้าอ้อยขั้นต้น ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. เฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 1,083.86 บาทต่อตันอ้อย

ฤดูการผลิตปี 2560/61 ราคาหล่นมาอยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย

ฤดูการผลิตปี 2561/62 หล่นมาเหลือ 719.47 บาท

ฤดูการผลิตปี 2562/63 น่าจะเหลือ 700 บาท ในขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ตันละ 1,000 บาท

ราคาอ้อยขั้นต้นซึ่งเป็นรายได้หลักยังต่ำเตี้ยขนาดนี้ รายได้ขั้นสุดท้ายจะเหลือสักกี่มากน้อย

เพื่อหารายได้มาเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล พ.ศ.2527

เนื่องจากปัจจุบันสิ่งที่ได้จากอ้อยมีแค่น้ำตาลทรายกับกากน้ำตาลที่เอาไปทำเอทานอลเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป

“ทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก อ้อยสามารถนำไปทำเป็นสินค้าได้สารพัดไม่ว่า เยื่อกระดาษบรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ กรดอินทรีย์ กรดอะมิโน กรดส้ม กรดนม กรดมะนาว สารแต่งเติมรสชาติอาหาร เครื่องสำอาง ยา เวชภัณฑ์  พลาสติกชีวภาพ ฯลฯ แต่ปรากฏว่า กฎหมายที่ใช้มานาน 35 ปี กลับให้นำรายได้จากการขายน้ำตาลทรายกับกากน้ำตาลมาแบ่งเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรเท่านั้นเอง”

ดร.บุรินทร์  สุขพิศาล อดีตอนุกรรมาธิการและเลขานุการ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาด้านอ้อย ในกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร บอกถึงสิ่งที่คนไทยไม่เคยรู้ว่า อ้อยทั้งต้นสามารถนำไปผลิตสินค้านำมาแบ่งปันเป็นรายได้ขั้นสุดท้ายได้มามายเหลือคณานับ

แต่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้น้ำอ้อยนำไปผลิตเป็นกากน้ำตาลทรายเท่านั้นไม่สามารถนำไปทำเป็น”ผลิตภัณฑ์อื่นได้”

ทำให้เราต้องนำน้ำอ้อยมาเคียวให้แห้งผ่านกระบวนการผลิตจนเป็นน้ำตาลทรายเสียพลังงานและต้นทุนไปฟรีๆ  แต่พอจะนำน้ำตาลทรายไปผลิตเป็นสินค้าอย่างอื่น ต้องละลายน้ำกลับเข้าไปใหม่อีกรอบ

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ บราซิล  อินเดีย จีน สามารถนำน้ำอ้อยไปใช้ผลิตสินค้าอื่นๆ ได้โดยตรง ไม่ต้องเปลืองพลังงานเคี่ยวให้แห้งก่อน ต้นทุนของเขาจึงต่ำกว่าเรา

และทั้งที่ ครม.ได้มีมติเมื่อ 17 ก.ค.2561 เรื่องมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย รวมไปถึงการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ

โดยให้ปรับปรุงนิยามใหม่ของคำว่า น้ำตาลทราย เพิ่มเติมให้สามารถนำ “น้ำอ้อย” ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีราคาสูงกว่าน้ำตาลทรายได้เพื่อจะนำกำไรที่ได้จากการาขายน้ำอ้อยมาแบ่งปันเป็นค่าอ้อยขั้นสุดท้ายให้กับเกษตรกรได้บ้าง

นอกจากนั้น การแก้กฎหมายยังมีผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายในตลาดลดลง เพราะน้ำอ้อยถูกนำไปใช้ทำอย่างอื่น ราคาน้ำตาลทรายจะได้ขยับขึ้นส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยับขึ้นตามอีกด้วย

แต่เมื่อร่างแก้ไขกฎหมายถูกส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้องว่าจะไปขัดแย้งกับกฎหมายอื่นหรือไม่ ปรากฏว่าสาระหลักสำคัญของกฎหมายที่จะให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้น กลับถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีสายโยงใยกลุ่มโรงงานน้ำตาลทราย

ถึงขนาดกฤษฎีกาจะไม่ให้มีการแก้ไขนิยามคำว่า น้ำตาลทราย นั่นเท่ากับว่า ฝันและความหวังของชาวไร่อ้อยถูกดับเสียสนิท มีแนวโน้มกฎหมายที่ทำมาเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรจะถูกแช่แข็งไม่มีสิทธิ์ตั้งท้องเข้าสภาฯเป็นแน่

นับแต่น้ำต้องรอดูใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้แสดงความรักและห่วงใยในเกษตรกรมาโดยตลอด จะกล้าเดินหน้าหักด่านกลุ่มผลประโยชน์เพื่อเกษตรกรแค่ไหน

เพราะไม่ต้องอะไรมาก แค่แก้กฎหมายให้ใบอ้อย ชานอ้อย ที่เอาไปขายให้โรงงานผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาแบ่งปันให้เกษตรกรได้ ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้จากส่วนแบ่งขั้นสุดท้าย 70% เพิ่มมาอีกประมาณตันละ 200 บาท และถ้าแก้กฎหมายให้รวมไปถึงน้ำอ้อยด้วยแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขนาดไหน

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

จับตาเลื่อนแบน 3 สาร เอื้อระบายสต๊อก

ไบโอไทยชี้เลื่อนแบน 3 สาร เปิดช่องผู้ค้าระบายสต๊อก 4 หมื่นตันสู่เกษตรกรรอบใหม่ จับตาเลื่อน-ล้มแบน กระทบเสถียรภาพรัฐบาล ขณะโรงงานอาหารสัตว์ชี้หากยังเดินหน้า 1 ธ.ค.กระทบต้องปิดโรงงานทั่วประเทศ “สุริยะ” ส่งสัญญาณเลื่อน

คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะมีการพิจารณาทบทวนแบน-ไม่แบน 3 สารเคมีประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมมีมติยกเลิกการใช้สารเคมีดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางแรงกดดันจากกลุ่มเกษตรกรที่ออกมาชุมนุมและยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่กระทรวงอุตสาหกรรมและรอฟังผลประชุม

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุว่า การแบน 3 สารเคมีจะต้องมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเดิม หากเลื่อนอีก 6 เดือน ตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงเกษตรฯ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้บริษัทผู้ค้า 3 สารเคมีที่มีสต๊อกรวมกัน 3-4 หมื่นตันได้เร่งระบายสินค้าสู่เกษตรกร เรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ แต่ที่ยอมรับได้คือให้แบนตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปเหมือนเดิม แต่ให้ยืดเวลาการส่งกลับสารเคมีข้างต้นไปยังประเทศต้นทางที่นำเข้า หรือส่งไปประเทศที่ 3 หากเป็นเช่นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายประชาชนจะยอมรับได้

“ที่ต้องระวังหากมีการเลื่อนการแบน 3 สารเคมีคือการถือโอกาสล้มการแบนด้วยหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง หากมีการเลื่อนหรือทบทวนมติการแบนจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เสถียรภาพรัฐบาลอาจมีปัญหา ทั้งนี้ที่กล่าวอ้างว่าผลการสำรวจประชาชนผ่านระบบออนไลน์ 75% คัดค้านการแบน เบื้องหลังได้ไปเอารายชื่อสมาชิกสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และกลุ่มคนรักแม่กลองกว่า 2 หมื่นคนที่เห็นด้วยกับการแบนมารวมด้วย ซึ่งไม่ทราบเอามาได้อย่างไร ขณะที่ผลการสำรวจระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม ก่อนที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติแบน ผลสำรวจของนิด้าโพล 75% สนับสนุนการแบน”

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า การแบน 3 สารเคมีมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป เป็นไปได้ยาก เพราะต้องพิสูจน์สารทดแทนจะดีกว่า ถูกกว่า หรือปลอดภัยกว่า 3 สารเดิมอย่างไร และก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้รถแทรกเตอร์มาตัดหญ้าจะดีกว่าการใช้สารเคมีฆ่าหญ้าอย่างไร หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็คงต้องเลื่อนการบังคับใช้

“หากเลื่อนการแบน 3 สารออกไป 6 เดือน และทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในสิ่งที่จะมาทดแทนว่าดีกว่า ไม่ต้องใช้ 3 สารแล้วก็สามารถยกเลิกได้ แต่หากทำไม่ได้ก็คงต้องมาว่ากันอีกที ซึ่งดูแล้วการเลื่อนออกไปอีก 6 เดือนก็ยังคงแบนไม่ได้ หากปัญหาในส่วนของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข”

ทั้งนี้ผลกระทบในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี โดยให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึงสารตกค้างวัตถุดิบสินค้าเกษตรกร เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด แป้งสาลีนำเข้า สารตกค้างต้องเป็น 0 จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้วัตถุดิบนำเข้าดังกล่าว คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพราะเวลานี้วัตถุดิบนำเข้าส่วนใหญ่มีสารตกค้าง ขณะที่มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(Codex)ระบุสารตกค้างไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์ หากวันที่ 1 ธันวาคมนี้มีการแบน 3 สาร โรงงานอาหารสัตว์ และอีกหลายอุตสาหกรรมคงต้องปิดโรงงานจากขาดแคลนวัตถุดิบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายกล่าวว่า การแบน-ไม่แบน 3 สารเคมีในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้จะยึดถือตามข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งข้อมูลที่ออกมาเห็นว่าการแบน 3 สารแล้วจะมีผลกระทบตามมามาก ทางกรมวิชาการเกษตรเสนอว่าควรให้เลื่อนการแบนออกไปก่อนก็จะรับฟัง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ในฐานะเลขานุการ รคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้รับหนังสือเกี่ยวกับการพิจารณาการใช้ 3 สารมาจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว เช่น ร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 และผลการประชาพิจารณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่คัดค้านการแบน 3 สารที่ยังไม่มีผลมาตรการรองรับเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสารที่จะนำมาทดแทน ซึ่งจะนำมาเสนอในที่ประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้  เพื่อให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทั้ง 27 คนได้พิจารณาร่วมกันว่า จะมีแนวทางอย่างไร

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

กรมน้ำบาดาลตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ “ภัยแล้ง”

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง

โดยมี ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำบาดาลเป็น ผอ.ศูนย์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในระยะปัจจุบันส่งผลให้บางพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร รวมทั้งรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ กำหนดแนวทางปฏิบัติงานเชิงบูรณาการในการแก้ปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน รับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือจากประชาชนด้านน้ำบาดาลผ่านระบบโทรศัพท์หมายเลข 0-2666-7000 กด 1 หรือโทรศัพท์มือถือหมายเลข 09-5949-7000 ตั้งแต่เวลา 08.30-22.00 น. ทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้งและผ่านระบบขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งออนไลน์ทาง 1310. dgr.go.th ตลอดจนให้คำปรึกษา แนะนำและรับแจ้งเรื่องอื่นๆเกี่ยวกับน้ำบาดาล จัดทำรายงานสถานการณ์ ผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

นายศักดิ์ดากล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.จุดจ่ายน้ำถาวรที่พร้อมแจกน้ำให้ประชาชนที่มารับน้ำ จำนวน 136 แห่ง 2.โรงเรียนที่พร้อมเป็นจุดจ่ายน้ำสะอาดให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดพิบัติภัย จำนวน 374 แห่ง 3.ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 18 ชุด 4.ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 85 ชุด 5.รถบรรทุกน้ำ จำนวน 90 คันและ 6.หน่วยนาคราช (ชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบ) จำนวน 38 ชุด

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งเรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้งให้ทราบด้วย รวมทั้งทำหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอสนับสนุนด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดตั้งศูนย์ ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายสื่อมวลชนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารในการให้ความช่วยเหลือภัยแล้งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดขยันขายพ่อค้าไทย

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 62 ว่า มีมูลค่า 50,312.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 78.25% ของมูลค่าการส่งออกรวมในสินค้าที่ได้รับสิทธิ ซึ่งมีมูลค่าทั้งสิ้น 64,296.03 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 61 ลดลง 3.41% ตามการส่งออกภาพรวมของไทยที่ลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว

สำหรับตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็นอาเซียน 18,680.23 ล้านเหรียญ ตามด้วยจีน 13,757.61 ล้านเหรียญ, ออสเตรเลีย 6,030.61 ล้านเหรียญ, ญี่ปุ่น 5,724.62 ล้านเหรียญ และอินเดีย 3,345.33 ล้านเหรียญ สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถบรรทุก, ทุเรียนสด, ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ, ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย

อย่างไรก็ตาม แม้มูลค่าการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอในภาพรวมลดลง แต่ยังมีตลาดศักยภาพในการส่งออกที่การใช้สิทธิขยายตัวต่อเนื่อง เช่น เปรู การใช้สิทธิขยายตัว 24.65% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้าบางรายการ เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม, รถจักรยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 250-500 ลบ.ซม., เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว เป็นต้น ตามด้วย นิวซีแลนด์ ขยายตัว 4.96% มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับที่ทำจากเงิน, สิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบอื่นๆ แผ่นฟิล์มทำด้วยพลาสติก เป็นต้น

ส่วนตลาดที่ใช้สิทธิลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย ชิลี เกาหลี และอาเซียน (9 ประเทศ) แต่การใช้สิทธิส่งออกไปกัมพูชา ลาว เวียดนาม ยังคงเพิ่มขึ้น โดยกัมพูชา มีมูลค่าใช้สิทธิ 876.32 ล้านเหรียญ ขยายตัว 27.40%, ลาว มีมูลค่าใช้สิทธิ 329.44 ล้านเหรียญ ขยายตัว 3.47% และเวียดนาม 5,707.02 ล้านเหรียญ ขยายตัว 0.11% ทั้งนี้ กรมจะเดินหน้าให้ความรู้ผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการค้า และการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอสร้างแต้มต่อการส่งออกเหนือคู่แข่ง.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562

โรงงานน้ำตาลตะวันออกทำบุญเอาฤกษ์เอาชัย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 พ.ย. 62 ที่โรงงานน้ำตาลตะวันออก อ.วัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว นายณัฏฐพงษ์   พัฒนรัฐ นายอำเภอวัฒนานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญเพื่อเตรียมเปิดหีบปี 2562/2563โดยมี นายประกอบ คณูวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ คุณสุขกาญจน์ วัธนเวคิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ นำคณะผู้บริหารและพนักงาน กลุ่มน้ำตาลและอ้อยตะวันออก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง พนักงานบริษัทน้ำตาลและอ้อยตะวันออก เข้าร่วมพิธีในครั้ง

นายประกอบ คณูวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก  กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เปิดดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลทราย ที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่ปี 2502 เริ่มต้นที่กำลังการผลิต 500 ตันอ้อยต่อวัน จากนั้นได้ย้ายฐานการผลิตมาที่สระแก้ว ตั้งแต่ปีการผลิต 2536/37 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงที่สุดของโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออก และมีบริษัทในเครือที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายบริษัท ซึ่งได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเจริญต่อชุมชน อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติอย่างมุ่งมั่นตั้งใจ การผลิต และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต อันเป็นผลให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นหลายปีติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง สามารถนำองค์กรเข้าสู่ระบบบริหารคุณภาพมาตรฐานสากล นำเกษตรกรชาวไร่อ้อยเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากลเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกของโลก สร้างอุตสาหกรรมพลังงานและอื่นๆ ต่อเนื่องจากการผลิตน้ำตาลอย่างครบวงจร ซึ่งจะเปิดรับอ้อยจากเกษตรกรและหีบอ้อยในฤดูหีบนี้ เพื่อเป็นการแสดงความพร้อมในการเปิดฤดูกาลผลิตปี 2562/63 ในวันที่ 15 ธ.ค.62ที่จะถึงนี้บริษัทฯประกอบพิธีทางศาสนา พร้อมกับพัฒนาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และเจิมอ้อยมงคลลำเลียงเข้าสู่สายพานการผลิต และยังได้นำมาตรฐาน BONSUCRO การผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่มาพัฒนาองค์กร และยังมีการส่งเสริมปลูกอ้อยแบบ Smart Farm อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังมีพื้นที่ สีเขียวมากกว่า 120 ไร่ และมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ชาวไร่อ้อย ตลอดฤดูกาลผลิต ตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการบำบัดน้ำ แบบ Acivated Sludge

นายณัฏฐพงษ์ พัฒนรัฐ นายอำเภอวัฒนานคร กล่าวว่า ซึ่งรับฟังรายงานทราบว่า ทำธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายบริษัท ซึ่งได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความเจริญต่อชุมชน อำเภอ ในปีการผลิตที่บริษัทได้ขยายฐานการผลิตสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่อำเภอวังสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และทำให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการตามปณิธานของท่านประธานเกียรติ วัธนวคิน ผู้ก่อตั้งบริษัทฯ หลังจากเสร็จพิธีการลำเลียงอ้อยแล้ว มีจัดกิจกรรมมอบพันธุ์ปลาและพันธุ์ไม้และเป็นการลดภาระค่าขนส่งอ้อย "อยู่ที่ไหน ที่นั่นเจริญ" จึงมีการพัฒนาอย่างรอบด้านตลอดมา ทั้งด้านบุคลากร เพื่อปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นการขยายพันธุ์และเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติและเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไป

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562

เอกชนคาด27พ.ย.เลื่อนแบน3สารอีก6ด.

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ คาด ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย 27 พ.ย.นี้ เลื่อนแบน 3 สารไปอีก 6 เดือน หวังเคลียร์สต๊อก

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายประเด็นการแบน 3 สารเคมี วันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เชื่อว่าจะมติยืดเวลาการบังคับใช้ยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง จากเดิมวันที่ 1 ธ.ค.62 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เวลาบริหารจัดการปริมาณ 3 สารเคมีที่มีอยู่หลายหมื่นตัน และหากมีมติยกเลิกทันที จะส่งผลกระทบวงกว้างโดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมและธุรกิจ เฉพาะแค่ธุรกิจปศุสัตว์เสียหายไม่ต่ำกว่า 800,000 ล้านบาท จะมีคนงานถูกเลิกจ้างกว่า 1,000,000 คน

อย่างไรก็ตาม การแบน 3 สารเคมี หากมองในมุมของการเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคแน่นอน ได้แก่ พลังประชารัฐและภูมิใจ ที่ขณะนี้มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งด้านเอกชนอยากให้ทุกฝ่ายมองให้รอบด้าน ทั้งด้านธุรกิจและความปลอดภัย

จาก https://www.innnews.co.th   วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บาทแข็งฉุดไม่อยู่ ธปท.เตือนเอกชนรับมือปีหน้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวยอมรับว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากนั้นเป็นการแข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้ายังมีอยู่สูงมากโดยไม่สามารถตอบได้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าหรือจะอ่อนค่า โดยเป็นไปได้ทั้งสองทิศทาง ซึ่งเงินบาทอาจจะมีการปรับทิศได้เร็ว หากสถานการณ์ภายนอกเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามาก ดังนั้นเอกชนต้องบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

“ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้าสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าเอกชนต้องทนทานและบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยความผันผวนของเงินบาทมาจากปัจจัยต่างประเทศทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่เข้ามากระทบตลาดเงินและตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง”นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของธปท.มีกรอบจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ที่ร้อยละ 1.25 เป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติการณ์และในภูมิภาค นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2551 - 2552

“การใช้นโยบายการเงิน และการคลังของไทยเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะเชิงโครงสร้าง เราไม่มีความสามารถในการทำนโยบายแรงๆ หรือใช้ยาแรงๆ ได้อีกมาก และไม่ควรทำ เพราะอาจจะสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพตามมา ขณะที่การส่งผ่านนโยบายที่มีความยากลำบากขึ้น ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษาการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านผู้เล่นรายใหม่ นอกเหนือจากการส่งผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายวิรไท กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

'ไบโอไทย-686องค์กร'เห็นด้วยยืดเวลาแบน3สาร ชี้ต้องเคารพกติกา WTO

ไบโอไทยและเครือข่ายสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรยอมถอยเห็นด้วยขยายเวลาบังคับใช้ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด ชี้ต้องเคารพกติกาของ WTO

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า เครือข่ายเครือข่ายสนับสนุนการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรไม่เห็นด้วยต่อการทบทวนมติยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด แต่ยอมรับได้ หากจะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายหลังจากออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องปรับสถานะสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เนื่องจากตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) หากจะมีการยกลิกการใช้สารเคมีการเกษตรชนิดใด อันจะส่งผลให้ประเทศคู่ค้าไม่สามารถส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้นั้น จะต้องส่งหนังสือแจ้งไปยัง WTO ให้ประเทศสมาชิกทราบล่วงหน้าก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ 60 วัน

ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรได้ส่งหนังสือแจ้ง WTO เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ซึ่งกรอบเวลาไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ โดยในหนังสือนั้นระบุว่า ไทยจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง บัญชีสารเคมีวัตถุอันตรายซึ่ง​จะปรับสถานะสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เพื่อปกป้องผู้บริโภค สุขภาพของมนุษย์ และความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า เมื่อแจ้ง WTO แล้วอีก 6 เดือนจึงมีผลในทางปฏิบัติแก่ประเทศสมาชิก ไม่เช่นนั้นไทยจะถูกร้องเรียนว่า กีดกันทางการค้า

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ไทยยังต้องค้าขายกับสมาคมโลกและต้องนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคการเกษตรเช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เป็นต้น ซึ่งเมื่อประกาศยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว สินค้าเกษตรที่นำเข้าจะต้องมีค่าตกค้างของสารที่ยกเลิกใช้เท่ากับ 0 (zero tolerance) ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ 387 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง พ.ศ. 2560 แต่เนื่องจากประเทศที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบยังคงใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอยู่ การจะนำเข้าได้จึงต้องแก้ไข “ระดับปริมาณสารพิษที่เป็นอันตรายทางเคมี” (Maximum Residue Limits : MRLs) ซึ่งคณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศในโครงการมาตรฐานอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (Codex; Joint FAO/WHO Food Standards Programme)

“การชะลอเวลาบังคับใช้กฎหมายยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดออกไปอีก 6 เดือนจึงเป็นโอกาสให้ไทยได้ปรับค่า MRLs จากที่เคยใช้ตามมาตรฐาน Codex สามารถให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลดระดับสารตกค้างลงอีกให้อยู่ในระดับต่ำสุดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคได้” นายวิฑูรย์กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รายงานพิเศษ : เกาะติดแผนรับมือภัยแล้ง…กรมชลฯมั่นใจพ้นวิกฤติ!!

นการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งล่าสุด ซึ่งมีผู้แทนจากกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย ได้ผลสรุปว่า ปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงประมาณร้อยละ 40 ส่วนภาคใต้ใกล้เคียงค่าปกติ

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 มีปริมาณน้ำรวมกัน 49,618 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,715 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณน้ำใช้การได้ แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันแค่ 11,796 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 5,100 ล้าน ลบ.ม.

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า กรมวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำแผนจัดสรรน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง และวางแผนการปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 กรมฯจะจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆในเขตชลประทานทั่วประเทศรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 5,401 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลังรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 4,000 ล้าน ลบ.ม. พร้อมคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

“การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ กรมฯวางแนวทางและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่อง โดยใช้ระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ โดยกระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ เพื่อช่วยประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขณะนี้การจัดสรรน้ำยังเป็นไปตามแผน” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

นอกจากนี้ กรมยังสั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ร่วมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำโดยทั่วกัน

ด้านดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก โดยการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศระบบนิเวศ 40% ประมาณ 6,999 ล้านลบ.ม. เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 44% ประมาณ 7,881 ล้านลบ.ม. และเพื่อการอุตสาหกรรมเพียง 3% หรือประมาณ 519 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ได้สำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนปี 2563 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 อีก 11,340 ล้านลบ.ม. ในจำนวนนี้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ จำนวน 43% หรือประมาณ 4,909 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 57% ประมาณ 6,431 ล้าน ลบ.ม. จะใช้ในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วง

สำรับผลการจัดสรรน้ำล่าสุด ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 1,994 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น

ร้อยละ 11 หากพิจารณาเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 601.10 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ซึ่งถือว่า ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ส่วนการเกษตรในฤดูแล้งตามแผนกำหนดพื้นที่ไว้ทั้งประเทศรวม 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 34 ของแผนฯ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 7 ของแผนฯ ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆประมาณ 4.01 ล้านไร่หรือร้อยละ 59 ของแผนฯ อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชฤดูแล้งในส่วนลุ่มเจ้าพระยานั้น เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก ไม่เพาะปลูกข้าวนาปรัง กรมชลประทานจึงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้เพาะปลูกเพียงพืชอื่นๆรวม 993,215 ไร่

ยกเว้นลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนมาจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากรวมกันมากกว่า 23,000 ล้านลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้มากกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีแผนเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งรวม 2.07 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่ หรือร้อยละ 41 ของแผนฯ พืชไร่-พืชผัก 0.17 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 8 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ นอกจากยังจะผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มเจ้าพระยาอีกประมาณ 500 ล้านลบ.ม.

สำหรับลุ่มน้ำอื่นๆนั้น คณะกรรมการ JMC ของเขื่อนแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้น้ำเพื่อกิจกรรมใดบ้าง จำนวนเท่าไร ควรปลูกพืชฤดูแล้งหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อย ต้องเฝ้าระวังและควบคุมการบริการจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด 6 แห่งประกอบด้วย

เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ขณะนี้มีปริมาณน้ำ71 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 ของปริมาณความจุเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 57 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 38 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 24 ของปริมาณความจุ เป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 21 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 63 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 21 ของปริมาณความจุ เป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 23 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 555 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 23 ของปริมาณความจุ ขณะนี้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ต่ำกว่าปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ถึง-26 ล้านลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 26 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 17 ของปริมาณความจุเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 25 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 25 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 20 ของปริมาณความจุ เป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้เพียง 21 ล้าน ลบ.ม.

พื้นที่ชลประทานของเขื่อนทั้ง 6 แห่งดังกล่าว ให้งดทำนาปรังทั้งหมด ส่วนพืชฤดูแล้งอื่นๆ คณะกรรมการ JMC ของแต่ละเขื่อนจะพิจารณาตามความเหมาะสม

“ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย การจัดสรรน้ำสนันสนุนการเกษตรและการประมงต้องทำอย่างจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มขึ้น จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

น้ำโขงลด สทนช.ถก 25 หน่วยงาน ปรับแผนจัดการน้ำ 38 จังหวัดเสี่ยงขาดแคลน

สทนช.รุกแผนปฏิบัติการป้องแล้งมอบเจ้าภาพหลักรายพื้นที่สทนช.รุกมอบเจ้าภาพหลักรายพื้นที่ ถก 25 หน่วยงานบูรณาการแผนปฏิบัติการรับแล้งระยะ 3 – 4 เดือนข้างหน้า มอบเจ้าภาพรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมประสาน สธ.ชี้เป้าโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง 38 จังหวัด เร่งวางมาตรการรองรับหวั่นกระทบประชาชน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 25 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำและระบายน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นรายสัปดาห์ ซึ่ง สทนช.ได้ติดตามแผนการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกระเสียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร

ปัจจุบันพบว่า แผนการจัดสรรน้ำ 13 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการจัดสรรน้ำแล้ว 17.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 135% ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ ตามปริมาณน้ำที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยขอให้จังหวัด กำกับ ดูแลพร้อมสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการสูบน้ำไว้ใช้ระหว่างการส่งน้ำ ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ต้องมีการรายงานให้ สทนช.ทราบก่อนด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนปี’63

สำหรับ ประเด็นที่ 2การกำหนดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้การประปานครหลวง (กปน.) พิจารณาการใช้น้ำจากฝั่งตะวันตก มาทดแทนการใช้น้ำจากฝั่งตะวันออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสำรองน้ำเพิ่มเติม ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในเขตการประปาภูมิภาค (กปภ.) 48 สาขา 64 อำเภอ 26 จังหวัด ที่มีการสำรวจไว้เดิม และอีก 13 แห่งของ กปภ.ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 13 แห่ง รวมถึงมอบกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม 19 แห่ง ส่วนอีก 29 แห่งที่เหลือให้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรอง

สำหรับนอกพื้นที่บริการ กปภ. ที่มีความเสี่ยง 38 จังหวัด โดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะสำรวจสถานภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดน้ำต้องประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไม้ผล พืชต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ให้บริการต่างๆ โดยประสานกับหน่วยบริการจ่ายน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดน้ำในฤดูแล้ง 38 จังหวัด เพื่อวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วนด้วย

ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมได้มีการพิจารณาพื้นที่น้ำร่องในการกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับหน่วงและเก็บกักน้ำหลากเพื่อดำเนินการในระยะแล้งนี้ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนหน้า โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ โดยเพิ่มเติมโครงการนำร่องพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าชดเชยตามมติ ครม. 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สทนช.ได้สรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบมติที่ประชุมข้างต้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติในการดำเนินการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.63 เนื่องจากแนวโน้มปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศลดลงต่อเนื่องด้วย

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

มาตามนัด! 686 องค์กร ออกแถลงการณ์ หนุนแบน 3 สารเคมี 1 ธ.ค.62

ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรออกแถลงการณ์สนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง

ยืนยันให้มีการแบนพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายใน 1 ธันวาคม 2562

ตามที่มีข่าวว่าจะมีการเลื่อนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิดออกไปอีก 6 เดือน โดยอ้างเงื่อนไขว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาความตกลงในองค์กรการค้าโลกซึ่งมีระยะเวลา 60 วันในการแจ้ง (Notification) และเพื่อรองรับการคืนผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการจัดส่งไปยังประเทศต้นทางหรือประเทศที่สามนั้น

เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้คุ้มครองสุขภาพของประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ดังนี้

1. ยืนยันมติการแบน 3 สารพิษ ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562

2. ภายใต้กรอบความตกลงเรื่องมาตรการสุขอนามัยและอนามัยพืช ( AGREEMENT ON THE APPLICATION OF SANITARY AND PHYTOSANITARY MEASURES ) ขององค์กรการค้าโลกนั้น รัฐบาลไทยสามารถดำเนินแบนสารพิษภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ได้ ตามเงื่อนไขการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างเร่งด่วน (urgent problems) ซึ่งระบุในความตกลงดังกล่าวใน Annex B ข้อ 6

3. กระทรวงเกษตรฯยังคงมีระยะเวลาประมาณ 5-7 เดือนก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งเพียงพอในการดำเนินการสนับสนุนทางเลือกและเสนอมาตรการให้เกษตรกรไม่ต้องเป็นผู้รับภาระ

เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ 75% ของประเทศตามผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และเป็นไปตามมติของสภาผู้แทนราษฎร 423 ต่อ 0 เสียง ที่รับรองรายงานและสนับสนุนข้อเสนอแนะของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดโดยด่วน

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สศช.ชี้ทางรอดเศรษฐกิจไทยแนะ4แนวทางดันส่งออกปี63โต3%

“สศช.”แจง 4 แนวทางให้รัฐบาลเร่งดันการส่งออกปี 2563 โต 3% ตามเป้าหมาย หวังจีดีพีประเทศแกร่งตามเป้าหมาย ด้านพาณิชย์ประเมินส่งออกปีหน้าคาดโตอย่างน้อย2%

เทคโนโลยีขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมให้คุณท้าทายไปได้ทุกสภาพถนน

ให้คุณควบคุมการขับขี่ได้ดั่งใจเเม้ถนนเเบบออฟโรด หรือออนโรด ไปได้ทุกจุดหมายไม่มีข้อจำกัด รับโปร Motor Expo ดอกเบี้ย 0% ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง นาน 2 ปี

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเร็วๆนี้ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่3ของปี 2562 และแนวโน้มปี 2562 – 2563

ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว2.6%  โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า จะลดลง2.0% การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัว 4.3% และการลงทุนรวมขยายตัว2.7%  ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%  และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2% ของจีดีพี

ทั้งนี้ ในการประชุมได้เสนอถึงแนวทางการการขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% ในปี 2563 โดยต้องให้ความสำคัญกับ 1.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

2.การให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต3.การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก ข้อกำหนด และแนวทางปฏิบัติในประเทศคู่ค้า4. การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า

นอกจากนี้ สศช.ยังแนะนำถึงการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงการกระจายตลาดนักท่องเที่ยวให้มีความสมดุลมากขึ้น การรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ (PM 2.5)

การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกและลดปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว และการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

สำหรับการส่งออก ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐ ขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 0.5% อย่างไรก็ตาม พบว่าตลาดจีน ติดลบ 4.2% สหภาพยุโรป ติดลบ 8.8% CLMV ติดลบ 9.9% เอเชียใต้ ติดลบ 24% อินเดียติดลบ 3.7%

ส่วนการส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มูลค่า 2.07 แสนล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.4% นำเข้า 1.99 แสนล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.1% ทำให้เกินดุลการค้า 7,888 ล้านดอลลาร์

ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าทั้งปี2562 การส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 1.5 -2 % จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 0% และในปี 2563 การส่งออกของไทยจะกลับมาบวกได้ จากปัจจัย การปรับตัวของผู้ประกอบการต่อภาวะสงครามการค้า การทำตลาดใหม่ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับทรงตัว ส่วนเป้าหมายปีหน้าคาดว่า ส่งออกขยายตัวอย่างน้อย 2%

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘มนัญญา’สั่งกรมวิชาการเกษตรแจงด่วน ปมขอยืดจัดเก็บ 3 สารเคมี 6 เดือน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ตนจะสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำหนังสือชี้แจงโดยด่วนถึงข้อเสนอเรื่องการยืดเวลาบังคับใช้ในการจัดเก็บคืนสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน ว่าจริงหรือไม่ ที่เสนอคณะทำงานหามาตรการช่วยเหลือเกษตรให้พิจารณา โดยอ้างว่ามีสต็อกเหลือกว่า 2.8 หมื่นตัน หลังจากที่มีการประกาศแบน 3 สาร วันที่ 1 ธันวาคม 2562

นางสาวมนัญญา ระบุว่า ที่ให้กรมวิชาการเกษตรชี้แจงมาโดยด่วนถึงเหตุผลในการยืดเวลาจัดเก็บสาร เพราะที่ผ่านมาได้ประชุมหลายครั้ง ไม่ได้มีการแจ้งจะยืดเวลาจัดเก็บสารแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงเช้าเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ตนได้เรียกประชุมสารวัตรเกษตรทั่วประเทศกว่า 300 คน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในทุกขั้นตอนการจัดเก็บ 3 สารเคมี ซึ่งได้ถามย้ำถึง 3 รอบ และใกล้จบการประชุมยังถามย้ำอีกว่าใครมีปัญหาในการลงพื้นที่จัดเก็บสารเคมีหรือไม่ และผู้บริหารกรมก็อยู่ ยกเว้นอธิบดี เพราะมีการประกาศแบน 3 สาร ให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ต้องทำทันทีในการแจ้งครอบครองสาร 15 วัน และส่งมอบคืนใน 15 วัน

“ทุกคนบอกไม่มีปัญหา แต่ปรากฏว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กรมวิชาการเกษตรมาเสนอที่ประชุมคณะทำงานพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบเกษตรกรหลังเลิกใช้ 3 สาร ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน กลับมีการเสนอขอยืดเวลาการบังคับใช้แบน 3 สาร ไปอีก 6 เดือน อ้างว่า 30 วันจัดเก็บสารส่งคืนบริษัทไม่ทัน และยังมีเรื่องสต็อกสารคงเหลือยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยประชุมวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 รายงานเหลือ 3.8 หมื่นตัน มาอีกวันเหลือ 2.8 หมื่นตัน ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรต้องทำหนังสือชี้แจงมาทั้งหมด เพราะดิฉันมีหนังสือถามไปเรื่องเสนอยืดเวลาว่าทำไมตอนประชุมกรมวิชาการเกษตร ไม่มีการคัดค้าน ได้ถามถึง 3-4 ครั้ง มีปัญหาไหมในการจัดเก็บคืน” รมช.เกษตรฯ กล่าว

รมช.เกษตรฯ กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร เป็นผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่ติดปัญหาใดๆในการจัดเก็บ เป็นที่ยอมรับในที่ประชุมตอนเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 พอช่วงบ่ายกรมวิชาการเกษตร เปลี่ยนไปได้อย่างไรในเรื่องจัดเก็บสาร ทั้งที่สารวัตรเกษตรกว่า 300 คนบอกไม่มีปัญหา แต่คณะทำงานที่ปลัดเกษตรฯเป็นประธานไปประชุมกันกลับเป็นอีกอย่าง ซึ่งไม่ทราบเช่นกันทำไมเปลี่ยนไป และยังไม่รู้ว่าจะนำเรื่องยืดเวลา 6 เดือนเข้าคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน หรือไม่ จึงต้องเรียกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงจากกรมวิชาการเกษตร มาถึงตนเองในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้ประเมินระยะเวลาการดำเนินการกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งการแจ้งการครอบครองและการจัดเก็บ หากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการปรับสถานะ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ซึ่งตามขั้นตอนกรมวิชาการเกษตรต้องเปิดรับแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน และต้องให้ผู้ครอบครองนำมาส่งมอบภายใน 15 วันหลังการแจ้ง ซึ่งเหลือเวลาเพียง 8 วันนั้นกระชั้นชิดมาก ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการนำเข้าและผลิต และร้านจำหน่ายตั้งตัวไม่ทัน

อีกทั้งกระบวนการจัดการกับสารเคมี 3 ชนิด ซึ่งมีอยู่เกือบ 3 หมื่นตันนั้น กรมวิชาการเกษตรระบุว่าต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงจะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายยกเลิกออกไป 6 เดือน แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย

“คณะทำงานของกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเรื่องการส่งสารเคมีคงค้างกลับคืนบริษัทและส่งไปประเทศที่ 3 เพื่อลดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และลดค่าใช้จ่ายในการทำลาย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรรายงานว่าหากสารเคมีทั้ง 3 ชนิดยังอยู่ในรูปแบบสารตั้งต้นสามารถส่งคืนและส่งออกได้ แต่หากผู้ประกอบการนำมาผสมเป็นสูตรที่ปรับให้เหมาะต่อการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชของไทยแล้ว ไม่สามารถจะส่งคืนบริษัทหรือส่งไปประเทศอื่นได้ ดังนั้นปริมาณสต็อกคงค้าง จึงจะยังมีอยู่มาก ต้องใช้เวลาในการจัดเก็บและทำลาย” นายอนันต์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ดึงนํ้าทิ้ง 7.6 พันรง. ช่วยเกษตรกร รับมือวิกฤติภัยแล้ง

"สุริยะ” สั่งกรอ. เร่งสำรวจปริมาณนํ้าทิ้งโรงงาน 12 ประเภท กว่า 7.6 พันแห่ง เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกรฝ่าวิกฤติ ชี้นํ้าทิ้งต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานกำหนด คุมเข้มข้นไม่ให้โรงงานฉวยโอกาสแอบนำนํ้าเสียไปทิ้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณนํ้าทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำนํ้าทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของนํ้าทิ้งต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร สามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง

สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ที่ไม่ใช่สัตว์นํ้า, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์นํ้า, กิจการเกี่ยวกับนํ้ามันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับนํ้าตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดนํ้าเสีย ของโรงงานทั้งหมดดังกล่าว

“ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งอาจจะถึงขั้นรุนแรง ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน”

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การช่วยเหลือดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยใช้มาตรการนี้มาเมื่อปี 2559 ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำนํ้าทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง เป็นการเฉพาะกิจที่อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีเงื่อนไขห้ามระบายนํ้าออกนอกโรงงาน ให้สามารถนำนํ้าทิ้งจากโรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อสู้ภัยแล้งได้

 ทั้งนี้ ปี 2559 โรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำนํ้าทิ้งจำนวน 772,560 ลูกบาศก์เมตร (รายละไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้นํ้าทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำ นํ้าทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้นํ้าทิ้ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำนํ้าทิ้งออกนอกโรงงาน ในส่วนของโรงงานจำพวกที่ 3 นั้น โรงงานที่จะนำนํ้าทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยโรงงานต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกับเกษตรกรผู้นำนํ้าทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม จะต้องมีแผนที่และหนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับนํ้าทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำนํ้าทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้นํ้ารั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำนํ้าทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกร เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่านํ้าทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้นํ้าในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณนํ้าทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนนํ้าในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้นํ้าในระดับสูงสุด ได้แก่ รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้นํ้าน้อยเท่าที่จำเป็น รียูส (Reuse) การใช้นํ้าซ้ำ และการรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะช่วยประหยัดนํ้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"มนัญญา"ขีดเส้น 3 วันส่งออก 3 สารเคมีเกษตร

"มนัญญา" เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากสมาคมบริษัทผู้ส่งสารเคมีร่วมหารือเสนอข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ถึงแนวทางการดำเนินการภายหลังที่จะมีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี คือ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมร่วมกับ 3 สมาคมบริษัทผู้ส่งสารเคมี ได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าได้เชิญสมาคมต่าง ๆ มาร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ถึงแนวทางการดำเนินการภายหลังที่จะมีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส  

นางสาวมนัญญาได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าหากบริษัทใดมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งออก 3 สารดังกล่าวนี้ จะสามารถดำเนินการได้ใน 3 วันทำการ และสามารถแจ้งจำนวนสต๊อกเข้ามาได้ อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะมีการประชุมในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นี้ มีมติในการใช้สารเคมี 3 ตัวนี้อย่างไร ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็พร้อมดำเนินการตามมติของที่ประชุม

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ผลศึกษา FTA ไทย-อียู น้ำตาล-ยา-พันธุ์พืชน่าห่วง

พาณิชย์ เผยผลศึกษาผลกระทบหากไทยทำเอฟทีเอกับอียู ด้านบวกกันจีพีดีไทยเพิ่มขึ้น 1.63 % ส่งออกเพิ่มขึ้น3.43 % แต่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ชี้อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าเกษตรไทยอาจเสียเปรียบ

 นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ปฏิบัติภารกิจแทนนางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยถึง ผลการศึกษาผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งกรมฯ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) พบว่า หากไทยมีเอฟทีเอไทย-อียู และมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้งสองฝ่าย จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 1.63% อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.41% การส่งออกไปตลาดอียูเพิ่มขึ้น 3.43% การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.42% การลงทุนเพิ่มขึ้น 2.74% ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้น1.32 % และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน เป็นต้น

สำหรับสาขาการผลิตที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และต้องเตรียมการปรับตัว เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น โดยประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของภาคประชาสังคมก็มีการวิเคราะห์ และเสนอแนะในผลการศึกษาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ผลการศึกษาพบว่า การฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ ยังสามารถช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่หายไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น

ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น หากไทยจะฟื้นการเจรจา จะต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ

“กรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปวิเคราะห์กับผลการรับฟังความเห็น ผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่กรมฯ จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป”

สำหรับสหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 9.4% ของไทยที่ค้ากับทั่วโลก โดยไทยส่งออก 25,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.27% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น9% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

กล่อมสมาคมส่งออก 3 สารเคมี

ผู้ค้าสารสุดยื้อ ‘มนัญญา’  ย้ำเลยขั้นตอนมาเกือบสุดท้ายแล้ว  เล็งดันส่งออก เมียนมา-สิงคโปร์ นำร่องกว่า 700 ตัน  กังขาสต็อก 3.8 หมื่นตันไม่ยุบ แฉพ่อค้าเล่ห์ลวงหลอกเกษตรกรขายสารลดราคาแหลก อ้างจ่ายเงินใต้โต๊ะให้รัฐมนตรีช่วยฯ ไม่ต้องกลัว ด้านเอกชนยังลุ้น ‘สุริยะ” ไพ่ใบสุดท้ายพลิกมติ 27 พ.ย.

จากกรณีที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือเชิญให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 สมาคมได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย เข้าพบหารือตามจดหมายขอเชิญประชุม โดยมีวาระสำคัญ เพื่อแจ้งมาตรการส่งออกวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ เพื่อทราบความเห็นผู้เข้าร่วมประชุมในประเด็นเกี่ยวกับวัตถุอันตรายดังกล่าว

วันที่ 21 พ.ย.62 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำสุดแล้ว ประกอบกับข้อมูลด้านสาธารณสุขก็ออกมาแล้วว่า เป็นสารที่มีพิษ และที่ได้เชิญสมาคมต่างๆ มาร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ถึงแนวทางการดำเนินการภายหลังที่จะมีการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดยได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าหากบริษัทใดมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งออก 3 สารดังกล่าวนี้ จะสามารถดำเนินการได้ใน 3 วันทำการ

ปัจจุบันมีบริษัทได้แจ้งความจำนงจะขอส่งออกแล้วหลายบริษัท แล้วจะรีบอนุมัติให้ส่งออกไปโดยเร็ว ส่วนสต็อกที่ยังเหลือ 3.8 หมื่นตันตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าบริษัทขายสารไม่ได้หรือ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือยังไม่ได้ส่งออก คาดว่าส่งออกไปแล้วสต็อกจะเหลือน้อยลงไปเรื่อย

ทั้งนี้ จากการตรวจสต๊อก สารเคมี 3 ชนิด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง โดยในวันที่ 30 มิ.ย.2562 พบมีสต็อกคงเหลือ 36,243 ตัน จาก 103 บริษัท, วันที่ 5 ก.ค.2562 พบ 34,688 ตัน, วันที่ 30 ก.ย. 2562 เหลือ 29,669 ตัน, วันที่ 31 ต.ค.2562 เหลือ 23,263 ตัน แต่จากการรายงานตัวเลขสต๊อก ณ วันที่ 12 พ.ย.2562 กลับเพิ่มมา 38,855 ตัน ก็เป็นเรื่องที่แปลก

ในส่วนของเกษตรกรก่อนหน้านี้ที่บริษัทไปเอาไปลด แลก แจก แถม คงจะไม่ซื้อเก็บสต็อกเอาไว้มาก แล้วได้ข่าวจากเกษตรกรว่ามีบริษัทใหญ่ไปรับรองว่าจะไม่แบน 3 สารนี้ อ้างว่ามีการจ่ายเงินให้รัฐมนตรีช่วยฯแล้ว ซึ่งไม่จริง แล้วการแบนก็เป็นเจตนารมย์ตั้งแต่รับตำแหน่งได้ 3 วัน ก็ประกาศแล้ว ดังนั้นเกษตรกรก็คงได้ยินข่าวอยู่แล้วว่าจะมีการแบน ไม่ใช่เพิ่งจะทราบข่าว และช่วงนี้ไม่ได้ช่วงฤดูในการปลูก แต่เป็นหน้าเก็บเกี่ยวก็ไม่ใช่สารเคมีอยู่แล้ว คาดว่าเกษตรกรก็คงไม่น่าที่จะเก็บสต็อกเอาไว้ เมื่อเกษตรกรมาคืนที่กรมวิชาการเกษตรแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปที่บริษัทนั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบ

“ส่วนสารทดแทนเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยศึกษาอย่างน้อย 2-3 ปี แต่เชื่อว่ายังมีสารทดแทนตัวอื่นในประเทศที่มี จึงไม่ได้สนับสนุนให้นำเข้ามาใหม่ทดแทน อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานที่ประชุมในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นี้ ว่าจะมีมติเช่นไรก็ต้องตอบคำถามของสังคม"

นายสกล มงคลธรรมากุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรและสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า ให้ส่งออกกลับคืนประเทศต้นทาง หรือประเทศที่ 3 นั้นเป็นไปไม่ได้เพราะการนำเข้ามาแล้วมีการนำมาปรับสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับปัญหาของศัตรูพืชในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อปรับให้เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งถือเป็นของผิดกฎหมาย จะไม่มีประเทศใดรับให้นำเข้าประเทศได้

ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจริงและไม่ได้เป็นการกำหนดที่มีสมมุติฐานมาจากความเข้าใจถึงการปฏิบัติจริงแต่อย่างใด ทั้ง 3  สมาคม จึงได้มีแถลงการณ์ความเห็นร่วมและได้แสดงจุดยืนต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังนี้ 1.สมาชิกทั้งสามสมาคมขอยืนยันจุดยืนที่ยังมีความจำเป็นสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ซึ่งยังมีการใช้อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว

2.สมาชิกทั้ง 3 สมาคมยินดีปฏิบัติตามหลักกฎหมายโดยใช้แนวทางปฏิบัติของกรมวิชาการเกษตร ดังที่ได้ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายของกรมวิชาการเกษตรอย่างดีตลอดมา ตั้งแต่การลดปริมาณการนำเข้า ฝึกอบรมผู้ใช้ ผู้ขาย ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติตามสากล ดังนั้นการจัดการสินค้าทั้งระบบซึ่งมีปริมาณมากกว่า 30,000 ตัน จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดการสินค้าประมาณ 2 ปี ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในฤดูหลักและลดความเสียหายสำหรับภาคเกษตรอุตสาหกรรม

นายสกล กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่าในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ที่มีนายสุริยะ เป็นประธาน อาจจะมีพลิกมติที่จะขยายเวลาออกไปโดยที่ไม่ได้แบนทันที ยังมีความหวังอยู่

รายงานข่าวว่าในวันที่ 22 พ.ย.62 เวลา 10.00 น. จะมี 6 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพดหวาน สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย จะมีแถลงข่าวผลกระทบจากการแบนสามสารต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมไทย และในวันที่ 26 และ 28 พ.ย.จะมีงานรวมพลังเกษตรไทย “แต่งชุดดำ เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการแบน 3 สาร ณ ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

ส่งออกไทย 10 เดือนยังติดลบ 2.3%

ส่งออกเดือนตุลาคมยังติดลบต่อเนื่องที่ 4.5% ส่งผลตัวเลข 10 เดือนยังติดลบ 2.3% คาดทั้งปี -1.5 ถึง -2% ผลพวงสงครามการค้า ยังฉุดเศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว เล็งปี 63 ส่งออกไทยคาดพลิกกลับขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 1.5-2% แต่ต้องขยันทำการบ้าน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนตุลาคม 2562 ยังติดลบในอัตราชะลอตัวลงโดยมีมูลค่า 20,757ล้านดอลลาร์สหรัฐฯติดลบ 4.5%  ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.5%  ส่งผลให้ยอดส่งออก 10 เดือนแรกปี 2562  มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 207,329 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 2.3 % ขณะที่ตัวเลขนำเข้า 10 เดือนมีมูลค่ารวม 199,441ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 4.09 %  ทำให้ยอดดุลการค้าของไทยในเดือนตุลาคมเกินดุลที่ 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ10 เดือนแรกยังเกินดุล 7,887 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกของไทยและทั่วโลกในเดือนตุลาคมลดลง มาจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน แม้ช่วงนี้สถานการณ์ดูจะไม่ร้อนแรง และชะลอมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน โดยทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามยังส่งผลให้หลายประเทศยังคงกังวลปัญหาจะกลับมามีปัญหาได้อีก ส่งผลให้ยอดส่งออกโดยรวมไม่ค่อยดีนัก แต่หากหักมูลค่ากลุ่มสินค้าทองคำและน้ำมันออก การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมจะติดลบเพียง 1%  เท่านั้น

“แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมจะติดลบ แต่มีมูลค่าการส่งออกเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจที่มูลค่ายอดรวมยังสูงอยู่ ประกอบกับสินค้าหลายรายการของไทยมีอัตราขยายตัวที่ติดลบน้อยลง เช่น กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกค์และส่วนประกอบที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น   ดังนั้นคงต้องติดตามในช่วง 2 เดือนที่เหลือปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนจะยังติดลบและในเดือนธันวามคมน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้ยอดส่งออกไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวเป็นบวก 0.1 % และส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบเพียง 1.5-2%  หรือมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ บนพื้นฐานเงินบาทต้องไม่แข็งค่าไปมากกว่าตอนนี้

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนตุลาคม พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 4.3%  โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 28.7% ซึ่งขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย จีน กัมพูชา มาเลเซีย และเกาหลีใต้, เครื่องดื่ม ขยายตัว 14.4 %ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีน และสิงคโปร์ เป็นต้น

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 2.6%  โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ ขยายตัว 72%  ซึ่งตลาดที่ขยายตัวได้ดีเช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และเยอรมนี  เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ 25.8%  ซึ่งหดตัวในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย ส่วนทองคำ หดตัว22.2%

ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญยังคงหดตัว แต่มีสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวเพียง 0.6%  เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯขยายตัว 4.8%  และญี่ปุ่นขยายตัว 0.5 %   ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัว 8.8%

ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวหรือติดลบ 7.6%  เป็นผลมาจากการส่งออกไป CLMV ติดลบ 939% (อาเซียน5)  ติดลบ 8.9% และจีนติดลบ 4.2 %    สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองติดลบ 6.4%  เนื่องจากการส่งออกไปตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลาตินอเมริกา และแอฟริกา หดตัว  ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางกลับมาขยายตัว 3.7 % 

ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัว 4.8%  ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น  ส่วนตลาดญี่ปุ่น ขยายตัว0.5 % และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ  และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

ด้านตลาดจีนติดลบ 4.2%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ   ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป(15) ติดลบ 8.8%  ซึ่งสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ส่วนตลาด CLMV  ติดลบ9.9%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ  เม็ดพลาสติก และผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง   ตลาดอินเดีย ติดลบ 17.2%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ  เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินภาพรวมตัวเลขการส่งออกในปีหน้า(2563) หลังจากผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ได้ออกไปทำตลาดต่างประเทศได้ต่อเนื่อง และผลจากปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนน่าจะมีทางออกที่ดี น่าจะทำให้การส่งออกในปีหน้าทั่วโลกจะกลับมาดี ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์คาดว่ายอดส่งออกในปีหน้าจะเป็นบวกได้ 1.5-2%  หรืออาจมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างประเมินภาพรวมและปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านให้ชัดเจนก่อน คาดจะประกาศเป้าหมายตัวเลขส่งออกปี 2563 ได้ในเร็ว ๆ นี้

“แนวโน้มการส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทย  ในระยะสั้น-กลาง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง”

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่จะช่วยสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกร   ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป(อียู) เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

โรงงานน้ำตาลทราย ชี้รับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ตาม กนอ. ยากทางปฏิบัติ

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล หวั่นมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่(กอน. กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 50% ต่อวัน  ยากในทางปฏิบัติ

                นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี  ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง มีความกังวลต่อหลักการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ของภาครัฐที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% ต่อวัน  ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะทำได้  เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลไม่มีสิทธิปฎิเสธรับอ้อยที่ชาวไร่จัดส่งให้แก่โรงงาน หากปฏิเสธรับอ้อยจากชาวไร่โรงงานต้องถูกลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าโรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณเกินกว่า 50% ต้องถูกปรับอีกตันละ 12 บาท ตามบทลงโทษที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กอน.) กำหนดเพิ่มเติม แม้มิใช่ความผิดของฝ่ายโรงงานน้ำตาลและไม่ใช่หน้าที่ของโรงงานจะต้องรับผิดชอบแทนชาวไร่อ้อยก็ตาม

                อย่างไรก็ดี 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เห็นว่า การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียน้ำตาลในลำอ้อย และหากทิ้งอ้อยไฟไหม้ค้างไร่ หรือรอส่งเข้าหีบนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอ้อย ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง ทั้งการหีบสกัดน้ำตาล และการต้มเคี่ยวน้ำตาล อีกทั้ง หากไม่สามารถควบคุมและจัดการการเผาอ้อยอย่างถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไม่ต้องการตัดอ้อยสด เนื่องจากตัดยากและตัดได้ในปริมาณน้อย ได้ค่าแรงน้อย ส่วนเครื่องจักรตัดอ้อยในประเทศ ยังมีจำนวนน้อยและราคาแพง ชาวไร่จึงยังจำเป็นต้องเผาอ้อย แม้ว่าจะถูกลงโทษปรับตันที่ละ 30 บาทก็ตาม

                ทั้งนี้  ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยหลายโรงงานมีการบริการตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา แต่ยังทำได้เป็นจำนวนน้อย ซึ่งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งชาวไร่และโรงงาน ในด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนการจัดการแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร เช่น การจัดระยะห่างของร่องอ้อย การรวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม  3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เห็นด้วยกับ กอน. ที่มีมติผ่อนปรน และปรับลดเป้าหมายใหม่ในปีแรก โดยให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกินวันละ 50% จากเดิม 30% ต่อวัน เนื่องจากมาตรการสนับสนุนเงินกู้จัดซื้อรถตัดอ้อยที่มีความล่าช้า ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยั่งยืนนั้น ควรส่งเสริมให้ชาวไร่เห็นความสำคัญจากการจัดเก็บอ้อยสด ที่จะช่วยเสริมรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะต้องถูกหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย โดยภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาหลังจัดเก็บผลผลิตไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแรงจูงใจที่ดีในการจัดเก็บอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล

               “มาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ของภาครัฐ เป็นเรื่องที่โรงงานให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเราไม่สามารถปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ที่ชาวไร่ส่งมอบให้แก่โรงงานได้และผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ที่รอเข้าหีบ หากทิ้งไว้หลายวันจะส่งให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยยิ่งลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลงด้วย ดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด คือ ควรส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้จากการจัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงานนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ชาวไร่เพิ่มขึ้น”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

โรงงานน้ำตาลลั่นกติการัฐลดอ้อยไฟไหม้ยากต่อการปฏิบัติ

ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล หวั่นมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ฤดูการผลิตปี 2562/63 ที่ “กอน.”กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 50% ต่อวัน ทำได้ยากในทางปฏิบัติ พร้อมแนะรัฐออกมาตรการส่งเสริมนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยชาวไร่มีรายได้จากการขายใบอ้อยให้แก่โรงงาน เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนมากกว่า

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง มีความกังวลต่อหลักการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ของภาคครัฐ ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% ต่อวัน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลไม่มีสิทธิปฎิเสธรับอ้อยที่ชาวไร่จัดส่งให้แก่โรงงาน หากปฏิเสธรับอ้อยจากชาวไร่โรงงานต้องถูกลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าโรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณเกินกว่า 50% ต้องถูกปรับอีกตันละ 12 บาท ตามบทลงโทษที่ กอน. กำหนดเพิ่มเติม แม้มิใช่ความผิดของฝ่ายโรงงานน้ำตาลและไม่ใช่หน้าที่ของโรงงานจะต้องรับผิดชอบแทนชาวไร่อ้อยก็ตาม

อย่างไรก็ดี 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เห็นว่า การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียน้ำตาลในลำอ้อย และหากทิ้งอ้อยไฟไหม้ค้างไร่ หรือรอส่งเข้าหีบนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอ้อย ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง ทั้งการหีบสกัดน้ำตาล และการต้มเคี่ยวน้ำตาล อีกทั้ง หากไม่สามารถควบคุมและจัดการการเผาอ้อยอย่างถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไม่ต้องการตัดอ้อยสด เนื่องจากตัดยากและตัดได้ในปริมาณน้อย ได้ค่าแรงน้อย ส่วนเครื่องจักรตัดอ้อยในประเทศ ยังมีจำนวนน้อยและราคาแพง ชาวไร่จึงยังจำเป็นต้องเผาอ้อย แม้ว่าจะถูกลงโทษปรับตันที่ละ 30 บาทก็ตามที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด

โดยหลายโรงงานมีการบริการตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา แต่ยังทำได้เป็นจำนวนน้อย ซึ่งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งชาวไร่และโรงงาน ในด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนการจัดการแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร เช่น การจัดระยะห่างของร่องอ้อย การรวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล เห็นด้วยกับ กอน. ที่มีมติผ่อนปรน และปรับลดเป้าหมายใหม่ในปีแรก โดยให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกินวันละ 50% จากเดิม 30% ต่อวัน เนื่องจากมาตรการสนับสนุนเงินกู้จัดซื้อรถตัดอ้อยที่มีความล่าช้า ทั้งนี้ การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ยั่งยืนนั้น ควรส่งเสริมให้ชาวไร่เห็นความสำคัญจากการจัดเก็บอ้อยสด ที่จะช่วยเสริมรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งอ้อยไฟไหม้ ซึ่งจะต้องถูกหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย โดยภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการนำใบอ้อยที่ยังไม่ถูกเผาหลังจัดเก็บผลผลิตไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นแรงจูงใจที่ดีในการจัดเก็บอ้อยสดส่งให้แก่โรงงานน้ำตาล

“มาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ของภาครัฐ เป็นเรื่องที่โรงงานให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าเราไม่สามารถปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ที่ชาวไร่ส่งมอบให้แก่โรงงานได้และผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ที่รอเข้าหีบ หากทิ้งไว้หลายวันจะส่งให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยยิ่งลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยลดลงด้วย ดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด คือ ควรส่งเสริมให้ชาวไร่มีรายได้จากการจัดเก็บอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงานนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ชาวไร่เพิ่มขึ้น” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

รง.น้ำตาลโอดกฏเหล็กคุมรับซื้ออ้อยไฟไหม้ หวั่นถูกปรับหากปฏิเสธชาวไร่

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลฯ ห่วงมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ทำได้ยาก เหตุไม่สามารถปฎิเสธรับผลผลิตจากชาวไร่ได้ แนะรัฐส่งเสริมนำใบอ้อยขายให้โรงงานช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง มีความกังวลต่อหลักการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ประจำฤดูการผลิตปี 2562/63 ของภาคครัฐ ที่กำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 50% ต่อวัน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้โรงงานน้ำตาลไม่มีสิทธิปฎิเสธรับอ้อยที่ชาวไร่จัดส่งให้แก่โรงงาน หากปฏิเสธรับอ้อยจากชาวไร่โรงงานต้องถูกลงโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้าโรงงานรับอ้อยไฟไหม้ในปริมาณเกินกว่า 50% ต้องถูกปรับอีกตันละ 12 บาท ตามบทลงโทษที่ กอน.กำหนดเพิ่มเติม แม้มิใช่ความผิดของฝ่ายโรงงานน้ำตาลและไม่ใช่หน้าที่ของโรงงานจะต้องรับผิดชอบแทนชาวไร่อ้อยก็ตาม

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เห็นว่า การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เกิดการสูญเสียน้ำตาลในลำอ้อย และหากทิ้งอ้อยไฟไหม้ค้างไร่ หรือรอส่งเข้าหีบนานเกินกว่า 24 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอ้อย ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานลดลง ทั้งการหีบสกัดน้ำตาล และการต้มเคี่ยวน้ำตาล อีกทั้ง หากไม่สามารถควบคุมและจัดการการเผาอ้อยอย่างถูกวิธี ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินได้ แต่ด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงงานไม่ต้องการตัดอ้อยสด เนื่องจากตัดยากและตัดได้ในปริมาณน้อย ได้ค่าแรงน้อย ส่วนเครื่องจักรตัดอ้อยในประเทศ ยังมีจำนวนน้อยและราคาแพง ชาวไร่จึงยังจำเป็นต้องเผาอ้อย แม้ว่าจะถูกลงโทษปรับตันที่ละ 30 บาทก็ตาม

ที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยหลายโรงงานมีการบริการตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญา แต่ยังทำได้เป็นจำนวนน้อย ซึ่งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนทั้งชาวไร่และโรงงาน ในด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาเครื่องจักรตัดอ้อยให้มีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนการจัดการแปลงอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร เช่น การจัดระยะห่างของร่องอ้อย การรวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สะดวกกับการทำงานของเครื่องจักร เป็นต้น

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

จัดทัพทีมเศรษฐกิจ รับมือวิกฤติโลก

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มถดถอย ภาคเอกชนต่างกังวล และปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงเหลือเพียง 2.4% แต่หากภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นผู้ถือหางเสือกำกับทิศทางเศรษฐกิจไทย ยังขาดเอกภาพ แล้วต่อไปไทยจะเดินไปอย่างไร

ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2562 ระบุจีดีพีโตแค่ 2.4% แม้จะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ก็ทำให้ภาคเอกชนผิดหวัง พร้อมใจปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงมาถ้วนหน้าตัวเลข 2.4% เกิดความกังวลว่าไม่มีแรงส่งให้ไตรมาสที่ 4 เติบโต 3.5% ได้ ดังนั้นจีดีพี 2.8% แทบจะไม่มีหวัง ยิ่งภาคการผลิตที่มีสัญญาณถดถอย อาจส่งผลกระทบไปยังการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชนนอกภาคการเกษตร อาจจะเป็นปัจจัยหลักฉุดเศรษฐกิจไทยให้ดำดิ่ง ถ้าไม่มีการแก้ไขทันท่วงที

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาเป็นชุด เป็นสิ่งจำเป็น ต่อการประคองเศรษฐกิจไทย และแม้การประชุม ครม.เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) ตื่นตัวกับรายงานของ สศช. นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปหามาตรการเพิ่มเติม โดยเน้นไปที่เศรษฐกิจฐานราก นั่นคือ ภาคการเกษตร ทว่าอาจไม่เพียงพอ ตราบใดที่รัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐกิจยังขาดเอกภาพ การที่ ครม.ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากหลายพรรคการเมือง มีสังกัดรองนายกฯ ตามระบบพรรค การไม่มีหัวหน้าทีม ครม.เศรษฐกิจ แตกต่างจากรัฐบาลก่อน แตกต่างจากยุคเศรษฐกิจบูม

โครงสร้างรองนายกฯ 5 คน กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คุมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คุมกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีเพียงนายวิษณุ เครืองาม ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงเศรษฐกิจ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้อาการไม่ดี แต่หากเทียบกับประเทศคู่แข่ง ไทยยังเป็นแหล่งพักพิงเงินทุนโลกที่ค่อนข้างปลอดภัย เพียงแต่จะดีกว่านี้หากไม่เจอความเสี่ยงเฉพาะแบบไทย การมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มาจากหลายพรรคการเมือง ไม่เพียงขาดเอกภาพในการทำงานด้านเศรษฐกิจการลงทุน การมีข้อจำกัด จำจากการต้องนำโครงการเข้าหารือภายในพรรค ไม่ทันกับเหตุการณ์สำคัญของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้าย ยิ่งสงครามการค้ายังลุกลามขยายวงกว้าง นำไปสู่ปัญหาการเมืองภายในหลายประเทศ และทอดเวลายาวนาน

เราเห็นว่าประเทศไทย ภาคเอกชนนำภาครัฐ วันนี้เอกชนจะไม่มีปัญหาในความร่วมมือ ช่วยกันประคองเศรษฐกิจ อาจจะมีความคล่องตัวและมีความพร้อมมากกว่า แต่ทั้งเอกชนและรัฐจำเป็นต้องร่วมกันทำงาน หากโครงสร้าง ครม.เศรษฐกิจยังต่างคน ต่างทำ เอกชนก็ไม่รู้จะร่วมมือได้อย่างไร เป็นปัญหาที่ทีมรัฐบาลตามไม่ทัน กลายเป็นเรื่องใหญ่เฉพาะภายในของไทย ต้องการการแก้ไขโดยด่วน ไม่เช่นนั้นแม้พื้นฐานเศรษฐกิจเราจะแข็งแกร่งเพียงใด ก็มิอาจต้านทานกระแสเศรษฐกิจโลก เริ่มจากรัฐมนตรีในรัฐบาล อย่าเล่นเกมผลประโยชน์พรรคถึงขั้นประชาชนเดือดร้อน จนทนไม่ไหว ถึงวันนั้นคงโทษใครไม่ได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

“สุริยะ” กำชับ7,000โรงงานคุมเข้มน้ำทิ้ง ดึงน้ำบำบัด 7.7 แสนลบ.ม. ช่วยชาวไร่อ้อย-มัน-ข้าวโพดได้ถึง4,000ไร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ปริมาณน้ำในภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องเกษตรกรให้สามารถผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง

สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดน้ำเสียของโรงงานทั้งหมดที่กล่าวไว้

“ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้นในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมาในปี 59 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเคยได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเฉพาะกิจที่อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงาน ให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อสู้ภัยแล้งได้”

สำหรับในปี 59 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้งจำนวน 772,560 ลบ.ม. (ไม่เกิน 10 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และ      ที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในส่วนของโรงงานจำพวก 3 นั้น โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยโรงงานต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกับเกษตรกรผู้นำน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะต้องมีแผนที่และหนังสือแสดงสิทธิ์การใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกร เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.รียูส (Reuse) การใช้น้ำซ้ำ และ 3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

“อยากฝากถึงผู้ประกอบการโรงงานว่าช่วงนี้กำลังเข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงอยากให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ รวมถึงการดูแลการดำเนินกิจการที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่ต้องการส่งเสริมให้โรงงานสามารถเดินเคียงข้างกับชุมชนได้อย่างเป็นมิตรและยั่งยืน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

“สุริยะ”นัดถกคณะกรรมการวัตถุอันตราย 27 พ.ย.

รมว.อุตสาหกรรมเตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาแบน 3 สารเคมี วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้

                นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 62 จะดำเนินการเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมี ประกอบด้วย ไกลโฟเสท  ,พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส  ซึ่งคงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และทำความเข้าใจ ว่าเมื่อมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวแล้วจะมีสารตัวใดที่จะมาทดแทน สารใดบ้าง 

ทั้งนี้  เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร และกับคณะกรรมการด้วย  โดยยืนยันว่าหากคณะกรรมการฯมีติให้แบนสารเคมีในวันที่ 1 ธันวาคมนี้  ผู้นำเข้าจะต้องบริหารจัดการ  โดยหากยังมีสารในสต๊อกคงเหลือจะต้องนำส่งกลับประเทศที่นำเข้ามา  ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวนี้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

ทุนไทย-เทศ แห่ปักหมุด EEC

รัฐมนตรีคลังเผย นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลลงทุนอีอีซี “สุริยะ” ยอมรับ ต่างชาติต้องการใช้พื้นที่นับหมื่นไร่ตั้งโรงงาน เลขาธิการอีอีซีย้ำทุกคนเข้าทำงานมีประกันสุขภาพรักษาพยาบาลครบวงจร เอกชนพัฒนาแรงงานลดหย่อนภาษีได้ 2.5 เท่า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "EEC Next ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC" จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสื่อในเครือเนชั่น ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีความคืบหน้าต่อเนื่อง และจากการเร่งรัดของรัฐบาลทำให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาติดต่อธุรกิจเพื่อเข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสของไทยที่เป็นประตูสู่อาเซียน ในส่วนของสำนักงานอีอีซี ต้องทำให้ภาคธุรกิจทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศมองเห็นความชัดเจนเพื่อตัดสินใจลงทุนจริงจัง  ทั้งนี้เขตอีอีซีไม่ใช่เพียงแค่นำเงินลงทุนเข้าประเทศ แต่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาถ่ายทอดจากต่างชาติ

ขณะที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมทั้งการพัฒนาบุคคลากร การพัฒนาสาธารณูปโภค การเตรียมพร้อมพลังงานป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเวลานี้ได้เป็นไปตามแผนทุกด้าน หลังจากนี้ต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุนต้องเริ่มเกิดขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาลงทุน การพัฒนาสภาพแวดล้อมรองรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรม การดูแลขยะอุตสาหกรรม ขยะของเมืองที่เติบโต การดูแลด้านการแพทย์  หากเขตอีอีซีสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนเข้า จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

ดังนั้นเขตอีอีซีจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประเทศ เมื่อไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ70 ของจีดีพี บริษัทเอสเอ็มอี และเอกชนรายย่อย ย่อมได้ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวจากยอดขายลดลง ต้องปรับลดแรงงาน ปรับลดต้นทุน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

“อุตฯไบโอชีวภาพ” สะดุด มิตรผล-KSL พับแผนลงทุน-ไม่มีตลาด

ผ่านมา 1 ปีเศษ หลังจากรัฐบาลประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้เดินหน้านโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพหรือ bioecononmy ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2561-2570) ไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561 วางแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) และในพื้นที่ส่วนต่อขยายในบริเวณจังหวัดภาคเหนือตอนล่างกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง  ครอบคลุม  3 จังหวัด จังหวัดนครสวรรค์  กำแพงเพชร ขอนแก่น รวมมูลค่าโครงการ 5 ปี 133,000 ล้านบาท

ดันไทย”ฮับอาเซียน”

นโยบายนี้มุ่งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “Bio Hub of ASEAN” โดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ  (bioecononmy) เป็นกลไกทำให้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย new S-curve ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ  ชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งภายหลังจาก ครม.ผ่านมาตรการ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ออกประกาศให้สามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กมง หากโรงงานเดิมให้ความยินยอม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ไว้ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

ส่วนที่เหลือคือการเตรียมความพร้อม ที่ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ (น้ำอ้อย) ให้เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ แต่ขณะที่กฎหมายก็ยังไม่แล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง โดยกระโยธาธิการและผังเมืองให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ

1 ปีไม่คืบ มิตรผล-KSL พับแผน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับมาตรการ bioecononmy ถือเป็นแนวคิดที่เชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม หากประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตรอย่าง อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อย่างมาก และการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับผังก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถูกคัดค้านจากชุมชนเกษตรกร

แต่ผ่านไปกว่า 1 ปี กลับดูท่าทีว่า มาตรการ bioecononmy  ที่เคยคาดหวังให้รายใหญ่ๆ ลงทุตตามแผน 1.33 แสนล้านที่วางไว้ โดยขณะนี้มีเพียงกลุ่ม ปตท. โดยบริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ที่จับมือกับทางกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น  จำกัด หรือ KTIS  ผุดโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ภายใต้เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท

ขณะที่ “บริษัท มิตรผล จำกัด” คือ อีกหนึ่งรายที่มีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ จ.ขอนแก่น ด้วยมูลค่าการลงทุนเกือบ 30,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังต้องชะลอแผนนี้ออกไป เนื่องจากยังต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชุมชนก่อนว่า อุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักที่จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ก็ต้องสั่งทบทวนแผนไบโอฯแล้วเช่นกัน “นายชลัช ชินธรรมมิตร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ KSL กล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลเน้นให้การยกเว้นและลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ลงทุน จนลืมมองว่าขณะนี้ตลาดมีความต้องการ หรือมีดีมานด์มากน้อยเพียงใด

อีกทั้งในความเป็นจริงแล้วจะต้องประกาศเป็นนโยบายใหญ่รัฐต้องกำหนดลดปริมาณการใช้พลาสติกลงกี่เปอร์เซ็นต์ภายในปีใด และให้เหลือศูนย์ในปีใด ควบคู่ไปกับส่งออกมาตรการสร้างดีมานด์ในกลุ่มผู้ใช้ เช่น บริษัทใดลดการใช้พลาสติกลงได้มากสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ คาดว่าขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างการร่างมาตรการดีมานด์นี้อยู่ ซึ่งแนวทางนี้จึงจะทำให้เอกชนกล้าที่จะลงทุน เพราะคุ้มและรู้ว่ามีตลาดรองรับ ขณะที่เรื่องของการหาพาร์ตเนอร์และเทคโนโลยี knowhow  ไม่ใช่เรื่องยาก

BOI ชี้ครอบคลุม THAILAND Plus

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการ  bioecononmy  ถูกเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดบีโอไอหลายครั้ง ซึ่งพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ในฐานะประธานบอร์ด ได้สั่งการให้นำกลับไปดูเรื่องของเชิงพื้นที่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน บีโอไอได้คลอดแพ็กเกจไทยแลนด์พลัสออกมา ซึ่งมีความครอบคลุมกับอุตสาหกรรมชีวภา แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ก็นับว่าสามารถใช้แพ็กเกจนี้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพได้ ดังนั้นการจะออกมาตรการ bioecononmy      อาจยังต้องใช้เวลาทบทวนก่อน

ด้านนายวิฤทธิ์  วิเศษสินธุ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ไทยเองเก่งในการเป็นผู้ผลิตอ้อยสู่น้ำตาล มีวัตถุดิบ มีโรงงานน้ำตาล แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพนั้น เรื่องสำคัญคือการมีพาร์ตเนอร์เทคโนโลยีที่เก่ง เพราะจะเกิดอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมาอีกมาก วันนี้จึงทำให้เห็นว่า กลุ่มปตท.นั้นจับมือกับ  KTIS ลงทุนไปแล้ว ส่วนรายที่เหลือต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งแต่เชื่อว่าทุกคนได้เตรียมความพร้อมไว้บ้างแล้ว

สัดส่วนการใช้ไบโอชีวภาพไม่ถึง 5%

ขณะที่นายภราดร จุลชาติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าในวันที่ 1 ม.ค.2563ภาครัฐโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะขอความร่วมมือให้ห้างค้าปลีกลดการใช้ถุงพลาสติกประเภทที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single used ซึ่งมีความบางน้อยกว่า 35 ไมครอน เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ถุงที่มีความหนามากขึ้นซึ่งจะช่วยให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ ทั้งนี้ ถุงประเภทดังกล่าวมีปริมาณการใช้ 45,000 ล้านใบต่อปี

ในระหว่างนี้ เอกชนเสนอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการมาตรการส่งเสริมการดำเนินตามโรดแมปให้มีผลทางปฏิบัติมากขึ้น โดยเอกชนจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงาน PPP ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลซึ่งจะเป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ขณะเดียวกันจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพมาตรส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มไบโอชีวภาพ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคู่ขนานกันไป

“ที่ผ่านมาไบโอชีวภาพไม่ได้รับความนิยม มีสัดส่วนเพียงไม่ถึง 5% เพราะมีข้อจำกัดด้านคุณสมบัติราคาสูง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่ข้อจำกัดด้านคุณสมบัติราคาสูง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่มีจำกัด จึงไม่ได้รับความนิยม หากรัฐจะส่งเสริมควรเน้นกลุ่มที่บรรจุอาหาร และต้องทำโรงทำปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อรองรับขยะกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้บรรจุอาหาร และไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ต้องปรับทำให้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพไปเลย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

อุตฯสั่งโรงงานใช้น้ำประหยัด ป้องกันปัญหาขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหนังสือขอความร่วมมือ ไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.รียูส (Reuse) การใช้น้ำซ้ำ และ3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ กรอ. สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ปริมาณน้ำในภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรให้สามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง

สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์น้ำ,กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดน้ำเสียของโรงงานทั้งหมดที่กล่าวไว้

“ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้นในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2559 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเคยได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำน้ำทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเฉพาะกิจที่อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีเงื่อนไขห้ามระบายน้ำออกนอกโรงงาน ให้สามารถนำน้ำทิ้งจากโรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อสู้ภัยแล้งได้”นายสุริยะ กล่าว

สำหรับในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้งจำนวน 772,560 ลบ.ม. (ไม่เกิน 10 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในส่วนของโรงงานจำพวก 3 นั้น โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

เรียกเก็บ3สารพิษ ราชกิจจาฯประกาศ ขีดเส้น15วันส่งคืน

ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศกรมวิชาการเกษตร แจ้งปริมาณการครอบครอง พร้อมส่งมอบคืนบริษัทภายใน 15 วัน ด้าน “มนัญญา”เรียก

ประชุมสารวัตรเกษตร 22 พฤศจิกายน แจงแนวทางปฎิบัติหลังแบน 3 สาร ย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการ เกษตรกรให้เข้าใจประกาศฉบับใหม่ ป้องกันถูกลงโทษ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 1511/2562 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 วัตถุอันตรายตามคำสั่งนี้ หมายความว่า วัตถุอันตรายไกลโฟเซต ไกลโฟเซต -เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต-โซเดียม ไกลโฟเซต-ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต-ไตรมีเซียมไกลโฟเซต-โพแทสเซียม ไกลโฟเซต โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต-โมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม คลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส - เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์และพาราควอตไดคลอไรด์ [บิส (เมทิลซัลเฟต)] ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ออกตามความในมาตรา 18 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ข้อ 2 ให้วัตถุอันตราย ตามข้อ 1 ที่อยู่ในความครอบครอง ก่อนวันที่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายนั้น เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครอง ภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้

2.1 กรุงเทพมหานคร แจ้งที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 2.2 ภูมิภาคแจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา

ข้อ 3 ให้ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ตามข้อ 2 ส่งมอบวัตถุอันตรายดังกล่าว ที่อยู่ในความครอบครอง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งปริมาณการครอบครอง ดังนี้ 3.1 กรุงเทพมหานคร ส่งมอบที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 3.2 ภูมิภาคส่งมอบที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนา สำนักวิจัยและพัฒนำกำรเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จ.ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานีสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา คำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2562

หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งกรมวิชาการเกษตร แจ้งการครอบครองและการส่งมอบสารเคมี 3 ชนิดคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยกเลิกใช้ โดยผู้ที่ครอบครองต้องแจ้งกรมวิชาการเกษตรภายใน 15 วัน หลังประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จากนั้นต้องส่งมอบภายใน 15 วัน เพื่อทำลาย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เหลือเวลา 13 วันที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม จะลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการ ร้านจำหน่าย และเกษตรกรที่ครอบครอง 3 สารทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงเรียกประชุมสารวัตรเกษตรและอาสาสมัครสารวัตรเกษตรทั่วประเทศวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจข้อควรปฏิบัติหลังมีประกาศยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยก่อนวันที่ 1 ธันวาคมต้องไปให้คำแนะนำผู้ประกอบการ ร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้ส่งคืนบริษัท ทั้งนี้ ที่เป็นห่วงที่สุดคือ เกษตรกร ไม่ต้องการให้ถูกจับหรือปรับ เนื่องจากทำผิดกฎหมาย แม้โดยประมาทก็มีโทษปรับสูงไม่เกิน 800,000 บาท ถ้าจงใจฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รมช.เกษตรฯกล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) สั่งให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 เขตทั่วประเทศแจ้งสตอกล่าสุดของสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสภายในพื้นที่ส่งให้ สคว.เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งให้จัดทำแผนรับแจ้งและเก็บรวบรวม เพื่อนำเสนอคณะทำงานของกระทรวงฯ กำหนดงบประมาณต่อไป

สำหรับค่าทำลายสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครองตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 52 วรรคท้าย หลังประกาศยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้ กรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้มีการนำเข้า ส่งออก ผลิต นำผ่าน และครอบครองอย่างเข้มงวด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

เปิดรับสมัคร ‘ชีวภัณฑ์’ ยาฆ่าหญ้า-แมลง เสนอ ‘เฉลิมชัย’ ทดแทน

เกษตรกรเคว้ง หลังแบน 3 สารเคมี อัดรัฐไร้มาตรการรองรับ เสนอเป็นตัวกลาง เปิดรับสมัครสหกรณ์/สถาบันเกษตรกร ที่สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ฆ่าหญ้า-แมลง ชง “เฉลิมชัย” ทดแทน ค้านสารเคมีตัวอื่นทดแทน หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ด้านอลงกรณ์ ยัน 22 พ.ย.นี้มีทางออก

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์  นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการแบน 3 สารเคมี ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส นั้นเห็นด้วย แต่ต้องหาสารอะไรมาทดแทน ขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีอะไรมาทดแทน ซึ่งหากเป็น “กลูโฟซิเนต”มาทดแทน เป็นสารตัวเดียวที่กลุ่มเอ็นจีโอสนับสนุนมาใช้ทดแทนก็กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม กล่าวคือจะมีกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มใหม่มาล้มอ้างโน่นอ้างนี่ให้แบนอีก

“เมื่อแบนสารเคมีอีกตัว แล้วจะให้มาใช้อีกตัวผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะเอ็นจีโอของอังกฤษได้นำข้อมูลสาร "กลูโฟซิเนต” มาเปิดเผยว่ามีสารตกค้าอยู่ในดินนานกว่าสารเคมีตัวอื่น แล้วราคายังแพงด้วย อย่างนี้สู้แบนสารเคมีทั้งประเทศเลย ไม่ต้องซื้ออะไรเข้ามาเลย ใช้แบบแมลงกินแมลง หรือไม่เอาสมุนไพร อาทิ สะเดามาใช้ ฉีดพ่นไม่ดีกว่าหรือ ให้ย้อนกลับไปทำการเกษตรแบบดั้งเดิม หากเป็นได้อย่างนี้จริง เชื่อว่าผักและผลไม้ไทยจะดังไปทั่วโลก อย่างนี้ผมเห็นด้วย”

นายอุทัย กล่าวว่า ผมจะเป็นคนกลาง หากสหกรณ์/สถาบันเกษตรกร ที่ได้มีสารชีวภัณฑ์ที่สามารถจะฆ่าหญ้าได้หรือฆ่าแมลงศัตรูพืชได้ ก็ให้ร้องเรียนมายังเบอร์ผม ผมจะได้รวบรวมและนำเสนอนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ได้พิจารณาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องเดือดร้อนของเกษตรกร ดังนั้นขอประกาศให้ทราบถ้วนกัน ใครสนใจติดต่อมาได้ที่เบอร์โทร 081-330-1945

สอดคล้องกับนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการรายงานของกรมวิชาการเกษตรรายงานต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดว่ายังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ได้รับการรับรองจากกรมฯแม้แต่รายเดียวมีเพียงสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว 73 รายการ แสดงว่าแม้มีการแบน 3 สารเคมี แต่ก็จะใช้สารเคมีตัวอื่นที่แพงกว่าแทน 3 สาร ซึ่งอธิบายต่อสังคมยากมากว่าทำไมแบน 3 สารเคมี แต่ก็ใช้สารเคมีชนิดอื่นแทน

นอกจากเรื่องสารทางเลือกทดแทน 3 สารอันตราย ทางคณะทำงานกำหนดแนวทางเบื้องต้นในการช่วยเหลือเกษตรกรหลายมาตรการเช่น การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต การใข้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทันสมัยมาจัดการแปลงเพาะปลูก การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น และจะสรุปเป็นมาตรการในการประชุมในวันที่ 22 พ.ย.นี้  ก็ต้องช่วยกันทุกฝ่ายเพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาจะแบน 3 สารตั้งแต่ วันที่ 1 ธันวาคมนี้ โดยทันที

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

เกษตรกรเตรียมคืน 3 สาร หวั่นติดคุก

เลขาฯ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยระบุเกษตรกรเตรียมนำสารเคมี 3 ชนิด คืนรัฐทันทีที่ประกาศยกเลิกการใช้มีผล 1 ธ.ค. หวั่นติดคุก พร้อมเดินหน้ารวบรวมรายชื่อฟ้องศาลปกครอง    

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวถึงกรณี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าวันที่ 1 ธันวาคม สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จะกลายเป็นสิ่งกฎหมายผู้ใดมีไว้ในครอบครองจะมีโทษหนักนั้น ได้ศึกษาบทลงโทษตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 74 ระบุว่ามีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำผิดโดยประมาทมีโทษปรับไม่เกิน 800,000 บาท ทำให้เกษตรกรประมาณ 20,000 คน ซึ่งเกรงกลัวโทษได้ประสานมายังสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เพื่อจะขอนำมาส่งคืนรัฐด้วยตนเอง โดยจะไปคืนที่ห้องทำงานนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ น.ส. มนัญญา รมช. เกษตรฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีความกังวลเรื่องค่าทำลายสารเคมี เนื่องจาก น.ส.มนัญญา ระบุว่าเป็นภาระของผู้ครอบครอง ใครใช้เงินหลวงทำลายถึงขั้นติดคุก จึงต้องการถามกระทรวงเกษตรฯ ว่า เกษตรกรซื้อสารเคมีเพื่อใช้ในไร่ในสวนแล้วยังมีเหลือคงค้างจะหาเงินจากไหนมา

นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า การยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยเฉพาะพาราควอตกับไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรใช้มาเกือบ 50 ปี ทำให้เกษตรกรขาดเครื่องมือในการประกอบอาชีพ โดยที่กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่มีมาตรการรองรับใด ๆ ออกมานั้น ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศแจ้งมาว่าต้องการร้องต่อศาลปกครอง ทางสมาพันธ์ฯ จึงจัดทำแบบฟอร์มให้ผู้ที่เดือดร้อนลงชื่อเป็นโจทย์ร่วมกัน โดยสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดให้ทนายนำร้องศาลปกครองวันที่ 1 ธันวาคมนี้ทันทีที่กฎหมายยกเลิก 3 สารมีผลบังคับใช้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กรมั่นใจว่าเกษตรกรรมวิถีอินทรีย์เป็นคำตอบให้เกษตรกรทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล ทางเครือข่ายเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนชดเชย เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในช่วงปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการทำเกษตรกรรมยั่งยืน มาตรการทางภาษี โดยลดภาษีนำเข้าเครื่องมือ-อุปกรณ์การเกษตรที่เข้ามาทดแทนการใช้สารเคมีและส่งเสริมการพัฒนาเครื่องและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการเกษตร มาตรการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น จัดตั้ง พ.ร.บ. ควบคุมสารเคมีโดยให้แยกออกจาก พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และจัดตั้ง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน

ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศพร้อมจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนรู้พร้อมเผยแพร่เทคนิคและวิธีการจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สามารถทำบนพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ระดับ 400-500 ไร่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนประมาณ 33 ล้านไร่ โดยเป็นเกษตรอินทรีย์กว่า 1 ล้านไร่ และได้รับการรับรองแล้วประมาณ 500,000 ไร่

“แม้มีกลุ่มผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเรียกร้องให้มีการคงระดับค่าตกค้างสารเคมีในผลผลิต รวมถึงให้ทบทวนการยกเลิกใช้ เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องในวงวิชาการบางส่วนให้มีการเลื่อนยกเลิกสารพาราควอตออกไปก่อน แต่ทางเครือข่ายยืนยันข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดตามระยะเวลาที่กำหนด” นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

กรมชลฯห่วงปีนี้น้ำน้อย สำรองฝนทิ้งช่วงถึงเดือนก.ค.63 วอนช่วยประหยัดน้ำ

“กรมชลฯห่วงปีนี้น้ำน้อย ระบุฝนทั่วประเทศ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ40 ชี้ปริมาณน้ำในเขื่อนใช้ได้ 2.5หมื่นล้านลบ.ม.หรือ มีน้ำเพียง 50% เร่งทุกพื้นที่ชี้แจงข้อเท็จจริงมีน้ำเหลือไม่มากต้องใช้ถึงฤดูฝนหน้า สำรองฝนทิ้งช่วงถึงเดือน ก.ค.63 วอนช่วยประหยัดน้ำ”

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชุมทางไกลไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ สรุปสถานการณ์น้ำล่าสุด โดยสภาพฝน ภาคใต้มีฝนปานกลางในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ซึ่งมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ จะน้อยกว่าในบางช่วง ส่วนปริมาณฝนรวมบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 40

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(19 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,787 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,889 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำใช้การได้ เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,847 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,151 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์น้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก

สภาพน้ำท่าทางตอนบนของประเทศไทย ปัจจุบัน(19 ต.ค. 62) ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ วัดได้ 250 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 240 ลบ.ม./วินาที) ต่ำกว่าตลิ่ง 8.69 เมตร และคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 70 ลบ.ม./วินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ อ.บางไทร เฉลี่ย 96 ลบ.ม./วินาที(เมื่อวาน 97 ลบ.ม./วินาที) สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ส่วนทางภาคใต้อยู่ในเกณฑ์น้ำปานกลาง - มาก

ด้านแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2562 ทั้งประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำรวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว  1,738 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้ง รวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน (19 พ.ย. 62) ได้จัดสรรน้ำตามความต้องการไปแล้ว 514 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 13

สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศรวม 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 34 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 7 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 4.01 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 59 ของแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำแม่กลอง มีแผนเพาะปลูกรวม 2.07 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 41 ของแผนฯ) , พืชไร่-พืชผัก 0.69 ล้านไร่(คิดเป็นร้อยละ 8 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ (คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ) ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จึงมีแผนเพาะปลูกเพียงพืชอื่นๆ เช่น อ้อย ที่ต้องใช้การเพาะปลูกแบบต่อเนื่องเท่านั้น รวมจำนวน 0.99 ล้านไร่

จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย การสนันสนุนน้ำเพื่อการเกษตรและการประมง จึงมีแผนการจัดสรรอย่างจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน อีกทั้ง กรมชลประทาน จะต้องดำเนินการตามแผนจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ให้ความรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ซึ่งในขณะนี้มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ไม่มากนัก ที่ต้องใช้ถึงหน้าฝนปีหน้า และสำรองน้ำไว้หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เดือนมิ.ย.ก.ค.63 จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนประหยัด พร้อมทั้งสร้างกระบวนการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำ รวมทั้ง ตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ค่าความเค็ม อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ไว้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสามารถสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มความสามารถ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

สั่งผันน้ำทิ้งคุณภาพดีจากโรงงาน 7 พันกว่าแห่ง ระบายต่อช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

'สุริยะ'รับมือภัยแล้ง กำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรมผนึกผู้ประกอบการสำรวจปริมาณน้ำทิ้งผ่านการบำบัด ช่วยภาคเกษตร หากเกิดวิกฤติภัยแล้ง ชี้น้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ได้มาตรฐานกำหนด ห้ามโรงงานลักไก่ทิ้งน้ำเสีย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ปริมาณน้ำในภาคเกษตรประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ พี่น้องเกษตรกรให้สามารถผ่านวิกฤตภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง

สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ซึ่งไม่ใช่สัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดน้ำเสีย ของโรงงานทั้งหมดที่กล่าวไว้

ทั้งนี้ในปี2559 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานโรงงานอุตสาหกรรมจนสามารถนำน้ำทิ้งจำนวน 772,560 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) (ไม่เกิน 10 ลบ.ม. ต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้น้ำทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำน้ำทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้น้ำทิ้ง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม จับมือ NEDO ประเทศญี่ปุ่น

อย่าตื่นตระหนก! ก.อุตสาหกรรมยันโรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิดกิจการ

กรอ.สั่งปิดโรงงานลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในส่วนของโรงงานจำพวก 3 นั้น โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยโรงงานต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกับเกษตรกรผู้นำน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะต้องมีแผนที่และหนังสือแสดงสิทธิ์การใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำน้ำทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำน้ำทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกร เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.รียูส (Reuse) การใช้น้ำซ้ำ และ 3.การรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

เศรษฐกิจโลกกินไทย ป้ายหน้า63ไปไหนต่อ

หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.เผยถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส3ของปี 2562 ว่าขยายตัว 2.4% ส่วนทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ดูเป็นตัวเลขที่พอมีความหวัง

หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผยถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส3ของปี 2562 ว่าขยายตัว 2.4% ส่วนทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ดูเป็นตัวเลขที่พอมีความหวัง ทำให้พอจะบอกลาปี 2562  แบบอยู่ยากเพื่อไปสู่ปี 2563 เศรษฐกิจไทยกำลังจะไปในทิศทางไหน

วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่าประเด็นที่ สศช.มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจคือเรื่องของการส่งออกเนื่องจากเป็นภาคส่วนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท

โดยขณะนี้ภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมภาคบริการ) มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 50% ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและการจ้างงานเป็นจำนวนมาก โดยแนวโน้มของสงครามการค้ายังคงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อไปถึงปี 2563 หรือนานกว่านั้น ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลก และส่งผลมายังซัพพลายเชนในไทยซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมแผนที่จะรองรับและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนในหลายประเด็นเช่น ในเรื่องของเบร็กซิท ที่จะทำให้เศรษฐกิจของยูโรโซนและสหราชอาณาจักรเผชิญกับความผันผวน เศรษฐกิจของจีนที่อาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 6% และการปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงรวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่างๆ เป็นต้น

“สงครามการค้าคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีข้อยุติโดยง่าย แม้จะมีการเจรจากันเป็นระยะๆ และในระยะสั้นอาจมีการชะลอการเรียกเก็บภาษี แต่เรื่องการยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าต่อกันคงต้องมีการเจรจาอีกหลายครั้ง และต้องเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯพอใจ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจมาก 2 คนคือประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศว่าจะตกลงกันได้เมื่อไหร่”

ทั้งนี้ สศช. ได้แนะถึงวิธีการบริหารเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว การรักษาแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชน การดูแลเกษตรกร แรงงานผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามเร่งรักษาภาคการส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% 

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงย่อมแตกต่างกัน เพราะ ไตรมาส 3 ปีนี้ การส่งออกติดลบแล้ว 1.0% และสศช.ประเมินว่าการส่งออกปีนี้ จะติดลบ2.0%  ส่วนปีหน้าประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้2.3%  หากทำได้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทางที่ดีแต่ถ้าทำไม่ได้เศรษฐกิจไทยก็จะเป็นไปในทิศทางที่กลับกัน โดย สศช.กำหนดช่วงไว้ที่ ปี2563 จะขยายตัว 2.7-3.7%

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นสถาบันหลักหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่น่าพอใจก็ต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาซึ่งมาตรการที่ได้ให้กระทรวงการคลังเตรียมไว้นอกเหนือจากนี้ก็คือ

1.มาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญ โดยจะต้องมีมาตรการซึ่งต่อจากส่วนของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่รัฐบาลได้โปรโมทไปก่อนหน้านี้และได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน

2.มาตรการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม โดยกำลังดูข้อมูลอยู่ว่าจะออกมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม ส่วนมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)ได้บอกกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่าบางช่วงต้องผ่อนปรนบ้าง โดยมาตรการลักษณะนี้ได้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจในขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือเกิดฟองสบู่ มาตรการลักษณะนี้จะยิ่งทำให้อสังหาริมทรัพย์ขายออกไปยากมากขึ้นจึงควรจะมีการทบทวนให้เหมาะสม

“เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพเห็นได้จากเงินทุนต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ขณะนี้บริษัทต่างชาติและกลุ่มธุรกิจของต่างประเทศหลายแห่งได้เดินทางเข้ามาพบ ทั้งหมดแสดงความสนใจประเทศไทยเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาค แต่ภายในประเทศเราเองที่ชะลอการลงทุนลงไป อยากให้เอกชนลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้นก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจเพียงแต่ควรมาลงทุนในประเทศมากขึ้น”

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการมองไปข้างหน้า จากจุดนี้ จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตข้างหน้ากำลังถูกท้าทายจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้  ไม่รู้ว่า จะถูกกลืนกินให้จบหายไปหรือท้ายที่สุดจะฟื้นตัวเติบโตได้ ก็สุดที่จะคาดเดาถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะปรับโหมดการเติบโตของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ตัวตัวเองอย่างแท้จริง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

เงินบาทแข็งค่าเปิด 30.19 บ.ต่อดอลลาร์

เงินบาท เปิดเช้าวันนี้แข็งค่ามาที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์ จากปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.24 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทในคืนที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนหลักจากหารอ่อนค่าของดอลลาร์ จึงปรับตัวลงหลุดระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง สำหรับวันนี้จึงต้องติดตามดูทิศทางของตลาดการเงินฝั่งเอเชียต่อ ถ้าสามารถเร่งตัวบวกขึ้นต่อ ก็จะสามารถหนุนให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาทแข็งค่าต่อได้ด้วย

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.15- 30.25 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตามช่วงนี้ตลาดการเงินยังติดอยู่กับข่าวการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ไม่ได้มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงในฮ่องกงกับตำรวจ  ทำให้อารมณ์การลงทุนชะงักงัน ล่าสุดดัชนีหุ้น S&P500 ฝั่งสหรัฐปรับตัวบวก 0.1% และ HSI Future ของฮ่องกงเตรียมเปิลบ 0.33%

ข้ามมาฝั่งตลาดเงิน เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% และบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ10ปี ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1.81% หลังจากมีข่าวว่าโดนัล ทรัมป์ ได้พบกับประธานเฟดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ทั้งหมดมีการหารือกันเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า

ขณะเดียวกัน ฝั่งอังกฤษค่าเงินปอนด์ก็แข็งค่าขึ้น 0.4% เนื่องจากพรรค Conservative มีคะแนนนำคู่แข่งมากในการทำโพลล์ล่าสุด

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562

อ้อยอีสานร้องรัฐออกมาตรการที่ชัดเจน ชะลอมติแบน3สารเคมี

ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน นครราชสีมา และเกษตรกรชาวไร่อ้อยพิจิตร รวมตัวให้ข้อมูลผลกระทบและประสบการณ์ตรงการใช้สารเคมีเกษตร หวังรัฐทบทวนและหามาตรการรองรับที่ชัดเจน พร้อมเดินหน้ายื่นหนังสือชะลอมติยกเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส

นายเลียบ บุญเชื่อง ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า การแบน 3 สารเคมีเกษตรส่งผลกระทบรุนแรงในอุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งน้ำตาล เอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะพาราควอต ช่วยให้เกษตรกรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาพืชไร่หลายชนิดมีราคาตกต่ำ การลดต้นทุนจะช่วยให้เกษตรกรมีผลกำไรบ้าง หากต้องมาเพิ่มต้นทุน เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระ ทำให้กำไรที่น้อยอยู่แล้วยิ่งลดลง อาจถึงขั้นขาดทุนได้

ส่วนการใช้แรงงานคนมา ถอนหญ้า หรือ ดายหญ้า นั้น ด้วยประสบการณ์ 1 คนในเวลา 1 วัน สามารถดายหญ้าได้ไม่ถึงครึ่งงานเลย ยิ่งในช่วงหน้าฝน ฝนตกชุก หญ้าขึ้นหนาแน่น ยิ่งทำงานยาก ดังนั้น การปลูกพืชเป็นหลายร้อยไร่ ระดับอุตสาหกรรม การใช้แรงงานคน จึงไม่มีทางเป็นไปได้ นอกจากนี้นโยบายรวมแปลงที่รัฐเสนอเป็นสิ่งที่ยากสำหรับต่างจังหวัด หากเป็นแปลงเกษตรของนายทุนรายใหญ่ขนาด 1,000 ไร่นั้นทำได้ เพราะเป็นการดำเนินงานระดับองค์กร แต่หากจะให้เอาแปลงเกษตรกร นาย ก นาย ข มารวมกัน คงเป็นเรื่องยาก ที่ดินของใครก็คงไม่มีใครยอม จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาและศึกษาให้ถ่องแท้ในการออกมาตรการ

นายสมบัติ ศรีจันทร์ เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การตัดสินใจยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด ภาครัฐมีควรมีมาตรการที่ชัดเจนและแผนการดำเนินงานรองรับที่เหมาะสมก่อน ปัจจุบัน ยังไม่รู้ว่าจะมีสารใดมาทดแทนให้เกษตรกร โดยเฉพาะพาราควอต เป็นปัจจัยการผลิตที่ดีที่สุดในการกำจัดวัชพืช ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมั่นใจว่าไม่มีสารตกค้าง เพราะอ้อยของไทยยังสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว การประโคมข่าวต่าง ๆ อาทิ แผ่นดินอาบสารพิษ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก

ส่วนนโยบายการส่งเสริมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช่สารเคมีทั้งระบบ ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรค แมลง วัชพืช ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน รัฐบาลและผู้บริโภคพร้อมหรือยังที่จะปรับตัวในการซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่แพงขึ้นอีกหลายเท่า ปัจจุบัน ทุกคนยังบ่นเรื่องค่าครองชีพที่สูง ร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่เลย ท้ายที่สุดหากไม่ให้ใช้ พาราควอต จะให้ใช้สารอะไรแทนในต้นทุนที่เท่ากัน มีคุณภาพที่ดี และต้องตรวจสอบชัดเจนได้ว่าไม่มีพิษ ไม่มีการตกค้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนการใช้เครื่องจักร พื้นที่ของประเทศไทยมีความหลากหลาย บางพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น พื้นที่เนิน พื้นที่บนเขา พื้นที่ราบลุ่ม น้ำขัง รวมทั้งพืชบางชนิดไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ เพราะจะทำลายพืชประธานหรือพืชที่ต้องการจะปลูก

นายวิทยา มาลา เกษตรกรขาวไร่อ้อย จังหวัดพิจิตร กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาวัชพืชที่เคยได้รับว่า“บางรายต้องเลิกทำไร่อ้อยไปเลย เพราะขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินหมุนเวียน ยิ่งหากไม่มี พาราควอต เกษตรกรไร่อ้อยลำบากแน่ การแนะนำสารเคมีเกษตรชนิดอื่นมาให้แต่ราคาแพงกว่าหลายเท่า ราคาแกลลอนละ 4,500 บาท ขณะที่ พาราควอต ปัจจุบันราคา 550-600 บาท ส่งผลภาระด้านต้นทุนปลูกสูงขึ้น แต่ราคารับซื้ออ้อยไม่สามารถเพิ่มได้ ปัจจุบัน อ้อยราคารับซื้ออยู่ที่ตันละ 780 บาท ชาวไร่อ้อยยังไม่รู้เลยจะทำอย่างไรต่อไปหากไม่มีพาราควอต แม้ว่ารัฐจะบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างให้ แต่รัฐจะเอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากภาษีประชาชนเหมือนเดิม

ทั้งนี้การจะให้หันมาทำไร่อ้อยเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศนั้น ไทยคงจะส่งออกต่างประเทศไม่ได้แล้ว เพราะต้นทุนจะสูงมาก แข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ซึ่งต่างประเทศยังใช้สารเคมีเกษตรกันอยู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและแข่งขันได้สูง อยากให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐลงพื้นที่มาสัมผัสชีวิตชาวไร่อ้อยจริงๆว่าเดือดร้อนขนาดไหน การที่รัฐจะแบนสารเคมีเกษตรทั้งสามชนิด อยากให้ภาครัฐกลับไปทบทวนอีกครั้ง

ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด สมาคมฯได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร แต่รวมถึงโรงงานน้ำตาล ผู้ส่งออก ผู้ค้าน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมพลังงานด้วย ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP ภาคเกษตรและ ร้อยละ 48 ของ GDP อุตสาหกรรมอาหาร ส่งออกไปต่างประเทศเป็นลำดับ 3 รองจากยางพาราและข้าว มีเกษตรกรอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จำนวน 470,000 ครัวเรือน หรือ ประมาณ 1.2 ล้านคน มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน

ทั้งนี้ได้เสนอทางออกไปยังรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วนใน 5 แนวทางได้แก่ 1.ชะลอผลของมติยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดออกไป 3-5 ปี 2.ศึกษาทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้องและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกอย่างรอบคอบ 3.ศึกษาและพิสูจน์สิ่งทดแทนทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจนและอบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึง 4.ขอให้รัฐบาลปรึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วน 5.ขอให้รัฐบาลเผยแพร่ผลการศึกษาและปรึกษาให้ประชาชนรับทราบโดยละเอียด

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

พลังงานเร่งเคาะอี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ธ.ค.ชง “สนธิรัตน์” หนุนราคาอ้อย-มันสำปะหลัง

กรมธุรกิจพลังงานเร่งหารือดันแก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานต้นปี 2563 ตามนโยบาย “สนธิรัตน์” คาดได้ข้อสรุป ธ.ค.นี้ ผู้ผลิตเอทานอลขานรับยกระดับราคาอ้อยและมันสำปะหลัง ยันปริมาณเอทานอลมีเพียงพอแน่นอน ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันหนุนให้ยกเลิกโซฮอล์ 91 เพื่อความชัดเจน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ค้าและกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ค่ายรถยนต์ ผู้ผลิตและค้าเอทานอล เพื่อขับเคลื่อนให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานในต้นปี 2563 ตามนโยบาย Energy For All ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

“เราได้หารือกับทุกฝ่ายไปแล้ว 2 ครั้ง และยังต้องหารืออีกต่อเนื่องเพราะยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ต้องพิจารณา โดยยอมรับว่ารถยนต์รุ่นใหม่นั้นสามารถใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 ได้ทั้งหมด แต่ก็พบว่าคนกลุ่มนี้ยังเติมไม่เต็มประสิทธิภาพตามจำนวนรถ ขณะเดียวกัน หากมีการส่งเสริมจะต้องดูถึงปริมาณเอทานอล และรถยนต์ที่จะต้องให้สอดรับกัน” อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานกล่าว

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและที่ปรึกษา รมว.พลังงาน กล่าวว่า การส่งเสริมให้แก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานนั้นรัฐสามารถประกาศยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ได้เพื่อลดความสับสนให้ผู้บริโภคที่ขณะนี้มีหัวจ่ายมากเกินไป หรือจะใช้กลไกราคาจูงใจ เช่น ให้แก๊สโซฮอล์ 91 เท่ากับแก๊สโซฮอล์ 95 จากขณะนี้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ถูกกว่า 27 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งในที่สุดก็จะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ไปเอง

นายประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานเจ้าหน้าที่หน่วยธุรกิจพลังงานกลุ่มมิตรผลในฐานะผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลสนับสนุนนโยบายดังกล่าวเพราะแก๊สโซฮอล์เป็นการนำเอทานอลผลิตจากกากน้ำตาล (โมลาส) และมันสำปะหลังมาผสมเบนซินที่จะช่วยยกระดับราคาอ้อยและมันสำปะหลังให้เกษตรกรไทย และยังมีส่วนช่วยลดการนำเข้าน้ำมันทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจไทย โดยผลผลิตเอทานอลเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ประมาณ 6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ความต้องการอยู่ระดับกว่า 4 ล้านลิตรต่อวันจึงมีเพียงพอที่จะกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน

“ขณะนี้ปริมาณเอทานอลมีมากพอจึงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนกรณีที่มองว่ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเข้ามาแทนรถใช้น้ำมันนั้นเป็นเรื่องระยะยาวเพราะรถอีวียังมีราคาค่อนข้างแพง” นายประวิทย์กล่าว

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย หรือ TEMA กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายการส่งเสริมให้อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน แต่จะมีการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 หรือไม่คงต้องอยู่ที่นโยบายภาครัฐเป็นสำคัญ แต่ที่ผ่านมารัฐยังคงเลือกที่จะใช้กลไกราคาระหว่างแก๊สโซฮอล์ 91 กับแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 ได้หมดแล้ว ซึ่งหากจะกำหนดให้เป็นน้ำมันพื้นฐานคงไม่ได้มีผลกระทบใดๆ มากนัก

แหล่งข่าวจากผู้ค้าปลีกน้ำมัน กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกน้ำมันส่วนใหญ่ต้องการให้ประกาศยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนต่อผู้บริโภคและลดประเภทหัวจ่ายที่มีจำนวนมากลงไปมากกว่าที่จะใช้กลไกราคา และผู้ค้าเองก็สามารถวางแผนการบริหารจัดการได้ดีกว่าและโรงกลั่นก็มีความพร้อมเช่นกันพพ.ปรับแผนพลังงานสอดรับอนาคต

พพ.ระดมสมองนักวิชาการ  องค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ประเมินทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตในภาคขนส่ง หลังรัฐบาลปักธงส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อนำมาปรับแผนให้ทันการณ์หลังเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วโดยเฉพาะการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล

                นายพงษ์ศักดิ์  พรหมกร  รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาเปิดตัวโครงการศึกษาผลกระทบการส่งเสริมยานยนต์ทางเลือก และการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งในประเทศไทย ต่อการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ประจำปี 2562 ว่า  พพ. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยร่วมกับสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อศึกษาประเด็นผลกระทบของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ที่จะมีต่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคตเพื่อนำมาสู่การศึกษาวิจัยของโครงการในขั้นตอนต่อไป

                “การสัมมนาเพื่อที่จะเป็นการระดมสมองในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักวิชาการ สถาบันการศึกษา นักวิจัย หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ศึกษาและวิจัยเพื่อที่จะนำมาใช้ปรับปรุงแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP) และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในระยะยาว”

ทั้งนี้  ภายใต้แผน EEP และนโยบายรัฐได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) จำนวน 1.2 ล้านคันในปี 2579 เนื่องจากมองบทบาทว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนสำคัญต่อการลดมลพิษ และลดการนำเข้าน้ำมันซึ่งมาตรการส่งเสริมรถอีวีอาจจะกระทบต่อสัดส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่จะเกี่ยวโยงไปถึงราคาพืชผลทางการเกษตรเนื่องจากปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันชีวภาพทั้ง การใช้ปาล์มบริสุทธิ์(บี100)มาผสมกับดีเซล(ไบโอดีเซล)และส่งเสริมการนำเอทานอลที่ได้จากกากน้ำตาล(โมลาส)และมันสำปะหลังมาผสมกับเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์จึงจำเป็นจะต้องศึกษาที่มองภาพรวมในอนาคต

                “นโยบายรัฐได้วางเป้าหมายที่จะส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพราะถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจะทำให้ไทยยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ไว้ได้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกวันนี้ มีความรวดเร็วและรถอีวีเริ่มมีราคาที่ถูกลง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ  และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันเป็นไฟฟ้า อาจเป็นไปได้ ที่จะส่งผลต่อการใช้เชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลในอนาคต  โดยจะรวมถึงปริมาณการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน พพ.จึงต้อง เตรียมวางแผนการบริหารจัดการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต ให้สอดรับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งของประเทศ”

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

เจาะลึกแผนจัดการน้ำพื้นที่อีอีซี 20 ปี

สทนช. วางมาตรการรองรับทุกปัญหาน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี 20 ปี  หวังกระจายน้ำทั่วถึง ครอบคลุมความต้องการรอบด้าน ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ 3 จังหวัด พร้อมเตรียมชี้เป้าพื้นที่เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาน้ำท่วม รุดศึกษารับมือปัญหาน้ำเสื่อมโทรมและการรุกตัวของน้ำเค็ม

วันที่18 พ.ย.62 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า พื้นที่ 3 จังหวัดของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นั้น มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งในอนาคตจำเป็นจะต้องรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการเพิ่มของจำนวนประชากรและการพัฒนาในด้านต่างๆ

อาทิ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงขาดแคลนทางด้านการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อย 65 ของพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนพบว่าพื้นที่ 3 จังหวัด EEC มีความต้องการใช้น้ำถึง 2,419 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของภาคตะวันออก นอกจากนี้ สทนช. ยังได้มีการประเมินความต้องการใช้น้ำในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) พบว่ามีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี เพิ่มขึ้น 50% โดยมาจากด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก จ.ระยอง เพิ่มขึ้น 52 % ในด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก และ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 12% ในด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC มีอัตราเพิ่มขึ้นของผู้ใช้น้ำ จาก 4 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน โดยเฉพาะในเขต จ.ชลบุรี

ดังนั้น สทนช. จึงได้วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขต EEC โดยมุ่งเน้นการกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ปัญหาการขาดแคลนน้ำ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วนในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีการขาดแคลนน้ำบางส่วน โดยขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ในพื้นที่ชลบุรีและระยอง ในส่วนผู้ใช้น้ำนอกเครือข่ายน้ำ โดยปริมาณน้ำที่ขาดแคลนมีเพียงแค่ 1.23 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถใช้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ 2.ระยะกลาง ปี 2570 จะมีการวางแผนโดยหน่วยงานต่างๆ

อาทิ กรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม และการทำระบบสูบน้ำกลับเข้าไปในแหล่งน้ำเดิม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสำรวจขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช. ได้ทำการศึกษาและจัดทำเป็นแผนงานเพื่อเสนอเพิ่มเติม เช่น การนำน้ำจากลุ่มน้ำบางปะกง หรือการสูบกลับที่อ่างฯ ประแสร์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำในโครงการชลประทานเดิม รวมทั้งมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืช ใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งการดำเนินการได้ทำการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละโครงการ

โดยจะทำให้มีปริมาณน้ำในช่วงปี 2563-2570 เพิ่มขึ้น 705 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับได้ทำการพัฒนาแผนงานออกเป็นทางเลือก เช่น โครงการการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ที่จะทำให้การใช้น้ำมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น 3) ระยะยาวปี 2580 จะมีการจัดทำระบบเครือข่ายน้ำเพิ่มเติม และมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชใหม่ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ใน จ.ฉะเชิงเทรา และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าร้อยละ 15-20 ของปริมาณน้ำเสีย ซึ่งภายในช่วงปี 2570-2580 จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างปี 2563-2580 จะส่งผลทำให้ ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 217 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 547 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 107 ล้าน ลบ.ม.  ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใน จ.จันทบุรีด้วย ได้แก่ อุปโภคบริโภค 45 ล้าน ลบ.ม. และเกษตรกรรม 270 ล้าน ลบ.ม. นอกจากปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำแล้ว พื้นที่ EEC ยังประสบกับปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำบางปะกงเป็นหลัก สทนช. จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งครอบคลุมบริเวณตั้งแต่แม่น้ำบางปะกงไปจนถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ช่วยระบายน้ำมาเพื่อทำให้การรุกตัวของน้ำเค็มเจือจางลง และปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

ในขณะนี้ทาง สทนช. ได้ศึกษาร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงและขยายระบบบำบัดน้ำเสียเดิมและก่อสร้างระบบน้ำเสียใหม่ พร้อมรณรงค์ให้มีการบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ สทนช. จะเร่งนำเสนอแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อพิจารณา และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในขั้นตอนต่อไป

“สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำในเขต EEC สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านน้ำ ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีเอกภาพ รวมทั้งได้มีการจัดประชุมติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีความมุ่งหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ EEC ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ในทุกพื้นที่ พร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและการเติบโตในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศในอนาคตได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

กรมวิชาการเกษตร ตอบแล้ว! เคลียร์สต๊อก 3 สาร ยันยังไร้ชื่อบริษัทรับทำลาย

รายงานข่าวระบุว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ชี้แจงกรณี การตรวจสอบสต๊อก 3 สาร บนเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร ว่ายอดล่าสุดกรมฯมีการตรวจเช็คจำนวนกว่า 3 หมื่นตัน คาดปริมาณส่งมอบลดลงก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ การทำลายสารเคมีต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม และได้ร่อนหนังสือถึง 2 หน่วยงานขอหลักเกณฑ์วิธีการทำลายประกอบการพิจารณา ย้ำยังไม่เคยเสนอชื่อบริษัทรับทำลาย

โดยนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ให้ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายจำนวน 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 1ธันวาคม 2562 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย และครอบครอง กรมวิชาการเกษตรได้ทำการสำรวจปริมาณวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดจากร้านค้า ผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ทั่วประเทศพบว่าปัจจุบัน (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562) มีจำนวนคงเหลือประมาณ 38,855 ตัน ซึ่งคาดว่าภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 จะมีวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดที่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายส่งมอบให้กรมวิชาการเกษตรนำไปทำลายตามหลักวิชาการที่ถูกต้องในจำนวนที่ลดลงกว่านี้ เนื่องจากในช่วงระหว่างนี้ร้านค้ายังสามารถจำหน่ายสารทั้ง 3 ชนิดให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการอบรมตามมาตรการจำกัดการใช้ได้จนกว่าจะถึงวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ในที่ประชุมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการกล่าวถึงประเด็นการใช้งบประมาณในการทำลายสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงประสบการณ์จากการทำลายวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย โดยในปี 2561 ได้ว่าจ้างให้บริษัทอัคคีปราการเผาทำลายวัตถุอันตรายในราคา 1 แสนบาท/ตัน ซึ่งการทำลายวัตถุอันตรายจะต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการทำลายสารเคมี เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการทำลายเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยปัจจุบันยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับกลับมาจากทั้ง 2 หน่วยงาน ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้มีการเสนอรายชื่อบริษัทใดที่จะกำจัดสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามีบริษัททำลายเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ วันที่ 21 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมเพื่อหารือถึงมาตรการรับคืนสารเคมีจากประชาชน เกษตรกร และการส่งออก 3 สาร ที่กระทรวงเกษตรฯ โดยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกหนังสือเชิญ 3 สมาคมผู้ส่งออก นำเข้า เพื่อหารือแนวทางต่อไป

จาก https://www.prachachat.net    วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

เกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง

“เฉลิมชัย” หนุนเกษตรกร 882 อำเภอทั่วประเทศ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ห่วงภาคเกษตรใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินจำเป็น ทั้งขาดความรู้ เลือกใช้ไม่ตรงกับดินและชนิดพืช ซ้ำต้นทุนสูง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ให้นโยบายหน่วยงานในสังกัดเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองทุกพื้นที่จากวัสดุเหลือใช้ที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรใช้มากเกินความจำเป็น ปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้นและได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรเคยชินกับการใช้ปุ๋ยเคมีมาก ทำให้ประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รวมทั้งยังพบมีการเลือกใช้ปุ๋ยไม่เหมาะสมกับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการของพืช ยังขาดการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน

“รมว.เกษตรฯ ห่วงใยปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง กรมจึงรับนโยบายมาดำเนินการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทราบและตระหนักถึงประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์หันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ของตนเอง ลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารให้แก่ดิน ทำให้ดินมีโครงสร้างโปร่งขึ้นเหมาะกับการชอนไชของรากพืช ทำให้ต้นพืชแข็งแรง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ในทางกลับกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน” นายเข้มแข็ง กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2563 มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตและประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรหันมาผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 882 อำเภอทั่วประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างน้อย 1,543,500 ตัน ในพื้นที่ 882 อำเภอทั่วประเทศทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดจากการปลูกแล้วไถกลบปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนแอฟริกัน ถั่วมะแฮะ และวัสดุอินทรีย์จากการไถกลบตอซัง โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ผ่านทางระบบออนไลน์ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง.

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

เศรษฐกิจไทยดิ่งสุดในรอบ 5 ปี โตแค่ 2.6% – ส่งออกอ่วมหนักทั้งปีติดลบ 2%

เศรษฐกิจดิ่งสุดในรอบ 5 ปี โต 2.6% สศช.เผยไตรมาส 3/2562 ขยายตัวช้ากว่าที่คาดโตแค่ 2.4% ส่งออกอ่วมหนักทั้งปีโต -2% ต้องเร่งเครื่อง 2 เดือนสุดท้ายให้เข้าเป้า แนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นต่อทันที

เศรษฐกิจไทยดิ่งสุดในรอบ 5 ปี – นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ขยายตัว 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2/2562 ที่ขยายตัว 2.3% แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร รวม 9 เดือนแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% โดย สศช. ปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปี 2562 ใหม่เหลือ 2.6% จากเดิม 2.8% ในช่วง 2.7%-3.2% ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้เป็นไปตามได้ตามเป้าหมาย ในไตรมาส 4/2562 จะต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2.8%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2562 ที่ขยายตัว 2.6% จะเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ที่ขยายตัว 1% โดยในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม เพื่อให้การขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งยังไม่สามารถไว้วางใจในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันได้ จึงจำเป็นต้องใช้ทุกกลไกที่มีอยู่มาเกื้อกูลให้ผ่านจุดนี้ไปให้ได้ โดยมาตรการที่ออกมา หากเป็นการให้เงินอีกครั้งก็จะเป็นการกระตุ้นความต้องการ แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องกระตุ้นในด้านอื่นๆ ด้วย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะต้องประเมินอีกครั้ง

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 แม้จะดีขึ้นแต่ก็ช้ากว่าที่คาดไว้พอสมควร มาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันการค้า และปัจจัยชั่วคราว เช่น รถยนต์มีการปรับเปลี่ยนรุ่น โรงกลั่นน้ำมันบางแห่งปิดซ่อม มีการปรับมาตรฐานน้ำมันใหม่ จึงทำให้เศรษฐกิจชะลอกว่าที่คาด แต่ไตรมาส 4 ปัจจัยชั่วคราวเหล่านี้จะหมดไป ทำให้คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้”

นายทศพร กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ดีขึ้นจากปี 2562 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการคาดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3.4% รวมถึงผลจากการปรับตัวจากมาตรการกีดกันทางการค้า และแนวโน้มค่าเงินบาทที่ไม่แข็งค่าเท่าปี 2562 โดยคาดว่าการส่งออกในปี 2563 จะขยายตัวได้ 2.3% จากปี 2562 ที่ชะลอตัวเพิ่มขึ้นที่ -2% จากคาดการณ์เดิมที่ -1.2%

ทั้งนี้ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และ ปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การขับเคลื่อนการส่งออกไม่ให้ต่ำกว่า 3% 2. ขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมได้ต่อเนื่อง 3. รักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ให้ไม่ต่ำกว่า 92.3% งบประจำไม่ต่ำกว่า 98% งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 70% งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 73% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 80% 4.สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวการลงทุนเอกชน และ 5. ดูแลเกษตรกร แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก

จาก https://www.khaosod.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

แล้งจัดเตือนทั่วปท.รับมือ 20จว.วิกฤติ ส่อขาดแคลนน้ำทำเกษตร

เตือนแล้งสาหัส! สทนช.เตรียมแผนรับมือ 20 จว.น่าห่วง ส่อขาดน้ำทำการเกษตร ชี้ภาคกลาง 8 จว.ต้องหยุดทำนาปรังเด็ดขาด เผย 2 เขื่อนหลักภูมิพล-สิริกิติ์แห้ง งดส่งน้ำช่วย น่าห่วงปริมาณฝนตกทั่วประเทศแค่ 20-30% ด้าน“ลุ่มน้ำโขง”อ่วม เจอพิษ“เอลนีโญ่”ทำฝนไม่ตก

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผน 495 ล้าน ลบ.ม. ลุ่มน้ำภาคตะวันตกจัดสรรน้ำเกินแผน 579 ล้าน ลบ.ม.และลุ่มน้ำภาคใต้จัดสรรน้ำเกินแผน 549 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปีจากข้อมูลดาวเทียมวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่ ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า ขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่ ส่วนพื้นที่เขตชลประทานมี 8 จังหวัดที่น้ำไม่พอทำการเกษตร ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์และจ.ชัยภูมิ จึงขอแจ้งให้ชาวนาทราบว่า ในพื้นที่ภาคกลางให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องรับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะไม่มีน้ำส่งมาให้ ถ้าปลูกไปจะเกิดความเสียหาย ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกนาปรังได้บางพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ทำนารอบสองได้ บางพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร นครพนม นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ส่วน ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน มี 109 ตำบล 54 อำเภอ 20 จังหวัดที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทำเกษตร

เลชาฯสทนช.กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ติดตามสภาพอากาศ และคาดการณ์ปริมาณฝนในเดือนพฤศจิกายนพบว่า ปริมาณฝนรวมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 30% ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 20% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ

ส่วนเดือนธันวาคมปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% และเดือนมกราคม 2563 ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีทั้งสิ้น 53,316 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,768 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% โดยพบว่ามีถึง 10 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อน ภูมิพล เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อย 74 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่ง อีสาน 37 แห่ง

นายสมเกียรติยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงช่วงฤดูแล้งว่า สถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อภูมิภาคทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ประชุมพิจารณาทั้งมาตรการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ โดยสทนช.เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการในประเทศระยะเร่งด่วนป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชนและการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองน้ำอุปโภค-บริโภค 2.ให้กระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัดริมแม่น้ำโขง สร้างการรับรู้ความเข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงรับทราบ และ3..ให้กระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการขนส่งและการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

ดันเจรจาFTAไทย-ตุรกีจบกลางปี63

"จุรินทร์" ดันการเจรจา FTA ไทย - ตุรกี ให้แล้วเสร็จกลางปี 63 ขยายการค้าเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 65

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายต้องการให้ การเจรจา FTA ไทย-ตุรกี แล้วเสร็จภายในกลางปี 2563 ซึ่งการทำ FTA นั้นแม้ว่าทั้งไทยและตุรกีจะมีศักยภาพในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีความใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณี อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร แต่ FTA จะส่งผลให้การค้าทั้งไทยและตุรกีมีความเกื้อกูลกัน มากกว่าเป็นคู่แข่งกัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยตุรกีจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยให้ความสำคัญกับสินค้ายางพาราซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งสอดรับกับที่ตุรกีเป็นประเทศนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางรายสำคัญของโลกจึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันยกระดับตัวเลขการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

หอการค้าฯ’ เตรียมยื่นข้อเสนอแนะแบน 3 สาร ต่อนายกฯ 18 พ.ย.นี้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ตนจะไปยื่นข้อเสนอแนะเรื่องการการดูแลของภาครัฐ หลังจากที่มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยกการใช้ (แบน) สารเคมีอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่จะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะเสนอแนะประมาณ 3-4 เรื่อง อาทิ แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่มีการซื้อสารฯไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาใช้ รัฐจะมีการช่วยเหลืออย่างไร

นายกลินท์ กล่าวต่อว่า และกฎเกณฑ์ในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หากยึดตามกฎของประเทศไทยที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยต้องไม่มีสารตกค้างเลย จึงอยากให้ยึดตามมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าที่มีสารตกค้าง (โคเด็กซ์) ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลที่มีการใช้เกือบทุกประเทศ เนื่องจาก มาตรฐานโคเด็กซ์สามารถนำเข้าสินค้าที่มีสารปนเปื้อนได้เล็กน้อย เผื่อเอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้าสินค้าของบางประเทศที่ยังมีการใช้สารเคมีอันตราย ทั้ง 3 ชนิดอยู่

“ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ผมจะเข้าไปยื่นข้อเสนอแนะ และหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องของรายละเอียดแต่ละข้อที่มีการนำเสนอไป เนื่องจากบางเงื่อนไขของการแบนสารเคมี 3 ชนิด ทำให้เกิดอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบที่บางอุตสาหกรรมยังต้องใช้ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น เชื่อว่าหากรัฐบาลรับฟังข้อเสนอแนะของภาคเอกชน จะสามารถลดปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมาได้แน่นอน” นายกลินท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด และมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้ปรับวัตถุอันตายพาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดขอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังได้เตรียมพร้อมในการป้องกันการลักลอบนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิด อีกด้วย เนื่องจากการนำมาใช้หรือมีไว้ในครอบครองจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น จะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรต่อไป

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

จดทะเบียนชาวไร่อ้อยก่อน 29 พ.ย. รับการช่วยเหลือจากรัฐ

สอน.เปิดรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยปี 62 ครั้งที่ 2 ถึง 29 พฤศจิกายนนี้  ระบุจดได้เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่ง

นางสาวสุชาดา  แทนทรัพย์  โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดให้บริการรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ประจำปี2562 ครั้งที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 (เว้นวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ได้ที่เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1 - 8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ  โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้  สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากการจดทะเบียน ประกอบด้วย 1.ได้รับสิทธิ์ในการส่งอ้อยเข้าโรงงานอย่างถูกต้องและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด  ,2.ได้รับเงินค่าอ้อยเพิ่มขึ้นกรณีที่การประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายมากกว่าราคาอ้อยขั้นต้น  และ3.ได้รับการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็ก รวมถึงโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพไร่อ้อย

“นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรี ใน ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าดูแลปัญหาชาวไร่อ้อยอย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตาม  เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขอจดทะเบียน จะต้องปลูกอ้อยในท้องที่ฯ ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนด และมีสัญญาส่งอ้อยให้แก่โรงงานน้ำตาลหรือส่งผ่านหัวหน้ากลุ่ม ชาวไร่อ้อย โดยการขอจดทะเบียนเป็นหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย จะต้องมีสัญญาส่งอ้อยให้แก่โรงงาน  โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่จดทะเบียนเป็นชาวไร่อ้อย หรือจดทะเบียนเป็นหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 จะได้รับความช่วยเหลือต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด  รวมทั้งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน จากกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นข้อดี ของการจดทะเบียนดังกล่าว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 พฤศจิกายน 2562

ลงทุนอีอีซีเฉียดแสนล้าน ตั้ง-ขยายโรงงาน10เดือน ปิโตรเลียมมาแรง

กรอ.เผย 10 เดือน ยื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานนอกนิคมฯในอีอีซี พุ่ง 469 โครงการ เงินลงทุนเฉียด 1 แสนล้านบาท มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ขณะที่ปิดกิจการมี 156 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามร่วมทุนของภาครัฐและเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงการก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีความคืบหน้าไม่แพ้กัน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ พบว่า ในช่วงปี 2560-2561 ได้มีการ อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีไปแล้ว 674 โครงการ เงินลงทุน 6.53 แสนล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 นี้ อนุมัติให้การส่งเสริม 283 โครงการ เงินลงทุน 1.52 แสนล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2560-2561 มีการยื่นขอตั้งประกอบการโรงงานใหม่ 804 โครงการ เงินลงทุน 1.35 แสนล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นขอประกอบการโรงงานใหม่ 356 โครงการ เงินลงทุน 5.30 หมื่นล้านบาท และมีการยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 217 โครงการ เงินลงทุน 4.66 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 113 โครงการ เงินลงทุน 4.38 หมื่นล้านบาท

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากที่กรอ.เก็บข้อมูลการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่มาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่อยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 พบว่ามียื่นขอประกอบกิจการโรงงานใหม่ 356 โครงการ เงินลงทุน 5.30 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับทั้งปี 2561 มีจำนวน 405 โครงการ เงินลงทุน 3.80 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 113 โครงการ เงินลงทุน 4.38 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับทั้งปี 2561 มี 115 โครงการ เงินลงทุน 2.20 หมื่นล้านบาท รวมยื่นขอประกอบกิจการและขยายโรงงาน 469 โครงการ เงินลงทุน 9.69 หมื่นล้านบาท

สำหรับพื้นที่การลงทุนทั้ง ประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดชลบุรี มีจำนวน 244 โครงการ เงินลงทุน 5.04 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง มีจำนวน 125 โครงการ เงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 100 โครงการ เงินลงทุน 1.59 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมเข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มี 92 โครงการ เงินลงทุน 5.52 พันล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 64 โครง การ เงินลงทุน 3.95 พันล้านบาทแต่เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 3.72 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 7 โครงการ และตามมาด้วยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เงินลงทุน 1.45 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีโรงงานที่เลิกกิจการและจำหน่ายทะเบียนออกไปตั้ง แต่เดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีจำนวน 156 โรงงาน เงินลงทุน 2.79 หมื่นล้านบาท มีคนงาน 5,107 คน เมื่อเทียบทั้งปี 2561 มีจำนวน 301 โรงงาน เงินลงทุน 8.46 พันล้านบาท มีคนงาน 3,649 คน ส่วนโรงงานที่ปิดกิจการไปในช่วงปีนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 21 โรงงาน เงินลงทุน 437 ล้านบาท คนงาน 575 คน แต่มีโรงงานขนาดใหญ่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐานที่ปิดกิจการไปมีจำนวน 3 โรงงาน เงินลงทุน 1.39 หมื่นล้านบาท มีคนงาน 599 คน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 17 พฤศจิกายน 2562

‘อลงกรณ์’ เร่งคณะทำงานหาสารชีวภัณฑ์ ให้เกษตรกรใช้ทดแทน สารเคมี 3 ชนิด

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “อลงกรณ์ พลบุตร” ระบุว่า เรื่องสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชแทน 3 สารอันตราย

กรมวิชาการเกษตรรายงานต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ว่ายังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ แม้แต่รายเดียว มีเพียงสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชซึ่งขึ้นทะเบียนแล้ว 73 รายการ แสดงว่า แม้มีการแบน 3 สารเคมี แต่ก็จะใช้สารเคมีตัวอื่นที่แพงกว่าแทน 3 สาร ซึ่งอธิบายต่อสังคมยากมากว่าทำไมแบน 3 สารเคมี แต่ก็ใช้สารเคมีชนิดอื่นแทน

กระทรวงเกษตรฯ และทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งหาสารชีวภัณฑ์มาทดแทนให้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีสารทางเลือกที่ราคาไม่แพงและใช้น้อยรอบเพื่อลดต้นทุนการปลูกพืชของเกษตรกรทั่วประเทศโดยเฉพาะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุจภาพของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภคเป็นสำคัญตามเหตุผลของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

เรื่องสารชีวภัณฑ์เป็นประเด็นอ่อนไหวมากมีบวกลบตลอด ผมไปดูมาที่สุพรรณบุรียังโดนวิจารณ์ซึ่งก็ชี้แจงไปแล้วจึงเข้าใจว่าอ่อนไหวมากแค่ไหนรวมทั้งมีการโยงไปถึงบริษัทผู้ผลิตกับตระกูลนักการเมืองใหญ่ในภาคอีสานเป็นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งถ้าพูดอย่างแฟร์ คือ ถ้ามีอิทธิพลการเมืองเกี่ยวข้องจริงคงได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว เพราะทดสอบใช้มานานถึง 7 ปี และแม้ว่าวันนี้ จะขึ้นทะเบียนก็ต้องใช้เวลาทดสอบด้านพิษวิทยาและหลักเกณฑ์อื่นๆ ของกรมวิชาการเกษตรเป็นเวลานาน 1-3 ปี และคณะทำงานฯ ให้เปิดกว้างเต็มที่ในการขอขึ้นทะเบียนห้ามล็อคสเปคเป็นอันขาด

สำคัญที่สุดคือการจัดการเรื่องนี้ต้องโปร่งใสไร้ผลประโยชน์ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์

ใครก็ตามคิดแสวงหาประโยชน์จากความเดือนร้อนของเกษตรกรไม่ได้โดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามผมถามนักวิจัยอิสระและลุงสุรินทร์ว่าสารชีวภัณฑ์ที่บรรจุในขวดใช้จุลินทรีย์อะไร เขาบอกว่าจุลินทรีย์อนุพันธ์ ผมจึงบอกชาวไร่กับสื่อมวลชนที่ไปด้วยเมื่อมีการเอาขวดบรรจุสารชีวภัณฑ์มาให้ดูที่สุพรรณบุรี ว่า สารชีวภัณฑ์นี้ขึ้นทะเบียนไม่ได้เพราะใช้จุลินทรีย์อนุพันธ์และห้ามโฆษณาถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ถ้าเป็นชีวภัณฑ์ที่ติดป้ายว่ากำจัดศัตรูพืชและผ่านการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรก็ไม่มีปัญหาในการขายหรือโฆษณ ส่วนการทดลองใช้มา 7 ปี ของลุงสุรินทร์ชาวไร่อ้อยก็เป็นเรื่องดีแต่ต้องเข้าใจว่าถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรต่อไป

หลังกลับจากสุพรรณบุรีก็มีสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยนำปราชญ์ชาวบ้านมาพบผมและเอาสารชีวภัณฑ์จุลินทรีย์เชิงเดี่ยวเรียกว่าจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาให้ดูพร้อมรายงานการทดสอบซึ่งเป็นจุลินทรีย์เชิงเดี่ยวประเภทเดียวกับที่กรมพัฒนาที่ดินรายงานว่ากำลังวิจัยแต่ต้องใช้เวลา3ปีจึงจะสรุปผลได้

นอกจากเรื่องสารทางเลือกทดแทน 3 สารอันตราย ทางคณะทำงานกำหนดแนวทางเบื้องต้นในการช่วยเหลือเกษตรกรหลายมาตรการเช่น การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต การใข้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทันสมัยมาจัดการแปลงเพาะปลูก การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น และจะสรุปเป็นมาตรการในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 22 พ.ย.

ก็ต้องช่วยกันทุกฝ่ายนะครับเพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อ 22 ตุลาคม แบน 3 สารตั้งแต่1ธันวาคมนี้โดยทันที

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2562

"น้ำตาลบุรีรัมย์"ลดเสี่ยงราคาน้ำตาลโลกตกต่ำ

เดินหน้าผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยเชิงพาณิชย์เต็มสูบ ต่อยอดสร้างความเข็งแกร่งธุรกิจ งวด 9 เดือน มีรายได้ 3,982.28 ล้านบาท ขาดทุน 79.73 ล้านบาท

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ ( BRR) เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าโรงงานบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้จากชานอ้อย หรือ Sugarcane Ecoware Co., Ltd. หรือ SEW ในเชิงพาณิชย์เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้ภายในเดือนธันวาคม 2562 หรืออย่างช้าภายในเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย นำมาใช้สร้างความแข็งแกร่งให้แก่การดำเนินงาน ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถบริหารความเสี่ยงจากการพึ่งพาผลผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว

โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะตกต่ำ แม้ว่าจะมีสำนักงานวิจัยหลายแห่งมองตรงกันว่าสถานการณ์น้ำตาลทรายของโลกในรอบการผลิตปี 2562/63 จะมีผลผลิตต่ำกว่าความต้องการบริโภคอยู่ประมาณ 5-7 ล้านตัน แต่สต๊อกน้ำตาลทรายก็ยังอยู่ในระดับ 80 ล้านตัน ทำให้ต้องใช้เวลาดูดซับ จึงยังเป็นแรงกดดันต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกในช่วงนี้ซึ่งปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 12.8 - 13 เซนต์/ปอนด์ และเชื่อว่าจะทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4 ของปี 2563

ลุยลอยตัวราคาน้ำตาลเสรี

หมดยุคราคาน้ำาตาลขาขึ้น ปี'62ทรงตัวกก.ละ20-21บาทตามตลาดโลก

SSP รับรู้รายได้ขายไฟโซลาร์เวียดนาม-มองโกเลีย เต็มไตรมาส

 ด้วยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 3,982.28 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 79.73 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการปรับตัวลดลงของผลประกอบการมาจาก การลงทุนเพิ่มในการผลิตน้ำตาลรีไฟน์ ระบบประหยัดพลังงาน (Falling Film) และบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงิน เพื่อปรับตัวของธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้นและเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก โดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกด้านผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย และการตอบรับกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้ภาชนะกระดาษย่อยสลายได้แทนพลาสติก

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน ประเมินการดำเนินงานของ BRR ว่า บริษัทฯ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่อขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการอยู่ระหว่างการก้าวเข้าสู่ผู้ผลิตน้ำตาลครบวงจร จากการขยายการผลิตไปสู่น้ำตาลทรายขาว และโรงผลิตบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย โดยคาดว่าหากการผลของการลงทุนนี้จะช่วยสร้างกำไรส่วนเพิ่มได้ในช่วงปี 2563 นี้

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า?

นักเศรษฐกิจ ธนาคาร รวมถึงนักธุรกิจ ต่างมองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างมาก แต่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาในปี 2020 สถานการณ์เช่นนี้จะเป็นจริงหรือไม่ หรือนี่จะเพียงการมองโลกในแง่ดีเท่านั้น

ปัจจุบันทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลง แต่หากเชื่อรัฐบาลและเสียงส่วนใหญ่ก็จะยังมองว่าเป็นการชะลอตัวลงชั่วคราว และเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกในต้นปีหรือกลางปีหน้า ทั้งนี้แบงค์ออฟอเมริกาพันธมิตรของภัทรฯ ก็มองว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวที่ระดับต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่ประมาณ 0.7% และเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องมาขยายตัวที่ประมาณ 1.5% ในไตรมาส 3 ของปี 2020 ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐพอดี เพราะประเมินว่ารัฐบาลสหรัฐจะยุติการทำสงครามทางการค้ากับจีนเป็นการชั่วคราวในปี 2020 และหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหากไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก ก็จะเป็นการแยกตัวที่มีความราบรื่นในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นอีซีบีก็คงจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นและรัฐบาลเยอรมันอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ทั้งนี้มีการฝากความหวังเอาไว้อย่างมากกับผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปคนใหม่คือนาง Christian La Garde ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยกอบกู้เศรษฐกิจยุโรปเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ

ในด้านของเอเชียนั้น ก็เชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มมาตรการด้านการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถรับมือกับการปรับขึ้นภาษีการค้าจาก 8% เป็น 10% เริ่มต้นจากวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนั้นญี่ปุ่นก็สามารถเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลสหรัฐได้สำเร็จ ทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องเสี่ยงจากการถูกประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ขึ้นภาษีศุลกากรเช่นที่ยุโรปและจีนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ในทำนองเดียวกันนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อรัฐบาลจีนจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 6% ต่อปี (หรือใกล้เคียง) และจีนกับสหรัฐก็น่าจะสามารถหาลู่ทางในการทำข้อตกลงระยะสั้นและยุติสงครามทางการค้าไปก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 2020

โดยสรุปแล้วปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐบวกเศรษฐกิจจีนรวมกันคิดเป็นสัดส่วนประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ นั้น ผูกพันกับเศรษฐกิจทั้ง 2 อย่างมาก เมื่อประเมินทั้งในทางตรงและทางอ้อม เช่น เศรษฐกิจยุโรป โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมันนั้นพึ่งพากำลังซื้อของจีนอย่างมาก และหากมองในมิตินี้ก็จะเห็นว่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่น จีนและยุโรปนั้น ก็รวมกันประมาณ 40% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้นการท่องเที่ยวของจีนก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณ ¼ ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยประมาณ 20% ของจีดีพี เป็นต้น

คำถามที่ตามมาคือหากมีการ "สงบศึก" เป็นการชั่วคราว (ประมาณ 1-2 ปี) แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวได้จริงหรือ? ผมคิดว่าการสงบศึกแบบพร้อมจะรบกันอีกนั้น จะปิดกั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเกินกว่าที่ประเมินกันอยู่ในขณะนี้ เพราะการทำสงครามครั้งนี้ดูจะมีความต้องการที่แน่วแน่จากสหรัฐว่าจีนจะต้องถูกกีดกันออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลก (global supply chain) จึงได้มีข่าวออกมาว่าสหรัฐกำลังทบทวนนโยบายดูว่าสมควรจะควบคุมการลงทุนของบริษัทและกองทุนของสหรัฐในประเทศจีนหรือไม่ และอาจรวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการให้บริษัทของจีนเข้ามาขายหุ้นและระดมทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐอีกด้วย

ในบรรยากาศเช่นนี้การลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะชะงักงันและจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีในการปรับโครงสร้างและกระบวนการผลิต ตลอดจนการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ กล่าวคือโลกอาจต้องมีห่วงโซ่อุปทานแยกเป็น 2 ส่วนก็ได้ ส่วนหนึ่งของจีน+เอเชีย และอีกส่วนหนึ่งของทวีปอเมริกา ซึ่งระหว่างการปรับตัวไปสู่โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้ โลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่สถานะถดถอยในปี 2020 ครับ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ธปท.ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจลงไปอย่างมากแล้วในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยลดการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 2.8% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพ แต่ปรากฏว่ามีมติเอกฉันท์ที่จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ที่ 1.5% ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเดือน ส.ค.นั้น ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการ "กระตุ้น" เศรษฐกิจไปแล้ว

ทว่าหากมองอีกแง่หนึ่งการลดดอกเบี้ยลงไป 0.25% หลังจากที่เพิ่มดอกเบี้ยไป 0.25% ในเดือน ธ.ค.2018 จะไม่ใช่การผ่อนคลายนโยบายการเงินมากนัก นอกจากนั้นนโยบายการเงินจะใช้เวลาส่งผ่านประมาณ 12 เดือน แปลว่าการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปีที่แล้วจะส่งผลในปีนี้ แต่การลดดอกเบี้ยปีนี้จะส่งผลในปีหน้า อย่างไรก็ดี กนง. ก็ยืนยันว่านโยบายการเงินปัจจุบันเหมาะสมแล้ว และดูเสมือนว่าจะไม่ต้องการลดดอกเบี้ยลงอีกในเร็ววันนี้ แม้จะกล่าวในแถลงการณ์ว่าตัวเลขเกือบทุกตัวสะท้อนว่า "ฟื้นตัวช้ากว่าคาด" หรือ "ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้" (ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่ากนง.จะต้องลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปลายปีนี้)

สำหรับปี 2020 นั้น ธปท.ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 3.3% (จาก 2.8% ในปีนี้) แต่ก็ต่ำกว่าที่เคยประเมินว่า จีดีพี ปีหน้าจะขยายตัว 3.7% การขยายตัวที่สูงขึ้นในปี 2020 นั้น จากตัวเลขประมาณการของ ธปท. ผมสรุปว่ามาจากอุปสงค์ในต่างประเทศเป็นหลักเพราะ

การบริโภคเอกชนขยายตัวลดลงจาก 3.8% ในปีนี้ เป็นขยายตัว 3.1% (ขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีโดยรวม) ในปี 2020 แม้ว่าการบริโภคของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นบ้างจากขยายตัว 2.3% ในปี 2019 มาเป็น 3.4% ในปี 2020

ธปท.หวังมากจากการลงทุนของภาครัฐว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในปีนี้เป็น 6.3% ในปีหน้า แต่การลงทุนของภาครัฐนั้นต่ำกว่าเป้ามาหลายปีแล้ว การลงทุนของเอกชนนั้นฟื้นตัวไม่มาก กล่าวคือขยายตัวจาก 3.0% เป็น 4.8% และอาจต่ำกว่าเป้าได้อีกเช่นกันหากการลงทุนของรัฐต่ำกว่าเป้า

ธปท.ประเมินว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2020 จะเป็น 30,400 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเดิมที่ 26,300 ล้านเหรียญ การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นอีก 4,100 ล้านเหรียญนั้นถือว่าค่อนข้างสูง ทั้งนี้ในปี 2018 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเท่ากับ 32,400 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2019 สำหรับปีนี้นั้น ธปท.ประเมินว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 34,200 ล้านเหรียญ (เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เดิมประเมินไว้ที่ 26,300 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ช่วยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วต่อไปอีกเพราะประเทศไทยจะยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นจำนวนมาก กล่าวโดยสรุปคือเรื่องเงินบาทแข็งค่าก็น่าจะเป็นปัญหาอีกได้ในปี 2020

ผลสำรวจคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของซีอีโอของไทย (58 ราย) จากรายงานข่าวเมื่อ 30 ก.ย.นั้น ก็มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.เพียง 19.3% คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว อีก 40.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะทรงตัวและ 42.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว (31.6%) หรือถดถอย (8.8%) แปลว่าเศรษฐกิจจะทรงหรือทรุด?

2.แต่ซีอีโอมองธุรกิจของตัวเองว่า 71.4% ยอดขายเพิ่มขึ้น 0-10% อีก 12.5% ยอดขายเพิ่มขึ้น 11-15% และที่เหลือยอดขายเพิ่มขึ้น 15-20% แปลว่าธุรกิจยังดีอยู่มากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในข้อ 1 ข้างต้น ทั้งนี้ 45.6% ประเมินว่ายอดขายจะทรงตัวและ 31.6% ประเมินว่ายอดขายจะดีขึ้น มีเพียง 15.8% บอกว่ายอดขายชะลอตัวและ 7% บอกว่ายอดขายถดถอย

3.มากถึง 75% บอกว่าจะลงทุนเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจและอีก 13.6% จะขยายกำลังการผลิตรับดีมานด์ในประเทศ ซึ่งถือได้ว่าการลงทุนจะยังดำเนินการต่อเนื่อง ไม่ได้ตกใจกลัวว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวดังที่กล่าวในข้อ 1 หรืออาจจะส่งผลให้คู่แข่งอื่นๆ (ที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจ) จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างมากในอนาคต เพราะเสียงส่วนใหญ่คือ 43.1% บอกว่ากำลังซื้อในประเทศชะลอตัว

4.ประเด็นที่น่าสนใจคือการตอบคำถามว่าบริษัทจะรับมือกับเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างไร ซึ่ง 40% บอกว่าจะเจาะตลาดใหม่ทั้งในและนอกประเทศ และอีก 23.6% บอกว่าจะแตกไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง (แปลว่าจะพยายามไปกินส่วนแบ่งในตลาดอื่น) มีเพียง 12.7% เท่านั้นที่บอกว่าจะ “wait & see” ทั้งนี้ข้อเสนอแนะหลักให้กับรัฐบาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ (60.3%) และการดูแลค่าเงินบาท (24.1%)

กล่าวคือธุรกิจก็จะยังพยายามขยายตัวต่อไปและหวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างอุปสงค์มารองรับ แต่หากอุปสงค์โดยรวมไม่เพิ่มขึ้นมากก็คงจะนำไปสู่การแข่งขันกันอย่างรุนแรงที่จะรักษาส่วนแบ่งของตลาดของแต่ละบริษัทเอาไว้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็เป็นไปได้ว่าจะมีการตัดราคากันหรือความสามารถในการปรับราคาสินค้าขึ้นจะแทบไม่มี ดังนั้นก็อาจหันมาพยายามลดต้นทุนการผลิต ทำให้เงินเฟ้อลดลงไปอีก ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อไปเพราะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นทุนอยู่แล้วและอัตราเงินเฟ้อของไทยก็ถือได้ว่าต่ำเกือบจะที่สุดในโลกอยู่แล้ว

แม้ ธปท.และของซีอีโอของไทย (58 ราย) จะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ดูเสมือนว่าเสียงส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งเป็นการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับการประเมินของไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงมากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์เอาไว้

แต่ก็ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจะไม่ถดถอยและจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป ในกรณีของไทยนั้น ธปท.และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ (รวมทั้ง บล.ภัมรฯ) ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ในปีนี้ แต่จะขยายตัวประมาณ 3.2-3.3% ในปี 2563

มาถึงตรงนี้ประเด็นที่น่านำมาประเมินคือการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ซึ่งในเรื่องนี้ได้เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟประเมินความแม่นยำของการคาดการณ์เศรษฐกิจเอาไว้ และผมต้องขอบอกข่าวร้ายว่าข้อสรุปคือ ทั้งไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์นั้นคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจคลาดเคลื่อน (ผิด) อย่างมาก ซึ่งปรากฏอยู่ใน "IMF Working Paper เรื่อง How Well Do Economists Forecast Recessions" (มี.ค.2561)

ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้คือการคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีของไอเอ็มเอฟ (ปีละ 2 ครั้งในเดือน เม.ย.และ ต.ค.) และการคาดการณ์จีดีพีของนักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ (ส่วนใหญ่คือธนาคารและ บล.) ที่รวบรวมโดย Consensus Economist ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นรายเดือน ทั้งนี้โดยเก็บข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจของ 63 ประเทศ (ประเทศพัฒนาแล้ว 29 ประเทศ ประเทศกำลังพัฒนา 34 ประเทศ) ในช่วง 22 ปีระหว่างปี 2535 ถึง 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 10-12% ของช่วงเวลาดังกล่าว หมายความว่าในเวลา 22 ปีนั้น เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 2.2-2.6 ปี

งานวิจัยสรุปว่าไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์ "miss the magnitude of the recession by a wide margin until the forecast horizon has drawn to a close" กล่าวคือ

1.ในช่วงเวลา 22 ปีที่กล่าวถึงข้างต้นสำหรับ 63 ประเทศนั้น มีกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งสิ้น 153 ครั้ง (เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว 86 ครั้ง ประเทศกำลังพัฒนา 67 ครั้ง) ดังนั้นจึงมีโอกาสให้คาดการณ์ (และ "แก้มือ") ได้กว่า 150 ครั้ง ดังนั้นหากประเมินผิดซ้ำซาก ก็แปลว่ามีนัยสำคัญทั้งในเชิงของความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายและในเชิงของสถิติที่มีความหมายในเชิงวิชาการ

2.ที่น่าเป็นห่วงคือทั้งไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะปรับการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ (การขยายตัวของจีดีพี) ลงอย่างเชื่องช้า ทำให้การคาดการณ์ความตกต่ำของเศรษฐกิจล่าช้าอย่างมากกล่าวคือโดยรวมแล้ว 1 ปีก่อนการตกต่ำทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้น ทั้งไอเอ็มเอฟและนักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ว่าจีดีพีในปีเศรษฐกิจตกต่ำ (จีดีพีติดลบจริง 2.8%) จะทำนายว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นบวก 3% (ผิดไป 5.8%) และแม้เวลาจะผ่านไปจนถึงเดือน ต.ค.ในปีก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอย (เหลือเวลาให้เตรียมการรับมือกับเศรษฐกิจเพียง 3 เดือน) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอ็มเอฟก็ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว (ไม่ใช่หดตัว) ประมาณ 2.0-2.5%

ต่อมาในเดือน เม.ย.ของปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยไปแล้ว (จีดีพีติดลบ 2.8%) นักเศรษฐศาสตร์และไอเอ็มเอฟก็คาดการณ์ว่าจีดีพีติดลบเพียง 0.5% ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจจะถดถอยไปแล้ว 9 เดือนในเดือน ต.ค.ของปีที่เศรษฐกิจถดถอย นักเศรษฐศาสตร์และไอเอ็มเอฟจึงปรับการคาดการณ์จีดีพีลงไปที่ติดลบ 2.5% (ตัวเลขจริงคือติดลบ 2.8%)

3.ส่วนใหญ่นักเศรษฐศาสตร์จะคาดการณ์ถูกต้องเพราะจะคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว เกือบทุกปีและในความเป็นจริงนั้นเศรษฐกิจก็จะขยายตัวทุกปีเช่นกัน กล่าวคือจะคาดการณ์ถูกต้อง (ว่าเศรษฐกิจขยายตัวอย่างปกติ) มากถึง 1,145 ครั้ง และเคยมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะถดถอย 8 ครั้งที่ผิดพลาด (เป็นกระต่ายตื่นตูม) เพราะเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจริงในปีต่อไป

ตรงกันข้ามในกรณีที่เศรษฐกิจถดถอยจริง (ในปีถัดไป) 153 ครั้ง แต่มีการคาดการณ์ผิดพลาด (คือนึกว่าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นปกติ) ถึง 148 ครั้ง มีเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่คาดการณ์ถูกต้องในเดือน เม.ย.ของปีก่อนหน้าว่า สภาวะถดถอยจะเกิดขึ้นในปีต่อไป ข้อสรุปคือการคาดการณ์เศรษฐกิจนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการคาดการณ์ที่ดีเกินจริงและมักจะไม่สามารถเตือนภัยจากการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้

4.อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลในช่วงหลังจากการเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกครั้งใหญ่เมื่อปี 2552 ก็พบว่านักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ภาวะถดถอยได้แม่นยำมากขึ้น กล่าวคือหลังจากปี 2552 เกิดภาวะถดถอยในประเทศต่างๆ ของโลก 83 ครั้ง แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผิด 78 ครั้ง กล่าวคือคาดการณ์ถูกต้อง 5 ครั้งในเดือน เม.ย.ของปีก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย

บทวิเคราะห์ยังมีข้อสังเกตอีกด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์จะเริ่มปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจลง (เริ่มเห็นความผิดปกติและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ) ประมาณกลางปีของปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอย แปลว่าการปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นอาจมีความสำคัญในการบ่งบอกความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคตมากกว่าการจะรอให้นักเศรษฐศาสตร์ออกมา "ฟันธง" ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้มาถึงตัวแล้ว

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562

เงินบาทเปิดแข็งค่า

เงินบาท เปิดเช้าวันนี้แข็งค่ามาที่ระดับ 30.18 บาท จากช่วงปิดสิ้นวันก่อนที่ระดับ 30.21 บาทต่อดอลลาร์

     นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาท ระหว่างวันมีความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย โดยซื้อขายอยู่ที่ 30.21 - 30.24 บาทต่อดอลลาร์ แต่ก็ทยอยปรับตัวลงในช่วงคืนที่ผ่านมาตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ จุดที่ต้องระมัดระวังต่อไป คือทิศทางของทองคำซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ผลตอบแทนตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวลดลง มีความเป็นไปได้ที่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะหนุนให้สกุลเงินปลอดภัยอื่นๆ และสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องปรับตัวขึ้นตามด้วย

กรอบเงินบาทวันนี้ 30.15 - 30.25 บาทต่อดอลลาร์

     สำหรับช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินอยู่กับข่าวเดิมๆ จึงไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก ดัชนีหุ้น S&P500 ฝั่งสหรัฐปรับตัวบวก 0.1% Euro Stoxx 50 ปรับตัวลง 0.3% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐและเยอรมันอายุ 10 ปี ก็ปรับตัวลง 5-6bps หนุนให้ราคาทองฟื้นตัวขึ้น 1.1%

     ความข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนดูจะไม่มีบทสรุปง่ายๆ  ล่าสุดแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป ออกมาแสดงความเห็นว่าความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ อาจยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ขณะเดียวกันสภาสูงของสหรัฐ ก็กำลังร่างกฏหมายเพื่อสนับสนุน ประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้การตกลงการค้าในระยะสั้นเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

นอกจากนี้ตัวเลขเศรษฐกิจก็ถือว่าไม่ดีขึ้นอย่างมีนัย แม้การเติบโตของจีดีพีเยอรมันไตรมาสล่าสุดจะขยายตัวได้ 0.1% ส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันสามารถผ่านพ้นภาวะเศรษฐกิจทดถอยทางเทคนิคไปได้ แต่ข้ามมาฝั่งสหรัฐ รายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ช่วงสัปดาห์ก่อนก็กลับเพิ่มขึ้น 2.25 คน ย้ำว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กลยุทธ์เอฟทีเอ ดึงการค้า-การลงทุน

 การส่งเสริมการค้า การลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ แรงงาน กำลังการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีกลยุทธ์เสริม

เทคโนโลยีขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมให้คุณท้าทายไปได้ทุกสภาพถนน

ให้คุณควบคุมการขับขี่ได้ดั่งใจเเม้ถนนเเบบออฟโรด หรือออนโรด ไปได้ทุกจุดหมายไม่มีข้อจำกัด รับโปร Motor Expo ดอกเบี้ย 0% ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง นาน 2 ปี

ความผันผวนจากปัจจัยต่างๆในปัจจุบันทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก เพื่อคงอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป การส่งเสริมการค้า การลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ แรงงาน กำลังการผลิตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีกลยุทธ์เสริม  ซึ่งการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้วทั้งที่ได้ข้อสรุปและมีผลบังคับใช้และกำลังเจรจาอยู่หลายฉบับครอบคลุมเกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังมีแผนจะฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสภาพยุโรป (อียู) ซึ่งหยุดชะงักไปเมื่อปี2557 เนื่องจากการรัฐประหาร กระทั่งไทยมีการเลือกตั้งทั้งสองฝ่ายจึงเตรียมเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง

เนื่องจากการเจรจาหยุดไปมากกว่า 5 ปี ทำให้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนเปลี่ยนแปลงไป กรมฯจึงทำการศึกษาการเจรจาข้อตกลงนี้ใหม่ โดยมอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์ ผลกระทบ พร้อมจัดเวทีระดมความเห็นจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้แผนการเจรจาสมบูรณ์แบบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน พ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาตัดสินใจเดินหน้าการฟื้นฟูการเจรจาหรือไม่

หากจะประเมินความจำเป็นเอฟทีเออีอยู่ในเบื้องต้นจะพบว่า หากไม่เจรจาไทยอาจเสียแต้มต่อกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม เพราะเวียดนามได้ลงนามเอฟทีเอกับอียู เสร็จสิ้นแล้วรอเพียงการให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งในส่วนเวียดนาม อียูจะลดภาษีสินค้านำเข้าให้99% ของสินค้าทั้งหมด และอียูขอเวลา 7 ปีสำหรับสินค้าอ่อนไหวบางรายการ และเวียดนามมีเวลาปรับตัว 10 ปีสำหรับสินค้าไม่พร้อมแข่งขัน และลดภาษสินค้าประมาณ 75%ของรายการสินค้าทั้งหมด

อรมน กล่าวอีกว่าภาพรวมแผนเจรจาเอฟทีเอของไทย ประกอบด้วยทั้งการอัพเกรดข้อตกลงที่มีอยู่เดิม เช่น การเสริมประเด็นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการค้าการลงทุนโลก

“ไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งและศักยภาพในการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ในอาเซียน การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะช่วยดึงดูดส่งเสริมการลงทุนและให้ความสำคัญนอกจากอุตสาหกรรมแบบเก่าๆ ก็ให้ความสำคัญอุตสาหกรรมใหม่ทำให้หลายประเทศสนใจและให้ความสำคัญกับไทย เราจึงใช้ความพยายามที่นำเอฟทีเอมาช่วยสร้างแต้มต่อศักยภาพในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น ”

ทั้งนี้ หลังการพิจารณาข้อตกลงเอฟทีเอ หลายรายการทั้งที่ไทยมีอยู่ และที่ประเทศอื่นๆมีพบว่าการลดกำแพงภาษีทำให้สินค้าที่ผลิตในไทยหรือจากประเทศที่มีเอฟทีเอด้วย มีความน่าสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้น เช่น มาเลเซียมีเอฟทีเอกับตุรกีปัจจุบันทำให้สินค้าฮาลาลของมาเลเซียเข้าไปตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่ส่งออกสินค้าหลายรายการไปยุโรปได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ทำให้สินค้าที่ผลิตที่นั่นจะเข้าถึงตลาดได้ง่ายส่งผลให้การลงทุนต่างจะมองเวียดนามว่าไม่ใช่ตลาดที่มีประชาการร้อยกว่าล้านคนเท่านั้นแต่นักลงทุนจะมองข้ามไปถึงเอฟทีเอที่เวียดนามมีอยู่ เช่น อียู หรือแม้แต่ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ปด้วย

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้จัดอันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นี้ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) วิกฤติทางการเงิน 2) การโจมตีทางไซเบอร์ 3) ภาวะการว่างงาน 4) วิกฤติราคาพลังงาน 5) ความล้มเหลวของรัฐบาล 6) ความวุ่นวายทางสังคม 7) การโจรกรรมข้อมูล 8) ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 9) การขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 10) เศรษฐกิจฟองสบู่

“จากการศึกษายังพบว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เศรษฐกิจฟองสบู่ 2) ความล้มเหลวของรัฐบาล 3) การโจมตีทางไซเบอร์ 4) ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ และ 5) ความไม่มั่นคงทางสังคม"

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งหาทางแนวทางและมาตรการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงต่างๆอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

กีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี  หรือเอฟทีเอในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.)มูลค่า  45,175 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 78.94% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่า 57,230 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าลดลงที่ 3.30% เป็นไปตามทิศทางการส่งออกของไทยที่ลดลง 2.20%

“การใช้สิทธิประโยชนที่ลดลงเนื่องจากการส่งออกไปยังบางตลาดยังคงลดลงสะสมจากเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยด้านสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อจากการเจรจาที่ยังไม่สำเร็จ ภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าชะลอตัว และค่าเงินบาทที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น”

สำหรับในช่วง 8 เดือนของปี 2562 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  อาเซียน  มูลค่า 16,579 ล้านดอลลาร์ ,จีน  มูลค่า 12,574 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย มูลค่า 5,391 ล้านดอลลาร์ , ญี่ปุ่น  มูลค่า 5,102 ล้านดอลลาร์ และ อินเดีย มูลค่า 3,019 ล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดคือ เปรู มีอัตราการขยายตัว 22.42% รองลงมาคือ นิวซีแลนด์ มีอัตราการขยายตัว 7.88% และจีน มีอัตราการขยายตัว 5.78%

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  ไทย-ชิลี 97.69% , อาเซียน-จีน 97.40%,   ไทย-เปรู 92.37%, ไทย-ญี่ปุ่น 89.98%และ อาเซียน-เกาหลี 84.11%

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ตลาดขนาดใหญ่มีประชากรเพียง 70 ล้านคน ซึ่งไม่ดึงดูดการลงทุนเท่าที่ควร แต่ไทยมีความน่าสนใจด้านที่ตั้ง ความสามารถแรงาน แผนส่งเสริมการลงทุน แต่อีกเครื่องมือที่จะช่วยขยายตลาดของไทยจาก 70 ล้านคนเป็นร้อยล้านหรือพันล้านคน คือ  ข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เพราะตลาดขนาดใหญ่คือหัวใจของการดึงดูดการลงทุนนั่นเอง

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แนวทางช่วยผลกระทบแบนสารเคมีใกล้คลอด

กษ.สรุป 22 พ.ย.นี้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มีผลกระทบจากยกเลิกใช้ 3 สารพิษ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด 

โดยบอกว่าได้ตั้งคณะทำงานชุดย่อย เดินหน้าหาสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชเพื่อเป็นทางเลือกทดแทนช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนภาพรวมมาตรการช่วยเหลือหลังยกเลิก 3 สาร จะมีข้อสรุปในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ก่อนที่จะมีการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

นายอนันต์ กล่าวว่าคณะทำงานได้รวบรวมและประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนเพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในระยะเร่งด่วน ที่อาจจะต้องชดเชยเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสารที่จะใช้ทดแทน ระยะถัดมาเป็นการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเพื่อกำจัดวัชพืช

ขณะที่ระยะยาวซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเริ่มเดินหน้าตั้งแต่ตอนนี้ คือเรื่องของสารชีวภัณฑ์ ที่นำมาใช้ทดแทนสารเคมี เพราะปัจจุบันสารชีวภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร 73 รายการ มีเพียงสารกำจัดโรคพืช และศรัตรูพืช อย่างแมลง ไม่มีสารกำจัดวัชพืช  

ทั้งนี้ยอมรับว่าการรับรองหรือขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ยังมีความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพืชประธาน หรือพืชหลักที่ปลูกในอนาคต และให้ได้สารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ แต่ก็จะเร่งดำเนินการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร

 “คณะทำงานมีมติตั้งคณะทำงานชุดเล็ก ประกอบด้วย  กรมวิชาการเกษตร สกว. พด. กนท. ดำเนินการในการทดสอบหาสารชีวภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาที่ดิน ก็มีความคืบหน้า ทำวิจัยจุลินทรีย 2-3 ตัวในการกำจัดวัชพืช ก็มาดูกันว่าจะทำยังไงให้ขยับได้เร็วขึ้น “ นายอนันต์ กล่าว

 ส่วนกรณีที่ดีเอสไอตรวจจับการหลอกลวงขายสารกำจัดวัชพืชที่อ้างว่าเป็นสารอินทรีย์ชีวภาพ ทั้งนี้จะเดินหน้า เพื่อปลดล๊อครับรองสารชีวภัณฑ์เกิดปัญหา เพราะเป็นคนละส่วนกัน การหลอกลวงแอบอ้างก็จะถูกจัดการตามกฎหมาย ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้วางมาตรการเพื่อควบคุมดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

จาก https://www.komchadluek.net   วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

จี้รัฐทำแผนรับวิกฤติแล้งช่วยเกษตรกร

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าวว่า ด้วยความเป็นห่วงเกษตรกรจึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศว่าปีนี้สถานการณ์น้ำวิกฤตกว่าปีที่ผ่านมาดูจากตัวเลขน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 20% บางอ่างฯต้องใช้ DeadStorage หรือน้ำก้นอ่างแล้ว เชื่อว่าฤดูแล้งปีนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จึงขอให้กระทรวง ทบวง  กรม  ที่เกี่ยวข้องรีบทำแผนรองรับวิกฤติน้ำโดยด่วน ยังพอมีเวลาเหลืออีก 2-3 เดือน และต้องบอกความจริงกับเกษตรกรที่เตรียมเพาะปลูกอยู่ว่าสถานการณ์น้ำวิกฤติแบบนี้สามารถเพาะปลูกต่อไปได้หรือไม่ ยังแบ่งน้ำลงในพื้นที่เกษตรได้หรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแผนรับมือ อย่าปล่อยให้สถานการณ์น้ำวิกฤติลุกลาม สร้างความเสียหายให้เกษตรกร

“พื้นที่ชลประทานต้องมีปัญหาจัดการน้ำแน่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานขณะนี้แล้งจริงจัง ตามไร่นาเริ่มแห้งขอด เมื่อถึงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม อาจเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ด้วยซ้ำ ถึงเวลานั้นพื้นที่ต่างๆจะเริ่มแห้งขอด ถ้าเพาะปลูกไปแล้วไม่มีน้ำผลผลิตจะเสียหาย เกษตรกรต้องตั้งสติทำแผนตั้งรับ โดยไม่ลงทุน อย่าเสี่ยงลงทุนเพาะปลูกทั้งที่ไม่เห็นอนาคต หากิจกรรมที่ไม่ใช้น้ำหรือใช้น้ำน้อยที่สุด”นายประพัฒน์กล่าว และว่า สภาเกษตรกรฯเรียกร้องรัฐบาลไปนานแล้วว่าควรมีกองทุนเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำมาก ให้เกษตรกรเอาเม็ดเงินต่างๆที่ต้นทุนต่ำมาเริ่มปรับโครงสร้างการผลิต เช่น ปลูกไผ่ ทำปศุสัตว์ ปลูกไม้ยืนต้นอายุยืน ทำสวนผลไม้ ซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 ปีถึงจะได้เม็ดเงินคืนมา หากเกษตรกรรายใดมีขีดความสามารถจะปรับเปลี่ยนการผลิตของตัวเองได้ให้ลงมือทำได้เลย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เงินลงทุนอีอีซี 9 เดือน ลดฮวบ 23%

บีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 9 เดือน พุ่ง 360 โครงการ แต่เม็ดเงินลงทุนทรุดฮวบ 23% อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท จากปัจจัยไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมาแรง

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วงปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยมีโครงสร้างสำคัญ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้มีการลงนามร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนไปแล้ว ขณะที่การลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีนักลงทุนต่างประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่นและจีน ได้เข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เห็นได้จากภาพรวมการยื่นขอลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 มีจำนวน 689 โครงการ เงินลงทุน 203,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69% โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 167 โครงการเงินลงทุน 59,187 ล้านบาท ตามด้วยจีน มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 139 โครงการ เงินลงทุน 45,439 ล้านบาท และสวิตเซอร์แลนด์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 15 โครงการ เงินลงทุน 11,710 ล้านบาท ซึ่งสอดรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่มีโครงการเข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวนมาก

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สั่งทุกหน่วยเร่งรับมือภัยแล้งหนักสุด มี 60 จังหวัดเสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภค-วอนชาวนางดทำนาปรัง

“ประวิตร” สั่งทุกหน่วยเร่งรับมือภัยแล้งหนักสุด มี 60 จังหวัดเสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภค ในเขตชลประทาน มี 8 จังหวัดน้ำไม่พอทำการเกษตร วอนชาวนางดทำนาปรัง

สั่งทุกหน่วยเร่งรับมือภัยแล้ง – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 และเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ตามที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้สำรวจพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า แบ่งเป็น ในเขต กปภ. 22 จังหวัด และนอกเขต กปภ. ซึ่งปริมาณฝนสะสมน้อย ไม่มีแหล่งน้ำสำรอง ปัจจุบันใช้ประปาท้องถิ่น อีก 38 จังหวัด รวมพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภคบริโภค 60 จังหวัด

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน 1,350 ล้านลบ.ม. ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่จัดสรรน้ำเกินแผน 495 ล้านลบ.ม. ลุ่มน้ำภาคตะวันตกจัดสรรน้ำเกินแผน 579 ล้านลบ.ม. และลุ่มน้ำภาคใต้จัดสรรน้ำเกินแผน 549 ล้านลบ.ม. ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปีจากข้อมูลดาวเทียมในวันที่ 7 พ.ย. 2562 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่

ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 80,000 ล้านไร่ ขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่

“ในเขตชลประทาน มี 8 จังหวัดที่น้ำไม่พอทำการเกษตร ได้แก่ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ จึงขอแจ้งให้ชาวนาทราบว่า ในพื้นที่ภาคกลางให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องรับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะไม่มีน้ำส่งมาให้ ถ้าปลูกไปก็จะเกิดความเสียหาย ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกนาปรังได้บางพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จะมีพื้นที่ที่พอทำนารอบสองได้ บางพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร นครพนม นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ส่วนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน มี 109 ตำบล 54 อำเภอ 20 จังหวัดที่เสี่ยงขาดน้ำเกษตร”

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ติดตามสภาพอากาศ และคาดการณ์ปริมาณฝนในเดือนพ.ย.นี้ พบว่า ปริมาณฝนรวมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 30% ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 20% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนเดือนธ.ค. 2562 ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 50% และเดือนม.ค. ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 50% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ

ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีทั้งสิ้น 53,316 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 65% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,768 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 50% โดยพบว่ามีถึง 10 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อย 74 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่ง อีสาน 37 แห่ง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อภูมิภาคทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยมอบหมาย สทนช. เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการภายในประเทศในระยะเร่งด่วนป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชนและการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภค-บริโภค 2. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัด (ริมแม่น้ำโขง) สร้างการรับรู้ความเข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤตน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงได้รับทราบ และ 3. มอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการการขนส่งและการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย

“รองนายกฯ มอบให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามมาตรการแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม. ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งเพื่อป้องกันภัยแล้ง และอุทกภัยทางภาคใต้ โดยต้องมีการเก็บกักน้ำทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างรัดกุมเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องรวมทั้งการช่วยเหลือของรัฐบาล และรายงานผลการดำเนินการต่อ สทนช.ทุกสัปดาห์เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินการ หรือปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์”

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แนะปลูกอ้อย-ถั่ว-ข้าวโพดแทนทำนา

นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกข้าวในชั้นความเหมาะสมต่างๆ (Agri-Map) 5.67 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่เหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกข้าว 2.39 ล้านไร่ เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวนาปีได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,582 บาท/ไร่/ปี ข้าวหอมมะลิได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 2,544 บาท/ไร่/ปี ขณะที่พื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว มี 3.28 ล้านไร่ เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวนาปี ได้ผลตอบแทนสุทธิ (ขาดทุน)เฉลี่ย - 871 บาท/ไร่/ปี ข้าวหอมมะลิได้ผลตอบแทนสุทธิ (ขาดทุน) เฉลี่ย -1,502 บาท/ไร่/ปี

หากพิจารณาถึงพืชทางเลือกที่จะปรับเปลี่ยนในพื้นที่ปลูกข้าวพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) ในจ.ขอนแก่น พบว่า พืชทางเลือกที่เหมาะสมให้ผลตอบแทนดีกว่าและตลาดต้องการต่อเนื่องหลายชนิด เช่น อ้อยโรงงาน  มันสำปะหลังโรงงาน  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ฤดูฝน) ถั่วลิสงรุ่น 2 (ฤดูแล้ง)   ถั่วเหลืองรุ่น 2 (ฤดูแล้ง)

สำหรับสินค้าทางเลือกดังกล่าว เกษตรกรมีตลาดรองรับแน่นอน โดยอ้อยโรงงาน มีโรงงานผลิตน้ำตาลในจังหวัด 2 แห่งเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรคือ โรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น  มันสำปะหลังโรงงาน มีลานมันรับซื้อทั้งมันสดและมันเส้นจากเกษตรกร ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง

และถั่วลิสง มีร้านค้าเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในท้องที่ อีกทั้งมีพ่อค้าไปรับซื้อผลผลิตที่ไร่นาเพื่อนำไปขายหรือนำไปแปรรูปต่ออีกทางนี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพืชผักที่เป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อสร้างรายได้ อาทิ ผักกาดหัว (ฤดูหนาว)ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักกาดหอม และการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยเกษตรกรจะขายผักให้กับสหกรณ์การเกษตร หรือขายส่งให้กับพ่อค้าที่ตลาดค้าส่งผักในจังหวัด สำหรับจิ้งหรีด เกษตรกรขายปลีกและขายส่งให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อผลผลิตที่ฟาร์ม ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจข้อมูลพืชทางเลือกในจังหวัดขอนแก่น สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4โทร 0-4326-1513 หรือ zone4@oae.go.th

จาก https://www.naewna.com วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กลุ่มวังขนาย แนะนำ น้ำตาลเสริมแคลเซียม ทางเลือกของคนรักสุขภาพ

บริษัท ครีเดนซ์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าภายใต้ กลุ่มวังขนาย แนะนำ น้ำตาลเสริมแคลเซียม ผลิตจากอ้อยที่คัดสรรเป็นพิเศษด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด บริสุทธิ์ ถูกหลักอนามัย ปราศจากสารฟอกสีและสิ่งปนเปื้อน  ผสมแคลเซียมที่ได้จากการหมักน้ำตาลกลูโคส  ทำให้มีแคลเซียมมากกว่าน้ำตาลทรายทั่วไป  ไม่ทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยน และช่วยเสริมสร้างความหนาแน่นของกระดูกและฟันให้แข็งแรง รับประทานได้ทุกเพศทุกวัย เป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ขนาดพอเหมาะ บรรจุถุงซิปล็อค 500 กรัม สะดวกในการใช้และการเก็บรักษา ราคาถุงละ 39 บาท มีจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บีโอไอหนุนเกษตรสมัยใหม่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

บีโอไอส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ ยกระดับผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เผยสถิติ 9 เดือน อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 130 โครงการ มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท 

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ขณะนี้บีโอไอ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ตลอดห่วงโซ่ของการผลิต โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีระดับสูง โดยผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 5 – 8 ปี นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในการยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรสู่มาตรฐานสากล ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี จากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นแผนการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรสู่สากล เช่น มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ISO 22000 หรือ FSSC 22000 เป็นต้น

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 132 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28 เป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 30,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งเสริมกิจการในหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตรของบีโอไอ  ครอบคลุมประเภทกิจการต่าง ๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการให้การส่งเสริมการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) ได้แก่ การออกแบบระบบและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องลักษณะ System Integration โดยมีการเก็บข้อมูล แปลผล และวิเคราะห์ข้อมูล ระบบเกษตรอัจฉริยะยังช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนหรือกระบวนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ เพิ่มมาตรฐานการผลิต การควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ช่วยเพิ่มราคาผลผลิตที่ได้ให้สูงกว่าฟาร์มทั่วไป

บีโอไอส่งเสริมกิจการต้นน้ำ เช่น กิจการปรับปรุงพันธุ์พืช หรือสัตว์ กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ กิจการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์เคมีนาโน และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ชีวภัณฑ์ เป็นต้น  กิจการกลางน้ำ  เช่น กิจการแปรรูปขั้นต้น กิจการผลิตเชื้อเพลิงจากวัสดุหรือผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ส่วนกิจการ ปลายน้ำ เช่น กิจการสารสกัดจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ กิจการผลิตหรือถนอมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สุริยะ’ชูธงยกระดับชาวไร่อ้อย ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าจากการลงพื้นที่พบเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดกาญจนบุรี และตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC) ชมการสาธิตกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย และการปลูกอ้อยแบบอัจฉริยะ (Sugarcane Smart Farming) โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และต้องการสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ยังไม่สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้มากนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เพราะในอดีตการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี ทำให้มีพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกปลูกไม่มาก และบางพันธุ์เริ่มเสื่อมสภาพพบปัญหาการสะสมของโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคใบขาวของอ้อย หากเกิดการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยโดยรวมของประเทศและรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลดลง

กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (THAILAND SUGARCANE BREEDING CENTER) หรือที่เรียกกันว่า TSBC ขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 ตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ TSBC เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับโลก มีความเป็นสากล และเป็นศูนย์กลางในการสร้างและรวมเครือข่ายงานวิชาการด้านอ้อยของประเทศไทย และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ

นายสุริยะกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอ้อย แต่เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกและบริหารจัดการไร่อ้อยที่ดี จึงได้มอบหมายให้ สอน. ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาไม่แพงเข้ามาใช้ในไร่อ้อย โดยการอบรมให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องในการปลูกอ้อย เพื่อยกระดับการทำไร่อ้อยแบบ Thailand 4.0 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำอ้อย เพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อยมุ่งสู่ไร่อ้อย 4.0 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ไฟเขียวตั้งรง.น้ำตาลโรงที่ 5 “นิวกว้างสุ้นหลี” สระแก้วพื้นที่ฮาลาลปาลปาร์ก

น้ำตาลขอนแก่นเดินหน้าตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่สระแก้ว หลังต่อสู้ยืดเยื้อยาวนายกับกระทรวงอุตสาหกรรมจนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ตั้งโรงงานได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว แต่ต้องทบทวนโครงการลงทุนใน “ฮาลาลปาร์ก” ใหม่ เฟสแรกทำเฉพาะโรงงานน้ำตาลกับโรงไฟฟ้าชีวมวล เงินลงทุน 30,0.00 ล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม “ปลดล็อก” โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี บริษัทลูกของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้แล้ว หลังจากที่การตั้งโรงงานแห่งนี้ได้ทำการศึกษาโครงการ การยื่นเรื่องขออนุญาตตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยบริษัทเตรียมยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การขอใบอนุญาตรง.3 ด้วยเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะลงเสาเข็มทันทีในราวปี 2564

นายวิฤทธิ์  วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวกับ”ประชาชาติธรุกิจ” ว่าช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาอนุมัติคำขอให้กับบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลที่สระแก้วได้

โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า KSL ได้ยื่นคำขอตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2552 ก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ลงวันที่ 17 ส.ค.2558 ต้องมีเขตโรงงานน้ำตาลที่มีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่อนุญาตไว้แล้วไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร โดยการวัดระยะเป็นเชิงเส้น

คาดการณ์ปริมาณอ้อยอยู่ที่ 110 ล้านตัน

ด้านนายชลัช ชินธรรมมิตร์  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานต่อหลังจากนี้บริษัทจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อยื่นขอใบอนุญาต รง.3 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) คาดว่าจะใช้เวลาทำ EIA  ประมาณ 1 ปี และจะเริ่มลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลได้ภายในปี 2564 ด้วยเงินลงทุนระหว่าง 15,000-30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องปรับแผนการลงทุนเล็กน้อยเพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน เนื่องจากการทำ EIA จะมีความยากมากขึ้น จำเป็นต้องอัพเดตสถานะของโครงการใหม่ โดยโครงการใดที่เหมาะสมก็ขึ้นก่อน ยกตัวอย่าง เฟสแรกการตั้งโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 35,000 ตัน/วัน จำเป็นต้องดำเนินการก่อน ตามมาด้วยดครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 90 เมกะวัตติ (MW) รวมถึงแผนในการดำเนินการโครงการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล

“ส่วนโครงการก่อสร้างโรงงานเอทานอล อุตสาหกรรมไบโอพลาสติกยังต้องใช้เวลา เพราะขณะนี้แม้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)จะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้อุตสาหกรรม bioeconomy แต่ผมคิดว่ามันยังไม่ตรงจุดเพราะความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ก็คือ การมีตลาดความต้องการใช่หรือไม่” นายชลัชกล่าว

ดำเนินงานไว้ 3 เฟส ประกอบด้วยเฟสที่ 1 ลงทุนก่อสร้างโรงงานน้ำตาลกำลังการผลิต 35,000 ตัน/วัน กับโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาด 90 MW ภายใน 3-5 ปี เฟสที่ 2 การลงทุนทำโรงงานเอทานอลขนาดกำลังผลิต 200,000 ลิตร/วัน กับโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ภายใน 5- 7 ปี และเฟสที่ 3 ลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประเภทไบโอพลาสติก-ไบโอเคมี เชื่อมโยงนิคมอาหารฮาลาล อุตสาหกรรมขนมหวานแปรรูปผักและผลไม้ เครื่องดื่มผลิตภัณฑ์จากนม น้ำสมุนไพร ภายใน 10 ปี โดยคาดว่าจะมีพันธมิตรมาร่วมในเขตประกอบการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10 โรง

ที่ผ่านมาบริษัทได้เตรียมความพร้อมให้กับชาวไร่อ้อยด้วยการให้ความรู้เรื่องวิธีการปลุกอ้อยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ย การดูแลดิน โดยเลือกพื้นที่ อ.ตาพระยา  จ.สระแก้ว แต่ผลการศึกษาพบว่าแหล่งน้ำไม่เพียงพอจึงย้ายโครงการมาตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ในพื้นที่ 1,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ครม.เห็นชอบปรับสูตรคำนวนราคาน้ำตาลทราย

ครม.ไฟเขียวปรับสูตรคำนวนราคาน้ำตาลทราย ทำให้ส่วนแบ่งชาวไร่อ้อยกับโรงงานเพิ่มขึ้น 12-13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.5 บาทต่อกิโลกรัม

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กาญจนบุรี เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. .... ซึ่งจะมีผลต่อสูตรคำนวณส่วนแบ่งรายได้จากการขายน้ำตาลทรายระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่จะใช้สูตรคำนวณใหม่ในฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/63 ที่จะเริ่มเปิดหีบในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในสูตรการคำนวณใหม่นี้ จะเปลี่ยนปริมาณน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณจากปริมาณน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรที่จำหน่ายจริงของฤดูการผลิตที่แล้ว เป็น ใช้ปริมาณน้ำตาลทรายขั้นต้นที่มีการแบ่งตามสัดส่วนผลผลิตน้ำตาลทรายของทุกโรงงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายกำหนด

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำตาลทรายจากเดิมที่ใช้ราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมี่ยมน้ำตาลทรายไทย เป็น ใช้ราคาเฉลี่ยของราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศในต้นฤดูการผลิตนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณส่วนแบ่งระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 12-13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.5 บาทต่อกิโลกรัม  ซึ่งการปรับสูตรคำนวณดังกล่าวจะทำให้ได้ราคาอ้อยขั้นต้นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับชาวไร่อ้อย

นางนฤมล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ให้การปรับเปลี่ยนครั้งนี้มีผลต่อราคาน้ำตาลทรายและผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งก็ให้ให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการทานหวาน

นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2561 พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2561  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การค้าระหว่างประเทศ(WTO)

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“สุริยะ”ตั้งเป้า TSBC ฮับพัฒนาพันธุ์อ้อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รมว.อุตสาหกรรมนำทีมพบชาวไร่อ้อยกาญจนบุรี พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และต้องการสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้มากนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากในอดีตการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี  ทำให้มีพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกปลูกไม่มาก และบางพันธุ์เริ่มเสื่อมสภาพพบปัญหาการสะสมของโรคและแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใบขาวของอ้อย หากเกิดการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยโดยรวมของประเทศและรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลดลง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ทั้งนี้  จึงได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (THAILAND SUGARCANE BREEDING CENTER) หรือที่เรียกกันว่า TSBC ขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 ตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ TSBC เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับโลก มีความเป็นสากล และเป็นศูนย์กลางในการสร้างและรวมเครือข่ายงานวิชาการด้านอ้อยของประเทศไทย และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ

นอกจากนี้  ยังมีการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ ลดรอบเวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้รวดเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี ให้เหลือเพียง 6 – 8 ปี โดยนำเอาระบบเทคโนโลยีชีวภาพและชีวโมเลกุล ได้แก่ DNA Finger Print และ DNA Marker เข้ามาใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ การจับคู่ผสม การคัดเลือกพันธุ์อ้อยด้วยระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) และกระจายอ้อยลูกผสมไปปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตการปรับตัวและการให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อยที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งระดับความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของกลุ่มเครือข่ายนักปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ และขยายพันธุ์อ้อย พร้อมทั้งมีระบบรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เป็นปัจจุบัน

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า  TSBC เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อยภายในศูนย์ ได้แก่ อาคารควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมการออกดอกของอ้อย (Photo Period House) สามารถเพิ่มความหลากหลายการจับคู่ผสมพันธุ์อ้อย โรงเรือนผสมพันธุ์อ้อย (Crossing House) ธนาคารเมล็ดพันธุ์อ้อย (Seed Bank) โรงเรือนเพาะชำเมล็ดอ้อย โรงเรือนอนุบาลกล้าอ้อย อาคารปฏิบัติการชีวโมเลกุล และอาคารวิเคราะห์คุณภาพอ้อย (C.C.S.) ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะทำให้ได้อ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่ที่บริสุทธิ์และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยในระดับที่สูง เพื่อนำไปมอบให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเพื่อใช้ปลูกเป็นพันธุ์ในฤดูการผลิตต่อไป

อย่างไรก็ดี  อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอ้อย แต่เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกและบริหารจัดการไร่อ้อยที่ดี จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาไม่แพงเข้ามาใช้ในไร่อ้อย โดยการอบรมให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องในการปลูกอ้อย ตั้งแต่การเตรียมดิน  การคัดเลือกพันธุ์ การปลูกอ้อย การบำรุงรักษา การลด/เลิกการใช้สารเคมีในไร่อ้อย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการทำไร่อ้อยแบบ Thailand 4.0 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถนำทฤษฎีและความรู้ไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำอ้อย เพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อยมุ่งสู่ไร่อ้อย 4.0 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ครม.เห็นชอบปรับวิธีคำนวณราคาน้ำตาลบริโภคในประเทศ

ครม.เห็นชอบปรับวิธีคำนวณราคาน้ำตาลบริโภคในประเทศ  ยันไม่ทำให้ราคาสูงขึ้น 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแนวทางการกำหนดราคาน้ำตาลทรายเพื่อใช้บริโภคในประเทศ สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย  สูตรการคำนวณราคา  ประกอบด้วย ข้อมูลต้นทุนการผลิตอ้อย ต้นทุนการผลิตน้ำตาลทราย  ค่าบริหารจัดการจำหน่าย และผลตอบแทนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงราคาน้ำตาลสูงขึ้นนั้น ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรณรงค์การบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง เพราะมีผลต่อสุขภาพ โดยกำหนดราคาหน้าโรงงาน  17.50 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวยังเป็นราคาน้ำตาลเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จากเดิมเคยกำหนดโควตาและจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับราคาน้ำตาลหน้าโรงงานกิโลกรัมละ  12.13 บาท ทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศ 17 บาทต่อกิโลกรัมเหมือนเดิม  ทำให้แนวทางดังกล่าวไม่มีผลต่อราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น  เมื่อระเบียบมีความชัดเจนแล้วจะนำมาคำนวนเป็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลใหม่ โดยขณะนี้ยังต้องรอให้สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายประกาศราคาอ้อยขั้นต้นอีกครั้ง

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สำนักชลประทานที่6ขอความร่วมมืออปท. งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าสถานีสูบน้ำท้ายเขื่อนอุบลรัตน์-จุฬาภรณ์

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า เขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการไว้เฉพาะการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ไม่เพียงพอสำหรับการทำการเกษตร จึงได้ขอความร่วมมือไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าแก่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าซึ่งอยู่ริมแม่น้ำและลำห้วยท้ายเขื่อนเพื่อไม่ให้เกษตรกรสูบน้ำไปใช้ทำการเกษตร

สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ปริมาตรเก็บกักต่ำสุดอยู่ที่ 581 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้น้ำในอ่างมีอยู่ 571 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่าง ดังนั้นจึงใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 10 ล้านลบ.ม. จากแผนบริหารจัดการที่วางไว้ น้ำจะเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น โดยระบายวันละ 650,000 ลบ.ม. ซึ่งมั่นใจว่า เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้าในเดือนกรกฎาคม 63 แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดคือ ไม่ให้มีการสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรระหว่างทาง ในลำน้ำพองจากท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ไปบรรจบลำน้ำชีและจากลำน้ำชีไปถึงเขื่อนวังยาง จังหวัดมหาสารคามรวมระยะทาง 230 กิโลเมตร

ส่วนเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีน้ำใช้การได้ 13 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุอ่างซึ่งสงวนไว้เพื่อการทำน้ำประปาเท่านั้น จากท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์จะต้องส่งน้ำให้ถึงการประปาที่อำเภอภูเขียว ระยะทาง 60 กิโลเมตรซึ่งต้องประสานอปท. งดสนับสนุนค่าไฟฟ้าแก่สถานีสูบน้ำระหว่างทางเช่นกัน เพื่อไม่ให้มีการสูบน้ำไปใช้ด้านอื่น ทางจังหวัดเตรียมประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลหาแหล่งน้ำใต้ดินเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีน้ำสำรองไว้ที่เขื่อนห้วยกุ่ม 5 ล้านลบ.ม.

นายศักดิ์ศิริกล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า เป็นเขื่อนขนาดใหญ่แห่งเดียวในตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำใช้การมากถึงร้อยละ 74 ของความจุอ่าง รวม 1,467 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จัดสรรให้เกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และบางส่วนของอุบลราชธานีทำนาปรังและการเกษตรอื่นๆ โดยส่งน้ำวันละ 130,000 ลบ.ม. ทั้งนี้เขื่อนลำปาวปรับลดการระบายน้ำลงจากเดิมซึ่งระบายวันละ 2-3 ล้านลบ.ม. เมื่อฤดูนาปีเสร็จสิ้น ความต้องการใช้น้ำทางการเกษตรลดลงจึงเก็บกักน้ำในอ่างไว้ให้มากที่สุด

“หากสามารถควบคุมการใช้น้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้ มั่นใจว่า พื้นที่ 5 จังหวัดตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ  ยโสธร และร้อยเอ็ดจะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งแน่นอน” นายศักดิ์ศิริกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กษ.เร่งส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังร่วมพิธีเปิดโรงอบความชื้นข้าวและทดสอบระบบการคัดคุณภาพข้าว และงานรวมพลคน ศพก. แปลงใหญ่ และ Young Smart Farmer เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพการเกษตรมีรายได้และความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเป้าหมายให้ประชาชน “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่นยืน” ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่แล้ว 6,062 กลุ่ม ใน 10 กลุ่มสินค้า เกษตรกร 405,240 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 5,578,267 ไร่

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มแปลงใหญ่ 3,136 กลุ่ม สมาชิก 233,115 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.56 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ 2,894,616 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.53 ของพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ จ.ศรีสะเกษ ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ศักยภาพของพื้นที่ และตอบสนองความต้องการของเกษตรกร โดยดำเนินงานภายใต้ประเด็นการพัฒนา 5 ด้านคือ 1) ลดต้นทุนการผลิต 2) เพิ่มผลผลิต/ไร่ 3) พัฒนามาตรฐานการผลิต (GAP/ Organic) 4) การบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง และ 5) การบริหารจัดการด้านการตลาด ปัจจุบันจ.ศรีสะเกษ มีแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในพื้นที่ 22 อำเภอ 324 แปลง 12 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวกระเทียม พริก มันสำปะหลัง ดาวเรือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน ยางพารา หม่อนไหมปลาตะเพียน กระบือ และกบ มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 25,677 ราย พื้นที่ 284,028.68 ไร่

นายเฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่เมื่อปี 2559 โดยผลิตและแปรรูปสินค้าข้าวเป็นหลัก ส่งผลิตภัณฑ์ข้าวจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ แนวคิดดำเนินงานของกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนอุ่มแสง เน้นลดต้นทุนการผลิตด้วยการรวมกันจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี จัดหาปัจจัยการผลิต การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานตามความต้องการตลาด นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกร

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘บาท’ เปิดตลาดเช้านี้ ‘ทรงตัว’ ที่ 30.34 บาทต่อดอลลาร์

จากช่วงวันหยุดฝั่งสหรัฐ ทำให้สินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลงไม่มีการซื้อขายมากนัก และเงินบาทไม่เคลื่อนไหวมาก นักลงทุนต่างชาติยังเลือกพักเงินในพันธบัตรระยะสั้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.34 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ในช่วงคืนที่ผ่านมาสินทรัพย์ทั่วโลกต่างปรับตัวลงแม้จะไม่ได้มีการซื้อขายมากนักเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดของฝั่งสหรัฐดัชนีS&P500 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบสี่วัน0.2% ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ10 ปีซื้อขายที่ระดับ1.94% ราคาน้ำมันและราคาทองปรับตัวลง0.6% และ0.1% ตามลำดับ

ประเด็นหลักที่ผู้ค้าในตลาดให้ความสนใจหนีไม่ผลเรื่องสงครามการค้าซึ่งล่าสุดไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรในตลาดบ้าง

ส่วนฝั่งของตลาดเงินในคืนที่ผ่านมาดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงซึ่งเกิดจากแนวโน้มการเลือกตั้งอังกฤษวันที่12 ธันวาคมที่พรรคBrexit ส่งสัญญาณว่าจะไม่ต่อสู้กับพรรคอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นปัจจัยบวกหนุนให้เงินปอนด์กลับขึ้นแตะระดับ1.28 ดอลลาร์ต่อปอนด์

ฝั่งเงินบาทแทบไม่มีการเคลื่อนไหวในช่วงวันที่ผ่านมาแม้จะเห็นว่าบอนด์เจอแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติบ้างแต่ส่วนใหญ่ดูจะเลือกพักเงินที่พันธบัตรระยะสั้นเพื่อรอความชัดเจนของทิศทางตลาดการเงินในสัปดาห์นี้ก่อน

มองกรอบเงินบาทวันนี้30.30 - 30.40 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ชาวไร่อ้อยเฮ “สุริยะ”รับปากผลักดันราคาตันละ 1,000 เตรียมเสนอครม.พิจารณาอีกรอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่พบเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดกาญจนบุรี และตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (TSBC) ชมการสาธิตกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย และการปลูกอ้อยแบบอัจฉริยะ (Sugarcane Smart Farming) โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายสุริยะ กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจลงพื้นที่มาพบและพูดคุยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยจังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และต้องการสร้างความมั่นคงในอาชีพไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้มากนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดี ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากในอดีตการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี ทำให้มีพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกปลูกไม่มาก บางพันธุ์เริ่มเสื่อมสภาพ พบปัญหาการสะสมของโรคและแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใบขาว หากเกิดการระบาด จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยโดยรวมของประเทศ และรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลดลง

“สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย จึงตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (THAILAND SUGARCANE BREEDING CENTER) หรือ TSBC ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 ต.ทุ่งทอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยตั้งเป้าพัฒนาเป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับโลก มีความเป็นสากล และเป็นศูนย์กลางในการสร้าง รวมเครือข่ายงานวิชาการด้านอ้อยของประเทศไทย และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์กับชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการ และผู้สนใจ โดยสร้างและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ ลดรอบเวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้รวดเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี ให้เหลือเพียง 6 – 8 ปี

 โดยนำระบบเทคโนโลยีชีวภาพและชีวโมเลกุล ได้แก่ DNA Finger Print และ DNA Marker เข้ามาใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ การจับคู่ผสม การคัดเลือกพันธุ์อ้อยด้วยระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) และกระจายอ้อยลูกผสมไปปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตการปรับตัวและการให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อยที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งระดับความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย นอกจากนี้ยังพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชั่น (Application) เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของกลุ่มเครือข่ายนักปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ และขยายพันธุ์อ้อย พร้อมทั้งมีระบบรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เป็นปัจจุบัน” นายสุริยะ กล่าวและว่า

ภายในศูนย์ TSBC มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อย มีอาคารควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมการออกดอกของอ้อย สามารถเพิ่มความหลากหลาย การจับคู่ผสมพันธุ์อ้อย, โรงเรือนผสมพันธุ์อ้อย, ธนาคารเมล็ดพันธุ์อ้อย , โรงเรือนเพาะชำเมล็ดอ้อย, โรงเรือนอนุบาลกล้าอ้อย, อาคารปฏิบัติการชีวโมเลกุล และอาคารวิเคราะห์คุณภาพอ้อย การดำเนินงานทั้งหมด จะทำให้ได้อ้อยพันธุ์ดี สายพันธุ์ใหม่ที่บริสุทธิ์และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ละภูมิภาค มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยในระดับที่สูง เพื่อนำไปมอบให้ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศใช้ปลูกเป็นพันธุ์ในฤดูการผลิตต่อไป

” อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่อ้อย คือ การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตอ้อย แต่ปัจจุบันพบเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกและบริหารจัดการไร่อ้อยที่ดี จึงมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาไม่แพง เข้ามาใช้ในไร่อ้อย โดยอบรมเกษตรกรได้รับความรู้ความเข้าใจ วิธีการปลูกอ้อยที่ถูกต้อง ตั้งแต่การเตรียมดิน คัดเลือกพันธุ์ ปลูกอ้อย บำรุงรักษา การลด/เลิกการใช้สารเคมีในไร่อ้อย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อันช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการทำไร่อ้อยแบบ Thailand 4.0 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ชาวไร่อ้อยสามารถนำทฤษฎีและความรู้ไปปฏิบัติได้จริง เห็นผลเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำอ้อย เพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อยมุ่งสู่ไร่อ้อย 4.0 จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียน และตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยและนายโควต้าอ้อย กว่า 800 คน เขียนป้ายเพื่อทวงถามกรณีก่อนมีการเลือกตั้งได้รับปากว่าจะดูแลราคาอ้อยให้ได้ตันละ 1,000 บาท ถึงปัจจุบันเกษตรกรชาวไร่อ้อย  ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะได้ราคาตามที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้เรียกร้องหรือไม่ เมื่อรัฐมนตรีลงมาประชุม ครม.สัญจรในครั้งนี้ จึงมาทวงถามความชัดเจน แต่รัฐมนตรีแจ้งชาวไร่อ้อยไม่ชัดเจน ขณะที่นายสุริยะ ตอบว่าตนกำลังดูแลอยู่ เพราะทราบปัญหาดังกล่าวมาตลอด ซึ่งตนเป็นรัฐมนตรีมาถึง 4 สมัยแล้ว ครั้งนี้จะพยายามทำเรื่องนี้ตามที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องการ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกครั้ง

ปรากฏว่า หลังนายสุริยะ พูดจนจบ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย และนายโควต้าอ้อย ต่างส่งเสียงเฮลั่น บางรายร้องตะโกนว่า หากรัฐบาลทำได้แบบนี้ ขอให้เป็นรัฐบาลต่อไปนานๆ

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เล็งชง ครม. พัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกเข้า รง.

รมว.อุตสาหกรรมเตรียมนำเสนอที่ประชุม ครม. แนวทางพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงานของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง   หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมลดต้นทุน ลดมลพิษ ลดการสูญเสีย ลดความเดือดร้อนของชุมชน

                นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  ข้อเสนอของภาครัฐ -เอกชน ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยให้มีต้นทุนการตัดสด และการขนส่ง ถูกลง รวมถึงลดมลพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน แก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยตลอดห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยให้มีคุณภาพ และเป็นต้นแบบให้กับ โรงงานน้ำตาล  และอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบในอนาคต โดยเริ่มดำเนินการในปี 2564 – 2567 แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรกตั้งแต่ปี 2564-2566 ดำเนินการพัฒนาต้นแบบระบบการตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยเข้าโรงงาน วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อสนับสนุนการเก็บเกี่ยวอ้อย จัดตั้งศูนย์การบริหารขนส่งและตรวจวัดคุณภาพภาพอ้อยก่อนเข้าโรงงานน้ำตาล

และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2565-2567 ดำเนินการสนับสนุนการจัดทำระบบคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากอ้อยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานน้ำตาลอยู่จำนวนมากและใกล้กับชุมชนด้วย ขณะเดียวกันก็พบว่า ยังคงมีเกษตรกรบางส่วนที่เผาอ้อยเพื่อเร่งรีบเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนที่โรงงานน้ำตาลจะปิดหีบ ซึ่งการดำเนินการโดยเพื่อพัฒนาต้นแบบดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาให้กับชาวเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้ในระยะยาว  โดยเตรียมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) การการประชุมวันที่ 12 พฤศจิกายน 62 นี้

อย่างไรก็ตาม ยังได้ดำเนินการลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 รับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในพื้นที่  เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง  โดยได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) หมู่บ้านหัวเขาจีน อ.ปากท่อ  ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการบริหารจัดการชุมชน การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว การชูเอกลักษณ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ การเข้าถึงช่องทางการตลาดแบบ Offline และ Online การสนับสนุนเทคนิควิธีการที่สามารถน้ำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนมีอยู่ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของชุมชนจากผลิตภัณฑ์เดิมที่เคยผลิต ปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และสามารถผลิตเองได้ในชุมชน

“ที่หมู่บ้านหัวเขาจีน  ตนได้รับทราบปัญหาของทางหมู่บ้านคือ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยังไม่ค่อยแตกต่างจากเดิม ซึ่งตรงนี้ได้กำชับให้หน่วยงานดำเนินงาน เข้าไปดูแลจัดการอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่จะสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์”

อย่างไรก็ดี  ยังได้เดินทางไปยังศูนย์ปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย และพบปะกับเกษตรกรชาวไร่อ้อย พร้อมชมการสาธิตกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยและการสาธิตการเพาะปลูกอ้อยแบบอัจฉริยะ (Sugar Cane Smart Farming) เยี่ยมชมอาคารควบคุมสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีชักนำให้พ่อแม่พันธุ์อ้อยออกดอก (Photo period house) เยี่ยมชมเทคโนโลยีฐานชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตกระดาษคราฟท์และเยื่อจากเศษกระดาษ มีกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ ประมาณ 820,000 ตัน/ปี มีกำลังการผลิตถุงอุตสาหกรรม ประมาณ 96 ล้านใบ/ปี โดยบริษัทเน้นการพัฒนาและออกแบบสินค้าให้ใช้งานง่าย ใช้ทรัพยากรน้อย คงทนแข็งแรง นำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลง่าย

 ทั้งนี้  บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ได้เน้นการใช้นวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตผสมผสานด้วย  ภูมิปัญญาและได้รับมาตรฐาน  ขณะเดียวกันยังสอดรับกับนโยบาย Circular Economy (Business value chain) ด้วยการจัดทำโครงการส่งน้ำบำบัดให้เกษตรกร  ,โครงการ WASTE TO HIGH VALUE PRODUCT  ,โครงการรักษ์กระดาษ หรือเศษกระดาษกลับสู่โรงงาน โครงการผลิตอิฐ PROBLOCK จาก FLY ASH  ,โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยติดตั้งระบบจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต (Waste to Energy) เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า และโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ขนาด 3,523,501 kWh/ต่อปี  

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ส.นักวิชาการอ้อยฯจ่อยื่น “สมคิด” ชะลอมติแบน3สารเคมีออกไป 3-5 ปี อุตฯอ้อย-น้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลเตรียมเจ๊ง1.5แสนลบ.

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการแบน 3 สารเคมี พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 นี้ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 8.4 ร้อยล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท

โดยจะขอให้รัฐชะลอผลของมติออกไปอีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี หลังจากนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้ปรับตัว ทยอยลดสัดส่วนการใช้สาร ควบคู่กับการหาสารทดแทน และให้ความรู้แก่เกษตรกร พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องรับบทบาทหลักในการดูแลเรื่องดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจเสียงกระทบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในระดับเล็กถึงกลางซึ่งมีอยู่ราว 85% ของจำนวนผู้ผลิตทั้งหมดในประเทศ

อาจต้องเลิกปลูกอ้อย ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตไบโอพลาสติกซึ่งใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบด้วย โดยหลังการหารือในวันนี้จะทำหนังสือเป็นข้อเสนอแนะเสนอไปยังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา

เพราะกากชานอ้อย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็จะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตันเช่นกัน สูญรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ทั้งเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไป อัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท

“จากการคาดการณ์ ผลผลิตจะลดลง 20%-50% ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท และยังส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท”

และยังกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออก คิดเป็น 75% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า แต่ ปัจจุบัน เกิดวิกฤตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต

ศาสตราจารย์ ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ หรือสิ่งทดแทนพาราควอต ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ล้วนไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ ทั้งการใช้แรงงานคน การใช้เครื่องจักร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร หรือการเสนอสารทดแทน 16 ชนิด ทั้งหมดไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทนพาราควอตได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันประเด็นด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับพาราควอตว่า โรคเนื้อเน่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนรายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอด และเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจน รายงานจาก สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (US EPA) ยังระบุว่าพาราควอตไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

'อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาล'กระอัก! หลังไทยแบน'พาราควอต' นักวิชาการย้ำยังไม่มีวิธีทดแทน

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ออกมาย้ำอีกครั้งกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือ พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyrifos) ว่าอุตสาหกรรมน้ำตาลที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศไทยตลอดมา จะได้รับผลกระทบแน่นอนหากไม่มีพาราควอตให้ใช้

ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำตาลทราย และผลพลอยได้จากกากน้ำตาล กากชานอ้อย กากตะกอน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายประเภทได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอล ผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล และเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และเคมี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้และแหล่งวัตถุดับสำคัญในกิจการต่างๆ ที่สำคัญของประเทศ

การแบนสารเคมีเกษตร โดยเฉพาะ พาราควอต ได้ประมาณการณ์ผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นในปี  2563 ทั้งในระดับเกษตรกร อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และการส่งออก ผลผลิตจะลดลง 20-50% ถ้าไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้อง จะทำให้อ้อยหายไปถึง 67 ล้านตันต่อปี เกษตรกรสูญเสียรายได้ไปกว่า 5.0 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังส่วนใบและยอด ซึ่งใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะสูญหายไป 11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านบาท รวมเกษตรกรสูญเสียทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท. นายกิตติ ระบุ

นายกิตติ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ปริมาณน้ำตาลทรายดิบจะหายไปประมาณ 6.7 ล้านตันต่อปี คิดเป็นรายได้ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งกากน้ำตาลจะหายไป 3.3 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ 1 หมื่นล้านบาท สร้างความเสียหายต่อการผลิตเอทานอลประมาณ 8.4 ร้อยล้านลิตร คิดเป็นรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน กากชานอ้อย วัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล จะหายไปไม่ต่ำกว่า 20 ล้านตัน สูญรายได้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 67.4 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำทั้งปีจาก 2 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นรายได้ที่หายไป อัตรา 2.7 บาทต่อหน่วย ประมาณ 182 ล้านบาท รวมภาคอุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่องสูญเสียทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท

นายกิตติ ยังกล่าวอีกว่า ผลกระทบต่อการส่งออกไปต่างประเทศ อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยพึ่งพิงรายได้จากการส่งออก คิดเป็นร้อยละ 75 ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือใช้ในประเทศ ปริมาณส่งออกประมาณ 10-11 ล้านตันต่อปี เหตุที่ไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ดี เพราะต้นทุนอ้อยในการผลิตน้ำตาลของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งเรื่องระยะทางและต้นทุนขนส่งต่ำกว่า

.ปัจจุบันเกิดวิกฤติอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยตกต่ำมาก ภาครัฐต้องช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในเรื่องต้นทุนในส่วนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ปุ๋ย เครื่องจักรตัดอ้อย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะไม่ขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดห้ามสนับสนุนเงินช่วยเหลือ แต่วิกฤตเดิมไม่ทันจะแก้ไข รัฐบาลกลับประกาศแบนพาราควอต อันเป็นทางออกที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมได้ จึงอยากให้รัฐพิจารณาใหม่อีกครั้ง และต้องเร่งรีบจัดการปัญหาโดยด่วน ไม่เช่นนั้นกระทบฤดูการปลูกต่อไปของอ้อยทันที. นายกิตติ กล่าวย้ำ

ขณะที่ ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ใช้แนวทางปฏิบัติการอนุญาตใช้สารเคมีเกษตรขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศเหล่านี้ยังใช้ พาราควอต ในพืชต่างๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย ชา กาแฟ มั่นฝรั่ง สัปปะรด พืชผักผลไม้ พืชตระกูลถั่ว พืชตระกูลเบอร์รี่ โดยผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้ ก็นำเข้ามาบริโภคในประเทศไทย

ดังนั้น การยกเลิกใช้ พาราควอต จึงไม่ใช่ทางออกของภาคเกษตรกรรมและผู้บริโภคไทย คำกล่าวอ้างด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งทดแทนพาราควอตนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน ทั้งในด้านการตกค้างในสิ่งแวดล้อมจนเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งมีชีวิตในดินและน้ำ หรือสิ่งทดแทนพาราควอต ตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ล้วนไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ในทุกพื้นที่เกษตรกรรม

.การใช้แรงงานคน การใช้เครื่องจักร ไม่สามารถใช้ในพื้นที่โคนต้น เนิน ดินแฉะ หรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้เครื่องจักร หรือการเสนอสารทดแทน 16 ชนิด พบว่า ทั้งหมดไม่สามารถนำมาเป็นทางเลือกหรือทดแทน พาราควอต ได้ เพราะคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดมีผลต่อพืชเศรษฐกิจต่างกัน บางชนิดไม่สามารถฆ่าวัชพืชบางชนิดได้ บางชนิดหากใช้เป็นพิษต่อพืชปลูก บางชนิดปนเปื้อนน้ำบาดาลได้ บางชนิดใช้สภาพอากาศฝนตกชุกไม่ได้" ศ.ดร.รังสิต กล่าว

ด้าน ศ.(เกียรติคุณ) นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา (ราชบัณฑิตยสถาน) และอดีตหัวหน้าวิชาโรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สังคมน่าจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเนื้อเน่าเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับพาราควอต แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้ง รายงานผลการตรวจพบพาราควอตในเลือดของหญิงใกล้คลอดและเลือดสายสะดือทารก ขาดข้อมูลที่ชัดเจนถึงการได้รับสารเคมีเกษตรกรและความผิดปกติ

สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์จากอดีตถึงปัจจุบันยังไม่พบการเกิดพิษจากพาราควอตในกลุ่มผู้ใช้เลย นอกจากนำไปดื่มกินเพื่อฆ่าตัวตาย รวมถึงรายงานจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) ระบุว่า พาราควอตไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีความเชื่อมโยงกับโรคพาร์กินสัน อีกทั้งข้อมูลที่กล่าวอ้างเรื่องการปนเปื้อนการตกค้างของพาราควอตก็ไม่ชัดเจน ไม่มีนัยสำคัญทางพิษวิทยา อย่างไรก็ตาม การอบรมให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีเกษตรต่อเกษตรกรผู้ใช้งาน เป็นสิ่งที่ดีและภาครัฐควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"จุรินทร์"ลุยพบเกษตรกรกาญจนบุรี ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ช่วยเกษตรกรตามสัญญา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรมการค้าภายใน และ กรมการค้าต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับนายฉัตรพันธุ์ เดชกิจสุนทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อดีต ส.ส.กาญจนบุรี ตามโครงการสัมนาเสริมสร้างความรู้และประชาสัมพันธ์ชี้แจง มาตรการประกันรายได้เกษตรกร โดยนายจุรินทร์ ได้ชี้แจงการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล ทั้งข้าว ปาล์ม ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยจังหวัดกาญจนบุรีมีทั้งผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการในพืช 2 ชนิดเป็นหลัก คือ มันสำปะหลัง และ ข้าว 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า โดยล่าสุดวันนี้ (11พย.2562) เพิ่งอนุมัติในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง คือจะประกันรายได้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน เกษตรกรจะได้เงินทั้งกระเป๋าซ้ายและกระเป๋าขวา คือการขายปกติตามราคาตลาดแล้วได้ส่วนต่างจากราคาที่ประกันรายได้ไว้นั้นเข้ากระเป๋าอีกข้าง โดยจะนำเข้าครม.วันพรุ่งนี้ในการประชุมครม.สัญจรที่จ.กาญจนบุรี

"นี่ไม่ถึง 100 วันเลยครับ เพิ่งมาร่วมรัฐบาลทำงานเต็มที่เดินหน้านโยบายที่ตัดสินใจมาและนายกฯพลเอกประยุทธ์อนุมัติในครม.ก็จ่ายกันเลยครับ เช่นกันกับนโยบายประกันรายได้พืชชนิดอื่นๆ ซึ่งปาล์มน้ำมันจ่ายไปแล้ว ยางพาราจ่ายแล้วและดำเนินการต่อเนื่องอยู่ วันนี้มันสำปะหลัง และจะเป็นข้าวโพดในครั้งต่อไป " นายจุรินทร์ กล่าว พร้อมรับเสียงปรบมือเกรียวกราว จากเกษตรกร

นอกจากนั้น นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงนโยบายสำหรับชาวไร่อ้อยในการอนุญาตให้นำเข้ารถยนต์มือสองเฉพาะรถยนต์เพื่อทำการเกษตร เพื่อบรรเทาภาระในการซื้อรถเกี่ยวอ้อยของพี่น้องชาวไร่อ้อย ที่ต้องซื้อรถเกี่ยวอ้อยมือหนึ่งที่ราคา 10 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 3 ล้านบาทสำหรับรถเกี่ยวอ้อยมือสอง ซึ่งจะช่วยลดภาระเกษตรกรข้าวไร่อ้อยกว่าสามเท่า โดยเรื่องนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.พรุ่งนี้และหากครม.เห็นชอบจะลงนามในประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่ออนุญาตให้นำเข้ารถยนต์เพื่อการเกษตรมือสองได้ทันที

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ดันลงทุน‘อีอีซี’3แสนล. ‘พลังงาน’หนุนแผนแม่บทปิโตรเคมีเฟส 4

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯได้หารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อที่จะให้นโยบายพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยหนึ่งในแผนงานสำคัญคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เฟส 4 ที่คณะกรรมการปฏิรูปได้นำเสนอเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

ในเบื้องต้นรับทราบว่าทาง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)อยู่ระหว่างการว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมศึกษาจัดทำแผนแม่บท(Master Plan) การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟส 4 แล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563

“คณะกรรมการปฏิรูปฯได้หารือกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และนำเสนอแนวทางการปฏิรูปไปแล้วและท่านเองก็เห็นสอดรับกับข้อเสนอของเราเพราะหลายๆเรื่องที่เสนอเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างประเทศให้คงฐานการผลิตเดิมและเพิ่มฐานการผลิตใหม่เพื่อดูแลเศรษฐกิจระดับฐานราก และปิโตรเคมีเฟส 4 ถือเป็นหัวใจของอีอีซี ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนระดับกว่า 3 แสนล้านบาท ขั้นต่ำในอนาคต” นายพรชัยกล่าว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีอยู่แล้ว และมีโรงกลั่นที่มีศักยภาพที่พร้อมจะยกระดับไปสู่ปิโตรเคมีเฟส 4 เนื่องจากต้องยอมรับว่าในอนาคตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียกนำมาผลิตปิโตรเคมีได้จะทยอยหมดลงไปการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ไม่มีคุณสมบัติในการผลิตปิโตรเคมีไทยจำเป็นต้องมองการพัฒนาปิโตรเคมีที่มีพื้นฐานจากแนฟทาที่มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมันมากขึ้นซึ่งหากไทยมีแผนชัดเจนก็จะทำให้เกิดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศและยังเป็นการรักษาฐานปิโตรเคมีของไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้

“การเกิดโรงกลั่นใหม่ๆในภูมิภาคนี้ไม่ง่ายเพราะลงทุนสูงมากแต่ไทยมีโรงกลั่นที่พร้อมอยู่แล้วหากมีแผนพัฒนาที่ชัดเจนเอกชนจะสามารถออกแบบขยายการผลิตและลงทุนได้ทันทีที่จะเป็นการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีซึ่งส่วนตัวมองว่าเอกชนในไทยเองก็พร้อมลงทุนทั้งกลุ่มปตท. กลุ่มเอสโซ่” นายพรชัยกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เงินบาทเปิด"อ่อนค่า"

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ "อ่อนค่า" มาที่ระดับ 30.38 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.36 บาทต่อดอลลาร์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยส่วนของเงินบาทถือว่าปรับตัวอ่อนค่ามาตลอดในช่วงสัปดาห์ก่อน แรงหนุนหลักมาจากทั้งการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ในสัปดาห์นี้ เรามองภาพตลาดการเงินที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนลดการถือครองเงินบาทลง จุดที่ต้องระวังคือการเจรจาการค้าที่อาจพลิกไปมาได้ ถ้าสุดท้ายไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น เงินหยวนรวมไปถึงสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ก็อาจอ่อนค่ากลับ เช่นเดียวกันถ้าบอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวขึ้นต่อ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าขึ้นตาม

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.20 - 30.70 บาทต่อดอลลาร์

และประเมินว่าประเด็นที่ตลาดจะให้ความสำคัญในสัปดาห์นี้คือทิศทางของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกับตัวเลขเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก

สังเกตุได้จากตลาดหุ้นแทบทุกที่ของโลกปรับตัวขึ้นทันทีที่มีข่าวว่าการเจรจาการค้ามีโอกาสเกิดขึ้น และปรับตัวลงทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมดกับจีน

 ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ก็จะมีการรายงานจีดีพีญี่ปุ่นไตรมาสที่สาม คาดว่าจะขยายตัว 0.8% จากไตรมาสก่อนจากการบริโภคภาคเอกชนที่กักตุนสินค้าก่อนหน้าการขึ้นภาษีซื้อในญี่ปุ่น

ฝั่งสหรัฐ ในวันพุธจะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (Core CPI) คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งมาจากผลของการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน

ขณะที่วันพุธถึงพฤหัสประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล มีกำหนดขึ้นให้แถลงการกับสภาทั้งเรื่องเศรษฐกิจและงบประมาณของสหรัฐ ซึ่งน่าจะถูกกดดันให้ใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

ข้ามมาฝั่งจีน ในวันพฤหัสจะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน คาดว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 5.5% จากปีก่อน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์คงทนจะขยายตัวระดับ 5.4% และตัวเลขค้าปลีกน่าจะขยายตัว 7.8% ถือว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

สร้าง GovTech สู่เกษตร 4.0 เชื่อม"บิ๊กดาต้า"สู่การค้าโลก

       นับเป็นก้าวย่างสำคัญของภาคการเกษตรไทย เมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งเดินหน้าภาคเกษตรไทยก้าวไปสู่ผู้นำเกษตรโลก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมวางระบบบิ๊กดาต้าในการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งภาคการผลิต การแปรรูปและการตลาดเข้าด้วยกันเพื่อง่ายต่อการวางนโยบายการเกษตรประเทศไทย

             บางช่วงบางตอนในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สร้าง GovTech สู่เกษตร 4.0” โดย อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ “12 ปีสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย (สกท.)” และ “20 ปีรวมพลคนข่าวเกษตร” ณ อาคารจักรพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อเร็วๆ นี้

           โดยเขากล่าวว่าสิ่งที่จะพูดในวันนี้เป็นเรื่องอนาคตข้างหน้าของภาคการเกษตรไทย มีเป้าหมายสำคัญก็คือการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้คนไทยมีรายได้ต่อหัว 5 พันดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือ 4.5 แสนบาทต่อคนต่อปีนั้น เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจหน้าที่โดยตรงในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไปสู่มิติใหม่ เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ที่เต็มไปด้วยความก้าวหน้าทันสมัยสามารถสร้างรายได้ให้เป็นเศรษฐกิจฐานหลักของประเทศ

          ไม่ว่าจะในรูปของไบโอเทคโนโลยีหรือเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ไม่ว่าในรูปของเศรษฐกิจดิจิทัลหรือการผสมผสานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสามประเภทดังกล่าวเป็นแนวทางของกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงที่ทันสมัยล้ำหน้ามากที่สุดภายใน 6 เดือนจากนี้ไปและจะทำให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของประเทศเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มีชีวิตที่มีความมั่งคั่ง มั่นคงอย่างยั่งยืน

          ภารกิจที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการในขณะนี้คือการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือเป็นสถาบันการศึกษาหลักของภาคการเกษตรกรรมมาโดยตลอด จะเป็นครั้งแรกในประเทศที่เราจะมีศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมในทุกจังหวัดและจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี ศูนย์กลางต้นแบบสตาร์ทอัพทางการเกษตร จะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือการถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่อยู่ในทุกจังหวัด รวมทั้งภาคีเครื่อข่ายต่างๆ นี่เป็นการเริ่มต้นวางรากฐานเชิงโครงสร้างเพื่อนำประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศเกษตร 4.0

จาก https://www.komchadluek.net วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

'อลงกรณ์'ลุยพิสูจน์ไร่อ้อยชาวสุพรรณ หลังใช้จุลินทรีย์ชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชได้ผลจริง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ พร้อมด้วยนายวรยุทธ บุญมี ผอ. กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืนและ เจ้าหน้าที่  กนท.กกส.และกษ.สุพรรณบุรี และตัวแทนนักวิจัยเอกชนที่ร่วมกันศึกษา“จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ “  ร่วมกับ ม. แม่โจ้ ได้ ร่วมกันเข้าตรวจสอบแปลงอ้อยอินทรีย์ของ นายสุรินทร์ ขันทอง บ้านหนองมะค่าโหม่ง ต.หนองมะค่าโหม่ง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีการปลูกอ้อยอินทรีย์ 600 ไร่ โดยใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดวัชพืช เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าสามารถใช้ได้ผลจริงหรือไม่ หลังจากพบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ มีการกำจัดวัชพืชที่ ใช้ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์” และไม่มีการใช้สารเคมี

นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้การให้ตนพร้อม ตนแทนจากกระทรวงเกษตรฯ ลงตรวจสอบข้อมูลหลังจากที่ผ่านมา มีการเสนอข้อมูลจากนักวิจัยเอกชน บางกลุ่มที่ทำงานวิจัยร่วมกับ ม.เกษตรแม่โจ้ แจ้งว่ามีการศึกษาวิจัยเรื่องการ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ “ ที่นำมาใช้ในการทำการเกษตรทั้งระบบและสามารถใช้ได้ผลจริง ตั้งแต่การปรับปรุงบำรังดินที่เคยใช้สารเคมี ให้กับมาเป็นดินที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง

ขณะเดียวกันยังมีการศึกษาเรื่องการใช้ “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ “ ในการกำจัดวัชพืชได้จริง โดยก่อนหน้านี้ นายเฉลิมชัย รมว.เกษตรฯ ได้สั่งให้มีการตั้งคณะทำงานได้ ศึกษาในการหาสิ่งทดแทน ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากที่คณะกรรมกมรวัตถุอันตราย มีมติให้มีการแบน 3 สารเคมีที่เป็นสารเคมี ที่ใช้ในการกำจัดวัชพืช ซึ่งและแมลงซึ่งหากไม่มีสิ่งทดแทนที่ชัดเจน อาจสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรได้ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและหาทางออก กับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งระบบ

โดยหลังจากมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้นำข้อมูลที่มีการศึกษาวิจัยมาให้กระทรวงเกษตร พิจารณาส่งเสริมให้มีการผลิต “จุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ “ และมีการใช้ จริงในพื้นที่ สุพรรณบุรี จึงลงตรวจสอบในพื้นที่ และจาการสอบถามข้อมูลทั้งจากกลุ่มนักวิจัย และผู้ใช้จริงก็พบว่าที่ผ่านมา จุลินทรีย์และชีวิภัณฑ์ที่มีการผลิตมีการใช้ ในกลุ่มคนบางกลุ่ม เพราะมีปัญหาเรื่องการขึ้นที่ทะเบียนของทางกรมวิชาการเพราะกรมวิชากการจะมี การขึ้นทะเบียนให้เฉพาะชีวภัณฑ์เชิงเดี่ยวเท่านั้น จึงติดเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพราะจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ทดลองใช้เป็นเชิงอนุพันธ์ จึงมีปัญหาเพราะตามกฎหมายในการขึ้นทะเบียนและชีวภัณฑ์ ทางเลือกทุกชนิดที่จะสามารถจำหน่ายได้ ต้องการผ่านการรับรองจากกรมวิชาการทั้งหมด เพื่อให้การคุ้มครองเกษตรกร เช่นเดียวกับสารเคมีทั้งหมดเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการ ศึกษา ผลกระทบ ที่มีการประชุมครั้งแรกก็พบว่าหลังมีการแบน สารเคมี 3 ชนิดที่ผ่านมา ยังไม่มีการเตรียมพร้อมเรื่องสิ่งทดแทน ในส่วนสารเคมีที่ถูกแบน จึงได้สั่งการ ให้ทางกรมวิชาการเสนอทางเลือกเข้ามาปรากฏว่าในส่วนของกรมวิชการการเสนอมา ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเหมาะสม เมื่อแบนสารเคมี และต้องการยกเลิกการใช้สารเคมีก็ไม่ควรนำสารเคมีมาทดแทน หลังจากการตรวจสอบก็พบว่ามีจุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกอีกทางไม่มีการเสนอมา จึงได้มีการสอบถามก็พบว่ายังไม่เคยมีการขึ้นทะเบียนรับรอง จึงไม่สามารถเสนอต่อที่ประชุมได้  แต่ในที่ประชุมก็ได้มีการนำเสนอข้อมูลจาก ทางนายวรยุทธ บุญมี ผอ. กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน หรือ กนท.ว่ามีจุลินทรีย์ ชีวภัณฑ์ที่มีการใช้จริง

ตนจึงเข้ามาตรวจสอบ เพื่อสรุปข้อมูลต่อที่ประชุมอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุม ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ โดยจากข้อมูลที่มีการสอบถาม นักวิจัย และเกษตรกรที่ใช้จริง พบว่ามีต้นทุนการผลิต โดย เฉลี่ยพอกับต้นทุนของสารเคมีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่แบนก่อนหน้านี้ แต่มีข้อดีคือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ทั้งหมดซึ่งปลอดภัยสามารถพิสูจน์ ได้

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าว ตนได้มอบหมายให้ทาง นายวรยุทธ บุญมี  ผอ. กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืนสรุปเสนอ ต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาเป็นทางเลือกในการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรกำลังเร่งหาทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยรวมหากสามารถขึ้นทะเบียนและรับรองได้ ก็น่าจะเป็นทางออกเรื่องต้นทุนให้กับเกษตรกรอีกทาง

'ตอนนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลัง หาทางที่จะช่วยเกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมีทั้ง 3 สารวันนี้ ในมีข้อเสนอที่ดีไม่ใช่เฉพาะชีวภัณฑ์ก็เสนอและมาให้ข้อมูลที่กระทรวงเกษตรได้ เพื่อเราจะนำเสนอต่อที่ประชุม เมื่อต้องการจะยกเลิกการใช้สารเคมี ก็ ไม่ควรจะใช้เคมีเข้ามาทดแทน อีก หากยังเสนอ สารเคมมีมาเป็นทางเลือกอีก กระทรวงเกษตรจะตอบสังคมได้อย่างไร  ซึ่งหาก จุลินทรีย์ ได้ได้ผลจริง และมีการตรวจสอบรับรองได้ก็น่าจะเป็นทางเลือกได้อีกทาง ซึ่งนโยบายของ รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการประทรวงเกษตรก็ชัดเจนว่า ต่อการ ส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ เป็นหลัก ซึ่งตองสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งหมด' นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่าในส่วน แนวคิดที่จะมีการจัดตั้งองค์ขึ้นมาบริหารจัดการเรื่องเกษตรอินทรีย์ ให้ชัดเจน ในส่วนตนเห็นว่าดี และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องต้องการส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรกรอินทรีย์ ที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

นายสุรินทร์ ขันทอง เกษตรกร เจ้าของแปลงไร่อ้อย กล่าวว่า เดิมตนใช้ เคมี และมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตค่อนข้างเยอะ ขณะเดียวกันก็ มีวัชพืช จำนวนมาก ก็ พยายามแก้ปัญหามาหลายวิธี จน มาพบชีวภัณฑ์ทางเลือกตามที่มีการแนะนำจึงลองใช้ดูหลังจากใช้มานานกว่า 7 ปี ก็พบว่าการกำจัดวัชพืชสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ และ มีสุขภาพแข็งแรง ระบบนิเวศ กลับมาดีเหมือนเดิม จึงเลือกใช้มาตลอด แต่ขณะนี้ยอมรับว่า ยังไม่ได้มีการใช้แพร่หลาย เนื่องจากยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากภาครัฐมีการขึ้นทะเบียน ให้ คาดว่าน่าจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้มากขึ้นด้วยจึงอยากของให้ภาครัฐพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

ด้านนายนายฐปนรมย์ แจ่มใส  นักวิจัยอิสระ ร่วมกับม.แม่โจ้เปิดเผยว่า จากที่ตนที่ทำหนังสือถึงนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอเข้าให้ข้อมูลจากทางกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการใช้จุลินทรีย์เพื่อกำจัดวัชพืชในการประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรม ตามที่กระทรวงเกษตรฯประกาศนโยบายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และผลักดันยกเลิกการใช้3สารเคมี   ทั้งหมดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร หากต้องการ ยกเลิกการใช้สารเคมีจริง ก็ควรจะใช้จุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ไม่ใช่สารเคมีมาทดแทน  โดยที่ผ่านมาตนได้มีการศึกษาวิจัย ร่วมกับ ม.แม่โจ้และใช้ในแปลงทดลองและท้าพิสูจน์ว่าได้ผลจริงตนจึงพาตัวแทนจากกระทรวงเกษตรมาดูแปลงทดลอง เพื่อให้เห็นชัดเจนจากนี้ไปคงขึ้นอยู่กับทางกระทรวงเกษตรว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร หากมีข้อสงสัยตนพร้อมจะให้ความร่วมหรือทดลอง ในทุกด้าน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ตนได้ขอขึ้นทะเบียน กับทางกรมวิชากการมาโดยตลอดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร ได้ได้รับการปฎิเสธ ว่าไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ทั้งที่ต่างประเทศสามารถขึ้นทะเบียนได้ทั้งหมด รวมทั้งส่งเสริมการผลินสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อจำหน่าย และสร้างรายได้มหาศาล และที่ผ่านมา ตนก็ เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มเกษตรกรและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ หมาหลายประเทศ จึงไม่อยากเกษตรกรไทยเสียโอกาส

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กรมชลฯชี้อ่างฯทั่วประเทศน้ำน้อย งดส่งน้ำทำนาปรัง‘ลุ่มเจ้าพระยา’

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง โดยจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนให้มากที่สุด โดยปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปการแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ร่วมถึงหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำโดยทั่วกัน

สำหรับพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอบางไทร ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือนพฤศจิกายน ให้รับทราบ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่หันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เช่นเดียวกันกับที่ จ.อ่างทอง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ซึ่งได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันในพื้นที่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของกรมชลประทาน พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไม่ทำนาต่อเนื่อง และนาปรังในฤดูแล้ง ปี 62/63 แต่ให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเน้นส่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง(ต่อเนื่อง) เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน และมีน้ำสำรองไว้ใช้จนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างเพียงพอ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯ สรุปสตอกสารเคมี 3 ชนิดพรุ่งนี้

รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนกรมวิชาการเกษตรสรุปสตอกสารเคมี 3 ชนิด พร้อมแผนการจัดเก็บ หลังประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้ 1 ธ.ค. ด้าน “มนัญญา” ยืนยันค่าทำลายวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เร่งประชุมกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะทำงานได้นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผลศึกษาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบทั้งที่มีต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตลอดจนการเตรียมเก็บสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อทำลายตามหลักวิชาการให้มีความปลอดภัยในการประชุมครั้งที่ 2 สัปดาห์นี้

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) ได้ทำหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 แห่งทั่วประเทศ เร่งรัดสตอกล่าสุดของสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายในพื้นที่ส่งให้ สคว.ภายในวันุพรุ่งนี้ (11 พ.ย.)  รวมทั้งจัดทำแผนการรับแจ้งและเก็บรวบรวม เพื่อจะนำเสนอคณะทำงานของกระทรวงในการกำหนดงบประมาณต่อไป

จากการหารือในที่ประชุมคณะทำงานครั้งแรกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นเบื้องต้นว่าจำเป็นต้องจ่ายค่าทำลายสารเคมีทั้งที่เกษตรกรซื้อไปแล้ว ตลอดจนสตอกของผู้ประกอบการและร้านค้าต่าง ๆ ในอัตราตันละ 100,000 บาท ผลสำรวจสตอกสารทั้ง 3 ชนิดเมื่อเดือนกันยายนพบว่า มีรวม 29,869.58 ตัน ดังนั้น จะใช้งบประมาณทำลายเกือบ 3,000 ล้านบาท

ส่วนนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ค่าทำลายสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 52 วรรคท้าย ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมส่งสารวัตรเกษตรและสารวัตรเกษตรอาสาจัดทำมาตรการตรวจสอบสตอกอย่างเข้มงวด รวมทั้งป้องกันการลักลอบนำเข้าและจำหน่าย โดยก่อนที่การยกเลิกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ต้องไปให้คำแนะนำร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้ส่งคืนบริษัท แล้วบริษัทต้องรับผิดชอบค่าทำลาย ไม่ใช่ใช้งบประมาณรัฐ ซึ่งจะมอบนโยบายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศประมาณ 300 คน วันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องข้อควรปฏิบัติหลังการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยมอบหมายให้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกสารวัตรเกษตรเข้าร่วมประชุม ตลอดจนจัดสถานที่

ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ประกอบด้วย กลุ่มไกลโฟเซตได้แก่ เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต โซเดียม ไกลโฟเซต ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต ไตรมีเซียม ไกลโฟเซต โพแทสเซียม ไกลโฟเซต โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต และโมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต กลุ่มคลอร์ไพริฟอส ได้แก่ ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล ส่วนกลุ่มพาราควอต ได้แก่ พาราควอตคลอไรด์และพาราควอตไดคลอไรด์ ซึ่งผู้ครอบครองต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ครอบครองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร 8 เขตในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา จากนั้นต้องส่งมอบหน่วยงานที่กำหนดหลังแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กล่มKTIS ผุดโปรเจกท์‘ซุปเปอร์อ้อย’ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการจากไร่สู่โรงงาน

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน กลุ่ม KTIS จึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางวัตถุดิบอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งบุคคลสำคัญในด้านวัตถุดิบก็คือเกษตรกรชาวไร่อ้อย ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงได้ทำการพัฒนากระบวนการเสริมสร้างคุณภาพอ้อยผ่านการให้ความรู้ อบรมสัมมนา และสาธิตการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำอย่างเป็นระบบและวัดผลได้ เช่น การมีโรงเรียนเกษตรกรอ้อย และอุทยานการเรียนรู้ ที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ

“ปรัชญาของกลุ่ม KTIS ที่เรายึดมั่นมาตลอด คือ ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่มเคทิสมั่นคง ดังนั้น กลุ่มเราจึงให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อยมากโดยได้มอบหมายให้พนักงานฝ่ายไร่ลงไปสัมผัสใกล้ชิดกับชาวไร่อ้อย เพื่อจะได้รับรู้ว่าจะต้องเติมเต็มหรือช่วยเหลืออะไรให้กับชาวไร่อ้อยบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ เทคนิคการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง รวมไปถึงการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีต่างๆ โดยล่าสุดได้จัดทำโครงการซุปเปอร์อ้อย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับการจัดหาอ้อย ตัดอ้อย และขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” นายประพันธ์กล่าว

นายภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่ม KTIS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของโครงการ “ซุปเปอร์อ้อย” คือการนำเทคโนโลยี GPS และ GIS เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการวัตถุดิบ หรืออ้อย โดยสามารถติดตาม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลอ้อยได้อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าหีบจะมี 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ ฝ่ายจัดหาปริมาณอ้อย งานตัดอ้อย และงานขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงาน ซึ่งเดิมทั้ง 3 ด้านนี้ทำงานแบบแยกส่วน ทางบริษัทจึงมาคิดว่าหากมีโซลูชั่นที่สามารถจัดการงานทั้ง 3 มิตินี้ เข้าด้วยกัน ก็น่าจะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการอ้อยดีขึ้น โดยจะได้อ้อยที่มีความพร้อมในการเข้าหีบสูงสุด บริหารจัดการรถตัดอ้อยในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเกิดความคล่องตัวด้านการขนส่ง ทำให้ใช้เวลาในการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้อยลง

“จากการประเมินในเชิงตัวเลข ตั้งแต่ตัดอ้อย ขนส่ง จนกระทั่งเข้าหีบ บางกรณีใช้เวลานานถึง 70 ชั่วโมง แต่โซลูชั่นที่นำเข้ามาใช้สามารถลดเวลาลงมาเหลือเพียงไม่เกิน 16 ชั่วโมง ซึ่งเวลาที่ลดลงนี้ชาวไร่อ้อยสามารถนำไปทำอย่างอื่นที่จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่วนในด้านของวัตถุดิบนั้น เราก็จะได้อ้อยที่มีคุณภาพดีขึ้น ชาวไร่อ้อยก็จะได้รับค่าอ้อยที่สูงขึ้น โดยได้ตั้งเป้าไว้ว่า ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว และการพัฒนาเกษตรกรสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์เชื่อว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพอ้อยได้สูงกว่าเดิมถึง 30%” นายภูมิรัฐกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แล้งหนัก! เขื่อนอุบลรัตน์ขอดน้ำก้นอ่างมาใช้190ล้านลบ.ม. ช่วงหน้าแล้งยาว7เดือน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลอดในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ น้อยที่สุดในรอบ 53 ปี นับตั้งแต่มีการก่อสร้างเขื่อน โดยปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก เพียง 574 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ เท่านั้น ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 0.65 ล้าน ลบ.ม.

ในการนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมหารือกันถึงแนวทางในการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ โดยในช่วงฤดูแล้งปี 2562 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า (1 พ.ย. 62 - 31 พ.ค. 63) ได้เตรียมนำน้ำกันอ่างฯมาใช้ ตามแผนการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ คาดว่าจะต้องใช้น้ำก้นอ่างประมาณ 190 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนอุบลรัตน์ สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งการนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้ จะไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ทำการประเมินน้ำต้นทุนเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ภาคอีสานกลาง ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการอุปโภคบริโภค โดยได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกัน เพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ จัดการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกัน พร้อมกับเน้นย้ำให้ทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ รวมทั้งต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

นวัตกรรมทางสังคมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรไทย

นโยบายเกษตรในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ส่งผลให้เกษตรกรไทยจำนวนมากต้องคิดปรับวิถีการทำเกษตรกรรมของตนให้รวดเร็วหนีไม่พ้นเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติปรับ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผลิต จำหน่ายหรือมีในครอบครองได้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

บทความนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องข้อดีและผลกระทบของการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ แต่ต้องการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับการเดินไปข้างหน้าในการหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเกษตรกร โดยบทความนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า หลายฝ่ายน่าจะต้องการให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทยอยลดการใช้สารเคมีที่น่าจะเป็นอันตรายทุกประเภท ไม่เฉพาะสารเคมีเพียง 3 ชนิดนี้ ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเป็นวัตถุประสงค์นี้เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี

จุดเปลี่ยนท่ามกลางข้อจำกัด

ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 (ตั้งแต่ช่วงปี 2530) รัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรเชิงพาณิชย์ เพราะตระหนักดีว่าไม่สามารถสร้างการเติบโตให้ภาคเกษตรโดยหวังพึ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกได้อีกต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจทำงานสอดประสาน สนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมถึงสารเคมีปราบวัชพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตในไร่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตร

พาราควอตถูกนำออกจำหน่ายครั้งแรกของโลกเมื่อปี 2504 และแม้ในปัจจุบันจะถูกแบนการใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ยังถือว่าเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุด เพราะมีประสิทธิภาพสูงและราคาไม่แพงมาก เกษตรกรไทยเคยชินกับการพึ่งพิงสารเคมีเหล่านี้มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหันมาทำเกษตรเข้มข้น ใช้พื้นที่เดิมๆ เพาะปลูกหลายๆ รอบ จนกลายเป็นวิถีเกษตรของเกษตรกรพืชไร่ อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผล ทั้งในเขตที่ราบและในพื้นที่สูงซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลฆ่าหญ้าได้

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องทุน มีปัญหาหนี้สินทับถม ขาดความรู้เกี่ยวกับสารทดแทนและทางเลือกอื่นๆ ในการกำจัดวัชพืช ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่นา และไม่เห็นว่าอุตสาหกรรมปลายนํ้าผู้รับซื้อผลผลิตจะสนใจว่าต้องใช้สารเคมีฆ่าหญ้าน้อยลง

ด้วยสถานการณ์และข้อจำกัดเหล่านี้ นโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดจึงไม่ใช่เพียงประเด็นทางเศรษฐกิจแค่ต้นทุน กำไร ราคา แต่เป็นประเด็นทางสังคมที่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ดังนั้นมาตรการที่ภาครัฐจะใช้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงต้องชัดเจน และมากกว่าเพียงการหาสารทดแทนตัวใหม่มาบอกให้เกษตรกรใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกผลักให้ไปพึ่งสารเคมีทดแทนตัวอื่น ที่ยังไม่มีข้อมูลความเหมาะสมกับพื้นที่หรือประสิทธิภาพรองรับ และเพื่อลดความเสี่ยงของการถูกหลอกลวงโดยผู้ฉวยโอกาสจนหันไปใช้สารเคมีอย่างอันตรายกว่าเดิม รวมถึงความเสี่ยงของผลผลิตที่ลดลงพร้อมกับคุณภาพตํ่าลง

 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เครื่องมืออะไรที่น่าจะช่วยให้ เกษตรกรสามารถใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสของการเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆ ปรับสู่วิถีที่พึ่งพิงสารเคมีอันตรายน้อยลง สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกษตรกรยอมรับจากข้างในว่าเส้นทางที่กำลังเดินไปน่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และผลการเปลี่ยนแปลง ทั้งทัศนคติและพฤติกรรมนี้จะสร้างแรงผลักจากฐานราก (bottom up) สามารถรองรับนโยบายที่มาในลักษณะ top-down ได้

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มเกษตรกรที่เดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ในพื้นที่สูง ที่ต้องการหันออกจากการปลูกข้าวโพดและวิถีเกษตรที่เน้นการใช้สารเคมี แต่ด้วยข้อจำกัดและความเสี่ยงมากมายที่เผชิญอยู่ทำให้การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก

แม้เกษตรกรรับรู้นโยบายในลักษณะ top-down ว่าไม่ต้องการให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นนํ้าแล้ว แต่ด้วยความที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจึงมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวิถีการหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดกว่า 20 ปี จะทำอย่างไร นโยบาย “คนอยู่กับป่า” ที่ลงมาในลักษณะ top-down จะเกิดขึ้นได้ต้องมีแรงขับเคลื่อนที่ระดับฐานรากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเกษตรกรเอง

ในแง่มุมวิชาการ มีงานวิจัยเชิงพื้นที่จำนวนมากที่เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระดับพื้นที่เล็กๆ ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน และเมื่อสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบสำหรับขยายผล ในการดำเนินงานวิจัยก็มักจะต้องนำกระบวนการนวัตกรรมทางสังคมมาใช้เพื่อให้เกษตรกรเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

กระบวนการนวัตกรรมทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก

ในกระบวนการนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) เกษตรกรหรือคนในพื้นที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อน และออกแบบเส้นทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การทำกระบวนการยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคนจากนอกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กร ภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ เท่าที่จำเป็น ไม่เปรอะหรือสะเปะสะปะจนเกินไป  เพราะคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการมีหน้าที่ต้องเข้าใจบริบทพื้นที่ ที่มาที่ไป จุดแข็ง ข้อจำกัดของเกษตรกร และหาเทคนิคต่างๆ มาใช้เพื่อระดมความคิด หารือ จัดลำดับความสำคัญให้เกษตรกรได้พิจารณาตรึกตรองสภาพปัญหาของตนเอง

ต้นตอของปัญหา วิถีการทำเกษตรหรือพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน อุปสรรคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอะไรที่จะทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดขึ้นได้ ในที่สุดเกษตรกรจะสามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยที่จะกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและคนในชุมชนได้คืออะไร และจะต้องทำอย่างไรให้ปัจจัยนั้นๆ เกิดขึ้นได้จริงในชุมชน

ในภาษาวิชาการ คือ เกษตรกรกำลังหาต้นแบบ (prototype) ที่จะเป็นกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนตนเอง จากนั้นเกษตรกรจะทดลองว่าต้นแบบที่คิดไว้จะใช้ได้และเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และชุมชนของตนหรือไม่ ด้วยวิธีนี้เกษตรกรและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจะได้ เรียนรู้ ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้หรือเทคโนโลยีจากภายนอก เกษตรกรจะมีโอกาสประเมินผลต้นแบบและคิดวิธีปรับปรุงต้นแบบเอง

กระบวนการทั้งหมดช่วยในการเปิดมุมมอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และอาจไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้นแบบที่พัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วยังช่วยดึงกลุ่มเกษตรกรที่เดิมอาจไม่ค่อยเปิดรับกับการเปลี่ยน แปลง ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสที่สามารถนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้

ด้วยขั้นตอนที่ค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน ทำให้การทำกระบวนการลักษณะนี้เริ่มต้นได้กับเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรกลุ่มนี้จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จุดอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญคือ หน่วยงานในพื้นที่ให้ความสำคัญและยอมรับการทำงานของชุมชน ให้โอกาสเกษตรกรในการหาทางออกในลักษณะ win win

การดำเนินนโยบายยกเลิกการใช้ 3 สาร กำลังทำงานสวนทางกับสัญญาณตลาด เพราะตลาดปลายทางหรือผู้รับซื้อไม่ได้สร้างแรงจูงใจที่จะหนุนนโยบายภาครัฐได้จริง โรงงานรับซื้ออ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แปรรูปนํ้ายางไม่ได้สนใจว่าเกษตรกรจะใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่

ดังนั้น จำเป็นต้องมีผู้ขับเคลื่อนนโยบายที่มีกำลังมาก ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพยายามหาสารเคมีตัวอื่นมาทดแทน คงไม่พอที่จะช่วยแก้ปัญหาแนวโน้มการใช้สารเคมีในการเกษตรที่มากเกินไปของเกษตรกรไทย ประเด็นจึงกลับมาที่การสร้างผู้ขับเคลื่อนในท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้จริง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสม ทำการเกษตรจังหวัดขอนแก่น ขาดทุน

สศก. แนะหันปลูกพืชทางเลือกทดแทน "อ้อยโรงงาน" ให้ผลตอบแทนดีกว่าและตลาดยังต้องการต่อเนื่อง มีต้นทุนตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 5,454 บาทต่อไร่ เกษตรกรขายได้ 750 - 850 บาท/ตัน นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกข้าวในชั้นความเหมาะสมต่างๆ (Agri-Map) จำนวน 5.67 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกข้าว 2.39 ล้านไร่ เกษตรกร ปลูกข้าวเหนียวนาปีได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 3,582 บาท/ไร่/ปี ข้าวหอมมะลิได้ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 2,544 บาท/ไร่/ปี

ในขณะที่พื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว มีจำนวน 3.28 ล้านไร่ เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวนาปี ได้ผลตอบแทนสุทธิ (ขาดทุน) เฉลี่ย - 871 บาท/ไร่/ปี ข้าวหอมมะลิได้ผลตอบแทนสุทธิ (ขาดทุน) เฉลี่ย -1,502 บาท/ไร่/ปี

หากพิจารณาถึงพืชทางเลือกที่จะปรับเปลี่ยนในพื้นที่ปลูกข้าวพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3, N) ตามแผนที่ความเหมาะสมของดิน (Zoning) ในจังหวัดขอนแก่น พบว่า พืชทางเลือกที่เหมาะสมให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและตลาดมีความต้องการต่อเนื่องในหลายชนิด เช่น อ้อยโรงงาน ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 5,454 บาท/ไร่ อายุการผลิต 12 เดือน โดยเกษตรกรเริ่มปลูกในเดือนตุลาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีถัดไปช่วงโรงงานน้ำตาลเปิดหีบรับซื้อประมาณ ปลายเดือนพฤศจิกายน - เมษายนของทุกปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 9.37 ตัน/ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 750 - 850 บาท/ตัน ผลตอบแทนสุทธิ 2,139 บาท/ไร่/ปี

มันสำปะหลังโรงงาน ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,283 บาท/ไร่ อายุการผลิตประมาณ 9 - 12 เดือน โดยปลูกในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน และ สิงหาคม - กันยายนโดยเกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนของปีถัดไป ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,127 กก./ไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 1-2 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ 1,592 บาท/ไร่/ปี

สศก. แนะพืชทางเลือกภาคใต้ตอนบน ทดแทนปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม

คาดผลผลิตกระเทียม ปี63 รวมกว่า 8.5 หมื่นตัน เตรียมทยอยออกสู่ตลาดปลายปีนี้

ชี้ช่องเกษตรกรจ.ตราดเลิกทํานาข้าว หันปลูกมะพร้าวน้ำหอมรายได้ดีไร่ละ22,352 บาท

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 (ฤดูฝน) ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 4,075 บาท/ไร่ อายุการผลิต 4 - 5 เดือน โดยปลูกในเดือนเมษายน - มิถุนายน และเก็บเกี่ยวช่วงเดือนสิงหาคม - พฤศจิกายน ผลผลิตเฉลี่ย 1,166 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรขายผลผลิตเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฝักสดได้ในราคา 3 - 4 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทนสุทธิ 451 บาท/ไร่/ปี

ถั่วลิสงรุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 7,454 บาท/ไร่ อายุการผลิตประมาณ 3 เดือน นิยมปลูกในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน - พฤษภาคม ผลผลิตเฉลี่ย 356 กิโลกรัม/ไร่ ขายได้ในราคา 20-30 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ 1,841 บาท/ไร่/ปี

ถั่วเหลืองรุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุนนับตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว เฉลี่ย 2,107 บาท/ไร่ อายุการผลิตประมาณ 3 เดือน นิยมปลูกในเดือนธันวาคม - มกราคม เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน - พฤษภาคม ผลผลิตเฉลี่ย 247 กิโลกรัม/ไร่ ขายได้ในราคา 10 - 20 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิ 1,622 บาท/ไร่/ปี

สำหรับสินค้าทางเลือกดังกล่าว เกษตรกรในจังหวัดมีตลาดรองรับแน่นอน โดยอ้อยโรงงาน มีโรงงานผลิตน้ำตาล ในจังหวัด 2 แห่งเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร คือโรงงานน้ำตาลมิตรผล และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น

มันสำปะหลังโรงงาน มีลานมันรับซื้อทั้งมันสดและมันเส้นจากเกษตรกร ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และ ถั่วลิสง มีร้านค้าเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในท้องที่ อีกทั้งมีพ่อค้าไปรับซื้อผลผลิตที่ไร่นาเพื่อนำไปขายหรือนำไปแปรรูปต่ออีกทางนี้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพืชผักที่เป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อสร้างรายได้ อาทิ ผักกาดหัว (ฤดูหนาว) ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักกาดหอม และการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยเกษตรกรจะขายผักให้กับสหกรณ์การเกษตร หรือขายส่งให้กับพ่อค้าที่ตลาดค้าส่งผักในจังหวัด สำหรับจิ้งหรีด เกษตรกรขายปลีกและขายส่งให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อผลผลิตที่ฟาร์ม

ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจข้อมูลพืชทางเลือกในจังหวัดขอนแก่น สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 โทร 043 261 513 หรือ zone4@oae.go.th

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

วว.โชว์ผลงานเศรษฐกิจหมุนเวียนช่วยโรงงานเปลี่ยนกากน้ำตาลเป็นปุ๋ย

วว.โชว์ตัวอย่างผลสำเร็จการดำเนินงาน เศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบาย BCG Model จากโครงการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรฯ จ.กาญจนบุรี สร้างมูลค่าทางธุรกิจกว่า 1 ลบ.ต่อเดือน

ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ แนวคิดการนำทรัพยากรที่ถูกใช้แล้วกลับมาแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น จากการขยายตัวของประชากรโลกและปัญหาการจัดการขยะ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งดำเนินงานภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) และคุณค่า (value creation) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการวิจัยพัฒนา ต่อยอด คัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างรายได้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการและประเทศ ผ่านการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต สู่การนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์

โดยทั่วไปการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มี 4 รูปแบบ ดังนี้ 1. อาหารสัตว์ เช่น การใช้ฟางข้าวและเปลือกสับปะรดเป็นอาหารปศุสัตว์ 2. เชื้อเพลิง เช่น การใช้แกลบ ชานอ้อยและเศษวัสดุต่างๆ เป็นเชื้อเพลิงในโรงสี โรงงานน้ำตาล และโรงงานอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ 3. ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น การไถกลบเศษพืชลงดินและการใช้น้ำกากส่าเป็นปุ๋ยในนาข้าว และ 4.วัตถุดิบในการผลิต เช่น การนำมาใช้เลี้ยงเชื้อราเพื่อผลิตเอนไซม์ การนำฟางข้าวมาใช้ในการเพาะเห็ด

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า วว.ให้ความสำคัญในการดำเนินงานบริหารจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ได้จริง โดย โครงการการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรมาทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Waste Utilization) ที่ วว. นำลงไปปฏิบัติและบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวอย่างความสำเร็จของ วว. ในการดำเนินงานด้านนี้ ในเชิงพื้นที่ เนื่องจากจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศและมีปริมาณของวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตจากโรงงานอ้อยจำนวนมาก ในรูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกอบรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ มีรายงานการผลิตอ้อยของประเทศไทย ประจำปีการผลิต 2560/61 ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 11,542,550 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2559/60 จำนวน 554,061 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยภาคเหนือ 2,719,424 ไร่ ภาคกลาง 3,118,925 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,044,952 ไร่ และภาคตะวันออก 659,249 ไร่ โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ นครสวรรค์ 798,745 ไร่ กำแพงเพชร 798,077 ไร่ และกาญจนบุรี 753,424 ไร่ (อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม)

จากการดำเนินงานโครงการฯ ของ วว. ได้นำวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอ้อย คือ กากหม้อกรอง ซึ่งมีปริมาณ 3 แสนตัน/ปี (คิดเป็น 5% ของอ้อยสดในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีที่มีกว่า 6 ล้านตัน/ปี) นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการและกำจัดในส่วนของโรงงาน อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับเกษตรกรได้อีกด้วย

“หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ผู้ประกอบการในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ (Success Case) อีกแห่งหนึ่ง ที่เป็นความสำเร็จของ วว. ในการนำ วทน. เข้าไปเสริมศักยภาพ พัฒนาสูตรปุ๋ยอินทรีย์จากกากหม้อกรองโรงงานน้ำตาล จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ธุรกิจกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน จากกำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน นับเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ วว. ที่สอดคล้องกับนโยบายระบบเศรษฐกิจใหม่BCG Model ของรัฐบาล

BCG Model เป็น การบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ B- Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C-Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และ G-Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของจังหวัด ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

"ทั้งนี้สามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆในโรงงานน้ำตาลได้ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี กำแพงเพชร อุดรธานี นครสวรรค์ และสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น โรงงานสับปะรดกระป๋อง ซึ่งมีวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต เช่น เปลือก และใบ ที่สามารถนำ วทน. เข้าไปเพิ่มมูลค่าได้ ทั้งนี้ วว. จะคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการประกอบการนั้นๆ เพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งได้สูงที่สุด” นายสายันต์

อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จของ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ นั้น เส้นทางการดำเนินธุรกิจแรกเริ่มของผู้ประกอบการรายนี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ได้ผ่านการลองผิดลองถูก ผนวกกับความตั้งใจจริงในการประกอบอาชีพ เปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุงให้การประกอบธุรกิจมีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเข้ารับการอบรมหลักสูตรการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จาก วว. ในปี พ.ศ. 2542 ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายนี้ประสบผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ ก้าวข้ามจากธุรกิจเล็กๆที่มีลูกน้องเพียง 2 คน สู่ธุรกิจที่มีมูลค่าผลประกอบการกว่า 200 ล้านบาท และมีลูกน้องกว่า 100 ชีวิต ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในปัจจุบัน

“เดิมทีผมทำอาชีพขายยาเส้นและรับจ้างส่งปุ๋ยทั่วไป จากนั้นเห็นว่าธุรกิจขายปุ๋ยมีรายได้ดี ก็เลยลองผิดลองถูกผลิตปุ๋ยจำหน่ายเอง โดยใช้วัตถุดิบจากมูลสัตว์ แต่สุดท้ายด้วยเราขาดความรู้และหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทำให้ธุรกิจลุ่มๆ ดอนๆ จนกระทั่งได้มาพบคุณสุนทร ดุริยะประพันธ์ และทีมนักวิจัยจาก วว. ได้มาแนะนำโครงการและชวนเข้ารับการอบรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้วัตถุดิบจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร ในตอนนั้นจะใช้วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานเยื่อกระดาษและโรงงานน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ย จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ผมและ วว.ได้ทำงานร่วมกัน" นายประยงค์ เยื่อแม้นพงศ์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ กล่าว

ปัจจุบันโรงงานปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์จะใช้วัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาลคือ กากจากหม้อกรอง เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่ง วว.ได้ช่วยพัฒนาสูตร ให้คำชี้แนะ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโรงงานเราผ่านการรับรองมาตรฐานปุ๋ยอินทรี

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ของ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ได้รับการตอบรับและมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่น แม้ไม่มีพนักงานขายโดยตรง แต่ผลประกอบการมีความมั่นคง ด้วยกลุ่มลูกค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพปุ๋ย ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง ช่วยปรับสภาพดิน สามารถใช้ได้กับพืชเกษตรทุกชนิด โดยมีอัตราการใช้ปุ๋ยประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐคือ วว. ร่วมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จ (Partner for your Success) จึงเป็นสูตรสำเร็จหนึ่งในการดำเนินธุรกิจของวงการเกษตร ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ

"ผมพร้อมให้คำชี้แนะแก่ผู้สนใจที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจนี้ ที่สำคัญคือท่านต้องมีความตั้งใจจริง ต้องอึด อดทน ตอนที่ผมร่วมทำกับ วว. ในช่วงแรกๆ นั้น ผมกินนอนอยู่ที่โรงงานเลย แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาได้เราก็จะภาคภูมิใจครับ ในอนาคตเราจะขยายธุรกิจให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรมากขึ้น อีกประเภท คือ ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นต้น โดยมี วว.เป็นพี่เลี้ยงให้คำชี้แนะและก้าวไปพร้อมๆ กัน” นายประยงค์ กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จและเป้าหมายอนาคตของธุรกิจ

ความสำเร็จในการดำเนินงานด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าวข้างต้นของ วว. ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นผลเด่นชัดในแง่การนำ วทน. เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งในภาคชุมชน ผู้ประกอบการ และในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ วว. มีผลดำเนินงานขอบข่ายนี้ในแขนงอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งจะนำมาบอกเล่าในวงกว้างในโอกาสต่อไป เพื่อร่วมผลักดันนโยบาย BCG Model ให้สำเร็จ เป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ผู้สนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยอินทรีย์หรือขอรับคำแนะนำปรึกษาด้าน Circular Economy จาก วว. สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02577 9000, 0 2577 9300 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail :tistr@tistr Line@tistr และติดต่อ หจก.โรงปุ๋ยเยื่อแม้นพงศ์ ได้ที่ โทร.034 552 553 และ 034 552 633

จาก https://mgronline.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

คลังพร้อมหนุนมาตรการสกัดบาทแข็ง

คลังพร้อมร่วมมือแบงก์ชาติออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทปัจจุบันมีสาเหตุหลักมาจากผู้ส่งออกของไทยสามารถส่งสินค้าและบริการออกไปขายในต่างประเทศมีมูลค่าสูงกว่าการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปี ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองที่ดีต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีเงินตราจากต่างประเทศไหลเข้ามาประเทศทั้งในรูปของการลงทุนในหลักทรัพย์ และการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง จึงส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ธปท.ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาท คือ 1.การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับเข้าประเทศ โดยการขยายวงเงินรายได้จากการส่งสินค้าออกที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ จากเดิมมูลค่าต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (สรอ.) เป็นที่มีมูลค่าต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ สรอ. และผ่อนผันให้ผู้ที่มีรายได้จากการส่งสินค้าออกไม่ต้องนำเงินดังกล่าวกลับเข้าประเทศในกรณีนำไปหักกลบกับคู่ค้าในต่างประเทศ

2.การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยอนุญาตให้สามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นวัตถุประสงค์ที่กำหนดให้ต้องยื่นขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนอนุญาตให้สามารถโอนเงินไปซื้อ ซื้อสิทธิการเช่า หรือชำระค่าใช้จ่ายในการตกแต่งอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ ทั้งกรณีถือกรรมสิทธิ์ด้วยตนเองและบุคคลในครอบครัว ในวงเงินไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. 3.การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยสามารถโอนเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เองในวงเงินไม่เกินปีละ 200,000 ดอลลาร์ สรอ. จากเดิมที่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ และการเพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้แก่นักลงทุนภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.และ 4.การผ่อนคลายการซื้อขายทองคำภายในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพร้อมจะประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ดูดเอทานอล7ล้านลิตร รื้อโครงสร้างเบนซินดันอี20พยุง‘อ้อย-มัน’

“สนธิรัตน์” เดินหน้าประกาศแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็นนํ้ามันเบนซินพื้นฐาน เพิ่มการใช้เอทานอลวันละ 7 ล้านลิตร ช่วยพยุงราคาอ้อย-มันสำปะหลัง ไม่ให้ตกตํ่า คาดได้ข้อสรุปธ.ค.นี้ ใช้กลไกราคายกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

นโยบายการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยผลักดันให้นํ้ามันดีเซลบี 10 เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐานของประเทศ ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อสร้างความสมดุลให้กับปริมาณปาล์มนํ้ามัน ดันราคาผลผลิตปาล์มนํ้ามันให้สูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชพลังงานและการมีส่วนร่วมเข้าไปเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเห็นรูปแบบเป็นรูปธรรมในช่วงต้นปีหน้านี้

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังปรับเปลี่ยนโครงสร้างนํ้ามันในกลุ่มเบนซินใหม่ โดยเฉพาะการนำเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเอทานอลมาผสมเป็นนํ้ามันแก๊สโซฮอล์ในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้เอทานอลในปริมาณที่มากขึ้น จากปัจจุบันใช้อยู่ที่ราว 4.54 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 6-7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาของอ้อยและมันสำปะหลังไม่ให้ตกตํ่าได้ รวมถึงจะยกเลิกการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 เพื่อลดประเภทนํ้ามันด้วย

 เร่งผลักดันยอดใช้อี20

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายสนธิรัตน์ ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และสำนักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) ไปดำเนินการศึกษาและหาแนวทางการดำเนินงานให้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็นนํ้ามันเบนซินพื้นฐานของประเทศ รวมถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ในคุณภาพที่ดีกว่า โดยให้ได้ผลสรุปนำมาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้ และคาดว่าจะประกาศใช้บังคับได้ในช่วงต้นปี 2563

 ตั้งรับการยกเลิกชดเชย

การดำเนินงานดังล่าว นอกจากเป็นการช่วยให้เกิดการใช้เอทานอลให้มีปริมาณสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการยกเลิกชดเชยราคานํ้ามัน ตามพ.ร.บ.กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่มีผลใช้บังคับเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา กำหนดให้มีการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี และปล่อยให้ราคาขายปลีกนํ้ามัน เป็นไปตามกลไกตลาด

เพิ่มเอทานอล7ล้านลิตร

ทั้งนี้ หากสามารถให้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็นเบนซินพื้นฐานของประเทศได้ จะส่งผลให้เกิดการใช้เอทานอลขึ้นไปที่ระดับ 6-7 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันใช้อยู่ 4.5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอล อยู่ 28 ราย รวมกำลังผลิต 6.9 ล้านลิตรต่อวัน จากการสำรวจปริมาณรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน พบว่า รถยนต์ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2551 สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ 95

อี 20 ได้ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% ของรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินทั้งหมดราว 27 ล้านคัน ขณะที่รถยนต์ใหม่นั้นรองรับได้ทั้งหมด

ส่วนมาตรการสนับสนุนการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 นั้น ในระยะ แรกอาจต้องใช้กลไกของกองทุนนํ้ามันฯเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ส่วนต่างราคาขายปลีกห่างกันมากขึ้น จากที่จำหน่ายตํ่ากว่าแก๊สโซฮอล์ 95 อี 10 อยู่ 3 บาทต่อลิตร เพื่อจูงใจให้รถยนต์หันมาใช้

ชงยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91

นอกจากนี้ ทางกระทรวงพลังงานมีแนวทางที่จะยกเลิกการใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 และให้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 95 อี 10 มีคุณภาพดีกว่า เป็นทางเลือก ซึ่งในระยะแรกจะยังไม่ยกเลิกทันที แต่จะใช้กลไกกองทุนนํ้ามันฯ เข้ามาดูแล โดยลดการเก็บเงินเข้ากองทุนนํ้ามันฯลงมาเล็กน้อย จากปัจจุบันเก็บที่ 1.12 บาทต่อลิตร เพื่อมาช่วยส่วนต่างของราคานํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 กับนํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 95 อี 10 ให้แคบลงมา จนในที่สุดจะไม่มีผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 จากปัจจุบันที่มีราคาต่างกันอยู่ 27 สตางค์ต่อลิตร

ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 อี 85 นั้น หลังจากครบ 3 ปี ไปแล้วจะไม่มีการชดเชยราคาแล้ว จะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 อี 85 มีราคาแพงขึ้น จากปัจจุบันกองทุนนํ้ามันฯชดเชยราคาอยู่ที่ 7.38 บาทต่อลิตร ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้รถยนต์เลิกเติมและต้องยกเลิกการจำหน่ายไปโดยปริยาย

 ยันรถยนต์เก่ามีทางเลือก

นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การให้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 เป็นนํ้ามันพื้นฐาน เป็นแนวทางที่เสนอไว้ในแผนปฏิรูปด้านพลังงานอยู่แล้ว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ใช้นํ้ามันบนดินหรือเอทานอลที่ผลิตได้ภายในประเทศได้ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งจะมีผลสะท้อนไปยังเกษตกร มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการยกเลิกใช้นํ้ามันแก๊สโซฮอล์ 91 อี 10 เพื่อลดชนิดของนํ้ามันหรือหัวจ่ายที่มีจำนวนมากอยู่ในสถานีบริการนํ้ามันด้วย

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 มีรถยนต์ที่ใช้ได้ย้อนหลังไปไม่ตํ่ากว่า 5 ปี และรถยนต์รุ่นใหม่สามารถรองรับแก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 ได้ทั้งหมด ขณะที่รถยนต์เก่า สามารถเลือกใช้เบนซิน 95 หรือแก๊สโซฮอล์ 95 อี 10 เป็นทางเลือกได้

ขณะที่การส่งเสริมใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อี 20 นั้น มองว่าส่วนต่างราคาที่ห่างกับแก๊สโซฮอล์ 95 อี 10 ถึง 3 บาทต่อลิตรนั้น เป็นราคาที่เหมาะสมจูงใจพอ จึงไม่จำเป็นต้องนำเงินกองทุนนํ้ามันมาอุดหนุนอีก ในทางกลับกันควรจะค่อยๆ ลดการอุดหนุน เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดใน 3 ปี จะไม่มีการอุดหนุนราคานํ้ามันชีวภาพแต่อย่างใด 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

พลังงานดัน 4 มาตรการ ลด PM 2.5

กระทรวงพลังงาน อดั 4 แคมเปญลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประกาศแผนกระตุ้นการใช้ดีเซล บี10 สิ้นเดือน ต.ค.นี้ พร้อมรณรงค์ใช้แก๊สโซฮอล์ ช่วยพยุงราคาอ้อยและมันสำปะหลัง เร่งคลอดโมเดลโรงไฟฟ้าชุมน ลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดันแพคเก็จส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบสิ้นปีนี้ หวังรักษาฐานผลิตรถและฮับแบตเตอรี่อาเซียน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กระทรวงพลังงานมีบทบาทสำคัญที่จะดำเนินงานใน 4 เรื่องได้แก่  การเร่งส่งเสริมใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยปลายเดือนตุลาคมนี้ จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันดีเซล บี10 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานใช้สำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป  ซึ่งภายในเดือนมีนาคม 2563 ยืนยันว่าจะมีสถานีบริการน้ำมันดีเซลบี 10 จำหน่ายครบทุกแห่ง

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้มียอดการใช้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะช่วยดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ และลดการเกิด PM 2.5 จากกระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ได้ด้วย

 ส่วนการส่งเสริมน้ำมันดีเซล บี20 ยังเป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ต่อไป แม้ว่าจะปรับลดอัตราการชดเชยลงเหลือถูกกว่า บี 7 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตรก็ตาม  ซึ่งการส่งเสริมดีเซลบี 10 ก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์ที่จะเติมบี 10 ได้ถึง 50% ของรถเครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 7 สามารถขยับขึ้นไปใช้ดีเซลบี 10 ได้  ขณะที่รถยนต์ที่ใช้ดีเซลบี 20 มีจำนวนน้อยกว่ามาก  ดังนั้น การส่งเสริมดีเซลบี 10 จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดูดซับน้ำมันปาล์มดิบได้เร็วกว่ามาก

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยพยุงราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย และมันสำปะหลัง และยังช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วย กระทรวงพลังงาน จะออกแคมเปญกระตุ้นการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ที่นำเอาเอทานอลมาเป็นส่วนผสม โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน จัดทำรายละเอียดในการส่งเสริมการใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ที่จะลดหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์บางชนิดลง เพื่อไปส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มียอดการใช้ที่มากแทน และเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันด้วย

อีกทั้ง จะเร่งส่งเสริมโครงการ 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า ผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่จะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฝางข้าว ซังข้าวโพด ที่มีการเผาทิ้งในบางจังหวัดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM 2.5  นำเข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า เป็นการขยายผลการลดปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

รวมทั้งการเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ทั้งระบบ เพื่อช่วยปัญหามลพิษในเมืองหลวงและเมืองหลัก ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อม  หลังจากพบว่า การใช้รถยนต์ไฮบริด และมอเตอร์ไฟฟ้า จากทั่วโลกเติบโตอย่างมีนัยสำคัญราว 20% ต่อปี  ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ได้มีประกาศมาตรการส่งเสริมรถยนต์อีซี อย่างจริงจังแล้ว ดังนั้นประเทศไทยควรที่จะมีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในภูมิภาค

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง ภาคเอกชนและค่ายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อระดมข้อมูลต่างๆจัดทำเป็นแพคเกจส่งเสริมไปสู่การเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ใน 3 เทคโนโลยี ได้แก่ ปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% หรือบีอีซี และรถยนต์ที่ใช้ Fuel Cell หรือใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

“ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่(ฮับ)ของอาเซียน ซึ่งแคมเปญที่ออกมาจะต้องมีแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคที่จะเข้าถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการผลิตรถ และต้องมีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้า ธุรกิจเช่าแบตเตอรี่ ซึ่งจะเห็นแพคเกจส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้”

ส่วนแรงจูงใจที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตหรือใช้รถยนต์อีวีนั้น  จะต้องมีมาตรการทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คาดว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าจะใช้เวลาใน 5 ปี (2563-2567) และให้สอดคล้องกับปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี2561-2580 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่จะมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กษ.ย้ำเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียน อัพเดตทุกฤดูเพาะปลูก-ขาด3ปีสิ้นสภาพ

กรมส่งเสริมการเกษตรย้ำเกษตรกรควรขึ้นทะเบียนเกษตรกร และแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรทุกครั้งเมื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หากไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลติดต่อกัน 3 ปี จะสิ้นสถานภาพเป็นเกษตรกร หมดสิทธิรับการช่วยเหลือจากโครงการต่างๆของรัฐ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนทุกปี เพื่อจะได้รู้ข้อมูลการเพาะปลูกแต่ละปีว่า เกษตรกรปลูกพืชชนิดไหน พื้นที่เท่าไหร่ เป็นข้อมูลประเมินภาวะผลผลิตแต่ละปี สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว ต้องปรับปรุงข้อมูลในทะเบียนเกษตรกรทุกครั้ง เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่หลังเพาะปลูก 15 - 60 วัน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ตลอดปี ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของแต่ละชนิดพืช กรณีเกษตรกรรายเดิมแต่ต้องการเพิ่มแปลงใหม่ ต้องติดต่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอ แต่หากเป็นเกษตรกรรายเดิมและใช้แปลงเดิม ติดต่อปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น Farmbook ที่กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาขึ้นในระบบปฏิบัติการ

iOS และ Android ช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรแจ้งปรับปรุงข้อมูลในทะเบียนได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ทั้งยังเป็นช่องทางรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ รวมถึงใช้ตรวจสอบสิทธิ์เกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือกรณีประสบภัยพิบัติ หรือตามมาตรการแก้ปัญหาอื่น ของภาครัฐ เช่น การรับสิทธิตามโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว, ปาล์มน้ำมัน

ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่มาปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี นับถัดจากวันที่ 23 มิถุนายน 2560 - 22 มิถุนายน 2563 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 9 แสนครัวเรือน ที่ยังไม่มาปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร หากครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เกษตรกรจำนวนนี้จะสิ้นสถานภาพการเป็นเกษตรกรทันที ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากโครงการของรัฐบาล ปัจจุบันกรมตรวจสอบด้วยระบบโปรแกรมทั้งตรวจสอบข้อมูลบุคคลกับสำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลชื่อ สกุล สมาชิกในครัวเรือนที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งตรวจสอบเนื้อที่เพาะปลูกของเกษตรกรจากการวาดผังแปลงเพาะปลูก (ผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล) โดยซ้อนกับผังแปลงกับกรมที่ดิน ส.ป.ก. และภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากการตรวจสอบด้วยระบบดิจิทัลแล้ว กรมยังตรวจสอบทางสังคมโดยให้คนในชุมชนร่วมกันตรวจสอบกันเองการนำข้อมูลการเพาะปลูกของเกษตรกรรายเดิม แปลงเดิม ไปปิดประกาศ ในหมู่บ้าน/ชุมชน 3 วัน เพื่อยืนยันหรือคัดค้านว่ามีการเพาะปลูกจริงในชุมชนนั้นหรือไม่

จาก https://www.naewna.com วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

กรมชลประทานแจ้งเตือนใช้น้ำอย่างประหยัด

กรมชลประทาน วอนทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด จากสภาพฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย  แนะหันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (7 พ.ย. 62) สถานการณ์น้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 50,660 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างรวม เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 26,606 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างรวม ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนลำแซะ จะเน้นสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย-บำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 11,998 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น ร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 5,302 ล้าน ลบ.ม. และตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย หันมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าว-   นาปรัง โดยจะจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด

ทั้งนี้ กรมชลประทานขอวอนทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันใช้น้ำตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด และขอให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำให้มากที่สุด ใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอสำหรับความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ลุยรับมือ 4.0-ค้าดิจิทัล วาระร้อน หลังอาเซียนซัมมิท

ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจาระหว่างวันที่ 2-4 พฤศ จิกายน 2562 ซึ่งในภาพรวมของการจัดงานสำเร็จลงเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ หลังจากนี้การบ้านที่ภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้ประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติร่วมกัน

ทั้งนี้ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การเตรียมพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยของอาเซียน การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับ 4.0 ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาททดแทนแรงงานคนมากขึ้น รวมถึงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าด้วยดิจิทัลเพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็ว และช่วยลดต้นทุน เป็นต้น

 ติวเข้มแรงงานอาเซียน                        

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รอบ 1 ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนสามารถผลักดันการเจรจาหาข้อสรุปความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐ กิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต ถือเป็นผลงานสำคัญ

ที่อยากให้อาเซียนผลักดันต่อไปให้สำเร็จคือการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายเทหรือเคลื่อนย้ายบุคคล รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัลที่จะมาเร็วมาก จะพัฒนาคนอย่างไรไม่ให้ตกงาน และคนที่ตกงานแล้วจะ Upskill หรือ Reskill อย่างไร ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในอนาคตการแข่งขันโดยใช้เรื่องค่าแรงต่ำไม่ได้แล้ว ต้องใช้เครื่องจักร โรโบติกเข้ามาช่วยมากขึ้น แรงงานอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งการมีทักษะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากทุกคนมีทักษะ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และช่วยลดความเหลื่อมลํ้าลงได้มาก

 ดันค้าดิจิทัลไทย-อาเซียน

ขณะเดียวกันการพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลในอาเซียนเป็นอีก 1 เรื่องสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนต้องเร่งช่วยกันผลักดัน ซึ่งในการจัดงาน ASEAN Business and Investment (ABIS) Summit 2019 ซึ่งเป็นเวทีของภาคเอกชน 3 สถาบัน คู่ขนานการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งนี้ได้แถลงถึงความสำเร็จในการทดลองระบบการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับ บริษัท NTT Data จากญี่ปุ่นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ได้รับจากระบบภายใต้โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP)(แพลตฟอร์มการทำการค้าในรูปแบบดิจิทัล)โดยได้ทดสอบกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งสินค้า ใบกำกับการขนส่ง ใบขนส่งสินค้าทางเรือ ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ใบอนุญาตเพื่อส่งออกสินค้า ทั้งหมดในระบบดิจิทัลพบว่าสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 60% และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้มาก ซึ่งทางภาคเอกชนจะร่วมผลักดันกับภาครัฐเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าดิจิทัลกับอาเซียน และกับทั่วโลกในอนาคต

 ห่วง MSMEs ไม่รอด                    

ขณะที่นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) อาเซียนเผยว่า ในการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาคน หรือบุคลากรให้มีทักษะความชำนาญเพื่อรองรับถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้คนที่ตกงานได้มีงานใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามทำอยู่แล้ว และอยากให้รัฐบาลช่วยให้การศึกษา การจัดสัมมนา และป่าวประกาศให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงส่งไม้ต่อให้เวียดนามที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า (2563) ช่วยผลักดันในภาพรวมของอาเซียนอีกทางหนึ่ง

“ที่ผมห่วงคือ MSMEs (บริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย)ที่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากสุดของประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ของบริษัทใหญ่ ๆ จะไม่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานเพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราต้องช่วยเขา เพราะ MSMEs ถือเป็นกระดูกสันหลังของอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ดังนั้นต้องมีโปรแกรมช่วย ทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน แหล่งการตลาด นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพราะถ้าเราและรัฐบาลไม่ช่วยพวกนี้จะลำบาก”

อีกเรื่องคือ การเปิดเสรีการค้า การลงทุนทั้งในอาเซียน และอาร์เซ็ป หลายประเทศยังมีการออกมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นการกีดกันการค้า (NTMs หรือ NTBs) เรื่องนี้ทางสภาที่ปรึกษาธุรกิจฯ มีการผลักดันลดอุปสรรคทางการค้าหลายปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ถือเป็นอีก 1 เรื่องใหญ่ที่ภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศช่วยกันแก้ไขผลักดัน เพราะไม่มีประโยชน์ที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันลดลงเป็นศูนย์ แต่ยังติดกฎระเบียบของประเทศปลายทาง

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตื่น! วิกฤตแล้ง 4 ชาติลุ่มน้ำโขงเร่งแก้ปัญหา

สทนช.ร่วมหารือสมาชิกลุ่มน้ำโขงจับมือร่วมแก้วิกฤติแล้งแม่น้ำโขงเดินหน้าย้ำทุกเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยาพร้อมเล็งเดินหน้าสร้างเวทีการมีส่วนร่วมรับฟังข้อกังวลผลกระทบ 8 จังหวัดริมโขง ยื่นเสนอเป็นท่าทีฝ่ายไทย หลัง MRCS เปิดเวทีแจงข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับภูมิภาคกรณี สปป.ลาว เสนอโครงการเขื่อนหลวงพระบาง

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)  เผยในโอกาสเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประชุมคณะกรรมการร่วมของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission The Special Session of MRC Joint Committee Meeting ) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเทศ  ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยประเด็นสำคัญที่มีการหารือร่วมกัน คือ สถานการณ์ภัยแล้งของแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับที่เคยเกิดในอดีต ขณะเดียวกัน ยังมีระดับน้ำขึ้นลงอย่างผิดปกติ ซึ่งที่ประชุมทั้ง 4 ประเทศมีเจตนารมณ์ร่วมกันเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งปัจจัยจากภัยธรรมชาติ และปัจจัยการบริหารจัดการเขื่อนในลำน้ำโขง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จะเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบจากสองปัจจัยดังกล่าวให้ 4 ประเทศได้รับข้อมูลที่ตรงกัน

เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อน นำไปสู่มาตรการในการเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังเน้นย้ำเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณการไหลของแม่น้ำสาขาหลักที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง โดยเฉพาะข้อมูลการระบายน้ำท้ายเขื่อนจาก สปป.ลาว และจีน

เพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ขึ้นลงที่ผิดปกติจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำภายในประเทศเชื่อมโยงกับแม่น้ำสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันความสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงได้

ขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยยังได้เข้าร่วมประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระดับภูมิภาคครั้งที่ 8 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงซึ่งจะขยายเป็น 10 ปี (พ. ศ. 2564-2573) จากเดิมที่ดำเนินการระยะ 5 ปี ( พ.ศ.2564-2568)  ซึ่งในที่ประชุมได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญของการใช้น้ำที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร อุปโภค-บริโภค ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเขื่อนในลำน้ำแม่โขง ซึ่งขณะนี้ MRCS ได้จัดเวทีสร้างการรับรู้การก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาทระดับภูมิภาค เพื่อให้ข่าวสารแต่ละประเทศที่เหมือนกันตามกลไกข้อตกลงระหว่าง 4 ประเทศ ภาคส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ โดยกำหนดให้มีเวทีกลางเจรจา เข้าใจเหตุผลความจำเป็นนำไปสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และให้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงกัน

ด้านนายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยโดย สทนช.ได้เตรียมพร้อมกำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลให้แก่ภาคประชาชนรับรู้กระบวนการ รวมทั้งข้อมูลโครงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA จำนวน 3 ครั้ง ซึ่งเบื้องต้นกำหนดจัดที่ จ.เลย จ.บึงกาฬ และจ.อุบลราชธานี ในช่วงเดือนธันวาคม’62 – มกราคม’63 เพื่อให้ข้อมูลโครงการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชน 

ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจตามกระบวนการ PNPCA รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวม ประเมินผล ประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสายหลัก ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ประกอบเป็นท่าทีของประเทศไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ผ่าน MRCS

“นอกจากการดำเนินการจัดเวทีให้ข้อมูลข่าวสารโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบได้ครอบคลุมรอบด้านมากที่สุดผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางเว็บไซต์ สทนช. www.onwr.go.th และ www.tnmc-is.org รวมถึงผ่านการับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในประเด็นปัญหา ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในเวทีต่าง ๆ สทนช.จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น มาพิจารณาเพื่อดำเนินการในรูปของคณะทำงานเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ก่อนประมวลมานำเสนอประเด็นให้ความเห็นในที่ประชุมทั้งระดับชาติซึ่งมีคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และผ่านกลไกคณะทำงานร่วม หรือ JC working group ในเวทีแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดกระบวนการรับฟังจากประชาชนที่อาจจะกระทบกับประเทศไทยนำไปสู่มาตรการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรองรับผลกระทบข้ามพรมแดนประเทศท้ายน้ำ” นายประดับ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯเร่งสำรวจสต๊อก3สารพิษ เตรียมผลักดันส่งออก ลดงบทำลายทิ้ง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดได้ประชุมครั้งแรกในวันนี้ ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะทำงานมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบทั้งที่มีต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตลอดจนการเตรียมเก็บสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเพื่อทำลายตามหลักวิชาการให้มีความปลอดภัย

ทั้งนี้ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรมว. เกษตรฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ รายงานว่า ที่ประชุมได้ให้เร่งศึกษาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล เมื่อไม่สามารถใช้พาราควอต-ไกลโฟเซตในการป้องกันกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอสในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรม เบื้องต้นเกษตรกรรายย่อยอาจต้องใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืช ส่วนเกษตรกรที่รวมตัวเป็นแปลงใหญ่และสหกรณ์การเกษตรสามารถสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้ จากนั้นเมื่อเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ต้องเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยในการจัดรูปแปลงให้สามารถรองรับเครื่องจักรกลการเกษตรได้ สำหรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต้องของบประมาณมาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังให้กรมวิชาการเกษตรสำรวจสต็อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดว่า ยังมีอยู่ในประเทศเท่าไร ในห้วงเวลาก่อนที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม สามารถอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศที่ยังใช้สารเหล่านี้อยู่ได้หรือไม่เพื่อลดผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ค้า รวมถึงงบประมาณในการทำลายที่สูงถึงลิตรละ 100,000 บาท พร้อมกันนี้ให้เร่งศึกษาวิจัยสารชีวภัณฑ์ต่างๆ หากทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ใช้ได้ผลจริง ให้เปิดกว้างในการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ ยังจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลสารตกค้างในสินค้าเกษตรที่นำเข้าเนื่องจากวัตถุดิบหลายอย่างไทยนำเข้าจากประเทศที่ยังใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอยู่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมมาตรการรองรับกรณีที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างไรบ้างโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ด้วย ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้นจะช่วยดูแลไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชชนิดอื่นที่เกษตรกรต้องใช้แทน รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการป้องกันการโฆษณาหลอกลวงขายสารชีวภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือปลอมปนสารเคมี

“คณะทำงานฯ ของกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาทุกมาตรการอย่างรอบคอบเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในสัปดาห์หน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลมารายงานต่อที่ประชุม และกำหนดให้มาตรการต่างๆ ต้องเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 1 ธันวาคมซึ่งการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดจะมีผลบังคับใช้” นายเฉลิมชัย กล่าว

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เกษตรฯ โล๊ะสต็อก 3 สารดันขายต่างประเทศ

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ‘เฉลิมชัย’ สั่งกรมวิชาการสำรวจสต็อกสารเคมี ใช้เวลาที่เหลืออยู่ ก่อนแบน 3 สาร ผลักดันส่งออกเพื่อลดงบประมาณรัฐในการใช้ทำลายซึ่งตกตันละ 1 แสนบาท พร้อมเร่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรต่อเนื่องรับมือผลกระทบหลังแบน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า  คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดได้ประชุมครั้งแรกในวันนี้ ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะทำงานมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบทั้งที่มีต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตลอดจนการเตรียมเก็บสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเพื่อทำลายตามหลักวิชาการให้มีความปลอดภัย

“ให้คณะทำงานฯ ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาได้แก่ กระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลสารตกค้างในสินค้าเกษตรที่นำเข้าเนื่องจากวัตถุดิบหลายอย่างไทยนำเข้าจากประเทศที่ยังใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดอยู่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมมาตรการรองรับกรณีที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างไรบ้าง"

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ด้วย ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้นจะช่วยดูแลไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชชนิดอื่นที่เกษตรกรต้องใช้แทน รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการป้องกันการโฆษณาหลอกลวงขายสารชีวภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือปลอมปนสารเคมี

“คณะทำงานฯ ของกระทรวงเกษตรฯ จะพิจารณาทุกมาตรการอย่างรอบคอบเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในสัปดาห์หน้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลมารายงานต่อที่ประชุม และกำหนดให้มาตรการต่างๆ ต้องเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 1 ธันวาคมซึ่งการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดจะมีผลบังคับใช้” นายเฉลิมชัยกล่าว

ด้านนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรมว. เกษตรฯ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวว่าที่ประชุมได้ให้เร่งศึกษาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล เมื่อไม่สามารถใช้พาราควอต ไกลโฟเซต ในการป้องกันกำจัดวัชพืช และคลอร์ไพริฟอสในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรม ซึ่งในเบื้องต้นเกษตรกรรายย่อยอาจต้องใช้แรงงานในการกำจัดวัชพืช

ส่วนเกษตรกรที่รวมตัวเป็นแปลงใหญ่และสหกรณ์การเกษตรสามารถสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้ จากนั้นเมื่อเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ต้องเข้าไปให้ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยในการจัดรูปแปลงให้สามารถรองรับเครื่องจักรกลการเกษตรได้ สำหรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นต้องของบประมาณมาช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังให้กรมวิชาการเกษตรสำรวจสต็อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดว่า ยังมีอยู่ในประเทศเท่าไร ในห้วงเวลาก่อนที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกเลิกจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม สามารถอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศที่ยังใช้สารเหล่านี้อยู่ได้หรือไม่เพื่อลดผลกระทบต่อผู้นำเข้าและผู้ค้า รวมถึงงบประมาณในการทำลายที่สูงถึงตันละ 1 แสนบาท พร้อมกันนี้ให้เร่งศึกษาวิจัยสารชีวภัณฑ์ต่างๆ หากทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ใช้ได้ผลจริง ให้เปิดกว้างในการขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร

จาก https://www.thansettakij.com    วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ไทยวอน WTO เร่งเจรจา ประเด็นประมง เกษตรสำเร็จปีหน้า

ไทยวอน WTO เร่งผลักดันการเจรจาประเด็นประมง เกษตร และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สำเร็จกลางปีหน้าพร้อมเร่งให้ดำเนินการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่จะว่างลงพร้อมกันในเดือนนี้

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO Informal Ministerial Meeting: IMM) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องระบบการค้าพหุภาคีของ WTO การปฏิรูปการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพในยุคการค้าปัจจุบัน และการเตรียมประชุมระดับรัฐมนตรี WTO (Ministerial Conference) ครั้งที่ 12 ที่คาซัคสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงกลางปี 2563 โดยมีสมาชิก WTO กว่า 36 ประเทศ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เช่น บราซิล อินเดีย สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น

ในเรื่องการปฏิรูป WTO ที่ประชุมมีความเห็นว่า ระบบการค้าพหุภาคีที่เสรีและเป็นธรรมจะเป็นกลไกสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโต โดยเฉพาะท่ามกลางสภาพแวดล้อมการกีดกันทางการค้าในปัจจุบัน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งรัดแก้ปัญหาโดยเร็วคือ การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ 6 ใน 7 ตำแหน่งที่จะว่างลงพร้อมกันในเดือนนี้ เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ WTO ดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก การส่งเสริมความโปร่งใสของ WTO ผ่านการปรับปรุงกลไกการแจ้งมาตรการทางการค้า การปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าของ WTO ให้สอดรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถประกาศสรุปผลการเจรจาในเรื่องสำคัญที่ค้างอยู่ได้ทันการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 (MC 12) ที่คาซัคสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปี 2563 เช่น การจัดทำกฎเกณฑ์เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การอุดหนุนประมง การปรับปรุงระเบียบการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร และการจัดทำกฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ เป็นต้น ซึ่งแม้ในรายละเอียดสมาชิก WTO อาจยังมีความเห็นต่างกันอยู่ แต่ทุกประเทศเห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งหาข้อสรุปต่อไป

“ไทยได้เน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนของการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างลง รวมทั้งขอให้สมาชิก WTO ร่วมกันผลักดันการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง การจัดทำกฎเกณฑ์เรื่องการค้าสินค้าเกษตรเกษตร และกฎเกณฑ์เรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีความคืบหน้าหาข้อสรุปได้ทันการประชุม MC 12”

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) ถือเป็นองค์กรการค้าระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกฎเกณฑ์การค้าโลก เป็นเวทีระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 ประเทศ และมีกำหนดจัดประชุมระดับรัฐมนตรี (MC12) ในเดือนมิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ประเทศคาซัคสถาน

จาก https://www.thansettakij.com    วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ธปท.ผ่อน 4 เกณฑ์เงินทุนไหลออก-ลดบาทแข็งค่า

ธปท.ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนเงินทุนไหลออก ปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ลดแรงกดดันที่มีต่อเงินบาทแข็งค่า และทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศสะดวกมากขึ้น มีผล 8 พ.ย.นี้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้หารือร่วมกับนายอุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เงินทุนไหลออก ช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายและลดแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินบาทแข็งค่า รวมทั้งจะช่วยให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ  อนุญาตให้ผู้ส่งออกที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ ปี 2561 รายได้รวมจากการส่งออกต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าของการส่งออกทั้งหมด  และระยะ3 เดือนข้างหน้าจะขยายวงเงินรายได้จากการส่งออกไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศเป็น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อใบขน จะครอบคลุมประมาณร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ หากผู้ส่งออกมีรายได้สูงกว่าวงเงินข้างต้นยังสามารถนำไปหักกลบกับรายจ่ายในต่างประเทศได้ ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงขึ้นทะเบียนกับ ธปท. และยื่นเอกสารหลักฐานกับธนาคารพาณิชย์  ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศให้ง่ายขึ้น การปรับปรุงกฎเกณฑ์ข้างต้น เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ โดยพักเงินไว้ในต่างประเทศเพื่อรอชำระค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน และช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น 

2.การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เปิดเสรีให้นักลงทุนรายย่อยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี จากเดิมต้องผ่านตัวกลางในประเทศ หรือต้องมีสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น

 3.การโอนเงินออกนอกประเทศ  เปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศได้ทุกวัตถุประสงค์ ยกเว้นเพียงไม่กี่รายการ อาทิ การชำระธุรกรรมซื้อขาย FX/THB กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ยังต้องขออนุญาตจาก ธปท. อนุญาตให้สามารถโอนเงินให้ตนเองหรือญาติที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศได้เสรี และสำหรับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ สามารถโอนได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยซื้อในชื่อของบุคคลในครอบครัวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานและการส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศ  ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ต้องการโอนเงินออกนอกประเทศต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกขึ้น จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

4.การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่มีการลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ชำระราคาในรูปเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศได้ โดยลูกค้าสามารถเก็บเงินตราต่างประเทศจากการขายทองคำไว้ในบัญชี FCD โดยไม่ต้องแลกเป็นบาทเพื่อรอลงทุนในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ธปท.ยังพร้อมที่จะอนุญาตการซื้อขาย Gold Futures ในรูปเงินตราต่างประเทศในระยะต่อไปด้วย

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บาทเปิดตลาด 'อ่อนค่า' เก็งกนง.หั่นดอกเบี้ย 0.25% บ่ายนี้

มีสัญญาณเชิงบวกเจรจาการค้าสหรัฐกับจีนหนุนสินทรัพย์เสี่ยงไปต่อ ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัยเจอแรงขายต่อเนื่อง หลังเฟดอาจหยุดลดดอกเบี้ย ตลาดติดตามที่ประชุมกนง. วันนี้คาดลดดอกเบี้ย0.25%

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ30.25 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันก่อนที่ระดับ30.20 บาทต่อดอลลาร์

สินทรัพย์เสี่ยงยังได้ไปต่อคืนที่ผ่านมาเพราะมีสัญญาณเชิงบวกจากทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเข้ามาสนับสนุนนอกจากนี้ในฝั่งของนโยบายการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐก็ยังค่อนข้างอยู่ในเชิงสนับสนุนตลาดทุนล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรม(ISM Non-Manufacturing PMI) ปรับขึ้นมาที่ระดับ54.7จุดจากที่ลงไปแตะระดับต่ำสุดของปีในเดือนก่อนดัชนีS&P500 จึงปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย0.1%

แต่ในเวลาเดียวกันสินทรัพย์ปลอดภัยกลับเจอกับแรงขายต่อเนื่องล่าสุดประธานเฟดสาขาริชมอนด์  Thomas Barkin ออกมาให้ความเห็นว่าอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เฟดจะหยุดลดดอกเบี้ยบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ10 ปีจึงปรับตัวขึ้นต่อ6.9bps ไปที่ระดับ1.85% กดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าแตะระดับ109.15 เยนต่อดอลลาร์และราคาทองคำปรับตัวลงต่ออีก1.3% มาที่ระดับ1485 เหรียญต่อออนซ์

ในส่วนของตลาดเงินเอเชียปัจจัยที่น่าติดตามในระยะสั้นคือการแข็งค่าของเงินหยวนสวนทางกับการอ่อนค่าของเงินเยนชี้ให้เห็นว่าผู้ค้าส่วนใหญ่กลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงและขายสินทรัพย์ปลอดภัยเงินบาทจึงมีทั้งแรงหนุนและแรงต้านส่งผลให้แกว่งตัวในกรอบแคบสำหรับวันนี้ต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงบ่ายซึ่งตลาดการเงินคาดว่ากนง.จะมีมติ"ลดอัตราดอกเบี้ย0.25%" ในการประชุมครั้งนี้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เงินบาทแข็งค่าที่สุดในเอเชีย รับปัจจัย‘เกินดุล’/กบข.กังวลฉุดส่งออก

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. มั่นใจเศรษฐกิจไทยขยายตัวกระเตื้องขึ้น โดยในไตรมาส 3 ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.9% และไตรมาส 4 ที่ 3.1% ขึ้นไป ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากอัตราการเติบโตที่ 2.5% ในครึ่งปีแรกเนื่องจากได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 3.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองในเรื่อง ค่าเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่าขึ้น 7.82% เป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย มีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทย ขณะที่สกุลเงินของประเทศอื่นในภูมิภาคไม่แข็งค่าเท่าเงินบาท เช่น ค่าเงินวอนเกาหลีอ่อนค่าลง 4.1% ค่าเงินมาเลเซียริงกิตอ่อนค่าลง 1.1% และค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซ 3.5% ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลลบต่อการขยายตัวของการส่งออกทั้งสินค้าและบริการของไทยในระยะต่อไป ประกอบกับปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารกลางทั่วโลกประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่ง กบข. คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในสิ้นปีนี้

สำหรับผลตอบแทนการลงทุน กบข. ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2562 กองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้ 4.7% ปรับตัวขึ้นจากผลตอบแทนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว และการลดลงของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลก ปัจจุบัน กบข. มีเงินกองทุนภายใต้การบริหารจัดการ 935,000 ล้านบาท โดยกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ 15 ประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

‘ชาวไร่อ้อย-รง.น้ำตาล’สะเทือนแน่หลังแบน‘พาราควอต’ คาดปีหน้าเสียหาย5แสนล.

นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเรียกร้องจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิล เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรถั่วเหลืองของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย เช่น อ้อยที่ทำเงินเข้าประเทศ และสร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ทันทีที่มีข่าวแบน 3 สารเคมีตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสมาคมฯได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบดีว่ากลูโฟซิเนต และไกลโฟเซต จะใช้ฉีดลงโดยตรงในแปลงอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นสารกึ่งดูดซึม และดูดซึม ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเสียหาย การมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตอ้อยรวมต่อปีประมาณ 130 ล้านต้น

“ถ้าคิดง่ายๆว่า 10 ตัน ผลผลิตหายไป 1 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตหายแล้ว 13 ล้านตัน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้ และต้นทุนเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมทั้งกระทบยังส่วนอื่น ๆ อาทิ ไม่สามารถส่งกากอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย” นายกิตติ กล่าว

นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ในปี 2563 มูลค่าความเสียหายรวมตลอดทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาลให้ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งสองประเทศนั้นก็ยังอนุญาตให้ใช้พาราควอตในอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลควรมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นลำดับแรก

โดยเฉพาะผลกระทบกับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน เพราะทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ออกมาปกป้องการส่งออกถั่วเหลืองของตนเอง หลังจากรู้ว่าเราจะแบนสารเคมี ทั้งที่สหรัฐนอกจากจะใช้ไกลโฟเซต ยังใช้สารพาราควอตในถั่วเหลือง และพืชอื่น ๆ ด้วย แต่รัฐบาลไทยนอกจากไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทยแล้ว ยังซ้ำเติม ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียโอกาสในการแข่งขันสูญเสียรายได้เข้าประเทศ ที่สำคัญไม่ปกป้องเกษตรกรไทยเหมือนที่กำลังปกป้องสินค้าเกษตรจากต่างชาติ

นายกิตติ กล่าวอีกว่า สมาคมฯ ขอนำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ว่าต้องไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดกับต่างชาติ และต้องไม่ห่วงใยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อปกป้องสินค้าเกษตร และเกษตรกรไทยด้วย เพราะต่างชาติก็ยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต

“ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เกษตรกรจากประเทศเหล่านี้ก็ใช้สารพาราควอตเหมือนเกษตรกรไทย เราต้องศึกษาจากเขาว่าเขาใช้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร การจะแบนสารเคมีตัวนั้นตัวนี้ตามกระแส และแรงกดดัน โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลความจริงทางวิชาการ และผลกระทบอย่างรอบด้านจึงไม่ควรเกิดขึ้น วันนี้เราถูกอเมริกาตัด GSP คิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยทำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท” นายกิตติ กล่าวในท้ายที่สุด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แบน 3 สารพ่นพิษ ‘อุตสาหกรรมอ้อย’ ผวาสูญ 5 แสนล้าน

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย หวั่นเดือดร้อนหนักในปีหน้า อุตสาหกรรมอ้อยคาดสูญเม็ดเงินปีหน้ากว่า 5 แสนล้านบาททั้งห่วงโซ่ เหตุแบนสารเคมีเกษตร กระทบต้นทุน กำลังการผลิตลด แนะรัฐบาลควรช่วยภาคเกษตรของไทย เหมือนรัฐบาลต่างชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิลที่ออกมาปกป้องเกษตรกรถั่วเหลือง

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ขณะนี้มีการเรียกร้องจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย บราซิล เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรถั่วเหลืองของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย เช่น อ้อยที่ทำเงินเข้าประเทศ และสร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ทันทีที่มีข่าวแบน 3 สารเคมีตลอดสองปีที่ผ่านมา

สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบดีว่า กลูโฟซิเนต และไกลโฟเซต จะใช้ฉีดลงโดยตรงในแปลงอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นสารกึ่งดูดซึม และดูดซึม ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเสียหาย

“การมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตอ้อยรวมต่อปีประมาณ 130 ล้านต้น ถ้าคิดง่าย ๆ ว่า 10 ตัน ผลผลิตหายไป 1 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตหายแล้ว 13 ล้านตัน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้ และต้นทุนเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมทั้งกระทบยังส่วนอื่น ๆ อาทิ ไม่สามารถส่งกากอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย

หากเป็นเช่นนี้ปีหน้า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาลให้ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งสองประเทศนั้นก็ยังอนุญาติให้ใช้พาราควอตในอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยในประเทศของเขา

“รัฐบาลควรมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผลกระทบกับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน เพราะทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เช่นเดียวกับที่สหรัฐออกมาปกป้องการส่งออกถั่วเหลืองของตนเอง หลังจากรู้ว่าเราจะแบนสารเคมี ทั้งที่สหรัฐนอกจากจะใช้ไกลโฟเซต ยังใช้สารพาราควอตในถั่วเหลือง และพืชอื่น ๆ ด้วย" 

แต่รัฐบาลไทยนอกจากไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทยแล้วยังซ้ำเติมทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียโอกาสในการแข่งขันสูญเสียรายได้เข้าประเทศ ที่สำคัญไม่ปกป้องเกษตรกรไทยเหมือนที่กำลังปกป้องสินค้าเกษตรจากต่างชาติ สมาคมฯ จะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี พบเอกประยุทธ จันทร์โอชา ท่านรองนายก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ท่านต้องไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดกับต่างชาติ และต้องไม่ห่วงใยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อปกป้องสินค้าเกษตร และเกษตรกรไทยด้วย

ทั่วโลกยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เกษตรกรจากประเทศเหล่านี้ก็ใช้สารพาราควอตเหมือนเกษตรกรไทย เราต้องศึกษาจากเขาว่าเขาใช้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร การจะแบนสารเคมีตัวนั้นตัวนี้ตามกระแส และแรงกดดัน โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลความจริงทางวิชาการ และผลกระทบอย่างรอบด้านจึงไม่ควรเกิดขึ้น วันนี้เราถูกสหรัฐอเมริกาตัด GSP คิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยทำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แบงก์ชาติผวาถูกสหรัฐเล่นงานดูแลค่าบาท

แบงก์ชาติรายงาน ครม. ยอมรับเป็นห่วงค่าเงินบาทแข็ง แต่เข้าไปดูแลยาก เหตุเสี่ยงถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน

 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานผลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งปี 2562 (มกราคม - มิถุนายน) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยช่วงหนึ่งธปท.ได้ชี้แจงถึงการดูแลค่าเงินบาทระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ให้ความสําคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเพื่อเก็งกําไร โดยคํานึงถึงความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกสหรัฐฯ ระบุเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Curency Manipulator)

ทั้งนี้ กนง. กังวลต่อการแข็งค่า ของเงินบาทที่ค่อนข้างเร็วในบางช่วง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป กนง. จึงสนับสนุนให้ ธปท. เตรียมมาตรการต่าง ๆ สําหรับดูแลการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้น ๆ เพื่อออกใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

รวมถึงดําเนินการผ่อนคลาย กฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจน สนับสนุนให้ ธปท. สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ภาคเอกชนบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความสําคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รับ'ภัยแล้ง'!! ฝนหลวงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมช่วยเหลือพื้นที่ขาดน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไปเป็นช่วงที่มีโอกาสในการทำฝนสำเร็จได้น้อย จึงเป็นช่วงที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรนำอากาศยานเข้าซ่อมบำรุง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ 2563 จึงเปิดปฏิบัติการหน่วยฝนหลวง 11 หน่วย จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ โดยระหว่างการซ่อมบำรุงอากาศยานจะเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ 3 ชุด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ยังมีความต้องการน้ำ เช่นเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณน้ำน้อย

ขณะที่ นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้พายุโซนร้อน หรือพายุแมตโม ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีศูนย์กลางของพายุอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ในทิศทางตอนใต้ของ จ.สุรินทร์ และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปในทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ จ.บุรีรัมย์ ในช่วงนี้อาจจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีปริมาณน้ำฝนสะสมที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้

ขณะที่เมื่อวานนี้ (31 ต.ค.62) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร จ.ภูเก็ต และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ จ.ภูเก็ต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แจงขั้นตอนขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยขั้นตอนขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชว่า ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อมูลพิษวิทยา คณะทำงานเพื่อพิจารณาชีวภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชที่ใช้ควบคุมศัตรูพืช จะประเมินข้อมูลพิษวิทยาที่สำคัญ ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และด้านเทคนิคของชีวภัณฑ์ พิษวิทยาและข้อมูลการรับสัมผัส สารพิษตกค้างใน/บนผลิตภัณฑ์อาหารและสิ่งแวดล้อมผลของชีวภัณฑ์ต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย กรรมวิธีการผลิตและแหล่งที่มาของเชื้อ

ขั้นตอนที่ 2 การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างวัตถุอันตราย ซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์แบ่งเป็น2 ส่วน เพื่อวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของวัตถุอันตราย และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเมื่อผลวิเคราะห์ตรงตามมาตรฐานผู้ประกอบการต้องนำตัวอย่างไปทดลองประสิทธิภาพในขั้นตอนที่ 3 การทดลองประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตทดลอง และรายงานผลทดลองประสิทธิภาพ พร้อมข้อความที่ขอระบุในฉลากที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว หากการดำเนินการดังกล่าวผ่านการพิจารณา ผู้ประกอบการทำต้องหนังสือส่งผลประเมินข้อมูลพิษวิทยาผลทดลองประสิทธิภาพและผลวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยื่นที่กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร หากคณะอนุกรรมการเห็นควรให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายให้ผู้ประกอบการต่อไป ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนดังกล่าวเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดกำจัดศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย และที่สำคัญต้องเป็นสารที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนฯ ให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่ปลอดภัยทุกด้าน ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เป็นลำดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีสารชีวภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรแล้ว73 ทะเบียน ดังนี้ Bacillus thuringiensis57 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝักลายจุด และหนอนหัวดำ Bacillus amyloliquefaciens 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก Bacillus subtilis 8 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคกาบใบแห้งในข้าว และโรคแอนแทรคโนสในพริก Beauveria bassiana2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว Metarhiziumanisopliae 2 ทะเบียนใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในมะเขือเปราะNuclear Polyhedrosis Virus (NPV)1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม และTrichoderma harzianum จำนวน 2 ทะเบียนใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก

จาก https://www.naewna.com วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

เงินบาท หลุดระดับ 30.20 เหตุไม่มีแรงซื้อดอลลาร์ช่วยหนุน

เงินดอลลาร์เปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.17 บาท อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์

     นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์นักกลยุทธตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา มีสองประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ผู้แทนระดับสูงของจีนออกมาแสดงความกังวลกับทิศทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐในระยะยาว ขณะเดียวกันสภาสหรัฐก็มีมติยื่นเรื่องถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ทั้งสองปัจจัยดังกล่าว กดดันให้ S&P500 ปรับตัวลงจากจะดับสูงสุด 0.3% บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ปรับตัวลง 8.8bps มาที่ระดับ 1.68% ส่งให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 1.1%

     ฝั่งของนโยบายการเงิน ธนาคารกลางญี่ปุ่น “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ตามที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ฝั่งไทย ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดก็เพิ่มขึ้น 3.53 พันล้านดอลลาร์จากการนำเข้าที่ชะลอตัว ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สกุลเงินปลอดภัยฝั่งเอเชีย ทั้งเยนและบาทแข็งค่าต่อได้

     นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจฝั่งยุโรปและสหรัฐก็ไม่ได้ทำให้ตลาดเปลี่ยนมุมมอง ล่าสุดการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปไตรมาสที่สาม รายงานอยู่ที่ระดับ 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐก็อยู่ในระดับต่ำที่ 2.18 แสนตำแหน่งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำภาพตลาดแรงงานที่ตึงตัว

     ด้านเงินบาท หลุดระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ลงมาเนื่องจากไม่มีแรงซื้อดอลลาร์ช่วยหนุน นักลงทุนต่างประเทศซื้อบอนด์ ขายหุ้น หลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด จึงแทบไม่มีแรงกดดันกับค่าเงินบาท

     ในวันนี้ ต้องระวังแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทองคำ และปริมาณความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่จะสูงขึ้นเพราะดอลลาร์โดนกดดันจากประเด็นถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากตำแหน่ง

     อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังต้องระมัดระวังการรายงานตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐในคืนนี้ ถ้ายังอยู่ในเกณฑ์ดี (ขยายตัวเกินแสนตำแหน่ง) ก็อาจหนุนให้เงินดอลล่าร์ฟื้นตัวกลับขึ้นได้บ้างเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562